|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนมกราคม 2566] |
เสี่ยโรงน้ำตาลอุดร ฯใจป้ำ แจกอั่งเปา 2 ล้านบาท คนกว่า 3 พันคนแห่รับ
เสี่ยโรงน้ำตาลอุดร ฯ ปรีชา ชัยรัตน์ แจกอั่งเปา 2 ล้านบาท รวม 10,000 ซอง ช่วยอุ้มคนอุดรกว่า 3 พันคนแห่รับ
วันที่ 21 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดอุดรธานีว่า (วันนี้21ม.ค.66) ถือเป็นวันไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ที่บริเวณหน้าบ้านสำลีเงิน เลขที่ 559 ถ.นิตโย เขตเทศบาลนครอุดรธานี บ้านของนายปรีชา ชัยรัตน์
นักธุรกิจท้องถิ่นเมืองอุดรธานี เจ้าของ โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดมได้มีพี่น้องประชาชนมารออยู่บริเวณด้านหน้าบ้านกว่า 3,000 คน เพื่อเตรียมรับแจกอั่งเปา วงเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งปกติก่อนเกิดโควิด-19 จะมีการแจกอั่งเปาให้กับประชาชนมาตลอด
ของนายปรีชา ชัยรัตน์ นักธุรกิจท้องถิ่นเมืองอุดรธานี เจ้าของ โรงงานน้ำตาลทรายขาว
โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ส่งเสริมธรรมแห่งอุดรธานี เจ้าหน้าที่มูลนิธิเมธาธรรมสถาน อำนวยความสะดวก และคัดกรอง เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ
นายปรีชา กล่าวว่า ไม่ได้แจกอั่งเปาพี่น้องประชาชนมา 3 ปี ปีนี้ได้เตรียมอั่งเปาจำนวน 10,000 ซอง แบ่งซองละ 200 บาท มาแจกให้กับประชาชน หากยังมีคนมารับต่อเนื่องจะเพิ่มวงเงินขึ้นไป
ช่วงที่ผ่านมาโควิดระบาด พี่น้องประชาชนมีความลำบาก ปีนี้กลับมาแจกอีกครั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนลง ปีนี้เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว
โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว เงินยังไม่มาถึงอุดรฯ ปีนี้ถ้าไม่แจกอั่งเปา ประชาชนก็จะลำบากมากขึ้น จึงเป็นความตั้งใจ และเจตนา ถึงแม้จะเป็นเงินนิดหน่อย แต่ก็เป็นการแสดงน้ำใจ คนที่รับก็จะมีความสุข เพราะว่างเว้นไป 3 ปีแล้ว ปีนี้คาดว่าประชาชนจะทำมาค้าขายดีขึ้น ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายดลบันดาลให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ
จากนั้น นายปรีชา ชัยรัตน์ และ นายประชา ชัยรัตน์ เจ้าของ พีซี แลนด์ จ.หนองบัวลำภู รวมถึง ลูกหลาน ได้เริ่มต้นแจกอั่งเปา เริ่มจากผู้สูงอายุ และผู้ทุพพลภาพ ก่อน
จาก https://www.prachachat.net/ วันที่ 21 มกราคม 2566
ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานขึ้น 1.75 บาท/กก. มีผลวันนี้ ลุ้นขายปลีกปรับตาม
โรงงานน้ำตาลทราย ร่วมชาวไร่อ้อยปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก 1.75 บาท/กก. มีผลวันนี้ (20 ม.ค. 66) ดันราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาขึ้นเป็น 19 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เป็น 20 บาท/กก. คาดจะประกาศมีผลเร็ว ๆ นี้ เพื่อใช้กำหนดเป็นราคาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี65/66 ลุ้นปรับราคาขายปลีกตาม
วันที่ 20 มกราคม 2566 แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วานนี้ (19 ม.ค.) โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปในการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก 1.75 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาหน้าโรงงานจากเดิมอยู่ที่ 17.25 บาท/กก. เป็น 19 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จาก 18.25 บาท/กก. เป็น 20 บาท/กก. โดยมีผลในวันนี้ (20 ม.ค. 2566) เพื่อใช้กำหนดเป็นราคาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2565/66
ทั้งนี้ การปรับราคาหน้าโรงงานดังกล่าวทางเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ลงนามประกาศแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 (1) ของประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เรื่องการจัดทำงบประมาณรายได้ การกำหนดและการชำระค่าอ้อยและค่าผลผลิตน้ำตาลทรายและอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่และโรงงาน พ.ศ. 2562
สอน.จึงประกาศราคาน้ำตาลภายในราชอาณาจักร ประจำฤดูการผลิตปี 2565/66 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2565/66
การขึ้นราคาหน้าโรงงานครั้งนี้ฝ่ายโรงงานจะประกาศโดยแจ้งต่อผู้ซื้อ ส่วนราคาขายปลีกก็จะปรับเปลี่ยนตามไป แต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่ว่าโรงงานแต่ละแห่งจะมีการตัดราคาหรือดัมพ์ราคาขายกันหรือไม่ด้วย เพราะหากดูราคาขายปลีกปัจจุบันอยู่ที่ 24-25 บาท/กก. ถือว่าค่อนข้างสูง ท่ามกลางแรงซื้อที่ไม่ได้เติบโตมากนัก
สำหรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานที่ปรับขึ้น เป็นไปตามข้อเรียกร้องของฝ่ายชาวไร่อ้อย ที่เห็นว่าต้นทุนการเพาะปลูก และผลิตได้สูงขึ้นมาก จากทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรง น้ำมัน ฯลฯ ท่ามกลางราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่จะนำมาคำนวณยังทรงตัวในระดับเดิม เฉลี่ย 19 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นไม่สูงมากนัก ประกอบกับที่ผ่านมาราคาขายปลีกที่แท้จริงได้ปรับตัวสูงไปมากแล้ว ทำให้ชาวไร่เสียเปรียบในจุดนี้ จึงได้นำราคาจริงมาเฉลี่ยเพื่อปรับราคาหน้าโรงงานให้สะท้อนข้อเท็จจริงตามระบบ Cost Plus
อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/2566 นั้น ทาง กอน.จะต้องหารือว่าจะนำผลของราคาหน้าโรงงานที่ปรับขึ้นมาคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้น หรือจะเป็นขั้นสุดท้ายปี 2565/2566 อีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้โรงงาน 57 แห่งที่อยู่ระหว่างการเปิดหีบได้มีการทดลองจ่ายค่าอ้อยบางส่วนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ราคาหน้าโรงานน้ำตาลที่ปรับขึ้นจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นให้เพิ่มขึ้น แต่ยังต้องดูองค์ประกอบการอื่น ๆ อีกด้วย
ชาวไร่อ้อยเองคาดหวังว่าราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูผลิตปี65/66 อยากเห็นเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,100 บาท/ตัน ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เพราะนั่นจะเป็นราคาที่พอจะคุ้มทุนอยู่บ้าง หลังจากที่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างแพงหมด แหล่งข่าวกล่าว
ปัจจุบันการเปิดหีบอ้อย 57 โรงงานที่ทยอยตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2565 ล่าสุดปริมาณอ้อยรวมเข้าหีบต่อวันเฉลี่ย 1.17 ล้านตัน ความหวานเฉลี่ย 12.59 ซี.ซี.เอส. ส่งผลให้อ้อยเข้าหีบรวมล่าสุดอยู่ประมาณ 35 ล้านตัน คิดเป็น 34% ของอ้อยเข้าหีบ ปี65/66 โดยพบว่าผลผลิตตันต่อไร่ มีความสมบูรณ์มากกว่าปี64/65 คาดการณ์ปริมาณอ้อยรวมปี65/66 ปิดหีบอ้อยที่ 100-105 ล้านตัน โดยคาดว่าโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่จะปิดหีบช่วง 20-31 มี.ค. 2566 และอาจมีโรงงานน้ำตาล 5-10 แห่ง ปิดก่อนสงกรานต์
จาก https://www.prachachat.net วันที่ 20 มกราคม 2566
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เน้นผู้ประกอบการกับประชาชนต้องอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ชี้ต้องเด็ดขาดปัญหาอ้อยเผาไฟ
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมพล โนดไธสงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าตรวจเยี่ยม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยมีนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สอน. ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
สอน. มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ การวางแผนการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึงการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีวิสัยทัศน์ คือ อุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่องและอุตสาหกรรมชีวภาพ สร้างรายได้ให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ชลบุรี และอุดรธานี เพื่อกระจายการให้บริการครอบคลุมพื้นที่แหล่งเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก
โดย ปกอ. ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การทำงานในวันนี้ขอให้ยึดหลักว่าผู้ประกอบการกับประชาชนต้องอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ทั้ง หัว และ ใจ ในการทำงาน เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าว จึงควรนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันของสังคมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการคิดหามาตรการควบคุมการเผาอ้อยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือลักลอบเผาอ้อย ทำให้ส่งผลกระทบกับประชาชนหมู่มาก ทั้งในด้านมลพิษและฝุ่นควัน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ และธุรกิจการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังต้องทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลกลไกด้านราคา การประกันราคา ชดเชยราคาของอ้อยให้เหมาะสม พร้อมดูแลเรื่องพลังงานและชีวภาพ ให้มีความสมดุล และเกิดความยั่งยืน
จาก https://www.industry.go.th/ วันที่ 20 มกราคม 2566
กอน.เร่งดูแลชาวไร่อ้อย เคาะราคาขั้นสุดท้ายปี 64/65 เผยตั้งแต่เปิดหีบสัดส่วนลักลอบเผาสูงถึง 10 ล้านตัน หวั่นสถานการณ์ PM 2.5 เข้าขั้นวิกฤต
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลชาวไร่ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมทั้งเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย ตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับวาระหลักในการประชุมนัดนี้ คือ การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ราคา 1,106.40 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ที่ราคา 1,070 บาท โดยการกำหนดราคาดังกล่าวจะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายรับเพิ่มขึ้น 36.40 บาท/ตันอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ที่ราคา 474.17 บาท/ตันอ้อยการที่ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถเพิ่มกำลังซื้อในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/2566กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายทั้งชาวไร่และโรงงาน เมื่อได้ตัวเลขแล้วจะมีขั้นตอนการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียและสรุปตัวเลขเสนอ กอน. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กอน. ได้มีการเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% โดยเน้นให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาลร่วมมือกับภาครัฐดำเนินการเพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนไทยในช่วงที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 และยังเป็นการหนุนภาคเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่ล่าสุด เพิ่มเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 เป็น 25 ล้านคน อัพเดตล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 - 15 มกราคม 2566 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 32 ล้านตันอ้อย และในจำนวนนี้เป็นอ้อยที่ถูกลักลอบเผากว่า 9.2 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 28.73%
จากตัวเลขดังกล่าวโดยเฉพาะสัดส่วนการลักลอบเผาที่เพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต ทั้งสถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่ได้รับกระทบจากการเผาไหม้ กระทบกับสุขภาพประชนชนและภาคการท่องเที่ยวโดยตรง และยังเป็นตัวเลขที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่ามีชาวไร่และโรงงานน้ำตาลจำนวนหนึ่งที่ไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพคนไทยดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการกับเกษตรกรชาวไร่ที่ลักลอบเผา และโรงงานน้ำตาลที่สนับสนุนการเผา โดยไม่สนใจสุขภาพของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ" นายภานุวัฒน์กล่าว
จากข้อมูลลักลอบเผาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2566 ยังพบว่ามี 5 จังหวัดที่เผาอ้อยสูงสุด ดังนี้ นครราชสีมา 1.2 ล้านตัน อุดรธานี 0.78 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 0.76 ล้านตัน ขอนแก่น 0.66 ล้านตัน และสุพรรณบุรี 0.57 ล้านตัน ตามลำดับ ขณะที่ 5 กลุ่มบริษัทที่รับอ้อยเผามากสุด ดังนี้ กลุ่มบริษัทมิตรผล (7 โรง) 1.83 ล้านตัน กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง(10 โรง) 1.57 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (5 โรง) 0.94 ล้านตัน กลุ่มบริษัทวังขนาย (4 โรง) 0.78 ล้านตัน และกลุ่มบริษัทเอราวัณ (2 โรง) 0.57 ล้านตัน ตามลำดับ
จาก https://www.industry.go.th/ วันที่ 19 มกราคม 2566
เกษตรฯร่วมถกคกก.อ้อย-น้ำตาล สรุปผลดำเนินการ-ปริมาณผลิต
นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
ครั้งที่ 10/2565 ในฐานะกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมฯ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือและพิจารณาในประเด็นการเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ในคณะกรรมการบริหารตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และรับทราบในประเด็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในการประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 , สาระสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 , การขยายระยะเวลาดำเนินงานโครงการพัฒนาด้านอ้อยปี 2565 ของคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่นเขต 5 จังหวัดนครสวรรค์ เขต 7 จ.อุตรดิตถ์ เขต 14 จ.ชัยภูมิ และเขต 22 จ.อุทัยธานี รวม 17 โครงการ, รายงานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565, สรุปผลการอนุญาตจำหน่ายน้ำเชื่อมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ฤดูกาลผลิตปี 2564/2565, ประมาณการรายจ่ายประจำปี 2566 ของสำนักงานกองทุนและอ้อยและน้ำตาลทรายและประกาศคณะกรรมการอ้อย เรื่อง การจัดสรรปริมาณอ้อยขั้นสุดท้ายประจำฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 (บัญชีจัดสรรขั้นสุดท้าย)
จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม 2566