http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนเมษายน 2556)

"บาทผันผวน รอผลประชุม ธปท.นอกรอบ"

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทประจำวันอังคารที่ 30 เมษายน 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 29.24/26 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดวานนี้ (29/4) ที่ 29.30/32 บาท/ดอลลาร์ หลังการคลี่คลายทางการเมืองในอิตาลีได้หนุนให้มีแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นรวมถึงค่าเงินบาทด้วย รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในช่วงหลังและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงของทางสหรัฐที่อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินดอลลาร์ให้ปรับตัวอ่อนค่าลงเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน แต่วานนี้สหรัฐก็ได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีออกมา โดยดัชนียอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เพิ่มขึ้น 1.5% สู่ 105.7 ในเดือน มี.ค. ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน มี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ก.พ. อย่างไรก็ดี ตลาดจะจับตาการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นเวลาสองวันซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันนี้ โดยตลาดกำลังจับตาดูว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเฉื่อยชาและการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่เฟดยุติการหารือเรื่องการชะลอมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้หรือไม่ นอกจากนี้ปัจจัยดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เฟดเข้าซื้อตราสารหนี้มากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ระหว่างวันค่าเงินบาทมีการปรับตัวค่อนข้างผันผวนและได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากความตระหนกต่อการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการจัดประชุมพิเศษเพื่อหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าเงินบาท ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะมีมาตรการควบคุมค่าเงินบาทออกมาหรือไม่ ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวระหว่างวันอยู่ในกรอบ 29.24-29.40 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.33/35 บาท/ดอลลาร์

ความเคลื่อนไหวค่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.3090/92 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์และเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 1.3081/82 ดอลลาร์/ยูโร โดยได้รับแรงหนุนจากสภาวะการเมืองในประเทศอิตาลีที่ผ่อนคลายลงหลังจากอิตาลีสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จและยุติความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ดำเนินมาสองเดือน ทั้งนี้ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเอ็นริโก เลตตา ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นด้วยคะแนนเสียง 453 ต่อ 153 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรตามความคาดหมาย หลังจากเขาให้สัญญาว่าจะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในสหภาพยุโรป (อียู) โดยต้องการให้อียูหันเหความสนใจออกจากมาตรการรัดเข็มขัดและมุ่งความสำคัญไปยังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน สถานการณ์การเมืองที่ดีขึ้นได้หนุนทั้งตลาดหุ้นอิตาลีและกดต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีในตลาดพันธบัตรให้ลดลงด้วย ทั้งนี้ อิตาลีสามารถประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี ได้จำนวน 6 พันล้านยูโร สำหรับพันธบัตรประเภทอายุ 10 ปีนั้น ประมูลได้ทั้งหมดในวงเงิน 3 พันล้านยูโร ด้วยอัตราผลตอบแทน 3.94% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 4.66% จากเดือนก่อน โดยที่อัตราการกู้ยืมของอิตาลีอายุ 10 ปี ได้ลงไปถึง 3.91% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2010 อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่นักลงทุนยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดต่อการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 2 พ.ค. ที่กรุงบราติสลาวา ประเทศสโลวาเกีย โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้มากกว่าในช่วงใด ๆ นับตั้งแต่อีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในเดือน ก.ค. 2012 โดยอีซีบีมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 0.50% ซึ่งปัจจัยนี้อาจทำให้ค่าเงินยูโรปรับร่วงลงอย่างมากเทียบกับสกุลหลักอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1.3057-1.3120 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 1.3072/73 ดอลลาร์/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 97.86/87 เยน/ดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงมากจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 97.78/79 เยน/ดอลลาร์ ทั้งนี้ข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดในวันนี้เป็นที่น่าพอใจและบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนพุ่งขึ้น 5.2% ในเดือน มี.ค.จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการพุ่งสูงสุดในรอบ 9 ปี และสูงกว่าที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8% รวมทั้งอัตราว่างงานของชาวญี่ปุ่นลดลงสู่ 4.1% ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี ขณะที่ระดับคาดการณ์อยู่ที่ 4.3% อันเป็นสัญญาณที่แสดงว่าอุปสงค์ในประเทศมีบทบาทสำคัญในการหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอีกหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ค่าเงินเยนมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างวันที่ 97.51-98.12 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 97.51/56 เยน/ดอลลาร์

อัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.2/5.4 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6.0/7.0 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 30 เมษายน 2556

นครพนมรวมพล 20 จ.อีสาน เตรียมพร้อมภาคเกษตรรองรับเออีซี

นครพนม ร่วมเดินหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมพลภาคเกษตร 20 จังหวัดอีสาน เตรียมความพร้อมร่วมกัน ด้านเกษตรฯ ลุยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทยอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาพและเป็นธรรม

นายยรรยงค์ แสนสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการสัมมนาการเตรียมความพร้อมด้านการเกษตรเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมนครพนมริเวอร์วิ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมี รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายโอฬาร พิทักษ์) เป็นประธานพิธีเปิด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (นายสมชาย วิทย์ดำรง) กล่าวต้อนรับ ซึ่งมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดรวม 20 จังหวัดของภาคอีสาน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาเกษตรกร และเกษตรกรในจังหวัดนครพนมเข้าร่วม

ในการนี้ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทยอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาพและเป็นธรรม” โดยมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความสามรถในการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างโอกาสบนความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีโครงการขับเคลื่อนที่สำคัญ (Flagship Project) 8 โครงการ ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลักของประเทศ

นอกจากนี้ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ ) ได้บรรยายในหัวข้อ โอกาส ผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงจากประชาคมอาเซียน ซึ่งมีข้อตกลงความร่วมมือใน 4 ด้าน คือ 1) การเป็นตลาดและฐานผลิตร่วม โดยจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า การลงทุน แรงงาน และเงินทุน เสรีมากขึ้น 2) การสร้างเสริมขีดความสามารถแข่งขัน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือของอาเซียนที่จะพัฒนาสู่การแข่งขันในตลาดโลก 3) การพัฒนา เศรษฐกิจอย่างเสมอภาค โดยการสนับสนุนการพัฒนา SMEs รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน และ4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก การปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจ สร้างเครือข่ายการผลิตและจำหน่าย การจัดทำ FTA กับประเทศนอกภูมิภาค

สำหรับในช่วงบ่ายได้มีการอภิปรายแบบมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมด้านการเกษตรเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน โดยนายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการ สศก. เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปราย 5 ท่าน คือ สัตว์แพทย์หญิง วิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ , นายพงษ์พัฒน์ บุญชูวงศ์ ผู้เชียวชาญด้านเศรษฐกิจการประมง กรมประมง , ดร.สมเจตน์ ประทุมมินทร์ ผชช.ด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร , นายภานุวัฒน์ ณ นครพนม ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และนางสาวปรียนาฎ เทียบรัตน์ หัวหน้ากลุ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานเกษตรต่างประเทศ ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างรอบด้าน และรับทราบถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในปี 2558

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 30 เมษายน 2556

การหารือมาตรการดูแลค่าเงินบาทของรัฐบาลและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ

สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี ส่งผลกระทบภาคการส่งออก ทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการเพื่อควบคุมค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยรมว.คลัง เรียกหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเข้าหารือเพื่อหามาตรการรองรับ

สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี และการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าทำสถิติใหม่เป็นรายวัน ใกล้เคียงที่ระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯอย่างต่อเนื่องเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ก่อกระแสความเคลื่อนไหวแทบทุกวงการ เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการหยุดการแข็งค่าของเงินบาท โดยหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพื่อควบคุมค่าเงินบาทให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมร่วม 3 หน่วยงาน ระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา

ภายหลังการประชุม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยถึงรายละเอียดในการหารือว่า จะยังไม่มีการออกมาตรการใดๆมาดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทเพิ่มเติมในขณะนี้ เนื่องจาก ค่าเงินบาทในช่วงนี้เริ่มอ่อนค่าลงแล้ว และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่เหมาะสม โดย ธปท. ก็ได้เตรียมมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์เอาไว้แล้ว หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ธปท. ก็พร้อมที่จะดำเนินการทันที

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้มีความเห็นที่ตรงกันว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา แข็งค่าเร็ว และ แรงเกินไป และมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับร้อยละ 2.75 เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยจำนวนมาก และส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก็น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ลดค่าเงินบาทแข็งได้ ซึ่งนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการปรับขึ้นหรือลดลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การประชุม กนง.ตามวาระปกติจะมีขึ้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 แต่ในวันนี้ ( 30 เมษายน 2556 ) ธปท.ได้เชิญคณะกรรมการ กนง. มาร่วมหารือและรับฟังข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาหารือด้วย แต่จะมีการออกมาตรการใดๆเป็นพิเศษหรือไม่นั้นก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 30 เมษายน 2556

ลุ้นระทึกผลผลิตอ้อยไทยจ่อ100ล้านตัน ก.อุตฯเร่งลอยตัวราคาน้ำตาลรับ"AEC"

ผลผลิตอ้อยไทยจ่อแตะ 100 ล้านตันล่าสุดทำได้แล้ว 99.68 ล้านตันหลังแห่ขยายพื้นที่พุ่ง ก.อุตฯเร่งสนองนโยบายรัฐบาลเตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลทราย หวังนำร่องลอยตัวราคาน้ำตาลให้ทันฤดูผลิตปี 56/57

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่าการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 55/56 ตั้งแต่ 15 พ.ย.55 ที่ผ่านมาจนถึงล่าสุดวันที่ 28 เม.ย. 56 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 99.68 ล้านตันซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมทำไว้ในฤดูหีบที่แล้วที่ 97.98 ล้านตัน โดยยังมีลุ้นโรงงานที่ยังเหลือหีบอีกส่วนหนึ่งโดยรวมจึงคาดว่ามีโอกาสจะแตะระดับ 99.9-100 ล้านตันได้

แม้ว่าอ้อยเราจะผลิตได้เกินเป้าหมายค่อนข้างมากแต่หากมองผลผลิตน้ำตาลทรายก็ถือว่าไม่ได้สูงขึ้นมากนักเพราะเจอแล้งทำให้ค่าความหวานลดลงทำให้อ้อยต่อตันได้น้ำตาล 100.37 กิโลกรัมจากเดิมที่คาดว่าน่าจะได้เฉลี่ยที่103 กก.ต่อตันอ้อย" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามปี 2558 ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ทำให้ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นโดยมีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เป็นไปตามมติครม.ที่ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งนำผลการศึกษาการปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย(TDRI) มาประกอบการพิจารณาโดยต้องการให้ทันฤดูการผลิตปี 56/57 นี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า คาดว่าการดำเนินงานคงจะทันในฤดูหีบปี 56/57 ในบางเรื่องเท่านั้นเนื่องจากขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายไม่เห็นด้วยกับการศึกษาของ TDRI โดยสิ้นเชิง ขณะที่ชาวไร่อ้อยเองยังต้องขอเวลาศึกษาก่อนซึ่งเบื้องต้นคาดว่าหากจะดำเนินการได้น่าจะเป็นการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ(โควตา ก.) แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะเครื่องมือในการดูแลการฮั้วราคาของผู้ผลิตและผู้ค้าอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเมื่อลอยตัวจะต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดระบบผูกขาดขณะเดียวกันจะกำหนดกรอบราคาอย่างไร ยังคงควบคุมราคาหน้าโรงงานหรือไม่ ฯลฯ

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสานกล่าวว่า มีโอกาสที่จะเห็นอ้อยปีนี้แตะระดับ 100 ล้านตันได้ เพราะขณะนี้ยังมีโรงงานบางแห่งเปิดหีบอยู่ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อ้อยเพิ่มกว่าที่คิดไว้เนื่องจากมีเกษตรที่ปลูกมันสำปะหลังหันมาปลูกอ้อยแทนและไม่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยให้กับโรงงานโดยใช้วิธีขายเงินสดกับนายหน้าจึงทำให้ตัวเลขเหล่านี้ไม่อยู่ในระบบ

"เร็วๆ นี้ชาวไร่อ้อยคงจะต้องนัดหารือกันถึงทิศทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของกระทรวงอุตสาหกรรมว่าควรจะดำเนินการไปในทิศทางใดแน่ซึ่งคิดว่าคงจะไม่ทันใช้ในฤดูหีบหน้าแต่อาจทำได้เป็นเพียงบางเรื่อง" นายชัยวัฒน์กล่าว

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 30 เมษายน 2556

ผลผลิตอ้อยจ่อ100ล้านตัน ทุบสถิติชาวไร่แห่ปลูกเพิ่ม

รายงานข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 55/56 ตั้งแต่ 15 พ.ย. 55-28 เม.ย. 56 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 99.68 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมทำไว้ในฤดูที่แล้ว 97.98 ล้านตัน และคาดว่าในปีนี้น่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานในระดับ 100 ล้านตัน เนื่องจากยังมีอ้อยส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้าหีบอ้อย เนื่องจากมีเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนหนึ่งหันมาปลูกอ้อยแทน

"แม้ว่าอ้อยในปีนี้จะผลิตได้เกินเป้าหมายค่อนข้างมากแต่หากมองผลผลิตน้ำตาลทรายก็ถือว่าไม่ได้สูงนักเพราะที่ผ่านมาเกษตรกรเจอภัยแล้งทำให้ค่าความหวานลดลงจากเดิมที่อ้อยต่อตันได้น้ำตาลเฉลี่ยที่ 103 กก. เหลือเพียง 100.37 กก.เท่านั้น"

ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นโดยมีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 โดยจะมีกรรมการจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายหลังจากที่มีการจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษามาประกอบการพิจารณาเพื่อให้ทันฤดูการผลิตปี 56/57 นี้

"คาดว่าการดำเนินงานทันในฤดูหีบปี 56/57 เนื่องจากขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายไม่เห็นด้วยกับการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ขณะที่ชาวไร่อ้อยเองยังต้องขอเวลาศึกษาก่อน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าหากจะดำเนินการได้น่าจะเป็นการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะเครื่องมือในการดูแลการฮั้วราคาของผู้ผลิตและผู้ค้าอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์".

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 เมษายน 2556

เดินหน้าดันเกษตรกรไทยเป็น.. “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”

นโยบายสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) หรือ เกษตรกรปราดเปรื่อง และสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ (Smart Officer) ถือเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้เกษตรกรไทยเป็นมืออาชีพและพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง จนสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558

นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความก้าวหน้าโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้ทำโครงการ One ID Card for Smart farmer โดยนำข้อมูลเกษตรกรทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง ที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกราย เข้าไปไว้ในฐานข้อมูลบัตรประชาชนของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ในซิมที่อยู่ในบัตรประชาชนก็จะมีข้อมูลว่าเกษตรกรรายนี้ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่ไหน เมื่อไหร่ มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนเท่าใด มีกิจกรรมทางการเกษตรอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งการนำข้อมูลเกษตรกรมาใส่ไว้ในบัตรประชาชนนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการขอรับบริการจากภาครัฐ เพียงแค่เกษตรกรนำบัตรประชาชนมาเสียบกับเครื่องอ่านบัตรก็จะสามารถแสดงฐานะการเป็นเกษตรกร และสามารถใช้สิทธิ์ที่เกษตรพึงได้รับจากภาครัฐได้

ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำเว็บไซต์ www.ThaiSmartFarmer.net ขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้บริการจากภาครัฐแบบทางไกล โดยใช้ระบบไอทีหรือสมาร์ทโฟนเข้ามาช่วย ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้ามารับบริการและเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น ในระบบเบื้องต้นนี้จะมีเมนูของการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกร (E-check) ที่จะสามารถบอกข้อมูลพื้นฐานที่เกษตรกรได้แจ้งขึ้นทะเบียนไว้แล้ว สภาพปัญหาการผลิตของเกษตรกร สภาพพื้นที่ตั้งแปลงของเกษตรกร เป็นต้น เมนูการให้บริการของภาครัฐ (E-services) ซึ่งเกษตรกรสามารถมาขอรับบริการจากภาครัฐ เช่น การขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร การขอรับบริการฝนหลวง การขอรับการรับรองการผลิตตามมาตรฐาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในระบบยังมีข้อมูลของเกษตรกรที่เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบ และเจ้าหน้าที่ที่เป็นสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ จะมีข้อมูลที่ได้จากการถอดบทเรียนจากสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ข้อมูลความเชี่ยวชาญของสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ในแต่ละด้าน ที่จะให้เกษตรกรสามารถติดต่อขอคำปรึกษา แนะนำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามที่ต้องการได้ ในขณะเดียวกัน ได้มีการพัฒนาฐานองค์ความรู้ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ องค์ความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ มารวบรวมไว้ในระบบเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ เช่น กรณีปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ก็ได้นำองค์ความรู้ของพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหามาเก็บไว้เป็นแหล่งข้อมูลในระบบ เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้สนใจมาสืบค้นข้อมูลและนำไปใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองต่อไปได้

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 จะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นฐานจากเกษตรกรตามโครงการสำมะโนการเกษตร จึงอยากขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการให้ข้อมูลการผลิตอันเป็นความจริง ปัญหาการผลิต และรายได้ เพื่อเตรียมตัวที่จะเข้าสู่การพัฒนาและปฏิรูปการเกษตรในปี 2556-2561 โดยจะมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรควบคู่กับการบริหารเกษตรกร บนพื้นฐานที่มีข้อมูลเกษตรกรที่ชัดเจน ตลอดจนมีข้อมูลพื้นที่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับตัวเกษตรกรและสินค้าที่ทำการผลิต

...คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสทำการผลิตให้เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของตัวเอง รวมถึงความต้องการของพื้นที่ และความต้องการของตลาด เพื่อให้เกิดการสมดุลระหว่างภาคการผลิตและภาคการตลาด เพราะหากมีการผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ และตามความเหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรแล้ว ก็จะสามารถช่วยให้สินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพ และช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 เมษายน 2556

ห้าม"เอเปก"ออกกฎกีดกันเพิ่ม

เอเปกมีมติให้สมาชิกงดออกมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ จนถึงปี 2559 หลังหลายประเทศเริ่มใช้เพิ่มขึ้น พร้อมเดินหน้าดัน WTO เจรจาจัดทำบาหลี แพ็กเกจ ให้ได้ข้อยุติปลายปีนี้

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีการค้าเอเปกได้มีการประชุมหารือ ณ เมืองสุราบายา อินโดนีเซีย มีมติให้สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โดยยืนยันที่จะไม่ออกมาตรการใหม่ๆ (standstill) ที่เป็นการปกป้องทางการค้า (protectionism) ไปจนถึงปี 2559 รวมทั้งลดมาตรการกีดกันทางการค้าลง หลังจากมีแนวโน้มที่หลายประเทศเริ่มนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนการเจรจาการค้าในองค์การการค้าโลก (WTO) เอเปกจะผลักดันให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 9 ณ เกาะบาหลี ในเดือน ธ.ค.2556 ให้มีบาหลี แพ็กเกจ โดยต้องสรุปผลในเรื่องการจัดทำความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า การหารือเรื่องเกษตรในบางประเด็น และประเด็นด้านการพัฒนา รวมถึงการเจรจาความตกลงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) เพื่อขยายขอบเขตสินค้าและเพิ่มสมาชิกภายใต้ความตกลง ซึ่งเป็นการสะท้อนพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และครอบคลุมสินค้าไอทีใหม่ๆ

“สมาชิกเอเปกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เป็นสมาชิก WTO โดยเอเปกมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี รวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจีดีพีโลก ดังนั้น จึงถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่สมาชิกเอเปกจะต้องมีส่วนสนับสนุนให้การประชุม WTO ครั้งที่ 9 ประสบความสำเร็จ” นางพิรมลกล่าว

นางพิรมลกล่าวว่า เอเปกได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อม โดยในปีที่ผ่านมาผู้นำเอเปกให้การรับรองรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม 54 รายการ เพื่อนำมาลดอัตราภาษีศุลกากรให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 ภายในปี 2558 ซึ่งที่ประชุมยืนยันความสำคัญของการดำเนินการลดภาษี เพื่อให้เป็นไปตามที่ผู้นำได้ตกลงร่วมกัน โดยอินโดนีเซียได้เสนอให้รวมสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น น้ำมันปาล์มดิบ และยางพารา ไว้ในรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาลดภาษีด้วย แต่ที่ประชุมยังไม่มีฉันทามติในการรับรองข้อเสนอดังกล่าวของอินโดนีเซีย.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 30 เมษายน 2556

จ.กาฬสินธุ์เตรียมจัดโซนนิ่งการปลูกพืชตามนโยบายรัฐบาลในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศ

จังหวัดกาฬสินธุ์เตรียมจัดโซนนิ่งการปลูกพืชเศรษฐกิจรวม 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อยโรงงาน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เมื่อเช้าวันนี้ 29 เมษายน 2556 ที่ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีคณะกรรมการฯ จากส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดพื้นที่ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อยโรงงานให้เกิดความเหมาะสมกับพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายของรัฐบาลในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม ระดับอำเภอ และแต่งตั้งคณะทำงานสำรวจพื้นที่ดินด้านเกษตรกรรม ระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยในระดับอำเภอและระดับตำบล และจัดทำแผนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเน้นการบริหารจัดการที่เป็นกลไกลธรรมชาติ

ที่ผ่านมาจังหวัดกาฬสินธุ์ใช้พื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยในหลายพื้นที่ เช่น หลายพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และปลูกข้าวในที่ดอนทำให้ได้ผลผลิตต่ำเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร จังหวัดกาฬสินธุ์จะได้รวบรวมข้อมูลมาจัดโซนนิ่งการปลูกพืชเศรษฐกิจรวม 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อยโรงงาน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิต การจัดการด้านการตลาด การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า และการจัดระบบ Logistics ตามนโยบายของรัฐบาลในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 29 เมษายน 2556

เกษตรฯมหาสารคาม เตรียมพร้อมก้าวสู่เออีซี

มหาสารคาม - เกษตรจังหวัดจัดเสวนา "บทบาทกรมส่งเสริมการเกษตร กับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน" เตรียมความพร้อมภาคการเกษตรทั้งระบบ ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

วันนี้(29 เม.ย.)ว่าที่ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัด ได้จัดเวทีเสวน "บทบาทกรมส่งเสริมการเกษตร กับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน" ซึ่งมีทั้งผลดีและผลกระทบต่อภาคการเกษตร ตั้งแต่ระบบงานของรัฐ ระบบผลิตผลผลิต และสินค้าการเกษตรของเอกชน จนถึงเกษตรกร และผู้บริโภค

จึงจำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับทราบ และเข้าใจถึงขั้นตอน กระบวนการ รายละเอียด ความท้าทาย และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือเออีซี เพื่อรักษาภาคการเกษตรของไทย โดยการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส หรือสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนในอนาคต

กรมส่งเสริมการเกษตรมีบุคลากรและหน่วยงานในสังกัดรองรับถึงระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นเจ้าภาพหลักโครงการพัฒนาสินค้าพืช เพื่อเข้าสู่เออีซี ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยแต่ละจังหวัดต้องรวบรวมสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ อาทิ กำหนดจุดยืนทางยุทธศาสตร์ จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด นโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด แผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูลสินค้าเกษตรสำคัญของจังหวัด และสภาพแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่ต้องคำนึงถึงการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และมีคุณภาพ

ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ความสามารถในการผลิต เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของเออีซี และที่สำคัญต้องให้เกษตรกรเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับเออีซี เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิต และการตลาด สามารถแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้

ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจการผลิตเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่เออีซีปี 2558 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์ 081-790-5256 และ 088-549-7944

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 29 เมษายน 2556

กรมทรัพยากรน้ำผลักดัน 7 ยุทธศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำโขง – อีสาน ชี มูล แก้ปัญหาภัยแล้ง

กรมทรัพยากรน้ำแถลงปิด “โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่” พร้อมทางออกการแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการจัดการระบบน้ำ 7 ยุทธศาสตร์ในลุ่มน้ำโขง – อีสาน ชี มูล พื้นที่กว่า 104.60 ล้านไร่ ยกแนวพระราชดำริมาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อคุณภาพชีวิตของชาวอีสานแบบยั่งยืน

นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำ มีภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวมของประเทศ โดยมีแนวความคิดที่จะแก้ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ เพื่อสร้างสมดุลยภาพการใช้น้ำให้ทุกภาคส่วน อีกทั้งยังจะพัฒนาระบบเครือข่ายน้ำไปยังพื้นที่วิกฤตน้ำที่ขาดแคลนด้วยความเร่งด่วน

ทั้งนี้จึงได้มีการจัดทำ “โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่” ขึ้นเพื่อศึกษาความเหมาะสมของระบบเครือข่ายและระบบกระจายน้ำให้ทั่วถึงไร่นาและแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งการกระจายน้ำไปยังหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตามโครงการ (Feasibility Study : FS) พร้อมทั้งศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ (Environmental Impact Assessment : EIA) และศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ในระดับลุ่มน้ำโขง – อีสาน ชี มูล ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 167,356 ตร.กม หรือประมาณ 104.60 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่การปกครอง 20 จังหวัด รวมประชากรทั้งสิ้น 21.57 ล้านคน

แผนหลักการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในลุ่มน้ำ โขง ชี มูล ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้

1.) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วยการพัฒนาตามแผนของหน่วยงานตามการพัฒนาโครงการระบบเครือข่ายน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งแบ่งเป็น การพัฒนาโครงการโดยการผันน้ำจากแม่น้ำโขง และระบบเครือข่ายน้ำ2.) ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มที่ป่าไม้ ให้มีสัดส่วน ประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ภาคอีสาน หรือประมาณ 26 ล้านไร่ เพื่อก่อสร้างฝายต้นน้ำ สำหรับกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน
3.) ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทาน โดยการเสนอให้มีการปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานรวม 9 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวฟ่างหวาน ถั่วเหลือง และไม้ผล
4.) ยุทธศาสตร์การพัฒนาฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานของประเทศ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอกับความต้องการของโรงงานเอทานอลและความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมเดิม
5.) ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทางเลือก เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล ในการขับเคลื่อนโครงการ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล
6.) ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เนื่องจากบทบาทที่โดดเด่นของประเทศไทย ในการผลิตอาหารเพื่อประชากรโลก อีกทั้งภาคอีสานยังเป็นศูนย์กลางของ AEC อีกด้วย
7.) ยุทธศาสตร์การจัดผังการใช้ที่ดิน การปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก และการแก้ปัญหาดินเค็ม

โดยแต่ละขั้นตอน ได้ให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วม และที่ผ่านมามีการจัดการประชุมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง 4 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนารวมทั้งสิ้น 6,873 คน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักทรัพยากรน้ำภาคส่วนประสานและบริหารจัดการลุ่มน้ำ

“ข้อสรุปของแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ได้จากการจัดทำโครงการ คือ การผันน้ำโขงในช่วงฤดูฝน เพื่อทำการเก็บกักในแหล่งน้ำที่มีอยู่ และสร้างขึ้นใหม่มาใช้ในฤดูแล้ง โดยใช้ระบบคลองส่งน้ำและกระจายน้ำโดยระบบท่อร่วมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ และการขุดสระเก็บน้ำในไร่นา ตามแนวพระราชดำริ และสำหรับกลยุทธ์ในการพัฒนา จะส่งเสริมการปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานที่ใช้น้ำน้อย อีกทั้งกำหนดการให้น้ำอยู่ที่ 500 ลบ.ม./ไร่/ปี ซึ่งพอเพียงสำหรับการเพิ่มผลผลิตประมาณเท่าตัว สำหรับพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง” นายชัยพร กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 เมษายน 2556

สภาเกษตรกรพิจิตรจัดพิมพ์ แผนพัฒนาการเกษตรฯเออีซี

นายแสณ เกิดฤทธิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับประเทศเพื่อนบ้านถึงแนวความคิดต่างๆในการทำเกษตรกรรม เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 เบื้องต้นสภาเกษตรกรจังหวัดพิจิตรจะจัดทำหนังสือแผนพัฒนาการเกษตร ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ประมาณ 200 หน้า โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบูรณาการทางสังคมและการเกษตร รวมถึงแนวนโยบายและข้อปฏิบัติต่างๆ ในรูปแบบการพัฒนาประเทศและจังหวัด โดยจะเน้นจังหวัดพิจิตรเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรชีวภาพ สิทธิของเกษตรกร และการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน รวมถึงการเป็นฟาร์มเมอร์ไลฟ์ ตลอดจนแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ จังหวัดพิจิตรเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่จะมีการจัดพิมพ์แผนพัฒนาดังกล่าวแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเป็นการแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษแบบบรรทัดต่อบรรทัด เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ โดยการจัดพิมพ์แผนพัฒนาการเกษตรดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูล คาดว่าหากแล้วเสร็จ จะพิมพ์แจกสภาเกษตรกรทุกจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 เมษายน 2556

41 ปี กลุ่มเกษตรกรไทย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ถือเป็นวันรำลึก วันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรของประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลส่งเสริม จึงกำหนดจัดงานวันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรขึ้น ภายใต้ชื่อ “41 ปี กลุ่มเกษตรกรไทย ก้าวไกลสู่โลกกว้าง” ขึ้นที่สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ภายในงานจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องนำเสนออย่างหลากหลาย ทั้งการสัมมนา และการแสดงผลงานของกลุ่มเกษตรกร

“สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับมอบภารกิจส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรจากกรมส่งเสริมการเกษตร มาตั้งแต่ปี 2545 ภายใต้นโยบายการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงของกลุ่มเกษตรกรได้เน้นส่งเสริมให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีการขยายปริมาณธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของสมาชิกให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม” นายสมายกล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการพัฒนาอาชีพหลักและอาชีพเสริม ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งพัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตและเครือข่ายความร่วมมือกับสหกรณ์ เอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 เมษายน 2556

ค้านลดดอกเบี้ยสกัดบาทแข็ง

ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในวันนี้ คือเงินทุนไหลเข้ามาในตราสารหนี้ ซึ่งมีพันธบัตร (ระยะยาว) ของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญ

นายวิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊ค ในประเด็นเรื่องแนวทางการจัดการเงินทุนไหลเข้า โดยคัดค้านการใช้นโยบายลดดอกเบี้ย พร้อมเสนอ 5 แนวทาง มีรายละเอียดดังนี้

เรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่ "hot" ที่สุดเวลานี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการจัดการเงินทุนไหลเข้า และค่าเงินบาท

หลายคนสงสัยว่าทำไมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จึงไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยหยุดเงินทุนไหลเข้าได้จริงหรือ และถ้ากนง.ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทางการควรมีมาตรการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้าอย่างไร

ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะหยุดเงินทุนไหลเข้า
อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมากคือสำหรับเงินกู้เพียงหนึ่งวันเท่านั้น แต่ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในวันนี้ คือเงินทุนไหลเข้ามาในตราสารหนี้ ซึ่งมีพันธบัตร(ระยะยาว)ของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญ

ถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวจะลดลงด้วย โดยเฉพาะถ้าตลาดเห็นว่ารัฐบาลยังมีแผนที่จะออกพันธบัตรมากู้เงินอีกจำนวนมาก หรือถ้าตลาดเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ถูกแทรกแซงไม่สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างอิสระ ส่งผลให้เงินเฟ้อในอนาคตมีโอกาสสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวก็จะปรับเพิ่มขึ้นได้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง

แต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เพราะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ระบบธนาคารพาณิชย์นำไปใช้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ วันนี้หนึ้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเร็วมาก ฐานการออมของประเทศลดลง และเชื่อได้ว่ามีฟองสบู่เกิดขึ้นในสินทรัพย์หลายประเภท ถ้าปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำไปนานๆ จะทำให้ฟองสบู่ในอนาคตขยายขึ้นจนควบคุมได้ยาก

ใครที่เคยเจ็บตัวเมื่อปี 2540 คงจะเข้าใจดี

รัฐบาลส่วนใหญ่มองแค่สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงไม่ค่อยสนใจเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร

นอกจากนี้ หลายคนคงไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในวันนี้ค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในทวีปอื่นๆ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าเรามาก แต่เงินก็ไม่ได้ไหลเข้าประเทศเหล่านี้มากเหมือนกับที่เราเผชิญอยู่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่ต้นเหตุหลักของเงินทุนไหลเข้านะครับ

อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือ "ด้านราคาที่มีผลเหวี่ยงแหในระดับมหภาค" ทั้งในวันนี้และวันหน้า ถ้าจะจัดการปัญหาเรื่องเงินทุนไหลเข้า และค่าเงินบาทแข็งแล้วควรใช้มาตรการที่ "เฉพาะเจาะจง" ถึงต้นเหตุของเงินทุนไหลเข้ามากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะมาตราการเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ แต่รัฐบาลทุกประเทศมักไม่ชอบมาตรการเหล่านี้เพราะอาจจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลสูงขึ้น แผนการกู้เงินจะทำได้ไม่สะดวกเหมือนอย่างที่อยากให้เป็น

ผมคิดว่ามีแนวทางอย่างน้อย 5 เรื่องที่ควรได้รับการพิจารณาเพื่อจัดการเงินทุนไหลเข้าและปัญหาค่าเงินบาท โดยไม่สร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต

1. การเร่งแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐบาลเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากชาวต่างประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลไทยได้ (ทำให้เท่าเทียมกับคนไทยที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยพันธบัตร) เรามีมติครม. เรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์แต่กระทรวงการคลังไม่ขับเคลื่อนให้มีการแก้ประมวลรัษฎากรให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แม้ว่าเมื่อแก้ประมวลรัษฎากรแล้ว นักลงทุนจากบางประเทศจะไปขอคืนภาษีได้เพราะมีสนธิสัญญาภาษีซ้อนกับไทย

แต่การหักภาษี ณ ที่จ่าย จะเป็นการสร้าง friction ให้เงินทุนที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร และสร้างภาระให้นักลงทุนต่างประเทศต้องไปดำเนินการขอคืนภาษีเอง วิธีการนี้เป็น capital control ที่โปร่งใส ชัดเจน และเป็นธรรมที่สุด ไม่สร้างผลเสียด้านความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างประเทศในระยะยาวเหมือนกับ capital control บางประเภทซึ่งทางการควรหยิบยกมาพิจารณาด้วยเช่นกัน เช่น การกำหนดระยะเวลาการถือครองพันธบัตรขั้นต่ำของนักลงทุนต่างประเทศ การเก็บภาษีเงินลงทุนในพันธบัตร

2. ทบทวนวิธีการกู้เงินของรัฐบาล ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งเพราะรัฐบาลออกพันธบัตร inflation linked bond จำนวนมากที่ได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุนต่างประเทศ การออกพันธบัตรที่มีเป้าหมายเป็นนักลงทุนต่างประเทศในเวลานี้จำเป็นหรือไม่ รัฐบาลควรจะหันมาพัฒนาตลาดพันธบัตร saving bonds

สำหรับขายให้ผู้ฝากเงินในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะจะช่วยลดการพึ่งพิงนักลงทุนต่างประเทศ เพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ฝากเงินในประเทศ และช่วยสร้างความเข้มแข็งของฐานเงินออมภาคประชาชนอีกด้วย

3. ทบทวนกรอบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเป็นช่องทางเงินทุนไหลเข้าที่สำคัญมากเช่นกัน ตัวเลขการขอสิทธิประโยชน์บีโอไอสูงเป็นประวัติการณ์ จำเป็นหรือไม่ที่เรายังต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดิมอีก อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในวันนี้ลดลงมาจาก 30% เหลือ 20% แล้ว และเรายังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย ผมเชื่อว่ามีการลงทุนหลายประเภทที่เราเคยส่งเสริมในอดีต แต่ไม่ต้องการในปัจจุบัน

4. ทบทวนนโยบายและเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างจริงจัง วันนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนถึงเกือบสองในสามของสินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ และยังแข่งขันกันปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ในสภาวะที่เรากังวลเรื่องฟองสบู่ สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้มาตรการป้องกันฟองสบู่ผ่านนโยบาย prudential measures ไม่ได้ผล เราควรควบคุมนโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างไร

5. ประเด็นสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด การออกนโยบายหรือมาตรการใดๆ เพื่อแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า และค่าเงินบาท จะต้องได้รับการยอมรับจากตลาดว่าเป็นมาตรการที่น่าเชื่อถือ หรือมี credibility สูง หมายความว่าจะต้องเป็นมาตรการที่ทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นตรงกัน และรับผิดชอบร่วมกันอย่างหนักแน่น แต่เรายังเห็นความขัดแย้งทางความคิดและพฤติกรรมที่มุ่งแต่ประเด็นเรื่องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่พยายามจะทำมาตรการเฉพาะเจาะจงร่วมกันแบบเป็น package

และที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือเริ่มมีความพยายามจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจเป็นนโยบายกีฬาสีเหลืองสีแดง ถ้าวิธีการบริหารเศรษฐกิจยังเป็นแบบที่จะเอาชนะกัน ไม่มีทางที่มาตรการต่างๆที่ออกมาจะเกิดผล เพราะจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากตลาด

มาตรการทางเศรษฐกิจทุกอย่างมีต้นทุน ต้องแน่ใจว่าเมื่อออกมาแล้วมีประสิทธิภาพ ถ้าสามารถออกมาตรการที่เฉพาะเจาะจงได้ จะลดผลเสียข้างเคียงได้ดีกว่ามาตรการมหภาคแบบเหวี่ยงแห (เช่นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย)

ก่อนที่การตัดสินใจนโยบายเศรษฐกิจจะกลายเป็นนโยบายกีฬาสี ผมอยากเห็นนักเศรษฐศาสตร์ และผู้รู้ทั้งหลายช่วยกันคิดและชี้นำสังคมว่าเราควรจะออกมาตรการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อบริหารเงินทุนไหลเข้า และแก้ปัญหาค่าเงินบาทได้อย่างไร

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 เมษายน 2556

เกษตรฯเล็งปรับโครงสร้าง รื้อใหญ่องค์กรรองรับการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก-ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทุกส่วนราชการพิจารณาปรับปรุงระบบงานและทบทวนบทบาทภารกิจให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ภาคราชการเป็นองค์กรขนาดเหมาะสมที่มีศักยภาพการทำงานและเพิ่มคุณภาพการให้บริการกับประชาชน ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด มีการพัฒนามาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร ให้ไทยเป็นศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นเมืองเกษตรสีเขียว รวมถึงเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช

กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการทำงานและจัดโครงสร้างหน่วยงานภายใต้แผนยุทธศสตร์การพัฒนาหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2554-2556 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงใน 2 ประเด็น คือ การพัฒนากระบวนการและรูปแบบการทำงาน และการพัฒนาโครงสร้างและปรับปรุงบทบาทภารกิจของส่วนราชการ ซึ่งเน้นให้มีการเตรียมโครงสร้างองค์กรในทุกส่วนราชการ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านมาตรฐาน ด้านต่างประเทศ และด้านภูมิภาค

โดยในส่วนของด้านมาตรฐาน กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการให้บริการเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตร การตรวจสอบสินค้าเกษตรทั้งการส่งออกและนำเข้า เพื่อให้สินค้าเกษตรมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ส่วนด้านต่างประเทศนอกจากมีหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจต่างประเทศที่ชัดเจนแล้ว ได้เตรียมจัดตั้งกองเกษตรอาเซียนเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะทำหน้าที่จัดทำนโยบายในภาพรวม เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการภารกิจด้านต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนเป็นการเฉพาะ สำหรับในส่วนภูมิภาคได้กำหนดหน่วยงานให้บริการในระดับพื้นที่ เพื่อให้บริการทางด้านการเกษตรกับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การส่งเสริม และสนับสนุนการทำการเกษตร โดยเน้นการทำงานในเชิงรุก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 เมษายน 2556

เร่งเดินหน้ามาตรการลดทุนผลิต สศก.เปิดผลสแกนไตรมาสแรก พบค่าแรงดันภาพรวมต้นทุนพุ่ง

นายอภิชาต จงสุกล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการจัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สอดรับกับโครงการ Smart Farmer โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรการลดต้นทุนสินค้าเกษตรด้านต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์และกำหนดมาตรการในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งด้านการใช้พืชพันธุ์ดีในปริมาณที่เหมาะสม การลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี การจัดหาและสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงาน เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิตในแต่ละรายสินค้า สำหรับรองรับการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรที่ได้ประกาศพื้นที่เหมาะสมสำหรับสินค้า 6 ชนิดไปแล้ว และดำเนินการวิเคราะห์ความเหมาะสมของดินกับความต้องการปัจจัยการผลิตของแต่ละชนิดพืชที่สำคัญ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ

สำหรับต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไตรมาสแรกปี 2556 นั้น สศก. ได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญจำนวน 36 ชนิด พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.9 - 7.1 โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นค่าแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 3.7 - 8.4 และค่าวัสดุต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 2.3 - 5.8 เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการจ้างแรงงานภาคการเกษตรที่หลากหลาย เช่น การจ้างเป็นรายวัน จ้างเป็นต่อไร่ หรือจ้างเป็นต่อหน่วยของผลผลิต เป็นกิโลกรัม หรือ เป็นผล เป็นต้น จึงส่งผลให้ค่าแรงงานเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหากพิจารณาเป็นกลุ่มพืชสำคัญพบว่า

กลุ่มข้าว ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 5.6 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานในกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ส่วนมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3

กลุ่มพืชไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 7.1 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานในกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ส่วนมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8

กลุ่มไม้ผลไม้ยืนต้น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 2.9 โดยมูลค่าปัจจัยด้านแรงงานในกิจกรรมเตรียมดิน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ส่วนมูลค่าวัสดุที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีปราบวัชพืชศัตรูพืช เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.3

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 เมษายน 2556

เออีซีทำ 5 กลุ่มอาหารเสียศูนย์เร่งปรับตัวสร้างความได้เปรียบคู่แข่ง

นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. เปิดเผยว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารประเภทต่างๆ ไปอาเซียน ประกอบด้วย น้ำตาลทราย สิ่งปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม ซุปและอาหาร ปรุงแต่งมีมูลค่า 1,238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาได้แก่ สินค้าจากข้าว และแป้งมูลค่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าประมงมูลค่า 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากการศึกษาของ สศอ. พบว่าภาพรวมสินค้าอาหารของไทยหลังเป็น AEC จะมีทิศทางที่ดีขึ้น คือมีความได้เปรียบเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอาหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 73 ที่ส่งออกไปตลาดอาเซียนมีความได้เปรียบเพิ่มขึ้น อย่าง ไรก็ตาม ยังมีสินค้าอาหารอีกร้อยละ 26 ที่ไทยส่งออกไปอาเซียน แม้จะยังคงความได้เปรียบอยู่ แต่ความได้เปรียบนั้นเริ่มลดลงหลังการเข้าสู่ AEC ประกอบด้วย 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจาก ประเทศมาเลเซียมีความได้เปรียบมากขึ้น

ซึ่งจากเดิมที่มีความได้เปรียบอยู่แล้ว ประกอบกับประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์มีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว 2.ปลา (แช่แข็ง) มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิม ที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว 3.ไก่แปรรูป มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจาก ประเทศมาเลเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว 4.สินค้าพืช ผัก ผลไม้ สูญเสียความได้เปรียบเนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความ เสียเปรียบอยู่แล้ว ประกอบกับประเทศ มาเลเซียมีความได้เปรียบจากเดิมที่มีความเสียเปรียบ

นอกจากนี้ ยังสินค้าอาหารที่ไทยมีความเสียเปรียบมากขึ้นจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว ได้แก่ สัตว์น้ำเปลือก แข็ง (ปู หอย) แช่แข็ง เนื่องจาก ประเทศ ฟิลิปปินส์มีความได้เปรียบมาก ขึ้น ประกอบกับประเทศมาเลเซียมีความ เสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้อง ปรับตัวเพื่อชิงส่วนแบ่งกลับคืน

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 29 เมษายน 2556

"เงินบาท" ขาดทุน โอกาสเถ้าแก่ไทยใน CLMV

การแข็งค่าของเงินบาททำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยลดลง ซึ่งแนวโน้มยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์นี้เป็นมาตั้งแต่ช่วง 3 สัปดาห์แรกของปี 2556 โดยเริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างช้าๆ และกลับมาแข็งค่ามาก ขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม และค่าเงินบาทล่าสุด ณ วันที่ 17 เม.ย.56 = 28.928 บาท/US

นักวิเคราะห์ทางการเงินบางคนคาดการณ์รุนแรงถึงขั้นเป็นไปได้ที่ค่าเงิน บาทอาจแข็งค่าถึง 25 บาท/US นั่นหมายความว่ารายได้จากการขายสินค้าไปต่างประเทศจะลดลง เช่นเคยขายสินค้า 100 US แลกเป็นเงินบาทได้ 3,000 บาท (30 บาท/US) ก็แลกได้เพียง 2,500 บาท (25 บาท/US)

การส่งสินค้าไปขายแดนไกล เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป จึงไม่ใช่ความได้เปรียบ เพราะนอกจากจะแลกเงินได้น้อยลงแล้ว ยังเสียค่าขนส่งแพงกว่าการขายสินค้าใกล้บ้าน เช่นในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง

จึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายของรัฐบาลจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกของไทยไปในอาเซียนให้มากขึ้น จากเดิมมีสัดส่วนประมาณ 25% ก็จะเพิ่มเป็น 50% คือยอดส่งออกไปทั่วโลกในแต่ละปี ครึ่งหนึ่งจะอยู่ในอาเซียน ปัจจัยสนับสนุนหลักคือการสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกับประเทศรอบด้านนั่นเอง

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.71 ในขณะที่มาเลเซียค่าเงินแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย อินโดนีเซียค่าเงินปรับตัวอ่อนค่าลง รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 13.50

"การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบเชิงลบ คือ แรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ส่วนปัจจัยเชิงบวก คือการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนมีราคาถูกลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบ และเอื้อต่อการขยายการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุน" ดร.ณัฐพล กล่าว

ดร.ณัฐพล กล่าวอีกว่าแนวทางในการลดผลกระทบคือ การเพิ่มการค้าภาย ในภูมิภาคในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ที่เริ่มเปิดประเทศ เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวสูง ซึ่งจากความได้เปรียบด้านที่ตั้งของไทย ต้นทุนขนส่งสินค้าที่ต่ำ ภาษีการค้าที่จะเป็น 0% และสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นตลาดใหม่ของสินค้าอุตสาหกรรมที่จะมาชดเชยตลาดหลักที่เริ่มมีปัญหา อีกทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปลงทุนต่างประเทศเพื่อขยายความสามารถในการผลิตที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดจากปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะแรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการค้าในกลุ่ม AEC

"กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากพอสมควร แนวทางซึ่งถือ เป็นโอกาสคือสนับสนุน SMEs บุกตลาด อาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่อง จากเป็นตลาดที่ SMEs สามารถทำตลาด ได้ง่ายกว่าตลาดอื่น สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และที่สำคัญไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปและแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง เพราะจะส่งผล ให้กำหนดราคาขายลำบาก ไม่สามารถทำข้อตกลงซื้อขายระยะยาวได้ และประสบปัญหาขาดทุน

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 29 เมษายน 2556

ปรับราคา "น้ำตาลทราย" หนึ่งจุดเปลี่ยนแห่งเออีซี

ใครที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจ อาจจะคุ้นหูกับคำว่า ลอยตัวราคาน้ำตาลลอยตัวก็คือ ปล่อยให้กลไกราคาเป็น ไปตามดีมานด์-ซัพพลายในตลาด ต่างจาก ปัจจุบันที่ราคาน้ำตาลถูกควบคุมโดยรัฐ หมายความว่า ไม่ว่าราคาในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร ราคาน้ำตาลทรายในเมืองไทย ก็ยังยันไว้ในเรตกิโลกรัม 23 บาท

ด้านหนึ่งดีสำหรับผู้บริโภค เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับความผันผวนของราคา แต่ ด้านหนึ่งอาจต้องเสี่ยงกับภาวะน้ำตาลขาด แคลน เนื่องจากถูกลักลอบขนออกไปขายในต่างประเทศซึ่งได้ราคาดีกว่า ซึ่งหากถูกลักลอบขนออกนอกประเทศมากๆน้ำตาลในประเทศก็ขาดแคลน เมื่อขาด แคลน ราคาก็ต้องปรับขึ้น แม้การควบคุม ของรัฐก็เอาไม่อยู่

เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเกิด จึงมีกระแสชี้นำว่า ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องลอยตัวราคาน้ำตาล ไม่ เช่นนั้น วันใดที่ราคาน้ำตาลในเมืองไทยถูก กว่าข้างนอก ลาวเอย กัมพูชาเอย พม่าเอย อาจจะดอดเข้ามาแอบกว้านซื้อไปปล่อยต่อ

ล่าสุด สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ก็ออกมาตอกย้ำเรื่องนี้ว่า รัฐบาลต้องลอยตัวราคา น้ำตาล หลังจากได้มีการศึกษาโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย อย่างละเอียด

โดยดร.วิโรจน์ ณ ระนอง และ คณะ ได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจ ทำให้น้ำตาลหายไปจากประเทศในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงกว่าราคาในประเทศ

"เราเสนอให้รัฐเลิกควบคุมราคาน้ำตาล เมื่อรัฐเลิกควบคุมราคาก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลหายไปจากตลาด อีกต่อไป แล้วหันมาควบคุมปริมาณแทน คือควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศ หากทำได้ราคาน้ำตาลภายในประเทศจะไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็น นอก จากนี้ เรายังเสนอให้รัฐอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลทรายโดยเสรีเพื่อป้องปรามการรวมหัวกันตั้งราคาน้ำตาลที่สูงเกินควร"

ดร.วิโรจน์ กล่าว พร้อมอธิบายว่า ภาษีนำเข้าน้ำตาลจากอาเซียนที่ลดลงทำให้ยี่ปั๊วนำเข้าน้ำตาลจากอาเซียนได้เสรีโดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากโรงงานน้ำตาลใน ไทยอย่างเดียว เมื่อภาษีต่ำ ก็สามารถขาย ในราคาที่ต่ำได้

นอกจากนี้ ยังไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดน้ำตาลโควตา ก.เพราะโครงสร้าง ใหม่เปิดให้มีการนำเข้าน้ำตาลอย่างเสรี ซึ่งถ้าน้ำตาลในประเทศไม่เพียงพอก็สามารถ นำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศได้ ผู้เล่นจะมีมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะโรงงานน้ำตาลไม่กี่แห่ง

สอดคล้องกับ จำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL GROUP ที่กล่าวว่า เมื่อเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยจะต้องปรับระบบ จากการควบคุมราคา มาเป็นระบบลอยตัว

"ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศไว้ในราคาเดียว ข้อเสียของระบบนี้คือ ถ้าเมื่อไหร่ราคาตลาดโลกสูง ก็จะมีการลักลอบส่งออกน้ำตาล ทำให้ปริมาณการบริโภคในประ-เทศขาดแคลน" ซีอีโอ เคเอสแอล กล่าว

ขณะที่สัญญาณจากกระทรวงอุตสาหกรรม ดูเหมือนจะคล้อยตามแนวคิดนี้

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย รับทราบผลการศึกษาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของทีดีอาร์ไอ ซึ่งเสนอให้ลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ และเปิด ให้นำเข้าน้ำตาลแบบเสรี โดยการลอยตัวราคาน้ำตาลไม่กำหนดเพดานราคาขั้นต่ำหรือขั้นสูงไว้ แต่จะอ้างอิงราคาน้ำตาลตลาดโลกเหมือนกับราคาขายปลีกน้ำมัน

เป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งต้องปรับตัวตามกลไกเออีซี

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 29 เมษายน 2556

ส.อ.ท.จ่อถกผู้ว่าฯ ธปท.ออกมาตรการคุมค่าเงินบาท 30 เม.ย.นี้

นายพยุงศักดิ์ ชาติสิทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 เมษายนนี้ เวลา 13.00 น. จะมีการหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการออกมาตรการคุมค่าเงินบาทไม่ให้แข็งตัว เนื่องจากขณะนี้ส่งผลกระทบกับการส่งออกแล้ว โดยทาง ส.อ.ท.ยังคงยืนยันมาตรการที่เคยได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้คือ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย 1 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ค่าเงินใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาค หรือประเทศคู่ค้า และค่าเงินบาทจะต้องทรงตัว

ทั้งนี้ จากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ค่าเงินได้เริ่มอ่อนค่าลงนั้น ส่วนตัวมองว่า เกิดจากที่นักลงทุนที่ได้เข้ามาเก็งกำไรกับค่าเงินบาท กังวลว่าจะมีการออกมาตรการคุมค่าเงิน และเป็นช่วงค่าเงินผันผวน ดังนั้นทาง ส.อ.ท.จึงมองว่า เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรออกมาตรการคุมค่าเงินที่ชัดเจนจะดีกว่า

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 28 เมษายน 2556

อำเภอหนองบัวแดงก้าวใหม่กับการพัฒนาการเกษตรก้าวสู่อาเซียน

อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ นำหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ รับทราบ เสริมความรู้การพัฒนาจังหวัดในเรื่องการพัฒนาการเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยเป็นครัวของโลก เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558

นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธาน ในการเสริมความรู้การพัฒนาจังหวัดในเรื่องการพัฒนาการเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยเป็นครัวของโลก เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ที่หอประชุมอำเภอหนองบัวแดง แก่หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอหนองบัวแดงกว่า 400 คน ในการที่จะร่วมกันพัฒนาพืชการเกษตรซึ่งประชากรของไทย ส่วนใหญ่ยังคงอาชีพการเกษตร และพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีการปลูกข้าวเป็นอันดับที่ 125 ของประเทศ อ้อยโรงงานอันดับ 7 มันสำปะหลัง อันดับ 3 และปลูกยางพารา เป็นอันดับที่ 42 ของประเทศ แต่เมื่อเทียบระหว่างพื้นที่เพาะปลูกกับผลผลิตที่ได้ นับว่ายังต่ำมาก ทำให้เกษตรกรชาวไร่ ชาวนาส่วนใหญ่ ยังมีฐานะยากจน ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาการเกษตรให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จะมีการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตรที่สำคัญ ทั้ง อ้อยส่งโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกยางพารา และปลูกข้าวไว้บริโภค เหลือไว้ขาย ในการเสริมความรู้ จะมีทั้งเทคนิคแนวใหม่ ในการบำรุงดิน การให้อาหารเสริมสำหรับพืชต้องการการดูแลรักษาพื้นที่เพาะปลูก รวมไปถึงการคัดเลือกพันธุ์พืช การดูสภาพพื้นที่ดินว่าจะเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช เพื่อให้ปลูกพืชแล้ว ได้ผลผลิตที่สูง คุ้มค่ากับการลงทุน นำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปทำการเกษตรกรต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยเป็นครัวของโลก เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 28 เมษายน 2556

อาเซียนซัมมิทมั่นใจเออีซีเกิดได้ตามกรอบเวลา

การประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 22 ที่กรุงบันดา เสรี เบกาวัน เมืองหลวงของบรูไน ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายนศกนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้นำ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนหยิบยกมาหารือกันยังคงเป็นเรื่องของมาตรการเตรียมความพร้อมไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกัน (เออีซี) ในช่วงปลายปี 2558

ตลอดจนประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับกลุ่มย่อยของอาเซียน อาทิ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

บรูไนซึ่งเป็นประธานอาเซียนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2556 เลือกสโลแกนการประชุมในปีนี้ว่า "Our People, Our Future Together." เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทภาคประชาชนในการทำให้อุดมการณ์เกี่ยวกับการเป็นประชาคมเดียวกันของอาเซียนกลายเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังต้องการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทภาคประชาชนใน 10 ประเทศสมาชิกของอาเซียนในการพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม-วัฒนธรรม

ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ มาเลเซียซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการรณรงค์เลือกตั้งทั่วประเทศที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม ได้ส่งประธานวุฒิสภาคือตันศรี อาบู ซาฮาร์ อูยัง มาร่วมประชุมในฐานะผู้แทนพิเศษ (Special Representative of the Prime Minister) ของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี โดยตันศรี อาบู ซาฮาร์ จะเข้าร่วมในการประชุมผู้นำอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 22 การประชุมผู้นำ 4 เหลี่ยมเศรษฐกิจอาเซียนตะวันออก หรือ BIMP-EAGA Summit ครั้งที่ 9 ซึ่งประกอบด้วย บรูไน-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ และการประชุมผู้นำ 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ IMT-GT Summit ครั้งที่ 7 ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย

สื่อต่างประเทศรายงานว่า นอกจากการหารือถึงความคืบหน้าของแต่ละประเทศในการมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันภายในสิ้นปี 2558 แล้ว ระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ ยังมีการลงนามจัดตั้งศูนย์ประสานงานสำหรับสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ Centre for IMT ด้วย เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคโดยจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุน ตามที่ได้มีการระบุไว้ในแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาปี 2550-2554 (Roadmap for Development 2007-2011) ที่ทั้ง3ประเทศได้ตกลงกันไว้

ผู้นำอาเซียนยืนยันความมั่นใจว่าอาเซียนจะสามารถไปสู่เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันได้ภายในกรอบเวลาที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในขณะนั้นเปิดเผยว่า สมาชิกอาเซียนได้เดินหน้าดำเนินการสิ่งต่างๆที่จำเป็นไปแล้วถึง 75 % และที่เหลืออีก 25 % นั้น คาดว่าจะสามารถทำได้เสร็จสิ้นก่อนเส้นตายที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับทรรศนะของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนจากศูนย์อาเซียนศึกษาในสิงคโปร์ที่ระบุว่า อาเซียนจะสามารถจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ตามกำหนด แต่จะเป็นประชาคมที่แตกต่างไปจากสหภาพยุโรป (อียู) "เราคงไม่ได้เห็นตลาดการค้าเสรีในมาตรฐานระดับทองอย่างในยุโรป แต่เราจะมีเขตการค้าเสรีในแบบของอาเซียน คือจะมีความยืดหยุ่น ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละประเทศ" สันชิตา บาซู ดาส หัวหน้านักวิจัยของศูนย์อาเซียนศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาแห่งสิงคโปร์กล่าวและว่า อาเซียนขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่บีบบังคับ แต่มีการวางกรอบและแนวทางเอาไว้ให้ประเทศสมาชิกมุ่งเดินไปในทิศทางเดียวกัน

"อาเซียนอาจประกาศการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันในกรอบที่กำหนด แต่การลงมือปฏิบัติตามข้อตกลงจนเป็นรูปธรรมอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น" นักวิชาการอาเซียนศึกษาระบุ

นอกจากนี้ เกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทในเขตทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีหลายชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันนั้น นายเบนิกโน ซิมยอน อาคิโน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ สนับสนุนให้มีการประกาศหลักปฏิบัติที่มีผลผูกมัดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในทะเลจีนใต้ และสนับสนุนให้มีความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยด้านการเดินเรือในน่านน้ำระหว่างประเทศ

หลังจากการประชุมอาเซียนครั้งนี้ บรูไนในฐานะประธานอาเซียนจะจัดประชุมอาเซียนซัมมิทอีกครั้งคือครั้งที่ 23 และการประชุมอื่นๆในระดับผู้นำ ในวันที่ 9-10 ตุลาคมศกนี้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 เมษายน 2556

ไทยเร่งเตรียมการเจรจา FTA รอบแรก กับสหภาพยุโรป

ประธานผู้แทนการค้าไทย (ดร.โอฬาร ไชยประวัติ) ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ได้เป็นประธานการประชุมคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 2 เพื่อรับทราบสถานะความคืบหน้าการเตรียมการเจรจาในแต่ละกลุ่มเจรจา และหารือประเด็นปัญหาที่อาจมี รวมทั้ง แจ้งกำหนดการของการเจรจารอบแรก ที่จะมีขึ้นระหว่างที่ 27 - 31 พฤษภาคม 2556 ณ กรุงบรัสเซลส์

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการติดตามการบ้านที่ได้ให้ไว้ในการประชุมครั้งที่แล้ว จากหัวหน้ากลุ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป 14 กลุ่มเจรจา ประกอบด้วย (1) การค้าสินค้า (2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (4) มาตรการเยียวยาทางการค้า (5) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (6) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (7) การค้าบริการ (8) การลงทุน (9) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (10) ทรัพย์สินทางปัญญา (11) การแข่งขัน (12) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (13) การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ (14) ข้อบททั่วไปที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสและการบริหารจัดการความตกลง ซึ่งรับผิดชอบแต่ละเรื่องที่จะเจรจา และเป็นผู้นั่งโต๊ะเจรจากับผู้เจรจาของฝ่ายสหภาพยุโรป

ดร.โอฬาร กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้แลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการ แต่ทุกกลุ่มเจรจามีความพร้อมและได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี โดยได้ศึกษาข้อตกลง FTA ที่สหภาพยุโรปทำกับประเทศอื่นเพื่อศึกษาท่าที จุดแข็ง และจุดอ่อนของสหภาพยุโรป รวมทั้งเตรียมการรุกและรับในการเจรจากับสหภาพยุโรป ต่อไป

ดร.โอฬาร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อแก้ไขประเด็นอ่อนไหว/ปัญหาอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี” โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และองค์ประกอบ ประกอบด้วยอธิบดีทุกกรม ผู้แทนจากสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมธนาคารไทย และภาคประชาชน โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้จัดประชุมคณะทำงานชุดนี้เป็นครั้งแรก เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขประเด็นอ่อนไหวและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

โดยในชั้นนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะรวบรวมผลการศึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นอ่อนไหวและประเด็นที่เป็นข้อกังวลในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ผลกระทบจากการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรป 2) ทรัพย์สินทางปัญญา 3) การลดอัตราภาษีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ และ 4) กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยใช้อนุญาโตตุลาการ เพื่อให้คณะทำงานฯ ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็นทั้งเชิงกว้างและลึก พร้อมทั้งกำหนดว่าข้อมูลด้านใดยังมีไม่เพียงพอ และต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อคิดเห็น เสนอต่อคณะเจรจาฯ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำท่าทีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ต่อไป.

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 26 เมษายน 2556

ปั้นไทยศูนย์กลางตลาดสินค้าเกษตร มก.-AFETพัฒนาองค์ความรู้

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าและการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องในภาคการเกษตร นอกจากนี้ยังจะมีส่วนในการพัฒนาและขยายบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรในภูมิภาคอย่างแท้จริง

ด้านนายชาตรี สหเวชชภัณฑ์ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของ AFET ที่มีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง และมีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิอย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะร่วมเป็นผู้พัฒนาความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการ เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงด้านราคาของสินค้าเกษตรด้วยกลไกตลาดล่วงหน้า

“AFET ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร และต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการสินค้าเกษตร รวมไปถึงองค์กรภาคเกษตรผ่านสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการกำหนดหลักสูตรการบริหารจัดการความเสี่ยงในตลาดล่วงหน้าให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการสินค้าเกษตรรุ่นใหม่ และในอนาคตจะพัฒนาหลักสูตรให้ลงถึงเกษตรกรอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายชาตรี กล่าว

ผศ.นุชนาถ มั่งคั่ง คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ว่า ในขั้นแรกทั้งสองหน่วยงานมีความเห็นตรงกันที่แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งสามารถส่งเสริมจุดแข็งให้แก่กันได้ในด้านภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในขั้นต่อมาต้องการให้มีการนำความรู้ที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงสำหรับภาคการเกษตร โดยผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเผยแพร่ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนทั่วไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 เมษายน 2556

แบงก์โลกชมตลาดทุนไทยพัฒนา บรรษัทภิบาลสูง-บอร์ดมืออาชีพ

ธนาคารโลกเปิดเผยผลประเมินบรรษัทภิบาลตลาดทุนไทยปี 2555 ในรายงานเรื่องการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล (The Report on the Observance of Standards and Codes : Corporate Governance Country Assessment) หรือ CG-ROSC ซึ่งปรากฏว่าตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่ดีในการยกระดับบรรษัทภิบาลและเป็นผู้นำในภูมิภาคโดยได้คะแนนสูงในทุกเรื่องที่สำคัญซึ่งพัฒนาการนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนอีกทั้งยังเป็นการรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มความเป็นมืออาชีพให้กับคณะกรรมการบริษัท และยกระดับความโปร่งใสของกิจการ

อย่างไรก็ดี ตลาดทุนไทยยังสามารถปรับปรุงการดำเนินการด้านบรรษัทภิบาลได้อีกหลายด้านเพื่อให้ทัดเทียมสากลยิ่งขึ้น ดังนี้ 1.การยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจและปรับปรุงบทบาทภาครัฐในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.การส่งเสริมความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

3.การปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มบทบาทของ ก.ล.ต. ในเรื่องดังกล่าว 4.การมีมาตรการให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีสากลอย่างเต็มรูปแบบและเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน รวมทั้งข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน 5.การกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเพื่อสร้างความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีและการดำเนินงานของตัวกลางในตลาดทุน 6.การดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างให้คณะกรรมการบริษัทมีความเป็นอิสระและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การประเมินผลฯครั้งนี้ตลาดทุนไทยได้คะแนน 82.83 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยได้คะแนนสูงสุดในหมวดการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสซึ่งธนาคารโลกเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปีของ บจ.ส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐานสากลอีกทั้งมีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลของบจ.ที่ทำให้ผู้ลงทุนรับทราบได้หลายช่องทางและในเวลาที่เหมาะสมพร้อมกันนี้ยังได้ปรับปรุงและออกกฎหมายและหลักเกณฑ์หลายฉบับเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านบรรษัทภิบาล อาทิ การกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้นและการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท เป็นต้น

นายเดวิด โรบิแนท ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก กล่าวว่า ผลการประเมินแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านบรรษัทภิบาลในภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องส่งเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานของก.ล.ต.และธปท. รวมถึงยกระดับธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้สูงขึ้น เพื่อรักษาความเป็นผู้นำ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่าผลการประเมินสะท้อนให้เห็นถึงบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเกิดจากความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขกฎหมาย กฎเกณฑ์ และปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการของตลาดทุนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นความสำเร็จได้อย่างแท้จริง หากทุกฝ่ายร่วมปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางอีกหลายด้านให้ดีขึ้นจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนยิ่งขึ้น โดยใช้ความมุ่งมั่นและความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ตลาดทุนไทยไม่แพ้ชาติใด ในโลก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 เมษายน 2556

"บ่อพลอย"แล้งหนักขาดแคลนน้ำ

กาญจนบุรี - นายอิทธิพัทธ์ รัตนสุวรรณาชัย นายก อบต.หลุมรัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ตำบลหลุมรังมี 18 หมู่บ้าน 2 พันกว่าครัวเรือน ราษฎร 4,000 คน พื้นที่การเกษตรประมาณ 70,000 ไร่ ขณะนี้ในทุกพื้นที่หมู่บ้านกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เนื่องจากฝนไม่ตกลงมาติดต่อกันนานกว่า 3 เดือนแล้ว อีกทั้งแหล่งน้ำที่มีอยู่ก็เริ่มแห้งขอด รวมทั้งคลองลำตะเพิน ที่เป็นแหล่งน้ำสายหลักก็เริ่มเหลือน้อยเต็มที และอากาศร้อนอบอ้าวเป็นอย่างมาก

นายอิทธิพัทธ์กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่ประชาชนได้รับก็คือทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น เช่นเกษตรกรผู้ปลูกไร่สับปะรด ไร่อ้อย และอื่นๆ พืชผลทางการเกษตรเริ่มเสียหายขยายวงกว้าง รวมกันประมาณ 70,000 ไร่โดยทุกปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบในระยะเวลาเดียวกันต้องยอมรับว่าปีนี้แห้งแล้งกว่าทุกปี ตอนนี้ชาวบ้านต้องพึ่งพาน้ำบาดาลและการแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ไปพลางๆ อย่างไรก็ตาม ยังห่วงเรื่องฝนแล้งที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 26 เมษายน 2556

ชงรัฐ 5 มาตรการแก้บาท สอท.ถกแบงก์ชาติลดดอกลง 1% สัปดาห์หน้า

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้สรุป มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าในภาวะวิกฤต 5 มาตรการ เพื่อที่จะนำไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในสัปดาห์หน้า รวมถึงแนวทางการผลักดันการส่งออกที่จะนำไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ 5 มาตรการในการดูแลค่าเงินบาทได้แก่ 1.ให้รัฐบาลบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบภาวะวิกฤตเพราะขณะนี้มีสัญญาณการเก็งกำไรค่าเงินบาทภายในประเทศเนื่องจากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าระดับ 6% ซึ่งถือว่าแข็งมากกว่าในภูมิภาค 2.เปลี่ยนนโยบายดูแลค่าบาทที่อิงอัตราเงินเฟ้อ (Inflating Targeting ) เป็นนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchang Rate Targeting) 3.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ทันทีจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75%

4.ใช้นโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) ที่จะต้องห้ามนำเงินลงทุนออกไปจากประเทศไทยที่มีลักษณะของการเก็งกำไรเป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 3 เดือน และหากไม่สามารถบรรเทาความผันผวนได้ก็ค่อยๆ ปรับเพิ่มระยะเวลาให้มากขึ้นเป็น 6 เดือน และ 5.ปรับปรุงนโยบายการออกพันธบัตรของธปท.ซึ่งเห็นว่าขณะนี้มีการออกมามากเกินจนทำให้เงินไหลเข้ามามากทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่ง ส.อ.ท.ร่วมอยู่จะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ถึงแนวทางการผลักดันการส่งออก 26 เม.ย.นี้ ซึ่งยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยลดต่ำ การไปแสวงหาตลาดใหม่จึงไม่ง่ายนักแต่ก็คงจะต้องพยายาม นอกจากนี้รัฐจะต้องผลักดันให้เกิดการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอุปสรรคการค้าต่างๆ ที่จะต้องแก้ไขเพื่อเอื้อต่อการส่งออก

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชี้แจงสถานการณ์ค่าเงินบาท โดยยืนยันว่า ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมาตลอด และไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยอมรับว่าในระยะหลังเงินบาทแข็งค่ามากและเร็ว ซึ่งทาง ธปท.ได้เตรียมมาตรการไว้พร้อมสำหรับใช้ในกรณีที่จำเป็น แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทหรือไม่

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศแน่นอนเพราะกว่า 70% ของจีดีพี พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก แต่แม้การส่งออกจะถูกกระทบเศรษฐกิจก็ยังโตไปได้ จากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาล ทั้งค่าแรง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่กระตุ้นกำลังซื้อและการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ได้สั่งกำชับให้ดูแลลูกค้า โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า โดยจะมีสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี โดยเน้นหลักช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพื่อให้เอกชนดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่สำหรับธนาคารลูกค้าส่วนใหญ่ด้านส่งออกจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งซื้อประกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่า ลูกค้าเอกชนต้องปรับตัวเพราะไม่สามารถพึ่งเงินบาทอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นส่งออกเนื่องจากเงินทุนจะยังไหลเข้าเอเชียต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียเป็นเศรษฐกิจเปิด และการที่บาทแข็งค่าก็มีผลดีกับการนำเข้า แต่มีผลเสียทำให้สินค้าส่งออกราคาสูงขึ้น

ส่วนข้อเสนอของ ส.อ.ท.ที่ต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ย 1% เพื่อแก้เงินบาทแข็งค่า เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยถือเป็นต้นทุนต่อการผลิตในสัดส่วนที่น้อย คือ ไม่ถึง 10% แต่ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่าแรงและการผลิต และเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบันเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เนื่องจากดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป แต่หากลดดอกเบี้ยแรงถึง 1% จะเกิดผลกระทบกับผู้ออมเงิน ซึ่งจะโยกเงินฝากไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งอาจเกิดปัญหาฟองสบู่ตามที่ ธปท.วิตก

ด้าน นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เห็นว่า ธปท.ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสมแล้ว และดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ร้อยละ 2.75% ก็เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

มร.ซานเจย์ มาธัวร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) ธนาคารเดอะรอยัลแบงก์ออฟสกอตแลนด์ เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่า นับจากนี้ต่อไปเงินบาทไทยจะแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย จัดอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน โดยยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาทไทย และมองว่าภายในสิ้นปีนี้ เงินบาทไทยจะแข็งค่าขึ้นและทรงตัวอยู่ที่ 28.25 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 เมษายน 2556

ก.เกษตรเปิดตัวเกษตรกรดีเด่นประจำปี 2556

เกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เตรียมเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลฯ

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2556 นี้ มีเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่น ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2556 ในวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2556 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 15 สาขาอาชีพ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน จำนวน 2 สาขา

สำหรับ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2556 จำนวน 15 สาขาอาชีพ คือ 1) อาชีพทำนา ได้แก่ นายช่วย สาสุข จ.ร้อยเอ็ด 2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายบำรุง หนูด้วง จ.สุราษฎร์ธานี 3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร จ.นครราชสีมา 4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นายการุณ ศุขะพันธ์ จ.ลพบุรี 5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางกองงัน จำนงบุญ จ.ชัยภูมิ 6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายอาหะมะ อาลีมาส๊ะ จ.ยะลา 7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ ร้อยเอกนายแพทย์ปัญญา ยังประภากร จ.นครปฐม

8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายธนภณ แสงสุบิน จ.ฉะเชิงเทรา 9) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายบัวพันธ์ บุญอาจ จ.หนองบัวลำภู 10) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายสมชาย ต้นหิรัญมาศ จ.อ่างทอง 11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายมาโนช โพธิ์เมือง จ.มุกดาหาร 12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายนิมิต ทักโลวา จ.อุดรธานี 13) สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายอาทิตย์ มติธรรม จ.สุราษฎร์ธานี 14) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นางนงนุช ยังปากน้ำ จ.สตูล และ 15) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายวาทิน คันธี จ.อุดรธานี

ส่วนสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2556 จำนวน 13 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาวังแดง จ.อุตรดิตถ์ 2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ เกษตรกรทำสวนไม้เรียง จ.นครศรีธรรมราช 3) กลุ่มเกษตรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่ท่าสายลวด จ.ตาก 4) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะบ้านห้วยหอม จ.แม่ฮ่องสอน 5) กลุ่มเกษตรกรทำประมง ได้แก่ กลุ่มพัฒนาผู้เลี้ยงกุ้งเกษตรกรพอเพียง 49 จ.สมุทรสาคร 6) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มแปรรูปปลาห้วยบงตรา 1 เดียว จ.หนองบัวลำภู 7) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันบัวบก จ.พะเยา 8) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 25 จ.แพร่

9) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านห้วยโรง จ.นครสวรรค์ 10) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำคลอง RMC 1 จ.เชียงราย 11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลคลองเกตุ จ.ลพบุรี 12) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม จ.เพชรบุรี และ 13) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนธนาคารชุมชนตำบลสร้างถ่อน้อย จ.อำนาจเจริญ

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2556 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ 1) สหกรณ์การเกษตรทั่วไป ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรหนองหญ้าไซ จำกัด จ.สุพรรณบุรี 2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมไทย – เดกมาร์ก (มิตรภาพ) จำกัด จ.สระบุรี 3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมวังพระธาตุ จำกัด จ.กำแพงเพชร 4) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางไสกรูดการเกษตร จำกัด จ.นครศรีธรรมราช 5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์อนามัยสุรินทร์ จำกัด จ.สุรินทร์ 6) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์เกษตรศาสตร์ จำกัด จ.นครปฐมและ 7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เอ็น เอช เค สปริง จำกัด จ.สมุทรปราการ

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2556 จำนวน 2 สาขา คือ 1) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายโชคดี ปรโลกานนท์ จ.นครราชสีมา 2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุวิทย์ ไตรโชค จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ในวันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีลงมติให้เป็น "วันเกษตรกร” ประจำปี ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานในการประกอบพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองแก่อาชีพของตน การเกษตรนับเป็นภาคการผลิตและเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ในวันพระราชพิธี พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกรนับแต่นั้นเป็นต้นมา

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 25 เมษายน 2556

โคราชแดดเปรี้ยงเผาอ้อยแห้งตายเกือบ 100 ไร่ ปัญหาภัยแล้งขยายไปทั่วทั้งจังหวัด

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ผู้สื่อข่าวประจำจ.นครราชสีมา รายงานว่า ต้นอ้อยของเกษตรกรบ้านท่าอ่าง ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย เกือบ 100 ไร่ ต่างยืนต้นแห้งตายจากปัญหาภัยแล้งและอากาศที่ร้อนจัด โดยสภาพของต้นอ้อยนั้นถูกแดดเผาจนใบแห้งกรอบ นางธัญธิตา ศรีสุระ หัวหน้ากลุ่มงานอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบไร่อ้อยที่แห้งตายดังกล่าวแล้ว พบว่าไม่ได้เกิดจากโรคแมลง แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด จึงเป็นเหตุให้ต้นอ้อยดังกล่าวยืนต้นแห้งตาย ซึ่งก่อนหน้าในในพื้นที่ อ.โนนไทย และอ.ด่านขุนทด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งรุนแรงของจังหวัด ก็มีต้นอ้อยถูกแดดเผาจนตายไปแล้วกว่า 100 ไร่ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีต้นข้าวนาปรังของเกษตรกรยืนต้นแห้งตายจากปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้วหลายอำเภอ แต่ทั้งหมดไม่สามารถที่จะให้การช่วยเหลือชดเชยความเสียหายแก่เกษตรกรได้ เนื่องจากหน้าแล้งปีนี้ได้มีการประกาศเตือนให้เกษตรกรงดการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว

ทั้งนี้จากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดตั้งแต่ต้นปี 2556 ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จ.นครราชสีมาขยายวงกว้างไปทั่วทั้งจังหวัด ล่าสุดได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งไปแล้ว 29 อำเภอ 224 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,379 หมู่บ้าน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 เมษายน 2556

‘หมอดินศรีสะเกษ’สนองงานศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ฟื้นฟูดิน-สร้างอาชีพตามแนวพระราชดำริราชินี

โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโครงการในพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาการเกษตรฯ ขึ้นเมื่อปี 2537 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อำเภอภูสิงห์ ที่แต่เดิมมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคงขึ้น

นายนุกูล แสงทอง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินศรีสะเกษ กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า เมื่อปี 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในอำเภอภูสิงห์ ทรงทราบว่าราษฎรในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้ไม่เพียงแต่ยากจนเท่านั้น แต่ยังประสบกับภาวะอดอยาก ไม่มีแม้แต่ข้าวที่จะประทังชีวิตให้อยู่รอดเนื่องจากฝนทิ้งช่วงติดต่อกันหลายปี ทำให้การทำนาและทำไร่ซึ่งเป็นอาชีพหลักไม่ได้ผล ส่งผลให้เด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่ขาดสารอาหารจำนวนมาก พระองค์พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ที่มีการให้บริการเบ็ดเสร็จ ลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการในพื้นที่รวม 540 ไร่

สถานีพัฒนาที่ดินศรีสะเกษ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้สนองงานด้านพัฒนาที่ดิน โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยดูแลกิจกรรมหลักให้บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ข้อมูลดินและการใช้ประโยชน์จากที่ดินควบคู่กับกิจกรรม จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรบนพื้นฐานการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน บนพื้นที่ 42 ไร่

จากการสำรวจและวิเคราะห์ดินพบว่า ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำมากเนื่องจากเป็นดินทรายหรือร่วนปนทราย ไม่สามารถ อุ้มน้ำได้ มีปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินสูง เกษตรกรมีการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร และมักเผาตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต และมีการใช้ปุ๋ยเคมีรวมถึงสารเคมีมาก โดยขาดความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบต่อจุลินทรีย์ในดินและระบบนิเวศน์ ทำให้อาหารที่เกษตรกรผลิตดังกล่าวมักจะปนเปื้อนสารเคมี ทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาค่อนข้างต่ำ ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน และก่อให้เกิดหนี้สินติดตามมา

ฉะนั้น สถานีพัฒนาที่ดินศรีสะเกษ ได้กำหนดแผนงานและกิจกรรมต่างๆ สำหรับดำเนินงานด้านพัฒนาที่ดินในศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ โดยมุ่งเน้นปรับปรุงพื้นที่ โดยใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น การปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อเพิ่ม
อินทรียวัตถุในดิน การผลิตปุ๋ยหมัก พด.1 ปุ๋ยน้ำหมัก พด. 2 เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน พร้อมจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันและแก้ไขความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน และจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาที่ดินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องครบถ้วนสมดังพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ สาธิตการทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ สาธิตและส่งเสริมการใช้ปุ๋ยพืชสด เพื่อให้เป็นจุดสาธิตและเรียนรู้ของเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

นายวิรัตน์ รัตนวิกรม เจ้าพนักงานการเกษตรอาวุโส ผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากมีโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง จนทำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกษตรกรรู้จักวิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยสารอินทรีย์ชีวภาพ การปรับโครงสร้างของดิน การเติมปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดิน เรียนรู้หัวใจสำคัญของทรัพยากรดิน ด้วยการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ทำการเกษตร สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรสามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ สำหรับการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ดินในโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยตึ๊กชู ตำบลไพรพัฒนา ตำบลละลม ตำบลโคกตาล ตำบลตะเคียนราม ตำบลดงรักและตำบลห้วยตามอญ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ ได้มีการขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียงของโครงการ อีกด้วย

อย่างไรก็ดี คาดว่าเกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่มีการขยายผลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่อำเภอภูสิงห์ หรือใกล้เคียง สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้แนวทางการพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจรได้ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านตะแบงใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 เมษายน 2556

สอท.วอนแบงก์ชาติอัดยาแรงสกัดบาทแข็ง ลดดอกเบี้ย-คุมทุนเคลื่อนย้าย

สอท.โอดค่าเงินบาทแข็ง ส่งออกแย่ วอนแบงก์ชาติงัด มาตรการเข้มข้นจัดการ ปรับนโยบายการเงินเลิกกำหนดเป้าเงินเฟ้อมาเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ลดดอกเบี้ย 1% คุมเงินไหลเข้าต่ำกว่า 3 เดือน สกัดเก็งกำไร ด้านแบงก์ชาติย้ำเกาะติดใกล้ชิด มีแผนรับมือแต่ต้องรอบคอบหวั่นเกิดผลข้างเคียง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้ประชุมสมาชิกโดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่เดือดร้อนจากเงินบาทแข็งค่าเพื่อกำหนดท่าทีและนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป

นายพยุงศักดิ์กล่าวว่าขณะนี้มีสัญญาณการเก็งกำไรจากค่าเงินบาทต่อเนื่องและทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าภูมิภาค โดยค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 22 เมษายน 2556 แข็งค่าขึ้น 5.93% ขณะที่จีนแข็งค่า 0.97% มาเลเซียแข็งค่า 0.27% เวียดนามอ่อนค่า 0.38% อินโดนีเซียอ่อนค่า 0.74% สิงคโปร์อ่อนค่า 0.86%

การที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องส่งผลให้ผู้ผลิตเพื่อส่งออกบางส่วนหันไปใช้วัตถุดิบนำเข้ามากขึ้นหากยังเป็นเช่นนี้จะกระทบกับซัพพลายเชนที่ผลิตวัตถุดิบป้อนผู้ส่งออกและกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน การที่เงินบาทแข็งค่ารุนแรง สอท.ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการ 5 มาตรการ คือ 1.ให้บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแบบภาวะวิกฤติเพราะมีสัญญาณเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรชัดเจน และหลายประเทศมีมาตรการเพิ่มเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ทำให้เกิดสถานการณ์เงินท่วมโลก

2.เปลี่ยนนโยบายการเงินที่ยึดอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (Inflation Targeting) มาเป็นนโยบายที่ยึดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย (Exchange Rate Targeting) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพราะความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้มีไม่มากเนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงจึงควรปรับนโยบายให้เหมาะสม 3.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1% ทันทีจากปัจจุบัน 2.75% เป็น 1.75% 4.ใช้นโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) โดยห้ามนำเงินลงทุนออกจากไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน และถ้าความผันผวนของค่าเงินไม่ลดลงให้เพิ่มเป็น 6 เดือน 5.ปรับปรุงนโยบายการออกพันธบัตรของ ธปท.

ทั้งนี้อาจจะดำเนินการทั้ง 5 มาตรการ พร้อมกันก็ได้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการอะไรเลยจะมีผลต่อการรับคำสั่งซื้อในไตรมาส 2-3 ปีนี้ โดยเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องทำให้ผู้ส่งออกกำหนดราคารับคำสั่งซื้อลำบาก และเป็นการยากที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้
รวมทั้งคาดการณ์ได้ลำบากว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าขึ้นไปอยู่ระดับใดหลังจากนี้

“หากแบงก์ชาติไม่ดำเนินมาตรการใดเลยการส่งออกปีนี้คงโตแค่ 5.5% แต่ถ้าเงินบาทแข็งทะลุไป 27 บาทต่อดอลลาร์การเติบโตจะต่ำกว่านี้ ผลกระทบจะชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไปเนื่องจากเป็นยอดการส่งออกที่รับออเดอร์ในไตรมาสแรกที่เริ่มมีปัญหาเงินบาท แต่ไตรมาสแรกที่การส่งออกยังโต 4.26% เพราะออเดอร์ที่รับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว” นายพยุงศักดิ์กล่าว

อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่มสินค้าการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเงินและอัญมณี ชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น แผงวงจรไฟฟ้า เซรามิก

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสอท.กล่าวว่าสอท.จะขอเข้าพบนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ในสัปดาห์หน้าเพื่อเสนอความเห็นของสมาชิกโดยเราเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในภาวะการเก็งกำไรจึงเห็นควรว่าน่าจะนำนโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมาใช้ ซึ่งทั้ง 5 แนวทางเป็นมาตรการเข้มข้นที่ ธปท.ปฏิเสธมาตลอดแต่ผู้ส่งออกมองว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วจากที่ สอท.เคยเสนอ ธปท.ไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

สำหรับข้อเสนอที่จะยื่นต่อนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ในวันที่ 26 เมษายน 2556 จะเน้นเรื่องการหาตลาดให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรเร่งดำเนินการและขยายตลาดการค้าชายแดนมากขึ้นเพราะตลาดหลักมีภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและการแข่งขันสูง เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรหาแนวทางให้ผู้ส่งออกไทยเข้าถึงศูนย์กลางการกระจายสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สินค้ากระจายถึงมือผู้บริโภคโดยเร็ว

ขณะเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจ อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุลผู้ว่าการธปท. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าโดยนายกิตติรัตน์กล่าวว่ารู้สึกหนักใจที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเรื่องการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริง

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงินธปท. ยอมรับว่าค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน แข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้น 6.28% จากระดับ 30.55 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 28.82 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี ต่างประเทศเชื่อมั่น แต่ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและยืนยันว่า มีมาตรการที่จะเข้าดูแล หากถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ทุกมาตรการมีผลข้างเคียงจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และยังยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า เพราะดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีอัตราใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน แต่ที่ไทยโดดเด่นกว่า เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจและเครดิตของไทยดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 เมษายน 2556

เตือนปลูกอ้อย-ยางเสี่ยงเจ๊ง สศข.4แนะเช็คพื้นที่จัดโซนนิ่งก่อน/ชี้แล้งหนักทำผลผลิตลด

นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 (สศข.4) ขอนแก่น เปิดเผยว่า สศข.4 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตยางพารา และอ้อยโรงงานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง พบว่าเนื้อที่ปลูกยางพารารวมทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด รวมประมาณ 230,000 ไร่ เป็นเนื้อที่กรีดได้ประมาณ 128,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 22 ผลผลิตที่ได้ประมาณ 23,600 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 18 และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 185 กิโลกรัม ลดลงจากปีที่ผ่านร้อยละ 4 ทั้งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งในปีนี้ ทำให้น้ำยางออกน้อย เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปิดกรีดเร็วขึ้น

ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า จ.กาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ปลูกยางพารามากที่สุดประมาณ 137,000 ไร่ เป็นเนื้อที่เปิดกรีดได้ประมาณ 65,000 ไร่ ผลผลิต 11,800 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 182 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ จ.ขอนแก่น มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 50,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 38,000 ไร่ ให้ผลผลิต 6,600 ตันและผลผลิตไร่ละ 174 กิโลกรัม ส่วน จ.ร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 35,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 21,520 ไร่ ผลผลิต 4,500 ตัน และผลผลิต ต่อไร่ 210 กิโลกรัม และ จ.มหาสารคาม มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 8,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 3,880 ไร่ ผลผลิตประมาณ 770 ตัน และผลผลิตต่อไร่ 200 กิโลกรัม

สำหรับอ้อยโรงงานที่เกษตรกรกำลังตัดส่งโรงงานของ จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ในปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เหลือเพียง 11.50 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 10 ส่วน จ.กาฬสินธุ์ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 11.20 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 9 อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ทั้งยางพารา และอ้อยโรงงานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ค่อนข้างต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของทั้งประเทศ ซึ่งยางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 255 กิโลกรัม และอ้อยโรงงานเฉลี่ยไร่ละ 12.32 ตัน

ดังนั้น เกษตรกรผู้ที่จะลงทุนปลูกยางพาราในพื้นที่ใหม่ และอ้อยโรงงานในพื้นที่เดิม ควรพิจารณาสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกหรือโซนนิ่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก่อนตัดสินใจลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 2 ชนิด เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุนในอนาคตได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 เมษายน 2556

สศอ. เผยรายงานความสามารถการแข่งขันอุตฯ อาหาร ในตลาดอาเซียน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยรายงานว่า การนำเข้าสินค้าอาหารของตลาดอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ในปี 2554 นั้นมีมูลค่านำเข้ารวม 3,443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยมีสินค้าประเภทอื่นๆ ประกอบด้วย น้ำตาลทราย นมและผลิตภัณฑ์นม สิ่งปรุงรส ซุปและอาหารปรุงแต่ง มูลค่ารวม 1,793 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้ารองลงมาได้แก่ สินค้าจากข้าวและแป้ง มูลค่ารวม 847 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสินค้าปศุสัตว์มีมูลค่านำเข้า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการนำเข้าสินค้าอาหารของตลาดอาเซียนนั้นได้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากที่สุด โดยในปี 2554 คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 47.34 รองลงมาได้แก่ มาเลเซียร้อยละ 21.84 และสิงคโปร์ร้อยละ 13.74 ตามลำดับ

ทั้งนี้ นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังตลาดอาเซียนประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารประเภทต่างๆ ประกอบด้วย น้ำตาลทราย สิ่งปรุงรส ผลิตภัณฑ์นม ซุปและอาหารปรุงแต่งมีมูลค่า 1,238 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาได้แก่ สินค้าจากข้าวและแป้งมูลค่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสินค้าประมงมูลค่า 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) นั้นพบว่าภาพรวมสินค้าอาหารของไทยหลัง AECจะมีทิศทางที่ดีขึ้น คือ จากการศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันหลังการเข้าสู่ AEC สินค้าอาหารของไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอาหารส่วนใหญ่ ร้อยละ 73 ที่ส่งออกไปตลาดอาเซียนมีความได้เปรียบเพิ่มขึ้น

สำหรับสินค้าอาหารอีก ร้อยละ 26 ที่ไทยส่งออกไปอาเซียนไทยยังมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ แต่ความได้เปรียบนั้นเริ่มลดลงหลังการเข้าสู่ AEC ประกอบด้วย
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความได้เปรียบมากขึ้น ซึ่งจากเดิมที่มีความได้เปรียบอยู่แล้ว ประกอบกับประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์มีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว

- ปลา ( แช่แข็ง ) มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว

- ไก่แปรรูป มีความได้เปรียบลดลงเนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว

สำหรับสินค้าอาหารของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ที่ 3 ที่สูญเสียความได้เปรียบมี 3 รายการ คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกไปอาเซียน คือ สินค้าพืช ผัก ผลไม้ สูญเสียความได้เปรียบเนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้ว ประกอบกับประเทศมาเลเซียได้รับความได้เปรียบจากเดิมที่มีความเสียเปรียบ

สินค้าอาหารที่ไทยมีความเสียเปรียบมากขึ้นจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้วซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ 4 มีเพียง 1 รายการคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกไปอาเซียน ได้แก่ สัตว์น้ำเปลือกแข็ง (ปู หอย)แช่แข็ง เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์มีความได้เปรียบมากขึ้น ประกอบกับประเทศมาเลเซียมีความเสียเปรียบลดลงจากเดิมที่มีความเสียเปรียบอยู่แล้วจากสินค้าที่เริ่มมีปัญหาความสามารถในการแข่งขันหลัง AEC คือ สินค้าที่อยู่ในเกณฑ์ที่ 2 (มีความได้เปรียบลดลง) เกณฑ์ที่ 3(สูญเสียความได้เปรียบ) และเกณฑ์ที่ 4 ( มีความเสียเปรียบมากขึ้น )

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่า ประเทศที่มีสินค้าอยู่ในกลุ่มต้องรับการพิจารณามากที่สุด คือ สิงคโปร์ โดยมีทั้งสิ้น 14 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.50 ของมูลค่าสินค้าอาหารทั้งหมดที่สิงคโปร์ส่งออกไปยังอาเซียนในปี 2554 รองลงมา คือ ประเทศไทย ซึ่งมีสินค้าที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 14 รายการเช่นกัน แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 26.32 ของมูลค่าสินค้าอาหารทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียนในปี 2554 ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีสินค้าที่อยู่ในกลุ่มต้องรับการพิจารณาน้อยที่สุดเพียง 2 รายการ และมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.37 ของมูลค่าสินค้าอาหารทั้งหมดที่มาเลเซียส่งออกไปยังอาเซียนในปี 2554

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 เมษายน 2556

“ครม.” อนุมัติแต่งตั้งขรก.พลเรือนสามัญ ก.อุตฯให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 5 ราย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ดังนี้ 1. นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมโรงงานอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม 2. นายวีรนันท์ นีลดานุวงศ์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม

รองโฆษกประจำสำนักฯ กล่าวว่า 3. นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการ (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม 4. นายปณิธาน จินดาภู รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม 5. นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองเลขาธิการ (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม

นายชลิตรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ครม.อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ 2 ราย ดังนี้ คือ 1. นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม 2. นายสุรพงษ์ เชียงทอง เลขาธิการ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 เมษายน 2556

งัดดาวเทียมยกเครื่องข้อมูลเกษตร พัฒนาแผนที่ด้วย GPS นำร่อง 8 จว.

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทส (สทอภ.) หรือ GISTDA เพื่อวิจัยและพัฒนาการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลการเกษตร

ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่ผ่านมา ในการขึ้นทะเบียนและจัดทำข้อมูลเกษตรกร ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมส่งเสริมการเกษตร มักพบปัญหาในการบริหารจัดการ เนื่องจากต้องใช้การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลโดยตัวบุคคลไปสู่บุคคล ทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน สำหรับขอบเขตความร่วมมือนั้น สทอภ. จะนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่ สทอภ. มีอยู่ในมือมาเชื่อมต่อเข้ากับฐานข้อมูลการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร และจะร่วมกันวิจัยพัฒนาระบบการหาตำแหน่งพิกัดภาคพื้นดินด้วยดาวเทียม (GPS) ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งในระดับพื้นที่จะใช้แผนที่อัตราส่วน 1:4,000 ส่วนแผนที่อัตราส่วน 1:50,000 ซึ่งใช้ในภาพรวมทั้งประเทศ โดยทดลองนำร่องก่อนใน 8 จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือก คือ มีพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลาย และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ปี 2557

“เกษตรกรจะได้รับประโยชน์มากมายจากความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเสริมข้อมูลพื้นฐาน จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงบริการความรู้ด้านวิชาการ การให้ความช่วยเหลือจากโครงการรัฐบาลได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ลดความผิดพลาดของข้อมูล

นางพรรณพิมล ย้ำด้วยว่า นอกจากนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยได้เปรียบในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เพราะเมื่อระบบฐานข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ นอกจากจะทราบว่า เกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชชนิดใดแล้ว ยังสามารถคำนวณปริมาณผลผลิตในแต่ละปี ทำให้วิเคราะห์บริหารจัดการได้ว่า ควรจะเพิ่มหรือลดการผลิตพืชชนิดใด ซึ่งเป็นการสร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศไปในตัว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 เมษายน 2556

ภัยแล้งผลาญเศรษฐกิจ49จังหวัด

ภัยแล้งผลาญเศรษฐกิจ 49 จังหวัดทั่วประเทศ อีสานอ่วมสุด เขื่อนสำคัญ เหลือปริมาตรน้ำไม่ถึง 10% ของความจุ ภาพรวมพื้นที่เกษตรเสียหายแล้วกว่า 4.6 ล้านไร่ ข้าวหนักสุด ขณะผลพวงภัยแล้งและอากาศที่ร้อนจัดดันราคาหมู ไข่ไก่ พืชผัก กุ้งพุ่งพรวด เหตุผลผลิตลด สวนทางต้นทุนสูง

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ภัยแล้งปี 2556 ล่าสุดว่า มีความรุนแรงมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีระดับความรุนแรงเทียบเท่าภัยแล้งในปี 2553 และภาคตะวันออกและภาคตะวันตก สถานการณ์ดีกว่าปี 2553 อย่างไรก็ดีทางกรมชลประทานได้ตัดสินใจให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปีในเดือนพฤษภาคมได้ทันที โดยไม่ต้องเลื่อนปลูกเหมือนในปี 2553 เพราะมั่นใจว่าปีนี้ฝนจะมาปกติ และทางกรมเองจะพยายามเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด
.
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ(481 แห่ง) ณ วันที่ 22 เมษายน 2556 มีปริมาตรน้ำทั้งสิ้น 3.96 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 52% ของความจุทั้งหมด น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีปริมาตรน้ำ 4.31 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 58% ของความจุ) โดยเขื่อนที่มีปริมาตรน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 20% ในขณะนี้มี 9 เขื่อน อาทิ เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เหลือปริมาตรน้ำ 7% ของความจุ เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เหลือปริมาตรน้ำ 9% เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เหลือปริมาตรน้ำ 6% เขื่อนห้วยน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เหลือปริมาตรน้ำ 11 % ของความจุ เป็นต้น ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง ทั้งหมด 5.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร และ 3.7 พันล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 41% และ 40% ของความจุอ่าง ทั้งหมดตามลำดับ

สอดคล้องกับรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระบุสถานการณ์ภัยแล้งช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 - 22 เมษายน 2556 มีจังหวัดที่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง)จำนวน 50 จังหวัด (ยุติให้ความช่วยเหลือแล้ว 1 จังหวัดคือสตูล) ทำให้ ณ ปัจจุบันยังคงให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินอยู่ 49 จังหวัด ใน 525 อำเภอ 3.5 พันตำบล 3.4 หมื่นหมู่บ้าน อาทิ จังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม ยโสธร ขอนแก่น นครราชสีมา สุโขทัย แพร่ จันทบุรี ตาก เชียงราย และร้อยเอ็ด เป็นต้น

ทั้งนี้จากจำนวน 49 จังหวัด แบ่งเป็นจังหวัดที่ประสบภัยแล้งระดับรุนแรง (มีประสบภัยแล้งมากกว่า 50%) จำนวน 31 จังหวัด ระดับปานกลาง (มีหมู่บ้านประสบภัยแล้งตั้งแต่ 25-50%) จำนวน 10 จังหวัด และระดับเล็กน้อย (มีหมู่บ้านประสบภัยแล้งต่ำกว่า 25%) จำนวน 8 จังหวัด

ขณะที่แหล่งข่าวจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันที่ 22 เมษายน 2556 พบความเสียหายด้านการเกษตร ที่ได้สำรวจแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม -ธันวาคม 2555 ด้านพืช 23 จังหวัด อาทิ กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี และนครราชสีมา สำรวจเสร็จแล้ว มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 6.24 แสนราย มีพื้นที่เสียหาย 4.66 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 4.60 ล้านไร่ พืชไร่ 5.25 หมื่นไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 1.3 พันไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 2.84 พันล้านบาท ส่วนตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ถึงปัจจุบัน ได้สำรวจพบความเสียหายแล้ว 3 จังหวัดเพิ่มเติม ได้แก่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ และอุตรดิตถ์ พบเกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 1.47 พันราย มีพื้นที่เสียหาย 9.20 พันไร่ แบ่งเป็นข้าว 123 ไร่ พืชไร่ 9.08 พันไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1 ไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 7.67 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีนอกจากผลกระทบด้านเกษตรแล้ว จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" ยังส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ด้วย โดยนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า ผลพวงจากภัยแล้ง และอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ มีผลให้สุกรกินอาหารน้อยและโตช้า ทำให้ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้นจากเดิมไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์(สุกรขนาดน้ำหนัก 100 กก.ขึ้นไปปกติใช้เวลาเลี้ยงตั้งแต่แรกคลอดจนถึงจับขายประมาณ 6 เดือน) ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้นและมีความเสี่ยงต่อโรคระบาดรวมถึงราคาที่อาจผันผวนในช่วงที่เลี้ยงนานขึ้น

แม้จะมีความเสี่ยงข้างต้น แต่สถานการณ์ราคาสุกรช่วงนี้ถือว่ายังพอมีกำไรจากที่ก่อนหน้านี้เกษตรกรขาดทุนสะสมมาเป็นระยะ โดยราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มล่าสุดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉลี่ยที่ 68-69 บาทต่อกิโลกรัม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเฉลี่ยที่ 72 บาทต่อกิโลกรัม จากต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยที่ 62 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งระดับราคานี้ทางสมาคมจะได้มีการประชุมสมาชิกเพื่อหาทางตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย ครอบคลุมพื้นที่เลี้ยงกุ้ง 8 จังหวัดภาคตะวันออก(ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว) กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งในช่วงนี้ส่งผลกระทบทำให้การเลี้ยงกุ้งยากขึ้น และมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น น้ำจะเสียเร็ว ดังนั้นจึงต้องใช้ไฟฟ้าในการตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับกุ้งมากขึ้น ประกอบกับการเลี้ยงกุ้งยังมีความเสี่ยงเรื่องโรคตายด่วน(EMS) ที่ยังไม่มีใครสามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ ทำให้เกษตรกรลงกุ้งช้าลง และระมัดระวังตัวมากขึ้น ส่งผลให้กุ้งในตลาดขาดแคลนและมีราคาสูง และเกิดการแย่งซื้อระหว่างพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อไปขายตามท้องตลาดทั่วไป กับโรงงานแปรรูปกุ้ง ตัวอย่างกุ้งขนาด 50-60 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเฉลี่ยที่กว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม จากก่อนหน้านี้ไม่เคยถึงระดับนี้

ขณะที่นางอุศา วิริยบัณฑร ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี เผยว่า จากอากาศที่ร้อนและภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่ไข่เช่นกัน โดยมีผลทำให้ไก่ไม่กินอาหารหรือกินน้อยลง ส่งผลให้ไก่มีโปรตีนในการผลิตไข่ลดลง ไข่ที่ออกมาจึงมีปริมาณที่ลดลง และมีขนาดฟองเล็กลง เฉลี่ยในภาพรวมทั่วประเทศในเวลานี้ผลผลิตไข่ไก่ลดลงจากเดิมประมาณ 10% ต่อวัน ไข่จึงขาดแคลนและราคาสูงขึ้น อีกด้านหนึ่งจากราคาแม่ไก่ที่ปลดระวางมีราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้เฉลี่ยที่ 47 บาทต่อกิโลกรัม หลายฟาร์มจึงจับแม่ไก่ขายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลง ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ณ ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 2.80 บาทต่อฟอง จากต้นทุนเฉลี่ย 2.60 บาทต่อฟอง ถือว่าเกษตรกรเริ่มมีกำไร

เช่นเดียวกับนางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่กล่าว จากสภาพอากาศที่ร้อนทำให้การเลี้ยงไก่ในระบบโรงเรือนแบบปิด(อีแว็ป) ที่มีการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้เย็นมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่วนที่เลี้ยงในระบบโรงเรือนแบบเปิดจากอากาศที่ร้อนทำให้ไก่เนื้อ และไก่ไข่กินอาการลดลง บางส่วนช็อกตาย และต้องใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้นกระทบต้นทุน

ส่วนนายพจน์ เทียมตะวัน นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผัก ผลไม้ไทย กล่าวว่า ภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนทำให้พืชผักในบางพื้นที่ได้รับความเสีย แต่ในภาพรวมยังถือว่าไม่ขาดแคลน เช่นพืชผักที่ปลูกที่จังหวัดสุพรรณบุรีได้รับความเสียหาย ยังสามารถหาพืชผักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรืออ่างทองมาจำหน่ายทดแทนได้ แต่ที่ราคาพืชผักแพงขึ้นมากในช่วงนี้ สาเหตุจากพ่อค้าคนกลางปล่อยข่าวของขาดเพื่อปั่นราคา

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 เมษายน 2556

ไทย-ภูฏานขยายความร่วมมือเกษตรกรรม

ไทย-ภูฏาน จับมือร่วมบริหารจัดการระบบความปลอดภัยด้านอาหาร การเกษตร การตลาดและการท่องเที่ยว พัฒนาโอกาสทางการค้าการลงทุน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือและติดตามการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรไทย - ภูฏาน ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างวันที่ 12 -16 เมษายน 2556 ณ ประเทศภูฏาน ได้รับพระราชทานวโรกาสให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก ณ พระราชวังในนครทิมพู โดยได้พระราชทานแนวคิดในการพัฒนาการเกษตรระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะด้านเกษตรอินทรีย์ ที่ทรงเห็นว่าภูฏานน่าจะสามารถขยายตลาดในด้านสินค้านี้ได้ และประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าเกษตรดังกล่าวได้

ซึ่งนาย Lyonchhen Jigmi Y. Thinley นายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรภูฏาน นาย Lyonpo Ugyen Tshering รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ Dr.Pema Gyamtsho รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้สนองพระราชดำริของพระองค์ฯ และจากการติดตาม ประเมินการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือทางด้านการเกษตรที่ได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2553 ทั้งสองประเทศได้ยืนยันร่วมมือทางด้านการเกษตรระหว่างกันต่อไป

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่บุคลากรของภูฏานทั้งในเรื่องการผลิต การปรับปรุงพันธุ์สัตว์และการบริหารจัดการสุขภาพสัตว์ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าเกษตร การบริหารจัดการระบบความปลอดภัยด้านอาหาร การตลาดสินค้าเกษตร การสหกรณ์และการบริหารจัดการสหกรณ์ การผลิตและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการและการออกแบบภูมิทัศน์สวนไม้ดอกไม้ประดับ

“สาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางด้านการเกษตร (MOU) ที่ได้มีการลงนามร่วมกันนั้น ถือเป็นกลไกและกรอบความร่วมมือที่สำคัญกับประเทศภูฏาน เนื่องจากทั้งสองประเทศ มีความคล้ายคลึงกันทั้งในด้านศาสนา แนวคิด จิตใจ รวมถึงการเป็นประเทศเกษตรกรรม และเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านการเกษตร ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาด้านการเกษตรภูฏานได้ต่อไป รวมทั้งเป็นช่องโอกาสการค้าและการลงทุนของประเทศไทยที่จะขยายการลงทุนสู่ประเทศภูฎานในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนด้านการผลิตอาหารที่ได้มาตรฐาน รองรับการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว อันเป็นความร่วมมือสำคัญในการยกระดับความมั่นคงด้านอาหารของทั้งสองประเทศด้วย” นายยุคล กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 24 เมษายน 2556

ธปท.รับค่าบาท Q1 แข็งค่าแซงภูมิภาค 6.28% พบเงินทุนไหลเข้าพันธบัตรไทยกระหน่ำ

ธปท.แจงค่าบาทไตรมาสแรกแซงภูมิภาคแข็งค่าถึง 6.28% ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียแข็งค่าขึ้นเพียง 0.16% ชี้เป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าหลังเศรษฐกิจไทยดี หนุนเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรอื้อซ่า ถึง 1.4 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาสแรก

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการสรุปภาวะตลาดการเงินของ ธปท.ในช่วงไตรมาสแรก พบว่าอัตราแลกเปลี่ยนทยอยแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 56 ที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.55 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 28.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (23 เม.ย.2556) โดยถือว่าเป็นการแข็งค่าขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนถึง 6.28%

ขณะที่เพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซียแข็งค่าขึ้นเพียง 0.16% เท่านั้น นอกนั้นอ่อนค่าลงทั้งสิ้น โดยเฉพาะ สิงค์โปรอ่อนค่าลง 1.44% อินโดนีเซียอ่อนค่า 1.00% เวียดนามอ่อนค่า 0.41% ฟิลลิปปินส์อ่อนค่าขึ้น 0.63% และเกาหลีใต้อ่อนค่าขึ้น 4.28%

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ค่าบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังคงมาจากการที่ประเทศมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี หลังได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งไทยยังมีแผนการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนมั่นใจในศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ และเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม พบว่าเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร โดยดูจากการถือครองพันธบัตรภาครัฐของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 1/56 โดยเป็นสัดส่วนลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นที่ 40% ขณะที่ ลงทุนในพันธบัตรระยะยาวที่ 60%

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยยอมรับว่าในระยะหลังเงินบาทแข็งค่ามากและเร็ว ซึ่ง ธปท.ได้เตรียมมาตรการไว้พร้อมสำหรับใช้ในกรณีที่จำเป็น แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทหรือไม่

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 เมษายน 2556

พด.มอบปัจจัยการพัฒนาดิน ปลุกขอนแก่นเลิกใช้สารเคมี

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการมอบปัจจัยการผลิตด้านการพัฒนาที่ดิน โครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ณ หอประชุมโรงเรียนเทพศิรินทร์ อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น ว่า ในยุคปัจจุบัน เป็นยุคของการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย (food safety) ผู้บริโภคมีการตื่นตัวในกระแสรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักที่สำคัญ ผู้ผลิตจึงได้มีการปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิดและระบบการผลิตใหม่ โดยหันมาใช้สารอินทรีย์ทดแทน ลดการใช้สารเคมีลงเพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ในที่สุด และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

นายยุทธพงศ์กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตในการปรับกระบวนการผลิต จากการผลิตแบบเดิมที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลักมาสู่การผลิตอาหารปลอดภัย โดยการใช้สารอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรควบคู่กับการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้อย่างยั่งยืน และหากเกษตรกรมีความพร้อมและมีศักยภาพก็มีการสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดสู่เกษตรอินทรีย์ต่อไป ทั้งนี้ การมอบปัจจัยการผลิตด้านการพัฒนาที่ดิน เช่น ถังหมักสำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพ กากน้ำตาล เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ยสด รวมทั้งสารปรับปรุงดินปูนโดโลไมท์ ในโครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ให้กับผู้แทนจากกลุ่มเกษตรกร จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 เมษายน 2556

พิจิตรยังวิกฤตหนัก'บึงสีไฟ'น้ำแห้ง

นายสมชัย สิบหย่อม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 16 ต.หนองโสน อ.สามง่าม จ.พิจิตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้ง จ.พิจิตร โดยเฉพาะ ต.หนองโสน ต.เนินปอ และ ต.รังนก บางส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากข้าวที่กำลังตั้งท้องกว่า 1 แสนไร่ กำลังจะตายเนื่องจากขาดน้ำ นอกจากนี้ข้าวยังมีตายแล้วบางส่วน อีกทั้งไร่อ้อยขาดน้ำเช่นกัน ซึ่งเรียกร้องขอให้ทางภาครัฐเร่งทำฝนเทียมช่วยเหลือเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นภายใน 2 สัปดาห์ผลผลิตเสียหายทั้งหมด

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งใน จ.พิจิตร ยังทวีความรุนแรงแผ่ขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบึงสีไฟซึ่งเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับสามของประเทศไทยเนื้อที่กว่า 5 พันไร่ เกิดแห้งขอด จนมองเห็นเนินดินเนินทรายได้อย่างชัดเจน ทำให้พันธุ์ปลาน้ำจืดนานาชนิดมารวมกันในเกาะแก่งน้ำ จนชาวบ้านหวั่นว่าปลาจะตายและสูญพันธุ์ อีกทั้งจะทำให้ระบบนิเวศของบึงสีไฟเกิดความเสียหาย

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 24 เมษายน 2556

กรมชลฯ-กฟผ.ร่วมพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา

กรมชลประทาน ร่วมกับ กฟผ.ใช้ประโยชน์จากน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท พัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยาฯ ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 61 ล้านกิโลวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ชุมชนอย่างพอเพียง

กรมชลประทาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจสอบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เฉลิมพระเกียรติ 60 ปี บรมราชาภิเษก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โดยตลอด 1 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ชุมชนได้อย่างเพียงพอ

นายชัชชม ชมประดิษฐ์ ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เป็นแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์จากน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งน้ำที่ถูกปล่อยผ่านท้ายเขื่อนสามารถแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าได้ปีละกว่า 61 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ทำให้พื้นที่ อ.สรรพยา และใกล้เคียง มีกระแสไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนอย่างเพียงพอ ทั้งยังสามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้กว่า 95 ล้านลิตร/ปี ซึ่งไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นพลังงานบริสุทธิ์ ตลอดกระบวนการผลิตจึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และน้ำที่ผ่านการผลิตไฟฟ้ามีความสะอาดเช่นเดิม ปล่อยลงสู่ลำน้ำได้ตามปกติ ทั้งนี้ ในระยะแรก กฟผ.เตรียมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 6 แห่ง และจะขยายอีก 25 แห่ง เพื่อเป็นพลังงานสนับสนุนให้ชุมชนมีพลังงานใช้ตลอดทั้งปี

นายชัชชม กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งใน จ.ชัยนาท เริ่มคลี่คลาย เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่มากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีน้ำเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่ากรมชลประทานจะปล่อยน้ำจ่ายสู่ภาคการเกษตรในเดือนพฤษภาคม เกษตรกรจึงเริ่มปลูกพืชอายุยาวได้ตามฤดูกาลปกติ

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ส่งออก มี.ค.ฟื้นเป็นบวก 4.55% “พาณิชย์” ห่วงบาทแข็งทุบยอดไตรมาส 2

ส่งออก มี.ค.พลิกกลับมาบวก 4.55% หลังตลาดโลกฟื้นตัว “วัชรี” เผยบาทแข็งยังไม่กระทบส่งออกไตรมาสแรก แต่ไตรมาส 2 น่าห่วง เตรียมอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่มยอด

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือน มี.ค. 2556 มีมูลค่า 20,770 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือในรูปเงินบาทมีมูลค่า 615,356.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,636.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.52% ในรูปเงินบาทมูลค่า 649,233.6 ล้านบาท ลดลง 14.09% ส่งผลให้เดือน มี.ค.ไทยขาดดุลการค้า 867.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 33,877.2 ล้านบาท

ส่วนยอดส่งออกรวมไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 56,966.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.26% แต่ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.44% ขณะที่ยอดนำเข้ามีมูลค่า 64,877.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.44% หรือในรูปเงินบาทมี 1.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.78%

“ยอดส่งออกเดือน มี.ค.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ช่วยให้ภาคเอกชนภายในประเทศฟื้นตัว จึงมีการสั่งนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัว” นางวัชรีกล่าว

นางวัชรีกล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่ายอมรับว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยไตรมาสแรกค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3% ขณะที่ค่าเงินประเทศคู่แข่งมาเลเซีย เวียดนาม จีนกลับอ่อนค่าหมด แต่การส่งออกไตรมาสแรกยังกระทบไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปี แต่เป็นห่วงว่าในไตรมาส 2 อาจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาทางรับมือ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะหามาตรการเพื่อกระตุ้นตลาดส่งออกเพิ่ม ซึ่งจะมีการเพิ่มความถี่ในการทำตลาดรองและตลาดศักยภาพ รวมถึงการนำผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ไปเจาะตลาดเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้กระทรวงพาณิชย์คงเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 8-9% โดยกำลังอยู่ระหว่างการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกติดตามภาวการณ์นำเข้า สถานการณ์เศรษฐกิจคู่ค้าเพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกแล้ว ส่วนจะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกหรือไม่นั้น ในช่วงปลายเดือน พ.ค.จะมีการหารือกันอีกครั้ง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

อาเซียนวางแผนทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับฮ่องกง

เอเอฟพี - สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จะเดินหน้าผลักดันทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับฮ่องกง โดยในการหารือของผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน เมืองหลวงของบรูไน ในวันพุธ และพฤหัสบดี จะให้การรับรองการตัดสินใจของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับฮ่องกง

“เรายินดีกับการตัดสินใจของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะดำเนินการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับฮ่องกงผ่านข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง” ร่างคำแถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมของประธานอาเซียน ที่สำนักข่าวเอเอฟพีได้รับ ระบุ

เจ้าหน้าที่อาวุโสได้เตรียมร่างคำแถลงฉบับดังกล่าวให้แก่ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนประกาศในวันพฤหัสบดี แม้ว่าเนื้อหาในร่างคำแถลงฉบับนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ก่อนถึงวันประกาศ

ตามตัวเลขจากเว็บไซต์ของสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าฮ่องกงระบุว่า อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของฮ่องกงในปี 2554 รองจากจีน และชาติสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นประเทศคู่ค้า 20 อันดับแรกของฮ่องกง

สำหรับอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยการค้าทวิภาคีระหว่างฮ่องกงและอาเซียนในแต่ละปีนั้น อยู่ที่ร้อยละ 7 ตั้งแต่ปี 2550-2554 และการค้าทวิภาคีในปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ที่ 726,600 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (94,000 ล้านดอลลาร์) จาก 663,200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงของปีก่อนหน้า.

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ประชุมสุดยอดอาเซียนเปิดฉากพรุ่งนี้ คาดเน้นประเด็นเศรษฐกิจ

ซินหัว - เจ้าหน้าที่ของบรูไนระบุวานนี้ (22) ว่า ประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจน่าจะเป็นวาระสำคัญอันดับต้นของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 ที่บรูไนเป็นเจ้าภาพ โดยผู้นำจากชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะรวมตัวกันในวันพุธ (24) เพื่อหารือในประเด็นปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

บรรดาผู้นำจากชาติสมาชิกอาเซียนคาดว่า จะเดินหน้าต่อเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรวมตัวกันของอาเซียนภายในปี 2558 ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักภายใต้หัวข้อการประชุม “Our People, Our Future Together”

อาเซียนเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี ที่จะรวมตัวกันกลายเป็นประชาคมเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป แต่ในเวลานี้อาเซียนยังคงดิ้นรนในการปรับโครงสร้างพื้นฐาน การค้า และกรอบนโยบายเพื่อให้บรรลุผลตามกำหนด

ผู้นำจากมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา และพม่า จะนำคณะผู้แทนที่คาดว่าจะจัดการหารือในระดับทวิภาคีนอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ด้วย

ส่วนใหญ่ของการหารือจะมุ่งเน้นประเด็นเศรษฐกิจกับบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่จะจัดการประชุมสุดยอดนัดพิเศษในวันที่ 25 เม.ย. เพื่อส่งเสริมการค้าระดับภูมิภาค เจ้าหน้าฝ่ายกำหนดการอาเซียน ระบุ ขณะที่การหารือแยกออกไปอีกนัดหนึ่งจะมีขึ้นระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ การสถาปนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT-GT) ที่จะลงนามในวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 โดยเป้าหมายของข้อตกลงคือ การก่อตั้งอนุภูมิภาคที่ก้าวหน้า และรุ่งเรืองที่จะสนับสนุนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2563

เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว IMT-GT มีเป้าหมายที่จะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจนำโดยภาคเอกชน และช่วยอำนวยความสะดวกการพัฒนาอนุภูมิภาคโดยรวม ซึ่งวัตถุประสงค์ของกลุ่มตามที่ระบุในเอกสาร roadmap สำหรับการพัฒนาระหว่างปี 2550-2554 คือ การเพิ่มการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่ายนี้ครอบคลุมประชากรที่อยู่ในอินโดนเซีย มาเลเซีย และไทย กว่า 72 ล้านคน

ในส่วนของประธานาธิบดีเบนินโญ อากิโน ของฟิลิปปินส์ คาดว่าจะยกประเด็นทะเลจีนใต้ที่มีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจขึ้นหารือ แม้ว่าจะไม่รวมอยู่ในวาระอย่างเป็นทางการก็ตาม

ประธานาธิบดีอากิโน จะผลักดันวาระดังกล่าวเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (DoC) และเพื่อให้หลักปฏิบัตินั้นมีผลผูกพันตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์

“ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 ฟิลิปปินส์จะยังคงสนับสนุนความมั่นคงและความร่วมมือทางทะเล ผลักดันให้ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ดำเนินการอย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ เพื่อข้อสรุปเบื้องต้นของหลักปฏิบัติที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และทบทวนกฎบัตรอาเซียนด้วยวัตถุประสงค์ของการทำงานและการประชุมของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ” ราอูล เฮอร์นันเดซ โฆษกกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นในกลางสัปดาห์.

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

บี้ธปท.หั่นดอกเหลือ2%แก้บาทโป๊กหม่อมเต่าแนะผุดกองทุนมั่งคั่ง-ค้ากำไรเงินนอก

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อสรุปมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมการเยียวยา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน จึงขึ้นอยู่กับนายกิตติรัตน์ว่าจะประเมินสถานการณ์ภาพรวมอย่างไร ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะแข็งแตะระดับ 28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ช่วงที่ผ่านมายังไม่มีเอสเอ็มอีเข้ามาร้องเรียนปัญหา โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังยืนยันตัวเลขการเปิด-ปิดกิจการโรงงาน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2555

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้การเคลื่อนไหวของเงินบาทเริ่มเข้าสู่แดนที่แข็งค่ามากและเร็วเกินไปแล้ว แต่ต้องดูสถานการณ์และการปรับตัวของภาคธุรกิจเอกชนว่าเป็นอย่างไร ส่วนจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่มีอยู่มาดูแลหรือไม่นั้น เห็นว่าทุกมาตรการมีผลดีผลเสียและผลกระทบในระยะยาว จึงต้องใช้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม และบางครั้งต้องให้เวลาตลาดได้ปรับตัวด้วย ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ผ่านมาเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% เหมาะสมแล้ว

ด้านม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทางธปท. ควรเข้าไปซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และตั้งกองทุนความมั่งคั่ง เพื่อมา บริหารเงินตราต่างประเทศที่ได้มาให้ได้ผลตอบแทนที่สูง หรืออยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งปัจจุบันการลงทุนของธปท. ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 0.6% เท่านั้น ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศของธปท. ปัจจุบันอยู่ที่ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแนวทางที่จะให้ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอาจไม่ได้ผล และไม่เหมาะสม เพราะตามข้อกฎหมายของธปท. ระบุให้ใช้ดอกเบี้ยนโยบายสำหรับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ ส.อ.ท. จะทำหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ และผู้ว่าการธปท. เพื่อเสนอ 4 มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี คือ 1.ขอให้ธปท. และคลังดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่า 7% เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อ่อนค่าลง เช่น มาเลเซีย อ่อนลง 0.17% ทำให้การแข่งขันเสียเปรียบ 2.ออกมาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น 3.ขอให้ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2% จากปัจจุบันที่ 2.75% และ 4.ออกมาตรการ ค้ำประกันให้กับผู้ส่งออกที่ทำประกันความเสี่ยงล่วงหน้า

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

อุตฯ ชง ครม.แผนลดภาระค่าแรง

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 6,300 ล้านบาท โดยมีวงเงินอุดหนุนช่วยดอกเบี้ย 200 ล้านบาท โครงการคลินิกอุตสาหกรรม ช่วยเหลือเอสเอ็มอีปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงิน 200 ล้านบาท จัดให้มีกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดิมของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ยังไม่ใช้งบประมาณอีก 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขยายมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับเอสเอ็มอี 90,000 ราย ซึ่งมาตรการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 เดิมจะสิ้นสุด 30 กันยายน 2556 แต่จะขยายออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดในปี 2559 ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ปีละ 300 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ยังจัดให้มีมาตรการจูงใจส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นการส่งเสริมลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยลดต้นทุน ช่วยลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่า โดยยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วนประมาณ 100% ของเงินลงทุน

สำหรับส่วนที่ 2 ช่วยเอสเอ็มอี ที่ต้องการขยายการลงทุนวงเงินตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป โดยจะยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนาน 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน มาตรการยกเว้นค่าบริการต่อใบอนุญาต ค่าบริการออกหนังสือรับรองสิทธิ์ให้เอสเอ็มอีในนิคมอุตสาหกรรม ดำเนินการโดย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และมาตรการเดิมของ เอสเอ็มอีแบงก์คือ สินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิตของเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้รับความเห็นชอบกรอบแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของภาคอุตสาหกรรม ปี 2557-2561 ซึ่งจะดำเนินงานโดย สศอ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย จัดงานมหกรรมคุณภาพแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 27 มหกรรมคุณภาพภาครัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และงานมหกรรมคุณภาพภาคราชการและโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 22-26 เมษายนนี้ ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

เตือนไทยปรับตัวมุ่งแข่งสินค้าคุณภาพสูง

กระตุ้นเอสเอ็มอีไทย เร่งผลิตสินค้าคุณภาพสูงป้อนตลาด หลังจีนเปลี่ยนนโยบายเลิกขายสินค้าราคาถูก

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการคุณภาพการผลิต (คิวซี) ลงไปถึงในคน ตั้งแต่ระดับรากหญ้า อบต.ทั่ว

ประเทศ เพื่อส่งเสริมการคิดและวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยปีแรกจะเลือกจังหวัดนำร่องในแต่ละภูมิภาค และเสนอของบกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คาดว่าจะใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท

"หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จเชื่อว่าจะส่งผลดีกับประเทศไทยในระยะยาว และส่งเสริมให้ประเทศไทยมีกระบวนการคิดและแก้ปัญหาอย่างมีคุณภาพ มีหลักการ ตั้งแต่ระดับรากหญ้าเอสเอ็มอี ไปจนถึงระดับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของประเทศ"

นางสายสุวัตถิ์ ไพรัตน์ ผู้จัดการสมาคมส่งเสริมคุณภาพแห่งประเทศไทยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าขณะนี้ตลาดโลกให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพสินค้า (คิวซี) สูงมากขึ้น และเน้นแข่งขันผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ไม่แข่งเรื่องราคาถูกหรือสินค้าคุณภาพต่ำดังนั้น ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ต้องปรับตัวมุ่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เลิกผลิตสินค้าราคาถูกหรือด้อยคุณภาพอีกต่อไป

นอกจากนี้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลกและเป็นคู่แข่งด้านการผลิตสินค้าของไทย ได้ปรับนโยบายการผลิตสินค้าในประเทศใหม่ หันมาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น จากเดิมเน้นผลิตสินค้าในปริมาณมากและเน้นสินค้าราคาถูก เพราะผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อที่มีคุณภาพหากสินค้าไม่ได้คุณภาพ ผู้บริโภคจะไม่ซื้อซ้ำ

ทั้งนี้ หากเอสเอ็มอีไม่เร่งปรับกระบวนการผลิตและประสิทธิภาพการผลิตใหม่ทั้งหมด ระยะยาวจะไม่สามารถแข่งขันได้เพราะประเทศในอาเซียนก็ปรับตัวมุ่งผลิตสินค้าคุณภาพสูง ทั้งมาเลเซีย และสิงคโปร์ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น และไต้หวันก็ใช้นโยบายให้ทุกบริษัทมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีคุณภาพทั้งหมด โดยใช้กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ (คิวซี) มาใช้ในทุกขั้นตอนการผลิต

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 23 เมษายน 2556

ธปท.เล็งสกัดค่าบาทแข็งลั่นมีมาตรการพร้อมรับมือ-รอประเมิน'ตลาดปรับตัว'

ตลท.เตือนนักลงทุนติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เชื่อทางการออกมาตรการธปทระบุรอประเมินตลาดเงินปรับตัวก่อนออกมาตรการหลังค่าบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ชี้ค่าเงินแข็งค่าเร็วและเกินปัจจัยพื้นฐาน ด้านค่าบาท/ดอลลาร์อ่อนตามภูมิภาค กังวลมาตรการแทรกแซงตลาด ขณะกลุ่มชิ้นส่วนเตรียมนำเข้าทดแทนผลิตในประเทศ หอการค้าหวังมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา

การเคลื่อนไหวค่าเงินบาท/ดอลลาร์วานนี้(22 เม.ย.) อ่อนค่าตามภูมิภาค จากแรงขายทำกำไรในระยะสั้น หลังจากบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และความกังวลว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะแทรกแซงจากการ แข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็ว บาท/ดอลลาร์ ในช่วงท้ายตลาดเอเซีย อยู่ที่ 28.66/71 อ่อนค่าจาก 28.59/61 บาท/ดอลลาร์ในช่วงเช้า ซึ่งแกว่งตัวถึง 20 สตางค์

นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่าค่าเงินบาทในช่วงบ่ายอ่อนค่า เกิดจากแรงเทขายทำกำไร หลังไม่ผ่านที่ระดับ 28.50 บาท/ดอลลาร์ แต่แนวโน้มค่าเงินบาทยังแข็งค่า

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่าค่าเงินบาทเริ่มจะแข็งค่าเร็วเกินไป และอาจเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น ทำให้ธปท.ยิ่งต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งธปท.ยืนยันว่าได้เตรียมมาตรการต่างๆ ไว้รองรับแล้ว เพียงแต่การดำเนินการจำเป็นต้องให้โอกาสตลาดในการปรับตัวก่อน

"เรื่องมาตรการเรามีรองรับอยู่แล้ว แต่ต้องรอติดตามสถานการณ์ก่อน อย่างที่ท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ(ประสาร ไตรรัตน์วรกุล) ได้เรียนไปว่า เงินบาทขณะนี้อาจจะเริ่มเข้าสู่ในแดนที่แข็งเกินไปและเร็วเกินไป แต่เราต้องดูต่อไปว่าตลาดจะปรับตัวอย่างไร และมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการหรือไม่ เพราะมาตรการต่างๆ มันมีทั้งผลดีผลเสีย และยังมีผลกระทบในระยะยาว" นายไพบูลย์กล่าวชี้บาทแข็งจากพื้นฐานเศรษฐกิจ

สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่านั้น เป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งเศรษฐกิจไทยค่อนข้างชัดเจนว่ามีความแข็งแกร่ง นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นจึงเข้ามาลงทุน ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตามปัจจัยพื้นฐาน แต่การแข็งค่าในระดับที่อาจจะเริ่มเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานไปบ้างนั้น ถือเป็นเรื่องที่นักลงทุนและผู้ร่วมตลาด ต้องใช้ความระมัดระวังที่เพิ่มเติม

"อัตราแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืนนั้น จะต้องมีเสถียรภาพ ไม่ควรเป็นอัตราที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน เพราะถ้าเกิดความไม่สอดคล้องขึ้นมา ก็มีความเสี่ยงที่ค่าเงินจะเคลื่อนไหวผันผวนได้ในอนาคต" นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ ธปท. นั้น ยังยึดมั่นใจพันธกิจหลักที่ต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามศักยภาพ รวมทั้งทำให้ระบบการเงินของประเทศมีความสมดุล

ส่วนคำถามที่ว่า ธปท. มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวาระเร่งด่วน ซึ่ง นายไพบูลย์ กล่าวว่า โดยปกติแล้ว กนง.มีกระบวนการในการพิจารณา รวมทั้งกำหนดแนวทางดำเนินงานภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การทำงานทุกอย่างจะมีระบบรองรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมมาตรการต่างๆไว้พร้อมอยู่แล้ว"จัตุมงคล"แนะซื้อเงินตราแทนดอกเบี้ย

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธปท.เสนอให้ธปท.ใช้วิธีซื้อเงินตราต่างประเทศแทนการใช้นโยบายดอกเบี้ย เพราะนโยบายดอกเบี้ยขณะนี้ใช้เพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น จึงเห็นว่านโยบายซื้อเงินตราต่างประเทศเป็นแนวทางที่เหมาะสม

"หากแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยจะเป็นการ กระตุ้นกำลังซื้อมากและการจับจ่ายในประเทศ จนอาจเกิดปัญหาสินเชื่อและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้"

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวอีกว่า หากดูการทำงานของ ธปท. ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าถือว่า ธปท.ทำงานได้อย่างอิสระ อีกทั้งนโยบายส่วนใหญ่มาจากคณะกรรมการบริหารโดยตรง แม้จะมีกระแสข่าวความขัดแย้ง แต่การปลดผู้ว่าการธปท.โดยใช้สาเหตุความขัดแย้งด้านการทำงาน ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากในข้อกฎหมายใหม่ระบุว่าผู้ว่าการธปท.ที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกปลดได้ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการธปท. และต้องเกิดจากบริหารงานที่ผิดพลาดเท่านั้นตลท.เตือนนักลงทุนเกาะติดค่าบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่าในช่วงนี้นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการออกมาตรการควบคุมการไหลข้าวของเงินทุน (แคปปิตอลคอนโทรล) และการเก็บภาษีเงินลงทุนต่างประเทศหรือไม่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทำอะไรคงไม่ได้

"ต้องรอดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการควบคุมฮ็อตมันนี่ที่เข้ามาฉวยโอกาสจากค่าเงินบาทได้อย่างไร เราไม่ทำอะไรคงไม่ได้ เพราะถ้าไม่ทำดูเหมือนว่าผลกระทบจะเร็วกว่าทุกครั้ง เราไม่เคยเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว และดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นแรงขนาดนี้"

นายภากรกล่าวว่าหากหน่วยงานรัฐออกกฎ หรือมาตรการดูแลการไหลเข้าของเงินต่างชาติระยะสั้น เชื่อว่าจะกระทบตลาดหุ้นน้อย เพราะเม็ดเงินต่างชาติที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันเป็นเงินลงทุนระยะยาว ที่มองพื้นฐานภาวะเศรษฐกิจ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไม่ได้สนใจเรื่องค่าเงิน และส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมีการปิดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินไว้แล้ว

นอกจากนี้จากสถิติที่ผ่านมา ยังพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าไม่เกี่ยวกับตลาดหุ้น เพราะในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าแรง ดัชนีปรับลดลง ค่าเงินจะมีผลกับการลงทุนในตลาดพันธบัตรมากกว่าตลาดหุ้น ซึ่งหากมีมาตรการออกมา จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะสั้นในตลาดพันธบัตรมากกว่าทิสโก้มองบาทไม่น่าทะลุ28บาท

นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ของทิสโก้ ค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมาปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาเร็วมากจนทะลุ 29 บาทต่อดอลลาร์แล้วก็ตาม แต่บริษัทยังมองว่าค่าเงินบาทในปีนี้ น่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 28.5 - 29.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไม่น่าจะทะลุระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์ และค่าเงินบาทมีแนวโน่มจะกลับมามีเสถียรภาพหรืออ่อนค่าได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้

ในมุมมมองตลาดส่วนใหญ่ก็มองเฉลี่ยไว้ที่ระดับ 29.4 บาทต่อดอลลาร์ และธปท.คงกลับมาดูแล ค่าเงินบาทตามปกติหลังจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา แต่ธปท.คงไม่เข้าไปทำอะไรเพื่อเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงิน แต่คงจะดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น กลุ่มชิ้นส่วนเล็งนำเข้าลดผลกระทบ

นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบกับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เพราะทำให้ราคาสินค้าส่งออกแพงขึ้น โดยปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ที่ 28 บาทเศษ ถือว่าแข็งค่ามาก และถ้าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะยาวเชื่อว่าจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์วางแผนการผลิต ซึ่งอาจนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาผลิตมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากเงินบาท แข็งค่าและราคาวัตถุดิบนำเข้าถูกลง

ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนชิ้นส่วนนำเข้าได้ทันทีเพราะการผลิตรถยนต์ต้องวางแผนการผลิตล่วงหน้าเป็นปีและรถยนต์แต่ละรุ่นต้องใช้ชิ้นส่วนจำนวนมากทำให้ต้องวางแผนผลิตแม่พิมพ์ล่วงหน้าไว้ และที่ผ่านมารถยนต์ที่ผลิตในไทยส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนไทย เช่น รถปิกอัพ รถอีโคคาร์ แต่ถ้าเงินบาทแข็งค่าเร็วและแข็งค่าขึ้นมากก็อาจทำให้ตัดสินใจนำเข้าเร็วขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยรถปิกอัพใช้วัตถุดิบนำเข้าไม่ถึง 10 % และการผลิตรถยนต์นั่งใช้ชิ้นส่วนนำเข้าไม่ถึง 50 % ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์จะมีการวางแผนร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนว่าจะส่งชิ้นส่วนของรถยนต์กันอย่างไร

"หากเงินบาทแข็งค่ามาก อาจทำให้มีการนำเข้าชิ้นส่วนมาผลิต ซึ่งขึ้นกับเงื่อนไขระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนกับผู้ผลิตรถยนต์ รวมทั้งขึ้นกับเงื่อนไขด้านราคาขนส่งจากต่างประเทศและความสม่ำเสมอของการป้อนชิ้นส่วน ในช่วงนี้เงินบาทแข็งค่ามากส่งผลกระทบกับการส่งออก โดยบางรายมีการขอปรับราคากับผู้นำเข้า"อุตฯสั่งหาแนวทางช่วยเอสเอ็มอี

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า

"เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบคือพวกเน้นตลาดส่งออก แต่ยังไม่มีเอสเอ็มอีแจ้งมาที่กระทรวงว่าเดือดร้อน ซึ่งสศอ.ได้ประเมินผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าเบื้องต้นไว้แต่ต้องมาดูต่อว่าจะช่วยเหลือ เอสเอ็มอีได้อย่างไร"ส่งออกเดือนมี.ค.กระเตื้อง

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่าแนวโน้มตัวเลขการส่งออกในเดือนมี.ค.2556 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดือนก.พ.ที่ติดลบ 5.83% แต่ภาพรวมยังไม่ค่อยสดใส เพราะปัญหาหลักมาจากค่าเงินบาทแข็งค่า จนเสียเปรียบคู่แข่ง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะแถลงตัวเลข ส่งออกอย่างเป็นทางการวันนี้ (23 เม.ย.)หอการค้าจี้แบงก์ชาติแทรกแซง
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประชุมสมาชิกได้สรุปเป็นข้อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเป็น รูปธรรมและให้เห็นผลโดยเร็ว เพราะขณะนี้สถานการณ์ค่าเงินเลวร้ายจนกระทบขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งทั้งอินโดนีเซีย และเวียดนามที่มีค่าเงินอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ สภาหอการค้าไทย ยังเตรียมการที่จะขอพบกับนายประสาร เพื่อนำเสนอผลการประชุมและขอรับฟังคำชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของธปท. เพราะที่ผ่านมาเข้าใจว่า ธปท.ได้ดูแลค่าเงินอยู่ แต่อาจไม่เพียงพอ โดยหากปล่อยให้ค่าเงินบาทผันผวนต่อไป ไม่ใช่แค่ ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ แต่จะกระทบไปต่อภาคเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ให้มีรายได้ลดลง รวมถึงภาคแรงงานด้วย เพราะผู้ส่งออกต้องลดต้นทุนลงเพื่อแข่งขันให้ได้

สำหรับ การประชุมของภาคเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ คาดว่าจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกได้มาก เนื่องจากปัญหาตอนนี้อยู่ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขณะพาณิชย์ดูเรื่องการทำตลาดการปรับแผนการตลาด

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

หวั่นอ้อยปีหน้าวูบต่ำสุดรอบ4ปีบาทปั๋ง-ผลผลิตล้นฉุดราคาโยกล้านกระสอบขายในปท.

กอน.มีมติโยกน้ำตาล 1 ล้านกระสอบขายในประเทศ รองรับหน้าร้อน น้ำอัดลม-ชาเขียวแข่งดุ หวั่น'บาทแข็งปั๋ง-ผลผลิตล้น'ทุบราคาอ้อยปีหน้าต่ำสุดรอบ 4 ปี เหลือแค่ตันละ 800 แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมากจนแตะระดับ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐส่งผลต่อรายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพราะฤดูการผลิต 2555/2556 ได้ประเมินอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 31.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ดังนั้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ส่งออกปีนี้ประมาณ 7.5 ล้านตันจะเสียหายเพราะรายได้จะหายไปหลักหมื่นล้าน เพราะเงินที่แข็งค่าทุก 1 บาท รายได้จะลดลงราว 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่ลดลงเหลือประมาณ 18.02 เซนต์ต่อปอนด์จากปีที่ผ่านมาราคาขายอยู่ประมาณ 23 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากมีน้ำตาลเหลือในระบบและมีน้ำตาลจาก ผู้ผลิตทั้งไทย บราซิล อินเดีย จีนเข้าระบบจำนวนมาก เบื้องต้นรายได้รวมทั้งระบบน่าจะอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท ลดลงจากฤดูการผลิต 2554/2555 ซึ่งอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า เงินบาทที่ผันผวนบวกกับราคาตลาดโลกที่ลดลง ยังอาจส่งผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นปลาย 2555/2556 ให้หายประมาณ 49 บาทต่อตันอ้อย เพราะปัจจุบันใกล้ปิดหีบแล้ว ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้น 950 บาทต่อตันอ้อย จากต้นทุนที่ชาวไร่อ้อยเรียกร้อง 1,014 บาทต่อตันอ้อย จึงมีส่วนเหลือที่คาดว่าชาวไร่อ้อยจะได้อีก 64 บาทต่อตันอ้อย แต่เมื่อหักกับรายได้ที่ลดลง 49 บาทต่อตันอ้อย ค่าอ้อยขึ้นปลาย จึงอาจเพิ่มขึ้นราว 15 บาทต่อตันอ้อยเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อรายได้รวมของชาวไร่แน่นอน

นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาและค่าเงินยังมีความเสี่ยงอย่างมากต่อราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2556/2557 ที่จะเริ่มเปิดหีบปลายปีนี้ โดยราคาอาจลดลงเหลือ 800 บาทต่อตันอ้อย ต่ำสุดในรอบ 4 ปีตั้งแต่สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ฤดูการผลิต 2551/2552 ครั้งนั้นราคาอ้อยเฉลี่ย 700 บาทต่อตัน น่าเป็นห่วงเพราะฤดูการผลิตใหม่นี้เกษตรกรให้ความสนใจปลูกอ้อยมากขึ้น โดยนำที่ นาดอนมาปลูกอ้อย เพราะที่ผ่านมาแนวโน้มราคาอ้อยสูงและผลผลิตสูง โดยเฉพาะปีนี้หีบอ้อยสูงเป็นประวัติการณ์คาดว่าจะถึงระดับ 99.5 ล้านตัน

"เห็นชาวไร่อ้อยปลูกอ้อยจำนวนมากทำให้รู้สึกกังวลว่าสถานการณ์ราคาปีหน้าอาจไม่ดี ดังนั้นชาวไร่ต้องระวัง เพราะมีปัจจัยค่าเงินและราคาตลาดโลกเป็นตัวแปรสำคัญ โดยปีหน้าเชื่อว่าผลผลิตอ้อยจะล้นตลาดเพราะประเทศผู้ผลิตจะส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบราซิล" แหล่งข่าวกล่าว

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติเห็นชอบให้จัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก.(บริโภคในประเทศ)เพิ่มขึ้น ในบัญชีจัดสรรครั้งที่ 2 ฤดูการผลิตปี 2555/2556 เป็น 25 ล้านกระสอบ จากปัจจุบันอยู่ที่ 24 ล้านกระสอบ เนื่องจากปริมาณการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นในช่วงอากาศร้อนบวกกับการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มน้ำอัดลม และน้ำชาเขียวที่อัดแคมเปญอย่างทางการตลาดอย่างหนัก

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 เมษายน 2556

เกษตรฯเร่งพัฒนาหมอดินอาสา รณรงค์ปลูกพืชตามสภาพดิน สานเป้าสร้างเกษตรกรอัจฉริยะ

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแผนงานและยุทธศาสตร์ให้มีการปรับรูปแบบการส่งเสริมการเกษตรแนวใหม่ โดยให้ทุกหน่วยงานได้ส่งเสริม สร้างอาสาพัฒนาการเกษตร เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเกษตรในรูปแบบ Green Economy และ Zero waste agriculture มีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันการเกษตรมีความเข้มแข็ง สร้างความสามารถการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ หรือ Smart Farmer

ขณะเดียวกัน การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ ต้องมีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น แหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วไป เพื่อประกอบการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจในแต่ละชนิด มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เต็มศักยภาพ ลดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศอีกด้วย

ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมการพัฒนาหมอดินอาสาและเกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเขตเหมาะสม สำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะทำให้หมอดินอาสาและเกษตรกรทราบถึงแนวทางและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมพัฒนาที่ดินในการดำเนินงานปีงบประมาณ 2556 แล้ว ยังได้ทราบแนวทางการปฏิบัติสู่การเป็น Smart Farmer ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของหมอดินอาสา ให้สามารถดำเนินงานและเผยแพร่งานของกรมพัฒนาที่ดินสู่เกษตรกรรายอื่นในพื้นที่ต่อไปได้อย่างทั่วถึง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 เมษายน 2556

ปัญหาเงินบาท-ทองคำ

ดร.ธนิต โสรัตน์

เศรษฐกิจไทยหลังสงกรานต์มีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเข้ามากระทบหลายปัจจัย ที่กำลังกล่าวขานกัน คือ ราคาทองคำที่ลดลงอย่างดิ่งเหว เห็นได้จากราคาช่วงก่อนสงกรานต์ ราคาขายทองคำแท่ง ณ วันที่12 เม.ย. 2556 น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 21,350 บาท เทียบกับราคา ณวันที่ 16 เม.ย. 2556 เหลือ 18,850 บาท เพียงช่วง 5 วัน ราคาทองคำลดลงถึง 2,800 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ลดลงถึงร้อยละ 13.11 สำหรับนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนในอนุพันธ์ที่เป็นตั๋วทองคำก็คงเดือดร้อน จะมากจะน้อยอยู่ที่ปริมาณที่ถือครองอยู่ แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีทองรูปพรรณไว้เป็นเครื่องประดับคงไม่เป็นไรเพราะทองก็คือทอง มีขึ้นมีลงส่วนใหญ่ราคาจะไปในทางขึ้น

ราคาทองคำที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ที่บางสำนักบอกว่าลดลงมากที่สุดในรอบ 30 ปี ย่อมเกี่ยวข้องกับสถานะทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทั่วไปราคาทองคำจะมีทิศทาง

สวนทางกับโลก คือ หากเศรษฐกิจโลกดี คนก็จะหันไปถือครองตราสารอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้ราคาทองคงที่หรือลดลง นอกจากนี้ปัจจัยความคลายกังวลในเศรษฐกิจสหรัฐ จนทำให้แนวโน้มเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่า กดดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกลดลงรวมถึงปัจจัยจากเงินเฟ้อของ

ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในตลาดทุนและตลาดหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดทองคำ จนตลาดหุ้นที่สำคัญของโลกกลับมาบูมครั้งใหญ่ ขนาดมีปัจจัยทางลบ เช่น วิกฤตคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงระเบิดที่เมืองบอสตันในสหรัฐกระทบต่อตลาดหุ้นเพียงแค่ 2 วัน จากนั้นก็กลับมาเป็นบวกอีก
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำร่วงลงอย่างรุนแรงในครั้งนี้ น่าจะเกิดจากประเทศไซปรัสอาจจะนำทองคำสำรองออกขายเพื่อชำระหนี้ส่งผลให้กองทุนตลาดทองคำที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่างSPDC ได้เททองคำ 4.22 เมตริกตัน ออกขายเมื่อวันที่15 เม.ย. โดยเฉพาะที่สถาบันโกลด์แมน แซคส์ แนะนำให้นักลงทุนเทขายสัญญาตั๋วทองคำให้เร็วที่สุด ส่งผลทำให้ราคาทองคำทั้งโลกและของไทยลดลงอย่างฮวบฮาบ

คำถามว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากราคาทองคำที่ร่วงอย่างดิ่งเหวครั้งนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งผลกระทบคงมีบ้างในตลาดโภคภัณฑ์ทองคำ แต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเงินบาทที่แข็งค่าเฉพาะ 2 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าไปถึงร้อยละ 4.05 โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. ประเมินว่ากระทบต่อจีดีพีอุตสาหกรรมร้อยละ2.72 ขณะเดียวกันมีแนวโน้มที่เงินบาทจะแข็งค่าไปอยู่ที่ 28.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเร็วๆ นี้ ทั้งเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และค่าแรงที่ปรับขึ้นสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพื่อส่งออกทำให้การส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัวติดลบร้อยละ 5.8 จนกระทรวงพาณิชย์จะประเมินทบทวนตัวเลขการส่งออกทั้งปี

ทั้งหมดนี้เห็นว่ารัฐบาลควรให้น้ำหนักการแก้ปัญหาเงินบาท และดูแลผลกระทบด้านต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอีซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน เพราะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากกว่าปัญหาทองคำ ซึ่งปัญหาราคาทองคำที่ร่วงลงครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรออกมาชี้แจงไม่ให้เกิดความตระหนก หรือตกเป็นเครื่องมือของการเก็งกำไร...เพราะทองคำก็คือทองคำนั่นเอง "ราคาคงลงในช่วงสั้นๆ อย่าเพิ่งรีบร้อนขายไปก็แล้วกัน"

จากhttp://www.posttoday.com  วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

แนะรัฐปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรับเออีซี

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐช่วยเหลือธุรกิจให้คล่องตัว พร้อมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กฎระเบียบรองรับการขยายตัวของตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคต รับมือเออีซี

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยภายในงานบรรยายหัวข้อ "ความท้าทายโอกาสและการพัฒนาประเทศไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีว่า ภาครัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือด้านต่างๆ เพื่อให้การทำธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น สำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอควรมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศให้กับนักลงทุน นอกเหนือจากมาตราการลงทุนในประเทศ เลือกหาพันธมิตรร่วมทุน การเชื่อมโยงธุรกิจทั้งด้นถนนและรถไฟ เพื่อลดต้นทุนด้านระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งต้องดูอนุสัญญาภาษีซ้ำซ้อนด้วย

ทั้งนี้ภาคธุรกิจไทยมีความพร้อมแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในการเปิดเออีซี ซึ่งเห็นได้จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ 100 บริษัทมีบริษัทลูก 200 บริษัทที่เข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียน เช่นธุรกิจพลังงาน โรงแรม ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์แล้ว

"ผู้ประกอบการไทยควรใช้เออีซีเป็นฐานการผลิต เพราะนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรีไม่สามารถขยายการลงทุนได้อีก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิต และต่อยอดการลงทุนไปยังอาเซียน บวก 3 และอาเซียน บวก6 และใช้แรงงานของประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีการว่างงานจำนวนมาก เช่น อินโดนีเซียมีประชากร 116 ล้านคน แต่มีการว่างงาน 7.8% รวมถึงใช้อาเซียนผลิตเพื่อส่งออก"

ทั้งนี้ไทยต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และกฎระเบียบรองรับการขยายตัวของตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคต โดยไทยต้องเปิดธุรกิจกึ่งผูกขาด และผูกขาด ตลอดจนลดอุปสรรคทางการค้า จากมาตรการมิใช่ภาษีศุลกากร สร้างความเสมอภาคกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีความสากลมากขึ้น นอกจากนี้ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมเกี่ยวกับอาเซียน และภาษาให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาไทยเสียเปรียบด้านภาษามากกว่าประเทศอื่น ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ 2 ล้านล้านบาทเป็นเรื่องจำเป็น แต่โครงการลงทุนต้องมีความชัดเจน เพราะหากสำเร็จจะช่วยระบบโลจิสติกส์ไทยให้ดีขึ้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทย 3-6 เดือนข้างหน้ายังสดใส แต่ภาคส่งออกแย่

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 31 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า”
โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9–19 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 56.68 จุด ลดลง 0.07 จุด แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 เป็นครั้งที่สองติดต่อกันนับจากการสำรวจในเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยสถานะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งได้รับผลดีจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 ใน 5 ปัจจัยที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ส่วนปัจจัยการส่งออกสินค้าเป็นปัจจัยเดียวที่ยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องนับจากเดือนมกราคม 2555

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 50.85 และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 59.51 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยมีการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่สดใสอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นภาคส่งออกที่ยังคงเป็นปัญหาโดยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่า

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 เมษายน 2556

เอกชนจี้ ธปท.ออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรเงินไหลเข้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ เห็นว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องหันหน้าเข้าหารือร่วมกัน และช่วยกันในการดูแลหามาตรการที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่มาตรการที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ควรที่จะออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรเงินไหลเข้า หรือ แคปิตอลคอนโทรล ในขณะที่ภาคเอกชนเองได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก แม้จะมีการซื้อประกันความเสี่ยงแล้วก็ตาม เพราะค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ารุนแรงและเร็วเกินไป

อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกในปีนี้ยังสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 8-9 หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดี แต่ในขณะนี้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวและฟื้นตัวช้า

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 21 เมษายน 2556

ดัชนีอุตฯมี.ค.ทรุด วอนรัฐดูแลบาทแข็ง

สอท.เผยบาทแข็งฉุดดัชนีอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.ลดลงติดต่อเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 93.5 วอนรัฐดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง พร้อมระบุยอดส่งออกรถยนต์และขายในประเทศ มี.ค.56 ทำลายสถิติสูงสุด มั่นใจเป้าหมายผลิตรถยนต์ปี 2556 นี้ได้ 2.5 ล้านคัน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือน มี.ค.2556 อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 95.5 ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการประกอบการ โดยต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อเนื่องมาจากเดือน ก.พ.2556 รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังคงต้องวางแผนการผลิตเพื่อรองรับสถานการณ์ไฟฟ้าที่อาจไม่เพียงพอจากการที่ประเทศพม่าหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่ไทย เนื่องจากหยุดซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซฯ ในช่วงเดือน เม.ย.2556 ตลอดจนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งยังส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.3 ลดลงจากระดับ 103.1 ในเดือน ก.พ.2556

“ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่ผันผวนแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนการประหยัดพลังงาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาคุณภาพแรงงาน รวมถึงเข้ามาแก้ปัญหาราคา ปริมาณ และคุณภาพวัตถุดิบสินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบด้วย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงยอดการผลิตรถยนต์เดือน มี.ค.2556 ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 256,231 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.2555 เป็นสัดส่วน 34.34% และเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.2556 เป็นสัดส่วน 11.79% รวมจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2556 จำนวน 721,460 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2555 เป็นสัดส่วน 44.48%

สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศเดือน มี.ค.2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 156,951 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.2556 เป็นสัดส่วน 20.82% เนื่องจากการส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้ที่จองรถยนต์ไว้ตามโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ด้านการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่เดือน มี.ค.2556 ทำลายสถิติเกินกว่า 100,000 คัน นับตั้งแต่มีการส่งออกรถยนต์เมื่อปี 2531 คิดเป็นมูลค่า 64,531.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2555 เป็นสัดส่วน 6.15%

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แจ้งว่า กรณีหากค่าบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 9.92% เมื่อเทียบกับค่าเงินเฉลี่ยทั้งปี 2555 จะทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหายไป 5.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 11.02% หากเป็นระดับ 29 บาทต่อเหรียญฯ จะหายไป 3.84 แสนล้านบาท หรือ 7.19%

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะสูญเสียรายได้มากที่สุดคือ การผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ สูญเสียรายได้ 298,306 ล้านบาท, ยานยนต์และชิ้นส่วน 82,542 ล้านบาท, อัญมณีและเครื่องประดับ 69,903 ล้านบาท, แปรรูปข้าว 61,334 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์ยาง 41,104 ล้านบาท และพลาสติกและผลิตภัณฑ์ 35,070 ล้านบาท เป็นต้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 19 เมษายน 2556

14 ปัจจัยเสี่ยงตัวแปรวิกฤตส่งออก เผชิญความจริงหรือจะดันทุรังต่อไป

เปิดฉากการส่งออกเดือนมกราคม 2556 พุ่งกระฉูดถึง 18,269 ล้านเหรียญสหรัฐ บวกไปถึง 16.09% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 กลับหักหัวดิ่งลงแบบฉับพลัน เหลือมูลค่า 17,928 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.83% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) 2556 มีมูลค่า 36,197 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.09% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงในเดือนก.พ.เป็นผลมาจากการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็งที่ผลผลิตในประเทศลดลง และมาตรการสุขอนามัยของคู่ค้า รวมทั้งยางพาราส่งออกลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และข้าว การส่งออกลดลง จากการทยอยส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินก่อนถึงส่งมอบข้าวออกไป ส่วนผัก ผลไม้น้ำตาล เป็นผลมาจากราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลง จากผลผลิตสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น

แต่ในมุมมองของภาคเอกชนกลับลงความเห็นไปทางเดียวกันว่า การส่งออกหัวทิ่ม เป็นผลมาจากการปรับแข็งค่าอย่างรุนแรงของอัตราแลกเปลี่ยน เพียงเดือนเดียวเงินบาทแข็งค่าขึ้น 4-5% สูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรมากที่สุด เพราะถือเป็นสินค้าที่มีต้นทุนวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศเป็นหลัก ทำให้มีรายได้กลับมาในรูปเงินบาทลดลง

เมื่อเทียบในรูปเงินบาท การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 529,529.6 ล้านบาท ลดลง 11.32% และมูลค่าการส่งออกสะสม 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) 2556 มีมูลค่า 1,084,463.9 ล้านบาท ยังติดลบอยู่ 0.13%

ซ้ำร้ายบางรายกังวลว่า ปีนี้การส่งออกไทยอาจมีอาการขั้นโคม่ามากกว่าปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่เพิ่งจะฟื้นจากภาวะน้ำท่วม โรงงานยังไม่เข้าที่ การผลิตและการส่งออกจึงชะลอตัว หากนำมาเทียบกัน เรียกว่าเป็นปีฐานที่ต่ำอยู่แล้ว หากปีนี้ทำดีขึ้นเพียงนิดเดียว เท่ากับการส่งออกจะขยายมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ปีนี้กลับมาเกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ทำให้ติดลบไปยิ่งกว่าเดิม

ทูตส่งสัญญาณ 6% ปลายปี"55

ย้อนกลับไปดูภาพประมาณการส่งออกปี 2556 ในการประชุมทูตพาณิชย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พยายามขีดเส้นให้ทุกฝ่ายผลักดันการส่งออกปีนี้ให้เติบโต 8-9% หรือคิดเป็นมูลค่า 250,410 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ทูตพาณิชย์ (หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (HTA) ส่งสัญญาณชัดเจนว่า การส่งออกน่าจะอยู่ในระดับเพียง 6.63% หรือคิดเป็นมูลค่า 246,921 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น โดยประเมินเป้าหมายการส่งออกรายตลาด อาทิ อาเซียน เพิ่มขึ้น 10% จีน เพิ่มขึ้น 8% ฮ่องกง เพิ่มขึ้น 1% ไต้หวัน เพิ่มขึ้น 1% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 5% เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 5% รัสเซียและซีไอเอส เพิ่มขึ้น 5% ละตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 15% อินเดีย เพิ่มขึ้น 5% เอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 5% สหภาพยุโรปจะรักษาระดับทรงตัว 0% สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 10% ตะวันออกลาง เพิ่มขึ้น 5% แอฟริกา เพิ่มขึ้น 5% และอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 10% (ตาราง)

8 ปัจจัยตัวแปรส่งออก

ปัจจัยที่ใช้ประกอบการคาดการณ์นั้น ประเมินจากตัวเลขเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนตุลาคม 2555 คาดการณ์ว่า อัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ยังเติบโตอยู่ แต่ไม่มากนัก โดยประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 1% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.11% ซึ่งทุกคนพยายามมองภาพบวกว่า การส่งออกยังมีโอกาสจะเติบโตได้ ในกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค

แต่ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) ได้ทบทวบปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นห่วงถึง 8 ปัจจัยที่อาจจะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กล่าวคือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว/ซบเซา หรือประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินระลอกใหม่ จนส่งผลกระทบต่อการค้าในตลาดโลก และตลาดส่งออกสำคัญของไทย โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เฉลี่ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3% และอัตราการค้าโลก เฉลี่ยยังต่ำกว่า 5%

ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ในช่วง 29.50-31.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยในปี 2555 ซึ่งอยู่ในระดับที่ 31.08 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ทั้งยังมีความผันผวนจากการดำเนินมาตรการทางการเงินในต่างประเทศ เช่น กรณีเงินเหรียญสหรัฐ อ่อนตัวลงต่อเนื่องจากมาตรการทางการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Cliff) และการขยายมาตรการการเข้าซื้อตราสารทางการเงินของเอกชน (Quantitative Easing : QE3) และนโยบายทางการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อทำให้เงินเยนอ่อนค่า เป็นต้น

ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนมากกว่า 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศ

การโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่น เพื่อใช้ทรัพยากรแรงงาน วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการออกไปลงทุนต่างประเทศ

ปัญหาภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และเส้นทางคมนาคมอาจถูกตัดขาด ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในไทยและต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการค้า และความมั่นใจในการลงทุน เช่น การปิดด่านชายแดน

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลกโดยการดำเนินการ แก้ไขปัญหาแรงงาน และการออกมาตรการเยียวยาแก่ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ มีการดำเนินการได้ล่าช้า

และสุดท้ายคือผลจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อินโดนีเซียออกมาตรการจำกัดท่าเรือนำเข้าสินค้าเกษตร และขออนุญาตนำเข้าสินค้าเกษตรประเภทสดที่ยังไม่แปรรูป

สหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็ง รวมถึงการเปิดไต่สวน เพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) กับสินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็ง

ศุลกากรร่วมตรวจสอบ และเตรียมฟ้องมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเครื่องประดับทองที่ส่งออกจากไทย ซึ่งได้รับการลดภาษีเป็น 0% จากภาษีปกติอัตรา 11.5% ตามกรอบการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อินเดีย เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงใหม่รุมเร้าส่งออกเดี้ยง

หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ส่งออกเริ่มกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น และส่งสัญญาณว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนที่เกิดจากปัญหาหนี้ในไซปรัส และปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาพลังงาน รวมถึงแนวโน้มการวางแผนรับมือวิกฤตด้านพลังงาน หลังจากพม่าปิดปรับปรุงท่อส่งก๊าซในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาคการผลิตในอนาคต

ปัญหาวัตถุดิบ จากการที่กลุ่มผู้ส่งออกกุ้งกำลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาผลผลิตกุ้งเสียหายจากภาวะกุ้งตายด่วน (EMS) ทำให้วัตถุดิบขาดแคลน และมีต้นทุนพุ่งไปถึง 30%

และล่าสุดผู้ส่งออกสินค้าไก่สดเพิ่งได้รับการอนุญาตจากสหภาพยุโรป ให้ส่งไก่สดเข้าอียูได้ หลังจากรอมาหลายปี กว่าจะรับรองว่าประเทศไทยปลอดจากเชื้อไข้หวัดนก และอยู่ระหว่างรอข่าวดีจากญี่ปุ่น หลังส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจรับรองฟาร์มและโรงงาน แต่ก็ต้องมาเผชิญกับความเสี่ยงจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 ที่เริ่มระบาดในประเทศจีน กัมพูชา และเวียดนาม

และผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลาย ๆ รายการต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากปัญหาความรุนแรงทางเมือง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดสงครามระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ก่อให้เกิดการกักตุนโภคภัณฑ์ จนทำให้ราคาสินค้ากลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ยอดรายได้จากการส่งออกที่ลดลง นั่นหมายถึงผลสะท้อนในเชิงลบกลับมาสู่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา โดยดัชนีในปี 2554 การส่งออกของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 75% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ขณะที่ก่อนหน้าวิกฤตมีสัดส่วนเพียง 45%

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน 2556

หนอนด้วงระบาดหนักไร่อ้อยหนองบัวลำภู

นายณัฎฐกิตต์ ของทิพย์ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อม นายโสพิศ ปัญญาบุตร นักวิชาการส่งเสริมเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.ขอนแก่น นำคณะเข้าตรวจสอบการระบาดของหนอนกออ้อย ที่ ต.โนนม่วง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู โดยพบว่าที่บ้านฝายหิน บ้านโนนนทรายทอง บ้านวังหินทอง ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันมีไร่อ้อย 2,600 ไร่ พบการระบาดเต็มพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยการถูกทำลายของด้วงหนวดยาว ซึ่งชาวบ้านได้นำรถไถมาไถแปลงอ้อยพบตัวอ่อนอีกจำนวนมากอยู่ในดินลึก 50 เซนติเมตร แสดงถึงการระบาดค่อนข้างรุนแรง ดังนั้น วิธีการแก้ไขคือต้องใช้รถไถพรวนต้นอ้อยตอ เพื่อพรวนดินขึ้นมาตากทำลายตัวอ่อน และรอปลูกใหม่ในช่วงหน้าฝน หากไถพรวนดินขึ้นมาตากแล้ว ยังปลูกต่ออีกจะยังเกิดปัญหาเหมือนเดิม สำหรับสาเหตุการระบาดมาจากสภาพความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอ้อยเป็นแหล่งอาหารของศัตรูพืชหลายชนิด โดยเฉพาะ 2 อำเภอ พบการระบาดของหนอนกออ้อยและด้วงหนวดยาวมากที่สุด คือ อ.นากลาง และ อ.ศรีบุญเรือง รวมพื้นที่นับแสนไร่ ขณะนี้มีอ้อยที่งอกต้นอ่อนหลังตัดส่งโรงงาน ทั้งด้วงและหนอนกออ้อยก็จะพากันเข้ามากัดกินและวางไข่เป็นตัวอ่อน ซึ่งหนอนกออ้อยจะทำลายยอดอ่อน ส่วนด้วงหนวดยาวจะลงไปกัดกินโคนอ้อย และตัวอ่อนที่เป็นหนอนจะลงไปที่ราก ทำความเสียหายโดยตรง

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 18 เมษายน 2556

ผลกระทบค่าเงินบาทต่อภาคอุตสาหกรรมไทย

ค่าเงินบาทแข็งกระทบภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหากค่าเงินบาทยังแข็งอย่างต่อเนื่อง อุตฯ คาดทั้งปี 2556 จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าจากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 3 สัปดาห์แรกของปี 2556 หลังจากนั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างช้า ๆ และกลับมาแข็งค่ามากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม และค่าเงินบาทล่าสุด ณ วันที่ 17 เม.ย.56 = 28.928 บาท/ดอลลาร์

สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.71 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มาเลเซียค่าเงินแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย อินโดนีเซียค่าเงินปรับตัวอ่อนค่าลง รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 13.50 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า

การแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมไทยที่ยังมีความเปราะบางตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยล่าสุด จากการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกของ IMF ล่าสุด เดือนเมษายน 2556 ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกโดยจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ลดลงร้อยละ 0.2 จากการประมาณการเมื่อเดือน มกราคม 2556 สะท้อนถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตามปรับเพิ่มการขยายตัวของภูมิภาคอาเซียนโดยจะขยายตัวร้อยละ 5.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนร้อยละ 0.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ดีต่อภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอาจจะทำให้มีปริมาณเงินเคลื่อนย้ายมายังอาเซียนตามไปด้วย ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่า ได้แก่ การเกินดุลการค้า/ดุลบริการ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI : Foreign Direct Investment) และเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น/ตลาดพันธบัตร/ตลาดเงิน ที่มีผลตอบแทนที่ดี หรือในประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดี

การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบเชิงลบ คือ แรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงบวก คือ การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนมีราคาถูกลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบ และเอื้อต่อการขยายการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุน อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลดี อาทิ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร อุตสาหกรรมเหล็ก

ด้านการนำเข้าเชื้อเพลิงและพลังงานมีราคาถูกลงจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของภาคการผลิตและการค้า และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจากปัจจัยภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลดี อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่าแนวทางในการลดผลกระทบ คือ การเพิ่มการค้าภายในภูมิภาคในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ที่เริ่มเปิดประเทศ เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวสูงซึ่งจากความได้เปรียบด้านที่ตั้งของไทย ต้นทุนขนส่งสินค้าที่ต่ำ ภาษีการค้าที่จะเป็น 0% และสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นตลาดใหม่ของสินค้าอุตสาหกรรมที่จะมาชดเชยตลาดหลักที่เริ่มมีปัญหา อีกทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปลงทุนต่างประเทศเพื่อขยายความสามารถในการผลิตที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดจากปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะแรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการค้าในกลุ่ม AEC และประเทศเศรษฐกิจใหม่

สำหรับกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากพอสมควรแนวทางซึ่งถือเป็นโอกาสคือ สนับสนุน SMEs บุกตลาดอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากเป็นตลาดที่ SMEs สามารถทำตลาดได้ง่ายกว่าตลาดอื่น สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและที่สำคัญไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปและแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข็ง เพราะจะส่งผลให้กำหนดราคาขายลำบาก ไม่สามารถทำข้อตกลงซื้อขายระยะยาวได้ และประสบปัญหาขาดทุน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 เมษายน 2556

เกษตรอีสานใต้อยู่ได้เพราะนํ้า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2556 ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 รวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่ปี 2554 ของกระทรวงเกษตรฯ พบว่าจังหวัดอุบลราชธานี คัดเลือกพื้นที่บางส่วนของหมู่ที่ 2 และ 3 ตำบลคำเจริญ อำเภอตระการพืชผล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้ มีจำนวนครัวเรือนเกษตรที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการทั้งหมด 161 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 1,750 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 66,932 บาท/ครัวเรือน

จังหวัดศรีสะเกษ ได้คัดเลือกพื้นที่หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 13 ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู มีจำนวนครัวเรือนเกษตรที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการทั้งหมด 50 ครัวเรือน พื้นที่ 557.75 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 88,822 บาท/ครัวเรือน

จังหวัดอำนาจเจริญ ได้คัดเลือกพื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ 6 ชุมชนของตำบลบุ่ง อำเภอเมือง ได้แก่ ชุมชนรุ่งอรุณ 1, 2 ชุมชนโนนจาน ชุมชน 20 พัฒนา ชุมชนอ่างใหญ่ ชุมชนดอนแดง และชุมชนโคกจักจั่น   ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน ครัวเรือนที่ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการจำนวน 211 ครัวเรือน พื้นที่ 1,705 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 15,115 บาท/ครัวเรือน

จังหวัดยโสธร ได้คัดเลือกพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ หมู่ที่ 8, 9, 13 ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำชลประทานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีครัวเรือนที่ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการจำนวน 71 ครัวเรือน พื้นที่ 800 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 88,854 บาท/ครัวเรือน

จังหวัดมุกดาหาร ในพื้นที่หมู่ที่ 2 และ 6 ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยหินลับ มีครัวเรือนที่ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการจำนวน 187 ครัวเรือน พื้นที่ 1,255 ไร่ มีรายได้เงินสดสุทธิเกษตรเฉลี่ย 250,060 บาท/ครัวเรือน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 18 เมษายน 2556

ตามล่า..จุลินทรีย์ สร้างปุ๋ย..บำรุงดิน

จุลินทรีย์...สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่เพียงจะมีบทบาทช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้เป็นอินทรียวัตถุเท่านั้น ยังเป็นพนักงานหาธาตุอาหารและน้ำมาเลี้ยงพืชได้อีกต่างหาก

ที่รู้จักกันดี...จุลินทรีย์ไรโซเบียมในปมรากพืชตระกูลถั่ว อยู่ร่วมกันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า โดยต้นถั่วจะสร้างปมรากให้จุลินทรีย์ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เพื่อไรโซเบียมจะได้หาไนโตรเจนมาเป็นปุ๋ยเลี้ยงต้นถั่ว...เพราะมันมีขีดความสามารถตรึงไนโตรเจนได้ประมาณ 6.4-44.8 กก./ไร่/ปี

ดร.ฉวีวรรณ เหลืองวุฒิวิโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า ขณะนี้กำลังวิจัยหาจุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องพึ่งปมรากพืชเหมือนอย่างไรโซเบียม แต่จุลินทรีย์กลุ่มนี้ ยังมีประสิทธิภาพตรึงไนโตรเจนต่ำ ประมาณ 24-28 กก./ไร่/ปี

จุลินทรีย์กลุ่มนี้สามารถนำไปใช้กับพืชได้หลายชนิด ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ฝ้าย ธัญพืช มะเขือเทศ กะหล่ำปลี คะน้า แต่ทิศทางที่กรมพัฒนาที่ดินกำลังดำเนินการ คือ สรรหาจุลินทรีย์ที่สามารถตรึงไนโตรเจนในดินทรายเพราะเป็นดินมีปัญหาขาดไนโตรเจนสูง ถ้าคัดเลือกและพัฒนาจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจนได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้มาก

“ที่ผ่านมาเราพบจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจนอิสระที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงแล้ว แต่เนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ต้องดับไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการ ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้ตายหมด เลยต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่”

จุลินทรีย์เชื้อราอีกตัวที่กำลังพัฒนามีชื่อว่า “อาบัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา” ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับรากพืชแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Symbiosis) โดยเชื้อราตัวนี้จะสร้างเส้นใยรอบๆ รากพืชเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า จะทำหน้าที่เป็นเหมือนแขนขาให้รากพืชหาธาตุอาหารและน้ำไปในตัว โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส

นอกจากนั้น ยังสร้างความทนทานให้กับพืชในทุกสภาพดิน ดินกรด ดินเค็ม ทนต่อสภาพแห้งแล้ง พิษโลหะหนัก และยังช่วยลดการเข้าทำลายของเชื้อโรคในดินอีกด้วย ...เป้าหมายในขณะนี้คือ การเฟ้นหาเชื้อราไมคอร์ไรซ่าที่มีประสิทธิภาพสูง และนำมาใช้ในรากหญ้าแฝกที่ส่งเสริมให้ปลูกร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่น ไม่ว่าไม้ผล หรือพืชไร่

เพราะเชื้อราดังกล่าวจะทำหน้าที่หาอาหารและน้ำเลี้ยงพืชให้เติบโต เพิ่มผลผลิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีมากนัก.

จากhttp://www.thairath.co.th  วันที่ 17 เมษายน 2556

ต่อยอดพัฒนาคนรุ่นใหม่ สศข.2ชี้ช่วยเพิ่มทักษะการเกษตร/เล็งต่อขยายผลเพิ่มเป้าหมาย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 ติดตามผลสำเร็จโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ปี 2555 เผยโครงการประสบผลสำเร็จจริง ผู้ผ่านการอบรมพึงพอใจให้การตอบรับเต็มที่ พร้อมนำความรู้ไปปรับใช้ต่อ หวังเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ ขยายองค์ความรู้และโอกาสด้านการผลิตสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษณุโลก (สศข.2) เปิดเผยว่า สศข. 2 ได้ทำการติดตามความสำเร็จการดำเนินโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดพิษณุโลก โดยสำรวจผู้ผ่านการอบรมตามโครงการฯ ปี 2555 จำนวน 110 คน ซึ่งพบว่า ในภาพรวมผู้เข้าอบรมร้อยละ 90 มีความพึงพอใจในระดับมาก โดยเห็นว่าเนื้อหาการอบรมตรงตามความต้องการ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ เพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มโอกาสด้านการผลิต ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ผ่านการอบรมก็มีการรวมกลุ่มนำความรู้จากการอบรมไปดำเนินงานต่อร้อยละ 92 และร้อยละ 87 มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงเกษตร อย่างไรก็ตาม จากผลการติดตาม สศข.2 มีความเห็นว่าควรเน้นการส่งเสริมแบบยั่งยืนที่ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติหรือถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ โดยเน้นการถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม รวมทั้งสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมอบรมได้รับความรู้อย่างทั่วถึง และสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่ผู้ผ่านการอบรมที่มีความต้องการปัจจัยการผลิตให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ตลอดจนสนับสนุนและประสานด้านการตลาด เพื่อรองรับผลผลิตของผู้ที่นำความรู้ไปปฏิบัติเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรต่อไป

ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว ได้ช่วยให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสเรียนรู้ระบบการเกษตรแบบมี ส่วนร่วมในเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ยกระดับและแก้ไขปัญหาเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจ เพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพโดยผ่านปราชญ์เกษตร และศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่สมาชิก ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 ได้ดำเนินการขยายโครงการไปยังพื้นที่เขตอำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง ของจังหวัดพิษณุโลกเพิ่มเติม ซึ่งทาง สศข.2 จะดำเนินการติดตามผลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 เมษายน 2556

พลังงานดันสร้างไฟฟ้าชุมชน

สนย. เร่งคลอดหลักเกณฑ์ให้ชาวบ้านตั้งกองทุนชุมชนระดมทุน 4-5 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ กระจายทั่วประเทศ หวังแก้ปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน คาดเริ่มนำร่องชุมชนแรก พ.ค.-มิ.ย.2556

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) เตรียมกำหนดหลักให้ชุมชนสามารถตั้งกองทุนสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ หรือ ผลิตพลังงานทดแทนอื่นๆ ใช้เอง และสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งของรัฐได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอในอนาคตและลดกระแสต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากชุมชนลง และหากแต่ละชุมชนสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้เอง จะทำให้ในอนาคตจะมีไฟฟ้าขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศและลดการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ลงได้

ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรม ทาง สนย.จึงมีแนวคิดให้ชาวบ้านรวมตัวกันระดมทุนขึ้นด้วยการตั้งเป็นสหกรณ์ชุมชน หรือ ชุมชนใดที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าและได้รับเงินสนับสนุนจากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสามารถนำมาใช้ลงทุนได้เช่นกัน ซึ่งหากต้องการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็ก 100 กิโลวัตต์ ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 4-5 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะนำเงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานมาช่วยสนับสนุนด้วยส่วนหนึ่ง

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สนย. มีงบประมาณสำหรับจัดทำโครงการดังกล่าวประมาณ 30-40 ล้านบาท ดังนั้น ในปี 2556 นี้ คาดว่าจะสนับสนุนชุมชนให้ผลิตพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าได้ไม่กี่ชุมชนเท่านั้น แต่คาดว่าจะเริ่มนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนได้ประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย.2556 นี้ ภายหลังจากกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนชุมชนเรียบร้อยแล้ว ส่วนชุมชนใดจะเป็นพื้นที่นำร่องนั้นจะต้องตรวจสอบจากชุมชนที่มีความพร้อมและเป็นชุมชนเข้มแข็งเป็นหลักก่อน

สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่สร้างขึ้นเพื่อใช้กันเองนั้น จะต้องจัดระบบการซื้อขายไฟฟ้าขึ้น เพื่อนำรายได้ส่งกลับคืนกองทุนฯ รวมถึงการผลิตพลังงานทดแทนอื่นๆ จะต้องใช้ระบบเดียวกันคือต้องสร้างรายได้ให้กับกองทุนฯ เพื่อให้กองทุนฯ มีเงินมากขึ้นทุกปี ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่จำกัดการเติบโตของกองทุนฯ เพราะเห็นว่าเมื่อเงินในกองทุนฯ มีมากขึ้น ชาวบ้านจะนำไปขยายโรงไฟฟ้า หรือพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์พลังงานทดแทนอื่นๆ มากขึ้น และผลประโยชน์จะตกสู่ชุมชนทั้งหมด.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 17 เมษายน 2556

บาทแข็งสุดรอบ 17 ปี

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 28.92/94 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/4) ที่ 29.03/04 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐ โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงและราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ (CPI) ลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ และเพิ่มมุมมองที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังมีแนวโน้มที่จะคงมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (QE) ต่อไป อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายค่าเงินบาทไทยแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปัจจัยหลักที่นักลงทุนต่างชาติเทขายดอลลาร์ออกมาปริมาณมาก โดยตลอดทั้งวันค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 28.80-28.97 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 28.82/83 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.3176/78 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/4) ที่ 1.3054/55 ดอลลาร์/ยูโร โดยเงินยูโรทะยานแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีในเดือน เม.ย.จะอ่อนแอ แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินยูโรแต่อย่างใด และถูกบดบังจากแนวโน้มการคงมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (QE) ของสหรัฐฯ โดยตลอดทั้งวันค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าสุดที่ระดับ 1.3201 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนจะลดแรงบวกลง จากแรงขายเงินยูโรเพื่อทำกำไรของนักลงทุน โดยตลอดทั้งวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1.3154-1.3201 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3173/75 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 97.96/98.01 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/4) ที่ 99.15/20 เยน/ดอลลาร์ โดยเงินเยนนั้นแข็งค่าขึ้นจากการที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากที่เผชิญแรงเทขายต่อเนื่องอันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นแบบเชิงรุกของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อย่างไรก็ดี เงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลง เนื่องจากบีโอเจยังคงอัดฉีดเม็ดเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายใน 2 ปีตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตลอดทั้งวันค่าเงินเยนมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 97.54-98.43 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 98.11/16 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาราคาทองคำได้ดิ่งลงอย่างหนัก และทำสถิติทรุดตัวลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ภายในวันเดียวในรูปสกุลดอลลาร์ ภายหลังกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองที่ใหญ่ที่สุดในโลกระบุว่า กองทุนปรับลดปริมาณการถือครองทองลง 0.73% ประกอบกับการปรับลดการคาดการณ์ของราคาทองคำในปีนี้ลง ทำให้มีการเทขายตัดขาดทุนของนักลงทุนออกมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานของทองคำได้เปลี่ยนจาก “เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ” มาเป็น “สินทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยง” ทำให้แรงเก็งกำไรที่ผลักให้ราคาทองไม่สามารถปรับตัวขึ้นแรงเหมือนช่วงปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงจับตาดูความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมองว่าความผันผวนของราคาทองคำที่เกิดขึ้นเป็นหนี่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลหลักในช่วงนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีนำเศรษฐกิจสหรัฐเดือน มี.ค., แนวโน้มธุรกิจเดือน เม.ย. (18/4)

อัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.8/5.95 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5/6 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 เมษายน 2556

ปัจจัยเสี่ยงรุมภาคอุตฯ

อนัญญา มูลเพ็ญ

แม้จะไม่มีเหตุระเบิดที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ก็ทำให้ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคส่งออกก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 ปี 2556 ด้วยความกังวล

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ถึงดัชนีอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ที่หดตัวลง 1.2% พบว่า สาเหตุหลักมาจากการลดลงของอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกเกิน 60% โดยดัชนีหดตัวลงลึกถึง 8.18%
โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเชื่อว่าในไตรมาส2 ปีนี้ ผลกระทบด้านลบจะชัดเจนกว่าไตรมาสแรก

"วัลลภ วิตนากร" รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ในไตรมาสแรกผู้ประกอบการยังประคองตัวอยู่ได้ เพราะผลิตจากออร์เดอร์ที่ได้รับมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่จากไตรมาส 2 เป็นต้นไปส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตตามออร์เดอร์ที่เข้ามาในช่วงไตรมาสแรก

"แต่เราเห็นสัญญาณไม่ดีมาตั้งแต่ไตรมาสแรกดีแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีออร์เดอร์ แต่เงินบาทที่แข็งกว่าภูมิภาค ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันราคาไม่ได้ จึงไม่สามารถรับออร์เดอร์ได้"

วัลลภ กล่าวว่า การส่งออกที่ชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสแรก เห็นได้จากเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งออกติดลบ 5.83% นอกจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าและเศรษฐกิจโลกแล้ว การปิดตัวของเอสเอ็มอีจากปัญหาค่าแรง 300 บาท ที่จะทำให้การส่งออกไตรมาส 2 ชะลอตัวลงอีก

ในส่วนค่าเงินบาทนั้น รองประธาน สอท. เชื่อว่าแนวโน้มยังคงแข็งค่าตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาคเอเชียที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้า แต่ไทยมีแนวโน้มจะดึงดูดได้มากกว่าเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจดี อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มบาทจะแข็งค่า แต่ก็ต้องการให้ ธปท.ลดผลกระทบจากค่าเงินบาทต่อภาคส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรม โดยช่วยดูแล 2 ลักษณะ คือ 1.ดูแลไม่ให้มีความผันผวนจนเกินไป เพราะค่าเงินที่ขึ้นลงตลอดเวลาจะทำให้กำหนดราคาสินค้าลำบากและ 2.แม้เงินบาทจะอยู่ในทิศแข็งค่าแต่อยากให้ดูแลไม่ให้แข็งมากไปกว่าคู่แข่งหลักๆ ได้แก่ อาเซียน 9

ประเทศ จีน อินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา

เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นคู่แข่งที่ผลิตสินค้าส่งออกได้ใกล้เคียงกับประเทศไทยที่คู่ค้าสามารถซื้อสินค้าทดแทนสินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็น อัญมณี จากอินเดียและจีน เฟอร์นิเจอร์ จากเวียดนามและอินโดนีเซีย อาหาร จากเวียดนามและอินเดีย อิเล็กทรอนิกส์ จากเวียดนามมาเลเซีย และจีน

"ที่มีการแนะนำผู้ประกอบการว่าให้ป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อฟอร์เวิร์ดเราก็ทำอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าจะซื้อฟอร์เวิร์ดได้ เราต้องได้รับออร์เดอร์ก่อน แต่ปัญหาตอนนี้คือค่าเงินมันผันผวนไม่สามารถโค้ดราคาและรับออร์เดอร์ได้"
นอกจากปัจจัยเงินบาทแล้ว "วัลลภ" ระบุว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐ และยุโรป เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกคงลำบาก ในขณะที่จีนหันไปบริโภคในประเทศมากขึ้น อาเซียนก็เป็นผู้นำเข้าจากไทยเพื่อผลิตส่งออกถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดีก็จะนำเข้าสินค้าลดลง จึงคาดว่าส่งออกปีนี้จะขยายตัว 6.9% เท่านั้น และคาดว่าอาจจะมีการปรับลดลงหลังเห็นตัวเลขเศรษฐกิจของครึ่งปีแรก

เจอปัจจัยลบเข้ามาอย่างต่อเนื่องเห็นเค้าลางแล้วว่าภาคอุตสาหกรรมคงเจองานช้างให้วัดฝีมือทั้งปีเสียแล้ว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

กระทรวงอุตฯ เชือดไก่ให้ลิงดู สั่งแขวน 4 อุตสาหกรรมจังหวัด/ส่อทุจริต-ละเลยหน้าที่

กระทรวงอุตฯ ล้างภาพการทุจริตต่อหน้าที่ เชือดไก่ให้ลิงดูสั่งแขวนเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดที่ส่อทุจริตแล้ว เหตุไม่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการปล่อยมลพิษ หลังสอบสวนพบเจ้าหน้าที่ทำผิดจริง 4 ราย จับโยกย้ายออกจากจังหวัดพร้อมลดเงินเดือนแล้ว 2 ราย และอีก 2 รายอยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริง

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระ ทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่กระทรวงได้เข้มงวดในการตรวจสอบปัญหาการร้องเรียนจากประชาชนที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาห กรรมที่ลักลอบปล่อยมลพิษไม่ได้ตามมาตรฐาน จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง แต่อุตสาหกรรมจังหวัดนั้นๆ กลับไม่สนใจดูแลเข้าไปแก้ปัญหา เพราะมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง กระทรวงจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการร้องเรียนขึ้นมา

ทั้งนี้หากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดใดมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบและละเลยหน้าที่อย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไปจะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทันที ซึ่งขณะนี้กระทรวงได้รับข้อร้องเรียนว่ามีเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติ กรรมส่อทุจริตรวมทั้งสิ้น 4 คน ประ กอบด้วย ผู้ช่วยฝ่ายอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ราย ภาคตะวันออก 1 ราย และภาคใต้อีก 1 ราย โดย 1 ในนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับอุตสาหกรรมจังหวัด 1 ราย และอีก 3 ราย เป็นระดับผู้ช่วยอุตสาหกรรมจังหวัด

"หากพบว่าสำนักงานอุตสาห กรรมจังหวัดรายใดมีพฤติกรรมส่อไปในทางที่ผิด ดำเนินการทุจริตต่อหน้าที่ อาทิ เรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นต้น กระทรวงจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที หากพบว่ามีความผิดจริงจะสั่งย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดนั้นๆ ทันที โดยขั้นตอนการสอบสวนเบื้องต้นจะใช้เวลา 30 วัน เรียกเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเข้ามาประจำอยู่ในกระทรวง เพราะถือว่ากระทำความผิดและสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม"

ส่วนสาเหตุที่ต้องนำตัวเจ้าหน้าที่ที่ทำความผิดดังกล่าวเข้ามาสอบสวนที่กระทรวง โดยจะหาตำแหน่งใหม่ให้นั้น เนื่องจากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำ ลายหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ได้สั่งลดเงินเดือนกับเจ้าหน้าที่ 2 รายไปแล้วระดับ 5-10% และสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอื่นแทน ขณะที่อีก 2 รายยังอยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม โดยกระบวนการสอบสวนจะใช้เวลาทั้งสิ้น 30 วัน ทั้งนี้ยืนยันว่ากระบวนการสอบสวนจะต้องโปร่งใส

"นโยบายต่อจากนี้ ถ้ามีประเด็นปัญหามวลชนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จะสั่งการให้เข้ามาประจำในกระทรวง หรือเรียกง่ายๆ คือแขวนเจ้าหน้าที่คนนั้น ก่อนหาจังหวัดอื่นให้ไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ตัวในสิ่งที่ทำผิด อีกทั้งยังมีการปรับลดเงินเดือนลงด้วย"

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอุตสาห กรรมจังหวัดจะต้องทำแฟ้มประวัติโรงงานที่ถูกร้องเรียนหลายๆ ครั้ง อาทิ จำนวนการร้องเรียนมามีมากน้อยแค่ไหน เรื่องร้องเรียนมีเรื่องอะไรบ้าง และจำนวนการร้องเรียนเป็นเรื่องเดิมหรือเรื่องใหม่ และได้รับการแก้ไขปัญหาจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนั้นมากน้อยเพียงใด เป็นต้น ทั้งนี้สิ่งที่กระทรวงดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อต้องการลบภาพไม่ดีออกจากกระทรวง เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนจำนวนมากกว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น และทำให้กระทรวงเสียหายในภาพรวม ดังนั้นจึงต้องเอาจริงกับบุคคลที่ทุจริตต่อหน้าที่

จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 17 เมษายน 2556

'4พืชเศรษฐกิจไทย'แข่งขันยาก!

เช็กชีพจร 4 พืชเศรษฐกิจไทย แข่งขันยาก - จี้เร่งปรับตัวก่อนสายเกินแก้

ภาคการเกษตรของไทยเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง หลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี แต่ดูเหมือนว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิ่งนอนใจ ทั้งๆ ที่หลายสินค้าเกษตรของไทยที่ถูกแซงหน้าไปแล้ว ทั้งการสูญเสียตลาดส่งออกข้าว การมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ขณะที่ผลผลิตต่อไร่กลับลดลง ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.จึงได้ทำการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อม

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และภาคการเกษตรของไทย ซึ่งแน่นอนว่าภาคเกษตรของไทยมีทั้งส่วนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ที่เห็นชัดๆ คือจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน อาจทำให้ภาคเกษตรของไทยขาดแคลนแรงงาน และมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงต้องเร่งปรับตัวในการพัฒนาด้านประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตแทน โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจหลัก 4 ชนิดของไทย อย่าง ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอ้อย

จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยลดลง เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ลดลง แต่ต้นทุนการผลิตกลับสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยต่ำกว่าเวียดนาม ในด้านประสิทธิภาพการผลิตพบว่า ปี 2553 ผลผลิตต่อไร่ของไทยน้อยกว่าเวียดนาม 48.1% และต้นทุนการผลิตของเวียดนามน้อยกว่าไทยเกือบเท่าตัว

ส่วนปาล์มน้ำมัน ขณะนี้ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดส่งออกน้ำมันปาล์มเพียง 2.2% โดยผู้ครองตลาดโลกคือ อินโดนีเซีย มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 50% รองลงมาคือมาเลเซียมีส่วนแบ่งการตลาด 30% การเข้าสู่เออีซีทำให้มีการลดภาษีนำเข้าปาล์มน้ำมัน จึงส่งผลกระทบต่อการผลิตปาล์มและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ อาจทำให้น้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย

ขณะที่ยางพารานั้น พบว่าไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย พื้นที่ปลูกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5.35% ผลผลิตรวมเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.53% ต่อปี โดยในปี 2554 อินเดียเป็นประเทศที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกจำนวน 303 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือเวียดนาม 275 กก.ต่อไร่ และไทย 262 กก.ต่อไร่

ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสำคัญกลับมีผลผลิตเฉลี่ยที่น้อยกว่าอยู่ที่ 146 กก.ต่อไร่และ 107 กก.ต่อไร่ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิตที่เป็นจุดแข็งในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับยางพารา สร้างอำนาจการต่อรองและเป็นผู้กำหนดราคายางได้เองในอนาคต รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำของยางพาราและอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

สุดท้ายสินค้าเกษตรประเภทอ้อย และน้ำตาลทราย ถือว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีการส่งออกไปประเทศในอาเซียนประมาณ 2.73 ล้านตันในปี 2554 ขณะที่ตลาดดังกล่าวมีความต้องการนำเข้าประมาณปีละ 2.9 ล้านตัน ยิ่งเมื่อเปิดเออีซีจะเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดในภูมิภาคนี้มากขึ้น แต่ไทยจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน ที่จะเข้าสู่การแข่งขันและความร่วมมือในการลงทุนในประเทศอาเซียนด้วยกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.มองว่าผลกระทบต่อภาคเกษตร อาจทำให้มีการแข่งขันด้านราคาจากฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งต่อให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร โดยอาจมีแรงกดดันทั้งเรื่องของอัตราภาษีศุลกากร ถิ่นกำเนิดหรือแหล่งผลิตสินค้า มาตรฐานสินค้า และระเบียบหรือขั้นตอนการนำข้า-ส่งออก อาจจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายและเวลาที่สูงขึ้นจากความหลากหลายของระบบด้วย ธ.ก.ส.ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ให้บริการทางการเงินแก่เกษตรกร จึงให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลเพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นักวิชาการแนะจัดระเบียบผลผลิต

นายมรกต ตันเจริญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มการเกษตรและอาหารของโลกและของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลมีการคาดการณ์กันว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านคนในปี 2555 เป็น 9 พันล้านคนในปี 2593 ( ค.ศ.2050) ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า จากข้อจำกัดด้านพ้นที่เพาะปลูก การเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่จึงเป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารอย่างยั่งยืน

ขณะที่วิกฤตพลังงาน ทำให้กระทรวงพลังงานมีแผนส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 20% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ภายในปี 2565 เช่น การใช้เอทานอลและไบโอดีเซล ที่ผลิตจากพืชผลการเกษตร แต่อ้อย (กากน้ำตาล) และมันสำปะหลังที่ใช้ผลิตเอทานอลเป็นพืชที่ใช้ผลิตน้ำตาล และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งมันเส้น แป้งมัน ผงชูรส ส่วนไบโอดีเซลผลิตจากปาล์มน้ำมันที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันปาล์มที่ใช้เป็นอาหาร จึงทำให้เกิดการแย่งชิงระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพื้นที่เพาะปลูกเท่านั้น แต่ทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นด้วย

“ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก หรือทำหน้าที่เป็นครัวของโลก ขณะเดียวกันเรานำเข้าน้ำมันเป็นสินค้าอันดับหนึ่งของประเทศ จึงจำเป็นต้องหาจุดยืนหรือสร้างสมดุลในการใช้พืชผลทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารและพลังงาน”

ในภาพรวมของโลกพบว่ามีพื้นที่ที่ใช้ในการผลิตพืชอาหารประมาณ 60% อาหารสัตว์ 35% พืชพลังงานประมาณ 5% ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 170 ล้านไร่ จึงควรมีการวางแผนเพื่อกำหนดว่าจะใช้พื้นที่ใดผลิตพืชชนิดใดให้ชัดเจน รวมถึงควรมีแนวทางเพิ่มผลผลิตอย่างไรด้วย

นายมรกตกล่าวอีกว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบโดยตรงต่อพืชเกษตร โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 การผลิตอาหารของโลกจะสูญเสียประมาณหนึ่งในสี่ ทั้งจากอากาศ ดินเสื่อม และขาดแคลนน้ำ ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ฟิลิปปินส์พบว่า ผลผลิตข้าวจะลดลง 10% เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1% ตามภาวะโลกร้อน ซึ่งในปี 2463 อุณหภูมิของโลกอาจสูขึ้นไปอีก 1.8-4 องศาเซลเซียส ขณะที่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สวก ของไทย ระบุว่าผลผลิตข้าวในเขตชลประทานของไทยจะลดลง 11% ระหว่างปี 2573-2582 และลดลง 22% ระหว่างปี 2633-2642

ชำแหละปัญหาภาคเกษตรไทย

จากข้อมูลพื้นที่การเกษตรของไทยมีประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ 5.14 แสนตารางกิโลเมตร มีผู้อยู่ในวัยทำงาน 38.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานภาคเกษตร 35% หรืออาจต่ำกว่า เพราะบางคนทำงานบางช่วงเวลาเท่านั้น ขณะที่จีดีพีภาคเกษตรอยู่ที่ 13% ของจีดีพีทั้งหมด สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของตาดโลกหลายรายการ ทั้ง ข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง แม้การส่งออกที่ผ่านมาจะมีการเติบโตแต่ถ้าเปรียบเทียบการเติบโตของประเทศอื่น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย พบว่าไทยเติบโตน้อยกว่า และจากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการเกษตรของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศ 60 ประเทศ ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประสิทธิภาพต่ำเป็นลำดับที่ประมาณ 50

“เรื่องของเวลาการผลิตสินค้าตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบจนถึงมือผู้บริโภคควรใช้เวลาสั้นที่สุด หรือให้มีประสิทธิภาพที่สุด มีกระบวนการจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีค่าขนส่งสินค้าถูกที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ภาคเกษตรไทยอยู่ที่ประมาณ 21-25% ของจีดีพี สูงกว่าจีน มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งของไทยค่าขนส่งนับวันจะแพงขึ้นจากราคาพลังงาน”

นายมรกตกล่าวว่า นอกจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรแล้ว อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยก็นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2523 อายุเฉลี่ยเกษตรกรไทยอยู่ที่ 33 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 40 ปีในปี 2545 และเพิ่มเป็น 51 ปีในปี 2550 ทำให้ความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อทุ่นแรงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรนั้น สามารถทำได้หลายแนวทางทั้งการปรับปรุงพันธุ์พืช การจัดการฟาร์มที่ดี การเพิ่มประสิทธิภาพการปุ๋ยและน้ำ และสิ่งสำคัญในการทำให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ คือการสื่อสารข้อมูลทั้งการให้ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งในยุคไอทีการใช้โทรศัพท์มือถือในการส่งเอสเอ็มเอส เพื่อแจ้งเหตุด่วน ก็จะให้เกษตรกรเตรียมตัวหาทางป้องกันได้ เพราะคนที่อยู่รอดได้ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นผู้ที่สามารถปรับตัวได้ต่อการเปลี่ยนแปลง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 เมษายน 2556

สค.แนะเจาะตลาดฟิลิปปินส์ เปิดAECภาษีนำเข้าเหลือ0%

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันฟิลิปปินส์เป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 11 และเป็นอันดับที่ 5 ในอาเซียน แต่ปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างฟิลิปปินส์กับไทยยังไม่มากเท่าที่ควร โดยจากสถิติในปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 6,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยมีการส่งออก 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าฟิลิปปินส์มาโดยตลอด สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ ได้แก่ สินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิคส์ เครื่องจักรกล อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ความงาม สปา เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยเป็นที่นิยมชื่นชอบในตลาดฟิลิปปินส์ จัดเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาสมเหตุผล มีความหลากหลายและทันสมัย ประกอบกับฟิลิปปินส์เป็นตลาดขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคน และการจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้า ภาษีนำเข้าเกือบทุกสินค้าจะเท่ากับ 0% ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย ที่น่าจะพิจารณาการขยายตลาดมายังฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น ในส่วนของกรมฯเองก็ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆไว้รองรับและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดงานแสดงสินค้าไทยแลนด์เทรดโชว์ 2556 (Thailand Trade Show 2013) ที่ศูนย์แสดงสินค้า SMX กรุงมะนิลา เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสเจรจาธุรกิจการค้า และประชาสัมพันธ์สินค้า

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 เมษายน 2556

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมประชุมทางไกลในระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้สำรวจพื้นที่ได้รับความเสียหายด้านการเกษตรจากภัยธรรมชาติ

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมประชุมทางไกลในระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้สำรวจพื้นที่ได้รับความเสียหายด้านการเกษตรจากภัยธรรมชาติ พร้อมทั้งรายงานผลการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมจัดการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หรือการประชุมทางไกลในระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม กับเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะให้ศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติเกษตรแต่ละจังหวัด สำรวจความเสียหายในภาคการเกษตรของแต่ละพื้นที่ทางการเกษตรทั่วประเทศ รวมถึงรายงานผลการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากรายงานเบื้องต้นในเดือนมกราคม พบว่ามีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายเพียง 2 จังหวัด คือจังหวัด เชียงราย และจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยคาดว่าความเสียหายของปีนี้จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการวางแผนการเพาะปลูกพืชในหน้าแล้ง โดยจากการสำรวจพบว่าการปลูกพืชยังอยู่ในแผน ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงเดือนเมษายน นี้จะเริ่มมีฝนตก และจะมีฝนตกมากขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม จึงคาดว่าในปีนี้จะมีน้ำเพียงพอต่อการทำนาปี และทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีการวางแผนจะนำระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรมารองรับการปลูกพืช เพื่อลดภาระการอุดหนุนของภาครัฐ พร้อมจะพิจารณาระเบียบการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเสียหาย ให้รัดกุม และจำแนกประเภทของการช่วยเหลือให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ได้ส่งระเบียบการช่วยเหลือเกษตรกรให้กระทรวงการคลังพิจารณา และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 เมษายน 2556

อุตฯประกาศงัดกฎเหล็ก สั่งปิดโรงงานทิ้งกากฯมั่ว

“วิฑูรย์” เข้มสั่งเอกซเรย์ 5 จังหวัดลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม พบทำผิดไม่แก้ไขรับโทษสูงสุดปิดกิจการทันทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังมีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมทิ้งในบ่อดินหลายพื้นที่ของจังหวัดโดยรอบกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนเป็นไปอย่างเร็วที่สุด ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประสานงานกับอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ที่มีปัญหา เพื่อเข้าไปตรวจสอบปัญหาเดือดร้อนดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยตรวจสอบติดตามการส่งกากอุตสาหกรรมของโรงงานต่างๆ ไปกำจัดหรือบำบัด ตลอดจนการตรวจสอบการประกอบกิจการของโรงงานรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ หากตรวจพบการกระทำความผิดให้สั่งปรับปรุงแก้ไข และ/หรือสั่งหยุดประกอบกิจการตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้สูงสุด จากมาตรการดังกล่าวนี้เชื่อว่าจะทำให้เรื่องร้องเรียนต่างๆ ลดน้อยลง นอกจากนี้เพื่อจะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำซากอีก พื้นที่ใดที่มีปัญหาจะมีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดกว่าพื้นที่ปกติ

นายวิฑูรย์ว่าส่วนเรื่องร้องเรียนของประชาชนต่อการประกอบกิจการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยเฉพาะการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตสำหรับโรงงานที่ประกอบกิจการรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ได้ให้ กรอ. และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น กรณีโรงงานประกอบกิจการรีไซเคิลน้ำมันเชื้อเพลิงจากยางรถยนต์ใช้แล้วที่จังหวัดนครปฐม และโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมที่จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

โดยได้กำชับให้ทาง กรอ. และ สอจ.ติดตามการปรับปรุงแก้ไขของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าวให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป หากโรงงานแก้ไขไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด ก็ให้สั่งหยุดการดำเนินงานทันที ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบดังกล่าว มิฉะนั้นก็จะมีการกระทำความผิดบ่อยครั้งและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 เมษายน 2556

พณ.เตรียมถก กกร.ปัญหาการส่งออก-ผลกระทบบาทแข็ง

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรวมมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ยังเชื่อมั่นว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นไปมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังสามารถผลักดันการส่งออกได้ดี โดยตามเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 8-9 เปอร์เซ็นต์นั้น ขณะนี้ยังคงยืนยันว่าการส่งออกไทยจะยังโตตามเป้าหมายเดิม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์กำหนดการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) จากทั่วโลก ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อทบทวนและประเมินสถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะมีการปรับลดตัวเลขการส่งออกตามสถานการณ์ปัจจุบันนี้หรือไม่ คงต้องรอผลการหารือกับทุกฝ่ายก่อน

สำหรับแนวทางการผลักดันการส่งออกในปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีการกำหนดแนวทาง และยุทธศาสตร์ ตลอดจนการจัดกิจกรรมการกระตุ้นการส่งออก ซึ่งจะดำเนินการในลักษณะเข้มข้นและเชิงลึกมากขึ้น โดยกำหนดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออกมากกว่า 500 ครั้ง ซึ่งในแต่ละกิจกรรมจะเน้นการทำตลาดการเจรจาธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเร่งทำตลาดแต่ละประเทศอย่างไร โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ

ด้านนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยกระทรวงพาณิชย์จะรับฟังปัญหาการส่งออก โดยเฉพาะผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการส่งออก และใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เนื่องจากเริ่มกังวลเกี่ยวกับเป้าหมายการส่งออกว่าจะลดลงอีก

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 เมษายน 2556

ย้ำ..โซนนิ่งได้ประโยชน์สร้างโอกาสรับมือเออีซี

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช 6 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการผลิตสินค้าปศุสัตว์ 5 ชนิด ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และจะมีการประกาศเพิ่มอีก 7 ชนิดพืชตามมา โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ที่เหมาะสมสามารถผลิตสินค้าเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ ทำประมงให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น จำหน่ายสินค้าสร้างรายได้ที่ดีขึ้น และสามารถลดปัญหาราคาตกต่ำเนื่องจากผลผลิตล้นตลาด หรือผลผลิตขาดตลาดจนทำให้ราคาสูงมากเกินไป

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจเกษตรกรด้วยว่า การกำหนดเขตเหมาะสมนั้นเกษตรกรจะไม่เสียประโยชน์ ไม่เสียรายได้ แต่จะเป็นการทำให้เกษตรกรมีรายได้ทุกคน โดยเฉพาะเมื่อลงทุนไปแล้วจะต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างเหมาะสม เพราะการทำโซนนิ่งจะต้องดำเนินการหลายด้านตลอดห่วงโซ่การผลิต คือพื้นที่ที่เหมาะสมก็ให้ดำเนินการต่อไป ส่วนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต้องนำเรื่องเทคโนโลยีความรู้ไปช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชหรือประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลการตลาดเป็นตัวกำหนดปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกัน ตลอดจนเรื่องการแปรรูปและการตลาดอย่างครบวงจร ซึ่งการทำโซนนิ่งน่าจะทำให้ทิศทางของราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

“ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการร่วมมือกันขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยคาดว่าภายในปี 2557 น่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในอีกด้านหนึ่ง” นายอภิชาต กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 เมษายน 2556

กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่ายังผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่ามากระทบ ขณะเดียวกันเตรียมประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ประเมินสถานการณ์การส่งออกครึ่งปีหลัง

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรวมมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ยังเชื่อมั่นว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นไปมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังสามารถผลักดันการส่งออกได้ดี โดยตามเป้าการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8-9 ซึ่งยืนยันว่าการส่งออกไทยจะยังเติบโตตามเป้าที่วางไว้เดิม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(ทูตพาณิชย์)จากทั่วโลก ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อทบทวนและประเมินสถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าจะมีการปรับลดตัวเลขการส่งออกตามสถานการณ์ปัจจุบันนี้หรือไม่ ซึ่งคงต้องรอผลการหารือกับทุกฝ่ายก่อน

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ กิจกรรมการกระตุ้นการส่งออกในปีนี้ โดยจะดำเนินการในลักษณะเข้มข้นและเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งมีกิจกรรมกระตุ้นการส่งออกมากกว่า 500 กิจกรรม โดยในแต่ละกิจกรรมจะเน้นการทำตลาดการเจรจาธุรกิจ และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเร่งทำตลาดในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหม่ ๆ อีกทั้งหากดูภาพรวมเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีสัญญานที่ดี ซึ่งมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกิจกรรมการส่งเสริมตลาดทำให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ โดยขณะนี้สินค้าไทยหลายกลุ่มเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ทำให้ก้าวต่อไปของสินค้าไทยจะไม่เน้นการแข็งขันเรื่องราคา แต่จะเน้นการแข่งขันในคุณภาพสินค้า

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 เมษายน 2556

แนะเกษตรกรปรับตัว...รับมาตรฐาน GAP อาเซียน

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ทุกประเทศสมาชิกที่มีการผลิตสินค้าเกษตรจะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ฉะนั้น กรมวิชาการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้าพืช และกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเตรียมความพร้อมด้วยการทบทวนกฎระเบียบการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานของอาเซียน ที่สำคัญคือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด

นายวัชรินทร์ อุปนิสากร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองและมาตรฐานการผลิต สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่ทำการผลิตสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยจากศัตรูพืช สารเคมีและมีคุณภาพ โดยมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตร ตรวจและออกใบรับรองมาตรฐานที่เรียกว่า Q GAP ให้แก่เกษตรกรนั้นถือว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานอาเซียน หรือ ASEAN GAP ได้เกือบ 100% โดยเฉพาะข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเทียบเคียงมาตรฐานอาเซียนในด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ซึ่งประเทศไทยดำเนินการเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีข้อกำหนดย่อยบางด้านที่ยังไม่ใกล้เคียง เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งพยายามปรับปรุงให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงอาเซียนต่อไป

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่ามาตรฐาน GAP ของไทยมีความได้เปรียบประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งในเรื่องของการจัดการคุณภาพ การจัดการแมลงศัตรูพืชหรือสุขอนามัยพืชที่จะติดไปกับสินค้าส่งออกนั้นเราทำได้ดีกว่าอาเซียนอยู่แล้ว เพราะเราส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการดูแลความปลอดภัยสินค้าเข้มงวดทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่เออีซี กรมวิชาการเกษตรได้ปรับยุทธวิธีในการดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานกลางของอาเซียน รวมถึงปรับระเบียบมาตรฐาน GAP ใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการขยายอายุใบรับรองมาตรฐาน Q GAP สำหรับพืชผักอายุสั้นจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ส่วนผลไม้จาก 2 ปี เป็น 3 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในอาเซียนได้มากขึ้นด้วย

สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Q GAP จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว ยังคงใช้ได้อยู่ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมระบบมาตรฐาน อยู่ที่ 196,000 ฟาร์ม/แปลง ผ่านการรับรองมาตรฐาน 159,000 ฟาร์ม/แปลง ดังนั้นจึงถือว่าใบ Q GAP ที่ยังมีอายุใช้การได้ประมาณ 81% ครอบคลุมชนิดพืชผักที่รับรองอยู่ 169 ชนิด ซึ่งจะมีผลจนกระทั่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจติดตามหรือต่ออายุใบรับรอง จะมีการนำมาตรฐาน GAP อาเซียนไปเป็นตัวชี้วัด คาดว่าจะส่งผลให้มีเกษตรกรบางส่วนไม่ผ่านมาตรฐานใหม่ ต้องไปปรับปรุงแล้วกลับมาสมัครอีกครั้ง แต่ถ้ามองในด้านดีคือเกษตรกรจะมีมาตรฐานเพิ่มขึ้นและมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้นด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ในอาเซียนเท่านั้น เพราะตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นอาเซียนบวก 6 โดยบวก 3 แรกคือสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ส่วนที่เพิ่มขึ้นอีก 3 ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

เกษตรกรที่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ในปัจจุบันยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ สาเหตุหลักคือส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีแผนการผลิตสินค้าที่ชัดเจนว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งออก ไม่มีการจดบันทึกข้อมูลฟาร์ม จึงไม่ค่อยสนใจเรื่องระบบมาตรฐานมากนัก แต่ในอนาคตอันใกล้แม้ว่าการผลิตเพื่อขายตลาดในประเทศก็ต้องมีระบบมาตรฐาน GAP รับรอง เพราะตลาดขายส่งสินค้าเกษตร เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมืองหรือตลาดค้าส่งรอบปริมณฑลมีมาตรการว่าถ้าเกษตรกรผลิตสินค้าแล้วไม่มีการรับรองมาตรฐาน GAP จะไม่ให้ขายในตลาด ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคนั่นเอง

สำหรับเกษตรกรท่านใดสนใจจะเข้าสู่ระบบการผลิตพืชเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP สามารถสมัครได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกในการเข้าไปถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรและประเมินผลในเบื้องต้น เพื่อส่งต่อมายังกรมวิชาการเกษตรเข้าไปทำการตรวจสอบและออกใบรับรองให้ ซึ่งการเข้าสู่มาตรฐาน GAP นั้น ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นก็ตกอยู่กับเกษตรกร รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 เมษายน 2556

ภัยแล้งคุกคามเกษตร-ชาวบ้านอ่วม วอนรัฐบาลเร่งบูรณาการแก้ปัญหา

ต้องยอมรับว่า ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน และระบบการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยังไม่เสถียร จึงส่งผลให้ “ภัยแล้ง” ในปีนี้รุนแรงสูงสุดในรอบหลายปี ทั้งจากการเกิดภัยแล้งเร็วกว่าปกติ แถมกินพื้นที่ความเสียหายเป็นวงกว้างเกินครึ่งประเทศ สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ผลผลิตล้วนเสียหายอย่างหนัก ขณะที่ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะในชนบทก็ขาดแคลนทั้งน้ำกิน น้ำใช้ ด้านคนในเมืองก็ต้องซื้ออาหาร ผักสดในราคาแพงขึ้นกว่าปกติ

ทรงห่วงพระทัย

เรียกได้ว่า น่าเป็นห่วงปัญหา “ภัยแล้ง” ในปีนี้อย่างแท้จริง ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงห่วงพระทัยการดูแลเรื่องน้ำ และอยากให้เกิดความสมดุลเรื่องน้ำ โดยเฉพาะการดูแลประชาชนทั้งในส่วนของภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง พร้อมให้นายกรัฐมนตรี นำคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลฯ รายงานความคืบหน้าและแนวทางการแก้ปัญหาน้ำและภัยแล้ง ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริไว้ด้วยการนำเทคโนโลยีเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำมาใช้เพื่อเก็บข้อมูล การใช้กล้องวงจรปิด ทรงแนะแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง ที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไป กำหนดพื้นที่ทำการเกษตร โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการปลูกพืชในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับฤดูกาลและปริมาณน้ำ

แล้งหนัก 45 จังหวัด

ขณะที่ข้อมูลสถานการณ์ภัยแล้ง จาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ล่าสุด เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นจากเดือนที่แล้ว ถึงขณะนี้ได้ ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งทั้งสิ้น 45 จังหวัด เพิ่มจากเดือน มี.ค. ที่มีเพียง 43 จังหวัด ในจำนวนนี้ยังมีที่ประสบภัยแล้งขั้นรุนแรงคือ มีหมู่บ้านประสบภัยแล้งเกินกว่าครึ่งหนึ่งถึง 28 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

โดย 45 จังหวัดที่ประสบภัยแล้ง คือ กาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม ยโสธร ขอนแก่น นครราชสีมา สุโขทัย แพร่ จันทบุรี ตาก เชียงราย ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ พะเยา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ลำพูน เลย อุทัยธานี อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ น่าน กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ชัยภูมิ พิษณุโลก พิจิตร สกลนคร มุกดาหาร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ตรัง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ศรีสะเกษ นครพนม ชลบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และสุพรรณบุรี

ระทึกเขื่อนใหญ่แห้งขอด

หันไปสำรวจสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ จาก กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า ปริมาตรน้ำในอ่างเหลือเพียง 38,700 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 55% ของความจุอ่างทั้งหมด ลดลงจากปีที่ผ่านมา 4,767 ล้านลูกบาศก์เมตร และเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 21% หรือ 16,591 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น นอกจากนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เหลือปริมาณน้ำ 42% ของความจุอ่าง และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือปริมาณน้ำ 32% ซึ่งลดต่ำกว่าครึ่งทั้งหมด จึงอาจกระทบต่อต้นทุนน้ำและการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้

ภาคเกษตรเสียหาย 1.8 หมื่นล้าน

ภัยแล้งที่ลุกลามอย่างต่อเนื่องนี้ นอกจากส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งการหาน้ำดื่ม หรือน้ำใช้ เพื่ออุปโภคบริโภคแล้ว ภาคการเกษตรก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิเคราะห์ผลกระทบภัยแล้งต่อภาคการเกษตรปีนี้ว่า ปัจจุบันมีถึง 23 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ มีเกษตรกรที่เข้าข่ายถึง 6 แสนราย มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 6.419 ล้านไร่ เป็นข้าว 6.342 ล้านไร่ พืชไร่ 74,123 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 3,166 ไร่

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นปัจจุบัน มีเกษตรกรเดือดร้อนแล้ว 612,529 ราย พื้นที่เสียหายไปแล้ว 4.563 ล้านไร่ เป็น ข้าว 4.509 ล้านไร่ พืชไร่ 52,540 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 1,390 ไร่ พร้อมทั้งได้ประเมินมูลค่าความเสียหายด้านการเกษตรที่มีผลต่อเศรษฐกิจรวม สูงถึง 18,452.88 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายด้านข้าว 17,964.59 ล้านบาท ด้านพืชไร่ 460.30 ล้านบาท ด้านพืชสวนและอื่น ๆ 27.98 ล้านบาท

ยอดจำนำข้าวลดลง

ขณะที่โครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 56 ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ปีนี้จะมีข้าวเปลือกนาปรังเข้าร่วมโครงการรับจำนำเพียง 7 ล้านตัน จากผลผลิตที่ออกมาทั้งหมด 9-10 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์เดิม ที่คาดว่าจะมีข้าวเปลือกเข้าโครงการจำนำ 10 ล้านตัน จากผลผลิต 13-14 ล้านตัน ส่งผลให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการใช้จำนำจาก 1.5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

ด้านรูปแบบความเดือดร้อนที่เกษตรกรในต่างจังหวัดได้รับนั้น ก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งกลุ่มเรือกสวนนาไร่ เช่น ชาวนาในภาคอีสาน และภาคกลาง ประสบปัญหาไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวที่ปลูกไว้ได้ เพราะต้นข้าวแห้งเหี่ยว แคระแกร็น เช่นเดียวกับชาวไร่และชาวสวนที่ได้ผลผลิตน้อยลงจากการปลูกพืชเช่นกัน รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ปลาจำหน่ายใน จ.มหาสารคาม ก็เดือดร้อนอย่างหนัก จากอากาศที่ร้อนและแล้งจัด ส่งผลให้ปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ตายจำนวนมาก จนขาดทุนแล้วกว่า 400,000 บาท

ผักแพง มะนาวโหด 12 บาท

เมื่อสำรวจภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อปากท้องผู้บริโภค พบว่า ราคาพืชผัก อาหารในท้องตลาด ล้วนปรับสูงขึ้นจากช่วงปกติ เพราะพื้นที่เพาะปลูกผักสวนครัวเสียหาย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิต และคุณภาพลดลง ก็แน่นอนว่าดันให้ราคาขายปลีกในท้องตลาดถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาผักสดล่าสุดในกรุงเทพฯ พบว่า ปรับขึ้นจากราคาปกติ 10-20%

โดยเฉพาะราคาผักสดชนิดใบซึ่งเป็นที่นิยมบริโภค เช่น ราคากะหล่ำปลีจากปกติ กก.ละ 15-20 บาท เพิ่มเป็น 25-30 บาท แตงกวาจาก กก.ละ 15.20 บาท เป็น 20-35 บาท ผักกาดขาว 20-45 บาท ผักคะน้ากก.ละ 15-20 บาท เพิ่มเป็น 20-30 บาท ผักบุ้ง จาก 15-20 บาท เป็น 20-30 บาท ผักชี กก.ละ 90-110 บาท ถั่วฝักยาว กก.ละ 40-55 บาท มะนาวผลละ 2-3 บาท เพิ่มเป็น 10-12 บาท พริกสด กก.ละ 70-90 บาท ต้นหอม กก.ละ 70-95 บาท และเนื้อสุกรจาก กก.ละ 110 บาท เป็น 120-140 บาท

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาอาหารสด มะนาวแพงขึ้น เนื่องจากภัยแล้งที่ทำให้พื้นที่การเพาะปลูกผักสด ผลไม้ได้รับความเสียหาย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ขณะที่หมูแพงขึ้น เพราะสภาพอากาศร้อนทำให้กินอาหารได้น้อยลงจึงเติบโตช้า และน้ำหนักหมูลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงปรับเพิ่มขึ้น จนต้องขยับราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มขึ้นเป็น กก.ละไม่ต่ำกว่า 66 บาท และหมูเนื้อแดงหน้าเขียงสัปดาห์นี้ ปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึง กก.ละ 5 บาท แน่นอนว่า ราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้อาหารปรุงสำเร็จบางประเภทปรับขึ้นตาม เช่น น้ำมะนาวปั่นขึ้นแก้วละ 5 บาท เช่นเดียวกับเมนูส้มตำ ยำต่าง ๆ ก็ขอปรับขึ้น 5-10 บาท หลังมะนาวแพงขึ้นเป็นลูกละ 12 บาท

พาณิชย์ยันเอาอยู่

ด้าน “วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์” อธิบดีกรมการค้าภายใน ประเมินสถานการณ์ราคาผักสดและมะนาวแพงในช่วงหน้าร้อนว่า จากการสอบถามตลาดสดที่เป็นพันธมิตรกับกรมการค้าภายในพบว่า ปริมาณผักและมะนาวยังอยู่ระดับปกติ ไม่ได้ขาดแคลน แต่ราคาแพงขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะมะนาวขณะนี้ จากสวนลูกละ 5-7 บาท พอมาขายปลีกก็เป็น 10 บาท ช่วงนี้จึงอยากให้ผู้บริโภคหาสินค้ามาบริโภคทดแทน เช่น มะนาวแพง ก็หันไปกินส้มจี๊ดลูกเล็ก มีรสเปรี้ยวเหมือนกัน ส่วนผักใบชนิดอื่น แม้ราคาสูงขึ้น แต่ไม่ได้แพงกว่า 2 ปีที่แล้ว

ส่วนกรณีเนื้อหมูปรับราคาขึ้น เนื่องจากอากาศร้อนจัดทำให้หมูโตช้าก็จริง แต่ขณะนี้เนื้อหมูมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค และการขึ้นราคายังอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมระหว่างผู้เลี้ยงกับผู้บริโภค คือหมูเนื้อแดงขายปลีกไม่เกิน กก.ละ 130-140 บาท แต่หากพื้นที่ใดสินค้าขาดแคลน แจ้งมาได้ที่ 1569 กรมฯพร้อมนำสินค้าเกษตรราคาถูกไปจำหน่ายให้

จี้ไขลานรัฐเร่งแก้ปัญหา

ที่ผ่านมารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะประชุมแบบบูรณาการ ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำฯ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นมาตรการเร่งด่วนระยะสั้น ได้แก่ การแจกจ่ายน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล การขุดลอก ส่งเสริมอาชีพจ้างงาน ส่วนที่ 2 เป็นมาตรการระยะยาว คือการแก้ปัญหาด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาระบบน้ำทั้งประเทศ

นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพื่อรับมือภัยแล้งที่เกิดขึ้น ด้วยการให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ 4 ข้อ ได้แก่ บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นให้ความสำคัญกับการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก, ประชาชนต้องเข้าถึงน้ำอย่างทั่วถึงทั้งอุปโภคบริโภค ทุกหน่วยงานต้องช่วยเหลือจัดหาน้ำ ทั้งการจัดส่งน้ำ การเจาะบ่อบาดาล ระดับปฏิบัติการให้ยึดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติแบบ 2 พี 2 อาร์ และในพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

แต่ในความจริงพบว่า ปัญหาภัยแล้งยังไม่คลี่คลาย และรัฐบาลยังไม่สามารถดูแลภัยแล้งได้ทั่วถึง เพราะคลื่นความร้อนมักนำหน้าการทำงานของรัฐบาลอยู่เสมอ วัดได้จากภัยแล้งที่ยังกินวงกว้าง จนเพิ่มเป็น 45 จังหวัดแล้ว โดยประชาชนหลายพื้นที่ยังไม่มีน้ำกินน้ำใช้ เนื่องจากกำลังการแจกจ่ายน้ำภาครัฐไม่เพียงพอ ช่วงนี้จึงเห็นภาพประชาชนหลายพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจแทน เช่น การแห่นางแมวขอฝน

หลังจากนี้ คงต้องขอฝากอย่างจริงจัง ให้รัฐบาลทำงานเชิงรุก เพราะภัยแล้งยังเพิ่งเริ่มต้น เข้าสู่กลางฤดูกาลเท่านั้น หากยังแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เชื่องช้าเหมือนเดิม เชื่อว่าคงต้องประกาศภัยพิบัติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกหลายจังหวัด ชนิดที่เรียกว่า ภัยแล้งครั้งนี้ ประชาชนทั่วประเทศไม่ได้เดือดร้อนน้อยไปกว่าเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 ที่ผ่านมาเลยทีเดียว และนี่ก็กลายเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่รอการพิสูจน์กึ๋นของรัฐบาลชุดนี้อีกครั้งว่าจะ เอาอยู่! ได้หรือไม่.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 เมษายน 2556

เกณฑ์ใหม่ใบรง.4เน้นโปร่งใส กรอ.ออกกฎไม่เกิน90วัน/เปิดสายด่วนรับเรื่องร้องโกง

กรมโรงงานฯตั้งเกณฑ์ออกใบ รง. 4 ใหม่ รับการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ย้ำขั้นตอนการออกไลเซนส์ต้องโปร่งใสไม่เกิน 90 วัน เปิดสายด่วนฮอตไลน์ร้องเรียนทุจริตถึง "อธิบดี" ได้โดยตรง "ณัฐพล" เตรียมตบเท้าหารือ ประธานภาคีต่อต้านคอร์รัปชั่นส.อ.ท.และสภาหอการค้า รับฟังข้อเสนอแนะ พร้อมตั้งยอดการร้องเรียนเป็น KPI เผยกว่า 3 เดือน มีร้องทุกข์ถึง 274 เรื่อง

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่มีการปรับบทบาทของคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการออกใบอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาห กรรมเป็นประธาน โดยลดขอบเขตอำนาจการออกใบอนุญาตประเภทกิจการโรง งานจากเดิม 7 ประเภท ให้เหลือเพียง 2 ประเภท คือ โรงงานขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท หรือมีคนงานมากกว่า 200 คน และโรงงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐ มนตรี หรือที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐ บาล หรือนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น

"กรมได้ปรับขั้นตอนกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาต (รง.4) ให้รัดกุมและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นโดยจะคำนึงถึงผลกระทบของชุมชน สิ่งแวด ล้อม เพื่อแก้ปัญหาใบอนุญาตที่มีความล่าช้า ซึ่งจะพิจารณาอนุญาตใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน โดยเกณฑ์ใหม่ของการออกใบอนุญาตนั้น ในแต่ละจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในการตรวจสอบข้อมูล เอกสาร และที่ตั้งโรงงาน เป็นต้น ก่อนส่งเรื่องมาที่ กรมพิจารณาอีก 20 วัน ทั้งนี้หากโรงงานใดมีกำลังผลิตไม่เกิน 500 แรงม้า อุตสาหกรรมจังหวัดก็สามารถออกใบอนุญาตได้ทันที"

ขณะที่ในส่วนของขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตจะมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยกรมได้จัดทำระบบออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปดูขั้นตอนการดำเนินงานได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์ของกรม โดยผู้ขอใบอนุญาตสามารถเข้าไปเช็กข้อมูลและความคืบหน้าในการขอใบอนุญาตของตัวเองโดยผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะสามารถตรวจสอบว่าเรื่องไปถึงหน่วยงานใด เจ้าหน้าที่คนไหนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้คาดว่าระบบจะสามารถดำเนินการได้สมบูรณ์ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2556

"เร็วๆ นี้ กรอ.จะเปิดสายด่วนฮอตไลน์ 1564 และเบอร์มือถือโดยตรงถึงอธิบดี กรมโรงงานฯเพื่อร้องเรียนและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้งในเรื่องของการขอใบอนุญาตล่าช้าและรับแจ้งการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสบายใจของผู้ประกอบการ รวมทั้งการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการเซ็นอนุมัติโครงการอะไรทั้งสิ้น หากไม่มีการตรวจสอบ เพราะก่อนหน้านี้กรมได้จัดตั้งศูนย์บริการรับร้องเรียนไว้เช่นกัน แต่ผู้ประกอบการไม่กล้าให้ข้อมูลโดยเฉพาะการทุจริตของเจ้าพนักงานจึงทำให้ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอาผิดได้"

นอกจากนี้ กรมยังจะเข้าไปหารือกับนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนว ทางและรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของกรมโรงงานฯ ให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาภาพลักษณ์การออกใบอนุญาต รง. 4 ล่าช้า จึงต้องมีการชี้แจงและให้รายละเอียดกระบวนการดำเนินงานต่างๆของกรมโรงงานฯ ให้ภาคเอกชน รับทราบรายละเอียดอย่างชัดเจนมากที่สุด

สำหรับดัชนีชี้วัด หรือ KPI ในการดำเนินงานของกรมนั้น สิ่งที่จะเป็นตัววัดที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ อัตราการร้องเรียนของผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องของการออกใบอนุญาตล่าช้า การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ จึงอยากให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่อยู่รอบบริเวณโรงงาน เกิดความสบายใจและร้องเรียนเข้ามาโดยตรงเพื่อดำเนินการเอา ผิดกับเจ้าหน้าที่ จนถึงวันนี้นับจากที่เข้ามารับตำแหน่งยังไม่มีการร้องเรียนการกระทำความผิดใดๆ ขณะที่มีอัตราการร้องเรียนเข้ามาน้อยลง

ส่วนในช่วงกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา(วันที่ 1 มกราคม-11 เมษายน) มีผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนจำนวน 274 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรสาคร และนนทบุรี ตามลำดับ ปัญหาเป็นเรื่องกลิ่นเหม็นของโรงงานจำนวน 164 เรื่อง ตามด้วย เรื่องฝุ่น โรงงานเถื่อน ไอสารเคมี ควัน น้ำเสีย ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ทาง กรมได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขแล้ว 260 เรื่อง และอีก 14 เรื่องรอดำเนินการ โดยมี 8 แห่งที่ถูกดำเนินคดีและสั่งปิดกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ปี 2555 มีผู้ประกอบการโรงงานถูกร้องเรียนรวมจำนวน743 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ตามลำดับ โดยปัจจุบันกรมได้ดำเนินการไปแล้ว740 เรื่อง และถูกดำเนินคดีโดยสั่งปิดกิจการ 26 แห่ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

จับตาอนาคตพลังงานสู่ AEC ถึงเวลาคนไทยต้องเป็นผู้ชี้ชะตา

นับถอยหลังไปกับการก้าวสู่การค้าและการลงทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ (New Growth) การค้าและการลงทุนจะเสรีอย่างมาก และเมื่อมองย้อนกลับความได้เปรียบของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในการเข้าสู่ AEC พบว่าไทยมีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้

ดังนั้นเราจึงได้เปรียบในแง่ของการท่องเที่ยวและระบบการขนส่งที่จะเชื่อมโยง (Connectivity) ภูมิภาคนี้เข้าด้วยกันนั่นเองและนี่จึงเป็นที่มาการจัดทำร่างยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศมูลค่า 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศอื่นๆ ทั้งพลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรมเข้าด้วยกันภายใต้การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่จะเน้นลงทุนระบบราง ท่าเรือ ขนส่งทางอากาศ การบริหารจัดการน้ำ ขณะนี้ไทยมีการขนส่งที่พึ่งพิงน้ำมันเป็นหลัก เมื่อปรับมาเป็นระบบรางจะทำให้มีการประหยัดพลังงานต่อปีในอนาคตได้ในระดับแสนล้านบาท และยังสามารถขนส่งคนในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภารกิจสำคัญของ ก.พลังงาน

ดังนั้นกระทรวงพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันจึงได้วางยุทธศาสตร์พลังงานในการเชื่อมเข้ากับระบบการพัฒนาประเทศแล้วยังต้องเชื่อมระบบเข้ากับ AEC อีกด้วย AEC จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทยเข้าถึงตลาดใหม่ (ASEAN) ซึ่งจะก่อให้เกิดการยกระดับทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงาน (Hub) ภูมิภาค ซึ่งเหลือระยะเวลาอีกเพียง 2 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน รองรับการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานปี 2553-2558 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation : APAEC) มีโครงการหลักที่สำคัญ 7 สาขา ได้แก่ 1.การเชื่อมโยง ระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) 2.การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP) 3.เทคโนโลยีถ่านหินและถ่านหินสะอาด 4.พลังงานที่นำมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Energy : RE) 5.การสงวนรักษาและประสิทธิภาพของพลังงาน (Energy Efficiency and Conservation : EE&C) 6.นโยบายและการวางแผนพลังงานภูมิภาค และ 7.พลังงานนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ใน 7 โครงการดังกล่าวนับว่าล้วนมีความสำคัญที่จะต้องเร่งเดินหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน จึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะไทยยังต้องเสาะแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ เพื่อรองรับการ บริโภคในประเทศ และดูเหมือนจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซที่จะป้อนเข้ามาในระบบมากขึ้น ขณะที่การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน ยังคงต้องมีการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของการจ่ายไฟฟ้าในภูมิภาคและส่งเสริมให้มีการขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายไฟฟ้า (Electricity Hub) ของภูมิภาค

การเชื่อมโยงพลังงานเข้ากับอาเซียนนั้นจะเป็นการเพิ่มศักยภาพความมั่นคงด้านพลังงานของไทย เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในประเทศภูมิภาค ASEAN เนื่องจากปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศสูงถึง 85% ของความต้องการใช้พลังงานประเทศ มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า 30% ของความต้องการใช้ในประเทศและยังมีการนำเข้าพลังงานไฟฟ้า จากลาวและมาเลเซียอีกส่วนหนึ่ง

หวั่น 10 ปีข้างหน้าก๊าซขาด

ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าของไทยขณะนี้พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติถึงเกือบ 70% ซึ่งแนวโน้มอีก 10 ปีข้างหน้า ก๊าซฯ ในอ่าวไทยจะทยอยหมด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างพม่าแหล่งก๊าซฯ ก็เริ่มจำกัดและเมื่อเข้าสู่ AEC อาจทำให้พม่าไม่จำเป็นต้องขายก๊าซฯ ให้เราเพิ่มเติมอีก ดังนั้นไทยจึงหนีไม่พ้นการนำเข้าจากต่างประเทศที่ต้องขนมาในรูปของเหลว ที่เรียกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่จะมีราคาแพงกว่าก๊าซฯ ที่ไทยใช้อยู่ ถึงเท่าตัว นั่นหมายถึงอนาคตค่าไฟไทยก็จะต้องบวกไปอีกเท่าตัวเช่นกันจากปัจจุบันค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.75 บาทต่อ หน่วยก็จะปรับไปมากกว่า 5 บาทต่อหน่วย

การเชื่อมโยงระบบพลังงานของไทยเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการกระจายแหล่งและประเภทเชื้อเพลิงพลังงานให้มีความหลากหลายและยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน นำมาซึ่งราคาพลังงานที่มีราคาถูกลงที่จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมและพลังงานที่ต่อเนื่องทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี อันจะส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจที่จะก้าวไปกับการเติบโตที่พร้อมๆ กันได้

เดินหน้าส่งเสริมพลังงานทางเลือก

ขณะเดียวกันประเทศไทยนั้นก็ยังจะมีโอกาสผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยการใช้ความได้เปรียบในเชิงภูมิยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เช่น เอทานอล การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการเพิ่มมูลค่าในสินค้าเกษตรอย่างครบวงจรนำมาซึ่งระบบเกษตรกรรมที่เข้มแข็งและมีความหลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเพื่อนำมาซึ่งต้นทุนที่ลดลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ทุกประเทศแม้แต่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการ ก้าวเข้าสู่ AEC ราคาพลังงานจะต้องสะท้อนกลไกตลาดโลกเพราะการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุนและแรงงานเสรี ตลอดจนการเปิดเสรีการลงทุนภายในภูมิภาค โอกาสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะนำมาซึ่งความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น หากประเทศใดอุดหนุนราคาพลังงานที่ต่ำไว้ย่อมทำให้การไหลบ่าไปใช้เพิ่มจะยิ่งสูงขึ้น นั่นก็จะเป็นภาระของคนในชาตินั้น ตัวอย่างของไทยเองก็เช่นกันปัจจุบันไทยมีการตรึงราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี โดยยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ด้วยการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนส่วนต่างไว้เฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เพียงทำให้คนใช้น้ำมันต้องถูกรีดเงินมาอุดหนุนผู้ใช้แอลพีจีในประเทศอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว ส่วนหนึ่งยังไปอุดหนุนให้เพื่อนบ้านอีกด้วย เพราะมีการลักลอบนำออกไป เพราะราคาประเทศเพื่อนบ้านแพงกว่าไทยนั่นเอง

ดังนั้นไทยมีเวลาอีกไม่นานในการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานในการรองรับการก้าวสู่ AEC เพราะเมื่อถึงเวลานั้นหากเราไม่เลือกที่จะกำหนดอนาคตของเราเอง ระบบการเปิดเสรีจะเป็นตัวกำหนดอนาคตให้กับคนไทย ซึ่งนั่นหมายถึงไทยจะเผชิญความเสี่ยงกับความมั่นคงและราคาพลังงานที่แพงมากยิ่งขึ้น อย่าให้คนอื่นมากำหนดอนาคตเราถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยจะต้องเลือกอนาคตให้กับตัวเอง

เตือนหายนะพลังงานปี 73

ในงานเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “หายนะพลังงานไทย” โดยนายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่ากิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเกิดหายนะด้านไฟฟ้า ทั้งเรื่องความมั่นคงและราคา เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดไปในอีก 10 ปี จากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการใช้ไฟฟ้าเติบโตเฉลี่ยประมาณ 1.2% หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1,500 เมกะวัตต์ต่อปี ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เติบโตร้อยละ 1 และไม่สามารถใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ พลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำ และนิวเคลียร์ ซึ่งทั้งหมดได้รับการต่อต้านจากภาคสังคม

ทั้งนี้ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะมีการแบ่งสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างไร เช่น จากเชื้อเพลิงหลัก 70% และจากเชื้อเพลิงสนับสนุน 30% เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าแต่ละปีจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตจากเชื้อเพลิงหลักเป็นเท่าไร อย่างไรก็ตาม กฟผ.ต้องการเห็นการใช้เชื้อเพลิงที่มีความหลากหลาย จากปัจจุบันผลิตจากก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 67-68% ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทั้งในเรื่องแหล่งก๊าซและต้นทุนราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ และต้องการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำหนดราคาไฟฟ้าตามต้นทุนการผลิตจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภทในแผนพีดีพี เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวด้วย และหากยังคงสัดส่วนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าไว้เช่นเดิมในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเห็นต้นทุนค่าไฟฟ้าฐานเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 6 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 3.50 บาทต่อหน่วย

นำเข้าเพิ่มเสี่ยงมั่นคงเศรษฐกิจ

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุว่า ปีที่ผ่านมาไทยนำเข้าพลังงานมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 16.1% โดยมีปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 4.7% ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 9.2% และถ่านหินเพิ่มขึ้นประมาณ 4.6% ซึ่งรายจ่ายด้านพลังงานที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาพลังงานของไทยนับว่าถูกสุดในอาเซียนยกเว้นมาเลเซีย โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลาเกือบ 2 ปี และใช้เงินอุดหนุนราคาพลังงานทั้งแอลพีจีและดีเซลสูงถึงประมาณ 365,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เสียโอกาสในการนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนารถไฟความเร็วสูง ตลอดจนสวัสดิการทางสังคมต่างๆ คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ไทยจะบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากประมาณ 21% เป็นประมาณ 52% นำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านตันต่อปี นำเข้าแอลพีจี เพิ่มจาก 1.8 ล้านตันต่อปี เป็น 8 ล้านตันต่อปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยืนยันว่า พลังงานของไทยมีราคาแพงเพราะมีการเก็บภาษีต่างๆ และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 19-20 บาทต่อลิตร หรือคิดเป็นประมาณ 45% ของราคาขายปลีก รวมทั้งการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินเพื่อไปอุดหนุนแอลพีจี ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ใช้พลังงาน

ปตท.แจงกำไรน้ำมันแค่ 30 สต.

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. มองว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงด้านพลังงาน เพราะยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่ จากความต้องการใช้น้ำมันสูงกว่าการผลิตจริง โดยการใช้อยู่ที่ 100 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่การผลิตอยู่ที่ 34 ล้านลิตรต่อวัน จากสถิติพบว่าการใช้น้ำมันของไทยอยู่อันดับที่ 19 ขณะที่การผลิตอยู่ที่อันดับ 32 และปริมาณสำรองอยู่ที่อันดับ 47 ของโลก

ส่วนราคาน้ำมันแพง เพราะประเทศไทยกำหนดคุณภาพน้ำมันสูงกว่าประเทศอื่น จึงมีต้นทุนน้ำมันสูง และรัฐกำหนดให้ผู้ค้ามาตรา 7 จะต้องเก็บสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงประมาณ 5% ของความต้องการใช้ หรือคิดเป็น 36 วัน รวม 3,600 ล้านลิตร คิดเป็นต้นทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ที่โรงกลั่นน้ำมันจะต้องรับภาระ

นายณัฐชาติ ยืนยันว่าราคาน้ำมันขายปลีกในไทยไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่น เป็นราคาขายปลีกที่อยู่ในระดับกลาง และในส่วนของ ปตท.ได้รับกำไรที่แท้จริงจากการขายน้ำมัน 30 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับค่าการตลาดเฉลี่ยที่ 1.40 บาทต่อลิตร จากที่รัฐกำหนดในอัตราที่เหมาะสมที่ 1.50 บาทต่อลิตร แต่ค่าการตลาดที่ได้รับดังกล่าว ปตท.จะต้องแบ่งให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ประมาณ 50% จึงได้รับค่าการตลาดจริงเพียง 70 สตางค์ต่อลิตร และต้องนำไปใช้ในการบริหารจัดการและการขนส่ง 40 สตางค์ต่อลิตร จึงเหลือค่าการตลาดที่แท้จริงเพียง 30 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น ดังนั้นหากให้ ปตท.ปรับลดราคาขายปลีกให้ประชาชนจะลดได้เพียง 30 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น

จ่อลงทุนนำเข้า LNG ทะลุล้าน ล.

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีความเป็นห่วงเรื่องเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับ 3 ได้ประมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าจนถึงปี 2573 หรืออีกประมาณ 18 ปี จะมีปริมาณนำเข้าสูงถึงประมาณ 23-25 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 500,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ หากยังมีการผลิตไฟฟ้าโดยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้ไทยต้องมีการลงทุนรองรับเป็นมูลค่ามหาศาล ทั้งในส่วนท่าเรือรองรับเรือขนก๊าซ ที่จะมีเรือขนถ่ายก๊าซประมาณ 60,000-70,000 ตันต่อวัน ขณะเดียวกันบริษัทที่ผลิตเรือขนก๊าซก็ยังไม่กว้างขวางมีเพียง 5 ประเทศเป็นผู้ผลิต และการลงทุนต่อเรือขนก๊าซ ะใช้เม็ดเงินประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อลำ คาดว่าจะต้องใช้ถึงจำนวน 21 ลำ หรือต้องลงทุน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมท่าเรือและคลัง เพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณนำเข้าดังกล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดทำบันทึกชี้แจงปัญหาการจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจ เสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมลงพื้นที่สำรวจปัญหา เพื่อเสนอการปรับแผนเขตเกษตรเศรษฐกิจ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ หรือ สกช. เปิดเผยว่า นโยบายการจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่ง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีการประกาศจัดพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืช 6 ชนิด นั้น เป็นนโยบายที่ดี แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรบางส่วนไม่เข้าใจการจัดโซนนิ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรและภาครัฐ โดยในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬที่มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน รวมตัวกันประท้วงที่ศาลากลางจังหวัด เนื่องจากเกษตรกรได้ลงทุนปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันไปแล้วหลายแสนไร่ แต่ปรากฏว่าอยู่นอกเขตโซนนิ่งยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดในภายหลัง โดยเกษตรกรเกรงว่าจะไม่ได้รับสิทธิและความช่วยเหลือเพื่อจูงใจให้ปลูกพืชตามเขตโซนนิ่งที่รัฐบาลประกาศไว้ เช่น ไม่ได้รับสิทธิการให้สินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หรือ รัฐจะไม่ช่วยอุดหนุนราคาผลผลิต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาเดียวกัน เช่น ที่จังหวัดพังงา ซึ่งไม่อยู่ในเขตโซนนิ่งปลูกข้าว แต่แท้จริงแล้วมีชาวนาปลูกข้าวอยู่หลายพันไร่ โดยขณะนี้ สกช.ได้ทำบันทึกแจ้งไปยังนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว โดยได้เสนอให้สมาชิก สกช. ในแต่ละพื้นที่ลงสำรวจปัญหาการจัดเขตโซนนิ่งในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับเขตโซนนิ่งที่สะท้อนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แท้จริงของเกษตรกร

นายประพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภารกิจที่สภาเกษตรกรฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการเร่งซักซ้อมทำความเข้าใจกับสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดในการทำแผนแม่บทด้านการเกษตรของแต่ละจังหวัด เพื่อนำมารวมกันเป็นแผ่นแม่บทด้านการเกษตรของประเทศที่สะท้อนเสียงเกษตรกรขึ้นมาจากล่างสู่บน โดยแผนแม่บทจะมีแนวทางตามนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล ซึ่งมั่นใจว่าแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล หรือตัวผู้บริหาร ก็จะสามารถดำเนินนโยบายต่อไปได้ โดยคาดว่าการจัดทำแผนแม่บททุกจังหวัดจะแล้วเสร็จภายในปี 2557

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

เกณฑ์ใหม่ใบรง.4 เน้นโปร่งใส

กรมโรงงานฯตั้งเกณฑ์ออกใบ รง.4 ใหม่ รับการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ย้ำขั้นตอนการออกไลเซนส์ต้องโปร่งใสไม่เกิน 90 วัน เปิดสายด่วนฮอตไลน์ร้องเรียนทุจริตถึง"อธิบดี"ได้โดยตรง

ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ "ณัฐพล"เตรียมตบเท้าหารือ ประธานภาคีต่อต้านคอร์รัปชัน ส.อ.ท.และสภาหอการค้า รับฟังข้อเสนอแนะ พร้อมตั้งยอดการร้องเรียนเป็น KPI เผยกว่า 3 เดือน มีร้องทุกข์ถึง 274 เรื่อง

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า หลังจากที่มีการปรับบทบาทของคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการออกใบอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยลดขอบเขตอำนาจการออกใบอนุญาตประเภทกิจการโรงงานจากเดิม 7 ประเภท ให้เหลือเพียง 2 ประเภท คือ โรงงานขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท หรือมีคนงานมากกว่า 200 คน และ โรงงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี หรือที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล หรือนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น

"กรมได้ปรับขั้นตอนกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาต (รง.4) ให้รัดกุมและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นโดยจะคำนึงถึงผลกระทบของชุมชน สิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาใบอนุญาตที่มีความล่าช้า ซึ่งจะพิจารณาอนุญาตใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน โดยเกณฑ์ใหม่ของการออกใบอนุญาตนั้น ในแต่ละจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในการตรวจสอบข้อมูล เอกสาร และที่ตั้งโรงงาน เป็นต้น ก่อนส่งเรื่องมาที่ กรมพิจารณาอีก 20 วัน ทั้งนี้ หากโรงงานใดมีกำลังผลิตไม่เกิน 500 แรงม้า อุตสาหกรรมจังหวัดก็สามารถออกใบอนุญาตได้ทันที"

ขณะที่ในส่วนของขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตจะมีความโปร่งใสมากขึ้น โดย กรมได้จัดทำระบบออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปดูขั้นตอนการดำเนินงานได้โดยตรงผ่านเว็บไซด์ของกรม โดยผู้ขอใบอนุญาตสามารถเข้าไปเช็กข้อมูลและความคืบหน้าในการขอใบอนุญาตของตัวเองโดยผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะสามารถตรวจสอบว่าเรื่องไปถึงหน่วยงานใด เจ้าหน้าที่คนไหนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ คาดว่าระบบจะสามารถดำเนินการได้สมบูรณ์ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2556

"เร็วๆ นี้ กรอ.จะเปิดสายด่วนฮอตไลน์ 1564 และเบอร์มือถือโดยตรงถึงอธิบดี กรมโรงงานฯเพื่อร้องเรียนและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้งในเรื่องของการขอใบอนุญาตล่าช้าและรับแจ้งการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสบายใจของผู้ประกอบการ รวมทั้ง การคอรัปชันของเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการเซ็นอนุมัติโครงการอะไรทั้งสิ้น หากไม่มีการตรวจสอบ เพราะก่อนหน้านี้ กรมได้จัดตั้งศูนย์บริการรับร้องเรียนไว้เช่นกัน แต่ผู้ประกอบการไม่กล้าให้ข้อมูลโดยเฉพาะการทุจริตของเจ้าพนักงานจึงทำให้ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอาผิดได้"

นอกจากนี้ กรมยังจะเข้าไปหารือกับนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางและรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของกรมโรงงานให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาภาพลักษณ์การออกใบอนุญาต รง.4ล่าช้า จึงต้องมีการชี้แจงและให้รายละเอียดกระบวนการดำเนินงานต่างๆของกรมโรงงานฯให้ภาคเอกชนรับทราบรายละเอียดอย่างชัดเจนมากที่สุด

สำหรับดัชนีชี้วัด หรือ KPI ในการดำเนินงานของกรมนั้น สิ่งที่จะเป็นตัววัดที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือ อัตราการร้องเรียนของผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องของการออกใบอนุญาตล่าช้า การทุจริตคอรัปชันของเจ้าหน้าที่ จึงอยากให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่อยู่รอบบริเวณโรงงาน เกิดความสบายใจและร้องเรียนเข้ามาโดยตรงเพื่อดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ จนถึงวันนี้นับจากที่เข้ามารับตำแหน่งยังไม่มีการร้องเรียนการกระทำความผิดใดๆ ขณะที่มีอัตราการร้องเรียนเข้ามาน้อยลง

ส่วนในช่วงกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา(วันที่ 1 มกราคม - 11 เมษายน ) มีผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนจำนวน 274 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรสาคร และนนทบุรี ตามลำดับ ปัญหาเป็นเรื่องกลิ่นเหม็นของโรงงานจำนวน 164 เรื่อง ตามด้วย เรื่องฝุ่น โรงงานเถื่อน ไอสารเคมี ควัน น้ำเสีย ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ทาง กรมได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขแล้ว 260 เรื่อง และอีก 14 เรื่องรอดำเนินการ โดยมี 8 แห่งที่ถูกดำเนินคดีและสั่งปิดกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ปี 2555 มีผู้ประกอบการโรงงานถูกร้องเรียนรวมจำนวน 743 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ตามลำดับ โดยปัจจุบัน กรมได้ดำเนินการไปแล้ว 740 เรื่อง และถูกดำเนินคดีโดยสั่งปิดกิจการ 26 แห่ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

แล้งปี 56 พื้นที่เกษตร เสียหายแล้วกว่า 4 ล้านไร่

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลกระทบภัยแล้งต่อภาคการเกษตรว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีผลต่อเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ส่งผลกระทบด้านพืช 23 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย หนองบัวลำภู ยโสธร มหาสารคาม อำนาจเจริญ นครพนม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ มีพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 6,419,704 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 6,342,415 ไร่ พืชไร่ 74,123 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 3,166 ไร่ โดยขณะนี้ สำรวจพบว่ามีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 612,529 ราย พื้นที่เสียหาย 4,563,520 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 4,509,590 ไร่ พืชไร่ 52,540 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 1,390 ไร่

ในการนี้ ได้มีการประเมินมูลค่าความเสียหายด้านการเกษตรเบื้องต้น โดยผล กระทบและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงิน พบว่า มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม 18,452.88 ล้านบาท แบ่งออกเป็นความเสียหายด้านข้าว 17,964.59 ล้านบาท ด้านพืชไร่ 460.30 ล้านบาท และด้านพืชสวนและอื่น ๆ 27.98 ล้านบาท

สำหรับผลกระทบและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง ภาคการเกษตร ปี 2556 นั้น พบว่า ความเสียหายจากภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงภาคเกษตร ปี 2556 เท่ากับ 1,642.99 ล้านบาท และส่งผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศร้อยละ 0.39.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

สั่งจับตา 5 จว. แอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมทิ้งในบ่อดินหลายพื้นที่ของจังหวัดโดยรอบกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และ สมุทรปราการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนเป็นไปอย่างเร็วที่สุด หากพบการกระทำความผิด ให้สั่งปรับปรุงแก้ไข หรือสั่งหยุดประกอบกิจการตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้สูงสุด

ส่วนเรื่องร้องเรียนของประชาชนต่อการประกอบกิจการที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเงื่อนไขที่กำหนด เกี่ยวกับโรงงานที่ประกอบกิจการรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม เช่น โรงงานบริษัท ซีแซด จำกัด ประกอบกิจการรีไซเคิลน้ำมันเชื้อเพลิงจากยางรถยนต์ใช้แล้วในจังหวัดนครปฐม และโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ได้ให้ กรอ.ติดตามการปรับปรุงแก้ไขของผู้ประกอบการตามคำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าการดำเนินการดังกล่าวให้ทราบเป็นระยะต่อไป

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สอจ.) ประกอบด้วยจังหวัดพัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ ชุมพร ร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าทำการวินิจฉัย วิเคราะห์ปัญหา พบปัญหาของเตาอบยางแผ่นรมควันที่ใช้อยู่ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ สิ้นเปลืองพลังงาน และมีความปลอดภัยในการใช้งานต่ำ ปัจจุบันได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ เข้าทำการวิจัย พัฒนา และปรับปรุงเตาอบยางแผ่นรมควัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่มีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ 1.เป็นเตาอบที่เวียนอากาศภายในห้องอบกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง 2.มีความปลอดภัยในการใช้งานเพิ่มขึ้น โดยมีการติดตั้งจุดดักสะเก็ดไฟที่อาจหลุดลอยเข้าสู่ห้องอบซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ และ 3.มีการติดตั้งชุดวัดอุณหภูมิของลมร้อนที่เข้าห้องอบ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมอุณหภูมิลมร้อนไม่ให้สูงเกินไป และทำให้มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ ส่งผลให้แผ่นยางรมควันมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

ผนึกเอกชนแก้ออกใบ "รง.4" ช้า

เล็งถกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแก้ปัญหาออกใบ รง.4 ล่าช้า กรอ.เน้นโปร่งใส รอบคอบ รวดเร็ว

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า จากกรณีที่กรมต้องเข้ามารับหน้าที่ในการกลั่นกรองและอนุญาตโรงงาน 5 ประเภท แทนคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่จะลดบทบาทลงมากลั่นกรองและออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เพียง 2 ประเภท จากเดิม 7 ประเภทนั้น กรอ.จะเข้าไปหารือกับนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เพื่อหาแนวทางและรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของ กรอ.ให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด

นอกจากนั้น กรอ.จะเข้าให้รายละเอียดกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ของ กรอ.ให้ภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และจะรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคเอกชน เพื่อนำมาปรับใช้กับกระบวนการพิจารณา รง.4 ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

นายณัฐพล กล่าวว่า กรมได้วางขั้นตอนการออกใบอนุญาต โดยให้ความสำคัญกับความโปร่งใส รวดเร็ว และยังคงรอบคอบ ไม่ให้โรงงานที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายหลังการปรับกระบวนการทำงานแล้วการออกใบ รง.4 ทั้งหมดยังคงอยู่ในกรอบเวลา 90 วัน รวมถึงมีการออกประกาศเกี่ยวกับรายละเอียดเอกสารที่ใช้ยื่นประกอบการขออนุญาตให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการตีกลับหรือเรียกเอกสารเพิ่มเติมจนเกิดความล่าช้า

ทั้งนี้ หลังเริ่มการพิจารณาตามกรอบใหม่ หากเป็นกรณีที่ กรอ.พิจารณาแล้วไม่ต้องส่งต่อให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ดำเนินการอนุญาต ด้วยอำนาจของ กรอ.อาจจะทำให้กระบวนการอยู่ในกรอบ 70 วัน หรือเร็วขึ้นกว่ากรอบเวลาปกติ 20 วัน

นายณัฐพล กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสของการอนุญาต กรอ.ได้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามว่าการขออนุญาตใบ รง.4 อยู่ในขั้นตอนใดและรับผิดชอบโดยเจ้าหน้าที่คนไหน ผ่านเว็บไซต์ www.diw.go.th ซึ่งจะพัฒนาให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือน เม.ย.นี้ พร้อมเปิดสายด่วน 1564 ให้ผู้ประกอบการร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ที่รายงานตรงต่ออธิบดี กรอ. กรณีที่เกิดความล่าช้าของการอนุญาต รวมถึงมีการทุจริตคอร์รัปชัน

ขณะที่ ข้อมูลของ กรอ.ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 11 เม.ย. 2556 มีโรงงานที่ถูกร้องเรียนจากประชาชน 274 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ตามลำดับ

สำหรับเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ เรื่องกลิ่น 164 เรื่อง ตามด้วยเรื่องฝุ่น โรงงานเถื่อน ไอสารเคมี ควัน น้ำเสีย ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ทาง กรอ.ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขแล้ว 260 เรื่อง อีก 14 เรื่องรอดำเนินการ และมี 8 แห่งที่ถูกดำเนินคดีและสั่งปิดกิจการ

ในปี 2555 สถานประกอบการที่ถูกเรื่องร้องเรียนมีจำนวน 743 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และฉะเชิงเทรา โดย กรอ.ดำเนินการไปแล้ว 740 เรื่อง มีโรงงานถูกดำเนินคดีและสั่งปิดกิจการ 26 แห่ง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 13 เมษายน 2556

ดันไทยศูนย์กลางจักรกลเกษตร ชงรัฐบาลไฟเขียว3ยุทธศาสตร์

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรในระดับอาเซียน โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงเกษตรฯจึงแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินงาน ในการผลักดันและขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ ต่อมาที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อวางกรอบยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้โดยมี 3 ด้านที่สำคัญ ซึ่งคณะกรรมการฯได้มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์การผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการผลิตเครื่องจักรกลตรงตามความต้องการของลูกค้า 2.ยุทธศาสตร์การปรับแก้กฎระเบียบและนโยบายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาค และ 3.ยุทธศาสตร์การผลักดันธุรกิจ การวิจัย ธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องจักรกลตลอดสายการผลิต โดยจะมีการนำเสนอให้ รมว.เกษตรฯ พิจารณาและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

“ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะให้ความสำคัญกับงานวิจัยเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับรายย่อยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรายใหญ่มีงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ค่อนข้างเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ที่ยังมีปัญหาในบ้านเราคือเครื่องจักรกลสำหรับรายย่อยซึ่งมีเป้าหมายกระจัดกระจายไม่คุ้มทุนในการจำหน่าย ทำให้งานวิจัยและพัฒนามีน้อยและไม่ต่อเนื่องขณะเดียวกันตลาดของเครื่องจักรกลขนาดเล็กยังมีอนาคตอยู่มากในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รถไถเดินตาม เป็นที่ต้องการอย่างมากในพม่า ลาว และกัมพูชา ดังนั้นคงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการตลาดในประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น ซึ่งจะมีการกำหนดแผนงาน โครงการและรายละเอียดต่างๆ พร้อมที่จะเสนอครม.ในเดือนพฤษภาคมนี้” นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 เมษายน 2556

พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯสืบสานวิถีเกษตรไทย

นางจารุรัฐ จงพุฒิศิริ ผอ.สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมนี้พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ได้จัดกิจกรรมสำหรับไว้ต้อนรับน้อง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภูมิปัญญาและนวัตกรรมเกษตรที่เข้าใจง่าย ๆ เรียนรู้อย่างสนุกสนาน มีความสุขและสามารถสัมผัสและลงมือปฏิบัติจริงได้ทันที อาทิ การสาธิตการทำนาโยนกล้า การปลูกผักบนพื้นปูนการปลูกผักและปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์ การประดิษฐ์ว่าว การทำแชมพูสมุนไพร การทำสบู่และการทำลูกประคบซึ่งจะจัดกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนนี้ พร้อมกันนี้ได้เปิดหลักสูตรเรียนรู้ “วิชาของแผ่นดิน” 12 หลักสูตร ฟรีเป็นหลักสูตรการทำเกษตรน้ำน้อย สู้ภัยแล้งและลดโลกร้อนด้วยเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง

“ปิดเทอมนี้พบกันได้ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์เวลา 09.30-15.30 น. หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.0-2529-2212-13,0-2529-1965 และ 08-1567-2806 หรือ www.wisdomking.or.th” นางจารุรัฐ กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 เมษายน 2556

กระทรวงเกษตรฯ จัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร เพื่อการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และประมง

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้นำชุมชนและผู้บริหารท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมรับฟังสถานการณ์สภาพปัญหาการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งมอบแนวนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลเขาชุมทอง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง กล่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างที่สำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากความยากจน โดยเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาสให้แก่เกษตรกร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลพยายามทำให้เห็นภาพชัดเจนคือ การจัดพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศ สำหรับประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศหรือ 150 ล้านไร่เป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ประกาศพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสมกับคุณภาพดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ เรื่องแสงและปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ โดยได้ประกาศพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกพืชแล้ว 6 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ภายในเดือนนี้จะประกาศอีก 2 ตัว และเดือนหน้าจะประกาศอีก 5 ตัว ส่วนด้านปศุสัตว์ได้ประกาศแล้ว 5 ชนิด คือ โคเนื้อ โคนม ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ส่วนด้านประมงอีก 3 ชนิดจะเร่งประกาศต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ตัวอย่างพื้นที่โซนนิ่งที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เช่น การปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม จะให้ผลผลิต 700 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมจะให้ผลผลิตเพียง 300 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างไรก็ตาม การประกาศพื้นที่เหมาะสมหรือโซนนิ่ง ไม่ได้ห้ามเกษตรกรที่ปลูกพืชเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่บอกให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสม ปลูกแล้วได้กำไรสูงกว่าในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น และอีกนโยบายที่สำคัญยิ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ นโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งมีการพัฒนาต่อเนื่องกันมาเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารตั้งแต่ปี 2546 และมีการประกาศให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และจะเป็นเงื่อนไขต่อไปที่จะมีการประกาศเขตการค้าเสรี ไม่มีพรมแดน ลดภาษีเป็นศูนย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการแข่งขันกันด้วยคุณภาพของสินค้า ความปลอดภัยของผู้บริโภคแต่ละประเทศ จะต้องมีการจำกัดดูแลสินค้าที่จะนำเข้าจากต่างประเทศ มีการกำหนดเงื่อนไข กติกาเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารไว้ ในส่วนของประเทศไทยมีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด มีการประกาศมาตรฐานสินค้าด้านการเกษตรกว่า 200 รายการ แต่สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯประกาศใช้เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ไม่ได้บังคับให้เกษตรกรให้เข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม หรือ GAP Farm ตัวเกษตรกรเองยังเข้าสู่ระดับ GAP ยังน้อย ถือว่าเป็นจุดอ่อน เนื่องจากในปี 2558 จะเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเซียน ประเทศคู่ค้าจะวางเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้า ถ้าเราไม่สามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ถือว่าไม่มีมาตรฐาน ดังนั้น นโยบายที่สำคัญรัฐบาลจึงได้กำหนดให้สินค้าเกษตรมีมาตรฐานที่ชัดเจน ส่วนปัญหาเรื่องน้ำนั้น รัฐบาลมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในระดับชาติที่ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำทั้งประเทศ ส่วนอีกเรื่องที่รัฐบาลพยายามทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงกับการขนส่งสินค้าและภายในประเทศ ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้านั่นคือ ระบบคมนาคมของประเทศ มีการวางแผนใช้ระบบรางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่งลงได้กว่าครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน ในขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอร่อนพิบูลย์ ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลพัฒนาแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 10 เมษายน 2556

ชงอุตฯผุดเมืองต้นแบบพลังงานทดแทน

ส.อ.ท. เสนอกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าโครงการเมืองต้นแบบพลังงานทดแทน บนพื้นที่ 2,000 ไร่ นำร่อง เขตปริมณฑล

นายดล เหตระกูล ที่ปรึกษารมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมผลักโครงการเมืองต้นแบบพลังงานทดแทน 100% เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนกันมากขึ้น โดยนำร่องในเขตปริมณฑลในพื้นที่ 2,000 ไร่ ในการสร้างเมืองใหม่มีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า โรงพยาบาล ปั๊มน้ำมัน และห้างสรรพสินค้า ที่ทุกอย่างต้องใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด เช่น น้ำมันไบโอดีเซล 100% (บี 100), น้ำมันอี 85, รวมถึงเชื้อเพลิงจากชีวภาพและชีวมวล เป็นต้น

“ปัจจุบันส.อ.ท. ได้เสนอมาให้กระทรวงฯ เพื่อส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีช่วยผลักดัน 2 เรื่องหลังจากที่ภาคเอกชนได้มีโอกาสไปดูงานกับรัฐบาลไทยในประเทศสวีเดน โดยโครงการแรกเป็นเมืองต้นแบบพลังงานทดแทน 100% และ โครงการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพกับรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ (รถเมล์) ซึ่งกระทรวงมองว่าเรื่องดังกล่าวมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทนและช่วยภาคเกษตรกรในการปลูกพืชพลังงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. กล่าวว่า โครงการเมืองพลังงานทดแทน 100% นั้น ส.อ.ท. มองว่ารัฐบาลควรจะหาพื้นที่ในจังหวัดปริมณฑล เช่น นครปฐม, สมุทรปราการ, นนทบุรี และปทุมธานี โดยใช้พื้นที่ 2,000 ไร่ในการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งอาจใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ หรือ ที่ของทหาร

ทั้งนี้รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนด้านสาธารณูปโภค เช่น ถนน น้ำ ไฟฟ้า เป็นต้นซึ่งใช้เงินลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท รวมถึงการชักจูงให้เอกชนมาเช่าซื้อพื้นที่ดังกล่าวในการก่อสร้างคอนโดมิเนียม, ร้านค้า, โรงพยาบาล, ห้างสรรพสินค้า, ปั๊มน้ำมันที่ใช้เฉพาะน้ำมันบี 100, อี 85 และ น้ำมันอีดี 95 ที่เป็นการผสมระหว่างเอทานอล 95% และ สารเติมแต่ง 5% ใช้ในเครื่องยนต์ดีเซล เป็นต้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 เมษายน 2556

รายงานพิเศษ: ไทย-จีน ชื่นมื่นเอ็มโอยูร่วมลงทุน 2.2 แสนล.

จันทร์จิรา พึ่งวิริยะ/ปรียนิจ กุลตั้งเจริญปิดฉาก

งาน "ไทย-จีน บิสซิเนส ฟอรั่ม2013"ไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางความชื่นมื่นทั้งฝ่ายไทยในฐานะเจ้าภาพและนักธุรกิจจีนในฐานะที่มาเป็นแขก ซึ่งปีนี้ขนกันมาถึง107 ราย แต่ละรายล้วนเป็นผู้ประกอบการที่มีบริษัทเครือข่ายหลากหลาย และมีพนักงานระดับพันคนขึ้นไป

ปีนี้ภาคธุรกิจไทย-จีน สามารถลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อการลงทุนร่วมกันในปี2556-2557 เป็นวงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท แต่ พินิจจารุสมบัตินายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทยจีน ประเมินว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นแค่ตัวเลขเบื้องต้นที่มีการลงนามเอ็มโอยูแล้วเท่านั้น หากแต่หลังจากทัพนักธุรกิจจีนกลับประเทศไปแล้ว จะมีการสานต่อความร่วมมือกับไทย ทั้งในแง่การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นอีก รวมแล้วน่าจะได้ถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือเฉียด 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่า การลงทุนจากจีนในไทยเติบโตขึ้นไม่หยุด ปัจจัยสำคัญก็มาจากนักลงทุนจีนมีความจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพราะต้นทุนการผลิตในประเทศพุ่งสูงขึ้น ค่าแรงปรับตัวขึ้น ระบบโลจิสติกส์ การขนส่ง วัตถุดิบ และภาษี ล้วนแล้วแต่แพงขึ้นทุกปี ผู้ประกอบการจึงต้องมองหาฐานการลงทุนอื่นๆภายนอกประเทศ ลักษณะเดียวกับที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เคยทำมาก่อนหน้านี้ และปัจจุบันก็ยังใช้นโยบายดังกล่าวอยู่ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักลงทุนจีนทั้งด้านการลงทุน และการท่องเที่ยว

"การลงทุนของจีนในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งจะผลิตเพื่อส่งกลับเข้าไปขายในประเทศอีกส่วนจะผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม เพราะสินค้าบางประเภทหากผลิตในจีน จะไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศที่สามได้เพราะโดนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือเอดี เช่นสินค้าประเภทจอภาพโทรทัศน์ จีนไม่สามารถส่งเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาได้ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนจีนต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ และไทยก็เป็นตัวเลือกในอันดับต้นๆ"

ขณะที่ในภาคการค้า ไทยหวังมากว่าจะผลักดันให้มูลค่าการค้ากับจีนเพิ่มเป็น 1 แสนเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันทำได้แล้วที่ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเพราะการที่ทั้งสองประเทศผลัดกันนำคณะไปเยือน ทั้งในส่วนของภาครัฐ และเอกชน ทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปได้ด้วยดี และเสียงตอบรับก็ดีทุกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มของนักธุรกิจจีน จะมีรายใหม่ๆ เข้ามาร่วมคณะด้วยเสมอ เช่นเดียวกับเวทีไทย-จีน บิสซิเนส ฟอรั่ม 2013 ปีนี้ มีนักธุรกิจจีนหน้าใหม่ที่มาไทยครั้งแรกถึง 90%จากผู้ร่วมคณะทั้งหมด

ด้าน ประเสริฐ บุญชัยสุขรมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ในปี 2555-2559 ได้กำหนดแผนดำเนินงานจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน ให้เติบโตขึ้น 20%ต่อปี การลงทุนเติบโต 15% ต่อปี และการท่องเที่ยวเติบโต 15% ต่อปี

"เชื่อว่าน่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ไม่ยากเพราะทั้งสองชาติมีความสัมพันธ์ที่ดี มีการจัดกิจกรรมร่วมกันทุกปี แถมบรรยากาศทางการเมืองของไทยก็นิ่งแล้วนักลงทุนจึงคลายความกังวล และหวังว่า นอกจากการลงทุนแล้ว การท่องเที่ยวก็จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยจนแตะ5 ล้านคนให้ได้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.78 ล้านคน"

จบทริปจีนมาเยือนถิ่นไทย หลังจากนี้ไปถึงเดือนพ.ค. 2556 ก็จะได้ฤกษ์ทัพนักธุรกิจไทยไปเยี่ยมจีนถึงถิ่นมังกรกันบ้าง

รอบนี้กำหนดเมืองเป้าหมายไปที่เมืองต้าเหลียนเขตอุตสาหกรรมหนัก และเมืองโล่วหยาง แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ด้านธุรกิจไม่ขาดตอน ทั้งยังเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยออกไปหาลู่ทางตลาดในจีนบ้าง

จาก http://www.posttoday.com  ฉบับวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ปลุกคนไทยสร้างสังคม 3R ยึดพระราชดำรัสจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

ปลุกคนไทยสร้างสังคม 3R ยึดพระราชดำรัสจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

3R หัวใจในการปฏิบัติเพื่อช่วยลดปริมาณขยะประกอบด้วย Reduce คือ การลดการใช้เพิ่ม Reuse คือ การใช้ซ้ำจนกว่าจะหมดสภาพการใช้งาน และ Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่โดยการแปรสภาพซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยลดจำนวนขยะ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

และหลักการดังกล่าวนี้ได้จุดประกายแนวคิดอันเป็นที่มาของ มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน Resources Management for Sustainability (3R) Foundation ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2555 โดยคำแนะนำของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล มี ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ พระธรรมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก ประธานที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์ และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส ส่วนกรรมการคือสมาชิกจากสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หน้าที่ของมูลนิธิ 3R คือ ส่งเสริมสนับสนุนทุกภาคส่วนในสังคมให้มีกิจกรรมการลดการใช้ เพิ่มการใช้ซ้ำนำกลับมาใช้ใหม่

และนั่นคือที่มาของการเดินทางเยือนประเทศไต้หวันของกรรมการมูลนิธิ 3R โดยมี ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี เป็นหัวหน้าคณะฯ พร้อมด้วย พระอรรถกิจโกศล ผช.เจ้าอาวาสวัดพระรามเก้าฯ ผู้แทนเจ้าอาวาส เพื่อศึกษาดูงานที่ The Formosa Association Resource Recycling หรือ FARR และ มูลนิธิฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ซึ่ง ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม ได้มีโอกาสร่วมคณะในครั้งนี้ด้วย

จากการพบปะหารือกับสมาคม FARR นายไช่ มิน ซิง นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ FARR ได้สะท้อนให้เห็นภาพการทำงานที่สอดประสานกันของภาครัฐและประชาชนในการช่วยกันดูแลปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมว่า ประเทศไต้หวันมีกฎหมายรีไซเคิล ที่กำหนดว่า ประชาชนต้องคัดแยกขยะ ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือคัดแยกขยะจนกลายเป็นความเคยชิน และช่วยลดจำนวนขยะลงได้ จากคนละ 1 กิโลกรัมเศษ เหลือเพียงคนละ 0.4 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้ FARR ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับรัฐบาล ส่วนประเทศไทยนั้น FARR ก็พร้อมร่วมมือ

ดร.วิฑูรย์

ขณะที่ในส่วนของ มูลนิธิฉือจี้ จากการเยี่ยมดูการดำเนินการของคณะฯ ก็พบว่าจะมีบทบาทโดดเด่นในการปลูกฝังให้คนช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการ “ให้” ซึ่งก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยมีสถานีคัดแยกขยะกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยใช้หลัก 5R คือ Refuse คือ ปฏิเสธการใช้ เช่น ตะเกียบไม้ Reduce ลดการใช้ Reuse ใช้ซ้ำ Repair ดัดแปลงซ่อมแซม และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ โดยการคัดแยกขยะจะแบ่งเป็น 10 ประเภท ได้แก่

1.ขวด, 2.แก้ว, 3.กระป๋องอะลูมิเนียม, 4.กระป๋องแข็ง, 5.กระดาษขาว, 6.หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่, 7.เสื้อผ้า, 8.อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า, 9.ฝากระป๋อง และ 10. อื่นๆ เช่น แผ่นซีดี เป็นต้น

“เราต้องให้ความรู้กับทุกคนเรื่องการคัดแยกขยะ ให้ทุกคนเห็นว่าขยะมีคุณค่า เมื่อชุมชนคัดแยกขยะแล้ว จะนำขยะไปทำอย่างไรต่อ

พระอรรถกิจโกศลดร.สุเมธ

ซึ่งเรื่องนี้มูลนิธิ 3R มีร้านศูนย์บาท ประชาชนสามารถนำขยะรีไซเคิลมาแลกสินค้าอุปโภคบริโภคได้ เป็นแนวทางที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และรณรงค์ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของวัสดุรีไซเคิล และยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมให้คนไทยร่วมใจคัดแยกวัสดุรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากนี้มูลนิธิ 3R ก็จะทำคู่มือการคัดแยกขยะ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน” ดร.วิฑูรย์ กล่าวถึงแนวคิดใหม่หลังจากการดูงานซึ่งจะนำไปต่อยอดการทำงานในประเทศไทย

ส่วน ดร.สุเมธ กล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคนมีใจรักสิ่งแวดล้อม แต่เราต้องหาวิธีที่จะทำให้สิ่งที่อยู่ในใจออกมาสู่มือ เป็นการกระทำ ผมเชื่อว่ากระแสสิ่งแวดล้อมยังมีอยู่ในประเทศไทย เราต้องเปลี่ยนกระแสให้เป็นนิสัยเพื่อคนไทยและทุกคนบนโลกนี้อยู่รอด ผมคิดว่า 3 คำ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวพระราชทานใช้ได้ทุกเรื่องแม้กับเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คือ เข้าใจว่าปัญหาสิ่งแวด-ล้อม เข้าถึงการกระทำ หนทางแก้ไข และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม มองว่า หลักการของ 3R ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ที่ผ่านมาเรายังขาดการบริหารจัดการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม รวมถึงการปลูกฝังค่านิยม 3R ให้เกิดขึ้นในหัวใจคนไทยและการสร้างสังคม 3R นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หรือเกินความสามารถของสังคมไทย เพราะเพียงแค่ใช้ “สองมือ” คัดแยกขยะแต่ละประเภท

เริ่มจากตัวเราเองก่อน และขยายสู่ครัวเรือน ชุมชน ปลุกกระแสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคม 3R...

จาก http://www.thairath.co.th ฉบับวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

'ประเสริฐ'เข้มตั้งโรงงานใหม่ ขู่ย้ายขรก.เคลียร์ท้องถิ่นไม่ได้

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการประชุมมอบนโยบาย ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมว่า ได้สั่งการให้ สอจ.ทั่วประเทศเร่งทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการอธิบายกับผู้ประกอบการถึงหลักเกณฑ์การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักเข้าใจว่าเมื่อได้อนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วสามารถสร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้ แต่ความจริงต้องขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ผู้ประกอบการสร้างโรงงานผิดกฎหมาย

"นอกจากนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นด้วย เช่น แบบประเมินสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพราะไม่ต้องการให้โรงงานใหม่มีปัญหาเหมือนในอดีต" นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า สำหรับบทบาทคณะกรรมการกลั่นกรองโรงงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนจะปรับบทบาทการทำงาน โดยจะพิจารณาโรงงาน 2 ประเภทหลัก คือ โรงงานขนาดใหญ่มูลค่า 200 ล้านบาท หรือแรงงาน 200 คน และโรงงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าการทำงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมอบอำนาจส่วนหนึ่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พิจารณา หากเห็นว่าต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ กรอ.ก็สามารถส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาในขั้นตอนสุดท้ายได้

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงจะประเมินผลงานข้าราชการทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ สอจ.ที่ใกล้ชิดโรงงาน หากพบว่าในจังหวัดมีข้อร้องเรียนหลายครั้ง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จะพิจารณาผลงานเพื่อสั่งย้ายต่อไป

นายณัฐพล ณัฐฏสมบูรณ์ อธิบดี กรอ. กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือ สอจ.ทั่วประเทศในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หาก กรอ.เข้าตรวจโรงงานแล้วพบว่า สอจ.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จะแจ้งต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาลงโทษต่อไป

นายณัฐพลกล่าวว่า สำหรับการทำงานของ กรอ.เรื่องการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานอย่างเข้มงวด เชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจยิ่งขึ้น โดยจะเปิดข้อมูลทุกขั้นตอนให้ตรวจสอบและสามารถระบุบุคคลที่รับผิดชอบขั้นตอนนั้นๆ

จาก http://www.matichon.co.th   ฉบับวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยก.พ. 2556 ชะลอลง จากผลของฐาน และวันทำการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทิศทางเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนก.พ. 2556 สะท้อนภาพการกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ขณะที่ ผลจากจำนวนวันทำการที่น้อยในระหว่างเดือนก.พ. 2556 และผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงขึ้นในช่วงเดือนก.พ. 2555 ตามกิจกรรมฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ก็ทำให้อัตราการขยายตัวของภาพรวมการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง (สอดคล้องกับทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่รายงานโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงก่อนหน้านี้) แต่กระนั้น เครื่องชี้การใช้จ่ายภายในประเทศบางรายการยังคงขยายตัวในระดับที่สูงกว่าปกติ ท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อต่อการบริโภค (โดยเฉพาะภาวะเสถียรภาพของภาพรวมเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ รวมถึงอัตราการว่างงานและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ)และผลจากโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในปีก่อนที่มีผลต่อเนื่องมาในปีนี้ อาทิโครงการรถคันแรก

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาพรวมของทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 น่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีแรงหนุนสำคัญจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่ การส่งออกอาจทยอยฟื้นตัวขึ้นเฉพาะในสินค้าบางรายการ/บางตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนจะมีจังหวะการเติบโตที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

การใช้จ่ายในประเทศยังช่วยชดเชยฐานะดุลการค้าที่อ่อนแอ

ภาพรวมของการใช้จ่ายของภาคเอกชนในเดือนก.พ. 2556 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากผลของฐานในเดือนก.พ. 2555 ที่การฟื้นตัวจากน้ำท่วมเริ่มมีภาพชัดเจนขึ้นโดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.3 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับร้อยละ6.7 (YoY) ในเดือนม.ค. 2556 ขณะที่การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนในเดือนก.พ.2556 ก็มีทิศทางชะลอตัวสอดคล้องกันมาที่ร้อยละ 9.5 (YoY) จากร้อยละ 22.2 (YoY)ในเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การใช้จ่ายในประเทศในหลายๆ องค์ประกอบ ยังคงขยายตัวในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ยอดขายรถยนต์นั่ง รถกระบะ และปูนซีเมนต์ ที่ขยายตัวร้อยละ 92.1 (YoY) ร้อยละ 14.0 (YoY) และร้อยละ 14.5 (YoY) ในเดือนก.พ. 2556 จากร้อยละ 108.6 (YoY) ร้อยละ 36.5 (YoY)และร้อยละ 15.8 (YoY) ในเดือนม.ค. ตามลำดับ

ดุลการค้ายังคงอ่อนแอ นอกจากจังหวะการแข็งค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้นท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จะมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้ฐานะดุลการค้ามีภาพที่อ่อนแอลงตามไปด้วย เนื่องจากทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากนับจากต้นปี น่าจะเอื้อให้การนำเข้าในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยตามฤดูกาลหรือการผลิตเร่งตัวขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา อาทิ การนำเข้าทองคำ (การนำเข้าทองคำยังมีมูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนก.พ. แม้จะน้อยกว่าระดับ 2.7 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนม.ค. ก็ตาม) ทั้งนี้ แม้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลที่574.6 ล้านดอลลาร์ ในเดือนก.พ. จากที่ขาดดุล2,820.6 ล้านดอลลาร์ ในเดือนม.ค. แต่หากไม่นับรวมทองคำแล้ว ดุลการค้าในเดือนก.พ. จะสามารถ บันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกและภาพรวมทั้งปี 2556

แม้จะมีความกังวลต่อประเด็นผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 แต่จากภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2556 ที่ออกมายังค่อนข้างสอดคล้องกับที่คาด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคเอกชนยังสามารถทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2556 และเมื่อประกอบเข้ากับที่คาดว่า จะมีการเพิ่มขึ้นของระดับสินค้าคงคลังตามการเร่งตัวขึ้นของการนำเข้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อาจขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 5.3 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 (ชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงถึง 18.9 %YoY ในไตรมาสที่ 4/2555 จากผลของการเทียบกับฐานที่ต่ำช่วงอุทกภัยปี2554)โดยในส่วนของการส่งออกนั้น แม้จะพลิกกลับมาหดตัวลงในเดือนก.พ. 2556 (ตามจำนวนวันทำการที่น้อยในประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะประเทศจีน)แต่ยังคงมีความเป็นไปได้ที่การส่งออกของไทยทั้งไตรมาสที่ 1/2556 จะบันทึกตัวเลขอัตราการขยายตัวในภาพรวมไว้ได้ที่ร้อยละ 5.5 (YoY)

สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2/2556 นั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาวะอากาศที่แห้งแล้งน่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 2/2556 ต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสแรกของปี แต่กระนั้น บรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชน น่าจะยังคงได้รับแรงหนุนจากมาตรการเพิ่มกำลังซื้อและดูแลภาวะค่าครองชีพประชาชนของภาครัฐโดยการทยอยส่งมอบรถตามมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก อาจช่วยหนุนปริมาณการ

จำหน่ายเชื้อเพลิงให้ขยายตัวตามยอดขายยานยนต์ในประเทศ ขณะที่ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล อาจช่วยเสริมบรรยากาศการลงทุน และเพิ่มแรงหนุนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเป็นภาพที่สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าบางประเทศของไทย ที่อาจเริ่มได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาในช่วงก่อนหน้านี้อย่างไรก็ดีแม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะคาดว่า โมเมนตัมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2/2556 น่าจะมีความต่อเนื่องในหลายภาคส่วน แต่ด้วยปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบก็อาจทำให้อัตราการเติบโตของจีดีพีชะลอลงมาที่ร้อยละ4.3 (YoY)โดยอัตราการขยายตัวของเครื่องชี้หลายๆประเภท น่าจะเริ่มสะท้อนภาพการชะลอตัวกลับสู่อัตราปกติมากขึ้น ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกที่มีทิศทางที่ดี

ขึ้นกว่าปี 2555 และเม็ดเงินการใช้จ่ายของภาครัฐที่น่าจะมีความต่อเนื่องตามแผนงบประมาณประจำปี 2556 (และอาจสมทบด้วยแผนการลงทุนในโครงการพิเศษอื่นๆ) อาจช่วยประคองให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอลงเล็กน้อยมาที่ร้อยละ 4.8 (กรอบประมาณการร้อยละ 4.3-5.3) จากร้อยละ 6.4 ในปี 2555 ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตาม ก็คือสถานการณ์การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่อาจมีความอ่อนไหวในบางช่วงตามทิศทางค่าเงินบาท รวมถึงความชัดเจนของแนวทางลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยเสริมให้โมเมนตัมของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีจังหวะที่มั่นคงมากขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้า

จาก http://www.siamrath.co.th  ฉบับวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ธปท.ยังไม่คุมเงินทุนไหลเข้า เอดีบี ชี้ดบ.ไทยเหมาะสม

บาททุบสถิติใหม่อีกแล้ว เปิดตลาดเช้า 9 เมษายน หลุด 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แบงก์ชาติยอมรับแข็งเกินไป ระบุเหตุจากเงินเยนญี่ปุ่นอ่อน ผลบีโอเจออกมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายเกินว่าที่นักลงทุนคาดการไว้ ยันใช้เครื่องมือเดิมจัดการ แต่ยังไม่คุมเงินไหลเข้า เอดีบี ชี้ดอกเบี้ยไทยเหมาะสมแล้ว

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในช่วงเช้าวันที่ 9 เมายน 2556 ยังคงปรับตัวแข็งค่า โดยค่างเนบาทลงมาทำนิวโลว์ที่ระดับ 28.95 บาท/ดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540

"เงินบาทมาทำนิวโลว์ที่ 28.95 บาท/ดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 97(2540) ตอน 10.00 น.หลังเปิดตลาดก็ทยอยปรับตัวลดลงมาเรื่อยๆ"

ทั้งนี้เมื่อปิดตลาดค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะออ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเช้า แต่ก็แข็วค่ากว่าเมื่อปิดตลาดครั้งล่าสุด( ศุกร์ที่5เมษายน)ที่ปิดตลาดที่ 29.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้นักค้าเงินรายหนึ่งระบุว่า เงินบาทช่วงบ่ายที่อ่อ่นค่าลงจากช่วงเช้า อาจเป็นผลมาจากนักลงทุนคาดการณ์กันว่าแบงก์ชาติ อาจจะเข้าแทรกแซงค่าเงิน

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้(9เมายน) แข็งค่าเร็วเกินไป เนื่องจากค่าเงินเยนอ่อนค่าเร็วมาก หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากกว่าคาด เช่นกรณีที่บีโอเจมีมติว่าจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลทุกประเภท รวมถึงพันธบัตรอายุ 40 ปี พร้อมกับขยายโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุการไถ่ถอนในปัจจุบันไม่ถึง 3 ปี เป็น 7 ปี นอกจากนี้ บีโอเจจะซื้อกองทุน ETF วงเงิน 1 ล้านล้านเยนต่อปี และซื้อกองทุน REIT วงเงิน 3 หมื่นล้านเยนต่อปี พร้อมกับจะระงับ "หลักการธนบัตร (banknote principle)" ซึ่งเคยห้ามไม่ให้บีโอเจถือครองพันธบัตรรัฐบาลมากกว่ามูลค่าของธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบ นอกจากนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติโยกเข้าลงทุนในกองทุน BTSGIS โดยค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์ 1.4 % จากเมื่อวันศุกร์ (5เมษายน) ที่ผ่านมา และแข็งค่า 4 % เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ซึ่ง ธปท.มองว่าเงินเยนที่อ่อนค่าน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าส่งผลเสีย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เป็นห่วงค่าเงินบาทที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระมัดระวัง ซึ่ง ธปท. มีเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาท 4 ระดับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่มีแผนใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะเดียวกันก็จะหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่มีแผนการลงทุน หรือแผนการชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้เร่งดำเนินการ เพราะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขณะนี้ ถือว่ามีความเหมาะสม

นายประสาร ยังได้กล่าวถึงความร้อนแรงของการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ว่า ขณะนี้ถือว่ามีความเสี่ยงด้านการปล่อยสินเชื่อ จนก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ ซึ่ง ธปท. ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ในการรักษามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ และดูแลการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุม รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาการเพิ่มเกณฑ์เงินดาวน์ ( LTV ) สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2

ส่วนกรณีที่ภาครัฐจะระดมทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ไม่น่าจะกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดเงิน เพราะหากแยกโครงการเป็นระยะเวลา 7 ปี จะพบว่ากู้เงินเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับระดับเศรษฐกิจของไทย และสภาพคล่องในระบบยังรองรับได้ แต่การระดมทุนจะต้องมีการกระจายเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัว ซึ่งอาจกระทบดอกเบี้ยในตลาด

ด้านนางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส สำนักงานผู้แทนประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะดัชนีราคาที่อยู่อาศัยยังไม่สูงมากนัก ขณะที่การเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ฉะนั้นจึงมองว่าเงินที่ไหลเข้ามาในขณะนี้ยังไม่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่อาจจะมีผลต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น ซึ่งในอนาคตจะส่งผลต่อการแข่งขันของผู้ส่งออกได้

อย่างไรก็ตาม ทางเอดีบีจะติดตามสถานการณ์อย่างใกลชิดเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้มองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลการไหลเข้าของเงินลงทุนแต่อย่างใด

เอดีบี ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 2.75% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว โดยเห็นได้จากการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกเริ่มกลับมาดีขึ้น

ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 3.2% และ 3.1% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2555 ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาสินค้าภายในประเทศไม่ปรับขึ้นมากนัก ขณะที่รัฐบาลได้ขยายเวลาการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับน้ำมันดีเซลอยู่

นอกจากนี้ ทางเอดีบียังระบุถึงการออกมาตรการ QE ของญี่ปุ่นว่าจะส่งผลกระทบน้อยกับประเทศไทยเมื่อเทียบกับการออก QE ของสหรัฐ เพราะมาตรการที่ออกมาได้ผลตามคาดจะมีผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้นเท่านั้น ซึ่งในส่วนของไทยอาจจะมีเงินทุนไหลเข้ามาไทยมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

อุตสาหกรรมจังหวัด-ท้องถิ่นเข้มใบอนุญาตโรงงาน

"ประเสริฐ" สั่งอุตสาหกรรมจังหวัดหารือท้องถิ่นเข้มงวดออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน ป้องกันเอกชนสร้างโรงงานก่อนได้ รง.4 กรมโรงงาน ขู่ย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดละเลยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม -ชุมชน เตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการตรวจสอบการขอใบอนุญาตโรงงานได้ทุกขั้นตอน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกแห่งหารือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ถึงกระบวนการ ตั้งโรงงานว่า จำเป็นต้องได้ใบอนุญาตประกอบการโรงงาน (รง.4) ก่อนจึงจะสร้างอาคารโรงงานได้ และหากมีผู้ประกอบการรายใดสร้างอาคารโรงงานก่อนได้รับ รง.4 จะถือเป็นความบกพร่องของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด "สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต้องมีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะปริมาณกากของเสียของแต่ละโรงงาน และเส้นทางการส่งกากของเสียดังกล่าวไปกำจัด รวมทั้งข้อมูลปริมาณน้ำเสีย ซึ่งที่ผ่านมากรอ.กำหนดโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งมากกว่าวันละ 500 ลูกบาศก์เมตร ต้องติดตั้งระบบติดตามผลออนไลน์ แต่คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรเสนอให้กรอ.ลดเหลือ 200-300 ลูกบาศก์เมตร เพราะเกิดปัญหาซ้ำซาก " นายประเสริฐ กล่าว

นายณัฐพล ณัฐฏสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะทำให้งานใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้สั่งการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ดังนั้นหากกรอ.ประสานงานไปแล้วไม่ดำเนินการ จะแจ้งเรื่องไปถึงปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณา ว่าสมควรย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่

นอกจากนี้กรอ.อยู่ระหว่างกำหนดแนวทางการพิจารณาออกใบ รง.4 เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น หลังจากได้รับถ่ายโอนภารกิจจากคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มี ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยจะเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ ทั้งความคืบหน้าคำขอตั้งโรงงาน และข้าราชการผู้ดูแลคำขอ และ กรอ.จะนำกรอบระยะเวลาการออก รง.4 ภายใน 90 วันมาใช้อย่างเคร่งครัด พร้อมนำเงื่อนไขการอนุญาตโรงงานของหน่วยงานอื่นมาพิจารณาด้วย เช่น รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รายงานผลกระทบทางสุขภาพ (เอชไอเอ)

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

หนุนสภาเกษตรกรฯร่วมปรับโครงสร้างภาคเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงนามบันทึกความร่วมมือ ด้านส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นกลไกของเกษตรกรในการสื่อสารกับรัฐบาลและร่วมกันพัฒนาเกษตรกรด้วยตนเอง ระหว่างนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิทยา ประจันตะเสน เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ

โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมมือกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกรจังหวัด และเป็นกลไกประสานงานกับรัฐบาลในการดำเนินการตามนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตรกรของคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งปันข้อมูลด้านการเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนร่วมกันสะท้อนปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการพัฒนาการเกษตรรวมทั้งเกษตรกรให้ยืนหยัดได้ด้วยตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ เป้าหมายของความร่วมมือ มี 4 ประการ คือ 1. เพื่อสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และประสานการใช้ประโยชน์ข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลองค์กรเกษตรกร ข้อมูลปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในการพัฒนาการเกษตรรวมทั้งเกษตรกร 2.เชื่อมโยงแผนพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติ 3. สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและด้านการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ และ4. สามารถพัฒนาบุคลากรของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติและสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดให้มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 รวมทั้งพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ในด้านเทคโนโลยี การผลิตและการตลาด ตลอดจนบทบาทหน้าที่ในการสะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาให้แก่ สภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติได้รับทราบเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

“ขอบเขตความร่วมมือฉบับนี้จะมีระยะเวลา 2 ปี และหากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันอาจขยายระยะเวลาบันทึกความตกลงออกไปได้อีก ครั้งละไม่เกิน 2 ปี โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะแจ้งให้หน่วยงานในสังกัดพิจารณาให้ความร่วมมือแก่สภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัด ทั้งในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรและสหกรณ์ ความรู้ด้านเทคโนโลยีและงานวิจัย คำปรึกษาแนะนำ การฝึกอบรม เพื่อให้การดำเนินภารกิจของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัด บรรลุตามพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ” นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ใบอนุญาต รง.4

คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ประกาศลดบทบาท ภายหลังดำเนินงานครบ 1 ปี และมีผลงานพิจารณาให้ใบอนุญาต รง.4 หรือใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานไปแล้ว 345 เรื่อง เสร็จสิ้น 100% ไม่มีเรื่องค้างการพิจารณา นับจากนี้ไปจะมีการลดประเภทอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้จาก 7 ประเภท เหลือเพียง 2 ประเภท ได้แก่ 1.โรงงานขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท หรือมีคนงานมากกว่าสองร้อยคน 2.โรงงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายรัฐบาล และโรงงานที่หน่วยงานอนุญาตส่งเรื่องให้พิจารณา นอกเหนือจากนั้นเป็นอำนาจอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

การดำเนินการพิจารณาออกใบอนุญาต รง.4 นั้น เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อมามีการมอบอำนาจนี้ให้กับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาตแทน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปัญหาร้องเรียนจากประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงานมากขึ้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงดึงอำนาจการพิจารณากลับคืนมา และตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตขึ้นมาเพื่อกลั่นกรองอย่างรอบคอบก่อนออกใบอนุญาต แต่เมื่ออยู่ในรูปของบอร์ดกลั่นกรองใบอนุญาต กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่าการออกใบอนุญาตล่าช้า และมีการกล่าวหาว่ามีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้นายวิฑูรย์ยืนยันเร่งประชุมทุกสัปดาห์ และดำเนินการอย่างโปร่งใส แต่ก็ยังไม่รวดเร็วทันใจผู้ยื่นขอใบอนุญาต จึงมีการเรียกร้องให้ยกเลิกบอร์ดชุดนี้

การประกาศลดบทบาทคณะกรรมการกลั่นกรองฯเหลือไว้เพียงอำนาจการพิจารณาใบอนุญาต 2 ประเภท จึงเท่ากับว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเปิดใจกว้าง ยอมรับฟังเสียงสะท้อนและนำมาปรับกระบวนการใหม่ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปคณะกรรมการกลั่นกรองฯ หรือเป็นอำนาจของอธิบดีกรมโรงงานฯ หลักที่ต้องยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ การออกใบอนุญาตต้องโปร่งใส ไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และมีมาตรฐานตามกฎเกณฑ์จึงจะแก้ปัญหาได้ครบ ทั้งเรื่องความล่าช้าจนผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ และเรื่องน่าวิตกอย่างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย และสุขอนามัย สิ่งแวดล้อมของประชาชน ขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยเพิกเฉยที่จะเอาผิดกับผู้ประกอบการที่เห็นแก่ได้ หรือให้ใบอนุญาตอย่างง่ายๆ แก่ผู้ทำผิด เช่น สร้างโรงงานก่อนขออนุญาต เพียงเพื่อลดกระแสความไม่พอใจ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ควบคู่การพิจารณาอย่างโปร่งใส เพื่อจะได้แก้ปัญหาทั้งระบบ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

เจาะลึกยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ รุกนโยบายคู่ขนาน เชื่อมโยงตลาดใน-นอกประเทศ

จากกระแสความตื่นตัวในเรื่องของอาหารปลอดภัยในหมู่ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและห่วงใยในปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการใช้สารเคมีโดยขาดความรับผิดชอบและขาดการควบคุมดูแล จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในการกระตุ้นพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอินทรีย์ให้แผ่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดสินค้าอินทรีย์ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์ส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอินทรีย์ไทย ภายใต้กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤติภาวะโลกร้อน ว่า กระทรวงฯ เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ดำเนินงานส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ไทยในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ตามความต้องการของตลาด ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการบริโภคสินค้าอินทรีย์ไทยให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับกิจกรรม ได้ร่วมจัดนิทรรศการ “ออร์แกนิก พาวิลเลี่ยน” ในงาน Thaifex– World of Food Asia 2013 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่มีความยิ่งใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของเอเชีย และจัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์และสินค้าธรรมชาติ Organic & Natural Fair 2013 โดยนำสินค้าจากทุกจังหวัดของภาคกลางและภาคตะวันออก มาแสดงและจำหน่าย ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า จ.ชลบุรี นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะจัดอบรมอย่างต่อเนื่องในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ประกอบการให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

อีกหนึ่งงานสำคัญในปีนี้ กระทรวงฯ ได้ยกระดับการจัดงานรวมพลคนอินทรีย์ขึ้นมา เป็นงาน ORGANIC & NATURAL EXPO 2013 โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นงานที่รวบรวมทั้งสินค้าและบริการอินทรีย์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2556 ที่แพลนนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยภายในงานยังมีการจัด Organic Symposium หรือการสัมมนาทางวิชาการเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ความรู้ด้านการตลาดและการทำธุรกิจอินทรีย์อย่างเจาะลึกแก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษ อาทิ สาธิตการทำอาหาร คลินิกให้คำปรึกษาและนิทรรศการ จากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน คาดการณ์กลุ่มเป้าหมายที่เข้าชมงานในปีนี้ ไม่น้อยกว่า 20,000 คน และคาดการณ์เงินเดินสะพัดระหว่างการจัดงาน ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ไทยในต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้นำคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า BIOFACH 2013 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้า เจรจาการค้า และประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการอินทรีย์ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่ศูนย์แสดงสินค้าเมืองเนิร์นแบร์ก ประเทศเยอรมนี

ทั้งนี้ เป้าหมายของการดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว เพื่อต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าและบริการอินทรีย์ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการด้านตลาด การผลิตและการรับรองมาตรฐาน กระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาบริโภคสินค้าอินทรีย์ในประเทศมากขึ้น ตลอดจนสร้างเครือข่ายการค้าและขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ไทยทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 เมษายน 2556

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกรมโรงงานการออกใบอนุญาตต้องรัดกุม-โปร่งใส

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) “ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์”ก็เดินหน้าทำงานทันที โดยเฉพาะความมุ่งหวังที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งที่ผ่านมาถูกสังคมโดยเฉพาะบรรดาผู้ประกอบการมองว่ามีความไม่โปร่งใสมาตลอด

“ที่ผ่านมา กรอ.ต้องตกตกเป็นจำเลยของสังคมถึงความไม่โปร่งใสการพิจารณาออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือรง.4 โดยมีการดึงเรื่องเพื่อหวังผลประโยชน์บางประการ” ดร.ณัฐพล กล่าว

พร้อมยืนยันว่าในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ จะเข้ามารื้อขั้นตอนกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้รัดกุมและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ข้อครหาการดองใบอนุญาตมีความล่าช้า และเป็นการช่วยลดการทำงานของคณะกรรมารกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

ในการนี้จะมีการนำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยหรืออีเอสเอ เข้ามาประกอบการพิจารณาให้มีความเข้มข้นมากขึ้น จากปกติโรงงานขนาดเล็กใน 25 ประเภทไม่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โดยจะต้องทำรายงานอีเอสเอ ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนประกอบเข้ามาด้วย แต่ที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นเพียงผิวเผิน ก่อให้เกิดช่องโหว่ที่หน่วยงานอนุญาตไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด มีเพียงแค่นำเอกสารการยอมรับจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชน หรือเทศบาลต่างๆ มายื่นประกอบขอใบอนุญาตเท่านั้น และการพิจารณาก็มีเพียงแค่เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวในการพิจารณาเอกสาร ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด ต่างกับการพิจารณาอีไอเอ จะมีคณะกรรมการผู้ชำนาญในแต่ละด้านขึ้นมาดูแล ทำให้เกิดข้อผิดพลาดมาก

ทั้งนี้ เห็นได้จากการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาการออกใบอนุญาตเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่ามียอดโรงงานที่เสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา 368 คำขอ แต่โดนตีกลับมาจำนวน 165 คำขอ ถือว่าเป็นจำนวนที่สูง ทำให้ภาพลักษณ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเหมือนทำงานไร้ความสามารถ และถูกมองว่ามีการดองเรื่องหรือต้องการเรียกเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ใบอนุญาต

ในข้อเท็จจริงคำขอที่ถูกตีกลับส่วนใหญ่พบว่ายังกระทำผิดและขาดมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พื้นที่ทับซ้อนพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการสร้างโรงงานทับลำรางสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ ขาดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเพียงพอ

“ผมได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรอ.ไปจัดตั้งคณะทำงานที่จะมาพิจารณารายงานอีเอสเอเป็นพิเศษ มีผู้ชำนาญการแต่ละด้านของกรมฯไม่ว่าจะเป็น ด้านน้ำเสีย อากาศ วัตถุอันตราย สารเคมี มาเป็นองค์ประชุมพิจารณาให้ครบทุกมิติ และลงลึกในรายละเอียดให้มากขึ้น และอาจจะบวกโครงการ 3 สามัคคี ได้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการและตัวแทนภาครัฐ เข้ามาร่วมกันสร้างความเข้าใจก่อนก่อนที่จะมีการขออนุญาตตั้งโรงงาน”

โดยที่ผ่านมาเคยเกิดตัวอย่าง กรณีที่ให้ใบอนุญาตไปแล้ว แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา กลับไปถามชาวบ้านหรือชุมชน พบว่าไม่ทราบรายละเอียดของการเซ็นชื่อยอมรับการตั้งโรงงานนั้นๆ จึงทำให้ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนของการปล่อยน้ำเสีย กากสารพิษ ฯลฯ ตามมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากดำเนินการในส่วนนี้ได้ จะช่วยให้จำนวนตีกลับคำขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะลดน้อยลงและไม่มียอดจำนวนตีกลับหรือส่งคืนมายังกรมฯ

นอกจากนี้ เพื่อให้ขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตมีความโปร่งใสมากขึ้น จะมีการจัดทำระบบออนไลน์ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปดูขั้นตอนการดำเนินงานได้โดยตรง

“ผมจะเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ขอใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถรายงานการทุจริตของเจ้าหน้าที่โดยตรง เพื่อความสบายใจของผู้ประกอบการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการมีเรื่องร้องเรียนมายังกรมฯ ว่ามีเจ้าหน้าที่ทุจริตและเรียกเก็บเงินเพื่อแลกกับใบอนุญาต แต่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ ทำให้ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้ หลังจากนี้ หากมีการร้องเรียนเข้ามาแม้จะไม่เปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ใดทุจริต และพบว่ามีมูลก็จะตั้งกรรมการสอบสวนทันที”

“ในส่วนของโรงงานที่เปิดดำเนินการกิจการแล้ว จะต้องเดินหน้าในเรื่องของการกำกับดูแล โดยเฉพาะโรงงานที่มีอีไอเอแนบท้าย ว่าปัจจุบันดำเนินการดูแลมาตรฐานความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เข้าไปตรวจดูอย่างจริงจัง จึงมีข้อร้องเรียนจากชุมชนเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเข้าไปตรวจสอบทุกโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด”ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 เมษายน 2556

ดันส่งออกสินค้าโครงการหลวง เกษตรกำชับทูตต่างประเทศ เร่งต่อยอดขยายตลาดส่งออก

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้ประชุมหารือความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ โดยได้ข้อสรุปว่า จะมีการประสานงานไปยังสำนักที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของโครงการหลวงซึ่งประกอบด้วย 5 แนวทางหลัก คือ 1.การเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของโครงการหลวงในต่างประเทศ 2.การขยายตลาดสินค้าโครงการหลวงในต่างประเทศ 3.ความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรกับหน่วยงานในต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลหลักเกณฑ์ มาตรฐานสินค้า และข้อระเบียบการนำเข้าของแต่ละประเทศ 4.การแลกเปลี่ยนนำเข้าพันธุ์ไม้ใหม่ๆ จากต่างประเทศ และ 5.การศึกษาดูงานด้านพฤกษศาสตร์

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะให้การสนับสนุนภารกิจของโครงการหลวง ซึ่งปัจจุบันผลผลิตจากโครงการหลวงเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ปีที่ผ่านมามีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ดังนั้นทูตเกษตรซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนงานของโครงการหลวง และผลักดันสินค้าจากโครงการหลวงส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น สำนักที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง กวางโจว และเซี่ยงไฮ้ มีแผนสนับสนุนด้านการวิจัย การรวบรวมพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่จะนำมาวิจัย พัฒนา และส่งเสริมให้เกษตรกรของไทยได้นำไปใช้ประโยชน์และเพิ่มรายได้ เช่น พันธุ์ไผ่ พันธุ์แพะนมเหลาซาน พันธุ์หมูจินหัว หมูเหมยซาน

ขณะที่สำนักที่ปรึกษาการเกษตรประจำสหภาพยุโรป มีแผนที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อให้ชาวต่างประเทศได้รับทราบว่าพระองค์ได้ทรงพระราชทานโครงการหลวง เพื่อสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรชาวเขาให้มีรายได้ด้วยการปลูกพืชผักเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น รวมถึงประชาสัมพันธ์สินค้าโครงการหลวงให้กับผู้ประกอบการต่างประเทศ และหาแหล่งความรู้ เทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ให้กับโครงการหลวง เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 เมษายน 2556

ชงลดขั้นตอนแก้กฎสู่อาเซียน

นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ เตรียมทำหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยเสาหลักด้านเศรษฐกิจต้องแก้ไขกฎระเบียบหลายอย่างให้สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ กรณีการถือหุ้นของต่างชาติ ที่กฎหมายไทยกำหนดสัดส่วนไม่เกิน 49% แต่ตกลงในกรอบอาเซียนให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 70% ในบางกลุ่มธุรกิจ รวมถึงการขนส่งสินค้าจากไทยไปพม่าและต่อไปประเทศอื่น ที่ต้องเปลี่ยนหัวรถจักร มาตรการตรวจสินค้าที่มีหลายหน่วยงานดูแล ไม่ใช่แค่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข พาณิชย์ กรมศุลกากร จึงควรลดหน่วยงานและขั้นตอนลงเพื่อให้สะดวกขึ้น

ขณะเดียวกัน ต้องส่งเสริมสิ่งที่ไทยเป็นผู้นำให้คงไว้ เช่น ภาคเกษตรและส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย ซึ่งแข่งขันในเวทีโลกได้ยาก เพราะสายป่านยาวไม่พอ ดังนั้นจึงเสนอให้บริษัทรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น ปตท.สผ. ปูนซิเมนต์ไทย มิตรผล กลุ่มซีพี ดึงเอสเอ็มอีไปเติบโตด้วยกันทั้งซัพพลายเชน รวมถึงตั้งกองทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังต้องการใช้จังหวะที่คนไทยกำลังตื่นตัวในเรื่องอาเซียนเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ว่ามีการรวมกันเป็นประชาคมจะสร้างประโยชน์อย่างไร สิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจะมีอะไรบ้าง และประชาชนทั่วไปจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมได้อย่างไร

อีกทั้งให้กรมประชาสัมพันธ์เร่งระดมประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่ประชาชนได้รับรู้ในวงกว้าง และได้แต่งตั้งอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 5 7 9 11 และหน่วยงานต่างๆ เพื่อถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้

นายอรรถยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำหนังสือเพิ่มเติมอีก 2 เล่ม จำนวน รวม 5 แสนเล่ม คือ 58 คำตอบสู่ประชาคมอาเซียน 2558 และบัวแก้วไขปัญหาประชาคมอาเซียน ซึ่งนำเสนอในรูปแบบการ์ตูน เพื่อให้เข้าใจง่าย นอกเหนือจากการทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์สำหรับแจกให้ประชาชนฟรี รวมทั้งจะประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำหนังสือไปแจกให้ประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 เมษายน 2556

น้ำบาดาลแก้ภัยแล้ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งมอบถังเก็บน้ำบ่อบาดาลพุ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น สามารถกักเก็บน้ำบาดาลให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ ต.กระนวน อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งขอนแก่นเป็น 1 ใน 38 จังหวัดที่ประกาศเป็นจังหวัดภัยพิบัติจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ ได้ส่งมอบถังกักเก็บน้ำบาดาลพุ จำนวน 5 ถัง ในโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลพุ พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางอย่างยั่งยืน

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบพื้นที่ภาคอีสานมีแหล่งน้ำบาดาลพุกว่า 1.7 ล้านไร่ ใน 7 จังหวัด ซึ่งมีปริมาณมากเพียงพอ สามารถขุดเจาะนำน้ำใต้ดินมาบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำทำกินในพื้นที่ให้กับชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้อีกครั้ง โดยน้ำบาดาลพุยังลดการใช้พลังงานในการสูบ ด้วยน้ำมีแรงดันขึ้นสู่ผิวดินเข้าสู่ถังเก็บน้ำที่เตรียมไว้ นำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ซึ่งชุมชนจะมีกรรมการในการบริหารน้ำให้กระจายทั่วหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สำรวจแหล่งน้ำบาดาลเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก โดยยังมีน้ำใต้ดินกว่า 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่สามารถนำขึ้นมาใช้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างพอเพียง. - สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

บอร์ด ธ.ก.ส.ไฟเขียวแจกบัตรเครดิตเกษตรกร 4 ล้านใบ

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำกับดูแลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.

มีมติเห็นชอบขยายเป้าหมายบัตรสินเชื่อเกษตรกรเป็น 4 ล้านใบ ภายในปี 2556 และให้ว่าจ้างบริษัท วีสมาร์ท ผู้ชนะการประมูลโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรจำนวน 2 ล้านใบในล็อตแรก ให้ทำโครงการต่อเนื่องอีก 2 ล้านใบ รวมทั้งให้เพิ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มจาก 4,000 ร้านค้า เป็น 1 หมื่นร้านค้า ภายในปีนี้

ด้านนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการเลือก วีสมาร์ท ทำโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรต่อ เพราะเห็นว่ามีศักยภาพเพียงพอ และราคาเหมาะสม โดยการประมูลโครงการรอบแรก วีสมาร์ท เสนอราคาต่ำสุดที่ 177 ล้านบาท รวมทั้งไม่ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่งจะทำให้เสียเวลา

ล่าสุด ธ.ก.ส.แจกบัตรสินเชื่อให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 1 ล้านราย มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะเร่งอนุมัติบัตรให้เกษตรกรได้ครบ 2 ล้านราย ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ เพื่อให้ทันฤดูกาลผลิตที่กำลังจะเข้ามาถึง

สำหรับเป้าหมายแจกบัตรสินเชื่ออีก 2 ล้านรายที่เหลือ จะกระจายไปยังเกษตรกรทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และเกษตรกรปลูกผลไม้ภาคตะวันออก คาดว่าจะทยอยอนุมัติบัตรได้ครบ 4 ล้านใบก่อนสิ้นปีนี้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

อุตฯลดบทบาท'กก.กลั่นกรอง ออกใบอนุญาตรง.แค่2ประเภท อีก5ให้'กรอ.'ดำเนินการแทน

'วิฑูรย์'ลดบทบาท กก.กลั่นกรอง ออกใบอนุญาตโรงงาน 4 เหลือแค่ 2 ประเภท อีก 5 ประเภทให้ กรอ.ทำแทน พร้อมตั้งคนนอกร่วมเป็นกรรมการ ไร้ทุจริต อธิบดีกรมโรงงานฯย้ำทำงานโปร่งใส เปิดเว็บให้ประชาชนตรวจสอบได้

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 4 เมษายนว่า หลังคณะกรรมการกลั่นกรองทำงานมาครบ 1 ปี ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะลดบทบาทของคณะกรรมการกลั่นกรองลง เพราะที่ผ่านมาได้วางหลักเกณฑ์การอนุญาตโรงงานตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และภายในสัปดาห์นี้จะเสนอเรื่องให้นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอนุมัติต่อไป

นายวิฑูรย์กล่าวว่า การลดบทบาทของคณะกรรมการกลั่นกรองจะยึดการพิจารณาประเภทกิจการให้ลดลง จากปัจจุบันพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) อยู่ 7 ประเภท คือ

 1.โรงงานขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาท (คิดเฉพาะสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน) หรือมีคนงานมากกว่า 200 คน

2.โรงงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นโยบายของรัฐบาล หรือนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม

3.โรงงานที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

4.โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า

5.โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับของเสีย

6.โรงงานที่อาจมีปัญหามวลชน และ

 7.โรงงานที่ต้องประเมินความเสี่ยง จะเหลือเพียง 2 ประเภท คือ โรงงานขนาดใหญ่ และโรงงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม. ส่วน 5 ประเภทที่เหลือจะมอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นผู้พิจารณาต่อไป

"เมื่อเหลือเพียง 2 ประเภทกิจการที่คณะกรรมการกลั่นกรองดูแล จำนวนโรงงานที่จะถูกพิจารณาจึงลดน้อยลง เหลือไม่กี่ประเภทที่เข้าข่าย อาทิ โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตอาหารที่ใช้ห้องเย็น ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าแม้เงินลงทุนจะสูงถึง 200 ล้านบาทจะอยู่ในอำนาจของ กรอ.เป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ การลดบทบาทดังกล่าวไม่ใช่เพราะมีเอกชนหรืออดีตรัฐมนตรีออกมากดดันแน่นอน เพราะกระทรวงดำเนินการอย่างถูกต้อง" นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองจะพิจารณาเพิ่มคณะกรรมการจากคนนอก 2 คน จากฝ่ายวิชาการและฝ่ายเอกชน โดยจะพิจารณาคัดเลือกจากผู้แทนภาคอุตสาหกรรมและผู้แทนวิชาการจากสถาบันศึกษา เพื่อให้ การทำงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น
นายณัฐพล ณัฐฏสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า การพิจารณาโรงงานทั้ง 5 ประเภท กรอ.จะพิจารณาอย่างโปร่งใส เน้นตรวจสอบได้ โดยอยู่ระหว่างการวางระบบเพื่อให้ข้อมูลการพิจารณาโรงงานมีรายงานต่อเอกชนทุกระยะ อาจทำในรูปของเว็บไซต์เปิดให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลร่วมด้วย

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลดบทบาทของคณะกรรมการกลั่นกรองเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมควรดำเนินการมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมาทำให้การตั้งโรงงานของหลายอุตสาหกรรมมีความล่าช้า

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

ใช้จุลินทรีย์สร้างโรงปุ๋ยให้ดิน

ทุกคนบนโลกใบนี้รู้จักดินทั้งสิ้น เป็นแต่รู้จักกันแบบไหน ส่วนใหญ่รู้ผิวเผินจากรูปกายภายนอก และรู้แค่เป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม

โลกมีระบบนิเวศโดยรวม ทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย กระทั่งธรรมชาติแวดล้อม ทั้งที่พึ่งพากัน และห้ำหั่นกัน แล้วยังมีระบบนิเวศย่อยอีกมากมาย ในดินก็เป็นระบบนิเวศอย่างหนึ่ง มีสิ่งมีชีวิตหลากหลาย ทั้งพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า จุลินทรีย์ (Micoorganism) ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีปัจจัยเพื่อยังชีวิต เช่น น้ำ อาหาร อากาศ ที่อยู่อาศัย มีระบบการผลิตของตัวเอง หรือเชื่อมโยงเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน และฯลฯ

ดินถือกำเนิดจากหิน และแร่ ตลอดจนซากพืชและสัตว์ ที่ย่อยสลายลงด้วยหลายเหตุปัจจัย มนุษย์ใช้ดินในการเพาะปลูกสร้างปัจจัย 4 มาเนิ่นนาน จนถึงวันนี้ก็ยังต้องพึ่งพาดินมากขึ้น เช่น การขยายพื้นที่การเกษตรจนขยายแทบไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องใช้ดินหนักขึ้น ถี่ขึ้น เพื่อตอบสนองต่ออนาคตประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในเวลานี้ 7,000 ล้านคน และ 9,000 ล้านคนใน 30-40 ปีข้างหน้า

จะตอบสนองได้ขนาดนั้น ดินต้องมีความสมบูรณ์ คือประกอบด้วย อนินทรียวัตถุ 45% อินทรียวัตถุ 5% น้ำและอากาศ อย่างละ 25%

ในความเป็นจริงของดินไทย เป็นดินที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ เช่น เป็นดินเค็ม ดินเปรี้ยวจัด ดินกรด ดินทรายจัด และฯลฯ ขึ้นชื่อเป็นดินเหล่านี้ก็คือดินไม่สมบูรณ์ ดินมีปัญหา การจัดการกับดินมีปัญหาจึงต้องใช้มาตรการหรือวิธีการหลายอย่าง รวมทั้งการใช้ธรรมชาติบวกกับเทคโนโลยีเข้าจัดการ

ธรรมชาติในดินนั้น มีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นคือ จุลินทรีย์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกรวมของเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส แอคทิโนมัยซิส โปรโตซัว

สิ่งมีชีวิตเล็กๆเหล่านี้ มีคุณสมบัติพิเศษคือการย่อยสลายอินทรียวัตถุ การแปรสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ในการตรึงไนโตรเจน การย่อยสลายสารเคมี เป็นต้น

มีความพยายามใช้จุลินทรีย์ทำงานให้ดินมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ต่างจากเครื่องจักรในการผลิตปุ๋ยในดิน

ธาตุอาหารที่พืชใช้กันมากเป็นพิเศษมี 3 ตัวคือไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโปแตสเซียม (K) เวลาซื้อปุ๋ยเคมี บริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเคมีมักมีสูตร NPK เป็นพื้นฐาน ประเด็นของปุ๋ยเคมีคือราคาแพงขึ้นเรื่อยๆตามราคาน้ำมัน เพราะปุ๋ยเคมีเป็นผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ในส่วนของไนโตรเจน กรมพัฒนาที่ดินเห็นว่า ไนโตรเจนมีอยู่ในอากาศ และพบว่า มีจุลินทรีย์ 2 ชนิดที่ตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเป็นธาตุอาหารของพืชได้ คือ

1.พวกที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันกับพืชตระกูลถั่ว พืชทำหน้าที่สังเคราะห์แสง สร้างอาหาร จุลินทรีย์อาศัยอาหารจากพืชเป็นเครื่องยังชีพ ในขณะเดียวกัน นอกจากตัวเองทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์แล้ว ยังตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาไว้ในบ้านที่พืชสร้างคือปมรากถั่ว เพื่อให้ต้นถั่วใช้ประโยชน์

เวลาจะใช้ประโยชน์จากไนโตรเจน เกษตรกรจึงต้องปลูกพืชตระกูลถั่ว ได้ผลผลิตเมล็ดถั่วแล้ว ยังได้ไนโตรเจนจากจุลินทรีย์ ครั้นเป็นซากก็ยังเป็นประโยชน์แก่ดิน และพืชอื่นที่จะปลูกต่อ ดร.ฉวีวรรณ เหลืองวุฒิวิโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน บอกว่า จุลินทรีย์ที่อิงแอบกับพืชตระกูลถั่ว เพื่อตรึงไนโตรเจนนั้น กรมฯได้พัฒนามาแล้วในรูปของผลิตภัณฑ์พ.ด.12 คือตรึงไนโตรเจน ปลดปล่อยฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม รวมทั้งสร้างฮอร์โมนพืชด้วย

2.จุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนแบบอิสระไม่ต้องอิงปมรากถั่ว ขณะนี้กำลังคัดกรองหาเจ้าจุลินทรีย์ที่ว่านี้ ซึ่งเคยได้ตัวที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนได้ดีมาแล้ว แต่บังเอิญเจอเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เมื่อต้องดับไฟในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เชื้อพวกนี้จึงพลอยล้มตายเสียหายไปด้วย ต้องเริ่มต้นคัดเลือกใหม่

แน่นอนว่า ประสิทธิภาพของจุลินทรีย์แบบอิสระ ยังต่ำอยู่คือตรึงไนโตรเจนได้ 2.4-8 กิโลกรัม/ไร่/ปี ในขณะพวกที่อาศัยปมรากถั่วที่ต้นถั่วสร้างให้เป็นบ้าน ตรึงไนโตรเจนได้ 6.4-44.8 กิโลกรัม/ไร่/ปี แนวคิดนี้กำลังดำเนินการอยู่ หากสำเร็จเท่ากับมีจุลินทรีย์ทำหน้าที่เหมือนเครื่องจักรสนามตรึงไนโตรเจน และสามารถใช้งานได้โดยอิสระ

ดร.ฉวีวรรณเล่าว่า ยังจุลินทรีย์อีกตัวที่ช่วยพืชในการหาอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือเชื้อรา อาบัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ที่อาศัยร่วมกับรากพืชแบบพึ่งพาอาศัย เช่นเดียวกับจุลินทรีย์ที่อิงแอบกับรากพืชตระกูลถั่ว เชื้อราพวกนี้จะสร้างเส้นใยรอบๆรากพืช โดยแผ่เส้นใยได้ยาวถึง 10 เท่าของรากพืช แล้วลำเลียงธาตุอาหาร น้ำ ไปให้รากพืช โดยพืชให้อาหารแก่เชื้อราเป็นการตอบแทนกลับกัน

แนวคิดของกรมพัฒนาที่ดิน คือจะนำเชื้อราดังกล่าวไปอิงแอบกับรากหญ้าแฝกที่กรมฯส่งเสริมให้ปลูก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำอยู่แล้ว ทั้งเพื่อป้องกันการชะล้างทำลายหน้าดิน และปลูกรอบๆต้นไม้ผล

หากไมคอร์ไรซ่าพวกนี้ สามารถอยู่กับรากหญ้าแฝกซึ่งมีรากขนมากมาย ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการขยายพันธุของเชื้อรา และพืชที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้

ไมคอร์ไรซ่านี้ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และในเอเชีย มีการพัฒนาและผลิตขายกันแล้ว แต่ก็ไม่ใช่แนวคิดเดียวกับที่กรมพัฒนาที่ดินจะทำ

นี่คือการใช้วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ มาใช้ร่วมกับจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง โดยที่สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ระดับหนึ่ง ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร รวมทั้งยังปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมในการปลูกพืชได้ตลอดเวลา

ทรัพยากรดินมีรหัสล้บ ที่ต้องหมั่นศึกษา เพื่อเป็นกุญแจไขให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร และประเทศไทย โดยเฉพาะการดำรงสถานภาพครัวโลกอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

ติวเยาวชน 10 จังหวัดป้อนสู่ภาคการเกษตร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์แรงงานภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาขาดแคลน เนื่องจากการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของเกษตรกรรุ่นเก่า ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็พากันเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคอุตสาหกรรม หรือธุรกิจประเภทอื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของภาคเกษตรไทยได้ในอนาคต ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่งต้องเร่งวางแผนและดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว โดยพยายามผลักดันการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเข้าสู่อาชีพในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น

“ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงตัดสินใจเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ My Little Farm โดยนำเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 10 โรงเรียนๆ ละ 5 คน รวม 50 คน จาก 10 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย น่าน บุรีรัมย์ ตรัง นครสวรรค์ ศรีสะเกษ สุราษฎรธานี นครปฐม สกลนคร อุทัยธานี และสระแก้ว มาประกอบกิจกรรมการเกษตรในรูปแบบรายการเรียลริตี้โชว์ เป็นเวลา 60 วัน ระหว่างวันที่ 11 มี.ค. ถึง 11 พ.ค. ที่แปลงเกษตรอาคารโรงถ่ายการแสดงกันตนามูวี่ทาวน์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม “ นางพรรณพิมล กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th    วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

กกร.ตบเท้าหารือ”บุญทรง”เรื่องค่าเงินบาท 9 เม.ย.นี้

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมมีมติเตรียมเข้าพบนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 9 เมษายน เพื่อหารือผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักอย่างเครื่องนุ่งห่ม อาหาร สินค้าเกษตร และเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบโดยด่วน

นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ของค่าเงินบาทตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2556 พบว่าแข็งค่าขึ้นถึง 5% ถือเป็นประเทศที่ค่าเงินแข็งค่ามากเป็นอันดับต้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าในภูมิภาครวม 14 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และล่าสุดยังแข็งค่าเป็นอันดับ 1 มากกว่าประเทศอินเดียในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นหากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และรัฐบาลดูแลให้ค่าเงินบาทของไทยเกาะกลุ่ม 14 ประเทศ และไม่ผันผวนรุนแรงเหมือนปัจจุบัน จะเป็นสิ่งที่เอกชนต้องการมากที่สุด

"ค่าเงินบาทระดับ 30 บาท 29.5 บาท หรือ 29 บาท เอกชนรับได้หมดถ้าไม่ผันผวนอย่างปัจจุบัน เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนไหวทำให้เอกชนไม่สามารถตั้งราคาได้ตามที่ต้องการ หากจะปรับราคาก็มีความเสี่ยงว่าลูกค้าจะหันไปซื้อประเทศคู่แข่งแทน เพราะชนิดสินค้าไม่ต่างกันมาก"นายพยุงศักดิ์กล่าว

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจาก 2 ด้าน คือ 1.ค่าเงินบาทแข็งค่า ขณะที่ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย ค่าเงินบาทไม่ขยับเหมือนไทย ทำให้ไทยเสียเปรียบ 2.ประเทศผู้สั่งซื้อสินค้าอย่างญี่ปุ่น เกาหลี สหภาพยุโรป อังกฤษ ค่าเงินอ่อนลงมากทำให้ความสามารถในการซื้อสินค้าลดลง ดังนั้นธปท.และรัฐบาลลต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน อย่าทำตัวเป็นพระเอกโดยไม่ดำเนินการอะไรเลย เพราะประเทศอื่นยังแก้ปัญหาได้แต่ทำไมไทยทำไม่ได้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

เอกชนจ่อถกพาณิชย์ อ่วมบาทแข็ง-ค่าแรง

กกร. ตบเท้าถก”พาณิชย์” 9 เม.ย. หารือมาตรการลดผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่า โวยแข็งขึ้นแท่นอันดับ 1 ใน 14 ประเทศคู่แข่งทางการค้าวอน”ธปท.”ช่วยแก้ไม่ต้องเป็นพระเอกเหตุส่งออกกระอักทั้งค่าแรง ค่าบาททำขีดแข่งขันลด แถมตลาดส่งออกระส่ำออร์เดอร์เริ่มหด ส่งออกปีนี้มีโอกาสพลาดเป้าโต8-9%

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและส.อ.ท.) หรือกกร. ว่า กกร.ได้เห็นชอบที่จะเข้าหารือผลกระทบภาวะค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออกกับกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 9 เม.ย.นี้เพื่อหามาตรการรองรับเนื่องจากขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเป็นอันดับ 1 ใน 14 ประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดต่ำลงซึ่งระยะยาวอาจกระทบต่อเป้าหมายการเติบโตการส่งออกของไทยในปี 2556 ได้

“ เอกชนต้องการค่าเงินบาทที่ไม่ผันผวน เกาะกลุ่มกับภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศคู่แข่งทางการค้า เราขอเพียงเท่านี้แต่ที่ผ่านมาไทยแข็งค่ามากทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลดต่ำลงเพราะทำให้ต้นทุนสินค้าไทยสูงไม่สามารถต่อรองขึ้นราคาได้”นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยขณะนี้แข็งค่าเฉลี่ย 5% จากต้นปีขณะที่ประเทศคู่แข่งกลับแข็งค่าต่ำกว่าไทยหรือบางประเทศกลับอ่อนค่าด้วยซ้ำ และหากมองในแง่ของลูกค้าที่จะสั่งสิ้นค้าจากไทยทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรปกลับมีค่าเงินที่อ่อนค่าลงก็ทำให้อำนาจซื้อของประเทศเหล่านี้ลดต่ำจึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ช่วยดูแลภาวะค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับภูมิภาคด้วยไม่ต้องเป็นพระเอกในการนำหน้าคนอื่นในเมื่อประเทศอื่นๆยังดูแลได้ไทยเองก็น่าจะทำได้เช่นกัน

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบทั้งต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นและยังได้รับผลจากค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่มอีกทำให้ขณะนี้คำสั่งซื้อในไตรมาส 2 ประสบปัญหาในการกำหนดราคาสินค้า เมื่อประเทศผู้ซื้อเองมีปัญหาเศรษฐกิจไม่สู้ดีนักทั้งตลาดสหรัฐ ยุโรป จึงจำกัดการซื้อเพื่อลดสินค้าคงคลังทำให้แนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 อาจจะติดลบส่วนทั้งปีที่กระทรวงพาณิชย์พยายามจะวางเป้าหมายให้การส่งออกเติบโต 8-9% นั้นยอมรับว่าหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าที่นำหน้าภูมิภาคเช่นนี้ต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

“ เป้าส่งออกเองกระทรวงพาณิชย์ก็พยายามจะทำให้ได้ก็เข้าใจอยู่ ซึ่งแนวทางก็คงจะต้องมองหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งก็คงจะต้องมาหารือกันว่าจะร่วมมือกันอย่างไร แต่ส่วนของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยเองก็ประมาณการณ์ส่งออกปีนี้ขยายตัวเพียง 6.9% แต่จะปรับอีกครั้งหลังตัวเลขในไตรมาส 2 ชัดเจนขึ้น”นายวัลลภกล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

ผวาบาทแข็งพ่นพิษส่งออก พณ.สั่งเฝ้าจับตาปัจจัยเสี่ยง-ความตึงเครียดเกาหลี

พาณิชย์ ผวาค่าเงินบาทแข็งโป๊กสะเทือนส่งออกไทย เรียกทูตพาณิชย์ประชุมด่วนทางไกล ก่อนทบทวนปรับเป้าส่งออกใหม่ทั้งปีอีกครั้ง พ.ค.นี้ พร้อมจับตาไตรมาส 2 หวั่นสารพัดปัจจัยเสี่ยงกระทบส่งออก ขณะที่สั่งทูตพาณิชย์เกาะติดสถานการณ์ความตึงเครียดเกาหลีใกล้ชิด

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ยอมรับว่าได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยแล้ว เพราะการส่งออกช่วงเดือน ก.พ. ที่ติดลบประมาณ 5% มีมูลค่าการส่งออกลดลง แต่ปริมาณการส่งออกยังเท่าเดิม และผลกระทบจะเห็นได้ชัดหากการส่งออกเดือน มี.ค. ยังติดลบในลักษณะนี้อยู่ ซึ่งภาครัฐก็ได้เตรียมมาตรการที่ช่วยเหลือภาคการส่งออกไว้แล้ว โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้กับผู้ส่งออก รวมถึงการอำนวยความสะดวกเพื่อให้การส่งออกเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยังไม่มีการปรับเป้าหมายการส่งออกปี 56 ที่คาดว่าขยายตัว 8-9% แต่จะทบทวนเป้าหมายการส่งออกในช่วงเดือน พ.ค.นี้ โดยระหว่างนี้จะทยอยเรียกประชุมร่วมกับผู้อำนวยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยในวานนี้ (3 เม.ย.) ได้ประชุมกับทูตพาณิชย์ที่ประจำสำนักงานภูมิภาคอาเซียน และยังได้เชิญผู้ส่งออกมาร่วมประชุมด้วย โดยตลาดอาเซียนยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกตามเดิมอยู่

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ส่งออกได้เสนอให้กระทรวงฯ แก้ไขปัญหามาตรการทางการค้าที่ประเทศอาเซียนใช้ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่กำหนดโควตานำเข้าผักและผลไม้ ดังนั้น กระทรวงฯ จะนำประเด็นดังกล่าวไปเจรจาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ที่บรูไนเป็นเจ้าภาพ เพื่อขอให้ผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว พร้อมให้ทูตพาณิชย์หาช่องทางในการส่งออกผลไม้ให้ทันกับฤดูกาลที่ผลไม้จะออกสู่ตลาดในเดือนหน้าด้วย และหาแหล่งวัตถุดิบนำเข้าให้กับผู้ส่งออก เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ส่งออก

ด้านนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นได้หารือกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด และจับตามทิศทางเงินบาทต่อเนื่อง เพื่อส่งสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาหากสถานการณ์เงินบาทกระทบต่อการส่งออก ในส่วนการส่งออกไตรมาส 2 พบว่ามีปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดหลายปัจจัย ซึ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สถานการณ์สงครามคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งขณะนี้ยังไม่กระทบต่อการส่งออก และการค้าการลงทุนโดยรวม แต่ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าการค้าระหว่างไทยและเกาหลีใต้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 5 ปีได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดยังมีเรื่องของการกีดกันทางการค้า ซึ่งกำลังจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เพราะมีการนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้เพื่อชดเชยการเปิดเสรีทางการค้าที่ขยายตัวมากขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในตลาดสำคัญๆ ซึ่งประเมินว่าจะยังชะลอตัวต่อเนื่อง และได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์รวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจและการค้ารายตลาดก่อนนำมาประชุมร่วมกันในปลายเดือน พ.ค. ซึ่งขณะนี้ยังคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปีขยายตัว 8-9% มูลค่า 2.6 แสนล้านบาทไว้ก่อน

นางศรีรัตน์ กล่าวถึงกรณีความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้รายงานว่า ได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล อย่างใกล้ชิด โดยประเมินสถานการณ์ว่ายังไม่น่าเป็นห่วง และคนเกาหลีใต้เองก็ไม่ได้ตื่นตระหนก แต่สิ่งที่อาจมีผลกระทบคือ ค่าเงินวอนอ่อนลง อาจทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น จึงได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ ณ กรุงโซล และทูตพาณิชย์ประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และ ฮ่องกง ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชีย ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ประเมินสถานการณ์ทิศทางเดียวกันว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก และสถานการณ์ในประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ ยังไม่ตึงเครียดและตื่นตัวมากนัก สำหรับผลกระทบด้านการค้าระหว่างกัน ยังคงไม่เกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น และยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนการเดินทางของนักท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้ หรือนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มาเยือนไทย อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยทัวร์เกาหลีเข้าไทยจำนวน 1.1 ล้านคน เป็นอันดับ 3 รองจากจีนและญี่ปุ่น

สำหรับในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ของปี 56 การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 2,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือ มีมูลค่า 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 281% ในปี 2555 การส่งออกไทยไปเกาหลีใต้มีมูลค่า 4,778 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.4% สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ยางพารา น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก กระดาษ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากเกาหลี มีมูลค่า 8,979 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.5% สินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ ได้แก่ เหล็กกล้า เครื่องจักร เพชรพลอย ทองคำ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

ร้อนจัด! ไฟปะทุไหม้กากอ้อยโรงงานน้ำตาลรวมผลฯ กองมหึมา

นครสวรรค์ - อากาศร้อนจัด ทำไฟไหม้กองกากอ้อยลูกใหญ่หนักกว่า 1 พันตันของโรงงานน้ำตาลรวมผลฯ ระดมรถดับเพลิง 2 อำเภอเกือบ 10 คันระงับเหตุ คาดต้องพรมน้ำไว้ทั้งคืน

วันนี้ (4 เม.ย.) เจ้าหน้าที่ดับเพลิงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านมะเกลือ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ รับแจ้งเหตุว่า เกิดเหตุไฟไหม้กากอ้อยในโรงงานน้ำตาลรวมผลอุตสาหกรรม เลขที่ 1 หมู่ 7 ต.บ้านมะเกลือ จึงระดมกำลังพร้อมรถดับเพลิงไประงับเหตุ

ที่เกิดเหตุพบว่าเพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ด้านข้างและด้านบนสุดของกองกากอ้อยขนาดมหึมา ที่ทับถมกันอยู่กว่า 1,000 ตัน และกำลังลุกลาม จึงได้ช่วยกันดับไฟ โดยได้รับการสนับสนุนรถดับเพลิงของ อบต.บางม่วง 2 คัน อบต.เก้าเลี้ยว 2 คัน และของโรงงานอีก 4 คัน ซึ่งล่าสุดยังต้องฉีดน้ำพรมอยู่ตลอดเวลา และคาดว่าต้องฉีดน้ำทั้งคืนเนื่องจากสภาพอากาศร้อนมากเกรงว่าไฟจะลุกลาม

เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดจึงทำให้กากอ้อยที่กองทับถมกันเหมือนภูเขาเกิดความร้อนภายใน และปะทุลุกเป็นไฟขึ้น ประกอบกับลมร้อนที่พัดอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ทำให้ไฟลุกลามเกือบทั่วทั้งกอง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

พิษบาทแข็ง

นางวัชรี  วิมุกตายนต์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน ก.พ.2556 มีมูลค่า 17,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.83%

คิดเป็นมูลค่าเงินบาทคือ 529,529 ล้านบาท ลดลง 12.17% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการส่งออกหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมลดลงถึง 13.5% เช่น ข้าว ยางพารา สิ่งทอ อัญมณี

ทำให้เดือน ก.พ.2556 ไทยขาดดุลการค้า 1,557.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2 เดือนแรกของปี 2556 ยังขาดดุลมูลค่า 7,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัญหาเงินบาทแข็งค่าเริ่มกระทบการส่งออกแล้วแต่ยังไม่มากเพราะเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงพาณิชย์ทำแผนการส่งออกเชิงรุก

โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่และตลาดที่มีศักยภาพ

ย่างไรก็ดี ด้านนายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 95.5 ลดลงจาก 97.3 ในเดือน ม.ค. แสดงถึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการยังไม่ดี

และการที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอย่างมาก โดยเงินบาทเทียบกับต้นปีแข็งค่าขึ้น 3.78%

หากใช้สมมติฐานเงินบาทแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยทั้งปี 29.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งปีลดลง 232,489 ล้านบาท

โดยช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ลดลงแล้ว 35,733 ล้านบาท และจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมลดลง 2.72%

หรือ 106,945 ล้านบาท ต่อมาถึงวันนี้ค่าเงินบาทเฉลี่ยไม่น่าจะอยู่ที่แระดับ 29.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่คาดการณ์แล้ว เพราะยังคงมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง

และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งการส่งออกและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการก็คงรุนแรงขึ้น ตามไป
ตราบเท่าที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่สามารถแสดงออกให้สังคมเชื่อถือได้ว่า มีมาตรการที่สามารถรองรับความผันผวนเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

ด้านหนึ่งของการบริหารเศรษฐกิจก็คือการบริหารความเชื่อมั่นของประชาชน

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

กระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมทูตพาณิชย์ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออก ก่อนสรุปและกำหนดเป้าหมายการส่งออกในเดือนพฤษภาคม นี้

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเรียกประชุม ร่วมผู้อำนวยการสํานักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ในภูมิภาคอาเซียนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ว่า สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในประเทศอาเซียนยังมีอัตราเติบโต แต่พบว่าบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ได้ออกมาตรการสุขอนามัยในสินค้าผักผลไม้นำเข้าเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ผลไม้ไทยส่งออกไปอินโดนีเซียลดลง จึงได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ประสานงานกันในการแก้ไขปัญหาและไทยจะนำเรื่องการออกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่เพิ่มขึ้นมาเสนอในที่ประชุม ASEAN Summit  ที่ประเทศบรูไน ในเดือนหน้านี้ด้วย สำหรับการประเมินสถานการณ์การส่งออกจะหารือร่วมกับทูตพาณิชย์ภูมิภาคอื่น ๆจนครบ 56 แห่ง และภายในเดือนพฤษภาคม นี้ จึงจะสรุปผลทั้งหมด เพื่อประเมินว่าจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายการส่งออกหรือไม่ ส่วนการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ที่ติดลบไปร้อยละ 5.83 เริ่มเป็นสัญญานเตือนว่าการส่งออกเริ่มชะลอตัวลงในแง่ของมูลค่า แม้ว่าปริมาณการส่งออกไม่ได้ลดลง ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคงต้องรอดูการส่งออกในเดือนมีนาคมก่อนว่าจะเป็นเช่นไร แต่ขณะนี้ยังคงยืนเป้าหมายการส่งออกเดิมที่ร้อยละ 8 -9

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่า นั้น พบว่ามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกที่ใช้แรงงาน และวัตถุดิบในประเทศจำนวนมาก และเนื่องจากประเมินว่าค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า และมีแนวโน้มว่าอาจแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ส่งออก ปรับตัวโดยการหามาตรการลดต้นทุน โดยได้ให้ทูตพาณิชย์เป็นผู้ประสานหาแหล่งวัตถุดิบที่จะนำเข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่สัปดาห์หน้าจะประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับทูตพาณิชย์จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าส่งเสริมการค้าการส่งออกระหว่างประเทศ มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการคุณภาพ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบปีที่ 61 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า นโยบายการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในปี 2556 ได้ปรับให้ครอบคลุมในหลายมิติมากขึ้น อาทิ การพัฒนาและส่งเสริมสินค้าและธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเอสเอ็มอี และโอทอป  เนื่องจากมีกลุ่มประเทศที่ต้องการสินค้าประเภทนี้อยู่มาก โดยจะมุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการคุณภาพให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 รวมถึงส่งเสริมการลดต้นทุนและการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์การค้าให้มากขึ้น เพื่อเอื้อต่อการส่งสินค้าออกไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้า รักษาตลาดหลักที่มีอยู่แล้ว พร้อมกับการขยายตลาดใหม่  และมุ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และเออีซีให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันจะเน้นการประชาสัมพันธ์ในการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าคุณภาพสูง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยและประเทศที่กำลังมองหาสินค้าจากประเทศไทย

สำหรับการค้าในภาพรวมของประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์วัสดุก่อสร้าง พลาสติก และสินค้าอาหาร ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่โดดเด่น แต่ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมย่อย หรือ ขนาดรองลงมาที่มีศักยภาพในการส่งออกอีกหลายกลุ่มที่ต้องการการสนับสนุน ซึ่งจากการเดินทางไปจัดและร่วมงานแสดงสินค้า พบว่ามีตลาดใหม่อีกหลายประเทศที่ยังมีโอกาสให้สินค้าจากประเทศไทยได้เติบโต

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

เกษตรชัยนาทแนะนำดูแลอ้อยตอดีผลผลิตดี

การปลูกอ้อยเพื่อส่งโรงงานน้ำตาล นอกจากพันธุ์อ้อยจะมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตแล้ว การปรับปรุงการผลิตก็ถือว่ามีส่วนสำคัญ เช่น การใช้พืช ปุ๋ยสด เช่น ถั่วพุ่ม โสนอัฟริกัน โสนอินเดีย ปอเทือง ถั่วพร้า เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน โดยปลูกก่อนที่จะปลูกอ้อยจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งการเก็บเกี่ยวที่ถูกวิธี และการบำรุงรักษาอ้อยตอหลังจากเกษตรกรตัดอ้อยส่งโรงงานแล้วก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้เช่นกัน

นายสมพิศ พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท แนะนำการเพิ่มผลผลิตอ้อย โดยขอให้เกษตรกรทำการตัดอ้อยในเวลาที่เหมาะสม คืออ้อยที่มีอายุ 11-12 เดือนอย่างถูกวิธี และควรตัดอ้อยสดไม่ควรเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว เพราะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำหนักและคุณภาพ ความหวาน แต่ถ้าอ้อยไฟไหม้ควรรีบตัดอ้อยเข้าโรงงานให้เร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมง การตัดต้องให้ชิดดิน อีกทั้งต้องตัดยอดอ้อยต่ำกว่าระดับคอใบสูงสุดที่ปรากฏให้เห็น ลงมาประมาณ 25 เซนติเมตร เมื่อตัดแล้วต้องขนส่งเข้าโรงงานทันที การขนอ้อยออกจากแปลง ไม่ควรให้รถบรรทุกเหยียบย่ำบนแปลงอ้อยบ่อยครั้ง อีกทั้งการตัดอ้อยควรเลือกตัดอ้อยที่มีอายุมาก (อ้อยตอ) เข้าโรงงานก่อน

นายสมพิศ พูลสวัสดิ์ กล่าวถึงการดูแลอ้อยตอเพื่อให้มีผลผลิตที่ดีในปีต่อไปว่า ในกรณีที่ตัดอ้อยไม่ชิดดิน ควรมีการตัดแต่งตอให้ชิดดินหลังเก็บเกี่ยวอ้อย เพราะการตัดสูงจากพื้นดินมากเมื่ออ้อยแตกตาขึ้นเป็นยอดใหม่จะเกิดที่ลำต้นเหนือพื้นดิน ส่งผลให้อ้อยลำใหม่ที่เกาะอยู่บนตออ้อยเก่าเหนือพื้นดินจะไม่แตกรากลงไปหากินในดินจะอาศัยรากของต้นตอเดิมของอ้อยตอ แต่ถ้ามีการแต่งกออ้อยโดยตัดติดดินเวลาแตกกอใหม่ โคนต้นของอ้อยลำใหม่ที่แตกออกมาจะสัมผัสดิน ทำให้เกิดรากขึ้นรอบ ๆ ข้อหรือโคนต้นอ้อยเป็นจำนวนมาก รากเหล่านี้ช่วยดูดน้ำ ดูดปุ๋ยให้แก่อ้อยได้มากมาย ยังช่วยค้ำจุนลำต้นไม่ให้ล้มง่าย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตอ้อยสูงขึ้น อีกทั้งในอ้อยตอที่มีใบและเศษซากอ้อยคลุมดิน ควรใช้ไถผาลจักรร่วมกับจอบหมุน สับใบและเศษซากอ้อยที่อยู่ระหว่างแถวอ้อยตอจำนวน 1 – 3 เที่ยวเพื่อป้องกันไฟไหม้ และใส่อินทรีย์ และปุ๋ยเคมีตามค่าความอุดมสมบูรณ์ของดิน พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชหลังอ้อยตองอก 1 เดือน สำหรับอ้อยตอที่มีการเผาใบอ้อย หลังให้น้ำ 1 วัน ควรพ่นสารกำจัดวัชพืช เพื่อป้องกันวัชพืชปกคลุมหน่ออ้อย และแย่งอาหารทำให้การเจริญเติบโตของหน่ออ้อยไม่ดีเท่าที่ควร

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

รักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมความปลอดภัยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม:

ปลัด ก.อุตฯ ลุยตรวจเข้ม รง. ปล่อยมลพิษพื้นที่ จ.นครปฐม
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556  นายวิฑูรย์ สิมะโชคดีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล  ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเดินทางตรวจสอบการแก้ไขปัญหาร้องเรียนโรงงานบริษัท ซีแซดพัฒนา จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 105/1 หมู่ 5 ต.ห้วยด้วน อ.ดอนตูม จ.นครปฐม โดยมี นายธานี ธัญญาโภชน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด และนายประเสริฐ โฆษิตพิรุณ หัวหน้าฝ่ายโรงงานงานรักษาการอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม ร่วมตรวจโรงงานฯ

บริษัท ซีแซดพัฒนา จำกัด ประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว โดยโรงงานดังกล่าวไม่มีมาตรการ ในการป้องกันกลิ่นยางที่เผาและละอองยางที่เผาไว้ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เป็นพิษจากโรงงานดังกล่าว

"จากการตรวจสอบพบว่า ภายในโรงงานยังมีจุดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงคือเรื่องผงคาร์บอนที่วางกระจายไปทั่วโรงงาน จึงสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2556 โดยจะต้องปรับปรุงระบบกลิ่น เขม่าควัน พื้นที่โดยรอบต้องมีการจัดระบบสุขลักษณะ หลังจากครบวันที่กำหนดแล้ว ทางโรงงานต้องยืนยันว่าชาวบ้านจะไม่ได้รับความเดือดร้อนอีก"

จากนั้น นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เดินทางมาตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ของบริษัท อาร์ที อะกริเทคจำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 45 หมู่ 11 ถ.มาลัยแมน ต.ห้วยขวางอ.กำแพงแสน จ.นครปฐม หลังจากหลวงปู่พุทธะอิสระเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ)ได้ขึ้นป้ายประกาศขายวัดมูลค่า 2,000 ล้านบาทเพื่อประท้วงหลังจากได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็น และฝุ่นฟุ้ง กระจายอันเกิดจากโรงงานอาหารสัตว์

ทั้งนี้ นายวิสันต์ จำรัสผลเลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัท อาร์ที อะกริเทค จำกัด ได้ชี้แจงว่าขณะนี้ ทางโรงงานได้หยุดการผลิต และได้มีการติดตั้ง ระบบโอโซนต่อจากระบบกำจัดกลิ่นเดิมจาก กระบวนการอัดเม็ด ติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อ เดือนธันวาคม 2555 และดำเนินการสร้างระบบ กำจัดกลิ่นเพิ่มต่อจากระบบขจัดกลิ่มเดิม

ต่อมา คณะได้เดินทางเข้าพบหลวงปู่พุทธะ อิสระ เพื่อกราบเรียนถึงขั้นตอนการแก้ไขปรับปรุงว่า ทางโรงงานได้ดำเนินการปรับปรุงพร้อมติดตั้งเครื่องตรวจสอบก่อนดำเนินการ โดยใช้เวลา 30 วัน ถ้าตรวจสอบแล้วยังไม่ผ่าน เกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ต้องปรับปรุงต่อไปจนกว่าจะผ่านเกณฑ์จึงสามารถเปิดทำการได้

พบเห็นโรงงาน * ปล่อยน้ำเสีย * ปล่อยคว https://mail-attachment.googleusercontent.com/attach แจ้งสายตรง ๐ ๒๓๕๔ ๓๓๐๐ หรือ ตู้ ป.ณ.๒๐ ปณฟ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ๑๐๔๑๓ โทร. ๐ ๒๒๐๒ ๔๐๑๔ www.diw.go.th, E-mail:pr@diw.mail.go.th

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 3  เมษายน พ.ศ. 2556

เตือนน้ำลุ่มเจ้าพระยาวิกฤติ กรมชลชี้ปริมาณสำรอง4เขื่อนใหญ่ลดวูบ

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เตือนสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาเข้าข่ายวิกฤติ หลังพบปริมาณน้ำสำรองใน 4 เขื่อนใหญ่ เหลือรวมกัน 1.04 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือแค่ร้อยละ 42 ของความจุอ่างรวมกัน ย้ำต้องใช้อย่างประหยัดเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ เหลือพอใช้อุปโภคบริโภคแค่ 15 และ 12 ตามลำดับ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ล่าสุด ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประจำวันที่ 2 เมษายน พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด 10,485 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ 3,789 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯรวมกัน

ทั้งนี้ ในส่วนสถานการณ์น้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคงเหลือปริมาณน้ำ เพื่อใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ เพียงร้อยละ 15 และ 12 ตามลำดับ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ โดยจะควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า+ 14.00 เมตร(รทก.) พร้อมกับขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรและประชาชน ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด งดทำนาปรังครั้งที่ 2เพื่อเป็นการรักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และขอให้ประชาชนที่อาศัยและปลูกบ้านเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอยู่ในบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำด้วยรวมทั้งผู้ประกอบการในแม่น้ำ เช่น แพร้านอาหาร กระชังปลา เป็นต้น ให้วางแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจจะลดระดับลงเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อกิจการต่างๆ ของผู้ประกอบการ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

กระทรวงอุตสาหกรรม จัดระเบียบโรงงาน พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการ

กระทรวงอุตสาหกรรม จัดระเบียบโครงงานพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการ
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรมว่า ตั้งแต่เริ่มการพิจารณา คณะกรรมการประชุมกัน 50 ครั้ง มีเรื่องเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้นกว่า 190 เรื่อง ผลการพิจารณาอนุมัติประกอบกิจการ หรือออกใบอนุญาต รง.4 พิจารณาอนุมัติแล้ว 129 เรื่อง ไม่อนุญาต 2 เรื่องและส่งเรื่องคืนให้หน่วยงาน เนื่องจากเอกสารไม่มี รายละเอียดเพียงพอไม่สามารถพิจารณาได้ 64 เรื่อง

ในส่วนการพิจารณากลั่นกรองฯ ได้ยึดหลักการอยู่ร่วมกันของโรงงานกับชุมชน เอาทุกข์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยได้นำประสบการณ์ในอดีตที่เคยอนุญาตไปแล้วและเกิดปัญหาตามมานำมา พิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก โดยเฉพาะในจำนวนกว่า 190 ราย กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มักก่อสร้างไปก่อนโดยที่ไม่ขออนุญาต ซึ่งอาจทำให้การก่อสร้างแม้จะถูกต้องตามแบบ แต่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพมื่อนำมาแก้ไขภายหลังไม่สามารถทำได้ นับจากนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่การก่อสร้างจะต้องทำหลังจากที่ได้ใบอนุญาต รง.4 ทำให้ปัจจุบัน ไม่มีโรงงาน ผู้ประกอบกิจการใดๆกล้าที่จะสร้างโรงงานไปก่อนขอใบอนุญาต ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาคส่วนร่วมของชุมชน สังคม และภาคอุตสาหกรรมจะช่วยกันตรวจสอบและดูแลซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างเป็นยั่งยืนต่อไป

ก่อนหน้านี้ กรณีที่มีการร้องเรียนโรงงานในจังหวัดนครปฐม นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสหากรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล ณัฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เดินทางเข้าตรวจสอบ 2 โรงงานในพื้นที่ ได้แก่ บริษัท ซีแซดพัฒนา จำกัด โรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว และบริษัท อาร์ที อะกริเทค จำกัด บริษัทฯ แรกพบว่าสภาพภายในโรงงานยังมีปัญหาฝุ่นเขม่าควันและการจัดเก็บไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งสร้างปัญหาความเดือดร้อนแก่ชุมชนใกล้เคียง ทางอุตสาหกรรมได้สั่งให้โรงงานหยุดประกอบกิจการ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายใน 30 วัน หากไม่เป็นไปตามกำหนด จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

สำหรับบริษัท อาร์ที อะกริเทค ที่ก่อให้เกิดผลกระทบจากกลิ่นเหม็น และฝุ่นฟุ้งกระจายทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุง โดยโรงงานยอมปิดกิจการเพื่อดำเนินการติดตั้งระบบโอโซนต่อจากระบบกำจัดกลิ่นเดิมจากกระบวนการอัดเม็ด ซึ่งติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2555 และดำเนินการสร้างระบบกำจัดกลิ่นเพิม่ต่อจากระบบขจัดกลิ่นเดิม โดยพร้อมให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบเพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามกำหนด ภายใน 30 วันก่อน เปิดโรงงานตามปกติ

พร้อมกันนี้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายณัฐพล ณัฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินทางเข้ากราบนมัสการหลวงปู่พุทธะอิสระ เพื่อเรียนถึงขั้นตอนการแก้ไขว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้นและได้สั่งให้ทางโรงงานมีการปรับปรุง โดยได้ดำเนินการปรับปรุงพร้อมติดตั้งอุปกรณ์โอโซนต่างๆในการกำจัดกลิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองตรวจสอบระบบดังกล่าวซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 30 วัน ถ้าตรวจสอบแล้วยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องปรับปรุงต่อไปจนกว่าจะผ่านเกณฑ์จึงสามารถเปิดทำการได้

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

อาเซียนเชื่อมระบบการเงิน-การคลังเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยถึงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียนซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 เมษายน 2556 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวันประเทศบรูไนดารุสซาลามว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการรวมตัวด้านการเงินการคลังตามแผนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ซึ่งมีความคืบหน้า 78.5% ของเป้าหมายโดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.ด้านตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์อาเซียนได้เริ่มดำเนินการเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์(ASEAN Trading Link) ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เมื่อปลายปี 2555 ซึ่งมูลค่าการซื้อขายยังน้อยเนื่องจากนักลงทุนขาดความรู้ความเข้าใจที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการเชื่อมโยงระบบ settlement ในภูมิภาค โดยไทยเสนอให้สนับสนุนการเพิ่มอุปสงค์ด้วยการส่งเสริมให้ระดมทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ มาลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ใน ASEAN Trading Link มากขึ้น

การเคลื่อนย้ายทุน ได้มีการจัดทำแผนภูมิสัญญาณชี้วัดความคืบหน้าการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายทุน (Heat Map)พบว่าสมาชิกอาเซียนทุกประเทศยกเว้นพม่า ได้เปิดเสรีบัญชีเดินสะพัดตามพันธกรณีข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศแล้ว และพม่าจะรับพันธกรณีดังกล่าวในปี 2556 สำหรับการเคลื่อนย้ายทุนเข้า-ออกประเทศเพื่อการลงทุนนั้นทุกประเทศได้มีการลดอุปสรรค เช่น ขยายเพดานมูลค่าเงินลงทุนออกไปต่างประเทศไปมากแล้ว

เปิดเสรีบริการด้านการเงินสาขาธนาคารพาณิชย์สมาชิกอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำความตกลงกันในกฎระเบียบการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของประเทศสมาชิกสามารถเข้าไปเปิดสำนักงานดำเนินการในประเทศสมาชิกอื่นได้ ส่วนสาขาประกันภัยก็ได้เร่งรัดการรวมตัวในสาขาประกันภัย ส่งเสริมการใช้บริการประกันภัย และการเชื่อมโยงระบบการประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ

การเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการทางการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ ตลาดทุน และการประกัน) รอบที่ 6 คืบหน้าได้ตามแผน คาดว่าจะเจรจาให้เสร็จสิ้นก่อนเดือนธันวาคม 2556 และลงนามสรุปผลการเจรจาในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเดือนเมษายน 2557 ที่ประเทศพม่า

2.ด้านความร่วมมือทางการเงินการคลังอาเซียนมีความร่วมมือทั้งในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้าความร่วมมือด้านภาษีและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้มีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ASEAN Infrastructure Fund) ซึ่งได้มีการระดมทุนจากสมาชิกอาเซียนเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอาเซียน

นายสมชัยกล่าวว่า การรวมตัวในสาขาการเงินและการลงทุนของอาเซียนกำลังมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นทำให้การเคลื่อนย้ายของการค้าและการลงทุนในอาเซียนจะมีระหว่างกันมากขึ้น การซื้อขายตราสารหนี้และตราสารทุนข้ามพรมแดนจะมีมากขึ้น สถาบันการเงินที่มีคุณภาพของประเทศไทยก็จะมีโอกาสยกระดับขึ้นเป็นสถาบันระดับอาเซียน สกุลเงินท้องถิ่นก็จะมีการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการค้าการลงทุนมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ก.พาณิชย์ จับตาปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ชึ้ยังไม่น่าเป็นห่วง

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยกรณีข่าวความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้รายงานว่า ได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซลอย่างใกล้ชิด

โดยประเมินสถานการณ์ว่ายังไม่น่าเป็นห่วง และคนเกาหลีใต้เองไม่ได้ตื่นตระหนกแต่สิ่งที่อาจมีผลกระทบคือ ค่าเงินวอนอ่อนลงอาจทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นจึงได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ ณ กรุงโซล และทูตพาณิชย์ประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และ ฮ่องกง ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ สำนักพัฒนาตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ประเมินสถานการณ์ทิศทางเดียวกันว่า ไม่น่าเป็นห่วงมากนักและสถานการณ์ในประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยังไม่ตึงเครียดและตื่นตัวมากนัก สำหรับผลกระทบด้านการค้าระหว่างกัน ยังคงไม่เกิดขึ้นในช่วงระยะสั้นและยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนการเดินทางของนักท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้ หรือนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มาเยือนไทยอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยทัวร์เกาหลีเข้าไทยจำนวน 1.1 ล้านคน เป็นอันดับ 3 รองจากจีนและญี่ปุ่น

ในช่วง 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.)ของปี 2556 การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 2,445 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14% ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือมีมูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 281% เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย สถิติการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวม 13,758 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2.9%ของมูลค่าการค้ารวมของไทยกับทั่วโลก ทั้งนี้ไทยและเกาหลีใต้ ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 และนโยบายการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ

ในปี 2555 การส่งออกไทยไปเกาหลีใต้มีมูลค่า 4,778 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.4% สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ยางพารา น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก กระดาษ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากเกาหลีมีมูลค่า 8,979 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.5% สินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ ได้แก่ เหล็กกล้า เครื่องจักร เพชรพลอยและทองคำ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้าเป็นต้น

สำหรับการค้าระหว่างไทย-เกาหลีเหนือ ปี 2555 มีมูลค่าการค้ารวม 62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนเพียง 0.01% ของมูลค่าการค้ารวมของไทยกับทั่วโลก โดยการส่งออกไทยไปเกาหลีเหนือมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 67%สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากเกาหลีเหนือ มูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 74% สินค้านำเข้าจากเกาหลีเหนือ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็กกล้า เครื่องจักรกล เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

กอน.ลุ้นหีบอ้อยทุบสถิติ99ล้านตัน

รายงานข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2555/56 ตั้งแต่ 15 พ.ย.2555 ที่ผ่านมาล่าสุดหีบไปแล้ว 95% พบมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 98 ล้านตัน ถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมทำไว้ในฤดูหีบที่แล้วที่ 97.98 ล้านตันและโรงงานที่เหลือคาดว่าจะปิดหีบได้ครบสิ้นเดือนเม.ย.2556 นี้ จึงทำให้ประเมินว่าปริมาณอ้อยที่เข้าหีบมีโอกาสเห็นที่ระดับกว่า 99 ล้านตันได้ โดยปีนี้พลิกความคาดหมายจากเดิมที่เจอภัยแล้งการหีบอ้อยช่วงแรกๆ เข้ามาน้อยมาก

สำหรับการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศขณะนี้เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ล่าสุดคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เห็นชอบการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านกระสอบ เป็น 25 ล้านกระสอบ โดยจะเสนอที่ประชุมกอน. ในวันที่ 22 เม.ย.นี้

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

เอกชนผวาบาทแข็งหลุด29-ทุบส่งออกเดี้ยง นายแบงก์ฟันธงกนง.คงดอกเบี้ย

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 3 เม.ย.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ซึ่งถือเป็นระดับที่เหมาะสม เพราะประเมินว่ากนง. ยังมีความกังวลต่อความเสี่ยงจากเงินเฟ้อไตรมาส 1/2556 เพิ่มขึ้น 3.09% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงต้องจับตามองต่อไปอย่าง ใกล้ชิด ทั้งนี้ หากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและฟองสบู่ยังมีอยู่ อาจมีโอกาสได้เห็นกนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ไว้จนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการ ส่งออกที่ลดลงนั้น เห็นว่าดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อค่าเงินบาท

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.75% ซึ่งเป็นระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่ากนง.ยังคง ให้น้ำหนักเรื่องการดูแลเสถียรภาพเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% แม้ว่าภาคเอกชนจะเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25-0.5% เชื่อว่าจะไม่เป็นผล ทั้งนี้ มองว่าหากกนง. ตัดสินใจคงดอกเบี้ย จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าหลุด 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่ 29.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเชื่อว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาททรงๆ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติอยู่ระหว่างรอดูการตัดสินใจนโยบายของกนง. หากตรึงดอกเบี้ยเชื่อว่าเงินทุนจะไหลเข้ามาอีกระลอก

"ที่ผ่านมาแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาดูแลแล้วก็ยังไม่เพียงพอ จะเห็นได้จากค่าบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ หากแข็งค่าทะลุเกิน 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะมีปัญหาต่อการส่งออกสินค้าในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป เพราะไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ " นายวัลลภกล่าว

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาลดลง แสดงให้เห็นว่าได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นแล้ว ซึ่งกนง. คงต้องวัดว่าจะให้ความสำคัญกับคนกลุ่มใดระหว่างผู้ส่งออกที่ต้องการให้ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อลดภาวะกดดัน แต่หากไม่มีการปรับลดจะมีเงินไหลเข้ามาในประเทศเพื่อทำกำไรจากดอกเบี้ยของไทยที่สูง ซึ่งเป็นการทำกำไรชั่วข้ามคืนแล้วก็ไหลออก

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ประธานกรรมการสภาตลาดทุนไทย กล่าวว่า คาดว่ากนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.75% เนื่องจากดอกเบี้ยไทยขณะนี้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ ขณะเดียวกันการเติบโตของตลาดสินเชื่อที่ดี ตลอดจนสถาบันการเงินเริ่มมีการแข่งขันแย่งชิงเงินฝาก ฉะนั้นถ้าสภาพแวดล้อมเป็นแบบนี้ ดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันถือว่าเหมาะสม

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

สอน.บ่นน้ำตาลล้น-ค่าบาทแข็ง รายได้ส่งออกหาย 3 หมื่นล. ชงเพิ่มขายในปท.รับ”เอส.”

ผลผลิตอ้อยผิดคาด ได้อ้อยสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ปิดหีบปลาย เม.ย.คาดได้น้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง สอน.บ่นอุบผลผลิตล้นตลาดแถมบาทแข็ง ทำส่งออกน้ำตาลรายได้วูบ 3 หมื่นล้าน เตรียมชงโควตา ก. ขายในประเทศเพิ่มอีก 1 ล้านกระสอบ รองรับน้ำดำ “เอส” โหมทำตลาด
นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.ได้รับรายงานปริมาณอ้อยฤดูกาลผลิต 2555/2556 ล่าสุดอยู่ที่ 96 ล้านตัน เปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 คาดว่า หากสิ้นฤดูหีบปลายเดือนเมษายน 2556 ปริมาณอ้อยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 98 ล้านตัน มากกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 97.85 ล้านตัน เพราะพื้นที่ปลูกมากและค่าความหวานดีเฉลี่ย 11.6 ซี.ซี.เอส. ทั้งที่ช่วงต้นฤดูการหีบเจอภัยแล้งจนกังวลว่าปริมาณจะลดลงกว่านี้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณอ้อยจะสูงเป็นประวัติการณ์การผลิตอ้อยของไ/ทย แต่ราคาขายในตลาดโลกกลับต่ำสุดในรอบ 3-4 ปี อยู่ที่ 17 เซนต์ต่อปอนด์ จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 23-24 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลจากทั่วโลกกำลังล้นตลาด โดยเฉพาะอินเดียและบราซิลผู้ผลิตรายใหญ่ที่ผลิตน้ำตาลอออกมามาก ประกอบกับไทยเผชิญปัญหาเงินบาทแข็งค่า ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิมคาดการณ์ว่าเงินบาททั้งปีจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าทุก 1 บาททำให้ราคาน้ำตาลหายไป 30 บาทต่อตัน

“สอน. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งเครียด เพราะราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกลงอย่างมาก สถานการณ์ราคาที่ตกต่ำจากปริมาณน้ำตาลล้นตลาดบวกกับปัญหาค่าเงินบาท ทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำตาลปีนี้น่าจะเหลืออยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 1.7 แสนล้านบาท” นายสมศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า คาดว่าโรงงานน้ำตาลจะปิดหีบได้ภายในปลายเดือนเมษายน 2556 โดยประเมินว่า ปริมาณอ้อยที่เข้าหีบมีโอกาสอยู่ที่ระดับกว่า 99 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยปีนี้เฉลี่ยต่ำลง เดิมประเมินว่า 1 ตันอ้อยจะได้น้ำตาล 103 กิโลกรัม (กก.) แต่ขณะนี้เฉลี่ย 1 ตันได้น้ำตาลไม่เกิน 100 กก. หรือเฉลี่ยหายไปตันละ 3 กก. ดังนั้น หากอ้อยปีนี้เฉลี่ยที่ 98-99 ล้านตันคาดว่า ปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้จะหายไปเกือบ 300 ล้าน กก.

แหล่งข่าวกล่าวว่า การบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศขณะนี้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการขยายตัวการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ล่าสุดคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เห็นชอบการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ฤดูการผลิตปี 2555/2556 เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านกระสอบ จากเดิมที่กำหนดไว้ 24 ล้านกระสอบ (2.4 ล้านตัน) เป็น 25 ล้านกระสอบ (2.5 ล้านตัน) โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบในวันที่ 22 เมษายนนี้ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัว

“พบว่าน้ำตาลทรายที่ขึ้นงวดในแต่ละสัปดาห์เฉลี่ยกว่า 5 แสนกระสอบ ในระยะ 2-3 สัปดาห์นี้มีการขายทั้งหมด เมื่อพิจารณารายละเอียดปรากฏว่ามีความต้องการใช้น้ำตาลมาก เพราะภาคการผลิตการขยายตัว โดยเฉพาะโรงงานน้ำอัดลม อาหารแปรรูปและขนมหวานที่ใช้น้ำตาลมาก ล่าสุดน้ำอัดลมยี่ห้อเอส ซึ่งเป็นน้ำอัดลมน้องใหม่ของ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) กำลังทำตลาดอย่างหนัก” แหล่งข่าวกล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ขุดบ่อจิ๋ว แก้ภัยแล้งใน 4 จังหวัด ตะวันตก - เกษตรทั่วไทย

สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปกติ โดยข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สำรวจพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายแล้ว กว่า 4.5 แสนไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคอื่นแม้ว่าจะยังไม่ปรากฏความเสียหายชัดเจน แต่ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า พื้นที่ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 รับผิดชอบมีพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ทำการเกษตรรวม 7.9 ล้านไร่ เกษตรกร ประมาณ 235,000 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มาเร็วกว่าปกติและมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด คือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกน้อยมากและกำลังประสบภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคด้วย สำหรับจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม เป็น 2 จังหวัดที่ไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำเพราะอยู่ในลุ่มน้ำแม่กลองและอยู่บริเวณปากแม่น้ำจึงค่อนข้างมีน้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกทางการเกษตรได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้กรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืน จึงได้ทำโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือที่เรียกว่า บ่อจิ๋ว โดยขุดบ่อ ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร เพื่อกักเก็บน้ำช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้งหรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วง โดยในปีงบประมาณ 2556 กรมพัฒนาที่ดินได้รับงบประมาณดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นา

นอกเขตชลประทาน 80,000 บ่อ กระจายตามพื้นที่ทั่วประเทศ ก็จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 80,000 ราย คิดเป็นปริมาณการกักเก็บน้ำโดยรวมไม่น้อยกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 ได้รับการจัดสรรงบดำเนินการในปีนี้รวม 1,900 บ่อ ซึ่งได้ดำเนินการตามที่เกษตรกรแจ้งความประสงค์กระจายอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้แก่ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

โครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ต้องการของเกษตรกรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรงและตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณในการขุดบ่อบ่อละ 17,100 บาท และเกษตรกรที่ยื่นความประสงค์ขอขุดสระน้ำจะต้องออกเงินสมทบอีก จำนวน 2,500 บาทต่อบ่อ รวมเป็นเงิน 19,600 บาทต่อบ่อ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมและเป็นผู้ที่ต้องการจริง ๆ ไม่ใช่โครงการที่ภาครัฐหยิบยื่นให้ฟรี ๆ ซึ่งเกษตรกรอาจจะไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

...จากผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549-2555 สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 สามารถขุดสระน้ำให้กับเกษตรกรแล้ว 4,057 บ่อ ผนวกกับปีนี้อีก 1,900 บ่อ ก็จะมีเกษตรกรไม่น้อยกว่า 5,000 ราย ที่ได้รับการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ...

...สำหรับเกษตรกรที่มีความประสงค์จะเข้าโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน สามารถยื่นเรื่องขอความต้องการได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือหมอดินอาสาใกล้บ้าน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 เมษายน 2556

กรอ.เชื่อมจีพีเอสตรวจรถบรรทุกกากอุตฯ

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมประสานกรมการขนส่งทางบก เชื่อมข้อมูลระบบจีพีเอสติดตามรถบรรทุกขนกากอุตสาหกรรม ป้องกันลักลอบทิ้งระหว่างทาง

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมฯเตรียมประสานกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อเชื่อมข้อมูลจีพีเอสของรถบรรทุก โดยกรมการขนส่งฯกำหนดให้รถบรรทุกทุกประเภทต้องติดจีพีเอสเพื่อติดตามการขนส่งสินค้า ส่วนกรมฯมีระเบียบกำหนดให้รถบรรทุกกากอุตสาหกรรมต้องติดจีพีเอสเพื่อรายงานการขนส่งกาก แต่กรมฯไม่มีงบประมาณติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เพื่อติดตามการขนส่งกาก ถ้าเชื่อมระบบเซิร์ฟเวอร์กับกรมการขนส่งฯได้ จะช่วยให้ประสิทธิภาพการติดตามรถบรรทุกกากดีขึ้น

ทั้งนี้ กรมฯต้องการตรวจสอบปริมาณขยะอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นทางจากโรงงานจนถึงผู้รับกำจัดกากอุตสาหกรรม ถ้าดูแลให้ปริมาณที่ออกจากโรงงานถึงโรงกำจัดเท่ากัน จะไม่มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมระหว่างทาง ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นว่าควรมีระบบติดตามกากอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้กระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม และกรมฯเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเพราะพื้นที่อุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น และมีชุมชนในหลายพื้นที่ร้องเรียนผลกระทบจากกากอุตสาหกรรมและจะมีผลต่อการตั้งโรงงานใหม่

ปัจจุบันมีกากอุตสาหกรรมปีละ 26.6 ล้านตัน ประกอบด้วย 1.กากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 24.5 ล้านตัน กำจัดได้ 80% ของกากอุตสาหกรรมประเภทนี้ทั้งหมด เช่น เศษไม้ เศษผ้า 2.กากอุตสาหกรรมอันตราย 2.1 ล้านตัน กำจัดได้ 90% เช่น สารทำละลาย โดยการขนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายออกนอกโรงงานต้องแจ้งกรมฯ ถ้าไม่ขออนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 เมษายน 2556

พด.เขต10สนองนโยบายกระทรวงเกษตรฯ เร่งทำโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ

จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงจะมีการประกาศเพิ่มอีก 7 ชนิดพืชภายใน 2 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อการบริหารจัดการการใช้ที่ดิน หรือ Zoning ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตร รักษาเสถียรภาพด้านราคา ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร จัดการอุปสงค์และอุปทานให้มีความสมดุล อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันการตลาดในอนาคต

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีข้อมูลการสำรวจและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลความเหมาะสมของดินในการเพาะปลูกพืช และปัจจัยอื่นๆ เช่น ปริมาณน้ำฝน พื้นที่เขตป่าไม้ถาวร พื้นที่อุทยาน เขต ส.ป.ก. รวมถึงมีข้อมูลแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และกำหนดโซนนิ่งพื้นที่การเพาะปลูกได้ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทันที ซึ่งขณะนี้สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 รับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ได้เตรียมข้อมูลพืชเศรษฐกิจทั้ง 6 ชนิดพืช เพื่อเสนอจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานขับเคลื่อนโซนนิ่งจังหวัด

นอกจากพืชเศรษฐกิจหลัก 6 ชนิดพืชแล้ว สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ยังได้เตรียมข้อมูลการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจของจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดด้วย ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เรื่องการปลูกข้าว ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล จังหวัดกาญจนบุรี เรื่องการปลูกอ้อย จังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร เรื่องการปลูกไม้ผล จังหวัดเพชรบุรี เรื่องการปลูกข้าว สับปะรด และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่องการปลูกสับปะรด

สำหรับแนวทางการดำเนินการนั้น เราจะเป็นหน่วยสนับสนุนข้อมูลการกำหนดเขตโซนนิ่ง เพื่อให้จังหวัดนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด เช่น จังหวัดกาญจนบุรี ยุทธศาสตร์หลักของจังหวัดจะเป็นการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ก็จะนำเสนอว่ามีพื้นที่ใดเหมาะสมในการปลูกอ้อย และพื้นที่ใดที่ปลูกอยู่แต่ไม่มีความเหมาะสม เพื่อที่จะเป็นแนวทางส่งเสริมหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรให้เป็นไปตามความเหมาะสม นอกจากนี้จังหวัดจะใช้ข้อมูลปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ปริมาณการเพาะปลูกทั้งหมด ความต้องการผลผลิตโดยรวม แหล่งรับซื้อผลผลิต รวมทั้งระบบการขนส่ง เพื่อให้การกำหนดยุทธศาสตร์พืชเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด มีความสอดคล้องกันระหว่างปริมาณการผลิตกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร นำไปสู่โอกาสทางการแข่งขัน

นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำโซนนิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมมากขึ้น มีการวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตที่ดีขึ้น ต้นทุนของเกษตรกรลดลง รายได้ก็เพิ่มขึ้นตาม และยิ่งมีการบริหารจัดการด้านการตลาดมีการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์ร่วมด้วย ก็จะช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าและสินค้าล้นตลาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิต รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะมีการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมแต่ยังต้องการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดิมอยู่ อยากขอแนะนำให้ปรับเปลี่ยนทดลองไปปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับสภาพดินเกษตรกรจะต้องมีค่าบริหารจัดการพื้นที่สูงกว่าในพื้นที่ที่เหมาะสม หมายถึงว่าเกษตรกรจะมีต้นทุนสูงกว่าเกษตรกรที่อยู่ในเขตโซนนิ่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการตลาดได้ นอกจากนี้ หากภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่การเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากขึ้น ก็น่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในเขตโซนนิ่งมากกว่าเกษตรกรที่อยู่นอกเขต ฉะนั้นเกษตรกรควรปรับตัวเพื่อประโยชน์ของตนเองน่าจะเป็นหนทางที่ทำให้สามารถอยู่รอดได้ในอาชีพเกษตรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 เมษายน 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : วิกฤติดินไทย

ปัญหาน้ำเป็นเรื่องที่ได้ยินบ่อย ค่าที่น้ำเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต แต่ต้องไม่ลืมว่า ดินก็มีความสำคัญเช่นกัน และไม่แพ้น้ำด้วย ถ้าน้ำคือชีวิต ดินก็น่าจะคือชีวิตควบคู่ไปด้วยเช่นเดียวกัน

อาจเคยได้ยินปัญหาดินมาบ้าง แต่อาจไม่ลึกซึ้งเท่าข้อมูลที่ คุณกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีด้านวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน เล่าสู่กันฟังในงานดั้นด้น ค้นหา รหัสลับ ทรัพยากรดิน ณ ศูนย์วิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

พื้นที่ประเทศไทย 320 ล้านไร่ เป็นที่ดินเพื่อการเกษตร 152 ล้านไร่ เดิมทีอยู่ที่ 130 ล้านไร่ ส่วนที่เพิ่มน่าจะเป็นพื้นที่ออกเอกสารสิทธิใหม่ ใน 152 ล้านไร่ แบ่งเป็นหลักๆ คือ ที่นา 72 ล้านไร่ ที่ไร่ 33ล้านไร่ เท่าๆ กับที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และที่ปลูกผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ 2.50 ล้านไร่

สถานการณ์ดินไทยเป็นอย่างไรมีสภาพเป็นดินเค็ม 14.3 ล้านไร่ ดินเปรี้ยวจัด 6.2 ล้านไร่ ดินทรายจัด 12.5 ล้านไร่ ดินกรด 95.4 ล้านไร่ ดินดาน 27.3 ล้านไร่ และอื่นๆ อีก รวมกันแล้วเกิน 200 ล้านไร่ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ทับซ้อนกัน

ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติดินไทยไม่น้อยทีเดียว แล้วถามว่า มันเกิดได้อย่างไร

โดยธรรมชาติส่วนหนึ่ง แต่ไม่เท่าโดยฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะเป็นผลจากการเพาะปลูกพืชนี่แหละ เราใช้ดินอย่างไม่บันยะบันยัง เช่น ปลูกข้าวปีละ 3 ครั้งโดยไม่ยอมให้ดินได้พัก หรือใช้ดินผิดประเภทดังเช่น การปลูกยางพาราในนาข้าว หรือบนไหล่เขา ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ฝนน้อย ความชื้นต่ำ

ความไม่รู้หรือรู้แล้วยังดันทุรังปลูก ส่งผลกระทบต่อดินมาก ยกตัวอย่าง เมื่อคราวเกิดอุทกภัยเมื่อปี 2554 พื้นที่ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน บนที่สูงถูกน้ำซัดพังทลายราบเป็นหน้ากลอง ทั้งต้นไม้และดินถล่มลงมาในแม่น้ำสายหลักๆ เห็นได้ชัดในหน้าแล้งนี้ว่า มีกองทรายมหึมาอยู่ในลำน้ำที่เกิดจากการพังทลายจากด้านบนลงมา นอกจากดินถูกชะล้าง ยังเป็นผลเสียกีดขวางทางน้ำ และต้องขุดลอกเสียเงินอีก

กรมพัฒนาที่ดิน มีหลักวิชาในการจัดการดิน ทั้งหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางดินมาช่วยฟื้นฟู บำรุงดิน ที่เห็นบ่อยคือการใช้จุลินทรีย์เป็นตัวช่วยปรับปรุงบำรุงดินในรูปผลิตภัณฑ์พ.ด. (พ.ด.หมายถึงชื่อย่อกรมพัฒนาที่ดิน) ขณะนี้ได้รับความนิยมจากเกษตรกร ทั้งช่วยย่อยสลายเศษไม้ ใบหญ้า เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในดิน การทำน้ำหมักชีวภาพ รวมไปถึงการใช้จุลินทรีย์ทำหน้าที่เป็นโรงปุ๋ยในดิน ช่วยเพิ่มธาตุอาหารหลักให้ดินได้แก่ ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซียม (K)

ล่าสุดคือการกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจเกือบ 10 ชนิดได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราปาล์มน้ำมัน อ้อย ลำไย เป็นต้น

จริงๆ เรื่องนี้ควรทำตั้งนานแล้ว เพราะจะเป็นตัวกำหนดความเหมาะสมในการปลูกพืชแต่ละอย่าง การส่งเสริมการปลูก ต้นทุนการผลิต และระบบโลจิสติกส์ แต่กลับไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำ ตอนนี้ถือว่าช้ามาก แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพียงแต่จะแก้ไขกันอย่างไรภายใต้ข้อจำกัดที่มากเช่นนี้

ดินนั้นเป็นบ่อเกิดของอาหารยารักษาโรค และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่เป็นความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งที่ตั้งของที่อยู่อาศัยของมนุษย์ด้วย

ดินมีปัญหา แน่ใจได้เลยว่า ชีวิตคนไทยมีปัญหาตามด้วยแน่นอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 เมษายน 2556

คลังแนะแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยรับมือบาทแข็ง เมินออกมาตรการภาษีอุ้มค่าบาท ชี้มาตรการทางการเงินที่มียังเอาอยู่!!

กสิกรคาดแนวโน้มเงินบาทอยู่ในกรอบ 29.20-29.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เพราะสัญญาณเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไทยยังมีอยู่ ปัญหาเงินบาทเป็นสิ่งที่ต้องจับตาตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สศค. ต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและรายงานไปยังรัฐบาลทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าเครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้เพียงพอที่จะรับมือปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท และยังไม่เห็นความจำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องออกมาตรการด้านภาษีใดๆ เพื่อมาสกัดเงินทุนไหลเข้า เพราะถือเป็นมาตรการที่รุนแรง ถ้าเงินทุนไหลเข้าและไม่ส่งผลกระทบเงินบาทอย่างรุนแรง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการด้านภาษีเหมือนที่หลายๆ ท่านแนะนำ

ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอหลายๆ ฝ่ายที่ต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมวันที่ 3 เม.ย.นี้ จากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.75% แม้ว่าดอกเบี้ยจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย เงินบาทของไทยจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ข้อมูลในด้านต่างๆ เริ่มชัดเจนมากขึ้น จึงเชื่อว่าไทยจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่าในปัจจุบัน

“ปัญหาเงินบาทไหลเข้านั้น ธปท.ต้องระวังเงินที่ไหลกลับ เพราะเมื่อใดที่เงินไหลกลับส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง ธปท.ควรต้องเตรียมมาตรการต่างๆ รองรับไว้ด้วย โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือน มี.ค. มีสาเหตุมาจากเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากในตลาดพันธบัตร เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า สศค.ปรับลดเป้าหมายเงินบาทที่นำมาประเมินภาวะเศรษฐกิจ คาดว่าอยู่ในระดับ 29.40 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยมีช่วงค่าเงินที่ 28.4-30.4 บาท/เหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้ 30.70 บาท/เหรียญสหรัฐ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (1-5 เม.ย.2556) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 29.20-29.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยคงต้องจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ในวันที่ 3 เม.ย. สถานการณ์วิกฤติหนี้ยูโรโซน โดยเฉพาะประเด็นความกังวลในอิตาลีและไซปรัส รวมถึงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นภายใต้การนำของผู้ว่าการฯ คนใหม่ ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลตลาดแรงงานในเดือน มี.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ รายจ่ายภาคการก่อสร้างเดือน ก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททรงตัวในกรอบแคบๆ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคที่ปรับตัวขึ้น (ตลาดเอเชีย) หลังจากที่ยูโรโซนได้อนุมัติแผนการของ EU/IMF ในการปรับโครงสร้างภาคธนาคารของไซปรัสทันเวลาตามเส้นตายที่ธนาคารกลางยุโรปกำหนดไว้ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงและกลับมาปรับตัวในกรอบแคบๆ ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงใกล้สิ้นเดือนจากผู้นำเข้า และธุรกรรมที่เกี่ยวกับการส่งกลับกำไรของบริษัทญี่ปุ่นในไทยในช่วงปิดสิ้นปีงบการเงิน 31 มี.ค.2556 ในวันศุกร์ (29 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 29.28 เทียบกับระดับ 29.29 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้านี้ (22 มี.ค.).

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 1 เมษายน 2556

กรมส่งเสริมการค้าฯ ชู 2 โครงการดันSMEs เจาะตลาดใหม่

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรับลูก เดินหน้า 2 โครงการดันเอสเอ็มอีเจาะตลาดใหม่ รับเปิดเออีซี ได้แก่ โครงการ “SMEs Pro-Active” วงเงิน 300 ลบ. และโครงการ เพิ่มประสิทธิภาพการค้าตปท. วงเงิน 100 ลบ.

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ส.ค.) เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนนี้ กรมฯ จะเปิดโครงการ “SMEs Pro-Active” หรือ โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 300 ล้านบาท และโครงการสำคัญเร่งด่วนและจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ วงเงิน 100 ล้านบาท (ในปีงบประมาณ 2557 - 2558 ปีละ 50 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการนำเงินต้นของกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 400 ล้านบาท มาใช้ในการดำเนิน ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1/2556 เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้ครม.รับทราบไปแล้ว

"โครงการนี้เดิมเน้นขยายการส่งออกไปตลาดใหม่ ได้ปรับให้ขยายครอบคลุมประเทศต่างๆ ในวงกว้างมากขึ้นไม่จำกัดเฉพาะตลาดใหม่ รวมทั้งเพิ่มวงเงินสนับสนุนรายบริษัทด้วย เพื่อสอดรับกับการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเปิดตลาดและการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนจะมีการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น จากสถิติในปี 2554-2555 มีวิสาหกิจไทยที่ดำเนินธุรกิจส่งออกรวมกว่า 33,000 ราย เป็นวิสาหกิจที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือเอสเอ็มอีประมาณ 31,000 ราย คิดเป็นสัดส่วน 92% ของเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจส่งออกรวมทั้งหมด”นางศรีรัตน์ กล่าว

ในสภาวะปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศที่มีบทบาทสำคัญและถือเป็นตลาดดั้งเดิมของไทย ได้ส่งผลกระทบต่อไทยและประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาดศักยภาพสูง เช่น จีนและอินเดีย นับว่าเป็นปรากฏการณ์ซ้อนที่สร้างความท้าทายจากภาวะตลาดหดตัว การแข่งขันที่รุนแรง และความซับซ้อนจากความเปลี่ยนแปลงในตลาดส่งออกของไทยในเศรษฐกิจยุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงได้ปรับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการค้าและส่งออก โดยให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการกระจายตลาดการส่งออกของไทยสู่ตลาดใหม่ บนพื้นฐานของการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน การดำเนินการในเชิงลึกมากกว่าเชิงกว้าง โดยปรับแนวทางดำเนินงานในกรอบภารกิจของกรมฯ เป็นกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการ(Cluster) เพื่อให้มีการร่วมดำเนินการกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในอุตสาหกรรมเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 เมษายน 2556

“มิตรผล-น้ำตาลขอนแก่น” อุทธรณ์ กรมโรงงานไม่ออกใบอนุญาต “รง.4”

น้ำตาลขอนแก่นยันต้องใช้ทางหลวงชนบท เกณฑ์วัดระยะทางไม่ใช่ถนนรอง
“ มิตรผล-น้ำตาลขอนแก่น” ยื่นอุทธรณ์คำสั่งกรมโรงงานไม่ออกรง. 4 โรงงานใหม่ที่ จ.เลย เตรียมส่งเรื่องคณะกรรมการอุทธรณ์ ระบุคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตโรงงานพิจารณาเรื่องหมดแล้ว ชี้ไม่ยุบเพราะมีเรื่องพิจารณาอีก น้ำตาลขอนแก่นลั่นรอคำสั่งศาลปกครองพิจารณาคำร้องออกใบอนุญาตโรงงาน

บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการแระทรวงอุตสาหกรรมที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตประกอบการโรงงาน (รง.4) ให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ 2 แห่ง ที่จังหวัดเลยของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์จะนำข้อมูลของผู้ประกอบการมาพิจารณาใหม่และจะออกรง.4ให้หรือไม่ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้โดยการพิจารณาไม่มีกรอบเวลากำหนดแต่จะพิจารณาในระยะเวลาที่เหมาะสม

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ได้แจ้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมทราบว่า การที่โรงงานน้ำตาลตั้งห่างกันน้อยกว่า 80 กิโลเมตร ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยขยายมากขึ้นและผลผลิตดีขึ้นทำให้มีอ้อยอเพียงพอและไม่เกิดปัญหาแย่งอ้อยเข้าโรงงาน รวมทั้งการขนส่งทางถนนดีขึ้น ทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง และทำให้โรงงานนำอ้อยจากพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปมาเข้าโรงงานได้ ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์จะพิจารณาข้อมูลต่างๆ ตามกรอบกฎหมายและการพิจารณาถือเป็นที่สิ้นสุด

ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองอนุญาตโรงงานพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมประชุมมาครบ 1 ปี รับเรื่องพิจารณามา 190 เรื่อง ออกใบรง. 4 ไป 129 เรื่อง ไม่อนุญาต 2 เรื่อง คือโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่ง ส่วนที่เหลือส่งกลับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักอุตสาหกรรมจังหวัดกลับไปทำรายละเอียดคำขอใหม่ ขณะนี้ไม่มีเรื่องค้างการพิจารณาแต่คงไม่มีการยุบคณะกรรมการชุดนี้ เพราะยังมีเรื่องอีกมากที่เข้าข่ายต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณา

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจ บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์กลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาวิธีการวัดระยะทางให้ชัดเจน เพราะการวัดเส้นทางที่ต่างกันจะมีระยะทางต่างกัน การขนส่งอ้อยจะใช้ทางหลวงชนบทเท่านั้น ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมไปวัดเส้นทางในถนนรองก็จะมีระยะไม่ถึง 80 กิโลเมตร ถ้าให้เป็นธรรมกับผู้ประกอบการควรวัดจากถนนเส้นเดิมที่ใช้ข้อมูลให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณา เพราะช่วง 2-3ปี ที่ผ่านมามีการตัดถนนเชื่อมเส้นทางใหม่ตลอด

นายชลัช กล่าวว่าโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ได้รับการคุ้มครองฉุกเฉินจากศาลปกครองให้เปิดหีบอ้อยได้ถึงวันที่ 15 เม.ย.นี้ แต่มีอ้อยเข้าโรงงานหมดแล้วและปิดหีบไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทรอการพิจารณาของศาลปกครองให้พิจารณาให้พิจารณาเรื่องการออกใบรง. 4 โดยศาลปกครองได้ไต่สวนครั้งแรกไปแล้วเหลือการยื่นข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีเวลาอีก 8 เดือน ก่อนจะมีการหีบอ้อยฤดูกาลใหม่เดือน พ.ย. นี้ คาดว่าน่าจะมีเวลาพอที่ศาลปกครองจะพิจารณาก่อนถึงฤดูกาลใหม่

นอกจากนี้ หากกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการเข้มงวดระยะห่างโรงงานน้ำตาลไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ควรเข้มงวดตั้งแต่ก่อนส่งเรื่องให้กอน. พิจารณา และก่อนเสนอ ครม.รับทราบ ไม่ใช้ปล่อยให้ กอน. อนุมัติก่อนแล้วมาเข้มงวดในขั้นตอนการขอ รง. 4 ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ รวมทั้งข้อกำหนดระยะทาง 80 กิโลเมตร เป็นนโยบายของกระทรวงแต่ใช้กฏหมายห้ามตั้งโรงงานน้ำตาล

จาก กรุงเทพ วันที่ 1 เมษายน 2556

สศก.วาง5โครงการรับ‘เออีซี’ ประกาศมุ่งศึกษาทุกมิติการเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. มีแผนงานในการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างศูนย์ สำนัก และส่วนภูมิภาคของ สศก. ในการเตรียมความพร้อมภาคเกษตรเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 มี 5 โครงการหลักที่ต้องดำเนินการได้แก่ 1.การศึกษาเศรษฐกิจสินค้าเกษตร 2.การศึกษาแนวทางการพัฒนาภาคเกษตร 3.การศึกษาผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อภาคเกษตร 4) การศึกษาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนภาคเกษตรร่วมกับประเทศสมาชิก AEC และ 5) การศึกษาวิเคราะห์การรับรู้และความเข้าใจข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเกษตรกรรายย่อย

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านเปิดเสรีการลงทุนนั้น สศก. ได้ทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนภาคเกษตรร่วมกับประเทศสมาชิก AEC รวมถึงการนำผลการศึกษาผลกระทบและมาตรการรองรับการเปิดเสรีการลงทุนของอาเซียน สาขาการเพาะ ขยาย หรือปรับปรุงพันธุ์พืช ที่ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เพื่อเสนอแนวทางการลงทุนอาเซียนในระยะต่อไป ควบคู่ไปกับข้อเสนอแนวนโยบายและทิศทางการเกษตรของไทยที่คาดว่า จะได้รับจากการศึกษาแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

อย่างไรก็ตาม นอกจากการศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ AEC แล้วนั้น สศก. ก็ยังมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ กฎระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงการเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมภาคเกษตร สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ จากการดำเนินการทั้งหมดของ สศก. ได้มุ่งหวังเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมภาคเกษตรในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นภารกิจที่เร่งด่วนของชาติในการใช้ประโยชน์ในการเข้าสู่ AEC และพัฒนาให้ภาคเกษตรของไทยเป็นผู้นำในอาเซียนต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 เมษายน 2556

ตั้งกรรมการกลั่นกรองล้างภาพทุจริตรง.4

พระราม 6 * "กรมโรงงานฯ" ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คุมเข้มรายงานอีเอสเอก่อนยื่นขอใบอนุญาต หวังล้างภาพลักษณ์ แก้ข้อครหารับเงินใต้โต๊ะ ออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4)

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กรอ.ตกเป็นจำเลยของสังคมถึงความไม่โปร่งใสการพิจารณาออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 มีการดึงเรื่องเพื่อหวังผล ประโยชน์บางประการนั้น ในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ จะเข้ามารื้อขั้นตอนกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้รัด กุมและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ข้อครหาการดองใบอนุ ญาตมีความล่าช้า และเป็นการช่วยลดการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มี ผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวด ล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน

สำหรับแนวทางการดำ เนินงานนั้น จะมีการนำมาตร การป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (อีเอสเอ) เข้ามาประกอบการพิจารณาให้มีความเข้มข้นมากขึ้น จากปกติโรงงานขนาดเล็กใน 25 ประเภท ไม่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่จะ ต้องทำรายงานอีเอสเอ ซึ่งต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประ ชาชนประกอบเข้ามาด้วย แต่ที่ ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นเพียงผิวเผิน ก่อให้เกิดช่องโหว่ที่หน่วยงานอนุญาตไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวน โรงงานที่เสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา 368 คำขอ แต่ถูกตีกลับมาจำนวน 165 คำ ขอ ถือว่าเป็นจำนวนที่สูง ทำให้ภาพลักษณ์ของกรมโรงงานฯ เหมือนทำงานไร้ความสามารถ และถูกมองว่ามีการดองเรื่อง หรือต้อง การเรียกเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ได้ใบอนุญาต.

จากhttp://www.thaipost.net  วันที่ 1 เมษายน 2556

น้ำตาลมิตรผลยื่นอุทธรณ์โรงงาน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตประกอบการโรงงาน (รง.4) ให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ 2 แห่ง ที่จังหวัดเลยของทั้ง 2 บริษัท ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์จะนำข้อมูลของผู้ประกอบการมาพิจารณาใหม่ และจะออก รง.4 ให้หรือไม่ ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ โดยการพิจารณาไม่มีกรอบเวลากำหนด แต่จะพิจารณาในระยะเวลาที่เหมาะสม

ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย แจ้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมทราบว่า การที่โรงงานน้ำตาลตั้งห่างกันน้อยกว่า 80 กิโลเมตร ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบ โดยปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยขยายมากขึ้น และผลผลิตดีขึ้น ทำให้มีอ้อยเพียงพอและไม่เกิดปัญหาแย่งอ้อยเข้าโรงงาน รวมทั้งการขนส่งทางถนนดีขึ้น ทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง และทำให้โรงงานนำอ้อยจากพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปมาเข้าโรงงานได้ ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์จะพิจารณาข้อมูลต่างๆ ตามกรอบกฎหมาย และการพิจารณาถือเป็นที่สิ้นสุด

ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองอนุญาตโรงงาน พิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมประชุมมาครบ 1 ปี รับเรื่องพิจารณามา 190 เรื่อง ออกใบ รง.4 ไป 129 เรื่อง ไม่อนุญาต 2 เรื่อง คือโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ส่วนที่เหลือส่งกลับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกลับไปทำรายละเอียดคำขอใหม่ และขณะนี้ไม่มีเรื่องค้างการพิจารณา แต่คงไม่มีการยุบคณะกรรมการชุดนี้ เพราะยังมีเรื่องอีกมากที่เข้าข่ายต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณา

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยื่นอุทธรณ์เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาวิธีการวัดระยะทางให้ชัดเจน เพราะการวัดเส้นทางที่ต่างกันจะมีระยะทางต่างกัน ซึ่งการขนส่งอ้อยจะใช้ทางหลวงชนบทเท่านั้น และถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมไปวัดเส้นทางในถนนรองก็จะมีระยะไม่ถึง 80 กิโลเมตร และถ้าจะให้เป็นธรรมกัผู้ประกอบการ ควรวัดจากถนนเส้นเดิมที่ใช้เป็นข้อมูลให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณา เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการตัดถนนเชื่อมเส้นทางใหม่ตลอด

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 1 เมษายน 2556

ก.อุตฯขู่ปิด2รง.นครปฐม ก.อุตฯขีดเส้นตาย2รง.นครปฐม

 กระทรวงอุตสาหกรรมเผยคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการแล้วเสร็จกว่า 190 เรื่อง ไม่มีเรื่องค้าง พร้อมจัดระเบียบผู้ประกอบการไม่กล้าก่อสร้างก่อนรับใบอนุญาต ขณะที่การตรวจสอบ 2 โรงงานในพื้นที่ จ.นครปฐม ขีดเส้นตายอีก 30 วัน พร้อมสั่งปิดโรงงานทันที ปลัดฯ ยันเป็นห่วงวัดหลวงปู่พุทธะอิสระ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ว่า ตั้งแต่เริ่มการพิจารณา คณะกรรมการประชุมกัน 50 ครั้ง มีเรื่องเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้นกว่า 190 เรื่อง ผลการพิจารณาอนุมัติประกอบกิจการ หรือออกใบอนุญาต รง.4 พิจารณาอนุมัติแล้ว 129 เรื่อง ไม่อนุญาต 2 เรื่อง และส่งเรื่องคืนให้หน่วยงาน เนื่องจากเอกสารไม่มีรายละเอียดเพียงพอไม่สามารถพิจารณาได้ 64 เรื่อง

ในส่วนการพิจารณากลั่นกรองฯ ได้ยึดหลักการอยู่ร่วมกันของโรงงานกับชุมชน เอาทุกข์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยได้นำประสบการณ์ในอดีตที่เคยอนุญาตไปแล้วและเกิดปัญหาตามมา นำมาพิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก โดยเฉพาะในจำนวนกว่า 190 ราย กว่า 90 เปอร์เซ็นต์มักก่อสร้างไปก่อนโดยที่ไม่ขออนุญาต ซึ่งอาจทำให้การก่อสร้างแม้จะถูกต้องตามแบบ แต่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อนำมาแก้ไขภายหลังไม่สามารถทำได้ นับจากนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่การก่อสร้างจะต้องทำหลังจากที่ได้ใบอนุญาต รง.4 ทำให้ปัจจุบัน ไม่มีโรงงาน ผู้ประกอบกิจการใดๆ กล้าที่จะสร้างโรงงานไปก่อนขอใบอนุญาต ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาคส่วนร่วมของชุมชน สังคม และภาคอุตสาหกรรมจะช่วยกันตรวจสอบและดูแลซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างเป็นยั่งยืนต่อไป

กรณีที่มีการร้องเรียนโรงงานในจังหวัดนครปฐม นายวิฑูรย์พร้อมด้วย นายณัฐพล ณัฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เดินทางเข้าตรวจสอบ 2 โรงงานในพื้นที่ ได้แก่ บริษัท ซีแซดพัฒนา จำกัด โรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว และบริษัท อาร์ที อะกริเทค จำกัด บริษัทฯ แรกพบว่าสภาพภายในโรงงานยังมีปัญหาฝุ่นเขม่าควันและการจัดเก็บไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งสร้างปัญหาความเดือดร้อนแก่ชุมชนใกล้เคียง ทางอุตสาหกรรมได้สั่งให้โรงงานหยุดประกอบกิจการ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายใน 30 วัน หากไม่เป็นไปตามกำหนด จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อไป

บริษัท อาร์ที อะกริเทค ที่ก่อให้เกิดผลกระทบจากกลิ่นเหม็น และฝุ่นฟุ้งกระจายทาง บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุง โดยโรงงานยอมปิดกิจการเพื่อดำเนินการติดตั้งระบบโอโซนต่อจากระบบกำจัดกลิ่นเดิมจากกระบวนการอัดเม็ด ซึ่งติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2555 และดำเนินการสร้างระบบกำจัดกลิ่นเพิ่มต่อจากระบบขจัดกลิ่นเดิม โดยพร้อมให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบเพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามกำหนด ภายใน 30 วัน ก่อนเปิดโรงงานตามปกติ

พร้อมกันนี้นายวิฑูรย์และนายณัฐพล เดินทางเข้ากราบนมัสการหลวงปู่พุทธะอิสระ เพื่อเรียนถึงขั้นตอนการแก้ไขว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเป็นห่วงเรื่องที่เกิดขึ้นและได้สั่งให้ทางโรงงานมีการปรับปรุง โดยได้ดำเนินการปรับปรุงพร้อมติดตั้งอุปกรณ์โอโซนต่างๆ ในการกำจัดกลิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองตรวจสอบระบบดังกล่าวซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 30 วัน ถ้าตรวจสอบแล้วยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องปรับปรุงต่อไปจนกว่าจะผ่านเกณฑ์จึงสามารถเปิดทำการได้

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556