http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนเมษายน 2558)

ส่งออกน้ำตาลจุกอกขยับตัวช้าจีน-อิเหนาคุมนำเข้าป้องราคา

        ผู้ค้า-ผู้ผลิตน้ำตาล ห่วงปี 2558 ส่งออกน้ำตาลไปรายประเทศขยับตัวช้า โดยเฉพาะส่งออกไป 2 ตลาดหลักอย่างอินโดนีเซียและจีน ชี้เหตุมาจากที่รัฐบาล 2 ประเทศควบคุมการนำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาภายในประเทศไม่ให้ต่ำลง  ส่งผลให้ผู้ผลิต-ผู้ค้าน้ำตาลต้องแบกต้นทุนเก็บรักษาอ่วม หลังต้องเก็บสต๊อกไว้เอง

    แหล่งข่าวจากผู้ค้าน้ำตาลส่งออก เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงภาพรวมสถานการณ์ส่งออกน้ำตาลดิบและน้ำตาลทรายไปยังประเทศต่างๆว่า ในช่วง 3-4 เดือนแรกปี 2558 การส่งออกเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง 2 ประเทศคู่ค้าน้ำตาลรายสำคัญอย่างอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีการควบคุมการนำเข้า เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาภายในประเทศไม่ให้ต่ำลง โดยเฉพาะจีนที่ต้องการบริหารสต๊อกน้ำตาลที่มีอยู่ก่อน เพื่อรักษาระดับราคาภายในประเทศไม่ให้ต่ำลง  นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาจีนหันไปนำเข้าน้ำตาลจากบราซิลมากขึ้น ขณะที่อินโดนีเซียก็อนุมัตินำเข้าล่าช้าด้วยเหตุผลเดียวกันกับจีน

801    จากกรณีดังกล่าวทำให้ผู้ค้าผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลในประเทศมากขึ้น และต้องแบกภาระในการเก็บสต๊อกไว้เอง มีต้นทุนในการเก็บรักษาสูงขึ้น

    สอดคล้องกับที่นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด  กล่าวว่าการส่งออกน้ำตาลดิบและน้ำตาลทรายขาวในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 เปรียบเทียบกับปี 2557 ช่วงเดียวกันอยู่ในภาวะขยับตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย 3 เดือนแรกมีการส่งออกรวมอยู่ที่ 1.51 ล้านตัน เป็นมูลค่า   582.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือเป็นค่าเงินบาทอยู่ที่ 1.90 หมื่นล้านบาท  ในแง่จำนวนตันเพิ่มขึ้น3.21% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วช่วงเดียวกันอยู่ที่ 1.46 ล้านตัน มูลค่า 619.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.99 หมื่นล้านบาท โดยจะเห็นว่าในช่วงดังกล่าวมูลค่าที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯลดลง 5.97% และมูลค่าที่เป็นเงินบาทก็ลดลงแล้ว 4.89%  ภายหลังจากที่ราคาในตลาดโลกไม่ดี

    ผู้จัดการทั่วไปอนท. กล่าวอีกว่า ถ้าโฟกัสสถิติการส่งออกน้ำตาลรายประเทศในช่วง 3 เดือนแรกปี 2558 จะพบว่าอินโดนีเซียนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลงจาก 503,512.19 ตันปีที่แล้ว  ลงมาอยู่ที่ 335,768.73 ตัน หรือลดลงไปแล้ว 33.32%  ไปกัมพูชาลดลงจาก 157,370.62 ตัน ลงมาอยู่ที่ 86,187.26 ตัน หรือลดลงแล้ว 45.23%  มาเลเซีย ลดลงจาก 100,090 ตันลงมาอยู่ที่ 79,357.50 ตัน  3 เดือนแรกลดลงแล้ว 20.71% (ดูตาราง)

    ด้านนายอิสสระ  ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลครบุรี  จำกัด (มหาชน) หรือ KBS กล่าวว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีก่อนช่วงเดียวกันถือว่าในแง่ปริมาณส่งออกปีนี้ดีกว่า แต่ราคาไม่ดี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วราคาน้ำตาลดิบปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ขณะนี้ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้มูลค่าส่งออกลดลง การที่ราคาน้ำตาลผันผวนแรงนั้น มีสาเหตุหลักมาจากที่ค่าเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่าลงแรง จากที่เคยยืนอยู่ที่ 2 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนี้มาอยู่ที่กว่า 3 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำตาลถูกลง บราซิลได้ประโยชน์ในแง่การขายและการบริหารต้นทุนที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดโลก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพผลิตน้ำตาลทราย

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เชิญผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียติวเข้มโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ

ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อย หวังดันผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย พร้อมยกระดับคุณภาพผลผลิตน้ำตาล หนุนขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกหลังประเมินภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้ แม้มีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น แต่ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยกลับสวนทางลดลงเหลือประมาณ 106 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ฉุดปริมาณผลผลิตน้ำตาลปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2557/2558 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดรับอ้อยเข้าหีบไปแล้ว 148 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวมประมาณ 105.54 ล้านตัน โดยในช่วงนี้ถือเป็นช่วงปลายฤดูการหีบ และคาดว่าทุกโรงงานจะปิดหีบในต้นเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม หากดูถึงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลแล้ว กลับพบว่าผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือประมาณ 106.49 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่ยิลด์อยู่ที่ 109.02 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เนื่องจากอ้อยที่ส่งเข้าหีบของปีนี้ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพอ้อยไม่ดีนัก ค่าความหวานเฉลี่ยที่ 12.23 ซี.ซี.เอส. ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีความหวานอ้อยอยู่ที่ 12.56 ซี.ซี.เอส และถึงแม้ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในปีนี้จะสูงขึ้นกว่า แต่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ผลิตได้ 11.33 ล้านตัน

              ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ตั้งคณะทำงานด้านพัฒนาคุณภาพอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อยกระดับคุณภาพอ้อย และประสิทธิภาพของโรงงาน ซึ่งถือเป็นวาระที่สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดัน ดังนั้น คณะกรรมการบริหารของ     3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงมีการจัด Workshop เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและลดการสูญเสียในการผลิตของโรงงาน โดยเชิญ Dr.Rod  Steindl ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Sugar Consulting International ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย ที่ถือเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิต ได้ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงมาก หรือเฉลี่ยประมาณ 130 กิโลกรัมต่อตันอ้อย มาให้ข้อมูลพร้อมข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายโรงงานในการปรับปรุงคุณภาพอ้อยก่อนเข้าหีบ        และเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวม ทั้งในด้านการลดต้นทุนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกให้ดียิ่งขึ้น

               “ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทรายให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการหีบอ้อยมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยให้มากขึ้น ซึ่งเราต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นด้านประสิทธิภาพการผลิตให้มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่แนวทางลดการปนเปื้อนของผลผลิตก่อนเข้าหีบ การออกแบบและปรับปรุงเครื่องจักรหีบอ้อยให้ดีขึ้น โดยเชื่อว่า การอบรมครั้งนี้จะช่วยทำให้โรงงานน้ำตาลนำความรู้ที่ได้นำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพน้ำตาลของแต่ละโรงให้ดียิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะยาวต่อไป” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ยอมปรับเป้าส่งออกเหลือ1.2% พาณิชย์หนักใจQ1ติดลบ4.6%

พาณิชย์ ตั้งเป้าส่งออกไทยทั้งปี ขยายตัว 1.2% โดยส่งออกจากนี้จะต้องส่งออกไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ ขณะที่การส่งออกเดือน มี.ค. ติดลบ 4.45% ผลจากส่งออกน้ำมัน ทองคำ ยางพารา ลดลง ส่วนส่งออกไตรมาส 1 ติดลบ 4.69% มั่นใจแม้มูลค่าส่งออกติดลบแต่ไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดไว้อยู่

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับเป้าการส่งออกทั้งปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าอยู่ที่ 1.2% หรือมีมูลค่าประมาณ 230,034 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ หากจะส่งออกได้ตามเป้านั้น ต้องอยู่ภายใต้สมมุติฐาน 3 ประเด็น คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเทียบเท่าคู่แข่ง ประมาณ 32.6-33.4 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกดีขึ้น ทั้งนี้ นอกจากสมมุติฐานดังกล่าว การส่งออกไตรมาส 2 ต้องมีมูลค่า 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกไตรมาส 3 ต้องมีมูลค่า 61,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกไตรมาส 4 ต้องมีมูลค่า 59,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

แต่หากพิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ต่างประเทศหลายตลาดมีการนำเข้าลดลง การส่งออกของไทยทั้งปี 2558 ประเมินไว้อยู่ในกรอบ 0.5-1% ขณะที่หน่วยงานอื่นได้คาดการณ์การส่งออก เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 0.8% สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่งออกทั้งปี 1% สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ส่งออกทั้งปี 0% คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ประเมินส่งออกทั้งปี 1%

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออกไทย เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ฟื้นตัว ตลาดหลักของไทยทั้งสหรัฐ ตะวันออกกลาง CLMV ขยายตัวดีขึ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษดันส่งออกขยายตัว ส่วนปัจจัยลบ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนของไทยเมื่อเทียบประเทศคู่ค้า สินค้าเกษตรกลุ่ม ยางพารา น้ำตาล ข้าว ลดลง การตัดสิทธิพิเศษทางการค้า จีเอสพี ของไทย เป็นต้น

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 18,886 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.45% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการส่งออกน้ำมัน ทองคำ รวมทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร เช่น ยางพารา ติดลบ 27.9% ขณะที่การส่งออกช่วง 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2558) มีมูลค่า 53,365 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.69% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรส่งออกลดลง 0.5% ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง กุ้ง และปลาหมึก ส่วนสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งออกลดลง 0.3% ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้น เช่น ผัก ผลไม้สด น้ำตาลทราย เครื่องดื่มไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น

การส่งออกภาพรวมของไทยยังไม่ได้เลวร้าย เนื่องจากการส่งออกของไทยเริ่มขยับตัวดีขึ้น ติดลบน้อยลง โดยหากนำการส่งออกน้ำมัน และทองคำออกไป การส่งออกของไทยติดลบเพียง 1.3% ในเดือนมีนาคม และการส่งออกทองคำของไทยน้อย แต่การนำเข้ากลับปกติ ทั้งนี้ ประเมินว่า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกอาจจะเก็งกำไรราคาทองคำอยู่

ขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 17,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.89% และในช่วง 3 เดือน (เดือนมกราคม-มีนาคม 2558) นำเข้ามีมูลค่า 51,936 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.43 ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมีนาคม 2558 ไทยเกินดุล 1,495 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วง 3 เดือน (เดือนมกราคม-มีนาคม 2558) ไทยเกินดุล 1,429 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวชุติมากล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์พร้อมเดินหน้าส่งเสริมการขาย จัดทำยุทธวิธี เจาะตลาด วิเคราะห์ตลาดให้มากขึ้น เพื่อผลักดันการส่งออก นอกจากนี้จะมุ่งเน้นการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา รัสเซีย และ CIS ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เพื่อให้การส่งออกกลับมาขยายตัว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

KBS ตั้งเป้าปี’58 รายได้-กำไรโตต่อเนื่อง รับเต็มๆ รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวล 35MW ผถห.อนุมัติจ่ายปันผลเพิ่ม 0.15 บาท/หุ้น-รับเงิน 22 พ.ค.นี้

          ผู้ถือหุ้น บมจ.น้ำตาลครบุรี (KBS) ไฟเขียวจ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมสำหรับปี 2557 ในอัตรา 0.15บาท/หุ้น เคาะจ่าย 22 พ.ค.นี้ ด้านผู้บริหาร “ทัศน์ วนากรกุล”มองแนวโน้มรายได้-กำไร ปี’58 เติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อานิสงส์รับรู้รายได้จากการขายไฟของโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ ในปีนี้กว่า 550 ล้านบาท ลดแรงกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวน

นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2558 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการ ปี 2557 เป็นเงินสดในอัตรา 0.30 บาท/หุ้น โดยได้จ่ายเงินปันผลระหว่างไปแล้ว 0.15 บาท/หุ้น เหลือจ่ายเพิ่ม 0.15 บาท/หุ้น ซึ่งมีกำหนดจ่ายในวันที่ 22พ.ค.2558

          “แผนการดำเนินงานในปี 2558 บริษัทตั้งเป้ารายได้และกำไรเติบโต 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีรายได้รวม6.3 พันล้านบาท โดยตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้รายได้และกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้มาจากการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ ที่รับรู้รายได้เต็มปี โดยคาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 550 ล้านบาท/ปี และสร้างกำไรได้กว่า 150 ล้านบาท/ปี รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลนี้จะมาช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงของธุรกิจน้ำตาลซึ่งราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลง ”นายทัศน์กล่าว

          ทั้งนี้ กลุ่ม KBS ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2555 โดยให้ บจ. ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) ซึ่งเป็นบริษัทลูก 99.9% ของ KBS เป็นผู้บริหารงาน มีงบประมาณก่อสร้าง 1,650 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2555 – 2557 และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก (COD) แล้วเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558

นายทัศน์ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 35 เมกะวัตต์ จะตอบโจทย์ด้านกลยุทธ์ของกลุ่ม KBS 4 ประการ ประการที่หนึ่ง เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำแก่โรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ประการที่สอง เพิ่มศักยภาพในการทำกำไรให้กลุ่มบริษัท โดยคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 19% และจะสร้างกำไรเพิ่มเติมให้กลุ่มบริษัทในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ (2558) ประมาณ 150 ล้านบาท และปีที่สอง (2559) ประมาณ 220 ล้านบาท

ประการที่สาม รายได้และกำไรจากโรงไฟฟ้าค่อนข้างจะมีความมั่นคงไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ จึงจะช่วยกระจายความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทซึ่งเดิม รายได้และกำไรค่อนข้างผันผวนตามภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นหลัก

ประการสุดท้าย โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นหนึ่งในฟันเฟื่องของ Sugar Energy Complex ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของกลุ่ม KBS ที่ต้องการบริหารจัดการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลและการประหยัดพลังงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย ผลิตภัณฑ์น้ำตาล และผลิตภัณฑ์พลอยได้ ให้สูงที่สุด เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำใน ธุรกิจอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทในที่สุด

กรรมการผู้จัดการ บมจ. น้ำตาลครบุรี กล่าวอีกว่า ในช่วงปี 2558-2559 นี้ จะเป็นช่วงที่บริษัทลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางกลยุทธ์ โดยจะใช้เงินลงทุน 4,300 ล้านบาทใน 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิต 35,000 ตันอ้อย/วัน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558 และอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งจะมีกำลังการผลิต 2 แสนลิตร/วัน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559

จาก http://news.thaiquest.com   วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : “กรมพัฒนาที่ดิน”แนะนำการดูแลรักษา ดินอินทรีย์ในพื้นที่ทำการเกษตร

หลายตอนที่ผ่านมาเราได้พูดถึง ดินเปรี้ยวจัด และ ดินกรด กันไปแล้ว มาถึงตอนนี้เราจะมาดูในส่วนของดินอินทรีย์กันบ้าง ว่าจะมีผลต่อพื้นที่ดินในการทำการเกษตรอย่างไร ถ้าจะให้อธิบายกันง่ายๆ ดินอินทรีย์ ก็คือ ดินที่มีวัสดุอินทรีย์หรือมีเศษซากพืชทับถมกันในปริมาณมากและเป็นชั้นหนามากกว่า 40 เซนติเมตรจากผิวดิน ซึ่งจะพบในพื้นที่ลุ่มน้ำขังหรือมีน้ำขังนานเกือบตลอดปี  และเมื่อมีการระบายน้ำออกไปดินจะแห้งมีการยุบตัวมาก ติดไฟง่าย ดับยาก ดินและน้ำมีความเป็นกรดที่จัดมาก เนื่องจากมีการสะสมเศษชิ้นส่วนพืชในสภาพน้ำขัง ทำให้การสลายตัวของเศษชิ้นส่วนพืชเป็นไปได้ช้ามาก และมักพบชั้นดินเลนของตะกอนน้ำทะเลที่มีองค์ประกอบของกำมะถันอยู่สูง ซึ่งเมื่อชั้นดินนี้แห้งจะแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้พืชเจริญเติบโตไม่ดี ให้ผลผลิตต่ำ และอายุการเก็บเกี่ยวสั้น พบมากในพื้นที่ลุ่มต่ำของชายทะเลแถบจังหวัดนราธิวาส นครศรีธรรมราช พัทลุง และ สงขลา มีพื้นที่ประมาณ 2 แสน 6 หมื่นไร่

                กรมพัฒนาที่ดินได้แนะนำถึงวิธีการปรับปรุงดินอินทรีย์ไว้ ดังนี้ เกษตรกรควรมีการควบคุมระดับน้ำให้คงที่ ถ้าดินแห้งจะเกิดปัญหาดินเปรี้ยวจัด ตามด้วยการเตรียมดิน เพราะเนื่องจากดินอินทรีย์เป็นดินที่ยุบตัวง่าย จึงควรเลือกเครื่องมือ หรือ เครื่องจักรกลที่มีน้ำหนักเบาหรือใช้แรงงานคนในการเตรียมดินเพื่อปลูกพืช เกษตรกรควรเลือกชนิดพืชที่ปลูกให้เหมาะสม ปลูกพืชที่ชอบดินกรดและทนต่อสภาพน้ำขัง โดยมีการจัดการดินตั้งแต่การเตรียมดิน การค้ำยันไม่ให้พืชล้ม ชนิดพืชที่เหมาะสม อย่าง ข้าว หรือยกร่องปลูกพืชผัก ข้าวโพก มันเทศ มันสำปะหลัง กล้วย ถั่วเขียว มะพร้าว และพืชตระกูลปาล์ม โดยเกษตรกรอย่าลืมใส่วัสดุปูนปรับปรุงแก้ไขความเป็นกรดของดินก่อนปลูกพืชชนิดต่างๆ ใส่ปุ๋ยชนิดและอัตราที่เหมาะสมควบคู่กับการใช้น้ำหมักชีวภาพ ซุปเปอร์ พด.2 ฉีดพ่น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : “หญ้าแฝก” พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ

การชะล้างพังทลายของดินเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ   มีผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา   จึงพระราชทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ   เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

                นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า  เนื่องจากหญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย มีรากที่ยาว แผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผง และง่ายต่อการรักษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเป็นครั้งแรกให้หน่วยงานต่างๆ ทำการศึกษา ทดลอง และดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและเพื่อ ประโยชน์อื่นๆ กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับสนองพระราชดำริ โดยมีการรณรงค์การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำมาอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษา  วิจัย  และการแนะนำให้มีการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกทั้งทางด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรดิน และการรักษาสภาพแวดล้อมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา

                การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ประกอบด้วย การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน เป็นการปลูกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ซึ่งรากหญ้าแฝกจะช่วยยึดเกาะป้องกันปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดีในช่วงฤดูฝนน้ำไหลบ่า การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ โดยมีรูปแบบการปลูกทั้งเป็นแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบลุ่ม หรือจะเป็นการปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำให้ติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดดินรอบขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย

                ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ได้ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในด้านต่างๆ ให้เกษตรกรในพื้นที่ 6 จังหวัด ตัวอย่างที่มีการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกจนประสบความสำเร็จสามารถเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่นได้ คือ พื้นที่ของนายวิระกาญจน์ พละเนียม เกษตรกรที่อยู่ในตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งพื้นที่เดิมเป็นบ่อกุ้งร้าง และได้เข้ามาร่วมโครงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยได้ปรับเปลี่ยนสภาพจากบ่อกุ้งร้างทำการยกร่องเป็นสวนปลูกมะพร้าว กล้วย มะละกอ ซึ่งก่อนหน้าที่จะปลูกหญ้าแฝกรอบร่องสวนนั้น เกิดปัญหาดินพังทลาย สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ได้เข้าไปส่งเสริมให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบแปลงยกร่อง โดยให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถว จำนวน 1 แถว ปลูกห่างจากริมขอบแปลง 20 เซนติเมตร ในพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่

                ผลจากการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าเกษตรกรเจ้าของสวนให้ความใส่ใจและดูแลรักษาต้นหญ้าแฝกเป็นอย่างดี เนื่องจากเห็นประโยชน์ชัดเจนแล้วว่า แถวของหญ้าแฝก จะเป็นกำแพงที่มีชีวิต ป้องกันการพังทลายขอบริมร่องสวนได้ ช่วยทำให้ร่องน้ำไม่ตื้นเขิน จึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการลอกเลน นอกจากนี้หญ้าแฝกยังช่วยปรับโครงสร้างดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน โดยการตัดใบหญ้าแฝกคลุมดินและคลุมโคนต้นพืชที่ปลูก ส่งผลให้พืชที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทางสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ได้คัดเลือกให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาศึกษาดูงานและมีความประสงค์ที่จะปลูกหญ้าแฝกเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ มากขึ้นด้วย

                หากเกษตรกรท่านใดต้องการนำหญ้าแฝกพืชมหัศจรรย์ไปใช้ประโยชน์ สามารถติดต่อขอรับกล้าพันธุ์หญ้าแฝกได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

บมจ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออกดันผลผลิตอ้อยทำสถิติทะลุ 3.54 ล้านตันอ้อย

 ‘บมจ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก’ ผู้ประกอบธุรกิจและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โชว์ผลผลิตอ้อยเพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 9 แสนตันอ้อย ดันยอดอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2557/2558 ทะลุ 3.54 ล้านตันอ้อย ทุบสถิติปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงสุดของบริษัทฯ ติดอันดับ 7 โรงงานน้ำตาลทรายที่มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงสุดของประเทศ โดยสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 3.80 ล้านกระสอบ คิดเป็นยิลด์ที่ระดับ 107.25กิโลกรัมต่อตันอ้อย สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้า เอทานอล และก๊าซชีวภาพ เพื่อผลักดันรายได้ในปีนี้เติบโตขึ้น ด้านผู้บริหารชี้ภาครัฐปรับเกณฑ์ระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลเหลือ 50 กม. หนุนเอกชนตั้งโรงงานเพิ่มเสริมความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแข็งแกร่งในระยะยาว         

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เปิดเผยว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลของบริษัทฯ ปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2557/2558 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ทั้งสิ้น 3,802,190 กระสอบ จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 3,545,000 ตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2,660,643 ตันอ้อย เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 33 คิดเป็นอัตราผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในระดับสูงที่ 107.25 กิโลกรัมต่อตันอ้อย         

ทั้งนี้ โดยภาพรวมผลผลิตดังกล่าว จึงเป็นปีที่บริษัทฯ รับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยติดอันดับ 7 ของโรงงานที่มีปริมาณการหีบอ้อยสูงสุดของประเทศสะท้อนถึงความมั่นคงด้านวัตถุดิบอ้อยที่นำมาสกัดเป็นน้ำตาลทรายส่งผลต่อความแข็งแกร่งของธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย อีกทั้งยัง ช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงที่มีวัตถุดิบเพียงพอในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐเพื่อรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าได้เต็มปี        

 ขณะเดียวกัน ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบดังกล่าว ยังทำให้มีผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย ที่มีปริมาณกากน้ำตาลเพิ่มขึ้นเพื่อทำการหมักและกลั่นผลิตเป็นเอทานอลได้มากขึ้นและสามารถนำไปใช้ในธุรกิจก๊าซชีวภาพให้เติบโตขึ้นอีกด้วย ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตขึ้นจากปีก่อน        

“ผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2557/2558 สะท้อนความแข็งแกร่งของธุรกิจโรงงานน้ำตาลทรายของบริษัทฯ ที่ได้ดำเนินการขยายกำลังการผลิตแล้วเสร็จเมื่อปี 2557 ทำให้สามารถรองรับปริมาณอ้อยเข้าหีบได้ถึงประมาณ4.5 ล้านตันต่อปีทำให้เรามีส่วนแบ่งตลาดที่มากที่สุดในภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ปีนี้บริษัทฯมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ10 ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเราอยู่ที่ประมาณร้อยละ70 ของปริมาณการหีบอ้อยของภาค ประกอบกับประสิทธิภาพของเครื่องจักรในการผลิตน้ำตาลทรายที่ดีทำให้ฤดูการผลิตปีนี้เราสามารถปิดหีบได้เร็วกว่ากำหนด ซึ่งการเตรียมความพร้อมดังกล่าวทำให้โรงงานยังมีกำลังการผลิตที่เพียงพอในการรองรับปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังจากที่เราได้เร่งส่งเสริมด้านองค์ความรู้การเพาะปลูกให้แก่ชาวไร่เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่และขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยให้มากขึ้น จากกำลังการผลิตในปัจจุบันและแผนการขยายกำลังการผลิตตามแผนทำให้โรงงานมีความพร้อมที่จะรับอ้อยทั้งหมดที่มีอยู่ในจังหวัดสระแก้วและที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำตาลทรายและสามารถนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายทุกส่วนกลับมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการประกอบธุรกิจแบบครบวงจรตามแนวคิด Fully Integrated System มาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เอทานอล ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี และให้มีส่วนเหลือทิ้งเป็นศูนย์ หรือ Zero-waste Discharge Systems ทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” คุณหญิงณัฐิกา กล่าว

ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร น้ำตาลและอ้อยตะวันออก กล่าวว่า กรณีที่ครม. มีมติเห็นชอบให้โรงงานน้ำตาลที่จะขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลให้มีระยะห่างจากโรงงานเดิม 50 กิโลเมตร และต้องมีแผนการส่งเสริมพัฒนาอ้อยให้เข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% นั้น จะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งนี้ จะช่วยลดปัญหาการแย่งอ้อย ในทางกลับกันจะทำให้ผู้ประกอบการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาร่วมกับเกษตรกร ชาวไร่อ้อย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เจริญเติบโต มีความแข็งแกร่ง ยั่งยืน มั่นคงมากยิ่งขึ้นด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม มีนาคม 58 ลดลงต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หวั่นสภาวะเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

           นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมีนาคม 2558จำนวน 1,171 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 30.1, 39.5 และ 30.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 35.6,17.2,14.8,13.3 และ 19.1 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 78.0 และ 22.0 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 87.7 ลดลงจากระดับ 88.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2558 ยังคงปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน สะท้อนบรรยากาศของการประกอบการอุตสาหกรรม ที่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ประกอบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากขาดการปรับปรุงเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งการตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับในภูมิภาค เป็นอีกปัจจัยที่ส่งด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่งออก

          ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า บทบาทของภาครัฐในการเร่งการใช้จ่าย ทั้งจากการบริโภคและการลงทุน จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในการขยายการลงทุน และการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ขณะเดียวกันจากการสำรวจยังพบว่า การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าในรูปแบบคลัสเตอร์ จะส่งผลดีต่อการลดต้นทุนการผลิต การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการดำเนินกิจการ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.4 เพิ่มขึ้นจาก 99.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกขนาดอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์

          โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 81.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 81.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เป็นต้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.1 ลดลงจาก 99.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ

          อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.5 ลดลงเล็กน้อยจาก 85.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร,อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ,อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.2 เพิ่มขึ้นจาก 98.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่ามีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 97.0 ลดลงจากระดับ 98.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล,อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ,อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 104.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมีนาคม 2558 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อุตสาหกรรมภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์

          ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 91.7 ลดลงจากระดับ 92.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ผลิตภัณฑ์ประเภทหนังแท้ เข็มขัดหนัง มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ,สินค้าประเภทถุงมือหนัง ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงมียอดสั่งซื้อจากตลาดยุโรปลดลง) , อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น แป้ง ครีมบำรุง มียอดการส่งออกไปประเทศฝรั่งเศส สหรัฐฯ และรัสเซีย ลดลงประกอบกับมีการแข่งขันด้านราคาสูง), อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (สินค้าประเภทเครื่องนวดข้าว ชิ้นส่วนรถไถ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เช่น ชิ้นส่วนเครื่องสีข้าว อะไหล่รถขุด มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้ลดลงจากปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ) และอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (เนื่องจากรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ตลอดจนการจัดงาน บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของตลาดรถยนต์) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.5เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 81.4 ลดลงจากระดับ 83.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สิ่งทอประเภทผ้าผืนมียอดขายในประเทศลดลง ,ผ้าไหมพื้นเมืองมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและตะวันออกกลางลดลง), อุตสาหกรรมเซรามิก (เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากลูกค้ามีสต็อกสินค้าปริมาณสูง,ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา และชุดอาหารมียอดการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและไต้หวันลดลง) ,สินค้าหัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทดอกไม้ประดิษฐ์ และของที่ระลึก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง,ผลิตภัณฑ์จักสาน ผ้าทอมือ ผ้าลูกไม้จากประเทศยุโรปและตะวันออกกลางลดลง จากความต้องการของลูกค้าที่ลดลง) และอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (ผลิตภัณฑ์ประเภทที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู สินค้าOTOP ที่ทำจากสมุนไพร มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนื่องจากสมุนไพรไทยกำลังได้รับความนิยม) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.8 ลดลงจากระดับ 96.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 82.7 ลดลงจากระดับ 85.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์เสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศและส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น จีน ลดลง) ,อุตสาหกรรมน้ำตาล (ยอดคำสั่งซื้อน้ำตาลทรายจากประเทศอินเดียและตะวันออกกลางลดลงจากภาวะสงคราม) , อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน(สินค้าประเภทหินก่อสร้าง หินอ่อนและหินประดับ มียอดขายในประเทศลดลง, ยอดสั่งซื้อกระเบื้องปูพื้นแกรนิตจากประเทศเวียดนาม ลาว ลดลง) และอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (เนื่องจากยอดขายปูนซีเมนต์ชนิดผงและปูนซีเมนต์สำเร็จในประเทศเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และโครงการก่อสร้างภาคเอกชน) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.7 ลดลงจากระดับ 100.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ 99.6เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สินค้าประเภทหัวอ่านซีดี ดีวีดี มอเตอร์ไฟฟ้า มียอดการส่งออกไปประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ประกอบกับมีสินค้ารุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค) ,อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่น รีดเย็น วัสดุเหล็กมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของภาคก่อสร้างและความต้องการผลิตเป็นชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ และยานยนต์) และอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ( เนื่องจากยอดขายเครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่น เครื่องตัดโลหะ เครื่องพ่นสีโลหะ ในประเทศลดลง และชิ้นส่วนเครื่องจักรกลมียอดการส่งออกไปประเทศในกลุ่ม CLMV ลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 108.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 82.1 ลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารทะแลแช่แข็งและแปรรูป มียอดคำสั่งซื้อจากตลาดยุโรปลดลง ประกอบกับอยู่ในช่วงปิดอ่าวทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประเภทกุ้งและปลาทะเล ผู้ประกอบการบางรายต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ) อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจาก ประเทศจีน อินโดนีเชีย ลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ) , อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (สินค้าประเภทไม้อัดวีเนียร์ ไม้ประสาน ไม้ปาร์เก้และไม้บาง มียอดคำสั่งซื้อในประเทศและจากประเทศจีนลดลง) อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมในภาคใต้ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (เนื่องจากยอดขายน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพิ่มขึ้น และการส่งออกน้ำมันปาล์มขยายตัวสูงเนื่องจากตลาดหลัก เช่น เอเชียใต้ มีความต้องการเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.7เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนมีนาคม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลงจากในเดือนกุมภาพันธ์

          กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 84.8 ปรับตัวลดลงจาก 85.3ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร,อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์,อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.6 ทรงตัวจากระดับ 99.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 98.1 ลดลงจากระดับ 103.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมีนาคมนี้ คือ ผู้ประกอบการต้องการให้มีการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน พร้อมทั้งดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อีกทั้งให้สนับสนุนการใช้นวัตกรรมในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า รวมถึงสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

จาก http://news.thaiquest.com   วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

ปัดฝุ่นเอฟทีเออาเซียน-อียู หลังหยุดชะงักการเจรจากว่า 5 ปี

อาเซียนเตรียมปัดฝุ่นทำเอฟทีเอกับอียู หลังหยุดชะงักการเจรจากว่า 5 ปี พร้อมเร่งรัดมาตรการให้ทันเปิดเออีซีปลายปี 58

 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่มาเลเซีย โดยอียูได้แสดงความประสงค์ที่จะให้มีการรื้อฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-อียู โดยเสนอให้มีการทบทวนและรวบรวมข้อมูลสถานะการเจรจา หลังจากที่ได้หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2552 หรือ 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนปี 2015-2016 ที่จะเน้นความร่วมมือด้านบริการ พลังงาน การขนส่งทางอากาศ การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรฐานต่างๆ พิธีการศุลกากร การลงทุน และประเด็นการค้าใหม่ๆ

"อาเซียนกับอียู คงจะเริ่มรื้นฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกันใหม่ หลังจากหยุดชะงักมา 5 ปี เนื่องจากติดขัดอุปสรรคบางอย่าง ซึ่งอาเซียนก็เห็นว่าควรมีการคุยกันต่อ เพราะอาเซียนก็ทำเอฟทีเอหลายฉบับ และอียูเป็นตลาดใหญ่มีประชากรรวมกัน 500 ล้านคน เมื่อรวมกับอาเซียนที่มีประชากร 600 ล้านคน หากเจรจาสำเร็จจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันถึง 1,600 ล้านคน" นางอภิรดี กล่าว

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 13 ที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) โดยเฉพาะมาตรการสำคัญที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบให้เร่งดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2558 ซึ่งขณะนี้ อาเซียนได้ดำเนินมาตรการสำคัญดังกล่าวได้ 90.5% หรือ 458 มาตรการจาก 506 มาตรการ โดยไทยสามารถดำเนินการได้ 93.1% โดยมาตรการสำคัญที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์แล้ว 95.99% ของรายการสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การปรับประสานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น การจัดทำมาตรฐานพืชสวน เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สำหรับมาตรการที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 เช่น การลงนามและให้สัตยาบันข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 10 การให้สัตยาบันพิธีสาร 7 แนบท้ายความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เป็นต้น โดยในช่วงโค้งสุดท้ายของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อาเซียนจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการให้ครบถ้วนให้ได้ โดยเฉพาะในด้านขนส่ง และการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ อาทิ การจัดตั้งระบบคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีนัยสำคัญต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

 พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือนอกรอบเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อเร่งรัดการเจรจาให้สามารถสรุปผลได้ภายในปี 2558 โดยตกลงว่าจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง ก่อนการประชุมรัฐมนตรี RCEP ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนส.ค.

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

ก.อุตฯ ชวนผปก. ส่งผลงานเข้าคัดเลือก รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 

        กระรทรวงอุตสาหกรรม จัดประกวดคัดเลือก รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 รางวัล แห่งเกียรติยศ และความภาคภูมิใจของอุตสาหกรรมไทย โดยจะแบ่งเป็นรางวัล อุตสาหกรรม ยอดเยี่ยม 1 รางวัล และรางวัล อุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท  ประเภทการเพิ่มผลผลิต ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประเภทการบริหารความปลอดภัย ประเภทการบริหารคุณภาพ ประเภทการพัฒนาพลังงาน ประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ ผู้สนใจสามารถส่งใบสมัคร เข้ารับการคัดเลือก ได้ที่ฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 ได้ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป จนถึง วันที่ 30 พฤษภาคม 2558

จาก http://manager.co.th   วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

“คลัง” ปรับลดประมาณการจีดีพีลงเหลือ 3.7% พร้อมจับตามาตรการดูแลค่าเงินบาท

กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเหลือขยายตัวร้อยจากร้อยละ 3.9 เหลือร้อยละ 3.7 ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 0.7 และ 3.7 ขณะที่การส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.2 พร้อมจับตามาตรการดูแลค่าเงินบาทของแบงก์ชาติ

               นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง สาเหตุจากการส่งออกชะลอตัว แต่ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากนักท่องเที่ยวเชื่อมั่นต่อการเมืองในประเทศ ขณะที่การใช่จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการน้ำ และการสร้างถนนในต่างจังหวัด

               นอกจากนี้ กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปีนี้ร้อยละ 0.2 ตัวเลขการส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.2 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 0.2 จากราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกินดุลร้อยละ 4.6 ของจีดีพี จึงต้องรอลุ้นมาตรการดูแลค่าเงินบาทของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็วๆ นี้ว่าจะดูแลการส่งออกให้ขยายตัวดีขึ้นอย่างไรบ้าง

               นายกฤษฎา กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรกยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 0.6 สอดคล้องต่อยอดการจำหน่ายรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 9.7 และการลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยปัจจัยเสี่ยงยังน่ากังวลตัวเลขการส่งออก เพราะยังหดตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสแรก จึงต้องติดตามความเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ความผันผวนของค่าเงินบาทจากเงินทุนเคลื่อนย้าย และแนวโน้มของราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าเกษตรลดลง

               น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 3.76 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ย 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจับตาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยกระทรวงการคลัง ยังคงประมาณการไว้ร้อยละ 1.75 ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีคาดว่ามากกว่า 29.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.6 ทั้งปี หลังจากนักท่องเที่ยวไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 23.5 จึงต้องติดตามนโยบายภาครัฐในการดูแลเศรษกิจปีนี้

จาก http://manager.co.th   วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

การค้าเสรี-ตลาดศก. เพื่อพัฒนาประเทศ

โดย...บัญญัติ คำนูญวัฒน์

                           ถ้าจะพูดกันเรื่องค้าๆ ขายๆ ทำมาหากินก็ต้องนึกถึงวลีเด็ด ใครใคร่ค้า “ค้า” ใครใคร่ขาย “ขาย” ที่มีตั้งแต่สมัยสุโขทัย ยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่พ่อขุนรามคำแหงปกครองด้วยระบบพ่อปกครองลูก เมื่อกว่า 700 ปีมาแล้ว เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีเสรีภาพทางการค้า ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ทั่วโลกก็ได้วางการแข่งขันตลาดเสรีกันตั้งแต่ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ดูได้จากแนวคิดเสรีภาพทางการค้า โดยอดัม สมิธ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ได้กล่าวถึงแนวคิดการค้าเสรีไว้ว่า เมื่อใดมีการแข่งบนพื้นฐานเศรษฐกิจในตลาดเสรี เมื่อนั้นผลประโยชน์จะตกอยู่กับสังคมและประเทศชาติ

                             ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจทั่วโลกมีเสรีภาพขึ้นมาก เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นสามารถติดต่อค้าขายได้ทั่วทุกมุมโลก มีอินเทอร์เน็ต เข้ามาช่วยกระตุ้นการซื้อขายสินค้าทั่วโลก จนกลายเป็นยุคของความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ถ้ามองการลงทุนทั้งโลก จะพบว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านล้านบาทต่อปี ถัวเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแต่ละปีมีการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 4% ในแต่ละปี

                           ยกตัวอย่าง..ประเทศที่น่าสนใจ ซึ่งได้เปิดการค้าเสรีจนกลายมาเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจระดับต้นๆ ของโลก เช่น ประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็ถือว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายธุรกิจ ธุรกรรมไปทั่วโลกจนกลายเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม และประเทศจีนแม้เพิ่งจะเปิดประเทศไม่นาน แต่ด้วยวัฒนธรรมหลายพันปี มีการสะสมความรู้ ความหมั่นเพียร และความคิดทางด้านปรัชญามากมาย หลายปรัชญายังสามารถใช้ได้อย่างดีในยุคนี้ ปัจจุบันจีนมีทั้งท่าเรือน้ำลึก ศูนย์กลางทางการค้าเสรี แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ยังครอบคลุมไปถึงการค้าบนโลกออนไลน์

                           นอกจากนี้ ยังมีประเทศรัสเซีย แม้จะเคยเจอวิกฤติสมัยสงครามโลก แต่ปัจจุบันก็หันมาลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษพัฒนาประเทศเชื้อเชิญให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามา จนมีนักลงทุนเข้ามากกว่า 15 ประเทศ ร่วมกันพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนพม่าก็เป็นอีกหนึ่งประเทศเนื้อหอม ที่สำคัญตอนนี้เศรษฐกิจระหว่างไทยกับพม่า มีการเชื่อมโยงการค้าบริเวณด่านแม่สอดไปยังเมืองเมวดี ที่สามารถทำเงินเข้าประเทศได้กว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

                           เรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับการค้าเสรี ตลาดค้าขายที่เกิดมานาน จนกลายเป็นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลก “สายป่าน” ที่ทำลายกำแพงประเทศต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าจนก่อให้เกิดธุรกิจมากมาย แม้จะไม่มีเงินลงทุนสูงก็สามารถแข่งขันได้ตลอด 24 ชั่วโมง

                           วันนี้ไทยก็หนีไม่พ้นการแข่งขัน และการค้าเสรี มีตลาดการค้าเสรีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะตลาดเศรษฐกิจของอาเซียนกำลังจะเติบโตมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยมียอดขายกว่า 10 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจ การค้าขายเสรีนั้นบรรทัดสุดท้ายต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค และผู้ประกอบการทุกอาชีพ เพื่อนำไปสู่การจ้างงาน, ราคาสินค้า และความเสรีภาพทางการค้าขายอีกด้วย

  จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

สินค้าส่วนใหญ่มูลค่าลดลง-ศก.ประเทศคู่ค้าแย่ค่าเงินผันผวนปัจจัยลบหลักพณ.หั่นเป้าส่งออกเหลือ1%

กระทรวงพาณิชย์ ยอมจำนนหั่นเป้าหมายการส่งออกเหลือแค่ 0-1% จากเดิมตั้งไว้ที่ 4% ยอมรับสินค้าส่วนใหญ่มูลค่าลดลง เพราะค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ประเทศที่เป็นตลาดหลักก็ยังมีปัญหา ชี้ราคาสินค้าไทยยังแข่งขันกับคู่แข่งไมได้ ซ้ำยังเจอมาตรการกีดกันทางการค้าที่ใช้ภาษีเล่นงาน

แม้ว่าการส่งออกของไทยจะส่งสัญญาณทรุดตัวมาตั้งแต่ต้นปีแต่กระทรวงพาณิชย์ก็ยังยืนยันไม่ปรับเป้าหมายการเติบโตของการส่งออกปี 2558 ที่ตั้งไว้ที่ 4%โดยหวังว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค่าสำคัญจะขยายตัวกว่าปีก่อน จนกระทั่งล่าสุดเมื่อตัวเลขเดือน มีนาคมที่การส่งออกยังคงลดลงต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ทำให้กระทรวงพาณิชย์ยอมที่จะลดเป้าหมายของปี’58 ลงเหลือแค่ 0.5-1% เท่านั้น

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือน มี.ค. 2558 ว่า ส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. มีมูลค่า 18,886 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรที่ลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะ ยางพารา ทูน่ากระป๋อง และข้าว ที่ราคาปรับลดลง ทำให้มูลค่าส่งออกลดลงด้วย ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ปรับลดลง 3.2% โดยเฉพาะน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีปริมาณล้นตลาด ทำให้ราคายังคงทรุดตัวจึงส่งผลกดดันให้ราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทย เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ปรับตัวลดลงตามไปด้วย และผู้ส่งออกก็ชะลอการส่งออกทองคำ ตามราคาทองคำที่ลดลง ทั้งนี้จึงส่งผลให้การส่งออกในช่วง 3 เดือนแรก หรือไตรมาสแรกของปี 2558 มีมูลค่า 53,365 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลให้ส่งออกไทยให้ลดลงด้วย ทั้ง อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ยังเสียเปรียบหลายประเทศ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ทำให้สินค้าของไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่ง และราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงทั่วโลก ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยให้มีมูลค่าลดลง นอกจากนั้นหลายประเทศมีการนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมาใช้ เช่น การเข้มงวดด้านสุขอนามัยของสินค้า หรือโรคแมลงในสินค้าเกษตร ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทย รวมทั้งความไม่สงบในแอฟริกาตอนเหนือ ตะวันออกกลาง หลายประเทศมีการใช้มาตรการพึ่งพาสินค้าในประเทศ และเน้นการลงทุนในประเทศมากขึ้น เช่น จีน จึงส่งผลต่อการส่งออกไทยให้ปรับลดลงด้วย

ส่วนภาพรวมของตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลักอย่างสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.6% โดยโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และอาเซียนโดยเฉพาะตลาด CLMV เพิ่มขึ้น 17.4% แต่ตลาดญี่ปุ่น ลดลง8.4% และสหภาพยุโรป ลดลง 2.1% เพราะเศรษฐกิจของทั้ง 2ประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ รวมถึงเป็นผลมาจากค่าเงินเยน และเงินยูโรอ่อน ทำให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง ส่วนตลาดจีน ลดลง 8.3% ตามการส่งออกยางพารา และน้ำมันสำเร็จรูปที่ลดลง ประกอบกับจีนมีนโยบายพึ่งพาตนเองและลดการนำเข้า แต่ในตลาดจีนและญี่ปุ่น

สำหรับการนำเข้าสินค้าของไทยในเดือน มี.ค. 2558มีมูลค่า 17,391 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.89% ส่งผลให้ในเดือน มี.ค. ไทยเกินดุลการค้า 1,495 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ช่วง 3 เดือนแรก การนำเข้าสินค้าของไทยมีมูลค่า 51,936 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.43% ส่งผลให้ 3 เดือนไทยเกินดุลการค้า 1,429 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2558 ลง เหลือ 1.2% มีมูลค่า 230,304 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557 ว่าจะขยายตัวได้ 4% เพราะสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไป ทำให้กระทรวง ได้มีการปรับเป้าหมายให้ตรงตามสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเป้าหมายใหม่จะต้องอยู่ภายใต้สมมุติฐาน ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.6-33.4 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาสินค้าเกษตรต้องปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงปีก่อน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วย รวมถึงการส่งออกจะดีหรือไม่ยังต้องติดตามถึงภาวะเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนโลก โดยเฉพาะ ค่าเงินเยน รูเบิล และยูโร มาตรการกีดดันทางการค้า นโยบายของประเทศคู่ค้าที่ต้องการพึ่งพาตนเอง การที่ไทยโดนใบเหลืองจาสหภาพยุโรป เรื่อง IUU เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 0.5-1% แน่นอน

ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการส่งออกปี 2558 เหลือประมาณ 0.5-1% โดยปัจจัยลบ คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทยและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะค่าเงินเยน ค่าเงินยูโร แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกยังไม่นิ่ง ราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มลดลง การถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ของสหภาพยุโรป (อียู) มาตรการกีดกันทางการค้าบางประเทศ และมาตรการของ อียู ที่ให้ใบเหลืองกับสินค้าอาหารทะเลกับไทยและให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาภายใน 6 เดือน คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ยอมรับว่าส่งผลกับภาพลักษณ์และความมั่นใจของนักลงทุนในประเทศไทยบ้าง

ด้านนายอิสระ ว่องกุศล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. ติดลบ 4.45 % ซึ่งถือว่าติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.ที่ส่งออกติดลบ 6.14% และการที่ไตรมาสแรกของปีนี้ส่งออกติดลบ 4.69% ก็ถือว่าไม่เลวร้ายมากนักโดยภาคเอกชนยังมองการส่งออกจะขยายตัวได้ 1% แม้กระทรวงพาณิชย์จะตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.2% ซึ่งเป้าหมายทั้งคู่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้การที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้า มองว่าจะเป็นตัวฉุดการส่งออกของไทยมาก ดังนั้นไทยจึงต้องปรับตัวเรื่องการส่งออกด้วย โดยควรมองไปยังตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และประเทศจีนตอนใต้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ต้องดูเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักด้วย เพราะมองว่าจะมีโอกาสเติบโตได้สูง โดยในไตรมาสแรก คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากกว่า 20% ซึ่งจะเป็นตัวช่วยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย :กรมพัฒนาที่ดินแนะวิธีการจัดการดินกรด

ถ้าจะให้ขยายความ ดินกรด ก็คือดินที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือที่เรียกว่า พีเอช (pH) ของดินต่ำกว่า 7.0 ดินกรดมีปัญหาทางด้านการเกษตร คือ ความเป็นกรดเป็นด่างของดินน้อยกว่า 5.5 จะมีผลต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารพืชในดินให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ซึ่งในประเทศไทยมีเนื้อที่รวมประมาณ 95,410,051 ไร่ โดยปัญหาของดินกรดส่วนใหญ่จะพบในดินที่มีเนื้อหยาบ เป็น

 กรดจัด พื้นที่ที่มีการชะล้างหน้าดินสูง มีความเป็นพิษของอะลูมินั่ม และแมงกานีส ทำให้ระบบรากพืชถูกทำลาย พืชไม่เจริญเติบโต ขาดธาตุอาหาร พวกฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม รวมถึงเกิดการระบาดของเชื้อโรคพืชหลายชนิด อาทิ เชื้อราโรครากเน่าโคนเน่าในพืช ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินกรดทำให้พืชที่ปลูกเกิดความเสียหาย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ 1.ดินเป็นกรดจัดถึงกรดปานกลาง มีค่า (pH 4.5-5.5) ธาตุอะลูมิเนียม เหล็ก แมงกานีส และสังกะสีละลายออกมามากจนเป็นพิษต่อพืช 2.ดินเป็นกรดเล็กน้อยและดินเป็นกลาง มีค่า (pH 6.0-7.0) ระดับ pH ของดินมีความเหมาะสมต่อการละลายธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช และ3.ดินเป็นด่างเล็กน้อยและด่างปานกลางมีค่า (pH 7.5-8.0) พืชขาดฟอสฟอรัส เนื่องจากเกิดตกตะกอนกับแคลเซียมที่ละลายออกมามากเกิน

ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงได้แนะนำวิธีการจัดการเบื้องต้นในการแก้ปัญหาดินกรดไว้ดังนี้ เกษตรควรใช้วัสดุทางการเกษตรซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของกรดในดิน โดยทั่วไปให้ใช้ปูนโดโลไมท์ อัตราตามค่าความต้องการปูน ควบคู่กับการใส่อินทรียวัตถุ อย่าง ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ช่วยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารพืชในดิน ลดการสูญเสียธาตุอาหารจากการถูกชะล้าง และอินทรียวัตถุยังช่วยลดความเป็นพิษของเหล็กและอะลูมินั่ม ตามด้วยการคลุมดิน ใช้วัสดุคลุมดิน เศษพืช หรือปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เป็นการรักษาหน้าดินป้องกันการชะล้างพังทลายหน้าดิน รักษาความชื้นในดินและเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ที่สำคัญคือการเลือกชนิดพันธุ์พืชที่ชอบดินกรดมาปลูก อาทิ ข้าว แตงโม ข้าวโพด ข้าวฟาง อ้อย มันสำปะหลัง ถั่ว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ กล้วย มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ รวมถึงการเลือกใช้ระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม โดยเลือกระบบการปลูกพืชที่มีระบบรากลึกสลับกับรากตื้น เพื่อเป็นการนำเอาอาหารที่ถูกชะล้างลงในดินล่างมาใช้ ปลูกพืชหมุนเวียนชนิดต่างๆ สลับกับพืชตระกูลถั่ว และการปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบไม้ผล เพื่อดักเก็บตะกอนและรักษาความชื้นในดินบริเวณรอบๆต้นไม้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

ชูกลยุทธ์เพิ่มผลผลิตในเอเชีย 

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปีนี้ประเทศไทยโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบัน เครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 57 ตั้งแต่วันที่ 27-29 เมษายน 2558 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีขององค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย มีผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานด้านการเพิ่มผลิตภาพของประเทศสมาชิก (National Productivity Organizations: NPOs) รวมจำนวน  20 ประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งในระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ข้าราชการระดับสูง ประธานบริหารของหน่วยงานประเทศต่างๆ และคณะทำงานองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชียเข้าร่วม

          "เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า ปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการประชุม APO วัตถุประสงค์ของการจัดงาน นอกจากเพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานเชิงกลยุทธ์แบบพหุภาคี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีการมอบรางวัลแก่ประเทศที่มีผลงานการเพิ่มผลิตภาพดีเด่นด้วย โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ คือ แผนกลยุทธ์การขับเคลื่อนผลิตภาพเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ ปี 2020 การรายงานผลงานในรอบปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม 100 คน" นายจักรมณฑ์ กล่าว

          สำหรับองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization : APO) เป็นองค์การระหว่างประเทศของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดตั้งขึ้นในปี 1961 มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มผลิตภาพและเร่งรัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดย APO รับบทบาทเป็นองค์กรผู้ให้คำปรึกษาและรวบรวมข่าวสารการปรับปรุงการเพิ่มผลิตภาพ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 20 ประเทศ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558 

พด.ดัน1จังหวัด1ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ กระตุ้นเกษตรกรผลิตใช้เองช่วยลดต้นทุน

ดร.อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งตั้งเป้าให้ทุกจังหวัดมีธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ต้นแบบละ 1 แห่ง เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถนำมาก่อให้เกิดประโยชน์หลากหลาย รวมถึงต้องการให้เกษตรกรลด ละ เลิกการเผาเศษฟาง เศษซากพืช โดยให้นำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี เนื่องจากราคาปุ๋ยเคมีมีราคาสูงขึ้น ซึ่งปุ๋ยเคมีรวมถึงสารเคมีเป็นต้นทุนการผลิตของเกษตรกรคิดเป็น 40% ของต้นทุนทั้งหมด ถ้าเกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงต้นทุนการผลิตก็จะปรับลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จำเป็นต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่าปุ๋ยเคมีถึงจะได้ผลที่ชัดเจน ดังนั้นถ้าเกษตรกรต้องไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ที่ขายในท้องตลาดเองก็จะมีต้นทุนที่สูงหรือไม่แตกต่างกับปุ๋ยเคมีเท่าไรนัก

กรมพัฒนาที่ดินจึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรมารวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยเพื่อใช้เอง จะช่วยลดต้นทุนและเกิดความยั่งยืน โดยรูปแบบของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ปุ๋ยหมัก 2.ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ 3.ปุ๋ยพืชสด ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนปัจจัยการผลิต สารเร่ง พด. เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด เป็นทุนในการเริ่มต้นของธนาคาร จากนั้นธนาคารก็จะกำหนดรูปแบบการบริหารธนาคารขึ้นมา ซึ่งแต่ละแห่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของพื้นที่และความพร้อมของสมาชิก เช่น สมาชิกที่มาเอาปุ๋ยจากธนาคารไปใช้ก็ต้องนำวัตถุดิบที่สามารถนำมาทำปุ๋ยมาคืนให้กับธนาคาร อาจจะเพิ่มเป็นดอกเบี้ยให้กับธนาคารด้วย อย่างยืมปุ๋ยไป 1 ตัน อาจจะต้องนำวัตถุดิบมาคืน 1.2 ตัน เป็นต้น เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นเงิน เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรงในการช่วยกันผลิต ที่สำคัญการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จะทำให้ดินสามารถฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรก็จะได้ประโยชน์จากการมีที่ดินที่มีประสิทธิภาพในการเพาะปลูกมากขึ้น

โดยล่าสุดทางสถานีพัฒนาที่ดินสตูล สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ได้คัดเลือกพื้นที่บ้านสะพานเคียน หมู่ 2 ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล มาดำเนินการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ต้นแบบของจังหวัดสตูล เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นโรงปุ๋ยอินทรีย์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีการซื้อวัตถุดิบมาผลิตปุ๋ยขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พอนำรูปแบบธนาคารปุ๋ยอินทรีย์เข้ามาก็ปรับเปลี่ยนการดำเนินการ จากที่เคยซื้อขายก็มาแลกเปลี่ยนแทน เมื่อผลิตได้ปริมาณมากเพียงพอที่สมาชิกต้องการก็สามารถขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่นเพื่อนำรายได้มาเป็นทุนหมุนเวียนในธนาคารต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเกิดความยั่งยืนและสามารถขยายผลไปสู่การผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ในอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

ส่องเกษตร : ปฏิรูปเกษตรในรัฐธรรมนูญ

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายข่าวใหญ่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างเรื่องคณะกรรมาธิการยุโรปหรืออียู ประกาศให้

“ใบเหลือง” สินค้าประมงไทย ด้วยข้อกล่าวหาที่ประเทศไทยเพิกเฉยไม่แก้ไขและไม่ส่งรายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งจะมีเวลา 6 เดือน ให้ไทยเร่งรัดมาตรการแก้ไข มิเช่นนั้นอาจร้ายแรงถึงขั้นโดน“ใบแดง”ห้ามส่งออกสินค้าประมงไทยไปขายอียู ที่แต่ละปีมีมูลค่าร่วม 3 หมื่นล้านบาท เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเกาะติดต่อไป

ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมา รมว.เกษตรฯปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ก็นำทีมแถลงผลงาน 6 เดือนไปเรียบร้อย สื่อฯที่ได้ร่วมรับฟังจะเห็นด้วย คล้อยตามหรือคิดแย้งอย่างไร ก็ขึ้นกับความคิดเห็นแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อยากเขียนถึงไม่ใช่ 2 เรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องความคืบหน้าอีกขั้นตอนหนึ่งของการเดินหน้าประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวพันถึงเกษตรกรอย่างสำคัญด้วย

นั่นคือ เรื่องที่สปช.-สภาปฏิรูปแห่งชาติ ใช้เวลา 7 วัน ตลอดสัปดาห์ 20-26 เม.ย.อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำดราฟท์แรก ส่งให้สปช.แสดงความคิดเห็นเพื่อรับฟังแล้วนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขในขั้นตอนต่อไป

ที่จริงสปช.อภิปรายครอบคลุมครบทุกเรื่องที่บรรจุในรัฐธรรมนูญแต่สื่อต่างๆเลือกรายงานเพียงบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง การเข้าสู่อำนาจ อะไรทำนองนี้เสียเป็นหลัก

ผมจึงขอหยิบยกที่เกี่ยวพันกับเรื่องเกษตร มาเขียนถึงไว้ ณ ที่นี้ ในฐานะสื่อการเกษตรก็แล้วกัน

ตามรัฐธรรมนูญใหม่ดราฟท์แรกที่ร่างออกมานี้ มีสาระที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรอยู่ในภาคที่ 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ในหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 การปฏิรูปด้านต่างๆ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 293 ว่า“รัฐต้องดาเนินการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ

รายภาคตามแนวทางดังต่อไปนี้

(1) จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาภาคการเกษตรและเกษตรกรกำหนดเขตการใช้พื้นที่ทางการเกษตรรวมทั้งการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรระบบการแปรรูปสินค้าและนวัตกรรมทางการเกษตรโดยผสานองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและการวิจัยและการพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้มีความรู้และมีความมั่นคงทางรายได้และให้ประเทศไทยเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารและเป็นศูนย์ซื้อขายสินค้าเกษตรและอาหารล่วงหน้าในภูมิภาคเอเชีย

(2) กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมจัดหาจัดรูปและบริหารจัดการที่ดินของรัฐและของเอกชนที่ไม่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อเอื้อให้เกษตรกรและชุมชนสามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อทำกินรวมทั้งรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดโดยใช้มาตรการในการจัดตั้งธนาคารที่ดินการให้สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือมาตรการอื่นที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการประสานกันอย่างเป็นระบบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์สูงสุดจากที่ดิน

(3) คุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการผูกขาดทางการเกษตรระบบเกษตรพันธสัญญาและการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบเกษตรพันธสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร

(4) สร้างระบบประกันความเสี่ยงแก่เกษตรกร กรณีเกิดความเสี่ยงทางการผลิตหรือการตลาด

(5) ส่งเสริมการพัฒนาและขยายพื้นที่การทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีสัดส่วนพื้นที่อย่างน้อยหนึ่งในสี่ของพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมไทย โดยให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและให้องค์กรเกษตรกรและชุมชนมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนควบคู่และเสริมหนุนกับภาครัฐควบคุมการโฆษณาการใช้สารเคมีการเกษตรและส่งเสริมการใช้อย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการเพื่อลดการใช้สารเคมีการเกษตรที่เกินความจำเป็นลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค...”

ด้วยเนื้อที่คอลัมน์มีจำกัดเท่านี้ คงว่าถึงได้เพียงเรื่องเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรเท่านั้น ส่วนข้อคิดเห็นอื่นๆ เดี่ยวมีจังหวะ ค่อยว่ากันคราวหลังครับ

สาโรช บุญแสง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

การค้าเสรี-ตลาดศก. เพื่อพัฒนาประเทศ

เล่าสู่กันฟัง : การค้าเสรี-ตลาดศก. เพื่อพัฒนาประเทศ : โดย...บัญญัติ คำนูญวัฒน์

                           ถ้าจะพูดกันเรื่องค้าๆ ขายๆ ทำมาหากินก็ต้องนึกถึงวลีเด็ด ใครใคร่ค้า “ค้า” ใครใคร่ขาย “ขาย” ที่มีตั้งแต่สมัยสุโขทัย ยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่พ่อขุนรามคำแหงปกครองด้วยระบบพ่อปกครองลูก เมื่อกว่า 700 ปีมาแล้ว เพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีเสรีภาพทางการค้า ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ทั่วโลกก็ได้วางการแข่งขันตลาดเสรีกันตั้งแต่ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ดูได้จากแนวคิดเสรีภาพทางการค้า โดยอดัม สมิธ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ได้กล่าวถึงแนวคิดการค้าเสรีไว้ว่า เมื่อใดมีการแข่งบนพื้นฐานเศรษฐกิจในตลาดเสรี เมื่อนั้นผลประโยชน์จะตกอยู่กับสังคมและประเทศชาติ

                           ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจทั่วโลกมีเสรีภาพขึ้นมาก เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นสามารถติดต่อค้าขายได้ทั่วทุกมุมโลก มีอินเทอร์เน็ต เข้ามาช่วยกระตุ้นการซื้อขายสินค้าทั่วโลก จนกลายเป็นยุคของความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ถ้ามองการลงทุนทั้งโลก จะพบว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านล้านบาทต่อปี ถัวเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแต่ละปีมีการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 4% ในแต่ละปี

                           ยกตัวอย่าง..ประเทศที่น่าสนใจ ซึ่งได้เปิดการค้าเสรีจนกลายมาเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจระดับต้นๆ ของโลก เช่น ประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็ถือว่ามีการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายธุรกิจ ธุรกรรมไปทั่วโลกจนกลายเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม และประเทศจีนแม้เพิ่งจะเปิดประเทศไม่นาน แต่ด้วยวัฒนธรรมหลายพันปี มีการสะสมความรู้ ความหมั่นเพียร และความคิดทางด้านปรัชญามากมาย หลายปรัชญายังสามารถใช้ได้อย่างดีในยุคนี้ ปัจจุบันจีนมีทั้งท่าเรือน้ำลึก ศูนย์กลางทางการค้าเสรี แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ยังครอบคลุมไปถึงการค้าบนโลกออนไลน์

                           นอกจากนี้ ยังมีประเทศรัสเซีย แม้จะเคยเจอวิกฤติสมัยสงครามโลก แต่ปัจจุบันก็หันมาลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษพัฒนาประเทศเชื้อเชิญให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามา จนมีนักลงทุนเข้ามากกว่า 15 ประเทศ ร่วมกันพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนพม่าก็เป็นอีกหนึ่งประเทศเนื้อหอม ที่สำคัญตอนนี้เศรษฐกิจระหว่างไทยกับพม่า มีการเชื่อมโยงการค้าบริเวณด่านแม่สอดไปยังเมืองเมวดี ที่สามารถทำเงินเข้าประเทศได้กว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

                           เรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับการค้าเสรี ตลาดค้าขายที่เกิดมานาน จนกลายเป็นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลก “สายป่าน” ที่ทำลายกำแพงประเทศต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าจนก่อให้เกิดธุรกิจมากมาย แม้จะไม่มีเงินลงทุนสูงก็สามารถแข่งขันได้ตลอด 24 ชั่วโมง

                           วันนี้ไทยก็หนีไม่พ้นการแข่งขัน และการค้าเสรี มีตลาดการค้าเสรีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะตลาดเศรษฐกิจของอาเซียนกำลังจะเติบโตมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยมียอดขายกว่า 10 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจ การค้าขายเสรีนั้นบรรทัดสุดท้ายต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค และผู้ประกอบการทุกอาชีพ เพื่อนำไปสู่การจ้างงาน, ราคาสินค้า และความเสรีภาพทางการค้าขายอีกด้วย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

“KBS” ดันรายได้ปีนี้คาดโตตามเป้า โรงไฟฟ้าชีวมวล 35 เมกะวัตต์ช่วยหนุน 

น้ำตาลครบุรี คาดผลประกอบการปีนี้เติบโตฉลุย เหตุประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง หนุนรายได้เข้ากระเป๋าจากธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ เพิ่มในปีนี้อีกกว่า 550 ล้านบาท คลายกังวลปัญหาราคาอ้อย และน้ำตาลตกต่ำ เผยเตรียมอนุมัติจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้น ปี 2557 ในอัตรา 0.15 บาท/หุ้น

              นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.น้ำตาลครบุรี หรือ KBS กล่าวว่า บริษัทฯ คาดการณ์รายได้ และกำไรจากผลการดำเนินงานปีนี้จะเติบโตขึ้นกว่า 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยประมาณการรายได้ไม่น้อยกว่า 6,300 ล้านบาท โดยในปีนี้คาดว่ารายได้หลักจะมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ ที่จะสามารถรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าได้เต็มปี โดยคาดจะมีรายได้จากธุรกิจนี้ไม่น้อยกว่า 550 ล้านบาทต่อปี ขณะที่กำไรจากการขายไฟฟ้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทำให้บริษัทมีเสถียรภาพทางรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ในธุรกิจอ้อย และน้ำตาลในตลาดโลกต้องประสบต่อปัญหาราคาตก ซึ่งกระทบต่อรายได้ของบริษัทฯ โดยตรง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมที่จะอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลของประกอบการ ประจำปี 2557 ในอัตรา 0.30 บาท/หุ้น โดยได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.15 บาท/หุ้น เหลือจ่ายเพิ่ม 0.15 บาท/หุ้น จะเริ่มจ่ายในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

               “บริษัทฯ วางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะ 2 ปี (2558-2559) โดยเตรียมงบลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 4,300 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตน้ำตาลเพิ่มเป็น 35,000 ตันอ้อย/วัน โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้ และอีกส่วนหนึ่งคือ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถดำเนินการผลิตได้ในปี 2559 เพื่อรองรับปริมาณความต้องการพลังงานทดแทนที่มีมากขึ้น”

 จาก http://manager.co.th วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

หนุนเกษตรใช้ปุ๋ยสั่งเดินหน้าขยายผลตั้งปุ๋ยราคาถูก

เหมืองโปแตชอาเซียนหนุนเกษตรใช้ปุ๋ยสั่งเดินหน้าขยายผลตั้งปุ๋ยราคาถูก

           28เม.ย.2558 พล.ท.มงคล จิวะสันติการ กรรมการบริษัทเหมืองแร่โปแตซอาเซียนจำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่โปแตช ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันด์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน จัดอบรมเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด เพื่อลดต้นทุนการผลิตและส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ตั้งโครงการได้แก่ อบต.บ้านเพชร อบต.บ้านตาล และ อบต.หัวทะเล

          ทั้งนี้จะมีการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อให้เกษตรกรได้ทดลองใช้ปุ๋ยสั่งตัดจริงในพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเองโดยบริษัทจะเป็นฝ่ายสนับสนุนในเชิงข้อมูล ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือและติดตามโครงการ ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะมีการขยายผลในวงกว้างเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสหกรณ์ปุ๋ยราคาถูกให้แก่เกษตรกรในอนาคต

 จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

'ชลประทาน'ระบบท่อ...แค่อนุสาวรีย์แก้ภัยแล้ง

: โดย... พรพรรณ สีกะพา

          ช่วงฤดูแล้งภาคอีสานเป็นภาคเกษตรกรรมที่ต้องใช้น้ำมากจึงเกิดผลกระทบใหญ่แก่เกษตรไม่มีน้ำในการทำนา ซึ่งแนวทางของรัฐบาลที่ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง เพราะอาจเกิดความเสียหาย ซึ่งรัฐก็จะไม่มีการรับผิดชอบใดๆ ผลคือเกษตรกรส่วนใหญ่เชื่อฟัง งดทำนาปรัง ไม่มีรายได้ช่วงหน้าแล้ง และหวังพึ่งโครงการชลประทาน โดยเฉพาะชลประทานระบบท่อที่สร้างแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่นาของเกษตรกร 5 หมู่บ้าน 15 ถัง แต่เวลาผ่านมาหลายปีแท็งก์น้ำขนาดใหญ่กลับไม่ถูกใช้งานให้คุ้มค่าการลงทุนหลายพันล้านจนกลายเป็นเพียงอนุสาวรีย์กลางทุ่งนาที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

          "รัตนา เสนาดี" เกษตรกร ตบลบ้านผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น บอกว่า แท็งก์น้ำที่ตั้งอยู่ในที่นาของตัวเอง ปกติก็ใช้ได้ซึ่งนำน้ำไปพักไว้ภายในแล้วเปิดใช้ในช่วงการทำนาปี ถ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หากต้องการใช้น้ำก็จะเดินทางไปเข้าคิวที่เทศบาลบ้านผือ โดยต้องจ่ายเงินให้เทศบาลชั่วโมงละ 100 บาท ถ้าชาวนาคนไหนต้องการน้ำก็ทำแบบเดียวกัน บางคนใช้วิธีการหุ้นกัน 1 ชั่วโมง แบ่งกันออกคนละครึ่ง ตกชั่วโมงละ 50 บาทต่อคน ทำให้ประหยัดเงินที่ต้องจ่ายให้เทศบาลชั่วโมงละ 100 ได้

          ช่วงหน้าแล้งเทศบาลจะจำกัดการปล่อยน้ำสู่ที่นาเพราะกลัวว่าจะมีการลักลอบทำนาปรังโดยจะปล่อยน้ำมาแค่วันละ 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้เกษตรกรใช้ในการเกษตรอย่างอื่นเพราะมีนโยบายจากรัฐบาลให้งดทำนาปัง ถ้าเกิดความเสียหายชาวนาต้องรับผิดชอบตัวเอง ทางหน่วยงานจะไม่ได้เข้ามารับผิดชอบความเสียหายหากข้าวตายเพราะขาดน้ำ ซึ่งส่วนมากชาวนาที่บ้านผือ อ.หนองเรือ ก็ไม่มีคนทำนาปรังเนื่องจากเสี่ยงข้าวตายแล้ง

          “น้ำที่ซื้อจากเทศบาลชั่วโมงละ 100 บาท เต็มที่ 1 ชั่วโมง ได้เต็มพื้นที่นา 1 แปลง ถือว่าคุ้มเพราะไม่ต้องนำน้ำมาพักไว้ในแท็งก์ แต่ชาวนาที่นี่หันมาต่อท่อระบบตรงซึ่งจะเพียงพอกับความต้องการของชาวนามากกว่า ถึงแม้เทศบาลจะปล่อยน้ำออกมาเต็มแท็งก์ แต่เมื่อถึงฤดูกาลทำนาน้ำที่ต้องใช้กลับไม่เพียงพอเพราะ 1 แท็งก์ ต้องใช้กับชาวนาหลายคนเพื่อปล่อยน้ำใส่พื้นที่นาอีกหลายแปลง” นางรัตนา กล่าว

          ขณะที่นายทัศนัย ดีเรือง ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองแสง หมู่ 2 กล่าวว่า ช่วงหน้าแล้งชาวนาก็มีการใช้น้ำจากระบบท่อแต่เทศบาลจะจำกัดการปล่อยน้ำ ชาวนาบางคนก็ต่อคิวเพื่อซื้อน้ำมาพักไว้ที่สระน้ำส่วนตัวเพื่อใช้ในการเกษตรอื่นๆ โดยให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับรองและถ่ายภาพสระน้ำเพื่อประกอบการปล่อยน้ำของเทศบาล โดยจ่ายเงินชั่วโมงละ 100 บาทในการขอน้ำใช้ ชาวบ้านบางคนก็ไม่มีกำลังจ่ายก็ได้ใช้น้ำน้อยกว่าคนอื่นๆ บางครั้งก็ใช้การหุ้นเช่นเดียวกันเพราะสามารถประหยัดเงินได้อีก

          แท็งก์น้ำที่ตั้งไว้ในพื้นที่นานั้น ผู้ใหญ่บ้านทัศนัยบอกว่า ไม่ได้ใช้งานมากว่า 3 ปี แต่ชาวนาหันมาต่อท่อใหญ่เพื่อลงพื้นที่นาตัวเอง เพราะน้ำจะเข้าเร็วกว่าและคุ้มกว่า เนื่องจากแต่ก่อนท่อที่ต่อออกจากแท็งก์เป็นท่อแบบระบายทรายซึ่งไม่ทันต่อการปลูกข้าวและน้ำจ่ายออกไม่เพียงพอ ไม่สามารถใช้กับระบบการปลูกข้าวได้ ระบบท่อแบบระบายทรายที่ต้องพักน้ำไว้ที่แท็งก์จะใช้ประโยชน์ได้เฉพาะการปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง หรือพืชทนแล้ง ที่ต้องการน้ำน้อย ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่ทำนาไม่ปลูกพืชฤดูแล้ง หากพักน้ำไว้ในแท็งก์ น้ำที่เทศบาลปล่อยมาลงแท็งก์น้ำ 1 ชั่วโมงได้ค่อนถัง เมื่อเปิดออกมาใช้งานใช้น้ำได้ไม่ถึง 1 งาน เปิดทั้งวันก็ได้น้ำลงพื้นที่นาไม่ถึง 1 ไร่ หากเมื่อเข้าฤดูฝนชาวนาก็ไม่ค่อยได้ใช้น้ำจากเทศบาล

          แท็งก์น้ำ 15 ถังกระจายตั้งในพื้นที่นาของชาวบ้าน 5 หมู่บ้านในตำบลบ้านผือ อ.หนองเรือ ซึ่งทั้งหมดเทศบาลบ้านผือจะดูแลเรื่องระบบไฟฟ้าในการจ่ายน้ำ โดยก่อนหน้านี้เป็นหน้าที่กรมชลประทาน ปลัดเทศบาลตำบลบ้านผือ อ.หนองเรือ นายทวิช รุ่งเรือง ผู้ดูแลเรื่องนี้ชี้แจงว่า เทศบาลบ้านผือมีสถานีสูบน้ำระบบคลองเปิด 2 สถานีและคลองคอนกรีตอีก 2 สถานี รวม 4 สถานี ซึ่งหากเกษตรกรเข้ามาขอใช้บริการต้องการใช้น้ำก็จะมายื่นคำขอที่เทศบาลและจะมีการจ่ายค่าสมทบค่ากระแสไฟฟ้า

          กรณีการจ่ายผ่านระบบท่อจะมีโรงสูบขนาดใหญ่สูบน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งมีโรงสูบอยู่ที่บ้านโนนฆ้องก็จะสูบส่งผ่านไปตามท่อเพื่อไปขึ้นแท็งก์ขนาดใหญ่ทั้งหมด 15 แท็งก์ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่สูง โดยเกษตรกรในบริเวณไหนที่ต้องการใช้น้ำก็จะขอเปิดจากแท็งก์ที่อยู่ใกล้นาของตัวเอง

          ส่วนสาเหตุที่ชาวนาต้องเปลี่ยนมาต่อท่อตรงลงพื้นที่นาตัวเองนั้น ทวิช บอกว่า รูปแบบโครงการขณะนั้น นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นรูปแบบของการจ่ายน้ำแบบต่างประเทศ เป็นระบบให้ใช้น้ำกับพืชน้ำหยด พืชฤดูแล้งหรือพืชที่ต้องการน้ำน้อยในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งระบบนี้จะใช้กับการทำนาไม่ได้ เนื่องจากระบบน้ำหยดท่อที่จะออกเป็นท่อขนาด 2 นิ้ว ทำให้น้ำที่ได้ไม่เพียงพอ จึงมีการปรึกษากันระหว่างกรมชลประทาน เกษตรกรและท้องถิ่น ถ้าเป็นแบบนี้คงใช้ประโยชน์ไม่ได้จึงเปลี่ยนใหม่เป็นระบบท่อตรง เดิมทีท่อพอไปถึงแท็งก์ก็ไม่ดันน้ำขึ้นแท็งก์ แต่ดันน้ำตรงไปอีกท่อหนึ่ง ต่อกันไปเรื่อยๆ ชาวบ้านละแวกนั้นเรียกว่าจานตาบอด คือมีการปิดหน้าแปลนเพื่อไม่ให้ขึ้นแท็งก์น้ำ

            เจ้าหน้าที่เทศบาลยังบอกอีกว่า แท็งก์ทั้งหมดนี้บางส่วนยังมีการใช้งานเพราะบางพื้นที่ท่อต่อตรง แบบจานตาบอดไม่ผ่านพื้นที่นาของเกษตรกร ก็จำเป็นต้องขึ้นแท็งก์น้ำเพื่อที่จะส่งน้ำไปในพื้นที่ที่ท่อใหญ่ไม่ผ่าน

          “เกษตรกรที่เข้ามาจองคิวรับน้ำเพื่อการเกษตรมากสุดจองถึง 10 ชั่วโมง พอจ่ายเงินเรียบร้อยเทศบาลก็จะปล่อยน้ำไปตามท่อใหญ่ 8 นิ้ว ไม่ต้องขึ้นแท็งก์ แต่ปล่อยลงที่นาโดยตรง 10 ชั่วโมง ได้น้ำใช้ในนาประมาณ 10 ไร่ เกษตรกรก็ทำนาได้สบาย แต่หากปล่อยขึ้นถังจะปล่อยตามท่อเล็กน้ำที่ได้ 10 ชั่วโมงก็จะมาใส่ในนาได้ไม่ถึง 10 ไร่ แต่ช่วงนี้ต้องจำกัดการปล่อยน้ำเพราะน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ลดลงอย่างต่อเนื่อง กลัวว่าน้ำจะไม่เพียงพอก่อนเข้าถึงฤดูฝน” เจ้าหน้าที่เทศบาลบอก

          ส่วนงบประมาณที่ดำเนินการทั้งหมด สถานีคลองคอนกรีตที่บ้านโนนฆ้อง มูลค่า 50 ล้านบาท และอีก 1 โครงการอยู่ที่บ้านดอกกอก ใช้งบไป 27 ล้านบาท รวมแล้วเกือบ 100 ล้านบาทเลยทีเดียว

          สำหรับการนำร่องทำโครงการชลประทาน 10 หมู่บ้าน ใน 7 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และตราด ใช้งบทั้งสิ้น 875 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตร 50,000 ไร่

          แม้ว่าโครงการชลประทานระบบท่อจะถูกชูว่าเป็นการจัดการน้ำแบบก้าวหน้าเพราะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรได้ แต่ความเป็นจริงกลับมีเสียงสะท้อนมาอย่างต่อเนื่องจากเครือข่ายประชาชนโดยเฉพาะที่ภาคอีสานว่าล้มเหลว และกลับเป็นการสร้างภาระให้แก่เกษตรกรต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่มขึ้น

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

พัฒนาแก้มลิง“หนองเลิงเปือย” แก้ปัญหาน้ำกาฬสินธุ์-ขยายพื้นที่เกษตรกว่า7พันไร่

นายปฤหัส วงศ์ชัยภูมิ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์  กรมชลประทาน  เปิดเผยว่า   กรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 103.5 ล้านบาท  ในการดำเนินโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และน้ำท่วมในฤดูฝนให้กับเกษตรกรที่อาศัยอยู่โดยรอบแก้มลิงดังกล่าว โดยจะทำการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำเพิ่มใหม่อีก 2 แห่ง ก่อสร้างอาคารรับน้ำและระบบระบายน้ำ  ก่อสร้างระบบกระจายน้ำพื้นที่ถมดินฝั่งตะวันตกของแก้มลิงฯ ปรับปรุงปลายคลอง LMC โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว และปรับปรุงคลองส่งน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านนาเรียง 1 และ 2 รวมทั้งดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำอีกด้วย

                นอกจากนี้ในส่วนของกองทัพบกได้ดำเนินการขุดลอกแก้มลิงหนองเลิงเปือยที่ตื้นเขิน เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำจาก 1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)  เป็น 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขณะนี้ได้ขุดลอกไปแล้วประมาณ 740 ไร่ จากทั้งหมด 887 ไร่   ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินแล้วเสร็จทั้งโครงการประมาณเดือนมิถุนายน 2558 นี้  ซึ่งจะทำให้สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ไร่ รวมทั้งสิ้นเป็น 7,200 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.โพนงาม อ.กมลาไสย และ ต.สามัคคี ต.เหล่าอ้อย ต.ร่องคำ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์  มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 2,000 ครัวเรือน

                อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการปรับปรุงแก้มลิงหนองเลิงเปือย โดยได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาด 3 ช่องเพื่อบริหารจัดการน้ำ และก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 3 แห่ง สามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ 5,200 ไร่   พร้อมทั้งยังได้การก่อสร้างถนนรอบแก้มลิง เพื่อใช้ลำเลียงผลผลิตทางการเกษตรและแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งทางด้านท้ายน้ำของแก้มลิงอีกด้วย

                “แก้มลิงหนองเลิงเปือยมีสถานะตื้นเขินเก็บน้ำได้เพียง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอกับความต้องการ และในช่วงฤดูฝนน้ำก็ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร กรมชลประทาน กองทัพบก หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันการปรับปรุงและขุดลอกแก้มลิงแห่งนี้ และยังได้มีมติจากเวทีประชาคมให้นำดินที่ขุดลอกทั้งหมดมาถมพื้นที่ทำกินเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม แต่เมื่อถมไปแล้วทำให้พื้นที่สูงขึ้น รับน้ำไม่สะดวก กรมชลประทานจึงได้ของบประมาณ จำนวน 103 ล้านบาทดังกล่าว มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ กล่าวในตอนท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

คลังเผยไทยเตรียมมาตรการรับเออีซีแล้ว81%

คลังเผย ขณะนี้ไทยดำเนินมาตรการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วถึง 81% เป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ ชี้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นโอกาส หากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมรองรับ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเปิดสัมมนา "ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงิน การคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน(เออีซี) ครั้งที่ 1"ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเป็นประชาคมอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยความพร้อมของไทยในการดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อบรรลุเป้าหมายการรวมตัวดังกล่าว ขณะนี้ ได้ดำเนินการไปแล้วถึง 81% นับเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 81.3% ขณะที่ ประเทศสมาชิกในอาเซียนได้ดำเนินการไปแล้วโดยเฉลี่ยที่ 77%

อย่างไรก็ดี คณะมนตรีประชาคมอาเซียนอยู่ระหว่างการติดตามการดำเนินการของมาตรการที่เหลือ โดยมาตรการที่มีการดำเนินการล่าช้า ได้แก่ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ศุลกากร การบริการ การลงทุนและการขนส่ง โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่ส่งผลให้การดำเนินการล่าช้ามาจากนโยบายในประเทศ การปรับประสานกฎระเบียบของประเทศสมาชิก และกระบวนการภายในประเทศที่มีความซับซ้อน ทำให้มาตรการต่างๆดำเนินการได้ล่าช้า ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการจัดทำมาตรการที่เหลืออยู่

นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 นี้ ไทยและประเทศสมาชิกในอาเซียนจะเริ่มเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นโอกาสและความท้าทาย โดยกรณีของไทยนั้น ถ้าไม่เตรียมตัวให้พร้อมจะถือว่า เป็นการปิดโอกาส และ เปิดโอกาสให้แก่ประเทศอื่นที่จะดึงดูดการลงทุนจากนอกกลุ่มอาเซียน

ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐและเอกชนมองการรวมตัวครั้งนี้เป็นโอกาส เพื่อให้เร่งเตรียมความพร้อมรองรับการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นมหาศาล

ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมรองรับประชาคมอาเซียนจะต้องดำเนินการ 2 ด้านประกอบกัน กล่าวคือ 1.ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม และ 2.ต้องจุนเจือประเทศเพื่อนบ้านให้แข็งแรงด้วย โดยเมื่อไทยแข็งแรงและประเทศสมาชิกแข็งแรง ก็จะทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนมีความแข็งแรงและมีอำนาจในการต่อรองกับประเทศอื่นๆ

“แม้การรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนจะทำให้อัตราภาษีของเราต้องปรับลดลง และทำให้รายได้ลดลงบ้าง แต่แน่นอนว่า เมื่อเรารวมตัวกัน จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกได้มากขึ้น”

สำหรับยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 1.การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และด้านการเงิน 2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ ปรับปรุงโครงสร้างภาษีทั้งระบบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค เช่น สนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชนระดับฐานรากและเอสเอ็มอี และ4.การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เช่น สนับสนุนการจัด

ทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศนอกกลุ่ม คาดว่าไทยสามารถรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ความพยายามของประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยประเทศสมาชิกอาเซียนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาที่ 5.2%ต่อปี คิดเป็น 2 เท่า ของอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ยังมีจีดีพีเพิ่มเป็น 2 เท่า ส่งผลให้ระดับความยากจนปรับลดลง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

ไทยร่วมหารือลดภาษีอาเซียน 

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเจรจาทางการค้าสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (ASEANHong Kong Trade Negotiation Committee: AHKTNC) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2558 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยมีรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย สำหรับหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายฮ่องกง คือ Mr.Raistlin Lau, Deputy Director-General, Trade and Industry Department of Hong Kong และมีผู้แทนจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเข้าร่วมด้วย โดยรูปแบบการประชุมเป็นลักษณะของการเจรจาควบคู่กันของคณะทำงาน 7 คณะ

          เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า อาเซียนและฮ่องกงได้มีการประชุมความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อเดือนกรกฎาคม และพฤศจิกายน 2557 ตามลำดับ โดยฮ่องกงและอาเซียนจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าในที่ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าอาเซียน-ฮ่องกง ครั้งที่ 3 ในเรื่องการค้าสินค้า ได้มีการหารือเรื่องรูปแบบการลดภาษีของฝ่ายอาเซียน และข้อสรุปสำหรับกลุ่ม ASEAN+6 โดยมีรูปแบบการลดภาษีในกลุ่มสินค้าลดภาษีปกติที่ร้อยละ 85 ของรายการสินค้าทั้งหมด (แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 จำนวนร้อยละ 65 เป็นการลดภาษีเป็น 0 ทันที หรือภายในระยะเวลา 3 ปี ส่วนกลุ่มที่ 2 จำนวนร้อยละ 20 จะลดภาษีเป็น 0 ภายในระยะเวลา 10 ปี)  สินค้าอ่อนไหวร้อยละ 5 และรายการสินค้ายกเว้นภาษีร้อยละ 5 ยกเว้น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยจะเสนอรูปแบบการลดภาษีที่แตกต่าง และจะแจ้งข้อเสนอให้ฮ่องกงทราบภายหลัง

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดิน แนะวิธีการจัดการดินเปรี้ยวจัด (2)

สืบเนื่องจากตอนที่แล้วได้ทิ้งท้ายถึงวิธีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด โดยปัญหาของดินเปรี้ยวจัด สภาพเนื้อดินจะเป็นดินเหนียว แข็ง แตกระแหง กว้าง และลึก ดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดรุนแรง ขาดธาตุอาหารขาดความสมดุลของธาตุอาหารพืช มีความเป็นพิษจากเหล็กและอะลูมินั่ม ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลไม่ดีต่อพืชในการเจริญเติบโต  ทั้งนี้การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด มีด้วยกันหลายวิธี โดยเบื้องต้นกรมพัฒนาที่ดินได้แนะวิธีการปรับปรุงแก้ไขไว้ดังนี้ คือ การใช้น้ำล้างดิน สำหรับดินที่มีปฏิกิริยาของดินเป็นกรดไม่รุนแรง อาจใช้วิธีการทำให้กรดเจือจางลง โดยการใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดในดิน หรือการขังน้ำไว้นานๆ แล้วระบายออกก่อนปลูกพืช ร่วมกับการเลือกพันธุ์พืชที่ทนต่อดินกรด แล้วใส่วัสดุปูนปรับปรุงแก้ไขความเป็นกรดของดิน อาทิ ปูนมาร์ล ปูนขาว ปูนโดโลไมท์ หินปูนบด เพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน รวมถึงการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เกษตรกรควรปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินแล้วสับกลบบำรุงดิน มีการเพิ่มธาตุอาหาร ใส่ปุ๋ยต่างๆในอัตราที่เหมาะสม ควบคู่กับการใช้น้ำหนักชีวภาพ ซุปเปอร์ พด.2 ฉีดพ่น และปลูกพืชทนกรด อย่าง สับปะรด ฝรั่ง ปาล์มน้ำมัน กระท้อน

                สำหรับพื้นที่ปลูกข้าว ให้เกษตรกรใส่วัสดุปูน อาทิ ปูนมาร์ลโดโลไมท์ 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านในนาในสภาพน้ำขัง ไถหมักไว้ 7 วันก่อนปลูกข้าวและปลูกพืชตระกูลถั่ว ระยะเวลาประมาณ 50-60 วัน แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดหมักไว้อีก 10 วันจึงปลูกข้าว รวมถึงการใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ รองพื้นร่วมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ และแต่งหน้าด้วยปุ๋ยยูเรีย ไร่ละ10 กิโลกรัม ช่วงข้าวตั้งท้อง ควบคู่กับการใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 อัตรา 10 ลิตรต่อไร่ ฉีดพ่น 3 ครั้ง เมื่อข้าวอายุ 30 50 และ 60 วันหลังข้าวเริ่มงอก หรือจะใส่พร้อมปล่อยน้ำเข้านาเลยก็ได้

                ในส่วนการยกร่องปลูกผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น เกษตรกรต้องหว่านปูนปรับปรุงดินในแปลงปลูกพืช หรือปรับปรุงดินในหลุมปลูก หมักไว้ 20 วันก่อนผสมดินกับปุ๋ยอินทรีย์ ควบคู่กับการใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำสำหรับพืชแต่ละชนิด ที่ขาดเสียไม่ได้คือใช้น้ำหมักชีวภาพซุปเปอร์พด.2 ฉีดพ่นเป็นครั้งคราวเพื่อพืชผักและผลไม้ให้มีการเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558 

วิสุทธิ์ยันกรอบการเงิน-คลังพร้อมรับเออีซีภาษีเหลือ0%แล้วเกือบทุกรายการหอการค้าไทยยังห่วงธุรกิจเอสเอ็มอี

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวในการสัมมนายุทธศาสตร์ด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมการเปิดเออีซี ในปลายปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการภายใต้ แผนเออีซี หรือแผนการจัดการพิมพ์เขียว( บลูปริ๊น) ที่มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 87.1% ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ทั้งการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน, เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน, พัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค, การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

              ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจำมีการดำเนินงานภายใต้ ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ 13 กลยุทธ์ 34 มาตรการ โดย 13 กลยุทธ์  อาทิเช่น การอำนวยความสะดวกการค้า, การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน, อำนวยความสะดวกด้านการเงิน, การปรับปรุงโครงสร้างและประสานข้อมูลทางภาษี, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ

                  นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงบริการด้านการเงินของภาคธุรกิจไทยในต่างประเทศ, ผลักดันสกุลเงินบาทในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการกับกลุ่มประเทศ, จัดทำความตกลงยอมรับร่วมสาขาย่อยต่างๆด้านการเงินเท่าที่เป็นไปได้, ปรับปรุงโครงสร้างภาษีทั้งระบบ และประสานสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน  และเร่งรัดการจัดทำอนุสัญญาความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน เป็นต้น

                 “การรวมตัวของกลุ่มอาเซียนที่ผนึกกำลังกัน จะช่วยให้มีอำนาจต่อรองกับประเทศอื่นๆ ที่จะเข้ามาทำการค้าและลงทุน โดยยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเดินหน้าเออีซีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงทางด้านการคลัง การค้าระหว่างประเทศ รับชำระเงิน และอัตราภาษีต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้อาเซียนสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง” นายวิสุทธิ์ กล่าว

                 นางอารีย์ ฉวีวรรณมาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความร่วมมือทางศุลกากรระหว่างประเทศ กรมศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบันภาษีระหว่างอาเซียนปรับลดลงเหลือ 0 % หมดแล้วทุกประเทศ เหลือเพียง 4 รายการเท่านั้น ซึ่งยังคงไว้ 5 % คือ ไม้ตัดดอก กาแฟ มันฝรั่ง และเนื้อมะพร้าว

              นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การเข้าสู่เออีซี ยังมีความไม่พร้อมของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ตั้งปรับตัวเพื่อการแข่งขันของผู้ประกอบการ ตลาดสินค้าในประเทศก็ยังไม่มีกลไกในการป้องกันไม่ให้สินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่ผลิตได้ในประเทศสมาชิกเข้ามาขายในประเทศมากขึ้น เช่น ของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และการเคลื่อนย้ายแรงงานไม่มีฝีมือ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

               ดังนั้นภาคธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประสิทธิภาพของแรงงาน ความพร้อมด้านสาธารณูปโภค กฎเกณฑ์ด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า โครงสร้างภาษี ระบบศุลกากร และกฎระเบียบที่เกี่ยวโยงกับการทำให้เกิดความง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ  แต่อย่างไรก็ตามการเปิดการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558 

เศรษฐกิจโลกป่วนทำค้าข้ามชาติเสี่ยง ผู้ส่งออกแย่เจอเบี้ยวหนี้เพิ่ม

ปัญหาเศรษฐกิจโลกพ่นพิษค้าข้ามชาติ ยอดเบี้ยวหนี้ส่งสัญญาณสูงขึ้นทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป  เอ็กซิมแบงก์ระบุไตรมาสแรกผู้ส่งออกประสบปัญหาคู่ค้าจ่ายเงินช้าเพิ่มขึ้นเท่าตัวด้านพาณิชย์เผย 3 เดือนแรกส่งออกติดลบ 4%  คาดทั้งปีโตแค่ 1%

นายสุธนัย ประเสริฐสรรพ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศในปี2558 ว่ายังต้องจับตาเรื่องการชำระเงินล่าช้าและการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจในตลาดต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะปัญหาการชำระเงินล่าช้าพบว่าขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป

โดยในไตรมาส1 ปี2558 ลูกค้าประกันการส่งออกของเอ็กซิมแบงก์ ประสบปัญหาผู้ซื้อชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนรายสูงขึ้นเท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีการยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 9 ราย มูลค่ารวม 13.93 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากผู้ซื้อล้มละลาย 7 ราย คิดเป็นมูลค่า 10.12 ล้านบาท และผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า 2 ราย คิดเป็นมูลค่า 3.81 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาได้แก่ ผักผลไม้สดและกระป๋อง

นายสุธนัย กล่าวว่า เอ็กซิมแบงก์ พร้อมให้บริการประกันการส่งออกแก่ผู้ส่งออกไทย เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า อันเนื่องมาจากผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงิน ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า การควบคุมการโอนเงินและการห้ามนำเข้าสินค้าโดยรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ สงคราม จลาจล และปฏิวัติ

นอกจากนี้ประกันการส่งออกยังช่วยให้ผู้ส่งออกไทยแข่งขันได้มากขึ้น เพราะสามารถให้เทอมการชำระเงินแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้ผ่อนปรนขึ้นกว่าผู้ส่งออกรายอื่น ด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับชำระเงินตามที่ตกลงกันไว้แน่นอน โดยผู้ส่งออกไทยสามารถติดต่อทำประกันการส่งออกได้หลายรูปแบบ รวมทั้งรับเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้นสำหรับผู้ส่งออกเอสเอ็มอี หรือบริการสินเชื่อพร้อมประกันการส่งออกที่เรียกว่าสินเชื่อเอสเอ็มอี ส่งออกสบายใจ ซึ่งให้วงเงินอนุมัติสูงสุดถึง 6 เท่าของหลักประกัน

“โอกาสทางการค้าเปิดกว้างมากขึ้นทั่วโลก แต่ก็มาพร้อมกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจของตลาดเหล่านั้นที่จะทำให้ผู้ส่งออกไทยมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินจากการค้าขายตามปกติ ผู้ส่งออกไทยจึงควรทำประกันการส่งออกทุกครั้งที่ส่งออก โดยให้ธนาคารเข้ามาทำหน้าที่รับความเสี่ยงดังกล่าว และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ทุ่มเทเวลาและทรัพยากรที่มีอยู่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการที่มีของตลาด เป็นการทำให้ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจได้อย่างมั่นใจ ทั้งการค้าขายกับผู้ซื้อรายเดิมและผู้ซื้อรายใหม่ในตลาดที่มีความต้องการซื้อสินค้าไทย” นายสุธนัย กล่าว

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์กล่าวว่าเบื้องต้นจากที่ได้รับรายงานตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคมยังคงติดลบประมาณ4%กว่าๆ แต่ก็ถือว่าน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ติดลบ 6.14%  และเมื่อรวม 3เดือนแรกของปีหรือไตรมาสแรกส่งออกติดลบประมาณ 4% กว่าๆ เช่นกัน โดยในวันที่ 28 เมษายนนี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์จะแถลงสถานการณ์ตัวเลขส่งออกเดือน มีนาคม 2558 อย่างเป็นทางการอีกครั้งพร้อมทั้งจะชี้แจงการปรับประมาณการณ์เป้าหมายส่งออกทั้งปีของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 1%จากประมาณการณ์เดิมที่ 4%

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนได้ร่วมมือกันทำโครงการพี่จูงน้องโดยหวังให้โครงการดังกล่าวช่วยผลักดันผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีได้มีโอกาสเปิดตลาดในต่างประเทศ และยังหวังให้เป็นตัวช่วยเหลือให้การส่งออกไทยเข้มแข็งขึ้นอย่างยั่งยืนซึ่งจะมีเอสเอ็มอีมากกว่า 50 ราย ได้รับการคัดเลือกส่งสินค้าไปทดลองจัดจำหน่ายในตลาดเป้าหมาย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ อาทิเครือสหพัฒนพิบูล เครือเซ็นทรัล บริษัทไทยเบฟเวอเรจและบริษัทล็อกเลย์เป็นพี่เลี้ยงในการแนะนำเรื่องธุรกิจ และเริ่มดำเนินการ

พาผู้ประกอบการรายย่อยออกไปเปิดตลาดต่างประเทศต่อไป ซึ่งภายในสิ้นปี 2558 คาดว่าจะเห็นผลว่าประสบความสำเร็จมาก น้อยแค่ไหน

“โครงการจะช่วยแนะนำผู้ประกอบการรายย่อย ให้พัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม เพื่อเตรียมสินค้าให้พร้อมเพื่อการส่งออก ผ่านช่องทางของเครือข่ายของผู้ประกอบการรายใหญ่ในต่างประเทศ”

ส่วนเรื่องของ IUU หรือกฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ที่ไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป และได้รับเวลา6 เดือนในการแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรีได้ได้มอบหมายให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบในการภาพรวม ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายในการสร้างความเข้าใจ ชี้แจงต่อกลุ่มคู่ค้า ในยุโรป ซึ่งนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์จะรับผิดชอบในการนำข้อเท็จจริง และแนวทางการในการแก้ไขไปชี้แจง โดยจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558 

ปัญหาเกษตรที่นี่มีคำตอบ : ความสำคัญ ลักษณะ และคุณสมบัติของดินทางการเกษตร

คำถาม ดินที่จะใช้ในงานเกษตรกรรมต้องมีลักษณะอย่างไร และในเนื้อดินจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างครับ

จำนงค์ ทองคำมา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

คำตอบ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ดิน มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืช เป็นแหล่งผลิตปัจจัยสี่ของมนุษย์ นับตั้งแต่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค สำหรับพืช เป็นที่ยึดเกาะราก ให้ธาตุอาหารพืช ให้น้ำแก่รากพืช ช่วยขจัดของเสีย และเป็นแหล่งจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช สำหรับประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ดินเป็นปัจจัยพื้นฐานทางการผลิตที่สำคัญของภาคเกษตร เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ  แต่มนุษย์เองนั่นแหละ เป็นผู้ทำลายดินให้เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ

ดินในแต่ละพื้นที่ ล้วนมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยในการสร้างตัวของดิน การเรียนรู้เพื่อรู้จักดินเบื้องต้น จำเป็นต้องรู้จักลักษณะและสมบัติของดินบางประการเสียก่อน เริ่มจากรู้จัก สีของดิน เนื้อดิน โครงสร้างของดิน ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และความลึกของดิน เหล่านี้จะช่วยบอกอะไรเราได้บ้าง

สีของดิน เป็นลักษณะที่เรามองเห็นได้ชัดเจน เราสามารถประเมินสมบัติบางอย่างได้ เช่น การระบายน้ำของดิน อินทรียวัตถุในดิน และระดับความอุดมสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ดินสีดำ สีน้ำตาลเข้ม หรือสีคล้ำ เป็นดินที่มีอินทรียวัตถุมาก เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินแร่ เป็นดินค่อนข้างดีมีความอุดมสมบูรณ์สูง ดินสีเหลืองหรือสีแดง เป็นดินที่มีแร่เหล็กสูง ระบายน้ำได้ดี ดินสีขาวหรือสีซีด เป็นดินปนทราย มีอินทรียวัตถุต่ำ

เนื้อดิน เรารับรู้ได้จากการสัมผัสถึงความหยาบ ความเนียน ความเหนียว สามารถประเมินการอุ้มน้ำได้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ดินร่วน ดินทราย และดินเหนียว ดินร่วนเป็นดินที่มีลักษณะค่อนข้างดี แข็งพอประมาณ มีความชื้น ไถพรวนได้ง่าย เหมาะแก่การเพาะปลูก

โครงสร้างของดิน เป็นการจับตัวของอนุภาคดินด้วยสารเชื่อมต่างๆ เช่น ฮิวมัส ทำให้เกิดเป็นเม็ดดิน และเมื่อรวมกันเป็นกลุ่มโดยยึดต่อกันเป็นรูปร่างและขนาดต่างๆ ช่วยบอกให้เรารู้ถึงการซึมผ่านของน้ำ การอุ้มน้ำ การระบายน้ำ และการถ่ายเทของอากาศ ดินที่มีโครงสร้างดี ต้องมีลักษณะร่วนซุย รากของพืชสามารถซอนไซได้ดี

ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน หรือค่าพีเอช (pH) เป็นค่าที่วัดความเป็นกรดเป็นด่างของดิน บอกเป็นตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 14 ถ้าค่าน้อยกว่า 7 แสดงว่ามีความเป็นกรด และค่าสูงกว่า 7 แสดงว่ามีความเป็นด่าง พืชทั่วไปจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงค่าพีเอช 6 ถึง 7

ความลึกของดิน ในทางการเกษตร แบ่งเป็น 5 ชั้น ได้แก่ ชั้นหินพื้น ชั้นดานแข็ง ชั้นศิลาแรง ชั้นกรวด และชั้นเศษหิน หรือชั้นลูกรังที่หนาแน่นมาก ความลึกความตื้นของดิน มีผลต่อการเลือกชนิดของพืชที่ปลูก การยึดเกาะของราก การทรงตัวของพืช ปริมาณความชื้น ธาตุอาหาร และอุณหภูมิในดิน

ลักษณะและสมบัติที่กล่าวมานี้ สามารถตรวจสอบได้เอง เราไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบให้ยุ่งยาก อาจต้องเรียนรู้บ้างและทักษะก็จะเกิดขึ้นเอง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558 

ปุ๋ย-เคมีภัณฑ์รับลูกพาณิชย์

พาเหรดลดราคาช่วยนาข้าว ยาง ปาล์มและผลไม้

    ก.พาณิชย์กล่อม พ่อค้าปุ๋ยเคมี - สารกำจัดวัชพืช อยู่หมัด ร่วมกิจกรรมลดราคา ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร "ยักษ์วงการคึกคักแห่ชิงเค้ก ด้านผู้นำเข้าอ้อนซัพพลายเออร์ต่างประเทศ ขอราคาพิเศษดันยอดขายเพิ่ม คน.ขู่ใครตุกติกโทษหนัก ทั้งจำและปรับ

    แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงมาตรการของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีให้มีการพิจารณาปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่ใช้นาข้าว และพืชชนิดอื่นๆว่าในส่วนของการปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีโดยร้านค้าตัวแทนจำหน่ายในกทม.และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน-30 พฤศจิกายน 2558 ได้แก่ ปุ๋ยเคมีที่ใช้ในนาข้าว จำนวน 4 สูตร ได้แก่ 1. ปุ๋ยสูตร 46-0-0  ราคาอยู่ที่ 665 บาทต่อกระสอบ (ขนาด 50 กิโลกรัม) ราคาใหม่ ราคา 625 บาท บาทต่อกระสอบ 2. ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ราคาเดิมอยู่ที่ 695 บาทต่อกระสอบ  จะปรับลดราคาใหม่ ที่ 645 บาทต่อกระสอบ 3. ปุ๋ยสูตร 16-6-8 ราคาเดิมอยู่ที่  735 บาทต่อกระสอบ ราคาปรับลดอยู่ที่ 685 บาทต่อกระสอบ 4. ปุ๋ยสูตร 16-8-8 ราคาเดิม 605 บาทต่อกระสอบ ปรับลดอยู่ที่ 555 บาทต่อกระสอบ

    601นอกจากนี้ยังมีปุ๋ยที่ใช้กับพืชชนิดอื่น จำนวน 7 สูตร อาทิ  ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และผลไม้ เป็นต้น  ได้แก่ 1.ปุ๋ยสูตร 18-4-5 ราคาอยู่ที่ 570-595 บาทต่อกระสอบ จะปรับลดราคาใหม่ที่ 545-555 บาทต่อกระสอบ 2.ปุ๋ยสูตร 14-4-9 ราคาอยู่ที่ 570-595 บาทต่อกระสอบ จะปรับลดราคาใหม่ที่ 540-545 บาทต่อกระสอบ 3.ปุ๋ยสูตร 15-7-18 ราคาอยู่ที่ 730-760 บาทต่อกระสอบ จะปรับลดราคาใหม่ที่ 695-720 บาทต่อกระสอบ 4. ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ราคาอยู่ที่ 400-410 บาทต่อกระสอบ จะปรับลดราคาใหม่ที่ 370-380 บาทต่อกระสอบ 5. ปุ๋ยสูตร  0-0-60 ราคาอยู่ที่ 715-810 บาทต่อกระสอบ จะปรับลดราคาลงที่ 680-770 บาทต่อกระสอบ 6. ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ราคาอยู่ที่ 820-990 บาทต่อกระสอบ ราคาจะปรับลดลงที่ 780-950 บาทต่อกระสอบ และสุดท้ายปุ๋ยสูตร 18-8-8 ราคาอยู่ที่ 620 บาทต่อกระสอบ ราคาที่ปรับลดลงมา 590 บาทต่อกระสอบ รวมปุ๋ยเคมี 11 สูตร (ดูตารางประกอบ)

    แหล่งข่าวกล่าวว่า การอ้างอิงราคาเดิม เป็นราคาฐานของเดือนมกราคม ส่วนในการปรับลด นั้นเป็นราคาเดือนเมษายน ที่เกษตรกรสามารถใช้อ้างอิงในการซื้อปุ๋ยเคมี เพื่อตรวจสอบว่าร้านค้าลดราคาให้หรือไม่ จะรวมค่าขนส่งตามระยะทางด้วย อย่างไรก็ดีทางผู้นำเข้าปุ๋ยเคมี ได้ส่งหนังสือไปถึงซัพพลายเออร์ในประเทศต่างๆ เพื่อขอราคาพิเศษสำหรับนโยบายของรัฐบาลในการลดต้นทุนเกษตรกร ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้กว่า 10 บริษัท รวม 15 ยี่ห้อ จากสมาชิกทั้งหมดกว่า 40 บริษัท

    ประกอบด้วยปุ๋ยตรากระต่าย ของบริษัท เจียไต๋ จำกัด (บจก.) ปุ๋ยตราหัววัวคันไถ ของบริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน), ปุ๋ยตรายู-แม็กซ์(ไม่ทราบผู้ผลิต), ปุ๋ยตรามงกฎ ของบจก.เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ในเครือพรรณธิอร หนึ่งในกลุ่มธุรกิจของไทยเบฟ ปุ๋ยตราม้าบิน ของบจก.ไอซีพี เฟอทิไลเซอร์, ปุ๋ยตราลูกโลก และปุ๋ยตราดอกบัวบาน ของบจก.กรุงเทพฯอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เครือซีพี, ปุ๋ยตรายารา ของบจก.ยารา(ประเทศไทย), ปุ๋ยตราเรือใบไวกิ้ง ของประวิทย์กรุ๊ป, ปุ๋ยตราพลอยเกษตร ในเครือศักดิ์สยามกรุ๊ป, ปุ๋ยตราแผ่นดินทอง/ต้นคูณ/เม็ดเงิน/ม้ามังกร ของห้างหุ้นส่วนมหาวงศ์การเกษตร จำกัด และปุ๋ยตราลูกโลกเกลียวเชือก ของ บจก.ไทยธุรกิจเกษตร ที่มียอดขายรวมในตลาดไม่ต่ำกว่า 75%

    ด้านดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช 7 สารประกอบด้วย ไกลโฟเสต 48% SL, พาราควอต 27.6% SL, บิวทาคลอร์ 60% EC , 2,4-ดี 95%, โพรทานิล, บิสไพริแบก-โซเดียม 10% SC และเพรทิลลาคลอร์ 30% EC  ประกอบด้วย 27 บริษัท ได้แก่  1.บจก.เอสทีมอินเตอร์เทรด   2.บมจ.พาโตเคมีอุตสาหกรรม  3.บจก.แบ็ทเทอร์ อโกรเคมีคัล  4.บจก.เพ็นต้าเคมี  5.บจก.กรีนลีฟส์  6.บจก.แอ็กกี้เวย์  7.บจก.ฮุยกวง(ไทยแลนด์) 8.บจก.เคโมฟายล์ 9.บจก.เอคิว ครอป 10.บจก.ไทยเฮอร์บิไซด์ 11.บจก.ป.เคมีเทค 12.บจก.ลัดดา 13.หจก.ฟาร์มอะโกร 14.บจก.แพลนเตอร์ 15.บจก.ฟลอราเทค 16.บจก.เซฟฟาร์ม 17.บจก.ซุพพีเรียร์เคมีอุตสาหกรรม(ปทท.)  18.บจก.มิตรสมบูรณ์  19.บจก.มาสเตอร์ อโกรเทค 20.บจก.ทรีเท็ค 21.บจก.ชาร์ฟฟอร์มูเลเตอร์  22.บจก.ยูนิไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล 23.บจก.แอ็กโกร(ปทท.) 24.บจก.เอราวัณเคมีเกษตร  25.บจก.เจียไต๋ 26.บจก.อาคเนย์เกษตรกรรม  27. บจก.เมเจอร์ฟาร์ คอร์ปอเรชั่น

    แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เมื่อทางจังหวัดได้ออกประกาศราคาแนะนำในแต่ละพื้นที่แล้ว หากพบว่ามีการจำหน่ายในราคาที่สูงเกินกว่าราคาแนะนำโดยไม่มีเหตุผลอันควร และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 27 เมษายน 2558

ก.เกษตรฯเปิดตัวปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน3สาขา

ก.เกษตรฯ เปิดตัวเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เตรียมเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2558

 นายชวลิต  ชูขจร  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ ที่มีผลงานดีเด่นสาขาอาชีพ/ประเภทที่กำหนดเป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือเป็นแบบอย่าง ในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตร โดยในปี 2558 นี้ มีเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่น ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2558 ในวันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2558 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 15 สาขาอาชีพ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา ดังต่อไปนี้

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558 จำนวน 15 สาขาอาชีพ คือ 1) อาชีพทำนา ได้แก่ นางสาวสดวก จำรัส จังหวัดแพร่ 2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล จังหวัดชุมพร  3) อาชีพไร่นา ได้แก่ นายสนั่น ยิ้มระย้า จังหวัดสุพรรณบุรี  4) อาชีพไร่นาส่วนผสมได้แก่ นางรำพึง อินทร์สำราญ จังหวัดสุรินทร์  5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางรุจาภา เนียนไธสง จัดหวัดบุรีรัมย์  6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี จังหวัดราชบุรี 7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสำเนา เกาะกาเหนือ จังหวัดนครนายก 8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายฉัตรกุล ถิ่นท่าเรือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 9) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสมศักดิ์ แก้วมณีทอง จังหวัดราชบุรี 10) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นาวสาวสิรินุช ฉิมพลี จังหวัดนครปฐม 11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายสุรชัย แซ่จิว จังหวัดสมุทรปราการ 12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสมโภช ปานถม จังหวัดลำปาง 13) สาขาการใช้วิชาเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายปลื้ม จันทุง จังหวัดพัทลุง 14) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายพนม จันทร์ดิษฐ จังหวัดนครสวรรค์ และ 15) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ เด็กชายพีรพงษ์ หลงศิริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2558 จำนวน 13 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านคลองกล้วยเหนือ จังหวัดอุตรดิตถ์ 2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนท่าอยู่ จังหวัดพังงา 3) กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่นากลาง จังหวัดนครราชสีมา 4) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือสวยงามบ้านดอนสมอ จังหวัดนครพนม 5) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด จังหวัดตรัง 6) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพทำปลาส้มบ้านตะคุ จังหวัดมหาสารคาม 7) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรลำสินธุ์ จังหวัดพัทลุง 8) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา จังหวัดยะลา 9) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผลิตพันธุ์ข้าวบ้านช้างมิ่ง จังหวัดสกลนคร 10) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้อยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ 11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านตาอ็อง จังหวัดสุรินทร์ 12) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านวังน้ำเย็น จังหวัดแพร่ และ 13) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชน จังหวัดกาญจนบุรี

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2558 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ 1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด จังหวัดลำปาง  2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมไทย - เดนมาร์ค ก.น.ข. หนองรี จำกัด จังหวัดลพบุรี 3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมห้างฉัตร จำกัด จังหวัดลำปาง 4) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านโคกม่วง จำกัด จังหวัดพัทลุง 5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ ร้านสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ 6) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลลำปาง จำกัด จังหวัดลำปาง และ 7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านทุ่งเลียบ จำกัด จังหวัดพัทลุง

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2558  จำนวน  3 สาขา คือ 1) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสมศักดิ์ เครือวัลย์ 2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่  นายชัยพร พรหมพันธุ์ 3) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายสืบศักดิ์ จินตาพล

อนึ่ง ในวันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีลงมติให้เป็น "วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานในการประกอบพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองแก่อาชีพของตน การเกษตรนับเป็นภาคการผลิตและเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ในวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกรนับแต่นั้นเป็นต้นมา

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 27 เมษายน 2558

'จักรมณฑ์' เปิดการประชุมนานาชาติ APO

รมว.อุตสาหกรรม เปิดการประชุมนานาชาติ APO หวังเชื่อมและพัฒนาขีดความสามารถผลผลิตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม "APO Governing Body Meeting ครั้งที่ 57" ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ APO โดยระบุว่า การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

โดยในปีนี้ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 27 - 29 เมษายน เพื่อหารือแผนงานแบบพหุภาคีในการพัฒนาขีดความสามารถของ 19 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการประสานแนวทางการดำเนินงานด้านผลผลิตของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพของประเทศสมาชิก โดยการประชุมจะหารือถึงการจัดทำแผน APO ROADMAP 2020 ซึ่งประเทศสมาชิกจะนำกลับไปทบมวนในทุกด้านก่อนนำมาสรุปผลอีกครั้ง

ขณะที่ นายมาริ อามาโนะ เลขาฯ ทั่วไป APO เปิดเผยว่า APO ได้จัดสรรงบประมาณให้ไทยในปี 2558-2559 ปีละ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้นในภาวะปัจจุบัน โดยจะเน้นเดินหน้าโครงการผลผลิตสีเขียว หรือ Green Product ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ที่ 120-130 โครงการต่อปี

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 27 เมษายน 2558

ESCรับอ้อยเข้าหีบเพิ่มเกือบ9แสนตันสะท้อนความมั่นคงด้านวัตถุดิบธุรกิจหลัก-เกี่ยวเนื่องแข็งแกร่ง

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ESC ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อย และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพ และธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เปิดเผยว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลของบริษัทปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2557/2558 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2558 สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ทั้งสิ้น 3,802,190 กระสอบ จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 3,545,000 ตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2,660,643 ตันอ้อย เพิ่มขึ้นกว่า 33% หรือเพิ่มขึ้น 884,357 ตันอ้อย คิดเป็นอัตราผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในระดับสูงที่ 107.25 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

ทั้งนี้จึงเป็นปีที่บริษัทรับปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยติดอันดับ 7 ของโรงงานที่มีปริมาณการหีบอ้อยสูงสุดของประเทศ สะท้อนถึงความมั่นคงด้านวัตถุดิบอ้อยที่นำมาสกัดเป็นน้ำตาลทราย ส่งผลต่อความแข็งแกร่งของธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย อีกทั้งช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ที่มีวัตถุดิบเพียงพอในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐ เพื่อรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าได้เต็มปี

ในขณะเดียวกันปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบดังกล่าว ยังทำให้มีผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย ที่มีปริมาณกากน้ำตาลเพิ่มขึ้น เพื่อทำการหมักและกลั่นผลิตเป็นเอทานอลได้มากขึ้น และสามารถนำไปใช้ในธุรกิจก๊าซชีวภาพให้เติบโตขึ้นอีกด้วย ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตขึ้นจากปีก่อน

“ผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2557/2558 สะท้อนความแข็งแกร่งของธุรกิจโรงงานน้ำตาลทรายของบริษัท ที่ได้ดำเนินการขยายกำลังการผลิตแล้วเสร็จเมื่อปี 2557 ทำให้สามารถรองรับปริมาณอ้อยเข้าหีบได้ถึงประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ปี 2558 นี้บริษัทมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีก 10% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 70% ของปริมาณการหีบอ้อยของภาค ประกอบกับประสิทธิภาพของเครื่องจักรในการผลิตน้ำตาลทรายที่ดี ทำให้ฤดูการผลิตปี 2557/2558 บริษัทสามารถปิดหีบได้เร็วกว่ากำหนด”คุณหญิงณัฐิกา กล่าว

ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมดังกล่าว ทำให้โรงงานยังมีกำลังการผลิตที่เพียงพอในการรองรับปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังจากที่บริษัทได้เร่งส่งเสริมด้านองค์ความรู้การเพาะปลูกให้แก่ชาวไร่ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยให้มากขึ้น จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน และการขยายกำลังการผลิตตามแผน ทำให้โรงงานมีความพร้อมที่จะรับอ้อยทั้งหมดที่มีอยู่ในจังหวัดสระแก้วและที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำตาลทราย และสามารถนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายทุกส่วนกลับมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร มาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เอทานอล ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี และให้มีส่วนเหลือทิ้งเป็นศูนย์ ทำให้ธุรกิจของบริษัทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 เมษายน 2558

พาณิชย์คลี่คลายสถานการณ์ส่งออกนัดถกเอกชนวันที่27เม.ย.นี้จัดทำแผนบุกตลาดเข้มข้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.)เป็นเจ้าภาพจัดทำแผนโรดแม็ป( road map) รายสินค้า ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนั้น ขณะนี้ภาคเอกชน ภาคการเงิน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมร่วมแรงร่วมใจกันขจัดปัญหา และแนวทางแก้ไข โดยเปิดกว้างแบบ 360 องศาแล้ว

ขณะที่ นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า  ในการประชุมร่วมกันเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการแยกสาระเรื่องปัญหา กับ เรื่องการเร่งรัดการขยายตลาด ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องรอบคอบ แต่อาจจะใช้เวลา ไม่เห็นผลรับในทันที ดังนั้นจึงจะเร่งรัดการบุกตลาดที่ทำได้ก่อน ภาค เอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมจะประชุมวันจันทร์ที่ 27 เมษายนนี้ เพื่อจัดทำแผนบุกขยายตลาดอย่างเข้มข้น

ส่วนการการประชุมเมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา สค.ได้ประสานงานกับ ภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบัน  ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูลข้อเสนอแนะและปัญหาอุปสรรครายอุตสาหกรรมมาล่วงหน้า ซึ่งในการประชุมรายกลุ่มอุตสาหกรรมจะมีการทบทวนจัดทำสรุป แยกเป็นรายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ก่อนเสนอหน่วยงานต่างๆ พิจารณา เช่น กรมประมง  กรมวิชาการเกษตร กรมศุลกากร กรมสรรพากร สภาพัฒน์ เป็นต้น

“ตลาดที่ต้องบุกประกอบด้วย ตลาดเดิม ของแต่ละกลุ่มสินค้า จะขายได้หรือไม่ ถ้าทำได้ทำอย่างไร แต่ถ้าไม่ได้จะไปตลาดไหน และจะทำอย่างไรให้เข้าได้”นางจันทิรา กล่าว

ส่วนการทำ road map จะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค. ส่วนมิ.ย.-ก.ค.จะเห็นช่วงดำเนินการโรดโชว์ และแผนปูพรมบุกตลาดใหม่และตลาดเดิม โดยเฉพาะสินค้าที่เจาะตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม (นิชมาร์เก็ต) ยังมีการเติบโตที่ดีอยู่ ทั้งสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม สินค้าเพื่อผู้สูงอายุ สินค้าเจาะตลาดโรงแรม และสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาสินค้าให้มีดีไซน์และมีเอกลักษณ์มากขึ้น

ทั้งนี้ สินค้ายานยนต์ชิ้นส่วนนั้น ข้อเสนอแนะที่ภาคเอกชนเคยเสนอไว้ คือ ต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ทดสอบกลางตามแผนของกระทรวง อุตสาหกรรมโดยเร็ว และเร่งรัดผลักดันและพัฒนาแรงงานฝีมือให้ตรงกับอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน

นางจันทิรา กล่าวถึง แนวโน้มและโอกาสในการทำตลาดชิ้นส่วนยานยนต์นั้น ตลาดใหม่ ได้แก่ อาเซียน อินเดีย และจีน โดยเวียดนามมีกำลังซื้อสูงขึ้น มาเลเซียมีการผลิตยานยนต์มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 เมษายน 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดิน แนะวิธีการจัดการดินเปรี้ยวจัด (1)

ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินได้ให้รายละเอียดถึงพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด พื้นที่ดินกรด และดินอินทรีย์ไว้ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ประมาณ 6.2 ล้านไร่ พื้นที่ดินกรด ประมาณ 95 ล้านไร่ และดินอินทรีย์มีประมาณ260,000 ไร่ โดยดินเปรี้ยวจัดหรือดินกรดนั้น มักมีปัญหาขาดแคลนธาตุอาหารไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช รวมถึงการเกิดปัญหาจากดินที่มีธาตุเหล็กและอะลูมินั่มสูงจนเป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก ซึ่งในตอนนี้เราจะอธิบายถึงสภาพดินเปรี้ยวจัดกันเสียก่อน โดยดินเปรี้ยวจัด คือ ดินที่มีสภาพความเป็นกรดสูงมาก เนื่องจากเคยมีกรดกำมะถันซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดดินชนิดนี้อยู่ในหน้าตัดของดิน และปริมาณของกรดกำมะถันที่เกิดขึ้นนั้น มีมากพอที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดิน และการเจริญเติบโตของพืชในบริเวณนั้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับตะกอนน้ำทะเลหรือตะกอนน้ำกร่อย ทำให้เกิดการสะสมสารประกอบกำมะถันขึ้นในดิน ซึ่งเมื่อดินแห้ง สารประกอบกำมะถันเหล่านี้จะแปรสภาพทำให้เกิดกรดกำมะถันขึ้นในดิน ทำให้ดินเป็นกรดสูงมากจนมีผลกระทบต่อพืชที่ปลูก โดยทั่วไปจะมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือพีเอช (pH) ต่ำกว่า 4.0 และมักจะพบจุดประสีเหลืองฟางข้าว ของสารจาโรไซต์ (jarosite) ในชั้นดินล่าง ทั้งนี้แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามระดับความลึกของจุดประสีเหลืองฟางข้าวที่พบ ได้แก่ 1.ดินเปรี้ยวจัดระดับตื้น พบจาโรไซต์ภายใน 50 เซนติเมตร จากผิวดิน  2. ดินเปรี้ยวจัดระดับลึกปานกลาง พบจาโรไซต์ภายในช่วง 50-100 เซนติเมตร จากผิวดิน และ 3. ดินเปรี้ยวจัดระดับลึก พบจาโรไซต์ที่ระดับความลึกมากกว่า 100 เซนติเมตรจากผิวดิน

อย่างไรก็ตาม การสังเกตดินเปรี้ยวจัดให้ดูในพื้นที่ลุ่มต่ำ มีต้นกกหรือต้นกระจูดเป็นต้น มีคราบสนิมเหล็กในดินและในน้ำหรือไม่ หากขุดดินไปแล้ว ส่วนใหญ่จะพบสารสีเหลืองฟางข้าว เรียกว่า จาโรไซ และน้ำจะใสมากนั่นเอง สำหรับตอนหน้าเราจะพูดถึงวิธีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดที่เกษตรกรสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่ดินให้กลับมาผลิตพืชผลได้อีกครั้ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 เมษายน 2558

เกษตรฯเร่งโอนตำบลละล้าน สร้างรายได้สู้แล้ง-ถึงมือชาวบ้านก่อนสิ้นเม.ย.

นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรฯได้บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เพื่อพิจารณาโครงการที่ทุกตำบลในพื้นที่เป้าหมาย ได้เสนอโครงการเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณาหมดแล้ว 6,598 โครงการ งบประมาณ 3,004.513 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.48% ขณะนี้คณะกรรมการฯ ระดับกระทรวงได้พิจารณาครบทุกโครงการและดำเนินการเสนอไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อทยอยพิจารณาอนุมัติงบประมาณลงสู่พื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้โอนจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานเกษตรจังหวัดแล้วจำนวน 58 จังหวัด 5,227 โครงการ วงเงิน 2,543.122 ล้านบาท คิดเป็น 84.64% ส่วนงบประมาณที่เหลือประมาณ 461 ล้านบาท คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ และเมื่องบประมาณลงไปถึงมือเกษตรกรแล้ว ทางคณะกรรมการโครงการฯ จะมีการติดตามความคืบหน้าและประเมินผลอย่างใกล้ชิด

นายสมปอง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ที่ไม่เสนอโครงการมีทั้งหมด 7 ตำบล ได้แก่ 1.ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร 2. ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร 3. ตำบลสำนักบก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 4. ตำบลพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี 5. ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี 6. ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 7. ตำบลท่าตูม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เนื่องจากพบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร และเกษตรกรในพื้นที่ได้พิจารณาแล้วว่าไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จึงไม่เสนอโครงการเข้ารับการสนับสนุนตามมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว หลังจากที่คณะกรรมการโครงการฯ ได้เสนอให้ทบทวนหลายครั้งแล้ว

“สำหรับการดำเนินการภายหลังจากที่ได้โอนงบประมาณจนครบแล้ว ในส่วนของการดูแลเกษตรกร จะพิจารณาว่าเป็นโครงการที่มีความต่อเนื่องหรือไม่ หากเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องแล้วรัฐพิจารณาเห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็สามารถขอรับการสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อได้” นายสมปอง กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 เมษายน 2558

ก.อุตฯผุด 4 ยุทธศาสตร์ นำโรงงานเข้าสู่ระบบ 90% ใน 5 ปี

          จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับผู้ประกอบการ 999 รายทั่วประเทศ ได้ร่วมกันเปิดตัว "โครงการอุตสาหกรรม ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรม" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงพระเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา ณ ห้องประชุม กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศแสดงเจตจำนงจัดการขยะอุตสาหกรรมรพร้อมกัน

          "จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2557 มีโรงงานได้ลงทะเบียนในระบบจัดการกากอุตสาหกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 17,384 โรงงาน เมื่อเทียบกับจำนวนโรงงานจำพวก 3 ที่ต้องกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งได้แจ้งประกอบกิจการทั่วประเทศประมาณ 68,000 โรงงาน ดังนั้น โรงงานที่ได้เข้าอยู่ในระบบของกระทรวงฯ จึงมีประมาณร้อยละ 68,000 โรงงาน ดังนั้น โรงงานที่ได้เข้าอยู่ในระบบของกระทรวงฯ จึงมีประมาณร้อยละ 25 และถ้ามองลึกลงไป พบว่า โรงงานที่อยู่ในในระบบเหล่านี้ได้มีการส่งขยะอุตสาหกรรมออกไปบำบัด / กำจัด / ริไซเคิลแล้วจริงๆ เพียงประมาณร้อยละ 7 หรือ 5,300 โรงงาน จาก 68,000 โรงงานเท่านั้น" จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช กล่าวและว่า

          ล่าสุดจากตัวเลขกากอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ปริมาณกากอันตรายและกากไม่อันตรายที่มีขออนุญาตนำออกไปกำจัดภายนอกโรงงาน กับจำนวนแรงม้าโรงงานที่มีการตรวจสอบในฐานข้อมูลทะเบียนโรงงานในการคำนวณนั้น จะได้ตัวเลขกากอันตราย ที่ควรจะมีปีละ 3.35 ล้านตัน และเป็นตัวเลขกากไม่อันตราย อีกปีละ 50.30 ล้านตัน และจากการที่มีนโยบายเข้มงวดเรื่องกากอุตสาหกรรมทำให้ในปีที่ผ่านมามีการขออนุญาตและแจ้งขนส่งออกไปบำบัด / กำจัด / รีไซเคิลจริงๆ เพิ่มขึ้น โดยเป็นกากอันตราย 1.03 ล้านตัน (ร้อยละ 31) และกากไม่อันตราย 12.24 ล้านต้น (ร้อยละ 24)

          รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ถ้าดูเฉพาะตัวเลขกากอันตรายที่มีการควบคุมการขนส่ง จะเห็นว่าโรงงานมีการจัดการครบถ้วน (ขึ้นทะเบียนและขนส่งไปกำจัดแล้ว) เพียงร้อยละ 7 และกากอันตรายได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 31  โครงการนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมและส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการที่จะต้องนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบให้สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะต้องร่วมกันดูแลและจัดการขยะจากการผลิตให้ถูกต้องตามกฎหมายตามหลักวิชาการภายในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ ก.อุตฯ มีแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี ต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน โดยมีเป้าหมายนำโรงงานเข้าสู่ระบบฯ และให้มีการจัดการกากอุตสาหกรรม อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจากการที่มีผู้ประกอบการลงทะเบียนกำจัดกากอุตสาหกรรม ทางก.อุตฯ โดยกรมโรงงานอุตฯ ก็จะได้ตัวเลขที่ทำให้ขั้นตอนการปฏิบัติจัดการกากอุตสาหกรรมสามารถวัดผลลัพธ์ได้ชัดเจนด้วย

          "การจัดการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบฯ เป็นวิธีการแก้ไขที่ตรงจุด และเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญธุรกิจของผู้ประกอบการเองจะมีความยั่งยืน จากการที่สามารถรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำ

          ด้าน อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ในสัปดาห์หน้า ก.อุตฯจะส่งเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จำนวน 4 คนไปอบรม เรียนรู้และดูงานการจัดการกาดอุตสาหกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น และยังจะมีการส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วย กรอ.ต่อไปอีกด้วย

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 27 เมษายน 2558

พาณิชย์เร่งแก้อุปสรรคการค้าหลังถกเอกชนพบปัญหาทุกกลุ่ม 

          ระบุอาหาร-เกษตร กำลังเผชิญกับมาตรการ ที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้น

          พาณิชย์เผยสินค้าไทยทุกกลุ่มสินค้าเผชิญ อุปสรรคด้านการค้าระหว่างประเทศ ทั้งมาตรการไม่ใช่ภาษี-สิ่งแวดล้อม-ระบบโควตา-จีเอสพี รวมถึงขีดแข่งขันผู้ประกอบการไทยลดลง

          แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในการประชุมร่วมระหว่างพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์และผู้แทนจากภาคเอกชน ได้มีการรวบรวมประเด็นอุปสรรคทางการค้า ในปัจจุบันซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมาตรการกีดกันทางการค้าและปัญหาขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

          ในเบื้องต้นที่ประชุมได้แบ่งอุปสรรคทางการค้าเป็นรายสินค้าโดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร กำลังเผชิญกับการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ของประเทศคู่ค้า ได้แก่ มาตรการด้านแรงงาน หรือ แรงงานผิดกฎหมาย ด้าน สิ่งแวดล้อม หรือ IUU Fishing และมาตรการที่ ใช้ในการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อปกป้อง และคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์พืช (SPS) รวมถึงและระบบโควตาการนำเข้า

          กระทรวงพาณิชย์กำหนดแนวทางดำเนินการ ผ่านการเจรจาเพื่อแก้ไขและลดอุปสรรค โดยมี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปดูแล

          นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ แนวทางดำเนินการคือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร ปศุสัตว์ ประมงให้มีความสม่ำเสมอ เพียงพอต่อการนำเข้ามาแปรรูป และลดอุปสรรคด้านภาษีของวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารสำเร็จรูป มีกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงการคลังดูแล ปัญหาแรงงาน ไร้ฝีมือและขาดแคลนแรงงานจะเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานและลดขั้นตอนระยะเวลาการ ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานฯ รับผิดชอบ

          สินค้าอาหารฮาลาล พบว่ามีอุปสรรคเรื่องการรับรองและให้เครื่องหมายฮาลาลที่มีอายุเพียง 1 ปี ทำให้กว่า 40% ของสินค้าฮาลาล หรือกว่าหนึ่งแสนรายการไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนต่อ แนวทางแก้ไขคือขยายเวลาอายุการรับรองและให้เครื่องหมายฮาลาลเป็น 2 ปี โดยให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยรับไปดูแลปัญหากระบวนการขอใบรับรองฮาลาลต่อองค์กรศาสนาของอินโดนีเซียมีขั้นตอนยุ่งยาก

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนสินค้าวัสดุก่อสร้าง แม้ไม่มีอุปสรรคทางการค้าที่ชัดเจน แต่ก็พบว่า ทิศทางตลาดมีแนวโน้มเปลี่ยนไปหันไปเน้นเรื่อง สิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อเข้าถึงตลาดให้ได้ โดยตลาดสหรัฐ จะส่งเสริม เรื่อง Green Building และเรื่องมาตรฐานสินค้า เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่ในภาพรวมไทยไม่ได้ส่งวัสดุก่อสร้าง แต่ในปีที่ผ่านมามีการส่งก๊อกน้ำ วาส์วและอุปกรณ์มากที่สุด หากมี การปรับรายการสินค้าให้ตรงตามความต้องการจะทำให้เข้าทำตลาดได้มากขึ้น

          ส่วนตลาดญี่ปุ่น เน้น "Home Eco Point" และกำลังมีการก่อสร้างเพื่อต้อนรับการเป็น เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2020  สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อุปกรณ์และส่วนประกอบ กำลังเผชิญกับปัญหาการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และการขาดข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้า ทั้งที่ตลาดยุโรปและอินเดีย ปัญหาที่ไทยขาดศูนย์ทดลองกลางในประเทศ หากดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการทดสอบสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดูแล

          ปัญหาการย้ายฐานการผลิตและคำสั่งผลิตไปประเทศอื่น และปัญหาค่าแรงงานและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นปัญหาค่าแรงงานและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รับไปดูแล

          ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ พบอุปสรรคจากคุณภาพและดีไซน์ ต้นทุนการผลิต ภาษีนำเข้าวัตถุดิบสูง เช่น สแตนเลส กฎระเบียบเรื่องไม้ จึงเน้นการส่งเสริมการทำแบรนด์ การเพิ่มทักษะ ฝีมือแรงงาน และให้ใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิต และนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งกระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กรมป่าไม้และกรมการค้าต่างประเทศรับไปดูแล

          สินค้าเครื่องนุ่งห่ม เผชิญปัญหา มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า การนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกันมาแข่งกับสินค้าในประเทศ การเลิกกิจการของอุตสาหกรรมตัดเย็บในประเทศ ทำให้ความต้องการผ้าผืนและด้ายลดลง การถูกตัดสิทธิ GSP ของอียู และการเปลี่ยนกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (ROO) กฎระเบียบในประเทศ ไม่เอื้ออำนวยต่อการตั้งขยายโรงงานฟอกย้อมต้นทุนการผลิตสิ่งทอเพิ่มขึ้น (ค่าแรง) ส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิต และการขาดแคลนเทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอ (ต้นน้ำ-ปลายน้ำ)

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 เมษายน 2558

ส่งออกตก

จากการประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) ระดับรัฐมนตรีในรอบ Doha Development Agenda (DDA) เมื่อปี 2001 นั้น ประเทศสมาชิกตกลงว่าจะลดภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีให้กับสินค้าและบริการ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเรียกว่า Environmental Goods and Services (EGS)  แต่ 14 ปีที่ผ่านมาสมาชิกยังไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการให้เป็นจริงได้ด้วยสาเหตุเพียงว่ายังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าสินค้าและบริการดังกล่าวนี้หมายถึงอะไร? เช่น จะพิจารณาเฉพาะลักษณะการทำงาน (Function) หรือจะรวมทั้งขบวนการผลิตของสินค้านั้นด้วย(Process) ในความเห็นของผมนั้นสินค้าและบริการเหล่านี้ต้องประกอบด้วย 2 ลักษณะพร้อมกัน เช่น หลอดไฟฟ้าประหยัดไฟ (Functions) จะต้องได้มาจากขบวนการผลิตด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย(Process) สรุปว่าเรายังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ไปอีกนาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสถานภาพขององค์การการค้าโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสายตาของประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากขาดข้อตกลงร่วมที่จะใช้อ้างอิงเพื่อป้องกันการใช้มาตรการฝ่ายเดียวจากประเทศคู่ค้าได้

    ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้มีปัญหากับสหรัฐอเมริกาเรื่องความขัดแย้งของการค้าสินค้าปลาทูน่าที่กระทบกับปลาโลมา (Tuna-Dolphin Case) ด้วยมาตรการการจับปลาทูน่าที่ไม่ยั่งยืน เวลาผ่านไปกว่า 20 ปีเรายังต้องเผชิญกับปัญหาเดิมกับทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯในเรื่องการประมงที่ไม่ยั่งยืน และอาจจะกระทบกับการส่งออกสินค้าประมงอีก ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานการผลิตสินค้าผักที่ใช้ปุ๋ยและเคมีเกินกำหนดจนเป็นผลให้สหภาพยุโรปจำกัดการนำเข้าเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา

    ภาคธุรกิจบางกลุ่มกำลังพยายามสร้างมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่ง แวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาไม่ให้ถูกกระทบการส่งออก และขณะเดียวกันก็จะใช้มาตรฐานนี้กำกับการนำเข้าสินค้าเดียวกันด้วย  อย่างไรก็ตาม การดำเนินการฝ่ายเดียวนี้คงต้องใช้เวลาและต้นทุนมาก ดังนั้นการสนับสนุนจากรัฐจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งด้วยเหตุผลต่อไปนี้ 1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practices หรือ GAP) ให้เป็นมาตรฐานบังคับทันทีโดยเริ่มต้นที่พืชที่สำคัญต่อเศรษฐกิจก่อน เช่น ข้าว ข้าวโพดแห้ง มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น  2) รัฐต้องให้ความรู้และทุนในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ และ 3) ผู้ประกอบการจะต้องร่วมมือกับรัฐในการปฏิเสธซื้อผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน

    ผมมั่นใจว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจะยังคงตกต่ำต่อไปเรื่อยๆหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหากเราไม่รีบยกระดับสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 26 เมษายน 2558

"จักรมณฑ์" แจง สนช.หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปรับ-แก้ กม.-ตั้งเขต ศก.พิเศษ 

           นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมคณะ ได้มาพบปะสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการและประเด็นข้อกฎหมายที่มีปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติของกระทรวงฯ โดยคณะกรรมาธิการฯ มีความสนใจการดำเนินงานของกระทรวงในหลายด้าน อาทิ แนวทางการผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและที่เป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติของกระทรวง แนวทางการส่งเสริมการค้าชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเตรียมความพร้อมและการใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน ซึ่งกระทรวงฯได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรมผ่าน Hoteline สายด่วนรัฐมนตรี www.industry.go.th หรือสายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือที่ www.diw.go.th ได้

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 25 เมษายน 2558

เอกชนจีนสนตั้งโรงงานผลิตแม่ปุ๋ย

ผู้ผลิตแร่ฟอสเฟตเบอร์ 1 ของโลกจากจีนสนตั้งโรงงานผลิตแม่ปุ๋ยแห่งแรกในอาเซียนกดราคาปุ๋ยในไทยต่ำลงแน่

นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยระหว่างการประชุมสามัญสภาการเหมืองแร่ประจำปี 58ว่า ผู้ประกอบการกิจการเหมืองแร่ฟอสเฟตในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งถือเป็นแหล่งแร่ฟอสเฟตที่ใหญ่ที่สุดของโลก สนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแม่ปุ๋ยในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีแหล่งแร่โปแตช ที่ใหญ่ติดอันดับต้นๆของโลก

 ซึ่งเป็นส่วนประอบการสำคัญของการผลิตปุ๋ย เช่นเดียวกับแร่ฟอสเฟต รวมทั้งไทยมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สามารถป้อนวัตถุดิบไนโตรเจนให้กับโรงงานปุ๋ยได้ โดยผู้บริหารจากจีนจะมาหารือรายละเอียดกับนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรมในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ และคาดว่า จะมีความชัดเจนในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 เมษายน 2558

ครม.ปลดล็อกตั้ง รง.น้ำตาล 

           ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอขอยกเลิกมติ ครม. เดิม และเห็นชอบออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร(ก.ม.) จากเดิมต้องห่าง 80 ก.ม. โดยโรงงานแห่งใหม่ต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ กำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศ เฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่ากระบวนการพิจารณาอนุญาตตามแนวทางเดิมก่อให้เกิดความล่าช้าเพราะต้องเสนอ ครม. พิจารณาทุกครั้ง และไม่เปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนจากรายใหม่ จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นมากจนผลผลิตมากกว่ากำลังการผลิต อีกทั้งไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 24 เมษายน 2558

เล็งผุด5เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นสร้างสภาพแวดล้อมดี ให้รง.อยู่ร่วมกับ‘ชุมชน’

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงได้นำแนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาปรับให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น และจังหวัดที่มีศักยภาพในการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสูง ซึ่งก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศข้อที่ 3 เรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดย กรมโรงงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ได้ดำเนินโครงการจัดทำ ศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Town Center) และได้ศึกษาวิเคราะห์และจัดทำตัวชี้วัด (Key Performance Indicator : KPI) ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่ กรอ. นอกจากนี้ ได้จัดทำเว็บไซต์กลางสำหรับเป็นฐานข้อมูลประสานงาน และติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

 ทั้งนี้ กระทรวงได้จัดตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบการจัดทำ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรปราการ  สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี และอีก 9 เขตประกอบการอุตสาหกรรม ได้แก่

เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ระยอง สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ปทุมธานี เขตอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จ.ปราจีนบุรี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ชลบุรี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี สวนอุตสาหกรรมโรจนะ พระนครศรีอยุธยา ชุมชนอุตสาหกรรม ไอ.พี.พี. ระยอง เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราช ระยอง เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราช สระบุรี เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันกับท้องถิ่น ชุมชน และธุรกิจอุตสาหกรรม มีระบบตัวชี้วัดความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรองรับการพัฒนาและการประเมินความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการการส่งเสริมการผลิต และการบริโภคอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง แยกเป็นการส่งเสริมผ่านนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เป้าหมายคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน การสร้างระบบการติดตามและการรายงานผล การส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืน ผ่านนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับต่างๆ จำนวน 18,628 ราย

ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังศึกษาแผนแม่บทใน 5 จังหวัดนำร่อง แล้วเสร็จ กรอ. จะส่งต่อแผนแม่บทดังกล่าวไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการกิจกรรมตามอำนาจหน้าที่มุ่งสู่ความเป็นเมือง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 เมษายน 2558

พด.เปิดเวที‘ดิน’ระดับชาติ ระดมแลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัย

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินเตรียมจัดประชุมวิชาการเรื่องดินระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน ที่โรงแรมพลูแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมทางวิชาการและเสนอความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรดิน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ เป็นการพัฒนางานวิจัย และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้งานวิจัยได้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้นอกจากจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการ ทั้งประเภทบุคคล และประเภทหน่วยงาน โดยนิทรรศการของบุคคล มีประมาณ 80 เรื่อง ส่วนนิทรรศการประเภทหน่วยงานมีประมาณ 24 เรื่อง อีกทั้งยังมีการนำเสนอผลงานภาคบรรยาย 6 สาขา ได้แก่ สาขาอนุรักษ์ดินและน้ำ สาขาปรับปรุงบำรุงดิน สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาสำรวจวิเคราะห์ออกแบบการใช้ที่ดินและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และสาขาเศรษฐสังคมและประเมินผล โดยจะมีผู้นำเสนอในภาคบรรยายทั้งหมด 30 เรื่อง รวมถึงหน่วยงานจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังได้จัดนิทรรศการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน ซึ่งจะมีหน่วยงานต่างๆที่จะมาจัดแสดงนิทรรศการเป็นหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประมาณ 21 หน่วยงาน

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่กระจายของดินเค็ม โดยมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้น ในจังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งในครั้งนี้เราได้มีการประกวดกลุ่มผู้ใช้น้ำดีเด่น มีการมอบโล่รางวัล ซึ่งทางกรมพัฒนาที่ดินได้แต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปประเมินผลและให้คะแนน จนได้กลุ่มผู้ใช้น้ำดีเด่นของทั้งสองจังหวัดดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในวันงานกลุ่มที่ได้รับรางวัลก็จะมาจัดแสดงผลงานวิชาการด้วยเช่นกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 เมษายน 2558

คลังย้ำตลาดบอนด์ไทยมั่นคง พร้อมขยายออกต่างประเทศ  

              คลัง เผย ตลาดตราสารหนี้ไทย มีความมั่นคงสูง มีการกู้เงินโดยการออกบอนด์มากขึ้นนับแต่ปี 2540 ชี้ค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพทำให้บอนด์ไทยน่าสนใจ พร้อมขยายตลาดออกไปต่างประเทศมากขึ้น

                   นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงตลาดตราสารหนี้ไทยว่า ปัจจุบันตลาดตราสารนี้ไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพสูง มีการกู้ยืมผ่านตลาดตราสารหนี้ไทยโดยภาครัฐสูงถึง 98% อีก 2% เป็นการกู้ยืมจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มย้ำกุ้ง โดยในปีนั้นมีการกู้ยืมจากต่างประเทศสูงถึง 85% และมีการกู้จากภาครัฐในประเทศเพียง 1.92% และปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีขนาดที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์  ขณะที่มูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้ไทย ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าคงค้างโตขึ้นมาก 

                    โดยเมื่อเทียบการปล่อยสินเชื่อกับ จีดีพีแล้ว ณ สิ้นปี 2557 ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 106% เมื่อเทียบกับจีดีพี  ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 114% เมื่อเทียบกับจีดีพี  ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยมีเพียง 76% ของจีดีพี แต่เมื่อมองตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมานั้น มีการเติบโตสูงถึง 128% ซึ่งการเติบโตที่มากขนาดนี้ทำให้รัฐบาลกู้เงินลงทุนจากตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ตลาดตราสารหนี้ไทยมีความมั่นคงสูง ปัจจุบันมีสัดส่วนการเข้ามาลงทุนที่เป็นสถาบันการเงิน 40% ธนาคาร 14% นักลงทุนต่างชาติ 19%

                    ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2556 ตลาดตรารหนี้ไทยกำลังมีการขยายตลาดโดยให้ต่างชาติได้เข้ามาลงทุนมากขึ้นในรูปแบบตราสารหนี้สกุลเงินบาท ซึ่งมีประเทศลาวที่กู้เงินผ่านตลาดตราสารหนี้ไทยในรูปสกลุเงินบาท ซึ่งต่อไปอยากให้ประเทศพม่าและเขมรเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยเช่นกัน โดยมีรัฐบาลของประเทศนั้นเป็นผู้ค้ำประกัน      

            "ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ไทยมีความน่าสนใจเพราะสกุลเงินบาทที่มีความเสถียรภาพและมั่นคงถือ เป็น 1ใน6 สกุลเงินที่มีเสถียรภาพของเอเชีย ทางกระทรวงการคลังได้คุยกับทางธนาคาแห่งประเทศไทย ในเรื่องการขยายเศรษฐกิจการค้าและเรื่องตราแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น" 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 24 เมษายน 2558

ก.เกษตร-สนช.ตั้งงบ 100 ล้าน ดันนวัตกรรมสินค้าการเกษตร

สนช.กันงบฯ 100 ล้านบาท ร่วมกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดันงานวิจัยการเกษตรสู่เชิงพาณิชย์

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สนช.ได้เตรียมงบประมาณ 100 ล้านบาทในการผลักดันผลงานวิจัยทางด้านการเกษตรให้เกิดในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม อ้อย และผักผลไม้

"ที่ผ่านมาทิศทางของสินค้าเกษตรอินทรีย์มีตลาดและมีความต้องการสูง แต่ประสบปัญหาในหลายเรื่อง คือ ผู้ผลิต ผลิตเพื่อส่งออกไม่จำหน่ายในประเทศ ทำให้มีราคาสูง สินค้าเกษตรอินทรีย์บางชนิดมีต้นทุนในการผลิตสูง เพราะใช้แรงงานคนแทนสารเคมี"

ขณะที่ปัญหาทางด้านการผลิตไม่สม่ำเสมอ ทำให้ไม่สามารถจะส่งเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ซึ่งการผลักดันของ สนช.จะร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในการนำชีวภัณฑ์และเทคโนโลยี เพื่อลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรที่ฉีดยาทำลายศัตรูพืช โดยใช้ยาฆ่าแมลง สารสกัดจากพืช เป็นต้น

สำหรับทุนที่ สนช.จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและนักวิจัยมีในหลายรูปแบบ แบบแรก ทุน 1 แสนบาทเมื่อเกิดความสนใจในการแมตชิ่งของผู้ประกอบการและนักวิจัย เป็นการผลักดันให้นำงานวิจัยมาใช้ให้เร็วมากขึ้น และ 2.ทุนในรูปแบบของการขยายสเกลงานวิจัยสู่การทดลองในเชิงพาณิชย์ต้นแบบ และ 3.การให้ทุนโดย สนช.จะจ่ายดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบการที่ไปกู้ธนาคารมาลงทุนในโครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน เป็นต้น

โดยครั้งนี้เป็นการจัดทำข้อตกลงเป็นครั้งที่ 2 สำหรับครั้งแรกที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และนำผลงานวิจัยมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น ชุดตรวจสอบไวรัสอย่างง่าย สารชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอย กำจัดแมลง ชุดตรวจสอบสารแอฟลาทอกซิน เป็นต้น สำหรับในปีนี้เป็นการทำโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มีภาคเอกชนที่สนใจแล้ว 7 ราย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 24 เมษายน 2558

เกษตรฯ-พณ.โชว์แผนทิ้งทวนเร่งอุ้มเกษตรกร-ดันส่งออก

    2 รัฐมนตรีเกษตร-พาณิชย์ โชว์แผนทิ้งทวน 8 เดือน ก่อนเลือกตั้ง ช่วง มี.ค.-เม.ย.  59 "ปีติพงศ์" เร่งกฎหมายอุ้มเกษตรกรทั่วประเทศ  เผยเกษตรกรมีความเสี่ยง มั่นใจกฎหมายรัดกุมป้องกันนักการเมืองใช้ประชานิยม ด้าน "ฉัตรชัย"  เดินหน้าเน้นผลักดันส่งออก  ลุยเจาะตลาดใหม่รักษาตลาดเก่า พร้อมเร่งเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่เจรจาใหม่เพียบ

    นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงนโยบายและแผนงานช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ทันตามนโยบายโรดแมปของรัฐบาล (คาดการณ์การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณมีนาคม-เมษายน  2559) นั้น ขณะนี้ได้ร่างกฎหมายหลายฉบับ หนึ่งในนั้น เป็นกฎหมายรายได้และสวัสดิการเกษตร รวมทั้งกฎหมายอื่นเพื่อปกป้องเกษตรกร  โดยมองว่าอาชีพเกษตรกรคล้ายอาชีพค้าขาย มีปัจจัยเสี่ยงมากมาย ทั้ง ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง แมลงและศัตรูพืช ราคาพืชผลผลิตตกต่ำ จึงต้องเร่งร่างกฎหมายต่างๆ หลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกร จะเน้นการออกกฎหมายให้รัดกุม เพื่อป้องกันนักการเมืองใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียงกับเกษตรกร

    นอกจากนั้นพยายามขับเคลื่อนโครงการสร้างรายได้ ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท เสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าหากมีการขับเคลื่อนทุกโครงการและ มีการบริหารจัดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมกับมีอำนาจต่อรองในตลาดเรื่องการซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ สารเคมีต่างๆ จำเป็นที่จะต้องลดต้นทุนลง เพื่อเพิ่มรายได้ จะต้องมีการชี้แจงปรับความเข้าใจกับเกษตรกรเป็นระยะ เนื่องจากรัฐบาลนี้มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยนำทุกปัญหามาวางแล้วพยายามที่จะช่วยแก้ไขในทุกๆ เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องพึ่งพาตนเองด้วย

    ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผย ถึง นโยบายใน 6  เดือนข้างหน้า กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งผลักดันการส่งออกไปยัง ตลาดหลักเดิม และตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลางและ อาเซียน    ซึ่งก็มีการหารือพูดคุยกับเอกชนทูตพาณิชย์ในการหาแนวทางการผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้จะมีการเร่งเปิดการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่เจรจาใหม่ เช่น ตุรกี และปากีสถาน  เป็นต้น หลังจากนั้นจะสานต่อการเจรจาเอฟทีเอ ที่การเจรจายังค้างอยู่ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในการดูแลจัดตั้งคณะทำงาน

    ส่วนเรื่องสินค้าเกษตรจะเน้นการทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการตลาดและการเร่งผลักดันการเข้าสู่AECและการพัฒนาSMEไทยให้เข้าสู่เวทีระดับโลก

    "สำหรับการทำงานในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาล ถือว่า เราโชคไม่ดี เข้ามาในช่วง ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาและยังไม่ฟื้นตัวทำให้การผลักดันส่งออกทำได้ช้า แต่กระทรวงพาณิชย์ ก็พร้อมทำงานเป็นทีมเต็มที่ ที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งออก ตามแผนที่วางไว้  รวมถึงการผลักดันค้าชายแดนให้มีมูลค่าถึง 1.5 ล้านบาทเพิ่มจากปีก่อน35 % และ การหาตลาดส่งออกใหม่เน้นการทำงานอย่างโปร่งใส ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

    ขณะที่นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวถึงในอนาคตทาง สรท. จะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอเรื่องหลักๆคือ ค่าภาระหน้าท่า (เซอร์ชาร์จ)ที่จะมีการปรับขึ้น  เช่น ค่าเทียบเรือ ค่าขนสินค้า ค่าเอกสาร หรือค่าอื่น ๆ จึงต้องการให้พล.อ.ฉัตรชัย เข้ามาดูแลและหาแนวทางช่วยเหลือเพราะหากไม่มีการแก้ไขหรือหามาตรการมาดูแล อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้ เพราะต้นทุนของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  ทั้งนี้สรท.อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่าผลจะออกมาอย่างไร

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

เกษตรฯแถลงผลงาน6เดือนอัดฉีดเม็ดเงิน3.4หมื่นลบ.กระตุ้นศก.

เกษตรฯ แจงผลงานรอบ 6 เดือนตามนโยบายรัฐบาลเข้าเป้า พร้อมเดินหน้าโรดแมป 10 โครงการ อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3.4 หมื่นล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร

นายปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แถลงข่าวผลงานรอบ 6 เดือนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2557 ถึง 31 มีนาคม 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม ลดต้นทุนการผลิต ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร สนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพิ่มบทบาทในฐานะผู้ซื้อพืชผลจนถึงการแปรรูปและการส่งออก เพื่อให้สหกรณ์เป็นผู้ค้าขายสินค้าเกษตรรายใหญ่อีกรายหนึ่ง รวมถึงมาตรการต่างๆ ด้วยการจัดทำ Road Map เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรที่สำคัญ อาทิ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าข้าว ประมง ปศุสัตว์ การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร  การบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.ผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.ผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติงบประมาณที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.Road Map ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งผลการดำเนินงานแต่ละด้านประกอบด้วย

1.ผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ การช่วยเหลือชาวนา ตามมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยเพิ่มรายได้แก่ชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 3.596 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 96.93 ของครัวเรือน) จากเกษตรกรเป้าหมาย 3.71 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 38,886.62 ล้านบาท การช่วยเหลือชาวสวนยาง ตามแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ตามที่กำหนดในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 767,518 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 85.31 วงเงิน 7,704.27 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม เป้าหมาย 100,000 ครัวเรือน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการใน 64 จังหวัด 111,210 ครัวเรือน ธ.ก.ส. อนุมัติแล้ว 20,177 ครัวเรือน 43 จังหวัด วงเงิน 1,824.18 ล้านบาท สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราวงเงิน 10,000 ล้านบาท เป้าหมายสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน 994 แห่ง  ขณะนี้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรได้รับอนุมัติวงเงินกู้ยืมจาก ธ.ก.ส.แล้ว 311 แห่ง  3,616.92 ล้านบาท  โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ปริมาณยางที่ประมูลได้ในภาพรวม 139,531.82 ตัน จำนวนเงิน 8,299.84 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท รวมทั้งเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการแปรรูปเป้าหมาย 245 แห่ง จ่ายแล้ว 41 แห่ง วงเงิน 167 ล้านบาท

 ขณะเดียวกัน ยังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) โดยจดทะเบียนเรือประมง จำนวน 51,989 ลำ ร่วมตรวจควบคุมเรือ 26,761 ลำ จับกุม 8 คดี และทำประมงผิดกฎหมาย 259 คดี ปรับปรุงร่าง NPOA-IUU ติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) ออก พ.ร.บ.การประมง และปรับปรุงกฎหมายลำดับรอง 70 ฉบับ แก้ไขแรงงานประมง (พัฒนาระบบฐานข้อมูลออนไลน์เรือประมง  ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงต่างด้าว) ฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้ง /แก้ไขปัญหาโรค Early Malality Syndrome (EMS) ในกุ้ง (นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกัน เฝ้าระวังโรคกุ้งเพื่อยับยั้ง EMS เพิ่มการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) และแก้ไขปัญหาการเกิดโรคระบาดในกุ้ง โครงการตลาดเกษตรกร ได้จัดทำโครงการตลาดเกษตรกรแล้วใน 77 จังหวัด ผลการจำหน่ายสินค้าระหว่าง 26 มกราคม – มีนาคม 2558 ใน 77 จังหวัด มีมูลค่าการซื้อ-ขายสินค้าเกษตรผ่านตลาด รวม 6,504,982 บาท การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง (พฤศจิกายน 2557 – เมษายน 2558) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 14 ตุลาคม 2557 โดยมาตรการหลัก ได้จ้างแรงงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งแล้ว 38,694 ราย (ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 36,662 ราย และลุ่มน้ำแม่กลอง 7,032 ราย) จากเป้าหมาย 44,388 ราย ส่วนมาตรการเสริม ได้จัดฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร 9 หลักสูตร จำนวน 18,021 ราย (ร้อยละ 102.22 ของเป้าหมาย 17,804 ราย) สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว/พันธุ์พืชปุ๋ยสด (20 จังหวัด) เป้าหมาย 300,000 ไร่  ได้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรครบ 20 จังหวัด เพาะปลูกแล้ว รวมพื้นที่ 142,803 ไร่  ขณะอยู่ระหว่างการเริ่มเก็บเกี่ยว การส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์  มีเป้าหมายรวม 13,389 ราย ดำเนินการอบรมเกษตรกรแล้ว จำนวน 11,793 ราย  คิดเป็นร้อยละ 88.07 เกษตรกรได้ปรับปรุงโรงเรือนแล้ว จำนวน 3,688 ราย  คิดเป็นร้อยละ 27.54 มอบปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรแล้ว จำนวน 2,796 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.88 การส่งเสริมอาชีพด้านประมง มีเป้าหมายรวม 3,574 ราย ดำเนินการอบรมเกษตรกรแล้ว 2,950 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.54  มอบปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรแล้ว 2,553 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.43 การฝึกอาชีพด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ (กศน.)  มีเป้าหมาย 1,385 ราย ขณะนี้ดำเนินการฝึกอาชีพแล้ว 1,273 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.91 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558)

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 มีมติอนุมัติให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 3,051 ตำบลๆ ละ 1 ล้านบาท โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน จ้างแรงงาน และสนับสนุนความต้องการของชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่ง ณ วันที่ 30 มีนาคม 2558 ได้มีการพิจารณาโครงการที่มีความสมบูรณ์ ครบถ้วนตามเงื่อนไขขอรับการสนับสนุนโครงการฯ รวม 52 จังหวัด 920 ตำบล จำนวน 1,455 โครงการ

การพัฒนาแหล่งน้ำ ขยายพื้นที่ชลประทาน บริหารจัดการน้ำ 24.8 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 1.24 ล้านครัวเรือน สร้างระบบชลประทานขนาดเล็ก 16,510 โครงการ และแหล่งน้ำในไร่นา 290,862 บ่อ พื้นที่รับประโยชน์ 581,724 ไร่

การป้องกันและปราบปรามปัจจัยการผลิตและการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย ทั้งด้านประมง ปศุสัตว์ และพืช การปรับปรุงและออกกฎหมายใหม่ 6 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์ พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ชลประทานราษฎร์ และ พ.ร.บ.การประมง รวมทั้งการปรับโครงสร้างส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ โดยยึดระบบ Zoning ที่เหมาะสม โดยในปี 2558 แนวทางการดำเนินงานได้จัดทำ Road Map ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร รวม 4 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ได้เห็นชอบโครงการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบด้วย โครงการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์ ประมง ปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร และอยู่ระหว่างขับเคลื่อนด้วยระบบการส่งเสริมพื้นที่แบบแปลงใหญ่ โดยมีคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดผ่านกลไกบูรณาการในระดับพื้นที่

สำหรับผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติงบประมาณที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งประกอบด้วย

1. การลดต้นทุนการผลิต โดยการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใน กิจกรรมหลัก คือ จัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ทั้ง 3 ประเภท โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรพระราชทาน ปี 2558 ให้สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 858 ตัน จัดทำแปลงเรียนรู้และจุดสาธิตเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร 17,640 ราย ผ่าน 882 ศูนย์ และการผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศในฟาร์มผลิตพืชอินทรีย์ สร้างโรงต้นแบบและติดตั้งระบบการผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศให้เกษตรกรต้นแบบ 11 แห่ง 10 จังหวัด

2..การเพิ่มผลผลิต ได้แก่ โครงการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชรองรับประชาคมอาเซียน (Seed Hub)  โครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อควบคุมและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเลจากกลุ่มอาการตายด่วน (EMS)

 3. การเพิ่มรายได้ โดยตรวจรับรองแหล่งผลิต วิเคราะห์คุณภาพและประเมินมาตรฐานทั้งด้านพืช ปศุสัตว์และประมง

4. การจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตร โดยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง โดยมีการสำรวจ คัดกรองเกษตรกรตามคุณสมบัติ Smart Farmer แล้ว 4.85 ล้านราย จากเป้าหมาย 7.25 ล้านครัวเรือน ดำเนินงานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้บริการวิเคราะห์ดิน และให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสนับสนุนสารเร่ง พด. เพื่อผลิตและใช้น้ำหมักชีวภาพ

5. การจัดการทรัพยากร ดำเนินโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน มีการรวบรวมและยืนยันความต้องการของเกษตรกรเป้าหมายสำหรับการขุดสระน้ำและใช้ประโยชน์จากสระน้ำ โดยจัดซื้อจัดจ้างและลงนามในสัญญาครบตามเป้าหมาย 50,000 สระ ขุดแล้ว 15,114 สระ ฟื้นฟูปรับปรุงคุณภาพดิน มีการส่งเสริมใช้ปูนมาร์ลในพื้นที่ดินเปรี้ยว ปรับปรุงพื้นที่ดินกรด และพื้นที่ดินเค็มรวม 117,943 ไร่  จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ รวม 176,158 ไร่ จัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร โดยจัดที่ดินทำกิน/สอบสวนสิทธิ รวม 8,950 ราย 102,205 ไร่ 

6. กิจการด้านต่างประเทศ เช่น การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับ การเปิดตลาดในรัสเซีย การประชุมรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพารา และการประชุมระดับรัฐมนตรี ของประเทศต่างๆ เป็นต้น

นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับแผน Road Map ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งประกอบด้วย โครงการสำคัญ 10 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 34,413.52 ล้านบาท ได้แก่ 1 โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพการผลิต (150 แห่ง พื้นที่ 0.78 ล้านไร่ เกษตรกร 48,000 ครัวเรือน) ส่งเสริมการผลิตข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) (130 แห่ง พื้นที่ 0.065 ล้านไร่ เกษตรกร 6,500 ครัวเรือน)  ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง (0.4 ล้านไร่ เกษตรกร 40,000 ครัวเรือน) ปรับเป็นเกษตรทางเลือก (พื้นที่ 0.32 ล้านไร่ เกษตรกร 106,655 ครัวเรือน) และปรับเปลี่ยนเป็นอ้อย (0.7 ล้านไร่ เกษตรกร 35,000 ครัวเรือน)

          2 โครงการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์ (กระบือ โค และไก่พื้นเมือง) โดยมุ่งอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือ เพิ่มปริมาณฐานแม่กระบือ 45,250 ตัว ภายในปี 2562  เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโค โดยปรับโครงสร้างฟาร์มโคนม 150 ฟาร์ม ของ 3 สหกรณ์ โคนม 10,500 ตัว และการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตไก่พื้นเมือง จำนวน 47,000 ตัว เกษตรกร 4,000 ครัวเรือน 3.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตประมง (กุ้งทะเล หอยแครง ปลานิล) โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเลอย่างครบวงจร (พื้นที่ 25,986 ไร่ เกษตรกร 1,362 ราย) พัฒนาแหล่งผลิตและปรับปรุงระบบการส่งเสริมด้านการเพาะเลี้ยงหอยแครง (พื้นที่ 9,920 ไร่ ได้รับการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ได้แหล่งพ่อแม่พันธุ์หอยแครง พื้นที่ 5,000 ไร่) เกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงปลานิลแบบครบวงจร (พื้นที่ 27,979 ไร่ โดยจัดตั้งกลุ่มผู้เพาะเลี้ยง 14 กลุ่ม/สหกรณ์)

          4 โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญในกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร โดยจำหน่ายหนี้สูญให้กับหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ภายใต้กองทุน/เงินทุนในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเกษตรกร

               5 การปรับปรุงและออกกฎหมายเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ร่าง พ.ร.บ. รายได้และสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ. ....  ร่าง พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นต้น

              6 โครงการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อให้มีฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ครอบคลุมเกษตรกรทุกสาขา ด้านพืช 6.0 ครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ 3.1 ล้านครัวเรือน ประมง 6 แสนฟาร์ม/3,000 ราย และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             7 โครงการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตร ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยสหกรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพของสหกรณ์ตามพื้นที่เป้าหมาย ปี 2558 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดตาก นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พริก ถั่วลิสง ถั่วเขียว และจังหวัดสระแก้ว นำเข้ามันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง

8 โครงการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ในพื้นที่เป้าหมาย นิคมสหกรณ์ 12 แห่ง 4 จังหวัด คือ กระบี่  ชุมพร  นราธิวาส และ สุราษฎร์ธานี

                9 โครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวสถาบันเกษตรกร โดยเพิ่มรายได้เกษตรกรสมาชิกจากการจำหน่ายข้าวเปลือกและการจัดการผลผลิตเพิ่มมูลค่าของสถาบันเกษตรกร คืนสู่เกษตรกรสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 100-200 บาท/ตัน เป็น 200–300 บาท/ตัน

10 โครงการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อขยายศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ขาดแคลน ด้วยการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มเติมในแหล่งพื้นที่เพาะปลูกข้าว ในพื้นที่ 15 แห่ง สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เพิ่มได้ปีละ 4,000 ตันต่อศูนย์ รวม 15 ศูนย์ เป็นจำนวน 60,000 ตัน

 จากภารกิจการดำเนินงาน 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งมั่นที่จะตอบสนองนโยบายการพัฒนาการเกษตรให้ครอบคลุมตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนยุทธศาสตร์ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตร และความมั่นคงอาหาร การพัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุลและยั่งยืน โดยจะเร่งดำเนินการทั้งในเรื่องของการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร การพัฒนาขีดความสามารถของสหกรณ์ การปรับโครงสร้างระบบส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ การแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แก่เกษตรกรและประเทศชาติสืบไป  ดังวิสัยทัศน์  "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน”

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

ผู้ผลิตน้ำตาลพร้อมลดขนาดซอง หวังเป็นองค์กรตัวอย่าง

          วิจัยพบเปลี่ยนขนาดน้ำตาลซองจาก 8 กรัม เหลือ 6 กรัม คนยังเทน้ำตาลหมดซองเหมือนเดิม ชี้เปลี่ยนขนาดเป็น 3 - 4 กรัม ช่วยลดการกินหวาน รับพลังงานแคลอรีเกินได้ เผยผู้ผลิตน้ำตาลยินดีเปลี่ยนขนาดการผลิต หวังเป็นต้นแบบองค์กรตัวอย่างลดอ้วน

               ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวถึงกรณี สสส. เสนอแนวคิดลดขนาดน้ำตาลบรรจุซอง จาก 8 กรัม เหลือ 3 - 4 กรัม ว่า จากการวิจัยพฤติกรรมประชาชน พบว่า การรับประทานน้ำตาลแต่ละวันนั้นได้มาจากหลายแหล่ง แต่วัยทำงานส่วนใหญ่จะได้รับการอาหารว่างเวลาประชุม ซึ่งพบว่าแต่ละมื้อสูงถึง 300 กิโลแคลอรี ทั้งที่ไม่ควรเกิน 100 กิโลแคลอรี เมื่อทำงานวิจัยก็พบว่า น้ำตาลที่ใช้มักจะใช้เพียงครั้งละ 1 ซอง และใช้จนหมดในแต่ละครั้ง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนขนาดซองน้ำตาลจาก 8 กรัม เหลือ 6 กรัม ทั้ง 2 ครั้งที่ทำการวิจัยคือปี 2552 และ 2556 ก็พบว่ายังใช้ 1 ซองเท่าเดิม หรือพฤติกรรมไม่เปลี่ยนแปลง

               “การเปลี่ยนขนาดซองน้ำตาลเป็น 3 - 4 กรัม จะเป็นการช่วยลดปริมาณแคลอรีที่ได้รับในมื้ออาหารว่าง ถือเป็นผลดีกับผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการได้เคยหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และยินดีที่จะปรับเปลี่ยนซองมาตรฐานลงเพื่อให้เป็นทางเลือก และจะมีการทำงานกับส่วนราชการเพื่อเป็นองค์กรตัวอย่างที่จะปรับเปลี่ยนการใช้ซองน้ำตาลลงให้เป็นขนาด 3 - 4 กรัมด้วย นอกจากนี้ ยังจะมีโครงการรณรงค์ในการใช้ผลไม้เพิ่มเข้าไปในมื้ออาหารว่างให้มากขึ้น และลดขนาดของชิ้นขนมลงเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีมากขึ้น” ทพญ.จันทนา กล่าว

               ทพญ.จันทนา กล่าวว่า สำหรับกลุ่มวัยเด็ก โครงการรณรงค์เด็กไทยไม่กินหวาน ได้ทำในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่องโดยสามารถเพิ่มจำนวนโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมได้ถึงร้อยละ 83 ในปีก่อน ซึ่งพบว่านอกจากน้ำอัดลม ยังต้องเร่งให้ความรู้ถึงเครื่องดื่มกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำชาขวด นอกจากนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ยังทดลองให้ติดป้ายเตือนการใส่น้ำตาลในร้านขายเครื่องดื่มชา กาแฟ ซึ่งพบว่าทำให้ผู้บริโภคตระหนักมากขึ้นและเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใส่น้ำตาลน้อยลง

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

“แบงก์ชาติ” หนุนใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการค้า เพิ่มสภาพคล่องระบบการเงินโลก

ผู้ว่าการ ธปท.สนับสนุนให้ใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการทำการค้าเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบการค้าโลก หนุนการค้าไทย-จีน ลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐ และถือเป็นเงินสกุลที่ 3

                นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุนให้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการทำธุรกรรมการค้า เพิ่มสภาพคล่องให้ระบบการค้าโลก และเป็นการสนับสนุนการค้าระหว่างไทย และจีน โดยลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐ และถือเป็นเงินสกุลที่ 3 ซึ่งจะช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนทำการค้าระหว่างนักธุรกิจไทยกับจีนมีความคล่องตัว มีเสถียรภาพมากขึ้น และปัจจุบันธุรกรรมการค้าเงินหยวนมีเพิ่มมากขึ้น

               นายเย่ หู ประธานกรรมการธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้เปิดชำระดุลเงินหยวนในไทย และเป็นศูนย์กลางธุรกรรมเงินหยวนให้แก่นักธุรกิจไทย และลูกค้าของธนาคารในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย และประเทศจีน พร้อมส่งเสริมบทบาทสกุลเงินหยวนด้านการค้าการลงทุนทั้งในระดับทวิภาคี และภูมิภาคอาเซียน

               และปี 2558 เป็นปีที่สำคัญเพราะธนาคารได้ดำเนินธุรกิจมาครบ 5 ปี โดยกลุ่มไอซีบีซีเข้ามาถือหุ้นธนาคารร้อยละ 97.24 เมื่อ 21 เมษายน 2553 แต่ปัจจุบัน ธนาคารเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 97.86 จากการเพิ่มทุนในปี 2557 ที่ 5,945 ล้านบาท

               ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นปี 2557 ธนาคารมีสินทรัพย์ 1.94 แสนล้านบาท และมีกำไรก่อนหักภาษีในปี 2557 อยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าในอีก 3 ปี ธนาคารจะมีการเจริญเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรม

จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

หม่อมอุ๋ย’นำทีมประชุมอาเซียนเกาะติดวาระการจัดตั้ง‘เออีซี’ดันSMEไทยลงทุนเพื่อนบ้าน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะเป็นผู้นำคณะทำงานด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 13 (AEM-EUConsultations) ภายใต้การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 27- 28 เมษายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเมืองลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยจะมีการติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมอาเซียน หรือเออีซี พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อมูลที่เกี่ยวกับความร่วมมือพัฒนาประชาคมอาเซียน

พร้อมเชื่อว่า SME ไทยมีความพร้อมในการออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม แล้ว มีการใช้ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce มาส่งเสริมการค้าและการตลาดให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเตรียมแผนที่จะพาสภาอุตสาหกรรมขนาดย่อมไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และจะร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น โดยให้ไทยเป็นฐานการผลิตภายในสิ้นปีนี้ สร้างโอกาสการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมากที่สุด

รมช.พาณิชย์กล่าวว่า ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นวาระแห่งชาติ ในการพัฒนา SME ให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ โดยในภาพรวมผู้ประกอบการ SME ของกลุ่มประเทศอาเซียน ยังขาดข้อมูลคลังสินค้าที่บางประเทศยังทำไม่แล้วเสร็จ ซึ่งการสร้างระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) พบปัญหามากที่สุดและยังเชื่อมโยงไม่แล้วเสร็จ ส่วนการลงทุนจำนวนมหาศาลของภูมิภาคอาเซียน เช่น การสร้างท่อส่งแก๊ส คาดว่าจะมีการหารือหลังปี 2558 ไปแล้ว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

'เงินเฟ้อ’ติดลบสูงสุดรอบ5ปี สศก.ยันภาคเกษตรไม่กระทบ-ย้ำจับตาต่อเนื่อง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินเฟ้อเดือนมีนาคม ติดลบ 0.57% สูงสุดในรอบ 5 ปี 6 เดือน แต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากประชาชนยังซื้อสินค้า และผู้ประกอบการไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะเงินฝืดนั้น ได้แก่ ระดับราคาสินค้าและบริการ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจจะมีเพียงพอหรือไม่ อัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลโดยตรงอัตราเงินเฟ้อหรือภาวะเงินฝืด รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือค่าเงินบาทของไทยจะแข็งหรืออ่อนมากน้อยเพียงใดที่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการด้วย

เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรในแต่ละด้าน พบว่า ด้านเศรษฐกิจการเกษตรมหภาค มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญยังคงมีแนวโน้มที่ดี แม้ว่าจะเจอปัจจัยลบโดยเฉพาะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัวในไตรมาสนี้ แต่ระดับราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังมีราคาที่ทรงตัว จึงคาดว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะมีแนวน้าที่ส่งผลให้ภาคเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ด้านระดับราคาสินค้าเกษตร ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่ม 3.92 สินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา เพราะเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่วนปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ด้านการปรับโครงสร้างภาคผลิตการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้สูงขึ้น คุ้มครองและสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในระบบการผลิตและการค้าทางการเกษตร รวมถึงพัฒนาความพร้อมของเกษตรกรให้มีระบบการผลิตสอดคล้องกับภาวะตลาด และสามารถเลือกใช้วิทยาการทางการเกษตรที่เหมาะสม เป็นการคุ้มครองภาคเกษตรจากภาวะเงินเฟ้อติดลบขณะนี้ได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ถึงภาวะเงินฝืด แต่ต้องมีการเตือนภัยทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขณะนี้ พบว่า ภาวะเงินเฟ้อของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม เหตุสำคัญเกิดจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการลดลง เพราะต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลง จึงส่งผลดีต่อการขยายฐานการผลิตสินค้าให้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

ปุ๋ย-ยาจำกัดศัตรูพืชเริ่มลดราคาทั่วประเทศ

เกษตรกรเฮ% ร้านจำหน่ายปุ๋ยข้าว-ยาง-ข้าวโพด-ปาล์ม-มันฯ ทั่วประเทศทะยอยลดราคาปุ๋ย 30-50 บาท เป็นเวลา 7 เดือนครึ่ง ส่วนยาจำกัดศัตรูพืชทะยอยลดตาม 5-10%

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยและผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีที่มีร้านตัวแทนจำหน่ายในเขตกทม.และจังหวัดต่างๆ เริ่มทะยอยปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีที่ใช้ในนาข้าว, ยางพารา,ปาล์มน้ำมัน,ข้าวโพด และมันสำปะหลังลงจากราคาในช่วงเดือนม.ค. 58 ลงอีกกระสอบ (50 กก.) ละ 30-50 บาท ตามนโยบายของพล.อ ฉัตรชัยสาริกัลยะ รมว. พาณิชย์ที่ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีให้ปรับลดราคาจำหน่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยมีระยะเวลาดำเนิน16 เม.ย. – 30 พ.ย. 58 หรือเป็นเวลา 7 เดือนครึ่ง

ขณะเดียวกันร้านจำนหน่ายยาป้องกันหรือยากำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในนาข้าวก็เริ่มทะยอยปรับลดราคาเช่นเดียวโดยลดราคาลงจากราคาจำหน่ายปลีกในช่วงต้นปีประมาณ 5-10%พร้อมทั้งเตรียมออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเกี่ยวกับการปรับลดราคาและราคาจำหน่ายปลีกแนะนำค่าบริการรถเกี่ยวนวดข้าวด้วย

สำหรับรายละเอียดในการปรับลดประกอบด้วย ปุ๋ยเคมีที่ใช้ในนาข้าวจำนวน 4 สูตร ก็จะลดราคาลงจากราคาจำหน่ายปลีกในช่วงเดือนม.ค. 58 กระสอบละ 40 – 50 บาทหรือ ลดลง 6.02 – 8.26% โดยสูตร 46-0-0 (ยูเรีย) ลดลงกระสอบละ 40 บาทหรือ 6.02%, สูตร 16-20-0, สูตร 16-16-8 และสูตร 16-8-8ลดลงกระสอบละ 50 บาท หรือ 6.49 – 8.26%

ส่วนพืชชนิดอื่นๆเช่น ยางพาราจำนวน 3 สูตร คือ สูตร18-4-5,สูตร 14-4-9 และ สูตร 15-7-18ลดลงกระสอบละ 25 – 40 บาท หรือ 4.39 – 6.90%, ปาล์มน้ำมันจำนวน 2 สูตร คือสูตร 21-0-0 และ สูตร0-0-60ลดลงกระสอบละ 30 – 40 บาท หรือ 4.90 – 7.50%, ข้าวโพด และมันสำปะหลัง จำนวน 2 สูตร คือสูตร15-15-15และ สูตร 18-8-8 ลดลงกระสอบละ 30 - 50 บาทหรือ 4.04 – 5.68%

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

ธปท.รับเงินบาทแข็งค่า

ผู้ว่าธปท.ชี้ค่าบาทแข็งค่าจากปัจจัยต่างประเทศมาเป็นหลักหลังตัวเลขสหรัฐไม่ดีนัก 

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) เปิดเผยว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก เพราะดอลลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงหลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาไม่ค่อยดีนักขณะที่เงินสกุลภูมิภาคอ่อนค่าจากปัจจัยเฉพาะในซึ่งธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะนำมาพิจารณาในการประชุมกนง. ในวันที่29เม.ย.นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส2และ3นี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น เป็นบวกมากขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรกส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ประเมินว่าเศรษฐกิจไตรมาส1จะขยายตัว3%คงต้องดูว่าเป็นการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาใด หากเทียบกับช่วงเดียวกันปี57จะขยายตัวสูง เพราะมีฐานต่ำ แต่หากเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี57อาจขยายตัวต่ำลงทำให้มองเศรษฐกิจระยะข้างหน้า ต้องระมัดระวังอยู่

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

นำร่อง 219 จุด ช่วยเกษตรกรรายย่อยทำแปลงใหญ่

กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการเพื่อรองรับการส่งเสริมการเกษตรในลักษณะ แปลงใหญ่โดยได้นำวิธีการทำงานรูปแบบ MRCF system ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วย

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันสูงทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้เกษตรกรรายย่อยประสบปัญหาในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร ตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน ทรัพยากรและการตลาดได้น้อย

และจากการที่เกษตรกรรายย่อยต่างคนต่างผลิต ทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายในเรื่องการจัดทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่โดยให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มและรวมพื้นที่การผลิตเป็นแปลงขนาดใหญ่ ที่มีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการ ตั้งแต่การวางแผนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรมีความสามารถในการจัดการผลิตสินค้าเกษตรจนถึงการตลาดที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่

ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจการต่อรองในการจัดหาปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลผลิต สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ในต้นทุนที่ต่ำลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งความคืบหน้าของเรื่องนี้นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลักในการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ 2 ประการ คือ 1) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่ และ 2) เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตรให้นักส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการพื้นที่ โดยการบูรณาการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ศักยภาพของพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร

ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการเพื่อรองรับการส่งเสริมการเกษตรในลักษณะแปลงใหญ่โดยได้นำวิธีการทำงานรูปแบบ MRCF system ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วย โดยดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม–กันยายน 2558 มีเป้าหมายทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในพื้นที่นำร่อง 219 จุด ดำเนินการในพืชหลายชนิดอาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน ลำไย มะม่วง มังคุด เงาะ ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และผัก โดยในช่วงวันที่ 6-7 เมษายน 2558 ที่ผ่านมากรมฯ ได้เชิญเกษตรจังหวัดทั่วประเทศมาร่วมสัมมนาเพื่อความเข้าใจในทิศทางเดียวกันต่อการดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ณ โรงแรมเอบีน่า เฮาส์ กทม.

ซึ่งเป็นที่คาดกันว่า จากการดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่นี้ เกษตรกรรายย่อยจะมีความเข้มแข็ง และสามารถบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง ขณะที่คุณภาพผลผลิตสูงขึ้น อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีการรวมกลุ่มในการผลิตและการตลาดอย่างเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่

รวมถึงมีรูปแบบการทำงานในการส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการในลักษณะแปลงใหญ่ที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

'จักรมณฑ์'ดันลงทุน1ล้านล. ปลื้มผลงาน6เดือนให้คะแนนข้าราชการ9เต็ม10 

          "จักรมณฑ์"เข็นการลงทุนผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งปีกว่า 1 ล้านล้านบาท ชี้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้น นักลงทุนมั่นใจขั้นตอนอนุมัติใบรง.4 ฉลุย ปลื้มผลงาน 6 เดือน มีเม็ดเงินลงทุนตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการ 2.289 แสนล้านบาท จี้แก้นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ 1.2 ล้านตันภายในก.ย.นี้ พร้อมเร่งจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อฯ แห่งแรกในอาเซียน หวังกระตุ้นการใช้ยางพารา

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่มีต่อการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการลดขั้นตอนลงมาทำให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั้น  คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลงทุนที่ผ่านหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลอยู่ของปีนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยจะมาจากการขอตั้งประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท และจะมาจากการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่ดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท โดยยังไม่รวมมูลค่าการลงทุนที่เกิดจากการให้ประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ที่อยู่ระหว่างการอนุมัติอีกเป็นจำนวนมาก

          ทั้งนี้ นับจากที่ตัวเองได้เข้ามาบริหารงานกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 จนถึงเดือนมีนาคม 2558 หรือเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน มีความพอใจกับผลงานที่ดำเนินการมา โดยเฉพาะการได้รับความร่วมมือจากบรรดาข้าราชการในสังกัดกระทรวง ที่ได้ทำงานสอดรับกับนโยบายที่ให้ไป หากประเมินการทำงานของข้าราชการก็คงต้องให้อยู่ในระดับ 9 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน

          โดยจะเห็นได้จากการปรับปรุงลดขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต เช่น การขอใบอนุญาตการประกอบกิจการและขยายกิจการ(รง.4) จากเดิมที่ใช้เวลา 90 วัน ลดลงเหลือ 30 วัน ( 12 ก.ย.57- 12 มี.ค. 58) มีใบอนุญาตที่อนุมัติไปจำนวน 2,528 ราย เกิดการลงทุน 2.289 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 9.29 หมื่นราย และจากการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่ามีผู้ประกอบการได้แจ้งเริ่มประกอบการและขยายกิจการแล้ว 1,840 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 1.861 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 6.93 หมื่นคน

          ส่วนการดำเนินงานของกนอ.ที่ผ่านมาได้ดำเนินการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไปแล้ว โดยเป็นการแจ้งประกอบกิจการใหม่ 215 คำขอ เงินลงทุน 2.199 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 3.22 หมื่นคน แจ้งขยายโรงงาน 65 คำขอ เงินลงทุน 7.86 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงาน 3.923 พันราย

          ขณะที่การขออนุญาตประทานบัตรและอาชญาบัตรสำหรับผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่ลดขั้นตอนการพิจารณาจาก 97 วัน ลดลงมาเหลือ 45 วัน มีการออกใบอนุญาตประทานบัตรและต่ออายุประทานบัตร อาชญาบัตร อาชญาบัตรพิเศษ และโอนประทานบัตรแล้วจำนวน 188 แปลง คิดเป็นมูลค่าแร่ 2.385 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุน 4.364 หมื่นล้านบาท และเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 4.67 แสนล้านบาท โดยล่าสุดได้มีการอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตชให้กับบริษัท โปแตชอาเซียน จำกัด(มหาชน) ไปแล้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในระยะอันใกล้นี้ประมาณ 4 หมื่นบ้านบาท มีมูลค่าแร่สูงถึง 2.12 แสนล้านบาท คิดเป็นการประหยัดการนำเข้าได้ถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และภาครัฐได้ประโยชน์ตอบแทน 3.7 พันล้านบาทต่อปี และยังได้ออกใบประทานบัตรการทำเหมืองแร่ควอตซ์ ให้แก่ บริษัท กรีนไมนิ่ง อินดัสตรี้ จำกัด จำนวน 1 แปลง เกิดการลงทุน 500 ล้านบาท เพื่อให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์

          นอกจากนี้ ยังลดขั้นตอนการพิจารณาออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) จากเดิม 46 วันเหลือเพียง 26 วัน ทำให้มีการออกใบอนุญาตไปแล้ว 2,873 ฉบับ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และยังได้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ไม่อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่ม ซึ่งจะช่วยให้การตั้งโรงงานหรือขยายโรงงานน้ำตาลมีความคล่องตัวมากขึ้น และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้

          นายจักรมณฑ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมนั้น ได้นำกากอันตรายเข้าสู่ระบบ 4.47 แสนตัน พร้อมได้จัดวางยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี(2558-2562) โดยกำหนดให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประมาณ 6.8 หมื่นราย เข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% และเพิ่มบทลงโทษผู้ลักลอบทิ้งกาก จากเดิมปรับไม่เกิน 2 แสนบาท อายุความ 1 ปี ไม่มีโทษจำคุก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท และมีอายุความ 10 ปีโดยตั้งเป้าว่า จะเพิ่มปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าระบบให้ได้ 1.2 ล้านตัน ภายในเดือนกันยายน 2558 นี้

          ส่วนการดำเนินงานหลังจากนี้ จะเร่งจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อและสนามทดสอบ ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา แห่งแรกในอาเซียน บนพื้นที่ 900 ไร่ ระยะแรกจะใช้งบประมาณ 2.85 พันล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 แสนตันต่อปี รวมทั้งการผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน  5 แห่ง ที่ต้องใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท และการปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรองรับมาตรฐานอาเซียน เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558 

"จักรมณฑ์" ระบุ โรงงานน้ำตาลรอใบอนุญาต 50 ราย ยันเกณฑ์ระยะห่างต้องไม่ดึงเกษตรกรเดิม

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เข้ามา และค้างการพิจารณาอยู่แล้วประมาณ 50 ราย กำลังผลิตเฉลี่ย 2 หมื่นตัน/ปี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์อย่างรอบคอบ

          อย่างไรก็ตาม จำนวนที่ยื่นเข้ามาถือว่าค่อนข้างสูงจึงไม่น่ามีรายใหม่เข้ามามาก เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านตัน จำนวนไร่อ้อย 10 ล้านไร่ และมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ 51 โรง หากจะตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่จะต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร เช่น ประสานกับเกษตรกรในการเพาะปลูก การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

          รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้การตั้งโรงงานน้ำตาลไม่ต้องผ่านมติ ครม.ที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2532 และมติ ครม.เมื่อ วันที่ 22 ก.ค. 2558 ที่เห็นชอบตามร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมแค่ 50 กม. จากเดิมที่ต้องห่าง 80 กม.นั้น โรงงานแห่งใหม่จะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิต

          นอกจากนี้ อ้อยที่จะนำมาผลิตน้ำตาลจะต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม เพื่อป้องกันการแย่งอ้อยวัตถุดิบ ต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และเมื่อได้รับใบอนุญาตต้องลงทุนภายใน 5 ปี

          ด้าน นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชา สัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า มติ ครม.ที่กำหนดระยะห่างโรงงานน้ำตาล 50 กม. จะส่งผลดีต่อการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายมากขึ้น

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 22 เมษายน 2558

ชี้สอน.ไร้อำนาจตั้งรง.น้ำตาล 'จักรมณฑ์'แจงต้องผ่านกรอ.ก่อน กลุ่มน้ำตาลหนุนหวังดูดซับอ้อย   

          'จักรมณฑ์'ชี้ สอน.ไม่มีอำนาจอนุญาตตั้ง รง.น้ำตาลแบบเบ็ดเสร็จ ต้องเสนอ กรอ.พิจารณาขั้นสุดท้าย โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจน และตัดปัญหาดองเรื่องอนุมัติ เผยมี 50 รายจ่อคิวรอพิจารณา กลุ่มน้ำตาลทรายอ้างระยะห่างที่ตั้งไม่ใช่ปัญหา

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดตั้งโรงงานน้ำตาลไม่ต้องผ่านมติ ครม.ว่า ที่ผ่านมาการขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณา ทำให้บางยุคสมัยมีการดองเรื่องไว้ มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องจึงใช้เวลามากกว่าปกติ แต่ปัจจุบัน เมื่อผู้ประกอบการผ่านการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว ต้องยื่นเรื่องเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ตามขั้นตอนการอนุญาตขอตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทราย เนื้อหาประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ให้อำนาจ สอน.เป็นผู้อนุญาตทั้งหมด แต่กำหนดให้เป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์โดยเฉพาะพิกัดที่ตั้ง เกณฑ์ระยะทางที่ตั้งโรงงานเทียบกับโรงงานที่มีอยู่แล้ว เกณฑ์ลูกไร่ที่ต้องมีผลผลิตป้อนโรงงานชัดเจน กระบวนการนี้ทาง สอน.จะไปกำหนดระยะเวลาพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าเกณฑ์พิจารณาไม่น่าจะเกิน 30 วัน ต่อจากนั้นยังต้องส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 จึงจะสามารถประกอบการกิจการตามกฎหมายได้

          นายจักรมณฑ์กล่าวว่า ขั้นตอนการอนุมัติโรงงานน้ำตาลหลังจากนี้ เบื้องต้นมีผู้ประกอบการยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เข้ามาและค้างการพิจารณาอยู่ก่อนแล้วประมาณ 50 ราย กำลังผลิตเฉลี่ย 20,000 ตันต่อปี โดยกระทรวงจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์อย่างรอบคอบ ซึ่งจำนวนที่ยื่นดังกล่าวค่อนข้างสูงแล้ว ไม่น่ามีรายใหม่เข้ามามาก เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านตัน จากจำนวนไร่อ้อย 10 ล้านไร่ และมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ที่ 51 โรง หากจะตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่จะต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร อาทิ การเตรียมอ้อยที่ต้องประสานกับเกษตรกรในการเพาะปลูก การทำรายงานอีไอเอ และมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ตามมติ ครม.ที่กำหนดระยะห่างโรงงานน้ำตาลที่ 50 กม. จะส่งผลดีต่อการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายมากขึ้น สอดคล้องกับการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่นาข้าว จะส่งผลดีในด้านปริมาณอ้อยในอุตสาหกรรมมากขึ้น

          "ปัญหาการแย่งอ้อยนั้นไม่เกี่ยวกับระยะห่างของโรงงาน เพราะหากมีการส่งเสริมร่วมกันระหว่างโรงงานในพื้นที่ โดยมีรัฐเข้ามาสนับสนุนจะไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน ทั้งนี้ การที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชาวไร่ปลูกอ้อย ควรส่งเสริมให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์จากอ้อยมากกว่าการผลิตเป็นน้ำตาลอย่างเดียวด้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร" นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 22 เมษายน 2558

ลุยสอบรง.น้ำตาลสร้างมลภาวะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมถกหาทางออก/เร่งบรรเทาความเดือดร้อนปชช.  

          กาฬสินธุ์ : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับมอบหมายจาก นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าดำเนินการและตรวจสอบการร้องเรียนกรณีความเดือดร้อนจากปัญหามลภาวะเป็นพิษของชาวบ้านหมู่ 5 และ 9 บ้านหนองแซงต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ โดยดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมกับคณะกรรมการควบคุมมลพิษระดับจังหวัดกาฬสินธุ์, อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์,สำนักงาน สสจ.กาฬสินธุ์, ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้แทนจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าตรวจสอบและรับฟังปัญหาการร้องเรียนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้มีตัวแทนฝ่ายโรงงาน นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลำน้ำปาวและส่วนงานที่เกี่ยวข้องระดับอำเภอและท้องถิ่น เข้าร่วมรับฟังปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย

          นายดำรง เดชวิถี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดกาฬสินธุ์กล่าวว่าด้วยทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับแจ้งจากกรมควบคุมมลพิษให้เข้าตรวจสอบ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสานจำกัด ซึ่งเป็นโรงงานทำน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว ในพื้นที่ ต.สำราญอ.สามชัย โดยมีข้อร้องเรียนปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นคือเสียงดังรบกวน และสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน เนื่องจากมีรถบรรทุกอ้อยในช่วงเดือนพฤศจิกายนมีนาคมของทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาเย็น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่ามีต้นเหตุของปัญหามาจากโรงงาน และทางโรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเป็นระยะการเข้าตรวจสอบและการรับฟังปัญหาครั้งนี้ก็จะเป็นการหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อให้โรงงานและชุมสามารถอยู่ร่วมกันได้

          นายประภัสร์ ศรีเวียง ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมและสรรหาอ้อย บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนจนมีการร้องเรียนเป็นผลจากรถบรรทุกอ้อยที่มาจำหน่ายให้กับโรงงานแตกต่างจากโรงงานอื่นๆเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นรายย่อยจะใช้รถอีแต๋นบรรทุกอ้อยเข้ามาจำหน่ายที่โรงงานที่แต่ละวันจะมีประมาณ 150-200 คันต่อวันในช่วงเปิดหีบอ้อย ในกลุ่มของเกษตรกรประมาณ 1,500 ราย ทั้งนี้ทางโรงงานได้แก้ไขปัญหาไปบางส่วนแล้วทั้งการเพิ่มจุดย่อยในการรับซื้ออีก 3 จุด การแนะนำเส้นทางเลี่ยงออกจากหมู่บ้านที่จะไม่สร้างผลกระทบ รวมถึงการนำรถบรรทุกน้ำรดน้ำบนถนนตลอดเวลาเพื่อป้องกันฝุ่นละออง แต่ปัญหาข้อร้องเรียนที่มีอีกครั้งนี้ทางโรงงานก็พร้อมจะร่วมกับทุกฝ่ายดำเนินการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชน

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558 

ระดมสมองภาคเอกชนวางแผนการตลาด-ดันยอด10กลุ่มสินค้ารัฐพล่านแก้ส่งออกดิ่งเหว

รมว.พาณิชย์ นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมภาคเอกชน หวังพยุงตัวเลขส่งออกปี 2558 ให้โตได้มากว่า 1% เชิญ 10 กลุ่มสินค้า หารือวางมาตรการด้านการตลาดเชิงลึก พร้อมรับเป็นผู้ประสานกระทรวงอื่นลดอุปสรรค ตามที่ภาคเอกชนเสนอมา สอท.วอนบริหารค่าเงินเอื้อแข่งขัน สภาหอฯแนะจัดเวทีหารือต่อเนื่อง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมเพื่อเร่งรัดการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน อาทิ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ(สภาผู้ส่งออก) ในวันที่ 21 เม.ย. 2558 ว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับเอกชน เพื่อหารือถึงสถานการณ์การส่งออก ประเด็นปัญหาอุปสรรคที่มีต่อการส่งออก และวิธีการผลักดันการส่งออกของไทย ซึ่งในที่ประชุมเห็นชอบที่จะผลักดันการส่งออกให้ลงไปในรายละเอียด แต่ละกลุ่มสินค้ามากขึ้น ทั้งวิธีการรักษากลุ่มตลาดเดิม ในแต่ละกลุ่มได้อย่างไร จะสามารถขยายตลาดที่มีอยู่แล้วในแต่ละประเทศได้อย่างไร และไทยจะหาตลาดใหม่ในแต่ละรายสินค้าได้มากน้อยขนาดไหน ขณะที่ปัญหาต่างๆ ที่ภาคเอกชนเสนอมา เช่น ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน การอำนวยความสะดวกทางด้านศุลกากร และสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ กระทรวงพาณิชย์จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาควบคู่กันไป

ทั้งนี้ในวันที่ 24 เม.ย. 2558 นี้ ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเชิญกลุ่มผู้ส่งออก 10 กลุ่ม เข้ามาหารือถึงแผนการผลักดันการส่งออกในแต่ละรายสินค้า การกำหนดแผนบุกตลาด โดยประกอบด้วย 1.กลุ่มอาหาร 2.กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า 3.กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 4.กลุ่มสิ่งทอ 5.กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ 6.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 7.กลุ่มสินค้ากลุ่มบริการและสุขภาพ เช่น สปา ร้านอาหาร 8.กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ 9.กลุ่มโลจิสติกส์ และ 10.กลุ่มตลาด CLMV

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2558 ของกระทรวงพาณิชย์ เบื้องต้นน่าจะมีการปรับลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัวได้ 4% ซึ่งตั้งไว้ตั้งแต่เดือนต.ค.2557 โดยในวันที่ 24 เม.ย. 2558 นี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2558 และแม้ว่าภาคเอกชนจะมองว่าส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 0% แต่การปรับลดตัวเลขการส่งออกครั้งนี้ กระทรวง ยังคาดว่าตัวเลขจะยังขยายตัวเป็นบวก และไม่น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 1% เพราะยังเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น และส่งผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์จะปูพรหมรักษาตลาดส่งออก ขยายตลาดใหม่ เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ควบคู่ไปด้วย

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ทางสภาอุตฯ ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์เพิ่มงบประมาณในโครงการเอสเอ็มอี โปรแอคทีฟ เพื่อช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยได้มีโอกาสในการส่งออก หลังจากที่งบประมาณเดิมได้หมดลงและหยุดโครงการไปแล้ว อีกทั้งได้ขอให้มีการผลักดันโครงการโปรดักส์ ออฟ ไทยแลนด์ โดยสนับสนุนให้มีการติดโลโก้ที่ระบุว่าเป็นสินค้าจากประเทศไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้า รวมถึงให้มีการจัดงานแสดงสินค้าระดับอาเซียน ในปี 2559 เพื่อดึงดูดคนทั่วโลกมาชมและเลือกซื้อสินค้า และเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ฝากให้

 ภาครัฐดูแลอย่างใกล้ชิด

“เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอาจไม่เกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์โดยตรง แต่ก็อยากให้กระทรวงช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้า และคู่แข่ง เพราะตอนนี้ถือว่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากที่สุดในโลก โดยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ที่เงินแข็งค่า ซึ่งการที่เงินของเราแข็งค่าส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การส่งออกมีปัญหา และยังส่งผลต่อการส่งออก”

นายกลินท์ สาระสิน รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอฯ ได้เสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการส่งออก มีการประชุมต่อเนื่อง และได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งส่งเสริมการค้าชายแดน เร่งสนับสนุนให้มีศูนย์กระจายสินค้าไทยในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง ผลักดันให้ไทยมีชื่ออยู่ในลิสต์ของยูเอ็น เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหาร การจัดงาน THAIFAX มากขึ้น และการพัฒนางานด้านบริการให้ดียิ่งขึ้น

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันการส่งออก การค้าการลงทุน ในตลาดที่มีศักยภาพอย่างอินเดีย มากขึ้น เพราะตลาดอินเดียถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวดี รวมถึงให้มีการเร่งให้มีการทำ FTA ไทย-อินเดีย โดยเร็ว และให้มีการผลักดันการค้ากับประเทศในอาเซียนด้วย ขณะที่การส่งออกทั้งปี ประเมินว่าจะโตได้ที่ 0% หรือเป็นบวกเล็กน้อย ซึ่งเอกชนได้ประเมินตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 น่าจะติดลบ 4-5% ส่วนไตรมาสที่ 2 จะทรงตัว และไตรมาส 3 และ 4 จะกลับมาดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวได้ โดยจะขยายตัวได้ที่ไตรมาสละ 3%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558 

รมว.อุตฯ แถลงผลงาน 6 เดือน ไฟเขียวใบอนุญาตตั้งรง.6พันฉบับ

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลดำเนินงานรอบ 6 เดือน (ช่วง 12 ก.ย.57 -12 มี.ค. 58 ) ว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยได้แก้ไขข้อเรียกร้องของภาคเอกชนในการแก้ปัญหาปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและนักลงทุน ให้การประกอบธุรกิจสะดวกขึ้นและเป็นไปตามความพอใจของเอกชน

ทั้งนี้ได้เร่งรัดการออกใบอนุญาตต่าง ๆ โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตการประกอบ/ขยายการประกอบกิจการโรงงานหรือ รง.4 ซึ่งได้ปรับลดระยะเวลาจากเดิมใช้เวลา 90 วัน เหลือ 30 วัน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการออกใบอนุญาต รง.4 ไปแล้ว 2,528 ราย เกิดการลงทุน 228,900 ล้านบาท การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุญาตใช้ที่ดิน 134 คำขอ แจ้งเริ่มประกอบกิจการแล้ว 215 คำขอ เงินลงทุน 219,000 ล้านบาท จ้างงาน 3,225 คน อนุญาตขยายโรงงาน 65 คำขอ เงินลงทุน 78,620 ล้านบาท จ้างงาน 3,923 ล้านบาท รวม 571,066 ล้านบาท

เกิดการจ้างงานใหม่ 1 แสนคน คาดว่ามูลค่าการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมตลอดปี 2558 จะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท

สำหรับปัญหาขยะที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี โดยปีนี้ตั้งเป้านำกากอุตสาหกรรมมีพิษเข้าระบบกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านตัน จากกากมีพิษทั้งหมดในระบบ 3 ล้านตัน พร้อมปรับแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษผู้ลักลอบทิ้งขยะเป็นจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท

สำหรับแผนการดำเนินงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อ และสนามทดสอบ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศ จากร้อยละ 12.5 เป็นร้อยละ 20 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 150,000 ตันต่อปี ผลักดันโครงการจัดหาวัตถุดิบทางเลือกให้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหิน การปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อรองรับมาตรฐานอาเซียน การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล เตรียมจัดงาน Thailand Expo 2015 และการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายจัดการให้กากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบเพิ่ม จากปัจจุบัน 1.03 ล้านตัน เป็น 1.2-1.5 ล้านตัน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 เมษายน 2558

อนุญาตตั้ง-ย้ายโรงงานน้ำตาล ต้องมีระยะห่างกัน 50 กิโลเมตร

ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้แก้ไขประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาล โดยมีหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุง คือ โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ที่ขออนุญาตตั้ง หรือย้ายโรงงาน ต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (กม.) จากเดิมกำหนดไว้ 80 กม. เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการขนส่งอ้อย ขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีแผนการเตรียมปริมาณอ้อย จากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ โดยกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดิม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งอ้อยระหว่างโรงงานที่ตั้งใหม่และโรงงานเดิม

นอกจากนี้ ยังปรับเกณฑ์ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นผู้พิจารณาให้การรับรองการขออนุญาตตั้ง ย้าย หรือขยายโรงงาน จากเดิมที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และเมื่อได้รับการรับรองให้ตั้งโรงงานแล้ว ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 5 ปี หากไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าการอนุญาตได้สิ้นสุด ต้องดำเนินการขออนุญาตใหม่

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 21 เมษายน 2558

แนะใช้แอพฯวินิจฉัยโรค-แมลงศัตรูพืช

ด้านนายประสงค์ ประไพตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นนี้ มีเมนูหลักที่สำคัญ

นายไพรัช หวังดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เป็นสภาพที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของแมลงที่มักจะระบาดสร้างความเสียหายกับผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งการป้องกันและกำจัดที่สำคัญ คือ การทำให้ต้นพืชแข็งแรง และการควบคุมโรค-แมลงศัตรูพืชไม่ให้เพิ่มจำนวนมากจนก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตร

เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจ ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และยึดหลักการใช้วิธีควบคุม ซึ่งการกำจัดมีหลายวิธีผสมผสานกัน เช่น การใช้วิธีกล ใช้กับดักแสงไฟ เชื้อจุลินทรีย์ ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ (ตัวห้ำ/ตัวเบียน) และใช้สารเคมีเป็นวิธีสุดท้าย

และเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรกรมฯ ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นโพรเทคแพลนท์ ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยวินิจฉัยลักษณะอาการของโรค/แมลงศัตรู และการป้องกันกำจัด โดยสามารถวินิจฉัยพืชได้กว่า 30 ชนิดแล้ว ครอบคลุมทั้งข้าว พืชไร่ ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ผล ไม้ยืนต้น

ด้านนายประสงค์ ประไพตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นนี้ มีเมนูหลักที่สำคัญ คือ 1) ข่าวสารการเกษตร 2) องค์ความรู้ด้านอารักขาพืช ทั้งองค์ความรู้เรื่องโรค-แมลงศัตรูและการป้องกันกำจัด ในพืช เช่น ข้าว ไม้ผลยืนต้น พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ พืชไร่ และองค์ความรู้เรื่องศัตรูธรรมชาติและจุลินทรีย์ที่สำคัญ 3) การวินิจฉัยศัตรูพืชเบื้องต้น ตามลักษณะอาการที่พบ 4) การวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืชเบื้องต้นตามชนิดพืช และตามช่วงการเจริญเติบโตระยะต่าง ๆ 5) การพยากรณ์เตือนการระบาดศัตรูพืช ซึ่งจะรายงานทุกสัปดาห์ และ 6) การพยากรณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาอีกด้วย ซึ่งผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ฟรี โดยพิมพ์คำค้นหาแอพพลิเคชั่นด้วยคำว่า “protectplants” หรือพิมพ์คำว่า “กรมส่งเสริมการเกษตร” ที่ Google Play Store สำหรับสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ Apple App store สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 เมษายน 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับภารกิจวันดินโลกสู่ปีดินสากล (2)

ทำไมต้องมี “วันดินโลก” ง่ายๆ ก็คือ เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาชนทั่วไปรู้คุณค่าถึงความสำคัญของทรัพยากรดินที่ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิต โดยเมื่อย้อนไปในการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา (World Congress of Soil Science) ครั้งที่ 17 ที่กรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคมปี 2545 ได้มีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ทำให้สมาชิกของสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science: IUSS) ทั่วโลก ประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน ทรงเป็นผู้นำและปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขดินปัญหา การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย และทุกโครงการประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง นำความผาสุกมาสู่ปวงชนชาวไทย และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดินและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ นอกจากนี้ผลสำเร็จจากการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องของพระองค์ ยังเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในและนานาประเทศ ทั้งนี้เมื่อขยายความ วันดินโลก ปีหนึ่งจะมีหนึ่งวัน แต่มีต่อเนื่องทุกปี รณรงค์กันทุกปี ในขณะที่ ปีดินสากล มีเพียงครั้งเดียว ปีเดียว เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาของดิน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตพืชหรืออาหารสำหรับโลกใบนี้ และต้องการให้เกษตรกรที่ยังไม่ตระหนัก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของดิน และการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของปีดินสากล

อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดงานปีดินสากล ปี2558 เห็นควรที่จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปีดินสากล ในรูปแบบการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักรู้ถึงความสำคัญของดิน ในปีดินสากล 2558 อาทิ เพื่อแพร่พระอัจฉริยภาพด้านดิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยแพร่ผลงานในด้านการแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจเพื่อใช้ทรัพยากรดินอย่างรู้คุณค่า รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ตลอดจนความเสื่อมโทรมของดิน การใช้ประโยนช์ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 เมษายน 2558

ปัญหาเกษตร : ดินดี ที่เหมาะสมในทางเกษตร

คำถาม ผมอยากทราบว่า ดินที่ดีที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรมอย่างมาก ต้องมีลักษณะอย่างไรครับ

คำตอบ เกณฑ์การประเมินว่าดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชของเราหรือไม่นั้น จะต้องดูที่ลักษณะและคุณสมบัติที่สำคัญของดินทางการเกษตร ประกอบด้วย สภาพของดินในแต่ละพื้นที่นั้น มีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยในการสร้างตัวของดิน เราต้องเรียนรู้และรู้จักดินเบื้องต้น ลักษณะและสมบัติของดิน สีของดิน เนื้อดิน โครงสร้างของดิน ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และความลึกของดิน สิ่งเหล่านี้ เป็นเกณฑ์การประเมินว่าดินมีความเหมาะสมกับการเกษตรหรือไม่

ดินดี ที่เหมาะสมในทางการเกษตร เป็นดินที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช มีปริมาณน้ำและแร่ธาตุอาหารเพียงพอ และให้ผลผลิตได้ดี มักมีหน้าดินสีคล้ำหนา มีอินทรียวัตถุมาก ไม่มีสารที่เป็นพิษต่อพืช เนื้อดินร่วนซุย มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินใกล้ความเป็นกลาง คือมีค่าพีเอช ประมาณ 5.5 ถึง 7.0 และไม่มีชั้นดาน หรือชั้นหินที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืช

ดินในกลุ่มดินร่วนนี้ เป็นดินที่มีอนุภาคขนาดทราย ทรายแป้ง และดินเหนียวในปริมาณใกล้เคียงกัน เนื้อดินละเอียดนุ่มมือ จับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ สภาพดินชื้น มีความยึดหยุ่น แต่เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายออก ดินจะจับกันเป็นก้อนและไม่แตกออกจากกัน ไถพรวนง่าย ระบายน้ำได้ดี อากาศถ่ายเทได้ดี และมีความอุดมสมบูรณ์สูง

อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่ต้องการปลูกในบริเวณนั้นด้วย เพราะพืชแต่ละชนิดมีความต้องการสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เช่น ข้าว เป็นพืชชอบน้ำ ดินจะต้องเป็นที่ลุ่ม เนื้อดินไม่เหนียวหรือร่วนเกินไป สามารถขังน้ำได้ มีความง่ายในการไถเตรียมดินพอควร ดินที่ดีจะไม่มีกลิ่นเหม็นของกำมะถัน หรือกลิ่นเหม็นอย่างอื่นๆ ถ้าเป็นพืชไร่และไม้ผล ควรปลูกบนที่ดอน มีหน้าดินหนา เนื้อดินร่วน ความสามารถในการอุ้มน้ำดี ระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 6.5-7.0 มีความอุดมสมบูรณ์ของดิน พวกไม้ยืนต้นจะมีระบบรากลึก ต้องการดินที่มีความลึกมากกว่าพืชไร่ และควรมีแหล่งน้ำใกล้พอที่จะนำมาใช้ได้เมื่อจำเป็น ไม่เป็นที่ลุ่ม เพราะจะเสี่ยงกับน้ำแช่ขังและน้ำท่วม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 เมษายน 2558

หนุนเกษตรดึงจีเอพีคุมผลิตสินค้า

แนะใช้จีเอพีเป็นมาตรฐานบังคับสินค้าเกษตรหวังยกระดับการผลิตช่วยแข่งขันได้ดีขึ้น

นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในสิ้นปีนี้ไทยยังไม่พร้อมแข่งขันในภาพรวมโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและยังไม่มีมาตรฐานการเกษตรมาใช้ในการผลิตสินค้า ทำให้แข่งขันไม่ได้ จึงแนะนำให้ภาครัฐนำระบบมาตรฐานการเกษตรที่ดี (จีเอพี) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) มาปรับใช้เป็นมาตรฐานแบบบังคับเพื่อยกระดับสินค้าเกษตร ทำให้การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและสินค้ามีคุณภาพดีขึ้น

ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกรอบอาเซียนให้มากที่สุดในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีคนใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวน้อยมากโดยเฉพาะการค้าชายแดน

ทั้งนี้สาเหตุที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการไม่รู้ มีขั้นตอนซับซ้อนไม่รู้ระบบการคำนวณแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้นดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมให้ใช้สิทธิกันมากขึ้น เพราะจะส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าไทยที่ขายในต่างประเทศทำให้สินค้าแข่งขั้นได้ยาก

“เรื่องการใช้ภาษีต้องตั้งเป้าหมายเลยว่าจะต้องมีการใช้สิทธิมากกว่า 70% ให้ได้เพราะยิ่งไม่ใช้ ทำให้ไทยไม่พร้อมแข่งในอาเซียน” นายพรศิลป์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 21 เมษายน 2558

ใบรับรองวิชาชีพภาคเกษตร

นับเป็นอีกก้าวของภาคเกษตรไทยในการยกระดับแรงงานภาคเกษตรให้มีความรู้เฉพาะด้านตามที่ตัวเองถนัด เพื่อเป้าหมายผลผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและยังทำให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐสามารถคัดแยกแรงงานตามความเหมาะสมกับตำแหน่งได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันยังเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อการเข้าสู่เปิดเสรีทางการค้า หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ (31 ธ.ค.58) อีกด้วย โดยการเตรียมจัดทำร่างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพภาคการเกษตรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันก่อนมีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.ศักดา อินทรชัย  ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของโปรเจกท์ถึงความคืบหน้าของร่างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพภาคการเกษตร ตามที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ  (องค์การมหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดทำขึ้น โดยมีตัวเองและคณะทีมที่ปรึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ โดยเริ่มนำร่องจากพืชเศรษฐกิจ 2ตัวหลักก่อนคือ ข้าวและอ้อยก่อนขยายผลไปสู่พืชเศรษฐกิจตัวอื่นๆต่อไป

สำหรับรายละเอียดของร่างมาตรฐานฉบับนี้จะแบ่งออกเป็น 4 สายงานหลักคือ 1.สายงานการเตรียมดิน 2.สายงานการเพาะปลูก 3.สายงานการดูแลรักษาและ 4.สายงานการเก็บเกี่ยวซึ่งต่อไปใครก็ตามที่จะเข้าสู่แรงงานภาคการเกษตร(ข้าวและอ้อย) จะต้องมีใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพจาก 4 สายงานนี้หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อดีของร่างฉบับนี้ประการแรกจะช่วยพัฒนาแรงงานในภาคเกษตรให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพราะเข้าใจในระบบการเพาะปลูกในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างดี เพื่อช่วยในการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตและการได้มาซึ่งผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ

ประการต่อมาจะสามารถควบคุมแรงงานไร้ฝีมือเข้ามาสู่ในระบบภาคการเกษตรทำให้ง่ายในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพราะสามารถรู้ได้ทันทีว่าใครมีความสามารถหรือถนัดในด้านใด และประการสุดท้ายเป็นที่ยอมรับในระดับสากลสามารถใช้เป็นใบเบิกทางในการทำงานภาคเกษตรในต่างประเทศได้ เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา  หรือสหภาพยุโรป ที่ทุกวันนี้แรงงานภาคเกษตรทุกรายจะต้องมีใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพ

โดยร่างฉบับนี้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ ไม่ว่าตัวแทนจากกรมกองต่างๆ ในกระทรวงเกษตรฯ ตัวแทน ธ.ก.ส. ตัวแทนสภาเกษตรกร และตัวแทนผู้ประกอบการภาคเกษตรมาช่วยกันวางกรอบการทำงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ จากนั้นก็จะนำไปทดลองใช้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและอ้อยใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กำแพงเพชร  กาญจนบุรี และนครราชสีมา ซึ่งการดำเนินการในทุกขั้นตอนคาดว่าจะแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ก็นับเป็นอีกก้าวของวงการภาคเกษตรไทยที่สามารถยกระดับแรงงานภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะภาคการผลิตนั้นให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 21 เมษายน 2558

เครื่องจักรกลการเกษตร แก้ปัญหาเผาก่อนตัดอ้อย

โดยพื้นที่ 1 ไร่ มีใบและเศษซากอ้อยประมาณ 0.63–1.51 ตัน ในแต่ละปีประเทศไทยมีการเผาใบและเศษซากอ้อยอยู่ระหว่าง 2.52–6.16 ล้านตัน

ปัญหาการทำไร่อ้อยนอกจากความแห้งแล้งแล้ว ดินก็มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากเกษตรกรนิยมเผาใบและเศษซากอ้อยก่อนตัด ที่ยังมาซึ่งผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะการทำลายอินทรียวัตถุในดิน และมลพิษโดยรวม

นายอรรถสิทธิ์ บุญธรรม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 5 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การเผาไร่อ้อยมีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ 1. การเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากปัญหาการขาด แคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อย รวมทั้งเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตัดอ้อย 2. การเผาใบอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว ไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะมีใบอ้อยคลุมดินที่เป็นเชื้อเพลิงที่อาจจะไหม้อ้อยตอ ดังนั้นหลังเก็บเกี่ยว ก่อนอ้อยจะงอก ชาวไร่จึงเผาใบอ้อยเพื่อป้องกันไฟไหม้ 3. การเผาใบและเศษซากอ้อยก่อนการเตรียมดิน เมื่อตัดอ้อยปีสุดท้ายต้องรื้อปลูกใหม่ เกษตรกรจะเผาใบและเศษซากอ้อย เพื่อสะดวกต่อการเตรียมดิน

โดยพื้นที่ 1 ไร่ มีใบและเศษซากอ้อยประมาณ 0.63–1.51 ตัน ในแต่ละปีประเทศไทยมีการเผาใบและเศษซากอ้อยอยู่ระหว่าง 2.52–6.16 ล้านตัน ในใบและเศษซากอ้อยมีไนโตรเจนอยู่ระหว่าง 0.35–0.66% ดังนั้นประเทศไทยจะมีการสูญเสียไนโตรเจนในดิน 8,820–40,656 ตันไนโตรเจนต่อปี

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณ บุรี จึงได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรกลการเกษตรแก้ปัญหาเป็น เครื่องตัดอ้อยสดชนิดตัดเป็นลำ แก้ปัญหาการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว เครื่องนี้มีส่วนประกอบหลักคือรถแทรกเตอร์ขนาด70 แรงม้า ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถตัดอ้อย และอีกชุดเป็นเครื่องตัดอ้อยพร้อมถาดรับลำอ้อยที่ถ่ายทอดกำลังด้วยโซ่และสายพานทดแทนการใช้ระบบไฮโดรลิก ที่สำคัญคือระบบการแยกใบอ้อยจากลำ โดยใช้สายสลิงมายึดเกาะกับลูกกลิ้งเพื่อขัดใบออกจากลำ ก่อนที่ลำอ้อยจะพุ่งขึ้นไปที่มีดตัดยอดและลำเลียงขึ้นสู่ถาดรับ ซึ่งการแยกใบอ้อยออกจากลำนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่กรมวิชาการเกษตรคิดค้นได้เป็นรายแรก

เมื่อตัดอ้อยเสร็จเกษตรกรก็จะเผาใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว จึงได้คิดค้น เครื่องสับใบระหว่างแถวอ้อยตอ ใช้สำหรับสับใบอ้อยลงดิน ป้องกันไม่ให้ใบอ้อยที่คลุมดินไหม้อ้อยตอระหว่างแถวอ้อย และเมื่อตัดอ้อยปีสุดท้ายต้องรื้อปลูกใหม่ เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเผาใบเพื่อสะดวกต่อการไถพรวน ดังนั้น จึงสร้าง เครื่องสับใบและกลบเศษซากอ้อย เพื่อทดแทนการเผาได้โดยหนึ่งชุดจะมีผาล 2 อัน ผาลหนึ่งทำหน้าที่สับใบ อีกผาลพลิกดินกลบ

ทั้งนี้ เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการเผาในไร่อ้อยทั้ง 3 เครื่องนี้ เป็นผลงานวิจัยที่คิดค้นขึ้นมาโดยคำนึงถึงเครื่องจักรกลที่เหมาะสมกับขนาดแรงม้าของรถแทรกเตอร์ในประเทศไทย รวมถึงประเทศกลุ่มเออีซี ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จดสิทธิบัตรเครื่องจักรกลดังกล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญงานวิจัยชิ้นนี้ จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศจากการลดเผาใบและเศษซากพืชได้อย่างดี และการไถกลบยังช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน เพิ่มผลผลิตให้กับพืชผลของเกษตรกร ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละมหาศาล.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

ลุย‘โค้งสุดท้าย’วิกฤติภัยแล้ง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ระดมบุคลากรอุปกรณ์ เครื่องมือ ออกให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

นางสาวภาวิณี ปุณณกันต์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้กระทรวงฯ เฝ้าติดตามสถานการณ์ผลกระทบด้านต่าง ๆ จากปัญหาภัยพิบัติภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เพราะอีก 1-2 เดือน ประเทศไทยจึงจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลือจึงถือเป็น “โค้งสุดท้าย” ที่หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องผนึกกำลังในการดูแลและช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากวิกฤติภัยแล้งไปให้ได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ระดมบุคลากรอุปกรณ์ เครื่องมือ ออกให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมจัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษเชิงรุก จัดหาแหล่งน้ำในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง เช่น การเจาะบ่อน้ำบาดาล การส่งชุดสูบน้ำเคลื่อนที่ไปสูบน้ำจากแม่น้ำสายหลักเพื่อเก็บกักในแหล่งน้ำธรรมชาติ การจัดเตรียมจุดจ่ายน้ำถาวร และการให้บริการจุดจ่ายน้ำดื่มสะอาดภายในโรงรียนให้แก่ชุมชนโดยรอบ เป็นต้น

ขณะที่ล่าสุด มีการปล่อยคาราวานรถปฏิบัติการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย รถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบดับเบิ้ลแค็บ ขนาด 1 ตัน รถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล ขับเคลื่อน 2 ล้อ แบบดับเบิ้ลแค็บ ขนาด 1 ตัน และรถยนต์โดยสารเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 12 ที่นั่ง รวม 36 คัน ส่งมอบให้แก่สำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพื่อนำไปสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนในการช่วยเหลือประชาชนใน 36 จังหวัดเสี่ยงภัยแล้งขั้นรุนแรงอาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ระนอง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช เป็นต้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

ตั้งนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรม อีกทางออกแก้วิกฤติขยะล้นโรงงานไทย?

ปัจจุบันประเทศไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตรายอยู่ 3.35 ล้านตัน แต่มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1.03 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่เข้าเข้าระบบ และมีการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรมตามข้างถนนและมีการกำจัดไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านมลภาวะต่างๆและส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่บริเวณรอบข้างอย่างที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลนำ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการจัดการขยะ ทั้งขยะจากครัวเรือนและขยะจากภาคอุตสาหกรรม ให้เป็นเรื่องเร่งด่วน  ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ  “รับลูก”เร่งดำเนินการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 โดยประเทศไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตัน แต่มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1.03 ล้านตันเท่านั้น ดังนั้น ในปีนี้ จึงตั้งเป้าให้กากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้นเป็น 1.5 ล้านตัน จากที่มีในระบบ 3.35 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้มองข้าม โดยเมื่อเร็วๆนี้ทาง ผู้บริหาร กระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะจึงเดินทางไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรมของ บริษัทเคมิคอล เวส ทรีทเมนท์ เซ็นเตอร์(CWTC) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขให้เข้ากับประเทศไทย ซึ่งโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานแห่งเดียวที่จัดการกากแบบครบวงจรที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งสามารถรองรับขยะเคมีได้ 1 แสนตันต่อปี ด้วยวิธีเก็บรวบรวม วิเคราะห์ลักษณะ คุณสมบัติ พร้อมใช้วิธีบำบัดด้วยการแยกน้ำออกจากน้ำมัน การบำบัดองค์ประกอบของเคมีและกายภาพของขยะด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีการบันทึกข้อมูลไว้ รวมถึงตัวเลขคุณภาพอากาศและมลภาวะ ซึ่งช่วยตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมได้

นอกจากจากนี้ยังมีการรายงานประสิทธิภาพทางด้านสิ่งแวดล้อมของ CWTC เป็นประจำ ประกอบด้วย การรายงานสภาวะน้ำทิ้ง, การรายงานการจัดเก็บของเสียตกค้าง, รวมทั้งการดูแลการควบคุมการปล่อยก๊าซเสีย โดยระดับของไดออกซิน ซึ่งวัดได้จากสภาวะอากาศปกติ และที่ปล่องควันของเตาเผาขยะนั้น จะต้องรายงานและติดตามผลให้กับทางรัฐบาลฮ่องกงโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นประจำ นอกจากนั้น ยังต้องวางแผนซ่อมบำรุงเชิงป้องกันและแก้ไขในสภาวะฉุกเฉินได้ถูกนำมาใช้ในงานด้วย

การเดินทางไปฮ่องกงครั้งนี้ก็เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการกำจัด ตามแผนจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปีข้างหน้า คือ ระหว่างปี 2558-2562 โดยเป้าหมายแรกจะนำโรงงานที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบให้ได้กว่า 90% ในปี 2562 ซึ่งขณะนี้มีโรงงานที่ได้ลงทะเบียนในระบบจัดการกากอุตสาหกรรมและส่งขยะอุตสาหกรรมออกไปบำบัดกำจัด รีไซเคิลแล้วประมาณ 5,300 โรงงานเท่านั้น จากทั้งหมด 68,000 โรงงาน ซึ่งตามแผน 5 ปีจะเร่งรัดโรงงานเข้าระบบให้ได้ 10,000 โรงงาน ภายในปี 2558 นี้

นอกจากนี้ทาง กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีนโยบายในการจัดตั้ง นิคมกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับหลายหน่วยงานในการขอใช้พื้นที่ให้เหมาะสม โดยได้เล็งพื้นที่ในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก อย่างละ 1 แห่ง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากอุตฯ จะมีประมาณ10,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่กำจัดกาก 5,000 ไร่ และอีก 5,000 ไร่ เป็นการทำพื้นที่กันชน (บับเบิ้ลโซน) เพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อม

โดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม  โด ยกรมโรงงานโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)จะบังคับใช้กฎหมาย กำหนดให้รถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกคันจะต้องติดระบบ ติดตามยานพาหนะโดยใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาณดามเทียม(จีพีเอส) สำหรับติดตามเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมจากต้นทางไปยังปลายทาง เพื่อป้องกันการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งนอกระบบ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังเตรียมนำงบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติให้ 14 ล้านบาท พัฒนาระบบซอฟแวร์และมาตรฐานการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกรมโรงงานฯ ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมและผู้รับกำจัดกากฯ ให้สามารถตรวจสอบการขนส่งกากฯ จากต้นทางไปยังปลายทางได้ ด้วยการจัดทำระบบรับสัญญาณจีพีเอส ของรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโรงงานฯจำนวนประมาณ 3,400 คัน

ทาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เริ่มแจ้งผู้ประกอบการกำจัดการอุตสาหกรรมทุกราย ต้องติดตั้งระบบ จีพีเอส ในรถบรรทุกขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกคันภายในเดือน ก.ย. 2558 นี้ เนื่องจากระบบติดตามจีพีเอสดังกล่าวจะแล้วเสร็จในสิ้นเดือน ก.ย. 2558 เช่นกัน และจะเริ่มตรวจสอบรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 เป็นต้นไปถ้ารถคันใดไม่ติดก็จะมีความผิดทันทีทั้งจำและปรับ

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าการควบคุมผู้ประกอบการอย่างเข้มงวดเพียงอย่างเดียวจะหวังผล 100% คงยาก หากผู้ประกอบการไม่เข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นผู้ประกอบการเองก็ควรที่จะมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม  ไม่ควรมุ่งหวังแต่ผลกำไรของตัวเองเพียงอย่างเดียว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

ครม.อนุมัติ ประกาศก.อุตฯ อนุญาตจัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ห่างจากแห่งเดิมได้ 50 ก.ม.

วันที่ 20 เม.ย. 2558  ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอทบทวนมติ ครม. และขอความเห็นชอบในการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาล ว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้มีการยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2532 และทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 เฉพาะข้อ 1.2 วงเล็บ 5

โดยทาง ครม.ได้อนุมัติร่างประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการ อนุญาตให้จัดตั้ง ย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลทั่วราชอาณาจักร   ทั้งนี้ ในระหว่างที่กฎหมายนี้ยังไม่ได้บังคับใช้ ให้อำนาจกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานน้ำตาล โดยนำหลักเกณฑ์ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้ประกอบการพิจารณา

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า สาระสำคัญในการแก้ไขหลักเกณฑ์และระเบียบการอนุญาตให้จัดตั้ง ย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาล คือ จากเดิมที่มีการกำหนดให้จัดตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ให้ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลแห่งเดิม ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร แก้ไขให้เป็นไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ อ้อย โรงงานและน้ำตาลทราย ตามโรดแมปของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยทดแทนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม และกำหนดมาตรการในเรื่องปริมาณอ้อย ว่าจะต้องไม่ใช่อ้อยที่มาจากเกษตรกรที่มีคู่สัญญากับโรงงานเดิม  เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการแย่งอ้อยระหว่างโรงงานใหม่กับโรงงานเดิม

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

APCON”จับมือ ซีทีซีไอ (ประเทศไทย)ลุยประมูล-สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

บจ. แอดวานซ์ เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่น (APCON)  ร่วมลงนามในกิจการร่วมค้า (JV) กับ บริษัท ซีทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรับงานการก่อสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ ด้าน “สุธีร์ ฉุยฉาย กรรมการผู้จัดการ” เผยมีงานรอประมูลก่อสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าชีวะมวลประมาณ 4-5 แห่ง ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 9.9-10 เมกะวัตต์ต่อโครงการ  ลุ้นจ่อคว้างานแรกของ “ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง” มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดรู้ผล พ.ค.นี้

นายสุธีร์ ฉุยฉาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่น จำกัด(APCON) ผู้มีประสบการณ์และเป็นผู้ชำนาญด้านพลังงานไฟฟ้าและกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งมีเทคโนโลยีทางด้าน ระบบควบคุมและระบบสื่อสาร ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าทุกรูปแบบ เปิดเผยว่า ตามที่ทางรัฐบาลได้มีนโยบายให้เรื่องของการกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตื่นตัวและสนใจกับการบริหารจัดการขยะมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ

ทั้งนี้ บริษัทฯได้เล็งถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ตกลงร่วมดำเนินการลงนามในกิจการร่วมค้า (JV) กับทางบริษัท ซีทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (CTCI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซีทีซีไอ กรุ๊ป (CTCI GROUP) บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ผู้ซึ่งมีความสามารถและประสบการณ์มากมายกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโรงกลั่นน้ำมันของประเทศไต้หวัน เพื่อเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ

การลงนามในครั้งนี้ทาง APCON จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่  60 % และทาง CTCI จะถือหุ้น 40 % ซึ่งกิจการร่วมค้า (JV) ดังกล่าวจะเริ่มงานได้ทันที โดยจะเริ่มจากการเข้าประมูลรับงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจาก RDF  ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.98 เมกะวัตต์มูลค่า 9,000-10,000ล้านบาท ที่บริษัทฯได้เสนอให้กับทางบริษัท อีสเทริน์ เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (EEP) ที่ร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นแห่งแรก ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจมากว่าจะชนะการประมูลในครั้งนี้ และคาดว่าจะทราบผลการประมูลประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะมีรูปแบบทั้งการรับงานก่อสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ(RDF)

นอกจากนี้คาดว่าในปี 2558 บริษัทกิจการร่วมค้า (JV) ดังกล่าวจะเข้าประมูลงานงานก่อสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าชีวะมวลประมาณ 4-5 แห่ง  กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.9-10 เมกะวัตต์ต่อโครงการ โดยมีมูลค่าการประมูลเฉลี่ย 1,000 - 1,200 ล้านบาทต่อโครงการ และคาดว่าจะทราบผลภายในปี 2558 ประมาณ 2-3 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการประมูลงานของ RATCH  มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าการประมูลจึงเยอะกว่าโครงการอื่นๆ โดยคาดว่าจะทราบผลในเดือนพ.ค.นี้  ส่วนมูลค่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อโครงการ หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับขนาดและเทคโนโลยีในการก่อสร้างตามความเหมาะสม

กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่น จำกัด (APCON)  กล่าวเพิ่มว่า นอกจากการรับงานโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะทั้งจากเอกชน และภาครัฐแล้ว บริษัทยังมีความพร้อมที่จะเข้าประมูลงานจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงงานน้ำตาล ซึ่งมีกากอ้อยที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) มันสำปะหลัง หรือกากปาล์มเป็นต้น

สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะนั้นสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการกำจัดขยะ หากบริษัทสามารถนำขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะช่วยลดปัญหาขยะล้นเมืองไปได้เยอะมาก และปัจจุบันมีผู้สนใจที่จะดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะเป็นจำนวนมากจึงเป็นโอกาสที่การเข้ามูลงานในอนาคตอีกจำนวนมาก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

เดินหน้านวัตกรรมสำรวจข้อมูลเกษตร สศก. ลุยภาคสนาม ประเมินความถูกต้องเนื้อที่เพาะปลูก

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าว ลุยพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ทดลองภาคสนามประเมินความถูกต้องเนื้อที่เพาะปลูกข้าวที่ได้จากโปรแกรม INAHOR ในกรณีที่พื้นที่นามีพื้นที่อื่นปะปน

          นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าว ซึ่ง สศก. ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asia Development Bank : ADB) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการสำรวจเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าว โดยนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประยุกต์ใช้สนับสนุนการวางแผนด้านการเกษตรของประเทศ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในการนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพระบบการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าวใน 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย ภายใต้กรอบการช่วยเหลือตามโครงการ R-CDTA 8369 Innovative Data Collection Methods for Agricultural and Rural Statistics โดยโครงการฯ มีระยะดำเนินงานพฤษภาคม 2557 ถึง กรกฎาคม พ.ศ.2559

          สำหรับประเทศไทย สศก. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้นำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวของประเทศ นำร่องพื้นที่จังหวัดอ่างทอง โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม ALOS-2 ซึ่งเป็นข้อมูลดาวเทียมในระบบ SAR ที่มีคุณสมบัติสามารถถ่ายภาพทะลุเมฆได้ ทำให้ได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับวิเคราะห์แม้กระทั่งฤดูฝน ทั้งนี้ การดำเนินงานตามโครงการฯ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์และวิธีการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ ร่วมกับวิธีการ Crop Cutting ในระดับจังหวัด และการฝึกอบรมคณะทำงานให้กับประเทศนำร่อง ทั้ง 4 ประเทศ และการพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมออนไลน์ (Online) ในการใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับงานด้านสถิติการเกษตรและชนบท ภายหลังจากที่มีการพัฒนาโปรแกรมแล้วเสร็จ

          ในการนี้ เมื่อวันที่ 19 – 20 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ สศก. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก RESTEC ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภาคสนามภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวที่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย ทดลองการปฏิบัติงานภาคสนามในการตรวจสอบความถูกต้องของผลการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกข้าวที่ได้จากโปรแกรม INAHOR ในกรณีที่พื้นที่นามีพื้นที่อื่นปะปน หรือที่เรียกว่า MIXCEL เพื่อประเมินสัดส่วนของพื้นที่อื่นที่ปะปนกับพื้นที่ปลูกข้าว เนื่องจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ALOS2 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้แปลและวิเคราะห์ภายใต้โครงการฯ มีขนาดจุดภาพ 100 x 100 เมตร ซึ่งคิดเป็น 6.25 ไร่ต่อจุดภาพ โดยทำการสุ่มตัวอย่างในลักษณะสุ่มแบบอิสระ (Random Sampling) จำนวน 13 จุด ขนาด 200 x 200 เมตร

          ผลการสำรวจภาคสนาม พบว่า พื้นที่นาข้าวส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มีการปลูกข้าว เนื่องมาจากการนโยบายของภาครัฐในการไม่สนับสนุนให้เกษตรกรทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่คาดว่ารอบการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2558/59 เกษตรกรในพื้นที่จะมีการทำนา นอกจากนี้ จากการสำรวจภาคสนาม พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปะปน ได้แก่ อ้อยโรงงาน พืชผัก ไม้ผล บึง คลอง และถนน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 - 25 มีนาคมที่ผ่านมา สศก. ยังได้จัดให้มีการฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรม INAHOR ครั้งที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งส่วนกลาง นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายที่อยู่ในภูมิภาค และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จาก http://news.thaiquest.com   วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน มาตรการกระตุ้นศก.ระยะที่2

โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 โดยมีกรอบวงเงิน 78,294.85 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 37,602.84 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยการจัดทำระบบประปาหมู่บ้านและระบบชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำ และการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยโดยการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม พัฒนาระบบการระบายน้ำ ระบบผันน้ำ และระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการศึกษาสำรวจและออกแบบโครงการขนาดใหญ่ที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2559

(2) โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 40,692.01 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงบูรณะทางหลวง การปรับปรุงทางจักรยาน การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและป้ายจำกัดความเร็ว แก้ไขจุดเสี่ยง การเพิ่มช่องจราจร การขยายเส้นทางการปรับปรุงถนนทางแยกและทางกลับรถ

การดำเนินโครงการดังกล่าวจะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ตามเป้าหมายผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วนเป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กมีพื้นที่ดำเนินการกระจายในภูมิภาคต่างๆ และมีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีในปี 2558 โดยคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายเงินได้ 32,954.72 39,756.31 และ 5,583.82 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2558 2559 และ 2560 ตามลำดับ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกรอบวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท และถ้าภาวะตลาดการเงินในประเทศเอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงิน การคลัง และตลาดทุน กระทรวงการคลังสามารถกู้เป็นเงินบาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศได้

 เพื่อเตรียมการจัดหาเงินกู้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการจัดหาเงินกู้และบริหารเงินกู้ โดยคณะทำงานฯ ได้พิจารณาสภาวะของตลาดการเงินและสภาพคล่องทั้งต่างประเทศและในประเทศ ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล และรูปแบบ  การเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว เห็นควรกู้เงินบาทจากสถาบันการเงินในประเทศแทนการกู้เงินตราต่างประเทศสำหรับใช้ในการดำเนินโครงการในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2558 (เมษายน – มิถุนายน 2558) โดยมีวงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท สำหรับวงเงินกู้สำหรับไตรมาสที่ 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2558) จะพิจารณาในโอกาสต่อไปเมื่อทราบผลการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถผูกพันสัญญาได้ครบถ้วนทุกโครงการไม่เกินเดือนมิถุนายน 2558

 นอกจากนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 โดยได้เร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่ได้รับอนุมัติไว้เพื่อให้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็วตามนโยบายของรัฐบาลโดยสำนักงบประมาณจะเร่งจัดสรรเงินกู้ให้แก่หน่วยงานเจ้าของโครงการผ่านระบบ e-Budgeting และหน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถเบิกจ่ายเงินกู้ได้ทันทีตามงวดการเบิกจ่ายผ่านระบบ GFMIS ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะได้ติดตามการดำเนินโครงการและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีเป็นระยะๆ ต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับภารกิจวันดินโลกสู่ปีดินสากล (1)

ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของสรรพสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกนี้ โดยในด้านการเกษตร ดินถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ และเชื้อเพลิง ซึ่งดินเองจะช่วยในการพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน ช่วยดูดซับคาร์บอนและบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยมนุษย์เรานั้นใช้ดินเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและเมือง เป็นที่ทิ้งขยะ และเป็นตัวกรองทำน้ำให้สะอาด ทุกวันนี้ทรัพยากรดินได้เสื่อมโทรมลงไปมาก ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้ทรัพยากรดินที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ดินมีอยู่อย่างจำกัด ด้านหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าทรัพยากรดิน อย่างวันดินโลกที่จัดขึ้นทุกปี

ซึ่งวันดินโลก (World Soil Day) เกิดขึ้นเนื่องจากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ IUSS จากทั่วโลก เห็นว่าการถ่ายทอดความรู้ทางด้านดินและการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมให้แก่ประชาชนในประเทศต่างๆ ยังไม่เพียงพอ จึงควรมีวันดินโลกเพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมรณรงค์ และเผยแพร่ความรู้เรื่องดินพร้อมกันทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการ IUSS มีความเห็นพ้องกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ  ซึ่งรวมถึงทรัพยากรดิน และทรงประสบความสำเร็จในการปรับปรุงแก้ไขและการอนุรักษ์ทรัพยากรดินจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน จึงมีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลก เพื่อความเป็นสิริมงคลและสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์

ดังนั้น ในวันที่ 16 เมษายน 2555 หลังจากที่ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” แล้ว ผู้บริหาร IUSS ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลกนั่นเอง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

จี้”ฉัตรชัย”เร่งแก้พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า

เอกชนจวกเละ “ฉัตรชัย” ดึงเกมถ่วงผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าหวั่นกระทบภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก “พาณิชย์” ลุยเปิดรับฟังความคิดเห็นคาดชง ครม.ภายใน พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนหลายคนที่เป็นกรรมการ ในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีความกังวลกรณีที่กระทรวงพาณิชย์แก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ล่าช้า ทั้งนี้กรมการค้าภายในได้เสนอร่างที่แก้ไขไปให้ รมว.พาณิชย์ พิจารณานานกว่า 1 เดือนมาแล้ว ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจรายกลางและรายเล็ก ที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำธุรกิจของธุรกิจรายใหญ่ และจะถูกมองว่ารัฐบาลรับฟังเสียงแต่ธุรกิจขนาดใหญ่

ทั้งนี้ สาเหตุของความล่าช้า เพราะมีบางประเด็นที่ยังเคลือบแคลงสงสัย หากผ่านความเห็นชอบแล้ว อาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคัดค้าน และต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำธุรกิจแข่งกับเอกชน และแสวงหาผลกำไร เช่น บมจ.ปตท, บมจ.การบินไทย ฯลฯ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่ทำลายคู่แข่ง หรือธุรกิจรายเล็ก

ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลอีกว่า ปตท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก และอยู่ในหลายวงการ ได้พยายามล็อบบี้ไม่ให้กระทรวงพาณิชย์ผ่านกฎหมายฉบับนี้ พร้อมทั้งยังเคยชี้แจงกับกระทรวงพาณิชย์ว่าหากรัฐบาลจะให้ ปตท.ตรึงราคาน้ำมันช่วยเหลือผู้บริโภค คงทำไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า จึงเป็นเหตุให้ รมว.พาณิชย์ ยังลังเลที่จะให้ความเห็นชอบ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเกรงจะเกิดกระแสต่อต้านและความวุ่นวายจนอาจกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมจะเร่งเปิดรับฟังความคิดเห็น จัดทำข้อสรุปและเสนอให้ รมว.พาณิชย์ พิจารณา เพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบให้ทันภายในเดือน พ.ค.นี้ หาก ครม.เห็นชอบแล้ว จะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.).

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

เปิดแผนปฏิบัติการ ตัดหนี้สูญช่วยเกษตรกร

คณะรัฐมนตรีได้มีมติตามข้อเสนอของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญในกองทุน/เงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาพรวม และให้เสนอแผนการแก้ไขทั้งระบบในรอบ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 1 ปี

โดยแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครั้งนี้นับเป็นแผนในรอบ 3 เดือนแรก จากการรวบรวมข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯพบว่า ที่ผ่านมามีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในภาคเอกชนได้ ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงให้ความช่วยเหลือทางด้าน "สินเชื่อ" แก่เกษตรกรเหล่านี้ผ่านทางกองทุนและเงินทุนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรและลดความเหลื่อมล้ำ

ผลการดำเนินการให้สินเชื่อดังกล่าวพบว่า ยังมีเกษตรกร "จำนวนหนึ่ง" ที่ไม่สามารถพัฒนาการผลิตได้ตามเป้าหมายจากสาเหตุที่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็น สภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก, การประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ, ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร, ปัญหาความยากจน และปัญหาเกี่ยวกับร่างกายและสุขภาพของตัวเกษตรกรเอง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและที่สำคัญก็คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของกองทุนและเงินทุนต่าง ๆ ที่เกษตรกรได้สินเชื่อมานั้น "ต่ำลง" ส่งผลให้มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

กระทรวงเกษตรฯได้ทำการวิเคราะห์และจำแนกกลุ่มปัญหาและสาเหตุหนี้สินของเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ สามารถแบ่งออกเป็น 10 กลุ่มคือ กรณีโครงการส่งเสริม/สงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ, กรณีการประสบภัยพิบัติ/ภัยธรรมชาติ, ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้, หนี้ขาดอายุความ, หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป, หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้, เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต/สาบสูญ/หาตัวไม่พบ/ละทิ้งถิ่นที่อยู่, เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินพิการ/ทุพพลภาพ/วิกลจริต/เจ็บป่วยเรื้อรัง, ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และหนี้สินของเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมามีจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาท (ฟ้องร้องไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย)

ทั้ง 10 กลุ่มในการจำแนกเพื่อการจำหน่ายหนี้เป็นสูญดังกล่าว จะครอบคลุมหนี้ของเกษตรกรในกองทุน/เงินทุนในการกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯใน 12 แหล่งเงินคิดเป็นวงเงินที่จะจำหน่ายเป็นหนี้สูญรวม 4,556.40 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ของสถาบันเกษตรกร 1,028 แห่ง รวมเป็นวงเงิน 3,171.40 ล้านบาท กับเกษตรกร 26,742 ราย รวมวงเงิน 1,385 ล้านบาท

การจำหน่ายหนี้เป็นสูญครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯถือเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเฉพาะกรณี และหากในภายภาคหน้าตัวเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้จะมาชำระหนี้หรือมีการฟ้องร้องดำเนินการบังคับคดีของลูกหนี้เพื่อมาชำระหนี้ก็จะไม่ตัดสิทธิ์ที่กองทุนหรือเงินทุนจะรับเงินที่ลูกหนี้จะมาชำระคืนภายหลัง

ส่วนกรณีของลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้หรือมีรายได้ "ต่ำกว่า" เกณฑ์มาตรฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (ไม่เกิน 30,000 บาท/คน/ปี) และยังมิได้กำหนดหนี้เงินต้นคงค้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกับกรณีเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต/สาบสูญ/หาตัวไม่พบ/ละทิ้งถิ่นที่อยู่ กรณีเหล่านี้กระทรวงเกษตรฯจะกำหนดหนี้ต้นเงินคงค้างไว้ในจำนวนที่เท่ากันคือ ไม่เกิน 30,000 บาท

การจำหน่ายหนี้เป็นสูญของทุกกองทุน/เงินทุนจะใช้ข้อมูลหนี้คงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 เป็นกรอบในการสำรวจลูกหนี้และองค์กรเกษตรกร ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เสนอให้กระทรวงเกษตรฯเร่งจัดทำแผนปรับปรุง/พัฒนาการดำเนินงานของกองทุน/เงินทุนในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 6 ทุน ประกอบไปด้วย 1)เงินทุนหมุนเวียนในการผลิตพันธุ์ปลา/กุ้ง /สัตว์น้ำอื่น ๆ 2)เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตวัคซีนจำหน่าย 3)เงินทุนหมุนเวียนยางพารา 4)เงินทุนหมุนเวียนในการผลิตเชื้อไรโซเบียม 5)เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช และ 6)กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้เป็นไปตามมติ ครม.ในวันที่ 27 มกราคม 2558

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรทั้งระบบนั้น กระทรวงเกษตรฯจะทำการจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษา แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ปีคือจนถึงสิ้นปี 2558 จะจัดทำ TOR คัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาและรายงานผลการศึกษาปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบ จนถึงปี 2559 จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาหนี้สิน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

น้ำมันดิ่งยอดใช้เบนซินพุ่งเอกชนจี้รัฐใช้แก๊สโซฮอล์

    สมาคมเอทานอลไทยจี้รัฐบาลหนุนการใช้แก๊สโซฮอล์ หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกดิ่ง ฉุดยอดการใช้เบนซินโตต่อเนื่อง แนะหาทางออกให้เจรจาเพื่อนบ้านในอาเซียนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ ก่อนเปิดเออีซี หวั่นรถยนต์ทะลักเข้ามาใช้เบนซินพุ่ง ยันราคาน้ำมันร่วงกระทบต่อยอดการส่งออกเอทานอล ผลิตขายในประเทศได้กำไรดีกว่า

    นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลราคาน้ำมันเบนซิน95 และแก๊สโซฮอล์ ต่างกันไม่มากนัก ทำให้ผู้บริโภคหันมาเติมน้ำมันเบนซิน95 เพิ่มขึ้น จากอดีตที่เคยมียอดใช้อยู่ที่ 2 แสนลิตรต่อวัน เพิ่มเป็นกว่า 1.4  ล้านลิตรต่อวัน ทางสมาคมกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อยอดใช้เอทานอลในประเทศ และอาจจะทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 9 ล้านลิตรต่อวันในปี 2564 จากปัจจุบันใช้อยู่ที่ประมาณ 3.3-3.4 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังทรงตัวหรือปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือไม่

    ทั้งนี้ หากจะส่งเสริมการใช้เอทานอลให้ได้ตามแผน ทางกระทรวงพลังงานหรือรัฐบาล จะต้องเร่งเจรจากับรัฐบาลของประเทศในอาเซียน เพื่อส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ โดยขายผ่านบริษัทผู้ค้าน้ำมันของไทยที่เข้าไปขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อว่าจะทำให้ยอดใช้เอทานอลสูงขึ้น เนื่องจากประเทศรอบบ้านของไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้น้ำมันเบนซิน จึงยังไม่มีความพร้อมด้านโรงงานผลิตเอทานอล

    อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลไทยควรเร่งเดินหน้าแนวทางดังกล่าว เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เพราะหากล่าช้าออกไป ประเทศไทยอาจต้องกลับมาขายน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเพื่อรองรับรถยนต์จากอาเซียนที่จะเข้ามาในไทย และเมื่อถึงเวลานั้นจะทำให้ความน่าสนใจในแก๊สโซฮอล์ลดน้อยถอยลงไป

    ประกอบกับการเพิ่มส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์95 และแก๊สโซฮอล์91 กับอี20 ควรห่างกันในระดับหนึ่ง เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาเติมอี20 และอี85 เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันผู้บริโภคสนใจอี85 น้อยลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ไม่สูงมากนักทำให้ผู้บริโภคเลือกเติมน้ำมันที่ให้ค่าความร้อนสูง ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายอดใช้เอทานอลลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.3-3.4 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิมเคยขึ้นไปอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน

    นายสิริวุทธิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเอทานอล กำลังรอนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์จากทางภาครัฐ เพื่อผลักดันการใช้เอทานอลในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้กังวลว่าจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่ แต่ขอให้ยอดใช้โตต่อเนื่องทุกปี โดยขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่รวมตัวกันส่งออกเอทานอล เนื่องจากราคาเอทานอลในตลาดโลกต่ำมาก เหลือเพียง 20-21 บาทต่อลิตร เทียบกับราคาในประเทศไทยที่ 24-25 บาทต่อลิตร สาเหตุที่ราคาเอทานอลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเอทานอลจากสหรัฐฯซึ่งผลิตจากข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) นำมาผลิตเป็นเอทานอลเพื่อส่งขายในปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อประเทศที่เคยส่งออกเอทานอลอย่างมาก

    "สมาคมได้หารือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการใช้เอทานอล แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าที่ 9 ล้านลิตรในปี 2564 ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ใกล้เคียง โดยต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐที่จะกระตุ้นการใช้แก๊สโซฮอล์ได้อย่างไร จากปัจจุบันมียอดใช้อยู่ที่ 24ล้านลิตรต่อวัน  ส่วนกรณีที่บางฝ่ายออกมาระบุว่าให้ซื้อเอทานอลจากต่างประเทศเข้ามาผสมแทน เพราะราคาถูกกว่าในประเทศนั้น ก็สามารถทำได้ แต่เท่ากับว่าเอาเงินไปอุดหนุนสหรัฐฯที่ผลิตเอทานอลจากข้าวโพดจีเอ็มโอ แทนที่จะมาช่วยเกษตรกรของไทย" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

    นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.อยู่ในระหว่างการทบทวนเป้าหมายและมาตรการของการส่งเสริมการใช้เอทานอลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันและผลกระทบต่อโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากหากส่งเสริมการใช้เอทานอลในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้โรงกลั่นน้ำมันมีน้ำมันเบนซินที่เหลือจากการกลั่นและจะต้องส่งออกในปริมาณมาก นอกจากนี้ต้องพิจารณาปริมาณผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยว่าจะมีผลผลิตออกมาได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนเมษายนนี้

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 18 เมษายน 2558

จัดระดมสมองกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจพิษณุโลกรับเออีซี

    สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนรับเจ้าภาพระดมสมองชาวเมืองสองแคว ทำแผนเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของพิษณุโลก กำหนดมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมฯแนะตั้งคณะกรรมการรวมทุกภาคส่วนมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด

    ผศ.สุพจน์ พฤกษะวัน รองประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ผนวกบุคลากรหัวก้าวหน้าจากทุกฝ่าย ของจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จากการที่สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน  จัดเวทีระดมสมองหัวหน้าส่วนราชการและเอกชน หารือด้านเศรษฐกิจในหัวข้อ "ก้าวย่างเศรษฐกิจพิษณุโลก เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" เบื้องต้นสรุป ว่าจะจัดทำแผนเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจให้กับจังหวัดพิษณุโลก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ จึงจำเป็นต้องมีการประชุมหารืออย่างสม่ำเสมอ โดยจะให้ทางสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนเป็นหน่วยงานคอยประสานงานในการหารือ  จากนั้นให้ทุกหน่วยงานที่มาร่วมสร้างจุดแข็งทางเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งท่องเที่ยว สินค้าทางการเกษตร ฯลฯ

    "ที่ผ่านมาการรวมตัวของเอกชนและรัฐบาล หรือการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจไม่เป็นแบบแผนและไม่มีศักยภาพ ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลกไม่เข้มแข็ง และหลังจากนี้จะได้เร่งประชุมร่วมกันทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลกให้มีทิศทางมีแนวทางในการพัฒนาต่อไป"       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเข้มข้น เมื่อตัวแทนของคลังจังหวัดพิษณุโลก ระบุถึงการจัดทำ GPP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดพิษณุโลกปี 2555 ระบุว่า พิษณุโลกถือว่าอยู่ลำดับ 4 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง อยู่ที่  94,477.09 ล้านบาท (เทียบ GPP ก่อนหน้านี้ ปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 72,000 ล้านบาท)  โดยลำดับที่ 1 คือ จังหวัดกำแพงเพชร อันดับ 2 จังหวัดนครสวรรค์  และอันดับ 3 จังหวัดพิจิตร ทั้งนี้พิษณุโลกเป็นเมืองใหญ่ แต่ประชาชนมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตรกรรม 27.9% และในปี 2557 เศรษฐกิจได้ขยายตัว 1.5% และในปี 2558 คาดว่า ขยายตัว 4.1%โดยคลังจังหวัดพิษณุโลก ชี้แจงว่า การจัดทำ GPP คลังจังหวัดพิษณุโลกจะจัดทำเป็นปีสุดท้าย เนื่องจากหลายภาคส่วนมองว่า ข้อมูลไม่ทันสมัย อีกทั้งภาครัฐไม่มีนโยบายดำเนินการต่อ

    ขณะที่นายณฐกร  โซ่จินดามณี  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า คลังจังหวัดควรทำต่อ เพื่อให้ภาคเอกชนรับรู้สถิติและทิศทางถูกต้อง ส่วนแนวทางพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก ภาคเอกชนมองว่า จะต้องมีการทบทวนวิสัยทัศน์ หรือยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดพิษณุโลกเสียใหม่ ว่าสิ่งไหนทำแล้ว หรือยังไม่ได้ทำ และจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ที่มีผู้แทนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพิจารณานำเสนอเป็นแผนพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก หรือจัดทำเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม  เช่น พิษณุโลกเป็นเมืองบริการ เป็นจริงได้หรือไม่ ที่ผ่านมา มีผลดำเนินการอย่างไร เพื่อนำไปวิเคราะห์ก่อนก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี)

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 17 เมษายน 2558

รัฐบาล ผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบของประเทศ 10 ปี ให้เกิดความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

รัฐบาล ผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบของประเทศ 10 ปี ให้เกิดความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่องค์การสหประชาชาติ ชื่นชมแผนจัดการน้ำประเทศไทย ใช้เป็นต้นแบบให้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี ระหว่างปี 2558 - 2569 ว่า จะช่วยบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศได้ ทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำภาคการผลิต น้ำอุปโภค - บริโภค ป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ปัญหาคุณภาพน้ำจากแหล่งกำเนิด 22 ลุ่มน้ำ การผลักดันน้ำทะเลหนุนสูงด้วย 5 เขื่อนหลัก กับ 4 ลุ่มน้ำภาคกลาง การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ และป้องกันการพังทลายของดิน ระบบโทรมาตรและศูนย์ระบบป้องกันน้ำท่วม คาดว่า จะเกิดความชัดเจนสิ้นปีนี้ เช่น น้ำเพื่อการผลิต ด้วยการปรับปรุงระบบชลประทานเดิม 35,000 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 1.6 ล้านไร่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำและทางน้ำธรรมชาติกว่า 2,000 แห่ง สระน้ำในไร่นา 50,000 บ่อ และสระน้ำชุมชนและระบบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรกว่า 1,500 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่, น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ด้วยการทำประปาหมู่บ้าน 2,310 หมู่บ้าน เพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาชนบท 683 แห่ง จัดหาน้ำดื่ม หรือน้ำบาดาล ให้โรงเรียนและชุมชน 700 แห่ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ชื่นชมแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบของประเทศไทย เพราะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมและป้องกันสภาวะการขาดแคลนแหล่งน้ำของโลกในอนาคตด้วย ที่สำคัญสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียมกัน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 17 เมษายน 2558

ชงแผนกู้วิกฤติส่งออกไทย พาณิชย์ลุยตลาดรายประเทศลุยอี-คอมเมิร์ซ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมมีแผนผลักดันการส่งออกสินค้าไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจะเน้นการส่งออกไปตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ อาเซียน จีน ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา รัสเซียและซีไอเอส และแอฟริกา ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการรักษาตลาดหลัก ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) เพราะจากการหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) หลายประเทศยังยืนยันว่า การส่งออกไทยปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี แม้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะเน้นผลักดันการส่งออกเป็นรายตลาด และรายสินค้าให้มากขึ้น เพราะบางตลาด แม้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว แต่กำลังซื้อของคนบางกลุ่ม หรือบางสินค้า มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น

นางนันทวัลย์กล่าวว่า สำหรับการผลักดันการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการ และประเมินว่าหลายสินค้ายังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยกรมจะจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจาจับคู่กับนักธุรกิจญี่ปุ่นที่โอซากา ในเดือนก.ค.นี้เพื่อผลักดันการส่งออก ส่วนจีนแม้ปรับลดเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเหลือ 7% และลดพึ่งพาการนำเข้า แต่ยังมั่นใจว่า จะผลักดันการส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น โดยจะเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ในเมืองรองที่กำลังพัฒนา รวมทั้งเจาะตลาดผ่านห้างสรรพสินค้า การขายผ่านออนไลน์ และเพิ่มการรู้จักสินค้าไทย โดยนำดาราไทยไปเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าอาหารและธุรกิจบริการในจีนมากขึ้น สำหรับเกาหลีใต้ เศรษฐกิจชะลอตัวเล็กน้อย แต่รัฐบาลเกาหลีใต้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยลดดอกเบี้ย ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ขณะที่อินเดีย เน้นการเพิ่มความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนอาเซียน จะเน้นการรักษาตลาดและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด

“นอกจากนี้กรมยังจะช่วยผู้ส่งออกเพิ่มช่องทางการขาย โดยส่งเสริมให้ใช้อี-คอมเมิร์ซขายสินค้าเจาะเข้าสู่ตลาดต่างๆ โดยกรมได้พัฒนาเว็บไซต์ Thaitrade.com ซึ่งล่าสุดมีผู้เข้าใช้บริการแล้ว 23,842 ราย และจะเน้นการเพิ่มกิจกรรมโรดโชว์ไปยังประเทศต่างๆ นำคณะโดย รมว.พาณิชย์ นอกจากนี้ จะเร่งแก้ไขปัญหาการส่งออก เช่น ปัญหาศุลกากร โลจิสติกส์ กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานทาส ในอุตสาหกรรมประมงและสิ่งทอ เป็นต้น”.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 17 เมษายน 2558

จับตาภัยแล้งกระทบภาคเกษตร สศก.ระบุ พื้นที่เสียหาย เจาะผลกระทบรายสินค้าเกษตรสำคัญ

นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ ได้รับแจ้งจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมทุกปี โดยมีปริมาณผลกระทบแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละปีมีครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ความเสียหายจากน้ำท่วมเฉลี่ยปีละ 1.33 ล้านครัวเรือน และครัวเรือนที่ ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 2.86 ล้านครัวเรือน พื้นที่ความเสียหายด้านเกษตรจากน้ำท่วมเฉลี่ยปีละ 8.45 ล้านไร่ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 2.74 ล้านไร่มูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วม เฉลี่ยปีละ 6,340,16 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 727.04 ล้านบาท จากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งจากการประมาณการผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รวบรวมข้อมูลจากจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี) ในช่วงตั้งแต่ตุลาคม 2557 ถึง ณ วันที่ 6 มีนาคม 2558 พบว่า มีพื้นที่ประสบภัย 75,706 ไร่ พบมูลค่าความเสียหายของสินค้าข้าว 212.60 ล้านบาท จากพื้นที่เสียหาย 36,930.25 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 25,195.89 ตัน ในการนี้ สศก. ได้สรุปสถานการณ์การผลิตของสินค้าเกษตรสำคัญ พบว่า ข้าว ข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2557/58 เนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่แล้วทุกภาคเนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐและราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนดี มีแหล่งรับซื้อแน่นอน เช่น อ้อยโรงงานสำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากการดูแลเอาใจใส่และปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ข้าวนาปรัง ปี 2558 เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลงทุกภาคจากปีที่แล้ว เนื่องจากภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อย และไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 จนถึง 30 เมษายน 2558 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลงโดยปล่อยพื้นที่ว่างและบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่า เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน เป็นต้น พืชไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว จากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า มันสำปะหลังโรงงาน ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ของปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรปลูกทดแทนพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงานที่รื้อตอทิ้งและพื้นที่ว่างเปล่า ถั่วเหลือง ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว จากการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการผลิตสูง และขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว ถึงแม้ว่าจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกได้ สับปะรด ปี 2558 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ต้นปี 2557 ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่เคยปลูกสับปะรดแล้วปล่อยว่าง ไม้ยืนต้น – ไม้ผล ในปี 2558 เนื้อที่ให้ผลปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่ในภาพรวมลดลงจากปาล์มที่เริ่มให้ผลผลิตยังคงให้ผลทะลายเล็กและน้ำหนักน้อย แต่ผลผลิตในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของเนื้อที่ให้ผล กาแฟ ผลผลิตลดลงเนื่องจากเนื้อที่ให้ผลกาแฟพันธุ์โรบัสตาในแหล่งผลิตกาแฟทางภาคใต้ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับผลผลิตต่อไร่ลดลงจากแหล่งผลิตกาแฟทางภาคใต้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง อากาศร้อน และแห้งแล้งในช่วงกาแฟออกดอก ส่งผลให้กาแฟติดดอกออกผลไม่ดี สำหรับลำไย และลิ้นจี่ ผลผลิตโดยรวมลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติและสูงกว่าปีที่แล้วทำให้ออกดอกติดผลลดลง เงาะและทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นและสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล

ในขณะที่ มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ถึงแม้ว่าจะมีการลดเนื้อที่บางส่วนไปปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นก็ตาม สำหรับลองกอง ผลผลิตลดลงตามการลดลงของเนื้อที่ให้ผล /พืชผัก ปีเพาะปลูก 2557/58… พืชผัก ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง ส่วนหอมแดงผลผลิตลดลง โดยกระเทียม ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ราคาเกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรเก็บพันธุ์เพื่อเตรียมขยายเนื้อที่เพาะปลูกมากขึ้น หอมหัวใหญ่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีที่แล้วมีฝนตกหนักในช่วงเพาะกล้า ทำให้ต้นกล้าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้ต้นกล้าเพียงพอสำหรับการขยายพื้นที่เพาะปลูก จากการที่เกษตรพัฒนาวิธีการปลูกโดยการยกร่องแปลงให้สูงขึ้น คลุมพลาสติกป้องกันฝน มันฝรั่ง ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้วราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีและมีสภาพอากาศหนาวเย็นติดต่อกันยาวนาน ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนสูง จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในปี 2558 สำหรับหอมแดง ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง และราคาที่เกษตรกรขายได้ไม่จูงใจ จึงทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นและมีแหล่งรับซื้อแน่นอน ปศุสัตว์ ปี 2558 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นโคเนื้อ และโคนม สำหรับโคเนื้อ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งราคาโคเนื้อยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้เกษตรกรขายโคเนื้อออกทั้งโคเพศผู้และเมีย ทำให้ขาดแคลนแม่โค วัยเจริญพันธุ์ที่จะนำมาขยายพันธุ์ต่อ ส่วนปริมาณการผลิตน้ำนมดิบลดลง จากจำนวนแม่โครีดนมลดลง ในขณะที่ปริมาณการผลิตไก่เนื้อและสุกร เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประมง ปี 2558 ปริมาณการผลิตปลานิลและปลาดุกคาดว่าลดลง จากภัยแล้งปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

ในขณะที่กุ้งขาวแวนนาไม ปริมาณการผลิตคาดว่าเพิ่มขึ้น จากราคาที่จูงใจ การจัดการโรคระบาด EMS ได้ดีขึ้น รวมทั้งภาครัฐได้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ดี ปลอดโรคจากอเมริกา เพื่อผลิตลูกกุ้งจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ส่วนปริมาณการผลิตกุ้งกุลาดำ คาดว่าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากความต้องการของตลาดส่งออกและราคาที่จูงใจ ให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะเลี้ยง อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรจากปรากฏการณ์เอลนีโน ขึ้นอยู่กับความหนักเบาในแต่ละปี ปริมาณน้ำในเขื่อนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้หากเจอภัยแล้งดังกล่าว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อม ลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย รวมทั้ง เกิดความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งควรดำเนินการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเร่งดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อย มีความต้านทานต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ต้านทานโรคและแมลง ทนแล้ง ทนน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ ยังต้องบริหารจัดการน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาและระบบ ชลประทานขนาดเล็กให้เพียงพอต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนการทำฝนเทียม ซึ่งแก้ไขปัญหาในการขาดแคลนน้ำจืดที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยส่วนใหญ่แล้วมักใช้ในพื้นที่ฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและพื้นที่สำคัญในการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

กรมชลประทาน ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด สถานการณ์น้ำช่วงใกล้สิ้นสุดหน้าแล้ง น้ำในเขื่อนหลายแห่งลดต่ำลงต่อเนื่อง เหลือแค่ร้อยละ 54

  สถานการณ์น้ำช่วงใกล้สิ้นสุดหน้าแล้ง น้ำในเขื่อนหลายแห่งลดต่ำลงต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดทั่วประเทศรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 54 กรมชลประทาน ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ล่าสุด วันนี้ (16 เมษายน 2558) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 37,783 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 14,280 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยน้ำในเขื่อนใหญ่ภาคเหนือ อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 114 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำ 5,413 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,030 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี มีปริมาณน้ำ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ ฯ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำ 978 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ

สำหรับในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำ 305 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 12,402 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯ /และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 4,306 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศหลายแห่งมีปริมาณน้ำลดลง จึงขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด

จาก http://thainews.prd.go.th   วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

บาทแข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนแอ

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมากจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 32.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงวันหยุดยาวเกิดจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาและสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนส่วนใหญ่ โดยในวันจันทร์ (13/4) กระทรวงการคลังสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางประจำเดือนมีนาคมที่ระดับ 5.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 3.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันอังคาร (14/4) กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้น 0.9% และ 0.2% ตามลำดับ แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1.1% และ 0.3% ตามลำดับ ส่วนในวันพุธ (15/4) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมที่ปรับตัวลดลง 0.6% ซึ่งเป็นระดับการหดตัวที่มากที่สุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง และได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟดทั้ง 12 เขต (Beige Book) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการขยายตัวในพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระดับปานกลางตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมและยังคงได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง และสภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ส่วนด้านตลาดแรงงานที่เฟดให้ความสนใจเป็นอย่างมากนั้นยังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว หรือปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อยในพื้นที่ส่วนใหญ่ ทั้งนี้การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมานั้น จึงเป็นแรงกดดันให้นักลงทุนทยอยเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและเข้าถือครองสกุลเงินอื่นๆ รวมทั้งสกุลเงินบาทแทน โดยระหว่างวันค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในระดับแข็งค่าระหว่าง 32.40-32.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.0725/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 1.0618/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐภายหลังจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ประกอบกับเมื่อคืนนี้ (15/4) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้มีการประชุมนโยบายการเงินและประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.05% ตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีได้กล่าวแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า อีซีบียังยืนยันที่จะคงนโยบายการเงินบาทผ่อนคลายต่อไปและจะเดินหน้าการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ประกาศไว้อย่างเต็มที่ โดยนายดรากียังมีมุมมองเชิงบวกว่า การที่ยุโรปดำเนินโครงการซื้อสินทรัพย์ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมานั้นถือว่ามีประสิทธิภาพและหนุนเศรษฐกิจยูโรโซนให้ขยายตัวขึ้น โดยเห็นได้จากภาวะตึงเครียดในตลาดการเงินและต้นทุนการระดมทุนในต่างประเทศของภาคเอกชนมีท่าทีผ่อนคลายลงอย่างมาก รวมทั้งภาวะการปล่อยกู้แก่บริษัทเอกชนและภาคครัวเรือนก็มีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้นายดรากียังเสนอความเห็นว่าการทำ QE อาจดำเนินการเกินกว่าระยะเวลาที่ตั้งไว้คือ เดือนกันยายนปีหน้าได้ถ้าหากภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำและไกลจากระดับเป้าหมาย 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0623-1.0746 ดอลลาร์/สหรัฐยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.0648/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 18.98/119 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 120.25/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นหลังจากการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เมื่อวันที่ 16-17 มีนาคมในวันจันทร์ (13/4) โดยภาพรวมในรายงานได้แสดงให้เห็นว่าบีโอเจมองว่าดัชนีเงินเฟ้อของญี่ปุ่นน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากได้รับผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดมีโอกาสที่จะสิ้นสุดลงได้หากการบริโภคได้ฟื้นตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะได้เปิดเผยว่าปัจจุบันญี่ปุ่นยังมีการฟืนตัวในระดับปานกลางและคาดว่านโยบายผ่อนคลายทางการเงินของบีโอเจจะช่วยให้การฟื้นตัวเพิ่มขึ้นต่อไปได้อีก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 118.77-119.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 119.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาติก่อสร้างของสหรัฐ, ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจเดือนเมษายนของเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่น และอัตราการว่างงานของอังกฤษ (17/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.1/4.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +7.0/8.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net    วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

กองทุนจัดรูปที่ดินมีหนี้เกษตรกร35 ล. เผยผลจากการปรับปรุงระบบตามหนี้

        กองทุนจัดรูปที่ดินมีหนี้เกษตรกรยกเลิกตามมติ ครม. มีเพียง 35 ล้านบาท จากยอดหนี้รวมทั้งประเทศ 8,556 ล้านบาท เผยเป็นผลจากการปรับปรุงระบบติดตามหนี้ เริ่มจากแจ้งเตือนเป็นระยะพร้อมเดินเข้าหาเข้าถึงครัวเรือน

               นายสมใจ นาควารี หัวหน้าฝ่ายกองทุนจัดรูปที่ดิน สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยกหนี้เกษตรกร 8,556 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 4,000 ล้านบาท และหนี้กองทุนต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4,556 ล้านบาทนั้น เป็นส่วนของหนี้กองทุนจัดรูปที่ดินเพียง 35 ล้านบาทเท่านั้น

               “โดยปกติคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน สามารถยกเลิกส่วนที่เป็นดอกเบี้ยได้ แต่เมื่อต้องยกเลิกหนี้ที่เป็นเงินต้น ต้องอาศัยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น”

               นายสมใจกล่าวว่า เกษตรกรลูกหนี้ของกองทุนจัดรูปที่ดินนับแต่ดำเนินการมีประมาณ 300,000 ราย แต่เป็นหนี้มีปัญหาเพียง 3,000 ราย หรือประมาณ 1% ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากการติดตามหนี้ ซึ่งเดิมมีการออกใบแจ้งเตือนจากธนาคารที่รับชำระหนี้เพียงครั้งเดียว ต่อมากองทุนจัดรูปที่ดินได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่เพิ่มเติม โดยมอบหมายให้สำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบติดตามเป็นระยะๆ ตั้งแต่ก่อนถึงงวดชำระ ออกใบแจ้งเตือน และติดตามถึงบ้าน นอกจากติดตามหนี้ได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้กองทุนฯ ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาส่งเสริมเกษตรกรในด้านต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

               “เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนฯ มักมีหนี้นอกระบบ เนื่องจากความจำเป็นในการใช้เงิน เช่น ส่งลูกเรียน ซื้อหาปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช พอถึงกำหนดชำระก็เลือกชำระหนี้นอกระบบก่อน เพราะอัตราดอกเบี้ยแพงมาก แต่โดยทั่วไปเกษตรกรในพื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาการชำระหนี้” นายสมใจกล่าว 

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

เร่งพัฒนานวัตกรรมสำรวจข้อมูล ดึงเทคโนโลยี"Remote Sensing"ประเมินเนื้อที่ปลูก

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าว เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการสำรวจเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าว โดยนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประยุกต์ใช้สนับสนุนการวางแผนด้านการเกษตรของประเทศ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในการนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพระบบการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าวใน 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ภายใต้กรอบการช่วยเหลือตามโครงการ R-CDTA 8369 Innovative Data Collection Methods for  Agricultural and Rural Statistics  โดยโครงการมีระยะเวลาดำเนินงานระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 ถึง กรกฎาคม 2559

สำหรับประเทศไทย สศก. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้นำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล มาประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวของประเทศ นำร่องพื้นที่ จ.อ่างทอง โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม ALOS-2 ซึ่งเป็นข้อมูลดาวเทียมในระบบ SAR มีคุณสมบัติสามารถถ่ายภาพทะลุเมฆได้ ทำให้ได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับวิเคราะห์แม้กระทั่งฤดูฝน โดยการดำเนินงานตามโครงการประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์และวิธีการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ ร่วมกับวิธีการ Crop Cutting ในระดับจังหวัด และการฝึกอบรมคณะทำงานให้กับประเทศนำร่อง ทั้ง 4 ประเทศ และการพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมออนไลน์ (Online) ในการใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับงานด้านสถิติการเกษตรและชนบท ภายหลังจากที่มีการพัฒนาโปรแกรมแล้วเสร็จ

โดยเมื่อวันที่ 19 - 20 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ สศก. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก RESTEC ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงพื้นที่ จ.อ่างทอง เพื่อทดลองการปฏิบัติงานภาคสนาม ในการตรวจสอบความถูกต้องของผลการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกข้าวที่ได้จากโปรแกรม INAHOR ในกรณีที่พื้นที่นามีพื้นที่อื่นปะปน หรือที่เรียกว่า MIXCEL เพื่อประเมินสัดส่วนของพื้นที่อื่นที่ปะปนกับพื้นที่ปลูกข้าว พบว่า พื้นที่นาข้าวส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มีการปลูกข้าว เนื่องมาจากการนโยบายของภาครัฐในการไม่สนับสนุนให้เกษตรกรทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่คาดว่ารอบการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2558/59 เกษตรกรในพื้นที่จะมีการทำนา นอกจากนี้ จากการสำรวจภาคสนาม พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปะปน  ได้แก่ อ้อยโรงงาน พืชผัก ไม้ผล  บึง คลอง และถนน เป็นต้น

ขณะที่เมื่อวันที่ 23 - 25 มีนาคมที่ผ่านมา สศก.ได้จัดฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรม INAHOR ครั้งที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมจาก สศก. ทั้งส่วนกลาง นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายที่อยู่ในภูมิภาค และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

กรมชลเล็งขุดอ่างห้วยหลวง 2ปีเพิ่มความจุ3ล้านลบ.ม.ช่วยเกษตรกรอุดรฯ

นายวีระพงษ์ แต่งเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง เปิดเผยว่า กรมชลประทาน มีแผนปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี โดยภายในปี 2558 จะทำการขุดลอกดินในอ่างบริเวณบ้านน้ำพ่น เพื่อให้เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) งบประมาณ 37 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว นอกจากนี้ในปี 2559 จะทำการขุดเพิ่มเติม เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เก็บกักน้ำได้เพิ่มอีก 1.5 ล้าน ลบ.ม. เช่นกัน โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท

ทั้งนี้พื้นดินใต้อ่างฯห้วยหลวง มีความสูงต่ำไม่เท่ากันตามสภาพเดิม ทำเก็บกักน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพ จึงต้องทำการขุดลอกเพื่อปรับหน้าเขื่อนให้เสมอกัน ประกอบกับอ่างฯห้วยหลวงก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2513 อาจจะมีสภาพดินตกตะกอนบ้างจึงต้องทำการขุดลอกออกพร้อมๆกับปรับสภาพพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ในปี 2556 กรมชลประทานได้ทำการเสริมสันเขื่อนเพิ่มขึ้น 50 เซนติเมตร ทำให้สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีก 18 ล้านลบ.ม.ม.  จากเดิมที่สามารถเก็บกักได้สูงสุด 117 ล้านลบ.ม.  ดังนั้นเมื่อรวมกับการขุดลอกอ่างฯ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2559 แล้วจะทำให้อ่างฯห้วยหลวงสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง  138 ล้านลบ.ม.  และจะสามารถส่งน้ำให้พื้นเกษตรกรรมในเขตชลประทานเพิ่มขึ้นจากเดิม 40,000 ไร่ เป็น  87,000 ไร่ในฤดูฝน และ 25,000 ไร่ในฤดูแล้ง

นอกจากนี้ยังจะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการผลิตน้ำประปา  และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง อ.บ้านผือ อ.กุดจับ อ.หนองวังซอ และอ.หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ซึ่งจะได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 40 ล้านลบ.ม. รวมทั้งยังช่วยรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำ และป้องกันอุทกภัยในเขตจ.อุดรธานี  ตลอดจนทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทำประมงอีกด้วย

“อ่างฯห้วยหลวงทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรประมาณปีละ 874 ล้านบาท โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 เป็นที่นิยมบริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก มีราคาสูง นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักจำพวกข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผักคะน้า  และมีการปลูกไม้ผล ได้แก่ มะม่วง ซึ่งเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีอยู่ทั่วไป  รวมไปถึงไม้ดอก ไม้ประดับ ได้แก่ ดาวเรือง เบญจมาศและเยอบีร่า  โดยส่งขายให้กับตลาดทั้งในเขต จ.อุดรธานี  จ.หนองคาย  และจังหวัดใกล้เคียงเช่นกัน” นายวีระพงษ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

รณรงค์ 'เกษตรกร' รับมือภัยแล้งยาว

รณรงค์ 'เกษตรกร' รับมือภัยแล้งยาว เน้นปลูกพืชระยะสั้น-ใช้วัสดุคลุมดิน : โดย...ทีมข่าวเกษตร

                        ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ที่เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานตามมาตรการแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/58 ในกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 2,377,790,000 บาท โดยให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ และความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรมทั้งที่อยู่ในเขตและนอกเขตชลประทาน รวมทั้งความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม (Zoning) งวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกษตรกรและสาธารณชนผู้สนใจได้รับทราบโดยทั่วกัน

                        ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรนั้นได้รณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตเร็วเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์น้ำแล้งในปีนี้ หลังจากครึ่งหลังของเดือนตุลาคมในปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยเกือบจะไม่มีฝนตกลงเลย ส่วนมากจะเป็นฝนจากพายุฝนฟ้าคะนอง จึงทำให้สถานการณ์ปัญหาภัยแล้งในปี 2558 นี้น่าเป็นห่วงกว่าปีก่อนๆ มากเห็นได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปีที่ผ่านมามาก ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้เกษตรกร จะได้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้งนี้ อีกทั้งยังสร้างโอกาสพัฒนาการเกษตรในระยะยาวอีกด้วย

                        โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยอมรับว่าในช่วงนี้แม้จะมีฝนตกอยู่บ้างในบางพื้นที่ แต่ปริมาณฝนที่ตกอาจจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งการใช้น้ำทางเกษตรกรรม เกษตรกรจึงควรวางแผนการใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงฤดูแล้งนี้ ดินจะสูญเสียน้ำมากจากการที่มีแสงแดดจัด และพืชก็จะคายน้ำมากขึ้น ดังนั้นการปลูกพืชจึงควรป้องกันการระเหยของน้ำโดยใช้วัสดุคลุมดิน เช่น เศษหญ้า ใบไม้ ปุ๋ยอินทรีย์ ฟางข้าว ชานอ้อย แกลบ ขุยมะพร้าว ซากวัชพืช เพื่อช่วยชะลอการระเหยน้ำจากผิวดิน รักษาความชื้นให้แก่ดิน จากนั้นเศษวัสดุเหล่านี้ก็จะค่อยๆ สลายตัวผุพังเป็นปุ๋ยให้พืชต่อไปด้วย 

                        "ช่วงนี้ควรปล่อยให้วัชพืชคลุมดินเพื่อเก็บความชื้น ถ้าหากวัชพืชมีมากเกินไปให้ใช้วิธีตัด อย่าใช้ยาฆ่าหญ้าหรือเผา เพราะจะทำให้บริเวณปลูกพืชแห้งแล้งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในเรื่องการให้ปุ๋ย จะไม่แนะนำให้ใส่ปุ๋ยในช่วงแล้ง เพราะพืชไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็นแล้ว ปุ๋ยจะดึงความชื้นขึ้นไปเพื่อละลายตัวเอง ทำให้พืชขาดน้ำมากขึ้นอีกด้วย"

                        อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรระบุอีกว่าในช่วงสภาวะอากาศแห้งแล้งเช่นนี้ เป็นสภาพที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของแมลงจำพวกเพลี้ย ไม่ว่าจะเป็น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมไปจนถึงแมลงหวี่ขาว ที่มักจะสร้างความเสียหายกับผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกพืชในฤดูแล้งจึงต้องหมั่นสำรวจพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ทำการควบคุม และควรเลือกใช้วิธีที่ปลอดภัยสำหรับตัวเกษตรกรก่อน เช่น หากพบเพลี้ยในพืชตระกูลถั่ว ควรใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง 80-100 กับดักต่อไร่  หรือกำจัดด้วยสมุนไพรต้นยาสูบแห้ง ตำผสมน้ำอัตรา 400 กรัมต่อน้ำ 3 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอากากออกแล้วเติมน้ำลงไปอีก 5 ลิตร ผสมสบู่ แล้วนำไปฉีดพ่น สำหรับมันสำปะหลัง หากพบเพลี้ยแป้งให้เด็ดยอดที่มีเพลี้ยแป้งเกาะ แล้วนำไปทำลายนอกแปลง รวมทั้งปล่อยแตนเบียนและแมลงช้างปีกใส ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติที่ช่วยควบคุมการระบาดลงได้

                        เขาย้ำด้วยว่ากรณีปลูกพืชผัก โดยเฉพาะผักกินใบ จะพบศัตรูพืชจำพวกหนอนต่าง ๆ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เต่าแดง ควรควบคุมโดยใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต ด้วงเต่า ตัวห้ำ แมลงช้างปีกใส รวมถึงแตนเบียนชนิดต่างๆ ทั้งแตนเบียนไข่ แตนเบียนหนอน ที่สำคัญต้องหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกและกำจัดวัชพืชเพื่อลดแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบซ่อนของศัตรูผัก ทั้งนี้หากพบการระบาดของแมลงศัตรูจำนวนมาก และจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ใช้อย่างระมัดระวังตามฉลากกำกับแนะนำโดยเคร่งครัด แต่ถ้าเป็นหนอนใยผัก หรือหนอนกระทู้หอม แนะนำให้ใช้เชื้อบีที (bacillus thuringiensis) ในอัตรา 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 4-7 วัน เพราะสารบีทีเป็นสารที่ปลอดภัยต่อคน สัตว์ และแมลงที่มีประโยชน์ โดยพ่นสลับกับสารเคมีฆ่าแมลงเพื่อชะลอการดื้อยาของแมลงศัตรูพืช

                        อย่างไรก็ตามเกษตรกรสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนศัตรูธรรมชาติที่ช่วยควบคุมศัตรูพืช หรือความรู้ในการผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ หรือเชื้อจุลินทรีย์ อาทิ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชทั้ง 9 แห่งใน จ.ชัยนาท สุพรรณบุรี ชลบุรี ขอนแก่น สงขลา เชียงใหม่ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังสนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการศัตรูพืชของชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้สามารถบริหารจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจรและยั่งยืน ภายใต้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนกว่า 350 ศูนย์ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

มาตรการช่วยเหลือภัยแล้งภาคเกษตร

                        การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558  ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เห็นชอบแนวทางดำเนินงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการในมาตรการเสริมกรอบวงเงิน 65.90 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งบกลาง จำนวน 49.868 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกร 2.เงินงบประมาณกรม (งบปกติ) จำนวน 15.9 ล้านบาท สำหรับอบรมเกษตรกรพร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต

                        สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้โอนงบประมาณให้แก่จังหวัดเพื่อดำเนินการในมาตรการเสริม  คือ  กิจกรรมฝึกอาชีพด้านการเกษตร  จำนวน 26  จังหวัด  กิจกรรมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว  (ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว) พื้นที่ 150,000 ไร่  ใน 20  จังหวัด  ทั้งในและนอกเขตชลประทาน แบ่งออกเป็น 1.มาตรการหลัก มีการจ้างแรงงาน จำนวน 35,354 ราย  ทั้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง 2.มาตรการเสริม ได้มีการส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ จำนวน 13,389  ราย อาชีพประมงจำนวน 3,574 ราย ฝึกอาชีพด้านเกษตร จำนวน 17,804  ราย และฝึกอาชีพ (กศน.) จำนวน 36,152 ราย  โดยมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30  เมษายน 2558  รวมถึงการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว จำนวน 150,000 ไร่ และเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด จำนวน 150,000 ไร่

                        นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่-พืชผักทดแทนพืชหลักในฤดูแล้ง  โดยมีผลการดำเนินงานในปี 2557/58  ทั้งประเทศ 77  จังหวัด  ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน  ได้แก่  นาปรัง 6.006  ล้านไร่  พืชไร่พืชผัก  3.110  ล้านไร่  แบ่งเป็น  พื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด  ลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด และพื้นที่นอกลุ่มน้ำเจ้าพระยาและนอกลุ่มน้ำแม่กลอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

สศก. จับตาค่าเงินบราซิล กับมุมมองวิเคราะห์การส่งออกน้ำตาลไทย

           สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดมุมมองสถานการณ์ค่าเงินเรียลของบราซิลที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย ระบุ ค่าเงินภายในประเทศของบราซิลและของไทยหากอ่อนค่าลง จะส่งผลต่อปริมาณการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่า พบว่าค่าเงินเรียลของบราซิลมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตั้งแต่ พ.ศ. 2554 อยู่ที่ 12.3 เรียลต่อเหรียญสหรัฐ ลดลงมาจนถึง 2.6 เรียลต่อเหรียญสหรัฐ ใน ปี 2558 จากการขาดดุลของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศและปัจจัยอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจของบราซิลมาสักระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่การส่งออกน้ำตาลของบราซิลจะมีมากยิ่งขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ หากแนวโน้มของค่าเงินเรียลอ่อนค่ามากขึ้นเท่าใดก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของประเทศคู่แข่งทุกประเทศและ/หรือ อย่างประเทศไทยมากขึ้นเท่านั้น

          โดยมูลค่าการส่งออกน้ำตาลของบราซิล สูงสุดในปี 2554 ถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2557 มูลค่าการส่งออกน้ำตาล ได้ลดลงมาเหลือเพียง 0.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากปริมาณการใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำไปผลิตเอทานอลบางส่วน และประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกค่อนข้างทรงตัว

           สำหรับการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย มีความสำคัญที่จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมจึงเป็นกลไกที่สามารถจะทำให้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมากและจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรด้วย โดยมูลค่าการส่งออกน้ำตาลของไทย พบว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศที่มีเหลือสามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ ใน ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดถึง 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา โดยในปี 2557 สามารถส่งออกได้มูลค่า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแนวโน้มคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวจะไม่มากนัก หากสามารถรักษาระดับการแข่งขันในตลาดโลกไว้ได้

           ในการนี้ สศก. ได้วิเคราะห์ถึงอุปสงค์การส่งออกน้ำตาลของไทยและบราซิล พบว่า แนวโน้มการส่งออกน้ำตาลของบราซิลนั้น หากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงค่าเงินเรียลอ่อนค่าลงตั้งแต่ 2.5 – 3.5 เรียลต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งทำให้บราซิลสามารถส่งออกในปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำตาลล่วงหน้า ณ ตลาด นิวยอร์ค มีมูลค่าการส่งออกรวม ตั้งแต่ 9.60 – 14.70 พันล้านเหรียญสหรัฐ

          และหากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตั้งแต่ 31-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งทำให้ไทยสามารถส่งออกในปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำตาลล่วงหน้า ณ ตลาด นิวยอร์ค มีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ ตั้งแต่ 3.1-3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ความสัมพันธ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลของบราซิลและของไทย จึงมีทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ หากค่าเงินภายในประเทศของบราซิลและของไทยอ่อนค่าลงย่อมส่งผลต่อปริมาณการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น

จาก http://news.thaiquest.com วันที่ 15 เมษายน 2558

แจงสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรไทย ต่อภาวะเงินเฟ้อติดลบในปัจจุบัน

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 5 ปี กับสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรในปัจจุบัน ระบุ ต้องมีการเตือนภัยทางเศรษฐกิจแบบทันสถานการณ์ เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นแม้ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนมีนาคม ติดลบ 0.57% ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี 6 เดือน แต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากประชาชนยังซื้อสินค้า และผู้ประกอบการไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะเงินฝืดนั้น ประกอบด้วย ระดับราคาสินค้าและบริการ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจจะมีเพียงพอหรือไม่ อัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลโดยตรงอัตราเงินเฟ้อหรือภาวะเงินฝืด รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหรือค่าเงินบาทของไทยจะแข็งหรืออ่อนมากน้อยเพียงใดที่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการด้วย

          สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงระดับราคาสินค้าและบริการ โดยเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจ่ายไปสำหรับกลุ่มสินค้าและบริการที่กำหนด เรียกว่า ตะกร้าสินค้า (Market Basket) คือกลุ่มสินค้าและบริการที่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายส่วนใหญ่ซื้อมาบริโภคเป็นประจำ การจัดตะกร้าสินค้านั้น ได้ข้อมูลมาจากการสำรวจค่าใช้จ่ายการบริโภคของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ตัวชี้วัดที่สำคัญ 4 ด้าน คือ 1) ด้านดัชนีราคาประเภทต่างๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ 2) ด้านการคลังและงบประมาณ 3) ด้านปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ย และ 4)การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกสินค้าและบริการ

          ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรในแต่ละด้าน พบว่า ด้านเศรษฐกิจการเกษตรมหภาค มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2558 พบว่า หดตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยลบ ที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัวในไตรมาสนี้ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย แม้ว่าระดับราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังมีราคาที่ทรงตัว ดังนั้นคาดว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ส่งผลให้ภาคเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

          ด้านระดับราคาสินค้าเกษตร ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกุมภาพันธ์ 58 เพิ่ม 3.92 สินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยยางพารา ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง 4.19 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 58

          แต่หากเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (ปี 2557) ภาพรวมลดลง ร้อยละ 2.51 โดยสินค้าเกษตรที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ซึ่งมันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับความต้องการส่งออกลดลง ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

          ด้านการปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้สูงขึ้น คุ้มครองและสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในระบบการผลิตและการค้าผลิตผลทางการเกษตร รวมถึง พัฒนาความพร้อมของเกษตรกรในการปรับระบบการผลิตให้มีความสอดคล้องกับภาวะการตลาด และสามารถเลือกใช้วิทยาการทางการเกษตรที่เหมาะสม เป็นการคุ้มครองภาคเกษตรจากภาวะเงินเฟ้อติดลบขณะนี้

          สำหรับมาตรการ แนวทางการแก้ไขปัญหาของภาวะเงินฝืด ประกอบด้วย นโยบายการเงิน (monetary policy) หมายถึงมาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศนำมาใช้ในการควบคุมดูแลปริมาณเงินและสินเชื่อรวมของระบบเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการ ส่วนนโยบายการคลัง (fiscal policy) หมายถึงนโยบายเกี่ยวกับการใช้รายได้และรายจ่ายของรัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดแนวทาง เป้าหมาย และการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เพิ่มมากขึ้น และ/หรือการเก็บภาษีให้น้อยลง พร้อมทั้งหากเป็นไปได้ควรใช้นโยบายงบประมาณแผ่นดินแบบขาดดุล

          ดังนั้น ในขณะนี้แม้จะยังไม่ถึงภาวะเงินฝืดก็ตาม แต่ต้องมีการเตือนภัยทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้น

          เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขณะนี้ พบว่า ภาวะเงินเฟ้อของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม เหตุสำคัญเกิดจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการลดลง เพราะต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลง จึงส่งผลดีต่อการขยายฐานการผลิตสินค้าให้เพิ่มขึ้น หากสินค้านั้นสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องให้มีการขยายตัวความต้องการทางการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าภาครัฐได้มีความพยายามในการผลักดันทางด้านงบประมาณ และนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมแล้วก็ตาม ดังนั้น การวิเคราะห์จำเป็นต้องสร้างความสมดุลย์ของอุปสงค์รวมและอุปทานรวมของระบบเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพต่อไป

จาก http://news.thaiquest.com วันที่ 15 เมษายน 2558

สศก. จับตาค่าเงินบราซิล กับมุมมองวิเคราะห์การส่งออกน้ำตาลไทย

           สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดมุมมองสถานการณ์ค่าเงินเรียลของบราซิลที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย ระบุ ค่าเงินภายในประเทศของบราซิลและของไทยหากอ่อนค่าลง จะส่งผลต่อปริมาณการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่า พบว่าค่าเงินเรียลของบราซิลมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตั้งแต่ พ.ศ. 2554 อยู่ที่ 12.3 เรียลต่อเหรียญสหรัฐ ลดลงมาจนถึง 2.6 เรียลต่อเหรียญสหรัฐ ใน ปี 2558 จากการขาดดุลของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศและปัจจัยอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจของบราซิลมาสักระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่การส่งออกน้ำตาลของบราซิลจะมีมากยิ่งขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ หากแนวโน้มของค่าเงินเรียลอ่อนค่ามากขึ้นเท่าใดก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของประเทศคู่แข่งทุกประเทศและ/หรือ อย่างประเทศไทยมากขึ้นเท่านั้น

          โดยมูลค่าการส่งออกน้ำตาลของบราซิล สูงสุดในปี 2554 ถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2557 มูลค่าการส่งออกน้ำตาล ได้ลดลงมาเหลือเพียง 0.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากปริมาณการใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำไปผลิตเอทานอลบางส่วน และประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกค่อนข้างทรงตัว

           สำหรับการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย มีความสำคัญที่จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมจึงเป็นกลไกที่สามารถจะทำให้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมากและจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรด้วย โดยมูลค่าการส่งออกน้ำตาลของไทย พบว่าปริมาณการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศที่มีเหลือสามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ ใน ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดถึง 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา โดยในปี 2557 สามารถส่งออกได้มูลค่า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแนวโน้มคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวจะไม่มากนัก หากสามารถรักษาระดับการแข่งขันในตลาดโลกไว้ได้

           ในการนี้ สศก. ได้วิเคราะห์ถึงอุปสงค์การส่งออกน้ำตาลของไทยและบราซิล พบว่า แนวโน้มการส่งออกน้ำตาลของบราซิลนั้น หากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงค่าเงินเรียลอ่อนค่าลงตั้งแต่ 2.5 – 3.5 เรียลต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งทำให้บราซิลสามารถส่งออกในปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำตาลล่วงหน้า ณ ตลาด นิวยอร์ค มีมูลค่าการส่งออกรวม ตั้งแต่ 9.60 – 14.70 พันล้านเหรียญสหรัฐ

          และหากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตั้งแต่ 31-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะส่งทำให้ไทยสามารถส่งออกในปริมาณที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำตาลล่วงหน้า ณ ตลาด นิวยอร์ค มีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ ตั้งแต่ 3.1-3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ความสัมพันธ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลของบราซิลและของไทย จึงมีทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ หากค่าเงินภายในประเทศของบราซิลและของไทยอ่อนค่าลงย่อมส่งผลต่อปริมาณการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น

จาก http://news.thaiquest.com วันที่ 15 เมษายน 2558

น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว วันนี้ไม่ใช่ปัญหาอีกแล้ว

พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาและศึกษาวางโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยหม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ  นายกิจจา ผลภาษี นายปกรณ์ สัตยวณิช นางสาวศรีนิตย์ บุญทอง ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร.

พร้อมด้วย นางสาวอุศนีย์ ธูปทอง  ผู้อำนวยการสำนักประสานงานโครงการฯ ภาคใต้  นายชูชาติ ฉุยกรม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ สำนักราชเลขาธิการ นายเทอดศักดิ์ บุญยขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำมูลนิธิชัยพัฒนา นายทวี เต็มญารศิลป์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ได้เดินทางไปติดตามและเยี่ยมชมสถานีสูบน้ำบางนรา 30 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำบางนรา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริ

ในการนี้ คณะองคมนตรีได้รับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำบางนราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้ดำเนินการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวตั้งแต่ปี 2523 ด้วยราษฎรประสบปัญหาน้ำ 3 ประเภท คือ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว ที่ไหลมาบรรจบกันจึงทำให้เกิดน้ำกร่อย ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้  

พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาและศึกษาวางโครงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา เพื่อช่วยเหลือราษฎร ทั้งวิธีการระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย วิธีการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำที่ปากแม่น้ำบางนราทั้งตอนบนและตอนล่าง พร้อมกับจัดระบบชลประทานและวางระบบการระบายน้ำ

และได้พระราชทานพระราชดำริในการแยกน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยวออกจากกันโดยกักน้ำจืดไว้สำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร สร้างระบบป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่ทำกิน และระบายน้ำเปรี้ยวซึ่งขังอยู่ในที่ดินทำกินของราษฎรทำให้เกิดกรดกำมะถันออกจากพื้น

รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพดินให้สามารถทำการเกษตรได้ จากพื้นที่โครงการรวมประมาณ 315,000 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพ       ที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 160,288 ไร่ และปัจจุบันได้มีการพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทานไปได้ 75,644 ไร่ คิด   เป็นร้อยละ 47 สำหรับพื้นที่ที่พัฒนาแล้วได้มี

การแก้ไขปัญหาการระบายน้ำและน้ำท่วม ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีน้ำจืดเพียงพอสำหรับพื้นที่     เพาะปลูกได้จำนวน 105,000 ไร่ และได้ช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับราษฎรในพื้นที่ได้อีกด้วย

ในการนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้ร่วมเปิดคลองส่งน้ำและใส่ปุ๋ยน้ำอินทรีย์ลงไปในน้ำที่ส่งเข้าแปลงปลูกตามระบบการส่งน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำที่ไหลลงสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกรที่มีทั้งพืชไร่ และไม้ยืนต้นจะได้รับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการบำรุงต้นพืชอย่างเต็มที่และทั่วถึงทุกแปลง ไม่ต้องเสียเงินในการจัดหาปุ๋ยมาใช้เพื่อบำรุงต้นพืช

ดังแปลงเกษตรแบบผสมผสานของ นายสุวิทย์ เพชรกล่ำ เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งในเรื่องของน้ำเพื่อการเกษตรและความรู้ทางด้านวิชาการในการประกอบอาชีพจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้นมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคและมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

การนี้องคมนตรีและคณะ ยังได้มอบปัจจัยการผลิตและเมล็ดพันธุ์พืชที่ผลิตโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้กับตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเองต่อไป

ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์พืชที่เกษตรกรได้รับนั้น เมื่อปลูกแล้วจะสามารถเก็บผลผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปได้ทันที อันต่างจากการหาซื้อจากตลาดทั่วไปที่เกษตรกรจะสามารถนำมาเพาะปลูกได้เพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้นหากต้องการปลูกใหม่อีกก็ต้องไปหาซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ อันทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 14 เมษายน 2558

ผู้ขนส่งทางเรือฯกังวลส่งออกปีนี้ติดลบอีก จี้รัฐเร่งเปิดทางตลาดใหม่

ผู้ขนส่งทางเรือฯกังวลส่งออกปีนี้ติดลบอีกจี้รัฐเร่งเปิดทางตลาดใหม่l พุ่งเป้า‘จีน-อินเดีย-รัสเซีย’

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ไทยประสบปัญหาด้านการส่งออกติดลบในช่วงไตรมาสแรก 2558 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีความต้องการอยากให้รัฐบาลเร่งเปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้น และรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะตลาดรัสเซียและอินเดียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่มีกำลังซื้อสูง จึงเชื่อว่าสินค้าไทยที่เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคยังเป็นที่ต้องการในตลาดดังกล่าวมาก และในอนาคตควรมีการขยายสู่ระดับการตั้งศูนย์กระจายสินค้าในตลาดใหม่ด้วย

โดยเฉพาะอินเดียเป็นประเทศที่มีความต้องการสินค้าสูงมาก เพราะจะเห็นจากช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปยังอินเดียขยายตัวถึง 5% แม้ไทยจะยังไม่ได้เปิดตลาดในประเทศอินเดียมากนักก็ตาม ดังนั้น รัฐควรเร่งเจรจาการค้ากับอินเดียโดยเร็ว เนื่องจากรัฐบาลอินเดียก็มีนโยบายส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ

นอกจากนี้ประเทศรัสเซียยังเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ ซึ่งล่าสุดได้มีการหารือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ขณะเดียวกันก็ควรมีการส่งเสริมส่งออกสินค้าไปยังจีนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ประเทศหลักนี้ หากรัฐบาลสามารถเปิดตลาดใหม่ในประเทศที่ค่อนข้างปิดหรือมีมาตรการกีดกันทางการค้าค่อนข้างสูง ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นของรัฐบาล

นายนพพรกล่าวว่า ภาคเอกชนมองว่านโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนให้ทูตพาณิชย์มีการทำงานแบบภาคเอกชนนั้น เดินมาถูกทางแล้ว เพราะเป็นการช่วยเปิดตลาดสินค้าของไทยในแต่ละประเภทให้ตรงกับความต้องการของแต่ละประเทศได้มากขึ้น

สำหรับการค้าชายแดนถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีการขยายตัวในระดับที่ดี และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมให้เกิดการค้าผ่านแดนมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่เน้นเฉพาะตลาดแนวตะเข็บชายแดนของเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ก็ควรมีตลาดใหม่ๆ ไม่ควรพึ่งพาตลาดนี้เป็นหลัก

นายนพพรกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาไทยได้รับผลกระทบด้านการส่งออกจากอุปสรรค 3 ข้อหลัก คือ ราคาน้ำมันที่ลดลง ความต้องการในตลาดโลกหดตัว และขีดความสามารถทางการแข่งขันลดลง จากการถูกตัดสิทธิทางภาษี ค่าเงินบาทแข็งเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เป็นต้น ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขณะนี้ก็ยังไม่ส่งผลบวกเท่าที่ควร

ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าการส่งออกของไทยจะติดลบ 3 ปีติดต่อกัน หลังเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังชะลอตัว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

สศก.ดันเทคโนโลยี‘Big Data’ พัฒนาระบบข้อมูลเกษตรไทย

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากภาวะการเปลี่ยนของโลก ทั้งด้านกายภาพ ภูมิอากาศและสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงและรวดเร็ว สศก. จึงได้เร่งพัฒนาข้อมูลในรูปของเทคโนโลยี Big Data ที่เป็นการนำข้อมูลที่มีปริมาณมาก หลากหลายรูปแบบมาผ่านการประมวลผล การวิเคราะห์ และสามารถแสดงผลด้วยวิธีที่รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเรื่องนโยบายพัฒนาภาคเกษตร

โดยการขับเคลื่อนเรื่อง Big Data สศก.จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน รวมถึงเชื่อมโยงกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากจะต้องมีการบูรณการข้อมูล อาทิ ข้อมูลน้ำ ดิน พืช ทะเบียนเกษตรกร การถือครองที่ดิน การปลูกพืชตามโซนนิ่ง หรือระบบโลจิสติกส์ เพื่อนำมาวิเคราะห์อย่างรอบด้านและเผยแพร่อย่างทั่วถึง จะนำสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะทำให้การบริหารอุปสงค์อุปทานมีความแม่นยำมากขึ้น การผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั้งด้านพืช ผลไม้ ประมง ปศุสัตว์ และที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยให้ราคาจำหน่ายผลผลิตดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง

นายเลอศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีหนี้สินมากขึ้น ขณะที่มีรายได้จากภาคเกษตรน้อยกว่านอกภาคเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ สศก.จะต้องชี้นำให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่สามารถสร้างรายได้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และดึงเกษตรกรกลับมาสู่ภาคเกษตร ควบคู่กับการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่มาทดแทน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

อ้อยเข้าหีบสูงเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติ104ล.ตันหวั่นราคาน้ำตาลร่วงใช้กองทุนฯชดเชย

    3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยหีบอ้อยฤดู 2557/2558 ปริมาณอ้อยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติที่ 104 ล้านตันอ้อย แต่ทำรายได้ให้กับโรงงานน้ำตาลไม่เข้าเป้า เหตุราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกวูบ หวั่นหลังปิดหีบอ้อยแล้ว อาจต้องใช้กองทุนฯเข้ามาชดเชยส่วนต่างราคาเบื้องต้นที่จ่ายไปแล้ว พร้อมรอลุ้นการกำหนดเกณฑ์ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่จากครม.

    altนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ทาง 3 สมาคมอยู่ระหว่างติดตามการนำอ้อยเข้าหีบในฤดู 2557-2558 ว่าจะมีปริมาณเท่าใด หลังจากที่เมื่อช่วงต้นปีประเมินว่าจะมีอ้อยเข้าหีบต่ำกว่าปีฤดู 2556/2557 ที่หีบได้ 103.67 ล้านตันอ้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่จากการประเมินเบื้องต้นกลับพบว่า ปริมาณอ้อยที่เข้าหีบตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 6 เมษายน 2558 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 103.14 ล้านตันอ้อย จากจำนวนโรงงานน้ำตาล 51 แห่ง ทั่วประเทศ

    ในขณะที่ยังมีโรงงานน้ำตาลในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกจำนวน 20 แห่ง แม้จะปิดหีบอ้อยไปแล้ว 2-3 แห่ง แต่ยังมีโรงงานที่เหลือยังเปิดหีบอ้อยอยู่ประมาณ 2 แสนตันต่อวันอ้อย และคาดว่าจะเปิดหีบไปเลยจากหลังสงกรานต์ไปแล้ว จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าการหีบอ้อยในฤดูดังกล่าวนี้จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงกว่า 104 ล้านตันอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 11-12 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติการณ์การหีบอ้อยสูงสุด นับตั้งแต่ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมา

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการหีบอ้อยทุบสถิติสูงสุดก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า ราคาน้ำตาลทรายที่เป็นอยู่ขณะนี้ถือว่าตกต่ำเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หากเฉลี่ยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะอยู่ประมาณ 12-13 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น เนื่องจากสต๊อกน้ำมันในตลาดโลกยังมีอยู่ในปริมาณมากถึง 10-20 ล้านตัน ประกอบกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิล มีต้นทุนในการผลิตน้ำตาลทรายต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของโรงงานน้ำตาลไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ

    โดยเฉพาะกรณีที่โรงงานน้ำตาลได้จ่ายค่าอ้อยเบื้องต้นไปแล้ว 900 บาทต่อตัน ที่ชาวไร่อ้อยได้รับไปแล้ว แต่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจะต้องมาติดตามดูว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกหลังปิดหีบแล้ว ที่จะมีการพิจารณาภาพรวมประมาณเดือนกันยายน 2558 หากราคาน้ำตาลทรายยังทรงตัวหรือไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ก็อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยเบื้องต้นที่จ่ายไปแล้วได้ ซึ่งจะเป็นภาระให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องหาเงินมาจ่ายชดเชยคืนส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ซึ่งคงต้องรอติดตามอย่างใกล้ชิด

    นายสิริวุทธิ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามผู้ที่อยู่ในวงการอ้อยและน้ำตาลทราย หวังว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้นมาได้ เนื่องจากทางบราซิลพยายามที่จะไม่ระบายน้ำตาลทรายออกสู่ตลาดโลก โดยหันไปผลิตเอทานอลจากน้ำตาลแทนมากขึ้น เพราะได้ราคาดีกว่า อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายการใช้เอทานอลภายในประเทศที่ขณะนี้มีการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี 27 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศแล้ว

    ส่วนกรณีที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมที่จะนำหลักเกณฑ์การกำหนดระยะห่างการตั้งโรงงานน้ำตาล เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยจะเสนอแนวทางของการตั้งโรงงานน้ำตาลที่จะสร้างใหม่ ต้องห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมตั้งแต่ 40-60 กิโลเมตร จากเดิมที่กฎหมายกำหนดต้องมีระยะห่าง 80 กิโลเมตรขึ้นไปนั้น ในส่วนนี้ทางโรงงานน้ำตาลที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ก็กำลังติดตามอยู่ว่าจะมีความชัดเจนออกมาเมื่อใด เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการได้เสนอเรื่องของตั้งโรงงานน้ำตาลไปแล้วประมาณ 50 แห่ง กำลังรอการอนุมติอยู่

    โดยมองว่าการกำหนดระยะห่างของการตั้งโรงงานน้ำตาลไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องของปริมาณอ้อยที่จะเข้าโรงงานมีมากน้อยเพียงใด และเป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี หรือไม่ที่จะส่งเสริมให้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อย และมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 180 ล้านตันอ้อยได้ ถ้าอนุมัติตั้งโรงงานออกมาแล้วไม่มีอ้อยเข้าหีบก็จะไม่คุ้มทุนในการลงทุน ที่สำคัญโรงงานน้ำตาลจะต้องไปส่งเสริมการปลูกอ้อยของตัวเอง ไม่ใช่ตั้งโรงงานแล้วไปแย่งอ้อยจากพื้นที่ของผู้ประกอบการรายอื่นก็จะเกิดปัญหาตามมาได้

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 12 เมษายน 2558

‘ปีติพงศ์’เร่งเต็มที่ ยกหนี้12,000ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกรจ้างTDRIช่วยงาน

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ  ได้ประกาศเดินหน้าโครงการสำคัญ คือตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญในกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของเกษตรกรกับโครงการภาครัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเกษตรในภาพรวม

จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้มีเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ลดความเหลื่อล้ำทางรายได้ และเสริมสร้างให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจำหน่ายหนี้สินเป็นสูญ 12 แหล่งเงิน (6 กองทุน 6 เงินทุน) ในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีจำนวนเกษตรกร 26,742 ราย และองค์กรเกษตรกร 1,028 แห่ง รวมเป็นเงิน จำนวน 4,556 ล้านบาท หรือร้อยละ 38 จากมูลหนี้ทั้งหมด 12,000 ล้านบาท

นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำโรดแม็ป (Road Map) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรฯ ตลอดเดือนเมษายน-กันยายน 2558 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ โดยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ จะนัดประชุมคณะกรรมการและชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการสำรวจภาวะหนี้ โดยจำแนกตามกลุ่มหลักเกณฑ์ 10 ข้อ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอจำหน่ายหนี้สูญ โดยกรณีมีระเบียบรองรับในการจำหน่ายหนี้สูญของกองทุนให้เสนอคณะกรรมการกองทุน/เงินทุนที่รับผิดชอบจำหน่ายหนี้สูญ ส่วนกรณีไม่มีระเบียบรองรับในการจำหน่ายหนี้สูญของกองทุน หรือมีแต่ไม่ครอบคลุมหลักเกณฑ์ 10 ข้อ ให้เสนอคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรกรแห่งชาติ (กบส.) พิจารณาจำหน่ายหนี้สูญ และช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะดำเนินการจำหน่ายหนี้ตามที่คณะกรรมการกองทุน/เงินทุน/กบส.เห็นชอบ พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่กำกับดูแลกองทุน/เงินทุนพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจ และสรุปรายงานผลโครงการ โดยตลอดการดำเนินงานดังกล่าวจะนัดประชุมคณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเป็นระยะทุกเดือน

“สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบ ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2558 หลังจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ตลอดทั้งส่งเสริมให้ประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน”นายปีติพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ การจำหน่ายหนี้เป็นสูญของกองทุนหรือเงินทุนในกระทรวงเกษตรฯ ให้ปฏิบัติสำหรับหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ แบ่งเป็น 10 กลุ่ม ดังนี้ (1) กรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ (2) กรณีประสบภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ (3) ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ (4) หนี้ขาดอายุความ (5) หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป (6) หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ (7) เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบหรือละทิ้งถิ่นที่อยู่ (8) เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินพิการ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง (9) ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยหรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และ      (10) หนี้สินของเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งจากการดำเนินการฟ้องร้องจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย

โดยการจำหน่ายหนี้สูญตามมติดังกล่าว ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)พิจารณาดำเนินการตรวจสอบ และภายหลังการจำหน่ายหนี้เป็นสูญแล้ว จะทำการพิจารณาทบทวนบทบาทของกองทุนหรือเงินทุนแต่ละแห่งต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 เมษายน 2558

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เตรียมแผนลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุขนส่งสินค้าทางน้ำ

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มอบให้คณะทำงาน ทำแผนแนวทางการลดอุบัติเหตุการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุพร้อมกำหนดแนวทางปฏิบัติงานกรณีเกิดอุบัติเหตุ หวังนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้ให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำตาลทรายทางน้ำ เนื่องจากคลังสินค้าที่จัดเก็บน้ำตาลทรายหลายแห่งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาและมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้าทางเรือ ดังนั้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดย บริษัทอ้อยน้ำตาลไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และภาครัฐ ถือหุ้นและร่วมบริหารงานได้จัดตั้งคณะทำงานป้องกันและปราบปรามน้ำตาลสูญหาย การลักลอบนำเข้า-ส่งออกและการป้องกันอุบัติเหตุจากการขนส่งทางน้ำขึ้น เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุจากการขนส่งสินค้าทางเรือ รวมถึงแนวทางการกู้เรือหากเกิดกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา

          ทั้งนี้ ภายใต้คณะทำงานชุดดังกล่าวมี ‘นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์’ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธาน พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ อัยการ ศุลกากร บริษัทส่งออกน้ำตาล คลังสินค้า โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย กรมเจ้าท่า และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เข้ามาเป็นคณะทำงานเพื่อศึกษาจัดทำแผนป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และแผนปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานในการเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหากกรณีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

          “ที่ผ่านมา การป้องกันอุบัติเหตุและการกู้เรือยังไม่เคยมีการศึกษาข้อมูลในการป้องกันและวิธีการกู้เรือ แต่เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ต่อเนื่อง จึงมอบให้คณะทำงานชุดนี้จัดทำแผนปฏิบัติงานและกำหนดให้แต่ละหน่วยงานมีแนวทางปฏิบัติในการขนส่งสินค้าน้ำตาลทางเรือที่ชัดเจนหากเกิดอุบัติเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายล่ม โดยแต่ละหน่วยงานจะมีหน้าที่รับผิดชอบตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และมีเครื่องมือที่พร้อมในการทำงานเพื่อเข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าด้วยแนวทางดังกล่าวจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ คณะทำงานชุดดังกล่าว จะจัดให้มีการซักซ้อมแผนปฏิบัติงานในการขนส่งสินค้าทางเรือตลอดจนขั้นตอนการกู้เรือในยามเกิดอุบัติเหตุ เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการขนส่งสินค้าน้ำตาลทางเรือให้มีความปลอดภัยและมีความพร้อมแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น

จาก http://news.thaiquest.com วันที่ 10 เมษายน 2558

ก.แรงงาน เร่งเครื่อง แก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

ก.แรงงาน พร้อมร่วมมือ ILO สำรวจข้อมูลเด็กทำงาน เร่งผลักดันมาตรการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ออกกฎหมายห้าม 15ปีทำงาน พบนายจ้างทำผิด ดำเนินคดีทันที ออกตรวจโรงงาน เข้ม ทำวิจัยรองรับแผนขจัดการใช้แรงงานเด็ก นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายมอริซิโอ บุซซี รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการ รวมถึงมีความคืบหน้าในการหาแหล่งทุนเพื่อการดำเนินการสำรวจสถานการณ์เด็กทำงานของประเทศไทย โดยเฉพาะในกิจการสินค้า กุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อย และปลา

ทั้งนี้ประเทศไทยถูกจับตามองจากต่างประเทศในประเด็นปัญหาการใช้แรงงานเด็ก มีการระบุถึงสินค้าของประเทศไทยที่ผลิตจากการใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับ คือกุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อย ปลา และสื่อลามก อีกทั้งปัญหาแรงงานเด็กแรงงานบังคับมีความเกี่ยวโยงกับประเด็นการค้ามนุษย์ ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับเสนอมา คือ การขอให้ประเทศไทยดำเนินการสำรวจการทำงานของเด็กในระดับประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนแก้ไขปัญหา รวมถึงเป็นการแสดงข้อมูลที่แท้จริงของสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนั้นกระทรวงแรงงานพร้อมให้ความร่วมมือกับ ILO ในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ อาทิ สนับสนุนการทำผลการวิจัยเพื่อพัฒนา การสำรวจการทำงานของเด็ก การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรองรับการดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลที่จะได้รับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

สำหรับมาตรการสำคัญที่กระทรวงแรงงานเร่งผลักดันเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ อาทิ 1) ดำเนินการสำรวจการทำงานของเด็กในกิจการกลุ่มเสี่ยง เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนแก้ไขปัญหา รวมถึงเป็นการแสดงข้อมูลที่แท้จริงของสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย 2) ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล มีผลบังคับใช้ 30 ธ.ค.57 โดยระบุอายุขั้นต่ำแรงงานประมงทะเลเป็น 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ 3) ออกกฎกระทรวงแรงงานคุ้มครองแรงงานในภาคเกษตร บังคับใช้วันที่ 22 ธ.ค.57 โดยระบุห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง และห้ามนายจ้าง จ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งถือว่าสูงกว่ามาตรฐานที่สหรัฐฯกำหนด 4) ให้ดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบกิจการกับพนักงานสอบสวนทันที หากพบกรณีการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย 5) ให้สถานประกอบการรายใหญ่ควบคุมสถานประกอบการรายย่อย 6) ดำเนินการจ้างมหาวิทยาลัยมหิดลประเมินผลแผนระดับชาติ ในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปี 52-57 และยกร่างแผนฯ ปี 58-63

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 10 เมษายน 2558

กลุ่มมิตรผล ให้การต้อนรับ เลขาธิการพรรคมณฑลกวางสี

กลุ่มมิตรผล นำโดย นายสุนทร ว่องกุศลกิจ  ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ  ประธานกรรมการ พร้อมด้วย นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ นายเผิง ชิงหัว  เลขาธิการพรรคมณฑลกวางสี พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนทรรศนะด้านการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนขององค์กรธุรกิจไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสที่เลขาธิการพรรคฯ เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน

 ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผล ถือเป็นแบบอย่างขององค์กรไทยที่ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเริ่มต้นจากการก่อตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งแรกที่มณฑลกวางสี เมื่อปี พ.ศ. 2536 และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลในสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งหมด 7 แห่ง ถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ อันดับที่ 2 โดยมีผลผลิตน้ำตาลกว่า 1.3 ล้านตันต่อปี

 นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังเป็นผู้นำรายแรกในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ที่เมืองฝูหนาน และเมืองหนิงหมิง มณฑลกวางสี รวมกำลังการผลิตกว่า 64 เมกะวัตต์ต่อปี และล่าสุดยังได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ก่อตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูงขึ้นที่เมืองหนิงหมิง เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ปุ๋ยซอยล์เมต ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 10 เมษายน 2558

รัฐบาลหนุนปลูกอ้อยแทนข้าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังตัวแทนภาคเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เดินทางเข้าหารือว่า เอกชนมีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง

 อาทิ การช่วยเหลือเกษตรกรโดยการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นปลูกอ้อย ซึ่งเดิมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สำรวจพื้นที่ประมาณ 7 แสนไร่เพื่อดำเนินการภายใน 2 ปี โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าฯ รายงานว่าสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมอีกประมาณ 3 แสนไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ควรปลูกอ้อยเช่นกัน

  หลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ว่ามีความทับซ้อนกับพื้นที่ที่สำรวจก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะได้พื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่สำหรับให้ชาวนาเปลี่ยนอาชีพเป็นปลูกอ้อย โดยจะใช้วิธีการทำสัญญากับโรงน้ำตาลในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้การปลูกอ้อยเพิ่มเติมมีตลาดรองรับอย่างเพียงพอ รวมถึงสนับสนุนแหล่งเงินกู้ให้ธุรกิจเอสเอ็มอี

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

สศก. ลุยภาคสนามประเมินความถูกต้องเนื้อที่เพาะปลูก

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าว ลุยพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ทดลองภาคสนาม ประเมินความถูกต้องเนื้อที่เพาะปลูกข้าวที่ได้จากโปรแกรม INAHOR ในกรณีที่พื้นที่นามีพื้นที่อื่นปะปน

 นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ  รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าว ซึ่ง สศก. ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asia Development Bank : ADB) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการสำรวจเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าว โดยนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประยุกต์ใช้สนับสนุนการวางแผนด้านการเกษตรของประเทศ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในการนำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพระบบการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและพยากรณ์ผลผลิตข้าวใน 4 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย ภายใต้กรอบการช่วยเหลือตามโครงการ R-CDTA 8369 Innovative Data Collection Methods for  Agricultural and Rural Statistics  โดยโครงการฯ มีระยะดำเนินงานพฤษภาคม 2557 ถึง กรกฎาคม พ.ศ.2559

 สำหรับประเทศไทย สศก. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้นำเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มาประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวของประเทศ นำร่องพื้นที่จังหวัดอ่างทอง โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม ALOS-2 ซึ่งเป็นข้อมูลดาวเทียมในระบบ SAR ที่มีคุณสมบัติสามารถถ่ายภาพทะลุเมฆได้ ทำให้ได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับวิเคราะห์แม้กระทั่งฤดูฝน ทั้งนี้ การดำเนินงานตามโครงการฯ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์และวิธีการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลอื่นๆ ร่วมกับวิธีการ Crop Cutting ในระดับจังหวัด และการฝึกอบรมคณะทำงานให้กับประเทศนำร่อง ทั้ง 4 ประเทศ และการพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมออนไลน์ (Online) ในการใช้ข้อมูลดาวเทียมสำหรับงานด้านสถิติการเกษตรและชนบท ภายหลังจากที่มีการพัฒนาโปรแกรมแล้วเสร็จ

ในการนี้ เมื่อวันที่ 19 – 20 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ สศก. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก RESTEC ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภาคสนามภายใต้โครงการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวที่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย ทดลองการปฏิบัติงานภาคสนามในการตรวจสอบความถูกต้องของผลการประเมินเนื้อที่เพาะปลูกข้าวที่ได้จากโปรแกรม INAHOR ในกรณีที่พื้นที่นามีพื้นที่อื่นปะปน หรือที่เรียกว่า MIXCEL เพื่อประเมินสัดส่วนของพื้นที่อื่นที่ปะปนกับพื้นที่ปลูกข้าว เนื่องจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ALOS2  ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้แปลและวิเคราะห์ภายใต้โครงการฯ มีขนาดจุดภาพ 100 x 100 เมตร  ซึ่งคิดเป็น 6.25 ไร่ต่อจุดภาพ โดยทำการสุ่มตัวอย่างในลักษณะสุ่มแบบอิสระ (Random Sampling) จำนวน 13 จุด ขนาด 200 x 200 เมตร   

ผลการสำรวจภาคสนาม พบว่า พื้นที่นาข้าวส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มีการปลูกข้าว เนื่องมาจากการนโยบายของภาครัฐในการไม่สนับสนุนให้เกษตรกรทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่คาดว่ารอบการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2558/59 เกษตรกรในพื้นที่จะมีการทำนา  นอกจากนี้ จากการสำรวจภาคสนาม พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปะปน  ได้แก่ อ้อยโรงงาน พืชผัก ไม้ผล  บึง คลอง และถนน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 - 25 มีนาคมที่ผ่านมา สศก. ยังได้จัดให้มีการฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรม INAHOR ครั้งที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งส่วนกลาง นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายที่อยู่ในภูมิภาค และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

ธ.ก.ส.ปล่อยกู้7.67หมื่นล. ลุยแก้หนี้เกษตรกรสนองนโยบายรัฐ

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชี 2557 (1 เมษายน 2557–31 มีนาคม 2558)ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปีบัญชี 2556 ที่มีอยู่ 9,800 ล้านบาท เป็นผลมาจากการดำเนินงานของธนาคารและตามนโยบายของรัฐบาล โดยปล่อยสินเชื่อสู่ภาคการเกษตรไปกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.27% มีเงินรับฝาก 1.23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.03% มีรายได้ 7.46 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 3.40% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 3.90%

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานปีบัญชี 2558 (1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559)ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 7.67 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 7% และรับฝากเงินเพิ่ม 65,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 5% รวมถึงจะควบคุมสัดส่วนเอ็นพีแอลให้ไม่เกิน 3.50% โดยคาดว่าจะส่งผลให้รอบปีบัญชีนี้ธนาคารจะมีกำไรสุทธิประมาณ 1.05 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูการประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้าที่มีปัญหา โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล และให้สินเชื่อเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน เช่น สินเชื่อวิสาหกิจชุมชน สินเชื่อต่อยอดกองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชน สินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain financing) ผ่านสหกรณ์การเกษตร

สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย จะเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท จำนวน 8.18 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.16 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ให้กับลูกหนี้ที่มีการชำระหนี้ตามกำหนด เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยให้ทุกปี ให้สินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉินหรือจำเป็นในครอบครัว รวมถึงให้บริการเงินฝาก ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

นายลักษณ์กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมีเกษตรกรเข้ามาขอลงทะเบียนแล้ว 9.5 หมื่นราย โดยธ.ก.ส.ได้เชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาประนอมหนี้ ซึ่งสำเร็จไปแล้วกว่า 6.02 หมื่นราย มีการให้สินเชื่อไปแล้ว 3 หมื่นราย คิดเป็นเงิน 2,710 ล้านบาท คาดว่าจะให้สินเชื่อครบตามจำนวนภายในเดือนมิถุนายนนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

ประเดิมใช้พรบ.ดิจิตอลทันพ.ค.นี้

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เปิดเผยความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล โดยการออกกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 10 ฉบับ ว่า ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ...., ร่างประกาศ พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้ง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ จะดำเนินการรวมเป็นพ.ร.บ. 1 ชุด รวมทั้ง ครม. ยังเห็นชอบ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …., พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ (พ.ร.บ.กสทช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยในร่างกฎหมายดังกล่าว เร็วๆ นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูล แต่จะเผยแพร่เฉพาะในส่วนของชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล 3 ฉบับ และพ.ร.บ.กสทช. เท่านั้น เนื่องจากกฎหมายฉบับอื่นยังคงเป็นเรื่องอ่อนไหวเกินกว่าจะเผยแพร่ ทั้งนี้ คาดกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะสามารถเสร็จสิ้นการพิจารณาจาก สนช. ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนเดินหน้าประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวต่อไป

นางสุรางคณากล่าวว่า ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลที่กำลังจะผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเข้าสู่ ครม. และ สนช. ในชุดต่อไป ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …., พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. โดยคาดชุดกฎหมายดังกล่าวจะสามารถเข้ารับการพิจารณาของ สนช. ได้ภายใน 2 เดือน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

รัฐบาลวางแผนปั้นไทยสู่ประเทศการค้า ดึงต่างชาติปักหลักลงทุน

“หม่อมอุ๋ย”ชี้เศรษฐกิจตลาดหลักแย่กำลังซื้อหดตัวทำส่งออกไทยทรุด คาดไตรมาสแรกติดลบ 4% แต่มั่นใจเศรษฐกิจรวมของไทยยังขยายตัวดี ย้ำรัฐบาลเร่งขจัดอุปสรรค สร้างแรงจูงใจต่างชาติเข้ามาลงทุน ยกระดับคุณภาพสินค้าฉีกหนีคู่แข่ง พลิกส่งออกกลับมาบวกได้ในอนาคต

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสเศรษฐกิจโลก” จัดโดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากประเทศผู้ซื้อหลักมีเศรษฐกิจที่หดตัว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบทำให้คาดว่าการส่งออกในไตรมาส 1 ของปีนี้จะลดลงถึง 4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

ส่วนในภาพรวมทั้งปีนี้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ 0-1% ถือว่าได้ผ่านจุดที่ต่ำสุดในปีก่อนแล้ว ส่วนราคาสินค้าเกษตรหลักอย่างปาล์มน้ำมันก็ดีขึ้น ขณะที่ข้าวในประเทศยังมีสต๊อกถึง 17 ล้านตัน จากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา และของโลกอยู่ที่ 37-38 ล้านตัน ราคาข้าวจึงไม่สามารถขยับได้มากกว่านี้ จึงควรหาวิธีอื่นช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การส่งเสริมให้ไปปลุกพืชชนิดอื่น เป็นต้น ส่วนราคายางพาราก็ทรงตัวขึ้นได้ยาก เพราะราคาน้ำมันลดลง

ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะย่ำแย่ แต่ก็ยังมีแง่บวกในเรื่องของราคาน้ำมันที่ลดลง จึงทำให้ประชาชนภายในประเทศจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เห็นได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในไตรมาส 1 ของปีนี้ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 9.75% จึงเข้ามาช่วยเศรษฐกิจไทยได้บ้าง ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยครึ่งปีงบประมาณ 2558 ขยับมาอยู่ที่ 51%

“ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ แม้ว่าการส่งออกจะลดลง แต่ก็มั่นใจว่าจะไม่ลงมากกว่านี้ ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเดินหน้า และภาคเอกชนก็จะกลับเข้ามาลงทุน ดังนั้น คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้โดยภาพรวมจะดีกว่าปีที่ผ่านมา” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการส่งออกที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพการแข่งขันของไทยที่ลดลง โดยมีสินค้าอุปโภค บริโภค จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ไข สิ่งแรกที่รัฐบาลนี้ ทำก็คือปรับประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ใหม่ทั้งหมด โดยยกเลิกการให้การสนับสนุนในอุตสาหกรรมทั่วไป เป็นการส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผลิตสินค้าที่ก้าวหน้ากว่าประเทศคู่แข่ง

เนื่องจากไทยมีฐานการผลิตสินค้าพื้นฐานที่เข้มแข็งมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่สินค้าชั้นสูงที่ประเทศคู่แข่งยังไม่มีฐานการผลิตที่เข้มแข็งสู้ไทยไม่ได้ เช่นการยกระดับการผลิตรถยนต์ ไปสู่เทคโนโลยีผลิตรถยนต์ไฮบริดจ์ และไฟฟ้า ยกระดับจากพลาสติกทั่วไป เป็นพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมให้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย

ที่สำคัญผลจากการปรับเปลี่ยนนโยบาย บีโอไอ ในวันนี้ จะทำให้ในอนาคต 2-3 ปี ข้างหน้าไทยจะมีสินค้าชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมาก จะช่วยให้การส่งออกของไทยกลับมาเติบโตในระดับสูงได้อีกรอบ การติดลบในขณะนี้เป็นไปตามวัฏจักรของเศรษฐกิจ และจะกลับมาบวกได้ใหม่อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังส่งผลดีในการผลักดันให้โรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นออกไปลงทุนในต่างประเทศ สร้างกำไรให้กับประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้การที่จะยกระดับไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตยังไม่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกแต่ก็ได้รับประโยชน์ไม่มากจึงต้องยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศการค้า (Trading Nation)สนับสนุนให้เกิดการตั้งบริษัทเทรดดิ้งคัมปะนีให้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เหมือนกับญี่ปุ่น ที่ย้ายฐานการผลิตสินค้าไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เหลือเพียงบริษัทที่ทำด้านการค้าภายในประเทศ ทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าเพิ่มขึ้นมาก

“การที่ไทยจะเดินไปตามแนวทางดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีข้อได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน สามารถดึงดูดให้บริษัทต่างๆที่เข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาค และเทรดดิ้งคัมปะนีในไทย ซึ่งมีความสะดวกสบายคล่องตัวกว่าทุกประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็ได้แก้ไขกฎหมายยกเลิกภาษีของ บริษัทเทรดดิ้งคัมปะนีแล้ว เปิดให้บริษัทที่มีบริษัทลูกในต่างประเทศ หรือนำสินค้าจากต่างประเทศ ส่งออกไปประเทศที่ 3 ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินรายได้จากธุรกิจเหล่านี้ไหลกลับเข้าประเทศช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อีกมากล่าสุด มีนักลงทุนต่างชาติขอเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยแล้วกว่า 15 ราย”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

รมว.เกษตรฯ จัดคิวประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.ประกันรายได้เกษตรกร

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างพ.ร.บ.ประกันรายได้และสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ... ว่า อยู่ระหว่างการแก้ไขเพื่อเตรียมทำประชาพิจารณ์อีกครั้งภายในเดือนนี้ และจะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนพ.ค. ประเด็นที่ต้องแก้ไข อาทิ กลุ่มคนที่รัฐบาลช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรจริง โดยจะต้องจดทะเบียนเกษตรกรทั้งประเทศ

 พร้อมทั้งแบ่งชาวนาที่ต้องช่วยเหลือเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่มีที่ดินของตัวเอง, กลุ่มที่เช่าที่ดิน และกลุ่มแรงงาน ซึ่งพิสูจน์ได้ยากว่าใครเป็นเกษตรกร และอาจมีผลกระทบกับการออกแบบการช่วยเหลือสวัสดิการ แนวคิดเบื้องต้นอาจให้จ่ายเงินเพื่อให้ชาวนามีส่วนร่วมในการสร้างสวัสดิการตัวเองได้

  หลักการของ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเน้นการช่วยเหลือเรื่องรายได้ ไม่ใช่ราคาพืชผล มีคณะกรรมการใหญ่เป็นผู้กำหนดแผนงาน งบประมาณ 1-10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ภาคการเกษตร คาดใช้เงินปีละประมาณ 1 แสนล้าบาท เพื่อป้องกันรัฐบาลใช้เงินเกินกว่าความจำเป็น

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

นายกรัฐมนตรีรัสเชียลงนามทวิภาคี5ฉบับกับรัฐบาลไทย

นายดมิทรี เมดเวเดฟ  (Mr. Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2558 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกมิติ โดยได้ลงนามความตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลรัสเซีย จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1) บันทึกความเข้าใจ (MOU)

ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงพลังงานรัสเซีย 2) แผนการดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับรัสเซีย ปี 2558-2560 3) MOU ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมรัสเซีย 4) MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กับสำนักงานเพื่อการควบคุมยาเสพติดแห่งรัสเซีย 5) MOU ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซีย

นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความตกลงระหว่างภาคเอกชนไทยกับเอกชนรัสเซียจำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย ความตกลงเกี่ยวกับพลังงาน การวิจัยและพัฒนาพลาสติก โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในอาเซียน การพัฒนาเทคโนโลยีนำทาง (GPS) และความร่วมมือด้านการศึกษา เป็นต้น

แม้ระหว่างรัสเซียและไทยจะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนาน 118 ปี แต่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันกลับมีพัฒนาการค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งในปี 2558 นี้ก็อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าไปมากนักในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 รวมทั้งในด้านการลงทุนที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 ยังไม่มีนักลงทุนเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขณะที่การส่งออกของไทยไปรัสเซียได้สะท้อนภาพปัญหาทางเศรษฐกิจรัสเซียได้ค่อนข้างชัดเจน โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 หดตัวถึงร้อยละ 51.3 (YoY) จากที่เคยขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 (YoY) ในปี 2557 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ผลจากภาพเศรษฐกิจภายในประเทศของรัสเซีย ไม่ได้ลดทอนความสำคัญของรัสเซียในฐานะการเป็นตลาดศักยภาพด้านการค้าและการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว

 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัสเซียปี 2557

รัสเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 23 ของไทย

การค้ารวมระหว่างไทย-รัสเซีย

การส่งออกของไทยไปรัสเซีย

การนำเข้าของไทยจากรัสเซีย 159,388 ล้านบาท (4,913 ล้านดอลลาร์ฯ)

38,739 ล้านบาท (1,205 ล้านดอลลาร์ฯ)

120,649 ล้านบาท (3,708  ล้านดอลลาร์ฯ)

นักลงทุนรัสเซียได้รับการอนุมัติการลงทุนจาก BOI คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของการลงทุนทั้งหมด

จำนวนโครงการ

มูลค่าการลงทุน 6 โครงการ

91 ล้านบาท

รัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวในไทยมากที่สุดเป็นลำดับ 3 รองจากจีนและมาเลเซีย

นักท่องเที่ยวรัสเซีย

รายได้จากนักท่องเที่ยวรัสเซีย 1.6 ล้านคน

112,570 ล้านบาท

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, BOI, กรมการท่องเที่ยว รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 นัยเชิงเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัสเซีย ...

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำรัสเซียและไทย รวมถึงภาคเอกชนของทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มีพัฒนาการมากขึ้นในระยะยาว โดยมีนักลงทุนจากรัสเซียสนใจลงทุนในไทยในธุรกิจการแปรรูปยางพารา การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่น่าจะช่วยสร้างเครือข่ายการลงทุนของรัสเซียในไทยเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกันการตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนการค้าระหว่างกันเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว ให้แตะมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ภายในปี 2559 จากที่มีมูลค่า 4,913 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2557 น่าจะผลักดันสินค้าศักยภาพของไทยทำตลาดในรัสเซียได้มากขึ้นเช่นกัน

โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปรัสเซียนับว่ามีแนวโน้มสดใสกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งได้แรงสนับสนุน 2 ทาง จากความต้องการบริโภคของรัสเซียเพื่อชดเชยการนำเข้าสินค้าอาหารจากสหภาพยุโรป (EU) ผลจากมาตรการคว่ำบาตรของรัสเซียต่อ EU ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยสามารถเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจรัสเซียเวลานี้ และแรงหนุนจากภาครัฐบาลระหว่างประเทศที่จะมาเป็นเครื่องช่วยเสริมการส่งออกอย่างมั่นคงมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ส่งออกไปรัสเซียมีศักยภาพสูงอยู่แล้ว และมีสัญญาณการเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 อาทิ น้ำตาลทราย ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร ปลาหมึกสดแช่เย็น/แช่แข็ง ผักสด/แช่เย็น/แช่แข็ง กุ้งสด/แช่เย็น/แช่แข็ง ไก่แปรรูป สินค้าปศุสัตว์ และการส่งออกเนื้อสุกรของไทยน่าจะทำตลาดได้มากขึ้นนับจากที่รัฐบาลรัสเซียเปิดให้นำเข้าจากไทยได้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2557  ในขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มยางพาราของไทยไปรัสเซียน่าจะมีทิศทางดีขึ้นแม้จะยังมีมูลค่าการส่งออกค่อนข้างน้อยอีกทั้งยังหดตัวสูง เนื่องจากผลของราคายางพาราตกต่ำและการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในรัสเซีย

นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมของไทยบางรายการยังสามารถประคองการเติบโตได้ตามความต้องการของภาคธุรกิจในรัสเซีย อาทิ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น ส่วนประกอบอากาศยาน ไม้และผลิตภัณฑ์ ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยของไทยมีความเสี่ยงหดตัวสูงตลอดปี 2558 ประกอบด้วยสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยไปรัสเซียปี 2558 อาจจะยังหดตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและการอ่อนค่าของเงินรูเบิลกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภครัสเซีย อย่างไรก็ตาม จากความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างกันน่าจะช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าไทยหลายรายการให้มีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปีและผลักดันให้การส่งออกของไทยไปรัสเซียกลับมาเติบโตได้ในปี 2559 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจรัสเซียในปี 2558 จะหดตัวประมาณร้อยละ ภายใต้เงื่อนไขราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 57-65 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ขณะที่ผลของค่าเงิน ยังทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งย่อมส่งผลพวงมายังภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เดินทางมาไทยอาจจะยังลดลงต่อเนื่องในปี 2558

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 8 เมษายน 2558

เปิดมุมมองอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร พัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

          อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ ร่วมกับ คอมเอ็กซ์โพเซียม เปิดตัวงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 หวังเป็นเวทีสำหรับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการเกษตร โดยจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 Industry Forum อุ่นเครื่องก่อนถึงงานจริง พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรม และการขับเคลื่อนเกษตรไทยสู่ตลาดโลก” โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการเกษตร จากภาคส่วนของอ้อย น้ำตาล เครื่องจักรกลการเกษตร และปศุศัตว์ พร้อมยืนยันเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เป็นส่วนสำคัญการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย

          คณะผู้จัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 ได้รับเกียรติจาก นายสมพล รัตนาภิบาล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล นายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องจักรกลไทย นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ อุปนายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และดร. ไกรลาศ เขียวทองนักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ และนายดลมนัส กาเจ นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างอ้อย น้ำตาล มันสำปะหลัง รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตรที่ภาคการเกษตรของประเทศไทย ปัญหาหลักของภาคการเกษตรยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีเท่าที่ควร ทำให้ตกอยู่ในภาวะต้นทุนสูง ผลผลิตไม่ได้ตามที่คาดหวัง และมีการใช้แรงงานอย่างมหาศาล ทางแก้ไขที่เป็นกุญแจสำคัญของภาคเกษตรไทยคือการใช้ เครื่องจักรกลการเกษตร ที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับลักษณะพืชแต่ละประเภท สามารถช่วยได้ทั้งปัญหาแรงงาน รวมทั้งปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น

          ในภาคส่วนของตลาดอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย นายสมพล รัตนาภิบาล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เผยถึงการคืบหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเพื่อการส่งออกว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติชาติ ที่ระบุว่าจะมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 8 ล้านตัน และนี่คือโอกาสของประเทศไทยในอนาคต เราจึงพยามยามพัฒนาโมเดลฟาร์มที่สามารถใช้เครื่องตัดอ้อย รถตัดอ้อยได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดแรงงานโดยใช้เวลาเท่ากันแต่ได้ผลผลิตที่มากกว่า สิ่งนี้จะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาเครื่องจักร และเครื่องไม้เครื่องมือให้ทันสมัย การเก็บเกี่ยวในไร่อ้อยยังมีความต้องเครื่องจักรทางการเกษตรอีกมาก รวมถึงเรายังมีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตในการปลูก”

          เช่นเดียวกับตลาดมันสำปะหลัง นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ อุปนายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ได้สนับสนุนถึงความสำคัญของเครื่องจักรการเกษตรว่า “ในการจัดการเพื่อความยั่งยืนในการส่งออกมันสำปะหลัง เราต้องการหาเครื่องจักรมาช่วยเพิ่มในการเก็บเกี่ยวหัวมันแทนแรงงานคน เพื่อช่วยชาวไร่ให้เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น ใช้แรงงานให้น้อยลงและทำงานให้มีประสิทธิภาพ เราต้องส่งเสริมเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ถ้าชาวไร่รวยเมื่อไหร่พวกเราก็สบายด้วย ถ้าชาวไร่ไม่รวยเลิกเพาะปลูกไปก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการขาดแคลนผลผลิต ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ได้ร่วมกันทั้งจากชาวไร่ และเราถ้าเราช่วยชาวไร่ให้ลดต้นทุนได้ เขาก็จะอยู่ดีกินดี และทำการเกษตรต่อ เราก็มีผลพลอยได้คือเราจะมีวัตถุดิบใช้ตลอดไป”

          รวมถึง ดร. ไกรลาศ เขียวทอง นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวถึงการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อเลี้ยงสัตว์และการใช้เครื่องจักรกลภายในฟาร์มว่า “การผลิตหญ้าเนเปียร์ก็มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เช่นเดียวกัน หลักๆ จะเป็นการเพิ่มผลผลิตโดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยใช้เครื่องเก็บเกี่ยวที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย แต่เราพบว่าประสิทธิภาพยังสู้ต่างประเทศไม่ค่อยได้ เครื่องที่เราใช้เก็บเกี่ยวหญ้าเนเปียร์ได้ 1 ชั่วโมงต่อไร่ เครื่องจักรที่ผลิตในไทยจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 3 ตัน ขณะที่ของที่นำเข้าจากเยอรมัน 1 ชั่วโมงต่อไร่เก็บได้ประมาณ 50 ตัน เพราะฉะนั้นบ้านเรายังต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักรให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น”

          สุดท้ายนี้ นายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องจักรกลไทย ได้กล่าวสรุปถึงมุมมองตลาดเครื่องจักรต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตร ที่เน้นย้ำความสำคัญของเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยว่า “พืชหลักๆของประเทศไทยต้องอาศัยเครื่องจักรกลทั้งหมด แต่เรากลับมีการผลิตเครื่องจักรกลไม่มาก เมื่อพิจารณาถึงปัญหาแล้วพบว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เราขาดเครื่องจักรกลพื้นฐานอาทิเครื่องกลึง กัด เจาะ ไส เมื่อเราไม่มีเครื่องจักรกลพื้นฐานก็ทำให้เราด้อยลงในการพัฒนาเครื่องจักรกลอื่นๆ และเครื่องจักรกลที่เป็นหัวใจสำคัญจริงๆ คือเครื่องจักรกลเกษตร และเครื่องจักรแปรรูป เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พัฒนาเรื่องเครื่องจักรกลให้ทันกับสถานการณ์ เราจะไม่สามารถตามประเทศอื่นได้ทัน บริษัทที่ผลิตเครื่องจักรกลเกษตรอย่างคูโบต้า ยันมาร์ จริงๆไม่ได้ผลิตในประเทศไทย แต่เราผลิตชิ้นส่วนให้แบรนด์ของเขาเอง ถ้าถามถึงอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งหมดต้องใช้เครื่องจักรไหมเรามีความจำเป็นในการใช้เครื่องจักรแน่นอน ไม่มีตัวไหนไม่อาศัยเครื่องจักรจุดอ่อนเราอาจบอกได้ว่าเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไม่มากนักเพราะว่าส่วนใหญ่ภาครัฐก็จะมีงานวิจัยมีการพัฒนาในส่วนของวิชาการ ถ้าพูดถึงภาคเอกชนคือต่างคนต่างทำ ในสมาคมเครื่องจักรกลไทย และในอีกหลายๆ สมาคม เราก็พยายามที่จะรวบรวมกลุ่มผู้ผลิตทั้งหลายให้เป็นความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว”

          จากวิสัยทัศน์ของวิทยากรที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เห็นพ้องในเรื่องการใช้เทคโนโลยี และเครื่องจักรสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และแรงงาน อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประเทศไทยเร่งพัฒนาเครื่องจักรกลให้มีคุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ อนึ่งการจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกนี้เป็นการเปิดโอกาสที่ดีให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทย ที่จะได้เรียนรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรทางการเกษตรจากนานาประเทศ มาพัฒนาธุรกิจเกษตรให้ทัดเทียมระดับสากล โดยงาน SIMA ASEAN Thailand 2015 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่17 – 19 กันยายน 2558 ณ อาคาร 1 – 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ คุณอัจจิมา ร้อยศรี โทร 02-833-5347 อีเมล์ ajjimar@impact.co.th หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ www.sima-asean.com

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 8 เมษายน 2558

จับตาภัยแล้งกระทบภาคเกษตร สศก.ระบุ พื้นที่เสียหาย เจาะผลกระทบรายสินค้าเกษตรสำคัญ

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา (นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี) ตั้งแต่ ตุลาคม 57 – 6 มีนาคม 58 พบพื้นที่ประสบภัย 7 หมื่น 5 พันไร่ มูลค่าความเสียหายของสินค้าข้าวกว่า 212 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณผลผลิต 2 หมื่น 5 พันตัน พร้อมแจงสถานการณ์รายสินค้าที่สำคัญเพื่อรับมือ

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมทุกปี โดยมีปริมาณผลกระทบแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละปีมีครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ความเสียหายจากน้ำท่วมเฉลี่ยปีละ 1.33 ล้านครัวเรือน และครัวเรือนที่ ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 2.86 ล้านครัวเรือน พื้นที่ความเสียหายด้านเกษตรจากน้ำท่วมเฉลี่ยปีละ 8.45 ล้านไร่ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 2.74 ล้านไร่มูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วม เฉลี่ยปีละ6,340,16 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 727.04 ล้านบาท

          จากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งจากการประมาณการผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รวบรวมข้อมูลจากจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี) ในช่วงตั้งแต่ตุลาคม 2557 ถึง ณ วันที่ 6 มีนาคม 2558 พบว่า มีพื้นที่ประสบภัย75,706 ไร่ พบมูลค่าความเสียหายของสินค้าข้าว 212.60 ล้านบาท จากพื้นที่เสียหาย 36,930.25 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 25,195.89 ตัน ในการนี้ สศก. ได้สรุปสถานการณ์การผลิตของสินค้าเกษตรสำคัญ พบว่า

          ข้าว ข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2557/58 เนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่แล้วทุกภาคเนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐและราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนดี มีแหล่งรับซื้อแน่นอน เช่น อ้อยโรงงานสำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากการดูแลเอาใจใส่และปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

          ข้าวนาปรัง ปี 2558 เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลงทุกภาคจากปีที่แล้ว เนื่องจากภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อย และไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 จนถึง 30 เมษายน 2558 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลงโดยปล่อยพื้นที่ว่างและบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่า เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน เป็นต้น

          พืชไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว จากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า มันสำปะหลังโรงงาน ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ของปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรปลูกทดแทนพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงานที่รื้อตอทิ้งและพื้นที่ว่างเปล่า ถั่วเหลือง ปีเพาะปลูก 2557/58ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว จากการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการผลิตสูง และขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว ถึงแม้ว่าจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกได้ สับปะรด ปี 2558 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ต้นปี 2557 ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่เคยปลูกสับปะรดแล้วปล่อยว่าง

          ไม้ยืนต้น – ไม้ผล ในปี 2558 เนื้อที่ให้ผลปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่ในภาพรวมลดลงจากปาล์มที่เริ่มให้ผลผลิตยังคงให้ผลทะลายเล็กและน้ำหนักน้อย แต่ผลผลิตในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของเนื้อที่ให้ผล กาแฟผลผลิตลดลงเนื่องจากเนื้อที่ให้ผลกาแฟพันธุ์โรบัสตาในแหล่งผลิตกาแฟทางภาคใต้ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับผลผลิตต่อไร่ลดลงจากแหล่งผลิตกาแฟทางภาคใต้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง อากาศร้อน และแห้งแล้งในช่วงกาแฟออกดอก ส่งผลให้กาแฟติดดอกออกผลไม่ดี

          สำหรับลำไย และลิ้นจี่ ผลผลิตโดยรวมลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติและสูงกว่าปีที่แล้วทำให้ออกดอกติดผลลดลง เงาะและทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นและสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ในขณะที่ มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ถึงแม้ว่าจะมีการลดเนื้อที่บางส่วนไปปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นก็ตาม สำหรับลองกอง ผลผลิตลดลงตามการลดลงของเนื้อที่ให้ผลพืชผัก ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง ส่วนหอมแดงผลผลิตลดลง โดยกระเทียม ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ราคาเกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรเก็บพันธุ์เพื่อเตรียมขยายเนื้อที่เพาะปลูกมากขึ้น หอมหัวใหญ่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีที่แล้วมีฝนตกหนักในช่วงเพาะกล้า ทำให้ต้นกล้าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้ต้นกล้าเพียงพอสำหรับการขยายพื้นที่เพาะปลูก จากการที่เกษตรพัฒนาวิธีการปลูกโดยการยกร่องแปลงให้สูงขึ้น คลุมพลาสติกป้องกันฝน มันฝรั่ง ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้วราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีและมีสภาพอากาศหนาวเย็นติดต่อกันยาวนาน ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนสูง จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในปี 2558 สำหรับหอมแดง ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง และราคาที่เกษตรกรขายได้ไม่จูงใจ จึงทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นและมีแหล่งรับซื้อแน่นอน

          ปศุสัตว์ ปี 2558 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นโคเนื้อ และโคนม สำหรับโคเนื้อ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งราคาโคเนื้อยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้เกษตรกรขายโคเนื้อออกทั้งโคเพศผู้และเมีย ทำให้ขาดแคลนแม่โค วัยเจริญพันธุ์ที่จะนำมาขยายพันธุ์ต่อ ส่วนปริมาณการผลิตน้ำนมดิบลดลง จากจำนวนแม่โครีดนมลดลง ในขณะที่ปริมาณการผลิตไก่เนื้อและสุกรเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ประมง ปี 2558 ปริมาณการผลิตปลานิลและปลาดุกคาดว่าลดลง จากภัยแล้งปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ในขณะที่กุ้งขาวแวนนาไม ปริมาณการผลิตคาดว่าเพิ่มขึ้น จากราคาที่จูงใจ การจัดการโรคระบาด EMS ได้ดีขึ้น รวมทั้งภาครัฐได้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ดี ปลอดโรคจากอเมริกา เพื่อผลิตลูกกุ้งจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ส่วนปริมาณการผลิตกุ้งกุลาดำ คาดว่าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากความต้องการของตลาดส่งออกและราคาที่จูงใจ ให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะเลี้ยง

          อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรจากปรากฏการณ์เอลนีโน ขึ้นอยู่กับความหนักเบาในแต่ละปี ปริมาณน้ำในเขื่อนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้หากเจอภัยแล้งดังกล่าว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อม ลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย รวมทั้ง เกิดความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งควรดำเนินการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเร่งดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อย มีความต้านทานต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ต้านทานโรคและแมลง ทนแล้ง ทนน้ำท่วมขัง

          นอกจากนี้ ยังต้องบริหารจัดการน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาและระบบ ชลประทานขนาดเล็กให้เพียงพอต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนการทำฝนเทียม ซึ่งแก้ไขปัญหาในการขาดแคลนน้ำจืดที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยส่วนใหญ่แล้วมักใช้ในพื้นที่ฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและพื้นที่สำคัญในการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจ

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 8 เมษายน 2558

เปิดตัว7แอพด้านการเกษตรดาวน์โหลดใช้ฟรีทั้งiOS- Android

นายวิมล จันทรโรทัย โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและเกษตรกรในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ผ่านเครื่องมือสื่อสาร 7 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ 1.“ฝนหลวง” Fonluang โดยนำข้อมูลด้านฝนหลวงมาแสดง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะ “พระบิดาฝนหลวง” 2.Q Restaurant เพื่อประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ วัตถุดิบหรือสินค้าที่ผ่านมาตรฐานจากแปลง GAP รวมทั้งวัตถุดิบที่ปลอดภัย 3.ProtectPlants ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพืชและศัตรูพืช พร้อมทั้งมีฟังก์ชั่นเด่นที่คอยติดตามการระบาดศัตรูพืช เพื่อให้เกษตรกรป้องกันได้ทันท่วงที ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นหลัก 6 หมวด ได้แก่ ข่าวสาร องค์ความรู้ด้านอารักขาพืช วินิจฉัยศัตรูพืชเบื้องต้น วินิจฉัยตามชนิดพืช พยากรณ์เตือนการระบาด พยากรณ์สภาพอากาศ

4.DOAESmartCheck ใช้ตรวจสอบติดตามสถานะผลการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร และการเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของรัฐตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรนำไปตรวจสอบสิทธิและรับรองสิทธิ์ 5.ปุ๋ยรายแปลง โปรแกรมคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง 6.WMSC จัดเก็บรวบรวมข้อมูลและนำเสนอข้อมูลข่าวสารในการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลปริมาณน้ำท่า ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำ คลองชลประทานต่างๆ เป็นต้น และ 7.Feed โปรแกรมประยุกต์การคำนวณปริมาณการให้อาหารกุ้งขาว เป็นเครื่องมือเกษตรกรยุคใหม่ : Smart tools for smart farmer จะช่วยให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาในการเลี้ยงกุ้งและมีผลผลิตเพิ่มขึ้น และเกษตรกรจำนวนมากมีความต้องการใช้ เครื่องมือใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาการเลี้ยงกุ้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโปรแกรมที่ช่วยในการให้อาหารอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปโหลดแอพพลิเคชั่นโดยใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ได้ที่ http://www.moac.go.th/ewt_news.php?nid=14725

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 8 เมษายน 2558

'ณรงค์ชัย'แนะเร่งแก้ไขกฎระเบียบการค้าให้เสร็จ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แนะเร่งแก้ไขกฎระเบียบเอื้อการค้าการลงทุน ให้ได้ในรัฐบาลชุดนี้

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเสวนาหัวข้อ "ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Trading Nation" ว่า การที่ไทยมีการทำ FTA กับนานาประเทศ แสดงในเห็นว่าไทยต้องการทำการค้าที่มีความเสรีมากขึ้น แต่กฎหมายการลงทุนของไทยยังไม่มีการเข้าไปแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการค้าการลงทุนอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของไทยอยู่ที่การจัดระเบียบภายในประเทศ ทั้งในเรื่องทางอากาศที่กรมการบินพลเรือนของไทยไม่ผ่านมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ หรือ ICAO ทำให้เกิดการยกเลิกเที่ยวบินจากไทยไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ไทยยังมีเรื่องสิทธิมนุษยธรรมที่ไทยถูกจัดอันดับที่ 3 เรื่องปัญหาค้ามนุษย์ รวมทั้งเรื่องการค้าของป่า สัตว์สงวน ดังนั้น จึงเป็นคำถามว่าไทยจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าวหรือไม่

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 8 เมษายน 2558

อุตฯตั้งเป้านำขยะอันตรายเข้าระบบเพิ่มขึ้น1.5ล้านตัน

กระทรวงอุตสาหกรรม ศึกษาการจัดการกากฯ จ่อพัฒนาระบบ GPS ตั้งเป้านำขยะอันตรายเข้าระบบเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านตัน

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารศึกษาการบริหารจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรม รวมถึงวิธีติดตามการขนส่งผ่านเอกสารกับของเสีย และการติดตั้งระบบติดตามยานพาหนะโดยใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาณดาวเทียม (GPS ) ที่ Chemical Waste Tratment Centre (CWTC) ณ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ว่า จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการจัดการขยะให้เป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งดำเนินการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตัน แต่มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1.03 ล้านตันเท่านั้น

และในปี 2558 นี้ ได้ตั้งเป้านำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้นเป็น 1.5 ล้านตัน พร้อมจะมีการบังคับใช้กฎหมายการติดตามระบบขนกากอุตสาหกรรมอันตรายโดยติดตั้งระบบ (GPS) เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการขนส่งกากอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท ในการติดตั้งอุปกรณ์ในรถบรรทุกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 3,400 คัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพรองรับฐานข้อมูลที่จะเกิดขึ้น 

นอกจากนี้ ได้เสนอแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2558 - 2662 เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยตั้งเป้าในปี 2562 จะนำโรงงานเข้าสู่ระบบให้ได้กว่า ร้อยละ 90

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2558

หอการค้าเตรียมหารือความคืบหน้าการจัดโซนนิ่งพืชเกษตร

หอการค้าไทยเตรียมหารือความคืบหน้าการจัดโซนนิ่งพืชเกษตร กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พร้อมหารือให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมตรี ในวันที่ 9 เมษายนนี้ สภาหอการค้าจะหารือถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดโซนนิ่งพืชเกษตรโดยเฉพาะการส่งเสริมนาข้าวมาปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยเห็นชอบที่จะชดเชยค่าล้มคันนาเพื่อการส่งเสริมหันมาปลูกพืชอื่น ไร่ละ 1,000 บาท แต่เงินดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้โรงงานน้ำตาลเองยังไม่สามารถส่งเสริมการปลูกอ้อยในส่วนนี้ได้

นอกจากนี้จะหารือถึงนโยบายรัฐบาลที่ได้ส่งเสริมให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดน เพื่อนำไม้ยางพารามาสร้างมูลค่าเพิ่มซึ่งเอกชนมีความพร้อมที่จะลงทุนอยู่แล้วประมาณ 4-5 ราย กำลังการผลิตรายละไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ปรากฏว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ระงับการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนส่วนนี้ทำให้ภาคเอกชนเห็นว่าหากจะมีการส่งเสริมก็ควรจะรับซื้อไฟตามเดิม

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2558

เลิกใช้สารพิษ ในการเกษตร

คอลัมน์ CSR talk โดย มนตรี บุญจรัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

สถานการณ์ทางด้านการเกษตรในช่วงที่ผ่านมา มีเข้ามาหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งโอกาส และอุปสรรค จนทำให้พี่น้องเกษตรกรต้องจับตาเฝ้าระวังหาแนวทาง รวมถึงหาทางหนีทีไล่เอาไว้ให้ดี ๆ

โดยเฉพาะในเรื่องของการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต เพราะแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรไทย คาดว่าอาจจะยังเผชิญแรงกดดันด้านราคาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าว และยางพารา ที่ผันแปรตามทิศทางของภาวะตลาดโลก ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรเร่งยกระดับภาคเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นไปยังต้นน้ำผู้ผลิต หรือเกษตรกรให้แข็งแรง ที่สำคัญควรต้องปลอดภัยไร้สารพิษ เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

จากการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างแรงงานเถื่อน แรงงานทาส แรงงานเด็ก โดยประเทศไทยถูกจัดอันดับการตอบสนองต่อปัญหาการค้ามนุษย์ จากระดับเทียร์ 2 เป็น เทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด จนทำให้ภาพลักษณ์ของผู้บริโภคอาหารจากภาคการเกษตรของไทยไม่ค่อยสดใสนัก

เพราะคนจะปฏิเสธถึงที่มาที่ไปว่าเป็นสินค้าที่มีการใช้แรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง (ต้มยำกุ้ง) ที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักกันดี

ส่วนทางยุโรปมีการตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากรหรือ จีเอสพี ทำให้เมื่อส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มยุโรป จะทำให้มีต้นทุนทางภาษีเพิ่มมากกว่าประเทศคู่แข่งที่ได้รับโอกาสทางภาษี ทำให้เราไม่สามารถลงสนามแข่งขันได้เต็มที่ จำเป็นต้องมองหาลู่ทางหรือตลาดใหม่มารองรับ แต่ก็ค่อนข้างยากอยู่พอสมควร ไม่ว่าจากทางตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ จีน อินเดีย ซึ่งก็คงจะต้องพยายามกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง เช่น หลังจากประเทศรัสเซีย มีปัญหากับสหรัฐอเมริกา และยุโรป ก็มีการยกเลิกการนำเข้าสินค้าภาคการเกษตรหลายรายการ และหันมาให้ความสนใจในโซนเอเชียอย่างเรา ซึ่งได้มีการมาสำรวจตรวจตราทั้งโรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายรอบ

ล่าสุดได้เชิญเจ้าหน้าที่ไทยไปปรึกษาหารือกัน และแน่ชัดแล้วว่าทั้ง กุ้ง ไก่ ปลา ข้าว และผลิตผลภาคการเกษตรอื่น ๆ จะต้องนำเข้าจากไทยอย่างแน่นอน และอีกข่าวดีก็คือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งถือเป็นเพื่อนบ้านชาวอาเซียนของเรา ที่กำลังมีปัญหากับจีนในเรื่องของเกาะแก่งและทรัพยากรธรรมชาติรอบ ๆ เกาะ จนถึงขั้นยกเลิกการนำเข้าผักและผลไม้จากจีน ต่างหันมานำเข้าจากไทยแทน ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสดี ๆ ที่มาเยือนประเทศไทย

ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรควรจะต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย นั่นคือการพัฒนาคุณภาพสินค้าภาคการเกษตรให้มีศักยภาพทัดเทียม เพื่อให้สมศักดิ์ศรีต่อการเป็นผู้นำด้านผลิตผลภาคการเกษตรหลากหลายชนิด รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ไปถึงมือผู้บริโภคในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

ที่สำคัญควรจะต้องปลอดภัยไร้สารพิษ

ก่อนอื่นเกษตรกรควรจะต้อง ลด ละ เลี่ยง เลิก การใช้สารพิษในการเกษตร แล้วหันมาใช้พืชสมุนไพรและจุลินทรีย์ชีวภาพเข้ามาช่วยเหลือบริหารจัดการผลิตผลของตัวเอง ทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย เช่น การหมักสมุนไพรไล่แมลงจาก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน ไพล กานพลู เมล็ดสะเดา หางไหล หนอนตายอยาก การใช้พริกแกงป่า พริกแกงส้ม การทำจุลินทรีย์ ขี้ควาย จุลินทรีย์ หน่อกล้วย ฮอร์โมนไข่ อื่น ๆ อีกมากมาย

ที่ล้วนแต่เป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษทิ้งเอาไว้ให้สืบสานกันมา หรือหากสนใจวิธีการในเชิงลึก ผู้อ่านสามารถรับฟังข้อมูลข่าวสารทางสถานีวิทยุ มก.บางเขน AM 1107 (ภาคกลาง) สถานีวิทยุ มก.แขนแก่น (ภาคอีสาน) AM 1314 สถานีวิทยุ มก.เชียงใหม่ AM 612 (ภาคเหนือ) และสถานีวิทยุ มก.สงขลา AM 1269 Z (ภาคใต้) และทางเว็บไซต์ www.thaigreen agro.com

หรือจะโทร.มาขอคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02-986-1680-2

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 7 เมษายน 2558

ตั้งเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศรับมือวิกฤติสิ่งแวดล้อมในอนาคต

Mobile Applications ที่ถูกพัฒนาขึ้นมีทั้งหมด 12 โปรแกรม แย่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านทรัพยากรน้ำ

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พัฒนา Mobile Applications เพื่อเพิ่มศักยภาพและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านเครื่องมือสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์

โดย Mobile Applications ที่ถูกพัฒนาขึ้นมีทั้งหมด 12 โปรแกรม แย่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านทรัพยากรน้ำ เช่น iForest สำหรับแสดงแนวเขตพื้นที่และข้อมูลป่าสงวนแห่งชาติ Cites สำหรับการตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาตการค้าสัตว์ป่า DMCR เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ประจำวันด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งรับแจ้งเหตุ เบาะแส และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน Air4thai ให้บริการข้อมูลคุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วประเทศไทยเพื่อให้ประชาชนได้ทราบ Green Society แนะนำสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม SmartEIA ให้บริการสืบค้นข้อมูลโครงการที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับประชาชนและหน่วยงานที่สนใจ

ด้าน นางสาวภาวิณี ปุณณกันต์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) เปิดเผยว่า เพื่อให้แนวนโยบายดังกล่าวเกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติมากขึ้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงจัดการประชุมสัมมนาหัวข้อ “สารสนเทศก้าวไกล สิ่งแวดล้อมก้าวหน้า” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม โดยมี นายสุพจน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ สถานการณ์ความสำคัญของข้อมูลสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาประเทศด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2558

อ้อยฝ่าแล้งปิดหีบ103ล้านตัน

เซ็งน้ำตาลโลกซื้อขายต่ำสุดรอบ6ปีลุ้นบราซิลดันขั้นปลายพ้น70บ./ตัน

นายพิชัย  ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิต 2557/2558 จะอยู่ระดับ 103 ล้านตันกว่าๆ มากกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะอยู่ที่ 102.8 ล้านตัน ทั้งที่เผชิญสภาพอากาศร้อยแล้งอย่างมาก โดยช่วงเวลาปิดหีบคือตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานทั้งหมดน่าจะเป็นช่วงหลังสงกรานต์ไปแล้ว เพราะพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงหนือยังมีรายย่อยจำนวนหนึ่งที่ปริมาณอ้อยยังเหลืออยู่ ขณะที่ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทรายปิดหีบแล้ว 18  โรง

แหล่งข่ายจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า แม้ว่าปริมาณหีบอ้อยฤดูผลิตนี้จะได้มากกว่าเป้าหมาย แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยกำลังเผชิญปัญหาราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำอย่างหนัก ล่าสุดราคาซื้อขายล่วงหน้าลดเหลือ 12 เซ็นต์/ปอนด์ ต่ำสุดในรอบ 5-6 ปี ทำให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ที่ทำหน้าที่ขายน้ำตาลทรายโควตา ข. (ส่งออก) ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จากปัจจุบันทำราคาขายแล้วคิดเป็น 50%  จากน้ำตาลทั้งหมด 8 ล้านกระสอบ ราคาเฉลี่ย 15.8 เซ็นต์/ปอนด์ อย่างไรก็ตามยังมีเวลาขายน้ำตาลถึงช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ จึงต้องลุ้นว่าราคาตลาดโลกจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ เพราะหากไม่ดีขึ้นจะกระทบต่อการกำหนดราคาอ้อยขั้นปลายของฤดูผลิตนี้แน่นอน

“ราคาขั้นต้นของอ้อยฤดูผลิตนี้ประกาศอยู่ที่ 900 บาท/ตัน หากราคาน้ำตาลทรายส่งออกในตลาดโลกตกต่อระดับ 13-15 เซ็นต์/ปอนด์ จะทำให้การกำหนดราคาอ้อยขั้นปลายอาจเหลือเพียง 700-800 บาท/ตันอ้อย กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายหรือกท.ต้องหาเงินมาชดเชยให้ชาวไร่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ประเด็นนี้ กท.ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหนมาจ่าย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า คาดว่าราคาน้ำตาลทรายที่แตะระดับ 12 เซ็นต์/ปอนด์ จะต่ำสุดแล้ว เพราะปัจจุบันผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกคือบราซิล กำลังประสบปัญหาค่าเงินอ่อนค่าลง 50% ทำให้การนำเข้าพลังงานอาทิ น้ำมัน มีราคาสูงมากจึงใช้น้ำตาลทรายในประเทศผลิตเอทานอบเพื่อเป็นพลังงานทดแล้วเพิ่มขึ้น ทำให้เชื่อว่าปริมาณน้ำตาลทรายที่ส่งออกสู่ตลาดโลกประมาณ 30 ล้านตัน จะลดลง ราคาภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับการจัดการดินทรายและดินตื้น (2)

ดินที่พบในประเทศไทยมีด้วยกันหลายชนิด โดยมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ วัตถุต้นกำเนิด สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และพืชพรรณ ซึ่งอีกปัญหาหนึ่งที่พบตามมาก็คือ ปัญหาดินเสื่อมโทรมที่สร้างความทุกข์ใจให้กับพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก ถ้าจะให้ขยายความดินเสื่อมโทรม หมายถึง ดินที่อยู่ในสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรเนื่องจากคุณสมบัติต่างๆของดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น สมบัติทางเคมีของดินมีสภาพเป็นกรดจัดเค็มจัด ทางด้านกายภาพของดินสูญเสียโครงสร้าง ทำให้เกิดการอัดตัวแน่น ขาดความโป่งพรุน และดินอยู่ในสภาวะไม่สมดุล อย่างปัญหาดินตื้น ซึ่งดินตื้น คือ ดินที่มีชั้นลูกรังก้อนกรวด เศษหิน ปะปนอยู่ในเนื้อดินเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 35 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการไซชอนของรากพืช การไถพรวน ทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตที่ต่ำ โดยดินตื้นพบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 46,090,109 ไร่

โดย กรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้ข้อมูลถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ดังนี้ 1.เกษตรกรควรเลือกพื้นที่ทำการเกษตรที่มีหน้าดินไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร และไม่มีก้อนกรวดหรือลูกรังกระจัดกระจายอยู่ที่ผิวดิน ควรปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว อาทิ กระถินณรงค์ กระถินยักษ์ ขี้เหล็กบ้าน สะเดา ยูคาลิปตัส หรือทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีการปลูกหญ้าผสมถั่ว 2.เลือกชนิดพืชปลูกและมีการจัดการที่เหมาะสม หากเป็นพืชไร่ ควรปลูกพืชทนแล้ง หรือปลูกแบบผสมผสาน ส่วนการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ควรมีการจัดการเฉพาะหลุม โดยขุดหลุมให้กว้างประมาณ 75x75x75 เซนติเมตร มีการผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุม หรือใช้ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูกร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์น้ำและผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.3 และพด.7 3.ควรไถพรวนดินให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน 4.เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ 5.จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก และมีการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ให้น้ำแบบหยด และใช้วัสดุคลุมดินเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและเก็บรักษาความชื้นในดิน 6.พื้นที่ที่มีความลาดชันควรมีการอนุรักษ์ดินและน้ำร่วมด้วย อาทิ การปลูกพืชคลุมดิน อย่างหญ้ารูซี่ กระถิน ถั่วฮามาต้า ถั่วมะแฮะ แคฝรั่ง และหญ้าแฝก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 เมษายน 2558

ศก.โลกชะลอตัวพาณิชย์เร่งหาตลาดใหม่ จับมือเอกชนรื้อแผนส่งออก               

 “ฉัตรชัย” รมว.พาณิชย์ เตรียมเชิญภาคเอกชนเข้าหารือ เพื่อปรับกลยุทธ์ฟื้นการส่งออก ขอให้เครือข่ายรายใหญ่ช่วยเอสเอ็มอีขยายตลาดต่างประเทศ กรมพัฒน์ติวเข้มผู้ประกอบการ อี-คอมเมิร์ซไทยปิดจุดอ่อน-ขยายจุดแข็งรายเว็บไซต์ เพิ่มศักยภาพธุรกิจให้เข้มแข็ง

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เตรียมเชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และผู้ส่งออกรายใหญ่ เป็นต้น หารือในการปรับแผนเพื่อฟื้นการส่งออกไทยร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในช่วงที่เหลือของปี หรือไตรมาสที่ 2-4 หลังจากผู้ส่งออกประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้การส่งออกไทยใน 2 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ตัวเลขลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.82% หรือมีมูลค่า 34,478 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องของค่าเงินจากปัจจุบันที่มีความผันผวนมากจนผู้ประกอบการไม่สามารถวางแผนในระยะยาวได้ รวมถึงให้ภาครัฐช่วยลดปัญหาข้อกีดกันทางการค้าอื่นๆ ของประเทศผู้นำเข้าสินค้า, การร่วมกันทำกิจกรรมทางตลาดร่วมกันให้มากขึ้น, การพัฒนานวัตกรรมสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการร่วมกันเปิดตลาดสินค้าใหม่หรือการเจาะกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเดิมที่พบว่าสินค้าไทยสามารถที่จะนำเข้าไปจำหน่ายได้อีกมาก โดยเฉพาะในตลาดจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และยุโรป เป็นต้น

ขณะเดียวกันภาครัฐก็จำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยทำตลาดสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะรายใหญ่จะมีเครือข่ายในต่างประเทศมาก ดังนั้นหากรายใหญ่มาช่วยเป็นแขนเป็นขาในการขับเคลื่อนการส่งออกก็จะช่วยยอดการส่งออกภาพรวมของไทยได้อีกมาก

“ในตลาดอินเดียพบว่ามีกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง 300-400 ล้านคน หากดึงคนกลุ่มนี้มาซื้อสินค้าไทยให้ได้สัก 10% ก็จะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย หรือประเทศจีน ที่ปัจจุบันพบว่ามีเมืองต่างๆ ที่สินค้าไทยยังเข้าถึงได้ไม่มากแต่พบว่าผู้บริโภคสนใจสินค้าไทยมาก และตลาดญี่ปุ่นที่ต้องเน้นสินค้าผู้สูงอายุเพราะคนกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและมีกำลังซื้อสูงด้วย ซึ่งแผนที่ดำเนินการภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันศึกษารายละเอียดในการผลักดันสินค้า เหล่านี้”

นางดวงกมลกล่าวว่า เร็วๆ นี้ รมว.พาณิชย์มีแผนที่จะเดินทางไปโรดโชว์ในประเทศเวียดนาม เพื่อเจรจาด้านการค้าและหารือร่วมกันในการพัฒนาข้าวทั้งด้านการเพิ่มมูลค่า, ด้านการตลาดและเรื่องสถานการณ์ราคาข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการโรดโชว์ในประเทศแอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นต้น

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะส่งเสริมการระบายส่งออกผลไม้ไทยผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยขณะนี้กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงจากยุโรปนิยมสั่งซื้อผลไม้โดยตรงจากสวนของเกษตรกร หรือตัวแทนจำหน่ายในไทย เนื่องจากการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ ลูกค้าสามารถรับผลไม้สดจากไร่ได้ทันที ในเวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่งทำให้ลูกค้าจากต่างประเทศพอใจ เพราะจะได้ผลไม้ที่สดและรสชาติยังคงเดิม โดยผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ มะม่วง, ส้มโอ, มะขามหวาน, สับปะรดภูแล และลิ้นจี่ห่อ เป็นต้น อีกทั้งลูกค้ายังมีความต้องการสั่งซื้อมะพร้าวผ่านระบบออนไลน์ด้วย แต่พบว่า ยังมีอุปสรรคในการขนส่งอยู่ เนื่องจากมะพร้าวมีน้ำหนักมาก การขนส่งผ่านเครื่องบินยังไม่คุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการสั่งซื้อผลไม้ผ่านระบบออนไลน์ ยังไม่นิยมในกลุ่มคนเอเชียมากนัก กลุ่มนี้ยังนิยมซื้อผลไม้ไทยตามห้างสรรพสินค้า เพราะสินค้าที่ขนส่งไปยังประเทศแถบเอเชียใช้เวลาไม่มาก ทำให้สินค้ายังพอมีความสดอยู่บ้าง

นายวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดโครงการ “พัฒนาร้านค้าออนไลน์ไทยสู่สากล” โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ เช่น ด้านการพัฒนาเว็บไซต์ ด้านการบริหารจัดการ และด้านการตลาด ฯลฯ มาทำการวิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึกให้แก่ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซของไทยที่เข้าร่วมโครงการ เป็นรายเว็บไซต์ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงปฏิบัติการ “ปิดจุดอ่อน-ขยายจุดแข็ง” แต่ละร้านค้าออนไลน์ กว่า 100 เว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงพัฒนาร้านค้าออนไลน์ให้สอดคล้องกับรูปแบบของร้านค้าออนไลน์ในระดับสากล นอกจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้มีความเข้มแข็งแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการฯ เข้าใจสภาพตลาดอี-คอมเมิร์ซทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างลึกซึ้ง

นอกจากนี้ ยังได้เฟ้นหาร้านค้าออนไลน์ต้นแบบที่มีศักยภาพสูงสุดจากผู้เข้าร่วมโครงการ อย่างน้อย 15 เว็บไซต์ เพื่อพัฒนาต่อยอดและผลักดันให้ขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ปัจจุบันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยมีมูลค่ากว่า 768,014 ล้านบาท และคาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า และยังมีโอกาสที่จะเติบโตสู่ตลาดสากล ทั้งในระดับอาเซียนและตลาดต่างประเทศอื่นๆ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซเข้าร่วมโครงการฟรี สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน 1570 หรือที่ e-mail : e-commerce@dbd.go.th

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 เมษายน 2558

พลังงานจ่อหั่นเป้าใช้เอทานอลหลังน้ำมันดิ่งส่งเสริมฯแก๊สโซฮอล์ยากขึ้น

กระทรวงพลังงานเตรียมทบทวนเป้าหมายการใช้เอทานอล 9 ล้านลิตรต่อวันปี 2564 ใหม่หลังพบสูงเกินไป ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันโลกตกต่ำดันให้ราคาเอทานอลแพงกว่าเนื้อเบนซินการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์โดยเฉพาะ E 85 จะยากขึ้นเหตุต้องใช้เงินอุดหนุนสูง ด้านผู้ค้ายอมรับว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่ง่ายแต่ก็ทำได้หากรัฐกำหนดนโยบายส่งเสริมให้ชัดเจน มองปีนี้การใช้อยู่ที่ 4-4.2 ล้านลิตรต่อวัน

               แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานได้สั่งให้มีการปรับทบทวนเป้าหมายการใช้เอทานอลที่จะเพิ่มเป็น 9 ล้านลิตรต่อวันในปี 2564 จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 3.4 ล้านลิตรต่อวันว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่โดยหลายฝ่ายมองว่าหากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่คงระดับต่ำส่งผลให้ราคาเอทานอลสูงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซิน จะมีผลให้การส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ E85 มีปัญหาได้เนื่องจากจะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาที่เพิ่มขึ้น

               “จากการหารือกันเบื้องต้นยอมรับว่าเป้าหมายดังกล่าวสูงเกินไปและไม่มีที่มาที่ไปที่ชัดเจนทำให้ต้องทบทวนตัวเลขใหม่เพื่อความมั่นใจอีกครั้งโดยเฉพาะเป้าหมายระยะสั้นช่วง 1-2ปีนี้ข้อเท็จจริงแล้วการส่งเสริมการใช้เอทานอลจะสามารถดันยอดการใช้ได้ระดับใดแน่ซึ่งแม้แต่การยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 หรือ 95 ให้เหลือชนิดใดชนิดหนึ่งก็ไม่น่าจะทำให้การใช้เพิ่มขึ้นมากได้”แหล่งข่าวกล่าว

               นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ปี 2558 คาดว่าการใช้เอทานอลจะอยู่ประมาณ4- 4.2 ล้านลิตรต่อวันจากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4 ล้านลิตรต่อวันซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามยอดการใช้น้ำมันที่ภาพรวมจะขยับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับราคาจำหน่ายน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามทิศทางตลาดโลกและการปรับโครงสร้างราคาของรัฐบาลแต่เป้าหมายจะไปถึง 9 ล้านลิตรต่อวันในปี 2564 นั้นยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักแต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่นโยบายรัฐเป็นสำคัญในการกำหนด

               “ยอมรับว่าเป้าหมาย 9 ล้านลิตรต่อวันสูงมาก แต่ก็ไม่ได้ว่าจะเป็นไปไม่ได้อยู่ที่นโยบายรัฐจะกำหนดให้ชัดเจนว่าจะใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อะไรเป็นน้ำมันพื้นฐาน และสิ่งสำคัญอยากให้มองว่าเอทานอลผลิตจากพืชเกษตรทั้งอ้อยและมันสำปะหลังสิ่งเหล่านี้ก็จะตกอยู่กับประเทศและเกษตรกรไทยด้วย”นายสิริวุทธิ์กล่าว

               สำหรับกำลังการผลิตเอทานอลปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวันจาก 4.6 ล้านลิตรต่อวันเนื่องจากมีโรงงานเกิดใหม่ 2 แห่งซึ่งใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบซึ่งยอมรับว่าสัดส่วนการผลิตยังคงเกินความต้องการ ขณะที่การส่งออกขณะนี้แทบจะดำเนินการไม่ได้เนื่องจากราคาเอทานอลตลาดโลกตกต่ำ โดยปัจจุบันราคาเอทานอลในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร

               “ราคาเอทานอลในไทยสูงกว่าตลาดโลกแต่หากไทยจะนำเข้าเอทานอลมาก็ไม่ได้เพราะมาตรฐานหรือสเปคน้ำมันต่างกันโดยสเปคของไทยนั้นมีค่าความบริสุทธ์สูงกว่าต่างประเทศหากเรานำเข้ามาจะต้องมาปรับใหม่ที่ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกราคาก็จะไม่ต่างกับไทยแต่สิ่งสำคัญคือการนำเข้าเท่ากับไปจ่ายเงินช่วยเกษตรกรต่างประเทศก็จะตอบสังคมได้ยาก”นายสิริวุทธิ์กล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2558

“น้ำตาลบุรีรัมย์” รุกพลังงานคาดรายได้ปีนี้พุ่ง4.3 พันล้าน

“น้ำตาลบุรีรัมย์” รุกพลังงานคาดรายได้ปีนี้พุ่ง4.3 พันล้าน พร้อมเดินหน้าตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3 กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งโรงงานเอทานอล 1.5 แสนลิตรต่อวัน คาดภายใน 3 ปีรายได้จากพลังงานเกิน 50%

นายอนันต์  ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมขยายการลงทุน  ทั้งในธุรกิจน้ำตาลและพลังงาน โดยในธุรกิจน้ำตาลมีแผนที่จะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 2.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน จาก 1.7 หมื่นตันอ้อยต่อวันและกำลังหีบอ้อยประมาณ 2.2 ล้านตัน โดยใช้งบลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท

ในส่วนของธุรกิจพลังงานนั้นบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3 จะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทฯ 250 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายไปสู่ธุรกิจการผลิตเอทานอลโดยได้หารือกับผู้ร่วมลงทุน 2 รายในการก่อสร้างโรงงานเอทานอลกำลังการผลิต 1.5 แสนลิตรต่อวัน และในโครงการนี้จะมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงไบโอแก๊สที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอลมีกำลังผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500-600 ล้านบาท

“หลังจากก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 3 และโรงงานผลิตเอทานอลแล้วเสร็จ บริษัทฯจะมีรายได้จากธุรกิจพลังงานมีสัดส่วนกว่า 50 % ของรายได้รวมทั้งหมด เพิ่มจากในปี 2558 ที่มีสัดส่วน 30%  เนื่องจากตลาดมีความต้องการพลังงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งการผลิตไฟฟ้าหรือเอทานอลแทบจะไม่ต้องเสียเงินในการซื้อวัตถุดิบ”

สำหรับในปี 2558 คาดว่ารายได้รวมของบริษัทฯในเครือของน้ำตาลบุรีรัมย์ทั้งหมด จะไม่ต่ำกว่า 4.3 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท สุงกว่าปี 2557 ที่มีรายได้รวม 3,980 ล้านบาท เนื่องจากมีการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทราย และมีรายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 2 เข้ามาเพิ่ม

ส่วนแผนในอนาคตบริษัทฯ ก็ได้เริ่มมองแนวทางในการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลในประเทศเพื่อนบ้าน โดยพิจารณาดูว่าน่าจะเป็นประเทศลาว หรือกัมพูชาเนื่องจากพื้นที่ในประเทศไทยมีจำกัดขยายพื้นที่เพาะปลูกได้น้อย

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 7 เมษายน 2558

รายงานพิเศษ : ภัยแล้งรุนแรงกระทบพื้นที่เกษตรกว่า75,000ไร่

สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มาเร็วและได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรรวมกว่า 75,000 ไร่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งหามาตรการรับมือ ป้องกันผลกระทบในระยะยาว

นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเฉลี่ยปีละ 2.74 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายปีละประมาณ 727.04 ล้านบาท สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ ทาง สศก.ได้ติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2558 พบว่า มีพื้นที่ประสบภัยรวม75,706 ไร่ มูลค่าความเสียหายโดยเฉพาะสินค้าข้าว  212.60  ล้านบาท  จากพื้นที่เสียหาย  36,930.25  ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต  25,195.89 ตัน

ทั้งนี้ จากนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ออกประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลง โดยปล่อยพื้นที่ว่างหรือบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ส่งผลให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน่าจะมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา

ส่วนด้านไม้ผล อย่างลำไยและลิ้นจี่ ผลผลิตโดยรวมลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติและสูงกว่าปีที่แล้ว ทำให้ออกดอกติดผลลดลง เช่นเดียวกับกาแฟ พันธุ์โรบัสตาในแหล่งผลิตภาคใต้ผลผลิตต่อไร่ลดลงเนื่องจากปัญหาฝนทิ้งช่วง อากาศร้อน แห้งแล้งในช่วงกาแฟออกดอก ส่งผลให้กาแฟติดดอกออกผลไม่ดี ขณะที่ด้านประมง ปริมาณการผลิตปลานิลและปลาดุกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอเป็นผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ขึ้นอยู่กับความหนักเบาในแต่ละปี ปริมาณน้ำในเขื่อนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้หากเจอภัยแล้งดังกล่าว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อม ลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย รวมทั้ง เกิดความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งควรดำเนินการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเร่งดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อย มีความต้านทานต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ต้านทานโรคและแมลง ทนแล้ง รวมถึงทนน้ำท่วมขัง

นอกจากนี้ ยังต้องบริหารจัดการน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาและระบบชลประทานขนาดเล็กให้เพียงพอต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมตลอดจนการทำฝนเทียม ซึ่งแก้ไขปัญหาในการขาดแคลนน้ำจืดที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยส่วนใหญ่แล้วมักใช้ในพื้นที่ฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและพื้นที่สำคัญในการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจ

นายเลอศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สศก.ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการศึกษาข้อกฎหมาย ที่จะดึงโครงการชลประทานขนาดเล็ก ที่เป็นภารกิจถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนไม่ต่ำกว่า 6,000 โครงการ ซึ่งหลายแห่งยังขาดการนำมาใช้ประโยชน์ ให้นำกลับมาเป็นโครงการของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานใช้สนับสนุนเพื่อการเกษตร ตลอดจนเพื่อการอุปโภค บริโภค ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนนอกเขตชลประทานต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

ตั้งทีมสกัดการลอบส่งออกน้ำตาลป้องกันอุบัติเหตุขนส่งทางน้ำดัน “เลขาฯกอน.”นั่งประธาน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายไทยได้ให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำตาลทรายทางน้ำ เนื่องจากคลังสินค้าที่จัดเก็บน้ำตาลทรายหลายแห่งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาและมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้าทางเรือ

ดังนั้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดย บริษัทอ้อยน้ำตาลไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และภาครัฐ ถือหุ้นและร่วมบริหารงานได้จัดตั้ง “คณะทำงานป้องกันและปราบปรามน้ำตาลสูญหาย การลักลอบนำเข้า-ส่งออกและการป้องกันอุบัติเหตุจากการขนส่งทางน้ำ”ขึ้น เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุจากการขนส่งสินค้าทางเรือ รวมถึงแนวทางการกู้เรือหากเกิดกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ภายใต้คณะทำงานชุดดังกล่าวมี นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เป็นประธาน พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ อัยการ ศุลกากร บริษัทส่งออกน้ำตาล คลังสินค้า โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย กรมเจ้าท่า และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เข้ามาเป็นคณะทำงานเพื่อศึกษาจัดทำแผนป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และแผนปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานในการเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหากกรณีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

“ที่ผ่านมา การป้องกันอุบัติเหตุและการกู้เรือยังไม่เคยมีการศึกษาข้อมูลในการป้องกันและวิธีการกู้เรือ แต่เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ต่อเนื่อง จึงมอบให้คณะทำงานชุดนี้จัดทำแผนปฏิบัติงานและกำหนดให้แต่ละหน่วยงานมีแนวทางปฏิบัติในการขนส่งสินค้าน้ำตาลทางเรือที่ชัดเจนหากเกิดอุบัติเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายล่ม โดยแต่ละหน่วยงานจะมีหน้าที่รับผิดชอบตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และมีเครื่องมือที่พร้อมในการทำงานเพื่อเข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าด้วยแนวทางดังกล่าวจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ คณะทำงานชุดดังกล่าว จะจัดให้มีการซักซ้อมแผนปฏิบัติงานในการขนส่งสินค้าทางเรือตลอดจนขั้นตอนการกู้เรือในยามเกิดอุบัติเหตุ เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการขนส่งสินค้าน้ำตาลทางเรือให้มีความปลอดภัยและมีความพร้อมแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับการจัดการดินทรายและดินตื้น (1)

ปัญหาดินเสื่อมโทรมในประเทศไทยที่พบมากที่สุด เห็นที่จะเป็นดินทราย และดินตื้น ซึ่งเป็นดินที่มีปัญหาด้านสมบัติทางเคมีและกายภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช ทำให้พืชที่ปลูกมีการเจริญเติบโต  ไม่ดีและให้ผลผลิตต่ำ โดยสิ่งที่เกษตรกรต้องคำนึงถึงจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว นั่นก็คือการจัดการปรับปรุงบำรุงดินให้มีศักยภาพในการผลิตเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับผืนดินในการทำการเกษตร

ก่อนอื่นเรามาความรู้จักกับดินทรายกันเสียก่อน โดยดินทรายสามารถพบได้ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งดินทราย คือ ดินที่มีเนื้อดินปนทราย หรือดินทรายปนร่วนที่เกิดเป็นชั้นหนามากกว่า 100 เซนติเมตรจากผิวดิน บางพื้นที่มีความหนามากกว่า 50 เซนติเมตรจากผิวดิน รองรับด้วยชั้นดานดินเหนียวดินร่วน สภาพปัญหาของดินทรายจะมีการชะล้างพังทลายของดินจะรุนแรงในพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถ้าไม่มีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม ดินทรายจัดมีปริมาณอินทรีย์วัตถุ ธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ทำให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตไม่ดี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมพัฒนาที่ดินได้แนะนำไว้ ดังนี้ 1.เกษตรกรควรปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยอินทรียวัตถุ อาทิ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปลูกพืชตะกูลถั่ว แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารพืชและความสามารถในการอุ้มน้ำแก่ดิน

2.มีการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม ปลูกพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การใช้วัสดุคลุมดินป้องกันการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นไว้ในดิน อย่างการคลุมดินด้วยใบหญ้าแฝกและฟางข้าว  3. การเลือกชนิดพืชปลูกที่เหมาะสม ปลูกพืชทนแล้ง หรือพืชที่ใช้น้ำน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น อาทิ ถั่วเขียว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน การปลูกพืชแบบหมุนเวียน และการทำไร่นาสวนผสม 4.มีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีความเหมาะสม  5.การใช้ปุ๋ยเคมีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมากและมีปริมาณธาตุอาหารพืชไม่เพียงพอ ควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยตามความเหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูก โดยใช้ปุ๋ยเคมีที่ละลายช้า แบ่งใส่ครั้งละน้อยๆเป็นระยะ โดยใส่ในขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม และควรใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ หรือใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

เกษตรฯเร่งสางปัญหา3ด้าน “ลดหนี้เกษตรกร-โลจิสติกส์-แหล่งน้ำ”

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประเด็นที่ห่วงใยและต้องเร่งดำเนินการอยู่ 3 ด้านหลักเนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ได้แก่ 1.หนี้สินครัวเรือนของเกษตรกร เนื่องจากพบว่าอัตราหนี้สินของเกษตรกรสะสมสูงขึ้น ทำให้เงินออมของเกษตรกรหลังชำระหนี้สินลดลง ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯกำลังเร่งพิจารณานโยบายลดหนี้สินเกษตรกรที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตรฯ อีกส่วน คือ หนี้ครัวเรือนสะสม มีความจำเป็นต้องดูว่ารายได้ เงินรายได้สุทธิเกษตรกร จะพอเพียงจะจ่ายหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ จะแบ่งจ่ายปีนี้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้หนี้สินเพิ่มขึ้น

2.ราคาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายกับราคาหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ มีช่องว่างมากขึ้นเรื่อย ซึ่งแต่เดิมช่องว่างเรื่องราคาเกิดจากปัจจัยราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบการขนส่งหรือโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันลดลงก็ไม่ได้ทำให้ช่องว่างของราคาลดลงแต่อย่างใด ดังนั้นต้องไปศึกษาหรือพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตให้สามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภค หรือนำผู้ผลิตเข้ามาสู่ห่วงโซ่อุปทานโดยตรงมากขึ้น จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้นและผู้บริโภคก็ได้รับสินค้าในราคายุติธรรมด้วย

3.การจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะเรื่องน้ำ โครงการชลประทานขนาดเล็ก ที่เป็นภารกิจถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 6,000 โครงการ ซึ่งหลายแห่งยังขาดการนำมาใช้ประโยชน์ หากมีการนำกลับมาพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จำเป็นต้องเร่งดำเนินการวิเคราะห์แนวโน้มการผลิต การตลาด รวมทั้งข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายด้านหนี้สิน โลจิสติกส์ที่มีผลต่อราคาที่มีแนวโน้มไม่สอดคล้องกัน และการพัฒนาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้ดูแลติดตามนโยบายด้านต่างๆ สศก.ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2556-2559 เน้นไปที่สินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียนและหน่อไม้ฝรั่ง โดยให้ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติต้นทุน มิติเวลาและมิติความน่าเชื่อถือ ขณะนี้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ผ่านคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

โรงงานน้ำตาลหันส่งสินค้าทางเรือลดเสี่ยง

โรงงานน้ำตาลเตรียมแผนลดความเสี่ยงอุบัติเหตุขนส่งทางน้ำ พร้อมกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีเกิดอุบัติเหตุ หวังนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระยะยาว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำตาลทรายทางน้ำ เนื่องจากคลังสินค้าที่จัดเก็บน้ำตาลทรายหลายแห่งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาและมีความจำเป็นต้องพึ่งการขนส่งสินค้าทางเรือ ดังนั้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยบริษัท อ้อยน้ำตาลไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และภาครัฐ ถือหุ้นและร่วมบริหารงานได้จัดตั้งคณะทำงานป้องกันและปราบปรามน้ำตาลสูญหาย การลักลอบนำเข้า-ส่งออกและการป้องกันอุบัติเหตุจากการขนส่งทางน้ำ เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุจากการขนส่งสินค้าทางเรือ รวมถึงแนวทางการกู้เรือหากเกิดกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ภายใต้คณะทำงานชุดดังกล่าวมี นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธาน พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ อัยการ ศุลกากร บริษัทส่งออกน้ำตาล คลังสินค้า โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย กรมเจ้าท่า และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เข้ามาเป็นคณะทำงานเพื่อศึกษาจัดทำแผนป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และแผนปฏิบัติงานแต่ละหน่วยงานในการเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหากกรณีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

“ที่ผ่านมาการป้องกันอุบัติเหตุและการกู้เรือยังไม่เคยมีการศึกษาข้อมูลการป้องกันและวิธีการกู้เรือ แต่เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ต่อเนื่อง จึงมอบให้คณะทำงานชุดนี้จัดทำแผนปฏิบัติงานและกำหนดแต่ละหน่วยงานมีแนวทางปฏิบัติการขนส่งสินค้าน้ำตาลทางเรือที่ชัดเจน หากเกิดอุบัติเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายล่ม แต่ละหน่วยงานจะมีหน้าที่รับผิดชอบตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และมีเครื่องมือที่พร้อมในการทำงานเพื่อเข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ คณะทำงานชุดดังกล่าวจะจัดให้มีการซักซ้อมแผนปฏิบัติงานการขนส่งสินค้าทางเรือตลอดจนขั้นตอนการกู้เรือในยามเกิดอุบัติเหตุ เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นการขนส่งสินค้าน้ำตาลทางเรือให้มีความปลอดภัยและมีความพร้อมแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558

แบงก์ชาติ’ยันยังไม่เกิดภาวะเงินฟุบ

    ธปท.ออกโรงยืนยันสถานการณ์ไทยในเวลานี้ไม่ใช่ภาวะเงินฟุบ ชี้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายจากความเชื่อมั่นที่ถูกบั่นทอนจากราคาสินค้าเกษตร พร้อมยอมรับนโยบายการเงินมีประสิทธิผลที่ค่อนข้างจำกัด

    นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค  ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องของการตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์ภาวะเงินฟุบกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยระบุว่า ในมุมมองของธปท.มองว่าสถานการณ์ในขณะนี้ไม่เป็นสัญญาณเงินฝืด (หรือภาวะเงินฟุบ) เพราะภาวะเงินฝืดจะต้องเป็นภาวะที่ราคาสินค้าโดยทั่วๆ ไปปรับลดลงในหลายๆ หมวดสินค้า (general price decline) แต่ในขณะนี้โดยหลักๆ ที่มีการปรับลดลงคือราคาพลังงาน นอกจากนี้แล้วภาวะเงินฝืดจะมีลักษณะที่ว่า ประชาชนจะชะลอการซื้อของออกไป เพราะคิดว่าราคาสินค้าจะปรับลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้

    ทั้งนี้หากถามว่าเวลานี้กำลังมีการฟื้นตัวหรือไม่ จากตัวเลขเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในช่วงสองเดือนแรกของปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย  แม้ราคาพลังงานที่ลดลงจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวได้มากขึ้น โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกบั่นทอนจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ รวมถึงภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งจากการสอบถามความเห็นของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคโดยทีมงานของธปท. พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่ากำลังซื้อจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก และเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น

    อย่างไรก็ตาม หากถามว่าการส่งผ่านของอัตราเบี้ยนโยบายที่มีการปรับลดลงเหลือ 1.75% ต่อปีไม่สามารถเกิดประสิทธิภาพหรือไม่นั้น คงต้องยอมรับว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินมีประสิทธิผลที่จำกัด โดยในภาวะปัจจุบันที่ 1.การชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาระหนี้สะสมในระดับสูง  2.ภาคธุรกิจเลื่อนการลงทุนออกไปเนื่องจากรอการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้งบางส่วนยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูง 3.ภาคส่งออกมีปัญหาจากข้อจำกัดด้านอุปทาน และ 4.ค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการการนโยบายการเงิน (กนง.)เสียงข้างน้อยเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีผลได้ไม่คุ้มผลเสีย

    "การที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลงในเวลาค่อนข้างรวดเร็วหลังจากที่ธปท.ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะช่วยบรรเทาภาระทางการเงินให้กับภาคธุรกิจที่มีภาระหนี้และได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้บ้าง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโดยรวม"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558

เดินหน้าแก้ไขพื้นที่แล้งซ้ำซากทางการเกษตร

ขณะนี้ มีการจัดทำโครงการตามความต้องการของชุมชนแล้ว 3,046 ตำบล ผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอ จำนวน 2,716 ตำบล คิดเป็น 89.02%

นายชวลิต  ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  ตามที่ได้มีการมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนสามารถกำหนดกิจกรรมจากความต้องการและสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ทางการเกษตร นำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน จำนวน 3,051 ตำบล ตำบลละไม่เกิน 1,000,000 บาท

เป้าหมาย  58 จังหวัด  3,051 ตำบล  ภาคเหนือ  17 จังหวัด ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด และภาคใต้ 6 จังหวัด โดยกลุ่มหรือองค์กรเกษตรกรเสนอความต้องการผ่านคณะกรรมการชุมชน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณได้

โดยงานและกิจกรรม มี 4 ลักษณะ ได้แก่ 1. กิจกรรมการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2. กิจกรรมด้านการผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 3. กิจกรรมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4. กิจกรรมการจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร ซึ่งจะต้องมีการใช้แรงงานภาคการเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นกรณีที่จำเป็นและมีเหตุผลที่สมควรต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอด้วย

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ มีการจัดทำโครงการตามความต้องการของชุมชนแล้ว 3,046 ตำบล ผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอ จำนวน 2,716  ตำบล คิดเป็น 89.02% ผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด จำนวน 2,001 ตำบล  คิดเป็น 65.59% และคณะกรรมการระดับกระทรวงพิจารณาเห็นชอบ จำนวน 1,455 โครงการ จาก 920 ตำบล ใน 52 จังหวัด เป็นเงินประมาณ 628.249 ล้านบาท.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 4 เมษายน 2558

เลาะรั้วเกษตร : เกษตรอินทรีย์ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ก่อนจะจัดตั้งรัฐบาลที่มีหัวหน้า คสช.

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่นในปัจจุบัน บรรดากระทรวง ทบวง กรม ล้วนมีทหารเข้าไปดูแล มอบนโยบาย เร่งรัดการดำเนินงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เข้ามากำกับดูแล

แนวทางหนึ่งที่ คสช. สมัยนั้นเร่งรัด คือ การลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยการเจรจากับบริษัทขายปุ๋ยเคมี ขายสาร

 เคมี ให้ลดราคาปุ๋ยและสารเคมีลง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนองตอบสักเท่าไร เพราะอ้างว่าสินค้า และวัตถุดิบที่นำเข้ามาแพง

ช่วงที่น้ำมันลดราคาเยอะๆ ก็แว่วว่ามีการต่อรองผู้ประกอบการปุ๋ยเคมี ให้ลดราคาปุ๋ยลงเพราะน้ำมันลดราคา แต่ผู้ประกอบการบอกว่า ปุ๋ยเคมี หรือวัตถุดิบที่ซื้อมาผลิตปุ๋ยเคมีนั้น ซื้อมาตั้งแต่น้ำมันยังแพอยู่ จะให้มาลดตอนนี้คงขาดทุน แต่ราคาปุ๋ยเคมีเป็นสินค้าควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ คงไปยุ่งมากไม่ได้

เรื่องการต่อรองผู้ประกอบการให้ลดราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ย ยังไม่หมดไปจากแนวคิด ตอนนี้มีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย มากำกับดูแลงานของกระทรวงแล้ว แถมพ่วงมาด้วยที่ปรึกษารัฐมนตรีที่ คสช. ส่งมาช่วยรัฐมนตรีทำงาน ก็ยังพยายามโชว์เพา(เวอร์)ในการต่อรองให้ผู้ประกอบการลดราคาปุ๋ยลง ปุ๋ยเคมีไม่ได้ ก็ขอต่อรองราคาปุ๋ยอินทรีย์ก็ยังดี

ข่าวว่า พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงทุนไปเจรจากับบริษัทผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์กว่า 400 บริษัทแล้ว ให้ลดราคาปุ๋ยอินทรีย์ลง แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า จำนวนเกษตรกรที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่ผลิตในระบบปกติที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีมากเท่าไร มูลค่าก็คงเทียบไม่ได้กับปุ๋ยเคมี การลดราคาปุ๋ยอินทรีย์ จึงไม่มีความหมายสักเท่าไร เผลอๆ คุณภาพของปุ๋ยอินทรีย์อาจจะเป็นไปตามราคาที่ลดลงเสียด้วยซ้ำ

 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีนโยบายส่งเสริมการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แต่จะมีใครให้ข้อมูลกับท่านเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์บ้างว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะผลิตเพื่อการค้าแทนการผลิตในระบบปกติ ที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้

เกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่แค่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก หรือไม่ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเท่านั้น เกษตรอินทรีย์ต้องดูตั้งแต่พื้นที่ปลูกอยู่ห่างจากแหล่งปนเปื้อนสารเคมีไกลพอหรือไม่ จะมีสารเคมีปลิวมาถึงหรือไม่ น้ำที่ใช้ปลูกไหลผ่านแหล่งที่มีสารเคมีหรือไม่ เมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกมาจากไหน เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกในระบบปกติที่ใช้เคมีก็ไม่ได้ มูลเป็ด มูลไก่ มูลสุกร ที่นำมาใช้เป็นปุ๋ยคอก นำมาจากฟาร์มที่ใช้สารเคมีหรือไม่ ต้องสืบกันจนถึงขนาดนั้น จึงจะได้การรับรองให้เป็นผลผลิตอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ที่แท้จริงต้องเป็นแบบนี้

ทางที่ดี รัฐบาลหันมาจริงจังกับนโยบาย “อาหารปลอดภัย” ที่หลายรัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีแล้วจะดีกว่า ทำอย่างไรจะทำให้ผู้ผลิต และพ่อค้ามีความรับผิดชอบในผลผลิตและสินค้าของตัวเอง ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีข่าวใช้ฟอร์มาลินกับอาหารทะเล ไม่มีข่าวพบสารพิษตกค้างในพืชผักที่ขายในตลาด และในซุปเปอร์มาร์เก็ต อย่างที่บางกลุ่มกำลังให้ข่าวเพื่อเชื่อมโยงไปถึงการขึ้นทะเบียนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิด เพราะถ้าผู้ผลิตมีความรับผิดชอบ ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามคำแนะนำ ทิ้งระยะเวลาให้สารเคมีสลายตัวก่อนจึงเก็บเกี่ยว อันตรายก็จะไม่มี

ส่วนการส่งเสริมปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อบริโภคเองในครัวเรือน หรือในชุมชนนั้น ไม่ว่ากัน เพราะเป็นสิ่งที่ดี และอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ด้วยปริมาณการผลิตไม่มากมายเกินไปกว่าที่จะดูแลได้ การผลิตในลักษณะนี้ ไม่มีการรับรองก็ไม่เป็นไรใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผู้บริโภคยอมรับได้ แต่ถ้าผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อการส่งออก ต้องทำตามกฎเหล็กของการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์แท้ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว แบบนี้ต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ซึ่งหน่วยรับรองภายในประเทศ อย่าง มกท. หรือ Organic Thailand ก็ยังไม่พอ ต้องเป็นการรับรองจาก IFOAM หรือสมาพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ และการจะให้ IFOAM รับรองได้นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎเหล็กแล้ว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการขอรับรองด้วย

เกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย...รู้ยัง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดิน แนะการเก็บตัวอย่างดิน เพื่อวิเคราะห์สำหรับการปลูกพืช (2)

จุดประสงค์ของการวิเคราะห์ดิน ถูกนำมาใช้เพื่อให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์และปัญหาของดินในแปลงปลูกพืชนั้นๆ พร้อมกับคำแนะนำในการแก้ไขปรับปรุง บำรุงดิน อาทิ การใช้ปุ๋ย การใช้ปูนปรับปรุงดินกรด รวมทั้งการใช้วัสดุหรือสารปรับปรุงดินอย่างอื่นตามความจำเป็นเพื่อให้การปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น มาถึงตอนนี้เราจะลงลึกไปที่กระบวนการวิธีการเก็บตัวอย่างดิน ว่าเกษตรกรควรปฏิบัติเช่นไร ขั้นตอนที่ 1 เกษตรกรควรเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นได้แก่ เครื่องมือสำหรับขุด หรือเจาะเก็บดิน อาทิ พลั่ว จอบ และเสียม ส่วนภาชนะที่ใส่ดินก็เป็นถังพลาสติก กล่องกระดาษแข็ง กระบุง ผ้ายางหรือผ้าพลาสติก สำหรับใส่ตัวอย่างดินส่งไปวิเคราะห์ 2.ขนาดของแปลงที่จะเก็บตัวอย่างดินจะไม่จำกัดขนาดแน่นอน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของพื้นที่ ชนิดพืชที่ปลูก และการใช้ปุ๋ยหรือการใช้ปูนที่ผ่านมา แปลงปลูกพืชที่มีความแตกต่างดังกล่าว จะต้องแบ่งพื้นที่เป็นแปลงย่อย เก็บตัวอย่างแยกกันเป็นแปลงละตัวอย่าง อย่างพื้นที่ราบ อาทิ นาข้าวขนาดไม่ควรเกิน 50 ไร่ พื้นที่ลาดชันขนาดแปลงละ 10-20 ไร่ พืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ที่ปลูก 3.เกษตรกรต้องสุ่มเก็บตัวอย่างดินกระจายให้ครอบคลุมทั่วแต่ละแปลง แปลงละ 15-20 จุด ก่อนขุดดินจะต้องถางหญ้า กวาดเศษพืช หรือวัสดุที่อยู่ผิวหน้าดินออกให้หมดแล้วใช้จอบ เสียมหรือพลั่วขุดหลุมเป็นรูป V ให้ลึกในแนวดิ่งประมาณ 15 เซนติเมตร หรือในระดับชั้นไถพรวน สำหรับพืชทุกชนิด ยกเว้นสนามหญ้าให้เก็บจากผิวดินลึก 5 เซนติเมตร และไม้ยืนต้นเก็บจากผิวดินลึก 30 เซนติเมตร โดยเกษตรกรทำเช่นเดียวกันนี้จนครบ แล้วนำดินทุกจุดใส่รวมกันในถังพลาสติกหรือภาชนะที่เตรียมไว้ เพื่อเป็นตัวแทนของที่ดินแปลงนั้น และขั้นตอนที่ 4 คลุกดินที่เก็บมาทั้งหมดให้เข้ากัน จากนั้นแบ่งดินมา ครึ่งกิโลกรัม ใส่ถุงพลาสติก ถ้าดินเปียกให้ผึ่งในร่มให้แห้งก่อน ห้ามนำดินไปตากแดดโดยเด็ดขาด

โดยตัวอย่างดินที่เก็บมาเรียบร้อยแล้ว จะส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตใกล้บ้านของเกษตรกร หรือส่งไปที่สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพฯ ซึ่งตัวอย่างดินเมื่อวิเคราะห์เสร็จแล้ว จะส่งผลกลับไปให้พร้อมกับคำแนะนำวิธีการแก้ไขปรับปรุงดิน และการใช้ปุ๋ยกับพืชที่ต้องการปลูกต่อไป ทั้งนี้ถ้าเกษตรกรมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหมอดินในพื้นที่ หรือ สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพฯ โทร. 0-2561-4179 หรือ สายด่วน 1760 ต่อ 3120

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

ภัยแล้งคุกคามหนัก ไร่อ้อย-สวนยางชาวสตึกเสียหายยับ วอนรัฐช่วย

บุรีรัมย์ - ภัยแล้งคุกคามหนัก ล่าสุดไร่อ้อยและสวนยางของเกษตรกรอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ต้องปรับเปลี่ยนจากนาข้าวหันมาปลูกยางและอ้อยหวังหนีภัยแล้ง แต่กลับกระทบซ้ำขาดน้ำแห้งตายเสียหายกว่า 200 ไร่ และหนอนระบาดซ้ำอีก เกษตรกรขาดทุนรายละหลายหมื่น วอนภาครัฐช่วยเหลือ

               วันนี้ (2 เม.ย. 58) สถานการณ์ภัยแล้งยังคุกคามพื้นที่ไร่อ้อย และสวนยางพาราของเกษตรกรบ้านโศกคลอง หมู่ 18 ต.ร่อนทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนจากทำนาข้าวหันมาปลูกอ้อยและยางพารา หวังหนีภัยแล้งและปัญหาราคาตกต่ำ แต่ภัยแล้งที่รุนแรงปีนี้ทำให้ไร่อ้อยที่ปลูกใหม่และสวนยางของเกษตรกรที่ปลูกได้ 3-4 ปี ต้องประสบปัญหายืนต้นแห้งตายเสียหายแล้วกว่า 200 ไร่ ถึงแม้เกษตรกรบางรายจะยอมลงทุนขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นอ้อยและยางหวังให้ฟื้นตัวแต่ไม่เป็นผล

               สภาพความแห้งแล้งดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดปัญหาหนอนระบาดกัดกินต้นอ้อยที่ปลูกใหม่ สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมเกษตรกร แม้จะซื้อยาฆ่าแมลงฉีดพ่นแต่ไม่สามารถกำจัดหนอนได้ ผลกระทบดังกล่าวทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียเงินลงทุนเพาะปลูกอ้อยและสวนยางรายละ 20,000-50,000 บาท

               จึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือ โดยจัดหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ต่างๆ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ รวมถึงให้จ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย

               นางนิตยา จิตต์แม่น อายุ 54 ปี ชาวบ้านบ้านโศกคลอง กล่าวว่า เดิมมีอาชีพทำนา แต่หลังจากประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากและราคาข้าวตกต่ำ จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเกือบ 10 ไร่หันมาปลูกอ้อยและยางพาราแทน โดยยอมลงทุนทั้งซื้อพันธุ์ ปุ๋ย ขุดเจาะบาดาล มากกว่า 50,000 บาท แต่กลับต้องประสบปัญหาภัยแล้งทั้งต้นยางและอ้อยแห้งตายเสียหาย แม้จะลงทุนเจาะน้ำบาดาลสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงและนำต้นพันธุ์มาปลูกแทนต้นที่แห้งตายแต่ก็ยังแห้งตายอีก จากผลกระทบดังกล่าวจึงอยากเรียกร้องให้รัฐเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือเร่งด่วนด้วย

               ด้านนายเขียว ชัยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านโศกคลอง กล่าวว่า จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ปลูกอ้อยและยางพาราได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแห้งตายเสียหายกว่า 200 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมู่บ้านกว่า 400 ไร่ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเสนอไปยัง อบต. อำเภอ และจังหวัดรับทราบ เพื่อจะได้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ หรือเงินชดเชยเยียวยาผลผลิตที่แห้งตายเสียหาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรอย่างเร่งด่วนต่อไป  

จาก http://manager.co.th นที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุดมีปริมาณรวม 39,019 ล้านลูกบาศก์เมตร

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุด มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 39,019 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,516 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ภาคเหนือ อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 130 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำ 5,546 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ และ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,225 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ

ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี มีปริมาณน้ำ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ และ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำ 1,076 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง เช่น ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำ 372 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งปริมาณน้ำส่วนหนึ่งต้องสำรองไว้ใช้ สำหรับการทำนาปีในช่วงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

“แอดวานซ์ เพาเวอร์”เซ็น MOU สร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ-ชีวมวล

บจ. แอดวานซ์ เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่น (APCON)  ร่วมลงนามในกิจการร่วมค้า (JV) กับ บริษัท ซีทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรับงานการก่อสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ

 ด้าน “สุธีร์ ฉุยฉาย กรรมการผู้จัดการ”เผยจ่อคว้างานแรกของ “ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง” มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทคาดรูปผล พ.ค.นี้ และงานอื่นอีกอย่างน้อย 2-3 โครงการ ในปี 2558 นี้   

นายสุธีร์ ฉุยฉาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่น จำกัด(APCON) ผู้มีประสบการณ์และเป็นผู้ชำนาญด้านพลังงานไฟฟ้าและกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งมีเทคโนโลยีทางด้าน ระบบควบคุมและระบบสื่อสาร ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าทุกรูปแบบ เปิดเผยว่า ตามที่ทางรัฐบาลได้มีนโยบายให้เรื่องของการกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตื่นตัวและสนใจกับการบริหารจัดการขยะ โดยการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ อยู่ในขณะนี้

ดังนั้นบริษัทฯได้ตกลงดำเนินการลงนามในกิจการร่วมค้า (JV) กับทางบริษัท ซีทีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (CTCI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซีทีซีไอ กรุ๊ป (CTCI GROUP) บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ผู้ซึ่งมีความสามารถและประสบการณ์มากมายกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโรงกลั่นน้ำมันของประเทศไต้หวัน เพื่อเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ

การลงนามในครั้งนี้ทาง APCON จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่  60 % และทาง CTCI จะถือหุ้น 40 % ซึ่งกิจการร่วมค้า (JV) ดังกล่าวจะเริ่มงานได้ทันที โดยจะเริ่มจากการเข้าประมูลรับงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจาก RDF  ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.98 เมกะวัตต์มูลค่า 9,000-10,000ล้านบาท ที่บริษัทฯได้เสนอให้กับทางบริษัท อีสเทริน์ เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (EEP) ที่ร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นแห่งแรก ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจมากว่าจะชนะการประมูลในครั้งนี้ และคาดว่าจะทราบผลการประมูลประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะมีรูปแบบทั้งการรับงานก่อสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ(RDF)

นอกจากนี้และโรงไฟฟ้าชีวะมวลทั่วประเทศโดยคาดว่าในปี 2558 บริษัทกิจการร่วมค้า (JV) ดังกล่าวจะเข้าประมูลงานงานก่อสร้างและบริหารโรงไฟฟ้าประมาณ 4-5 แห่ง และคาดว่าจะทราบผลภายในปี 2558 ประมาณ 2-3 โครงการ ซึ่งรวมงานของ RATCH เข้ามาแล้วจะมีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท  

 กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่น จำกัด (APCON)  กล่าวเพิ่มว่า นอกจากการรับงานโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะทั้งจากเอกชน และภาครัฐแล้ว บริษัทยังมีความพร้อมที่จะเข้าประมูลงานจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงงานน้ำตาล ซึ่งมีกากอ้อยที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) มันสำปะหลัง หรือกากปาล์มเป็นต้น

 สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะนั้นสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการกำจัดขยะ หากบริษัทสามารถนำขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะช่วยลดปัญหาขยะล้นเมืองไปได้เยอะมาก และปัจจุบันมีผู้สนใจที่จะดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่การเข้ามูลงานในอนาคตอีกจำนวนมาก

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

จี้รัฐเคาะไบโอพลาสติกสิ้นเม.ย.รู้ผลสหรัฐฯตัดสินใจลงทุนไทย

    ปลายเม.ย.นี้ ลุ้นระทึก "บอร์ดเนเจอร์เวิร์ค" จากสหรัฐอเมริกา เคาะไทยหรือมาเลเซีย ลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ มูลค่า 6.6 พันล้านบาท จี้บอร์ดบีไอไอไฟเขียวมาตรการส่งเสริมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ชงเข้าครม. หวังเป็นการจูงใจให้ทุนสหรัฐฯเลือกลงทุนในไทย หลังล่าช้ามา 2 ปี 

    801นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนเจอร์เวิร์ค เอเชียแปซิฟิค จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกระแสข่าวการชะลอลงทุนในโครงการลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid หรือพีแอลเอ เฟสแรก ขนาด 7.5 หมื่นตันต่อปี มูลค่าลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.6 พันล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ที่ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เนเจอร์เวิร์ค ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ถือหุ้นด้วย 50% ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้จะมีการพิจารณาตัดสินใจเลือกประเทศที่จะลงทุนในโครงการดังกล่าวว่าจะเป็นไทย หรือมาเลเซีย หลังจากที่ได้รอความชัดเจนมาตรการส่งเสริมการผลิตพลาสติกชีวภาพของรัฐบาลไทยมาร่วม 2 ปี ก็ยังไม่มีออกมา

    ขณะที่ทางมาเลเซียมีมาตรการส่งเสริมที่มีความพร้อมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนราคาค่าไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำประปาในราคาต่ำ รวมถึงการให้เงินชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านส่งเสริมการลงทุนก็เหมือนกับของไทย ทำให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างผู้ถือหุ้นของฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่จะเลือกไปมาเลเซีย ขณะที่พีทีทีจีซี มองว่าไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบที่มีความมั่นคงกว่า และเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก และอยากจะดึงเนเจอร์เวิร์คเข้ามาลงทุนในไทย ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นร่วมอยู่ด้วย

    ดังนั้นการลงทุนในโครงการดังกล่าวจะยังเดินหน้าต่อไป แต่อยู่ที่ว่าจะลงทุนประเทศไหน เนื่องจากความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมา และมีผลต่อราคาเม็ดพลาสติกปรับตัวลดลงมาด้วย อาจจะมองว่าเม็ดพลาสติกชีวภาพจะแข่งขันไม่ได้ เพราะมีราคาที่สูงกว่า แต่เมื่อพิจารณายอดขายผลิตภัณฑ์ของเนเจอร์เวิร์คทั่วโลกช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ไม่ได้ลดลง แสดงว่าเม็ดพลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพยังมีความต้องการสูงอยู่ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ที่เริ่มมีกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกทั่วไปแล้ว เป็นต้น

    นายวิบูลย์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การที่จะดึงเนเจอร์เวิร์คเข้ามาลงทุนในไทยได้นั้น ทางม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ไปดำเนินการจัดทำนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพขึ้นมา จะต้องเร่งนำมาตรการส่งเสริมเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดบีโอไอ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว ก่อนที่บอร์ดเนเจอร์เวิร์คจะพิจารณาในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ โดยมาตรการส่งเสริมในรูปแบบการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% หรือการชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยปีละ 2.5 พันล้านบาท สำหรับวงเงินลงทุนที่ 1 แสนล้านบาท เป็นระยะเวลา 8 ปี ก็น่าจะเพียงพอที่จะจูงใจให้เนเจอร์เวิร์คมาลงทุนในไทยได้

    "การตั้งโรงงานในไทย ได้มีการคัดเลือกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชียที่จังหวัดระยองไว้แล้ว รอเพียงนโยบายส่งเสริมฯออกมาเท่านั้น ซึ่งเงินลงทุนเฟสแรกที่ประมาณ 6.6 พันล้านบาท ภาครัฐช่วยชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้ปีละประมาณ 150 ล้านบาท เป็นระยะ 8 ปี แม้จะต่ำกว่าที่มาเลเซียให้ แต่ก็เพียงพอที่จะให้โครงการเกิดขึ้นในไทยได้ ซึ่งมาตรการส่งเสริมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ทางบริษัทอยู่ระหว่างรอลุ้นว่าจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดบีโอไอในวันที่ 2 เมษายนนี้หรือไม่"

    อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า หากเนเจอร์เวิร์คตัดสินใจลงทุนในไทย การดำเนินงานด้านการตลาดขณะนี้ก็ได้มีการหารือกับลูกค้าในไทยไว้ล่วงหน้าแล้ว 10-20 ราย โดยกำลังการผลิตประมาณ 10-20% จะป้อนความต้องการในประเทศไทย เพื่อไม่ต้องนำเข้าเหมือนกับปัจจุบัน ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าได้ ส่วนอีก 80-90% จะส่งออกไปต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น เนื่องจากเนเจอร์เวิร์คต้องการใช้โรงงานในภูมิภาคนี้เป็นฐานการผลิตและส่งออกไปทั่วโลก

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

เดินเครื่อง89โครงการน้ำเร่งด่วน ตั้งเป้า1ปีจบ-ขยายพื้นที่ชลประทาน1.3หมื่นไร่

นายธนา สุวัฑฒน โฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบงบกลางเพื่อดำเนินงานแผนงานและโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจำนวนประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 จำนวนประมาณ 7,800 ล้านบาท ให้ 6 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการนั้น ในส่วนของกรมชลประทาน ได้รับการจัดสรรประมาณ 964 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ในการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ ขุดลอกแก้มลิง ระบบสูบน้ำและสถานีสูบน้ำ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ รวม 89 โครงการ โดยมีแผนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

“กรมชลประทาน มั่นใจว่า โครงการเร่งด่วนในส่วนของกรมชลประทานรับผิดชอบนั้น จะดำเนินงานแล้วเสร็จตามเป้าหมายเนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้จัดทำแบบรูปรายการไว้เรียบร้อยแล้วดังนั้นจึงใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่มาก เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 13,750 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ภาคเหนือ 3 จังหวัด ภาคกลาง 3 ภาคตะวันออก 2 จังหวัดและภาคใต้ 4 จังหวัด” โฆษกกรมชลประทานกล่าว

สำหรับแผนงานและโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ เช่น โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาฬสินธุ์ มูลค่า 103.5 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มูลค่า 100 ล้านบาท โครงการซ่อมแซมเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก จ.นราธิวาส มูลค่า 80 ล้านบาท โครงการแก้มลิงเขานิพันธ์ พร้อมอาคารประกอบ จ.สุราษฎร์ธานี มูลค่า 36 ล้านบาท โครงการฝายห้วยลาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ มูลค่า 35 ล้านบาท โครงการสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านผาขาม จ.มุกดาหารมูลค่า 35 ล้านบาท โครงการสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยบ่อน้อย จ.นครพนม มูลค่า 32 ล้านบาท โครงการแก้มลิงทุ่งหนองเสนง-สีไคล ระยะที่ 2 พร้อมอาคารประกอบ จ.ศรีสะเกษ มูลค่า 30 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

กนอ.พัฒนา ศก.เชื่อมโยงการค้า  

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ดังนั้นการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในยุคปัจจุบัน จึงควรนำระบบภูมิสารสนเทศมากำหนดการพัฒนาพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของแต่ละประเทศให้เกิดความคุ้มค่าและรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อให้ AEC มีความแข็งแกร่งในระยะยาวอย่างยั่งยืน

“ทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้โดยนำ “นวัตกรรม” มาใช้เป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและส่งเสริมการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใน 4 มิติทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ประกอบด้วย มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม มิติทางด้านสิ่งแวดล้อม และมิติทางด้านทุนมนุษย์ “นายวีรพงศ์ กล่าว

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Industry ซึ่งใช้กระบวนการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงาน โดยผลิตภัณฑ์และบริการจะถูกพัฒนาบนฐานของความรู้ หรือ Knowledge-Based และอาศัยวัตถุดิบด้านความรู้ความสามารถของบุคลากร ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ และสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารต่างๆ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และสร้างคุณค่า (Value Creation) บนพื้นฐานของนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

เกษตรฯ กรุงเทพฯ จัดรณรงค์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์-หนุนเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต

นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การทำการเกษตรในปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตสูงโดยเฉพาะการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเกินความจำเป็น ใช้ปุ๋ยอย่างไม่ถูกวิธี ไม่ถูกเวลา ไม่มีการตรวจวิเคราะห์ดิน ใช้ดินโดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม เสื่อมสภาพลง

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาทางด้านดินและปุ๋ยดังกล่าวซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีนโยบายสำคัญในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ให้เกษตรกรมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ไว้ใช้เอง และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาทางด้านดินและปุ๋ยดังกล่าวซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเข้าไปส่งเสริม ถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการผลิต การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ดิน และการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยผ่านทางกลไกของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. ซึ่งในขณะนี้มีอยู่อำเภอละ 1 ตำบล ตำบลละ 1 ศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 882 ศูนย์ ที่จะช่วยยกระดับความรู้ด้านดินและปุ๋ยให้แก่เกษตรกร สามารถจัดการดินได้อย่างถูกต้องในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยตนเอง และเกษตรกรสามารถเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ได้ที่ ศดปช.แต่ละแห่ง ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการใส่ปุ๋ยถือว่ามีความจำเป็น เพราะจะทำให้เกษตรกรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เกษตรกรสามารถหาวัสดุตามธรรมชาติมาผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง ไม่สิ้นเปลืองต้นทุนการผลิต ปุ๋ยอินทรีย์ยังสามารถช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช

กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานอีกหลายภาคส่วนยังได้มีการรณรงค์ให้เกษตรกรไถกลบตอซังข้าว งดการเผาตอซังฟางข้าว เพราะการเผาตอซังฟางข้าวจะเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน และหมอกควันไฟจากการเผาอาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเกิดอันตรายในการสัญจรยานพาหนะได้ รวมทั้งยังมีการรณรงค์ส่งเสริมการปลูกปุ๋ยพืชสดในนาแล้วไถกลบเพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดิน เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปรับปรุงบำรุงดินอีกทางหนึ่ง หากเกษตรกรได้มีการนำไปปฏิบัติในทุกพื้นที่ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างยั่งยืน

ทางด้านนางดวงเดือน สมวัฒนศักดิ์ เกษตรกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรุงเทพมหานครมีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนทั้งหมด 4 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่เขตหนองแขม บางขุนเทียน ลาดกระบัง และหนองจอก โดยทั้ง 4 ศูนย์ได้มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลความรู้เรื่องดิน ปุ๋ย การลดการใช้ปุ๋ยเคมี การผลิตการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แก่เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้เห็นความสำคัญของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์

จึงได้จัดงานรณรงค์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ณ โรงเรียนวัดพระยาปลา แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต และยกระดับความรู้ด้านดิน ปุ๋ย รวมทั้งการผลิต การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร

ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ในการจัดการดินและใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองภายในครัวเรือน เป็นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยตนเอง ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเกษตรกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการเกษตร สถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาที่ดิน

ศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวง กรมการข้าว สำนักงานเขตหนองจอก โรงเรียนวัดพระยาปลา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ สถานีตำรวจนครบาลประชาสำราญ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาหนองจอก สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กรุงเทพมหานคร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร ศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตรด้านการอารักขาพืช จังหวัดชัยนาท ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางการเกษตร จังหวัดลพบุรี ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนทั้ง 4 ศูนย์ของกรุงเทพมหานคร ผู้นำท้องถิ่น และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ซึ่งคาดว่าเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมจะได้รับความรู้จากการจัดงานนี้ จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ ปรับใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร เพื่อความอยู่ดีกินดี มีสุขอย่างยั่งยืนของพี่น้องเกษตรกรต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

กระทรวงอุตฯชู CWTC โรงงาน กำจัดกากครบวงจรฮ่องกง

ขยะถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทุกฝ่ายร่วมมือแก้ไขโดยเร็ว ทั้งขยะครัวเรือนและขยะอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการจัดตั้ง "โรงงานกำจัดกากขยะแบบครบวงจร" ในประเทศไทย

นโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องหาทางแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จากตัวเลขปริมาณกากขยะอุตสาหกรรมในโรงงานทั้งหมดที่ 3.35 ล้านตัน ปัจจุบันได้รับการกำจัดเพียง 1.03 ล้านตัน

เมื่อเร็วๆ นี้ "นางอรรชกา สีบุญเรือง"ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ "นายจุลพงษ์ ทวีศรี" ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาระบบการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมที่โรงงาน "Chemical Waste Treatment Centre (CWTC)" ซึ่งเป็นโรงงานที่สามารถบริหารจัดการกับกากของเสียได้อย่างครบวงจร เพียงแห่งเดียว ณ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง

โดย CWTC ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 สามารถรองรับของเสียทางเคมีได้ 100,000 ตันต่อปี มีกระบวนการหลัก ได้แก่ การเก็บรวบรวมของเสียทางเคมี การวิเคราะห์ข้อมูล การบำบัดของเสียทางเคมี โดยเฉพาะขยะอันตราย เช่น ของเสียจากโรงพยาบาล มีมาตรฐานระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ควบคุมระบบการทำงานผ่านจอคอมพิวเตอร์ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่กระบวนการแรกจนเสร็จสิ้นทั้งหมดภายในโรงงานเรียกได้ว่า "ไม่มีกลิ่นออกมารบกวน"

นายจุลพงษ์ ทวีศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบายว่า โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมของต่างประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งนอกเขตชุมชนเมือง ด้วยกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการควบคุมเรื่องมลพิษที่เกิดขึ้นได้อย่างดี ในขณะที่ประเทศไทย โรงงานมักตั้งหลังเกิดชุมชน และความต่างตรงนี้เกิดจากกฎหมายที่อ่อนจนเกิดช่องว่าง ส่งผลให้เกิดการลักลอบทิ้งขยะในแหล่งชุมชน ทำให้ไม่สามารถเกิดโรงงานกำจัดกากขยะเต็มรูปแบบ และมีคุณภาพสูงได้

นอกจากนี้ การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้แหล่งชุมชนมากเกินไป และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เคยถูกจัดการได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เกิดการขัดแย้งกับชุมชน การลักลอบปล่อยมลพิษทางอากาศ น้ำ หรือแม้กระทั่งมลพิษทางเสียงไปสู่ชุมชน

อย่างไรก็ตาม ทางกรมได้ไปศึกษาดูโรงงานกำจัดกากในหลายประเทศ และพิจารณาเห็นว่า โมเดลของประเทศญี่ปุ่นน่าสนใจที่จะเป็นต้นแบบนำไปสร้างโรงงานกำจัดกากขยะในประเทศไทยมากที่สุด เพราะที่ญี่ปุ่นมีทั้งการฝังกลบและเผาในโรงงานพื้นที่เดียวกัน รูปแบบเป็นคอมเพล็กซ์ ซึ่งไทยควรที่จะทำเช่นนั้นจะคุ้มกับการตั้งโรงงานมากกว่า ส่วนโรงงานที่ฮ่องกงมีการเผาขยะชุมชนและขยะติดเชื้อ แต่พื้นที่ฝังกลบส่วนใหญ่เป็นการนำไปถมทะเล ซึ่งจะแยกไปอีกโรงงานหนึ่ง

ในปี 2558 นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายว่า จะต้องนำกากขยะอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการกำจัดกากอย่างถูกวิธี ประมาณ 1.5 ล้านตัน และเพื่อให้โรงงานต่าง ๆ นำกากขยะอันตรายเข้าสู่ระบบมากขึ้นเป็น 90% จึงเสนอแผนยุทธศาสตร์จัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี (2558-2562) เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบใหม่ เพื่อเอาผิดกับโรงงานที่ไม่ส่งขยะเข้ามากำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งมีกว่า 93% ประมาณ 5,600 แห่ง ของโรงงานทั้งหมด 8,000 แห่ง และยังเพิ่มมาตรการติดตามระบบขนส่งด้วยการติดตั้ง GPS ในรถให้ครบ 3,400 คัน หลังได้งบฯศูนย์รับสัญญาณมาแล้ว 14 ล้านบาท

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่งทั่วประเทศ โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ตามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ผ่านองค์กร NEDO สำหรับพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากครบวงจร 6 แห่ง ใน 6 ภาคของประเทศไทยนั้น เบื้องต้นเตาเผาขยะของ NEDO แบบให้ฟรีกับไทย อยู่ระหว่างการหารือกับ "กรุงเทพมหานคร" ขอใช้พื้นที่ในเขตอ่อนนุช

ส่วนภูมิภาคการตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากได้พิจารณาพื้นที่ของเหมืองแร่ร้าง ที่หยุดการดำเนินงานไปแล้ว เช่น จ.ตาก จ.กำแพงเพชร และพื้นที่ของทหาร จะเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่งของโรงงานที่ต้องส่งกากขยะอุตสาหกรรมมากำจัด เพราะสะดวกและใกล้ขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับนโยบายจึงเร่งศึกษาและรวบรวมข้อมูลกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนปลาย ทั้งนี้ โครงการตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากคือกฎระเบียบไม่ใช่เรื่องของการจูงใจ ดังนั้นกฎหมายต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ภายในรัฐบาลชุดนี้จะต้องเห็นโรงจำกัดกากขยะแบบครบวงจรที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นในประเทศไทย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

เคาะพักหนี้เกษตรกร1.16แสนล.

ครม.ไฟเขียวแก้หนี้เกษตรกร 3 โครงการ 8.1 แสนราย ยอดหนี้ 1.16 แสนล้านบาท เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 เม.ย.58 - 31 มี.ค.59

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวม 3 โครงการ คิดเป็นยอดหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 116,000 ล้านบาท จากจำนวนเกษตรกรรายย่อยประมาณ 8.1 แสนราย ซึ่งจะเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.58 - 31 มี.ค.59

สำหรับ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการปลดภาระหนี้สินให้แก่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ หรือมีเหตุจากการเสียชีวิต, ทุพพลภาพ, เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ รวม 28,000 คน ยอดหนี้รวม 4,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะปลดหนี้และจำหน่ายหนี้ออกจากบัญชีให้เป็นหนี้สูญ

2.โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรที่มีศักยภาพต่ำ ซึ่งยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ แต่มีปัญหาในการชำระหนี้จากเหตุสุจริตและจำเป็น รวม 340,000 คน ยอดหนี้รวม 48,000 ล้านบาท โดยให้ชำระเงินต้นตามงวดที่ตกลงกัน แต่ไม่เกิน 10 ปี และปลอดชำระเงินต้นใน 3 ปีแรก แต่ ธ.ก.ส.ยังคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ โดยหลังจากชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยได้ตามกำหนดแล้ว ธ.ก.ส.ยังร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ในการสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้เพื่อการประกอบอาชีพอื่นอีกวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย คิดดอกเบี้ยอัตราปกติ

 และ 3.โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหายางพาราตกต่ำ หรือการงดทำนาปรัง รวม 450,000 คน ยอดหนี้รวม 64,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะขยายเวลาชำระหนี้ให้ตามศักยภาพ คิดดอกเบี้ยอัตราปกติ แต่ไม่คิดเบี้ยปรับ พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน หรือประกอบอาชีพเสริมอื่นอีก วงเงิน 35,000 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย.

จาก  http://www.thaipost.net  วันที่ 1 เมษายน 2558

อุตฯ วางมาตรการคุมโรงงาน

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานบ่อยครั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และเป็นเหตุให้คนงานได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้รวบรวมสถิติข้อมูลการเกิดอัคคีภัยในโรงงานย้อนหลัง 4 ปี มาประมวลผล พร้อมวางมาตรการการเฝ้าระวังป้องกัน นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบในเร็วๆ นี้ โดยปัจจุบันได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการโรงงานขึ้น เพื่อดูแลติดตามสถานการณ์และกำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ หามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งเป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

          จากการศึกษาข้อมูลการเกิดไฟไหม้โรงงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2558 พบว่า ในปี57 และปี 56 มีเหตุอัคคีภัย เกิดขึ้น 71 เรื่อง (เฉลี่ย 6 เรื่อง/เดือน) เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีอัคคีภัยจำนวน 50 เรื่อง (เฉลี่ย 4 เรื่อง/เดือน) คิดเป็น 42% สำหรับปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57- ก.พ.58) เกิดเหตุอัคคีภัยจำนวน 43 เรื่อง (เฉลี่ย 9 เรื่อง/เดือน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2557 ที่มีเหตุอัคคีภัยจำนวน 27 เรื่อง (เฉลี่ย 5 เรื่อง/เดือน) คิดเป็น 59% โดยสาเหตุการเกิดอัคคีภัยส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรมากที่สุดจำนวน 60 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 52 รองลงมาคือ กรณีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ชำรุดจำนวน 36 เรื่อง คิดเป็น 31% อื่นๆ (ปฏิกิริยาเคมี ความร้อน การหมักตัวให้เกิดเป็นแก๊ส ฟ้าผ่า การเผาหญ้าใกล้บริเวณโรงงาน และการวางเพลิง) จำนวน 15 เรื่อง และความประมาทของบุคคลจำนวน 4 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 13 และ 4 ตามลำดับ

จาก  http://www.banmuang.co.th  วันที่ 1 เมษายน 2558

ชงตั้งกองทุนประกันเสี่ยงเกษตร จี้เคาะกลไกต่อรองราคาผลผลิต

1 เม.ย. 58 ที่รัฐสภา การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 22/2558 มีระเบียบวาระคือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ วาระที่ 14 เรื่องการปฏิรูปภาคเกษตร โดยนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานอนุ กมธ.ปฏิรูปการเกษตรฯ นำเสนอรายงานต่อที่ประชุม สปช. ซึ่งมีข้อเสนอในการปฏิรูป 4 ประการ คือ 1. การปฏิรูปเกษตรกร โดยการช่วยเหลือด้านรายได้และทักษะแก่เกษตรกรที่ยากจน และพัฒนามีความรู้และทักษะในด้านต่างๆ

2. การปฏิรูประบบ เริ่มจากการปฏิรูปโครงสร้างพื้นสร้างคลองส่งน้ำ เพื่อใช้เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์นำน้ำจากแม่น้ำสายหลักเข้าสู่พื้นที่การเกษตร นอกจากนั้นจะต้องมีการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านเกษตรกรรม รวมถึงระบบเครือข่าย ห่วงโซ่มูลค่าและคลัสเตอร์ในระดับกลุ่มสินค้าเกษตรและระดับชุมชน กระทรวงพาณิชย์จะต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มอุตสาหกรรมและองค์กรเอกชนในลักษณะ "Value Chain" เป็นห่วงโซ่อุทานการผลิต อย่างไรก็ตามจะต้องส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของอาเซียน หรือ เอเฟท (AFET) เพื่อชี้นำด้านราคา

3. การปฏิรูปการบริหารจัดการและกลไกและกฎหมาย กำหนดแผนยุทธศาสตร์เป็นวาระชาติ เช่น ข้าว ยาง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ และประมงเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์เป็นการรวมกลุ่มรากฐาน เพื่อบริหารการลงทุน การผลิต และจำหน่าย รวมถึงส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกร

4. กองทุนและการบริหารความเสี่ยงของเกษตรกร จัดสร้างสวัสดิการเกษตรกรแห่งชาติโดยร่าง พ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ... เพื่อให้มีการประกันรายได้และสวัสดิการพื้นฐานของเกษตรกร และสร้างกองทุนประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเร่งดำเนินการ เพื่อให้รัฐบาลออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนั้นยังเสนอให้มีกองทุนพัฒนาและปรับโครงสร้างทางการเกษตร เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรให้เกิดศักยภาพ

ทั้งนี้สมาชิก สปช. ร่วมอภิปรายในประเด็นสำคัญ ดังนี้ นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ สปช. ลำพูน กล่าวว่า วิกฤตสำคัญของเกษตรกร คือ ขาดแหล่งน้ำการเกษตร ต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ และการดำเนินการปฏิรูปที่ดินทำกินไม่สำเร็จ เพราะสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่สามรถจัดสรรที่ดินและปัจจัยพื้นฐานการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับทำหน้าที่เหมือนกรมที่ดิน คือจัดแบ่งที่ดินให้เกษตรกรเท่านั้น จึงทำให้เกษตรกรต้องนำที่ดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ไปขายในที่สุด ฉะนั้นการปฏิรูปควรที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้สำเร็จ

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.กาฬสินธุ์ กล่าวอภิปรายว่า ประเทศไทยจะเป็นแหล่งอาหารโลก แต่เกษตรกรกลับอยู่ในสภาวะขาดทุน จากรายงาน กมธ.ฯ คนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม นับวันไม่ให้ลูกหลานมาเป็นเกษตรกร เพราะ ประสบสภาวะการขาดทุน ปัญหาการผลิต ขาดแหล่งน้ำการเกษตร

นางฑิฆัมพร กองสอน สปช. จ.น่าน กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการเกษตรประสบผลสำเร็จ คือ ภาครัฐจะต้องส่งเสริมการเกษตรที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ ยกตัวอย่าง กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เช่น มะม่วงเขียวเสวยในที่ราบสูง ซึ่งไม่ก่อให้ผลผลิต จะต้องสร้างผู้นำที่สามารถการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และเสนอให้เกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบส่งต่อบริษัท มีโอกาสถือหุ้นในบริษัทนั้น เพื่อรับผลประโยชน์ร่วมกัน

"กฎหมายที่ออกมาจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ รัฐธรรมนูญต้องกินได้ วันนี้เกษตรกรกลายเป็นเครื่องมือนักการเมือง ม็อบทุกเรื่อง ที่ดิน ข้าวโพด ร่วมมาหมดเพราะไม่รู้จะพึ่งใคร" นางฑิฆัมพร กล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุม สปช. รับทราบรายงานของ กมธ.ฯ และให้ กมธ.ฯ นำข้อเสนอแนะและขอคิดเห็นของสมาชิก สปช.  ไปประกอบการยกร่างฯ กฎหมายที่เกียวข้องและปรับปรุงรายงานต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 เมษายน 2558

ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องคดี KSLฟ้องก.อุตฯ

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีที่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ที่ 1 กับพวกรวม 18 คน ฟ้องว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน มีคำสั่งตามหนังสือที่ อก 0311/(ส.4) ลว.6 ก.พ. 2556 ไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวในจังหวัดเลยแต่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากสถานที่ตั้งโรงงานที่ขออนุญาตอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลเอราวัณที่มีอยู่เดิมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการย้ายสถานที่ตั้งและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล ตามหนังสือที่ อก 0601/862 ลว.12 เม.ย. 2550 ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือ ลว.8 มี.ค.2556 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ยังมิได้รับแจ้งผลการพิจารณาเป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้นเคยมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น(KSL) ขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะห่างระหว่างโรงงาน, เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และมติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2555 วันที่ 11 ธันวาคม 2555 และคำฟ้องในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 18 ไว้พิจารณา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 เมษายน 2558

กระทุ้งพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรก่อนไทยจะหล้าหลังกว่าที่เป็นอยู่

: ดลมนัส กาเจรายงาน

                 หากมองภาพรวมประเทศไทยนั้นถือเป็นศูนย์กลางการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนาน แต่ในความเป็นจริงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั้งยุโรปแม้แต่เอเชียด้วยการเองอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินเดีย หรือเกาหลีใต้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังหล้าหลังในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เกษตรกรส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ยังยึดรูปแบบการเกษตรเดิมๆ เน้นใช้แรงงานคนเป็นหลัก จะเห็นได้จากภาคการผลิตของพืชเศรษฐกิจหลักไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการปศุสัตว์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลให้ภาคการเกษตรไทยมีต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตยังด้อยคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา สิ่งที่ตามมาเกษตรกรอยู่ในภวังค์แห่งความยากจน

ถึงเวลาไทยต้องพัฒนาเครื่องตัดอ้อย

                 นายสมพล รัตนาภิบาล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สะท้อนบนเวทีสัมมนาหัวข้อ "นวัตกรรม และการขับเคลื่อนเกษตรไทยสู่ตลาดโลก" จัดโดย บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ณ โรงแรมโซฟิเทล เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีการส่งออกเป็นอันดับ2 ของโลกรองบราซิลที่ผลิตน้ำตาลได้ปีละ 41 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 12 ล้านตัน ที่เหลือส่งออกไปทั่วโลก

                 ส่วนไทยผลิตน้ำตาลทรายได้ปีละ 10 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 2.5 ล้านตัน ส่งออก 7.5 ล้านตัน มีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 50 โรงงาน มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งประเทศกว่า 10 ล้านไร่ มีเกษตรกรปลูกอ้อยที่ขึ้นทะเบียนกว่า 3 แสนราย คาดว่ามีประชากรที่คลุกคลีอยู่กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะที่เป็นแรงงานตัดอ้อยมากที่สุด

                  องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟไอโอ ประมาณการว่า ในปี 2563 การบริโภคน้ำตาลทรายจะเพิ่มขึ้นอีก 8 ล้านตัน ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย แต่ถ้ายังใช้แรงงานคนมาตัดอ้อยจะไม่ทันกินแน่นอน ขณะนี้บางโรงงานได้มีการทำโมเดลฟาร์มที่สามารถใช้เครื่องตัดอ้อยได้ จะประหยัดแรงงานและเวลาได้ ถึงเวลาที่ไทยจะต้องพัฒนาเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือให้ทันสมัย ที่สามารถใช้ในการเก็บเกี่ยวในไร่อ้อยได้จำนวนมาก เพราะอ้อยใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน อาทิ กากชานอ้อยมีปีละ 28 ล้านตัน สามารถส่งเข้าโรงงานเพื่อผลิตไฟฟ้าได้อีกปีละ 1,500 เมกะวัตต์

โรงงานแป้งมันจะลงขันซื้อเครื่องจักร

                 เช่นเดียวกับนายนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์ อุปนายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 6-7 ล้านไร่ มีผลผลิตกว่า 40 ล้านตัน มีโรงงานแป้งมันสำปะหลังเกือบ 100 โรง และมีเกษตรกรที่อยู่ในแวดวงการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับมันสำปะหลังนับล้านคน เพราะต้องใช้แรงงานเป็นหลักโดยเฉพาะช่วงขุดหัวมันที่ต้องจ้างแรงงานต่างด้าว ตรงนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งตอนนี้ทราบว่าบริษัทเมืองทองฯ จะจัดงาน "ซีมา อาเซียน ไทยแลนด์" ที่ประเทศไทยในเดือนกันยายนนี้ น่าจะมีเทคโนโลยีเครื่องจักรกลใหม่ๆ มาโชว์ ที่สามารถนำมาใช้ หากคาราแพงไปเกษตรกรคงสู้ไม่ไหว บรรดาโรงแป้งมันในนามสมาคมแป้งมัน มองว่าถ้าไทยทำต้นแบบสำเร็จ โรงแป้งมันจะลงทุนสร้างเครื่องจักรเพื่อเก็บเกี่ยวหัวมันเองโรงละ 3-4 เครื่อง เพื่อให้ชาวไร่เช่าในราคาที่ถูก

ไทยเมินเทคโนโลยีเกษตรมา 20 ปีแล้ว

                 ส่วนนายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องจักรกลไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่การผลิตเครื่องจักรกลทางการเกษตรสาบสูญไป 20 ปีแล้ว แต่เรากลับมุ่งเน้นในการผลิตรถยนต์มากเกินไป ทำให้กระบวนการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรไม่ทันต่อเหตุการณ์ มาถึงวันนี้ไทยต้องปรับแล้วว่าจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสำหรับพืชเศรษฐกิจหลัก เพราะในความเป็นจริงพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ต้องอาศัยเครื่องจักรกลทั้งหมด

                 "ทุกวันนี้ไทยส่งออกเครื่องจักรกลเกษตรปีละ 2 หมื่นล้านบาท เป็นเครื่องจักรกลที่ต่างชาติมาลงทุนในไทย เรานำเข้า 2.9 หมื่นบาท แต่ถ้าไทยไม่พัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้ ต่อไปไม่ต้องพูดถึง ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่เขาไปไกล แต่เรามาลองดูเวียดนามตอนนี้เขาพัฒนาไปไกลแล้วเหมือนกัน ปีนี้จะมีงานซีมา อาเซียน  คนไทยจะได้เห็นถึงความคืบหน้าด้านเทคโนโลยีของประเทศที่พัฒนาแล้วได้บ้าง" นายณรงค์ กล่าว

                 ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่สะท้อนบนเวทีเสวนา เพื่อเป็นการชิมลาง ก่อนที่จะได้ดูของจริงในงาน "ซีมา อาเซียน ไทยแลนด์ 2015" ซึ่งเป็นการนำงานซีมา ปารีส มาจัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน

จาก  http://www.komchadluek.net วันที่ 1 เมษายน 2558

พัฒนาผลิตภัณฑ์ยกระดับสู่ Smart Product

เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้สามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันได้ ตามนโยบายและระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็น Smart Product

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิตดังกล่าวมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถบริหารจัดการด้านการแปรรูปผลผลิตเกษตร และเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปผลผลิตเกษตร เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้สามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันได้ ตามนโยบายและระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็น Smart Product เนื่องจากเป็นวิสาหกิจชุมชนใหม่ที่ต้องการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปสำหรับการบริโภคหรือจำหน่ายในชุมชน เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน กลุ่ม และชุมชน

โดยให้กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการกลุ่มแม่บ้านฯ ประจำปี 2558 ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ของวิสาหกิจชุมชน ด้านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ไปสู่ Smart Product ตลอดถึงประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน และผลการดำเนินงานให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน

ภายในงานมีการบรรยายการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ Smart Product, วิสาหกิจชุมชนก้าวสู่ AEC, การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อการตลาด ทิศทางการตลาด ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมทั้งการเสวนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ

งานนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร.

จาก  http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 เมษายน 2558

กษ.จัดงานวันสถาปนาครบ123ปี เดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาเกษตร

1 เม.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 06.30 น.ที่ผ่านมา นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ , นายชวลิต ชูขจร ปลัดเกษตรฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ ศาลพระภูมิ ท้าวเวสสุวัณ ศาลตา-ยาย และพระพิรุณทรงนาค จากนั้นในเวลา 07.00 น.เป็นพิธีสงฆ์ โดย รมว.เกษตรฯ คณะผู้บริหาร พร้อมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ถวายภัตตาหาร และจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ ปลัดเกษตรฯ เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2558 ของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ นายชวลิต กล่าวว่า วันที่ 1 เม.ย.58 ถือเป็นวันสำคัญยิ่งของกระทรวงเกษตรฯ โดยปีนี้กระทรวงเกษตรฯ จะมีอายุครบ 123 ปี เป็น 123 ปีที่บอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มิใช่เฉพาะคนไทย แต่ยังก้าวสู่การเป็นครัวของโลกด้วย กระทรวงเกษตรฯ มีบทบาทอย่างยิ่งต่องานด้านเกษตรกรรมของประเทศ มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อความอยู่รอดของเกษตรกร ขณะเดียวกันก็มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก ในด้านอาหารที่หล่อเลี้ยงประชากร รวมถึงเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศด้วย

โดยในปี 2558 กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางการดำเนินการแผนงาน โครงการสำคัญตามพระราชบัญญัติงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยมีการดำเนินงานสำคัญในปี 2558 ประกอบด้วย 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การลดต้นทุนการผลิตด้วยการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 2.การเพิ่มผลผลิต 3.การเพิ่มรายได้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ 4.การจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตร และ 5.การจัดการทรัพยากร ซึ่งในภาพรวมมีความคืบหน้าไปตามแผน

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการที่สำคัญ และปรากฏผลเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่ มาตรการบรรเทาปัญหาจากการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง โดยการจ้างงานและการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน การช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซากตามโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ สำหรับการเพิ่มรายได้เพื่อเกษตรกรได้มีการชดเชยรายได้แก่ชาวนาและชาวสวนยาง ตลอดจนการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมอีกด้วย ส่วนด้านการแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านการประมงผิดกฎหมาย ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกสินค้าประมงไทย ได้เร่งรัดจดทะเบียนเรือประมง การแก้ไขแรงงานประมง รวมถึงการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งจากโรคตายด่วนในกุ้ง

ส่วนในระยะต่อไป กระทรวงเกษตรฯ ยังได้เตรียมความพร้อมดำเนินงานตามแผนงานตามนโยบายรัฐบาล โดยมีโครงการสำคัญ 10 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว 2.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์ 3.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตประมง 4.โครงการแก้ไขหนี้สินเกษตรกร 5.การปรับปรุงและออกกฎหมายเพิ่มเติม 6.โครงการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร 7.โครงการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยสหกรณ์ 8.โครงการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร 9.โครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวสถาบันเกษตรกร และ 10.โครงการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว

ทั้งนี้ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนตามโรดแมปของรัฐบาล เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้เกษตรกรที่ถือเป็นศูนย์กลางการพัฒนามีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ในภาวการณ์แข่งขันในตลาดโลกและในอาเซียนด้วยกันเองที่ไทยจะตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จะต้องรุกเพื่อให้เกษตรกรไทย และสินค้าเกษตรไทยมีที่ยืนได้อย่างมั่นคง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 เมษายน 2558

โดนสารพัดปัจจัยลบถล่ม-วอนแบงก์ชาติดูแลค่าเงินเพื่อช่วยบรรเทา 

ลดเป้าส่งออกปี’58เหลือ0%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ลดเป้าส่งออกปี 2558เหลือดีที่สุดแค่ 0% ขณะที่ไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าติดลบ 2% หรืออาจลงไปติดลบได้ถึง 5% หลังเจอหลากปัจจัยลบรุมถล่ม เตรียมเข้าหารือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล9 เม.ย.นี้ หามาตรการช่วยด่วน

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกฯ คาดการณ์ว่าทั้งปี 2558 ส่งออกไทยจะอยู่ที่ 0% ซึ่งเป็นการปรับเป้าลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 1.5% เพราะส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่อง ทั้งราคาน้ำมัน ตลาด อัตราแลกเปลี่ยน เศรษฐกิจโลก อีกทั้งต้องยอมรับว่าการส่งออกในเดือนก.พ. 2558 เป็นตัวเลขที่น่าผิดหวัง ทั้งๆ ที่ภาครัฐ และเอกชนต่างก็พยายามผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่ มูลค่าอาจลดลงมาได้อีก ทำให้ไตรมาสแรกคาดว่าส่งออกจะติดลบ 2% หรืออาจต่ำกว่านั้นได้อีกซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ปัจจัยโดยรอบ

สำหรับการส่งออกของไทยเดือนก.พ. 2558 มีมูลค่า 17,230 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง6.14% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้มูลค่าการส่งออกในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ก.พ.2558) มีมูลค่า34,478 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลง 4.60% เนื่องจากหลายตลาดยังประสบปัญหาจากสภาพเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศยังคงซบเซา อีกทั้งผลของราคาน้ำมันยังกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย โดยการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน ส่งผลต่อราคาส่งออกสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้การส่งออกปรับลดลง 26.8% และกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ปรับตัวลง 20.3% และ 12.3% ตามลำดับ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ทำให้การส่งออกปรับลดลง 38.8%

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ น่าจะติดลบ 5 % ขณะที่ไตรมาสที่ 2 น่าจะทรงตัวที่ 0% ส่วนไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวที่ 3% และไตรมาสที่ 4 จะขยายตัว 2% ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งปี 2558 การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ดีที่สุดเพียง 0% อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกฯ ต้องการให้รัฐบาลเน้นเรื่องการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดนให้มากที่สุด เพราะตลาดอื่นๆ ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด

“วันที่ 9 เม.ย. 2558 นี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯจะเข้าหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อขอให้กำกับดูแลนโยบายการเงิน และการคลังให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะตอนนี้ภาคเอกชนเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาท เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ดังนั้นจึงอยากให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรออกมาตรการมาดูแลเรื่องของค่าเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังสามารถใช้ยาแรงในเรื่องนี้ได้”

ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนทรงตัว เนื่องจากครัวเรือน และธุรกิจยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การส่งออก มีมูลค่า 17,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาสินค้าส่งออกหลายหมวดที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบ ความต้องการที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียโดยเฉพาะจีน และกลุ่มอาเซียนรวมถึงกลุ่มสหภาพยุโรป การตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี) ในทุกสินค้า ที่ส่งออกไปยังอียู และการเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีน ที่ตรงกับเดือนนี้ ทำให้มีวันหยุดยาวในประเทศแถบเอเชียหลายตลาด

“แม้ว่าภาพรวมการส่งออกจะติดลบ 2 เดือน แต่ธปท.ยังคงมองว่าภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ที่ 0.8% ขณะที่เงินเฟ้อนั้นมองว่าแม้จะยังติดลบ และประชาชนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย แต่ไม่ได้ถือว่าน่ากลัวจนนำไปสู่ภาวะเงินฝืด”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 เมษายน 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมหมอดินกับความสำเร็จของโครงการชั่งหัวมันฯ (2)

โครงการชั่งหัวมันฯ เป็นบ้านพักส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือโฉนดและมีชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรทำไร่

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการชั่งหัวมันฯนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต้องการทดลองปลูก เพื่อทำให้เป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร เป็นศูนย์รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และใกล้เคียง โดยพยายามที่จะพัฒนาทำการเกษตรขึ้นมาในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จยากนี้ เอาวิธีการสร้างความชื้น ปรับปรุงดิน ทำเป็นที่ให้เกษตรกรในพื้นที่มาทำงาน ฝึกทำงานในลักษณะบูรณาการ

เบื้องต้นการทำเกษตรของที่โครงการจะใช้ปุ๋ยพืชสดเป็นหลัก เริ่มจากการปลูกพืชตระกูลถั่ว และทำการไถกลบ เสริมด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก รวมถึงปุ๋ยเคมีบ้าง โดยทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผืนดินฟื้นและสามารถกลับมาปลูกพืชได้ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี ในการปรับปรุงบำรุงดิน จนปัจจุบันสามารถปลูกพืชได้ และกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

โดยช่วงหลังมีการทำการเกษตรอินทรีย์ การเกษตรผสมผสาน และมีชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยทำงาน นับเป็นตัวอย่างการทำการเกษตรที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่เขตแล้งได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้หลังจากมีการปรับปรุงคุณภาพของดินแล้ว โครงการเริ่มมีการทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยไม่ซ้ำชนิด สลับกับการปลูกพืชตระกูลถั่ว ซึ่งรวมแล้วมีพืชที่ปลูกในโครงการกว่า 40 ชนิด และเป็นพืชผัก ตามฤดูกาลเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับได้รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบุรี และในพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืช นอกจากนี้ ยังได้ปลูกผักสวนครัวกว่า 30 ชนิด ในพื้นที่ 30 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะจำหน่ายในร้านโกลเด้นเพลส

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 เมษายน 2558

ดันไทยสู่ "ชาติแห่งการค้า"

 “อิสระ” ฝันสูงรับเก้าอี้ประธานหอฯยก 2

“อิสระ” แชร์ความฝันหลังนั่ง “ประธานหอการค้าไทย” วาระ 2 เดินหน้าสร้างขีดความสามารถการแข่งขันไทย เพราะตัวเลขความสะดวกในการทำธุรกิจ ถูกสิงคโปร์–มาเลย์ทิ้งห่าง ทั้งระยะเวลาในการจัดตั้งธุรกิจ, เตรียมชำระภาษี, ขออนุญาตก่อสร้างและส่งออก เผยถ้าไม่ทำวันนี้ อีก 3 ปีจะยิ่งถอย กำหนดเป้าดันไทยขึ้นแท่น “ชาติแห่งการค้า” และผู้นำอาเซียน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ภายหลังการรับตำแหน่งเป็นวาระที่ 2 ว่า จะสานต่อนโยบายหลักของคณะกรรมการชุดเดิม ที่กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นสถาบันหลักทางธุรกิจที่มีองค์ความรู้ มีเครือข่าย และความร่วมมือที่เข้มแข็งที่สุดของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีศักยภาพ และแสวงหาโอกาสให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

โดยได้กำหนดการขับเคลื่อนการดำเนินการผ่าน 3 พันธกิจหลัก ได้แก่ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มพูนทักษะ ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) 2.การพัฒนาเครือข่าย และความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อพัฒนาธุรกิจทุกภาคส่วน และ 3.การลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ หอการค้าไทยเห็นว่า ธุรกิจไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันเลย จากข้อมูลของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (ดับบลิวอีเอฟ) ในปี 57 อันดับความสามารถการแข่งขันไทยอยู่ที่ 31 จากทั้งหมด 144 ปะเทศ ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 52, อินโดนีเซีย 34, มาเลเซีย 24 และสิงคโปร์ 1 แต่คาดการณ์ในอีก 3 ปี หรือในปี 2560 ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้น แต่ไทยจะลดลง

เนื่องจากผลการสำรวจของดับบลิวอีเอฟ พบว่า ไทยยังมีการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน เช่น ระยะเวลาในการจัดตั้งธุรกิจ ไทยใช้เวลา 27.5 วัน แต่สิงคโปร์ เพียง 2.5 วัน มาเลเซีย 5.5 วัน, ระยะเวลาในการเตรียมชำระภาษี ไทย 264 ชั่วโมง แต่สิงคโปร์เพียง 82 ชั่วโมง มาเลเซีย 13 ชั่วโมง, ระยะเวลาการขออนุญาตก่อสร้าง ไทย 113 วัน สิงคโปร์ 10 วัน มาเลเซีย 13 วัน และระยะเวลาการส่งออก ไทย 14 วัน สิงคโปร์ 3 วัน มาเลเซีย 4 วัน

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบประสิทธิภาพการส่งออกผ่านทางท่าเรือและผลิตภาพแรงงานไทย พบว่า คุณภาพท่าเรือของไทยอยู่ในอันดับที่ 54 จากการจัดอันดับทั้งหมด 144 ประเทศ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย ส่วนผลิตภาพแรงงาน ไทยอยู่ในอันดับที่ 57 จากทั้งหมด 60 ประเทศ

“จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกัน สร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อขับเคลื่อนไทยไปสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน พัฒนาไปสู่การเป็นชาติแห่งการค้า (Trading Nation) ในอาเซียน และพัฒนาธุรกิจบริการของไทยไปสู่ระดับโลก ถ้ายังไม่ทำในวันนี้ ในอนาคตไทยจะแข่งขันไม่ได้”

สำหรับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หอการค้าไทยแบ่งธุรกิจไทยเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการค้า และการผลิต กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร และกลุ่มธุรกิจบริการ ซึ่งได้จัดตั้งคณะกรรมการภายใต้กลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อจัดทำยุทธ

ศาสตร์สร้างเสริมขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ซึ่งคณะกรรมการภายใต้กลุ่มธุรกิจสินค้า 3 กลุ่ม จะมีประธาน และกรรมการจากสมาชิกของหอฯ ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในแต่ละด้าน มาช่วยกันคิดยุทธศาสตร์เพิ่มความสามารถการแข่งขัน โดยจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) จัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าวในเร็วๆนี้ เมื่อได้ยุทธศาสตร์แล้วจะจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง”

นอกจากนั้น หอการค้าไทย ยังจะมุ่งเน้นเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพราะไทยมีเอสเอ็มอีเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีเอสเอ็มอีมากถึง 2.8 ล้านราย หรือ 99.7% ของวิสาหกิจทั้งหมดของไทย แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ของเอสเอ็มอีกลับมีมูลค่าเพียง 4.2 ล้านล้านบาท หรือ 37.4% ของจีดีพีของไทยเท่านั้น โดยหอการค้าไทยจะปรับความคิดให้เอสเอ็มอีเห็นว่า การสร้างความสามารถในการแข่งขันเริ่มที่ตัวเรา ไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยต้องส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ทางการค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า.

จาก  http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 เมษายน 2558