http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนเมษายน 2560)

ฝนหลวงฯ ร่วมกับ ศพก. สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรใช้น้ำ

ฝนหลวงฯ ร่วมกับ ศพก. สร้างการรับรู้ให้เกษตรกใช้น้ำ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ

                           วันที่ 30 เมษายน 2560 เวลา 12.00 น. นายสุรสีห์  กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ  การบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่          เรื่องการขอรับบริการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น สามารถช่วยลดต้นทุน      การผลิต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                                นายสุรสีห์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ    เรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ มีความต้องการใช้น้ำ      เพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่การปลูกปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี และเป็นพืชที่ชอบสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกและสม่ำเสมอตลอดปีด้วย ดังนั้น         น้ำจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีผลผลิตที่ดีได้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร            จึงสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องการขอรับบริการฝนหลวงและการปฏิบัติภารกิจ โดยเกษตรกรสามารถติดต่อแจ้งความต้องการผ่านอาสาสมัครฝนหลวงหรือศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงได้ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้           ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ดำเนินการสนับสนุนฝนช่วยเหลือเกษตรกรที่ขอรับบริการฝนหลวงให้ตรงพื้นที่อย่างเร่งด่วน

                                 สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจากการขอรับบริการฝนหลวงและเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงปฏิบัติภารกิจทุกวันต่อเนื่อง        โดยจากการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม – 29 เมษายน 2560 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง         จำนวน 55 วัน 936 เที่ยวบิน (1365:10 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 800.4 ตัน พลุซิลเวอร์        ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 286 นัด มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 55 จังหวัด         มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 154.23 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ประชาชนและเกษตรกรสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารฝนหลวงได้ทุกวันที่เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 เมษายน 2560

เงินบาททดสอบระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 “เงินบาททดสอบระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ หุ้นไทยปรับลดลง หลังนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนการประชุมเฟด”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ ที่ 34.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับน่าจะมีแรงขายตามปัจจัยทางเทคนิค หลังจากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 34.40 และ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ ธปท. ระบุว่า ธปท. จะต่ออายุมาตรการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น อายุ 3 เดือน และ 6 เดือน ออกไปอีกในเดือนพ.ค. โดยพบว่า การดำเนินการดังกล่าวช่วยลดเงินทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามาพักในตลาดการเงินไทย

สำหรับในวันศุกร์ (28 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 34.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 เม.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-5 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.35-34.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (2-3 พ.ค.) การหารือของผู้นำยุโรปเกี่ยวกับประเด็น Brexit และช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสองของฝรั่งเศส ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตร อัตรการว่างงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเม.ย. ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายได้/การใช้จ่าย และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลเดือนมี.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนน่าจะยังคงรอติดตามตัวเลขจีดีพีของยูโรโซน และสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด

ดัชนีหุ้นไทยลดลง หลังนักลงทุนระมัดระวังก่อนการประชุมเฟด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,566.32 จุด ลดลง 0.24% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 12.92% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 41,211.54 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 577.47 จุด ลดลง 0.84% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนี SET ปรับลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงขายเพื่อปรับฐานของดัชนีเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามา ก่อนที่ดัชนีจะปรับขึ้นในวันพุธตามทิศทางของตลาดหุ้นในภูมิภาค ประกอบกับข้อมูลผลประกอบการบริษัทในไตรมาส 1/60 ออกมาดี อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นกลับมาซึมลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ โดยนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนการประชุมเฟดที่จะมีขึ้นในวันที่ 2-3 พ.ค.

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-5 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ การประชุมผู้นำยุโรปเกี่ยวกับประเด็น Brexit และการเลือกตั้งในฝรั่งเศส ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิต และเครื่องชี้ตลาดแรงงาน อาทิ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ของญี่ปุ่นและยูโรโซน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 30 เมษายน 2560

ไทย-ฮ่องกงดันฮับค้าเอเชีย ชูอาเซียนเชื่อมต่างประเทศ 3รมต.กล่อมมาลงทุนอีอีซี

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายซี วาย เลิง ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ระหว่างนำคณะเยือนฮ่องกงเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ว่า ได้เสนอให้ฮ่องกงและไทยร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจในเชิงลึก โดยตั้งเป้าหมายให้ทั้งไทยและฮ่องกงเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นฮับด้านเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าการลงทุนของอาเซียนและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ขณะที่ฮ่องกงเองพร้อมเป็นหัวหอกหลักของนักลงทุนจีนที่ต้องการออกไปลงทุนต่างประเทศ

          นอกจากนี้ยังเสนอให้ฮ่องกงตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หรือเอชเคอีทีโอ ที่กรุงเทพฯ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีสำนักงานองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง หรือเอชเคทีดีซี อยู่แล้ว เพื่อใช้ไทยเป็นฐานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าระยะยาวในลักษณะที่ไม่ใช่การค้าแบบรายสินค้าเหมือนในอดีตอีกต่อไป

          อย่างไรก็ตามนายซี วาย เลิง ได้เสนอแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีน มี 9 มณฑลและ 2 เขตบริหารพิเศษ ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 5 ของจีนตอนใต้ รวมถึงฮ่องกงด้วย โดยจีนกำลังผลักดันแผนนี้ให้เป็นตัวเชื่อมต่อกับอาเซียน ด้วยการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ฮ่องกง-อาเซียน ขึ้น หากแผนนี้สำเร็จขณะที่ฮ่องกงตัดสินใจใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของหัวใจการค้าการลงทุน จะเกิดประโยชน์กับ 2 ประเทศ

          "เหตุผลสำคัญที่มาเยือนฮ่องกง เพราะเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเวลานี้ฮ่องกงไม่ใช่แค่ประตูการค้าการลงทุนของจีนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องนโยบายวันเบลท์วันโรดของจีน ที่ต้องการผลักดันให้นักลงทุนจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศรวมถึงไทยด้วย จากเดิมที่จีนเคยใช้ปักกิ่งเป็นตัวผลักดัน แต่กฎหมาย กฎระเบียบ ยืดหยุ่นน้อย จึงใช้ฮ่องกงเป็นฐานแทนเพราะกฎระเบียบยืดหยุ่นกว่า ทำให้บริษัท นักธุรกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในฮ่องกงกันมาก จึงเป็นสาเหตุที่มีนักลงทุนฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ดังนั้นจึงต้องสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดขึ้นให้ได้ ขณะเดียวกันยังได้หารือกับนางแครี่ แลม ว่าที่ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนใหม่ โดยถือเป็นชาติแรกที่เดินทางมาเข้าพบและชี้แจงนโยบายของไทยโดยเฉพาะการดึงนักลงทุนฮ่องกงไปลงทุนในไทย"

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้มีการจัดงานสัมมนาชักจูงการลงทุน และชี้แจงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีรมต.ไทย 3 คน คือนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงนโยบายและสถานการณ์เศรษฐกิจการลงทุนของไทยให้กับนักธุรกิจฮ่องกงกว่า 200 คน รับทราบ ซึ่งจากการรับฟังข้อมูล นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างสนใจและสอบถามเรื่องการอำนวยความสะดวกหลายเรื่อง ทั้งการเตรียมความพร้อมบุคลากร สถาบันการศึกษาที่สอนภาษาจีน และสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ

          นายสุวิทย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในอีอีซี เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการค้าการลงทุน และยังเป็นแรงผลักให้ไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่ทันสมัย เพราะตอนนี้บรรยากาศกำลังเอื้ออำนวย ทั้งการเมือง ที่เตรียมเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเข้มแข็งมากขึ้น เช่นเดียวกับด้านเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัว จึงอยากให้นักธุรกิจฮ่องกงใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน

          นายอุตตม กล่าวว่า เวลานี้ อีอีซีมีความคืบหน้า จึงหวังว่าจะมีนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะฮ่องกงเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการ เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์ อากาศยาน และสุขภาพ รวมถึงด้านการบริการ ที่ฮ่องกงเชี่ยวชาญ เช่นเดียวกับการสร้างเมืองใหม่ที่ทันสมัยรองรับนักลงทุน และจะมีสิทธิประโยชน์พิเศษที่สุดของไทยมามอบให้นักลงทุน

          นายพิเชฐ กล่าวว่า ได้เชิญชวนนักลงทุนฮ่องกงเข้ามาลงทุนด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีความพร้อมต้อนรับ เช่นเดียวกับนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ได้เชิญนักลงทุนฮ่องกงลงทุนในอีอีซี ซึ่งบีโอไอจัดเตรียมสิทธิประโยชน์พิเศษสุดไว้ให้ และยังขอให้มาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (ไอเอชคิว) เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการค้าการลงทุน โดยอาจไม่ต้องยกมาทั้งหมดเพียงแค่ตั้งเป็นศูนย์กลางขนาดเล็กในภูมิภาคเท่านั้น หรืออาจมาตั้งเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ หรือไอทีซี ก็ได้ โดยรัฐบาลก็พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ให้

          นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังได้หารือกับบริษัท ไชน่า รีซอร์สเซส โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน ที่ทำเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน ค้าปลีก และเครื่องดื่ม เพื่อชวนมาลงทุนตั้งไอเอชคิวในไทย เพื่อกระจายการลงทุนด้านต่าง ๆ ซึ่งทางเอกชนเองก็สนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะเรื่องของศูนย์กลางการบริการทางสุขภาพ ที่อาจเข้ามาตั้งสถานพยาบาลในพื้นที่อีอีซี.

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560 

50นักลงทุนฮ่องกงสนร่วมวงอีอีซี8พ.ค.นี้บินเก็บข้อมูลก่อนตัดสินใจเปิดตลาดออนไลน์ให้200สินค้าไทย 

          'อุตตม'เผย'สมคิด'นำคณะโรดโชว์ฮ่องกง 2 วัน ได้ผลดีเกินคาด 200 สินค้าไทยนำร่องเจาะตลาดออนไลน์ฮ่องกง 'เอชเคทีดีซี'พา 50 นักลงทุนดูลู่ทางลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย-อีอีซี 8 พ.ค.นี้

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างร่วมคณะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการเดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายนว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ลงนามความร่วมมือเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (เอชเคทีดีซี) เพื่อส่งเสริมและร่วมมือในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือด้าน การค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้อง โดยแนวทางการร่วมมือจะเน้นกรอบกิจกรรม 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การสร้างทักษะองค์ ความรู้ให้กับเอสเอ็มอีเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร แฟชั่น เครื่องใช้ในครัวเรือน ของขวัญ ซึ่งไทยมีจุดแข็งและสามารถจะใช้ฮ่องกงไปสู่เวทีตลาดโลกได้ 2.การพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เข้าสู่ตลาดสากลเป็นการสร้างช่องทางการค้าขายรูปแบบใหม่ซึ่งทางเอชเคทีดีซีจะเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยนำร่อง 200 ราย ขายสินค้าผ่านเว็บไซต์โดยจัดเป็นโซนสินค้าไทยให้โดยเฉพาะ

          "เอชเคทีดีซีมีเว็บไซต์ที่พร้อมจะให้ผู้ประกอบการของไทยนำสินค้าไปขายผ่านเว็บของเอชเคทีดีซีได้ จัดหมวดเฉพาะสินค้าไทย ดังนั้น ไทยจะต้องคัดเลือกก่อนว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายอะไรบ้าง จากนั้นจึงจะทราบมูลค่า การค้า ขณะเดียวกันไทยมีเป้าหมายพัฒนาเอสเอ็มอีไปสู่ 4.0 ซึ่งฮ่องกงจะใช้ไทยเป็นเกตเวย์ (ประตู) ขยายตลาดไปสู่กลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม รวมถึงไทย" นายอุตตมกล่าว

          นายอุตตมกล่าวว่า นอกจากนี้เอชเคทีดีซียังเสนอความร่วมมือสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีไทย ในลักษณะการร่วมจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนเอสเอ็มอี (จอยท์เวนเจอร์ เอสเอ็มอี ฟันด์) ซึ่งไทยเองมีรูปแบบดำเนินการเช่นนี้กับประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้น จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ การลงนามเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีลักษณะดังกล่าวได้ร่วมกับเกาหลีใต้ไปแล้ว และจะร่วมกับญี่ปุ่นเป็นลำดับต่อไป

          นายอุตตมกล่าวว่า ทั้งนี้ วันที่ 8 พฤษภาคม ทางเอชเคทีดีซีจะนำคณะนักลงทุนฮ่องกงประมาณ 50 คน ซึ่งเป็นธุรกิจประเภท โครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมสัมมนาความร่วมมือดำเนินการระหว่างรัฐและเอกชน คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และเอกชนได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยจะร่วมมือทั้งการค้าและการลงทุนร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเสนอนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการพัฒนาเอสเอ็มอี

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560 

เล็งชง 'กพช.' ไฟเขียวลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

"กฟผ." เตรียมเสนอ "กพช." ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ ยันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีความจำเป็น

 นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถึง 2,000 เมกะวัตต์ โดยในปีนี้ กฟผ.เตรียมเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลโครงการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) งบลงทุนหลายร้อยล้านบาท ใน 2 พื้นที่ คือ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับปริมาณไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้น

โดยหากจะปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 40% ตามแนวนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ เบื้องต้น กฟผ. ต้องลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถึง 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ใหม่ด้วย

"แต่ กฟผ. และกระทรวงพลังงานก็ต้องเร่งชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อจ่ายไฟเข้าระบบนั้นยังไม่มีเสถียรภาพ ขาดความแน่นอน จึงจำเป็นต้องลงทุนระบบควบคุมและระบบสำรองพลังงานด้วย ดังนั้นอาจทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6 บาทต่อหน่วย ขณะเดียวกัน กฟผ. ต้องปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มการแต่งตั้งตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านพลังงานทดแทนขึ้นมาบริหารงานโดยตรงด้วย" นายกรศิษฏ์ กล่าว

ทั้งนี้ แม้การจัดสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของเอกชนจะถูกบรรจุอยู่ในแผนพีดีพี แต่ กฟผ. อาจต้องหารือกับกระทรวงพลังงานว่าพื้นที่ใดจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องมีสายส่ง เพราะการสร้างต้องใช้งบลงทุนสูง และขัดต่อทิศทางพลังงานของไทยในอนาคต ที่มุ่งสร้างการสำรองไฟฟ้ารายภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาก็ยังมีความจำเป็น เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้จะน้อยกว่าความต้องการใช้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะให้เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือไม่

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

เอทานอลเหมาประมูลข้าวเสื่อมยกล็อต

เอกชนแห่ร่วมประมูลข้าวเสื่อมคึกคัก กลุ่มเอทานอล เหมาซื้อข้าวเสื่อม 1.03 ล้านตันยกล็อต เสนอราคา 2-3 บาท ด้าน “พาณิชย์” เตรียมชงคณะทำงานพิจารณาขายต่อไป           

นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมฯ ได้เปิดให้ยื่นซองเสนอราคาประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาล 1.03 ล้านตัน เข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคทั้งคนและสัตว์ ใน 157 คลัง 34 จังหวัด ปรากฏว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติ 21 ราย จากที่ยื่นซองคุณสมบัติ 22 ราย มายื่นเสนอราคาทั้งหมด 21 ราย เบื้องต้นพบว่า บริษัทที พี เค เอทานอล ได้ยื่นเสนอซื้อข้าวสารทุกคลังทั้ง 1.03 ล้านตัน ในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2-3 บาท มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเสนอซื้อครบทุกคลังเป็นครั้งแรก ในการเปิดขายข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยเมื่อเปิดซองหมดแล้ว หากมีการเสนอซื้อในคลังเดียวกัน ก็จะพิจารณาว่ารายใดให้ราคาสูงสุดเป็นหลัก

 “ผู้ที่เข้ามายื่นประมูล มีทั้งกลุ่มเอทานอล ไบโอแมส ไบโอแก๊ส และอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ส่วนรายที่ยื่นครบทุกคลังนั้น ยังตอบไม่ได้ว่าจะได้ข้าวหมดหรือไม่ ต้องรอดูด้วยว่ารายอื่นเสนอซื้อสูงกว่าหรือไม่ โดยจะนำผลการเปิดซองทั้งหมด เสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานระบายข้าว วันที่ 2 พ.ค. นี้ ก่อนเสนอคณะอนุกรรมการระบายข้าววันที่ 8 พ.ค. ตัดสิน และส่งให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) อนุมัติขาย แต่ทั้งนี้ราคาที่เสนอมากก.ละ 3 บาทนั้น ถือว่าน่าพอใจ เมื่อเทียบกับวัตถุดิบอื่นที่อุตสาหกรรมใช้ในการผลิต แต่ต้องรอคณะทำงานฯ พิจาณาก่อน โดยเทียบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดเก็บสต๊อกข้าว และระบบตลาดในภาพรวม พร้อมทั้ง ยืนยันว่าจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้ข้าวเสื่อมสภาพ รั่วไหลเข้าสู่ข้าวระบบปกติอย่างเต็มที่”

 ทั้งนี้ หากอนุมัติขายข้าวเสื่อมได้ทั้ง  1.03 ล้านตัน จะทำให้มีข้าวสารในสต๊อกเหลืออยู่  4 ล้านตัน เป็นข้าวกลุ่ม 1 หรือข้าวที่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป 1.72 ล้านตัน ซึ่งกำหนดจะเปิดประมูลอีกครั้งในเดือนพ.ค.นี้ และข้าวกลุ่ม 2 หรือข้าวที่เปิดประมูลเข้าอุตสาหกรรมไม่ใช่การบริโภคของคน 2.15 ล้านตัน ที่มีแผนจะเปิดประมูลเดือนมิ.ย.นี้ และมั่นใจว่า ภายในปีนี้จะระบายข้าวสารสต๊อกรัฐบาลได้หมด แต่หากไม่หมด หรือเหลือ 1-2 ล้านตัน ก็ไม่น่ากังวลแล้ว เพราะสามารถเก็บเป็นสต๊อกเพื่อความมั่นคงได้ โดยที่ไม่มีแรงกดดันต่อราคาข้าวในตลาด

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

รัฐปัดฝุ่นโปรเจกต์ 1.7 ล้านล้าน“โขง-เลย-ชี-มูล” ปลุกแหล่งน้ำอีสานสู่ความยั่งยืน

            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดของประเทศ คือ 69.91 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดเพียง 8.06 ล้านไร่ หรือร้อยละ 11.53 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่อีกกว่า 60 ล้านไร่ ยังต้องอาศัย “น้ำฝน” ทำให้ขาดความมั่นคงในเรื่องน้ำ อีกทั้งในฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วม และในฤดูแล้งก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำซ้ำซาก เกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี

             จึงไม่แปลกที่ผลผลิตข้าวนาปีเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ค่อนข้างต่ำ เพียงประมาณ 360 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ชลประทานในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะกลางมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยสูงถึงไร่ละ 1,000 กิโลกรัม ดังนั้นเกษตรกรในภาคอีสานจึงมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำเพียง 87,486 บาท/ครัวเรือน/ปี ต่ำกว่าเกษตรกรภูมิภาคอื่นๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 148,437 บาท/ครัวเรือน/ปี ประชากรในภาคอีสานจึงมีคนยากจนมากที่สุดถึง 1.93 ล้านคน และยังมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นทะเลทรายมากถึงประมาณ 9 ล้านไร่อีกด้วย

           อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในภาคอีสานนั้น ไม่น่าจะแห้งแล้งเพราะมีฝนตกเฉลี่ยไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ เลยคือ  ประมาณ 1,300 มิลลิเมตร/ปี แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ทำให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อย พื้นที่ที่เหมาะสมจะอยู่บริเวณต้นน้ำด้านทิศตะวันตกกลับมีฝนตกน้อย และยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงค่อนข้างนานอีกด้วย ในขณะที่ด้านทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำโขงเป็นที่ราบลุ่มกลับมีฝนตกชุก แต่กลับมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อยมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม

           ความไม่สมดุลของการกระจายตัวของฝนและลักษณะภูมิประเทศ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคอีสานแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้พื้นที่ป่าของภาคอีสานที่มีค่อนข้างน้อย ทำให้ปริมาณน้ำที่ซึมซับอยู่ใต้ดินก็มีน้อย เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้พื้นดินมีความแห้งแล้งมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งและปลายฤดูฝน

              ส่วนข้อดีของภาคอีสานนั้นคือ มีศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ค่อนข้างพร้อม คือ มีประชากรมากถึงร้อยละ 33 ของประเทศ และส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีแรงงานภาคเกษตร ร้อยละ 50 ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรดิน คือ มีพื้นที่ถือครองการเกษตรมากถึงร้อยละ 43 ของประเทศ ดังนั้น หากสามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง “น้ำ” ก็จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานได้ ความมั่นคงในอาชีพการเกษตร ฐานะทางด้านเศรษฐกิจของเกษตรกรจะเกิดขึ้นทันที เพราะจะทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้เต็มศักยภาพจากปัจจุบันที่ใช้ที่ดินทำการเกษตรได้เฉพาะในช่วงฤดูฝน 4-5 เดือนเท่านั้น และยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอีกด้วย

              แต่การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำน้อยแล้ว ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างในการที่จะพัฒนาของสังคม ทำให้โอกาสในการพัฒนาโครงการแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่ทำได้เพียงแหล่งน้ำขนาดเล็ก อย่างเช่น แก้มลิง ฝาย ซึ่งก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

               ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการก่อสร้างแก้มลิงในลำน้ำสาขาของแม่น้ำเลย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยระบุว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในทุกพื้นที่ การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในภาคอีสานนั้นว่า มีแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการพิจารณานำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก เช่น แก้มลิง ฝาย ประตูระบายน้ำ เป็นต้น เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติและดำเนินการก่อสร้างแก้มลิง จำนวน 30 แห่ง ใน 5 จังหวัดในลุ่มน้ำโขง-อีสาน เสร็จเรียบร้อยแล้ว

                อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นคงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาว มีโครงการที่สำคัญๆ และมีความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรม ได้แก่ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานกำลังการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการทั้งด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมในภาพรวม พร้อมทั้งมีการจัดทำแบบจำลองทางกายภาพของโครงการขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ศึกษาในรายละเอียดเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า จะสามารถส่งน้ำให้ไหลผ่านทางอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่และมีความยาวได้ โดยจะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงด้วย

              “โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เป็นการผสมผสานแนวคิดเดิมและเสนอแนวคิดใหม่ในการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำให้เป็นระบบ โดยใช้หลักการพัฒนาแบบองค์รวมเชื่อมโยงกันระหว่างโครงการที่พัฒนาแล้วกับโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จรวบยอด เกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้งภาคอีสาน ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้าจากการมีน้ำใช้หล่อเลี้ยงชีวิตให้อุดมสมบูรณ์และมีโอกาส มีทางเลือกหลากหลายในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขสมบูรณ์”  ดร.สมเกียรติกล่าวยืนยัน

                สำหรับการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล  โดยแรงโน้มถ่วงนั้น หากจะพัฒนาให้เต็มศักยภาพก็จะมีการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำ สายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,084 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมถึง 20 จังหวัด 281 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานได้ 33.50 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 21.78 ล้านไร่ และพื้นที่ส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำอีก 11.72 ล้านไร่ ปริมาณน้ำที่จะส่งในฤดูฝนประมาณ 22,274 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และในฤดูแล้งประมาณ 10,260 ล้าน ลบ.ม.

               อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานนั้น จะดำเนินการพัฒนาโครงการในระยะที่ 1 ก่อน โดยจะสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจำนวน 1 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 2 สาย ระยะทางรวม 244 กิโลเมตร  เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 6 จังหวัด 22 อำเภอ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานได้ 1.69 ล้านไร่  โดยแบ่งเป็นส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง 0.94 ล้านไร่ และส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำ 0.75 ล้านไร่ ปริมาณน้ำส่งในฤดูฝน 1,669 ล้าน ลบ.ม.  และปริมาณน้ำส่งในฤดูแล้ง 1,259 ล้าน ลบ.ม.

             ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวถึงแม้จะต้องใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 1.785 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับแล้วถือว่าคุ้มค่า เพราะจะสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 32,534 ล้านลบ.ม. หรือเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่เต็มความจุ 3 เขื่อน ซึ่งสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนและสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสานได้อย่างเบ็ดเสร็จ

            สำหรับผลกระทบต่อแม่น้ำโขงนั้น รองอธิบดีกรมชลประทานระบุว่ามีน้อยมาก เพราะเป็นการนำน้ำจากแม่น้ำภายในประเทศมาใช้ประโยชน์ ไม่ได้นำน้ำจากแม่น้ำโขงโดยตรง และหากโครงการนี้พัฒนาเต็มศักยภาพจะทำให้แม่น้ำโขงลดลงไม่ถึง 25 เซนติเมตร

            รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิประเทศบริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย โดยจะทำการปรับปรุงปากแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ และขุดเจาะปากทางเข้าอุโมงค์ส่งน้ำ พร้อมก่อสร้างอาคารชลประทานพร้อมระบบกระจายน้ำ เพื่อกระจายน้ำให้แก่พื้นที่ต่างๆ และนำส่วนที่เหลือน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี

             นอกจากนี้ ผลศึกษายังได้เสนอให้มีการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อยกระดับน้ำให้ไหลไปตามลำน้ำเลยเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถเก็บกักตามลำน้ำได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อให้พื้นที่สองฝั่งลำน้ำเลยมีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ยังเสนอให้มีการพัฒนาระบบชลประทานด้วยการสูบน้ำ ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรได้อีกประมาณ 66,905 ไร่ ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณบ้านธาตุ อ.เชียงคาน ขึ้นไปจนถึงตัวอำเภอเมืองเลยด้วย

             ผลจากการพัฒนาตามโครงการนี้จะทำให้อีสานมีคลองชลประทานขนาดใหญ่เพิ่มอีก 6 สายที่วางตัวอยู่บนขอบเนินที่สูง มีน้ำไหลตลอดปี และเป็นการฟื้นชีวิตลำน้ำธรรมชาติเกือบทุกสายในภาคอีสาน โดยเฉพาะลุ่มน้ำมูล  ลุ่มน้ำชี  และพื้นที่ลุ่มน้ำเลยจุดเริ่มต้นของโครงการ

              9Nอีสานจะเขียวขจีทั่วทุกพื้นที่ ความเป็นอยู่ที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 สรุปโครงการศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล

การพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพ

1.สร้างอุโมงค์น้ำจำนวน 17 แถว คลองส่งน้ำสายหลัก 6 สาย ระยะทางรวม 2,084 กม.

2.พื้นที่รับประโยชน์ 20 จังหวัด 281 อำเภอ

3.พื้นที่ส่งน้ำชลประทานสุทธิ 33.50 ล้านไร่

4.ส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วง 21.78 ล้านไร่ และส่งน้ำด้วยระบบสูบน้ำ 11.72 ล้านไร่

5.เติมน้ำในเขื่อนต่างๆ รวม 1.062 ลบ.ม./ปี สามารถช่วยพื้นที่ชลประทานเดิม 802,728 ไร่

6.ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในฤดูฝน 22,274 ล้านลบ.ม. และปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในฤดูแล้ง 10,260 ล้านลบ.ม.

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

สศก.แนะเกษตรกรคำนวณต้นทุนการผลิตผ่านแอพกระดานเศรษฐี ตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0

ศกอ. มหาสารคาม ดึงเทคโนโลยีกระดานเศรษฐี สู่เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มรายได้และช่องทางการผลิต

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ร่วมขับเคลื่อน ศพก. พื้นที่ อำเภอกุดรัง และอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม นำร่องตัวแทนเศรษฐกิจการเกษตรอาสาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การคำนวณต้นทุนการผลิตผ่านแอปพลิเคชั่นกระดานเศรษฐี ด้านเกษตรกรให้ความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ในการเลือกผลิตสินค้าเกษตรที่ได้ผลกำไรดี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

           นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ในการวิทยากรถ่ายทอดความรู้ “การคำนวณต้นทุนการผลิตผ่านกระดานเศรษฐี” ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ณ ศาลาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยนายเสาร์ มาชดา  ซึ่งเป็นตัวแทน ศกอ. อำเภอ    กุดรัง และ นายทองสัย โสไกสี ตัวแทน ศกอ. อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกร   เป็นอย่างมาก เนื่องจากทำให้เกษตรกรสามารถคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรได้ด้วยตนเอง สามารถทราบได้ว่า พื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืชชนิดนั้นหรือไม่ และถ้าไม่เหมาะสมจะสามารถปลูกพืชชนิดใดแทน รวมถึงทราบแหล่งรับซื้อ ราคาที่รับซื้อผลผลิตด้วย นำไปใช้ประโยชน์ในการเลือกผลิตสินค้าเกษตรที่ได้ผลกำไรดี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

               จังหวัดมหาสารคาม อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) ซึ่งดูแลรับผิดชอบ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) ปัจจุบันมีเศรษฐกิจการเกษตรอาสาปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้งสิ้น 77 ราย ทำหน้าที่รายงานราคาสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์และรายงานภาวะการผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนให้กับ สศก. พร้อมทั้งเป็นวิทยากรประจำศูนย์ ศพก.        ทุกอำเภอ และปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายตามภารกิจและงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้พัฒนาศักยภาพของศกอ. เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นตัวแทนถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

                 สำหรับปี 2560 สศก. ได้จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ ศกอ. ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ดำเนินการอบรม ศกอ. เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดอุดรธานี โดยเน้นเพิ่มเติมความรู้ในการคำนวณต้นทุนการผลิตผ่านกระดานเศรษฐี  ด้านการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล เพื่อกระตุ้นให้ ศกอ. ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้เครือข่ายเกษตรกรผ่าน ศพก. และสามารถกระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้แก่เกษตรกรเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วโดยผ่านแอปพลิเคชั่นกระดานเศรษฐี เกษตรกรมีโอกาส หรือ OAE RCMO บน Smart Phone เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยสู่    ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

มธ.โชว์ “สมาร์ทฟาร์มคิท”นวัตกรรมที่เกษตรกรไทยทุกคนเข้าถึงได้ ด้วยต้นทุนต่ำสุดเพียง 1,000 บาท

                 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว “สมาร์ทฟาร์มคิท” ชุดอุปกรณ์ควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ เสริมแกร่งเกษตรกรไทยยุค 4.0 รับภัยแล้ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ 1) ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ การสั่งเปิด-ปิดระบบรดน้ำพืชผลในแปลงเกษตร พร้อมตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำได้ตามต้องการ 2) ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ การตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นในดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3) ระบบสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน การติดตามผล พร้อมสั่งรดน้ำและให้ปุ๋ยแก่พืชตามต้องการ ทั้งนี้ สมาร์ทฟาร์มคิท ช่วยควบคุมปริมาณการใช้น้ำตามเวลาที่กำหนดทำให้ช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า  3 เท่า และยังถือเป็นการกระจายองค์ความรู้นวัตกรรมเพื่อประยุกต์ใช้จริงในการเกษตรด้วยต้นทุนที่ต่ำที่เกษตรกรเข้าถึงได้ โดยเกษตรกรสามารถหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบเองได้ในงบประมาณเริ่มต้น 1,000 บาท สามารถใช้กับพื้นที่แปลงเกษตรขนาด 1 ตารางกิโลเมตร หรือ 625 ไร่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในแปลงเกษตร

                รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า “ช่วงน้ำแล้ง” ถือเป็นมหันตภัยร้ายของเกษตรกรไทยที่จะต้องประสบในทุกๆ ปี เนื่องจากเมื่ออยู่ในภาวะน้ำแล้ง การสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เกษตรกรไทยยุคใหม่ จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ สู่ “เกษตรกรไทย 4.0” ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนยีเข้ากับวิถีการเกษตรได้อย่างชาญฉลาด อีกทั้งยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการขจัดปัญหาการสูญเสียทรัพยากรต่างๆ โดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่นวัตกรรมใหม่ที่เอื้อประโยชน์แก่สังคม จึงได้วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ “สมาร์ทฟาร์มคิท” ชุดอุปกรณ์ควบคุมระบบรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ เพื่อเสริมแกร่งเกษตรกรไทยผ่านการกระจายองค์ความรู้ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการเกษตร อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”

                รศ.ดร. สุเพชร จิรขจรกุล สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า จากการเล็งเห็นถึงปัญหาของระบบการจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งของเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ที่จะต้องสูญเสียเวลา และค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการจัดการต่างๆ เพื่อบำรุงดินและผลผลิตทางการเกษตร คณาจารย์ในทีมวิจัยฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ “สมาร์ทฟาร์มคิท (Smart Farm Kit)” ระบบควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ ที่เกษตรกรไทยยุค 4.0 สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกษตรของตนได้ เพื่อเป็นการลดความสูญเสียดังกล่าว ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างทีมนักวิจัยใน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน และเทคโนโลยีการเกษตรเข้าด้วยกัน โดยระบบสมาร์ทฟาร์มคิททำให้ระบบมีการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงสามารถช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า

            รศ.ดร. สุเพชร กล่าวต่อว่า สำหรับชุดอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มคิท เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 อุปกรณ์ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

•ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ โดยภายในจะมีบอร์ดไมโครคอนโทลเลอร์ที่ช่วยควบคุมอุปกรณ์เปิด-ปิดไฟฟ้า (Relay) ที่ทำหน้าที่เปิดปิดวงจรไฟฟ้าในชนิดเดียวกับสวิตซ์ไฟฟ้า โดยจะสามารถสั่งเปิด-ปิดปั๊มน้ำ สำหรับรดน้ำผักในแปลงเกษตรได้ อีกทั้งยังสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำได้ตามความต้องการของชนิดพืช ยกตัวอย่างเช่น สั่งเปิดระบบไฟฟ้าของปั๊มน้ำทุกๆ 8.00 น. โดยรดน้ำเป็นเวลา 5 นาที เป็นต้น ทำให้ช่วยลดความกังวลที่เกษตรกรต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน ไม่มีเวลาดูแลรดน้ำพืชผล ก็ให้ใช้อุปกรณ์รดน้ำอัตโนมัติช่วยควบคุมการรดน้ำได้

•ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ จะเป็นการตรวจวัดปัจจัยสภาพแวดล้อมของแปลงเกษตรใน 2 รูปแบบ คือ 1) การตรวจวัดอุณหภูมิ ในกรณีที่สภาพแวดล้อมของแปลงมีอุณหภูมิเกินที่กำหนด เช่น อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศา ระบบจะทำการสั่งเปิดปั๊มน้ำเป็นระบบน้ำหยด หรือ สปริงเกลอร์ จนกว่าอุณหภูมิจะลดระดับ 2) การวัดความชื้นในดิน ในกรณีที่ตรวจพบความชื้นในอากาศต่ำกว่าที่กำหนด เช่น ความชื้นในดินที่ต่ำกว่า 50% ระบบก็จะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติ

•ระบบสั่งการและแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน จะเป็นการส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมแสดงผลสภาพอากาศบริเวณพื้นที่แปลงเกษตร ผ่านระบบ Line Notify บนสมาร์ทโฟนของเกษตรกร เช่น อุณหภูมิที่ร้อน ความชื้นในดินที่แล้ง และปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง ฯลฯ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดเวลาของเกษตรในการควบคุมและสั่งเปิด-ปิดระบบรดน้ำปุ๋ย รวมถึงน้ำสมุนไพรสำหรับป้องกันแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนหาแนวทางการป้องกันและกำจัดโรคให้ทันท่วงที เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร

                ทั้งนี้ สมาร์ทฟาร์มคิท ถือเป็นการกระจายองค์ความรู้นวัตกรรม เพื่อประยุกต์ใช้จริงในการเกษตรด้วยต้นทุนต่ำที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ โดยสามารถหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบเองได้ในงบประมาณ 1,000 บาท หรือหากในกรณีที่เกษตรกรไม่มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีพื้นฐาน สามารถขอคำแนะนำ และเข้ามาศึกษาดูงานที่แปลงสาธิตเกษตรฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มคิท 1 ชุด สามารถใช้กับพื้นที่แปลงเกษตรขนาด 1 ตารางกิโลเมตร หรือ 625 ไร่ ซึ่งโดยปกติหากเกษตรต้องการติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ พร้อมติดตามผลสภาพอากาศของพื้นที่เกษตร อาจจะมีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์และค่าดำเนินการติดตั้งราคาสูง   ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่สนใจชุดอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มคิท สามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอดูงานที่แปลงสาธิตเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต และให้คำแนะนำการเลือกซื้อและการใช้งานอุปกรณ์ได้ฟรีเช่นกัน รศ.ดร. สุเพชร กล่าว

                ดังนั้น การที่เกษตรกรไทย จะก้าวสู่เกษตรกร ยุค 4.0 จึงไม่ใช่แค่ความฝัน เพราะในปัจจุบันเกษตรกรไทยมีความใกล้ชิดกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เป็นอย่างมาก จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมให้ในหลายภาคส่วนนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ หากแต่เกษตรกรในบางกลุ่ม ยังมีข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีดังกล่าว เข้ามาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีการทำการเกษตร ซึ่งหากเกษตรกรมีความกระตือรือร้นเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่เกษตรของตนได้อย่างหลากหลาย นับตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ทีมคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รวมตัวกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรยุค 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยียืดอายุ พร้อมคงความสดให้กับอาหาร จากแปลงเกษตรไปสู่ตลาดรับซื้อ ที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการแปรรูปอาหารหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่ตลาดใหม่หรือตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รศ.ดร. สุเพชร กล่าวทิ้งท้าย

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4482 (สาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน) และ 02-564-4488 (สาขาเทคโนโลยีการเกษตร) หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

บาทเปิดตลาด34.57 บาทต่อดอลล่าร์ อ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 34.57 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มอ่อนค่าหลังยังมีเงินไหลออก มองกรอบวันนี้ 34.50-34.70 บาทต่อดอลล่าร์ นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ. 34.57 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 34.61 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้อีกเล็กน้อย หลังจากที่อ่อนค่าติดต่อกันมาตลอดตั้งแต่ต้นสัปดาห์ จากปัจจัยของ Seasonal Effect โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทญี่ปุ่นเมื่อปิดรอบบัญชีในช่วงไตรมาสแรกไปแล้ว ก็มีการนำเงินกลับประเทศ จึงทำให้เกิด out flow แต่เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบให้เงินบาทอ่อนค่าไปรุนแรงมากนักนักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

ถกแผนพัฒนาพลังงานทดแทน เร่งสร้างความมั่นคงภาคการผลิต

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าวันที่ 29 เมษายนนี้ กระทรวงพลังงานจะหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ประเทศไทย(กฟผ.)ถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนนำร่องพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อผลักดันให้พลังงานทดแทนกลายเป็นพลังงานที่พึ่งพาได้และมีเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้า (เฟิร์ม) ในอนาคตโดยอาจใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (เอ็นเนอร์จีสตอเรจ) ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วย

ขณะเดียวกันกฟผ.จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับหน่วยงานผลิตไฟฟ้าของประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วที่ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าต้องการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทใด แต่อย่างไรก็ตาม ปกติการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในต่างประเทศจะทำเป็นสัญญาระยะยาว (พีพีเอ) เช่นเดียวกับที่ไทยดำเนินการอยู่แล้ว

“ตอนนี้ต้องยอมรับว่าจุดอ่อนของพลังงานทดแทนคือความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ส่วนกรณีความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่อาจต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบล่าช้ากว่าแผนยังต้องรอประเมินสถานการณ์จริงอีกระยะก่อนพิจารณาว่าจะปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) หรือไม่”นายอารีพงศ์ กล่าว

กระทรวงยังมีแผนในการใช้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์ รูฟท็อป เฟส 2 เพื่อแก้ปัญหาความต้องการใช้ไฟฟ้าเกินกว่ากำลังการผลิตด้วย โดยให้บ้านเรือนในพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑลผลิตไฟฟ้าและขายเข้าระบบ ซึ่งภาครัฐมีแผนที่จะรับซื้อมากกว่า 300 เมกะวัตต์ แต่เบื้องต้นต้องรอผลการประเมินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อนจัดทำแผนงานอีกครั้ง

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานกล่าวถึงการซ้อมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อรองรับกรณีเกิดเหตุวิกฤติด้านพลังงานและช่วยให้ไทยผ่านพ้นวิกฤติพลังงานในระยะสั้น เช่น ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ที่จะหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ-เอ18) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักของภาคใต้ ขณะที่แผนการแก้ปัญหาระยะยาว กระทรวงก็ได้เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับการนำเข้าและกักเก็บพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึงกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

สภาเกษตรกรแห่งชาติ เสนอยกเลิกการผลิต นำเข้า และการใช้ สารเคมี “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเสต” ชี้อันตรายต่อเกษตรกร และผู้บริโภค

 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยอันตรายจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ,คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต เห็นว่าเป็นสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อเกษตรกร และผู้บริโภค รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยพาราควอตมีฤทธิ์กัดผิวผนังและเนื้อเยื่อส่งผลทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย สามารถก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันถึงขั้นไตวาย ตับวาย ปอดวาย และเสียชีวิต โดยยังไม่มียาถอนพิษ ขณะนี้มี 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว

ส่วนคลอร์ไพริฟอส ซึ่งใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมถึงการใช้ในบ้านเรือนเพื่อกำจัดมด ปลวก เห็บ แมลงสาบ จะก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัว แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเสีย จนถึงขั้นหมดสติและหยุดหายใจ รวมทั้งมีผลทำให้เกิดความผิดปกติด้านการพัฒนาสมอง ทำให้ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น หลายประเทศห้ามใช้ในบ้านเรือน ผักและผลไม้ ขณะที่ไกลโฟเสต จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อดีเอ็นเออันเป็นสาเหตุของการกลายพันธุ์ เป็นอันตรายต่อเซลสืบพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อน สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ องค์การอนามัยโลก ระบุเป็นสารที่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ความหลากหลายของสัตว์และสมดุลในธรรมชาติสูญเสียไป

สำหรับเมืองไทยล่าสุดคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ในคราวการประชุม ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ณ กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 และให้จำกัดการใช้ไกลโฟเสตอย่างเข้มงวด สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ประชุมพิจารณาหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 และมีมติขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งพิจารณาศึกษาหาสารทดแทนและยกเลิกการผลิต นำเข้า และการใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดยเร็ว

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

เกษตรฯ เดินหน้านาแปลงใหญ่ ปี’60 ได้แล้ว 1,175 แปลง พื้นที่ 1,791,632 ไร่

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรและแผนปฏิบัติงานเกษตรอินทรีย์ พร้อมพบปะเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ จ.ปทุมธานี ว่า เพื่อติดตามการดำเนินงานในเรื่องข้าวครบวงจรและนาแปลงใหญ่และเกษตรอินทรีย์ โดยร่วมประชุมติดตามร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรับทราบรายงานการปฏิบัติการผลิตข้าวครบวงจรและนาแปลงใหญ่

โดยการดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การพิจารณาเข้าร่วมเพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้น โดยปรับแก้เกณฑ์การเข้าร่วมจากการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างน้อย 50 รายและพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างน้อย 30 ราย และพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไป โดยเกณฑ์การพิจารณาในส่วนของการรวมกลุ่มให้เน้นการรวมกลุ่มที่มีการแบ่งหน้าที่ในด้านต่างๆ เช่น ด้านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ศัตรูพืช (อารักขาพืช) และด้านเครื่องจักรกลการเกษตร

หากพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri Map ให้พิจารณาว่าสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวได้หรือไม่ มีน้ำเหมาะสมต่อการปลูกข้าวหรือสามารถจัดหาแหล่งน้ำที่เพียงพอได้ และให้กลุ่มเกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครได้เอง โดยมีวิธีการรับสมัคร คือ จัดทำใบสมัครเข้าร่วมแปลงใหญ่ที่มีข้อมูลพื้นฐานกลุ่มเกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูก เพิ่มสถานที่รับสมัครที่สำนักส่งเสริมการผลิตข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยข้าว และสำนักงานเกษตรอำเภอ โดยมีขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติที่สะดวกและรวดเร็วจึงให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command : SC) และแจ้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทราบ ซึ่งการดำเนินการส่วนนี้แล้วเสร็จตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา

ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ผลการดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ในปี 2560 ขณะนี้มีจำนวน 1,175 แปลง พื้นที่ 1,791,632 ไร่ แบ่งเป็นแปลงต่อเนื่องจำนวน 425 แปลง พื้นที่ 1,046,895 ไร่ และแปลงใหม่ จำนวน 750 แปลง พื้นที่ 744,737 ไร่

โดยในส่วนของจ.ปทุมธานี มีการดำเนินการนาแปลงใหญ่ 10 แปลง โดยเป็นแปลงต่อเนื่อง จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 20,848.50 ไร่ เกษตรกร 933 ราย และมีแปลงใหญ่ตามหลักเกณฑ์ใหม่จำนวน 4 แปลง พื้นที่ 3,881 ไร่ เกษตรกร 147 ราย โดยมีการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยการลดต้นทุนการผลิตในการผลิตปัจจัยการผลิตใช้เอง เพิ่มผลผลิตจากการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ เพิ่มสมรรถนะในการบริหารจัดการการผลิตแบบครบวงจร และการจัดการด้านการตลาด

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

มก. ร่วมมือเอกชนพัฒนา อุตสาหกรรมอ้อย -น้ำตาลครบวงจร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ กลุ่ม KTIS โดยบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด  บริษัทผู้นำการผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาวิชาการ สร้างความมั่นคงด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างครบวงจร โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย ศ.ดร.สุภา หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และคณะผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน

สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนั้น ทางคณะวิทยาศาสตร์ มก. และกลุ่ม KTIS จะร่วมกันพัฒนาวิชาการด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมถึงร่วมมือกันในการพัฒนาบุคลากร สนับสนุนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ข้อมูล และองค์ความรู้เชิงวิชาการ ตลอดจนกลุ่ม KTIS โดยบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด จะสนับสนุนทุนวิจัย งบประมาณ และวัสดุ อุปกรณ์ หรือสิ่งก่อสร้างในการดำเนินงานร่วมวิจัยและพัฒนา รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านบุคลากรในการดำเนินการวิจัย ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีระยะเวลา 3 ปี

โดยก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำโครงการและงานวิจัยกับกลุ่ม KTIS ผ่านคณะอุตสาหกรรม คณะเกษตร คณะเกษตร กำแพงแสน อาทิ การปรับปรุงคุณภาพของอินทรียวัตถุและแร่ธาตุในน้ำกากส่า (Vinasse) ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ การปรับปรุงพันธ์อ้อยและการใช้ประโยชน์น้ำเสีย การฝึกอบรมให้ความรู้พนักงานและชาวไร่อ้อย เกี่ยวกับแมลงศัตรูอ้อยและการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูอ้อยโดยชีววิธี การจัดการปุ๋ยและในไร่อ้อย การใช้ประโยชน์จากข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในการประเมินผลผลิตอ้อย

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

รื้อยุทธศาสตร์กฟผ. รุกพลังงานทดแทน

พลังงานนัด กฟผ.ปรับยุทธศาสตร์ 29 เม.ย.นี้ มุ่งพลังงานทดแทนตามทิศทางโลก หวังสร้างความมั่นคง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ กระทรวงพลังงานเตรียมหารือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแนวทางการปรับยุทธศาสตร์องค์กรให้สอดคล้องกับทิศทางของ โลก โดยจะจัดทำแผนนำร่องพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อผลักดันให้พลังงานทดแทนกลายเป็นพลังงานที่พึ่งพาได้และมีเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้า (เฟิร์ม) ในอนาคตโดยอาจใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (เอนเนอร์จี สตอเรจ) ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วย

ทั้งนี้ กฟผ.จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับหน่วยงานผลิตไฟฟ้าของประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกว่าต้องการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทใดซึ่งการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในต่างประเทศจะทำเป็นสัญญาระยะยาว (พีพีเอ) เช่นเดียวกับที่ไทย ดำเนินการอยู่แล้ว

"คงต้องมีการวางแผนคร่าวๆ ว่าจะพัฒนาพลังงานประเภทใดในระดับเท่าไร เช่น ชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ต้องมีการประมวลข้อมูลในทุกๆ ด้าน และต้องมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เพราะตอนนี้ต้องยอมรับเลยว่าจุดอ่อนของพลังงานทดแทนคือยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ค่อนข้างสูง" นายอารีพงศ์ กล่าว

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานราชการ (โซลาร์ รูฟท็อป) ขณะนี้มีเพียงองค์การทหารผ่านศึก เป็นหน่วยงานของส่วนราชการที่สามารถดำเนินโครงการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จึงรับซื้อไฟฟ้าได้เพียง 100 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 400 เมกะวัตต์ โดย โควตาที่เหลือ 300 เมกะวัตต์ จะนำไปรวมเป็นโควตาพลังงานทดแทนที่จะเปิดรับซื้อใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด....

นายอารีพงศ์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่เปิดให้ลงทะเบียน ซึ่งมีแผนลดราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ด้วยนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้สรุปรายละเอียดและแนวทางออกมาคงต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเร็วๆ นี้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

เกษตรไทย อินเตอร์ฯ มั่นใจปี 60 รายได้พุ่งได้อีก 30%   

           กลุ่ม “เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น” เปิดข้อมูลหลังปิดหีบอ้อย ผลงานดีเกินคาด มีอ้อยเข้าหีบถึง 8.7 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสูงกว่าปีก่อนถึง 1.2 ล้านตัน ขณะที่อ้อยทั่วประเทศมีน้อยกว่าปีก่อน เหตุคุณภาพอ้อยดีขึ้น ทำให้ผลิตน้ำตาลทรายได้มากกว่าปีก่อน 2.2 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มขึ้นถึง 30% ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลก็เปิดขายไฟได้ครบทั้ง 3 โรงแล้ว มั่นใจผลการดำเนินงานปี 60 พุ่ง ผลดีจากปริมาณ และราคาน้ำตาลสูงขึ้นมาก

               นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า หลังจากปิดการหีบอ้อยของปีการผลิต 2559/60 แล้ว พบว่าโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง สามารถผลิตหีบอ้อยได้รวมประมาณ 8.7 ล้านตัน สามารถผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ประมาณ 9.4 ล้านกระสอบ เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูการผลิตปี 2558/59 แล้วปรากฏว่า ได้ปริมาณอ้อยมากกว่าปีก่อน 1.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 16% และสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากกว่าปีก่อน 2.2 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มขึ้นถึง 30%

                 ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยของกลุ่ม KTIS ที่เติบโตขึ้นอย่างมากนี้ สวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่มีปริมาณอ้อยลดลง โดยปีการผลิต 2559/60 มีอ้อยทั้งประเทศ 92.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน ซึ่งมีปริมาณอ้อยรวม 94.0 ล้านตัน

               “ผลผลิตอ้อย และน้ำตาลทรายของเราในฤดูหีบนี้น่าพอใจมาก จากปีก่อนซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง เราได้อ้อยประมาณ 7.5 ล้านตัน โดยตั้งเป้าไว้ว่า ปีนี้จะทำให้ได้ 8.2-8.5 ล้านตัน ซึ่งก็สามารถทำได้ทะลุเป้า และที่น่าดีใจไปกว่านั้นก็คือ ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงถึงประมาณ 108 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลถึง 9.4 ล้านกระสอบ อันแสดงถึงคุณภาพอ้อยของเราที่ดีขึ้นมาก”

               โดยจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ในปี 2560 จะทำให้ผลประกอบการของสายธุรกิจน้ำตาลทรายดีขึ้นอย่างมาก ทั้งจากปริมาณที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่สูงขึ้นมากด้วย นอกจากนี้ จะส่งผลดีไปถึงสายธุรกิจอื่นๆ ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย บรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย 100% และโรงงานผลิตเอทานอล ก็จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2560 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

               นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวถึงสายธุรกิจโรงไฟฟ้าของกลุ่ม KTIS ว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลทั้ง 3 โรง มีการรับรู้รายได้ครบถ้วนแล้ว ทั้งโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ (KTBP) ไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ (TEP) ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และรวมผลไบโอเพาเวอร์ (RPBP) ที่ จ.นครสวรรค์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรงนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิต และอีกส่วนหนึ่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

               “ต้องขอบคุณพนักงานทุกฝ่ายทุกส่วนของกลุ่ม KTIS ที่ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะฝ่ายไร่ที่เกาะติดอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย และลงไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องพันธุ์อ้อย มาจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวที่พยายามจะให้ได้อ้อยที่สะอาด และมีคุณภาพดีที่สุด ในขณะที่ฝ่ายโรงจักรก็ดูแลเครื่องจักรต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้เครื่องจักรทำงานได้เต็มศักยภาพ ผลงานที่ทำได้เกินเป้านี้ต้องนับเป็นความสำเร็จของทุกคน” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560 

KTIS สดใสจากราคาน้ำตาล-ไฟฟ้า

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง สามารถหีบอ้อยได้รวมประมาณ 8.7 ล้านตัน ในปีการผลิต 2559/2560 ผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ประมาณ 9.4 ล้านกระสอบ ปริมาณหีบอ้อยมากกว่าปีก่อน 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 16% และสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากกว่าปีก่อน 2.2 ล้านกระสอบ พิ่มขึ้นถึง 30%

ปริมาณอ้อยของกลุ่ม KTIS ที่เติบโตขึ้นอย่างมากนี้ สวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่มีปริมาณอ้อยลดลง โดยปีการผลิต 2559/60 มีอ้อยทั้งประเทศ 92.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีปริมาณอ้อยรวม 94.0 ล้านตัน

“เราพอใจผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย มาก จากปีก่อนซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง เราได้อ้อยประมาณ 7.5 ล้านตัน โดยตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะทำให้ได้ 8.2 - 8.5 ล้านตัน ทำได้ทะลุเป้า และ ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงถึงประมาณ 108 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลถึง 9.4 ล้านกระสอบ แสดงถึงคุณภาพอ้อยของเราที่ดีขึ้นมาก” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

 สำหรับผลการดำเนินงานในปี2560 สายธุรกิจน้ำตาลทรายดีขึ้นอย่างมาก ทั้งจากปริมาณที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่สูงขึ้นมาก นอกจากนี้ จะส่งผลดีไปถึงสายธุรกิจอื่นๆ ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย บรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย 100% และโรงงานผลิตเอทานอล ก็จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2560 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

 นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวถึงสายธุรกิจโรงไฟฟ้าของกลุ่ม KTIS ว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลทั้ง 3 โรง มีการรับรู้รายได้ครบถ้วนแล้ว ทั้งโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ (KTBP) ไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ (TEP) ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และรวมผลไบโอเพาเวอร์ (RPBP) ที่ จ.นครสวรรค์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรงนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิต และอีกส่วนหนึ่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

ปีนี้ฝนหลากทำอ้อยหวานน้ำตาลแช่มชื่น ชาวไร่รายได้เพิ่มขยายพื้นที่เพาะปลูก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะทำงานได้ประเมินภาพรวมการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ที่ได้เริ่มต้นเพาะปลูกตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะดีกว่ารอบการผลิตของปี 2559/60 เนื่องจากเริ่มมีฝนตกในพื้นที่ปลูกอ้อย และชาวไร่อ้อยหลายรายเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและลงตออ้อยใหม่ หวังให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น รวมทั้งชาวไร่บางรายได้ขยายพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากยังมองแนวโน้มราคาน้ำตาลน้ำตาลโลกอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2560/61 จะมีปริมาณสูงกว่า 93 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับผลผลิตปีการผลิต 2559/60 ที่มีปริมาณ 93 ล้านตันอ้อย

สำหรับความคืบหน้าในช่วงปลายฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 ของโรงงานน้ำตาล หลังเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2559 จนถึงขณะนี้โรงงานน้ำตาลเกือบทั้งหมดได้ปิดหีบแล้ว  โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 93 ล้านตัน เทียบกับอ้อยที่เข้าหีบในปี 2558/59 ที่มีอยู่ที่ 94.5 ล้านตันอ้อย แต่คุณภาพผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2559/60 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงานทุกแห่งส่งผลดีต่อผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.9 กิโลกรัม (กก.) เทียบกับระยะเวลาหีบอ้อยปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 104.1 กก. หรือเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 4 กก.ต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทราย 10 ล้านตัน สูงกว่าปีการผลิต 2558/59 ที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 9.8 ล้านตัน ส่วนสถานการณ์อ้อยไฟไหม้ในปีการผลิต 2559/60 ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกๆปี โดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 59.6 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วน 64% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ขณะที่ค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส) ของอ้อยอยู่ที่ 12.27 ซี.ซี.เอส ถือว่าเป็นค่าซี.ซี.เอสที่เหมาะสม โดยในภาพรวมผลการผลิตอ้อยปีการผลิต 2559/60 จะส่งผลให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

พาณิชย์พร้อมส่งรายงานชี้แจงสหรัฐขาดดุลไทย

"ปลัดพาณิชย์" พร้อมส่งรายงานชี้แจงเหตุสหรัฐขาดดุลไทยสูง 10 พ.ค.นี้ มั่นใจจะไม่ทำให้ถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐแน่นอน

 น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมหารือประเด็นมาตรการทางการค้าของสหรัฐ โดยมีตัวแทนภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อหารือการถึงแนวทางการทำการค้าของไทยไปยังสหรัฐ หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีนโยบายให้ตรวจสอบประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า เพื่อออกมาตรการกีดกันทางการค้า โดยไทยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์รวบรวมข้อมูลภาพรวมเป็นรายงานการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐปีที่ผ่านมาว่ามีสินค้ารายใดบ้างที่สหรัฐขาดดุลไทยสูง หรือสินค้าที่ไทยเคยขาดดุลสหรัฐส่วนใดบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าบริการ และไทยมีอุปสรรคใดที่จะทำให้สินค้าจากสหรัฐเข้ามาในประเทศไม่ได้ เพื่อรายงานไปยังสหรัฐให้รับทราบและเข้าใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยไม่ได้ทำการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับสหรัฐ จึงมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นแทนมากกว่า ขณะที่สหรัฐมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นจากไทย อาทิ ยางรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และข้าว และรายงานดังกล่าวจะมีข้อมูลการให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการแก้ไขกฎหมายการค้าและอุปสรรคต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัวและเป็นสากลมากขึ้น และยืนยันการทำการค้าของไทยเป็นสากลและมีความเป็นธรรมไม่เคยมีการกีดกันทางการค้าประเทศใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม วันที่ 8 พฤษภาคมนี้จะส่งรายงานให้ทางคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบวันที่ 9 พฤษภาคม ก่อนส่งรายงานให้ทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐพิจารณาวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ โดยเชื่อว่าการชี้แจงข้อมูลดังกล่าวที่ไทยทำไว้กว่า 20 หน้าในครั้งนี้จะไม่ทำให้ถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐแน่นอน แต่หากสหรัฐยังคงเดินหน้าที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ไทยก็พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้สหรัฐพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันในส่วนของเอกชนไทยจะต้องตื่นตัว พัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์การค้าไทย-สหรัฐปี 2559 ไทยส่งออกไปสหรัฐกว่า 24,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11.43 ของการส่งออกไปต่างประเทศทั้งหมด ส่วนช่วง 3 เดือนแรกปีนี้การส่งออกไปสหรัฐมีมูลค่า 6,079 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมูลค่า 2,195 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยปีนี้ยังเชื่อว่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 5-10

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560 

“เกษตรฯ” จ่อของบกลาง5.5พันล้านทำแผนจัดการน้ำ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานทบทวนการนำเสนอโครงการแผนภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2558 – 2569 วงเงินงบประมาณรวม 25,153.08 ล้านบาท เพื่อจัดลำดับความสำคัญจัดหมวดหมู่งานเร่งด่วน เพื่อนำเสนอขอใช้งบกลางงบประมาณตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันวงเงิน 11,800 ล้านบาทได้ทันในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งที่ผ่านมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณไว้สำหรับการดำเนินภารกิจ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะสอดคล้องด้านบริหารจัดการน้ำ และด้านการพัฒนาการเกษตร ซึ่งจากการพิจารณาพบว่ามีโครงการที่น่าจะมีความพร้อมดำเนินการและขออนุมัติครม.ภายใต้วงเงินประมาณ 5,514.76 ล้านบาทรวม 5 โครงการที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนจากทั้งหมด 8 แผนงานหลัก

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

ดีเดย์‘ลอยตัว-เลิกโควตา’น้ำตาล ธ.ค. ย้ำทุกโรงงานร่วมสต๊อก 2.5 แสนตันกันขาด

สอน.ฟันธง ธ.ค.นี้ดีเดย์ ลอยตัวนํ้าตาลและยกเลิกโควต้าก.ข.ค. ส่วน 8 แสนตันขายผ่านอนท.ยังคงไว้เพราะเป็นตัวคำนวณราคานํ้าตาลส่งออกทั้งหมด ยํ้าต้องมีสต๊อกนํ้าตาลไว้ 1 เดือน 2.5 แสนตันกันนํ้าตาลในประเทศขาด

 นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2560/2561 ที่จะเริ่มเดือนธันวาคมนี้ จะประกาศลอยตัวน้ำตาลและยกเลิกโควตาก. (บริโภคในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกผ่านอนท.)โควตาค.(ส่งออกโดยผู้ผลิตน้ำตาล) ที่ความคืบหน้าล่าสุดพอจะสรุปได้แล้ว

"จากเดิมที่มีโควต้าเพราะมีจุดประสงค์คือต้องการให้มีปริมาณน้ำตาลในประเทศเพียงพอ จึงกำหนดสัดส่วนระหว่างส่งออกและขายในประเทศ ซึ่งทางมิตรประเทศก็มองว่าตรงนี้เป็นการจำกัด ทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงขึ้น คือไปเบี่ยงเบนอุปสงค์และอุปทาน ในตลาดภายใน สมมุติว่าภายในบริโภคน้ำตาล 5ล้านตัน แล้วไปกำหนดว่าขายได้แค่ 4 ล้านตัน ฉะนั้นวันนี้เราจึงต้องเลิกระบบโควตา ใครมีความประสงค์จะส่งออกหรือขายในประเทศก็แล้วแต่ และเปิดโอกาสให้นำเข้าด้วย"

อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าก่อนเดือนตุลาคมปี2560 ในแง่กฏระเบียบ บทลงโทษ และการเคลียร์หนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาล(กท.)จะต้องเรียบร้อย ต่อไปกู้เงินใครมาก็ไม่ต้องผ่านมติครม. จะมีความอิสระในการดกู้เงินมากขึ้น จากนั้นจะประกาศลอยตัว ในช่วงเริ่มฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2560/2561 ที่จะเริ่มใช้เดือนธันวาคมนี้ ทั้งการประกาศลอยตัวและยกเลิกโควตา

 ส่วนน้ำตาล 8 แสนตันที่ขายผ่านบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.)นั้นคือน้ำตาลส่งออกธรรมดา แต่ขายผ่านอนท. ที่ยังต้องมีอยู่เพราะเป็นตัวที่ใช้ราคาที่ขายมาคำนวนราคาน้ำตาลส่งออกทั้งหมด แต่เราจะไม่กำหนดว่าเป็นโควตา จะไม่พูดเป็นโควตาหรือยกเลิกระบบโควตาไป แต่จะพูดว่าเป็นน้ำตาลส่งออกและน้ำตาลที่ขายในประเทศ ซึ่งใครอยากส่งออกก็ส่งออกไป ใครจะนำเข้าก็ได้ โดยแต่ละโรงงานก็ไปบริหารเอง แต่การส่งออกจะต้องมอบน้ำตาลส่วนหนึ่งให้อนท. เพื่อทำราคา เพื่อให้อนท.รู้ราคา และนำราคาที่อนท.ขายมาคำนวนราคาน้ำตาลส่งออกทั้งหมด ตรงนี้เลิกไม่ได้เพราะเป็นกลไกแบ่งปันผลประโยชน์ มาคำนวณรายได้ระบบ

 ดังนั้นใครจะส่งออกน้ำตาลก็ได้แต่น้ำตาลในประเทศจะต้องไม่ขาดแคลน โดยตามกติกาใหม่คือ 1.จะต้องสะต๊อกน้ำตาลทรายจากผู้ผลิตทั้งหมดรวมกันแล้วมีปริมาณเท่ากับการบริโภคภายในประเทศ 1 เดือน หรือรวมกันราว 2.50 แสนตัน โดย2.50 แสนตันนี้โรงงานน้ำตาลทุกโรงจะต้องไปแบ่งเฉลี่ยให้ตรงตามสัดส่วนน้ำตาลที่แต่ละค่ายผลิตได้ ซึ่งมีสัดส่วนไม่เท่ากัน วัดตามปริมาณมากน้อยของน้ำตาลที่แต่ละค่ายผลิตได้ เพื่อเก็บน้ำตาลไว้ตรวจปริมาณตามสะต็อก จากเดิมที่น้ำตาลโควต้าก.จะถูกจัดสรรสำหรับบริโภคในประเทศ 2.5-2.6 ล้านตันตรงนี้จะกันไว้เลย

"ตามกติกาใหม่จะไม่มี เพียงแต่บอกว่า โรงงานน้ำตาลทรายขาวทุกค่ายจะต้องสะต๊อกน้ำตาลให้1 เดือน หรือ 2.50 แสนตัน โดยน้ำตาลในส่วนนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อน้ำตาลในประเทศเกิดการขาดแคลนเท่านั้น"

ต่อไปก็ต้องไปออกระเบียบให้น้ำตาลส่วนนี้นำออกมาขายในประเทศได้ โดยคนที่จะมาดูแลและสามารถนำน้ำตาลออกมาใช้ได้ในยามขาดแคลน น่าจะเป็นสอน.และกระทรวงพาณิชย์ หรือให้พิจารณาในรูปของโรงงานน้ำตาล ก็ต้องมาหารือกัน และเมื่อดึงออกมาใช้แล้วก็ต้องไปหาน้ำตาลมาแทนที่ โดยจะนำมาจากไหนก็แล้วแต่การบริหารจัดการของโรงงานน้ำตาลแต่ละค่าย ซึ่งจะต้องเรียงคิวรับผิดชอบ ดึงในส่วนของใครออกมาก่อนค่ายนั้นก็ต้องไปหาน้ำตาลที่ดึงออกไปมาแทนที่ พอเดือนต่อไปยังขาดอีกก็ดึงเอาสัดส่วนของรายต่อไปออกมาใช้ก่อน พอเดือนต่อไป ถ้าน้ำตาลในประเทศขาดแคลนอีกก็เป็นคิว ของรายต่อไปก็ต้องนำน้ำตาลออกมาตามสัดส่วนของตัวเองซึ่งแต่ละค่ายไม่เท่ากันขึ้นอยู่ที่ปริมาณการผลิตน้ำตาล

"ถ้าหาน้ำตาลมาคืนไม่ได้ก็มีบทลงโทษ ตามกฏหมายเดิมโดนปรับเท่ากับราคาน้ำตาลกิโลกรัมละ 20 บาท หรือ 20,000 บาทต่อตัน และยังมีบทลงโทษอื่นอีกตามกฎหมายฉบับอื่น เช่น กรณีกักตุนน้ำตาลไว้เพื่อทำกำไร ไม่นำออกมาขายก็มีโทษ"

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560 

'ศก.โลก-คู่ค้า'ฟื้นส่งออกมี.ค.พุ่ง9% พณ.ปลื้มภาคผลิตส่อโตแบงก์ห่วงเอกชนลงทุนต่ำจับตา'ทรัมป์'-ปัจจัยเสี่ยง 

          ก.พาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออก มี.ค.กลับมาบวกขยายตัว 9.2% คำนวณไตรมาสแรกปีนี้โตสูงสุดรอบ 4 ปี พอใจนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มผลักดันภาคการผลิต ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ชี้ทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงการลงทุนเอกชนฟื้นตัวช้า

          ส่งออกไตรมาส1สูงสุดรอบ4ปี

          เมื่อวันที่ 24 เมษายน น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์(พณ.) แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนมีนาคม 2560 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 20,888 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.2% เทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ ติดลบ 2.76% การขยายตัวดังกล่าวเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเกือบทุกตัวขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าเกษตรและอุตสาห กรรมเกษตร

          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การนำเข้าเดือนมีนาคม 2560 มีมูลค่า 19,271 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.3% ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าทุนเป็นหลัก ส่งผลให้ไตรมาสแรกปีนี้การส่งออกมีมูลค่า 56,456 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 52,404 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.8% และเกินดุลการค้า 4,053 ล้านเหรียญสหรัฐ

          พณ.พอใจนำเข้าสินค้าทุนเพิ่ม

          "การส่งออกเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกปีนี้ รวมทั้งการส่งออกรายสินค้า ขยายตัวในระดับน่าพอใจ ขณะที่การนำเข้าก็น่าพอใจ มีสินค้าทุนเพิ่มขึ้นที่จะนำมาใช้ในการผลิต ส่วนเป้าหมายส่งออกปีนี้ บวก 5% จะผลักดันให้ถึงตามเป้าหมาย ส่วนเงินบาทขณะนี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ยังไม่มีผลกระทบต่อส่งออก" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว และว่า "แม้ภาพรวมส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกือบทุกตัวขยายตัว แต่สินค้าหลักอย่างรถยนต์และส่วนประกอบในไตรมาสแรกยังติดลบ 3.1% กำลังติดตามดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น การเปลี่ยนรุ่นรถยนต์ หรือมีมาตรการกีดกันการค้าหรือไม่" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

          น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับการชี้แจงการค้าที่ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐใน วันที่ 10 พฤษภาคม ได้หารือกับภาคเอกชนบางกลุ่มแล้ว เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า กังวลบ้างในภาพใหญ่ที่นโยบายของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีความไม่แน่นอนและมีปัจจัยสงครามเพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตาม ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐได้เตรียมข้อมูลทั้งการค้าและการลงทุนเพื่อชี้แจงแล้ว เพราะสหรัฐไม่ได้เพียงเป็นผู้นำเข้าจากประเทศต่างๆ แต่เป็นผู้มาลงทุนยังประเทศนั้นๆ ด้วย หากจะลุกขึ้นมาทำอะไรก็จะต้องนึกถึงผลได้ผลเสีย เช่นกัน

          'ไทยพาณิชย์'ห่วงลงทุนเอกชนต่ำ

          นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า อีไอซียังคงประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2560 ที่ 3.3% โดยปัจจัยหนุนมาจากโครงการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจน การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.4% จากการลงทุนของภาคการก่อสร้าง ที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐ ภาคบริการ การท่องเที่ยวและค้าปลีก แต่เมื่อพิจารณาการลงทุนโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพิ่ม

          ชี้ต่างประเทศปัจจัยเสี่ยง

          นายพชรพจน์กล่าวว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีนี้มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ความชัดเจนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อไทยได้ ทำให้ต้องเตรียมตัวรับมือและ ปรับตัว

          "แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ การลงทุนเอกชนฟื้นตัวช้า การว่างงานที่เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลต่อกำลังซื้อ การส่งออกที่ฟื้นตัวดีแต่ยังไม่แน่ว่า จะเป็นความต้องการซื้อล่วงหน้าก่อนที่สหรัฐจะดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าหรือไม่ ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายพชรพจน์กล่าว

          แจงสิทธิประโยชน์อีอีซี

          รายงานข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คบพ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ว่า คาดว่าจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสามารถประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้ช่วงกลางปีนี้ โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ จะสามารถรองรับการขยายพื้นที่เศรษฐกิจไปยังจังหวัดอื่น อาทิ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนครอบคลุมชัดเจน มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือซุปเปอร์บอร์ด โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

          นอกจากนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อาทิ สิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว การกำหนดอายุใบอนุญาตทำงานของต่างชาติ เป็นเวลา 5 ปี จากปัจจุบันใบอนุญาตเป็นปีต่อปี สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 13 ปี ขณะเดียวกันยังมีสิทธิประโยชน์ในด้านธุรกรรมการเงิน อาทิ สิทธิในการถือครองเงินตราต่างประเทศ เป็นระยะเวลานานกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายอื่น สิทธิการเช่าที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสูงสุด มีกำหนดระยะเวลาสูงสุดถึง 99 ปี

          'อุตตม'เคลียร์เช่าอีอีซี99ปี

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเปิดให้นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติเช่าที่ดินระยะยาวในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) สูงสุด 99 ปีไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดเวลายาวนานเช่นกัน อาทิ กฎหมายของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ให้เอกชนเช่าพื้นที่โดยไม่กำหนดเวลา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุญาตให้ต่างชาติสามารถซื้อที่ดินเพื่อการลงทุนด้วย พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 2542 ที่กำหนดเวลาการเช่าไว้เกิน 30 ปีแต่ไม่เกิน 50 ปี และสามารถต่อเวลาการเช่าออกไปอีกไม่เกิน 50 ปี

          นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับการเช่าที่ดินในอีอีซี กำหนดระยะเวลาเช่าไม่เกิน 50 ปี และสามารถเจรจาต่อสัญญาได้แต่ต้องไม่เกิน 49 ปีนั้น โดยต้องเป็นการเช่าภายในเขตอีอีซีที่ซุปเปอร์บอร์ดประกาศกำหนดไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ ผลประโยชน์หรือผล กระทบ และมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมนุมชน การจัดทำร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา

          ร้องขสมก.เลิก'เมล์เอ็นจีวี'

          ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายสันติ ปิยะทัต ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ที่ได้รับสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี จากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งถูก ขสมก.ยกเลิกสัญญา เดินทางยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

          นายสันติกล่าวว่า ในสัญญามีจำนวนรถเมล์เอ็นจีวีที่ต้องส่งมอบ 489 คัน ขณะนี้รถออกมาจากการควบคุมของกรมศุลกากร จำนวน 390 คัน และ ขสมก.ตรวจรับโอนกรรมสิทธิ์รถเมล์เอ็นจีวีไปแล้ว 292 คัน เหลือรถเมล์เอ็นจีวีอยู่ที่กรมศุลกากรประมาณ 99 คัน โดยการตรวจสอบแหล่งกำเนิดของรถเมล์เอ็นจีวี อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง บริษัทยืนยันว่าการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีดำเนินการตามเงื่อนไขประกวดราคา (ทีโออาร์) มีการประกอบที่ประเทศมาเลเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอสัญญายืนยันจากประเทศมาเลเซีย และศาลปกครองยังมีคำสั่งให้ ขสมก.ตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี แต่กลับยกเลิกสัญญาทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงต้องมาร้องขอความเป็นธรรมกับนายกฯ เพื่อให้มีแนวทางออกเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถึงที่สุดถ้า ขสมก.ไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงการยกเลิกสัญญาทางบริษัทก็ต้องฟ้องร้องเพื่อคุ้มครองสัญญา ต่อไป

          ขสมก.แจง'บิ๊กตู่'ให้เลิกสัญญา

          ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคมและรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า บริษัทเบสท์รินยื่นร้องเรียน ถือเป็นสิทธิของบริษัท แต่ขอยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอนกฎหมาย และรายงานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน รับทราบเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีมติให้จัดหารถเมล์เอ็นจีวีรอบใหม่ทันที เพื่อให้ทันกับแผนการปฏิรูปรถเมล์ ซึ่ง ขสมก.ได้รับการจัดสรรเส้นทางเดินรถ 138 เส้นทาง ต้องจัดหารถ 3,450 คัน ภายในช่วง 5 ปี โดยในปีแรก ปี 2560 ต้องจัดหารถเมล์ใหม่ 689 คัน แบ่งเป็นรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันและรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน ดังนั้นแนวทางที่จะจัดหารถใหม่ได้เร็วที่สุด คือ ประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน และเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ได้ลงนามแต่งตั้งนายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการ ขสมก. ฝ่ายการเดินรถ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันแล้ว

          นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนกรณีเบสท์รินฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ในวันที่ 26 เมษายน จะชี้แจงเพิ่มเติมต่อศาลปกครองกลางเกี่ยวกับรายละเอียดการยกเลิกสัญญาครั้งนี้ และในวันเดียวกันก็จะประชุมบอร์ด ขสมก. เพื่อการรายงานเรื่องการบอกเลิกสัญญา และแจ้งมติ คนร.ที่ให้จัดหารถเมล์เอ็นจีวี 489 คันรอบใหม่ด้วย

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

ชาวไร่อ้อยเฮ! เตรียมรับค่าอ้อยขั้นสุดท้ายปี 59/60 เพิ่มขึ้น   

         การเปิดหีบอ้อยฤดูผลิตปี 2559/60 ที่เริ่มต้นเปิดหีบตั้งแต่ ธ.ค. 60 แม้ว่าผลผลิตอ้อยจะตกต่ำกว่าฤดูผลิตที่ผ่านมาแต่ภาพรวมต่างๆ ก็ยังเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของปี 59/60 นี้จะอยู่ในระดับสูงกว่าราอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้ 1,050 บาทต่อตัน และชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินเพิ่มจากโรงงาน

               การเปิดหีบอ้อยฤดูผลิตปี 59/60 ที่เริ่มตั้งแต่ 6 ธ.ค. 59 จนถึงขณะนี้ภาพรวมส่วนใหญ่ปิดหีบแล้วเหลือเพียง 2-3 แห่งที่เก็บเกี่ยวอ้อยที่ตกค้าง ทำให้สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายประเมินว่าอ้อยเข้าหีบฤดูนี้จะได้ไม่เกิน 93 ล้านตัน ต่ำกว่าฤดูหีบปีที่แล้วที่มีอ้อยเข้าหีบ 94.5 ล้านตันอ้อยแต่คุณภาพผลผลิตอ้อยในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงานทุกแห่งส่งผลดีต่อผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.9 กิโลกรัม เทียบกับระยะเวลาหีบอ้อยปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 104.1 กิโลกรัมหรือเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 4 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 10 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 9.8 ล้านตัน

        “ค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.27 ซีซีเอส จากปีก่อนที่มี 11.95 ซีซีเอส ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของปี 59/60 นี้จะอยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น 59/60 ที่ประกาศ และชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินเพิ่มจากโรงงาน” นายสิริวุทธ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าว

               สำหรับฤดูหีบอ้อยปี 60/61 ปัจจัยที่เอื้อให้มองว่าผลผลิตอ้อยจะดีขึ้นเนื่องจากการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาเริ่มมีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อตออ้อยที่ชาวไร่ลงใหม่ ซึ่งต่างจากฤดูผลิตปี 58/59 ที่ประสบภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงนาน ประกอบกับชาวไร่บางรายได้เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจึงทำให้คาดการณ์ว่าอ้อยจะเพิ่มมากกว่า 93 ล้านตัน

จาก http://manager.co.th วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

เอกชนชี้ภาพรวมการปลูกอ้อยปี60/61ดีกว่ารอบที่ผ่านมา

3 สมาคมโรงงานน้ำตาล" ชี้ภาพรวมการเพาะปลูกอ้อยฤดูการผลิตปี 60/61 จะดีกว่ารอบที่ผ่านมาเนื่องจากเริ่มมีฝนตก เผยชาวไร่เริ่มขยายพื้นที่เพาะปลูกรับราคาดีขึ้น

 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ภาพรวมการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 60/61 ที่เริ่มต้นเพาะปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาจะดีกว่ารอบการผลิตของปี 59/60 เนื่องจากเริ่มมีฝนตกในพื้นที่ปลูกอ้อย โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อตออ้อย ขณะเดียวกันพบว่า ชาวไร่อ้อยหลายรายเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและลงตออ้อยใหม่เพื่อหวังผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บางรายได้ขยายพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากมองเห็นแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 60/61 จะดีกว่าปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 93 ล้านตันอ้อย

ขณะที่ ความคืบหน้าในช่วงปลายฤดูการหีบอ้อยปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาล หลังเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2559 ขณะนี้โรงงานน้ำตาลเกือบทั้งหมดได้ปิดหีบแล้ว โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น ประมาณ 93 ล้านตัน เทียบกับอ้อยที่เข้าหีบในปีก่อนหน้าที่ 94.5 ล้านตันอ้อย อย่างไรก็ตาม คุณภาพผลผลิตอ้อยในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงานทุกแห่ง ส่งผลดีต่อผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.9 กิโลกรัม เทียบกับระยะเวลาหีบอ้อยปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 104.1 กิโลกรัมหรือเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 4 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 10.0 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 9.8 ล้านตัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

ชาวไร่เร่งขยายพื้นที่รับราคาน้ำตาลพุ่ง

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายลุ้นปีนี้มีปริมาณฝนต้นฤดูมากกว่าปีก่อน ระบุชาวไร่เตรียมแปลงลงตออ้อยใหม่ทดแทนของเดิมและขยายพื้นที่เพาะปลูก หวังได้ผลผลิตอ้อยปี 60/61 มากกว่าปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณอ้อย 93ล้านตันอ้อย

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายได้ประเมินภาพรวมการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตปี60/61 ที่ได้เริ่มต้นเพาะปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาจะดีกว่ารอบการผลิตของปี59/60 เนื่องจากเริ่มมีฝนตกในพื้นที่ปลูกอ้อย โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อตออ้อย ซึ่งพบว่าชาวไร่อ้อยหลายรายเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและลงตออ้อยใหม่เพื่อหวังผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ชาวไร่บางรายได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกเนื่องจากยังมองแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 60/61 น่าจะดีกว่าปีนี้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 93 ล้านตันอ้อย

 “ในหลายจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเริ่มมีปริมาณฝนตก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูการผลิตปีนี้ และจะทำให้ตออ้อยเจริญเติบโตได้ดี จึงคาดว่า ภาพรวมผลผลิตอ้อยในปี 60/61 จะดีกว่าปี 59/60 ที่ประสบภัยแล้งในช่วงการเพาะปลูกอ้อย และเกิดฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานและตออ้อยเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร”นายสิริวุทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามส่วนความคืบหน้าในช่วงปลายฤดูการหีบอ้อยปี 59/60ของโรงงานน้ำตาล หลังเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2559ขณะนี้โรงงานน้ำตาลเกือบทั้งหมดได้ปิดหีบแล้ว

โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น ประมาณ 93 ล้านตัน เทียบกับอ้อยที่เข้าหีบในปีก่อนหน้าที่ 94.5 ล้านตันอ้อย อย่างไรก็ตาม คุณภาพผลผลิตอ้อยในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงานทุกแห่ง ส่งผลดีต่อผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.9 กิโลกรัม เทียบกับระยะเวลาหีบอ้อยปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 104.1กิโลกรัมหรือเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 4 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 10.0 ล้านตันสูงกว่าปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 9.8 ล้านตัน

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

โรงงาน-ชาวไร่ลุ้นฝนปีนี้ชุ่มฉ่ำดันปริมาณหีบอ้อยทะลุ 93 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2560/61 น่าจะดีกว่าปีนี้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 93 ล้านตันอ้อย เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายได้ประเมินภาพรวมการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตปีนี้ที่ได้เริ่มต้นเพาะปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่ามีโอกาสจะดีกว่ารอบการผลิตของปี 2559/60 เพราะเริ่มมีฝนตกในพื้นที่ปลูกอ้อย

“คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อตออ้อย ขณะเดียวกันพบว่าชาวไร่อ้อยหลายรายเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและลงตออ้อยใหม่เพื่อหวังผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ชาวไร่บางรายได้ขยายพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากมองแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกอยู่ในเกณฑ์ดี” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

กรมการค้าต่างประเทศ เตือนผู้ผลิตส่งออกอียู รับมือกฎหมายใหม่

กรมการค้าต่างประเทศเตือนภัยผู้ผลิตและส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ และยานยนต์เข้าอียู ต้องระมัดระวังในการใช้สารชีวฆาต หลังอียูออกกฎหมายควบคุมการจำหน่ายและการใช้สาร โดยได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎหมายว่าด้วยการจำหน่ายและการใช้สารชีวฆาต (Biocidal Products Regulation [EU] No. 528 / 2012 : BPR) ซึ่งเป็นสารที่ใช้ฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต เช่น แบคทีเรีย รา วัชพืช และแมลง เป็นต้น เพื่อควบคุมการใช้สารและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้สารดังกล่าวในอียู โดยจะอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะสารชีวฆาตที่อียูอนุญาตแล้วเท่านั้น หรือสาร ชีวฆาตที่อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตก่อนวันที่ 1 ก.ย. 2559 ทำให้การนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ และยานยนต์มายังอียู จะต้องปฏิบัติตามระเบียบตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา

สำหรับกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดควบคุมสารชีวฆาตจำนวน 22 รายการ ใน 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มทำลายเชื้อโรค (Disinfectants) คือ สารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคบนผิวหนัง พื้นผิววัสดุ อุปกรณ์ 2. กลุ่มวัตถุกันเสีย (Preservatives) คือ สารที่ใช้ยืดอายุสินค้า 3. กลุ่มควบคุมศัตรูพืชและสัตว์ (Pest Control) คือ สารที่ใช้ควบคุมหนู นก หอย หนอน แมลง และ 4. กลุ่มสารชีวฆาตอื่นๆ (Other Biocidal Products) คือ สารที่ใช้ควบคุมการเติบโตของสิ่งมีชีวิต อาทิ ถนอมอวัยวะศพมนุษย์และสัตว์

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้สารชีวฆาต ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการผลิต ปรับปรุงด้วยสารชีวฆาตที่จงใจเพื่อให้มีผลในการยับยั้ง ฆ่าสิ่งมีชีวิตในตัวผลิตภัณฑ์ อาทิ มุ้งเคลือบยากันยุง ถุงเท้าปลอดกลิ่น ถุงนอนกันยุง แผ่นป้ายกาวฆ่ายุง และเสื้อกันเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

นางดวงพรกล่าวว่า อียูยังได้กำหนดให้สินค้าที่ผ่านการใช้สารชีวฆาต จะต้องติดป้ายฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระบุข้อมูลต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลสารชีวฆาตในผลิตภัณฑ์เป็นภาษาทางการหรือภาษาของแต่ละประเทศสมาชิก และกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลสารชีวฆาตในผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมเมื่อมีการร้องขอจากผู้บริโภคภายในกำหนด 45 วัน ส่วนการขออนุญาตใช้สาร ให้ขออนุญาตได้จากสมาชิกอียูประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือจากคณะกรรมาธิการยุโรป โดยจะต้องมีการกำหนดการนำสารชีวฆาตไปใช้งานอย่างเหมาะสมด้วย

"กรมฯ ขอเตือนให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สารชีวฆาตไปยังอียู จะต้องศึกษากฎระเบียบภายใต้กฎหมายฉบับนี้ให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกไปยังอียู โดยสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่ http://echa.europa.eu/regulations/biocidal-products-regulation/understanding-bpr เพื่อที่จะได้นำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการส่งออกให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่กำหนด" นางดวงพรกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

พาณิชย์เผยญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP กระทบสินค้าไทย 6 รายการ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวสร้างความตระหนกให้แก่ผู้ประกอบการไทยเรื่องญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ประเทศไทย จะกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บางส่วน เนื่องจากขณะนี้เราส่งออกไปญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และอาเซียนญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งเปิดการค้าเสรีระหว่างกันประมาณ 10 ปีมาแล้ว ครอบคลุมสินค้ากว่า 6,000 รายการ การส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปญี่ปุ่นซึ่งใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีภายใต้กรอบความตกลง เขตการค้าเสรี JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่นมีมูลค่ากว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ส่งออกภายใต้สิทธิ GSP มีการใช้สิทธิเพียง 14 รายการมูลค่าประมาณ 17 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่มีการใช้สิทธิ GSP น้อยเพราะผู้ส่งออกหันไปใช้สิทธิพิเศษในเขตการค้าเสรี JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งลดภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า GSP ดังนั้นหากญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ไทยก็จะมีสินค้าเพียง 6 รายการเท่านั้นที่จะได้ลดผลกระทบ ได้แก่ ซอร์บิทอล กาแฟคั่วที่แยกคาเฟอีนออกแล้ว เอทิลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้แปรสภาพอื่นๆ ไม้พลายวู้ดอื่นๆ ไม้ลามิเนต และไม้บล็อกบอร์ด ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการทยอยลดภาษีภายใต้กรอบความตกลง JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่น จนมีสิทธิพิเศษเท่ากับที่เคยได้รับสิทธิ GSP-ญี่ปุ่น คงเหลือแต่สินค้าซอร์บิทอลเท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่น

การใช้สิทธิ GSP เป็นโครงการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับประเทศกำลังพัฒนา โดยการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้า ทำให้ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP มีแต้มต่อทางภาษี เมื่อเปรียบเทียบประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิ ซึ่งเป็นการให้ฝ่ายเดียวประเทศผู้ได้รับสิทธิไม่ต้องให้ตอบแทนแต่อย่างใด เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาได้มีโอกาสขยายการค้าไปยังประเทศที่ให้สิทธิพิเศษได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจการค้าได้เปลี่ยนแปลงไป ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ให้สิทธิ GSP จึงได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาตัดสิทธิ GSP กับประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Country) ระยะเวลา 3 ปีติดต่อกันระหว่างปี 2556-2558 และมีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลกมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 1 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา และในระหว่างปี 2556-2558 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปทั่วโลกมีสัดส่วนร้อยละ 1.21 1.20 และ 1.29 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่พัฒนาและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ที่เคยให้กับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

“กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าและผลักดันเพื่อนำสินค้าทั้ง 6 รายการดังกล่าวเข้าไว้ในกลุ่มสินค้าที่จะเจรจาทบทวนใหม่ในรอบการทบทวนทั่วไป (General Review) ภายใต้ความตกลง JTEPA กับญี่ปุ่นในปี 2560 นี้ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการปรับเกณฑ์การตัดสิทธิ GSP ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ แม้ไทยจะถูกตัดสิทธิโครงการ GSP ญี่ปุ่นในปี 2562 แต่ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกไทย ยังคงสามารถใช้ประโยชน์ทางภาษีจากความตกลง JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่น ได้เหมือนเดิม โดยรายการสินค้าบางรายการที่อยู่ในกลุ่มที่จะถูกตัดสิทธิภายใต้โครงการ GSP-ญี่ปุ่น ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้สิทธิภายใต้ทั้ง 2 ความตกลงที่ไทยมีกับญี่ปุ่นได้" นางอภิรดี กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

มั่นใจสหรัฐปรับไทยพ้นบัญชีดำ

                    กรมทรัพย์สินทางปัญญา มั่นใจที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง คาดไม่เป็นประเด็นหลักประกอบการพิจารณาในคำสั่งพิเศษ “ทรัมป์” พร้อมระบุเอกชนสหรัฐ ยังปลื้มการแก้ไขปัญหายกให้ไทยอยู่ในบัญชีจับตามอง                                        

                    นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ช่วงสิ้นเดือนเม.ย.นี้ สหรัฐอเมริกา จะประกาศผลการทบทวนสถานะประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา (พีดับบลิวแอล)  ซึ่งกรมฯ คาดหวังว่า ครั้งนี้ประเทศไทยจะถูกจัดสถานะให้ดีขึ้น หรือมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง (ดับบลิวแอล) จากเดิมที่อยู่ในกลุ่มพีดับบลิวแอลมาเกือบ 10 ปี เนื่องจากได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องมาตลอด ทั้งการปราบปราม ป้องปรามรณรงค์สร้างจิตสำนึก รวมถึงการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เป็นต้น

        “ที่ผ่านมากรมฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ลงพื้นที่ตรวจจับอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งแก้กฎหมายใหม่ ด้วยการเชิญเจ้าของสิทธิ์ทั้งในไทย และต่างประเทศมาหารือ โดยขณะนี้ได้แก้กฎหมายในส่วนของการละเมิดทางอินเทอร์เน็ตเข้าไปเพิ่มเติมด้วย เช่น เจ้าของสิทธิ์ สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายได้มากถึง 2 เท่า นอกจากนี้ยังได้เร่งจดทะเบียนให้เร็วขึ้น และจัดทำ พรบ.คอมพิวเตอร์ เป็นมาตรการใหม่ที่เข้มงวด เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ทั้งนี้ ต้องเน้นย้ำว่ามาตรการใหม่นี้ จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้เห็นผล ซึ่งเจ้าของสิทธิ์เองต้องเข้าใจมาตรการ และใช้ให้มากขึ้นด้วย”

                      ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ จะเปิดรับฟังข้อคิดเห็น เพื่อจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐแก่ 13 ประเทศที่ได้ดุลการค้าในปี 59 ซึ่งรวมถึงประเทศไทยนั้น กรมฯ มั่นใจว่า สหรัฐ จะไม่ได้ให้ความสำคัญ ถึงปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประเด็นหลักในการพิจารณาสาเหตุของการขาดดุลการค้าด้วย แม้ว่าในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐ จะระบุถึงประเด็นปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไว้ด้วยก็ตาม อีกทั้งขณะนี้ ยังเห็นสัญญาณบวกที่ได้จากภาคเอกชน ทำให้มั่นใจว่าไทยเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องใช้เวลาที่จะทำให้มาตรการนั้นเห็นผล

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

เร่งศึกษาแนวทางตัดยอดน้ำสู่ทะเล กรมชลประทานวาง3แนวทาง แก้ท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาทบทวนความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำเหนือสู่ทะเล โดยพื้นที่ฝั่งตะวันออก ปัจจุบันมีศักยภาพระบายน้ำ 150 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ไม่สามารถรองรับน้ำเหนือในปริมาณมากได้ กรมชลประทานจึงมีแผนที่จะสร้างคลองระบายควบคู่กับคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งจะสามารถระบายน้ำได้ถึง 800 ลบ.ม.ต่อวินาที อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่จะระบายเพิ่มขึ้นดังกล่าว จำเป็นต้องหาแนวทางระบายออกสู่ทะเลเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกรมชลประทานได้ศึกษาไว้ 3 แนวทางคือ

1.ปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ ที่ระบายน้ำผ่านทางคลองระพีพัฒน์และคลองสาขาต่างๆ แต่จะเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากปัจจุบัน 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น เพราะมีการก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน รอบแนวคลองชลประทานเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถขยายคลองได้

2.สร้างคลองระบายน้ำสายใหม่จากแม่น้ำป่าสักลงสู่ทะเลโดยตรง สามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวทางนี้จำเป็นต้องมีเขื่อนทดน้ำสักเหนือเขื่อนพระราม 6 เพิ่มอีกแห่ง ซึ่งคลองสายใหม่ดังกล่าว นอกจากช่วยตัดยอดน้ำแล้วยังใช้ระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่ทะเลโดยไม่ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ศึกษา EIA เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารส่งให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)

3.สร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบ 3 ฝั่งตะวันออก เพื่อตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา หลังแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่ทะเลโดยตรง ได้ประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะนี้กำลังทำการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้เบื้องต้น ก่อนจะทำการศึกษา EIA ควบคู่กับการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'แข็งค่า' เล็กน้อย

บาทเปิดตลาดแข็งค่าทรงตัวที่ "34.34บาทต่อดอลลาร์" ตลาดรับข่าวช่วงนี้ไปแล้วและคาดแนวโน้มบาทแกว่งตัวกรอบแคบด้วยแรงซื้อดอลลาร์จากกระแสจ่ายปันผลช่วงนี้ส่งผลให้เงินบาทไม่แข็งค่าตาม

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 34.34บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าใกล้ระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นวันทำการก่อนเล็กน้อย

โดยตลาดสหรัฐในคืนวานนี้มีทิศทางเปิดรับความเสี่ยง (Risk-on) หลังผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสออกมาตามที่ตลาดคาดไว้ ตลาดหุ้นปรับขึ้นเล็กน้อย (S&P500 +1.08%) บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ10ปีก็ปรับตัวสูงขึ้น 7bps มาที่ระดับ 2.27% นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาไปที่เรื่องภาษีนิติบุคคลในสหรัฐที่โดนัล ทรัมป์ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดจากระดับ 35% มาอยู่ที่ 20% ในสัปดาห์นี้ซึ่งน่าจะเป็นบวกกับตลาดเล็กน้อยแม้จะมองว่าตลาดรับข่าวไปแล้ว ขณะที่การลดภาษีดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจสหรัฐที่มีปัญหาการใช้จ่ายมากกว่ารายได้

ด้านค่าเงินบาทยังมีแนวโน้ม “แกว่งตัวแคบ” แม้ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร แต่ด้วยแรงซื้อดอลลาร์จากกระแสการจ่ายปันผลในช่วงนี้ส่งผลให้เงินบาทไม่แข็งค่าตาม มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

ปั๊มเศรษฐกิจรากหญ้าไปแล้ว 2 แสนล้าน! "สมคิด"แย้มปี 61 ออกมาตรการช่วยเกษตรกรเพิ่ม

ปั๊มเศรษฐกิจรากหญ้าไปแล้ว 2 แสนล้าน! "สมคิด"แย้มปี 61 ออกมาตรการช่วยเกษตรกรเพิ่ม ฟุ้งตัวเลขส่งออกไตรมาสแรกเด้ง 4.9 เปอร์เซ็นต์ ส่งสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้น กระตุกเอกชนลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคม 60 ขยายตัว 9.2 เปอร์เซ็นต์ ว่า เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยแข็งแรง ตัวเลขการส่งออก 9.2 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ไตรมาสแรกขยายตัว 4.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับการตั้งเป้าตัวเลขการส่งออกทั้งปี 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ หากตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนแข็งแรงมากกว่านี้จะทำให้เศรษฐกิจโดยภาพรวมดีขึ้นแน่นอน แต่จะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับตัวเลขการลุงทุนของภาคเอกชนเป็นเรื่องสำคัญ คาดว่าไตรมาสต่อไปตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมจะดีขึ้นมากกว่านี้เพราะจะมีโครงการลงทุนภาครัฐทยอยออกมา

"ความเสี่ยงที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกทุกประเทศโดนเหมือนกันหมด ยุโรป ฝรั่งเศสกำลังจะเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าใครจะมา อยู่ตรงนี้ต้องตั้งหลักให้ดี จะทำให้ได้ประโยชน์ แต่อย่างน้อยๆ การเติบโตเศรษฐกิจของจีน หรือสหรัฐอเมริกาที่ภายมีความไม่แน่นอนสูงแต่ก็ขยับเพิ่มขึ้น ฉะนั้นในระยะสั้นเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ไม่ประมาท เผื่อเหลือเผื่อขาดเสมอ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ฯ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมการไว้แล้ว ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐต้องไม่ชะลอ" นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำให้มากกว่านี้ คือ จะทำให้อย่างให้การเติบโตที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจกรอบใหญ่ลงไปถึงเศรษฐกิจฐานรากให้ได้ เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจฐานรากลำบาก ราคาพืชผลการเกษตรไม่ดี ถ้าเศรษฐกิจฐานล่างไม่หมุนจะทำให้ฉุดกระชากเศรษฐกิจทุกอย่างหมด แต่ถ้าเม็ดเงินไปถึงข้างล่างเมื่อไหร่ ชาวนา ชาวไร่ มีรายได้จากราคาพืชผลมากขึ้น มีรายได้มากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจข้างบนก็จะดีขึ้น เป็นออโตเมติก เพราะดีมานด์มาจากข้างล่าง

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลเปลี่ยนจากคนไข้ที่อยู่บนเตียง ไม่ค่อยสบาย จนขณะนี้ลงมาเดินได้แล้ว ก็จะพยายามให้สามารถเดินได้แข็งแรงมากขึ้นในวันข้างหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญมากว่าจะทำอย่างไรให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรให้ข้างล่างมีเม็ดเงินมากขึ้นให้เร็วที่สุด

"ที่ผ่านมาเม็ดเงินสด ๆ ที่ลงไปเศรษฐกิจข้างล่างไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดที่ 2.27 ล้านล้านบาท ไม่รวมงบประมาณของกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีกเท่าไร เม็ดเงินไม่ได้น้อยเลย แต่เป็นเพราะราคาพืชผลที่ตกต่ำทำให้เขาลำบาก รัฐบาลมีหน้าที่โดยตรงต้องช่วยเหลือให้ได้ รัฐบาลคิดไว้ว่าในปีหน้าจะช่วยเหลือเกษตรกรให้มากขึ้นได้อย่างไร" รองนายกฯสมคิดกล่าว

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

กรมชลฯ ของดทำนาปรังรอบ 2 หลังปริมาณน้ำเขื่อนแควน้อยฯเหลือ 35%

วันที่ 24 เมษายน 2560 สถานการณ์น้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ในวันนี้เหลือการกักเก็บน้ำอยู่ที่ 326.54 ล้านลบ.ม. หรือ 34.77% ของการกักเก็บ มีน้ำใช้การได้ 283.54 ล้านลบ.ม. หรือ 31.61% โดยยังระบายน้ำออกวันละ 3.02 ล้านลบ.ม. นายเฉลิมศักดิ์ ทักษาดิพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กล่าวว่า น้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนยังเป็นไปตามแผนการจัดการน้ำของกรมชลประทาน ที่ส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยกว่า 150,000 ไร่ ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ จากนั้นแผนการส่งน้ำก็จะจัดส่งน้ำทางด้านอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน พร้อมผลักดันน้ำทะเล ในที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งคาดว่าในปีนี้น้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนจะเพียงต่อความต้องการใช้น้ำปีนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรงดการทำนาปรังงวดที่ 2 เพื่อกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภคให้มาที่สุด

ขณะที่การปล่อยน้ำของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ยังสร้างผลดีต่อการท่องเที่ยว ที่ทางเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ร่วมกับ อบต.คันโช้ง และประชาชนในพื้นที่ทำซุ้มไม้ไผ่ มาตั้งริมน้ำหลังเขื่อนเพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้มาเล่นน้ำคลายร้อน มาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ประชาชนและนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนเล่นน้ำกันวันหนึ่งไม่ต่ำกว่าหมื่นคนทีเดียว ถึงแม้ว่าช่วงเทศกาลผ่านไปประชาชนก็ยังไปเที่ยวเล่นน้ำที่จุดเล่นน้ำกันอย่างคึกคักต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันหยุดทุกเสาร์อาทิตย์

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ส่อง‘ร่างพ.ร.บ.อีอีซี’5สิทธิประโยชน์ส่งเสริมลงทุน

เป็นประเด็นร้อนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เช่าที่ดินระยะยาวเป็นเวลา 50 ปี และขยายเวลาได้อีก 49 ปี รวมเป็นา 99 ปี

 ซึ่งการเช่าที่ดิน 99 ปี ดังกล่าว บัญญัติอยู่ใน “มาตรา 52” ของ “ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “ร่างพ.ร.บ.อีอีซี” ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้วและคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา และเตรียมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป

 เนื้อหาของมาตรา52ระบุว่า

“การเช่า เช่าช่วง หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มิให้นำมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้

 การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ทำสัญญาเช่าเป็นกำหนดเวลาเกินห้าสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นห้าสิบปี การต่อสัญญาเช่าอาจทำได้แต่จะสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้”

นั่นเป็นเพียงบางส่วนของร่างพ.ร.บ.อีอีซี ที่มีทั้งหมด 68 มาตรา ยังมีมาตรอื่นที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่หลักการสำคัญของร่างพ.ร.บ. ที่เป็นการยกระดับพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่อื่นใดในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติม โดยอนาคตจะมีการออก “พระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”

ร่างพ.ร.บ. ระบุว่า จะมีการตั้ง “คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ที่มี “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธาน มีคณะกรรมการรวมทั้งหมด 27 คน โดยคณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจอนุมัติแผนภาพรวมและมาตรการในการพัฒนาพื้นที่ อนุมัติ อนุญาตให้สิทธิหรือสัมปทาน ประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและสิทธิประโยชน์ ออกระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน และติดตามประเมินผลการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ

 กำหนดให้มีการตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ที่มี “เลขาธิการสำนักงานฯ”ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่จะให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการฯไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการ

 โดยในส่วนสำนักงานฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายฯ เสนอแนวทางกำหนดนโยบาย ประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และออกระเบียบต่างๆ รวมถึงศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

 และสำนักงานยังมีอำนาจ ดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ โดยวิธีการจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ และเปลี่ยน เวนคืน ถมทะเล หรือวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด โดยก่อนการดำเนินการ คณะกรรมการนโยบายจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ ความเหมาะสมทางด้านการเงิน และแนวทางหรือมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบ และความคุ้มค่าที่ประชาชนในพื้นที่และรัฐจะได้รับ

 มีการกำหนด “สิทธิประโยชน์” ของผู้ประกอบกิจการ หรืออยู่อาศัยภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 5 สิทธิ์ คือ 1.สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าวโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

2.สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร ตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต แม้ว่าจะเกินกำหนดจำนวน หรือระยะเวลาตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งสิทธิพิเศษนี้สำหรับ 1.ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ 2.ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ และ3. คู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลในข้อ 1 และข้อ 2

 3.สิทธิที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 4.สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศ เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และ 5.สิทธิประโยชน์อื่น

 นอกจากนี้ยังจะมีการตั้ง “กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” เพื่อนำเงินจากกองทุนมาพัฒนาพื้นที่ หรือชุมชน รวมทั้งช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ และยังนำไปสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา ให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียงด้วย

 ส่วนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายกังวล มีระบุในมาตรา 8 คือการดำเนินการโครงการหรือกิจการใดที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและชุมชน กฎหมายให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานกการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการนั้นเป็นการเฉพาะ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

‘ปริญญ์’ขายรับเช่าที่ดิน99ปี

 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) เห็นด้วยกับกรณีรัฐบาลมีนโยบายเสนอแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อขยายระยะเวลาสัญญาการเช่าที่ดินให้ยาวขึ้นสำหรับที่อยู่อาศัยสูงสุด 99 ปี รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชย์และอุตสาหกรรมปี 2542 ขยายระยะเวลาการทำสัญญาเช่า ที่ดิน จาก 50 ปี เป็น 99 ปี ภายหลังมีหลายรัฐบาลพยายามเสนอแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีหลายกลุ่มต่อต้านกลัวเป็นการขายประเทศ จึงอยากให้คนไทยก้าวข้ามจุดนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียอาณานิคม เสียสิทธิพิเศษของคนไทย เพราะเราอยู่ในโลกที่ต้องการจะหาเงินลงทุนมาร่วมลงทุนกับเราในอุตสาหกรรมที่เราอยากให้ขยาย ฉะนั้นควรจะเร่งทำให้เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมเพราะเรากำลังแข่งขันกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน

 ส่วนแนวคิดของรัฐบาลที่เคยจะขยายเวลาเช่าที่ดินจากทั่วประเทศมาเป็นเฉพาะพื้นที่จะมีความจูงใจในการลงทุนหรือไม่นั้น นายปริญญ์ มองว่าแต่ละภาคของไทยมีเสน่ห์ มีจุดแข็ง จุดอ่อนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นอย่างระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเดินมาถูกจุดแล้ว เพราะมีฐานการผลิตปิโตเคมี มีท่าเรือน้ำลึก การส่งออกยานยนต์ ฉะนั้นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา มีรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว

“แต่ละภาคต้องดูให้ดีว่าจะพัฒนาอย่างไร เพื่อให้ต่างชาติรู้ชัดเจนว่าไทยจะโปรโมทอะไร แต่รัฐบาลต้องเร่งให้ต่างชาติรับทราบถึงแรงจูงใจว่าไทยเรามีดีกว่าประเทศอื่นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และต้องการโปรโมทอุตสาหกรรมประเภทไหน ช่วยเขาขายของอย่างไร”

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

‘อุตตม’ปั้นบุคลากรรับ‘อีอีซี’ วางระบบข้อมูล Big Data รองรับ‘อุตสาหกรรม4.0’

อุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ว่า ทางสำนักงานอีอีซีจะส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจความเห็นและชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่3 จังหวัด (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง) ภายใน 1 เดือนโดยการลงพื้นที่จะต้องสอบถามให้ครอบคลุมทั้งมิติด้านสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ฯลฯหลังจากนั้นจะได้นำเข้าสู่การรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในปลายเดือนพฤษภาคม 2560

นอกจากนี้ได้มอบให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)จัดทำแผนโรดแมป(Roadmap)การพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อรองรับกับภารกิจของสศอ.ที่จะต้องการจัดเก็บข้อมูลและระบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะต้องปรับตัวเองเข้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลโดยจะต้องขอให้แผนแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงในอนาคตที่รัฐได้กำหนดการพัฒนาไปสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งไทยมีความจำเป็นต้องกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นเพื่อนำรายได้เข้าประเทศโดยเฉพาะการรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคตที่ไทยจะมีมากขึ้น ซึ่งอีอีซี คือคำตอบที่จะทำให้ผลประโยชน์โดยรวมตกอยู่กับคนส่วนใหญ่

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 เมษายน 2560

ไทยระดมสมองนักวิทยาศาสตร์ รวบรวมข้อมูลจัดทำแผนที่คาร์บอนในดินทั่วโลก

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือด้านดิน หรือ Global Soil Partnership (GSP) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรดิน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร สร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยภายใต้การดำเนินงานของ GSP ได้แบ่งออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขาการจัดการทรัพยากรดิน 2.สาขาการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดิน 3.สาขาการวิจัยเรื่องทรัพยากรดิน 4.สาขาการจัดการข้อมูลและฐานข้อมูลทรัพยากรดิน และ5.สาขาการสร้างความสอดคล้องของข้อมูลวิธีการและมาตรฐานการจัดการทรัพยากรดิน โดยได้แบ่งกลุ่มความร่วมมือด้านดินเป็นระดับภูมิภาค รวม 8 ภูมิภาค สำหรับประเทศไทยและสมาชิกอีก 24 ประเทศ จัดอยู่ในกลุ่มความร่วมมือด้านดินของภูมิภาคเอเชีย (Asian Soil Partnership : ASP)

ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2559 ระหว่างการประชุม ASP Workshop “Towards a Regional Implementation Plan for Asia” ที่ กทม. ประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือด้านดินของภูมิภาคเอเชีย ได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีกิจกรรมการจัดทำแผนที่คาร์บอนในดินของภูมิภาคเอเซียเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักภายใต้สาขาที่ 4 แป็นการเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสถานการณ์ระดับโลก ซึ่งการเพิ่มปริมาณการสะสมของคาร์บอนในดินไม่เพียงแต่จะลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกแต่ยังเป็นการเพิ่มกำลังในการผลิตทางการเกษตร โดยคาร์บอนมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพดินและคุณภาพสิ่งแวดล้อม

โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนที่คาร์บอนในดินของเอเชีย ระหว่างวันที่ 24-29 เมษายน ที่ โรงแรมเอเชีย กทม. เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ รวมทั้งรวบรวมสถานภาพของข้อมูลคาร์บอนในดินของประเทศสมาชิก นำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลแผนที่คาร์บอนในดินของภูมิภาคเอเชียและของโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยจะได้นำมาปรับใช้เพื่อการวางแผนและกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ดันระบบ‘T&V System’ ปูพรมลงพื้นที่พัฒนา-ส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร

นางอ้อมทิพย์ สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้เปิดตัวระบบส่งเสริมการเกษตร “T&V System”(Training and Visit System) หรือระบบการอบรมและเยี่ยมเยียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ และมีแบบแผนมากขึ้น ขณะนี้ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้สร้างความพร้อมของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับจังหวัด 8 จังหวัดภาคตะวันตก และระดับอำเภอ 62 อำเภอ ให้ปฏิบัติตามระบบส่งเสริมการเกษตรดังกล่าว

ด้านการอบรม (Training) และถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและเกษตรกรเครือข่าย มีการเตรียมความพร้อมโดยจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ตามนโยบาย หรืออบรมความรู้ในการแก้ปัญหาของเกษตรกร เช่น การป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช การวางแผนการผลิตพืชชนิดต่างๆ หรือการแก้ปัญหาเร่งด่วนของจังหวัด/อำเภอ เป็นต้น ส่วนการเยี่ยมเยียน (Visit) มีการกำหนดแผนการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรออกเยี่ยมเยียนเกษตรกร โดยเจ้าหน้าที่อำเภอออกเยี่ยมเยียนเกษตรกรแบ่งเป็น 2 สาย มีเกษตรอำเภอและนักวิชาการอาวุโส เป็นหัวหน้าสายในการเยี่ยม

ระบบส่งเสริมการเกษตรรูปแบบใหม่นี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนในแต่ละสัปดาห์ สามารถเข้าถึงปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกรในการประกอบอาชีพ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้นำปัญหาอุปสรรคด้านการเกษตรของแต่ละพื้นที่มาเข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับอำเภอ จังหวัด เขต เพื่อนำเสนอต่อกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อหาแนวทางแก้ไขเชิงนโยบายต่อไป ที่สำคัญการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกจากด้านปัญหาและอุปสรรค ยังเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนด้านการส่งเสริมการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งสามารถนำมาถอดองค์ความรู้และถ่ายทอดสู่นักส่งเสริมการเกษตรรายอื่นสำหรับนำไปปรับใช้กับพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่การผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงในอาชีพต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

สิทธิประโยชน์ "อีอีซี" เจ๋งสุด เอกชนเชียร์ที่ดินเช่า 99 ปี

เอกชนหนุนรัฐตีฆ้องสิทธิประโยชน์อีอีซีแซงหน้าเพื่อนบ้าน เชียร์ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ดูดลงทุน-เทคโนโลยี มู่งสู่ New S-Curve "ดร.คณิศ" แจงคุณสมบัติผู้เช่าเน้น 3 ด้าน แผนลงทุน-อุตฯเป้าหมาย-ประเทศได้ประโยชน์ ด้าน มท.แจงปมกฎหมายร้อน

ความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการไปนั้น ได้เกิดกระแสต่อต้านในประเด็นการเปิดทางให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ถึง 99 ปี ปรากฏการให้สิทธิในการเช่าที่ดินดังกล่าว "ไม่ใช่เป็นการให้สิทธิใหม่หรือให้สิทธิเพิ่มขึ้นไปจากเดิม" แต่เป็นสิทธิเดิมที่นักลงทุนต่างชาติเคยได้รับมาแล้วตั้งแต่ปี 2542

99 ปีให้สิทธิต่างชาติเท่าเดิม

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า ในส่วนที่ 3 การได้มาและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน มาตรา 46 วรรค 2 ร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ได้บัญญัติไว้ว่า "การเช่าหรือให้เช่าตามวรรค 1 ห้ามมิให้เช่าเป็นกำหนดเวลาเกินกว่า 50 ปี ถ้าทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็น 50 ปี ทั้งนี้กำหนดเวลาเช่าดังกล่าว เมื่อสิ้นสุดลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่จะกำหนดเวลาเกินกว่า 49 ปีนับแต่วันต่อสัญญามิได้"นั้นหมายถึง ร่าง พ.ร.บ.ได้ให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นำที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่าเป็นระยะเวลา 50+49 ปี หรือรวมแล้วไม่เกิน 99 ปีนั่นเอง โดยในกรณีนี้ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า สาเหตุที่ต้องนำเรื่องการให้เช่าที่ดิน 99 ปีบรรจุไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ก็เพราะปัจจุบันการเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์สามารถกระทำได้ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 540 ที่ให้เช่าได้ไม่เกิน 30 ปี และต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 30 ปี หรือ 30+30 ปี

กับ 2) พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชย์และอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ให้เช่าได้เกิน 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี และต่ออายุสัญญาเช่าได้อีกไม่เกิน 50 ปี รวมแล้ว 99 ปี

แต่การจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาเช่าภายใต้ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชย์ฯ ยังมี "ข้อจำกัดและขั้นตอนยุ่งยากมาก" เช่น มาตรา 5 กำหนดให้ผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของอสังหาฯเท่านั้น หรือการเช่าที่ดินเกินกว่า 100 ไร่ ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดิน ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด การเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้อสังหาฯต้องเป็นไปตามเงื่อนไข มิฉะนั้น อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนเช่าได้ เป็นต้น

 เมื่อรัฐบาลมีนโยบายผลักดันระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ใน 3 จังหวัดคือชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา จึงมีความจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านกฎหมายในอดีต ด้วยการกำหนดสาระสำคัญไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก มาตรา 46 ให้การเช่าที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้รับการ "ยกเว้น" ไม่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การเช่าอสังหาฯนั่นเอง

"นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC สามารถเช่าที่ดินเพื่อการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้เป็นระยะเวลา 50 ปีในรอบที่หนึ่ง หลังจากนั้นเมื่อครบอายุสัญญาก็สามารถต่อระยะเวลาได้อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี ซึ่งใน พ.ร.บ. EEC เขียนลงไปโดยใช้ถ้อยคำเดียวกันกับ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาฯ ปี 2542 ดังนั้นจึงไม่ใช่การให้สิทธิใหม่หรือให้สิทธิเพิ่มเติม แต่เป็นสิทธิเดิมที่มีอยู่แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

แจงเงื่อนไขผู้เช่าที่ดิน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

(ครศ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงคุณสมบัติของผู้เช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามกฎหมายได้ระบุไว้ว่า 1) จะต้องเป็นนักลงทุนที่มีแผนการลงทุนชัดเจน 2) ต้องเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ 3) มีสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศต้องการภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกันได้

ขณะที่วิธีการเช่านั้น นักลงทุนจะต้องระบุจำนวนปีที่ต้องการชัดเจนเพื่อทำสัญญา เช่น เช่าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม และจ่ายค่าเช่าให้กับทางการนิคมฯโดยตรง ในกรณีที่เช่าพื้นที่นอกนิคมและเป็นเขตที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริม EEC ก็เช่นเดียวกัน จะอยู่ที่การตกลงและเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

"เราจะต้องพิจารณาว่า เป็นโครงการอะไร ประโยชน์ที่ประเทศได้ แล้วที่เราจะต้องจ่ายนั้นมันแค่ไหน แล้วเอามาบวกลบกันว่าอันไหนมากกว่า ในส่วนของที่ดินเราให้สิทธิประโยชน์แค่ไหน คุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ส่วนระยะเวลาการเช่าที่ดิน สเต็ปแรกอยู่ที่ว่า จะตกลงเช่ากี่ปี ซึ่งเราไม่ได้ให้เลยทันที 50 ปี บางรายเขาอาจแค่อยากเช่าระยะไม่ยาวมากนัก ขึ้นอยู่กับตัวนักลงทุนและตัวโครงการเอง ส่วนกรณีที่นักลงทุนรายแรกตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว 50 ปี บังเอิญมีคนมาซื้อกิจการต่อจากนักลงทุนรายเดิมในปีที่ 30 สัญญาเช่าที่ดินก็จะถูกยกเลิก เพราะเรายึดการทำสัญญาฉบับแรกกับนักลงทุนรายแรกเท่านั้น สัญญาเช่าจะเช่าช่วงต่อไม่ได้ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการจะต้องทำสัญญาเช่าพื้นที่ใหม่เพราะเป็นคนละเจ้านักลงทุนคนละราย และต้องมาเริ่มคุยกันใหม่ว่าจะเช่ากี่ปี" นายคณิศกล่าว

กฎหมายที่เกี่ยวกับการเช่าที่ดินที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันจะมี 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชย์และอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 กับ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม

เทียบเพื่อนบ้านไทยเจ๋งสุด

ด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกลุ่มไฮเทค ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ของไทยที่ขยายการลงทุนไปยัง สปป.ลาว-จีน-กัมพูชา และเวียดนาม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ถึงจำนวนปีที่ให้นักลงทุนต่างประเทศเช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมเป็น 99 ปี ถือว่า "เหมาะสมแล้ว" เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลไทยได้เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ดังนั้นหากไทยมุ่งหวังจะให้มีการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เชื่อว่าการให้ระยะเวลาการเช่าที่นานถึง 99 ปี จะก่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ "จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศ"

หากเปรียบเทียบเฉพาะระยะเวลาในการให้เช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา (เขต Spacial Economic Zone (SEZ) จะพบว่า ให้เวลาเช่าที่ดินเท่ากัน กล่าวคือ เฉพาะแง่ระยะเวลาการให้เช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจ EEC ยาวนาน 99 ปี ถือว่าเท่ากับกัมพูชาที่ให้สิทธิเช่าที่ดิน 99 ปี ในเขต Spacial Economic Zone (SEZ) โดยที่กัมพูชาไม่มีเงื่อนไขในการเช่า แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเวียดนามจะให้เช่าที่ดินเป็นเวลา 70 ปี หรือเท่ากับไทยให้เวลาเช่านานกว่าเวียดนาม 20 ปี (รายละเอียดระยะเวลาการเช่าที่ดินในอาเซียนตามตารางประกอบ) แต่เนื่องจากกัมพูชาและเวียดนามยังมีความจำเป็นต้องนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปพัฒนาประเทศมากกว่าไทย ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ปรับอัตราภาษีอีกและเห็นได้ชัดเจนว่า ในส่วนของเวียดนามแม้ว่าจะมีมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปี แต่แบ่งการลดภาษีเป็น 3 ขยัก คือ 4 ปีแรกลดภาษี 0% 4 ปีต่อมาให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากปกติ และอีก 2 ปีสุดท้ายก็ทยอยเพิ่มอัตราภาษีอีก 4-5%

"แต่หากเปรียบเทียบภาพรวมทั้งระยะเวลาการเช่า และการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน-การลดภาษีของ BOI ในภาพรวมถือว่าไทยให้มากที่สุดแล้ว เราชนะขาด เพราะรัฐบาลชุดนี้เทหมดหน้าตัก หากหลังจากนี้นักลงทุนยังไม่มีการลงทุนก็ต้องไปดูปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน" นายวัลลภกล่าว

ด้าน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุม คณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับรัฐมนตรี ระหว่างไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมาว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมในการตกลงที่จะจัดตั้ง คณะทำงานเพื่อหารือพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาร่วมกัน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการค้าให้ได้ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

อุตฯปรับบทบาทสศอ.รับไทยแลนด์4.0

      นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแผนการปรับโครงสร้างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า ในขณะนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนภารกิจของ สศอ. ให้เป็นหน่วยงานที่เป็นมันสมองของกระทรวงฯอย่างชัดเจน ทำหน้าที่วิเคราะห์ คาดการณ์แนวโน้มในภาคการผลิตของโลกว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ทันต่อสถานการณ์ของโลก รวมทั้งการวางแผนการพัฒนาไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสร้างความได้เปรียบของภาคอุตสาหกรรมไทย

      “ภารกิจหลักๆที่จะต้องให้ความสำคัญก็คือตั้งหน่วยงานจัดทำระบบฐานข้อมูลภาคอุตสาหกรรมต่างๆทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างละเอียด หรือบิ๊กดาต้า ออกแบบระบบชุดข้อมูลในการจัดเก็บ เพื่อพยากรณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมโลก และตอบโจทย์ในการปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0”

       นอกจากนี้ จะต้องวางแนวทางในการพัฒนากำลังพลของกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ให้เพียงพอ จัดหาบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางด้าน บิ๊กดาต้ารวมทั้งการเชิญภาคเอกชนในวงการจัดทำฐานข้อมูล เช่น ไอบีเอ็ม เข้ามาช่วยจัดทำบิ๊กดาต้าในแนวทางของประชารัฐ เพราะมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ตลอดจนการแชร์ข้อมูลร่วมกับระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งคาดว่าการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้จะเริ่มได้ในไตรมาส 2 จะเห็นโรดแมปและจะคาดการณ์ได้ว่าจะเพิ่มกำลังคน และใช้งบประมาณเท่าไร

       “ที่ผ่านมาสศอ. จะเก็บข้อมูลอย่างเดียวและข้อมูลก็จะจัดเก็บเฉพาะในส่วนของสศอ.แต่หลังจากนี้ จะต้องเก็บข้อมูลทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อให้มีฐานข้อมูลโรงงานต่างๆอย่างละเอียด รวมทั้งข้อมูลเอสเอ็มอีด้านต่างๆ เพื่อนำมารวบรวมเป็นบิ๊กดาต้า เป็นฐานข้อมูลในการประมวลผลภาวะอุตสาหกรรมไทยอย่างชัดเจน และประเมินคาดการณ์ในอนาคตได้ รวมทั้งใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0”

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ฝนหลวงเร่งช่วยเหลือพื้นที่พืชไร่ภาคอีสาน

               วันที่ 23 เมษายน 2560 เวลา 12.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ    การบินเกษตร กล่าวว่า หลังจากที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการปรับแผนปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือ  พื้นที่การเกษตรที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพืชไร่ข้าวโพดของจังหวัดนครราชสีมา สามารถช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวได้ตามที่เกษตรมีการขอรับบริการ      ฝนหลวง

                จากการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติการบริเวณพื้นที่การเกษตรจังหวัดนครราชสีมา     จังหวัดบุรีรัมย์ และพื้นที่รับน้ำเขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำแซะ ลำมูลบนและลำนางรอง โดยใช้อากาศ-ยานชนิด CN 235 ที่ย้ายจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ มาช่วยเหลือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ              ขึ้นปฏิบัติการจำนวน 4 เที่ยวบิน 6 ชั่วโมง ใช้สารจำนวน 8 ตัน มีรายงานจากการสอบถามไปยังเกษตรกร     ในพื้นที่ พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่อำเภอครบุรี จักราช ห้วยแถลง พิมาย     โนนสูงและเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอหนองหงส์ ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงพื้นที่รับน้ำเขื่อนลำมูลบนด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรพืชไร่ของเกษตรกรที่ขอความช่วยเหลือการรับบริการฝนหลวง

              สำหรับด้านการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาสาหร่ายบลูม ยังคงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสานการดำเนินงานกับทางสำนักชลประทานในพื้นที่และจังหวัดอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาจนกว่าจะคลี่คลายต่อไป

             ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการเมื่อวันที่ 3 มีนาคม–22 เมษายน 2560     มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 48 ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 753 เที่ยวบิน (1,106:50 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 641.20 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 241 นัด และภารกิจปฏิบัติการยับยั้ง         ความรุนแรงพายุลูกเห็บ จำนวน 730 นัด มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 51 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 141.93 ล้าน ลบ.ม.

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

พาณิชย์เร่งทำข้อมูลขาดดุลแจงสหรัฐฯ

                    พาณิชย์ถกหน่วยงานรัฐ-เอกชน หาข้อมูลตอบคำถามส่ง “พาณิชย์สหรัฐ” ภายใน 10 พ.ค.นี้ พร้อมสั่งทูตพาณิชย์ประจำวอชิงตัน ชี้แจงละเอียด 18 พ.ค.นี้ ย้ำเน้นตอบข้อสงสัยประเด็นกังวล  

 น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งจัดทำข้อมูลต่าง ๆ ตามที่สหรัฐอเมริกา เปิดให้คู่ค้า 13 ประเทศตอบคำถามด้านนโยบายการค้า เพื่อนำไปประกอบการจัดทำรายงานสาเหตุการขาดดุลการค้า ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีภายใน 90 วัน โดยได้เริ่มทยอยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคธุรกิจไทย และสหรัฐ ที่ทำการค้า การลงทุนกับสหรัฐ ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะส่งให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐตามกำหนดในวันที่ 10 พ.ค.นี้

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ ที่สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ในการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะวันที่ 18 พ.ค.ที่จะถึงนี้

“เรื่องดุลการค้านั้น จะมองเฉพาะการค้าสินค้าอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีการค้าบริการ และการลงทุนอื่นๆ อีก ซึ่งสินค้าหลัก ๆ ที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่คนอเมริกัน หรือคนต่างชาติในไทยลงทุน ไม่ใช่ของคนไทยเองทั้งหมด ดังนั้นจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำข้อมูลให้รอบด้าน พร้อมทั้งหารือกับทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุนของสหรัฐ และกับสหรัฐ”

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ชลประทาน 8 ห่วงเขื่อนลำตะคองเหลือน้ำแค่ 24% อีก 4 แห่งพอประทังจนพ้นแล้ง

วันที่ 24 เมษายน นายชิตชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนทั้ง 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ก็ยังต้องอยู่ในการเฝ้าระวังและควบคุมปริมาณการใช้น้ำอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นเขื่อนหลักที่ต้องใช้อุปโภคบริโภคในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เช่น อ.เมืองนครราชสีมา, อ.สีคิ้ว, อ.ขามทะเลสอ และ อ.สูงเนิน โดยตอนนี้ปริมาณน้ำเหลืออยู่ในเขื่อนเพียง 77 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่เมื่อวานนี้ (23 เมษายน) มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียง 3,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่ต้องเปิดประตูระบายน้ำ สำหรับให้ประชาชนใช้อุปโภค บริโภค และหล่อเลี้ยงระบบนิเวศถึง 346,000 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ช่วงนี้จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำให้มาก เพื่อให้มีน้ำใช้ได้จนพ้นหน้าแล้งนี้ ส่วนที่เหลืออีก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนมูลบน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนลำแชะ มีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 84 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 275 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำกักเก็บเหลือ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนลำปลายมาศ มีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 56 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งภาพรวมก็ยังถือว่าพอบริหารจัดการได้จนพ้นหน้าแล้งนี้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

เงินบาทกลับมาอ่อนค่า ขณะที่ หุ้นไทยปรับลดลง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 21 เดือนที่ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนลดช่วงบวกลงบางส่วน โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนในช่วงแรกจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุน ต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ก็เผชิญแรงเทขายจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ และโอกาสที่ลดลงของการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงต่อมา หลังจากผู้ว่าการ ธปท. ออกมาส่งสัญญาณว่า ธปท. จะยังคงติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และมีเครื่องมือหลากหลายรูปแบบในการเข้าไปดูแลความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของ ตลาด นอกจากนี้ แรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าด้วยเช่นกัน

สำหรับในวันศุกร์ (21 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพุธก่อนหน้า (12 เม.ย.)

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

ที่ประชุมคลัง G20 หนุนส่งเสริมการค้าเสรี ห่วงการขยายตัวนโยบายกีดกันการค้าทั่วโลก

รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและ เศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 ประเทศ หรือ G20 ได้แสดงความเป็นห่วงการขยายตัวของนโยบายกีดกันการค้าทั่วโลก และเห็นพ้องที่จะแสวงหาหนทางในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโต อย่างอย่างยืน ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์

ภายหลัง เสร็จสิ้นการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติของกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสองวันในกรุงวอชิงตันนั้น นายโวลฟ์กัง ชอยเบิล ขุนคลังของเยอรมนีในฐานะของประธาน G20 ได้ออกมากล่าวเตือนว่า การขยายตัวของนโยบายกีดกันทางการค้าทั่วโลก อาจบั่นทอนเสถียรภาพและฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

ขณะที่นายเยนส์ ไวด์แมนน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมนี กล่าวว่า ผู้ร่วมประชุมเกือบทุกฝ่ายต่างเล็งเห็นความสำคัญของตลาดเสรี และการส่งเสริมให้เปิดเสรีทางการค้า

นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น กล่าวว่า การค้าเสรีมีความสำคัญอย่างมาก ช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสหรัฐมุ่งยึดหลักผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ได้หมายความว่า สหรัฐจะปฏิเสธการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศอื่นๆ

กลุ่ม ประเทศ G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐ และสหภาพยุโรป

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

วังขนายมอบน้ำดื่ม นำไปใช้โครงการพัฒนาเยาวชน “ยุวมหาดไทย” นำร่องที่ชัยนาท

วันที่ 23 เม.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานรับมอบน้ำดื่มวังขนายจาก น.ส.ธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย เพื่อนำไปมอบให้เยาวชนที่เข้าร่วม โครงการค่ายพัฒนาเยาวชน ยุวมหาดไทย (โครงการนำร่อง) จัดระหว่างวันที่ 23-29 เม.ย.60 โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงมหาดไทย และ มูลนิธิรัฐบุรุษ (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) เพื่อปลูกฝังเยาวชน ให้เรียนรู้การเป็นผู้ให้ มีจิตสำนึกในการอุทิศตน และรู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและสังคม

นายสุทธิพงษ์ กล่าววว่า กลุ่มวังขนายเห็นความสำคัญของการปลูกฝังเยาวชนเพื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ให้ และทำงานรับใช้สังคม การเข้าค่ายครั้งนี้แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ แต่น้ำดื่มก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ การมอบน้ำให้เหมือนการมอบน้ำใจจากผู้ใหญ่ให้กับเยาวชน เป็นการสนับสนุนกิจกรรมระดับชาติ กลุ่มวังขนายถือเป็นเอกชนที่สนับสนุนงานของกระทรวงมหาดไทยมาโดยตลอด ที่ผ่านมาก็สนับสนุนโครงการสร้างเยาวชนให้เป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ โดยเฉพาะเยาวชนในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะและยกระดับความสามารถด้านกีฬาฟุตบอลให้ทัดเทียมมาตรฐานโลก โดยใช้ผู้สอนจากจากทีมบาเยิร์น มิวนิค

สำหรับโครงการค่ายพัฒนาเยาวชน ยุวมหาดไทย (โครงการนำร่อง) จัดขึ้นครั้งแรกที่ จ.ชัยนาท ระหว่างวันที่ 23-29 เมษายน 2560 ที่โรงเรียนสระเนินพระราม อ.เมืองชัยนาท มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ 5 จากโรงเรียนใน จ.ชัยนาท 100 คน มีนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาใน จ.ชัยนาท 39 คน ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และสมาชิกจากค่ายอาสารัฐบุรุษฯ 46 คน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนวทางการจัดกิจกรรมภายในค่าย

อย่างไรก็ตาม หลังจากอบรมเสร็จเยาวชนจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงผ่านการปฏิบัติด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมการออกค่าย รวมทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายเยาวชนต้นแบบ ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แก่สังคมและชุมชนของตนเอง ทั้งนี้ ถึงแม้จะจบการการอบรมไปแล้วเยาวชน ก็ยังมีการช่วยเหลือกันตลอดไปในฐานะพี่รหัสและน้องรหัส

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

เขื่อนเจ้าพระยาระดับน้ำต่ำ! วอนชาวนาอดใจเพาะปลูกพ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท จะเห็นว่าพื้นที่ท้ายเขื่อนมีระดับน้ำที่ต่ำ จนสามารถมองเห็นสันดอนทรายและดินท้องแม่น้ำได้ โดยในหลายๆจุดระดับน้ำลึกไม่ถึง1เมตร ทำให้ประชาชนที่อยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำสามารถเดินข้ามไปมาหากันได้ ตรวจสอบระดับน้ำเหนือเขื่อนเช้าวันนี้ วัดได้ 15.39 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนด้านท้ายเขื่อนวัดได้ 5.65 เมตร ซึ่งต่ำกว่าตลิ่งถึง10.69 เมตร ในขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา ยังคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่12 ชัยนาทเปิดเผยว่า ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำปี2560 ซึ่งสามารถจัดสรรเพื่อการอุปโภคและบริโภคของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และยังสามารถระบายน้ำลงท้ายเขื่อนในอัตรามาตรฐาน 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อผลักดันน้ำเค็มและรักษาระบบนิเวศได้ โดยไม่กระทบระบบการสำรองน้ำโดยภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกร เพราะในระยะนี้จะยังไม่มีการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร โดยให้อดใจรอไปลงมีเพาะปลูกพร้อมกันในเดือนพฤษภาคม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560

จับตาทรัมป์ "กลืนน้ำลาย" คิวต่อไปอาจปลุกชีพ "ทีพีพี"

การเปลี่ยนท่าทีของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐ เกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ที่เคยประกาศไว้อย่างแข็งกร้าวตอนหาเสียงเลือกตั้ง ดูท่าว่าจะเป็นเพียง "วาทกรรมหาเสียง" มากกว่าจะลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งการ "กลืนน้ำลาย" ที่ว่านี้ กำลังถูกนักสังเกตการณ์และนักวิเคราะห์จับตามอง

สิ่งที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกได้ถึงความโลเล พร้อมจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ตลอดของทรัมป์นั้น เริ่มจากท่าทีของเขาเกี่ยวกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จากเดิมตอนหาเสียงเขาเคยขู่ว่าสหรัฐอาจถอนตัวจากนาโต และยังตำหนิว่านาโตเป็นองค์กรล้าสมัย แต่ล่าสุดทรัมป์กลับลำ โดยระบุว่านาโตไม่ล้าสมัยและจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับภัยก่อการร้าย

ถัดมาติด ๆ กันนั้น ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ เมื่อทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับวอลล์สตรีต เจอร์นัล ว่า "จีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงิน"

ดังนั้นจีนจะไม่ถูกประกาศให้เป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน โดยอ้างว่าจีนนั้นไม่ได้แทรกแซงค่าเงินมาหลายเดือนแล้ว เพราะหากสหรัฐหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาในตอนนี้อาจส่งผลเสียต่อการเจรจากับจีนในประเด็นของเกาหลีเหนือ

เป็นที่น่าสังเกตว่าการไม่ประกาศให้จีนเป็นชาติบิดเบือนค่าเงินนี้ เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประชุมสุดยอดร่วมกันเป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือนเมษายน ซึ่งในครั้งนั้นสหรัฐได้ขอให้จีนช่วยเกลี้ยกล่อมเกาหลีเหนือให้หยุดการผลิตและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์

กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ในรายงานกึ่งประจำปีเกี่ยวกับพฤติกรรมของประเทศคู่ค้าในเรื่องค่าเงินจะไม่มีการประกาศให้จีนเป็นชาติบิดเบือนค่าเงิน เพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนลดลง อีกทั้งตลอดมาจีนได้พยายามพยุงค่าเงินหยวนให้แข็งค่า แต่สหรัฐจะยังคงสถานะจีนไว้ในกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ถูกเฝ้าสังเกตร่วมกับอีก 5 ประเทศคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐมาก

โดยสรุปแล้วตามรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐ ในรอบนี้ยังไม่มีประเทศใดถูกประกาศให้มีสถานะบิดเบือนค่าเงิน เนื่องจากยังไม่มีพฤติกรรมครบองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการค่าเงิน ทั้งนี้โดยปกติแล้วหากประเทศใดถูกประกาศให้มีสถานะบิดเบือนค่าเงิน ก็จะเป็นเหตุผลให้สหรัฐสามารถรื้อ-ทบทวนข้อตกลงการค้าใหม่ โดยครั้งสุดท้ายที่สหรัฐประกาศให้จีนเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงินก็คือปี 1994

ท่าทีดังกล่าวต่อจีนต่างจากช่วงแรก ๆ ที่ทรัมป์กล่าวหาและขู่จีนหลายครั้งว่าบิดเบือนค่าเงิน รวมทั้งยังเลิกโจมตีญี่ปุ่นเรื่องค่าเงินเช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนเป็นพิเศษก็คือ คำพูดของทรัมป์ที่กลับลำเรื่องนโยบายดอกเบี้ย หากจำกันได้เขาโจมตีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้เป็นเวลานาน

แต่ล่าสุดกลับพูดว่า "เขาชอบนโยบายดอกเบี้ยต่ำ" พร้อมทั้งแย้มว่าโอกาสยังเปิดอยู่สำหรับเจเน็ต เยลเลน ที่จะได้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดอีกสมัย

การกลับหลังหันทางนโยบายหลายอย่าง ซึ่งสื่ออเมริกันใช้คำว่า "ผิดสัญญาการหาเสียง" ของทรัมป์นี้ ทำให้เกิดการคาดหมายว่านโยบายใหญ่ต่อไปที่ทรัมป์อาจจะพลิกลิ้นก็คือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งทรัมป์ใช้อำนาจประธานาธิบดีเซ็นยกเลิกไปหลังเข้ารับตำแหน่งในวันแรก ๆ ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่าจะเป็นผลเสียต่อสหรัฐและจะเปิดให้จีนมีอิทธิพลในภาคพื้นนี้และกลายเป็นผู้นำโลก

"ฌอน คิง" รองประธานอาวุโสของพาร์ก สแตรทิจีส์ ระบุว่า ถ้าทรัมป์สามารถปล่อยให้จีนซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งคนสำคัญหลุดจากการถูกประกาศให้เป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน ถ้าเช่นนั้นแล้วทำไมเขาจะไม่สามารถทำตามคำร้องขอของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรเก่าอย่างยาวนานด้วยการกลับมาพิจารณาทีพีพี ซึ่งเป็นความหวังของแดนอาทิตย์อุทัยอีกรอบ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่จะได้ประโยชน์จากทีพีพีโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ และไม่เห็นด้วยที่สหรัฐยกเลิกการเข้าร่วมทีพีพี เพราะทีพีพีจะไม่มีความหมายถ้าปราศจากสหรัฐ

"ทรัมป์กลับลำมาแล้วหลายอย่างและได้รับชัยชนะ เพราะฉะนั้นทำไมเขาจะไม่ทำแบบเดียวกันนี้กับเพื่อน ซึ่งยืนเคียงข้างเพื่อต่อสู้กับประเทศอย่างจีนและเกาหลีเหนือ" คิงระบุ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560

อนท.ชะลอขายน้ำตาลล่วงหน้า หวังราคาตลาดโลกจะขยับขึ้น  

         “อนท.” จับตาราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกใกล้ชิดหลังราคาตลาดโลกเริ่มลดลงมาสู่ระดับ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์จากที่เคยทำราคาไว้เฉลี่ย 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เหตุเศรษฐกิจโลกผันผวนหนัก ชะลอทำราคาล่วงหน้าไว้ชั่วคราวก่อนหวังรอจังหวะขาขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่ ขณะที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูผลิต 59/60 คาดปิดหีบเร็วๆ นี้ผลผลิตอ้อยไม่ถึง 93 ล้านตัน

               แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ได้ชะลอทำราคาขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าฤดูการผลิตปี 2560/61 ไว้ชั่วคราวหลังจากที่ได้ทยอยขายไปแล้วประมาณ 20% จากปริมาณน้ำตาลทรายที่ อนท.บริหาร 8 แสนตัน (โควตา ข.) เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกค่อนข้างผันผวนทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบเคลื่อนไหวลดต่ำมาเฉลี่ยอยู่ที่ 17 เซ็นต่อปอนด์

               “ราคาก่อนหน้านี้ที่ขายไปทำราคาเฉลี่ยได้ 20 เหรียญต่อตัน หลังจากนั้นราคาน้ำตาลตลาดโลกได้ลดต่ำต่อเนื่องจึงต้องดูปัจจัยต่างๆ ก่อน ซึ่งยอมรับเศรษฐกิจโลกผันผวนมากทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงิน และความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ซึ่งหากเร่งขายในช่วงราคาตกจะกระทบต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 60/61 ให้ตกต่ำได้” แหล่งข่าวกล่าว

               ทั้งนี้ ราคาน้ำมันในปัจจุบันเริ่มกลับมาปรับราคาสูงขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่จะมีผลให้ราคาน้ำตาลทรายขยับราคาตาม เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งที่มีการซื้อขายเก็งกำไรและจะไปตามทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ก็พบว่าราคาน้ำตาลทรายซื้อขายส่งมอบเดือน พ.ค. 61 เริ่มขยับมาสู่ระดับ 17.42 เซ็นต์ต่อปอนด์แล้ว อย่างไรก็ตาม การทำราคาดังกล่าวยังเชื่อมั่นว่าภาพรวมจะไม่กระทบต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี60/61 ให้ตกต่ำ โดยคาดว่าจะใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมาที่ราคาเฉลี่ยอยู่ระดับ 900-1,000 บาทต่อตัน

               สำหรับความคืบหน้าการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 59/60 ที่ได้เปิดหีบตั้งแต่ ธ.ค. 59 ล่าสุดโรงงานส่วนใหญ่ปิดหีบเกือบหมดแล้ว โดยเหลือเพียง 2-3 โรงงานที่เปิดหีบเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ยังคงมีอ้อยตกค้างเฉลี่ยที่เหลือจะผลิตอ้อยได้ประมาณวันละ 1 หมื่นตัน คาดว่าภายในวันที่ 24-25 เมษายนนี้น่าจะปิดหีบได้ทั้งหมด โดยปริมาณอ้อยที่เข้าหีบล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายนมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 92.81 ล้านตัน ประเมินว่าเมื่อปิดหีบอ้อยคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 92.9 ล้านตันซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่อ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94 ล้านตัน ส่วนผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ย 107 กิโลกรัมซึ่งเพิ่มกว่าปีก่อน ทำให้ภาพรวมปริมาณน้ำตาลทรายเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 100 ล้านกระสอบ หรือ 10 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 

"อุตตม" ระดมเอกชนทำแผนโรดแมป Bio Economy GGC-มิตรผล ร่วมพัฒนาเชิงพื้นที่พืชอ้อย-ปาล์ม

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับคณะผู้บริหาร บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทในเครือปตท.ว่า  ทาง GGC แจ้งแผนการลงทุนที่จะขยายไปสู่การแปรรูปทางการเกษตรไปสู่มูลค่าสูงเพิ่มด้วยการทำพลาสติกชีวภาพและเครื่องสำอาง ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) จึงมอบให้ทาง GGC ไปหารือร่วมกับเอกชนในไทยและต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มมิตรผล ที่แสดงความสนใจเช่นกันเพื่อจัดทำแผนพัฒนา (Roadmap) เชิงพื้นที่อื่นโดยเฉพาะภาคอีสานที่มีลักษณะคล้ายกับระเบียงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเสนอในการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐชุดเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (D5) ในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้

สำหรับแผน Roadmap ที่เอกชนจะต้องทำ คือ Bio Economy จะมีความเกี่ยวกับพืชชนิดใดบ้าง นำไปสู่สินค้าอะไรอย่าง อาหาร เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง ประโยชน์ที่จะได้เกิดกับใครอย่างไร เกษตรกรได้อะไร โครงสร้างการแบ่งผลประโยชน์ต้องชัดเจน แนวทางการเยียวยาสำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น กำลังคนจะพัฒนาอย่างไร ขณะเดียวกันเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานจะต้องมีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ได้หารือกับทางกระทรวงเกษตรฯ ถึงแนวทางพัฒนาร่วมกัน และต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ขณะที่ด้านผังเมืองเตรียมหารือกับทางกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน ทั้งนี้เศรษฐกิจฐานชีวภาพนั้นเพื่อให้กระจายและเกิดประโยชน์ที่ทั่วถึงกับเกษตรกรของไทยในระยะต่อไปการพัฒนาก็จะต้องมองไปยังภาคอื่นและภาคอีสานเองก็จะมีความเหมาะสม เนื่องจากมีฐานการผลิตพืชเกษตรที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยที่จะนำไปสู่การผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และนำไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางกลุ่มมิตรผลที่อยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลก็มีความสนใจที่จะลงทุนให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical) เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 

รายงานพิเศษ ไทยแลนด์ 4.0: ก.อุตฯ ร่วมผลักดันผู้ประกอบการ SMEsไทยเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมงานนำร่องเปิดตัวสินเชื่อ SMEs Transformation Loan และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เติมเต็มเงินทุนติดอาวุธความรู้ ติดปีก SMEs ไทย โดยมีนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) ให้การต้อนรับ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อร่วมผลักดันผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 9,000 ราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 72,000 คน สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 151,140 ล้านบาท โดน ธพว.เป็นแกนหลักในการเติมเต็มเงินทุนและเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ

          นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือผ่านนโยบายภาครัฐ จึงได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก เพื่อส่งเสริมธุรกิจให้พัฒนายกระดับก้าวสู่อุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 และคาดว่าสินเชื่อและกองทุนตามนโยบายภาครัฐดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs เป็นอย่างดี โดยการจัดกิจกรรมจะเวียน ให้ครบทุกภาค รวม 14 จังหวัดภายในเดือน พ.ค.นี้ แบ่งเป็นเดือนเมษายน 9 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ลำปาง นครศรีธรรมราช สงขลา อ.หาดใหญ่ ตรัง เพชรบุรี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุดรธานี เดือนพฤษภาคม 5 จังหวัด คือ สกลนคร ลพบุรี นครปฐม พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา

          สำหรับสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการ มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มเเข็ง ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการใหม่ (NEW/START UP) หรือที่มีนวัตกรรมผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพหรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 โดยคิดดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 เพียงร้อยละ 3 ต่อปี จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 3,000 ราย

          ส่วนกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยคิดเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญาระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องจ่ายคืน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้ยไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านต่อราย (วงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 200-300 ล้านบาท) โดยธุรกิจต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคการเกษตรแปรรูปอาหาร แหล่งท่องเที่ยว กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรม เป็นต้น

          "การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในครั้งนี้ถือเป็นภาคกิจหลักของ ธพว. ที่สานต่อนโยบายรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งการพัฒนาฐาน เศรษฐกิจแห่งอนาคต โดยเน้นไปที่การพัฒนาผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจชุมชน สร้างความมั่นคง และการลดความเหลื่อมล้ำมทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมโดยมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและการพัฒนาเติมองค์ความรู้รอบด้าน สู่ความสำเร็จ ของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป" นายมงคลกล่าว  

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 

เลาะรั้วเกษตร : สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำเป็นไหม

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “การเกษตรไทย....ต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ” หยิบประเด็นนี้มาเสวนาก็ต้องทำใจว่ามีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย อยู่ที่เหตุผลของฝ่ายไหนจะน่าเชื่อถือกว่ากัน

อันที่จริงประเด็นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นประเด็นขัดแย้งในวงการเกษตรมานานแสนนาน และไม่มีท่าทีว่าจะหาข้อยุติกันได้ ฝ่ายค้านก็ค้านไปหัวชนฝา ค้านทั้งที่รู้ดีว่าอย่างไรเสียการปลูกพืชส่วนใหญ่เขาก็ใช้สารเคมีกันแน่ๆ ถ้าจะค้านก็ค้านอย่าให้เขาใช้กันแบบผิดๆ ใช้กันแบบไม่สนใจความปลอดภัยของผู้บริโภค...อย่างนั้นน่ะน่าค้าน แต่ถ้าค้านแบบไม่ให้ใช้ ก็ดูจะไม่มีเหตุผลไปหน่อยดูข้อมูลที่สมาคมวิทยาการวัชพืชนำมาเผยแพร่กันหน่อย.....

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทำการเกษตร 149 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีเพียง 3 แสนไร่ หรือไม่ถึง 0.1% ในขณะที่พื้นที่ที่เหลืออีก 148.7 ล้านไร่ หรือกว่า 99% มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในเมื่อประเทศไทยไม่สามารถผลิตสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชขึ้นมาใช้เองได้ ก็ต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และไม่ใช่เพิ่งจะมีการนำเข้ามาแต่นำเข้ามากว่า 40 ปีมาแล้ว

สถิติการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ระหว่างปี 2520-2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2520 ปริมาณนำเข้าทั้งหมด 6,811 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 154,568 ตัน ในปี 2559 ระยะเวลา 40 ปี เพิ่มขึ้น 22 เท่า แต่ถึงกระนั้นปริมาณสารเคมีที่เกษตรกรไทยใช้ยังน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมเสียด้วยซ้ำ เพราะจากข้อมูลระบุว่าประเทศที่ใช้สารเคมีมากกว่าไทยคือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้

กลับมาที่การเสวนาเรื่อง “การเกษตรไทย....ต้องพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ” ซึ่งสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้สรุปสาระสำคัญจากการเสวนาในวันนั้นเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะขอนำบางตอนของบทสรุปดังกล่าวมาไว้ในเลาะรั้วเกษตรวันนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่มีการขอให้ ยกเลิก หรือ แบนสารเคมีบางชนิด

เกษตรกรไม่เห็นด้วยว่าจะต้องยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิด เช่น พาราควอท และเมทโทมิล เพียงเพราะมีคนเอาสาร 2 ชนิดนี้ไปดื่มฆ่าตัวตาย เพราะแม้จะไม่มีสารเคมี 2 ชนิดนี้คนที่ประสงค์จะฆ่าตัวตายก็คงหาสารชนิดอื่น หรือวิธีการอื่นในการฆ่าตัวตายอยู่ดี ส่วนที่ให้ยกเลิกสารไกลโฟเสท ว่าเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าสารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้สารไกลโฟเสทยังมีการใช้กันอยู่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป

การจะยกเลิกสารเคมีชนิดใดสักชนิดหนึ่ง ไม่ใช่มีคนจำนวนไม่กี่คนบอกไม่เห็นด้วยแล้วจะยกเลิกได้ ต้องมีการเฝ้าระวัง มีการประเมินความเสี่ยง รวมทั้งการประเมินประโยชน์ และโทษ ถ้าใช้แล้วมีความเสี่ยง ใช้แล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ แบบนี้ละสมควรยกเลิก

มีข้อมูลระบุว่า การจะผลิตสารเคมีขึ้นมาใช้กำจัดศัตรูพืชสักชนิดหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องผ่านการคัดเลือกจากโมเลกุลนับแสนๆ ตัว เพื่อให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ใช้เวลาวิจัยนับสิบปี ต้องวิจัยในเรื่องต่างๆ นับร้อยเรื่อง และใช้งบประมาณในการวิจัยหลายพันล้านบาท

ฝ่ายผู้ส่งออกผักผลไม้และสินค้าเกษตร ก็บอกว่าอยากจะส่งออกพืชอินทรีย์เหมือนกัน แต่ปริมาณที่ผลิตได้มีไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นบางปีพื้นที่เพาะปลูกพืชอินทรีย์ก็ลดลงเพราะการผลิตในระบบอินทรีย์ต้องใช้แรงงานในการดูแลอย่างใกล้ชิด แมลงศัตรูพืชก็มาก โดยเฉพาะพืชผัก...ไม่ใช่ง่ายเหมือนปากพูด....

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะเชียร์สารเคมีแต่ฝ่ายเดียว แต่เชียร์ทั้งเคมี และอินทรีย์ ให้เกษตรกรเป็นคนเลือกที่จะผลิตในระบบใด ถ้าจะใช้เคมีก็ขอให้ใช้อย่างถูกต้อง คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ถ้าจะใช้อินทรีย์ ก็ขอให้ใจกว้างสำหรับคนที่เขาเลือกเคมีด้วย เพื่อจะได้อยู่กันอย่างเข้าใจและเห็นใจกัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560

เอกชน ติงรัฐเปิดประมูลข้าวคุณภาพเสื่อมผลิตเอทานอล

เอกชน ติงรัฐเปิดประมูลข้าวคุณภาพเสื่อมกระชั้นชิด หวั่นคุณภาพไม่คุ้มผลิตเอทานอล

      นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอเอทานอล จำกัด และในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยว่า ผู้ผลิตเอทานอลสนใจโครงการเปิดประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 1.037 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวที่มีอายุการเก็บรักษาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือเป็นข้าวคุณภาพเสื่อม ข้าวผิดชนิด ผิดมาตรฐาน แต่จะตัดสินใจเข้าร่วมยื่นซองเอกสารคุณสมบัติผู้เสนอราคาซื้อ ในวันที่ 26 เม.ย.นี้หรือไม่นั้น ยังต้องรอประเมินความคุ้มค่าภายหลังจากที่ส่งทีมงานลงพื้นที่ไปตรวจสอบคุณภาพข้าวในแต่ละโกดังภายในสัปดาห์นี้อีกครั้ง

      ดังนั้น การเปิดยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 26 เม.ย.นี้ จึงตอบไม่ได้ว่าจะมีผู้สนใจร่วมประมูลกี่ราย เพราะข้าวที่เก็บไว้ในโกดังกระจายอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนบน และภาคกลาง ซึ่งขั้นตอนการเปิดประมูลที่กระชั้นชิด ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถไปตรวจสอบคุณภาพข้าวได้ทั่วถึงทุกโกดัง จึงคาดว่า ผู้ผลิตเอทานอล คงจะเข้าร่วมประมูลข้าวในโกดังที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ตั้งโรงงานเอทานอล ที่ผ่านการตรวจประเมินคุณภาพและความคุ้มค่าแล้ว โดยผู้ผลิตเอทานอล จะต้องประเมินความเสี่ยงจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากรับซื้อข้าวล็อตดังกล่าวมาแล้ว เนื่องจากเงื่อนไข(TOR)กำหนดว่า ข้าวที่รับซื้อไปแล้วไม่สามารถยกเลิก หรือ คืนสินค้าได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอล มีความกังวลคุณภาพข้าวว่าเสื่อมในระดับใด และเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งที่เหลืออยู่ยังสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้หรือไม่ เพราะข้าวดังกล่าวเก็บไว้ในโกดังนานกว่า 5 ปี

            นายเดชพนต์ ยอมรับว่า ราคาประมูลข้าวคุณภาพเสื่อมล็อตนี้จะเป็นการเสนอราคาซื้อที่ต่ำ เพราะการนำข้าวเลื่อมไปผลิตเอทานอลต้องเปรียบเทียบราคากับวัตถุดิบจากมันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันราคามันสด ตกต่ำลงอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.60-1.70 บาท ดังนั้นราคาประมูลข้าวเสื่อมจะตกต่ำกว่าราคามันสด

             "การซื้อมันสด ไปผลิตเอทานอลผู้ประกอบการยังมั่นใจได้ว่า มีเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งที่จะนำไปหมักเป็นเอทานอลแน่นนอน แต่ข้าวคุณภาพเสื่อม ยังไม่มั่นใจว่าในแต่ละโกดังจะมีการปลอมบน หรือ มีเปอร์เซ็นต์แป้งเหลืออยู่ระดับใด แต่คาดว่าราคาประมูลคงต่ำกว่าราคามันสดราว20-30% เท่านั้น หรือไม่น่าต่ำกว่ากิโลกรัมละ 1 บาท" นายเดชพนต์ กล่าว

             นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กล่าวว่า กรมฯเตรียมปรับเป้าหมายการใช้เอทานอลของประเทศในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4.2 - 4.3 ล้านลิตรต่อวัน และปีนี้ อยู่ที่ 4 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิมคาดว่าปีนี้จะใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.8-3.9 ล้านตัน เนื่องจากปัจจุบัน ประชาชนหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เพิ่มขึ้น10% เมื่อเทียบกับปี 2559 ประกอบกับยอดการใช้แก๊สโซฮอล์ E85 เริ่มขยับสูงขึ้นถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มียอดใช้อยู่ 8-9 แสนลิตรต่อวัน "เดิมยอดใช้เอทานอลในปี 2559 อยู่ที่ 3.6-3.8 ล้านลิตรต่อวัน แต่นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนตอบรับมาขึ้น จึงต้องปรับเป้าหมายใหม่ให้เพิ่มขึ้นอีก 2-3 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้การส่งเสริมเอทานอลเป็นไปตามเป้าหมายที่ 11.3 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP)ปี2558-2579" นายวิฑูรย์ กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560

สหรัฐฯ จี้ 13 ชาติส่งข้อมูลขาดดุลการค้า

 พาณิชย์สหรัฐ จี้ 13 ชาติ ตอบคำถามเหตุทำขาดดุลการค้า ประกอบจัดทำรายงานให้ “ทรัมป์” ขีดเส้นส่งภายใน 10 พ.ค.นี้   

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้รายงานกรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้า ภายใน 90 วัน ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐ มายังกระทรวงพาณิชย์ เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ภายใต้การศึกษาครั้งนี้ จากทั้งหมด 13 ประเทศ

โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐกำหนดให้ผู้สนใจ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของทั้ง 13 ประเทศ ยื่นข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ และจะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะวันที่ 18 พ.ค.นี้

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ต้องการทราบข้อมูล คือ สาเหตุหลักของการขาดดุล โดยพิจารณารวมถึงมาตรการด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี การทุ่มตลาด (เอดี) การอุดหนุนจากรัฐบาล การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และมาตรฐานแรงงานและระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น                                                               

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560

ราคาน้ำตาลตลาดโลกเริ่มลดอนท.ชะลอขายหวังรอขาขึ้น 

 "อนท."จับตาราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกใกล้ชิดหลังราคาตลาดโลกเริ่มลดลงมาสู่ระดับ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์จากที่เคยทำราคาไว้เฉลี่ย 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เหตุ ศก.โลกผันผวนหนัก ชะลอทำราคาล่วงหน้าไว้ชั่วคราวก่อนหวังรอจังหวะขาขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่ ขณะที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูผลิต 59/60 คาดปิดหีบเร็วๆ นี้ผลผลิตอ้อย ไม่ถึง 93 ล้านตัน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด(อนท.)ได้ชะลอทำราคาขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ไว้ชั่วคราวหลังจากที่ได้ทยอยขายไปแล้วประมาณ 20% จากปริมาณน้ำตาลทรายที่ อนท.บริหาร 8 แสนตัน (โควตา ข.) เนื่องจากปัจจัยเสี่ยง ทางเศรษฐกิจโลกค่อนข้างผันผวนทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบเคลื่อนไหว ลดต่ำมาเฉลี่ยอยู่ที่ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์

          "ราคาก่อนหน้านี้ที่ขายไปทำราคาเฉลี่ยได้ 20 เหรียญฯ ต่อตันหลังจากนั้นราคาน้ำตาลตลาดโลกได้ลดต่ำต่อเนื่อง จึงต้องดูปัจจัยต่างๆ ก่อนซึ่งยอมรับเศรษฐกิจโลกผันผวนมากทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงิน และความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ซึ่งหากเร่งขายในช่วงราคาตกจะกระทบต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 60/61ให้ตกต่ำได้" แหล่งข่าวกล่าว

          ทั้งนี้ ราคาน้ำมันในปัจจุบันเริ่มกลับมาปรับราคาสูงขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่จะมีผลให้ราคาน้ำตาลทรายขยับราคาตามเนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งที่มีการซื้อขายเก็งกำไรและจะไปตามทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ก็พบว่าราคาน้ำตาลทรายซื้อขายส่งมอบเดือน พ.ค.61 เริ่มขยับมาสู่ระดับ 17.42 เซ็นต์ต่อปอนด์แล้ว อย่างไรก็ตาม การทำราคาดังกล่าวยังเชื่อมั่นว่าภาพรวมจะไม่กระทบต่อการคำนวณราคาอ้อย ขั้นต้นปี 60/61 ให้ตกต่ำโดยคาดว่าจะ ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมาที่ราคาเฉลี่ย อยู่ระดับ 900-1,000 บาทต่อตัน

          สำหรับความคืบหน้าการเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 59/60 ที่ได้เปิดหีบตั้งแต่ ธ.ค.59 ล่าสุดโรงงานส่วนใหญ่ปิดหีบเกือบหมดแล้ว โดยเบื้องต้นเหลือเพียง 2-3 โรงงาน ที่เปิดหีบเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ยังคงมีอ้อยตกค้างเฉลี่ยที่เหลือจะผลิตอ้อยได้ประมาณวันละ 1 หมื่น ตัน โดยคาดว่าภายในวันที่ 24-25 เมษายนนี้น่าจะปิดหีบได้ทั้งหมด โดยปริมาณอ้อยที่เข้าหีบล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน มีปริมาณอ้อย เข้าหีบทั้งสิ้น 92.81 ล้านตัน โดยประเมินว่าเมื่อปิดหีบอ้อยคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 92.9 ล้านตันซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่อ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94 ล้านตัน ส่วนผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยิลด์) เฉลี่ย 107 กิโลกรัม ซึ่งเพิ่มกว่าปีก่อนทำให้ภาพรวมปริมาณ น้ำตาลทรายเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 100 ล้านกระสอบหรือ 10 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 

พาณิชย์ผลักดันสหพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าการสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต หรือ HUB ด้านเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือไม่ใช่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย กระทรวงจึงมีแนวความคิดที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนในอาเซียนจัดตั้งสหพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน (ASEAN Organic Federation) ขึ้นเป็นครั้งแรก

มุ่งหวังที่จะให้สหพันธ์ดังกล่าวเป็นเวทีในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการของประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของผู้ผลิต และผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ในอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย

“โดยจะใช้เวทีการจัดงาน Organic & Natural Expo 2017 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นี้ ผลักดันการจัดตั้งสหพันธ์ดังกล่าว และถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เห็นศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคนี้”

สำหรับปีนี้จะเป็นการเปิดความร่วมมือในระดับสากลเป็นครั้งแรกร่วมกับผู้จัดงานเกษตรอินทรีย์ระดับโลกของเยอรมนี โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 45,000 ราย เนื่องจากกระแสสุขภาพกำลังมาแรง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 

ส.ป.ก.ยึดที่ดินแสนไร่ไปพัฒนาต่อ ประเดิมส่งมอบให้เกษตรกรรายใหม่3หมื่นไร่เดือนนี้

ส.ป.ก.สรุปผลยึดคืนที่ดินครอบครองผิดกฎหมาย 3.1 แสนไร่ "สมปอง" แจง 1 แสนไร่แรกต้องส่งมอบภายใน ก.ย.นี้ เผยเกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัด นครราชสีมา-กาญจนบุรี-สุราษฎร์ธานีได้เฮก่อน เริ่มทยอยส่งมอบ เม.ย.นี้ 3 หมื่นไร่

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรมพื้นที่ครอบครองผิดกฎหมายโดยมีเป้าหมายยึดคืน 500 แปลง จำนวน 440,000 ไร่ ใน 28 จังหวัด ผลการยึดคืนถึงปัจจุบัน 3.1 แสนไร่ และนับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนนี้จะเริ่มทำการส่งมอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่ร่วมกับกรมชลประทาน ทหารช่าง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และบูรณาการร่วมกับทุกกรมของกระทรวงเกษตรฯ ในเรื่องการพัฒนาแปลงและอาชีพ และคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำกิน โดย คทช.จังหวัดจะตรวจสอบคุณสมบัติอย่างครบถ้วนก่อนแบ่งสรรตามรูปแบบสหกรณ์ ในจำนวน 30,000 ไร่แรก ที่กำหนดส่งมอบจะเริ่มปรับพื้นที่ หาแหล่งน้ำ ทำถนน วางระบบสาธารณูปโภค ในพื้นที่ที่เกษตรกรเข้าใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ ตามกำหนดการเป็นไปตามแผนพอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ได้ 100% เพราะจากเดิมตั้งเป้าไว้ทุกแปลงต้องสมบูรณ์ภายในเมษายนนี้แต่ยังติดขัดปัญหาบางแปลงจำเป็นต้องขยับไปเดือนพฤษภาคมและแปลงที่น่าจะแล้วเสร็จในเดือนนี้ ได้แก่ นครราชสีมา กาญจนบุรี และสุราษฎร์ธานี นอกนั้นจะทยอยส่งมอบให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม คือ เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระแก้ว ตามลำดับ ส่วนเฟสสองจำนวน 7 หมื่นไร่ จะต้องเริ่มเดือนถัดไป และต้องเสร็จสิ้นตามโรดแมปในเดือนกันยายน ที่เหลือจะดำเนินการในปี 2561

ผลสรุปยึดมาแล้ว 3 แสนไร่ แบ่งเป็น 1 แสนไร่แรกทยอยส่งมอบภายในเดือนกันยายน 2560 ขณะที่ 2 แสนไร่หลัง ที่ยึดคืนมาแล้วก็ได้จัดสรรให้ผู้ครอบครองรายเดิม เพราะมีสิทธิ์ในฐานะเกษตรกร อาจจะจัดในรูปของผู้ครอบครองเดิม แต่ต้องเป็นเกษตรกร ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ถือครองไม่ถึง 50 ไร่ ถือเป็นแปลงเล็ก แต่แปลงใหญ่จะอยู่ในกรณีของการจัดสรรที่ดิน 7 หมื่นไร่ ซึ่งจะมีหลายระดับ ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไปให้นำมาจัดสรรหมดตามที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จัดสรรในรูปแบบแตกต่างกันไป ดังนั้นที่ยึดคืน 3 แสนไร่ หมดเกลี้ยงแล้ว เว้นแต่ว่ามีเพิ่มก็ให้เอารูปแบบ คทช.มาใช้ ซึ่งทั้งหมดต้องรายงานรัฐบาล ตามที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 คำสั่ง 36/59 ว่าปัจจุบันนี้ ส.ป.ก.ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนไหน ผลเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในปีงบประมาณปีนี้

"ในจำนวน 1 แสนไร่แรก ที่จะแบ่งให้เกษตรกรทำกินจะแบ่งออกเป็น 5 โซน คือ โซนที่อยู่อาศัยให้พื้นที่ 1 ไร่ ส่วนถัดมาคือพื้นที่เกษตร ให้ครอบครัวละ 5 ไร่ ส่วนที่สามคือแปลงเกษตรที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน โซนที่ 4 คืออุปโภคบริโภคและโซนที่ 5 คือ พื้นที่อเนกประสงค์ ซึ่งเนื้อที่ 3 หมื่นไร่แรกมีเกษตรกรได้รับจัดสรร 2,000 ราย ส่วนเนื้อที่ 7 หมื่นไร่ มีเกษตรกรที่จะได้รับอีก 5,000 ราย รวมทั้งสองส่วน 7,000 ราย" เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 

สั่งเฝ้าระวัง 4 อำเภอพื้นที่เสี่ยงหลุมยุบ

.สำนักธรณีวิทยา จ.ขอนแก่น ตรวจสอบหลุมดินยุบกลางไร่อ้อยกว่า 16 หลุม เบื้องต้นพบพื้นที่เสี่ยง 11 ตำบลใน 4 อำเภอ พร้อมเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง

 นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู พ.อ.ธนาวีร์ วิชาชัย รอง ผบ.กกล.รส.จ.หนองบัวลำภู นางศิริวรรณ สุดาจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหนองบัวลำภู เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองบัวลำภู ปลัดอาวุโสอำเภอนากลาง นายก อบต.ด่านช้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ พร้อมด้วย นายภูผา มุงคุณ ผอ.ส่วนทรัพยากรแร่ นายทรงกลด ประเสริฐทอง นักธรณีวิทยาชำนาญการ และ น.ส.น้ำฝน คำพิลัง นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต2ขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบหลุมดินในพื้นที่ไร่อ้อยของ นางละมูล ครองแสนเมือง ในพื้นที่หมู่ที่14บ้านด่านช้าง ที่ได้ยุบตัวเป็นหลุมลึกประมาณ3เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2เมตร และได้เกิดอีกหลายหลุม ในไร่อ้อยของชาวบ้าน ในหมู่14และหมู่7ในเบื้องต้นพบว่ามี16 หลุม ว่าหลุมดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุใดและคาดว่าจะมีการยุบตัวกระจายเป็นวงกว้างต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อชาวบ้านในพื้นที่

นายธนากร กล่าวว่า ได้กันพื้นที่ให้มีสัญลักษณ์แจ้งเตือนการเกิดหลุม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับชาวบ้าน และยังไม่ให้มีการปิดถมหลุมเพื่อดูว่า การขยายตัวของหลุมยังจะมีอีกต่อไปหรือไม่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ธรณีวิทยา พบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นชั้นหินปูน การใช้น้ำบาดาลและแรงระเบิดจากโรงโม่หิน ที่อาจจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดหลุม ได้แต่ก็ไม่สามารถชี้ชัดลงไปว่า การเกิดหลุมดังกล่าวเกิดจากสาเหตุหนึ่งสาเหตุใดได้

พื้นที่เกิดหลุมดินยุบทั้งสิ้น11ตำบล ในพื้นที่4อำเภอ คือ อำเภอนากลาง ในพื้นที่ของตำบลด่านช้างและอุทัยสวรรค์ อำเภอศรีบุญเรือง ในพื้นที่ของ ตำบลหนองกุงแก้ว อำเภอสุวรรณคูหา ในพื้นที่ของ ตำบลนาสี ตำบลบ้านโคก ตำบลดงมะไฟ และอำเภอนาวัง มี5ตำบลคือ ตำบลนาเหล่า ตำบลนาแก ตำบลวังทอง ตำบลวังปลาป้อม และตำบลเทพคีรี ซึ่งเมื่อวันที่2สิงหาคม2551ก็ได้เกิดเหตุการณ์หลุมดินยุบขึ้นในพื้นที่ บ้านโนนถาวร ต.ด่านช้าง อ.นากลาง มาแล้ว และกรมทรัพยากรธรณี ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำการตรวจสอบและสำรวจโดยการวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า เพื่อศึกษาว่าในพื้นที่นี้มีโพรงใต้ดินอีกหรือไม่ พบว่า มีโพรงใต้ดินที่สามารถพัฒนาเป็นหลุมยุบได้3โพรง นอกจากนี้ยังพบรอยดินแยกซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของหน้าดินและมีการทรุดตัวของหน้าดินตามไหล่เขาไปจากระดับเดิม50เซนติเมตร จำนวน3แนว ในบริเวณบ้านวังปลาป้อม ต.วังปลาป้อม อ.นาวัง ซึ่งจากเหตุการณ์ของตำบลด่านช้างนี้ จะได้เป็นกรณีศึกษา เพื่อที่จะได้มีการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงภัยทั้ง4อำเภอ

ทางด้านนายภูผา มุงคุณ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรแร่ สำนักงานทรัพยากรธรณีวิทยา เขต2ขอนแก่น กล่าวว่า สภาพพื้นดิน เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยที่มีโอกาสเกิดหลุมลึก สภาพของดินด้านล่างจะมีสภาพเป็นหินปูน เมื่อเกิดรอยแยกจึงทำให้ปริมาณน้ำฝนที่มีสภาพเป็นกรดไปกัดกร่อนหินปูนทำให้กลายเป็นดินเป็นโพรงถ้ำ ทำให้เกิดการยุบตัว โดยพื้นที่เสี่ยงบริเวณแนวด้านตะวันตกของจังหวัดหนองบัวลำภู และบริเวณรอบๆภูเขาหินปูนก็จะเกิดเป็นโพรงถ้ำใต้ดินและพัฒนาเป็นการยุบตัวของผนังถ้ำ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่จะทำให้ มีการเกิดการยุบตัว ทั้งการเจาะบ่อบาดาลนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตร การที่น้ำใต้ดินมีน้อยในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำการป้องกันแก้ไขได้ยาก เพราะในช่วงนี้เกษตรกรก็ยังมีความต้องการน้ำนำมาใช้เพื่อการเกษตรอีกอยู่

ส่วนพื้นที่ตำบลด่านช้าง จากการระเบิดหินที่มีการสั่นสะเทือนก็มีส่วนเป็นตัวเร่งให้เกิดโพรงได้เร็ว แต่ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าการเกิดดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง มีหลายปัจจัย แม้แต่การลดตัวของน้ำบาดาลในฤดูแล้ง ทำให้เกิดโพรงถ้ำและยุบตัวได้ ส่วนการเกิดจะเกิดหลังจากฝน หลั่งลงผิวดินไหลชะล้างลงไปยังชั้นหินปูน แล้วก็จะเกิดการยุบตัว ซึ่ง ในช่วงนี้อีก2-3วัน ทางเจ้าหน้าที่จะได้มีการสำรวจเก็บข้อมูลและประสานส่วนกลางในการใช้เครื่องมือสำรวจสภาพใต้ดิน เพื่อหาสาเหตุอีกครั้งหนึ่ง

 จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 

นำ Startup ไอทีไทยโชว์ศักยภาพในเวทีระดับโลกที่สิงคโปร์

 ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. จับมือผู้จัดงาน CommunicAsia 2017 ประเทศสิงคโปร์นำ Startup ไอทีไทยโชว์ศักยภาพในเวทีระดับโลก หลังขยายธุรกิจ

             เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ จะนำตัวแทนนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ไอทีและซอฟต์แวร์ของประเทศไทยเข้าร่วมงาน CommunicAsia 2017 ซึ่งเป็นงานอุตสาหกรรมด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จัดที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 23 - 25 พ.ค. นี้ โดยพาวิลเลียนของประเทศไทย จะนำเสนองานของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 12 บริษัท ที่เป็นโซลูชั่นสำหรับองค์กร ด้านการศึกษา สื่อ โลจิสติกส์และเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร

               “จากนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย ที่มุ่งหมายให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้ที่สูง การพัฒนาไปสู่ digital Thailand ในด้านต่างๆ จึงมีความสำคัญ นักพัฒนาซอฟต์แวร์คือผู้ที่เป็นพลังสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ในบทบาทของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนและส่งเสริมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทย ผลักดันและเปิดโอกาสให้นักธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์หน้าใหม่ได้แสดงผลงานธุรกิจของตนในต่างประเทศในระดับสากล เพื่อทำให้เกิดการตกลงซื้อขายและจับคู่ธุรกิจในด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การเติบโต การเรียนรู้และการสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการขยายอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระดับสากล” นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. กล่าว

                ในงาน CommunicAsia2017 องค์กรด้านการสื่อสารชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ บริษัทไทยคม และบริษัททรูเวฟ จะขึ้นนำเสนอบนเวทีในช่วง CommunicAsia Summit นอกจากนี้ จะมีผู้บรรยายจากประเทศไทย ได้แก่ นายไพบูลย์               พูลสวัสดิ์วัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม และดร. ธนชาต นุ่มนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง IMC Institute ประเทศไทย โดย ดร.ธนชาติ จะนำเสนอแนวโน้มด้านความปลอดภัยด้านไอทีในประเทศไทย ในหัวข้อ: “มุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 - เทคโนโลยีเกิดใหม่ คลาวด์ อินเทอร์เนต ออฟ ธิงส์ และ บิ๊ก ดาต้า จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในประเทศไทยอย่างไร” เพราะเหตุไรจึงมีความจำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับไอทีในด้านต่างๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์และประเทศไทยจะต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างไรในบริบทเช่นนี้

              “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยมีการขยายตัวข้ามพรมพรมแดนประเทศ CommunicAsia จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสำหรับผู้พัฒนาเทคโนโลยีไทยให้ก้าวสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ นำไปสู่การเติบโต การยอมรับ และการนำเทคโนโลยีของไทยไปใช้" นายวิกเตอร์ หว่อง ผู้อำนวยการโครงการด้านการสื่อสาร UBM Singapore Exhibition Services กล่าว

                 ในงาน CommunicAsia และ BroadcastAsia 2017 จะมีผู้เข้าร่วมแสดงงาน 1700 รายจาก 58 ประเทศ และ 38 พาวิลเลียนนานาชาติ นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดของบริษัท และรัฐบาลที่ต้องการก้าวทันยุคดิจิทัลเนื้อที่แสดงงานครอบคลุมเต็ม 65,000 ตารางเมตร ของ Marina Bay Sands และ Suntec Singapore คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงาน 48,000 ราย

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 

เผยสถานการณ์ภัยแล้งปี 60 น้อยกว่าปีที่ผ่านมา

เผยสถานการณ์ภัยแล้งปี 60 น้อยกว่าปีที่ผ่านมา หลังแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ

            พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงไม่มากนัก มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 59 จำนวน 1 จังหวัด 3 อำเภอ 13 ตำบล 85 หมู่บ้าน คือ จ.สระแก้ว ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง และ อ.ตาพระยา มีพื้นที่นาข้าวเสียหายสิ้นเชิง 100,476.50 ไร่ เกษตรกร 6,106 ราย วงเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ 111.83 ล้านบาท ซึ่งวันที่ 19 เม.ย. 60 ได้ดำเนินการโอนเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ ให้เกษตรกรแล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประกาศยกเลิก จ.สระแก้ว เป็นเขตให้ความช่วยเหลือฯ

          อย่างไรก็ตาม พื้นที่ประกาศภัยแล้ง ณ วันเดียวกัน (19 เม.ย. 60) ระหว่าง ปี 2555 - 2560 พบว่าปีนี้มีน้อยกว่าปีก่อน ๆ มาก อาทิ ปี 2555 ประกาศ 42 จังหวัด 334 อำเภอ 2,442 ตำบล 25,434 หมู่บ้าน ปี 2556 ประกาศ 47 จังหวัด 494 อำเภอ 3,383 ตำบล 33,611 หมู่บ้าน ปี 2557 ประกาศ 42 จังหวัด 288 อำเภอ 1,765 ตำบล 16,960 หมู่บ้าน ปี 2558 ประกาศ 34 จังหวัด 211 อำเภอ 1,136 ตำบล 10,288 หมู่บ้าน ปี 2559 ประกาศ 27 จังหวัด 136 อำเภอ 614 ตำบล 4,911 หมู่บ้าน และ ปี 2560 ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง

      ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ประกาศภัยแล้งมีน้อยกว่าปีก่อน ๆ ประกอบด้วย 1) แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558 - 2569 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งทำเป็น 4 เท่าของรัฐบาลที่ผ่านมา สามารถเพิ่มปริมาณต้นทุน ได้ 2,069.30 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ได้ 1.59 ล้านไร่ ตลอดจนเพิ่มประปาหมู่บ้านได้ 5,911 หมู่บ้าน เหลืออีก 1,579 หมู่บ้าน จะแล้วเสร็จในปี 2560 2) การบริหารจัดการน้ำที่บูรณาการ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในช่วงฤดูน้ำหลากระบายน้ำส่วนหนึ่งลงทะเล และเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ไว้ใช้ในฤดูแล้ง เช่น พื้นที่บางระกำ ผันน้ำเก็บในแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และ บึงขี้แร้ง พื้นที่ปากพนัง เก็บน้ำไว้ในลำคลอง จ.นครศรีธรรมราช ไม่ระบายลงทะเลทั้งหมด

        ส่วนในช่วงฤดูแล้ง วางแผนจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำที่มี และควบคุมการน้ำใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน 3) ปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 60 โดยเน้นที่การเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนที่น้ำน้อย สร้างความชุ่มชื้นพื้นที่การเกษตร บรรเทาหมอกควัน และสลายลูกเห็บ 4) กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอ ครม. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 60 เพื่อดำเนินมาตรการป้องกัน/บรรเทาภัยแล้ง ปี 2559/60 จำนวน 6 มาตรการ 29 โครงการ 5) ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการพัฒนาตามความต้องการของชุมชน ทำให้มีแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อย เช่น กล้วย เป็นต้น รวมทั้งการเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่แล้งซ้ำซากกว่า 6,000 แห่ง และ 6) การบริหารจัดการของจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการมาตรการป้องกัน/ยับยั้งภัยแล้งอย่างได้ผล

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 

กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนปฏิบัติภารกิจ เร่งทำฝนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มีการปรับแผนปฏิบัติภารกิจในการปฏิบัติการฝนหลวงทางภาคใต้ มาปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ จากสภาพอากาศทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีเกษตรกรขอรับบริการฝนหลวงในพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพืชไร่ ซึ่งกำลังประสบปัญหาความแห้งแล้ง การขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงปรับแผนการปฏิบัติภารกิจการทำฝน โดยจะย้ายเครื่องบิน CN จำนวน 1 ลำ จากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ไปสนับสนุนภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการปรับแผนปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเติมน้ำในเขื่อนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เช่นกัน

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ อำเภอหนองกุงศรี สหัสขันธ์ ท่าคันโท คำม่วง สามชัย และบริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุดบาก ภูพาน นิคมน้ำอูน โพนนาแก้ว กุสุมาลย์ พรรณานิคม อำเภอเมืองสกลนคร และบริเวณลุ่มรับน้ำเขื่อนน้ำพุง เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร รวมถึงอำเภอศรีสงคราม นาหว้า ท่าอุเทน โพนสวรรค์ และอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ที่ขอรับบริการฝนหลวงทั่วทุกภูมิภาค กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติภารกิจช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย พร้อมทั้งเฝ้าติดตามสถานการณ์ในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและเพิ่มความชุ่มชื้นต่อไป

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 

ลุ้นไทยขึ้นแท่นอันดับ 2 อาเซียน

 “วิษณุ” แก้กฎหมายอำนวยความสะดวกนักธุรกิจ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “การปฏิรูปภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ” ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการประเมินและจัดอันดับไทยในด้านต่างๆจากหน่วยงานภายนอกโดยเฉพาะ ในการจัดอันดับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease doing business) ของธนาคารโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของนักลงทุนจากทั่วโลกที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ โดยในปัจจุบันไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 46 จาก 190 ประเทศ เป็นอันดับ 9 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยับอันดับ ให้แซงหน้ามาเลเซียหรือขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียนภายในปี 2563

สำหรับแนวทางในการยกระดับการอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้นของไทยที่ได้ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการแบ่งเป็น 4 ขั้นส่วนสำคัญได้แก่ 1.การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ และ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งทำให้สามารถลดขั้นตอน ต้นทุนและระยะเวลาในการประกอบเวลาในการประกอบธุรกิจได้ 2.ในการประเมินของธนาคารโลก ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างผลักดันกฎหมายสำคัญตามคำแนะนำของธนาคารโลก ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างผลักดันกฎหมายสำคัญตามคำแนะนำของธนาคารโลกได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นขอใบอนุญาต พ.ศ. ...ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ และเมื่อผ่าน ครม.จะมีผลบังคับใช้ได้ทันทีเนื่องจากเป็นกฎหมายลูกตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตทางราชการ พ.ศ.2558

3.การสร้างความเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน และการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ โดยพยายามทำให้การเชื่อมโยงธุรกรรมระหว่างภาครัฐกับเอกชนในด้านต่างๆให้อยู่ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดตั้งแต่การจดทะเบียนนิติบุคคล การขออนุญาตติดตั้งระบบน้ำประปา ไฟฟ้า และประกันสังคม และ 4.การลดข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตทางราชการ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของกฎหมายในมาตรา 77 ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

จาก  http://www.thairath.co.th วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 

ชัยนาทยังแล้งหนักถั่วงาอ้อยแห้งตายไม่ได้ผลผลิต

ชัยนาท-สถานการณ์ภัยแล้งคุกคามพื้นยังคงทวีความรุนแรงถั่วงาอ้อยแห้งตายไม่ได้ผลผลิต

เมื่อวันที่20เมษายน2560 สถานการณ์ภัยแล้งใน จ.ชัยนาท หลายพื้นที่ยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่อง โดยที่ ต.วังหมัน อ.วัดสิงห์ แหล่งน้ำสำรองต่างๆเริ่มแห้งขอด จนเห็นดินก้นบ่อแห้งแตกระแหง เหลือเพียงน้ำที่ขุ่นดำติดก้นบ่ออยู่น้อยนิด

 ส่วนพืชผลการเกษตรที่ชาบ้านปลูกเป็นพืชทดแทนในหน้าแล้งอย่างถั่วเขียว ซึ่งปกติเป็นพืชที่ทนแล้งก็เริ่มได้รับความเสียหาย เพราะถั่วเขียวหลายแปลงยืนต้นแห้งเหี่ยวตาย ผลผลิตถั่วก็ติดฝักน้อยไม่คุ้มค่าการลงทุน หลายรายถอดใจที่จะไม่เก็บเกี่ยว เพราะหักค่าจ้างแรงงานแล้วต้องขาดทุน เช่นเดียวกับไร่อ้อยของชาวบ้านที่ปลูกไว้เริ่มแห้งเหี่ยวแคระแกร็นไม่งอกงาม จากสภาพดินที่แหงแล้งมากเกินไป เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง และแปลงงาดำ ที่เริ่มแห้งเฉาไม่เติบโตตามที่ควรจะเป็น ซึ่งชาวบ้านบอกว่า พื้นที่แถบนี้ไม่มีฝนตกลงมาให้พอได้ใช้น้ำมาว่า4เดือนแล้ว เมื่อความชื้นในดินมีไม่เหมาะสม พืชทดแทนที่ปลูกไว้ก็ไม่สามรถเติบโตได้และเริ่มได้รับความเสียหายตามสภาพที่เห็นในปัจจุบัน

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 

แจงสารบีทีปลอมเมืองประจวบฯ กรมวิชาการฯปัดเอี่ยวจัดซื้อ-ชี้ผิดกม.ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกรณีข่าวมีการจัดซื้อสารบีทีปลอมมูลค่ากว่า 198ล้านบาท ในการจัดซื้อสารบีทีของจ.ประจวบคิรีขันธ์ ระหว่างปี 2553-2555 และพบสารบีทีปลอมถูกกองทิ้งไว้โดยไม่ได้นำไปแจกจ่ายเกษตรกรจำนวนมากนั้นว่า การจัดซื้อสารบีทีจากการประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินเมื่อปีงบประมาณ 2555 กรมวิชาการเกษตร ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับการประสานงานให้ตรวจสอบสินค้าดังกล่าวว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องและมีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าสารบีทีดังกล่าวไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากบีทีเป็นสารชีวินทรีย์กำจัดแมลงศัตรูพืชที่จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ซึ่งผู้ใดประสงค์ที่จะผลิตหรือนำเข้าให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน พร้อมเอกกสารทางวิชาการ ได้แก่ แผนการทดลองประสิทธิภาพ และเอกสารรายงานผลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ต่อกลุ่มวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตรจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมและกำกับดูแลการทดสอบประสิทธิภาพของสารในแปลงทดลองของผู้ประกอบการ หากผลการทดสอบพบว่าสารที่มาขอขึ้นทะเบียน มีคุณสมบัติความเข้มข้นได้มาตรฐานตรงตามฉลากที่ขอขึ้นทะเบียน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการนำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรต่อไป

กรณีของสารบีที่ที่จัดซื้อไว้จำนวนมากตามที่เป็นข่าวนั้น เป็นสารบีทีที่ไม่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตกับกรมวิชาการเกษตร ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2551 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 2แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำและปรับ

“บีทีเป็นสารชีวภัณฑ์ที่ไม่ใช่สารเคมีที่เป็นอันตราย แต่มีคุณสมบัติในการใช้เพื่อควบคุมศัตรูพืชเช่นเดียวกับสารเคมี โดยปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี หากซื้อมาใช้แล้วเหลือเป็นจำนวนมากไม่ควรนำมาใช้ต่อเพราะเสื่อมคุณภาพแล้วการใช้เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชจึงอาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการอย่างไรก็ตามก่อนซื้อสารชีวภัณฑ์ดังกล่าว ให้ตรวจดูที่ฉลากข้างภาชนะบรรจุว่าได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและนำไปใช้ได้ผลจริง” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 

ธปท.งัดมาตรการ คุมค่าบาทผันผวน คลังหนุนเร่งลงทุน 

ธปท.แจงบาทผันผวนไม่รุนแรงเทียบภูมิภาค พร้อมงัดมาตรการลดช่องทางทุนนอกเข้ามาพัก คลังหนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกระตุ้นจีดีพีประเทศขยับปีละ 0.5%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ว่ามีบางประเทศแสดงความเป็นห่วงเรื่องความผันผวนของค่าเงินในภูมิภาค โดยมองว่าสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ทำให้ทุกสกุลเงินในอาเซียนต่างปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการแข็งค่าของสกุลเงินในอาเซียนจึงเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกภูมิภาคเป็นหลัก ไม่ใช่จากปัจจัยภายในของแต่ละประเทศในอาเซียนเอง และในส่วนของไทยเองยังถือว่าโชคดีที่เงินบาทไม่ได้ผันผวนรุนแรงเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค

ทั้งนี้ จากการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาพักในระยะสั้น และมีการเก็งกำไรค่าเงินจนส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยพบว่าการใช้มาตรการดังกล่าวถือว่าแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เพราะทำให้เงินทุนที่เข้ามาไหลไปในส่วนของพันธบัตรระยะยาวมากขึ้นแทน ซึ่งหากเป็นในลักษณะนี้ ธปท.จะไม่มีความกังวลเท่ากับที่เงินทุนไหลเข้ามามากในช่วงสั้นๆ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินมีความผันผวน

นายวิรไทกล่าวอีกว่า ธปท.พร้อมที่จะเข้าไปดูแลค่าเงิน โดยยังมีอีกหลายมาตรการที่เตรียมไว้ใช้ หากพบว่าเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามานั้นได้สร้างผลกระทบต่อตลาดเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนของไทย แต่การใช้มาตรการเหล่านี้คงจะไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้

ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการลงทุนในระยะเวลา 8 ปี หากดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มปีละ 0.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพปีละมากกว่า 4% และทำให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ขนาดกลางได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ จากการประมาณการของกระทรวงการคลัง พบว่า หากปล่อยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ระดับใกล้ 3.5-4% ในระดับปัจจุบัน จะต้องใช้เวลาอีกถึง 15 ปี ประเทศไทยถึงจะหลุดจากกับดักประเทศรายได้ขนาดกลางได้ ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net    วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 

รมว.เกษตรฯ ชี้ปี 2560 ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยเเล้ง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงไม่มากนัก มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 59 จำนวน 1 จังหวัด 3 อำเภอ 13 ตำบล 85 หมู่บ้าน คือ จ.สระแก้ว ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง และ อ.ตาพระยา มีพื้นที่นาข้าวเสียหายสิ้นเชิง 100,476.50 ไร่ เกษตรกร 6,106 ราย วงเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ 111.83 ล้านบาท ซึ่งวันที่ 19 เม.ย. 60 ได้ดำเนินการโอนเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ ให้เกษตรกรแล้ว

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประกาศยกเลิก จ.สระแก้ว เป็นเขตให้ความช่วยเหลือฯ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ประกาศภัยแล้ง ณ วันเดียวกัน (19 เม.ย. 60) ระหว่าง ปี 2555 - 2560 พบว่าปีนี้มีน้อยกว่าปีก่อน ๆ มาก อาทิ ปี 2555 ประกาศ 42 จังหวัด 334 อำเภอ 2,442 ตำบล 25,434 หมู่บ้าน ปี 2556 ประกาศ 47 จังหวัด 494 อำเภอ 3,383 ตำบล 33,611 หมู่บ้าน ปี 2557 ประกาศ 42 จังหวัด 288 อำเภอ 1,765 ตำบล 16,960 หมู่บ้าน ปี 2558 ประกาศ 34 จังหวัด 211 อำเภอ 1,136 ตำบล 10,288 หมู่บ้าน ปี 2559 ประกาศ 27 จังหวัด 136 อำเภอ 614 ตำบล 4,911 หมู่บ้าน และ ปี 2560 ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ประกาศภัยแล้งมีน้อยกว่าปีก่อน ๆ ประกอบด้วย 1) แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558 - 2569 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งทำเป็น 4 เท่าของรัฐบาลที่ผ่านมา สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้ 2,069.30 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ได้ 1.59 ล้านไร่ ตลอดจนเพิ่มประปาหมู่บ้านได้ 5,911 หมู่บ้าน เหลืออีก 1,579 หมู่บ้าน จะแล้วเสร็จในปี 2560 2) การบริหารจัดการน้ำที่บูรณาการ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในช่วงฤดูน้ำหลากระบายน้ำส่วนหนึ่งลงทะเล และเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ไว้ใช้ในฤดูแล้ง เช่น พื้นที่บางระกำ ผันน้ำเก็บในแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และ บึงขี้แร้ง พื้นที่ปากพนัง เก็บน้ำไว้ในลำคลอง จ.นครศรีธรรมราช ไม่ระบายลงทะเลทั้งหมด ส่วนในช่วงฤดูแล้ง วางแผนจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำที่มี และควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน

3) ปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 60 โดยเน้นที่การเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนที่น้ำน้อย สร้างความชุ่มชื้นพื้นที่การเกษตร บรรเทาหมอกควัน และสลายลูกเห็บ 4) กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอ ครม. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 60 เพื่อดำเนินมาตรการป้องกัน/บรรเทาภัยแล้ง ปี 2559/60 จำนวน 6 มาตรการ 29 โครงการ 5) ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการพัฒนาตามความต้องการของชุมชน ทำให้มีแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อย เช่น กล้วย เป็นต้น รวมทั้งการเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่แล้งซ้ำซากกว่า 6,000 แห่ง และ 6) การบริหารจัดการของจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการมาตรการป้องกัน/ยับยั้งภัยแล้งอย่างได้ผล

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

"อุตตม" ย้ำสิทธิประโยชน์การลงทุนใน EEC ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ปัดข่าวเช่าพื้นที่ได้ 99 ปี

"อุตตม" ย้ำสิทธิประโยชน์การลงทุนใน EEC ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ปัดข่าวเช่าพื้นที่ได้ 99 ปี เชื่อเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกรณีมีข่าวว่านักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) เป็นเวลา 99 ปี ว่า น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกำหนด ประกอบด้วย 1.ต้องเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) 2.ต้องเป็นโครงการที่สนับสนุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ 3.ทุกโครงการต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ เช่น ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ผลกระทบที่เกิดกับชุมชน และการแนวทางการเยียวยา และ 4.ก่อนการอนุมัติโครงการต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงมีการเปิดเผยผลการศึกษา และร่างผังของเขตส่งเสริมที่จะขอรับการสนับสนุน

"ผมขอเรียนชี้แจงถึงกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ของการเช่าที่ดินในเขตพื้นที่ EEC ไม่ใช่ 99 ปี แต่สัญญาครั้งแรกไม่เกิน 50 ปี และขยายตัวได้ตามความตกลงอีกไม่เกิน 49 ปี เหมือนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเป็นไปตามกฎหมายที่ปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์และการพาณิชย์ พ.ศ.2542 ซึ่งการให้สิทธิการเช่าที่ดินในระยะยาวเป็นสิ่งที่หลายประเทศได้ดำเนินการเป็นปกติ 50 ปี สามารถขยายได้ 49 ปี เช่น ประเทศมาเลเซียให้เช่าที่ดินได้ 60 ปี ขยายรวมได้ไม่เกิน 99 ปี แต่ทั้งนี้ การให้ระยะเวลานานเท่าใดขึ้นอยู่กับแต่ละผลการศึกษาของแต่ละโครงการควรจะได้เท่าใดจึงจะเหมาะสม" นายอุตตม กล่าว

​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวยืนยันด้วยว่า "รัฐบาลตระหนักดีว่าต้องดูแลในเรื่องของสิทธิประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะไม่มีการต่ออายุการเช่าที่ดินโดยอัตโนมัติหลังหมดระยะเวลาการเช่าที่ดินครั้งแรก ทุกโครงการจะต้องทำการศึกษาและตรงตามเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการบริหาร EEC กำหนด เช่น จำนวนเงินลงทุน การจ้างงาน และสร้างประโยชน์ให้กับโครงการอย่างไร"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

ครม.ไฟเขียว ท่าทีประชุมอนุกมธ.การค้า-เศรษฐกิจ ไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 3

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (18 เม.ย.60) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)  เสนอ ดังนี้ 1.เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการหารือกับสหพันธรัฐรัสเซีย  และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ใช้เป็นกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – สหพันธรัฐรัสเซีย  ครั้งที่ 3 (The 3rd Session of Sub-Commission  on Trade Economic Cooperation) 

2.หากในการประชุมดังกล่าว มีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่น ๆ  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย  โดยไม่มีการจัดทำเป็นความตกลงหรือหนังสือสัญญาขึ้นมา ให้พณ. และผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

สาระสำคัญของเรื่อง พณ. รายงานว่า  คณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – สหพันธรัฐรัสเซีย  (Sub-Commission on Trade and Economic Cooperation)  เป็นกลไกในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย  ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – สหพันธรัฐรัสเซีย (The Joint Russian -  Thai commission on Bilateral  Cooperation : JC)  ได้มีมติให้จัดตั้งขึ้นในคราวประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2552 โดยการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรี    กำหนดจัดประชุมอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี  มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน  รวมถึงหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างสองประเทศ และจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกันหรือเอื้อประโยชน์ต่อกัน    

โดยท่าทีไทยสำหรับการหารือกับสหพันธรัฐรัสเซียมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน  รวมทั้งติดตามความคืบหน้าในการเตรียมกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน (Joint Feasibility Study)  เกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย การลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี  การพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์  ต่อการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย  (เช่น การท่องเที่ยว พลังงาน  วิทยาศาสตร์  การพัฒนา SMEs  และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น)  และการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดพื้นที่ทำนาปรังรอบ2 

เกษตรฯ วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดพื้นที่ทำนาปรังรอบ 2 อดใจรอไปปลูกนาปีพร้อมกันทั้งระบบในช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค. นี้

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว เกษตรเปิดเผยถึงสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า ปัจจุบัน (ณ 12 เม.ย.60) มีการทำนาปรังไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.68 ล้านไร่ (แผนกำหนดไว้ 2.67 ล้านไร่) ประกอบกับปัจจุบันมีการทำนาปรังรอบที่ 2 ไปแล้วกว่า 130,000 ไร่ ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่นๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ลดพื้นที่การทำนาปรังรอบที่ 2 โดยขอให้อดใจรอไปทำนาปีพร้อมกันทั้งระบบ ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม 2560

ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศว่า ปัจจุบัน (18 เม.ย. 60) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 42,295 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มากกว่าปี 2559 รวม 7,248 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 18,476 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 11,203 ล้านลูกบาศก์เมตร) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) รวมกันทั้งสิ้น 11,573 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,848 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 4,877 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 27 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 2,029 ล้านลูกบาศก์เมตร) ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว ใช้น้ำไปแล้ว 6,251 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 105 ของแผนจัดสรรน้ำฯ จากแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ได้กำหนดไว้ ณ 1 พ.ย. 59 จำนวนทั้งสิ้น 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเกินแผนไปมากถึง 2.68 ล้านไร่ ทำให้มีการดึงน้ำไปใช้มากเกินกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งคาดว่าการระบายน้ำตลอดฤดูแล้งนี้ จะอยู่ในเกณฑ์รวมกันประมาณ 6,650 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังคงมีน้ำไหลลงอ่างฯอย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ได้ว่า ณ 1 พ.ค. 60 จะมีปริมาณน้ำคงเหลือใช้การได้ประมาณ 4,463 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าที่วางแผนไว้เดิมประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร(เดิมเตรียมน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝน 3,754 ล้านลูกบาศก์เมตร)

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงต้นฤดูฝนปี 2560 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลือวางแผนสนับสนุนการเพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็นพื้นที่ตอนบนตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ เริ่มส่งน้ำทำการเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เม.ย. 60 เป็นต้นมา ส่วนพื้นที่ดอนอีกประมาณ 1.92 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำจากระบบชลประทาน สำหรับในพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 1.15 ล้านไร่ จะเริ่มส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 (นาปี) ตั้งแต่ 1 พ.ค. 60 เป็นต้นไป ได้แก่บริเวณทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งเชียงราก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ทุ่งบางกุ้ง และทุ่งเจ้าเจ็ด เป็นต้น ส่วนในพื้นที่ดอนที่มีพื้นที่ประมาณ 4.27 ล้านไร่ ให้เริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำจากระบบชลประทานเช่นกัน

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 13 -17 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา สภาพอากาศที่เอื้อต่อการทำฝนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงปฏิบัติภารกิจการทำฝน ซึ่งพบว่า มีจังหวัดที่มีวันฝนตกรวม 31 จังหวัด มีน้ำไหลเข้า 36 อ่างเก็บน้ำสำคัญ รวม 123.63 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ 42.19 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 11.30 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.59 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1.33 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 62.22 ล้าน ลบ.ม.รวมทั้งทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) เปรียบเทียบกับปริมาณน้ำในช่วงเวลาเดียวกัน ปี 2559/60 มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2558/59 และจากรายงานสถานการณ์หมอกควันของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด (ณ วันที่ 18 เมษายน 2560) พบว่า ในแต่ละจังหวัดที่ประสบปัญหาหมอกควัน มีค่ามาตรฐานฝุ่นละอองในอากาศ หรือ PM10 ไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ซึ่งเป็นคุณภาพอากาศที่ดี ไม่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ส่วนในด้านการยับยั้งพายุลูกเห็บ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ก็ได้ช่วงชิงโอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวง ปฏิบัติภารกิจจนเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติได้อีกเช่นกัน สามารถช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปัญหาหมอกควัน พายุลูกเห็บ และสามารถเติมน้ำในเขื่อน ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและพื้นที่การเกษตร ได้อย่างประสบความสำเร็จ

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

ค่าเงินบาทนิ่ง นลท.จับตาดูแบงก์ชาติคอมเมนต์เศรษฐกิจ-ค่าเงิน

ค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบแคบ แต่ยังยืนระดับแข็งค่า หลังนักลงทุนรอดูผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทยคอมเมนต์เศรษฐกิจและค่าเงินบาทวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทวันที่ 19 เมษายน ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 34.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดวานนี้ขณะที่ล่าสุดซื้อขายอยู่ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าค่าเงินบาทวันนี้ยังอยู่ในทิศทางทรงตัว แต่มีการแข็งค่าเล็กน้อยหากเทียบกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเมื่อวันที่ 18 เมษายน เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอติดตามการแถลงของผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการคอมเมนต์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า รวมถึงจะมีการออกมาตรการเกี่ยวกับการดูแลค่าเงินบาทออกมาในระยะนี้อีกหรือไม่ เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวแข็งค่า หากเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเกาหลีและสหรัฐ ส่งผลให้ยังมีการชะลอลงทุนและถือครองเงินในดอลลาร์สหรัฐทำให้มีการเข้ามาซื้อลงทุนในภูมิภาคเอเชียต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฉบับย่อในเดือนมีนาคมในสัปดาห์นี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯยัน'ภัยแล้ง'รุนแรงน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

เกษตรฯ เผยสถานการณ์ภัยแล้งปี 60 น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ล่าสุด ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง ผลจากแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ

19 เม.ย.60 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบและประเมินสถานการณ์น้ำในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงไม่มากนัก มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.59 จำนวน 1 จังหวัด 3 อำเภอ 13 ตำบล 85 หมู่บ้าน คือ จ.สระแก้ว ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง และ อ.ตาพระยา มีพื้นที่นาข้าวเสียหายสิ้นเชิง 100,476.50 ไร่ เกษตรกร 6,106 ราย วงเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ 111.83 ล้านบาท ซึ่งวันที่ 19 เม.ย.60 ได้ดำเนินการโอนเงินช่วยเหลือตามระเบียบฯ ให้เกษตรกรแล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประกาศยกเลิก จ.สระแก้ว เป็นเขตให้ความช่วยเหลือฯ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ประกาศภัยแล้ง ณ วันเดียวกัน (19 เม.ย. 60) ระหว่าง ปี 2555 - 2560 พบว่าปีนี้มีน้อยกว่าปีก่อนๆ มาก อาทิ ปี 2555 ประกาศ 42 จังหวัด 334 อำเภอ 2,442 ตำบล 25,434 หมู่บ้าน ปี 2556 ประกาศ 47 จังหวัด 494 อำเภอ 3,383 ตำบล 33,611 หมู่บ้าน ปี 2557 ประกาศ 42 จังหวัด 288 อำเภอ 1,765 ตำบล 16,960 หมู่บ้าน ปี 2558 ประกาศ 34 จังหวัด 211 อำเภอ 1,136 ตำบล 10,288 หมู่บ้าน ปี 2559 ประกาศ 27 จังหวัด 136 อำเภอ 614 ตำบล 4,911 หมู่บ้าน และ ปี 2560 ไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง

สำหรับปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ประกาศภัยแล้งมีน้อยกว่าปีก่อนๆ ประกอบด้วย 1) แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558 - 2569 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งทำเป็น 4 เท่าของรัฐบาลที่ผ่านมา สามารถเพิ่มปริมาณต้นทุน ได้ 2,069.30 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ได้ 1.59 ล้านไร่ ตลอดจนเพิ่มประปาหมู่บ้านได้ 5,911 หมู่บ้าน เหลืออีก 1,579 หมู่บ้าน จะแล้วเสร็จในปี 2560 2) การบริหารจัดการน้ำที่บูรณาการ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในช่วงฤดูน้ำหลากระบายน้ำส่วนหนึ่งลงทะเล และเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ไว้ใช้ในฤดูแล้ง เช่น พื้นที่บางระกำ ผันน้ำเก็บในแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง บึงตะเคร็ง บึงระมาณ และ บึงขี้แร้ง พื้นที่ปากพนัง เก็บน้ำไว้ในลำคลอง จ.นครศรีธรรมราช ไม่ระบายลงทะเลทั้งหมด ส่วนในช่วงฤดูแล้ง วางแผนจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำที่มี และควบคุมการน้ำใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน 3) ปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 60 โดยเน้นที่การเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนที่น้ำน้อย สร้างความชุ่มชื้นพื้นที่การเกษตร บรรเทาหมอกควัน และสลายลูกเห็บ 4) กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอ ครม. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 60 เพื่อดำเนินมาตรการป้องกัน/บรรเทาภัยแล้ง ปี 2559/60 จำนวน 6 มาตรการ 29 โครงการ 5) ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการพัฒนาตามความต้องการของชุมชน ทำให้มีแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อย เช่น กล้วย เป็นต้น รวมทั้งการเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่แล้งซ้ำซากกว่า 6,000 แห่ง และ 6) การบริหารจัดการของจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการมาตรการป้องกัน/ยับยั้งภัยแล้งอย่างได้ผล

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

คสช.วาง4มาตรการแก้ปัญหาถือครองที่ดิน หนุนร่างกม.ธนาคารที่ดิน

ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์  โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศครั้งที่ 4/2560  ว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญเรื่องที่ดินทำกิน ดำเนินการคลี่คลายปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยปัจจุบันดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินและจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ธนาคารที่ดิน พ.ศ. … เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร การถือครองที่ดิน โดยภารกิจของธนาคารที่ดินมี 4 ประการในการป้องกันแก้ปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน การกระจายสิทธิในที่ดิน เราพยายามกระจายสิทธิการถือครองที่ดินให้กับเกษตรกรมีที่ดินทำกิน รวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการจัดทำข้อมูลที่ดินและทำประโยชน์ที่ดินให้ทันสมัย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกระทบกับประชาชน ดังนั้นจึงต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะนี้ดำเนินการรับฟังความเห็นประชาชน โดยร้อยละ 90 เห็นว่าเป็นประโยชน์และกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

รบ.เอาจริง'จัดการน้ำ' ยกเป็นหนึ่งในปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วันชนะ สวัสดี ทีมงานโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมเป็นประธานว่า วันนี้ที่ประชุมได้พูดถึงร่าง พ.ร.บ.น้ำและร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

โดยทั้ง 2 เรื่องจะเกี่ยวพันกับเรื่องใหญ่ๆ คือ การบริหารแหล่งน้ำชุมชน และการบริหารผู้ใช้น้ำ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.นั้น ได้ผ่านวาระที่ 1 ขั้น รับหลักการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ซึ่งได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาเป็นรายมาตราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งภายใน 60 วัน ก็จะเสร็จสิ้นเรียบร้อย ส่วนการร่างร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาตินั้น ในภาพกว้างก็มีความเรียบร้อยดีแล้ว แต่เมื่อลงไปในรายละเอียดก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งปัญหาทรัพยากรน้ำเอง ก็เป็นหนึ่งในปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย และความมั่นคงด้วย จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ใช่ว่าร่างระเบียบขึ้นมาแล้วปฏิบัติตามไม่ได้

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560   

GGC เคาะราคาไอพีโอหุ้นละ 11.20 บาท 

        โกลบอลกรีนเคมิคอล แจ้งราคาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่หุ้นละ 11.20 บาท เปิดให้นักลงทุนจองซื้อระหว่างวันที่ 20-21 และ 24 เมษายน 2560 ผู้บริหารเตรียมนำเงินใช้ในการขยายกำลังการผลิต โดยการสร้างโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์ แห่งที่ 2 และโครงการ Biocomplex ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอล โรงผลิตกระแสไฟฟ้า และระบบสาธารณูปโภค

               นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนของผู้รับประกันการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้นบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า “GGC ได้กำหนดราคาเสนอขายสำหรับการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกของ GGC จากการสำรวจความต้องการซื้อหุ้นจากนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) ซึ่งได้รับผลตอบรับจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งใน และต่างประเทศที่ดี และมีความต้องการซื้อหุ้นโดยกลุ่มนักลงทุนสถาบันดังกล่าวอย่างท่วมท้น แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพระยะยาวของบริษัท จึงสามารถสรุปราคาจองซื้อที่ 11.20 บาทต่อหุ้น      

        ทั้งนี้ GGC ได้กำหนดระยะเวลาการจองซื้อสำหรับบุคคลทั่วไประหว่างวันที่ 20-21 และ 24 เมษายน 2560 ที่บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด รวมถึงผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอื่นๆ ตามรายละเอียดในหนังสือชี้ชวน”

                นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากผลตอบรับของนักลงทุนสถาบัน GGC เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จของการ IPO ในครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถเดินหน้าในการเป็นผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตโดยการสร้างโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์ แห่งที่ 2 และโครงการ Biocomplex ระยะที่ 1 ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตเอทานอล โรงผลิตกระแสไฟฟ้า และระบบสาธารณูปโภค ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการต่อยอดไปยังการผลิตเคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพในโครงการ Biocomplex ระยะที่ 2 ในอนาคต” นายจิรวัฒน์ กล่าวเพิ่ม 

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

จ่อขึ้นค่าไฟ 10 สต. ก๊าซแพงดันต้นทุน

สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปรายงานว่าผู้บริโภคทำใจ ค่าไฟจ่อขยับกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย กกพ.ชี้เป็นช่วงขาขึ้นตลอดทั้งปี เหตุต้นทุนราคาก๊าซพุ่งต่อเนื่อง ผลกระทบจากพลังงานทดแทนจ่ายเข้าระบบมากขึ้น กฟผ.ห่วงหน้าร้อนไฟไม่พอใช้ ต้องขอปตท.จ่ายแอลเอ็นจีเพิ่มยิ่งอ่วมหนักอีก

 ผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ปรับเพิ่มขึ้นย้อนหลังไป 6-12 เดือนที่ผ่านมา กำลังจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ

 ประเทศ เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า ค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้เป็นต้นไปจะเป็นช่วงขาขึ้นตลอดทั้งปี

 โดยในการประชุมบอร์ดกกพ.ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2560 ว่า มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันที่ค่าเอฟทีติดลบอยู่ที่ 37.29 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่เก็บอยู่ 3.422 บาทต่อหน่วย

 นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้เป็นต้นไป ค่าไฟฟ้าจะเป็นช่วงขาขึ้นตลอดทั้งปี เนื่อง จากราคาก๊าซธรรมชาติย้อนหลัง 6-12 เดือน ขยับเพิ่มสูงขึ้นตามราคานํ้ามันดิบ โดยปีก่อนราคา นํ้ามันดิบอยู่ที่กว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่เมื่อเทียบกับปีนี้อยู่ที่กว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้นจึงส่งผลกระทบโดยตรงกับค่าเอฟทีในงวดถัดๆ ไป

 โดยค่าเอฟทีงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2560 ที่บอร์ดกกพ.จะมีการพิจารณาในวันที่ 19เม.ย.นี้ มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเอฟทีของงวดเดือนม.ค.-เม.ย. ปีนี้ติดลบน้อยลงจาก 37.29 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงมากขึ้น ซึ่งมีปัจจัยมาจากต้นทุนราคาก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 65% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดปรับเพิ่มขึ้นจากงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2560 อยู่ที่ 233 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับยังมีค่าเอฟทีที่สะสมมาจากงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2560 ที่ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมดอีกส่วน รวมถึงในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าในรูปแบบ Adder และ FiT จ่ายเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีราว 1-2 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีผลกระทบต่อค่าเอฟทีราว 22.49 สตางค์ต่อหน่วย

 อีกทั้ง ผลการปิดซ่อมแหล่งก๊าซยาดานาในเมียนมา เมื่อวันที่ 25-28 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ต้องใช้นํ้ามันเตาผลิตไฟฟ้า 30 ล้านลิตรส่งผลให้กระทบค่าไฟเพียง 0.2 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีเงินที่เหลือจากค่าความพร้อมจ่าย (เอพี) ของโรงไฟฟ้าภาคเอกชนที่เก็บมาช่วงหยุดซ่อมบำรุงนอกแผนประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อกันไว้ดูแลค่าเอฟที แต่คิดเป็นอัตราที่น้อยมากหรือเพียง 3 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น จึงไม่เพียงพอที่จะตรึงค่าไฟฟ้าไม่ให้ขยับขึ้นได้ ดังนั้นค่าเอฟทีงวดใหม่จะปรับขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนจะปรับเท่าไรนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดอีกครั้งว่าจะทยอยปรับขึ้นในอัตราเท่าไร เพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

“แนวโน้มค่าเอฟทีขาขึ้นไปจนถึงสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน เพราะอิงราคาก๊าซย้อนหลังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เงินที่จะเอามาช่วยก็จะหมดแล้ว ดังนั้นต้องช่วยกันประหยัดไฟ ส่วนค่าเอฟทีงวดใหม่จะขยับขึ้นเกิน 10 สตางค์ต่อหน่วยหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะอาจทยอยปรับขึ้นก็ได้” นายวีระพล กล่าว

 นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าปีนี้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ซึ่งกฟผ.คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก) จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ อยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนรับมือไว้ เบื้องต้น สั่งการให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมรับอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยยอมรับว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ายังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนจะกระทบค่าไฟฟ้าเท่าไรนั้น ทาง กกพ. จะเป็นผู้พิจารณาต้นทุน

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560 

ลงพื้นที่แจงอีอีซีชาวบ้านได้เยอะ 

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายในต้นเดือนพ.ค. นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เตรียมลงพื้นที่ชี้แจงโครงการและรับฟังความเห็นประชาชนใน 3 จังหวัดพื้นที่อีอีซี (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เนื่องจากต้องการให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจประโยชน์ของโครงการว่ามีอะไร บ้าง รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมการดำเนินงานทุกโครงการ

          "มั่นใจว่า การเปิดรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี จะไม่ซ้ำรอยเหมือนกับโครงการอื่น ๆ ที่รับฟังแล้ว ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะเชื่อว่า โครงการนี้ได้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่น่าจะยอมรับ ขณะเดียวกันนอกจากจะลงพื้นที่แล้วเราก็ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียด้วย เพื่อให้คนหลาย ๆ กลุ่มสามารถเข้าถึงได้ และต่อจากนี้ไปการที่จะทำโครงการอะไรก็ตามในพื้นที่อีอีซีจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นทุกครั้ง"

          ส่วนกรณีที่บางฝ่ายระบุว่า การเช่าที่ดิน บนพื้นที่อีอีซี 99 ปี เป็นการขายชาติยกพื้นที่ให้นักลงทุนต่างชาตินั้น ขอชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากตามเงื่อนไขการเช่าที่ดินระยะยาวในพื้นที่อีอีซี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ไม่เกิน 50 ปี และอาจต่อสัญญาได้แต่ต้องไม่เกิน 49 ปี และมีคณะกรรมการ ฯ พิจารณาอย่างชัดเจน ไม่ได้เป็นไปตามอัตโนมัติที่ทุกรายเช่าพื้นที่แล้วจะต้องได้เงื่อนเวลาดังกล่าว เพราะคณะกรรมการต้องพิจารณาการลงทุนว่า เป็นอุตฯ ตามเป้าหมายหรือไม่ มีการจ้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐ กิจไทยอย่างไร รวมทั้งก่อนการลงทุนต้องรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่

          "เรื่องการเช่าพื้นที่ 99 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตามการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ก็ให้เช่าพื้นที่ 50 ปี และต่อสัญญาเช่าได้อีก 50 ปี  รวมทั้งกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็เปิด

          ขายพื้นที่ให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุน ซึ่งไม่อยากให้กังวลกันมาก เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนการพิจารณาอย่างเคร่งครัด"

          นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) กล่าวว่า กำลังรอภาครัฐพิจารณาปรับผังเมืองบริเวณพื้นที่ระเบียงเศรษฐ กิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ที่ดินเปล่าของบสส.ในอีอีซีมีโอกาสขายได้ง่ายขึ้น เช่น ที่ดินริมทะเล เนื้อที่ 109 ไร่ อ.มาบ ตาพุด จ.ระยอง ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่โซนสีเขียวประเภทชนบทและเกษตรกรรม หากเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วง ประเภทอุตสาหกรรม ก็จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อเพื่อลงทุน.

จาก เดลินิวส์ วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560 

'สมคิด'โรดโชว์ฮ่องกง26-29เม.ย.ดึงลงทุนEECก่อนนำทัพบินต่อญี่ปุ่น   

          "สมคิด-อุตตม" เตรียมบินถกนักธุรกิจฮ่องกง 26-29 เม.ย. ชวนลงทุน EEC 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ก่อนโรดโชว์ต่อญี่ปุ่น พร้อมอัดมาตรการ BOI จูงใจอีกรอบ

          แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมคณะ เตรียมเดินทางไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อจัดการประชุมหารือร่วมกันระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของฮ่องกงและไทย หลังจากนั้น นายสมคิดจะนำคณะบินไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อเพื่อชักจูงการลงทุนอีกครั้ง จากที่ไปโรดโชว์เมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายอุตตม ได้เตรียมกลยุทธ์สำคัญสำหรับชักจูงนักลงทุน โดยเฉพาะประเทศที่ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กันไว้ รวมถึงประเทศที่เคยเดินทางมาเข้าพบเพื่อหารือกันก่อนหน้านี้ อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อเมริกา รวมถึงกลุ่มสหภาพยุโรปทั้งเยอรมนี อิตาลี

          โดยฝ่ายไทยจะนำเสนอนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Thailand 4.0 พัฒนาประเทศด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเชื่อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ Industry 4.0 การพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เป็นหลัก

          "ทางทีมเศรษฐกิจนำโดยนายสมคิดจะไปพบนักธุรกิจที่ฮ่องกงก่อนเป็นประตูที่จะเปิด ไปสู่การค้ายังประเทศอื่น ๆ ที่เป็นเป้าหมาย สำคัญในการชักจูงการลงทุน หลังการประชุมที่ฮ่องกงเสร็จทั้งคณะเตรียมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อชักจูงการลงทุนอีกครั้งหลังจากที่ไปโรดโชว์มาแล้วเมื่อปีก่อน"

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า เพื่อเตรียมการโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนรายสำคัญให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด หรือทีมโรดโชว์ที่จะเริ่มเดินทางไปเจรจาตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เป้าหมายของการไปโรดโชว์ครั้งนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นการไปชักจูงบริษัทเป้าหมายที่ได้เคยไปโรดโชว์มาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีทั้งรายเก่าและ รายใหม่

          ถือเป็นการไปหารืออย่างเป็นทางการหลังจากที่มีประกาศ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี และประกาศ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (กองทุน 10,000 ล้านบาท) ที่ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี พิจารณาเงินช่วยเหลือรายต่อรายแบบแลกเปลี่ยนเงื่อนไข ซึ่งทั้ง 2 พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า หลังสหรัฐชี้การแข็งค่าดอลลาร์ส่งผลบวกต่อสหรัฐในระยะยาว

ค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลง หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คอมเมนต์ว่าต้องการเห็นค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า เชื่อเป็นผลดีต่อสหรัฐในระยะยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันที่ 18 เม.ย. โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 34.39-34.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดวานนี้ที่ 34.27-34.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายที่ระดับ 34.35-34.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากวานนี้ หลังรัฐมนตรีว่าการการะทรวงการคลังสหรัฐ ออกมาคอมเมนต์ว่า ต้องการเห็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น เพราะเชื่อว่าค่าเงินที่แข็งค่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาว ทำให้เกิดแรงเทขายสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียของนักลงทุนวันนี้ เพื่อกลับไปซื้อดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ คือ การหารือกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น เกี่ยวกับนโยบายการเงิน และเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าของสองประเทศ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

คณะกก.อีอีซีจ่อลงพื้นที่ พ.ค.นี้

คณะกรรมการอีอีซีลงพื้นที่ พ.ค.นี้ “อุตตม”ย้ำสิทธิประโยชน์การลงทุนในEEC ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ปัดข่าวเช่าพื้นที่ได้ 99 ปีเชื่อเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค.นี้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อีอีซีที่ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา  ระยอง ชลบุรีเพื่อสร้างการรับรู้และให้เกิดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่และเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะ และสื่อโซเชียลมีเดียตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินโครงการอีอีซีจะไม่ซ้ำรอยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่ถูกต่อต้านเพราะเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

 “ตนขอเรียนชี้แจงถึงกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ของการเช่าที่ดินในเขตพื้นที่EEC ไม่ใช่ 99 ปี แต่สัญญาครั้งแรกไม่เกิน 50 ปีและขยายตัวได้ตามความตกลงอีกไม่เกิน 49 ปีเหมือนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเป็นไปตามกฎหมายที่ปฏิบัติในปัจจุบันซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์และการพาณิชย์ พ.ศ.2542ซึ่งการให้สิทธิการเช่าที่ดินในระยะยาวเป็นสิ่งที่หลายประเทศได้ดำเนินการเป็นปกติ50 ปี สามารถขยายได้ 49 ปี เช่น ประเทศมาเลเซียให้เช่าที่ดินได้ 60 ปีขยายรวมได้ไม่เกิน 99 ปี แต่ทั้งนี้การให้ระยะเวลานานเท่าใดขึ้นอยู่กับแต่ละผลการศึกษาของแต่ละโครงการควรจะได้เท่าใดจึงจะเหมาะสม”  นายอุตตม กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : สหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ด้วยระบบ‘QR Trace’

จากนโยบายของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยวางเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและการเพิ่มความตระหนักความรู้เรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตร โดยการบริหารจัดการร่วมกันในรูปแบบของสหกรณ์ ซึ่งจากการลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก พบว่า สหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด จังหวัดตาก เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ดีของขบวนการสหกรณ์แหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ และได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกทำการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 400 ราย พื้นที่ 8,000 ไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม พันธุ์นครสวรรค์ 3จากเดิมต้นทุนกิโลกรัมละ 5.90 บาท เป็น 5.64 บาทและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 669 กก./ไร่ เป็น 900 กก./ไร่อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกัน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตอีกทาง โดยสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรสมาชิก เพื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และจำหน่ายผ่านเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์และตลาดเอกชนอื่นๆ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

ผลผลิตอ้อยต่ำดันมูลค่าน้ำตาลเพิ่มกอน.หารือเร่งหาข้อสรุปยกเลิกระบบโควตา 

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คาดว่าช่วงเดือน เม.ย.นี้ โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศได้ทยอยปิดหีบเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้คาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลผลิต 2559/2560 อยู่ที่ 91.4 ล้านตันอ้อย ใกล้เคียงกับที่ คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 91-92 ล้านตันอ้อย ลดลงจากฤดูกาลผลิตที่แล้วเล็กน้อยที่มีอ้อย เข้าหีบ 94 ล้านตันอ้อย ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ในระดับ 108 กิโลกรัม ต่อตันอ้อย

          สำหรับมูลค่าตลาดน้ำตาลทรายคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา หรืออาจขยายตัวประมาณ 5% เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบ น้อยกว่าฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา แต่ยังได้รับอานิสงส์ด้านราคาที่สูงขึ้น โดยปีก่อนราคา อยู่ที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ โดยปีนี้มีราคา อยู่ที่ 18-19 เซนต์ต่อปอนด์

          "ต้องยอมรับว่าปีนี้อ้อยน้อยกว่าฤดูกาลผลิต ที่ผ่านมา แม้ปีนี้ฝนจะค่อนข้างดีขึ้นก็ตาม แต่เนื่องจากว่าได้รับผลกระทบภัยแล้งมาจากช่วงปี 2559 ส่วนฤดูกาลผลิตหน้าคาดว่าน่าจะมีอ้อยเข้าหีบมากขึ้น เพราะมีการนำอ้อยไปทำพันธุ์มากขึ้น มีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์มากขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ก็ คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาด้วย" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบโดยเฉลี่ยในปีนี้คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อนประมาณ 17.9 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากค่าเงินเหรียญสหรัฐเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลง ผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าเงินเหรียญสหรัฐจะแข็งค่าหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเป็นปัจจัยที่ตลาดรับรู้อยู่แล้ว ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน รวมถึงน้ำตาลทรายที่เป็นผลผลิตจากพืชเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตั้งแต่ต้นปีมีราคาผันผวน จากเดิมที่ราคาอยู่ในระดับ 20-24 เซนต์ ต่อปอนด์

          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีการหารือเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ถึงประเด็นความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะประเด็นการกำหนดปริมาณโควตาน้ำตาลทรายทั้งระบบที่ตามกฎหมายจะมีการยกเลิก แต่ขณะเดียวกันจะต้องมีปริมาณสำรองที่เหมาะสมเข้ามาทดแทน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะต้องกันปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคในประเทศไว้ประมาณ 2.5 แสนตัน และจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ในช่วงปลายเดือน พ.ค.2560

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560 

แล้งพ่นพิษผลผลิต อ้อยเข้าโรงงานลด 

ภัยแล้งทำอ้อยเข้าหีบปี 2559/2560 รวม 91.4 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 94 ล้านตัน

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศได้ทยอยปิดหีบอ้อย ซึ่งคาดว่าในเดือน เม.ย.นี้จะสามารถปิดหีบอ้อยได้ครบทั้งหมด

          ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิต 2559/2560 อยู่ที่ 91.4 ล้านตันอ้อย ลดลงจากฤดูการผลิตที่แล้วเล็กน้อยที่มีอ้อยเข้าหีบ 94 ล้านตันอ้อย เนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาคาดว่าปีนี้จะอยู่ในระดับ 108 กก./ตันอ้อย

          สำหรับมูลค่าตลาดคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา หรือขยายตัวประมาณ 5% แม้ว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยกว่าฤดูการผลิตที่ผ่านมา แต่ยังได้รับอานิสงส์ด้านราคาที่สูงขึ้น โดยปีก่อนราคาอยู่ที่ 13-14 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ปีนี้ราคาอยู่ที่ 18-19 เซนต์/ปอนด์ ส่วนฤดูการผลิตหน้าคาดว่าน่าจะมีอ้อยเข้าหีบเยอะขึ้น เพราะมีการนำอ้อยไปทำพันธุ์ ขณะที่ปริมาณน้ำฝนคาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาด้วย

          ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันตาลทรายดิบเฉลี่ยปีนี้จะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาประมาณ 17.9 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากค่าเงินเหรียญสหรัฐเคลื่อนไหว ในทิศทางที่อ่อนค่าลง

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560 

กรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติภารกิจช่วงวันหยุดสงกรานต์ เติมน้ำในเขื่อนแม่กวงและช่วยเหลือพื้นที่ขอรับบริการฝนหลวงทางภาคเหนือ                               

              นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง    และการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงวันนหยุดเทศกาลสงกรานต์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำแม่กวง ซึ่งมีระดับน้ำใช้การ   ในปริมาณน้อย ประกอบกับการขอรับบริการฝนหลวงจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร น่าน พิจิตร พิษณุโลก เชียงใหม ลำพูน เพชรบูรณ์ และแม่ฮ่องสอน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมาย

               โดยจากการปฏิบัติการฝนหลวงวันที่ 15 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติภารกิจบริเวณพื้นที่การเกษตรจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน พบว่า มีฝนตกเล็กน้อย-    ปานกลาง อำเภอกัลยาณิวัฒนาและแม่แจ่ม รวมถึงพื้นที่บริเวณเขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนหน่วยปฏิบัติการ     ฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ปฏิบัติภารกิจบริเวณพื้นที่การเกษตรจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พบว่า มีฝนตกเล็กน้อย-ปานกลาง บริเวณพื้นที่อำเภอวังทอง บางระกำ ชาติตระการ นครไทย และเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ขอรับบริการฝนหลวงจากเกษตรกร ทำให้การปฏิบัติภารกิจดังกล่าวสามารถช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายได้

                 นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติภารกิจทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองและพื้นที่ใกล้เคียง และทางภาคกลาง ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่การเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม อ่างทอง และพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองและท่าจีน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่การเกษตรจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสัก     ชลสิทธิ์ ซึ่งผลปฏิบัติการพบว่า มีฝนตกเล็กน้อย-ปานกลาง ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

             อีกทั้งในด้านปัญหาหมอกควัน พบว่ามีสภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นส่วนใหญ่และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วยอย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างเหมาะสม และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือ เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560 

ลุ้น พ.ร.บ. EEC ดึงทุนต่างชาติ

"อมตะ"เผยทุนต่างชาติลุ้น พ.ร.บ.อีอีซีคลอดกลางปีนี้พื้นที่นิคมฯ2 แห่งกว่า10,000 ไร่พร้อมรับลงทุนใหม่

นายวิบูลย์  กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอปอร์เรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) ขณะนี้ ยอมรับว่ามีการตื่นตัวในการติดต่อสอบถามถึงความคืบหน้าของการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆในด้านการลงทุน เชื่อมั่นว่า เมื่อ พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.......... ผ่านความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะมีการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบ ในช่วงกลางปีนี้ จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการลงทุนของประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับการแข่งขันของประเทศไทย ให้กลับมามีศักยภาพมากขึ้น และอาจจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจ(GDP )ในประเทศมากกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้อยู่ที่  3.5-4 %

"การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ใน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นพื้นที่ที่สามารถต่อยอดการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะแผนการลงทุนของรัฐที่สามารถเข้าไปพัฒนาได้ทันที เพราะมีพื้นฐานด้านการลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามา ด้วยความพร้อมในทุกด้าน ทั้งระบบสาธารณูปโภค และการลงทุนที่มีอยู่เดิม ถือเป็น สปริงบอร์ดชั้นดี ของประเทศ นับว่าเป็นแนวทางที่รัฐบาลมาถูกทางแล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางในการบริหารของรัฐบาลที่จะลำดับความสำคัญด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ตอบสนองกับความต้องการของนักลงทุน"นายวิบูลย์กล่าว

สำหรับการเตรียมพร้อมของบริษัทในกลุ่มอมตะ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ บริษัทมีที่ดินรองรับไว้อยู่แล้วกว่า 10,000 ไร่ ทั้งในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง โดยจะเป็นการทยอยพัฒนาแบ่งเป็นเฟส ภายใน 5 ปี เริ่มต้นจากปี 2560 โดยวางเป้าหมายการพัฒนาไว้ 1,000-2,000 ไร่ต่อปี

ทั้งนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ 10 อุตสาหกรรม นักลงทุนเริ่มมีการติดต่อ และสนใจในข้อมูลของพื้นที่การลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ไฮเทค อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ใช้ระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ เข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งการตัดสินใจเข้าใช้พื้นที่ประกอบการ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่นักลงทุนจะตัดสินและเลือกใช้บริการ ซึ่งอมตะกรุ๊ปมีพื้นที่พร้อมรองรับทุกโซน พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ที่อมตะ มีไว้บริการนักลงทุนอย่างครบวงจร

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในกรอบของสิทธิประโยชน์พิเศษทางด้านภาษี ของ EEC ทั้ง จากประเทศญี่ปุ่น จีน ยุโรป และในแถบเอเชีย โดยบริษัทได้ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินในปี2560 ไว้ที่ประมาณ 1,000 ไร่

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560 

ตลาดสารเคมี1.9หมื่นล.ป่วน ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วแห่ตุนปั่นราคา-รับยกเลิกใช้ใน2ปี 

          ตลาดสารกำจัดศัตรูพืช 1.9 หมื่นล้านป่วน หลังกระทรวงสาธารณสุขขีดเส้นสารเคมี 3 ชนิดต้องยกเลิกใช้ใน 2 ปี  เผยตลาดตื่น ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว-เกษตรกรแห่กักตุน ปั่นราคา กรมวิชาการเกษตร ตั้งคณะอนุฯ ตรวจสอบเป็นเคมีอันตรายจริงหรือไม่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรค้านให้ศึกษารอบด้านก่อน

          สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 (5 เม.ย.60)  ได้ข้อสรุปให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ สารเคมีกำจัดวัชพืช "พาราควอต" สารเคมีกำจัดแมลง "คลอร์ไพริฟอส" และ ไกลโฟเสต (ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 การนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด รวมสารเคมีอื่นๆ มีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท)โดยระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้ง 3 ตัว ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการและเกษตรกรมีเวลาเตรียมตัวและหาทางเลือกอื่นและจัดการกับผลิตภัณฑ์คงค้างในตลาด

          ดร.สุวิทย์  ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าการให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดนั้น เป็นความห่วงใยของกระทรวงสาธารณสุข แต่กรมในฐานะผู้ดำเนินการออกใบอนุญาต หรือการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ และการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีวิธีการดำเนินการอย่างใด เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาและดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยจะอาศัยข้อมูลเชิงการแพทย์ อาทิ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย อิงกับหลักในเชิงวิชาการว่าสารดังกล่าวมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีสารตกค้างหรือไม่

          "ที่ผ่านมาทางกรมได้ยึดตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเน้นมาตรฐานสินค้าเกษตรที่จะต้องมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะในเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องเข้มงวดให้มีการใช้อย่างถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม ส่วน สาร 3 ชนิดนี้มีการนำเข้ามานานแล้ว รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็มีการใช้ด้วย"

          โดยหลักการเมื่อได้ผลการศึกษาจากอนุกรรมการฯ แล้วจะนำข้อสรุปเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อชี้ขาดว่าจะให้ยกเลิกการนำเข้าหรือไม่ เพราะกรมเป็นแค่หนึ่งในคณะกรรมการเท่านั้นไม่มีอำนาจตัดสินใจ

          ขณะที่นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวถึงข่าวที่ออกมานั้นทำให้เกิดความสับสน ตื่นตระหนกทั้งยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รวมทั้งเกษตรกร ที่มีการกักตุน และเก็งกำไรสาร 3 ชนิด ซึ่งหากส่วนราชการไทยจะยกเลิกสารดังกล่าวจริง ควรจะต้องมีการประกาศควบคุมราคาก่อน เพื่อไม่ให้มีการปั่นราคา

          "วัตถุอันตราย ชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าอันตราย ดังนั้นผู้ที่ใช้ก็ควรที่จะระมัดระวัง ในอีกแง่หนึ่ง ยกตัวอย่างยาฆ่าหญ้า ช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน ลดต้นทุน ซึ่งเกษตรกรจะใช้ยาพวกนี้ก่อนที่จะปลูกพืช เพราะถ้าไม่กำจัดใส่ปุ๋ยไปหญ้าจะมาแย่งสารอาหารจากพืช อย่างไรก็ตามทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าวว่าจะมีมาตรการในการดำเนินการอย่างไร เพื่อที่ทางสมาคมจะได้รีบแจ้งให้สมาชิกทราบต่อไป

          สอดคล้องกับนายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวถึงความจำเป็นการใช้สารเคมีว่า เกษตรกรมีความต้องการใช้  เพื่อลดต้นทุน และทดแทนแรงงานในภาคเกษตรที่ขาดแคลนดังนั้นฝ่ายที่คัดค้านควรศึกษาให้รอบด้านมากกว่านี้

          ปี2560 ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตร

          มีการกักตุนและเก็งกำไรสาร3 ชนิด

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2560 

สมอ.เร่งออก 150 มอก.S-Curve ยกร่างมาตรฐานอุตฯ 4.0 ในปีนี้

"สมอ." จ่อประกาศ 150 มาตรฐานS-Curve พร้อมเร่งยกร่างอุตสาหกรรม 4.0 อีกเพียบ เผยเตรียมเรียกผู้ผลิต/วิศวกรทุกค่ายรถยนต์หารือ "มอก.รถยนต์ไฟฟ้า" ก่อนประกาศใน 3 เดือนนี้

นายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 (1 ต.ค. 2559-30 ก.ย. 2560) สมอ.เตรียมประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) จำนวน 150 มาตรฐาน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่/รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 1 มาตรฐาน จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์/ชิ้นส่วนยานยนต์ 8 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 1 มาตรฐาน/เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 20 มาตรฐาน, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 2 มาตรฐาน/เกษตรแปรรูป 1 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 4 มาตรฐาน, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 4 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 4 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 1 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 1 มาตรฐาน ขณะนี้กว่า 103 มาตรฐาน ได้กำหนดมาตรฐานเสร็จแล้ว รอเพียงประกาศใช้

และส่วนที่เหลือเป็นมาตรฐานไม่ใช่ S-Curve รวมทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เป็น 4.0 ยังคงอยู่ระหว่างการจัดทำร่างมาตรฐานเตรียมไว้ เช่น อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 35 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง 3 มาตรฐาน, อุตสาหกรรมยางและพลาสติก 1 มาตรฐาน อุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก 17 มาตรฐาน รวมปีนี้จะมีทั้งหมด 305 มาตรฐานใหม่ โดยทั้งหมดจะต้องมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายภายในปี 2560 ซึ่งในระยะแรกจะเป็นเพียงมาตรฐานทั่วไป ส่วนอนาคตทาง มอก.อาจเปลี่ยนเป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งต้องพิจารณาตามความเหมาะสม และสาเหตุต่อไป

สำหรับมาตรฐานแรกจะเสร็จและประกาศใช้ก่อน คือ มอก.สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มี 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ เต้ารับเต้าเสียบ ซึ่งในสัปดาห์นี้ สมอ.ได้เรียกผู้ผลิต/วิศวกรทุกค่ายรถยนต์จากยุโรป ญี่ปุ่น จีน เข้ามาหารือแสดงความคิดเห็นกับทางคณะกรรมการวิชาการชุดที่ 74 (กว.74) เพื่อรวบรวมหลักเกณฑ์และกติกากลางในการออกมาตรฐานที่เหมาะสมกับประเทศไทย คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือนและประกาศใช้

"เทคโนโลยีแบตเตอรี่ของแต่ละค่ายมีความแตกต่างกัน การทำมาตรฐานจะไม่อิงมาตรฐานของค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่ทุกค่ายรถจะต้องผลิตแบตเตอรี่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ สมอ.กำหนด ตัวแบตเตอรี่รถ EV ต้องเสร็จก่อน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐผลักดันให้เกิดโดยเร็ว และทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำลังมีมาตรการสนับสนุนจากการให้สิทธิประโยชน์ด้วย จากนั้นจะทยอยกำหนดร่างมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใน S-Curve อื่นตามมา อาทิ อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ชิ้นส่วนเล็ก ๆ บนเครื่องบินจำนวนมาก เช่น นอต กล่องแผงวงจร ส่งให้ทั้งโบอิ้ง และแอร์บัส ซึ่งผลิตโดยยึดตามหลักมาตรฐานสากล แต่ไทยควรมีการยกร่างมาตรฐานเป็นของตัวเองด้วย ทั้งอุตสาหกรรมยางพวกล้อรถยนต์ อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร เป็นต้น"

ที่สำคัญในเดือนพฤษภาคมนี้ ทาง สมอ.เตรียมเดินทางไปร่วมประชุมสภามาตรฐานแห่งภาคพื้นแปซิฟิก ประจำปี 2560 ที่ประเทศแคนาดา โดยมีสมาชิก 24 ประเทศเข้าร่วม เพื่อเสนอให้ มอก.9999 หรือมาตรฐานการจัดการแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ตามหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กำหนดเป็นมาตรฐานสากล ISO โดยจะผลักดันให้ได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของประเทสมาชิกที่ออกเสียง คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้

สำหรับสถิติการออกใบอนุญาตให้ทำและนำเข้า สำหรับผู้ทำ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือน (ต.ค. 2559-ก.พ. 2560) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,880 ฉบับ คิดเป็น 100% ของจำนวนคำขอที่ออกใบอนุญาตภายใน 15 วันทำการ และใช้ระยะเวลาการออกใบอนุญาตเฉลี่ยเพียง 10 วันทำการ/เรื่อง

ส่วนการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ปัจจุบัน สมอ.กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และประกาศใช้แล้ว จำนวน 1,338 มาตรฐาน แบ่งเป็นของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 498 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 37%, อาหาร จำนวน 450 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 34%, เครื่องดื่ม จำนวน 202 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 15%, สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 91 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 7%

ด้านการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้น สมอ.ดำเนินการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนสะสมตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 70,054 ผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้ใบรับรองและยังไม่หมดอายุ จำนวนทั้งสิ้น 17,242 ใบรับรอง แบ่งเป็นของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 9,112 ผลิตภัณฑ์, ผ้า จำนวน 4,743 ผลิตภัณฑ์, อาหาร จำนวน 1,753 ผลิตภัณฑ์, เครื่องดื่ม จำนวน 304 ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 1,330 ผลิตภัณฑ์ ตามแผนการปฏิบัติงานการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559-31 มีนาคม 2560 กำหนดไว้จำนวน 1,950 ราย ซึ่งผลการดำเนินงาน สมอ. สามารถให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ จำนวนทั้งสิ้น 2,181 ราย คิดเป็น 111.8% จากแผนการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน แบ่งเป็น ของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 1,076 ผลิตภัณฑ์, ผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 700 ผลิตภัณฑ์, อาหาร จำนวน 198 ผลิตภัณฑ์, เครื่องดื่ม จำนวน 37 ผลิตภัณฑ์, สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 170 ผลิตภัณฑ์

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560 

ไทยรับมือ 90 วันคำสั่ง "ทรัมป์" หั่น GSP 4,000 ล.-รีด "บอนด์" AD/CVD

ทันทีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้อำนาจในทางบริหารตามรัฐธรรมนูญด้วยการลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Orders) 2 ฉบับ เพื่อรวบรวมข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ และเตรียมใช้มาตรการเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศกับประเทศที่เป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับสหรัฐ16ประเทศ(รวมทั้งประเทศไทยปี 2559 ได้ดุลการค้า 18,920 ล้านเหรียญ) โดยให้สรุปผลและแนวทางดำเนินการภายใน 90 วันนับจากวันที่ออกคำสั่งคือ วันที่ 31 มีนาคม 2560 ส่งผลให้ตลาดส่งออกสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย (คิดเป็นสัดส่วน 10.9% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย) เกิดภาวะความไม่แน่นอนขึ้นมาทันที

คำสั่งพิเศษ 2 ฉบับ

สาระสำคัญของคำสั่งพิเศษฉบับที่ 1 ระบุว่า ที่ผ่านมาสหรัฐไม่ได้รับประโยชน์จากการทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อีกทั้งยังขาดดุลการค้าในปี 2559 ถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น "ทรัมป์" จึงสั่งให้หาสาเหตุหลักของการขาดดุลการค้าและให้ประเมินว่า ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐเหล่านั้นมีการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐหรือไม่ ตลอดจนผลกระทบความสัมพันธ์ทางการค้าต่อความสามารถในการแข่งขัน การจ้างงาน และการขยายตัวของค่าจ้าง และการดำเนินการทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐ

ส่วนคำสั่งพิเศษฉบับที่ 2 สหรัฐจะใช้มาตรการกับ "ผู้นำเข้า" ที่หลีกเลี่ยงการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) โดยผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า จากข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษี AD/CVD ได้ถึง 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงกำหนดให้มีการวางเงินประกัน (บอนด์) กับสินค้านำเข้าที่ถูกเก็บอากร AD/CVD จาก "ผู้นำเข้าที่เข้าข่าย" (Covered Importer)

ด้วยเงื่อนไขว่า เป็นผู้นำเข้ารายใหม่ที่ U.S. Customs and Border Protection (CBP) ไม่เคยมีข้อมูลมาก่อน หรือข้อมูลผู้นั้นเคยหลีกเลี่ยงไม่จ่ายอากร AD/CVD ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสหรัฐจะกำหนดมาตรการต่อต้านการฝ่าฝืนกฎหมายการค้าและศุลกากร โดยอาจ "สั่งห้ามนำเข้าหรือกำจัดสินค้าที่ทำผิดกฎหมาย" หรือกำหนดหลักการสำหรับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยอาจยึด/ริบสินค้าที่มีการนำเข้าฝ่าฝืนกฎหมายการค้า ตลอดจนอาจให้สำนักงานอัยการสหรัฐ ออกข้อแนะนำถึงแนวทางปฏิบัติ-เร่งรัดการดำเนินคดีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายการค้าตามความเหมาะสม

AD/CVD กระทบไทย 7 รายการ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ทยอยหารือกับผู้ประกอบการ ซึ่งตามประกาศของสหรัฐ Executive Order จะกระทบกับผู้นำเข้าสินค้าที่สหรัฐเคยใช้ AD/CVD กับไทยประมาณ 7 รายการ (ตารางประกอบ) และสินค้าที่สหรัฐใช้มาตรการ AD/CVD กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มที่ประเทศไทยมีการส่งออกด้วย อาทิ ยางรถยนต์, แผงโซลาร์เซลล์, เหล็กและผลิตภัณฑ์, กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น

"ระหว่างที่รอความชัดเจนใน 90 วันนี้ ขอให้ผู้ส่งออกไทยตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นผู้นำเข้าสหรัฐอย่างระมัดระวัง เพื่อมิให้ถูกเรียกวางเงินประกันเพิ่ม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไทยร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายนั้นกับผู้นำเข้าสหรัฐด้วย เท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ส่งออกไทย อีกทั้งการขอคืนเงินบอนด์จะใช้เวลานาน ทั้งนี้ประกาศฉบับที่ใช้เรื่อง AD/CVD นี้ จะใช้กับสินค้าจากทุกประเทศที่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD ต่างจากประกาศอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการขาดดุล (Trade Deficits) การค้า" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

GSP อาจถูกตัดสิทธิ

ขณะที่นายบัณฑูรย์ วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มักจะออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อโดยใช้ลักษณะคำพูดที่ดูรุนแรง เพื่อหวังผลสัมฤทธิ์เกี่ยวกับการพบกับประธานาธิบดีจีน แต่ในทางปฏิบัติมีโอกาสที่สหรัฐอาจจะไม่ดำเนินมาตรการตามคำสั่งนั้นก็ได้

ส่วนความกังวลที่ว่า Executive Order จะมีผลต่อการให้สิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร หรือ GSP ที่ไทยได้รับอยู่หรือไม่ เรื่องนี้สหรัฐกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนเพื่อผ่อนผันการตัดสิทธิ GSP สำหรับสินค้าที่ส่งไปสหรัฐจนเกินเพดาน หรือ CNL (Competitive Need Limitations) ที่สหรัฐกำหนด ซึ่งตามหลักการการตัด GSP ลักษณะนี้เป็นการใช้อำนาจโดยประธานาธิบดีที่ "อาจตัดแน่นอน"

นอกจากนี้ไทยยัง "อาจจะ" ถูกตัดสิทธิ GSP ทั้งโครงการด้วย เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ไทยไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิพิเศษ GSP แล้ว

"ผลกระทบต่อการส่งออกไปสหรัฐ ภาพรวมก็ไม่ได้มากอย่างที่คิด เพราะสินค้าไทยที่ได้สิทธิ GSP ปัจจุบันไม่ใช่สินค้าหลักในการส่งออก สัดส่วนการส่งออกผ่านสิทธิ GSP ไม่ได้มากนัก (ตารางประกอบ) และประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย ขณะนี้ก็ไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว แต่เหตุใดมาเลเซียจึงสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้มากกว่าไทย" นายบัณฑูรย์กล่าว

กุ้งทบทวน AD

นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยถูกสหรัฐใช้มาตรการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด หรือ AD มาตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดอัตรา AD อยู่ที่ 5.34% และทุก ๆ 5 ปีจะมีการทบทวน โดยจนถึงปัจจุบันอัตราอากร AD ลดลงมาอยู่ที่ 1% ซึ่งขณะนี้สหรัฐได้เปิดการทบทวนอากร AD โดยฝ่ายไทยได้ส่งข้อมูลให้กับผู้นำเข้าเพื่อนำไปยื่นต่อ ศาลการค้าระหว่างประเทศสหรัฐ (U.S. Court of In-ternational Trade) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะทราบผลพิจารณาทบทวนมาตรการ AD ภายในเดือนพฤษภาคม 2560

"เราไม่ได้กังวลต่อคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐว่าจะมีผลต่อการพิจารณา AD หรือไม่ เพราะนโยบายที่ออกมายังไม่ชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรกับประเทศใดบ้าง ขณะนี้การส่งออกกุ้งไทยไปสหรัฐยังเป็นปกติ เนื่องจากสหรัฐยังมีความต้องการบริโภคสินค้าเป็นจำนวนมาก แม้จะเสียภาษี AD อัตราเดิมสหรัฐก็ยังนำเข้าหมด" นายผณิศวรกล่าว

จับตาชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ภาคเอกชนกังวลว่าจะมีการใช้มาตรการทางการค้าจากคำสั่งดังกล่าว ซึ่งอาจจะกระทบสินค้า เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, อัญมณี, อาหาร และยาง ที่มีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐ 10% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ถ้าหากมาตรการทางการค้าถูกนำมาใช้ยาวนานจะไม่เพียงส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งมีประมาณ 10% ลดลง แต่อาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศที่ไม่ถูกสหรัฐกีดกันโดยเฉพาะเสื้อผ้า/สิ่งทอ และอัญมณี ที่ต้องจับตามองอย่างมาก เพราะเป็นสถานการณ์เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับจีน หลังถูกสหรัฐกีดกันทำให้นักลงทุนจีนหลั่งไหลมาลงทุนที่ประเทศไทยแทน

"กกร.ประเมินว่า คำสั่งนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจชะลอการลงทุนสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ เนื่องจากการลงทุนเป็นการวางแผนไว้ในระยะยาวมากกว่า แต่ที่จับตามองก็คืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ไทยผลิตมาก ก่อนนี้ทรัมป์พยายามดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้กลับไปผลิตที่สหรัฐ แต่ทรัมป์ต้องมองด้วยว่า แรงงานมีหรือไม่ ต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร อาจมีผลลบมากกว่าบวก และด้วยเรามีความร่วมมือกันหลายอย่าง จึงยังต้องพึ่งการผลิตจากไทยในหลายอุตสาหกรรม การกีดกันครั้งนี้เชื่อว่าจะจบลงได้จนทำให้ไทยหลุดจาก 16 ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ"

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560 

เกษตรกรอัจฉริยะ ต้นน้ำธุรกิจยั่งยืน“มิตรผล”

กว่า 60 ปีมิตรผล จากชาวไร่อ้อยสู่เจ้าของโรงงานน้ำตาล ผ่านปรัชญาทำธุรกิจเริ่มต้น “ร่วมอยู่-ร่วมเจริญ” ก่อนยกระดับโมเดร์นฟาร์ม เกษตรกรอัจฉริยะ สร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจโตยั่งยืน

 ย้อนรอยฐานรากธุรกิจตระกูล "ว่องกุศลกิจ" ที่เริ่มต้นจากครอบครัวชาวไร่อ้อย ก่อนขยับมาเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล ในจังหวัดราชบุรี ขยายไปสู่เครือข่ายโรงงานน้ำตาล 6 แห่งในปัจจุบัน ได้แก่ โรงงานน้ำตาลในจังหวัดเลย ,สุพรรณบุรี ,สิงห์บุรี ,กาฬสินธุ์ ,ขอนแก่น และชัยภูมิ มีเครือข่ายชาวไร่อ้อยกว่า 4 หมื่นคน

ผ่านคำบอกเล่าของ กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ผู้บริหารมืออาชีพกุมบังเหียนธุรกิจน้ำตาลอันดับ 1 ของประเทศ และยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลก ฉายภาพให้เห็นพัฒนาการความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลว่า แรกเริ่มยึดถือปรัชญา "ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ" ตั้งแต่ในยุคที่ไม่มีคำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ “การพัฒนายั่งยืน” เพราะวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลคือ “อ้อย” ซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อยนับร้อยนับพันราย

จากความจริงที่ว่า ธุรกิจไม่อาจเติบโตได้ หากไม่พึ่งพาชาวไร่อ้อย ดังนั้นจึงต้องดูแล และแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานน้ำตาลให้เท่าเทียมกัน

จนกระทั่งเริ่มมีคำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (CSR - Corporate Social Responsibility) และการพัฒนายั่งยืน (SD-Sustainable Development) เกิดขึ้น ทำให้ปรัชญา ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ ของมิตรผล ถูก “ยกระดับ” ให้เข้มข้นเข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น

โดยคำนึงถึง 3 มิติ คือ “เศรษกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม”

ในเชิงเศรษฐกิจ หลังเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 กลายเป็นอีก “จุดเปลี่ยน” ทำให้กลุ่มมิตรผล ย้อนกลับมามองดูตัวเอง เพื่อ “อุดรอยรั่ว” ด้านการเงิน บัญชี ไม่ขยายการลงทุน หรือก่อหนี้เกินกำลัง

ขณะเดียวกันในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม คือการหาแนวทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกร

ล่าสุดมีโปรแกรมทำไร่อ้อยสมัยใหม่ “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” (The Mitr Phol Modern Farm System) หรือการบริหารจัดการไร่อ้อยตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีทีมงานที่เรียกว่า “ไอรอนแมน” เข้าไปช่วยให้คำแนะนำ ให้ความรู้และอำนวยความสะดวก ยกระดับความมั่งคั่งให้ชาวไร่อ้อย เป็น “เครือข่ายสังคมชาวไร่อ้อยอัจฉริยะ” ปลูกอ้อยโดยไม่ใช้สารเคมี สร้างความยั่งยืน ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

“เรารับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อย ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นจากความยั่งยืนด้านวัตถุดิบ เมื่อเกษตรกรอยู่รอดก็จะปลูกอ้อยให้ต่อเนื่อง หากเขาไม่มีกำไรก็จะหันไปปลูกพืชอื่น ไม่ปลูกอ้อย โรงงานน้ำตาลก็จะได้รับผลกระทบ”

นอกเหนือจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้นแล้ว อีกด้านที่จะนำไปสู่ “ความยั่งยืน” คือการ “สอดแทรกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลูกอ้อย เป็นการทำ “การเกษตรผสมผสาน”

“เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ในช่วงที่ไม่ได้ตัดอ้อย (ตัดเพียงปีละครั้ง) มิตรผลก็จะเข้าไปแนะนำให้ปลูกพืชผสมผสาน แบ่งเนื้อที่ปลูกอ้อยไปปลูกอย่างอื่นที่กินอยู่ประจำ เช่น ผัก และเลี้ยงไก่เพื่อให้มีรายได้เสริม”

ขณะที่โรงงานน้ำตาลในเครือมิตรผล จะไม่ได้ผลิตน้ำตาลเท่านั้น แต่จะนำกากน้ำตาล (โมลาส) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล ทำมาทำเอทานอล เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดการปล่อยของเสีย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของความรับผิดชอบต่อ “พนักงาน” ผู้เชื่อมต่อการทำงานระหว่างชาวไร่กับโรงงานน้ำตาลนั้น มิตรผลมองว่า กุญแจสำคัญต้องทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับชุมชน คอยเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวก และรับฟังปัญหาจากชาวไร่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

"เราจะให้ความสำคัญกับคน ผู้ขับเคลื่อนองค์กร สิ่งเดียวที่จะไม่ทำคือ ปลดพนักงาน เราจะเพิ่มงบพัฒนาบุคลากรทุกปี ไปพร้อมกับการเพิ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น”

ซีอีโอมิตรผล ระบุว่า ล่าสุดมีสัดส่วนพนักงานเจนวายอายุระหว่าง 17-37 ปี (เกิดระหว่างปี 2523-2543) สัดส่วน 58% เป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่แม้องค์กรจะเก่าแก่ แต่ยังเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ

“มีการเทิร์นโอเวอร์ระดับต่ำประมาณ3-4% สำหรับคนที่ยังไม่รู้ตัวเอง และอายุงานไม่เกิน 3 ปี แต่หากอายุงานเกิน 3 ปีไปแล้วส่วนใหญ่จะผูกพันและรักองค์กร”

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ กรณีของ สาคร มูลโพนงาม หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน พนักงานเพศที่ 3 ที่มิตรผลนำเรื่องราวสุดประทับใจของพนักงานคนนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวผ่านโลกโซเชียล

เขาคือบัณฑิตจบใหม่ที่ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครับ ถูกปิดกั้นโอกาส จนกระทั่งมาถึงมิตรผล ที่เขาเล่าว่า เป็นที่ที่เปิดโอกาสให้เขาทำงานโดยไม่มองที่รูปลักษณ์ภายนอก (เพศสภาพ) แต่เลือกมองที่คุณสมบัติ และความสามารถ

“บริษัทให้โอกาสในขณะที่เขาถูกปฏิเสธจากที่อื่น ทำให้เขาได้พิสูจน์ฝีมือเต็มที่ในการทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งพนักงานหลายคนที่เข้าใหม่ บางครั้งอาจไม่กล้าทำอะไรมากเพราะกลัวความผิดพลาด"

เรื่องราวของสาคร จึงเป็นเหมือน “ต้นแบบ” ของการส่งคนไปฝังตัวในชุมชนรอบโรงงานน้ำตาล ในฐานะ “ฝ่ายพัฒนาชุมชน” เพื่อสร้างชุมชนยั่งยืน ที่ปัจจุบันขอบเขตของการพัฒนาขยายวงกว้างไปมากกว่ารอบโรงงานน้ำตาล แต่ขยายไปทั่วประเทศ

โดยผลการดำเนินการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ทำให้ที่ผ่านมามีครัวเรือน เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,225 ครัวเรือน มีครัวเรือนต้นแบบ 56 ครัวเรือนจาก 9 ตำบล ที่มีการรวมกลุ่ม พัฒนาอาชีพ เกิดวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด 14 กลุ่ม อาทิ กลุ่มน้ำยาอเนกประสงค์ กลุ่มไข่ไก่ กลุ่มเพาะเห็ด และกลุ่มกล้วยฉาบ เป็นต้น

แผนการพัฒนายั่งยืน ไม่เพียงเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกันของชาวไร่และโรงงานน้ำตาลเท่านั้น ยังได้รับรางวัลระดับโลก อาทิ รางวัลผู้ผลิตน้ำตาลที่ยั่งยืนระดับโลกมาตรฐานบองซูโคร (BONSUCRO Sustainability Award 2015) จากบราซิล จากผลงานการรณรงค์ด้านการลดการเผาอ้อย และส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อย นำระบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” มาใช้ ทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยของประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 10.88 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 20 ตันต่อไร่

ถือเป็นธุรกิจน้ำตาลรายแรกของเอเชียที่คว้ารางวัลด้านความยั่งยืนจากบองซูโคร โดยคาดว่าภายในปี 2563 จะสามารถขอรับรองพื้นที่ปลูกอ้อยได้ทั้งหมด 4 แสนไร่

มิตรผลยังเป็นกลุ่มธุรกิจนอกตลาดหลักทรัพย์รายแรกที่ได้รับรางวัลด้านการพัฒนายั่งยืน GRI (Global Reporting Initiatives) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หลังจากได้รับรางวัลภายในประเทศและรางวัลระดับโลกมาแล้ว มิตรผลวางแผนที่จะก้าวสู่องค์กรด้านความยั่งยืน ได้รับมาตรฐานระดับสากล (World Class Organization) เพื่อให้คู่ค้า อ อุตสาหกรรมที่ซื้อน้ำตาลจากมิตรผล อาทิ เนสท์เล่ โคคา โคล่า และเป๊ปซี่ เชื่อมั่นในคุณภาพของการคำนึงถึงผลประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เพื่อสอดรับกันกับทิศทางการเติบโตในอนาคตที่มิตรผลต้องการที่จะ “รุกการลงทุนในอาเซียนและนอกอาเซียน” มากขึ้น เช่นการเข้าไปลงทุนแล้วในจีน และออสเตรเลีย ล่าสุดในปีที่ผ่านมายังไปลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560 

ก.เกษตรฯ เตรียมชี้ชะตา"3 สารเคมี"!

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

              กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชี้ชะตา 3 สารเคมี จับมือกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ร่วมพิจารณาผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนพิษตกค้างและสิ่งแวดล้อม ชงคณะกรรมการเฝ้าระวังวัตถุอันตราย ใช้ข้อมูลทางวิชาการและหลักเกณฑ์ 12 ข้อตามมาตรฐานFAOและWHO

              พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมเสวนาวิชาการ “การเกษตรไทยต้องพึ่งพาสารกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมวัชพืชแห่งประเทศไทย ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการนำเสนอจากผู้ที่เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้คือ สารเคมีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอไพรีฟอส ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมหารือกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ เพื่อร่วมพิจารณาผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนประเด็นสารพิษตกค้าง และสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอคณะกรรมการเฝ้าระวังวัตถุอันตรายพิจารณา โดยจะใช้ข้อมูลทางวิชาการและหลักเกณฑ์ 12 ข้อตามมาตรฐานFAOและWHO

              นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการกล่าวว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายควรที่จะมีการพิจารณายกเลิกการใช้หรือไม่ รวมทั้งจากการที่ผู้แทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN)ได้แจ้งข้อคิดเห็นและแนวทางการจัดการสารเคมีทั้ง3 ชนิดดังกล่าว ของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมวัตถุอันตรายเป็นคณะกรรมการฯ และมีผู้แทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN)เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้เสนอแนวทางในการดำเนินการสารเคมีทั้ง 3 ชนิดไว้ ดังนี้

                   พาราควอทที่ประชุมมีข้อเสนอ ให้กำหนดระยะเวลายกเลิกการใช้ในปี 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรมีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นอีก 3 ปีโดยไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียนเนื่องจากเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง และมีประเทศต่างๆมากกว่า 40 ประเทศยกเลิกการใช้

                   ไกลโฟเสต ที่ประชุมมีข้อเสนอ ให้จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้สำหรับการเกษตรในพื้นที่สูงและพื้นที่ต้นน้ำ ห้ามใช้ในบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะ และเขตชุมชน โดยมีเหตุผล เนื่องจากองค์กรอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง

                   คลอไพริฟอส ที่ประชุมมีข้อเสนอ ให้ยกเลิกการใช้ในบ้านเรือน.ส่วนการใช้ทางการเกษตรให้กำหนดระยะเวลายกเลิกการใช้ในปี 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรมีเวลาเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นอีก 3 ปีโดยไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียนและจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในภาคเกษตรห้ามใช้พืชผักและผลไม้โดยเด็ดขาด เนื่องจากพบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอสอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่ตกค้างสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากคาร์เบนดาซิม และสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีนออกข้อกำหนดห้ามใช้ในผักและผลไม้ทุกชนิดจนถึงหลายประเภท

                 “กรมวิชาการเกษตรได้รับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และได้แจ้งว่า จะนำข้อมูลที่คณะกรรมการฯ เสนอมาทั้งหมดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ได้แก่ข้อมูลที่เกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพ กรมวิชาการเกษตรจะให้ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าวพิจารณา ส่วนในเรื่องการใช้ทางการเกษตร พิษตกค้าง และด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตรจะมอบหมายให้คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งมีผู้แทนที่รับผิดชอบในแต่ละสาขาวิชาพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ โดยใช้หลักเกณฑ์การจัดวัตถุอันตรายเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 12 ข้อ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานFAOและWHOโดยกำหนดให้การพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560”อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560 

พพ.เร่งเดินหน้าถกยุทธศาสตร์พลังงานขนส่ง 

 นายสาร์รัฐ ประ กอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผย ว่า ภายในต้นเดือน พ.ค.60 นี้ คณะกรรมการบูรณาการอนุรักษ์พลังงานทดแทนในภาคขนส่ง โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการประชุมเพื่อจัดทำยุทธ ศาสตร์การอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งช่วง 4 ปี (2561-2564) เพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์พลังงานและเป้าหมายการประ หยัดพลังงานที่ชัดเจน

          "หลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ที่ผ่านมานั้นไทยใช้พลังงานในด้านนี้ในปริมาณที่สูงมาก และสามารถประหยัดพลังงานได้เพียง 60% จากเป้าหมาย 100%" นายสาร์รัฐกล่าว

          นายสาร์รัฐกล่าวว่า กรอบยุทธศาสตร์จะมีการประ สานข้อมูลกับหน่วยงานรัฐที่ กำกับด้านขนส่ง คือ กระทรวง คมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง รวมถึงผู้ประ กอบการภาคขนส่ง เพื่อรวบรวม ตัวเลขต้นทุนภาคขนส่งในปัจจุบันว่า อัตราการใช้สิ้นเปลืองเท่าไร โดยทั้งหมดจะมีการหารือเพื่อลงรายละเอียดภายในเดือน เม.ย.

          อย่างไรก็ตาม คณะกรรม การยังมีแผนจะกำหนดให้ยางล้อรถยนต์ทุกชนิดต้องติดสติกเกอร์ คล้ายเครื่องหมายประหยัดพลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 เพื่อแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซ การประหยัดพลังงานของรถยนต์.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2560 

เปิดตัวระบบ‘T&V System’ ส่งเสริมการเกษตรไทยสู่4.0

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาภาคการเกษตรมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ให้การทำงานเป็นภาพของการบูรณาการในทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรุ่นใหม่ในอนาคต

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า งานส่งเสริมการเกษตร เป็นภารกิจสำคัญที่สามารถตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล และ กระทรวงเกษตรฯ ได้ เนื่องจาก “ระบบส่งเสริมการเกษตร: T & V System (Training and Visit System) คือ ระบบฝึกอบรมเยี่ยมเยียน ที่ได้นำมาปรับปรุง เพื่อมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเป็นไปในทิศทาง เป้าหมาย เดียวกัน โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ ระบบปฏิบัติการ หรือ ระบบการทำงานในพื้นที่ และระบบสนับสนุนการปฏิบัติงาน จะมุ่งเน้นให้เกิดการเยี่ยมเยียนและถ่ายทอดความรู้

การปรับปรุงและพัฒนา ระบบส่งเสริมการเกษตร : T&V System ในครั้งนี้ จึงนับว่ามีส่วนช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกร ที่ได้สะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริง และได้รับความช่วยเหลือที่ทันท่วงที อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ ที่จะได้ถ่ายทอดเรียนรู้วิธีการทำงานซึ่งกันและกัน เกิดแผนการดำเนินงานที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายที่แน่นอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2560

สหรัฐเปิดศึกทำค่าเงินป่วน กกร.-คลังเกาะติดหวั่นราคาน้ำมันพุ่ง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-ซีเรีย และเกาหลีเหนือขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแต่ก็ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

นอกจากนี้ภาคเอกชนยังติดตามมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐต่อเนื่อง โดยได้ร่วมหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทีมเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการรวบรวมข้อมูลการค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐว่าสินค้าใดจะมีแนวโน้มได้รับผลกระทบบ้าง รวมถึงติดตามท่าทีของทางสหรัฐเพื่อวางมาตรการรับมือต่อไป

“มาตรการของสหรัฐมีทั้งผลบวกและลบกับไทย ถ้าไทยหลุดจากแบล็กลิสต์ก็จะทำให้สถานการณ์การค้าและการลงทุนไทยดีขึ้น แต่หากผลการตรวจสอบออกมาว่าไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศ ที่ถูกสหรัฐกีดกันทางการค้า จะส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 10% ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวหาตลาดใหม่เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ทรัมป์ สุดท้ายแล้วสหรัฐน่าจะทบทวนมาตรการดังกล่าวว่าการเอาผิดกับประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐไม่มากจะคุ้มค่าหรือไม่”นายเจนกล่าว

สินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐบางหมวดอาจได้รับผลกระทบ อาทิ อัญมณียาง ฮาร์ดดิสก์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ส่วนสินค้าบางหมวดอาจย้ายฐานการผลิตแต่ไม่มากนัก เช่นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่เป็นบริษัทของสหรัฐเอง หากสหรัฐจะดึงฐานการผลิตกลับประเทศก็ต้องพิจารณาต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ส่วนอุตสาหกรรมอาหารประเภทอาหารทะเลกระป๋องรายใหญ่ของไทยนั้นได้ย้ายฐานลงทุนไปผลิตในสหรัฐก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาวะความไม่สงบในต่างประเทศยังไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าของไทย แต่ทำให้ค่าเงินผันผวนไปบ้างตามปกติของตลาดที่มีความอ่อนไหว

“สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ทำขณะนี้คือ ดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป โดยตั้งแต่ต้นปี 2560 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.7% ซึ่งแข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนอย่างดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่า 3.4% ริงกิตแข็งค่า 1.2% รูเปียห์ 1.1% หยวน 0.7% แต่ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่แข็งค่า 5.4%”

ถึงแม้เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนแต่กกร.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องโดยมีการใช้จ่ายของภาครัฐ การท่องเที่ยว และการส่งออกที่ดีขึ้นเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ กกร. จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2560 ไว้ที่ 3.5-4.0% การส่งออกจะขยายตัว 1.0-3.0%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีการทำสงครามระหว่างซีเรีย และสหรัฐว่า เป็นปัญหาที่ต้องติดตามใกล้ชิด แม้เบื้องต้นจะยังไม่กระทบโดยตรงกับประเทศไทย เพราะเรามีการค้ากับซีเรียน้อย แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ ราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงขึ้นนอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อการค้าของประเทศอื่นด้วยหรือไม่ เป็นต้น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการทั้งทางการเงิน และการคลัง รวมถึงมาตรการทางภาษีไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว หากเหตุการณ์สู้รบขยายวงกว้าง จนส่งผลกระทบมายังประเทศไทยก็มีเครื่องมือพร้อมดำเนินการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560

"บิ๊กตู่"สั่งชี้แจงเกษตรกรเพาะปลูกช่วงแล้ง

                    “บิ๊กตู่” สั่งทุกหน่วยงานชี้แจงเกษตรกร รับภัยแล้ง เลี่ยงปลูกพื้นใช้น้ำมาก ด้านสปน.จับมือเอกชนทำประชารัฐหาแหล่งน้ำช่วยเกษตรกร  

                    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ไปชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งที่เหมาะสมอย่างทั่วถึงและชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรให้ความร่วมมือและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก เพื่อให้มีปริมาณน้ำเหลือเพียงพอใช้ได้ตลอดฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นจะต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคก่อนนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรกรรม

 นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้เป็นห่วงการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้วเป็นอย่างมาก เพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และภาคการผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแล้ว โดยจะทำงานกันแบบประชารัฐ ด้วยการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมไว้รองรับฤดูแล้งที่จะมาถึง

 จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560 

“พาณิชย์”ติดตามนโยบายทรัมป์อย่างใกล้ชิด เตรียมรับมือภาคส่งออก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีนโยบายสหรัฐฯที่จะลดการขาดดุลการค้า ซึ่งอาจจะนำสู่การกีดกันทางการค้าและออกมาตรการบางอย่างที่อาจจะกระทบส่งออกสินค้าไทยบางรายการว่า กระทรวงฯ ได้หารือกับภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แล้วถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อจัดทำรายงานการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ ที่สหรัฐขาดดุลการค้าในปี 2559 ถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะใช้มาตรการกับผู้นำเข้าที่หลีกเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) และการอุดหนุน(CVD)โดยผิดกฎหมายนั้น เบื้องต้นก็ประเมินสถานการณ์กันอยู่ สหรัฐยังไม่ได้ออกมาตรการที่ชัดเจน จึงเป็นเพียงการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นก็ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ดูมาตรการที่จะออกมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

นายสนธิรัตน์ กล่าวถึงกรณีสหรัฐอาจใช้เรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญญาของไทยมาเป็นข้อโต้แย้ง ว่า ที่ผ่านมาไทยได้พัฒนาและยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันไทยเองก็มีความพร้อมในการเตรียมการรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามต้องรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนก่อน                                          

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560 

สภาเกษตรกรฯเสนอครม.พิจารณาแผนแม่บทพัฒนาเกษตรกรรมไทย 

          กทม. : นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรฯ มีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน จากการทำมาตลอด 2-3 ปี จนได้รูปเล่ม แนวความคิดกรอบความคิด และนำเสนอไปถึงนายกรัฐมนตรี ก่อนส่งต่อส่วนงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตั้งข้อสังเกต ซึ่งได้ปรับปรุงเอกสารตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรม  การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีส่งแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ. 2560-2564 แล้ว เพื่อนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา หลังจากนั้นหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาหน่วยงานรับผิดชอบ และทำแผนงานตามแผนแม่บท เช่น การตลาด การแปรรูป โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ จากนี้ไปเกษตรกรทั้งประเทศสามารถมีแผนแม่บท เพื่อกำหนดทิศทางในการเปลี่ยนแปลงการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ การตลาดเชื่อจะเป็นทางรอดของเกษตรกรในระยะยาว

          " ทั้งนี้ แผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม เมื่อผ่านการพิจารณาจาก ครม. แล้วก็ต้องเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ฐานะสภาเกษตรกรฯ เป็นต้นเรื่อง เช่นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อที่จะมาจำแนกงานตามแผนแม่บทว่าแต่ละงานหน่วยงานควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนต่อไป"

จาก http://www.siamrath.co.th ฐ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560 

ยอดขอรง.4โตสวนทางมูลค่าวูบ18% 

         กรอ.เผยยอดขอ รง.4 ไตรมาสแรกปี 60 โต 0.96% สวนทางมูลค่าการลงทุนตก 17.91% ชี้อุตฯ ผลิตโลหะขั้นสูง คว้าแชมป์ลงทุนสูง "สมชาย" เผยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4)และขยายกิจการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 (ม.ค.-มี.ค.2560) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,154 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากช่วง เดียวกันในปี 2559 ที่มีอยู่ 1,143 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้น 0.96% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 94,400 ล้านบาท ลดลง 17.91% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่อยู่ที่ 115,000 ล้านบาท

          โดยแบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 960 โรงงาน เพิ่มขึ้น 2.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีอยู่ 940 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 49,900 ล้านบาท ลดลง 22.15% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 64,100 ล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 194 โรงงาน ลดลง 4.43% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 203 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 44,400 ล้านบาท ลดลง 12.94% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 51,000 ล้านบาท

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาพรวมการขอใบอนุญาต รง.4 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป แม้ว่ามูลค่าลดลง เนื่องจากเป็นโครงการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่เริ่มมีการขยายตัวจากช่วงที่ผ่านมาตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560 

ชี้ยอดขอ‘ใบรง.4’ปีนี้คึกคัก อานิสงส์เศรษฐกิจโลก โครงการลงทุน‘อีอีซี’

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาพรวมการขอใบอนุญาต รง.4 ในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยในไตรมาสแรกของปี 2560 มีจำนวนโรงงานเพิ่ม เป็นเพิ่มโครงการขนาดกลาง และเล็กที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกที่เริ่มมีการขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก รวมทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ที่ให้สิทธิประโยชน์ ต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน

ด้าน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่านโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะมีผลให้เอกชนลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากขณะนี้เอกชนรอดูความชัดเจนของโครงการ ซึ่งขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะสนามบินอู่ตะเภาที่ตั้งเป้าเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ดังนั้น มั่นใจว่าจำนวนและมูลค่าการลงทุนของยอดขอรง.4 ปีนี้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 5 พันกว่าโรงงาน หรือมูลค่าลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่จะเริ่มลงทุนในปลายปีนี้จะเห็นได้จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ได้อนุมัติส่งเสริมกิจการประเภทพลังงาน ชิ้นส่วนยานยนต์ ปิโตรเคมี เป็นต้น ส่วนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการรง.4 และขยายกิจการในเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,154 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2559 ที่มีอยู่ที่ 1,143 โรงงาน หรือ เพิ่มขึ้น 0.96 %

ด้าน นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงสิ้นดือนมีนาคม 2560 พบว่า สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้แล้วกว่า 51% จากงบภาพรวมของส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรร 150,000 ล้านบาท โดยงบลงทุน 138,000 ล้านบาท ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560 

บาท 'อ่อนค่า' รับวันหยุดยาว

บาทเปิดตลาดอ่อนค่าที่ "34.63บาทต่อดอลลาร์" ฝั่งไทยยังเงียบลงช่วงสัปดาห์วันหยุดสกรานต์ จับตาขยับขึ้นดอกเบี้ยต่อ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 34.63 บาท ต่อดอลลาร์ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระกับ 34.59 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นสัปดาห์ก่อนหลังการว่างงานในสหรัฐยังคงลดลงต่อชี้ว่าเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่ง

สัปดาห์นี้เชื่อว่าตลาดเงินฝั่งไทย จะเงียบลงเนื่องจากเป็นช่วงสัปดาห์วันหยุดสงกรานต์ โดยที่มีการรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจคือการค้าของจีนในวันพุธ และเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพฤหัส ฝั่งจีนคาดว่าการนำเข้าของจีนจะยังเติบโต 15.5% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกยังเติบโตที่ระดับ 3.4% ส่งผลให้จีนจะกลับมาเกินดุลการค้าระดับ 1.25 หมื่นล้านเหรียญ ในส่วนของเงินเฟ้อสหรัฐ (CPI เดือนมีนาคม) คาดว่าจะรายงานออกมาที่ระดับ 2.6% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน) คาดว่าจะรายงานออกมาที่ระดับ 2.3% แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น

โดยรวมภาพเงินบาทมีทิศทางทรงตัวถึงอ่อนค่าลงเล็กน้อย ถ้าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งพร้อมกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นในระดับสูง (เกิน 2.0%) เป็นการยืนยันว่าโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้เป็นไปได้สูงสนับสนุนให้ดอลลาร์สามารถแข็งค่าต่อได้ในระยะสั้น

มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.35-34.85 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560 

"บิ๊กตู่" เร่งขับเคลื่อน EEC EECi เขตส่งเสริมแห่งที่ 2

การลงพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง เมื่อเร็ว ๆ นี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ครส.) ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดถึงนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศว่า เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้เปิดรับนักลงทุนอย่างเป็นทางการแล้ว

JETRO ขอ 3 ข้อ

นายฮิโรกิ มิทสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ได้แสดงความเชื่อมั่นที่มีต่อไทย แต่มีข้อเสนอสำคัญเพื่อให้รัฐบาลไทยพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ

1) การเพิ่มสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมจากต่างชาติ จากเดิมที่จำกัดไว้ 1 บริษัท จ้างได้ 4 คน หรือ 1 ต่อ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย 2) เสนอให้ฝ่ายไทยลดขั้นตอนการอนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ เช่น การนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารที่ใช้เวลาพิจารณาจากองค์การอาหารและยา (อย.) ที่ล่าช้า และ 3) การปรับกฎเกณฑ์หรือยกเว้นระเบียบบางข้อสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาคอขวดการลงทุน นอกจากทั้ง 3 ประเด็นแล้ว นายฮิโรกิยังต้องการความชัดเจนของ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถฯของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

จี้รัฐเพิ่มความสะดวกลงทุน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ได้สะท้อนถึงความกังวลต่อการลงทุนในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน PPP ที่ยังไม่มีความคล่องตัวมากนัก ประเด็นนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จะใช้มาตรการเร่งด่วนเข้ามาช่วย และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของรัฐบาลไทย ทางสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้จัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและทีมเจรจาขึ้น 1 ชุด เพื่อเชื่อมการทำงานและเจรจากับคณะ S-Curve ของไทย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า หลายบริษัทเชื่อมั่นและพร้อมลงทุนอย่างแน่นอน อาทิ โตโยต้ายืนยันที่จะก้าวไปสู่แผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ BMW พร้อมที่จะมุ่งสู่การลงทุนแบตเตอรี่ กูเกิล-ไมโครซอฟท์-หัวเว่ย-อาลีบาบา/ลาซาด้า พร้อมลงทุนด้านอีคอมเมิร์ซใน "ดิจิทัลพาร์ค (EECd) กับ "นวัตกรรมพาร์ค (EECi)" บริษัทบริดจสโตน สนใจผลิตยางล้อเครื่องบิน ขณะที่ดูคาติ สนใจขยายการผลิตรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์

มักกะสันเกตเวย์ห้ามสะดุด

ส่วน "มักกะสันเกตเวย์" วางไว้เป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กับรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยง 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาที่ประชุม ครศ.ได้หารือกับผู้ว่าการการรถไฟฯ-กระทรวงคมนาคม และให้กลับไปศึกษาผลดี ผลเสียภายใน 1 เดือน เนื่องจากเป็น 1 ใน 5 โครงการหลักที่ต้องเกิดขึ้นภายใน 5 ปี

"มันไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้สถานีเชื่อมกัน หรือผู้โดยสารนั่งจากสนามบินดอนเมืองแล้วไปต่อที่สถานีลาดกระบังเพื่อไปอู่ตะเภา อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ ในขณะที่การรถไฟฯจะต้องยอมให้รัฐเชื่อมต่อโครงการเหล่านี้เพื่อพัฒนา EEC ให้เกิดขึ้นให้ได้ รัฐบาลต้องการเห็นสัญญาจัดจ้างภายในสิ้นปีนี้" หนึ่งในกรรมการ EEC ให้ความเห็น

ตั้งเขตส่งเสริมแห่งที่ 2

ด้านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เตรียมงบฯการลงทุนไว้ 26,000 ล้านบาท เพื่อใช้กับ 3 โครงการที่จะเกิดขึ้นใน EEC ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 วงเงิน 10,000 ล้านบาท 2) โครงการดิจิทัลพาร์ค (EECd) วงเงิน 1,000 ล้านบาท และ 3) นิคมอุตสาหกรรมใหม่จำนวน 10,000 ไร่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่ง กนอ.อาจจะเสนอให้ทั้ง 3 โครงการ ใช้ Fast Track "ในวันที่ 11 เมษายนนี้ กนอ.เตรียมลงนามร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเป็นพื้นที่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ตั้งอยู่ใน EEC บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่" นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมฯกล่าว

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในพื้นที่ 1,000 ไร่ ที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยองนั้น จะใช้เป็นเมืองนวัตกรรม (EECi) และเตรียมที่จะประกาศเป็นเขตส่งเสริมแห่งที่ 2

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 

กลินท์ สารสิน ใส่เกียร์ Trade & Service 4.0

หลังรับไม้ต่อจาก "อิสระ ว่องกุศลกิจ" เมื่อ 22 มีนาคม 2560 ประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 24 "กลินท์ สารสิน" ผู้บริหารจากเครือเอสซีจี ได้ประชุมสรุปแนวทางและวิสัยทัศน์การทำงานก่อนจะมีการเลือกตั้งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในวันที่ 26 เมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นการขึ้นรับตำแหน่งแบบเต็มตัว "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ในการบริหารงาน

- นโยบายการทำงานจะเป็นอย่างไร

จะจริงจังมากขึ้น วิสัยทัศน์ยังคงเป็นสถาบันหลักทางการค้าและบริการของประเทศ ใช้ข้อมูล ความรู้ เครือข่าย ความร่วมมือที่เข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน เรามี Key Words คือ "เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและบริการ (Trade & Service) ความรู้และข้อมูล รวมทั้งเครือข่ายที่เรามีจะนำมาต่อยอดอย่างไรในอนาคต หอการค้าจะครบ 84 ปีในปีนี้ เรามีสมาชิกในเครือข่ายประมาณ 100,000 บริษัท ทั้งหมดต้องแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทำให้คนเหล่านี้แข่งขันได้

- พันธกิจที่จะต้องทำ

มี 5 พันธกิจสำคัญจะสานต่อและวางแผนไว้ให้เกิดขึ้นจริง จะชูเรื่องการค้าและบริการ 4.0 (Trade & Service 4.0) เริ่มจาก 1.เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและบริการ ด้วยข้อมูล นวัตกรรม และมาตรฐานในระดับสากล ให้เกิดการค้าแบบ Two Way Communication 2.สร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนให้เกิดความเข้มแข็งในระดับอาเซียนและระดับโลก ซึ่งตอนนี้เราจัดทำ MBA คอร์สให้กับหอการค้าเมียนมาทั้งที่ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ได้ผลดีมาก ต่อไปจะขยายไปประเทศอื่นด้วย 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ เสริมสร้างธรรมาภิบาล ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน 4.ต่อยอดความรู้และประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ 5.พัฒนาบริหารจัดการองค์กรทั้งเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ และภาพลักษณ์ที่ดี

เราจะทำงานแบบ Agenda Base เชื่อมโยงระหว่างสมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศ และหอการค้าจังหวัดให้ไปด้วยกัน โดยเน้นใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มการค้าและการลงทุน และกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ แต่ละกลุ่มต้องดูลึกเข้าไป มีธุรกิจอะไรในห่วงโซ่ แล้วใครเกี่ยวข้องบ้าง ใครยังขาดอะไรจะดึงผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเสริมจุดอ่อน มาเป็นที่ปรึกษา

- Trade & Service 4.0 คือ...?

ทีละอย่าง เมื่อก่อนนี้การค้าและบริการ "เทรด" (Trade) เริ่ม 1.0 เป็นการค้าขายในท้องถิ่น 2.0 เป็นการค้าในประเทศ 3.0 เป็นการค้าระหว่างประเทศ 4.0 เป็นการค้าและบริการแบบไร้พรมแดนอยู่ที่ไหนก็ได้ โดยอยู่บนระบบการค้าแบบอัจฉริยะ คือ Smart Trade Platform โดยขึ้นอยู่กับ 4 เรื่อง เรื่องแรก

-นวัตกรรม นำนวัตกรรมมาใช้ในสินค้าและบริการ เอาบิ๊กดาต้ามาใช้ ไม่ใช่เอาแต่ผลิต ต้องดูความต้องการของลูกค้าด้วย สอง

-ดิจิทัล เทคโนโลยี คือเอาดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ตอนนี้อีมาร์เก็ตออนไลน์ต่าง ๆ เอามาใช้ สาม-อารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง คือจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการ สี่-ค้าขายแบบไร้พรมแดน ซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ขายเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ สร้างความสะดวกในการซื้อขาย เมื่อทำ Trade 4.0 เสร็จ ลูกค้าจะได้ความสะดวกรวดเร็ว สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อ และลดต้นทุนผู้ขายและผู้ซื้อด้วย

ปัจจุบันสมาชิกของหอการค้าฯมีกระจายอยู่ทั้งแบบ 1.0 หรือ 2.0 หรือ 3.0 แต่ภายใน 2 ปี คิดว่าจะสามารถสร้าง Trade & Service 4.0 ได้ประมาณ 50% จาก 100,000 บริษัท โดยวิธีการคือบริษัทที่อยู่ในระดับ 4.0 แล้วจะต้องมาช่วยติดเขี้ยวเล็บความรู้ต่าง ๆ

ประเทศที่เจริญแล้วสัดส่วนภาคบริการต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงขึ้น เช่น สหรัฐ 80% สิงคโปร์ 76% ญี่ปุ่น 72% ไทย 52% น้อยมาก บ้านเราสัดส่วนแรงงานในภาคบริการ 40% แต่มีสัดส่วนต่อ GDP ถึง 50% แรงงานภาคอุตสาหกรรม 20% แต่มีสัดส่วนต่อ GDP ถึง 40% แรงงานภาคเกษตร 40% แต่มีสัดส่วนต่อจีดีพีแค่ 10% ฉะนั้นมี 3 ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนภาคบริการ (Service) ไปสู่ 4.0 คือ 1.ต้องสร้างสรรค์บริการที่ตอบสนองความต้องการอย่างทันท่วงที 2.วัฒนธรรม โดยนำอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาสร้างความแตกต่าง 3.นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยสร้าง Business Model ใหม่ กล่าวได้ว่าการบริการ 4.0 คือการเจาะจงมากขึ้น การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น และการบริการ Self Service มากขึ้น

- โครงการจุดพลุที่เป็นรูปธรรมของ 4.0

หอการค้าจะทำ "โครงการ 1 หอ 1 ท่องเที่ยวชุมชน" เหตุผลที่ทำเรื่องท่องเที่ยวเพราะ Value Chain ยาว และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก อย่างน้อย 76 จังหวัดต้องมี 76 แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่ได้รับการปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน จะนำความรู้ด้านดีไซน์ การจัดจำหน่าย ไปช่วยสร้าง Story ดึงความมีอัตลักษณ์ออกมา จะให้หอการค้าแต่ละจังหวัดไปดูแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัดตนเองพร้อมขนาดไหน และต้องเสริมอะไรบ้าง เป้าหมายภายใน 2 ปีน่าจะทำได้ เพราะมีเครือข่ายเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้ว

โครงการที่ 2 คือ Food Innovation อันนี้ทำแล้ว โดยนำนักวิจัยร้านอาหารทั่วประเทศมาพูดให้หอการค้าทั่วประเทศฟัง เพื่อต่อยอด ภาครัฐก็มาร่วมด้วย เพื่อขยายไปสู่ Thailand Service Innovation นอกจากนี้ จะนำสมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีไปดูงานทั้งในและต่างประเทศ อนาคตจะโรดโชว์ไปญี่ปุ่น อเมริกา จีน ยุโรป รวมถึงจัดอบรม ฝึกงาน ให้คำปรึกษา โดยมีบริษัทใหญ่ดูแล มีการจับคู่ธุรกิจ ออกงานแสดงสินค้า เช่น งานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมอาหารนานาชาติ (THAIFEX) ซึ่งมีคนจากทั่วโลกมาร่วมงาน 160,000 คน

- ประเมินทิศทางเศรษฐกิจปีนี้

Wait & See ที่สำคัญคือต้องเตรียมความพร้อม ต้องถามตัวเองว่าพร้อมหรือยัง เก่งอะไร ต้องเสริมอะไร ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้หรือไม่ ตอนนี้ทำอะไรได้ทำไปก่อน ทำพอเพียงดีที่สุด อย่าโลภ ขณะเดียวกัน ควรมีสายตาเปิดกว้างว่าภาครัฐมีโปรแกรมพิเศษอะไรในการช่วยเหลือ

- ประเมินการส่งออกปีนี้

การส่งออกยังมองบวก อย่างด้านเกษตรเราพยายามผลักดันเป็นครัวของโลก สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรมและแพ็กเกจจิ้ง

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมน่าจะอยู่ระหว่าง 34-35 บาท แต่ต้องเปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้านและคู่แข่งด้วยว่าเป็นอย่างไร ถ้าค่าเงินบาทแข็งเกินไปส่งออกลำบาก

- เรื่องเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เห็นด้วยควรมีการเจรจาระดับทวิภาคีมากขึ้น ทางหอการค้าต้องประชุมกันว่าจุดยืนแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร เพราะต่อไปกรรมการหอการค้าจะพูดเรื่องเดียวกัน เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด เรากับภาครัฐจะทำงานร่วมเป็นทีมเดียวกัน ปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญกับการเปิดรับฟังความเห็นของเอกชนมากขึ้น เช่น กรณีสหรัฐไม่มี TPP แล้ว ควรมีการเจรจาระดับทวิภาคี แต่ต้องระวังจะโดนบีบด้วย ส่วนพหุภาคียังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะการเจรจายาวนาน แต่ละประเทศมีกฎระเบียบไม่เหมือนกัน การเจรจาเหมือนจับปูใส่กระด้ง

- การถ่วงดุลอำนาจจีนและสหรัฐ

ผมว่าประเทศไทยควรมองทั้งสองประเทศ เพราะการทำธุรกิจจะต้องมองถึงอำนาจต่อรอง เราควรเป็นเพื่อนกับทุกประเทศ นี่เป็นจุดเด่นของไทย หากเอนเอียงข้างใดข้างหนึ่งจะมีความเสี่ยงสูง ซึ่งแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการสร้าง Strategic Partnership ถือว่าดี อันไหนที่ภาครัฐเสนอหลายเรื่องก็คุยกับภาคเอกชน และเชิญเอกชนไปร่วมอยู่ในคณะกรรมการหลายคณะ ซึ่งทางเราก็พยายามให้ความเห็นแบบตรงไปตรงมา

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 

ติดอาวุธอุตสาหกรรม 4.0 วาระแห่งชาติข้อมูลประเทศไทย

แม้ทั่วโลกจะยอมรับการมาถึงและความจำเป็นของ "บิ๊กดาต้า" แต่เมื่อย้อนกลับมาในไทย ความพร้อมมีมากน้อยแค่ไหน วงสัมมนา "วาระแห่งชาติด้านข้อมูลของประเทศไทย" ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีคำตอบ

ต่ำ 10% พร้อมไปอุตสาหกรรม 4.0

"เจน นำชัยศิริ" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้มีนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 แต่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทย 70% ยังเป็น 2.0 มีไม่ถึง 10% ที่ยกระดับไปสู่ 4.0 ได้ โดยปัญหาสำคัญคือขาดทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องวางแผนระยะยาวแก้ปัญหา ขณะที่ความสามารถในการนำ "ข้อมูล" มาใช้ยกระดับความสามารถในการผลิตและปรับปรุงกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมยังเป็นช่องว่างสำคัญ ทั้งในส่วนของข้อมูลในองค์กรอย่างกำลังการผลิต ยอดขาย จำนวนแรงงาน รวมถึงข้อมูลภายนอก อาทิ พฤติกรรมผู้บริโภค

"ข้อมูลทั้ง 2 ส่วนจะรวมกันเป็นโปรดักทิวิตี้หรือผลิตภาพ สิ่งที่ต้องการในไทยคือ ปรับปรุงผลิตภาพ โดยเอาข้อมูลเทียบกับประเทศคู่แข่งและหาราคาเฉลี่ยของราคาส่งออกและนำเข้า ถ้าราคาต่างกันมากต้องนั่งคิดว่าทำอย่างไรจะผลิตแบบเขาได้ พวกนี้คือข้อมูลที่จะผลิตสินค้าที่มีความพิเศษ ความแตกต่างจากของคนอื่น ขณะที่ภาครัฐเองก็ดึงข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์หาแนวทางสนับสนุนที่แม่นยำขึ้น"

ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของประเทศยังห่างไกลการนำไปใช้สำหรับวิเคราะห์แบบบิ๊กดาต้า ด้วยความขาดแคลนบุคลากรและทักษะด้านนี้ ทั้งยังไม่มีกฎกติกาสำหรับนำข้อมูลไปใช้ได้โดยไม่ละเมิดสิทธิ์

"คาดว่า 3-5 ปีข้างหน้า ทุกประเทศต้องเดินเข้าสู่เรื่องนี้ ถ้าไทยยังไม่ทำก็จะเสียเปรียบ การสร้างพื้นฐาน สร้างกติกา กฎเกณฑ์ ต้องเร่งทำให้ชัดเจน ถ้าวางรากฐานได้ก็จะมีการใช้ข้อมูลที่สร้างประโยชน์ให้มหาศาล"

สร้างกลไกให้ยินยอมก่อนใช้

"ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยอมเปิดเผยข้อมูล ถ้ามีข้อแลกเปลี่ยน ดังนั้นธุรกิจปัจจุบันจะมีช่องทางให้ลูกค้าเลือกยินยอมที่จะเปิดเผยข้อมูล ซึ่งในต่างประเทศมีกลไกที่ให้ยินยอมหรือยกเลิกการยินยอมเมื่อใดก็ได้ ไม่ใช่แอบเอาข้อมูลไปใช้

ขณะที่การกำกับดูแลต้องมีการวางกรอบให้ชัดเจนว่า ข้อมูลใดเปิดเผยได้หรือไม่ได้ ต้องมีการแบ่งระดับในการเข้าถึงและจัดเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต่างกัน และปลอดภัยจากการถูกแฮก เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจและเชื่อใจที่จะเปิดเผยข้อมูล

สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือ กฎหมายรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีแนวคิดในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีหน่วยงานตรวจสอบและสั่งปรับหากมีการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดข้อตกลง

"ปัญหาในไทยคือ ความสามารถในการตรวจสอบไม่มี มีคน โทร.มาขายประกันตลอด แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูล ต้องแก้ไขเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เวลาออกกฎหมายต้องเน้นความอยู่รอดของประเทศ อย่างแทร็กคน ลงโทษคน แล้วข้อมูลบิ๊กดาต้าถึงจะเดินได้"

ศูนย์กลางข้อมูลแห่งชาติ

"ธีรนันท์ ศรีหงส์" กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธาน บริษัทกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่ใช้ในปัจจุบัน กลุ่มกสิกรใช้แค่ 10% ของศักยภาพของข้อมูลที่มี เนื่องจากยังมีข้อมูลส่วนบุคคล

"ถ้าแตะลงไปได้ลึกกว่านี้ จะสร้างประโยชน์ให้ตลาดได้มากกว่านี้มาก ตอนนี้ธนาคารทั่วโลกเจอปัญหาเดียวกันคือ ใช้ข้อมูลไม่เก่ง แตะข้อมูลได้ไม่เยอะ แต่บางประเทศ เช่น จีน ที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ ทำให้ใช้ข้อมูลได้มาก ถ้าวันหนึ่งผู้เล่นจากจีนเข้ามาในไทย เราจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจึงต้องเร่งปรับปรุงให้เร็ว ไม่อย่างนั้นระยะยาวน่าจะมีปัญหา เพราะอนาคตน้ำมันที่จะคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือข้อมูล ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือ การจะดึงเอาข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาใช้ประโยชน์ให้ได้"

ดังนั้นเพื่อที่จะใช้ระบบข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรมีระบบเนชั่นแนลดาต้าพูล (National Data Pool) เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของประเทศที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไปใช้ข้อมูลที่เปิดเผยได้ร่วมกันเหมือนกับที่ในต่างประเทศมี "บิ๊กดาต้า" เป็นฐานข้อมูลกลาง เนื่องจากการรวบรวมข้อมูลเป็นปัญหามาก

"ในกสิกรมีดาต้าเยอะมาก แต่เทิร์นโอเวอร์สูงมาก 95% ของเวลามีไว้เพื่อรวบรวมข้อมูล แต่มีเวลา 5% ใช้วิเคราะห์ ดังนั้นระบบเนชั่นแนลดาต้าพูลจะแก้ปัญหา โดยกำหนดกฎเกณฑ์ให้ดี และวางอินฟราสตรักเจอร์กลางในการดึงข้อมูล และให้หน่วยงานกลางที่มีความน่าเชื่อถือมาทำ เช่น เนชั่นแนลเครดิตบูโร"

และเนชั่นแนลดาต้าพูลช่วยประหยัดเงินในการจัดเก็บและควบคุมการใช้ข้อมูลได้ดีขึ้น ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้การใช้ข้อมูลทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพพร้อมสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้

"ถ้ามีกติกาที่เป็นธรรม ระหว่างผู้ให้ข้อมูลและผู้ใช้ จะไม่มีการหลบเลี่ยงเพื่อซื้อขายดาต้า เพราะข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นน่าจะอยู่ตรงนี้หมด และต้องสร้างก่อนแล้วค่อยมาคิดกฎ ไม่ใช่คิดกฎใหม่ครอบคลุมทุกอย่าง แล้วก็ไม่ได้สร้างสักที ต้องสร้างและเรียนรู้ไปสักพัก และมันจะพัฒนาไปเอง"

เปลี่ยนข้อมูลเป็นโมเดลธุรกิจ

"ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร" ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็มเอฟอีซี กล่าวว่า โอกาสในโลกยุคบิ๊กดาต้าคือการนำดาต้ามาเปลี่ยนเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลทำลายอย่างธุรกิจบันเทิง, สิ่งพิมพ์, ทีวี และโฆษณา

"บิ๊กดาต้าเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นอาวุธขององค์กร แต่บุคลากรไทยที่รู้เรื่องนี้มีน้อย ทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพ ปัจจุบันงานที่นิยมที่สุดในโลกคือ ดาต้าไซเอนทิสต์ ที่อเมริกาขาด 3 แสนตำแหน่ง ในไทยมีไม่ถึง 100 คนเก่งก็ไปทำงานซิลิคอนวัลเลย์หมด เพราะอยู่เมืองไทยไม่มีดาต้า ไม่มีพูลดาต้าขนาดใหญ่ ทั้งที่การมีดาต้ามากทำให้ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น"

ดังนั้นประเทศไทยควรสร้างโอกาสให้คนได้ใช้ความสามารถ สิ่งที่รัฐควรคิดคือ สนับสนุนเอกชน สนับสนุนคนให้ได้ใช้ความสามารถ และอยากให้เน้นคือ ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ไอเดีย แต่อยู่ที่อิมพลีเมนเตชั่น

อย่างผลสำรวจ "ดิจิทัลมีเดีย" ปีที่แล้วของไทย ป้ายดิสเพลย์ที่คนไทยเป็นเจ้าของส่วนใหญ่สร้างรายได้ 1,600 ล้านบาท เฟซบุ๊กได้ค่าโฆษณา 2,600 ล้านบาท ยูทูบได้ 2,600 ล้านบาท บวกกูเกิลไม่น่าจะต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท รวม 8,000 ล้านบาท ธุรกิจคนไทยเสียภาษีไทยได้ 1,600 ล้านบาท แต่ 8,000 ล้านบาทที่จ่ายไปไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

ดังนั้นมองว่าถ้าไทยจะสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยอย่างจริงจังในอนาคต ควรต้องคิดถึงเรื่องอิมพลีเมนต์อย่างจริงจัง

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯ นำร่อง Smart Farmer ใช้ระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

                  นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทดสอบการใช้บัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) ณ วัดลานตากฟ้า ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเกี่ยวกับทะเบียนเกษตรกรใน 3 กิจกรรม คือ 1) ฐานข้อมูลเครื่องจักรกลการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  2) ระบบฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลัก และ 3) ระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และบริษัทอีการ์ดสตูดิโอ

              สำหรับระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) นั้น ได้ดำเนินการโครงการนำร่องสำหรับเกษตรกร “Smart Farmer” เพื่อให้เกษตรกรก้าวทันยุคดิจิตอล โดยการนำเทคโนโลยี GEO Location หรือระบบแผนที่ และบัตรประจำตัวเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) มาใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกสำหรับเกษตรกรในการแจ้งการเพาะปลูก การแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตลอดจนการรับสวัสดิการของรัฐ เพื่อประโยชน์ของภาครัฐในด้านการบริหารจัดการภาคการเกษตรของสินค้าเกษตร และโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรวดเร็วผ่านการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

                 นายประสงค์  ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ บริษัท อีคาร์ท สตูดิโอ จัดทดสอบระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประยุกต์ใช้ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ให้รองรับระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย 256 ครัวเรือน ณ วัดลานตากฟ้า ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยการทดสอบครั้งนี้ จะเป็นการรับทราบข้อคิดเห็น และพิจารณาทิศทางการยอมรับของเกษตรกร เพื่อทำการปรับปรุงระบบต่อไป นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครือข่ายพิจารณายกเว้นค่าบริการเครือข่ายและสนับสนุนการเปลี่ยนอุปกรณ์มือถือสมาร์ทโฟน และสนับสนุนขั้นตอนการเปิดใช้บริการหากเกษตรกรมีความประสงค์ สำหรับการเข้าถึงเว็บไซต์แจ้งปลูกผ่านระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่เกษตรกรที่ใช้บริการดังกล่าว

                ทั้งนี้ หากการทดสอบระบบบัตรเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์ประสบผลสำเร็จ  จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มช่องทางการขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้โดยตนเอง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสามารถตอบสนองการให้บริการของรัฐได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จาก  http://www.komchadluek.net  วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 

ก.อุตฯเผยยอดรง.4ไตรมาสแรก1,154โรงงาน

กระทรวงอุตสาหกรรม เผย ยอดรง.4 ไตรมาสแรก 1,154 โรงงาน มั่นใจEECหนุนเอกชนลงช่วงครึ่งปีหลัง

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการในไตรมาสแรกของปี 2560 (มกราคม-มีนาคม 2560) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,154 โรงงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ0.96 จากปีก่อน มูลค่าลงทุน 9.44  หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.91 แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 960 โรงงาน การขยายกิจการจำนวน 194  สำหรับอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตโลหะมูลค่าลงทุน 1.69 หมื่นล้านบาท อุตฯอาหาร 1.26 หมื่นล้านบาท อุตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 8.33 พันล้านบาท เป็นต้น

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาพรวมการขอใบอนุญาต รง.4 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะมีผลให้เอกชนลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากขณะนี้เอกชนรอดูความชัดเจนของโครงการ ซึ่งขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะสนามบินอู่ตะเภาที่ตั้งเป้าเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าจำนวนและมูลค่าการลงทุนของยอดขอรง.4 ปีนี้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 5 พันกว่าโรงงาน มูลค่าลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท

จาก  http://www.innnews.co.th วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 

พณ.หวั่นถล่มซีเรียยืดเยื้อ กระทบราคาน้ำมันแพงขึ้น เงินเฟ้อพุ่ง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเหตุการณ์ถล่มในซีเรียเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ว่า ผลกระทบต่อไทยในชั้นแรกนี้ จะเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 55.24เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาทอง เป็น 1,257.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ คาดว่าจะยังมีแนวโน้มและทิศทางที่เพิ่มขึ้น หากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน จะส่งผลดีในแง่ว่าการส่งออกไทยในสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันจะได้ราคาดีขึ้น แต่ผลในเชิงลบอาจจะมีมากกว่า กรณีเกิดภาวะสู้รบยืดเยื้อ เพราะความตึงเครียด จะทำให้การค้าขายและการลงทุนโลกชะลอตัว และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้า กระทบอัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประมาณการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้ไว้ที่ 3.0-3.5% และอัตราเงินเฟ้อไว้ที่1.5-2.2% นั้น ใช้สมมติฐานว่า ราคาน้ำมันอยู่ระหว่าง 50-60 เหรียญสหรัฐฯ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ จึงยังไม่น่ามีผลต่อการคาดการณ์ทั้งสองด้าน เพราะยังอยู่ในช่วงที่กระทรวงประมาณ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 

อุตตม'ปลื้ม!สหรัฐ700รายจ่อลงทุนอีอีซี 

           นายอุตตม สาว นายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังนายเจฟฟรีย์ ดี.ไนการ์ด ประธานหอการค้าสหรัฐ นำคณะนักลงทุนสหรัฐเข้าหารือว่า มีนักลงทุนสหรัฐที่อยู่ในไทยกว่า 700 บริษัท สนใจลงทุนในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) เต็ม ที่ โดยมีมูลค่าการลงทุนประ มาณ 40,000 ล้านบาท

          โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ การบิน และคอมพิว เตอร์ เช่น บริษัท ซีเกรทเทค โนโลยี, บริษัท ไอบีเอ็ม รวมถึงด้านเคมีภัณฑ์ ซึ่งได้สอบถามรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของสำนักงานส่งเสริมการลง ทุน (บีโอไอ) และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย

          "นักลงทุนสหรัฐในอุตสาห กรรมยานยนต์ เช่น ค่ายฟอร์ด ก็ไม่ได้ถามเรื่องกฎหมายควบคุมการโดยสารรถกระบะ โดยเฉพาะ การนั่งแค็บ เชื่อว่าผู้ประกอบการยานยนต์เข้าใจในเรื่องนี้ ว่าจะส่งผลดีต่อความปลอดภัยของประชาชน และยังมีความเชื่อมั่นในการผลิตรถกระบะต่อไป โดยแต่ละค่ายก็จะมีเทคโนโลยีแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงไม่จำเป็น ที่จะต้องเรียกผู้ประกอบการอุตสาห กรรมยานยนต์มาหารือทำความเข้าใจแต่อย่างใด" นายอุตตมกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560 

ธปท.ชี้ไทยเสี่ยงเพิ่มจากทรัมป์ กระทบ"ส่งออก"ฉุดจีดีพีต่ำเป้า

ธปท.แจงชัดเจน ! ลดออกบอนด์สั้น หวังสกัดเงินต่างชาติไหลเข้าไทย ไม่ได้หวังผลกดค่าบาทอ่อนเพื่อดันส่งออก ชี้เศรษฐกิจไทยมีเสี่ยงเพิ่มจากนโยบาย"ทรัมป์" ไปไม่ถึงฝั่ง กดการโตของเศรษฐกิจสหรัฐ หวั่นกระทบส่งออกไทย พร้อมฉุดจีดีพีไทยต่ำเป้า 3.4%

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า หลังจาก ธปท.ได้ออกมาตรการลดวงเงินออกพันธบัตร (บอนด์) ระยะสั้น 3-6 เดือนนั้น เพราะหวังผลแค่การจัดการกับภาวะเงินไหลเข้าเท่านั้นเอง ไม่ได้ต้องการทำเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า หรือหวังผลข้อได้เปรียบด้านการค้า

"ส่วนการประเมินผลของการใช้มาตรการตอนนี้ยังไม่เห็นผลชัดเจน และยังไม่สามารถตอบได้ว่ามาตรการนี้จะใช้เฉพาะเดือนเมษายน หรือจะนำมาใช้ในเดือนพฤษภาคมด้วยหรือไม่ ส่วนการอ่อนค่าของค่าเงินในปัจจุบัน ถือว่าเป็นการอ่อนค่าตามภูมิภาค ขณะที่การประมูลบอนด์สัปดาห์ที่ผ่านมา ยีลด์ (ผลตอบแทน) ได้ปรับตัวลดลง ซึ่งก็มาจากบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวลดลงด้วย ดังนั้นจึงยากที่จะประเมินผลว่า มาจากมาตรการที่ออกมาหรือไม่" นายจาตุรงค์กล่าว

ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง จะมีผลทำให้ ธปท.พิจารณาการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น ทาง กนง.ยังเชื่อว่า การพิจารณาด้านดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับการมองตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาจากผลของอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับการรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน มี.ค. 2560 กนง.ยังให้ความสำคัญและต้องจับตาอย่างต่อเนื่องในประเด็นความเสี่ยงที่มีมากขึ้น จากนโยบายการค้าสหรัฐ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ กนง.มองเห็นเพิ่มเติมจากช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นหาก "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีของสหรัฐไม่สามารถดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมาย จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐได้ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยต่ำกว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้ 2.2% ได้ จึงถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ และอาจจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ของปีนี้ ที่ประเมินไว้ที่ 3.4% อาจถูกปรับลดลงได้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560 

ชี้ 3 ปัจจัยต่างประเทศ เติมความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย  

การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เพิ่มเป็น 3.4% จากที่คาดไว้ 3.2%เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกระจายตัวมากขึ้น โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการฟื้นของภาคส่งออก จึงได้ปรับเป้าทั้งปีเป็น 2.2% แต่ยังให้นํ้าหนักปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่ต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด ผลนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ การเมืองการเงินยุโรปและเสถียรภาพการเงินในจีน

 จับตา3จุดเสี่ยง

 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าไตรมาสแรกจีดีพีมีโอกาสโตเกินกว่า3%และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้วโดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศที่เสี่ยงสูง3ตัวแปรคือ1.นโยบายประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ทรัมป์” , 2.ความเสี่ยงการเมืองของ2ประเทศสมาชิกและเป็นผู้ก่อตั้งอียูคือฝรั่งเศสและอิตาลีจากการที่คะแนนเสียงของพรรคการเมืองขวาจัด เริ่มมากขึ้นโดยประเทศฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน-พฤษภาคมและอิตาลีแม้จะไม่มีการเลือกตั้งแต่ถูกกดดันให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ซึ่งพรรคการเมืองกลุ่มขวาจัดของทั้ง2ประเทศมีเป้าหมายเดียวคือต้องการถอนตัวจากสกุลเงินยูโรและการเป็นประเทศสมาชิกอียู3.การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนประเทศกำลังซื้อหลักของโลก อย่างต่อเนื่องในช่วง4- 5ปีโดยปีที่แล้วจีดีพีจีนขยายตัว 6.7 % (ลดจากที่โต6.9%ในปี2558และ7.3%ในปี2557 ) และปีนี้คาดจะโตเพียง 6.5 %

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่านโยบายทรัมป์3เรื่องที่ประกาศช่วงหาเสียงว่าจะทำใน 100 วันคือ1.กระตุ้นโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 2.ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลและ 3.การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นรูปธรรมล่าสุดคือการผลักดันร่างกฎหมายการรักษาพยาบาลของสหรัฐฯ (American

 Healthcare Act หรือAHCA) ที่จะมาใช้แทน “โอบามาแคร์”Affordable Care

 Act (ACA) ก็ไม่ผ่านเพราะได้เสียงเพียง218เสียงจากทั้งหมด 435 เสียง

 คำถามคือทรัมป์จะทำได้ตามสัญญาที่หาเสียงไว้หรือไม่เพราะนโยบายต่างๆต้องผ่านสภาหากเป็นเช่นนั้นเศรษฐกิจโลกอาจไม่ดีเหมือนอย่างที่คาดเพราะประเมินว่านโยบายทรัมป์จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ขยายตัว2.2%จาก1.6 % ในปีที่แล้วและมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น 0.2-0.3% หรือเป็น 3.3-3.4 % จากปีที่แล้วที่โต 3.1%

 ครึ่งทางทรัมป์ยังทำได้

“ปัจจัยเสี่ยงทั้ง3ตัวถ้ามาพร้อมกันก็น่าห่วงว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจไทยที่คาดกันว่าส่งออกไทยปีนี้จะโตได้3-5% (เป้าหมายกระทรวงพาณิชย์ ) ผมเป็นห่วงว่านอกจากไม่โตแล้วยังอาจทำให้ส่งออกไทยปีนี้ติดลบด้วยซ้ำ “ นายสมชายให้ความเห็น

 ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเร่งการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภควงเงินกว่า9แสนล้านบาทได้เร็วตามกำหนดหรือไม่

 ด้านนายสมภพ มานะรังสรรค์อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์มีมุมมองว่าปัญหาในสหรัฐฯขณะนี้เต็มไปด้วยความสับสนคนอเมริกันคาดหวังว่าทรัมป์จะเดินหน้าลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเป็นอันดับแรกแต่กลับเลือกให้ความสำคัญร่างกฎหมายรักษาพยาบาลหรือAHCA ก่อนและใช้นโยบายภาษีเป็นตัวต่อรองเมื่อก้าวแรกไม่สำเร็จการจะทำงานเชิงรุกในนโยบายสำคัญๆต่อไปจะเริ่มอ่อนแอลงคนเริ่มขาดความเชื่อมั่นเช่นนโยบายลดภาษีนโยบายโครงสร้างพื้นฐานและการลดกฏเกณฑ์เพื่อเปิดเสรี

“ถ้านโยบายหลายเรื่องของทรัมป์ไม่ผ่านย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอนเพราะจีดีพีสหรัฐฯมีสัดส่วนเป็น23 % ของจีดีพีโลกทั้งผลต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและกระทบต่อตลาดเงินโลกกระแสทุนเคลื่อนย้าย”

 ลงทุนเอกชน”ฟื้นไม่เต็มที่

 อีกปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี คือ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทรฯกล่าวว่า ที่กังวลเป็นครึ่งปีหลังมากกว่า ในเรื่องนโยบายการค้ากับสหรัฐฯ หากมีการใช้นโยบายกีดกันการนำเข้าจะทำให้ค้าโลกชะลอกระทบต่อการค้าของไทย ซึ่งเราประเมินว่าส่งออกจะโตแค่ 0.5-1.50% จีดีพีทั้งปีโต 3.2% โดยมองเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากกว่าที่คาด เนื่องจากการบริโภคที่มีสัดส่วนต่อจีดีพี ถึง 52% และการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นชัดเจนโดยการบริโภคแม้จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ฟื้นในกรอบตํ่า 2.5-3.0% “ไอเอ็มเอฟ เตือนเรื่องที่ไทยเกินดุลสะพัดค่อนข้างมาก (ก.พ.60 เกินดุล 5.74 พันล้านดอลลาร์)คือไทยยังมีเงินออมเหลือเยอะเพราะการบริโภคและการลงทุนตํ่าตัวเลข FDI ยังน้อยกว่าที่คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และหากเปน็เช่นนี้นานเข้าเศรษฐกิจไทยจะโตช้าเหมือนกรณีของญี่ปุ่น”

เศรษฐกิจไทยเพิ่งเดินทางมา 1 ไตรมาส ปัจจัยขับเคลื่อน นอกเหนือจากการลงทุนภาครัฐ ท่องเที่ยว ยังต้องลุ้นว่าตัวแปรสำคัญจากต่างประเทศจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือขนาดไหนและอย่างไร?

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560 

ธปท.ลั่นดูแลบาทเมินผลการค้า

"แบงก์ชาติ" ลุ้นสหรัฐประกาศรายชื่อปท.บิดเบือนค่าเงิน เชื่อไม่ติดโผ พร้อมยืนยันเข้าดูแลค่าเงิน ไม่ได้หวังผลการค้า ด้าน "สมคิด” พร้อมรับมือมาตรการสหรัฐ

 จากกรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐมีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์และตัวแทนการค้าของสหรัฐ หาสาเหตุที่สหรัฐมียอดขาดดุลการค้าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมากับอีก 16 ประเทศ ซึ่งมีรายชื่อของประเทศไทยรวมอยู่ด้วยนั้น

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ภายในครึ่งหลังของเดือน เม.ย.นี้ คงมีรายงานออกมาว่า ประเทศไทยจะติดอยู่ในประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน(Currency Manipulator) หรือไม่ แต่ถึงแม้จะมีรายชื่อของไทยติดอยู่ด้วยจริง เชื่อว่าผลกระทบคงไม่ได้เกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะยังต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาก่อน

“ครึ่งหลังของเดือนนี้คงมีรายงานออกมา แต่ผลกระทบจะมากหรือไม่นั้น คงไม่เกิดขึ้นเร็ว เพราะจริงๆ แล้ว การถูกกำหนดให้เป็น Currency Manipulator เขาจะให้เวลาในการเจรจา ซึ่งผลกระทบก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาด้วย โดยเขาจะดูว่าสินค้าไหนอะไรบ้างที่เราได้เปรียบโดยที่ไม่สมควร ผลกระทบจึงยังไม่เกิดขึ้นเร็ว”

ส่วนคำถามที่ว่าการเข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. รวมทั้งมาตรการลดซัพพลายด้วยการลดวงเงินการออกประมูลพันธบัตรที่ออกมาล่าสุด จะถูกมองว่า เป็นเครื่องมือในการดูแลค่าเงินเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบการค้าหรือไม่นั้น เรื่องนี้ นายจาตุรงค์ กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ดูแลการไหลเข้าของเงินทุนมากกว่า ที่จะหวังผลในเชิงการค้า

ปัดดูแลค่าเงินหวังได้เปรียบการค้า

นายจาตุรงค์ ยืนยันว่า การเข้าดูแลสถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการเข้าดูแลในช่วงที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาจำนวนมาก จึงไม่ใช่เป็นการเข้าแทรกแซงเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อหวังความได้เปรียบในเชิงของการค้า

“เราเป็นประเทศเศรษฐกิจเล็กและเปิด เงินที่ไหลเข้าออกค่อนข้างสะดวก จึงมีผลกระทบในเชิงราคาพอสมควร แต่เราก็ไม่ได้เข้าไปดูแลค่าเงินเพื่อหวังให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธปท.ได้เริ่มใช้มาตรการลดซัพพลายโดยการลดวงเงินการออกประมูลพันธบัตรธปท.ในรุ่นอายุ 3 เดือนและ 6 เดือนละ รุ่นละ 1 หมื่นล้านบาท เหลือวงเงินประมูลที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อรุ่น จากเดิมที่ 4 หมื่นล้านบาทต่อรุ่น โดยเริ่มใช้เฉพาะในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อหวังลดแรงจูงใจที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาพักไว้ในพันธบัตรของธปท. และช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาท

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า มาตรการลดซัพพลายนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่ามีผลมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าดูเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ซึ่งเป็นวันแรกของการประมูล แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) จะปรับลดลง แต่บอนด์ยีดล์ของสหรัฐเองก็ปรับลดลงเช่นกัน เช่นเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนแม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ก็เป็นการอ่อนค่าที่สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค จึงยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ปิดช่องลดดอกเบี้ย

ส่วนคำถามที่ว่าหากเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กนง.มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่นั้น นายจาตุรงค์ กล่าวว่า เรื่องการปรับดอกเบี้ยนโยบายอยากให้ดูที่ตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากกว่า เพราะจะเป็นตัวที่กำหนดทิศทางของดอกเบี้ยว่าควรจะปรับไปในทิศทางใด ซึ่งถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้ จะเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

ด้านเงินบาทปิดตลาดวานนี้ (7 เม.ย.) อ่อนค่าที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ จากเปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

ภาครัฐเร่งหารือรับนโยบายการค้า“ทรัมป์”

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะตรวจสอบการขาดดุลการค้าของสหรัฐ กับ 16 ประเทศว่าเพื่อรับมือในเรื่องนี้ ตนเองได้มีการประชุมร่วมกับ ธปท. กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมการสำหรับเรื่องดังกล่าวแล้ว

ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรตื่นตกใจกับเรื่องดังกล่าวจนเกินไปนักเนื่องคำสั่งประธานาธิบดีที่ออกมาเป็นเพียงคำสั่งที่ให้ตรวจสอบประเทศที่เข้าข่ายเกินดุลการค้าสหรัฐ แต่ยังไม่มีการระบุชื่อประเทศที่สหรัฐจะมีมาตรการตอบโต้ ซึ่งคณะทำงานที่ประธานาธิบดีสหรัฐตั้งขึ้นมีเวลา 90 วันในการทำงานตรวจสอบ โดยเรื่องนี้ไทยพร้อมที่จะให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือทุกด้านหากทางการสหรัฐร้องขอ

“ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เรายังไม่ควรตกใจเกินเหตุ เพราะยังไม่มีการระบุชื่อประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าแล้วจะโต้ตอบ ทางการสหรัฐจะใช้เวลาในการตรวจสอบสาเหตุการขาดดุลเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งไทยเองก็ยินดีให้ข้อมูล และอยากเชิญสหรัฐมารับรู้ข้อมูลด้วย ขณะนี้ทางการไทยได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานและให้ข้อมูลอยู่”

นายสมคิด กล่าวว่า ในส่วนของไทยที่มีการเกินดุลการค้า สหรัฐนั้นต้องมองว่าแม้จะเป็นการเกินดุลการค้า แต่เมื่อเทียบประเทศอื่นแล้วยังน้อยมาก ที่สำคัญประเทศไทย เกินดุลการค้าสหรัฐด้วยความสามารถของภาคเอกชน โดยภาครัฐไม่ได้มีส่วนเข้าไปแทรกแซงหรือบิดเบือน เพราะเราตระหนักดีว่าหากแทรกแซงจะเข้าข่ายถูกจับตามองได้ โดยเฉพาะในเรื่องค่าเงิน ซึ่งมีหลักฐานว่าค่าเงินบาทปัจจุบันก็แข็งค่าขึ้นตามกลไกตลาด

ย้ำความร่วมมือลงทุน-ทหารยังเดินหน้า

สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐในด้านต่างๆยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของไทยที่มีแผนจะลงทุนในสหรัฐก็ยังคงมีแผนที่จะเดินหน้า นอกจากนี้ยังมีโครงการซื้อเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้งของสหรัฐ รวมทั้งความร่วมมือด้านกองทัพที่มีสัมพันธ์ที่ยาวนานและลึกซึ้งและมีนัยในภูมิภาคซึ่งมีความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธได้ในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ทางการสหรัฐทราบดี

“หากยังจะมาเล่นเกมหมาป่าลูกแกะ หาเรื่องพาล เราเข้มแข็งพอและไม่มีอะไรต้องกลัว เราไม่ได้ทำผิดอะไร โครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะส่งออก กระจายตัวมาก การส่งออกไปสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ที่สำคัญบริษัทอเมริกันเองด้านอิเล็กทรอนิกส์ ก็ผลิตในไทยส่งออกไปสหรัฐเพื่อผลิตต่อ ซึ่งช่วยการจ้างงานคนอเมริกัน อุตสาหกรรมอื่นๆหากแกล้งเราทั้งที่เราไม่ผิด เชื่อว่าเอกชนไทยหาตลาดอื่นได้ ด้านลงทุนและท่องเที่ยวก็ไม่มีปัญหา แต่ทั้งหมดนี้เราบริสุทธิ์ใจและพร้อมให้ข้อมูล ไม่ใช่เรื่องต้องตื่นตระหนก และรัฐบาลไม่ประมาท”

พาณิชย์ถกกลุ่มอาหาร-อิเล็กทรอนิกส์

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนที่ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐ เพื่อประเมินถึงมูลค่าการค้าและวางแผนรับมือโดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการหารือกับภาคเอกชนในกลุ่มอาหาร และอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งประสานงานไปยังหอการค้าไทย และ ส.อ.ท.เพื่อหารือข้อมูล ซึ่งพบว่าภาคเอกชนตื่นตัวและอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์

สัปดาห์หน้าหารือกลุ่มยานยนต์

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่าอยากให้มีการประเมินมูลค่าการลงทุนของนักธุรกิจสหรัฐให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันข้อมูลที่รัฐบาลสหรัฐ มีอาจไม่ตรงกับข้อมูลที่มีการลงทุนในไทยจริง ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปัจจุบันมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐ 2.45 หมื่นล้านดอลลาร์ มี 18% เป็นการส่งออกจากบริษัทของนักลงทุนชาวสหรัฐ

“ตอนนี้กระทรวงฯ กำลังเร่งหารือในทุกประเด็นที่คาดว่าสหรัฐ จะนำมาพิจารณาการขาดดุลการค้า โดยในรายการสินค้าส่งออกได้หารือร่วมกับภาคเอกชน โดยสัปดาห์หน้าจะทยอยหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์เพิ่มเติม แต่ยังมองว่าเรื่องของการปรับตัวภาครัฐฯ ก็เป็นส่วนสำคัญที่สหรัฐจะพิจารณาอย่างปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาส่วนนี้ภาครัฐฯ จำเป็นต้องตื่นตัว และอีกเรื่องสำคัญคือการรวบรวมข้อมูลการลงทุนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะต้องยอมรับว่าสหรัฐ ก็เข้ามาลงทุนในไทย และมีการส่งออกกลับไปค่อนข้างมาก

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560 

อุตตมฯ นำทัพ สสว. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงนาม MOU กับ SMBA เกาหลี ยกระ ดับ SMEs ไทย จัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้าน SME ไทย-เกาหลี เน้นแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี EEC และการสร้าง Tech Start up 

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุมหารือระหว่างคณะผู้แทนเกาหลีใต้นำโดย มร. ยอง-ซับ จู ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานส่งเสริม SME ของเกาหลี (Small and Medium Business Administration-SMBA) และคณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานหลักในการส่งเสริมเอสเอ็มอี ได้แก่ ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฯลฯ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดให้มีกรอบความร่วมมือในรูปแบบคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ซึ่งจะมีการประชุมกันทุกๆ ปี เพื่อหารือมาตรการต่างๆ ในการาส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุน การร่วมทุน และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างเอสเอ็มอีทั้งสองประเทศ โดยการประชุมคณะกรรมการร่วมที่จะจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเกาหลี จะประกอบด้วย 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสำหรับ SMEs 2.ความร่วมมือด้าน Tech Startups 3.การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนจากเกาหลีใต้เข้ามามีส่วนร่วมในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor – EEC

          ในการนี้ ฝ่ายไทยและเกาหลี ได้ร่วมลงนามใน MOU 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นการลงนาม ระหว่าง สสว. และ SMBA เน้นความตกลงร่วมกันให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีไทย-เกาหลี ผ่านแนวทางการร่วมกันจัดตั้ง Thailand-Korea Technology Exchanges Center (TKTEC) เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลี ผ่านการร่วมลงทุน และรูปแบบต่างๆ ของการจับคู่ธุรกิจ โดยมีแผนในการผลักดัน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม S Curve กลุ่ม Hi-Growth SMEs และกลุ่ม Smart Farmer เข้าสู่ช่องทางกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญเกาหลีที่จะมาประจำที่ไทยและจะมีการคัดเลือกและวิเคราะห์ SMEs ไทยเพื่อไปสู่การจับคู่ธุรกิจทางเทคโนโลยีกว่า 100 คู่ ภายในเดือนพฤศจิกายน นี้

          ส่วนกิจกรรมแรกของความร่วมมือที่จะมีการคิกออฟในเดือนมิถุนายน ศกนี้เกาหลีจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ สสว. เพื่อมาอบรมในรูปแบบ Train the Trainers ให้กับผู้เชี่ยวชาญไทยที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือและวินิจฉันปัญหาความต้องการด้านเทคโนโลยีกับ SMEs ไทย

          ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรม ได้เน้นความสำคัญในการให้ความร่วมมือต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างจริงจังและมีความต่อเนื่อง เห็นได้จากการประชุมในวันนี้ ที่ท่านรัฐมนตรี เข้าร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU และเป็นประธานการประชุม และให้เริ่มการหารือหลักในการประชุมไปที่แนวทางการจัดตั้งกลไกการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย (Joint Committee) โดยประกอบด้วย หน่วยงานจากทั้งสองฝ่ายที่รับผิดชอบงานส่งเสริม SME ที่ครอบคลุมหลายบริบท จะเข้าร่วมมาเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อให้เป็นกลไกหลักในการทำงานตามกรอบความร่วมมือตาม MOU ทั้งสองฉบับนี้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยความตกลงเรื่อง Joint Committee นี้ ได้ถูกระบุอยู่ใน MOU ฉบับที่สอง ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหรรมและ SMBA

          ส่วนเนื้อหาความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่ถูกรวมในไว้ใน MOU ทั้งสองฉบับนี้ ยังประกอบด้วย การเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศ ในด้านการเงิน Startup เทคโนโลยี การออกแบบ แรงงาน การค้าและการร่วมมือทางยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ การแลกเปลี่ยนนโยบายส่งเสริม SMEs และ ผู้ประกอบการ การร่วมกันประเมินผลกระทบของกฎระเบียบ และการลดขั้นตอนภาครัฐ การจัดกิจกรรมส่งเสริม Startup ในสาขายุทธศาสตร์ทางธุรกิจและการตลาดตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs และจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมการจัดงานสัมมนาและการนำเสนอต่างๆ การหารือและการเจรจา โดยการมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ และองค์กรที่เกี่ยวข้องของคู่ตกลงทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม การฝึกอบรมและแบ่งปันทักษะความรู้เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือสำหรับ SMEs ของทั้งสองประเทศ

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560   

เศรษฐกิจไทยดีดไม่หวั่นสหรัฐกีดกันการค้า

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.4% และในปี 2561 จะขยายตัว 3.6% โดยได้รับปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ฟื้นตัว ชัดเจนในหลายกลุ่มสินค้า ซึ่งคาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2560 จะขยายตัวที่ 2.2% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวเร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้จากโครงการประชารัฐ

“เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายมีเพียงปัจจัยเดียวคือภาคการส่งออกขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศขอสหรัฐ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านบวกให้ขยายตัวได้กว่าเป้าหมาย คือการลงทุนของภาครัฐ สามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผน ส่งผลต่อภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนตาม เพิ่มเติมจากการการลงทุนที่ได้รับผลบวกจากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว”นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ระบุถึงกรณีที่สหรัฐขาดดุลการค่ากับไทยว่า เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไปในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ว่าสหรัฐจะดำเนินการอย่างไร ในระหว่างที่ไม่ทราบว่ามีประเทศไทยบ้างที่สหรัฐจะดำเนินการ คงไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ และแม้ว่าจะดำเนินการตอบโต้ หรือกีดกันทางการค้าจริง กระบวนการต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลาสักพักหนึ่ง ไม่ใช่ใกล้ๆ นี้ เพราะต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศว่ามีสินค้าส่งออกรายการใดบ้างได้เปรียบหรือเสียเปรียบโดยไม่สมควร

สำหรับมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้คงอัตราดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี เป็นการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายที่มีมากกว่าที่ประเมินไว้ จากดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อใหม่ (NLR) ที่เข้าถึงสินเชื่อในดอกเบี้ยที่ต่ำลงมากขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ผ่านมา ไม่กระทบต่อต้นทุนระดมทุนของธุรกิจไทยมากนัก อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจทำให้เงินทุนไหลออกและค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงบ้าง แต่ไม่มากจนน่ากังวล เพราะไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

ส่วนกรณีพิพาทระหว่างสหรัฐกับซีเรียนั้น มองว่ายังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันบ้าง ซึ่งยังไม่มากเท่ากับกรณีกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน ประกาศลดกำลังการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อราคามากกว่า

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

ลงทุนภาครัฐชี้ชะตาอีอีซี

"วิกรม" ระบุ "อีอีซี" ประสบความสำเร็จหากทำได้จริงตามแผน เชื่อนักลงทุนกลับมามองไทยน่าสนใจ "คณิศ" เตรียมชงบอร์ดประกาศเพิ่มเขตส่งเสริมเพิ่ม 3 แห่ง

 การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบประกาศพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และพื้นที่โดยรอบประมาณ6,500ไร่ ให้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยใช้ชื่อว่า “เมืองการบินภาคตะวันออก” วงเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาทใน5ปี ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการลงทุนภาครัฐ หลังจากก่อนหน้านั้นได้เร่งโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะให้คำมั่นกับนักลงทุนที่เข้าร่วมหารือด้วยว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการระยะยาวและมีกฎหมายขึ้นมารองรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่นักลงทุนยังรอว่าโครงการขนาดใหญ่อย่างอีอีซีสามารถทำได้จริงหริอไม่ เนื่องจากในอดีตโครงการสำคัญมักล่าช้าหรือมีความไม่แน่นอนสูง

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของไทย และมีนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน ระบุว่าการประกาศนโยบายที่ชัดเจนรวมทั้งการให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะทำให้นักลงทุนเห็นว่ารัฐบาลจะลงทุนในโครงการนี้แน่นอน

“ที่สำคัญการที่ท่านนายกฯประกาศและให้ความมั่นใจว่าอีอีซีจะมีกฎหมายรองรับเป็นกฎหมายที่แน่นอน และเป็นกฎหมายที่มีความยืนยาว ก็ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น”

นายวิกรมเห็นว่าในระยะต่อไปสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือทำให้โครงการลงทุนต่างๆสามารถเดินหน้าได้ตามแผน

“หากประกาศว่าจะเริ่มลงทุนในปีนี้ก็ต้องทำให้เห็นว่าทำได้จริง ก็จะยิ่งช่วยสร้างความมั่นใจมากขึ้น”

นายวิกรม กล่าวถึงการลงทุนในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล 1.5 ล้านล้านบาทว่า ส่วนใหญ่ไปลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง หรือแม้กระทั่งถนนต่างๆ โครงการรถไฟความเร็วสูงถือเป็นโครงการที่สำคัญมาก เพราะการเดินทางในประเทศไทยต้องยอมรับว่าควบคุมเวลาไม่ค่อยได้ ซึ่งการลงทุนในรถไฟความเร็วสูงจะเปลี่ยนแปลงภาพการเดินทางในประเทศไทย เพราะนักลงทุนในอีอีซีจะสามารถมั่นใจว่าเขาจะสามารถเดินทางได้ตรงตามเวลา เหมือนกับการเดินทางในญี่ปุ่นที่มีความตรงเวลาในระดับวินาที

สำหรับโครงการนี้เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านที่มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเช่นดัน นายวิกรม มองว่าการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของค่าแรงนั้นค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างค่าจ้างแรงงานในเมียนมา ค่าแรงต่ำกว่าไทย3 เท่า ในเวียดนามค่าแรงต่ำกว่าไทย 2 เท่า

ปัจจุบันการลงทุนในเวียดนามยังอยู่ในระดับสูงอย่างในปีที่แล้วการลงทุนของเอกชนในเวียดนามสูงกว่าการลงทุนของเอกชนในไทยถึงสามเท่า ซึ่งการเลือกพื้นที่ลงทุนของนักลงทุนว่าจะไปลงในประเทศใด มีการพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องของตลาด สิทธิประโยชน์ และค่าจ้างแรงงาน

คาดนักลงทุนหันมามองไทย

นายวิกรม เห็นว่า การพิจารณาเงื่อนไขการลงทุนในอีอีซีจึงต้องเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องของสิทธิประโยชน์และความพร้อมของเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อดูความพร้อมของอีอีซีในขณะนี้คือมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจนด้วยวงเงินลงทุนถึง 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปี

“ตรงนี้ผมเชื่อว่าทำให้นักลงทุนที่มีแผนที่จะลงทุนในอาเซียนต้องหันกลับมามองประเทศไทยว่ามีความสนใจน่าลงทุน”

หากสำเร็จจะเป็นตัวจักรสำคัญขับเคลื่อน

นายวิกรม กล่าวอีกว่า หากสามารถทำให้อีอีซีประสบความสำเร็จถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคในอนาคต การลงทุนของบริษัทต่างๆซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซีหรืออยู่นอกพื้นที่ก็ต้องวางแผนการลงทุนให้เชื่อมโยงกับนโยบายอีอีซีเพราะเป็นโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจด้วยเช่นกัน

“ภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศหากโครงการนี้สำเร็จ การลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเราเปลี่ยนไปจากที่ขยายตัวได้ไม่มาก ก็จะขยายตัวได้มากขึ้น เพราะการลงทุนที่มากขึ้นจะช่วยให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยในที่สุดจีดีพีของเราก็ต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”

ชงบอร์ดอีอีซีเพิ่ม3เขตส่งเสริม

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการอีอีซี กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อน อีอีซี ว่า หลังจากที่คณะกรรมนโยบาย อีอีซี ได้เห็นชอบตั้งพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศษภาคตะวันออกแล้ว ในการประชุมครั้งหน้าอาจจะพิจารณาเขตส่งเสริมเพิ่มอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตส่งเสริมฯธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เขตส่งเสริมฯศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน และเขตส่งเสริมฯอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

ในเขตส่งเสริมฯธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ จะพิจารณาท่าเรือในอีอีซีทั้งหมดว่าจะมีพื้นที่ไหนเหมาะสมเป็นเขตส่งเสริมฯ ซึ่งในเบื้องต้นจะพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว ท่าเรือจอดเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงหัวหิน - ระยอง

นอกจากนี้ จะพิจารณาท่าเรืออื่นๆด้วย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือสัตหีบ ซึ่งจะต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าจะตั้งเขตส่งเสริมฯที่ท่าเรือใด

ชี้ท่าเรือมาบตาพุดเหมาะสม

นายคณิศ กล่าวอีกว่าท่าเรือมาบตาพุดมีความเหมาะสม และจะพิจารณาว่าควรจะยกโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ขึ้นเป็น อีอีซีฟาสต์แทรคพีพีพี เพื่อให้การดำเนินงานพีพีพี เสร็จภายใน 8-10 เดือน เพราะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของ อีอีซี ร่วมกับเอกชน ที่ต้องการให้เกิดการก่อสร้างที่รวดเร็ว

ส่วนศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน หรือเมดิคัลฮับ ขณะนี้มีภาคเอกชนหลายรายเสนอตัวจะเข้ามาลงทุน ซึ่งจะต้องรอดูความชัดเจนว่าจะลงทุนในพื้นที่ใด จากนั้นจึงจะพิจารณาขีดพื้นที่ชัดเจนได้ ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มีแนวโน้มสูงที่จะพิจารณาเป็นเขตส่งเสริม เพราะไทยเป็นประเทศที่ใหญ่ จึงควรจะมีเทคโนโลยีนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ของกองทัพเรือ

 “คณะกรรมการ อีอีซี จะลงไปสำรวจพื้นที่ๆให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯ ซึ่งควรจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้เสร็จก่อน และจะต้องมีนักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนอย่างจริงจังอยู่พอสมควรจึงจะประกาศเป็นเขตส่งเสริมฯ เพื่อให้เมื่อประกาศแล้วสามารถดำเนินโครงการได้ทันทีและรวดเร็ว”

กนอ.ลงนามเอกชนพัฒนาคลัสเตอร์พลังงาน

ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า วันที่ 11 เม.ย.นี้ กนอ.จะลงนามร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพื่อศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มคลัสเตอร์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม รองรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอื่นๆในพื้นที่อีอีซี โดยคาดว่าจะมีพื้นที่ประมาณ 1-2 พันไร่

การศึกษาพื้นที่รองรับนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve คาดว่าใช้เวลาไม่นานจะได้ข้อสรุปในเรื่องของความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุน และจะตอบสนองการลงทุนตามเป้าหมายในการเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

“แบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของมูลค่ารถยนต์ไฟฟ้า คงจะต้องศึกษาร่วมกันก่อน”

สำหรับภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59-ก.พ.60)ล่าสุดมียอดขายพื้นที่แล้ว 1,476 ไร่คิดเป็น 49% ของเป้าหมายพื้นที่รวมที่กนอ.ตั้งเป้าไว้ทั้งปีงบประมาณที่ 3 พันไร่ โดยมั่นใจว่าทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

เผยยอดขายพื้นที่5เดือนแรกในอีอีซีพุ่ง

ยอดขายพื้นที่ใน 5 เดือนแรกของปีงบประมาณพบว่า 80-90% หรือราว 1,420 ไร่ของพื้นที่เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นส่วนใหญ่โดยอันดับแรกที่ลงทุนมากสุดคือโลจิสติกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น

นายวีรพงศ์ คาดว่าแนวโน้มการลงทุนครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นนักลงทุนดีขึ้นมาก หลังจากที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าอีอีซีอย่างเต็มที่ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามาหารือกับกนอ.มากขึ้นเพราะสนใจในพื้นที่นิคมฯโดยเฉพาะนักลงทุนที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 7 เมษายน 2560

นายกฯนำทีมลงพื้นที่-เดินหน้าอีอีซีเชิญเอกชนมาร่วมหารือบีเอ็มฯ-โตโยต้าพร้อมลุย   

          'บิ๊กตู่'นำทีมเศรษฐกิจถกเดินหน้า'อีอีซี' พร้อมคุยกับภาคเอกชนรายใหญ่ ที่สนามบินอู่ตะเภา มั่นใจ ทุกอย่างเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ยินดีรับข้อเสนอเอกชนทุกราย เผยธุรกิจใหญ่พร้อมลงทุนเพิ่มทั้งบีเอ็มฯ โตโยต้า และบริดจสโตน

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าว ภายหลังนำคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) พร้อมตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และหารือกับภาคเอกชนไทยและนักธุรกิจ ข้ามชาติกว่า 20 รายว่า ขอบคุณในความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย และขอบคุณในความร่วมมือที่ให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด

          ยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะทำให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นการสร้างอนาคตของประเทศไทย จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยรัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน ทั้งทางด้านกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาต้องเป็นไปอย่างสมดุลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะเป็นประโยชน์อย่างสูงกับประเทศไทยและภูมิภาค รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลประชาชนโดยรอบให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เติบโตอย่างเข้มแข็ง มีรายได้ที่เพียงพอ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดหาบุคลากร พัฒนาด้านการศึกษา การผลิตคน เพื่อให้รองรับการเติบโตของอีอีซีในอนาคต

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า หารือกับนักลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยค่ายรถ บีเอ็มดับเบิลยูยืนยันว่าจะขยายฐานการผลิตในไทยต่อไป พร้อมให้ความมั่นใจกับรัฐบาลไทยว่าจะผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย ส่วนบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในพื้นที่อีอีซี วางแผนเดินหน้า ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

          นอกจากนี้ยังมีบริษัท บริดจสโตน ก็ประกาศแผนการผลิตยางล้อสำหรับเครื่องบิน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอากาศยานในไทย ขณะเดียวกันเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แจ้งว่าอยู่ระหว่างตั้งทีมนักลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ทีม เพื่อมาจับคู่ธุรกิจกับทีมรัฐบาลไทย คาดจะหารือร่วมกันเร็วๆ นี้

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2560

อุตตมฯ นำทัพ สสว. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงนาม MOU กับ SMBA เกาหลี ยกระ ดับ SMEs ไทย จัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้าน SME ไทย-เกาหลี เน้นแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี EEC และการสร้าง Tech Start up 

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุมหารือระหว่างคณะผู้แทนเกาหลีใต้นำโดย มร. ยอง-ซับ จู ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานส่งเสริม SME ของเกาหลี (Small and Medium Business Administration-SMBA) และคณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานหลักในการส่งเสริมเอสเอ็มอี ได้แก่ ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฯลฯ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดให้มีกรอบความร่วมมือในรูปแบบคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ซึ่งจะมีการประชุมกันทุกๆ ปี เพื่อหารือมาตรการต่างๆ ในการาส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุน การร่วมทุน และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างเอสเอ็มอีทั้งสองประเทศ โดยการประชุมคณะกรรมการร่วมที่จะจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเกาหลี จะประกอบด้วย 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสำหรับ SMEs 2.ความร่วมมือด้าน Tech Startups 3.การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนจากเกาหลีใต้เข้ามามีส่วนร่วมในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor – EEC

          ในการนี้ ฝ่ายไทยและเกาหลี ได้ร่วมลงนามใน MOU 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นการลงนาม ระหว่าง สสว. และ SMBA เน้นความตกลงร่วมกันให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีไทย-เกาหลี ผ่านแนวทางการร่วมกันจัดตั้ง Thailand-Korea Technology Exchanges Center (TKTEC) เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลี ผ่านการร่วมลงทุน และรูปแบบต่างๆ ของการจับคู่ธุรกิจ โดยมีแผนในการผลักดัน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม S Curve กลุ่ม Hi-Growth SMEs และกลุ่ม Smart Farmer เข้าสู่ช่องทางกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญเกาหลีที่จะมาประจำที่ไทยและจะมีการคัดเลือกและวิเคราะห์ SMEs ไทยเพื่อไปสู่การจับคู่ธุรกิจทางเทคโนโลยีกว่า 100 คู่ ภายในเดือนพฤศจิกายน นี้

          ส่วนกิจกรรมแรกของความร่วมมือที่จะมีการคิกออฟในเดือนมิถุนายน ศกนี้เกาหลีจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ สสว. เพื่อมาอบรมในรูปแบบ Train the Trainers ให้กับผู้เชี่ยวชาญไทยที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือและวินิจฉันปัญหาความต้องการด้านเทคโนโลยีกับ SMEs ไทย

          ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรม ได้เน้นความสำคัญในการให้ความร่วมมือต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างจริงจังและมีความต่อเนื่อง เห็นได้จากการประชุมในวันนี้ ที่ท่านรัฐมนตรี เข้าร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU และเป็นประธานการประชุม และให้เริ่มการหารือหลักในการประชุมไปที่แนวทางการจัดตั้งกลไกการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย (Joint Committee) โดยประกอบด้วย หน่วยงานจากทั้งสองฝ่ายที่รับผิดชอบงานส่งเสริม SME ที่ครอบคลุมหลายบริบท จะเข้าร่วมมาเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อให้เป็นกลไกหลักในการทำงานตามกรอบความร่วมมือตาม MOU ทั้งสองฉบับนี้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยความตกลงเรื่อง Joint Committee นี้ ได้ถูกระบุอยู่ใน MOU ฉบับที่สอง ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหรรมและ SMBA

          ส่วนเนื้อหาความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่ถูกรวมในไว้ใน MOU ทั้งสองฉบับนี้ ยังประกอบด้วย การเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศ ในด้านการเงิน Startup เทคโนโลยี การออกแบบ แรงงาน การค้าและการร่วมมือทางยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ การแลกเปลี่ยนนโยบายส่งเสริม SMEs และ ผู้ประกอบการ การร่วมกันประเมินผลกระทบของกฎระเบียบ และการลดขั้นตอนภาครัฐ การจัดกิจกรรมส่งเสริม Startup ในสาขายุทธศาสตร์ทางธุรกิจและการตลาดตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs และจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมการจัดงานสัมมนาและการนำเสนอต่างๆ การหารือและการเจรจา โดยการมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ และองค์กรที่เกี่ยวข้องของคู่ตกลงทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม การฝึกอบรมและแบ่งปันทักษะความรู้เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือสำหรับ SMEs ของทั้งสองประเทศ

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 7 เมษายน 2560

ยกเลิกใช้สารกำจัดศัตรูพืช2ชนิด 

          เมื่อวันที่ 5 เมษายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ว่าที่ประชุมได้ร่วมกับ 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม มีมติออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมี กำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ต้องยุติการนำเข้าสารเคมีทั้ง 2 ชนิด และยุติการใช้ทั้งหมดภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เนื่องจากพาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรงไม่สามารถหายาถอนพิษได้ 47 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการใช้แล้ว

          นพ.ปิยะสกลแถลงว่า ส่วนคลอร์ไพริฟอสทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น กระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ การเจริญเติบโต และเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน ขณะนี้ให้มีการให้กรมวิชาการเกษตรออกให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อขอให้ลดปริมาณการใช้และยกเลิกการใช้ในที่สุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการนำเข้าพาราควอตมากถึง 128 บริษัท และคลอร์ไพริฟอส 81 บริษัท

          นพ.ปิยะสกลแถลงอีกว่า ขณะเดียวกันได้เตรียมออกหลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่การใช้ ยากำจัดศัตรูพืช ไกลโคเสต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค 22 ชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ เป็นต้น ดังนั้นภายใน 30 วัน เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดโซนการใช้ยาอย่างเข้มงวด

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 6 เมษายน 2560

เขื่อนลำปาวประกาศปิดส่งน้ำในฤดูแล้ง 90 วัน หลังพ้นสงกรานต์

วันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว (เขื่อนลำปาว) นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เป็นประธานประชุมผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในเขื่อนลำปาว เพื่อชี้แจงการประกาศปิดน้ำฤดูแล้งประจำปี 2560 โดยมีนายอำพล จินดาวงศ์ ประมง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์น้ำ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามและผู้เลี้ยงปลากระชัง ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายฤาชัยกล่าวว่า เขื่อนลำปาวมีความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 614.40 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 31.03% ขณะที่ห้วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วมีปริมาณ 444.35 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22.44% อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของโครงการฯ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้ใช้น้ำ ทั้งในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ที่กุ้งก้ามกราม และปลากระชัง รวมทั้งการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง โดยเขื่อนลำปาวมีพื้นที่บริการในเขตชลประทานทั้งหมด 306,963 ไร่ ข้าว 263,378 ไร่ บ่อกุ้ง 2,922 ไร่ บ่อปลา 1,577 ไร่ พืชผัก 1,096 ไร่ และที่เหลือเป็นพื้นที่การเกษตรอื่นๆ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้กำหนดปิดน้ำในฤดูแล้งตามปฏิทินปฏิบัติ ประมาณ 90 วัน ระหว่างวันที่ 28 เมษายน-30 กรกฎาคม 2560 เพื่อทำการซ่อมบำรุงคูคลองที่ชำรุด และรักษาระบบนิเวศ ขอให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่าและแบ่งปัน เพื่อให้ได้รับน้ำอย่างเพียงพอและทั่วถึง

ด้านนายอำพลกล่าวว่า ในฤดูแล้งโดยเฉพาะช่วงโครงการบำรุงและรักษาเขื่อนลำปาวปิดการส่งน้ำ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อบ่อกุ้งก้ามกรามและกระชังเลี้ยงปลา เพื่อลดความสูญเสียได้กำชับให้เกษตรกรจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ลดพื้นที่และลดจำนวนในการเลี้ยงลง ทั้งนี้ เพื่อลดความแออัดและป้องกันการเกิดน้ำเสีย ที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดการน็อคตายได้

"สำหรับเกษตรกรที่ใช้เครื่องตีน้ำในบ่อเพื่อสร้างออกซิเจนให้กุ้งนั้น ระดับบ่อควรมีความลึกประมาณ 1.5-2.0 เมตร หากความลึกบ่อไม่ได้ขนาด เมื่อเปิดเครื่องตีน้ำจะทำให้เกิดตะกอนหรือสารแขวนลอย ที่อาจเป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้กุ้งน็อคได้ เพื่อความปลอดภัย เกษตรกรควรเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ ด้วยการขุดบ่อให้มีความลึก และสำรองน้ำไว้ใช้ ก็จะสามารถพ้นผ่านวิกฤตแล้งไปได้อย่างปลอดภัย" นายอำพลกล่าว

ทั้งนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม กระจายในพื้นที่ ต.บัวบาน ต.เขาพระนอน ต.นาเชือก อ.ยางตลาด ประมาณ 1,000 ราย เลี้ยงปลากระชังเหนือเขื่อนลำปาว ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก ต.เสาเล้า อ.หนองกุงศรี อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ประมาณ 600 ราย ในฤดูแล้งของทุกปีประสบปัญหาอากาศวิปริต เกิดการน็อคตาย ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มูลค่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการเลี้ยงที่ต้นทุนสูง ทั้งค่าพันธุ์ลูกกุ้ง ลูกปลา และอาหาร จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้วย เพื่อเกษตรกรจะได้มีอาชีพที่ยั่งยืน เพราะเกษตรกรเลิกกิจการไปมาก เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 6 เมษายน 2560

พพ.สั่งผู้ผลิตเอทานอล 21 ราย แจ้งสต็อกทุก 2 สัปดาห์

โดย - โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

             พพ.สั่งผู้ผลิตเอทานอล 21 ราย แจ้งสต็อกทุก 2 สัปดาห์กร ดีเดย์หลังสงกรานต์ หวั่นครึ่งปีหลังขาดแคลนกระทบน้ำมันแก๊สโซฮอล์ หลังภัยแล้งฉุดผลผลิตอ้อยปีนี้ลดลง 10 ล้านตัน ด้านผู้ผลิตเอทานอล มั่นใจวัตถุดิบเพียงพอ ห่วงรัฐล้มแผนเลิกขายแก๊สโซฮอล์91 กระทบส่งเสริมเอทานอล

             นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตเอทานอลในประเทศ 21 ราย ทั้งในส่วนของผู้ผลิตเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาล(โมลาส)เป็นวัตถุดิบ และผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ให้ส่งรายงานปริมาณการผลิตและส่งมอบเอทานอลทุกๆ 2 สัปดาห์มายัง พพ. เพื่อที่ภาครัฐจะสามารถติดตามและบริหารจัดการสต็อกเอทานอล ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ หลังได้รับรายงานว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยในปีนี้ จะอยู่ที่ 90 ล้านตัน ลดลง 10 ล้านตัน จากปีที่ผ่านอยู่ที่ 100 ล้านตัน หรือหายไป 10% จากผลกระทบภัยแล้งในปี 2559 ดังนั้น ผู้ผลิตเอทานอลทั้ง 21 ราย จะต้องเริ่มส่งรายงานสต็อกเอทานอล หลังวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ หรือ เริ่มตั้งแต่ 18 เม.ย.นี้เป็นต้นไป

           โดยในเร็วๆนี้ พพ.จะนำผลการหารือร่วมกับผู้ผลิตเอทานอล 21 ราย เสนอให้ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ พิจารณาและกำหนดนโยบายส่งเสริมเอทานอลต่อไป เบื้องต้น พพ.จะยังไม่มีการปรับแผนส่งเสริมการใช้เอทานอลแต่อย่างใด และยังคงเป้าหมายการใช้เอทานอลในปีนี้อยู่ที่ 3.8 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีการใช้อยู่ที่ 3.6-3.7 ล้านลิตรต่อวัน นายประพนธ์ กล่าวว่า สถานการณ์เอทานอลในปีนี้ แตกต่างจากปลายปีที่ผ่านมา ที่เกิดปัญหาขาดแคลนเอทานอลในช่วงปลายปี เพราะโรงงานเอทานอลหยุดซ่อมบำรุงพร้อมกันและขาดการวางแผนที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ปีนี้เกิดจากต้นเหตุ คือวัตถุดิบอ้อยที่ลดลง แต่กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ จึงเชื่อว่า หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา

             นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย และกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท น้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า ผู้ผลิตเอทานอลพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการรายงานสต็อกเอทานอล เพื่อให้ภาครัฐมั่นใจว่ากำลังการผลิตเอทานอลจะเพียงพอกับความต้องการใช้ โดยเบื้องต้นจาก การรวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตเอทานอล ซึ่งยังขาดอีก 2-3 ราย พบว่า ปีนี้ มีกำลังการผลิตเอทานอลจะไม่ต่ำกว่า 4 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะสูงกว่าความต้องการใช้ ทั้งนี้ ผู้ผลิตเอทานอล เห็นว่าภาครัฐไม่จำเป็นต้องเลื่อนแผนยกเลิกจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ออกไป จากเดิมที่กำหนดไว้เดือน ม.ค.ปี 2561 เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการแผนส่งเสริมเอทานอล ที่มีเป้าหมายการใช้อยู่ที่ 11.3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2579

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 6 เมษายน 2560

ค่าเงินบาทดิ่ง หลังนักลงทุนหวั่น ธปท.ออกเกณฑ์คุมเงินไหลเข้า

ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่าต่อเนื่อง หลังนักลงทุนยังกังวล เรื่องการออกเกณฑ์คุมเงินไหลเข้าของ ธปท.อีกทั้งได้รับแรงกดดันจากดอลลาร์ที่แข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด

ผู้สื่อข่าวรายงาน ค่าเงินบาทวันที่ 5 เม.ย. โดยค่าเงินเปิดตลาดที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับปิดวานนี้ที่ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับมาตรการคุมเงินไหลเข้าของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ว่าจะมีเพิ่มเติมออกมาอีกหรือไม่ ขณะเดียวกันค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น ตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งการขาดดุลทางการค้าและคำสั่งซื้อโรงงานในเดือนมีนาคมที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ กลับมาแข็งค่าได้อีกครั้ง

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือการประกาศตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนของสหรัฐในวันนี้ รวมถึงการรายงานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกี่ยวกับผลการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 5 เมษายน 2560

กรมค้าต่างประเทศเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

กรมการค้าต่างประเทศ ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างใบอนุญาตนำเข้า – ส่งออก ลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 กรมการค้าต่างประเทศกำหนดให้การออกใบอนุญาตส่งออกสินค้าไม้/ไม้แปรรูป และถ่านไม้ แบบ Paperless ให้ยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานพร้อมกำกับข้อมูลด้วย Digital Signature 3 ขั้นตอน ซึ่งจะทำให้การจัดทำใบขนสินค้าขาออกโดยเจ้าหน้าที่แจ้งผลการพิจารณาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการออกใบอนุญาตฯ ระบบงานของกรมฯ ส่งข้อมูลที่ผ่านการอนุมัติให้ศุลกากรภายใต้การเชื่อมโยง National Single Window (NSW) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการพิธีการทางศุลกากรเพื่อออกใบขนสินค้าขาออกได้ทันที ถือเป็นความสำเร็จในการดำเนินการลดขั้นตอนการให้บริการออกใบอนุญาต อีกทั้งกรมการค้าต่างประเทศ จะขยายการให้บริการแบบ Paperless ไปสู่การออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับ สิทธิทางภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรภายใต้ WTO ในเดือนมิถุนายน 2560  และสินค้าอื่น ๆ ที่เหลือในลำดับถัดไป เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอลและให้ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของประเทศดีขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 5 เมษายน 2560

พลิกโฉมประเทศ'ประยุทธ์'จัดหนักดันอีอีซีขึ้นศูนย์การบิน-ไฮเทค-แบตเตอรี่

          ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติแห่ลงทุน

          ตัดริบบิ้นคิกออฟอีอีซี เผยยุทธศาสตร์ยกระดับภาคตะวันออกศูนย์กลางของโลก ดึงต่างชาติลงทุน-ผลิตส่งออกสินค้าไฮเทค 10 บิ๊กเรือธงมาครบ เฉพาะแบตฯแห่ลงทุน 1 แสนล้าน เป็นฐานผลิตป้อนตลาดโลก จับตาสิทธิประโยชน์ชุดใหญ่

          นับตั้งแต่ยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ค้นพบก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยครั้งแรกในปี 2524 "โชติช่วงชัชวาล" กลายเป็นวลีดัง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจบรรจบครบ 36 ปี วันนี้ จะไม่ใช่แค่ฐานการผลิตต้นน้ำ อุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หวังยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางภูมิภาคเชื่อมกับทั่วโลก

          ในวันที่ 5 เมษายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะต้อนรับและหารือกับนักธุรกิจข้ามชาติรายใหญ่กว่า 20 ราย ก่อนจะเข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในฐานะประธาน โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางอรรชกา ศรีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ส่วนราชการและเอกชนในพื้นที่เข้าร่วม

          นักลงทุนที่จะเข้าหารือกับนายกฯและคณะ ประกอบด้วย ผู้บริหารจากโตโยต้า บีเอ็ม ดับเบิลยู เบนซ์ ดูคาติ บริดจสโตน ผู้บริหารไมโครซอฟท์และกูเกิล ตัวแทนอาลีบาบาและลาซาด้า ผู้บริหารจากอีโวนิค ปิโตรเคมีชั้นนำของเยอรมนี แอร์โร สเปซ เชฟรอน หัวเว่ยเจโทรและหอการค้าสหรัฐฯ

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง 3 ฉบับ ระหว่างกองทัพเรือ ผู้บริหารสนามบินอู่ตะเภา และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม

          ในการประชุมคณะกรรมการอีอีซีจะพิจารณาการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานและแผนการใช้พื้นที่ โดยเฉพาะใน  2 โครงการหลัก คือ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2.การพัฒนารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยองที่จะขยายเชื่อมต่อระหว่าง 3 สนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง มูลค่าลงทุน 1.58 แสนล้านบาท รวม 2 โครงการ 3.58 แสนล้านบาท

          ยังมีการติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการรถไฟทางคู่และพัฒนาเมืองใหม่ ที่จะรองรับการเติบโตเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี

          การบิน-ขนส่งโลก

          สำหรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้นจะมีการผลักดันให้เป็นทั้งท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงขยายการรองรับการเติบโตของการขนส่งทุกรูปแบบ ด้วยการขยายตัวของสนามบินอู่ตะเภาโดยได้กันพื้นที่ไว้ร่วม 2,000 ไร่ รองรับการขยายการลงทุนของสนามบิน ทั้งของภาครัฐทั้งกองทัพเรือ กระทรวงคมนาคมและภาคเอกชน เช่น บริษัท การบินไทยฯ งบลงทุน 20,000 ล้านบาท

          มีการขยายอาคารผู้โดยสารรองรับได้จาก 8 แสนคน/ปี เป็น 3 ล้านคน/ปี และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในระยะที่ 2 และ 3 เพื่อรองรับผู้ใช้งานสูงสุดในอนาคต  60 ล้านคน/ปี

          นอกจากนี้ จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งบริษัท การบินไทยฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่อู่ตะเภา ใช้งบลงทุนหลักหมื่นล้านบาท โดยมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินในภูมิภาคเอเชีย ระยะแรกจะมีการก่อสร้างโรงซ่อมและโรงจอดเครื่องบินขนาดใหญ่ สามารถนำเครื่องบินพาณิชย์ใหญ่ที่สุดในโลก Airbus A380 จอดพร้อมกัน 2 ลำในโรงจอด และเจาะตลาดเครื่องบินรุ่นใหม่ เช่น Boeing 787 และ Airbus A350 เบื้องต้นลงทุนราว 5,000 ล้านบาท รวมทั้งขยายถนนเข้าสนามบิน การก่อสร้างมอเตอร์เวย์พัทยามาบตาพุดเพิ่มเติม และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง

          ฐานผลิตแบตส่งออก

          แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กำลังจะมีการเซ็นสัญญากับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมผลักดันโครงการลงทุนแบตเตอรี่ เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ ที่จะเป็นอุตสาห กรรม New S Curve ของประเทศ เพื่อจัดสรรพื้นที่มารองรับการลงทุนแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนแบตเตอรี่ที่ใช้ในบ้าน โรงงานอุตสาหกรรมประเภทโซลาร์ซิตี พาวเวอร์ วอลล์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ในธุรกิจสายส่งไฟฟ้า

          "มีนักลงทุนไทย และต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานหลายรายให้ความสนใจเป็นพิเศษ เบื้องต้นมีการลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท"

          บริษัทที่จะร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค แบตเตอรี่ ซึ่งจะมีการร่วมทุนระหว่างไทยไต้หวัน-จีน นั้น ปัจจุบันมีนักลงทุนให้ความสนใจจะร่วมลงทุนร่วม 15-20 ราย มูลค่าการค้าเบื้องต้น 5.2 หมื่นล้านบาท โดยจะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดร เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออก

          ศูนย์สินค้าไฮเทคป้อนโลก

          รัฐบาลหวังจะพลิกโฉมประเทศไทยให้ก้าวพ้นจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้ที่สูงขึ้น ลดการพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือ ยกระดับพื้นที่อีอีซีให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชี ย จึงโฟกัสส่งเสริม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ไฮเทค ดังนี้ กลุ่ม First S-curv  1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหารและการพัฒนากลุ่ม New S-curve ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2.การบินและโลจิสติกส์ 3.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.ดิจิตอล 5.การแพทย์ครบวงจร

          อัดสิทธิพเศษอีอีซีอีกเด้ง

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 4/2560 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง

          ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เป็นการเตรียมมาตรการส่งเสริมก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจะมีผลบังคับใช้

          "โครงการลงทุนที่ต้องการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด สามารถยื่นขอรับส่งเสริมจากบีโอไอได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ  คือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี นับจากสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง ทั้งนี้ขอให้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปีนี้" นางหิรัญญากล่าว

          ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น บีโอไอได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงกิจการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ กิจการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและโลจิสติกส์ กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการวิจัยและพัฒนา และบริการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยมีประเภทกิจการย่อยที่เข้าข่ายได้รับส่งเสริมมากถึง 202 กิจการ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

สกู๊ปพิเศษ : เกษตรราชบุรี เปิดงานวันรณรงค์ควบคุมศัตรูอ้อย โชว์เทคโนโลยีกำจัดอย่างถูกวิธี ลดต้นทุน สร้างความมั่นคงในอาชีพ

อ้อยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ไม่เพียงแค่กระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรเท่านั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือการระบาดของแมลงศัตรูอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อรายได้และอาชีพของเกษตรกร

นายพินิจ เจริญเร็ว เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จังหวัดราชบุรีมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 185,252 ไร่ ปริมาณอ้อยส่งเข้าหีบอยู่ที่ 1,486,802 ตัน แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อการปลูกอ้อยของเกษตรกรในพื้นที่มิหนำซ้ำยังพบการแพร่ระบาดของศัตรูอ้อย โดยเฉพาะตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส (ตั๊กแตนข้าว) สร้างความเสียหายต่อผลผลิตอ้อยอย่างมากในเขตอำเภอจอมบึง เนื่องจากตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส ได้กัดกินใบจนได้รับความเสียหายกว่า 2,300 ไร่ และยังมีการระบาดของหนอนกอและด้วงหนวดยาว ที่กัดกินยอดอ้อยและลำต้นอ้อย ทำให้อ้อยไม่สามารถเจริญเติบโตและตายในที่สุด คิดเป็นพื้นที่มากถึง 5,000 ไร่ มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบนี้มากกว่า 200 ราย

สถานการณ์การระบาดของศัตรูอ้อยในเขตอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอย่างมากเนื่องจากเขตอำเภอจอมบึงนับเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เพราะมีพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกอ้อย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและกำจัดด้วงหนวดยาวและตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส หรือตั๊กแตกข้าว รวมถึงหาแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพทำไร่อ้อย ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้บูรณาการ ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูอ้อย ไม่ให้ขยายวงออกไปสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง

การจัดงานวันรณรงค์ควบคุมศัตรูอ้อยปี 2560 ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ณ พื้นที่แปลงเกษตรกรบริเวณใกล้วัดเขาผึ้ง หมู่ที่ 7 ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการระบาดของศัตรูอ้อย โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรวมถึงเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาเรียนรู้ถึงชนิดของศัตรูอ้อยและวิธีการป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี เมื่อเกษตรกรนำไปปฏิบัติก็จะลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น และยังสร้างความมั่นใจการประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้

ด้าน นายสมคิด เฉลิมเกียรติผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การจัดงานวันรณรงค์ควบคุมศัตรูอ้อยในครั้งนี้ ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ตามนโยบายของรัฐบาล โดยส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้ตั้งแต่พันธุ์อ้อย โรคและแมลงศัตรูอ้อยที่สำคัญและวิธีป้องกันกำจัดที่ถูกวิธี อีกทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรควบคุมศัตรูอ้อยแบบผสมผสาน ด้วยการหันมาใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพื่ออนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ นอกจากนี้ ยังมีจุดเรียนรู้ด้านการแปรรูปด้วงหนวดยาวและการใช้เครื่องมือป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สำหรับไฮไลท์ของงานที่ได้รับความสนใจไม่แพ้เรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยี คือการเผาหุ่นด้วงหนวดยาว ซึ่งถือเป็นการประกาศว่าเราจะร่วมมือกันทำลายศัตรูอ้อยตัวร้ายก่อนที่จะมาทำลายผลผลิตของเกษตรกร

พร้อมกันนี้ได้เปิดเวทีเสวนาเรื่องสถานการณ์การผลิตอ้อยน้ำตาลปี 60/61 โดยมีนักวิชาการเกษตรจากศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้แทนจากสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 นักวิชาการจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเขต 1 จังหวัดกาญจนบุรี และตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดราชบุรี ซึ่งเกษตรกรที่มาร่วมงานในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ได้รับความรู้นำกลับไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ที่สำคัญคือได้ทราบทิศทางความต้องการของตลาดเพื่อนำไปวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้หน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันจัดงานรณรงค์ถ่ายทอดความรู้หรือออกมาตรการแก้ไขปัญหาอะไรก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่สุดคือตัวเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องใส่ใจหมั่นสำรวจแปลงอ้อยของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบศัตรูอ้อยไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ควรรีบป้องกันและกำจัด หรือแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่อยู่ใกล้บ้านทันที เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : เกษตรแปลงใหญ่ วิถีแห่งการลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต สร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืน

ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐ โดยให้เกษตรรายย่อยที่มีอาชีพเดียวกันรวมกลุ่ม เพื่อให้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิต เกิดการวางแผนการตลาดเพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต มีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ เป็นการเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าวของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการงานร่วมกัน ตามบทบาท หน้าที่ที่รับผิดชอบ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการร่วมกัน ตั้งแต่การผลิต จนถึงการตลาด สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตลอดจนมีการบริหารจัดการที่ดี โดยในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินนั้น มีบทบาทในการวางแผนการทำเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้แผนที่ Agri-Map เพื่อให้คำแนะนำการผลิตพืชในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งเป็นสินค้าเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพในการผลิต ให้คำแนะนำในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์มีความเหมาะสมในการปลูกพืช และส่งเสริมสนับสนุนการใช้สารอินทรีย์ลดใช้สารเคมีทางการเกษตรด้วยการนำผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตร สารเร่ง พด. ชนิดต่างๆ สำหรับการผลิตปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงยังส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกิจกรรมที่กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการในพื้นที่แปลงใหญ่นั้น จะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่ปลูก เช่น แปลงใหญ่ข้าว จะมีการรณรงค์ให้เกษตรกรไถกลบตอซัง งดเผาฟางและตอซังพืช เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน ในส่วนของแปลงใหญ่มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย จะส่งเสริมและสาธิตการปลูกพืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ แปลงใหญ่ไม้ผล จะส่งเสริมและปรับปรุงพื้นที่ดินกรดด้วยโดโลไมท์ เพื่อลดความรุนแรงของกรดในดิน แปลงใหญ่ไม้ผลและพืชผักจะผลิตปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และแปลงใหญ่ที่ผลิตพืช จะส่งเสริมให้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า จากการรวมกันผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกรมีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดต้นทุนการผลิต มีรายได้เพิ่ม มีการผลิตร่วมกันเป็นกลุ่มและมีการเชื่อมโยงกับตลาดเพื่อบริหารจัดการให้เกิดสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้า ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาดและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้

จากนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ในการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ของเกษตรกรจากพื้นฐานความเป็นประชารัฐ ที่เกิดจากความร่วมมือรวมพลังทุกภาคส่วน สร้างพลังในการแก้ไขปัญหา ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรสมัยใหม่สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

สหรัฐฯ มุ่งมั่นกระชับสัมพันธ์ไทย เดินหน้าขยายการค้าผ่านเวที TIFA JC

​สหรัฐฯ เน้นย้ำสานต่อความสัมพันธ์กับไทยในฐานะมิตรประเทศเก่าแก่ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ พร้อมหารือแนวทางขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันผ่านการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดมากขึ้น รวมทั้งจับมือเดินหน้าแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Assistant USTR Barbara Weisel) ได้นำคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (TIFA JC) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการพบปะหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรกภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลล์ ทรัมป์ และเป็นการแสดงความสัมพันธ์อันดีทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

​ในการประชุม TIFA JC ครั้งนี้ ไทยได้รับทราบสรุปนโยบายการค้าสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ในโอกาสเดียวกัน ไทยได้เน้นย้ำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ซึ่งสหรัฐฯ ยินดีกับนโยบายดังกล่าวและพร้อมสนับสนุนไทยให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนในอนาคต นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางความร่วมมือในแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ซึ่งสหรัฐฯ จะแจ้งรายชื่อหน่วยงานและบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ที่ควรจัดทำความร่วมมือกับไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win ต่อไป

​นายบุณยฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการหารือในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายที่จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการค้าระหว่างกัน ไทยและสหรัฐฯ ยังได้หารือแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิค เพื่อนำไปสู่การขยายการค้าการลงทุน โดยในการประชุมฯ ไทยได้เน้นถึงความพยายามและความคืบหน้าในการดำเนินการให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลในหลายเรื่อง อาทิ การคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ รวมทั้งผลักดันให้สหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มเติมสิทธิ GSP ในสินค้า Travel goods ให้กับทุกประเทศที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการ GSP ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมร่วมกัน เนื่องจากการขยายสิทธิดังกล่าวเป็นความต้องการของภาคเอกชนของสหรัฐฯ เช่นกัน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นด้านการสินค้าเกษตรและมาตรการที่เกี่ยวข้องของไทย ซึ่งไทยได้ให้ความกระจ่างและเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สหรัฐฯ มากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะมีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามเป้าหมาย

​ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในปี 2559 การค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่า 36,551 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 24,494 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่านำเข้า 12,057 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 

TPIPPเดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าอีก 3 โรงเพิ่มกำลังผลิต440 MW

บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงาน เชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเ ชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ 5เม.ย.นี้ ด้านผู้บริหารเดินหน้าขยายอาณาจั กรโรงไฟฟ้า เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก 3 โรง คาดเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ดันกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็ น 440 MW จากปัจจุบันอยู่ที่ 150 MW พร้อมลงทุนปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลัง งานความร้อนทิ้งที่มีอยู่เดิมแล ะติดตั้งเครื่องคัดแยกขยะเพื่อใ ช้งานที่หลุมฝังกลบของบริษัทจั ดการขยะ รวมถึงเตรียมลงทุนซื้อหม้อผลิตไ อน้ำเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการผ ลิตกระแสไฟฟ้า

 นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมนำหุ้นเข้าทำการซื้อขายในต ลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวั นที่ 5 เมษายนนี้ เป็นวันแรก โดยใช้ชื่อย่อ ‘TPIPP’ ในการซื้อขาย หลังได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 2,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจั ดสรรหุ้น ประชาชนทั่วไปและนักลงทุนสถาบัน ในราคาหุ้นละ 7 บาท และได้รับความสนใจอย่างคึกคัก โดยบริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุน ไปใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรวมถึ งชำระหนี้คงค้าง

 ทั้งนี้ TPIPP เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลั งงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเ ชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ‘ขยะเป็นศูนย์’หรือ Zero Waste เพื่อเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำ หน่ายไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวี ยนที่สะอาด และมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงคำนึงถึงหลักการกำกับดูแล กิจการที่ดี มีรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้ อม

“เรามีวิสัยทัศน์ก้าวเป็นผู้นำธุ รกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตไฟฟ้า จากการนำขยะจากชุมชนและขยะจากหลุมฝังกลบมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่มีค่าความร้อนสูง เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกัน เรามีจุดยืนการทำธุรกิจด้วยแนวคิ ด Clean and Green Energy, Clean Up Country ที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน” นายประชัย กล่าว

คุณภากร เลี่ยวไพรัตน์นายภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวว่า บริษัทฯ มีธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มุ่งเน้นโรงไฟ ฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 4 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 150 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขย ะ 2 โรง กำลังการผลิตติดตั้งโรงละ 20 MW และ 60 MW รวมเป็น 80 MW ปัจจุบันมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจำนวน 73 MWและได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไ ฟฟ้า (Adder) ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มเติมจากค่าไฟฟ้าพื้นฐานเป็ นเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มซื้อขายไฟฟ้ า และมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งอีก 2 โรง กำลังการผลิตติดตั้งโรงละ 40 MW และ 30 MW รวมเป็น 70 MWโดยมี บมจ.ทีพีไอ โพลีน เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า

 พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมีสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิ ง RDF ที่นำขยะจากชุมชนและขยะจากหลุมฝั งกลบในพื้นที่ต่างๆ มาผ่านกระบวนการคัดแยกและแปรรูป เป็นเชื้อเพลิง RDF เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟ ฟ้า โดยปัจจุบันมีความสามารถรับขยะชุ มชนเข้าสู่กระบวนการผลิต 4,000 ตันต่อวัน สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ 2,000 ตันต่อวัน

 ส่วนธุรกิจหลักกลุ่มที่สองคือ ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพ ลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ทีพีไอพีแอล’ (TPIPL) รวม 12 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายได้จากการขายอินทรียวัต ถุที่เหลือใช้จากสถานประกอบการผ ลิตเชื้อเพลิงRDF ให้แก่บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยชี วภาพ โปรไบโอติกส์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ และการกำจัดสิ่งปฏิกูลในน้ำอี กด้วย

 กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง คาดจะเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ทั้งหมด ส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งเ พิ่มขึ้นอีก 290 MW รวมเป็น 440 MW ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจาก ขยะ 70 MW ซึ่งหลังก่อสร้างแล้วเสร็จจะนำกำ ลังการผลิตติดตั้งไปรวมกั บโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 MW เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจ ากขยะ 100 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. 2.โรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 MW และ 3.โรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ที่ออกแบบให้ผลิตไฟฟ้าสำรองป้อน ให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิ งจากขยะ 60 MW หรือโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจ ากขยะ 70 MW โรงใดโรงหนึ่ง ในกรณีที่เครื่องจักรชำรุด

 ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างขยายสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ให้สามารถรับขยะชุมชนได้เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตันต่อวัน จากเดิม 4,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตันต่อวัน จากเดิม 2,000 ตันต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน ได้แก่ การปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งเพื่อเพิ่มอัตราการใช้ กำลังการผลิตไฟฟ้าและโครงการติดตั้งเครื่องคัดแยกขยะเบื้องต้นเพื่อใช้งานที่หลุมฝังกลบของบริษัทจัดการขยะ คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2ปีนี้ รวมถึงมีโครงการลงทุนซื้อหม้อผลิ ตไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง RDF อีก 2 เครื่อง เพื่อสำรองให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 60 MW และ 70 MW คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2561

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกั นการจำหน่าย กล่าวว่า ธุรกิจของ TPIPP มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี  เนื่องจากอยู่ระหว่างขยายโรงไฟ ฟ้าอีก 3 โรง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงาน ในอนาคต ประกอบภาครัฐมีนโยบายให้การส่งเ สริมธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังง านหมุนเวียน ที่เป็นส่วนสำคัญในแผนพัฒนากำลั งการผลิตไฟฟ้าของประเทศและเป็นช่ วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานซึ่ งเป็นเป้าหมายของประเทศ รวมถึงยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจ ากแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าใน ประเทศระหว่างปี 2557-2579 ที่คาดว่าจะเพิ่มในอัตราเฉลี่ยร้ อยละ 2.7 ต่อปี

 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าของ TPIPP มีจุดเด่นและความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน โดยมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการขยะ ตลอดจนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่มี ความเหมาะสมในการคัดแยกขยะในประ เทศไทย และสามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพ ลิง RDF ที่ให้ค่าความร้อนสูงซึ่งจะส่งผลดีต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ TPIPP ยังได้รับประโยชน์จากการจัดหาความร้อนทิ้งในกระบวนการผลิตปูนซี เมนต์ และการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน ในฐานะบริษัทแม่อีกด้วย

 นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายแล ะรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า TPIPP เป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการดำ เนินธุรกิจด้านโรงไฟฟ้าพลั งงานเชื้อเพลิงจากขยะและโรงไฟฟ้ าพลังงานความร้อนทิ้ง โดยปี 2559 TPIPP มีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างก้า วกระโดด โดยมีกำไรสุทธิ 1,824.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 270% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อนที่มีกำไรสุทธิ 493.36 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4,433.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมาที่มีรายได้รวม 2,794.83 ล้านบาท

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 

คลังฟุ้งADBพร้อมดันไทยสู่ยุค4.0

คลังฟุ้ง ADB พร้อมช่วยดันไทยเดินหน้าสู่ยุค 4.0 เน้นพัฒนา เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนเงินทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังงานครบรอบ 50 ปี ของการจัดตั้งธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและ ADB (The ADB’s 50th Anniversary Celebrating a Partnership Between ADB and Thailand) ว่า ADB ต้องการช่วยขับเคลื่อนให้ไทยเดินหน้าได้ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยจะเน้นการให้ความสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น ผ่านการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“ADB มีประสบการณ์ค่อนข้างมากในการพัฒนาประเทศที่มีเศรษฐกิจคล้ายๆ เรา โดยจะดำเนินการผ่านการให้ความรู้ ซึ่ง ADB ได้เรียนรู้มาจากประสบการณ์ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์กับไทยอย่างมาก” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า ในระยะต่อไปไทยยังมีความต้องการที่จะกู้เงินจาก ADB อยู่ เนื่องจากเรายังมีแผนลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอีกหลายโครงการ และ ADB เองก็ต้องการที่จะเข้ามาร่วมในส่วนนี้ด้วย ดังนั้นที่ผ่านมาจึงมีการปรับเงื่อนไขการกู้เงินให้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับไทยมาก

นายสตีเฟน กรอฟ รองประธานเอดีบี เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังคงเดินหน้าสู่การพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ADB หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับประเทศไทย และยืนยันจะยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม โดยใช้เครื่องมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกและมีเทคโนโลยีล้ำสมัย ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือ การบูรณาการในภูมิภาค

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 

พาณิชย์ถกเอกชนรับมือสหรัฐกีดกันการค้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามในคำสั่งหาสาเหตุที่ทำให้สหรัฐขาดดุลทางการค้าซึ่งไทยติด 1 ใน 16 ประเทศว่าเป็นสิ่งที่ต้องหารือกันแต่เชื่อว่าไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะเกินดุลการค้าสหรัฐน้อยมาก ถ้าจะกระทบคงเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อผ้า ไม่เหมือนกับจีนที่จะได้รับผลกระทบมาก

“การเกินดุลหรือขาดดุลการค้ามันขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะเป็นอย่างไร ค้าขายอะไร เพราะทุกประเทศไม่เหมือนกัน อย่างจีนเชื่อว่าคงหนักสุด ส่วนไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกไปจีนด้วยหรือไม่นั้นเชื่อว่าคงไม่มาก”

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรมว.พาณิชย์กล่าวว่ามีความกังวลหากสหรัฐจะใช้จุดอ่อนในข้อกฎหมายของไทยเป็นจุดหาเรื่องโจมตี ออกมาตรการทางการค้าที่ไม่เหมาะสมเพราะไทยยังมีกฎหมายการค้าการลงทุนที่ล้าสมัย โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ระบบศุลกากร ปัญหาด้านแรงงาน รวมถึงกฎหมายด้านการบิน ถึงแม้รัฐบาลพยายามแก้ไขแต่ก็ยังไม่เร็วพอยังค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงต้องเร่งให้เร็วขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นต้องใช้ มาตรา 44 แค่ใช้การพิจารณาโดยยึดหลักสากลก็พอ

“แนวคิดของโดนัลด์ ทรัมป์ ถือว่าผิดหลักวิชาการในการมองเรื่องการค้า เพราะการขาดดุลหรือเกินดุล ตามหลัก สากลจะไม่คิดเป็นรายประเทศ แต่ควรมองทั้งระบบ ผมยังไม่อยากให้เกิดการตื่นตระหนก เพราะเป็นเพียงการเริ่มต้นการเจรจาการค้าในโลกยุคใหม่ ระหว่างไทยกับสหรัฐ หวังว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันที่ดี และหวังว่าผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือยูเอสทีอาร์ จะสนับสนุนการค้าแบบพหุภาคีมากกว่า” นายณรงค์ชัยกล่าว

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำสหรัฐติดตามและประเมินผลกระทบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 10% ของการส่งออกภาพรวม แต่การที่สหรัฐเร่งลดการขาดดุลการค้าของประเทศไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกภาพรวมของไทยและการส่งออกของไทยไปสหรัฐ เนื่องจากสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากไทยเป็นสินค้าที่สหรัฐผลิตเองไม่ได้ หรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จึงเชื่อว่าหากลดการขาดดุลการค้าด้วยการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากไทย อาจจะทำให้ต้นทุนสินค้าในสหรัฐสูงขึ้นและกระทบต่อการบริโภคของสหรัฐเอง ประกอบกับสินค้าที่ไทยส่งออกเป็นสินค้าที่ไม่ได้แข่งขันโดยตรงกับสหรัฐจึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมาก และแนวโน้มการส่งออกไปสหรัฐปีนี้น่าจะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ากระทรวงฯได้เชิญผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ มาหารือเพื่อเตรียมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยจุดยืนของประเทศไทยยังย้ำว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐไม่ได้มีมิติเฉพาะการค้าแต่ยังมีการลงทุน ความมั่นคง และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม

การตัดสินใจของสหรัฐเชื่อว่าจะต้องรอบคอบ โดยประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการใดๆ แทรกแซงค่าเงินทำให้อ่อนค่าจนทำให้เกินดุลการค้ากับสหรัฐ รวมถึงดึงการลงทุนเข้ามาในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลไทยให้การส่งเสริม ก็ไม่ได้ดึงนักลงทุนสหรัฐเข้ามาเท่านั้น แต่ดึงจากทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม จะประสานกับผู้แทนการค้าสหรัฐเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างใกล้ชิด

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่าคงต้องดูว่าจะทำให้แนวทางการทบทวนประกาศให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ต่อผลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่จะประกาศช่วงเดือนเมษายนของทุกปีหรือไม่ คงต้องดูว่าไทยจะถูกปรับสถานะดีขึ้นหรือเท่าเดิมรวมถึงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ไทยได้รับมาก่อนหน้านี้จะถูกทบทวนหรือไม่

สหรัฐเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย โดยปี 2559 การค้าระหว่างไทยและสหรัฐมีมูลค่า 36,551 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 24,494 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐ มูลค่า 12,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามากกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ดุลการค้ามาโดยตลอด

สำหรับเดือนมกราคม 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอยู่ที่ 3,216 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.55% สหรัฐขาดดุลการค้ากับไทย 1,546 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.52% ส่วนไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 2,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.55% สินค้าสำคัญ อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ สินค้าที่สหรัฐส่งออกมาไทยส่วนมากเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 

แจงสี่เบีย :กรมพัฒนาที่ดินแนะวิธีจัดการน้ำอย่างประหยัดช่วงหน้าแล้ง

กรมพัฒนาที่ดินแนะวิธีการจัดการน้ำอย่างประหยัด เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่เตรียมความพร้อม ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง โดยการจัดการน้ำอย่างประหยัด มีดังนี้

1.การให้น้ำแบบประหยัดเหนือผิวดิน เป็นการให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น การให้น้ำแบบหยด การให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์ โดยต้องมีแหล่งเก็บกักน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องกรองน้ำ ท่อพีวีซี ท่อพีอี หัวหยดและหัวเหวี่ยงน้ำ และสามารถเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกได้ ใช้ได้กับดินทุกประเภทประหยัดแรงงาน เวลา และพลังงานในการให้น้ำ

2.การให้น้ำแบบประหยัดใต้ผิวดิน ด้วยวัสดุที่หาง่ายและราคาถูก ได้แก่ การให้น้ำด้วยตุ่มดินเผานำตุ่มดินเผาที่มีรูพรุนความจุ

5-7 ลิตร มาฝังดินใกล้โคนต้นพืช โดยให้ฝาตุ่มอยู่ในระดับผิวดิน ใส่น้ำให้เต็มแล้วปิดฝาเพื่อป้องกันการระเหยน้ำ น้ำจากตุ่มจะค่อยๆ ซึมออกมาทางรูพรุนรอบตุ่ม เมื่อน้ำในตุ่มหมดก็คอยเติมให้เต็มซึ่งใช้เวลา 10 วันต่อครั้ง วิธีนี้เหมาะสมสำหรับไม้ยืนต้น หรือไม้ผลทั่วไปที่ยังมีอายุน้อยระยะเริ่มปลูก เพื่อให้ตั้งตัวได้ในระยะ 2-3 ปีแรก

การให้น้ำด้วยขวดพลาสติก หรือขวดแก้ว โดยนำมาใส่น้ำจนเต็มแล้วคว่ำลงไปในดินลึกประมาณ 10 ซ.ม. บริเวณโคนต้นประมาณต้นละ 2 ขวด เติมน้ำ 4-5 วันต่อครั้งสำหรับขวดขนาด 750 ซีซี การให้น้ำด้วยแกลลอนน้ำมันเครื่อง นำแกลลอนที่เหลือใช้มาเจาะรูด้านข้างแล้วใช้ด้ายดิบเส้นใหญ่ตัดให้ยาว 1 นิ้วมาอุดรูที่เจาะไว้ให้แน่นเมื่อใส่น้ำในแกลลอน น้ำจะค่อยๆ หยดออกมาตามเส้นด้าย นำแกลลอนไปฝังดินห่างจากโคนต้น 1 คืบ โดยหันด้านที่น้ำหยดเข้าหาโคนต้น โดยการให้น้ำใต้ผิวดิน เหมาะสมสำหรับไม้ผลหรือไม้ยืนต้นทั่วไปที่ค่อนข้างทนแล้งและเพิ่งปลูกใหม่

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเตรียมพร้อมมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามช่วงฤดูกาล และส่งผลกระทบ

 ต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรและภาคการเกษตรในวงกว้าง แม้สถานการณ์ในปีนี้จะไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ประมาท จึงควรเรียมแผนรับมือไว้ทุกด้าน เพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่ให้มากที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 

เกษตรฯเดินหน้าขับเคลื่อน 14 นโยบาย

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

              เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 60 ที่ผ่านมา  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสครบ 125 ปี ซึ่งในปีนี้ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมพิธี ณ บริเวณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาการปฏิรูปประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 20 ปี ตามแนวคิดประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ทั้งด้านสังคม มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดทั้งมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร โดยได้มีการเร่งรัดขับเคลื่อน 14 นโยบายสำคัญ ประกอบด้วย (1) การขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร   ซึ่งเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ (2) การทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง เป้าหมาย 1,512 แปลง (3) การวางแผนผลิตสินค้าเกษตรให้ตรงกับสภาพพื้นที่ Zoning by Agri-Map มีเป้าหมาย 300,000 ไร่ (4) ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร เป้าหมายกว่า 2 แสนไร่ (5) การขับเคลื่อนธนาคารสินค้าเกษตร (6) การเพิ่มระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ ให้ทั่วถึงแปลงเกษตรกรรม เป้าหมาย 32 ล้านไร่ (7) นโยบายแผนข้าวครบวงจร (8) การจัดการที่ทำกินให้เกษตรกร โดย ส.ป.ก. ได้ยึดคืนที่ดินผิดกฎหมาย นำมาส้างระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรเพื่อส่งมอบให้เกษตรกร เป้าหมาย 1 แสนไร่ (9) การจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มเติม (10) การพัฒนายกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ 7,000 แห่ง (11) การพัฒนาข้าราชการและเกษตรกร ให้เป็น Smart Officer เป้าหมาย 2,000 คน (12) Smart Farmer กำหนดเป้าหมายเกษตรกรในวัยแรงงาน (อายุ 18 – 64 ปี) จำนวน 44,306 ราย (13) ด้านกฎหมายกำหนดให้ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ และ (14) การน้อมนำศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาดำเนิน "โครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" เป้าหมายเกษตรกร 70,000 ราย เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นการรวมพลังของบุคลากรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกรตัวอย่าง หรือที่เรียกกันว่า ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ที่ร่วมคิดร่วมทำกันอย่างแท้จริง

                 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้ มีพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ศาลพระภูมิ ท้าวเวสสุวัณ ศาลตา - ยาย องค์พระพิรุณทรงนาค และองค์พระพิรุณทรงนาคในพิพิธภัณฑ์ พิธีสงฆ์ ถวายตาลปัตรที่ระลึกงานวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์   125 ปี ถวายภัตตาหาร และจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ นอกจากนั้น มีพิธีมอบประกาศนียบัตรข้าราชการ    พลเรือนดีเด่น และพนักงานราชการดีเด่น และโล่เชิดชูเกียรติของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปี 2559

              อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงชื่ออย่างต่อเนื่อง จากกระทรวงเกษตรพนิชการ มาเป็นกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรพาณิชยการ กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตร จนมาสู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน  ทั้งนี้  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์  “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน” โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานอย่างเหมาะสมและยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการจัดสรรทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างพอเพียง มีประสิทธิภาพยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสม โดยมีส่วนราชการในสังกัด จำนวน 16 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รัฐวิสาหกิจในสังกัด จำนวน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และการยางแห่งประเทศไทย และองค์การมหาชนในสังกัด จำนวน 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาและวิจัยการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 

รายงานพิเศษ: สอบไทย-ติด16ปท.ทำสหรัฐขาดดุล 

           กรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ สั่งสอบ 16 ประเทศที่อยู่ในข่ายทำสหรัฐขาดดุลการค้า เพื่อหา สาเหตุว่ามีความผิดปกติ หรือละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้า หรือไม่

          การตรวจสอบจะมีผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง มีโอกาสที่ไทยจะถูกลดสิทธิพิเศษ หรือกีดกันทางการค้าหรือไม่

          และต้องรับมือเรื่องนี้อย่างไร

          อนุสรณ์ ธรรมใจ

          รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริหารวิชาการ ม.รังสิต

          ต้องรอดูคำสั่งที่ทรัมป์ สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องไปทำสรุปรายงานผลการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของการขาดดุลการค้ากับไทยออกมาก่อน ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 เดือน

          ถึงตอนนั้นจะทราบว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับไทย บ้าง ซึ่งต้องเกิดแน่นอนโดยเฉพาะผู้ส่งออกกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างที่สหรัฐกำลังจัดทำผลการศึกษา ไทย ก็ต้อง เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย

          ยิ่งไทยมีการรัฐประหาร มีรัฐบาล คสช.บริหารประเทศ สหรัฐอาจใช้เป็นข้ออ้างกีดกันการค้ากับเราก็เป็นได้ เพราะในสมัยนายบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดี คนก่อน ก็เคย อ้างเรื่องของความไม่เป็นประชาธิปไตยมาแล้ว

          ทรัมป์ อาจไม่ให้น้ำหนักส่วนนี้เหมือนโอบามา แต่เนื่องจากปี 2559 ที่ผ่านมาไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐเกือบ 6.5 แสนล้านบาท ถือเป็นการขาดดุลสูงที่สุดในรอบ 3 ปีของสหรัฐ ทรัมป์คงต้องคิดเยอะพอสมควรว่าทำไมขาดดุลให้เรามากขนาดนี้

          โอกาสที่สหรัฐจะตั้งกำแพงทางภาษีกับเรา หรือออกเป็น

          มาตรการพิเศษ เพื่อกีดกันทางการค้าก็มีความเป็น ไปได้ ต้องรอดูรายละเอียดจากทางสหรัฐอีกครั้ง

          ในภูมิภาคอาเซียนนอกเหนือจากไทยที่ถูกตรวจสอบก็ยังมีมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย ไทยจำเป็นต้องผนึกกำลังกับอีกสองประเทศสมาชิก ดังกล่าวในการเจรจาเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง อย่าไปเจรจาแบบเดี่ยวๆ กับสหรัฐ

          ที่น่าสนใจและน่าจับตาดู คือกรณีนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน จะเข้าพบกับประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อหารือช่วงวันที่ 6-7 เม.ย.นี้ก่อน เพราะแค่สหรัฐกีดกันการค้าจีน ก็จะส่งผลกระทบไทยอย่างแน่นอน เพราะไทยถือเป็นประเทศคั่นกลางในการ ส่งสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ ไปยังจีน

          ทรัมป์อาจไม่ค่อยสนใจด้านการทูต ออกแนวเป็นนักธุรกิจมากกว่า การที่ทรัมป์บอกจะตรวจสอบ 16 ประเทศที่ทำให้สหรัฐขาดดุลนั้น ส่วนหนึ่งหวังสร้างแรงกดดัน อีกส่วนก็หวังสร้างคะแนนนิยมกับกลุ่มผู้สนับสนุน

          สิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือคือการหาช่องทางอื่นในการส่งออก อย่างเช่นการส่งออกผ่านประเทศที่สหรัฐไม่กีดกันการค้า แต่การปรับตัวเรื่องช่องทางการซื้อขายต้องใช้เวลามากพอสมควร

          อีกส่วนที่น่าสนใจคือการจับตามองว่าใครเป็นผู้แทนการค้าสหรัฐ มีบุคลิกลักษณะอย่างไร เพราะถือเป็นบุคคลที่มีอำนาจอย่างมาก ดังนั้นไทยเอง ก็ต้องหาผู้แทนการค้าที่มีความสามารถในการเจรจา ต้องเก่ง ทันเกมว่าจะเดินหมากอย่างไร

          การที่ประเทศยังไม่เข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ไทยต้องเจรจาโดยแสดงให้สหรัฐเห็นว่าเราจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน รวมถึงเรื่องแรงงานทาส ปัญหาการค้ามนุษย์ที่รัฐบาล คสช.กำลังเอาจริงเอาจัง

          เราต้องแสดงให้สหรัฐเห็นว่าเรากำลังแก้ปัญหาทุกอย่าง เพื่อไม่ให้สหรัฐหาเหตุ หรือยกมาเป็น ข้ออ้างในการตั้งกำแพงหรือกีดกันการค้ากับเรา

          นพพร เทพสิทธา

          ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

          มาตรการลดการขาดดุลการค้าของทรัมป์ต้องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดยดำเนินบทบาททางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวสหรัฐ นโยบายดังกล่าวมีทั้งผลดีและผลเสีย ต่อไทย

          สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือประเด็นภาพพจน์ของไทย หากสหรัฐยกประเด็นเรื่องปัญหาแรงงาน ประมง และทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยยังแก้ได้ไม่ตรงตามมาตรฐานสากล รวมถึงหากมีกรณีผู้ส่งออกไม่ระวังตัวทำผิดกฎการนำเข้าของสหรัฐ อาจกระทบต่อการนำเข้าในรายสินค้าได้

          หรือเรื่องมาตรฐานสินค้าหากไทย ไม่ยกระดับตัวเองก็อาจกระทบต่อการ ส่งออกในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกรายเล็กและรายกลางที่จะกระทบมาก ในส่วนผู้ส่งออกรายใหญ่เชื่อว่าการค้าที่ทำร่วมกับสหรัฐมายาวนาน และมาตรฐานที่รักษามาตลอดจะไม่กระทบ

          ส่วนผลดี หากสหรัฐไม่ยกประเด็นใดมาตั้งแง่กับไทยก็เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาพพจน์ที่ดีของไทย

          อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งที่สหรัฐอาจหยิบยกมา เพื่อรับมือได้ทันท่วงที หากมีประเด็นใดมาต้องสามารถชี้แจง โต้ตอบได้ทันที ไม่ใช่ขอเวลาตรวจสอบ

          และไทยต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสใช้ช่วงเวลานี้เตรียมการเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐและประเทศอื่นเพื่อเพิ่มช่องทางตลาดให้ไทย

          ส่วนกรณีค่าเงินที่แข็งค่ามาอยู่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามจะกระทบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกไม่ราบรื่นสวนทางกับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต จะกระทบกับผู้ ส่งออกรายเล็ก รายกลาง อาจทำให้การ ส่งออกชะงักไปบ้าง

          เจน นำชัยศิริ

          ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

          ขณะนี้ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างติดตามความ คืบหน้าผลสอบของสหรัฐด้วยว่าจะออกมาอย่างไร และสุดท้ายสหรัฐจะมีมาตรการปฏิบัติต่อไทย รวมถึงประเทศต่างๆ อย่างไรหลังมีข้อสรุปออกมาชัดเจนแล้ว

          ส.อ.ท.เตรียมหารือกับฝ่ายส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้ประสานไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลการค้ากับประเทศสหรัฐ ทั้งลักษณะการส่งออกโดยตรง รวมถึงการส่งออกทางอ้อมไปยังประเทศอื่นที่ส่งออกไปยังสหรัฐ เพื่อวิเคราะห์ผลเสียที่ไทยจะได้รับผลกระทบรอบด้าน

          ตอนนี้เราทำได้เพียงรวบรวมข้อมูลนำมาประเมินผลกระทบ เบื้องต้นอาจต้องแยกการวิเคราะห์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้าที่ส่งออกเป็นวัตถุดิบ เช่น อาหาร ที่อาจได้รับผล กระทบบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะเป็นวัตถุดิบที่สหรัฐจำเป็นต้องนำเข้า กับกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปที่ต้องมาดูในรายละเอียดอีกครั้ง

          อีกมุมหนึ่ง ส.อ.ท.ยังต้องศึกษาผลกระทบทางอ้อม หากสหรัฐมีมาตรการกีดกันสินค้าที่นำเข้าจากจีนซึ่งในจำนวนนี้ก็มีสินค้าของไทยรวมอยู่ด้วย เป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูกันต่อไป โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนส่งออกสินค้าโดยรวมไปจีนประมาณ 8-9% ใกล้เคียงกับที่ส่งออกไปสหรัฐที่ประมาณ 9-10%

          ทั้งนี้ ทรัมป์พูดมาโดยตลอดว่าอยากให้ประเทศของตัวเองมีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐนำเข้าแบบสำเร็จรูปโดยตรงน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ

          ไทยจึงต้องมาตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกันว่าที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐปริมาณเท่าไร ถ้าไม่มากก็อาจไม่โดนเพ่งเล็งตามที่กังวล

          กิตติ ลิ่มสกุล

          คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น

          มาตรการเพื่อลดการขาดดุลทางการค้ากับหลายประเทศทั่วโลกของ ทรัมป์ เป็นไปตามนโยบายอเมริกัน เฟิร์สต์ ที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งเกิดจากมุมมองทางการค้าที่มี 2 ลักษณะคือ การค้าเสรีกับการค้าที่เป็นธรรม ภายใต้รัฐบาลรีพลับลิกันมองว่าระบบการค้าเสรีของโลกนั้น บางชาติมีกิจกรรมทางการค้าไม่เป็นธรรมกับเขา

          ภาพกว้างของคำสั่งชุดนี้คือเกมของมหาอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นสำคัญ แต่จีนไม่ใช่หมู ศักยภาพการต่อรองจะเป็นผลพวงของคำสั่งนี้ ซึ่งมีหลายทาง

          ผลของคำสั่งดูเหมือนจะกระทบอย่างกว้างขวางกับประเทศกำลังพัฒนามากกว่า เนื่องจากศักยภาพในการแข่งขันและอำนาจต่อรองน้อยกว่าชาติมหาอำนาจอื่น ไทยเองก็อยู่ในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องหาหนทางรับมือ ภาคการส่งออกจะกระทบหนักโดยเฉพาะด้านอาหารทะเลแช่แข็ง ที่แน่นอนว่าจะเจอกับการเพิ่มกำแพงภาษีที่สูงขึ้น

          เครื่องมืออื่นที่เกี่ยวเนื่องต่อการกดดันทางการค้าคือ ประเด็นเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงาน ชาติมหาอำนาจอย่างจีนไม่มีปัญหาแน่ เพราะใช้รูปแบบสังคมนิยม ประชาชนและแรงงานมีสิทธิประโยชน์อื่นนอกจากค่าแรงอยู่แล้ว สามารถชี้แจงได้ แต่ไทยมีหลายคำถามด้วยกันทั้งการใช้แรงงานเด็ก สวัสดิการแรงงาน

          ที่สำคัญคือแรงงานต่างด้านผิดกฎหมาย ที่ยังเป็นปัญหาไม่จบสิ้น นายทุนก็ไม่ลงทะเบียนให้ครบถ้วนเพราะกลัวแรงงานหนี เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่เต็มที่ เพราะกลัวไม่มีแรงงานนอกระบบให้บริหารจัดการ ยังดีที่ภาครัฐพยายามแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

          หากไม่เตรียมพร้อมก็อาจเจอกับวิธีการทุ่มตลาด เช่น การบังคับถอดหัวกุ้งแล้วชั่งน้ำหนักเทียบกับราคาขายกับชาติอื่นๆ ทันที เพื่อดูความ คุ้มค่า ชาติที่เอามาเทียบก็อาจเป็นกลุ่มลูกไล่ของสหรัฐเอง เราอาจถูกกดดันจากตรงนี้ได้อีก

          อีกประเด็นที่ต้องเตรียมศึกษารับมือคือ ธุรกิจส่งออกในอุตสหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเชื้อเพลิง น้ำมัน ถ่านหิน เพราะทรัมป์ ไม่เชื่อโลกร้อน ไม่เน้นพลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์ส่งออกในไลน์นี้ของไทยต้อง เตรียมตัว

          นอกจากนี้ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญหาของพวกเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และสิทธิบัตรยา ต้องบริหารจัดการให้ดี จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สหรัฐจะนำมาใช้คู่ขนานมาตรการกดดันทางอื่น เนื่องจากตลาดส่วนนี้มีขนาดใหญ่ในประเทศ หากถูกเจาะได้ก็หมายถึงได้ตลาดอื่นของประเทศเพื่อนบ้านด้วยและปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีปัญหาเรื่องพวกนี้อยู่มาก

          สัญญาณอีกอย่างที่มาพร้อมกับคำสั่งนี้ของทรัมป์คือ การเอนเอียงไปทางฝั่งจีนมากขึ้นของรัฐบาลทหารที่เลือกซื้อเรือดำน้ำจีน จะยิ่งทำให้มีผลกระทบทางอ้อมกับไทย

          ระหว่างที่ภัยกำลังเกิดขึ้นมันหมายถึงโอกาสที่ตามมา แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้คนไทยมาไล่ทุบกันเอง กลุ่มทุนที่สนับสนุนทหารก็ได้ประโยชน์ช่วงระยะเวลาหนึ่ง พอเกิดปัญหาลักษณะนี้ตามมาก็เดินต่อได้ยาก ภาคเอกชนอีกกลุ่มหนึ่งก็ถอยหนีไปลงทุนกับเพื่อนบ้าน

          หนทางรับมือที่จะส่งผลดีที่สุดคือ เลือกตั้ง กลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ผมไม่รู้ แต่อย่างน้อยมันต้องเป็นไป ตามกติกาสากล เพราะเศรษฐกิจและการเมืองเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 

เต้น!ทรัมป์บี้ขาดดุลการค้า สอท.รุดถกภาครัฐแก้เกม พณ.กังวลมีจุดอ่อนเพียบ 

* ส.อ.ท.เร่งหารือ ภาครัฐรวบรวมข้อมูลการค้ากับสหรัฐ รับมือนโยบาย "ทรัมป์" ด้าน "พาณิชย์" ยอมรับกังวลไทยจุดอ่อนเพียบ ทั้งทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน จีเอสพี ห่วงโดนด้วยซ้ำไม่ปลดบัญชีดำ ส่วนคลังมั่นใจกระทบไม่มาก เทียบจีนหนักสุด

          นายเจน นำชัยศิริ ประ ธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประ เทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ประเทศไทยติดอยู่รายชื่อ 16 ประเทศที่นายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามคำสั่งให้ดำเนินการตรวจสอบเพราะเข้าข่ายทำให้สหรัฐเสียดุลการค้า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ว่า เตรียมประสานไปยังกระทรวงอุตสาห กรรม กระทรวงพาณิชย์ และ

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลการค้ากับประเทศสหรัฐทั้งลักษณะการส่งออกโดยตรง รวมถึงการส่งออกทางอ้อมไปยังประเทศอื่นที่ส่งออกไปยังสหรัฐ เพื่อวิเคราะห์ผลเสียที่ไทยจะได้รับผลกระทบ

          "ยอมรับว่าอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมหากสหรัฐให้มาตรการกีดกันสินค้าที่นำเข้าจากจีน ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีสินค้าของไทยรวมอยู่ด้วย เป็น

          ประเด็นที่ต้องจับตาดูกันต่อไป โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนส่งออกสินค้าโดยรวมไปจีนประมาณ 8-9% ใกล้เคียงกับที่ส่งออกไปสหรัฐที่ประมาณ 9-10%" นายเจนกล่าว

          นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของคำสั่งดังกล่าว ซึ่งในเร็วๆ นี้กระทรวงจะเชิญผู้ประกอบการ และภาคเอกชนที่อาจได้รับผล กระทบมาหารือเพื่อหาแนวทางการรับมือมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐอาจนำมาใช้กับไทย

          ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดุลการค้าสหรัฐเป็นอันดับที่ 11 ซึ่งสร้างความกังวลให้กับไทย เพราะสหรัฐเป็นตลาดหลักส่งออกของไทย และที่กังวลคือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของไทย สหรัฐอาจหยิบยกมากำหนดเป็นมาตร การใช้กับไทย หรือไม่ปลดไทยออกจากการถูกจับตามอง เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การใช้แรงงานผิดกฎหมาย ในสินค้าประมง อ้อย สิ่งทอ, การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่สหรัฐอาจตัดสิทธิสินค้าบางรายการ, สินค้าไทยบางรายการถูกสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนการทุ่มตลาด (AD/CVD)  เป็นต้น

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง กล่าวว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักสุด คือ จีน สำหรับไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย โดยอาจจะมีเพียงบางอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาห กรรมสิ่งทอ

          ส่วนกรณีที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรระยะสั้นของไทย ยอมรับว่ามีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาจริง แต่ไม่ใช่ระดับที่มากมายอะไร และยัง อยู่ในบริบทที่ธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) ดูแลได้ โดยมองว่าภาวะดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติ.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 

'อุตตม' เร่งดึงลงทุนไทย-เทศเข้าEECนายกฯลงพื้นที่5เม.ย.เคาะ5โครงการ 

          - "อุตตม" สั่งเร่งตั้งคณะทำงานดึงการลงทุนไทย-เทศเข้าปักหมุดลงทุนในพื้นที่ EEC มั่นใจบิ๊กธุรกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้า หมายพาเหรดมาแน่ ล่าสุดอาลีบาบา ยันลงทุนไทยแน่นอนแล้วรายอื่นๆ จะตามมาอีกพร้อมลุ้น 5 เม.ย.บิ๊กตู่เคาะเดินหน้า 5 โครงการใน EEC ด้านศูนย์ทดสอบยางล้อฯ คืบเฟสแรกจ่อเปิดปีนี้

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ (EEC) ไปจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เพื่อดึงการลงทุนเข้ามายังระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ที่เป้าหมายระยะยาวของรัฐบาลในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศซึ่งเชื่อมั่น ว่า EEC จะเป็นกลไกสำคัญในการที่จะก่อให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ของไทย อีกครั้ง

          "เราได้ประสานที่จะชักจูงนักลงทุนรายสำคัญที่แสดงความสนใจโดยเฉพาะรายใหญ่ที่เป็นระดับประเทศหรือระดับโลกทั้งไทยและต่างชาติเพื่อที่จะขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างกรณีลาซาด้ากรุ๊ปที่ล่าสุดได้หารือกับผู้บริหาระดับสูงก็ยืนยัน จะเข้ามาลงทุนเมืองอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซใน EEC ก็เป็นอีก 1 ราย ที่เป็นระดับโลก แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้น รายอื่นๆ ที่จะเข้ามาในกลุ่มนี้" นาย อุตตมกล่าว

          ทั้งนี้ วันที่ 5 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไปเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จ.ระยองซึ่งจะได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและการเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมอากาศยานการบินไทยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งการประชุมฯจะมีการพิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะใน 2 โครงการหลัก  ได้แก่  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา  และการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง ที่จะต้องประกาศ TOR ให้เอกชนมาลงทุนในกลางปีนี้ และเปิดประมูลให้ได้ในปีนี้ หลังจากผ่านขั้นตอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

          "จะมีการขอมติเพื่อที่จะเดินหน้าการลงทุนซึ่งเป้าหมายระยะแรกจะมี 5 โครงการใน EEC ลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายใน 5 ปี โดย 5 โครงการหลักดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ 15 โครงการที่จะพัฒนาในอีอีซี ประกอบด้วย 1. โครงสร้างพื้นฐานพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภา เชื่อมกับสนามบินหลักของไทยและให้กลายเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก 2. โครงการรถไฟความเร็วสูงและรางคู่ 3. ท่าเรือที่จะรองรับทั้ง การขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว 4. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น และ 5. การสร้างเมืองใหม่" นายอุตตมกล่าว

          ส่วนความก้าวหน้าโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ กรอบวงเงิน 3,705 ล้านบาท โดยรัฐลงทุนบนพื้นที่ 1,234 ไร่ ณ เขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา  นายอุตตมกล่าวว่า สำนัก งานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้รายงานว่าได้ว่าจ้าง บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ร่วมมือกับ แอพพลัส อีเดียด้า ประเทศสเปน เป็นที่ปรึกษาโครงการในการจัดทำแผนหลักและออกแบบการใช้พื้นที่ในภาพรวมทั้งโครงการ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งขณะนี้มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน และคาดว่าระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ UN R117 จะสามารถดำเนินการได้ในปี 2560 และโครงการทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562

          "การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ นับเป็นเมกะโปร-เจกต์หนึ่งที่จะช่วยยกระดับประเทศ จากการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ (Production Hub) สู่การเป็นฐานการวิจัยและพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วน (R&D Hub)" นายอุตตมกล่าว.

จาก http://manager.co.th   วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

'ทรัมป์'จ่อลงดาบ16ชาติได้ดุลค้ามะกันส่งออกไทยระทึก สอบ90วันขึ้นภาษีกีดกัน หอค้าชี้กระทบทางอ้อม2ชาติตั้งโต๊ะถกร่วมวันนี้คุมเข้มลงทะเบียนคนจน'พณ.'จัดลดราคาชุดนร.รบ.ลุย5โปรเจ็กต์'อีอีซี

           เยอรมนีประท้วง'ทรัมป์'เก็บภาษีทุ่มตลาดเหล็ก ที่ทำผิดกฎ'ดับเบิลยูทีโอ' ผอ.องค์การการค้าโลกจับตานโยบาย ปธน.สหรัฐขู่จัดการ 16 ประเทศทำมะกันขาดดุลการค้า รวมไทยด้วย สั่ง ก.พาณิชย์สหรัฐตรวจสอบ 90 วันก่อนลงดาบฟัน เอกชน-นักวิชาการหนุนไทยถกสหรัฐ

          ทรัมป์กร้าวจัดการ16ปท.-ไทยด้วย

          เมื่อวันที่ 2 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี 2 ฉบับ มีเป้าหมายเพื่อยุติการขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนหรือราว 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีลง โดยพุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแสวงหามาตรการเพื่อดำเนินการต่อประเทศต่างๆ ที่สหรัฐกำลังเสียดุลการค้ารวม 16 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งนายทรัมป์กล่าวรวมๆ โดยไม่ระบุชื่อประเทศออกมาว่าเป็นบรรดาประเทศที่ "ฉ้อโกง" ในการส่งสินค้าเข้ามาขายในสหรัฐมานาน โดยให้นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐตรวจสอบ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

          ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหลังการลงนามว่า เป้าหมายคำสั่งทั้ 2 ฉบับคือบรรดาประเทศที่ฉ้อโกงในการนำสินค้าเข้ามายังสหรัฐจะทำให้สัดส่วนการขาดดุลการค้าลดลง ซึ่งทรัมป์อ้างว่าสหรัฐขาดดุลการค้ามากนั้นสืบเนื่องจากพฤติกรรมขี้โกงของต่างชาติและ "ความตกลงการค้าที่แย่ๆ" โดยนาย วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์จะค้นหาปัจจัยและการละเมิดนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปเป็นพื้นฐานในการดำเนินการเท่าที่จำเป็นและถูกต้องตามกฎหมายเพื่อยุติการบิดเบือนที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือการเงิน ตนไม่แคร์ทั้งนั้น

          "นี่เท่ากับเป็นการปล้นโรงงานผลิตหลายพันแห่งไปจากประเทศเรา แต่ต่อไปนี้แรงงานอเมริกันที่ไม่มีปากมีเสียงจะมีเสียงที่เป็นตัวแทนพวกเขาในทำเนียบขาว" ทรัมป์กล่าว และว่า ภายใต้การบริหารของตนการขโมยความมั่งคั่งของอเมริกันไปจะต้องสิ้นสุดลง ตนจะปกป้องอุตสาหกรรมของเราและสร้างพื้นที่การแข่งขันที่เท่าเทียมกันขึ้นมาสำหรับแรงงานอเมริกันให้ได้ในที่สุด

          ฮึ่มเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าทุ่มตลาด

          รายงานข่าวแจ้งว่า ในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับแรก กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ตรวจสอบบรรดาประเทศที่สหรัฐกำลังขาดดุลการค้า 16 ประเทศเป็นรายประเทศ เพื่อจำแนกแยกแยะว่า การขาดดุลการค้าเกิดจากสาเหตุที่ผิดปกติและละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้าหรือไม่ ทั้งนี้ ใน 16 ประเทศที่ถูกระบุนั้น มีประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าอยู่สูงสุด 6 ประเทศ จีน (347,000 ล้านดอลลาร์), ญี่ปุ่น (68,900 ล้านดอลลาร์), เยอรมนี (64,900 ล้านดอลลาร์), เม็กซิโก (63,200 ล้านดอลลาร์), ไอร์แลนด์ (35,900 ล้านดอลลาร์) และ เวียดนาม (32,000 ล้านดอลลาร์) นอกจากนั้น ยังมีอีก 10 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว คือ อิตาลี, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไทย, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และ แคนาดา

          ส่วนคำสั่งฉบับที่ 2 เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่อการคุ้มครองพรมแดนและศุลกากร (ซีบีพี หรือสำนักงานศุลกากรเดิม) ของสหรัฐประเมิน และดำเนินมาตรการลงโทษทางการเงินต่อสินค้าที่ส่งเข้ามาด้วยพฤติกรรมทางการค้าผิดปกติและไม่เป็นธรรม หรือเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้การกระทำที่เข้าข่ายการทุ่มตลาด ทั้งนี้ นายชอว์น สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาวอ้างว่า นับตั้งแต่ปี 2544 ซีบีพี ไม่ได้จัดเก็บเงินที่เป็นภาษีทำนองนี้มา รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์

          เล็งสอบสินค้าเกษตร-เหล็กกล้า

          เอเอฟพีรายงานว่า นายรอสส์ กล่าวถึงคำสั่งประธานาธิบดีนี้ว่า จะส่งผลให้มีการวิเคราะห์การค้า "เป็นรายประเทศและรายสินค้า" เพื่อมองหาหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการ "โกง" หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางด้านการค้าอยู่หรือไม่ อาทิ การไม่ทำการค้าตามความตกลงทางการค้าระหว่างกัน, การไม่บังคับใช้ให้เป็นไปตามความตกลงทางการค้า, การบิดเบือนค่าเงินให้อ่อนค่าผิดปกติเพื่อผลทางการค้า, การเสียเปรียบทางการค้าที่เกิดจากข้อจำกัดตามกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความตกลงการค้าต่างๆ แหล่งใหญ่ที่เป็นที่มาของการขาดดุลการค้าของสหรัฐก็คือจีน

          นายรอสส์กล่าวด้วยว่า คำสั่งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าสหรัฐจำเป็นต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตอบโต้หรือใช้มาตรการปรับแก้กับทุกประเทศที่ระบุไว้ในรายการ โดยยกตัวอย่างว่า เช่นการนำเข้าน้ำมันจนขาดดุล ก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด เนื่องจากเป็นการนำเข้าที่แท้จริงเพราะสหรัฐผลิตได้ไม่เพียงพอกับการใช้ เช่นเดียวกับการขาดดุลกับประเทศที่ผลิตสินค้าซึ่งสหรัฐผลิตไม่ได้หรือไม่ผลิต และประเทศที่ผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งได้ดีกว่าหรือราคาถูกกว่าจริงๆ

          ด้านนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวถึงชนิดสินค้าที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบว่า มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ เหล็กกล้า, เคมีภัณฑ์, สินค้าเกษตร, เครื่องจักรกล มาตรการใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้จะยังคงเป็นไปในแนวทางตามที่ดับเบิลยูทีโอกำหนด ที่ผ่านมาสหรัฐเคยเก็บภาษีทำนองนี้มาแล้ว เพียงแต่ทำได้ไม่ดีนัก และดับเบิลยูทีโอเองก็ไม่ได้ทำอะไร

          ดับเบิลยูทีโอจับตานโยบายสหรัฐ

          ขณะที่นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ยต้องรอดูว่า นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐจะถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างไร แต่ยอมรับว่าเมื่อสหรัฐเป็นประเทศสำคัญในทางการค้า ทุกคนก็จำเป็นต้องจับตามอง

          ด้านนายซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวว่าทางการเยอรมนียื่นประท้วงต่อแผนการใช้มาตรการลงโทษทางการเงินเพื่อต่อต้านการทุ่มตลาดเหล็กแผ่นจากเยอรมนีและประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศ และกล่าวหาการดำเนินการของนายทรัมป์ว่า เป็นการละเมิดกฎการค้าโลก และทำให้ผู้ผลิตสินค้าในเยอรมนีเสียเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม

          ขณะที่หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมาสำนักงานสถิติและสำมะโนแห่งสหรัฐ ระบุว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอยู่ 18,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 15,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2558 และ 14,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2557 สินค้าที่เป็นกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้คือ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และยางรถยนต์ โดย 35% ของยางรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐเป็นยางที่นำเข้าจากประเทศไทย ขณะที่สหรัฐและจีนเป็นตลาดสินค้าออกใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา มีปริมาณส่งออกรวมกันแล้วสูงถึง 11% ของสินค้าออกทั้งหมดของไทย

          อาหารสำเร็จรูปเชื่อสหรัฐไม่คุมเข้ม

          นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคม ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึงกรณีนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะจัดการกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ จำนวน 16 ประเทศรวมถึงไทย ว่า เป็นการเน้นย้ำถึงนโยบายสหรัฐต้องมาก่อน หรืออเมริกา เฟิร์สต์ เป็นนโยบายภาพรวม เพื่อลดการนำเข้า และเน้นการผลิตในประเทศมากขึ้น ดึงการลงทุนกลับมาประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตาม สินค้าที่สหรัฐนำเข้าจำนวนมากก็ไม่ได้เป็นปัญหาทั้งหมด เพราะบางอย่างสหรัฐผลิตเองไม่ได้ การจะบล็อกนำเข้าต้องดูว่าสามารถนำกลับมาผลิตประเทศตัวเองได้จริงหรือยัง ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาสินค้าบางอย่างขาดแคลน

          นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ระยะสั้นยังไม่น่ากังวลมาก แม้ตลาดสหรัฐเป็นตลาดหลักการส่งออกของไทย เพราะสินค้าประเภทอาหารแปรรูป จากผัก ผลไม้ และอาหารทะเล สหรัฐยังมีความจำเป็นต้องนำเข้า เพราะปลูกเองไม่ได้ คงห้ามนำเข้า 100% ไม่ได้ แต่อาจหันมาลดการให้สิทธิพิเศษด้านภาษี (จีเอสพี) แทน

          "โอกาสตัดนำเข้าสินค้าจากไทยเลย 100% คงเป็นไปไม่ได้ คงดูเป็นรายสินค้าไป สินค้าไหนที่เขาทำได้เองก่อน หรือสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า ผู้ส่งออกอาจเหนื่อยหน่อย แต่สินค้ายังไม่สามารถทำเองได้และยังพึ่งพานำเข้า โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างอาหารก็คงไม่สามารถตัดได้ทันที" นายวิศิษฐ์กล่าว

          หอค้าคาดไทยกระทบทางอ้อม

          ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย  กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าของไทยกับสหรัฐมีสัดส่วนลดลงเหลือประมาณ 10-12% ของการส่งออกรวมของไทย เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐ ไทยมีสัดส่วนน้อยและคงไม่ใช่ประเทศแรกๆ ที่สหรัฐให้ความสนใจ จึงยังไม่น่ากังวล ไม่เหมือนกับจีนที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐจำนวนมาก อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายสหรัฐต้องมาก่อน (อเมริกา เฟิร์สต์) หรือแม้ นโยบายจะเน้นผลิตในประเทศมากขึ้น ดึงการลงทุนกลับไปประเทศก็ยังไม่กระทบต่อไทย เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่สหรัฐลงทุนในไทย เช่น ฮาร์ดดิสก์รุ่นเก่า ที่มีการผลิต ลดลง จากโลกเปลี่ยนใช้สินค้าเทคโนโลยีแทนที่

          "แต่ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เมื่อสหรัฐกีดกันการค้ากับจีน ซึ่งจีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อผลิตจากไทยรายใหญ่ จีนอาจลดผลิตและลดนำเข้า การส่งออกไทยก็จะลดลงตาม เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งหาตลาดใหม่ หรือปรับตัวเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น" ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าว

          ปธ.หอค้าหนุนทวิภาคีไทย-สหรัฐ

          นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ (TIFA JC) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ประจำปี 2560 ในวันที่ 3 เมษายน ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างไทยกับสหรัฐ ภายใต้รัฐบาลใหม่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐว่า เป็นการดีที่จะเริ่มมีการหารือกันอย่างเป็นทางการหลังนายโดนัลด์รับตำแหน่ง จะได้รู้ว่าแต่ละฝ่ายมีจุดยืนอย่างไร จุดแข็งจุดอ่อนเป็นอย่างไร เมื่อก่อนไทยแทบไม่มีสิทธิเข้าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) แต่ตอนนี้ไทยมีโอกาสคุยแบบทวิภาคีก็เป็นจุดดี เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้สหรัฐให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง

          "เห็นด้วยกับการหารือแบบทวิภาคี แต่ต้องระมัดระวังว่าไทยจะโดนบีบหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ประเทศที่ใหญ่กว่าจะบีบประเทศเล็ก ขณะเดียวกันตอนนี้มีหลายขั้วในโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น หรือยุโรป ดังนั้น ไทยต้องสร้างสมดุลให้ถูก ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ค่อนข้างสร้างสมดุลได้ดี" นายกลินท์กล่าว

          ม.หอการค้าแนะดึงเทคโนโลยี

          นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า อยากให้ไทยแสดงเจตจำนงเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยกับสหรัฐ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเปิดเจรจาทวิภาคีกับนานาประเทศ โดยเริ่มเจรจากับสมาชิกในทีพีพี ที่ตกลงกันก่อนแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย หากไทยล่าช้าในการเจรจาอาจเสียเปรียบในอนาคต อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับภาคบริการและทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยยังมีจุดอ่อนอยู่

          "การเจรจาไม่อยากให้จบแค่เปิดเสรีสินค้าหรือลดภาษีระหว่างกัน แต่ต้องพ่วงเรื่องการเพิ่มศักยภาพการผลิตของไทย ที่จะตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรม การเกษตร และการบริการ ที่สำคัญต้องลดอุปสรรคด้วย เช่น ตอนนี้ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เข้าสหรัฐต้องฉายรังสีก่อน ควรใช้ความเย็นแทนเหมือนนำเข้าในหลายประเทศ รวมทั้งส่งเสริมไทยเรื่องสินค้าปลอดสาร (ออร์แกนิค) หรือสินค้าไม่ตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)" นายอัทธ์กล่าว

          อจ.คาดสหรัฐกดดันไทยหนัก

          นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เน้นนโยบายสหรัฐต้องมาก่อน หรืออเมริกา เฟิร์สต์  โดยเอาตัวเองเป็นหลัก อาจเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่ตัวเองต้องการ ที่เคยเป็นข้อตกลงที่อยู่ในทีพีพี การหารือครั้งนี้มองว่าไทยจะถูกกดดันมากกว่า ซึ่งไทยต้องตั้งรับให้ดี คิดให้ดีว่าสิ่งที่เขากดดันมาอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือคำขู่ ต้องแยกให้ถูก สินค้าบางอย่างของไทยที่พึ่งพาตลาดสหรัฐสูง เช่น เสื้อผ้า ซึ่งไทยไม่ใช่เป็นผู้เล่นหลัก เขาจะขู่ไทยได้แต่อาหาร ไทยเป็นผู้เล่นหลักใน ตลาดสหรัฐ หากจะทำอะไรสหรัฐก็จะคำนึงถึงจุดนี้

          "การหารือนี้ไทยควรใช้โอกาสชี้แจงถึงการปฏิรูปการลงทุน แม้เขาจะกดดันมาว่าให้คุ้มครองนักลงทุน คนที่กังวลเรื่องนี้มากที่สุดคือนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น เราควรแสดงให้เห็นว่าเราคุ้มครองนักลงทุนอยู่แล้ว ประเด็นที่ต้องระมัดระวังอีกอย่าง คือทรัพย์สินทางปัญญา ที่อาจจะกระทบอุตสาหกรรมยา" นายอาชนันกล่าว และว่า สำหรับการพูดคุยระหว่างไทย-สหรัฐ ที่เน้นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจนั้น ไม่แตกต่างนักจากข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในอดีต พูดเฉพาะว่าจะลดภาษีเท่าไหร่ จะเปิดเสรีการค้าอย่างไร แต่วันนี้เพิ่มความร่วมมือเรื่องอื่นๆ เช่น เทคโนโลยี เพื่อให้เห็นถึงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ แต่ใจความสำคัญคือยังเป็นเอฟทีเอ ที่กรอบกว้างขึ้นทั้งสินค้า บริการ การลงทุน และทรัพย์สินทางปัญญา

          รบ.ชวนผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียน

          พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเริ่มเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐรอบที่ 2 ในวันที่ 3 เมษายนเป็นวันแรกจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ปีที่แล้วมีประชาชนลงทะเบียน 8,375,383 ราย แต่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 1,500 บาท และ 3,000 บาท จำนวน 7,715,359 ราย ในจำนวนนี้ได้รับเงินโอนไปแล้ว 7,525,363 ราย หรือร้อยละ 97.5 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด ส่วนที่เหลือไม่ได้รับเงินโอนเนื่องจากไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ไม่ไปติดต่อกับธนาคาร หรือบัญชีติดอายัด

          พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯให้ความสำคัญกับโครงการนี้มาก เพราะถือเป็นช่องทางให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ฝากเชิญชวนให้ผู้ที่มีคุณสมบัติไปลงทะเบียนได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานเขตในกรุงเทพฯเพื่อรับบัตรประจำตัวผู้มีรายได้น้อยในการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโดยสารรถสาธารณะ การประกันภัยผู้มีรายได้น้อย หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หลังจากลงทะเบียนแล้วสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ที่ www.epayment.go.th หรือที่ทำการกำนันผู้ใหญ่บ้าน

          คลังตรวจเข้มคุณสมบัติคนจน

          นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 เริ่มวันที่ 3 เมษายนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ขณะนี้มีความพร้อมทั้งหน่วยงานรับลงทะเบียนและหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน โดยในส่วนคุณสมบัติ ได้เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบมากขึ้น เพื่อปิดช่องคนที่จนไม่จริงแต่มาลงทะเบียน เช่น ต้องมีเงินฝากหรือมีสลากออมทรัพย์ ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหรือทาวน์เฮาส์ไม่เกิน 25 ตารางวา หรือห้องชุดไม่เกิน 35 ตารางเมตร และไม่มีที่ดินเพื่อการเกษตรเกิน 10 ไร่ หรือใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องไม่เกิน 1 ไร่

          นายพรชัยกล่าวว่า เมื่อหน่วยงานที่รับลงทะเบียน บันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ จะนำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบ ชื่อ นามสกุล สัญชาติ อายุ จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง ขณะที่กรมสรรพากรจะตรวจสอบเรื่องรายได้ ส่วนการการตรวจสอบเงินฝาก ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่งจะตรวจบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และฝากประจำ ทั้งบัญชีเดี่ยวและบัญชีร่วม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ของผู้ที่มาลงทะเบียน ส่วนสำนักงานที่ดินจะตรวจสอบที่ดินในภูมิลำเนาของผู้ลงทะเบียน การตรวจสอบผู้ที่มีคุณสมบัติจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม และจะประกาศรายชื่อผ่านเว็บไซต์ www.epayment.go.th และที่ทำการอำเภอ หรือสำนักงานเขต กทม. ซึ่งเป็นที่อยู่ผู้ลงทะเบียน และจะจัดส่งบัตรสวัสดิการให้ต่อไป

          รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องสิทธิประโยชน์จะให้ผู้ลงทะเบียน คือ ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ รถเมล์ รถไฟฟรี ส่วนลดค่ารถไฟฟ้า และกำลังพิจารณาเรื่องประกัน 99 บาทต่อรายต่อปี

          'บิ๊กตู่'ถกเดินหน้าลุย'อีอีซี'5เม.ย.

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ตั้งคณะทำงานเพื่อชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศมาลงทุนเข้ามาในอีอีซี เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะเน้นนักลงทุนรายรายใหญ่ระดับประเทศหรือระดับโลก ล่าสุด ลาซาด้า กรุ๊ป ยืนยันจะเข้ามาลงทุนเมืองอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในอีอีซีแล้ว

          "วันที่ 5 เมษายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง เพื่อติดตามความคืบหน้าและเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมอากาศยานการบิน อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ของสนามบินอู่ตะเภา ทั้งนี้ การประชุมจะพิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ 2 โครงการหลัก คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะต้องประกาศทีโออาร์ให้เอกชนมาลงทุนช่วงกลางปีและเปิดประมูลให้ได้ในปีนี้" นายอุตตมกล่าว

          ลุ้นเคาะ5โครงการยักษ์'อีอีซี'

          นายอุตตมกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะขอมติเพื่อเดินหน้าการลงทุนเป้าหมาย อีอีซีระยะแรก 5 โครงการ จากทั้งหมด 15 โครงการ เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี โดย 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เชื่อมกับสนามบินหลักของไทย และให้กลายเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก 2.โครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ 3.ท่าเรือที่จะรองรับการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว 4.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมชีวภาพ และ 5.การสร้างเมืองใหม่

          นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ วงเงิน 3,705 ล้านบาท โดยรัฐลงทุนบนพื้นที่ 1,234 ไร่ ที่สวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่ว่าจ้างบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งร่วมมือกับแอพพลัส อีเดียด้า ประเทศสเปน เป็นที่ปรึกษาโครงการในการจัดทำแผนหลัก และออกแบบการใช้พื้นที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 คาดว่าแผนลงทุนระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ ยูเอ็น อาร์117 จะดำเนินการได้ในปีนี้ และโครงการทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562 การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เป็นเมกะโปรเจ็กต์หนึ่งที่จะช่วยยกระดับประเทศ จากการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์สู่การเป็นฐานการวิจัยและพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วนด้วย

          พณ.พร้อมรับกม.แข่งขันการค้าใหม่

          น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว คาดว่ามีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนนี้ ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์พฤติกรรมทางการค้า และเตรียมแยกสำนักงานแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระ รวมถึงคัดเลือกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (บอร์ด) ชุดใหม่และเลขาธิการคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

          น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวอีกว่า กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่จะส่งผลดีต่อการกำกับดูแลธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมกฎหมายจะใช้โทษอาญา ทำให้ใช้ระยะเวลานาน แต่กฎหมายใหม่เพิ่มโทษทางปกครอง ทำให้บอร์ดแข่งขันทางการค้ามีอำนาจสั่งหยุดพฤติกรรมได้ทันที และสั่งปรับได้ ซึ่งจะหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ธุรกิจที่ถูกโทษทางปกครองสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้เช่นกัน ส่วนโทษทางอาญา เมื่อมีมูลความผิดชัดเจนจะส่งให้อัยการฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จากเดิมส่งฟ้องศาลอาญาเท่านั้น

          เผย5พฤติกรรมผิดแข่งขันการค้า

          รายงานข่าวแจ้งว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 คือ รวมหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้ามาอยู่ความดูแล แต่จะยกเว้นการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่ปฏิบัติตามมติ ครม.เพื่อประโยชน์สาธารณชนเท่านั้น รวมทั้งปรับปรุงหลักการ 5 พฤติกรรม ได้แก่  1.พฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาด (Dominance) ใช้เกณฑ์เดิม คือ ธุรกิจ 1 ราย ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% และยอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท และธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 75% และมียอดขายในตลาดแต่ละรายเกิน 1,000 ล้านบาท จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด หากมีพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดกลั่นแกล้งรายอื่น จะมีโทษอาญาคือจำคุก 2 ปี ปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด จากเดิมมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          2.พฤติกรรมการควบรวมธุรกิจ (Merger & Acquisition) กำหนดให้ธุรกิจที่ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ต้องขออนุญาตการควบรวมกิจการ หากไม่ดำเนินการตามจะมีโทษปรับ 0.5% ของมูลค่าธุรกิจ ส่วนธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดแต่หากควบรวมแล้วมีผลต่อการผูกขาดแข่งขันในตลาด ต้องมาแจ้งหลังควบรวมภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการจะมีโทษทางปกครองคือปรับ 2 แสนบาท และปรับอีก 1 หมื่นบาทต่อวัน

          3.พฤติกรรมการตกลงร่วมกัน (Cartels) แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ธุรกิจแข่งขันกันแต่ต่อมากลับไม่แข่งขันกัน มีการฮั้วกัน ตกลงราคา ปริมาณ แบ่งพื้นที่การขาย ยกเว้นธุรกิจในเครือ จะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด และกรณีที่ธุรกิจเป็นคู่ค้าแต่มีการฮั้วกันจนส่งผลกระทบต่อตลาด จะมีโทษปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด 4.พฤติกรรมแข่งขันไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practices) คือธุรกิจกีดกันคู่แข่ง ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่ากำหนดเงื่อนไขไม่เป็นธรรม จะมีโทษปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด และ 5.พฤติกรรมตกลงกับต่างประเทศที่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ (Unreasonable Agreement with Foreign Firm) จะมีโทษปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

          จ่อจัดแคมเปญลดราคาชุดนักเรียน

          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จะเชิญผู้ผลิตเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน หารือถึงต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่าย รวมถึงความร่วมมือจัดแคมเปญแบ๊คทูสคูลกับผู้ผลิตและห้างสรรพสินค้า เพื่อช่วยลดค่าครองชีพผู้ปกครองช่วงเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคมนี้  เบื้องต้นจากการตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนผลิตเสื้อผ้าชุดนักเรียนและรองเท้านักเรียน ยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

          นางนันทวัลย์กล่าวว่า สำหรับกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขอให้กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลเรื่องราคายาในโรงพยาบาลที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก และไม่ตรงกับราคาที่ปิดไว้ข้างกล่อง ว่า การพิจารณาราคายาหรือบริการเป็นธรรมหรือไม่ ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะดูแลไม่ให้เกิดการขาดแคลน หากประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมถึงการเข้าใช้บริการหรือซื้อยา สามารถร้องมาได้ที่กรมการค้าภายใน จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริง หากขายไม่สมเหตุสมผลถือว่ามีความผิด

          ขสมก.มั่นใจอุทธรณ์คดีเมล์เอ็นจีวี

          นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า จากกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ ขสมก.ตรวจรับรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัดนั้น ขสมก.เตรียมยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน คาดว่าต้องสู้ถึงศาลปกครองสูงสุด โดยเนื้อหาที่จะยื่นอุทธรณ์คือ 1.ประเด็นเรื่องรถที่ประกอบในประเทศมาเลเซียและประเทศจีนมีความแตกต่างหรือไม่ 2.ประเด็นคุณสมบัติของรถตรงตามสัญญาหรือไม่ ขสมก.มั่นใจในข้อมูลที่จะชี้แจงต่อศาล โดยวันที่ 3 เมษายน คณะอนุกรรมการบอร์ด ขสมก.จะหารือกัน

          นายสมศักดิ์กล่าวว่า ทั้งหมดนี้จะต้องสิ้นสุดภายใน 15 วัน จะทำให้รู้ผลว่าจะรับรถหรือจะยกเลิกสัญญา แต่ไม่ว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการที่ ขสมก.และกระทรวงคมนาคมดำเนินการควบคู่ไปจะออกมาอย่างไร ทาง ขสมก.จะดำเนินตามคำสั่งศาล เพียงแต่ต้องการให้หน่วยงานของ ขสมก.ดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อจะได้ไม่มีข้อกล่าวหาว่าซูเอี๋ย หากในอนาคตมีการตรวจสอบก็จะเห็นว่าทางหน่วยงานของรัฐทำเต็มที่แล้ว

          จ่อให้ประมงพื้นบ้านขอใบอนุญาต

          นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตาม พ.ร.ก.ประมง 2558 แบ่งการทำประมงในเขตน่านน้ำไทยออกเป็น 2 ประเภท คือประมงพื้นบ้าน ที่มีขนาดเรือไม่เกิน10 ตันกรอส และประมงพาณิชย์ที่มีขนาดเรือตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป โดยในกลุ่มของประมงพื้นบ้านนั้น ตาม พ.ร.ก. สนับสนุนให้จับสัตว์น้ำได้ไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล จากเดิมกำหนดไว้ 1.5 ไมล์ทะเล ทั้งนี้ เรือประมงพื้นบ้านไม่ต้องมีใบอนุญาตทำประมงที่ออกโดยกรมประมง แต่ต้องจดทะเบียนเรือจากกรมเจ้าท่า ขณะที่เรือประมงพาณิชย์ ต้องมีทั้งใบอนุญาตการทำประมงและจดทะเบียนเรือ ปัจจุบันมีเรือที่จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าแล้วรวม 37,000 ลำ แบ่งเป็น เรือประมงพื้นบ้าน 25,000 ลำ และเรือประมงพาณิชย์ 12,000 ลำ

          นายอดิศรกล่าวว่า เรือประมงพื้นบ้าน เริ่มมีจำนวนมากขึ้น โดยชาวประมงสามารถ ต่อเรือเองได้ มีการพัฒนาเครื่องมือจับปลา และส่วนใหญ่แม้จะทำประมงแบบพื้นบ้าน แต่สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนใหญ่นำมาจำหน่ายตาม

          ร้านอาหารภัตาคาร ซึ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งในต่างประเทศการทำประมงพื้นบ้านจะห้ามจำหน่าย ต้องทำเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น นอกจากนี้เรือประมงพื้นบ้านที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นเรือพาณิชย์ที่ย่อขนาดลง ดังนั้น หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นปัญหา กรมประมงจึงเตรียมออกประกาศให้เรือประมงพื้นบ้านทั้งหมดต้องขอใบอนุญาตการทำประมง เพื่อควบคุมเรือประมงพื้นบ้านให้อยู่ในระบบเช่นเดียวกับเรือประมงพาณิชย์

          "คำนิยามของประมงพื้นบ้านตามที่กำหนด คือทำการประมงเพื่อหาเช้ากินค่ำ ไม่ใช่ขายเป็นเรื่องเป็นราว รายได้วันหนึ่ง 2,000-3,000 บาท ซึ่งขัดกับคำนิยามที่ไม่ให้มีการขาย" นายอดิศรกล่าว และว่า เพื่อส่งเสริมกลุ่มประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐจะสนับสนุนให้ผลิตของดีคุณภาพสูงเพื่อเปิดช่องทางทางการตลาดใหม่ อาทิ ภัตตาคาร โรงงานแปรรูป โดยเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น ปลากุเลาเค็ม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หอย ชักตีน จ.กระบี่ เป็นต้น  

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

บราซิลยังไม่ตั้งคณะผู้ตัดสิน จี้ไทยแก้อุดหนุนอ้อยน้ำตาล

"มิตรผล" ตีปี๊บ ไทย-บราซิลตกลงเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทอุดหนุนน้ำตาลกันได้เบื้องต้น ขณะนี้ยังไม่มีการตั้ง คณะผู้พิจารณา (Panel) ใน WTO หลังบราซิลให้เวลาไทยอีก 2 เดือนจะส่งคณะเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลของประเทศไทย ภายใต้กระบวนการหารือกันต่อ

จากกรณีที่รัฐบาลบราซิลยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาล จนส่งผลกระทบต่อการส่งออก

น้ำตาลของบราซิลในเดือนพฤษภาคม 2559 จนทำให้บราซิลต้องปิดโรงงานน้ำตาลภายในประเทศไปกว่า 50 โรงงาน โดยทั้งฝ่ายไทยและบราซิลได้เข้าสู่กระบวนการหารือ (Consaltation) และได้มีการหารือกันไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) เพื่อตัดสินข้อพิพาทครั้งนี้หรือไม่ เนื่องจากฝ่ายไทยให้การยืนยันมาโดยตลอดว่า ไม่ได้ปฏิบัติผิดต่อหลักการที่ผูกพันไว้กับ WTO

ล่าสุด นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลทรายมิตรผล จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลการหารือระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับผู้แทนรัฐบาลบราซิลในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ปรากฏทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะไม่มีการตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) โดยฝ่ายบราซิลจะส่งคณะเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำตาลของประเทศไทยทุก ๆ 2 เดือน เพื่อทราบถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายกล่าวว่า สอน.ในฐานะหัวหน้าคณะได้เดินทางไปพร้อมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือกับบราซิล โดยไทยเสนอแผนการปรับโครงสร้างระบบอ้อยน้ำตาลในประเทศ เพื่อยกระดับให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและพัฒนาระบบอ้อยน้ำตาลแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน

"ไทยชี้แจงว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้มีนโยบายหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ขัดต่อหลักการของ WTO แต่ไทยก็ยินดีที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อจะพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการหารือก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ทางบราซิลจะยังไม่มีการตั้งคณะ Panel ในขณะนี้ แต่อาจจะมีการหารือกันอีกครั้งประมาณปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน เพื่อจะขอดูเรื่องความก้าวหน้าในการแก้ไขกฎหมายของไทยก่อน" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระบวนการระหว่างนี้ยังถือว่าอยู่ในขั้นตอนการหารือ (Consaltation) ซึ่งกำหนดเวลาไว้ 60 วัน แต่สามารถขยายไปได้อีก โดยไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องสิ้นสุดเมื่อไร เว้นแต่บราซิลอาจจะพอใจผลการหารือข้อสรุปจนไม่มีการตั้ง Panel หรือขอถอนเรื่องออกจาก WTO ก็เป็นไปได้ แต่หากยังไม่ถอนเรื่องก็ยังเป็นกระบวนการหารือต่อไป

แต่ที่สำคัญก็คือ ทางบราซิลมีสิทธิที่จะขอให้ตั้งคณะผู้พิจารณา Panel เมื่อไรก็ได้ ถ้าไม่พอใจผลการดำเนินงานของฝ่ายไทย

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์การส่งออกน้ำตาลไทยในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) 2560 มีมูลค่า 12,088.85 ล้านบาท ลดลง 21.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า 15,365.36 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย มูลค่า 3,011.90 ล้านบาท ลดลง 42.62% รองลงมาได้แก่ เมียนมา 2,800.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.03%, กัมพูชา 1,067.51 ล้านบาท ลดลง 26.79%, ญี่ปุ่น 1,003.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.67% และไต้หวัน 782.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.93%

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 

กรมชลฯเดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำหนุนพื้นที่ ส.ป.ก. ให้เกษตรกรใช้ทำกิน

กรมชลประทาน สนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ที่ยึดพื้นที่ตามมาตรา 44 ใน 27 จังหวัด รวมพื้นที่ 168,000 ไร่ พร้อมเตรียม ส่งมอบให้เกษตรกรใช้ทำกิน นำร่องสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านกอก (ตอนบน) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คาดแล้วเสร็จกลางปีนี้ สามารถช่วยพื้นที่ทางการเกษตรได้กว่า 600 ไร่

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้เร่งขับเคลื่อนวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งแก้ปัญหาพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ถูกบุกรุกและครอบครองโดยผิดกฎหมาย นำไปจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ยากจนไร้ที่ดินทำกินได้เข้าใช้ประโยชน์ ตามมาตรา 44 ซึ่งขณะนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการยึดพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ถูกครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายใน 27 จังหวัด รวมพื้นที่ 168,000 ไร่ ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี เชียงใหม่ เชียงราย กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุดรธานี กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ราชบุรี ลพบุรี สระแก้ว สระบุรี กระบี่ ชุมพร ยะลา สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเป้าหมายในการจัดการที่ดินและส่งมอบให้ราษฎรไร้ที่ดินทำกินให้ได้ จำนวน 100,000 ไร่ โดยจะทำการส่งมอบในปี 2560 จำนวน 50,000 ไร่

สำหรับกรมชลประทานได้ร่วมบูรณาการเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกองพลทหารช่าง โดยวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยในปี 2559-2560 จะสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำระบบน้ำชลประทานในพื้นที่ 7 จังหวัด 28 แปลง พื้นที่ 23,554 ไร่ ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี 3 แปลง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4 แปลง จังหวัดชลบุรี 2 แปลง จังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แปลง จังหวัดนครราชสีมา 1 แปลง จังหวัดสระแก้ว 12 แปลง ยกเลิก 2 แปลง และจังหวัดเชียงราย 5 แปลง ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านกอก เป็นหนึ่งโครงการที่กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ยึดคืนบริเวณตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า กรมชลประทานได้พิจารณาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินจำนวน 1 แปลง ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการยึดคืนตามนโยบายรัฐบาลมีเนื้อที่จำนวน 1,027 ไร่ ของนายชูเกียรติ ตั้งพงศ์ปราชญ์ เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งพื้นที่การเกษตรที่มีความลาดชันสูง ในบริเวณที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านกอก (ตอนบน) เกษตรกรขุดสระใช้เองจำนวน 2 สระ สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 20,000 ลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 590,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในแต่ละปีมีปริมาณน้ำไหลทิ้งจำนวนมาก ราษฎรในพื้นที่ทำการเกษตรด้วยการเพาะปลูกข้าวโพดเท่านั้น

สำหรับการพัฒนาจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น กรมชลประทานได้นำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map มาประกอบในการออกแบบการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านกอก(ตอนบน) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแบบอ่างแฝด โดยอ่างบนสามารถเก็บกักน้ำได้ ประมาณ 280,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำด้านล่างเก็บกักน้ำได้ประมาณ 12,000 ลูกบาศก์เมตร ความจุรวมทั้ง 2 อ่าง อยู่ที่ 300,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ให้กับราษฎรในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 120 ครัวเรือน ประชากร 500 คน สามารถช่วยพื้นที่ทางการเกษตรได้ถึง 600 ไร่  ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 70% โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 นี้ และหลังจากนั้น กรมชลประทานและ ส.ป.ก. จะร่วมกันเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรด้วยการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจ (พืชใช้น้ำน้อย) ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ กรมชลประทานยังได้น้อมนำศาสตร์พระราชา เรื่องการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินที่จะไหลลงมาในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ โดยการปลูกหญ้าแฝกสลับพืชเศรษฐกิจ เช่น ปลูกน้อยหน่า บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำ กำหนดระยะห่างจากระดับน้ำสูงสุดประมาณ 25 เมตร ซึ่งเป็นการสร้างรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรให้กับประชาชนในพื้นที่ และน้ำบางส่วนจะสามารถช่วยฟื้นฟูป่าโซนซีได้ในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 

เงินบาทแข็งค่าต่อ! ไม่สนทรัมป์เร่งสอบ เหตุทำสหรัฐขาดดุลการค้าจาก 16 ประเทศ

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อ หลังมีเงินต่างชาติไหลเข้าไทย ไม่สนทรัมป์ออกนโยบายตรวจสอบ เหตุทำให้สหรัฐขาดดุลทางการค้าจาก 16 ประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทวันที่ 3 เม.ย. ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 34.29-34.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าระดับปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ 34.35-34.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ 34.30-34.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาท ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้แข็งค่าต่อเนื่อง จากเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติ ที่กลับมายังภูมิภาคและไทยต่อเนื่อง แม้ล่าสุดนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีการออกนโยบายให้มีการตรวจสอบ 16 ประเทศ ทางการค้ากับสหรัฐ ซึ่งเป็นเหตุให้สหรัฐขาดดุลทางการค้า แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ เกิดความไม่เชื่อมั่นในนโยบายนี้ ส่งผลให้มีการเทขายดอลลาร์กลับมาซื้อสินทรัพย์ในภูมิภาคต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลให้ค่าเงินแข็งค่า

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ คือ การประกาศยอดคำสั่งซือสินค้าคงทน และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐเดือน มี.ค. ที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้ รวมถึงการเปิดรายงานแบบสรุปของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประชุมไปแล้วเมื่อเดือน มี.ค.ด้วย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 

กรมเชื้อเพลิงฯชงครม.ปลายเม.ย.นี้ แผนประมูลแหล่งก๊าซหมดอายุ

                    กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งทำแผนคำนวณผลประโยชน์รัฐ ชง ครม.ปลายเม.ย.นี้ เคาะรูปแบบเปิดประมูล 2 แหล่งก๊าซหมดอายุ “สัมปทาน” หรือ “แบ่งปันผลผลิต” นักวิชาการ แนะโครงสร้างกรรมการศึกษา ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ต้องไม่มีตัวแทนความขัดแย้งเข้าร่วม

                   การผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ่าวไทยที่จะทยอยลดลงภายใน 5-6 ปี ข้างหน้า ตามการหมดอายุสัมปทานของ 2 แหล่งก๊าซขนาดใหญ่ คือ แหล่งเอราวัณ และบงกช กำลังผลิตรวม 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นกว่า 70% ของก๊าซฯที่ผลิตได้ในประเทศ นับเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงที่สำคัญในการผลิตและความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ

                    กระทรวงพลังงาน จึงเร่งดำเนินการเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ ในแปลงสำรวจ B10, B11, B12 และ B13 ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด และแหล่งบงกช ในแปลงสำรวจ B15, B16 และ B17 ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่จะทยอยสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566 โดยจะต้องจัดประมูลให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซ แต่เนื่องจาก 2 แหล่งก๊าซดังกล่าว เคยได้รับการต่ออายุสัมปทานไปแล้ว 1 ครั้ง ตามกฎหมายเดิมไม่สามารถต่ออายุสัมปทานเพิ่มเติมได้อีก นอกจากการเปิดประมูลใหม่

                    ความล่าช้ากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่...) พ.ศ....ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะมารองรับการเปิดประมูลในครั้งนี้ ทำให้ขาดความชัดเจนในการเปิดประมูลแหล่งก๊าซหมดอายุ

แต่เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติลงคะแนนเสียง 227:1 ผ่านร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ โดย “ถอน” มาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”(NOC)เมื่อมีความพร้อมออกไปไว้ในข้อสังเกตนั้น ทำให้มีกฎหมายรองรับการเปิดประมูลครั้งใหม่

                   ในขณะที่ เรื่องการจัดตั้ง NOC กลับไปเริ่มต้นที่รัฐบาลอีกครั้ง โดยกระทรวงพลังงาน จะต้องตั้งคณะกรรมการ ขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อทำหน้าที่ศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ของการจัดตั้ง และ โดยกระบวนการทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี

                   ล่าสุด วันที่ 31 มี.ค.2560 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแลการเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แหล่งที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ได้เรียกประชุมผู้บริหารกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อกำชับให้เร่งดำเนิน การขั้นตอนการเปิดประมูลให้เป็นไปตามหรือเสร็จสิ้นภายในปี2560

               โดยให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมความพร้อมจัดทำกฎหมายลูกรองรับการเปิดประมูล โดยเร็ว คาดว่า ช่วงเดือนเม.ย.นี้ จะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาและส่งกลับมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงนามประกาศ กฎกระทรวงได้ และในเดือน ก.ค.นี้ จะเข้าสู่ขั้นตอนประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมการประมูล(ขายทีโออาร์)ได้

                พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการจัดตั้ง NOC นั้น กระทรวงพลังงาน ต้องรอให้ครม.สั่งการก่อน ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว สนช.จะต้องส่งผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับกลับมายังครม.ซึ่งเร็วสุดน่าจะเป็นการประชุมครม.วันที่ 4 เม.ย.นี้ จากนั้น ครม.จะพิจารณาแล้วสั่งการต่อ โดยหากมอบให้กระทรวงพลังเป็นผู้ดำเนินการ เบื้องต้น โครงสร้างคณะกรรมการ จะประกอบไปด้วยนักวิชาการผู้มีประสบการณ์ด้านพลังงาน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งจะอาจจะเป็น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) หรือภาคประชาชนส่วนอื่นๆก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านพลังงาน มีใจเปิดกว้าง พร้อมรับฟังเหตุผล ไม่มีอคติ

                  นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 5 เม.ย.นี้ ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในกฎหมายลูกที่จะมารองรับ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ คือ ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แหล่งก๊าซหมดอายุ ซึ่งจะมี 3 รูปแบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) และระบบจ้างผลิต(SC) ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบแล้ว ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ จะนำประกาศกฎกระทรวง 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับระบบPSC เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ จากนั้น ช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ จะเผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวกับระบบ SC ต่อไป

                     “ระหว่างนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะต้องเร่งทำแผนคำนวณผลประโยชน์ภาครัฐจากการเปิดประมูลใน 3 รูปแบบ เพื่อให้ภาครัฐสามารถคัดเลือกว่า แปลงไหนเหมาะสมที่จะกำหนดให้ใช้การประมูลด้วยระบบใด ซึ่งการคำนวณจะพิจารณาจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่ในแต่ละหลุมผลิต ความต่อเนื่องในการผลิต โดยจะต้องเห็นเม็ดเงิน หรือรายได้ เช่น ค่าภาคหลวง ที่ชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจโดยคำนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ”

                    โดยแผนคำนวณผลประโยชน์ที่จะตกแก่รัฐ จากการเปิดประมูลใน 3 รูปแบบนั้น จะต้องแล้วเสร็จเพื่อเสนอครม.พิจารณาเลือกรูปแบบการเปิดประมูล ที่เหมาะสมในแต่ละแปลงผลิต ภายในปลายเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งการเปิดประมูลครั้งนี้ อาจมีมากกว่ารูปแบบเดียว ต่างจากอดีตที่ใช้เพียงระบบสัมปทาน และแม้ว่าหากจะมีรูปแบบPSC และSC เข้ามาก็สามารถเปิดประมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องตั้ง NOC เพราะกรมเชื้อเพลิงฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลที่ดีอยู่แล้ว

                     นายสราวุธ กล่าวว่า ส่วนการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม 2 แหล่งหมดอายุ กรมเชื้อเพลิงฯ ได้แจงไปยังผู้รับสัมปทานคือ เชฟรอนฯ และ ปตท.สผ. ให้ทำแผนการรื้อถอนส่งมายังกรมฯ ผ่านในเดือน ก.พ.2561 และหากเปิดประมูลรอบใหม่ ผู้รับสัมปทานรายเดิมเป็นผู้ชนะการประมูล ก็ต้องดำเนินการรื้อรอนสิ่งติดตั้งบางส่วนออกไป เพราะตามกฎหมายทรัพย์ต่างๆจะต้องตกเป็นของรัฐเมื่อหมดอายุสัมปทานลง

                       นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า หากกระทรวงพลังงาน มีความชัดเจนในหลักเกณฑ์ และกรอบระยะเวลาการเปิดประมูลจะทำให้เอกชนเกิดความเชื่อมั่น จะตัดสินใจเข้าร่วมการประมูลเพื่อการผลิตมีความต่อเนื่องได้ แม้ว่าหากผู้ชนะการประมูลจะเป็นรายใหม่ก็ตาม เพราะจะมีเวลาเตรียมความพร้อม 4-5 ปีก่อนที่สัมปทานจะหมดอายุลง แต่ทั้งนี้ การประมูลต้องเสร็จสิ้นภายในปีนี้ด้วย

                     ส่วนรูปแบบการประมูลที่เหมาะสมในแต่ละแปลงผลิตนั้น มองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ทั้งระบบสัมปทาน และระบบPSC แต่ระบบ SC มีความเป็นไปได้น้อย เพราะหลุมปิโตรเลียมของไทยตามโครงสร้างธรณีวิทยามีสภาพเป็นกระเปาะเล็กๆ ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือน ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา จึงไม่คุ้มค่าต่อการคำนวณผลประโยชน์ที่จะได้รับ

                    “เป็นสิทธิ์ของรัฐอยู่แล้วที่จะกำหนดรูปแบบประมูลในแต่ละแปลง และเชื่อว่า รอบนี้ จะเห็นทั้งระบบสัมปทาน และระบบPSC แต่จะมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลหรือไม่นั้น ยังต้องติดตามดู โดยเฉพาะผู้รับสัมปทานรายเดิม เพราะมีข้อมูลปริมาณสำรองปิโตรเลียมอยู่ในมือที่สามารถคำนวณผลตอบแทนการลงทุนไม่คุ้มค่าได้ หากเห็นว่ารูปแบบไหนไม่โอเค ก็อาจตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลได้”

                     นายมนูญ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่กระทรวงพลังงาน เตรียมกำหนดโครงสร้าง คณะกรรมการศึกษาจัดตั้ง NOC ที่เป็นหน่วยงานกลาง และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน เช่น ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และประชาชน เข้าร่วม แต่ไม่ควรเอาแกนนำของกลุ่มคัดค้าน หรือ สนับสนุนการจัดตั้งNOC ที่เป็นตัวแทนความขัดแย้งเข้าไปร่วมเป็นกรรมการ

                     ขณะที่การศึกษาจัดตั้ง NOC จะต้องตอบโจทย์ว่า ประเทศไทยควรมี หรือ ไม่ควรมี NOC ถ้าจำเป็นต้องมี NOC จะมีแบบไหน ซึ่งต้องวางขอบเขต วัตถุประสงค์ โครงสร้างองค์กร โครงสร้างกรรมการ ให้ชัดเจนด้วย

                    อนึ่ง ปัจจุบัน แหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ 2 แหล่ง คือ แหล่งก๊าซเอราวัณ และบงกช ทำรายได้ส่งเข้ารัฐปีละ 2.4 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ รองจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และ กรมศุลกากร

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 256

พาณิชย์ดันก.ม.ลูกพรบ.แข่งขันการค้า   

          พาณิชย์คาดกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ก.ย.นี้หลัง เร่งทำกฎหมายลูก จัดตั้งบอร์ดจากตัวแทนรัฐและเอกชนหวังเคลื่อนงานทันที ระบุโทษตามกฎหมายใหม่เข้มงวดมากขึ้น มอบอำนาจบอร์ดแข่งขันฯ ลงดาบผู้กระทำผิดได้ทันทีด้วยโทษทางปกครอง

          นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ฉบับปรับปรุงแก้ไขได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยคาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้ สนช.จะส่งร่างแก้ไขกลับมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน โดยคาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย.นี้

          กระทรวงพาณิชย์ยังได้เตรียมจัดทำกฎหมายลูกโดยกำหนดหลักเกณฑ์พฤติกรรมทางการค้าและเตรียมพร้อมที่จะแยกสำนักงานแข่งขันทางการค้าออกมาเป็นองค์กรอิสระ รวมถึงการคัดเลือกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (บอร์ด) ชุดใหม่ ซึ่งจะประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาเลขาสำนักงานแข่งขันทางการค้า

          "การสรรหาบอร์ดและเลขาฯ มีกำหนดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ส่วนการแยกออกไปเป็นองค์กรอิสระในระหว่างนี้ก็จะมีการจัดหาพื้นที่เหมาะสมต่อการตั้งสำนักงาน ซึ่งพร้อมเมื่อไหร่ก็แยกออกไปได้ทันทีเหมือนตอนแยกกรมการประกันภัยออกไปเป็นองค์กรอิสระ"

          ส่วนสาระสำคัญของการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้านี้ คือการแยกเป็นองค์กรอิสระ รวมหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้ามาในการดูแลกฎหมาย และปรับปรุงหลักการ 5 พฤติกรรม ได้แก่ 1.พฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาด โดยเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดยังใช้เกณฑ์เดิม คือ ธุรกิจ 1 ราย ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50%และยอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท และธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 75%และมียอดขายในตลาดแต่ละรายเกิน 1,000 ล้านบาท จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

          หากมีพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดกลั่นแกล้งรายอื่นจะมีโทษอาญา คือจำคุก 2 ปี ปรับ 10%ของรายได้ในปีที่กระทำผิด จากเดิมมีโทษอาญาจำคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          2.พฤติกรรมการควบรวมธุรกิจ โดยกฎหมายเดิมกำหนดให้การควบรวมธุรกิจจะต้องขออนุญาต หากไม่ดำเนินการจะมีโทษทางอาญาคือจำคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายใหม่จะกำหนดให้ธุรกิจที่ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดจะต้องมาขออนุญาตการควบรวมกิจการ หากไม่ดำเนินการตามจะมีโทษทางปกครองคือปรับ 0.5%ของมูลค่าธุรกิจ 3.พฤติกรรมการตกลงร่วมกัน ซึ่งกฎหมายใหม่กำหนดห้ามมิให้คู่แข่งในตลาดตกลงราคา ปริมาณ แบ่งพื้นที่การขาย ยกเว้นธุรกิจในเครือ หากมีพฤติกรรมดังกล่าว จะมีโทษอาญา คือ จำคุก 2 ปี ปรับ 10%ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

          4.พฤติกรรมแข่งขันไม่เป็นธรรม คือธุรกิจที่มีพฤติกรรมกีดกันคู่แข่งใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า กำหนดเงื่อนไขไม่เป็นธรรมจะมีโทษทางปกครองปรับ 10%ของรายได้ในปีที่กระทำผิด และ 5.พฤติกรรมตกลงกับต่างประเทศที่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาจะทำเป็นรายกรณีและดูจากพฤติกรรม เช่น ไม่มีเหตุผลทางธุรกิจ เศรษฐกิจเสียหายร้ายแรง ผู้บริโภคโดยรวมเสียประโยชน์ จะมีโทษทางปกครองปรับ 10%ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 

แจงสี่เบี้ย : พด.สนองนโยบาย 4.0 ขับเคลื่อนภาคเกษตร สนับสนุนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมลดต้นทุน

 จากนโยบายการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ของนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ดำเนินการสนองต่อนโยบายรัฐบาล ที่มีความพร้อมขององค์กรทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือต่างๆ ในพื้นที่ทุกจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักที่มีองค์ความรู้ที่เป็นผลงานวิจัยวิชาการด้านการพัฒนาที่ดิน ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่มีการทดลอง ทดสอบ วิจัย จนประสบผลสำเร็จ สามารถนำไปใช้ขยายผลปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ของเกษตรกร และเตรียมความพร้อมของบุคลากรสู่การเป็น Smart Officer การพัฒนาเสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer

รวมทั้งมีเกษตรกรต้นแบบ ซึ่งเป็นหมอดินอาสาในชุมชน ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สารเร่งซุปเปอร์ พด.ชนิดต่างๆ ในการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การใช้พืชปุ๋ยสดเพิ่มสะสมปริมาณอินทรียวัตถุในพื้นที่การเกษตร การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การดูแลรักษาแหล่งน้ำในไร่นาการปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น

ในส่วนของกรมได้สั่งการให้ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด เน้นการทำงานเชิงรุกอย่างเข้มข้นโดยยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ต้องเข้าถึงโดยพบเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกร ให้เห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ พร้อมทั้งแจกจ่ายนวัตกรรมต่างๆ ของกรมให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ รวมทั้งแนะนำการรวมกลุ่มทำการผลิตแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้หลักการตลาดนำหน้าการผลิต แต่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดคือเกษตรกรควรต้องน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในดำเนินชีวิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบาย Thailand 4.0

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 

6 ปัญหาร้อนรุม "พลังงานทดแทน" นโยบายรับซื้อไฟไม่นิ่ง-เอสพีพีไฮบริดพาถอยหลัง

6 ปัญหารุมพลังงานทดแทน นโยบาย-ระเบียบวิธีการรัฐไม่ชัด ค่าไฟฟ้าไม่สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น สายส่งไม่พอรองรับ ล่าสุดนโยบายรับซื้อไฟจากโครงการ SPP Hybrid Firm อาจพาธุรกิจพลังงานทดแทนถอยหลังลงคลอง เพราะแข่งกันที่ต้นทุนมากกว่าคุณภาพ

ในบางธุรกิจแม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่นักลงทุนก็ยังสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานทดแทนที่ภาคเอกชนมองว่าเป็น "ธุรกิจกึ่งสัมปทาน" ที่มีตลาดรองรับแน่นอนนั่นก็คือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ฉายภาพของธุรกิจดังกล่าวใน "ทึ้งขุมทรัพย์พลังงาน" และ "หุ้นพลังงานฝุ่นตลบ มาร์เก็ตแคป 2 แสนล้าน เล็งผลิตไฟเพิ่ม 40%" ให้เห็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท จากพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ ไบโอก๊าซ และจากพลังงานลม ที่วันนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้วกว่าร้อยละ 50 หรือประมาณ 9,265 เมกะวัตต์ ของกำลังผลิตรวมที่กระทรวงพลังงานระบุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ REDP (Renewable Energy Development Plan) โดยทั้งแผนจะต้องมีกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวมทั้งสิ้น 19,634 เมกะวัตต์

 ครั้งนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รวบรวมความเสี่ยงของธุรกิจพลังงานทดแทนในปัจจุบันพบว่า 1) นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะเงื่อนไขและวิธีการรับซื้อไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่มีความต่อเนื่องในการรับซื้อ 2) อัตราค่าไฟฟ้าไม่สะท้อนต้นทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภทโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้วัตถุดิบเหลือใช้จากภาคการเกษตรที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง 3) สายส่งไฟฟ้าไม่รองรับกำลังผลิตใหม่ โดยต้องรอหลังจากปี 2562 เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนขยายระบบสายส่งให้แล้วเสร็จ 4) ไม่มีการกำหนดพื้นที่ (Zonening)

ของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทตั้งแต่เริ่มต้นนโยบาย ทำให้ในหลายพื้นที่แย่งวัตถุดิบที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิง และยังส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับราคาสูงขึ้นจากที่ได้ประเมินต้นทุนไว้ 5) มีการเร่ขายใบอนุญาต ทำให้หลายโครงการยังไม่มีการลงทุน และ 6) ข้อจำกัดที่เกิดจากกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับกระทรวงอื่น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่เข้าข่ายพระราชบัญญัติร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ของกระทรวงมหาดไทย และในแง่ของขยะที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทำให้มีความล่าช้าในการขออนุมัติให้พัฒนาโครงการ

 เมื่อสอบถามจากผู้ประกอบการในแวดวงพลังงานทดแทนในบางกลุ่มยังพบว่า ในส่วนของพลังงานลม ภาครัฐไม่มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้ามาแล้วกว่า 3 ปี ทั้งที่ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการลงทุน นอกจากนี้ในกลุ่มของไบโอก๊าซ มีหลายโครงการที่ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แต่กลับไม่มีนโยบายให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาแต่อย่างใด

 จากปัญหาหลัก ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น ล่าสุดยังมีประเด็นที่ผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนค่อนข้างกังวลคือ นโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ได้อนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปแบบผสมผสานเชื้อเพลิง หรือ SPP Hybrid Firm ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบ Feed in Tariff นั้น กำหนดเงื่อนไขว่า จะใช้วิธีประมูล (Bidding) รายใดเสนอค่าไฟฟ้าต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้คือ 3.66 บาท/หน่วย จะได้รับอนุมัติให้เป็นผู้พัฒนาโครงการไป นอกจากนี้จะรับซื้อเฉพาะจากรายใหม่ ที่กำลังผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ สามารถใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ประเภท โดยไม่กำหนดสัดส่วน สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้ และต้องเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Firm จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น

 โดยแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าว จะส่งผลให้ภาพของธุรกิจพลังงานทดแทนเน้นไปที่การแข่งขัน "ลดต้นทุน" ให้ได้มากที่สุด มากกว่าที่จะเน้นไปที่ความพร้อมทั้งแง่ของเทคโนโลยีและความพร้อมด้านเชื้อเพลิง สัญญาณที่เริ่มเห็นชัดเจนคือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายได้เตรียมนำเข้าเครื่องผลิตไฟฟ้ามือสองจากประเทศจีนแล้ว ซึ่งอาจจะกระทบต่อศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าที่อาจจะไม่สามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมงตามที่ภาครัฐกำหนดไว้

"ทุกคนต่างวิ่งกันหาของถูก สุดท้ายเราจะไม่รู้ว่าที่เสนอราคาค่าไฟฟ้าต่ำ ๆ ไว้นั้นโครงการมันจะไปรอดหรือไม่ นอกจากนี้ภาครัฐก็ไม่ควรใช้วิธีประมูล เพราะวิธีประมูลมันใช้ได้กับบางประเภทเท่านั้น เช่น โซลาร์เซลล์ มองเห็นอนาคตของธุรกิจพลังงานว่า จะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีการพัฒนาอะไรใหม่ ๆ และอาจจะเกิดปัญหาวนเวียนให้ภาครัฐต้องแก้ไขอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเด็นราคา"

อย่างไรก็ตามสำหรับกำลังผลิตตามแผน REDP ที่จะต้องมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตรวม 10,369 เมกะวัตต์นั้น จะเริ่มทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าในปีนี้จากโครงการ SPP Hybrid Firm ทั่วประเทศอีก 300 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐระยะที่ 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากชีวมวลรวม 18 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ ระยะที่ 2 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จากไบโอก๊าซ พืชพลังงาน รวม 35 เมกะวัตต์ โครงการ VSPP Semi Firm จากชีวมวล ไบโอก๊าซ พืชพลังงาน ทั่วประเทศ ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวม 289 เมกะวัตต์ และจะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเดิมที่ค้างอยู่คือ โซลาร์สหกรณ์ 119 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 78 เมกะวัตต์ โครงการ FiT Bidding ภาคใต้ 12 เมกะวัตต์ และโซลาร์ราชการ ที่ยังไม่ได้กำหนดกำลังผลิตที่จะเปิดรับซื้อ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 

เรียกถกด่วน "เอทานอล" ขาด-ล้น พพ.ห่วงผลผลิตอ้อยลดกระทบน้ำมันแก๊สโซฮอล

พพ.เรียกโรงงานเอทานอลหารือ หวั่นขาดตลาดหลังมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยปีนี้ลดลง 10 ล้านตัน แม้จะมีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบแต่ยังไม่มีการยืนยันสัญญาซื้อขาย ด้านผู้ผลิตเอทานอลระบุจะมีกำลังผลิตใหม่ระบบอีก 3 โรง รวม 1.2 ล้านลิตร/วัน เอทานอลอาจล้นมากกว่าขาด จี้รัฐประกาศมาตรการยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ส่งเสริมการใช้เอทานอล ธพ.ระบุขอชะลอยกเลิกเบนซิน 91 ออกไปก่อน

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 4 เมษายนนี้ได้เรียกผู้ประกอบการเอทานอลทั้งในส่วนของผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (โมลาส) และที่ผลิตจากมันสำปะหลังเพื่อหารือถึงสถานการณ์การผลิตเอทานอลในช่วงไตรมาส 1 เนื่องจากมีรายงานว่าผลผลิตอ้อยปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 90 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ที่มีปริมาณ 100 ล้านตัน ซึ่งอาจจะกระทบต่อการผลิตเอทานอล เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลนอกจากจะป้อนการผลิตเอทานอลแล้ว ยังต้องป้อนอุตสาหกรรมการผลิตอย่างอื่นเช่น ผงชูรส และบางส่วนมีการส่งออกไปต่างประเทศด้วย

แม้ว่าจะมีกำลังผลิตเอทานอลใหม่จาก 3 โรงงาน ที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบก็ตาม แต่ พพ.ยังไม่ได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการใน 3 ประเด็นคือ 1) มีวัตถุดิบรองรับการผลิตเพียงพอหรือไม่ 2) กำลังผลิตแต่ละโรงงาน รวมถึงแผนการผลิตว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้เต็มที่ หรือยังต้องใช้เวลาในการทดสอบโรงงาน และ 2) ต้องยืนยันว่ามีสัญญาซื้อขายเอทานอลแล้ว ทำให้ค่อนข้างกังวลว่าอาจจะเกิดปัญหาเอทานอลขาดแคลนเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องเรียกผู้ประกอบการเข้ามาหารือดังกล่าว

"ยังเป็นแค่ข้อสันนิษฐานในเมื่อซัพพลายวัตถุดิบมันน้อยลงก็ต้องมาคุยกันว่าจะมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเอกชนให้ความชัดเจนว่าไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องมีมาตรการอะไรออกมารองรับ ทาง พพ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันได้"

ทางด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด กล่าวว่า ในการหารือร่วมกับ พพ.นั้นในส่วนของผู้ประกอบการจะมี 2 ประเด็นที่หารือคือ 1) รายงานสถานการณ์ปัจจุบันของการผลิตเอทานอลไม่มีปัญหาขาดแคลนแน่นอน อาจจะ "ล้นตลาด" ด้วยซ้ำ เนื่องจากจะมีกำลังผลิตเอทานอลใหม่ที่จะผลิตเข้าระบบในปีนี้รวม 3 โรงคือ บริษัท ทีพีเค เอทานอล จำกัด (เฟส 1-3 รวม 1.02 ล้านลิตร/วัน)

บริษัท อิมเพรส เทคโนโลยี จำกัด (ประมาณ 200,000 ลิตร/วัน) และบริษัท ฟ้าขวัญทิพย์ จำกัด (ประมาณ 120,000 ลิตร/วัน) ในขณะความต้องการใช้น้ำมันในช่วง 3 เดือนของปีนี้ ก็ไม่ได้ขยายตัวอย่างที่มีการคาดการณ์เอาไว้ และ 2) ขอให้กระทรวงพลังงานทบทวนมาตรการยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลมากขึ้น ซึ่งตามกำหนดเดิมจะต้องมีการประกาศมาตรการดังกล่าวในปีนี้

สำหรับราคาเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 24-25 บาท/ลิตร ซึ่งในภาวะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยืนราคาต่ำที่ 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น ทำให้ผู้บริโภคมองว่าราคาเอทานอลแพง ทั้งที่ในความเป็นจริงราคาเอทานอล

ไม่เคยปรับขึ้นหรือลงตามราคาน้ำมันแต่อย่างใด ในช่วงที่น้ำมันแพงขึ้นไป 80-100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาเอทานอลก็อยู่ในระดับนี้ ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาเหลือเป็นกำไรไม่ถึง 1 บาท/ลิตร ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนน้ำมันที่มีการผสมเอทานอลที่ร้อยละ 10 จะกระทบต้นทุนน้ำมันที่เพียง 2 บาท/ลิตร และหากผสมที่สัดส่วนร้อยละ 20 จะกระทบต้นทุนน้ำมันที่ 4 บาท/ลิตร แต่เมื่อพิจารณาผลประโยชน์อื่น ๆ ที่จะได้รับเช่น เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพราะใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ และที่สำคัญคือราคาพืชผลทางการเกษตรก็ปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

"ทั้ง 3 โรงที่เป็นกำลังผลิตใหม่เข้ามาในระบบเพราะเขามองว่าภาครัฐมีนโยบายชัดเจนที่จะยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 แต่กลับมาชะลอมาตรการดังกล่าว แต่ละโรงงานใช้เงินลงทุนสูง และก็ไม่ต้องการทำแล้วขาดทุน ไม่มีตลาดรองรับแบบนี้ ถ้ามองในเชิงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเอทานอลคุ้มค่าสำหรับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว เราพึ่งพาพลังงานนำเข้าน้อยลงด้วย"

ด้านนายวิทูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานยังคงชะลอมาตรการยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ออกไปก่อน เนื่องจากเมื่อดูภาพรวมของการผลิตเอทานอลในปัจจุบันน่าจะยังไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้เอทานอลที่จะเพิ่มขึ้นได้แน่นอน จึงขอเวลาในการพิจารณาความพร้อมด้านต่าง ๆ

ให้ชัดเจนก่อน เพราะหากมีปัญหาเอทานอลขาดแคลนก็อาจจะส่งผลให้ราคาเอทานอลปรับขึ้นและส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ในขณะที่นโยบายของกระทรวงพลังงานเน้นไปที่ผู้บริโภคจะต้องได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานน้อยที่สุด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560 

"สมเกียรติ" รองอธิบดีกรมชลฯ 5-10 ปีนี้ แผนหาน้ำป้อนอีอีซียังปลอดภัย

นับวันปัญหาน้ำขาดแคลนจากการใช้ของทุกภาคส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นลุ่มเจ้าพระยาที่เริ่มแย่งน้ำกันใช้ระหว่างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคคนเมือง ในส่วนภาคตะวันออกแม้จะมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมท่อระหว่างอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ แต่น้ำก็ยังไม่พอใช้ เพราะนอกจากการใช้ในภาคท่องเที่ยวและชุมชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดใหญ่อยู่ที่นี่มากกว่าครึ่งของประเทศ เนื่องจากอยู่ใกล้สนามบิน ท่าเรือและสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างพร้อมในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลประกาศโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนที่มีอยู่แล้ว ต้องเพิ่มขึ้นไปอีก "ประชาชาติธุรกิจ" จึงถือโอกาสสัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ถึงแนวทางแก้ปัญหาดังนี้

- ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนใน 3 จังหวัดอีอีซีเป็นอย่างไร

ข้อเท็จจริงหลัก ๆ คือ ภาคตะวันออก เริ่มมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ปี 2554 เกิดการย้ายฐานการผลิตจากภาคกลางแถบอยุธยาไปอยู่ทางภาคตะวันออก เพื่อหนีน้ำท่วม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าดีมานด์เฉพาะภาคตะวันออกสูงขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดลักษณะภูมิประเทศ รวมถึงสภาพธรรมชาติ มีพื้นที่รอยต่อจันทบุรี-ตราด เป็นพื้นที่ที่ยังคงสภาพในแง่ของทรัพยากรทางธรรมชาติสมบูรณ์ แต่พื้นที่หลัก ๆ ที่ถูกพัฒนาเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมก็คงหนีไม่พ้นชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นหลัก จำนวนกว่าครึ่งของโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ที่นี่หมด ประกอบกับสภาพภูมิประเทศดีทำให้โครงสร้างพื้นฐานมองมาที่นี่เยอะ เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานเยอะ แน่นอน น้ำ จึงมีความจำเป็น เป็นพื้นฐานสำคัญ ดังนั้น เราทราบมานานแล้วตั้งแต่มีอีสเทิร์นซีบอร์ด มีการคาดการณ์ไว้หากมีความต้องการมากขึ้นแล้วเราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร อันดับแรกคือการเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำก่อน ดังนั้นมาดูสิ่งที่เราทำได้จริง ๆ

เราจะเห็นว่า ภาคตะวันออกการใช้ที่ดินจากภาคเกษตรจะลดลง แน่นอนว่าเราเปลี่ยนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเยอะ และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น 20 ปีที่ผ่านมา เต็มไปหมด นี่เป็นเหตุหนึ่งที่การใช้ที่ดินเปลี่ยน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เรื่องของน้ำก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เกษตร ถึงแม้ว่าขาดก็ยังไม่เท่าไร แต่อุตสาหกรรมขาดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นความมั่นคง ความแน่นอนของน้ำจึงค่อนข้างเข้มข้นมากกว่าภาคเกษตร อุตสาหกรรมขาดไม่ได้เลย หรือแม้กระทั่งน้ำท่วมไปหมดเลย นี่คือความเข้มข้นจะต้องเปลี่ยนแปลงไป

มาดูปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะเชิงเทราเองน้ำพอไหม พอนะคือมีความต้องการจากทุกภาคส่วนเท่ากับน้ำที่มีอยู่ 464 ล้าน ลบ.ม. แต่น้ำที่ต้องการมาก ๆ คือ ชลบุรี ปรากฏว่า น้ำดีมานด์สูงกว่าซัพพลาย และแหล่งกักเก็บน้ำมากกว่าอินโฟลว์ที่ไหลเข้าอ่าง ปัจจุบันจึงดึงจากฉะเชิงเทรามา 2 แหล่งประมาณ 80-90% คือ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ผันทางท่อจากเขื่อนทดน้ำบางปะกงปีที่แล้ว 45 ล้านลบ.ม. และกรมชลฯผันจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต 60 ล้าน ลบ.ม.ไปที่อ่างพระ ชลบุรี อีกส่วนหนึ่ง 70 ล้าน ลบ.ม.คือดึงมาจากอ่างประแสร์ จ.ระยองมาเสริม

- นักวิชาการกังวลว่าอีก 5 ปี แม้ไม่มี EEC ก็ขาดแคลนน้ำ

ทุกจุดพุ่งเป้าไปที่ชลบุรี เพราะฉะนั้นชลบุรีจะต้องเอาน้ำจากฉะเชิงเทรา ระยอง อย่างชลบุรีมีอ่างเก็บน้ำเยอะความจุ 215 ล้านลบ.ม. แต่ว่าน้ำที่ไหลเข้ามีจริง 130-133 ล้านลบ.ม. ดังนั้นตัวอ่างบางพระเองจึงเป็น Hub รับน้ำจากลุ่มน้ำบางปะกงและเจ้าพระยามาเติม เมื่อมาเติมแล้วก็พอไปไหวแต่ก็ยังไม่พอ จึงต้องดึงน้ำมาจากระยองด้วย

 ตัวชลบุรีเองก็พยายามที่จะพัฒนาแหล่งน้ำของตัวเอง แต่ถามว่าฝนดีหรือไม่ ก็พอมีบ้าง แต่แหล่งเก็บน้ำไม่มีเราจึงพยายามสร้างและพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ แต่ต้องยอมรับว่าที่ดินแพงมากก็อาจจะไม่ได้ นี่คือปัญหาหลัก ส่วน จ.ระยองอ่างมีความจุ 580 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลเข้าอ่าง 652 ล้านลบ.ม. แต่ความต้องการเริ่มมากขึ้น คาดว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้า ปริมาณน้ำของระยองจะตึงตัวมาก นี่คือความห่วงใยดูที่ดีมานด์ ณ ขณะนี้ ถ้าพูดถึง 3 จังหวัดไม่รวมภาคเกษตร จะเห็นได้ว่า ปี 2560 ดีมานด์เราอยู่ที่ประมาณ 362 ล้านลบ.ม. เมื่อดูโปรเจ็กต์ข้างหน้า 20 ปี ดีมานด์จะเพิ่มมากขึ้น จาก 362 ล้านลบ.ม. เป็น 570 กรณีถ้าไม่มี EEC นะ แต่ถ้าเกิดมี EEC จะ Speed up ในแง่ความต้องการใช้น้ำเป็นเท่าตัว ประมาณ 1,000 ล้านลบ.ม. ในปี 2579

ดังนั้นถามว่า ตอนนี้ 362 ล้านลบ.ม.จะเพิ่มมากถึง 570 จะเอาน้ำมาจากไหน จริง ๆ แล้วมันค่อย ๆ ขึ้นถือว่าโชคดี แต่ถ้าขึ้นพรวดเดียวคงไม่ไหว เพราะฉะนั้นในแต่ละอัน ทำอะไรที่ทำได้ก่อน 3-4 ปีแรก คือพยายามเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิมของกรมชลประทาน อ่างหนองปลาไหลเพิ่มความจุอีก 23 ล้านลบ.ม. อ่างคลองใหญ่เพิ่มความจุอีก 10 ล้านลบ.ม. อ่างดอกกรายอีก 10 ล้านลบ.ม. รวมทั้งผันน้ำท้ายอ่างคลองสียัดและอ่างคลองระบมเข้าสู่ระบบคลองชลประทานที่มีพื้นที่น้ำท่าเยอะอีกปีละ 21 ล้านลบ.ม. การสูบกลับจากคลองสะพานไปเก็บที่อ่างประแสร์ที่มีการเพิ่มความจุใหม่อีก 47 ล้านลบ.ม.เป็น 295 ล้านลบ.ม. อีก 10 ล้านลบ.ม. ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ช่วง 5-10 ปีแรก ก็ต้องมีโครงการเล็ก ๆ ขึ้นมาก่อนครับ แต่ก็ได้น้ำเยอะพอสมควร

สรุปได้ว่า เริ่มต้นด้วยการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมเพิ่มความจุ พัฒนาแหล่งน้ำและสร้างแหล่งน้ำใหม่ รวมถึงสร้างโครงข่ายน้ำ สูบน้ำ จะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกของระยองมีอ่างเก็บน้ำที่เป็นพวง เยอะอยู่แล้ว ชัดเจน ดีอยู่แล้ว

- ดูจากเป้าหมาย 20 ปีต้องใช้น้ำมาก จะดึงน้ำจากไหนมาเพิ่มเติม

อนาคต ดีมานด์ระยองจะเพิ่มมากขึ้นอีก 5 ปีก็หมด เพราะฉะนั้นต้องมองหาแหล่งน้ำใหม่ เราก็ไม่อยากให้เรื่องน้ำเป็นข้อจำกัดในการพัฒนา แม้ 3 จังหวัด จะอยู่ในอีอีซีเองก็ตาม เรื่องน้ำถ้าคิดเฉพาะ 3 จังหวัด ไม่มีทางพอ ดังนั้น เราต้องดึงน้ำมาจากจันทบุรี ตอนนี้อ่างเก็บน้ำประแกด เสร็จไปแล้ว 90% เก็บน้ำได้ 60.2 ล้านลบ.ม. และยังมีอ่างเก็บน้ำอีก 3 แห่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ อ่างคลองพะวาใหญ่กับอ่างคลองแก่งหางแมว สองแห่งนี้รวมกันได้ 148.8 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดอีก 99.5 ล้านลบ.ม. แต่ต้องศึกษา EIA เพราะติดป่า ซึ่งก็ใกล้เสร็จแล้ว เรียกว่าเป็นป่าอนุรักษ์ พื้นที่ 55 ไร่ ขออนุญาตหมดแล้วเหลือเพียงวังโตนด

จะเห็นได้ว่า 3-4 อ่างกำลังจะเปิดโครงการ แต่อ่างคลองวังโตนด คาดว่าอีก 4 ปี แต่มีน้ำขึ้นมาแล้วต้องพัฒนาพื้นที่เกษตรด้วย เมื่อพัฒนาแล้วน้ำที่เหลือในหน้าฝนก็สูบน้ำในหน้าฝนเข้าไปเติมที่ประแสร์ เขาถึงเรียกว่า "ประแสร์" เป็นฮับ

5-10 ปีนี้แผนหาน้ำป้อนอีอีซียังปลอดภัย แต่หลังจากนั้นต้องลดการใช้น้ำลง เพื่อความไม่ประมาท จะทำอย่างไรบ้างที่จะต้องหาแหล่งอื่นรองรับไว้ ก็ได้มีการหารือกับทางกระทรวงพลังงาน ก็ไปทำความตกลง เรื่องของการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ "สตรึงนัม"

- พูดง่าย ๆ ว่า ความจำเป็นหลัง 10 ปีข้างหน้าคือการดึงน้ำจากเขื่อนสตรึงนัม

เราต้องเผื่อก๊อกสองเอาไว้ ถ้าเกิดวันข้างหน้าดีมานด์เพิ่ม เราต้องการน้ำสำรองเอาไว้ เราก็เลยคิดว่า หากมีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำสตรึงนัมได้แล้วผันน้ำมาฝั่งไทย ทุกคนอยากมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่เราก็มีข้อผูกพัน เพราะฉะนั้นเราต้องมีของเราก่อนแล้วให้ตรงนี้เป็นก๊อกสอง ซึ่ง 5 ปีแรกเราก็ใช้ลุ่มน้ำวังโตนด แต่เพื่อไม่ให้มันตันเราต้องมีแผนสำรองเอาไว้ ดังนั้น 10 ปีสุดท้ายต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560 

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือน

 “เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 20 เดือน ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อย จากการทำราคาปิดไตรมาส”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือนที่ 34.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ก็เผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อนึ่ง ในช่วงปลายสัปดาห์ ธปท. ได้ประกาศปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น ระยะ 3-6 เดือนของธปท. ในเดือนเม.ย. ลง 10,000 ล้านบาท จากสัปดาห์ละ 40,000 บาท เหลือสัปดาห์ละ 30,000 บาท เพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับในวันศุกร์ (31 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.30-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่กระแสฟันด์โฟลว์ หลังจากที่ธปท. ลดวงเงินการออกพันธบัตรธปท. ลง ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค. และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.พ. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอประเมินสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพิ่มเติมจาก FOMC Minutes และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดด้วยเช่นกัน

ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นเล็กน้อยจากการทำราคาปิดไตรมาสโดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,575.11 จุด เพิ่มขึ้น 0.10% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้น 8.74% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 39,314.18 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 597.45 จุด เพิ่มขึ้น 0.62% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันจันทร์ จากแรงกดดันของแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร จากแรงซื้อทางเทคนิค จากนั้น ตลาดหุ้นปรับลดลงในวันพุธ หลังแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติชะลอลง ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นปรับลดลงในวันศุกร์ จากแรงขยายทำกำไรของนักลงทุนและการประกาศจ่ายปันผลของหุ้นขนาดใหญ่

 สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,560 และ 1,540 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การพบปะระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจีน ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิต และ การจ้างงานนอกภาคการเกษตร ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ของประเทศในยูโรโซน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560 

กรมธุรกิจพลังงานกังวลเอทานอลตึงตัวพ.ค.นี้เล็งเชิญเอกชนหารือ

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า กรมฯอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์เอทานอลในประเทศที่คาดว่าจะตึงตัวอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายจะทยอยปิดหีบอ้อยที่มีการนำกากน้ำตาล(โมลาส)ทำเป็นเอทานอล ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการส่งออกโมลาสไปยังต่างประเทศ เพราะขายได้ราคาสูง ประกอบกับภาครัฐไม่ได้มีมาตรการควบคุมการส่งออกโมลาส อย่างไรก็ตามจะติดตามผลการประชุมระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กับตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายในสัปดาห์หน้า ที่จะมีการหารือเรื่องสถานการณ์เอทานอลในประเทศ และเตรียมรับมือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาจมีการเชิญเอกชนมาหารือเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 4 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การผลิตเอทานอลจากโมลาสเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านลิตรต่อวัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ดังนั้นจึงต้องใช้วัตถุดิบอื่นเข้ามาเสริม อาทิ มันสำปะหลัง ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 5.5 ล้านลิตร ขณะเดียวกันคาดว่าปีนี้น่าจะดีขึ้นเล็กน้อย เพราะมีการเปิดและขยายกำลังการผลิตโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังอีก 3 โรงงาน กำลังการผลิต 6.3 แสนลิตรต่อวัน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560