http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนเมษายน 2561)

ชงอ้อยขั้นต้น 920 บาท/ตัน-

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง ความคืบหน้าในร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งยกร่างโดยคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ฉบับ สนช.) เตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า มีการหารือกับชาวไร่ถึงข้อแตกต่างระหว่างร่างของชาวไร่อ้อย กับ ร่างของ สนช.ในเรื่องที่มาคณะกรรมการ การแก้ไของค์ประกอบ-จำนวนกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย/คณะกรรมการอ้อย คณะกรรมการน้ำตาลทราย การโอนอำนาจเดิมของกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้คณะกรรมการบริหาร ร่วมไปถึงการให้ชาวไร่อ้อยสังกัดสถาบันชาวไร่อ้อยได้เพียงแห่งเดียว จากเสนอจะนำเสนอต่อ สนช. ต่อไป

 “เนื้อหาฉบับของชาวไร่อ้อย และฉบับของ สนช. 90% เหมือนกัน มีเพียงเรื่องที่มาของคณะกรรมการเท่านั้นที่ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ เมื่อเราหารือกันทำประชาพิจารณ์เสร็จจะเข้า ครม.ทันที”

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมอ้อย ณ เดือนมีนาคม 2561 ราคาสำรวจน้ำตาลทรายภายในประเทศเฉลี่ยทรายขาวธรรมดา 17.04 บาท/กก.-ทรายขาวบริสุทธิ์ 18.02 บาท/กก. ขณะที่ราคาตลาดโลก 11.3 เซนต์/ปอนด์ ถ้ารวมราคา “พรีเมี่ยม” อยู่ที่ 16 เซนต์/ปอนด์ ผลผลิตอ้อยในประเทศประมาณ 130 ล้านตัน (ปี 2560 ผลผลิต 92.76 ล้านตัน) สำหรับประเด็นการอนุมัติราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2560/2561 ที่ 880 บาทนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอเข้า ครม.ให้พิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากขั้นตอนจะต้องใช้ระเบียบใหม่ตามประกาศ ม.44 เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2560/2561 ทั่วประเทศอยู่ที่ 880 บาท/ตัน (ไม่รวมความหวาน) ซึ่ง “ต่ำกว่า” ต้นทุนการปลูกอ้อย ดังนั้นจึงมีการเสนอขอให้นำเงินสะสมจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (ประมาณ 40 บาท/ตัน) มาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในส่วนนี้ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ให้ความเห็นชอบไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล (15 ม.ค.61) เรียกเก็บเงินส่วนต่างเข้ากองทุนเฉลี่ย 1,000-1,200 ล้านบาท/เดือน หรือ 3,000-3,500 ล้านบาท

นายปัญญา ศรีปัญญา ประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังการลอยตัวราคาน้ำตาลแล้ว ส่งผลให้ราคาน้ำตาล ณ หน้าโรงงานอยู่ระหว่าง 18-19 บาท/กก. แม้จะอิงราคาตลาดโลก แต่ยังคงเห็นราคาขายปลีกทั่วไปยังอยู่ที่ 22-23 บาท/กก. สะท้อนว่าคนไทยยังคงกินน้ำตาลแพง รัฐไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกได้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวถึงสถานการณ์หีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/2561 (1 ธันวาคม 2560-8 เมษายน 2561) รวมเวลา 129 วัน โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรับอ้อยเข้าหีบแล้ว 124.09 ล้านตันอ้อย มีค่าความหวานเฉลี่ย 12.51 CCS เพิ่มจากปีก่อนที่ 12.27 CCS มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 109.36 กก./ตันอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 13.57 ล้านตัน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

หนี้สินพอกแน่!! ชาวไร่อ้อยวอนโรงงานน้ำตาลขายเวลาเปิดหีบ

 สมาชิกชาวไร่อ้อยที่จ.อุดรธานี บุกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หารือนายกสมาคมฯ ช่วยเจรจากับ โรงงานน้ำตาล ขยายวันปิดหีบอ้อยฤดูการผลิด 2560/2561 ออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เนื่องจากผลิตปีนี้เกินคาด เกษตรกรอ้อยกว่า 1 แสนตันยังรอส่งเข้าโรงงานและหากโรงงานปิดรับอ้อยเกษตรกรเป็นหนี้สินพอกขึ้นแน่

 เกษตรกรชาวไร่อ้อยวันโรงงานน้ำตาลขยายเวลารับซื้ออ้อยออกไปอีก โดยที่ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ.มิตรภาพ ต.พันดอน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี สมาชิกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เข้าพบกับนาย ไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะกรรมการบริหารสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อประชุมพิจารณา ขอให้สมาคมฯ ช่วยเจรจากับ บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี – เกษตรผล จำกัดซึ่งตั้งอยู่ต.ปะโค อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ขอให้เลื่อนวันปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/2561 ออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวไร่อ้อย

 นายมนัสชัย มุ่งคำกลอง อายุ 48 ปี เกษตรกร/สมาชิกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตนมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 700 ไร่ ที่บ้านนาเหล่า ม.7 ต.หนองกุงศรี อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ปีนี้ได้ผลผลิตดีเป็นพิเศษเพราะน้ำดีฝนตกสม่ำเสมอ ประกอบกับโรงงานส่งเสริมให้ชาวนาได้ทำการปลูกอ้อยในที่นาข้าว จนมีผลผลิตจำนวนมากเกินคาดหมาย โดยขณะนี้สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นคู่ค้ากับโรงงานไม่สามารถส่งอ้อยเข้าโรงงานได้ เนื่องจากโรงงานอ้างว่าอ้อยปีนี้เต็มสัญญาแล้วจึงไม่สามารถส่งโรงงานได้ ตอนนี้เดือดร้อนมากอยากให้สมาคมฯ ช่วยเจรจาให้โรงงานขยายเวลาปิดหีบออกไปอีก จนกว่าสมาชิกฯ จะเก็บเกี่ยวผลผลิตให้หมด  หากโรงงานอ้อยปิดตามกำหนดคือวันที่ 5พ.ค.ที่จะถึงนี้พวกตนเป็นหนี้สินพอกขึ้นแน่นอน

 ด้านนายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปีนี้ผลผลิตดีเกินขาดหมาย จากตอนแรกภาพรวมทั้งประเทศคาดการณ์ว่าจะมีอ้อยออกสู่ตลาดประมาณ 110 ล้านตัน แต่ตอนนี้มีอ้อยออกสู่ตลาดแล้ว 130 ล้านต้น ซึ่งขณะนี้อ้อยก็ยังออกสู่ตลาดยังไม่หมด ประกอบกับตอนนี้ราคาน้ำตลาดลดต่ำลง หากโรงงานหีบอ้อยส่งออกไปก็มีแต่จะขาดทุน แต่อย่างไรก็ตามโรงงานในพื้นที่ที่เป็นเครือข่ายกับสมาคมก็รับปากว่าจะรับอ้อยจากสมาชิกฯ ของเราให้หมด และจะปิดหีบในวันที่ 5 พ.ค. นี้สำหรับขอเสนอของสมาชิกฯ ที่อ้างว่าขอเลื่อนระยะเวลาปิดหีบออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เนื่องฝนตกชาวไร่ขนอ้อยออกจากไร่ลำบาก ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานจึงทำให้การขนส่งอ้อยล่าช้านั้น ก่อนวันที่ 5 พ.ค.นี้ ทางผมจะเข้าไปเจรจากับทางโรงงานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รับปากว่าโรงงานจะทำตามที่ร้องขอ ทั้งนี้ตอนนี้หน้าห่วงมากคือในวันนี้ (30 เม.ย.) โรงงานทั้งหมดจะปิดหีบ และเกรงว่าจะมีอ้อยจากที่อื่นทะลักเข้ามา แหล่งข่าวรายหนึ่ง ระบุว่า หากโรงงานไม่รับซื้ออ้อยปีการผลิตที่ยังคงค้างจำนวนนี้ที่มีมากเกือบ 1 แสนตันในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว เกษตรกรคงเป็นหนี้ บางรายอาจล้มละลาย และพร้อมที่จะยกระดับเป็นการชุมนุมปิดถนนบางสายเพื่อเรียกร้องผ่านรัฐบาลต่อไป

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

SPP ชีวมวลยื่นก.พลังงานช่วยเร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล วิตกแนวทางช่วยเหลือของกระทรวงพลังงานด้วยการเพิ่มปริมาณรับซื้อไฟจะยิ่งสร้างความเดือดร้อน จึงเร่งทำหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกครั้งเป็นฉบับที่ 2 เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจากนโยบายการกำหนดราคารับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกัน พร้อมแจงราคาที่ร้องขอยังต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐานของประเทศ ไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าไฟประชาชนแน่นอน

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล เผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ทางชมรมได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อีกครั้ง หลังจากที่ข้อเรียกร้องของชมรมยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา โดยหนังสือดังกล่าวต้องการให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลังมีข่าวเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาที่กระทรวงพลังงานอาจจะใช้วิธีการช่วยซื้อไฟฟ้าในปริมาณเพิ่มขึ้นแทนการปรับราคาตามมติกบง.ก่อนหน้านี้

ข้อเท็จจริงของปัญหาคือ เรื่องการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่เหลื่อมล้ำและการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการ SPP ชีวมวลที่ 2.65 บาทต่อหน่วย และ VSPP ชีวมวลที่ 4.54 บาทต่อหน่วย มิใช่ปัญหาเรื่องปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า ดังนั้น การจะช่วยด้วยการซื้อไฟฟ้าในปริมาณเพิ่มขึ้นนั้น จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ SPP ชีวมวล ที่มีสัญญาขายไฟแบบ Firm เป็นเท่าทวีคูณ เพราะต้องหาซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะแข่งขันกับ VSPP ได้ เนื่องจากนโยบายรัฐที่กำหนดราคารับซื้อไฟต่างกันมากถึงเกือบ 2 บาทต่อหน่วย และมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะโดนค่าปรับตามสัญญาแบบ Firm ในขณะที่ VSPP กลับได้เปรียบจากค่าไฟที่ได้รับสูงกว่า และมีสัญญาขายไฟแบบ Non-Firm จึงไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าปรับแต่อย่างใด

SPP ชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นแรกที่บุกเบิกการผลิตไฟฟ้า ด้วยการซื้อเชื้อเพลิงจากของเหลือทางการเกษตร ไม่มีเชื้อเพลิงเป็นของตัวเอง ไม่เคยได้รับทั้งเงินสนับสนุน Adder และ FiT จึงไม่เคยเป็นภาระค่าไฟของประเทศและประชาชน แม้แต่ข้อเรียกร้องที่ชมรมขอให้ช่วยเหลือเพื่อความเป็นธรรมนี้ ทางชมรมก็ยอมรับตามมติกบง.ที่ได้พิจารณาปรับราคารับซื้อให้เป็นแบบสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งยังต่ำกว่าราคาที่ VSPP ชีวมวลได้รับ รวมทั้งต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐานของประเทศ ประกอบกับปริมาณขายไฟฟ้าของกลุ่ม SPP ชีวมวลมีเพียง 2% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศเท่านั้น จึงไม่กระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและของประเทศโดยรวมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตามมติ กบง. เมื่อ 5 กันยายน 2560 และมติ กกพ. เมื่อ 28 มีนาคม 2561 (กกพ.ได้รับมอบหมายตามมติ กบง. เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561) เห็นชอบให้ SPP ชีวมวลที่มีขนาดตั้งแต่ 10 MW ขึ้นไป(ปริมาณขาย 3,662 ล้านหน่วยต่อปี) ได้สิทธิในราคา FiT ที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้แข่งขันซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลกับ VSPP ได้ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวม SPP ชีวมวลที่มีขนาดเท่ากับ VSPP คือไม่เกิน10 MW (ปริมาณขาย 457 ล้านหน่วยต่อปี) ได้สิทธิในราคา FiT เพื่อแข่งขันได้ที่ 4.24 บาทต่อหน่วย ก็ยังทำให้ราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ชีวมวลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐาน3.76 บาทต่อหน่วย

ชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล เรียกร้องเพื่อขอโอกาสและขอได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 เมษายน 2561 เรื่องการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ในบริบทตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการได้รับ “โอกาสและการปฏิบัติเท่าเทียม” โดยขอให้นำมาตรการแก้ไขปัญหา SPP ชีวมวลที่ผ่านความเห็นชอบจาก กบง. และ กกพ. (ตามที่ได้รับมอบหมายจาก กบง.) ไปแล้ว เสนอต่อ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว เพราะถ้าเรื่องเงียบหายไปนานอีกดังเช่นที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายคงอยู่ไม่รอดแน่ เพราะต้องทนแบกภาระขาดทุนมาติดต่อกันหลายปีแล้ว และอยู่ในช่วงที่ต้องคืนหนี้สินแก่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติหลายรายที่เข้ามาลงทุน SPP ชีวมวลในประเทศไทยตามนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนตั้งแต่ต้น ก็จะได้กลับมามีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยและต่อนโยบายการพัฒนาประเทศของภาครัฐ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

แจงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองขายฝากฯเป็นวาระเร่งด่วนชี้เกษตรกรจำนองหนี้นอกระบบกว่า30ล.ไร่

กอบศักดิ์ แจงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองขายฝากที่ดินเป็นวาระเร่งด่วน ระบุมีกว่า30ล้านไร่ที่เกษตรกรใช้จำนองหนี้นอกระบบ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) เห็นชอบขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย เนื่องจากปัญหาความยากจน ขาดแคลนเงินรองรับปัญหาฉุกเฉิน จึงต้องกู้เงินนอกระบบ โดยใช้ที่ดิน ที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันในสัญญาขายฝาก และเมื่อผิดสัญญาทั้งแบบไม่ได้ตั้งใจหรือจงใจกระทำจากนายทุน ทำให้ที่ดินจำนวนมากตกไปอยู่ในมือนายทุน เช่น การจงใจผิดนัดของนายทุนเมื่อต้องชำระ กลับเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ทำให้ลูกหนี้ชำระเงินไม่ทันตามกำหนด หรือการทำสัญญาเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อหวังยึดที่ดิน

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 150 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่งจำนวน 70 ล้านไร่เกษตรกรต้องเช่าทำกิน และสัดส่วน 30 ล้านไร่อยู่ระหว่างจำนองกับเจ้าหนี้นอกระบบ จำนวนนับแสนไร่ได้ขายฝาก ซึ่งมีโอกาสหลุดมือถูกยึดที่ดินสูงมาก เพราะนายทุนมักจะอาศัยช่องโหว่กฎหมายขอเปลี่ยนสัญญาเพื่อเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ ส่วนใหญ่มักไม่หวังดอกเบี้ยเงินกู้แต่หวังยึดที่ดินจากชาวบ้าน

“รัฐบาลจึงถือเป็นวาระเร่งด่วนต้องดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็ว สาระกฎหมายดังกล่าวจึง กำหนดให้การขายฝากต้องมีนิติกร เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ช่วยดูแลสัญญาตรวจตราความถูกต้อง กำหนดให้ชัดเจนทั้งวันไถ่ถอน แหล่งที่อยู่ และหากเปลี่ยนแปลงสัญญาเพิ่มเติมภายหลังถือว่าสัญญาเป็นโมฆะระยะเวลากำหนดไถ่ถอน 1 ปี- 1.6 ปี ไม่ใช่ต้องชำระทุก 3 เดือน เพราะมองว่าระยะสั้นเกินไป หากเจ้าหนี้อ้างว่าไม่อยู่เมื่อครบกำหนด ให้นำเงินที่เตรียมชำระหนี้ไปแจ้งต่อ อบต.ในพื้นที่ ระบุในเอกสารว่าเตรียมพร้อมชำระไม่ได้ผิดนัด เพื่อคุ้มครองรายย่อยไม่รู้กฎหมาย”นายกอบศักดิ์ กล่าว

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

ผลผลิตล้น ชาวไร่อ้อยภาคอีสานร้องโรงงานขยายเปิดหีบถึง 15 พ.ค.ขู่ปิดถนนประท้วง

นายมนัสชัย มุ่งคำกลอง อายุ 48 ปี เกษตรกร/สมาชิกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อุดรธานี-ผลผลิตยังเหลือเพียบ สมาชิกชาวไร่อ้อย บุกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หารือนายกสมาคมฯ ช่วยเจรจากับ โรงงานเลื่อนวันปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 2560/2561 ออกไปจนถึงวันที่ 15 พ.ค.2561 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อย เนื่องจากผลผลิตปีนี้ดีเกินคาด ประกอบกับฝนตกชุกช่วงเก็บเกี่ยว อีกทั้งแรงงานหายาก เผยหากโรงงานไม่ขยายเวลาเปิดหีบ จะมีผลผลิตคงค้างมากเกือบ 1 แสนตัน อาจนัดชุมนุมใหญ่ปิดถนนกดดันรัฐบาลช่วยเหลือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ.มิตรภาพ ต.พันดอน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ตัวแทนสมาชิกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนกว่า 20 คน ได้เข้าพบกับนาย ไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยฯ และคณะกรรมการบริหารสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อประชุมพิจารณา ขอให้สมาคมฯ ช่วยเจรจากับ บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี – เกษตรผล จำกัด ให้เลื่อนวันปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/2561 ออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวไร่อ้อย

นายมนัสชัย มุ่งคำกลอง อายุ 48 ปี เกษตรกร/สมาชิกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตนมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 700 ไร่ ที่บ้านนาเหล่า ม.7 ต.หนองกุงสี อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ปีนี้ได้ผลผลิตดีเป็นพิเศษ เพราะน้ำดี ฝนตกสม่ำเสมอ ประกอบกับโรงงานส่งเสริมให้ชาวนาได้ทำการปลูกอ้อยในที่นาข้าว จนมีผลผลิตจำนวนมากเกินคาดหมาย โดยขณะนี้สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นคู่ค้ากับโรงงานไม่สามารถส่งอ้อยเข้าโรงงานได้

เนื่องจากโรงงานอ้างว่าอ้อยปีนี้เต็มสัญญาแล้วจึงไม่สามารถส่งโรงงานได้ ตอนนี้เดือดร้อนมาก อยากให้สมาคมฯ ช่วยเจรจาให้โรงงานขยายเวลาปิดหีบออกไปอีก จนกว่าสมาชิกฯ จะเก็บเกี่ยวผลผลิตให้หมด

ด้านนายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ปีนี้ผลผลิตดีเกินคาดหมาย จากตอนแรกภาพรวมทั้งประเทศคาดการณ์ว่าจะมีอ้อยออกสู่ตลาดประมาณ 110 ล้านตัน แต่ตอนนี้มีอ้อยออกสู่ตลาดแล้ว 130 ล้านต้น ซึ่งขณะนี้อ้อยก็ยังออกสู่ตลาดยังไม่หมด ประกอบกับตอนนี้ราคาน้ำตลาดต่ำลง หากโรงงานหีบอ้อยส่งออกไปก็มีแต่จะขาดทุน

แต่อย่างไรก็ตามโรงงานในพื้นที่ที่เป็นเครือข่ายกับสมาคมก็รับปากว่าจะรับอ้อยจากสมาชิกฯ ของเราให้หมด และจะปิดหีบในวันที่ 5 พ.ค. นี้

สำหรับขอเสนอของสมาชิกฯ ที่อ้างว่าขอเลื่อนระยะเวลาปิดหีบออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เนื่องฝนตกชาวไร่ขนอ้อยออกจากไร่ลำบาก ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานจึงทำให้การขนส่งอ้อยล่าช้านั้น ก่อนวันที่ 5 พ.ค.นี้ ทางตนจะเข้าไปเจรจากับทางโรงงานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รับปากว่าทางโรงงานจะทำตามที่ร้องขอหรือไม่

โดยตอนนี้หน้าห่วงมาก เพราะในวันนี้ (30 เม.ย.) โรงงานทั้งหมดจะปิดหีบ และเกรงว่าจะมีอ้อยจากที่อื่นทะลักเข้ามา

แหล่งข่าวรายหนึ่ง ระบุว่า หากโรงงานไม่รับซื้ออ้อยปีการผลิตที่ยังคงค้างจำนวนนี้ที่มีมากเกือบ 1 แสนตันในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีแล้ว เกษตรกรคงเป็นหนี้ บางรายอาจล้มละลาย และพร้อมที่จะยกระดับเป็นการชุมนุมปิดถนนบางสายเพื่อเรียกร้องผ่านรัฐบาล

ซึ่งในวันนี้ (30 เม.ย) เกษตรกรจะไปร่วมเจรจากับโรงงานน้ำตาลเอราวัณ ที่ ต.นากลาง อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู

จาก https://mgronline.com  วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

เพิ่มประสิทธิภาพพันธุ์อ้อยสะอาด รองรับอุตสาหกรรมน้ำตาลขยายตัว

“กรมส่งเสริมการเกษตร” เร่งเพิ่มประสิทธิภาพพันธุ์อ้อยสะอาด รับการขยายตัวอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมแจกท่อนพันธุ์แก่เกษตรกรปลูกอ้อยทันต้นฝน พฤษภาคม 2561

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยมี

แนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเป็นอ้อย เพราะผลตอบแทนสูงกว่าพืชอื่น เกษตรกรจึงมีความต้องการพันธุ์อ้อยมากขึ้น เกิดการขนย้ายท่อนพันธุ์ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อหรือติดโรคใบขาวอ้อยมาระบาดในพื้นที่ได้ อันจะทำให้ผลผลิตที่ได้ต่ำ หรือกระทั่งไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ กรม

ส่งเสริมการเกษตรจึงตั้งเป้าหมายจัดทำแปลงเพาะพันธุ์อ้อยสะอาดด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พร้อมกระจายพันธุ์อ้อยสะอาดอย่างมีระบบ โดยในปี 2561 จะกระจายพันธุ์อ้อยสะอาดให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรใน 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ยโสธร นครราชสีมา พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ จากนั้น ศูนย์ต่างๆ จะส่งเสริมขยายผลเทคโนโลยีสู่เกษตรกร ให้สามารถผลิตและจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดโดยเกษตรกรจะมีท่อนพันธุ์ไว้ใช้เองในฤดูปลูกอ้อยต่อไป

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนมากเกษตรกรจะปลูกอ้อยในต้นฤดูฝน คือเดือนพฤษภาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก และอีกช่วงหนึ่งที่เกษตรกรในภาคตะวันออกนิยมปลูกกันมาก แต่ต้องมีการเตรียมดินที่ดีกว่ากลุ่มแรกคือ การปลูกอ้อยข้ามแล้งหรือปลูกปลายฝนในเดือนตุลาคม ซึ่งยังมีฝนอยู่ ทำให้อ้อยที่ปลูกเติบโตได้ก่อนเข้าฤดูแล้ง และได้รับน้ำฝนอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้อ้อยเติบโตอยู่ได้โดยเกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาน้ำไม่เพียงพอ อีกทั้งวิธีการปลูกอ้อยข้ามแล้งนี้ยังส่งผลให้อ้อยที่ปลูกแก่เต็มที่ คือมีอายุ 12-13 เดือน มีคุณภาพในการผลิตน้ำตาลมากขึ้นเมื่อเก็บเกี่ยวมาขายในช่วงโรงงานเปิดรับผลผลิตระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคมด้วย

จาก www.naewna.com วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

สิบล้อขนอ้อยต่อคิวยาวเหยียด ส่งอ้อยขายโรงงานหลังใกล้ปิดหีบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเกษตรชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ , จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมารวมตัวกันเรียกร้องให้โรงงานอ้อยชะลอการปิดหีบ โดยให้ทางจังหวัดแต่ละจังหวัด , อุตสาหกรรม และหอการค้าช่วยเจรจาจนได้รับคำตอบที่พอใจในการขยายเวลาปิดหีบออกไป

ล่าสุดเกษตรกรชาวไร่อ้อยเร่งบรรทุกผลผลิตส่งขายโรงงานน้ำตาลราชสีมา ที่อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ขณะนี้มีรถบรรทุกอ้อยกว่า 1,000 คันเข้าคิวต่อแถวขายอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลยาวเหยียดแน่นขนัดเต็มพื้นที่ โดยผลผลิตอ้อยปีนี้มีปริมาณมาก

ขณะที่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอแก้งสนามนาง โดยนายนิเวช ง่วนสำอางค์ ผู้อำนวยการอาวุโสบริหารกิจการโรงงานกลุ่มวังขนาย อุตสาหกรรมอ่างเวียน หรือโรงงานอ้อยราชสีมา หรือโรงงานน้ำตาลแก้งสนามนางประกาศขยายเวลาปิดหีบรับซื้ออ้อยไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ จากเดิมกำหนดปิดหีบตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาในพื้นที่ต่อเนื่องจึงทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้า

นายนิเวช  กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์เปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2560/61 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีปริมาณผลผลิตอ้อยออกสู่ตลาดประมาณ 129 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 40 % เมื่อเทียบกับผลผลิตอ้อยปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 93 ล้านตัน เนื่องจากช่วงฤดูปลูกอ้อยปีนี้มีปริมาณฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นอ้อย ทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15 - 20 ตันต่อไร่ และขณะนี้เกษตรกรจำนวนมากเก็บเกี่ยวอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลไม่ทัน

ทั้งยังมีผลผลิตอ้อยในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และชัยภูมิเหลือตกค้างในไร่อ้อยเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ประสานโรงงานน้ำตาลพื้นที่ให้ขยายเวลาปิดหีบรับอ้อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจากการคาดการณ์ล่าสุดยังคงมีผลผลิตอ้อยตกค้างอยู่ประมาณ 200,000 ตัน และมั่นใจว่าภายในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้เกษตรกรในพื้นที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยส่งขายโรงงานได้ทันกำหนดระยะเวลาปิดหีบ.

จาก www.thaipost.net  วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

เดินหน้าเคลื่อน‘ตลาดนำการผลิต’ n เชื่อมโยง‘ภาคเกษตร-การค้า’ n สร้างความมั่นใจเศรษฐกิจยั่งยืน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาคการเกษตรยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อาทิ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ต้นทุนการผลิตสูง ประสบภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งมีสาเหตุมาจากเกษตรกรไทยยังขาดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ขาดความรู้ 2) ขาดเงินทุน และ 3) ไม่มีตลาดรองรับ จึงได้กำหนดนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด โดยได้ร่วมมือกับ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย บูรณาการการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ตัวอย่างจังหวัดที่นำนโยบายนี้ไปปฏิบัติและสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี ได้จัดพิธีลงนาม MOU ตามพันธะสัญญานำร่อง“การตลาดนำการผลิต” ระหว่างโรงพยาบาลกับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ ในการจัดซื้อรายการอาหาร ประเภท ข้าวสาร พืชผัก และผลไม้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร หรือการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (SMEs) เพื่อหาตลาดและสร้างอำนาจการต่อรองด้านราคาให้กับเกษตรกร ขณะนี้เชื่อมโยงสหกรณ์ 518 แห่ง กับภาคเอกชน 109 แห่ง และมีสหกรณ์ 55 แห่ง ส่งออกผลผลิตไปต่างประเทศ รวม 28 ประเทศ ทำให้เกิดการซื้อขายผลผลิตเกษตร รวม 818,873 ตัน มูลค่า 17,009 ล้านบาท

ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อาทิ ยางพารา กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการยางพาราควบคุมการผลิตราคายางพารา พร้อมเรียก 4 ประเทศผู้ผลิตยางหารือแนวทางใหม่เพื่อลดการกรีดยาง สำหรับมาตรการหยุดกรีดยาง ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังหาแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ระหว่างชะลอการกรีดยางหรือหยุดกรีดยาง ขณะที่การส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ ปัจจุบันมีหลายจังหวัดเริ่มดำเนินการใช้ยางทำถนนแล้ว เช่น จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

จาก www.naewna.com วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยเครียด! ผลผลิตตกค้าง แห่เข้าคิวส่งขายโรงงาน

นครราชสีมา 29 เม.ย. - รถบรรทุกอ้อยนับพันคัน แห่เข้าคิวส่งขายโรงงาน ผลผลิตตกค้างมหาศาล โรงงานใกล้ปิดหีบ ชาวไร่อ้อยเดือดร้อน

ชาวไร่อ้อยเร่งบรรทุกผลผลิตส่งขายโรงงานน้ำตาลที่ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา มีรถบรรทุกนับพันคันต่อคิวยาวเหยียด จอดแน่นขัดเต็มพื้นที่ เพื่อทยอยส่งอ้อยขายให้โรงงานหลังจากปีนี้ปริมาณอ้อยล้นตลาด ผลผลิตตกค้างจำนวนมาก ขณะที่โรงงานน้ำตาลสนองนโยบายรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ประกาศขยายเวลาเปิดหีบรับซื้ออ้อยไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม นี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

สำหรับสถานการณ์อ้อยปีการผลิต 2560/61 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 จนถึงขณะนี้มีปริมาณอ้อยประมาณ 129 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 40 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีปริมาณอ้อยอยู่ที่ 93 ล้านตัน หลังจากฤดูปลูกอ้อยปีนี้มีฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 15-20 ตันต่อไร่ จากเดิมแค่ 10-15 ตันต่อไร่ และพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ปีนี้เกษตรกรประสบปัญหาตัดอ้อยส่งโรงงานไม่ทัน ยังมีปริมาณอ้อยในเขต จ.นครราชสีมา ขอนแก่น และชัยภูมิ เหลือตกค้างในไร่อ้อยเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดจึงประสานโรงงานน้ำตาลใน อ.แก้งสนามนาง ให้ขยายเวลาเปิดหีบรับอ้อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

นายนิเวช ง่วนสำอางค์ ผู้อำนวยการอาวุโสบริหารกิจการโรงงาน กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า โรงงานที่ อ.แก้งสนามนาง มีกำลังหีบอ้อย 30,000 ตันต่อวัน มีชาวไร่คู่สัญญา 5,460 ราย ปัจจุบันได้หีบอ้อยแล้ว 3.2 ล้านตัน จากเดิมกำหนดปิดหีบรับอ้อยไม่เกินวันที่ 30 เมษายน แต่ชาวไร่ตัดอ้อยไม่ทันและมีอ้อยตกค้างอีกกว่า 200,000 ตัน จึงขยายเวลาเปิดหีบจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ เพื่อรับซื้ออ้อยได้ครบถ้วน

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

กลุ่มนักวิชาการด้านการแพทย์ ยันสารเคมีกำจัดวัชพืช'พาราควอต'จำเป็นต่อการเกษตร

"กลุ่มนักวิชาการด้านการแพทย์ ยันสารเคมีกำจัดวัชพืช "พาราควอต" จำเป็นต่อการเกษตร ชี้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ ระบุชัดไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม สารพาราควอตไม่เจือปนในน้ำ ข้ออ้างทำให้เกษตรกรเกิดโรคเนื้อเน่า ไม่มีทางเป็นได้ ทั้งข้อมูลเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก่อโรคพาร์กินสันได้ในความเสี่ยงราว 2-5 เท่า พบเป็นข้อมูลจากแบบสอบถาม มีความโน้มเอียงที่จะมีอคติสูง"

ศ.พิเศษ ดร.สันทัด โรจนสุนทร ประธานกรรมการ มูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตร นำกลุ่มนักวิชาการและแพทย์ จัดเสวนา “สนทนาพาราควอต” ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง หวังสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ซึ่งยังคงจำเป็นในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ อาหารไทยสู่ครัวโลก ร่วมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา อดีตแพทย์โรคระบบการหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม แพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชพิษวิทยา ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลแผนกแพทยศาสตร์ ,ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ราชบัณฑิตแห่งสำนักราชบัณฑิตยสภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง อ.ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศ. ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพันเอกนายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม แพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชพิษวิทยา ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลแผนกแพทยศาสตร์

ศ.พิเศษ ดร.สันทัด กล่าวว่า สารเคมีกำจัดวัชพืชมีความสำคัญต่อเกษตรกรรมของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เพราะเป็นการทดแทนแรงงานคนเพื่อจะใช้ในการกำจัดวัชพืช ดังนั้นมูลนิธิฯ ยึดถือผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการตัดสินใจและสรุปข้อมูลทั้งผลงานที่ไม่ว่าจะออกทางด้านลบหรือด้านบวก จึงได้เชิญนักวิชาการด้านการแพทย์และเกษตรกร กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและทำความเข้าใจร่วมกัน นำไปสู่การนำเสนอแนวทางแก้ไขต่อภาครัฐและผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

ศ.ดร.รังสิต  กล่าวว่าคุณสมบัติของพาราควอต จะยึดติดกับดินอย่างเหนียวแน่น และหมดฤทธิ์ ไม่สามารถปลดปล่อยออกมา จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ในดินและน้ำ อาทิ ไส้เดือน แมลง ปลา รวมทั้ง รากพืชไม่สามารถดูดซึมได้ ขณะเดียวกันการใช้งานในภาคเกษตรกรรม พาราควอต ใช้ในการกำจัดวัชพืช จะออกฤทธิ์เฉพาะส่วนสีเขียวที่ได้รับสารเท่านั้น เช่น หากฉีดโดนใบจะทำให้ใบไหม้ ส่วนลำต้นหรือส่วนอื่นๆที่เป็นสีน้ำตาลจะไม่ได้รับผลกระทบ ไม่เป็นพิษ สามารถเติบโตต่อไปได้

ขณะเดียวกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารพาราควอตนั้น มีข้อกล่าวอ้างที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะประเด็นพาราควอตทำให้เกษตรกรเกิดโรคเนื้อเน่าที่ จ.หนองบัวลำภู ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะความจริงแล้ว พาราควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคดินและตะกอนดินในน้ำ รวมทั้งถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในที่สุด

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สมชัย กล่าวว่าแพทย์ทั่วไปจะทราบว่า โรคเนื้อเน่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การเดินลุยน้ำที่อาจมีสารพาราควอตปนเปื้อนจากการพ่นกำจัดวัชพืช จะได้สัมผัสกับพาราควอตที่เจือจางมากเพราะสารที่ใช้พ่นต้องเจือจางก่อนและจะถูกเจือจางอีกโดยน้ำที่ขังอยู่ และจะถูกทำให้หมดฤทธ์เมื่อสัมผัสกับน้ำโคลนดิน สารพาราควอตเองโดยปรกติไม่ถูกดูดซึมทางผิวหนังนอกจากมีบาดแผล ส่วนการรายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอดและเลือดสายสะดือทารก ก็น่าสงสัยว่าได้มาอย่างไร และในรายงานไม่ได้ระบุว่าแม่และลูกมีความผิดปรกติจากพิษพารา ควอตหรือไม่อย่างไร อนึ่งเท่าที่ทราบจวบปัจจุบันยังไม่เคยมีรายงานการเกิดพิษพาราควอตในผู้ใช้สารพาราควอตฆ่าหญ้าเลย นอกจากไปดื่มกิน

ศ.นพ.นิพนธ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันว่า ในตำราแพทย์ด้านประสาทวิทยา มีการกล่าวถึงว่า สารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าเป็นสารที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน อนึ่งข้อมูลทางระบาดวิทยาในประเทศต่าง ๆ เมื่อราว 30 ปีที่แล้วให้ผลว่า สารเคมีทั้งประเภทยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า อาจทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้โดยมีความเสี่ยงราว 2-5 เท่า แต่ข้อมูลจากการศึกษาแบบสอบถามนี้มีความโน้มเอียงที่จะมีอคติสูง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในระยะหลังๆต่อมาอีก 10 ปี พบว่ามีประชากรที่ได้รับสัมผัสและไม่ได้รับสัมผัสเกิดเป็นโรคพาร์กินสันในอัตราใกล้เคียงกัน ปัจจุบันจึงยังสรุปไม่ได้ ประกอบกับสารเคมีพาราควอตในเลือดจะเข้าไปสู่สมองลำบากเพราะสารนี้ไม่ผ่านตัวกรองกั้นจากเลือดเข้าสู่สมอง (Blood Brain Barrier) และการจะเกิดการทำลายเซลล์สมองต้องมีปริมาณของสารเคมีในขนาดสูง การสรุปที่แน่ชัดในเรื่องนี้คงต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมากในอนาคต

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมชัย กล่าวสรุปว่า การใช้พาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชไม่น่ากลัว อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน โปรดพิจารณาข่าวสารอย่างรอบคอบ ติดตามข้อมูลงานวิจัยหรือการศึกษาต่างๆอย่างถี่ถ้วน ประเด็นถกเถียงด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่างๆไม่ได้ระบุว่าพาราควอตเป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่างๆดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ยังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันแต่อย่างใด

ด้านพ.อ.นพ.สุรจิต กล่าวว่า หากจะยังอนุญาตให้มีการใช้ได้ ต้องมีมาตรการจำกัดการใช้เข้มงวดอย่างยิ่ง กล่าวคือ ต้องห้ามมิให้มีผลิตภัณฑ์ชนิดเข้มข้นวางจำหน่ายในท้องตลาด ห้ามมิให้มีการผสมและถ่ายเทสารพาราควอตนอกโรงงานที่ได้รับอนุญาต คงอนุญาตให้มีแต่ผลิตภัณฑ์ผสมเสร็จที่บรรจุในภาชนะปิดสนิทพร้อมใช้พ่นได้ทันทีเท่านั้น และต้องมีมาตรการแลกเปลี่ยนภาชนะบรรจุในการซื้อแต่ละครั้ง ทำนองเดียวกันกับแก๊สหุงต้ม จำกัดปริมาณให้ซื้อได้เฉพาะผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมการใช้และมีใบอนญาตเท่านั้น เป็นต้น

จาก www.naewna.com วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

"กฤษฎา" เต้นสั่งกรมชลฯงัดแผนฉุกเฉินสู้น้ำปภ.สั่งรับมือ 60 จ. เสี่ยงพายุฤดูร้อน ฝนตกหนัก

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่เกิดพายุฝนตกหนักในพื้นที่หลายแห่งซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ จึงขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในพื้นที่ฝนตกหนักและพื้นที่เส้นทางน้ำไหลให้เตรียมเครื่องสูบน้ำ เร่งประสานเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พื้นที่หรือ ปภ.ส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำรวจเส้นทางระบายและผันน้ำไว้ด้วยเพื่อดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำท่วมด้วย

ด้านนายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์สาธารณภัย วาตภัย ระหว่างวันที่ 23 – 28 เม.ย. 2561 เกิดวาตภัยในพื้นที่ 30 จังหวัด (ลำพูน พะเยา กำแพงเพชร ลำปาง นครสวรรค์ แพร่ เชียงใหม่ พิจิตร น่าน ตาก เชียงราย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู มุกดาหาร ขอนแก่น เลย บุรีรัมย์ สุรินทร์ สกลนคร มหาสารคาม ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง อุทัยธานี สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี) 77 อำเภอ 157 ตำบล 357 ม. บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3,098 หลัง ราษฎร ได้รับผลกระทบ 7,364 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย (จังหวัดมหาสารคาม)

"ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้แจ้งแผนที่เตือนจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบในวันที่ 28 เมษายน 2561 จำนวน 51 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตรและตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร

กาฬสินธุ์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคกลาง 17 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ยังมี 9 จังหวัด ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากปริมาณฝนที่ตกสะสมต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยในระยะเวลาสั้นๆ ได้ คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามัน คลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

ร้องกระทรวงพลังงาน ทบทวนการรับซื้อไฟก๊าซชีวภาพใหม่

สมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพฯ จี้รัฐทบทวนการสั่งชะลอซื้อไฟจากพลังงานทดแทน ทำเงินลงทุนหายวับจากระบบ 1.5 แสนล้าน เฉพาะประเภทก๊าซชีวภาพอย่างเดียวลงทุนหาย 3.6 หมื่นล้าน คาดราคาพืชผลการเกษตรโดนหางเลขราคาตกแน่

นายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศว่าจะหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปี (2561-2565) นั้น ได้ส่งผลกระทบการลงทุนของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนให้หยุดชะงักลง เมื่อประเมินภาพรวมแล้วพบว่า การชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากทุกประเภทบนพื้นฐานที่ว่าจะต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าที่ 500 เมกะวัตต์/ปี การลงทุนเฉลี่ยที่ 60 ล้านบาท/เมกะวัตต์นั้น เท่ากับว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนหายไปจากระบบ 1.5 แสนล้านบาท เมื่อประเมินเฉพาะกลุ่มก๊าซชีวภาพที่ต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าที่ 600 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าจะต้องมีการรับซื้อที่ประมาณ 120 เมกะวัตต์/ปี เท่ากับว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนหายไปจากระบบที่ 3.6 หมื่นล้านบาท จึงต้องการให้มีการทบทวนการประกาศดังกล่าว เพราะผลกระทบไม่ได้จำกัดวงแค่เพียงอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่ต้องนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มชีวมวลอีกด้วย

ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 หรือ แผน AEDP (Alternative Energy Development Plan) ยังต้องรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพอีก 600 เมกะวัตต์

ฉะนั้นจึงต้องการนำเสนอให้ภาครัฐกำหนดให้การรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเป็น “พลังงานเชิงนโยบาย” ที่ต้องรับซื้อไฟฟ้า ด้วยการให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมนำเสนอโครงการเข้ามา ภายใต้ราคาที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานปาล์มน้ำมันและโรงงานแป้งที่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิตที่ต้องการลงทุนทำโรงไฟฟ้าเพื่อจัดการกับน้ำเสีย

และหากจะให้คุ้มค่าลงทุนคือต้องขายไฟฟ้าเข้าระบบด้วย โดยในช่วงที่มีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เนื่องจากโรงงานปาล์มและโรงงานแป้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ระบบสายส่งไม่สามารถรองรับได้

“อยากให้มองถึงข้อดี-ข้อเสียของพลังงานแต่ละประเภทให้รอบด้านจะมองเพียงราคาต่ำอย่างเดียวไม่ได้ ถ้ามองว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินมั่นคงกว่าเมื่อเทียบกับพลังงานทดแทน แต่ทั้งก๊าซและถ่านหินต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบ 100% ในขณะที่พลังงานทดแทนใช้วัตถุดิบในประเทศ ภาครัฐก็ต้องดูว่าจะเลือกความมั่นคงแบบใด”

นายผจญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่มีการระบุว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนค่อนข้างแพง ซึ่งหากสามารถปรับต้นทุนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 2.40 บาท/หน่วย ก็อาจจะมีการรับซื้อนั้น ภาครัฐควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วยว่าราคาดังกล่าวยังไม่รวมต้นทุนอื่น ๆ เช่น ระบบสายส่ง ซึ่งราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายคือ 3.75 บาท/หน่วย อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งแต่ 800 เมกะวัตต์ขึ้นไปก็ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และที่สำคัญควรมองให้รอบด้านว่า โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพนอกจากจะนำน้ำเสียมาทำให้เกิดประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญได้ใช้ศักยภาพด้านเกษตรกรรมมาทำประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากต้นทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงอาจจะยังแข่งขันไม่ได้ แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะแข่งขันได้เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนลดลง เห็นได้ชัดจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ จากที่เคยมีต้นทุนที่ 130 ล้านบาท/เมกะวัตต์ จนกระทั่งล่าสุดต้นทุนลดลงมาอยู่ที่ 27 ล้านบาท/เมกะวัตต์เท่านั้น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

พาณิชย์ถกFTAไทย-ตุรกีรอบ3ขยายการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ถก FTA ไทย-ตุรกีรอบ 3 ดันเป็นประตูการค้า EU, แอฟริกา, ตะวันออกกลาง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ตุรกี ครั้งที่ 3 ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี นั้น ได้เริ่มการเจรจารูปแบบการลดภาษี หลังจากก่อนหน้าได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีศุลกากรและสถิติการค้าระหว่างกันแล้ว โดยไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปิดตลาดผลักดันให้การลดภาษีภายใต้ FTA ไทย-ตุรกี ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อขยายโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยไปยังตุรกี เช่น ผัก ผลไม้ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยางพารา

อย่างไรก็ตาม ขนาดเศรษฐกิจของตุรกีที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของไทย และมีประชากรมากถึง 80 ล้านคน จึงมั่นใจว่าการจัดทำ FTA ไทย – ตุรกี จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งไทยสามารถใช้เป็นประตูการค้าไปยังภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และแอฟริกาตอนเหนือได้ ขณะเดียวกัน ไทยก็เป็นประตูการค้าให้ตุรกีเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนได้เช่นกัน

ในปี 2560 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมูลค่าการค้าไทยและตุรกีขยายตัวร้อยละ 10.4 มีมูลค่า 1,517 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

ข่าวดี!! สหรัฐฯคงสถานะไทยขึ้นบัญชี WL

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คืนวันที่ 27 เมษายน 2561 ตามเวลาประเทศไทย ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) โดยปี2561 ประเทศไทยสามารถรักษาสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL)ได้ต่อไป หลังจากที่สหรัฐฯได้ปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็น WL เมื่อปลายปี2560

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในการประกาศครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ชื่นชมนโยบายและความก้าวหน้าด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะการที่รัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้กำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทำให้การบรูณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ เป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งทำให้การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เอง สหรัฐฯ ได้ชื่นชมที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับรัฐบาลสหรัฐฯ และภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งได้จัดทำรายงานพร้อมความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้แก่ยูเอสทีอาร์ ทำให้สหรัฐฯ ได้รับทราบถึงนโยบายและการดำเนินการต่างๆ และประเมินสถานะของไทยบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

รัฐยำใหญ่แผนจัดการน้ำ ปรับแก้ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการปรับแผนการบริหารจัดการน้ำที่ทำไว้เมื่อปี 2558 หลังรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเป็นแผนระยะ 12 ปี แต่ต้องการปรับให้มีความสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชชาติ 20 ปี โดยแผนการบริหารจัดการน้ำฉบับปรับปรุงจะครอบคลุม 6 ด้านคือ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, ความมั่นคงของน้ำในภาคการผลิต การเกษตรและอุตสาหกรรม, การป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาภัยแล้ง, การจัดการคุณภาพน้ำ, การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ โดยจะเสนอแผนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ก.ย.2561

นอกจากนี้ยังจะจัดลำดับความสำคัญโดยพิจารณาจากฐานพื้นที่มาเป็นตัวตั้ง เช่น พื้นที่ที่เกิด ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมบ่อยหรือซ้ำซาก จะถูกจัดให้เป็นอันดับต้นๆของการแก้ปัญหา ซึ่งจะนำข้อมูลเชิงพื้นที่ของแต่ละจังหวัดและแต่ละภาคมาศึกษา และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการ รวมทั้งสร้างการรับรู้ในแต่ละพื้นที่ เพื่อความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่เริ่มจัดทำแผน

ขณะที่นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่าในแผนการบริหารจัดการน้ำฉบับที่จะปรับปรุงให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น จะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทางกรมชลประทานดำเนินการศึกษาไว้แล้วประมาณ 30-40 โครงการ ในจำนวนนี้มีโครงการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2562 ประมาณ 12-13 โครงการ วงเงินรวม 150,000 ล้านบาท.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เเถลงข่าว ขยายเวลาเปิดรับหีบอ้อยเเก่เกษตรกรเพื่อช่วยเหลือผลผลิตที่ตกค้าง

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ  พร้อมด้วย นายมนตรี วิศณุพรประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานใต้ เเละ นายนิเวช ง่วนสำอางค์ ผอ.อาวุโสบริหารกิจการโรงงานกลุ่มวังขนาย ร่วมเเถลงข่าว ขยายระยะเวลาเปิดรับหีบอ้อยเเก่เกษตรกรเพื่อช่วยเหลือผลผลิตที่ตกค้าง

     โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ  ระบุ โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้เปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2560/61  ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 จนถึงขณะนี้มีปริมาณอ้อยประมาณ 129 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 40  เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ปริมาณฝนมีเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นอ้อยทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15 - 20 ตัน/ไร่ ซึ่งปัจจุบัน พบว่ายังมีปริมาณอ้อยในเขตจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และชัยภูมิ เหลือค้างในไร่อ้อยเป็นจำนวนมาก จึงได้ประสานไปยังโรงงานอุตสาหกรรมอ่างเวียน ของกลุ่มวังขนาย ให้ขยายเวลาเปิดหีบรับอ้อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย

     ด้าน นายนิเวช ง่วนสำอางค์  ผู้อำนวยการอาวุโสบริหารกิจการโรงงาน กลุ่มวังขนาย  ระบุ โรงงานอุตสาหกรรมอ่างเวียน อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา โรงงานในกลุ่มวังขนาย มีกำลังการผลิตสามารถหีบอ้อยได้ 28,000 - 30,000 ตันต่อวัน  ปัจจุบัน ณ วันที่ 27 เมษายน 2561 โรงงานฯ ได้ทำการหีบอ้อยแล้ว 148 วัน ได้ปริมาณอ้อยรวมทั้งสิ้น 3,266,296.90 ตัน   ซึ่งตามแผนการผลิตของโรงงานได้กำหนดวันปิดหีบรับอ้อยไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2561 แต่เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรชาวไร่อ้อยยังตัดอ้อยส่งโรงงานไม่ทันและมีอ้อยตกค้างอยู่ในไร่เป็นจำนวนมาก ทางโรงงานฯ จึงได้ประกาศขยายเวลาเปิดหีบรับอ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 และปิดหีบอ้อยในปีการผลิต 2560/61 ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2561

     ขณะที่ นายมนตรี วิศณุพรประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานใต้  ระบุ  ขอขอบคุณโรงงานอุตสาหกรรมอ่างเวียน ที่ขยายเวลาเปิดหีบอ้อย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเขตจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และชัยภูมิ  โดยทางสมาคมฯ จะช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้รีบตัดอ้อยมาส่งโรงงาน และหากเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายใดที่ติดขัดปัญหาในการตัดอ้อย ก็จะช่วยประสานงานในการช่วยเหลือ เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถตัดอ้อยส่งโรงงานได้ทันเวลา

จาก http://www.tnamcot.com  วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

มาไกลมาก! “อ้อย” ไทยยังไม่ปิดหีบ ผลิตทะลุ 130 ล้านตันแล้ว

ผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 60/61 ที่เปิดหีบตั้งแต่ 1 ธ.ค. 60 -26 เม.ย. 61 ทะลุกว่า 130 ล้านตันแล้ว ซึ่งถือว่าเกินกว่าที่คาดหมายไปมากและมีแนวโน้มว่าปิดหีบจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัตการณ์ที่ระดับ 133-135 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเปิดเผยว่า โรงงานทั้งหมดได้ดำเนินการเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 60-26 เม.ย. 61 ที่ผ่านมามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 130.05 ล้านตัน ขณะที่คาดว่าการปิดหีบโรงงานที่เหลือทั้งหมดจะปิดได้กลาง พ.ค.นี้ ดังนั้นจึงประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปีนี้มีโอกาสสูงที่จะแตะระดับ 133-135 ล้านตันอ้อย

“ปริมาณน้ำตาลทรายของไทยในฤดูการผลิตปีนี้ล่าสุดอยู่ในระดับ 14 ล้านตัน ดังนั้นคาดว่าปิดหีบจะสูงขึ้นไปด้วย โดยคาดว่าจะอยู่ระดับ 15-16 ล้านตัน เมื่อเทียบกับฤดูผลิตที่ผ่านมาอ้อยปิดหีบอยู่ที่ 92.95 ล้านตันอ้อยน้ำตาลทราย 10.03 ล้านตัน ปริมาณอ้อยและน้ำตาลปีนี้ถือว่าเกินกว่าที่คาดหมายไว้มากเนื่องจากช่วงเพาะปลูกฝนดีทำให้เอื้อต่อการเติบโตของปริมาณอ้อย ขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมนำนาข้าวมาปลูกส่วนหนึ่ง ส่งผลให้การผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง” นายสิริวุทธิกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ติดตามสถานการณ์น้ำตาลทรายหน้าโรงงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่าปริมาณน้ำตาลทรายที่จะสูงขึ้นมากจากปีที่ผ่านมาราว 4-5 ล้านตันนั้นจะมีผลต่อตลาดน้ำตาลในประเทศให้เป็นของผู้ซื้อเพราะมีแนวโน้มว่าโรงงานขนาดกลางและเล็กอาจจะต้องลงมาแข่งขันด้านราคา (ดัมป์) แทน ซึ่งเริ่มเห็นแล้วขณะนี้ที่บางรายขายต่ำกว่าตลาดทั่วไป 25-50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จากเฉลี่ยตลาดรวมราคาหน้าโรงงานจะอยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม

“ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ยังคงเฉลี่ยระดับต่ำกว่า 12 เซ็นต์ต่อปอนด์ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายไทยยังต้องเผชิญปัญหาหนัก ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลปีนี้กลับสูงขึ้นอีกจึงทำให้ต้องมาแข่งขันในตลาดไทยมากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อยกล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยมีความกังวลเนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำกระทบให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 60/61 ชัดเจนแล้วว่าต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น 880 บาทต่อตันแน่นอนแล้ว ขณะเดียวกันราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่ที่จะถึงนี้ยังมีแนวโน้มตกต่ำเหลือเพียง 700 กว่าบาทต่อตันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ชาวไร่อย่างมาก

จาก  https://mgronline.com  วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

"เกษตรฯ"จับมือ 3 หน่วยงานMOUจัดการน้ำ

"กระทรวงเกษตรฯ"จับมือ 3 หน่วยงาน ลงนาม MOU สนับสนุนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เร่งแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนและปัญหาน้ำท่วม

           นายเลิศวิโรจน์  โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวถึงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ว่า การลงนามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ 

            ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของปริมาณน้ำได้อย่างทันต่อเหตุการณ์และนำไปใช้ได้จริง โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยตัวแทนจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ การลงนามดังกล่าวจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่มีชื่อว่า “โปรแกรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและทันต่อเหตุการณ์ หรือ NARK4.0” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center; SWOC) ภายใต้การกำกับดูแลของกรมชลประทาน

            สำหรับโปรแกรม NARK4.0 สามารถคาดการณ์ปริมาณฝน ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และวางแผน ตัดสินใจระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำได้ล่วงหน้า 12 เดือน โดยมีระดับความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 80 และสามารถใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์จำลองปริมาณการไหลในลำน้ำ การจัดสรรน้ำในระดับโครงการชลประทาน ไปจนถึงการคำนวณผลผลิตและรายได้ ซึ่งผลการพัฒนาแบบจำลองฯ  

            สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉลี่ยได้ร้อยละ 18.02 และสามารถรักษาปริมาณการใช้น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยได้มากถึงร้อยละ 32.99 เป็นการสร้างความมั่นคงทางน้ำต่อสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กรมชลประทานมีเครื่องมือในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำและช่วยในการตัดสินใจในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้ารายฤดูกาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนา “แผนที่เกษตรที่เหมาะสมกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน” จากการพิจารณาปริมาณน้ำต้นทุนคาดการณ์ทั้งปริมาณฝนและน้ำชลประทานที่สามารถส่งถึงคลองส่งน้ำสายหลักและสายซอยจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ ร่วมกับพื้นที่ความเหมาะสมของการทำเกษตรกรรมการปลูกพืช (Agri-Map) ทำให้สามารถเสนอแนะแนวทางเลือกการทำเกษตรกรรมที่มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ และเป็นพื้นที่เหมาะสมในการทำการเกษตรกรรมปลูกพืชให้แก่เกษตรกร

            “ความสำเร็จของโครงการวิจัยดังกล่าวได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนในหลายด้าน อาทิ 1. ด้านความต้องการน้ำ (Demand) จากการเสนอแนะแนวทางการทำเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนซึ่งสามารถเป็นข้อมูลข่าวสารเชิงรุกให้แก่เกษตรกรในการวางแผนการทำเกษตรกรรม 2. ด้านปริมาณน้ำ (Supply) โดยการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำให้แก่กรมชลประทานใช้ในการคาดการณ์และวางแผนการตัดสินใจระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม และ 3. ด้านนโยบาย (Policy) รัฐบาลสามารถใช้ในการกำหนดมาตรการพัฒนาหรือส่งเสริมผลผลิตภาคการเกษตรที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีความผันผวนรายฤดูกาล เป็นการสร้างความมั่นคงทางน้ำและความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศไทย” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว.

จาก  www.komchadluek.net   วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

กรอ. ออกกฎหมายลูก 3 ฉบับควบคุมมาตรฐานกำจัดกากโรงงาน บังคับใช้ 1 พ.ค.นี้

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 กรอ. มีการปรับปรุงข้อกฎหมายลูกเพิ่มอีก 3 ฉบับ ภายใต้ พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกบริเวณโรงงาน (สก.2) เพื่อให้การจัดการกากอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กฎหมายลูกที่มีการออกเพิ่ม ประกอบด้วย 1. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต สก.2 ผ่านระบบอี-ไลเซนส์และออโต้อีไลเซนส์ โดยมีการกำหนดขั้นตอนขออนุญาตและการอนุญาต รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของผู้ก่อกำเนิดของเสีย และผู้บำบัด กำจัด และรีไซเคิลของเสียที่จะมาใช้งานระบบอี-ไลเซนส์และออโต้-ไลเซนส์

2. การกำหนดชนิดประเภทและรหัสของเสีย รวมถึงวิธีกำจัดของสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานสำหรับระบบออโต้-อีไลเซนส์เพิ่ม จำนวน 402 รหัส หรือคิดเป็น 50% ของรหัสของเสียอุตสาหกรรมทั้งหมด และ 3. การรับรองผู้บำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับบำบัดหรือกำจัดกาก ที่จะเข้าใช้งานระบบออโต-อีไลเซนส์ โดยต้องผ่านการรับรองกรีนอินดัสตรี ระดับที่ 3 ขึ้นไป ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานจัดการกากอุตสาหกรรม ระดับเหรียญทอง และต้องมีการดำเนินการบำบัด/กำจัดในกระบวนการที่ขอรับรองไม่น้อยกว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบดังกล่าว จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในแต่ละมิติ ได้แก่ ทางด้านผู้ก่อกำเนิดของเสีย คือ โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป จะสามารถย่นระยะเวลาการขออนุญาตและลดภาระพื้นที่การจัดเก็บกากอุตสาหกรรม และเพิ่มโอกาสและทางเลือกในวิธีและกระบวนการกำจัดกากที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ส่วนทางด้านผู้รับบำบัด/กำจัดของเสีย หรือโรงงานผู้รับบำบัดและกำจัดกาก จะเกิดการแข่งขันในเรื่องของกระบวนการกำจัด รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการกำจัดในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้นในอนาคต และถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการประกอบการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม

“กรอ.คาดว่ากากขยะอุตสาหกรรมจากในปริมาณทั้งหมดกว่า 24 ล้านตัน ตามตัวชี้วัดในปีงบประมาณ 2561 จะสามารถเข้าระบบได้มากขึ้น และมีการพิจารณาเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจติดตามและกำกับดูแล นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณผู้ประกอบการที่รับกำจัดกากชั้นดีให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ สามารถคัดเลือกตามความเหมาะสมของประเภทกากขยะ และเพิ่มโอกาสและทางเลือกให้กับผู้ก่อกำเนิดของเสียได้ต่อไป”นายมงคล กล่าว

นอกจากนี้ เบื้องต้น กรอ.ได้ประสานไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้ดำเนินการตรวจสอบโรงงานผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมยี่ห้อดังที่ผลิตสินค้าไม่ได้คุณภาพ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นดำเนินการจับกุมข้อหาไม่มีใบอนุญาตผลิตอาหารและยาที่ถูกต้องตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนหน้านี้ ว่าเข้าข่ายการจัดตั้งสถานประกอบการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน ที่กำหนดขนาดโรงงานผลิตที่มีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือมีแรงงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปต้องดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากผลการตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายเป็นสถานประกอบการแต่ไม่มีใบอนุญาตก็จะถือว่ามีความผิด ซึ่งขณะนี้ต้องรอผลตรวจสอบที่ชัดเจนจากอุตสาหกรรมจังหวัดรายงานเข้ามาอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้

จาก  https://www.khaosod.co.th    วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

บาท 'อ่อนค่า' จับตาธนาคารกลางญี่ปุ่น

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่า "31.60 บาทต่อดอลลาร์" จับตาประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันนี้ มองค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวแคบลง หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.60บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.58 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ติดแนวต้านที่ระดับ 75 เหรียญต่อบาร์เรล ส่งผลให้บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10ปีปรับตัวลงมาใต้ระดับ 3.0% ขณะที่ค่าเงินยูโรปรับตัวลงไปที่ระดับ 1.21 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังการประชุมธนาคารกลางยุโรป ที่ตลาดตีความว่าอีซีบียังพอใจกับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอยู่ (dovish)

สำหรับวันนี้ยังต้องจับตาการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ว่าจะมีท่าทีผ่อนคลายนโยบายทางการเงินต่อไปนานกว่าที่ตลาดมองไว้ (สิ้นปีนี้) หรือไม่ หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อในญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ยังต้องติดตามการหารือระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ซึ่งคาดว่าจะมีทิศทางไปในเชิงบวก สันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีจะส่งผลบวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย

แม้แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์จะยังแข็ง และเป็นช่วงที่มีแรงซื้อดอลลาร์เพื่อจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนดันขึ้นในระยะสั้น แต่ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่แคบลงเพราะตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (risk-on) มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.55 - 31.65 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

KTIS ประชุมผู้ถือหุ้น

นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการ (ยืนกลาง) นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  และนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน พร้อมด้วยคณะกรรมการบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มKTIS เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 อย่างพร้อมเพรียงกัน สร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นว่า ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลปีนี้มีแววสดใส เนื่องจากปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

รมว.กฤษฎาฟุ้งปฏิรูปภาคเกษตรฉลุย

“กฤษฎา” พบสื่อมวลชนโชว์แผน “การตลาดนำการผลิต” เชื่อมั่นสามารถสร้างสมดุล ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ฟุ้งปีแรกเชื่อมโยงสหกรณ์-เอกชนได้กว่า 600 แห่ง ทำยอดขายหลายพันล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนร่วมพูดคุยและซักถาม ภายในงาน Meet The Press กับประเด็น “ปฏิรูปภาคการเกษตร” ว่า แผนในปี 2561 โดยได้กำหนดเป็นนโยบายการตลาดนำการผลิต

เป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ในการวางแผนการผลิตให้อุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรดำเนินการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสหกรณ์การเกษตร และผู้ค้า

ส่งผลให้สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับสหกรณ์ได้ 518 แห่ง กับภาคเอกชน 109 แห่ง ห้างโมเดิร์นเทรด 30 แห่ง และส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกกว่า 28 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่าหลายพันล้านบาท

พร้อมกันนี้ได้มีการดำเนินงานโครงการสำคัญกว่า 15 โครงการ อาทิ 1. ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่แปลงใหญ่ทั้ง 3.72 ล้านไร่ รวม 3,029 แปลง แบ่งเป็น พืช 2,786 แปลง ปศุสัตว์ 164 แปลง ประมง 52 แปลง แมลงเศรษฐกิจ 26 แปลง และอื่นๆ (นาเกลือ) 1 แปลง เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 277,127 ราย ผลิตสินค้า 74 ชนิด เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตรวม 6,075 ล้านบาท โดยมีการวางแผนการผลิตและการตลาดครบวงจรร่วมกับจังหวัด แบบกลไกประชารัฐ 2. เกษตรอินทรีย์ ด้วยการสนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ 120,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 36,149 ราย พื้นที่ 126,870 ไร่ ต้นทุนลดลง 169 บาทต่อไร่ ขายข้าวอินทรีย์ได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป ตันละ 2,000 – 8,000 บาท 3. ตลาดสินค้าเกษตร มีการจัดตลาดสินค้าเกษตรที่ตลาด อ.ต.ก. และ มินิ อ.ต.ก. ใน 38 จังหวัด มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท เป็นต้น

ด้านการดำเนินงานที่สนับสนุนนโยบายไทยนิยม ยั่งยืน กระทรวงเกษตรได้ดำเนินการ 2 แผนงาน 22 โครงการ ประกอบด้วย 1. แผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีเป้าหมายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตร 1.96 ล้านราย ให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และผลิตภาพภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 69,000 ล้านบาท โดยดำเนินการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งผลจากการดำเนินการตามแผนงานจะทำให้ สถาบันเกษตรกรได้รับประโยชน์ 344 กลุ่ม/สหกรณ์ และ 9,101 ชุมชน สามารถสร้างแหล่งน้ำ/ฝาย 2,937 แห่ง เกษตรกรได้รับประโยชน์891,396 ราย มีพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ จำนวนกว่า 2 ล้านไร่

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพให้เกษตรกรอีก 1.9 ล้านราย 2. แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับสวัสดิการ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน ส่งผลให้มีการจ้างงานเกษตรกร 7,520 ราย และเกษตรกรได้รับการอบรมสร้างทักษะอาชีพอีกกว่า 4 แสนราย

ขณะเดียวกัน คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D6) ซึ่งเป็นกลไกร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ (บจก.น้ำตาลมิตรผล) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน โดยภาครัฐมีบทบาทสนับสนุนอำนวยความสะดวกตามภารกิจพื้นฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนภาคเอกชนมีบทบาทในการจัดหาตลาดและเพิ่มช่องทางการตลาดมากขึ้น มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ 1. โครงการแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ภาคเอกชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง และกรมปศุสัตว์) ปัจจุบันแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ จำนวน 85 แปลง พื้นที่ 159,114 ไร่ สร้างมูลค่ารวม 631.50 ล้านบาท/ปี และ 2. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาพัฒนา Application เพื่อการเกษตร คณะกรรมการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่แบบดิจิทัลได้ออกแบบ Application for Smart Farmer 2 ส่วน คือ ด้านการให้ข่าวสารและความรู้แก่เกษตรกร และด้านการเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนการดำเนินงานและทิศทางในการขับเคลื่อนในระยะต่อไป 3 แผนงาน คือ แผนงาน 1. การขยายผลการดำเนินงานแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ให้มีความเชื่อมโยงกับการตลาดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเชื่อมโยงกับโครงการ BOI ที่จะส่งเสริม SME ภาคเกษตร ที่เป็น Agri-Solution Provider รวมทั้งการขยายเครือข่ายภาคเอกชนรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ แผนงาน 2 : พัฒนาอาชีพและยกระดับเป็นแปลงใหญ่ ในการจัดที่ดินทำกินแปลงรวมที่ได้ผ่านคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีแผนในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย (ผ่านอนุฯ 3) และ แผนงาน 3 : การพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) มีแผนงานในการพัฒนา ศพก. ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ผ่านระบบ IT เพื่อพัฒนาเกษตรกรเป็น Smart Farmer” นายกฤษฎากล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

ส่องงบ “ไทยนิยมยั่งยืน” กษ. เกษตรกรรับ 4.6 แสนล้านบาท

ส่องงบฯ ไทยนิยมยั่งยืน 2.4 หมื่นล้าน ก.เกษตรฯ ยกระดับรายได้เกษตรกร 4.6 แสนล้าน กรมชลฯ-กรมส่งเสริมฯคว้างบสูงสุด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เตรียมรายงานแผนการดำเนินงานงบประมาณรายหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน 77 จังหวัด ซึ่งกระทรวงได้รับจัดสรรงบประมาณ 24,000 ล้านบาทในการดำเนินโครงการ 20 โครงการหลังจากเปิดตัวมาครบ 2 เดือนต่อกระทรวงมหาดไทย

ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ขับเคลื่อนโครงการนี้ พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบติดตามความถูกต้อง โปร่งใส ในการดำเนินการทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ หากดำเนินการสำเร็จโครงการนี้จะช่วยเหลือเกษตรกร 3.9 ล้านครัวเรือน สามารถยกระดับรายได้เพิ่มขึ้น 5% จากปกติ หรือประมาณ 4.6 แสนล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า มี 2 หน่วยงานจาก 12 หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด คือ กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งในส่วนกรมชลประทาน ได้รับจัดสรรงบ 13,000 ล้านบาท เองต้นโครงการนี้จะช่วยให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 17,000 ไร่ ความจุเก็บกักเพิ่มขึ้น 14.09 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการนี้มี 5.8 แสนครัวเรือนได้รับประโยชน์

ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับจัดสรร 5,690 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การพัฒนาอาชีพเกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน 30,000 ราย เกษตรกรรายย่อย ในส่วนของ 9101 กลุ่มเกษตรกรในชุมชน โครงการศูนย์ขยายพันธุ์พืช ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ young smart farmer 4,850 ราย เพื่อเป็นผู้นำด้านเกษตร 4.0

ผู้สื่อข่าว ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ นายกฤษฎามีกำหนดแถลงข่าวแผนการดำเนินงานโครงการไทยนิยมยั่งยืน รวมถึงวาระสำคัญ เช่น การยกระดับการปฏิรูปภาคเกษตร ความคืบหน้ากรณีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ลดความเหลื่อมล้ำการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรทั้งระบบ ความคืบหน้ากรณีสหกรณ์ ปุ๋ยสั่งตัด และโคบาลบูรพา และการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU )

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

ส่งเสริมปลูกอ้อยโรงงานหลังนา

      นายธัชชัย สีสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานเปิดงานวันสาธิตการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยโรงงานในพื้นที่นาไม่เหมาะสม ภายใต้โครงการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) อ้อยโรงงาน

     จังหวัดกำแพงเพชร ปี 2561 ณ โรงเรียนบ้านคลองสีนวล หมู่ที่ 6 ตำบลธำมรงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันก่อน

      นายสถิตย์ ภูทิพย์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ปลูกปีละกว่า 7 แสนไร่ ผลผลิตอ้อยส่งเข้าโรงงานปีละประมาณ 8 ล้านตัน มีโรงงานน้ำตาลในจังหวัด จำนวน 3 โรง มีความต้องการผลผลิตอ้อยสด รวมทั้งสิ้น ปีละประมาณ 10 ล้านตัน

      จะเห็นได้ว่า ปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการตลาด ในขณะที่การปลูกข้าวของจังหวัดกำแพงเพชรยังเกินความต้องการของตลาดอีกมาก เนื่องจากพี่น้องชาวนามีการปลูกข้าวปีละ 2-3 ครั้ง และยังมีชาวนาอีกกว่า 3,000 ครัวเรือน ที่ปลูกข้าวในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมถึง 80,000 ไร่ ทำให้ประสบภาวะขาดทุน เพราะต้นทุนสูงแต่ได้ผลผลิตต่ำ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีศักยภาพเหมาะสมและให้ผลตอบ แทนที่สูงกว่า เช่น อ้อยโรงงาน ไม้ผล เป็นต้น การจัดงานวันสาธิตการเพิ่มประสิทธิ ภาพการผลิตอ้อยโรงงานในพื้นที่นาไม่เหมาะสมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) อ้อยโรงงาน ภายใต้โครงการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร งบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2561

        มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตพืช ตามศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด โดยส่งเสริมให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวในเขตนาไม่เหมาะสมไปปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพการเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่มีความประสงค์ปรับเปลี่ยนนาข้าวในเขตไม่เหมาะสมเป็นอ้อยโรงงาน เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 300 ราย จาก 5 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอเมือง อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอไทรงาม อำเภอคลองลาน และอำเภอคลองขลุง ภายในงานมีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยโรงงานในรูปแบบสถานีถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดผล ประกอบด้วย 6 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 เรื่อง เขตความเหมาะสมของการปลูกอ้อยโรงงาน (Zoning)โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร สถานีที่ 2 เรื่อง พันธุ์และการใช้พันธุ์ที่เหมาะสม โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร สถานีที่ 3 เรื่อง การปลูกและการดูแลรักษาอ้อยโรงงาน โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 2 จังหวัดพิษณุโลก สถานีที่ 4 เรื่อง ระบบน้ำหยดในแปลงอ้อย และการจัดการโรค แมลงศัตรูอ้อย โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดกำแพง เพชร สถานีที่ 5 เรื่อง การใช้เทคโนโลยี/เครื่องจักรกลการเกษตรในแปลงอ้อย โดย บริษัทเอกชนและสถานีที่ 6 เรื่อง การตลาดอ้อยและน้ำตาลทราย โดยโรงงานน้ำตาลในจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และเกษตรกรชาวอำเภอเมืองกำแพงเพชรเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

7สมาคมหั่นราคา‘ปุ๋ย-ยา-เมล็ดพันธุ์’ ช่วยเกษตรกรคนจน

หั่นราคา เกษตรกร คนจน ราคาปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ กฤษฎา บุญราช

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เชิญสมาคมผู้ค้าปุ๋ย สมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ บริษัทน้ำมัน บริษัทอารักขาพืช รวม 7 สมาคม มาหารือ เพื่อขอให้ช่วยลดราคาปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรในฤดูกาลนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติอนุมัติงบประมาณให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ 9 หมื่นล้านบาท ให้เกษตรกรกู้จ่ายดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 4 ในการซื้อปัจจัยการผลิต และสนับสนุนโครงการปุ๋ยสั่งตัดของสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน

“เบื้องต้นเอกชนแจ้งว่าจะช่วยลดราคาเมล็ดพันธุ์พืช 10-20% ต่อกิโลกรัม(กก.) ส่วนปุ๋ย ยากำจัดแมลง จะลดให้ประมาณ 400 บาทต่อตัน หรือประมาณ  10-20 บาทต่อกระสอบ(50 กก.) และบริษัท ปตท. และบริษัท บางจาก จะลดราคาน้ำมันลง 30 สตางค์ต่อลิตร” รมว.เกษตรฯ กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับราคาปุ๋ยที่ให้ช่วยลดราคากระสอบละ 50 บาท เป็นความสมัครใจ รวมทั้งให้เป็นยี่ห้อที่เกษตรกรนิยมใช้จริงๆ โดยจะสรุปอีกครั้งวันที่ 7 พ.ค.นี้ ว่าจะลดได้เท่าไร โดยเป้าหมายนั้นตนวางไว้เพื่อจะสามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลงได้ 20% จากปัจจุบันที่เกษตรกรมีต้นทุนประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อไร่ ซึ่งนายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมผู้ค้าปุ๋ย รับว่าจะไปหาข้อสรุปเพื่อได้ช่วยเกษตรกรต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น เป้าหมายเบื้องต้น คือ 3.9 ล้านรายที่ลงทะเบียนคนจนเอาไว้ ส่วนเกษตรกรกลุ่มอื่นจะมีการขยายผลต่อไป

จาก www.naewna.com วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

“อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ” ผนึกพันธมิตรต่อยอด “น้ำตาลบุรีรัมย์” สู่อุปกรณ์การแพทย์

อ้อยถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ในอดีตใช้ผลิตเป็นพืชอาหารคือน้ำตาลทราย ต่อมาอ้อยมีบทบาทสำคัญในการผลิตพืชพลังงานคือเอทานอล ผลพลอยได้นำไปใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนกากอ้อยใช้ผลิตไฟฟ้า มาถึงยุคอุตสาหกรรม 4.0 อ้อยและน้ำตาลกำลังปรับโฉมก้าวไปอีกขั้น ซึ่ง “อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR กลุ่มผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมายาวนานกว่า 50 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนธุรกิจและทิศทางการลงทุนในอนาคต

ทุ่ม 600 ล้านตั้ง “โรงรีไฟน์”

เป้าหมายของแผนธุรกิจ 5 ปี ที่ผ่านมามุ่งพัฒนาเรื่องไร่อ้อยอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นคงให้วัตถุดิบหลัก คาดว่าฤดูการผลิตปี 2560/2561 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 3 ล้านตันอ้อย คิดเป็นปริมาณน้ำตาล 350,000-360,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปี 2559/2560 อยู่ที่ 2.9 ล้านตันอ้อย ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ร่วมกับโรงน้ำตาลบุรีรัมย์ 15,000 ครอบครัว บนพื้นที่ 250,000 ไร่ เป็นเกษตรรายย่อยมีพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 20 ไร่ต่อครัวเรือน กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ถือว่ามีความโดดเด่นด้านการผลิตวัตถุดิบคุณภาพ โดยมีปริมาณผลผลิตอ้อยต่อไร่เฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานทั่วประเทศถึง 12.7 ตัน/ไร่ และมีเกษตรกรประมาณ 20-30% จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมดสามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตสูงถึง 20 ตันต่อไร่ ขณะที่ค่าความหวาน (CCS) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.7 โดยอ้อย 1 ตันสามารถผลิตน้ำตาลได้สูงถึง 123 กิโลกรัม ขณะที่เฉลี่ยทั่วประเทศไทยอยู่ที่ 110 กิโลกรัมต่อตัน ทั้งนี้ ปี 2560 บริษัทมีผลการดำเนินงานเฉลี่ยประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท

เมื่อมีความเข้มแข็งในวัตถุดิบหลัก จึงผลิตผลพลอยได้ต่าง ๆ ตามมา เช่น กากอ้อยนำไปผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) และบุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด (BPP) มีกำลังการผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ (MW) เท่า ๆ กัน ซึ่งผลิตเพื่อขายทั้งหมด ส่วนกากน้ำตาล (โมลาส) ขายให้โรงงานผลิตเหล้า

สำหรับฟิลเตอร์เค้กหรือขี้เถ้าน้ำตาลนำไปทำปุ๋ยเคมีอินทรีย์ในนามโรงงานปุ๋ยตรากุญแจ มีปริมาณการผลิต 40,000 ตัน/ปี จำหน่ายให้ชาวไร่อ้อยของกลุ่มในราคาถูก และปีนี้มีแผนลงทุน 393.75 ล้านบาท เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (refined sugar) กำลังผลิต 1,200 ตัน/วัน คาดว่าจะติดตั้งเครื่องจักรได้เสร็จทันในฤดูการผลิตปี 2561/2562 รวมทั้งมีแผนลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และประหยัดพลังงานในการผลิตอีก 185.72 ล้านบาท

ต่อยอดบรรจุภัณฑ์-อุปกรณ์แพทย์

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้ง “บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด” ขึ้น เพื่อผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ด้านอุปโภคและบริโภค อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากชานอ้อยและวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ เช่น จาน ชาม จากชานอ้อย ตามแผนจะเริ่มการก่อสร้างโรงงานเฟสแรก มูลค่า 300 ล้านบาท กำลังการผลิต 800,000-1,000,000 ชิ้น/วัน คาดว่าจะเริ่มผลิตจำหน่ายได้ต้นปี 2562 วางแผนตลาดเป้าหมายทั้งภายในประเทศและส่งออก

นอกจากนี้ กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้จับมือกับพันธมิตรโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อร่วมกันผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งทำจากวัตถุดิบชานอ้อย เช่น โถปัสสาวะ และถาดรองสิ่งปฏิกูล สำหรับใช้ในโรงพยาบาล และธุรกิจบริการทางสุขภาพ เพื่อให้สามารถจัดการได้ง่าย แทนที่จะใช้แบบสเตนเลสที่จำเป็นต้องล้างใช้ใหม่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการ คาดว่าจะจัดจำหน่ายได้ในกลางปีนี้ ซึ่งนับเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วทำให้เกิดกำไรสูงสุด

ผุด 2 โรงงานใหม่บุรีรัมย์-สุรินทร์

เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้ขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ จำนวน 2 แห่ง กำลังผลิตแห่งละ 20,000 ตันอ้อย มูลค่าลงทุนแห่งละประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มลงมือโรงงานแรกที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตได้ในปี 2563-2564 และที่จังหวัดสุรินทร์ จะเริ่มก่อสร้างหลังจากทำโรงงานที่ อ.ชำนิแล้วเสร็จ เมื่อโรงงานแห่งใหม่แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปี กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์จะมีกำลังผลิตรวมประมาณ 70,000 ตันอ้อย

ปัญหาการเปิดเสรี-การคำนวณราคาอ้อย

สำหรับปัญหาเรื่องการเปิดเสรีในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลนั้น ทุกอย่างคงจะคลี่คลายในเร็ว ๆ นี้ โดยที่ผ่านมาการใช้ตัวเลขราคาน้ำตาลหน้าโรงงานอาจจะหยิบยกกันคนละตัว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน แต่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก ตอนนี้ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำลังดำเนินการ คงจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม นโยบายการเปิดเสรีตอนนี้ คิดว่าเสรีแล้ว และการคำนวณราคาอ้อยที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ควรจะไปในทิศทางเดียวกัน

“ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมเกษตรทุกชนิด ถ้าเกษตรกรไม่เข้มแข็ง ตัวโรงงานไปไม่ได้อยู่ดี แล้วแต่มุมมอง ถ้าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปิดเสรีเลย โรงงานซื้ออ้อยเท่าไหร่ก็ได้ ของเยอะก็ซื้อต่ำ ของน้อยก็ซื้อแพง แข่งขันเหมือนพืชเกษตรทั่วไป แต่ถามว่ายุติธรรมสำหรับเกษตรกรหรือไม่ ผมว่าไม่แฟร์ แต่สิ่งที่ธุรกิจอ้อยและน้ำตาลดำเนินการภายใต้ระบบ 70 : 30 ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ผมถือว่าแฟร์ ถ้าระยะยาว ความยุติธรรม โดยทุกฝ่ายทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานสามารถเดินไปด้วยกันได้ ผมว่าจะทำให้ธุรกิจมีเสถียรภาพมากกว่า”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

เกษตรฯผนึกธ.ก.ส.จัดแคมเปญช่วยเกษตรกรกว่า3ล.รายลดต้นทุนผลิตฤดูใหม่

ครม.ไฟเขียวเกษตรฯจับมือ ธ.ก.ส. จัดแคมเปญช่วยเกษตรกรกว่า 3 ล้านรายลดต้นทุนการผลิตฤดูใหม่

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ได้เห็นชอบมาตรการ "เกษตรประชารัฐ" เพื่อลดต้นทุนการผลิตฤดูใหม่ให้เกษตรกร กว่า 3 ล้านราย โดยกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการส่งเสริม และให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้อง อาทิ การใช้พันธุ์พืชที่มีคุณภาพและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ การใช้สารกำจัดศัตรูพืชชนิดและปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้เกิดการตกค้างเกินมาตรฐานในพืชผลการเกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ปุ๋ยที่สอดคล้องกับธาตุอาหารพืชในดิน เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และทำให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด

อีกทั้งยังมุ่งหวังให้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยก้าวพ้นความยากจน ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือ โดยใช้ความรู้นำ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนให้สถาบันของเกษตรกร เข้ามามีบทบาทในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกร

นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้ว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะดำเนินการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ใน 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรรายย่อย จำนวน 3 ล้านคนทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์การใช้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพจากร้านค้าของ สหกรณ์การเกษตร ร้าน Q Shop และร้านค้าเกษตรประชารัฐ

โดยใช้ "Agi QR code เกษตรสุขใจ" พิสูจน์ตัวตนสำหรับปัจจัยการผลิตได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็กและปัจจัยอื่น ๆ ที่จำเป็น โดยมีวงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 30,000 บาท เป้าหมายการจ่ายเงินกู้วงเงิน 90,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยจากเกษตรกรร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

และ 2) โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร กลุ่มเป้าหมายสถาบันเกษตรกร จำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์การใช้สินเชื่อเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการผลิต หรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป มีวงเงินสินเชื่อของสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร เป็นไปตามศักยภาพและความจำเป็นของกลุ่มและวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท เป้าหมายการจ่ายเงินกู้วงเงิน 3,600 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยจากสถาบันเกษตรกรร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

กรมชลฯย้ำเร่งส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตร ยันจัดทีมเฝ้าระวังช่วยเหลือใกล้ชิด

พื้นที่เกษตร ภัยแล้ง กรมชลฯ เฝ้าระวัง

อธิบดีชลประทาน เน้นย้ำทุกพื้นที่ส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรอย่างทั่วถึงช่วงฤดูแล้งไม่กระทบผลผลิต ยันร่วมมือกันทุกฝ่ายเฝ้าระวังพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่ชาวบ้านหมู่ 5 บ.บึงอีเฒ่า และ บ.ท่าแก หมู่ 6 ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า ชาวนาในหมู่บ้านกำลังประสบความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่ใกล้จะตั้งท้องออกรวง มีความเสี่ยงว่าต้นข้าวในนาจะตายแล้ง เพราะต้นข้าวอยู่ในช่วงที่กำลังต้องการน้ำมาหล่อเลี้ยงล้าต้น หากปล่อยไว้โดยที่ทางราชการไม่ลงมาช่วยเหลือ คาดอีก 2 สัปดาห์ นาข้าวกว่า 1,000 ไร่ ต้องตายแล้งอย่างแน่นอนนั้น ขอยืนยันว่า กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เน้นย้ำให้เจ้าที่ ลงพื้นที่ชี้แจงท้าความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรับฟังปัญหาจากเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นพื้นที่นาข้าวดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย มีการส่งน้ำตามรอบเวร ตามข้อตกลงของคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว อยู่บริเวณปลายคลองส่งน้ำ รวมทั้ง เกษตรกร บางรายไม่รักษากติกาในการรับน้ำตามรอบเวร มีการลักลอบเปิดบานรับน้ำเข้าพื้นที่ของตน ทำให้น้ำที่ส่งไปถึง บริเวณปลายคลองมีปริมาณค่อนข้างน้อย ส่งผลให้เกิดปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

"หน่วยงานชลประทานในพื้นที่ได้หารือร่วมกันกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาจนเป็นที่พอใจของกลุ่มเกษตรกรผู้ร้องเรียน โดยในเบื้องต้น ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามการส่งน้ำโดยเปิดบานประตูระบายน้ำกลางคลอง และปิดบานท่อส่งน้ำตอนบน เพื่อไล่น้ำให้ ถึงตอนล่าง ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 เม.ย. 61 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้น้ำตอนบน เพื่อแบ่งปันน้ำให้ทั่วถึงกันแล้ว สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นแปลงนาที่อยู่ปลายคลองส่งน้ำพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 1,000 ไร่ และจากการตรวจสอบ ยังไม่พบพื้นที่ใดได้รับความเสียหายหรือขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด หากเกษตรกรในพื้นที่ใดประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ขอให้แจ้งผ่านผู้น้าท้องถิ่นหรือประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อประสานขอความช่วยเหลือไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้านได้ตลอดเวลา" นายทองเปลว กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

KTISผลิตน้ำตาลทะลุ1,000ล้านกก. ชี้ปริมาณอ้อยพุ่งกว่าปีก่อน

 กลุ่ม KTIS เปิดข้อมูลล่าสุด ปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่ผลิตได้สูงกว่าปีก่อนอย่างมาก ผลิตน้ำตาลทรายได้แล้วกว่า 10 ล้านกระสอบ หรือ 1,000 ล้านกิโลกรัม และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดขายไฟได้ครบทั้ง 3 โรงแล้ว รวมถึงโรงงานเยื่อกระดาษจากชานอ้อย

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลการหีบอ้อยและการผลิตน้ำตาลของปีการผลิต 2560/61 จนถึงปัจจุบัน พบว่าโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง คือ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ สามารถหีบอ้อยได้รวมประมาณ 10 ล้านตันแล้ว ซึ่งสูงกว่าปริมาณอ้อยของปีการผลิต 2559/60 ที่มีปริมาณอ้อยรวมประมาณ 8.7 ล้านตัน โดยขณะนี้ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายก็ได้ทะลุ 10 ล้านกระสอบ (1,000 ล้านกิโลกรัม) ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่ได้น้ำตาลประมาณ 9.4 ล้านกระสอบ

ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยและน้ำตาลของกลุ่ม KTIS ที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณอ้อยทั้งระบบสูงถึง 130 ล้านตัน

"ปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้มีชานอ้อยและใบอ้อยที่จะเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 โรงมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้จากการขายไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งมีชานอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยมากขึ้น ปริมาณอ้อยจึงส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

สำหรับสายธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลของกลุ่ม KTIS นั้น ในปี 2561 นี้นับเป็นปีแรกที่จะรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เต็มปีทั้ง 3 โรง ทั้งโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ (KTBP) และรวมผลไบโอเพาเวอร์ (RPBP) ที่ จ.นครสวรรค์ และไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ (TEP) ที่จังหวัดอุตรดิตถ์

นายณัฎฐปัญญ์กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่ผลิตได้มากขึ้นนี้จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ราคาน้ำตาลในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะน้ำตาลส่วนใหญ่กว่า 70% ของปริมาณที่ผลิตได้ จะส่งออกไปขายต่างประเทศ

"เนื่องจากปีนี้ปริมาณอ้อยมีจำนวนมาก การปิดหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ในบางโรงงาน จะไปปิดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อให้รับอ้อยจากชาวไร่อ้อยได้มากที่สุด ซึ่งคาดว่าปริมาณอ้อยหลังปิดหีบของกลุ่มเราน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 11 ล้านตัน" นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 24 เมษายน 2561

มกค.ชี้สงครามการค้าสหรัฐ-จีนไทยได้อานิสงส์ส่งออกเพิ่ม2 หมื่นล.

ม.หอการค้าไทย เผยผลศึกษาผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ต่อประเทศไทยชี้ยังได้อานิสงส์มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 8 พัน-2 หมื่นล้านบาท

นายอัทธ์ พิศาลวาณิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย(มกค.) เผยถึง ผลกระทบจากสงครามการค้า สหรัฐอเมริกา-จีน ต่อประเทศไทย พบว่า ไทยยังได้ประโยชน์จากการออกมาตรการกีดกันระหว่างจีนและสหรัฐ ส่งผลให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปทั้ง 2 ตลาด คือ จีนและสหรัฐเพิ่มขึ้น มีมูลค่าระหว่าง 8,072-20,180 ล้านบาท ขยายตัว 0.10%-0.25% แม้พบว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากเป็นห่วงโซ่การผลิตสินค้าให้กับทั้งสองประเทศและโอกาสที่สินค้าของทั้งจีนและสหรัฐจะส่งออกมาไทยก็ตาม แต่หอการค้าก็ยังมองเป็นผลดีมากกว่าหากเทียบกับสินค้า มูลค่าการส่งออกที่ส่งออกไปและจะมีผลกระทบต่อจีดีพีไทยขยายตัว 0.01%-0.04%

ทั้งนี้ เมื่อมองโอกาสที่สินค้าไทยจะสามารถส่งออกไปในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น คือ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รถไฟ และชิ้นส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ และโอกาสที่สินค้าไทยจะส่งออกไปตลาดจีนมากขึ้น คือ ผลไม้ ข้าวสาลีและข้าวโพด แป้ง มอลต์ สตาร์ช ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ ยาสูบ สารเคมี สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ

ในทางกลับกันจากการออกมาตรการกีดกันทางการค้าของจีนและสหรัฐ ก็ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการส่งออกสินไปใน2ตลาด เช่น ตลาดจีน เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ฝ้าย เครื่องบินและชิ้นส่วนอุปกรณ์ ส่วนตลาดสหรัฐ สารเคมี ยา เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เครื่องบินและชิ้นส่วนประกอบ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมอื่น เช่น นาฬิกา อาวุธ มีผลให้ส่งออกน้อยลง และในอีกประเด็นคือสินค้าไทยที่อยู่ในระบบห่วงโซ่ของ 2 ประเทศก็จะเสียโอกาสการส่งออกลดลงตามไปด้วย

โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเมินว่าหากขึ้นภาษีสูงถึง 25% มูลค่าการส่งออกที่เสียไป 324.6 ล้านบาท และขึ้นภาษีต่ำสุด 10% มูลค่าการส่งออกที่เสียไป 129.8% สำหรับการส่งออกไปจีน และยังมีสินค้าอื่นๆด้วย ส่วนการส่งออกไปสหรัฐก็ยังเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เช่นกัน โดยหากขึ้นภาษี 25% มูลค่าส่งออกที่หายไป 143.2 ล้านบาท และหากขึ้นภาษี 10% มูลค่าส่งออกที่หายไป 53.7% และโอกาสที่สินค้าของทั้ง2ประเทศจะส่งออกมาไทยก็เพิ่มขึ้น เช่น จีนจะส่งออกเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสหรัฐจะส่งออกถั่วเหลือง และพืชน้ำมันมาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินจากปัจจัยทั้งหมด ไทยก็ยังได้ประโยชน์จากทั้ง2ประเทศ ซึ่งจะส่งผลภาพบวกต่อการส่งออกขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.1-0.2% โดยหอการค้ามองทั้งปี 2561 การส่งออก 7% ก็จะเพิ่มเป็น 7.1-7.2% และจากที่ออกมาตรการระหว่างกัน หอการค้า ยังมีขอเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันผลักดัน คือ การสร้างห่วงโซ่การผลิตของจีนและสหรัฐ ให้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งโอกาสทำและเป็นไปได้มีมากกว่า การสร้างความร่วมมือทางการกับสหรัฐ เช่น FTA ไทย-สหรัฐ ภายใต้ผลประโยชน์ของประเทศ การผลักดัน อาเซป หรือ อาเซียน +6 ให้เป็นรูปธรรม ด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 24 เมษายน 2561

“บิ๊กตู่” เผยไทยมีแนวโน้มเข้าร่วม TPP ใหม่! ชี้ต้องมาดูข้อได้-เสีย พร้อมหารือต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ ถึงการตัดสินเข้าร่วมเป็นสมาชิก Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะการทำงาน ต้องมาดูว่าส่วน TPP ใหม่เป็นอย่างไร กติกาเป็นอย่างไร อะไรเป็นผลดี ผลเสีย

“ต้องมาดูอันไหนได้ประโยชน์ อันไหนเสียประโยชน์ ควต้องพิจารณาต่อไป ไม่ได้มีประเทศไทยประเทศเดียว มันมีหลายประเทศ ซึ่งมีในเรื่องการเข้าถึง ยา สาธารณะสุข การเกษตร ต้องไปดูในส่วนนี้ เเละหากเราไม่เข้าร่วม ต้องมาดูว่าเราเสียประโยชน์อะไรไปบ้าง เพราะมีหลายประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมในช่วงนี้ รัฐบาลจะคิดอย่างรอบคอบ”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอาจต้องเข้าร่วม ซึ่งจะเข้าอย่างไรนั้นก็ต้องไปหารือกับคณะกรรมการ เเละประเทศที่ก่อตั้งขึ้นมา

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 24 เมษายน 2561

ค่าเงินบาทเริ่มชะลอการอ่อนค่า หลังดอลลาร์นิ่ง-บอนด์ยิลด์หยุดขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้เริ่มนิ่ง หลังก่อนหน้าอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังนลท.ทิ้งหุ้น บอนด์เข้าตลาดหุ้น บอนด์สหรัฐ หนุนบอนด์ยิลด์สหรัฐพุ่งปรี๊ด

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงืนบาทวันที่ 24 เม.ย.โดยค่าเงินเปิดตลาดที่ 31.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดวานนี้ที่ 31.52 บาทต่อดอลฯ ล่าสุดซื้อขายที่ 31.47บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาท ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้เริ่มชะลอการอ่อนค่าลง หลังก่อนหน้าอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยวันนี้อ่อนค่าสุดแตะระดับ 31.58 บาทต่อดอลฯ หลังค่าเงินดอลฯ เริ่มชะลอการแข็งค่าลง นักลงทุนมีการถือลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์มากขึ้น จากก่อนหน้าที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ และสินทรัพย์ต่างๆในสหรัฐ สอดรับกับภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นค่อนข้างดี ส่งผลให้บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10ปี ขึ้นต่อเนื่อง ทำให้วันนี้เริ่มเห็นการทรงตัวทั้งค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์บ้าง

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจหรือจีดีพี ของสหรัฐไตรมาสแรกปี 2561 ที่จะประกาศออกมาวันศุกร์นี้

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 24 เมษายน 2561

คิกออฟ!!! กรมชลฯ เร่งปล่อยน้ำ 12 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 10 จว. ดีเดย์ชาวนาเริ่มปลูกข้าวพร้อมกัน 1 พ.ค.นี้

 กรมชลประทาน เตรียมปล่อยน้ำ 12 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 10 จว. ดีเดย์ชาวนาเริ่มปลูกข้าวพร้อมกัน 1 พ.ค.นี้ ไม่เสี่ยงเสียหายเก็บเกี่ยวได้ทัน ก่อนฤดูน้ำหลากท่วมพื้นที่เดือนก.ย.-ต.ค.ใช้เป็นแก้มลิงชะลอน้ำได้เท่าสองเขื่อนป่าสักฯไม่กระทบชุมชน ย่านเศรษฐกิจ กรุงเทพ-ปริมณฑล ชี้เกษตรกรเห็นความสำเร็จแห่ร่วมมือ ได้ฟื้นสภาพดินปลูกข้าวนาปรังได้ผลผลิตสูง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 เม.ย.61 นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งตอนล่าง ลุ่มเจ้าพระยา ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ สำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรเพื่อให้เกษตรกร เพาะปลูกข้าว 10 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่ 1.15 ล้านไร่ สามารถเริ่มลงมือเตรียมแปลงเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป เช่น จ.นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่สั่งการให้ขยายผลและดำเนินการอย่างต่อเนื่องในมาตรการเลื่อนปฎิทินการเพาะปลูกเร็วขึ้นมา 1เดือน เพื่อใช้ 12 ทุ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติชั่วคราว ในการพักชะลอน้ำรองรับน้ำหลากหลังเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ อีกทั้งหลีกเลี่ยงผลกระทบกับผลผลิตของเกษตรกรหากฤดูน้ำหลากมาเร็ว ซึ่งปีที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ ได้รับประโยชน์และให้ความร่วมมืออย่างดีหลังจากเห็นความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำในปี2560 ทั้งๆที่มีปริมาณฝนตกสะสมใกล้เคียงปี2554 แต่ไม่เกิดความเสียหายดังเช่นปี2554

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตอนนี้ได้ลำเลียงน้ำจากเขื่อนหลัก3 เขื่อนตอนบน เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน โดยควบคุมระดับน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ไว้ที่ระดับ 16-16.50 เมตร รทก.(ระดับน้ำทะเลปานกลาง)เพื่อให้สามารถดึงน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานลุ่มเจ้าพระยา ทั้งฝั่งซ้าย-ขวา ซึ่งรับเข้าระบบตะวันตก มีสองทางใช้ผ่านประตูบรมธาตุ ไปแม่น้ำน้อย และประตูพลเทพ ไปแม่น้ำสุพรรณ ส่วนฝั่งตะวันออก ใช้คลองชัยนาท-ป่าสัก รับน้ำผ่านประตูมโนรมย์ ส่งระบบชลคลองชัยนาท-อยุธยา ผ่านประตูมหาราช พร้อมสนับสนุนน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปี 2561 รอบที่ 1 จะไปเก็บเกี่ยวได้ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ก่อนถึงฤดูน้ำหลากมาถึงในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วงกลางเดือน ก.ย.เป็นต้นไป

“ครั้งนี้เป็นปีที่สองในการเลื่อนปฎิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี เร็วขึ้นมา1 เดือน จากปกติชาวนามักทำนาในช่วงปลายเดือนพ.ค. ไปจนถึงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมามีความเสี่ยงหากปีไหนมีปริมาณน้ำหลากมาเร็ว เกษตรกรจะได้รับกระทบมาตลอดผลผลิตเสียหาย เก็บเกี่ยวไม่ทัน ซึ่งในปี2560 ที่กรมชลประทาน ได้ทำระบบเลื่อนเพาะปลูกเร็วขึ้น ประสบความสำเร็จ ไม่เสียหาย เก็บเกี่ยวได้หมด โดยน้ำหลากมาปลายเดือนก.ย. พื้นที่ 12 ทุ่งสามารถรองรับไว้ได้ มากถึง 1.5 พันล้านลบ.ม. เท่ากับ เขื่อนป่าสักฯ 2 เขื่อน ยังช่วยลดผลกระทบกับพื้นที่ชุมชนแนวแม่น้ำเจ้าพระยา เขตเศรษฐกิจตอนล่าง กรุงเทพ- ปริมณฑล ไม่ได้รับความเสียหาย แม้มีปริมาณน้ำมากใกล้เคียงกับปี 54 อย่างไรก็ตามกรมชลฯได้ไปปรับปรุงเสริมคัน บางพื้นที่ให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ไม่รับผลกระทบจากนำน้ำไปอยู่ในทุ่ง สามารถดำเนินชีวิตตามปกติ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และพื้นที่แก้มลิงยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้ประชาชนในพื้นที่ เสริมรายได้ เกิดอาชีพประมง รวมทั้งทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาดโรคพืชและแมลงต่างๆได้ผลดี โดยชาวนา ปลูกข้าวนาปรัง รอบที่ผ่านมาได้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์สูง”นายทองเปลว กล่าว

 นายทองเปลว กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลาก 12 ทุ่ง รวม 1.15 ล้านไร่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เริ่มเพาะปลูก 1 พ.ค.61 เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จประมาณ เดือนก.ย. เป็นแก้มลิงรองรับปริมาณน้ำหลากระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. สามารถหน่วงน้ำได้ 1,500 ล้านลบ.ม. 1.ทุ่งเชียงราก จ.ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี มีพื้นที่รับน้ำ 38,300 ไร่ กระจายน้ำเข้าทุ่งในปริมาณ 80 ล้านลบ.ม. 2.ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี พื้นที่ 45,700 ไร่ 84 ล้านลบ.ม. 3.ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก จ.ลพบุรี 116 ล้านลบ.ม. 4. ทุ่งบางกุ่ม จ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี 83,000 ไร่ 130 ล้านลบ.ม. 5.ทุ่งบางกุ้ง จ.พระนครศรีอยุธยา 17,000 ไร่ 27 ล้านลบ.ม. 6.ทุ่งบางบาล-บ้านแพน จ.พระนครศรีอยุธยา 33,450 ไร่ 107 ล้านลบ.ม. 7.ทุ่งป่าโมก จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง 20,854 ไร่ 50 ล้านลบ.ม. 8.ทุ่งผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี 124,879 ไร่ 200 ล้านลบ.ม. 9.ทุ่งเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี 350,000 ไร่ 560 ล้านลบ.ม. 10.โครงการโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี 167,351 ไร่ 160 ล้านลบ.ม. 11.โครงการพระยาบรรลือ จ.นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา 95,494 ไร่ รับน้ำผ่านทุ่ง 100 ลบ.ม.ต่อวินาที และโครงการรังสิตใต้ จ.ปทุมธานี 101,190 ไร่ รับน้ำผ่าน 80 ลบ.ม.ต่อวินาที

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 24 เมษายน 2561

พาณิชย์ เผยส่งออกเดือนมี.ค.เติบโตที่สุด ทะลุ 2.2 หมื่นล้านเหรียญฯ

ก.พาณิชย์ เผยส่งออกเดือนมี.ค.ทะลุ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.06% มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ส่วนยอดรวมไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 11.29% สูงสุดรอบ 7 ปี...

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2561 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า เดือนมี.ค.61 การส่งออกมีมูลค่า 22,236.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.06% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 697,074.1 ล้านบาท ลดลง 3.99% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,094.7 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 9.47% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 666,326.2 ล้านบาท ลดลง 1.73% มีดุลการค้าเกินดุล 1,268.1 ล้านเหรียญฯ หรือ 30,747.9 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 61 การส่งออกมีมูลค่า 62,829.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 11.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี นับจากปี 55 ที่มีมูลค่า 54,639.7 ล้านเหรียญฯ เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.993 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.52% และการนำเข้ามีมูลค่า 60,872.8 ล้านเหรียญฯเพิ่มขึ้น 16.16% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 7.957 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.03% มีดุลการค้าเกินดุล 1,959.6 ล้านเหรียญฯ หรือ 36,090.1 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น มาจากการค้าโลกขยายตัว เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว ทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น และคาดว่า มูลค่าการส่งออกในปี 61 จะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ญี่ปุ่น จีน และเอเชีย ยังขยายตัวได้ดี และสินค้าเกษตรน่าจะราคาปรับตัวดีขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออก ต้องจับตามาตรการกีดกันทางการค้า ที่จะกระทบต่อการส่งออก และค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก

”ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ยอมรับว่า ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกเมื่อแลกเงินเหรียญสหรัฐฯ มาเป็นเงินบาท ลดลงมาก ซึ่งในเดือนมี.ค.ลดลงถึงกว่า 3% แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลอย่างใกล้ชิด และมีมาตรกรออกมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไทยคงไม่แทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว ส่วนภาคการส่งออกสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนั้น รัฐบาลคงต้องหามาตรการช่วยเหลือโดยเร็ว เพราะรายได้จากการส่งออกลดลงมาก และไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากค่าเงินบาทแข็งค่าเลย”

สำหรับการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่วนใหญ่ค้าขายด้วยเงินบาทนั้น ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างมาก ซึ่งในเดือนมี.ค.61 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 10.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าไทยสูงขึ้นมาก และทำให้มูลค่าการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเดือนมี.ค.61 อยู่ที่ 56,699 ล้านบาท ลดลงถึง 13.69% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนนำเข้า อยู่ที่ 39,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.27% ได้ดุลการค้า 17,520 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 3 เดือน การส่งออกมีมูลค่า 159,339 ล้านบาท ลดลง 6.00% การนำเข้ามีมูลค่า 115,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% และได้ดุลการค้า 43,540 ล้านบาท .

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 24 เมษายน 2561

“อภิศักดิ์” เตรียมร่วมประชุม รมว.คลังเอเชีย-ยุโรป ถกพัฒนาการเศรษฐกิจโลก

 “อภิศักดิ์” เตรียมเข้าร่วมประชุม รมว.คลังเอเชีย-ยุโรปที่ประเทศบัลแกเรีย ถกพัฒนาการเศรษฐกิจโลก-ภาษีเศรษฐกิจดิจิทัล-ความปลอดภัยทางไซเบอร์

การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Finance Ministers’ Meeting: ASEM FinMM) ครั้งที่ 13 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 26 เมษายน 2561 ณ กรุงโซเฟีย สาธารณรัฐบัลแกเรีย

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Finance Ministers’ Meeting: ASEM FinMM) ครั้งที่ 13 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 26 เมษายน 2561 ณ กรุงโซเฟีย สาธารณรัฐบัลแกเรีย ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากประเทศสมาชิกอาเซมรวม 51 ประเทศ โดยมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน คณะกรรมาธิการยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมด้วย

การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของภูมิภาคเอเชียและยุโรป ได้พบปะหารือ กระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการคลังและการเงิน และขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นหารือใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ (1) พัฒนาการทางเศรษฐกิจ พวกเราพร้อมเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งต่อไปหรือไม่ (Economic developments-Are we ready for the next global downturn?) (2) ภาษีกับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Tax and Digitalization of the Economy) และ (3) การรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในระบบการเงิน โดยเฉพาะความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Addressing New and Emerging Risks in the Financial System-Cyber Security)

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะแถลงข่าวผลการประชุม ASEM FinMM ครั้งที่ 13 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 24 เมษายน 2561

อุตฯ ยันความร่วมมือ "อาลีบาบา" ไร้ข้อผูกพันเชิงพาณิชย์

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำความร่วมมือกับ "อาลีบาบา" กับประเทศไทย ไม่มีข้อผูกพันเชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์จะตกอยู่กับเอสเอ็มอีเป็นหลัก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างอาลีบาบากับประเทศไทย จะเน้นการช่วยเหลือยกระดับปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีดิจิทัลของเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพไทย ซึ่งอาลีบาบาจะเข้ามาร่วมงานในแนวทางที่รัฐบาลไทยเป็นผู้กำหนด ผลประโยชน์ต่างๆ จะตกอยู่ที่เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของไทยเป็นหลัก

ส่วนความกังวลต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยการเข้ามาพัฒนาผู้ประกอบการไทยเป็นการพัฒนาคนเป็นหลัก ไม่มีข้อผูกพันเชิงพาณิชย์ และไม่อยู่ในเงื่อนไขผูกมัดในการใช้บริการของอาลีบาบา ซึ่งยังเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านอีมาร์เก็ตรายอื่นๆ เข้ามาร่วมได้โดยตลอด

"ความร่วมมือกับอาลีบาบาจะเป็นเรื่องการพัฒนาคน การนำเอาเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติให้เข้าถึงผู้ประกอบการไทยให้มากที่สุด และให้ผู้ประกอบการได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าสู่การค้าอีคอมเมิร์ซ ซึ่งอาลีบาบาจะเข้ามาหรือไม่ การขยายตัวของการค้าออนไลน์ก็จะต้องเกิด ซึ่งประเทศไทยก็เปิดกว้างรับความร่วมมือของทุกราย ซึ่งสุดท้ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการที่มีผู้ประกอบการระดับโลกเข้าร่วมในรูปแบบที่กำหนดก็จะยิ่งผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น"

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้หารือกับคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง 2 หน่วยงาน โดยภายใต้คณะกรรมการนี้จะมีคณะกรรมการชุดย่อย ประสานการทำงานในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรม การส่งเสริมเอสเอ็มอี การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน และการส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และรองประธานสภาอุตสาหกรรมเป็นประธานร่วมกัน ซึ่งจะเน้นการทำงานเป็นทีมโดยอาศัยเครือข่ายของสภาอุตสาหกรรมที่มีอยู่ทุกจังหวัด มีการรายงานความคืบหน้าทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกระดับ ได้รับทราบถึงกลไกและมาตรการการขับเคลื่อนดังกล่าว

"คณะกรรมการชุดนี้และคณะกรรมการชุดย่อย จะมีการประชุมหารือกันทุกเดือน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสานงานกับ ส.อ.ท.จังหวัด ในการผลักดันการพัฒนาชุมชนและเกษตรกร การพัฒนาโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ซีไอวี) เพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่เป้าหมายโดยเร็ว"

จาก www.nationtv.tv วันที่ 24 เมษายน 2561

เตรียมชงอุตสาหกรรมชีวภาพระยะ 2 ให้ ครม.

ก.อุตสาหกรรมเตรียมเสนอโครงการอุตสาหกรรมชีวภาพระยะ 2 ให้ ครม.พิจารณา ขยายพื้นที่ลงทุนภาคอีสาน-กลาง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการปฏิรูปฐานเศรษฐกิจประเทศให้มีความเข้มแข็ง เพราะขณะนี้ปัจจัยต่าง ๆ เข้มแข็งทั้งการส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้โตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 4.7 โดยภาคอุตสาหกรรมไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 การขับเคลื่อนจะดำเนินการในเชิงรุก ซึ่งการปฏิรูปจะไม่ทิ้งอุตสาหกรรมเดิม แต่จะเสริมให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายรวม 11 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้าอุตสาหกรรมอากาศยานเน้นซ่อมสร้างและอุตสาหกรรมชีวภาพที่สร้างต่อยอดบนฐานการเกษตรของไทย เป็นต้น

นายอุตตม กล่าวว่า ในอีก 2 สัปดาห์กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำแผนโครงการอุตสาหกรรมชีวภาพ ระยะ 2 ขยายพื้นที่การลงทุนเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงหนือและภาคกลางเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนับเป็นการต่อยอดจากที่มีอุตสาหกรรมนี้ในภาคตะวันออกแล้ว อีกด้าน คือ การสร้างบุคลากรโดยเน้นกลุ่มอาชีวะศึกษาที่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมีความพร้อมทำงานกับภาคอุตสาหกรรมทันที

ด้านการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะดำเนินการโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผ่านการตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการ ด้าน Co-Working Space เครื่องจักรทันสมัย การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการปรึกษาเชิงลึก ให้กับเอสเอ็มอี ส่วนกลางที่ กสอ.กล้วยน้ำไท พร้อมให้บริการต้นเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งมี DENSO เป็น Big Brothers ให้ความช่วยเหลือ และตั้ง Mini ITC สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ ด้านสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีการผลักดันด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้วย ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหรือ Local Economy ที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)

นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการจัดทำบิ๊กดาต้า ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งฐานข้อมูลอยู่ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบิ๊กดาต้าจะเชื่อมโยงกับ ส.อ.ท. ขณะเดียวกันยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินด้วย

นายอุตตม ยังขอความร่วมมือ ส.อ.ท.ในกรณีความร่วมมือต่างประเทศ โดยไม่เน้นเม็ดเงินเข้ามาลงทุนอย่างในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา แต่มีเป้าหมายหลักนำเทคโนโลยีเข้าประเทศเป็นหลักและจะช่วยเหลือเรื่องบุคลากรแก่ประเทศไทยด้วย เป็นต้น

จาก http://www.tnamcot.com   วันที่ 23 เมษายน 2561

ส่งออกไทยขยายตัวดีมูลค่าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์มั่นใจทั้งปีโต8%

ส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี มูลค่าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้สหรัฐกับจีน จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าแต่ไม่กระทบไทย มั่นใจทั้งปียังผลักดันส่งออกโต8% ตามเป้าหมาย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่าการส่งออกของไทยเดือนมีนาคม มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 22,362 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.06% ขณะเดียวกันการส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ากว่า 62,829 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.29% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากภาวะการค้าของโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 เช่น ฮาร์ดดิสก์ และสินค้าเกี่ยวกับชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป จึงแสดงให้เห็นว่าการส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าสหรัฐฯ และจีน จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อไทย และมั่นใจว่าแนวโน้มการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ 8% ตามเป้าหมาย

ขณะที่การนำเข้า เดือนมีนาคม มีมูลค่ากว่า 21,094 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 9.47% และดุลการค้า ยังคงเกินดุล กว่า 1,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้จะมีการปรับประมาณการราคาน้ำมันที่ปัจจุบันคาดว่าปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากแนวโน้มเริ่มปรับสูงขึ้น และขณะเดียวกันก็จะปรับประมาณการ อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ด้วย แต่ยังต้องติดตาม ราคาน้ำมัน และทิศทางค่าเงินบาท ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมด้วย

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 23 เมษายน 2561

เกษตรฯจับมือ ธกส.ปล่อยแคมเปญดันยอดผลิต"ปุ๋ยสั่งตัด"

           กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจับมือ ธกส.ปล่อยแคมเปญสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ดันยอดผลิต 'ปุ๋ยสั่งตัด' ผ่านสถาบันเกษตรกร หวังลดต้นทุนให้เกษตรกรพร้อมแก้วิกฤตธาตุอาหารในดินต่ำส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพที่ลดลง

                 นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบการผลิตปุ๋ยสั่งตัด ของสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี ณ โรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี จำกัด ต.ดอนกำยาน อ.เมืองสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการส่งเสริมให้ความรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตและใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุอาหารพืชเหมาะสมตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินในแต่ละพื้นที่ หรือที่เรียกว่า "ปุ๋ยสั่งตัด"  ช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยถูกชนิดและถูกปริมาณ ประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยจึงสูงขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้ โดยปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่สามารถผลิตและดำเนินการจัดทำปุ๋ยสั่งตัดเพื่อบริการให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปได้ ประมาณ 100 แห่ง มีกำลังการผลิตอยู่ประมาณ 20,000 ตันต่อปี แต่ยังมีหลายสถาบันเกษตรกรที่ยังมีความต้องการผลิต และจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัดให้กับสมาชิกอีกมาก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเงินทุนในการลงทุนจัดซื้อแม่ปุ๋ย เครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ จึงยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตปุ๋ยสั่งตัดให้มากขึ้นได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เกิดแนวคิดที่จะสนับสนุนผลักดันกลไกปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกรขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้กับสถาบันเกษตรกรนั้นสามารถผลิตปุ๋ยสั่งตัดจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาถูกได้   

               ดังนั้น ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ในการทำแคมเปญสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุนผลิตให้แก่เกษตรกร โดยสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัดให้กับสถาบันเกษตรกรต่าง ๆ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัดให้แก่สมาชิกของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไปได้

                รวมไปถึงแคมเปญสินเชื่อบุคคลเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ 2 สำหรับเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. หรือเกษตรกรทั่วไป หรือเกษตรกรผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ ธ.ก.ส. รับขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชเมล็ดพันธุ์ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และปัจจัยอื่น ๆ ที่จำเป็นเช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องพ่นยา เครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์ เครื่องหว่านปุ๋ย เครื่องตัดหญ้า ผ่านร้านค้าปัจจัยการผลิตที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตของสหกรณ์การเกษตร ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส. และร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ หรือ ร้าน Q-Shop ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตรซึ่งหากดำเนินการได้จะสามารถตอบสนองต่อการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรได้มีความสามารถในการประกอบการผลิตได้เป็นเป็นอย่างดี สร้างกำไรจากอาชีพเกษตรกรรมได้ อันเป็นสร้างการความเข้มแข็งให้กับระบบสถาบันเกษตรกร และตัวเกษตรกรได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม จะรวบรวมข้อมูล รายละเอียดเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป

             สำหรับสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี จำกัด ได้มีการรวมตัวกันของ 8 สหกรณ์ ดำเนินการผลิตปุ๋ยสั่งตัดมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2560 ผลิตปุ๋ยสั่งตัดให้แก่สมาชิกไปแล้ว 6,951 กระสอบ คิดเป็นมูลค่า3,910,640 บาท เปรียบเทียบกับราคาปุ๋ยในท้องตลาดจะสามารถลดต้นทุนการผลิตให้แก่สมาชิกประมาณ 357,425 บาทผลิตปุ๋ยผสมจำนวน 4 สูตร และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรและได้การรับรองมาตรฐาน สามารถผลิตปุ๋ยสั่งตัดได้ 400 ตันต่อปี

             "การสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกรนี้ เป็นการสนับสนุนกลไกการดำเนินงานในด้านการผลิตปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและประหยัดให้กับสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มเกษตรกร โดยทำการผลิตปุ๋ยสั่งตัดได้ตรงตามความเหมาะสมกับชนิดพืชและดินในพื้นที่ของตนเอง พร้อมทั้งนำมาจำหน่ายให้กับสมาชิกรวมถึงเกษตกรทั่วไปนอกจากจะสนับสนุนเรื่องการลดต้นทุนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการทำธุรกิจทางเลือกใหม่ๆ ให้กับสถาบันเกษตรกร โดยใช้กลไกสหกรณ์ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการผลิตปุ๋ยสั่งตัดนี้จะสามารถทำให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้กระสอบละ 100 – 300 บาท หรือ 1,000 – 2,000บาทต่อตัน" รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

จาก www.komchadluek.net    วันที่ 23 เมษายน 2561

EECผนึกGISTDAมุ่งศึกษาข้อมูลพัฒนาพื้นที่

สำนักงาน EEC ผนึกกำลัง GISTDA มุ่งศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ EEC มีประเด็นที่สำคัญและท้าทายอยู่มาก ซึ่งทางสำนักงาน EEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำการศึกษาอย่างละเอียดและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ สอดคล้องความต้องการของตัวพื้นที่และประชาชนในพื้นที่ และการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่างสำนักงาน EEC และ GISTDA ในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือที่จะศึกษา จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ EEC รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีของทาง GISTDA เป็นตัวช่วย ซึ่งทางสำนักงาน EEC ก็จะนำข้อมูลที่ได้นี้มาเป็นตัวช่วยในการวางแผน ตัดสินใจ และกำหนดนโยบาย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เกิดขึ้น โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีของทาง GISTDA เป็นตัวช่วย ซึ่งทางสำนักงาน EEC ก็จะนำข้อมูลที่ได้นี้มาเป็นตัวช่วยในการวางแผน ตัดสินใจ และกำหนดนโยบาย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

โดย 2 หน่วยงานจะร่วมจัดทำข้อมูล พร้อมข้อวิเคราะห์ ข้อเสนอแนะและแผนที่ประกอบ ในหัวข้อ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทาง GISTDA ได้มีการริเริ่ม โครงการพัฒนาระบบวางแผนและจัดการพื้นที่เพื่อการพัฒนาเชิงมหภาค (The Grand Geospatial Platform founded on ASEAN Economic Clustering Map: GGP) เป็นโครงการที่จะแสดงความเชื่อมโยงพื้นที่โลกตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ด้วย “ระบบภูมิสารสนเทศที่มีพลวัต” ซึ่งครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยวิเคราะห์ทั้งแนวทางการดำเนินงานและผลกระทบ เพื่อสร้างจุดสมดุลหรือข้อเสนอทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่ และนำไปสู่การกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไข บรรเทา เยียวยา ผลกระทบจากการพัฒนา

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 23 เมษายน 2561

“สนธิรัตน์”ยันค้าผ่านTmall.comเกษตรกรได้ประโยชน์

รมว.พาณิชย์ ยันค้าผ่าน Tmall.com เกษตรกรไทยได้ประโยชน์ ไม่ได้ปล่อยให้ต่างชาติกินรวบ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเปิดให้ทดลองทำการซื้อขายทุเรียน ผ่านเว็บไซต์ Tmall.com นั้น ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี ผู้ประกอบการไทยและเกษตรกร จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากสินค้าที่จะเข้าไปขายผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว จะต้องเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าถูกต้องตามลิขสิทธิ์ และมีคุณภาพมาตรฐานสูง รวมถึงผู้ประกอบการที่จะค้าขายได้ จะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อย่างถูกต้อง รวมถึงต้องสมัครเป็นสมาชิก thaitrade.com ของกระทรวงพาณิชย์ก่อน ถึงจะสามารถเข้าไปทำการค้าผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ โดย อาลีบาบา กรุ๊ป ได้เว้นค่าธรรมเนียมการขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทย เป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นถึงจะมาตกลงค่าธรรมเนียม ที่เป็นธรรมต่อไป โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามากินรวบกิจการในประเทศ

ในขณะที่การทดลองทำการซื้อขายทุเรียนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว ของอาลีบาบา กรุ๊ป เป็นปริมาณที่ไม่สูงมาก เพียง 350 ตันเท่านั้น จากการผลิตในปีนี้ที่คาดว่า จะอยู่ที่ 765,000 ตัน

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 23 เมษายน 2561

แพทย์ชี้ใช้พาราควอตทางกสิกรรมไร้อันตรายต่อคน-สิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเกิดกระแสข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้สารกำจัดวัชพืชของภาคเกษตรกรรม หรือ พาราควอต ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างส่งผลต่อไปยัง การปฏิเสธสินค้า และผลผลิตจากเกษตรกร ไม่เพียงแค่เกษตรกรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่อุตสาหกรรมแปรรูป การผลิต และการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า1.2 ล้านล้านบาทก็ได้รับผลกระทบเช่นกันรวมทั้งข่าวสารดังกล่าวยังสร้างความกังวลใจต่อสาธารณะ และผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพ จนกระทั่งถึงขั้นที่เสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช หรือแบนพาราควอต ออกไปจากระบบกสิกรรมเลยทีเดียว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ อดีตหัวหน้าภาควิชาโรคระบบหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เปิดเผยว่า ในฐานะที่เคยเป็นแพทย์ระบบการหายใจ และปอดมีประสบการณ์กับพิษพาราควอตในผู้ป่วยจากการดื่มพาราควอตได้เคยเขียนบทความทบทวนส่งไปลงพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์เวชสาร และ พุทธชินราชเวชสาร พร้อมกันนั้นก็ไปบรรยายเรื่องพาราควอตในการประชุมราชบัณฑิตสัญจร เมื่อเมษายนปีที่ผ่านมา ในครั้งนั้นมีเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องหลายท่านมาร่วมประชุมด้วยเช่น ศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม อารีกุล,ศาสตราจารย์ ดร.สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ,ศาสตราจารย์ ดร. อรอณงค์ นัยวิกุล,ศาสตราจารย์ ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ,ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านไม่มีความเห็นขัดแย้งกับข้อมูลที่บรรยายคือ การใช้พาราควอตทางกสิกรรมไม่มีอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันข้อมูลจากศาสตราจารย์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อ้างผลงานของคณะผู้วิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว)พบว่าการใช้ยาฆ่าหญ้าทำให้มีสารพาราควอตตกค้างอยู่ในไร่นา ในน้ำที่ขัง ทำให้ผู้ที่ย่ำน้ำที่มีสารปนเปื้อนเหล่านั้นได้รับสัมผัสพาราควอตทางผิวหนังป่วยปีละกว่า 100 ราย และมีผู้เสียชีวิต 6 รายจากขาเน่าและติดเชื้อซ้ำซ้อนถึงต้องตัดขา โดยไม่ให้รายละเอียดเอกสารและแหล่งพิมพ์เอกสาร รวมทั้งอ้างว่าการสัมผัสยาฆ่าหญ้า ทำให้เกิดโรคที่รักษาไม่ได้เช่น โรคพาร์กินสันและการทำลายเซลล์สมอง

ทั้งนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ให้ความเห็นในทางตรงกันข้าม โดยอ้างอิงจากเอกสารวิชาการของสำนักงานความปลอดภัยทางเคมี ของกรมสุขภาพ เมืองแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลียว่า พาราควอต เป็นยากำจัดวัชพืช โดยวิธีการยับยั้งการสังเคราะห์ด้วยแสง ทำให้เกิดสุเปอร์ออกไซด์ไปทำอันตรายแผ่นเยื่อต่างๆของพืชโดยกระบวนการเพอร์ออกซิไดซ์ไขมัน การเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นแบบเดียวกับในพืช คือ เมื่อได้รับสารพิษเข้าทางเดินอาหารหรือทางหายใจจะเกิดภาวะพิษทางระบบการหายใจ ไตและตับ การได้รับพิษทางผิวหนังพบน้อยมาก รายงานศักยภาพพิษต่อระบบประสาทที่ทำให้เป็นโรคพาร์กินสันในคนก็พบน้อยมาก อีกทั้งยังไม่สามารถระบุสาเหตุว่าเกิดจากสาพราควอต และที่กล่าวอ้างในบางรายงานว่าเกิดขึ้นก็ไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้รายงานผลวิจัยยาฆ่าวัชพืช 2 ตัวคือ ไกลโฟเสตและพาราควอต ในประเทศไทย จากกลุ่มนักวิชาการ นำโดยศาสตราจารย์ ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงการตรวจพบพาราควอตในซีรั่มของมารดาและสายสะดือของทารก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าได้ศึกษาเพิ่มด้านสนเทศพันธุกรรมจากเลือดด้วยโดยวิธี Next Generation Sequencing ด้วย อาจได้ข้อมูลดีเอ็นเอของผู้ที่สัมผัสพาราควอต ไม่ว่าจะขณะทำงานพ่นสาร หรือจากสัมผัสสารที่ปนเปื้อนสิ่งต่างๆใกล้ตัว หรือจากบริโภคน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนละอองพาราควอตที่พ่นขณะทำงาน แต่ไม่น่าได้รับจากสัมผัสดิน เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าในดินไม่มีฤทธิ์ของพาราควอตให้สัมผัสส่วนเด็กแรกคลอดได้ พาราควอตจากเลือดของแม่เพราะเด็กอยู่ในครรภ์จนคลอด

“การศึกษานี้ ถ้าได้ศึกษาดีเอ็นเอด้วย ก็อาจโชคดีได้พบความผิดปรกติจำเพาะที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสายดีเอ็นเอก็จะได้ตัวกำหนดชีวภาพระบุการสัมผัสสารพิษของหญิงมีครรภ์และของทารกแม้ก่อนเกิดเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคต่างๆแต่ตั้งข้อสังเกตว่าในรายงานไม่มีข้อมูลว่า แม่และลูกมีความผิดปรกติจากพิษพาราควอตหรือไม่อย่างไร เพราะหญิงมีครรภ์ที่นำมาศึกษาถ้าได้รับพาราควอตที่เป็นสารพิษร้ายแรง น่าจะมีอาการหรือลักษณะเวชกรรมพิษพาราควอตบ้าง ซึ่งในรายงานนี้บอกยากว่าได้รับเมื่อไร ถึงแม้ว่าพบปริมาณพาราควอตในเลือดตอนคลอดน้อยมาก จนไม่มีอาการ ถ้าได้สัมผัสปริมาณมากน่าจะมีอาการป่วยหรือเสียชีวิต”

จากข้อมูลเท่าที่ผู้เขียนทราบจวบปัจจุบัน ยังไม่เคยปรากฏว่าการใช้พาราควอตฆ่าหญ้าเกิดอันตรายต่อ การเดินลุยน้ำที่มีการปนเปื้อนจากการพ่นพาราควอตกำจัดวัชพืช ก็ไม่น่าจะได้สัมผัสพาราควอต เพราะพาราควอตที่ลงสู่ดิน จะถูกกำจัดหมดไปอย่างรวดเร็วทั้งหมดนี้ ได้นำข้อเท็จจริงจากรายงานวิชาการต่างๆได้แก่ การตรวจพันธุกรรมก่อนสมภพของพุทธชินราชเวชสาร การเก็บของเหลวเพื่อชันสูตร ของธรรมศาสตร์เวชสาร A case of paraquat poisoning with recovery ของสารศิริราช และ IARC Monograph Volume 112 evaluation of five organophosphate insecticides and herbicides ขององค์การอนามัยโลก และการประเมินพิษวิทยาสารพาราควอตจากรมสุขภาพของประเทศออสเตรเลีย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพาราควอตชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพื่อตอกย้ำว่า การใช้พาราควอตทางกสิกรรมไม่มีอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรยกเลิกใช้สาร พาราควอต ในกสิกรรมของไทยในที่สุด

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 23 เมษายน 2561

ประชาธิปไตย+สารเคมีเกษตร

การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของคนทุกผู้ทุกฝ่าย การถกเถียงหาข้อสรุปแบบมีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์ความต้องการของพวกตัวเองเป็นที่ตั้ง...เป็นความสวยงามของสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ

ทั้งที่ได้ชื่อว่า เป็นปัญญาชน อยู่ในสังคมคนชั้นกลางขึ้นไปยันชนชั้นสูง เป็นผู้มีความรู้ อ้างตัวได้ว่าเป็นนักวิชาการ ให้คำชี้แนะสังคมได้ ...แต่ทำไมกรณี แบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด พาราควอต, ไกลโฟเสต และคลอร์ไฟริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ตามข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอและกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ชื่อ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ถึงมีพฤติกรรมรังเกียจ ความสวยงามของความคิดเห็นที่แตกต่าง

ผ่านมาการจัดเวทีสัมมนาต่างๆ เพื่อระดมความเห็นในเรื่องนี้...กลับไม่มีใครเคารพความเห็นที่แตกต่าง

ต่างฝ่ายต่างแยกเวทีจัดกันเอง เพื่อจะได้ใช้เวทีพูดเข้าข้างฝ่ายตัวเอง เชิญแต่พวกที่เห็นด้วยกับตัวเอง มาแสดงภูมิอวยเชียร์กันเอง...แทบไม่มีเวทีไหน ที่คนไทยจะได้ยินได้ฟังคนที่เห็นต่างมาถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

มีแต่คอยให้ร้ายคนที่เห็นต่างไปจากพวกตัวเอง กล่าวหาเป็นกลุ่มมีผลประโยชน์แอบแฝง รับอามิสสินจ้างจากธุรกิจเคมีเกษตร

เลยมีคำถามสะท้อนกลับจากอีกเวที...คนที่อ้างตัวทำงานอุทิศตนเพื่อสังคม รักษ์โลก ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม มีงานที่เป็นรายได้หลักอย่างอื่นให้ทำเป็นหลักแหล่งหรือไม่ แล้วไปเอารายได้จากไหนมาเลี้ยงชีพ ถึงได้มีบ้านหลังใหญ่ มีรถขับเฉิดฉายอยู่ในสังคม

ไม่เพียงแต่กลุ่มคนที่เห็นต่างจะถูกกล่าวหา...คณะกรรมการที่เป็นกลาง ผู้ทำหน้าที่นำความคิดเห็นของทุกฝ่ายมารวบรวมวิเคราะห์ เพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริงกลับพลอยถูกตราหน้า มีการสร้างกระแสกดดัน บีบคณะกรรมการฯให้ทำตามที่กลุ่มตัวเองต้องการอยู่ตลอดเวลา

พฤติกรรมไม่ต่างอันธพาล ใช้กฎหมู่ข่มขู่กฎหมาย...นี่รึพฤติกรรมอารยชน.

จาก https://www.thairath.co.th    วันที่ 23 เมษายน 2561

เงินบาทอ่อนค่า 31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตัวเลขศก.ดีขึ้น-บอนด์ยีลด์สูงสุดรอบ 4 ปี

เงินบาทวันที่ 23 เม.ย.61อ่อนค่าแตะ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงหนุนคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ย-ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีเกินคาด สอดคล้องกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี แตะ 2.98% สูงสุดในรอบ 4 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทขยับอ่อนค่ากว่าระดับ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ท่ามกลางแรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดี และคำกล่าวที่สะท้อนท่าทีสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับการปรับขึ้นของ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยิลด์) โดยบอนด์ยิลด์ระยะ 10 ปี ปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 2.98% ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.30-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ จุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่การรายงานตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 23 เมษายน 2561

ค่าบาท 'อ่อนค่า' ผกผันตามมราคาน้ำมัน

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่า "31.33 บาทต่อดอลลาร์" หากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง ยังเห็นการอ่อนค่าต่อของเงินบาท

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.33บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 31.32 บาทต่อดอลลาร์

ภาพรวมตลาดในช่วงที่ผ่านมาตลาดเปิดรับความเสี่ยง (risk on) ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ปรับตัวขึ้นมาทดสอบระดับสูงสุดใหม่อีกครั้ง ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลบวกกับธุรกิจในกลุ่มพลังงาน แต่ส่งผลลบกับกลุ่มเทคโนโลยี อาจทำให้ตลาดปรับฐานได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลาดจะปรับตัวขึ้นก่อนในสัปดาห์นี้เนื่องจากธนาคารกลางใหญ่ทั่วโลกยังยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าตามสกุลเงินเอเชียและการแข็งค่าของดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้ายังอยู่ในเกณฑ์ดีส่งผลให้บอนด์ ยิลด์ไทยปรับตัวขึ้นน้อยกว่าฝั่งสหรัฐ สัปดาห์นี้เชื่อว่ามีโอกาสที่จะเห็นการอ่อนค่าต่อของเงินบาท ถ้าราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาพรวมสกุลเงินเอเชียก็มีโอกาสอ่อนค่ารับแนวโน้มการค้าที่เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ 31.28 - 31.38 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 31.10 - 31.60 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสัปดาห์นี้สิ่งที่ต้องจับตาคือ ตัวเลขการส่งออกของไทย การประชุมธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น และตัวเลขจีดีพีสหรัฐ

วันจันทร์ รายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะขยายตัว 5.9% ขณะที่การนำเข้าจะขยายตัว 11.5% ส่งผลให้ประเทศไทยจะยังเกินดุลการค้าราว 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วันพฤหัส การประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คาดว่าจะ “คงนโยบายการเงิน” ทั้งหมด โดยมีเรื่องต้องติดตามสองเรื่องคือแนวโน้มเศรษฐกิจและความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปในอนาคตที่ชะลอตัวลงทั้งคู่ในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้อีซีบีต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปหรือไม่

วันศุกร์ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) คาดว่าจะ “คงนโยบายการเงิน” เช่นกัน มองว่าบีโอเจจะส่งสัญญาณเช่นเดิมว่าตัวเลขเงินเฟ้อในญี่ปุ่นกำลังปรับตัวขึ้นและจะขึ้นไปถึงระดับ 2% ตามเป้าหมายในปี 2562

วันศุกร์ รายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่หนึ่งปี 2561 ของสหรัฐคาดว่าจะขยายตัว 1.9% จากไตรมาสก่อน (ปรับเป็นรายปี) ลดลงจากที่ขยายตัวแรงถึง 2.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 23 เมษายน 2561

พญานาค1จ่อรื้อใหญ่กระทรวงเกษตรฯ

"กฤษฎา"ใช้กม.บริหารราชการแผ่นดิน ปรับโครงสร้างเกษตรอุดช่องโหว่งานภูมิภาค สั่งทุกหน่วยทำงานบูรณาการหน่วยงานเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าตามที่กระทรวงได้จัดโครงสร้างแบ่งส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าออกเป็น 14 กรม โดยกรมซึ่งมีหน้าที่ภารกิจด้านพัฒนาการเกษตรและบริการประชาชนในพื้นที่ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ซึ่งกรมเหล่านี้ ได้จัดโครงสร้างให้มีหน่วยงานของกรมในราชการภูมิภาคระดับจังหวัดหรืออำเภอด้วย เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์อำเภอ เป็นต้น

ขณะเดียวกันหน่วยงาน กษ. บางกรมไม่ได้จัดโครงสร้างให้มีหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ทั้งๆที่มีภารกิจด้านการพัฒนาการเกษตรและบริการเกษตรกรในพื้นที่เช่นกันได้แก่ กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดินเป็นต้น โดยหน่วยงานเหล่านี้ได้จัดตั้งเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางขึ้นในพื้นที่จังหวัด โดยไม่มีฐานะเป็นราชการส่วนภูมิภาคตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เช่น โครงการชลประทาน สถานีพัฒนาที่ดิน ศูนย์วิจัยพืชสวน ฯลฯ

ประกอบกับในปี 2545 รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ทำให้หน่วยงานราชการภูมิภาคของกระทรวงในพื้นที่ ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาและแก้ไขปัญหารวมทั้งงานบริการประชาชนด้านการเกษตร ที่มีความสำคัญในพื้นที่ต้องถูกยุบเลิกไปด้วยหรือมีการตั้งสำนักงานในอำเภอบางแห่งแล้วให้ข้าราชการหมุนเวียนไปตามอำเภอต่างๆ โดยไม่มีสำนักงานประจำอำเภอหรือจังหวัด เช่น สำนักงานสหกรณ์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานประมงอำเภอ

"สำหรับข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ทำให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหา รวมทั้งการบริการเกษตรกรในพื้นที่ของหน่วยงานกระทรวง ไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่และขาดความต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่มีสาเหตุประการหนึ่งเกิดจากการไม่มีหน่วยงานกำกับติดตามการทำประมงในพื้นที่"

ปัจจุบันจึงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกับกรมประมง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางหรือปัญหาการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าระบาด ที่ไม่สามารถให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ครอบคลุมพื้นที่ทำให้ปัญหายืดเยื้อจนสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีหน่วยระดับกรมของกระทรวงในส่วนกลาง ที่มีภารกิจในการให้บริการประชาชนด้านการเกษตรตามกฎหมายต่างๆ ก็ยังไม่มีหน่วยบริการในพื้นที่ หรือมีแต่ไม่ครบทุกพื้นที่จังหวัด เช่น การรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) เกษตรอินทรีย์(Organic) การรับจดทะเบียนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ซึ่งเป็นงานฝากให้สำนักเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัด รับคำร้องจากประชาชนผู้มาขอรับบริการแล้วส่งเอกสารหลักฐานมาให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องในส่วนกลางให้พิจารณา แล้วจึงส่งเจ้าหน้าที่หมุนเวียนกันไปตรวจสอบรับรองในพื้นที่ ทำให้งานการเกษตรดังกล่าวล่าช้า ไม่สามารถบริการได้ทันตามความต้องการของเกษตรกร 

ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนา เพื่อกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ส่วนภูมิภาค โดยให้จังหวัดและหน่วยราชการต่างๆในพื้นที่จัดทำแผนงานและงบประมาณ ให้ตอบสนองกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนภาคที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประการสำคัญเพื่อให้งานของกระทรวงสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในด้านการพัฒนาการเกษตรและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย

"ผมจึงได้พิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยใช้อำนาจตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาตรา 20และมาตรา 54 เพื่อกำหนดให้บุคลากรของกระทรวงทุกหน่วยงาน ที่มีสำนักงานและพื้นที่ดำเนินงานอยู่ในจังหวัดต่างๆ ให้มาบูรณาการร่วมทำงานด้วยกันเพื่อความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ"

ภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัด และหรือนายอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการภูมิภาคผ่านกลไกคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการและมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานเกษตรอื่นๆที่ไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการภูมิภาค แต่มีพื้นที่ดำเนินงานอยู่ในพื้นที่ เช่น โครงการชลประทาน สถานีพัฒนาที่ดิน ศูนย์วิจัยพืชสวน ฯลฯ มาบูรณาการร่วมกันทำงานในพื้นที่อำเภอและจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับงานตามนโยบายหรือโครงการสำคัญของรัฐบาลหรือกษ.(Agenda) รวมทั้งงานการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ด้วย (Area Based)

ส่วนการบังคับบัญชา การบริหารงานบุคคลและงบประมาณนั้น ยังคงอยู่ในบังคับบัญชาของกรมต้นสังกัดเช่นเดิมรายละเอียดตามคำสั่งกษ.ที่ 341/2561 ลว.วันที่ 20 เมษายน 2561 เรื่อง มอบหมายการปฎิบัติราชการของบุคลากรสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดเพื่อสนองนโยบายการบูรณาการงานภาคการเกษตรของจังหวัดอย่างยั่งยืน

จาก www.thansettakij.com วันที่ 22 เมษายน 2561

‘พาณิชย์’ เร่งแก้ปัญหาการใช้งานแบบฟอร์ม e-Form D หวังกระตุ้นการค้าอาเซียน

สมาชิกอาเซียนพร้อมเร่งปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ทางออนไลน์ระหว่างกันให้ถูกต้อง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทย เปิดเผยว่า ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเลขานุการคณะทำงานฯ จัดการหารือร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เริ่มใช้ระบบการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่างคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า กับคณะทำงานด้านเทคนิคของอาเซียนซึ่งดูแลเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม 2561

“ปัญหาทางเทคนิคที่พบ คือ ระบบการแลกเปลี่ยน e-Form D ยังไม่เสถียรและต้องปรับปรุงระบบให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งปัญหาในการใช้งานส่วนหนึ่งเกิดจากการวางเงื่อนไขระบบที่ไม่สอดคล้องกับกฎข้อบังคับตามระเบียบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (OCP) ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ทำให้เกิดปัญหาในการขอใช้สิทธิทางภาษี”

ทั้งนี้ พบว่ามีสมาชิกอาเซียนบางรายไม่ได้พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยน e-Form D ตามเงื่อนไขที่ได้ทำการทดสอบและตกลงร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมตกลงจะเร่งแก้ไขและประเมินผลการใช้งาน e-Form D อีกครั้ง ในเดือนมิถุนายน 2561 โดยระหว่างนี้จะใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดแบบกระดาษควบคู่กับ e-Form D

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีแผนพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น การแก้ปัญหาความไม่สะดวกและล่าช้าในการแก้ไขหรือยกเลิก e-Form D โดยจะปรับปรุงระบบให้สามารถแก้ไขหรือยกเลิก e-Form D ได้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลและผลักดันให้มีความคืบหน้าในการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration : HLTF – EI) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและลดต้นทุนการทำธุรกรรมให้แก่ผู้ประกอบการตามนโยบายรัฐบาล โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร และกรมการค้าต่างประเทศ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ e-Form D ในส่วนของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายส่งเสริมให้เรื่องการใช้หนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์รวมอยู่ในความตกลงการค้าเสรี ที่อยู่ในการเจรจาหรือที่มีการทบทวน นอกจากนี้ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะผลักดันให้ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ WTO (Agreement on Trade Facilitation หรือ TFA) เพื่อสร้างความโปร่งใส ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และทำให้กระบวนการของประเทศไทยในการนำเข้า-ส่งออก และการผ่านแดนของสินค้ามีความเรียบง่าย ซึ่งจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของไทย ให้เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุนยิ่งขึ้น” นางนันทวัลย์ กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 22 เมษายน 2561

“กอบชัย”แจงชัดเซ็นMOUกับAlibabaไทยไม่เสียประโยชน์ ปัดข่าวข้อมูลผู้ประกอบการไทยรั่วไหล ย้า MOU 4 ฉบับ เน้นพัฒนา SMEs ทุกระดับ

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยข่าวการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยกับกลุ่มบริษัท อาลีบาบา (Alibaba) จะท้าให้ผู้ประกอบการ ไทยเสียเปรียบทางการค้านัน ยืนยันว่าไทยไม่เสียเปรียบแต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจออนไลน์ของไทยเข้าสู่ ตลาดสากลได้มากขึน พร้อมระบุ MOU ดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิบริษัท อาลีบาบา ในการดึงข้อมูลของ ผู้ประกอบการไทยออกไปได้ แต่กลับช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดการค้าเสรีได้ง่ายขึน และได้ประโยชน์ จากข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมายผ่านการวิเคราะห์ของบริษัทอาลีบาบาอีกด้วย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมีกระแสข่าวความไม่เข้าใจต่อ การที่หน่วยงานภาครัฐ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับกับทางบริษัท อาลีบาบา ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสานักงานเพื่อการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) และอาลีบาบา 2) ความร่วมมือด้านการลงทุนสมาร์ทดิจิทัลฮับ(Smart Digital Hub) ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ระหว่างสานักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.)กรมศุลกากร และ บริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited 3) ความร่วมมือด้านการพัฒนาเอสเอ็มอี และบุคลากรด้านดิจิทัล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริม การค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) และ 4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองระหว่างการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย และอาลีบาบา เพื่อจัดทาไทยแลนด์ทัวริสต์ แพลตฟอร์ม สาหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ โดยระบุ ว่าการลงนามดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยทั้งในเรื่องโอกาสในการแข่งขันทางการค้า และการตลาด รวมถึงเรื่องของข้อมูลของบริษัทนั้น

 เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอชี้แจงว่า ความร่วมมือที่รัฐบาลไทยทาข้อตกลงกับอาลีบาบา มุ่งเน้นการพัฒนาให้เอสเอ็ม อีทุกระดับ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจเกษตรทั่วประเทศให้มีความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัลและ อีคอมเมิร์ซสามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์สู่ประเทศจีนและตลาดสากล โดยอาลีบาบาจะมาช่วยอบรมให้ ผู้ประกอบการไทยมีความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ผู้บริการ(Service Provider)ที่มี ประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบด้านโลจิสติกส์โดยอาศัยเทคโนโลยี ของอาลีบาบาเข้ามาช่วยให้สามารถส่งสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปยังตลาดจีนและตลาดสากลได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ จะใช้กรณีของอาลีบาบาเป็นภาคปฏิบัติที่ดีที่สุด(Best Practice) ในการปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถของ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ไทยอย่างต่อเนื่องมีคุณภาพและได้มาตรฐาน

 “ส่วนความกังวลที่ว่าอาลีบาบาจะได้ฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผมขอ ชี้แจงว่าไม่มีประเด็นใดที่จะนาออกซึ่งข้อมูลในระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้อมูลของผู้ประกอบการ ไทย โดยหน่วยงานต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการปี พ.ศ.2540 อย่างเคร่งครัด ซึ่งหาก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใดเลือกที่จะทาตลาดออนไลน์กับอาลีบาบาก็จะได้ประโยชน์จากข้อมูลการวิเคราะห์ตลาด เป้าหมายผ่านการวิเคราะห์จากระบบฐานข้อมูลของอาลีบาบาด้วย

 และการเข้ามาของนายแจ็ค หม่า ประธานของอาลีบาบา ที่ทาให้นักธุรกิจไทยเกิดความวิตกกังวลนั้น ผมขอ เรียนชี้แจงว่า ตลาดการค้าออนไลน์เป็นตลาดการค้าเสรี แม้ในปัจจุบันผู้บริโภคคนไทยก็สามารถเลือกซื้อสินค้าจาก ประเทศจีนผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ได้ในหลากหลายช่องทางอยู่แล้ว ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ช่วยให้ตลาดจีนและผู้บริโภคชาวจีนที่อยู่ในระบบออนไลน์ ซึ่งมีจานวนกว่า 500 ล้านคน และตลาดของจีนได้รับรู้ถึงศักยภาพของสินค้าและบริการของไทย ที่สาคัญยุทธศาสตร์ ของรัฐบาลจีนได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการส่งออกไปเป็นเน้นการนาเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศมากขึ้น โดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับอาลีบาบา ไม่ได้เน้นการนาเข้าสินค้าจากจีนมาบริโภคในประเทศไทย แต่เป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าที่มีคุณภาพของไทยสามารถเข้าไปขายในประเทศจีน และประเทศ เพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ไดม้ ากขึ้น”อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

จาก www.industry.go.th วันที่ 22 เมษายน 2561

วิกฤตสิ่งแวดล้อม จากอีสเทิร์นซีบอร์ดสู่ EEC

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการทุ่มงบประมาณกว่าล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 

ดูเหมือนว่าวันนี้ทุกอย่างสามารถจุดพลุเดินหน้าไปได้อย่างที่รัฐบาลต้องการ อนาคตของ EEC ที่รัฐบาลวางไว้ค่อนข้างสวยหรูดูดี โดยเฉพาะการนำพาให้ประเทศไทยก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ด้วยความพยายามที่จะดึงบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลกเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ทำให้ EEC กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไฮเทคโนโลยีสุด ๆ ที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เกิดขึ้นใน EEC จะกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

แต่เมื่อหันหลังกลับมาพิจารณาข้อมูลจาก “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ในนำเสนอรายงานร่างแผนสิ่งแวดล้อมพื้นที่ EEC พ.ศ. 2561-2564 ที่เพิ่งทำเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ลงนามคำสั่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทำในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ค่อนข้างน่าตกใจทีเดียว โดยเฉพาะในการจัดทำร่างแผนสิ่งแวดล้อม

ปี 2561-2564 นายสมศักดิ์ บุญดาว ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกเล่าว่า ได้คาดการณ์แนวโน้มในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจากฐานข้อมูลปี พ.ศ. 2559-2580 พบว่าปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคตะวันออกสะสมมาตั้งแต่การพัฒนา

“อีสเทิร์นซีบอร์ด” เมื่อเกือบ 30 ปี ยังไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ !

แม้วันนี้นโยบาย EEC จะเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

แต่ข้อเท็จจริงการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมจะทำให้เมืองเกิดการเจริญเติบโต ซึ่งจะชักนำประชากร แรงงาน จำนวนมากเข้ามาทำงาน รวมทั้ง “อุตสาหกรรมต่อเนื่อง” ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา คาดการณ์ว่า ประชากรจะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 18 ล้านคน ในปี 2580 เมื่อคนมากขึ้น สิ่งแวดล้อม น้ำเสีย ขยะจะเพิ่มขึ้นอย่างหนักหน่วงมาก

วันนี้ทรัพยากรน้ำผิวดินอยู่ในเกณฑ์พอใช้ และเสื่อมโทรม ถึงเสื่อมโทรมมาก ขณะที่ทรัพยากรน้ำบาดาล พบมีค่า “คลอไรด์” สูงจากการรุกล้ำของน้ำทะเล มีการปนเปื้อนของโลหะต่าง ๆ น้ำบาดาลไม่ดี มีการปนเปื้อนเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ ส่วนทรัพยากรน้ำชายฝั่ง พบมีน้ำคุณภาพดีเพียงร้อยละ 47 มีน้ำที่เสื่อมโทรมร้อยละ 13 เสื่อมโทรมมากร้อยละ 2 ต้องหาทางแก้ไขทันที ด้านคุณภาพน้ำทะเล พบน้ำมันรั่วไหล โดยเฉพาะบริเวณแหลมฉบัง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถือเป็นเขตที่มีความเสี่ยงสูง

การจัดการน้ำเสียชุมชนบำบัดได้เพียง 45.13% ขณะที่ปริมาณน้ำเสียที่ไม่เข้าระบบบำบัดถึง 54.87% หาก 20 ปีข้างหน้ายังไม่แก้ปัญหาจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว

สถานการณ์ภาพรวมขยะมูลฝอยในพื้นที่ 3 จังหวัด ปี 2559 อยู่ที่ 4.38 ล้านตัน หากมี EEC ถึงปี 2580 จะมีปริมาณขยะเพิ่มเป็น 9.75 ล้านตัน

แต่วันนี้ จ.ฉะเชิงเทรายังมีการกำจัดขยะไม่ถูกต้องร้อยละ 70.16 จ.ชลบุรี มีการกำจัดขยะไม่ถูกต้องร้อยละ 46.53 และ จ.ระยอง มีการกำจัดขยะไม่ถูกต้องร้อยละ 31.81 ด้านขยะติดเชื้อยังไม่มีระบบบริหารจัดการขยะที่ชัดเจน โดยขยะติดเชื้อปี 2559 มี 3,914 ตัน และ 2560 เพิ่มขึ้น 4,966 ตัน

ส่วนคุณภาพอากาศทั่วไป พบว่าก๊าซโอโซนยังสูง แต่ค่าฝุ่นขนาด PM10 มีค่าเกินกว่าค่ามาตรฐาน

สำหรับกากอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัดมีปริมาณ 5.07 ล้านตันต่อปี เข้าโรงงานกำจัดแจ้งรับ 2.47 ล้านตันต่อปี เท่ากับมีกากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการกำจัดถึง 55.26% มีกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการกำจัดเพียง 44.74% ปัจจุบันมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

แต่สิ่งที่ได้ยินมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา EEC หลายครั้ง ล้วนให้ความสำคัญเรื่องร่างแผนอุตสาหกรรม ร่างแผนส่งเสริมการท่องเที่ยว

แต่ร่างแผนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสำคัญน้อยที่สุด ดังนั้นการหวังจะให้ประเทศไทยก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายประเทศนี้คงเดินต่อไปไม่ได้

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 เมษายน 2561

ไทยผลิตน้ำตาลได้มากเป็นประวัติการณ์

สอน.คาดโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะปิดหีบอ้อยกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งปีนี้ไทยสามารถผลิตอ้อยและน้ำตาลได้มากที่สุดสร้างประวัติการณ์ใหม่

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ปีนี้หรือฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยจะสร้างสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย ทั้งด้านผลผลิตอ้อยในภาพรวมทั่วประเทศด้วยยอดผลผลิตมากกว่า 127 ล้านตันอ้อย และน่าจะมีผลผลิตถึง 130 ล้านตันอ้อย สามารถส่งเข้าหีบอ้อยแปรรูปเป็นน้ำตาลได้มากกว่า 13 ล้านตัน ด้านการหีบอ้อยฤดูการผลิตนี้ทางโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศคาดว่าจะปิดหีบกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จากปัจจุบันโรงงานน้ำตาลภาคกลางปิดหีบอ้อยไปแล้ว ขณะนี้ยังคงเหลือโรงงานน้ำตาลภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังคงเปิดหีบอ้อยและยืนยันจะหีบอ้อยจนหมดจึงจะปิดหีบในปีนี้

นางวรวรรณ  กล่าวว่า จากการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลกผลิตได้มากเช่นกัน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลออกสู่ตลาดโลกมากจนล้นตลาด สภาพการณ์ดังกล่าวกระทบต่อระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลง โดยระดับราคาขณะนี้ประเมินว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากในรอบ 3-5 ปี  ซึ่งราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 11.76 เซนต่อปอนด์ ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

สำหรับน้ำตาลทรายภายในประเทศ ยืนยันว่าจะไม่ขาดแคลนสามารถซื้อได้เท่าที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายในประเทศจะไม่ลดลง เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยมีต้นทุนดำเนินการอยู่ โดยขณะนี้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน พบว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงที่ยังไม่มีการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศกิโลกรัมละ 2 บาท โดยราคาน้ำตาลหน้าโรงงานอยู่ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัมและเมื่อรวมกับค่าเก็บรักษาและค่าดำเนินการต่าง ๆ แล้วราคาน้ำตาลทรายขาวเมื่อถึงจุดขาย ผู้บริโภคจะซื้อได้ที่ราคาประมาณ 21 บาทต่อกิโลกรัม.-สำนักข่าวไทย

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

ไทย-ตุรกีเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอรอบ 3

พาณิชย์นำทัพเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี เร่งหาข้อสรุปแนวทางการลดและอุปสรรคการค้าโดยเร็ว หวังขยายโอกาสการค้าและการลงทุนไทยสู่ยุโรป

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า จะเป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 24 – 26 เมษายน 2561 ณ กรุงอังการา โดยการเจรจารอบนี้จะเป็นการหารือต่อเนื่องจากการเจรจารอบที่แล้ว ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งมีประเด็นคงค้างในส่วนของการยกร่างข้อบทเอฟทีเอ เรื่องต่าง ๆ เช่น มาตรการเยียวยาทางการค้ากฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรฐานสุขอนามัย เป็นต้น รวมทั้งในการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือในเรื่องรูปแบบการลดภาษีด้วย โดยทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-ตุรกี ให้เสร็จโดยเร็ว

นางอรมน กล่าวว่า เอฟทีเอไทย – ตุรกี จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน โดยเริ่มแรกจะมุ่งเน้นการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ ตุรกีเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรมากกว่า 80 ล้านคน และตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเอเชียและยุโรป อีกทั้งตุรกียังมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จึงสามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ สำหรับรายการสินค้าศักยภาพของไทยที่มีโอกาสในการเข้าตลาดตุรกี เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ ตู้เย็น พลาสติกชนิดโพลิสไตรีน ผ้าทอ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้  ในปี 2560 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการค้า 2 ฝ่ายมีมูลค่า 1,517.39 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.33 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 1,015.52 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 1,266.46 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 250.94 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2561 การค้า 2 ฝ่ายมีมูลค่า 261.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11.4 และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 154.30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 207.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 8 และนำเข้ามูลค่า 53.47 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าร้อยละ 26.8

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตุรกี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา เส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เม็ดพลาสติก ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากตุรกี ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับอัญมณี เคมีภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช กระจก แก้ว และผลิตภัณฑ์ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ ผ้าผืน

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

เพิ่มประสิทธิภาพผลิตพันธุ์อ้อยสะอาด แจกจ่ายเกษตรกรรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม

“กรมส่งเสริมการเกษตร” เร่งเพิ่มประสิทธิภาพผลิตพันธุ์อ้อยสะอาด รับการขยายตัวอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมแจกท่อนพันธุ์แก่เกษตรกรปลูกอ้อยทันต้นฝน พฤษภาคม 2561

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเป็นอ้อย เพราะผลตอบแทนสูงกว่าพืชอื่น เกษตรกรจึงมีความต้องการพันธุ์อ้อยมากขึ้น เกิดการขนย้ายท่อนพันธุ์ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อหรือติดโรคใบขาวอ้อยมาระบาดในพื้นที่ได้ อันจะทำให้ผลผลิตที่ได้ต่ำ หรือกระทั่งไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงตั้งเป้าหมายจัดทำแปลงเพาะพันธุ์อ้อยสะอาดด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พร้อมกระจายพันธุ์อ้อยสะอาดอย่างมีระบบ โดยในปี 2561 จะกระจายพันธุ์อ้อยสะอาดให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรใน 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ยโสธร นครราชสีมา พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ จากนั้น ศูนย์ต่างๆ จะส่งเสริมขยายผลเทคโนโลยีสู่เกษตรกร ให้สามารถผลิตและจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดโดยเกษตรกรจะมีท่อนพันธุ์ไว้ใช้เองในฤดูปลูกอ้อยต่อไป

รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนมากเกษตรกรจะปลูกอ้อยในต้นฤดูฝน คือเดือนพฤษภาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก และอีกช่วงหนึ่งที่เกษตรกรในภาคตะวันออกนิยมปลูกกันมาก แต่ต้องมีการเตรียมดินที่ดีกว่ากลุ่มแรกคือ การปลูกอ้อยข้ามแล้งหรือปลูกปลายฝนในเดือนตุลาคม ซึ่งยังมีฝนอยู่ ทำให้อ้อยที่ปลูกเติบโตได้ก่อนเข้าฤดูแล้ง และได้รับน้ำฝนอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้อ้อยเติบโตอยู่ได้โดยเกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาน้ำไม่เพียงพอ อีกทั้งวิธีการปลูกอ้อยข้ามแล้งนี้ยังส่งผลให้อ้อยที่ปลูกแก่เต็มที่ คือมีอายุ 12-13 เดือน มีคุณภาพในการผลิตน้ำตาลมากขึ้นเมื่อเก็บเกี่ยวมาขายในช่วงโรงงานเปิดรับผลผลิตระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคมด้วย

จาก www.naewna.com วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานน้ำตาลใน จ.สระแก้ว ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

ช่วงเย็นวันนี้ ( 19 เม.ย. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบริเวณโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว โดยเพลิงได้ลุกไหม้บริเวณตัวอาคารโรงงานจนเกิดกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาด้านนอก ปกคลุมบริเวณอาคารที่เกิดเหตกว่าครึ่งหลัง โดยจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณหม้อต้มและตัวมอเตอร์ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเกรงว่าจะเกิดการระเบิดขึ้น แต่ก็สามารถฉีดน้ำสกัดเพลิงไว้ได้ โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง.

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่โรงงานยังไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้ให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานหาสาเหตุว่าเกิดจากเหตุใด

และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานไม่หมดต้องระงับการส่งอ้อยออกไปก่อน โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจมีเงื่อนงำ เนื่องจากขณะนี้มีการขยายโรงงานแห่งใหม่ใน อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว แต่มีการต่อต้านจากประชาชน เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีที่อนุญาตให้ขยายโรงงานตั้งแต่ปี 2554 หมดอายุลง จนเกิดการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จาก https://mgronline.com   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

“ไทย” จับมือ “อาลีบาบากรุ๊ป” ขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ปักหมุดลงทุนสร้างดิจิทัลฮับในอีอีซี

ไทยจับมืออาลีบาบากรุ๊ปร่วมขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ปักหมุดลงทุนสร้างดิจิทัลฮับในอีอีซี พัฒนา SMEs และดาวเด่นด้านดิจิทัลไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมดันสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปจีน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ท่านลวี่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และนายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารกลุ่มอาลีบาบา พร้อมด้วยรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ของไทยกับบริษัทในเครืออาลีบาบากรุ๊ป เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยมีความร่วมมือในหลากหลายมิติ อาทิ การส่งเสริม SMEs ทุกระดับเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ การพัฒนาของดาวเด่นหรือ Talents ของไทยในด้านดิจิทัล การยกระดับระบบโลจิสติกส์โดยอาศัยเทคโนโลยีชั้นนำของอาลีบาบา และการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัล

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยแสดงความตั้งใจที่จะร่วมมือกับอาลีบาบาโดยทำหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกันเป็นครั้งแรก ในปี 2559 และพิธีการในวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศความร่วมมือดังกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยและบริษัทในเครืออาลีบาบากรุ๊ปที่มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ในเวทีโลกผ่านนวัตกรรมด้านดิจิทัลต่าง ๆ ได้

ดร.สมคิด เปิดเผยว่า อาลีบาบาได้ทำการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคและตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างดิจิทัลฮับ (Smart Digital Hub) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในนโยบายประเทศไทย 4.0 และอนาคตที่สดใสของเศรษฐกิจไทย โดยดิจิทัลฮับที่จะสร้างขึ้นนี้ นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยง SMEs ไทยในทุกระดับ ทุกท้องถิ่น รวมถึงกลุ่ม OTOP และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนและตลาดโลก ความร่วมมือกับอาลีบาบาที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อ SMEs และเกษตรกรของไทย ซึ่งจะขยายไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะเดียวกันยังจะเป็นแรงเสริมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

“อาลีบาบา” มั่นใจ-พร้อมช่วยผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ E-Commerce ในภูมิภาค

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือระหว่างนายแจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่กลุ่มบริษัทอาลีบาบาให้ความเชื่อมั่นและร่วมมือกับไทย โดยไทยเชื่อมั่นว่า แนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ของอาลีบาบาจะช่วยสร้างโอกาสด้านการพัฒนา ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของไทย นอกจากนี้ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ โครงการ EEC ยังเชื่อมโยงไปแนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งสองฝ่ายยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยและจีน โดยนายกรัฐมนตรียังได้สอบถามถึงแนวโน้มการค้าการลงทุนของบริษัทในต่างประเทศ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง พร้อมกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและเติบโต รวมทั้งรัฐบาลยังมีนโยบายต่างๆ ที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนของนักธุรกิจส่งผลให้ไทยเป็นแหล่งลงทุนที่ดี และมีศักยภาพที่จะรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการขยายการลงทุนของกลุ่มบริษัทอาลีบาบาในระยะยาว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการขับเคลื่อนการปฏิรูป โดย E-Commerce เป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย ซึ่งไทยยินดีที่อาลีบาบาวางแผนลงทุนสร้าง Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC โดยมุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้า E-Commerce

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs ที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึง SMEs ที่สามารถส่งออกได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทาง E-Commerce รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ก้าวสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทางอาลีบาบาจะช่วยแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริม SMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยยังมีการท่องเที่ยวแนวใหม่ ตามแนวคิด Thailand +1 หากสามารถจับคู่การท่องเที่ยวในมณฑลต่างๆของจีนได้นั้น จะยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ด้านผู้บริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบากล่าวว่า ไทยถือเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยบริษัทมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MOUs) ระหว่างกลุ่มบริษัทอาลีบาบากับหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในหลากหลายมิติ จำนวน 4 ฉบับในวันนี้

โดยในตอนท้าย นายหม่าได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความมั่นใจในการเข้ามาร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัทอาลีบาบา และพร้อมที่จะช่วยร่วมมือกับและพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

ภาคเกษตรร้องรัฐทบทวนจำกัดใช้สารไกลโฟเซต

กรมวิชาการเกษตร 19 เม.ย. - นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ระบุ การสัมมนาเรื่องการจำกัดการใช้สารเคมีจะเป็นทางออกดีที่สุด โดยไม่กลัวที่จะออกมาพูดเรื่องนี้ ขณะที่ภาคเกษตรเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต

นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาในหัวข้อเรื่อง "การจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ทำไม? ใครได้-ใครเสีย? มีทางออกหรือไม่? โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคล องค์กรเอกชนพร้อมเครือข่ายออกมาต่อต้านการใช้สารเคมีป้องกันแมลง สัตว์ ศัตรูพืช วัชพืชและปุ๋ยเคมี โดยให้ข้อมูลลบเพียงด้านเดียว ขณะเดียวกันกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่เคยมองว่าภาคการเกษตรได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ แต่กลับมองว่าภาคเกษตรและเกษตรกรไทยเป็นผู้ร้ายที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ก็เพราะภาคเกษตรและเกษตรกรไทยเป็นภาคที่อ่อนแอที่สุดในสังคมไทย ขาดความรู้ ขาดอำนาจในการต่อรอง การสัมมนาในครั้งนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของภาคเกษตรไทย

นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตนเองอยู่ในวัยที่ต้องพักผ่อนแล้ว แต่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ ถ้าตนเองไม่ลุกขึ้นมาในวันนี้ จะไม่มีใครทำ เพราะทุกคนอยู่ด้วยความกลัว แม้แต่ผู้บริหารของกรมวิชาการเกษตรเองก็ตามที่เกรงกลัวกลุ่มเอ็นจีโอที่ออกมาต่อต้านการใช้สารเคมี

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ทางกลุ่มเกษตรกรต้องการให้รัฐบาลทบทวนการออกกฎจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต โดยกล่าวถึงที่ประชุมองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าสารไกลโฟเซตไม่เป็นสารก่อมะเร็งและสามารถใช้ได้ตามคำแนะนำที่กำหนดไว้บนฉลาก

จาก www.tnamcot.com   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) กับก้าวย่างที่มั่นคงและรุ่งเรืองในอนาคต

กลุ่มประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS (The Greater Mekong Subregion) มีพัฒนาการที่น่าทึ่งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศซึ่งในอดีตได้เผชิญกับภัยพิบัติจากความยากจน ปัจจุบัน ได้กลายมาเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจมากมาย

แผนงานพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The GMS Economic Cooperation Program) มีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ นับตั้งแต่การก่อตั้งแผนงาน GMS ในปี 2535 อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือในภูมิภาค กลุ่มประเทศสมาชิก GMS 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, จีน, ลาว, เมียนมา, ไทย และเวียดนาม ได้ร่วมกันสร้างกรอบเพื่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก่อให้เกิดโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเร่งด่วนมูลค่ากว่า 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของอนุภูมิภาคเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และทำให้การค้าระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก GMS เพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงมากกว่า 414 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม อนุภูมิภาคยังคงเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนา เช่น การลดปัญหาความยากจน การปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร และการผันเข้าสู่สังคมเมืองอย่างยั่งยืน ปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นความท้าทายอันดับแรก ๆ ที่ต้องได้รับการพัฒนาภายใต้แผนงาน GMS นอกจากนี้ ประเทศ GMS ยังพบกับอุปสรรคความท้าทายใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่รุนแรงขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ลี้ภัยข้ามพรมแดน และผลกระทบต่อการจ้างงานของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4

กลุ่มประเทศสมาชิก GMS ได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งให้ความสำคัญในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นอกจากความท้าทายแล้ว ยังมีโอกาสเกิดขึ้นมากมายในภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปใช้กับภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการศึกษา, การเกษตร, ด้านสุขภาพ และภาคการเงิน เนื่องจากกลุ่มประเทศ GMS ตั้งอยู่บนระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นของเอเชียใต้ไปด้วย

เนื่องในโอกาสที่ผู้นำของประเทศสมาชิก GMS จะมารวมตัวกัน ณ กรุงฮานอย เพื่อร่างแผนงาน GMS ในอนาคต จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมกันพิจารณาว่า จะนำโครงการความริเริ่มต่าง ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ มาปรับใช้ร่วมกับแผนงาน GMS อย่างไร โดยที่ยังสามารถตอบสนองความต้องการของอนุภูมิภาคได้

แผนปฏิบัติการฮานอย (The Ha Noi Action Plan) และกรอบการลงทุนในระดับภูมิภาค GMS ปี 2022 (The GMS Regional Investment Framework 2022) จะได้รับการเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ GMS เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานของประเทศ GMS และเกิดความร่วมมือที่เข้มแข็งผ่านนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เอกสารทั้ง 2 ฉบับ ได้เน้นถึงเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของแผนงาน GMS อันได้แก่ ความเชื่อมโยง ความสามารถในการแข่งขัน และประชาคมของอนุภูมิภาค

ในเรื่องของความเชื่อมโยง ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกนั้น มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมากภายใต้แผนงาน GMS ก่อให้เกิดการก่อสร้างถนนสายใหม่และปรับปรุงถนนที่มีอยู่แล้ว ระยะทางรวมกว่า 10,000 กิโลเมตร และมีการสร้างสายส่งสัญญาณไฟฟ้าและสายจ่ายกำลังไฟฟ้ายาวถึง 3,000 กิโลเมตร โครงข่ายคมนาคมเหล่านี้ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโครงข่ายที่มีการเชื่อมต่อถึงกันภายในแนวระเบียงเศรษฐกิจข้ามพรมแดน จากความสำเร็จของการดำเนินงานใน 25 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ประโยชน์จากการพัฒนาค่อย ๆ ขยายไปสู่เขตพื้นที่ชนบท แผนปฏิบัติการฮานอยมุ่งเน้นที่จะต่อยอดขยายพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจต่อไป เพื่อกระตุ้นความเชื่อมโยงทั้งในและระหว่างประเทศ

ความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาคได้รับการปรับให้ดีขึ้นเช่นกัน อันเป็นผลมาจากการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งและการค้าอย่างต่อเนื่อง การกระตุ้นการส่งออกสินค้าเกษตร และการสนับสนุนให้ประเทศ GMS เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวไหลเวียนมากกว่า 60 ล้านคน ในปี 2560 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไขกฎระเบียบที่ล่าช้าและซ้ำซ้อน และกำจัดมาตรการกีดกันทางการค้าและการขนส่งที่ยังคงอยู่

ในด้านประชาคม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักสุดท้าย ก็ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นผ่านโครงการริเริ่มข้ามพรมแดนต่าง ๆ ซึ่งช่วยควบคุมการการแพร่กระจายของโรคระบาดในชุมชน ช่วยทำให้ประชากรสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ของอนุภูมิภาค อีกทั้งยังช่วยรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

กลุ่มประเทศสมาชิก GMS ได้ร่วมกันกำหนดแผนงานของโครงการใหม่จำนวน 227 โครงการ มูลค่า 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้กรอบการลงทุนในระดับภูมิภาค GMS ปี พ.ศ. 2561-2565 โครงการเหล่านี้จะช่วยกระจายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ผ่านการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานข้ามพรมแดน

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ในฐานะที่เป็นเลขานุการของแผนงาน GMS นับตั้งแต่การริเริ่มแผนงาน คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า จะสามารถให้การสนับสนุนด้านการเงินมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการพัฒนาในด้านการคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว ภาคพลังงาน การรับมือ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจการเกษตร และการพัฒนาของชุมชนเมือง อย่างไรก็ดี เอดีบีได้ให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับแผนงาน GMS ไปแล้วกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ที่แผนงานได้เริ่มขึ้น

เพื่อให้สามารถบรรลุโครงการพัฒนาดังที่กล่าวมาได้ และเพื่อให้เกิดความคืบหน้าในโครงการเร่งด่วนอื่น ๆ เช่น การควบคุมโรคติดเชื้อ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่เข้มแข็งจึงจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากแผนงาน GMS ตั้งอยู่บนรากฐานของความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หุ้นส่วนการพัฒนา นักวิชาการ และสื่อสารมวลชน

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนพัฒนาที่เข้มแข็ง ผ่านกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสทางการพัฒนาใหม่ ๆ ในภายภาคหน้า

ภาคเอกชนจะกลายมาเป็นหุ้นส่วนพัฒนาที่สำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่ายินดี ที่เห็นพวกภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทผ่านโครงการและแผนงานต่าง ๆ ของ GMS มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผ่านสภาธุรกิจ GMS (The GMS Business Council) โครงการริเริ่มธุรกิจในลุ่มแม่น้ำโขง (The Mekong Business Initiative) ระบบการค้าออนไลน์ การประชุมด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรของลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Tourism and Agriculture Forums) และการประชุมของภาคการเงินและการค้าระหว่างประเทศ (GMS Finance Sector and Trade Finance Conference) ที่เพิ่งจุดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ผมมั่นใจว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะสามารถเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ได้ แต่ในขณะเดียวกัน อนุภูมิภาคจะสามารถหยิบยกโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางได้เช่นเดียวกัน หากประเทศสมาชิก GMS ร่วมมือกัน จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าที่รวดเร็ว ยั่งยืน และครอบคลุมทุกภาคส่วนไปอีก 25 ปีข้างหน้า และนานกว่านั้น โดยเอดีบีจะยังคงบทบาทในฐานะหุ้นส่วนพัฒนาที่สำคัญและเชื่อถือได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ GMS

บทความ โดย ทาเคฮิโกะ นาคาโอะ

ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน จุดจบของ “ดับเบิลยูทีโอ” ?

หลายคนแสดงความคาดหวังว่า องค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ จะเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ก่อตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ไม่ให้ลุกลามออกไปจนกลายเป็นสงครามการค้า ที่จะสร้างความเสียหายให้ไม่เพียงเฉพาะกับคู่กรณี แต่หมายถึงเศรษฐกิจการค้าโดยรวมของทั้งโลกอีกด้วย

ผู้ที่แสดงความคาดหวังดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ตัวแทนของจีนจะเรียกร้องซ้ำ ๆ หลายครั้งให้สหรัฐอเมริกาหันมาใช้กลไกระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอ แทนที่การประกาศใช้มาตรการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรด้วยตัวเองเท่านั้น สหรัฐอเมริกาเองยังยื่นเรื่องต่อ “องค์กรระงับข้อพิพาท” (ดีเอสบี) หน่วยงานสำคัญของดับเบิลยูทีโอ เรียกร้องให้ลงโทษจีนในกรณีการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ กรณีพิพาททางการค้า ถ้าดับเบิลยูทีโอไม่แก้ แล้วใครจะเป็นคนแก้ ?

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศระดับคร่ำหวอดหลายคนไม่เชื่อว่า ความคาดหวังดังกล่าวจะเป็นความจริง เหตุผลหลักก็คือ สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่เคยยอมรับบทบาทของดับเบิลยูทีโอเอาเลย ค่อนไปในทางเป็นปฏิปักษ์ด้วยซ้ำไป

ทรัมป์เคยแสดงทรรศนะต่อดับเบิลยูทีโอเอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พูดถึงเอาไว้ในระหว่างการหาเสียงหลายครั้งว่า ดับเบิลยูทีโอ คือความล้มเหลวในระดับ “หายนะ” และขู่กลาย ๆ ด้วยซ้ำไปว่า จะให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก

และประกาศชัดว่า สหรัฐอเมริกามี “สิทธิเต็มที่” ต่อการเพิกเฉยคำตัดสินชี้ขาดของดีเอสบี ซึ่ง “ล่วงละเมิดต่อผลประโยชน์” ของสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นในสายตาของผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงมองความพยายามของรัฐบาลอเมริกันที่อ้างว่า การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของตนนั้นเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เพราะสินค้าที่ถูกขึ้นพิกัดอัตราภาษีเหล่านั้นกระทบต่อ “ความมั่นคงของชาติ” จึงไม่ต่างอะไรกับการโยนระเบิดลูกใหญ่เข้าใส่ดับเบิลยูทีโอนั่นเอง

แล้วทำไมสหรัฐอเมริกา ถึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อดีเอสบี ?

ปีเตอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเคยทำงานอยู่กับดับเบิลยูทีโอมายาวนานถึง 20 ปี มองความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า เป็นวิธีการ “มาตรฐาน” ของทรัมป์ ในการปฏิบัติต่อบรรดาองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย ตั้งแต่กรณีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เรื่อยไปจนถึงสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นั่นคือทั้งไม่ให้ความเชื่อถือ ไม่ให้ความสำคัญ ต่อองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ยกเว้นในกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะได้รับประโยชน์เท่านั้น จึงให้คุณค่า ให้ความสำคัญ

การยื่นเรื่องต่อดีเอสบี เป็นการ”ใช้ประโยชน์” จากดับเบิลยูทีโออย่างเต็มที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่สหรัฐอเมริกากระทำทั้งหมดไม่ได้เป็นการต่อสู้กับดับเบิลยูทีโอ และเป็นคนละเรื่องกับการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติโดยสิ้นเชิง ถือเป็นการ “ใช้อาวุธทุกชนิด” เท่าที่สามารถจะใช้ได้เพื่อให้ได้ชัยชนะ รวมถึงการทำงานภายในระบบที่ใช้กันอยู่ แต่ในเวลาเดียวกันก็พร้อมที่จะไม่แยแสกฎเกณฑ์ใด ๆ ถ้าจำเป็นขึ้นมาซึ่งนั่นก่อให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า อนาคตของดับเบิลยูทีโอจะลงเอยในสภาพไหน ถ้าหากสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ไม่ยอมรับกฎ กติกา ขององค์กรระหว่างประเทศ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่ออกกฎและกำกับดูแลให้การค้าโลกมีความเสมอภาคและเป็นธรรม ?

เอ็ดเวิร์ด อัลเดน นักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการค้าระหว่างประเทศของสภาเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) องค์กรทางวิชาการในวอชิงตัน เขียนบทความแสดงความคิดเห็นออกมาในทันทีที่มีการประกาศขึ้นพิกัดอัตราภาษีโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ เมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า วันที่สหรัฐประกาศดังกล่าว คือ วันที่ดับเบิลยูทีโอเดินทางมาถึงจุดจบ

อัลเดนชี้ให้เห็นว่า ทางการสหรัฐอเมริกาอ้างว่า มาตราว่าด้วยความมั่นคงของชาติในกฎหมายการค้าระหว่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้เอง ซึ่งหมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่ประเทศใดก็ตามอ้างเอาเหตุผลด้านความมั่นคงมาใช้ เพื่อออกมาตรการใด ๆ ทางการค้า มาตรการใด ๆ ดังกล่าวนั้นถือว่า ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

และระบุต่อไปว่า หากดีเอสบีของดับเบิลยูทีโอชี้ขาดออกมาว่า การดำเนินการของสหรัฐอเมริกาถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุผลตามที่สหรัฐอเมริกาอ้าง ต่อไปดับเบิลยูทีโอก็ต้องอนุญาตให้ทุกประเทศขึ้นภาษีตามอำเภอใจได้ตลอดเวลา เมื่อใดก็ได้ตามที่ประเทศนั้น ๆ ต้องการ ด้วยการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติเช่นเดียวกัน

แต่ถ้าหากชี้ขาดออกมา ปฏิเสธคำร้องของสหรัฐอเมริกา แล้วสหรัฐปฏิเสธที่จะดำเนินการตามคำชี้ขาดของดับเบิลยูทีโอ ไม่เพียง “องค์กรระงับข้อพิพาท” จะอยู่ไม่ได้ แม้แต่ความเชื่อถือและคุณค่าของดับเบิลยูทีโอก็จะพังทลาย และแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

อนาคตของดับเบิลยูทีโอขึ้นอยู่กับว่า จีนและสมาชิกอื่น ๆ รวมทั้งสหภาพยุโรป แสดงปฏิกิริยาต่อความอึดอัด คับข้องใจของสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดขึ้นอย่างไร และพร้อมที่จะปรับตัว รอมชอม เพื่อให้ดับเบิลยูทีโอ และระบบการค้าพหุภาคีที่ทำให้เศรษฐกิจโลกรุ่งเรืองในช่วงที่ผ่านมา ยังอยู่รอดต่อไปหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นไปในกรณีใด ทั้งอัลเดน และปีเตอร์ เห็นตรงกันว่า ดับเบิลยูทีโอจะยังคงรูปร่างเป็นองค์กรสำหรับการค้าระหว่างประเทศอยู่เหมือนเดิมไปอีกระยะหนึ่ง คงไม่สิ้นสุดไปในเร็ววัน

แต่ชัดเจนว่า สถานการณ์ในเวลานี้แหลมคมและอันตรายอย่างยิ่งแล้ว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

'แจ็คหม่า' ยกทัพบุกไทย! ผุด 5 โปรเจ็กต์ยักษ์ ปั้น 'อี-คอมเมิร์ซ' ทะลุ 1.8 แสนล้าน

 ‘อุตตม’ เผย ‘แจ็ค หม่า’ เจ้าพ่ออาลีบาบา ยกทัพบริษัทลูกตอกเสาเข็มลงทุนไทย สร้างดิจิตอลฮับ ขนส่งสินค้า รุกแพลตฟอร์มท่องเที่ยว ขายข้าวออนไลน์ ดันรายได้ธุรกิจ ‘อี-คอมเมิร์ซ’ ปี 2565 โตก้าวกระโดดทะลุ 1.8 แสนล้านบาท

 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายแจ็ค หม่า ประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา จะมาเยือนประเทศไทยในวันที่ 19 เม.ย. 2561 นี้ เพื่อประกาศแผนการลงทุนของอาลีบาบาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอลและส่งเสริมบุคลากรไทยในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านดิจิตอล อี-คอมเมิร์ซ ใน 5 โครงการสำคัญ ๆ ประกอบด้วย

รุกตั้ง ‘ดิจิตอลฮับ’ ในอีอีซี

1.โครงการลงทุนสร้างศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่อีอีซี เงินลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท เปิดดำเนินงานปี 2562 โดยจะอาศัยเทคโนโลยีระดับโลกของอาลีบาบาในด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานกับกรมศุลกากรในการยกระดับพิธีการทางศุลกากรให้เป็นระบบดิจิตอลด้วย

“การตั้งศูนย์ Smart Digital Hub นี้ จะช่วยผลักดันให้เหล่าธุรกิจ Startup และ SMEs ไทย สามารถพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิตอลให้เข้าถึงตลาดทั่วโลกได้ รวมถึงจะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาดิจิตอลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานอีอีซีจะเชื่อมประสาน Smart Digital Hub กับเขตนวัตกรรมดิจจิตอล หรือ ดิจิตอลพาร์ก (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ด้วย”

เร่งสร้าง “ดาวเด่นดิจิตอล”

2.โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิตอลและการส่งเสริมธุรกิจผ่าน อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งอาลีบาบาจะร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่ง หรือ “ดาวเด่นด้านดิจิตอล” โดยอาลีบาบาได้เสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) มาร่วมสนับสนุนการใช้ Platform E-Commerce เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ รวมถึงผู้ประกอบการไทย ไปร่วมเข้าโครงการฝึกอบรมพัฒนาในด้านดิจิตอลและ อี-คอมเมิร์ซ ให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสร้างเครือข่ายกับดาวเด่น หรือ Talents ทั่วโลก ที่ประเทศจีนอีกด้วย

3.โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิตอล อี-คอมเมิร์ซ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ของไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิตอล โดยอาลีบาบาจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการ Startup ระดับชุมชนทั่วประเทศ

เจาะท่องเที่ยวออนไลน์

4.อาลีบาบาจะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ เพื่อจัดกิจกรรมด้านการตลาดร่วมกันบนออนไลน์แพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงกับสื่อและช่องทางต่าง ๆ ของ ททท. รวมทั้งจะร่วมมือกันในด้านการใช้ข้อมูลทางการท่องเที่ยว (Tourism Big Data) เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในไทยให้รองรับกับยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเมืองรองและการท่องเที่ยวในระดับชุมชนของรัฐบาล

5.กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับอาลีบาบาในการเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com เพื่อสนับสนุนการขายข้าวไทยทางออนไลน์ในจีน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกษตรกรผู้ประกอบการและผู้ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว สามารถเข้าถึงตลาด E-Commerce ในจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารของไทย

รายได้ ‘อี-คอมเมิร์ซ’ พุ่ง

นายอุตตม กล่าวว่า การเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ นายแจ็ค หม่า มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และจะเข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความเข้าใจสำหรับโครงการลงทุนใน EEC และความร่วมมือ 4 ฉบับ ซึ่งอาลีบาบาได้ทำการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาค และเล็งเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิตอลและ อี-คอมเมิร์ซ ในภูมิภาค จึงมีความตั้งใจที่จะมาลงทุนและร่วมมือกับหน่วยงานของไทยในโครงการต่าง ๆ โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ในประเทศไทย จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 113,400 ล้านบาท ในปี 2561 เป็น 186,500 ล้านบาท ในปี 2565

ดันท่องเที่ยวเมืองรอง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. มีความร่วมมือกับอาลีบาบาในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในการลงนามความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (MOU) ระหว่าง ททท. กับบริษัท Fliggy (เดิมคือ บริษัท Alitrip) ในวันที่ 19 เม.ย. นี้ จะมีสาระหลักเพิ่มเติม จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ เคยมีการลงนามร่วมกันมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2559 กับทาง Alitrip

โดยการลงนามครั้งล่าสุดที่จะเกิดขึ้นกับ Fliggy มีสาระหลักเพิ่มเติม ได้แก่ การเพิ่มน้ำหนักด้าน Digital Tourism มี Data Sharing Mechanism รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ การสนับสนุนข้อมูลเพื่อแนะนำช่วยเหลือนักท่องเที่ยว และข้อมูล/ระบบ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกเดินทางท่องเที่ยวในไทย รวมไปถึงการส่งเสริมพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ควบคู่ไปกับแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ที่มีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย เป็นต้น

สำหรับความร่วมมือ MOU ระหว่างกันก่อนหน้านี้ ที่มีการดำเนินการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง จะเน้นใน 6 ประเด็นหลัก

ประเด็นที่ 1 การร่วมมือจัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ เพื่อจัดกิจกรรมด้านการตลาดร่วมกันบนออนไลน์ แพลตฟอร์ม ของ Alitrip โดยสามารถเชื่อมโยงกับสื่อและช่องทางต่าง ๆ ของ ททท. สำนักงานในประเทศจีน

ประเด็นที่ 2 การส่งเสริมการตลาด โดยเชิญชวนให้บริษัทนำเที่ยวที่มีคุณภาพทั้งในไทยและจีน ร่วมขายแพ็คเกจบนออนไลน์ แพลตฟอร์ม ของ Alitrip

ประเด็นที่ 3 ความร่วมมือด้านการจัดทำระบบตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของแพ็คเกจทัวร์ รวมทั้งสินค้าและบริการต่าง ๆ ของบริษัทนำเที่ยว ที่ขายแพ็คเกจบนออนไลน์ แพลตฟอร์ม ของ Alitrip

 ประเด็นที่ 4 ความร่วมมือด้านการสร้างและนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ ๆ เช่น สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวด้านลักชัวรี, เมดิคัล, สปอร์ต เป็นต้น

ประเด็นที่ 5 ความร่วมมือด้านการแชร์ข้อมูลทางการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่ 6 ความร่วมมือในการประสานช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหรือศูนย์เซอร์วิส เซ็นเตอร์ เป็นต้น

ไม่รับลูกขายข้าวออนไลน์

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับอาลีบาบา ในการเปิดตัวในโครงการ ‘Thai Rice Flagship Store’ บนเว็บไซต์ Tmall.com เพื่อสนับสนุนการขายข้าวทางออนไลน์จีนนั้น ทางสมาคมก็ได้แจ้งกับสมาชิกให้ทราบว่า ทางรัฐบาลจะมีโครงการนี้ หากสมาชิกบริษัทไหนสนใจให้ติดต่อไปที่กระทรวงพาณิชย์โดยตรง เพราะการนำข้าวเข้าไปขายได้ ผู้นำเข้าข้าวไทยจะต้องมีโควตาการนำเข้าและบริษัทไทยที่จะขายข้าวได้ ก็ต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ซึ่งปัจจุบัน มีบริษัทไทยแค่ 48 ราย ที่สามารถจะขายข้าวได้ โดยแต่ละรายก็ขายออนไลน์อยู่แล้ว ถ้านอกเหนือ 48 บริษัท ที่ได้รับการรับรอง จะนำไปขายข้าวได้หรือไม่ ดังนั้น โครงการนี้ไม่ผ่านความร่วมมือกับสมาคม แต่จะใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ ถ้าบริษัทไหนสนใจก็ติดต่อไปที่กระทรวงพาณิชย์สอบถามโดยตรงได้ทันที

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

ไทยผนึกสมาชิก GSA ร้องปากีสถาน-อินเดียเลิกอุดหนุนส่งออกน้ำตาล

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยผนึกสมาชิก GSA ร้องปากีสถานและอินเดีย เลิกอุดหนุนส่งออกน้ำตาล หวั่นฉุดราคาตลาดโลก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ออสเตรเลีย บราซิล และไทย ได้จัดประชุมทางไกล เพื่อหารือประเด็นอุดหนุนการผลิตและส่งออกน้ำตาลของปากีสถานและอินเดีย และเห็นชอบที่จะออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปากีสถานในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 9 ของโลกและเป็นผู้บริโภคอันดับ 8 ของโลก ยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล อีกทั้งกังวลต่ออินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นบริโภคอันดับต้นของโลกมีแนวโน้มที่จะนำมาตรการอุดหนุนการส่งออกมาใช้เช่นเดียวกัน เนื่องจากฤดูการผลิตนี้ทั้ง 2 ประเทศมีน้ำตาลเหลือจากการบริโภคจำนวนมาก จึงเรียกร้องให้เคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีองค์การการค้าโลก หรือ WTO 

ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฎิรูปการค้าน้ำตาลโลก (GSA) ประเมินว่า ปากีสถานและอินเดียจะมีน้ำตาลส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศ เพื่อส่งออกไปตลาดโลก รวมประมาณ 2.3 ล้านตัน และ 3 ล้านตัน ตามลำดับ และมีแนวโน้มว่าทั้ง 2 ประเทศจะผลักน้ำตาลส่วนเกินนี้ออกสู่ตลาดโลก โดยมีการอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ดังนั้น ประเทศสมาชิกกลุ่ม GSA จะออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อเรียกร้องให้ปฏิบัติตามข้อตกลง WTO และแสดงจุดยืนคัดค้านการออกมาตรการอุดหนุนใด ๆ ในการสนับสนุนการส่งออกน้ำตาล

“ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกและเป็นหนึ่งในสมาชิกของ GSA จะเข้าร่วมการประชุม GSA ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา วันที่ 8 พฤษภาคมนี้ เพื่อเรียกร้องให้ปากีสถานและอินเดียปฏิบัติตามกฎกติกาทางการการค้าภายใต้ WTO” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายยังได้ประสานทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้แทนถาวรไทย ประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวและพิจารณานำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในเวที WTO ต่อไป

จาก www.tnamcot.com   วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

พาณิชย์เผยปัญหาซีเรียยังไม่กระทบการค้าไทย

รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ระบุความไม่สงบซีเรียไม่กระทบไทย เช่นเดียวกับความขัดแย้งสหรัฐกับจีน แต่เตรียมพร้อมมาตรการรับมือหากเกิดสงครามการค้าขึ้นจริง

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรียนั้น ยังไม่กระทบการค้าของประเทศไทย ขณะเดียวกันฝ่ายความมั่นคงของไทยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคาดว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลาม ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อไทย แต่ไทยเป็นประเทศเล็กอาจจะได้รับผลกระทบหาก 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นของโลกมีมาตรการ หรือการดำเนินการใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดสงครามการค้าขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์และมาตรการต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และได้มีการเตรียมมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบแล้ว

อย่างไรก็ตาม ได้มองหาตลาดใหม่ ๆ สำหรับการส่งออก ขณะเดียวกันก็มีมาตรการป้องกันไม่ให้สินค้าจากประเทศอื่น ๆ ไหลทะลักเข้ามา จนกระทบต่อสินค้าและอุตสาหกรรมภายในประเทศ หากเกิดการกีดกันทางการค้าและมีสงครามทางการค้าเกิดขึ้นจริง โดยกระทรวงพาณิชย์ยังเดินหน้าทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอินเดีย เพื่อขยายการค้าการลงุทน รวมถึงป้องกันความเสี่ยงจากภาวะการค้าที่ตึงเครียด โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนในอินเดียมากขึ้น เพราะมีโอกาสทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวสูง และจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่กำลังดำเนินการขณะนี้ ทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่ง และระบบโลจิสติกส์กับอินเดียได้ และสนับสนุนเรื่องการค้าระหว่างกัน

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า อินเดียให้ความสนใจที่จะลงทุนไทยในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพราะมีความมั่นใจ และมองว่าไทยมีศักยภาพในการลงทุน เห็นได้จากปีที่ผ่านมาอินเดียมีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 10,385  ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ขยายตัวร้อยละ 34 โดยไทยส่งออกไปอินเดียมูลค่ากว่า 6,400 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่วนใหญ่เป็นเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งอินเดียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเอเชียใต้ หากดูด้านการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดียปัจจุบันมีมูลค่ารวมกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยลงทุนในอินเดียเป็นมูลค่ากว่า 8,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมไปถึงอุตสาหกรรมเมืองแร่ และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นต้น.

จาก www.tnamcot.com   วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

ชีพจรโลกธุรกิจ

น้ำตาลบุรีรัมย์ลงทุนในBSF

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการลงทุนในธุรกิจน้ำตาลทรายของบริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (BSF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ลงทุนโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) มีกำลังการผลิตสูงสุด 1,200 ตันต่อวัน โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 393.75 ล้านบาท

ตลาดลีสโฮลด์ดีมานด์พุ่ง

นายขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามสินธร จำกัดเปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์แบบสิทธิการเช่าระยะยาว หรือ ลีสโฮลด์ (Lease Hold)ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทำเลใจกลางเมือง ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มซื้อเพื่อการอยู่อาศัยและกลุ่มนักลงทุน ซึ่งต้องการทำเลที่ดี ปล่อยเช่าง่าย และได้อัตราผลตอบแทน (yield) สูง หลังจากที่ดินใจกลางเมืองเหลือน้อยและมีราคาสูงมาก ทำให้ลีสโฮลด์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

ซีพี เฟรชมาร์ทเปิดตัวแอพฯ

นายพจน์ สกุลถาวร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้า “ซีพี เฟรชมาร์ท”เปิดเผยว่า ปัจจุบัน แนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นซีพี เฟรชมาร์ทจึงเปิดตัว แอพพลิเคชั่น “ซีพี เฟรชมาร์ท”(CP Freshmart App) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน เชื่อว่าจะช่วยผลักดันยอดขายทางออนไลน์ และขยายฐานลูกค้าซีพี เฟรชมาร์ทให้เติบโตขึ้น

จาก www.naewna.com  วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

น้ำตาลบุรีรัมย์ทุ่มเฉียด 600 ล้าน ตั้งเครื่องจักรใหม่เพิ่มกำลังผลิตรับฤดูกาลอ้อยปีนี้สดใส

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการลงทุน 393.75 ล้านบาท ในธุรกิจน้ำตาลทรายของบริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (BSF)  ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) สูงสุด 1,200 ตันต่อวัน คาดว่าจะติดตั้งเครื่องจักรได้ทันฤดูการผลิต ปี 2561/62 นอกจากนี้ ได้ลงทุนอีก 185.72 ล้านบาท ติดตั้งชุดหม้อต้มเพื่อประหยัดการใช้ไอน้ำของโรงงานแห่งนี้ สามารถรองรับปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายและกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจของบริษัทในการขยายการลงทุนเพื่อสร้างความเติบโตที่มั่นคงในระยะยาว

นายอนันต์กล่าวถึงสถานการณ์หีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560-8 เมษายน 2561 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว 124.09 ล้านตันอ้อยเพิ่มาขึ้นจากฤดูกาลปีก่อนมีอ้อยเข้าหีบ 92.76 ล้านตัน และคาดว่าตลอดฤดูกาลจะมีอ้อยเข้าหีบสูงถึง 130 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณฝนเพียงพอต่อการเติบโตของต้นอ้อยส่งผลถึงคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีค่าความหวานเฉลี่ย 12.51ซี.ซี.เอส จากปีก่อนอยู่ที่ 12.27 ซี.ซี.เอส และมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 109.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่มียิลด์ 107.88กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้แล้วทั้งสิ้น 13.57 ล้านตัน

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561

ครม.เห็นชอบ 3 แนวทาง ส่งเสริมอุตสาหกรรมฟินเทค

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 17 เมษายน 2561 ว่า ครม. มีมติเห็นชอบ 3 แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค (Financial Technology : FinTech) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

นายณัฐพร กล่าวว่า 1.พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เพื่อให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างผลักดันโครงการ ซึ่งประกอบด้วย แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ที่ส่งเสริมการบูรณาการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในระบบภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหนึ่งในโครงการภายใต้แผนดังกล่าว คือ การพัฒนาระบบโอนเงินพร้อมเพย์ (PromptPay) โดยตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 มีการโอนเงินผ่านระบบดังกล่าวสูงถึง 390,000 ล้านบาท และในปัจจุบันกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการต่อยอดระบบเรียกเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Request to Pay) เพื่อให้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้กระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Identification Platform) ในการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพปลอดภัย และสะดวกต่อการใช้งาน ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) อีกด้วย

2.ผลักดันหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับฟินเทค ซึ่งกระทรวงการคลังระบุว่าควรมีการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคมากขึ้น เช่น การรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ การบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ การจ่ายสวัสดิการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มช่องทางในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของ SFIs เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech อีกทางหนึ่ง

3.จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (Institute for Financial Innovation and Technology : InFinIT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech (FinTech Ecosystem) ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฟินเทคได้พบปะและเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินของตนแก่ผู้ที่สนใจลงทุนหรือผู้ที่ต้องการนำนวัตกรรมไปใช้ และเพื่อผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินในประเทศไทยในทุกภาคส่วน รวมถึงการส่งเสริมการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคของ SFIs

และเพื่อร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในฟินเทค และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นให้แก่นักเรียนและนักศึกษา ให้สามารถปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมฟินเทคหรือเป็นผู้ประกอบการในอนาคต (Talent Pipeline) เพื่อส่งเสริม FinTech Ecosystem ในระยะยาว รวมทั้งเพื่อบูรณาการการพัฒนาและการส่งเสริมฟินเทคระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.)

รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ “กระทรวงการคลังรายงานว่า อุตสาหกรรมฟินเทคมีความสำคัญต่อการให้บริการทางการเงินและจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ในวงกว้าง ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมฟินเทคอย่างจริงจัง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไต้หวัน หากประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมฟินเทคที่ชัดเจน รวมทั้งมีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอ จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคในวงกว้าง จึงเห็นสมควรให้มีแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฟินเทคดังกล่าว”นายณัฐพร กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561

ขึ้นไตรมาส 2 ค่าเงินบาทผันผวน แต่หุ้นไทยยังไปต่อ

สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 มีความผันผวนจนแทบจะคาดเดาไม่ได้ เพราะปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไม่ว่าจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานจากนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว

เดิมนักวิจัยนักวิเคราะห์ต่างประเมินกันว่า ค่าเงินบาทในปี 2561 อย่างไรก็ต้องอ่อนค่าจากสิ้นปี 2560 เงินบาทอยู่ที่ 32.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพราะต้านไม่ไหวจากแรงกดดันที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยจนแซงไทยเงินทุนต้องไหลออกไปหาความเสี่ยงต่ำกว่าและดอกเบี้ยสูงกว่า

ทว่า เปิดศักราชเงินบาทก็ถูกทดสอบทะลุแนวต้าน 32 บาทอย่างง่ายดาย ทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 4 ปีก็แล้ว จนมารอบ 51 เดือน เหลือ 31.20 กระทั่งเคลื่อนไหวในกรอบแคบราว 31.10-31.30 เมื่อช่วงต้นไตรมาส 2 รอปัจจัยใหม่เข้ามาจนสำนักวิเคราะห์วิจัยต้องปรับประมาณการเงินบาทกันยกใหญ่จากที่เคยให้สิ้นปี 34 บาท/ดอลลาร์ หั่นลงมาเหลือ 32 ดอลลาร์ เพียงพ้นปีใหม่ไม่กี่เดือน

เหตุผลหลักของการแข็งค่าเมื่อต้นปีมาจากปัจจัยภายนอก ทั้งรัฐมนตรีคลังสหรัฐออกมาบอกว่าชอบให้ดอลลาร์อ่อน และผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐลาออกและถูกปลด สร้างความสั่นคลอนให้ตลาดขาดความเชื่อมั่น เทขายดอลลาร์

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561

พาณิชย์ปลื้มถก TIFAฉลุยสหรัฐยอมต่ออายุ GSPสินค้าไทย

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังจากกลับจากนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม TIFA กับสหรัฐฯณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ว่าทั้งสองประเทศให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยได้ขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการ 232 และไม่ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทย ซึ่งชี้แจงเหตุผลในฐานะพันธมิตรที่ดีต่อกันมานาน อีกทั้งไทยส่งออกและครองส่วนแบ่งตลาดเหล็กและอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ น้อย การที่ไทยมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เหล็กจากประเทศอื่นมาอ้างสิทธิว่าเป็นเหล็กจากไทย

ขณะเดียวกัน ไทยได้แจ้งการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองแรงงานซึ่งคืบหน้าไปมาก ทั้งการปราบปรามสินค้าละเมิดฯ การบังคับใช้กฎหมาย และได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP แก่ไทย โดยไม่จัดไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกทบทวนว่าจะได้ต่ออายุ GSP หรือไม่

นางนันทวัลย์กล่าวว่า การประชุม TIFA ครั้งนี้ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะประเด็นการต่ออายุ GSP โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศรายชื่อประเทศที่ต้องถูกทบทวนการต่ออายุ GSP เพราะไม่ได้เปิดตลาดและคุ้มครองสิทธิแรงงาน และไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อดังกล่าว

นอกจากนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศรายชื่อประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่อาจส่งผลกระทบกับสหรัฐฯ ซึ่งต้องเฝ้าระวังและหารือกับสหรัฐฯ มี 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อดังกล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

“ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย นัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินปี 2561” ในงานสัมมนา THE WISDOM “The Symbol of your Visionary : ก้าวทันเศรษฐกิจ ก้าวนำการลงทุน ปี 2018”

โลกธุรกิจฯได้นำบางช่วงที่น่าสนใจมานำเสนอก็คือ “ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้าคืออะไร โดยผู้ว่าการฯระบุว่าความเสี่ยงหลักๆ จะมี 3 เรื่องด้วยกัน

ความเสี่ยงแรก คือความผันผวนของตลาดการเงินโลก

ซึ่งตลาดเงินตลาดทุนอาจเกิดการปรับฐานอย่างรุนแรง (Market correction) ตัวอย่างจากเหตุการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราพบว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากความไม่สอดคล้อง (Mismatch) กันระหว่างมุมมองของนักลงทุนในตลาดกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เมื่อตัวเลขค่าจ้างและเงินเฟ้อของสหรัฐ ปรับสูงขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเงินเฟ้อและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ จนเกิดเป็นภาวะ Market correction อย่างรวดเร็วและรุนแรง ดังจะเห็นได้จากดัชนีในตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ทั่วโลกปรับลดลงทันที โดยเฉพาะดัชนี DOWJONES ที่ปรับลดลงถึง 10% ในช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาความเสี่ยงนี้จะเกิดถี่ขึ้นในช่วงเวลา Policy normalization และเป็นความท้าทายของปี 2561 ซึ่งสามารถสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินและตลาดทุน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยระยะยาว รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่จะกระทบต่อคุณภาพของหนี้และความยั่งยืนของผู้ประกอบการได้ที่สำคัญเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะปรับตัวของตลาดขึ้นอีกหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อใด ผู้ประกอบการและนักลงทุนจึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงเหล่านี้

ความเสี่ยงที่ 2 เกิดจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการค้าสหรัฐ

จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเทศตัวเอง (Inward lookingpolicy) มากขึ้น ในช่วงอาทิตย์ที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐ ได้ออกมาตรการภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทาง

การค้า (Trade protectionism) หลายรายการ และจีนได้ตอบโต้กลับด้วยมาตรการรุนแรง (Trade retaliation) ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น อาจนำไปสู่สงครามทางการค้า (Trade war) ที่เกิดผลกระทบกว้างไกลมากเราจะเห็นได้ว่าแนวคิดในการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามีมากขึ้นและถี่ขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายและผลกระทบเป็นความเสี่ยงที่ประเมินได้ยาก ถึงแม้ปัจจุบันหลายหน่วยงานประเมินว่าผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมอาจยังไม่มาก แต่อาจจะมีผลกระทบในระดับจุลภาคที่รุนแรงได้กับผู้ผลิตในบางภาคอุตสาหกรรม มาตรการกีดกันทางการค้าจะเกิดผลกระทบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิตโลก(Global value chain: GVC) นั่นหมายถึงผู้ผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศอื่นๆ จะได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะเดียวกัน ประเทศที่โดนมาตรการกีดกันทางการค้าอาจจะหันเหไปค้าขายกับประเทศอื่นแทน (Trade diversion) ส่งผลให้สินค้าล้นตลาดในประเทศอื่นได้กระทบกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ สำหรับในประเทศที่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ราคาสินค้านำเข้าจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าและวัตถุดิบในประเทศสูงขึ้นซึ่งส่งแรงกดดันไปสู่เงินเฟ้อในที่สุด

นอกจากนี้ สงครามทางการค้าอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนักลงทุนโดยตรงและนักลงทุนในตลาดทุนอีกด้วย ดังนั้น แม้ว่าผลกระทบทางตรงต่อไทยในระยะสั้นจะไม่น่ากังวลนัก เพราะโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่ได้มีสินค้าในกลุ่มที่โดนมาตรการกีดกันมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะมองข้ามความเสี่ยงในมิติอื่นๆ ไปได้ทั้งหมด เพราะท้ายที่สุดแล้ว สงครามการค้าถ้าเกิดขึ้นรุนแรงจะกระทบต่อแรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเสี่ยงที่ 3 คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคและธุรกิจต่างไปจากเดิม ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีเช่น Grab และ AirBNB ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของ Disruptive technology ในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและธุรกิจ ทำให้ธุรกิจรถแท็กซี่และธุรกิจโรงแรมแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ กำลังเผชิญกับการปิดสาขา ลดจำนวนพนักงาน และปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบ Digital bankingมากขึ้น เพื่อสอดรับกับกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอีกด้วยอาทิ ระบบ PromptPay และระบบ QR Code ที่ได้นำมาใช้ในปัจจุบัน รวมทั้งการที่ทางการมีนโยบายเปิดกว้างให้มีผู้ให้บริการชำระเงินรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันได้ และเชื่อมต่อกับระบบกลางได้ ได้ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ อีกมากที่จะเข้ามามีบทบาทในระบบการเงิน เช่น AI, Data analytics, Biometrics, Distributed Ledger technology, หรือ Blockchain เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคทำธุรกรรมการเงินที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไปจะทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ช่องทางดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนสินค้าและบริการใหม่ๆซึ่งสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร หรือนักลงทุน จะต้องทำความเข้าใจและบริหารจัดการความเสี่ยงโดยเฉพาะความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

ปี 2561 นับเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยได้รับแรงส่งจากทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งขึ้น และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนและภาครัฐต่อเนื่อง แต่ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผมเชื่อมั่นว่าด้วยเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่อยู่ในเกณฑ์ดีประกอบกับภาครัฐและเอกชนติดตามประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและรอบด้านจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่จะรองรับแรงปะทะจากความผันผวนและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

จาก www.naewna.com วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2561

แผนปฏิรูปพลังงานเขย่ารัฐวิสาหกิจ โยก”กฟน.-กฟภ.”สังกัดก.พลังงาน

เปิดแผนปฏิรูปพลังงาน 6 ด้าน สะเทือนรัฐวิสาหกิจ-เอกชน ดึง กฟน.-กฟภ.สังกัดกระทรวงพลังงาน 1 ปีต้องเสร็จ เปิดเสรีก๊าซดันไทยเป็นฮับ LNG ใช้ภาคใต้พัฒนาปิโตรเคมี พลังงานทดแทนเน้นโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาหลังจากแผนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ จำนวน 11 ด้าน ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปรากฏ “แผนปฏิรูปด้านพลังงาน” ได้ถูก

“รื้อใหญ่” เนื่องจากเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว รวมถึงกระแส climate change ที่ทำให้ประเทศไทยต้องไปสู่เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว ส่งผลให้ภาคพลังงานได้รับผลกระทบ จึงควรมีการปฏิรูปด้านพลังงาน 6 ด้าน17 ประเด็น ได้แก่

1) ด้านบริหารจัดการพลังงาน จะต้องปรับปรุงกลไก โครงสร้างตลาด และราคาพลังงาน ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน 2) ด้านไฟฟ้า ปรับปรุงโครงสร้างของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ ปรับปรุงการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงและปฏิรูปการจัดหาพลังงาน จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan หรือ PDP) แบบรายภาค เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและที่ตั้งของโรงไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

3) ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจากปิโตรเลียม ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานจากการจัดหาก๊าซธรรมชาติ สร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของภูมิภาค เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในฐานการผลิตปัจจุบันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงการกำหนดพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

4) ด้านการสนับสนุนพลังงานทดแทน ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมด้านกฎหมาย ระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการผลิตพลังงานใช้เอง

5) ด้านการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 6) ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะการปฏิรูปด้านไฟฟ้า ตามแผนได้ระบุให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้าในเชิงนโยบายคือ การเสนอ “ให้ย้าย” การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จากเดิมที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยให้มาอยู่ภายใต้กระทรวงพลังงานแทน และให้มีการออกกฎหมายปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานด้านไฟฟ้ากระจายอยู่ในหลายกระทรวง ส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ ค่อนข้างล่าช้า นอกจากนี้ ในแผนปฏิรูปได้กำหนดให้จัดทำระเบียบสำหรับ Third Party Access (TPA) ของระบบส่งและระบบจำหน่าย เพื่อส่งเสริมการแข่งขันธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต

ในส่วนของการส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น ยังคงใช้แผนพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน(Alternative Energy Development Plan หรือ AEDP) ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันเป็นฐาน แต่จะมีสัดส่วนของพลังงานทางเลือกกับพลังงานทดแทนตลอดทั้งแผนระยะเวลา 20 ปีกำหนดไว้ที่ร้อยละ 30 โดยให้น้ำหนักไปที่การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลที่ใช้ไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากขยะ รวมทั้งให้มีการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปอย่างเสรีให้ได้ภายใน 4 ปีอีกด้วย

นอกจากนี้ แผนปฏิรูปพลังงานดังกล่าวยังได้ระบุว่า ต้องการให้มีการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากในอนาคตคาดว่าจะมีความต้องการใช้ก๊าซ LNG มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ต้องนำเข้ามาเพื่อรองรับความต้องการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น จากความกังวลถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากพื้นที่อ่าวไทยนอกเหนือจากแหล่งบงกช-เอราวัณ ที่จะครบอายุสัญญาแล้ว ยังมีแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ ที่จะทยอยหมดอายุ เช่น แหล่งไพลิน, แหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA), แหล่งทานตะวัน, แหล่งเบญจมาศ และแหล่งอาทิตย์ จึงควรดำเนินการ”ล่วงหน้า” อย่างเหมาะสม

ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เสนอให้มีการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นน้ำ โดยลงทุนสร้างโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นที่ใช้แนฟทา หรือ LPG เป็นวัตถุดิบ มีกำลังผลิตเอทิลีนที่ 1-1.5 ล้านตัน/ปี และให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 อุตสาหกรรมโรงกลั่นที่จะผลิตวัตถุดิบปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง “เทียบเท่า” กับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยในแผนระบุถึงพื้นที่เหมาะสมจะขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไว้คือ พื้นที่ภาคใต้

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2561

โรงงานน้ำตาล คาดผลผลิตอ้อยเพิ่ม 30%

 โรงงานน้ำตาล ยันหีบอ้อยหมดหลังเทศกาลสงกรานต์ คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้มีโอกาสสูงถึง 130 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30% หลังจากหีบอ้อยผ่าน 129 วันรับผลผลิตอ้อยแล้ว 124 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 13.57 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยถึงแนวโน้มปริมาณการผลิตอ้อยในปีนี้ ว่า จากการประเมินปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 มีโอกาสสูงถึง 130 ล้านตันอ้อย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 92.95 ล้านตันอ้อย หลังจากช่วงฤดูการเพาะปลูกอ้อยในปีนี้ มีปริมาณฝนเพียงพอต่อการเติบโตของต้นอ้อย ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น จากที่ประเมินไว้อยู่ที่ระดับ 9-10 ตันต่อไร่ โดยในปีนี้โรงงานน้ำตาลได้พยายามเร่งดำเนินการหีบอ้อยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันก่อนย่างเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ เนื่องจากจะทำให้รถบรรทุกและรถตัดอ้อยเข้าไปจัดเก็บผลผลิตยาก และอ้อยจะมีสิ่งปนเปื้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. 2561 โรงงานน้ำตาลในบางพื้นที่จำเป็นต้องหยุดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบชั่วคราว เนื่องจากภาครัฐต้องการลดผลกระทบปัญหาด้านการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งโรงงานน้ำตาลจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักร ก่อนกลับมารับอ้อยเข้าหีบให้แก่ชาวไร่คู่สัญญาอีกครั้งในวันที่ 17 เม.ย.นี้

ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่าภายในสิ้นเดือนเม.ย. หรืออย่างช้าภายในต้นเดือนพ.ค. 2561 คาดว่าโรงงานน้ำตาลจะเริ่มทยอยปิดหีบได้ จากปัจจุบันที่มีโรงงานน้ำตาล 3 แห่ง จากจำนวนทั้งหมด 54 แห่ง ได้ปิดหีบอ้อยไปแล้ว ได้แก่ โรงงานรีไฟน์ชัยมงคล โรงงานสหการชลบุรี และโรงงานเริ่มอุดม

 “ปริมาณอ้อยปีนี้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยประเมินว่าอ้อยเข้าหีบจะสูงถึง 130 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 30% ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยสภาพอากาศที่ดี ปริมาณฝนที่เหมาะสมทำให้อ้อยมีการเจริญเติบโตที่ดีและคาดว่าจะมีผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อยต่อไร่ปรับตัวดีขึ้นกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ 9-10 ตันอ้อยต่อไร่” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ส่วนสถานการณ์หีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 ถึง 8 เม.ย. 2561 รวมระยะเวลา 129 วัน พบว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่เข้าหีบแล้ว 124.09 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาการหีบอ้อยในช่วงเดียวกันของฤดูการหีบอ้อยปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 92.76 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้เตรียมพร้อมด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่คุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีค่าความหวานเฉลี่ย 12.51 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนอยู่ที่ 12.27 ซี.ซี.เอส และมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 109.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่มียิลด์ 107.88 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้แล้วทั้งสิ้น 13.57 ล้านตัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2561

อุตฯน้ำตาลยิ้มร่าหีบอ้อยปีนี้แตะ130ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (ทีเอสเอ็มซี)กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลทั้ง 54 โรงทั่วประเทศประเมินปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้ประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 มีโอกาสสูงถึง 130 ล้านตันอ้อย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 92.95 ล้านตันอ้อย เนื่องจากช่วงฤดูการเพาะปลูกอ้อยในปีนี้มีปริมาณฝนเพียงพอต่อการเติบโตของต้นอ้อย ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปีนี้โรงงานน้ำตาลยังได้พยายามเร่งดำเนินการหีบอ้อยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันก่อนย่างเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากจะทำให้รถบรรทุกและรถตัดอ้อยเข้าไปจัดเก็บผลผลิตยาก และอ้อยจะมีสิ่งปนเปื้อนเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยิลด์) ลดลงตามไปด้วย

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า สถานการณ์หีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึง 8 เมษายน 2561 รวมระยะเวลา 129 วัน พบว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่เข้าหีบแล้ว 124.09 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาการหีบอ้อยในช่วงเดียวกันของฤดูการหีบอ้อยปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 92.76 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้เตรียมพร้อมด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่คุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีค่าความหวานเฉลี่ย 12.51 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนอยู่ที่ 12.27 ซี.ซี.เอส และมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 109.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่มียิลด์ 107.88 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้แล้วทั้งสิ้น 13.57 ล้านตัน

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 11 เมษายน 2561

“เอ็นจีโอ” เกาะติดรัฐต่ออายุ “พาราควอต” ยันสู้ถึงศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 10 เมษายน น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทย-แพน (Thai-PAN) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามว่าจะต่ออายุพาราควอตหรือไม่อย่างไร หากผลออกมาว่าอนุญาตให้ต่อทะเบียนตามที่หลายฝ่ายได้แสดงความกังวล เครือข่าย 398 องค์กร จาก 51 จังหวัด จะเดินหน้าขอเหตุผลที่ชัดเจนจากคณะกรรมการเฉพาะกิจต่อไป หากเหตุผลไม่เป็นไปตามหลักการ อาจจะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้มีการเพิกถอนการต่อทะเบียนตามที่ได้มีการเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้ หรือหากเหตุผลเพียงพอก็อาจไม่ต้องฟ้องร้อง ซึ่งก็ต้องติดตามอีกครั้ง

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า พาราควอตออกฤทธิ์เฉียบพลันสูง ผู้ได้รับสารนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง มีการรวบรวมข้อมูลพบว่า ในบางประเทศ บริษัทผู้ผลิตจะมีการให้งบประมาณสนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาให้แก่ศูนย์รักษาผู้ได้รับสารพิษในโรงพยาบาล

“มองด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคจากสารพิษนั้น แต่มองอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า บริษัทต้องการสร้างสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์หรือไม่ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนหันมาสนับสนุนสารพิษดังกล่าวทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีความเป็นไปได้ว่า ขณะนี้หรือในอนาคตจะมีการกระทำดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และหากมีการต่อทะเบียนพาราควอตจริง ก็จำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการตรวจสอบประเด็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย” นายวิฑูรย์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า จะไม่มีการรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพส่งไปยังคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพราะได้ส่งข้อมูลให้กรมวิชาการเกษตรแล้ว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 10 เมษายน 2561

ค่าบาท 'แข็งค่า' เล็กน้อย

 บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "31.25 บาทต่อดอลลาร์" ค่าเงินเอเชียมีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้ แม้มีความเสี่ยงสงครามการค้าแต่ตลาดหุ้นและบอนด์เริ่มไม่กระทบกับข่าวเชิงลบ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.25บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่ผันผวนหนัก หุ้นรัสเซียปรับตัวลงราว 11% ค่าเงินรูเบิ้ลอ่อนค่า 4% หลังจากที่สหรัฐมีแผนการกีดกันทางการค้าครั้งใหม่ และยังเสริมว่าอาจจะมีการตัดสินว่า อิหร่าน รัสเซีย และซีเรียความผิดที่ใช้อาวุธเคมีกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐต้องโจมตีสามประเทศนี้อีกครั้ง

ขณะที่ภาพรวมสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐยังคงวุ่นวาย ล่าสุดโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวหาจีนว่าตั้งกำแพงภาษีกลับรถยนต์ของสหรัฐสูงเกินไปสร้างความกังวลให้กับตลาดเพิ่มขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่นๆตามภาพรวมความเสี่ยงดังกล่าว แต่ตลาดหุ้นและบอร์นเริ่มไม่ได้รับผลกระทบกับข่าวในเชิงลบทางการเมืองมากแล้ว เพราะนักลงทุนมีความหวังว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการค้าที่จะผ่อนคลายมากกว่านี้ในอนาคตน่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

เรายังมีมุมมองในเชิงบวกกับค่าเงินบาทและสกุลเงินเอเชีย เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะแข็งค่ากลับขึ้นมาได้ หลังจากเมื่อวันก่อนอ่อนค่าตามแนวโน้มเงินหยวนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นต่อรองในสงครามการค้า

และยังมีมุมมองว่าจีนยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตอบโต้ด้วยสงครามการเงิน และเชื่อว่าค่าเงินเอเชียจะเริ่มสงบลงในวันนี้ มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.18- 31.28 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 เมษายน 2561

"สมคิด" สั่งเร่งเดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตร เสริมจุดแข็งเศรษฐกิจประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสมอบนโยบาย “การขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์-เกษตรจังหวัด-สหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น ไม่มีปัญหา และมั่นใจจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

พร้อมรับมือกับสถานการณ์และเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่วนหนึ่งพัฒนาความสามารถเชิงแข่งขัน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย แต่สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ แก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร เกษตรกรไม่ใช่ภาระ

แต่เป็นทรัพย์สินสำคัญของประเทศ เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ผ่านมา เกษตรกรรมเราไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ส่วนแบ่ง GDP น้อยเกินไป มีส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม หากเรายังไม่ทำอะไร คนส่วนใหญ่จะจนลงเรื่อย ๆ สังคมจะอยู่ไม่ได้ อนาคตมูลค่าของเศรษฐกิจด้านดิจิตอลจะมีรายได้สูงกว่าเศรษฐกิจด้านเกษตรกรรมมาก

"ยังมีสิ่งท้าทายอีกมากที่ต้องทำในภาคเกษตรกรรม เราต้องไปสู่จุดที่ดีกว่าข้างหน้า โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กระทรวงเกษตรฯ ต้องแบกรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ พวกเราทั้งหลาย คือ พระเอก มีภารกิจอันใหญ่หลวง ขอให้ภูมิใจ เราต้องเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง”

สำหรับกระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงเกรด A วันนี้เชื่อว่า เรามี รมว.กษ และ รมช.กษ. ที่แข็งแกร่ง จะช่วยนำความเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะทำอะไรไม่ได้เลย หากพวกเราข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ให้ความร่วมมือ เราต้องเปลี่ยนภาคเกษตรให้เข้มแข็ง ทันสมัย เกษตรกรรุ่นใหม่อยู่กับเกษตรกรรม เปลี่ยนความคิดว่า เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ความมั่งคั่งของภาคเกษตรไม่ได้อยู่ที่ราคาเพียงอย่างเดียว

"เราต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ที่ผ่านมา เรารดน้ำที่ใบเป็นการฉาบฉวย นับแต่นี้ต้องรดน้ำที่รากอาจจะใช้เวลาแต่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งต้องใช้ความอดทน โดยเน้น 5 มิติ ดังนี้ มิติที่ 1 ให้ยึดศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักดำรงชีพ ปลูกฝังให้ซึมลึกในใจเกษตรกร มิติที่ 2 ไม่เอาการผลิตเป็นตัวนำ เอาการตลาดเป็นตัวนำ เป็นมิติใหญ่ เราต้องช่วยคิดให้ครบวงจร ข้อมูลต้องมีก่อน ทำอย่างไรสินค้าที่ปลูกให้ขายได้ เกษตรกรไม่อยู่ในสถานะที่เสี่ยงได้”

มิติที่ 3 ว่าด้วยเกษตรกร เกษตรกรอ่อนเเอจะไม่สามารถทำได้ ต้องให้ความรู้ใหม่แก่เขา มีสินเชื่อสนับสนุน พร้อมให้ความรู้และโอกาส ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด สร้าง Smart Farmer ขึ้นมา โดยมีคนอยู่ 1 กลุ่ม จะรับสิ่งใหม่ ๆ ก่อน ใช้หลัก Innovation Adoption ต้องเลือกกลุ่มเรียนรู้เร็วเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เกิดการกระจายของ Innovation สินเชื่อต้องถึง ทำต้นทุน ดอกเบี้ยเงินกู้และปุ๋ย/ปัจจัยการผลิตให้ต่ำ และที่สำคัญ คือ เรื่องเทคโนโลยีต้องมี และเปลี่ยนความคิดเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการให้ได้ มิติที่ 4 e-commerce สินค้าเกษตร ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ปัจจุบัน การค้าไม่มีพรมแดนแล้ว ต้องเชื่อมโยงตลาดโลกให้ถึงกลุ่มเกษตรกร หรือ วิสาหกิจชุมชนในระดับพื้นที่ให้ได้ จากนั้น Logistic จะตามมาเอง มิติ 5 การท่องเที่ยวและบริการ การเกษตรต้องเชื่อมโยงกับท่องเที่ยวให้ได้ นโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง และท่องเที่ยวชุมชน การเกษตรและสินค้าวิสาหกิจชุมชนจะเป็นจุดขายที่สำคัญ จะมีการเชื่อมต่อคมนาคมที่สะดวกเช่นรถไฟความเร็วสูงหรือทางคู่ จากเมืองหลักให้ถึงเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยว

“ประเทศไทยถ้าภายใน 3-4 ปีนี้ ไม่พัฒนาตนเอง เราจะถูกคู่แข่งแซงเราไปแน่นอน ต้องร่วมมือร่วมใจกัน นักการเมืองกับข้าราชการ ต้องรวมพลังสร้างสรรค์บ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้า และขอให้เราภูมิใจกับการเป็นคนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่สำคัญที่สุดของทั้งหมดเป็นเรื่องการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ระหว่างกระทรวงให้เกิดผลสำเร็จ” นายสมคิด กล่าว

ด้าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเน้นย้ำในการกำชับให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เป็น coaching ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร 20 โครงการ ในงบกลางปี 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสอดรับกับโครงการไทยนิยมยั่งยืนที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะต้องใช้การตลาดนำการผลิต เพื่อความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

อีกทั้งยังได้กำชับเกษตรจังหวัดและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ให้กำกับการทำงานทุกโครงการจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ ต้องเชื่อมโยงกับโครงการเดิมที่ สานต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เกษตรแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) หรือการพัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

“สนธิรัตน์” เตรียมมาตรการเชิงรุก-ตั้งรับสงครามการค้า ปลัดพาณิชย์บินไปสหรัฐถก TIFA ขอเว้นมาตรการ 232 กับไทย

“สนธิรัตน์” เตรียมมาตรการเชิงรุกและตั้งรับสงครามการค้า ปลัดพาณิชย์บินไปสหรัฐถก TIFA ขอเว้นมาตรการ 232 กับไทย เล็งชิงส่วนแบ่งตลาด 1,400 ล้านเหรียญ จากการที่สหรัฐและจีนตั้งกำแพงภาษีสินค้าใส่กัน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนเชิงรุกและตั้งรับกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีการตอบโต้มาตรการทางการค้าระหว่างกัน โดยในเชิงรุกขณะนี้นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐหลายกระทรวง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปสหรัฐ เพื่อร่วมประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้าและการลงทุน (TIFA) ไทย-สหรัฐ ซึ่งจะมีประเด็นในการหารือ โดยเฉพาะการขอยกเว้นกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 มาตรา 232 ที่สหรัฐเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งจะขอให้ยกเว้นการใช้มาตรการกับไทย

“การเดินทางไปสหรัฐครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานเชิงรุกที่ไทยจะคุยกับสหรัฐเรื่องมาตรการทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะเหล็กและอะลูมิเนียม ที่สหรัฐใช้มาตรการเก็บภาษีไปแล้ว ซึ่งผมอยากให้มองในแง่บวกว่าไทยจะเจรจาสำเร็จกลับมา แต่สหรัฐจะมีการถกเพื่อแลกเปลี่ยนอะไรกับไทยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการนำเข้าเนื้อหมู ตัวแทนฝ่ายไทยคือกระทรวงเกษตรฯจะทำหน้าที่เจรจาในส่วนนี้ และการเจรจารอบนี้ อาจยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งถ้ายืดเยื้อผมก็พร้อมที่จะเดินทางไปร่วมประชุมในคราวต่อๆไป” นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับมาตรการตั้งรับของไทย โดยไทยได้มีการศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรการของสหรัฐที่ดำเนินการออกมา รวมทั้งการศึกษามาตรการที่จีนใช้ดำเนินการกับสหรัฐ พบว่ามีทั้งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและลบ โดยในแง่บวกมีโอกาสที่ไทยจะใช้ช่องว่างส่งออกสินค้าไปขายทั้งสหรัฐและจีน เบื้องต้นได้ศึกษาผลกระทบจากการที่สหรัฐใช้มาตรการภาษีกับสินค้าของจีน โดยจีนไม่สามารถส่งสินค้ามาขายยังสหรัฐได้ คาดว่ามูลค่าที่ไทยจะส่งออกไปสหรัฐแทนสินค้าจีนประมาณ 300-1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ สินค้าของสหรัฐที่ส่งออกมาจีน แต่ถูกจีนใช้มาตรการภาษีจะมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตรงส่วนนี้ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานเชิงลึกในการหาโอกาสส่งออกสินค้าที่สหรัฐและจีนมีการใช้มาตรการภาษีตอบโต้กัน โดยไทยจะส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปทั้งตลาดสหรัฐและจีน

“เท่าที่ประเมินสินค้าที่จีนได้ใช้มาตรการภาษีกับสินค้าสหรัฐ และคาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในการเจาะตลาดเหล่านี้ส่งออกไปจีนแทนสหรัฐ เช่น สินค้าผลไม้สดและแปรรูป ซึ่งจะมีการเจาะตลาดทั้งเมืองหลักเมืองรองของจีน ส่วนเนื้อหมูที่จีนใช้มาตรการภาษีกับเนื้อหมูของสหรัฐนั้น อาจจะต้องเจรจากับจีนในเรื่องของกฎระเบียบการนำเข้าเนื้อหมูต่อไป โดยทั้งหมดจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์เชิงลึกเป็นไลน์โปรดักส์จากทั้งสหรัฐและจีน ซึ่งรวมๆส่วนแบ่งตลาดที่ทั้งสองประเทศใช้มาตรการภาษีมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้มีการประเมินผลกระทบจากการที่สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยถูกสหรัฐเก็บภาษีสินค้า พบว่าไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากพิจารณาข้อมูลเชิงลึกพบว่าในการส่งออกสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม เป็นการส่งออกสินค้าท่อเหล็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสินค้าดังกล่าวไทยมีศักยภาพ จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชยทำแผนที่จะรักษาขีดความสามารถของการส่งออกท่อเหล็กไทยไปยังสหรัฐ

ด้านสินค้ากลุ่มห่วงโซ่การผลิตที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปยังสหรัฐ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเทคโนโลยี ตามมาตรา 301 กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐกล่าวหาจีนไม่มีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญานั้น เบื้องต้นประเมินว่าจะมีสินค้าประมาณ 50 รายการของไทยได้รับผลกระทบ มูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบโทรศัพท์มือถือ ฮาร์ทดิส โดยไทยจะทำการส่งออกสินค้าห่วงโซ่การผลิตให้กับสหรัฐทดแทนตลาดจีน

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าเมื่อสหรัฐและจีนตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน และสินค้าส่วนเกินจะถูกดัมพ์ราคาส่งออกไปยังประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทยนั้น ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมมาตรการในการปกป้องสินค้าจากทั้งสองประเทศที่จะทะลักเข้าไทย ซึ่งมีทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ไว้แล้ว และยังได้ให้ศึกษาการเตรียมความพร้อมกรณีที่สหรัฐมีการใช้มาตรการเข้มงวดและกดดันไทย ซึ่งไทยก็จะตอบโต้ด้วยการนำเข้าสู่การพิจารณาขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ไว้ด้วย

“ภาพรวมของการส่งออกไทยปีนี้ ยังยืนยันเป้าหมายเติบโตไว้ที่ 8% เชื่อว่าไทยจะยังรักษาโมเมนตันการส่งออกนี้ได้อยู่ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นายสนธิรัตน์ กล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สิ่งที่กังวลของสงครามการค้าสหรัฐ คือความผันผวนของค่าเงินและเศรษฐกิจโลกเกิดความไม่มีเสถียรภาพจนกระทบต่อการส่งออกไทย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

ไทยและอาเซียนเดินหน้าสร้างความตกลงการค้าบริการยุคใหม่

อาเซียนเร่งเสนอข้อผูกพันสาขาบริการให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่า 70% หวังลงนามความตกลงภายในสิงหาคม 2561 พร้อมเร่งจัดทำความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ของอาเซียนเพื่อยกระดับมาตรฐาน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านบริการอาเซียน (CCS) ซึ่งไทยทำหน้าที่ประธานคณะทำงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 17-20 มีนาคม 2561 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่า สมาชิกอาเซียนได้เร่งจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 10 ภายใต้ความตกลงการค้าบริการของอาเซียนหรือ AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) เพื่ออนุญาตให้ผู้ให้บริการอาเซียนเข้ามาลงทุนจัดตั้งธุรกิจโดยถือหุ้นได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ซึ่งเป็นขั้นตอนของการเปิดเสรีชุดสุดท้ายตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 (AEC Blueprint 2015) และอาเซียนได้เร่งจัดทำพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ โดยตั้งเป้าหมายที่จะลงนามในพิธีสารดังกล่าวภายในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 50 ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561 โดยมั่นใจว่าการเปิดตลาดการค้าบริการที่เสรีมากขึ้นจะช่วยเสริมสร้างการขยายตัวในภาคการค้าบริการให้แก่ผู้ประกอบการทั้งไทยและอาเซียน

นายรณรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการอีกอย่างของอาเซียนในขณะนี้คือ การจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) ซึ่งจะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงการค้าบริการฉบับปัจจุบัน โดยอาเซียนตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับให้ความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ของอาเซียนมีความทันสมัย มีคุณภาพ มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมในทุกสาขาบริการเพื่อให้สัมพันธ์กับแนวโน้มในการจัดทำความตกลงการค้าบริการของนานาประเทศในปัจจุบัน และวางแผนจะสรุปผลการจัดทำความตกลงภายในปี 2561 เช่นกัน

ทั้งนี้ การดำเนินการภายใต้ AFAS อาเซียนได้จัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดบริการระหว่างกันเป็นชุดๆ เพื่อให้มีการเปิดตลาดเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 10 ซึ่งจะครอบคลุมสาขาบริการเกือบทั้งหมดที่อาเซียนเปิดตลาดระหว่างกัน ปัจจุบันอาเซียน 5 ประเทศที่ได้ยื่นข้อเสนอผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ได้ตามเป้าหมายแล้ว คือ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ในขณะที่ประเทศอื่นอยู่ในขั้นตอนการจัดทำข้อผูกพัน

นอกจากนี้ การเปิดตลาดการค้าบริการของสมาชิกอาเซียนได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าบริการของอาเซียนเพื่อเข้าไปลงทุนในสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การลงทุนในกัมพูชา ในธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ในสปป.ลาว เช่น สถานพยาบาล การออกแบบก่อสร้าง โรงแรม สถาบันฝึกอบรม การบำรุงรักษาซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ในเมียนมา เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว การจัดงานแสดงสินค้า การจัดการประชุม และ บริการด้านสุขภาพ เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

กรมชลฯเปิดตัวเลข 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยา ย้ำพอหน้าแล้ง หนุนน้ำเล่นสงกรานต์ ส่งเสริมท่องเที่ยว

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณ 46,749 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างเก็บน้ำทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การ 23,205 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,798 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,102 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 (1 พฤศจิกายน 2560 – 30 เมษายน 2561) กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำทั่วประเทศ 25,067 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ลุ่มเจ้าพระยา 7,700 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 6,350 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 650 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 700 ล้าน ลบ.ม.) แยกเป็น เพื่อการอุปโภค – บริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ผลการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ถึง ปัจจุบัน (9 เมษายน 2561) จัดสรรน้ำไปแล้ว 7,500 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 97 ของแผนจัดสรรน้ำ คงเหลือปริมาณน้ำใช้ตามแผนไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2560/61 ขอยืนยันว่ากรมชลประทาน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนที่ได้กำหนดไว้ตลอดทั้งฤดูกาล และมีปริมาณน้ำสำรองที่จะใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2561 (พฤษภาคม – กรกฎาคม) เพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอเช่นกัน

ในการนี้ ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมทั้ง ให้การสนับสนุนเรือกำจัดวัชพืช เพื่อเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชบริเวณประตูระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ และระบบชลประทานที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทานทั้งหมด ตามนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า กรมชลประทานจะให้การสนับสนุนน้ำไปยังแหล่งน้ำสาธารณะอย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

พลังงานทดแทนร้อนใจ! นโยบายหยุดซื้อไฟ

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ได้ทำหนังสือขอพบนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เพื่อขอทราบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน โดยเฉพาะกรณีที่กระทรวงพลังงาน มีนโยบายจะหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจาก หากดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นจริง จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน “ภาคเอกชนมีความกังวลใจมาก จึงอยากทราบข้อเท็จจริง และต้องการให้ รมว.พลังงาน ได้พิจารณาในหลายๆด้าน โดยเฉพาะแนวโน้มของพลังงานโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด ขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้เข้าร่วมผลักดันการลดภาวะโลกร้อนในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบสนธิสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 21 (COP-21) ที่มีเป้าหมายลดใช้พลังงานจากฟอสซิล”

ทั้งนี้ การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแล้วรวม 9,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 450,000 ล้านบาท มีบริษัทที่เกี่ยวข้องเฉพาะสมาชิก ส.อ.ท. ถึง 250 บริษัท และอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องอีก 300 บริษัท หากหยุดการรับซื้อ เท่ากับสิ่งที่ทำมาตลอด 10 ปีจะหยุดทันที กระทบต่อระบบการผลิตที่เกี่ยวข้องกับหลายด้านทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ผ่านมายังก่อให้เกิดการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

ยอดตั้งรง.ใหม่วูบ อุตฯลุ้นEECช่วยดันลงทุน5แสนล.

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการในเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 (ไตรมาสแรก) มีการขยายตัวลดลง โดยมีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,183 โรงงาน ลดลง 1.08% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 ที่มีอยู่ 1,196 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 6.96 หมื่นล้านบาท ลดลง 26.96% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 9.53 หมื่นล้านบาท

ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 200 โรงงาน ลดลง 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 221 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2.85 หมื่นล้านบาท ลดลง 36.94% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.52 หมื่นล้านบาท

นายมงคลกล่าวว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดตั้งแต่เดือน

มกราคม - มีนาคม ปี 2561 ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร 1.32 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง 7.15 พันล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 5.02 พันล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 4.51 พันล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 4.19 พันล้านบาท

“ยอดขอใบอนุญาต รง.4 ที่ลดลงไม่มีนัยสำคัญอะไร มันเป็นเรื่องปกติ ที่มีการเพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันและไม่ใช่ตัวชี้วัดเศรษฐกิจประเทศ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาเกี่ยวข้องที่เป็นตัวชี้วัดอีก อาทิ เศรษฐกิจโลก การนำเข้า การส่งออก เป็นต้น คาดว่าในปีนี้การขอใบอนุญาต รง.4 จะอยู่ที่ 4,000- 5,000 โรงงาน ส่วนมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 5-6 แสนล้านบาท เหมือนทุกปีที่ผ่านมาหรืออาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปัจจัยหนุนคือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐมอบให้เป็นตัวดึงดูดการลงทุน”

นอกจากนี้หลังจาก พ.ร.บ.อีอีซี ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ทำให้นักลงทุนยิ่งมีความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นปีนี้จึงมีแนวโน้มที่จะขอใบอนุญาต รง.4 สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่จะมากระทบการลงทุนยังเห็นไม่ชัดนัก

นายมงคลกล่าวเพิ่มเติมถึงยอดการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการเฉพาะเดือนมีนาคม 2561 เดือนเดียวพบว่า มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 423 โรงงาน ลดลง 13.8% จากช่วงเดียวกันในปี 2560 ที่มีอยู่ที่ 491 โรงงาน มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.67 หมื่นล้านบาท ลดลง 61.78% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.37 หมื่นล้านบาท

ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 71 โรงงาน ลดลง 27.55% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 98 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 4.8 พันล้านบาท ลดลง 98.13% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.58 หมื่นล้านบาท

ส่วนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในเดือนมกราคม-มีนาคม พบว่า จ.ชลบุรี มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการมากที่สุด จำนวน 9 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 262.18 ล้านบาท มีการจ้างงาน 348 คน จ.ระยอง จำนวน 6 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 394.58 ล้านบาท มีการจ้างงาน 621 คน และ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 2 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 378.39 ล้านบาท มีการจ้างงาน 242 คน

จาก www.naewna.com วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

กมธ. ชงสภาฯ โหวต 'พ.ร.บ.น้ำ' สิ้นเดือนรู้ผล

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการมาตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2560 และได้ขยายเวลาการพิจารณาตามลำดับ

ล่าสุด ครั้งที่ 7 จะครบกำหนดในวันที่ 24 ก.ค. 2561 ถือเป็นร่างกฎหมายที่มีการพิจารณามานานมาก (รวม 398 วัน นับถึงวันที่ 3 เม.ย. 61) และยังไม่แน่ใจว่า ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างฯ ที่มี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นประธาน จะขยายเวลาอีกหรือไม่ และจะไปสิ้นสุดเมื่อใดนั้น

นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับตั้งแต่รับหลักการมา ทาง กมธ. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. หรือ ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ ซึ่งมี 100 มาตรา ครบถ้วน และได้ทบทวนร่างกฎหมายมา 2 รอบแล้ว กำลังเข้าสู่การทบทวนรอบที่ 3 ซึ่งขณะนี้ ได้มีการพิจารณาอยู่ในมาตรา 75 คาดจะเสร็จสิ้นเดือน เม.ย. นี้ หากพิจารณาเสร็จแล้ว จะนำเข้าสู้ที่ประชุม สนช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 หากที่ประชุมเห็นชอบและไม่มีการแก้ไข นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

“ยังไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ร่างกฎหมายนี้ ทุกคนจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีผลกระทบกับหลายฝ่าย ปัจจุบัน ทางคณะได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ใน 57 จังหวัด และได้นำความเห็นในมาตราต่าง ๆ มาพิจารณาประกอบ ยืนยันว่า ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 258 ช. ด้านอื่น ๆ (1) ที่ได้บัญญัติไว้ว่า ให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพเป็นธรรมและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประกอบกัน”

นายสุรจิต กล่าวอีกว่า จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ดังนั้น จะต้องมีการแก้ไขโครงสร้างขององค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ส่วนประเด็นการแบ่งประเภทการใช้น้ำนั้น ได้แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามร่างเดิมที่เสนอมา (โดยกรมทรัพยากรน้ำ) ซึ่ง กมธ. เห็นว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องให้ระยะเวลาสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ที่จัดตั้งโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 46/2560 (ซึ่งภายหลัง คสช. ให้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ไปดำเนินการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการจัดเก็บค่าใช้น้ำ เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น และให้รับฟังความคิดเห็นจาก 25 ลุ่มน้ำ ก่อนจัดแบ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตรงนี้ กมธ. เขียนกำกับไว้ในร่างกฎหมายชัดเจน โดยย้ำว่า จะต้องปฏิบัติก่อนที่จะมีกฎหมายลูก ดังนั้น ให้ระยะเวลา 2 ปี ไปดำเนินการ ทั้งนี้ ยังยืนว่า การใช้น้ำสาธารณะสำหรับการเกษตร หรือ เลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ

ด้าน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ กล่าวว่า หากพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ. เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะส่งร่างฯ ไปยังรัฐบาล เพื่อให้ความเห็นในการขอแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในสิ้นเดือน เม.ย. นี้ สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ปี 2556 ก่อนที่ คสช. จะเข้ามาบริหารประเทศในเดือน พ.ค. 2557 และในปี 2558 มีแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ เรียกว่า ฉบับของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ที่ปัจจุบัน เป็นรองนายกรัฐมนตรี

“ร่างฯ ฉบับเดิม ที่ให้กรมทรัพยากรน้ำ มีงานทั้งกำกับและปฏิบัติด้วย ผิดหลักการ ซึ่งทางกรรมาธิการได้สอบถามความคิดเห็นไปยังรัฐบาล ก็เงียบไม่ได้ตอบอะไร แต่ปรากฏว่า มีคำสั่ง คสช. ที่ 2/2561 ตั้งหน่วยงานใหม่ คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ขึ้นมา ให้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการบริหารน้ำทั้งประเทศ แสดงว่า คสช. มีอำนาจที่จะบอกว่า เอาหรือไม่เอา ที่จะให้กรมทรัพยากรน้ำทำหน้าที่นี้หรือไม่ ทางกรมจะไปอ้างว่า ร่างฉบับนี้แก้ไขผ่าน ครม. มาแล้ว รัฐบาลเสนอเข้า สนช. แล้วถามว่า คสช. กับรัฐบาล ใครใหญ่กว่ากัน ณ วันนี้ ภายในคณะฯ ไม่ได้ขัดแย้ง ยกเว้นบางคนที่ไม่ค่อยได้เข้าประชุม จากประชุมร่วมกว่า 100 ครั้ง เข้าร่วม 40 ครั้ง ถามว่า ยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอยู่หรือเปล่า”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561

เกษตรเสนอ 5 แนวทาง ควบคุม 'พาราควอต'

อนุกรรมการเฉพาะกิจวัตถุอันตรายฯเร่งสรุปผลกระทบพาราควอต เม.ย.นี้ ด้านกรมวิชาการเกษตรเสนอ 5 แนวทางควบคุม

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นเดือนธ.ค. 2562

ขณะนี้อนุกรรมการฯได้ข้อสรุปแล้วและเตรียมเสนอ ให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมีดังกล่าว ภายในเดือนเม.ย. 2561 เพื่อยื่นเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงในเดือนพ.ค.2561 พิจารณาว่าควรจะยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอต ซึ่งถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายหรือไม่

ทั้งนี้ หากมติจากที่ประชุมคณะกรรมการฯมีมติจะไม่แบนสารเคมีดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมเสนอมาตรการควบคุม กำกับสารเคมีไว้แล้ว 5 แนวทางได้แก่ 1.กำหนดให้จำหน่ายในสถานที่กำหนด โดยต้องเป็นร้านที่ได้การรับรองโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ(Q shop)

2.กำหนดคุณสมบัติของผู้ใช้ และผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ต้องเป็นผู้การฝึกอบรมเท่านั้นกำหนดให้ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ผู้มีไว้ในความครอบครอง แจ้งข้อมูลการผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ในการครอบครอง เพื่อให้ทราบเส้นทางตั้งแต่การนำเข้า จนถึงเกษตรกร

3.กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้า ให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตราย เพื่อเป็นการลดอันตรายและความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี

4.กำหนดองค์ประกอบ สิ่งเจือปน และฉลาก เพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่เกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม และ 5.การทบทวนความเข้มข้นและสูตรวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน เช่น ไม่ผลิตแบบน้ำให้ผลิตแบบเจล หรือลดความเข้มข้น

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561

4 ชาติลุ่มน้ำโขง หนุนออกกฎใช้น้ำร่วม

4 ชาติสมาชิกกลุ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เห็นพ้องเดินหน้าผลักดันให้ออกกฎ-ระเบียบปฏิบัติ ในการใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน หวังลดปัญหาขัดแย้งระหว่างกัน ขณะผู้นำส่วนใหญ่เลี่ยงพูดถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 ที่เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผู้นำกัมพูชา ลาว เวียดนาม และรัฐมนตรีจากประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีนและเมียนมา พร้อมด้วยผู้แทนรัฐบาลประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ ได้มีการแสดงจุดยืนและรับรองปฏิญญาเสียมราฐ 2561 ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายของประเทศสมาชิก ในการมุ่งเน้นความร่วมมือพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน 2538 และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เพิ่มพูนความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบน รวมถึงจีนและสหภาพเมียนมา ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้และการประยุกต์สำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง

สำหรับประเด็นที่รัฐบาลไทยนำเสนอในที่ประชุม คือการผลักดันความร่วมมือการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ การเสริมสร้างบทบาทให้เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา กล่าวเปิดงานโดยไม่ได้พูดถึงผลกระทบเชิงลบจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ ได้แต่กล่าวถึงสิ่งท้าทายจากการเพิ่มจำนวนประชากร การพัฒนาที่รวดเร็ว และความต้องการน้ำ อาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน เช่นเดียวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างเขื่อน แต่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในการจัดการกับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ และระบุว่า ไทยสามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายทองลวน สีโซลิด นายกรัฐมนตรีลาว ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ที่ถูกวิจารณ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ลาวจะทำตามคำมั่นและจะทำให้แน่ใจว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำจะถูกก่อสร้างด้วยแนวทางที่ยั่งยืน ด้านนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เรียกร้องให้มีมาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน และกล่าวต่อที่ประชุมสุดยอดว่าระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมกำลังเสื่อมถอยลงอย่างรุนแรงจากการสร้างเขื่อน

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561

กรมโรงงานฯ เชื่อม 6 หน่วยงานเปิดระบบออนไลน์

กรมโรงงานฯ เชื่อม 6 หน่วยงาน เตรียมเปิดระบบออนไลน์การยื่นคำขออนุญาต วัตถุอันตราย ณ จุดเดียว คาดเปิดใช้บริการสิ้นปี 61                

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชนที่มาติดต่อราชการ ด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาให้บริการในรูปแบบ One Stop Service นั้น

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมนำร่องให้บริการระบบรับคำขออนุญาตวัตถุอันตราย ณ จุดเดียว (Hazardous Substance Single Submission: HSSS) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการยื่นขออนุญาตการประกอบกิจการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย อาทิ คำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย คำขออนุญาตในการผลิต นำเข้า ส่งออกวัตถุอันตราย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบบดังกล่าวยังจะเชื่อมโยง หน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมธุรกิจพลังงาน

จากที่แบบเดิมต้องเดินทางมาดำเนินเรื่องเองที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานอนุญาตที่เกี่ยวข้อง ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นคำขออนุญาตเกี่ยวกับวัตถุอันตรายกับหน่วยงานเป้าหมาย ลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสาร การเดินทาง และค่าใช้จ่ายร่วมกัน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2561 นี้ จะมีการนำร่องเปิดใช้ระบบดังกล่าวที่ กรอ. เป็นที่แรกอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ในอนาคตระบบ HSSS จะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลวัตถุอันตรายกว่า 1,500 รายการ และข้อมูลสารเคมีและทำเนียบสารเคมีอีกกว่า 10,000 รายการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและสาธารณชนได้รับความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวกับสารเคมีที่มีและใช้ในประเทศ ช่วยจัดลำดับความสำคัญและรูปแบบที่จะควบคุมสารเคมีได้อย่างเหมาะสม อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับการค้าระหว่างประเทศ โดยภายในสิ้นปีนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าที่จะเปิดระบบดังกล่าวนำร่องใช้เป็นที่แรกอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สารสนเทศโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม  www.diw.go.th                   

 จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561

สารกำจัดวัชพืชไม่ใช่ผู้ร้าย ! หากใช้ถูกวิธี

เสียงสะท้อนจากชาวไร่อ้อยหนองบัวลำภู  สารกำจัดวัชพืชไม่ใช่ผู้ร้ายหากใช้ถูกวิธี 

 ไม่ปฏิเสธว่าการใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นหนึ่งในการกำหนดต้นทุนการผลิตสำหรับภาคเกษตร จากสถิติการนำเข้าสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (โรค แมลง วัชพืช) ในปี 2520–2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2520 ปริมาณนำเข้าทั้งหมด 6,811 ตัน และในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 154,568 ตัน คิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 0.84 กิโลกรัมต่อไร่สำหรับประเทศไทย หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้ มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสูงมากเฉลี่ยปีละ 4 และ 8 กิโลกรัมต่อไร่

“ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้พาไปตะลุยแดนอีสานฟังเสียงสะท้อนของชาวไร่อ้อยที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืชในการจัดการอ้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่ม บุญโฮม อะโน เจ้าของร้านบุญนภาการเกษตร ขณะที่หมวกอีกใบเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยส่งโรงงานบนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ บุญโฮมบอกว่าอดีตเคยทำนาปลูกข้าวเหนียว เมื่อรัฐบาลมีนโยบายโซนนิ่งอ้อย จึงเปลี่ยนที่นาหันมาปลูกอ้อยแทน หลังมีโรงงานน้ำตาลมาตั้งในพื้นที่ โดยพื้นที่ไร่อ้อย 500 ไร่ มีต้นทุนการผลิตตลอดอายุการเก็บเกี่ยว 3-4 ตออ้อย หรือ 3-4 ปีจะอยู่ที่ 8,000 บาทต่อไร่ ที่รวมทั้งค่าตอพันธุ์อ้อย ค่าแรง ค่าปุ๋ยค่ายา โดยแต่ละปีจะมีการฉีดยากำจัดวัชพืช 3 ครั้ง ซึ่งในปีแรกจะได้ผลผลิตประมาณ 12 ตันอ้อยต่อไร่ ปีต่อมาผลผลิตลดลงอยู่ที่ 6 ตันอ้อยต่อไร่ ขณะที่ราคารับซื้ออ้อยหน้าไร่อยู่ที่ตันละ 700 บาทและปีที่ 3 และ 4 จะลดหลั่นกันไปตามความสมบูรณ์ของดินและการบำรุง

“ในข้อเท็จจริงเกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าหญ้าจะผสมยาลงถังแล้วใช้รถแทรกเตอร์พ่วงฉีดในไร่ คนฉีดไม่ได้สัมผัสโดยตรง คนงาน 1 คนสามารถฉีดได้ 20 ไร่ต่อวัน แต่ในเกษตรกรรายย่อย คนฉีดเป็นกลุ่มแรงงานรับจ้างฉีดพ่นยา ผมว่ากลุ่มนี้สำคัญพอๆ กับร้านขายปุ๋ยยา เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องเข้าใจกลุ่มของยา วิธีการใช้ ตลอดจนการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัว ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาของพืชประธานและวัชพืช เมื่อรับงานแล้วเขาจะเข้ามาจัดยาจากร้านไปฉีดพ่น การเลือกใช้จะเป็นไปตามคำแนะนำของร้าน และความคุ้นเคยส่วนตัว พื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เพิ่งจะหันมาปลูกอ้อยโรงงานไม่นาน ผู้ใช้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยและยาอย่างถูกต้อง ซึ่งก็ต้องได้รับคำแนะนำจากร้าน และดูขั้นตอนการปฏิบัติจากฉลากข้างขวดอย่างเคร่งครัด"

บุญโฮม ระบุว่า การเกิดกระแสข่าวยาฆ่าหญ้ายี่ห้อหนึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดหนังเน่า และยังไม่มีข้อสรุปว่าจะอนุญาตให้ขายหรือไม่ ทำให้คนฉีดพ่นก็ตีเหมาเอาเลยว่าเป็นยายี่ห้อนี้ จึงเกิดความไม่เป็นธรรม ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วเขาเองยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกใช้กลุ่มยาและวิธีการปฏิบัติอย่างแท้จริง

เขายอมรับว่า ในส่วนตัวการเลือกใช้ยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อย 500 ไร่ของตนเองจะใช้ยี่ห้อที่คุ้นเคยมานาน เพราะสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้จริง เนื่องจากเห็นผลที่ชัดเจนและควบคุมการฉีดพ่นได้

“ถามผมในฐานะทั้งคนขายและคนใช้ ผมไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ถ้าเขาไม่ซื้อยี่ห้อนี้นะเขาก็ยังใช้ยี่ห้ออื่นอยู่ดี อาจต้องจ่ายค่ายาและค่าแรงเพิ่ม ในฐานะคนขายผมไม่เดือดร้อน ยังไงผมก็ขายได้ แต่ในแง่ของคนซื้อ ผมกังวลว่านี่จะเป็นภาระให้แก่ชาวไร่อ้อย เพราะเขาขาดความเข้าใจที่ชัดเจน” บุญโฮมกล่าวย้ำ

ขณะที่ นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ระบุชัดว่า การใช้สารเคมีอาจเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังเน่า แต่ไม่ใช่มีผลกระทบโดยตรง หากเกษตรกรมีการใช้อย่างถูกวิธีในกรณีที่เกษตรกรเป็นแผลและมีการใช้สารเคมีหรือมีความเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมีโดยไม่ถูกสุขลักษณะ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรกว่า 149 ล้านไร่ มีประชากรที่ยึดอาชีพเกษตรกร 17 ล้านคน นอกจากผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคในประเทศแล้วยังสามารถทำรายได้จากการส่งออกสูงถึงปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ (ไม่ใช้สารเคมี) ประมาณ 3 แสนไร่ หรือคิดเป็น 0.17 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ขณะพื้นที่อีก 148.7 ล้าน หรือ 99.83 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังมีความจำเป็นในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อใช้ป้องกันความเสียหายของผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อการส่งออก ภายใต้กระบวนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ จีเอพี (Good Agricultural Practices: GAP) โดยการสนับสนุนจากกรมวิชาการเกษตร

โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลักอย่าง อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และปาล์มน้ำมัน  ถือเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่คุ้นเคยมากว่า 50 ปี เพื่อการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ในการพัฒนาเกษตรกรฐานรากไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์อย่างแท้จริง

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2561

‘บราซิล’ยุติศึก ไม่ฟ้องไทยต่อWTO กรณีอุดหนุนน้ำตาล

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จากการประสานกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า บราซิล ได้ระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาต่อไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) กรณีไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายจนกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโลก

สาเหตุที่บราซิล ระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาต่อไทย เนื่องจากไทยได้มีการดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกของตลาด การยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย และให้มีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณสำรองที่กำหนดเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

“บราซิลได้เห็นถึงความจริงใจต่อการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องตามข้อตกลงทางการค้าเสรีภายใต้ข้อกำหนดของ WTO จึงได้แจ้งระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษาจนกว่าไทยจะได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นผลจากการแสดงท่าทีที่ชัดเจนและความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา รวมทั้งการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาตลอดจนการเจรจาหารือกับบราซิลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด” นางวรวรรณ กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561

อ้อยทะลัก! กอน.ประสานดูแลโรงงานปิดหีบต้องไม่มีอ้อยค้างไร่

“กอน.” มอบให้อนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น 27 เขตติดตามการปิดหีบอ้อยแต่ละโรงงานใกล้ชิด ให้คำนึงถึงปริมาณอ้อยคู่สัญญาที่เหลือ หากจำเป็นก็ต้องมีมาตรการเยียวยาหรือให้มีโรงงานน้ำตาลโรงงานหนึ่งที่ใกล้เคียงเพื่อรองรับปริมาณอ้อยคงเหลือในพื้นที่นั้น ชาวไร่เผยอ้อยเข้าหีบเพิ่มต่อเนื่องคาดแตะ 127 ล้านตัน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการติดตามสถานการณ์การหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ซึ่งพบว่าปริมาณอ้อยค่อนข้างมากจึงมอบให้คณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น 27 เขตที่มีผู้ว่าจังหวัดเป็นประธานได้มีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลไม่กระทบกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา

“ก่อนหน้าชาวไร่อ้อยเกรงว่าจะมีการปิดหีบเร็วและทำให้อ้อยบางส่วนค้างไร่ เพราะปริมาณอ้อยปีนี้คอ่นข้างมาก กอน.จึงมอบให้ประธานคณะกรรมการบริหารมีหนังสือถึงคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง 27 เขตเพื่อพิจารณา ดูความเหมาะสมถึงการปิดหีบหรือไม่ อย่างไร เพราะคณะอนุกรรมการนี้มีตัวแทนจากทุกฝ่ายและอยู่ในพื้นที่จะทราบข้อมูลเป็นอย่างดีจากนั้นก็จะทยอยส่งข้อมูลมายัง สอน.เพื่อที่ กอน.จะนำไปประกอบการพิจารณากำหนดวันปิดหีบอ้อยอย่างเป็นทางการต่อไป” นางวรวรณกล่าว

ทั้งนี้ การปิดหีบอ้อยจะต้องคำนึงองค์ประกอบดังนี้ 1. ปริมาณอ้อยคงเหลือที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาล 2. ปริมาณอ้อยคงเหลือในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาล 3.หากมีความจำเป็นต้องปิดหีบอ้อย เนื่องจากมีปริมาณอ้อยคงเหลือน้อย ควรมีมาตรการเยียวยาหรือให้มีโรงงานน้ำตาลโรงงานหนึ่งที่ใกล้เคียงเพื่อรองรับปริมาณอ้อยคงเหลือในพื้นที่นั้น

นางวรวรรณกล่าวว่า ปกติโรงงานส่วนใหญ่จะทยอยปิดหีบอ้อยช่วงเทศกาลสงกรานต์เนื่องจากแรงงานจะต้องกลับภูมิลำเนา แต่ปีนี้ปริมาณอ้อยค่อนข้างมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาทำให้โรงงานบางส่วนยืนยันว่าจะปิดหีบอ้อยจนกว่าอ้อยจะเข้าหีบหมดโดยบางโรงกำหนดจะปิดช่วง พ.ค. อย่างไรก็ตาม ช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการจราจรโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะหยุดหีบระหว่าง 10-18 เมษายนนี้เนื่องจากรถบรรทุกต้องหยุดวิ่ง

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ภายในสุดสัปดาห์นี้คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะอยู่ที่ประมาณกว่า 123 ล้านตันซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์และอาจจะทำลายสถิติต่อเนื่องเพราะยังมีอ้อยเหลืออยู่โดยบางโรงงาน คาดว่าจะกลับมาหีบต่อหลังสงกรานต์ เบื้องต้นคาดว่าอ้อยน่าจะแตะระดับ 127 ล้านตัน

“โรงงานบางแห่งทยอยปิดบ้างแล้วแต่ก็จะมีโรงงานใกล้ๆ ที่จะเปิดรับอ้อยที่เหลือโดยก็ได้มีการพูดคุยและประสานกันในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ชาวไร่รีบตัดอ้อยและรีบขาย” นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561

สอน.ชง3ข้อช่วยโรงงานน้ำตาล

 สอน.ชง3ข้อ แนวทางการบริหารจัดการปริมาณอ้อยฤดูการผลิตปี60/61 พร้อมออกมาตรการเยียวยาโรงงาน

 นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ได้พิจารณาสถานการณ์การผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/2561 และแนวทางการบริหารจัดการปริมาณอ้อยคงเหลือ

 โดยที่ประชุม มีมติดังนี้1. ให้ประธานคณะกรรมการบริหาร มีหนังสือถึงคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่นทั้ง 27 เขต เพื่อพิจารณาให้ความเห็นกรณีโรงงานน้ำตาลที่จะปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2560/2561 ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกำหนดวันปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2560/2561ทั้งนี้ให้คำนึงถึงองค์ประกอบดังนี้

 1. ปริมาณอ้อยคงเหลือที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาล2. ปริมาณอ้อยคงเหลือในพื้นที่ ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาล3. หากมีความจำเป็นต้องปิดหีบอ้อย เนื่องจากมีปริมาณอ้อยคงเหลือน้อย ควรมีมาตรการเยียวยาหรือให้มีโรงงานน้ำตาลโรงงานหนึ่งที่ใกล้เคียงเพื่อรองรับปริมาณอ้อยคงเหลือในพื้นที่นั้น

 2. ขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาล พิจารณากำหนดแนวทางการรับอ้อยในพื้นที่ให้หมด โดยการพิจารณากำหนดวันปิดหีบผลิตน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2560/2561 ให้มีการประสานอย่างใกล้ชิด กับสมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่ และให้รายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณา ในประเด็นทั้ง3ข้อ

 อย่างไรก็ตามสอน. ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลเพื่อดำเนินการตามมติดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561

สงครามการค้าไม่กระทบไทย สอท.ปรับเป้าส่งออก 8%-จับตาบาทแข็ง

พาณิชย์มองโลกในแง่ดี เชื่อสงครามการค้าจีน-สหรัฐไม่กระทบไทย ขณะที่ “กกร.” ไปไกลถึงขั้นปรับเป้าส่งออกปี’61 จาก 6% เป็น 8% ตามความเชื่อเหมือนกระทรวงพาณิชย์ ด้าน สรท.เตือนสินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐไม่มีสิทธิทะลักเข้าอาเซียน ให้จับตาบาทแข็งต่อเนื่อง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า จีนได้ประกาศระงับการลดหย่อนภาษีนำเข้าและขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 128 รายการ มีผลบังคับใช้ทันที โดยการดำเนินการของจีนครั้งนี้มีขึ้นเพื่อ “ตอบโต้” การตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมตามมาตรา 232 สหรัฐ (มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561) โดยเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง (Agreement on Safeguard) และจีนได้ยื่นรายการสินค้าต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรักษาผลประโยชน์และชดเชยความเสียหายทางการค้าของจีนแล้ว

“การขึ้นภาษีส่งผลกระทบต่อการค้าของจีน แต่คงไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย และเราต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากไทยเป็นซัพพลายเชนด้านการผลิตของจีน” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

ทั้งนี้การขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ 128 รายการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ภาษีนำเข้าอัตรา 15% ครอบคลุมสินค้า 120 รายการ ได้แก่ ผลไม้สดและแห้ง, ถั่วและอื่นๆ, ไวน์, เอทานอลแปรรูป, โสม, ท่อเหล็ก คิดเป็นมูลค่า 1,129.50 ล้านเหรียญ กับกลุ่มที่ 2 ภาษีนำเข้า 25% ครอบคลุมสินค้า 8 รายการ ได้แก่ หมู/ผลิตภัณฑ์จากหมู, อะลูมิเนียมรีไซเคิล/ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม คิดเป็นมูลค่า 1,957.63 ล้านเหรียญ

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กล่าวว่า กกร.ได้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2561 ใหม่เป็นขยายตัว 4.0-4.5% จากเดิม 3.8-4.5% โดยเป็นผลจากการท่องเที่ยวดีขึ้น ส่วนรายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ส.อ.ท.คาดว่าจะขยายตัว 5.0-8.0% จากเดิม 3.5-6.0% แม้ว่าสหรัฐจะประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและจีนก็ได้ตอบโต้สหรัฐ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะนี้มีปัจจัยที่สหรัฐมีแผนจะปรับอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง “อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนรีบาวนด์”

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการค้ามากที่สุดอย่าง “สินค้าเหล็ก” จำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่รองรับ เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาที่กำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างจำนวนมาก รวมถึงตลาดใหม่อย่างเอเชียใต้-แอฟริกา ส่วนสินค้าไอที/อิเล็กทรอนิกส์/ฮาร์ดแวร์ ซึ่งไทยส่งออกไปยังสหรัฐจำนวนมาก ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้านั้น เป็นผลจากการส่งออกโดยบริษัทสหรัฐที่มาลงทุนในไทย ซึ่งไม่ควรใช้มาตรการทางการค้ารูปแบบนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยโดยกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ มีแนวทางเจรจาที่จะทำให้บรรยากาศดีขึ้นจนไม่เกิดเป็นสงครามการค้ารุนแรง ขณะที่อะลูมิเนียมถึงจะเป็นสินค้าที่ถูกกีดกันไปด้วย แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะไทยยังคงเป็นตลาด net import ต่อให้ส่งออกสหรัฐไม่ได้ก็สามารถส่งตลาดอื่นได้

นายชัยชาญ เจริญสุข รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้ว่าการตอบโต้ทางการค้าของ 2 ประเทศจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในทางตรงมากนัก แต่จะมีผลต่อการค้าโลกทำให้มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น คาดว่าการใช้มาตรการนี้จะใช้เวลา 3 เดือน ระหว่างนั้นปัญหาจะต้องถูกหยิบยกเข้าหารือในที่ประชุมระดับโลกโดยเฉพาะ WTO เพื่อหาทางออกให้ได้โดยเร็ว เพราะหลายประเทศต่างก็วิตกกังวลกันมากและมีแนวโน้มที่หลายประเทศอาจจะนำมาตรการทางการค้าลักษณะนี้มาใช้เพิ่มขึ้น

“สินค้าจีนใช้มาตรการภาษีกับสหรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสหรัฐมากนัก แต่อีกด้านน่าจะเป็นโอกาส เพราะสินค้าดังกล่าวใกล้เคียงกับสินค้าที่ไทยผลิตอาจสร้างโอกาสทางการค้า อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนกังวลว่า มาตรการภาษีสหรัฐที่ใช้กับสินค้าจีน อาจจะทำให้สินค้าจีนไหลทะลักมาสู่เอเชียเพราะไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐได้ ซึ่งเริ่มเห็นผลมากขึ้นแล้ว นอกจากนี้ยังห่วงเรื่องค่าบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด” นายชัยชาญกล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561

“มิตซุย-โทเร” ทุ่ม 1.7 พันล้าน ปักหมุดอุดรผุด รง.น้ำตาลเซลลูโลส-

กลุ่มมิตซุยจับมือโทเรฯ บริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ทุ่มทุน 1.7 พันล้านบาท ผุดโรงงานผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากกากอ้อย ยึด อ.กุมภวาปี อุดรธานี เป็นฐานการผลิต

นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มบริษัทมิตซุย และบริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และโรงงานน้ำตาลเกษตรผล ได้ร่วมกับบริษัท โทเร อินดัสตรีส์ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อจดทะเบียนตั้งบริษัท เซลลูโลซิก ไบโอแมส เทคโนโลยี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 450 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากกากอ้อย ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนจาก New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น 900 ล้านบาท และกลุ่มมิตซุย และบริษัทโทเรฯ อีกจำนวน 800 ล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท

นายธนัชชัยกล่าวว่า โครงการนี้มีการประสานงานจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของบริษัทโทเรฯในการแยกน้ำตาลเซลลูโลสและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากกากอ้อย และการลงทุนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการมาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะที่อุดรธานี ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะแล้วเสร็จมีนาคม และเริ่มทดลองเดินเครื่องได้ในช่วงเมษายน โรงงานจะมีกำลังการผลิตกากอ้อยขั้นต่ำวันละ 15 ตัน และอาจกล่าวได้ว่าโรงงานแห่งนี้เป็นแห่งแรกในโลก เป็นกรีนเทคโนโลยี

ก่อนหน้านี้โรงงานได้มีการประชุมชาวบ้านและยืนยันว่าจะทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด ส่วนวัตถุดิบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกากอ้อย ซังข้าวโพด ซังข้าว เทคโนโลยีใหม่ของโรงงานจะสามารถนำมาใช้กับกระบวนการนี้ได้ทั้งหมด จากเดิมที่ต้องทิ้งก็เอามาผลิตทำผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้อีก จนกระทั่งกากสุดท้ายเอาไปเผาเป็นพลังงาน จากเดิมที่ผลิตน้ำตาลได้ 3-4 ตัว อาทิ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายดิบ ก็จะสามารถผลิตได้เพิ่มอีก 3 ตัว ได้แก่ น้ำตาลเซลลูโลส โอลิโกแซ็กคาไรด์ และโอริเฟนอน

“อาจจะกล่าวได้ว่า โรงงานนี้เป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ นำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ขณะที่ส่วนประกอบอื่น ๆ ใช้ในประเทศ และมีส่วนที่เปิดให้สถาบันการศึกษานำนักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ ซึ่งสินค้าที่ผลิตได้นี้เป็นที่ต้องการของบริษัทใหญ่ ๆ ที่สนใจของบริษัทน้ำตาล บริษัทที่เกี่ยวกับพลังงาน รวมถึงบริษัทที่ทำเกี่ยวกับอาหารสัตว์”

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 4 เมษายน 2561

“สมคิด” ตรวจงาน ก.อุตสาหกรรม กำชับดัน SME สู่ 4.0

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงความก้าวหน้ามาตรการขับเคลื่อน SME สู่ 4.0 และการขับเคลื่อน S-Curve ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาล

โดยนายอุตตมฯ กล่าวว่า ได้รายงานการขับเคลื่อน SME สู่ 4.0 ที่เน้นเศรษฐกิจฐานราก หรือ Local Economy อาทิ ปั้นนักธุรกิจเกษตรแปรรูป โดยการบ่มเพาะให้เกษตรกร พัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จนกลายมาเป็นผู้ประกอบการ มีเป้าหมายในการปั่นนักธุรกิจเกษตรแปรรูปจำนวน 55,000 คน การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) มีเป้าหมายพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ครบทุกจังหวัดในปี 2562 และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชนมูลค่ารวม 2,892 ล้านบาท และจะปฏิรูป SMEs (SMEs Transformation) ด้วยการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและนวัตกรรม (Productivity and Innovation) เสริมทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) และยกระดับ SMEs สู่มาตรฐานที่เหมาะสม (SME Standard UP)

เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมของไทยเข้าถึงห่วงโซ่มูลค่าการผลิตของโลก (global value chain) เชื่อมโยงกับ T GoodTech ที่จะส่งเสริมให้ SMEs เข้าสู่การซื้อขายออนไลน์ เชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) กับคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในสิ้นปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าระบบ ประมาณ 2,600 ราย และจะมีการอบรมการนำเข้าและส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการ แนวทางการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในต่างประเทศ และยังได้เชื่อมโยงกับ J GoodTech ของประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 ภายใต้แนวคิด Connected Industries

ทั้งนี้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) และโครงการ Big Brothers จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน SME สู่ 4.0 ด้วยการให้บริการเครื่องจักรกลาง ให้คำปรึกษาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมการตลาด โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ซึ่งจะมีศูนย์ ITC 22 แห่งทั่วประเทศ ที่เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการ โดยที่ ITC ส่วนกลางกล้วยน้ำไท โดยจะมีหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เครื่องจักรอัตโนมัติ และการขึ้นรูปอัตโนมัติ ที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมจะให้บริการผู้ประกอบการ ส่วนที่ต่างจังหวัดจะตั้งอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1-11

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมตั้ง Mini ITC ในสำนักงานอุตสาหกรรมทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งจะมีอุปกรณ์ออกแบบ-ส่งเสริมการตลาด การให้คำปรึกษาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยจะทยอยติดตั้งอุปกรณ์และเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ภายในปีนี้

ส่วนโครงการ Big Brothers ที่มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นพี่เลี้ยงในการจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพ ทั้งด้านความรู้ การสร้างนวัตกรรม การพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิต การตลาด และการเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่ทีศักยภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายใหม่ได้นำประสบการณ์โดยตรงเหล่านี้ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 350 ราย โดยมีบริษัทที่มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในโครงการนี้ อาทิ บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัทเบทาโก จำกัด (มหาชน) บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เป็นต้น

นายอุตตมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยพัฒนากลุ่ม SMEs และผลักดันให้เข้าถึงมาตรการส่งเสริมของทางรัฐบาล เพื่อที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นให้นำหน่วยงานเครือข่าย อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน มาช่วยในการให้ขับเคลื่อน SMEs

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เตรียมนำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 ที่จะพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมชีวภาพ 3 เขตเป้าหมาย คือ ภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดกำแพงเพชร) พื้นที่ EEC และพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยอนาคตคาดว่าจะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 187,205 ล้านบาท และมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อน S-Curve เพิ่มเติม จากเป้าหมายใน 10 อุตสาหกรรม

สำหรับการพัฒนากระทรวงอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมด ให้รวมเป็น Big Data ผ่านระบบ i-Industry ที่ประชาชนสามารถใช้บริการด้วยบัตรประชาชน (Smart Card) โดยไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และยังได้เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 เมษายน 2561

ปฏิบัติการ"ฝนหลวงฯ"สลายพายุลูกเห็บ-เพิ่มน้ำพื้นที่เกษตร

              "ฝนหลวงฯ"สนธิกำลังกองทัพอากาศสลายพายุลูกเห็บภาคเหนือเพิ่มน้ำพื้นที่เกษตร สร้างความชุ่มชื้นผืนป่าตะวันตก ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร ป้องกันไฟป่า หมอกควัน  ภัยแล้ง

             นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าได้สั่งการให้หน่วยฝนหลวงภาคเหนือ ขึ้นปฏิบัติการยับยั้งพายุลูกเห็บที่เกิดจากพายุฤดูร้อนในช่วงนี้ ที่อาจส่งผลกระทบประชาชนและพื้นที่การเกษตรเสียหายได้ โดยหน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ ขึ้นบินทำฝน 5 เที่ยวบิน แบ่งเป็นภารกิจยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บบริเวณ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยใช้เครื่องบินโจมตีแบบ Alpha Jet ของกองทัพอากาศ ใช้สารฝนหลวง 60 นัด และภารกิจเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตร เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งใช้เครื่องบิน CASA จำนวน 2 ลำ ใช้สารฝนหลวง 4.0 ตัน ผลการปฏิบัติการไม่พบการเกิดลูกเห็บในพื้นที่ดังกล่าว และมีฝนตกเล็กน้อย

            พร้อมกันนี้ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.กาญจนบุรี บินปฏิบัติการโดยมีเป้าหมายบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้เขตอนุรักษ์ด้านตะวันตกของภาคกลาง อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขณะที่หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา บินปฏิบัติการโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคอง ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี ปฏิบัติการโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตรภาคตะวันออก  และหน่วยปฏิบัติการฯ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เพิ่มน้ำเก็บกักบริเวณลุ่มน้ำเขื่อนแก่งกระจาน

                “จะเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีสภาพตื้นเขิน ได้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในการผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค ให้น้ำพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะภัยแล้ง การสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่าไม้ และการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ โดยประชาชนและเกษตรกรสามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ “นายสุรสีห์กล่าว

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 4 เมษายน 2561

เกษตรฯ เผยผลวิเคราะห์ดินน้ำจากหนองบัวลำภู ผลสอดคล้อง 2 หน่วยงานไม่พบพาราควอตตกค้าง

กรมวิชาการเกษตร เปิดผลวิเคราะห์ดินน้ำจากหนองบัวลำภูที่เคยถูกอ้างพบพาราควอตตกค้างอันตรายสูง ชี้ผลวิเคราะห์ 2 หน่วยงานตรวจจากแลปมาตรฐานสากลไปทางเดียวกัน ไม่พบการตกค้าง ขอประชาชนอย่าตระหนก

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกรณีที่มีข่าวระบุว่าพบการปนเปื้อนของสารพาราควอต จากตัวอย่างน้ำผิวดิน อ่างเก็บน้ำ ลำน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำประปา ดินในไร่ยางพาราและไร่อ้อย ตะกอนดินจากอ่างเก็บน้ำ และผัก โดยพบสารพาราควอตปนเปื้อนในปริมาณที่สูงมากในพื้นที่ตำบลบุญทัน อ.สุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู นั้น กรมวิชาการเษตร ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำและดินมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องรายงานให้กับสาธารณชนได้รับทราบ

โดยทั้ง 3 หน่วยงานได้เก็บตัวอย่างน้ำและดินในแหล่งเดียวกันที่ถูกอ้างถึงในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 7 -10 มีนาคม 2561 โดยกรมวิชาการเกษตรเก็บตัวอย่างน้ำจำนวน 10 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการกรมวิชาการเกษตรไม่พบการปนเปื้อนของสารพาราควอตทั้ง 10 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่พบการปนเปื้อนของสารพาราควอตจากตัวอย่างน้ำในแหล่งเดียวกันที่เก็บมาตรวจวิเคราะห์จำนวนทั้งสิ้น 8 ตัวอย่าง

สำหรับผลการวิเคราะห์สารตกค้างของพาราควอตในตัวอย่างดิน ซึ่งไม่ได้มีค่ามาตรฐานในดินกำหนดไว้ ผลการวิเคราะห์ของกรมวิชาการเกษตรพบการตกค้างของพาราควอตในตัวอย่างซึ่งเก็บมาจำนวน 7 ตัวอย่างในปริมาณที่ต่ำมากไม่สูงเท่ากับตามที่เป็นข่าว ซึ่งใกล้เคียงกับผลการวิเคราะห์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่พบการตกค้างในดินต่ำมากเช่นเดียวกัน 

“กรมวิชาการเกษตรได้เก็บตัวอย่างทั้งดินและน้ำร่วมกับอีก 2 หน่วยงานเพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้นำตัวอย่างทั้งน้ำและดินมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตรซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ผลการวิเคราะห์เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ในขณะที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้นำตัวอย่างดินและน้ำไปตรวจที่บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย จำกัด) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เป็นเช่นเดียวกัน และผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำที่เก็บมาจากแหล่งเดียวกันก็มีความสอดคล้องกัน คือ ไม่พบสารพาราควอตตกค้างในน้ำ ส่วนในดินแม้จะพบการตกค้างของสารพาราควอตแต่ก็ถือว่าอยู่ในปริมาณที่ต่ำมาก ไม่ได้มีปริมาณการตกค้างสูงตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 เมษายน 2561

ปธ.สอท.ชี้ดัน'พลังงานทางเลือก'ขึ้นเป็นตัวหลักผลิตไฟฟ้าวันนี้ยังยาก

สภาอุตสาหกรรม สอท. พลังงานทางเลือก ผลิตไฟฟ้า ไฟฟ้า พลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน  

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวในเวทีเสวนา “ทางเลือกพลังงานไฟฟ้าไทย ถ้าไม่พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ - TDRI) ณ รร.ฮอลิเดย์ อินน์ สีลม ว่า ไฟฟ้ามีความหมาย 2 แบบ คือ 1.ไฟฟ้าในเชิงสาธารณูปโภค หมายถึงการใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ดังนั้นจะมีมากบ้างน้อยบ้างก็ไม่เป็นอะไรเท่าใดนัก กับ 2.ไฟฟ้าในเชิงปัจจัยการผลิต หมายถึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในภาคอุตสาหกรรม จึงต้องเป็นไฟฟ้าที่มีคุณภาพและมีความสม่ำเสมอ

ดังนั้นการใช้พลังงานทดแทนจึงต้องดูความเหมาะสม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์อาจเหมาะกับกิจการห้างสรรพสินค้า เพราะช่วงกลางวันมีแสงแดดจัดพร้อมๆ กับอากาศร้อน จึงมีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าค่อนข้างมากในเวลาดังกล่าว แต่อาจไม่เหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเดินเครื่องจักรผลิตสินค้า 24 ชั่วโมง และถึงแม้จะมีระบบกักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์แต่อย่างไรก็ยังไม่เพียงพอ

“พลังงานทดแทนเป็นผู้ช่วย ถามว่าเป็นตัวหลักเลยได้ไหม ตอนนี้ผมคิดว่าถึงราคาถูกเท่าไหร่ เรื่องของความไม่แน่นอน ไม่เสถียร เรื่องของการมีเวลาจำกัดของมัน มันก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ใช้ในบางประเภททำไม่ได้ อย่างไรก็ต้องมีโรงไฟฟ้าที่เป็นเบสโหลด (Base Load) หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้ตลอดเวลา นิ่งๆ เดินเครื่องตลอดเวลา 24 ชั่วโมง” ปธ.สอท.กล่าว

นายเจน กล่าวต่อไปว่า แต่ก่อนเราอาจใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักหรือเบสโหลดที่ร้อยละ 60 ใช้จากแหล่งอื่นๆ ร้อยละ 40 แต่หากต่อไปแหล่งอื่นๆ มีเทคโนโลยีที่ราคาถูก มีความเสถียรมากขึ้น ระบบสมาร์ทกริด (Smart Grid-เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ) ก็จะเข้ามาช่วยให้คนสามารถผลิต ซื้อหรือขายไฟฟ้าได้เอง ตรงนี้การใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักก็จะลดลงได้อีก จากร้อยละ 60 ลงมาเหลือที่ร้อยละ 45 - 50 แต่จะให้ต่ำกว่านั้นคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นโรงไฟฟ้าหลักจึงยังมีความจำเป็น

สัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ประจำปี 2560

“กำลังการผลิตไฟฟ้าบ้านเราอาจอยู่ที่ 40,000 เมกกะวัตต์ (MW) ถ้าเราบอกต้องการเบสโหลด 25,000 MW ก็แสดงว่าต้องการจากโรงไฟฟ้าอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส ซึ่งเราสามารถเดินเครื่องเร่งเครื่องขึ้นลงได้ตลอดเวลา อันนี้สำคัญ ตรงนี้จะประกอบด้วยอะไรบ้างเราต้องมาคิดกัน แม้จะเอาเรื่องแบตเตอรี่มาอยู่ในสมการ แต่แสงอาทิตย์มี 5 ชั่วโมง คือ 10 โมงเช้า - บ่าย 3 โมง หลังจากนั้นหมดแล้ว จะกักเก็บอย่างไรให้ใช้ได้ตลอดทั้งวัน ไม่ใช่ใช้ตอนเย็นอีก 3 - 4 ชั่วโมง โรงงานอุตสาหกรรมเขาใช้ 24 ชั่วโมง มันไม่เหมือนกัน” นายเจน ระบุ

ปธ.สอท. ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยพึ่งพาพลังงานจากแก๊สธรรมชาติที่ 1 ใน 3 เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่แก๊สในอ่าวไทยก็ใกล้จะหมด นอกจากนี้แก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นแก๊สเปียกมีวัตถุดิบด้านปิโตรเคมีติดมาด้วย การนำขึ้นมาใช้จึงมีประโยชน์หลายต่อต่างจากแก๊สที่นำเข้ามาจะไม่ได้ตรงนี้ ฉะนั้นในส่วนโรงไฟฟ้าถ้ามองไปที่แก๊สเป็นหลักอย่างเดียวจะไหวหรือไม่ จะไม่มั่นคงหรือเปล่า

“Smart Grid” (สมาร์ทกริด) หรือระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้สำหรับคำนวณการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลงให้สอดคล้องกับปริมาณที่ใช้งานจริง โดยมีระบบเซ็นเซอร์ ระบบเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีทางด้านการควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งทำให้ระบบไฟฟ้ารับรู้ข้อมูลสถานะต่างๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจผลิตไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ สมาร์ทกริดเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เกิดความรวดเร็ว และแม่นยำสำหรับการอ่านค่าและประเมินข้อมูลย้อนหลัง จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีการคำนวณค่าไฟฟ้าหรืออย่างอื่นผิดพลาด

นอกจากนี้ที่พูดกันถึงทางเลือก แต่คำถามคือทางเลือกมีจริงหรือไม่ เพราะทุกทางเลือกล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แก๊สธรรมชาติข้อดีข้อหนึ่งคือใช้อยู่แล้วไม่มีการประท้วงต่อต้าน แล้วก็สะอาดในระดับหนึ่ง ส่วนถ่านหินเป็นพลังงานที่มีปัญหามลพิษเยอะที่สุดและไม่แก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งถ้าต้องการให้สะอาด ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก็จะเพิ่มขึ้น ตรงนี้ก็ต้องคิดว่าถ่านหินเป็นทางเลือกทางหนึ่งหรือไม่ ถ้าใช่ก็หมายถึงว่าต้องยอมรับเรื่องการขนส่ง เรื่องมลภาวะ เรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น

“ผมเชื่อว่าถ่านหินยังต้องมีอยู่ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังเดินอยู่ แต่สิ่งที่ต้องถามคือถ้าเราลดถ่านหินจะเอาอะไรมาแทน แก๊สธรรมชาติไหม ตอนนี้ก็ใช้อยู่แล้ว 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าลดการใช้ถ่านหินก็ต้องเพิ่มเป็น 75 - 80 เปอร์เซ็นต์ ยอมไหม ถ้ายอมก็ไปได้ แต่ถ้าเราบอกไม่เอา แล้วถ่านหินก็ไม่เอา ถามว่าที่สุดแล้วเราจะเอาอะไร ยกเว้นนิวเคลียร์ นิวเคลียร์ให้คำตอบที่ดีที่สุดตรงที่ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ทุกคนก็ชี้ไปที่ฟุกุชิมะ (เมืองในญี่ปุ่นที่มีเหตุกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหล) สังคมไทยต้องทำความเข้าใจและคิดให้รอบด้าน” นายเจน กล่าวย้ำ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 เมษายน 2561

‘บริหารจัดการน้ำ’ อีกเรื่องวาระปฏิรูป

“น้ำคือชีวิต” เพราะสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ไม่ว่าพืช สัตว์ รวมถึงคนเราต่างต้องใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะกับมนุษย์ที่มีสติปัญญาสูงสามารถสร้างอารยธรรมขึ้นมาได้นั้นน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญมาก จากยุคโบราณที่ทำระบบชลประทานเพื่อการเกษตร สู่ยุคปัจจุบันที่การผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งใช้พลังงานจากน้ำ ระบบหล่อเย็นของเครื่องจักรในอุตสาหกรรมก็ต้องใช้น้ำและสำหรับประเทศไทยร่วมกับเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างเมียนมา (พม่า) ลาวและกัมพูชา ก็มีเทศกาล “สงกรานต์” นำน้ำมาสาดเล่นกันเพื่อลดอุณหภูมิอบอ้าวในช่วงฤดูร้อน

อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ พื้นที่ก็มีปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่แตกต่างกันออกไป ดังตัวอย่างที่ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวในเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 9 หัวข้อ “กรอบการวิจัยที่สนับสนุนงานยุทธศาสตร์ การปฏิรูป การบริหารจัดการน้ำของประเทศ” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า

“ภาคกลาง” ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งมีการแย่งน้ำในคลองชลประทาน ไม่ให้ความร่วมมือภาครัฐในการทำนาปรัง การรุกคืบของน้ำเค็ม “ภาคตะวันออก” น้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง การรุกคืบของน้ำเค็มกระทบต่อการประมง และการประปา น้ำจากโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือจะเป็น “ภาคใต้” น้ำขาดแคลนและแย่งน้ำในเขตทำนา

ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกรนักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ประเทศไทย “มีปัญหาในการบริหารจัดการข้อมูล” ปัญหาสำคัญที่กระทบงานวิจัยและนโยบายคือ “คุณภาพข้อมูลด้านน้ำโดยเฉพาะปริมาณการใช้น้ำด้านเกษตร” อาทิ ระบบน้ำประปาไม่ได้จำแนกประเภทการใช้งานโดยละเอียดเหมือนการไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานถึง 33 หน่วยงานที่เก็บข้อมูลด้านน้ำและแต่ละหน่วยงานก็ใช้หลักเกณฑ์ในการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน

“ข้อมูลกระจัดกระจาย แม้ในกรมเดียวกันปัญหานิยาม และวิธีประมาณการที่ไม่ระบุที่ไปที่มาอย่างชัดเจน ทำให้งานวิจัยได้ผลไม่น่าเชื่อถือ และอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายและการลงทุนด้านทรัพยากรน้ำ จึงควรปฏิรูปอย่างเร่งด่วน การใช้น้ำในภาคการเกษตรยังค่อนข้างฟุ่มเฟือย แสดงว่าการขาดแคลนน้ำยังมีโอกาสเกิดสูงขึ้นในอนาคต หากไม่มีการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำให้ประหยัดขึ้น” ดร.นิพนธ์ ระบุ

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า เป้าหมายการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องแก้ปัญหา 3 เรื่องให้สำเร็จ คือ 1.ให้แต่ละหน่วยงานทำงานร่วมกัน 2.ทำงานเชิงพื้นที่ได้3.เกิดการทำงานจากชุมชนสู่หน่วยงาน (ล่างขึ้นบน) หมายถึง ควรมีการทำงานเชิงพื้นที่ (Area Based) คือ จะปรับพื้นที่อย่างไร-เชื่อมโยงอย่างไร เช่น พื้นที่ 150,000 ตารางกิโลเมตร ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีอ่างเก็บน้ำ 6-7 อ่าง จึงจำเป็นต้องวิจัยว่า จะบริหารอ่างทั้งหมดไปพร้อมๆ กันอย่างไร

“ความต้องการใช้น้ำจะสูงขึ้นถึง130,000-150,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี ทั้งการเกษตร ตัวเมืองขยายนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ที่เก็บน้ำมีเพียง 100,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงมีงานวิจัยเรื่อง น้ำซ้ำ เกิดขึ้น รวมถึงความเชื่อมโยงเรื่องการจัดการที่ดิน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่าที่ควร จึงยังจำเป็นต้องทำวิจัย ต้องนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าเพราะปัจจุบันมีระบบเก็บข้อมูลที่ดี แต่ยังขาดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างมีศักยภาพสูงสุด” ดร.รอยล ระบุ

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ด้านยุทธศาสตร์ที่ 5 ได้วางเป้าไว้หลายเป้าหมาย งานวิจัยที่หนุนมองเรื่องความมั่นคงของน้ำในหลายมิติ คือ บ้านทุกหลังต้องมีน้ำสะอาด เข้าถึงเพียงพอ การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้หมด ต้องดูระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไม่ปล่อยให้น้ำเค็มรุกพื้นที่ การกักเก็บน้ำของเขื่อนขนาดเล็กก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีการกักเก็บมาก อาจเกิดภัยพิบัติ และถ้าเกิดกรณีภัยพิบัติ การยกระดับกระบวนการทัศน์ เรื่อง “ฟลัดเวย์” (Flood Way) หรือร่องน้ำที่ทำการออกแบบไว้เป็นพิเศษ เพื่อให้น้ำที่หลากมาจะท่วมเมืองเบี่ยงออกไปทางอื่นเพื่อนำสู่ระบบระบายน้ำต่อไป

ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้ายของประเทศ!!!

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 เมษายน 2561

ลุ้นส่งออกปีนี้โต8% กกร.จี้รัฐสางอุปสรรคการค้า

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ สรท.

นางสาวกัณญภัคกล่าวว่า การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามการส่งออกในรูปเงินบาทอยู่ที่ 643,706 ล้านบาท หดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

“หดตัวของรายได้จากการส่งออกในรูปของเงินบาท ขณะเดียวกันมีการขยายตัวในรูปของเงินเหรียญสหรัฐเกิดจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการได้รับน้อยลงกว่าที่ควร และอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหาร เพราะที่ประมาณการกันว่า ยอดส่งออกไทยปีนี้จะโตได้ที่ 6% นั้น มาจากการที่อุตสาหกรรมอาหารขยายตัว 5% แต่หากปีนี้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไม่มีการขยายตัวเลยก็อาจทำให้ยอดการส่งออกปีนี้ลดลงเหลือแค่ 5% เนื่องจากสินค้าเกษตรและอาหารเป็นโครงสร้างของการส่งออกสินค้าไทย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ยอดส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมนี้ต้องมาลุ้นอีกครั้ง เนื่องจากจะเป็นจุดเริ่มความท้าทายที่ยอดส่งออกอาจโตไม่ถึง 2 หลัก เพราะมีเรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่จะมีผลต่อการค้าและการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 3

ในวันเดียวกัน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. ว่า ที่ประชุม กกร.ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 ใหม่ โดยประเมินว่าการส่งออกอาจขยายตัวร้อยละ 5.0-8.0 จากเดิมเมื่อเดือนมกราคม 2561 ประเมินว่าจะโตร้อยละ 3.5-6.0

“เศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกของไทยเติบโตมากขึ้น รวมทั้งการท่องเที่ยวขยายตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งหากการส่งออกปีนี้ออกมาดีต่อเนื่อง ทั้งปีก็น่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับ 8% เพราะขณะนี้ประเมินว่าการส่งออกขยายตัวได้เกินขั้นต่ำที่คาดการณ์ว่าจะโต 5% ไปแล้ว ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% แน่นอน แต่จะถึง 8% หรือไม่คงต้องติดตาม

ทั้งนี้ กกร. จะติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะไม่ขยายตัวถึงขั้นเป็นสงครามทางการค้า หากไทยจะไปเจรจากับสหรัฐก็จะต้องเตรียมประเด็นที่เข้าไปหารือเพื่อให้ไทยได้รับผลกระทบ

น้อยที่สุด โดยขณะนี้ การขึ้นภาษีสินค้าของสหรัฐจำกัดเพียงกลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งหากผู้ส่งออกเหล็กได้รับผลกระทบก็ต้องหาตลาดใหม่มารองรับ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 เมษายน 2561

สั่งเฝ้าระวัง23จังหวัด74อำเภอ เกษตรฯจับตาเสี่ยงช่วงแล้ง-ยันภาพรวมน้ำยังอยู่ในแผน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ยังมีพื้นที่เสี่ยงภัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์อ่างเก็บน้ำกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 เมษายน มีน้ำร่วมกัน 50,905 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 67 ของความจุ มากกว่าปีที่แล้ว 7,164 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 26,985 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ52 ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกัน 15,139 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 61 ของความจุอ่างรวมกัน มากกว่าปีที่แล้ว 3,079 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การได้ 8,443 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 46

สำหรับสถานการณ์เพาะปลูกฤดูแล้ง ปี 2560/61 จากปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ทั้งประเทศ ณ วันที่ 28 มีนาคม รวม 12.54 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 9.48 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 3.06 ล้านไร่ สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ เพียง 7% ถือว่าอยู่ในการควบคุมได้

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนด 2 มาตรการเตรียมการก่อนเกิดผลกระทบภัยแล้ง คือ 1.การประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้ง ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับอำเภอ พบว่า มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 23 จังหวัด 74 อำเภอ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯมีหนังสือสั่งการให้จังหวัด ตรวจสอบ เตรียมการป้องกัน และบริหารจัดการสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว 2.การบรรเทาผลกระทบ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ทุกหน่วยงานใน กษ. ได้เตรียมกำลังคน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ เสบียงสัตว์ เวชภัณฑ์ ปัจจัยการผลิต เพื่อให้การช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์หรือเมื่อมีการการร้องขอ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ 2,365 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 242 คัน เสบียงสัตว์ 2,807 ตัน เมล็ดพันธุ์ 51 ตัน รวมทั้งการปฏิบัติฝนหลวง ซึ่งเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา

ด้าน นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้ามาตรการรองรับความเสี่ยงผลกระทบภัยแล้งตามที่ ครม. เห็นชอบแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2561 พื้นที่ดำเนินการ 53 จังหวัด เป้าหมาย 450,000 ไร่ เกษตรกรสมัครร่วมโครงการ 40,708 ราย พื้นที่ 341,270 ไร่ คิดเป็น 75.84% ของเป้าหมาย และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลายืนยันการปลูกเมื่อ 15 มี.ค.ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสิ้น 33,504 ราย พื้นที่ 282,996.50 ไร่ คิดเป็น 82.92% จากพื้นที่ที่เกษตรกรสมัคร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบแปลงระดับตำบล จำนวน 33,425 ราย พื้นที่ 268,450.75 ไร่ คิดเป็น 89.64% จากพื้นที่ยืนยันการปลูก 2) โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนาปี 2560/61 พื้นที่เป้าหมาย 700,000 ไร่ ใน 31 จังหวัด เกษตรกร 47,000 ราย มีเกษตรสมัครร่วมโครงการ 84,931 ราย พื้นที่ 618,689 ไร่ คิดเป็น 88.38% จากเป้าหมาย แต่จำนวนเกษตรกรที่มายืนยันการปลูก 74,704 ราย พื้นที่ 523,331 ไร่ คิดเป็น 84.58% จากพื้นที่ที่เกษตรกรสมัคร โดยเมื่อสิ้นสุดยืนยันการปลูกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่ามีเกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบ 64,554 ราย พื้นที่ 436,155.25 ไร่ คิดเป็น 86.41% จากพื้นที่ยืนยันการปลูก ขณะนี้ คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ระดับตำบลกำลังดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือตามเงื่อนไขโครงการไร่ละ 2,000 บาท คนละไม่เกิน 15 ไร่ แต่ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีการจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท/ไร่ ให้แก่เกษตรกรรายใด เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบแปลง โดยคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ระดับตำบล หากแล้วเสร็จจะดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส. โดยเร็วต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 เมษายน 2561

สงครามการค้าป่วนตลาด “เอทานอล”จีน

นักวิเคราะห์ชี้ จีนต้องพึงพาเอทานอลจากต่างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหนุนใช้พลังงานสะอาดของรัฐบาลปักกิ่ง แม้ต้องลดสัดส่วนการสั่งซื้อหลังเจอกำแพงภาษีเพิ่ม 45%

บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม มีความเห็นตรงกันว่า ผลพวงจากการตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีระหว่างรัฐบาลจีนและสหรัฐทำให้บรรดาพ่อค้าชาวจีนที่ต้องการสั่งซื้อเอทานอลจากสหรัฐต้องลดปริมาณนำเข้าเพราะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องหันไปถึงพาการนำเข้าจากตลาดต่างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าของรัฐบาลปักกิ่งที่สนับสนุนให้มีการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

ทั้งนี้ จีนประกาศเมื่อวันอาทิตย์(1 เม.ย.)ว่าจะเก็บภาษีเอทานอลนำเข้าจากสหรัฐเพิ่ม 15% จากก่อนหน้านี้ที่จัดเก็บในอัตรา 30 % เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐจัดเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม โดยให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (2 เม.ย.) ที่ผ่านมาซึ่งอัตราภาษีนำเข้าสำหรับเอทานอลที่นำเข้าจากสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ทำให้พลังงานชนิดนี้มีราคาพอๆกับเอทานอลที่ผลิตในประเทศ โดยเอทานอลเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่ผลิตจากข้าวโพดหรืออ้อยและมักถูกนำไปผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อลดปริมาณไอเสียที่เกิดจากการสันดาปของเครื่องยนต์

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นข่าวดีสำหรับบรรดาผู้ผลิตเอทานอลในจีน ที่กำลังเร่งผลผลิตเอทานอลเพิ่ม ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลปักกิ่ง แต่บรรดานักวิเคราะห์ เห็นว่าลำพังผลผลิตในประเทศอาจไม่เพียงพอ และจีนอาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอกับเป้าของรัฐบาลที่ผลักดันให้มีการใช้พลังงานประเภทนี้ในสัดส่วน 10% ของปริมาณน้ำมันทุกชนิดทั่วประเทศภายในปี 2563

ผลสำรวจของสภาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ(ไอเอสเอ็ม) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของไอเอสเอ็มร่วงลงสู่ระดับ  59.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 60.8 ในเดือน ก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนีจะปรับตัวสู่ระดับ 60.0

ทั้งนี้ ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ภาวะขยายตัวของภาคการผลิต และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 แต่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) สำหรับภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.6 ในเดือนมี.ค. ซี่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2558 จากระดับ 55.3 ในเดือนก.พ. โดยดัชนีพีเอ็มไอ ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตโดยแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงานที่แข็งแกร่ง

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 เมษายน 2561

เงินบาทขยับอ่อนค่า31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯจับตาสหรัฐฯ-จีนเจรจาการค้า

เงินบาทขยับอ่อนค่า 31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับภูมิภาค จับตาเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมการเคลื่อนไหวเงินหยวน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ 3 เม.ย.61 เงินบาทอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ (จากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ) โดยการขยับอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคท่ามกลาง sentiment การเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ประเด็นที่ตลาดยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด จะยังคงเป็นความคืบหน้าในการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน

จาก www.thansettakij.com วันที่ 3 เมษายน 2561

ผลผลิตพุ่ง “น้ำตาลอินเดีย”ล้นตลาด

สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดียตะวันตก (วิสมา) แถลงวานนี้(2 เม.ย.) ว่าน้ำตาลส่วนเกินของอินเดียอาจมากถึง 5.3 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตจากปีเพาะปลูก 2560-2561 จ่อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 30.3 ล้านตัน

ผลผลิตจากรัฐมหาราษฎระ ที่ผลิตน้ำตาลได้มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศพุ่งขึ้นเป็น 10.6 ล้านตัน จาก 4.2 ล้านตันเมื่อปี 2560 ขณะที่รัฐอุตตรประเทศทางภาคเหนือ ที่ผลิตได้มากที่สุดผลิตเพิ่มจาก 8.8 เป็น 10.8 ล้านตัน

เมื่อเดือน มี.ค. สมาคมโรงงานน้ำตาลอินเดีย (อิสมา) เคยคาดการณ์ว่า ผลผลิตจะล้นเกิน 4.5 ล้านตัน หลังจากน้ำตาลในฤดูตลาดที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560 สูงถึง 29.5 ล้านตันคาดว่า อาจมีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่อยู่ในระดับเกือบต่ำสุดในรอบ 2.5 ปีลดลงไปอีก หากน้ำตาลอินเดียเข้าสู่ตลาด หลังรัฐบาลยกเลิกภาษีส่งออกเมื่อเดือนก่อน

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 เมษายน 2561

สอน. คาด พ.ร.บ.อ้อยฯจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ภายใน 6 เดือน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เปิดเผยถึงการปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ว่า ความคืบหน้าการปรับปรุงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะมีประเด็นการแก้ไขในเรื่องการนำอ้อยไปผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมอ้อย การยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงการยกเลิกการชดเชยราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยให้ในกรณีราคาอ้อยขั้นต้นสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะยื่นร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ส่วนการเจรจาแก้ไขข้อพิพาทกรณีน้ำตามทรายกับบราซิลนั้น ล่าสุดจากการประสานกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า บราซิลได้ระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาต่อไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) กรณีไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย จนกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโลก เนื่องจากไทยได้มีการดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกของตลาด การยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย และให้มีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณสำรองที่กำหนด เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

“บราซิลได้เห็นถึงความจริงใจต่อการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องตามข้อตกลงภายใต้ข้อกำหนดของ WTO จึงได้แจ้งระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษาจนกว่าไทยจะได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นผลจากการแสดงท่าทีที่ชัดเจนและความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา รวมทั้งการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและเจรจาหารือกับบราซิลอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ บราซิลขอให้ไทยมีการประชุมหารือร่วมกัน เพื่อชี้แจงความก้าวหน้าในการดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบราซิลมีความยินดีให้ความร่วมมือกับไทยเพื่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และการพัฒนาบุคลากรในสาขาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมชีวภาพกับไทยต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 3 เมษายน 2561

รมว.เกษตรฯ ยืนยันบริหารจัดการน้ำแล้งนี้ตามแผน วอน ปชช.ใช้น้ำอย่างประหยัด

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ว่าปีนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนจำนวน 35 แห่ง ทั้งเขื่อนขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมถึงใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่ที่ 24,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการคำนวณยังมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้อุปโภค-บริโภค และการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีความพร้อมบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งกำหนดนโยบาย เตรียมการก่อนเกิดผลกระทบภัยแล้ง โดยขอความร่วมมือเกษตรกรทำนาครั้งที่ 2 และ 3 หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกข้าว เช่น ผัก ข้าวโพด จะดูแลง่ายและได้ราคาสูง นอกจากนี้ ช่วงเดือนเมษายน เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะเล่นน้ำเป็นจำนวนมาก อยากให้ทุกคนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อเก็บเป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ในปีต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติภัยแล้ง แต่หากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการประกาศและพื้นที่นั้นมีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือชดเชยเฉลี่ยไร่ละ 3 พันบาท

จาก https://mgronline.com  วันที่ 3 เมษายน 2561

สอน.แจงบราซิลระงับยื่นข้อพิพาทต่อWTO

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยถึงจากการรายงานข่าวของ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 30มี.ค. ที่ผ่านมาว่า จากการประสานกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า บราซิลได้ระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาต่อไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) กรณีไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย จนกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโลก (Thailand Subsidies concerning Sugar) เนื่องจากไทยได้มีการดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกของตลาด การยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย และให้มีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณสำรองที่กำหนด (Reserve Stock) เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยบราซิลได้เห็นถึงความจริงใจต่อการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องตามข้อตกลงทางการค้าเสรีภายใต้ข้อกำหนดของ WTO จึงได้แจ้งระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษาจนกว่าไทยจะได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นผลจากการแสดงท่าทีที่ชัดเจนและความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา รวมทั้งการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาตลอดจนการเจรจาหารือกับบราซิลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด       

ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะมีประเด็นการแก้ไขในการนำอ้อยไปผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อการเพิ่มมูลค่าแก่ภาคอุตสาหกรรมอ้อย การยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงการยกเลิกการชดเชยราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยให้ในกรณีราคาอ้อยขั้นต้นสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะยื่นร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน      

ทั้งนี้ บราซิลขอให้ไทยมีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อชี้แจงความก้าวหน้าในการดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบราซิลมีความยินดีให้ความร่วมมือกับไทยเพื่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนาบุคลากรในสาขาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมชีวภาพกับไทยต่อไป

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 2 เมษายน 2561

ไทยเฮ! “บราซิล” ยุติการตั้งคณะพิจารณา กรณีระงับข้อพิพาทน้ำตาลไทยต่อ WTO

ไทยเฮ!! บราซิลยุติการตั้งคณะพิจารณากรณีระงับข้อพิพาทน้ำตาลไทยต่อ WTO พร้อมขอร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลกับไทย

รายงานข่าวอุตสาหกรรม ระบุว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ประสานกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า บราซิลได้ระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษา (Panel) เพื่อพิจารณาต่อไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) กรณีไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย จนกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโลก (Thailand Subsidies concerning Sugar) แล้วเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561

เนื่องจากไทยได้มีการดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกของตลาด การยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย และให้มีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณสำรองที่กำหนด (Reserve Stock) เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

โดยบราซิลได้เห็นถึงความจริงใจต่อการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องตามข้อตกลงทางการค้าเสรีภายใต้ข้อกำหนดของ WTO จึงได้แจ้งระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษาจนกว่าไทยจะได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นผลจากการแสดงท่าทีที่ชัดเจนและความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา รวมทั้งการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาตลอดจนการเจรจาหารือกับบราซิลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะมีประเด็นการแก้ไขในการนำอ้อยไปผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อการเพิ่มมูลค่าแก่ภาคอุตสาหกรรมอ้อย การยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รวมถึงการยกเลิกการชดเชยราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยให้ในกรณีราคาอ้อยขั้นต้นสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะยื่นร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าการปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบราซิลมีความยินดีให้ความร่วมมือกับไทยเพื่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และการพัฒนาบุคลากรในสาขาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมชีวภาพกับไทยต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 2 เมษายน 2561

ชาวเขมรรวมตัวฟ้องบริษัทน้ำตาล “มิตรผล” กล่าวหายึดที่ดินทำกิน

รอยเตอร์ - เกษตรกรชาวกัมพูชาได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของเอเชียที่ศาลไทย กล่าวหาว่า บริษัทละเมิดสิทธิเข้ายึดที่ดินทำกินของพวกตน ตามการเปิดเผยของกลุ่มสิทธิมนุษยชนวันนี้ (2)

การฟ้องร้องที่ยื่นฟ้องในนามของชาวกัมพูชากว่า 3,000 คน นับเป็นการยื่นฟ้องบริษัทไทยที่ดำเนินกิจการในต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยผู้ฟ้องร้องมาจากอีกชาติหนึ่ง ตามที่องค์กร Inclusive Development International ระบุในคำแถลง

ผู้ฟ้องร้องกล่าวหาว่า บริษัทผู้ผลิตน้ำตาลมิตรผลละเมิดบังคับไล่ที่ใน จ.อุดรมีชัย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ระหว่างปี 2551-2552 เพื่อเปิดทางใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก

“นับตั้งแต่มิตรผลเข้ายึดที่ของผม ครอบครัวผมต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส” มา อุ๊กเชือน หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบ กล่าว ในข่าวประชาสัมพันธ์ที่ออกโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน

“บ้านของผมถูกเผา ผมถูกจับตัวอย่างไม่มีสาเหตุ ทำให้ครอบครัวของผมไม่มีอะไรกิน ต้องเก็บขยะประทังชีวิต จนถึงวันนี้ ผมไร้ที่ ไร้บ้าน”

มิตรผลระบุในคำแถลงที่อีเมลถึงรอยเตอร์ ว่า บริษัทลงทุนในกัมพูชาในการเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาล และได้รับสัมปทานชั่วคราวตามกฎหมายของท้องถิ่น และกฎหมายของประเทศ และด้วยการรับรองจากเจ้าหน้าที่ว่าพื้นที่สัมปทานชั่วคราวทั้งหมดนั้นดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและโปร่งใส

คำแถลงระบุว่า บริษัทได้ถอนตัวออกจากโครงการในปี 2557 เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ที่รวมทั้งความตึงเครียดทางการเมืองตามแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา ความเสี่ยงทางธุรกิจ สภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเกษตร และการประชาสัมพันธ์ในเชิงลบ

มิตรผล ระบุว่า หลังบริษัทถอนตัวจากโครงการ บริษัทได้แนะนำรัฐบาลกัมพูชาคืนที่ดินให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ด้านโฆษกกระทรวงการจัดการที่ดินของกัมพูชาที่เป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการมีส่วนร่วมของรัฐบาลในโครงการนี้ที่รอยเตอร์ติดต่อไป ระบุว่า ติดประชุม และยังไม่สามารถแสดงความเห็นในเรื่องนี้ได้ ขณะที่ พาย สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชาก็ระบุว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นในเรื่องนี้ได้เช่นกัน

กัมพูชาให้สัมปทานขนาดใหญ่แก่บริษัทต่างชาติหลายบริษัท ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากจีน เวียดนาม และเกาหลีใต้ เพื่อดำเนินการเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า และการเกษตร เพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติ ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า สัมปทานบางอย่างนำไปสู่การบังคับไล่ที่ และปัญหาพิพาทที่ดิน.

จาก https://mgronline.com  วันที่ 2 เมษายน 2561

“บิ๊กฉัตร” สั่งชงโปรเจ็กต์น้ำ 4.2 แสนล้าน

“บิ๊กฉัตร” จี้สำนักงานทรัพยากรน้ำ ชง 34 โครงการเร่งด่วน มูลค่าลงทุน 4.2 แสนล้านขอไฟเขียว ครม.เดือน เม.ย.นี้ สั่งกรมชลประทาน-เจ้าท่า-โยธาธิการ เตรียมพร้อมเปิดประมูลก่อสร้าง ประสานคลัง-สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯผูกพัน-หาแหล่งเงินกู้ นำร่อง 11 โปรเจ็กต์ปี”62 คลองระบายน้ำหลาก “บางบาล-บางไทร, ชัยนาท-ป่าสัก, ผันน้ำโขง เลย ชี มูล ติดโผ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้สั่งการให้ สนทช.ศึกษาโครงการสำคัญขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนเร่งด่วน ซึ่งได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนเตรียมความ

พร้อมล่วงหน้า เบื้องต้นมีทั้งหมด 34 โครงการ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 429,998 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี จากปี 2562-2565 เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายเดือนเมษายน 2561 นี้ ทั้งนี้ การเสนอโครงการเร่งด่วนดังกล่าวได้หารือทางกระทรวงการคลังแล้ว จะทำในลักษณะงบฯผูกพัน รวมถึงหาแหล่งเงินกู้

นอกจากนี้ จะนำร่าง พ.ร.บ.น้ำฯเสนอกลับให้ ครม.เห็นชอบอีกครั้ง เพราะโครงสร้างร่าง พ.ร.บ.น้ำฯ เดิมที่เคยเสนอ ครม.พิจารณา มีการปรับเปลี่ยนสาระสำคัญบางส่วนจึงต้องเสนอ ครม.ใหม่ คาดว่าจะผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือนกรกฎาคม 2561

สำหรับ 34 โครงการเร่งด่วน แบ่งเป็นใช้งบประมาณปี 2562 จำนวน 11 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 34,194 ล้านบาท เช่น คลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร พร้อมถนนคันคลอง มูลค่า 11,502 ล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 2563 มี 8 โครงการ 149,153 ล้านบาท เช่น คลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก มูลค่า 36,400 ล้านบาท, คลองระบายน้ำหลาก ป่าสัก-อ่าวไทย มูลค่า 89,860 ล้านบาท งบประมาณปี 2564 มี 6 โครงการ มูลค่า 101,060 ล้านบาท เช่น เพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล มูลค่า 66,000 ล้านบาท, แนวคันควบคุมน้ำทะเล (แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย) มูลค่า 10,000 ล้านบาท, อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร มูลค่า 9,640 ล้าานบาท เป็นต้น และงบประมาณปี 2565 มีจำนวน 9 โครงการ มูลค่า 145,610 ล้านบาท เช่น ผันน้ำโขง เลย ชี มูล มูลค่า 101,727 ล้านบาท, อ่างเก็บน้ำ ใสน้อย-ใสใหญ่ มูลค่า 9,714 ล้านบาท เป็นต้น

“รัฐบาลต้องการให้โครงการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจบในปี 2562 ก่อนการเลือกตั้ง พล.อ.ฉัตรชัยจึงให้ดึงแก่นออกมาก่อน เรื่องนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลกระทรวงการคลังจะช่วยผลักดันอีกทางหนึ่ง เพราะปี 2562 ปิดงบฯไปแล้ว ดังนั้น เงินลงทุนอาจจะมาจากแหล่งเงินกู้ เป็นรายกรณี เพราะงบประมาณทำได้ตลอด ซึ่งกรณีการหาแหล่งเงินทุนต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด ทั้งหมดนี้ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนมา เช่น กรมเจ้าท่า กรมโยธา มีแผนมาขุดลอกเจ้าพระยา ขณะเดียวกันทางโยธาต้องมีแผนทำเขื่อนป้องกันตลิ่งใน 12-13 พื้นที่ให้แล้วเสร็จ กรมเจ้าท่ารับลูกไปแล้ว จุดที่ 2 พื้นที่นอกคัน ต้องบริหารจัดการให้ได้ จะมีหลายฝ่ายร่วมดำเนินการ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวงชนบท ที่มีถนนผ่าน และกรมชลประทาน เป้าหมายงบประมาณรวมกัน 3-5 แสนล้านบาท ต้องเกิดภายใน 4 ปี โดยโครงการที่ดึงออกมาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจบแล้ว

นายสมเกียรติกล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการบางบาล-บางไทร ความยาว 22.4 กม. มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลได้ปรับเร่งรัดขั้นตอนการทำงานให้เร็วขึ้น ให้ศึกษาสำรวจ และออกแบบแยกออกมาต่างหาก ต่างจากเดิมให้การศึกษาออกแบบอยู่ในงบเดียวกัน เช่น การปักแนวเขตพร้อมการออกแบบ เมื่อตรงนี้เสร็จการก่อสร้างไม่มีปัญหา ปลายปี 2561 น่าจะแล้วเสร็จ สามารถของบประมาณได้ บางบาล-บางไทร ใช้เวลาออกแบบ 3-4 เดือนนี้เสร็จเรียบร้อย การปักหลักเขตจะเสร็จแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลหาผู้รับเหมาได้ปีงบประมาณ 2562 ทั้งนี้ หากงบประมาณปกติอาจไม่ได้ อาจต้องหาแหล่งเงินอื่น เช่น อาจจะกู้

อย่างไรก็ตาม โครงการน้ำปกติจะขอจัดสรรงบฯยาก จึงต้องทำงบฯบูรณาการน้ำเป็นจิ๊กซอว์ ยกตัวอย่างที่ผ่านมาในงบประมาณปีหนึ่งได้งบฯ 60,000 ล้านบาท มีงบฯผูกพันไปทุกปี 2-3 หมื่นล้านบาท ต้องแบ่งไปจ่ายเงินเดือน ซ่อมแซมรักษาประสิทธิภาพอีก 2-3 หมื่นล้านบาท เหลือเป็นงบฯลงทุนจริงไม่ถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี ล่าสุด ได้เชิญทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณมาหารือว่าต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ ต่อไปงบฯฟังก์ชั่นอย่านำมารวมในงบฯบูรณาการน้ำ คือ งบฯที่มีนัยสำคัญ มีบิ๊กอิมแพ็กต์ขนาดใหญ่ แต่งบฯซ่อมแซมให้ไปอยู่ในงบฯฟังก์ชั่น พื้นที่ดูแลไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 2 เมษายน 2561

ดับฝันพลังงานทดแทนเพื่อใคร

การออกมาประกาศยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ของกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สร้างความกังขาให้กับทั้งนักลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าและประชาชนทั่วไป กระทั่งชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเหล่านี้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกกันว่าพลังงานสะอาด

กระทรวงพลังงานระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทย ไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้าและมีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ใน 5 ปีหน้า จึงไม่จำเป็นต้องเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นโครงการใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) เพิ่มเติม

กระทรวงพลังงานยังมีความเชื่อว่าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ ที่ชะลอออกไป ไม่ได้สูญเสียโอกาสจากการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับมองว่าหากลงทุนไปแล้วเป็นภาระต่อผู้บริโภค ก็ไม่ควรสนับสนุน แต่หากผู้ลงทุนหาตลาดเอง ขายไฟเอง หากผลิตไฟได้ในราคาเท่ากับหรือต่ำกว่าขายส่งให้กฟผ.แล้ว ทางกระทรวงพลังงานก็ไม่ปิดกั้นและพร้อมรับซื้อเข้าระบบ แต่ปริมาณที่จะซื้อต้องรอดูความชัดเจนจากพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี)ฉบับใหม่

กระทรวงพลังงานกำลังสร้างความสับสน ปรับเปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมาอย่างน่ากังวล เมื่อจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในพื้นที่อ.เทพา จ.สงขลาและอ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ที่เป็นพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สวยงามเหมาะสำหรับการท่องเที่ยว แต่มีความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมอ้างถึงความจำเป็นเพราะไฟฟ้าขาดแคลน แต่อีกด้านกลับประกาศเลิกโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เป็นพลังงานสะอาดและให้ข้อมูลว่าไฟฟ้ามีความต้องการใช้และมีความมั่นคงเพียงพออย่างน้อยใน 5 ปีข้างหน้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลงมาใส่ใจกำกับดูแลการบริหารงานในกระทรวงพลังงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการวางแผนในเชิงยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ อย่างน้อยต้องมีแผนระยะเวลาที่ชัดเจนในระดับหนึ่งในภาพใหญ่ ต้องยอมรับว่านโยบายและยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งในการไขเข้าไปสู่การขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสถานะการแข่งขันของประเทศ ซึ่งอยู่ในอาการที่น่าเป็นห่วงอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล แน่นอนนโยบายพลังงานควรจะหยืดหยุ่นได้ตามสมควร แต่ต้องไม่ปรับเปลี่ยนพลิกไปตามตัวรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง จนส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 2 เมษายน 2561

เงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 เมษายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/4) ที่ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/3) ที่ 31.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ไทยเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ101.12 ขยายตัว 0.79% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2561 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอด สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในหมวดที่มิใช่อาหารสด รวมทั้งราคาสินค้าหมวดผักสด และข้าว (ข้าวสารเจ้า) ที่ปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 30 เดือน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 0.64% โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปีนี้ไว้ในกรอบ 0.7-1.7% นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ประะเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวดีและการลงทุนที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งส่งผลให้ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ ซึ่งมูลค่าการส่งออกปี 2561 มีโอกาสขยายตัวที่ 5.0% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 8.0% ทั้งนี้การเติบโตที่ต่อเนื่องในภาคการส่งออกถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป และกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นจะส่งผลให้เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไป

ในส่วนของสหรัฐนั้นนักลงทุนยังคงจับตาดูความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาในประเด็นทางการค้าของสหรัฐและจีน โดยล่าสุดทางการจีนได้เรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกการใช้มาตรการปกป้องการค้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้การค้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในระดับทวิภาคีกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จีน (MOC) เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ออนไลน์ว่า การที่สหรัฐใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าจากประเทศบางกลุ่มนั้น เป็นการละเมิดข้อยกเว้นด้านความมั่นคงของ WTO ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนอย่างร้ายแรงต่อหลักการไม่เลือกปฏิบัติในระบบการค้าพหุภาคี ทั้งนี้คณะกรรมการด้านภาษีศุลกากรแห่งรัฐสภาจีนได้ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 120 รายการจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงผลไม้และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่้เกี่ยวข้องกับผลไม้ในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอีก 8 รายการ จึงรวมถึงเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหมู ในอัตรา 25% ถ้อยแถลงของคณะกรรมการด้านภาษีศุลกากรแห่งรัฐสภาจีนระบุว่าการตัดสินใจออกมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะตอบโต้สหรัฐที่ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมในอัตรา 10% จากประเทศต่าง ๆ รวมถึงจีน นอกจากนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยกล่าวหาว่าจีนดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.155-31.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (2/4) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2327/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/3) ที่ระดับ 1.2328/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ขณะที่ตลาดฝั่งยุโรปยังคงปิดทำการในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2311-1.2332 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2330/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (2/4) เปิดตลาดที่ระดับ 106.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/3) ที่ระดับ 106.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ทางญี่ปุ่นได้มีการปิดงบประจำปีในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ส่งผลให้นักลงทุนมีการเทขายเงินเยนออกมาในตลาด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.20-106.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนมีนาคม และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนกุมภาพันธ์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.9/-2.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.5/-4.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 2 เมษายน 2561

ระทึก ! ไฟซ็อตสายพานลำเลียง ลุกกากอ้อยเกือบลามโรงงาน

     วันที่ 31 มี.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.ศูนย์วิทยุ 191 ไดรับแจ้งว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้กองเก็บกากอ้อยของโรงเรียนน้ำตาลชื่อดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 9 ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรีอย่างรุนแรง มีกลุ่มควันสีขาวพวยพุ่งขึ้นไปบนชั้นอากาศเป็นจำนวนมาก หลังรับแจ้งประสานร้อยเวร สภ.ท่าเรือ ขอกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น อบต.ตะคร้ำเอน และพื้นที่ใกล้คัยง นำรถดับเพลิงประมาณ 13 คัน ไปช่วยกันฉีดน้ำเพื่อสกัดเปลวเพลิง

     ไปถึงพบว่าเปลวเพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ที่บริเวณสายพานลำเลียงกากอ้อยที่นำออกมาจากภายในโรงงาน ทำให้สะเก็ดไฟล่นลงไปไหม้กากอ้อยที่กองอยู่กับพื้นหลาย 100 ตัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้เวลาประมาณกว่า 1 ชั่วโมงจึงสามารถสกัดเปลวเพลิงที่ไหม้กระจัดกระจายของกองกาก้อยเอาไว้ได้ แต่เจ้าหน้าที่จะต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยงเอาไว้ เพราะปริมาณของกากอ้อยนั้นกองทับถมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนกลิ่นจากการเกิดไฟไหม้นั้นค่อนข้างเหม็น

     จากการสอบถามนายมนตรี โชติวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายโรงงานฯทราบว่า ก่อนเกิดเหตุขณะที่สายพานกำลังลำเลียงกากอ้อยออกมาจากโรงงาน แต่อยู่ๆสายพานลำลียงเกิดตีกลับ ทำให้เกิดไฟซ็อต และมีเปลวเพลิงลุกไหม้ขึ้นมา ทำให้สะเก็ดไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่บนสายพานหล่นลงมาลุกไหม้กากอ้อยที่กองอยู่กับพื้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคนงานได้ระดมกำลังช่วยกันดับไฟแต่ไม่สามารถดับได้เนื่องจาก ขณะเกิดเหตุกระแสลมได้พัดกรรโชคมาอย่างรุนแรง ทำให้ยากต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงรีบประสานเจ้าหน้าที่มาช่วยกันดับเพลิงดังกล่าว ส่วนสาเหตุที่แท้จริงจะต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมาตรวจสอบ ร่วมกับผู้บริหารโรงงาน รวมทั้งร่วมประเมินค่าความเสียหายด้วย

     สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าโชคดีที่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน อีกทั้งโรงงานดังกล่าวอยู่ห่างจากชุมชน ไม่เช่นนั้นคงจะได้รับผลกระทบทางด้านอากาศอย่างแน่นอน

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

"126 ปี"กระทรวงเกษตรฯขับเคลื่อน 3 ต.ยกระดับคุณภาพสินค้า

"126 ปี"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทัพขับเคลื่อนภายใต้หลัก 3 ต.ยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรผนึกกำลังในระดับจังหวัดหนุนการปฏิบัติงานบุคลากรในพื้นที่ให้บูรณาการ

          2  เมษายน 2561 วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เนื่องในโอกาสครบ 126 ปี ซึ่งในปีนี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ศาลพระภูมิ ท้าวเวสสุวัณ ศาลตา - ยาย  องค์พระพิรุณทรงนาค และองค์พระพิรุณทรงนาคในพิพิธภัณฑ์ จากนั้นได้เป็นประธานในพิธีสงฆ์ โดยได้ถวายภัตตาหาร และจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์

          สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงชื่ออย่างต่อเนื่อง จากกระทรวงเกษตรพนิชการ มาเป็นกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรพาณิชยการ กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตร จนมาสู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน"

          โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานอย่างเหมาะสมและยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการจัดสรรทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างพอเพียง มีประสิทธิภาพยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสม

          โดยมีส่วนราชการในสังกัด จำนวน 22 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาและวิจัยการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมียุทธศาสตร์ด้านการเกษตรกำหนดเป้าหมายของการปฏิรูป คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ   มีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ตามแผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการทำงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันได้ติดตามและเร่งขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เพื่อดูแลเกษตรกรให้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          อาทิ โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer ธนาคารสินค้าเกษตร การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) รวมถึงกำลังจะสร้างระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร (Big Data on Agricultural) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเกษตรมีความถูกต้อง แม่นยำ

          การดำเนินงานจะขับเคลื่อนภายใต้หลัก 3 ต ประกอบด้วย “ต่อ เติม แต่ง” คือ เปิดกว้าง รับฟัง นำสิ่งที่ดีมาปรับปรุงพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น และการใช้การตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ สามารถลดต้นทุนและยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาดีและมีตลาดรองรับ ทั้งนี้ การดำเนินงาน จะผนึกกำลังในระดับจังหวัด ส่งเสริมการปฏิบัติงานของบุคลากรในพื้นที่ให้สามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างแท้จริง  นอกจากนี้ ได้ปรับขั้นตอนการปฏิบัติทางราชการให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น  ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง บนหลักความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

          สำหรับนโยบายที่สำคัญในปี 2561 ได้แก่ (1) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และพัฒนาศูนย์เครือข่าย มีเป้าหมายรักษามาตรฐานและพัฒนา ศพก. และศูนย์เครือข่ายให้เข้มแข็ง เพิ่มบทบาทของ ศพก.ในการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร (2) แปลงใหญ่ มีเป้าหมาย 1,838 แปลง (3) Agri-Map มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ไปสู่พื้นที่เหมาะสม (S1,S2,S3) 300,000 ไร่ (4) เกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน มีเป้าหมาย 211,219 ไร่ (5) ธนาคารสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นเป็น 155 แห่ง (6) เกษตรทฤษฎีใหม่

            (7) ระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ พื้นที่ชลประทาน มีเป้าหมาย 31.95 ล้านไร่ และมีปริมาณน้ำเก็บกัก 80,833 ล้าน ลบ.ม เกษตรกรได้รับประโยชน์ 1.60 ครัวเรือน (8) แผนการผลิตข้าวครบวงจร (9) การจัดการที่ทำกินให้เกษตรกร ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. สร้างระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรเพื่อส่งมอบให้เกษตรกร (10) จัดตั้งตลาดสินค้าเกษตร 10 แห่ง ภายใน เม.ย.60 เป้าหมาย 77 แห่ง ภายในปี 2561 (11) พัฒนายกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ 7,000 แห่ง ในปี 2560 ความเข้มแข็งของสหกรณ์ระดับ 1 และ 2 ร้อยละ 90 (12)  พัฒนาข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็น Smart Officer เป้าหมาย 2,000 คน (13) Smart Farmer กำหนดเป้าหมายเกษตรกรในวัยแรงงาน (อายุ 18-64 ปี) เป็น Smart Farmer 44,306 ราย  และ (14) ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

ปรับปรุงแหล่งน้ำ 198 แห่งรับมือภัยแล้ง !

"สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ"เดินหน้าปรับปรุงโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริขนาดเล็ก 198 แห่ง ใน 9 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกทั้งปี

          1 เมษายน 2561 นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระได้ดำเนินโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่ภายใต้แผนงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ คาดว่าจะใช้งบประมาณกลางปี 2561 ประมาณ 190 ล้านบาท และเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และชุมชน

          ทั้งนี้เพื่อซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเดิม เสริมศักยภาพแหล่งน้ำ เช่น จัดทำระบบส่งน้ำใหม่ ทำคลองส่งน้ำเพิ่มเติม  ให้ชาวบ้านในพื้นที่มีการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสนับสนุนให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่รับประโยชน์นำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฏีใหม่มาใช้ เพื่อลดรายจ่ายครัวเรือน เพิ่มรายได้และส่งเสริมอาชีพให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

          โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชนตามโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเป็นงานต่อเนื่องจากบันทึกความเข้าใจเพื่อบูรณาการร่วมกันระหว่างปิดทองหลังพระฯ กับ  4 กระทรวงหลัก ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            ภายใต้แผนงานนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอขอรับงบประมาณกลางปี วงเงิน 190.398 ล้านบาท โดยจะนำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 198 โครงการ โดยมอบให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

            ทั้งนี้ 9 จังหวัดดังกล่าว ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส 60 โครงการ น่าน 44 โครงการ บุรีรัมย์ 30 โครงการ อุดรธานี 17 โครงการ ยะลา 12 โครงการ ชัยภูมิ 10 โครงการ กาฬสินธุ์ 10 โครงการ ฉะเชิงเทรา 11 และปัตตานี 4 โครงการมีประชาชนใน 47 อำเภอที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา

            ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมและได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพราะเห็นสอดคล้องกันว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากการมีน้ำใช้ตลอดปี จึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง 9 จังหวัด”

           การพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากประสบการณ์การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ส่วนราชการต่าง ๆ และชุมชน ทำงานร่วมกับปิดทองหลังพระฯมา จะทำให้การทำงานเป็นไปได้โดยรวดเร็ว คาดว่าโครงการส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จภายใน 50 วันและจะทะยอยเสร็จไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ปี 2561 เป็นอย่างช้า

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

พลังงานทดแทนช็อก! ส.อ.ท. ฮึดสู้ 'ศิริ' จี้ทบทวนแผนงดซื้อไฟ - โยน 'ลุงตู่' ชี้ขาด

ส.อ.ท. นัดหารือสมาชิกด่วน! โวย ‘ศิริ’ ปิดฉากส่งเสริมพลังงานทดแทน อ้างราคาแพง สำรองล้น ... เอกชนเฉ่ง! ทำลายห่วงโซ่เกษตรกร กระทบผู้ประกอบการ 200 ราย เสียโอกาสลงทุน เปิดช่องปั่นราคาโครงการที่มี PPP แล้ว

กลุ่มได้สัญญาขายไฟรับส้มหล่น!

จากที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีจากนี้ ระบุ กำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบมีเพียงพอ ประกอบกับ ที่ผ่านมาภาครัฐมีการส่งเสริม ทั้งรูปแบบการอุดหนุนราคารับซื้อ จนมีผลกระทบต่อค่าไฟแล้ว 20-25 สตางค์ต่อหน่วย อีกทั้งต้องการรอดูทิศทางเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่มีแนวโน้มต้นทุนปรับตัวลดลง จะทำให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงไปกว่าการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล ยกเว้น โครงการที่มีความสามารถที่จะขายไฟฟ้าไม่แพงกว่าราคาขายส่ง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 2.40 บาทต่อหน่วย ที่ยังพร้อมจะรับซื้อ

การเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้ ภาคธุรกิจมีปฏิกิริยาแล้ว นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายในสัปดาห์นี้ ส.อ.ท. จะหารือกับสมาชิกกลุ่มพลังงานทดแทนราว 200 ราย เพื่อแสดงจุดยืนให้ทบทวน และหลังจากนั้นจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมข้อเสนอแนะและทางเลือกในการพัฒนาฯ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มองว่า การหยุดรับซื้อดังกล่าว เป็นการยุติการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เคยมีมาต่อเนื่อง แม้จะยกเว้นโครงการที่สามารถขายไฟฟ้าได้ในราคาต่ำเพียง 2.40 บาทต่อหน่วย จะมีเพียงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์เท่านั้น ที่ทำได้ แต่ภาครัฐก็ไม่เปิดรับซื้อ ขณะที่ พลังงานทดแทนประเภทอื่นทำได้ลำบาก อีกทั้งไม่เพียงกระทบกับผู้ประกอบการพลังงานทดแทนแล้ว ยังส่งผลถึงห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เช่น โรงงานไม้สับ โรงงานปาล์มน้ำมัน โรงงานแป้งมัน จะไม่สามารถขายวัตถุดิบหรือลงทุนขยายงานต่อไปได้ รวมไปถึงเกษตรกรจะขาดเงินทุนหมุนเวียนด้วย

ดังนั้น การชะลอรับซื้อไฟฟ้าในช่วง 5 ปี สะเทือนแน่นอน ผู้ประกอบการที่เตรียมดำเนินโครงการไว้ อาจต้องล้มหายตายจากไป โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องมีพลังงานทดแทนเป็นตัวเสริม ก็ไม่สามารถทำได้

หวั่นกระทบลามเกษตรกร!

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายกับประเทศ หากกระทรวงพลังงานมีนโยบายนี้ออกมา ในฐานะผู้ประกอบการ จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทบทวนใหม่ ภาพรวมของพลังงานทดแทนไม่ใช่มองเพียงต้นทุนเท่านั้น แต่ต้องมองถึงการใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรที่นำมาเป็นเชื้อเพลิง อาทิ อ้อย ยาง มันสำปะหลัง และปาล์ม เงินทุนหมุนเวียนสู่ภาคเกษตรกรโดยตรง หากรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญ ตัดทิ้งไป ก็นับว่าน่าเสียดาย

โดยนโยบายดังกล่าว เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนับ 100 ราย ที่ไม่สามารถขยายโอกาสทางธุรกิจในประเทศได้ ขณะที่ ภาคเกษตรเป็นหลัก 10 ล้านราย หรือ 1 ใน 3 ของประเทศ ย่อมรับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากปัจจุบัน มีเงินหมุนเวียนในภาคการเกษตร 4-5 เท่าต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา ข้าราชการพยายามผลักดัน เพราะต้องการลดการนำเข้าพลังงาน ต้องการให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศ หากกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน บริษัทคงไม่มีโครงการใหม่ในประเทศเกิดขึ้น และหันไปขยายงานในต่างประเทศแทน

“ค่าไฟฟ้าที่รับซื้อ 2.40 บาทต่อหน่วย ถือว่าเป็นราคาต้นทุนไม่ได้บวกกำไร ทำให้การลงทุนเกิดขึ้นไม่ได้ แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอ้างถึงการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจาก ‘เอสพีพี ไฮบริด’ 300 เมกะวัตต์ ในรอบที่ผ่านมา ทำให้ค่าไฟฟ้าต่ำได้ แต่ต้องมาดูภายหลังว่า ผู้ประกอบการที่ชนะไปจะสามารถก่อสร้างและจ่ายไฟฟ้าในปี 2562 ได้หรือไม่”

รอ พล.อ.ประยุทธ์ เคาะ

ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน คงต้องนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) (มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน) เห็นชอบ รวมถึงต้องรอความชัดเจนของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และพีดีพีฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ ว่าจะออกมาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้สั่งระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโครงการ VSPP Semi-Firm รวม 268 เมกะวัตต์ ไปแล้ว ที่แต่เดิมมีแผนจะเปิดรับซื้อในปีนี้ ดังนั้น จะมีเพียงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยใน 12 โครงการ ปริมาณ 77.9 เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 เท่านั้น

กลุ่ม PPA ส้มหล่น

แหล่งข่าวสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า การชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เชื่อว่าจะส่งผลให้โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว ได้โอกาสปั่นราคาเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ โครงการที่ดำเนินการแล้ว แต่ขาดทุน จะถูกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ กว้านซื้อ เพื่อใช้ปั่นราคาหุ้น ขณะที่ โครงการที่มี PPA แล้ว แต่ยังไม่ก่อสร้าง ก็จะถูกซื้อในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน เพื่อหวังผลในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากการไม่มีนโยบายรับซื้อไปอีก 5 ปี

นายสหรัฐ บุญโภธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การพัฒนาพลังงานทดแทนที่ กฟผ. ยื่นขอไปยังกระทรวงพลังงาน จำนวน 2,000 เมกะวัตต์นั้น คงต้องรอการปรับปรุงแผน AEDP และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่แล้วเสร็จก่อน เนื่องจากเป็นแผนระยะยาว 20 ปี ทั้งนี้ กฟผ. ยังคงมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ กฟผ. สามารถเข้าไปทำได้ เช่น โซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนต่าง ๆ บนสถานะที่ค่าไฟฟ้าต้องแข่งขันได้

ทั้งนี้ แม้ว่านโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะชะลอออกไป แต่ กฟผ. ก็จำเป็นต้องสร้างสายส่ง เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงระบบไฟฟ้า เนื่องจากการสร้างสายส่งต้องใช้เวลานานในการขออนุญาตต่าง ๆ ในส่วนนี้ มีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะหากมีความต้องการใช้งานสายส่งนั้นอาจจะดำเนินการไม่ทัน

‘ศิริ’ ยัน! ไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้า

ล่าสุด นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีนี้ เนื่องจากสำรองไฟฟ้ายังมีปริมาณมากพอ จึงไม่จำเป็นต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงเพิ่มเติม รวมทั้งต้องการยืดหยุ่นระยะเวลาในการศึกษา EHIA ให้ครบถ้วนด้วย พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับชุมชนให้มากที่สุด ดังนั้น ในช่วงนี้ จึงเปิดรับซื้อเพียงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 12 โครงการ 77.9 เมกะวัตต์เท่านั้น

ขณะที่ การลงนามเอ็มโอยู ทั้งกลุ่มคัดค้านและกลุ่มสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยืนยันว่า ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ขัดแย้งกัน แต่จะเป็นการศึกษา SEA เพื่อหาความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ คาดว่าจะชัดเจนภายในปลายปีนี้

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

5องค์กรชูใช้”พาราควอต” จี้รัฐแนะเกษตรกรใช้ให้ถูก

5 องค์กรเกษตรหนุนใช้ย่าฆ่าหญ้า “พาราควอต” ชี้เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ แนะรัฐสอนเกษตรกรใช้อย่างปลอดภัย

ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เปิดเผยในงานเสวนาหัวข้อ “ทางออกของประเทศไทย ความปลอดภัยทางการเกษตร” ซึ่งจัดโดยสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง สภาหอการค้าไทย สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และอดีตที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยว่า

ประเทศไทยในฐานะครัวของโลกส่งออกสินค้าเกษตรไปกว่า 200 ประเทศ สร้างรายได้ปีละ 1.2 ล้านล้านบาท แต่จุดอ่อนของเกษตรกรต้องประสบปัญหาการคุกคามจากศัตรูพืช โดยเฉพาะวัชพืช ดังนั้น การเลือกใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ถือเป็นเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตหนึ่งที่ช่วยให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด

แต่ในทางกลับกัน สารเคมีที่เกษตรกรใช้เป็นอาวุธป้องกันผลผลิต เช่น พาราควอต กลับถูกมองเป็นจำเลยสังคมไทย เพราะมีการนำเสนอข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และไม่ครบถ้วน

การเสวนาครั้งนี้ได้บทสรุปขอให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในการนำข้อมูลไปตัดสินหรือพิจารณาในการกำหนดแนวทางเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยของภาคเกษตร อาทิ 1) ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องมาตรฐานการผลิต และการใช้อย่างปลอดภัย 2) ภาครัฐต้องมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหาร และผลผลิต และมีการรายงานผลเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น

3) การจะยกเลิกสารเคมีที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานของเกษตรกร เช่น พาราควอต ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ควรไปแนะนำเกษตรกรให้ใช้พาราควอตได้อย่างถูกต้องมากกว่าการจะยกเลิก 4) การเสนอข่าวในแง่ลบ โดยยังไม่พิจารณาให้รอบคอบ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และการส่งออกทันที จึงขอให้เอ็นจีโอได้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพราะการตรวจสอบเรื่องสารตกค้างต้องเป็นผู้ชำนาญในการตรวจวิเคราะห์ และการตรวจสอบต้องผ่านห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์ จึงจะมีความน่าเชื่อถือ

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความปลอดภัยทางการเกษตร เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ปัจจุบันมีระบบที่คอยช่วยเหลือเกษตรให้สามารถใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง จะไม่มีผลต่อความปลอดภัยและการตกค้างในผลผลิต ข่าวที่มีผู้หยิบยกว่าพบสารพาราควอตปนเปื้อนในผักมากมาย แต่ในความเป็นจริงยังไม่เคยมีประเทศคู่ค้าตีกลับ เนื่องจากปนเปื้อนพาราควอต หรือสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่น ๆ เลย การนำเสนอข่าวแบบนี้ ส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่น และกระทบการส่งออก

“ปัจจุบันมีระบบที่คอยช่วยเหลือเกษตรให้สามารถใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง สารเคมีไม่ใช่ศัตรูตัวร้าย แต่หลายคนไปวางภาพให้เป็นเช่นนั้น จริง ๆ ในทุกวัน ชีวิตคนเราต้องเผชิญกับสารเคมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเผชิญนั้นมนุษย์เรารู้จักป้องกันหรือรู้จักใช้แค่ไหน ชีวิตปัจจุบันเป็นโลกของวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะปราศจากสารเคมี การใช้อย่างถูกต้องจะไม่มีผลต่อความปลอดภัยและการตกค้างในผลผลิต”

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561