http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนเมษายน 2563)

.พลังงาน เร่งผุดมาตรการอุ้ม 32 กลุ่มอุตสาหกรรมผลประกอบการวูบกว่า 70%

กระทรวงพลังงาน เร่งผุดมาตรการอุ้ม 32 กลุ่มอุตสาหกรรมผลประกอบการวูบกว่า 70% แต่ยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

 ก.พลังงานเร่งผุดมาตรการ - นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งรายละเอียดข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการพลังงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม 32 กลุ่มอุตสาหกรรมที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต คำสั่งซื้อและผลประกอบการลดลงกว่า 70% แต่ยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

โดยเบื้องต้นภาคเอกชนขอให้ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% (Demand Charge) แก่ผู้ประกอบการประเภทที่ 3-7 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 จากเดิมที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือเวลา 3 เดือน (เดือนมี.ค.-พ.ค. 2563) ส่วนความช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าภาคประชาชนขอให้หักเงินช่วยเหลือจากรายได้ของการไฟฟ้าแทนที่จะนำส่งกระทวงการคลัง อย่านำไปกระทบค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในอนาคต และการคำนวนค่าเอฟทีขอให้ประเมินด้วยวิธีการคำนวณแบบเฉลี่ยการใช้ 3 เดือน และเทียบเป็นรายไตรมาสเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเร็วขึ้น

“เรื่องการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% ทางกกพ. ได้ดำเนินการแล้ว โดยจะเร่งออกประกาศเพื่อทราบในสัปดาห์หน้า ส่วนในเรื่องค่าเอฟทีและเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”นายสนธิรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ทางส.อ.ท. รายงานว่า 32 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องสำอาง สิ่งทอ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก ปูนซีเมนต์ หลังคาและอุปกรณ์ แกรนิตและหินอ่อน แก้วและกระจก เซรามิค โรงเลื่อยและโรงอบไม้ ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ เครื่องจักรกลการเกษตร ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก หล่อโลหะ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สมุนไพร น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ก๊าซพลังงานหมุนเวียน หัตถกรรมสร้างสรรค์ การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ

จาก  https://www.khaosod.co.th  วันที่ 30 เมษายน 2563

“พาณิชย์” เผยใช้สิทธิ FTA-GSP ช่วง 2 เดือนปี 63 มูลค่ากว่า 10,000 ล้านเหรียญ

กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดใช้สิทธิ FTA และ GSP 2 เดือน ปี 63 มูลค่าทะลุ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11% เหตุโควิด-19 ฉุดการค้าชะลอตัว ระบุตลาดอาเซียนใช้สิทธิ FTA สูงสุด ส่วน GSP ตลาดสหรัฐฯ ใช้สูงสุด แนะผู้ส่งออกใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร หลังความต้องการพุ่ง ล่าสุดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ลดภาษีอีก 455 รายการ ทำภาษีนำเข้าเหลือ 0% หมดแล้ว เป็นโอกาสเพิ่มส่งออกไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 2 เดือน ปี 2563 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่ารวม 10,321.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.00% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 72.98% ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 9,490.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.93% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 72.56% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 830.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.19% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 78.11%

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้มีการใช้สิทธิ FTA ลดลงมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การค้าชะลอตัวลง แต่คาดว่าไทยยังมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยผู้ส่งออกควรใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ที่มีอยู่ 13 ฉบับเพื่อลดต้นทุนทางด้านภาษี โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเกษตร ผลไม้ อาหารแปรรูป เครื่องปรุงรส ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น

สำหรับรายละเอียดการใช้สิทธิภายใต้ FTA มีการใช้สิทธิรวม 11 ฉบับ ไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกง ที่ภาษีนำเข้าส่วนใหญ่เป็น 0% อยู่แล้ว และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก โดยตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ได้มีการลดภาษีเพิ่มเติม ออสเตรเลียลดเพิ่ม 215 รายการ นิวซีแลนด์ลดเพิ่ม 240 รายการ ทำให้ภาษีนำเข้าทั้งหมดของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ลดเหลือ 0% ในทุกรายการสินค้า ไทยจึงมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ ที่ภาษีลดจาก 5% เหลือ 0% แล้ว ทำให้มีการใช้สิทธิส่งออกเพิ่มขึ้น

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP สหรัฐฯ ยังคงใช้สิทธิสูงสุด มูลค่า 761.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.57% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 81.84% รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย และนอร์เวย์

จาก  https://mgronline.com วันที่ 30 เมษายน 2563

มติท่วมท้น! คกก.วัตถุอันตราย 17 เสียง ยืนกรานแบน 2 สารเคมี 1 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ /2-1 /2563 วันนี้ (30 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย หลังใช้เวลาพิจารณาและมีการอภิปรายข้อมูลต่าง ๆ อย่างกว้างขวางนานกว่า 3 ชั่วโมง ในที่สุดคณะกรรมการฯ ลงมติยืนตามมติเดิม คือ กำหนดให้สารอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน  2563 หรือ "แบน"  2 สารดังกล่าว

โดยที่ประชุมวันนี้มีกรรมการเข้าร่วมประชุม 24 คน จากทั้งหมด 28  คน จึงมีองค์ประชุมครบ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญหลายเรื่อง และในที่สุดคณะกรรมการฯ ได้มีการลงมติโดยเปิดเผย ซึ่งปรากฎว่า มีคณะกรรมการผู้เห็นด้วย 17 คน ไม่เห็นด้วย 6 คน งดออกเสียง จำนวน 1 คน

 ทั้งนี้ นายสุริยะ กล่าวว่า ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปหาข้อมูลว่า ประเทศอื่นที่แบนสารอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสมีการใช้สารทดแทนอะไรบ้าง และให้กลับมานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ไป

สำหรับประเด็นการรับรองรายงานการประชุมและการรับรองมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เกี่ยวกับการพิจารณายกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรนั้น ที่ประชุมยืนยันว่ามติดังกล่าวเป็นมติที่มีการรับรองโดยที่ประชุมถูกต้องแล้ว แต่สำหรับการรับรองรายงานการประชุมนั้น วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณารับรองรายงานอีกครั้งหนึ่ง และมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่รับรองรายงานการประชุมดังกล่าว โดยมีกรรมการบางคนแจ้งขอสงวนสิทธิ์ไม่รับรองรายงาน

นอกจากการพิจารณาเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร ยังได้มีการพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ดังนี้ มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างระเบียบ/ประกาศ จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบ  ซึ่งเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ได้แก่ การกำหนดด่านศุลกากรที่นำเข้า-ส่งออก-นำผ่านวัตถุอันตราย การผ่อนผันการปฏิบัติสำหรับการนำกลับเข้ามาหรือการส่งกลับออกไป หลังจากนี้หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะนำไปเสนอรัฐมนตรี หรือ อธิบดีของแต่ละหน่วยงานลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป

ด้านนางอุมาพร พิมลบุตร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับสตอกของสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เดิมมีประมาณ 10,000 ตันในภาพรวมทั้งผู้นำเข้า ร้านค้าต่าง ๆ แต่เชื่อว่าขณะนี้มีการซื้อขายและเกษตรกรนำมาใช้บ้าง จะทราบสตอกคงเหลือชัดเจนในการตรวจสตอกวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ผู้ที่มีจะต้องส่งให้กรมวิชาการเกษตรนำไปทำลายอย่างถูกวิธีต่อไป

"เกษตรกรที่เคยรู้สึกว่าพาราควอตเป็นสารยาสาระพัดนึก ราคาไม่แพง จากนี้ไปจะต้องเลือกใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เจาะจงมากขึ้นตามชนิดของพืช จะต้องมีการปรับตัว" นางอุมาพร กล่าว

จาก  https://www.naewna.com   วันที่ 30 เมษายน 2563

นักวิชาการเตือนรัฐระวังอุตฯอ้อยทรุดหนักมิ.ย.นี้

ภัยแล้งและโควิด-19 พ่นพิษอุตฯอ้อย หวั่นรัฐซ้ำเติมแบนพาราควอต มิ.ย.นี้  คาดเบื้องต้นสูญ 1.5 แสนลบ.ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่รวม 3 แสนลบ.  ส.นักวิชาการอ้อยและน้ำตาลฯ เตือนรัฐ ไตร่ตรองให้รอบคอบ กังวลเสียหายเกินคาด 

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มก่อความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยมากที่สุด คาดว่าในกรณีร้ายแรงที่สุด ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาล อาจลดลงมากถึง 25 ล้านตัน หรือคิดเป็น 27% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยรวม ส่งผลให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาล เหลือประมาณ 75 ล้านตัน หดตัวตัว 43% จากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากภัยแล้ง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลจะทยอยปิดหีบตั้งแต่เดือนมีนาคม เร็วกว่าปกติ ซึ่งจะปิดหีบในช่วงเดือนเมษายน โดยหากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน โรงงานน้ำตาลอาจเผชิญความเสี่ยงในการขาดแคลนอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อไปอีกด้วย

ต่อเรื่องนี้ ดร. กิตติ  ชุณหวงศ์  นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย หรือ สนอท. เปิดผลการศึกษาล่าสุดในรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ  หากยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อภาคการเกษตรอุตสาหกรรมและการส่งออกของประเทศไทย พ.ศ.2563 พบว่า  ปัจจัยการผลิตสำคัญที่กว่า 80 ประเทศทั่วโลกใช้เพื่อกำจัดวัชพืช นั่นคือ พาราควอต โดยเฉพาะออสเตรเลีย บราซิล และอินเดีย ใช้เพื่อลดจำนวนวัชพืช ซึ่งจะแย่งน้ำและธาตุอาหารของพืชหลัก เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืชและโรคพืช จำกัดจำนวนของอ้อยตอที่งอกใหม่จากอ้อยต้นเดิม และรบกวนการหีบอ้อย

ทั้งนี้ การผลิตอ้อย จำเป็นต้องใช้พาราควอตในการควบคุมวัชพืชในระยะแตกกอหรือในช่วง 30-170 วันหลังปลูก และระยะอ้อยย่างปล้องเป็นจุดวิกฤติที่สุด  หากควบคุมวัชพืชไม่ได้ จะทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 20-50 ส่งผลปริมาณอ้อยเหลือ 67-108 ล้านตัน จากเดิม 134.8 ล้านตัน กระทบเกษตรกรสูญรายได้รวม 5.8 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญ หากมีฝนตกชุก วัชพืชจะเติบโตเร็วและมาก ไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลเข้าไปจัดการในแปลงได้ และไม่มีสารเคมีเกษตรชนิดอื่นทดแทนได้นอกจากพาราควอต

อีกทั้ง ในปีนี้ ต้นทุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย สูงถึง 1,200-1,300 บาทต่อไร่ ต่างจากฤดูปกติ อยู่ที่ 1,110 บาทต่อไร่ ขณะที่ค่าอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ ทำให้ภาครัฐต้องหันมาพิจารณาช่วยเหลือในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต อันเป็นแนวทางเดียวที่รัฐจะช่วยได้โดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดห้ามสนับสนุนเงินช่วยเหลือ

ดังนั้น จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วจากผลกระทบภัยแล้ง  และรายได้จากการส่งออกที่ลดลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หากมีการยกเลิกใช้พาราควอต ในเบื้องต้น

สนอท. คาดการณ์ผลผลิตอ้อยลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 50 คิดมูลค่าเสียหายสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 1.5 แสนล้านบาท รวมสูญเสีย 3 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การพิจารณาเลือกวิธีการและสารทดแทนพาราควอตนั้น ควรดำเนินการอย่างรอบด้านและรัดกุม ได้แก่ ประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืช ประหยัดเวลา ราคา ต้นทุน ปลอดภัยต่อพืชเศรษฐกิจ (อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล)  รวมทั้งปลอดภัยต่อผู้ใช้ สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค โดยศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์แล้วพบว่าสารเคมีเกษตรที่อยู่ในข้อเสนอทดแทนนั้น ไม่มีสารทดแทนใดมีประสิทธิภาพ ราคา และสามารถใช้ได้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทั้ง 6 ชนิด สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดยืนยันโดยกรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีสารและวิธีการอื่นใดมาทดแทนพาราควอตได้

“ท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังรุมเร้ารัฐบาลในหลายด้าน ทั้งปัญหาใหม่ เช่น ไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการส่งออกสินค้า ผลผลิตส่งออกไม่ได้ ปัญหาเก่า ได้แก่ ภัยแล้ง น้ำท่วม หนี้สินเกษตรกร ต้นทุนการผลิตภาคเกษตร ปัญหาแรงงานเกษตรที่หายากและราคาแพง  ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ทันจะแก้ไข กลับจะซ้ำเติมให้เลวร้ายยิ่งขึ้นให้กับภาคอุตสาหกรรมอ้อยด้วยการแบนพาราควอต

จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง อย่าเพิ่งยกเลิกใช้พาราควอตในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบเสียหายเกินคาด อย่าลืมว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกเป็นหลักกว่า 11 ล้านตันต่อปี สาเหตุสำคัญที่ไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยต้นทุนอ้อยของไทยต่ำกว่า ดังนั้น มาตรการจำกัดการใช้ จึงเป็นทางสายกลาง เป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้” ดร. กิตติ กล่าวสรุป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 เมษายน 2563

จ่อเลื่อนแบน 2 สารพิษ พุ่งเป้าไร้สารทดแทน

วงการฟันธง 30 เม.ย. คณะกรรมการวัตถุอันตรายพลิกมติเลื่อนแบน 2 สาร “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” ออกไปแน่ เหตุยังไร้สารทดแทน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน-กมธ.สารเคมี” เตือนสติให้ยึดมั่นตามมติเดิมอย่าอ้างโควิดยื้อแบน 

มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ( 27 พ.ย.62) กำหนดให้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสารทดแทน และให้นำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาภายใน 4 เดือน

ล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะมีการประชุมในวันที่ 30 เมษายนนี้เพื่อพิจารณาเลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยนั้น

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ต้องไปพิจารณาโจทย์ที่ยังค้างอยู่เรื่องสารทดแทนว่ามีความคืบหน้าหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องขยายระยะการแบนออกไปก็สมเหตุสมผลและถูกต้องแล้ว

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และในฐานะหัวหน้าโครงการวิธีการจัดการวัชพืชแบบผสมผสานเพื่อลดปริมาณการใช้สารไกลโฟเซตและพาราควอตในพืชเศรษฐกิจ กล่าวว่า งานวิจัย (เริ่ม 28 มี.ค.62-28 มี.ค.64) ขณะนี้ยังไม่เสร็จ กำลังทำเรื่องขยายระยะเวลาต่อเป็นปีที่ 2 เพื่อให้การกำจัดวัชพืชได้มีประสิทธิภาพและต้นทุนใกล้เคียงกับสารที่จะแบน ส่วน 16 สารก่อนหน้านี้ที่กรมวิชาการเกษตรจะใช้เป็นสารทดแทนวงการทราบดีว่าทดแทนไม่ได้ จึงไม่ได้เป็นประเด็นในการเข้าสู่พิจารณาในคณะกรรมการคราวที่แล้ว

นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า จากที่ไม่แบน แต่มีการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต จนถึงเวลานี้กรมวิชาการเกษตรยังไม่เปิดโควตาให้นำเข้าไกลโฟเซต มีแต่หนังสือตอบกลับมาว่ารอคำสั่งจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้สถานะในขณะนี้ไม่แบนก็เหมือนโดนแบน เพราะของใหม่เข้ามาไม่ได้ ราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอีก 2 สารถ้าเลื่อนแบนได้ก็ดี แต่ถ้าเลื่อนแล้วไม่เปิดโควตานำเข้าไม่ช้าจุดจบก็คงตามรอยไกลโฟเซต อย่างไรก็ดีห่วงจะมีสินค้านำเข้ามาขายในตลาดมืดจะอันตรายยิ่งกว่า

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตั้งคำถามว่า ถ้าแบน 2 สารจริง วัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศที่ใช้สารดังกล่าวอยู่ยังเข้ามาในไทยได้หรือไม่ ถ้าได้แล้ววัตถุดิบของเกษตรกรไทยในชนิดเดียวกันแต่ไม่ได้ใช้สารดังกล่าว แล้วส่งผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เกษตรกรไทยจะไปสู้ได้อย่างไร เป็นการไปซ้ำเติมเกษตรกรในช่วงวิกฤติโควิดหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า หน่วยงานรัฐจะต้องมีความรับผิดชอบปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมว่าก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 จะต้องออกประกาศก่อน 30 วันที่จะบังคับใช้ เพราะเอกชนจะต้องทราบล่วงหน้าแล้วจะต้องรายงานปริมาณสารที่อยู่ในความครอบครอง และอยู่ในมือเกษตรกรเท่าไหร่ แต่อยู่ๆ ทางสภาหอ

 การค้าฯ ก็ทำหนังสือขอเลื่อนโผล่ขึ้นมา มองว่าในสถานการณ์โควิดไม่ควรนำเรื่องที่เป็นความปลอดภัยของพี่น้องเกษตรกร และผู้บริโภคมากลบผลประโยชน์ทางการค้า

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าก่อนหน้านี้สภาผู้แทนฯได้มีมติเป็นเอกฉันท์

(21 พ.ย.62) แบน 3 สารเคมี เสนอให้รัฐบาลไปเร่งดำเนินการและได้ทวงถามไปแล้ว ผ่านมา 5 เดือนกว่าทำไมไม่ดำเนินการตามมติ มีเหตุผลอย่างไร ซึ่งคงต้องติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด เนื่องจากมีงานวิจัยรองรับจะทำให้คนไทยตายผ่อนส่งด้วยโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 เมษายน 2563

เงินบาทเปิด32.41บาท/ดอลลาร์ ความผันผวนลดลงหลังเฟดคงดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.41 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 32.30-32.50 บาทต่อดอลลาร์ 

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ระบุว่า  เงินบาท ระยะสั้นความผันผวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะยังไม่มีเงินทุนไหลเข้าจากแหล่งทุนต่างชาติทั้งในหุ้นและบอนด์ไทย แต่ระยะถัดไป เชื่อว่าตลาดจะให้ความสำคัญกับทิศทางการกลับมาเปิดทำการของภาคธุรกิจและความสามารถในการควบคุมการระบาดของไวรัส ซึ่งถ้าประเทศในฝั่งเอเชียรวมถึงไทยกลับมาเปิดทำการได้ ก็น่าจะทำให้มีเงินลงทุนไหลกลับเข้าในภูมิภาคนี้เร็วเช่นกัน

 อย่างไรก็ตามช่วงคืนที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% ตามคาด โดยในครั้งนี้ที่ประชุมกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ชี้แจงว่าปัญหาไวรัสโคโรนาเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดการว่างานสูง เศรษฐกิจตกต่ำและราคาน้ำมันปรับตัวลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว นอกจากจะส่งผลในระยะสั้นแล้ว ยังอาจส่งผลต่อเนื่องในระยะกลางอีกด้วย แต่เฟดก็ยังสามารถใช้นโยบายทางการเงินสนับสนุนด้านสภาพคล่องได้อีกถ้ามีความจำเป็น

 จากผลการประชุม FOMC ล่าสุด รวมกับการประเมินเบื้อต้นว่าการว่างานจะปรับตัวขึ้นไปทรงตัวที่ระดับ 6.0% ในช่วง 2021 จึงมองว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันไปถึงปลายปีหน้า ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมาที่ระดับเดิม ถ้าจะเกิดขึ้น น่าจะเป็นช่วงหลังจากที่เฟดมีความมั่นใจว่าภาคธุรกิจสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตปัจจุบันไปได้ก่อน

อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินดูจะไม่ได้ให้ความสนใจกับทิศทางนโยบายการเงินมากนักเนื่องจากเป็นไปตามคาดทั้งหมด การซื้อขายอยู่บนความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้ในไม่ช้า ดัชนีหุ้น S&P500 ของสหรัฐจึงปรับตัวขึ้นต่อ 2.7% พร้อมกับ Euro Stoxx 600 ที่ปิดบวก 1.8% พร้อมกันกับ Dollar Index ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 เมษายน 2563

เกษตรกรตรวจสอบด่วน! กรมส่งเสริมการเกษตรชี้ไม่ปรับปรุงทะเบียน 3 ปี เสี่ยงชวดเงิน 5 พันบาท

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเยียวยา และชดเชยให้กับภาคเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวนเงิน 5,000 บาท 3 เดือน เกษตรกรจำนวนมากได้เดินทางไปที่สำนักงานของกรมส่งเสริมการเกษตรในต่างจังหวัด เพื่อสอบถามความชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะได้เงิน จะใช้เวลามากน้อยเพียงใด ขณะนี้ต้องยอมรับว่าทะเบียนเกษตรกร ยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่มาก จึงอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์

ทั้งนี้ เรื่องของสิทธื์การได้รับการเยียวยา เกษตรกรต้องกลับไปดูเล่มทะเบียนสีเขียว ซึ่งออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนเกษตรกร ว่ามีการอัพเดท หรือปรับปรุงข้อมูลหรือไม่ หากไม่มีการปรับปรุงข้อมูล อาจจะไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา ตามระเบียบหากไม่มีการติดต่อ หรือปรับปรุงทะเบียน แสดงว่าไม่มีการยืนยันตัวตน ว่ายังประกอบอาชีพเกษตรกร หากเกิน 3 ปีอาจสูญเสียโอกาสรับเงินเยียวยา

“เกษตรกรต้องกลับไปดูเล่มทะเบียนวหากไม่เคยปรับประงตั้งแต่ปี 2560 เสี่ยงมากที่จะไม่ได้รับเงิน 5,000 บาท 3 เดือนแต่ หากมีการปรับปรุงทะเบียน ในปี 2561-ปัจจุบันไม่น่ามีปัญหา ขอให้คลายความกังวลได้ แต่เพื่อความมั่นใจขอให้เกษตรกรตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลทะเบียน ก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติจ่ายเงิน ส่วนเกษตรกรที่ทำการเกษตรจริงๆ แต่ไม่เคยลงทะเบียน แต่ผู้นำชุมชนสามารถตรวจสอบได้ กลุ่มนี้สามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนกับเกษตรจังหวัด เพื่อยืนยันตัวตนได้ว่าประกอบอาชีพเกษตรกรรม และสามารถรับเงินเยียวยาด้เช่นกัน” นายเข้มแข็งกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 30 เมษายน 2563

จับตามติคณะกรรมการวัตถุอันตรายพรุ่งนี้ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมอ้อย 3 แสนล้าน

ในวันพรุ่งนี้ (30 เม.ย. 2563) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 2-1/2563 ซึ่งถูกจับมองถึงการยืนมติแบนสารเคมีอันตรายในวันที่ 1 มิ.ย. 2563 นี้หรือไม่

ขณะที่ นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สนอท.) เปิดผลการศึกษาล่าสุดในรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ว่า หากยกเลิกการใช้สารพาราควอตต่อภาคการเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตอ้อย จำเป็นต้องใช้พาราควอตในการควบคุมวัชพืชในระยะแตกกอหรือในช่วง 30-170 วันหลังปลูก

และระยะอ้อยย่างปล้องเป็นจุดวิกฤตที่สุด หากควบคุมวัชพืชไม่ได้ จะทำให้ผลผลิตลดลง 20-50% ส่งผลปริมาณอ้อยเหลือ 67-108 ล้านตัน จากเดิม 134.8 ล้านตัน กระทบเกษตรกรสูญรายได้รวม 58,000 ล้านบาท

อีกทั้งในปีนี้ต้นทุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย สูงถึง 1,200-1,300 บาทต่อไร่ ต่างจากฤดูปกติอยู่ที่ 1,110 บาทต่อไร่ ขณะที่ค่าอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ ทำให้ภาครัฐต้องหันมาพิจารณาช่วยเหลือในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต อันเป็นแนวทางเดียวที่รัฐจะช่วยได้โดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO)

ดังนั้น จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วจากผลกระทบภัยแล้ง และรายได้จากการส่งออกที่ลดลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หากมีการยกเลิกใช้พาราควอต

ในเบื้องต้น สนอท. คาดการณ์ผลผลิตอ้อยลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง หรือ 50% คิดมูลค่าเสียหายสูงถึง 150,000 ล้านบาท และกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 150,000 ล้านบาท รวมสูญเสีย 300,000 ล้านบาท

จาก  https://www.prachachat.net    วันที่ 29 เมษายน 2563

ชาวไร่อ้อยพิจิตรเห็นด้วยขยายเวลาแบน 2 สารเคมี ชี้พาราควอตไม่อันตราย

เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยพิจิตร เห็นด้วยประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ขยายเวลาแบน 2 สารสารเคมีออกไป เชื่อว่าพาราคลอต ไม่เป็นอันตราย อัดเครือข่ายสบับสนุนการแบน สารเคมี มีอะไรแอบแฝง

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 นาย ศรชัย สิบหย่อม แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกไร่อ้อย ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า การที่มีกลุ่มเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมี ไปยื่นหนังสือต่อนาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ยึดตามมติเดิมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เลื่อนยกเลิกการใช้สารเคมี 2 สารเคมี คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสในวันที่ 1 มิถุนายน ตนในฐานะ เกษตรกรผู้ปลูกไร่อ้อย ตำบลหนองโสน ไม่เห็นด้วยกับการแบน 2 สารเคมี เนื่องจาก พาราควอต นั้นไม่มีสารพิษตกค้าง ไม่เหมือน คลอร์ไพริฟอส ที่ เอาไปกำจัดหนอน หรือกำจัดศตรูพืช อาจะมีสารตกค้าง ดังนั้นตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะมาแบนสารเคมี พาราควอต

 นาย ศรชัย กล่าวอีกว่า อยากถามว่า การที่ อยาก ให้ แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ นั้นมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ที่พยายามจะแบนกัน ได้ข่าวว่ามีสารตัวใหม่ เข้ามารอแล้วเพื่อจะกำจัดสารพาราควอต ออกไป ซึ่งเท่าที่มีข่าวออกมา สารเคมีตัวใหม่นั้นมีราคาแพงกว่า สารเคมีตัวเก่า ถึง 50% เกษตรกรผู้ปลูกไร่อ้อยจะลำบากอยู่ไม่ได้ เพราะราคาอ้อยก็ตกต่ำอยู่ในขณะนี้

นาย ศรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก็มีมติออกไปแล้วว่าสิ้นเดือนมิถุนายน จะกลับมาพิจารณาใหม่ ดังนั้นตนเห็นด้วยกับนาย กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่เสนอให้ขยายเวลา การแบนสารเคมี พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปจนกว่า เป็นปลายปี 2563 หรือจนกว่า สถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะหมดไปโดยไม่กำหนด ตนอยากฝากคนที่ออกมาแบน 2 สารเคมีนี้ ขอ ให้หยุดเถอะเห็นใจ เกษตรกร บ้าง ไม่อยาก ใช้ ของแพง แค่นี้ก็เดือดร้อนกันจะตายกันอยู่แล้ว เอา สารเคมี ราคาแพง มาให้ใช้ จะเอาเงินตรงไหน ไปซื้อต้นทุนก็เพิ่มอีก

จาก  https://www.matichon.co.th    วันที่ 29 เมษายน 2563

สิ้นสุดฤดูแล้ง 30 เม.ย.63 กรมชลฯเตือนรับมือ “ลานีญา”

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า วันที่ 30 เมษายนนี้ คือวันสุดท้ายของแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง คาดว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม โดยปีนี้กรมอุตุฯคาดการณ์ว่าฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ที่ 5% แต่ฝนจะทิ้งช่วงปลายพฤษภาคม-มิถุนายน และเข้าสู่ ปรากฏการณ์ลานีญา ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ฝนจะตกชุกในระบบปานกลาง ส่งผลให้อาจมีน้ำท่วมบ้างในบางพื้นที่ และ 1 พฤศจิกายน 2563 จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศมากกว่า ปี 2562 แต่ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกบ้างในบางพื้นที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนประมาณ 121 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) 

ทั้งนี้ แม้จะมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ที่มีฝนตก แต่กรมชลประทานยังกังวล ว่า 59 จังหวัดทั่วประเทศ ยังเสี่ยงการขาดน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 โดย ข้อมูล เมื่อวันที่ 29 เมษายน ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีแผนการจัดสรรน้ำ 17,699 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 16,873 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 95% ของแผนฯ

สำหรับแผนและผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2562/63 ในเขตชลประทานทั้งประเทศ มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.21 ล้านไร่ คิดเป็น 82.11% ของแผนฯเก็บเกี่ยวแล้ว 2.79 ล้านไร่ ใน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง หลังมีการรณรงค์งดทำนาต่อเนื่องในฤดูแล้ง ปี 2562/63 มีการเพาะปลูกแล้ว 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.81 ล้านไร่

“สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 35,574 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 11,891 ล้านลบ.ม.หรือ 23% ของความจุน้ำใช้การ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง จำนวน 25 แห่ง อาทิ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก และประแสร์ ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,684 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,988 ล้าน ลบ.ม. หรือ 11% ของความจุน้ำใช้การ”

ทางด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งจังหวัดเพียง 911 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 22 % จากค่าเฉลี่ย 1,168 มิลลิเมตร ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมไปถึงแม่น้ำสายต่างๆ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกระทบต่อปริมาณน้ำดิบที่จะใช้ในการผลิตประปาหลายแห่ง

ดังนั้น กรมชลประทานได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง โดยใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 46.56 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือ 18% ของความจุอ่างฯ และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 60.60 ล้าน ลบ.ม. หรือ 23% ของความจุอ่างฯ รวมทั้งใช้น้ำจากอ่างขนาดกลางอีก 12 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 22 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคในเขตชลประทานไว้อย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายต้องร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด

สำหรับมาตรการรับมือภัยแล้ง ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติตามแผน อาทิ การขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการและแผนการใช้น้ำชลประทานอย่างเคร่งครัด การกำหนดให้มีการใช้น้ำในคลองส่งน้ำได้ตั้งแต่วันจันทร์ เวลา 09.00 น. ถึงวันศุกร์ เวลา 18.00 น. และหยุดใช้น้ำในวันเสาร์ถึงวันอาทิตย์ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสามารถสูบน้ำได้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ไม่เกินวันละ 10 ชั่วโมง และให้งดสูบน้ำในวันเสาร์และอาทิตย์ สถานีสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคและการประปาส่วนท้องถิ่น สามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติตามแผนที่ได้เสนอกรมชลประทานไว้แล้ว

จาก  https://www.prachachat.net    วันที่ 29 เมษายน 2563

ราคาข้าว-น้ำตาล ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม

 ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2563

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนพฤษภาคม 2563 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น มีเพียงยางพาราแผ่นดิบที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

​นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยส่วนมากมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 9,525-10,412 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.10-10.52 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก อาทิ ประเทศอินเดียและเวียดนามมีมาตรการ ล็อคดาวน์และชะลอการส่งออกข้าว ประกอบกับประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลกอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำเข้าข้าว จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกข้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,496-14,579 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.88-1.46 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวจากประเทศฮ่องกง เป็นผลจากความกังวลจากนโยบายปิดประเทศของเวียดนาม ส่งผลให้ประชาชนชาวฮ่องกงมีการกักตุนข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น

ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 15,774 -15,912 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.85-2.73 เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิต ข้าวเหนียวนาปรังออกสู่ตลาดลดลง และประเทศเวียดนามจำกัดโควตาในการส่งออกข้าวเหนียวเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.54-7.60 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 -1.00 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น จากปัญหาด้านการขนส่งจากมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการมีอุปสรรคในการนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาผลิตอาหารสัตว์

น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 10.24-10.73 เซนต์/ปอนด์ (7.35-7.70 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.00 - 10.00 เนื่องจากความกังวลต่อปริมาณผลผลิตอ้อยทั่วโลกที่ลดลง จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญ จึงมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลจะลดลง ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อเพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.75 – 1.80 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.57 – 3.45 เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มมีการเปิดเมืองและผ่อนปรนด้านการขนส่งระหว่างประเทศ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลาย ส่งผลให้การส่งออกมันสำปะหลังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 3.09 – 3.14 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.32 – 2.27 เนื่องจากคาดว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้กิจการบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ จึงเป็นโอกาสให้ความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น สุกร ราคาอยู่ที่ 68.89 - 69.09 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.79 - 3.09 เนื่องจากสภาพอากาศของไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ส่งผลให้สุกรเติบโตช้า ทำให้ผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นจากแผนการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งคาดว่าธุรกิจบางประเภทจะกลับมาเปิดให้บริการหลังสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว และกุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 127.00 – 129.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.60 – 3.20 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและการเฝ้าระวังโรคระบาด ทำให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่และชะลอการลงลูกกุ้ง รวมถึงชะลอการจับกุ้งออกจำหน่าย ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงมีเพียงยางพาราแผ่นดิบ ซึ่งคาดว่าราคาจะอยู่ที่ 31.50 – 32.95 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 - 4.98 เนื่องจากในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจะมีการเปิดหน้ากรีดยางพาราทั่วประเทศ ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติลดลงจากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อีกทั้งประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ยังใช้มาตรการล็อคดาวน์ จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอรับซื้อน้ำยางสดในประเทศ

จาก  https://siamrath.co.th   วันที่ 29 เมษายน 2563

เงินบาทเปิด 32.45บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.45 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 32.35-32.55 บาทต่อดอลลาร์ 

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส  บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ระบุ เงินบาทและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ก็จะทรงตัวในกรอบแคบ โดยในระยะสั้นอาจมีแรงซื้อดอลลาร์ช่วงสิ้นเดือนหนุนให้ตลาดปรับตัวสูงขึ้นได้ แต่ก็น่าจะมีแรงขายจากผู้ส่งออกกดตลาดลงมา   ในช่วงถัดไป เชื่อว่าตลาดจะให้ความสำคัญกับทิศทางการกลับมาเปิดทำการของภาคธุรกิจมากที่สุด และถ้าสามารถควบคุมมุมมองของสังคมต่อการระบาดของไวรัสได้ดี ก็น่าจะทำให้เงินลงทุนเริ่มไหลกลับเข้าในภูมิภาคเอเชียก่อน

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 29 เมษายน 2563

"เฉลิมชัย" นัด สศก. บ่ายโมงสางบัญชีจ่ายเยียวยาเกษตรกร

สศก.เตรียมป้อนข้อมูลเกษตรกร มั่นใจไม่ซ้ำซ้อนอ้างอิงฐานบัตรประจำตัวประชาชนป้อง เผยระบุก่อนหน้านี้ "เฉลิมชัย" สั่งปลัดกษ.ช่วยคลังอัพเดตทะเบียนเกษตรกร การันตีได้ทุกกลุ่ม จ่ายทันแน่ 15 พ.ค.นี้ 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงความคืบหน้าหลังจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการ เยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาท รวม 10 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอจ่ายรวม 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท วันนี้ (29 เม.ย.63) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกเข้าประชุมหารือเพื่อดูข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร วิธีการตรวจสอบอย่างไร ไม่ให้ซ้ำซ้อน จ่ายทันแน่ตามรัฐบาลกำหนด 15 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ข้อสังเกตจากการลงทะเบียนจะเห็นว่าใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนมากรอก คัดกรอกได้ระดับหนึ่งแล้วจะไม่ซ้ำกันแน่นอน อย่างไรก็ดีต้องรอฟังบ่ายโมงตรงนี้ถึงความคืบหน้าจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 29 เมษายน 2563

โควิดป่วนทุบชาวไร่ระงมราคาอ้อย-น้ำตาลร่วงกราวรูด

วงการอ้อย-น้ำตาลประเมินรับศึกหนักหากโควิดโลกลากยาวร่วงทั้งราคาอ้อยและน้ำตาล  แนวโน้มฤดูการผลิตใหม่ปริมาณอ้อยร่วงหลังชาวไร่ไม่มีแรงจูงใจให้ปลูก 

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และหัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยมีความกังวลหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกลากยาว  จะยิ่งกระทบต่อราคาอ้อยปี2563/2564 ที่จะเริ่มฤดูการผลิตใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย  หลังจากที่เคยประเมินไว้ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวว่าปัญหาภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้ราคาทั้งอ้อยและน้ำตาลสูงขึ้น ในขณะที่การบริโภคยังเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้กลับตาลปัตร เมื่อโลกเจอปัญหาเดียวกันคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกรงว่าจะทำให้ราคาอ้อยร่วงลงอีกโดยเฉพาะในฤดูการผลิตใหม่ที่จะมาถึง  หลังจากที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกล่าสุดหล่นมาอยู่ที่เลขหลักเดียวแล้วคือราว 9.5 เซ็นต์ต่อปอนด์  จากที่ก่อนหน้านั้นเดือนมีนาคม2563 ราคาน้ำตาลที่ส่งมอบเฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ยิ่งกดให้ราคาอ้อยร่วงต่ำตามกันไปด้วย โดยราคาไม่สูงไปกว่า 700 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งอยู่ในสภาพขาดทุน  ชาวไร่อ้อยจะยืนอยู่ได้ก็ต่อเมื่อราคาอ้อยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตันอ้อยขึ้นไป”

นายนราธิปกล่าวอีกว่านับจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  นอกจากทำให้ราคาน้ำตาลร่วงแล้ว การบริโภคน้ำตาลยังไม่เคลื่อนไหวมาก และมีการบริโภคลดลง  ขณะที่บราซิลผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกก็ปรับทิศทางการทำตลาด หลังจากที่ราคาน้ำมันร่วงลงรุนแรง  บราซิลก็หันไปนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลแทนเพราะมีเม็ดเงินที่ได้รับสูงกว่า  การนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล

สำหรับชาวไร่อ้อยที่พึ่งพารายได้จากการปลูกอ้อยทั่วประเทศมากกว่า 3 แสนครัวเรือนจะได้รับผลกระทบแน่นอนในแง่ของภาระหนี้สินจากการกู้เงินมาใช้ลงทุนเพาะปลูกอ้อย ยังไม่รวมภาระหนี้ครัวเรือนที่ตามมาอีก

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 28 เมษายน 2563

สัญญาณเตือนปริมาณอ้อยหาย 20%ส่งออกน้ำตาลวูบหนัก

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามหัตภัยร้ายอย่างพิษไวรัสโควิดที่ระบาดไปทั่วโลกครั้งนี้ช่างร้ายแรงนัก  ตัดวงจรเศรษฐกิจหยุดชะงัก  โรงงานผลิตจำนวนมากมายต้องหยุดผลิตชั่วคราว  แรงงานทั่วโลกต่างพากันตกงานพร้อมกัน   เช่นเดียวกันอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนว่ากำลังจะไปด้วยดี เพราะมีดีกรีเป็นถึงผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เบอร์ 2 ของโลกติดต่อกันมานานหลายปี กำลังตกที่นั่งลำบากไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น  และพากระทบลามถึงวัตถุดิบอย่าง “อ้อย”เต็มๆ

 “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ นายวีระศักดิ์  ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ถึงมุมมองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะหายไปจากโลกนี้เมื่อไหร่ ถ้ายืดเยื้อจะเกิดอะไรต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย

-ปริมาณน้ำตาลโลกจะลดลง2ล้านตัน

ขณะนี้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกลดลง  ทำให้บราซิลผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกหันมาผลิตน้ำตาลมากขึ้นเพราะขายได้ราคาดีกว่านำอ้อยไปผลิตเอทานอล  ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกร่วงจาก 14-15 เซ็นต่อปอนด์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และล่าสุดลงมาอยู่ที่เลขหลักเดียวหรือราค า 9-9.50  เซ็นต์ต่อปอนด์  เช่นเดียวกันราคาวัตถุดิบอย่างอ้อย ในช่วง 2 ปีมานี้ไม่มีแรงจูงใจที่ทำให้ชาวไร่อ้อยอยากหันมาปลูกอ้อย

ดังนั้นสิ่งที่ต้องเริ่มจับตาจากนี้ไปสัญญาณเตือนเริ่มมาแล้วเมื่อมีการออกมาคาดการณ์ของคนในวงการอ้อยและน้ำตาลว่า น่าห่วงหากสถานการณ์โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลดลงถึง 2 ล้านตัน จากที่ภาวะปกติมีการผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกราว 168 ล้านตันต่อปีและมีการบริโภคน้ำตาลมากกว่า 170 ล้านตันต่อปี

-ห่วงราคาอ้อยร่วงแบกภาระขาดทุน

โดยมองว่าถ้าโควิดยืดเยื้อถึงปลายปี2563 น่าเป็นห่วงว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2563/2564 ที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนนี้จะได้รับผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่จะลดลงมากกว่า 2 ล้านตัน เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย กำลังซื้อหาย   คนไม่ออกมาใช้จ่ายตามร้านอาหาร จะยิ่งส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยค่อนข้างสูง  และยิ่งราคาน้ำตาลทรายดิบยืนที่เลขหลักเดียว(9.5เซ็นต์ต่อปอนด์) ก็จะยิ่งทำให้ราคาอ้อยปี2563/2564ต่ำกว่า 750 บาทต่อตันอ้อย  ตกอยู่ในสภาพแบกภาระขาดทุน

นอกจากนี้ในแง่ปริมาณอ้อยก็จะตกต่ำลงไปด้วยเนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาอ้อยไม่เป็นที่จูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสนใจจะปลูกอ้อยมากขึ้น อีกทั้งเผชิญปัญหาภัยแล้ง  ซึ่งขณะนี้ชาวไร่อ้อยต่างมีการประเมินเบื้องต้นว่าในฤดูการผลิตใหม่ปี2563/2564ที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนนี้คาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยจะหายไปประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี2562/2563 ที่มีปริมาณอ้อย 75 ล้านตัน  ปี2563/2564 ก็จะเหลือราว 60 ล้านตันหรือต่ำกว่านี้

อย่างไรก็ตามในแง่ความกังวลก็ยังมีทางออก ถ้ามีการบริหารระบบอ้อยและน้ำตาลให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ โดยเฉพาะการวางแผนรับมือชั่วคราว เพราะเวลานี้ปัญหาผลกระทบจากโควิด อยู่เหนือกติกาWTO     ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำได้คือ  1.กลับไปใช้ระบบโควตา แบบเดิมเป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19จะคลี่คลายลง  2.มีการปรับราคาน้ำตาลภายในประเทศให้เหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบัน

3.ภาครัฐต้องลงมาช่วยเหลือลดฝุ่นละอองPM 2.5โดยให้รางวัลกับชาวไร่อ้อยที่ไม่เผาอ้อย 4.ควรใช้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาพยุงฐานะอ้อยให้มีระดับราคาคุ้มต่อต้นทุน  เช่น ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินเพื่อมารักษาระดับราคาอ้อย  โดยหนี้ก้อนนี้จะเป็นเงินในอนาคต นำมาทำให้ราคาอ้อยคุ้มทุนให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ชาวไร่อ้อยหันไปปลูกพืชอื่นหมด

“อยากให้รัฐมองเห็นความสำคัญ เพราะน้ำตาลเป็นหมวดอาหาร มีความจำเป็นต่อการบริโภค ดังนั้นรัฐควรส่งเสริม”

-กระทบเกษตรกรกว่า 3 แสนครัวเรือนทั่วปท.

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่าตอนนี้อีกสิ่งที่น่าห่วงคือ ถ้าไทยมีผลผลิตอ้อยออกมาเพียง 60 ล้านตันอ้อย ก็จะผลิตน้ำตาลทรายดิบได้เพียง 6 ล้านตันน้ำตาล  ในจำนวนนี้จะใช้ในประเทศ 3ล้านตัน และเหลือส่งออกเพียง3ล้านตัน เทียบจากภาวะปกติไทยสามารถผลิตน้ำตาลทรายดิบได้ 14 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้ส่งออก 11 ล้านตันน้ำตาล และบริโภคในประเทศ 3 ล้านตันน้ำตาล จะทำให้รัฐเสียรายได้จากการส่งออกน้ำตาลจำนวนมาก  และไทยก็จะเสียสถานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นลำดับ 2 ของโลก  และที่ซ้ำร้ายไปมากกว่านั้นคือเมื่อรายได้จากอุตสาหกรรมอ้อยหายไปก็จะทำให้เกษตรการมากกว่า 3 แสนครัวเรือนทั่วประเทศได้รับผลกระทบ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่กระจายรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ

การเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าปริมาณอ้อยจะหายไปจากระบบมากถึง 20% ขณะที่การส่งออกน้ำตาลจะลดลงอย่างมาก หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดลากยาวไปถึงปลายปีนี้

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 28 เมษายน 2563

30 เม.ย. เลื่อนแบน 3 สารเคมีแรงกดดันสภาหอฯ?

โพสต์เครือขายไทยแพนฯ ซัดสภาหอการค้าฯ กลืนน้ำลายตัวเองพลิกลิ้นหนุนเลื่อนแบนพาราควอต/คลอร์ไฟริฟอสออกไปสิ้นปี 63 อ้างโควิดเขย่าโลกหวั่นอาหารขาดแคลน

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน โพสต์ผ่านเฟสบุคส์ว่า ในขณะทั่วโลกทยอยแบนพาราควอตแล้ว 59 ประเทศ และอียูประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา แต่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกลับกลืนน้ำลายตนเองที่แถลงสนับสนุนการแบน 3 สารพิษเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เสนอให้เลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นสิ้นปี 2563 แทน

ทั้งนี้จดหมายของนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหนังสือลงวันที่ 20 เมษายน 2563 ถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อ้างเหตุผลว่า "จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับภาคธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงทางอาหารของโลก (Food Security) เนื่องจาก สารดังกล่าวใช้ในการเพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบ สำหรับการแปรรูปทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์

อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้ และ "หากไม่ได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ อาจส่งผลกระทบต่อการนำสินค้าขาเข้าจากต่างประเทศ ที่ต้องมีค่ากำหนดสารตกค้างจากสารเคมีดังกล่าวเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) จนทำให้ขาด แคลนวัตถุดิบในการผลิต และเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก อันจะยิ่งซ้ำเติม ระบบเศรษฐกิจไทยและมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในช่วงวิกฤตนี้"

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 27 เมษายน 2563

สมอ.ยกเว้นตรวจโรงงานจัดยื่นขอออนไลน์ทุกมาตรฐานช่วย SMEs

สมอ. ขานรับนโยบายรัฐบาลช่วยเหลือเอสเอ็มอี เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาต มอก. ทางออนไลน์ได้ทุกมาตรฐาน ทั้งหมดกว่า 2,200 ผลิตภัณฑ์ พร้อมยกเว้นการตรวจโรงงานจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้ดำเนินมาตรการเพื่อความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ประกอบด้วย 1.มาตรการการขอใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ โดย สมอ. ได้เปิดให้บริการยื่นขอใบอนุญาต มอก. ทางออนไลน์ผ่านระบบ e-License กับทุกมาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ https://www.itisi.go.th ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสามารถยื่นขอได้ทุกมาตรฐาน จำนวนทั้งสิ้นกว่า 2,284 มาตรฐาน

,2.มาตรการยกเว้นการตรวจโรงงาน ประกอบด้วย ออกใบอนุญาตโดยไม่ต้องตรวจโรงงาน แต่จะต้องตรวจสอบตัวอย่างสินค้า ทั้งนี้ ได้ออกใบอนุญาตแบบเฉพาะครั้งนี้ไปแล้ว จำนวน 266 ใบอนุญาต มูลค่ากว่า 543 ล้านบาท ,ตรวจติดตามโดยไม่ต้องตรวจโรงงาน โดยให้ผู้รับใบอนุญาตรับรองตนเอง (Self declaration) ด้วยการส่งข้อมูลผลการตรวจคุณภาพ ผลทดสอบผลิตภัณฑ์และผลการสอบเทียบเครื่องมือ ผ่านระบบ e-Surveillance ของ สมอ. โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ มีผู้รับรองตนเองผ่านระบบดังกล่าวแล้วจำนวนกว่า 300 ราย

,ออกใบรับรองระบบงานโดยไม่ออกไปตรวจสถานที่ แต่ใช้การตรวจประเมินทางไกล (Remote assessment) หรือการรับรองตนเอง (Self declaration) แทน รวมถึงการตรวจประเมินมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017 ซึ่งเป็นมาตรฐานห้องแล็ปที่กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนเวอร์ชั่นในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าต่อผู้ประกอบการ ทั้งนี้ สามารถดูรูปแบบการตรวจประเมินเพื่อขอรับใบรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการ หน่วยตรวจ และหน่วยรับรอง ได้ที่ www.facebook.com/tisiofficial

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 27 เมษายน 2563

ถก 6 เดือนเหลว สหรัฐเดินหน้า “ตัด GSP ไทย”

สหรัฐฯเดินหน้าตัด GSP สินค้าส่งออกไทย 573 รายการ มูลค่า 40,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉลี่ยทุกสินค้าประมาณ 4.7%

จากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP)สินค้าไทย 573 รายการ หรือ 1 ใน 3 ของสินค้าไทยที่ยังได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯประมาณ 1,300 รายการ อาทิ สินค้าประมง อาหารทะเล  ผัก ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อม น้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผัก น้ำผลไม้ อุปกรณ์เครื่องครัว ประตูหน้าต่าง ไม้อัด ไม้แปรรูป ดอกไม้ประดิษฐ์ ตะกร้า เครื่องประดับ ทอง เหล็ก สแตนเลส เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือน หรือในวันที่ 25 เมษายน 2563

สหรัฐฯอ้างเหตุผลหลักที่ตัดสิทธิจีเอสพีไทยครั้งนี้เนื่องจากไทยมีปัญหาด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ขณะมุมมองจากหลายฝ่ายของไทยระบุการตัดจีเอสพีของสหรัฐฯครั้งนี้มาจากเหตุผลที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่โฟกัสว่าเป็นผลจากสั่งแบนสารพิษของไทยที่ทำให้ผู้ค้ารายใหญ่ที่เป็นนายทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ เสียประโยชน์  รวมถึงผลจากไทยไม่ยอมเปิดให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐฯ ที่เรียกร้องมาหลายปี

 อย่างไรก็ดีการถูกตัดสิทธิครั้งนี้จะกระทบสินค้าไทยในกลุ่มข้างต้นที่มีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉลี่ยทุกสินค้าประมาณ 4.7% คิดเป็นยอดภาษีรวมประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามของฝ่ายไทยในการขอเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR) เพื่อขอให้มีการพิจารณาทบทวน หรือเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน แต่ความคืบหน้าล่าสุด สหรัฐฯยังยืนยันในการเดินหน้าตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 573 รายการ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไปเช่นเดิม

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 26 เมษายน 2563

เกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน รอรับเงินเยียวยาวิกฤตโควิด-ภัยแล้ง รายละ 15,000

คลังไฟเขียวจ่ายเยียวยาเกษตรกร รายละ 15,000 บาท แบบจ่ายครั้งเดียว 9 ล้านครัวเรือน

กระทรวงการคลัง อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร แก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 และภัยแล้ง รายละ15,000 บาท (แบบจ่ายครั้งเดียว) จำนวน 9 ล้านครัวเรือน โดยจะยึดโยงข้อมูลที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนหน้านี้ และตรวจสอบกับฐานข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

การเยียวยาจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรสำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม รวมถึงเกษตรกรรายเดิม แต่เพิ่มแปลงใหม่ หรือเกษตรกรรายใหม่ เพื่อให้สามารถลงทะเบียนเกษตรกรรับเงินเยียวยา 15,000 ได้อย่างถูกต้อง ดังนี้

1.หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

1.1 ครัวเรือนเกษตรกรผู้ขอขึ้นทะเบียนจะต้องเป็นผู้ประกอบการเกษตร เป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพรองก็ได้

1.2 ครัวเรือนเกษตรกร 1 ครัวเรือน จะมีตัวแทนมาขอขึ้นทะเบียนได้เพียง 1 คน ในการพิจารณาว่าครัวเรือนใดขอขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะต้องชี้แจงรายละเอียดให้เกษตรกร ผู้ขอขึ้นทะเบียนรับทราบ ตามนิยามที่กําหนด

1.3 เกษตรกรผู้ขอขึ้นทะเบียนต้องบรรลุนิติภาวะ และมีสัญชาติไทย กรณีที่เป็นนิติบุคคล จะต้องมีการมอบหมายผู้แทนมาขึ้นทะเบียน

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 26 เมษายน 2563

พิษ“โควิด”ลามราคาน้ำตาลลากถึงจุดต่ำสุด

จับตาราคาน้ำตาลทรายดิบร่วงฮวบ พิษโควิดตัวแปรฉุดความต้องการใช้น้ำมันทั้งโลกในปี 2563 ลดลงประมาณ 20 - 30 % ทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิล หันมาใช้อ้อยไปผลิตน้ำตาลมากขึ้น และผลิตเอทานอลน้อยลง

 นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบลดลงมาอย่างรวดเร็วนับจาก ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากราคา 15 เซ็นต์กว่าๆต่อปอนด์ ลงมาอยู่ที่ 10 เซ็นต์ต่อปอนด์ และแนวโน้มอาจจะร่วงลงไปถึงจุดต่ำสุดอีกก็อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี้

สาเหตุหลักคือ การระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ทั่วทั้งโลก ทำให้การผลิตน้ำตาลออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น แต่การบริโภคน้ำตาลลดลง

สำหรับตัวแปรที่กดให้ราคาน้ำตาลดิบร่วงมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วทั้งโลก   ทำให้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันทั้งโลกในปี 2563 จะลดลงประมาณ 20 - 30 % จากปี 2562 (การใช้ในปี 2562 เท่ากับ 100.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากระบบการขนส่งที่ลดลง การเดินทางที่ลดลง เป็นหลัก แม้ว่าในช่วงเดือนเมษานี้ จะมีการประกาสลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC + โดยการลดกำลังการผลิตลง 9.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ไม่เพียงพอกับการลดลงของการใช้น้ำมันทั้งโลก

จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันล่วงหน้า (Crude oil WTI) ในตลาดโลก ลดลงจากราคาประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อช่วงต้นปี 2563 ลงมาที่ประมาณ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ วันที่ 23 เมษายน 2563 

นายอภิชาติ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ราคาน้ำมันลงไปจนมีค่าติดลบสูงสุดที่ราคา - 40.32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า จะมีวันหมดอายุของสัญญาซื้อขาย และมีการกำหนดช่วงเวลาของการรับมอบและส่งมอบน้ำมัน ณ จุดที่ตกลงกันไว้  ซึ่งผู้ค้าน้ำมันมีความกังวลว่าจะไม่สามารถรับมอบหรือส่งมอบน้ำมันได้ เนื่องจากที่เก็บน้ำมันมีจำนวนจำกัดมากๆ ณ ปัจจุบัน จึงเกิดความกลัวและขายกระหน่ำออกมา คาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นการเทขายของพวกกองทุนนักเก็งกำไรมากกว่าจะเป็นการขายของผู้ผลิตหรือผู้ค้าน้ำมัน

จากราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ประเทศบราซิล หันมาใช้อ้อยไปผลิตน้ำตาลมากขึ้น และผลิตเอทานอลน้อยลง  เนื่องจากราคาน้ำตาลให้ผลตอบแทนมากกว่าราคาเอทานอล (ราคาเอทานอลจะลดลงตามราคาน้ำมัน)    

คาดการณ์ว่า บราซิลจะผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก ประมาณ 27 ล้านตันในปี 2562/63 จะเป็นประมาณ 35-36 ล้านตันในปี 2563/64  ประกอบกับค่าเงินบราซิลเรียวต่อดอลลาร์สหรัฐก็อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 (ณ วันที่ 23 เมษายน 2563 อยู่ที่ราคา 5.53) ก็ทำให้การส่งออกน้ำตาลของบราซิลมีราคาดีขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงิน (ปี 2562/63 บราซิลส่งออกน้ำตาลประมาณ 20 ล้านตัน)  จึงส่งผลกระทบทางลบกับราคาน้ำตาลอย่างมาก

สำหรับการบริโภคน้ำตาล คาดการณ์ว่าจะลดลงมากกว่า 2 ล้านตันต่อปีจากการออกนอกบ้านที่ลดลงของประชากรทั่วทั้งโลก  (การบริโภคของทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 175 ล้านตันต่อปี) ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อราคาเช่นกัน

ณ ราคาปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบได้ตอบสนองกับปัจจัยลบไปเกือบหมดแล้ว จะเหลืออยู่เพียงความกังวลต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบราซิลเรียวเท่านั้น และผู้ผลิตส่วนใหญ่ของโลกก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้ที่ราคาปัจจุบัน  สำหรับราคาน้ำมันก็น่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้ผลิตน้ำมันทั้งโลกก็น่าจะลดกำลังการผลิตมากขึ้น นอกเหนือจากการประกาศของกลุ่ม OPEC + เนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตส่วนใหญ่ในโลกนี้ และมีโอกาสที่ประเทศบราซิลจะมีปัญหาภายในเรื่องการผลิตและการขนส่ง  หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในประเทศมีสูงขึ้นจนถึงจุดที่ต้องมีมาตรการปิดเมืองหรือขาดแคลนแรงงาน

 ดังนั้นราคาน้ำตาลทรายดิบก็มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า (คาดว่าจะได้เห็นราคามากกว่า 12 เชนต์ต่อปอนด์) พร้อมๆกับการระบาดที่ลดลงของไวรัสโควิด และแนวโน้มที่ดีในการคิดค้นวัคซีนในการป้องกันโรคดังกล่าว

 ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บรรดากูรูแห่งวงการอ้อยและน้ำตาลให้ความเห็นผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จะมี 2 ปัจจัยเสี่ยง กดราคาน้ำตาลไม่สูงขึ้นเท่าที่ควร โดยมองว่าแม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะดีดตัวสูงขึ้น  แต่อย่าลืมว่าของแพงขึ้นแต่มีของขาย(ปริมาณอ้อย)น้อยลง  เพราะเผชิญปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำลงเหมือนทุกครั้งพอผลผลิตอ้อยมากราคาก็ร่วง พอผลผลิตน้อยราคาจะพุ่งสูงขึ้น  ขณะเดียวกันถ้าราคาไปในทิศทางบวกอุตสาหกรรมน้ำตาลก็ยังมี 2 ความเสี่ยงอยู่ดี

 ความเสี่ยงแรก คือ 1.ปัจจุบันอินเดียมีสต็อกน้ำตาลอยู่ในมือราว 14 ล้านตัน ก็มีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะระบายสต๊อกออกมา ถึงแม้ว่าปี 2562/63 ในตลาดโลกมีผลผลิตน้อยกว่าการบริโภคอยู่ประมาณ  5-7 ล้านตันก็ตาม อินเดียอาจจะนำน้ำตาลออกมาปล่อยขาย   ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่ขยับสูงขึ้นเท่าที่ควร ดังนั้นสต็อกน้ำตาลจากอินเดียจึงเป็นแรงกดดันในตลาดพอสมควรนับจากนี้ไป

2.ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า เวลาซื้อ-ขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ  ดังนั้นราคาดีขึ้นแต่ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่า ไทยจะนำเงินเข้าประเทศจากการส่งออกน้ำตาลได้น้อยลง

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 25 เมษายน 2563

ฝีมือคนไทย! “โดรนปัญญา” ลดต้นทุน ลดแรงงาน ตัวช่วยเกษตรกรยุค SOCIAL DISTANCING

เมื่อย่างเข้าสู่ปลายเดือนเมษายน ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าใกล้จะเข้าสู่ฤดูฝน ฤดูกาลแห่งการเพราะปลูกที่เหล่าเกษตรกรต่างเฝ้ารอคอย แต่ด้วยในปีนี้ได้มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จึงทำให้การทำงานด้านการเกษตรต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบขึ้นตอนการเพาะปลูกและดูแลพืชผลไปจากเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่อาจจะนำไปสู่การติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ หนึ่งในวิธีที่น่าสนใจคือการใช้ “โดรนเพื่อการเกษตร” ที่ได้กลายมาเป็นอุปกรณ์ตัวช่วยที่ดีและเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนี้

นายนพพล บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ใส่ใจ อะกริคัลเจอร์ จำกัด กล่าวว่า “โดรนปัญญา” เป็นโดรนเพื่อการเกษตรที่ได้กลายมาเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับเกษตรกร ที่ต้องทำการเพาะปลูกในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ไปพร้อมๆ กับ การใส่ใจในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (SOCIAL DISTANCING) , และการรักษาสุขภาพ การนำโดรนมาเป็นอุปกรณ์ช่วยในการดำเนินการเพาะปลูกนั้น เป็นการตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ตรงจุด เพราะด้วยวิธีแบบเดิมๆ เช่น การหวานเมล็ด หวานปุ๋ย พ่นยากำจัดศัตรูพืชนั้น ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก ซึ่งต้องมีพบกันขณะทำงาน การใช้โดรนจึงทำให้สามารถลดการใช้แรงงานคนที่ต้องมาพบกันขณะทำงาน การใช้โดรนในการใส่ปุ๋ยหรือยาบำรุงผลผลิตสามารถทำงานได้คนเดียว ลดความเสี่ยงในเรื่องการติดเชื้อโรคได้ อีกทั้งในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ก็ไม่ให้ความสนใจในการทำอาชีพนี้ และอัตราค่าจ้างยังสูงขึ้น จึงทำให้เป็นปัญหาทั้งในด้านขาดแรงงานและเรื่องต้นทุน

สำหรับโดร “โดรนปัญญา” นั้น เป็นโดรนที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย โดยผลงานของ นายจตุพงศ์ โตวรรธกวณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส.เอ.ที.ไอ. แพลตฟอร์ม จำกัด ที่ได้ประดิษฐ์โดรนเพื่อการเกษตรขึ้น โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ในการผลิตและผลิตโดรนในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาในด้านการนำเข้าโดรนจากต่างประเทศที่มีราคาสูง และแก้ในด้านแรงงานที่ใช้ทำการเกษตร เนื่องจากในยุคนี้ หลายๆ คนได้หันมาทำอาชีพเป็นเกษตรกรกันมากขึ้น และทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” แต่เกษตรรุ่นใหม่ก็ต้องพบกับปัญหาในด้านแรงงานที่ลดน้อยลง ซึ่งสวนทางกับจำนวนเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น และโดรนปัญญานั้นยังผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีราคาถูกกว่าโดรนนำเข้าจากต่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรได้อย่างมาก โดยปัจจุบันมีอยู่ 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น 4 หัวฉีด , 6 หัวฉีด และ 10 หัวฉีด ราคา 290,000 – 350,000 บาท มีบริการจัดส่งทั่วประเทศ และมีศูนย์ซ่อมบำรุงให้บริการ

ในการทำงานของโดรนนั้นมีรัศมีการทำงานที่กว้างขวาง ใช้คนในการทำงานเพียงแค่ 1 – 2 คน ก็สามารถทำได้ เช่น การใช้โดรนสำหรับพ่นปุ๋ย ก็เริ่มต้นด้วยการตั้งพิกัด และนำปุ๋ยเติมใส่ภาชนะสำหรับบรรจุที่ติดตั้งอยู่ใต้โดรน หลังจากนั้นก็ออกคำสั่งบินจากรีโมทบังคับ เพื่อให้โดรนบินไปพ่นปุ๋ยในพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องการที่มีการกำหนดพิกัดไว้ ซึ่งการพ่นปุ๋ยจากโดรนนั้นจะให้ความสม่ำเสมอ มากกว่าเครื่องพ่นที่ใช้แรงงานคนในการเดินพ่น และยังสามารถใช้ในแปลงเพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่ได้อย่างสบาย ไม่ต้องใช้คนเดินไปไกลๆ เพื่อไปใส่ปุ๋ย จากเมื่อก่อนการพ่นยา 100 ไร่ ต้องใช้เวลาหลายวัน แต่หากใช้โดรน 1 วันก็สามารถทำเสร็จได้ เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนี้ ที่ต้องใส่ใจการเว้นระยะห่าง

นอกจากจะเป็นอุปกรณ์ช่วยในด้านแรงงานแล้ว ก็ยังเป็นตัวช่วยในเรื่องการรักษาสุขภาพอีกด้วย เนื่องจากการใช้โดรนทำให้เกษตรกรไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีที่มีอยู่ในปุ๋ยและยาบำรุงโดยตรง ซึ่งในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เกษตรกรต้องใส่ใจด้วย

ด้วยรัศมีการทำงานที่กว้างขวาง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านแรงงาน ลดความกังวลในการใกล้ชิดกัน และประหยัดเวลาในการทำงาน “โดรนเพื่อการเกษตร” จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ ที่ช่วยให้บรรดาเกษตรกรใช้ต้นทุนทรัพยากรน้อยที่สุด แต่ได้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพมากที่สุด จนกลายเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรแบบอัจฉริยะที่ตอบโจทย์ด้านการเกษตรได้ทุกด้าน

จาก https://mgronline.com วันที่ 24 เมษายน 2563

‘กรมชลฯ’​เผยน้ำในอ่างฯทั่วประเทศ​อยู่เกณฑ์​น้อย ย้ำทุกหน่วยใช้น้ำตามแผน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ว่า ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 34,368 ล้าน ลูกบาศก์เมตร​ (ลบ.ม.)​ คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 11,056 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,779 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,083 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน มีการใช้น้ำไปแล้ว 16,412 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,415 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้

สำหรับ อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง ปัจจุบันมีอยู่ 25 แห่ง อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์, เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่, เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง เป็นต้น เน้นส่งน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ขณะที่ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563 ได้วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไว้ 2.31 ล้านไร่ ปัจจุบัน มีการทำนาปรังไปแล้ว 4.21 ล้านไร่ เกินแผนฯไปแล้วร้อยละ 82 มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 2.79 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุน มีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.81 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจาก แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก 

นายทวีศักดิ์​ กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมถึงตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและการดำเนินงาน ตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

จาก https://mgronline.com วันที่ 24 เมษายน 2563

ชงแจกเงินเกษตรกร เข้าครม.สัปดาห์หน้า อุตตม แจงใช้หนี้กู้ 1 ล้านล้าน

ชงแจกเงินเกษตรกร เข้าครม.สัปดาห์หน้า อุตตม แจงปมใช้หนี้กู้ 1 ล้านล้าน เผยทบทวนสิทธิ์รับ เยียวยา 5,000 บาท มีระยะเวลาจ่ายเงิน 3 เดือน

วันที่ 23 เม.ย. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง เกี่ยวกับความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า

มาตรการแจกเงินเกษตรกร 5,000 บาทต่อเดือน จะต้องเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณารูปแบบว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยจะใช้ฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจะเข้าที่ประชุมคณะครม. วันที่ 28 เม.ย.

“มาตรการแจกเงินเกษตรกร จะต้องหารือในคณะกรรมการกลั่นกรองก่อน เนื่องจากจะใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท คาดเป็นไปได้โดยเร็ว อาจจะเป็นไปได้ว่าอาทิตย์หน้าเรื่องจะถึงครม. ส่วนเงื่อนไขสุดท้ายจะเป็นอย่างไรให้ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก่อน กระทรวงเกษตรฯ จะกำหนดวงเงินใช้งบประมาณ จะรู้ว่าตัวเลขเป็นอย่างไร คลังจะมากำหนดงบประมาณว่าต้องใช้เงินจากพ.ร.ก.ควรเป็นเท่าไหร่”นายอุตตม กล่าวว่า

นายอุตตม กล่าวว่า มาตรการช่วยเกษตรกรจะยึดจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ เป็นหลัก เพราะมีการขึ้นทะเบียนมาโดยตลอด จึงต้องเริ่มที่จุดนี้ก่อน

ส่วนเรื่องโครงการสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระแจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ผ่านการลงทะเบียนเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ดำเนินการไปแล้ว วันนี้เข้าสู่การทบทวนสิทธิ์ จะเป็นกระบวนการต่อเนื่องไป ระยะการจ่ายเงิน 3 เดือน ส่วนวงเงินจะออกมาเท่าไหร่ ขอให้การทบทวนสิทธิ์เสร็จก่อนจะเห็นภาพชัด

ทั้งนี้ คลังยืนยันว่าวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะเพียงพอดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกู้เพิ่ม โดยในหลักการของพ.ร.ก.สำหรับเยียวยา 6 แสนล้านบาท ถ้าไม่พอก็สามารถนำเงินบางส่วนจากพ.ร.ก. สำหรับฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท มาช่วยได้ตามความจำเป็น

ส่วนการชำระคืนหนี้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะยังไม่รู้จะต้องกู้มาใช้เท่าไหร่ อาจจะไม่กู้ถึง 1 ล้านล้านบาทก็ได้ ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อยู่ระหว่างการเตรียมแผน

จาก   https://www.khaosod.co.th วันที่ 23 เมษายน 2563

เร่ง โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง ใกล้แล้วเสร็จช่วยเกษตรกรกว่า 4 หมื่นไร่

ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558-2569) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย

 ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ติดกับเทือกเขาดงพญาเย็น ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำชี แต่มีพื้นที่เก็บกักน้ำค่อนข้างน้อย ประกอบกับลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน และชะลอน้ำหลากลงสู่ตัวเมืองชัยภูมิ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย

นายประพิศ รองอธิบดี กรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันได้เร่งรัดการก่อสร้างผลงาน 22.34% ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน 8.70% เมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกได้ถึง 40,000 ไร่ ทั้งยังสามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 8,000 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้อีกประมาณ 2.16 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้านท้าย อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ รวมไปถึงพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จาก   https://www.khaosod.co.th วันที่ 23 เมษายน 2563

ค่าเงินบาท​แข็งค่า​ขึ้น​ที่​ 32.36 บาท/ดอลลาร์​ หลังราคาน้ำมันดิบฟื้น-หุ้น​ “สหรัฐ-ยุโรป” บวก

ค่าเงินบาท​แข็งค่า​ขึ้น​ที่​ 32.36  บาท/ดอลลาร์​ หลังราคาน้ำมันดิบฟื้น-หุ้น​ “สหรัฐ-ยุโรป” บวก​ กรอบวันนี้​คาดเคลื่อนไหว​ระหว่าง​ 32.30-32.50 บาท

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์  เปิดเผย​ว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (23​ เม.ย.)​ ที่ระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.42 บาทต่อดอลลาร์  ส่วน​กรอบเงินบาทวันนี้อยู่​ระหว่าง​ 32.30-32.50 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้​ ในช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนีตลาด​หุ้น​ S&P500 ของสหรัฐฟื้นตัว 2.3% และในยุโรปดัชนี​ Euro Stoxx 600 ก็ปรับตัวขึ้น 1.8% หลังราคาน้ำมันดิบ WTI ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำติดลบกลับมายืนได้ที่ระดับ 14.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หนุนให้ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นมาที่ระดับ 1715 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐก็ฟื้นตัวส่งผลให้มีความต้องการดอลลาร์มากกว่าสกุลเงินอื่น ขณะเดียวกันภาพการเมืองระหว่างสหรัฐกับประเทศในตะวันออกกลางก็ดูจะมีปัญหามากขึ้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะถือดอลลาร์เพื่อรอความชัดเจน

ขณะเดียวกันเงินยูโรก็อ่อนค่าลงแต่ระดับ 1.08 ดอลลาร์ต่อยูโร ต่ำที่สุดในรอบกว่าสองสัปดาห์ ด้วยความกังวลว่าสหภาพยุโรป อาจไม่สามารถหาข้อตกลงในการช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบอยากวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างทั่วถึงในการประชุม teleconference วันนี้ (23​ เม.ย.)​

“ส่วนในฝั่งของเงินบาท ก็ทยอยแข็งค่าขึ้นในจังหวะที่ต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และชะลอการขายหุ้นไทยลง ในช่วงต่อไป เชื่อว่าประเด็นที่ตลาดจะสนใจมากที่สุดคือทิศทางการประกาศรายได้บริษัทจดทะเบียนที่ไทยถูกปรับประมาณการลงมากที่สุดในเอเชีย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น กำไรที่ “ดีกว่าคาด” ได้มากที่สุดเช่นกัน นอกจากนี้ ความหวังว่าภาคธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติในบางจังหวัด ก็ดูจะทำให้มุมมองการลงทุนดีขึ้นด้วย” ด​ร.จิ​ติ​พล​กล่าว

จาก   https://www.prachachat.net วันที่ 23 เมษายน 2563

KTIS ผนึก เซเว่นฯ ขายแอลกอฮอล์ราคาถูกช่วยประชาชน

กลุ่ม KTIS จับมือพันธมิตร CP ALL (ซีพี ออลล์) ส่งแอลกอฮอล์ 70% คุณภาพมาตรฐาน แบรนด์ KNAS ขายผ่านเซเว่นฯ ในราคาถูกพิเศษ สานเจตนารมณ์ช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติ พร้อมนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสมทบทุนจัดซื้อชุด PPE แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์  

นายประพันธ์  ศิริวิริยะกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เกษตรไทย  อินเตอร์เนชั่นแนล  ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS (เคทิส) ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มเคทิสได้ผลิตแอลกอฮอล์ 70% พร้อมใช้ ภายใต้แบรนด์ KNAS ออกจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก โดยขนาดแกลลอน 5 ลิตร ราคาเพียง 300 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ก่อนหน้านี้ต้องซื้อแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือในราคาแพงกว่านี้มาก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว ซึ่งหลังจากที่เปิดตัว KNAS สู่ตลาด ก็มีผลตอบรับจากประชาชนสูงมาก ทางคณะผู้บริหารจึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อกระจาย KNAS ออกไปสู่ผู้บริโภคให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะเห็นว่ากลุ่มซีพี ออลล์ มีอุดมการณ์เดียวกันในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเพื่อต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19

ล่าสุด กลุ่ม KTIS ได้ตกลงเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย เพื่อนำแอลกอฮอล์ KNAS เข้าจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริหารกลุ่มเคทิส อันสอดคล้องกับผู้บริหารของซีพี ออลล์ ที่ต้องการให้ประชาชนทั่วประเทศได้ใช้แอลกอฮอล์คุณภาพดี ในราคาถูก ซึ่งเป็นการทำเพื่อสังคม นอกจากนี้ รายได้จากการจำหน่ายแอลกอฮอล์ราคาพิเศษนี้ ส่วนหนึ่งทางกลุ่ม KTIS และทางซีพี ออลล์จะนำไปซื้อชุดป้องกันภัย (ป้องกันเชื้อโรค) ส่วนบุคคล (PPE) มอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ด้วย

จาก  https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 เมษายน 2563

กรมชลฯ สั่งชลประทานทั่วประเทศ เกาะติดสถานการณ์น้ำ หลังอุตุฯ เตือนจะเกิดพายุฤดูร้อน

กรมชลประทาน สั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือนจะเกิดพายุฤดูร้อนทางตอนบนประเทศ ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในระยะนี้

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน ฉบับที่ 4 (76/2563) ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 เรื่อง "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 22-26 เมษายน 2563)" เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ส่งผลให้ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่นั้น (โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน ส่วนภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป)

กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยให้บุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือจากสถานการณ์น้ำได้ทันที บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา หากสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้ฝนตกลงมายังพื้นที่ด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ ก็จะส่งผลดีในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก รวมทั้งปริมาณน้ำท่าในสายหลักต่างๆด้วย ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อสนับสนุนด้านการอุปโภคบริโภค เพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันค่าความเค็มได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำในให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัดและปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้เป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่ได้วางไว้ และบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่งให้ทราบโดยทั่วถึงกัน อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน

จาก   https://siamrath.co.th วันที่ 22 เมษายน 2563

ชาวไร่อ้อยกุมขมับ ราคาน้ำตาลโลกเหลือแค่9.95เซนต์ต่อปอนด์ ขั้นปลายส่อติดลบ

ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกลดหลุดลุ่ย เหลือ9.95เซนต์ต่อปอนด์ ส่อแววทำราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 62/63 ติดลบ กองทุนอ้อยฯมึนหวังเงินจะไหลเข้าอาจต้องควักจ่ายแทน ย้ำถึงเวลาต้องทบทวนอุตฯนี้ใหม่

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกใกล้ชิดหลังจากล่าสุดราคาส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2563 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.95 เซนต์ต่อปอนด์ เป็นการปรับลดลงต่อเนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งมีราคาเฉลี่ยกว่า 15 เซนต์ต่อปอนด์ซึ่งหากราคายังอยู่ระดับต่ำดังกล่าวจะกระทบต่อราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2562/63 ให้มีโอกาสต่ำกว่าราคาขั้นต้นที่กำหนดไว้เฉลี่ย 750 บาทต่อตัน และยังจะสะท้อนไปยังราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2563/64 ให้ตกต่ำอีกด้วย

“โควิด-19 มีผลกระทบอย่างมาก เดิมทีหลายฝ่ายต่างประเมินว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2562/63 น่าจะได้มากกว่าขั้นสุดท้าย 100-120 บาทต่อตัน ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินเพิ่ม กองทุนฯเองจะได้เก็บเงินส่วนนี้เข้าสะสมส่วนหนึ่ง แต่โอกาสปัจจุบันน้อยมาก แค่รอลุ้นเพียงอย่าให้ติดลบหรือหากติดลบก็อย่ามากเกินเพราะฐานะกองทุนอ้อยฯเองก็ไม่ได้มีสภาพคล่องเหลือที่จะต้องไปจ่ายคืนโรงงานน้ำตาลทรายตามระเบียบที่กำหนดไว้”นายวีระศักดิ์กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ผลพวงของราคาน้ำตาลทรายที่ตกต่ำทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอาจต้องมาทบทวนกันใหม่หมดโดยเฉพาะฝ่ายโรงงานน้ำตาลและชาวไร่คงต้องหารือจุดที่จะทำอย่างไรให้เดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางสภาพการณ์ดังกล่าว เนื่องจากฤดูผลิตปี 2563/64 นอกจากปัญหาราคาอ้อยที่คาดจะตกต่ำแล้ว ภัยแล้งที่รุนแรงก็มีแนวโน้มที่ปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายอาจลดลงต่อเนื่องจากฤดูหีบปี 2562/63 ที่เพิ่งปิดหีบไปและได้ผลผลิตอ้อยเพียง 74.89 ล้านตัน น้ำตาลทราย 8.27 ล้านตันต่ำสุดรอบ 10ปี

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด(อนท.) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ระดับต่ำ 9.95-10 เซนต์ต่อปอนด์นั้นถือว่าค่อนข้างต่ำมากอย่าง ไม่คาดคิดมาก่อน โดยหลังจากนี้อนท.ต้องทำราคาน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกให้เสร็จในเดือนพฤษภาคมตามกำหนด คิดว่าน่าจะทำให้ได้ราคาเฉลี่ย 12-13 เซนต์ต่อปอนด์บวกพรีเมียมเมื่อคำนวณราคาขั้นสุดท้ายปี 2562/63 ยอมรับว่ามีโอกาสที่จะติดลบ อนาคตหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต้องทบทวนอุตสาหกรรมกันใหม่ เพื่อไม่ให้ชาวไร่อ้อยในระบบทิ้งการปลูกอ้อย

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 เมษายน 2563

อุตฯ อ้อยน้ำตาลไทยวิกฤตได้อีก ราคาโลกทรุดต่ำผวาฉุดขั้นสุดท้ายปี 62/63 ส่อติดลบ

ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงลดลงต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปี 63/64 อาจเผชิญวิบากกรรมหนักขึ้นทั้งในแง่ราคาและปริมาณ ระยะสั้นต้องลุ้นราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 62/63 ที่ส่อแววติดลบ กองทุนอ้อยฯ มึนหวังเงินจะไหลเข้าอาจต้องควักจ่ายแทน ย้ำถึงเวลาต้องทบทวนอุตฯ นี้ใหม่

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกใกล้ชิด หลังจากการเคลื่อนไหวล่าสุดราคาส่งมอบเดือน พ.ค. 63 ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 9.9 เซ็นต์ต่อปอนด์ เป็นการปรับลดลงต่อเนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งมีราคาเฉลี่ยกว่า 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งหากราคายังอยู่ระดับต่ำดังกล่าวจะกระทบต่อราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2562/63 ให้มีโอกาสต่ำกว่าราคาขั้นต้นที่กำหนดไว้เฉลี่ย 750 บาทต่อตัน และยังจะสะท้อนไปยังราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 63/64 ให้ตกต่ำอีกด้วย

 “โควิด-19 มีผลกระทบอย่างมาก เดิมทีหลายฝ่ายต่างก็ประเมินว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 62/63 น่าจะได้มากกว่าขั้นสุดท้าย 100-120 บาทต่อตันชาวไร่อ้อยก็จะได้รับเงินเพิ่ม กองทุนฯ เองก็จะได้เก็บเงินส่วนนี้เข้าสะสมส่วนหนึ่ง โอกาสตอนนี้ก็คงน้อยมาก รอลุ้นเพียงอย่าให้ติดลบหรือหากติดลบก็อย่ามากเกิน เพราะฐานะกองทุนอ้อยฯ ก็ไม่ได้มีสภาพคล่องเหลือที่จะต้องไปจ่ายคืนโรงงานน้ำตาลทรายตามระเบียบที่กำหนดไว้” นายวีระศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ผลพวงของราคาน้ำตาลทรายที่ตกต่ำทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอาจต้องทบทวนกันใหม่หมด โดยเฉพาะฝ่ายโรงงานน้ำตาลและชาวไร่คงต้องหารือจุดที่จะทำอย่างไรให้เดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางสภาพการณ์ดังกล่าว เนื่องจากฤดูผลิตปี 2563/64 นอกเหนือจากต้องเผชิญทั้งราคาอ้อยที่คาดว่าจะตกต่ำแล้ว ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงก็มีแนวโน้มที่ปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายอาจลดลงต่อเนื่องจากฤดูหีบปี 2562/63 ที่เพิ่งปิดหีบไปและได้ผลผลิตอ้อยเพียง 74.89 ล้านตัน น้ำตาลทราย 8.27 ล้านตัน ต่ำสุดรอบ 10 ปี

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ระดับต่ำ 9.95-10 เซ็นต์ต่อปอนด์นั้นถือว่าค่อนข้างต่ำมากอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อนจากการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกทำให้ราคาน้ำมันลดลง บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ปกติจะนำเอาอ้อยไปผลิตเอทานอล 50% แต่เมื่อราคาน้ำมันลดจึงหันไปผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มทำให้ปริมาณน้ำตาลล้นตลาดโลก ประกอบกับค่าเงินของบราซิลอ่อนค่าลงมากจึงได้เปรียบต่อการส่งออกทำให้ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำ

“อนท.ต้องทำราคาน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกให้เสร็จในเดือน พ.ค.นี้ตามกำหนด คิดว่าเฉลี่ยก็น่าจะทำให้ได้ราคา 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์บวกพรีเมียมรวมๆ แล้วการนำไปคำนวณราคาขั้นสุดท้ายปี 2562/63 ยอมรับว่าก็มีโอกาสที่จะติดลบ” นายบุญถิ่นกล่าว

 อย่างไรก็ตาม หากมองอนาคตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจากนี้ไปคงจะวิกฤตทั้งในแง่ราคาอ้อยที่จะตกต่ำและปริมาณอ้อยที่จะลดลง ซึ่งหากโควิด-19 ทั่วโลกไม่จบลงง่ายจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องทบทวนอุตสาหกรรมนี้กันใหม่ว่าจะมีทางออกอย่างไรให้อยู่รอดเพื่อให้ชาวไร่อ้อยในระบบยังคงมีรายได้ไม่ทิ้งการปลูกอ้อยไป

 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้โรงงานน้ำตาลทรายได้มีการหารือระหว่างโรงงานด้วยกันว่าจะรับมืออย่างไรกับทิศทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่อาจจะเจอกับวิกฤตหลายด้านทั้งราคา และปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่แนวโน้มจะลดลง และจะส่งเสริมการปลูกอ้อยแก่ชาวไร่อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเมื่อส่งเสริมไปแล้วชาวไร่ไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดทำให้การส่งเสริมต่อไปอาจเกิดปัญหาเพราะราคาตกต่ำ ซึ่งทุกส่วนจะได้ไปทำข้อมูลเพื่อร่วมกันหาทางออกอีกครั้ง

จาก https://mgronline.com   วันที่ 21 เมษายน 2563

KI Sugar Group มอบแอลกอฮอล์ 50,000 ลิตร ช่วยโรงพยาบาลสู้วิกฤตไวรัส COVID-19

KI Sugar GROUP หรือบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลมานานกว่า 55 ปี ได้รับการการันตีด้วยมาตรฐานระดับโลกจากองค์กร ProTerra ประเทศเนเธอร์แลนด์ รายแรกและรายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนายพัฒน์ และนายมั่นคง เสถียรถิระกุล 2 ผู้บริหารรุ่นใหม่ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสู้วิกฤต COVID-19 ด้วยการสนับสนุนแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และเจลแอลกอฮอล์ 75% ซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงาน จำนวน 50,000 ลิตร ให้แก่โรงพยาบาลราชวิถี รวมถึงโรงพยาบาลและหน่วยงานรัฐกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ พร้อมมอบน้ำตาลทรายและสิ่งของอุปโภคบริโภค รวมถึงอุปกรณ์สำหรับการทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า รวมมูลค่า 7,550,000 บาท นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้สนับสนุนเงินจำนวน 12,000,000 บาท ในการสร้างอาคารผู้ป่วยใน ให้กับโรงพยาบาลจักราช จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นสาธารณกุศลให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการมอบแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ฯลฯ ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลค่ายสุรนารี, โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลจักราช, โรงพยาบาลชุมพวง, สถานีตำรวจภูธรพิมาย, กรมสรรพสามิตนครราชสีมา, วัด และชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา, โรงพยาบาลสุรินทร์, โรงพยาบาลปราสาท, โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์, กองพิสูจน์หลักฐานจังหวัดสุรินทร์, องค์การบริหารส่วนตำบลปรือ,องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด, กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน และหน่วยงานราชการอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง

นอกจากนี้ ยังได้ให้อุปกรณ์และวัตถุดิบ เพื่อนำไปจัดทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า ให้แก่กลุ่มสตรีตำบลปรือ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งบริจาคของอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่และชาวไร่อ้อยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ที่อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ อีกด้วย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 21 เมษายน 2563

อ้อย-น้ำตาลวิกฤตจ่อคอหอย! หลังราคาตลาดโลกดิ่ง

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า ยอมรับมีโอกาสที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2562/63 จะต่ำกว่าราคาขั้นต้นที่กำหนดไว้เฉลี่ย 750 บาทต่อตัน เนื่องจากราคาส่งมอบเดือนพ.ค. 2563 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.95 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องจากต้นปีที่ผ่านมาที่ราคาเฉลี่ยกว่า 15 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งหากราคายังอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกจะกระทบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2563/64 ตกต่ำลงตามไปด้วย

“ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ประกอบกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อาจต้องหารือถึงการทบทวนระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยกันใหม่ทั้งหมด ว่าทำอย่างไรจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะโควิด-19 มีผลกระทบอย่างมาก จากที่ประเมินกันว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2562/63 น่าจะได้มากกว่าขั้นสุดท้าย 100-120 บาทต่อตันชาวไร่อ้อย ทั้งยังต้องเผชิญภาวะภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลต่อปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องต่ำกว่าฤดูหีบปี 2562/63 ที่เพิ่งปิดหีบไปและได้ผลผลิตอ้อยเพียง 74.89 ล้านตัน น้ำตาลทราย 8.27 ล้านตันต่ำสุดรอบ 10 ปี”

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ระดับต่ำ 9.95-10 เซนต์ต่อปอนด์นั้นถือเป็นระดับค่อนข้างต่ำมากอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศบราซิลในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ปกติจะนำอ้อยไปผลิตเอทานอล 50% แต่เมื่อราคาน้ำมันลดก็หันไปผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำตาลล้นตลาดโลก ประกอบกับค่าเงินของบราซิลอ่อนค่า จึงได้เปรียบในการส่งออกส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำ

“อนท. ต้องทำราคาน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกให้เสร็จในเดือนพ.ค.นี้ตามกำหนด ซึ่งคาดว่าเฉลี่ยน่าจะทำให้ได้ราคา 12-13 เซนต์ต่อปอนด์บวกพรีเมียมรวมๆ แล้วการนำไปคำนวณราคาขั้นสุดท้ายปี 2562/63 ยอมรับว่าก็มีโอกาสที่จะติดลบ และส่วนตัวมองอนาคตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจากนี้ไปจะวิกฤตทั้งในแง่ราคาอ้อยที่จะตกต่ำและปริมาณอ้อยที่จะลดลง หากโควิด-19 ทั่วโลกยืดเยื้อไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ คงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมาทบทวนอุตสาหกรรมนี้กันใหม่ว่าจะมีทางออกอย่างไรให้อยู่รอด”นายบุญถิ่น กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ โรงงานน้ำตาลทรายได้หารือร่วมกันว่าถึงทิศทางและแนวทางรับมือกับแนวโน้มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่อาจเจอกับวิกฤตหลายด้านทั้งราคา/ปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่จะลดลง รวมถึงจะส่งเสริมการปลูกอ้อยกับชาวไร่อย่างไร ไม่ให้ชาวไร่อ้อยทิ้งการปลูกจากปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งทุกฝ่ายจะกลับไปรวบรวมข้อมูลรอบด้านเพื่อนำกลับมาหารือถึงแนวทางแก้ไขอีกครั้ง

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 21 เมษายน 2563

กรมชลฯ สั่งลุยมาตรการช่วยพื้นที่แล้งต่อเนื่อง จนกว่าเข้าต้นฤดูฝนนี้

 กรมชลประทาน วางมาตรการช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำที่อยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ดร. ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าเข้าไปให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ อาทิ โครงการชลประทานอ่างทอง ได้นำรถบรรทุกน้ำ ไปช่วยเหลือชาวสวนมะม่วงในพื้นที่ตำบลโพธิ์ม่วงพันธ์ อำเภอสามโก้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร นอกจากนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าพระยา ยังได้นำเรือกำจัดวัชพืช จำนวน 2 ลำ ดำเนินการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาที่ลอยมาตามกระแสน้ำแม่น้ำเจ้าพระยามาสะสมบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อความสะอาดและสวยงาม รวมทั้งลดปริมาณผักตบชวาบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ให้น้ำไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น

ด้านโครงการชลประทานเลย ได้ส่งรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน นำน้ำไปเติมสระประปา องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำหมาน สัปดาห์ละ 4 เที่ยว ช่วยเหลือราษฎร 2 หมู่บ้าน ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค บ้านห้วยลวงไซ และบ้านไร่ม่วง ตำบลน้ำหมาน อำเภอเมืองเลย จำนวน 590 หลังคาเรือน

ส่วนที่โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา นำรถบรรทุกน้ำ ขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน นำน้ำประปาที่ได้รับการสนับสนุนจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาบางคล้า นำไปแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลก้อนแก้ว อำเภอคลองเขื่อน จำนวน 2 เที่ยว และหมู่ 2 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอบ้านโพธิ์ อีก 2 เที่ยว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนให้มีน้ำประปาสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมปริมาณน้ำประปาที่ส่งไปสะสมตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม - 7 เมษายน 2563 จำนวนกว่า 1,152,000 ลิตร

ในส่วนของสำนักเครื่องจักรกล ได้ดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำและวัชพืช ในแหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำ และลำคลองสายต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ ทำให้ประชาชนสามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อาทิ แม่น้ำกวง บริเวณหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ,บริเวณลำน้ำหนองกุง บ้านโคกกลาง ตำบลหัวหิน อำเภอห้วยแม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ และการขุดขยายบ่อเก็บน้ำประปาหมู่บ้าน บ้านดงพลองพัฒนา ตำบลหลุมข้าว อำเภอโนนสูง เพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำให้สามารถนำไปผลิตประปาหมู่บ้านได้อย่างเพียงพอ เป็นต้น ซึ่งกรมชลประทาน จะดำเนินการช่วยพื้นที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนตกชุกและสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลงในระยะต่อไป

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 21 เมษายน 2563

“สุริยะ”ของบหมื่นล้านซับน้ำตาไร่อ้อย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (21 เม.ย.) กระทรวงได้เสนอให้ ครม.พิจารณางบกลางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ฤดูการผลิตปี 2562/63 รวม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นก้อนแรก 6,500 ล้านบาท ใช้สำหรับปัจจัยการผลิตสำหรับชาวไร่อ้อยทุกราย ที่จดทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยและทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบ รวม 200,000 ราย และอีก 3,500 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลทุกตันอ้อย โดยช่วยเหลือเพิ่มเติม 93 บาทต่อตัน

 “เงินดังกล่าวจะช่วยให้ชาวไร่อ้อย มีสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำ เงินก้อนนี้ทำให้ชาวไร่ได้นำไปบำรุงและดูแลอ้อยในฤดูการผลิตถัดไป และเป็นการส่งเสริมการตัดอ้อยสดของชาวไร่ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่ ครม.ปี 2561 กำหนดให้ลดการตัดอ้อยสด 3 ฤดูการผลิตจนเป็น 0-5% ในฤดูการผลิตปีการผลิต 2563/64”

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกำลังรอเงินดังกล่าว เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง ตั้งแต่ก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูหีบปี 2562/63 เพราะต้นทุนสูงขึ้นประกอบกับรัฐบาลส่งเสริมให้ตัดอ้อยสด ขณะเดียวกันหลังปิดหีบแล้ว ผลผลิตอ้อยก็ลดลงเหลือ 74.89 ล้านตันต่ำสุดรอบ 10 ปี.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 21 เมษายน 2563

ลุ้นครม. เคาะหมื่นล้าน อุ้มชาวไร่อ้อย

ลุ้นครม.ไฟเขียวงบ 10,000 ล้านบาท ช่วยชาวไร่อ้อย ปัจจัยการผลิต 6,500 ล้านบาทได้ทุกคน และอีก 3,500 ล้านบาท ช่วยผู้ที่ส่งอ้อยสดเข้าหีบโรงงานน้ำตาล 

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาทให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่21 เม.ย.นี้เ แบ่งเป็นก้อนแรก 6,500 ล้านบาท ช่วยเหลือปัจจัยการผลิตสำหรับชาวไร่อ้อยทุกรายที่จดทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยและทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบ ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณเกือบ 200,000 ราย

ส่วนอีกก้อนจำนวน 3,500 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลทุกตันอ้อย โดยช่วยเหลือเป็นเงินในอัตราตันละ 93 บาท ทำให้โดยรวมแล้วเกษตรกรชาวไร่อ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ที่รับเงินค่าอ้อยขั้นต้นไปแล้ว 750 บาทต่อตันอ้อย มีเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น นายวิฤทธิ์ กล่าวว่า  การหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2562/2563 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563 รวมระยะเวลาเปิดหีบ 116 วัน มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 37,183,474 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.65 จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 74,893,175 ตัน

สำหรับฤดูการผลิตปี 2563/2564 ตั้งเป้าปริมาณอ้อยไฟไหม้จะต้องลดลงเหลือร้อยละ20 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอ้อยไฟไหม้ โดยใช้แนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ และยังตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

"ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตรา 750 บาทต่อตันอ้อย ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับ 97.91% ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 766.01 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้นลงของราคาอ้อยเท่ากับ 45 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ส่วนผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เท่ากับ 321.43 บาทต่อตันอ้อย"

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 เมษายน 2563

“สุริยะ” ชง ครม.พรุ่งนี้ของบหมื่นล้านอัดฉีดชาวไร่อ้อยเพิ่มปัจจัยผลิต-หนุนตัดอ้อยสด

 “สุริยะ” เสนอ “ครม.” พรุ่งนี้ขอสนับสนุนงบกลางวงเงินรวม 10,000 ล้านบาทช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ แบ่งเป็นปัจจัยการผลิต 6,500 ล้านบาท และอีก 3,500 ล้านบาทช่วยผู้ที่ส่งอ้อยสดเข้าหีบโรงงานน้ำตาล ด้านชาวไร่เฮ! รอมานานหวังเสริมสภาพคล่อง โอดโควิด-19 ฉุดราคาน้ำตาลโลกดิ่ง หวั่นราคาอ้อยฤดูใหม่ต่ำอีก หวังโควิด-19 จบเร็ว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 เม.ย. คาดว่าจะพิจารณางบกลางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2562/ 63 รวมประมาณ 10,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยแบ่งวงเงินออกเป็นก้อนแรก 6,500 ล้านบาทเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตสำหรับชาวไร่อ้อยทุกรายที่จดทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยและทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบ ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณเกือบ 200,000 ราย และวงเงินที่เหลือ 3,500 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลทุกตันอ้อย โดยช่วยเหลือเพิ่ม 93 บาทต่อตัน

 "เงินดังกล่าวจะเป็นการช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อตันซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเงินนี้ก็จะทำให้ชาวไร่ได้นำไปบำรุงและดูแลอ้อยในฤดูใหม่ต่อไป และยังเป็นการส่งเสริมการตัดอ้อยสดของชาวไร่ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ ครม.ปี 2561 กำหนดให้ลดการตัดอ้อยสด 3 ฤดูผลิตจนเป็น 0-5% ในฤดูผลิตปี 63/64" นายสุริยะกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่างรอวงเงินดังกล่าวเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องตั้งแต่ก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูหีบปี 62/63 เพราะต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับรัฐส่งเสริมให้ตัดอ้อยสดตามมติ ครม.เมื่อ 11 มิ.ย. 2562 ขณะเดียวกัน หลังปิดหีบแล้วผลผลิตอ้อยก็ลดลงเหลือเพียง 74.89 ล้านตันต่ำสุดรอบ 10 ปี ซึ่งทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสูญเสียรายได้รวมแสนล้านบาท

"ขณะนี้ชาวไร่อ้อยเองก็กังวลที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกกลับมาลดต่ำ 9-10 เซ็นต์ต่อปอนด์จากที่เคยสูงถึง 15 เซ็นต์ต่อปอนด์เพราะโควิด-19 ที่ทำให้การใช้น้ำตาลทั่วโลกลดลงไปมาก เราก็หวังว่าเมื่อโควิด-19 คลี่คลายราคาน้ำตาลทรายจะกลับมาสูงกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 63/64 ตกต่ำอีกปีหนึ่งได้อีก" นายนราธิปกล่าว

 ส่วนกรณีการตัดอ้อยสดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอไว้ในฤดูการผลิตปี 63/64 ที่กำหนดให้ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เหลือ 20% ปริมาณอ้อยสด 80% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดนั้นเป็นไปตามกรอบมติ ครม.ปี 2562 แต่ชาวไร่อ้อยได้เสนอที่จะขอให้ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เหลือ 40% อ้อยสดปริมาณ 60%

 "ความเห็นชาวไร่อ้อยกับรัฐยังไม่ตรงกันในเรื่องของอ้อยไฟไหม้ แต่ก็คงต้องทำตามที่รัฐกำหนดไปก่อนหากไม่ได้อย่างไรก็คงต้องมาดูปัจจัยต่างๆ โดยในฤดูหีบ 62/63 ที่เป็นการตัดอ้อยสดตามกำหนด ครม.ฤดูหีบแรกที่เปิดหีบ 1 ธันวาคม 62 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563 มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 37.18 ตัน หรือคิดเป็น 49.65% ก็ถือว่าใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50%" นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 20 เมษายน 2563

WTO คาดการค้าโลก ปี 2563 หดตัว 32% แนะเอกชนเตรียมแผนการค้ารับมือฟื้นตัว ปี 2564

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการศึกษาเศรษฐกิจหลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 ของ WTO คาดหากควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว ในปี 2564 การค้าโลกจะฟื้นตัว 21-24% พร้อมแนะผู้ประกอบการเตรียมแผนธุรกิจหลังวิกฤต เน้นใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ คำนึงถึงสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเพิ่มและรักษาพันธมิตรทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ได้จัดทำรายงานการศึกษาการค้าโลกหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าปริมาณการค้าโลก ในปี 2563 จะลดลงจากปี 2562 และจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2564 โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ WTO ได้ตั้งสมมติฐานที่อาจเป็นไปได้ 2 กรณี คือ กรณีแรก ปริมาณการค้าโลกจะลดลงร้อยละ 13 และจะฟื้นตัวร้อยละ 21 และกรณีที่ 2 ปริมาณการค้าโลกจะลดลง ร้อยละ 32 หรือมากกว่า และจะกลับมาฟื้นตัวร้อยละ 24

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ ความรวดเร็วในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และนโยบายหรือมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ นอกจากนี้ หากทุกประเทศร่วมมือกันจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าการที่แต่ละประเทศดำเนินมาตรการเอง อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวอาจยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาวะตึงเครียดของตลาดสินเชื่อที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการให้บริการการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

WTO ยังวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจต่างๆ โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรม พบว่า มาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้มีการปิดโรงงานชั่วคราว ส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่มูลค่าซับซ้อนโดยตรง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ สำหรับภาคการค้าบริการ ส่งผลให้การใช้บริการคมนาคมขนส่ง ท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและบริการต่างๆ ลดลง หรือต้องปิดตัวในบางธุรกิจ เนื่องจากประเทศต่างๆ มีมาตรการจำกัดการขนส่งและการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส ทั้งนี้ ยังมีสาขาบริการที่ได้ประโยชน์จากวิกฤต เช่น การให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากสามารถใช้บริการในที่พักอาศัยได้ และมีพฤติกรรมการใช้มากขึ้น

“ผู้ประกอบการควรใช้ช่วงเวลานี้ เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลังภายหลังวิกฤต โดยต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ประเมินความเสี่ยงและทางเลือกใหม่ๆ รวมถึงปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาพันธมิตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อเพิ่มแนวร่วมในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่จะมีผลต่อพฤติกรรมของตลาดและผู้บริโภคในอนาคต เช่น ความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 เมษายน 2563

อุตฯชงครม.หั่นค่าธรรมเนียมเครื่องจักรเม.ย.นี้

20 เมษายน 2563 น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 เม.ย. 2563 นี้ โดยเป็นการงดเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรายปี ให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ คาดว่า จะช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมได้กว่า 56,598 รายทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการจากระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น

“มาตรการดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งแพคเกจเยียวยาประชาชนในช่วงที่มีวิกฤตไวรัส ซึ่งยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวทางกระทรวงได้เสนอเข้าครม. ไปสักระยะแล้ว และรอความเห็นชอบจากที่ประชุม โดยได้รับการยืนยันมาว่าจะต้องออกมาใช้ให้ทันภายในเดือนเม.ย.นี้ แน่นอน โดยทางกระทรวงประเมินว่า หากครม.เห็นชอบมาตรการดังกล่าว จะมีโรงงานได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมฯรวมเป็นเงินว่า 231 ล้านบาท”น.ส.สุชาดา กล่าว

อย่างไรก็ตามค่าธรรมเนียมโรงงานแบ่งเป็นจำพวก 3 เช่น โรงงานขุดลอก กรวดทราย ผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็ง อัตราการจัดเก็บประมาณปีละ 150-18,000  บาท กลุ่มนี้มีผู้ประกอบการประมาณ 56,164 ราย แต่ละปีมีรายได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 230.72 ล้านบาท และค่าธรรมเนียม โรงงานจำพวก 2 เช่น โรงงานน้ำตาล ผลิตกระดาษ ผลิตสุรา กลั่นน้ำมัน อัตราการจัดเก็บผู้ประกอบการประมาณปีละ 150-18,000 บาท มีประมาณ 434 ราย มีรายได้ประมาณ 390,750 บาท

จาก https://www.thaipost.net วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563

ลดลงทุน-เพิ่มรายได้ ทางโต 'น้ำตาลครบุรี' !

ฐานะการเงิน 'ผันผวน' ตามปัจจัยลบเหนือความควบคุม ! 'อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์' นายใหญ่ 'น้ำตาลครบุรี' แก้เกมผลักดัน 'ธุรกิจโรงไฟฟ้า' โต หวังกระจายเสี่ยง 'ธุรกิจน้ำตาล' หลังภัยแล้งรุนแรงในรอบ 40 ปี เผยปีนี้บอร์ดโยน 'โจทย์ยาก' หาวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายด่วน !

เมื่อธุรกิจเดิมที่คลุกคลีมาตลอดและคิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 80-90% ของ บมจ.น้ำตาลครบุรี หรือ KBS ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวสม่ำเสมอ ! หลังที่ผ่านมาผลประกอบการเหวี่ยงขึ้นลงตามอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนของวัตถุดิบและราคา โดยเฉพาะปริมาณอ้อยในแต่ละปี

สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเผชิญความเสี่ยงจากปัญหา 'ภัยแล้งรุนแรง' ต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งหนักสุดในรอบ 40 ปี 'กดดัน' ผลผลิตอ้อยและปริมาณน้ำตาลลดลงต่อเนื่อง โดยปีฤดูการผลิต 2562/2563 คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบลดลงกว่า 45% ! เหลือแค่ 1.7 ล้านตันอ้อย จากปีก่อน (2561/2562) ที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3.3 ล้านตันอ้อย

ขณะที่ปริมาณอ้อยเข้าหีบของทั้งประเทศในปีฤดูกาลนี้ (2562/2563) อยู่ที่ 71 ล้านตันอ้อย จากปีก่อนที่อยู่ที่ 131 ล้านตันอ้อย จากปริมาณอ้อยน้อยมากเนื่องจากเกษตรได้รับผลกระทบภัยแล้งรุนแรงมาก ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

'อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์' กรรมการ บมจ.น้ำตาลครบุรี หรือ KBS บอกเล่าสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟัง แนวโน้มของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของเมืองไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ เช่น อินเดีย , ออสเตรเลีย ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลตลาดโลกมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันอยู่ที่ 15-16 เซนต์ต่อปอนด์ จากปีก่อน 12.30 เซนต์ต่อปอนด์

ทว่า เดือนมี.ค.ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงมาแตะระดับ 11 เซนต์ต่อปอนด์ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงไปทั่วโลก แต่มองว่าเป็นความกังวลระยะสั้นเท่านั้น เพราะว่ายังไงก็ตามน้ำตาลก็เป็นสินค้าที่อยู่ในส่วนประกอบของอาหาร เมื่อคนหายกังวล 'ความต้องการ' (ดีมานด์) สินค้าก็น่าจะกลับมาและแนวโน้มราคาน้ำตาลจะขยับดีขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบัน KBS แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายของบริษัทสามารถจำแนกได้ 5 ชนิด 'น้ำตาลทรายดิบ' (Raw Sugar) น้ำตาลทรายดิบ คือ น้ำตาลทรายที่ได้จากกระบวนการผลิตขั้นต้น มีสีน้ำตาลเข้ม ยังมีสิ่งเจือปนเหลืออยู่และมี ความบริสุทธิ์ต่ำ 'น้ำตาลทรายสีรำ' (Brown Sugar) และ 'น้ำตาลธรรมชาติ' (Nature Sugar) น้ำตาลทรายสีรำและน้ำตาลธรรมชาติ คือ น้ำตาลทรายที่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์แล้ว แต่ไม่ได้ผ่าน กระบวนการลดค่าสี ทำให้สีของน้ำตาลเป็นเหลืองแกมทอง

'น้ำตาลทรายขาว' (White Sugar) น้ำตาลทรายขาวคือ น้ำตาลทรายที่ได้จากการนำเอาน้ำตาลทรายดิบมาผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ (Refined) เพื่อสกัดเอาสิ่งเจือปนออกจนได้เป็นน้ำตาลทรายขาวที่มีความสะอาด น้ำตาลประเภทนี้ โดยทั่วไปเป็นวัตถุดิบในโรงงาน อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการความบริสุทธิ์ปานกลาง เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมหวาน และนมเปรียว เป็นต้น

'น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์' (Refined Sugar) และ 'น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ' (Super Refined Sugar) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ คือ น้ำตาลทรายที่ได้จากการนำน้ำตาลทรายดิบมาผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์เช่นเดียวกับน้ำตาลทรายขาว แต่จะมีความบริสุทธิ์มากกว่า 'น้ำตาลทรายผสมซูคราโลส' (Sucralose Blended Sugar) น้ำตาลนวัตกรรมล่าสุดที่มีคุณสมบัติหวานเป็น 2 เท่า เพราะมีส่วนผสมของซูคราโลส ซึ่งเป็นน้ำตาลสกัดเข้มข้น จากอ้อยธรรมชาติ 100% ให้ทั้งความประหยัด สะอาดและปลอดภัย

และ 2.ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย นอกจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลคุณภาพแล้ว บริษัทสามารถนำผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย ไปสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วยการต่อยอดธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจชีวพลังงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงสุด

'กากน้ำตาล' (Molasses) กากน้ำตาลเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่ได้จากกระบวนการเคียวน้ำตาล มีลักษณะเป็นของเหลวเหนียวข้นสีน้ำตาลเข้ม โดยปกติบริษัทจะได้กากน้ำตาลประมาณ 43-45 กิโลกรัม จากปริมาณอ้อย 1 ตัน บริษัทขายให้กับลูกค้าในหลากหลาย อุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และที่สำคัญโมลาสยังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลังงานสำหรับการผลติเอทานอล   

'กากอ้อย' (Bagasses) บริษัทนำกากอ้อยที่ได้จากกระบวนการหีบอ้อย โดยใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า เพื่อส่งต่อให้โรงงานน้ำตาลและยังสามารถผลิตกประแสไฟฟ้าส่วนเกินเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด (KPP) เป็นผู้ดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าตามสัญญาประเภท Firm ขนาด 22 เมกะวัตต์ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลติแหง่ประเทศไทย (กฟผ.) และมีสัญญา ประเภท Non-firm ขนาด 8 เมกะวัตต์ จำนวน 2 สัญญา ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ผลประกอบการลดลงอย่างน้อย 20% ตามทิศทางปริมาณอ้อยลดลง โดยปีก่อนหีบ 3.3 ล้านตัน (ธ.ค.2561-มี.ค.2562)  โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 ล้านตัน (ธ.ค.2562-ก.พ.2563) ลดลงทั้งประเทศโดยประเทศจาก 131 ล้านตัน เหลือ 71 ล้านตัน ปีก่อนภัยแล้งกระทบหนักมาก ขณะที่เป้าหมายในปีฤดูกาล 2563/2564 คาดปริมาณหีบอ้อย 2.5 ล้านตันอ้อย ถือว่าเป็นระดับที่น่าจะใจแล้ว หลังจากแนวโน้มภัยแล้งเริ่มดีขึ้นจากปริมาณฝนที่มาเร็วขึ้น 

ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นบริหารพื้นที่เพาะปลูก เพื่อรักษาปริมาณและคุณภาพผลผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพหีบสกัดให้ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยจากการใช้เทคโนโลยีต่อยอดสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมตั้งแต่ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายสีรำ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายขาวผสมซูคราโลส เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตรายย่อยและผู้บริโภคทั่วไปทั้งในและตลาดส่งออกในทวีปเอเชีย

'ล่าสุดที่ผ่านมาเราเปิดปิดหีบอ้อยได้เพียง 3 เดือน (ธ.ค.2562-ก.พ.2563) เนื่องจากผลผลิตอ้อยหมดก่อน ขณะที่ช่วงปีก่อนเราเปิดปิดหีบอ้อยได้ 4 เดือน (ธ.ค.2561-มี.ค.2562) ซึ่งในปีที่ผ่านมาภัยแล้งหนักมาก และ 2 ปีติดต่อกัน'  

'อิสสระ' บอกต่อว่า จากสถานการณ์ที่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบเศรษฐกิจชะลอตัว 'กรรมการผู้จัดการ' (MD) ให้ 'โจทย์ใหญ่' ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ว่า ให้บริษัทพยายาม 'ปรับลดค่าใช้จ่าย' ต่างๆ และหาช่องทางเพิ่มรายได้ใหม่ ดังนั้น ตอนนี้บริษัทกำลังพิจารณา 'โครงการก่อสร้างโรงงานโรงน้ำตาล' และ 'โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่' ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่เดิมคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถเปิดโรงงานได้ในช่วงเดือนธ.ค. 2563

โดยในส่วนของโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ กำลังการผลิต 1.2 หมื่นตันต่อวัน ขณะที่โรงงานน้ำตาลเดิมกำลังการผลิตรวม 3.5 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่บริษัทอาจจะปรับลดเงินลงทุนราว 10% ของเงินลงทุนทั้งหมด 4,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะไปประหยัดในส่วนที่ยังไม่จำเป็นต้องลงทุนไปก่อน หรือในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อการเปิดดำเนินการไปก่อน และลงทุนเฉพาะที่จำเป็น ซึ่งการปรับเปลี่ยนแผนลงทุนดังกล่าวจะช่วยลดเงินลงทุนลงได้ 

ขณะที่ในส่วนของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ กำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ เบื้องต้นบริษัทยังไม่มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า แต่เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในโรงงานน้ำตาล แต่อนาคตข้างหน้าบริษัทหวังว่าจะมีภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าของเรา ซึ่งจะทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความต้องการ (ดีมานด์) ใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และบริษัทอาจจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายได้   

สำหรับการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน บริษัทมีความพร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับชุมชนบ้างแล้ว แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องรอดูนโยบายของภาครัฐออกมาชัดเจนก่อน

'ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจไฟฟ้าช่วยทำให้ลดความผันผวนของธุรกิจน้ำตาลได้มากขึ้น โดยปัจจุบันเรามีความสนใจลงทุนในโรงไฟฟ้าชุมชน และเตรียมความพร้อมถ้ามีความชัดเจนเราก็จะทำ อนาคตจะมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจไฟฟ้าขยับมากยิ่งขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 10% โดยเฉพาะในแง่ของมาร์จินที่สูงกว่ามาร์จินธุรกิจน้ำตาล ขณะที่ธุรกิจน้ำตาลเราพยายามทำโปรดักท์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย

ท้ายสุด 'อิสสระ' ทิ้งท้ายไว้ว่า อนาคตธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยลดความผันผวนของธุรกิจน้ำตาลได้ เนื่องจากสัดส่วนรายได้จะมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจน้ำตาลก็จะมีการออกโปรดักท์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้นอีกด้วย

ลุยระดมทุน KBSPIF

'อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์' กรรมการ บมจ. น้ำตาลครบุรี หรือ KBS บอกต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้ง 'กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี' (KBSPIF) จำนวนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อระดมเงินไปลงทุนในโรงงานน้ำตาล กำลังการผลิต 1.2 หมื่นตันอ้อยต่อปี และโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ 18 เมกะวัตต์ ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

รวมถึงโครงการอื่นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่ม KBS ซึ่งกองทุนฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) คาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายได้ตามแผนคือเดือน พ.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพในทุกด้าน และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาสร้างรายได้เชิงธุรกิจ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ดำเนินการโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) จำกัด ที่ KBS ถือหุ้น 99.99% มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 22 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 16 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในปี 2562 ทำรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐ 728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.5 ล้านบาท คิดเป็น 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 608 ล้านบาท จากปริมาณจำหน่ายหน่วยในการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 เมษายน 2563

โรงไฟฟ้าชุมชน เลื่อนเปิดรับซื้อไฟ บี้ มิ.ย.ได้ผู้ชนะ

กระทรวงพลังงาน เลื่อนประกาศรับซื้อไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชุมชน 100 เมกะวัตต์ ติดปัญหาแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพีดีพี ต้องผ่านครม. ไฟเขียวก่อน แต่ยืนยันทันภายในเม.ย.นี้ ตั้งเป้าได้เอกชนคว้าสิทธิ มิ.ย.63

 แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ส่งร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win จำนวน 100 เมกะวัตต์ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อนำไปประกาศเป็นระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากแล้ว

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายเดิมนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำหนดจะประกาศในวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือก มีความล่าช้าเล็กน้อย จากการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มีจำนวนมาก ประกอบกับแต่เดิมเข้าใจว่า แผนดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน น่าจะดำเนินการได้เลย แต่กระทรวงพลังงาน เห็นว่า เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น การดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าว ควรจะให้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ พีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ ที่บรรจุการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ 1,933 เมกะวัตต์ตลอดสิ้นแผนปี 2580 9hv ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ถึงจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 เมษายน 2563

ทิศทางเงินบาท-หุ้น

การเคลื่อนไหวเงินบาทระหว่างวันที่ 20-24 เม.ย.

ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.30-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และแผนการเปิดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการสำหรับเดือน เม.ย. (เบื้องต้น) ดัชนีราคาบ้านเดือนก.พ. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง (LPR) ประจำเดือนเม.ย. ของธนาคารกลางจีน รวมถึงดัชนี PMI สำหรับเดือน เม.ย. (เบื้องต้น) ของประเทศสมาชิกยูโรโซน และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน  

ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,200 และ 1,185 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,250 และ 1,265 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกของไทยเดือนมี.ค. และการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/63 ของบริษัทจดทะเบียนไทย สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. รวมถึงดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 เมษายน 2563

จัดระเบียบเกษตรกรเยียวยาโควิด

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยปรับปรุงทะเบียนเกษตรปี 63ผ่านแอปพลิเคชั่น Farmbook ไม่ต้องมาที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ลดความเสี่ยงโรคระบาด 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่าตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้เร่งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรรายเดิมและขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ เพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ตามนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมของรัฐบาล กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงทะเบียนและขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2563 เพื่อให้เกษตรกรได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทางมาติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ดังนี้

1. กรณีเป็นเกษตรกรที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกร (เกษตรกรรายใหม่ แปลงใหม่) หรือเป็นเกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว แต่ต้องการเพิ่มเติมข้อมูลพื้นที่ปลูกแปลงใหม่ (เกษตรกรรายเดิม แปลงใหม่) เมื่อเกษตรกรทำการปลูกพืชแล้ว 15 วัน สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่บ้าน ด้วยการกรอกแบบฟอร์มการขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.01) ให้ชัดเจนอ่านง่าย

แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาเอกสารแสดงสิทธิการถือครองที่ดิน พร้อมลงวันที่กรอกแบบฟอร์ม ทบก.01 ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้ที่ farmer.doae.go.th หรือขอรับได้ที่ผู้นำชุมชน แล้วนำเอกสารทั้งหมดส่งให้กับผู้นำชุมชนรวบรวมจัดส่งให้เจ้าหน้าส่งเสริมการเกษตร เพื่อดำเนินการบันทึกเข้าในระบบทะเบียนเกษตรกร และลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงปลูกอีกครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจขอหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

2. สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว และต้องการจะปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร (เกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม) ขอให้ดำเนินการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผ่านทางแอปพลิเคชั่น Farmbook เท่านั้น โดยใช้รหัสทะเบียนเกษตรซึ่งระบุอยู่ในทะเบียนเกษตรกรลงชื่อเข้าใจงานแอปฯ  ซึ่งการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร คือ การแจ้งปลูกพืชทุกฤดูเพาะปลูก หลังจากปลูกพืชชนิดนั้นๆ แล้ว 15 วัน กรณีข้าว/พืชไร่ หรือกรณีพืชอายุสั้น หรือแจ้งปรับปรุงเป็นประจำทุกปีกรณีไม้ผล/ พืชยืนต้น อีกทั้งเกษตรกรหัวหน้าครัวเรือน สามารถแก้ไขปรับปรุงข้อมูลส่วนของสมาชิกครัวเรือนเกษตรกรที่เคยแจ้งไว้ตอนขึ้นทะเบียน แต่ไม่สามารถเพิ่มสมาชิกในครัวเรือนผ่านแอปพลิเคชั่น Farmbook ได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 เมษายน 2563

เงินบาทเปิด 32.49 แนวโน้มแข็งค่าหลังนักลงทุนเข้าถือสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่

 นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.49 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.66 บาท/ดอลลาร์ เช้านี้เงินบาทค่อนข้างแข็งค่าจากเมื่อเย็นวาน และวันนี้ยังมีทิศทางจะแข็งค่าได้ต่อ เนื่องจากขณะนี้ตลาดเริ่มที่จะเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น และหันมาถือสกุลเงินในตลาดเปิดใหม่รวมทั้งไทย อย่างไรก็ดีในระหว่างวันต้องรอดูการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของจีนด้วยว่าจะออกมาอย่างไร เพราะหากตัวเลขออกมาไม่ดี เงินบาทก็มีโอกาสจะปรับทิศทางได้

โดยช่วงนี้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เมื่อวานมีข่าวว่าทรัมป์จะมีประกาศเริ่มเปิดเมือง และยังมีข่าวว่าสหรัฐฯเผยผลการทดสอบยาต้านไวรัสที่ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยโควิดจนหายดี ซึ่งเมื่อมีข่าวนี้เข้ามา ทำให้ตลาดเข้ามา take ความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่สายๆต้องรอดูจีนประกาศจีดีพี ไตรมาส 1 ด้วยว่าจะออกมาดีหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้บาทสะดุดได้ คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.45-32.65 บาท/ดอลลาร์

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 17 เมษายน 2563

แปลงใหญ่อ้อยอินทรีย์ท่าหลวง สู่น้ำตาลออร์แกนิค ลดต้นทุน สร้างรายได้ เป็นมิตรต่อผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) เพื่อติดตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตร แบบแปลงใหญ่อ้อยโรงงานอินทรีย์ในพื้นที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำอ้อยโรงงานแบบใช้สารเคมี เป็นการทำแบบอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จ และได้ร่วมกับโรงงานอ้อยและน้ำตาลกลุ่มวังขนายทำเกษตรพันธสัญญา (Contact Farming) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่ามีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน อีกทั้ง ยังสอดรับกับแนวโน้มอัตราการเติบโตของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

จากการติดตามของ สศท.7 พบว่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 มีสมาชิกแปลงใหญ่ จำนวน 30 ราย พื้นที่ทั้งหมด 1,770.08 ไร่ ผลผลิตรวม จำนวน 16,178.53 ตัน/ปี ปีเพาะปลูก 2562/63 เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 6,385 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 10 เดือน-1 ปี) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 10-15 ตัน/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,115 บาท/ไร่ ราคาที่เกษตรขายได้เฉลี่ย 100 บาท/ตัน ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ค่าความหวานอ้อย (CCS) การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น เป็นต้น โดยผลผลิตทั้งหมดจำหน่ายให้กับโรงงานกลุ่มวังขนาย จังหวัดลพบุรี นำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลออร์แกนิคส่งจำหน่ายภายในประเทศร้อยละ 75 และอีกร้อยละ 25 ส่งออกต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน โครเอเชีย และนิวซีแลนด์

จากผลสำเร็จตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา แปลงใหญ่อ้อยโรงงานอินทรีย์ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ รวมทั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ 1) มาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC 483/2007) 2) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA-NOP) 3) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศญี่ปุ่น (Japan Agriculture Standard : JAS) 4) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศเกาหลี (Korean Organic) และ 5) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศแคนาดา (Canada Organic Regime : COR) จึงเป็นเครื่องการันตีและสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าและผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตอ้อยโรงงานอินทรีย์ของเกษตรกรได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง

ด้านนายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวเพิ่มเติมว่า อ้อยโรงงานอินทรีย์ นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตสดใส สามารถยกระดับรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร ซึ่งจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับประธานแปลงใหญ่ (นายจรูญ ฉิมบันเทิง) ได้บอกเล่าถึงผลสำเร็จของการปลูกอ้อยโรงงานแบบอินทรีย์ว่า เดิมเกษตรกรปลูกอ้อยโรงงานแบบใช้สารเคมีแต่กลับพบปัญหาเรื่องพื้นที่ปลูก ดินเริ่มไม่มีคุณภาพ ดินเสียและแข็ง ปัญหาขาดแคลนแรงงานรับจ้างฉีดยา รวมถึงเกษตรกรเริ่มมีสุขภาพไม่ดีตรวจพบสารพิษตกค้างในร่างกาย จึงปรับเปลี่ยนมาทำแปลงอ้อยเกษตรอินทรีย์ ถึงแม้ผลผลิตต่อไร่ในช่วงระยะเวลา 3 ปี จะน้อยกว่าการปลูกอ้อยโรงงานทั่วไป แต่เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงกว่าถึงร้อยละ 37 เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลง เกษตรไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ส่งผลให้คุณภาพของดินดีขึ้น ปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชลดลง ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มมีแผนขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์เพื่อรองรับความต้องการของตลาดอีกประมาณ 2,000 ไร่

ดังนั้น หากภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่อ้อยโรงงานแบบอินทรีย์ หรือสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นจะช่วยลดปัญหาการขาดทุนในปีที่ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้ง ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น สำหรับเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร. 05 640 5007-8 หรือ e-mail : zone7@oae.go.th หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายเพชรชูชัย เพชรล้ำ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาอ้อยโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ที.เอ็น.วังขนาย จังหวัดลพบุรีโทร. 03 649 7078

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 16 เมษายน 2563

กรมเจรจาฯ แนะนำเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA จากทั่วโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแนะนำเว็บไซต์ใหม่ ใช้ค้นหาข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ที่มีอยู่กว่า 300 ฉบับทั่วโลกได้ ณ จุดเดียว เผยใช้สืบค้นอัตราภาษีศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้าแต่ละรายการได้ คาดช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย สามารถวางแผนการผลิตและส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้องค์การศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centre : ITC) องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) ได้ร่วมมือจัดทำเว็บไซต์ “Rules of Origin Facilitator” www.findrulesoforigin.org และได้เปิดตัวไปเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยได้รวบรวมข้อมูลด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก ทั้งความตกลง WTO และความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับภูมิภาคและทวิภาคี รวมกว่า 300 ฉบับ หรือกว่า 70% ของความตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ในปัจจุบันไว้ ณ จุดเดียว

สำหรับเว็บไซต์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกของไทย ให้สามารถสืบค้นอัตราภาษีศุลกากร และกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในแต่ละรายการสินค้า (ลงรายละเอียดตามพิกัดศุลกากร) ที่อยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ เพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงได้อย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำการค้าระหว่างประเทศ และยังสามารถสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีนำเข้า (Tariff Rates) กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules : PSRs) รูปแบบของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : CO) กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และพิธีการศุลกากร

ทั้งนี้ ในส่วนของไทย ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ทั้ง 13 ฉบับของไทย และข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกไปประเทศที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย เช่น สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซียได้ด้วย ซึ่งในปี 2562 ไทยใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ FTA และ GSP รวมกันกว่า 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ประมาณ 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เว็บไซต์ Rules of Origin Facilitator เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน รวมถึงช่วยให้สามารถวางแผนการผลิตและการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ดังกล่าว โดยสามารถสืบค้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 15 เมษายน 2563 

กลุ่ม KTIS ลั่นเอาผิดคนปลอมแปลงแอลกอฮอล์ KNAS

กลุ่ม KTIS พบมีการนำแอลกอฮอล์ 70% พร้อมใช้แบรนด์ KNAS ไปปลอมแปลงในหลายรูปแบบ ทั้งเปลี่ยนราคาขายให้แพงขึ้น แบ่งขายในขนาดเล็กลงโดยจัดทำฉลากลอกเลียนแบบของจริง ชี้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย อาจเป็นอันตรายและสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภค เพราะอาจมีการทำให้เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ต่ำลงและค้ากำไรเกินควร ผิดเจตนารมณ์ของกลุ่ม KTIS ที่ต้องการขายสินค้าราคาถูกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤตโควิด-19

นายอภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS (เคทิส) ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่ม KTIS ได้ออกผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ 70% พร้อมใช้ ภายใต้แบรนด์ KNAS (เคนาส) ขายในราคาถูกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น ปรากฏว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีปลอมแปลงฉลาก ราคา และภาชนะบรรจุ อันก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางบริษัทฯ จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการต่อผู้กระทำผิดทุกรูปแบบอย่างเคร่งครัด

 “ความตั้งใจของเราคือ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากกรณีที่แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ขาดตลาดและมีราคาแพง เราจึงออกผลิตภัณฑ์ KNAS แอลกอฮอล์ 70% พร้อมใช้ ในราคาที่ต่ำกว่าที่มีขายในท้องตลาด เพื่อให้ราคาตลาดลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น ขนาดแกลลอนละ 5 ลิตร ราคา 300 บาทเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีการนำ KNAS ไปขายผ่านช่องทางออนไลน์หรือช่องทางต่างๆ แล้วติดราคาใหม่ที่แพงขึ้นมาก หรือนำไปแบ่งขายในบรรจุภัณฑ์ที่เล็กลง แต่ลอกเลียนแบบแบรนด์ KNAS ซึ่งทางเราก็ไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบนั้นได้นำไปผสมน้ำหรือสารเคมีอื่นเข้าไปหรือไม่ เราจึงอยากจะเตือนผู้บริโภค และเพื่อหยุดยั้งการกระทำเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการต่อผู้กระทำผิดด้วย” นายอภิชาตกล่าว

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ KNAS มีช่องทางจำหน่ายกระจายอยู่ทั่วไป โดยสามารถดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ www.ktisgroup.com

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 เมษายน 2563

พันธมิตรกลุ่มมิตรผล สนับสนุนเอทานอล ผลิตเจลอนามัย น้ำใจ กฟผ. ส่งต่อสังคม

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. รับมอบเอทานอลล็อตแรก จำนวน 5,000 ลิตร สำหรับนำมาผลิตเจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ. จากกลุ่มมิตรผล นำโดย นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ รองประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล และคณะ  เพื่อสนับสนุน กฟผ. ให้สามารถผลิตเจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ. ได้อย่างต่อเนื่อง  เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังประชาชน หน่วยงานทุกภาคส่วน นับเป็นความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมในการบรรเทาวิกฤติสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ณ อาคารเคมี สำนักงานใหญ่ กฟผ.

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 เมษายน 2563

กรมชลฯ ระดมเครื่องสูบน้ำช่วยพื้นที่ขาดแคลนน้ำกิน-ใช้ทั่วประเทศ

 กรมชลประทาน ระดมเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค วอนทุกฝ่ายร่วมกันใช้น้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อมีน้ำใช้จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนปกติ

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของประเทศอยู่ในขณะนี้ กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้ พร้อมกับเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่จังหวัดลำปาง สำนักงานชลประทานที่ 2 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง สูบน้ำจากสระเก็บกักน้ำของหมู่บ้าน ช่วยเหลือราษฎรบ้านดอกคำใต้หมู่ที่ 1 บ้านแม่ตีบหลวง หมู่ที่ 2 บ้านน้ำหลง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จำนวน 132 ครัวเรือน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างทั่วถึง

ด้านสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้นำรถบรรทุกน้ำขนน้ำรวมกว่า 72,000 ลิตร ไปช่วยเหลือสวนผลไม้ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 72,000 ลิตร และสวนพุทรา ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี อีก 66,000 ลิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือไม้ผลไม่ให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 32 เครื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ดังนี้ ลพบุรี 15 เครื่อง สระบุรี 1 เครื่อง พระนครศรีอยุธยา 2 เครื่อง เพชรบูรณ์ 1 เครื่อง ชัยนาท 8 เครื่อง และนครสวรรค์ 5 เครื่อง

ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง พื้นที่หมู่ 1 ต.ตลิ่งชัน อ.เมือง พื้นที่หมู่ 1 ต.ดอนเจดีย์ และพื้นที่หมู่ 1 ต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ที่จังหวัดชัยนาท สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง ในพื้นที่หมู่ 9 ต.บ้านเชี่ยน อ.หันคา สูบน้ำช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์

ส่วนที่จังหวัดนราธิวาส โครงการชลประทานนราธิวาส ลงพื้นที่พิจารณาโครงการจัดหาน้ำเพิ่มเติมให้กับฝายบ้านน้ำหอม โครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดนไทย – มาเลเซีย หมู่ที่ 6 ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ จำนวน 300 ครัวเรือน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนปกติ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 15 เมษายน 2563

หยุดเผา ลดฝุ่น!! กสก. สร้างจิตสำนึกชุมชน รณรงค์หยุดเผาพื้นที่เกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร รณรงค์หยุดเผาพื้นที่เกษตร ดึงชุมชนมีส่วนร่วม สร้างจิตสำนึก และนำวัสดุเหลือใช้ไปทำประโยชน์ หวังลดฝุ่นพิษ PM 2.5 เข้าชุมชนเมือง พร้อมขยายผลทั่วประเทศ

สำหรับในเรื่องของปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญซึ่งเป็นปัญหาเรียกว่าเป็นวิกฤตอีกวิกฤตหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ ซึ่งตรงนี้ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ช่วยกันดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ

เนื่องจากปัญหาเรื่องการเผา ทำให้เกิดฝุ่นละออง โดยเฉพาะ PM2.5 ส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลเป็นหลัก ตัวสิ่งแวดล้อมเป็นตัวควบคุมอีกทางหนึ่ง แต่ดร.เฉลิมชัย เป็นห่วงเป็นใยกับชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ หากได้รับผลกระทบจาก PM2.5 เข้าไปจะมีปัญหาต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จึงได้มอบนโยบายให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมต่างๆ ช่วยกันดูแล โดยเฉพาะเรื่องการให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร หรือประชาชนโดยทั่วไป สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนอีกภารกิจหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ได้เริ่มปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานของคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ดังนั้น จึงเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรว่า การเผาในที่โล่งทั้งพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมาก

นอกจากนี้ การไถกลบตอซังและฟางข้าวจะช่วยคลุกเคล้าปรับปรุงบำรุงดิน ช่วยย่อยสลายและเพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มธาตุอาหารให้พืช ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาก การอัดฟางก้อนสามารถสร้างรายได้จากการขายฟ่อนฟางเพื่อนำไปใช้เพาะเห็ดหรือเป็นอาหารสัตว์ การเผานั้นนอกจากทำให้เกิดมลพิษแล้ว ยังต้องระวังโทษตามกฎหมายด้วย จากนี้จะเร่งรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตรโดยใช้เครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ ศพก. ซึ่งเป็นต้นแบบก่อนขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ในชุมชน ให้สามารถลดปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 15 เมษายน 2563

เงินบาทเปิด 32.72บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.72 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ระบุว่า เงินบาทช่วงนี้ยังซื้อขายในกรอบแคบ โดยการเคลื่อนไหวหลักเป็นไปตามทิศทางของตลาดหุ้นเอเชีย ขณะที่ราคาทองซึ่งเคยเป็นปัจจัยบวกก็หายไปหมดในปีนี้ ในปัจจุบันมีภาพความสัมพันธ์กับราคาทองแดง ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ชี้วัดภาคอุตสาหกรรมกลับมาเป็นตัวแปรหนุน ในระยะสั้น แม้จะปรับตัวขึ้นบ้างแต่ราคาก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงจุดต่ำสุดในรอบกว่าสามปีครึ่ง

สำหรับในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินพลิกกลับมาเป็นลบ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 1.0% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี กลับปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 0.76%

จุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวลง 1.4% แม้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก (OPEC+) จะหาข้อสรุปเรื่องการลดกำลังการผลิตลงได้ เป็นสัญญาณเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่าตลาดเข้าสู่ภาวะ “ข่าวร้ายเป็นข่าวร้าย” (Bad news is bad news) เมื่อผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถควบคุมความผันผวนของราคาสินทรัพย์บางประเภทได้

 ฝั่งตลาดการเงิน ในคืนที่ผ่านมาเป็นภาพเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงตามตลาดหุ้น โดยล่าสุดมีเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสกุลเงินหลักที่แข็งค่าสวน 0.9% ขณะที่ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์แคนาดา (CAD) ก็ฟื้นตัว 0.6% ตามราคาทองคำขึ้นมาเช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 เมษายน 2563

หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย ราคาประหยัดลุยได้ทุกที่

การเกษตรในยุค Digital Farm  สมัยใหม่ นอกจากมีการแข่งขันกันสูง มีความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศที่มีผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านการตลาดและราคาตก ดังนั้นการทำการเกษตรจึงจำเป็นต้องกระจายเสี่ยง ทำการปลูกพืชแบบผสมผสานหลากหลายชนิด สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชที่จะปลูกได้ตามความเปลี่ยนแปลงของความต้องการตลาด แต่จะทำเช่นนี้ได้ เครื่องจักรกลการเกษตรจะต้องมีความฉลาดและเป็นหุ่นยนต์ AI เท่านั้น

ดังนั้นคำตอบจึงอยู่ที่ FARMBOT หุ่นยนต์การเกษตรที่เป็น Platform มาในแบบคล้ายๆ Grantry Robot ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่ง FARMBOT ของต่างประเทศ จะยังเป็นตัวขนาดเล็ก วิ่งบนรางอะลูมิเนียม โดยตัวหุ่นยนต์จะคล้ายๆ Crane ตัว U วิ่งคร่อมราง

 ซึ่งหุ่นยนต์ FARMBOT ตัวนี้ของต่างประเทศสามารถปลูกพืชได้ทั้งในโรงเรือนและนอกโรงเรือน แต่ยังไม่สามารถทำเป็นเกษตรแปลงใหญ่ได้  เพราะยังทำ U-Turn ไม่ได้ วิ่งไม่ได้ทั้งแปลง และต้องวางรางลงบนเสาเข็มขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการทรุดตัวของดิน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก โดยทำพื้นที่ได้สูงสุดแค่กว้าง 3 m x 18 m ราคา 200,000 บาท เข้าไปแล้ว

ขณะที่หุ่นยนต์ FARMBOT สายพันธุ์ไทย ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดทั้ง Hardware และ Software เองทั้งหมด และรองรับเกษตรแปลงใหญ่ได้ ทั้งในโรงเรือนและนอกโรงเรือน  และเพิ่มความเร็วในการทำงาน โดยใน Platform จะมีหุ่นยนต์ 2 ตัว คือ หุ่นยนต์หลัก กับหุ่นยนต์รองที่นำพาหุ่นยนต์หลักทำ U-Turn โดยไม่ต้องตีวงเลี้ยว โดยหุ่นยนต์ทั้ง 2 นี้ จะวิ่งอยู่บนรางสลิง โดยตัวอย่างรายละเอียดที่สำคัญมีดังนี้

รางสลิง (Cable) วางอยู่บนเสาเข็มขนาดเล็ก ระยะห่างระหว่างเสา 13.3 m ยาวต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆ โดยปลาย 2 ข้างของเส้นสลิง จะตรึงติดกับเสาสมอบกที่ฝังไว้กับพื้นที่แข็งแรง โดยสลิงสามารถปรับความตึงได้ ความยาวของรางสลิงนี้ ยาวได้เป็น ร้อยๆ เมตร หรือยาวได้ไม่จำกัด

หุ่นยนต์หลักมีขนาดความกว้าง 13.3 m โครงสร้างเป็นคานอะลูมิเนียม รูปแบบเป็นตัว U คร่อมรางสลิง วิ่งด้วยล้อขนาดเล็ก เกาะอยู่บนเส้นสลิง ความสูงของคานปรับขึ้นลงได้ตามความสูงของพืช และวิ่งขยับซ้ายขวาได้ ตามร่องแถวของพืช

ตัวหุ่นยนต์หลัก จะมีแกน Z ทีเดียว 10 แกน ทำงานได้เร็วถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับของต่างประเทศ สามารถลดหรือเพิ่มจำนวนแกน Z ได้ เปลี่ยนหัวเครื่องมือทำการเกษตรได้หลายอย่าง เช่น หัวพรวนดิน หัวพ่นนํ้า พ่นปุ๋ย พ่นยา หัวปลูกด้วยการหยอดเมล็ดหรือต้นกล้า หัวตัดวัชพืช หัวเก็บเกี่ยว ติดกล้อง หัว sensor วัดค่าต่างๆ ที่ใช้ในการเกษตร

ส่วนหุ่นยนต์ตัวรองจะทำหน้าที่นำพาหุ่นยนต์หลัก เปลี่ยนแถวทำ U-Turn  ซึ่งจะมีแนวรางสลิงเฉพาะ มีความกว้าง 3 เมตร ส่วนความยาวยาวเท่าไรก็ได้ พื้นที่ของหุ่นยนต์ตัวรองนี้ บริเวณข้างใต้ฐานจะทำเป็นสระเก็บนํ้าได้ นํ้าหนักหุ่นยนต์ตัวรอง 50 กิโลกรัม

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 เมษายน 2563

จับกระแสพลังงาน :

 บมจ.ไทยออยล์...วิเคราะห์ แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบรอบสัปดาห์นี้ (13-17 เมษายน 2563)...โดยระบุว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวหลังการประชุมฉุกเฉินระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกกับประเทศพันธมิตรที่นำโดยรัสเซียในวันที่ 9 เม.ย. 2563 รวมทั้งการประชุม G20 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกหดตัวลง นอกจากนี้กำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากผลกระทบด้านราคาที่ปรับลดลงและอุปสงค์ที่เบาบาง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังอ่อนตัว เนื่องจากมาตรการปิดเมือง จำกัดการทำกิจกรรม รวมทั้งจำกัดการเดินทางในหลายประเทศ...คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 25-30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล...ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 31-36เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล...

 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตรที่รวมเรียกว่า OPEC+ ได้บรรลุข้อตกลงปรับลดการผลิตน้ำมันที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผ่านการประชุมฉุกเฉินรอบที่ 2 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือมิถุนายน2563...นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับลดการผลิตที่ 8 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ไปจนถึงสิ้นปี รวมถึงปรับลด 6 ล้านบาร์เรล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ไปจนถึงเดือนเมษายน 2565...nn บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) หรือ AGE นำเสนอข้อมูลทางธุรกิจภายในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) หลังประกาศงบปี 2562...โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 6,196.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 272.8 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 114.4% พร้อมประเมินแนวโน้มทิศทางธุรกิจในปี 2563 โดยตั้งเป้ายอดขายถ่านหินในปีนี้ 3.6 ล้านตันขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ มีแผนเพิ่มจำนวนเรือลำเลียง ครบ 36 ลำในปีนี้ และรถบรรทุก เป็น55 คัน หนุนศักยภาพการเติบโตของรายได้ในอนาคตแข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญ...nn บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) อยู่ระหว่างการปรับแผนธุรกิจใหม่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำมัน...เบื้องต้นทบทวนทั้งในส่วนของเงินลงทุน และเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)...จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 20% จากปีก่อน...โดยคาดแผนดังกล่าวคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนเมษายนนี้....ซึ่งจะมุ่งเน้นการบริหารสภาพคล่อง หลังจากยอดขายน้ำมันลดลงมาก จากทั้งน้ำมันเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว น้ำมันเครื่องบินและการล็อกดาวน์ ประชาชนส่วนใหญ่กักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค...ส่วนการที่รัฐบาลจะลดสำรองน้ำมันดิบลง จาก 6% ของปริมาณการค้า เหลือเป็น 4% ระยะเวลา 1 ปีและระยะที่ 2 เป็น 5% หลังจาก 1 ปีนั้นนับเป็นเรื่องที่ดี ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น...ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2563 BCP ประกาศแผนตั้งงบลงทุน 5 ปี (ปี’63-67) ที่ระดับ 50,000 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 29,800 ล้านบาท และตั้งเป้า EBITDA เติบโต 2.5 เท่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567          

 ปัจจุบัน..ราคาเอทานอลขยับขึ้น...ราคาอ้างอิงเพิ่มขึ้นเกือบ 70 สตางค์/ลิตร ล่าสุดอยู่ที่23.28 บาท/ลิตร เพราะปัญหาเกิดจากภัยแล้งส่งผลปริมาณอ้อยและมันสำปะหลังลดลง วัตถุดิบผลิตเอทานอลจึงขยับสูงขึ้นที่สำคัญหาได้ยาก และคาดว่าไตรมาส 3 และ 4 จะสูงขึ้นอีก โดยล่าสุดราคาโมลาส สูงถึง 5,000 บาท/ตัน หรือ กก.ละ 4-5 บาท จากช่วงปกติราคาประมาณกว่า3,000 บาท/ตันเท่านั้น ราคามันสำปะหลัง 2.30 บาท/กก. คาดว่าปริมาณอ้อยปี’63 ลดลงประมาณ 40-50% เหลือประมาณ 74-76 ล้านตันผลิตโมลาสได้เพียง 3-4 ล้านตันเท่านั้น จากปี 2562 ปริมาณอ้อยได้ประมาณ 131 ล้านตัน โมลาสผลิตได้ประมาณ 6 ล้านตัน ราคาโมลาสอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท/ตัน...nn

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 14 เมษายน 2563

"สุริยะ" เล็งชง ครม. เสนอมาตรการเยียวยาเพิ่มรับมือโควิด-19

ก.อุตสาหกรรมเตรียมชงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่ม ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. หลังชงมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้ผู้ประกอบการโรงงานเข้า ครม. แล้ว 

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมชงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด 19 (COVID-19) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เสนอยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศแล้ว โดยมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในครั้งนี้ ประกอบด้วยมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ค่าธรรมเนียมใบรับรองระบบงาน และค่าธรรมเนียมการตรวจสอบโรงงาน

ทั้งนี้  มาตรการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 30,000 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 210 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการชดเชยเยียวยาให้ผู้ประกอบการ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาต มอก. ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) กว่า 12,000 ราย มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท                                                                                                                                                                                            “มาตรการดังกล่าว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อทราบแล้ว และเตรียมเสนอเข้า ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป สำหรับมาตรการเยียวยาอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี SMEs และเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะตามมาเป็นระยะ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 เมษายน 2563

"KTIS"เปิดจอง KNAS ขนาด 5 ลิตรผ่านตัวแทนจำหน่ายสกัดโควิด-19 ย้ำไม่มีขาดตลาด

 กลุ่ม KTIS (เคทิส) เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนสู้ภัยไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ย้ำไม่ปล่อยให้แอลกอฮอล์ขาดตลาด หรือราคาแพงจนประชาชนเดือดร้อน เผยแอลกอฮอล์ 70% พร้อมใช้แบรนด์ KNAS เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก ทำให้เกิดโครงการพิเศษ “3 เดือนหยุดเชื้อเพื่อชาติ” สำหรับผู้ที่ต้องการครั้งละจำนวนมาก โดยเปิดจองซื้อแอลกอฮอล์ KNAS ผ่านตัวแทนจำหน่าย 7 ราย ในราคาถูกพิเศษ ขนาด 5 ลิตร ราคา 300 บาท ช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 เพื่อความมั่นใจว่าจะได้รับสินค้าแน่นอน และแบ่งปันกันใช้อย่างทั่วถึง ไม่เกิดการสต๊อกสินค้า

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS (เคทิส) ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่ม KTIS ได้ออกผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาด ซึ่งประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในรูปแบบแอลกอฮอล์ 70% พร้อมใช้ ภายใต้แบรนด์ KNAS (เคนาส) ในราคาถูกพิเศษ ขนาดแกลลอน 5 ลิตร ราคา 300 บาทนั้น ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จึงได้เกิดโครงการพิเศษ “3 เดือนหยุดเชื้อเพื่อชาติ” สำหรับผู้ที่มีความต้องการใช้จำนวนมาก (ตั้งแต่ 30 แกลลอนขึ้นไป) โดยการเปิดจองซื้อแอลกอฮอล์ 70% KNAS ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 ผ่านตัวแทนจำหน่าย 7 ราย เพื่อความมั่นใจว่าผู้จองซื้อจะได้รับสินค้าแน่นอน และยังเป็นการแบ่งปันให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้อย่างทั่วถึง ไม่เกิดการสต๊อกสินค้า อีกทั้งผู้ผลิตจะสามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณการจองซื้อในแต่ละเดือนด้วย

ทั้งนี้ในภาวะที่แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ยังขาดตลาดอยู่มาก ทางกลุ่มเคทิสได้ดำเนินการขออนุญาตต่อหน่วยราชการ เพื่อผลิตแอลกอฮอล์แปลงสภาพเป็นชนิด 70% เพื่อผู้บริโภคสามารถนำไปใช้ได้ทันที ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ดำเนินการตรวจสอบ และอนุมัติให้อย่างเร่งด่วน ทำให้กลุ่มเคทิสสามารถผลิตแอลกอฮอล์ชนิดแปลงสภาพดังกล่าว เพื่อไปสู่ประชาชนผู้บริโภคได้โดยตรง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาแอลกอฮอล์ไม่เพียงพอ ซึ่งหลังจากที่ได้เปิดตัว KNAS ออกสู่ตลาดมีความต้องการเข้ามาจำนวนมาก ทั้งจากผู้ซื้อรายย่อยและผู้ที่ต้องการซื้อครั้งละมากๆ ทำให้เกิดโครงการพิเศษ ‘3 เดือนหยุดเชื้อเพื่อชาติ’ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการสินค้าจำนวนมาก

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ “3 เดือนหยุดเชื้อเพื่อชาติ” สามารถติดต่อผ่านตัวแทนจำหน่าย 7 รายได้แก่ กรุงเทพมหานคร ติดต่อที่อาคารเอกผล ถนนวิภาวดีรังสิต และอาคารลิเบอร์ตี้ พลาซ่า ซอยทองหล่อ,จังหวัดนครสวรรค์ ติดต่อที่มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา โรงแรมแกรนด์วิษณุ และบริษัท แพร่วิริยา จำกัด,จังหวัดพิษณุโลก ติดต่อที่ โรงแรมทรัพย์ไพรวัลย์รีสอร์ท,แถบชะอำหัวหิน ติดต่อที่โรงแรม เซ็นทรา บายเซ็นทารา ชะอำบีชรีสอร์ท หัวหิน และแถบสระบุรี-อ่างทอง ติดต่อที่บริษัท สยาม พี.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยสามารถดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ www.ktisgroup.com

อย่างไรก็ตาม เรายังมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศ ที่ยังเดือดร้อน ยังมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าดังกล่าว และยังไม่สามารถเข้าถึงสินค้าดังกล่าวได้ แม้ว่าเราต้องการกระจายสินค้าเพื่อไปสู่ประชาชนผู้บริโภคให้มากที่สุดให้ทั่วถึงที่สุด แต่เรามีจุดจำหน่ายไม่มาก ดังนั้นเราหวังว่าจะมีบริษัทใหญ่ที่มีศักยภาพในการกระจายสินค้าได้ทั่วประเทศมาร่วมด้วยช่วยกันกระจาย KNAS แอลกอฮอล์ 70% ราคาถูกนี้ ให้ไปถึงประชาชนผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันป้องกันโรคโควิด-19 ให้สามารถบรรเทาและหมดไปจากประเทศของเราให้เร็วที่สุด

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 13 เมษายน 2563

“ประยุทธ์” ผุด ขุดดินแลกน้ำ สั่งกระทรวงอุตฯ ดึงน้ำขุมเหมือง แก้ภัยแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า การประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการสำคัญและมอบหมายให้คณะหัวหน้าส่วนราชการะดับกระทรวงหรือเทียบเท่ารับไปดำเนินการ อาทิ

1.ให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงต่างประเทศ เร่งรัดการเจรจาต่อรองกับประเทศกัมพูชาในกรณีพื้นที่ทับซ้อน เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน แต่ประเทศไทยต้องไม่สูญเสียดินแดนทั้งผืนดินและผืนน้ำ

2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการขุดบ่อน้ำ

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานเอกชนดำเนินการหรือประกอบกิจการดังกล่าวด้วย

3.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม พิจารณาสนับสนุนการใช้ประโยชน์หรือการหารายได้ของประชาชนจากดินที่มีการขุดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ อาทิ การขุดดินแลกน้ำ/แลกบ่อเพื่อการกักเก็บน้ำ การขุดลอกแม่น้ำลำคลอง การนำดินไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก/การก่อสร้าง

4.ให้กระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจ วิเคราะห์ ตรวจสอบ และปรับปรุงสภาพแหล่งน้ำในขุมเหมือง และร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนในการนำน้ำในขุมเหมืองมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานเอกชนดำเนินการหรือประกอบกิจการดังกล่าวด้วย

5.ให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณานำน้ำทะเลเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้น้ำจืด เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้หรือติดกับทะเล เช่น พื้นที่มาบตาพุด

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้น้ำจืดของประชาชนในพื้นที่ และการดำเนินการดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 10 เมษายน 2563

เขื่อนสิริกิติ์จ่อแห้ง เหลือน้ำใช้เพียง 3 เดือน ห้ามทำเกษตรเด็ดขาด

วิกฤตแล้งถล่มซ้ำ ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ ระบุน้ำในเขื่อนจ่อแห้ง เหลือเพียง 16 เปอร์เซ็นต์ของความจุเขื่อน เลวร้ายกว่าวิกฤตแล้งเมื่อปี 58 ย้ำห้ามสูบน้ำทำเกษตร

วันที่ 8 เม.ย. นายวรพจน์ วรพงษ์ ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เก็บกักน้ำได้มากกว่า 9,500 ล้าน ลบ.เมตร แต่ด้วยสถานการณ์ภัยแล้งที่เข้าขั้นวิกฤติปีทั้งปี 2562 ต่อเนื่อง 2563 ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์ ช่วงที่ผ่านมามีน้อยมาก ล่าสุดมีปริมาณน้ำที่พร้อมใช้งานเก็บกักอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เพียง 1,073 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 16 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 7.46 เมตรระดับทะเลปานกลาง (รทก.) หรือ 1,322 ล้าน ลบ.เมตร เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่วิกฤตแล้ง ยอมรับว่าปี 2563 ปริมาณน้ำมีน้อยกว่าปี 2558 ประมาณ 40 ล้าน ลบ.เมตร

ปัจจุบันมีน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์เฉลี่ยวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. พร่องหรือปล่อยออก เพื่อการอุโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศวิทยา เพื่อเป็นน้ำดิบในการผลิตประปาเท่านั้น จำนวน 11 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่สามารถใช้งานได้ 3 เดือน ระดับน้ำจะเหลือเพียงก้นอ่างเก็บน้ำ หากฝนตกต้องตามฤดูกาลช่วงเดือนพฤษภาคม เหนือเขื่อนสิริกิติ์ หรือที่ จ.น่าน ก็จะเริ่มการเก็บกักรอบใหม่ อย่างไรก็ตามหากจำเป็น คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอาจต้องปรับลดปริมาณการปล่อยน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งในปี 2558 เคยปรับลดเหลือวันละ 4 ล้าน ลบ.ม.

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 เมษายน 2563

ส.อ.ท.ผวาแล้งฉุดผลผลิต20-30% คาดอ้อย-ปาล์มกอดคอร่วงระนาว

ผวาแล้งฉุดผลผลิต20-30% ส.อ.ท.หวั่นซ้ำเติมศก.จี้รัฐบริหารน้ำ คาดอ้อย-ปาล์มกอดคอร่วงระนาว

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันฯยังคงติดตามสถานการณ์ภัยแล้งใกล้ชิดเนื่องจากมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าไทยจะต้องเผชิญกับฝนแล้งที่ยาวนานและผลกระทบอาจรุนแรงกว่าปี 2558 ทิศทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทยปี 2563 ลดลงจากปีก่อนเฉลี่ย 20-30% โดยปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างมากทั่วทุกภูมิภาค ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ทั้งที่ไม่ได้ขาดแคลนน้ำเมื่อถึงฤดูฝนน้ำก็ท่วมอีก สิ่งเหล่านี้เพราะไทยไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและเกษตรปลอดภัยทั้งระยะสั้น กลางและยาวเพื่อเป็นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรทั้งระบบโดยเน้นการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่คิดเพียงแผนงาน โดยไทยควรผันน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อมาเติมในภาคอีสานซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการพัฒนาเกษตรยังทำให้สามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วมได้อีกด้วย ขณะที่การพัฒนาเกษตรจะต้องยกระดับเป็นเกษตรปลอดภัย เน้นนวัตกรรมขับเคลื่อน ผลักดันการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มให้ไทยกลายเป็นครัวโลก ให้รายได้นั้นตกถึงเกษตรกรโดยแท้จริง ทำให้คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า จากภาวะภัยแล้งมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะได้รับผลกระทบให้ผลผลิตในฤดูหีบปี 2563/64 ที่จะมีการเปิดหีบช่วงปลายปีนี้ให้ตกต่ำอีกครั้งหลังจากการปิดหีบฤดูผลิตปี 2562/63 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อ 25 มีนาคมไทยมีผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 74.89 ล้านตันน้ำตาลทรายอยู่ที่ 8.27 ล้านตันนับเป็นปริมาณการผลิตที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากภัยแล้งคาดว่าปีนี้จะกระทบต่อผลผลิตปาล์มจะลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาปาล์มทลายกลับยังคงลดลงต่อเนื่องโดยมาอยู่ที่ 2.50-3.30 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)ลดลงจากต้นปีที่อยู่ระดับ 4-5 บาทต่อกก.แม้ว่ากระทรวงพลังงานได้มีการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบนำไปผลิตเพื่อเป็นน้ำมันไบโอดีเซลบี 10 เพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม

 จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

ภัยแล้งฉุดผลผลิตเกษตรลดลง20-30%

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่าสถาบันยังคงติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด เพราะมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาก่อนหน้านี้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับฝนแล้งที่ยาวนานและผลกระทบอาจรุนแรงกว่าปี 2558 หากเป็นไปตามทิศทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทยปี 2563 ลดลงจากปีก่อนเฉลี่ย 20-30%

รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและเกษตรปลอดภัยทั้งระยะสั้น กลางและยาวเพื่อเป็นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรทั้งระบบโดยเน้นการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง ขณะที่การพัฒนาเกษตรจะต้องยกระดับเป็นเกษตรปลอดภัยเน้นนวัตกรรมมาขับเคลื่อนและสามารถผลักดันการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มให้ไทยกลายเป็นครัวโลก และกำหนดให้รายได้นั้นตกถึงเกษตรกรโดยแท้จริงก็จะทำให้คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีรายได้ไม่สูงเป็นกลุ่มคนที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางในอนาคตซึ่งหากขาดการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยก็จะยิ่งลำบากในอนาคต

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า จากภาวะภัยแล้งมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะได้รับผลกระทบให้ผลผลิตในหีบฤดูผลิตปี 2563/64 ที่จะเปิดหีบช่วงปลายปีนี้ให้ตกต่ำอีกครั้งหลังจากการปิดหีบฤดูผลิตปี 2562/63 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อ 25 มีนาคม 2563 ไทยมีผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 74.89 ล้านตันน้ำตาลทรายอยู่ที่ 8.27 ล้านตัน นับเป็นปริมาณการผลิตที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

เงินบาทเปิด 32.78บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.95 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 32.70-32.95 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ระบุว่าในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินทั่วโลกคึกคักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งสหรัฐ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวบวกถึง 7.0% ขณะที่ดัชนี Euro Stoxx 50 ของยุโรปก็ปรับตัวขึ้นตามถึง 4.9% โดยนักลงทุนฝั่งตะวันตก เชื่อว่าวิกฤตไวรัสโคโรนาผ่านจุดที่น่ากลัวที่สุดไปแล้ว เห็นได้จากดัชนี VIX Index หรือดัชนีวัดความกลัวของตลาดก็ปรับตัวลงมาที่ระดับ 45% จากที่เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราว 85% เมื่อกลางเดือนก่อน

ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์นี้ก็มีปัจจัยบวกอย่างการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (OPEC+) ที่น่าจะมีข้อตกลงร่วมกันในการลดกำลังการผลิตน้ำมันรออยู่ นักลงทุนจึงกล้าลงทุน ซึ่งในทางกลับกัน ภาพดังกล่าวส่งผลให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีขยับขึ้นมาที่ระดับ 0.68% และบอนด์ยีลด์เยอรมันขยับขึ้นแตะระดับ -0.42%

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

เปิดผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายไทยต่ำสุดในรอบ 10 ปี ภัยแล้งยังกระหน่ำต่อ

ปิดฉากไปแล้วสำหรับฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายปี 2562/63 ที่ 57 โรงงานน้ำตาลเเริ่มดำเนินการเปิดหีบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 จนปิดหีบเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2563 รวมเป็นเวลา 116 วัน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบของไทยรวมทั้งสิ้น 74.89 ล้านตัน ลดลงจากฤดูการผลิตปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 130.97 ล้านตันอ้อย คิดเป็น 43% ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลงเหลือ 8.27 ล้านตัน จากฤดูที่ผ่านมาผลิตน้ำตาลได้ 14.58 ล้านตัน นับเป็นสถิติที่ปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยกลับมาลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบหนีไม่พ้นภัยแล้งที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกลดลงจากทิศทางราคาอ้อยขั้นต้นที่ชาวไร่ได้รับตกต่ำต่อเนื่องจึงทำให้ชาวไร่บางส่วนหันไปปลูกพืชอื่นที่ราคาดีทดแทน ซึ่งมีการประเมินกันคร่าวๆ ว่าผลผลิตอ้อยที่ลดลงถึง 56 ล้านตันนั้นคิดเป็นมูลค่าที่หายไปจากระบบประมาณ 50,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นห่วงโซ่อุปทานทั้งโมลาส (กากน้ำตาล) การผลิตไฟฟ้าจากใบอ้อย เป็นต้น คาดว่าไทยจะสูญเสียรายได้ในระบบรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท

เมื่อย้อนไปดูอดีตผลจากการที่รัฐได้กำหนด พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายมาบริหารจัดการได้ส่งเสริมให้ตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยฤดูการผลิตปี 2539/50 หรือเมื่อ 25 ปีก่อนไทยมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 6 ล้านไร่ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 56.24 ล้านตัน ปริมาณน้ำตาลทราย 5.80 ล้านตัน จากนั้นได้ไต่ระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยผลผลิตอ้อยมาแตะระดับ 100 ล้านตันครั้งแรกในฤดูการผลิตปี 2555/56 ผลผลิตน้ำตาลทรายอยู่ที่ 10.02 ล้านตัน และผลผลิตอ้อยมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 134.93 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 60/61 โดยมีปริมาณน้ำตาลทรายผลิตได้ 14.68 ล้านตัน และมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 9.89 ล้านไร่

สำหรับฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ขณะนี้ปัจจัยภัยแล้งยังคงกดดันต่อเนื่องส่งสัญญาณถึงปริมาณการเพาะปลูกลดลงจากพื้นที่ภาคอีสานที่ชาวไร่ส่วนใหญ่แทบไม่ได้ปลูกอ้อยข้ามแล้งเลย ขณะที่การบำรุงตออ้อยเก่ายังคงมีไม่มากด้วยเหตุผลของราคาอ้อยที่ตกต่ำช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นจะต้องลุ้นว่าฝนจะมาเร็วหรือไม่เป็นสำคัญเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่การปลูกอ้อยอยู่นอกระบบชลประทาน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยใหม่เข้ามาเพิ่ม นั่นคือ การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ Covid-19 ที่ขณะนี้ได้แพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลกและรวมถึงไทย จนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางจะชะลอตัวอย่างหนักส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) มีการซื้อขายตลาดล่วงหน้าราคากลับมาตกต่ำอีกครั้ง

ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกในช่วงต้นปีได้ไต่ระดับสูงไปกว่า 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ เริ่มรูดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์ในปัจจุบันซึ่งเป็นราคาที่สอดรับกับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ตกต่ำ ทำให้บราซิลผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่สุดของโลกลดการนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลเพื่อเป็นเชื้อเพลิงมาผลิตน้ำตาลแล้วส่งออกเพิ่มขึ้นด้วยราคาที่ถูกลงจากการอาศัยความได้เปรียบของค่าเงินเรียลอ่อนค่าลงอย่างหนักจาก 3.8 เรียลต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 5.11 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐ

หากราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงเคลื่อนไหวในระดับดังกล่าวต่อเนื่องย่อมส่งผลให้การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 63/64 ต้องตกต่ำตามไปด้วยแน่นอน ซึ่งราคาอาจไม่ต่างจากฤดูหีบปีที่ผ่านมาซึ่งมีราคาเพียง 750 บาทต่อตันซึ่งยังไม่รวมกับเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการช่วยเหลืออีก 10,000 ล้านบาทที่ขณะนี้ชาวไร่ทั่วประเทศต่างรอคอยว่าจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้เร็วๆ นี้หรือไม่ ซึ่งหากระดับราคาอ้อยตกต่ำอีกปีปัญหาการเรียกร้องเพิ่มปัจจัยการผลิตก็มีแนวโน้มจะต้องตามมาอีกระลอก

ขณะเดียวกัน ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยยังมีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 มิ.ย. 2562 ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายลดการรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ ซึ่งกำหนดเริ่มต้นตั้งแต่ฤดูหีบที่ผ่านมา (ปี 2562/2563) ที่โรงงานจะรับอ้อยไฟไหม้ได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน ฤดูการผลิตปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5% ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปี ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่ไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ชาวไร่ได้หารือกับภาครัฐและขอลดเป้าหมายเป็นอ้อยสดเข้าหีบโรงงานน้ำตาลเท่ากับอ้อยไฟไหม้ที่ 50% ต่อ 50% เนื่องจากต้นทุนการตัดอ้อยในไร่อ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อยยังคงสูงและขาดแคลนแรงงาน การซื้อรถตัดอ้อยยังมีมูลค่าสูงไม่คุ้มค่า ขณะที่สถานการณ์ราคาอ้อยก็ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอ้อย โดยล่าสุดฤดูหีบปี 62/63 ที่เพิ่งปิดหีบไปถือเป็นปีแรกที่ทั้งภาครัฐ โรงงานและชาวไร่อ้อยได้ร่วมกันลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงนั้น พบว่ามีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 37.70 ล้านตัน คิดเป็น 50.34% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ขณะที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 37.18 ล้านตัน หรือคิดเป็น 49.65% ดังนั้นฤดูหีบปี 63/64 คงต้องติดตามใกล้ชิดว่าที่สุดแล้วประเด็นเหล่านี้ทุกฝ่ายจะเข้ามาร่วมกันแก้ไขให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างไร

ทั้งนี้ ไวรัส COVID-19 ที่เป็นปัจจัยลบใหม่ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยแต่ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้างที่ทำให้ไทยไม่อยู่ในสถานการณ์ปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคในประเทศตึงตัวจากที่บางฝ่ายมีการกังวลก่อนหน้านี้ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลทรายลดต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควรทำให้โรงงานซึ่งมีการซื้อขายราคาน้ำตาลไปล่วงหน้าแล้วบางส่วนอาจกระทบได้ ประกอบกับช่วงฤดูร้อนความต้องการน้ำตาลทรายจะมีปริมาณสูงขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะประเภทเครื่องดื่ม แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวและสงกรานต์นี้ก็ไม่มีงานรื่นเริงใดๆ จึงทำให้การบริโภคมีทิศทางที่ชะลดตัวไปด้วย

โดยเรื่องนี้ นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเองก็ออกมายืนยันว่าไม่ต้องกังวลเพราะรัฐได้มีการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายไว้บริโภคในประเทศปี 62/63 จำนวน 2.5 ล้านตันหรือ 25 ล้านกระสอบ และยังมีปริมาณสำรองกันไว้อีก 2 ล้านตันซึ่งมั่นใจจะเพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนไทยโดยไม่ขาดแคลน เนื่องจากผลกระทบของไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัว โดยคาดจะทำให้การบริโภคน้ำตาลทรายของไทยน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านตัน

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัจจุบันยังถูกต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมเอทานอลที่วันนี้กลายเป็นผู้มีบทบาทในการช่วยเสริมปริมาณความต้องการเจลล้างมือและแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ COVID-19 ไม่เพียงพอ โดยการปลดล็อกจากภาครัฐให้สามารถนำเอทานอลส่วนเกินจากการใช้ในภาคเชื้อเพลิงมาจำหน่ายให้ผู้ค้าที่จะนำไปผลิตเจลและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อในปริมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งโรงงานน้ำตาลเองก็ยอมรับว่าผลผลิตอ้อยที่ลดลงล่าสุดทำให้ปริมาณโมลาส (กากน้ำตาล) ที่จะเป็นวัตถุดิบการผลิตเอทานอลลดตามไปด้วย แต่ภาพรวมปริมาณเอทานอลนั้นยังคงมีสต๊อกอยู่สูงในช่วงที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัจจุบันนับเป็นสินค้าภาคเกษตรที่มีมูลค่าโดยรวมกว่า 2 แสนล้านบาทและผลผลิตน้ำตาลมากกว่า 2 ใน 3 ได้ทำการส่งออกจนทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล รัฐบาลเองได้มองเห็นศักยภาพที่จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) ไปเมื่อ 17 กรกฎาคม 2561 โดยมีมาตรการต่างๆ สนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อหวังที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทยซึ่งรวมถึงอ้อย แต่ดูเหมือนว่าเวลาที่ผ่านมาแล้วปีกว่าการลงทุนตามแผนที่วางไว้นับว่าคืบน้อยมาก ด้วยปัจจัยหลักคือตลาดยังไม่ใหญ่พอ เทคโนโลยียังต้องพึ่งต่างชาติ และปีนี้เมื่อมีสถานการณ์ COVID-19 มาซ้ำเติมการลงทุนยิ่งคงต้องพับแผนกันยาว

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูผลิตปี 2563/64 ยังคงต้องฝ่าพายุที่รุนแรงอีกครั้งท่ามกลางความไม่แน่นอนของภัยแล้งว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดและ COVID-19 จะยืดเยื้อไปถึงไหนที่จะมีผลต่อราคาตลาดโลกและยังมีค่าเงินบาทที่เป็นปัจจัยชี้วัดอีก ฯลฯ เรียกว่าสารพัดปัจจัยลบที่ต้องรอลุ้นให้เกษตรกรและโรงงานฝ่าด่านไปให้ได้

จาก https://mgronline.com  วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2563

KTISออกโรง การันตี แอลกอฮอล์ไม่ขาดตลาด

นายประพันธ์  ศิริวิริยะกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท  เกษตรไทย  อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น  หรือกลุ่ม KTIS (เคทิส) เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่ม KTIS เปิดจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ผลิตโดยโรงงานเอทานอลของ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล  (KTBE) ที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ และเป็นบริษัทในกลุ่ม KTIS  ในราคาหน้าโรงงานที่ลิตรละ 35 บาท นั้นได้รับการตอบรับที่ดีมาก จนถึงขณะนี้ได้จำหน่ายออกไปแล้วเกือบ 3 ล้านลิตร

“หลังจากที่เราได้แจ้งไปว่าจะขายแอลกอฮอล์ ในราคาหน้าโรงงานลิตรละ 35 บาท ก็มีผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามามากมาย เพราะที่มีขายอยู่ในตลาดในภาวะที่ความต้องการสูงนี้ ราคาแพงมาก มีตั้งแต่ลิตรละ 300 กว่าบาทไปจนถึงกว่า 600 บาท หวังว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้จะช่วยให้ราคาแอลกอฮอล์ในตลาดลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และจะไม่ปล่อยให้แอลกอฮอล์ขาดตลาด เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นของประชาชนในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19” นายประพันธ์กล่าว

ปกติกลุ่ม KTIS จะขายสินค้าในรูปแบบของ B2B หรือการขายให้กับองค์กรธุรกิจโดยตรง ไม่ได้จำหน่ายกับรายย่อย แต่เนื่องจากเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 นี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งกลุ่ม KTIS พร้อมที่จะป้อนแอลกอฮอล์เข้าสู่ตลาดให้ได้มากที่สุด

“ตอนนี้ยอดจองไปถึงสิ้นเดือนเมษายนแล้ว โดยการซื้อแอลกอฮอล์ในราคาหน้าโรงงานนั้น นอกจากผ่านขั้นตอนที่ผู้ซื้อต้องขออนุญาตจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ของผู้ซื้อแล้วยังต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ที่โรงงานผลิตตั้งอยู่ซึ่งในส่วนหลังนี้กลุ่มเคทิสก็พร้อมที่จะดำเนินการยื่นคำขอจากสรรพสามิตจังหวัดนครสวรรค์ให้ และถึงแม้จะมีคำสั่งซื้อสินค้ารออยู่มาก  เราพยายามจะส่งสินค้าให้ได้เร็วที่สุด” นายประพันธ์กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2563

สอน.เดิน 4 มาตรการขานรับแก้อ้อยไฟไหม้

สอน. เดินหน้าแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ตั้งเป้าฤดูการผลิต 63/64 อ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน20%

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบให้ปรับสัดส่วนการรับอ้อยไฟไหม้ในแต่ละวันของโรงงานน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 50 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดต่อวัน โดยการหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563 รวมระยะเวลาเปิดหีบ 116 วัน มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 37,183,474 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 49.65) จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 74,893,175 ตัน ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่มีมาอย่างยาวนาน และในฤดูการผลิตปี 2563/2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ให้เข้มงวดในการกำกับดูแลการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ซึ่งตั้งเป้าปริมาณอ้อยไฟไหม้จะต้องลดลงเหลือ 20% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 และข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอ้อยไฟไหม้

นายเอกภัทร กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กอน. ได้มีมติรับทราบในหลักการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอ 4 มาตรการ ประกอบด้วย

1. กำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ให้ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เหลือ20% ปริมาณอ้อยสด80% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยมีมาตรการกำหนดราคาส่วนต่างให้อ้อยสดมากกว่าอ้อยไฟไหม้ตันละประมาณ 200 บาท ให้มีความคุ้มค่ามากพอและเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้น

 2. จัดหาเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้น โดยใช้งบประมาณกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น การจัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้สมาชิกกลุ่มการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านอ้อย ที่ปัจจุบันมีอยู่ 280 กลุ่ม เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีการรวมกลุ่มและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการอ้อยสด

 3. ในกรณีที่มีนโยบายให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐจะให้สิทธิเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น

 4. ออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้โรงงานมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไม่ให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้เกินกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ สมาคมชาวไร่อ้อย โรงงงานน้ำตาล และเกษตรกรชาวไร่อ้อย ได้ร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจัง สำหรับในฤดูการผลิตปี 2563/2564 นี้ สอน. จะเร่งกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ และประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปจากประเทศไทย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563

รายงานพิเศษ : ห่วงพื้นที่เพาะปลูกขาดแคลนน้ำช่วงแล้ง เร่งสร้างการรับรู้ดูแลผลผลิตถูกวิธี

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรห่วงใยพี่น้องเกษตรกรเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ โดยรอบปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งปีที่แล้วมีฝนตกทั้งปี 1,342.6 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับปีที่แล้งมากคือ ปี 2558 มีฝนตก 1,419.6 มิลลิเมตร จะเห็นได้ว่าปี 2562 ฝนตกน้อยกว่า ปี 2558 และจากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยานับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ยังพบว่า ปี 2562 มีฝนตกน้อยที่สุดในรอบ 40 ปี โดยเฉพาะฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา มีฝนตกทั้งประเทศเพียง 1,114 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 12 ทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

หลายแห่งมีน้ำใช้การเหลือน้อยไม่เกินร้อยละ 30 ของความจุอ่าง 14 แห่ง เมื่อฝนตกน้อยน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติก็มีเหลืออยู่น้อยเช่นกัน จึงไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกตามปกติได้ แม้ระยะนี้จะมีฝนตกลงมาบ้างก็ตามแต่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมการมาตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียน แจ้งข่าวเพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรได้ปรับตัวในภาคการผลิตและใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมาได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาในบางพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าปีนี้จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณปลายเดือนพฤษภาคม และอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเร่งแจ้งเตือนเกษตรกรให้รับทราบสถานการณ์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะพืชที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 2 กลุ่ม คือ 1)การปลูกข้าวรอบที่ 2 เกรงว่าจะขาดแคลนน้ำได้เนื่องจากใช้น้ำมาก ซึ่งปีนี้คณะกรรมการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้กำหนดพื้นที่การเพาะปลูกตามศักยภาพน้ำ มีแผนควบคุมพื้นที่การปลูกข้าวรอบที่ 2 ทั้งประเทศจำนวน 4.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของปีที่ผ่านมาที่ได้กำหนดพื้นที่แผนควบคุม 11.21 ล้านไร่ ปัจจุบันภาพรวมของประเทศมีการเพาะปลูกแล้ว 6.56 ล้านไร่ จึงเกินแผนควบคุมแล้ว ร้อยละ 44ซึ่งขณะนี้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว ร้อยละ 37 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค. 2563)

สำหรับพื้นที่ปลูกเกินแผนควบคุมไปค่อนข้างมากอยู่ในเขตลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูก 3.31 ล้านไร่ หรือร้อยละ 21.5 โดยเฉพาะในเขตชลประทานไม่มีแผนส่งน้ำให้ปลูกข้าว แต่มีผลการเพาะปลูกถึง 2.01 ล้านไร่ ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทานต้องทำงานหนักมากปีนี้ เพื่อประคับประคองน้ำในระบบชลประทานที่มีน้อยอยู่แล้ว ให้ส่งน้ำไปรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็มและป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าทำลายพืชสวน ซึ่งขณะนี้เกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ร้อยละ 55 จึงขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกข้าวรอบที่ 3 ต่อเนื่องอีก

2) กล้วยไม้และไม้ผล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาจเสี่ยงน้ำเค็มรุกเข้าสวนสร้างความเสียหายใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีพื้นที่เฝ้าระวัง 57,106 ไร่ แบ่งเป็น กล้วยไม้ 10,784 ไร่ และไม้ผล 46,322 ไร่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรสร้างการรับรู้ให้เกษตรกร โดยให้คำแนะนำติดตามข้อมูลข่าวสารน้ำเค็มระมัดระวังเรื่องการปิดเปิดประตูน้ำเข้าพื้นที่สวน การดูแลรักษาความชื้นในสวน ลดการคายน้ำของพืช การปรับลดการใช้ปุ๋ยเพื่อลดความเค็มที่เข้าสู่ต้นพืช การสำรองแหล่งน้ำในสวนของตนเอง รวมทั้งให้ความร่วมมือกับระบบการผลักดันน้ำเค็มของระบบชลประทาน

นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังป้องกันเชิงรุกในพื้นที่ไม้ผลที่มีฝนตกน้อยกว่า 800 มิลลิเมตร ซึ่งวิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม้ผลเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้เวลาปลูกนานกว่าจะให้ผลผลิต หากมีความเสี่ยงและตายจะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบเสียโอกาสเรื่องรายได้ จึงสำรวจในพื้นที่จริงและประเมินพื้นที่ปลูกไม้ผลพื้นที่นอกเขตชลประทานใน 30 จังหวัด พบว่า จากพื้นที่ปลูก 2.66 ล้านไร่ มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำและอาจตายได้รวม 375,000 ไร่ โดยเฉพาะไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง 9 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง ลำไย ส้มโอ กล้วยหอม เงาะ ส้มเขียวหวาน มังคุด และลิ้นจี่ จึงดำเนินการนำข้อมูลส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกร และให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเข้าไปสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรในการดูแลรักษาสวนไม้ผลดังกล่าว ซึ่งผลการดำเนินงานได้จัดหาน้ำเข้าไปเติมแหล่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำรวม 124,294 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 33 โดยกรมทรัพยากรน้ำ

ส่วนการสร้างการรับรู้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ให้คำแนะนำการดูแลรักษาสวนไม้ผลแก่เกษตรกร ดังนี้ การรักษาความชื้น ให้ใช้วัสดุคลุมโคนต้น คลุมแปลง และการปลูกพืชคลุมดิน ลดการคายน้ำของพืช เช่น การตัดแต่งกิ่ง การบังลม พรางแสง เป็นต้น ปรับปรุงวิธีการให้น้ำแก่พืช โดยเพิ่มประสิทธิภาพและการประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เช่น การปรับเปลี่ยนหัวจ่ายน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเวลาหลีกเลี่ยงช่วงแสงแดดจัด เพื่อลดการระเหยของน้ำ การสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่สวน เพื่อให้เกษตรกรเตรียมการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยในส่วนของกรม ได้จัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับกรม เขต และจังหวัด เพื่อรวบรวมติดตามสถานการณ์ภูมิอากาศ น้ำ ผลกระทบและความเสียหายด้านการเกษตร รวมถึงจัดทำรายงานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงเกษตรฯในการประเมินสถานการณ์และจัดการความเสี่ยงภัยแล้งปีนี้

“อยากฝากถึงเกษตรกรโดยขอความร่วมมือที่จะไม่ปลูกข้าวรอบที่ 3 ต่อเนื่อง เพราะอาจขาดแคลนน้ำทำให้เกิดความเสียหายได้ ในส่วนพื้นที่สวนใกล้แหล่งน้ำเค็มขอให้เฝ้าระวังใกล้ชิด แม้ว่าปัจจุบันระบบผลักดันน้ำเค็มยังควบคุมได้ แต่เนื่องจากน้ำมีน้อยมาก ภาครัฐต้องใช้หลายมาตรการทั้งการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วย การระวังไม่ให้สูญเสียน้ำระหว่างทาง ดังนั้น เกษตรกรควรต้องเพิ่มการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยการสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองให้ได้ รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ไม้ผลควรมีแหล่งน้ำสำรองเช่นกัน หรืออาจปรับรูปแบบกิจกรรมการเกษตรให้เหมาะกับฤดูแล้ง เช่น ทำเกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฏีใหม่ จัดการพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำในไร่นา หากมีฝนตกลงมาให้หาทางเก็บกักน้ำ รักษาความชื้นให้ได้ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานอย่าเพิ่งเร่งเพาะปลูก ขอให้ติดตามข่าวสารใกล้ชิด เมื่อมั่นใจแล้วจึงดำเนินการในฤดูกาลผลิตใหม่ต่อไป” รองอธิบดีกล่าว

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563