http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนเมษายน 2565]

สกนช. จ่อขยายเวลาลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากกองทุนน้ำมัน

สกนช. ประเมินสถานการณ์เชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อขยายเวลาลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ที่จะต้องยกเลิกการอุดหนุนในปี 2565 ออกไปก่อน

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 55 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ระบุให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องทยอยยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องยกเลิกการชดเชยในเดือนก.ย.ปี 2565 แต่กฎหมายได้เปิดช่องไว้ว่า หากมีความจำเป็น หรือมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนสามารถขยายระยะเวลาที่จะยกเลิกการชดเชยได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี หรือสามารถเลื่อนแผนดังกล่าวไปได้ถึงปี 2569

​ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ประเทศต้องเผชิญทั้งปัญหาการระบาดของโรคโควิด และวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และยังต้องคำนึงถึงการปรับตัวของภาคการเกษตรที่ปลูกพืชพลังงานที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพประกอบด้วย

สกนช.จึงได้เร่งจัดเก็บข้อมูลเอทานอลเพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในส่วนของไบโอดีเซลแล้ว และล่าสุดครั้งนี้ได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในส่วนของเอทานอลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาผสมเป็นน้ำมันเบนซิน

​สำหรับ โรงงานผลิตเอทานอลในประเทศปี 2564 มีจำนวน 26 โรง โดยเป็นโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล 11 โรง มันสำปะหลัง 10 โรง และไฮบริด 5 โรง รวมกำลังการผลิต 6 ล้านลิตรต่อวัน

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ประเมินผลประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอลข้อมูลปี 2563 พบว่า ในด้านความมั่นคงพลังงาน ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานมูลค่าประมาณ 9,900 ล้านบาทต่อปี ด้านเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังประมาณ 17,600 ล้านบาทต่อปี รายได้ส่วนเพิ่มจากการแปรรูปสินค้าเกษตร 12,300 ล้านบาทต่อปี โรงงานผลิตเอทานอล 34,250 ล้านบาทต่อปี ผู้ค้าน้ำมัน 6,200 ล้านบาทต่อปี ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.7 ล้านตันต่อปี

ในช่วงที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีบทบาทในการช่วยพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้จากอุตสหากรรมเชื้อเพลิงชีวภาพกระจายสู่ภูมิภาค สร้างความมั่นคงทางพลังงานจากการลดการนำเข้า เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สร้างตลาดในประเทศ เกิดการจ้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เกิดโครงสร้างพื้นฐานต่อยอดไปสู่ Bio Economy และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ สกนช. จะเร่งสรุปข้อมูลที่ได้รับมาจากการลงพื้นที่สำรวจนำมาปรับใช้และเตรียมจัดทำแผนขอขยายการชดเชยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำเดือน เมษายน 2565 มีรายจ่ายประมาณเดือนละ 22,242  ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายน้ำมันเดือนละ 20,779  ล้านบาท และรายจ่ายก๊าซ LPG เดือนละ 2,174 ล้านบาท

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 เมษายน 2565 ติดลบ 56,278  ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302  ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 31,976  ล้านบาท

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 เมษายน 2565

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้เปิด "แข็งค่า" ที่ระดับ 34.44 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ทั้งแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่โดยรวมยังแข็งค่า - ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน - โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล - โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

อัตราแลกเปลี่ยนค่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ที่ปิดวันก่อนหน้า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยลดแรงกดดันต่อเงินบาทได้บ้าง ทำให้เงินบาทอาจจะยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล อย่างไรก็ตาม แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงอยู่ ทั้ง แนวโน้มเงินดอลลาร์ที่โดยรวมยังแข็งค่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทำให้ เรามองว่า เงินบาทสามารถผันผวนและอ่อนค่าขึ้นไปทดสอบแนวต้านแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ อนึ่ง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเดินหน้าเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยอยู่ในสัปดาห์นี้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญ นอกจากนี้ เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้ามาช่วยลดความผันผวนในตลาดค่าเงินต่อเนื่อง ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมสถานะ forward ที่อาจปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.50 บาท/ดอลลาร์

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 พลิกกลับมาหดตัวถึง -1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจอาจโตชะลอลงเหลือ +1.1% จากที่ขยายตัวกว่า +6.9% ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน ทั้งนี้ ปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้ คือ การขาดดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนจากภาครัฐที่ลดลง อย่างไรก็ดี หากเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสล่าสุด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวกว่า +2.7% ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สะท้อนโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดี ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสหน้า แต่การพลิกกลับมาหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกนั้น อาจส่งผลให้เฟดไม่กล้าที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงเกินไปหลายครั้ง อย่างที่ตลาดกำลังกังวลอยู่

แม้ว่า ข้อมูลการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาแย่กว่าคาด ทว่าผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมกลับให้น้ำหนักกับรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงออกมาแข็งแกร่ง อาทิ ผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta (Facebook) รวมถึงผู้ผลิตชิพ อย่าง Qualcomm ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้น หนุนให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นมาถึง +3.06% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.47%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ทว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ หุ้นกลุ่มพลังงาน กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มการเงิน นอกจากหุ้นบรรดาหุ้นเทคฯ ยุโรป ก็รีบาวด์ขึ้นตามฝั่งสหรัฐฯ หนุนให้สุดท้ายดัชนี STOXX50 สามารถปรับตัวขึ้น +1.13%

ทางด้านตลาดบอนด์นั้น ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2.86% ก่อนจะย่อตัวลงเล็กน้อยจากแรงซื้อของผู้เล่นบางส่วนที่เชื่อว่า เฟดอาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปได้มาก หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาสู่ระดับ 2.82% อีกครั้ง เรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัว sideways จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ผู้เล่นในตลาดเผชิญความผันผวนหนัก หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยเฉพาะการคุมระดับบอนด์ยีลด์ 10ปี ญี่ปุ่น (Yield Curve Control) ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป หากรัสเซียระงับการส่งพลังงานให้ยุโรป ได้กดดันให้สกุลเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลง ซึ่งการอ่อนค่าลงหนักของบรรดาสกุลเงินหลักนั้น ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.6 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี

อนึ่ง แม้การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจะกดดันราคาทองคำ แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความต้องการถือทองคำอยู่ หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นกลับใกล้ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ซึ่งเราประเมินว่า โฟลว์ธุรกรรมทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 6.7% ตอกย้ำความจำเป็นที่เฟดจะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานเงินเฟ้อของยูโรโซน โดยตลาดมองว่า ผลกระทบของสงครามที่หนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสุงขึ้น จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซน (CPI) ในเดือนเมษายน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 7.5% ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนมองว่า ธนาคากลางยุโรป (ECB) อาจสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ได้อย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์มองว่า อานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโอมิครอน จะช่วยให้ ยอดค้าปลีกเวียดนามในเดือนเมษายน อาจโตกว่า +10%y/y ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจเวียดนาม และอาจช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามช่วงนี้ได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุน จนกว่าจะผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดที่ชัดเจนขึ้นในการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคม

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 เมษายน 2565

ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2022 ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะสงคราม

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม

ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน

ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 สะท้อนถึงโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่โรงงานบางส่วนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม และคาดว่าผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และทางอ้อมจากสถานการณ์สงครามที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงนั้น จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะถัดไป แต่ EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวก็ยังสร้างโอกาสต่อธุรกิจส่งออกไทยในบางด้านด้วยเช่นกัน

ผลกระทบทางตรงมีอยู่จำกัด

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และอาจรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าตามช่องทางการค้า การชำระเงิน และการขนส่งที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น

แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ราว 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ

ดังนั้น หากภาวะสงครามยังคงรุนแรงและยืดเยื้อจนส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครนได้เลยในช่วงที่เหลือของปี 2022 ไม่ว่าจะเป็นเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากพิษของสงคราม มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ หรือการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไม่ถึง 0.5% ของทั้งหมด

นอกจากนี้ หากพิจารณาสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ก็ไม่ได้พึ่งพารัสเซียหรือยูเครนเป็นตลาดส่งออกหลัก

แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า

แม้ผลกระทบทางตรงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีอยู่อย่างจำกัดจากที่ได้กล่าวมา แต่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ โดยมี 2 ช่องทางที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาคอขวดอุปทาน

ช่องทางแรก ภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ประชิดด่านหน้าของความขัดแย้ง โดย EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและยุโรปจะขยายตัวได้เพียง 3.4% และ 2.7% ตามลำดับ ต่ำกว่าประมาณการเดิมในช่วงก่อนสงคราม

เศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อภาพรวมของการส่งออกสินค้าไทย รวมถึงกลุ่มสินค้าหลักที่ส่งออกไปยุโรป เช่น คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร (EU28) มีสัดส่วนขนาดใหญ่ถึง 9.3% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยในปี 2021 และคิดเป็น 9.9% หากรวมการส่งออกไปยังประเทศในสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA)

ช่องทางที่สอง ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เดิมจากวิกฤติโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายช้าลงกว่าที่คาด เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุ โลหะอุตสาหกรรม และโภคภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างก๊าซนีออนและแพลเลเดียม

การขาดแคลนดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ สะท้อนได้จากการปรับลดคาดการณ์การผลิตรถยนต์โลกล่าสุดในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 81.5 ล้านคัน จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ 84.1 ล้านคัน (-3.1%) อีกทั้ง ต้นทุนการผลิตรถยนต์โดยรวมยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ เช่น เหล็กและอะลูมิเนียม ที่พุ่งสูงขึ้นตามความเสี่ยงต่ออุปทานโลก

ทั้งนี้ การใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดในจีนซึ่งเป็นผู้เล่นใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานโลก ยิ่งอาจซ้ำเติมให้ปัญหาอุปทานคอขวดรุนแรงขึ้นอีกในระยะถัดไป

การส่งออกของไทยบางส่วนได้รับอานิสงส์จากสงคราม

ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะสงคราม ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์สนับสนุนการขยายตัวของส่งออกในปี 2022 อย่างน้อยจาก 3 ปัจจัย ซึ่งอาจสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าส่งออก

ปัจจัยแรก ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชดเชยการชะลอตัวในด้านปริมาณ ภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกพลังงานและโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด

เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ตนเองเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร จึงมีแนวโน้มจะเติบโตดีในด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ที่สอง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ปัจจัยสุดท้าย เงินบาทที่อ่อนค่าสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นับตั้งแต่เกิดสงครามค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น

และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย

ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนโดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%

บทความโดย วิชาญ กุลาตี

นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com 

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 28 เมษายน 2565

“สุริยะ” ปลื้ม MPI มี.ค.แตะ 109.32% โตสุดรอบ 12 เดือน ส่งออก-เปิด ปท.หนุนไปต่อ

“สุริยะ” ปลื้ม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มี.ค. 65 แตะ 109.32% สูงสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เม.ย. 64 เหตุส่งออกโตต่อเนื่อง ล่าสุด มี.ค.โตสุดในรอบ 30 ปี มั่นใจเปิดประเทศ บาทอ่อนหนุนขยายตัวต่อ “สศอ.” จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิด 1. การปรับโควิด-19 จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น 2. อัตราเงินเฟ้อจากระดับราคาน้ำมันและสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3. การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 109.32 ซึ่งนับเป็นค่าดัชนีฯ ที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 0.12% ขณะที่ MPI ไตรมาสแรกปี 2565 105.16% ขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากภาคการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะเดือน มี.ค.ที่ขยายตัว 19.54% สูงสุดในรอบ 30 ปี ขณะเดียวกันหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และเปิดประเทศส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้นตามลำดับ

“หากพิจารณาจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) เดือนมีนาคมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.66% และ 11.52% ตามลำดับในการเตรียมการผลิตต่อไป รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่ายังส่งสัญญาณบวกของทิศทางการส่งออกที่เพิ่มขึ้น การเปิดประเทศจะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น แต่ปัจจัยเงินเฟ้อยังคงต้องจับตาโดยเฉพาะจากระดับราคาพลังงานที่สูงและวัตถุดิบที่เริ่มกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้นด้วย” นายสุริยะกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนมีนาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 61.25% เนื่องจากผลผลิตอ้อยที่มีปริมาณมากกว่าปีก่อน น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 17.51% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.86% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26.17% เนื่องจากเกษตรกรได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกหลังราคาพืชผลเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม ฯลฯ เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.33% เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและอนุญาตให้มีการจำหน่ายในร้านอาหารและสถานบริการมากขึ้น เป็นต้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 68.77% สูงสุดรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่ เม.ย. 64 แต่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับ มี.ค. 64 ที่อยู่ระดับ 69.68% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาสแรกอยู่ที่ 66.35% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 66.32% จากปัจจัยบวกของการส่งออกและคาดว่าจะทยอยโตขึ้นตามทิศทางการส่งออก

"สศอ.ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ( EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ควรระวัง 3 ด้าน ได้แก่ 1. การปรับโควิด-19 จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น 2. อัตราเงินเฟ้อจากระดับราคาน้ำมันและสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3. การล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน" นายทองชัยกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 28 เมษายน 2565

สกนช.เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเอทานอล จ.กาฬสินธุ์ ก่อนปรับแผนลดชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมกระบวนการผลิตเอทานอลของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด จ.กาฬสินธุ์ สร้างความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์เชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอล หวังรวบรวมข้อมูลก่อนปรับแผนลดชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ

วันนี้ (28 เม.ย.) ที่บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หน่วยงานด้านพลังงาน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร่วมรับฟังบรรยายข้อมูลการผลิตเอทานอล และเยี่ยมชมกระบวนการผลิตเอทานอล

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (28 เม.ย.) สกนช. พร้อมคณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอลที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของเชื้อเพลิงเอทานอล ที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, แก๊สโซฮอล์ 95, E20 และ E85 ในปัจจุบัน ซึ่งเอทานอลผลิตจากวัตถุดิบจากพืชเกษตร อ้อยและมันสำปะหลัง โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้สนับสนุนและมีส่วนช่วยในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล

ทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพกระจายสู่ภูมิภาค และมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอลของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลที่มีศักยภาพของประเทศ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

พ.ศ. 2562 จะต้องทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยลดการอุดหนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลงภายใน 3 ปี ก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงการปรับตัวของภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการเอทานอล และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย

ดังนั้น สกนช.จึงเตรียมขยายการชดเชยออกไปก่อน ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวสามารถขยายเวลาการลดการชดเชยได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ซึ่งการศึกษาดูงานครั้งนี้ จะนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับใช้และเตรียมจัดทำแผนขอขยายการชดเชยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันต่อไป

ด้านนายผรินทร์ อมาตยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการตลาด กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า

เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนที่ผลิตได้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ซึ่งมีการพัฒนาและยกระดับขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และแปรรูป ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกกระบวนการผลิต รวมทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับรายได้ของเกษตรกร

โดยตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีที่ประเทศไทยมีการส่งเสริมและใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนนั้น สามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวน 2 ล้านราย กว่า 120,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท จากการเพิ่มมูลค่าให้กับกากน้ำตาล (โมลาส) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 12,000 ล้านลิตร มูลค่า 175,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 35 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ทั้งนี้ บริษัทมิตรผลมีโรงงานผลิตเอทานอลตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด มีกำลังการผลิตรวม 1.5 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 500 ล้านลิตรต่อปี ใช้วัตถุดิบจากน้ำอ้อยและกากน้ำตาล (โมลาส) ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนความยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 การสนับสนุนการผลิตและการใช้เอทานอล ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนจากพืชที่ปลูกได้ในประเทศไทยและมีกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

ฝนหลวงตั้งหน่วยฯ เพิ่มเติมขึ้นอีก3แห่ง รับความต้องการน้ำ ครอบคลุมทุกพื้นที่

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีฝนตกบ้างในหลายๆ พื้นที่ แต่พื้นที่การเกษตรหลายแห่งยังมีความต้องใช้น้ำประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อย และช่วงฤดูร้อนนี้ยังมีแนวโน้มของสถานการณ์ไฟป่า ปัญหาหมอกควัน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งแนวโน้มการเกิดพายุลูกเห็บในหลายพื้นที่ของประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน จึงปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเดือนเมษายน 2565 โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติม 3 หน่วยได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี อุบลราชธานี และนครราชสีมา และจัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง 4 ฐาน ได้แก่ ฐานเติมสารฝนหลวง จ.นครสวรรค์ ขอนแก่น บุรีรัมย์ และระยอง โดยในขณะนี้มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งสิ้น 11 หน่วย กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ขณะที่ นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า ผลการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงก่อนหน้านี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ได้ขึ้นปฏิบัติการยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางในพื้นที่ จ.ลำปาง และเชียงใหม่ และมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณพื้นที่ลุ่มรับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแม่ขาม อ่างเก็บน้ำแม่จาง จ.ลำปาง และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ลุ่มรับเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และมีฝนตกเล็กน้อยในพื้นที่การเกษตร จ.แพร่

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

กลุ่ม KTIS ส้มหล่น รับปัจจัยบวกหลายเด้ง บาทอ่อน-ปริมาณอ้อยพุ่ง-ราคาขายปรับตัวสูง

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูการผลิตปี 2564/65 ณ วันที่ 18 เมษายน 2565 พบว่า ผลผลิตอ้อยของทั้ง 3 โรงงาน คือ โรงงานน้ำตาล KTIS โรงงานน้ำตาล KTIS สาขา 3 จ.นครสวรรค์ และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ มีอ้อยเข้าหีบแล้ว รวม 6.2 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนประมาณ 44.2% และผลิตน้ำตาลได้แล้ว 6.3 ล้านกระสอบ สูงกว่าปีก่อน 34.0%

“อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลดีกับผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนลงมาก จะส่งผลดีกับสินค้าส่งออก ทั้งน้ำตาลทราย เยื่อกระดาษชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย เพราะสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าที่ขายในประเทศ”

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวด้วยว่า ฤดูหีบปีก่อน กลุ่ม KTIS มีอ้อยเข้าหีบเพียง 4.3 ล้านตัน เท่ากับว่าปีนี้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ล้านตัน ถือว่าเกินกว่าที่คาดหมายไว้ เพราะเดิมคาดว่าจะได้อ้อยเพิ่มแค่ 20-25% “การที่ได้อ้อยเพิ่มอย่างมาก นั่นหมายความว่า วัตถุดิบที่จะส่งเข้าสู่โรงงานต่างๆ ทั้งโมลาสที่เข้าสู่โรงงานผลิตเอทานอล ชานอ้อยสำหรับผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง รวมถึงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลก็จะมีมากขึ้นด้วย อีกทั้งราคาขายของแต่ละผลิตภัณฑ์ในปีนี้ก็สูงกว่าปีก่อน จึงส่งผลให้ยอดขายในทุกสายผลิตภัณฑ์ในปีนี้จะสูงกว่าปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวว่า โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งจะผลิตสินค้าออกสู่ตลาดและเริ่มรับรู้รายได้ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ก็จะได้รับผลดีจากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นด้วย จะสามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มที่เพราะมีวัตถุดิบปริมาณมากเพียงพอ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 27 เม.ย. 2565

เวิลด์แบงก์เตือนโลกรับมือ เงินเฟ้อพุ่งรุนแรงจากวิกฤตยูเครน

รายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เตือนภาวะสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบจากการเผชิญหน้าดังกล่าว จะส่งผลทำให้ราคาอาหาร พลังงาน รวมทั้งสินค้าจำเป็นต่าง ๆ พุ่งแรงในปีนี้

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกรายงานเตือน โลกจะพบกับภาวะ ราคาอาหารและสินค้า ที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ โดยระบุว่า สงครามที่ยืดเยื้อ ระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งยังสร้างความเสียหายต่อระบบการค้า การผลิต และการอุปโภคบริโภคทั่วโลก

ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน "แนวโน้มตลาดสินค้าโภคภัณฑ์” (Commodity Markets Outlook) เมื่อวันอังคาร (26 เม.ย.) ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกอาหารซึ่งผลิตโดยรัสเซียและยูเครนนั้น ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาปุ๋ยซึ่งจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิต พุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

รายงานของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ราคาพลังงานจะพุ่งขึ้นกว่า 50% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2566 และ 2567

ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 และเพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2564 จากนั้น คาดว่าราคาจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 92 ดอลลาร์ในปี 2566 แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ราคายังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงาน อาทิ สินค้าโภคภัณฑ์และโลหะ คาดว่าจะพุ่งขึ้นเกือบ 20% ในปี 2565 และจะลดลงในปีต่อ ๆ ไปหลังจากนั้น

ธนาคารโลกยังคาดการณ์ด้วยว่า

ราคาข้าวสาลีจะทะยานขึ้นกว่า 40% และแตะที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ (2565)

ส่วนราคาโลหะจะปรับตัวขึ้น 16% ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2566 แต่ก็จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก

ในกรณีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ หรือมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็จะพุ่งขึ้นอีก

ในกรณีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ หรือมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็จะพุ่งขึ้นอีก

นอกจากนี้ ธนาคารโลกระบุว่า ในกรณีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ หรือมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมขึ้นไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็จะพุ่งขึ้นอีก และจะมีความผันผวนมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ในปัจจุบัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 เม.ย. 2565

เงินบาทอ่อนค่า เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

บาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ระวังเงินบาทเป็นเงินเยนรายต่อไป เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก

บาทอ่อนในสภาพเช่นนี้ก็อาจไม่ใช่ผลดีเสมอไป โดยเฉพาะเงินบาทที่อ่อนจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันสูงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อเร่งแรง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก เพราะการส่งออกคือเครื่องยนต์หลักสำหรับเศรษฐกิจไทยตอนนี้ จากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้น

คนระมัดระวังการเดินทางและการใช้จ่าย ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นรวดเร็วตามราคาน้ำมันและวัตถุดิบอาหารสัตว์จากภาวะสงครามรัสเซียและยูเครน ยิ่งกดดันการบริโภคให้เติบโตช้า ส่วนภาครัฐห่วงหนี้สาธารณะเพิ่มสูง จึงไม่ได้ออกมาตรการกู้เงินรอบใหม่ ขณะที่เงินกู้ที่เหลือราวเจ็ดหมื่นล้านบาทต้องใช้อย่างระมัดระวังเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนในระยะสั้น แต่ยังยากที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าจึงเป็นความหวัง โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศยุโรปและอาเซียนยังเติบโตได้ แม้ช้าลงจากปีก่อน แต่นับว่าสูงกว่าในอดีตก่อนหน้า ยกเว้น จีน ที่ประสบปัญหาเติบโตช้าจากการควบคุมการระบาดของโควิดในประเทศ แต่น่าจะมีมาตรการทางการเงินและการคลังมาเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช่วงครึ่งปีหลัง จึงน่าจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสำคัญของไทย

อาทิ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร รวมทั้งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาเคลื่อนไหวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ยิ่งเงินบาทอ่อนค่าจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผู้ส่งออกจึงคาดหวังให้บาทอ่อนค่า

แต่บาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ระวังเงินบาทเป็นเงินเยนรายต่อไป เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก จากความกังวลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งแรง หรือจากปัญหาราคาน้ำมันแพงที่ส่งผลให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด สะท้อนว่ารายจ่ายมากกว่ารายรับ ประกอบกับเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตร เนื่องจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ที่มากขึ้น ล้วนส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

ดร.อมรเทพ กล่าวว่า เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐได้อีกในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จากความเป็นไปได้ที่เฟดพร้อมเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ครั้งละ 0.50% ไปอยู่ที่ระดับ 1.50% ประกอบกับทำมาตรการ QE หรือการลดงบดุลเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ขณะที่ตลาดทุนกังวลความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า หลังมีสัญญาณ inverted yield curve หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว สะท้อนว่านักลงทุนห่วงเศรษฐกิจอาจโตช้าในอนาคต แต่ส่วนตัวมองว่ายังไม่น่าใช่สัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเพียงปัญหาสภาพคล่องล้น และความกังวลปัญหาเงินเฟ้อที่กดดันเศรษฐกิจโตช้า และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

"คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าช่วงไตรมาสสองไปที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่ต้องกังวลไว้บ้าง นั่นคือหากเงินบาทอ่อนค่าแรงและเร็วเกินไป เช่น จากระดับราว 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายเดือนเม.ย. ไปสู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ค.แล้วล่ะก็ ผู้ส่งออกคงยากที่จะตั้งราคา หรือบริหารงบการเงินเพื่อดูแลต้นทุนการใช้จ่ายอื่นๆ แสดงว่าบาทอ่อนในสภาพเช่นนี้ก็อาจไม่ใช่ผลดีเสมอไป โดยเฉพาะเงินบาทที่อ่อนจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันสูงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อเร่งแรง"

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นกำลังเผชิญสภาพนี้ หลังเงินเยนอ่อนค่าเฉียดระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่า 10% นับจากต้นปี แม้จะเป็นประเทศส่งออกสุทธิ แต่การส่งออกไม่ดีตามคาด ทั้งจากการที่บริษัทเผชิญปัญหาบริหารงบการเงิน ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ การบริโภคได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นเร็ว และมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะแตะระดับ 2% เร็วๆนี้ ซึ่งปัจจัยสำคัญกดดันเงินเยนอ่อนค่ามาจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำ และคงมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง

โดยไม่สนใจว่าสหรัฐฯ และประเทศสำคัญอื่นจะดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ภาวะเช่นนี้นักลงทุนอาจเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่าเงินเยนจะอ่อนไปได้อีก และอาจทำให้ตลาดผันผวนได้ในเดือนข้างหน้า ต้องจับตาว่านักลงทุน หรือนักเก็งกำไรค่าเงิน จะมองเงินบาทว่ามีสภาพคล้ายกับเงินเยนหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ธนาคารกลางจะยืนอัตราดอกเบี้ยต่ำลากยาวเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาจปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า แต่หากเป็นเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเช่นใด

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากบาทอ่อนค่าแรง ในทางทฤษฎีเงินบาทอ่อนค่าจะช่วยการส่งออก การท่องเที่ยว เกิดการลงทุน การจ้างงาน แต่หากอ่อนค่ามากเกินไปจะมีผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น เสมือนเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศมากขึ้น การบริโภคอาจไม่ได้เร่งขึ้น แม้มีรายได้จากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เพราะกำลังซื้อแผ่วจากรายได้ที่โตไม่ทันรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านำเข้า เช่น น้ำมัน อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี และเหล็ก

ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้ทั้งหมด กลุ่มที่ต้องอาศัยสัดส่วนการนำเข้าที่สูงเพื่อประกอบและส่งออก อาจไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากเงินบาทอ่อนค่าแรงชั่วคราวในช่วงไตรมาสสองนี้ แต่ก็ต้องบริหารต้นทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่อนค่าของเงินบาท

1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ส่งออกที่ได้รับประโยชน์ค่อนข้างน้อย

- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ แต่ปริมาณวัตถุดิบแปรตามภัยธรรมชาติ ได้แก่ ส่งออกข้าว แม้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าค่าเงินของคู่แข่งขันสำคัญในการส่งออกข้าวคือ อินเดีย ขณะที่ค่าเงินเวียดนามแข็งค่าเล็กน้อย แต่ผู้ส่งออกข้าวยังคงเผชิญกับความยากลำบากอย่างต่อเนื่องจาก Stock ข้าวของโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงและราคาข้าวส่งออกของไทยยังสูงกว่าคู่แข่งขันสำคัญค่อนข้างมาก

- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานเข้มข้น ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องหนัง รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ และอาหารแช่แข็ง เนื่องจากเสียเปรียบด้านต้นทุนการผลิต ขาดแคลนแรงงาน และการแข่งขันรุนแรง ทำให้ Margin อยู่ในระดับต่ำ

2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ส่งออกที่ได้รับผลดีจากการอ่อนค่าของเงินบาทปานกลาง-สูง

- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ และเงินบาทอ่อนค่ากว่าคู่แข่งขันสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางแท่ง และถุงมือยาง เพราะเงินบาทยังอ่อนกว่าค่าเงินริงกิตและค่าเงินรูเปียห์ของคู่แข่งขันสำคัญคือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ประกอบกับได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามจะถูกกระทบจากการแข่งขันในตลาดส่งออกมีความรุนแรงระดับหนึ่ง

- ผลิตภัณฑ์ที่มี Import content ต่ำถึงปานกลาง และมีอำนาจการต่อรองด้านราคาปานกลางถึงสูง ได้แก่ อาหารกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคยอมรับคุณภาพผลิตภัณฑ์ของไทย ทำให้มีอำนาจต่อรองด้านราคา ประกอบกับได้แรงหนุนจากเงินบาทอ่อนค่า

- ผลิตภัณฑ์ที่มี Import content สูง และมีอำนาจการต่อรองด้านราคาปานกลางถึงสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของไทยมีคุณภาพสูง ได้รับการยอมรับในตลาดโลกและเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าคู่แข่งขันสำคัญ (อาทิ เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น) รวมทั้งได้แรงหนุนจากการเติบโตของความต้องการสินค้าเกี่ยวเนื่องอย่างต่อเนื่อง

3. กลุ่มอุตสาหกรรม/ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการอ่อนค่าของเงินบาท

เป็นผู้นำเข้า/อุตสาหกรรมที่มี Import content สูง และส่วนใหญ่จำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้นมาก และการแข่งขันในตลาดในประเทศรุนแรง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้นำเข้าเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรม ปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืช เช่นกัน ตามต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับความต้องการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับต่ำ

แนวโน้มค่าเงินบาทครึ่งปีหลัง 65

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาทครึ่งปีหลัง มีโอกาสอ่อนค่าช่วง 1-2 เดือนนี้ หลังสหรัฐฯ เร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดกลับสภาพคล่องด้วยการลดงบดุล จะทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยน่าจะขาดดุลสูงที่สุดในรอบปี จากการนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานที่สูงตามราคาน้ำมัน

รายได้การท่องเที่ยวที่ยังต่ำ การจ่ายเงินปันผล และเงินโอนไปต่างประเทศที่สูงในช่วงไตรมาสสอง ล้วนทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐสูงเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี เงินบาทน่าจะถึงจุดสูงที่สุดในช่วงไตรมาสสองนี้ ก่อนจะปรับแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

โดยสรุป ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นจากเศรษฐกิจไทยโตช้าต้องอาศัยมาตรการดอกเบี้ยต่ำลากยาวมาสนับสนุน สวนทางกับฝั่งสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป ที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบสกุลอื่น เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ไทยมีความเสี่ยงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงตามรายจ่ายค่าน้ำมัน และขาดรายได้การท่องเที่ยว แม้คาดว่าเงินบาทจะไปแตะ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงกลางปี

แต่หากมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกระทบเงินไหลออก หรือราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าคาด มีโอกาสที่บาทจะอ่อนค่าไปถึงระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และน่าจะมีผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับมุมมองว่าจะควบคุมการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน หรือจะปล่อยให้บาทอ่อนเพื่อช่วยผู้ส่งออก แต่ก็อาจช่วยได้ไม่มากเพราะมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือสูง และขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น ชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิต

นอกจากนี้ เงินบาทอ่อนค่าเร็วและแรงรอบนี้ อาจไม่ช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีเช่นอดีต จากราคาสินค้านำเข้าที่สูงจะยิ่งกดดันการบริโภคฟื้นตัวช้า อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำ ผู้ส่งออกที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนมีไม่มาก ส่วนกลุ่มผู้นำเข้าเพื่อส่งออกจะเผชิญต้นทุนนำเข้าที่สูง แต่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้

ดังนั้น ไตรมาส 2/65 นี้ ผู้ส่งออกอาจเตรียมบริหารอัตราแลกเปลี่ยนไว้ให้ดี ทั้งการทำ natural hedging หรือใช้รายได้จากการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐมาจ่ายการนำเข้า การฝากเงินในสกุลเงินตราต่างประเทศ ผู้นำเข้าเองน่าจะป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้าง เงินบาทน่าจะอ่อนค่าแรงที่สุดถึงช่วงกลางปี ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 27 เม.ย. 2565

เกษตรฯหารือเนเธอร์แลนด์ แลกเปลี่ยนความรู้ทำการเกษตร

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการเดินทางไปยังกระทรวงเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพอาหาร ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อหารือการขับเคลื่อนภาคการเกษตรระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับนายยัน เกส กูท ปลัดกระทรวงเกษตรทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมงานมหกรรมพืชสวนโลก The International Horticultural Exposition 2022 หรือ EXPO 2022 Floriade Almere และ Thailand Pavilion เมือง Almere ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่าได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญความท้าทายร่วมกัน รวมถึงความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าภาคการเกษตรของเนเธอร์แลนด์มีความแข็งแกร่งในทุกๆ ด้าน และเป็นที่ยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

“ผลการหารือในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะทำความร่วมมือระหว่างกันทั้งในด้านวิชาการ การแลกเปลี่ยนนวัตกรรม องค์ความรู้ รวมถึงการแลกเปลี่ยน Young Smart Farmer ระหว่างทั้งสองประเทศ ขณะที่เนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญและเน้นการดำเนินการเรื่องการลดโลกร้อน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาสร้างความยั่งยืนทางด้านการจัดการน้ำ การจัดการคุณภาพดิน รวมถึงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ นโยบาย Next Normal ที่จะต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและทำให้การเกษตรสามารถมีความยั่งยืน”ดร.ทองเปลว กล่าวและว่า เนเธอร์แลนด์ได้มอบหมายทูตเกษตรฯ ประจำประเทศไทย ประสานในรายละเอียด จึงให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป ติดตามการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 27 เม.ย. 2565

ส่งออกเดือนมีนา65 คาดโต20% “จุรินทร์”มั่นใจทั้งปีโต4%

ส่งออกเดือนมีนา65 คาดโต20%“จุรินทร์”มั่นใจทั้งปีโตตามเป้า4% แต่ยังต้องเกาะติดสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด พร้อทสั่งทูตพาณิชย์เตรียมรับมือผลกระทบ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่าในช่วง2เดือนที่ผ่านมา การส่งออกไทยถือว่าขยายตัวในทิศทางที่ดี ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ดังนั้นมั่นใจว่าตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคมนี้อาจจะโตได้ถึง 20% ยังไปได้ดีอยู่

โดยการส่งออก 2 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565) ขยายตัว 12.2% มีมูลค่า 44,741 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ การนำเข้า ขยายตัว 18.7% มีมูลค่า 47,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่งผลให้ไทยขาดดุล 2,403 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยส่งออกไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยตรงมาก  ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และต้องร่วมแก้ปัญหาร่วมกับเอกชนต่อไป พร้อมทั้งประสานข้อมูลของทูตพาณิชย์ทั่วโลกว่าจะมีผลกระทบด้านไหนเพื่อเตรียมการรับมือ

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องติดตามที่จะกระทบต่อการส่งออกไทย คือ สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ โลจิสติกส์ ค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ เป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามกับภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไปในรูปของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งเป้าทั้งปีที่กระทรวงมองไว้ ที่4% ไม่น่าไกลเกินเอื้อมซึ่งสอดคล้องกับภาคเอกชนที่มองว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวไปในทิศทางที่ดี

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 26 เม.ย. 2565

ผลกระทบจากนโยบายของ FED และความผันผวนกับตลาดการเงินในไทย

เมื่อตลาดการเงินโลกยังคงอยู่ในช่วงที่ความผันผวนสูง ทั้งเรื่องนโยบายการเงินสหรัฐฯ แรงกดดันเงินเฟ้อ ความเร็วและขนาดของการขึ้นดอกเบี้ยของFED ยังคงไม่แน่นอนและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

ตลาดการเงินโลกยังคงอยู่ในช่วงที่ความผันผวนสูงต่อเนื่อง จากปัจจัยหลัก คือ เรื่องของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งการสื่อสารเกี่ยวกับเวลา ความเร็วและขนาดของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงไม่แน่นอนและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จากปลายปีก่อนที่มองว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจปรับสูงขึ้นอีก 1.00% ในปีนี้ แต่ปัจจุบันตลาดคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกถึง 2.00-2.25% ในปีนี้ ไม่นับรวมที่ขึ้นไปแล้ว 0.25%

 ในการประชุมครั้งก่อนหน้า ในส่วนของนโยบายการเงินในเมืองไทยยังมีแนวโน้มผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ในขณะที่เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อต่างๆ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือเปลี่ยนท่าทีตามแนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดโลกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าตลาดการเงินในเมืองไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดสหรัฐฯ เสียทีเดียว โดยการส่งผ่านเรื่องของดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความผันผวนในตลาดการเงินเกิดขึ้นได้หลายช่องทาง ได้แก่

1. อัตราแลกเปลี่ยน

ปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่มีส่วนต่อการกำหนดทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนต่างของดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจที่อยู่ในวัฏจักรที่ขยายตัวได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับศักยภาพ มีส่วนทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท โดยปัจจุบันค่าเงินบาทปรับทดสอบระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และหากอ่อนค่าขึ้นไปอีกก็จะเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 ปี ซึ่งหากแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่องก็อาจสร้างแรงกดดันต่อเงินบาทเพิ่มขึ้นไปอีก

ซึ่งเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าก็จะส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจที่ต้องค้าขายกับต่างประเทศ หรืออาจทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศ อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไม่มากนัก (-1.6% นับจากต้นปี ถึงสิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 65) เมื่อเทียบกับเงินประเทศอื่นเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น (10.6%) วอนเกาหลีใต้ (-4.5%) หรือ ริงกิตมาเลเซีย (-3.9%) แต่โดยรวมก็บ่งบอกแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ได้เป็นอย่างดี

อีกเรื่องหนึ่งจะเป็นเรื่องของต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ซึ่งดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าของไทยก็จะทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนการทำ Hedging ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

2. อัตราดอกเบี้ย

ส่วนช่องทางของอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มที่คงที่ตลอดปี 2565 เป็นอย่างน้อย แต่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มของดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้เส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีความชันเพิ่มขึ้นมาก โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.64% และ 0.94% ตามลำดับ (ข้อมูลจาก ThaiBMA ณ สิ้นวันที่ 24 เม.ย.) ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็ว เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังมีความเสี่ยงอยู่จากผลกระทบของการแพร่ระบาด และเงินเฟ้อที่เริ่งตัวขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความผันผวนที่มากขึ้นก็จะส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนผ่านช่องทางการกู้ยืมต่างๆ ในขณะที่การลงทุนในตลาดพันธบัตรก็อาจจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักในนี้เนื่องจาก Yield ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

3. ราคาหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์ไทยหลักปรับตัวทำจุดสูงสุดของปีที่ 1,719.55 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปี หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัวลดลง จากภาพรวมที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น แม้ในภาพรวมจะดูมีความหยืดหยุ่นและปรับตัวลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศหลัก เช่น ดัชนี S&P500 และ NASDAQ Composite ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ต้นปี 8.3% และ 16.0% ตามลำดับ

ในขณะที่ดัชนี SET ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปีนี้ แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่หากความความผันผวนในตลาดการเงินยังสูงเหมือนช่วงที่ผ่านมา ก็อาจทำให้มีแรงเทขายเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยปัจจัยหลักยังเป็นเรื่องของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสารการเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวขึ้น ไม่นับว่าต้นทุนทางการเงินและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมีส่วนต่อการลดประมาณการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดโดยตรง และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าที่ผ่านมาก็มีไม่น้อย ซึ่งส่วนนี้ยังคงต้องอาศัยระยะเวลาก่อนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แน่ชัด

4. การคาดการณ์ต่างๆ (Expectation)

อีกผลกระทบหนึ่งคือเรื่องของการคาดการณ์ของแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยไม่เร็วพอที่ผู้เล่นในตลาดคาดไว้ ก็จะทำให้มุมมองเรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อกลับมาลดทอนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หรือ หากมองว่าความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และส่งผ่านมายังประเทศไทยในส่วนของการส่งออกและการลงทุนต่างๆ

ท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลาจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และการคาดการณ์ต่างๆ ของนักลงทุน ทำให้ตลาดไทยเองได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจเศรษฐกิจ แนวโน้มนโยบายการเงิน และภาวะตลาดการเงินต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 เม.ย. 2565

ไทย – ภูฏาน นัดถกเวที JTC    เดินหน้าขยายการค้าการลงทุน

ไทย – ภูฏาน นัดถกเวที JTC ครั้งที่4  เดินหน้าขยายการค้าการลงทุน ทั้งเกษตร หัตถกรรม และการท่องเที่ยว ย้ำความเป็นพันธมิตรเพื่อเติบโตร่วมกันในเวทีโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย – ภูฏาน ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 27 – 28 เมษายน โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

และนายเลียนโพ ล็อกนัท ชาร์มารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการภูฏาน เป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนตอกย้ำความเป็นพันธมิตรกับไทย เพื่อเติบโตร่วมกันได้อย่างมั่นคงในเวทีการค้าโลก

การประชุม JTC ครั้งนี้ จะมีการหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ อาทิ การเกษตร หัตถกรรม และการท่องเที่ยว การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการที่ภูฏานสนใจ อาทิ การพัฒนาระบบการค้าพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ (E-Commerce)

การพัฒนา SME และการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) และความเป็นไปได้ต่อการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement: PTA) ไทย – ภูฏาน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าสองฝ่ายให้ขยายตัวมากขึ้นในอนาคต 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการภูฏาน จะใช้โอกาสนี้ศึกษาดูงานกระบวนการผลิตสับปะรด ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากภูฏานเป็นประเทศเกษตรกรรมและสามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง อาทิ น้ำผึ้ง หน่อไม้ฝรั่ง และแอปเปิ้ล ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของภูฏาน ทั้งนี้ ภูฏานถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์การสหประชาชาติประกาศให้ภูฏาน หลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาในปี 2566

ทั้งนี้ ในปี 2564 ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 119 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 6 ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา และมัลดีฟส์ โดยมีมูลค่าการค้ารวม 66.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 66.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่ม ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ใบชาเขียว รูปหล่อขนาดเล็ก แยม และเยลลี่ผลไม้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 เม.ย. 2565

จับตาคว่ำบาตร‘รัสเซีย’ สัญญาณจุดเปลี่ยนระบบการเงินโลก

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่เกี่ยวพันกับการอายัดทรัพย์สิน การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย เงินเฟ้อและปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ การเลื่อนการใช้ BASEL III(หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน) และการเก็งกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อภาคการเงินและสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้ จะนำไปสู่การจัดระเบียบระบบการเงินโลกใหม่ ซึ่งล่าสุด ตลาดลอนดอนซื้อขายโลหะมีค่า หรือ LME (London Metals Exchange) อาจยุติซื้อขาย ทองคำ เงิน และ นิกเกิลในตลาดซื้อขายอนาคตล่วงหน้า (Gold-Silver Future) หลังจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินต่อกันของพันธมิตรชาติตะวันตกและระบอบปูตินรัสเซีย

ทั้งนี้ หากปล่อยให้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัสเซียทรุดตัวลงเรื่อยๆ จากการทำสงครามและไม่มีการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจภายใน 1 ปี เชื่อว่า การผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซียจะเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาคการเงินโลกได้ในที่สุด ตลาดการเงินและเศรษฐกิจยุคสงครามยังคงผันผวนไปอีกนาน จนกว่าระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและระเบียบการเงินถูกสถาปนาสำเร็จโดยดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังเป็นเงินสกุลหลักของโลกแต่ลดความสำคัญลง โดยทองคำจะมีบทบาทมากขึ้น โดยบางประเทศอาจจะกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบปริวรรตทองคำมากขึ้น

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 25 เม.ย. 2565

ค่าเงินบาท จับตาจีดีพีสหรัฐฯและยูโรโซน

เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.70-34.20 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือการประกาศจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งตลาดคาดการณ์เติบโต 1.0%

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.70-34.20 ในสัปดาห์นี้ ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือการประกาศจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งตลาดคาดการณ์เติบโต 1.0% annualized QoQ ชะลอลงจากในไตรมาสก่อนที่ 6.9% annualized QoQ โดยก่อนหน้านี้ เฟดได้ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงของการขยายตัวปานกลาง ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังคงฟื้นตัวดี และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ด้านยุโรป จะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 ในสัปดาห์นี้เช่นกัน โดยตลาดคาดการณ์จีดีพีขยายตัว 5.1%YoY จาก 4.6%YoY ในไตรมาสก่อน

ด้านนโยบายการเงิน บีโอเจจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้ โดยบีโอเจยังคงมีแนวโน้มคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ล่าสุดมีการประกาศซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปี ไม่จำกัด ตามนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ท่ามกลางแรงเทขายพันธบัตรทั่วโลกที่กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 18-22 เมษายน 2022 เงินบาทผันผวนในทิศทางอ่อนค่า ท่ามกลางเงินทุนไหลออกตลาดพันธบัตรและไหลเข้าตลาดหุ้น โดยรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศเพิ่มเติม โดยยกเลิก Test&Go และการตรวจ RT-PCR สำหรับนักท่องเที่ยว เปลี่ยนเป็นการตรวจ ATK ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป นอกจากนี้ ครม. อนุมัติปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ 4.9 หมื่นล้านและลดหนี้เดิม 3.5 หมื่นล้าน โดยรัฐคาดการณ์หนี้สาธารณะที่ 62.76% ต่อจีดีพี พร้อมระบุถึงโอกาสในการกู้เพิ่ม ซึ่งยังมีความสามารถในการกู้เพิ่มได้อีกราว 1.3 ล้านล้านบาท ภายใต้กรอบหนี้สาธารณะ 70% ต่อจีดีพี

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ท่ามกลางการเทขายพันธบัตรต่อเนื่อง ในขณะที่เฟดยังคงออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยโพเวลกล่าวสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในเดือนพฤษภาคม ส่งสัญญาณถึงวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น โพเวลประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งและให้ความสำคัญกับการจัดการกับเงินเฟ้อ ประธานเฟดสาขาเซ็นหลุยส์ เจมส์ บุลลาร์ด กล่าวว่าเฟดควรจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 3.5% ปีนี้ โดยจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในหลายการประชุมของเฟด ด้านประธานเฟดสาขาริชมอนท์ โทมัส บาร์กิน ประธานเฟดซานฟรานซิสโก แมรี่ ดาลี่ และสมาชิกเฟด ลาเอล เบรนาร์ด สนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดให้ถึงจุดสมดุล 2.5% ให้เร็วที่สุดและอาจต้องขึ้นมากกว่านั้นหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และมีความเป็นไปได้มากที่ต้องขึ้นดอกเบี้ย 50bps และปรับลดงบดุลในการประชุมเดือนพฤษภาคม ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐ เงินเฟ้อเดือน มี.ค. ของสหรัฐพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 8.5%YoY เหนือคาดการณ์ โดยเงินเฟ้อปรับขึ้นสูงโดยหลักมาจากราคาพลังงานและอาหารจากผลกระทบของสงครามรัสเซียและยูเครน ในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 65.7 ในเดือน เม.ย. จาก 59.4 ในเดือนก่อนหน้าตามการจ้างงานและค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น

ด้านยุโรป ลาการ์ดส่งสัญญาณพิจารณาการสิ้นสุดคิวอีในการประชุมเดือนมิถุนายน และประเมินว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าเป้าหมายอย่างน้อย 2 เท่าในปีนี้ โดยเกิดจากแรงกดดันด้านภาวะคอขวดภาคอุปทานเป็นหลัก สมาชิกอีซีบีหลายท่านสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3 ปัจจุบันตลาดคาดการณ์อีซีบีขึ้นดอกเบี้ย 75bps ในปีนี้

บีโอเจประกาศซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปี แบบไม่จำกัดจำนวนที่ 0.25% ท่ามกลางแรงเทขายพันธบัตรทั่วโลกที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของบีโอเจพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 0.25% ท่ามกลางมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนของบีโอเจที่ใกล้ 0% ทั้งนี้ การซื้อพันธบัตรจำนวนมากส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปตามความต้องการของบีโอเจในการสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงฟื้นตัวช้า

เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกขยายตัว 4.8%YoY ดีกว่าคาด ในขณะที่ธนาคารกลางจีนคงดอกเบี้ยเงินกู้สวนทางคาดการณ์ตลาด อย่างไรด็ตาม ธนาคารกลางจีนยังได้ประกาศเงินหยวนอ่อนค่ากว่าคาดการณ์ เพื่อดึงอุปสงค์ต่างประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และประกาศ 23 แผนช่วยเหลือเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดโควิดที่รุนแรงมุ่งเน้นช่วยธุรกิจโดยให้ทุนธนาคารเพื่อให้ปล่อยกู้เพิ่มให้กับธุรกิจที่โดนกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ในขณะประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนยังคงยึดมั่นในการปิดเมืองเพื่อควบคุมโควิด และย้ำจีนพร้อมเปิดประเทศมากขึ้นตามแผน 5 ปี

เงินบาทปิดตลาดที่ 33.94 ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2022 ณ เวลา 17.00 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวทำจุดสูงสุดใหม่แถวบริเวณ 2.98% ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2018 ก่อนที่จะปรับลดลงมาเคลื่อนไหวแถว 2.94% ในช่วงท้ายของสัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 2ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 29 bps ขึ้นมาอยู่แถวบริเวณ 2.76% ส่งผลให้ spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีกับ 10 ปี (UST 2-10Y Spread) ปรับตัวแคบลงมาอยู่แถวบริเวณ +18 bps จาก +40 bps ในช่วงต้นสัปดาห์ โดยประเด็นหลักที่ขับเคลื่อนตลาดยังคงเป็นมุมมองของสมาชิกเฟดหลายๆท่าน ที่ยังคงมีมุมมอง Hawkish อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากคุณเจมส์ บุลลาร์ดที่กล่าวว่าเฟดควรจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 3.5% ในปีนี้ โดยมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในหลายการประชุมของเฟด หรือแม้กระทั่งขึ้น 0.75% ก็อาจเกิดขึ้นได้ ขณะที่คุณแมรี่ ดาลี่ และคุณชาร์ลส์ อีวานส ระบุว่าเฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับปกติภายในสิ้นปีนี้และมีความเป็นไปได้มากที่ต้องขึ้นดอกเบี้ย 50bps และปรับลดงบดุลในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ และสุดท้ายคุณโพเวลก็ได้กล่าวสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bps ในเดือนพฤษภาคม พร้อมกับส่งสัญญาณถึงวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น ด้วยมุมมองที่ยังคง Hawkish จึงไม่แปลกใจที่ตัวเลข Fed Fund Future ได้ price in โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ไปถึง 3 การประชุมคือในเดือน พฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม ไปแล้วนั่นเอง

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นคือการประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB249A ตัว Benchmark รุ่นอายุ 3ปี วงเงินประมูล 30,000 ล้านบาท ที่ผลการประมูลออกมาไม่ดีเลย สะท้อนผ่านช่วงผลการประมูลที่กว้างอยู่ที่ 1.28% - 1.40% เฉลี่ย 1.35% และ Bid coverage ratio เพียง 0.44 เท่า หรือคิดเป็นการออกพันธบัตรที่วงเงิน 9,910 ล้านบาทเทียบกับวงเงินที่ต้องการออกที่ 30,000 ล้านบาท และการประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB426A ตัว Benchmark รุ่นอายุ 20ปี วงเงินประมูล 10,000 ล้านบาท ที่ผลการประมูลออกมาไม่ดีเหมือนกัน สะท้อนผ่านช่วงผลการประมูลที่กว้างอยู่ที่ 3.85% - 3.99% เฉลี่ย 3.93% และ Bid coverage ratio เพียง 1.11 เท่า และถ้าดูจากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาผลการประมูลที่ออกมาในลักษณะนี้สะท้อนถึงอุปสงค์ของนักลงทุนภายในประเทศที่เบาบางลงไปมาก จึงไม่แปลกใจที่ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 11,685 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 11 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,155 ล้านบาทและมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 7,519 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 22 เมษายน 2565 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.61% 1.31% 1.75% 2.23% 2.56% และ 2.84% ตามลำดับ

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 25 เม.ย. 2565

วว. หนุนใช้ “สารชีวภัณฑ์” ขับเคลื่อน BCG พร้อมช่วยยกระดับผลิตผลทางการเกษตร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สนับสนุนการใช้ ใช้ “สารชีวภัณฑ์” ขับเคลื่อน BCG พร้อมช่วยยกระดับผลิตผลทางการเกษตร พร้อมให้บริการระดับอุตสาหกรรมโดย ICPIM 2 ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อรา/แบคทีเรีย

“ชีวภัณฑ์” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะมาจาก พืช สมุนไพร จุลินทรีย์ มีหลายรูปแบบ ที่คุ้นเคยและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ EM (Effective microorganisms) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์มีหน้าที่ในด้านการย่อยสลายเศษซากพืช ช่วยเร่งปฏิกิริยาในการผลิตปุ๋ย เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ผลิตฮอร์โมน หรือเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักร่วมกับสมุนไพรเพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยนำ หรือใช้ป้องกันกำจัดแมลง มีหลายหน่วยงานภาครัฐที่ผลิต EM และนำไปใช้ในเชิงสังคม อาทิ พด. 1-12 ของกรมพัฒนาที่ดิน ปม.1 และ ปม. 2 ของกรมประมง และ PGPR 1 PGPR 2 และ PGPR 3 ของกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์เดี่ยวๆ โดยทั่วไปที่ผลิตขายเชิงพาณิชย์และผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร จะมี 5 สายพันธุ์หลัก คือ ไตรโคเดอร์มา บิววาเรีย เมธาไรเซียม บีที และบีเอส ซึ่งจุลินทรีย์ทั้ง 5 ชนิดนี้จะนำไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืช คือ โรคและแมลงของพืช ปัจจุบันภาครัฐรณรงค์ให้เกษตรกรทำการเกษตรมุ่งเน้น ระบบการผลิตพืชแบบเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ โดยใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมศัตรูพืชมากขึ้นเพื่อการขับเคลื่อนเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนประเทศเชิงบูรณาการในทุกมิติ มุ่งใช้ความได้เปรียบเชิงทรัพยากรและวัฒนธรรมโดยการขับเคลื่อนนโยบาย BCG เป็นฐานในการพัฒนา ที่มีเป้าหมายร่วมคือ "ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายใน 7 ปี"

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของกระทรวง อว. ได้นำนโยบายเศรษฐกิจ BCG เป็นธงดำเนินงานองค์กร และมีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินงานโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ในส่วนของ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ ICPIM 2 ที่มีสายการผลิตชีวภัณฑ์ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย

รูปแบบของชีวภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตโดย โรงงาน ICPIM 2 มีจำนวน 3 รูปแบบ คือ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อน้ำ และหัวเชื้อผง ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ มีกำลังการผลิตรวมต่อปีมากถึง 115,000 ลิตร

“ICPIM 2” มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย โดย วว. มีหลายส่วนงานที่ร่วมบูรณาการดำเนินงาน ครอบคลุมและรองรับงานด้านชีวภัณฑ์ครบวงจร ได้แก่ ศูนย์จุลินทรีย์ มีสายพันธ์จุลินทรีย์ในคลังมากกว่า 11,000 สายพันธุ์ เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมให้บริการจัดเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้กับผู้ประกอบการ มีศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานตาม OECD GLP GUIDLINE ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความเป็นพิษของจุลินทรีย์ และในส่วนของ โรงงาน ICPIM 2 ให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในงานด้านชีวภัณฑ์ โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รับน้องๆในระดับอุดมศึกษามาเรียนรู้ ฝึกงาน รวมถึงทำวิจัยในด้านต่างๆ ของการพัฒนางานด้านชีวภัณฑ์ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ โรงงาน และภาคสนาม เพื่อเป็นแรงงานรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพต่อไปในอนาคต

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงข้อดีของสารชีวภัณฑ์ที่ วว. ผลิตว่า ผ่านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ตามหลัก OECD GLP GUILDLINE และผ่านการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องจักรระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตสะอาด ปราศจากเชื้ออื่นปนเปื้อน

ทั้งนี้ วว. ได้นำสารชีวภัณฑ์ที่วิจัย พัฒนาและผลิต ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานพื้นที่ “กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด” รวมจำนวน 1.3 ล้านลิตร เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ลดสารพิษตกค้าง เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ โดย วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ครอบคลุม 4 กลุ่มพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ผล พืชไร่ (ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง) พืชสมุนไพรและพืชผัก รวมทั้งได้พัฒนากระบวนการขยายชีวภัณฑ์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และระดับชุมชน

นอกจากนี้ วว. ยังได้เข้าร่วมดำเนิน โครงการภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตก ด้วย BCG โมเดล” ในปีงบประมาณ 2564 จากการดำเนินงานดังกล่าวได้ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้

1. มีเกษตรกรกว่า 200 ราย นำเทคโนโลยีไปใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการพัฒนาปัจจัยการผลิตหมุนเวียนสำหรับเกษตรกรแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นได้ 5 ปัจจัยการผลิต จำนวน 6 เทคโนโลยี ดังนี้ เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก เทคโนโลยีการผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม เทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุเพาะเห็ด (ฟางข้าวเสริมซีลีเนียม กากมันสำปะหลัง) เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยด้วยปุ้ยอินทรีย์เคมีเสริมจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลผลิตพืซด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต (มันสำปะหลัง กล้วย) และเทคโนโลยีขยายชีวภัณฑ์ในถังชุมชนโมเดล วว.

2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และบริษัท รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต functional food และบรรจุภัณฑ์

3. มีผู้ประกอบการร่วมลงทุนด้าน R&D ภายใต้ BCG Model

4. เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์ functional food และเวชสำอาง จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ และต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 ต้นแบบ ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินงานจำนวน 370 ล้านบาท

“ประโยชน์ของการใช้สารชีวภัณฑ์ เป็นการยกระดับผลิตผลทางการเกษตรรองรับนโยบายของรัฐบาล มุ่งสู่ระบบการผลิตพืชปลอดภัย และระบบการผลิตพืชอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ลดการตกค้างของสารเคมีในพืชผลการเกษตร ปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไทย” .... ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปถึงประโยชน์ของสารชีวภัณฑ์ที่มีต่อภาคเกษตรกรรม

สอบถามเกี่ยวกับ “สารชีวภัณฑ์” ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว.

โทร. 02 - 577 9016 , 02 - 577 9021

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 เมษายน 2565

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด "อ่อนค่า" ที่ระดับ 33.90 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้มีโอกาส "อ่อนค่า" ลงเข้าใกล้แนวต้านสำคัญในโซน 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ - กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.00 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ  33.90 บาทต่อดอลลาร์ "ออนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงเข้าใกล้แนวต้านสำคัญในโซน 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า อาทิ การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึง โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญดังกล่าว เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว อย่างไรก็ดี ควรจับตาฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายทั้งหุ้นและบอนด์อย่างชัดเจน ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าหลุดแนวต้านสำคัญแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงรุนแรง แต่ปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติยังมีลักษณะซื้อ กลับขาย สินทรัพย์ในฝั่งไทยอยู่

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

อนึ่ง แม้ว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้าง แต่เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จะเห็นได้ว่า เงินบาทกลับปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้จังหวะนี้ในการทยอยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมุมมองของตลาดยังคงมองว่า เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 118-120 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี ซึ่งแม้ว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยรวม เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาทก็อาจจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับผู้ที่วางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็สามารถทยอยแลกเงินได้ และอาจพิจารณาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เน้นหุ้นขนาดเล็ก-กลาง ที่จะได้รับอานิสงส์จากธีม Reopening & Recovery ได้เช่นกัน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.00 บาท/ดอลลาร์

ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยและเร่งลดงบดุล กลับมากดดันตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ อีกครั้ง แม้ว่าในช่วงแรกผู้เล่นในตลาดการเงินจะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าถ้อยแถลงของประธานเฟด ในการประชุมกับ IMF ที่ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ชัดเจน ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับเกือบ 2.95% ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.07% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลง -1.48%

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 สามารถปรับตัวขึ้น +0.80% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาดและผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปจะปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ความคาดหวังว่าประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง จะยังสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรป อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความไม่แน่นอนจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และการเจรจาสันติภาพก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยเราคงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อนจากความไม่แน่นอนของสงคราม

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ตอกย้ำแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.95% ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.92%  ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มแกว่งตัว sideways ได้ หากปัญหาสงครามเริ่มกดดันให้ตลาดพลิกกลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ หรือ รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน แนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และความไม่แน่นอนของสงครามได้หนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 100.6 จุด อีกครั้ง หลังจากที่ในช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า DXY ย่อตัวลงหลุดระดับ 100 จุด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 128.5 เยนต่อดอลลาร์ และยังได้กดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งเราคาดว่า ราคาทองคำยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ต่อ ในกรอบ 1,940-1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินที่ยังมีความผันผวนอยู่ รวมถึงความไม่แน่นอนของสงครามที่ทำให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทว่า ราคาทองคำก็อาจถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ (ดีสุด ต่อ ราคาทองคำ คือ ตลาดปิดรับความเสี่ยง จนบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง จากประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือเร่งลดงบดุลของเฟด)

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของแต่ละประเทศ เพื่อติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากสงครามที่กดดันให้ราคาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น พร้อมกับปัญหา Supply Chain ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (S&P Global Manufacturing PMI) เดือนเมษายนที่จะลดลงสู่ระดับ 58 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว ) ส่วนภาคการบริการยังคงขยายตัวได้ดี หนุนโดยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและการระบาดของโอมิครอนที่ไม่ได้น่ากังวล ดังจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) ที่ระดับ 58 จุด

ส่วนในฝั่งยุโรป ผลกระทบจากสงครามได้กดดันให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนเมษายนที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 54.7 จุด และ 55 จุด ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซน

และในฝั่งเอเชีย ผลกระทบของสงครามจะกดดันให้ภาคการผลิตของญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนเมษายนจะลดลงแตะระดับ 53 จุด อย่างไรก็ดี ภาคการบริการของญี่ปุ่นอาจขยายตัวในอัตราเร่ง จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจพุ่งขึ้นสู่ระดับ 51 จุด

นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงติดตามและให้น้ำหนักกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราประเมินว่า หากผลกำไรยังเติบโตได้ดีกว่าคาดก็อาจพอช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดช่วงนี้ได้ ในทางกลับกัน หากผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจเป็นแรงกดดันต่อตลาดได้รุนแรงในช่วงที่ตลาดเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง

ส่วนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในรอบที่ 2 ซึ่งจะรู้ผลในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์หน้า โดยตลาดมองว่า มีโอกาสกว่า 90% ที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง จะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้สกุลเงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นได้บ้าง พร้อมกับตลาดหุ้นยุโรปที่อาจเปิดรับความเสี่ยงต่อได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 22 เมษายน 2565

ส้มหล่นทางการค้า จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ หนำซ้ำยังทำให้เศรษฐกิจรัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ recession และฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังสูง เงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

รวมถึงปัญหา supply chain disruption ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ Economic Intelligence Unit (EIU) ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี 2565 ลงเหลือ 3.4% จากเดิม 3.9% ขณะที่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2565 ลงเหลือ 3.2% จากเดิม 3.4%

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจว่า การที่สงครามทางการทหารเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับสงครามทางเศรษฐกิจผ่านมาตรการลงโทษที่ชาติตะวันตกและรัสเซียตอบโต้กัน ไม่ได้มีเพียงผู้ที่เสียประโยชน์เท่านั้น แต่ในระยะสั้นอาจมีผู้ผลิตในบางประเทศที่ได้ “ส้มหล่น” จากความขัดแย้งดังกล่าวในบางมิติ ดังนี้

ผู้ผลิตธัญพืช เนื่องจากรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และน้ำมันดอกทานตะวัน ที่ทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันราว 25%, 30% และ 75% ของทั้งโลก ตามลำดับ

ซึ่งการที่ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง ขณะที่การขนส่งก็ทำได้ยากขึ้น ส่งผลให้ตลาดธัญพืชโลกเกิดภาวะอุปทานตึงตัวสวนทางกับความต้องการที่สูงขึ้น ผลักดันให้ปัจจุบันราคาของธัญพืชทั้ง 3 ชนิดในช่วงต้นเดือนเมษายน 2565 ปรับเพิ่มขึ้นถึงราว 30% เทียบกับต้นปี 2565 ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกธัญพืชสำคัญรายอื่น ๆ อาทิ ออสเตรเลีย และสหรัฐ (มีส่วนแบ่งตลาดข้าวสาลี 13% และ 11% ของโลก) รวมถึงออสเตรเลีย และแคนาดา (มีส่วนแบ่งตลาดข้าวบาร์เลย์ 26% และ 5% ของโลก) อาจได้ประโยชน์จากคำสั่งซื้อและราคาที่ขยับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความมั่นคงด้านอาหารก็อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้บางประเทศไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากนัก อย่างล่าสุดอาร์เจนตินา และฮังการี ก็ห้ามส่งออกธัญพืชเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศแล้ว

ผู้ผลิตพลังงาน รัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติถึงราว 11% และ 17% ของโลก ซึ่งปัจจุบันราคาของสินค้าพลังงานทั้งสองในช่วงต้นเดือนเมษายน 2565 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 30% จากต้นปี ทั้งนี้ การที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้หลักคิดเป็นราว 40% ของรายได้ประเทศรัสเซีย ทำให้ที่ผ่านมามาตรการลงโทษของชาติตะวันตกพยายามมุ่งเป้าไปที่การตัดท่อน้ำเลี้ยงดังกล่าว

ล่าสุดสหรัฐและชาติตะวันตกบางแห่งประกาศห้ามหรือพยายามลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประเทศผู้ผลิตพลังงานอื่นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ OPEC ที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบเกือบ 40% ของโลก รวมถึงสหรัฐ กาตาร์ และนอร์เวย์ (สัดส่วนผลิตก๊าซธรรมชาติราว 20%, 4% และ 3% ของโลกตามลำดับ) อาจได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บางประเทศ อาทิ จีน และอินเดีย อาจได้ประโยชน์จากการที่รัสเซียต้องหาผู้ซื้อรายใหม่หรือเพิ่มปริมาณการขายกับผู้ซื้อรายเดิมด้วยราคาที่ต่ำลง เพื่อทดแทนคำสั่งซื้อที่หายไปจากประเทศคู่ขัดแย้ง

ผู้ผลิตแร่โลหะและก๊าซหายาก ทั้งแพลเลเดียม (ใช้ผลิตเครื่องฟอกไอเสียรถยนต์) นิกเกิล (ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า) รวมถึงก๊าซนีออน (ใช้ผลิตชิป) โดยหลายฝ่ายกังวลว่าการผลิตแร่โลหะหายากทั้งสองจากรัสเซีย (สัดส่วนผลิตแพลเลเดียมและนิกเกิลราว 37% และ 9% ของโลก) และการผลิตก๊าซนีออนจากยูเครน (ผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก) อาจสะดุดลงจากผลของสงคราม ปัจจัยดังกล่าวทำให้ปัญหาคอขวดในหลายอุตสาหกรรมอาจรุนแรงขึ้น

โดยเฉพาะรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ผลิตต้องเร่งหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นมาทดแทน ซึ่งอาจเป็นโอกาสของผู้ผลิตแพลเลเดียมจากแอฟริกาใต้และแคนาดา (สัดส่วนผลิตแพลเลเดียมราว 40% และ 9% ของโลก) ตลอดจนอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (สัดส่วนผลิตนิกเกิลราว 37% และ 14% ของโลก) รวมถึงจีนที่เป็นผู้ผลิตก๊าซนีออนสำคัญของโลกที่อาจได้คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ระยะสั้นแม้สงครามที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยไม่มากนัก เนื่องจากไทยมีการค้ากับรัสเซีย-ยูเครนเพียง 0.6% ต่อการค้ารวม ขณะที่สินค้าไทยบางชนิดอาจได้อานิสงส์จากการเข้าไปทดแทน อาทิ การส่งออกข้าวไปทดแทนข้าวสาลี การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปสหรัฐ หรือสินค้าประมงไป EU เพื่อแทนสินค้าจากรัสเซียที่อาจถูกมาตรการลงโทษ

อย่างไรก็ตาม หากสงครามยืดเยื้อผลกระทบจะยิ่งมากขึ้นผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง และกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลมากขึ้น มาร่วมกันเอาใจช่วยให้สงครามข้างต้นยุติโดยเร็วกันครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 เมษายน 2565

เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งทำฝนรองรับความต้องการใช้น้ำฤดูแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะการเติมน้ำสู่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การต่ำกว่า 50% ของความจุอ่าง แต่ต้องใช้ทั้งเพื่ออุปโภค-บริโภค การเกษตร และผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนระบายมาใช้ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างด้วย

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเร่งทำฝนเพื่อเติมน้ำสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อรองรับการใช้น้ำในฤดูแล้งของประชาชนในภาคเหนือ

ล่าสุดเขื่อนภูมิพล มีน้ำ 45 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำ 40 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำใช้การต่ำกว่า 50% ของความจุอ่าง กรมฝนหลวงฯ จึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าว โดยจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงวันที่ 16-19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก พิษณุโลก และ จ.แพร่ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อย่างต่อเนื่อง

นายสำเริงกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในด้านการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรปัจจุบัน จากข้อมูลพื้นที่ขอรับบริการฝนหลวง (ประจำวันที่ 16-19 เมษายน 2565) จากทั่วทุกภูมิภาค พบว่ามีจำนวนรวม 31 จังหวัด 71 อำเภอ โดยมีผู้ขอรับบริการฝนหลวง 87 ราย ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ 15 ราย ภาคกลาง 28 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 ราย ภาคตะวันออก 26 ราย และภาคใต้ 2 ราย ซึ่งจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก แพร่ และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ อ.งาว แม่พระ จ.ลำปาง อ.เมืองแพร่ สูงเม่น ลอง จ.แพร่ อ.สันติสุข จ.น่าน อ.บ้านโป่ง ราชบุรี และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ อ่างเก็บน้ำแม่จางและอ่างเก็บน้ำแม่ขาม จ.ลำปาง อีกด้วย

สำหรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (20 เม.ย. 2565) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 6 หน่วยฯ ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน มีแผนบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักเขื่อนสิริกิติ์และอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ รวมถึงปฏิบัติภารกิจยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อีก 5 หน่วยฯ ยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศ รวมถึงสถานการณ์ของพายุลูกเห็บ และปัญหาฝุ่นละออง หมอกควัน-ไฟป่า เพื่อเตรียมพร้อมวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที

ทั้งนี้ เกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account TikTok : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 .

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 21 เมษายน 2565

ชาวไร่อ้อยยิ้มรับราคาน้ำตาลโลกพุ่งทะลุ 20 เซ็นต์แต่รับสภาพปุ๋ยแพง

ชาวไร่อ้อยจับตาราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขยับสูงทะลุ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์หวังดันราคาอ้อยขั้นต้นปี 2565/66 อยู่ในเกณฑ์สูง ขณะที่ "อนท." เร่งขายน้ำตาลล่วงหน้าปี 65/66 แล้ว 40% แต่ทำใจต้นทุนแพงยับโดยเฉพาะปุ๋ยขึ้นโหดทำให้กำไรไม่ได้เพิ่มมาก ด้านผลผลิตอ้อยไทยล่าสุดแตะระดับกว่า 91.7 ล้านตันแล้ว มีลุ้นแตะ 92 ล้านตันอ้อยเมื่อโรงงานน้ำตาลปิดหีบครบ 57 แห่ง

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ชาวไร่อ้อยได้ติดตามราคาน้ำตาลทรายดิบใกล้ชิด โดยพบว่าล่าสุดราคาส่งมอบเดือนตุลาคม 2565 ขึ้นไปแตะระดับ 20.31 เซ็นต์ต่อปอนด์จากช่วงต้นปีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากโรงงานน้ำตาลบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่สุดของโลกหันนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลแทนเพราะได้กำไรที่สูงกว่าเนื่องจากระดับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวิกฤตการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยทรงตัวระดับสูงต่อจะส่งผลดีต่อระดับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/66 อยู่ในเกณฑ์สูงตามไปด้วย

"ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกสูงขึ้นมาจากการผลิตน้ำตาลทรายของบราซิลลดลงไปพอสมควรเพราะหันไปผลิตเอทานอลแทนทำให้น้ำตาลในตลาดลดลง แต่ในแง่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลของบราซิลปีนี้ก็ยังคงสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 7% หรือมีการคาดการณ์อยู่ที่ 34.5 ล้านตัน" นายนราธิปกล่าว

ทั้งนี้ จากระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่ทรงตัวระดับสูงทำให้ขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) ที่บริหารการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ 8 แสนตันได้ส่งออกน้ำตาลฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่กำลังใกล้ปิดหีบได้เกือบ 100% แล้ว โดยได้ระดับราคาที่ดีที่จะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้นแน่นอน ขณะที่มีการส่งออกน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าฤดูการผลิตปี 2565/66 ไปแล้วประมาณ 40% ในราคาเฉลี่ยกว่า 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้ปริมาณน้ำตาลที่เหลือจะทำราคาได้ในระดับสูงขึ้นอีกจึงนับเป็นการการันตีราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2565/66 ว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงระดับ 1,000 บาทต่อตันขึ้นไป

สำหรับการหีบอ้อยฤดูผลิตปี 2564/65 ที่เปิดหีบตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีโรงงานปิดหีบไปแล้ว 53 แห่งเหลือโรงงานที่ยังคงเปิดเพื่อรับอ้อยที่เหลืออีกราว 4 แห่งส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานเนื่องจากมีการหยุดการผลิตเพราะมีฝนเข้ามาคาดว่าจะปิดหีบได้ทั้งหมดไม่เกินสิ้นเดือน เม.ย.นี้ โดยขณะนี้ปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 91.7 ล้านตัน คาดการณ์ว่าอ้อยอาจจะอยู่ในระดับ 91.9-92 ล้านตัน

“ปีนี้แม้ปริมาณอ้อยจะเยอะยอมรับว่าผลผลิตต่อตันอ้อยไม่ดีนักหากเทียบกับปีก่อนเนื่องจากมีฝนตกช่วงเก็บเกี่ยวทำให้ชาวไร่ต้องเร่งรีบทำให้ไม่มีการสางใบอ้อย สิ่งเจือปนเลยเยอะตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในฤดูหีบปี 2565/66 ฝนที่มาเร็วก็จะส่งผลดีต่อตออ้อยจึงมองว่าผลผลิตจะกลับมาสู่ระดับ 100 ล้านตันได้อีกครั้ง” นายนราธิปกล่าว

นายนราธิปกล่าวว่า สิ่งที่กังวลในฤดูหีบปี 2565/66 ที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่คือภาวะต้นทุนต่างๆ จะแพงขึ้นมากโดยเฉพาะราคาปุ๋ย สารเคมี ที่ปรับขึ้นสูงกว่าเดิมเท่าตัว และหากราคาปุ๋ยยังไม่มีแนวโน้มลดต่ำลงแต่อย่างใดตราบใดที่สงครามการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามภาวะราคาน้ำมัน ค่าแรงต่างๆ ว่าช่วงปลายปี 2565 ที่จะเข้าสู่ฤดูเปิดหีบจะสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น ดังนั้นแม้แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกมีอัตราที่สูงขึ้นแต่หากเทียบกับต้นทุนที่สูงจึงทำให้เกษตรกรไม่ได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากแต่อย่างใด

จาก https://mgronline.com วันที่ 20 เมษายน 2565

บาทเปิด 33.85 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มอ่อนค่าต่อ

เงินบาทเปิดตลาด 33.85 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มอ่อนค่าต่อ ให้กรอบเคลื่อนไหววันนี้ 33.70-34.00 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.85 บาทดอลลาร์ อ่อนค่าต่อจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 33.72 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยิลด์) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากที่นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

"ดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า หลังจากเมื่อคืนบอนด์ยิลด์พุ่งขึ้นไปสูง จึงคาดว่าวันนี้เงินบาทจะมีโอกาสอ่อนค่าต่อ" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85 - 34.00 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 20 เมษายน 2565

เงินเฟ้อกลับสู่ปกติสิ้นปี แบงก์ชาติยันไม่เกิด Stagflation

ท่ามกลางภาวะ เงินเฟ้อทั่วไป (ดัชนีราคาผู้บริโภค) เดือนมีนาคม ที่พุ่งกระฉูดขึ้นไปถึง 5.73% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี จากราคาพลังงานที่แพงขึ้นจากสงครามรัสเซียยูเครนทำให้ราคาข้าวปลาอาหารแพงขึ้นไปหมด จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยใน 12 เดือนข้างหน้าว่า แม้จะมีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมาย แต่จะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป

เพราะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในไทย เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงกดดันด้านอุปทาน (cost–push inflation) จากสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น แต่ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในประเทศ (demand–pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำจากกำลังซื้อยังไม่เข้มแข็งนัก

วันเดียวกัน กนง.ได้เผยแพร่ผลการประชุม กนง. ล่าสุด วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะ ขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2565 (ลดจากเดิม 3.4%) และ ขยายตัว 4.4% ในปี 2566 (ลดจากเดิม 4.7%) จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่จะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

ก็ถือว่าเป็นข่าวดี เศรษฐกิจไทยไปต่อแน่นอน ไม่ถดถอยลงไปอีก

กนง.ได้เปิดเผยถึง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (จากดัชนีราคาผู้บริโภค) ในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และ 1.7 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ในไตรมาส 2 และ 3 ในปี 2565 (คนไทยต้องเผชิญภาวะของแพงจากเงินเฟ้อไปอีก 5 เดือน) จากราคาพลังงานที่ส่งผ่านต้นทุนไปที่หมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนจะปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 โดย กนง.ได้ปรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 เป็น 4.9% (จากเดิม 1.7%) และปี 2566 ที่ 1.7% (จากเดิม 1.7%)

(กนง.ใช้ ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 100 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2565 และ 90 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2566 เป็นฐานการคำนวณเพิ่มขึ้นจากบาร์เรลละ 69.4 เหรียญในปี 2564)

กนง.ยังเสนอแนะรัฐบาลว่า มาตรการภาครัฐ และ การประสานนโยบาย มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง มาตรการทางการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด (ภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่ควรแจกเงินแบบประชานิยมไม่ตรงจุด ซึ่งไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว) โดย เน้นการสร้างรายได้ (ก็คือสร้างงานนั่นแหละ) และ การบรรเทาค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง

ส่วน นโยบายการเงิน กนง.ยังผ่อนคลายต่อเนื่อง (ไม่ขึ้นดอกเบี้ย) รวมทั้ง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ช่วยกระจายสภาพคล่องและ ช่วยลดภาระหนี้ โดยเฉพาะ กลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆของสถาบันการเงินควบคู่กับ การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ให้เห็นผลในวงกว้าง

ที่กลัวกันว่า ไทยจะเกิดภาวะ Stagflation เงินเฟ้อพุ่งแต่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือถดถอย กนง.ยืนยันว่า ไทยจะไม่เกิดภาวะ Stagflation แน่นอน เพราะ จีดีพีไทยยังเติบโตได้เร็วกว่าศักยภาพ 3% ปีนี้จะเติบโต 3.2% ปีหน้าเติบโตอีก 4.4% จึงไม่ทำให้เกิด Stagflation กนง.ยังคาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้ 5.6 ล้านคน ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 19 ล้านคน ได้นักท่องเที่ยวเข้ามาขนาดนี้ เศรษฐกิจไทฟื้นตัวแน่นอน.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

ความเสี่ยงด้านพลังงานกับเสถียรภาพและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์ สุขศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; Santi_nida@yahoo.com

การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว (ปี 2564) เป็นต้นมาตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่ได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจหลักของโลกในหลายภูมิภาค และเมื่อเกิดภาวะสงครามขึ้นระหว่างยูเครน-รัสเซีย ส่งผลให้ราคาพลังงาน (ไม่เพียงเฉพาะราคาน้ำมัน) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะรัสเซียถือได้ว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงาน (น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ) รายใหญ่ของโลก กลายเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อกระจายไปทั่วโลกราวกับการระบาดของเชื้อโรคในอีกรูปแบบหนึ่ง ประเทศที่มีระดับหนี้ต่างประเทศสูงและเศรษฐกิจมีความเปราะบางมาก อย่างเช่น ประเทศศรีลังกา กลายเป็นเหยื่อของผลกระทบที่เกิดขึ้นจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศต้องประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ (International Debt Default) และเกิดความวุ่นวายภายในประเทศ (ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเงินเฟ้อเป็นสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกา แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจของศรีลังกา) ไม่เพียงเท่านั้น ผลกระทบของสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นยังมีการวิเคราะห์กันว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจจะสะดุดหรือชะลอตัวลง ธนาคารกลางของหลายประเทศรวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและเตรียมตัวในการวางแผนรองรับ ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาพลังงานคงจะสร้างปัญหาต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ล่าช้าออกไปอีก (จากเดิมที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีการฟื้นตัวช้าอยู่แล้ว) และจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจมากขึ้นหรือมีความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก พลังงานซึ่งเป็นสินค้าขั้นพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจ พอจะแยกอย่างหยาบๆ ตามกลุ่มผู้ใช้พลังงานเป็น 2 กลุ่มคือ การใช้พลังงานในภาคครัวเรือน และการใช้พลังในภาคธุรกิจ ทั้ง 2 กลุ่ม ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นโดยภาคครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยคงจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้พลังงานของครัวเรือน

นอกจากนี้ ครัวเรือนก็มีแนวโน้มที่จะต้องแบกรับภาระการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโดยการปรับเพิ่มขึ้นในส่วนนี้จะตกเป็นภาระของครัวเรือน (ผู้บริโภค) มากน้อยเพียงใดก็จะขึ้นอยู่กับว่าราคาสินค้าจะถูกปรับเพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด (ถ้าภาครัฐไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกลไกการทำงานของตลาด) ภาระในส่วนนี้จะเป็นการแบ่งกันแบกรับระหว่างผู้ผลิตในภาคธุรกิจและผู้บริโภคในภาคครัวเรือน หรือว่าสินค้าประเภทนั้นๆ ผู้ผลิตสามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงใด ถ้าผู้ผลิตผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้น้อย (ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นได้ไม่มาก) ผู้ผลิตจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ไว้เป็นส่วนใหญ่ ผลตอบแทนของผู้ผลิตก็จะน้อยลง (กำไรน้อยลง) เพราะถ้าปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก ก็อาจจะขายสินค้าได้น้อยลง

ในทางตรงกันข้าม ถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้บริโภค แม้ว่าผู้ผลิตจะปรับเพิ่มราคาสินค้ามากขึ้นตามต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นมาเพียงใด ผู้บริโภคก็ยังจำเป็นต้องซื้อสินค้านั้น ภาระของต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ก็จะถูกผลักไปที่ผู้บริโภค

ดังนั้น ในส่วนของผู้บริโภคในภาคครัวเรือนจึงเป็นภาคส่วนที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานมากที่สุดทั้งในทางตรงจากการใช้พลังงานและในรูปแบบของการเพิ่มสูงขึ้นของค่าครองชีพในระบบเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในส่วนนี้จึงขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางการเงินของภาคครัวเรือนว่าจะสามารถรองรับภาระค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ได้เพียงใด การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาและยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบันมีผลกระทบต่อภาคครัวเรือนทั้งทางด้านการสร้างรายได้และภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น (ยังไม่รวมถึงผลกระทบจากราคาสินค้าและพลังงานที่สูงขึ้น) บั่นทอนความพร้อมทางการเงินของภาคครัวเรือนลงไปมาก เห็นได้จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่ขยับสูงขึ้นเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของครัวเรือนที่มีหนี้สินจนอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการผ่อนชำระคืนหนี้ ซึ่งถ้าครัวเรือนจำนวนมากผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินในระบบการเงินของประเทศได้ คงจะต้องมีการติดตาม หรือกำกับดูแลข้อมูลเกี่ยวกับสถานะหนี้และการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนจากนี้ไปโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญกับความท้าทายของการเพิ่มขึ้นของความยากจน และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะมีช่องว่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เป็นที่คาดการณ์กันว่า ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลให้มี “ผู้จน” ในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนหลายล้านคน การเปิดให้มีการลงทะเบียนคนจนเพื่อพิจารณาให้ได้รับบัตรสวัสดิการคนจนของภาครัฐก็คาดว่าจะมีประชาชนมาลงทะเบียนจำนวนมาก และอาจจะทำจำนวนถึง 20 ล้านคนที่เข้าข่ายเป็นคนจนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาคนจนใหม่ที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งหนึ่งในหลักเกณฑ์นี้กำหนดว่าจะเข้าข่ายเป็นคนจนและได้รับสวัสดิการช่วยเหลือจากภาครัฐได้นั้น ต้องไม่มีหนี้สิน ครัวเรือนที่มีหนี้สินจากความยากลำบากที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรค ก็จะไม่เข้าข่ายที่จะได้รับสวัสดิการในส่วนนี้ (คือ ไม่เข้าข่ายว่าเป็นคนจน) ครัวเรือนในกลุ่มนี้อาจจะเรียกว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางต่ำ แต่มีหนี้สิน และมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาระจากค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น มีหนี้เพิ่มมากขึ้น

ในขณะเดียวกันโอกาสในการสร้างรายได้ลดน้อยลงอย่างมากจากความล่าช้าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มที่จะมีความยากลำบากในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐด้วยเพราะเห็นว่าเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง (ไม่เข้าข่ายว่าเป็นคนยากจน) ไม่ชัดเจนว่าครัวเรือนในกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ยากลำบากจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานมาก ถ้ามีเป็นจำนวนมาก ก็มีความเสี่ยงมากที่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานได้มาก ข้อมูลสถานะการเงินของครัวเรือนจะมีความสำคัญมากในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของราคาพลังงาน

ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานมีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้า การแข่งขันในภาคธุรกิจจึงเป็นการแข่งขันในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของธุรกิจแต่ละแห่งเพื่อจะเป็นการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ธุรกิจใดปรับตัวได้ดี สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Production Productivity) ได้ดีกว่าคู่แข่ง ก็จะสามารถลดผลกระทบหรือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานไม่ดี พิจารณาจากดัชนีค่าเฉลี่ยของพลังงานที่ใช้ต่อ 1 หน่วยของผลผลิตที่สร้างขึ้นในระบบเศรษฐกิจ การมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ด้อยกว่าประเทศอื่นทำให้ภาคการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น ยิ่งราคาพลังงานปรับขึ้นไปมาก หรือปรับขึ้นไปอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานมากขึ้น โอกาสที่ภาคการส่งออกจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว การลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันไม่เพียงเป็นอุปสรรคข้อจำกัดต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกเท่านั้น แต่ยังลดความน่าสนใจของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) การลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มการจ้างงาน การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต) ที่จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ การลงทุน (เม็ดเงินลงทุนใหม่) จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) อีกด้วย

เมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นใน 2 ภาคส่วนที่กล่าวถึงข้างต้น จะเห็นว่าราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกมากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนในแต่ละภาคส่วนให้สามารถรองรับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานจึงเป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพการผลิต (แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าเพื่อที่จะเห็นผลของมาตรการ) เพราะ “เชื้อโรคเงินเฟ้อ” ไม่มียาฆ่าเชื้อเพื่อรักษา ทำได้เพียงการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ (ลดความเดือดร้อน) ในระยะสั้น ซึ่งก็ไม่สามารถให้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้ เพราะจะมีอาการดื้อยาแล้วยาที่ใช้จะไม่ได้ผลหรือจะต้องใช้ในปริมาณที่มากขึ้นและมีผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว คือ มาตรการที่ใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อ โดยเฉพาะที่อยู่ในรูปของเงินโอน (Money Transfer) หรือการแทรกแซงราคา เช่น ตรึงราคา การให้เงินอุดหนุนผู้บริโภค การที่รัฐหาสินค้ามาขายในราคาถูกกว่าราคาในท้องตลาด ฯลฯ โดยหวังว่าจะเป็นการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน ถ้าดำเนินนโยบายในลักษณะนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้แล้ว ยังเป็นการสร้างภาระทางการคลังที่ผูกพันไปถึงในอนาคต และเมื่อถึงจุดที่ระบบเศรษฐกิจรองรับไม่ได้ คำตอบสุดท้ายก็คงจะหนีไม่พ้นการที่ประเทศ หรือประชาชนทั้งประเทศต้องเผชิญกับความเดือดร้อนที่รุนแรงในรูปแบบของวิกฤตเศรษฐกิจได้ การจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อจำเป็นต้องอาศัยการเพิ่มประสิทธิภาพ และการเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ (คล้ายกับการสร้างภูมิต้านทานในร่างกายเพื่อคุ้มกันโรค) ในระหว่างที่พยายามดูแลไม่ให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่เร็วจนระบบเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวไม่ทัน ซึ่งก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้วเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มของหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุด ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานคงจะส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยต้องล่าช้าออกไป ส่วนความล่าช้าของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น) จะมีนัยยะอย่างไรต่อความเป็นอยู่และการพัฒนาของประเทศคงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันติดตามต่อไป

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

กฟผ.รับวิกฤตพลังงาน เร่งนำเข้าก๊าซทดแทนน้ำมัน

นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานศูนย์ติดตามสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานของ กฟผ. เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตพลังงานโลกยังทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ จึงได้ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน พ.ศ. 2565

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กฟผ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เฉพาะรายที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จึงถือเป็นความร่วมมืออันดีระหว่างภาครัฐและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตพลังงานของประเทศครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศลงได้ และยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษชานอ้อย เนื่องจากเกษตรกรหันมาขายเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทน

นอกจากนี้ กฟผ. จะเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รูปแบบตลาดจร (Spot) จำนวน 2 ลำเรือ ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.

2565 ตามมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณนำเข้าประมาณ 65,000 ตันต่อลำเรือเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 7 ปี บวกกับการคาดการณ์ความสามารถ

ในการจัดส่งน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ของกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งคาดการณ์ว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งการจัดหา LNG ครั้งนี้ จะช่วยเสริมความมั่นคงระบบพลังงานของประเทศ และทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 500 ล้านบาทเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาล กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ โดยให้ กฟผ. เร่งดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าเชื้อเพลิง อาทิ ปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ทดแทนก๊าซฯ ในช่วงราคาก๊าซฯ ในตลาดโลกพุ่งสูง และเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ออกจากระบบไปก่อน 1 ปี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

กรมชลฯ เร่งดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับฤดูฝนปี 2565

 อธิบดีกรมชลประทานระบุ กำลังเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมชลประทานตามมาตราการ13 มาตรการรับฤดูฝนปี 2565 ของ กอนช. จึงได้วิเคราะห์ ตรวจสอบ และประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพื่อป้องกันและลดผลกระทบก่อนเกิดอุทกภัยให้แก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด โดยปีนี้มี 3 มาตรการที่เพิ่มจากฤดูฝนปี 2564

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าววทากรมชลประทานเข้าร่วมประชุมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อรับทราบแนวทางการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อขับเคลื่อน 13  มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 หลังจากที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว

สำหรับรายละเอียดของการขับเคลื่อน 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ซึ่งกรมชลประทานกำลังดำเนินการมีดังนี้

1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติซึ่งได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและจะติดตั้งธงสัญลักษณ์เตือนภัยน้ำท่วม พร้อมจัดทำเผชิญเหตุเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขและป้องกันอุทกภัยแล้ว

2. การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลากโดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำและแก้มลิงตัดยอดน้ำ

3. ทบทวนปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำต่างๆ โดยกำหนดเป็น5 กรณีคือ กรณีปี 2552 (กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ฝนปี 2565 คล้ายปี 2552) กรณีปีน้ำมาก กรณีปีน้ำน้อย กรณีฝนตามค่าเฉลี่ย และกรณีฝนเหมือนปี 2564 โดยบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (Dynamic Rule Curve)

4. ซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารชลศาสตร์-ระบบระบายน้ำและสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน ทั้งอาคารชลประทาน สถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ ประตูระบายน้ำ (ปตร.) อ่างเก็บน้ำ ฝาย เขื่อนระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร

5. ปรับปรุง-แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยกรมชลประทานร่วมกับกทม. กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น

6. ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวาให้ได้ตามแผนกำจัดวัชพืชปี 2565

7. เตรียมพร้อม-วางแผนนำเครื่องจักรเครื่องมือประจำทั้งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ

8. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำทั้งก่อนและตลอดฤดูฝน โดยจัดรอบเวรการส่งน้ำ สร้างการรับรู้ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า

9. ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ

10.  จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จในเดือนพ.ค.

11.  ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยตลอดฤดูฝน

12.  การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ในจุดเสี่ยง ตลอดจนการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับทราบ

13.  ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยตลอดฤดูฝน

นายประพิศกล่าวต่อว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำได้นำมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 มาถอดบทเรียน แล้วเพิ่มอีก 3 มาตรการในปี 2565 คือ

– ตรวจความมั่นคงปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำซึ่งกรมชลประทานได้เสริมทั้งความแข็งแรงและความสูงเพื่อให้สามารถรองรับประมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นได้

– จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ

– ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยเพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและบรรเทาผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

หนุนเขตส่งเสริมศก.พิเศษ .  รับทุนนวัตกรรมอีอีซีระยะยาว

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีการประเมินว่าจำเป็นต้องมีแหล่งลงทุนใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเทคโนโลยีที่จะเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

ต่อมา ได้มีการประกาศจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 7 แห่ง ซึ่งได้รับการอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 1 มี.ค.2565 ประกอบด้วย 1. เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) 2.นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) 3.อุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) 4.พื้นที่บริเวณรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh) 5.ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) 6.การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) (EECg) และ 7.ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเทคโนโลยี 5G ในอีอีซี

เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อีอีซีนี้ จะมีพื้นที่รองรับกิจการโดยรวมประมาณ 10,000 ไร่ ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนที่เป็นนิติบุคคลและเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถขอจัดตั้งในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้เช่นกัน โดยจะต้องดำเนินการเกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาเพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์บนที่ดินเดิมแล้วยื่นเสนอต่อสกพอ.เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอน

ส่วนนักลงทุน ได้มีการกำหนดคุณสมบัติและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ เช่น ต้องเป็นผู้มีศักยภาพทางการเงินและมีขีดความสามารถในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายและกิจการเกี่ยวเนื่อง

ด้านสิทธิประโยชน์ ได้แก่ 1) สิทธิได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 2) สิทธิในการซื้อกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด 3) สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร 4) สิทธิได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร

เมื่อมีพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรวม 7 แห่ง จะทำให้มีการแบ่งโซนการพัฒนาตาม “แผนผังอีอีซี” อย่างเป็นสัดส่วน ตลอดจนมีการวางแผงผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่จะช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนและผู้มาใช้ประโยชน์ ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สิทธิประโยชน์ใหม่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนี้ จะมีส่วนจูงใจนักลงทุนโดยเฉพาะใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล (5G) การแพทย์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ เกษตรสมัยใหม่ (BCG) โดยคาดว่าจะมีการกำหนดสิทธิประโยชน์เฉพาะรายหรือรายบริษัทตามที่นักลงทุนต้องการ

การปรับแผนลงทุนในอีอีซีครั้งนี้ สกพอ.ได้วางเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) มาจากโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท การดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท ดังนั้น ในแผนอีอีซี ระยะ 5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอีอีซีจะเพิ่มขึ้น 500,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) ช่วยผลักดันจีดีพีให้เติบโตได้ 4.5 – 5% ต่อปี

กล่าวโดยสรุป เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากจะดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรม ดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ยังทำให้เกิด Global Data Center และฐานข้อมูล Big data ที่เป็นมาตรฐานสากล เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจได้จริง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่า ตลอดจนเพิ่มทักษะแรงงาน ยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นกลไกในการปรับโครงสร้างการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสอดคล้องกับการเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (Smart City) และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 เมษายน 2565

คลัง จ่อปรับลดกรอบการขยายตัว GDP ปี 65 เหลือ 3% - 4%

“อาคม” เผยเตรียมปรับลดกรอบการขยายตัว GDP ปี 65 ลงเหลือ 3% - 4% ย้ำยังเป็นการเติบโตแบบแข็งแกร่ง ขณะที่การแก้ปัญหาราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยแพง ยังรอข้อมูลจาก ก.เกษตรฯ และ ก.พาณิชย์ ยันพร้อมใช้มาตรการภาษีช่วย หากไม่ใช่การเอื้อเอกชนรายใหญ่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมปรับลดกรอบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ปี 65 ลง จากเดิม 3.5% - 4.5% เหลือเติบโต 3% - 4% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4 หลังได้รับกระทบจากปัจจัยต่างๆ พร้อมย้ำตัวเลขนี้ถือว่าเติบโตกว่าปีที่แล้ว และเป็นการเติบโตแบบแข็งแกร่ง

“เป็นการปรับลดช่วงกรอบลง แต่ค่ากลางยังคงเดิมที่ 4% ซึ่งหากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมาก ก็อาจจะลดลงอยู่ที่ 3% แม้ตัวเลขจะลดลง แต่จะเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมั่นคงกว่า ดีกว่าเติบโตแรงแล้วมาผ่อนแรงทีหลัง ซึ่งการเติบโตของจีดีพีในแง่ปริมาณ 3% - 4% มั่นใจว่าเราทำได้” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวต่อว่า ในแง่ของราคา ขณะนี้รัฐบาลได้เข้าไปดูแลราคาของสินค้าทั้ง 2 ตัวแล้ว ทั้งราคาอาหารสัตว์และปุ๋ย ซึ่งขณะนี้รอให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ส่งข้อมูลสรุป เพื่อพิจารณาออกมาตรการทางภาษีเข้าไปช่วย โดยจะต้องประเมินว่า หากใช้มาตรการทางภาษีแล้วประโยชน์ที่ได้รับจะตกถึงเกษตรกรหรือไม่ หรือตกถึงเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ว่า นอกจากการเบิกจ่ายงบประมาณประจำ และงบลงทุนของรัฐบาลแล้ว การส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ

โดยกรมศุลกากร ระบุว่า เดือนมีนาคม 2565 การส่งออกและนำเข้ายังเติบโตอยู่ โดยคาดว่าไตรมาส 1 จะเติบโต 12% - 15% ด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้เติบโต 5% แต่กระทรวงการคลังอยากผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้ 10% จึงได้เข้าไปช่วยเหลือข้อติดขัดต่างๆ เช่น การเร่งคืนภาษีให้ผู้ประกอบการ เป็นต้น

ขณะที่ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่าขณะนี้ ซึ่งบางช่วงอาจมีแข็งค่าบ้าง แต่ก็ยังถือว่าอ่อนค่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 63 - 64 แม้จะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ก็จะกระทบต่อการนำเข้า

โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งวันที่มีการนำเข้าน้ำมันค่าเงินอาจอ่อนค่า ทำให้เมื่อราคาตลาดโลกปรับลดลง ราคาน้ำมันในประเทศจึงไม่สามารถปรับลดตามได้ทันที ทั้งนี้ปัจจุบันราคาน้ำมันต่ำกว่า 100 เหรียญฯต่อบางร์เรล หลังสหัฐฯ มีการนำน้ำมันสำรองออกมาใช้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามในประเด็นของค่าเงินบาท เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องทำหน้าที่ประสานกัน เพื่อรักษาเสถียรของค่าเงิน ไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เพราะจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในการบริการความเสี่ยงและอัตราแลกเปลี่ยนได้ พร้อมคาดการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะเริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งปีหลัง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 เมษายน 2565

สศช.หวั่นคว่ำบาตรรัสเซียลากยาว  ฉุดส่งออก-ท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง

สศช.จับตาผลกระทบคว่ำบาตรรัสเซียลากยาว กระทบเศรษฐกิจไทยทั้งส่งออก-ท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง ชี้เงินเฟ้อสูงกระทบเศรษฐกิจ ดันราคาน้ำมัน โภคภัณฑ์ ปุ๋ย อาหารสัตว์ ห่วงราคาส่งผ่านผลถึงผู้บริโภคเร็ว

สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่ดำเนินมาเกือบ 2 เดือน ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ 2 ประเทศ แต่เกิดผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจไปทั้งโลก สะท้อนผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ ราคาปุ๋ย ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่ง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปี 2565 ว่าประเด็นที่ต้องจับตาคือในเรื่องของประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน

สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือในเรื่องของมาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกมีต่อรัสเซียคาดว่าจะมีระยะเวลาที่ยาวนาน และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่รัสเซียเองก็พยายามแสดงให้เห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบกับการคว่ำบาตรและมีแนวทางที่จะเดินหน้าเรื่องต่างๆต่อไป โดยบรรยากาศแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่เดิมคาดกว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แต่เมื่อเจอกับปัจจัยลบก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน

นอกจากนี้ในส่วนของเรื่องเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งราคาปุ๋ย และอาหารสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นต้องดูว่าในช่วงครึ่งหลังของปีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจะถูกส่งผ่านมาให้ผู้บริโภคมากแค่ไหน

ทั้งนี้หากส่งผ่านมาทางตรงอย่างรวดเร็วก็จะกระทบประชาชนมาก แต่หากส่งผลมาแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีกลไกของภาครัฐเข้าไปชะลอบางส่วน เช่น การที่กระทรวงพาณิชย์ใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ควบคุมจำนวน 18 รายการ หากสามารถชะลอการขึ้นราคาไว้ได้แล้วราคาน้ำมันในตลาดโลกทยอยลดลงก็จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้

จับตาผลกระทบเงินเฟ้อสูง

“เรื่องของเงินเฟ้อนั้นต้องดูว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผ่านไปยังผู้บริโภคมากน้อยขนาดไหน ถ้าค่อยๆส่งผ่านไปแล้วผู้ประกอบการรับไว้บางส่วน ภาครัฐมีมาตรการที่จะช่วยเหลือบางส่วนก็จะสามารถที่่จะลดผลกระทบของประชาชนลงได้" นายดนุชา กล่าว

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วว่าจะพยายามใช้กลไกในเรื่องของการควบคุมราคาสินค้า และบริการผ่านประกาศของกระทรวงพาณิชย์ โดยถ้าหากจะมีการขึ้นราคาสินค้าต้องมาขออนุญาตก่อนและต้องมีการตรวจสอบต้นทุนรวมอย่างเคร่งครัด และไม่ได้ปล่อยให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าง่ายนัก

รายงานข่าวจาก สศช.ระบุว่า จะมีการแถลงจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2565 ในวันที่ 17 พ.ค.2565 โดยการแถลงจีดีพีครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2565 ได้ประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ขยายตัว 3.5-4.5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลายต่างหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลดลง

รวมทั้งการประมาณการณ์เศรษฐกิจรอบดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งรัสเซียเริ่มบุกยูเครนวันที่ 24 ก.พ.2565 และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมากและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 เมษายน 2565

5ปัจจัย ชี้ทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า18-22เม.ย.2565

KBANKมองสัปดาห์ถัดไประหว่างวันที่ 18-22 เม.ย.2565 กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ5ปัจจัย ชี้ทิศทาง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน 5ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม” ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย -สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย -ทิศทางเงินทุนต่างชาติ -ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ-กำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนเม.ย. ของธนาคารกลางจีน และข้อมูลเศรษฐกิจจีน”

ธนาคารกสิกรไทยมองสัปดาห์ถัดไป (18-22 เม.ย.) กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนีเบื้องต้นของ PMI เดือนเม.ย. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนเม.ย. ของธนาคารกลางจีน และข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 และตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.

ที่ผ่านมาเมื่อวันอังคาร (12 เม.ย.) เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.70 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 เม.ย.)

5ปัจจัย ชี้ทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า18-22เม.ย.2565ขณะที่ระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยเพียง 347.29 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET OUTFLOW ในตลาดพันธบัตร  6,710.30 ล้านบาท (มาจาก การขายสุทธิพันธบัตร 3,510.30 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 3,200 ล้านบาท)

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 เมษายน 2565

ธ.ก.ส. เปิดรายชื่อสินค้าเกษตรไทย ตัวไหนบ้าง มีแววราคาพุ่ง

ธ.ก.ส. เผยราคาสินค้าเกษตรหลักของไทยทุกตัว ส่อเค้าราคาพุ่งในปีนี้ ชี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน โคเนื้อ ทุเรียน และสัปรด มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว ห่วงลองกองยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า พร้อมคาดมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรไทย ปี 65 จะขยายตัว 3.4 %

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในปี 2565 นี้ แม้ว่าปัญหาเรื่องค่าระวางค่าขนส่งยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย แต่สินค้าเกษตรหลักๆของไทยในปีนี้ ในด้านราคามีทิศทางที่สดใส ได้แก่

ข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งถือเป็นสินค้า premium ที่ไทยส่งไปขายในยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น ในปีนี้ผลผลิตจะออกมามากพอสมควร แม้ว่าช่วงนี้ผู้บริโภคในต่างประเทศจะมีความกังวลใจในเรื่องสถานการณ์สงครามก็ตาม

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ มีโอกาสปรับสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดการค้ากับซาอุดิอารเบีย ทำให้ซาอุฯ นำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทย ส่งผลดีต่อเกษตรกร

มันสำปะหลังในช่วงสองปีที่ผ่านมามีราคาสูง  และยังจะสูงต่อเนื่องในปีนี้ โดยพบว่า จีนมีความต้องการมันสำปะหลังสูงขึ้น และจากการที่มันสำปะหลัง สามารถทำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล  ยิ่งส่งผลทำให้ความต้องการมันสำปะหลังสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงในช่วงนี้

อ้อย คาดว่าในปีนี้ราคาจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลผสมในน้ำมันได้ ทำให้บราซิล ซึ่งปลูกอ้อยเป็นปริมาณมาก ซึ่งที่ผ่านมา แปรรูปอ้อยเป็นเอทานอลในสัดส่วน 70 % ของปริมาณอ้อยที่ผลิตได้  ส่วนที่เหลือนำไปผลิตน้ำตาล

แต่เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น บราซิลอาจหันมาเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลง และทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลดีต่อราคาอ้อยที่ชาวไร่ขายให้กับโรงหีบอ้อย

เช่นเดียวกับราคาปาล์มน้ำมัน ที่มีแนวโน้มเฉลี่ยสูงขึ้น เนื่องจากสามารถทำไบโอดีเซลได้ แต่ปัญหาขณะนี้ของปาล์มน้ำมันคือ มีผลผลิตออกมาน้อย

ยางพารา ปัจจุบันสูงกว่าในหลายปีที่ผ่านมา และปีนี้ ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีการใช้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาน้ำมันมีราคาถูกก็มีการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น  แต่ช่วงนี้น้ำมันแพงจึงหันไปใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้นในภาพรวมของภาคการเกษตรไทยในปีนี้ GDP ในภาคการเกษตรคาดว่าจะขยายตัวราว 2 % โดยมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเรื่องของราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงด้วย

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทย คาดขยายตัว 3.4 % เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งหลายประเทศในยุโรป เริ่มผ่อนคลาย แต่จีนยังคงควบคุมอย่างเข้มงวด  ทำให้สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น

 ในส่วนของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น บางช่วง พุ่งเกิน 120 เหรียญฯต่อบาเรล น่าจะเริ่มผ่อนคลายขึ้น เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนมีท่าทีการเจรจาเพื่อยุติสงคราม

ทั้งนี้ ธกส.แบ่งพืช เป็น 3 กลุ่ม ตามการฟื้นตัวเร็ว-ช้า หลังจากที่ไทยผ่านพ้นการระบาดใหญ่ของโควิดมาแล้ว โดยกลุ่มพืชที่ฟื้นตัวเร็ว ได้แก่  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง  อ้อย ปาล์มน้ำมัน โคเนื้อ ทุเรียน และสัปรด

กลุ่มพืชที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางและสามารถฟื้นตัวได้ในระยะไม่เกิน 9 เดือน คือ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15 %  ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าว,เปลือกเหนียวนาปี ,ยางพารา กุ้งขาวไดนาไมท์, มังคุด เงาะ ลำไย และกาแฟ และกลุ่มพืชที่น่าเป็นห่วง เพราะฟื้นตัวได้ค่อนข้างลำบาก คือ ลองกอง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 เมษายน 2565

จับตาเอทานอลไตรมาส 2 ราคาขาขึ้นวัตถุดิบพุ่ง หนุนรัฐจัดระเบียบหัวจ่าย

ราคาเอทานอล เม.ย.ขยับขึ้นมาแตะระดับ 26.45 บาทต่อลิตรจาก 25.61 บาทต่อลิตร ผู้ผลิตส่งสัญญาณราคายังคงเป็นขาขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้เหตุวัตถุดิบราคาแพงทั้งโมลาส มันเส้น แต่ยืนยันไม่ส่งผลให้เอทานอลขาดแคลนแน่นอน หนุนรัฐเร่งจัดระเบียบหัวจ่ายเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 หลังตั้งท่ามาช้านาน ค้านเลิก E85

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาอทานอลอ้างอิงเดือน เม.ย.ได้ปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 26.45 บาทต่อลิตรจากเดิมซึ่งอยู่ประมาณ 25.61 บาทต่อลิตรเนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากวัตถุดิบทั้งโมลาส (กากน้ำตาล) และมันสำปะหลังโดยเฉพาะมันเส้นที่ราคาแพงขึ้นมาก โดยมีแนวโน้มว่าราคาเอทานอลจะทรงตัวระดับสูงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้

“วัตถุดิบหลักทั้งโมลาส (กากน้ำตาล) และมันเส้นมีราคาสูงมาก ประกอบกับโมลาสฤดูผลิตปี 2564/65 ค่อนข้างตึงตัวแม้ว่าจะมีอ้อยสูงแต่ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยต่ำ ประกอบกับส่วนหนึ่งมีการนำไปผลิตสุรา และนำโมลาสไปผลิตแอลกอฮอล์ 70% เพื่อจำหน่ายในการช่วยดูแลป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยปัจจุบันการใช้เอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 4 แสนล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การผลิตเอทานอลรวมคาดว่าจะได้ 3.7 ล้านตันซึ่งเพียงพอต่อการบริโภค” นายพิพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่าก่อนหน้านั้นราคาเอทานอล 25.61 บาทต่อลิตรต่ำกว่าราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของกลุ่มเบนซินการนำไปผสมไม่ได้สร้างภาระแต่อย่างใด และแม้ตัวเลขที่ปรับขึ้นล่าสุดใหม่ก็ถือว่าใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่น โดยปัจจุบันรัฐได้นำมาผสมเบนซินเพื่อจำหน่ายเป็นแก๊สโซฮอล์ E85 (ผสมเอทานอลในเบนซินพื้นฐาน 85%) แก๊สโซฮอล์ E20 (ผสมเอทานอล 20%) และแก๊สโซฮอล์ E10 (ผสมเอทานอล 10%)

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเอทานอลเพื่อผสมเบนซินในการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์นั้นอดีตที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการใช้โดยมีเป้าหมายที่จะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งสมาคมฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งและคงเหลือ E20 และ E85 เพื่อจัดระเบียบหัวจ่ายที่ไทยมีมากจนเกินความจำเป็นและทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

“การยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 พูดกันมานานมากแต่สุดท้ายก็ยังคงมีอยู่ โดยเห็นว่าจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 หรือแก๊สโซฮอล์ 95 ตัวใดตัวหนึ่งก็ได้ แต่ไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิก E85 ซึ่งหากรัฐยึดหลักการแล้วเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้การลงทุนต่างๆ จะตามมาเองแต่เมื่อรัฐไม่แน่นอนการพัฒนาก็ไม่เกิด เช่นเดียวกับกรณีการอนุญาตให้นำเอทานอลที่ใช้ในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทแก๊สโซฮอล์มาใช้ในการผลิตเจลล้างมือ และเพื่อการทำความสะอาดที่กรมสรรพสามิตต้องต่ออายุทุก 3 เดือน ซึ่งล่าสุดจะสิ้นสุด มิ.ย.นี้ก็อยากให้ต่อไปยาวจนกว่าโควิด-19 จะหาย” นายพิพัฒน์กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 เมษายน 2565

60 บริษัทเฮลั่น เกษตรฯ ไฟเขียวนำเข้า ไกลโฟเซต 2.4 หมื่นตัน

60 บริษัทนำเข้าสารเคมี เฮลั่น “กรมวิชาการเกษตร” ไฟเขียวนำเข้าไกลโฟเซต ล็อตแรกปีนี้ 2.4 หมื่นตัน เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง แย้มข่าวดี เตรียมเจรจาขอรอบ 2 เพิ่มอีกมากกว่า 2.4 หมื่นตัน จากความต้องการของเกษตรกรพุ่ง วงการกังขา ให้แนบฉลากสินค้าพ่วงขอโควตาปีแรกเพื่ออะไร

อัพเดทความเคลื่อนไหวหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 กำหนดให้ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 (คลิกอ่านข่าว)  ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพบว่ายังมีการใช้ใน 160 ประเทศ ซึ่งเวลานี้จะครบ 4 ปีของการจำกัดการใช้ไกลโฟเซตแล้วนั้น

 นายจารึก ศรีพุทธชาติ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดในปีนี้กรมวิชาการเกษตร ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาอนุญาตให้มีการเปิดนำเข้าสารไกลโฟเสต (เป็นสารกำจัดวัชพืช) จำนวน 24,000  ตัน  ซึ่งมีกว่า 60 บริษัท ได้รับการอนุญาตเพิ่มการนำเข้า จากปีที่แล้วนำเข้าเพียง  12,978 ตัน (กราฟิกประกอบ) ซึ่งในการจำกัดการใช้มีกฎหมายดูแล โดยคนที่จะใช้จะต้องทราบคุณและโทษทั้งร้านค้า ผู้ใช้ และผู้รับจ้างที่พ่นสารเคมี โดยพืชที่จะใช้สารนี้ ได้แก่ ข้าวโพด, อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล

พลิกแฟ้มย้อนหลังนำเข้าสารเคมีกำจัดวัชพืช

อย่างไรก็ดีมองว่าโควตานำเข้าไกลโฟเซต 24,000 ตันนี้ ไม่เพียงพอ เพราะสารนี้ราคาไม่แพง และเกษตรกรมีความต้องการใช้มาก โดยตัวเลขเดิมก่อนที่จะมีมาตรการจำกัดการใช้เคยนำเข้าสูงกว่า 6 หมื่นตัน ในปี 2557 ดังนั้นกำลังจะขอให้ทางกรมฯพิจารณาเพิ่มโควตานำเข้ามากขึ้น

“ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรมีความต้องการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น หากซัพพลายมีมาก คาดราคาจะไม่ปรับขึ้นมาก ก่อนหน้านี้มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประเทศจีนมีการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้ค้าไม่สามารถส่งไกลโฟเซตเข้ามาได้ ทำให้ต้องใช้กลูโฟซิเนตทดแทนอยู่พักใหญ่  แม้โดยประสิทธิภาพกลูโฟซิเนตจะไม่เหมือน ไกลโฟเซต แต่ช่วงนั้นความต้องการสูง ราคาก็สูงตามไปด้วย แต่ตอนนี้ราคาทั้งสองตัวมีแนวโน้มปรับลงมาแล้ว ถือเป็นโชคดีของเกษตรกร”

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า ในวันที่ 11 เมษายน 2565 นี้จะมีการประชุมร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรใน 2 เรื่องหลักคือ 1.การอบรมเกษตรกรเพิ่มเติมเรื่องการใช้สารไกลโฟเซต หลังจากที่ไม่ได้อบรมกันเลยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และ 2.พิจารณาการนำเข้าไกลโฟเซต รอบ 2 ของปี 2565 อีก 24,000 ตัน เพราะแม้จะมีการจำกัดการใช้ แต่ข้อเท็จจริงเกษตรกรมีความต้องการใช้มากกว่า 48,000 ตันต่อปี

ดังนั้นทางเครือข่ายฯจะทำข้อมูลเสริมไปกับกรมว่า ข้อมูลที่กรมได้คำนวณความต้องการใช้ไกลโฟเซตไว้ในตอนแรกจำนวน 48,000 ตัน ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากในเบื้องต้นได้แย้งไปว่าข้อมูลการปลูกพืชมีเพิ่มขึ้นนับล้านไร่ อาจไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของเกษตรกร

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกต คำว่า “การจำกัดการใช้” การเปิดโควตาจะต้องนำเข้าไม่มากกว่าปีที่แล้ว หรือเท่ากัน หรือน้อยกว่า แต่ทำไมนำเข้าปริมาณมากกว่า อย่างนี้จะเรียกว่าจำกัดการใช้หรือไม่ และอีกประเด็นหนึ่ง ยังมีข้อสงสัยกรณีที่กรมวิชาการเกษตรให้ผู้ประกอบการแนบฉลากสินค้าประกอบการขอโควตานำเข้าไกลโฟเซตเป็นระเบียบปีแรก

“บางบริษัทที่นำเข้าบางทีไม่ได้ขายเอง มีแค่ทะเบียนนำเข้าสารเคมี แล้วนำไปขายต่อให้บริษัทอื่นขาย จะเอาฉลากไหนมาแสดง หรือจะต้องไปเอาฉลากลูกค้ามายื่นให้กับกรมหรือไม่ แปลกปกติไม่เคยขอ ทำไมเพิ่งมาขอปีนี้ ความจริงเรื่องนี้เป็นความลับทางธุรกิจทำให้เกิดความสงสัยว่าทางกรมมีวัตถุประสงค์อย่างไร”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 11 เมษายน 2565

กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยให้เกษตรกรกว่า 244 ล้านบาท

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงผลสำเร็จของโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ในงานแถลงข่าว “OSS เคสดี ต้องมีโชว์” ว่า ผลการดำเนินการของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำการเกษตรสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

เกษตรกรจำนวน 108,036 ราย จาก 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด พื้นที่ 1.3 ล้านไร่ ได้รับประโยชน์ ปริมาณการใช้ปุ๋ยลดลง 59,047.37 ตัน คิดเป็น 49% สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยในพืชเศรษฐกิจต่างๆ ไม่น้อยกว่า 36.91% คิดเป็นมูลค่ามากถึง 244 ล้านบาท และเพิ่มผลผลิตได้จริง โดยผลผลิตของเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ประมาณ 2,600 คน

ทั้งนี้ ในด้านการให้บริการเชิงธุรกิจ ศดปช. ทั้ง 394 แห่ง ได้จดทะเบียนผู้ขายปุ๋ย เพื่อให้สามารถจำหน่ายปุ๋ยให้กับเกษตรกรทั่วไปได้ ได้ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน มีเกษตรกรใช้บริการ จำนวน 114,041 ราย มีการจำหน่ายแม่ปุ๋ย 82,109 กระสอบ และมีการให้บริการผสมปุ๋ยรวม 4,099,909 กิโลกรัม

สำหรับโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) จะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสมาชิกเครือข่าย รวมถึงเกษตรกรทั่วไปให้สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ แนวทางการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ “4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี” ให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึง

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 8 เมษายน 2565

EXIM BANK ผนึกกำลัง บสย. เติมทุน-ค้ำประกันวงจรธุรกิจส่งออก

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนลุกลามจนกลายเป็นสงครามตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้บั่นทอนทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบทางอ้อมด้านราคา ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามความเสี่ยงดังกล่าวและขยายตัวได้ต่อเนื่อง ผู้ส่งออกไทยภายใต้โลกยุค Next Normal ต้องพลิกโฉม Supply Chain ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การขาย และตัวสินค้าเอง EXIM BANK จึงร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใน Supply Chain การส่งออกเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องและยกระดับคุณภาพธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก ผู้ส่งออก และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ตลอดทั้งกระบวนการของธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่องให้แข็งแกร่งและแข่งขันได้ในระดับสากล

ล่าสุด EXIM BANK และบสย. ร่วมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมการให้สินเชื่อแก่ Supply Chain การส่งออก โดยนำ บสย. เข้ามาแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยสมบูรณ์และปลดล็อกให้ “บุคคล” สามารถกู้เงินทำธุรกิจเพื่อส่งมอบวัตถุดิบให้ผู้ส่งออก เติมเต็มสภาพคล่องให้แก่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทยท่ามกลางปัจจัยท้าทายในปัจจุบัน

สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก สำหรับนิติบุคคลและบุคคลที่ผลิต/จำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมดำเนินธุรกิจส่งออก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อรายอัตราดอกเบี้ย Prime Rate (เท่ากับ 5.75% ต่อปี ณ ปัจจุบัน) ตลอดอายุโครงการ 5 ปี ใช้เพียงหนังสือค้ำประกัน บสย. ร่วมกับผู้บริหารหลัก และ/หรือนิติบุคคลค้ำประกัน พิเศษ! ลดดอกเบี้ยอีก 0.75% ในปีแรก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีเอกสารรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามที่ธนาคารกำหนด

สินเชื่อ EXIM Logistics สำหรับผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 5.0% ต่อปี ในปีแรก สำหรับวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้เพียงหนังสือค้ำประกัน บสย. ร่วมกับบุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันเท่านั้น พิเศษ! ลดดอกเบี้ยอีก 0.50% ใน 2 ปีแรกสำหรับผู้เข้าร่วมงานและลงทะเบียนในกิจกรรมต่างๆ ของ EXIM BANK หรืออยู่ในสมาคมหรือเป็นสมาชิกตามที่ธนาคารกำหนดผู้สนใจสามารถขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 มีนาคม 2566

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย. พร้อมจับมือพันธมิตรเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมีวงเงินค้ำประกันรวม 94,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) ประกอบด้วย 3 โครงการสำคัญ ดังนี้ 1. โครงการ บสย. SMEs นำเข้า-ส่งออก วงเงิน 1,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม3 ปี 2. โครงการ บสย. SMEs เติมเต็มรายย่อย วงเงิน 8,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปี 3.โครงการ บสย. SMEs ดีแน่นอน วงเงิน 85,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี

วงเงินค้ำประกัน 94,000 ล้านบาท จะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบอย่างน้อย 116,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือ SMEs ได้จำนวน 20,600 ราย และยังช่วยรักษาการจ้างงานในระบบกว่า 600,000 ตำแหน่ง ผู้สนใจติดต่อได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 สอบถามศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. F.A.Center โทร. 0-2890-9999 หรือ Line @doctor.tcg

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 เมษายน 2565

รัสเซียดันปุ๋ยโลกพุ่ง 200% เกษตรกรไทยอ่วม ควักเพิ่มแสนล้าน

รัสเซีย-ยูเครนห้ามส่งออก ดันราคาปุ๋ยตลาดโลกพุ่ง 160-200% เกษตรกรไทยกระอัก ม.หอการค้าฯประเมินปี 65 ต้องควักจ่ายค่าปุ๋ยเพิ่มกว่า 1 แสนล้าน ข้าวมากสุด อ้อย ยางพาราตามติด ชี้ 4 ทางออกระยะสั้น-ยาว สมาคมการค้าปุ๋ยฯ จี้พาณิชย์เร่งปลดล็อกปรับราคา เปิดทางเร่งนำเข้า

ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียได้จำกัดโควตาการส่งออกปุ๋ย เพื่อให้ปุ๋ยเพียงพอใช้ในประเทศและไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อนจากราคาปุ๋ย จากกลางปี 2564 ราคาปุ๋ยยูเรียในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น 60-70% และราคาไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (DAP) เพิ่มขึ้น 20-25%

และเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหลังสงครามเกิดขึ้น รัสเซียได้ห้ามส่งออกปุ๋ยไปตลาดโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง 48 ประเทศที่ถูกระบุไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย ทำให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกปรับขึ้นอีกทันที จากรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยอันดับต้น ๆ ของโลก

ขณะเดียวกันยูเครนก็ห้ามส่งออกปุ๋ยเพื่อเก็บไว้ทำการเกษตรในประเทศ ที่ฤดูการเพาะปลูกของยูเครนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ส่วนจีนก็ส่งออกปุ๋ยลดลงเพื่อเก็บไว้ใช้ในประเทศ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ปุ๋ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเวลานี้ราคาปุ๋ยยูเรีย และ DAP เพิ่มจาก 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มเป็น 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้น 160-200%

เกษตรกรไทยอ่วมราคาปุ๋ยพุ่ง 100%

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปุ๋ยเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ย 15% ของค่าใช้จ่ายของสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย ทั้งนี้จากราคาแม่ปุ๋ย และปุ๋ยเคมีในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาปุ๋ยขายปลีกในไทยปรับตัวสูงขึ้นเกิน 100% เช่นราคาปุ๋ยไนโตรเจน (N) ปี 2563 อยู่ที่ 12,000-15,000 บาทต่อตัน ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 30,000-35,000 บาทต่อตัน ฟอสฟอรัส (P) ปีที่แล้วเฉลี่ย 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 38,000 บาทต่อตัน และโพแทสเซียม (K) ราคาปีที่แล้วเฉลี่ย 9,000 บาทต่อตัน ปีนี้ราคาอยู่ที่ 32,000 บาทต่อตัน

จากราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ประเมินค่าใช้จ่ายรวมที่เกษตรกรไทยต้องจ่ายค่าปุ๋ยปีนี้เพิ่มเป็นประมาณ 2-3 แสนล้านบาท หรือมากขึ้นกว่าปีฐาน 2558 มากกว่า 1 แสนล้านบาท (ปีฐาน 2558 เกษตรกรไทยมีค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยกว่า 1.1 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากใช้ปุ๋ยมาก และจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว คาดมีค่าใช้จ่ายปุ๋ยเพิ่มขึ้น 69,000 ล้านบาท ตามด้วย อ้อย 44,000 ล้านบาท ยางพารา 29,000 ล้านบาท ปาล์มน้ำมัน 36,000 ล้านบาท และข้าวโพด 18,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นพืชอื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่น ๆ

เสนอ 4 ทางออกระยะสั้น-ยาว

 “ทางออกเรื่องปุ๋ยแพงวันนี้ประเทศไทยต้องคิดเรื่อง 1.ตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเองในประเทศเหมือนที่อินโดนีเซียและมาเลเซียทำ โดยใช้วัตถุดิบที่มาจากก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ภาคอีสานของไทยก็มีแร่โปแตซที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตปุ๋ยได้ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ 2.ใช้ปุ๋ยปริมาณลดลงในรอบปีของการเพาะปลูก เช่น สมมุติเดิมใช้ 1 กระสอบ (50 กก.) ต่อ 1 ไร่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้อาจแบ่งเป็น 20 กก.ต่อ 6 เดือน ทำให้เหลือปุ๋ยอีก 10 กก.ไปใช้ในปีถัดไป 3.ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วนที่มากขึ้น และ 4.ใช้ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของพืชหรือต้นไม้” ดร.อัทธ์ กล่าว

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้วิเคราะห์แนวโน้มความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยปี 2565-2567 คาดจะเติบโตเฉลี่ย 2.5% ต่อปี อยู่ที่ 5.6-5.8 ล้านตัน โดยมีตามความต้องการใช้ปุ๋ยของพืชเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง โดยพืชที่ใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ได้แก่ ข้าว (คาดเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ต่อปี) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง (คาดเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี) พืชทั้ง 3 ประเภทใช้ปุ๋ยเคมีรวมกันราว 60% ของการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด

จี้พาณิชย์เร่งพิจารณาปรับราคา

ด้านนายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า จากที่กรมการค้าภายในได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีของไทย เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิต การจำหน่าย รวมถึงพิจารณาการปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศตามที่ผู้ค้าร้องขอ หากจะอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีนั้นขอให้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป ตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริง

“ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า เกษตรกร และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยขอให้พิจารณาแต่ละรายให้เร็วที่สุด ทั้งการขออนุญาตนำเข้าเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว จะส่งผลทำให้มีบรรยากาศที่ดี ทำให้บริษัทต่าง ๆ รีบสั่งเข้ามาทันที เชื่อว่าในช่วงต้นฤดูกาลของการเพาะปลูกที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ยังมีปุ๋ยเคมีพอใช้ในช่วงฤดูกาลนี้เท่านั้น”

รัสเซียเริ่มผ่อนปรนมาตรการ

 แหล่งข่าววงการค้าปุ๋ย กล่าวว่า ล่าสุดสถานการณ์ปุ๋ยเคมีตลาดโลก ลดความร้อนแรงลงหลังจากรัสเซียประกาศเพิ่มโควตาส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยสูตรอื่นๆ จากจำกัดปริมาณส่งออกตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2564 ถึง 31 พ.ค. 2565 ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการจัดหาปุ๋ยเคมีทำได้ดีขึ้น และเวลานี้หลายชาติยอมจ่ายค่าซื้อสินค้ารัสเซียเป็นเงินรูเบิล

“ราคาปุ๋ยยูเรียเวลานี้พุ่งขึ้นไปกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หลายบริษัทแจ้งปรับราคาปุ๋ยเคมีเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ราคาสูงขึ้นมาก คนไม่ได้ถามว่าแพงหรือถูก ส่วนใหญ่ถามว่ามีของหรือเปล่า และผลพวงราคาปุ๋ยเคมีแพง ส่งผลให้ตอนนี้ปุ๋ยอินทรีย์ขาดตลาดตามไปด้วยด้วย แต่คงไม่สามารถมาทดแทนปุ๋ยเคมีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้” แหล่งข่าวระบุ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 เมษายน 2565

"ปุ๋ยแพง" สภาเกษตรกรฯ หนุนตั้งโรงงานปุ๋ยเคมี ลดนำเข้า

"ปุ๋ยแพง" ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ขอให้รัฐบาลตั้งโรงงานปุ๋ยเคมีลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ระบุมีวัตถุดิบในการผลิต หวังสร้างความมั่นคงให้กับประเทศเกษตรกรรมในระยะยาว พร้อมขอให้ปัดฝุ่นปุ๋ยแห่งชาติเป็นเมกะโปรเจกต์

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 65 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีแพงว่า ได้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยการผลิตหลักต่อเกษตรกร ถือว่าแพงมากในรอบหลายปี หากเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีแบบเดิมอย่างไรก็ไม่รอด ได้มีการหารือเกษตรกรสาขาการผลิตใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ชาวนาที่มีกว่า 4.5 ล้านครัวเรือน อยากเรียกร้องให้เกษตรกรทั้งประเทศ ศึกษาแนวทางในการผลิตใหม่ที่ลดใช้เคมีเกษตรลงมาให้ได้ ที่ผ่านมามีรูปธรรมของชาวนาในหลายภูมิภาคใช้ต้นทุนการผลิตไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท โดยตั้งเป้าใช้เคมีให้น้อยที่สุด ชาวนาควรจะการถอดบทเรียนจากชาวนาที่ทำมาหลายปีที่ประสบผลสำเร็จในการลดต้นทุนการผลิต มาเป็นต้นแบบในการพึ่งพาต้นเอง โดยทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ฯ เตรียมจะนำเสนอข้อมูลเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ส่วนราชการได้รับทราบแนวทางในการลดการใช้ปุ๋ยเคมี

ส่วนสิ่งที่ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติอยากเรียกร้องจากรัฐบาล คือ ปุ๋ยเคมีเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมมาช้านาน แต่กลับไม่มีโรงงานปุ๋ยเป็นของตนเอง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทยมีปุ๋ยไนโตรเจน อันเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมมาเป็นปุ๋ยยูเรีย มีแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ ที่อีสาน มีบางเหมืองเปิดแล้วที่จังหวัดชัยุภูมิ แต่จะขาดเพียงฟอสแฟส ซึ่งสามารถนำเข้าจากจีนที่เป็นแหล่งใหญ่ได้ หากว่ารัฐบาลสามารถสร้างความร่วมมือ  2 ประเทศ ร่วมทุนทำโรงงานปุ๋ยเคมีในประเทศไทย ใช้ยูเรีย และโพแทชที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย จะทำให้เกิดความมั่นคงของชาติในระยะยาว เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม

ปัจจุบนการสงครามูเครน-รัสเซีย มีผลในระยะยาวนาน และไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง ควาามขัดแย้งยังคงเกิดขึ้น และมีการลุกลาม ในระยะยาวประเทศไทยต้องมีโรงงานปุ๋ยเคมีของตนเอง ที่สำคัญรัฐต้องเป็นเจ้าภาพในการพูดคุย อย่าไปเอาความล้มเหลวในอดีตมาเป็นข้อจำกัด เวลาที่หยิบประเด็นเกี่ยวกับ บริษัทปุ๋ยแห่งชาติ มักจะมีคนคัดค้านว่าทำไมอยากล้มเหลวซ้ำสอง ไม่อยากให้ไปมองแบบนั้น แต่เป็นเมกะโปรเจกต์ที่ต้องผลักดัน เพื่อให้ลดต้นทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ้ และรัฐสามารถแทรกแซงกลไกทางการตลาดได้ เพราะเป็นผลผลิตที่ทำเองในกระเทศ

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 7 เมษายน 2565

ผลผลิตอ้อยทะลุ 91 ล้านตันสูงสุดรอบ 3 ปี ชาวไร่โอดปุ๋ยแพงดันต้นทุนฤดูใหม่พุ่ง

จับตาผลผลิตอ้อยไทยโค้งสุดท้ายยังมาแรงทะลุ 91 ล้านตันแล้ว มีลุ้นที่เหลือเพิ่มอีกอาจแตะ 92 ล้านตันหลังเหลือโรงงานหีบ 10 กว่าแห่ง สัญญาณชัดผลผลิตสูงสุดในรอบ 3 ปีเริ่มไต่ระดับสู่ภาวะปกติสมดุลกับอัตราการผลิตของโรงงาน ชาวไร่อ้อยโอดฤดูหีบปี 2565/66 ปุ๋ย สารเคมี น้ำมัน ค่าแรง ส่อดันต้นทุนพุ่งสุด

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยฤดูผลิตปี 2564/65 ที่ดำเนินมาถึง 121 วันขณะนี้เหลือโรงงานหีบอ้อยเพียง 10 กว่าแห่งจากทั้งหมด 57 แห่งทั่วประเทศ โดยมีอัตราการหีบอ้อยรวม 91 กว่าล้านตันขณะที่อัตราการหีบอ้อยเหลือราว 100,000 ตันต่อวัน ดังนั้นคาดการณ์ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบเมื่อสิ้นสุดการหีบทั้งหมดได้ราว 91.50 -92 ล้านตัน ซึ่งนับเป็นปริมาณการผลิตอ้อยที่เริ่มกลับมาสู่ระดับสูงอีกครั้งในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2562/63

“ปี 2563/64 ปริมาณอ้อยอยู่ที่เพียง 66.67 ล้านตันซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562/63 แต่ฤดูหีบปีนี้ (ปี 64/65) ถือว่าการผลิตเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติที่ควรจะเป็น และคาดหวังว่าฤดูหีบปี 2565/66 ที่กำลังมาถึงจะนำไปสู่ผลผลิตระดับ 100 ล้านตันขึ้นไปได้เช่นอดีตที่เคยทำไว้ซึ่งจะสอดคล้องกับอัตรากำลังการผลิตของโรงงานที่มีอยู่” นายนราธิปกล่าว

ทั้งนี้ ผลผลิตอ้อยที่ไต่ระดับเพิ่มขึ้นสูงยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องและมีผลต่อน้ำหนักอ้อยที่เข้าหีบ และสิ่งเจือปนค่อนข้างสูงโดยเฉพาะใบอ้อย ประกอบกับระหว่างการหีบอากาศไม่ได้หนาวมากนักจึงมีผลต่อ ประสิทธิภาพการหีบน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ไม่ดีมากนัก ดังนั้นแม้จะมีปริมาณอ้อยที่เข้าหีบค่อนข้างมากแต่ปริมาณน้ำตาลทรายที่ได้คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ราว 9.80-10 ล้านตัน

นายนราธิปกล่าวว่า สิ่งที่กังวลในฤดูหีบปี 2565/66 ที่กำลังเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกใหม่คือภาวะต้นทุนต่างๆ จะแพงขึ้นมากโดยเฉพาะราคาปุ๋ย สารเคมี ที่ปรับขึ้นสูงกว่าเดิมเท่าตัว และหากราคาปุ๋ยยังไม่มีแนวโน้มลดต่ำลงก็จะยิ่งกระทบหนักขึ้น และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวช่วงปลายปี 2565 ก็ยังต้องติดตามภาวะราคาน้ำมัน ค่าแรงต่างๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้เกษตรกรภาพรวมแม้ว่าระดับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกจะมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงเฉลี่ย 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ก็ตาม

“ต้นทุนการผลิตปี 2565/66 นี้ผมคิดว่าสูงสุดเท่าที่เคยเจอมาเลยเพราะไม่เคยเจอราคาปุ๋ยแพงเช่นนี้มาก่อนขึ้นมาเกินเท่าตัว ไม่รู้ว่าจะลดลงบ้างไหมในระยะต่อไปถ้าลงได้บ้างก็จะช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่ง ส่วนกรณีที่บอกให้ทำปุ๋ยชีวภาพนั้นในแง่ของอ้อยเป็นอุตสาหกรรมไม่คุ้ม ดังนั้นแม้ว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะสูงเฉลี่ย 1,000 บาทต่อตันแต่เมื่อเทียบกับต้นทุนก็ไม่ได้หมายถึงเกษตรกรจะได้รับเงินที่สูงขึ้นแต่อย่างใด คงจะต้องติดตามราคาตลาดโลกใกล้ชิดเพราะแม้ว่าจะเกิดสงครามแต่ก็พบว่าหลายประเทศมีผลผลิตเพิ่มขึ้น” นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 7 เมษายน 2565

นายกไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ย “พาณิชย์” ฉุดไม่อยู่ได้แต่ขอความร่วมมือ

กรมการค้าภายในขอความร่วมมือห้างตรึงราคาสินค้าช่วงสงกรานต์ และเตรียมสินค้าให้พอรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น พร้อมเปิดจุดขายสินค้าราคาถูกแบบถาวร ด้าน “ประยุทธ์” ไฟเขียวขึ้นราคาปุ๋ยหลังผู้ค้าชะลอนำเข้า

นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ที่ประชาชนนิยมเดินทางไปเที่ยว และมีการบริโภคเพิ่มขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมติดตามดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เพื่อไม่ให้มีสินค้าขาดแคลน และผู้ค้าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาเอาเปรียบประชาชน กรมจึงได้เชิญผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกและค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อมาหารือ โดยขอความร่วมมือไม่ให้ปรับขึ้นราคาขายสินค้าโดยเด็ดขาด และให้เพิ่มสต็อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นโดยพบว่า ขณะนี้ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มขึ้น 5-10% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

 “ภายหลังการหารือ ผู้ประกอบการทุกรายยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ รวมถึงเตรียมจัดโปรโมชันลดราคาสินค้าอีกด้วย อีกทั้งยังขอให้เซเว่น-อีเลฟเว่น เตรียมอาหารพร้อมรับประทานให้เพียงพอรองรับประชาชนที่เดินทาง นอกจากนี้ยังขอให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดออกตรวจสอบ และติดตามราคาสินค้า และปริมาณ เพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคา และปริมาณมีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน”

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลดความเดือดร้อนของประชาชนนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนมาโดยตลอด และจะทำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เตรียมเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดแบบถาวร ตามโครงการ “โมบายพาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน” อีก 20 จุด จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 50 จุดทั่วกรุงเทพฯ และมีรถเคลื่อนที่ (รถพุ่มพวง) อีก 25 คัน นำสินค้าที่จำเป็นขายให้ประชาชนในราคาถูก เช่น ไข่ไก่ น้ำตาล ข้าวสาร น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ รวมถึงสินค้าเกษตร โดยขณะนี้ กำลังเลือกจุดที่จะตั้งแบบถาวรร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการเคหะแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเข้าถึงแหล่งชุมชน ช่วยลดต้นทุนการเดินทางให้กับประชาชน ร่วมสร้างทำให้ร้านค้าใกล้เคียงไม่กล้าฉวยโอกาสขึ้นราคาขาย

ส่วนการปรับราคาปุ๋ยเคมี ขณะนี้ มีผู้ประกอบการ 2 รายยื่นเรื่องขอปรับขึ้นราคา แต่ยังไม่ได้อนุมัติให้ปรับราคา อยู่ระหว่างการพิจารณาต้นทุน แต่ได้ขอให้ผู้ประกอบการเร่งนำเข้าปุ๋ย เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนช่วงครึ่งแรกปีนี้ ผู้ประกอบการยืนยันว่า มีปริมาณเพียงพอแน่นอน ขณะที่ราคาอาหารสัตว์อยู่ระหว่างการพิจารณาลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้ใช้ รวมถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ สำหรับห้างที่เชิญมาขอความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย สยามแม็คโคร, บิ๊กซี, โลตัส, ท็อปส์ซุปเปอร์มาเก็ต, เซเว่น อีเลฟเว่น, ลอว์สัน, ซีเจ, ฟู้ดแลนด์เพาเวอร์บาย ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 5 เม.ย.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความคืบหน้าของสถานการณ์ปุ๋ยเคมีที่ขณะนี้มีราคาปรับเพิ่มขึ้นสูง หลังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้ผู้นำเข้าปุ๋ยในประเทศไทย ชะลอการนำเข้าเพราะราคาปุ๋ยในต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาทำให้หากนำเข้ามาก็ขาดทุน พร้อมสอบถามข้อเท็จจริง และสั่งกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินการปรับเพิ่มราคาปุ๋ยเคมีในประเทศไทย แต่ต้องสำรวจสต๊อกปุ๋ยเคมีเก่าก่อน ปุ๋ยราคาเก่าที่นำเข้ามาก็ให้ขายราคาเดิม ส่วนปุ๋ยใหม่ที่จะนำเข้าหลังราคาเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวให้ปรับขึ้นได้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกร ที่ปุ๋ยคือต้นทุนการทำเกษตรที่สำคัญ.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2565

รัฐผุด “อีอีซีไอ” คิดค้นเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนนำไทยสู่การเป็นประเทศพัฒนาใน 7 ปี

เปิดโฉมเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) จังหวัดระยอง พื้นที่คิดค้นวิจัยเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นของประเทศไทยโดยเฉพาะ จุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและการเกษตรของไทยครั้งใหญ่ ที่จะทำให้ไทย ก้าวไปสู่ประเทศพัฒนา ภายใน 7 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การผลักดันประเทศไทยจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศพัฒนา จะต้องทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจขยายตัว 5% จากปีนี้ต่อเนื่องไปอีก 7 ปี พร้อมๆกับการพัฒนาให้ประเทศไทยสามารถมีเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทยเอง เห็นได้จากการศึกษาข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์ แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุตรงกันว่า การส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นประเทศพัฒนา จำเป็นที่ประเทศนั้นๆ ต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง เช่น เกาหลีใต้มีซัมซุง เยอรมนีมีรถยนต์โฟล์กสวาเกน และรถยนต์เมอร์เซเดส เบนซ์

เหตุผลที่ไทยต้องมี “อีอีซีไอ”

ดังนั้น ตอนร่างแผนที่จะดำเนินการให้เกิดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อ 4 ปีก่อน ต้องการผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาให้ได้ ซึ่งการทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จึงเป็นเหตุผลที่ต้องสร้างให้เกิดเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เป็น 1 ใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษที่อยู่ภายในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยเกิดวงจรใหม่ นำไปสู่การเจริญเติบโตแบบมีพลวัต (Dynamic Growth) ซึ่งจะแตกต่างจากการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีก่อน ที่ประเทศไทยต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีของประเทศอื่น ดึงการลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงาน โดยใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น แต่ไทยไม่สามารถมีเทคโนโลยีของตัวเองได้

“เป้าหมายการทำงานของอีอีซีไอ ถูกกำหนดให้พัฒนาเทคโนโลยี ให้กับภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เพราะภาคเกษตรของไทยเกือบไม่มีคนดูแลเรื่องเทคโนโลยีเลย โดยขณะนี้ได้เดินหน้าให้เกิดอีอีซีไอแล้ว เพราะหากอีอีซีไอไม่เกิด การเจริญเติบโตแบบมีพลวัตของประเทศก็ไม่เกิดเช่นกัน เพราะการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 5% ไปได้เรื่อยๆ จะต้องทำให้มีธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำให้รายได้เฉลี่ยของคนไทยขึ้นไปอยู่ที่ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือประมาณ 495,000 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้น การทำให้เป็นจริงได้ตามเป้าหมาย ในช่วง 7 ปีนับจากนี้ต้องมีการปรับประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีครั้งใหญ่อย่างเต็มที่ตลอด 7 ปี”

เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของอีอีซีไอคือการสร้างเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่นำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรเพื่อให้เกิดการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต โดยเม็ดเงินที่อีอีซีไอคิดค้นเทคโนโลยีจะต้องเกิดการร่วมลงทุนของภาคเอกชน 5 เท่า และเกิดผลประโยชน์ 200 เท่า วางเป้าหมายเงินลงทุนในพื้นที่นี้ไว้ 287,586 ล้านบาท ที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่รองรับการค้าและการลงทุนนวัตกรรมด้านชีวภาพ

ลุยพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

นายเจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) กล่าวว่า อีอีซีไอจะเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนานวัตกรรมต้นแบบสู่การขยายผลเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร โดยรัฐบาลเช่าที่ของวังจันทร์ วัลเลย์ จ.ระยอง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีพื้นที่ 3,454 ไร่

ภายในพื้นที่ของอีอีซีไอ ปตท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและถนนให้ ขณะที่มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการโครงการ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2562- 2567 วงเงิน 5,755 ล้านบาท แบ่งเป็นการก่อสร้างอีอีซีไอ 1,323 ล้านบาท ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมฐานชีวภาพ (Biopolis) วงเงิน 3,005 ล้านบาท ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (Aripolis) วงเงิน 1,152 ล้านบาท และทางกรมวิทยาศาสตร์บริการจะดำเนินการก่อสร้างมาตรฐาน การทดสอบและสนามทดสอบรถอัตโนมัติ EV AV วงเงิน 275 ล้านบาท

ขณะนี้ก่อสร้างกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่อีอีซีไอภายนอกเสร็จแล้ว 100% มีเพียงการปรับภูมิทัศน์และติดตั้งครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นพื้นที่สำหรับทำการวิจัยขยายผล และมีพื้นที่สนับสนุนการทำงาน เช่น ศูนย์แสดงนิทรรศการ Co-Working Space 40,000 ตารางเมตร พร้อมดำเนินการในเดือน มิ.ย.นี้ และพร้อมเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.นี้ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในอีอีซีที่สนับสนุน การจัดประชุมผู้นำเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

ศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรมฐานชีวภาพ

ทั้งนี้ อาคารสำนักงานใหญ่จะรองรับโครงการสำคัญ ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับการทำวิจัยขยายผล เช่น โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ ศูนย์นวัตกรรมการผลิต ยั่งยืน (SMC) ขณะที่ในปี 2566 จะเปิดให้บริการศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมฐานชีวภาพ (BIOPOLIS) ประกอบด้วยการจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอไฟเนอรี่ เพื่อเป็นโรงกลั่นชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบจากผลผลิตและของเหลือทางการเกษตร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง และวัสดุชีวภาพ และทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อชุมชนและอุตสาหกรรมในพื้นที่ พร้อมกันนี้มีแผนการลงทุนโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ปลอดภัยเพื่อความมั่นคงและทางเลือกใหม่

“ในระหว่างนี้อีอีซีไอได้เริ่มต้นถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ ที่ สวทช.ได้คิดค้นให้กับเกษตรกรและชุมชน เช่น การตรวจวัดอากาศด้วยเซ็นเซอร์แบบเครือข่ายไร้สายเพื่อการติดตามสภาพแวดล้อม การผลิตก้อนเชื้อสตาบิวเวอเรีย สำหรับกำจัดศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย เทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และล่าสุดได้นำงานวิจัยถุงห่อทุเรียน Magik Growth สู่ต้นแบบสวนทุเรียนพรีเมียมเพื่อการส่งออก โดยทุเรียนที่ห่อด้วยถุงนี้จะมีรสชาติหวานอร่อยและเปลือกบาง จากต้นทุนราคาถุงละ 50 บาท ได้ลดลงเหลือ 20 บาท เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองสั่งทำ 1 ล้านถุง และเชื่อว่าราคาจะลดลงกว่านี้เมื่อมีการใช้อย่างแพร่หลาย”

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2565

วิกฤติ “พลังงาน” ลากยาว “พาณิชย์”ขยับเงินเฟ้อปีนี้ 4.5%

พาณิชย์ ปรับเป้าเงินเฟ้อปี 65 เป็น 4.5% หลังเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำราคาพลังงานพุ่ง คาดเดือนเม.ย.ยังสูงต่อ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มี.ค.2565 เท่ากับ 104.79 เทียบกับเดือน ก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 0.66% และเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.2564 เพิ่มขึ้น 5.73% ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีมาแล้วเมื่อเดือน ก.พ.2565 ที่สูงขึ้น 5.28% ส่วนเงินเฟ้อรวมไตรมาส 1 ปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 4.75%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งหักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก อยู่ที่ 102.43 เพิ่มขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2565 และเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.2564 และรวมไตรมาส 1 ปี 2565 เพิ่มขึ้น 1.43%

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน มี.ค.2565 สูงขึ้น มาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานสูงขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95%

รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ผักสด เพิ่ม 9.96% เนื้อสัตว์ ทั้งสุกร ไก่สด เพิ่ม 5.74% ไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 6.08% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 8.16% อาหารบริโภคในบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 6.28% และอาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่ม 6.15% โดยปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น

“เงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาสูงขึ้น 5.73% มีสาเหตุสำคัญจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่เร่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการคว่ำบาตรของสหรัฐและพันธมิตรที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก” นายรณรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังคงมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลง เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง รวมถึงผลไม้สดบางชนิดที่ราคาลดลง เช่น ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยหอม ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการบันเทิง การอ่านและการศึกษาลดลงเช่นกัน เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา และเครื่องนุ่งห่ม เช่น กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดสตรีและบุรุษ

ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค.2565 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 280 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารกลางวัน ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป เนื้อสุกร ไข่ไก่ อาหารเช้า น้ำมันพืช น้ำประปา เป็นต้น  สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 59 รายการ เช่น ค่าใบอนุญาตขับขี่ ค่าเบี้ยประกันทรัพย์สิน ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และราคาลดลง 91 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ส้มเขียวหวาน ขิง ค่าธรรมเนียมการศึกษา ถั่วฝักยาว ค่าเช่าบ้าน กล้วยหอม และผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาซักแห้ง

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน เม.ย.2565 คาดว่ายังคงสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากตัวเลขในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดย ม.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 3.23% เดือน ก.พ.เพิ่ม 5.28% และเดือน มี.ค.เพิ่ม 5.73%

ในขณะที่ผลกระทบจากสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ยังไม่ยุติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพันธมิตรประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย ซึ่งปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจยังไม่น่ากังวลเท่ากับสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นคู่ขนานกันไป จากการที่สหรัฐและชาติพันธมิตรออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องกับหลายประเทศทั้งในด้านของราคาพลังงาน น้ำมัน ปิโตรเคมี สินแร่ สินค้าเกษตรต่างๆ และจะเป็นผลกระทบในระยะยาวได้มากกว่า

สนค.ได้ปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่ เป็น 4-5% มีค่ากลางที่ 4.5% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้สมมติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.4-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อดอลลาร์  จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.7-2.4% ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีภาวะสงคราม แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว และห​ากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอัตราเงินเฟ้อของปีนี้อีกครั้ง

ทั้งนี้ สนค.เห็นว่าเพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน​ รัฐบาลควรต่อโครงการคน​ครึ่ง​ระยะที่​ 5 เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน โดยการตรึงราคาสินค้าเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอเพราะ​แม้ว่าขณะนี้เอกชนจะรับภาระต้นทุนบางส่วนแต่ก็ไม่รู้ว่าจะแบบรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้อีกนานแค่ไหน ส่วนมาตรการที่จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงนี้ไม่ควรมี​ เช่น​ การเก็บภาษีที่ดิน

อย่างไรก็ตามจากคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับขึ้นไปสู่ระดับ 4-5% ในปี 2565 ถือว่ายังไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวลจนทำให้รัฐบาลจะต้องออกมาตรการใด เพื่อมาใช้สกัดเงินเฟ้อ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยังดีอยู่

ส่วนความกังวลจะเกิดสถานการณ์ Stagflation ที่เศรษฐกิจตกต่ำและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วย เพราะหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี จากการเปิดประเทศ การมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการส่งออกยังเติบโต

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 เมษายน 2565

กรมชลฯสร้างมิติใหม่แก้ปัญหาน้ำยั่งยืน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้จัดทำโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และลำพูน เป็นการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมตลอดจนเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การกำหนดรูปแบบโครงการหรือแผนงานในการตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ได้กำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแก้ปัญหาและขับเคลื่อนงานได้ตรงจุด สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้รับทราบข้อมูลที่แท้จริง รวมถึงการมีบทบาท ภาระหน้าที่ และการดำเนินการด้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน หรือร่วมเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งการทำงานร่วมกับประชาชน ทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ

สำหรับความคืบหน้าโครงการฯ เมื่อวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้จัดประชุมปฐมนิเทศ เพื่อรับฟังความเห็น สร้างความเข้าใจถึงความเป็นมาเหตุผล และความจำเป็นของโครงการฯ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ อ.อมก๋อย และ อ.ดอยเต่า พื้นที่ จ.ตาก จัดประชุมที่ อ.ท่าสองยาง และ จ.แม่ฮ่องสอน จัดประชุมที่ อ.สบเมย โดยประชาชนในพื้นที่ยังมีข้อกังวลในเรื่องของที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เนื่องจากไม่มีตลาดสินค้าเกษตร รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ชาวบ้านต้องการให้มีการก่อสร้างฝายทดน้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สำหรับเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ใช้ในพื้นที่

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565

กรมโรงงานฯ เปิด ปชช.เฝ้าระวัง 287 โรงงานระบายน้ำทิ้งสูง ผ่านแอพพ์ POMS

กรมโรงงานฯ เปิด ปชช.เฝ้าระวัง 287 โรงงานระบายน้ำทิ้งสูง ผ่านแอพพ์ POMS เกินเกณฑ์ สั่งดำเนินการตามกฎหมายทันที

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดให้โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษและเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มเติม พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้โรงงานที่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป หรือมีปริมาณความสกปรกในรูปของบีโอดีช่วงไหลเข้า (Influent BOD Load) 4,000 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษและเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มเติม และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบตรวจวัดมลพิษทางน้ำแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (Water Pollution Monitoring System : WPMS)

โดยจำนวนโรงงานที่เข้าข่ายทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 287 โรงงานใน 40 จังหวัด และเพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งข้อมูลที่รายงานมายัง กรอ.มีความน่าเชื่อถือ เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการตรวจสอบค่าความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือตรวจวัดมลพิษระยะไกลโดยเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานและตรวจวัดวิเคราะห์คุณภาพของน้ำทิ้งโดยห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินหาค่าความคลาดเคลื่อนในการรายงานค่าบีโอดี หรือซีโอดีของเครื่องมือตรวจวัดมลพิษระยะไกล (WPMS) โดยผลการทวนสอบในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565) พบว่า 50 จาก 65 โรงงานที่ทำการตรวจสอบ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่วนโรงงานที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ กรอ.ได้สั่งการปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ กรอ.กำลังจัดทำร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบให้โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษและเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. … เพื่อให้การทวนสอบค่าความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือตรวจวัดมลพิษระยะไกลให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สำหรับกรณีที่เครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษสำหรับตรวจวัดคุณภาพของน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานอุตสาหกรรมแบบอัตโนมัติชำรุด หรือปิดปรับปรุง กรอ.จะกำหนดให้โรงงานต้องดำเนินการเก็บตัวอย่าง และตรวจวัดวิเคราะห์น้ำทิ้งที่ระบายออกนอกโรงงานโดยห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับ กรอ. และส่งผลรายงานมายัง กรอ.ทุกสัปดาห์จนกว่าจะปรับปรุงเครื่องมือวัดให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 2565

“กรอ.นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการกำกับดูแลระบายมลพิษอุตสาหกรรมผ่านระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System : POMS) ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถติดตามผลการตรวจวัดแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอพพลิเคชั่น POMS ได้ทั้งระบบ IOS และ Android หรือติดตามผลได้ที่เว็บไซต์ https://poms.diw.go.th/” อธิบดีกรมโรงงานฯกล่าวทิ้งท้าย

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565

วช. ปลื้ม ผลสำเร็จการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำลดความขัดแย้งการใช้น้ำ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทั้งภาคราชการและภาคประขาชน “องค์กรผู้ใช้น้ำ” จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรม ภายใต้แผนงานการบริหารจัดการน้ำปี 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงได้สนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ” เพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการว่า โครงการฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น ดำเนินงานโครงการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ เป็นรงานนำงานวิจัยในท้องถิ่นมาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม พื้นที่ดำเนินงานคือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง กรมชลประทาน จังหวัดกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 300,000 ไร่ มีกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมดประมาณ 30 กลุ่ม ในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ ได้เข้าไปพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทาน 10 กลุ่ม แต่ผลสำเร็จจากการพัฒนาทำให้มีการขยายผลไปยังกลุ่มผู้ใช้น้ำเพิ่มอีกเป็น 20 กลุ่ม โดยเข้าไปอบรมให้ความรู้ และจัดประชุมร่วมระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจและความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ในขณะที่น้ำมีปริมาณจำกัดจะมีการจัดสรรปันส่วนกันอย่างไร ใครควรจะได้ก่อนหรือใครควรจะได้หลัง พร้อมกันนี้ได้มีการนำระบบเซ็นเซอร์เพื่อวัดความชื้นของดินไปติดตั้งที่แปลงเกษตรกร เพื่อประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่แต่ละแปลง ณ ช่วงเวลาต่างๆ เป้าหมายการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับแรก กลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถช่วยจัดสรรน้ำให้แก่สมาชิกได้ดีขึ้น สามารถจัดสรรได้ตามความจำเป็นและความเร่งด่วนของเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งช่วยลดความขัดแย้งในเรื่องการใช้น้ำลงได้ ระดับที่สอง กลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถนำน้ำที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างจำกัดไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ (นอกเหนือจากการปลูกข้าว) โดยเกษตรกรจะรวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมผลิตและร่วมกันขายสินค้าเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองราคา เช่น รวมกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่าย ปลูกและขายพืชสมุนไพร (ปอเทือง ตะใคร้ ฟ้าทะลายโจร) เมล็ดพันธ์ข้าว ผลิตสบู่ แปรรูปกล้วย เป็นต้น สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่จะมีราคาสูงกว่าข้าว ระดับที่สาม เป็นการยกระดับการผลิตจากระดับที่สอง คือแทนที่จะขายสินค้าเป็นวัตถุดิบก็จะสนับสนุนให้ผลิตเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม นำความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต เช่น อาจจะทำเป็นผง หรือผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งจะต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้มาเป็นพี่เลี้ยง

สำหรับผลการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้ง 20 กลุ่ม สามารถพัฒนาศักยภาพผ่านการประเมินในระดับแรกได้ จากเดิมกลุ่มผู้ใช้น้ำมีบทบาทเพียงแค่รอการเรียกประชุมและรอรับฟังผลการจัดสรรน้ำจากกรมชลประทานเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเขาสามารถเรียกประชุมและจัดสรรน้ำให้กับสมาชิกในกลุ่มได้เอง โดยนำตัวเลขความต้องการน้ำไปเสนอให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม สำหรับระดับสอง มีเพียง 5 กลุ่ม ที่สามารถดำเนินการได้ สามารถวางแผนใช้น้ำที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างจำกัดไปวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่น เช่น การปลูกพืชสมุนไพร การปลูกพืชผัก เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งผลจากการดำเนินงานสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรได้มาก จากตัวเลขที่โครงการฯ ได้รวบรวมในเบื้องต้น ประเมินว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าการปลูกข้าวหลายเท่าตัว ดังตัวอย่างกำไรจากการปลูกปอเทืองทดแทนการปลูกข้าวช่วงทำนาปรังในตำบลหนองหลวง จำนวน 149 ไร่ มูลค่ารวม 4,230,555 บาท หรือคิดเป็น 28,395 บาท/ไร่ การปลูกตะไคร้ในตำบลสระแก้ว 28,452 บาท/ไร่ และการปลูกฟ้าทะลายโจรในตำบลหนองไม้กอง 13,830 บาท/ไร่ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าการปลูกข้าว 3.18 เท่า และ 1.5 เท่า ในพืช 2 ชนิดตามลำดับ สำหรับเป้าหมายในระดับที่สามจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า ดังนั้น กลุ่มผู้ใช้น้ำที่โครงการฯ ลงไปพัฒนาร่วมกับชาวบ้านนอกจากจะสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง สามารถดูแลและพัฒนาตนเองได้ สามารถจัดสรรปันส่วนน้ำในกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในการใช้น้ำ เมื่อมีการพัฒนาต่อไปเขาจะสามารถร่วมประชุมวางแผนกับส่วนราชการได้ทั้งในเรื่องของการจัดสรรน้ำ การวางแผนพัฒนาการเกษตร ผลสำเร็จจากโครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำที่กำแพงเพชร ปัจจุบันได้มีการขยายผลงานวิจัยการออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565

IPCC เผยแนวทางสู้โลกร้อน ลั่นต้องเริ่มตอนนี้ เลี่ยงวิกฤติสภาพอากาศรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์ของสหประขาขาติ เปิดเผยแผนที่พวกเขาเชื่อว่าสามารถจำกัดสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้แล้ว โดยโลกต้องเริ่มลงมือตอนนี้ มิเช่นนั้นจะไม่ทันการณ์

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า หลังจากการประชุมเครียดของนักวิทยาศาสตน์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลของหลายประเทศ ซึ่งมีการโต้เถียงกันอย่างหนัก ในที่สุด คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ก็สามารถเผยแพร่รายงานแนวทางที่โลกควรทำ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศสุดขั้วในอนาคตออกมาแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เม.ย. 2565

รายงานดังกล่าวเปิดเผยถึงข่าวร้ายเป็นลำดับแรก ระบุว่า ต่อให้นโยบายลดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดที่รัฐบาลทั่วโลกเริ่มใช้ในสิ้นปี 2563 มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ อุณหภูมิโลกก็จะยังอยู่บนเส้นทางของการทะลุขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียส และจะเพิ่มเป็น 3.2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้

การค้นพบดังกล่าวทำให้นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติออกมาตำหนิรัฐบาลและธุรกิจต่างๆ อย่างรุนแรง “บางรัฐบาลและผู้นำธุรกิจพูดอย่างหนึ่ง แต่กำลังทำอีกอย่าง พูดง่ายๆ พวกเขากำลังโกหก และผลลัพธ์ก็คือหายนะ”

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในระดับนั้น หมายความว่า โลกของเราจะเผชิญภาวะคลื่นความร้อน, พายุรุนแรง และปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงชะตานั้น นักวิทยาศาสตร์เตือนมานับสิบปีแล่วว่า โลกต้องคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

รายงานล่าสุดของ IPCC ยังมีข่าวดีคือยังมีเวลาพอที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก แต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในภาคการผลิตพลังงาน, อุตสาหกรรม, การคมนาคม, การบริโภค และวิธีที่มนุษย์ปฏิบัติต่อธรรมชาติ โดย IPCC ระบุว่า ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกจะต้องถึงจุดสูงสุดภายในปี 2568 หรือ 3 ปีข้างหน้า และจากนั้นต้องลดลงอย่างรวดเร็วและไปให้ถึงระดับ ศูนย์สุทธิ (net-zero) ภายในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 และต้องลดหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้ได้ในครึ่งศตวรรษหลัง

ศ.เฮลีน เดอ โคนิงค์ ศาสตราจารย์ด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเฟน และเป็นหัวหน้าผู้เขียนรายงานฉบับล่าสุดของ IPCC บอกกับ บีบีซี ว่า “ฉันคิดว่ารายงานฉบับนี้กำลังบอกว่าเรามาถึงจุดที่ ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะหมดโอกาสในการควบคุมอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว”

หนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นคือ เปลี่ยนวิธีผลิตพลังงาน โดย นางไคซา โคโซเนน จากองค์กรกรีนพีซซึ่งเข้าร่วมการประชุมของ IPCC ด้วยระบุว่า นี่คือเกมโอเวอร์สำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งกำลังกระตุ้นทั้งสงครามและวิกฤติสภาพภูมิอากาศในตอนนี้ “ไม่มีที่ว่างสำหรับการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ๆ แล้ว และโรงงานถ่านหินกับก๊าซธรรมชาติที่เรามีอยู่แล้ว จำเป็นต้องปิดโดยเร็ว”

นอกจากนั้น เรื่องอาหารและการใช้ชีวิตของผู้คนก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อการปล่อยคาร์บอน “การมีนโยบาย, โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่ถูกต้องมาใช้ เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 40-70% ภายในปี 2593” นายปรียาดาร์ชิ ชุคลา ประธานร่วมของ IPCC กล่าว “หลักฐานยังแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตจะช่วยพัฒนาสุขภาพและสวัสดิภาพของเราได้ด้วย”

สำหรับในภาพปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตหมายถึง รัฐบาลต่างๆ ต้องสนับสนุนการเดินและการทานอาหารเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้

ขณะที่หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงมากที่สุดในรายงานฉบับนี้คือ การกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำได้ด้วยหลายวิธี รวมถึงการปลูกต้นไม้และเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตร แต่วิธีการเหล่านั้นเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โลกจำเป็นต้องมีเครื่องจักรสำหรับกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศโดยตรง

เทคโนโลยีที่ว่าถือเป็นของใหม่และปัจจุบันยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ขณะที่ผู้ร่วมการประชุมอนุมัติรายงานของ IPCC หลายคนก็แสดงความกังขาอย่างมากว่า วิธีการเหล่านี้จะใช้ได้ผลจริงหรือไม่

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565

ถกกรรมการถ่านหินอาเซียน ครั้งที่ 20 ดันไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลุยเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ การประชุมคณะกรรมการถ่านหินอาเซียน ครั้งที่ 20 ดันไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 ได้เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการถ่านหินอาเซียน ครั้งที่ 20 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (The 20th AFOC Council Meeting and its Associated Meetings) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจัดขึ้น ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ จากประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Member States) องค์กรจากนานาประเทศ (International Organizations, IOs) และคู่เจรเจรจา (Dialogue Partners, DPs) ได้แก่ ญี่ปุ่น สกอตแลนด์ นอร์เวย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการถ่านหินอาเซียนฝ่ายไทย กล่าวว่า การประชุมนี้เป็นกิจกรรมที่ดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ระยะที่ 2  ระหว่างปี พ.ศ. 2564 -2568 (APAEC Phase II: 2021-2025) เพื่อรายงานและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้กรอบแผนงานที่ 3 ว่าด้วยเรื่องถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Programme Area No 3: Coal and Clean Coal Technology) และในครั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บและการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน CCUS จากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Japan Oil, Gas and Metals National Corporation (JOGMEC), Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA), Global CCS Institute, International Energy Agency (IEA), Northern Lights CCS (Norway), Heriot Watt University (UK) และอื่น ๆ

เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และแนวทางการพัฒนา พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันการดำเนินงานและพัฒนา CCUS ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการแสดงบทบาทและท่าทีของประเทศไทยในการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Clean Coal Technology (CCT) และ CCUS เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

“การประชุมในครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สำคัญของไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนา CCUS รวมถึงการนำเทคโนโลยี CCUS โดยเฉพาะการดักจับ CO2 ให้มีการติดตั้งในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ โดยความสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สอดรับนโยบายรัฐบาล อีกทั้งยังจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย” นายสราวุธ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 4 เมษายน 2565

พัฒนาที่ดินช่วยเหลือเกษตรกร ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนสารเคมีที่ราคาสูง

น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ได้ขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากวัสดุจากพื้นที่การเกษตรและครัวเรือน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร โดยมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในสถานการณ์ปุ๋ยเคมีราคาแพง ดังนี้ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง การใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ และการใช้ปุ๋ยพืชสด ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตปุ๋ยและวิธีการนำใช้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ให้มีปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงไว้ใช้เอง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ และต่อยอดขยายผลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวทางการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยใช้ข้อมูลชุดดิน ผ่านแอปพลิเคชั่น “LDD On Farm Land Use Planning” ซึ่งเป็นบริการรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว หรือตรวจสอบคุณภาพดินโดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยโดยสหกรณ์ผสมปุ๋ยตามสูตรแนะนำ เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และมีความเข้าใจลักษณะดินที่สอดคล้องกับชนิดของพืช โดยสามารถเลือกช่องทางการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือใช้ข้อมูลพื้นฐานสนับสนุนการตัดสินใจ การปรับปรุงบำรุงดินส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการผสมปุ๋ยเคมีตามสูตรแนะนำ ช่วยลดต้นทุนโดยเฉลี่ย 15-20% สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

นอกจากนี้ ได้สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพจากผลิตภัณฑ์ พด.1-14 เพื่อผลิตปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งจุลินทรีย์กำจัดเชื้อในดิน เกษตรกรสามารถนำวัสดุจากพื้นที่เกษตรและครัวเรือนมาประยุกต์ใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีหรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรลดใช้สารเคมีและสร้างการเรียนรู้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันขึ้น พร้อมมอบปัจจัยการผลิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตปุ๋ย และวิธีการนำไปใช้ให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการต่อยอดนำไปผลิตใช้ในพื้นที่ของตนเอง สร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้เกษตรกร อีกทั้งสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

อีกหนึ่งทางเลือก คือการใช้ปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ช่วยเสริมให้โครงสร้างของดินดีขึ้นซึ่งสามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี หรือใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้ เหมาะสมกับพื้นที่ขนาดใหญ่ และพื้นที่เกษตรอินทรีย์ สำหรับชนิดของพืชปุ๋ยสดที่นิยมนำมาปรับปรุงบำรุงดิน ได้แก่ ปอเทือง มะแฮะ เป็นต้น โดยสถานีพัฒนา ที่ดินจังหวัด พร้อมให้การสนับสนุนการปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และปลูกเพื่อไถกลบกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนและอินทรียวัตถุในดินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ จากสถานการณ์ภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย พื้นที่เกษตรกรรมที่เกิดน้ำท่วม ผิวหน้าดินถูกชะล้าง ทำให้ดินมีปัญหา สามารถใช้ปุ๋ยพืชสดเพื่อฟื้นฟู ปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้อีกด้วย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 4 เมษายน 2565

สนค.แนะโอกาสของเกษตรอินทรีย์ เร่งหันมาใช้ช่วงปัญหาปุ๋ยแพง

สนค. แนะโอกาสของเกษตรอินทรีย์ ที่เกษตรกรน่าหันมาใช้ พร้อมกระจายนำเข้า จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาปุ๋ยพุ่ง

วันที่ 4 เมษายน 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ปุ๋ย ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนมีราคาสูงขึ้น จึงส่งผลให้ราคาปุ๋ยไนโตรเจนสูงขึ้นตามไปด้วย และรัสเซียผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับ 1 ของโลก ได้จำกัดการส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อกลุ่มราคาอาหารที่สูงขึ้น และป้องกันการขาดแคลนปุ๋ยในประเทศ และจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทำให้ต่อมาในเดือนมีนาคม 2565 รัสเซียระงับการส่งออกปุ๋ยและสินค้าอื่น ๆ กว่า 200 รายการ เพิ่มเติมจากที่ระงับส่งออกปุ๋ยกลุ่มไนโตรเจนไปก่อนหน้า ตอบโต้การคว่ำบาตรของประเทศตะวันตก รวมทั้งจากการที่จีนที่มีนโยบายส่งออกปุ๋ยน้อยลง จึงส่งผลให้ราคาปุ๋ยทั่วโลกรวมทั้งไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทางอ้อมต่อภาวะเงินเฟ้อของไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น

ไทยจำเป็นต้องนำเข้าปุ๋ย เนื่องจากผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ในปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยรวม 5.6 ล้านตัน เป็นมูลค่า 73,860.20 ล้านบาท แบ่งเป็นปุ๋ยไนโตรเจน 2.74 ล้านตัน มูลค่า 33,185.24 ล้านบาท ปุ๋ยผสม 1.92 ล้านตัน มูลค่า 30,081.50 ล้านบาท ปุ๋ยโพแทสเซียม 0.98 ล้านตัน มูลค่า 10,558.40 ล้านบาท ปุ๋ยฟอสฟอรัส 4,238.7 ตัน มูลค่า 15.43 ล้านบาท และปุ๋ยอินทรีย์ 490.5 ตัน 19.62 มูลค่า 19.62 ล้านบาท แหล่งนำเข้าปุ๋ยที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย รัสเซีย และกาตาร์ สัดส่วนร้อยละ 22.3 14.5 8.8 7.9 และ 7.0 ตามลำดับ

สำหรับการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง สนค. เห็นว่าในระยะสั้น ควรส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ในสัดส่วนที่เหมาะสมคุ้มค่า และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนให้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการกระจายแหล่งนำเข้า โดยอาจนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น และหาแหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยแหล่งใหม่เพิ่มเติม

อาทิ ตุรกี (แม่ปุ๋ยไนโตรเจน) และบราซิล (แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม) ระยะกลาง ควรส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศให้มากขึ้น สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และใช้วัสดุอินทรีย์เหลือทิ้งจากวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรในการจำหน่ายวัตถุดิบเหลือใช้จากการเกษตรนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์

และในระยะยาว ควรส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Fertilizer) กำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ถือเป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์ ตลอดจนสร้างความโปร่งใสด้านข้อมูลให้ตลาดปุ๋ยภายในประเทศ เก็บรวบรวมข้อมูลความต้องการใช้กับปริมาณปุ๋ยภายในประเทศ รวมทั้งข้อมูลราคา การกระจายของสินค้า โดยอาจมีการแจ้งเตือนสต๊อกล่วงหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิดการกักตุน หรือปรับเพิ่มราคา

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกปุ๋ยที่สำคัญของโลก ข้อมูลสถิติจาก Trade Map พบว่าปี 2563 รัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับที่ 1 ของโลก มีปริมาณทั้งสิ้น 34.13 ล้านตัน มูลค่า 6,992.63 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.01 ของมูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีโลก

โดยชนิดปุ๋ยที่รัสเซียมีการส่งออกในปริมาณมากไปน้อย ดังนี้ (1) ปุ๋ยไนโตรเจน 13.73 ล้านตัน มูลค่า 2,484.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) ปุ๋ยผสม 10.82 ล้านตัน มูลค่า 2,731.33 ล้านเหรียญสหรัฐ (3) ปุ๋ยโพแทสเซียม 9.58 ล้านตัน มูลค่า 1,776.48 ล้านเหรียญสหรัฐ และ (4) ปุ๋ยฟอสฟอรัส 1,714 ตัน มูลค่า 0.25 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 เมษายน 2565

ชาวอำนาจเจริญโวย! น้ำตาลมิตรผลก่อมลพิษ-ประชาคมไม่โปร่งใส เล็งนำปัญหาเสนอนายกรัฐมนตรีแก้

คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ

คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ

อำนาจเจริญ - “สุทัศน์ เงินหมื่น” นำกรรมาธิการยุติธรรมฯ พบชาวบ้านเดือดร้อนจากโรงงานน้ำตาลมิตรผล ชาวบ้านระบุเจอทั้งฝุ่น เสียงเครื่องจักร ทั้งปล่อยน้ำเสียสู่ชุมชน ที่สำคัญเวทีประชาคมมีการจูงใจจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ทั้งแจกน้ำตาลทราย ด้านกมธ.ยุติธรรมเตรียมนำปัญหาเสนอนายกรัฐมนตรีแก้

วันนี้ (3 เม.ย.) ที่ศาลาประชาคม หมู่ 2 ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ประธานคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำคณะเดินทางมาพบประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ ในเครือน้ำตาลมิตรผล ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ และ ต.เซียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งโรงงานน้ำตาลมิตรผล มารอรับคณะกรรมาธิการจำนวนมาก

ทั้งนี้ สาเหตุที่คณะกรรมาธิการลงพื้นที่ครั้งนี้เนื่องจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ร้องเรียนไปยังสภาผู้แทนราษฎร ว่าโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ได้ปล่อยฝุ่นละอองกลุ่มควัน ทั้งเกิดเสียงดังมาจากโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล และปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง ส่งผลให้เกิดมลพิษต่อประชาชนที่อยู่ภายในบริเวณดังกล่าวมาเกือบ 10 ปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

น.ส.จิราพร แก้วดี อายุ 30 ปี บ้านเลขที่ 190 ม.8 ต.น้ำปลีก หนึ่งในฐานะแกนนำผู้เดือดร้อน ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่า แม้ว่าการก่อสร้างโรงน้ำตาลได้ส่งผลดีต่อเกษตรกร ทำให้เกิดการจ้างงาน และประหยัดต้นทุนการขนส่งในการนำผลผลิตไปจำหน่าย แต่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเกิดมลภาวะเป็นพิษจากกลุ่มฝุ่นละอองจากโรงงาน กลิ่น เสียงดัง และโรงงานยังปล่อยน้ำเสียสู่แม่น้ำลำคลอง ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน

ด้านนายโจโส สมบูรณ์ กำนันตำบลน้ำปลีก กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ทางจังหวัดได้จัดให้มีประชาคม แต่วันทำประชาคมดังกล่าวทางโรงงานแทนที่จะให้ประชาชนที่อาศัยภายในบริเวณใกล้โรงงานที่ได้รับผลกระทบมาลงมติเท่านั้น แต่กลับขนประชาชนจากภายนอกมาลงมติจำนวนมาก ทั้งยังมีการจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนและแจกน้ำตาลทรายให้แก่ผู้ที่มาประชาคม ตนเห็นว่าการดังกล่าวเเป็นการจูงใจหรือให้สินบน

ด้านนายรังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการยุติธรรมสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้รับฟังจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ขณะนี้ยังตัดสินไม่ได้จะต้องได้รับฟังจากทางโรงงานก่อน ซึ่งการก่อตั้งโรงงานก็มีประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุน ผู้ที่สนับสนุนก็อ้างว่ามีการสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นไม่ต้องจากบ้านไปหางานทำต่างถิ่น

ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็อ้างว่าผู้สนับสนุนนั้นมีที่พักอาศัยอยู่ห่างรัศมีโรงงาน ส่วนผู้อยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาลจะต้องได้รับผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษ ฝุ่นละออง เสียงจากเครื่องจักรทำงาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าวันลงประชามติมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนและแจกน้ำตาลทรายแก่ผู้มาร่วมลงประชามติ อาจจะเป็นการจูงใจหรือให้สินบน ปัญหาดังกล่าวตนจะได้นำเรื่องนี้เสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมลตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

จาก https://mgronline.com   วันที่ 3 เมษายน 2565

ผู้ค้าปุ๋ย-เกษตรกรไทยเผชิญวิกฤตราคาปุ๋ยแพง จากพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน น้ำมันพุ่ง ดัน“ปุ๋ยแพง” ทำผู้ค้าปุ๋ยและเกษตรกร เดือดร้อนถ้วนหน้า พาณิชย์เร่งแก้ปัญหา ย้ำนโยบาย 3 ฝ่าย คือ ผู้ค้า เกษตร และผู้บริโภค ต้องสมประโยชย์

“ปุ๋ย” ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการเพาะปลูกพืชทุกชนิดสำหรับเกษตรกรไทย เพราะ”ปุ๋ย”ทำให้พืชเจริญเติบโตและยังช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีหรือแม่ปุ๋ย ในต่างประเทศเกือบทั้งหมดจากข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ไทยมีพื้นที่ 131 ล้านไร่ ต้องการใช้ปุ๋ยเคมี  8.06 ล้านตัน  โดยไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ 5 ล้านตัน แหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยที่สำคัญคือ จีน รัสเซีย ตะวันออกกลางและแคนาดา

ปัจจุบันราคาปุ๋ยในตลาดโลกพุ่งขึ้นกว่า 100-200 % แล้วแต่ชนิดของแม่ปุ๋ยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับพุ่งขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะปุ๋ยเป็น    จากน้ำมัน ซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยึดเยื้อมากว่า 1 เดือน ทำให้ราคาแม่ปุ๋ยในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งรัสเซียและยูเครนถือว่าแหล่งผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก  ประกอบหลายประเทศสั่งห้ามส่งออกปุ๋ยเพื่อความมั่นคงทางอาหารของไทย โดยเฉพาะจีนที่ประกาศจำกัดโควตาในการส่งออกสินค้าปุ๋ย “ไนโตรเจน” และ “ฟอสเฟต”ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีต้องขยับขึ้นตามราว 36-49% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือเกือบ 100% เมื่อเทียบปี 2563 

ทั้งนี้สถานการณ์ราคาขายส่งปุ๋ยเคมีภายในประเทศเดือน มี.ค. 2565 ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันแม่ปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญที่เกษตรกรไทยใช้มากในตลาดโลก ได้ปรับขึ้นจากปีก่อนเกิน 100% ได้แก่ยูเรีย 46-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 360 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน  แอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 180 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 400 ดอลลาร์ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 122%  ฟอสเฟต 18-46-0 เพิ่มจากปีก่อน 570 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1164 ดอลลาร์ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 104%  โพแทสเซียม 0-0-60 ขึ้นจากปีก่อน 256 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 750  ดอลลาร์ต่อตันหรือเพิ่มขึ้น 193% คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเพาะปลูกของไทย

ปัญหาปุ๋ยแพงย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไทยเนื่องจากโดยเฉลี่ยต้นทุนปุ๋ยเคมีคิดเป็น 19-20% ของต้นทุนการเพาะปลูกพืชทั้งหมด และทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ปรับราคาขึ้นตามต้นทุน ส่งผลให้เกษตรกรไทยต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าปุ๋ยเคมี ดังนั้นผู้ค้าปุ๋ยเคมีและเกษตรกรต่างได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น

ปัญหาดังกล่าวสะท้อนไปยังรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งรีบช่วยแก้ปัญหา ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ มีความห่วงใยปัญหาปุ๋ยกำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหา บรรเทาภาระของประชาชนให้มากที่สุด พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงานกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อหาหนทางนำเข้าเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด พร้อมกับออกแนวคิดช่วยเหลือประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ เช่น ใช้มาตรการทางการเงิน ช่วยปล่อยเงินกู้พิเศษ เงินกู้ระยะยาว ดูแลเรื่องดอกเบี้ย

ที่ผ่านมาที่ยังไม่เกิดสงครามรัสเซียและยูเครน ราคาปุ๋ยก็แพงอยู่แล้วซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ออกมโครงการโครงการพาณิชย์ลดราคา! ปุ๋ยช่วยเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อยของเกษตร แต่กลับมาเจอกับสงครามรัสเซียและยูเครนก็ยิ่งซ้ำเติมไปอีก  ด้านผู้ค้าปุ๋ย ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้อีกหลังจากตรึงราคามาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จึงเสนอขอปรับราคาปุ๋ยเคมีต่อกรมการค้าภายในมาเป็นเวลา 1-2 เดือนแล้ว

ล่าสุด 3 สมาคมผู้ค้าปุ๋ยประกอบด้วยสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรได้ตบเท้าเข้าประชุมร่วมกับกรมการค้าภายใน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยยืนยันว่า ในฤดูกาลเพาะปลูก 4 เดือน​ตั้งแต่พ.ค.-ส.ค. ที่ความต้องการใช้ปุ๋ยจะอยู่ที่ ​2.5 ล้านตัน จะมีเพียงพอไม่ขาดแคลน

นายเทพวิทย์​ เตียวสุรัตน์กุล​ อุปนายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย​  กล่าวว่า ภาคเอกชนได้มีการเตรียมความพร้อมในการสั่งซื้อวัตถุดิบปุ๋ย ปุ๋ยสำเร็จรูปเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยการสั่งซื้อจะดำเนินการล่วงหน้า 45 วัน ดังนั้น ให้ความมั่นใจว่าครึ่งปีแรกปริมาณปุ๋ยมีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน ส่วนในครึ่งปีหลังเอกชนก็ยังจะทยอยนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“การที่กรมการค้าภายในอนุญาตให้ปรับราคาตามต้นทุนทำให้เอกชนมีความมั่นใจในการนำเข้ามากขึ้นและเชื่อว่าปุ๋ยจะไม่ขาดตลาด  “ผู้ค้าปุ๋ย ระบุ

ขณะนี้ผู้ค้าปุ๋ยหลายรายต่างทยอยแจ้งต้นทุนต้นทุนให้กับกรมการค้าภายในให้พิจารณาไปแล้ว โดยได้เสนอขอปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมี 10-20 %  ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า การปรับขึ้นนั้นจะปรับขึ้นเป็นเท่าไร วันนี้ปัญหาปุ๋ยแพงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แม้ว่า กรมการค้าภายในจะ”ไฟเขียว”ขึ้นราคาได้ ไม่ก็ต้องเป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงและจะพิจารณาเป็นรายๆไป ซึ่งส่วนนี้ถือว่า ไม่ได้ใช้ไม้แข็งจนทำให้ผู้ค้าปุ๋ยไม่สามารถประกอบกิจการได้ ขณะเดียวกันก็เกษตรกรที่เป็นผู้ใช้ก็ต้องหามาตรการช่วยบรรเทาความเดือนร้อนควบคู่กันไปด้วยเพื่อทุกฝ่ายอยู่ได้ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และคงต้องเร่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพเพื่อทดแทนปุ๋ยแคมีที่ราคาแพงเพิ่มขึ้นทุกปีตามภาวะราคาตลาดน้ำมันโลก

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 เมษายน 2565

เงินบาทผันผวนในกรอบแข็งค่า แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือน

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่กรอบการฟื้นตัวเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากวิกฤตยูเครนยังไม่แน่นอน ส่วนหุ้นไทยกลับมาปิดเหนือ 1,700 จุดได้ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมีนาคม สถานการณ์โควิด ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ต้นสัปดาห์ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินเยน (ที่ร่วงลงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณสกัดการพุ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์ญี่ปุ่น) และเงินหยวน (ที่อ่อนค่าลงจากความกังวลต่อโควิดในจีน) อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้ในระหว่างสัปดาห์รับความหวังต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน

ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ย่อตัวลงก็ช่วยหนุนสกุลเงินเอเชียด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ประกอบกับนักลงทุนรอจับตาการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด

ในวันศุกร์ (1 เม.ย.) เงินบาทปิดตลาดที่ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 มี.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยรวม 12,438 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET INFLOW ในตลาดพันธบัตร 5,660 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 9,921 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 4,261 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ของไทย รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนมี.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ข้อมูลสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน ยุโรป และอังกฤษ

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยดีดตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ความคาดหวังเชิงบวกต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนรอบวันที่ 29-30 มี.ค. ผลการประชุมกนง. ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ ตลอดจนการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมของทางการในช่วงปลายสัปดาห์

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงสั้นๆ ในระหว่างสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่คืบ ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยืดเยื้อต่อไป

ในวันศุกร์ (1 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,701.31 จุด เพิ่มขึ้น 1.46% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 74,425.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.99% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 6.87% มาปิดที่ 672.17 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,690 และ 1,670 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,720 และ 1,735 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขนำเข้าและส่งออก ยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานเดือนก.พ. บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของยูโรโซน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 3 เมษายน 2565

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นยกแผง

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. เผย เดือนเม.ย. 2565 ราคาสินค้าส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์และราคาน้ำมันดิบที่ยังเพิ่มสูงขึ้น

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2565 สินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคา 11,693 - 12,548 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.32 – 7.65 เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคา 8,198 – 8,240 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.86 – 1.38 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเพิ่มและความกังวลในค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดิม น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก 19.38 - 19.46 เซนต์/ปอนด์ (14.33 - 14.39 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.74 - 1.15 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ส่งผลให้บราซิลเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล จากเดิมที่เคยผลิตเอทานอลที่ร้อยละ 71.42 ได้ปรับสัดส่วนไปผลิตเอทานอลทั้งหมด (100%) ด้านอินเดียได้เพิ่มการส่งออกน้ำตาลกว่า 7.5 ล้านตัน จากเดิม 6 ล้านตัน จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำตาลไม่ปรับตัวเพิ่มมากนัก มันสำปะหลัง ราคา 2.31 - 2.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.43 – 4.35 เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้น ควบคู่กับความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา 9.05 - 9.11 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.23 - 0.93 เนื่องจากในช่วงเก็บเกี่ยวเป็นช่วงฤดูแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งตรงข้ามกับความต้องการตลาด ที่ต้องการข้าวโพดไปใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในการผลิตอาหารสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ราคา 9.66 - 11.86 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.83 - 23.79 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ปุ๋ยขาดแคลนในตลาดโลกและผู้ส่งออกหลักอย่างประเทศจีนลดการส่งออกปุ๋ยเคมี ทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 63.21 - 64.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 4.48 - 6.43 เนื่องจากราคายางสงเคราะห์ที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประกอบกับผลผลิตยางพาราของไทยลดลงในฤดูกาลปิดกรีดยางพารา อีกทั้งปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม กุ้งขาวแวนนาไม ราคา 169.64 - 171.93 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.58 - 2.95 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และกำลังจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศสูงขึ้น นอกจากนี้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้ไทยสามารถส่งออกกุ้งไปยังประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ด้านสุกร ราคา 88.79 - 91.19 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.13 - 3.87 เนื่องจากความต้องการบริโภคสุกรเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเช็งเม้ง ประกอบกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์และค่าขนส่งสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสุกรยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโคเนื้อ ราคา 100 - 110 บาท/กก. ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.54 – 10.60 เนื่องจากในเดือนเมษายนเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร คึกคักมากขึ้น ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 2 เมษายน 2565

จัดการน้ำภาคกลาง ต้องรวมพลังหนึ่งเดียว

จัดการน้ำภาคกลางต้องรวมพลังหนึ่งเดียวปัญหาทรัพยากรน้ำน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม น้ำเสีย ยังคงดำรงอยู่ สทนช. ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เดินหน้าลุย ตั้งอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค จำนวน 5 ภาค ภาคเหนือ -อีสาน -กลาง -ตะวันออก-ใต้

น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวกับการให้ความสำคัญของปัญหาทรัพยากรน้ำ ภายใต้การดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)เพราะสภาพปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม น้ำเสีย ยังคงดำรงอยู่

แม้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน แต่อยู่ในระยะเริ่มต้น เพราะถือกำเนิดเพียง 4 ปีเท่านั้น  ภารกิจการขับเคลื่อนงานยังคงต้องผลักดันต่อไป

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค จำนวน 5 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมอบหมายให้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อดีตเลขาธิการ สทนช. คนแรกที่เพิ่งเกษียณ เป็นประธานอนุกรรมการฯ กำกับดูแลพื้นที่ภาคกลางรองประธานประกอบด้วย

รองเลขาธิการ สทนช. และ รองอธิบดีกรมชลประทาน อนุกรรมการจาก 9 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน  มีผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 2 สทนช. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วมเป็นบทบาทที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ มองสถานภาพน้ำในพื้นที่ภาคกลางอย่างไร? กับ“ปัญหาหลักของภาคกลาง คือการขาดแคลนน้ำ” โดยเขาอธิบายว่า ภาคกลางมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่น้อย ปริมาณความจุก็น้อย  เมื่อเทียบกับความต้องการที่มาก ประกอบด้วยเขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต้องอาศัยแหล่งน้ำในภาคเหนือและภาคตะวันตกเป็นหลักในการส่งน้ำ

โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวมทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์มองดูพื้นที่ 21 จังหวัด ตั้งแต่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลงมาจนถึงกรุงเทพฯ และปากน้ำสมุทรปราการ คลุมกาญจนบุรี ไล่ลงถึงประจวบคีรีขันธ์

ครอบคลุมพื้นที่ 6 ลุ่มน้ำหลัก ประกอบด้วย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำป่าสัก  ลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ล้วนมีบทบาทสำคัญ เป็นแหล่งผลิตอาหารระดับแนวหน้าของประเทศ และครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศด้วย

“ชลประทานสมัยก่อนมีหลักจัดสรรน้ำชัดเจน ฤดูแล้ง น้ำต้นทุนน้อยก็แบ่งปันกัน ปีนี้ส่งให้คลองชลประทานฝั่งซ้าย พอปีหน้าหมุนเป็นฝั่งขวา เกลี่ยประโยชน์กัน ลดปัญหาขาดแคลนน้ำไปในตัว เดี๋ยวนี้ต่างกัน ปลูกทั้งฤดูฝนฤดูแล้ง  แถมยังต้องใช้น้ำร่วมกับระบบประปา และผลักดันความเค็ม จึงไม่มีใครยอมใคร ทำให้การบริหารจัดการน้ำยุ่งยากมากขึ้น”

ธนาคารโลกศึกษามา 20 ปี ก่อนให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำนาปรังซึ่งราคาข้าวไม่ดี และใช้น้ำมาก ต้องแก้ไขโดยจัดพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม (โซนนิ่ง) แต่ไม่สำเร็จ

ปัญหาขาดแคลนน้ำยังส่งผลให้เกิดโรคแทรกตามมา โดยพ่วงปัญหาน้ำเน่าเสีย ดังกรณีลุ่มน้ำแม่กลองกับลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ และน้ำเค็มรุกล้ำ ดังกรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน

ปัญหาในขณะนี้คือฝั่งที่ต้องการใช้น้ำ (Demand Side) ใช้น้ำกันเต็มที่ ในขณะฝั่งจัดหาน้ำ (Supply Side) กลับเผชิญข้อจำกัดมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอุณหภูมิโลก ฝนน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เกิดปัญหาแล้งกลางฤดูฝนบ่อยขึ้น หรือบางทีมีฝนมากผิดปกติจนเกิดอุทกภัย

เพื่อให้สถานการณ์น้ำสมดุล จำเป็นต้องจำกัดฝั่งความต้องการด้วย ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี จัดระเบียบการบริหารจัดการน้ำใหม่  โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่มีการใช้น้ำในสัดส่วนมากที่สุดเป็นที่มาของแนวความคิดวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนล่วงหน้า 1.5 ปี เช่น เริ่มจากฤดูแล้ง 6 เดือน ตามด้วยฤดูฝนอีก 6 เดือน  แล้วเข้าสู่ฤดูแล้ง 6 เดือนอีกถัดไป

เพราะจะบริหารน้ำวันต่อวัน ฤดูต่อฤดู เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องบริหารล่วงหน้า 1 ปีครึ่ง เพื่อให้แต่ละภาคส่วนมีเวลาเตรียมการวางแผนการใช้น้ำ โดยระดมทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาบริหารจัดการ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยมีหน่วยงานกำกับอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยบูรณาการ

“ทำเพียงลำพังหน่วยเดียวไม่ได้ ทุกหน่วยต้องเข้ามาร่วมบูรณาการ ตั้งแต่วางแผนและขับเคลื่อนถึงจะสำเร็จ”

ในการบริหารจัดการน้ำภาคกลาง ต้องให้เกษตรกรทำนาในฤดูฝนได้เต็มที่ 1 ฤดู พอถึงฤดูแล้งอาจปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่จำเป็นต้องมีหน่วยงานเกี่ยวข้องดูแลตลาดและราคาให้ด้วย ไม่ปล่อยให้เกษตรกรเผชิญหน้าปัญหาเพียงลำพัง เหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา จนเกษตรกรมีคำถามว่า ไม่ให้ทำนาปรัง แล้วจะให้ทำอะไร หรือปลูกพืชฤดูแล้ง จะเอาไปขายใคร ตลาดอยู่ตรงไหน

“ภาคกลางไม่ต้องจัดโซนนิ่งพืช เพราะเหมาะทำนาอยู่แล้ว แต่ต้องกำหนดนิยามใหม่ ทำนาเต็มที่ 1 ครั้งฤดูฝน ส่วนฤดูแล้ง ถ้าน้ำมากอาจทำนาปรังได้ในบางพื้นที่  ถ้าน้ำน้อยไปปลูกพืชอื่น ต้องจัดระเบียบให้ได้ ไม่งั้นไม่สำเร็จ มีน้ำเท่าไหร่ก็ไม่พอ ส่งผลกระทบต่อน้ำเสีย น้ำเค็มอีกด้วย”

แล้วอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง จะขับเคลื่อนเป็นผลสำเร็จตามที่หวังได้ไหม?ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างโครงการพัฒนาและฟื้นฟูการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ และ คลองเปรมประชากร มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง มีเจ้าภาพรับผิดชอบแต่ละส่วน ทั้ง Function และ Areaในที่สุดก็ขับเคลื่อนฟื้นฟูชีวิตใหม่ของ 2 คลองดังกล่าวได้อย่างไม่น่าเชื่อ

น้ำสะอาดแทนน้ำครำ เพราะผ่านการบำบัดใช้เพื่อการเกษตร การคมนาคม การท่องเที่ยว และเป็นที่เก็บน้ำ-ระบายน้ำได้ด้วย เป็นมิติใหม่ที่คุ้มค่าการลงทุน เพราะเป็นคลองที่มีอยู่เดิมแล้ว เปรียบได้กับคลองชองเกชอน เกาหลีใต้ อายุมากกว่า 600 ปีไหลผ่านกรุงโซล มีน้ำเน่าเสียและขยะ แต่เมื่อฟื้นฟูขึ้นมาใหม่สวยงาม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาล

“อย่างโครงการฟื้นฟูคลองแสนแสบ ลงทุน 8 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นการบำบัดน้ำเสีย และการใช้ประโยชน์น้ำจากคลองดังกล่าว รวมแล้วมากกว่า 50% ฟื้นฟูสำเร็จเมื่อไหร่ จะเกิดประโยชน์มากมาย”

กระนั้นก็ตาม ในความโชคร้ายเรื่องขาดแคลนน้ำ ภาคกลางก็ยังโชคดี ตรงมีกลุ่มลุ่มน้ำสนับสนุน เช่น ลุ่มน้ำแม่กลองส่งน้ำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฤดูแล้งละ 500 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นอย่างน้อย การเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงยังมีแหล่งน้ำบาดาลเป็นตัวช่วยสนับสนุน หรือบางปี แล้งต้นฤดูฝน กลับมีฝนมากในช่วงปลายฤดู

ภายใต้อนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง น่าจะมีเรื่องราวใหม่ๆ ตามมาอีกมาก และน่าจะสนับสนุนบทบาท สทนช. ในการทำหน้าที่บูรณาการได้ดีขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 เมษายน 2565

ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้เศรษฐกิจไทยยังมีแรงไปต่อ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ.และทิศทางในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว โดยการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจต่างประเทศ ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการกลับมาเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go อย่างไรก็ดี การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ผลจากการระบาดของโควิด-19 ราคาพลังงานและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป

ขณะที่การสำรวจการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนมี.ค. พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดกันต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อที่สูง ตามราคาอาหารและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องผู้ประกอบการธุรกิจในภาคการผลิต และบริการ อยู่ในภาวะทรงตัว เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าคงทนที่ยังทรงตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค มองว่า สถานการณ์แย่ลงเล็กน้อย ตามมาตรการส่งเสริมการขายและมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐที่ลดลง รวมถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ โอมิครอนที่เร่งสูงขึ้นจนผู้บริโภคชะลอการบริโภคสินค้าลง

“ธปท.มองว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง และยังมีแรงส่งที่จะทำให้ไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อ อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น และราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง ตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนั้น ยังต้องจับตาการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้าที่จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน”

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 1 เมษายน 2565

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.31 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาท ยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จะมาจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.31 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.25 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จะมาจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังพอมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากทั้งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้าตลาดทุนไทย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง หลังทางการสหรัฐฯ เตรียมระบายน้ำมันดิบสำรองวันละ 1 ล้านบาร์เรล เป็นเวลา 180 วัน ก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงก่อนและหลังรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ เพราะหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้แย่กว่าคาดไปมาก อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม น้อยกว่า 3 แสนราย ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจสอดคล้องกับประมาณการของตลาด ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาดค่าเงินอย่างมีนัยยะสำคัญได้ เพราะตลาดได้รับรู้แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ไปมากแล้ว เนื่องจากโดยรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ เรามองว่า แนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะเงินบาทแข็งค่าเพื่อทยอยแลกเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ส่วนแนวต้านจะอยู่ในโซน 33.50-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าอาจมีผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว หลังเงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วในช่วง 2 วันที่ผ่านมา

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินปิดไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยบรรยากาศปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อเนื่องในการประชุมเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนกุมภาพันธ์ พุ่งขึ้นแตะระดับ 6.4% สูงสุดในรอบ 40 ปี

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามและแรงกดดันจากแนวโน้มฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้กดดันให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.57%

ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังคงปรับตัวลงราว -1.54% ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า -1.43% เช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ยังคงมีแรงขายหุ้นกลุ่ม Cyclical

อาทิ หุ้นกลุ่มธนาคาร ING -2.7%, BNP Paribas -2.2%  หุ้นกลุ่มยานยนต์ Daimler -2.4%, BMW -2.1% กดดันตลาดหุ้นยุโรปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนของสงครามและการเจรจาสันติภาพ และแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยงยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ 2.35% ทั้งนี้ หากตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาสงครามและทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยเฉพาะการลดงบดุลของเฟด ที่คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนพฤษภาคม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 98.33 จุด

ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามและความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลให้ สกุลเงินยูโร (EUR) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.107 ดอลลาร์ต่อยูโร

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากที่เงินเฟ้อ PCE พุ่งขึ้น ทำจุดสูงสุดในรอบ 40 ปี ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น

ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นจนแตะแนวต้านใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ราคาทองคำจะยังคงแกว่งตัวในกรอบระหว่างโซนแนวรับ-แนวต้าน โดยยังมีปัจจัยหนุน คือ ความไม่แน่นอนของสงคราม

สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนผ่านยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมีนาคม ที่อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนราย ทำให้อัตราว่างงานลดลงเหลือ 3.7%

ขณะเดียวกัน ความต้องการแรงงานที่อยู่ในระดับสูงจะยังช่วยหนุนให้ค่าจ้างต่อชั่วโมง (Average Hourly Earnings) โตกว่า +5.5%y/y ซึ่งภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งนั้น จะช่วยหนุนให้เฟดสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤษภาคม หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งยุโรป เรามองว่าสถานการณ์สงครามรวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามและอาจส่งผลให้ตลาดการเงินกลับมาผันผวนได้ ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามที่เห็นได้ชัด

คือ ราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นหนัก ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยุโรปในเดือนมีนาคมอาจพุ่งขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 6.7% ซึ่งทิศทางเงินเฟ้อยุโรปที่อาจอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะส่งผลให้ ECB สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปี

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 1 เมษายน 2565