http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนเมษายน 2567)

“นฤมล”เผยบริษัทของจีนสนใจลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลในไทย

“นฤมล”เผยบริษัท China Chengtong International Investment สังกัดสำนักงบประมาณแผ่นดิน ของจีน สนใจลงทุนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแบบครบวงจร และลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลในไทย มีกำลังผลิต 6 แสนตันต่อปี

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย หารือ นาย Karl Liu กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบริษัท China Chengtong International Investment ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ในประเด็นความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในไทย

ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า บริษัท China Chengtong International Investment เป็นบริษัทที่อยู่ในสังกัดของสำนักงบประมาณแผ่นดิน สาธารณรัฐประชาชนจีน และมีใบอนุญาตการค้าและการลงทุน รวมถึงมีกองทุนและหุ้นในรัฐวิสาหกิจของจีน เช่น ปิโตรเลียม และ คมนาคม

จากการหารือ บริษัทฯ ให้ความสนใจลงทุนในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแบบครบวงจรระหว่างไทย-จีน ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ซื้อมันสำปะหลังจากไทยมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.8 ล้านตัน เพื่อนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรม และการบริโภค อาทิ การแปรรูปไปสู่แอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม และอาหารสัตว์

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีความสนใจที่จะลงทุนการสร้างโรงงานน้ำตาลในไทย ที่มีกำลังผลิต 6 แสนตันต่อปี และสนใจที่จะเชิญชวนนักมาลงทุนชาวจีนข้ามาทำกิจการเหมืองแร่โพแทชในไทย โดยมีความประสงค์ให้ผู้บริหาร CITIC หารือกับผู้แทนการค้าไทยอีกครั้ง ในเรื่องการลงทุนแร่โพแทชช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 นี้

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน และยินดีที่บริษัทฯ จะนำมันสำปะหลังไปแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง พร้อมแจ้งให้ทราบถึงความเป็นไปของตลาดมันสำปะหลังของเกษตรกรไทย

“นฤมล”เผยบริษัทของจีนสนใจลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลในไทย

ในส่วนอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงอาจจะต้องหารือในเรื่องวัตถุดิบ ที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลกับกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป

รวมถึงการลงทุนทำเหมืองแร่โพแทช ก็อยู่ในภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมี 3 บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่โพแทช ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี และ นครราชสีมา ได้แก่ บมจ. อาเซียนโปแตชชัยภูมิ บจก. เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น และ บจก. ไทยคาลิ โดยผู้แทนการค้าได้แนะนำบริษัทฯ ว่า ควรมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาในเรื่องของการเข้าร่วมลงทุน และสามารถหารือกับบริษัทต่าง ๆ ได้โดยตรง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 30 เมษายน 2567

 

ราคาสินค้าเกษตร ‘ข้าว-มัน-อ้อย-นม-ไข่’ พุ่ง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2567 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ราคา 11,449 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 17.82% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 9,717 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้านาปี 15%ราคา 11,447 บาท/ตัน ราคาเพิ่มขึ้น 17.97% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 9,700 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้านาปรังความชื้น 15% ราคา 11,425 บาท/ตัน ราคาเพิ่มขึ้น 17.10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 9,756 บาท/ตัน

ข้าวนาปีหอมมะลิ ราคา 14,068 บาท/ตัน ราคาเพิ่มขึ้น 5.68% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 13,313 บาท/ตัน หัวมันสำปะหลังสดคละราคา 3.05 บาท/ กิโลกรัม (ก.ก.) ราคาเพิ่มขึ้น 6.36% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 2.87 บาท/ก.ก. อ้อยโรงงานราคา 1,438 บาท/ตัน ราคาเพิ่มขึ้น 27.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 1,127บาท/ตัน สับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงาน ราคา 10.95 บาท/ กิโลกรัม (ก.ก.) ราคาเพิ่มขึ้น 48.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 7.39 บาท/ก.ก.

ยางแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคา 62.86 บาท/ก.ก. ราคาเพิ่มขึ้น 42.24% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 44.20 บาท/ก.ก. ผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละราคา 5.62 บาท/ก.ก. ราคาเพิ่มขึ้น 12.35% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 5.00 บาท/ก.ก. ลำไยเกรด Aราคา 30.20 บาท/ก.ก. ราคาเพิ่มขึ้น 16.79% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 25.86 บาท/ก.ก.

ไข่ไก่สดคละราคา 356 บาท/ร้อยฟอง ราคาเพิ่มขึ้น 5.23% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 25.86338 บาท/ร้อยฟอง น้ำนมดิบราคา 20.52 บาท/ลิตร ราคาเพิ่มขึ้น 7.05% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 19.17 บาท/ลิตร ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 2-4 ตัว/ก.ก. ราคา 59.39 บาท/ก.ก. ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ราคา 58.31 บาท/ก.ก.

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 จะหดตัวลง เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ลดลงแต่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยสินค้าที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย

โดยข้าว ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมพลังงานภายในประเทศมีความต้องการต่อเนื่อง อ้อยโรงงาน ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอ้อยในประเทศสูงขึ้น สับปะรดปัตตาเวีย ราคาเพิ่มขึ้น จากความต้องการของโรงงานแปรรูปที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสินค้าปศุสัตว์และประมงที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 ได้แก่ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ในประเทศ น้ำนมดิบ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบให้สอดคล้องกับ

ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และปลาดุก เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 23 เมษายน 2567

 

‘พิมพ์ภัทรา’ มอบ 74 รางวัล เชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต้นแบบ ประจำปี 2566 เผยตัวเลขอ้อยเข้าหีบ ฤดูการผลิตปี 66/67 รวม 82.16 ล้านตัน

‘พิมพ์ภัทรา’ มอบ 74 รางวัล เชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต้นแบบ ประจำปี 2566 เผยตัวเลขอ้อยเข้าหีบ ฤดูการผลิตปี 66/67 รวม 82.16 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 12.49%

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านรางวัลที่กำหนด เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้นโยบาย “สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน”

โดยในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล รวม 74 รางวัล ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับความสำเร็จของทุกท่านที่ถือได้ว่าเป็นบุคคลและองค์กรต้นแบบและเชื่อมั่นว่างานในวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป

สำหรับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 9 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย

1. รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น แบ่งเป็น 5 ประเภท รวม 47 รางวัล

1) รางวัลแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา

2) รางวัลการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

3) รางวัลการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4) รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง

5) รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย

2. รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น แบ่งเป็น 4 ประเภท รวม 27 รางวัล

1) รางวัลโรงงานน้ำตาลยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษมอบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น ลำดับที่ 1 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 ได้แก่ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม

2) รางวัลอ้อยรักษ์โลก

3) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต

4) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ได้ปิดหีบอ้อยไปแล้ว มีตัวเลขอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 130 วัน รวม 82.16 ล้านตัน แบ่งเป็น อ้อยสด 57.81 ล้านตัน คิดเป็น 70.36% และอ้อยไฟไหม้ 24.35 ล้านตัน คิดเป็น 29.64% ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (Yield) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 106.76 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.35 C.C.S. ผลผลิตอ้อยรวมลดลงจากปีก่อน 11.73 ล้านตัน คิดเป็น 12.49% ทั้งนี้ ก่อนเปิดหีบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดการณ์แนวโน้มจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 82.40 ล้านตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำจากปีก่อน ๆ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

“กระทรวงอุตสาหกรรมขอขอบคุณ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่มีความตั้งใจและให้ความร่วมมือในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2566/67 ยังคงมีปริมาณอ้อยไฟไหม้อยู่ในระดับที่สูง ในฤดูการผลิตปีต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้วางแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาลดการเผาอ้อยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ เช่น 1) การนำระบบ AI มาจำแนกอ้อยเผาและอ้อยสดก่อนเข้าหีบ 2) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้

เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อยและเก็บเกี่ยวอ้อยสด 3) จัดหาเครื่องสางใบอ้อย 4) มาตรการทางกฎหมาย 5) ปรับปรุงการคำนวณราคาอ้อยให้เป็นตามเกณฑ์คุณภาพการผลิตอ้อย 6) ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อย 7) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดการเผาอ้อยในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก ข้อมูลจาก สอน. คาดว่าฤดูการผลิตปีต่อไป จะมีปริมาณอ้อยสดในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากกว่า 240,000 ราย และโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวปิดท้าย

จากhttps://www.industry.go.th   วันที่ 22 เมษายน 2567

 

ปิดหีบอ้อยแล้ว!ทะลุ 82.16ล้านตันแล้งฉุดลดวูบราคาโลกผันผวนหนัก

57 โรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อยฤดูผลิตปี 2566/67 แล้วพบปริมาณอ้อยรวมอยู่ที่ 82.16 ล้านตัน น้ำตาลรวม 8.77 ล้านตัน เผยฝนแล้งทำอ้อยหายวับจากฤดูก่อน11.72 ล้านตัน จับตาน้ำตาลโลกผันผวนสูงหวั่นราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี66/67 ติดลบ ท่ามกลางกองทุนน้ำตาลถังแตกไม่มีจ่ายโรงงาน 

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า การเปิดหีบโรงงานน้ำตาล 57 แห่งทั่วประเทศฤดูการผลิตปี 2566/67 ตั้งแต่ 10 ธ.ค. 66 และได้ปิดหีบอ้อยแล้วเมื่อ 17 เม.ย. 67 พบปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมอยู่ที่ 82.166 ล้านตัน น้ำตาลทรายรวมทั้งสิ้น 8.77 ล้านตัน ปริมาณกากน้ำตาล 3.557 ตัน โดยเมื่อเทียบกับฤดูหีบปีที่ผ่านมา( 2565/66 )ซึ่งปริมาณอ้อยอยู่ที่ 93.88 ล้านตันยังถือว่าหายไปราว 11.72 ล้านตันเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูเพาะปลูก

“ การเปิดหีบทั้งหมดรวม 130 วันหลังปิดหีบมีปริมาณอ้อยสดทั้งสิ้น 57.8 ล้านตันคิดเป็นสัดส่วน 70.36% ขณะที่อ้อยไฟไหม้ 24.35 ล้านตันคิดเป็น 29.64% ของปริมาณอ้อยโดยรวม และมีค่าความหวานเฉลี่ยเบื้องต้น 12.35 CCS น้ำตาลต่อตันอ้อย 106.76 “นายวีระศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ในฤดูการผลิตใหม่ปี 2567/68 คาดว่าจะมีชาวไร่ที่ปลูกมันสำปะหลังบางส่วนหันมาปลูกอ้อยเพิ่มเนื่องจากแม้ราคาจะสูงแต่ขณะนี้เกิดโรคระบาด อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลและต้องติดตามคือราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกโดยเฉพาะน้ำตาลทรายดิบผันผวนค่อนข้างสูงจากเดิม 25 เซนต์ต่อปอนด์ล่าสุดเหลือ 19 เซนต์ต่อปอนด์เนื่องจากผลผลิตจากบราซิลที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอินเดีย ประกอบการภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอทำให้ความต้องการน้ำตาลในโลกชะลอตัวตาม

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า หากราคาน้ำตาลตลาดโลกลดลงสิ่งที่น่าห่วงคือการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/67 คิดเฉลี่ยที่27.35 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ทำราคาเฉลี่ยไว้ที่ 25.31 เซนต์ต่อปอนด์ หากเป็นเช่นนี้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2566/67 จะติดลบและหนี้จะไปตกกับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ที่ขณะนี้เองก็ไม่มีเงินสะสมขาดสภาพคล่องแถมยังเป็นหนี้ โรงงานก็จะไม่ได้รับเงินคืน ท่ามกลางการแย่งซื้ออ้อยจากชาวไร่บางส่วนสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้ 1,420 บาท/ตัน

“การหีบอ้อยของไทยไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับบราซิลเพราะไทยใช้เวลาหีบอ้อยเฉลี่ย 3 เดือนจบ มีความเร่งรีบและแย่งอ้อยเนื่องจากปริมาณอ้อยไม่สมดุลกับโรงงานน้ำตาลโดยอ้อยไทยควรมีมากกว่า 100 ล้านตันขึ้นไปเพราะโรงงานเหมือนมี 57 แห่งก็จริงๆแล้วมีการขยายการผลิตของโรงงานเดิมเหมือนมี 2 โรงงานนับรวมๆ ก็ 80 โรงงานได้ซึ่งอดีตมี 46 แห่งคณะรัฐมนตรีได้สั่งยกเว้นการให้ใบอนุญาตเพิ่มเติมเพื่อควบคุมแต่กลายเป็นระบบราชการที่มาอนุญาตเพิ่มในภายหลัง”นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 22 เมษายน 2567