http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนสิงหาคม 2556)

นักวิชาการชี้"อ้อย-น้ำตาล"ต้องปรับตัวเข้าสู่เออีซี

รศ.ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ ผู้อำนวยการสถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จากการศึกษาวิจัย อ้อยและน้ำตาล, มันสำปะหลัง และกุ้งแช่แข็ง เมื่อเปรียบเทียบกัน 10 ประเทศ พบว่าอ้อยและน้ำตาลนั้นประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อการขับเคลื่อน แม้ไทยมีผลผลิตเป็นอันดับหนึ่ง แต่ส่งออกเป็นอันดับสอง ในขณะที่มันสำปะหลังและกุ้งแช่แข็งไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง หลังเออีซีน่าจะมีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : ยกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่

เนื่องจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติหลักการในการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า แต่กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ไม่สามารถใช้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องตามข้อเท็จจริงทางด้านวิชาการและสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ทั้งยังสร้างภาระให้แก่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเฉพาะการที่ไทยต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี(AEC) ในอนาคตอันใกล้นี้

นางมัณฑนา มิลน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยร่างฉบับแรกได้ผ่านความเห็นชอบของครม.และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(สคก.) พิจารณา ทาง สคก.มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขร่างใหม่ โดยแยกให้ชัดเจนระหว่างหลักการด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช กรมวิชาการเกษตรจึงได้ยกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ตามข้อเสนอของ สคก. โดยได้แยกหมวดหมู่เกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่พื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่และขยายฐานพันธุกรรมพืชเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้การคุ้มครองพันธุ์พืชป่า
พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเอื้อต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชในชุมชน โดยชุมชนสามารถนำพันธุ์พืชใดๆ ก็ได้ ที่ชุมชนพิจารณาว่ามีศักยภาพในการแข่งขันมาขอขึ้นทะเบียนได้ หากมีการนำพันธุ์พืชที่ขึ้นทะเบียนไว้ไปศึกษาวิจัยและเกิดประโยชน์ทางการค้า ชุมชนจะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์โดยตรง ที่สำคัญยังเป็นการเตรียมพร้อมสนับสนุนประเทศไทยในการเข้าสู่ AEC รวมทั้งให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์ (Seed Hub) ของอาเซียนในอนาคตด้วย

“กรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่า การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชครั้งนี้ ยังคงสิทธิเกษตรกร สิทธิชุมชน และการแบ่งปันผลประโยชน์ไว้เช่นเดิม ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเกษตรมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศหรือเกษตรกร”

ทางด้าน นางชุติมา รัตนเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เฉพาะที่เป็นองค์ประกอบของพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น ทั้งยังกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว พร้อมกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์พืชพื้นเมืองทั่วไป พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น และพืชป่า รวมถึงการขึ้นทะเบียนชุมชนและสิทธิชุมชน และยังมีการปรับปรุงคณะกรรมการเพื่อความเหมาะสมในการให้คำแนะนำรัฐมนตรี เพื่อออกกฎระเบียบและปฏิบัติตามพ.ร.บ.นี้ ขณะเดียวกันยังกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน

เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรแก้ไขและเพิ่มเติมคำนิยามต่างๆ อาทิ ทรัพยากรพันธุกรรม สารพันธุกรรมพืชป่า พืชพื้นเมืองทั่วไป สภาพทางพันธุกรรม และนักปรับปรุงพันธุ์พืช ให้มีความเหมาะสม และเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้มีความเหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์พืช มายื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พืชพื้นเมืองทั่วไปและพืชป่า พร้อมส่งเสริมและกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการดูแลบำรุงรักษาอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ เป็นเรื่องสำคัญที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่
เพื่อป้องกันการลักลอบกรณีที่นำพันธุ์พืชใหม่ที่จดทะเบียนแล้วไปจดทะเบียนซ้ำในชื่ออื่นทั้งในและต่างประเทศ แม้จะหมดระยะเวลาในการคุ้มครอง ชื่อพันธุ์พืชนั้นก็คงเป็นชื่อเดิม และเพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ความตรงตามพันธุ์ ซึ่งจะช่วยปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภคจากการละเมิดสิทธิ ในการนำพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองไปผลิตและจำหน่ายอย่างไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมาย

นางชุติมา กล่าวด้วยว่า อายุหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ควรเป็นไปตามหลักที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ อาทิ ประเทศมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่กำหนดอายุการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ไว้ที่ 20 ปี และ 25 ปี ขณะที่กฎหมายเดิมของไทยให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่ขอจดทะเบียนอยู่ที่ 12, 17 และ 27 ปี ซึ่งอาจทำให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชของไทยเสียเปรียบได้ สำหรับสิทธิของผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่นั้น ได้ปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนและแยกแต่ละเรื่องออกจากกัน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยมีการเพิ่มเติมการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชในพันธุ์พืชใหม่ให้ครอบคลุมถึงผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ และเพื่อป้องกันการขโมยพันธุกรรมพืชของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเห็นชอบ และนำไปสู่ขั้นตอนกฤษฎีกาแล้วเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายของประเทศได้ หากไทยไม่สามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ได้ก่อนที่จะเปิด AEC เกรงว่า นักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเกื้อหนุนการผลิตและการค้ามากกว่า เช่น ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 สิงหาคม 2556

สกู๊ปพิเศษ : กรมพัฒนาที่ดินกับความก้าวหน้าการจัดทำเขตพื้นที่เหมาะสม สำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายกำหนดเขตการปลูกพืช หรือ Zoning ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในการประกาศเขตเหมาะสมในการปลูกพืช ที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินในเรื่องของคุณสมบัติทางกายภาพเกี่ยวกับความเหมาะสมของดิน สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ รวมทั้งนำเรื่องของความต้องการของพืชเข้ามาเป็นองค์ประกอบ โดยดูว่าพื้นที่นั้นๆ มีความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดใดบ้าง และจำแนกออกมาเป็นเหมาะสมมาก เหมาะสมปานกลาง เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศไปแล้วในพืช 13 ชนิด รวมทั้งปศุสัตว์และประมงด้วย

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลเชิงแผนที่ อีกทั้งยังพิจารณาโครงการ/กิจกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เหมาะสม หรือเพื่อปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรชนิดอื่นในพื้นที่ไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมน้อย โดยขอให้เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และประมงจังหวัด เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังตรวจสอบพื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรืออยู่ในพื้นที่ป่าโดยขอให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

ทั้งนี้ ในส่วนของข้าว ซึ่งหลังจากมีการสำรวจเขตพื้นที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมแล้ว พบว่า พื้นที่เขตโซนนิ่งเกษตร ที่มีความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวนั้น ควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยลดต้นทุนการผลิตข้าว การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการพัฒนาคุณภาพข้าวให้มีคุณภาพดี สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยการจัดทำแปลงต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ใช้ Smart farmer ข้าว เป็นแปลงต้นแบบ

ส่วนการจัดระบบการปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทาน เพื่อป้องกันการระบาดของศัตรูข้าวโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การพักดินเพื่อฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น โดยการงดการปลูกข้าวในพื้นที่นาปรังเฉพาะพื้นที่ โดยใช้ระบบการส่งน้ำมากำกับเป็นโซนๆ จะควบคุมการส่งน้ำเฉพาะปลูกพืชไร่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่ เช่น พืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เป็นต้น โดยภาครัฐจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อเป็นมาตรการจูงใจ โดยจะดำเนินการปรับระบบการปลูกข้าวปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ไร่ ทั้งนี้จะหมุนเวียนพื้นที่จัดระบบการปลูกข้าวดังกล่าวในเขตชลประทานแต่ละปี

สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่นอกเขตโซนนิ่ง หรือพื้นที่ที่เหมาะสมเล็กน้อยถึงไม่เหมาะสม เป็นพื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 27,408,106 ไร่ ได้ผลผลิตต่ำประมาณ 35 ถังต่อไร่ หรือ 350 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการปลูกบำรุงดูแลรักษาสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และทำการประมงเพื่อสร้างรายได้ใหม่ ประกอบด้วย เขตส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานเพื่อสร้างรายได้ใหม่มีเนื้อที่ 6,364,511 ไร่ เขตส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างรายได้ใหม่มีเนื้อที่ 4,890,548 ไร่ และเขตส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อสร้างรายได้ใหม่มีเนื้อที่ 949,555 ไร่

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เพิ่มทางเลือกเพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้มากขึ้น โดยการส่งเสริมการปลูกพืชไร่-นา สวนผสม บนพื้นฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 10,000 ไร่ โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น การสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้แก่เกษตรกร การส่งเสริมการปลูกผัก-ไม้ผล จำนวน 10,000 ไร่ โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นบางส่วน เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 สิงหาคม 2556

ดิ้นคืนชีพส่งออกชู20สินค้าหาตลาด

รมว.พาณิชย์ สั่งสแกนตลาดทั่วโลก เร่งดันส่งออกสินค้าหลัก 20 รายการ

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนัดให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอผลวิเคราะห์สินค้าและตลาดส่งออกแต่ละประเทศเพื่อกระตุ้นการส่งออกแต่ละรายสินค้าในวันที่ 4 ก.ย.นี้

ด้านนางอัมพวัน พิชาลัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะเริ่มนัดผู้ส่งออกรายกลุ่มสินค้า 20 รายการแรกมาหารือร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์อุปสรรค และจะวางยุทธศาสตร์เป็นรายกลุ่มสินค้าต่อไป

สำหรับสินค้าส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรก เช่น ข้าว ยางพารา อาหาร น้ำตาล อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เป็นต้น

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทถือว่ามีความผันผวนและอ่อนค่าลงเร็วเกินไป ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยได้ประโยชน์ ทำให้การค้าขายคล่องตัวและได้เม็ดเงินการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 30 สิงหาคม 2556

ไฟเขียวตั้งรง.ไฟฟ้าแสงอาทิตย์-ชีวมวล-น้ำ มูลค่า 2.3หมื่นล.

คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไฟเขียวตั้งโรงงานที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแลดล้อม 10 ราย ส่วนใหญ่ผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และไฟฟ้าพลังงานน้ำ มูลค่ารวมกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท จ้างแรงงานเพิ่มกว่า 3 พันคน...

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงาน บางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม (รง.4) ได้อนุมัติให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ผ่านการพิจารณา ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) และได้เสนอมาที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา โดยได้อนุมัติให้เปิดกิจการใหม่ 10 ราย จากที่ขอมา 12 ราย โดยอีก 2 รายได้ส่งเรื่องให้กรอ.กลับไปพิจารณาใหม่

สำหรับกิจการที่ได้รับอนุญาตในครั้งนี้ อาทิ บริษัท โซล่าเทค เอ็นเนอยี จำกัด อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ประกอบกิจการผลิตพลังไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินลงทุน 588 ล้านบาท จ้างแรงงาน 10 คน กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ บริษัท บางจากโซลาร์เอ็นเนอยี จำกัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินลงทุน 2,058 ล้านบาท จ้างแรงงาน 15 คน กำลังการผลิต 13 เมกะวัตต์ บริษัท ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด อ.พุนพิน จ.สุราษฎ์ธานี ประกอบกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที เงินลงทุน 371 ล้านบาท จ้างแรงงาน 666 คน ผลิตอาหารกล่อง 13,860 ตัน/ปี

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท คาวาซูมิ ลาบอราทอรี่ จำกัด อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ประกอบกิจการผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เงินลงทุน 942ล้านบาท จ้างแรงงาน 1,151 ผลิตถุงบรรจุเลือด 305,000 ถุง/ปี บริษัท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อ. บางกรวย จ.นนทบุรี ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงธรรมชาติ เงินลงทุน 14,895 ล้านบาท จ้างแรงงาน 75 คน กำลังการผลิต 879 เมกะวัตต์ และบริษัท นอร์ธเวสต์ โซล่าร์ จำกัด อ. พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินลงทุน 588 ล้านบาท จ้างแรงงาน 10 คน กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ส่วนโรงงานที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯมีมติคืนเรื่องมี 2ราย ประกอบด้วยบริษัท สงวนวงษ์สตาร์ช จำกัด จ.นครราชสีมา และบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด จ.นครราชสีมา

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 30 สิงหาคม 2556

ถกไกล่เกลี่ยภาษีอาเซียน

ประจวบคีรีขันธ์ - ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า หัวหิน มีการประชุมความร่วมมือทางด้านกฎหมายภาษีอากร ในกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 4 โดยนายอดิเทพ ถิระวัฒน์ อธิบดี ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง เปิดเผยว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ได้รับงบประมาณจากสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม เพื่อความร่วมมือทางด้านวิชาการ การศาล และการยุติธรรมทั้งในและต่างประเทศ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 และการขับเคลื่อนของศาลยุติธรรม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ศาล โดยมีผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนนำเสนอเกี่ยวกับข้อกฎหมาย การระงับข้อพิพาททางภาษีอากรของแต่ละประเทศรวมทั้งข้อเสนอแนะของแต่ละประเทศเพื่อสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก

นายอดิเทพกล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือ อย่างดีจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนส่งผู้แทนเข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรของประเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา สิงคโปร์ และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ทนายความ และนักศึกษา ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมอีกด้วย ซึ่งผลของการประชุมจะนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านภาษีอากร เพื่อก้าวสู่เออีซีต่อไป

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 30 สิงหาคม 2556

ตั้งเป้า3ปีแก้ที่ดิน3แสนราย

สปก.ลั่นเดินหน้าปั้น‘Smart Farmer’สร้างความมั่นคงอาชีพเกษตรไทย
นายสมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า การดำเนินงานในปี 2556
ของ ส.ป.ก. ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี การดำเนินงานในหลายโครงการบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการจัดที่ดินให้แก่ผู้ที่ไร้ที่ดินทำกินและได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ ส.ป.ก. จำนวนทั้งสิ้น 3.7 แสนราย ในปีนี้ ส.ป.ก.สามารถจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรไปแล้ว 7 หมื่นราย ซึ่งยังเหลืออีก 3 แสนราย คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ครบทั้งหมดภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้

ส่วนการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินนี้ ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรไปแล้วทั้งสิ้น 2.5 ล้านราย รวมจำนวนที่ดินของรัฐและเอกชนที่จัดสรรให้ไปแล้ว 35 ล้าน จากที่ดินทั้งหมด 38.9 ล้านไร่ โดยยังเหลือที่ดินของรัฐที่ยังไม่ได้จัดสรรอีกจำนวน 4 ล้านไร่ ที่จะนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร และส.ป.ก.ยังได้ดำเนินการจัดหาที่ดินของภาคเอกชนเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อนำที่ดินเหล่านั้นมากระจายสิทธิ์ให้แก่ผู้ต้องการที่ดินทำกินแต่ยากจน

รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.ป.ก. ยังคงทำหน้าที่หลักในการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ควบคู่กับการพัฒนาที่ดินทำกินให้เหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแหล่งน้ำ การปรับปรุงดิน และปัจจัยการผลิตที่จะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิต อีกทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ได้มีทักษะในการประกอบอาชีพ การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีระบบการจัดการผลิตสินค้าเกษตรที่ดี เป็นไปตามความต้องการของตลาด ด้วยการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ ส.ป.ก. กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้จัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชน เป็นไปอย่างถูกต้อง รวมถึงการตรวจสอบที่ดินของรัฐที่จัดสรรไปแล้ว แต่มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จำเป็นต้องเรียกคืนกรรมสิทธิ์จากเกษตรกรเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาตัวเกษตรกร และการพัฒนาพื้นที่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการสร้างเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) รวมถึงการโซนนิ่งพื้นที่ เพื่อการวางแผนด้านการจัดการเกษตรที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช ไม้ผล พื้นที่สำหรับการทำปศุสัตว์ เป็นต้น โดยมุ่งหวังให้ภาคการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็ง เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

"ศุภชัย"เห็นด้วยสหรัฐลดคิวอี

"ศุภชัย"หนุนสหรัฐลดคิวอี หวังเอเชียและไทยมองเห็นภาพพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง พร้อมปรับตัวในด้านกำลังการผลิต การศึกษา การคมนาคมขนส่ง กฎระเบียบพิธีการศุลกากร การวิจัยและพัฒนาฝีมือแรงงาน และสร้างธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้งบริหารจัดการที่ถูกต้อง

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เปิดเผยถึงกรณีการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ว่า จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและตลาดทุนอย่างแน่นอน แต่เป็นเพียงระยะสั้น เพราะที่ผ่านมาเอเชียพึ่งพาสภาพคล่องจากมาตรการคิวอี ที่ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนเกรงจะเกิดปัญหาฟองสบู่ในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ทำให้เกิดภาพว่าราคาหุ้นในเอเชียปรับขึ้นสูงมาก ซึ่งความจริงการปรับขึ้นของราคาสินทรัพย์ในเอเชียประมาณ 80% มาจากสภาพคล่องที่ไหลเข้ามา มีเพียง 20% เท่านั้นที่เกิดจากประสิทธิภาพการผลิต

"การที่สหรัฐจะถอนมาตราการคิวอี ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เงินทุนจะไหลกลับ ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียและไทยมองเห็นภาพพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง เพื่อปรับตัวในด้านกำลังการผลิต การศึกษา การคมนาคมขนส่ง กฎระเบียบพิธีการศุลกากร การวิจัยและพัฒนาฝีมือแรงงาน และสร้างธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้งบริหารจัดการที่ถูกต้อง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น ดังนั้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะลดลงบ้าง แต่จะแข็งแรงขึ้นในระยะยาว"

นอกจากนี้ อยากแนะนำให้ไทยลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังจีน เนื่องจากขณะนี้จีนกำลังปรับสมดุลเศรษฐกิจด้วยการลดการเกินดุลการค้าที่มาจากภาคการส่งออก มาเน้นการบริโภคภายในประเทศจีน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนเกินดุลลดลงจาก 9% ของจีดีพี เหลือ 2% ของจีดีพี ทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศในอาเชียนที่พึ่งพาการส่งออกไปจีน โดยไทยควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการขยายห่วงโซ่การผลิตที่เน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

บาทแข็งค่าช่วงสั้น จับตาเฟดต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2556 ค่าเงินบาทเปิด/ตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.19/21/ บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/8) ที่ระดับ 32.25/27 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค หลังจากที่ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐต่อสถานการณ์ในประเทศ ซีเรีย โดยที่ผู้นำสหรัฐได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าที่จะใช้กำลังทางทหารโจมตี ซีเรียในวงจำกัดเท่านั้น และยืนยันว่ามาตรการต่างๆ ที่สหรัฐใช้เป็นแค่การเตือนซีเรียว่าอย่าพยายามใช้อาวุธเคมีอีก

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากการประกาศดัชนีทำสัญญายอดขายบ้านที่กำลังรอ การปิดขายของสหรัฐลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือนกรกฎาคม โดยดัชนีลดลง 1.3% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนมิถุนายน อยางไรก็ดี ในระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากแรงซื้อขายของนักลงทุน นอกจากนี้นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนสิงหาคมของ สหรัฐในวันที่ 6 กันยายน เพื่อตัดสินใจว่าตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นเพียงพอที่จะสนับสนุนการลดมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจลงหรือไม่ ทั้งนี้ ในระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 32.16-32.22 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.18/20 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.3330/32 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/8) ที่ระดับ 1.3366/69 ดอลลาร์/ยูโร เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับมาตรการชะลอโครงการเข้าซื้อ สินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐในเดือนหน้า นอกจากนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรยังคงปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ลงมาต่ำกว่าระดับ 1.3300 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากตัวเลขอัตราการว่างงานของเยอรมันปรับตัวเพิ่มขึ้น 7,000 ตำแหน่ง สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 5,000 ตำแหน่ง แสดงถึงความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของภาคแรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายตลาดค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังจากได้รับแรงหนุน จากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของอิตาลีเดือนสิงหาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 98.3 จากระดับ 97.3 และมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 97.8 ทั้งนี้ ในระหว่างวันกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3252-1.3345 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3267/69 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 97.78/80 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/8) ที่ 97.35/36 เยน/ดอลลาร์ จากการทำกำไรของนักลงทุน หลังจากก่อนหน้านี้ที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการเข้ามาถือครองมากขึ้นของนักลงทุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย หลังจากมีความกังวลว่าสหรัฐอาจจะดำเนินมาตรการทางทหารต่อประเทศซีเรีย นอกจากนี้ ในระหว่างวันค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและขึ้นมายืนเหนือ ระดับ 98.00 เยน/ดอลลาร์ มีกรอบการเคลื่อนไหวของระหว่างวันอยู่ที่ระดับ 97.26-98.43 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 98.13/15 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 7.00% ตามการคาดการณ์ของนักลงทุน เพื่อปกป้องค่าเงินหลังจากที่ค่าเงินรูเปียห์ที่ดิ่งลงอย่างหนักในช่วงที่ ผ่านมา

ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานประจำสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาสสองของสหรัฐ (GDP), อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงานของกลุ่มยูโรโซน และประเทศอิตาลี

อัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.4/5.6 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +20/25 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

รายงานพิเศษ : กรมพัฒนาที่ดินกับความก้าวหน้า จัดทำเขตพื้นที่เหมาะสมปลูกพืชศก.

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายกำหนดเขตการปลูกพืช หรือ Zoning ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในการประกาศเขตเหมาะสมในการปลูกพืช ที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินในเรื่องของคุณสมบัติทางกายภาพเกี่ยวกับความเหมาะสมของดิน สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ รวมทั้งนำเรื่องของความต้องการของพืชเข้ามาเป็นองค์ประกอบ โดยดูว่าพื้นที่นั้นๆ มีความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดใดบ้าง และจำแนกออกมาเป็นเหมาะสมมาก เหมาะสมปานกลาง เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศไปแล้วในพืช 13 ชนิด รวมทั้งปศุสัตว์และประมงด้วย

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลเชิงแผนที่ อีกทั้งยังพิจารณาโครงการ/กิจรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เหมาะสม หรือเพื่อปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรชนิดอื่นในพื้นที่ไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมน้อย โดยขอให้เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และประมงจังหวัด เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังตรวจสอบพื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรืออยู่ในพื้นที่ป่าโดยขอให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

ทั้งนี้ในส่วนของข้าว ซึ่งหลังจากมีการสำรวจเขตพื้นที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมแล้ว พบว่า พื้นที่เขตโซนนิ่งเกษตร ที่มีความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวนั้น ควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยลดต้นทุนการผลิตข้าว การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการพัฒนาคุณภาพข้าวให้มีคุณภาพดี สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยการจัดทำแปลงต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ใช้ Smart farmer ข้าว เป็นแปลงต้นแบบ

ส่วนการจัดระบบการปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทาน เพื่อป้องกันการระบาดของศัตรูข้าวโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การพักดินเพื่อฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น โดยการงดการปลูกข้าวในพื้นที่นาปรังเฉพาะพื้นที่ โดยใช้ระบบการส่งน้ำมากำกับเป็นโซนๆ จะควบคุมการส่งน้ำเฉพาะปลูกพืชไร่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่ เช่น พืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เป็นต้น โดยภาครัฐจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อเป็นมาตรการจูงใจ โดยจะดำเนินการปรับระบบการปลูกข้าวปีละไม่ต่ำกว่า500,000 ไร่ ทั้งนี้จะหมุนเวียนพื้นที่จัดระบบการปลูกข้าวดังกล่าวในเขตชลประทานแต่ละปี

สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่นอกเขตโซนนิ่ง หรือพื้นที่ที่เหมาะสมเล็กน้อยถึงไม่เหมาะสม เป็นพื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 27,408,106 ไร่ ได้ผลผลิตต่ำประมาณ 35 ถังต่อไร่ หรือ350 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการปลูกบำรุงดูแลรักษาสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และทำการประมงเพื่อสร้างรายได้ใหม่ ประกอบด้วย เขตส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานเพื่อสร้างรายได้ใหม่มีเนื้อที่ 6,364,511 ไร่ เขตส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างรายได้ใหม่มีเนื้อที่ 4,890,548 ไร่ และเขตส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อสร้างรายได้ใหม่มีเนื้อที่ 949,555 ไร่

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เพิ่มทางเลือกเพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้มากขึ้น โดยการส่งเสริมการปลูกพืชไร่-นา สวนผสม บนพื้นฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 10,000 ไร่ โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น การสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้แก่เกษตรกร การส่งเสริมการปลูกผัก-ไม้ผล จำนวน 10,000 ไร่ โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นบางส่วน เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

ตั้งเป้า3ปีแก้ที่ดิน3แสนราย สปก.ลั่นเดินหน้าปั้น‘Smart Farmer’สร้างความมั่นคงอาชีพเกษตรไทย

นายสมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า การดำเนินงานในปี 2556
ของ ส.ป.ก. ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี การดำเนินงานในหลายโครงการบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการจัดที่ดินให้แก่ผู้ที่ไร้ที่ดินทำกินและได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ ส.ป.ก. จำนวนทั้งสิ้น 3.7 แสนราย ในปีนี้ ส.ป.ก.สามารถจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรไปแล้ว 7 หมื่นราย ซึ่งยังเหลืออีก 3 แสนราย คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ครบทั้งหมดภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้

ส่วนการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินนี้ ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรไปแล้วทั้งสิ้น 2.5 ล้านราย รวมจำนวนที่ดินของรัฐและเอกชนที่จัดสรรให้ไปแล้ว 35 ล้าน จากที่ดินทั้งหมด 38.9 ล้านไร่ โดยยังเหลือที่ดินของรัฐที่ยังไม่ได้จัดสรรอีกจำนวน 4 ล้านไร่ ที่จะนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร และส.ป.ก.ยังได้ดำเนินการจัดหาที่ดินของภาคเอกชนเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อนำที่ดินเหล่านั้นมากระจายสิทธิ์ให้แก่ผู้ต้องการที่ดินทำกินแต่ยากจน

รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.ป.ก. ยังคงทำหน้าที่หลักในการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ควบคู่กับการพัฒนาที่ดินทำกินให้เหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแหล่งน้ำ การปรับปรุงดิน และปัจจัยการผลิตที่จะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิต อีกทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ได้มีทักษะในการประกอบอาชีพ การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีระบบการจัดการผลิตสินค้าเกษตรที่ดี เป็นไปตามความต้องการของตลาด ด้วยการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ ส.ป.ก. กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้จัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชน เป็นไปอย่างถูกต้อง รวมถึงการตรวจสอบที่ดินของรัฐที่จัดสรรไปแล้ว แต่มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จำเป็นต้องเรียกคืนกรรมสิทธิ์จากเกษตรกรเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาตัวเกษตรกร และการพัฒนาพื้นที่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการสร้างเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) รวมถึงการโซนนิ่งพื้นที่ เพื่อการวางแผนด้านการจัดการเกษตรที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช ไม้ผล พื้นที่สำหรับการทำปศุสัตว์ เป็นต้น โดยมุ่งหวังให้ภาคการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็ง เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

ประสารชี้ไม่ห่วงบาทอ่อนสุดรอบ3ปี

“ประสาร” รับไม่ห่วงบาทอ่อนสุดในรอบ 3 ปี ชี้พื้นฐานเศรษฐกิจประเทศแกร่ง ทุนสำรองสูงเพียงพอคุมสถานการณ์ แจงหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝัน แบงก์ชาติพร้อมงัดเครื่องมือออกมาดูแล

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการกล่าวปาถกฐา หัวข้อ “Contribution of Monetary and Financial Policies” ในงาน THAILAND Focus 2013 ว่า การไหลออกของเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในขณะนี้นั้น ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับอ่อนที่สุดในรอบ 3 ปี ที่ 32.21 บาทต่อดอลลาร์ ยังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล จนกลายเป็นปัญหาของตลาดการเงินของประเทศ

ทั้งนี้ เนื่องจากเงินบาทของไทยมีความยืดหยุ่น โดยเรื่องนี้ ธปท.ก็ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และหากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป หรือประเมินแล้วว่าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก็พร้อมจะนำเครื่องมือที่มีอยู่เข้าไปดูแล เพื่อสร้างให้เกิดเสถียรภาพ โดยยังมั่นใจว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง น่าจะเพียงพอที่จะดูแลสถานการณ์เรื่องนี้ได้

“ตอนนี้เรื่องเงินบาทอ่อนค่ายังไม่น่าเป็นห่วง และไม่น่าเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันในขณะนี้ โดยในส่วนของ ธปท.เองยังคงติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยหากเกิดเหตุการณ์อะไรไม่คาดฝัน หรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างรวดเร็ว เราพร้อมที่จะนำเครื่องมือที่มีอยู่ออกมาดูแล” นายประสารกล่าว

นายประสารกล่าวอีกว่า ตนยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้ว่านักลงทุนต่างชาติจะหยุดการขายสุทธิในตลาดทุนเมื่อไหร่ เนื่องจากการขายออกในครั้งนี้เกิดจากการไหลกลับของเงินลงทุน หลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว แต่จากปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของไทย ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสที่ 2 ปี 2556 น่าจะเพียงพอรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

สมาร์ทฟาร์มเมอร์ทิศทางการผลิตสินค้าเกษตรเพื่ออนาคต - ทิศทางเกษตร

การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้นทุกคนจะต้องตื่นตัว โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ยังมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่ง หากยังไม่รีบเข้าถึงกระบวน การพัฒนาเพื่อการยกระดับในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโอกาสที่จะรอดจากการแข่งขันย่อมเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้น การลดจุดด้อยเสริมจุดเด่นในกระบวนการผลิตของเกษตรกรไทย นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการกำหนดยุทธวิธีเพื่อการพัฒนาในเรื่องนี้ และนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มีนโยบายแบบเชิงรุกเพื่อสร้างเกษตรกรไทยให้พร้อมรับสถานการณ์ ภายใต้แนวทางสมาร์ทฟาร์มเมอร์ คือ สร้างเกษตรกรให้มีความรู้ในเรื่องการทำการเกษตรอย่างก้าวตามทันต่อสถานการณ์ สร้างภูมิความรู้ในด้านวิธีคิดให้ตระหนักถึงคุณภาพการผลิตแบบมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแบบผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดมาเป็นตัวช่วยในการผลิต เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรการเกษตร ที่สำคัญมีการวางแนวทางเพื่อการสร้างความตระหนักอย่างเข้าใจในหมู่เกษตรกรต่อการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนการผลิต

สำหรับแนวทางในการดำเนินงานนั้นนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการปรับยุทธวิธีเพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทยด้วยการปรับแนวคิดโดยใช้รูปแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ซึ่งหมายถึงเกษตรกรมีความรู้ด้านอาชีพอย่างดีสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองอย่างมีทิศทาง มีภูมิรู้ รู้จักการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคุณสมบัติและตัวชี้วัดที่สำคัญคือมีความรู้เรื่องที่ทำอยู่ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร และที่สำคัญคือวางแผนการผลิตโดยใช้ตลาดนำ

และเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงฯ ที่จะมุ่งไปที่ตัวเกษตรกรเป็นสำคัญ โดยตั้งเป้าไว้ว่า เกษตรกรที่จะเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์จะต้องมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าแรงงานขั้นต่ำ หรือวันละ 300 บาท ซึ่งขณะนี้โดยเฉลี่ยรายได้ของเกษตรกรอยู่ที่ครัวเรือนละ 132,000 บาทต่อปี ดังนั้นเกษตรกรที่จะเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้องมีรายได้ 180,000 บาทต่อปี ต่อครัวเรือน โดยมีวิธีการที่จะให้เกษตรกรได้ปรับตัวเองด้วยการเริ่มจากการจัดกลุ่มของเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด 58 ล้านครัวเรือน มาจัดเป็นกลุ่มอย่างชัดเจน โดยยึดพื้นฐานการผลิตแต่ละชนิดและประเภทของการผลิตที่เป็นปัจจุบันในการพิจารณา ภายใต้แนวทางการผลักดันเกษตรกรให้พัฒนาตัวเอง โดยไม่ฝืนธรรมชาติ และสภาพปกติที่ตัวเกษตรกรกำลังดำเนินการอยู่

“ได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ว่าต้องเร่งปรับแผนในการทำงาน ต้องมีความรู้ และเข้าใจเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ว่าแต่ละคนแต่ละกลุ่มแต่ละจังหวัดมีการผลิตอะไร ผลผลิตที่ได้เป็นอย่างไร ปัญหาของสินค้าแต่ละชนิดเป็นอย่างไร โดยก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ และเป็นผู้ช่วยในการเชื่อมโยงด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง เมื่อเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจอย่างเป็นกระบวนการแล้วต่อไปก็จะสามารถดำเนินการเองได้” นายยุคล ลิ้มแหลมทอง กล่าว

“นอกจากนี้ในโครงการฯ ยังจะมีการเชื่อมโยงกับศูนย์วิจัยของกรมต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดถึงสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำข้อมูลจากนักวิชาการการเกษตรมาเป็นแนวทางในการวางแผนการผลิต โดยมีศูนย์กลางข้อมูลอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลที่สำคัญอย่างเป็นทางการและปัจจุบันได้ประสานกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรณีการนำทะเบียนเกษตรกรมาเพิ่มข้อมูลใส่ในบัตรประจำตัวประชาชนของเกษตรกร เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลที่แม่นยำ และเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกด้วย เช่น ข้อมูลในการรับสินเชื่อและการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐของเกษตรกรอย่างการรับจำนำข้าว เป็นต้น” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

นับเป็นอีกก้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สังคมไม่ควรมองข้าม เพราะประเทศไทยคือประเทศกสิกรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร รายได้เพื่อการสร้างชาติ หล่อเลี้ยงสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานก็จากผลผลิตภาคการเกษตรเป็นสำคัญ ฉะนั้นงานในโครงการเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตและกระบวนการการผลิตของประเทศอย่างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จึงนับเป็นงานระดับชาติ ที่หลาย ๆ ฝ่ายเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

ฝนหลวงใช้พลุสารดูดความชื้น

นายวราวุธ ขันติยานันท์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการและประสานการปฏิบัติการฝนหลวง ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ว่า ศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้เร่งรัดปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ยังมีน้ำเก็บกักในปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และมีแนวโน้มว่าเมื่อสิ้นฤดูฝนนี้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเขื่อนต่าง ๆ จะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง ประกอบกับนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตรที่ยังคงประสบอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการและบูรณาการการปฏิบัติการฝนหลวงของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 6 หน่วย ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ทำงานสอดประสานกันในการเร่งรัดปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนต่าง ๆ และช่วยเหลือพื้นที่ที่ยังมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก

รวมทั้งเป็นศูนย์ติดตามและรายงานข้อมูลผลการปฏิบัติการฝนหลวงในภาพรวมของภาคกลางและภาคเหนือ พร้อมกันนี้ยังได้มีการทดสอบผลการศึกษาวิจัยการใช้พลุสารดูดความชื้นเพื่อเสริมการปฏิบัติการฝนหลวง ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

สำหรับการวิจัยและพัฒนาโครงการนี้ เป็นการใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในประเทศ ดำเนินการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ พึ่งพาตนเองและลดการนำเข้าวัตถุปัจจัยจากต่างประเทศ และจัดเป็นนวัตกรรมใหม่ของไทยที่สามารถผลิตขึ้นใช้เอง สามารถเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่นได้ในอนาคต.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

ค่าเงินอ่อนตัวทั้งภูมิภาคดับฝันส่งออกปลายปี-รัฐบาลปูส่งสัญญาณทำใจ !!

หลังการแถลงภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสสองที่ออกมาในลักษณะถดถอย(อ้างว่าถดถอยทางเทคนิก) จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ทำเอาช็อกกันไปพักใหญ่ เพราะในภาพรวมถือว่าถดถอยหมดทุกด้าน โดยเฉพาะการส่งออกที่แรงส่งสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยมานานหลายสิบปี ก็อยู่ภาวะติดลบ ทำให้ต้องลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงมาเหลือแค่ร้อยละ 3.8-4.2 เท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 4.2-5.2 ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ก็ยอมเปิดเผยเองว่าติดลบต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกันแล้ว

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา "จอมโกหกสีขาว" กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มักจะออกมาปลอบใจตัวเองและชาวบ้านอยู่เสมอทำนองอย่าให้ตื่นตระหนก พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าในสองไตรมาสที่เหลือทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมตามเป้าหมาย นั่นคือในช่วงปลายปีการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะโตตามเป้านั่นคือ"อาจถึง"ร้อยละ 5 ซึ่งนอกจากเป็นการคาดหวังจากค่าเงินบาทที่ "อ่อนตัว"ลงมาจากเมื่อต้นปีประมาณ 28 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ ลงมาถึง 32 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ

หากยังจำกันได้ตอนนั้นเมื่อตอนที่ค่าบาทแข็ง ฝ่ายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังพยายามบีบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงโดยเฉพาะการกดันให้ลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำลงมากๆเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมา แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่าอัตราที่เป็นอยู่ในตอนนั้นเหมาะสมแล้ว

แต่มาวันนี้เมื่อค่าเงินบาท"อ่อนยวบ"ลงมาอย่างที่เห็น ทำให้ฝ่ายรัฐบาบทังกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ออกมา"โปรยยาหอม"ว่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกในช่วงปลายปี แต่นั่นเป็นแค่คำพูด เพราะเมื่อฟังจากความเห็นของนักวิชาการ เช่น อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนก็มีความเห็นในทางเดียวกันคือการอ่อนตัวของค่าเงินบาทดังกล่าว อาจจะไม่ส่งผลดีกับการส่งออกมากนัก เพราะเป็นการอ่อนตัวแบบผันผวนกันทั้งภูมิภาค อีกทั้งประเทศในตลาดใหญ่ทั้งสหรัฐ ยุโรป หรือแม้แต่จีนก็ยังไม่ชัวร์ โอกาสจึงน่าจะเป็นการ"ดับความฝัน"การส่งออกในช่วงปลายปีของรัฐบาล

น่าเป็นห่วงก็คือคำพูดล่าสุดเมื่อวานนี้(28 สิงหาคม)ของ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์ นิวัฒน์บุญทรง ธำรงไพศาล ที่ออกมาให้เกษตรกร "ทำใจ"ไว้ล่วงหน้า เนื่องจากในช่วงต่อไปนี้"ราคาสินค้าเกษตรแทบทุกรายการจะหดตัวลง" ความหมายก็คือ "ราคาจะตกต่ำลง"นั่นแหละ โดยเฉพาะยังอ้างว่าเป็นเพราะ"ต้นทุนสูงขึ้น" แม้จะไม่ได้อธิบายให้ชัดแต่ก็น่าจะเดาออกว่าทำให้การแข่งขันลำบาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีกสองปีข้างหน้าที่จะมีสินค้าจากเพื่อนบ้านเข้าออกกันโดยไม่มีกำแพงภาษี กล่าวทำนองว่าหากเรามีต้นทุนสูงก็จะแข่งขันลำบากว่างั้นเถอะ

ดังนั้นต่อไปนี้รัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือกับสารพัดม็อบเกษตรกรที่จะรุมเร้าเข้ามาจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ

จากคำพูดของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่ระบุตรงกันว่าค่าเงินบาทที่อ่อนตัวแบบผันผวนดังกล่าวย่อมไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกตามที่คาด เพราะมีลักษณะเดียวกันทั้งภูมิภาค อีกทั้งเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีนญี่ปุ่นก็ยังอ่อนแอไม่แน่นอน ดังนั้นคำพูดของรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล มันก็เหมือนกับการส่งสัญญาณล่วงหน้าให้เตรียมรับมือกันแต่เนิ่นๆ เนื่องจากการส่งออกในช่วงปลายปีทำได้ยาก และไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายค่อนข้างแน่

ขณะเดียวกันเมื่อส่งออกมีปัญหาก็ต้องหันมากระตุ้นจากภายใน นั่นคือการกระตุ้นจากภาครัฐ ซึ่งก็คงเหลือเพียงความหวังเดียวก็คือ การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าน่าจะนำเข้าพิจารณาในเดือนหน้า สำหรับนำมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่งานนี้ก็คงไม่หมูอีก แม้ว่าจะใช้เสียงข้างมากลากไปจนได้ แต่ยังมีอุปสรรคอีกหลานขี้นตอน อย่างน้อยก็ต้องมีกาาขัดขวางด้วยการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะทำผิดกฎหมาย เป็นการตั้งงบนอกงบประมาณ ซึ่งนาทีนี้คงไม่มีใครค้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่คัดค้านวิธีการจัดการที่ขาดความโปรงใส เอื้อต่อการทุจริต เพราะการตรวจสอบทำได้ยาก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะดูเหมือนว่ารัฐบาลกำลงเดินหน้า แต่ขณะเดียวกันก็กำลังมีอุปสรรคใหญ่หลวงที่รออยู่ ที่สำคัญมันไม่เป็นผลบวก มีแต่ผลลบเสี่ยงต่อหายนะทางเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น !!

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 29 สิงหาคม 2556

เชื่อ "ค่าเงินบาท" ไม่โดนถล่มหวังเศรษฐกิจโงหัวปลายปีช่วยพยุง

อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนหนัก โดยค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงพรวดพราดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สู่ระดับต่ำกว่า 32.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 ปี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. เช่นเดียวกับเงินสกุลริงกิตของมาเลเซียที่อ่อนค่าต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ที่ประมาณ 3.3 ริงกิตต่อเหรียญสหรัฐ หรือราว 7% หลังจากที่ เงินสกุลรูปีของอินเดีย ที่ภายใน ช่วงเวลา 3 เดือนอ่อนค่าลงมาเกือบ 20% ลงไปแตะระดับต่ำสุดทะลุ 65 รูปีต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่เงินสกุลรูเปียห์ของอินโดนีเซีย อ่อนตัวหลุดแนวรับสำคัญที่ 11,000 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐ ลงไปแตะ ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ที่ 11,071 รูเปียห์ ต่อเหรียญสหรัฐ

จากเงินที่เคยสร้างความมั่งคั่งในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ของไทยไหลออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความคึกคักในตลาดหุ้นหายวับไปในทันที มูลค่าตลาด ลดฮวบกว่า 2 ล้านล้านบาท และค่าเงินบาทที่อ่อนลงได้สร้างกำไรให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ขนเงินเข้ามาลงทุนมหาศาล และเริ่มมีความกังวลว่า ไทยจะถูกโจมตีค่าเงินเหมือนในปี 2540

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกสำนักงานประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า เวิลด์แบงก์ ถึงค่าเงินบาทที่อ่อน ค่าที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ว่า เกิดจาก นักลงทุนกังวลเรื่องที่สหรัฐฯ จะชะลอมาตรการ QE และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จึงทำให้ค่าเงินบาทในช่วงนี้มีความผันผวนตามกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกของต่างชาติ

ส่วนข้อวิตกกังวลว่าอาจมีการโจมตี ค่าเงินบาทในอ่อนค่าลงไปอีกเหมือนกับเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และรูปีของอินเดียนั้น คงเป็นไปได้ยากเพราะปัจจุบัน เงินบาทของไทยเคลื่อนไหวลอยตัวแบบมีการจัดการ ไม่ได้เป็นอัตราคงที่เหมือนในอดีต ดังนั้นการจะเข้ามาโจมตีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งโอกาสในการทำกำไรยังมีไม่มาก และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งจึงไม่น่าเป็นห่วง แต่อย่างไรก็ตามมองว่าค่าเงินบาทควรเคลื่อนไหวไปตามภูมิภาคและประเทศคู่แข่ง เพื่อไม่ให้เสียเปรียบโอกาสด้านการส่งออก

ดังนั้น ความผันผวนในระยะนี้ก็จะอาจจะมีผลต่อการนำเข้าอยู่บ้างโดยเฉพาะ การนำเข้าพลังงานน้ำมันที่มีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น

นายกำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ กล่าวว่า เงินบาท ในช่วงนี้ถือว่าอ่อนค่าเร็วเกินไป (Overshoot) ซึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกังวลกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยหลายประเทศเริ่มมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยตัวเลขจากสภาพัฒน์ ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสสองสูงเท่ากับ 5.1% ของจีดีพี แต่ครึ่งแรกของปีขาดดุลต่ำกว่าที่ระดับ 1.9% ของจีดีพีขณะที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดโครงการซื้อพันธบัตร ตามมาตร-การผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนหน้า ส่งผลให้เงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลงถ้วนหน้า ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังมี แนวโน้มว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งน่าจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาสมดุลหรือเกินดุลได้เล็กน้อย ซึ่งถ้าจะขาดดุลก็คิดว่าคงไม่เกิน 1% ของจีดีพี ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่า โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้ในช่วงปลายปีนี้

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ ในภูมิภาคเอเชีย ระบุ เป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ ในภูมิภาคเอเชีย ระบุ เป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน PACK PRINT INTERNATIONAL 2013 งานแสดงสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ ในภูมิภาคเอเชีย ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติไบเทค บางนา ซึ่งงานดังกล่าวถือเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียที่จัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนทิศทางอุตสาหกรรมบรรจุไทยและการพิมพ์ไทย เข้าสู่การเป็นผู้นำในอาเซียน และเป็นเวทีสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ฯ จะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการให้มีมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันในเวทีโลก พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายธุรกิจการเจรจาการค้า จากนานาประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุนการผลิตและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมสามารถขยายการลงทุนและธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นการขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ธ.ก.ส. จังหวัดสุรินทร์ เผย เกษตรกร ทำบัตรสินเชื่อเกษตรกรแล้วกว่า 140,000 ใบ

นายณรงค์ งามพริ้ง ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล ได้จัดทำโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ได้แก่ ปุ๋ย สารเคมี พันธุ์พืช/สัตว์ อาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง และข้าวสาร โดยตั้งเป้าหมายการเปิดใช้บัตรทั่วประเทศ ประจำปีบัญชี 2556 จำนวน 4 ล้านใบ

สำหรับในภาพรวมของสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดสุรินทร์ ขณะนี้ มีการอนุมัติและเปิดใช้งานบัตรให้เกษตรกรไปแล้วจำนวน 148,693 ใบ และมียอดการซื้อปัจจัยการผลิตเป็นเงินกว่า 570 ล้านบาท

ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดสุรินทร์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรลูกค้าและร้านค้าท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตเป็นอย่างดี และมีการเรียกร้องให้ธนาคารเพิ่มประเภทปัจจัยการผลิตที่ขายผ่านโครงการให้ครอบคลุมปัจจัยการผลิตทุกประเภท ทางธนาคารจึงได้เห็นชอบให้เพิ่มปัจจัยการผลิต ที่เป็นเครื่องจักรกล เครื่องมือ และอุปกรณ์การเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท ให้กับเกษตรกรเพิ่มเติมอีก

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทในพลังงานโลกสูงขึ้นในอนาคต

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทบวงพลังงานสากลหรือ International Energy Agency (IEA) ได้ออก รายงานฉบับที่สองของปีนี้ เกี่ยวกับภาพรวมของตลาดพลังงานหมุนเวียนในระยะปานกลาง (5 ปี) ที่เรียกว่า Medium-Term Renewable Energy Market Report (MTRMR) โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับบทบาทของพลังงาน หมุนเวียนในอนาคต ผมเห็นว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาเรียบ เรียงเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้ครับ

ในรายงานฉบับนี้ IEA ทำนายว่า ในปี ค.ศ.2016 (อีกสามปีจากนี้ไป) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก (ไม่ว่าจะด้วยน้ำ ลม แสงอาทิตย์ และพลังงานหมุน เวียนอื่นๆ) จะมีสัดส่วนสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าโดยก๊าซ และ จะสูงเป็นสองเท่าของการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์

IEA ยังบอกอีกด้วยว่า ถึงแม้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะมีอุปสรรคทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ก็จะยังคงขยายตัวในระดับสูงถึง 40% ใน 5 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันเป็นภาคการผลิตไฟฟ้าที่ขยายตัวเร็วที่สุด และจะมีสัดส่วนเกือบ 25% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2018 (มากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในปี 2011 ว่าจะอยู่ที่ 20%)

ที่น่าสนใจคือสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ใช่พลังงานจากน้ำ (non-hydro) อาทิ ลม แสงอาทิตย์ bioenergy และ geothermal ก็จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 2% และ 4% ในปี 2006 และ 2011 ตามลำดับ เป็น 8% ในปี 2018 อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เนื่องมาจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะถูกลง และสามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับวงการพลังงานโลก ที่กำลังต้องการเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้นและหลากหลายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในรายงานฉบับนี้ก็ได้กล่าวเตือนถึงอุปสรรค และความท้าทายของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนว่ายังมีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของนโยบาย

โดย IEA ได้ยกตัวอย่างหลายประเทศในยุโรปที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน และความต้องการพลัง งานลดลง ทำให้มีการถกเถียงถึงความเหมาะสมของนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานหมุนเวียน

ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผู้อำนวยการบริหารของ IEA (Executive Director) ออกมาระบุว่า "ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย คือศัตรูสาธารณะอันดับหนึ่งของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน"

เธอบอกว่า พลังงานหมุนเวียนหลายชนิดไม่ได้ต้องการ แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์มากมายอีกต่อไป แต่ต้องการนโยบาย ระยะยาว ที่สามารถสร้างตลาดที่มีความน่าเชื่อถือและคาดทำนายได้ (predictable and reliable market) รวมทั้งมีกรอบของกฎกติกาในการควบคุมดูแล (regulatory framework) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของสังคม

เธอยังบอกอีกว่า "ทุกวันนี้ ทั่วโลกมีการอุดหนุนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลมากกว่าพลังงานหมุน เวียนถึงหกเท่าเลยทีเดียว"

ในรายงานยังได้กล่าวถึงความสำเร็จที่น่าประทับใจของการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในปี 2012 โดยระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของโลกในปีที่แล้วเติบโตถึง 8% หรือเท่ากับ 4,860 TWh มากกว่าความต้องการไฟฟ้าของ ประเทศจีนทั้งประเทศ

ปัจจัยหลักที่ IEA เห็นว่าเป็นพลังขับดันที่สำคัญที่นำไปสู่ภาพที่สดใสของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคตก็คือ

1.การเร่งตัวของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในตลาด เศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) โดยเฉพาะความต้อง การด้านไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพลังงานหมุนเวียน คือ คำตอบสำหรับการแสวงหาแหล่งพลังงานที่หลากหลาย (energy diversification) การลดมลภาวะและการช่วยลดภาวะโลกร้อน

โดย IEA คาดว่าประเทศที่จะเป็นผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนับจากนี้จนถึงปี 2018 คือ จีน และประเทศนอกกลุ่ม OECD ซึ่งคาดว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลัง งานหมุนเวียนรวมกันสูงถึงสองในสามของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นของประเทศเหล่านี้จะมากเกินพอ ที่จะทดแทนการเติบโตที่ลดลงและความผันผวนที่จะเกิดขึ้นจากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

2.นอกจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ geothermal และ bioenergy ซึ่งสามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้เป็นอย่างดีแล้ว พลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นก็มีแนวโน้มที่จะแข่งขันในเชิงต้นทุนได้ดีขึ้น ในสถานการณ์ต่างๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น พลังงานลมสามารถแข่งขันได้ดีกับโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในหลายๆ ตลาด อย่างใน บราซิล ตุรกี และนิวซีแลนด์

พลังงานแสงอาทิตย์ก็น่าลงทุนในตลาดที่ค่าไฟฟ้ามีราคา สูงมาก อย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน เป็นต้น หรือการกระจายการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์แบบ solar photovoltaic ก็มีต้นทุนที่ต่ำกว่าราคาขายปลีกของค่าไฟฟ้าในหลายๆ ประเทศเป็นต้น

จะเห็นได้ว่าอนาคตของพลังงานหมุนเวียนในสายตาของ EIA นั้น นับวันมีแต่จะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะเป็นจุดแข็งของประเทศในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลให้น้อยลง

แต่อย่างที่ผู้บริหารสูงสุดของ IEA ได้ระบุไว้ ศัตรูอันดับหนึ่งของพลังงานหมุนเวียนคือนโยบายที่ไม่ต่อเนื่องของรัฐบาล และทั่วโลกยังมีการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลมากกว่าพลังงานหมุนเวียนถึงหกเท่า

ดังนั้น ถ้าเราต้องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและ อยากเห็นพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นในบ้านเราอย่างเป็นรูปธรรม ก็คงต้องเร่งกำจัดอุปสรรคเหล่านั้นให้หมดไปโดยเร็วเสียก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการอุดหนุนราคาพลังงาน

พูดมาถึงตรงนี้ ผมยังไม่มั่นใจเลยว่าเดือนหน้าจะขึ้นราคาแอลพีจีได้หรือเปล่า!!!

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อาเซียนรุก! เร่ง"อินโดฯ-มาเลย์-ญวน-แขมร์"ลดภาษี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อาเซียน (AEM) ครั้งที่ 45 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนฯ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่ AEC ตามมาตรการต่างๆ ที่อาเซียนได้ตกลงกันไว้

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ขณะนี้อาเซียนได้ดำเนินการตาม Blueprint ของอาเซียน ได้ประมาณ ร้อยละ 80 ของการดำเนินการทั้งหมด โดยประเทศที่ดำเนินการคืบหน้าได้มาก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ส่วนประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการตามมาตรการ ได้แก่ ฟิลิปปินส์และกัมพูชา โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่ตกลงไว้ เพื่อไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ซึ่งจะสะท้อนภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของอาเซียนต่อประชาคมโลก

สำหรับการค้าสินค้า ที่ประชุมมีมติให้ทุกประเทศสมาชิกเสนอมาตรการทางการค้าของตนเองที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นปัญหาอุปสรรคทางการ ค้า 1 เรื่อง มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างของ การแก้ไข หรือยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าในอนาคตโดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 ปี นอกจากนี้ ได้ยืนยันให้มาเลเซียและอินโดนีเซีย ลดภาษีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในปี 2558 โดยใช้มาตรการภายในประเทศ เช่น ภาษีสรรพสามิต แทนภาษีนำเข้าหากจำเป็น รวมทั้งเร่งรัดให้เวียดนามและกัมพูชา ลดภาษีสินค้าปิโตรเลียม

ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้รับทราบสถานะการดำเนินการจัดทำข้อผูกพันชุดที่ 9 ของประเทศสมาชิก โดยอาเซียนยังต้องจัดทำข้อผูกพันการค้าบริการอีก 1 ชุด คือชุดที่ 10 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2015 อันจะมีผลให้นักลงทุนในธุรกิจบริการจากประเทศอาเซียน สามารถถือหุ้นได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ในธุรกิจบริการที่ได้มีการตกลงกัน นอกจากนี้ อาเซียนกำลังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงความตกลงการค้าบริการ เพื่อให้ทันสมัยและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้สินค้า ของอาเซียนไม่ต้องสำแดงมูลค่าสินค้า ณ ท่าเรือต้นทาง หรือ FOB ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ฟอร์ม ดี ของอาเซียน ในกรณีที่สินค้านั้นผลิตได้ทั้งหมดในประเทศสมาชิก หรือมีการผลิตและแปรสภาพสินค้าตามเกณฑ์ที่อาเซียนกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ส่งออก โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า สำนักเลขาธิการ อาเซียนได้ทำการประเมินและพบว่าปัญหาอุปสรรค ที่สำคัญในการเข้าสู่ AEC ได้แก่ ความล่าช้าในการ ให้สัตยาบันความตกลงอาเซียน/พิธีสารให้มีผลบังคับใช้ ปัญหาการปรับกฎหมาย กฎระเบียบ ภายใน ประเทศซึ่งส่งผลต่อการรวมภูมิภาค การขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองในการดำเนินการเรื่อง การรวมกลุ่มภูมิภาค และข้อผูกพันเฉพาะของแต่ละประเทศ

เพื่อให้การดำเนินการไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นตามกำหนด โดยเฉพาะในมาตรการสำคัญๆ อาเซียนได้กำหนดมาตรการที่ต้องดำเนินการในปี 2013 และ 2015 เช่น การจัดตั้ง National single Window การจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการ ชุดที่ 9 และ 10 เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือเพื่อเตรียมการสำหรับการหารือกับคู่เจรจาต่างๆ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย และแคนาดา โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ การเตรียมการ เยือนจีนของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปี 2556 เพื่อประชาสัมพันธ์อาเซียนให้เป็นที่รู้จักและขยายการค้าการลงทุนกับจีนให้มากยิ่งขึ้น โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานของอาเซียนกับจีนจะมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมครั้งนี้

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรมชลขยายแนวคิดจัดรูปที่ดิน รุกพื้นที่เกษตรสูบน้ำด้วยไฟฟ้า

กรมชลประทานขยายแนวคิดจัดรูปที่ดิน เพิ่ม จัดรูปที่ดินในพื้นที่เกษตรสูบน้ำด้วยไฟฟ้านอกเหนือจากพื้นที่ที่มีระบบชลประทานอยู่แล้ว เผยเฉพาะอีสานมีสถานีสูบน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกษตรกรเอาด้วย เพราะช่วยลดต้นทุนสูบน้ำเข้าที่นาตัวเองชัดเจน แถมยังรวมเป็นกลุ่มก้อนเข้มแข็งอยู่แล้ว

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงทิศทางการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า นอกจากการจัดรูปที่ดินในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานสมบูรณ์อยู่แล้ว สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางยังให้ความสำคัญกับการจัดรูปที่ดินในพื้นที่การเกษตรที่ใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีกด้วย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีเป็นจำนวนมากจะได้รับประโยชน์ด้วย

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ใช้ระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เกษตรกรจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง นอกเหนือจากจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าพื้นที่แล้ว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเป็นทอดๆ ต่อไปยังแปลงเพาะปลูกของตัวเอง เมื่อมีการจัดรูปที่ดินจะเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะช่วงแรกที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าเท่านั้น เมื่อมาถึงพื้นที่จัดรูปที่ดินก็จะส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงของโลกผ่านคูส่งน้ำไปยังแปลงของเกษตรกร

นายเอกจิตกล่าวด้วยว่า เกษตรกรในระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีความเข้มแข็งเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และมีความต้องการจัดรูปที่ดินสูง ดังนั้น จึงทำให้การจัดรูปที่ดินในพื้นที่เหล่านี้เป็นไปด้วยความราบรื่น

“ในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานอาจมีปัญหาบางคนอยากจัดรูปบ้าง บางคนก็ไม่อยากจัด โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้คลองส่งน้ำและมีเส้นทางลำเลียงอยู่แล้ว ในขณะพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าเขารวมตัวค่อนข้างดีอยู่แล้ว มีการจัดระบบและวางหลักเกณฑ์ร่วมกันในลักษณะกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตรงนี้หากขยายนโยบายเข้าไปจัดรูปที่ดินก็สามารถเพิ่มพื้นที่จัดรูปที่ดินได้มากและเร็วขึ้น” นายเอกจิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หวั่นห้ามตั้งรงริมฝั่งลุ่มน้ำชะงักส.อ.ท.ค้านร่างกฎกระทรวงให้อำนาจ'รมต.'เกินไป

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งเครื่องยกร่างกฎกระทรวง ดูแลเข้มงวดการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำ 6 สายสำคัญ ด้านสภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท.) ค้านไม่เห็นด้วย บอกกฎหมายเดิมดี อยู่แล้ว ควรเพิ่มบทลงโทษเข้าไปจะมีผลทางปฏิบัติมากกว่า

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายจะออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดระยะถอยร่นสำหรับโรงงานจากที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสำคัญ 6 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง, แม่กลอง, เจ้าพระยา, ท่าจีน, ลำตะคอง และทะเลสาบสงขลา ด้วยการกำกับดูแลที่จะเข้มงวดขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามแผนจะเร่งประกาศกฎกระทรวงให้ทันในปลายปี 2556 ปรากฏว่า ภาคเอกชนในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงความเห็นคัดค้าน เพราะเกรงจะกระทบโครงการลงทุนที่เตรียมจะขยายใหม่

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ล่าสุดกรมโรงงานฯได้ร่างกฎกระทรวงด้วยการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 8 (1) ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการ จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลใน มาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 41 และมาตรา 43 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวง มีสาระสำคัญดังนี้

1) ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรค และวรรค 3 ของข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติ โรงงานฯ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยและ สิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมที่จะตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 บางประเภท ชนิด ขนาด หรือเงื่อนไขก็ได้ ในกรณี ที่มีเหตุอันสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิด ปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โรงงานจำพวกที่ 3 บางประเภท ชนิด ขนาด หรือเงื่อนไข ต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด เพื่อจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็ได้

2) โดยทำเลที่ไม่เหมาะสมตามความในข้อ 1 หมายความถึงทำเลที่ตั้งโรงงานซึ่งอาจเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน พื้นดิน แม่น้ำลำคลอง ทะเล หรือบรรยากาศ การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตาม ความในข้อ 1 หมายความถึงสภาพ แวดล้อมของโรงงาน เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน พื้นดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล หรือบรรยากาศ 3) กฎกระทรวงใหม่นี้จะไม่ใช้บังคับกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้จะใช้บังคับ เว้นแต่การขยายโรงงานใหม่ให้ใช้บังคับได้

"ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ถือเป็น สเต็ปแรกของการออกกฎหมายดูแลลุ่มน้ำ คือ ต้องเพิ่มอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามากำหนด รายละเอียดของร่างกฎกระทรวง ทั้งประเภท ขนาด ระยะห่างจะเป็นอย่างไร การที่ กรมโรงงานฯต้องเข้ามาดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะต้องการให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสภาพแวดล้อมโดยที่ไม่มีผลกระทบ จึงต้องเริ่มจากการปรับกฎหมายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น จากที่ไม่มีกฎหมายที่ดูแลโดยตรง และที่สำคัญไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา"

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับกฎกระทรวงที่จะออกมาบังคับใช้ใน 3 ประเด็น คือ 1) เดิมที่กำหนดห้ามตั้งโรงงานริมแม่น้ำนั้น หากมีระบบบำบัดที่ได้มาตรฐานแล้วก็ควรให้มีการขยายโรงงานได้ 2) ไม่ควรกำหนดระยะถอยร่น แต่ควรออกกฎหมายที่เข้มงวดมาใช้แทน เช่น บทลงโทษกรณีที่ทำผิดสูงสุด คือ จำคุก ซึ่งจะได้ผลในทางปฏิบัติมากกว่า และ 3) กฎกระทรวงใหม่ระบุ ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.โรงงานฯ ซึ่งในประเด็นนี้ ส.อ.ท.ต้องการให้อำนาจในการกำกับดูแลเป็นของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 32 แทน เนื่องจากไม่ต้องการให้อำนาจกำกับดูแลตกอยู่ในมือของบุคคลเพียงคนเดียวมากเกินไป และเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กระทรวงอุตฯผลักดันธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียว

ดร.พสุ โลหารชุน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในการร่วมมือรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมได้นำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งในปี 2556 มีสถานประกอบการได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการในสถานประกอบการ จำนวน 216 ราย ในพื้นที่ 55จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดในภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคเหนือ 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด และภาคใต้ 10 จังหวัด รวมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2551-2556 มีจำนวนสถานประกอบการที่ได้ผ่านตามหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม จำนวน 1,250ราย ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้มีความยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่ อุปทาน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วจะกลายเป็น “อุตสาหกรรมสีเขียว” อย่างสมบูรณ์แบบในที่สุด ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งสิ้น 7,238 ราย แบ่งเป็น ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว จำนวน 3,730 ราย ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว จำนวน 1,627 ราย ,ระดับที่ 3 ระบบสีเขียวจำนวน 1,851 ราย ,ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว จำนวน 30 ราย และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว ยัวอยู่ระหว่างการตรวจประเมิน

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

มหาสารคามยังวิกฤติแล้ง อ่างเก็บน้ำ17แห่งน้ำน้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ จ.มหาสารคาม ขณะนี้ยังไม่พ้นวิกฤติ โดยมีเพียง 2 จาก 17 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเกิน 50% และอีกหลายพื้นที่ยังคงประสบกับภัยแล้ง

ด้านนายกิตติพงศ์ โรจน์วิรัตน์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและบำรุง โครงการชลประทาน จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าระยะนี้หลายพื้นที่จะมีฝนตกลงมา แต่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 17 แห่งของ จ.มหาสารคาม ยังคงมีน้ำไหลเข้าอ่างน้อย เนื่องจากฝนไม่ได้ตกเหนืออ่างเก็บน้ำ ทำให้กักเก็บน้ำไม่ได้ อีกทั้งหลายพื้นที่ยังคงต้องเผชิญกับภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน

โดยล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 17 แห่งของ จ.มหาสารคาม พบว่า มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ 22.91 ของปริมาณความจุอ่าง 81.42 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้มีอ่างเก็บน้ำเพียง 2 อ่างที่มีปริมาณน้ำเก็บกักเกิน 50% คือ อ่างเก็บน้ำหนองบ่อ อ.บรบือ และอ่างเก็บน้ำห้วยจอกขวาง อ.วาปีปทุม

อย่างไรก็ตาม พื้นที่นอกเขตชลประทานโดยเฉพาะ อ.กุดรัง และ อ.บรบือ นาข้าวเริ่มเสียหายจากสถานการณ์ภัยแล้ง และพบการระบาดของโรคไหม้ข้าวแล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตือนซื้อ”ปุ๋ย –สารเคมี”ผ่านอินเตอร์เน็ตเจอปลอม

กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรซื้อปุ๋ย-สารเคมีการเกษตร ผ่าน “อินเตอร์เน็ต” ระวังเจอของปลอม หลังมีการโฆษณาคลุมเครือทำให้เกษตรกรเข้าใจผิด ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องตั้งทีมสกัดด่วน

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเกี่ยวกับปัจจัยด้านการผลิตทางการเกษตรทั้งปุ๋ย สารเคมีและเมล็ดพันธุ์พืช อาศัยช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านทางเว็บไซด์ หรืออินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น การโฆษณาขายสินค้าส่วนใหญ่ไม่บ่งชี้ว่าเป็นปุ๋ย หรือเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างชัดเจน ทำให้เกษตรกรเกิดความสับสนและเข้าใจผิด สามารถช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช และทำให้ได้ผลผลิตสูง

ขณะเดียวกันยังมีการจำหน่ายสารปรับปรุงดินทางอินเตอร์เน็ตด้วย โดยกระทำการแบบเลี่ยงกฎหมายใช้คำโฆษณาที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่าเป็นปุ๋ยที่สามารถทำให้พืชเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง

นายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้มอบหมายสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถใช้ประกอบการควบคุมการโฆษณาให้ตรงตามความเป็นจริง ไม่โม้โอ้อวด จนเกษตรกรเข้าใจผิดในคุณภาพของสินค้า เพื่อปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เช่นโฆษณาว่าเมื่อใช้แล้วสามารถทำให้ผลผลิตมากกว่าความเป็นจริงถึง 2-3 เท่า โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยัน

“สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรได้พยายามตรวจสอบแหล่งผลิต หรือแหล่งที่มาของสินค้าที่จำหน่ายในอินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ผู้จำหน่ายอ้างว่า สินค้าที่โฆษณาเป็นสารปรับปรุงดินทำให้กฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ปุ๋ย และ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายไม่สามารถเอาผิดได้ แต่ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมาควบคุมได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรมากขึ้น “นายดำรง กล่าว

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเลือกซื้อปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร ที่สำคัญควรซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ เช่นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือร้าน Q Shop ไม่ควรซื้อจากรถเร่ขาย หรือการขายตรง พร้อมกันนี้ กรมฯได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกรช่วยแจ้งเบาะแสการโฆษณาชวนเชื่อหรือโฆษณาเกินจริง รวมถึงขบวนการเร่ขายปุ๋ยและระบบขาย

จาก กรุงเทพ วันที่ 26 สิงหาคม 2556

เกษตรฯ เร่งขับเคลื่อน 6 แนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร กำลังเร่งผลักดันนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยวางแนวทางการดำเนินงานไว้ 6 แนวทาง ประกอบด้วย

1.ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ให้มีศักยภาพทั้งด้านการผลิตและการบริหารจัดการ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานร่วมกันในระดับต่างๆ 2.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรแกนนำ และผู้นำกลุ่มต่างๆ ให้มีความรู้ ความสามารถ มีภาวะการเป็นผู้นำ สามารถพัฒนาเกษตรกรและชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถจัดการกับปัญหาการเกษตรต่างๆ ในครอบครัวชุมชนและสังคมได้

3.ส่งเสริมงานเคหกิจเกษตร เพื่อพัฒนาครัวเรือนเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวอบอุ่น บ้านเรือนน่าอยู่ และมีเศรษฐกิจที่มั่นคง ก่อให้เกิดชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง 4.ส่งเสริมและพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตร ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตการเกษตร ด้วยกระบวนการผลิตที่มุ่งเน้นคุณภาพ และความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice: GMP)

5.เสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน และการแปรรูปและถนอมอาหาร เพื่อให้ครัวเรือนมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอในทุกสถานการณ์ รวมทั้งสนับสนุนให้มีเครือข่ายการผลิตและการบริโภคในระดับชุมชน และ 6.สร้างความมั่นคงและยั่งยืนของภาคเกษตร เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ควบคู่กับการฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ อาทิ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฏีใหม่ และวนเกษตร ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิญเกษตรเพื่อให้ครอบครัวเกษตรกรมีรายได้สร้างเศรษฐกิจในชุมชน และส่งเสริมการจัดการฟาร์มเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติอย่างถูกวิธี

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งมีสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ที่คอยดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเกษตรกร จึงได้กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ที่รับผิดชอบงานด้านเคหกิจเกษตรในระดับจังหวัดและอำเภอ เจ้าหน้าที่ผู้ที่รับผิดชอบงานเคหกิจเกษตรโดยเฉพาะ 1 คน เพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง โดยจะดูแลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ประกอบด้วย การกินดี อยู่ดี สร้างรายได้เพิ่ม เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คาดการณ์เศรษฐกิจการเกษตรไทยปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 4 พร้อมติดตามปัจจัยเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งหลังปี 2556 ว่า จะขยายตัวร้อยละ 4.6 ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจการเกษตรไทยจะขยายตัวทั้งปีร้อยละ 4 จากการขยายตัวของข้าวนาปี มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ที่ผลผลิตต่อไร่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน และคาดว่า สินค้าหมวดพืชผลและปศุสัตว์ จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกและราคาสินค้าเกษตร จะมีทิศทางดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ส่วนราคาสินค้าเกษตร ที่คาดว่าจะมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ไก่เนื้อ กุ้งขาวแวนนาไม และสุกร ส่วนสินค้าเกษตรที่ราคามีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรมชลยันเอาอยู่สถานการณ์‘น้ำ’ฤดูฝนมั่นใจระบบโทรมาตร23ลุ่มน้ำ ให้ข้อมูลแม่นยำทันเหตุการณ์

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและการเตือนภัยในลุ่มน้ำต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว 23 ลุ่มน้ำจาก 25 ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ได้มีการติดตั้งระบบโทรมาตรที่สมบูรณ์ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งหมดถึง 54 สถานี ซึ่งจะทำสามารถวางแผนบรรเทาปัญหาอุทกภัย และแจ้งเตือนภัย กรณีเกิดน้ำหลากในบริเวณพื้นที่เป้าหมายได้ทันต่อสถานการณ์ อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือช่วยประกอบการตัดสินใจ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ระบบโทรมาตรดังกล่าวเป็นระบบตรวจวัดและส่งข้อมูลทางไกลแบบอัตโนมัติ และตลอดเวลา ทำให้สถานีหลักได้รับข้อมูลที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยจะทำหน้าที่ในการตรวจวัดระดับน้ำ ปริมาณน้ำ ปริมาณฝน ค่าความเค็ม หรือค่าออกซิเจนในน้ำ ตลอดจนข้อมูลการเปิด-ปิดบานระบายน้ำ จากนั้นก็จะส่งข้อมูลทั้งหมดจากทั้ง 23 ลุ่มน้ำมายังส่วนกลาง คือ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้กรมชลประทานได้รับทราบสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นทั้ง 23 ลุ่มน้ำได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หากสถานการณ์ไม่ปกติสามารถตัดสินใจ
ดำเนินการใดๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันที

“กรมชลประทานสามารถใช้ข้อมูล ระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝนจากระบบโทรมาตรและระบบพยากรณ์น้ำล่วงหน้ามาช่วยในการบริหารน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ นอกจากนี้ระบบโทรมาตรยังสามารถจับภาพระดับน้ำของสถานีตรวจวัด ส่งมาแสดงที่สถานีหลัก เพื่อเป็นข้อมูลในระบบช่วยการตัดสินใจได้อีกด้วย ดังนั้นในช่วงฤดูฝนปีนี้ จึงมั่นใจได้ว่า กรมชลประทานจะมีข้อมูลน้ำที่ถูกต้องในทุกลุ่มน้ำ และยังสามารถเชื่อมโยงกันข้อมูลระหว่างลุ่มที่ใกล้เคียงกันน้ำประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ เช่น ระบบ
โทรมาตรฯ ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นต้นได้อีกด้วย” นายสุเทพกล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวด้วยว่า สำหรับระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มเจ้าพระยานั้น ถือเป็นระบบโทรมาตรที่สมบูรณ์ที่สุดมีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ใต้เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกิ่วลม พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จนถึงปากอ่าวไทย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

KBSจัดเต็มปันผล110ล้าน ผนึกมิตซุยขยายตลาดต่างประเทศ

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 5/2556 มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนของปี 2556 (มกราคม-มิถุนายน 2556)ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท จากจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนและเรียกชำระแล้วทั้งสิ้น 550 ล้านหุ้น รวมเป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้น 110 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลวันที่ 29 สิงหาคม 2556 ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นวันที่ 30 สิงหาคม 2556 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 11 กันยายน 2556 จากผลดำเนินงาน ไตรมาส 2/2556 บริษัทมีรายได้รวม 1,804.9 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 185.6 ล้านบาท โดยงวด 6 เดือน มีรายได้รวม 3,281.5 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 495 ล้านบาท

“บริษัทยังคงมุ่งมั่นเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จอย่างไม่หยุดยั้ง สู่การเป็นผู้นำทางธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น โดยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดต้นทุน รวมทั้งบุคลากรเพื่อเสริมศักยภาพ รายได้และผลกำไรที่มากขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพต่อเนื่อง”

สำหรับแผนงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ว่า บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับแผนธุรกิจด้านการตลาด โดยเฉพาะภายหลังร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มมิตซุย ประเทศญี่ปุ่น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจมากยิ่งขึ้นในธุรกิจด้านน้ำตาล ซึ่งบริษัท
จะได้รับประโยชน์หลายด้าน ทั้งในด้านการตลาดที่จะสามารถขยายตลาดเพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยกลุ่มมิตซุยจะให้ข้อแนะนำและความร่วมมือทางเทคนิคด้านการผลิต เนื่องจากมีเทคโนโลยีและเครื่องจักรระดับชั้นแนวหน้าของโลก

“ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลก มีความได้เปรียบประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิล และออสเตรเลียในแง่ของค่าขนส่ง เนื่องจากอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตของการบริโภคน้ำตาลสูง หลังจากได้กลุ่มมิตซุย เข้าร่วมเป็นพันธมิตร ได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ทั้งเชิงเทคนิคและด้านการตลาด เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ทำให้มั่นใจถึงอนาคตทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรมฝนหลวงฯตั้งศูนย์กลางบริหาร เปิดปฏิบัติการแก้แล้งทั่วประเทศ

กรมฝนหลวงฯ รับมือภัยแล้ง ตั้งศูนย์ อำนวยการและประสานการปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 6 หน่วยที่กระจายทั่วประเทศพร้อมเร่งรัดปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนและพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศก่อนสิ้นฤดูฝน และเดินหน้าทดสอบการใช้“พลุสาร” ดูดความชื้นเพื่อเสริมการปฏิบัติการฝนหลวง

นายวราวุธ ขันติยานันท์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการและประสานการปฏิบัติการฝนหลวง ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ว่า ศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายยุคล ลิ้มแหลมทอง) ที่มอบหมายให้เร่งรัดปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆทั่วประเทศ ที่ยังมีน้ำเก็บกักในปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และมีแนวโน้มว่าเมื่อสิ้นฤดูฝนนี้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในเขื่อนต่างๆ จะไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง ประกอบกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชวลิต ชูขจร) ได้มอบหมายให้ผู้บริหารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตรที่ยังคงประสบอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ

สำหรับวัตถุประสงค์ของการตั้งศูนย์อำนวยการและประสานการปฏิบัติการฝนหลวง ที่สนามบินนครสวรรค์ในครั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการและบูรณาการการปฏิบัติการฝนหลวงของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 6 หน่วย ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สามารถทำงานสอดประสานกันในการเร่งรัดปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนต่างๆ และช่วยเหลือพื้นที่ที่ยังมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยมีอำนาจสั่งการเคลื่อนย้ายปัจจัยต่างๆ ทั้งเครื่องบิน สารฝนหลวง และเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะอากาศ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการช่วย

รวมทั้งเป็นศูนย์ติดตามและรายงานข้อมูลผลการปฏิบัติการฝนหลวงในภาพรวมของภาคกลางและภาคเหนือ ทั้งนี้ เนื่องจากฤดูฝนปีนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 2 เดือน ประมาณกลางเดือนตุลาคมก็จะหมดฝนแล้ว จึงจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมอบหมายให้ ดร.ประเสริฐ อังสุรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศ มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์

นายวราวุธกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมในขณะนี้ด้วยว่า ปริมาณน้ำฝนรายเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 เป็นต้นมาส่วนใหญ่จะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมที่ทำนาข้าว ไร่ข้าวโพดและไร่อ้อย ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรเป็นระยะๆ ในปีนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีอัตรากำลังและงบประมาณที่สามารถจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงได้ 11 หน่วย และเริ่มปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 เป็นต้นมา

โดยแบ่งไปช่วยเหลือภาคเหนือ 2 หน่วย ภาคกลาง 2 หน่วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 หน่วย ภาคตะวันออก 2 หน่วย และภาคใต้ 2 หน่วย แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนมิถุนายนปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ได้ลดน้อยลงเป็นลำดับจากการปล่อยน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในเขตชลประทาน จนใกล้ระดับต่ำสุดที่ไม่สามารถปล่อยน้ำได้แล้ว ทำให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรต้องปรับแผนเป็นการเติมน้ำให้เขื่อนต่างๆ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

โดยภาคเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเร่งเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และพื้นที่เกษตรกรรมในภาคเหนือ

ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และกาญจนบุรีเพื่อเร่งเติมน้ำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ และพื้นที่เกษตรกรรมในภาคกลาง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมาและอุบลราชธานี เพื่อเร่งเติมน้ำให้เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำตะคอง และพื้นที่เกษตรกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดระยองและสระแก้ว เพื่อเร่งเติมน้ำให้เขื่อนประแสร์ เขื่อนดอกกราย เขื่อนหนองปลาไหล เขื่อนคลองใหญ่ เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองค้อและพื้นที่เกษตรกรรมในภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่อำเภอเมือง และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งเติมน้ำให้เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และพื้นที่เกษตรกรรมในภาคใต้ตอนบน

นอกจากปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์แล้ว กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังนำคณะสื่อมวลชนปฏิบัติการทดสอบโครงการวิจัยการใช้พลุสารดูดความชื้นเพื่อเสริมการปฏิบัติการฝนหลวง ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

สำหรับการวิจัยและพัฒนาโครงการนี้ เป็นการใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในประเทศ ดำเนินการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถสนองนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ในการพึ่งพาตนเองและลดการนำเข้าจากต่างประเทศและจัดเป็นนวัตกรรมใหม่ของไทยที่สามารถผลิตขึ้นใช้เองได้ ซึ่งตรงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่นได้ในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

‘อภิชาต จงสกุล’ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ออกมาวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ภัยแล้งและโรคในกุ้งเป็นตัวที่ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของภาคเกษตรลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็ยังคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มจะดีขึ้น

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2556 มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 เนื่องมาจากผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 ประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรอบสองในแถบลุ่มเจ้าพระยาตอนบนเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ ขณะที่พืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันได้ทยอยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งการผลิตไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ แม้ว่าจะมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดในบางช่วงจนทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตช้า แต่ในส่วนของสาขาประมงมีการหดตัวลงอย่างมากเป็นผลมาจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่ได้รับความเสียหายจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) เป็นสำคัญ ประกอบกับปริมาณ
สัตว์น้ำจากการทำประมงทะเลที่ลดลงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ

เมื่อจำแนกเป็นรายสาขาจะเห็นว่าทุกสาขามีการขยายตัว ยกเว้นสาขาประมง โดยสาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เป็นต้น สำหรับผลผลิตข้าวนาปีที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอ รวมทั้งไม่พบปัญหาศัตรูพืชและโรคระบาดที่รุนแรง ในช่วงการเพาะปลูกขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นจากแรงจูงในด้านราคาเมื่อปี 2555 ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนการใช้ท่อนพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทำให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและทนต่อโรคและแมลง สำหรับผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของพื้นที่กรีดยางใหม่และพื้นที่ให้ผลผลิตใหม่ ของปาล์มน้ำมัน และในส่วนของทุเรียนและมังคุดที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะสภาพอากาศที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากปริมาณผลผลิตปศุสัตว์สำคัญที่เพิ่มขึ้น ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดมากขึ้นจากการขยายการเลี้ยงของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ประกอบกับเกษตรกรรายย่อย ผู้เลี้ยงไก่เนื้อมีระบบการผลิตที่ดี ประกอบกับความต้องการเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้า ได้แก่ ลาว ฮ่องกง และญี่ปุ่น ขณะที่ผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากแม่ไก่ไข่ยืนกรงที่มีจำนวนมากเริ่มทยอยให้ผลผลิตออกสู่ตลาด ส่วนผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นจากจำนวนแม่โครีดนมที่มีมากและให้ปริมาณน้ำนมที่เพิ่มสูงขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชสำคัญ ได้แก่ อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้านสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 0.7 เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตครั่งและถ่านไม้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะครั่งที่มีราคาค่อนข้างดีจูงใจให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมและช่วยสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนสาขาประมง พบว่าหดตัวร้อยละ 7.1 เป็นผลมาจากปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่ออกสู่ตลาดลดลงอย่างมากจากปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนหรือโรค EMS ในแหล่งผลิตที่สำคัญทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงได้รับความเสียหายประมาณร้อยละ 30-40 ประกอบกับผลผลิตจากการทำประมงทะเลมีปริมาณลดลงเช่นเดียวกัน โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้รวมทุกท่าลดลงประมาณร้อยละ 4.7 ขณะที่ผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นายอภิชาตกล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ถ้ามองในภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.5–2.5 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคมว่าจะมีการขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและโรคระบาดในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเป็นปัจจัยฉุดที่สำคัญฉะนั้นในภาพรวมปีนี้ผลผลิตพืชสำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคา เกษตรกรจึงขยายพื้นที่เพาะปลูกและมีการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากการพัฒนาการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สาขาประมงยังคง หดตัวจากปัญหาการระบาดของโรค EMS และสภาพอากาศที่แปรปรวนในครึ่งปีแรก แต่กรมประมงได้เร่งดำเนินการยับยั้งความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าวแล้ว คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีหลังอย่างแน่นอน สุดท้ายนี้อยากถึงเกษตรกรให้ก้าวขึ้นมาเป็น Smart Farmer ที่จะทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรมชลยันเอาอยู่สถานการณ์‘น้ำ’ฤดูฝนมั่นใจระบบโทรมาตร23ลุ่มน้ำ ให้ข้อมูลแม่นยำทันเหตุการณ์

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและการเตือนภัยในลุ่มน้ำต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว 23 ลุ่มน้ำจาก 25 ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ได้มีการติดตั้งระบบโทรมาตรที่สมบูรณ์ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งหมดถึง 54 สถานี ซึ่งจะทำสามารถวางแผนบรรเทาปัญหาอุทกภัย และแจ้งเตือนภัย กรณีเกิดน้ำหลากในบริเวณพื้นที่เป้าหมายได้ทันต่อสถานการณ์ อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือช่วยประกอบการตัดสินใจ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ระบบโทรมาตรดังกล่าวเป็นระบบตรวจวัดและส่งข้อมูลทางไกลแบบอัตโนมัติ และตลอดเวลา ทำให้สถานีหลักได้รับข้อมูลที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยจะทำหน้าที่ในการตรวจวัดระดับน้ำ ปริมาณน้ำ ปริมาณฝน ค่าความเค็ม หรือค่าออกซิเจนในน้ำ ตลอดจนข้อมูลการเปิด-ปิดบานระบายน้ำ จากนั้นก็จะส่งข้อมูลทั้งหมดจากทั้ง 23 ลุ่มน้ำมายังส่วนกลาง คือ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้กรมชลประทานได้รับทราบสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นทั้ง 23 ลุ่มน้ำได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หากสถานการณ์ไม่ปกติสามารถตัดสินใจ
ดำเนินการใดๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันที

“กรมชลประทานสามารถใช้ข้อมูล ระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝนจากระบบโทรมาตรและระบบพยากรณ์น้ำล่วงหน้ามาช่วยในการบริหารน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ นอกจากนี้ระบบโทรมาตรยังสามารถจับภาพระดับน้ำของสถานีตรวจวัด ส่งมาแสดงที่สถานีหลัก เพื่อเป็นข้อมูลในระบบช่วยการตัดสินใจได้อีกด้วย ดังนั้นในช่วงฤดูฝนปีนี้ จึงมั่นใจได้ว่า กรมชลประทานจะมีข้อมูลน้ำที่ถูกต้องในทุกลุ่มน้ำ และยังสามารถเชื่อมโยงกันข้อมูลระหว่างลุ่มที่ใกล้เคียงกันน้ำประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ เช่น ระบบ
โทรมาตรฯ ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นต้นได้อีกด้วย” นายสุเทพกล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวด้วยว่า สำหรับระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มเจ้าพระยานั้น ถือเป็นระบบโทรมาตรที่สมบูรณ์ที่สุดมีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ใต้เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกิ่วลม พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จนถึงปากอ่าวไทย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กฟก.เร่งจัดการหนี้สินคืนชีวิตใหม่เกษตรกร

นายสุภาพ คชนูด ประธานกรรมการจัดการหนี้ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูฯ มีภารกิจหลักใน 2 เรื่องคือ การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพและการจัดการหนี้สินเพื่อที่จะช่วยรักษาที่ดินซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการเกษตรของเกษตรกรเอาไว้ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมการจัดการหนี้จึงให้ความสำคัญกับการจัดการหนี้เป็นหลัก นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กฟก. สามารถจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรได้จำนวน 23,860 รายจากสถาบันเจ้าหนี้ทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ 1. สหกรณ์การเกษตร 2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) 3. กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 4. กลุ่มธนาคารเฉพาะกิจ 5. โรงงานน้ำตาล โดยจัดการหนี้ออกเป็น 5 ลำดับ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรมากที่สุด คือ 1. ทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาดและมีบุคคลที่ 3 ซื้อไปหรือสถาบันเจ้าหนี้ซื้อไป เรียกว่าหนี้ เอ็นพีเอ 2. หนี้ที่ถูกบังคับคดี 3. หนี้ที่กำลังดำเนินคดีฟ้องคาศาล 4. หนี้ที่ผิดนัด หรือ หนี้ เอ็นพีแอล และ 5. หนี้ปกติ

นายสุภาพ กล่าวต่อว่า เมื่อ กฟก.ชำระหนี้แทนเกษตรกรรายใดแล้วทรัพย์จะถูกโอนมาเป็นของ กฟก. เกษตรกรจะได้รับทรัพย์ไปด้วยการ เช่าหรือเช่าซื้อ ฉะนั้นจึงมั่นใจได้ว่า เมื่อทรัพย์ถูกโอนมาเป็นของ กฟก.แล้ว เกษตรกรจะไม่ถูกยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาดอย่างแน่นอนแต่เกษตรกรจะมีรายได้จากการประกอบอาชีพในที่ดินนั้น ส่วนการกำหนดวงเงินแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. หนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท 2. หนี้เกิน 1 ล้านแต่ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และ 3. หนี้ตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป โดย กฟก. จัดการหนี้ได้ทั้งแบบหลักทรัพย์และบุคคลค้ำประกัน โดยจะตัดดอกเบี้ยทั้งหมดออกไปส่วนเงินต้นคงค้างเหลือครึ่งหนึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้รับผิดชอบ กองทุน ฟื้นฟูฯ ก็เหมือนโรงพยาบาล แต่เป็นโรงพยาบาลทางด้านเศรษฐกิจ เวลาที่เกษตรกรขาดทุนก็เหมือนกับการเจ็บป่วย กฟก. ก็มีหน้าที่เยียวยารักษาให้ดีคืนชีวิตใหม่กับเกษตรกร

นายทรงฤทธิ์ จอมแปง เกษตรกรสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำไร่ขัวมุง ต.ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวหลังจากได้รับการช่วยเหลือจัดการหนี้โดย กฟก. ว่า เดิมเป็นหนี้สหกรณ์การเกษตรสารภี จำนวน 1 แสนกว่าบาท และเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ เกือบ 5 แสนบาท แต่หลังจากที่กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาช่วยเหลือจัดการหนี้ให้เหมือนมีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ ทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมมาก ตอนนี้มีอาชีพปลูกผักชีฝรั่ง ผักขึ้นฉ่ายขายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จนสามารถซื้อที่ดินของตัวเองกลับคืนมาจำนวน 2 ไร่ และยังได้ซื้อเพิ่มอีก 6 ไร่ นอกจากนี้ยังมีทุนเช่าที่ดินปลูกเพิ่ม อีก 20 ไร่ทำให้มีรายได้จากการขายผลผลิตเฉลี่ย 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เผยพื้นที่ภาคอีสานอย่างน้อย 7 จังหวัด ยังประสบภัยแล้ง

นายปณิธิ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 20 จังหวัด ว่าขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีปริมาณฝนตก ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งลดลง แต่ยังมีพื้นที่ 7 จังหวัด อาทิ จ.ขอนแก่นตอนล่าง นครราชสีมาตอนบน มหาสารคาม ศรีษะเกส สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ ที่ยังประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะที่ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ และอ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่ประสบภัยแล้งรุนแรง ชาวบ้านและเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัญหาที่ไม่สามารถทำให้เกิดน้ำฝนได้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างจะมีลมแรง ซึ่งทำให้เมฆไม่จับตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการทำฝนหลวง แต่ถึงอย่างไรก็ตามทางศูนย์ฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้มีการติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน ซึ่งหากพบว่าช่วงใดกำลังแรงของลมอ่อนลง ก็พร้อมที่จะนำเครื่องบินขึ้นไปทำฝนหลวงได้ทันที

ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัจจุบันยังมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง รวม 3 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์จังหวัดขอนแก่น ศูนย์จังหวัดนครราชสีมา และศูนย์จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งรับผิดชอบจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยมีเครื่องบิน พร้อมนักบิน และเจ้าหน้าที่ประจำการที่ศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากพื้นที่ใดยังประสบภัยแล้ง ก็สามารถร้องขอได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ที่อยู่ใกล้เคียง หรือที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง เพื่อที่จะได้มีการประสานขอรับความช่วยเหลือมาที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันที

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 25 สิงหาคม 2556

สนง.สิ่งแวดล้อมภาค10 ตรวจสอบคุณภาพน้ำอีสาน เผยร้อยละ41.7เสื่อมโทรม

นายธวัป ทุมพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 เปิดเผยว่า สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 ได้ทำการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน 5 จังหวัด ประจำปี 2556 คือแม่น้ำเชิญ พรม ลำพะเนียง พอง ลำปาว ชี และแม่น้ำเสียว มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตรวจสอบครั้งที่ 3 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ในวันที่ 24 พ.ค. - 7 มิ.ย. 2556 ผลการตรวจสอบปรากฏว่า แม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำเชิญ ชี พอง ที่กรวดน้ำรวม 34 พื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ร้อยละ 50 เสื่อมโทรมร้อยละ 41.7 เนื่องจากการตรวจพบปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำต่ำและปริมาณสารแอมโมเนียไนโตรเจนมีค่าสูง โดยผลตรวจแม่น้ำเชิญพบว่าเสื่อมโทรมร้อยละ 100 แม่น้ำชีพบคุณภาพน้ำพอใช้ร้อยละ 100 แต่พบว่ามีตะกอนมาก 3 แห่ง

นายธวัปกล่าวต่อว่า แม่น้ำพอง พบว่าในตอนบนก่อนไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 100 โดยพบตะกอน ปริมาณฟอสฟอรัสปริมาณไนเตรทมีค่าสูง และพบปริมาณแบคทีเรียทั้งหมดในรูปโคลิฟอร์ม รวมทั้งฟีโคลิฟอร์มมีค่าสูง ส่วนแม่น้ำพองตอนล่างตั้งแต่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ลงไปส่วนใหญ่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 55.6 และเสื่อมโทรมร้อยละ 33.3 และ 4 ลำห้วยสาขาแม่น้ำพองตอนล่าง ส่วนใหญ่คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมร้อยละ 60

ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 กล่าวอีกว่า ข้อเสนอให้ทุกภาคส่วนป้องกันและจัดการแก้ปัญหา จากพื้นที่เกษตรโดยเร่งลดการชะล้างตะกอนดิน ซึ่งมีไนโตเจน ฟอสฟอรัสลงสู่แม่น้ำ เช่น ปลูกพืชคลุมดิน ดูดซับสาร ลดการใช้สารเคมีอันตราย และจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยการให้ผู้ประกอบการ จัดการบำบัดน้ำเสียของตนเองที่ดี นำไปใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม ผู้ประกอบการดูดส้วม ไม่นำสิ่งปฏิกูลไปทิ้งหรือใส่เป็นปุ๋ยในไร่นา โดยไม่ถูกสุขลักษณะ และให้ท้องถิ่นสร้างระบบบำบัดที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น รวมทั้งจัดการขยะที่ถูกหลักเพื่อลดผลกระทบ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้3.14 พันล.สร้างโรงไฟฟ้าจากชานอ้อย

นางจรี วุฒิสันติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และนายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานคณะกรรมการ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

หรือ KTIS GROUP ร่วมลงนามสนับสนุนสินเชื่อ วงเงินจำนวน 3.14 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากชานอ้อย ขนาด 50 MW/ชั่วโมง ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดนครสวรรค์

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นักวิชาการและเกษตรกรไทยเร่งรัฐยกเครื่องระบบพยากรณ์อากาศเพื่อความมั่นคงอาหารในภาวะโลกร้อน

เกษตรกร นักวิชาการ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเตรียมการรับมือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเริ่มจากการยกเครื่องระบบการพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว และสอดคล้องเอื้ออำนวยต่อการปรับตัวและเอาตัวรอดจากผลกระทบโลกร้อนซึ่งกำลังส่งผลต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเกษตรหัวใจหลักของประเทศ แม้ว่าการรับมือวิกฤตโลกร้อนต้องอาศัยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านวิสัยทัศน์ นโยบาย และการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนเนื่องจากมีผลกระทบในวงกว้างและเกี่ยวเนื่องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศระยะยาวก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานรัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนที่สุดเพราะเป็นตัวแปรหลักต่อความสำเร็จของงานในระยะยาว

ข้อเรียกร้องนี้เป็นผลสรุปจากการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง “ทิศทางนโยบายด้านการปรับตัวต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรรายย่อย” ซึ่งจัดโดย องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เพื่อตกลงกันยื่นข้อเสนอแนะต่อทิศทางการดำเนินการของรัฐบาลไทยเรื่องการปรับตัวและรับมือกับภาวะโลกร้อนในภาคเกษตร มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 80 คน จากทุกภาคส่วน

“ในฐานะประเทศเกษตรกรรม เรามีพื้นที่การเกษตรกว่าครึ่งที่พึ่งพาน้ำฝน ดังนั้นข้อมูลพยากรณ์อากาศที่แม่นยำเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะนั่นหมายถึงความเป็นความตายของเกษตรกร ปริมาณผลผลิตต่อปีสามารถดึงให้เกษตรกรพ้นหนี้หรือฉุดให้จมหนี้ได้ เราจึงต้องมีข้อมูลสถิติและการพยากรณ์ที่แม่นยำ ช่วยประกอบการวางแผนปลูกและดูแลพืชไปตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ควรปลูก เวลาที่ควรให้น้ำ หรือเวลาตากข้าว การพยากรณ์ที่แม่นยำจะช่วยลดต้นทุนการปลูกข้าวได้ ไม่ต้องหว่านกล้าแล้วเสียหาย หรือวิดน้ำเข้านาโดยไม่จำเป็น” นางสาวสุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการอ็อกแฟมประเทศไทยกล่าว

ข้อมูลสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ปัจจุบันระดับความแม่นยำของคำพยากรณ์อยู่ 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป้าหมายของกรมคือ 90 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยของการทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ ก็คือข้อมูลการตรวจอากาศมีเพียงพอและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคคลากรของกรมฯ นั้น ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
“การแก้ปัญหาไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย...ผลผลิตของเราคือคำพยากรณ์ เป็นบริการของเรา จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ได้มาจากสถานีตรวจวัดที่ต้องมีเพียงพอและครบทุกจังหวัด ถ้ามีไม่เพียงพอได้ข้อมูลกระท่อนกระแท่น การประเมินผลก็จะไม่เที่ยงตรง และต้องมีระบบการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพสูง หากไม่มีผลที่ได้ก็ไม่แม่นยำ และไม่สามารถให้รายละเอียดเชิงพื้นที่ถึงระดับตำบลได้เท่าที่ควร” นายวรพัฒน์ ทิวถนอม อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าว

ปัจจุบัน มีหลายกลุ่มที่เข้ามาขอใช้ข้อมูลพยากรณ์อย่างสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มประมง การบิน ธกส กลุ่มน้ำตาล สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาหากมีการรวมกลุ่มกันมาขอใช้บริการ ทางกรมอุตุฯ ก็พร้อมให้บริการเช่นกัน

ด้านสถานการณ์ระดับโลก เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้ทะลุ 400 พีพีเอ็ม (PPM - parts per million) แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งไว้สูงสุดโดยอิงความสามารถในการปรับตัวของโลก และผลกระทบที่มนุษย์ยังพอรับมือได้ อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ปลอดภัยที่สุดคือ 350 พีพีเอ็ม แม้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นที่ยอมรับโดยสากล การประชุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกที่ผ่านมาทุกปีกลับประสบความล้มเหลว ไม่สามารถหาข้อตกลงและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลงตัวของประเทศมหาอำนาจ และประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่กระทบต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

ด.ร. เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าผลกระทบที่ทั่วโลกจะเจอคือภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือจำนวนครั้งอาจจะลดลง แต่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น

“สิ่งที่นานาชาติเป็นห่วงอย่างมากคือ ความมั่นคงทางอาหารจากผลผลิตการเกษตรที่ลดลง โดยเฉพาะพืชอาหาร ไม่ว่าจะเป็นช้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ถั่วต่างๆ ซึ่งพืชเหล่านี้หลายอย่างก็เป็นพืชพลังงาน และมีพื้นที่การปลูกที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าข้าวอย่างมากคือร้อยละ 34 ต่อร้อยละ 12 นั่นหมายถึงจะมีอาหารไว้เลี้ยงคนน้อยลงเพราะในปัจจุบันพืชพลังงานราคาดีกว่า” ด.ร. เดชรัตกล่าว

ด.ร. เดชรัตชี้ว่า แม้ว่าอากาศที่อบอุ่นขึ้นจะทำให้ผลผลิตการเกษตรในประเทศเมืองหนาวเพิ่มตามไปด้วย นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่าความเสียหายจากการล่มสลายของระบบนิเวศน์ที่ส่งผลให้อากาศและฤดูกาลแปรปรวนมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้นหลายเท่า และยังไม่นับรวมมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติอีกด้วย
ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้เห็นด้วยกับแผนงาน 3 ด้านของกรมอุตุฯ คือ การมีเครื่องมือพยากรณ์ให้ได้ระดับตำบล การให้บริการข้อมูลภาพรวมเป็นฤดูกาล นอกจากช้อมูลรายวัน และการคาดการณ์ระยะยาวเพราะรัฐเองก็ต้องการทราบเพื่อการวางแผนเกษตรในอนาคต โดยเห็นพ้องว่าภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการพยากรณ์อากาศมากกว่านี้

“การทำงานที่ผ่านมาดูเหมือนรัฐบาลมีความตระหนักรู้น้อยมากถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญ ในภาวะปกติที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก เราก็ไม่ใช่ประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้เป็นเพราะยังมีคนอีกจำนวนมากที่ชีวิตพึ่งพาผลผลิตรายปี ถ้าข้อมูลที่เป็นพื้นฐานในการวางแผนและประมวลผลด้านภูมิอากาศไม่สมบูรณ์ คงเป็นการยากที่เราจะรับมือกับเรื่องนี้ได้ สุดท้าย การจัดการและรับมือที่ไร้ประสิทธิภาพจะกระทบกับความเป็นอยู่ของคนไทย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ” นางสุนทรีกล่าวตบท้าย

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 23 สิงหาคม 2556

อาเซียนบี้สมาชิกแก้กีดกันรับเออีซี

อาเซียนสั่งสมาชิก แก้กีดกันการค้า ทุกชาติต้องนำร่อง 1 เรื่อง และให้จบใน 1 ปี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 45 ณ ประเทศบรูไน ว่า อาเซียนได้รับทราบผลการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งขณะนี้อาเซียนสามารถทำตามแผนได้ประมาณ 80% ของการดำเนินการทั้งหมด โดยประเทศที่มีความคืบหน้ามาก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ส่วนฟิลิปปินส์และกัมพูชา ต้องเร่งดำเนินการให้มากกว่าเดิม และได้ย้ำว่าอาเซียนจะต้องเป็น AEC ในปี 2558 เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของอาเซียนต่อประชาคมโลก
สำหรับการติดตามความคืบหน้าในประเด็นด้านการค้า อาเซียนได้ขอให้ทุกประเทศเสนอมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) ที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นปัญหาอุปสรรคทางการค้า 1 เรื่อง เป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างของการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าในอนาคต โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 ปี

ทั้งนี้ อาเซียนยังได้ยืนยันให้มาเลเซียและอินโดนีเซียลดภาษีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในปี 2558 โดยใช้มาตรการภายในประเทศ เช่น ภาษีสรรพสามิต แทนภาษีนำเข้าหากจำเป็น รวมทั้งเร่งรัดให้เวียดนามและกัมพูชาลดภาษีสินค้าปิโตรเลียมด้วย

นอกจากนี้ อาเซียน 10 ประเทศยังได้ประชุมกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นครั้งแรก ซึ่งรัฐมนตรีทั้ง 16 ประเทศ ได้ย้ำให้การเปิดเสรีต้องมีตารางการเปิดตลาดเพียงตารางเดียว (single schedule of commitments) ที่เปิดให้กับทุกประเทศ.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 23 สิงหาคม 2556

งัด6แนวทางยกระดับชีวิตเกษตรกร กรมส่งเสริมฯเร่งขับเคลื่อนแผน มุ่งเพิ่มศักยภาพเคหกิจการเกษตร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร กำลังเร่งผลักดันนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยวางแนวทางไว้ 6 แนวทาง ประกอบด้วย

1.ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ให้มีศักยภาพทั้งด้านการผลิตและการบริหารจัดการ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานร่วมกันในระดับต่างๆ 2.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรแกนนำ และผู้นำกลุ่มต่างๆ 3.ส่งเสริมงานเคหกิจเกษตร เพื่อพัฒนาครัวเรือนเกษตรกร 4.ส่งเสริมและพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตร ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตการเกษตร 5.เสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ 6.สร้างความมั่นคงและยั่งยืนของภาคเกษตรเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพควบคู่กับการฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ที่รับผิดชอบงานด้านเคหกิจเกษตรในระดับจังหวัดและอำเภอ เจ้าหน้าที่ผู้ที่รับผิดชอบงานเคหกิจเกษตรโดยเฉพาะ 1 คน เพื่อรับผิดชอบรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง

นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเสริมศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนโยบายนี้ให้ประสบความสำเร็จ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินการให้มีการจัดทำคู่มือ “เคหกิจเกษตร” เพื่อให้ความรู้และเป็นแนวทางการปฏิบัติงานด้านส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการจัดพิมพ์ โดยคาดว่าจะสามารถนำแจกจ่ายให้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2556

“ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบยังสามารถศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาองค์กรเกษตรกร วิสาหกิชชุมชนและเครือข่าย การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรแบบมีส่วนร่วม การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการเกษตร โดยผ่านระบบ E-learning ที่กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาหลักสูตรขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 สิงหาคม 2556

รายงานพิเศษ : ขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่ง พัฒนาการเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

การขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังคืบหน้าไปตามกระบวนการ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบูรณาการกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ และภาคอุตสาหกรรม ในการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แต่ได้ผลผลิตต่ำ ได้ปรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับพื้นที่

โดย นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่เน้นย้ำการจัดระบบตลาดรองรับ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้มีความสมดุลกับ Demand และ Supply เป็นแกนหลักในการจัดระบบโซนนิ่ง

ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว พบว่า พื้นที่ที่ทำนาทั่วประเทศ 70 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำนาจริง ๆมีเพียง 43 ล้านไร่ อีก 27 ล้านไร่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในพื้นที่ส่วนนี้ ได้มีการทำการวิเคราะห์สภาพดิน และภูมิอากาศ ผลปรากฏว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการปลูกอ้อยเป็นอย่างมาก ประกอบกับผู้ประกอบการ มีความต้องการที่จะได้อ้อยเพิ่มขึ้นเพื่อแปรรูปเป็นน้ำตาล โดยต้องการเพิ่มปริมาณการผลิตอ้อยให้เพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านตัน

ด้วยระบบการบริหารจัดการของอ้อยที่มีความชัดเจน จากการตรวจสอบพื้นที่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ทั่วประเทศ 51 โรงงาน และมีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยในรัศมีรอบโรงงานน้ำตาล 50 กิโลเมตร จำนวน 45 จังหวัด กระทรวงเกษตรฯ จึงใช้อ้อย เป็นโมเดลพืชนำร่องเดินหน้าการส่งเสริมนโยบายโซนนิ่งการเกษตร โดยมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการการพัฒนาพื้นที่เกษตรโซนนิ่งระดับจังหวัด ไปดำเนินการสำรวจเกษตรกรทั้งหมด ที่มีความประสงค์ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกข้าวมาเป็นการปลูกอ้อย ซึ่งพบว่า มีเกษตรกรให้ความสนใจประมาณ 37 จังหวัด

เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันเกษตรกรปลูกข้าวประมาณ 3 ล้าน ไร่ ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพื้นที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ เพิ่มขึ้น ซึ่งบุรีรัมย์มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยประมาณ 3 แสนไร่ จากการสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อย พบว่า ได้ราคาที่สูงกว่าการปลูกข้าวประมาณ 6 หมื่น ไร่ ประกอบกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนขยายโรงงานน้ำตาลเพื่อรองรับปริมาณอ้อย ที่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล 70:30 ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากการส่งเสริมการปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าว กระทรวงเกษตรฯ ได้มองพืชชนิดอื่นๆ อาทิ มันสำปะหลัง เพราะมีตลาดรองรับจำนวนมาก และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ได้แก่ ทำแป้งมันสำปะหลัง มันฝรั่งทอด(Chip) และ สามารถนำไปทำเป็นพลังงานทดแทน หรือ เอทานอล และจากการศึกษาวิจับพบว่า มันสำปะหลัง ยังสามารถนำไปแปรรูป เป็นผงชูรส ได้อีกด้วย ซึ่งจากการสำรวจโรงงานมันสำปะหลัง มีพื้นที่การเกษตรที่เหมาะสมอยู่บริเวณใกล้เคียง สามารถทำการขนส่งได้สะดวก จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง มันสำปะหลัง จึงเป็นพืชอีกชนิดที่กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการส่งเสริมต่อไป

ขณะที่ โซนนิ่งด้านปศุสัตว์ ได้เลือกโคเนื้อ เป็นฐานนำร่อง โดยจะวางระบบการปลูกพืชเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ เพราะสัตว์สี่กระเพาะจะกินหญ้าเป็นหลัก ถ้ามีการวางแผนปลูกพืชที่เป็นพืชอาหารสัตว์ มีการจัดพื้นที่ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ที่เหมาะสม ก็จะทำให้มีการใช้พื้นที่สำหรับปรับ เปลี่ยนมาเลี้ยงโคเนื้อได้ ส่วนโซนิ่งด้านประมง เลือกการเลี้ยงปลานิล หรือปลาสลิด โดยมอบกรมประมง ดำเนินการสำรวจและประกาศพื้นที่ แหล่งน้ำที่มีความเหมาะสม

นับได้ว่า นโยบายโซนนิ่ง เป็นนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยดูได้จากการปรับตัวของเกษตรกร ที่ยอมหยุดการปลูกข้าว หันมาปลูกพืชที่ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่แทน ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จ ในการพัฒนาเกษตรกรรมของไทยอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 สิงหาคม 2556

ไทยรุกe-Court รับศก.อาเซียน

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิคส์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ การทำธุรกรรมทางระบบออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง electronic document หรือเอกสาร สัญญาต่างๆ ที่เป็นรูปแบบอิเลคทรอนิคส์ หรือเก็บเป็นรูปแบบไฟล์ รวมทั้ง e-Filing เป็นต้น ซึ่งจะลดภาระหลายๆ ด้าน ทั้งค่าใช้จ่าย หรือการจัดเก็บ

และอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ คือ ความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจในบ้านเรา ที่นักลงทุนจะมีข้อมูลเชิงลึกว่าระบบเอกสารขั้นตอนต่างๆ ของไทยพัฒนาหรือก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งปัจจุบันจากการจัดอันดับเรตติ้งการน่าลงทุนในประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 18 และหนึ่งในอุปสรรคที่นักลงทุนต่างชาติยังคิดว่าเป็นข้อกังวลที่จะเข้ามาลงทุน คือ ความไม่ทันสมัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ทั้งนี้การที่จะก้าวสู่ AEC ปัจจัยเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก เรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น และในฐานะที่ บยส.- ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมรับสูง รุ่น 17 ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารในภาครัฐและองค์กรเอกชน เล็งเห็นเรื่อง e-Court (electronic Court) ซึ่งก็คือการผลักดันให้เกิดกระบวนการทำธุรกรรมทางอิเลคทรอนิคส์อันที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมาย แทนการดำเนินการด้วยกระดาษ โดยจุดเริ่มต้นจะอยู่ที่งานสัมมนาวิชาการ e-Court กับนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ วันที่ 28 ส.ค. 2556 ที่โรงแรมเดอะเซนต์รีจิส โดยท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะร่วมให้หลักการและวางเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 สิงหาคม 2556

พณ.พร้อมเป็นฮับโลจิสติกส์

นางดวงกมล เจียมบุตร รองอธิการบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงาน ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ แฟร์ 2013 (Thailand International Logistics Fair 2013) หรือ ไทยล็อก (TILOG) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 แล้ว โดยความร่วมมือจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจวัตถุอันตราย โดยการจัดแสดงงานใช้พื้นที่ 9,600 ตร.ม. มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมแสดงสินค้ากว่า 380 คูหา และได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการต่างประเทศเข้าร่วมงานอีกจำนวน 56 คูหา จาก 8 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมั่นใจว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานกว่า 1 หมื่นราย

“เราคาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นการผลักดันให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียน โดยปีนี้มุ่งการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน +6 อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2558 ด้วยไทยอยู่ในทำเลที่ได้เปรียบกว่าคู่แข่งในอาเซียน ดังนั้นเราต้องมีการบริหารจัดการที่พร้อม ในงานนอกจากจะมีการแสดงสินค้าแล้ว ยังมีการประชุม Symposium TILOG 2013 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการต่างประเทศอีกด้วย” นางดวงกมล กล่าว

ทั้งนี้ งานไทยล็อก จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 ก.ย.56 อาคาร 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยภายในงานจะมีผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เข้าร่วมกว่า 20 หน่วยงาน อาทิ สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทย กรมศุลกากร เป็นต้น โดยภายในงานแบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ 1.เออีซี โซน (AEC Zone) การจัดแสดงเส้นทางเชื่อมโยงในอาเซียน 2.โลจิสติกส์ อินโนเวชั่น โซน (Logistics Innovation Zone) การจัดแสดงนวัตกรรมโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการไทย ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการโลจิสติกส์การค้า

3.กรีน โลจิสติกส์ โซน (Green Zone) เป็นการจัดแสดงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์การลำเลียงเคลื่อนย้ายสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 4.โนว์เลด์จ โซน (Knowledge Zone) เป็นส่วนของการจัดเสวนาให้ความรู้ โดยมีวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ และ 5.เอลมา โซน (ELMA Zone) เป็นการจัดแสดงนิทรรศการผลงานผู้ชนะรางวัล ELMA 2013

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 23 สิงหาคม 2556

3สมาคมรง.น้ำตาลสร้างความเชื่อมั่นให้แบงก์หนุนธุรกิจน้ำตาลทราย

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จัดโครงการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลกับสถาบันการเงิน หวังให้สถาบันการเงินเข้าใจและเห็นช่องทางทำธุรกิจกับผู้ประกอบการ ส่วนโรงงานก็มีแหล่งเงินทุนในการนำไปพัฒนาด้านต่างๆ หนุนความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะยาว
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้จัดโครงการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลทรายกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดเตรียมผลผลิตอ้อยด้วยการส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยให้แก่ชาวไร่ การจัดเก็บผลผลิต การขนส่งผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงาน การหีบอ้อยเพื่อแปลงผลผลิตอ้อยเป็นน้ำตาลทราย รวมไปถึงการกำหนดราคาอ้อย ทิศทางราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ตลอดจนกลไกและกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิตน้ำตาลทรายของไทย

“เนื่องจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการค้าและการลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน มีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องมากมาย อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ สถาบันการเงินเป็นหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ในเรื่องการอำนวยสินเชื่อและธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ให้แก่ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น การเปิด Letter of Credit (L/C) หรือการชำระค่าสินค้าผ่านธนาคารระหว่างผู้ผลิตและส่งออกกับผู้นำเข้าน้ำตาลทราย ประกอบหน่วยงานของสถาบันการเงินต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนคนใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านสินเชื่อ หรือธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ดังนั้น การสร้างความเข้าใจอย่างกระจ่างชัดให้กับสถาบันการเงินจึงมีความจำเป็น และจะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินได้เข้าใจกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายอย่างถ่องแท้ ก็จะเข้าใจถึงโรงงานน้ำตาลต้องใช้เงินทุนในขั้นตอนใดบ้าง และทำไมจะต้องใช้เงินในขั้นตอนเหล่านั้น เช่น การจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ชาวไร่อ้อยเพื่อนำไปใช้เพาะปลูกอ้อย ไปจนถึงการลงทุนซ่อมบำรุงและปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรต่างๆ

“สมาชิกของสมาคมฯ ที่ติดต่อกับสถาบันการเงินหลายคน เห็นว่า เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกับสถาบันการเงิน เกี่ยวกับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เราจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจในห่วงโซ่อุปทานด้านการผลิตและการค้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินเห็นช่องทางและโอกาสในการร่วมมือด้านการสนับสนุนสินเชื่อ และธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ กับโรงงานน้ำตาลได้มากขึ้น สถาบันการเงินก็จะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ ส่วนผู้ประกอบการก็มีแหล่งเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจของตน ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ และที่สำคัญคือประโยชน์จะตกกับอุตสาหกรรมโดยรวม และประเทศชาติด้วย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 สิงหาคม 2556

กฟก.จับมือมท. เชื่อมข้อมูลเกษตรกรทั่วไทย

นายวิรัตน์ สมัครพงศ์ ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวว่า ในปัจจุบันมีองค์กรเกษตรกรประมาณ 52,000 องค์กร สมาชิกประมาณ 5.9 ล้านคน มีภารกิจหลัก 2 ด้าน คือด้านการจัดการหนี้ของเกษตรกร และด้านฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพของเกษตรกรนับเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นจึงได้ประสานขอความร่วมมือกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำข้อมูลเกษตรกรเข้าตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก เช่น การรับขึ้นทะเบียนสมาชิกองค์กรเกษตรกร การปรับปรุงข้อมูลสมาชิก การตรวจสถานะความมีอยู่จริงของสมาชิกให้เป็นปัจจุบันทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้ประโยชน์ข้อมูลจากทะเบียนราษฎร โดยวิธีการประมวลผลเชิงกลุ่ม และการออนไลน์ และการขอใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เพราะจะทำให้การตรวจสอบความมีอยู่จริงทำได้สะดวกยิ่งขึ้น การขึ้นทะเบียนสมาชิกใหม่เพียงนำข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนมาใช้ ก็จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรด้วย และ บันทึกข้อตกลงฉบับนี้จะทำให้ กฟก.สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนราษฎร มาใช้พิสูจน์ยืนยันตัวสมาชิก อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลสมาชิก ผู้ค้ำประกัน เจ้าของหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทายาท ผู้กู้ร่วม พยาน คู่สมรส ของสมาชิกด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 สิงหาคม 2556

พด.อบรมพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ด้านวิชาการ เปิดเผยว่า กรมได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเกษตรกร 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 6 วันที่ 27-28 ส.ค. และรุ่นที่ 7 วันที่ 29-30 ส.ค. ณ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมอบรม รุ่นละ 100 คน รวม 200 คน เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องทรัพยากรดิน เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน และการทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีฐานเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น ฐานห้องปฏิบัติการจุลินทรีย์เคลื่อนที่ เรียนรู้ชนิดจุลินทรีย์และการนำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ฐานการทำปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ฐานการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ ฐานการผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืชจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 และเรียนรู้พืชสมุนไพรใกล้ตัว ฐานการเรียนรู้พืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงดินและฐานมหัศจรรย์หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ

นางกุลรัศมิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังจัดศึกษาดูงานอนุรักษ์ดินและน้ำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และมีการฝึกปฏิบัติในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การผลิตและใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การทำน้ำส้มควันไม้ การเลี้ยงหมูหลุม การทำแก๊สชีวภาพและพลังงานทดแทนในครัวเรือน การทำนาโยน การศึกษาดูงานป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง รวมทั้งการบรรยายพิเศษ

เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรสอบถามรายละเอียดได้ที่กลุ่มวิจัยและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน สำนักวิจัยและพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 0-2579-1562 หรือศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง โทรศัพท์ 0-4424-9962 หรือ คอลเซ็นเตอร์ 1760 ต่อ 2249 และ www.ldd.go.th

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 สิงหาคม 2556

กระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าโซนนิ่งพืช

ปรับเกษตรกรผลิตสินค้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ

จากนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากลให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น และเพิ่มความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของสินค้าให้แก่ประเทศผู้บริโภค เพื่อรองรับนโยบายด้านพืชอาหารและพืชพลังงาน และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งนโยบายสำคัญของภาครัฐคือ การโซนนิ่งภาคเกษตร เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ในประเทศไทยว่า พื้นที่ตรงไหนเหมาะสมที่จะส่งเสริมปลูกพืชอะไรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคง

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโซนนิ่งของรัฐบาลในขณะนี้ว่า จากเดิมที่ทางกระทรวงฯ ได้ทำโครงการโซนนิ่งโดยมีการประกาศเขตพื้นที่ที่จะมีการส่งเสริมการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง ขณะนี้ได้มีการกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแล้ว 13 ชนิด สัตว์น้ำ 2 ชนิด ซึ่งในขณะนี้สามารถบอกได้ว่าในประเทศไทย ที่มีพื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่นั้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชชนิดไหนบ้าง ในจังหวัด, อำเภอ, ตำบลไหน เหมาะจะทำการเกษตรปลูกพืชชนิดใดบ้าง หรือเหมาะสมที่จะทำปศุสัตว์หรือเลี้ยงสัตว์น้ำอะไรบ้าง โดยใช้วิธีการประกาศในลักษณะการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากกับเหมาะสมปกติ ส่วนพื้นที่เหมาะสมน้อยกับไม่เหมาะสมนั้น ไม่ได้ประกาศ เพราะฉะนั้นประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นได้ระบุเรื่องการปลูกพืช ประมง ปศุสัตว์ที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไว้แล้ว

“เราได้มีการประสานงานเพื่อดำเนินการในพื้นที่ โดยต้องสำรวจข้อมูลจากพื้นที่จริง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการในการที่จะจัดการพัฒนาพื้นที่เกษตรโซนนิ่งในแต่ละจังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีการตั้งคณะทำงานในแต่ละจังหวัด มีหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และตัวแทนสภาเกษตรกร ซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรในแต่ละจังหวัดด้วย มีตัวแทนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมหารือว่า หลังจากที่มีการประกาศโซนนิ่งในแต่ละพื้นที่ของทุกจังหวัดแล้ว ต้องมาดูว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศออกไปแล้วนั้น เราจะมาร่วมกันพัฒนาศักยภาพกันอย่างไร พื้นที่ที่ได้ประกาศแล้วมีเกษตรกรปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อยู่แต่ได้ผลผลิตต่ำ เราจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อหันไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือทำการประมงและปศุสัตว์อย่างไร” นายยุคล กล่าว

จากการตรวจสอบเพื่อคัดเลือกพืชที่จะนำร่อง พบว่าพื้นที่ที่ทำนาทั่วประเทศ 70 ล้านไร่ แต่พื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำนาจริงๆ มีเพียง 43 ล้านไร่ อีก 27 ล้านไร่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม และในขณะเดียวกันทางสมาคมผู้ประกอบการ ก็มีความต้องการที่จะได้อ้อยเพิ่มขึ้นเพื่อจะทำน้ำตาล โดยทางภาคอุตสาหกรรมต้องการเพิ่มปริมาณการผลิตอ้อยให้เพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านตัน ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่แล้วพบว่าในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกข้าว หรือเหมาะสมน้อย สามารถที่จะปลูกอ้อยได้ จากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวได้มาประมาณ 8-10 ล้านไร่ และด้วยระบบการบริหารจัดการของอ้อยที่มีความชัดเจน ทางนายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ใช้อ้อยเป็นโมเดลพืชนำร่องในการทำโซนนิ่งการเกษตร ซึ่งแรงจูงใจที่จะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรให้เหมาะกับพื้นที่นั้น มีข้อมูลพื้นฐานชัดเจนว่าการปลูกอ้อยกับการปลูกข้าวนั้น รายรับและผลกำไรที่ได้จากการปลูกอ้อยจะสูงกว่าการปลูกข้าว และในขณะเดียวกัน ในระบบของการปลูกอ้อยของทางภาคเอกชนเอง ทางโรงงานอ้อยและน้ำตาลมีการปล่อยเงินกู้ให้กับตัวเกษตรกรที่เป็นคอนแทรคฟาร์มของโรงงานเพื่อยืมไปพัฒนาปรับปรุงพื้นที่, ซื้อพันธุ์อ้อยหรือซื้อปุ๋ยส่วนหนึ่ง และรัฐบาลก็จะพิจารณาในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเสริมให้กับตัวเกษตรกรในรูปของเงินกู้ หรือเงินชดเชย ซึ่งอาจจะชดเชยเรื่องของดอกเบี้ยเป็นหลัก ในขณะนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลังกำลังร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดเรื่องดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยต่อไป ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่พร้อมสำหรับการปลูกอ้อยนั้น ในฤดูกาลต่อไป ก็เข้าไปดูว่าจะสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนได้อย่างไรต่อไป

“ส่วนเรื่องวิชาการเพื่อให้ความรู้เกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปแนะนำและถ่ายทอด พร้อมทั้งมีนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของโรงงานอ้อยและน้ำตาลจะมีทีมงานอยู่แล้ว ก็จะไปเสริมตรงนี้ สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ จะทำคือการให้ความรู้และการจัดโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลมองภาพว่า เมื่อมีการจัดโซนนิ่งที่ชัดเจนแล้วโครงสร้างพื้นฐานที่จะให้นั่นคืออะไร เช่น เรื่องของการจัดถนนเข้าไป จัดระบบน้ำเข้าไป ภาพที่เรามองคือการสร้าง infrastructure นั้นเป็นเรื่องสำคัญและดีกว่า เพราะจะเป็นการช่วยเกษตรกรที่มีความยั่งยืน ไม่ใช่การช่วยแบบชั่วคราวแล้วก็ผ่านไป”

นายยุคล กล่าวอีกว่า สำหรับในเรื่องของปศุสัตว์นั้น ทางกระทรวงฯ จะใช้การเลี้ยงโคเนื้อมานำร่องและเป็นฐาน ส่วนการทำประมง ก็จะเลือกการเลี้ยงปลานิลหรือปลาสลิดนำร่อง ตามความเหมาะสม โดยทางกระทรวงฯ ดูแลในเรื่องการจัดพื้นที่ การทำเรื่องแหล่งน้ำให้ ทั้งนี้กรมประมงก็ได้มีการประกาศแล้วว่าพื้นที่ที่เหมาะสมจะเลี้ยงปลาแต่ละชนิดอยู่แหล่งไหน พร้อมทั้งเรื่องคุณภาพของน้ำ, ดิน, ค่า Ph ของน้ำที่เหมาะกับการเลี้ยงปลาควรเป็นอย่างไร โดยจะเน้นแต่ปลาน้ำจืดเป็นหลัก

“ในแต่ละจุด เราก็จะลงไปดูพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร อย่างเช่น จังหวัดบุรีรัมย์ มีการปลูกพืชหลักๆ 3-4 ชนิด เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ทำอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล กลุ่มเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังป้อนให้กับโรงงานแป้งมัน ที่จังหวัดนครราชสีมา และมีกลุ่มที่ปลูกข้าว เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงไก่เนื้อ ในจังหวัดบุรีรัมย์ก็จะมีแยกเป็นกลุ่มๆ อย่างเรื่องข้าว ตอนนี้บุรีรัมย์เองมีแผนที่จะทำข้าวหอมมะลิจากพื้นที่ภูเขาไฟ ตอนนี้เราได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีพื้นที่ 50,000 ไร่ ในเขตพื้นที่ภูเขาไฟ ในดินมีซัลเฟอร์และธาตุเหล็กสูง ทำให้เป็นข้าวที่มีความหอมเป็นพิเศษ เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางอาหาร มีธาตุเหล็กสูงกว่าทั่วๆ ไป ก็จะเป็นพืชในพื้นที่เฉพาะ ก็จะทำเป็นตลาด Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่มที่น่าสนใจ) ต่อไป”

นายยุคล กล่าวอีกว่า ประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ Zoning จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตรเนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้สุทธิจากการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมประสิทธิภาพการผลิตข้าวอยู่ที่ 715 กิโลกรัมต่อไร่ (ณ ความชื้นร้อยละ 14) ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้การจะปรับเพิ่มปริมาณ คุณภาพและมาตรฐาน จะทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกษตรกรสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านราคาจำหน่าย นอกจากนั้นในภาพรวมประเทศจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรได้เต็มศักยภาพในการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อมูลเขตเหมาะสมที่ประกาศ นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการและภาคเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้รับรู้และเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของตนเองและร่วมกันคิดสร้างสรรค์แนวทางการปรับเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ หาทางเลือกดำเนินการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของภูมิสังคมของตนเองและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลสนับสนุนหรือประสานความร่วมมือในการหาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ การปรับเพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรดินและน้ำ การกำกับดูแลให้มีการซื้อขายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประสานอำนวยความสะดวกทางการตลาด การบริหารตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับวิธีคิดเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart officers และนำไปสู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 22 สิงหาคม 2556

เกษตรกรต่อคิวล้นขอ“จัดรูปที่ดิน” ย้ำพื้นที่ต้องมากกว่า1.5พันไร่ เพื่อความคุ้มค่าด้านการลงทุน

เกษตรกรยังต้องการจัดรูปที่ดินไม่ขาดสาย สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง แนะสังเกตความพร้อมของพื้นที่ เรื่องแหล่งน้ำต้นทุน พื้นที่ราบส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงได้ และมีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมไม่ควรน้อยกว่า 1,500 ไร่ เกณฑ์ถือครองที่ดินต่อรายไม่น้อยกว่า 5 ไร่

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า เกษตรกรไทยยังคงมีความต้องการจัดรูปที่ดินไม่ขาดสาย โดยสังเกตจากการส่งความต้องการ หรือโทรศัพท์มาสอบถามจากสำนักงานจัดรูปที่ดิน ทั้งในส่วนกลางและในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ที่ประสงค์อยากจัดรูปที่ดิน เพราะเห็นตัวอย่างรูปธรรมจากพื้นที่จัดรูปที่ดินไปแล้ว ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการเกษตร เช่น คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียง ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิต รวมทั้งเพิ่มรอบการผลิต ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นชัดเจน

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสำคัญที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางจะพิจารณาจัดรูปที่ดินคือต้องมีแหล่งน้ำต้นทุน จะเป็นแหล่งน้ำชลประทานที่มีระบบชลประทาน หรือแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีระบบสูบน้ำที่มีองค์กรท้องถิ่นดูแลก็ได้ ขณะเดียวกัน พื้นที่ดังกล่าวควรเป็นที่ราบ สามารถส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงของโลกได้

ขนาดของพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดรูปฯ ควรมีขนาด 1,500-3,000 ไร่ มีการถือครองที่ดินเฉลี่ยต่อรายไม่น้อยกว่า 5 ไร่

“ถ้าการถือครองน้อยเกินไป เวลาจัดรูปที่ดินก็จะเหลือที่ดินทำกินน้อยมาก เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรอีก เช่นเดียวกันที่กำหนดขนาดพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 1,500 ไร่ ก็เพื่อความคุ้มค่าทางลงทุน เช่น ค่าก่อสร้างต่อหน่วยไม่แพงเกินไป และผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจที่คุ้ม” นายเอกจิต กล่าว

ในส่วนของเกษตรกรเอง จะต้องมีความพร้อมเป็นพื้นฐาน ทั้งความรู้ ความเข้าใจในหลักการการ จัดรูปที่ดิน การรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

นายเอกจิต กล่าวว่า หากเกษตรกรกลุ่มใดต้องการจัดรูปที่ดินสามารถติดต่อได้ทั้งที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรุงเทพฯ หรือสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดนั้น และจังหวัดใกล้เคียง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 สิงหาคม 2556

กรมโรงงานฯเร่งคลอดใบรง.4

กรมโรงงานอุตฯ เร่งคลอดใบอนุญาตรง.4 เผย 16 เดือน ชงคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว 399 ราย ไฟเขียว 164 ราย ขณะที่สิงหาคมเดือนเดียวอนุมัติ 15 ราย เงินลงทุน 1.8 พันล้านบาท

ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ยันไม่มีการดองเรื่อง พิจารณาสัปดาห์ต่อสัปดาห์ แต่ที่ยังปล่อยไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มีปัญหามลพิษและทับที่สาธารณะ วอนผู้ประกอบการเห็นใจ หากทำถูกจริงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ใบอนุญาต

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการดำเนินงานออกใบอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมหรือรง.4 ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯได้พิจารณาออกใบอนุญาตรง.4 เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาในการดองใบอนุญาต และเห็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ

"เห็นได้จากยอดการยื่นขอใบอนุญาตรง.4 ในช่วง 16 เดือน (ก.พ.55-ก.ค. 56) ที่ผ่านมา ทางกรอ.ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาทั้งสิ้น 399 ราย ส่วนใหญ่เป็นการขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนถึง 261 ราย รองลงมาเป็นโรงงานประเภทอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป รวม 54 ราย ผลิตภัณฑ์เคมี ยาง และพลาสติกรวม 30 ราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 16 ราย โรงงานวัสดุก่อสร้าง 11 ราย และยานยนต์ 7 ราย เป็นต้น"

ทั้งนี้ในจำนวนดังกล่าวคณะกรรมการกลั่นกรองฯได้อนุญาตและออกใบรง.4 ไปแล้วจำนวน 164 ราย เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 88 ราย รองลงมาเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์เคมี ยาง และพลาสติกรวม 18 ราย โรงงานเกษตรแปรรูป 17 ราย โรงงานอาหารและเครื่องดื่ม 15 ราย วัสดุก่อสร้าง 9 ราย และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 8 ราย เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาจากยอดที่ให้ใบอนุญาตรง.4 ไปแล้วในช่วง 7 เดือน(ม.ค.-ก.ค.56) นี้มีถึง 141 ราย

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า ส่วนโรงงานที่ยื่นขอใบอนุญาตรง.4 มา แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณามีอยู่ถึง 235 รายนั้น ในส่วนนี้คณะกรรมการได้ส่งเรื่องกลับมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ไปแก้ไขในรายละเอียดของโรงงานใหม่ เพราะเห็นว่า ที่เสนอเข้ามายังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในท้องที่ อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลก็มีปัญหาที่ชาวบ้านเกรงว่าจะเกิดมลพิษ ก็ต้องจัดรับฟังความคิดเห็นให้แล้วเสร็จเสียก่อน หรือกรณีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้พื้นที่ค่อนข้างมากก็มีการทับพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ประชาชนสัญจรไปมาไม่ได้ หรือบางแห่งเอกสารบางส่วนไม่ครบ ก็ต้องตีกลับมาให้กรอ.ไปสั่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการให้ครบถ้วนก่อน เป็นต้น และหลังจากนั้นให้เสนอกลับมาพิจารณาใหม่

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาออกใบอนุญาตรง.4 นั้น กรอ.พยายามที่จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯเร็วที่สุด หรือทำงานสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า แต่คณะกรรมการก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ เพราะหากโครงการใดมีปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอนุมัติออกไปจะมีปัญหาภายหลังตามมาได้ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง แต่หากโครงการที่เสนอมาติดเพียงเอกสารไม่ครบถ้วนหรือต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติม และส่งกลับมาให้กรอ.ก็จะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองฯทันที

"เห็นได้จากช่วงเดือนสิงหาคมนี้ กรอ.ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาไปจำนวน 21 ราย เงินลงทุน 2.924 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป ห้องเย็น ผลิตยางรถยนต์ เป็นต้น ก็ได้รับการอนุมัติถึง 15 ราย เงินลงทุน 1.824 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ตีกลับมาในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ถึง 7 ราย แล้วนำกลับเข้าไปให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาใหม่จึงได้รับการอนุมัติ"

ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่ากรอ.หรือคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะเร่งพิจารณาออกใบอนุญาตรง.4 ให้เร็วที่สุด หากโครงการต่างๆ ที่เสนอมามีขั้นตอนหรือกระบวนการทำงานที่ครบถ้วนไม่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการต่อต้านจากประชาชน ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ออกอนุญาตใบรง.4ให้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 สิงหาคม 2556

ส.ป.ก. ปล่อยกู้สหกรณ์การเกษตร

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า กองทุนฯ ส.ป.ก.ได้อนุมัติเงินกู้สำหรับสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินกู้ยืมเพื่อเป็นทุนดำเนินธุรกิจของสหกรณ์แล้วจำนวน 10 สหกรณ์ 6 จังหวัด ดังนี้ 1. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิหนึ่ง จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 2. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสอง จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 3. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสาม จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 4. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิสี่ จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 5. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินสุวรรณภูมิห้า จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด 6. สหกรณ์กองทุนสวนยาง ส.ป.ก.บ้านควนตอ จำกัด จังหวัดตรัง 7. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินขาณุวรลักษบุรี จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร 8. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินบึงสามพัน จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ 9. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินชุมพลบุรี จำกัด จังหวัดสุรินทร์ และ 10. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินศรีสัชนาลัย จำกัด จังหวัดสุโขทัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 34.50 ล้านบาท

ดร.วีระชัย กล่าวอีกว่า ส่วนในปี 2557 ส.ป.ก.ได้เตรียมวางแผนการจัดสรรเงินของกองทุนฯ เพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสหกรณ์ ประมาณ 650 ล้านบาท ตามข้อมูลการสำรวจความต้องการในเบื้องต้นของเกษตรกรและสหกรณ์ ทั้งนี้ในการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาอาชีพและรายได้ของเกษตรกรและสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน กองทุนฯ จะมุ่งเน้นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับสถาบันเกษตรกรมากขึ้น และลดสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรรายย่อย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 สิงหาคม 2556

รายงานพิเศษ : ผ่ายุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งน้ำ

ต้องยอมรับว่าการพัฒนาแหล่งน้ำของประเทศนับวันที่จะยากขึ้น โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความไม่สมดุลกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่น้ำจะขาดแคลนน้ำได้โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ส่วนในฤดูฝนก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย เพราะไม่มีแหล่งที่จะกักเก็บน้ำหรือชะลอน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ขาดเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ

ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนประมาณ 162,350 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เรามีแหล่งกักเก็บน้ำทั้งประเทศได้เพียง 73,788 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ที่เหลือต้องพึ่งธรรมขาติ "ฟ้า-ดิน" เป็นผู้กำหนด

กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำของประเทศ จำเป็นจะต้องปรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ มาให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น โดยได้มีการจัดตั้งสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำสาขาทั่วประเทศอย่างบูรณาการร่วมกับภาคประชาชน เพื่อให้สามารถจัดหาน้ำได้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มทวีคูณขึ้นในแต่ละปี

นอกจากนี้ยังเพิ่มบทบาทให้กับภาคประชาชน ให้เป็นผู้กำหนดในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อลดความขัดแย้ง และการต่อต้าน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอีกหนึ่งโครงการที่กรมชลประทานได้รับการร้องขอจากประชาชนให้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2519 เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นซ้ำซากเกือบทุกปี

"จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ มาแล้ว 3 ครั้ง ไม่มีใครคัดค้าน ส่วนใหญ่ต้องการให้สร้างโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามโครงการนี้ ถ้าสามารถก่อสร้างได้อย่างเร็วที่สุดก็คงทันในปีงบประมาณหน้าหรืองบประมาณปี 2558 เพราะปีนี้ไม่ทันแล้ว เนื่องจากงบประมาณปีนี้ผ่านสภาไปแล้ว" นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ประชาชนชาวอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เห็นด้วยกับโครงการนี้ทั้งอำเภอก็คงไม่ผิด

แม่น้ำปี้ เป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำยม มีความยาว 66 กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาหลายสาขา และมีการพัฒนาแหล่งน้ำบ้างแต่ก็เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กความจุรวมกันไม่ถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ในฤดูแล้งน้ำขาดแคลน และในฤดูฝนน้ำก็ท่วม ซึ่งก่อนหน้านี้กรมชลประทานเคยศึกษาที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุประมาณ 27 ล้านลูกบาศก์เมตรมาแล้ว แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ จะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯถึง 130 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ความจุดังกล่าวน้อยเกินไป ไม่เพียงพอในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด กรมชลประทานจึงได้ศึกษาทบทวนใหม่ เพิ่มความจุใหม่เป็น 96 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 2,215.65 ล้านบาท แบ่งเป็นเขื่อนและอาคารประกอบ 1,200 ล้านบาท ระบบท่อส่งน้ำชลประทาน 612.00 ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน 173.06 ล้านบาท และค่าลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 230.59 ล้านบาท


เมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ พร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จจะสามารถ ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 51,800 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา นอกจากนี้ยังได้ประสาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) เข้ามาต่อยอดผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกำลังการผลิต 400 กิโลวัตต์ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของชาวเชียงม่วน ที่ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ

เมื่อเดือนมกราคม 2556 ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เดือนเมษายน 2556 ยื่นหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างที่ 12 กรมชลประทาน เดือนพฤษภาคม 2556 ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ล่าสุด เดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมร่วมประชุมกับรองอธิบดีกรมชลประทาน

ทั้งนี้จากการพิจารณาของกรมชลประทานในเบื้องต้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายพื้นที่ส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร กรรม อำเภอศรีนคร และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ถึง 268,965 ไร่

การพัฒนาแหล่งน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพราะต่อไปนี้การพัฒนาแหล่งน้ำไม่ใช่หน้าที่คนใดคนหนึ่ง ยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนาแหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ของกรมชลประทานนั้น.....คนไทยทุกคนต้องช่วยกันครับ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 สิงหาคม 2556

ลุยควบคุมปัจจัยการผลิตพืช สกัดปุ๋ยปลอม-เมล็ดพันธุ์เสื่อม

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร พร้อมเครือข่ายสารวัตรเกษตรกว่า 400 คน ได้ติดตามตรวจสอบการผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัญหาปุ๋ยปลอม สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปลอม และเมล็ดพันธุ์พืชเสื่อมคุณภาพส่วนใหญ่หลุดลอดไปสู่เกษตรกรโดยมีพ่อค้าเร่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ และขายโดยตรงให้กับเกษตรกรในราคาถูก หากซื้อปริมาณมากจะมีของแถม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และมีการให้สินเชื่อด้วย

โดยปี 2556 กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดมาตรการควบคุมปัจจัยการผลิตด้านพืช 5 มาตรการ เพื่อช่วยให้ได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน คือ 1.มาตรการควบคุมโดยออกใบอนุญาตและการขึ้นทะเบียน 2.มาตรการควบคุมการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 3.มาตรการควบคุมการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ 4.การประชาสัมพันธ์และยกระดับร้านค้าเป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q Shop) เพิ่มขึ้น และ5.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมการโฆษณาให้ตรงตามความเป็นจริง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 สิงหาคม 2556

เผชิญหน้า...วิกฤติครั้งใหม่ ส่งออกทรุด เศรษฐกิจไทยชะลอตัว

อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยหลังจากผ่านครึ่งปีแรก แสดงอาการอ่อนแอและชะลอลงอย่างชัดเจน ผลจากการส่งออกที่หดตัวรุนแรง โดยครึ่งปีแรกขยายตัวเพียง 0.95% การใช้จ่ายในประเทศเกิดภาวะชะงักงัน รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้า

ขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ นอกจากนั้น ความผันผวนของเงินทุนในตลาดการเงิน และตลาดทุนโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ทำให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชนปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงจาก 5% ซึ่งเป็นระดับที่เต็มศักยภาพของเศรษฐกิจ และแสดงความกังวลถึงแรงส่งของเศรษฐกิจในระยะต่อไป แม้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา จะได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 20 มาตรการ แต่ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ยังไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นให้ฟื้นตัวได้

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สะท้อนมุมมองของ “กูรู” ผู้คร่ำหวอดในแวดวงเศรษฐกิจมหภาค เพื่อมองภาพไปข้างหน้า และแนะแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของ “เศรษฐกิจไทย” ดังนี้...

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)

“ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2556 ที่หน่วยงานต่างๆ ประมาณการไว้ มีตั้งแต่ตัวเลข 1% ถึง 4% ยังไม่ทราบว่าของใครจะใกล้เคียงที่สุด ก็ขอเอาตัวเลข 1% มาบวกกับ 4% แล้วหาร 2 เฉลี่ยเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 2.5%” (หัวเราะ)

แต่เอาเป็นว่า จากการทำนายของทุกสำนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ เห็นได้ว่า “เศรษฐกิจครึ่งปีหลังคงจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงค่อนข้างมาก ผมว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจถ้าต่ำกว่า 4% ไปจนถึง 1% ถือว่าสาหัส และเรายังไม่เคยอยู่ระดับนี้ สมัยก่อนลดค่าเงินบาทแค่ต่ำกว่า 5% ก็เดือดร้อนแล้ว เพราะเศรษฐกิจเราเคยขยายตัวได้ 6-7% ถ้าต่ำกว่า 5% ก็ถือว่าไม่ดี และหากต่ำกว่า 3% ถือว่าแย่ ยิ่ง 1% ก็ใกล้จะไม่ขยายตัวเลย เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง”

ดังนั้น เป้าหมายนโยบายสำคัญ ตอนนี้ไม่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือกระทรวงการคลัง ควรมองว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป หรือถ้าไปถึงขั้นขยายตัวติดลบเลยยิ่งแย่

สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ว่าคงจะอ่อนแอลง ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน และที่อื่นๆ โดยราคาสินค้าขั้นปฐม ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุต่างๆ มีราคาอ่อนตัวลง เนื่องจากจีนนำเข้าน้อยลง และจีนก็ควบคุมการลงทุนหรือการผลิตของโรงงานต่างๆ ซึ่งประเทศที่โดนหนักสุดคือ ออสเตรเลีย เพราะเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าขั้นปฐมมาก

“ภาวะเศรษฐกิจที่ว่านี้ส่งผลมาถึงไทย เพราะเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าขั้นปฐมมากเช่นกัน อย่างเช่นราคายางพาราก็ลดลง ราคาข้าวในตลาดโลกก็ลดลง กรณีกุ้งก็มีปัญหาเรื่องโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ก็ยังไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร ผลผลิตกุ้งหายไปกว่า 40% คิดเป็นมูลค่าส่งออกที่หายไปกว่าปีละ 40,000 ล้านบาท จากยอดส่งออกกุ้งปีละ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจภายในประเทศก็ต้องทำชดเชย แต่ในขณะนี้ความคิดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อชดเชยปัจจัยลบที่มาจากข้างนอกยังไม่ได้ยินว่ามี มีแต่อธิบายว่าปัจจัยลบเป็นอย่างไร ส่วนจะทำอย่างไรเพื่อชดเชยให้ปัจจัยลบมีผลกระทบน้อยลงยังไม่เคยได้ยิน”

ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกแล้ว นายวีรพงษ์ระบุว่า ปัจจัยภายในประเทศก็ได้ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน จากพิษของค่าเงินบาทแข็งเมื่อ 5-6 เดือนก่อน ได้ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน เพราะคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากต่างประเทศต้องสั่งล่วงหน้า 3-6 เดือน ช่วงที่เงินบาทแข็ง ออเดอร์หดหายไปหมดแล้วจะฟื้นกลับมาลำบาก

การขยายตัวของการส่งออกเราปีนี้ค่อนข้างแย่ ปีหน้าก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร เพราะทั้งปริมาณและราคาสินค้าของเราลดลงเกือบทั้งหมด ส่วนจะหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุน การลงทุนภาคเอกชนไม่ขยายตัวเลย การลงทุนภาครัฐบาลเองก็ต้องใช้เวลา เม็ดเงินก็ยังไม่ออกมา การขยายตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง น่าจะลดลงอย่างมาก

“อีกสิ่งที่น่าห่วง ซึ่งเรื่องนี้ผมสัญญากับนายกรัฐมนตรีว่าจะไม่ให้ความเห็น แต่มันเป็นปัญหาจริงๆ เขียนดีๆล่ะกัน นายกฯจะได้ไม่โกรธผม คือนโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่ได้สร้างภาระการคลังค่อนข้างมาก แม้ว่าฐานะการคลังจะยังเข้มแข็ง แต่ผลของนโยบายจะทำให้ตั้งงบประมาณเพื่อรักษาวินัยการคลังได้ลำบาก”

ขณะนี้เราใช้วงเงินรับจำนำไปแล้ว 600,000 ล้านบาท ถ้าดูจากผลที่รับจำนำในปี 54/55 รับจำนำไปวงเงิน 300,000 ล้านบาท ขาดทุน 130,000 ล้านบาท คิดคร่าวๆ เท่ากับขาดทุน 50% ถ้าเที่ยวนี้ขาดทุนอีก 50% ก็น่าจะอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท จะจัดการกับการขาดทุนเหล่านี้อย่างไร และฤดูต่อไปจะทำอย่างไร เพราะรับจำนำด้วยราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด 50% ถ้าขายออกก็ขาดทุนมากและยิ่งประเทศผู้นำเข้ารู้ว่าเราอยากขาย ก็ยิ่งจะกดราคาให้ต่ำๆ

“ข้าวกว่า 17 ล้านตันและยางพาราในสต๊อกของรัฐบาลที่เข้าไปแทรกแซงราคา ถ้าส่งออกได้หมด ก็จะเป็นรายได้จำนวนมาก แต่ก็ยังอยู่ในสต๊อกจะทำกันอย่างไรต่อไปก็ไม่ทราบ”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังเป็นบวกกับเศรษฐกิจไทย คือ ด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดคนจีนที่หลั่งไหลเข้ามามาก และโอกาสที่จะเข้ามามากกว่านี้ก็ยังมี เป็นที่น่ายินดีที่ไทยจะเจรจากับจีนให้ยกเลิกการทำวีซ่า ซึ่งตัวนี้ก็เป็นตัวเดียวที่เป็นบวกค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ด้านการท่องเที่ยวคิดเป็น 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่หนักคือการส่งออกสินค้าที่คิดเป็น 70% ของจีดีพี ซึ่งการส่งออกครึ่งปีแรกจวนจะติดลบแล้ว

ขณะที่อีกตัวหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยบวก คือ การเมืองที่ค่อยๆ ดีขึ้น ดูจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่คาดกันว่าในการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของสภาผู้แทนราษฎร น่าจะมีเหตุการณ์ยุ่งวุ่นวายก็คลี่คลายไปในทางที่ดี และที่น่ายินดีคือข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่เสนอให้มีสภาปฏิรูปทางการเมืองได้รับการตอบสนองจากผู้หลัก ผู้ใหญ่ต่างๆ เป็นอย่างดีที่จะให้เกิดความสมานฉันท์ในชาติ และถ้าการเมืองคลี่คลายน่าจะทำให้เศรษฐกิจเป็นบวก บวก ขึ้นไปได้

นายวีรพงษ์ยังให้ความเห็นต่อมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา 20 มาตรการ ว่า “ทฤษฎีสมัยใหม่ระบุว่า ภาษีควรทำหน้าที่อย่างเดียวคือหารายได้ให้รัฐบาล ภาษีเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผล แต่เป็นตัวที่กดเศรษฐกิจลงได้ผล เจ้าของทฤษฎีคือ นิโคลัส คาลดอร์ ดังนั้น การลดภาษีไม่แน่ว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจหรือไม่”

“ในภาวะที่คนมองเศรษฐกิจว่าจะลง คนจะออมมากขึ้นแม้จะลดภาษีหรือมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะขึ้นกับรายได้ของตนเองในอนาคต ถ้ามองรายได้จะลดลงหรือไม่แน่นอนก็จะบริโภคน้อยลง”

ดร.ทนง พิทยะ

อดีต รมว.คลัง อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น

อดีต รมว.คลัง “ทนง” เริ่มต้นจากการมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง โดยมองว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่น่าออกมาดี เพราะกำลังบริโภคภายในประเทศของเอกชนและประชาชนไม่คึกคัก

“ยอดขายรถยนต์ในช่วงนี้แผ่วลงเป็นผลพวงมาจากโครงการรถยนต์คันแรกเมื่อปีที่แล้ว ที่กระตุ้นยอดขายรถยนต์ไปถึง 1.25 ล้านคัน ส่งผลให้คนที่ซื้อรถยนต์มีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา ทั้งเงินงวดที่ผ่อนส่งรถยนต์ ค่าน้ำมันและค่าก๊าซ ประชาชนจึงประหยัดการจ่ายซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคภายในประเทศ ส่วนภาคการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สินค้าเกษตรก็มีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง”

เวลานี้ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลก็ขายไม่ออก ราคายางพาราในตลาดโลกร่วงลงอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนสามารถผลิตยางพาราได้เอง กุ้งก็เกิดโรคระบาด หรือที่เรียกว่า “โรคตายด่วน” ก็ยิ่งส่งผลให้กำลังซื้อส่วนใหญ่ภายในประเทศลดลง เท่ากับเกิด 2 แรงฉุดที่ดึงเศรษฐกิจไทยลงคือ การส่งออกที่ลดลง และการบริโภคภายในที่ชะลอตัว

“ยังมีแรงกดดันทางการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ที่ดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงมาก ทำให้ทุกคนเกิดความกลัวว่า เหตุการณ์จะบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีข้อยุติ ทำลายบรรยากาศการค้าขายและการลงทุนภายในประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติเกิดอาการไม่มั่นใจ เพราะไม่ได้รับรู้เลยว่า รัฐบาลไทยจะจัดการกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร และจะมีอะไรเกิดขึ้นกับบริษัทของพวกเขาในประเทศไทยหรือไม่ จึงเกิดภาวะชะงักงัน”

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน และหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยกเลิกหรือชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) คงไม่เป็นผลบวกกับไทย เพราะเงินลงทุนจากต่างประเทศจะถูกดึงกลับ ส่วนสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีนัก ปริมาณการค้าขายโลกจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสดใสหรือแย่ลงกว่าในปัจจุบัน

“จีดีพีของไทยปีนี้ หากเติบโตได้ 4% ถืออยู่ในขั้นที่พอใช้ได้ แต่ผมคิดว่า ปีนี้เศรษฐกิจน่าจะเติบโตที่ระดับ 3.5–4% ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ค่อยสดใสนัก”

แต่ถ้าจีดีพีที่ต่ำกว่า 5% จะทำให้บรรดาบริษัท ห้าง ร้านเอกชน ก็ไม่อยากที่จะขยายกิจการในอนาคต เพราะมองไม่เห็นลู่ทางธุรกิจที่สดใส ซึ่งจะส่งผลไปถึงแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า และปีต่อๆ ไปที่จะลดน้อยลงและแรงงานใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาอาจจะไม่มีงานทำได้

“รัฐบาลมักจะมองปัญหาและแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยมาตรการระยะสั้นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำในช่วงเวลาสั้นๆ จึงขาดความต่อเนื่อง ทำให้การวางแผนระยะปานกลาง 3–5 ปีไม่ได้เกิดขึ้น ทั้งๆที่ยุทธศาสตร์ชาติ ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต หากรัฐบาลวางยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่ผงาดในเวทีโลกอยู่ทุกวันนี้”

ท้ายสุด อยากฝากรัฐบาลทำ 2 เรื่องคือ 1.โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลต้องวางแผนให้ชัดเจน ไม่ใช่แค่บอกว่าจะมีรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟรางคู่ แต่ต้องวางแผนการขนส่งทุกชนิดให้เชื่อมโยงให้ถึงกันทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เพื่อลดต้นทุนและประหยัดเวลาการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ

2.ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ และการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิต และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน)

“เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังน่าจะยังชะลอตัว เพราะไม่ค่อยมีแรงกระตุ้น ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำนอกจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพิ่มเข้ามาแล้ว ต้องมีมาตรการกระตุ้นที่เห็นผลในระยะยาวและยั่งยืน โดยเฉพาะการเร่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 2 ล้านล้านบาทที่ต้องเกิดขึ้น”

“ที่ผ่านมาประเทศไทยทำแต่โครงการเล็กๆน้อยๆ เป็นเส้นเลือดฝอยแล้วเอามาปะติดปะต่อกัน เสียเงินงบประมาณไปมากมาย แต่การสร้างเส้นทางระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายใหญ่นี้จะทำให้เกิดการขยายเมือง การสร้างเมืองใหม่ในภูมิภาคตามเส้นทาง ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจการลงทุน การใช้จ่ายและความเจริญตามมามากมาย”

ดร.ก้องเกียรติ ยืนยันว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมากไม่เกิดไม่ได้ พม่า ลาว เขมรและเวียดนาม ต่างเปิดประเทศรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเพื่อเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคนี้มากมาย ขณะที่ไทยมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงภูมิภาคนี้มากที่สุด ดังนั้นเราต้องเดินหน้า เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะต่อไป

วันนี้คนไทยต้องคิดนอกกรอบ ดูอย่างสิงคโปร์สร้างเมือง ถมทะเลขึ้นมาทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและทำกาสิโน ดึงนักท่องเที่ยวหาเงินได้มหาศาล และยังสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางการเงินได้สำเร็จ

ประเทศไทยก็ควรใช้โอกาสนี้ดึงเงินลงทุนใหม่ๆเข้ามา และเปิดให้ธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ยกระดับบุคลากรให้สามารถทำงานกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้ และควรเปิดให้คนเก่งๆ ให้เข้ามาทำงานในเมืองไทย กฎหมายอะไรที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน การพัฒนาประเทศก็ต้องแก้ไข

ส่วนการส่งออกที่กำลังชะลอตัวอย่างหนักนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังฟื้นตัวและเศรษฐกิจยุโรปที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วนั้น อาจหวังให้ช่วยกระตุ้นได้บ้าง แต่ภาครัฐและเอกชนผู้ส่งออกต้องทำงานหนักขึ้น โดยต้องหาจุดเด่นของสินค้าให้แตกต่างกับคนอื่น และตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ได้ออเดอร์หรือคำสั่งซื้อเข้ามา

“สหรัฐฯและยุโรปเริ่มฟื้นตัว น่าจะหวังได้บ้างสำหรับการส่งออกในครึ่งปีหลัง แต่เราต้องใช้โอกาสนี้กระโดดเข้าไปก่อนเพื่อให้ได้เปรียบ รวมทั้งญี่ปุ่นด้วยที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวแล้วก็ต้องรีบเข้าไปก่อนเลย วางแผนวิเคราะห์ว่าสินค้าอะไรที่เขาต้องการ นอกจากนี้ รัฐต้องเป็นหัวหอกพาออกไปหาโอกาสลู่ทางการขายหรือตลาดใหม่ๆ คิดกลยุทธ์ร่วมกันกับภาคเอกชน ทั้งขายตรง ขายผ่านระบบออนไลน์ หรือผ่านนายหน้าเทรดเดอร์ อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคต้องแก้ไขให้ทันท่วงทีเพราะรอช้าไม่ได้แล้ว เพราะขณะนี้ทุกประเทศแข่งกันส่งออกมาก”

“เวลานี้ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนต้องร่วมมือช่วยกันนำพาเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปให้ได้”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 20 สิงหาคม 2556

สอน.หวั่นโรงงานไม่พอหีบอ้อย โวปี57น้ำตาลตลาดโลกใช้เพิ่ม8%

สอน.หวั่นไม่มีโรงงานน้ำตาลรองรับผลผลิตอ้อยตามนโยบายเพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 10 ล้านไร่ ระบุเร่งทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย คาดเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่ปี 2557 แนวโน้มราคาจะพุ่งกระฉูด เหตุตลาดเอเชียมีความต้องการมากขึ้น

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.เร่งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 8 ปี (2557-2564) คาดว่าจะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการนำร่องโซนนิ่งทางการเกษตรด้วยการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจากปัจจุบัน 10 ล้านไร่ เป็น 20 ล้านไร่ ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยจะเพิ่มเป็น 200 ล้านตันจากปัจจุบันอยู่ที่ 100 ล้านตัน

“ห่วงว่าหากเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยพร้อมกันทันที 8-10 ล้านไร่ จะมีปัญหาไม่มีโรงงานน้ำตาลรองรับปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว ในขณะที่ทั่วประเทศมีโรงงานน้ำตาล 50 โรง มีศักยภาพในการหีบอ้อยประมาณวันละ 7.5 แสนตันต่อวัน ระยะเวลาหีบอ้อยมีเพียง 120 วันจากเดือน พ.ย.ของแต่ละปี ก็จะหีบอ้อยได้เพียงประมาณ 90 ล้านตันเท่านั้น สำหรับในปี 2556/2557 คาดว่าจะมีอ้อย 110 ล้านตัน จะต้องมีกำลังการหีบอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นหากผลผลิตอ้อยเพิ่มมากกว่านี้ จะเกินกว่าศักยภาพที่โรงงานน้ำตาลในภาพรวมที่มีอยู่

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 คาดว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะดีขึ้น เพราะตลาดเอเชียมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 8 ปีข้างหน้าตลาดยังมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 3-4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นปีละ 8% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณสำรองในตลาดโลกเพียง 8 ล้านตัน ในขณะที่ประเทศบราซิลหันไปผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 20 สิงหาคม 2556

แนะเกษตรกรสร้างรายได้ดีกว่าเดิมปลูกพืชตามความเหมาะสมของพื้นที่

ปัญหาทุกวันนี้ของเกษตรกร ไทยส่วนใหญ่ที่ประสบพบเจอเป็นประจำคือเรื่อง ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากการ ใช้ประโยชน์ของพื้นที่อย่างไม่เหมาะสม เมื่อปลูกพืชจึงได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่ตามมาก็คือการ ใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณ มากเพื่อหวังให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตขึ้นไปอีก

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จากปัญหาต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่ไม่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่ได้มา ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบาย กำหนดเขตการปลูกพืช หรือ Zoning ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในการประกาศเขตเหมาะสมในการปลูกพืช ที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินในเรื่องของคุณสมบัติทางกายภาพ ดินตรงไหนมีความเหมาะสมอย่างไร รวมทั้งสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ตลอดจนนำเรื่องของความต้องการของพืชเข้ามาเป็นองค์ประกอบ โดยดูว่าพื้นที่นั้น ๆ มีความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดใดบ้าง และจำแนกออกมาเป็นเหมาะสมมาก เหมาะสมปานกลาง เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศไปแล้วในพืช 13 ชนิด รวมทั้งปศุสัตว์และประมงด้วย

โดยในส่วนของข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักที่มีพื้นที่ปลูกอยู่ ประมาณ 65 ล้านไร่ หลังจากมีการประกาศเขตพื้นที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมแล้ว พบว่า มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย หรือไม่เหมาะสมประมาณ 20 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ใน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด โดยลักษณะที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นที่นาอยู่ในที่ดอนต้องใช้น้ำมากและเสี่ยงต่อการเกิดความแห้งแล้ง ดินอาจจะไม่ใช่ดินเหนียวที่อุ้มน้ำได้ดี ผลผลิตที่ได้จึงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ฉะนั้น ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ ควรจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า อย่าง อ้อยโรงงาน หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ตลาดมีความต้องการมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในช่วงสอบถามความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมว่ามีความต้องการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหรือไม่อย่างไร และได้เชื่อมโยงข้อมูลกับภาคอุตสาหกรรมว่ามีโรงงานรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรที่หันมาปลูกอ้อยจำนวนเท่าไร เพื่อให้วางแผนการผลิตและรับซื้อให้สอดคล้องกัน ส่วนภาครัฐนั้น กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาหาแนวทางในการสร้างแรงจูงใจ เช่น การให้สินเชื่อกับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนพืชหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าหมายจะเริ่มปีเพาะปลูก 2556/57 ทำเรื่องการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในพื้นที่นาเขตที่ไม่เหมาะสม โดยนำร่องในจังหวัดกำแพงเพชร ที่เกษตรกรมีความประสงค์จะเปลี่ยนจากปลูกข้าวไปปลูก อ้อยจำนวน 1,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลทำแผนเตรียมรองรับการผลิตของเกษตรกรเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว เมื่อพื้นที่ดังกล่าวประสบผลสำเร็จก็จะสามารถเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรรายอื่นได้หันมาปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากการประกาศเขตพื้นที่เหมาะสม ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่กระทรวงเกษตรฯ มีข้อมูลให้เกษตรกรเกี่ยวกับความเหมาะสมของดินในพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะก็มีแนวทางการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่เหมาะสมกว่า ให้ผลผลิตคุ้มค่ากว่าแนะนำให้เกษตรกรเป็นทางเลือก

นอกจากอ้อยแล้วก็มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มองว่าสามารถเติบโตได้ ตลาดภาคเอกชนมีความต้องการ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกฤดูกาล คือนอกฤดูฝน ปกติเกษตรกรจะปลูกในช่วงฤดูฝนเท่านั้นเพราะเป็นพืชไร่ที่ต้องการน้ำฝนปริมาณมาก แต่ถ้าสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสม และมีระบบน้ำชลประทานจะสามารถปลูกได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตป้อนโรงงานได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น

...เป้าหมายที่กระทรวงเกษตรฯ ต้อง การคือการก้าวไปสู่ระบบ Zoning อย่างแท้จริงในอนาคต ต้องมีการสร้างเสถียรภาพราคาโดยทำให้อุปสงค์กับอุปทานใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างมั่นคง ผลิตสินค้าออกมาแล้วต้องขายได้และได้ราคาดี ยุติธรรม คุ้มค่าต่อการลงทุน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 สิงหาคม 2556

เกษตรฯเร่งดันการค้า“ไทย-สวิส” เล็งขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ ย้ำมาตรฐานผลิต-ปลอดภัย

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับนางคริสทีเนอ ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีระหว่างสองประเทศที่จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในด้านการเกษตรในอนาคต รวมถึงยังได้เน้นย้ำถึงมาตรการการผลิตของสินค้าเกษตรไทยว่า มีคุณภาพและปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยท่านทูตจะได้นำไปช่วยประชาสัมพันธ์ให้ชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้มีโอกาสทดลองรับประทานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ไม่ว่าจะเป็นพืช ผัก ผลไม้ สินค้าปศุสัตว์และประมง เพื่อขยายมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือในประเด็นความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ระหว่างไทย – สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพ การบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ การรับรองมาตรฐานสินค้าตามระบบของสวิตเซอร์แลนด์ หรือระบบที่สวิตเซอร์แลนด์ยอมรับ การสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภค รวมทั้งการลดข้อจำกัดสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ เพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์ยังไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชผัก ผลไม้เมืองร้อนต่างๆ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในสวิสเซอร์แลนด์ และขาดแคลนผลผลิตในช่วงฤดูหนาว

“ปัจจุบันมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ยังค่อนข้างน้อย และยังมีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน โดยสมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 48 ของไทย ในระหว่างปี 2553 – 2555 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 0.24 ของมูลค่าการค้ารวมสินค้าเกษตรของไทยกับโลก ขณะเดียวกัน จากในปี 2554 และในปี 2555 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 15.83 โดยปี 2554 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 2,952 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 3,495 ล้านบาทในปี 2555 ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับสมาพันธรัฐสวิสมาโดยตลอด โดยสินค้าเกษตรหลักที่มีการส่งออกไปยังสมาพันธรัฐสวิส ได้แก่ ปลาทูน่าปรุงแต่ง ข้าว ถั่วลิสงปรุงแต่ง พืชผักสดหรือแช่แข็ง ผลไม้ต่างๆ เช่น เงาะ ลำไย เป็นต้น” นายยุคล กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 สิงหาคม 2556

สอน.ฟุ้งแผนพัฒนาอ้อยเสร็จ2 สัปดาห์

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สอน.เร่งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 8 ปี (2557-2564) คาดว่าจะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ไป ทั้งนี้เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่นำร่องโซนนิ่งทางการเกษตรด้วยการเพิ่ม พื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งในภาพรวมมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 8-10 ล้านไร่ จากปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่แล้วประมาณ 10 ล้านไร่ รวมเป็นประมาณ 20 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยคาดว่าจะเพิ่มจากประมาณ 100 ล้านตันอ้อย เป็นประมาณ 200 ล้านตันอ้อย โดยจะปรับตัวภาคโรงงานให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งการสร้างโรงงานใหม่ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี พร้อม ๆ กับให้โรงงานที่ได้รับอนุมัติให้ย้ายโรงงานหรือขยายโรงงานดำเนินการให้เสร็จ โดยเร็ว ส่วนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กลั่นกรองเมินให้รง.4กฟผ. อนุมัติโรงงานใหม่12แห่ง

พระราม 6 * ปลัดกระทรวงอุตฯ สั่ง กฟผ.กลับไปเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนใหม่ หลังมีชาวบ้านร้องเรียน ระบุไม่ทราบว่ามีการสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ระงับ รง.4 อนุมัติ 12 โรงงานใหญ่ มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัด กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ยังไม่สามารถให้ใบอนุญาต รง.4 ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ เนื่องจากยังมีผู้ทำหนังสือร้อง เรียนผลกระทบมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ราย งานเบื้องต้นว่า ชาวบ้านรอบพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นคน ไม่ทราบเรื่องการขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือมาก่อน จึงต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาออกใบอนุ ญาต รง.4 ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ

นอกจากนี้ ล่าสุดคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาอนุมัติโรงงานเพิ่มอีกทั้งสิ้น 12 ราย คืนเรื่องกลับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อพิจารณาชี้แจงทบทวน จำนวน 1 ราย จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีเรื่องค้างที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ แต่อย่างใด สำหรับมูลค่าการลงทุนครั้งนี้ กว่า 15,000 ล้านบาท ทำให้จ้างงานใหม่ 5,500 คน โดยโรงงานที่มีการขออนุญาต อาทิ โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์และชีวมวล, โรงผลิตอาหารสำเร็จรูป, โรงผลิตยางรถยนต์ และโรงห้องเย็น.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

'โซนนิ่ง'ทางเลือกสู่ทางรอดเกษตรกรไทย

เร่งจัดระเบียบ 'โซนนิ่ง' ภาคเกษตร ทางเลือกสู่ทางรอดเกษตรกรไทย : สุรัตน์ อัตตะ ... รายงาน

นโยบายการจัดระเบียบพื้นที่ทางการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือระบบ "โซนนิ่งภาคเกษตร" นั้น ไม่เพียงการเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้รู้จักวางแผนการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยยึดหลักการตลาดนำการผลิต แต่ยังเป็นยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศอีกด้วย

ในขณะที่ความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวยังมีปัญหาและอุปสรรคหรือไม่ อย่างไร "คม ชัด ลึก" มีโอกาสจับเข่าคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "ยุคล ลิ้มแหลมทอง" ฐานะแม่งานใหญ่ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

นโยบายโซนนิ่งภาคเกษตรขณะนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ขณะนี้เราได้มีการกำหนดเขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแล้ว 13 ชนิด สัตว์น้ำ 2 ชนิด ตอนนี้สามารถจะบอกได้ว่าในประเทศไทย พื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่ เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชชนิดไหนบ้าง ในจังหวัดไหน ตำบลไหน อำเภอไหน เหมาะจะทำการเกษตรปลูกพืชชนิดใด หรือเหมาะสมที่จะทำปศุสัตว์หรือเลี้ยงสัตว์น้ำอะไรบ้าง จากนั้นต้องสำรวจข้อมูลจากพื้นที่จริง โดยให้แต่ละจังหวัดจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและตัวแทนสภาเกษตรกรในแต่ละจังหวัดด้วย ล่าสุดทางผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ได้มีการส่งข้อมูลเข้ามาถึงส่วนกลางเรียบร้อยแล้วก็ได้มีการกลั่นกรองโดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานเรื่องโซนนิ่ง ท่านได้ให้นโยบายเน้นในเรื่องการจัดระบบตลาดรองรับเรื่องของการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้มีความสมดุลในเรื่องดีมานด์และซัพพลาย

ตัวชี้วัดความเหมาะสมของพื้นที่ในการปลูกพืชแต่ละชนิด

สำหรับสินค้าทางการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่โซนนิ่งต่างๆ นั้น เราได้มีการคัดเลือกพืชที่จะนำร่องไว้แล้ว 3 ชนิดคือ ข้าว อ้อยและมันสำปะหลัง ปรากฏว่าเราได้มีการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ทำนาทั่วประเทศ 70 ล้านไร่ แต่พื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำนาจริงๆ มีเพียง 43 ล้านไร่ อีก 27 ล้านไร่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทางสมาคมผู้ประกอบการ ก็มีความต้องการที่จะได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มอีก 100 ล้านตัน โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถผลิตอ้อยได้ทั้งหมด 100 ล้านตัน หมายความว่าเราสามารถที่จะเพิ่มพื้นที่ที่จะปลูกอ้อยได้อีกประมาณ 10 ล้านไร่ เขาก็ขอให้เราช่วยปรับพื้นที่เพื่อจะขยายการผลิต จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่แล้วพบว่าในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกข้าว หรือเหมาะสมน้อย แต่สามารถที่จะปลูกอ้อยได้มีอยู่ประมาณ 8-10 ล้านไร่ ทางนายกรัฐมนตรี จึงให้ใช้อ้อยเป็นโมเดลพืชนำร่องในการทำโซนนิ่งการเกษตร เพื่อนำผลผลิตป้อนโรงงานน้ำตาลมีอยู่ 51 โรงงานทั่วประเทศ ตั้งอยู่ใน 45 จังหวัด ณ วันนี้มีข้อมูลแจ้งเข้ามาแล้วประมาณ 37 จังหวัด สามารถปลูกอ้อยได้ทันทีประมาณ 2 ล้านไร่ ระหว่างนี้ก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปตรวจสอบและพูดคุยกับตัวเกษตรกรโดยตรง พร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะทำความเข้าใจ ซึ่งขณะนี้เป็นขั้นตอนที่เรากำลังจะลงพื้นที่พูดคุยกับตัวเกษตรกรโดยตรง ไปดูจุดเปลี่ยนว่าเกษตรกรจะยอมรับในระบบโซนนิ่งได้มากน้อยแค่ไหน

มีวิธีดำเนินการอย่างไรในการปรับเปลี่ยนระบบการปลูก

ตอนนี้พื้นที่เดิมมีการปลูกข้าวอยู่ เราก็ต้องไปดูในฤดูกาลต่อไปว่าจะดำเนินการปรับเปลี่ยนได้อย่างไร อ้อยอาจใช้ระยะเวลาประมาณปีครึ่ง ตั้งแต่การเตรียมดิน ปลูก จนถึงเก็บเกี่ยวและปลูกครั้งเดียวอยู่ได้ 3 ปี โดยไม่ต้องไปทำอะไร แค่ดูแลเรื่องการใส่ปุ๋ยอย่างเดียว ก็จะสามารถทำได้ต่อเนื่อง แต่ข้าวจะต้องปลูกในทุกๆ 4 เดือน การจำนำข้าวของเกษตรกรเมื่อเปรียบเทียบกับราคาของอ้อย อ้อยก็ได้ราคาที่ดีกว่า เมื่อเทียบต่อไร่ ในตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกษตรกรต้องรู้จักคิดว่าจะต้องเลือกเดินทางไร ถ้ายังคงปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เกษตรกรลงทุนไปมันก็ไม่คุ้ม

ส่วนพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมนั้น โรงงานน้ำตาลจะรู้อยู่แล้วว่าในพื้นที่จังหวัดไหน ควรใช้พันธุ์อ้อยใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ และต้องดูว่าพันธุ์ไหนให้ปริมาณน้ำตาลได้มาก มันสำปะหลังเราก็จะเน้นเรื่องของพลังงาน เอาไปทำแป้ง ทำเอทานอล มันมีความต่อเนื่องอย่างนี้ ส่วนที่เป็นโมลาส (Molasses)หรือผลพลอยได้จากการผลิต ก็เอาไปทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำกลับมาใส่อ้อยอีกครั้ง มันมีการจัดระบบเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน

กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรก็จะเข้าไปช่วยเสริมร่วมกับส่วนการวิเคราะห์ดิน กรมพัฒนาที่ดิน เพราะมีข้อมูลดินทุกชนิดอยู่แล้วดูว่า ตำบลนี้เหมาะสมที่จะปลูกพืชอะไร โซนนิ่งเป็นเรื่องของหลักวิชาการ ไม่ใช่เรื่องที่ใครเคยปลูกอะไรอยู่แล้ว เราไปประกาศว่าพื้นที่นั่นเหมาะกับการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์บางประเภทแบบไร้ข้อมูลอ้างอิง แต่โซนนิ่งเป็นเรื่องวิชาการ เอาข้อมูลมาดูว่าดินน้ำอากาศเฉลี่ยทั้งปีว่ามีสภาพอย่างไร เพื่อที่จะให้เกิดความยั่งยืนและให้เกิดการผลิตที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแบบชั่วคราวแล้วผ่านไป ไม่ใช่แบบนั้น มิเช่นนั้นภาพของการเกษตรก็จะไม่เกิดความยั่งยืน

นอกจากพืชแล้วในส่วนของปศุสัตว์เป็นอย่างไร

เรื่องปศุสัตว์ เราจะใช้การเลี้ยงโคเนื้อมานำร่องและเป็นฐาน มีการวางระบบปลูกพืชเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ เพราะสัตว์สี่กระเพาะกินหญ้าเป็น จึงต้องมีการจัดพื้นที่ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ที่เหมาะสม ส่วนการทำประมง ก็เลือกการเลี้ยงปลานิลหรือปลาสลิดนำร่อง ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ซึ่งเราจะดูเรื่องการจัดพื้นที่ การทำเรื่องแหล่งน้ำให้ ซึ่งตรงนี้กรมประมงได้มีการประกาศแล้วว่าพื้นที่ที่เหมาะสมจะเลี้ยงปลาแต่ละชนิดอยู่แหล่งไหนแล้วคุณภาพของน้ำเป็นอย่างไร เรื่องของดิน เรื่องค่า Ph ของน้ำที่เหมาะกับการเลี้ยงปลาควรเป็นอย่างไร ก็จะเน้นแต่ปลาน้ำจืด

ในส่วนของการตลาดที่จะมารองรับระบบโซนนิ่ง

ระบบการตลาดของพืชแต่ละชนิด แบ่งออกเป็นสองส่วน 1.ตลาดที่ทำอยู่เดิม ก็มีข้อมูลชัดเจนแล้วว่าตลาดอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนซื้อ ส่วนพื้นที่ที่เราไปส่งเสริมให้ปลูกพืชบางชนิดเพิ่มมากขึ้น แล้วเราค่อยมาดูว่าปลูกแล้วจะไปขายใคร ตอนนี้จะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เราต้องไปเจรจาหาคนมาลงทุนก่อน แล้วจึงจะมากำหนดว่าเกษตรกรที่จะปลูกพืชในพื้นที่นั้นเป็นใคร อย่างกรณีของบุรีรัมย์เราก็จะมีโรงงานน้ำตาลใน จ.บุรีรัมย์ กำลังการผลิตของโรงงานยังมากกว่าปริมาณผลผลิตอ้อยใน จ.บุรีรัมย์ ที่จะป้อนให้แก่โรงงาน และเขาพร้อมที่จะขยาย

หรืออย่างลำไย ผมเพิ่งกลับจากเชียงใหม่ ตอนนี้ลำไยกำลังออก มีการคาดคะเนว่าปีนี้ผลผลิตลำไยจากภาคเหนือจะออกมาก แต่พอไล่ดูข้อมูลจริงๆ ก็พบว่าปีนี้ลำไยจะออกมาเท่าๆ กับปีที่แล้วหรือน้อยกว่านิดหน่อย เราก็มาดูว่าตลาดลำไยของเชียงใหม่ กลุ่มเป้าหมายคือใคร ก็ปรากฏว่ามีพ่อค้าจีน 3 คน พ่อค้าจากเวียดนาม 1 คน ตลาดก็เกิดการแชร์กัน ถ้าตลาดไปผูกขาดที่พ่อค้าจีน เขาก็กดราคาเราได้ และตอนนี้เราก็คุยกับทางอินโดนีเซีย ปรากฏว่าทางอินโดนีเซียก็จะเปิดตลาดรองรับให้ไทยส่งลำไยไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงสิ้นปีนี้ประมาณ 4,000-5,000 ตัน เราก็ต้องมองหาตลาดใหม่ๆ หรือช่องทางความเป็นไปได้ นอกเหนือจากตลาดเดิมๆ เพื่อดึงสินค้าเกษตรของไทยไป

นับเป็นอีกก้าวของภาคเกษตรไทยในการเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คุมสินค้ากดค่าครองชีพ

“พาณิชย์” กางแผนคุมค่าครองชีพครึ่งปีหลัง ดูแลราคาสินค้าไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้กรมการค้าภายในใช้มาตรการในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมในการดูแลราคาสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนในช่วงครึ่งปีหลังไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนในภาวะที่เศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัว รวมถึงให้เร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้มีอยู่ต่อไป โดยมั่นใจว่ามาตรการต่างๆ จะไม่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เพราะเป็นมาตรการที่ดูแลครบทุกภาคส่วน ยึดหลักให้ราคาสมเหตุสมผล เป็นธรรมและปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

“รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลค่าครองชีพ แต่จะต้องทำอย่างเหมาะสม โดยไม่ได้เข้าไปคุมสินค้าไม่ให้ขึ้นราคาแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะดูไม่ให้มีการเอาเปรียบกัน และอีกด้านก็ต้องกระตุ้นการใช้จ่ายประชาชนผ่านงานขายสินค้า ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กระทรวงมีอยู่ให้ประชาชนยังใช้จ่ายได้ในราคาย่อมเยา”นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า สินค้าที่มีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง 2556 ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป ซีอิ๊ว นมสดพร้อมดื่ม และน้ำตาลทรายบรรจุถุง 1 กก. ซึ่งขอปรับขึ้นราคาโดยอ้างต้นทุนค่าแรงและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่กระทรวงยังไม่มีการพิจารณาเห็นชอบ

ทั้งนี้ มาตรการที่จะใช้ดูแลราคาสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่

1.การกำกับดูแลราคาสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยให้มีราคาสมเหตุสมผลและปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

2.มาตรการขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาสินค้าถึงสิ้นปี 2556

3.ประสานห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่จัดมหกรรมลดราคาสินค้าทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค. จนถึงสิ้นปี

4.จัดงานธงฟ้าราคาประหยัดทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ลงพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ

5.มาตรการทางกฎหมายในกรณีที่สินค้าปรับเพิ่มขึ้นมาก จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมและใช้มาตรการทางกฎหมายต่างๆ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตั้ง 12 โรงงาน 1.5 หมื่น ล.ทำ ศก.คึก

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาต โรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาอนุญาตทั้งสิ้น 12 ราย คืนเรื่องกลับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อพิจารณาชี้แจงทบทวน จำนวน 1 ราย จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีเรื่องค้างที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ แต่อย่างใด โรงงานที่ได้รับการอนุญาตในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มี 12 ราย ดังนี้ 1.บริษัท ศรีวัฒนา กรีน เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินทุน 635 ล้านบาท 2.บริษัท ซีพีแรม (ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด) จำกัด ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้ง เงินทุน 350 ล้านบาท 3.บริษัท บึงสามพัน โซล่า จำกัด ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินทุน 616 ล้านบาท

4.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินทุน 4,004 ล้านบาท 5.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินทุน 1,833 ล้านบาท 6.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกอบ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินทุน 3,040 ล้านบาท 7.บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลล์ จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติผลิตก๊าซ CNG 10,760 ตันต่อปี เงินทุน 500 ล้านบาท

8.บริษัท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด ประกอบกิจการผลิตเกี๊ยวซ่า เงินทุน 545 ล้านบาท 9.บริษัท วี แอนด์ พี เฟร็ชฟูดส์ จำกัด ประกอบกิจการโรงงานห้องเย็น เงินทุน 350 ล้านบาท 10.บริษัท สยามทรัค เรเดียล (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตยางรถยนต์ เงินทุน 2,023 ล้านบาท 11.บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินทุน 504 ล้านบาท 12.บริษัท ซีก้า นิว แมททีเรียลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินทุน 1,100 ล้านบาท ทั้งนี้ โรงงานที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีมติคืนเรื่อง จำนวน 1 ราย คือ บริษัท คาวาซูมิ ลาบอราทอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีแผนจะตั้งที่ ต.ท่าอาง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา

นายวิฑูรย์ กล่าวถึงกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ออกมาระบุถึงความล่าช้าในการขออนุญาตโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าว ยังไม่ส่งเข้ามาที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ แต่อย่างใด ที่ผ่านมาการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ยึดหลักความถูกต้อง โปร่งใส รวดเร็ว และไม่มีเรื่องค้าง ซึ่งกรณีดังกล่าวผมได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีผู้ทำหนังสือร้องเรียนผลกระทบมายัง กรอ.โดย อธิบดีฯ ได้รายงานเบื้องต้นว่า ชาวบ้านรอบพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นคน ไม่ทราบเรื่องการขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือมาก่อน จึงต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาออกใบอนุญาต รง.4 ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผู้ผลิตน้ำตาลเวียดนามร้องรัฐช่วย

สมาคมน้ำตาลและอ้อยแห่งเวียดนามหรือวีเอสเอสเอ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเหงียน ตัน ดุ่ง อนุญาตให้มีการส่งออกน้ำตาล เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังได้ร้องขอให้มีการห้ามนำเข้าชั่วคราว และนำน้ำตาลที่นำเข้ามาไปส่งออก โดยข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้น หลังรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้าออกมาคาดการณ์ว่า เวียดนามอาจจะมีปริมาณน้ำตาลสำรองในปีนี้อยู่ที่ราว 200,000 ตัน

การเคลื่อนไหวข้างต้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกร่วงต่ำลง จากเศรษฐโลกที่อยู่ในภาวะซบเซา แม้จะมีปริมาณน้ำตาลสำรองอยู่มากก็ตาม และบรรดาผู้ผลิตในเวียดนาม ก็กำลังดิ้นรนหาตลาดส่งออกสินค้าของตัวเอง

พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม และการค้าเวียดนาม ยังอนุญาตให้ส่งออกน้ำตายไปยังจีนเพิ่มขึ้น เพื่อจำกัดการขาดทุนที่เกิดจากปริมาณสินค้าคงเหลือ และอัตราดอกเบี้ยที่สูง

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ค้าหลายแห่งได้ยื่นขอใบอนุญาตเพื่อนำเข้า และส่งกลับแบบชั่วคราว เพื่อนำเข้าน้ำตาลดิบมาแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายขาว

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เวียดนามมีแนวโน้มที่จะสูญเสียตลาดส่งออกหลักหลายแห่ง หลังจากเสียส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศจำนวนไม่น้อยให้กับน้ำตาลเถื่อน

สมาคมน้ำตาลและอ้อยแห่งเวียดนาม ยังขอให้นายกรัฐมนตรี จัดทำนโยบายสำรองน้ำตาลระยะสั้น เนื่องจากชาวไร่อ้อยไม่สามารถเก็บสำรองอ้อยไว้ได้

ในความเป็นจริงนั้น อุตสาหกรรมน้ำตาลได้ทำการสำรองน้ำตาลมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อควบคุมการจัดหา และความต้องการ เนื่องจากสามารถดำเนินการผลิตได้เพียงปีละ 6 เดือน

นายเหงียน ถั่น ลอง ประธานสมาคมน้ำตาลเวียดนามกล่าวว่า ประเด็นเร่งด่ว นคือป้องกันไม่ให้น้ำตาลเถื่อนเล็ดลอดเข้ามาในประเทศได้ ควบคู่ไปกับการยกระดับการส่งออก เพื่อหนุนราคาน้ำตาลในประเทศให้สูงขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 สิงหาคม 2556

ธ.ก.ส.เดินหน้ามอบบัตรสินเชื่อเกษตรกร กลุ่ม 8 จว.ภาคตะวันตก

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกร ระยะที่ 2 โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันตกกว่า 2,500 คน รับมอบบัตรที่โรงยิมเนเซียม อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืชและน้ำมันเชื้อเพลิงและเตรียมขยายสิทธิประโยชน์ไปจัดซื้อปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งการแจกบัตรสินเชื่อเกษตรกรระยะที่ 2 ได้ขยายไปยังเกษตรกรที่ปลูกพืชหลัก ได้แก่ ยางพารา อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ลำไย และประกอบอาชีพประมง ปศุสัตว์

ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้แจกบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปกว่า 4 ล้านใบ วงเงินอนุมัติ 61,000 ล้านบาท มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 15,000 ล้านบาท มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 7,700 ร้านค้า และ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าจัดหาปุ๋ยช่วยเหลือเกษตรกร 4 แสนตัน ได้จ่ายปุ๋ยไปแล้วกว่า 2 แสนตัน เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 สิงหาคม 2556

ส่งเสริมปลูกอ้อยที่บุรีรัมย์

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการพบปะเสวนาการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมเป็นการปลูกอ้อยโรงงานแปลงเล็ก ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ณ ศาลาอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนขวาง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันก่อนว่า

ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มีการปลูกข้าวประมาณ 3 ล้านไร่ ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบุรีรัมย์มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยประมาณ 3 แสนไร่ โดยในปีนี้ทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้สำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยเนื่องจากได้ราคาที่สูงกว่าการปลูกข้าวประมาณ 6 หมื่นไร่ ประกอบกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนขยายโรงงานน้ำตาลเพื่อรองรับปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล 70:30 ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยนั้น ประกอบด้วย การส่งเสริมเรื่ององค์ความรู้ต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น และการลดต้นทุนการผลิต ส่วนในเรื่องของปุ๋ยเคมีที่ยังคงมีราคาที่สูงอยู่ในปัจจุบันและเป็นปัจจัยหลักที่ทำ ให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงอยู่นั้น กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมีให้มากขึ้น รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนแหล่งน้ำนั้นก็ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเข้ามาดูแลด้วยเช่นกัน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 สิงหาคม 2556

ลุยแผนลดต้นทุนรับเออีซี

เกษตรฯเร่งหาช่องลดต้นทุนแปรผัน-เพิ่มผลผลิต-พัฒนาคุณภาพสินค้า

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้มีการเตรียมความพร้อมเกษตรกรรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ เออีซี โดยการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเปิดเออีซีมาเป็นเวลากว่า 3 ปี และในขณะนี้เหลือเวลาอีก 2 ปี สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรไทยคือการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มผลผลิตไปด้วย เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ ซึ่งต้นทุนของเกษตรกรมีทั้งต้นทุนคงที่กับต้นทุนแปรผัน ต้นทุนคงที่คงจะไม่สามารถปรับได้มากนัก จึงต้องเร่งลดต้นทุนแปรผันทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารเคมี ที่สำคัญคือค่าจ้างแรงงาน เพราะต้นทุนเหล่านี้มีผลต่อต้นทุนการผลิตอย่างมาก ถ้าเกษตรกรลดค่าปุ๋ยและสารเคมีโดยใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชและดิน และใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานคนก็จะช่วยลดต้นทุนตรงนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องดังกล่าวคาดว่าต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัว

แต่สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันทีคือการเพิ่มคุณภาพสินค้า วันนี้เกษตรกรต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน เพราะสินค้าดีขายได้ไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด แต่สำหรับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ พยายามผลักดันเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศคู่ค้าให้การยอมรับในเรื่องคุณภาพของสินค้าจากไทยมากขึ้น สำหรับสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะเสียเปรียบเมื่อเปิดเออีซี ได้แก่ ปาล์มน้ำมันและกาแฟ เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้สนับสนุนเงินกองทุนเอฟทีเอให้เกษตรกรนำไปปรับเปลี่ยนโดยรื้อสวนปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 10 ปี และให้ใช้พันธุ์ใหม่ปลูกทดแทนซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและปริมาณน้ำมันสูง ส่วนกาแฟก็ให้งบไปทำสาวต้นกาแฟเพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต สินค้าข้าวก็อาจจะมีปัญหาการแข่งขันสูงถ้าหากขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะถ้าไม่ลดต้นทุนการผลิต หรือจัดระบบการปลูกข้าวโดยใช้เมล็ดพันธุ์ดี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 สิงหาคม 2556

ระบบการค้าแบบ Dual Track

ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : ระบบการค้าแบบ Dual Track : โดย ... ดร.วิโรจน์ กุศลโนมัย

ผมได้พูดถึงการรู้จักแนวคิดกลยุทธ์ของคู่แข่งขันในซีกโลกตะวันตก และซีกโลกตะวันออกไปแล้ว ที่ผมพูดว่าคนไทยเป็นคนเก่ง สมองไวนั้น หมายถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ และนายกฯ อภิสิทธิ์ เพียงแต่ ท่านขาดความจริงใจที่จะผลักดัน ยกตัวอย่าง อดีตนายกฯ ทักษิณ ผมยอมรับในตัวท่าน ที่มีแนวคิด การทำประเทศไทยให้ใช้ระบบการค้าแบบ Dual Track คือ เน้นทั้งการส่งออก และการค้าภายในประเทศ นั่นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีน คือ ตอนเปิดประเทศใหม่ๆ จะเน้นการผลิตเพื่อการส่งออกเกือบ 100% เพื่อสร้างงาน และนำเงินตราเข้าประเทศ เมื่อประชาชนมีงานทำเกือบทุกคน ก็มีเงินจับจ่ายซื้อของ นอกจากทำร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้าแล้ว ยังไม่พอ เพราะประเทศจีนกว้างขวาง การกระจายสินค้า ทำได้ยากลำบากมาก จึงต้องอาศัยกลไกของการสร้างตลาดค้าส่งสำหรับสินค้าเฉพาะอย่างขึ้นมา เพื่อให้พ่อค้าจากต่างเมืองทั่วประเทศสามารถเข้ามาซื้อสินค้า แล้วนำไปขายในเมืองของตนได้

กลไกตัวนี้เป็นตัวแปร หรือตัวกลางสำคัญที่ทำให้ Dual Track เกิดขึ้นได้โดยเร็ว ซึ่งไม่มีใครเคยพูดถึง หรือมองเห็น Dual Track ที่ดี และปลอดภัยที่สุดสำหรับประเทศ คือ ส่งออก 20% ของจีดีพี และค้าขายในประเทศเอง 80% ซึ่งปัจจุบันจีนสามารถทำได้แล้ว คือ ส่งออก 50% และค้าขายในประเทศ 50% อนาคต อีกไม่เกิน 10 ปี จีนทำได้แน่นอน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออก หรือเศรษฐกิจโลก

พูดถึงประเทศไทย ขณะนี้ยังทำไม่สำเร็จ คือ ยอดส่งออก-นำเข้ายังมีประมาณ 80% ของจีดีพี ซึ่งกลับตาลปัตรกับประเทศจีน จึงทำให้ไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก พอเศรษฐกิจโลกตกเราก็มีผลกระทบทันที

ฉะนั้น ประเทศไทยจะทำ Dual Tack ให้สำเร็จ และมั่นคง สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตั้งศูนย์ค้าส่งสินค้าเฉพาะอย่าง คล้ายๆ กับตลาดไทขึ้นมา แต่ควรเพิ่มอาหารอื่นๆ ด้วย และทำให้ใหญ่กว่านี้ เป็นที่ซื้อ-ขายของคนทั้งประเทศ ไม่จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ อยู่เมืองไหนก็ได้ ที่มีเศรษฐกิจไม่ดี และไม่ควรเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย เพราะมีเศรษฐกิจดีแล้วเป็นทุนอยู่ แล้วก็ทำคลัสเตอร์สัก 2-3 จังหวัด ให้เป็นกลุ่ม Trading Cluster หรือ Specific Wholesale Market Cluster พอทำแล้วเศรษฐกิจในจังหวัดนั้นก็จะดีไปด้วย

ผมเห็นว่ากลไกตัวนี้มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ อย่างมหาศาล ทั้งปัจจุบัน และอนาคต ไม่ต้องไปเปิดบ่อนกาสิโน เมื่อมีตลาดค้าส่งแล้วก็จะเป็นเมืองใหม่ มีโรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งบันเทิงตามมา แต่ต้องมีสาธารณูปโภครองรับ ซึ่งรัฐบาลต้องเป็นเจ้ามือ ต้องมีการเดินทางที่สะดวก อย่างรถไฟฟ้าความเร็วสูงรองรับ ไม่ใช่มีแต่รถไฟสวนสนุก ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง !! ประเทศจีนทำไม่กี่ปี รถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม. มาจ่อที่ลาว และทางเหนือแล้ว ของเรายังไม่ขยับทำอะไรเลย มีเครื่องบินก็ราคาแพง และเสียเวลา

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 16 สิงหาคม 2556

เขตการค้าชายแดน "จีน-ลาว-พม่า-ไทย"

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่าง ประเทศ ณ นครคุนหมิง รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาชนชาติไต ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเร่งผลักดัน "เขตการค้า ชายแดนจีน-ลาว-พม่า-ไทย" เพื่อรองรับ เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และเพื่อให้มณฑลยูนนานเปิดกว้างสู่ภายนอก

เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน มีดินแดนติดกับประเทศอาเซียน คือ ลาว พม่าและเวียดนาม ยังตั้งอยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด มีความใกล้ชิดและติดต่อกับไทยมานานตั้งแต่มีความร่วมมือกันภายใต้กรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ แม้ว่าจะไม่มีพรมแดนติดต่อกันโดยตรง แต่สามารถใช้เส้นทางถนนเส้นทางรถยนต์ R3E โดยผ่านประเทศลาว (เชียงของ-บ่อหาน ระยะทาง 245 กิโลเมตร) (คุนหมิง- ลาว - กรุงเทพฯ ระยะทาง 1,800 กิโลเมตร) และสามารถใช้เส้นทางการขนส่งทางแม่น้ำโขงหรือชางเจียง (สิบสองปันนา- เชียงของ) รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) จะแล้วเสร็จในปลายปี 2556 ทำให้จีน ไทย ลาวและพม่า สามารถติดต่อค้าขายกันโดย ตรงทางการค้าชายแดน

ภายใต้แผนความร่วมมือการค้าข้าม แดนบ่อหาน-บ่อเต็น (จีน-ลาว) ได้มีการผลักดันก่อตั้ง "เขตการค้าชายแดน" ครอบคลุมเขตบ่อหานในสิบสองปันนา หลวงน้ำทา-บ่อแก้วในลาว เชียงของ จังหวัดเชียงรายของไทย และเชียงตุงของ พม่า รวม 4 ประเทศ และยกระดับการเปิดกว้างการค้าของมณฑลยูนนาน เพื่อให้ เขตสิบสองปันนาเป็นเมืองหน้าด่านหรือประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายหลัว หง เจียง ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เปิดเผยว่า ได้กำหนดให้เขตความร่วมมือการค้าข้ามแดนบ่อหาน-บ่อเต็น เป็นจุดเปิดสำหรับความร่วมมือและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีเส้นทางขนส่งทางถนนคุน มั่นกงลู่ ที่สร้างเสร็จแล้ว หรือทางรถไฟฟ่านย่าที่กำลังจะก่อสร้างซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ สำหรับพื้นที่แห่งนี้ นอกจากนี้ จะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยาแผนโบราณของชน ชาติไต ชาผูเอ่อร์ และอาหารชีวภาพที่ปลอดภัยต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้สิบสองปันนาเป็น "เขตการค้าชายแดน" อย่างสมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างและยกระดับความสามารถของท่าเรือจิ่งหง และท่าเรือกวานเหล่ย รวมทั้งเร่งโครงการ "ผักสดแลกน้ำมัน" "ดอกไม้แลกผลไม้" ผลไม้เมืองหนาวแลกผลไม้เมืองร้อน ตลอดจนก่อสร้างตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าในแนวชายแดน (จีน-ลาว-ไทย) และผลักดันเชียงตุงของพม่าเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมเร่งแก้ปัญหา "ผ่านแต่ไม่คล่อง" ของการขนส่งสินค้าทางรถยนต์

นางชไมพร เจือเจริญ กงสุล (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ นครคุนหมิง กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาปี 2555 อยู่ที่ 1,360 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 40.5 มีบริษัทลงทุนจากต่างประเทศ 57 บริษัท ซึ่งได้เข้ามาลงทุนแล้วกว่า 63,840,000 เหรียญสหรัฐ คาดว่าภายในสองปีข้างหน้ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะมีมากกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

"โอกาสการค้าในสิบสองปันนาและ มณฑลยูนนานมีมาก สำหรับผู้ประกอบการ ไทยที่สนใจจะนำสินค้าไทยไปขาย เนื่อง จากคนจีนมีกำลังซื้อและชอบสินค้าไทย แม้ว่าราคาจะสูงกว่าสินค้าจีน แต่เขาก็ชอบ ที่จะบริโภค เคยคุยกับผู้ประกอบการจีนที่ เอาสินค้าไทยไปขายอยู่แล้ว เขาบอกว่าอยากได้นมผงอัดเม็ดมาก ถ้าได้ราคาขาย ส่งเขาพร้อมซื้อทันที ในเมืองไทยขาย 10 บาท แต่ที่โน่นขาย 10 หยวน หยวนละ 5 บาท เท่ากับ 50 บาท ซึ่งสูงมากกว่า 5 เท่า เขาก็บอกให้ช่วยหาผู้ขายในเมืองไทยหน่อย เพราะเขาอยากได้จริงๆ สินค้าบริโภคอย่าง อื่น เช่น เครื่องแกงสำเร็จรูป น้ำพริก น้ำปลา ก็เป็นที่ต้องการของตลาด หรืออย่างน้ำผลไม้ แทนที่จะบริโภคของเขา ไม่เอาจะบริโภคน้ำผลไม้ไทย ซึ่งในเมืองไทยขายกล่องละ 55-60 บาท ที่นั่น 150-160 บาท"

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 16 สิงหาคม 2556

งานแสดงเทคโนโลยีเกษตร

อิมแพคเมืองทองธานี 15 ส.ค.56 - บริษัทเอกชนหลายแห่ง ร่วมจัดงานแสดงสินค้าและเครื่องจักรกลการเกษตรรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทย

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงานอีสแมกซ์เอเชีย 2013 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและประชุมสัมนานานาชาติสำหรับอุตสาหกรรมข้าว ข้าวโพด อ้อยและน้ำตาล และงานด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมพืชผัก ผลไม้ และไม้ดอก ซึ่งในงานได้รวบรวมนวัตกรรมและเครื่องจักรกลการเกษตรรุ่นใหม่ตั้งแต่ก่อนและหลังเก็บเกี่ยวจากบริษัทเอกชนหลายแห่งมาจัดแสดง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า งานครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และระดับโลก โดยงานจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึง 17 สิงหาคม ณ อาคาร 5 -6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพคเมืองทองธานี.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 15 สิงหาคม 2556

ศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายในการสร้างและพัฒนาหน่วยงานเพื่อตรวจสอบและรับรองมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตร ในขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(Good Agricultural Practice :GAP) สำหรับพืชอุตสาหกรรม 4 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดสัตว์เลี้ยง และสับปะรด โดยได้มอบหมายให้สำนักงานการปฏรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เป็นหน่วยงานในการเตรียมความพร้อม ซึ่ง เป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ ส.ป.ก.จำนวน 34.6 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 71 จังหวัดทั่วประเทศ มีเกษตรกรที่ต้องดูแลกว่า 2.57 ล้านราย ที่มีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิด รวมทั้งมีส่วนราชการในระดับภูมิภาคและมีบุคคลากรที่มีคุณสมบัติหลากหลายที่จะสร้างเป็นผู้ตรวจประเมิน ซึ่งจะสามารถพัฒนาองค์กรเป็นหน่วยรับรองได้

ดังนั้น ส.ป.ก. จึงได้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินขึ้น(ศรม.) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Centre for Inspection and Certification of Agricultural Products in Land Reform Area หรือ CICAL โดยมุ่งหวังให้มีการยกระดับกระบวนการผลิตของเกษตรกรและผลผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลก และสร้างข้อได้เปรียบทางการตลาดที่จะก้าวเข้าสู่การเปิดเขตการค้าเสรี ในประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่ผ่านมา ส.ป.ก. จัดอบรมเกษตรกรใน 53 จังหวัด จำนวน 5,046 ราย เกษตรกรได้ยื่นขอรับรอง จำนวน 767 ราย ตรวจประเมินแปลงแล้ว 565 ราย เกษตรกรผ่านการรับรอง GAP 57 ราย ซึ่งมีเกษตรรายกลุ่มไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นผู้นำของแต่ละท้องถิ่น ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ขยายแนวคิด และเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตแบบ GAP ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้เป็นอย่างดี

ในปี 2557 ทิศทางและแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจการตรวจและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเน้นส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรยื่นขอ “การรับรองแบบกลุ่ม” ซึ่งมีการบริหารจัดการระบบคุณภาพของกลุ่มตามมาตรฐาน โดยศรม.จะร่วมบูรณาการกับส.ป.ก.จังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการศึกษากระบวนการสร้างและพัฒนาต้นแบบของกลุ่มผู้ผลิต เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
ศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ศรม.)
โทร. 02-2783672 www.alro.go.th

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 15 สิงหาคม 2556

มิตรผล ปั้นคน 'เวิล์ดคลาส'

เป็นมนุษย์พันธุ์รอบรู้ มีความสามารถทำงานในทุก ๆหน้าที่ ธุรการข้ามไปทำงานบัญชี งานบัญชีก็ข้ามสายไปเป็นวิศวะได้
เป้าหมายการพัฒนาคนของมิตรผลในเวลานี้คือคำว่า "เวิล์ดคลาส"

กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวกับ กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็วๆ นี้

เพราะมิตรผล นั้นต้องการเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม ต้องการเป็น "องค์กรระดับโลก"

เมื่อไม่นานมานี้ กฤษฎา ได้ประกาศปรับภาพลักษณ์กลุ่มมิตรผลเป็น " Global Quality with Sustainability" โดยประกอบไปด้วย 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจน้ำตาล ,กลุ่มธุรกิจไร่บริษัท, กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ,กลุ่มธุรกิจปาร์ติเกิลบอร์ด และกลุ่มธุรกิจด้านการลงทุนและการค้า

ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลติดอันดับ Top10 ของผู้ผลิตน้ำตาลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก อีกทั้งยังสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน ลาว และออสเตรเลีย แน่นอนว่าจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ กฤษฎา บอกว่ามิตรผลจะให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนไปต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

อะไรคือนิยาม คือ Output ผลสำเร็จปลายทางของคำว่า "เวิล์ดคลาส"

กฤษฎา ตอบคำถามที่รวบรัดตัดความเพื่อไม่ดูหนังในตอนจบโดยไม่ได้ตั้งต้นที่ Input ว่าผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ การเป็นมนุษย์พันธุ์ "รอบรู้" พนักงานของมิตรผลต้องมีความสามารถทำงานได้ในทุก ๆหน้าที่ เช่น จากงานธุรการข้ามสายไปทำบัญชีได้ จากงานบัญชีก็ข้ามสายไปเป็นวิศวะได้ อย่างนี้เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น จำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนในหลากหลายแนวทาง

องค์กรแห่งนี้มีการจัดตั้ง "สถาบันพัฒนามิตรผล" วัตถุประสงค์ก็เพื่อพัฒนาพนักงานทุกคนให้มีความรู้ มีทักษะและมีความเชี่ยวชาญในสายงานที่แต่ละคนทำอยู่ อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่พนักงานทุกคนของมิตรผล ต้องรู้ร่วมกัน นั่นคือ ความรู้พื้นฐานในอุตสาหกรรมอ้อย เริ่มจากอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบ เป็นต้น

คงเป็นเรื่องตลกแน่ๆ หากพนักงานขององค์กรที่ยิ่งใหญ่และเติบโตมาด้วยอ้อย จะไม่รู้จักอะไรที่เกี่ยวกับอ้อย เกี่ยวกับธุรกิจที่ตัวเองทำงานเลย

องค์กรแห่งนี้ดูแลคนอย่างเป็นธรรม ทั้งผลตอบแทนที่แข่งขันได้ในตลาด มีสวัสดิการที่ตอบรับกับโจทย์ชีวิตของพนักงาน

มิตรผลเป็นองค์กรที่จะให้โอกาสในการเติบโตกับ "คนใน" ก่อนเสมอ

กฤษฎา บอกว่า พนักงานของมิตรผลทุกคนจะมี "Career Path" ซึ่งหมายถึง เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ ที่พนักงานแต่ละคนจะรู้ว่าจากตำแหน่งที่เริ่มต้นพวกเขาจะสามารถเติบโตไปในตำแหน่งใดได้บ้าง และหากจะไปให้ถึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะและการสั่งสมประสบการณ์อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันหลายๆ องค์กรมักประสบปัญหา "คนเติบโตไม่ทัน" โดยเฉพาะการก้าวขึ้นสู่ระดับผู้บริหาร สำหรับวิธีของมิตรผลก็คือ จะพยายามผลักดันคนภายในอย่างให้ถึงที่สุดเสียก่อน แม้จะต้องเสียเงินลงทุนจำนวนไม่น้อยเพื่อจ้างคนมาคอยสอนอย่างใกล้ชิดแบบตัวต่อตัว (One-on-One Coaching) ก็ต้องยอม

มิตรผลถือเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องคนอย่างเข้มข้นชนิดไม่เป็นสองรองใคร และมีอยู่แนวทางหนึ่งซึ่งยังไม่ปรากฏในหลายๆ องค์กร ก็คือ มิตรผลได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการ" เพื่อคอยกำกับดูแลในเรื่องการบริหารจัดการคนโดยเฉพาะ

แม้ว่ามิตรผลจะมี HR หรือมีซีอีโอที่เอาจริงเอาจัง และเอาใจใส่เรื่องคนอย่างมากมายแล้วก็ตาม

แน่นอนอัตราการลาออกขององค์กรแห่งนี้จึงเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากๆ

มิตรผลเป็นองค์กรที่เชื่อในเรื่องของคน เชื่อว่าคนคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จ องค์กรแห่งนี้มีความพยายามสร้างบรรยากาศองค์กรให้ "เปิดกว้าง" เพื่อให้พนักงานทุกคนมีโอกาสได้แชร์ความคิด ความรู้และประสบการณ์

กฤษฎา บอกว่า มิตรผลไม่เชื่อในเรื่องของ Top-down เพราะจะทำให้พนักงานไม่คิดริเริ่มด้วยมัวแต่รอคำสั่ง ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้นำอย่างเขาก็คงวุ่นเพราะวันทั้งวันคงต้องคอยคิด ต้องคอยออกคำสั่งอยู่ตลอดเวลา

มิตรผลเป็นบริษัทที่มีการจัด "ประกวดนวัตกรรม" เป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นเวทีที่คอยกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการสร้างผลงานอันโดดเด่นของพนักงาน

ถามว่า ปัจจุบัน มิตรผลสาขาในประเทศจีน ลาว และออสเตรเลีย มีโมเดลในการพัฒนาและสร้างคนเดียวกันกับประเทศไทยหรือไม่?

กฤษฎา ตอบว่าในเวลานี้ยังคงเป็นแบบ "ต่างคนต่างทำ" บริษัทตั้งอยู่ในประเทศไหน ก็จะมุ่งเน้นสร้างคนในประเทศนั้นๆ ขึ้นมา เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการคนในแบบของตัวเอง หากแต่ก็ไม่ถึงกับต่างกันมากนัก

โดยปริยายนั่นหมายถึง มิตรผลยังไม่อาจสร้างมาตรฐานเรื่องของคนให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้

อย่างไรก็ตาม ในความโชคร้ายมักมีความโชคดีซ่อนอยู่ ซีอีโอท่านนี้บอกว่า ข้อดีของการขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ นั้นทำให้เกิด "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้"

เขาบอกว่าหากจะพูดถึงความก้าวหน้าที่สุด ก็คงต้องยกให้ประเทศออสเตรเลีย และที่ยังช้าและล้าหลังก็เป็นจีนและลาว ขณะที่ประเทศไทยนั้นอยู่ตรงกลาง

ดังนั้น หากจะทำให้การทำงานในประเทศไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้นก็ต้องศึกษาผลิตภาพการทำงานของคนออสเตรเลีย และก็ต้องพยายามทำให้การทำงานที่จีนขยับให้ดีเทียบเท่ากับไทยในเวลานี้ ซึ่งหากจะให้เกิดผลก็ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเข้าไปช่วยปรับความคิดเปลี่ยนวิธีทำงาน โดยต้องไม่ใช้การ Top-down

กฤษฎา ย้ำว่าซีอีโอเช่นเขา ควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี (Role model) ให้กับพนักงาน

จะดีกว่า หากเป็นผู้ "ชี้นำ" เป็นผู้ "ชี้แนะ" และไม่ "ชี้สั่ง"

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 สิงหาคม 2556

เปิดตัวซุปเปอร์‘พด.6’ กรมพัฒนาที่ดินต่อยอดพัฒนาจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย/กำจัดลูกน้ำพาหะโรคร้าย

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินประสบความสำเร็จในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.6 เป็นผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 จากเดิมที่ใช้เพื่อการบำบัดน้ำเสีย ขจัดกลิ่นเหม็น สามารถกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ ซึ่งเป็นพาหะก่อโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้าง
เพิ่มเติมได้อีกด้วย

ทั้งนี้แบ่งการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือเมื่อใช้สำหรับบำบัดน้ำเสีย ขจัดกลิ่นเหม็น ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ไปหมักร่วมกับเศษอาหารในครัวเรือน กากน้ำตาล และน้ำ ระยะเวลา 20 วัน เพื่อผลิตเป็นสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น จากนั้นจึงกรองน้ำดังกล่าวไปสาดหรือเทในแหล่งน้ำเน่าเสียก็สามารถกำจัดกลิ่น และลดสภาพความเน่าเสียลงได้

ขณะเดียวกัน ในบริเวณน้ำเน่าเสียมักมีลูกน้ำยุงรำคาญก็ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ซึ่งมีลักษณะเป็นผงแห้ง โรยโดยตรงบริเวณที่พบลูกน้ำยุงรำคาญ ซึ่งจะลอยน้ำขึ้นมาเป็นแพเป็นหย่อมๆ เมื่อลูกน้ำกินแบคทีเรีย Bacillus sphaericus (B.s.) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ประกอบในสารเร่งดังกล่าว สารพิษที่ แบคทีเรีย B.s. สร้างขึ้นจะกลายสภาพเป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ในระบบทางเดินอาหารของลูกน้ำ และทำให้เกิดบาดแผลในทางเดินอาหาร ส่งผลให้ลูกน้ำยุงรำคาญหยุดกินอาหารและตายในที่สุด

“เราริเริ่มโครงการนี้ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะเห็นว่า ที่ไหนมีน้ำเน่าเสีย มักมียุงรำคาญแพร่ขยายพันธุ์ด้วย โดยใช้สารเร่ง พด.6 ที่มีคุณสมบัติบำบัดน้ำเสีย แล้วต่อยอดโดยเพิ่มจุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ เลยกลายเป็น ซุปเปอร์ พด.6 ช่วยลดโรคไข้สมองอักเสบ หรือโรคเท้าช้าง ให้ชุมชนต่างๆด้วย” นางกุลรัศมิ์ กล่าว

สำหรับแบคทีเรีย B.s. มีการนำไปใช้ผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ของกรมพัฒนาที่ดิน พัฒนาแล้วแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไป

สารเร่ง พด.6 ประกอบด้วยจุลินทรีย์ คือ ยีสต์ผลิตแอลกอฮอล์ แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก แบคทีเรียย่อยสลายโปรตีน แบคทีเรียย่อยสลายไขมัน และเมื่อเพิ่มแบคทีเรีย B.s. อีกตัวก็จะยกระดับเป็นสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ที่ใช้งานได้ทั้งบำบัดน้ำเสีย ขจัดกลิ่นเหม็นและกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญได้ด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ: รื้อโครงสร้างอ้อย-น้ำตาลช้าแต่ยังเดินต่อ

อนัญญา มูลเพ็ญ

ตั้งท่าเดินหน้ามาหลายปีแล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จสำหรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญขนาดใหญ่ของไทยใน
ฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้เนื่องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ยังไม่สามารถหาข้อยุติให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ แม้ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จะสรุปข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เรียบร้อยแล้ว แต่การปรับโครงสร้างก็ไม่น่าจะทำได้ทันฤดูการผลิตนี้

"สมศักดิ์ สุวัฒิกะ"เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากที่ สอน. ศึกษาการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลโดยใช้ข้อเสนอแนะจากทีดีอาร์ไอประกอบ พบว่ายังมีรายละเอียดต้องพิจารณาอีกมาก จึงคาดว่าจะไม่สามารถปรับโครงสร้างและลอยตัวราคาน้ำตาลทรายได้ทันในฤดูกาล 2556/2557 ที่จะเปิดหีบในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2556 นี้

แต่การศึกษายังเดินหน้าต่อ เพราะการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ไม่เพียงช่วยลดภาระกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

(กท.) แต่ต้องทำเพราะในที่สุดหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อาจเกิดการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นหากระบบกำหนดราคายังตายตัวแบบปัจจุบัน อาจสร้างปัญหาในระยะยาว   สำหรับข้อเสนอหลักที่ทีดีอาร์ไอนำเสนอต่อ สอน.มี 4 ด้าน คือ

1.สำหรับตลาดน้ำตาลในประเทศให้เลิกควบคุมราคา เปลี่ยนมาควบคุมปริมาณการจำหน่ายรวมทั้งปี
2.ปรับเปลี่ยนกติกาในการซื้อขายอ้อยและการกำหนดราคาอ้อยที่โรงงานจ่ายชาวไร่ โดยใช้สูตรการกำหนดราคาอ้อยที่อิงประสิทธิภาพมาตรฐานของโรงงานและความหวานของอ้อยและให้สิทธิโรงงานนำอ้อยไปผลิตอะไรก็ได้

3.ให้มีการแยกบัญชีรักษาเสถียรภาพและเปลี่ยนกติกาการกำหนดราคาอ้อยและการเก็บเงินเข้าบัญชีนี้จากทั้งชาวไร่และโรงงาน เพื่อให้มีหลักประกันว่าจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนส่วนนี้เพียงพอสำหรับนำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพ

4.ข้อเสนอด้านองค์กรและกฎหมาย ให้ยกร่างพ.ร.บ.ใหม่เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินตามข้อเสนอใหม่
"สมศักดิ์" เห็นว่าการปรับโครงสร้างและลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ควรดำเนินการในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจะทำให้เป็นผลดีต่อทั้งชาวไร่ โรงงานน้ำตาล และภาครัฐ แต่ถ้าเร่งดำเนินการตอนนี้อาจเป็นปัญหาเพราะราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำมาก คือ อยู่ที่ประมาณ 17 เซนต์ต่อปอนด์ เทียบกับระดับสูงสุดเมื่อปี2554 ที่ 36 เซนต์ต่อปอนด์

ดังนั้น หากลอยตัวราคาน้ำตาลในช่วงที่ราคาตกต่ำอาจเกิดปัญหาชาวไร่ออกมาเรียกร้อง เพราะต้นทุนการผลิตของชาวไร่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทต่อตัน ในขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้อาจไม่ถึง 900 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งภาระชดเชยส่วนต่างอาจต้องตกกับภาครัฐ เนื่องจากเป็นไปได้ว่าหลังลอยตัวราคาน้ำตาลแล้วอาจไม่มีการเก็บเงินเข้ากองทุน จากปัจจุบันที่เก็บจากราคาขายน้ำตาลที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ไว้ดูแลกรณีที่เกษตรกรได้รับผลกระทบจาการปรับขึ้นและลงของราคาน้ำตาล

"ปัจจุบันส่วนต่างจากราคาอ้อยขั้นต้นกับต้นทุนผลิตจะถูกชดเชยโดยการที่กองทุนไปกู้เงินจาก ธ.ก.ส. มาชดเชยให้จากนั้นจะมีเงินที่เก็บจากราคาน้ำตาลกิโลกรัมละ 5 บาท นำไปใช้หนี้ ซึ่งฤดูกาลที่ผ่านมาก็กู้ไป 1.6 หมื่นล้านบาทดังนั้นถ้าจะปรับโครงสร้างที่อาจทำให้ไม่มีการเก็บ 5 บาทแล้ว ต้องคิดด้วยว่าถ้าเกิดต้องมีการชดเชยจะเอาเงินจากไหนมาชดเชย"

"สมศักดิ์" ระบุว่า การศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมที่ยังดำเนินการต่อนี้ สอน.พิจารณารูปแบบการลอยตัวราคาจากทั้งรูปแบบการลอยตัวราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ สินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ และราคาพลังงาน ของกระทรวงพลังงานโดยผลศึกษามีการรายงานต่อ ประเสริฐ บุญชัยสุขรมว.อุตสาหกรรม เป็นระยะเพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จะนำโครงสร้างใหม่นี้ไปใช้ในฤดูกาล 2557/2558 เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับตัวดีขึ้น เพราะผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และบราซิล กำลังเจอปัญหาภัยธรรมชาติซึ่งทำให้ผลผลิตลดลงประกอบกับขณะนี้มีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พะเยาพร้อมขับเคลื่อนนโยบายบริหารจัดการฯ พัฒนาจังหวัดเป็นแหล่งผลิตเกษตรปลอดภัย

จังหวัดพะเยา พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) เน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาให้จังหวัดเป็นแหล่งผลิตเกษตรปลอดภัย

พะเยา/ เมื่อเร็วๆ นี้ นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning)” ณ ห้องพุดตาน โรงแรมเกทเวย์ อ.เมือง จ.พะเยา โดยมี นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วย นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ ทั้งนี้จังหวัดพะเยา โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา ได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมและยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดพะเยาให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมจังหวัดพะเยา คณะทำงานขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมจังหวัดพะเยา เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประธานสภาเกษตรกรในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และเกษตรกรผู้มีส่วนได้-เสีย จำนวนทั้งสิ้น 500 คน

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) เป็นแนวคิดที่ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลในการจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรได้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และทำการประมงในพื้นที่เหมาะสมต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช 6 ชนิดแล้ว ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ด้านนายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยามีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ลิ้นจี่ ลำไย ยางพารา และโคขุน ประกอบกับจังหวัดพะเยามียุทธศาสตร์การพัฒนาที่เน้นให้จังหวัดเป็นแหล่งผลิตเกษตรปลอดภัย โดยมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ทั้งนี้จังหวัดพะเยาได้แต่งตั้งคณะกรรมการการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้สอดคล้องในระดับพื้นที่และเหมาะสมสำหรับพืชเศรษฐกิจจังหวัดพะเยา ซึ่งตามประกาศกำหนเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ความเหมาะสมในการปลูกข้าว 749,707 ไร่ เหมาะสมสำหรับปลูกยางพารา 237,211 ไร่ สำหรับพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม ทางจังหวัดจะดำเนินการสื่อสารทำความเข้าใจและเสนอแนะทางเลือกให้แก่เกษตรกร เพื่อปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นตามความสมัครใจและความต้องการของเกษตรกร

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เล็งทำฝนหลวงปลาย ส.ค. เพิ่มน้ำลงเขื่อนลำตะคอง

ผอ.ฝนหลวง ภาคอีสาน เผยน้ำลำตะคองมีกักเก็บน้อยกว่าปีที่แล้วกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. เตรียมบินทำฝนหลวงปลาย ส.ค.นี้ เพิ่มปริมาณน้ำลงเขื่อน ...

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 สิงหาคม 2556 นายปนิธิ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า ขณะนี้แม้ปัจจุบันหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่เราพบว่าก็ยังมีบางพื้นที่ที่ฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะตามเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางหลายแห่งที่พบว่า มีปริมาณน้ำเก็บกักที่ยังค่อนข้างน้อย อาทิ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่มีน้ำเก็บกักอยู่ขณะนี้ จำนวน 90 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ ของความจุทั้งหมด ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีน้ำเก็บกัก จำนวน 103 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตนได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดนครราชสีมา ที่รับผิดชอบในพื้นที่วางแผนการขึ้นบินทำฝนหลวง บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง เพื่อให้มีฝนตกและเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มขึ้นบินปฏิบัติการเหนืออ่างเก็บน้ำลำตะคองได้ ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม นี้เป็นต้นไป

นายปนิธิ กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ตามจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงวันนี้ ภาพรวมถือว่าสถานการณ์น้ำยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้เขื่อนต่าง ๆ ก็จะเริ่มมีฝนตกและน้ำจะไหลเข้าเขื่อนตามธรรมชาติ ซึ่งจะเพียงพอต่อการบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน แต่หากพื้นที่ใดต้องการให้ศูนย์ฝนหลวงขึ้นบินทำฝนหลวง ก็ยังสามารถร้องขอมาได้ ทางศูนย์ฝนหลวง ก็พร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างเต็มที่.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ก.พัฒนาที่ดินวิจัยจุลินทรีย์ดินมุ่งเพิ่มธาตุอาหารพืช

กรมพัฒนาที่ดิน เดินหน้าวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์ดิน 2 ชนิด ทั้งเชื้อราและแบคทีเรีย หวังเพิ่มธาตุอาหารหลักของพืช

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์ดินเพื่อใช้พัฒนาดินนั้น กรมกำลังวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์สำคัญ 2 รายการได้แก่ เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรชา เพื่อเพิ่มประสิทธิ์ภาพการดูดธาตุอาหารของพืช และแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระโดยไม่พึ่งสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้ดินได้รับไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ

โดยเชื้อราอาค์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรชา อาศัยร่วมกับรากพืชและจะสร้างเส้นใยรอบๆ รากพืช ที่เพิ่มพื้นที่ผิวได้มากถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับรากพืชที่ไม่มีเชื้อรานี้ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิ์ภาพการดูดใช้ธาตุอาหาร และน้ำจากดินส่งต่อไปยังรากพืช อีกทั้งสร้างความทนทานให้พืชและเพิ่มผลผลิตในสภาพดินทีมีปัญหา

“ ที่สำคัญเชื้อราตัวนี้ยังสร้างสารกลูมาลิน ช่วยให้เกินการจับตัวของอานุภาคดินทำให้เกิดเม็ดดิน เท่ากับช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินไปในตัว ในต่างประเทศมีการใช้เชื้อราตัวนี้ไปผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้ในการเกษตรมาก่อนแล้ว”

ส่วนแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนนั้นกรมต่อยอกจากแบคทีเรียในปุ๋ยชีวภาพ พ.ด.12 แต่เป็นแบคทีเรียสกุลไรโซเบียม ที่ต้องอิงอาศัยปมรากพืชตระกูลถั่วเท่านั้น ต่างจากแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ ที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีต้นพืชตระกูลถั่ว

“เรากำลังวิจัยและพัฒนาแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ ถ้าสำเร็จเท่ากับมีกลไกธรรมชาติในการสร้างโรงปุ๋ยไนโตรเจน หรือยูเรียในดินโดยตรง แต่ปัญหาคือยังมีข้อจำกัด อาทิ ความสามารถตรึงไนโตรเจนยังต่ำเมือเทียบกับไรโซเบียน ซึ่งกรมกำลังหาทางลดข้อจำกัดนี้อยู่ ” นางกุลรัศม์ กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 14 สิงหาคม 2556

พลังงานแสงอาทิตย์ มาแรง กำลังเป็นที่นิยม

ปธ.บริษัท เอสพีซีจี เผย พลังงานแสงอาทิตย์ มาแรง กำลังเป็นที่นิยม แจ้งตลาดหลักทรัพย์ รายได้ 6 เดือนแรก ปีนี้มียอด พุ่ง 1,100 ล้าน ส่งผลให้กำไรโตถึง 343 %

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” เปิดเผย ว่า ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงมติการประชุมคณะกรรมการบริษัทประจำเดือน ส.ค.2556 เกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2556 โดย สามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 150.21 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนแล้วเติบโตเพิ่มขึ้น 343.49 % ทั้งนี้ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 285.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 109.09 % รายได้หลักมาจากการจำหน่ายไฟฟ้าของบริษัทย่อย ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมาก่อนไตรมาสที่ 2 ปี 2556 จึงสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้เต็มงวดจำนวน 16 บริษัท

น.ส.วันดี กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานโดยรวมของ SPCG ในช่วงเพียง 6 เดือนแรกของปีนี้ สามารถทำได้ประมาณ 1,157 ล้านบาท เปรียบเทียบแล้วใกล้เคียงกับรายได้ตลอดทั้งปี 2555 ทำไว้ 1,275 ล้านบาท ส่วนโซลาร์ ฟาร์ม ในเครือของบริษัท จนถึงขณะนี้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ( Commercial Operation Date :COD) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียบร้อยแล้ว 22 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 144 เมกะวัตต์ นอกจากนั้น อยู่ระหว่างเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเพื่อรอจำหน่ายอีก 8 โครงการ ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 6 โครงการ ซึ่งทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2556 จากนั้นบริษัทจะรับรู้รายได้จากโซลาร์ ฟาร์ม 36 โครงการ

“ธุรกิจในเครือที่เพิ่งจะเปิดดำเนินการใหม่เมื่อเดือน พ.ค.56 คือ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR ได้รับความสนใจจากลูกค้าภาคครัวเรือนตอบรับเป็นอย่างดี สมัครโครงการ “โซลาร์ รูฟ แบรนด์ แอมบาสเดอร์” เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,000 ราย กำลังอยู่ระหว่างทยอยติดตั้ง เพื่อผลิตพลังงานใช้เองภายในบ้าน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 สิงหาคม 2556

มาตรการรัฐกระสุนด้าน กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ขึ้น

เศรษฐกิจไทยที่ลงแรงกว่าที่คิด หลังเครื่องยนต์เศรษฐกิจพร้อมใจกันอ่อนแรง แย่ไปกว่านั้นตัวเลขภาคส่งออก ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในช่วง 6 เดือนโตเพียง 0.95% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 4.32% ทำให้ประเมินกันว่าในสถานการณ์เลวร้ายภาคส่งออกอาจขยายเพียง 2-3%

alt เศรษฐกิจไทยทั้งปีอาจโตไม่ถึง 4% ( เทียบปี 2555 จีดีพีโต 6.5%)หลังเศรษฐกิจไตรมาสแรกโตเพียง 5.3% หดตัวถึง 2.2% จากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จนทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐอย่างน้อย 2 แห่งคือสำนักงานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างปรับเป้าประมาณการของเศรษฐกิจไทยใหม่ปีนี้มาอยู่ระดับเดียวกันคือ 4.2% จาก 4.5-5.5% และ 5.1% ตามลำดับ

ในขณะที่พิเคราะห์จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ที่ออกมาในระยะห่างไม่ถึง 3 เดือน คือมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ไฟเขียวกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 3 มาตรการหลัก (22 มาตรการย่อย) คือ 1.มาตรการด้านการคลัง (7 มาตรการ), 2. มาตรการเงิน (7 มาตรการ) และ 3. มาตรการเฉพาะด้าน (8 มาตรการ)
*ดันศก.โต1% ไร้ผล ?

และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ครม.ไฟเขียว 4 มาตรการ (20 มาตรการย่อย) หลัก ได้แก่ มาตรการด้านการบริโภคภาคเอกชน, มาตรการด้านการลงทุนภาคเอกชน ,มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการด้านการส่งออก ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อจะผลักดันเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5%

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 4 ด้าน 20 มาตรการย่อย เป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณสนับสนุนเพิ่ม และเชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลของมาตรการตั้งแต่ไตรมาส 4 ซึ่งจะช่วยผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มได้อีก 1.2 แสนล้านบาท หรือจีดีพีโตเพิ่มอีก 1% จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าทั้งปีจะเติบโตราว 4-4.5% เป็น 5-5.50%" นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว หลังขอเป็นฝ่ายแถลง 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยตนเอง

ความพยายามสุดฤทธิ์ของรัฐบาล โดยผ่านครม.อนุมัติถึง 2 ครั้ง 2 ครา รวมเสียงที่กระทุ้งเป็นระยะๆให้ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายช่วยอีกทาง ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลเองก็หมดกระสุนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบแล้วจริง ๆ โดยเฉพาะมาตรการล่าสุด ที่คลอดมาในจังหวะที่การเมืองในประเทศที่ร้อนระอุจากความพยายามของรัฐในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม การยิงปืนนัดเดียวโดยหวังผล 2 ทาง คือ 1.กลบกระแสการเมืองร้อนฉ่า และ 2.ผลในเชิงจิตวิทยาระยะสั้น เห็นได้จากตลาดหุ้นปรับบวกขานรับมาตรการดังกล่าว

*มาตรการกระสุนด้าน ?

แต่ทว่าแกนของสาระ 4 มาตรการหลัก นอกจากเป็นงานรูทีน ที่หน่วยงานรัฐปฏิบัติกันอยู่แล้ว บางส่วนก็เป็นการถ่ายสำเนาเดิม ในมาตรการตาม "กรอบรักษาเสถียรภาพฉบับสศช." ในขณะที่บางมาตรการน่าจะเป็นแผนระยะยาวแทนที่จะมุ่งหวังผลในช่วงที่เหลือของปี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) ระยะที่ 2 ผ่านสิทธิในประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), มาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร โดยอำนวยความสะดวกผ่อนปรน กฎระเบียบในการจัดตั้งโรงงานผลิตอาหาร โรงงานน้ำตาล และโรงงานเอทานอล ตามนโยบายเกษตรโซนนิ่ง

มาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งในครั้งหลังรัฐได้กำชับเรื่องการเร่งล้างท่องบส่วนท้องถิ่น อาทิ การเร่งเบิกจ่ายงบพัฒนากลุ่มจังหวัดวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ที่ยังเหลือสัดส่วน 56% ในวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทที่ยังไม่เบิกจ่าย ,งบเบิกจ่ายในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมไปถึงการกำหนดอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบ2557 สูงกว่าอัตราที่กำหนดในปีงบ 2556 ซึ่งในทางปฏิบัติจะให้ผลทางเศรษฐกิจหรือไม่ ยังขึ้นกับหน่วยงานรัฐเป็นสำคัญ หรือเป็นงานรูทีนอยู่แล้ว

alt เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมการให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รายเล็กและรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งในโครงการ Portfolio Guarantee Scheme โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และโครงการ Productivity Improvement Loan “โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ก็เป็นสิ่งที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 2 แห่ง ดำเนินการอยู่แล้ว

นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นครั้งนี้ 5 ใน 20 มาตรการย่อย ยังเป็นการทุ่มให้กับภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นจุดแข็งเดียวและรัฐหวังเป็นแม่แรงปั๊มเศรษฐกิจ หลังครึ่งปีแรกมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มถึง 20%จำนวน 12.7 ล้านคน และคาดทั้งปีจะพุ่งเป็น 26.1 ล้านคน หรือสร้างรายได้เข้าประเทศราว 1.7 ล้านล้านบาท ( บวกรายได้คนไทยในประเทศกว่า 6 แสนล้านบาท)
มาตรการทั้ง 5 ได้แก่ 1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดสัมมนาในประเทศ โดยให้นิติบุคคลหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ในปีภาษี 2556 และ 2557 2. มาตรการภาษีโดยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ลงทุนซื้อหรือซ่อมแซม สามารถหักค่าเสื่อมในปีแรกในอัตราเร่งที่ 50% ของมูลค่าทรัพย์สินในปีแรก ส่วนที่เหลือให้ทยอยหักในระยะเวลา 5 ปี ในการลงทุนปีภาษี 2556 และ 2557) 3.การให้ส่วนราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบอบรมสัมมนาในประเทศให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ของวงเงินงบที่ได้รับจัดสรร โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยว

4.สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติ โดยสนับสนุนการจัดทำวีซ่าประเภทเข้าออกหลายครั้ง (Multiple-Entry Visa) ที่มีระยะเวลาหลายปี มีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2556 และ 5.สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอย (Shopping Paradise) โดยยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและไม่มีผลกระทบผู้ผลิตในประเทศหรือกระทบน้อย

อย่างไรก็ตามผลในการผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ อาจไม่ส่งผลมากนัก จากสัดส่วนรายได้จากภาคท่องเที่ยวต่อจีดีพีที่ค่อนข้างต่ำเพียง 6% ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ตลอดจนความไม่แน่นอนของเฟดที่อาจเริ่มลดขนาดการซื้อพันธบัตรรัฐตามนโยบายเชิงปริมาณหรือคิวอีในไตรมาส 4 นี้หรือไม่
*แนะดึงทุนนอกร่วมทุน

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ต้องยอมรับว่าขณะนี้รัฐไม่มีกระสุน ไม่มีเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว หลังจากใช้มา 2 ปี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำเวลานี้ซึ่งจะนำความคุ้มค่าสู่ประเทศในระยะยาว ก็คือ 1.การเร่งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในโครงการไม่ขัดต่อศาลปกครองหรือผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และในโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ายังมีบางโครงการที่สามารถเดินหน้าลงทุนได้ก่อน

"ถึงเวลานี้ ผมยังไม่เห็นว่าภาครัฐจะพยายามขับเคลื่อนโครงการลงทุนใด ๆออกมาเลย อย่างน้อยด่านแรก รัฐก็ควรตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA (Environmental Impact Assessment) ให้เห็น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นว่ารัฐได้ลงมือแล้ว และคณะกรรมการควรเป็นคนนอกที่สังคมให้การยอมรับ มีความอิสระในการเรียกข้อมูล เข้ามาศึกษาอย่างจริงจัง"

2.ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ดึงเม็ดเงินลงทุนทั้งจากภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศมาร่วมลงทุน ตามโครงการกฎหมายร่วมทุนรัฐ-เอกชน PPP (public private partnership) และเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะในสาขาบริการ การดึงเม็ดเงินจากภาคเอกชนหรือทุนต่างชาติก็ดี จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในยามที่รัฐเองก็ไม่มีเงิน ได้ดีกว่า

ช่วงที่เหลือ คงต้องจับตา แพ็กเกจที่ออกมาแล้ว 2 รอบของรัฐบาล จะมีประสิทธิผลพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะการเร่งล้างท่องบประมาณรายจ่ายที่เหลืออีกกว่า 5 แสนล้านบาท ( หลังล่าสุดเบิกจ่ายแล้ว 1.83 ล้านล้านบาทจากงบรายจ่ายรวม 2.4 ล้านล้านบาท )

หรือกระสุนจะด้านอีกตามเคย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 สิงหาคม 2556

อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ สืบสานพระราชปณิธาน'แม่ของแผ่นดิน'

พินทุ วิเศษภูมิ

"ขอให้ช่วยกันรักษาแม่น้ำต่างๆ ไว้ด้วย โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาก็ขอให้คนทางกรุงเทพฯช่วยกันรักษา เพราะว่าแต่ก่อนแม่น้ำเจ้าพระยานี้ เรียกว่าเป็นแหล่งอาหารที่ยอดของคนทั้งหลาย และขอให้ช่วยกันประหยัดแหล่งน้ำจืด ก็คือแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นแหล่งน้ำจืด ให้ใช้น้ำจืดอย่างรู้คุณค่า ตอนข้าพเจ้าเด็กๆ นี่ยังเห็นชาวบ้านที่เขาอยู่ในเรือขายข้าว เขาตักน้ำเจ้าพระยามาแล้ว เขาก็รับประทานไปอย่างนั้นเลย เพราะน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนั้นสะอาดมาก เดี๋ยวนี้คงแย่แล้ว ที่แย่สุดคือพันธุ์ปลาตายไปแยะแล้ว สูญสิ้นซึ่งพันธุ์ปลา ขอวอนให้ท่านช่วยกันหันกลับมารักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ป่า แม่น้ำ ลำธารต่างๆ"

พระราชดำรัสคัดตัดตอนของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันที่ 11 สิงหาคม 2550

ด้วยพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยถึงปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่อยู่ในภาวะเสื่อมโทรมลงจนเข้าขั้นวิกฤต นี่เองที่ทำให้ "กระทรวงอุตสาหกรรม" ดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำรัส โดยจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ "อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ" เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ตลอดจนเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอผลงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในมิติสำคัญต่างๆ รวมไปถึงโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำ 6 ลุ่มน้ำ ภายใต้แนวคิด "สายน้ำแห่งชีวิต The River Of Life"

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในวันดังกล่าว มีแขกเหรื่อ มากมายร่วมงาน

อาทิ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, ประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ

งานจัดเป็น 2 ส่วน คือ 1.การเสวนาเรื่อง "การอนุรักษ์แม่น้ำกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน"และ 2.การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษา 12 สิงหาคม 2556 มีการจัดนิทรรศการ ตลอดจนการจุดเทียนชัยถวายพระพร และแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่

สำหรับโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำ 6 ลุ่มน้ำ คือ 1.ลุ่มน้ำท่าจีน 2.ลุ่มน้ำแม่กลอง 3.ลุ่มน้ำบางปะกง 4.ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 5.ลุ่มน้ำลำตะคอง และ 6.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้แนวคิด "สายน้ำแห่งชีวิต The River Of Life" กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเป็นการปลูกจิตสำนึก รณรงค์ และสร้างความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ เอกชน เครือข่ายชุมชน รวมถึงผู้ประกอบกิจการโรงงาน ได้ให้ความสำคัญและหันมาดูแลรักษา และฟื้นฟูแหล่งน้ำแบบบูรณาการ

"กระทรวงอุตสาหกรรม เรามีภารกิจหลักในการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน เราก็ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่อาจได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ภารกิจของเราก็คือ การกำกับดูแลให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรักษาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน"สุวัจน์ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติกล่าว

"อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ" เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเพื่อสืบสานพระราชปณิธาน "แม่ของแผ่นดิน" ให้เห็นคุณค่าของแม่น้ำลำคลอง ตลอดจนช่วยกันรักษาให้คงอยู่สืบไป

ดังพระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

"...เรื่องน้ำจืดก็พูดมาหลายหนแล้ว นับวันเป็นสิ่งที่มีค่าหายาก ในโลกที่มีการคาดการณ์ว่าต่อไปอาจเกิดสงครามโลกเรื่องแย่งแหล่งน้ำจืดมนุษย์มากขึ้น ความต้องการใช้น้ำก็มาก การใช้ชีวิตประจำวันหรือใช้น้ำจืดไปไล่น้ำเค็ม หากคนไทยไม่รู้ ก็ไม่สามารถปกป้องทรัพยากรสำคัญ รักษาแม่น้ำลำคลองความสะอาดต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการทิ้งอะไรลงไปทำลายน้ำสะอาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ถือเป็นผลร้ายต่อบ้านเมือง หวังว่ารัฐบาลจะรณรงค์ให้ประชาชนรู้คุณค่าของน้ำ ถนอมน้ำสะอาด ปลูกฝังลูกหลานให้ใช้อย่างมีวินัย เผื่อวันที่ไม่พอใช้ ข้าพเจ้าไปภาคอีสานก็เตือนคนไทยว่าอย่าทำลายป่า เขาก็หัวเราะอย่างน่าเอ็นดู โถท่านจะไปวิตกเกี่ยวกับน้ำกินน้ำใช้ยุ่งอยู่กับป่ากับน้ำทำไม ไม่ต้องห่วงแม่น้ำโขงอยู่ใกล้นิดเดียวจะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าอ่านในไทมส์ เดอะนิวส์วีก แม่น้ำโขงแห้งขอดเห็นแต่ก้อนหิน เขาลงว่าเป็นที่ทำให้พวกที่หากินจับสัตว์น้ำตกใจมาก เพราะแม่น้ำแห้งผาก แต่ก่อนไม่ทราบว่าแม่น้ำโขงจะแห้งผาก แต่ก็ออกมาเกือบ 2 ปีแล้ว มันไม่ไหวแล้ว เพราะต้นของแม่น้ำโขงอยู่ในจีน และเขาสร้างเขื่อนอย่างใหญ่โต เพราะเข้าใจว่าประชากรแยะ และต้องอาศัยน้ำ เพื่อให้ทำงานได้ดี เวลานี้แม่น้ำโขงไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ ..."

พระราชดำรัสคัดตัดตอนของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันที่ 11 สิงหาคม 2551

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 14 สิงหาคม 2556

เออีซีไฮเวย์: กนอ.องค์กรชั้นนำอาเซียน

เมื่อเร็วๆ นี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำ โดยมีเป้าหมายเป็น 1 ใน 3 ของภูมิภาคอาเซียน รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 จึงกำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยช่วง 20 ปี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ กนอ.ปฏิบัติตามเพื่อทำให้เป้าหมายบรรลุผล ซึ่งแผนงานดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก (ปี 2553-2557) คือ Knowledge Based Industry เป็นช่วงที่พัฒนาโดยใช้ความรู้พื้นฐานเดิมที่มีอยู่เป็นหลักในการสร้างบทบาท การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาโครงสร้างวัตถุดิบ แรงงาน การวิจัยและพัฒนา การจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรม การพัฒนาและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สามารถรวมกลุ่ม ตลอดจนการส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ระยะที่ 2 (ปี 2553-2562) คือ Innovative Industry การต่อ ยอดความรู้พื้นฐานเดิมให้มีมูลค่าเพิ่ม การแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ พร้อมทั้งต่อยอดนวัตกรรม สู่อุตสาหกรรมเชิงรุกมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอากาศยาน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เป็นต้น และ ระยะที่ 3 (ปี 2553-2572) คือ Sustainable Industry การมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะต้องพัฒนาควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน โดยนโยบายทั้ง 3 จะดำเนินการสอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งผู้บริหารและพนักงานจะนำไปปฏิบัติและประเมินผลสำเร็จต่อไปนอกจากนโยบายภาพรวม

นอกจากนี้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ กนอ. ได้ย้ำเพิ่มเติมอีกว่า การพัฒนาบุคลากรขององค์กรเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการควบคู่การพัฒนาอุตสาหกรรม จึงนำแนวคิดของปีเตอร์ เซงเก้ อาจารย์อาวุโสแห่งการเรียนรู้ ของสถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) ส่งมอบให้ผู้บริหาร กนอ.ดำเนินการ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.Personal Mastery : บุคคลที่มีความรู้อย่างแท้จริงในเรื่องต่างๆ ที่จะถ่ายทอด 2.Mental Model : ศรัทธาและเชื่อมั่น 3.Shared Vision : การเผยแพร่วิสัยทัศน์ การดำเนินงานขององค์กร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน 4.Team Learning : การเรียนรู้และทำงานเป็นทีม และ 5. System Thinking : การคิดอย่างเป็นระบบ

เมื่อ "คนและนโยบาย" พร้อมอนาคตองค์กรชั้นนำอาเซียนคงมี กนอ.ติด 1 ใน 3 ได้ไม่ยาก

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 14 สิงหาคม 2556

อบจ.อุบลฯนำทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนเมืองเกษตรอินทรีย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศูนย์โอท็อปเซ็นเตอร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กองส่งเสริมคุณภาพชีวิต องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนา หัวข้อ จะพัฒนาอย่างไรให้มีการทำเกษตรยั่งยืน

พลตำรวจเอก ดร.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน คนไทยและคนทั่วโลก ให้ความสนใจในการเลือกรับประทานอาหารที่มีความปลอดภัย และควบคู่ไปกับรสชาติที่อร่อย สำหรับประเทศไทย มีพื้นฐานด้านการเกษตร ดังนั้น การผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่คนจะทำให้เป็นการสร้างรายได้ และสร้างสุขภาพที่ดีแก่ผู้บริโภค และตัวผู้ผลิตเอง ถึงแม้ว่า อาจจะมีการขับเคลื่อนช้าไปบ้าง การเสวนาในครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังจากทุกภาคส่วนในจังหวัดอุบลราชธานี ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ กระบวนการผลิต ไปจนถึงการตลาด และเชื่อว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่รูปแบบเกษตรอินทรีย์เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากผลผลิตและรายได้จะสูงขึ้นแล้ว สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นตามด้วย

ด้านพลเอก ดร.พิเชษฐ์ วิสัยจร อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ชาวอุบลราชธานี เห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ เพราะปัญหาด้านสุขภาพ ความยากจน ปัญหาสังคมอื่นๆ ล้วนแต่เกิดจากการเกษตรที่ล้มเหลว แต่หากมีการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ภายใต้ผู้นำที่เข้มแข็ง จะทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ได้ไม่ยาก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 สิงหาคม 2556

พัฒนาอย่างยั่งยืน

ศรยุทธ เทียนสี

ถ้าพูดถึงเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เชื่อว่าเหมาะกับสถานการณ์ในประเทศในปัจจุบันนี้มาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศยังไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีมากนัก ในประเทศสถานการณ์ก็ยังไม่ชัดเจน โดยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

เชื่อไหมครับว่าการลงทุนและการท่องเที่ยวมักจะมีความอ่อนไหวต่อเรื่องความไม่สงบทางการเมืองที่ทำให้ชาวต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุน รวมถึงเข้ามาท่องเที่ยว ทั้งนี้ การลงทุนในไทยบางครั้งอาจจะมีขั้นตอนทางราชการที่มีหลายขั้นตอน ทำให้เป็นตัวถ่วงการลงทุน

ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องมองในทุกมิติของการพัฒนาประเทศ และจะต้องทำงานเป็นทีม เพื่อให้เกิดการบูรณาการและสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับแม่น้ำ ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมนำมาปฏิบัติ เกิดเป็นโครงการ "อุตสาหกรรม รวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ" ขึ้น เพื่อรักษาและพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

โดยนำร่อง 6 แม่น้ำที่มีความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ลำตะคอง บางปะกง และแม่น้ำที่สงขลา เป็นต้น โดยมีการเสวนาการอนุรักษ์แม่น้ำกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อหาแนวทางการรักษาและพัฒนาแม่น้ำอย่างยั่งยืน

สำหรับข้อบังคับหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใกล้แหล่งน้ำ ยังไม่มีกฎหมายที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมโดยตรง แต่มีที่เกี่ยวข้องคือ การกำหนดผังเมือง กฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ หรือกรมเจ้าท่า เป็นต้น

ทำให้ไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าระยะร่น ระยะห่าง การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมริมแม่น้ำควรเป็นอย่างไร ไม่มีกำหนดเหมือน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่มีข้อกำหนดต่างๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจะปฏิบัติตามกฎหมายไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่อาจมีผลกระทบเรื่องมลพิษทางสายตา

ทั้งนี้ นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวไว้ว่า ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณที่ใกล้เคียงกับแม่น้ำ ซึ่งอาจจะมีการกำหนด ระยะห่าง ระยะย่น การตรวจคุณภาพน้ำ หรือข้อกำหนดอื่น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะมีกฎหมายออกมาควบคุมดูแลอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงแหล่งน้ำ

ซึ่งมีแผนที่จะนำมาบังคับใช้กับลุ่มน้ำทั้งหมดซึ่งรายละเอียดของร่างกฎกระทรวงนี้ มีที่คิดไว้ในใจบ้างแล้ว อาจจะมีการกำหนดระยะห่าง ระยะร่น ประเภทของโรงงานที่ตั้งริมน้ำได้หรือไม่ได้ ซึ่งโรงงานที่อาจจะไม่ให้ตั้งริมแม่น้ำคือ โรงงานที่มีน้ำเสียมาก รวมถึงต้องไม่มีผลกระทบทางด้านมลพิษทางสายตา เป็นต้น โดยระยะห่างของโรงงานอุตสาหกรรมจากแม่น้ำที่คิดไว้ส่วนตัว คือประมาณ 500 เมตร - 1 กิโลเมตร จากที่เดิมส่วนใหญ่ห่างเพียง 50 เมตร

นอกจากนี้ ยังได้ให้อธิบดีกรมโรงงาน ศึกษาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการขนย้ายสารเคมีอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับว่าควรจะมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้กฎหมายมีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งกรณีตัวอย่างได้แก่ น้ำมันรั่วในทะเลของพีทีทีซีจี

ทั้งนี้ นายณัฐ พลณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์แม่น้ำกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและการให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำ สร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วน ที่ผ่านมามักจะได้รับรายงานเรื่องการที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ โดยปีนี้ได้สุ่มตรวจโรงงาน 641 โรงงาน มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำจำนวน 14 โรงงาน โดยจำนวนนี้เป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ สุ่มตรวจ 153 โรงงาน มี 3 โรงงานที่มีการปล่อยน้ำเสีย

โดยหากพบว่าโรงงานที่สุ่มตรวจโรงงานเดิมมีการกระทำ 3 ครั้งติดต่อกัน ทางกรมฯ จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย คือปรับสินไหมหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งจะมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างกฎหมาย มีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งทางกรมฯ ก็จะพยายามให้เกิดความสมดุล เพื่อที่จะได้มีดิน แหล่งน้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เพียงพวกเรา "คนไทย" ทุกคนร่วมใจช่วยกันคิดช่วยกันทำ เชื่อว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" จะสามารถเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างแน่นอน

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผลไม้และอ้อยไทยมีโอกาสดีในอาเซียน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ พยายามผลักดันเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศคู่ค้าให้การยอมรับในเรื่องคุณภาพของสินค้าจากไทยมากขึ้น สำหรับสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะเสียเปรียบเมื่อเปิดเออีซี ได้แก่ ปาล์มน้ำมันและกาแฟ เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้สนับสนุนเงินกองทุนเอฟทีเอให้เกษตรกรนำไปปรับเปลี่ยนโดยรื้อสวนปาล์มน้ำมันที่มีอายุมาก กว่า 10 ปี และให้ใช้พันธุ์ใหม่ปลูกทดแทนซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและปริมาณน้ำมันสูง ส่วนกาแฟก็ให้งบไปทำสาวต้นกาแฟเพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต สินค้าข้าวก็อาจจะมีปัญหาการแข่งขันสูงถ้าหากขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะถ้าไม่ลดต้นทุนการผลิต หรือจัดระบบการปลูกข้าวโดยใช้เมล็ดพันธุ์ดี

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าเกษตรอีกหลายชนิดที่มีความได้เปรียบในเออีซี โดยเฉพาะผลไม้ เพราะผลไม้ไทยมีความหลากหลายและมีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี ที่สำคัญคุณภาพสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งนับว่าเป็นสินค้ากลุ่มหลักที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ อ้อย เป็นพืชที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตค่อนข้างสูงและเป็นสินค้าส่งออกไปหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งเชื่อมั่นว่าอ้อยจะเป็นสินค้าเกษตรตัวหนึ่งที่สามารถผลักดันให้เป็นสินค้าเด่นได้ในอนาคต

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อุตฯปั้นผู้เชี่ยวชาญระดับจังหวัดรับเออีซี

อุตฯ เร่งพัฒนาบุคลากรจังหวัดเป็นผู้เชี่ยวชาญ-ที่ปรึกษาด้านอาเซียน หวังช่วยเอสเอ็มอีไทย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2558 จะเกิดการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กระทรวงจึงต้องเตรียมบุคลากรด้านอุตสาหกรรมให้พร้อม โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งการจัดสัมมนาบุคลากรในทุกระดับให้มีความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตามกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและภาษาเพื่อนบ้านได้แก่ พม่ากัมพูชา ลาว และมลายู

"เราได้ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดไปสร้างกลไกในระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนสู่เออีซีเนื่องจากบุคลากรระดับจังหวัด ถือเป็นด่านหน้าของผู้ให้บริการที่ต้องเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ผู้ประกอบการ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องเออีซีเพื่อให้บริการผู้ประกอบการในพื้นที่ได้" นายวิฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ การสัมมนาหลักสูตรพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ/ที่ปรึกษาด้านเออีซี จะเริ่มในเดือน ส.ค.นี้ โดยคัดเลือกข้าราชการเพื่อเดินทางไปศึกษาธุรกิจในอาเซียนรวม35 คน แบ่งเป็นผู้เข้าอบรมศึกษาเส้นทางกรุงเทพฯ-เวียดนาม และศึกษาลู่ทางธุรกิจอุตสาหกรรมในพม่า ก่อนจบหลักสูตรจะต้องนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปต่อยอดต่อไป

เนื้อหาหลักสูตรยังครอบคลุมสาระสำคัญหลักๆ คือ 1.การรวมกลุ่มเศรษฐกิจและประชาคมอาเซียน พันธกรณีตามข้อตกลง หลักการ และพิมพ์เขียว2.ผลกระทบและโอกาสการปรับตัวในเรื่องต่างๆ ตามพันธกรณีตามข้อตกลง

3.กฎ ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและความพร้อมของประเทศต่างๆ รวมถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และการวิเคราะห์โอกาสและผลกระทบจากการเข้าร่วมเออีซี

นอกจากนี้ ยังแบ่งกลุ่มเพื่อศึกษาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศในอาเซียนเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะพร้อมทั้งศึกษาดูงานประเทศอาเซียน เพื่อให้เห็นศักยภาพและลู่ทางในการลงทุนสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ไปพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำจังหวัดได้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เร่งจัดการหนี้สินให้เกษตรกร

นายสุภาพ คชนูด ประธานกรรมการจัดการหนี้ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูฯมีภารกิจหลักใน 2 เรื่องคือ การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพและการจัดการหนี้สินเพื่อที่จะช่วยรักษาที่ดินซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการเกษตรของเกษตรกรเอาไว้ นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กฟก.สามารถจัดการหนี้ให้แก่เกษตรกรได้จำนวน 23,860 ราย

“ เมื่อ กฟก. ชำระหนี้แทนเกษตรกรรายใดแล้ว ทรัพย์จะถูกโอนมาเป็นของ กฟก.เกษตรกรจะได้รับทรัพย์ไปด้วยการเช่าหรือเช่าซื้อ ฉะนั้นจึงมั่นใจได้ว่า เมื่อทรัพย์ถูกโอนมาเป็นของ กฟก.แล้ว เกษตรกรจะไม่ถูกยึดทรัพย์ไปขายทอดตลาดอย่างแน่นอนแต่เกษตรกรจะมีรายได้จากการประกอบอาชีพในที่ดินนั้น ปัญหาหนี้สินเกษตรกรไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้นยังส่งผลกระทบทางสังคมอีกด้วยแต่เมื่อเกษตรกรได้รับการจัดการหนี้จนสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติจะทำให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้นและที่สำคัญครอบครัวก็จะเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น” นายสุภาพ กล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เปิดมาตรการควบคุมปัจจัยการผลิตด้านพืช

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรพร้อมเครือข่ายสารวัตรเกษตรได้ติดตามตรวจสอบการผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปัญหาปุ๋ยปลอม สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปลอม และเมล็ดพันธุ์พืชเสื่อมคุณภาพส่วนใหญ่หลุดลอดไปสู่เกษตรกรโดยพ่อค้าเร่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ และขายโดยตรงให้กับเกษตรกรในราคาถูก หากซื้อปริมาณมากจะมีของแถม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และมีการให้สินเชื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดมาตรการควบคุมปัจจัยการผลิตด้านพืช 5 มาตรการ เป็นแนวทางช่วยให้ได้เกษตรกรผู้ปลูกพืชได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน คือ 1.มาตรการควบคุมโดยออกใบอนุญาตและการขึ้นทะเบียน 2.มาตรการควบคุมการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 3.มาตรการควบคุมการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ 4.การประชาสัมพันธ์และยกระดับร้านค้าเป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q Shop) และ5.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมการโฆษณาให้ตรงตามความเป็นจริง

สำหรับมาตรการควบคุมโดยออกใบอนุญาตและการขึ้นทะเบียน ผู้ที่จะนำเข้า ผลิตและจำหน่ายปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ควบคุมต้องได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรก่อน โดยผู้ประกอบการต้องนำสินค้าที่นำเข้า ผลิตและจำหน่ายมาขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรด้วย เพื่อควบคุมมาตรฐานของสินค้าว่ามีคุณภาพ ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อบุคคล สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรการควบคุมการนำเข้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ด่านตรวจพืชตรวจสอบปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่จะนำเข้า โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารใบอนุญาต ใบกำกับสินค้า ทะเบียน และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพด้วยทั้งสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ ถ้าผ่านการตรวจสอบจึงจะอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรได้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวถึงมาตรการควบคุมการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศว่า กรมวิชาการเกษตรได้ติดตามตรวจสอบขบวนการผลิตปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ควบคุมอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจเครื่องมืออุปกรณ์การผลิต ใบอนุญาต ทะเบียน ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการจำหน่าย และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพด้วย ตลอดจนให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้สารวัตรเกษตรและผู้ช่วยสารวัตรเกษตรกว่า 400 คน ตรวจสอบร้านจำหน่ายปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์อย่างใกล้ชิด และร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายด้วย

นอกจากนั้น กรมวิชาการเกษตรยังได้ประชาสัมพันธ์และยกระดับร้านค้าเป็นร้าน Q Shop ซึ่งปัจจุบันมีร้าน Q Shop ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว 711 ร้านค้า ปีนี้มีแผนเร่งขยายให้มีอำเภอละ 1 ร้านค้า และขยายผลสู่ตำบลละ 1 ร้านค้า เป้าหมายรวม 2,000 ร้านทั่วประเทศในโอกาสต่อไป

และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ข้อมูลที่สามารถนำไปประกอบการควบคุมการโฆษณาให้ตรงตามความเป็นจริง คาดว่า 5 มาตรการนี้ จะช่วยปกป้องเกษตรกรจากการถูกเอาเปรียบ และได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพนำไปใช้แล้วได้ผลคุ้มค่าอย่างแท้จริง.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 สิงหาคม 2556

คาดอุตสาหกรรมอ้อยปีนี้ยังสร้างสถิติสูงสุดเป็นปีที่ 3 ที่ 110 ล้านตันอ้อย

ฤดูการผลิตอ้อยปี 2556/2557 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถสร้างผลผลิตอ้อยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) คาดว่า ฤดูการผลิตอ้อยปี 2556/2557 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถสร้างผลผลิตอ้อยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีผลผลิตอ้อยรวม 110 ล้านตันอ้อย เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 11 ล้านไร่ ซึ่งยังไม่นับรวมโครงการส่งเสริมเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยแทนพืชอื่น ในจังหวัดกำแพงเพชร หรือกำแพงเพชรโมเดล และคาดว่าจะมีค่าความหวานเฉลี่ยที่ 11 ซีซีเอส สามารถแปรรูปเป็นน้ำตาลได้รวม 11 ล้านตัน

ส่วนการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลบางแห่ง นั้น อาจต้องประสบปัญหาระยะเวลาหีบที่อาจใช้มากกว่าที่กำหนด 120 วัน โดยบางโรงงานอาจต้องใช้เวลาหีบอ้อยถึง 180 วันเหมือนกับฤดูการผลิตที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณอ้อยพร้อมเข้าหีบแต่ละวันสูงถึง 830,000 ตัน ขณะที่กำลังหีบจากการสำรวจต่ำเพียง 750,000 ตันต่อวันเท่านั้น ขณะที่การขยายกำลังการผลิตในภาพรวมยังคงล่าช้า ซึ่งการใช้เวลาหีบอ้อยที่ล่าช้าไปกว่า 120 วัน จะส่งผลกระทบทำให้ค่าความหวานของอ้อยลดลง

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มีความเป็นห่วงสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่อยู่ประมาณ 16-17 เซนต์ต่อปอนด์ นับเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 3-4 ปี อีกทั้งยังมีผลกระทบจากความไม่ชัดเจนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ทำให้เงินบาทแข็งค่า โดยน้ำตาลส่งออกมากกว่าบริโภคในประเทศ ทำให้รายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลเมื่อแปลงเป็นเงินบาทลดลง ทำให้คาดการณ์ว่า ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้จะอยู่ต่ำกว่า 900 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ผลการสำรวจต้นทุนการปลูกอ้อยของชาวไร่อ้างอิงจากแปลงของ สอน.จะอยู่ที่ 975 บาทต่อตันอ้อยไม่รวมค่าขนส่ง โดยชาวไร่อ้อยที่ผ่านมาระบุว่า มีต้นทุนการผลิตอ้อยประมาณ 1,200 บาทต่อตัน ซึ่ง สอน.หวังว่าปัญหาเงินบาทแข็งค่าและราคาน้ำตาลตลาดโลกจะดีขึ้นช่วยบรรเทาผลกระทบให้อุตสาหกรรมน้ำตาลได้

อย่างไรก็ตาม หากผลกระทบดังกล่าวไม่บรรเทาลง คาดว่ามีแนวโน้มที่ชาวไร่อ้อยอาจเรียกร้องให้มีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำเงินมาช่วยค่าอ้อยอีกเหมือนฤดูการผลิต 2555/2556 ที่กู้มาประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ชำระหนี้ไปแล้ว 3-4 เดือน และจะชำระหมดตามตารางชำระหนี้เดือนมิถุนายน 2557.

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 10 สิงหาคม 2556

สอน.มอบรางวัลเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายดีเด่นปี 56

รร.สุโกศล 9 ส.ค. - สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จัดกิจกรรมในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 29 ปี พร้อมทั้งมอบรางวัลเกษตรกรชาวไร่อ้อยดีเด่นและรางวัลโรงงานน้ำตาลทรายดีเด่น ประจำปี 2556 ภายใต้แนวคิด “ยุคทองอ้อยและน้ำตาลไทยก้าวไกลสู่สากล”

นางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย มีอนาคตสดใส มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ และมีบทบาทสำคัญในกลุ่มอาเซียน โดยผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายของไทยได้เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการพัฒนาอ้อยให้มีค่าความหวานสูง มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รวมถึงมีการส่งเสริมสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูกอ้อย เพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นอย่างดี. - สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 10 สิงหาคม 2556

เข็น“พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช”ใหม่ สกัดนักลงทุนย้ายฐานการผลิต

นางมัณฑนา มิลน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับใหม่ ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีสาระสำคัญกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เฉพาะที่เป็นองค์ประกอบของพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น ทั้งยังกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว พร้อมกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์พืชพื้นเมืองทั่วไป พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น และพืชป่า รวมถึงการขึ้นทะเบียนชุมชนและสิทธิชุมชน ซึ่งเอื้อต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

โดยขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่างให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และนำไปสู่การพิจารณาของสภาต่อไป ทั้งนี้หากไม่สามารถประกาศใช้ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 อาจทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเกื้อหนุนการผลิตและการค้ามากกว่า เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ด้าน นางชุติมา รัตนเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อพันธุ์พืชที่ขอจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ไว้ เพื่อป้องกันการลักลอบกรณีที่นำพันธุ์พืชใหม่ที่จดทะเบียนแล้ว ไปจดทะเบียนซ้ำในชื่ออื่นทั้งในและต่างประเทศ แม้จะหมดระยะเวลาในการคุ้มครองชื่อพันธุ์พืชนั้นก็คงเป็นชื่อเดิม และเพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ความตรงตามพันธุ์ ซึ่งจะช่วยปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภคจากการละเมิดสิทธิ ในการนำพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองไปผลิตและจำหน่ายอย่างไม่ถูกต้องและไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมาย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 สิงหาคม 2556

ก.อุตฯนำร่องโรงงานสีเขียวจัด'รวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ'

กระทรวงอุตฯสนองพระราชเสาวนีย์พระราชินี จัดโครงการ'รวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ' นำร่อง 6 แม่น้ำสายหลัก 6 หน่วยงานจับมือให้เกิดการพัฒนา
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่โรงแรมแม่น้ำ รามาดา พลาซ่า กระทรวงอุตสาหกรรมจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันสิงหาคม 2556 โดยจัดงานเสวนาหัวข้อ "การอนุรักษ์แม่น้ำกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการ "อุตสาหกรรม รวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ"

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิม พระเกียรติฯ กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน เหมาะกับสถานการณ์ในประเทศ โดยความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องมองในทุกมิติของการพัฒนาประเทศ ทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพื่อให้เกิดยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องมองในทุกมิติของการพัฒนาประเทศ ทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพื่อให้เกิดการบูรณาการและสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมนำมาปฏิบัติ เกิดเป็นโครงการอุตสาหกรรม รวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ เพื่อรักษาและพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยนำร่อง 6 แม่น้ำ ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีน ลำตะคอง บางปะกง แม่กลอง และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

"ข้อบังคับหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใกล้แหล่งน้ำ ยังไม่มีกฎหมายที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ดังนั้น จะต้องมีการแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออก โดยอาจจะมีการวิเคราะห์พื้นที่ก่อนที่จะตั้งโรงงาน หรือสร้างเป็นมาตรฐานแบบเดียวกันในการดูแลแหล่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีการร่างเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์แม่น้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากน้ำเป็นต้นทุนของเพื่อบังคับใช้ต่อไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์แม่น้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากน้ำเป็นต้นทุนของอุตสาหกรรม" นายสุวัจน์กล่าว

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ในการร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณที่ใกล้เคียงกับแม่น้ำ อาจจะมีการกำหนดระยะห่าง ระยะร่น การตรวจคุณภาพน้ำ หรือข้อกำหนดอื่น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะมีกฎหมายออกมาควบดูแลอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงแหล่งน้ำ โดยเบื้องต้น อาจมีการกำหนดระยะห่าง ระยะร่น ประเภทของโรงงานที่ตั้งริมน้ำ ทั้งนี้ โรงงานที่อาจจะไม่ให้ตั้งริมแม่น้ำคือ โรงงานที่มีน้ำเสียมาก และต้องไม่มีผลกระทบทางด้านมลพิษทางสายตา เป็นต้น โดยระยะห่างของโรงงานอุตสาหกรรมจากแม่น้ำ ควรอยู่ประมาณ 500-1,000 เมตร จากเดิมส่วนใหญ่ห่างเพียง 50 เมตร

"มอบหมายให้อธิบดีกรมโรงงานศึกษาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการขนย้ายสารเคมีอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับว่าควรจะมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้กฎหมายมีความครอบคลุมมากขึ้น กรณีตัวอย่าง ได้แก่ น้ำมันรั่วในทะเล จ.ระยอง" นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า ในโอกาสนี้มีการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) อุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ภายใต้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) อุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ภายใต้โครงการอุตสาหกรรม รวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ ผนึกความร่วมมือในการพัฒนาการประกอบการให้มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำและพื้นที่ประกอบการให้มีสภาพแวดที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้ลงนามไว้แล้ว เนื่องจากติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมงานได้ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเสน่ห์ นิยมไทย อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายฉดับ ปัทมสูตร ประธานกรรมการสภาการเหมืองแร่ นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และนายสุทิน ภาศิวะมาศ นายกสมาคมอุตสาหกรรมย่อยหินไทย ร่วมลงนามโดยนายสุวัจน์และตนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้

นายณัฐ พลณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวในวงเสวนา หัวข้อการอนุรักษ์แม่น้ำกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนว่า กรมอยู่ระหว่างร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้แหล่งน้ำ เพื่อเกิดการมีส่วนร่วมและให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำ สร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วน ที่ผ่านมามักจะได้รับรายงานเรื่องการที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ โดยปีนี้ได้สุ่มตรวจโรงงาน 641 โรงงาน มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ 14 โรงงาน โดยจำนวนนี้เป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ สุ่มตรวจ 153 โรงงาน มี 3 โรงงานที่มีการปล่อยน้ำเสีย หากพบว่าโรงงานที่สุ่มตรวจโรงงานเดิมมีการ กระทำ 3 ครั้งติดต่อกัน ทางกรมจะดำเนินคดีตามกฎหมาย คือปรับสินไหม หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี จะมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังมากขึ้น

นายวิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางกระทรวงได้เข้าไปตรวจคุณภาพน้ำทั้งตามแม่น้ำและแหล่งทะเลอยู่แล้ว ตามมาตรฐานของกระทรวง โดยการตั้งโรงงานใกล้แหล่งน้ำ จะต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน และมองว่าการกำหนดระยะร่นเป็นทางเลือกที่ดี และต้องมีการผลักดันกฎหมายนี้ออกมาให้เป็นรูปธรรม

น.ส.ปราณี นันทเสนามาตร์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การกำหนดระยะร่นการตั้งโรงงานจากแม่น้ำนั้น ขึ้นอยู่กับความสำคัญของแหล่งน้ำเป็นหลัก รวมถึงการใช้ประโยชน์ของที่ดินบริเวณนั้น ที่ผ่านมาโรงงานต้องตั้งอยู่ริมน้ำ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำและความสะดวกด้านโลจิสติกส์ แต่ปัจจุบันอาจไม่จำเป็น เพราะการเดินทางสะดวกมากขึ้น

นายเชวง จาว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการร่างกฎหมายที่กรมโรงงานดำเนินการอยู่เป็นสิ่งที่ดี ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นในทุกลุ่มน้ำ ไม่เฉพาะกับลุ่มน้ำสายหลักเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ในฐานะที่เป็นตัวแทนมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตยารักษาโรค จะต้องมีการวินิจฉัยว่า ตอนนี้แม่น้ำของไทยมีอาการอย่างไร จะป้องกันหรือให้ยาฆ่าเชื้อ เป็นการคุมกำเนิด หรือทำหมัน ถ้าป้องกันแล้วยังมีเหตุเกิดขึ้น ต้องหามาตรการรองรับ

นายวิจัย พฤกษาชาติกุล สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า คนที่จะแก้ปัญหาได้คือ กรมโยธาธิการ ที่อาจจะมีการร่างผังเมืองให้มีเขตอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมไปอยู่ในพื้นที่มากกว่าที่จะมาอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

นายสมิธ โอบายวาท นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายที่บังคับใช้ไม่ค่อยมีการนำไปปฏิบัติและได้รับบทลงโทษอย่างจริงจัง โดยเคยเสนอกรมโธยาธิการ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ให้มีตำรวจเป็นของตนเอง ใครทำผิดสามารถเอาผิดได้เลย ไม่ต้องรอแจ้งตำรวจที่เป็นส่วนกลาง แต่ยังไม่ได้การตอบรับ

"แท้ที่จริงแล้ว อุตสาหกรรมมีส่วนที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ โดยการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำน้อย เพียง 4.4 หมื่นคิวบิกเมตร หากเทียบกับการที่ภาคครัวเรือนปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ 2 แสนคิวบิกเมตร ซึ่งการจำกัดภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับภาคครัวเรือน ประชาชนทั่วไปก็ไม่เกิดประโยชน์" นายสมิธกล่าว

นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การออกกฎหมายควบคุมการสร้างโรงงานเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ เนื่องจากจะส่งผล กระทบกับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง

เวลา 17.00 น. ที่เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ กระทรวงอุตสาหกรรมจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมีนายสุวัจน์เป็นประธานในพิธี ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ "อุตสาหกรรม รวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ" นำเสนอเรื่องราวความผูกพันของสายน้ำ ชุมชน สังคม และภาคอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 3 โซน คือ สายน้ำแห่งพระราชหฤทัย มหาราชา มหาราชินี สู่สายใจไทยทั้งหล้า, โครงการอุตสาหกรรมกับ 6 ลุ่มน้ำ และกระทรวงอุตสาหกรรมรักษ์น้ำยั่งยืน

เวลา 19.12 น. นายสุวัจน์เป็นประธานจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคลหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นได้จัดแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ธ.ก.ส.มอบบัตรสินเชื่อให้เกษตรกร 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน บัตรสินเชื่อเกษตรกรระยะที่ 2 “ก้าวสู่ 4,000,000 บัตร

วันนี้(8 ส.ค.56) ณ ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ระยะที่ 2 เพิ่มเอกสิทธิ์บัตร เพิ่มศักดิ์ศรี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 4 ล้านครอบครัว โดยมีเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนกว่า 3,500 คน เข้าร่วมงาน

นายจรุงค์ กู้เกียรติกูล ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถจัดหาปัจจัยการผลิต ที่มีคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต และแบ่งเบาภาระด้านการเงินของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ในระยะแรกได้จัดทำบัตรสินเชื่อเกษตรกร 2 ล้านใบ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวก่อน เพื่อให้สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง

ขณะนี้ เป็นการขับเคลื่อนระยะที่ 2 ซึ่งได้ขยายไปยังเกษตรกรทุกสาขาการผลิต ทั้งยางพารา อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ลำไย ประมง ปศุสัตว์ ทั้งขยายสิทธิประโยชน์ของบัตร ให้สามารถจัดซื้อปัจจัยการผลิตอื่นได้หลากหลาย และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นายจตุรงค์ กล่าวว่า บัตรสินเชื่อเกษตรกรเป็นบัตรที่ให้มากกว่าสินเชื่อ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย ทั้งหลักประกันด้านการผลิต หลักประกันความมั่นคงในชีวิต และหลักประกันทางการเงิน สำหรับผลการดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ณ ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้ส่งมอบไปแล้ว 3,362,193 บัตร วงเงินอนุมัติ 60,395,011,651 บาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 11,477,652,964 บาท มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 7,270 ร้าน และได้รับการรับรอง Q Shop แล้ว 393 ร้านค้า

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการจัดหาปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ถือบัตรสินเชื่อ 400,000 ตัน มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ 28 บริษัท ยอดการจ่ายปุ๋ย 235,705 ตัน คิดเป็น 58.93 % ของเป้าหมาย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 9 สิงหาคม 2556

ชาวไร่อ้อยอีสานหวั่นซ้ำรอยข้าว ข้องใจรัฐหนุนปลูกแต่ไร้ระบบ ขอชัดเจนล้นตลาดช่วยอย่างไร

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสม เป็นการปลูกอ้อย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม จ.บุรีรัมย์ ว่า บุรีรัมย์มีเกษตรกรปลูกข้าวประมาณ 3 ล้านไร่ พบว่ามีพื้นที่เหมาะกับการปลูกอ้อยประมาณ 300,000 ไร่ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมมาตรการสนับสนุนส่งเสริมไว้แล้ว และมีแผนจะสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมสู่พืชชนิดอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง และการปลูกข้าวหอมมะลิภูเขาไฟอินทรีย์ต่อไป

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายปรับที่นาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชชนิดอื่นแทน โดยมอบให้กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมเกษตรกรที่ทำนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมมา ปลูกอ้อยแทน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 27.4 ล้านไร่ ทั่วประเทศนั้น พบว่าพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดสามารถนำมาส่งเสริมการปลูกอ้อยทดแทนนาข้าวได้ ประมาณ 10 ล้านไร่ และคาดว่าจะนำร่องได้ก่อนประมาณ 4.1 ล้านไร่ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพยายามชี้แจงทุกฝ่ายให้ทราบถึงนโยบายดังกล่าวว่าเป็น นโยบายที่ดี อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดโรงงานน้ำตาลให้มากพอก่อนจะส่งเสริมการปลูก อ้อย

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมเปลี่ยนนาข้าวเป็นปลูกอ้อยของรัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่รอบคอบพอ หากปริมาณอ้อยสูงเกินกำลังหีบอ้อย จะดำเนินการอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วปริมาณที่สูงมากราคาอ้อยตกต่ำรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือหรือไม่

"ผม เองไม่รู้ว่ารัฐคิดอะไรหรือแท้ที่จริงรัฐบาลต้องการลดกระแสการจำนำข้าวที่ เป็นปัญหาโดยเบี่ยงเบนให้ลดพื้นที่การทำนาลงจึงกำหนดนโยบายนี้ออกมาอย่าง เร่งด่วนแล้วไม่ได้มองให้เป็นระบบ ผมเป็นห่วง ถ้านโยบายออกมาทำให้อ้อยล้นจนหีบกันไม่ทัน ผลเสียหายจะเกิดกับชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะรายใหม่ที่จะตาย เท่ากับจะเป็นการซ้ำรอยข้าวได้ ถ้าถามโรงงานน้ำตาลเขาก็ยินดีอยู่แล้วเพราะเขาได้ประโยชน์เต็มๆ อ้อยยิ่งมากเขาก็ยิ่งชอบ" นายชัยวัฒน์กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยบุรีรัมย์ขานรับนโยบายโซนนิ่งเปลี่ยนข้าวเป็นอ้อย

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการพบปะเสวนาการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมเป็นการปลูกอ้อยโรงงานแปลงเล็ก ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ร่วมประชุม ณ ศาลาเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนขวาง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มีการปลูกข้าวประมาณ 3ล้านไร่ ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพื้นที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งบุรีรัมย์มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยประมาณ 3แสนไร่ โดยในปีนี้ทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้สำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยเนื่องจากได้ราคาที่สูงกว่าการปลูกข้าวประมาณ 6หมื่นไร่ ประกอบกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนขยายโรงงานน้ำตาลเพื่อรองรับปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล 70:30ตามพรบ.อ้อยและน้ำตาล ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยนั้น ประกอบด้วย การส่งเสริมเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น และการลดต้นทุนการผลิต ส่วนในเรื่องของปุ๋ยเคมีที่ยังคงมีราคาที่สูงอยู่ในปัจจุบันและเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงอยู่นั้น กระทรวงเกษตรฯจะเร่งรัดส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมีให้มากขึ้น รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนแหล่งน้ำนั้นก็ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเข้ามาดูแลด้วยเช่นกัน

ขณะที่การจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการจัดหาพันธุ์อ้อยที่ดีสำหรับเพาะปลูกนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนความต้องการของเกษตรกร และมีแผนจะสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมสู่พืชชนิดอื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง และการปลูกข้าวหอมมะลิภูเขาไฟอินทรีย์ต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยอีสานหวั่นซ้ำรอยข้าว ข้องใจรัฐหนุนปลูกแต่ไร้ระบบ ขอชัดเจนล้นตลาดช่วยอย่างไร

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสม เป็นการปลูกอ้อย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม จ.บุรีรัมย์ ว่า บุรีรัมย์มีเกษตรกรปลูกข้าวประมาณ 3 ล้านไร่ พบว่ามีพื้นที่เหมาะกับการปลูกอ้อยประมาณ 300,000 ไร่ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมมาตรการสนับสนุนส่งเสริมไว้แล้ว และมีแผนจะสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมสู่พืชชนิดอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง และการปลูกข้าวหอมมะลิภูเขาไฟอินทรีย์ต่อไป

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายปรับที่นาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชชนิดอื่นแทน โดยมอบให้กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมเกษตรกรที่ทำนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมมา ปลูกอ้อยแทน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 27.4 ล้านไร่ ทั่วประเทศนั้น พบว่าพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดสามารถนำมาส่งเสริมการปลูกอ้อยทดแทนนาข้าวได้ ประมาณ 10 ล้านไร่ และคาดว่าจะนำร่องได้ก่อนประมาณ 4.1 ล้านไร่ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพยายามชี้แจงทุกฝ่ายให้ทราบถึงนโยบายดังกล่าวว่าเป็น นโยบายที่ดี อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดโรงงานน้ำตาลให้มากพอก่อนจะส่งเสริมการปลูก อ้อย

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมเปลี่ยนนาข้าวเป็นปลูกอ้อยของรัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่รอบคอบพอ หากปริมาณอ้อยสูงเกินกำลังหีบอ้อย จะดำเนินการอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วปริมาณที่สูงมากราคาอ้อยตกต่ำรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือหรือไม่

"ผม เองไม่รู้ว่ารัฐคิดอะไรหรือแท้ที่จริงรัฐบาลต้องการลดกระแสการจำนำข้าวที่ เป็นปัญหาโดยเบี่ยงเบนให้ลดพื้นที่การทำนาลงจึงกำหนดนโยบายนี้ออกมาอย่าง เร่งด่วนแล้วไม่ได้มองให้เป็นระบบ ผมเป็นห่วง ถ้านโยบายออกมาทำให้อ้อยล้นจนหีบกันไม่ทัน ผลเสียหายจะเกิดกับชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะรายใหม่ที่จะตาย เท่ากับจะเป็นการซ้ำรอยข้าวได้ ถ้าถามโรงงานน้ำตาลเขาก็ยินดีอยู่แล้วเพราะเขาได้ประโยชน์เต็มๆ อ้อยยิ่งมากเขาก็ยิ่งชอบ" นายชัยวัฒน์กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ก.อุตฯมึน!ราคาอ้อยตกลอยตัวน้ำตาลสะดุด ชาวไร่ฉุนรัฐดันนาข้าวทำอ้อย10ล.ไร่ไม่ชัด

กระทรวงอุตสาหกรรมถอย! รับลอยตัวน้ำตาลต้องกลับไปเช็กต้นทุนใหม่หลังราคาอ้อยขั้นต้น56/57 ส่อแววต่ำสุดรอบ 5-6 ปี หวั่นกองทุนอ้อยฯซ้ำรอยกู้อีกการลอยตัวก็ไม่เกิดประโยชน์ เล็งชง "ครม." ชี้ขาด แถมเร่งแจงกรณีส่งเสริมนาข้าวปลูกอ้อยนโยบายดีแต่ควรให้มีโรงงานพอก่อน ด้านชาวไร่โวยแผนส่งเสริมนาข้าว 10 ล้านไร่ปลูกอ้อยไม่ชัดเจนหวั่นเจ๊งกันหมด ย้อนถามหรือแค่กลบกระแสจำนำข้าวหากราคาอ้อยตกรัฐพร้อมช่วยหรือไม่

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายล่าสุดยังไม่คืบหน้าเนื่องจากต้องย้อนกลับไปดูราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 56/57 ที่มีแนวโน้มจะต่ำเฉลี่ย 850 บาทต่อตันขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงเฉลี่ย 1,200 บาทต่อตันหากลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศแล้วส่วนต่างราคาอ้อยที่ต่ำต้องให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เพื่อเพิ่มราคาเหมือนเดิมการลอยตัวก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

"รัฐบาลเองต้องการลอยตัวราคาน้ำตาลปฏิบัติภายในฤดูหีบนี้เราเองก็พยายามที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะราคาอ้อยขั้นต้นต้องประกาศก.ย.นี้ซึ่งจะพัวพันต่อเนื่องในแง่ของกท.ที่ขณะนี้ยังมีหนี้เก่าค้างธ.ก.ส. 1.1 หมื่นล้านบาท และจะชำระหนี้หมดมิ.ย. 57 ถ้าต้องกู้อีก การลอยตัวน้ำตาลจะยิ่งกลายเป็นภาระไปมากขึ้นหรือไม่ เราต้องขอย้อนกลับไปดูต้นทุนอ้อยก่อนซึ่งยอมรับว่าราคาต่ำในรอบ 5-6 ปีความเห็นส่วนตัวถ้าเรารีบเสนอคณะรัฐมนตรีแล้วเห็นชอบทั้งที่ไม่พร้อมอาจจะทำให้ระบบพังได้ซึ่งเรื่องนี้จะสรุปโดยเร็วเพื่อเสนอนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรมในการเสนอครม.เห็นชอบอีกครั้ง" นายสมศักดิ์กล่าว

สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่ได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมการนำนาข้าวที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวมาปลูกอ้อยแทน 27.4 ล้านไร่ซึ่งพบว่าสามารถนำพื้นที่ข้าวดังกล่าวมาส่งเสริมการปลูกได้ 10 ล้านไร่และคาดว่าจะนำร่องได้ก่อน 4.1 ล้านไร่ว่า

ขณะนี้กระทรวงอุตฯพยายามชี้แจงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่านโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ดีแต่เห็นว่ารัฐบาลควรจะส่งเสริมให้เกิดโรงงานน้ำตาลให้มากพอก่อนจึงค่อยส่งเสริมการปลูกอ้อย

"อ้อยไม่เหมือนข้าวที่เก็บได้ อ้อยต้องมีเวลาตัดภายใน 120 วันถ้าไม่เช่นนั้นความหวานจะสูญเสีย จึงต้องมีโรงงานที่เพียงพอรองรับไม่เช่นนั้นราคาอ้อยก็จะตกปัญหาจะตามมา ซึ่งฤดูหีบที่ผ่านมามีอ้อยเข้าหีบ 99.68 ล้านตันยังมีปัญหาในการหีบที่ล่าช้าแม้จะมีโรงงาน 51 แห่งซึ่งการส่งเสริมปลูกอ้อยอีก 10 ล้านไร่ก็จะมีอ้อยเพิ่มอีกอย่างน้อย100ล้านตันขณะที่การก่อสร้างโรงงานน้ำตาลต้องใช้เวลา 2-3 ปี" นายสมศักดิ์กล่าว
นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่าส่วนตัวแล้วไม่รู้ว่ารัฐบาลกำลังเล่นอะไรอยู่ที่ไปส่งเสริมการนำนาข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยโดยยังไม่มีความชัดเจนและความรอบคอบต่อนโยบายที่จะออกมาถ้าปริมาณอ้อยสูงเกินกำลังหีบอ้อยจะไปไหนใครจะรับผิดชอบ แล้วปริมาณที่สูงมากราคาอ้อยตกต่ำรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือหรือไม่

"ผมเองไม่รู้ว่ารัฐคิดอะไรหรือแท้ที่จริงรัฐบาลต้องการลดกระแสการจำนำข้าวที่เป็นปัญหาโดยเบี่ยงเบนให้ลดพื้นที่การทำนาลงจึงกำหนดนโยบายนี้ออกมาอย่างเร่งด่วนแล้วไม่ได้มองให้เป็นระบบ ผมเห็นห่วงนะถ้านโยบายออกมาทำให้อ้อยล้นจนหีบกันไม่ทันผลเสียหายจะเกิดกับชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะรายใหม่นั่นล่ะจะตายนี่จะซ้ำรอยข้าวได้ ซึ่งถ้าถามโรงงานน้ำตาลเขาก็ยินดีอยู่แล้วเพราะเขาได้ประโยชน์เต็มๆอ้อยยิ่งมากเขาก็ยิ่งชอบ" นายชัยวัฒน์กล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : เกษตรไทยไปอาเซียน?

ประชาคมอาเซียนมีประชากรกว่า 500 ล้าน ชาติอาเซียนต่างหวังว่า เป็นเขตการค้าที่จะช่วยกันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ไม่เพียงแค่เรื่องการลดภาษีอากร ซึ่งกระทำมาอย่างต่อเนื่อง หากยังรวมถึงการเปิดให้เป็นเขตการค้าเสรีกลายๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและการขยายตลาดระหว่างกันให้เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างแท้จริง

ประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพในการขยายตัวด้านการเกษตรค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับชาติสมาชิกอื่น โดยเฉพาะด้านพืช กรมวิชาการเกษตรเป็นโต้โผจัดตั้งโครงการศึกษากฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรด้านพืช เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมอบหมายดร.เกรียงศักดิ์ สุวรรณธราดล และคณะ เป็นผู้ศึกษา

อย่างน้อยที่สุด กรมวิชาการเกษตรยังเห็นถึงความเป็นไป และประโยชน์ในอนาคต เพราะถึงเราไม่ทำ ชาติอาเซียนอื่นก็จะทำ และนั่นคือการสูญเสียโอกาสนั่นเอง

ไทยเรามีทั้งการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตร รวมทั้งเคมีภัณฑ์ด้านการเกษตร ถ้าไม่พูดถึงสินค้าเกษตรก็ป่วยการจะมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะพื้นฐานของชาติอาเซียนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการเกษตรเป็นสำคัญ

การจะค้าจะขายกันจึงต้องเตรียมการในเรื่องการจัดทำกฎบัตรกฎหมายและระเบียบต่างๆของเราให้สอดคล้องกับชาติอาเซียน โครงการศึกษากฎหมายฯการเกษตรด้านพืชก็คือการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั่นเอง

ว่ากันที่จริง ศึกษาตอนนี้ก็ว่าสายด้วยซ้ำ แต่สายก็ได้ชื่อว่าดีกว่าไม่ทำ ไม่สนใจจะทำ เพราะเป็นผลประโยชน์ของชาติ

กรมวิชาการเกษตร มีกฎหมายเกี่ยวข้องด้านพืช 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.กักพืช พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์ พ.ร.บ.ควบคุมยาง นั่นหมายความว่า กรมวิชาการเกษตรต้องเอาพ.ร.บ.ทั้ง 6 ฉบับ และระเบียบปฏิบัติ มาคลี่กางศึกษา และเปรียบเทียบกับแนวทางของประชาคมอาเซียน แล้วปรับปรุงใหม่ เพื่อเอื้อให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่เขตเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีความพร้อม

ถ้าทุกอย่างนิ่งงัน ไม่ตอบรับ ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ก็ป่วยการบอกตัวเองว่า เราเป็นสมาชิกอาเซียน เป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ได้ประโยชน์อื่นใดจากการเป็นสมาชิก แล้วจะทู่ซี้เป็นไปทำไม

ด้านพืชแล้ว กรมวิชาการเกษตรน่าจะเป็นหัวเรือใหญ่ เพราะคุมกฎหมายสำคัญถึง 6 ฉบับ ซึ่งจะมีผลทั้งการส่งออกและการนำเข้า อย่าลืมว่า กฎหมายสามารถเป็นทั้งกลไกสนับสนุนได้ ขณะเดียวกันก็เป็นกลไกลเหนี่ยวรั้งการค้าระหว่างกันได้

ความพร้อมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าสำคัญแล้ว ยังต้องมีความพร้อมเรื่องกฎหมายอีกด้วยที่สำคัญไม่แพ้กัน การที่กรมวิชาการเกษตรลงทุนศึกษาเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ ปัญหาคือจะใช้มันอย่างไรหลังศึกษาแล้วเสร็จ

ผลการศึกษาโครงการขั้นสุดท้ายกำหนดเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ ประเด็นคือกรมวิชาการเกษตรจะต้องต่อยอดเรื่องนี้ต่อไปอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย

เป็นโจทย์ที่ท้าทายกรมวิชาการเกษตรอย่างยิ่งภายใต้การบริหารจัดการที่ค่อนข้างกระท่อนกระแท่นอยู่ ณ ห้วงเวลานี้

2558 เป็นปีที่ประเทศไทยวางเป้าเข้าสู่เขตเศรษฐกิจอาเซียน กรมวิชาการเกษตรจะตอบโจทย์ได้สำเร็จหรือไม่ก็คือวันนั้น และก่อนวันนั้น ก็คือการทำงานหนักในวันนี้

ไม่ใช่ทำไปแบบแค่นๆ หวังรอเกษียณอย่างเดียว ไม่งั้นคงต้องฝึกทำใจทนเสียงก่นด่าถึงขั้นสาปแช่งเอาภายหลัง มันไม่คุ้มเอานะ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยโวยรัฐ! เร่งดันนาข้าว 10 ล้านไร่ปลูกอ้อย หวั่นกระทบหากโรงงานไม่พอหีบ

ชาวไร่อ้อยสุดเซ็งหลังรัฐเร่งเครื่องดึงนาข้าว 10 ล้านไร่ปลูกอ้อยไม่ชัดเจน ไม่มีการบูรณาการให้รอบคอบหวั่นผลผลิตล้นกำลังการหีบของโรงงานชาวไร่เจ๊งแน่ เผยนโยบายนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ารัฐต้องการลดกระแสจำนำข้าวหรือไม่

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมการนำนาข้าวที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวมาปลูกอ้อยแทน 27.4 ล้านไร่ ซึ่งพบว่าสามารนำพื้นที่ข้าวดังกล่าวมาส่งเสริมการปลูกได้ 10 ล้านไร่ และคาดว่าจะนำร่องได้ก่อน 4.1 ล้านไร่ว่า ส่วนตัวแล้วไม่รู้ว่ารัฐบาลกำลังเล่นอะไรอยู่ เพราะขณะนี้ชาวไร่เองก็ไม่ทราบถึงนโยบายที่ชัดเจนนักว่ามีเป้าหมายและการดำเนินงานอย่างไรกันแน่ แต่เห็นว่านโยบายนี้หากดำเนิการแบบไม่รอบคอบถ้าปริมาณอ้อยสูงเกินกำลังหีบอ้อยผู้ที่จะเดือดร้อนคือชาวไร่อ้อยโดยรวม และปริมาณที่สูงมากราคาอ้อยตกต่ำรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือหรือไม่

“ผมเองไม่รู้ว่ารัฐคิดอะไร แต่ก็อดคิดไม่ได้ หรือแท้ที่จริงรัฐบาลต้องการลดกระแสการจำนำข้าวที่เป็นปัญหาโดยเบี่ยงเบนให้ลดพื้นที่การทำนาลงจึงกำหนดนโยบายนี้ออกมาอย่างเร่งด่วนแล้วไม่ได้มองให้เป็นระบบ ผมเป็นห่วงนะถ้านโยบายออกมาทำให้อ้อยล้นจนหีบกันไม่ทันผลเสียหายจะเกิดแก่ชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะรายใหม่นั่นล่ะจะตายนี่จะซ้ำรอยข้าวได้ ซึ่งถ้าถามโรงงานน้ำตาลเขาก็ยินดีอยู่แล้วเพราะเขาได้ประโยชน์เต็มๆ อ้อยยิ่งมากเขาก็ยิ่งชอบ ซึ่ง 10 ล้านไร่อ้อยปลูกได้เป็น 100 ล้านตันมันมากนะ แล้วปีไหนจะเร่งกันปลูกก็ไม่บูรณาการเลย” นายชัยวัฒน์กล่าว

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลเป็นแนวคิดที่ดี แต่ขณะนี้กระทรวงฯ พยายามชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรจะส่งเสริมการปลูกภายหลังให้มีโรงงานเพียงพอทั้งระบบก่อน หรือต้องให้ล้อไปกับนโยบายการส่งเสริมการเปิดโรงงานน้ำตาลเพิ่มของกระทรวงอุตฯ ด้วย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เตรียมพร้อมระบบโลจิสติกส์สู่เออีซี

นายธวัช ผลความดีรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯมีแนวทางใหม่ในโครงการพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจชายแดนซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลเห็นว่าจุดชายแดนระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมเมื่อมีการเปิดAEC ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมต่างๆ รวมถึงการร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของไทยและเพื่อนบ้านจะทำให้การผลักดันให้เขตอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นในเบื้องต้นสำนักโลจิสติกส์ได้คัดเลือกพื้นที่ชายแดนของไทยกับพม่า กัมพูชา อย่างละ 1 แห่ง และอีก 2 แห่งที่ลาว ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบโดยจะทำ Model หรือแบบจำลองรูปแบบระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เหมาะสมสำหรับ Product Championหรือสินค้าเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจบริเวณชายแดนดังกล่าวซึ่งหากศึกษาแล้วพบว่า Product Championใดมีศักยภาพในการยกระดับการกระจาย จัดเก็บ และขนย้ายสินค้าหรือแม้แต่การรวมสินค้า บรรจุสินค้า หรือผลิตสินค้าก็จะให้การสนับสนุนส่งเสริมเพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้การเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในแต่ละพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผู้ปลูกอ้อยบุรีรัมย์ขานรับโซนนิ่งเปลี่ยนข้าวเป็นอ้อยคาดปีนี้ได้ 6 หมื่นไร่

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการพบปะเสวนาการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมเป็นการปลูกอ้อยโรงงานแปลงเล็ก ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร

โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ร่วมประชุม ณ ศาลาเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนขวาง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มีการปลูกข้าวประมาณ 3 ล้านไร่ ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพื้นที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบุรีรัมย์มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยประมาณ 3 แสนไร่ โดยในปีนี้ทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้สำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยเนื่องจากได้ราคาที่สูงกว่าการปลูกข้าวประมาณ 6 หมื่นไร่ ประกอบกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนขยายโรงงานน้ำตาลเพื่อรองรี่เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล 70:30 ตามพรบ.อ้อยและน้ำตาล ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยนั้น ประกอบด้วย การส่งเสริมเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น และการลดต้นทุนการผลิต ส่วนในเรื่องของปุ๋ยเคมีที่ยังคงมีราคาที่สูงอยู่ในปัจจุบันและเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงอยู่นั้น กระทรวงเกษตรฯจะเร่งรัดส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมีให้มากขึ้น รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนแหล่งน้ำนั้นก็ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเข้ามาดูแลด้วยเช่นกัน

ขณะที่การจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการจัดหาพันธุ์อ้อยที่ดีสำหรับเพาะปลูกนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนความต้องการของเกษตรกร และมีแผนจะสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมสู่พืชชนิดอื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง และการปลูกข้าวหอมมะลิภูเขาไฟอินทรีย์ต่อไป

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอเน้นหนุนกลุ่มอุตสาหกรรม

นายกฯสั่งทบทวนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ใน1 เดือน เผยหนุนคลัสเตอร์
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้บีโอไอปรับปรุงรายละเอียดยุทธศาสตร์การลงทุนฉบับใหม่ พ.ศ. 2558-2562 และให้เสนอบอร์ดพิจารณาอีกครั้งในอีก 1 เดือนข้างหน้า เพื่อวางกรอบการพัฒนาให้สอดคล้องกับทิศทางของประเทศ

นายประเสริฐ ยืนยันว่า ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ จะประกาศให้นักลงทุนรับทราบล่วงหน้าก่อน 1 ปี โดยหลักการแล้วจะมีเนื้อหาที่ต่างจากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน เช่นจะลดจำนวนกิจการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนลง จากเดิมที่กำหนดประเภทกิจการที่ส่งเสริมการลงทุนไว้ 243 กิจการ

นอกจากนี้ จะมีการประกาศยกเลิกเขตส่งเสริมการลงทุน ทั้งเขต 1 เขต 2 และเขต 3 เปลี่ยนมาเป็นการกำหนดการส่งเสริมการลงทุนเป็นรายคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่

ขณะเดียวกัน จะปรับปรุงรูปแบบของสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้ว จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มเติมเพื่อสร้างแรงจูงใจเช่น การอำนวยความสะดวกการติดต่อประสานงานการลงทุนและแก้ไขอุปสรรคต่างๆและจะไม่เน้นกิจการที่มีเงินลงทุนสูง แต่จะเน้นหนักและให้ความสำคัญในกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยพัฒนาใหม่ๆ

นายประเสริฐ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 33 โครงการ มูลค่าการลงทุน2.43 แสนล้านบาท เช่น ขยายกิจการผลิตอาหารสัตว์ และอบพืชและไซโลของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ส่งเสริมให้ขยายกิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งอาหารจากถั่วเหลือง (ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว) บริษัท หยั่นหว่อ หยุ่น

บอร์ดบีโอไอยังมีมติอนุมัติส่งเสริมให้ผลิตน้ำพืช ผัก ผลไม้ บรรจุภาชนะผนึกรวม 4 โครงการของบริษัท โออิชิ เทรดดิ้งส่งเสริมให้ขยายกิจการผลิตกระเบื้องเซรามิกของบริษัท ทีพีไอ โพลีน อนุมัติส่งเสริมให้ขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบเกียร์ เช่น CVT CASE และ CVT HOUS ING ของบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย)

บอร์ดบีโอไออนุมัติขยายกิจการขนส่งทางอากาศ 8 โครงการ ของบริษัท การบินไทย ในโครงการเช่าเครื่องบินใหม่26 ลำ มูลค่าการลงทุน 6.85 หมื่นล้านบาทเป็นต้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ฝันค้างลอยตัวราคาน้ำตาล

ลอยตัวน้ำตาลส่อแห้ว เหตุอ้อยขั้นต้นราคายังต่ำ หวั่นกองทุนอ้อยฯ ต้องกู้จ่ายชดเชยส่วนต่างซ้ำรอยเป็นหนี้บานอีก

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทราย โดยการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายว่า การปรับโครงสร้าง ฯ ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากต้องย้อนกลับไปพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ที่มีแนวโน้ม ราคาต่ำ เฉลี่ยประมาณ 850 บาทต่อตัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูง ราคาเฉลี่ย 1,200 บาทต่อตัน หากลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศแล้วส่วนต่างราคาอ้อย ที่ต่ำกว่าต้นทุนผลิต ต้องให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.)ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)เพื่อเพิ่มราคาเหมือนเดิมเพราะฉะนั้นการลอยตัว จะไม่เกิดประโยชน์

“ รัฐบาลต้องการลอยตัวราคาน้ำตาล ภายในฤดูหีบนี้ เราก็พยามที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะราคาอ้อยขั้นต้นต้องประกาศในเดือน ก.ย.นี้ จะพัวพันต่อเนื่องในแง่ของกท. ซึ่งขณะนี้ยังมีหนี้เก่าค้างธ.ก.ส.อีก 11,000 ล้านบาท และจะชำระหนี้หมดในเดือน มิ.ย. 57 ถ้าต้องกู้อีก การลอยตัวน้ำตาลจะยิ่งกลายเป็นภาระไปมากขึ้นหรือไม่ เราต้องขอย้อนกลับไปดูต้นทุนอ้อยก่อน ซึ่งยอมรับว่า มีราคาต่ำในรอบ 5-6ปี โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ถ้าเรารีบเสนอที่ประชุมครม.แล้ว เห็นชอบทั้งที่ไม่พร้อมอาจจะทำให้ระบบพังได้ซึ่งเรื่องนี้จะสรุปโดยเร็วเพื่อเสนอนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรมในการเสนอครม.เห็นชอบอีกครั้ง”

สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่ได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมการทำนาข้าว ที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวมาปลูกอ้อยแทน 27.4 ล้านไร่พบว่า สามารนำพื้นที่ข้าวดังกล่าวมาส่งเสริมการปลูกได้ 10 ล้านไร่ และคาดว่าจะนำร่องได้ก่อน 4.1 ล้านไร่ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตฯพยายามชี้แจงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่านโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ดีแต่เห็นว่ารัฐบาลควรจะส่งเสริมให้เกิดโรงงานน้ำตาลให้มากพอก่อนจึงค่อยส่งเสริมการปลูกอ้อย

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายการส่งเสริมทำนาข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยของรัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจน และมีความรอบคอบ เพราะถ้าปริมาณอ้อยสูงเกินกำลังหีบอ้อย จะดำเนินการอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วปริมาณที่สูงมากราคาอ้อยตกต่ำรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือหรือไม่

“ผมเองไม่รู้วารัฐคิดอะไรหรือแท้ที่จริงรัฐบาลต้องการลดกระแสการจำนำข้าวที่เป็นปัญหาโดยเบี่ยงเบนให้ลดพื้นที่การทำนาลงจึงกำหนดนโยบายนี้ออกมาอย่างเร่งด่วนแล้วไม่ได้มองให้เป็นระบบ ผมเห็นห่วงนะถ้านโยบายออกมาทำให้อ้อยล้นจนหีบกันไม่ทันผลเสียหายจะเกิดกับชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะรายใหม่นั่นล่ะจะตายนี่จะซ้ำรอยข้าวได้ ซึ่งถ้าถามโรงงานน้ำตาลเขาก็ยินดีอยู่แล้วเพราะเขาได้ประโยชน์เต็มๆ อ้อยยิ่งมากเขาก็ยิ่งชอบ “

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แนะเกษตรกร เป็นพันธมิตรกับเพื่อนบ้าน ประเทศในอาเซียน ดีกว่าเป็นคู่แข่ง อาจได้สิทธิพิเศษทางภาษี

นายอุดม ฐิตวัฒนะสกุล เกษตรกรดีเด่นปี 2549 อดีตนายกสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการเสวนาเรื่อง ช่องทางการตลาดผลผลิตเกษตรไทยจากวันนี้สู่วันหน้า ที่จะมีขึ้นวันที่ 17 ส.ค. เวลา 10.30 น. ในระหว่างงานอิสแมกซ์ เอเชีย 2013 จะเสนอแนวทางการตลาดที่ครอบคลุมถึงการขยายฐานการตลาดและผลิตสู่ประเทศในอาเซียน แทนการคิดว่าประเทศเหล่านี้เป็นคู่แข่ง ควรชักชวนหรือร่วมเป็นพันธมิตรคู่ค้า การร่วมเป็นคู่ค้ากับประเทศข้างเคียงเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาจทำให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีหรือจีเอสพีของประเทศนั้น ๆ ด้วย

นายอุดมกล่าวถึงการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรไปยังต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเสถียรภาพ เช่น ค่าเงินบาทอ่อนตัวมาก ทั้งยังมีภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม ความแห้งแล้ง ผลผลิตจึงขาดช่วง

อนึ่ง งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ในอุตสาหกรรมข้าว ข้าวโพด และน้ำตาล (อิสแมกซ์ เอเชีย 2013) ระหว่างวันที่ 15 -17 สิงหาคม 2556 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 5-6 เวลา 10.00–19.00 น. เพื่อนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการเกษตร ตรวจสอบข้อมูลที่ www.isrmaxasia.net/

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม 2556

ทบ.จัดงบ484 ล้านบ.ทำ ”บาดาล” เพื่อเกษตร

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดงบประมาณ 484 ล้านบาท พัฒนาแหล่งน้ำบาดาล 31 จังหวัดประสบภัยแล้ง ตั้งเป้า 2,000 ครัวเรือนมีน้ำเพาะปลูกตลอดปี เชิญเกษตรกรอบรมบริหารจัดการ ก่อนรับมอบโครงการสิ้นกันยายนนี้

นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทบ.เพื่อให้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแลง จึงขยายผลโครงการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” ภายใต้ชื่อ” โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง” เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ โดยค่าใช้จ่าย 1 พื้นที่ หรือราว 500 ไร่ ใช้จำนวนเงินประมาณ 15.6 ล้านบาทวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมดสำหรับดำเนินการใน 31 พื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 484 ล้านบาท ทั้งนี้ วางเป้าหมายให้เกษตรกรกว่า 2,000 ครัวเรือนบนพื้นที่ 15,500 ไร่ มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกตลอดปี สามารถเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวและชุมชน แม้จะเป็นช่วงฤดูแล้ว ฝนทิ้งช่วง

นายสุวัฒน์กล่าวว่า รูปแบบการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่เหมาะสมเพื่อการเกษตรตามหลักวิชาการ จะคำนึงถึงศักยภาพของแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ การออกแบบทางวิศวกรรม ความเหมาะสมกับชนิดของพืชที่เพาะปลูก และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สามารถเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัยพากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน ซึ่งทบ.กำหนดจะดำเนินการใน 31 พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในพื้นที่แต่ละแห่งจะต้อมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 ไร่ และมีศักยภาพของน้ำบาดาลไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยได้คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากนั้นจึงดำเนินการสำรวจข้อมูลทั่วไปของพื้นที่โครงการ ประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ออกแบบและสร้างระบบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งใน 1 พื้นที่ของโครงการประกอบด้วยบ่อน้ำบาดาล จำนวน 10 บ่อ หอถังเหล็กพักน้ำ ขนาดบรรจุ 30 ลูกบาศก์เมตร ความสูง 20 เมตร จำนวน 5 หอถัง ระบบไฟฟ้า ระบบกระจายน้ำ พร้อมจุดจ่ายน้ำให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 50 จุด และมีบ่อสังเกตการณ์เพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล จำนวน 2 บ่อ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการและบำรุงระบบแก่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการวางแผนรูปแบบการตลาดของสินค้าการเกษตรเพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

นายสุวัฒน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทบ.ได้เชิญเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ของโครงการทั้ง 31 แห่ง จากทั่วประเทศมาร่วมประชุมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการแล้ว ซึ่งโครงการดังกล่าว ทบ.จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2556 นี้ และจะมีการส่งมอบให้กลุ่มเกษตรกรรับไปดำเนินการต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม 2556

ปริมาณน้ำ10เขื่อนใหญ่ยังต่ำ

กรมชลเร่งวางแผนรับมือ/ย้ำจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรเฉพาะกรณีจำเป็น

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศทั้ง 33 แห่งมีปริมาณน้ำรวมกัน 35,005 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 50 ของความจุที่ระดับเก็บกัก โดยเป็นน้ำใช้การได้มีจำนวน 11,506 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 16 ซึ่งมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาจนถึงขณะนี้มีปริมาณฝนตกลงค่อนข้างน้อย ประกอบฝนที่ตกในปัจจุบันส่วนใหญ่จะตกในพื้นที่ท้ายเขื่อน และพื้นที่บริเวณขอบประเทศ ทำให้น้ำไม่ไหลลงเขื่อน

ทั้งนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 10 แห่งมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อยมาก โดยมีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณการกักเก็บ โดยในจำนวนนี้มี 5 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว และเขื่อนปราณบุรี คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC)ของเขื่อนแต่ละแห่ง มีมติให้ชะลอการปลูกพืชฤดูฝนออกไปอีก จนกว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นในปริมาณที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามคาดว่า หลังจากนี้ปริมาณฝนจะตกในพื้นที่เหนือเขื่อนมากขึ้น ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีพายุหมุนเขตร้อนพัดเข้าประเทศไทยโดยตรง 2 ลูกในระหว่างเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง ฯ เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ กรมชลประทานจะเน้นการเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วง และในช่วงฤดูแล้งปี 2556/57 ที่จะเริ่มตั้งแต่ในเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไม้ พร้อมได้มีการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ทั้งกรณีที่มีปริมาณในเขื่อนขนาดใหญ่น้อย กลาง และมาก โดยจะให้ความสำคัญในการบริหารจัดงานน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์เป็นสำคัญในอันดับต้นๆ หลังจากนั้นถึงจะจัดสรรน้ำเพื่อภาคการเกษตร และภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตรนั้น ในช่วงนี้จะให้อาศัยน้ำจากปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก น้ำจากเขื่อนจะช่วยเสริมกรณีที่ไม่เพียงพอเท่านั้น

ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบำรุงรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝนที่ตกทางภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือช่วงนี้ไม่ลงในพื้นที่รับน้ำ แต่ไปตกบริเวณรอยขอบประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเขื่อนขนาดใหญ่แต่ละแห่ง โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมากรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการปรับปรุงระบบระบายน้ำหลายแห่งทั่วประเทศ ทำให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น จึงมั่นในว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานๆอีกอย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 สิงหาคม 2556

พด.เร่งวิจัยพัฒนา“จุลินทรีย์” สร้างเส้นใยรอบรากพืช10เท่า

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์ดินสำหรับใช้ในการพัฒนาดินนั้น กรมพัฒนาที่ดินกำลังวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์สำคัญ 2 รายการ ได้แก่ เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอไรซา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดธาตุอาหารของพืช และแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระโดยไม่พึงสิ่งมีชีวิตอื่น ทำให้ดินได้รับไนโตรเจน ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ

สำหรับเชื้ออาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา อาศัยอยู่ร่วมกับรากพืชแบบพึ่งพาอาศัยกัน (symbiosis) โดยเชื้อราจะสร้างเส้นใยรอบๆ รากพืช สามารถเพิ่มพื้นที่ผิวได้มากถึง 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับรากพืชที่ไม่มีเชื้อราชนิดนี้ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดใช้ธาตุอาหาร และน้ำจากดินส่งผ่านต่อไปยังรากพืช โดยเฉพาะฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักของพืชและเคลื่อนที่ได้ยาก อีกทั้งยังสร้างความทนทานให้พืชและเพิ่มผลผลิตในสภาพดินที่มีปัญหา

“ที่สำคัญเชื้อราตัวนี้ยังสร้างสารกลูมาลิน ช่วยให้เกิดการจับตัวของอานุภาคดินทำให้เกิดเม็ดดิน เท่ากับช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินไปในตัว ในต่างประเทศมีการใช้เชื้อราตัวนี้ไปผลิตปุ๋ยชีวภาพสำหรับใช้ด้านการเกษตรมาก่อนแล้ว”

ส่วนแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนนั้น กรมพัฒนาที่ดินพัฒนาต่อยอดจากแบคทีเรียในปุ๋ยชีวภาพ พ.ด.12 ซึ่งตรึงไนโตรเจนเช่นกัน แต่เป็นแบคทีเรียสกุลไรโซเบียมที่ต้องอิงอาศัยปมรากพืชตระกูลถั่วเท่านั้น ต่างจากแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ ที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีต้นพืชตระกูลถั่ว

“เรากำลังวิจัยและพัฒนาแบคทีเรียที่ตรึงไนโตรเจนได้อย่างอิสระ ถ้าพัฒนาได้สำเร็จเท่ากับมีกลไกธรรมชาติในการสร้างโรงปุ๋ยไนโตรเจนหรือยูเรียในดินโดยตรง แต่ปัญหาคือยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความสามารถตรึงไนโตรเจนยังต่ำเมื่อเทียบกับไรโซเบียม หรือในสภาพแวดล้อมที่มีธาตุอาหารต่ำ ซึ่งกรมฯ กำลังหาทางลดข้อจำกัดนี้อยู่” นางกุลรัศมิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 สิงหาคม 2556

รื้อที่นา 1 ล้านไร่ปลูกอ้อย

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมเรื่องการจัดการเขตเศรษฐกิจการเกษตรหรือโซนนิ่ง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ผู้ว่าราชการจังหวัด 45 จังหวัดทั่วประเทศ ได้รายงานนาข้าวที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม และควรเปลี่ยนเป็นไร่อ้อย เพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้โรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งรับซื้ออ้อย รวมทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านไร่ และคาดว่านาข้าวที่ควรเปลี่ยนเป็นไร่อ้อยจะมีมากกว่า 2 ล้านไร่ หาก 77 จังหวัดรายงานพื้นที่เข้ามาครบถ้วนแล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรจัดทำเป็นโครงการนำร่องเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อยจำนวน 1 ล้านไร่ก่อน ตามที่ตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลรายงานว่า ขณะนี้ตลาดโลกยังต้องการซื้อน้ำตาลอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่เป็นตลาดใหญ่และไทยยังไม่ได้เปิดตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล จึงต้องการให้มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ หรือ 10% จากพื้นที่ปลูกปัจจุบันประมาณ 10 ล้านไร่

“ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯกลับมาจัดทำมาตรการจูงใจชาวนาให้หันมาปลูกอ้อยให้ได้ตามแผนโครงการ ซึ่งต้นทุนการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อยอยู่ที่ไร่ละ 10,000-12,000 บาท ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 18 เดือน ในส่วนนี้เห็นว่าไม่ควรให้เงินทุนเกษตรกรไปดำเนินการโดยตรง แต่จะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทน โดยจะเสนอต่อนายกฯ ใช้งบกลางสนับสนุนการดำเนินโครงการต่อไป ส่วนวงเงินดำเนินโครงการอยู่ระหว่างการรวบรวม”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม 2556

แนะจับตาทิศทางเงินบาท หากอ่อนค่าแตะ 31 บาท/ดอลลาร์ เป็นสัญญาณต่างชาติขายต่อเนื่อง

“ทิสโก้” คาดหุ้นไทยวันนี้ผันผวน กังวล “คิวอี” ยอมรับ “ต่างชาติ” เริ่มทิ้งหุ้นหนี “ฟินันเซีย” ชี้การบรรจุวาระ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าที่ประชุมสภาฯ ส่งผลต่อจิตวิทยาลงทุน แต่คาดว่าแรงซื้อน่าจะยังมีอยู่ แนะจับตาค่าเงินบาทซึ่งมีความกังวลว่าจะอ่อนค่าต่ำสุดอีกครั้งที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ เป็นสัญญาณต่างชาติเทขายหุ้นต่อเนื่อง

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ภาพรวมมีแนวโน้มเป็นเชิงลบ ซึ่งรับผลส่วนหนึ่งจากตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียปรับตัวลงจากความกังวลว่าเฟดจะลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในเร็วๆ นี้ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั้งในสหรัฐฯ และเอเชียปรับตัวลงตามกัน

สำหรับตลาดหุ้นไทย ในวันนี้ปัจจัยการเมืองเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้ราคาหุ้นผันผวนตามกระแสข่าวต่างๆ ที่ออกมา โดยในวันนี้ต้องจับตาการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้ามาพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีกลุ่มม็อบออกมาต่อต้าน ทำให้ยังต้องติดตามการเคลื่อนไหวว่าจะมีความวุ่นวายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางการเมืองส่งผลต่อการชะลอการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยเมื่อวานนี้ ต่างชาติขายสุทธิ 999 ล้านบาท ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศไทยถดถอยลง ทำให้ค่าเงินบาทอ่นค่า ส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน พร้อมให้แนวต้าน 1,435-1,445 จุด แนวรับ 1,400-1,410 จุด

ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันนี้ โดยคาดว่า ตลาดจะยังมีความผันผวนเพราะเป็นวันพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ข่าวล่าสุดระบุว่า ถูกบรรจุเป็นวาระแรก และวาระเดียว ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศเคลื่อนไหวแสดงพลังคัดค้าน อาจส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุน แต่คาดว่าแรงซื้อน่าจะยังมีอยู่ เพียงแต่รอดูท่าทีต่อไป และหากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นดัชนีอาจปรับตัวขึ้นได้

ทั้งนี้ ต้องมีการจับตาค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งมีความกังวลว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่ำสุดอีกครั้งในระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากเหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศยังไม่นิ่ง เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิออกมาอีก โดยในวันนี้ให้แนวรับที่ 1,410 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 1,440 จุด

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม 2556

บิ๊กอีเวนต์'รวมใจภักดิ์รักษ์แม่น้ำ'กระทรวงอุตฯจัดยิ่งใหญ่8สิงหา'รร.แม่น้ำ-เอเชียทีค'

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า วันที่ 8 สิงหาคมนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ และการเสวนาในหัวข้อ "การอนุรักษ์แม่น้ำกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องใน โอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2556

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ ต่อเนื่อง 2 ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2557 ในพื้นที่เป้าหมายหลัก แม่น้ำ แหล่งน้ำหลักทั่วประเทศ เริ่มต้นที่แม่น้ำ แหล่งน้ำ 6 สายหลัก ได้แก่ เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง ลำตะคอง และทะเลสาบสงขลา

กิจกรรมหลักที่จัดขึ้นในปีนี้คือการเสวนา เรื่อง "การอนุรักษ์แม่น้ำกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน" เริ่มเวลา 11.00-16.00 น. ณ ห้องแม่น้ำแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซา โดย 11.00 น.จะมีการสัมมนา "กรม ส่งเสริมอุตสาหกรรม" จากนั้น 13.05 น. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ประธานในพิธีกล่าวเปิดการเสวนา 13.25 น. นายสุวัจน์เป็นประธานมอบรางวัลและเกียรติบัตรแก่ผู้ประกอบการ โรงงาน ชุมชน และนักเรียน 13.45 น.พิธีลงนาม ความร่วมมือ (MOU) อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมพื้นฐาน

จากนั้น 14.30 น. จะมีการเสวนาหัวข้อ "การอนุรักษ์แม่น้ำกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน" ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ดำเนินการอภิปรายโดย นายสุภาพ คลี่ขจาย

ช่วงบ่ายเวลา 16.00 น.มีงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ ณ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ถนนเจริญกรุง เริ่มด้วยการแสดงจากศิลปินแกรมมี่ "โดม จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม" และ "กวาง ธัญญรัศม์ ไตรสุทธิวงษ์" เวลา 16.30 น. 17.30 น. นายสุวัจน์เป็นประธานพิธีถวาย สักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยมีนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.อุตสาหกรรม ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อดีต รมว.อุตสาหกรรม นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม และ ดร.วิฑูร สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมงาน

ภายในงานวงดนตรี "กรุงเทพไลท์ ออเคสตร้า" จะบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ และการแสดงจากศิลปินรับเชิญ "รัดเกล้า อามระดิษ" 19.00 น. มีกิจกรรมจุดเทียนชัยถวายพระพร และชมวีดิทัศน์โครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ และการแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ การแสดงจากศิลปินรับเชิญ "เบน ชลาทิศ"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 7 สิงหาคม 2556

นายกฯสั่งลุยเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย

"ยิ่งลักษณ์"สั่งเกษตรฯ ลุยโครงการนำร่องเปลี่ยนนาข้าวที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นไร่อ้อยให้ได้ 1 ล้านไร่

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมเรื่องการจัดการเขตเศรษฐกิจการเกษตร หรือโซนนิ่ง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยผู้ว่าราชการจังหวัด 45 จังหวัดทั่วประเทศ ได้รายงานว่ามีพื้นที่นาข้าว ที่ไม่มีความเหมาะสม และสมควรเปลี่ยนไปเป็นอ้อย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ใกล้โรงงานรับน้ำตาล รวมทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านไร่ และคาดว่าจะมีพื้นที่นาข้าวที่ควรเปลี่ยนเป็นไร่อ้อยมากกว่า 2 ล้านไร่อีก หากมีการรายงานจากจังหวัดครบ 77 จังหวัด

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรเริ่มเดินหน้าการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย ที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อยจำนวน 1 ล้านไร่ก่อน ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะมีรายได้ที่มั่นคงแน่นอน เพราะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) รายงานว่าขณะนี้ตลาดโลกมีความต้องการซื้อน้ำตาลอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่เป็นตลาดใหญ่ ที่ไทยน่าจะส่งออกน้ำตาลไปขายได้ ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ จึงต้องการให้มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ผลผลิตอ้อยประมาณ 100 ล้านตัน หรืออีก 10% ของการผลิตปัจจุบันที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่แล้วประมาณ 10 ล้านไร่

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ กลับมาจัดทำมาตรการจูงใจชาวนาให้หันมาปลูกอ้อยให้ได้ตามแผนโครงการ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นว่า การเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อยมีต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 10,000 -12,000 บาท ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว 18 เดือน ในส่วนนี้เห็นว่ารัฐบาลจะไม่ให้เงินทุนเกษตรกรไปดำเนินการโดยตรง แต่จะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทน โดยจะใช้งบกลางสนับสนุนการดำเนินโครงการต่อไป ส่วนวงเงินดำเนินโครงการรวมกระทรวงเกษตรฯ จะไปรวบรวมจำนวนเกษตรกร ที่ต้องการความช่วยเหลือให้แล้วเสร็จ ก่อนจะเสนอวงเงินที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

"วัน ที่ 7ส.ค.นี้ จะลงพื้นที่จ.บุรีรัมย์ ไปพบกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรับฟังความคืบหน้าและติดตามการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย และหากทั้งหมดนี้ได้รับการขับเคลื่อนจริงชาวนาที่เคยทำได้ผลตอบแทนเฉลี่ย ไร่ละ 800 บาท จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 1,500 บาทจากการปลูกอ้อย"นายยุคล กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 สิงหาคม 2556

ผู้ว่าฯ มุกดาหาร สร้างความสัมพันธ์อันดีในนามภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม โดยออกตรวจเยี่ยมโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท สหเรือง จำกัด

ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร สร้างความสัมพันธ์อันดีในนามภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม โดยออกตรวจเยี่ยมโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท สหเรือง จำกัด
นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานในการออกตรวจเยี่ยม บริษัท สหเรือง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วย นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายประมวลศิลป์ โภคสวัสดิ์ ประธานกรรมการ บริษัท สหเรือง จำกัด พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับ

นายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า การออกตรวจเยี่ยม บริษัท สหเรือง จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการ ตลอดทั้งรับทราบความต้องการ ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนแนวทางแก้ไขให้กับผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแนวทางหลักของจังหวัดมุกดาหาร บริษัท สหเรือง จำกัด นับเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีพนักงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผลิตน้ำตาลขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 6 สิงหาคม 2556

"เอทานอล"จากขยะ เป็นไปได้แล้วที่ฟลอริดา

ความพยายามที่จะใช้สิ่งเหลือใช้มาผลิต "เอทานอล" เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น "แก๊สโซฮอล์" สำหรับใช้กับรถยนต์บนท้องถนนนั้นมีมานานไม่ใช่น้อยแล้ว เป้าหมายก็เพื่อลดการผลิตเอทานอลจากพืชที่ใช้เป็นอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อไม่ให้การลดใช้พลังงานน้ำมันไปทำให้ราคาอาหารโลก ถีบตัวเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นวิกฤตอีกด้านหนึ่งนั่นเอง

ในกระบวนการผลิตเอทานอลทั่วไปที่ใช้กันอยู่ มักใช้กระบวนการแบบเดียวกันกับที่เราใช้ในการผลิตเบียร์ นั่นคือการสกัดเอาน้ำตาลออกมาจากข้าวโพดหรือธัญพืชอื่นๆ ที่ใช้ จากนั้นก็ใช้ยีสต์เข้าไปเพื่อเร่งกระบวนการหมักบ่มที่จะเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้ให้เป็นเอทานอล

การผลิตเอทานอลจากเศษไม้และขยะจำพวกพืชผักที่ให้เส้นใยหรือเซลลูโลสนั้นแตกต่างออกไปจากกระบวนการดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกามีความพยายามส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นหากระบวนการเพื่อผลิตเอทานอลจากเศษสิ่งของเหลือใช้เหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2009 มีหลายบริษัทเข้ารับการส่งเสริม แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีกระบวนการผลิตของบริษัทไหนประสบความสำเร็จถึงขั้นสามารถผลิตออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ยกเว้น "อินีออส ไบโอ" บริษัทที่ตั้งอยู่ในเวโร บีช รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา

พีเตอร์ วิลเลียมส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ระบุว่า กระบวนการที่อินีออส ไบโอ คิดค้นขึ้นนั้น มีขีดความสามารถสูงจนสามารถผลิต "ไบโอเอทานอล" ออกมาเป็นปริมาณมากพอสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยอาศัยวัตถุดิบจากขยะเหลือใช้จำพวกเศษไม้และผักต่างๆ จนสามารถ "ส่งออก" พลังงานไฟฟ้าให้กับชุมชนในท้องถิ่นได้แล้ว

สิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณการผลิตเอทานอลขึ้นมาให้ได้ในอัตราส่วน 8 ล้านแกลลอนต่อปี นอกเหนือจากนั้นยังมีก๊าซที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 6 เมกะวัตต์ อีกด้วย

กระบวนการผลิตเอทานอล ของอินีออส ไบโอ เริ่มต้นจากเศษไม้ที่เป็นขยะและพืชผัก ใช้กระบวนการบดและให้ความร้อนเพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบเหล่านี้ให้เป็นก๊าซที่ให้พลังงานสูง คือ คาร์บอนมอนนอกไซด์ และไฮโดรเจน จากนั้นก็เพิ่มแบคทีเรียเข้าไปในกระบวนการเพื่อหมักก๊าซที่ผสมผสานกันอยู่ในขั้นตอนนี้ให้เป็นเอทานอลสำหรับนำไปกลั่นแยกส่วนต่อไป

ความร้อนและก๊าซอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินกระบวนการเหล่านั้น จะถูกดักจับเก็บไว้เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในโรงงานผลิตทั้งหมด ดังนั้น กระบวนการทั้งหมดจึงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากที่อื่น ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้และเหลือจากการใช้ในโรงงานก็ส่งขายให้กับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงโดยรอบโรงงาน

หากต้องการเพิ่มปริมาณการผลิตก็สามารถขยายสเกลของโรงงานให้ใหญ่โตขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตเอทานอลในปริมาณที่มากขึ้น พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

จิม แม็คมิลแลน นักวิจัยด้านวิศวกรรม จากห้องปฏิบัติการการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่แห่งชาติ ในสังกัดกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโกลเดน รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา บอกว่า แม้จะยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนที่แท้จริงอยู่บ้าง เพราะโรงงานแห่งนี้ได้รับทุนส่งเสริมจากรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ แต่การที่สามารถผลิตเอทานอลจากเศษขยะเหลือใช้ได้ในระดับล้านแกลลอนต่อปีก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของพลังงานทางเลือกในสหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้สามารถส่งเสริมและใช้เอทานอลได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ไม่ต้องไปกังวลว่าจะทำให้ราคาอาหารโลกแพงขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยทีเดียว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สพภ. ตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชีวภาพ

ทส. 5 ส.ค.-สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ จัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจชีวภาพแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย ในการตอบรับการแข่งขันการเข้าสู่ AEC สร้างธุรกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) จะร่วมกับบริษัท Rouse & Co., International (Thailand) ซึ่งมีประสบการณ์จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจชีวภาพแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย เพื่อตอบรับการแข่งขันการเข้าสู่ AEC เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ข้อมูลที่นำไปสู่การสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรจากฐานชีวภาพให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจชีวภาพทั้งในรูปแบบผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME และจุดประกายผู้ประกอบการรายใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ ในการใช้ทรัพยากรด้านชีวภาพเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนด้วย เพื่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจเพื่อแข่งขันในตลาดโลก แข่งขันในระดับภูมิภาค และเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมตามแนวโน้มการสร้างมูลค่าทางการค้าจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติชีวภาพในปี 2020 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ก.เกษตรฯ จัดกิจกรรมดึงเยาวชน

กระทรวงเกษตรฯ จัดกิจกรรม และเปิดตัวหนังสือเกษตรแบบง่ายๆ หวังจุดประกายเด็ก-เยาวชนรุ่นใหม่สนใจภาคเกษตรกรรมมากขึ้น

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปาฐกถาในการอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการเรียนรู้เกษตรแนวใหม่ ให้กับครูวิทยาศาสตร์ ครูบรรณารักษ์ และครูเกษตร จากทั่วประเทศ ว่า เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่เหมาะสำหรับเยาวชน ทั้งที่เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนไทย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ร่วมกับบริษัท นานมี บุ๊คส์ พับลิเคชั่น จำกัด จัดทำหนังสือชุดเกษตรกรรมลองทำดู เพื่อเพิ่มช่องทางในการส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจการเกษตรมากขึ้น โดยหนังสือชุดเกษตรกรรมลองทำดู มีทั้งหมด 32เรื่อง เนื้อหาเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบง่ายๆ ของสินค้าเกษตรชนิดต่างๆ ทั้ง พืช สัตว์และประมง ภายใต้แนวคิดว่าแม้แต่เด็กก็สามารถนำความรู้จากหนังสือชุดนี้ไปทดลองทำการเกษตรได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กหรือเยาวชนสนใจด้านการเกษตรอย่างแพร่หลายมากขึ้น คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ รวมทั้งโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า นับวันหาเยาวชนไทยที่อยากเป็นเกษตรกรหรือสนใจเรียนรู้ด้านการเกษตรลดน้อยลง เนื่องจากส่วนใหญ่มุ่งเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในเขตเมืองเพิ่มขึ้น กระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจอาชีพการเกษตร เพื่อทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่มีแนวโน้มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากขึ้น โดยได้มีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบต่างๆ อาทิ การจัดทำสารคดี การจัดทำรายการเพื่อการเกษตร และจัดค่ายเยาวชนเกษตร เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ขยายผลกลุ่มบริหารน้ำแม่สาย กรมชลประทานเตรียมนำไปเป็นต้นแบบเผยแพร่แก่กลุ่มอื่นทั่วประเทศ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลอง RMC1 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่ของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 โครงการชลประทานเชียงราย สำนักชลประทานที่ 2 จนได้รับคัดเลือกเป็นสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ปี 2556 นั้น กรมชลประทานจะนำมาเป็นตัวอย่างขยายผลไปยังกลุ่มบริหารการใช้น้ำอื่นๆ ของกรมชลประทานทั่วประเทศ เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้กลุ่มบริหารการใช้น้ำคลอง RMC1 เป็นกลุ่มที่ผลักดันให้เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่เกิดการรวมตัว ทำงานอย่างเป็นระบบ นำกระบวนการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมมาใช้ จนก่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า สามารถสร้างผลผลิตและรายได้ให้กับสมาชิกเพิ่มขึ้น ด้วยการนำน้ำจากแม่น้ำสาย ซึ่งอยู่บนพื้นที่การส่งน้ำของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 โครงการชลประทานเชียงราย ไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้เกิดมาตรการลดการปรับ ด้วยการใช้กุญแจเพื่อควบคุมการเปิดปิดของอาคารบังคับน้ำ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกต่อแผนการดำเนินงานขององค์กร แผนรายรับ-รายจ่ายที่นำมาวางแผน และร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ จนสามารถระบุวันเวลาของรอบเวรการส่งน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งเรียนรู้การวางแผนสำรองการส่งน้ำในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ที่สำคัญมีคณะกรรมการของกลุ่ม คอยติดตามการส่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นของสมาชิกผู้ใช้น้ำอีกด้วย

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2551 ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 โครงการชลประทานเชียงราย ได้กำหนดพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ดังกล่าวไว้จำนวน 12,000 ไร่ ปรากฏว่าตั้งแต่ในฤดูกาลเพาะปลูก 2553/54 เป็นต้นมาทางกลุ่มบริหารการใช้น้ำคลอง RMC1 สามารถบริหารน้ำที่ได้รับจัดสรร นำไปใช้ปลูกพืชฤดูแล้งได้ถึง 22,670 ไร่ โดยที่ไม่มีข้อพิพาท และผลผลิตไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งทางกลุ่มฯมีการทำฝายและขุดบ่อ เพื่อสำรองน้ำ มีการดูแลบำรุงรักษาอาคารชลประทานอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ออกไปหลายช่องทาง เช่น วิทยุ หนังสือ ประกาศเสียงตามสาย รวมถึงนำเงินสำรองของกลุ่มฯ จ้างลูกจ้างเปิดปิดน้ำในช่วงที่กรมชลประทานยังไม่อนุมัติงบประมาณบำรุงรักษาอีกด้วย

“แต่เดิมในปี พ.ศ. 2552 ทางกลุ่มฯ ได้กำหนดจัดเก็บค่าบำรุงรักษาไร่ละ 10 บาท/ปี จนถึงปัจจุบันปี 2555 ได้มีมติให้มีการจัดเก็บค่าบำรุงรักษาเพิ่มขึ้นเป็น 30 บาท/ไร่/ปี โดยมีการกำหนดวิธีการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจนในกฎระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม จนปัจจุบันมีเงินกองทุนจำนวน 178,361.58 บาท” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรอ.จับมือกรมเชื้อเพลิงดูแลกำจัดกากอุตฯ เร่งตั้งคณะทำงานร่วมภายในส.ค.

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.มีความเข้มงวดกับกระบวนการกำจัดกากอุตสาหกรรมทุกประเภทมากขึ้น แต่ยังพบว่าการดูแลติดตามกากอุตสาหกรรมที่เกิดจากการขุดเจาะปิโตรเลียมยังมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่มีข้อมูลว่ากากของเสียจากการขุดเจาะปิโตรเลียมมีมากน้อยเพียงใด เพราะผู้ประกอบการขุดเจาะจะแจ้งต่อผู้ให้สัมปทาน คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเท่านั้น

ทั้งนี้ กรอ.จึงร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการดูแลติดตามการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่เกิดจากการขุดเจาะปิโตรเลียมอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจากการหารือในหลักการมาได้ระยะหนึ่ง ภายในเดือนสิงหาคม 2556 นี้ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อดูแลเรื่องนี้ และเร็วๆ นี้ กรอ.จะออกประกาศ เพื่อให้ผู้ขุดเจาะปิโตรเลียมสามารถลงทะเบียนแจ้งยอดขนย้ายกากปิโตรเลียมกับ กรอ.ได้ จากปัจจุบันที่ไม่มีการรายงาน เนื่องจากแท่นขุดเจาะไม่มีสภาพเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะจัดทำประกาศได้ภายใน 3 เดือนนี้

“ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นผู้สร้างกากอุตสาหกรรม 17,000 ราย มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้รับบำบัดกากอุตสาหกรรมทุกประเภท 1,500 ราย และผู้รับขนส่งกากอุตสาหกรรม 1,900 ราย มีกากอุตสาหกรรมที่แจ้งว่าจะมีการขนย้ายกากของเสียทั่วไปออกจากโรงงานปีละประมาณ 41.2 ล้านตัน และมีกากของเสียที่เป็นวัตถุอันตราย 2.8 ล้านตัน แต่ปรากฏว่ามีหลักฐานการขนย้ายจริง 12 ล้านตัน และ 9 แสนตัน ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่ามีกากอุตสาหกรรมที่ไม่ตรงกับที่รายงานว่าจะขนย้ายค่อนข้างสูง ดังนั้น กรอ.จึงต้องเข้มงวดเรื่องนี้มากขึ้น โดยเมื่อรวมกากปิโตรเลียมเข้าสู่ระบบแล้ว คาดว่าจะทำให้มีวัตถุอันตรายในระบบสูงกว่าปัจจุบัน” นายณัฐพล กล่าว

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำกับดูแลผู้รับสัมปทานภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2541 และได้ออกประกาศเรื่องมาตรการจัดการของเสียจากสถานประกอบกิจการปิโตรเลียม แต่ยังมีจุดอ่อนอยู่ คือ การดูแลดังกล่าวจะดูแลเฉพาะต้นน้ำ แต่เมื่อมีการขนย้ายของเสียออกจากแหล่งสัมปทานแล้ว จะอยู่ในอำนาจของ กรอ. ภายใต้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดกสิ่งปฏิกูล หรือสิ่งวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แต่ปรากฏว่า กรอ.ไม่มีข้อมูลกากปิโตรเลียมทั้งระบบ โดยการร่วมกันทำงานกับ กรอ.ครั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะรายงานข้อมูลกากปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานรายงานมาให้ กรอ.รับทราบด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 สิงหาคม 2556

เกษตรฯดันปลูกอ้อยนำร่องโซนนิ่ง แทนพื้นที่ข้าวไม่เหมาะสม4.1ล.ไร่

กระทรวงเกษตรฯใช้อ้อยนำร่องโซนนิ่ง สั่งผู้ว่าฯสำรวจความต้องการเกษตรกรปลูกแทนข้าว ชี้โรงงานน้ำตาลมีศักยภาพรับอ้อยได้ถึง 200 ล้านตัน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โซนนิ่งเกษตรมีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะการสำรวจพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวที่มีอยู่ประมาณ 27.4 ล้านไร่ เพื่อนำมาพิจารณาชนิดพืชที่มีความต้องการของตลาดแน่นอน ซึ่งพืชชนิดแรกที่กระทรวงเกษตรฯพิจารณาแล้วเห็นว่ามีทิศทางที่เป็นไปได้และมีความต้องการของตลาดเป็นตัวนำคืออ้อย ซึ่งโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศมีความต้องการถึง 200 ล้านตัน ขณะที่มีผลผลิตป้อนเข้าสู่โรงงานเพียง 100 ล้านตัน จึงยังมีความต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยถึง 10 ล้านไร่ ซึ่งเบื้องต้นจากการคัดแยกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และพิจารณาถึงพื้นที่โรงงานน้ำตาลที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร พบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยประมาณ 4.1 ล้านไร่

สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการคือ การสำรวจข้อมูลความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่จริง โดยให้เกษตรกรทำแบบสอบถามที่จะมีรายละเอียดความต้องการที่จะให้รัฐเข้าไปสนับสนุน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ พืชที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนหากเกษตรกรต้องการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงกรณีที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อให้รัฐได้ข้อมูลที่แน่ชัดก่อนกำหนดเป็นมาตรการจูงใจโดยใช้ข้อมูลความต้องการจริงในพื้นที่มาเป็นข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะรายงานผลการสำรวจมายังกระทรวงมหาดไทยภายในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 5 สิงหาคมนี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 สิงหาคม 2556

จ.ลพบุรีประสบภัยแล้ง พืชไร่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก

พื้นที่อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงพืชไร่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก

จังหวัดลพบุรี อำเภอหนองม่วง ประสบผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (ภัยแล้ง) ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2556 จำนวน 6 ตำบล 57 หมู่บ้าน ทำให้ราษฎรขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและเพื่อทำการเกษตร พืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ถั่งลิสง ในพื้นที่ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ต้องให้ความช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ภัยยังไม่สิ้นสุด โดยมีพื้นที่ประสบภัยรวมทั้งสิ้นประมาณ 19,630 ไร่

นายคันชล ผ่องใส นายอำเภอหนองม่วง กล่าวว่า ขณะนี้อำเภอได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองม่วง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ผู้นำท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจข้อมูลในพื้นที่อย่างเร่งด่วน และรายงานสถานการณ์ที่เกิดภัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เพื่อประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) เพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ตามอำนาจหน้าที่และหลักเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 3 สิงหาคม 2556

ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไองัดกลยุทธ์จัดสัมมนาดันยอดขายพุ่งกระฉูด

ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอมาแรง "อดิศร" เผยบริษัทใช้กลยุทธ์จัดสัมมนาทุกจังหวัด รวมทั้งจัดทำแปลงสาธิตนาข้าว มันสำปะหลัง โชว์ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์เร็วขึ้น

นายอดิศร เพ็ชรถนอม ผู้จัดการฝ่ายขายบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ยอดขายปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอ และผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิดของบริษัทในขณะนี้ค่อนข้างดีมาก หลังจากเปิดตัวมาเพียง 3 ปี โดยมียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 60 ตัน หรือ 60,000 ลิตร/เดือน ทั้งนี้เนื่องมาจากบริษัทจัดส่งทีมงานไปจัดงานสัมมนาให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพาราทุกจังหวัด รวมทั้งทำแปลงสาธิตการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นฐานการเรียนรู้ให้เกษตรกรชมทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว

"การจัดสัมมนาในทุกจังหวัด ทำให้ตลาดเริ่มยอมรับสินค้าทั้ง 4-5 กลุ่มของบริษัทมากขึ้น ยอดขายสินค้าบริษัทมีอัตราการเติบโตเกินเท่าตัวทุกปี จากปกติที่จะต้องใช้เวลานาน 5-10 ปี เพราะต้องใช้เวลาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผ่านมาการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอทำให้ลดต้นทุนเมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมีถึง 50% และผลผลิตเพิ่มขึ้น 20-30% เกษตรกรจึงเปลี่ยนพฤติกรรมเร็วขึ้น"

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง เพื่อเป็นช่องทางในการขายสินค้าปุ๋ยอินทรีย์ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด อีกช่องทางหนึ่ง โดยมีการยกตัวอย่างแปลงสาธิตการปลูกข้าวร่วมกับเกษตรกรที่ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ว่า ปกติจะปลูกข้าวได้ประมาณ 80 ถัง หรือ 800 กก./ไร่ ใช้มูลสุกรและปุ๋ยเคมี ต้นทุนการผลิตทั้งหมดรวมค่าเก็บเกี่ยวประมาณ 5,000 บาทเศษ/ไร่ แต่เมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับสภาพดิน ฮอร์โมนเร่งการเติบโต และน้ำส้มควันไม้กำจัดแมลง ได้ผลผลิตถึง 110 ถัง หรือ 1,100 กก./ไร่ และมีต้นทุนหลังการเก็บเกี่ยวเพียง 3,000 บาท/ไร่ ขณะที่แปลงสาธิตการปลูกข้าวที่ จ.หนองคาย ปกติจะปลูกข้าวได้ผลผลิต 40-50 ถัง หรือ 400-500 กก./ไร่ หลังใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอ ฮอร์โมน และน้ำส้มควันไม้ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ ผลผลิตข้าวเพิ่มเป็น 84.8 ถัง/ไร่

ส่วนแปลงสาธิตปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เกล็ดมังกรจัมโบ้ที่ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ปลูกด้วยระบบน้ำหยด ใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังทั้งสิ้น 1,100 ท่อน/ไร่ เมื่อให้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำทีพีไอ ฮอร์โมน และน้ำส้มควันไม้กำจัดเพลี้ยแป้ง ได้ผลผลิต/ไร่สูงถึง 35 ตัน/ไร่ จากปกติจะได้ผลผลิต 2-3 ตัน/ไร่เท่านั้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 สิงหาคม 2556

ค่าเงินผันผวน สศอ.วอนรัฐดูแล

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากเศรษฐกิจโลกคาดว่าระยะสั้นค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวน แต่ในระยะยาวหากเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งจะทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพได้ รวมทั้งสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่มีความแตกต่างจากคู่แข่งน้อยจึงทำให้ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมาก โดยเมื่อเงินบาทแข็งค่าจะขอขึ้นราคาได้ไม่มากเพราะผู้นำเข้าจะไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น และเมื่อเงินบาทอ่อนค่าก็จะถูกผู้นำเข้าขอลดราคาสินค้า ซึ่งการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมีต้นทุน และต้องมีความรู้จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ

นายธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการส่วนเตือนภัยอุตสาหกรรม สศอ. กล่าวว่า สศอ.ได้สำรวจความเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 256 ราย ระหว่างวันที่ 3-21 มิ.ย.56 พบว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในช่วงต้นปีนี้ 70.7% ไม่ได้รับผลกระทบ 29.3% โดยเมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีผู้ประกอบการได้รับ ผลกระทบมากที่สุด 89.7% รองลงมาเป็นยางและผลิตภัณฑ์ยาง 88.6% เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 81.5%

เมื่อถามเกี่ยวกับแผนการรับมือความผันผวนค่าเงิน พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้วิธีบริหารจัดการต้นทุนมากที่สุด 37.9% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วิธีบริหารจัดการต้นทุนมากที่สุด คือ อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าการรักษาต้นทุนค่าแรงและวัตถุดิบจะทำให้รับมือกับความเสี่ยงได้ และรองลงมาประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน 31.8% เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินทั้งกรณีเงินแข็งค่าและอ่อนค่า ส่วนการปรับราคาสินค้ามี 14.6% เพื่อให้มีรายได้ครอบคลุมกับรายจ่าย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องการให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.5 บาท และระดับที่ยอมรับได้มากที่สุดอยู่ที่ 28.6 บาท ซึ่งค่าเงินบาทวันที่ 31 ก.ค.อยู่ที่ 31.55 บาท ถือว่าอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับจุดที่แข็งค่ามากเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 28.63 บาท แสดงให้เห็นว่าค่าเงินบาทผันผวนเพราะมีเงินทุนไหลเข้าและออก โดยช่วงนี้ไม่กังวลเงินบาทแข็งค่าแต่กังวลค่าเงินผันผวนมากกว่าจึงทำให้ผู้ ประกอบการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไม่ว่าเงินบาทจะอ่อนค่า หรือแข็งค่า

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่ผู้ประกอบการใช้ประกันความเสี่ยงค่าเงินมี 2 แนวทาง คือ 1.การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า 2.การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่และกลางที่ใช้เป็นประจำ แต่รายเล็กไม่นิยมใช้เพราะยังไม่เข้าใจกลไก

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 2 สิงหาคม 2556

รมว.ทส.มอบนโยบายกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

ก.น้ำบาดาล 3 ส.ค.56 - กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมปรับลดพื้นที่พัฒนาน้ำบาดาลภาคการเกษตรเหลือ 100 ไร่ทั่วประเทศ นำร่อง จ.พิษณุโลก พบข้อมูลมีความเหมาะสมและช่วยเหลือเกษตรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบุยังมีความต้องการใช้น้ำบาดาลอีกกว่า 7,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยมีนายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และข้าราชการ ต้อนรับ

นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นอีกหน่วยงานสำคัญที่สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้จะต้องมีแผนบริหารจัดการแบบบูรณาการใน 27 แอ่งน้ำบาดาลทั่วประเทศ ให้มีการใช้ประโยชน์สูงสุด โดยจะต้องดำเนินการโดยภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งทำให้ตอบสนองความต้องการได้ถูกต้องตรงจุด และไม่เกิดปัญหาการขุดบ่อน้ำบาดาลผิดประเภทผิดกฎหมาย ลดปัญหาภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับโครงการน้ำบาดาลยังต้องดำเนินการให้ครอบคลุมความต้องการ โดยสนับสนุนน้ำดื่มให้กับโรงเรียน จัดหาน้ำสะอาดให้หมู่บ้านที่ขาดแคลน และพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง รวมถึงสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้จะเพิ่มเติมหน่วยที่ปรึกษาระบบน้ำบาดาล ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพของน้ำบาดาลแต่ละแห่ง และศึกษาน้ำบาดาลทั่วประเทศซึ่งจะเกิดการใช้งานน้ำอย่างถูกเหมาะสม.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 2 สิงหาคม 2556

เกษตรกรจะรับมือ AEC อย่างไร มีคำตอบในงาน ISRMAX (เกษตรเมืองทอง)

อิมแพ็คชวนคุณมาเตรียมความพร้อมรับมือกับ AEC ในภาวะการแข่งขันทางธุรกิจระดับนานาชาติ ด้วยการสัมมนาพิเศษ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งใน และต่างประเทศ พร้อมทั้งยังมีการทำเวิร์คช็อปจากผู้มีประสบการณ์ตรง ในงาน ISRMAX Asia 2013 และ ISRMAX Horti and Agri Asia 2013 งานเกษตรที่ครบวงจรที่สุดในภูมิภาค งานจะจัดขึ้นในวันที่ 15-17 สิงหาคม 2556 ณ อาคาร 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

หากประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำของอาเซียนทั้งการผลิต การตลาด เป็นศูนย์กลางของอาเซียน และก้าวไปถึงเอเชีย จำเป็นต้องพิจารณาศักยภาพพื้นฐาน ทางอิมแพ็ค และพิกซี่ จึงจัดให้มีสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ ศักยภาพ และการลงทุนของน้ำตาล โรงสีข้าว และข้าวในอนาคต รวมถึงวิทยากรจากสมาคมต่างๆ ที่มาเปิดการเสวนาเพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทย เช่น เรื่อง “การพัฒนาพืชสวนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตลาด AEC” โดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ”ศักยภาพการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการส่งออก” โดย สมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย และไม้ดอกไม้ประดับภาคตะวันออก เรื่อง “การพัฒนาเกณฑ์การตัดสินรางวัลเกียรตินิยมในกล้วยไม้” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย เรื่อง “การลงทุนธุรกิจกล้วยไม้อย่างไรให้รวย” โดยสมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย เรื่อง “จตุวาริน จาก กัลปพฤกษ์ เพื่อสุขภาพและความงาม” โดย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และขาดไม่ได้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ที่จะมาสัมมนาเรื่อง “กองทุนตั้งตัวได้” เพื่อกระจายข่าวสารของโครงการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ไม่เพียงแต่สมาคมต่างๆ เท่านั้นที่มีร่วมกันมาช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทย ยังมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่จะมาเปิดสัมมนาอีกมากมาย อาทิเช่น สัมมนาเรื่อง “ช่องทางการตลาด ผลผลิตเกษตรกรไทยจากวันนี้ สู่วันหน้า” นำทีมโดยคุณอุดม ฐิตวัฒนะสกุล เจ้าของสวนอุดมการ์เด้น คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย เจ้าของทฤษฏีน่านน้ำสีขาว เรียนรู้การทำการตลาดเพื่ออนาคตจาก Local สู้ Global จากคุณวีณา จันทร์จินดา พร้อมยกกรณีศึกษาเรื่อง มะพร้าวน้ำหอมไทยตะลุยตลาดโลก โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน เรื่อง “แนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำตาลโลกในอนาคต” โดยคุณทักษ์ ศรีรัตนโนภาส ผู้อำนวยการด้านโครงการร่ววมทุนและการค้าระหว่างประเทศ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เรื่อง ”แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีในโรงสีข้าว” โดยคุณมานัส กิจประเสริฐ เจ้าของโรงสีกิจประเสริฐ เรื่อง “ระบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว” โดยคุณสุภชัย ปิติวุฒิ จากชาวนาวันหยุด เรื่อง “ผักไฮโดรโปนิกส์รับมือ AEC อย่างไร” โดยคุณพีระ สุชฏา จาก SME Hydroponics และยังไม่หมดเท่านั้น ภายในงานยังจัดให้มีการทำเวิร์คช็อปเรื่อง “นวัตกรรมการเพาะเห็ดแนวใหม่” โดย สถานีเห็ด และ “การจัดสวนถาด แคสตัส" โดยสมาคมไม้ดอกไม้ประดับภาคตะวันออก ที่จะมาสอนเทคนิคการทำแบบฟรีๆ อีกด้วย

อิมแพ็คขอเชิญชวนผู้สนใจในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการเกษตร สำหรับอุตสาหกรรมข้าว ข้าวโพด อ้อย น้ำตาล พืชผัก ผลไม้ และดอกไม้ พร้อมทั้งงานสัมมนา และเวิร์คช็อปให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศ ท่านจะได้พบกับคำตอบของทุกคำถามภายในงานเดียว ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2556 ณ อาคาร 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ท่านที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสัมมนาติดต่อได้ที่ 02-833-5311 และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงาน และตารางการจัดสัมมนาได้ที่
http://www.isrmaxasia.net/images/Conference%20Activities%20Program%2029-07-56.pdf หรือลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่ http://www.isrmaxasia.net/images/DelegationRegistForm.pdf ถ้าคุณคือเกษตรกรยุคใหม่ตัวจริงไม่ควรพลาดงานนี้!!

ท่านที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสัมมนาติดต่อได้ที่ 02-833-5311 และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงาน และตารางการจัดสัมมนาได้ที่
http://www.isrmaxasia.net/images/Conference%20Activities%20Program%2029-07-56.pdf หรือ ลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่ http://www.isrmaxasia.net/images/DelegationRegistForm.pdf

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 สิงหาคม 2556

ดึงชาวนามาปลูกอ้อย!

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประชุมทางไกลร่วมกับหน่วยราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายกำหนดเขตเศรษฐกิจ(โซนนิ่ง) เกษตรว่าการดำเนินการโซนนิ่งคืบหน้าไปพอสมควร โดยเฉพาะการสำรวจพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวที่มีอยู่ประมาณ 27.4 ล้านไร่ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการแน่นอน โดยพืชชนิดแรกที่กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาว่าเป็นไปคือ อ้อย ที่มีข้อมูลว่าโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศมีความต้องการถึง 200 ล้านตัน ขณะที่มีผลผลิตป้อนเข้าสู่โรงงานเพียง 100 ล้านตัน จึงยังมีความต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยถึง 10 ล้านไร่

“ในพื้นที่นาข้าว 27.4 ล้านไร่ ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว เมื่อนำมาดัดแยกหาพื้นที่ที่จะนำไปปลูกอ้อย โดยดูพื้นที่ที่อยู่ห่างโรงงานน้ำตาลไม่เกิน 50 กิโลเมตร พบว่า มีพื้นที่ที่เหมาะสมประมาณ 4.1ล้านไร่ ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากไร่ละ 800 บาท ที่ได้จากการปลูกข้าวมาเป็นไร่ละ 1,500 บาท หากเปลื่ยนมาเป็นการปลูกอ้อย”

ทั้งนี้ สิ่งที่จังหวัดโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดต้องดำเนินการคือ สำรวจข้อมูลความต้องการของเกษตรกร ในพื้นที่จริง ทั้งเรื่องโครงสร้างพี้นฐานต่างๆ รวมถึงพืชที่ต้องการปรับเปลี่ยนรวมถึงกรณีที่เกษตรกรไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อให้รัฐบาลได้ข้อมุลที่แน่ชัดก่อน กำหนดเป็นมาตรฐานการจูงใจ โดยใช้ข้อมูลความต้องการาจริงในพื้นที่มาเป็นข้อมูลพื้นฐานต่อไป

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 2 สิงหาคม 2556

ขยายพื้นที่ชลประทาน 60 ล้านไร่ - เกษตรทั่วไทย

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปีนี้กรมชล ประทานมีอายุครบ 111 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การจัดหา พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งน้ำใหม่ เน้นการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนทัศนคติและความคาดหวังของเกษตรกรและประชาชนผู้ใช้น้ำ

พร้อมทั้งได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้มีสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำสาขาทั่วประเทศอย่างบูรณาการร่วมกับภาคประชาชน เพื่อให้สามารถจัดหาน้ำได้ทันกับความต้องการใช้ที่เพิ่มทวีคูณขึ้นในแต่ละปี

โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำ ให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อลดกระแสความขัดแย้งในสังคม

ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรีไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำประมาณปีละ 162,150 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีแหล่งเก็บกักน้ำรวมทั้งประเทศเพียง 73,788 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 29.6 ล้านไร่ แต่หากจะให้มีพื้นที่ชลประทานเป้าหมายของประเทศมากถึง 60 ล้านไร่ หรือเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีกประมาณ 30.4 ล้านไร่ จำเป็นจะต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บอีกไม่น้อยกว่า 26,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ในจำนวนดังกล่าว

ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาแหล่งน้ำ และการขยายพื้นที่ชลประทาน สำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ในระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำในทุกขนาด 2,347 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทฝาย 1,809 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทประตูระบายน้ำ/เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งสิ้น 546 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทสถานีสูบน้ำ 1,639 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทแก้มลิง 1,466 แห่ง

นอกจากนี้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทโครงข่ายน้ำ 38 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทชลประทานในไร่นา 206 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทระบบส่งน้ำ 1,301 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทระบบระบายน้ำ 575 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทเหลียวหลัง 99 แห่ง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่น ๆ 1,465 แห่ง

“หากสามารถดำเนินการได้ตามกรอบการพัฒนาชลประทานจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 39.75 ล้านไร่ เมื่อรวมกับ การพัฒนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้ประเทศ ไทยมีน้ำใช้มากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณ น้ำท่าของประเทศ และมีพื้นที่ชลประทาน รวม 69.35 ล้านไร่” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ส่วนระยะเวลาในการดำเนินงานนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณ รัฐบาล และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่อย่างน้อยที่สุดจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ไม่น้อยกว่าปีละ 200,000 ไร่

ดังนั้นถ้าจะต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ตามเป้าหมายอย่างเร่งด่วนแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างก้าวกระโดด มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะหากเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ปีละ 200,000 ไร่ดังกล่าวจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 150 ปี ประเทศไทยถึงจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้เพียง 60 ล้านไร่เท่านั้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 สิงหาคม 2556

เปิดตารางเรียนเกษตร ‘พีไอเอ็ม’ ปั้นคนรุ่นใหม่เป็น ‘สมาร์ท ฟาร์เมอร์’

“เกษตรกร” อาชีพที่คนไทยทุกคนยอมรับว่ามีความสำคัญ แต่ไม่ว่ายุคสมัยใดการทำมาหากินด้านเกษตรกรรมกลับไม่เป็นที่นิยมในหมู่บัณฑิตหรือจะเรียกว่าไม่ได้อยู่ในสายตาของเด็กรุ่นใหม่เท่าไรนัก ทั้งนี้อาจจะด้วยข้อจำกัดหลายประการ รวมถึงปราการด่านสำคัญที่ว่าการทำไร่ไถนานั้นต้องเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส แลดูจะไม่คุ้มกับที่ต้องลงทุนเล่าเรียนจนจบปริญญา แต่ถ้าหากลองมาสัมผัสการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ของ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม อาจต้องมองอาชีพเกษตรกรในมุมใหม่ก็ได้

“ดร.มนตรี คงตระกูลเทียน” คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร พีไอเอ็ม บอกว่า จุดเริ่มของการมีหลักสูตรนวัตกรรมการจัดการเกษตร เนื่องมาจากการทำงานในระบบของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่มักพบนิสิตนักศึกษาซึ่งจบใหม่จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังไม่สามารถทำงานได้ทันที แต่จะต้องมาผ่านการฝึกอบรมกับบริษัทเป็นระยะเวลา 1-2 ปี จึงจะทำงานได้ ประกอบกับแนวคิดของผู้บริหารซีพีที่ต้องการรับสมัครคนรุ่นใหม่อายุน้อยในตำแหน่งสูง ๆ เพราะเห็นว่ายังเป็นวัยที่คล่อง แคล่วว่องไว ทำงานได้เต็มที่ ดังนั้นหลักสูตรนวัตกรรมการจัดการเกษตร จึงตั้งเป้าผลิตบัณฑิตที่สามารถทำงานได้จริงหลังเรียนจบ 4 ปี ในตำแหน่งงานระดับผู้จัดการในสายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจการเกษตรทั้งระบบ หรือต้องการจบไปเป็นผู้บริหารกิจการส่วนตัวด้านการเกษตรก็ได้

ดร.มนตรี กล่าวต่อไปว่า การจัดการเรียนการสอนจะเป็นการบูรณาการความรู้ ความชำนาญด้านการเกษตร มารวมกับเศรษฐศาสตร์การเกษตร และการบริหารจัดการเกษตร เพื่อผลลัพธ์ในการจัดการการเกษตรที่มีคุณภาพครบวงจร โดยจะเน้นการฝึกปฏิบัติตามรูปแบบการเรียนรู้ทฤษฎีควบคู่การฝึกปฏิบัติ หรือ “เวิร์คเบสเลิร์นนิ่ง” ของพีไอเอ็ม และเนื่องจากเป้าหมายที่วางไว้คือการสร้างนักจัดการเกษตรรุ่นใหม่ หรือ สมาร์ทฟาร์เมอร์ ดังนั้นนักศึกษาจะได้เรียนทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้บริหาร ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรียนเกษตรแล้วจะต้องจับจอบจับเสียมขุดดินเสมอไป เพราะตามหลักสูตรแล้วไม่จำเป็นต้องทำ แต่นักศึกษาทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าวิธีการทำนั้นเป็นอย่างไร

’หลักสูตรของเราจะสอนการบริหารจัดการพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่ ยาง ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง และอ้อย รวมถึงพืชที่คาดว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตอย่างทุเรียน เราจะไม่สอนสะเปะสะปะ แต่จะมุ่งเน้นให้นักศึกษารู้จักบริหารจัดการพืชรายชนิดแบบครบวงจรตามความสนใจของแต่ละบุคคล โดยมีการจัดการเรียนการสอน 4 เทอมต่อ 1 ปีการศึกษา สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1-3 จะเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน 3 เทอม นาน 9 เดือน จากนั้นในเทอมสุดท้ายจะต้องลงฝึกปฏิบัติ 3 เดือน จนกระทั่งปีการศึกษาสุดท้าย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะได้เรียนภาคทฤษฎีแค่ 1 เทอม ที่เหลือให้ลงฝึกปฏิบัติในสถานปฏิบัติงานจริงที่พีไอเอ็มจัดเตรียมไว้ให้ อาทิ โรงสีข้าว หรือที่ฟาร์มเกษตรของซีพี เป็นต้น“ ดร.มนตรี กล่าว

รศ.ดร.วรวิทย์ สริพลวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร พีไอเอ็ม กล่าวว่า รูปแบบการเรียนทฤษฎีของหลักสูตรนวัตกรรมการจัดการเกษตรจะเน้นควบรวมรายวิชาที่มีความเกี่ยวเนื่องเอาไว้ด้วยกันเพื่อให้แต่ละหน่วยกิตมีความสำคัญและได้ประโยชน์แก่ผู้เรียนมากที่สุด เช่น การสอนวิชาพืชไร่ พืชสวน จะถูกรวมไว้ในวิชาพืชศาสตร์ หรือเรื่องการจัดการฟาร์ม จะต้องมีการจัดการเรื่องของสุขภาพพืช ก็จะรวมการดูแลกำจัดโรคแมลงวัชพืชไว้ในวิชาเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อรวมแล้วการเรียนพื้นฐานเหล่านี้จะถูกจำกัดไว้เพียง 30 หน่วยกิต จากนั้นอีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นการเรียนด้านบริหารจัดการเกษตร 30 หน่วยกิต ได้แก่ การจัดการเรื่องการจัดซื้อและรวบรวมผลผลิต การจัดการเรื่องฟาร์ม การจัดการเรื่องการแปรรูปและเพิ่มมูลค่า การจัดการเรื่องการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ การจัดการบุคคลและองค์กร และการจัดการบัญชีการเงิน

’เรื่องการจัดการบัญชีฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนทำบัญชี แต่ให้นักศึกษาเรียนเพื่ออ่านงบดุลเป็น รู้กำไรขาดทุน รู้ต้นทุน เพราะคนเป็นผู้จัดการจะต้องอ่านบัญชีรู้เรื่อง นอกจากนี้สำหรับนักศึกษาปีสุดท้ายจะเรียนภาคทฤษฎี 1 เทอม ซึ่งเป็นการเขียนแผนธุรกิจการเกษตรที่แต่ละคนสนใจ เช่น บางคนอาจอยากเป็นนักจัดการข้าว หรือนักจัดการปาล์มก็ได้ จากนั้นก็ลงปฏิบัติจริงจนจบการศึกษา นอกจากนี้หลักสูตรจะมีสอนการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร รวมถึงมีการนำกรณีตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทในเครือซีพีมาให้นักศึกษาวิเคราะห์ และท้ายชั่วโมงจะมีผู้บริหารซีพีที่เป็นคนแก้ปัญหาตัวจริงเสียงจริงมาเฉลยและตรวจคำตอบให้นักศึกษาด้วย“ รศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว

จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของหลักสูตรนี้ เห็นจะอยู่ที่เหล่าอาจารย์พิเศษซึ่งทำหน้าที่สอนภาคปฏิบัติระหว่างการลงพื้นที่ของนักศึกษา โดยส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานในเครือบริษัทซีพีที่ปฏิบัติงานอยู่แล้วในแหล่งฝึกปฏิบัติที่ถูกกำหนดไว้ทั่วทุกภูมิภาค ยกตัวอย่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ฟาร์มกำแพงเพชร

นายเกรียงไกร อังอำนวยศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสม ในฐานะผู้ดูแลฟาร์มกำแพงเพชร กล่าวว่า ขนาดพื้นที่ของฟาร์มกำแพงเพชร มีจำนวนทั้งหมด 4,000 ไร่ แบ่งเป็นส่วนของสุกร กับพืชไร่ ได้แก่ ข้าว ยาง และปาล์ม ในฟาร์มมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ งานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว การผลิตและการทดสอบพันธุ์ข้าว โรงงานปรับสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงงานเพาะกล้าปาล์มและยางพารา โดยพนักงานในฟาร์มประมาณ 50 คน มีคุณวุฒิขั้นต่ำคือปริญญาตรี บางคนจบดอกเตอร์ก็มี ทุกคนที่นี่พร้อมให้ความรู้แก่นักศึกษาทั้งในเชิงความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ต่าง ๆ ตลอดจนเทคนิควิธีการเพาะปลูกและการดูแลเก็บเกี่ยวไปจนถึงขั้นตอนการจำหน่าย

’สิ่งที่นักศึกษาจะได้ศึกษาที่ฟาร์มกำแพงเพชร คือการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีอยู่ที่นี่ เช่น วิชาปรับ ปรุงพันธุ์ ซึ่งมีที่ฟาร์มแห่งนี้เพียงที่เดียว เราจะสอนกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของซีพี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อนักศึกษาได้รู้ขั้นตอนการวิจัยและเทคโนโลยีที่นำมาใช้

ต่าง ๆ ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการต่อยอดในอนาคตได้“ นายเกรียงไกร กล่าว

จะว่าไปการทำการเกษตรก็คล้าย ๆ การเข้าครัว ครั้นจะบอกสูตรให้จดตามอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่จะต้องลองมาเรียนปฏิบัติลงมือทำจริงด้วยตัวเองดู ซึ่งเท่าที่ได้สังเกตจากการเดินรอบ ๆ ฟาร์มกำแพงเพชรแค่ไม่กี่ชั่วโมง ได้รับความรู้ใหม่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธีการฟันทะลายผลปาล์ม การตอนกิ่งทำกล้ายาง หรือแม้แต่กระบวนการปักกล้าข้าวในนา ทุกอย่างดูทันสมัยไปหมด เห็นแล้วก็อดนึกตามเป้าหมายของพีไอเอ็มไม่ได้ว่า หากเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นต่อไป เป็นเกษตรกรทันสมัยอย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดในประเทศ ธุรกิจเกษตรกรรมของไทยคงไปไกลน่าดูชม.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 สิงหาคม 2556

เกษตรฯ ยันโซนนิ่งไม่ร้าง ตั้งเป้าปรับอ้อยนำร่องในพื้นที่ไม่เหมาะปลูกข้าวเป้าหมาย 4.1 ล้านไร่

เกษตรฯ ยันโซนนิ่งไม่ร้าง ตั้งเป้าปรับอ้อยนำร่องในพื้นที่ไม่เหมาะปลูกข้าวเป้าหมาย 4.1 ล้านไร่ สั่งพื้นที่เร่งสำรวจความต้องการเกษตรกรด้านมาตรการช่วยเหลือเพื่อปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ตรงกับสภาพพื้นที่

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสประชุมทางไกลร่วมกับหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งว่า ขณะนี้การดำเนินการเรื่องโซนนิ่งถือได้ว่าเริ่มมีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้วโดยเฉพาะการสำรวจพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวที่มีอยู่ประมาณ 27.4 ล้านไร่ เพื่อนำมาพิจารณาชนิดพืชที่มีความต้องการของตลาดแน่นอน โดยพืชชนิดแรกที่กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีทิศทางที่เป็นไปได้และมีความต้องการของตลาดเป็นตัวนำ คือ อ้อย ที่มีข้อมูลว่าโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศมีความต้องการถึง 200 ล้านตัน ขณะที่มีผลผลิตป้อนเข้าสู่โรงงานเพียง 100 ล้านตัน จึงยังมีความต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยถึง 10 ล้านไร่ ซึ่งเบื้องต้นจากการคัดแยกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และพิจารณาถึงพื้นที่โรงงานน้ำตาลที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร พบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยประมาณ 4.1 ล้านไร่

ดังนั้น สิ่งที่จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการคือ การสำรวจข้อมูลความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่จริง โดยให้เกษตรกรทำแบบสอบถามที่จะมีรายละเอียดความต้องการที่จะให้รัฐเข้าไปสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงพืชที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนหากเกษตรกรต้องการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงกรณีที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อให้รัฐได้ข้อมูลที่แน่ชัดก่อนกำหนดเป็นมาตรการจูงใจโดยใช้ข้อมูลความต้องการจริงในพื้นที่มาเป็นข้อมูลพื้นฐานต่อไป ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะรายงานผลการสำรวจมายังกระทรวงมหาดไทยภายในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 5 สิงหาคมนี้

สำหรับการประชุมทางไกลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งของทุกจังหวัดในครั้งนี้ถือเป็นการเร่งรัดและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำที่จะเห็นผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งหลายๆ จังหวัดได้เริ่มขับเคลื่อนแผนโซนนิ่งโดยพิจารณาพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกของตนเองแล้ว เช่น การปรับพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยในจังหวัดกำแพงเพชร บุรีรัมย์ หรือการเพิ่มพื้นที่ปลูกมันทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 สิงหาคม 2556

ค่าเงินผันผวน สศอ.วอนรัฐดูแล

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากเศรษฐกิจโลกคาดว่าระยะสั้นค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวน แต่ในระยะยาวหากเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งจะทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพได้ รวมทั้งสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่มีความแตกต่างจากคู่แข่งน้อยจึงทำให้ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมาก โดยเมื่อเงินบาทแข็งค่าจะขอขึ้นราคาได้ไม่มากเพราะผู้นำเข้าจะไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น และเมื่อเงินบาทอ่อนค่าก็จะถูกผู้นำเข้าขอลดราคาสินค้า ซึ่งการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมีต้นทุน และต้องมีความรู้จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ

นายธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการส่วนเตือนภัยอุตสาหกรรม สศอ. กล่าวว่า สศอ.ได้สำรวจความเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 256 ราย ระหว่างวันที่ 3-21 มิ.ย.56 พบว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในช่วงต้นปีนี้ 70.7% ไม่ได้รับผลกระทบ 29.3% โดยเมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากที่สุด 89.7% รองลงมาเป็นยางและผลิตภัณฑ์ยาง 88.6% เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 81.5%

เมื่อถามเกี่ยวกับแผนการรับมือความผันผวนค่าเงิน พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้วิธีบริหารจัดการต้นทุนมากที่สุด 37.9% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วิธีบริหารจัดการต้นทุนมากที่สุด คือ อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ เหล็กและเคมีภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าการรักษาต้นทุนค่าแรงและวัตถุดิบจะทำให้รับมือกับความเสี่ยงได้ และรองลงมาประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน 31.8% เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินทั้งกรณีเงินแข็งค่าและอ่อนค่า ส่วนการปรับราคาสินค้ามี 14.6% เพื่อให้มีรายได้ครอบคลุมกับรายจ่าย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องการให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.5 บาท และระดับที่ยอมรับได้มากที่สุดอยู่ที่ 28.6 บาท ซึ่งค่าเงินบาทวันที่ 31 ก.ค.อยู่ที่ 31.55 บาท ถือว่าอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับจุดที่แข็งค่ามากเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 28.63 บาท แสดงให้เห็นว่าค่าเงินบาทผันผวนเพราะมีเงินทุนไหลเข้าและออก โดยช่วงนี้ไม่กังวลเงินบาทแข็งค่าแต่กังวลค่าเงินผันผวนมากกว่าจึงทำให้ผู้ ประกอบการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไม่ว่าเงินบาทจะอ่อนค่า หรือแข็งค่า

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่ผู้ประกอบการใช้ประกันความเสี่ยงค่าเงินมี 2 แนวทาง คือ 1.การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า 2.การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่และกลางที่ใช้เป็นประจำ แต่รายเล็กไม่นิยมใช้เพราะยังไม่เข้าใจกลไก

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 2 สิงหาคม 2556

กรมชลประทานห่วงน้ำในเขื่อนเหลือน้อย จะกระทบถึงแล้งหน้า

กรมชลประทาน 1 ส.ค.- แม้ขณะนี้จะมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่เป็นฝนตกท้ายเขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ซึ่งกรมชลประทานกังวลว่าจะกระทบกับการใช้น้ำในฤดูแล้ง

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้รวมกว่า 3 เดือนแล้ว ปริมาณฝนสะสมโดยเฉลี่ยอยู่ใกล้เคียงกับค่าปกติและส่วนใหญ่ตกบริเวณท้ายเขื่อน ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่าง ๆ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 10 แห่ง ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก เช่น เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำเหลืออยู่ 31% ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้เพียง 3% หรือ 359 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ เหลือน้ำ 36% ใช้การได้ 6% เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนปราณบุรี ซึ่งต้องงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกโดยสิ้นเชิง

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในระยะนี้ เน้นการกักเก็บน้ำไว้ในอ่างให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้กรณีฝนทิ้งช่วง และต้นฤดูแล้งหน้าที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2556 โดยในช่วงที่มีฝนตกท้ายเขื่อน กรมชลประทานจะลดการระบายน้ำลง เหลือเฉพาะสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศในลำน้ำเท่านั้น

ขณะเดียวกันได้ทำแบบจำลองคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในปีนี้ว่า อาจจะอยู่ในเกณฑ์น้อยมากต่อเนื่องต่อไป เทียบเท่ากับปีที่แล้งรุนแรงที่สุดของประเทศในปี 2536 และ 2541 ซึ่งเหลือปริมาณน้ำใช้ใกล้เคียงกับน้ำที่เหลือในอ่างขณะนี้ ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลฯ ให้ความมั่นใจว่าจะมีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคเพียงพอแน่นอนตลอดทั้งปี แต่หากปริมาณฝนและน้ำเข้าอ่างไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน.- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 1 สิงหาคม 2556

ค่าเงินเอเชียผันผวนหนักฉุดรั้งศก.เติบโต

“เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีผลต่อทิศทางตลาดค่าเงินของไทยอย่างไร และค่าเงินบาทในขณะนี้ยังผันผวนมาก ซึ่งเป็นไปได้ทั้งแข็งค่าและอ่อนค่าได้”

คำกล่าวของ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นสิ่งที่สะท้อนได้อย่างเด่นชัดว่าในขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะตลาดค่าเงินกำลังเผชิญกับภาวะความผันผวนอย่างหนัก ซึ่งในเดือนนี้เพียงอย่างเดียว ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงไปถึง 1% แล้ว อยู่ที่ 31.33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทอยู่ที่ 28.67 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ถึงกระนั้นประเทศไทยไม่ใช่เพียงแค่ประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเข้าซื้อสินทรัพย์เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐของเฟด ว่าสรุปแล้วจะคงไว้ต่อไปหรือไม่ในสิ้นปีนี้ แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ได้อ่อนค่าลงมากสุดในรอบ 3 ปี โดยอ่อนค่าลงมาถึง 3.23 ริงกิตต่อเหรียญสหรัฐ หรือลดลงถึง 8.8% เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา 2.99 ริงกิตต่อเหรียญสหรัฐ

ภาวะความไม่แน่นอนว่า เฟดจะคงนโยบายคิวอีไว้ต่อไปหรือไม่ มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากแดนเสือเหลืองอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนทำให้เหล่านักวิเคราะห์ขององค์กรเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกโรงเตือนว่า มาเลเซียมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1997

ขณะเดียวกัน ผลจากการที่ภาวะเศรษฐกิจประเทศดังกล่าวเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ประกอบกับฐานะความมั่นคงทางการคลังเริ่มอ่อนแอลง โดยเฉพาะอัตราส่วนหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 53.3% ในปีที่แล้ว ทำให้ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับชื่อดังออกมาตัดลดเครดิตของประเทศลงจากสถานะมั่นคงลงมาอยู่ที่ติดลบ ขณะที่เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่าจีดีพีแดนเสือเหลืองในปีนี้จะโตลดลงมาอยู่ที่ 5.1% จากเดิมที่ 5.6% ในปีที่แล้ว

“ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มาเลเซียถือเป็นประเทศที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินทุนไหลออกมากที่สุด หากเฟดยุติการใช้นโยบายอัดฉีดขึ้นมา เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณเงินทุนนอกที่ไหลเข้ามามากที่สุด เมื่อเทียบออกมาเป็นอัตราส่วนต่อจีดีพี” ฮัคบินฉัว นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคอาเซียนของแบงก์ออฟอเมริกาเมอร์ริลลินช์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล

พร้อมกันนี้ นักเศรษฐศาสตร์อาเซียนของแบงก์อเมริกาเมอร์ริลลินช์ ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาถือครองพันธบัตรรัฐบาลมาเลเซียมากถึง 49.5% ของจำนวนพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด ดังนั้น แดนเสือเหลืองจึงเสี่ยงเจ็บตัวมากที่สุด หากเฟดยุติหรือถอนคิวอีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศจะแห่เทขายพันธบัตรดังกล่าว เพื่อหันกลับเข้าไปซื้อพันธบัตรสหรัฐที่จะมีผลตอบแทนสูงขึ้น

นอกเหนือจากมาเลเซียแล้ว อีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับภาวะค่าเงินผันผวนอย่างหนัก จากปัญหาเงินทุนไหลออกก็คือ “อินโดนีเซีย” โดยค่าเงินรูเปียห์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องลงมาอยู่ที่ 10,257 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี ที่ 10,293 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ เฉพาะแค่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพียงเดือนเดียวค่าเงินรูเปียห์ได้อ่อนค่าลงไปแล้วถึง 3.4% ที่ 10,273 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐ (ตัวเลขวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา) ขณะที่เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. ค่าเงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้นไปถึง 9,832 รูเปียห์ต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของแดนอิเหนาก็คาดว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในไตรมาส 2 ปีนี้ยอดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น เนื่องจากการไหลทะลักออกของเงินทุนยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทางธนาคารกลางอินโดนีเซียจะพยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วหลายครั้งก็ตาม

ด้าน “อินเดีย” ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาค่าผันผวนต่อไปเช่นกัน โดยค่าเงินรูปี เมื่อวันที่ 30 ก.ค. อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 60.49 รูปีต่อเหรียญสหรัฐ ขณะที่เมื่อช่วงต้นเดือนเดียวกันค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 61.2125 รูปีต่อเหรียญสหรัฐ และเฉพาะแค่เดือน ก.ค. เพียงเดือนเดียวค่าเงินของอินเดีย เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐก็อ่อนลงมาถึง 2.8% และเมื่อเทียบทั้งปีค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงมาแล้วถึง 10% ส่วนเมื่อปลายปีที่แล้วค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 55.07 รูปีต่อเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากการที่เงินทุนไหลออกจากอินเดียอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกได้ถอนทุนออกจากตลาดทุนอินเดียมากถึง 1,050 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นกระแสเงินทุนไหลออกที่มากที่สุดในบรรดาตลาดหุ้น 10 ประเทศในเอเชีย

จากภาวะความผันผวนของค่าเงินของหลายประเทศที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ได้ทำให้เหล่าบรรดาองค์กรทางเศรษฐกิจชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ไปจนถึงที่แถลงการณ์ที่ประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ 20 ประเทศทั่วโลก (จี20) ต่างพากันออกโรงกระตุ้นเตือนให้เหล่าบรรดาชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ หันมาตระหนักถึงการสื่อสารกับตลาดให้มีความชัดเจนมากขึ้น และต้องระมัดระวังในการถอนมาตรการอัดฉีดอีกด้วย

เนื่องจากความคลุมเครือและการขาดความรอบคอบในการสื่อสาร เพื่อชี้นำนโยบายการเงินต่อตลาดย่อมส่งผลเสียต่อภาวะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไปทั่วทั้งโลก ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบมากสุดก็คงจะเลี่ยงไม่พ้นบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย เพราะในช่วงที่เฟดเร่งโหมอัดฉีดนโยบายการเข้าซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) เพื่อปั๊มเงินเข้าสู่ระบบอย่างหนัก ตลาดทุน และตลาดพันธบัตรในเอเชียได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการนำเงินเข้าไปลงทุน

ดังนั้น การที่เฟดยุติคิวอีขึ้นมา จึงย่อมจะส่งผลให้เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างแน่นอน เช่น ค่าเงินในเอเชียที่จะอ่อนค่าลงอย่างหนัก ต้นทุนการระดมทุนจากตลาดพันธบัตรที่จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากความผันผวนในตลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ส่วนหนึ่งเอเชียก็ควรที่จะต้องหันมาเตรียมการรับมือกับภาวะความไม่แน่นอนเอาไว้ให้ดี มิใช่หวังพึ่งแต่องค์กรระหว่างประเทศในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเพียงฝ่ายเดียว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 1 สิงหาคม 2556

ภารกิจท้าทาย "มาเลเซีย" เก้าอี้ประธานเออีซีปี"58

ในปี 2558 นอกจากจะเป็นปีที่มีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แล้ว ยังคาดว่าจะเป็นปีที่ "มาเลเซีย" จะต้องรับบทหนัก เนื่องจากในปีดังกล่าวตำแหน่งประธานอาเซียนจะเวียนมาถึงวาระของมาเลเซีย

เดอะสตาร์ สำนักข่าวจากมาเลเซียรายงานสะท้อนแนวคิดจากศาสตราจารย์ฮิเดโตชิ นิชิมูระ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก หรือ ERIA ว่า ในปี 2558 ที่จะถึงนี้มาเลเซียในฐานะตำแหน่งประธานอาเซียน จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในการอธิบายและโน้มน้าวต่อประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคู่ค้ากับอาเซียนทั่วโลก ถึงนัยสำคัญและวิสัยทัศน์ร่วมกันของชาติอาเซียนภายใต้การเกิดขึ้นของเออีซี

โดยสาระสำคัญที่ชาติสมาชิกต้องปฏิบัติตามก่อนการเข้าสู่เออีซี จะต้องมีการยกเลิกภาษีสินค้า เปิดเสรีภาคบริการ และลดความเข้มงวดของการลงทุนระหว่างกัน โดยในปัจจุบันการผ่อนปรนกฎและมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ระหว่างชาติอาเซียนจะต้องทำให้ได้มากกว่า 77.5% เพื่อที่จะให้การเปิดเออีซีมีความเป็นจริงมากขึ้น

ในส่วนของมาเลเซียได้ปฏิบัติตามกฎที่ตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการลดการกีดกันต่าง ๆ ไปกว่า 88% แม้กระนั้นก็ตาม ศ.นิชิมูระยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของตลาดร่วมอาเซียน อย่างข้อปฏิบัติตามสกอร์การ์ดที่ไม่สามรารถชี้ชัดได้ว่า การเปิดเสรีทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ทางนิชิมูระยังเสริมอีกว่า การทำให้ครบตามเป้าหมาย 100% ของชาติอาเซียนภายในปี 2558 เป็นเรื่องที่ยาก

อย่างไรก็ตาม กรอบการค้าเสรี RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับคู่ค้า 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็เป็นสิ่งที่อาเซียนจะละทิ้งไม่ได้

ซึ่งกรอบ RCEP จะเป็นกรอบการค้าเสรีอีกกรอบหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ที่มาครอบอาเซียนไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยทำให้อาเซียนมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะไม่ใช่แค่ระหว่างชาติอาเซียนเท่านั้น แต่จะมีการดึงอีก 6 ชาติที่เจรจาการค้าเสรีกับอาเซียนเข้ามาเป็นคู่ค้าระหว่างกันอีกด้วย

โดยกรอบ RCEP จะช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และยังมีผลด้านบวกต่อแนวคิดการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาคอีกด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอียังสามารถเข้าถึงเครือข่ายการผลิตร่วมกับพาร์ตเนอร์ในประเทศอาเซียนอื่น ๆ และยังสามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่เครือข่ายการผลิตระดับโลกได้ง่ายขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ที่มีเพียงแค่บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้

นอกจาก RCEP แล้ว มาเลเซียยังเข้าร่วมการเจรจากรอบการค้าขนาดใหญ่อีกหนึ่งกรอบ คือ กรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐ เวียดนาม และมาเลเซีย โดยกรอบดังกล่าวนี้ครองสัดส่วนถึง 40% ของการค้าโลก และมีประชากรรวมกันมากกว่า 750 ล้านคน

เอเอฟพีรายงานว่า มีชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งได้ประท้วงการประชุม TPP ที่มีขึ้นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้

เนื่องจากหวาดกลัวเรื่องอธิปไตยทางเศรษฐกิจของมาเลเซียจะถูกลิดรอนโดยสหรัฐ ผ่านกรอบดังกล่าว

แต่กระนั้นก็ตาม ด้านรองประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวได้ชี้แจงว่า ความร่วมมือภายใต้กรอบ TPP จะช่วยขับเคลื่อนการค้าโลกให้เข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนเชื่อมเอเชียกับโลกให้มีความมั่งคั่งไปพร้อมกัน

มาเลเซียที่เป็นสมาชิกทั้ง 2 กรอบความร่วมมือ จะเป็นตัวประสานที่ดีในการดำเนินยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของมาเลเซียทั้งสองซีกโลก ทั้งโลกเอเชียตะวันออกและโลกตะวันตกฝั่งแปซิฟิก ในกรอบ RCEP มาเลเซียจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ ส่วน TPP มาเลเซียจะได้โอกาสในการค้ากับตลาดที่พัฒนาแล้ว ตลอดจนพัฒนามาตรฐานเป็นสากล ซึ่งอาจจะเป็นแบบอย่างให้กับอาเซียนในอนาคตได้

ทั้งนี้ ภายใน 2 ปีจากนี้มาเลเซียหนึ่งในสมาชิกอาเซียน 2 กรอบความร่วมมือดังกล่าว และผู้รับหน้าที่ประธานอาเซียนมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ปี 2558 เป็นปีที่ชาติอาเซียนได้บูรณาการเศรษฐกิจของภูมิภาคตนเองเข้ากับโลกอย่างจริงจังตามที่เคยว่าไว้

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 1 สิงหาคม 2556

จ.หนองคาย เตรียมจัดทำโซนนิ่งภาคการเกษตรโดยให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืชที่ไม่ใช่ข้าว

วันที่ 1 สิงหาคม 2556 เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านว่าน นายอนุรัฐ ไทยตรง นายอำเภอท่าบ่อ เป็นประธานประชุมเตรียมจัดทำโซนนิ่งภาคการเกษตรโดยให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืชที่ไม่ใช่ข้าว โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมในการประชุม นายสมคิด ผิวนวล เกษตรอำเภอท่าบ่อ กล่าวว่ารัฐบาลมีนโยบายจัดทำโซนนิ่งภาคการเกษตรโดยให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืชที่ไม่ใช่ข้าว โดยมอบหมายให้จังหวัดดำเนินการสื่อสารกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่เหมาะสมน้อยหรือไม่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกข้าวมาปลูกพืชที่ไม่ใช่ข้าว เช่น อ้อยโรงงาน

โดยการสำรวจพื้นที่จริง ความต้องการในการปรับเปลี่ยน และข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนในแต่ละพื้นที่แล้วรายงานผลความต้องการของเกษตรกรให้จังหวัดทราบเพื่อรายงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2556 อำเภอท่าบ่อจึงได้จัดการประชุมขึ้นเพื่อเตรียมดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 1 สิงหาคม 2556

ระดมสมองกึ่งศตวรรษพด.

กรมพัฒนาที่ดินจัดประชุมวิชาการเพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาทรัพยากร

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรดินและที่ดิน โดยในแต่ละปีมีการดำเนินงานวิจัยสาขาต่างๆ 6 สาขาได้แก่ สาขาอนุรักษ์ดินและน้ำ สาขาปรับปรุงบำรุงดิน สาขาสำรวจ วิเคราะห์วางแผนการใช้ที่ดิน และเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และสาขาเศรษฐสังคมและประเมินผล เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และพืชในพื้นที่ที่มีปัญหา เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิตทางการเกษตรโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดการองค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติในการเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดการระบบการผลิต ลดใช้สารเคมีทางการเกษตรและพัฒนาสู่ระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์

ดังนั้น กรม จึงจัดให้มีการประชุมวิชาการกึ่งศตวรรษกรมพัฒนาที่ดินปี 2556 ขึ้น ระหว่างวันที่ 6-9 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมสีดา รีสอร์ท อ.เมือง จ.นครนายก เพื่อให้นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้รับทราบนโยบายการดำเนินงานวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งมีการเสนอผลงานวิชาการในสาขาต่างๆ และเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในภาคสนามและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการดำเนินงานทางวิชาการร่วมกัน ตลอดจนนำความรู้ที่ได้รับจากการประชุมไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา และจัดการทรัพยากรดินและที่ดินในพื้นที่ของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

สำหรับการนำเสนอผลงานวิชาการประกอบด้วยสาขาต่างๆ ดังนี้ คือ สาขาปรับปรุงบำรุงดิน จำนวน 12 เรื่อง สาขาอนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 6 เรื่อง สาขาเศรษฐกิจสังคมและประเมินผล จำนวน 4 เรื่อง สาขาสำรวจ วิเคราะห์ วางแผนการใช้ที่ดินและเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 6 เรื่อง สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จำนวน 8 เรื่อง และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ จำนวน 10 เรื่อง ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 700 คน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 สิงหาคม 2556

เหนือ-อีสานยังเสี่ยงวิกฤติขาดน้ำ กรมชลชี้ปริมาณกักในเขื่อนต่ำ เหลือใช้การได้เพียงร้อยละ4-18

นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำ
ในช่วงฤดูฝนปีนี้ว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2556 มีฝนตกกระจายทั่วประเทศไทย ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ แต่ปริมาณน้ำยังค่อนข้างน้อย โดยสิ้นเดือนกรกฎาคม 2556 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 11 แห่ง มีปริมาณรวมกัน 3,125 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 38 มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 1,471 ล้านลบ.ม คิดเป็นร้อยละ 18 ส่วนภาคเหนือ มีเขื่อนขนาดใหญ่ 7 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,837 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,098 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 เท่านั้น

ทั้งนี้เนื่องจากช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกค่อนข้างต่ำ ยังไม่มีพายุจรพัดเข้ามาจึงทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นกรมชลประทาน จำเป็นจะต้องกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันก่อน จำเป็นจะต้องชะลอการส่งน้ำเพื่อการเกษตรออกไป โดยจะแจ้งเตือนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกพืชให้เลื่อน การปลูกพืช โดยเฉพาะข้าวนาปีออกไปเช่นกัน

“ฝนตกช่วงที่ผ่านมาถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5–10% ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะเริ่มมีฝนตกหนักที่ทางภาคเหนือตอนบน และที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และเลย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 จะเริ่มมีร่องมรสุมพาดผ่านทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนัก และจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้นอย่างแน่นอน” นายทองเปลวกล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้น คณะกรรมการจัดการชลประทานของโครงการชลประทานแต่ละแห่งทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับแผนการส่งน้ำ โดยยังจะคงส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ตามปกติ ยกเว้นด้านการเกษตรที่จะต้องชะลอส่งน้ำในขณะเดียวกันคณะกรรมการ ยังได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเหลือในเขื่อนทั้งสองภาคเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน โดยถ้าหากเกิดกรณีที่ฝนตกน้อยมาก อย่างน้อยที่สุด ก็จะยังคงมีปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่เหลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งพอสำหรับกิจกรรมตามปกติ ส่วนเกษตรกรอาจต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน ซึ่งจะมีการแจ้งให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าเป็นระยะต่อไป ส่วนสถานการณ์น้ำทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 สิงหาคม 2556