http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนสิงหาคม 2558)

คลังชง3แพ็คเกจเศรษฐกิจเข้าครม.

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.วันที่ 1 ก.ย.นี้ กระทรวงคลังจะเสนอมาตรการด้านเศรษฐกิจ 3มาตรการ คือ มาตรการช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐผ่านไปยังตำบลต่างๆทั่วประเทศ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และมาตรการใช้จ่ายงบประมาณด้านการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้การเบิกจ่ายทำได้สะดวกขึ้น และส่งผลประโยชน์กับผู้ประกอบการขนาดเล็กในพื้นที่ซึ่งรับงานมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยทั้ง3 มาตรการนี้ คงเป็นการเสนอเป็นรายละเอียดกว้างๆก่อน ส่วนรายละเอียดย่อยคงต้องให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 31 สิงหาคม 2558

ส.อ.ท.แนะรัฐปรับ GDP พึ่งส่งออกเหลือ 50% ลุ้น “สมคิด” พลิกฟื้น ศก.

ส.อ.ท.แนะรัฐปฏิรูปเศรษฐกิจไทยลดพึ่งพิงการส่งออกจาก 70% ของGDP เหลือ 50% เร่งรัฐลงทุน ดูแลท่องเที่ยว และการบริโภคภาคครัวเรือนให้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ตั้งความหวัง “สมคิด” ทยอยคลอดมาตรการดูแลพลิกเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดีขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2559

                นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการส่งออกคิดเป็น 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นไทยต้องพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้นทั้งการลงทุนจากภาครัฐ และเอกชน การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน เพื่อลดสัดส่วนการส่งออกให้เหลือ 50% ของ GDP เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะยาวให้มีความมั่นคงมากขึ้น

               “เวลานี้ฐานะการเงินเราดีมาก มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 1.57 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หนี้สาธารณะเหลือไม่ถึง 40% ของ GDP เปรียบประเทศเป็นบริษัทตอนนี้เรายังมีเงินแต่ขายของไม่ได้เราต้องเลี้ยงพนักงานไว้พอเศรษฐกิจมาก็จะไปได้เองแต่ไม่ใช่ไปเรียกเก็บภาษีนั่นนี่ยิ่งเลวร้ายไปใหญ่ นั่นคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจข้างในขับเคลื่อน เพราะเวลานี้คือสินค้าเกษตรตกต่ำ รายได้เกษตรกรลดลงมาก คนกลุ่มนี้ไม่มีเงินจับจ่ายแล้วก็กระทบไปยังเอสเอ็มอีต่อเนื่อง” นายสุพันธุ์กล่าว

               ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมีนโยบายชัดเจนที่จะเข้ามาดูแลภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี เช่น มีกลไกจากเงินกองทุนหมู่บ้านเข้ามาดำเนินการ ตลอดจนด้านโครงสร้างภาษีเอสเอ็มอีที่ ส.อ.ท.ได้เสนอไปแล้ว ขณะที่การลงทุนก็กำลังปรับปรุงมาตรการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ดียิ่งขึ้น หากดำเนินการทั้งหมดเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะค่อยๆ ฟื้นตัวและจะต่อเนื่องไปถึงปี 2559

               นายสุพันธุ์กล่าวว่า คาดว่า ครม.จะเริ่มทยอยออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศออกมา ซึ่งหลายคนอาจมองว่าบางมาตรการจะเข้าข่ายประชานิยม ส.อ.ท.ยืนยันว่าไม่ได้เห็นด้วยกับประชานิยมแต่จำเป็นจะต้องค่อยๆ เลิกและปรับใหม่เพราะไทยเสพติดมานาน โดยเฉพาะภาคเกษตรที่มีทั้งระบบประกัน และจำนำ โดยต้องแบ่งโซนเพาะปลูกหากอยู่นอกโซนก็ไม่ดูแลแล้วค่อยๆ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ก็จะทำให้สามารถคาดการณ์ผลผลิตแต่ละชนิดพอที่รัฐจะประเมินเงินช่วยเหลือดูแลช่วงสินค้าตกต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้สินค้าเกษตรหลักที่รัฐต้องเข้ามาดูคือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย

               “เราต้องแก้ระยะสั้น และมองระยะยาวกรณีดิจิตอลอีโคโนมี จำเป็นจะต้องมีไวไฟ มี 4G ทิศทางอุตสาหกรรมไปทางนี้หมดอีกหน่อยจะชิฟไปอย่างรุนแรง ต้องลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้รองรับไว้” นายสุพันธุ์กล่าว

 จาก http://www.manager.co.th วันที่ 31 สิงหาคม 2558

ที่ดินไทย ที่อยู่ไทย หอมสุดๆ ใน AEC?

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี มีเป้าหมายของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็นตลาด และฐานการผลิตเดียว โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือภายในอาเซียนได้อย่างเสรี รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ภายในสิ้นปี 2558 และภายใต้กรอบการเจรจาของอาเซียน จึงไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ประเทศสมาชิกต้องเปิดเสรีการค้าบริการ รวมถึงบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยลดหรือยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด นอกจากนั้น ยังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้กับนักลงทุนที่มีสัญชาติอาเซียนได้สูงสุด ตั้งแต่ 51% - 70% ในบางประเทศเปิดถือเต็ม 100% ด้วย

จากข้อกำหนดดังกล่าว ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว และเตรียมความพร้อมรับมือกับนักลงทุนต่างชาติที่มีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยโดยเฉลี่ยยังมีราคาต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น สิงคโปร์ นอกจากนี้ ประเทศไทยเองยังตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งเหมาะต่อการเข้ามาลงทุนหรือประกอบธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศได้ในระยะยาว ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถออกไปแข่งขัน หรือขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราความต้องการที่อยู่อาศัยสูงกว่า พร้อมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในฐานะที่เป็นธุรกิจการค้าครอบคลุมถึงการพัฒนา ออกแบบก่อสร้าง ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้สินเชื่อจำนอง ประเมินค่าทรัพย์สิน โอนเปลี่ยนมือและการบริหารจัดการดูแลทรัพย์สิน ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน ที่สำคัญมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย แต่ในขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนจากการจัดหาสถาปนิก หรือวิศวกรเซ็นงานได้เช่นเดียวกัน

 นอกจากนี้ ตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน หรือการยกเลิกและขจัดมาตรการที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบภาษี ที่จะเป็นอุปสรรคทางการค้าก็ตาม อาจส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบ หรือวัสดุก่อสร้างจากประเทศสมาชิกที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และไม่มีภาษีนำเข้าหรือเพิ่มทางเลือกและความหลากหลายให้กับผู้ประกอบการในการสั่งนำเข้าวัตถุดิบ หรือวัสดุก่อสร้างมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลทำให้เกิดการนำเข้าวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งบ้านที่มีคุณภาพต่ำ และไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาดมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นผลกระทบทางตรงที่อาจเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ในขณะที่ผลกระทบทางอ้อมนั้นเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างอายุประชากรของประเทศสมาชิกอาเซียนพบว่ามีความคล้ายคลึงกัน โดยประชากรส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศอยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) ซึ่งสัดส่วนประชากรคนทำงานมีสูงถึง 70% ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน และยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมจะลองสินค้าใหม่ๆ ที่มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการผลิต ส่งผลให้เกิดแนวคิดการพัฒนา และการออกแบบที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีความแปลกใหม่ และดึงดูดความสนใจมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ รายได้เฉลี่ยของประชากรในแต่ละประเทศสมาชิกก็อาจจะเป็นตัวกำหนดแนวคิดในการพัฒนา และการออกแบบที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน โดยเฉพาะสิงคโปร์ และบรูไน ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง

ทำให้ผู้บริโภคนิยมสินค้าที่มีแบรนด์ โดยคำนึงถึงคุณภาพ และความทันสมัยของสินค้าเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญกับแนวคิดที่เน้นในเรื่องของคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยมาก่อนเป็นอันดับแรก

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จะไม่ให้บอกว่า ที่ดินไทย ที่อยู่ไทย ส่งกลิ่นหอมสุดๆ ในเออีซีได้อย่างไร? ในเมื่อโอกาสเปิดรับเม็ดเงิน และกำลังซื้อใหม่ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านใกล้ และไกลในภูมิภาคเออีซี

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 31 สิงหาคม 2558

เปิดตัวสำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์การค้า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดตัวสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ผลักดันเป็นศูนย์ข้อมูล จัดทำนโยบายเชิงรุก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดตัวสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า สนค. เป็นหน่วยงานเทียบเท่าระดับกรม ทำหน้าที่เป็นคลังสมองของกระทรวงพาณิชย์ ทำงานร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวางนโยบายและยุทธศาสตร์เชิงรุก เป็นข้อมูลตัดสินใจเชิงนโยบายให้กับกระทรวงในการดูแลปัญหาเร่งด่วน และปัญหาในระยะยาวจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยจะต้องมีการตอบโจทย์การทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งการดูแลค่าครองชีพ การเพิ่มรายได้เกษตรกร และการดูแลการส่งออก

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 31 สิงหาคม 2558

จุฬาฯคิดค้นนำถ่านชีวภาพปรับปรุงดิน

จุฬาฯ ดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้ประโยชน์คิดค้นนำถ่านชีวภาพ ปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มผลผลิต การเกษตร

 ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี นักวิจัย จุฬาฯ เปิดเผยว่า Unisearch ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การปรับปรุงคุณภาพดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยถ่านชีวภาพเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน” จึงได้เกิดคณะนักวิจัยที่ร่วมกันรับผิดชอบโครงการเกิดขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ มาจากแนวคิดที่ว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทั้งนี้ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ชนบทประสบปัญหาความยากจน โดยมีสาเหตุมาจากประชาชนปราศจากคามรู้และความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานพยายามนำเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูง คุณภาพของผลผลิตที่ได้รับ ความสมบูรณ์และคุณภาพของทรัพยากรดิน ความเพียงพอของทรัพยากรน้ำในการเกษตร การใช้สารเคมีเพื่อ เร่งการผลิต สารเคมีปราบศัตรูพืชซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เข้าใจง่าย และใช้ได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเกษตรแนวใหม่ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ บำรุงดูแลรักษาสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นทุนในการผลิตและเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ให้ ยั่งยืนเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ดร.ทวีวงศ์ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่ศูนย์วิจัยถ่านชีวภาพป่าเต็ง ตั้งแต่ปี 2554 ของคณะวิจัยพบว่า การใช้ถ่านชีวภาพสามารถปรับ ปรุงคุณภาพดินและสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชไร่ พืชสวน พืชผัก และข้าวได้อย่างชัดเจน โดยการดำเนินงานวิจัยที่ผ่านมาได้คิดค้นละประดิษฐ์เตาเผาถ่านชีวภาพ Controlled Temperature Retort for Slow Pyrolysis Process (จดสิทธิบัตร) โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตได้โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถผลิตถ่านชีวภาพที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญนำไปสู่การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่ท้องถิ่นนับเป็นการใช้งานวิจัยเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ

การดำเนินการในโครงการปรับปรุงคุณภาพดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยถ่านชีวภาพเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีในลักษณะของการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้นำชุมชน โดยมีความต้องการที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่น โดยใช้เตาเผาถ่านชีวภาพ Controlled Temperature Retort for Slow Pyrolysis Process ซี่งมีกระบวนการที่ง่ายไม่ซับซ้อนผู้ที่เข้ารับการอบรมและทดลองผลิตถ่านชีวภาพจาวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรและวัสดุในท้องถิ่นด้วย และ สามารถนำกลับไปทำได้เอง

“มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มระบบ การเรียนรู้ ( Knowledge Management) สร้างความสามารถ (capability building) ในการต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างโมเดลการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อ พัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหารในพื้นที่และขยายผลในพื้นที่อื่นๆต่อไป” ดร.ทวีวงศ์ กล่าว

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com   วันที่ 31 สิงหาคม 2558

โครงการพัฒนาฯ ห้วยหลวงตอนล่าง ต่อยอด...สู่การแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน

พื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากที่สุดถึงประมาณ 63.6 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศคือ 149.2 ล้านไร่ แต่กลับเป็นภาคที่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ภาคอีสาน จะมีความมั่นคงในเรื่องน้ำค่อนข้างต่ำกว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้ประชากรโดยเฉลี่ยต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

สมเกียรติ ประจำวงษ์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย พยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ติดปัญหาหลายอย่าง นอกจากจะหาพื้นที่ก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ยากแล้ว ยังถูกต่อต้านจากเอ็นจีโอบางองค์กรอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2532 ภาครัฐจึงได้ลงทุนดำเนินการโครงการ โขง-ชี-มูล เพื่อจะนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก็ทำได้จำกัดอยู่เฉพาะในบริเวณพื้นที่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำโขง เพราะการพัฒนาโครงการบนลำน้ำโขงเพื่อนำน้ำเข้ามาใช้ยังไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้องได้รับข้อตกลงและความร่วมมือจากประเทศภาคีก่อน

แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่มีช่องว่างที่จะทำได้เลย....

ในระหว่างปี 2539-2545 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและก่อสร้างประตูระบายห้วยคลอง กั้นลำน้ำห้วยหลวงก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อจะกักเก็บน้ำในลำน้ำแทนการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จกลับไม่สามารถเปิดใช้งานได้ไม่เต็มตามศักยภาพตามที่ได้ออกแบบไว้ เนื่องจากยังคงมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาการจัดซื้อที่ดิน ปัญหาขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมในกรณีต่างๆ ยังไม่ชัดเจน เป็นต้น ต่อมาในปี 2546 ก็ได้ถ่ายโอนประตูระบายน้ำดังกล่าวมาให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล

ปัญหาดังกล่าวได้ยืดเยื้อมายาวนานจนกระทั่งในปี 2557 ที่ผ่านมา กรมชลประทานร่วมกับสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ดำเนินการสำรวจจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ตั้งแต่ ท้ายประตูระบายน้ำสามพร้าว ไปจนถึงปากน้ำลำห้วยหลวง ครอบคลุมพื้นที่ 2,160 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ในเขต 6 อำเภอ ของจ.อุดรธานี คือ อ.เมือง อ.หนองหาน อ.พิบูลย์รักษ์ อ.เพ็ญ อ.บ้านดุง อ.สร้างคอม และ 1 อำเภอ ของจ.หนองคาย คือ อ.โพนพิสัย โดยการศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการควบคุมบริหารจัดการของประตูระบายน้ำห้วยหลวงที่มีปัญหายาวนานด้วย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งควบคู่กัน กำหนดพื้นที่น้ำท่วมจากการดำเนินการของประตูระบายน้ำห้วยหลวงที่ชัดเจน ตลอดจนแนวทางลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วมในลําน้ำห้วยหลวง เพื่อกำหนดขอบเขตน้ำท่วมที่เหมาะสม และที่สำคัญเพื่อต้องการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม เสนอความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่ห้วยหลวงตอนล่างในทุกขั้นตอน

ในที่สุดผลการศึกษาที่ได้ผ่านขบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง คือ ปัญหาน้ำท่วม ขาดแคลนน้ำ น้ำเน่าเสีย และการกระจายตัวของน้ำเค็ม หากจะให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งปัญหาของประตูระบายน้ำห้วยหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์มากที่สุด และไม่เป็นการลงทุนแบบสูญเปล่าแล้ว จะต้องดำเนินโครงการสำคัญๆ อย่างน้อย 6 โครงการด้วยกันคือ

1.โครงการสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง แก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม ภัยแล้งและน้ำเสีย

2.โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ-พัฒนาแก้มลิงพร้อมระบบชลประทานประตูระบายน้ำดงสระพัง แก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม

ภัยแล้งและน้ำเสีย

3.โครงการประตูระบายน้ำหนองสองห้อง สถานีสูบน้ำ

 ถ่อนนาเพลินพร้อมระบบชลประทาน แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง

4.โครงการสูบน้ำพื้นที่ชลประทานห้วยหลวง-คลองดัก แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง

5.โครงการสถานีสูบน้ำบ้านนาคำพร้อมระบบชลประทาน แก้ปัญหาภัยแล้ง

และ 6.โครงการประตูระบายน้ำดอนกลอย-สถานีหนองบัว แก้ปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้ยังได้มีการลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ จากประชาชนระดับแกนนำลุ่มน้ำหลัก ระดับลุ่มน้ำสาขา และหน่วยงานต่างๆ เห็นว่า มี 2 โครงการที่จะต้องการศึกษาความเหมาะสมโครงการเบื้องต้นต่อไปในระยะแรก ได้แก่ โครงการสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง และโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ-พัฒนาแก้มลิงพร้อมระบบชลประทานประตูระบายน้ำดงสระพัง

“โครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างดังกล่าว เป็นการศึกษาโดยดูปัญหาเป็นที่ตั้ง ว่าเกิดจากอะไร ปัญหาที่อยู่ตรงไหน มีขอบเขตของปัญหาอย่างไร และประชาชนได้รับผลกระทบอะไรบ้าง อะไรที่แก้ได้ อะไรที่แก้ไม่ได้ เพื่อจะนำไปสู่การทำแผนที่ถูกต้องแม่นยำ โดยไม่ได้ตั้งธงไว้ผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งจะทำให้ได้ข้อสรุปที่เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกฝ่ายยอมรับ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นๆ ก็จะสามารถขับเคลื่อนได้” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าว

โครงการศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง กรมชลประทานจะถือเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ เป็นรูปแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ให้การยอมรับ และที่สำคัญประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมจัดทำแผนขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเดินหน้าไปได้ไม่สะดุด หรือถูกต่อต้านเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เมื่อการพัฒนาแหล่งน้ำสามารถดำเนินการได้ น้ำท่าก็จะอุดมสมบูรณ์ ความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะดีขึ้น มีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน

การปรับครม. “ประยุทธ์ 3” ที่เลือกให้ “พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ” มานั่งเป็นรมว.เกษตรฯ เสียเอง จากที่เคยเป็น รมว.พาณิชย์ ที่เป็นกระทรวงการค้าที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับกระทรวงเกษตรฯซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูแลเกษตรกรทั่วประเทศในการผลิตสินค้าเกษตร ที่ส่งต่อให้กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ทำหน้าที่ค้าขายในบางสินค้า ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และอีกมากมาย  นั่นรวมถึงสินค้าเกษตรบางอย่างที่จะต้องมีการนำเข้าเมื่อคราที่ขาดแคลน โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม

จนสุดท้ายกลายเป็นปัญหาระหองระแหง ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯอย่างรุนแรงในหลายครั้ง เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ต้องปกป้องเกษตรกร เพราะหากมีการนำเข้าจะกระทบต่อราคาปาล์มน้ำมันภายในประเทศ ส่วนกระทรวงพาณิชย์ ก็มักจะอ้างขาดแคลนอาจกระทบต่อผู้บริโภค ส่วนกระทรวงเกษตรฯยังยืนยัน ไม่ควรนำเข้าสุดท้ายก็เลือก

 นำเข้า เพราะคณะกรรมการที่ดูแลน้ำมันปาล์มเขาดันเชื่อข้อมูลของกลุ่มพ่อค้า และสุดท้ายเป็นปัญหาบานปลายเนื่องจากราคาปาล์มน้ำมันภายในประเทศตกต่ำ ตามที่กระทรวงเกษตรฯให้ข้อมูลไป และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องเดียวที่มีความขัดแย้งในเรื่องข้อมูลด้านการเกษตรที่สองหน่วยงานทำงานไม่เข้าขา ระหว่างกระทรวงค้าขายและกระทรวงที่ดูแลผู้ผลิตสินค้าเกษตร

มาถึงวันนี้เมื่อลมเปลี่ยนทิศให้ “พลเอกฉัตรชัย” ต้องมานั่งเป็นหัวเรือในการบริหารกระทรวงเกษตรฯ จากที่เคยนั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นกระทรวงการค้าที่อ้างนักอ้างหนาเมื่อขายสินค้าเกษตรไม่ได้ก็มักอ้างสินค้าไม่มีคุณภาพขายลำบากจากนี้ไปคงได้เห็นการปรับแนวคิดและกระบวนทัพในการผลิตสินค้า เพราะคงรู้ดีว่าข้อมูลที่ทางกระทรวงพาณิชย์ให้มานั้นมันเป็นอย่างไง

 ถึงวันนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเดินหน้าอย่างไรให้การพัฒนาด้านการเกษตรมันเทียบทันอารยประเทศ ที่เป็นคู่แข่งการส่งออกของไทย  เพราะเท่าที่ทราบทันทีมีปรับครม. แว่วกันว่าท่านรัฐมนตรีเรียกหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา กับกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรฯที่มี อาจารย์ “ยิ้ม” นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าชี้แจงข้อมูลให้ฟังเป็นหน่วยงานแรก

งานนี้อาจต้องมีการปรับขบวนทัพในเรื่องข้อมูลการเกษตรครั้งใหญ่ทั้งหมด เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้นและนั่นก็คงจะเป็นโอกาสที่ท่านรัฐมนตรีที่ชื่อ “ฉัตรชัย” จะได้ทำความเข้าใจกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลเกษตรกรที่เป็นภาคการผลิตสินค้าเกษตร ไปด้วยจากที่เคยมองในมุมมองของกระทรวงการค้าที่ด่ากระทรวงเกษตรฯ แบบไม่ไว้หน้ามาหลายครั้งว่าผลิตแต่สินค้าไม่ได้คุณภาพ และที่สำคัญ ท่านรัฐมนตรีคนใหม่ยังย้ำว่า นโยบายกระทรวงเกษตรฯ จากนี้ไปจะเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลักและกำชับให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ลงลุยพื้นที่หนุนให้เกษตรกรเขาลดต้นทุนการผลิต แถมท่าน “ฉัตรชัย” ยังย้ำว่า มีข้อมูลชัดเจนในพื้นที่ “ราชบุรี” ปลูกข้าวได้ด้วยต้นทุนต่ำ ตันละกว่า 3,000 บาท แต่แปลกใจว่าทำไมกระทรวงเกษตรฯ ไม่ลองไปดู เพราะหากทำได้ยังไงเกษตรกรก็ขายข้าวได้ราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 6,000 บาท ซึ่งอยู่ได้อย่างมั่นคงและหากราคาสูงกว่านั้นก็ถือว่ามีกำไร  

จากนี้ไปคงต้องติดตามว่ากระบวนทัพการเดินหน้าแก้ปัญหาภาคการเกษตรที่มีนายทหารชื่อ “พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ” จะเดินหน้าอย่างไรคงต้องติดตาม เพราะท่านขีดเส้นไว้ว่า 1 เดือน คงให้ทิศทางว่าควรปรับส่วนไหนบ้าง และจะทุ่มเทให้

 งานในฐานะ รมว.เกษตรฯเต็มที่เพราะตำแหน่งที่ท่านรับราชการทหาร อีก 1 ตำแหน่งก็จะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนี้ด้วยแต่ที่แน่ๆ คงไม่ถึง 1 เดือนคงเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระทรวงเกษตรฯในส่วนข้าราชการระดับสูงภายในกระทรวงเกษตรฯ  ซึ่งมีทั้งตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรฯที่ถูกปลดกลางอากาศ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และอธิบดีที่เกษียณหลายตำแหน่งนั่นไม่รวมที่ทำงานไม่เข้าตา ขัดแข้งขัดขาถ่วงความเจริญอีกเพียบ ลองดูกันว่า ท่านรัฐมนตรีคนนี้จะเลือก ม้าพยศทำงาน หรือม้าแกลบในเข่งรัฐบาลเก่า แต่งตัวรอเอาไว้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

นโยบายรมว.เกษตรฯคนใหม่ 

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิด เผยภายหลังการมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ได้ มอบแนวทางการทำงานให้กับข้าราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้ยึดหลักการทำงานและการเร่งรัดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

          โดยจะต้องทำงานอย่างโปร่งใส ไม่คอร์รัปชั่น ทั้งด้านการเงินและด้านข้อมูล โดยเฉพาะความโปร่งใสในข้อมูล ที่จะสามารถนำเสนอผู้บังคับบัญชาและสาธารณชนได้อย่างโปร่งใสชัดเจน การยึดหลักนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี คือ "ทำก่อนและทำทันที" ตามโรดแม็พ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะต่อเนื่อง และงานที่ต้องการให้เกิดความยั่งยืน การให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการทำ งานในทุก ๆ เรื่อง และจะต้องมีผู้รับผิดชอบการทำงานในทุกระดับอย่างชัดเจน

          นอกจากนี้ ยังเน้นการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และมุ่งผลสัมฤทธิ์สู่เกษตรกรเป็นหลัก โดยจะต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร รวมถึงสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ สำหรับนโยบายที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการมาแล้วนั้น ก็จะดำเนินการต่อไป โดยจะต้องขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้ เกิดประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว และเห็นผล ได้ทันที.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ขับเคลื่อนต่อ "เกษตรแปลงใหญ่" ประกาศิต "ฉัตรชัย สาริกัลยะ

          หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคการเกษตร ตามแนวคิดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อครั้งที่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนในปี 2558 คือ "เกษตรแปลงใหญ่" ด้วยการประยุกต์ใช้กับหลายโครงการ ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ โดยมีเป้าหมายในการนำร่องพื้นที่ของเกษตรกร 219 แห่ง จุดละกว่า 1,000 ไร่

          ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นให้ยึดหลักการทำงานและการเร่งรัดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยึดหลักนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี "ทำก่อนและทำทันที" ตามโรดแม็พ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะต่อเนื่อง และงานที่ต้องการให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงนโยบายที่นายปีติพงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการมาแล้วนั้น ก็จะดำเนินการขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้เกิดประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว และเห็นผลได้ทันที รวมถึงการรวมแปลงเกษตรขนาดใหญ่ ผ่านสหกรณ์ด้วย

          สอดคล้องแนวคิดของ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ยืนยันว่า เกษตรแปลงใหญ่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร รวมถึงค่าแรงงาน ทางออกที่ดีสำหรับเกษตรกรคือ ต้องรวมกลุ่มกันผลิตในรูปแบบเกษตรกรรมแปลงใหญ่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนร่วมขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่กับกรมวิชาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและและช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร และต้องมีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดด้วย

          "วันที่ท่าน พล.อ.ฉัตรชัย มอบนโยบายวันแรก ท่านพูดชัดเจนว่า นโยบายที่ท่านอดีตรัฐมนตรีปีติพงศ์ดำเนินการมาแล้ว และเป็นเรื่องที่ดีต่อเกษตรกรก็ให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทีมเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร จะลงพื้นที่แปลงใหญ่ทำงานร่วมกัน ตั้งแต่รับฟังปัญหาและความต้องการของเกษตรกร ทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และการผลักดันแปลงใหญ่เข้าสู่มาตรฐาน ทำให้สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดล่วงหน้าได้ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรรายย่อย สามารถแข่งขันได้เมื่อเปิดตลาดเออีซี" นายโอฬาร กล่าว

          สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2558-2559 ของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีแผนเร่งบูรณาการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เน้นกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม และใช้พื้นที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา (Area-Based) โดยผนึกพื้นที่-คน-สินค้าเข้าด้วยกัน มีเป้าหมาย จำนวน 219 จุด 13 ชนิดพืช รวมพื้นที่ 366,463 ไร่ เกษตรกร 26,265 ราย

          ประกอบด้วย ข้าว 139 จุด พื้นที่ 264,736 ไร่ มันสำปะหลัง 21 จุด พื้นที่ 41,616 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8 จุด พื้นที่ 8,150 ไร่ ทุเรียน 10 จุด พื้นที่ 8,743 ไร่ ลำไย 10 จุด พื้นที่ 18,832 ไร่ เงาะ 1 จุด พื้นที่ 1,000 ไร่ นอกจากนั้นยังมีมะม่วง 4 จุด พื้นที่ 4,985 ไร่ มังคุด 12 จุด พื้นที่ 7,238 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 5 จุด พื้นที่ 3,063 ไร่ สับปะรด 3 จุด พื้นที่ 3,300 ไร่  ส้มโอ '1 จุด พื้นที่ 300 ไร่ มะพร้าวน้ำหอม 1 จุด พื้นที่ 500 ไร่  และผัก 4 จุด พื้นที่ 4,000 ไร่

          ในส่วนของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดต่างๆ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานนั้น ได้มีการคัดเลือกพื้นที่แปลงใหญ่เรียบร้อยแล้วทั้ง 76 จังหวัด แบ่งเป็น 28 สินค้า จำนวน 263 แปลง ประกอบด้วย ด้านพืช 21 ชนิด จำนวน 241 แปลง อาทิ ข้าว 138 แปลง ยางพารา 3 แปลง ปาล์มน้ำมัน 12 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 แปลง อ้อยโรงงาน 5 แปลง มันสำปะหลัง 17 แปลง ผลไม้ 45 แปลง พืชผักอื่นๆ อีก 13 แปลง ที่เหลือจะเป็นด้านปศุสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ ไก่พื้นเมือง โคเนื้อ และโคนม ด้านประมง 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งขาว หอยแครงและปลาน้ำจืด เป็นต้น

          เบื้องต้นทั้ง 2 หน่วยงานได้นำร่องส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยแปลงใหญ่ในแหล่งผลิตผักสำคัญของประเทศ 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก และเพชรบูรณ์ รวมพื้นที่ 4,000 ไร่ เกษตรกรประมาณ 1,000 ราย โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มบริหารจัดการการผลิตผักแปลงใหญ่ พร้อมจัดหาจัดซื้อและใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรร่วมกัน เน้นให้ใช้สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืชเพื่อทดแทนการใช้สารเคมี และลดปริมาณการใช้สารเคมีลง และให้ใช้อย่างถูกต้องตามหลัก

          วิชาการ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันยังมุ่งผลักดันให้เกษตรกรในแปลงใหญ่เข้าสู่ระบบมาตรฐานจีเอพีด้วย

          ก่อนหน้านี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้จัดเตรียมข้อมูลและเอกสารวิชาการ รวมถึงผลงานวิจัยด้านพืชที่ประสบผลสำเร็จแล้ว ทั้งพันธุ์พืชใหม่ ด้านเขตกรรม การจัดการแปลง โรคและแมลงศัตรูพืช รวมถึงการเก็บเกี่ยวและการดูแลหลังการเก็บเกี่ยว และแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ส่งมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำไปเผยแพร่และถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในแปลงใหญ่

          พร้อมกันนี้กรมวิชาการเกษตรยังจะเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชไปสู่เกษตรกร ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ลำไย ทุเรียน มังคุด มะม่วง สับปะรด เงาะ ปาล์มน้ำมัน ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม และพืชผัก เป็นต้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนการวิเคราะห์ตรวจสอบสารตกค้างในผลผลิต เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมจำหน่ายสารเคมีเกษตรที่ผิดกฎหมายในพื้นที่เป้าหมาย และสนับสนุนการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐานจีเอพีอีกด้วย

          "เกษตรแปลงใหญ่" นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีความตั้งใจจะแก้ปัญหาการเกษตรในระยะยาว โดยเน้นที่จะให้ลดต้นทุนการผลิต ง่ายต่อการแก้ปัญหา และมีอำนาจในการต่อรอง ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ "พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ" ยังให้ความสำคัญอยู่

          บรรยายใต้ภาพ

          อนันต์ สุวรรณรัตน์

          โอฬาร พิทักษ์

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

เปิดใจ"สมคิด"ฟื้นเศรษฐกิจไทย 

          การปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย “ยกเครื่อง” ทีมเศรษฐกิจใหม่ยกชุด กำลังกลายเป็น “ความหวังใหม่” ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีหัวหน้าทีมชื่อ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”

          เพราะชื่อชั้นที่ผ่านมา “การันตี” ความเป็น “มืออาชีพในด้านเศรษฐกิจ” ได้เป็นอย่างดี

          แต่พร้อมๆกันนั้น คงมีคนจำนวนมากสงสัยใคร่รู้ว่า “ดร.สมคิด” ซึ่งเป็นอดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง และอดีตคนใกล้ชิด “นายใหญ่ดูไบ” ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” แห่งพรรคไทยรักไทย สามารถ เข้ามาอยู่ใน “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ที่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีแต่ “ขุนทหาร” ได้อย่างไร?

          ทั้งๆที่ตัวเขาเองยืนยัน นั่งยันว่าไม่เคยรู้จักคนชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มาก่อน!

          อีกทั้งต่อมายังได้ก้าวเข้ามาเป็น “ม้าสีหมอก” ตัวใหม่ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ในตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี” และ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่ต้องแบกรับภารกิจอันสำคัญในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวน เศรษฐกิจภายในประเทศพลิกผัน คนรายได้น้อยกินอยู่ยากลำบาก

          ไม่กี่วันนี้ “ดร.สมคิด” ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ “การบริหารงานนโยบายเศรษฐกิจและทิศทางของประเทศ” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และชี้แจงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

          แต่กระนั้น ยังคงมีอีกหลายคำถามที่ผู้คนยัง “ใคร่รู้” และ “ไม่เคยรู้”

          “ทีมเศรษฐกิจ” จึงขอเป็นตัวแทนหาคำตอบจากปากของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ด้วยตัวเอง ทั้งในเรื่องเส้นทางเดินก่อนหน้านี้ เส้นทางในขณะนี้กับภาระในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ รวมทั้ง “อนาคต” ที่เจ้าตัวยืนยันกับเราว่า “ที่นี่คือเวทีแห่งสุดท้าย” และจะไม่เข้ามาในการเมืองอีก

          เปิดเส้นทางการร่วมงาน คสช.

          “ดร.สมคิด” เริ่มต้นบทสัมภาษณ์กับ “ทีมเศรษฐกิจ” ก่อนเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล คสช.นี้ว่า ไม่เคยรู้จักกับนายกฯมาก่อน แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (22 พ.ค. 57) นายกฯให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ โทรศัพท์มาชวนให้เป็นที่ปรึกษา คสช. และนายกฯ ก็โทร.มาเชิญด้วยตัวเอง และวันรุ่งขึ้นมีการประชุม “คณะที่ปรึกษา คสช.” อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

          “วันนั้นผมเข้าไปก็ไม่รู้จักใครเลย นายทหารคนเดียวที่รู้จักหน้าตาก็คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เคยพบก่อนหน้านี้ 2 ครั้งที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่เหลือผมไม่รู้จักเลย แต่ความประทับใจในวันนั้น ผมรู้สึกว่าทหารที่เข้ามาประชุมทุกท่านมีความตั้งใจ และจริงใจทำงานเพื่อบ้านเมือง นั่นคือที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้น”

          การประชุมวันนั้น มีการแบ่งงานกัน ทีมงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดูแลด้านเศรษฐกิจ ผมก็เรียนท่านประวิตรว่าจะช่วยงานด้านต่างประเทศก็แล้วกัน ผมอยู่กับ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ดูแลเรื่องความมั่นคง งานที่ทำชิ้นแรกก็คือการเป็นทูตพิเศษของนายกฯไปที่เมืองจีน กับ พล.อ.ประวิตรเพื่อเจรจาปูทางให้ก่อนที่นายกฯจะเดินทางไปจีน

          หลังจากนั้นนายกฯตั้ง “คณะที่ปรึกษานายกฯ” ขึ้นมาโดยให้ผมเป็นประธาน เลยมีโอกาสทำงานให้นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร ควบคู่กันไป ต่อมาก็มอบหมายให้ผมกับ ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้าไปเป็นกรรมการ คสช.ภาคพลเรือน จึงทำ 3 อย่างในเวลาเดียวกันคือ ประธานที่ปรึกษานายกฯ ที่ปรึกษา คสช. และกรรมการของ คสช.

          “การที่ได้มีโอกาสทำงานช่วยเหลือทั้งนายกฯและ พล.อ.ประวิตร ทั้งสองท่านเป็นพี่น้องที่ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่านนายกฯตั้งใจสูง มีความมุ่งมั่นสูง และต้องการเห็นผลเร็ว ส่วน พล.อ.ประวิตรเป็นคนที่ฉับไวในการที่จะรับลูกไปปฏิบัติงาน สังเกตได้จากตอนที่นายกฯเห็นว่างานไม่ค่อยเดิน ก็ให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช.ขึ้นมาให้ พล.อ. ประวิตรเป็นประธาน สามารถผลักดันงานช่วยนายกฯได้ค่อนข้างดี”

          ปฏิเสธปมขัดแย้ง “หม่อมอุ๋ย”

          ดร.สมคิดกล่าวกับเราว่า “จริงๆแล้วตั้งแต่ตอนที่นายกฯฟอร์ม ครม.ชุดแรก พล.อ.ประวิตร ก็มาถามว่าถ้าเข้าร่วมสนใจกระทรวงใด อยากให้มาช่วยกัน แต่ก็เรียนท่านไปว่า อยากให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นำทีมไปคนเดียวเลยจะได้ชัดเจนและไม่ได้ตอบอะไรมากไปกว่านั้น และบังเอิญผมยังติดข้อห้ามที่รัฐธรรมนูญบอกไม่ให้เข้าไปร่วมในคณะรัฐมนตรี ก็คือคำตอบโดยธรรมชาติก็จบไป”

          “ส่วน ครม.ชุดนี้นายกฯไม่เคยบอกอะไรเลย ไม่เคยปรึกษาหารือ ท่านคิดของท่านผู้เดียว ผมมารู้ 1-2 วันก่อนทูลเกล้าฯ ที่ท่านแจ้งให้ทราบและหารือเรื่องลูกทีม 2 ถึง 3 คนที่ได้เข้าร่วม ครม. ทุกอย่างเป็นดุลพินิจของท่านนายกฯ”

          กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่มีข่าวว่ามีความขัดแย้งกันนั้น รองนายกฯกล่าวยืนยันว่า “ไม่เคยเลย” จริงๆแล้ว สมัยรัฐบาลไทยรักไทยตนเองเป็นคนเสนอให้ตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะนั้นเสียอีก ซึ่งประเทศอยู่ในวิกฤตการณ์แต่ก็สามารถทำงานร่วมกันมาผ่านพ้นไปได้

          “พอมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ผมก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเลย ถือว่าต้องให้เกียรติคนรับผิดชอบทำงานไปมีอะไรก็จะเสริมไป ส่วนเรื่องนโยบายที่คิดว่าน่าจะเสริมกันได้ ก็ผ่านไปที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. และผมก็คุยกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ภายหลังได้รับตำแหน่งรองนายกฯในครั้งนี้ ท่านก็บอกว่าเข้าใจทุกอย่าง พร้อมจะสนับสนุน ผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะรู้ ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ พล.อ.ประวิตร ผมพยายามที่จะหลีกเลี่ยงตลอดเวลา และไม่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์เลยแม้แต่ครั้งเดียวในที่สาธารณะ”

          วางหลักการทำงานเป็นทีม

          สำหรับงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยนั้น ดร. สมคิด ระบุว่า “ที่ผ่านมาท่านนายกฯล้วนสั่งการไปหมดแล้ว สั่งไปหลายครั้ง แต่ไม่คืบหน้า จึงมีบัญชามาให้ผมช่วยไปขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น”

          ขณะที่กระแสข่าวที่ว่า นายกฯจะวัดผลการทำงานของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ใน 3 เดือนนั้น ความจริงแล้วนายกฯไม่ได้บอกว่า 3 เดือนต้องดี ต้องอะไร ไม่ได้พูดอย่างนั้น “แต่นายกฯอยากให้เร่งผลักดันสิ่งที่ควรจะทำให้ออกมาให้ได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดประสงค์ของ ครม.ชุดใหม่อยู่แล้ว และทีมงานที่เข้าไปครั้งนี้โชคดีที่ได้คนดีๆที่มีแนวความคิดดีๆใหม่ๆเข้าไปเสริมกัน”

          ทั้งนี้ หลักการในการทำงานที่ตั้งใจไว้คือ “จะทำงานเป็นทีม” เพราะปัญหาของประเทศเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ดังนั้นการทำงานจะใช้วิธีให้แนวนโยบายไป และให้หารือกันอย่างไม่เป็นทางการทุกสัปดาห์ ทุกเช้าวันจันทร์จะเชิญรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยร่วมกัน มีอะไรจะสื่อสารกันตลอด

          “ใครก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกันผมยินดีเชิญมาทานโจ๊ก ไม่ใช่แค่ 7 กระทรวง เพื่อการพบปะสนทนาจะช่วยให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ และประสานงานกันได้เร็ว ไม่มีการแบ่งว่าจะอยู่กระทรวงอะไร จริงๆแล้วได้เชิญรัฐมนตรีหลายคน รวมทั้งรองนายกฯมาร่วมทานโจ๊กกับผมด้วย”

          ขณะเดียวกันได้เรียนนายกฯแล้วว่า งานของประเทศที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวง ก็ได้ขออนุญาตนายกฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลว่าในบางครั้งจะขอความร่วมมือ ซึ่งทุกท่านก็ยินดี และได้เรียนกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯที่ดูแลกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงไอซีที เพราะเกี่ยวข้องกับอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ ก็ยินดีให้ความช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว และที่ต้องขอบคุณอย่างมากคือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ยินดีสนับสนุนทุกอย่าง ซึ่งมีความสำคัญมากที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยพัฒนาขึ้นมา โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล

          หน้าที่หลัก “ช่วยคนรายได้น้อย”

          สำหรับภารกิจที่นายกฯมอบหมายให้เร่งทำมี 2 หลักใหญ่คือ สิ่งแรกที่ต้องเร่งทำทันทีก็คือเข้าไปช่วยเหลือ ผ่อนคลายความลำบากของผู้ที่มีรายได้น้อยให้สามารถประคับประคองในช่วงที่ยากลำบากนี้ไป รวมถึงการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งจะมีมาตรการออกมาโดยเร็ว ขณะที่อีกโครงการเป็นการเข้าไปเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับตำบลและหมู่บ้าน จะพยายามให้สอดคล้องกับการสร้างความเข้มแข็งจากภายในที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริไว้ เช่น การพัฒนาท้องถิ่น การลงทุนในวิสาหกิจชุมชน เรื่องยุ้งฉาง หรืออะไรที่จะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรง

          “รัฐบาลจะจุดประกายโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป ให้เกิดความกระตือรือร้นภายในท้องถิ่นของชาวบ้านขึ้นมาอีกครั้ง ตามที่นายกฯต้องการต่อยอดโครงการศิลปาชีพพิเศษ ให้เป็นไปตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ทรงต้องการพัฒนาชาวบ้าน ขณะที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะดูแลให้กองทุนสามารถสร้างความยั่งยืน”

          สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ไม่ว่าจะผ่านกองทุนหมู่บ้านหรือผ่านกลไกจังหวัดหรือตำบล จะเน้นความโปร่งใสและการสร้างความยั่งยืนให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องไป

          “ส่วนคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องประชานิยม ต้องเข้าใจคำว่า “ประชานิยม” ให้ชัดเจน และต้องแยกความแตกต่างระหว่างประชานิยมกับการช่วยประชาชนผู้ด้อยโอกาสและยากจน รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องช่วยประชาชนที่มีรายได้น้อยให้สามารถอยู่รอด ต้องช่วยเกษตรกร เป็นเรื่องปกติ สิ่งเหล่านี้ต้องทำ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่ประชานิยม

          เพราะประชานิยมคือการให้ที่มีเจตนาแอบแฝง เช่น การให้ที่สัญญาบางอย่างเพื่อหวังผลทางการเมืองในภายหลัง แบบนี้ถึงเรียกประชานิยม”

          ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาหลักของประเทศจริงๆในขณะนี้คือว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว เศรษฐกิจโลกไม่ดีและพอเกิดปัญหาเรื่องจีนและสหภาพยุโรป โอกาสที่ประเทศไทยจะส่งออกได้สูงเหมือนในอดีตเป็นไปได้ยาก จริงๆประเทศของเราก็ทำไม่ถูกที่ทุกอย่างไปผูกกับส่งออกเป็นสัดส่วน 60-70% ถือว่าไม่สมดุลอยู่แล้ว

          มาตรการทุกอย่างในอดีตรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ทุ่มไปกับการพัฒนาสินค้าเพื่อการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจภายในไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร พอโลกเปลี่ยนใหม่ใน 5 ปีข้างหน้าบอกได้เลยว่า ยากมากที่ประเทศใดจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเกิน 5% ใครที่สามารถเติบโตได้ในช่วง 2-3% อย่างมั่นคงได้ก็ถือว่าเก่งแล้ว

          ฉะนั้น เป้าหมายก็คือ การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ วางรากฐานสำหรับอนาคต เพื่อให้สามารถที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต จะให้ความสำคัญกับการเติบโตภายในมากขึ้น

          ต้องมีการลงทุนในภูมิภาคในท้องถิ่น เช่น การดูแลภาคเกษตร การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน ต้องไปด้วยกันทั้งหมด ตรงนี้ถ้าทำให้เข้มแข็งได้ร่วมกับภาคประชาชน จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้มากขึ้น

          “ทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยเป็นระบบเศรษฐกิจคู่ขนาน (Duo Economy) การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งเพื่อการส่งออกก็ยังจำเป็นอยู่ ต้องมองว่า เศรษฐกิจในสาขาใดจะเป็นตัวนำในอนาคต เช่น ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพการผลิตสูง เพิ่มมูลค่าได้ สิ่งเหล่านี้ต้องการสร้างคลัสเตอร์แปรรูปเกษตรและอาหาร ต้องมีผู้ประกอบการ

          กล้าเข้ามาลงทุน และต้องมีนโยบายที่จะให้สถาบันการศึกษาของไทยเร่งผลิตบุคลากรให้มากและมีคุณภาพเพียงพอ และจูงใจให้สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยต่างประเทศเข้ามาร่วม เพื่อเสริมเรื่องเทคโนโลยี”

          สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ บริษัทที่จะเอาเข้ามาในกลุ่มคลัสเตอร์ต้องดูไปถึงความสัมพันธ์กับท้องถิ่น ต้องทำให้บริษัทที่มาลงทุนสามารถดึงเอสเอ็มอีให้เชื่อมโยงกับบริษัทใหญ่ และลงทุนสร้างสิ่งดีๆที่เกื้อหนุนให้กับท้องถิ่นได้

          เป็นการใช้ 2 เส้นทางคู่ขนานกัน คือ ด้านหนึ่งเพื่อเสริมความเข้มแข็งของการแข่งขันไปสู่โลก อีกด้านหนึ่งต้องพัฒนาท้องถิ่นเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ลักษณะเช่นนี้ คือ หนทางในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างแท้จริง เพราะความเชื่อมโยงทำให้เกิดการพัฒนาจากภายในขึ้นมา ทำให้ท้องถิ่นแข็งแรง และเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันของประเทศที่จะแข่งกับต่างประเทศได้

          “ผมตั้งใจและเรียนท่านนายกฯไว้แล้วว่า อะไรที่เราทำได้เราทำก่อนเลยโดยการสร้างอนาคตให้ประเทศ สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับนโยบายการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. รัฐบาลต้องใช้กระทรวงวิทยาศาสตร์เข้ามาขับเคลื่อน เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ใช้ไอทีกับวิทยาศาสตร์มาพลิกประเทศได้เลย ใช้การศึกษาสร้างมนุษย์พันธุ์พิเศษขึ้นมารองรับการยกคุณภาพของสินค้าที่ผลิตได้”

          จบภารกิจ “การเมือง” ที่รัฐบาลนี้

          ท้ายที่สุด ดร.สมคิดยังได้เล่าให้ฟังถึงปณิธานในอนาคตว่า “เมื่อหมดภารกิจคราวนี้ ผมบอกให้เลยว่า ผมไม่คิดที่จะทำการเมืองต่อ ผมว่าผมอายุมากแล้ว ครั้งนี้ผมคิดว่าช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่สำคัญมากๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cross Road คือ จุดพลิกผันของประเทศจริงๆ”

          ทำไมถึงเป็นจุดพลิกผัน ถ้าถามผมว่าตอนนี้ประเทศวิกฤติไหม ตอนนี้ยังไม่มีวิกฤติ ตัวชี้วัดทุกตัวยังดีอยู่ เพียงแต่ว่าภาวะซบเซาและปัญหาต่างๆเริ่มเข้ามา สิ่งต่างๆที่เรามีมาในอดีตไม่พอสำหรับอนาคตที่จะเดินไป ในช่วงนี้ถ้าไม่รีบเข้ามาเสริมจุดแข็งในตรงนี้ มัวแต่บ้าจีดีพีที่จะให้โตให้ได้ 5% โดยไม่เข้าใจหลักการว่าหน้าที่ของคุณคืออะไร

          “ต้องรีบทำอย่าให้ทรุดเพื่อให้อีก 3–5 ปีข้างหน้ากลับขึ้นมาใหม่ได้ แม้จีดีพีจะอยู่ที่ 3–4% แต่ให้เดินอย่างเข้มแข็ง คนมีงานทำ ประเทศพัฒนา นี่คือเป้าหมาย ใครอย่ามาถามผมจีดีพีจะโตกี่เปอร์เซ็นต์ เวลาดูอะไรต้องดูที่รากฐานที่สำคัญคืออะไร ถ้าเราสร้างรากฐานที่ดีเวลาคนจะมาลงทุน เขาไม่ได้ดูเราที่จีดีพี”

          เรากำลังอยู่ในจุดพลิกผันสำคัญ แต่เผอิญเกิดในช่วงที่เมืองไทยมีปัญหาทางการเมือง ดังนั้นคนไทยต้องก้าวผ่านจุดนี้ไปให้ได้ และพยายามลืมเรื่องสี มองไปข้างหน้าและช่วยกันสร้างใหม่ 3-5 ปีผมว่าจะเห็นหน้าเห็นหลัง

          “ผมเคยพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง WHY NATIONS FAIL ทำไมประเทศถึงล้มเหลวขายดีมาก เพราะทุกอย่างทุ่มไปกับสิ่งเฉพาะหน้า ทุ่มไปกับการเอาใจคน แต่ไม่วางรากฐานให้กับประเทศ สิ่งที่ได้คือความนิยมทางการเมือง แต่ประเทศอ่อนแอ เปรียบเทียบกับเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ พื้นที่ติดกันเลย คนเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่ต่างกันฟ้ากับดิน”

          ฉะนั้น การที่จะก้าวต่อไปในอนาคตข้างหน้า มีตัวสำคัญ 3 ภาค คือ ภาคเอกชนคือนักรบที่จะต้องก้าวไปข้างหน้า ภาครัฐเป็นตัวสนับสนุนอย่าไปสร้างอุปสรรคและแก้ไขอุปสรรคให้ และภาคประชาชน “ต้องเข้าใจ”

          ตามคำที่ท่านนายกฯว่า “Our Home our Country Stronger Together เพื่อบ้านเมืองของเรา เพื่อประเทศของเรา รวมพลังกันและก้าวข้ามอุปสรรค สร้างชาติให้เข้มแข็ง”.

          ทีมเศรษฐกิจ

          "เมื่อหมดภารกิจคราวนี้ ผมไม่คิดทำการเมืองต่อ ผมอายุมากแล้ว...แต่ครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cross Road คือ จุดพลิกผันของประเทศจริงๆ"

         จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 31 สิงหาคม 2558

ผงะ7เดือน นำเข้า-ส่งออกติดลบ ศก.โลกไม่ฟื้นบาทอ่อนฉุดไม่ขึ้น

พาณิชย์ เผยส่งออก ก.ค. 58 ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2558 มูลค่า 18,223 ล้านเหรียญสหรัฐติดลบ 3.56% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.58) มีมูลค่า 125,078 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.66% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ของปี 2558 แต่ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบจากเดือนที่ผ่านมา หากคิดในรูปเงินบาทติดลบน้อยลงหากเทียบช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา โดยการส่งออกมีมูลค่า 609,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.09%

การส่งออกที่ลดลง เป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบเริ่มฟื้นตัว ขยายตัว 6.8% และสินค้ายางพาราส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่สินค้าเกษตรตัวอื่นยังหดตัว

สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม เช่น ยางพารา น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าส่งออกที่หดตัว ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่สดแช่เย็นและแปรรูป

ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการส่งออกภาพรวมชะลอตัวมีรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว สินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ส่งออกลดลงจากปีก่อนตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว แนวโน้มราคาจะทรงตัวในระดับต่ำถึงปลายปี 2558 ส่วนการส่งออกทองคำขยายตัว เพราะราคาขยับตัวสูงขึ้น ทำให้มีการส่งออกเพื่อทำกำไร

ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก เช่น ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าสำคัญชะลอตัวโดยเฉพาะสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าหดตัว ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ ชะลอตัวต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว มีผลต่อสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลง ทั้งข้าว ยางพารา น้ำตาล ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงมาก แม้ปริมาณการส่งออกไม่ลดลง

ส่วนมาตรการลดค่าเงินของคู่ค้าสำคัญเมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ค่าเงินยูโร อ่อนลง 13.7% เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนลง 147.8% ค่าเงินริงกิตลดลง 33.1% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลง 11.1% ปัจจุบันอยู่ที่ 35.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่น ทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ความต้องการซื้อสินค้าไทยลดลง

 ส่วนการนำเข้าเดือนกรกฎาคม 2558 มีมูลค่า 17,452 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 12.73% และในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.58) นำเข้ามีมูลค่า 120,835 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 8.64% ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนกรกฎาคมเกินดุล 770 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 7 เดือน (เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2558) ไทยเกินดุล 4,243 ล้านเหรียญสหรัฐ

แนวโน้มสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้นคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณี และเคื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่แนวโน้มส่งออกลดลง เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง เชื้อเพลิงและพลังงาน เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีการปรับประมาณการใหม่ จากเดิมขยายตัว 3.5% เป็น 3.3% เพราะเศรษฐกิจโลกขยายตัวไม่ได้ตามเป้า ประกอบกับหลายตลาดเศรษฐกิจไม่ได้ ส่งผลต่อความต้องการนำเข้าสินค้าลดลง

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ดูแลและแก้ไขคือ อัตราแลกเปลี่ยนไม่มีเสถียรภาพ การขาดแคลนวัตถุดิบ ขาดแคลนแรงงาน ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยให้รัฐบาลเข้ามาดูแลให้เกิดเสถียรภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับเพิ่มอัตราชดเชยภาษีแก่สินค้าส่งออก เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เร่งเจรจาสิทธิพิเศษทางการค้า (FTA) เพื่อส่งเสริมการส่งออกของไทย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

สรท.แถลงสถานการณ์ส่งออกพรุ่งนี้

สรท.แถลงส่งออกพรุ่งนี้ รอดูตัวเลขไตรมาส 3 ก่อนปรับเป้าทั้งปี จับตาเศรษฐกิจจีนต่อเนื่อง

นายวัลลพ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออกฯ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ภาคการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง  2558 มีโอกาสที่จะติดลบมากกว่า เป้าที่ประมาณการไว้ ว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะติดลบ ร้อยละ 3.6 และทั้งปีการส่งออกจะติดลบ ร้อยละ 4.2 เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่ยังคงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่มีการปรับลดค่าเงินหยวนลง และทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาสินค้าไทย ซึ่งจีนเองเป็นทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย

อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกฯ จะยังไม่ทำการปรับลดเป้าการส่งออกในช่วงนี้ เนื่องจากจะขอติดตามสถานการณ์หลังจากช่วงไตรมาส 3 ก่อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน และ พฤศจิกายน ที่จะมีคำสั่งซื้อที่ค่อนข้างสูงเป็นประจำทุกปี แต่ทั้งนี้สภาผู้ส่งออกฯ จะมีการหารือติดตามและส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกอย่างต่อเนื่อง  โดยในวันพรุ่งนี้ (31 ส.ค.) สภาผู้ส่งออกฯ จะแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือน ส.ค. ณ โรงแรมเซนทรา เซ็นทรัล สเตชั่น ด้วย

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

สัมภาษณ์พิเศษ: ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม: ทำงานเชิงรุกมุ่งอุตสาหกรรมสีเขียว 

           คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม แต่งตั้ง ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม" ถือเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหญิงแกร่งที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานเชิงรุกด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องและโปร่งใส ขณะเดียวกันก็มีงานของกระทรวงที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งเรื่องของโครงการต่างๆ และเรื่องของภารกิจหลักที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรณี และพลังงาน มีส่วนราชการระดับกรมในสังกัดรวม 8 หน่วยงาน จัดเป็น 3 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ กลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กลุ่มภารกิจด้านกำกับตรวจสอบกระบวนการผลิต และกลุ่มภารกิจด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงได้ริเริ่มโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมขึ้นเมื่อปี 2551 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการ ตลอดจนร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการประกอบการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบสถานประกอบการ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ

          "จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม จำนวนทั้งสิ้น 1,508 ราย และเพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญามะนิลา ว่าด้วยอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาคเอเชีย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ หันมาใส่ใจกับการปรับปรุงกิจการอย่างต่อเนื่อง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด"

          ในส่วนของการส่งเสริมสถานประกอบการให้เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับสถานประกอบการ ระดับนิคมอุตสาหกรรม และ ระดับเมืองอุตสาหกรรมในระดับสถานประกอบการกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการผ่านโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เริ่มจากการผลักดันให้องค์กรกำหนดนโยบายที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยึดถือหลักการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติตามนโยบายของบุคลากรในทุกระดับ และขยายผลการพัฒนาตลอดโซ่อุปทาน สำหรับระดับนิคมอุตสาหกรรม และเมืองอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการผ่านโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" รวมทั้งสิ้น 20,144 ราย

          นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน ในการให้ ตราสัญลักษณ์ Thailand Trusted Mark (TTM) แก่สถานประกอบการ เพื่อรับรองคุณภาพสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยผู้ได้รับการรับรอง TTM จะต้องได้อุตสาหกรรมสีเขียว อย่างน้อยระดับ 2 ขึ้นไป และได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย

          "กระทรวงอุตสาหกรรม จึงอยากเชิญชวนและขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ช่วยกันเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ความพยายามที่ดีของสถานประกอบการที่เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว และความตั้งใจของรัฐบาลในการเสริมสร้างเศรษฐกิจสีเขียวแก่ประชาชน ผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับทราบโดยทั่วกัน"

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการผลักดันและส่งเสริมสถานประกอบการภาคการผลิต ให้ดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนกันยายน 2552 และได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวขึ้นในปลายปี 2553 เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยอาศัยหลักการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นพื้นฐาน ภายใต้กรอบการพัฒนาใน 5 ระดับ ได้แก่

          ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ การแสดงความมุ่งมั่นในรูปแบบของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน

          ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้

          ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ แวดล้อมต่างๆ

          ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกด้านของการประกอบกิจการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดำเนินการต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

          ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรเองออกสู่ภายนอก ตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย

          จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการภาคการผลิตทั่วประเทศ ได้รับการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมกว่า 20,000 ราย และคาดว่าจะมีถึง 35,000 ราย ภายในปี 2561 ความสำเร็จของโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในวันนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติได้ให้ความสำคัญ และมีความของทุกระดับในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจกรรมขององค์กรให้ถูกต้องตามกฎหมาย สร้างประโยชน์แก่สังคม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          ในปีนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่สถานประกอบการจำนวน 279 ราย ผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมสีเขียว จนได้รับเกียรติบัตรและโล่ที่แสดงถึงความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรไปสู่ความ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

‘บิ๊กตู่’สางอุปสรรคส่งออก นัดพาณิชย์ถก/หาช่องตลาดเพื่อนบ้าน

รมว.พาณิชย์ ชูนโยบายแก้ปัญหาค่าครองชีพ-สร้างรายได้เกษตรกร-ผลักดันส่งออก มั่นใจแก้อุปสรรคทางการค้าให้ได้ใน 3 เดือนนี้ เผย “สมคิด” ประชุมทีมเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ31 ส.ค.นี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ แถลงแผนการดำเนินงานของ กระทรวงพาณิชย์ ว่า มีงานเร่งด่วนที่ต้องจัดการ 4 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน 2.เรื่องการสร้างรายได้ให้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยส่วนเรื่องที่ 3.เร่งผลักดันการส่งออก โดยมีการทำงานกับเอกชน และบูรณาการร่วมกับภาครัฐด้วยกัน หาลู่ทางตลาดใหม่ๆเร่งพัฒนาการค้าภาคบริการ เร่งแก้ปัญหาการค้าชายแดน ทำยุทธศาสตร์การค้าอาเซียนเชิงลึกเป็นรายประเทศ รวมถึงการพัฒนานักรบเศรษฐกิจใหม่ ที่จะเข้าสู่ตลาดการค้า4.การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ และปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ

“ในเร็วๆ นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นครั้งแรก เพื่อหารือถึงปัญหา อุปสรรค ที่มีต่อการส่งออกของไทย รวมถึงหาวิธีแก้ปัญหา โดยในระยะสั้น 3 เดือน กระทรวงจะต้องเร่งดูแลในเรื่องการแก้ไขปัญหาทางการค้า ปัญหาคอขวดตามด่านการค้า”

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนางอภิรดี จะมีการบูรณาการทำงานข้ามกระทรวงถึง 7 กระทรวงเข้าด้วยกัน ได้แก่กระทรวงพาณิชย์, คลัง, อุตสาหกรรม,ต่างประเทศ, คมนาคม, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น และก็หวังว่าการทำงานแบบบูรณาการจะช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ใน 3 เดือน ขณะเดียวกัน ในวันที่31 ส.ค. นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อหามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการทำงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

“รัฐบาลต้องการสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งก่อน เพราะการพึ่งเศรษฐกิจมากเกินไปจะเกิดความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย ส่วนการนำโครงการประชานิยมมาใช้นั้น ยอมรับว่า โครงการประชานิยมมีหลายระดับทั้งความเข้มข้น ระดับปานกลาง และระดับไม่หนักมาก ซึ่งรัฐบาลทุกรัฐบาลจำเป็นต้องนำมาใช้เพียงแต่การดำเนินการต้องให้พอดีและตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจเพราะหากใช้เข้มข้นไปและไม่ถูกวัตถุประสงค์ก็จะเกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์ได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแบ่งงานภายในกระทรวงพาณิชย์นั้น นางอภิรดี จะดูแลกรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน และกรมเจรจาการค้า/นายสุวิทย์ ดูแลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สถาบันวิจัย และพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม

กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีทางเลือกการผลิตในระบบเกษตรใช้สารอินทรีย์ คือลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เกษตรปลอดสารพิษ ด้วยการละใช้สารเคมีทางการเกษตร หรือเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยเน้นหลักของความยั่งยืน และได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดใช้สารเคมีทางการเกษตร 2 ด้านหลัก คือ จัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ และพัฒนากลุ่มเกษตรกร อย่างต่อเนื่องตลอดมา

ล่าสุดนางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้จัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นในพื้นที่การดูแลของสถานีพัฒนาที่ดินในแต่ละจังหวัด รวมถึงหน่วยงานภายในกรมพัฒนาที่ดินที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา ครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรมมาฝากไว้ที่ธนาคาร ธนาคารจะทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรมาเบิกถอนเอาไปใช้ประโยชน์เมื่อวัสดุนั้นย่อยสลายเป็นปุ๋ยแล้ว หรือให้เกษตรกรกู้ยืมปุ๋ยจากธนาคารไปใช้ แล้วใช้หนี้ด้วยวัสดุเหลือใช้จากไร่นาและโรงงานอุตสาหกรรมหรือปุ๋ยคอก เพื่อให้เกิดการผลิตและมีการนำไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง มีราคาถูก พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาการเผาและปัญหาจากกำจัดหรือทิ้งขยะในอนาคต

ซึ่งจะมีการนำร่องทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 87 แห่ง โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้ มีเป้าหมายในพื้นที่ 43 จังหวัด มีเกษตรกรเป้าหมาย 585 ราย คิดเป็น 117 กลุ่ม โดยจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่จำเป็น

สำหรับการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์และนอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อดำเนินการยื่นสมัครขอรับการรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์กับกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานข้าวอินทรีย์กับกรมการข้าว หรือในกรณีที่มีความพร้อมยื่นสมัครขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยจิตวิญญาณ เป็นวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล เรียกว่า “เกษตรอินทรีย์พื้นบ้าน” เกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงหน่วยตรวจรับรองได้เพราะมีค่าตรวจรับรองสูงและไม่คุ้มกับผลผลิตที่มีน้อย

ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว คือ การดำเนินการรับรองแบบมีส่วนร่วม โดยกรมพัฒนาที่ดินได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย ให้ดำเนินการโครงการ ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยทำระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) โดยจะมีการนำร่องในกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย 5 จังหวัด คือ สุรินทร์ ลำปาง เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และนครปฐม “ไม่ว่าเกษตรกรจะเลือกการผลิตในแนวทางใด กรมพัฒนาที่ดินยินดีจะให้การสนับสนุนภายใต้หลักการที่ว่า “ลดปุ๋ยเคมี ใช้แต่พอดี ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ ฟื้นฟูดินดี ช่วยเพิ่มรายได้” นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข กล่าว.“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

นับถอยหลัง AEC

ถ้าตั้งคำถามตัวโตๆว่า “ประเทศใดในกลุ่ม AEC ที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจและติดตามข่าวมากที่สุดในขณะนี้ เพราะอะไร” ท่านจะตอบว่าประเทศไหนและเพราะอะไรครับ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงตอบชื่อประเทศออกมาไม่เหมือนกันแน่นอนครับ และเหตุผลที่ให้คงจะหลากหลายกันไป สำหรับผมนั้นจะตอบว่า “ณ ขณะนี้ มาเลเซีย ครับ”

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเป็น “มาเลเซีย” เป็นเพราะประเทศเขามีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น มีการส่งออกสินค้าเทคโนโลยี หรือการเมืองมีเสถียรภาพทำให้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกรัฐบาล และเป็นประเทศที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลพอๆ กับสิงคโปร์ สิ่งที่บอกว่าข้างต้นเป็นเหตุผลที่ทำให้มาเลเซียมีความโดดเด่นในภูมิภาคนี้ประเทศหนึ่งจริงๆ ถ้าพิจารณาถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ และเมื่อพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของมาเลเซียแล้ว ก็ต้องบอกว่ามาเลเซียมีความสามารถในการแข่งขันสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยมีประเทศไทยตามมาใกล้ๆ แสดงว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียดูสดใสในระยะยาว และมีความโดดเด่นกว่าไทยหลายมิติ นั่นเป็นเรื่องที่นักลงทุนทั่วโลกพูดกันมานานแล้ว

แต่ ณ วินาทีนี้ มาเลเซียกลับถูกติดตามและถูกกล่าวขวัญถึงในแง่ลบซึ่งเต็มไปด้วยความกังวลว่าเศรษฐกิจมาเลเซียอาจก้าวเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจเหมือนตอนต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เนื่องจากค่าเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.8 ริงกิตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปราะบางเนื่องจากคะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนปัจจุบันลดลงอย่างรุนแรง หลังจากเผชิญกับข่าวการพัวพันเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน จนทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันลาออก อีกทั้งมาเลเซียยังเผชิญกับปัญหาการส่งออกหดตัวลงเพราะราคาน้ำมันตกต่ำ จนทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด พร้อมกับมี หนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูงใกล้เคียงกับทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มีอยู่ ซึ่งน่าเป็นห่วงมากครับกับสถานการณ์นี้.

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

จาก http://www.thairath.co.th    วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ธปท.ยันดอกเบี้ยไทยใกล้จุดต่ำสุด ไม่ห่วงบาทอ่อน-พร้อมหนุนรายย่อยลงทุนตปท.

แบงก์ชาติชี้อัตราดอกเบี้ยไทยใกล้ถึงจุดต่ำสุด มองตั้งแต่ต้นปีบาทอ่อน 8% ยังสอดคล้องพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศ ช่วยสนับสนุนการเติบโต เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออกมากขึ้น พร้อมหนุนนักลงทุนรายย่อยลุยลงทุนต่างประเทศด้วยตัวเอง

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่อจากนี้จะมีการปรับขึ้นหรือลดลงนั้นคงขึ้นกับประสิทธิผลจากการใช้นโยบายการเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ ธปท. จะใช้ดูแลเศรษฐกิจ โดยมองว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในประเทศใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยเคยลดลงไปต่ำสุดที่ระดับ 1.25%

“เราคงไม่สามารถลดลงไปที่ 0% ได้ เหมือนประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นตอนนี้ดอกเบี้ยเราใกล้ถึงจุดต่ำสุดที่จะเป็นไปได้แล้ว เรามีตัวเลขของเราในใจว่าต่ำสุดไม่น่าจะต่ำกว่าเท่าไหร่ ที่ผ่านมาเคยต่ำสุด 1.25% แต่จะต่ำไปกว่านี้อีกหรือไม่ ยังบอกไม่ได้ จะลดหรือไม่ลด ต้องขึ้นกับประสิทธิผลด้วย”

ขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าลงไป 8% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มองว่ายังสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศอยู่ ที่บาทอ่อนค่าช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์ให้มากขึ้น แต่จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก โดยยืนยันว่า ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้อ่อนค่าเกินไปกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เป็นอยู่

การที่จะบอกว่าบาทอ่อนค่าหรือไม่ ต้องดูด้วยว่าอยู่ในบริบทอะไร ปีนี้มีปัจจัยหลายเรื่องทั้งภายนอกและภายใน หากเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค การที่บาทอ่อนค่าไป 8% ก็ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่นิ่งเพราะในภูมิภาค อ่อนค่าไปตั้งแต่ 4% 5% จนถึง 10% การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน จะพบว่าค่อนข้างเป็นลักษณะของใครของมันมากขึ้นไม่ใช่ลักษณะการเหมาเข่ง ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างของแต่ละประเทศ

นางผ่องเพ็ญกล่าวอีกว่า ธปท.มีแผนผ่อนคลายให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนในต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง เพื่อสนับสนุนให้คนไทยกระจายความเสี่ยงการลงทุน ระหว่างนี้เตรียมพร้อมเพื่อทำความเข้าใจแก่นักลงทุนรายย่อย ดำเนินการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ด้วยการจัดสัมมนา 2 โดยครั้งแรกวันที่ 1 ก.ย.นี้ สัมมนา “มิติใหม่ลงทุนนอกด้วยตัวเอง” เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ลงทุน ส่วนครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในเดือน พ.ย. นี้

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

กรมชลฯหวั่นน้ำไม่พอแล้ง เหตุฝนมาน้อย วอน5.2ล้านไร่งดปลูก เปิดทางผู้อื่น

กรมชลฯเผยน้ำต้นทุน 4 เขื่อน มีแค่ 3.5 พันล้าน ลบ.ม. เหตุฝนตกน้อย หวั่นไม่พอใช้ช่วงแล้งหน้า วอนชาวนาลุ่มเจ้าพระยาที่เก็บเกี่ยวแล้วห้ามปลูกใหม่ เปิดทางอีก 2 ล้านไร่ให้ปลูกพืชน้ำน้อย

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่งในขณะนี้ คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 1,759 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีฝนตกในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากปริมาณฝนตกในเดือนสิงหาคมยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม รวม 45 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่ควรจะมีน้ำไหลลงเขื่อนประมาณ 80-90 ล้าน ลบ.ม./วัน ในขณะที่กรมชลประทานยังมีความจำเป็นต้องระบายน้ำวันละ 16 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ประโยชน์ในเขตลุ่มเจ้าพระยารวม 22 จังหวัด ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่า เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนเดือนตุลาคมนี้ คาดว่า 4 เขื่อนหลักจะสามารถเก็บกักได้ทั้งสิ้น 3,500 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งยังเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้งหน้า ที่นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-30 เมษายน 2559

"กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศว่า ปริมาณฝนในเดือนกันยายน-ตุลาคม จะอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 10?25% ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีรอบแรกไปแล้ว ให้งดปลูกข้าวต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกได้ทำการเพาะปลูก ซึ่งกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำท่าที่มีอยู่ กระจายสู่พื้นที่การเกษตรของเกษตรกรอย่างทั่วถึงให้มากที่สุด ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด และร่วมกันสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต" นายเลิศวิโรจน์กล่าว

นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า พื้นที่การเกษตร 7.4 ล้านไร่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะให้เพาะปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในฤดูกาลนาปี 2558/59 พื้นที่เหล่านี้ปลูกข้าวไปแล้ว 5.24 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 696,047 ไร่ จึงไม่ควรจะปลูกซ้ำอีก เพื่อเปิดโอกาสให้พื้นที่ที่เหลืออีก 2.2 ล้านไร่ได้ปลูก โดยกรมชลประทานพร้อมที่จะสนับสนุนน้ำ แต่พื้นที่เหล่านี้ต้องพิจารณาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพราะต้องประหยัด ทั้งนี้ พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 5.24 ล้านไร่ดังกล่าวมีนาข้าวที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิงไปแล้ว 19,925 ไร่ ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ประมาณ 1.8 แสนไร่ เป็นข้าวที่อยู่ระหว่างตั้งท้องรวม 3,422,530 ไร่ พื้นที่อยู่ระหว่างการรอเก็บเกี่ยว 1,051,769 ไร่

นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า ส่วนการจัดหาแหล่งน้ำใหม่ตามนโยบายรัฐบาลนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแก้มลิงเพื่อรองรับฝนในปี 2559 ส่วนการใช้งบประมาณในแผนบริหารจัดการน้ำตามความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นั้นจะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของแต่ละโครงการอีกครั้ง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

“พาณิชย์” ลุยนโยบายเร่งด่วน 4 ด้าน

“พาณิชย์” ลุยนโยบายเร่งด่วน 4 ด้าน เน้นดูแลค่าครองชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร ผลักดันการส่งออก และเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการภาครัฐและแก้กฎหมาย มั่นใจ 3 เดือนเห็นผลชัดเจนขึ้น “สุวิทย์” เผยจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในก่อน รับนโยบายประชานิยมจำเป็นต้องใช้ แต่ควรใช้ให้เหมาะ ให้พอดี      

        นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงนโยบายการทำงานเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ ภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ว่า ได้กำหนดงานเร่งด่วนที่จะดำเนินการจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน โดยจะดูว่าภายหลังจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงแล้ว เหตุใดราคาสินค้าที่มีต้นทุนเกี่ยวกับน้ำมันยังไม่ลด ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่มีใครเอารัดเอาเปรียบใคร ส่งเสริมให้มีร้านขายสินค้าราคาถูกที่เพียงพอ และจัดกิจกรรมขายสินค้าราคาถูกอย่างทั่วถึง

               2. สร้างรายได้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น จะเร่งยกระดับราคาสินค้าเกษตรด้วยการผลักดันการส่งออก เพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปสินค้า รวมถึงการพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น โดยพัฒนาสินค้าโอทอป สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพราะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป

               “รายได้เกษตรกรไทยตกต่ำจากราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกที่ตกต่ำ กระทรวงฯ จะเร่งยกระดับราคาสินค้าด้วยการมุ่งส่งออกให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าว และยางพารา จะเร่งเจรจากับประเทศต่างๆ ให้ซื้อสินค้าจากไทย รวมถึงเร่งรัดการส่งออกข้าว และยางพารา ที่ได้เจรจากับประเทศคู่ค้าใหญ่ๆ ไปแล้ว เมื่อมีการส่งออกได้มากขึ้น ราคาในประเทศก็จะสูงขึ้นได้ตามความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น”

               3. การเร่งผลักดันการส่งออก จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน และบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกอย่างทันที และเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการส่งออก โดยคาดว่าคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเริ่มประชุมนัดแรกในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของการส่งออกไทย รวมถึงเจรจากับประเทศและภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคทางการค้า ขณะเดียวกัน จะทำยุทธศาสตร์การค้าอาเซียนแบบเจาะลึกเป็นรายประเทศ เร่งพัฒนาการค้าบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม และพัฒนานักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้เข้มแข็ง และส่งเสริมการทำธุรกิจผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

               “การขายสินค้าไทยแทบถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แต่เรายังมีบริการอื่นๆ ที่ยังมีศักยภาพส่งออกได้อีกมาก ในอนาคตภาคบริการจะเป็นหัวใจสำคัญของการส่งออก แต่เรายังไม่ได้ผลักดันอย่างจริงจัง ต่อไปเราจะเน้นส่งออกแบบคลัสเตอร์ เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้ง post และ pre production ที่ไทยเข้มแข็งมาก และต่างชาติเข้ามาใช้บริการในบ้านเรามาก หรือุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ค้าปลีกและแฟรนไชส์ เป็นต้น”

               4. การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย โดยในเร็วๆ นี้จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าที่กระทรวงฯ ได้จัดทำเสร็จแล้ว ส่วน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คงต้องพิจารณาก่อนว่าจะปรับปรุงใหม่อย่างไร

               นางอภิรดีกล่าวว่า การทำงานภายใต้ทีมเศรษฐกิจ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์คาดว่าภายใน 3 เดือนจะเห็นการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้อง ยกระดับราคาสินค้าเกษตร และการส่งออก แต่คงไม่สามารถชี้วัดได้ว่าเกษตรกรจะขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงขึ้นเท่าไร หรือกินดีอยู่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่น่าจะเห็นภาพชัดในด้านการหาตลาดส่งออก การผลักดันการส่งออก

               นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภารกิจของทีมเศรษฐกิจชุดนี้ คือ การสร้างสมดุลระหว่างปัจจัยภายในกับภายนอกประเทศให้แก่เศรษฐกิจไทย เพราะปัญหาขณะนี้คือ ไทยพึ่งการส่งออกมาก เมื่อโลกเกิดปัญหา เศรษฐกิจไทยก็เกิดปัญหาตาม หากสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายใน ทั้งในภาคประชาชน ภาคธุรกิจขนาดเล็ก แม้โลกจะเกิดปัญหา แต่เศรษฐกิจไทยจะยืนหยัดอยู่ได้ ขณะเดียวกัน ไทยต้องส่งออกสินค้าบริการให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีการส่งออกน้อยทั้งที่ภาคบริการของไทยเข้มแข็งมาก      

        “ระยะสั้น จะมุ่งให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีเงินใช้จ่ายก่อน จากนั้นจะหันมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากไม่ทำ แม้คนไทยอยู่ดีกินดีแล้ว เศรษฐกิจก็ยังน่าเป็นห่วง ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น จะต้องทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และการใช้จ่ายภายในท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง”      

        ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลชุดนี้ปฏิเสธนโยบายประชานิยมมาโดยตลอด แต่เหตุใดนายสมคิดจึงหันมาใช้กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นายสุวิทย์กล่าวว่า ตามตำราเศรษฐศาสตร์มีเรื่องนโยบายประชานิยมทั้งสิ้น เพียงแต่จะมีระดับการใช้เงินต่างกัน มีทั้งประชานิยมแบบอ่อน แบบกลาง แบบเข้ม ไม่มีรัฐบาลใดในโลกไม่ใช้นโยบายประชานิยม เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกจังหวะ ไม่ใช้เงินมากเกินไป และต้องใช้ในระยะสั้นเท่านั้น อย่างเงินกองทุนหมู่บ้านไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเอาเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่เพื่อให้นำไปใช้ทำประโยชน์ เช่น ลงทุนในท้องถิ่น เพื่อให้ออกดอกผลเพิ่มขึ้น

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เดินหน้าลดปัญหาหนี้เกษตรกร l เกษตรฯลุยจำหน่ายเหลือศูนย์1.2หมื่นล้าน

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะการปลดเปลื้องหนี้สินของเกษตรกร เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรฯ มีแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 เรื่องการเสนอจำหน่ายหนี้ศูนย์ที่มีอยู่ 12,000 ล้านบาทโดยจะจำหน่ายหนี้ศูนย์คิดเป็นมูลค่า 4,500 กว่าล้าน ของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรประมาณ 26,000 ราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีคณะกรรมการทำงานดำเนินงานเป็นชุดของคณะทำงานหรือคณะกรรมการบริหารกองทุน 13 กองทุน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีการเสนอจำหน่ายหนี้ศูนย์ของบางกองทุนไปแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะต้องดำเนินการจำหน่ายหนี้ศูนย์ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสของปีงบประมาณ 2559 จึงจะสามารถดำเนินการจำหน่ายหนี้ศูนย์ได้ครบทั้ง 13 กองทุน

ส่วนประเด็นที่ 2 การบริหารงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2558 มีตัวชี้วัดเรื่องรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินการลักษณะการรวมที่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 148,000 บาท/ครัวเรือน โดยผลการจัดทำการประเมินข้อมูลเบื้องต้นของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรกรในสองครั้งที่ผ่านมา ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม เบื้องต้นพบว่าเกษตรกรมีรายได้อยู่ที่ 152,000 บาท/ครัวเรือน แสดงว่าเงินงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ ที่ลงไปถึงเกษตรกรส่งผลในเชิงบวกทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,000 บาท/ครัวเรือน คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ถึง 2.7% ทั้งนี้ สศก.จะประเมินข้อมูลในเดือนสิงหาคม-กันยายนที่จะสิ้นสุดปีงบประมาณอีกครั้งหนึ่งด้วย

นางสาวจริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานโดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ที่กระทรวงเกษตรฯ สามารถเบิกจ่ายได้สูงสุดในรอบ 5 ปี (2553-2557) สามารถกระจายเม็ดเงินลงไปสู่ภาคเกษตรและเกษตรกร ส่งผลกระทบในทางบวกต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งถ้าเป็นไปตามผลการประเมินที่ว่าเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,000 บาท ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่จำหน่ายหนี้ศูนย์ด้วยแล้วก็จะทำให้ภาวะหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรลดน้อยลงเนื่องจากมีตัวเงินที่เป็นรายได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ไทยโชว์ศักยภาพเกษตร ระดมนวัตกรรมจัดงาน‘SIMA ASEAN Thailand 2015’

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการจัดงาน “SIMA ASEAN Thailand 2015” ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน “SIMA ASEAN Thailand 2015” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2558 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงเทคโนโลยี เครื่องจักรกลการเกษตร ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไทย มีการประชุมสัมมนาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกร รวมทั้งการสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน มุ่งหวังในการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตรไทย ให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิต และการจัดการสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ไปสู่ระดับสากล

นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด 5 หน่วยงาน เข้าร่วมแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรภายในงาน อาทิ กรมการข้าวได้นำพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ จำนวน 7 พันธุ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ คือ เกษตรกร ผู้บริโภค รวมทั้งผู้ประกอบการแปรรูปข้าว กรมปศุสัตว์ นำผลการศึกษาวิจัยการทำเนยแข็งเฟต้า ที่ผลิตจากน้ำนมโคและน้ำนมกระบือมาจัดแสดง เพื่อส่งเสริมการแปรรูปให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากน้ำนมกระบือ และน้ำนมโค ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่า ยืดอายุการเก็บรักษา และสร้างรายได้ให้เกษตรกร กรมประมง นำพันธุ์ปลาที่มีการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ 5 ชนิดมาจัดแสดง กรมหม่อนไหม นำนวัตกรรมการลงทะเบียนเกษตรกรด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเครื่องสาวไหมขนาดเล็กพร้อมกับตู้อบรังไหมขนาดเล็กเพื่อเกษตรกรรายย่อย มาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ และกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางการเกษตรที่สำคัญ ทั้งนี้นวัตกรรมและผลงานวิจัยทั้งหมดนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาต่อยอด เพื่อนำเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็งของภาคเกษตรของประเทศไทยอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯระดมขุดลอก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา8แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการโครงการสนับสนุนแก้ภัยแล้งเร่งด่วน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการขุดลอกแหล่งน้ำและแก้มลิง เตรียมไว้สำหรับรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาในช่วงปลายฝนนี้ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะสำรองน้ำไว้มากกว่า 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 21

“ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานมีแผนดำเนินการทั้งหมด 27 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และนนทบุรี เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ประมาณ 1.88 ล้าน ลบ.ม. โดยส่งรถขุดจำนวน 40 คัน เข้าไปเร่งดำเนินการขุดลอกเสร็จแล้ว จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ หนองตาเมฆ หนองบอน หนองสาหร่าย บึงกระจับใหญ่ บึงละหาน สระเขากา สระหนองจอก และสระสาธารณะคลองส่งน้ำ 9 ขวา เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ได้ 193,400 ลบ.ม. หนึ่งในนั้นเป็นการขุดร่องชักน้ำจากบึงไปช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวที่กำลังตั้งท้อง 3,000 ไร่” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ว่าที่ร้อยตรีไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สระเขากาเป็นงานขุดลอกสระเก็บน้ำให้มีความลึกเพิ่มขึ้นอีก 2 เมตร จากเดิม 3.5 เมตร เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกมาในช่วงฤดูฝนนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักได้ถึง 90,000 ลบ.ม. จากเดิมที่สามารถเก็บกักน้ำได้ 50,000 ลบ.ม. สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 3,000 ไร่ ใน 4 หมู่บ้านของ ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ สำหรับบึงละหานอยู่ในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ ตั้งอยู่ที่ ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท เป็นงานขุดร่องชักน้ำ ระยะทางรวม 2.3 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำจากก้นบึงจำนวน 60,000 ลบ.ม. ออกมาใช้ช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวที่กำลังตั้งท้องของเกษตรกรกว่า 3,000 ไร่.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จับมือใช้บาท-ริงกิต ค้าขายไทย-มาเลย์

ไทย-มาเลย์ ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นชำระธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับมาเลเซีย เชื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนางเซติ อัคตาร์ อาซิส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ การจัดตั้งกลไกดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างมาเลเซียและไทย โดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ แสดงถึงความตั้งใจของทั้ง 2 ธนาคารกลางในการร่วมกันสนับสนุนการใช้เงินสกุลริงกิตและเงินบาท เพื่อเป็นสื่อกลางในการชำระธุรกรรมการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากการใช้เงินสกุลที่สามในการชำระธุรกรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมของภาคธุรกิจด้วย

“การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันครั้งนี้ นับเป็นความตกลงกันคู่แรกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างมาเลเซียและไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมาเลเซียนับเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในอาเซียน มีตัวเลขดุลการค้าที่ 18.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2557 และมีการลงทุนระหว่างกันที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยภายใต้กรอบความร่วมมือข้างต้น ธปท. และธนาคารกลางมาเลเซีย จะเร่งหารือขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ในรายละเอียดต่อไป” นายประสารกล่าว

 ด้านนางเซติระบุว่า การจัดตั้งกลไกดังกล่าวจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคอาเซียนที่แน่นแฟ้นขึ้น และจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างมาเลเซียและไทย รวมทั้งสนับสนุนความเชื่อมโยงและพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะต่อไป.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แม่แบบปรับปรุงดินเปรี้ยว ด้วยทฤษฎีแกล้งดิน

การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำเปรี้ยวจากพรุที่ทำให้ดินในพื้นที่เพาะปลูกเป็นกรด อันเป็นผลมาจากน้ำเค็มบุกรุก และจัดทำระบบน้ำจืดเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคของราษฎร

 เมื่อวันพุธที่ 19 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมานายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วย นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. นายจรูญ อิ่มเอิบสิน ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง นางเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องร่วมเดินทางลงพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชมกิจกรรมการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ และชมผลแห่งความสำเร็จของราษฎร

จากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านเนินธัมมัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรี ธรรมราชโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านเนินธัมมังอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดขึ้นจากพระมหา กรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร เนื่องจากสภาพพื้นที่บ้านเนินธัมมัง ประสบปัญหาน้ำเค็มเข้าพื้นที่ ขาดแคลนน้ำจืด พื้นที่การเกษตรดินเป็นดินกรด เมื่อถึงช่วงหน้าฝนจะเกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน หน้าแล้งพื้นที่ยังชื้นแฉะทำให้ไม่สามารถใช้ที่ดินประกอบอาชีพการเกษตรได้ จึงทำให้ราษฎรต้องปล่อยที่ดินทิ้งร้าง

การน้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2536 โดยดำเนินการก่อสร้างระบบแยกน้ำสามรสออกจากกัน ด้วยการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำเปรี้ยวจากพรุที่ทำให้ดินในพื้นที่เพาะปลูกเป็นกรด อันเป็นผลมาจากน้ำเค็มบุกรุก และจัดทำระบบน้ำจืดเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคของราษฎร หลังจากการดำเนินการด้านแหล่งน้ำแล้วเสร็จ ในพื้นที่ยังประสบปัญหาในการเพาะปลูก คือ สภาพดินที่เป็นดินกรด ประกอบกับถูกทิ้งร้างมานาน ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้

จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ โดยการปรับปรุงดิน แก้ปัญหาดินเปรี้ยวโดยการน้อมนำทฤษฎีแกล้งดินตามพระราชดำริมาปฏิบัติ เพื่อให้ดินและน้ำมีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกข้าว และจัดทำกระบวนการผลิตข้าวแบบครบวงจรขึ้นจากการดำเนินการอย่างบูรณาการของทุกหน่วยงานทำให้ราษฎรสามารถเพาะปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำข้าวเปลือกมารวบรวมเก็บไว้ที่ธนาคารข้าว

ขณะเดียวกันก็ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการข้าวอย่างครบวงจร ด้วยการจัดทำโครงการโรงสีข้าวชุมชนขึ้นเพื่อสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร สำหรับการบริโภคในชุมชนนอกจากนี้ได้มีการรื้อฟื้นวิถีการทำนาตามภูมิปัญญาในอดีต เพื่อการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นสืบไปด้วย เช่น การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญข้าวใหม่ พร้อมส่งเสริมเยาวชนให้เรียนรู้การทำนา ควบคู่กับการจัดทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ครัวเรือนเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมข้าวและวัฒนธรรมข้าวพื้นบ้านไว้ไม่ให้สูญหายไปจากชุมชน มีการจัดทำโครง การแปลงต้นแบบเกษตรนาข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ดินพรุตามวิถีพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของอนุชนรุ่นหลังอีกด้วย

ในโอกาสนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้มอบพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี พันธุ์ปทุมธานี 1 และข้าวพันธุ์ กข 55 ให้กับตัวแทนเกษตรกร เพื่อนำไปมอบให้กับเพื่อนเกษตรกรใช้เป็นพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูกต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หนุนใช้‘Water Footprint’ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก. มีนโยบายที่จะนำเสนอให้ทุกภาคส่วนเห็นว่าต่อจากนี้การใช้น้ำต้องเป็นไปอย่างประหยัด ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่ออนุรักษ์น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับคนรุ่นหลังได้มีน้ำใช้ โดยเฉพาะต้องมีการนำกระบวนการเรื่อง “Water Footprint” มาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เป็นตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนกระทั่งสินค้าถูกแปรรูปไปถึงมือผู้บริโภคว่าแต่ละสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

มีการใช้น้ำตลอดกระบวน การผลิตปริมาณมากน้อยเพียงใด ซึ่งสินค้าที่มี Water Footprint น้อยย่อมได้รับความสนใจมากกว่าสินค้าที่มี Water Footprint มากเพราะมีการใช้น้ำ และทำให้น้ำสกปรกน้อยกว่าโดย Water Footprint แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำสีเขียว เป็นปริมาณน้ำที่อยู่ในรูปของความชื้นในดิน เนื่องจากน้ำฝนที่ถูกใช้ไปในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตพืชผลทางการเกษตร การทำไม้ และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ น้ำสีน้ำเงิน เป็นปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ น้ำผิวดินและน้ำใต้ดินที่ถูกใช้ไปในกระบวนการผลิต เช่น น้ำในแม่น้ำ ทะเลสาบ และน้ำในอ่างเก็บกักน้ำต่าง ๆ รวมทั้งน้ำบาดาล เป็นต้น

ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม น้ำสีเทา เป็นปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าและภาคบริการ ซึ่งคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดในกระบวนการผลิตให้เป็นน้ำดีตามค่ามาตรฐานโดยค่าเฉลี่ย Water Footprint ของประเทศไทยในขณะนี้สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก อยู่ที่ 2,223 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี เป็นผลมา จากการใช้น้ำที่ขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรสูงถึง 2,131 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี

ซึ่งเกิดจากการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นพืชผัก สินค้าประมง ปศุสัตว์ล้วนใช้น้ำทั้งสิ้น หากคิดสัดส่วนน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปีละประมาณ 14,000 ลูกบาศก์เมตร เท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลทั้งเขื่อน

นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนทำธุรกิจของชาวต่างชาติโดยเฉพาะการผลิตแอลกอฮอล์ที่เข้ามาใช้น้ำบาดาลในประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ใช้กับน้ำที่ส่งออกไปในรูปของสินค้าให้มีความสมดุลกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยเสียสมดุลด้านน้ำได้

อย่างไรก็ตาม ด้านการเกษตรกรรมของไทยถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้น้ำสูงสุดคิดเป็น 75% ตัวอย่าง การผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำถึง 3,400 ลิตร นม 1 แก้ว ใช้น้ำ 200 ลิตร กาแฟ 1 แก้ว ใช้น้ำ 140 ลิตร ไข่ไก่ 1 ฟอง ใช้น้ำ 135 ลิตร เป็นต้น ดังนั้น การศึกษาข้อมูล Water Footprint ของระบบการผลิตพืชและสัตว์แต่ละชนิดจะช่วยให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเข้าใจว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ไทย-เวียดนามร่วมยกระดับสินค้าเกษตร 

          นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยมีผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และ มกอช. เข้าร่วมประชุม และมีนายวู วัน มินท์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายเวียดนาม เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นคงค้าง และการขยายความร่วมมือที่สำคัญ

          โดยได้หารือถึงความคืบหน้าในการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชผลไม้ไทยไปเวียดนาม 4 ชนิด ซึ่งเวียดนามระงับการออกใบอนุญาตนำเข้ามาตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเวียดนามก็ติดตามความคืบหน้าการวิเคราะห์ความเสี่ยงในผลไม้เวียดนามที่ส่งออกมาไทยเช่นกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือข้อมูลรายละเอียดและประเด็นปัญหาต่าง ๆ และเห็นพ้องว่า จะร่วมกันเร่งรัดกระบวนการพิจารณาของทั้ง 2 ฝ่ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ภายใน 5-6 เดือน.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สมคิดยันศก.ไทยไม่วิกฤตเท่าปี'40จี้เอกชนอย่ากังวล 

           "สมคิด" ยันศก.ไทยไม่วิกฤต เหมือนปี 40 แนะเอกชนอย่ากังวลเกิน แต่ต้องไม่ประมาท จ่อดึงภาคเอกชนร่วมฟื้นฟูชูกำลังซื้อรายย่อย ส่งเสริมเอกชนลงทุนภูมิภาค ปรับสิทธิประโยชน์ดึงต่างชาติร่วมเผยนายกฯ สั่งเร่งด่วนดูแลผู้มีรายได้น้อย-เอสเอ็มอี พัฒนาศก.ท้องถิ่น ฟื้นสินค้าโอทอป นักเศรษฐศาสตร์ชี้ผลงานบริหารศก.รัฐคะแนนเกินครึ่งฉิวเฉียด

          เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง"นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย"โดยระบุว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่เป็นมิตรกับภาคธุรกิจและต้องการให้เอกชนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จึงอยากให้เอกชนมีความเข้มแข็งและรัฐบาลจะช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

          ทั้งนี้ ยืนยันประเทศไทยตอนนี้ไม่ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เหมือนปี 40 แต่ปัจจุบันปัญหาเกิดจากอำนาจซื้อของภาคเกษตรกรและประชาชนลดลง ทำให้เศรษฐลกิจชะลอตัว จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงเท่านั้น

          นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาเพียงเศรษฐกิจชะลอตัว จากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั้งข้าว ยางพารา จนกระทบต่อกำลังซื้อของชาวบ้านและเมื่อไม่เชื่อมั่นจึงเลือกเก็บเงินไว้ใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น

          ขณะที่ภาคเอกชนเมื่อมองเห็นบรรยากาศเศรษฐกิจ ไม่ดี จึงไม่ขยายการลงทุน เพราะไม่มั่นใจ ดังนั้นเมื่อปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไม่เลวร้ายจนน่าห่วงจึงต้องการดึงความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายร่วมใจกันพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางกระแสโลกชะลอตัว

          ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายให้แก้ปัญหาระยะสั้น เบื้องต้นต้องการอัดฉีดเงินผ่านไปยังกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้เงินส่งถึงชาวบ้านโดยตรง จึงเกิดเงินหมุนเวียนในช่วง2-3 เดือนข้างหน้า ขั้นต่อไปจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

          ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะพยายามเร่งสร้างสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้น และเร่งแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้หมดไป เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังมีฐานที่แข็งแกร่ง หากปรับส่วนนี้ได้จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ต่อไป โดยเอกชนจะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และอย่ากังวลจนเกินเหตุ แต่ต้องไม่ประมาท เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แน่นอน

          ทั้งนี้นายสมคิด กล่าวว่า นายกฯได้สั่งการให้ดำเนินการเร่งด่วน ในเรื่องการดูแลผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอี จึงได้มอบหมายให้รมว.คลัง สำนักงบประมาณ และที่ปรึกษาหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเหล่านี้และออกมาตรการที่กระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบให้เร็วที่สุด

          ขณะที่จะต้องสร้างท้องถิ่นให้แข็งแกร่งไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยอยู่ได้ ส่วนภาครัฐจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้มากที่สุด และหลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ จะมีมาตรการดูแลเอสเอ็มอีออกมา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันการเงินจะเข้ามาช่วยดูแล

          ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับภาคเอกชน เช่น สถาบันการเงิน เพื่อออกมาตรการเพิ่มในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ส่งเสริมให้เอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านความร่วมมือกับกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อต้องการส่งเสริมเอสเอ็มอีในประเทศให้เข้มแข็ง เนื่องจากขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการเชิญภาคเอกชนมาร่วมฟื้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการแบบคลัสเตอร์ 6 ด้านหลัก เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป กลุ่มยานยนต์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มปิโตรเคมิคอลสะอาดต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มไอทีและดิจิตอล การขยายมาบตาพุดให้เป็นซุบเปอร์คลัสเตอร์รองรับการมาลงทุนของเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการ การปรับสิทธิประโยชน์เพิ่ม เพื่อส่งเสริมการลงทุนสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าจะสรุปได้ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา

          จากนั้น จะเดินหน้าพัฒนานักรบทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างเอกชนที่เข้มแข็งร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสาขาใหม่ๆกับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีพอร์ตใหญ่ขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตกับต่างชาติ โดยมีการสร้างแบรนด์ให้กับรายย่อย ด้วยการนำบริษัทใหญ่มาต่อท่อกับเอสเอ็มอีเพื่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลด้านความรู้กับภาคเอกชนและคนรุ่นใหม่

          นอกจากนี้ นายกฯยังสั่งการให้เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว เพื่อให้มีรถไฟฟ้าความเร็วสูง การสร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและเศรษฐกิจในประเทศทุกพื้นที่ ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่

          ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น มองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวไม่ถึง ร้อยละ 5-6 ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในอนาคต ฉะนั้นต่อไปจะต้องเน้นพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นแข็งแกร่ง ด้วยการทำโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป และวิสาหกิจชุมชน ให้กลับมา

          นายสมคิด กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออก ด้วยการรวมกลุ่มธุรกิจของแต่สินค้าอุตสาหกรรม โดยการให้สถาบันศึกษาและนักวิจัยจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมด้วยผ่านการให้สิทธิประโยชน์จูงใจกลุ่มคนเหล่านี้ ที่มากกว่าการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะทำให้สามารถจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสินค้าได้และผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นซูปเปอร์คลัสเตอร์ เพื่อแข่งขันกับต่างชาติได้

          กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ จากองค์กรชั้นนำ27แห่ง จำนวน59 คน เรื่อง"ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์(ครบ 1 ปี)" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลงานการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยให้คะแนน5.32 คะแนน (จากเต็ม 10) ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่ได้ 5.62 คะแนน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ (ได้ 4.08 คะแนน) และสูงกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ (ได้ 5.12 คะแนน)

          อย่างไรก็ตาม การประเมินครั้งนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนมากที่สุดในด้านการบริหารจัดการค่าเงินบาท/เสถียรภาพค่าเงินบาท (5.98 คะแนน) และได้คะแนนน้อยที่สุดในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม(GDP) (4.57 คะแนน) สำหรับการประเมินผลงานนายกฯโดยภาพรวม พบว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนน 6.42 คะแนน(จากเต็ม 10)ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่ได้ 6.62 คะแนน

          ในส่วนของผลงานรมต.กระทรวงเศรษฐกิจ พบว่า นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาฯได้คะแนนสูงสุด 6.12 คะแนน และเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในทีมเศรษฐกิจที่คะแนนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ได้ 5.83 คะแนน

          ขณะที่มีรัฐมนตรีที่ได้คะแนนน้อยกว่าครึ่งจำนวน4 คน ได้แก่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม (ได้ 4.91 คะแนน) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน (ได้4.80 คะแนน) นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ได้ 4.64 คะแนน) ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัยสาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ (ได้ 4.52 คะแนน)ได้คะแนนต่ำสุด

          สำหรับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นักเศรษฐศาสตร์ประเมินให้คะแนนผลงานสูงสุดเท่ากับ 7.05 คะแนน ซึ่งปรับลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ได้ 7.54 คะแนน

จาก พิมพ์ไทย วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยังคงส่งผลกระทบต่อทุกสกุลเงินหลัก

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 35.61/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (26/8) ที่ระดับ 35.64/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากแรงซื้อกลับ ค่าเงินระยะสั้นหลังจากปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กออกมาให้ความเห็นว่า แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในเดือนกันยายนนี้มีความเป็นไปได้ลดลง สะท้อนให้ความกังวลของการชะลอตัวจากเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินของสหรัฐ แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ปรับตัวขึ้น 2% ในเดือนกรกฎาคม จากการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง 2.0% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.61-35.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่ายูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1492/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันพุธ (26/8) ที่ระดับ 1.1579/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนายปีเตอร์ พราเอท สมาชิกบอร์ดธนาคารกลางยุโรปกล่าวรายงานในเวทีประชุมที่เยอรมนีว่า การลดตัวลงของราคาน้ำมัน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีน อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปนั้นยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.2% ทำให้ธนาคารกลางยุโรปอาจจะต้องเริ่มโครงการซื้อขายสินทรัพย์ที่มีมูลค่า 60 ล้านยูโรต่อเดือน เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืดนี้ เป็นผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมาก แม้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของฝรั่งเศสปรับตัวสูงขึ้นสู่ 103 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 102 ในเดือนกรกฎาคมโดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในระหว่าง 1.1293-1.1334 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1294/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดวันที่ระดับ 119.98/120.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (26/8) ที่ระดับ 119.92/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลของนักลงทุนต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นคู่ค้าอย่างญี่ปุ่น แม้ว่านายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้กล่าวในเชิงบวกว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้น ไม่น่าจะสร้างความเสียหายให้แก่การส่งออกของญี่ปุ่น รวมถึงราคาน้ำมันที่ต่ำลงก็ไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 2% จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงไปอีก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 119.23-120.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 120.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ประมาณการครั้งที่ 2 จีดีพีช่วงไตรมาส 2/2558 ของสหรัฐ (27/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ (27/8), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนกรกฎาคมของสหรัฐฯ (27/8), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (28/8), ข้อมูลว่างงานญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (28/8), ยอดค้าปลีกเบื้องต้นเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (28/8) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือนสิงหาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ (28/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 14 เดือนในปรเทศอยู่ที่ +4.90/5.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +10.00/15.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 27 สิงหาคม 2558

ถ่านชีวภาพเพื่อการเกษตร   

รศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี นักวิจัย จุฬาฯ เปิดเผยว่า Unisearch ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การปรับปรุงคุณภาพดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยถ่านชีวภาพเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน” จึงได้เกิดคณะนักวิจัยที่ร่วมกันรับผิดชอบโครงการเกิดขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ มาจากแนวคิดที่ว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทั้งนี้ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ชนบทประสบปัญหาความยากจน โดยมีสาเหตุมาจากประชาชนปราศจากคามรู้และความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานพยายามนำเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูง คุณภาพของผลผลิตที่ได้รับ ความสมบูรณ์และคุณภาพของทรัพยากรดิน ความเพียงพอของทรัพยากรน้ำในการเกษตร การใช้สารเคมีเพื่อเร่งการผลิต สารเคมีปราบศัตรูพืชซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ดังนั้นจึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เข้าใจง่าย และใช้ได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเกษตรแนวใหม่ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ บำรุงดูแลรักษาสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นทุนในการผลิตและเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ให้ยั่งยืนเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

 รศ.ดร.ทวีวงศ์ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่ศูนย์วิจัยถ่านชีวภาพป่าเต็ง ตั้งแต่ปี 2554 ของคณะวิจัยพบว่า การใช้ถ่านชีวภาพสามารถปรับปรุงคุณภาพดินและสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรทั้งพืชไร่ พืชสวน พืชผัก และข้าวได้อย่างชัดเจน โดยการดำเนินงานวิจัยที่ผ่านมาได้คิดค้นละประดิษฐ์เตาเผาถ่านชีวภาพ Controlled Temperature Retort for Slow Pyrolysis Process (จดสิทธิบัตร) โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตได้โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถผลิตถ่านชีวภาพที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐาน ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญนำไปสู่การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่ท้องถิ่นนับเป็นการใช้งานวิจัยเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ

การดำเนินการในโครงการปรับปรุงคุณภาพดินและการเพิ่มผลผลิตด้วยถ่านชีวภาพเพื่อความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีในลักษณะของการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้นำชุมชน โดยมีความต้องการที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่น โดยใช้เตาเผาถ่านชีวภาพ Controlled Temperature Retort for Slow Pyrolysis Process ซี่งมีกระบวนการที่ง่ายไม่ซับซ้อนผู้ที่เข้ารับการอบรมและทดลองผลิตถ่านชีวภาพจาวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรและวัสดุในท้องถิ่นด้วย และสามารถนำกลับไปทำได้เอง

“มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มระบบ การเรียนรู้ ( Knowledge Management) สร้างความสามารถ (capability building) ในการต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างโมเดลการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหารในพื้นที่และขยายผลในพื้นที่อื่นๆต่อไป” รศ.ดร.ทวีวงศ์ กล่าว

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com วันที่ 27 สิงหาคม 2558

รมว.อุตฯประชุมร่วมขรก.มอบนโยบาย 31ส.ค.

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเรียกข้าราชการ พร้อมมอบนโยบาย 31 ส.ค. เน้นดัน SME เรียกเชื่อมั่น ตามนโยบายสมคิด

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคมนี้ จะมีการเชิญข้าราชการส่วนกลางมาหารือพร้อมมอบนโยบาย โดยจะมีการกำชับเรื่องเอสเอ็มอีและการเรียกความเชื่อมั่นเป็นลำดับแรก ส่วนนโยบายอื่น ๆ ก็ต้องดำเนินการต่อไป รวมทั้งการมอบนโยบายอุตสาหกรรมจังหวัด ขณะที่นโยบายหลักที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน โดยมีแนวคิดจะออกคู่มือผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคู่มือลักษณะเดียวกันกับคู่มือประชาชนที่ใช้ประกอบกับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก เพื่อให้นักลงทุนรายเล็กได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลมากขึ้น รวมถึงจะประสานงานกับภาคเอกชนในลักษณะบุคคลที่ 3 (เติร์ดปาร์ตี้) ช่วยลงไปตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อความรวดเร็วและโปร่งใสในการออกใบอนุญาต

นอกจากนี้ เตรียมเร่งกำหนดสิทธิประโยชน์เขตเศรษฐกิจในประเทศ ที่จะรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น คาดว่าแผนงานจะแล้วเสร็จได้ภายใน 1 เดือน และจะมอบนโยบายแก่ข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในส่วนกลาง ให้เร่งดำเนินการนโยบายเอสเอ็มอี ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจให้ยกระดับเอสเอ็มอีและประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านเอสเอ็มอีของกระทรวงให้เตรียมข้อมูลให้พร้อมภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะนำเสนอรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจต่อไป

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 27 สิงหาคม 2558

ศก.โลกชะลอฉุดส่งออกไทย7เดือนติดลบ 4.66%

กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกก.ค.ลบอีก 3.56% ทำ 7เดือนส่งออกลบแล้ว 4.66% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยเดือนก.ค.2558 มูลค่า 1.82หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.56% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7ส่วนนำเข้ามีมูลค่า1.74. หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.73% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าก.ค. 770 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การส่งออก 7 เดือนมีมูลค่า 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.66% ส่วนนำเข้า 1.20 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.64% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 7 เดือนมูลค่า 4,243ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 27 สิงหาคม 2558

ระดมสมองชำแหละระบบขนส่งทางรางประเทศไทย

     เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก โดยมี สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถานวิจัยด้านความเป็นเลิศ ด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นเจ้าภาพหลัก มีผู้เข้าร่วมประชุมราว 200 คน

    ดร.พิเชฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบทั้งส่วนที่เป็นระบบราง รถไฟรางคู่ การปรับปรุงเส้นทางต่างๆ ไปจนถึงอนาคตระบบรางที่ทันสมัย และมีความเร็วที่สูงขึ้น ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จับมือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง และ สภาอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมบุคลากรที่จะมารองรับระบบราง ทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค ผู้ที่จะประกอบการเดินรถ และประกอบการซ่อมบำรุงรถไฟในอนาคต

     รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ผลกระทบกับเส้นทางที่ระบบรางเดินผ่านคือ ความเจริญที่จะเกิดขึ้น แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการก่อสร้างที่ต้องคู่ขนานไปในการกระจายความเจริญ ลดความแออัดในชุมชนเมือง เพื่อให้คนคืนกลับถิ่น ซึ่งแน่นอนว่า บริบทแวดล้อมต้องดี เช่น มีโรงพยาบาล สถานศึกษาที่ดี อยู่ในแนวสองข้างทางที่ระบบรางผ่าน กระจายทั่วประเทศ ถึงวันนั้นเราก็จะได้เห็นความเจริญที่เป็นรูปธรรม การจะให้คนคืนถิ่นก็จะง่าย

      “พิษณุโลกจะกลายเป็น ฮับแห่งการคมนาคมขนส่ง เชียงใหม่จะกลายเป็น ฮับการท่องเที่ยว หรือจะเป็นฮับของอะไรก็แล้วแต่ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วประเทศที่มีระบบรางจะพาดผ่าน” ดร.พิเชฐ กล่าว

       ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องการสร้างอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางรากฐานหรือสร้างระบบรางนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลพิจารณาแล้ว และพยายามทำให้เอกชนของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และชาติอื่นๆ ที่จะตามมา

      “จำได้ว่าเมื่อ 3-4ปีที่แล้ว ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเลยในประเทศไทย ที่มีหลักสูตรเรื่องระบบราง วันนี้อย่างน้อยมี 10 มหาวิทยาลัย ที่เข้ามามีส่วนร่วมซึ่งสัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดี เราควรพยายามประคับประคองให้มีความเข็มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำการเชื่อมโยง มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ และเราหวังว่าเราจะได้ระบบรางที่เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ในที่สุด

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 27 สิงหาคม 2558

คอลัมน์ คนตามข่าว: อาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดฯอุตสาหกรรมคน

           ดุษฎี สนเทศ

          tharmkhao@gmail.com

          จากอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

          ครม.เห็นชอบ แต่งตั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ แทนอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงเกษียณอายุราชการ และเลื่อนชั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

          เกิด 3 มิถุนายน 2499 จบมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมหาวชิราวุธ (สงขลา) 2517, ศบ. (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2521, พบ.ม. (พัฒนาการเศรษฐกิจ) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2523

          อื่นๆ อาทิ ประกาศนียบัตรหลักสูตรนักบริหารระดับสูง  2546 (นบส.42), วปอ.2548

          ลูกหม้อกระทรวงอุตสาหกรรม

          บรรจุรับราชการปี 2524 ตำแหน่งเศรษฐกร 3 กองบริการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

          ผ่านเก้าอี้บริหารหลักๆ 2544-2545 ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา, 2545-2546 ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม,

          2546-2548 รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, 2548-2551 ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, 2551-2552 ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, 2552-2554 อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

          2554-2555 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, 2555 รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

          คัมแบ๊กดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกครั้งตามมติ ครม. 14 ตุลาคม 2557

          มีชื่อคั่วเก้าอี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อ วิฑูรย์ สิมะโชคดี เสนอชื่อดำรงตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการ ทว่า จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เจ้ากระทรวงขณะนั้นผลักดัน อรรชกา สีบุญเรือง ปาดหน้านั่งเก้าอี้ก่อน เนื่องจากเห็นว่า อาทิตย์เหลืออายุราชการอีก 2 ปี น่าจะรอได้

          ปีนี้จึงเป็นคิวของอาทิตย์

          ในฐานะผู้มีอาวุโสสูงสุด

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 สิงหาคม 2558

เร่งตุนแหล่งน้ำรับแล้งหน้า l ลุยขุดลุ่มเจ้าพระยา-ตั้งเป้าตุน1.8ล้านลบ.ม.

กรมชลเร่งขุดลอกแหล่งน้ำลุ่มเจ้าพระยา รองรับฝนเดือนสิงหาคมนี้ คาดกักตุนน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า ได้มากกว่า 1.88 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการสนับสนุนแก้ภัยแล้งเร่งด่วน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการขุดลอกแหล่งน้ำและแก้มลิง เตรียมไว้สำหรับรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะสำรองน้ำไว้มากกว่า 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 21

“สำหรับในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานมีแผนดำเนินการทั้งหมด 27 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และนนทบุรี เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ประมาณ 1.88 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานได้จัดส่งรถขุดจำนวน 40 คัน เข้าไปเร่งดำเนินการขุดลอกให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2558 นี้ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ หนองตาเมฆ หนองบอน หนองสาหร่าย บึงกระจับใหญ่ บึงละหาน สระเขากา สระหนองจอก และสระสาธารณะคลองส่งน้ำ 9 ขวา สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ได้ประมาณ 193,400 ลูกบาศก์เมตร โดยหนึ่งในนั้นเป็นการขุดร่องชักน้ำจากบึงไปช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวที่กำลังตั้งท้อง ประมาณ 3,000 ไร่” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ว่าที่ร้อยตรีไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า “ในส่วนของสระเขากา เป็นงานขุดลอกสระเก็บน้ำให้มีความลึกเพิ่มขึ้นอีก 2 เมตร จากเดิม 3.5 เมตร เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกมาในช่วงฤดูฝนนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักได้ถึง 90,000 ลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่สามารถเก็บกักน้ำได้ 50,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 3,000 ไร่ ใน 4 หมู่บ้านของ ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์

สำหรับบึงละหาน อยู่ในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ ตั้งอยู่ที่ ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท เป็นงานขุดร่องชักน้ำ ระยะทางรวม 2.3 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำจากก้นบึงจำนวน 60,000 ลูกบาศก์เมตร ออกมาใช้ช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวที่กำลังตั้งท้องของเกษตรกรกว่า 3,000 ไร่”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 สิงหาคม 2558

ไฟเขียวหลักการยุทธศาสตร์ เดินหน้าวิจัยด้านการเกษตร

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2558-2562) ที่เสนอโดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1) การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารเชิงพาณิชย์ 2) การวิจัยเพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงตลาด ในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก 3) การวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน 4) การวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan)

ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และจัดทำแนวทางการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติต่อไป รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดตามข้อเสนอของที่ประชุมในประเด็นการวิจัยสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการผลิตในภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 สิงหาคม 2558

ภาครัฐ เอกชน ผนึกกำลังผลักดันหนุนไทยเป็น Bio Hub 

          สถาบันปิโตรเลียมร่วมกับศศินทร์จัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนา Bio Hub ในประเทศไทย” ออกแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว มุ่งหวังไทยสู่พัฒนา New Wave Industry ครบวงจรระดับโลก สภาพัฒน์ฯ และ สภาอุตสาหกรรมฯ เห็นความสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตร พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเองในประเทศ และยกระดับรายได้ของประเทศเพื่อความยั่งยืนในอนาคต

          นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลการศึกษาโครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนา Bio Hub ในประเทศไทยร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ สรุปได้ 4 ยุทธศาสตร์หลักที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลก (Bio Hub) ภายใน 20 ปี โดยเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลิตเชื้อเพลิง เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันและอยู่ในแหล่งวัตถุดิบ พร้อมทั้งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภครองรับหน่วยผลิตต่อเนื่องที่จำเป็นที่เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการผลิตสูงสุด อีกทั้งยังสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพและน้ำรีไซเคิลนำไปใช้ในภาคการเกษตรรวมถึงเป็นพลังงานทดแทนได้อีกด้วย โดยการพัฒนาจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ปี 2561-2568) ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ผลิตเชื้อเพลิง เคมี และพลาสติกชีวภาพ ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 1.2 แสนล้านบาท/ปี และระยะที่ 2 (ปี 2569-2578) จะใช้มันสำปะหลังและชีวมวลต่างๆที่มีศักยภาพในอนาคตมาเป็นวัตถุดิบเสริมเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบ

          นายชัยพงษ์ พงษ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านวัตถุดิบจากสินค้าเกษตร โดยในปัจจุบันส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล และส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง เป็นอันดับที่ 1 ของโลก อีกทั้งยังมีฐานการผลิตสินค้าชีวภาพอยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรดชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้นไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลกได้ การนำสินค้าเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงาน หากสามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นในประเทศได้ จะทำให้มีการลงทุนในประเทศกว่า 1 แสนล้านบาท สำหรับการลงทุนในระยะที่ 1 และก่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย แต่ยังมีข้อจำกัดคือประเทศไทยไม่ใช่ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ดังนั้นนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ เพื่อดึงดูดผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชีวภาพ ให้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

          นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนเห็นความสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Bio Hub และสนับสนุนให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากประเทศมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ อีกทั้งตรงกับนโยบายของประเทศในการพัฒนาตลาดในประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Bio Hub ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันและอยู่ในแหล่งวัตถุดิบแม้จะมีความเหมาะสม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการลงทุนสูง เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงและผูกขาดโดยเจ้าของเทคโนโลยี อีกทั้งประเทศไทยเองยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐในระยะเริ่มต้นในหลายๆด้าน นอกจากนี้ ในด้านตลาดสินค้าชีวภาพนั้นก็มีความสำคัญ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าชีวภาพมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป จึงทำให้ความต้องการใช้สินค้าชีวภาพยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคและการสร้างตลาดสำหรับสินค้าชีวภาพ จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลก

          นายธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave Industry) ที่ใช้สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในประเทศมาสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตเป็นสินค้าชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสและแนวโน้มการผลิตสินค้าของโลก ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเริ่มต้นของอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทยจะช่วยวางรากฐานของธุรกิจสินค้าชีวภาพและก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ตามมา ซึ่งถือเป็นโอกาสก้าวสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ต่อยอดการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมโดยนักวิจัยไทย

          จะเห็นได้ว่า Bio Hub จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนการส่งออก ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างรายได้ใหม่ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างงานใหม่และเพิ่มความมั่นคงทางแรงงาน ดังนั้นควรนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติเป็นกลไกบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่ชัดเจนและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติประเทศไทยก็จะสามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นได้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในด้านคุณภาพชีวิตและการกินดีอยู่ดีของประชาชน ที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนประเทศให้เจริญเติบโตอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 สิงหาคม 2558

ทางการเกษตร หวังโชว์ศักยภาพภาคการเกษตรสู่สากลรับ AEC 

          นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการจัดงาน “SIMA ASEAN Thailand 2015” ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตอบรับร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน “SIMA ASEAN Thailand 2015” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 กันยายน 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงเทคโนโลยี เครื่องจักรกลการเกษตร ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไทย มีการประชุมสัมมนาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกร รวมทั้งการสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน มุ่งหวังในการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตรไทย ให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิต และการจัดการสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ไปสู่ระดับสากล

          นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด 5 หน่วยงาน เข้าร่วมแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรภายในงาน อาทิ กรมการข้าว ได้นำพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ จำนวน 7 พันธุ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ คือ เกษตรกร ผู้บริโภค รวมทั้งผู้ประกอบการแปรรูปข้าว กรมปศุสัตว์ นำผลการศึกษาวิจัยการทำเนยแข็งเฟต้า ที่ผลิตจากน้ำนมโคและน้ำนมกระบือมาจัดแสดง เพื่อส่งเสริมการแปรรูปให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากน้ำนมกระบือ และน้ำนมโค ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่า ยืดอายุการเก็บรักษา และสร้างรายได้ให้เกษตรกร กรมประมง นำพันธุ์ปลาที่มีการวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ 5 ชนิดมาจัดแสดง กรมหม่อนไหม นำนวัตกรรมการลงทะเบียนเกษตรกรด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเครื่องสาวไหมขนาดเล็กพร้อมกับตู้อบรังไหมขนาดเล็กเพื่อเกษตรกรรายย่อยมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ และกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางการเกษตรที่สำคัญ ทั้งนี้นวัตกรรมและผลงานวิจัยทั้งหมดนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาต่อยอด เพื่อนำเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็งของภาคเกษตรของประเทศไทยอีกด้วย

          “ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลกในปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรรวม 1,041,197 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังภูมิภาคอาเซียนเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 22% ญี่ปุ่น 13% และจีน 12% ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยยังคงครองตลาดสินค้าเกษตรหลักๆ ในตลาดโลก อาทิ ข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง เป็นต้น แต่อาเซียนกับไทยมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเหมือนกันหลายสินค้า อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ เป็นต้น ดังนั้น จึงทำให้อาเซียนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ การเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ซึ่งจะเห็นว่าสินค้าเกษตรของไทยยังมีโอกาสอีกมากมายในเวทีการค้าโลก สิ่งสำคัญอยู่ที่ยุทธศาสตร์ ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันยกระดับ “เกษตรกร” ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการให้ได้” นายสุวิทย์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 สิงหาคม 2558

สศก.เปิดมุมมองทางรอดเกษตร ชี้ร่วมมือ-พึ่งพา-พัฒนา-ผลักดัน

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว จากปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศ จึงต้องเร่งรัดส่งเสริมภาคเกษตรให้ดีขึ้น โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มเงิน 1.44 ล้านล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรใน 8 ด้านสำคัญ เน้นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ให้มากขึ้นในทุกระดับ เน้นการพึ่งพาตนเอง เร่งพัฒนาผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสามารถทดแทนการนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรปลายน้ำ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

เน้นผลักดันส่งเสริมเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเกษตรรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่ได้รับการวิจัยแล้ว เช่น นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ อย่างการทำการเกษตรภายในอาคาร การเกษตรกลางแจ้งรูปแบบใหม่ เน้นส่งเสริมการปลูกพืชรองแซมพืชหลัก เช่น สวนยางพารา ควรเสริมพืชล้มลุกทั้งหลายก่อนที่ยางพาราจะให้ผลผลิต เช่น พริกไทย แตงโม ถั่วต่างๆ หรือสับปะรด เพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร เน้นส่งเสริมการปลูกพืชแบบหลายชนิด หรือการปลูกพืชมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป ในพื้นที่เดียวกันในรอบปี เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านรายได้และราคา เน้นสินค้าเกษตรสำหรับการบริโภคภายในประเทศให้เพียงพอมากขึ้น เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย เช่น ปลูกกล้วย พืชผักต่างๆ ให้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ เพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

และสุดท้าย เน้นสินค้าเกษตรเข้าสู่ยุค "คุณภาพและคุณธรรม" โดยเกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ผู้ผลิตหรือผู้แปรรูปต้องรับซื้อผลผลิตอย่างมีคุณธรรม เพื่อนำไปแปรรูปได้สินค้าที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้บริโภคและตลาดต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นที่จะรับซื้อข้าวไทยในราคาที่สูงกว่าข้าวทั่วไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 สิงหาคม 2558

ตั้งธนาคารปุ๋ยลดทุนเพิ่มผลผลิต กระตุ้นชาวนาเห็นความสำคัญสิ่งเหลือใช้

ที่ศูนย์ประสานงานกลุ่มผู้ผลิตข้าวบ้านคำไผ่ หมู่ 6 ต.หนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดโครงการฟื้นดิน รักษ์น้ำ ด้วยการพัฒนาที่ดิน และตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพซึ่งเป็นสูตรปุ๋ยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  โดยมีนายสุทธิดล วงษ์จันฬา ผอ.สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ นายทวี บรรเจิด ปลัดอาวุโสอำเภอสมเด็จ และนายนิยม โยหาสิทธิ์ นายก อบต.หนองแวง นำส่วนราชการ หมอดิน เกษตรกร ร่วมงานจำนวนมาก

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตามนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน ที่มุ่งหวังให้เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ลดทุนและเพิ่มผลผลิตตามนโยบายรัฐบาล จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฟื้นดิน รักษ์น้ำ ด้วยการพัฒนาที่ดิน โดยให้ความรู้เกษตรกร และจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ตามสูตรพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระราชเสาวนีย์ในการอนุรักษ์ดิน น้ำ และระบบนิเวศ

นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดินและน้ำ รวมทั้งปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาสภาพดิน ลดการชะล้างของหน้าดิน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากดินอย่างมีคุณค่า โดยลดการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี แต่มุ่งเน้นให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ดิน ปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดิน ประกอบเป็นนโยบายของรัฐบาล ในการรณรงค์ให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดความเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วง จึงได้ร่วมกับส่วนราชการ อาทิ สำนักงานพัฒนาที่ดิน สำนักงานเกษตร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ จัดโครงการฟื้นดิน รักษ์น้ำ ด้วยการพัฒนาที่ดิน และจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์ให้มีการผลิตและใช้ประโยชน์ปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง หวังกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของวัตถุดิบและวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น เช่น มูลสัตว์ ซังข้าว ใบไม้ เศษอาหาร โดยนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในการจัดงานครั้งนี้ได้ปลูกสำนึกเกษตรกรหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ โดยมีการประกวดการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอย่างง่าย มีการมอบสารน้ำหมักชีวภาพ สารเร่งบำรุงดิน มอบสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน และตั้งธนาคารอินทรีย์  เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มที่ประหยัดทุน ได้ปุ๋ยคุณภาพดี สามารถนำไปใช้ในแปลงนาเพื่อลดทุนและเพิ่มผลผลิตสู้กับภัยแล้งในฤดูกาลผลิตปีนี้ในพื้นที่ ต.หนองแวง จำนวน 25 ตัน หวังให้เกิดความยั่งยืนและขยายผลต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 สิงหาคม 2558

เอกชนหนุนรัฐดันยอดใช้อี20 หวังขยับเอทานอลได้ตามเป้า

สมาคมเอทานอลหนุนกระทรวงพลังงานดันใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 หวังยอดใช้เอทานอลขยับตามเป้า 11.5 ล้านลิตรในปี 2579 พร้อมส่งเสริมกลุ่มประเทศเออีซีหันใช้แก๊สโซฮอล์ สร้างโอกาสส่งออกของผู้ประกอบการไทย ฟากโรงงานเอทานอลจ่อเปิดอีกเพียบหลังมาตรการส่งเสริมพลังงานทดแทนชัดเจน ล่าสุดกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 5 ล้านลิตรต่อวัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้แผนส่งเสริมพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้เอทานอล ซึ่งตามแผนบริหารจัดการน้ำมันระบุว่ายอดใช้เอทานอลจะอยู่ที่ 11.5 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2579 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งการส่งเสริมยอดใช้เอทานอลให้เพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านลิตรต่อวันมีความเป็นไปได้ หากรัฐส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์อี20 และอี 85 เพิ่มขึ้น โดยอาจใช้มาตรการเพิ่มส่วนต่างราคาเพิ่มขึ้น โดยหากเทียบตามค่าความร้อน ส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์อี 85 ควรต่างจากน้ำมันเบนซิน 95 ไม่ต่ำกว่า 25%

ขณะเดียวกันภายหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ปลายปี 2558นี้ รัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านใช้แก๊สโซฮอล์ โดยเริ่มจากแก๊สโซฮอล์95 เนื่องจากบริษัทน้ำมันของไทย อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าไปดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นหากประเทศเพื่อนบ้านมีการยอมรับและหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันยังเป็นน้ำมันเบนซิน เชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเอทานอลของไทยมีโอกาสส่งออกเอทานอลด้วย อีกทั้ง จะทำให้การส่งเสริมเอทานอลเป็นไปตามแผนเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยกับการยกเลิกหัวจ่ายน้ำมันบางชนิด อาจเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มเบนซินมีถึง 5 ชนิด หากยกเลิกและหันมาส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์อี20 ทดแทน ก็จะช่วยให้ความต้องการเอทานอลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันต้องดูมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือรถยนต์รุ่นเก่า และกลุ่มรถจักรยานยนต์ เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 และอี 85 ได้หรือไม่

สำหรับผู้ประกอบการเอทานอล ขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนแผนส่งเสริมเอทานอลจากทางภาครัฐ โดยคาดว่าจะมีโรงงานเอทานอลใหม่เกิดขึ้น จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 21 โรง กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งยังเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เพราะแม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลง ทำให้ราคาเอทานอลสูงกว่า แต่เชื่อในระยะยาวเอทานอลจะสามารถแข่งขันกับน้ำมันจากฟอสซิลได้

นายอุกฤษฎ์ อัษฎาธร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ภายหลังเปิดเออีซีในปลายปีนี้ จะดูนโยบายของรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะมีการส่งเสริมพลังงานทดแทนเหมือนประเทศไทยหรือไม่ หากประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการใช้แก๊สโซฮอล์ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกเอทานอลไปยังประเทศเหล่านี้ แต่ประเทศบราซิลนับว่าเป็นคู่แข่งสำคัญ เนื่องจากมีกำลังการผลิตเอทานอลจำนวนมากและต้นทุนต่ำกว่าไทย

โดยขณะนี้ผู้ประกอบการไม่มีการส่งออกเอทานอล เนื่องจากราคาในตลาดโลกต่ำกว่าราคาขายในประเทศ รวมทั้งความต้องการใช้เอทานอลในประเทศก็เพิ่มขึ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมก่อนที่จะยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ยอดใช้เอทานอลเพียง 1.3-1.4 ล้านลิตรต่อวัน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.4-3.5 ล้านลิตรต่อวัน

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า กรมเตรียมปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจาก 25% เป็น 30% ของการใช้พลังงานฟอสซิล โดยจะส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 มากขึ้น ซึ่งเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาในเดือนกันยายนนี้

 จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 26 สิงหาคม 2558

ราคาน้ำตาลโลกดิ่งทำส่งออกเดี้ยง 'โควตาข.'ป่วน40ล้านกระสอบค้างเติ่งขายไม่ได้ 

          อนท.ชะงักขายน้ำตาลโควตา ข. 8 ล้านกระสอบไม่ออก หลังราคาน้ำตาลตลาดโลกดิ่งเหลือ 10 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่น้ำตาลโควตา ค.พิเศษ 35 ล้านกระสอบของฤดูผลิตเก่า ยังกองค้างเติ่งเทรดเดอร์ยื้อไม่ส่งเรือมารับ คาดแนวโน้มฤดูการผลิตหน้าหนัก ราคาน้ำตาลส่งสัญญาณเลขหลักเดียว "รมต.อรรชกา" สั่งด่วนสรุปแผนปรับโครงสร้างอ้อยน้ำตาลให้จบกันยายนนี้ เสนอทางออกรายได้กองทุน อ้อยฯให้เก็บจากการขายน้ำตาลทุกตันทดแทนเงิน 5 บาท คล้ายกองทุนยาง กองทุนน้ำมันฯ

          ชาวไร่อ้อยแจงเงิน 5 บาทที่เก็บจากราคาน้ำตาลในประเทศไม่ควรยกเลิก ชี้ไม่ขัด WTO เพราะใช้กฎหมายต่างกัน พร้อมเห็นด้วยแนวคิดรวมเอทานอลและไฟฟ้าในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ย้ำระบบปัจจุบันดี แต่ยังไม่มีกรอบกฎหมายชัด ขีดเส้น 26 ส.ค.ต้องได้ข้อสรุป

          แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมน้ำตาล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกอยู่ในช่วงทิศทางขาลงมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังซบเซา โดยราคาล่าสุดเฉลี่ยประมาณ 10.3 เซนต์ต่อปอนด์ และมีแนวโน้มว่าอาจจะได้เห็นราคาตัวเลขหลักเดียว ส่งผลให้ขณะนี้ ทางบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ยังไม่ได้ตกลงขายน้ำตาลโควตา ข. ฤดูการผลิตปี 2558/2559 จำนวน 8 ล้านกระสอบให้กับต่างประเทศ ขณะเดียวกัน น้ำตาลโควตา ค.พิเศษ ฤดูการผลิตปี 2557/2558 ยังเหลืออยู่ประมาณ 35 ล้านกระสอบ ซึ่งผู้ซื้อในต่างประเทศไม่นำเรือเข้ามารับ เนื่องจากทิศทางราคาที่ดิ่งลงทุกวัน

          "ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน ๆ มา อนท.จะเริ่มทยอยตกลงราคาขายน้ำตาลโควตา ข.ไปบ้างแล้ว แต่ปีนี้ยังไม่ได้ทยอยขายออกไปเลย เพราะราคาดิ่งลงทุกวัน ทำให้ผู้นำเข้าในต่างประเทศ และบริษัทเทรดเดอร์ยังชะลอดูทิศทาง ซึ่งยังมีแนวโน้มวิ่งลงต่ออีก หากตกลงราคาไปก่อนจะขาดทุนทันที เช่นเดียวกันราคาน้ำตาลโควตา ค.พิเศษที่ยังไม่นำเรือเข้ามารับ เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอ กำลังซื้อลดลง แถมราคาที่ซื้อไว้ล่วงหน้าตอนนั้นประมาณ 18 เซนต์ต่อปอนด์ก็ขาดทุนกันไปแล้ว แต่หากถึงกำหนดไม่มารับต้องจ่ายค่าปรับให้กับฝ่ายไทย ตอนนี้พวกโรงงานน้ำตาลเป็นกังวลกันว่าจะต้องหาที่รองรับน้ำตาลที่ยังขายออกไป ซึ่งเพิ่มภาระค่าโกดังเก็บสินค้ากันอีก" แหล่งข่าวกล่าว

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอ้อยน้ำตาล เรื่องระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ภายในสัปดาห์นี้ คงต้องรอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่เข้ามาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อ ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างทั้งระบบคงเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นโครงสร้างที่ใช้กันมานาน

          โดยประเด็นหลักที่หารือกัน ได้แก่ 1.เรื่องการนำอ้อยและน้ำตาลไปแปรรูปทำผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง เช่น นำน้ำอ้อยไปทำเอทานอล ซึ่งประเด็นนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลเพียงบางแห่งเท่านั้นที่นำน้ำอ้อยไปทำ เอทานอล ไม่ใช่ว่าโรงงานทุกรายจะทำ ดังนั้น ต้องรับฟังความเห็นของแต่ละโรงงานด้วย ต้องมาดูว่าจะออกมาในรูปแบบไหน 2.การปรับปรุงเรื่องระบบในการคิดราคาอ้อย 3.การได้มาซึ่งรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลคงต้องผลักดันกันต่อไป

          "ความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างระบบนี้ตอบได้เลยว่า ไม่แน่ใจ คงเป็นไปได้ยาก เพราะมันคือโครงสร้างที่ใช้กันมานาน และการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลต้องดูภาพรวมของสถานการณ์ขณะนี้ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ โรงงาน ชาวไร่อ้อย และนโยบายของรัฐบาล คงต้องรอกันต่อไปอาจจะยังไม่มีข้อสรุปในช่วงนี้" นางอรรชกากล่าว

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้นาง อรรชกาได้สั่งการให้คณะทำงานเรื่องการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลให้หาข้อสรุปทั้งหมดให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป เพราะต้องมีการปรับแก้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลปี 2527 ทั้งนี้ ประเด็นที่หารือเป็นเรื่องสูตรการคิดราคาน้ำอ้อยที่จะไปทำเอทานอลปัจจุบันอิงราคาน้ำตาลโควตา ข. หากจะปรับวิธีการคิดต้องนำ น้ำอ้อยไปแยกส่วนประกอบทางวิทยาศาสตร์ เพื่อดูว่าจะเหลือมาเป็นเอทานอลเท่าไหร่ ส่วนกรณีเรื่องรายได้จากการผลิตไฟฟ้า โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย ส่วนเรื่องการได้มาซึ่งรายได้ของกองทุนอ้อยฯจากปัจจุบันที่เก็บค่าน้ำตาลโควตา ก. 5 บาท มีการหารือว่า ควรจะมีการเก็บเงินจากน้ำตาลทุกตันที่ผลิตขึ้นมาขายภายในประเทศและส่งออก เช่น อาจจะคิดตันละ 1 บาท หักเข้ากองทุน คล้ายกับระบบการจัดเก็บเงินของกองทุนสวนยางฯ และกองทุนน้ำมันฯ เป็นต้น

          นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีการประชุมมา 3-4 ครั้งแล้ว ซึ่งพยายามจะให้ได้ข้อยุติภายในสัปดาห์นี้ โดยประเด็นที่หารือเรื่องสำคัญชาวไร่เสนอว่า ควรให้มีการแก้ไขกฎหมาย จากปัจจัยระบุอ้อยให้นำไปทำน้ำตาลอย่างเดียว และผลพลอยได้มีเพียงกากน้ำตาลอย่างเดียว ไม่ได้รวมถึงการนำน้ำอ้อยไปทำเอทานอล และไม่ได้รวมกากอ้อยไปทำพลังงานไฟฟ้า เพราะฉะนั้น กระบวนการทั้งหมดที่มาจากต้นอ้อยต้องปรับใหม่ตามความเหมาะสมและชัดเจน ส่วนกรณีดังกล่าวนี้โรงงานจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ต้องว่ากัน 2.ต้องมีการกำหนดประสิทธิภาพด้วย เพราะแต่ละโรงงานมีประสิทธิภาพต่างกัน บางโรงคุณภาพดี บางโรงก็ไม่ดี ต้องมาคุยกันเรื่องตัวเลขค่าต่าง ๆ จะอยู่จุดกึ่งกลางที่ประมาณเท่าไหร่ ส่วนเรื่องรายได้ของกองทุนจากเงิน 5 บาทที่ได้จากการขายน้ำตาลโควตา ก. ยังคงให้มีต่อไป

          นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการบริษัท และกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ผ่านมาเห็นว่า มีความยุติธรรมดีอยู่แล้ว กรณีที่ชาวไร่อ้อยจะขอแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มจากการทำเอทานอล และโรงไฟฟ้า ทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วย

          ทุกวันนี้มีการแบ่งให้อยู่แล้ว เหมือนกากน้ำตาล สูตรคำนวณราคาอ้อยมีรายรับออกมา ชาวไร่อ้อยได้รับการแบ่งไปแล้ว การที่โรงงานน้ำตาลต้องลงทุนเพิ่มทำเอทานอล ทำ โรงไฟฟ้าแล้วมาขอเพิ่ม มันก็ดูแปลก ๆ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ชี้สงครามค่าเงินเอเชียกดดันหนัก - 4กับดักฉุดเศรษฐกิจไทยสู่ภาวะชะงักงัน

นายแบงก์ระบุ ทิศทางค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงอีก คาดปลายปีแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และหากส่งครามค่าเงินในภูมิภาคเอเชียยังระอุ อาจกดลงถึง 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2559 ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่มีข่าวดี เทียบไตรมาสต่อไตรมาสต้องถือว่าเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ดร.โกร่ง ยันไม่ว่ารัฐบาลไหน ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นไม่ได้ ทีมเศรษฐกิจใหม่ ทำได้แค่สร้างสีสัน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทยังอ่อนค่าโดยมีโอกาสจะแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีนี้ และอาจจะถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2559 หาก ธปท.ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแทนนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าดอกเบี้ยปีนี้น่าจะคงไว้ที่ 1.50% ตลอดทั้งปี ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 1.75% ในปลายปีหน้า โดย ธปท.จะใช้นโยบายทำให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง 3 ปี โดยปีนี้การส่งออกคาดว่าจะโตติดลบ 4% นอกจากนี้ หากสงครามค่าเงินปะทุขึ้นมาแรงอีกครั้งหลังจากจีนลดค่าเงินหยวน เวียดนามลดค่าเงินดอง และอาจจะมีประเทศกำลังพัฒนาจะลดค่าเงินลง เงินบาทอาจจะทะลุระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในปลายปี 2559

ขณะเดียวกันยังต้องระวังในช่วงเดือนกันยายนนี้จากความเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้เงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดทุนอีกครั้งระยะสั้น ทำให้เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะเติบโตแค่ 2.5% ต่ำกว่าเดิมที่คาดโต 3.3% และปีหน้าจะเติบโต 3.3% โดยในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะโตได้เพียง 2.1% จากช่วงครึ่งปีแรกที่โต 2.9% โดยหากเปรียบเทียบการเติบโตไตรมาสต่อไตรมาสเศรษฐกิจไทยใกล้เคียงภาวะชะงักงัน และอาจจะแผ่วลง โดยเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับดัก 4 ด้าน ได้แก่ กับดักที่ 1

ไทยไม่สามารถเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ การเติบโตของจีดีพีขยายตัวเพียง 2-3% กับดักที่ 2 คือ กับดัก

 สภาพคล่อง แม้จะมีการลดดอกเบี้ยแต่สินเชื่อและการบริโภคยังเติบโตต่ำ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงและการขาดกำลังซื้อ กับดักที่ 3 กับดักความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคกับผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม และกับดักสุดท้าย คือ กับดักประชากรที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และการขาดแคลนแรงงานที่จะมีผลทำให้จีดีพีโตต่ำลงจากปัจจุบันได้อีก

ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “Second Half of 2015 Economic Outlook” ว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้นับว่ากำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤติ ซึ่งเป็นไปตามกลไกลของตลาดโลก หลังราคาน้ำมันดิบทรุดหนักกดดันทุกภาคส่วน ทำให้ภาคการส่งออกติดลบแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้านผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ทยอยปิดกิจการ รวมถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ประคับประคองไม่ให้แย่มากไปกว่าที่กำลังเป็นอยู่ และควรเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องภายในประเทศให้มีมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้จังหวะนี้ในการปรับปรุงเครื่องจักร และย้ายธุรกิจฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำ อย่าง พม่า เวียดนาม และลาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

“รัฐบาลสามารถทำเศรษฐกิจพังได้ แต่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้รัฐบาลชุดไหน เพราะปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปตามกระแสของเศรษฐกิจโลกมากกว่า ส่วนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ อาจเข้ามาช่วยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทำให้ตลาดมีความตื่นเต้นมากขึ้นพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจยังคงมีทีท่าที่ไม่ดี ก็ไม่สามารถจะกล่าวโทษเพียงแค่รัฐบาลได้”

ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน มีความล้าหลังมาก โดยครั้งล่าสุดที่มีการปรับปรุงเครื่องจักรครั้งใหญ่คือตอนวิกฤติต้มยำกุ้งในปี’40 ซึ่งผ่านมากว่า 18 ปีแล้ว ดังนั้นจังหวะที่เศรษฐกิจกำลังแย่นี้ ถือเป็นโอกาสในการปรับตัวที่ดี ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มากกว่าการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งนี้ต้องปรับมุมมองความคิดโดยเปลี่ยนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแทนการแข่งขันเรื่องค่าแรง ดังนั้นขณะนี้คู่แข่งของเราจะไม่ใช่ประเทศเพื่อนบ้านอีกต่อไป

ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าตลาดหุ้นใกล้ถึงจุดต่ำที่สุดแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว และจะคงทีในลักษณะตัวยู(ก้นยาว)ต่อไปจนถึงปีหน้า ถึงเริ่มกลับตัวขึ้นมาได้ เพราะกลไกตลาดเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีแก่อุตสาหกรรมของเรา ที่จะทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และเทคโนโลยีใหม่ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจกินเวลา 2-3 ปี

จากนี้เศรษฐกิจประเทศเราอาจจะอยู่ในเกณฑ์นอนซึ่งการลงทุนที่เหมาะสม อาจไม่ใช่การขยายธุรกิจ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ ให้มีความก้าวหน้า โดยการเปลี่ยนดังกล่าวจะต้องมีการระดมทุน เป็นเรื่องที่มีข้อจำกัด ทั้งนี้คาดว่าคงจะเกิดขึ้นแน่ แต่ทุนที่จะได้มาอาจจะมาจากต่างประเทศอย่างจีน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

งัด2มาตรการสู้แล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่

          โดย กรมชลประทาน ได้จัดทำแผนที่แสดงที่ตั้งแหล่งน้ำในและนอกเขตชลประทาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแก้ไขภัยแล้ง ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งวางแผนจัดสรรน้ำรายวันของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันปริมาณวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.การอุปโภค-บริโภคปริมาณ 8 ล้าน ลบ.ม. 2.รักษาระบบนิเวศน์ปริมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. และ 3.ด้านการเกษตรปริมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น พื้นที่ลูกข้าวนาปี 3.44 ล้านไร่ และพืชไร่ พืชผัก 0.03 ล้านไร่

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายประมาณ 0.85 ล้านไร่ จึงได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1.บริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวด โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง กำหนดแผนการจัดสรรน้ำรายสำนักชลประทาน จัดทำแผนการดูแลรอบเวรการส่งน้ำ โดยฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจะลงพื้นที่ชี้แจง และบริหารจัดการน้ำร่วมกับเกษตรกร 2.พิจารณาเสริมแหล่งน้ำด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ 3.พิจารณาเสริมแหล่งน้ำด้วยการก่อสร้างบ่อตอก เนื่องจากความต้องการแหล่งน้ำบาดาลของเกษตรกรมีมากกว่าแผนการขุดเจาะบ่อบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาก ซึ่งความต้องการที่เกินมานี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหาแนวทางในการสนับสนุนต่อไป

          ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2558 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 30 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง คิดเป็นร้อยละ 88.7 ซึ่งจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวมทั้งสิ้น 59 จังหวัด มีพื้นที่รับประโยชน์จากการปฏิบัติการ 165.19 ล้านไร่ โดยกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ป่าไม้และการเกษตรบริเวณภาคเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด เพื่อเพิ่มและรักษาความชุ่มชื่นให้ป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำเพื่อเพิ่มเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำให้มีปริมาณมากยิ่งขึ้น ตลอดทั้งมุ่งเน้นเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในระดับวิกฤติ

          สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปี ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตร ประกอบด้วย 1.การจ้างแรงงานและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยการขุดลอกคูคลองส่งน้ำ และปรับปรุงอาคารชลประทาน เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรทั้งในช่วงที่เลื่อนการปลูกข้าวนาปี และภายหลังสิ้นสุดฤดูฝนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกและทำความสะอาดคลองส่งน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน 2.กิจกรรมด้านการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ทดแทนระหว่างชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี โดยการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรทดแทนการปลูกข้าวนาปี อีกทั้งส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การทำไร่นาสวนผสม ให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร และสนับสนุนการสร้าง แหล่งน้ำในไร่นาของเกษตร

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ครม.แต่งตั้งขรก.หลายตำแหน่ง 'สุวณา'นั่งปลัดกระทรวงยุติธรรม

 ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายวิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ.สำนักงาน ก.พ.ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ก.พ.สำนักงาน ก.พ.สำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ

แต่งตั้ง น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แต่งตั้ง นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แต่งตั้ง นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอรับโอน นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ก.พ.ร.สำนักงาน ก.พ.ร.นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม แต่งตั้ง ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน รวมถึงมีมติเลื่อน นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง

โอน นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร โอน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยกา สำนักงานคณะการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โอน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

จาก  http://www.naewna.com   วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจชะลอตัวฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ก.ค. ลดลงต่อเนื่องเดือนที่

           เศรษฐกิจชะลอตัวฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ก.ค. ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 7 กระตุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายงบเดินหน้าโครงการลงทุน พร้อมหนุนเพิ่มศักยภาพ SMEs

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกรกฎาคม 2558 จำนวน 1,202 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 32.4,31.4 และ 36.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 44.8,14.9,12.1,12.1 และ 16.1 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 84.1 และ 15.9 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.0 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2558 ยังคงปรับตัวลดลง เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการหดตัวของภาคการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่ไทยยังไม่หลุดพ้นจากการถูกจัดชั้นปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 3 แม้ว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในระยะยาว อีกทั้งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกในช่วงครึ่งหลังปี 2558 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่จะกลับมาขยายตัวในระยะต่อไป

          ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.0 ในเดือนมิถุนายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนเดือนกรกฎาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน

          โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 73.2 ลดลงจากระดับ 74.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ,อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.0 เพิ่มขึ้นจาก 94.6 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 79.4 ลดลงจาก 80.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์,อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์,อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.3 เพิ่มขึ้นจาก 98.6 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 95.0ลดลงจากระดับ 97.2 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า,อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ,อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 103.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.7 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภูมิภาค ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน

          ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 84.8 ลดลงจากระดับ 85.9ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และยุโรปลดลง ประกอบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประเภทกุ้งและปลาทะเล ,สินค้าประเภทสับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวาน มียอดส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป ลดลง) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านมียอดการส่งออกไปตลาดยุโรปและเอเชีย ลดลง ขณะที่ยอดขายในประเทศชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมียอดส่งออกไปประเทศมาเลเชีย อินโดนีเชีย CLMV ลดลง) ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (ผลิตภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และหลอดพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ชิ้นส่วนพลาสติก มียอดการส่งออกไปสหรัฐฯ และประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้น เนื่องจากคุณภาพและราคาเป็นที่ต้องการของตลาด) ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ภาคเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 77.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 77.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทจักสาน และประติมากรรมทองเหลือง มียอดสั่งซื้อจากตลาดยุโรปและตะวันออกกลางลดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการลดลง) อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (สินค้าประเภทกระเบื้องหลังคาลอน แผ่นฝ้าเพดานมียอดขายในประเทศลดลง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทหลังคาโปร่งแสง มียอดยอดการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินก่อสร้าง ที่มีขนาดใหญ่ หินตกแต่ง มียอดขายในประเทศลดลง,กระเบื้องปูพื้นแกรนิตมียอดสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม และลาว ลดลง) ในขณะที่อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าลูกไม้ เส้นด้าย 100% และเส้นไหมดิบ มีส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มขึ้น,ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใยเรยอน เส้นด้ายผ้ายืด มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศในอาเซียน, ยุโรป, ตะวันออกกลาง ) ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 79.0 ลดลงจากระดับ 80.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (สินค้าประเภทเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศมีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก,สินค้าประเภทเครื่องเคลือบดินเผาและชุดอาหาร มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ลดลง) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซิเมนต์ชนิดผงมียอดขายในประเทศ CLMV ลดลง ขณะที่ปูนซีเมนต์สำเร็จ มียอดขายในประเทศลดลงเช่นกัน)อุตสาหกรรมน้ำตาล (ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายดิบมียอดการส่งออกไปประเทศในอาเซียนลดลง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬา มียอดการส่งออกไปประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูป แฟชั่น มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการดีไซน์แบบใหม่และเนื้อผ้ามีคุณภาพ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 94.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ 84.3 ลดลงจากระดับ 85.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (สินค้าประเภทคอมเพรสเซอร์ มียอดการส่งออกไปญี่ปุ่น ยุโรป จีน ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว,สำหรับเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และมอเตอร์ขนาดเล็กมียอดส่งออกไปตลาดอาเซียนลดลง) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นลดลง สำหรับสินค้าประเภทเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดอาเซียน) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (ผลิตภัณฑ์ประเภทพลอย ทับทิม เครื่องประดับเงิน มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ สำหรับเครื่องประดับเงินและเพชรมีคำสั่งซื้อลดลง จากประเทศในตะวันออกกลาง และเยอรมนี) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (สินค้าและประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรกล มอเตอร์อุตสาหกรรม มียอดส่งออกไปประเทศเยอรมัน และCLMV เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมเครื่องจักรในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับปรุงและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.1 เพิ่มขึ้นจาก 97.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.3 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 85.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางดิบและยางแผ่นรมควันมีราคาลดลง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีนลดลง เนื่องจากมีสินค้าในสต๊อกปริมาณสูง) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบ มียอดการส่งออกไปตลาดในเอเชียลดลงเนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อ ประกอบกับราคาผลปาล์มดิบมีราคาลดลง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีน อินโดนีเชีย ลดลงเนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ขณะที่คำสั่งซื้อไม้แปรรูปในประเทศชะลอตัว) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.2 ลดลงจากระดับ 101.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจ พบว่า ในเดือนกรกฎาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนมิถุนายน

          กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 81.7 ปรับตัวลดลงจาก 82.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, หัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 90.2 ลดลงจากระดับ 92.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ,อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกรกฎาคม ได้แก่ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน และเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงใช้มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการบริโภคของภาคเอกชน อีกทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และจัดทำฐานข้อมูลการค้าการลงทุนของประเทศคู่ค้าใหม่ และประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เอ็นพีเอส ต่อยอด “เถ้าชีวมวล” ฟื้นดินเพื่อการเกษตร

        บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS ผู้นำด้านพลังงานทดแทนจากพลังงานปลูกได้ ถือเป็นผู้ริ่เริ่มรายแรกๆ ในประเทศไทย ที่นำเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เปลือกไม้ เหง้ามัน ซังข้าวโพด และรากไม้ กลับมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยการรับซื้อเศษวัสดุเหล่านั้นจากเกษตรกรในพื้นที่ ตามแนวคิด 'ทำของเหลือใช้ ไม่ให้เสียของ'

        นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรด้วย โดยในแต่ละปีที่ผ่านมา NPS มีการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรจากเกษตรกรปีละไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท

       จากแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทำให้ NPS มีโครงการต่อยอดที่จะนำ “เถ้าชีวมวล” กลับมาใช้งาน โดยผ่านการรับรองจากสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ว่า เถ้าชีวมวลมีปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

       จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานและเกษตรกรในพื้นที่ในการนำเถ้าชีวมวลไปใช้ผสมดินเพื่อเพิ่มความร่วนซุยของและช่วยปรับสภาพดิน ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ได้ขอการสนับสนุนเพื่อนำเถ้าชีวมวลไปผสมกับดินร่วนปนทรายและปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำจากเศษใบไม้และมูลสัตว์ สำหรับใช้เป็นวัสดุปลูกเพาะชำกล้าไม้ อาทิ ประดู่ ชิงชัน มะค่าโมง หญ้าแฝก และพืชสมุนไพร เพื่อแจกจ่ายกล้าไม้ให้กับประชาชน ตามโครงการเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนให้กับชุมชน

        หลายมุมมอง เข้าถึงประโยชน์ซ้ำของ “เถ้าชีวมวล”

       กฤษณา ทิวาตรี รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ กล่าวว่า “ผลผลิตกล้าไม้ของศูนย์ฯมีจำนวน 260,000 กล้าไม้ต่อปี และมีการเพาะชำกล้าไม้ใช้สอย เช่น หญ้าแฝก ประมาณ 3-4 แสนกล้าไม้ต่อปี จึงมีความต้องการเถ้าชีวมวลมาใช้ผสมเป็นวัสดุปลูก และ NPS ก็ได้สนับสนุนเถ้าชีวมวลให้แก่ศูนย์ฯ นำมาใช้ปรับปรุงคุณภาพดิน โดยศูนย์เพาะกล้าไม้ขึ้นเพื่อแจกจ่ายกล้าไม้ที่มีคุณค่า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ให้กับหน่วยงานและชุมชนรอบศูนย์ศึกษาต่อไป”

       ดร.วรกลต์ แจ่มจำรูญ หัวหน้างานสวนพฤษศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า “เถ้าชีวมวลทำให้ดินร่วนซุยและอุ้มน้ำ เหมาะสมที่จะนำไปเป็นวัสดุเพาะชำกล้าไม้ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เพื่อต่อยอดโครงการแจกจ่ายกล้าไม้ให้กับประชาชน และหน่วยงานราชการ อาทิ กรมป่าไม้ เป็นต้น”

       อีกหนึ่งกิจกรรมที่ NPS จัดขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ 'โครงการปลูกผักสวนครัว เพื่ออาหารกลางวัน' นำโดยพนักงานจิตอาสาที่มีความรู้ด้านการเกษตรของ NPS รวมกลุ่มจัดกิจกรรมที่ โรงเรียนวัดแหลมเขาจันทร์ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ให้ความรู้เรื่องการปลูกผักสวนครัว และการเตรียมดินโดยใช้เถ้าชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นส่วนผสมในการปรับปรุงดินเพื่อให้เหมาะกับการเพาะปลูก กิจกรรมนี้ น้องๆนักเรียนได้เรียนรู้ขั้นตอนการปลูกผักสวนครัว อาทิ ผักชี ผักคะน้า ผักบุ้ง เป็นต้น ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การเตรียมแปลงปลูก การโรยเมล็ด และการดูแลรดน้ำ เพื่อให้น้องๆเรียนรู้และดูแลผักสวนครัวได้ต่อเนื่อง ผักที่ได้จะนำไปประกอบอาหารกลางวันให้กับน้องๆด้วย

       สมศักดิ์ เช้าวันดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดแหลมเขาจันทร์ กล่าวว่า “เห็นด้วยและยินดีกับโครงการนี้ นอกจากจะส่งเสริมด้านโภชนาการแล้ว ยังทำให้นักเรียนได้สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบยั่งยืน เพราะกิจกรรมนี้ NPS ไม่ได้มาแค่จัดกิจกรรมแล้วจากไป แต่ยังคงให้ความรู้และปลูกฝังความรับผิดชอบแก่นักเรียน ให้พวกเขาดูแลแปลงปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง”

       ขณะที่บรรดานักเรียน เด็กชายธนกรณ์ ศรีดาพงศ์ นักเรียน รร.วัดแหลมเขาจันทร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ เล่าด้วยรอยยิ้มว่า “ผมชอบกิจกรรมปลูกผักสวนครัว เพราะสนุกและได้ความรู้ กิจกรรมนี้ทำให้ผมได้รู้ว่า เถ้าชีวมวลนำไปใช้เตรียมดินเพื่อปลูกผัก ทำให้ได้ผลผลิตดี ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ทานผักที่ปลูกเองด้วยครับ”

       นอกจากนี้หลายปีที่ผ่านมา มีชาวบ้านที่ทำการเกษตรใกล้ ๆ กับโรงไฟฟ้า ติดต่อขอเถ้าชีวมวลไปใช้บำรุงดินเพื่อปลูกพืชต่างๆ เช่น กล้วย พริก มะเขือ มันสำปะหลัง เป็นต้น โดยชาวบ้านที่เคยใช้เถ้าชีวมวลปรับปรุงดิน ต่างเห็นตรงกันว่าเถ้าชีวมวลช่วยให้พืชผลเจริญเติบโตได้ดี มีผลผลิตที่สูงขึ้น ลดภาระต้นทุนการเพาะปลูก ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างหมุนเวียนและคุ้มค่าอีกด้วย

       สำรวย กรอกน้อย เจ้าของแปลงปลูกสมุนไพร เกษตรกรรายหนึ่งที่นำเถ้าชีวมวลไปใช้ในการปลูกพืช เล่าว่า “ตอนแรกไม่รู้ว่าทำไมต้นขมิ้นที่ป้าปลูกไว้ถึงโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มารู้ตอนหลังว่าป้าบังเอิญเทเถ้าไว้ที่แปลง หลังจากนั้นก่อนจะลงมือปลูกสมุนไพร ป้าก็จะเอาเถ้าไปปรับหน้าดินตลอด ไม่เคยผิดหวัง เพราะดินก็ออกมาร่วนซุย สมุนไพรที่ปลูกไว้ก็สวยงาม”

       ด้วยความเชื่อและแนวคิดที่ว่า ทุกสิ่งล้วนมีประโยชน์และเราสามารถ “ทำของเหลือใช้ ไม่ให้เสียของ” ทำให้ NPS คิดและทำให้สิ่งไร้ค่าในอดีตอย่าง “เศษวัสดุทางการเกษตร” กลับกลายเป็น “พลังงานไฟฟ้า” และเมื่อเกิดของเหลือจากการผลิตไฟฟ้าอย่าง “เถ้าชีวมวล” เราก็ยังสามารถทำให้กลายเป็นสิ่งมีคุณค่า เพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่การเกษตรอีกครั้ง

จาก http://manager.co.th   วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกาะภูมิภาคล่าสุด 35.56 บาท/ดอลล์ หลังดอลลาร์อ่อนค่า

ค่าเงินบาทวันนี้แข็งค่าขึ้น หากเทียบกับระดับปิดของวันก่อนหน้า หลังเริ่มมีแรงซื้อขายมาบ้างจากนักลงทุน อีกทั้งค่าเงินยังแข็งค่าเกาะกลุ่มกับค่าเงินในภูมิภาค หลังดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท ประจำวันที่ โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ซื้อขาย ล่าสุดอยู่ที่ 35.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่าขึ้นหากเทียบกับระดับวานนี้ ซึ่งส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังวานนี้ มีความคิดเห็นจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ออกมาพูดว่า เฟดอาจไม่น่าขึ้นดอกเบี้ยได้ทันในช่วง ก.ย.นี้ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะดอลลาร์ไปสู่สินทรัพย์อื่น ๆ ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาทของไทยปรับแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น ๆ

โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ดัชนีราคาบ้าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดซื้อบ้านใหม่ของสหรัฐ ในเดือน ก.ค.ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ดัน349โครงการเร่งด่วนแก้แล้ง ขยายพื้นที่ชลประทาน5แสนไร่6จังหวัดอีสานตอนบน

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 6

จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ และสกลนคร ขณะนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรเริ่มทำนาปีแล้ว แต่ปริมาณฝนยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยและส่วนใหญ่จะตกในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำทำให้น้ำไหลเข้าอ่างฯไม่มากนัก ดังนั้นเกษตรกรจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เกิดประสิทธิ์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับในพื้นที่ 6 จังหวัดดังกล่าว มีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานค่อนข้างน้อยประมาณ 1.3 ล้านไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดซึ่งมีประมาณ 14 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่เกษตรน้ำฝน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาในเรื่องน้ำ ทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาฝนทิ้งช่วง และปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไข และบรรเทาปัญหาดังกล่าว ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำในพื้นที่ กรมชลประทานจึงวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในระยะเร่งด่วน 349 โครงการ ประกอบด้วยโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2558 แล้ว 46 โครงการ และโครงการที่เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2559 อีก 303 โครงการ ซึ่งถ้าหากได้รับการสนับสนุนงบประมาณ คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จและผลสัมฤทธิ์ได้ในปี 2559

“เมื่อโครงการในระยะเร่งด่วนแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำได้ 214 ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้488,745 ไร่ และมีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 176,957 ไร่ โดยมีราษฎรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 87,672 ครัวเรือน” นายศักดิ์ศิริกล่าว

ส่วนในระยะกลางและระยะยาวนั้น จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 3,400 ตารางกิโลเมตร โดยมีลำน้ำห้วยหลวงเป็นลำน้ำสายหลัก มีจุดเริ่มต้นที่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ไหลลงสู่แม่น้ำโขงไปสิ้นสุดไหลที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ความยาวรวม 280 กิโลเมตร ถือเป็นลำน้ำที่มีความสำคัญมากในพื้นที่อีสานตอนบน เพราะเป็นแหล่งน้ำที่ราษฎรนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันใช้ทำการเกษตร และยังเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาให้กับเมืองอุดรธานีและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 กรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ลุ่มน้ำห้วยหลวงแต่ละปีมีปริมาณน้ำท่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 300 ล้านลบ.ม.เท่านั้น โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวคือ อ่างฯห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีศักยภาพเก็บน้ำสูงสุด 135 ล้านลบ.ม. จึงยังเหลือปริมาณน้ำอีกจำนวนมากที่ไหลทิ้ง นอกจากนี้ ในช่วงฤดูฝนน้ำจำนวนมหาศาลจากแม่น้ำโขงก็จะไหลย้อนเข้ามาในลำห้วยหลวง ทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อ ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ที่อยู่ปลายน้ำอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำตามช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

“เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในระยะเร่งด่วน กรมชลประทานได้พัฒนาแก้มลิงธรรมชาติให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า การก่อสร้างระบบกระจายน้ำ ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ที่จะปิดกั้นลำน้ำระหว่างลำน้ำห้วยหลวงกับแม่น้ำโขงเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่มากจนเกินไปในฤดูฝน และกักน้ำไว้ไม่ให้ไหลออกในฤดูแล้ง ส่วนในระยะกลาง และระยะยาวนั้น กรมชลประทานกำลังศึกษาความเหมาะสมเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างอยู่ในขณะนี้” นายศักดิ์ศิริ กล่าวในตอนท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาภัยแล้ง-ส่งออกวูบ-การจ้างงานลดเบี้ยวหนี้บัตรเครดิตเพิ่ม28%

สศช.เผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี’58 การจ้างงานลดลง เหตุเกิดภาวะภัยแล้งและการส่งออกหดตัว ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและหนี้เสียเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวเลขเบี้ยวหนี้บัตรเครดิตพุ่ง 28% “อาคม” รับเกาะติดรายได้และการเลิกจ้างแรงงาน หลังส่งออกทรุด โรงงานย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2/2558 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ประกอบด้วย การจ้าง

 ลดลง อัตราการว่างงานต่ำ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นช้า โดยการมีงานทำลดลง 0.2% การจ้างงานภาคเกษตรลดลง 5.8% เป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลง เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูก ในขณะการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.6% คาดว่าจะมีผู้ว่างงานในไตรมาสสอง 3 แสนคน อัตราการว่างงาน 0.88% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของจากปีก่อน

โดยประเด็นที่ต้องติดตามคือรายได้ของแรงงาน และการเฝ้าระวังการเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลงและการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังต้องเฝ้าระวังอย่างมาก โดยในไตรมาสแรกเท่ากับ 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% คิดเป็น 79.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปี’58 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 7.6% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 10.7% ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว โดยหนี้สินที่ก่อให้เกิดสินทรัพย์ และกึ่งสินทรัพย์ (ที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์และรถจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้น 5.9% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 8.5% ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 15.5% และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 28.8% โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อยอดคงค้างสินเชื่อเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งการดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ การแก้ปัญหาหนี้สินครู

สำหรับทางด้านค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายเครื่องดื่ม

 แอลกอฮอล์ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 33,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน

 ของปีก่อน 3.3% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 25,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% โดยยังต้องเฝ้าระวังอย่างมากเรื่องการขายแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา

ด้านภาวะความเจ็บป่วย ในไตรมาส 2 นี้ ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 8.2% ซึ่งต้องเฝ้าระวังเพราะมักมีการระบาดในช่วงฤดูฝน รวมทั้งต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ความจำเป็นต้องผลักดันการทำงานของผู้สูงอายุ โดยสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยเพิ่มจาก 6.8% ในปีก่อน เป็น 14.9% ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 32.1% ในปี 2583 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนขาดความมั่นคงด้านรายได้

จากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุ 20% รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระและเพิ่มคุณค่าให้กับผู้สูงอายุด้วย โดยการจ้างงานต้องให้ความสำคัญกับความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ยังมีการจ้างงานผู้สูงอายุในจำนวนที่น้อยอยู่

นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสศช. กล่าวถึงการเปิดดำเนินการของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นช่องทางเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับผู้กู้รายย่อยอาจส่งผลให้มูลค่าของการกู้ยืมนอกระบบปรากฏในระบบบัญชีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องติดตามผลการดำเนินงานของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี การกู้ยืมเงินนอกระบบที่ถูกนำเข้าสู่ระบบบัญชีหนี้สินครัวเรือน ก็จะทำให้มีการบริหารจัดการและการติดตามอย่างเป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้การตรวจสอบและการคุ้มครองลูกหนี้สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง และมีความเป็นธรรมกับลูกหนี้มากขึ้น

สำหรับประเด็นสังคมที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป อาทิ คุณภาพชีวิตแรงงานอันเนื่องมาจากปัจจัยผลกระทบต่างๆ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนแรงงานคุณภาพ แรงงานจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงกลางปี 2558 และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการนำ แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนมายื่นพิสูจน์สัญชาติก่อนสิ้นสุดระยะเวลา รวมถึงการเข้มงวดในการจับกุมลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมหมอดินกับงานด้านบริการ (1)

การให้บริการของกรมพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกร หน่วยงานและประชาชนโดยทั่วไป ด้านการแจกจ่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กล้าหญ้าแฝก แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน แผนที่และข้อมูลทางแผนที่ การรับรองมาตรฐานปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่กรมพัฒนาที่ดินรับผิดชอบ และการให้บริการความรู้ผ่านทางเว็บไซต์ www.ldd.go.th

การแจกจ่ายผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด. ให้คำปรึกษาข้อมูลจุลินทรีย์ พด. น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และบริการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีการเผยแพร่และส่งเสริมจำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ คือ สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 สารเร่งซุปเปอร์ พด. 3 สารเร่ง พด. 6 สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 จุลินทรีย์ซุปเปอร์พด.9

จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 และปุ๋ยชีวภาพ พด.12 และอาจให้บริการแจกจ่ายน้ำหมักชีวภาพซุปเปอร์ พด.2 สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น พด.6 สารควบคุมแมลงศัตรูพืช ซุปเปอร์ พด.7 เพื่อนำไปทดลองใช้

การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อสาธิตการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยพืชสด และสนับสนุนโครงการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ โดยแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า

 โสนอัฟริกัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

การแจกจ่ายวัสดุปรับปรุงดิน ให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับวัสดุปรับปรุงดิน เพื่อสาธิตการใช้ในพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพดินในอัตราที่เหมาะสมตามความต้องการปูนของดิน โดยการสนับสนุนวัสดุปรับปรุงดิน เช่น โดโลไมท์ หิน ปูนบด หรือหินปูนฝุ่นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

การแจกจ่ายกล้าหญ้าแฝก ให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินด้วยหญ้าแฝกและบริการแจกจ่ายกล้าหญ้าแฝก ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน

แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ปัญหาภัยแล้งมีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ กรมพัฒนาที่ดินจะดำเนินการให้มีการขุดสระน้ำในไร่นาขนาด 1,250 ลบ.ม. บนพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร ที่มีเอกสารสิทธิ ประสงค์เข้าร่วมโครงการและอยู่ในหลักเกณฑ์การดำเนินงาน โดยเพื่อให้เกษตรกรรู้สึกว่าเป็นเจ้าของสระน้ำต้องใช้ประโยชน์และดูแลรักษาจึงกำหนดให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่าย บ่อละ 2,500 บาท

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เกษตรเตรียมจัดมหกรรมฯ (3 ก) สู่ Smart Group และ Young Smart Farmer

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดงานมหกรรมวิชาการและผลงานองค์กรเกษตรกร (3 ก) สู่ Smart Group และ Young Smart Farmer ขึ้น ระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ภายใต้ธีมหรือหัวข้อ “องค์กรเกษตรกรเข้มแข็ง เกษตรกรก้าวหน้า พัฒนาเกษตรไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และนำเสนอผลงานทางวิชาการและผลงานดีเด่นขององค์กรเกษตรกรเกษตรกร และ Young Smart Farmer และแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้การพัฒนาองค์กรเกษตรกร เกษตรกร และ Young Smart Farmer

ซึ่งภายในงานประกอบไปด้วยการจัดนิทรรศการนำเสนออัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกร และ Young Smart Farmer (YSF) กระบวนการพัฒนาองค์กรเกษตรกรและ YSF ของกรมส่งเสริมการเกษตร มีการนำเสนอผลสำเร็จของการพัฒนากลุ่มต้นแบบของกลุ่ม 3 ก และ YSF ในบรรยากาศของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมจัดแสดงกิจกรรมของกลุ่ม แสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มีเรื่องราว (Story) ของกลุ่มและ YSF ซึ่งสามารถจัดจำหน่ายได้ภายในพื้นที่จัดนิทรรศการของเขต นำเสนอกรณีตัวอย่างของการบูรณาการการทำงานเชื่อมโยงกันของกลุ่ม 3

ที่สำคัญยังมีการเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสาธิต การแสดงการถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรที่น่าสนใจ หรือจากเกษตรกรต้นแบบ และกิจกรรมวิชาการที่นำเสนอของแต่ละเขตบนเวทีกลาง หรือในพื้นที่จัดนิทรรศการของเขต งานมหกรรมวิชาการและผลงานองค์กรเกษตรกร (3 ก) สู่ Smart Group และ Young Smart Farmer นับเป็นเวทีในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ นำเสนอผลงานทางวิชาการและผลงานที่โดดเด่นขององค์กรเกษตรกร Young Smart Farmer และเกษตรกรดีเด่น ให้แก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร และบุคคลทั่วไป ตลอดจนได้ทราบถึงแนวทางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่มีต่อองค์กรเกษตรกร เกษตรกร และ Young Smart Farmer ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรในรูปแบบขององค์กรเกษตรกรรวมถึงเกษตรกรและ Young Smart Farmer ที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่ภาคการเกษตรด้วยระบบวิธีการดำเนินงานและเทคโนโลยีการเกษตรที่นำมาปรับใช้ในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ อธิบดีฯ กล่าวในที่สุด

 จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ไทยพร้อมร่วมอาเซียนขยายร่วมมือศก.

รมว.พาณิชย์ เผย ไทยพร้อมเดินหน้าร่วมกับอาเซียน ขยายความร่วมมือเศรษฐกิจใหม่กับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยได้ร่วมประชุม RCEP ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่ประเทศมาเลเซีย โดยได้ให้ความสำคัญที่จะขับเคลื่อนกลไกความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับ 3 ประเทศคู่ค้าหลัก คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ไทยมีบทบาทนำในฐานะประเทศผู้ประสานงาน และขับเคลื่อนการเจรจายกระชับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งครอบคลุมประเด็นการเจรจาการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น ซึ่งตั้งเป้าให้มีข้อสรุปในปี 2558 ขณะนี้ อาเซียนและจีน เดินหน้าการเจรจาอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถรายงาน ความคืบหน้าการเจรจาต่อผู้นำอาเซียน-จีน โดยอาจจะมีการลงนามในผลการเจรจายกระดับฯ ในเดือนพฤศจิกายน นี้

ในขณะที่ การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น จะเน้นการเจรจาจัดทำข้อบทด้านการค้าบริการ และข้อบทด้านการลงทุน และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ จะมีการลงนามในพิธีสารฉบับที่สาม เพื่อแก้ไขความตกลงด้านการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯผนึกมข.ดึงชาวบ้านร่วมศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำ

        กรมชลประทานจับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำร่องศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างครบวงจร พร้อมดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน มั่นใจตอบโจทย์แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นทั้งระบบ และเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคอีสานต่อไป

        ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โดยระบุว่ากรมชลประทานร่วมกับสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินการสำรวจจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้ำสามพร้ามไปจนถึงปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองอุดรธานี อ.หนองหาน อ.พิบูลย์รักษ์ อ.เพ็ญ อ.บ้านดุง อ.สร้างคอม และ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย รวม 2,160 ตร.กม.

        ทั้งนี้ในการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงดังกล่าวได้เริ่มศึกษามาตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2557 มีระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน เพื่อศึกษาข้อมูกลให้ครบทุกด้าน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการควบคุมการบริหารจัดการของประตูระบายน้ำห้วยหลวง เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำเมื่อสิ้นฤดูฝน โดยมิให้เกิดผลกระทบในยามฤดูน้ำหลาก ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนสามารถนำไปใช้ในการจัดการทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ของลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเน้นหลักการที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการศึกษาทุกขั้นตอน

        ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกล่าวต่อว่า สำหรับประตูระบายน้ำห้วยหลวงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและก่อสร้างระหว่างปี 2534-2545 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในขณะนั้น ต่อมาในปี 2546 ได้ถ่ายโอนภารกิจมาให้กรมชลประทาน แต่ก็ยังเปิดใช้งานได้ไม่เต็มตามศักยภาพตามที่ออกแบบไว้ เนื่องจากยังคงมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ปัญหาการจัดซื้อที่ดิน  ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกรมชลประทานจึงให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างให้ครอบคลุมทั้งระบบ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาแบ่งเป็น 6 กลุ่มโครงการด้วยกัน ประกอบด้วย 1.โครงการสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง 2.โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำและพัฒนาแก้มลิงดงสระพัง 3.โครงการประตูระบายน้ำหนองสองห้อง 4.สถานีสูบน้ำถ่อนนาเพลิง 5.สถานีสูบน้ำห้วยหลวง-คลองดัก และ 6.สถานีสูบน้ำบ้านนาคำและสถานีระบายน้ำดอนกลอย-หนองบัว

        “โครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างนี้ เป็นการศึกษาโดยจะดูปัญหาทั้งระบบว่าเกิดจากอะไร ปัญหาอยู่ตรงไหน มีขอบเขตของปัญหาอย่างไร และประชาชนได้รับผลกระทบอะไรบ้าง อะไรที่แก้ได้ อะไรที่แก้ไม่ได้ เพื่อจะนำไปสู่การจัดทำแผนที่ถูกต้องและแม่นยำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

        สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ ถือเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเพื่อใช้ในการทำเกษตร ดังนั้นการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำในนานที่สุด ถือเป็นแนวทางสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำของรัฐบาลด้วยเพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

        ขณะที่ ศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 กรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า สำหรับในพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัดอีสานตอนบน ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ และสกลนครนั้น มีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานค่อนข้างน้อยประมาณ 1.3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดประมาณ 14 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่เกษตรน้ำฝน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาเรื่องน้ำ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไขและบรรเทาปัญหา ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำในพื้นที่ กรมชลประทานจึงได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว

        “การวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำระยะเร่งด่วน ขณะนี้มีทั้งหมด 349 โครงการ แบ่งเป็นงบปี 58 จำนวน 46 โครงการ และงบปี 59 จำนวน 303 โครงการ ส่วนระยะกลางและระยะยาวมีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวง ถือเป็นลำน้ำสำคัญมากในพื้นที่อีสานตอนบน ลุ่มน้ำห้วยหลวงแต่ละปีมีปริมาณน้ำท่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านลบ.ม. แต่สามารถเก็บกักได้เพียง 300 ล้านลบ.ม.เท่านั้น” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 กล่าวทิ้งท้าย

        การพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างครบวงจรนับเป็นอีกโครงการที่จะสามารถช่วยในการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบครอบคลุมพื้นที่อีสานตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคการเกษตรที่มีปัญหาทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ทุกข์ของโรงงานน้ำตาล

        จากทุกข์ของชาวบ้าน... มาดูทุกข์ของผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงงานกันบ้าง คดีที่นำมาฝากในวันนี้เป็นทุกข์ของผู้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลที่ประสงค์จะย้ายสถานที่ตั้งโรงงาน ให้เข้าใกล้ชาวไร่อ้อยในพื้นที่เพื่อมิให้โรงงานอื่นมาแย่งลูกค้าของตน แต่ได้ถูกผู้มีหน้าที่ดึงเรื่องไว้เป็นเวลานาน จนต้องมาพึ่งศาลปกครอง คดีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ให้โรงงานน้ำตาลชนะคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องราวเป็นมาอย่างไร มาดูกันครับ...

                คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 ไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นใหม่ และอนุญาตให้ย้ายโรงงานจากเขตที่มีปริมาณอ้อยไม่เพียงพอไปสู่เขตที่มีปริมาณอ้อยมากเกินไป โดยให้มีโอกาสขยายกำลังการผลิตได้ตามความเหมาะสมของอ้อยในเขตที่จะไปตั้งใหม่ด้วย ส่วนโรงงานที่มีอยู่เดิมที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีปริมาณอ้อยมากเกินกว่ากำลังการผลิตของโรงงาน ก็อนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ได้เห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบในระยะยาวซึ่งเสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งห้ามไม่ให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล กำหนดมาตรการในการจัดการกับกำลังการผลิตส่วนเกินที่ได้รับอนุมัติแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมทั้งกำหนดสถานที่ตั้งของโรงงานให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกก่อนที่จะห้ามไม่ให้มีการย้ายและขยายโรงงานอีกต่อไป

               จากมติดังกล่าวมีผลให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลที่ประสงค์จะย้ายโรงงานหรือขอขยายกำลังการผลิตต้องดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก ผู้ประกอบกิจการต้องยื่นคำขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติอนุมัติให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ก่อน ในขั้นตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีหน้าที่ในการเสนอ

               คำขอย้ายหรือคำขอขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเจ้าของเรื่องเป็นผู้กำหนดประเด็นและข้อมูลประกอบการพิจารณา ขั้นตอนที่สอง เป็นขั้นตอนภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการตามคำขอแล้ว ผู้ประกอบกิจการก็ต้องดำเนินการยื่นคำขออนุญาตย้ายโรงงานหรือขยายกำลังการผลิตต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ต่อไป

                ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลตั้งแต่ปี 2517 โดยได้รับอนุญาตให้หีบอ้อยได้ในอัตราวันละ 18,000 ตันอ้อยต่อวัน ต่อมาได้มีการอนุญาตให้บริษัทน้ำตาลแดง (นามสมมติ) ย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิต มาตั้งในพื้นที่ซึ่งเข้าไปอยู่บริเวณกลางพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร้อ้อยคู่สัญญาของ ผู้ฟ้องคดี ซึ่งอาจทำให้เกิดการแย่งอ้อยกันโดยไม่เป็นธรรม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขอย้ายโรงงานของตนไปยังที่ตั้งใหม่ซึ่งจะเข้าใกล้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของตนมากขึ้น เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป แต่เรื่องก็เงียบ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือร้องขอและติดตามอีกหลายครั้ง กระทั่งต่อมาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ได้พิจารณาคำขอแล้วเห็นว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากเป็นการขอย้ายโรงงานที่กำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตเดิม กรณีจึงมิใช่เป็นการขยายกำลังการผลิต อีกทั้งที่ตั้งใหม่ที่ขอย้ายไปนั้นก็ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การขอย้ายโรงงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด คือต้องมีระยะห่างระหว่างโรงงานไม่น้อยกว่า 80 กม

                ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เดิมที่ตั้งโรงงานของผู้ฟ้องคดีกับโรงงานน้ำตาลแดงอยู่ห่างกัน 22 กม. แต่หลังจากที่โรงงานน้ำตาลแดงได้รับอนุญาตให้ย้ายที่ตั้งใหม่ ทำให้มีระยะห่างจากโรงงานของผู้ฟ้องคดีเพียง 39 กม. แต่ที่ตั้งโรงงานที่ผู้ฟ้องคดีจะย้ายไปในตำแหน่งใหม่นี้ จะห่างจากโรงงานน้ำตาลแดงถึง 56 กม. หลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นไปเพื่อป้องกันมิให้โรงงานที่จะย้ายเข้าไปใหม่แย่งชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของโรงงานเดิม แต่กรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นการย้ายโรงงานเพื่อเข้าใกล้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของตนเอง อีกทั้งยังมีการอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลแดงย้ายที่ตั้งใหม่ได้ ทั้งที่ระยะห่างระหว่างโรงงานไม่ถึง 80 กม. จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

                จากนั้นผู้ฟ้องคดีก็ได้มีหนังสือร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเสนอคำขอย้ายโรงงานและขอขยายกำลังการผลิตต่อคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง รวมทั้งได้มีหนังสือติดตามและขอความเป็นธรรม โดยต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้นำเรื่องของผู้ฟ้องคดีเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้มีหนังสือขอถอนเรื่องการย้ายสถานที่ของผู้ฟ้องคดีออกจากการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่ามีเรื่องในส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ

               ผู้ฟ้องคดีรวมทั้งสมาคมชาวไร่อ้อยฯ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ในการสนับสนุนให้ผู้ฟ้องคดีย้ายที่ตั้งโรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาค่าขนส่งที่แพงขึ้น จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการขยายกำลังการผลิตและสถานที่ตั้งของโรงงาน เพื่อจัดทำรายงานความเหมาะสมประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งต่อคณะรัฐมนตรีว่า การย้ายและขยายกำลังการผลิตของผู้ฟ้องคดียังไม่ผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงควรให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับเรื่องนี้ไปพิจารณาก่อน ทำให้ครั้งนั้นมีการอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิตของโรงงานอื่นแต่ไม่มีโรงงานของผู้ฟ้องคดี สุดท้ายผู้ฟ้องคดีจึงนำเรื่องมาพึ่งศาลปกครอง

               คดีนี้ศาลปกครองกลางได้พิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว เห็นว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเรื่องการขออนุญาตย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิตให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีหน้าที่เสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ตามนัยมาตรา 4 วรรคหนึ่ง (9) และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 สำหรับข้ออ้างต่างๆ ที่นำมาปฏิเสธไม่เสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลและไม่อาจรับฟังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน อันเป็นเรื่องที่อยู่ในชั้นการพิจารณาอนุญาตของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงไม่อาจเป็นเหตุผลมาปฏิเสธการเสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เสนอเรื่องการขอย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิตของผู้ฟ้องคดีจากอัตรา 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

               อย่างไรก็ตาม เมื่อระหว่างการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้งดังกล่าวแล้ว ทำให้ขั้นตอนการเสนอคำขอย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิตให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาไม่มีอีกต่อไป ศาลจึงไม่จำต้องบังคับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีอีก ดังนั้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องรีบพิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายและหรือขยายกำลังการผลิตของผู้ฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 โดยเร็วต่อไป (คดีแดงที่ 1919/2558)

                คดีนี้... จะยุติที่ศาลปกครองชั้นต้น หรือจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูง ต้องติดตามต่อไปครับ

        จาก http://manager.co.th  วันที่ 24 สิงหาคม 2558

KTIS มั่นใจฝ่ามรสุมเศรษฐกิจฉลุย เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนรายได้สายชีวพลังงาน

          ผู้บริหารกลุ่ม KTIS มั่นใจ ด้วยขนาดของโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศและของโลก ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในสายชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ ไม่หวั่นความผันผวนของเศรษฐกิจโลกระยะสั้น เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ตั้งบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา ขึ้นเป็นบริษัทย่อย หวังพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้ตรงจุด

          นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ด้วยกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ที่มีอยู่ 3 โรงงาน รวม 88,000 ตันอ้อยต่อวัน โดยโรงงานที่ใหญ่ที่สุดมีกำลังการผลิต 55,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก ในการผลิตน้ำตาลทรายจึงได้ผลิตผลพลอยได้ (By product) ต่างๆ จำนวนมาก ที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ และสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความได้เปรียบจากการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale)

          “ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับลดลง ทำให้รายได้ของโรงงานน้ำตาล ซึ่งมีสัดส่วน 30% ของรายได้ของระบบอ้อยและน้ำตาลทราย (ชาวไร่ 70 : โรงงาน 30) ลดลงด้วยเช่นกัน จึงส่งผลต่ออัตรากำไรของสายธุรกิจน้ำตาลอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม กลุ่ม KTIS ก็มีสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ ที่ยังคงมีอัตราการทำกำไรที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย การผลิตเอทานอล หรือการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษ ทำให้บริษัทฯ ยังคงทำกำไรสุทธิได้ 664.44 ล้านบาท จากรายได้ 9,211.14 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

          อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ของ KTIS ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังมาจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 74% สายชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ 26% บริษัทจึงได้มีนโยบายที่จะลงทุนทางด้านชีวพลังงานมากขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งก็จะเห็นผลชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป ว่าสัดส่วนรายได้จากสายธุรกิจชีวพลังงานจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าสัดส่วนในปัจจุบันของรายได้จากการขายและบริการ และด้วย Profit Margin ที่ดีกว่าก็จะส่งผลดีต่ออัตราการทำกำไรของ KTIS ด้วย

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต คณะกรรมการ KTIS จึงได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ขึ้นเป็นบริษัทย่อย เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ วิจัย คิดค้น และพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากอ้อยและน้ำตาล ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีคุณภาพดีขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

          “ขอให้ความมั่นใจกับนักลงทุนว่า KTIS ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกือบ 50 ปี และสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด ถึงแม้ช่วงนี้เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนหลายด้าน ทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่กลุ่ม KTIS ก็จะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง ด้วยการลงทุนอย่างระมัดระวัง และศึกษาวิจัยเป็นอย่างดีแล้วว่าทุกการลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กลุ่ม KTIS กล่าว

 จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 สิงหาคม 2558

พลังงาน”ตั้งคณะทำงาน ดึง3ไฟฟ้าร่วมพัฒนาระบบ

 “พลังงาน” ตั้งคณะทำงานจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้า ดึง กฟผ.-กฟน. และ พีอีเอ ร่วมบูรณาการระบบส่ง-จำหน่ายไฟของประเทศ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เปิดเผยว่า โดย สนพ.ได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าฯ โดยคณะทำงานจะทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ กำหนดกรอบแนวทาง และจัดทำนโยบายและแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้า ในภาพรวมของประเทศ โดยเป็นการบูรณาการแผนงานร่วมกันของทั้ง 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) เพื่อรองรับการเข้าสู่เออีซี ต่อไป

สำหรับแผนดังกล่าวประกอบด้วย กฟผ.วางแผนก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ซึ่งเป็นระบบหลักในการส่งจ่ายไฟฟ้าของประเทศ ให้สามารถรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น และรองรับโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 ด้าน กฟน.นั้น ได้จัดทำแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 6 พื้นที่ ของพีอีเอ

“ปัจจุบัน กฟผ. และ พีอีเอ ได้ร่วมมือกันจัดทำแผนพัฒนาระบบส่ง ระบบจำหน่ายไฟฟ้า และแนวทางเพื่อรองรับเออีซี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ ความเชื่อถือได้ และประสิทธิภาพ ของระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น จากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก และ กฟผ.ร่วมกับ กฟน.อยู่ระหว่างการบูรณาการจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าร่วมกัน อาทิ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน และแผนงานพัฒนาระบบสถานีไฟฟ้าต้นทาง เพื่อเสริมความมั่นคงการจ่ายไฟที่จุดจ่ายไฟรถไฟฟ้าตามโครงการขนส่งทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจุดจ่ายไฟอื่นๆ ที่สำคัญ” นายทวารัฐกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 24 สิงหาคม 2558

กรมชลฯชี้ฝนเดือนส.ค.น้อย คาดก.ย.-ต.ค.น้ำเข้าเขื่อน3.5ล้านลบ.ม.

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า ฝนที่ตกทั่วทั้งประเทศในปัจจุบันจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้มีปริมาณน้อยกว่าที่ รมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้มาก สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ปริมาณน้ำในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้ และเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จะมีปริมาณน้ำรวมของทั้ง 4 เขื่อนประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูว่าในเดือนกันยายนและตุลาคมจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มเติมอีกในปริมาณเท่าใด ในส่วนของภาคตะวันออก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยมาก ได้แก่ เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ซึ่งกรมชลประทานจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการเสริมเพื่อให้มีน้ำเพียงพอในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

นายสุเทพ กล่าวว่า สถานการณ์การเพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากยังคงมีเกษตรกรในพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปี กรมชลประทานจึงได้ระบายน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง เพื่อให้มีน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเพิ่มขึ้นและได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อขอความร่วมมือกับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวแล้วให้โอกาสเกษตรกรรายที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกได้ทำการเพาะปลูกบ้าง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เล็งขยายระบบเยี่ยมเกษตรกร กษ.สร้างโมเดลเตรียมเผชิญเหตุยามเกิดวิกฤติ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำระบบการตรวจเยี่ยมเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยให้หน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเผชิญภาวะวิกฤติภัยแล้ง 273 ชุด ติดตามผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการน้ำและมาตรการต่างๆ ของรัฐ

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ของชุดปฏิบัติการทั้ง 273 ทีม ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบัน พบว่าเกษตรกรมีปัญหาหลายด้าน เบื้องต้น จึงช่วยแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน อาทิ การจัดหาน้ำให้นาข้าวในภาวะวิกฤติช่วงข้าวตั้งท้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดสรรรอบเวลาสูบน้ำ/จัดหาเครื่องสูบน้ำและประสานแหล่งน้ำสำรอง ทั้งยังจัดหาอาหารสัตว์/เวชภัณฑ์และทำวัคซีนให้สัตว์เลี้ยง จัดหาเมล็ดพันธุ์พืชไร่/ท่อนพันธุ์แก่เกษตรกร นอกจากนั้น ยังช่วยจัดการดินและตรวจสอบคุณสมบัติของดินและน้ำ ให้

 ความรู้ด้านการจัดการโรคแมลงศัตรูพืช รวมถึงเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง และยังให้ความรู้ในการทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกพืชผัก และพืชสมุนไพร ตลอดจนให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงปลา และจัดการปัญหาน้ำเค็มในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

“ชุดปฏิบัติการฯยังได้ประสานให้มีการแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง อาทิ จัดหาแหล่งน้ำประจำฟาร์ม/กลุ่ม/ชุมชนตามความต้องการของเกษตรกร เช่น เจาะน้ำบาดาล ขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะ และขุดบ่อน้ำตื้น ทั้งยังส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำ ประสาน ธ.ก.ส.เข้าร่วมปฏิบัติงานกับชุดปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร และประสานเกษตรกรที่จะไถข้าวโพดทิ้งนำไปเป็นอาหารหยาบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม” นายสมชายกล่าว

จากการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการฯ ยังพบว่า เกษตรกรมีความตื่นตัวในการจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในไร่นาของตนเอง และมีการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในชุมชน ทั้งยังทำให้เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของชุดปฏิบัติการ ซึ่งรูปแบบการทำงานของชุดปฏิบัติการดังกล่าว จะเป็นแบบอย่างในการแก้ไขวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กรมชลแจง4เขื่อนหลัก เตือนน้ำต้นทุนยังน้อย ชี้ต้องประหยัดต่อเนื่อง

กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,267 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีน้ำใช้การได้ 467 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 3,704 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 854 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยฯ จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 216 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 173 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 121 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การได้ 118 ล้าน ลบ.ม. รวมมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งสิ้น 1,612 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ปัจจุบันมีการระบายน้ำรวมกันประมาณวันละ 17 ล้าน ลบ.ม. โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนเขื่อนหลัก 4 แห่ง แม้จะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะเน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะสิ้นฤดูฝนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน มีฝนตกลงมาบ้างในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาเพิ่มมากขึ้นพอสมควร ซึ่งกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกกว่า 2 ล้านไร่ ทำการเพาะปลูก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 สิงหาคม 2558

เล็งขยายระบบเยี่ยมเกษตรกร กษ.สร้างโมเดลเตรียมเผชิญเหตุยามเกิดวิกฤติ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำระบบการตรวจเยี่ยมเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยให้หน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเผชิญภาวะวิกฤติภัยแล้ง 273 ชุด ติดตามผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการน้ำและมาตรการต่างๆ ของรัฐ

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ของชุดปฏิบัติการทั้ง 273 ทีม ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบัน พบว่าเกษตรกรมีปัญหาหลายด้าน เบื้องต้น จึงช่วยแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน อาทิ การจัดหาน้ำให้นาข้าวในภาวะวิกฤติช่วงข้าวตั้งท้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดสรรรอบเวลาสูบน้ำ/จัดหาเครื่องสูบน้ำและประสานแหล่งน้ำสำรอง ทั้งยังจัดหาอาหารสัตว์/เวชภัณฑ์และทำวัคซีนให้สัตว์เลี้ยง จัดหาเมล็ดพันธุ์พืชไร่/ท่อนพันธุ์แก่เกษตรกร นอกจากนั้น ยังช่วยจัดการดินและตรวจสอบคุณสมบัติของดินและน้ำ ให้

 ความรู้ด้านการจัดการโรคแมลงศัตรูพืช รวมถึงเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง และยังให้ความรู้ในการทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกพืชผัก และพืชสมุนไพร ตลอดจนให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงปลา และจัดการปัญหาน้ำเค็มในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

“ชุดปฏิบัติการฯยังได้ประสานให้มีการแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง อาทิ จัดหาแหล่งน้ำประจำฟาร์ม/กลุ่ม/ชุมชนตามความต้องการของเกษตรกร เช่น เจาะน้ำบาดาล ขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะ และขุดบ่อน้ำตื้น ทั้งยังส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำ ประสาน ธ.ก.ส.เข้าร่วมปฏิบัติงานกับชุดปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร และประสานเกษตรกรที่จะไถข้าวโพดทิ้งนำไปเป็นอาหารหยาบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม” นายสมชายกล่าว

จากการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการฯ ยังพบว่า เกษตรกรมีความตื่นตัวในการจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในไร่นาของตนเอง และมีการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในชุมชน ทั้งยังทำให้เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของชุดปฏิบัติการ ซึ่งรูปแบบการทำงานของชุดปฏิบัติการดังกล่าว จะเป็นแบบอย่างในการแก้ไขวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 สิงหาคม 2558

ร่างแผนพัฒนาประเทศเสร็จเป็นรูปร่าง

สศช.ระดมสมองทำร่างแผนฯ12 เสร็จเรียบร้อย เตรียมเผยสาธารณชนช่วงประชุมประจำปีเดือนก.ย.นี้ ฟังความเห็นรอบสุดท้ายก่อนรวบรวมชงครม.

นายธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้จัดร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เสร็จสิ้นแล้ว หลังจากระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเสร็จ โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะนำเสนอแผนดังกล่าวต่อสาธารณชนในช่วงการประชุมประจำปี58 ของสศช. ในเดือนก.ย.นี้ แล้วจึงรวบรวมความเห็น ก่อนเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค.59

โดยแผนดังกล่าว ถือเป็นแผนระยะสั้น 5 ปี ซึ่งจะกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ มีเป้าหมายหลักคือ พาประเทศไทยให้หลุดกับดักประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ในระดับปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวในระดับสูง

“ตอนนี้กลไกการขับเคลื่อนแผนฯ 12 ยังไม่ชัด เพราะที่ผ่านมาสศช. มีกลไกขับเคลื่อนแผนด้วยการให้ทุกกระทรวงเข้ามามีส่วนร่วมติดตามและประเมินผล แต่ตอนนี้อาจนำแผนดังกล่าวไปกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี โดยออกเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ แต่คงต้องรอดูก่อนว่าจะจากนี้จะมีความชัดเจนอย่างไร โดยขั้นตอนของการจัดทำร่างนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว จะต้องเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดูก่อนด้วย”

ก่อนหน้านี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และเลขาธิการสศช. กล่าวว่า แผนฯ 12 อาจเป็นแผนแรกที่ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดให้ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องดำเนินงานตามแผนดังกล่าว และต้องทำให้สอดคล้องกับข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอให้จัดทำยุทธศาสตร์ประเทศระยะยาวกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้เลขาธิการนายกฯ เป็นประธานยกร่างยุทธศาสตร์อีกฉบับที่เป็นของรัฐบาล คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนก.ค.นี้ จากนั้นจึงเสนอให้ครม.เห็นชอบ ก่อนส่งไปที่สปช. เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์ร่วมกันว่า มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 สิงหาคม 2558

อ.ทรัพยากรน้ำตรวจความคืบหน้าโครงการแก้มลิงแก้แล้งที่จ.พิจิตร

 เมื่อเร็วๆ นี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้เดินทางมาตรวจติดตามโครงการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ หนองจิกปม ตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำดังกล่าวเพื่อเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรในช่วงฤดูแล้ง

สำหรับหนองจิกปม ทุกๆ ปีรับน้ำจากลุ่มน้ำวังทอง ตำบลเนินกลุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก สภาพหนองจิกปมเดิมตื้นเขิน จุน้ำได้เพียง 2 แสนลูกบาศก์เมตรเท่านั้นและไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติดังกล่าวมาตรการเร่งด่วน

โดยดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูหนองจิกปม มีก้นกว้าง 36 เมตร ความยาว 1,400 เมตร มีความจุน้ำ 483,640 ลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ได้ทำการเสร็จสมบูรณ์เริ่มมีน้ำไหลหลากเข้ามากักเก็บจำนวนมากกว่า 3 แสนลูกบาศก์เมตรเกษตรกรสามารถสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรได้แล้ว

จากนั้นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้เดินทางไปติดตามโครงการสร้างประตูระบายน้ำบ้านป่ามะคาบ ที่ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จโดยกรมทรัพยากรน้ำเช่นเดียวกัน สำหรับประตูระบายน้ำดังกล่าวมีบานประตูน้ำจำนวน 2 บานปรับระดับได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ คลองป่ามะคาบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถกักเก็บและระบายน้ำได้ตามความเหมาะสม

จาก  http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 สิงหาคม 2558

สัมภาษณ์: จีนปลดทุ่นหยวนล้ำลึกกว่าที่คิดไทยจะเจอดับเบิลแอกชัน 

          เกือบ 2 สัปดาห์นับจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดค่าเงินหยวน(11ส.ค.58) นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ค่าเงินหยวนเปลี่ยนจาก "นิ่ง" มาเป็น"ผันผวน" เพราะเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ถือว่าซบเซาอย่างมาก บวกกับปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นจีน  จากผลกระทบดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจลามมาถึงเศรษฐกิจไทยด้วย เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกไปจีนเป็นตลาดหลัก เมื่อจีนลดค่าเงินหยวน ส่งผลให้สินค้าจากไทยที่ส่งไปจีนมีราคาแพงขึ้นทันที ขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะมองว่าสินค้าจีนมีราคาถูกลง ปฏิกิริยาหลังเงินหยวนอ่อนค่า และการปรับตัวของไทยควรเป็นอย่างไรนั้น รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ให้มุมมองผ่าน"ฐานเศรษฐกิจ"ไว้อย่างน่าสนใจ

          จีนสู่ New Normal

          รศ.ดร.สมภพฉายภาพว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจีนจะปฏิรูปทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยผู้นำจีนต้องการปรับตัวสู่ฐานใหม่ (NEW NORMAL) หรือสามัญใหม่ จากเศรษฐกิจสูงสุดคืนสู่สามัญ จากที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีเคยโต 9-10% ก็น่าจะโตปานกลางที่ 7% บวก-ลบ ทำให้จีนต้องปรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมี 2 กลยุทธ์ คือ

          1.กลยุทธ์การพัฒนาภายในประเทศจีน จะไม่เน้นนำเข้าและส่งออกมากเกินไป และไม่เน้นการผลิตแบบที่ผ่านมา โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม หลังจากที่กำลังผลิตล้นตลาด แต่จะรุกการพึ่งพาในประเทศมากขึ้น  โดยจีนต้องหาโอกาสพัฒนาตลาดในประเทศ โดยยึดการบริโภคภายในเป็นดีมานด์ (ความต้องการใช้) แทนที่การส่งออกที่ชะลอตัวลง เนื่องจากเวลานี้จีนมีคู่แข่งมากขึ้นในขณะที่ต้นทุนการผลิตในจีนไม่ได้ถูกเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

          อย่างไรก็ดี การที่จีนจะทำให้ตลาดในประเทศเติบโตได้ ต้องเร่งการเติบโตในเมือง โดยให้คนอยู่ในเมืองมากขึ้นจากสัดส่วน 53% เพิ่มเป็นอย่างน้อย 60% ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพราะถ้าคนอยู่ในเมืองต่างๆมากขึ้นก็จะเกิดโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะการเติบโตในภาคบริการ เช่น ภาคการเงิน บันเทิง ธุรกิจเพื่อสุขภาพ โรงหนัง เสริมสวย ร้านอาหาร เป็นต้น โดยมีการเพิ่มการจ้างงาน จากเดิมที่เน้นภาคการผลิตและภาคเกษตร

          2.กลยุทธ์การมุ่งสู่ต่างประเทศ  ที่จีนจะทำคือ การขยายการลงทุนไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น เช่นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม แทนที่จะมีฐานการผลิตในจีนเพียงอย่างเดียว โดยจีนจะโฟกัสมาที่การลงทุนในอาเซียน แอฟริกา ลาตินอเมริกา เอเชียใต้(ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน ปากีสถาน บังกลาเทศ) โดยให้น้ำหนักในการออกมาลงทุนภาคบริการ อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์  และการออกมาขยายการลงทุนด้านการเงินนอกประเทศ เช่น การลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก เป็นต้น

          "ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการที่ค่าเงินหยวนนิ่งมาก จีนไม่ได้กังวล เพราะการนิ่งของเงินหยวนนี้ ช่วยส่งเสริมการลงทุน การค้าต่างประเทศของจีนเอง แต่พอกลยุทธ์การพัฒนาเปลี่ยนไป จึงทำให้ค่าเงินหยวนผันผวนหรือเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เพื่อจะได้หาประโยชน์จากภาคการเงินได้ เหล่านี้คือแนวโน้มใหม่ของจีน"

          ผลที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

          ขณะที่ผลจากการผันผวนของค่าเงินหยวนของไทยพบว่า ในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ เช่นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ต่างตื่นตัวในการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อการส่งออก ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว มีการเรียกประชุมโดยกระทรวงพาณิชย์เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องถึงการรับมือ และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

          พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ช่วง 6 เดือนแรกปี 2558 ค่าบาทอ่อนค่าลง 6% แต่จีนใช้เวลา 3 วันหยวนอ่อนค่าลงราว 4% แสดงว่าต่อไปนี้ค่าเงินหยวนจะผันผวน ไม่นิ่งเหมือนช่วงที่ผ่านมาอีกต่อไป  และจะทำให้เศรษฐกิจโลกกระเพื่อมมากขึ้น และประเทศไทยจะเจอกับ "ดับเบิล แอกชัน" คือ

          1.จีนปลดทุ่นเงินหยวน ทำให้เงินหยวนผันผวนขึ้น-ลงได้ตลอดเวลา มีผลต่อความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออกไปจีนเป็นหนึ่งในตลาดหลัก  2.แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดจะออกมาส่งสัญญาณว่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีหรือปีหน้า และถ้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินหยวนจะยิ่งอ่อนค่าลงเพราะเงินจะไหลไปอเมริกาหมายความว่านักธุรกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักและพึ่งพาการผลิตแบบรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ต่างๆไม่ได้แล้ว เพราะเวลานี้มือปืนรับจ้างหลายประเทศเหนือกว่าไทยเพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า และมูลค่าการส่งออกรวมของไทยไม่ควรเกิน 50% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 70% และจะต้องทำให้จีดีพีในประเทศโตไปพร้อมกันด้วย ก็จะทำให้มูลค่าการส่งออกเติบโตคู่ขนานไปกับจีดีพี

          นอกจากนี้จะต้องหารูปแบบ กลยุทธ์ในการพัฒนาเข้ามา เช่นการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เกิดการขยายตัวของเมือง เร่งภาคบริการ และสร้างความเข้มแข็งในภาคการเงิน พร้อมกับการออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้นโดยเฉพาะใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ซึ่งการที่จีนขยับค่าเงินหยวนถือเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนได้เปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรุกในประเทศและต่างประเทศ เป็นการเตือนภัยล่วงหน้าว่า ไทยจะมุ่งส่งออกเป็นหลักไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ถ้าปรับตัวไม่ทันก็ตกเหว

          ลดค่าหยวนยังมีมุมบวก

          อย่างไรก็ตามการที่จีนลดค่าเงินหยวนมองอีกด้านก็จะเกิดประโยชน์ต่อไทยในแง่โรงงานจากจีนจะต้องย้ายออกนอกประเทศมากขึ้นโดยพุ่งเป้ามาที่อาเซียน และไทยก็เป็นลำดับต้นๆที่จีนสนใจ เพราะเป็นประตูไปสู่อาเซียน โดยที่ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ธุรกิจบันเทิง ตลาดเงินตลาดทุน ท่องเที่ยว โรงพยาบาล และธุรกิจเพื่อสุขภาพอื่นๆ เป็นต้น

          "ไทยจะมุ่งส่งออกเป็นหลักไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ถ้าปรับตัวไม่ทันก็ตกเหว"

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ กังวลเศรษฐกิจเอเชีย

"เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ ขณะที่ ดัชนี SET ปรับร่วงลงจากเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และความกังวลต่อเศรษฐกิจเอเชีย"

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ที่ 35.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับการเทขายสกุลเงินในเอเชีย และสกุลเงินของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ท่ามกลางความกังวลต่อหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ-การเงินของมาเลเซียที่มีความเปราะบาง ประกอบกับมีความความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติหลังเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ในช่วงต้นสัปดาห์

สำหรับในวันศุกร์ (21 ส.ค.) เงินบาทฟื้นตัวจากระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 ปีมาปิดตลาดที่ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ส.ค.)   

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามประกอบด้วยสถานการณ์เงินหยวน และสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ซึ่งมีผู้แทนจากธนาคารกลางทั่วโลกเข้าร่วมงาน (27-28 ส.ค.) นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นเดือนส.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล เดือนก.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.ย. และจีดีพีประจำไตรมาส 2/2558 

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับร่วงลง จากเหตุวางระเบิดในกรุงเทพฯและความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย มาปิดที่ระดับ 1,365.61 จุด ลดลง 3.42% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 30.65% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 49,777.29 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 576.42 จุด ลดลง 2.34% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงต่อเนื่องเกือบตลอดสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากการปรับลดค่าเงินหยวนของจีน ความกังวลจากเหตุวางระเบิดในกรุงเทพฯ ก่อนที่ดัชนีจะฟื้นขึ้นเล็กน้อยในวันพุธจากมุมมองเชิงบวกต่อการปรับคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ดัชนีปรับลงต่อช่วงท้ายสัปดาห์ตามการร่วงลงของหุ้นพลังงาน และความกังวลต่อเศรษฐกิจประเทศในเอเชีย ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวต้านที่ 1,375 และ 1,390 จุด ตามลำดับ ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 1,350 และ 1,320 จุด โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คงได้แก่ สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายในเอเชีย ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานออกมา อาทิ  จีดีพีไตรมาส 2/2558 (Second Est) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และรายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล  นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการรายงานข้อมูลจีดีพีของเยอรมนี รวมทั้งข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

กรมประมงสนองพระราชดำริ'พระเทพฯ' สร้างแก้มลิงบรรเทาแล้ง-ป้องน้ำท่วม

นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ติดตามการขุดลอกแหล่งน้ำหนองแสง ต.ดอนกลอย อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี ว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยพื้นที่ห่างไกลขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำไว้บรรเทาภัยแล้งป้องกันน้ำท่วม พร้อมเดินหน้าขยายโครงการปรังปรุงแหล่งน้ำในชุมชนอื่นต่อไป

ทั้งนี้ นายมีศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรมประมงรับสนองพระราชดำริสร้างแก้มลิง ในพื้นที่สาธารณประโยชน์บึงหนองแสง แหล่งน้ำดังกล่าวมีลักษณะตื้นเขิน ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ จึงจำเป็นต้องขุดลอกบ่อเก็บกักน้ำให้มีความลึกเพิ่มขึ้น ใช้เวลาขุดลอก 30 วัน โดยแหล่งน้ำนี้มีเหมาะสมต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารสำหรับชุมชน เป็นแหล่งน้ำกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย ทำให้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ และทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 สิงหาคม 2558

กรมชลฯจ่อแจ้งรบ.รับมือ'น้ำน้อย' ชี้บริหารจัดการประสบความสำเร็จ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการติดตามวิเคาระห์สถานการณ์น้ำ ที่มี 10 หน่วยงาน ร่วมเป็นกรรมการ ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ฝนที่จะเข้ามาตามคาดการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนใหญ่ 4 แห่ง ตามที่คาดล่วงหน้าจะได้ 3.9 พันล้านลบ.ม.เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน โดยใช้ค่าเฉลี่ยฝนปีต่ำสุดมาเป็นเกณฑ์ ในข่วงนี้เน้นย้ำการบริหารน้ำจะกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุด

ในส่วนพื้นที่เพาะปลูกลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานสามารถจัดสรรน้ำให้รอดได้หมด ซึ่งได้ส่งน้ำให้พื้นที่ปลูกข้าวไปแล้วกว่า 5 ล้านไร่ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือชาวนาที่ปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วไม่ปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง เพื่อให้โอกาสกับพื้นที่ชะลอปลูกข้าวกว่า 2 ล้านไร่ ได้ลงมือปลูกข้าวบ้าง ซี่งกรมชลฯ จะหมุนน้ำท่ามาให้มีพอเพียงสำหรับสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกที่เหลือได้

"จากฝนที่ตกมาแล้วมีพอเพียง ให้กับพื้นที่ปลูกข้าวที่ปลูกไปแล้ว 5 ล้านไร่ และให้กับพื้นที่ชะลอปลูก 2 ล้านไร่ ขอให้สงสารคนที่ยังไม่ได้ปลูก และอย่าปลูกเพิ่มโดยเฉพาะชาวนาที่กำลังตั้งท่าจะปลูกใหม่ ถ้ามาปลูกแข่งจะเสียหายแน่นนอนน้ำไม่มีให้ โดยเขื่อนจะไม่ระบายน้ำมาเพิ่ม เพราะจะเน้นเก็บน้ำไว้ใช้ถึงฤดูแล้งหน้า อย่างไรในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่นาข้าวเสียหายไม่ถึง 1 แสนไร่ จากที่คาดว่าจะเสียหาย 1.5 ล้านไร่ โดยกรมชลฯ สามารถบริหารจัดการน้ำได้ประสบความสำเร็จประคับประคองทุกภาคส่วนได้ทั่วถึง และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ มาตรการจ้างแรงงานภาคเกษตร ซึ่งมีคนสนใจร่วมโครงการ ไปถึงฤดูแล้งหน้าได้จัดงบลงทุนและงบเงินกู้มาจัดสรร เปลี่ยนแปลงเป็นเงินเหลือจ่าย มาใช้จ้างแรงงานก่อสร้างต่อเนื่อง โดยนาปรังรุ่นแรก คงต้องงดปลูก เนื่องจากไม่มีน้ำส่งให้ ปริมาณน้ำคาดว่าจะได้ 3.9 พันล้านลบ.ม.เพียงพอสำหรับอุปโภค บริโภค และผลักดันน้ำเค็มเท่านั้น เทียบเคียงจากปีที่แล้วมีน้ำใช้การได้ 6.7 พันล้านลบ.ม.ยังของดทำนาปรัง ซึ่งสภาพฝนน้อยของประเทศไทยมีมาต่อเนื่อง 3 ปีติดกัน เรียกว่าน้ำน้อย 3 ปีติด จากปริมาณน้ำเขื่อนปีเฉลี่ยในเกณฑ์ 1 หมื่นล้านลบ.ม.โดยปี 56 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8 พันล้านลบ.ม. , ปี57 มีปริมาณ 6.7 พันล้านลบ.ม.และปีนี้ คาดว่าจะได้ 3.9 พันล้านลบ.ม.ทางกรมชลฯ จะแจ้งรัฐบาล ถึงสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 สิงหาคม 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมหมอดินกับเครือข่ายพัฒนาที่ดิน(3)

เกษตรอินทรีย์ ตามความหมายของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มาตรฐาน มกษ.9000 เล่ม 1-2552) คือ ระบบการจัดการด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศน์ วงจรชีวภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงวัตถุดิบที่ได้จากการสังเคราะห์ และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากการดัดแปรพันธุกรรม มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เป็นเครือข่ายที่กรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุนการปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการดินด้วยอินทรียวัตถุ เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. พืชปุ๋ยสด และหญ้าแฝก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกรมพัฒนาที่ดินสู่เกษตรอินทรีย์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เกษตรกรสามารถผลิตและใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร เป็นการช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมและเต็มใจเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อดำเนินการยื่นสมัครขอรับรองมาตรฐานพืชอินทรีย์กับกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานข้าวอินทรีย์กับกรมการข้าว รวมทั้งให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรกลุ่มเกษตรกรที่จำเป็นสำหรับการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 สิงหาคม 2558

รื้อสูตรผลิตเอทานอลใหม่ หวังกดราคานํ้ามันลง1บาท

กระทรวงพลังงาน เล็งเสนอ กบง.ทบทวนสูตรอ้างอิงราคาเอทานอลใหม่ ห่วงต้นทุนสูงผลักภาระให้ผู้บริโภคมากเกินไป เผยเตรียมกำหนดสัดส่วนคำนวณเอทานอลจากโมลาสเพิ่มขึ้นหวังถัวเฉลี่ยราคาเอทานอลลดลง 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 26 บาทต่อลิตร

นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างคำนวณสูตรราคาเอทานอลใหม่ เนื่องจากปัญหาราคาเอทานอลในปัจจุบันอิงราคาเอทานอลจากมันสำปะหลังในสัดส่วนค่อนข้างมาก ส่งผลให้เอทานอลมีราคาสูง โดยราคาเอทานอลจากมันสำปะหลังเฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาเอทานอลจากกากน้ำตาล(โมลาส) อยู่ที่ 21-22 บาทต่อลิตร จึงทำให้ราคาเอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ 25-26 บาทต่อลิตร

โดยในระหว่างนี้ สนพ.กำลังศึกษาต้นทุนเอทานอลใหม่ และเตรียมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการเอทานอล สมาคมเอทานอล กรมสรรพสามิต และผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 เข้าหารือเพื่อหาแนวทางร่วมกันต่อไป

ซึ่งสูตรราคาเอทานอลใหม่ อาจกำหนดเทียบสัดส่วนจากมันสำปะหลังและโมลาสอยู่ที่ 40 % และ 60 % ตามลำดับ จากปัจจุบันไม่ได้กำหนดสูตรตายตัว แต่ผู้ค้าน้ำมันจะซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลังก่อน ส่วนที่เหลือค่อยซื้อเอทานอลจากโมลาสซึ่งมีราคาถูกกว่า ส่งผลให้ราคาอ้างอิงเอทานอลมีราคาสูง

ดังนั้นจะทำอย่างไรให้สามารถซื้อเอทานอลได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คาดว่าสูตรอ้างอิงราคาเอทานอลใหม่ ราคาอาจถูกลง 1 บาทต่อลิตร ซึ่งเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ต่อไป

สำหรับสูตรอ้างอิงเอทานอลใหม่จะสะท้อนต้นทุนผลิตเอทานอลมากขึ้น และจะมีการประกาศทุกๆเดือนเหมือนกับปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของภาครัฐ ทั้งแก๊สโซฮอล์อี20 และอี85 เพราะปัจจุบันต้นทุนเอทานอลที่สูงก็จะถูกบวกในราคาขายปลีกน้ำมัน

ดังนั้นการปรับต้นทุนเอทานอลให้ลดลงก็จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้บริโภคลงด้วย “ตอนนี้ สนพ. อยู่ระหว่างทบทวนสูตรอ้างอิงเอทานอล เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้กำหนดสัดส่วนเอทานอลจากมันสำปะหลังและโมลาส เพียงแต่เป็นการขอความร่วมมือเพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันช่วยซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลัง กำหนดไว้ไม่เกิน 38% ของเอทานอลทั้งหมด

ดังนั้นผู้ประกอบการจึงซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลังก่อน เมื่อไม่พอจึงซื้อเอทานอลจากโมลาส ส่งผลให้ต้นทุนเอทานอลที่ผสมในเนื้อน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ ราคาสูง โดยภาระส่วนนี้จะตกไปที่ผู้บริโภค ดังนั้นจึงต้องการคำนวณสูตรอ้างอิงเอทานอลใหม่ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง”นายชวลิต กล่าว

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนพ. อยู่ระหว่าง ศึกษาความเหมาะสมราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน เอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อให้ราคาเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการสะท้อนต้นทุนพลังงานทุกชนิด ซึ่งการทบทวนสูตรราคาเอทานอลก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทน้ำมัน โดยล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลและเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีนโยบายใกล้เคียงกับประเทศไทย เพื่อกำหนดสูตรราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

จับตาเงินทุนเอเชียเคลื่อนย้าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะนักลงทุนเกาะติดเงินทุนในตลาดเอเชีย พร้อมตัวเลขของสหรัฐฯ –ทิศทางค่าเงินหยวน

 รายงานข่าวจากบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า วันที่ 24-28 ส.ค. ดัชนีมีโอกาสทดสอบแนวต้านที่ 1,375-1,390 จุด ส่วนแนวรับอยู่ที่ 1,350-1,320จุด

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายในเอเชีย และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานออกมาในเร็ว ๆ นี้ เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไตรมาส 2 , ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และรายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล

นอกจากนี้ยังต้องติดตามการรายงานข้อมูลจีดีพีของเยอรมนี รวมทั้งข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สำหรับภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยต้องจับตาสถานการณ์เงินหยวน และสกุลเงินของประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ รวมถึงการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่เมืองแจ็คสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง ซึ่งมีผู้แทนจากธนาคารกลางทั่วโลกเข้าร่วมงานวันที่ 27-28ส.ค.นี้

นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นต้นเดือนส.ค. ยอดขายบ้านใหม่ และดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 สิงหาคม 2558

รมว.อาเซียนเปิดประชุมหนุนร่วมมือเศรษฐกิจ

รมต.เศรษฐกิจจากประเทศอาเซียนเริ่มประชุมหารือขั้นสุดท้ายก่อนเปิดเออีซีในสิ้นปี รวมทั้งการเพิ่มความสัมพันธ์กับคู่ค้าซึ่งรวมถึงจีน

รัฐมนตรีเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เริ่มต้นการประชุมในวันนี้เพื่อหารือในขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งการเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าซึ่งรวมถึงจีน

นายมุสตาพา โมฮัมเม็ด รัฐมนตรีเศรษฐกิจมาเลเซียซึ่งเป็นประธานที่ประชุมกล่าวในระกว่างการเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 47 ว่า อาเซียนได้ตัดสินใจที่จะผลักดันการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องการเมืองและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 47 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค.ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย จะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการในการก่อตั้งเออีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามพันธกิจภายใต้แผนแม่บทเออีซี 2015, การดำเนินการเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ อาเซียน โพสต์-2015 อีโคโนมิค วิชัน 2025 และแผนดำเนินการเชิงกลยุทธ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า พันธมิตรของอาเซียนซึ่งรวมถึงจีนจะเข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือในเรื่องการเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เช่น ในด้านการค้าและการลงทุนในครั้งนี้ด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 สิงหาคม 2558

พาณิชย์งัดแผนกอบกู้ส่งออก!

เทหมดหน้าตักเข็น 5 ยุทธศาสตร์ยึดตลาดโลก

คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีมติไม่คืนเงิน 2,224 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง เพราะต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการ และสร้างผู้ประกอบการมือใหม่ กระตุ้นการส่งออกของประเทศในระยะยาว ตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้า ปี 59–63 ภายใต้ 5 แผนงานหลัก ขณะที่หอการค้าไทย เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังผันผวน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ประชุมมีความเห็นให้นำเงินของกองทุน มาใช้เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ และสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ เพื่อร่วมกันพัฒนาภาคการส่งออกของประเทศ ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้นำส่งเงินกองทุนฯ ที่มีอยู่ 2,224 ล้านบาท และเงินจากดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละ 2% อีกประมาณ 100 ล้านบาท คืนแก่กระทรวงการคลัง เพื่อนำไปให้รัฐบาล ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าเงินดังกล่าว เป็นเงินค้างท่อที่ยังไม่ได้ใช้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าว และมีมติให้เก็บเงินไว้ใช้ส่งเสริมการส่งออกต่อไป แต่ให้กำหนดกรอบการใช้เงินให้ชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปี 2559-2563

สำหรับมติที่ประชุมที่ให้เก็บเงินกองทุนฯ ไว้ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เห็นว่าดำเนินการได้ แต่ต้องเสนอยุทธศาสตร์กองทุนฯ ปี 2559-2563 ส่งไปให้กระทรวงการคลัง ได้รับทราบว่า เงินกองทุนฯ ที่ต้องการเก็บไว้ กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางการใช้ที่ชัดเจน และหากภาคการส่งออกขยายตัวได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่าต้องการเก็บเงินกองทุนฯดังกล่าวไว้เพื่อใช้จ่ายในการทำประโยชน์ในการส่งออก จึงไม่สามารถส่งคืนเพื่อนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากองทุนฯ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2524 โดยให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ จากการนำเข้าอัตรา 0.5% เพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ 300 ล้านบาท และนำดอกผลมาใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก แต่ได้ยกเลิกการเก็บเงินค่าธรรมเนียมไปแล้วตั้งแต่ปี 2534

 ขณะที่ยุทธศาสตร์กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปี 2559-2563 มีทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยจะเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า เช่น งานแสดงสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียน การช่วยเหลือผู้ประกอบการ นำสินค้าไปเปิดตลาดอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เป็นต้น

2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพ การค้าของผู้ประกอบการในภูมิภาค โดยการนำผู้ประกอบการเดินทางไปเจรจาทางธุรกิจ ในประเทศกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ตลาดอาเซียน, ส่งเสริมการลงทุนในอาเซียน และใช้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ช่วยขยายตลาด ส่วนตลาดศักยภาพ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา รัสเซีย เพื่อทำให้สามารถขยายการส่งออกสินค้าของประเทศไทย ไปสู่หัวเมืองรองจากเมืองหลวงของแต่ละประเทศ ขณะที่ตลาดหลักๆ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพ–ยุโรป จะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

3.ยุทธศาสตร์การเจรจาเชิงรุก เพื่อเปิดตลาด และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า ทั้งการเจรจาระดับทวิภาคี และพหุภาคี 4.ยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างการส่งออกเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การผลักดันคลัสเตอร์สินค้ากลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สินค้าโปรดักส์ แชมเปี้ยน, เกษตรและอาหาร, อุตสาหกรรมหนัก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เม็ดพลาสติก ฯลฯ, ธุรกิจบริการ, ฮาลาล และสินค้าโอทอป รวมถึงกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ เช่น คลัสเตอร์ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนรถไฟ อากาศยาน ไปจนถึงบริการซ่อมบำรุง เป็นต้น

5.ยุทธศาสตร์การผลักดันประเทศไทย ไปสู่การเป็นประเทศ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าและบริการ และพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้ทำธุรกิจในต่างประเทศได้ รวมถึงการพัฒนา และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการ

นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการกองทุนฯ กล่าวว่า ภาคการส่งออกจำเป็นต้องมีความคล่องตัวในการทำงาน หากมีเงินกองทุนฯไว้ ก็จะทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดยสถานการณ์การค้าปัจจุบันยังไม่น่าวางใจ จึงควรเร่งวางรากฐานการค้าของไทยให้ยั่งยืน โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว.

จาก  http://www.thairath.co.th วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

หักดิบแจ้งเกิดเหมืองโพแทช ภาครัฐการันตีเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีราคาถูกลง15%

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้ส่งเสริมนโยบายการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทย เนื่องจากมีปริมาณแร่มหาศาล เพราะนอกจากการนำไปผลิตเป็นปุ๋ยในภาคการเกษตร ยังใช้เป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมยา ผงซักฟอก สบู่ รวมทั้งพลาสติก ทั้งนี้ตน ได้ออกใบอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองโพแทช 2 แห่ง คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และบริษัทไทยคาลิ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกันยังมีคำขออาชญา–บัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ชัยภูมิ อุดรธานี

“แร่โพแทชเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการผลิตเป็นแม่ปุ๋ยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หากสามารถดำเนินโครงการ ได้ จะมีความคุ้มค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อสามารถผลิตโพแทชได้ใน ปี 2561 เกษตรกรจะได้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง 15% และประหยัดการนำเข้าปุ๋ยโพแทชปีละ 10,000 ล้านบาท”

สำหรับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับโครงการแร่โพแทช ก็จะได้รับประโยชน์คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท อาทิ กองทุนที่รัฐบาลจัดให้ตามกฎหมาย 5,000 ล้านบาท เช่น กองทุนวิจัยโครงการทำเหมืองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กองทุนเพื่อสนับสนุน การร่วมตรวจสอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กองทุนที่จัดให้ชุมชนโดยสมัครใจ 3,100 ล้านบาท เช่น กองทุนเพื่อการติดตามตรวจสอบเวลามีปัญหาในพื้นที่ กองทุนเพื่อการชดเชย กองทุนเพื่อการส่งเสริมประโยชน์ชุมชน เงินช่วยเหลือประชาชนด้านการเฝ้าระวังสุขภาพ การพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ เงินช่วยเหลือครัวเรือนในพื้นที่ ทุนการศึกษาเยาวชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนประกันความเสี่ยง รวมถึงเงินช่วยเหลือเรื่องค่าปุ๋ย ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยดูแลและพัฒนาท้องถิ่นรอบๆพื้นที่ทำเหมือง

นอกจากนี้ ภาครัฐก็จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการทั้ง 2 แห่งนี้ รวมประมาณ 29,500 ล้านบาท โดยจะมีรายได้จากการเก็บค่าภาคหลวงแร่ ผลประโยชน์พิเศษเพื่อรัฐ เงินโบนัสและเงินสนับสนุนการศึกษาให้กับสถานศึกษาของรัฐบาล เป็นต้น.

จาก  http://www.thairath.co.th วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : กรมหมอดินกับเครือข่ายพัฒนาที่ดิน(2)

กรมพัฒนาที่ดินในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่พึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี มาเป็นการพึ่งพาตนเองในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพเพื่อใช้เองในประเทศ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองก็เป็นแนวทางหนึ่งภายใต้โครงการเกษตรอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีทางการเกษตรและยังสามารถผลิตเพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้เสริมอีกด้วย

เครือข่ายเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ลดใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพให้กับกลุ่มเกษตรกร สร้างเครือข่ายเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่เกษตรที่ยั่งยืนและนำไปสู่กลุ่มเกษตรอินทรีย์ในอนาคต

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนและยุวหมอดิน เป็นการช่วยแก้ปัญหาด้านโภชนาการในเด็กและเยาวชนในชนบทที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยเด็กๆในท้องถิ่นทุรกันดารให้มีสุขภาพดีมีคุณภาพทางการศึกษามีอาหารกลางวันรับประทาน โดยได้พระราชทานดำริว่าอาหารต่างๆควรได้มีการผลิตขึ้นเองในแต่ละท้องถิ่นและเมื่อเด็กเหล่านี้จบการศึกษาภาคบังคับแล้วโอกาสที่จะได้รับการศึกษาต่อมีน้อยมาก จึงควรสอนให้เด็กมีความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่เพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต และได้ทรงจัดตั้งโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม

เมื่อปี 2549 กรมพัฒนาที่ดินได้เริ่มจัดตั้งโครงการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนและยุวหมอดินขึ้น เพื่อสนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับนักเรียนในถิ่นทุรกันดารหรือในหมู่บ้านยากจน ซึ่งนอกเหนือจากการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันแล้วยังคาดหวังว่า โรงเรียนเกษตรอินทรีย์ที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินในพื้นที่ให้กับผู้ปกครอง และเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง โดยเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินและหมอดินอาสาในพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่จะดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้พื้นฐานด้านการพัฒนาที่ดิน ด้านการใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์พัฒนาที่ดินในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ของโรงเรียนให้แก่ครูเกษตรและเด็กในโรงเรียน

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

สอน.เตรียมคัด51คำขอตั้งรง.น้ำตาล หลัง"จักรมณฑ์"เซ็นกำหนดระยะห่าง 

 สอน.เตรียมออกประกาศแจ้งรายละเอียดให้เอกชนหลัง "จักรมนฑ์" เซ็นประกาศทิ้งทวนให้ตั้งหรือย้ายขยายโรงงาน น้ำตาลมีผลแล้ว 17 ส.ค. คัด 51 คำขอให้เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดโดยเฉพาะระยะห่าง คาดรู้ผลต.ค.นี้ แย้มไม่ถึง 10 รายที่เข้าข่าย โดยผู้ที่ได้การรับรองต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายในปี 59

          นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า หลังจากที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีต รมว.อุตสาหกรรมได้ลงนามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง การให้ตั้งหรือย้ายขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2558 และมีผลตั้งแต่ 17 ส.ค.เป็นต้นไป

          หลังจากนี้ สอน.ในฐานะที่จะต้องให้การรับรองจะออกประกาศเพื่อแจ้งรายละเอียดใน การให้เอกชนเตรียมเอกสารต่างๆ คาดว่าการดำเนินงานจะใช้ระยะเวลาประมาณ 45 หลังจากนั้นจะสามารถทยอยอนุมัติได้ตั้งแต่ ต.ค.นี้

          ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไข ที่สำคัญคือ การตั้งโรงงานน้ำตาลในทุกแห่งกระทำได้ต่อเมื่อมีเขตโรงงานน้ำตาลที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่ได้รับอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร(กม.) โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ในจังหวัดเดียวกันหรือไม่ก็ตามและจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานน้ำตาลไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูผลิตนั้นๆ และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลอื่นโดยแผนการเตรียมปริมาณอ้อยดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแต่ละฤดูการผลิตหรือการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อ

          นอกจากนี้ การขยายโรงงานน้ำตาล ให้กระทำได้เมื่อโรงงานน้ำตาลที่จะขยายมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยของโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปีและอ้อยต้องไม่ใช่ของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลอื่นโดยผู้ที่ขออนุญา ต้องดำเนินการขออนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลให้แล้วเสร็จและเริ่มประกอบกิจการภายใน 5 ปี ซึ่งให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบ ให้ตั้งหรือย้ายหรือขยายโรงงานน้ำตาลตามมติ ครม. แต่ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับและอยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายในปี 2559 และแจ้งประกอบกิจการภายในปี 2561

จาก  http://www.manager.co.th  วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

คอลัมน์ เกษตรฯโทรโข่ง: เร่งสร้างชลประทาน 

          เป็นเรื่องดีที่รัฐมนตรีไม่ว่าจะกระทรวงไหนก็แล้วแต่ ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ว่ามีความก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว

          การลงพื้นที่นอกจากได้สัมผัสด้วยตา รู้เห็นของจริงด้วยตนเองแล้ว ยังได้ไปเยี่ยมเยือน รับฟังปัญหาของชาวบ้านอีกด้วย

          ไม่ใช่รอรับรายงานจากข้าราชการประจำในห้องแอร์ ซึ่งอาจจะได้รับรายงานเท็จหรือ "เวอร์" จนเกินไป จนกระทั่งทำให้การแก้ปัญหาไม่ถูกจุดหรือไม่ได้ผลได้

          ปกติแล้ว เรามักจะเห็นรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งลงพื้นที่ตรวจโครงการและเยี่ยมชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและรัฐมนตรีที่มาจากอำนาจนอกระบบก็ควรจะเอาอย่างบ้าง แม้ท่านอาจจะบอกว่าไม่ต้องการคะแนนเสียง แต่เป้าหมายสูงสุด คือ ประชาชนเหมือนกันไม่ใช่หรือ

          ดังนั้น การที่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ พร้อมข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้าง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.นาดี จ.ประจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ถือเป็นเรื่องที่ดีน่าชื่นชม

          แม้ว่าการปรับ ครม. ซึ่งอาจจะมีขึ้นเร็วๆ นี้จะมีชื่อของท่านอยู่ด้วยว่าอยู่ในข่ายที่จะถูกปรับออก ก็อย่าไปใส่ใจเลยครับ

          ทำงานแก้ปัญหาให้ประชาชนจนวาระสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีดีกว่า เป็นการรับสนองพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในพระทัยของพระองค์ท่านมีแต่ประชาชน

          สำหรับโครงการห้วยโสมง กรมชลประทานได้ก่อสร้างสนองพระราชดำริ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำปราจีนบุรี เพิ่มพื้นที่ชลประทานรวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี นอกจากนี้ยังใช้เพื่อการบริโภค อุปโภคและรักษาระบบนิเวศอีกด้วย

          อ่างเก็บน้ำห้วยโสมงสามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 295 ล้านลูกบาศก์เมตร หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 111,300 ไร่ ปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561

          ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร กรมชลประทานได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2552 คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2558 นี้ สามารถกักเก็บน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดชลบุรี

          นอกจากนั้นยังรองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก รวมทั้งพื้นที่เกษตรหลายหมื่นไร่ได้รับประโยชน์

          นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ในปี 2558-2559 กระทรวงเกษตรฯโดยกรมชลประทาน จะเร่งก่อสร้างโครงการชลประทานให้แล้วเสร็จตามแผนโดยเร็ว ประกอบด้วยการโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 11 แห่ง ขนาดกลาง 105 แห่ง ขนาดเล็ก 500 กว่าแห่ง รวมทั้งแผนกระจายน้ำและขุดลอกแก้มลิงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วย 18 แห่ง

จาก  http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ปรับระบบงานบริการเกษตร กษ.ติวเข้มเพิ่มมาตรฐาน-ประสิทธิภาพ 

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถูกตราขึ้นเพื่อกฎหมายให้หน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินงานในการพิจารณาอนุญาตที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติ การ จดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับ แจ้ง การให้ประทานบัตร และการให้อาชญาบัตร

          จากการวิเคราะห์บทบาทภารกิจของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พบว่า มีงานบริการที่เข้าข่ายพระราชบัญญัติดังกล่าว 11 ส่วนราชการ จำนวน 309 งานบริการ อาทิ การออกหนังสือรับรองการส่งออกกุ้งกุลาดำมีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร การออกใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 การรับจดทะเบียนสหกรณ์ เป็นต้น โดยมีการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบและใช้ประโยชน์ตามกรอบเวลาที่พระราชบัญญัติกำหนด และการจัดประชุมครั้งนี้ จะเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ

          "งานบริการด้านการเกษตรเปรียบเสมือนเครื่องจักรตัวแรกในระบบการผลิต ที่จะส่งผลผลิตต่อไปยังภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงภาคการค้าการส่งออก ดังนั้น การสร้างมาตรฐานการให้บริการด้านการเกษตรที่มีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลที่มีต่อการดำเนินงานของภาคเอกชนที่เป็นกำลังหลักของระบบธุรกิจไทย ดังนั้น ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการให้บริการงานภาคการเกษตร โดยเฉพาะการบริการในระดับพื้นที่ที่ต้องทำหน้าที่ให้บริการเกษตรกรและประชาชนโดยตรง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแสดงถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้ในระบบราชการ และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนต้องศึกษาให้เข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ เกิดผลกระทบทั้งต่อตนเอง องค์กร โดยเฉพาะ อย่างยิ่งผู้รับบริการ" นายชวลิต กล่าว

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

จุฬาฯตั้งศูนย์ข้อมูล "AFIC" ลดความผันผวนราคาสินค้าเกษตร

ในการสัมมนา "ความผันผวนของราคาสินค้า : วาระที่ต้องแก้ไข" ซึ่งจัดโดย "สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เมื่อเร็ว ๆ นี้ เห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรมีความแตกต่างหลากหลาย และมีการเคลื่อนไหวเป็น Dynamic ตลอดเวลา แต่ไทยยังขาดข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การวิเคราะห์การผลิตและการทำตลาดที่ไม่ถูกต้อง

ดังนั้น หากมีการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องจะนำไปสู่การวิเคราะห์และวางแผนอย่างเป็นระบบ ส่งผลดีต่อการพัฒนาสินค้าเกษตรไทย

ล่าสุดทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้มีการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศด้านเกษตรและอาหาร (Agricultural and Food Information Center : AFIC) ภายใต้สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร เพื่อให้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่แหล่งรวบรวมข้อมูลด้านการเกษตรอย่างบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยอาศัยความเชื่อมโยงข้อมูลจากพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นต้น โดยหวังว่า "ข้อมูมูลที่แม่นยำจะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาความผันผวนราคาสินค้าเกษตร ลดการใช้จ่ายงบประมาณในการอุดหนุนสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้เป็นอย่างดี

"โลกร้อน" จุดเปลี่ยนเกษตรไทย

ผช.ศ.ดร.เสกสม อาตมางกูร คณบดีคณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า ภาพรวมของสินค้าเกษตรปี 2558 ต้องจับตามองปัจจัยจากสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน "Global Warming" และปรากฏการณ์เกิด "เอลนิโญและลานิญา" ซึ่งมีผลต่อการผลิตและการตลาด โดยเฉพาะ "Global Warming" เป็นปัจจัยที่ยาวนานต่อเนื่อง จะกระทบต่อฤดูการเพาะปลูกทำให้เลื่อนออกไป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปีนี้ แต่จะเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่ส่งผลต่อการผลิตสินค้าเกษตรระยะยาว เพราะไม่เพียงฤดูการผลิตจะเลื่อน แต่จะส่งผลรวมถึงปัญหาโรคแมลงใหม่ ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมในหลาย ๆ ประเทศ

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนิโญทำให้เกิดภัยแล้งในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย เอเชีย "ไทย" เป็นประเทศที่เกิดควบทั้ง "Global Warming และเอลนิโญ" ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง และกำลังเกิด "Global Warming และลานิญา" ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรง

 ยกตัวอย่างผลที่เกิดขึ้นชัดเจน คือ ปีนี้ไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีจำนวนมากกว่า 2.5 ล้านตัน ซึ่งบริษัทใหญ่ที่มีการผลิตครบวงจรจะได้ประโยชน์มากกว่า ขณะที่เกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาถูกได้ ก็ต้องใช้ข้าวโพดในประเทศ ซึ่งมีราคาสูงทำให้ต้นทุนสูงเกินจริง ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยอาจต้องเลิกกิจการนำไปสู่ปัญหาสินค้าที่มีคุณสมบัติพิเศษที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จากการผลิตของเกษตรกรรายย่อยหายไปด้วย ดังนั้น การทำการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่มีความเป็น "Globalization" เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนทั้งระบบ

สุดยอดกูรูชี้ปัจจัยที่มีผลต่อราคา

น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตรกล่าวว่า ดีมานด์-ซัพพลายเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาสินค้าเกษตร เช่น ฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมกันทำให้ราคาตก ปัจจัยคุณภาพและความปลอดภัย ต้นทุนวัสดุทางการเกษตร/วัตถุดิบอาหารสัตว์ล้วน ปัจจัยงานเทศกาล/ปิดเทอม เปิดเทอมมีผลต่อความต้องการสินค้าเกษตร ปัจจัยความแตกต่างของสินค้า ทำให้ระดับราคาต่างกัน ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ/ต่างประเทศมีผลต่อกำลังซื้อและราคาสินค้าในตลาด และปัจจัยจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม มีผลต่อปริมาณซัพพลายสินค้าเกษตร

จุดอ่อนสำคัญของภาคเกษตร คือ ขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เช่น การผลิตสินค้าที่ปลอดภัย การดูแลสภาพแวดล้อม การเก็บรักษาสินค้าเกษตรซึ่งมีอายุสั้น และการลดความสูญเสียจากระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น

ดร.กนก คติการ อดีตเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวในตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯมักพูดเรื่อง "การลดต้นทุนการผลิต" เพื่อช่วยให้ขายสินค้าได้ราคาดีขึ้น แต่ไม่ได้มองว่าระหว่างลดต้นทุนจะให้เกษตรกรอยู่อย่างไร ตนมองว่าการลดต้นทุนจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรสร้างความแตกต่างและจุดโฟกัสให้กับสินค้า เพราะหากสินค้ามีจุดต่างก็สามารถสร้างตลาดได้ ไม่ใช่มุ่งขับเคลื่อนโดยกำหนดแผนต่าง ๆ อย่างมากมาย แต่ท้ายสุดเมื่อแผนพับก็หยุดไป

นายวิจักร วิเศษน้อย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาความผันผวนราคาข้าวเป็นปัญหาคลาสสิก เพราะเป็นสินค้าการเมืองต้องแก้ไขโดยให้ปราศจากการเมือง

"ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการใช้โครงการรับจำนำทำให้รัฐบาลต้องเก็บสต็อกข้าวไว้เป็นจำนวนมากมีผลต่อราคาและมีต้นทุนเก็บรักษาข้าวทุก 1 ล้านตัน 35 ล้านบาท/เดือน หากเก็บ 2-3 ปีต้องใช้งบประมาณมาก และยิ่งเก็บคุณภาพยิ่งเสื่อมสภาพลง ฤดูกาลเพาะปลูกสั้นเพียง 3 เดือนก็มีผลผลิตทดแทนได้ เมื่อภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไม่ดี อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนก็ล้วนแต่มีผลต่อระดับราคาข้าวทั้งหมด"

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

“พาณิชย์” ยันเวียดนามลดด่ง ไม่กระทบขีดแข่งขันส่งออกไทย 

          “พาณิชย์” ยันเวียดนามลดค่าเงินด่งไม่กระทบขีดความสามารถในการส่งออกของไทย และไม่เชื่อจะเกิดเป็นสงครามค่าเงินในภูมิภาค ยอมรับห่วงเรื่องน้ำมันตลาดโลกลดลงมากกว่า เหตุทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ปัดปรับเป้าส่งออกลบ 3% แต่จะทำให้ติดลบน้อยที่สุด “ฉัตรชัย” ไม่ห่วงงานพาณิชย์ ชี้วางแผนทำงานทุกอย่างไว้ดีแล้ว

                นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ว่าที่ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่เวียดนามลดค่าเงินด่งลงมา 1% ว่า เป็นการลดลงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศของเวียดนาม และหากให้เทียบกับค่าเงินบาทถือว่าค่าเงินบาทไทยลดค่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายวิตก และกังวลว่าจะเกิดปัญหาสงครามค่าเงินในกลุ่มอาเซียนและระดับภูมิภาคมากจนเกินไป เพราะการลดค่าเงินต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมหลายด้านประกอบ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของประเทศที่ลดค่าเงิน

               “หากมองในแง่การแข่งขันของไทยกับเวียดนาม แม้จะผลิตและส่งออกสินค้าคล้ายกัน แต่ก็เป็นคนละตลาดกัน โดยสินค้าไทยอยู่ในระดับดีกว่า อย่างเช่นข้าว ตลาดของไทยเป็นตลาดข้าวคุณภาพสูง แต่ข้าวของเวียดนามเป็นข้าวขาวทั่วไป จึงไม่ทำให้ไทยเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไป ซึ่งสินค้าตัวอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน”      

        อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลใจมากกว่าคือ ปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่สภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันจะมีมูลค่าการส่งออกลดลงตามราคาน้ำมัน

               นางอภิรดีกล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ว่าจะติดลบ 3% อาจจะปรับตัวติดลบเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ เพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่จะไม่มีการปรับประมาณการส่งออกอีก ขณะเดียวกันจะเร่งทำทุกทางเพื่อให้การส่งออกไทยไม่ติดลบมากจนเกินไป

               ส่วนการบริหารงานภายใต้ตำแหน่ง รมว.พาณิชย์คนใหม่ จะประชุมร่วมกับ รมช.พาณิชย์คนใหม่และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการทำงานกันต่อไป

               พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีต รมว.พาณิชย์ แสดงปาฐกถาในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพาณิชย์ ครบรอบปีที่ 95 แก่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ในตอนหนึ่งว่า ขอให้ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการไม่ทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณข้าราชการทุกคนที่ได้ร่วมทำงานด้วยกันตลอด 365 วัน

               “ไม่มีความเป็นห่วงการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของการระบายข้าว การดูแลค่าครองชีพของประชาชน การค้าชายแดน การเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งผมได้ขอให้ข้าราชการทุกคนปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ แม้บางเรื่องจำเป็นต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผล จึงขอให้ทุกคนอดทน โดยให้ทุกคนคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

พณ.เผยCLMVพร้อมประกาศรายการลดภาษี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิช เผย CLMV พร้อมประกาศรายการลดภาษีแล้ว กัมพูชา ภาษีเหลือ 0% 4 รายการ ในปีนี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 29 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 22 สิงหาคม นี้ ที่ประชุมจะพิจารณาและรับทราบประเด็นสำคัญหลายเรื่องที่จะอำนวยความสะดวกและสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจของภาคเอกชนไทย อาทิ การเห็นชอบตารางการลดภาษีของกัมพูชาที่จะนำมาใช้ในปี 2012-2025 โดยกัมพูชาได้เร่งรัดการเปิดตลาดสินค้าปิโตรเลียมให้เร็วขึ้นกว่าเดิมจากปี 2026 เป็น 2025 และลดภาษีสินค้า 4 รายการ ให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 58 นี้

นอกจากนี้ อาเซียนพร้อมที่จะประกาศรายการสินค้าของกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ที่จะลดภาษีในปี 2018 เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย สามารถวางแผนล่วงหน้าในการดำเนินธุรกิจการค้าและขยายการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ได้ และจะเปิดตัวระบบคลังข้อมูลทางการค้าของอาเซียน ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจทั้งในด้านเวลาและค่าใช้จ่ายให้ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลมาตรการทางการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ณ จุดเดียว

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ESCหีบอ้อยเพิ่มเป็น4ล้านตัน รองรับแผนขยายธุรกิจไฟฟ้า ดันการเติบโตรายได้-กำไร

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ESC ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อย และธุรกิจที่นำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทในปี 2558 นี้จะเร่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของอ้อยและพื้นที่ปลูกอ้อย รองรับเป้าหมายการหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/59 ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 4 ล้านตัน จาก 3.54 ล้านตัน ในปี 2557/58 พร้อมรับปริมาณอ้อยทั้งหมดในพื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดสระแก้ว

ทั้งนี้ โรงงานได้ร่วมกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ในการเตรียมความพร้อมด้านการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตและประสิทธิภาพของการผลิตอย่างจริงจัง ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม มอบรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นที่มีคะแนนสูงสุดอันดับ 1 ประจำปี 2558 ให้กับโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จากการส่งเสริมพัฒนาด้านคุณภาพการผลิตของโรงงานและชาวไร่อ้อยมาโดยตลอด ซึ่งบริษัทได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นหรือโรงงานน้ำตาลชั้นดีจากกระทรวงอุตสาหกรรมติดต่อกันมาเป็นปีที่ 9 แล้ว โดยปี 2558 นี้โรงงานมีเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่เป็น 12 ตัน และเพิ่มผลผลิตน้ำตาลเป็น 113 กิโลกรัมน้ำตาลต่อตันอ้อย

“แผนเพิ่มกำลังการหีบอ้อยและปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพันธุ์อ้อยของบริษัทผ่านการร่วมมือกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา จะสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ และจะเพิ่มศักยภาพการเติบโตของรายได้และกำไรจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล และจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจโดยรวม ผลักดันการทำกำไรของบริษัทให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถรองรับแผนงานขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย”คุณหญิงณัฐิกา กล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 59.8 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพิ่มอีก 1 โรง จะมีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2559

นอกจากนี้บริษัทยังมีการนำกากน้ำตาล มาเป็นวัตถุดิบสำหรับธุรกิจผลิตเอทานอล ซึ่งมีกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน บริษัทยังดำเนินธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพที่นำน้ำกากส่า จากการผลิตเอทานอล มาปรับสภาพและหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ มีกำลังการผลิต 43.0 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตเอทานอลของบริษัท และเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอีกทอดหนึ่ง สามารถทดแทนการใช้เชื้อเพลิง(น้ำมันเตา) ในกระบวนการผลิตเอทานอลได้ถึง 95%พร้อมกันนี้ยังสามารถนำกากหม้อกรอง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีและวัสดุปรับปรุงดิน รวมกำลังการผลิตกว่า 20,000 ตันต่อปี เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของชาวไร่อ้อยคู่สัญญา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

โชว์ดึงกากเข้าระบบผุดเตาเผาขยะปี'59

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ตั้งเป้าหมายนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบให้ได้ 1.2 ล้านตัน ในปี 2558 นั้น ความคืบหน้าล่าสุดในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา กรอ.สามารถติดตามนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบได้แล้ว 6 แสนตัน หรือคิดเป็น 50% ของเป้าหมาย คาดว่าทั้งปีจะสามารถนำกากเข้าระบบได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะทยอยส่งกากอันตรายเข้าระบบช่วงปลายปี

          นายจักรมณฑ์กล่าวว่า ได้หารือกับนายยาสุฮิโระ โอซาโตะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น ถึงการร่วมมือในการจัดการของเสียจากขยะอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยญี่ปุ่นได้รายงานความคืบหน้าการมอบเตาเผาขยะขนาด 500 ตันต่อวัน จากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ซึ่งญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูความเหมาะสมพื้นที่ติดตั้งเตาเผาขยะแล้ว ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะติดตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยองหรือสมุทรสาคร โดยต้องมีพื้นที่รองรับขยะอุตสาหกรรมได้ถึง 60 ล้านตันต่อวัน มีระบบสายส่งรองรับไฟฟ้าที่จะผลิตจากพลังงานขยะด้วย คาดว่าจะได้สรุปเร็วๆ นี้ และเริ่มก่อสร้างต้นปีหน้า

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

พพ.เร่งพัฒนา พลังงานทดแทน เล็งดันไทยขึ้นแท่น ศูนย์กลางอาเซียน

พพ. เผยครึ่งแรกปี’58 ยอดใช้ เอทานอลแตะ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล ยอดใช้ 2.65 ล้านลิตรต่อวัน มั่นใจยอดผลิตและยอดใช้เชื้อเพลิงชีวภาพได้ตามแผน AEDP

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายในการเสวนา “ทิศทางการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ” ว่า ปัจจุบันการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลถือเป็นเชื้อเพลิงหลักด้านการขนส่งของประเทศโดยในรอบ 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2558) ที่ผ่านมา พบว่าไบโอดีเซล(B100) มียอดการใช้เฉลี่ย 2.65ล้านลิตรต่อวัน และยอดการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล ส่วนเอทานอลซึ่งเป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ มียอดการใช้ 3.50 ล้านลิตรต่อวันเอทานอลที่ใช้ทั้งหมด ผลิตได้ภายในประเทศโดยพพ. พร้อมจะเร่งผลักดันให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งสองประเภทให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ที่พพ.จะใช้ส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ศึกษาและเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมให้มีการเพิ่มสัดส่วน ไบโอดีเซลมากกว่า B7 ในภาคบังคับ หรือส่งเสริมให้มีการจำหน่ายไบโอดีเซลสัดส่วนสูงขึ้น เช่น B20 เป็นทางเลือก เป็นต้น ด้านเอทานอล จะยังส่งเสริมให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีหลายส่วนผสมให้เลือกในกลุ่มที่เป็นแก๊สโซฮอล์ ตั้งแต่ E10 ไปจนถึง E85 โดยปัจจุบันแก๊สโซฮอล์ E10 มีการใช้งานรวมกันประมาณ 75% ของน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มเบนซินทั้งหมด ในขณะที่แก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 มีสัดส่วนการใช้รวมกันประมาณ 20%

พพ. ได้วางเป้าหมายการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ไว้ในแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล 7.2 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งถ้าคิดเป็นสัดส่วนของการใช้น้ำมันดีเซลจะประมาณ 10% ของปริมาณการใช้งานภายในปี 2564 และเอทานอลเท่ากับ 9 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2564 เช่นกัน ซึ่งจะต้องมีแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ใช้งานมากที่สุด และมี E85 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานมากลำดับรองลงไป โดย พพ. จะดำเนินการสร้างการยอมรับทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภค การจูงใจให้เกิดการผลิตการใช้งานมากขึ้น และการพัฒนาเทคโนโลยีให้เชื้อเพลิงชีวภาพมีคุณภาพสูง และลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้แข่งขันได้มากยิ่งขึ้นควบคู่ไป

นอกจากนี้ ในอนาคตคาดว่าประเทศไทยจะมีเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นใหม่เพื่อทดแทนน้ำมันจากฟอสซิล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนา เช่น เอทานอลจากวัสดุเซลลูโลส เช่น ข้าวฟางหวานฟางข้าว หญ้า และวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ ไบโอดีเซลจากสาหร่าย เชื้อเพลิงจากขยะพลาสติกหรือน้ำมันเก่าด้วยกระบวนการไพโรไลซิส เชื้อเพลิง ดีเซลจากกระบวนการแตกตัวโดยใช้ไฮโดรเจน เป็นต้น ซึ่งคาดจะได้รับการพัฒนาไปตลอดช่วงเวลาของแผน AEDP เพื่อนำมาสู่การผลิตจริงเชิงพาณิชย์ให้ได้ในอนาคตและเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพของภูมิภาคอาเซียนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

คลอดยุทธศาสตร์วิจัยเกษตร คลุมสินค้าสำคัญทางศก./รองรับตลาดโลก

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2558-2564 ซึ่งสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นผู้ยกร่างเพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรให้กับประเทศและส่งเสริมการบูรณาการงานวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ครอบคลุมในกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ สินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการเป็นผู้นำ และศูนย์กลางสินค้าเกษตรคุณภาพที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์วิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรฯ และจัดทำแนวทางการแปลงแผนสู่การปฏิบัติต่อไป

สำหรับร่างยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีการกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัย กลยุทธ์ แนวทางการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารเชิงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ได้กฎระเบียบ มาตรฐานที่สามารถยกระดับความสามารถในการผลิต และการตรวจสอบสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก ได้เทคโนโลยีหรือวิธีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ได้นวัตกรรมองค์ความรู้ หรือต้นแบบผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารที่มีมูลค่าสูง และมีศักยภาพในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย

 จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ธปท.หารือ 3 หน่วยงานรับมือค่าเงินหยวน ชี้ระยะยาวเศรษฐกิจจีนส่งผลดีทั้งภูมิภาค

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับผลกระทบจากการลดค่าเงินหยวนของจีน ธปท.ได้มีการหารือร่วมกันใน 3 หน่วยงานคือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และ ธปท. ซึ่งยังไม่ได้กังวลต่อการอ่อนค่าลงของหยวนนัก โดยมองกันว่าในระยะสั้นๆนี้ การดำเนินนโยบายของจีนที่ทำให้ค่าเงินหยวนปรับตัวอ่อนค่าลงในระยะสั้น ก็ได้ส่งผลต่อเงินบาท และค่าเงินในภูมิภาคให้ปรับตัวอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในระยะยาวการปรับตัวของจีนน่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย

 เตรียมรับมือผลกระทบจากการลดค่าเงินหยวนของจีน

เนื่องจาก หากเศรษฐกิจจีนได้รับผลบวกจากการดำเนินนโยบายภายใต้ค่าเงินที่อ่อนลง อาจสามารถกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าไทยและอาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาว แต่ขณะเดียวกันภาคเอกชนของไทยก็ควรมีการปรับปรุงคุณภาพสินค้าด้วย เพื่อยกระดับสินค้าไทยในอนาคตให้ได้รับความต้องการจากตลาดมากขึ้น ไม่ใช่หวังพึ่งให้ค่าเงินอ่อนเท่านั้น

 เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์

“ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์นั้น น่าจะมีความคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ และหากไม่มีเหตุการณ์อะไรเพิ่มเติมความเชื่อมั่นของการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของคนไทยเราเองก็น่าจะกลับมาได้โดยเร็ว เพราะเท่าที่ดูภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตสามารถฟื้นตัวได้เร็วมาก ภายใน 2-3 เดือน เท่านั้นเมื่อสถานการณ์สงบ เพราะนักท่องเที่ยวชาวเอเชียตัดสินใจไม่นานในการเดินทางมาท่องเที่ยว หากเห็นว่าสถานการณ์ ปกติแล้วฉะนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะกระทบการท่องเที่ยวระยะสั้นๆ เท่านั้น ทำให้นักลงทุนเลื่อนท่องเที่ยวไทยออกไปชั่วคราว ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจขณะนี้ ยังไม่มี เบื้องต้นกระทบแค่ภาคท่องเที่ยวระยะสั้นเท่านั้น” นายเมธีกล่าว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ชาวไร่อ้อยสุโขทัยเฮ! หลังศาลปกครองสั่งกระทรวงอุตฯ เร่งออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทย

          ถือเป็นกรณีตัวอย่างทางการปกครองอีกกรณีหนึ่ง เมื่อศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีที่บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และพิพากษาให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปจังหวัดสุโขทัยให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็ว

          นางดารัตน์ วิภาตะกลัส กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ได้เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 589/2554 หมายเลขแดงที่ 1919/2558 ให้บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ชนะคดีที่ได้ฟ้องว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจากไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ของน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

          ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลระบุว่า “เมื่อผู้ฟ้องคดี (บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด) ได้มีหนังสือร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) เสนอเรื่องการขออนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีหน้าที่ในการเสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 4 วรรคหนึ่ง (9) และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 สำหรับข้ออ้างต่างๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ปฎิเสธไม่เสนอคำขอของผู้ฟ้องคดีให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้แต่อย่างใด”

          จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) พิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปยังจังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าวจากอัตรา 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็วต่อไป

          นางดารัตน์ กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ตั้งอยู่ในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี 2517 โดยได้รับอนุญาตหีบอ้อย 18,000 ตันต่อวัน เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยจำนวนกว่า 3,700 ราย??อย่างไรก็ตาม แหล่งอ้อยส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ในจังหวัดสุโขทัย ทางโรงงานจึงได้รับการเรียกร้องจากชาวไร่อ้อยในจังหวัดสุโขทัยให้ย้ายโรงงานไปอยู่ในแหล่งอ้อย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบรรทุกอ้อยและขนส่งอ้อยไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ คิดเป็นเงินปีละประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังทำให้ชาวไร่อ้อยปลอดภัยในการเดินทาง ถนนหนทางก็จะไม่ต้องชำรุดจากการขนส่งอ้อยอีกด้วย ซึ่งทางโรงงานก็ได้ไปลงทุนซื้อที่ดินและเตรียมการทุกอย่างเพื่อย้ายโรงงานตามที่ชาวไร่อ้อยร้องขอ แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เกิดการฟ้องร้องดังกล่าวขึ้นมา

          ด้านนายสุชัย ลิ้มสมมติ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย และประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยรู้สึกยินดีกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว เนื่องจากได้เคลื่อนไหวเพื่อให้ภาครัฐได้รับทราบความเดือดร้อนกรณีการขนส่งอ้อยในเขตจังหวัดสุโขทัยไปยังโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มาโดยตลอด และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ก็ได้ทำเรื่องขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานมาอยู่ในจังหวัดสุโขทัย มาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว และเคยได้รับการเสนอให้ผ่านการพิจารณาในที่ประชุม ครม. ถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2552 และเดือนพฤษภาคม 2553 แต่ก็ถูกถอนเรื่องออกมา และไม่ได้มีการเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่ควรจะเป็น

          “ที่เห็นความผิดปกติได้ชัดที่สุดก็คือ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้นได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ย้ายสถานที่ตั้งโรงงาน จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ไปตั้งใหม่ที่ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในการย้ายสถานที่ตั้ง ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นว่า ในการขออนุญาตย้ายสถานที่ตั้งหรือขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อยโดยตรง แต่ปรากฎว่าในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกลับมีหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอถอนเฉพาะเรื่องของบริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี” นายสุชัยกล่าว

          นายสุชัย กล่าวด้วยว่า หากโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ได้ย้ายไปตั้งที่สุโขทัย จะได้ใกล้ชิดกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญามากขึ้น เพราะกว่า 70% ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของไทยเอกลักษณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกของสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย หรือกว่า 3,000 ครอบครัว มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย ดังนั้น หากโรงงานน้ำตาลย้ายไปอยู่ในแหล่งอ้อย ก็จะสามารถส่งเสริมและพัฒนาการผลิตอ้อยได้ดียิ่งขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้นโดยการนำเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาใช้ ทำให้มีอ้อยเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคและประเทศในภาพรวม อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งของชาวไร่อ้อยได้ถึงปีละประมาณ 100 ล้านบาท และที่สำคัญทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางของชาวไร่อ้อย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ตั้งรับหนี้เกษตรกรย้อนกลับ ธ.ก.ส.เดินหน้ามาตรการแก้ไข/ชงเยียวยา 1,113 บาทต่อไร่

ธ.ก.ส.ยอมรับสถานการณ์เกษตรกรยังน่าห่วง ตั้งทีมสำรวจพื้นที่คาดฝนแล้ง-น้ำท่วมกระทบเพาะปลูกเสียหายไม่เกิน 1 ล้านไร่ เตรียมเสนอแผนจ่ายเยียวยาไร่ละ 1,113 บาท คาดใช้งบไม่เกิน 1 พันล้านบาท พร้อมรับลูกเดินหน้ามาตรการแก้หนี้เกษตรกรทั้งใน-นอกระบบ หลังพบตัวเลข 9.2 ครัวเรือนเสี่ยงถูกยึดที่ดินทำกิน

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารค่อนข้างเป็นห่วงกับแนวโน้มของเกษตรกรที่จะก่อหนี้ในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรและสภาพอากาศที่ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำสาขาเร่งติดตามสถานการณ์เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งแม้จะคลี่คลายลงในหลายพื้นที่แต่แน่นอนว่าจะต้องมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นทีมสำรวจความเสียหายเพื่อเตรียมจ่ายชดเชยให้แก่เกษตรกรแล้วในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูก 4 ล้านไร่ คาดว่าจะมีพื้นที่เสียหายไม่เกิน 25% หรือราว 8 แสนถึง 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ใน 20 จังหวัดพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

ส่วนกระบวนการจ่ายชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกรนั้น หลังจากกรมป้องกันสาธารณะภัย จะต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว กระบวนการต่อไปคือ การเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นฝ่ายเพื่อเสนอขอมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในการอนุมัติงบประมาณสำหรับจ่ายชดเชยค่าเสียหาย โดยขั้นท้ายสุด ธ.ก.ส. จะเป็นหน่วยงานในการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว โดยจ่ายในอัตราไร่ละ 1,113 บาทต่อไร่ หรือคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 1 พันล้านบาท

สำหรับมาตรการที่ธนาคาร ธ.ก.ส. กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือมาตรการแก้ไขหนี้ของเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ที่ต้องการให้เข้าไปแก้ไขทั้งหนี้ในและนอกระบบโดยอยู่ภายใต้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในภาคการเกษตร

ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส. เสนอแผนในการช่วยเหลือลูกค้า เป้าหมายหนี้เกษตรกรคิดเป็นวงเงิน 8.18 แสนล้านบาท โดย 1.16 แสนล้านบาทสามารถแก้ไขหนี้ได้แล้ว ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และการประนอมหนี้ อย่างไรก็ดี ยังพบอีกว่ายังมีเกษตรกรอีกไม่น้อยที่นำที่ดินไปติดขายฝาก จำนอง หรือเข้าเป็นหลัก ทรัพย์ค้ำประกันกับทั้งสถาบันการเงินทั้งในและนอกระบบ โดยพบว่า 1.6 ล้านราย มีการกู้ทั้งในและนอกระบบโดยใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แยกออกเป็นในระบบ 1.4 ล้านราย มูลหนี้ 3.88 แสนล้านบาท และนอกระบบ 1.49 แสนราย มูลหนี้ 2.16 หมื่นล้านบาท โดย 9.2 หมื่นราย วงเงินมูลหนี้กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงที่จะถูกยึดที่ดินเป็นกลุ่มแรกๆ

นายลักษณ์กล่าวอีกว่าสำหรับกระบวนการช่วยเหลือนั้น คาดการณ์ว่าจำนวน 1.4 ล้านรายจะเป็นลูกค้าของธนาคาร ธ.ก.ส. โดยจะดูจากเลขบัญชี 13 หลักในฐานข้อมูลของธนาคาร ขณะเดียวกันจะต้องเข้าไปตรวจสอบสถานะว่า เป็นหนี้ปกติ สามารถดำเนินการชำระหนี้คืนได้หรือไม่ หรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืน รวมถึงเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาชำระหนี้เสียใหม่ โดยคาดว่า 1-2 สัปดาห์จากนี้ไปจะทราบผลสถานะหนี้ที่แท้จริงและจะขยายผลไปสู่การให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้อง

“ตอนนี้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ตั้งแต่ระดับอำเภอและจังหวัดในการเข้าไปดูแลช่วยเหลือกระบวนการประนอมหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบใน 9.2 หมื่นรายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยึดที่ดินทำกิน ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการประนอมหนี้เสร็จก็จะเข้าสู่กระบวนการอำนวยสินเชื่อ กรณีที่เป็นหนี้ในระบบจะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1.5 แสนบาท

หากเป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินแต่มีหนี้นอกระบบจะได้รับสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท แต่หากเป็นผู้ที่มีที่ดินจะได้รับสินเชื่อต่อรายที่ 1.5 แสนบาท ระยะเวลาชำระคืน 12 ปี อัตราดอกเบี้ยที่ 1%”

ด้านนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายโครงการภาครัฐ ธนาคาร ธ.ก.ส. เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างจัดทำบัญชีเกษตรกรที่มีหนี้ทั้งหมดแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ยังเป็นหนี้ในระบบอาจใช้แนวทางช่วยเหลือที่หลากหลาย อาทิ การตัดหนี้ศูนย์ การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระยะสั้นและยาวระยะ 10 ปีขึ้นไป รวมถึงการปรับระยะเวลาการชำระให้มากขึ้น ซึ่งหนี้กลุ่มนี้สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่า ส่วนหนี้กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกนระบบ ได้จัดกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีหนี้ต่อรายไม่เกิน 1.5 แสนบาท

หากเป็นเกษตรกรก็จะให้ ธ.ก.ส. รับไปช่วยดูแล แต่หากเป็นกลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่นค้าขายก็จะให้ธนาคารออมสินเข้ามาดูแลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และกลุ่มที่มีหนี้ต่อรายมากกว่า 1.5 แสนบาท กลุ่มนี้ธนาคารได้ประสานไปยังหน่วยงานในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วทุกภูมิภาคแล้ว หลังจากได้รับหนังสือจากการะทรวงมหาดไทย เพื่อจัดสรรและจัดกลุ่มหนี้ที่ยังเป็นหนี้นอกระบบที่ยังมีปัญหาโดยใช้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้มีระยะเวลาตั้งแต่ 4-12 ปี

แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ทำให้แนวโน้มการก่อหนี้นอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลต่อที่ดินทำกินของเกษตรกรมีแนวโน้มถูกยึดมากขึ้นอีกด้วย “ปัญหาหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส.ได้ทำมานานแล้ว โดยข้อมูลปี 2557 มีจำนวนหนี้ 105,421 ครัวเรือน คิดเป็นมูลหนี้ราว 14,074 ล้านบาท ธนาคารได้นำมาคัดกรองพร้อมกระบวนการไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 66,463 ครัวเรือน และได้ให้สินเชื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม 33,455 ครัวเรือน วงเงินกว่า 3,912 ล้านบาท”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

“จักรมณฑ์” ย้ำเดินหน้า 2 โครงการโปแตชที่ชัยภูมิ-โคราช 

 “จักรมณฑ์” ย้ำเหมืองแร่โปแตชไร้ปัญหา รัฐพร้อมดูแลผลประโยชน์ประชาชนและชุมชนรอบด้าน หลังมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เยียวยาและดูแลอย่างเป็นระบบ พร้อมเดินหน้า 2 โครงการแล้วที่ จ.ชัยภูมิ และโคราช            

        นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ออกใบอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตช 2 แห่ง คือ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และ บริษัทไทยคาลิ จำกัด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกันมีคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ ทั้งสิ้น 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ชัยภูมิ อุดรธานี

               “แร่นี้ไม่ได้มีอันตรายอะไรเลย ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเมื่อสามารถผลิตโปแตชได้ราวปี 2561 เกษตรกรจะได้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง ร้อยละ 15 และประหยัดการนำเข้าปุ๋ยโปแตชปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท” นายจักรมณฑ์กล่าว

               ส่วนชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงโครงการจะได้รับประโยชน์ประมาณ 5,000 ล้านบาท มีทั้ง 1) กองทุนที่รัฐบาลจัดให้ตามกฎหมาย 5,000 ล้านบาท เช่น กองทุนวิจัยโครงการทำเหมืองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กองทุนเพื่อสนับสนุนการร่วมตรวจสอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสำรองค่าใช้จ่ายการปิดเหมือง รวมทั้ง 2) กองทุนที่จัดให้ชุมชนโดยสมัครใจ 3,100 ล้านบาท เช่น กองทุนเพื่อการติดตามตรวจสอบเวลามีปัญหาในพื้นที่ กองทุนเพื่อการชดเชย กองทุนเพื่อการส่งเสริมประโยชน์ชุมชน

               ปัจจุบันมี 2 กองทุนที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ กองทุนสนับสนุนโครงการวิจัยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม เพื่อศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นข้อขัดแย้งต่างๆ และกองทุนค่าตอบแทนพิเศษแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตร หรือ “ค่าลอดใต้ถุน” เฉลี่ยที่ดิน 1 ไร่ จะได้รับเงินตลอดอายุโครงการรวมประมาณ 48,000 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ ภาครัฐก็จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการประมาณ 29,500 ล้านบาท โดยมีรายได้จากค่าภาคหลวง ผลประโยชน์พิเศษเพื่อรัฐ เงินโบนัส และเงินสนับสนุนการศึกษารัฐ

 จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

กมธ.ส่งข้อเสนอปฏิรูปเกษตรชงรัฐเร่งพัฒนาระบบชลประทาน

กมธ.ปฏิรูปเกษตรส่งข้อเสนอปฏิรูปการเกษตรให้ รมช.เกษตรฯ พร้อมเสนอรัฐบาลเร่งพัฒนาระบบชลประทานทั่วประเทศ

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ส่งมอบรายงานทิศทางการปฏิรูปภาคเกษตรประเทศไทยแก่นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ ทางอนุกมธ​.​ร่วมกับสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดฝัก ให้กับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรหลายจังหวัดโดย ทางอนุกมธ.ยังเตรียมเสนอรัฐบาลเร่งพัฒนาระบบชลประทานทั่วประเทศ ให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตร พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาภาคการเกษตรทุก 5 ปี ให้เป็นลักษณะเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ด้านนายอำนวย กล่าวว่า สปช.ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่การแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล รวมถึงข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

สอน.ยันใช้50กม.ตั้งรง.น้ำตาล ไทยเอกลักษณ์โวยไม่เป็นธรรม 

          กระทรวงอุตสาหกรรม น้อมรับคำสั่งศาล เร่งพิจารณาย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ไปจ.สุโขทัย แต่ยืนยันต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ระยะห่าง 50 กิโลเมตรจากโรงงานเดิม หากไม่ถึงก็หมดสิทธิ์ ขณะที่ผู้ฟ้องชี้ ควรดูที่เจตนาคำพิพากษาของศาล ให้ความเป็นธรรมจากเหตุถูกกลั่นแกล้ง ไม่นำเรื่องเสนอครม.

          นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากที่ศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีที่บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด  เป็นผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 2.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ตั้งแต่ปี 2550 ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่โดยเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมาศาลได้พิพากษาให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปจังหวัดสุโขทัยให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็วนั้น

          ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้สอน.ได้รายงานเรื่องไปยังนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบแล้ว ในฐานะผู้ถูกฟ้องในตำแหน่ง ซึ่งมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากศาลได้พิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการออกใบอนุญาตการย้ายโรงงานไปตั้งที่ใหม่โดยเร็วเท่านั้น

          โดยระหว่างนี้ สอน.รอเพียงการประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามแล้ว และคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร

          นายพิชัยกล่าวอีกว่า เมื่อหลักเกณฑ์การตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลมีผลใช้บังคับแล้ว ทางสอน.ก็จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการต่างๆ ที่มีการยื่นขอตั้งหรือขอย้ายโรงงานน้ำตาล ว่าต้องมีเอกสารอะไรบ้างที่จะต้องยื่นกลับมาให้สอน.พิจารณาภายใน 1 เดือน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติภายใน 45 วัน โดยจะใช้ระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร เป็นหลักสำคัญในการพิจารณา ซึ่งรวมถึงโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ที่จะย้ายมาด้วย โดยยื่นขอย้ายโรงงานมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งอยู่ในลำดับต้นๆ ที่สอน.จะพิจารณาก่อน แต่หากระยะห่างของโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์กับโรงงานเดิมที่ตั้งอยู่แล้ว ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ก็คงไม่สามารถอนุมัติการย้ายโรงงานน้ำตาลมาได้ เพราะไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

          ประกอบกับคำพิพากษาของศาล ไม่ได้ระบุว่าจะต้องให้ครม.พิจารณา เพราะที่ผ่านมาหลักเกณฑ์การตั้งหรือย้ายโรงงาน ครม.ได้มีมติยกเลิกไปแล้ว และให้นำหลักเกณฑ์การตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลใหม่มาใช้ อีกทั้ง การยื่นขอย้ายโรงงานน้ำตาลในสมัยนั้น ก็มีการกำหนดการตั้งโรงงานจะต้องมีระยะห่างจากโรงงานเดิมไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร ทางโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ก็ทราบอยู่แล้ว ถึงเสนอเรื่องการย้ายโรงงานให้ครม.พิจารณา ดังนั้น เมื่อศาลสั่งมายังกระทรวงอุตสาหกรรมให้เร่งพิจารณาการอนุมัติย้ายโรงงานน้ำตาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ทางสอน.ก็จะพิจารณาโดยเร็ว

          นางดารัตน์ วิภาตะกลัส กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด กล่าวว่า หากทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้หลักเกณฑ์ระยะห่าง 50 กิโลเมตร มาพิจารณาการย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ขนาดกำลังผลิต 2.5 หมื่นตันต่อวัน  เท่ากับว่าไม่ได้ดูเจตนาของคำสั่งศาลที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสมัยนั้นไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.เหมือนกับโรงงานน้ำตาล 11 โรง ที่ผ่านการอนุมัติ ทั้งๆที่เอกสารข้อมูลถูกต้องทุกอย่าง

          "การฟ้องร้องกว่า 7 ปี ถือเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับบริษัท ที่ดูเหมือนถูกกลั่นแกล้ง หากรัฐบาลชุดนี้ต้องการพิสูจน์การดำเนินงานที่สุจริต ก็ต้องพิจารณาจุดนี้เป็นสำคัญ เพราะหากนำหลักเกณฑ์ระยะห่างมาพิจารณา เท่ากับว่าการฟ้องร้องที่ผ่านมาและคำสั่งศาลที่ออกมา ถือเป็นความว่างเปล่าที่ไม่ได้ผลตอบรับอะไรเลย อีกทั้ง การย้ายโรงงานมาตั้งใหม่ ก็ไม่ได้เกิดผลเสียหายกับฝ่ายใด ในทางกลับกันเป็นการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ที่เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยจำนวนกว่า 3.7 พันราย และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบรรทุกอ้อยและขนส่งอ้อยไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ คิดเป็นเงินปีละประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังทำให้ชาวไร่อ้อยปลอดภัยในการเดินทาง ถนนหนทางก็จะไม่ต้องชำรุดจากการขนส่งอ้อยอีกด้วย ซึ่งทางโรงงานก็ได้ไปลงทุนซื้อที่ดินและเตรียมการทุกอย่างเพื่อย้ายโรงงานตามที่ชาวไร่อ้อยร้องขอ แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เกิดการฟ้องร้องดังกล่าวขึ้นมา" นางดารัตน์กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

อุตฯปล่อยผีโรงงานน้ำตาล! ลุยเผือกร้อนที่รัฐบาลเลือกตั้งไม่กล้าแตะตลอดศก 

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าเร็วๆนี้ ตนจะประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาล ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งได้มีการปรับเกณฑ์ระยะห่างการตั้งหรือขยายโรงงานใหม่ จากเดิมกำหนดให้มีระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร (กม.) เป็นมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิใ 50 กม. ซึ่งจะทำให้เป็นการปลดล็อกการตั้ง และขยายโรงงานน้ำตาลที่ค้างคาในอดีตที่มีเอกชนมายื่นกว่า 50 โรงงาน ที่ต้องค้างการอนุมัติคำขอดังกล่าวได้ 10 โรงงาน

          "ที่ผ่านมามีคำขอตั้งย้ายและขยายโรงงานน้ำตาลใหม่กว่า 50 โรงงาน ขอแต่ถูกดองไม่ได้รับการอนุมัติเพราะติดปัญหาเรื่องระยะห่างโรงงานที่ไม่ได้ออกเป็นประกาศใช้ทำให้ขัดกฎหมายและเกิดการวิ่งเต้นกันเป็นปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างมีการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย และผมจะเซ็นใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานน้ำตาลดังกล่าวในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนก่อสร้างได้ทันที"

          ทั้งนี้ จากการที่ตนลงพื้นที่อีสาน ก็พบว่ามีศักยภาพการปลูกอ้อยที่เหมาะสม โดยยังมีพื้นที่เหลือแลพบว่าโรงงานที่จะได้รับอนุมัติเพิ่ม ก็จะอยู่ในแถบพื้นที่อีสานเป็นส่วนใหญ่ โดยพบว่าเดิมภาคอีสาน จะเน้นปลูกข้าวและมันสำปะหลัง แต่ขณะนี้เริ่มมีการปลูกอ้อยและยางพาราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอ้อยที่ใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าพืชชนิดอื่นๆ และการยื่นขอตั้งย้ายและขยายโรงงานแห่งใหม่ๆ นอกจากระยะห่างของการตั้งโรงงานจะต้องเป็นไปตามกำหนดแล้ว ยังจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตฤดูการผลิตนั้นๆ และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ราว 5-6 แห่ง หากกระทรวงอุตสาหกรรมจะอนุมัติเพิ่มอีก 10 แห่ง แนวโน้มโรงงานน้ำตาลทรายของประเทศไทยก็จะเกิดขึ้นประมาณ 60 แห่ง โดยแต่ละแห่งต้องใช้เงินลงทุนสูงเฉลี่ยแห่งละ 5,000 ล้านบาท

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

รมช.เกษตรฯ สั่ง กฟก.สำรวจฐานข้อมูลเกษตรกรใช้แก้ไขปัญหาหนี้ทั้งประเทศ 

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายอำนวย ปะติเส) เร่งรัดสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ สั่งการสำนักงานสาขาจังหวัดทั่วประเทศสำรวจข้อมูลความมีอยู่จริงขององค์กรสมาชิกภายในสิงหาคมนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบของรัฐบาล

          นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสรุปผลการดำเนินการ 3 ไตรมาส ประจำปีงบประมาณ 2558 และปาฐกถา เรื่อง "ทำอย่างไร จึงจะให้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นความคาดหวังของรัฐบาลและเกษตรกรไทย" ณ ห้องประชุมราชาวดี โรงแรมทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.โดยมีผู้รับฟังประกอบด้วยเลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าส่วนและหัวหน้าสำนักงานสาขา จำนวน 110 คน

          โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้ง 3 ไตรมาส และนโยบายเชิงรุกในการดำเนินงานไตรมาส 4 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรนอกจากนี้ รมช. ให้มีนโยบายเร่งด่วนให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ สำนักกิจการสาขาภูมิภาคสำนักงานสาขาจังหวัดดำเนินการตรวจสอบความมีอยู่จริงขององค์กรเกษตรกร และสมาชิกทั้งหมดของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซึ่งแต่เดิมมีเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนองค์กรจำนวน 52,791 องค์กร 6,624,410 ราย จำนวน เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรจำนวน 508,211 รายมูลหนี้ 82,242,781,554.82 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2557) โดยให้มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อเป็นฐานข้อมูลนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบของรัฐบาลได้อย่างถูกต้องชัดเจนต่อไป

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

รื้อพ.ร.บ.อ้อย/น้ำตาลใหม่ ก.อุตฯเสนอ‘ประยุทธ์’ดึงเอทานอล-ไฟฟ้า เข้าระบบ70/30

กระทรวงอุตสาหกรรม จ่อชง”ประยุทธ์”ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ เสนอปรับแก้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เปิดกว้างให้นำเอทานอล ไฟฟ้าและผลพลอยได้อื่นๆ เข้าสู่ระบบแบ่งปันให้ชาวไร่อ้อย หวังแก้ปัญหาอุ้มเกษตรกร จากราคาน้ำตาลตกต่ำ พร้อมให้ทำใจปีนี้ราคาอ้อยแค่ 700 บาทต่อตัน รัฐบาลไม่มีเงินช่วยเหลือ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเปิดหีบอ้อยในฤดู 2558/2559 ที่จะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อลดปัญหาการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาช่วยเหลือชาวไร่ จากราคาอ้อยละน้ำตาลทรายที่ตกต่ำ

ซึ่งปัจจุบันที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องแบกรับภาระหนี้จากการกู้เงินมาช่วยเหลือแล้วกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทางนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การจะกู้เงินจากธ.ก.ส.จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อมาจ่ายราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดู 2557/2558 ให้กับโรงงานน้ำตาลที่จะสรุปในเดือนตุลาคมนี้

เนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นที่จ่ายไปแล้ว 900 บาทต่อตันสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย หากจะกู้เงินเพิ่ม จะต้องมีแผนการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายที่ชัดเจนนำมาเสนอควบคู่ด้วย ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายดิบโลกที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยปัจจุบันอยู่ในระดับ 10.5-11 เซนต์ต่อปอนด์ และเมื่อนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดู 2558/2559 ที่จะมาถึงนี้ จะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ในระดับประมาณ 700 บาทต่อตัน หากจะให้เกษตรกรได้รับรายได้เท่ากับฤดูกาลที่ผ่านมา จะต้องใช้เงินช่วยอีกราว 360 บาทต่อตัน หรือคิดเป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทางรัฐบาลคงไม่สามารถช่วยได้ และธ.ก.ส. ก็คงจะพิจารณาสถานะของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมากขึ้นว่า จะมีศักยภาพพอที่จะหาเงินมาจ่ายหนี้ได้หรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ดังนั้นแนวทางในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น มีความเป็นไปได้ว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ขึ้นมาใหม่ เพื่อเปิดกว้างให้นำรายได้ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจากการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า หรือผลพลอยได้อื่นๆ สามารถนำมาเข้าระบบ 70/30 แบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานนํ้าตาล รวมถึงอาจจะมีการเสนอให้มีการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีที่จะมีขึ้นในปีหน้าด้วย

นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่าขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแล้ว แต่ยังไม่ทราบแนวทางว่าจะออกมาอย่างไร เพราะยังมีข้อถกเถียงกันอีกมาก แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนการเปิดหีบอ้อยในฤดูที่จะมาถึง โดยยอมรับว่าราคาอ้อยปีนี้คงจะไม่สูงเท่ากับปีผ่านมา ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องทำใจและยอมรับสภาพที่จะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลคงไม่สามารถช่วยได้ในระดับ 300 บาทต่อตันอ้อย เพราะราคาน้ำตาลทรายโลกมีแต่แนวโน้มอ่อนตัวลงเรื่อยๆ

ประกอบกับปริมาณอ้อยในปีนี้มีผลผลิตมากขึ้นกว่าปีก่อนโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ได้ประมาณการปริมาณอ้อยขั้นต้นที่จำนวน 111.05 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ราว 11-12 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากฤดูก่อนมีอ้อยเข้าหีบ 105.96 ล้านตัน และแม้ว่าบางพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ก็มีการประเมินจะมีอ้อยเข้าหีบที่ประมาณ 106.36 ล้านตัน

ดังนั้น ด้วยจำนวนเงินช่วยเหลือที่มากขึ้น และปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นการยากที่จะให้รัฐบาลกู้เงินมาช่วยเหลือเกษตรกรให้ครอบคลุมเหมือนกับปีที่ผ่านมาได้ ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำตาลทราย ล่าสุดโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลว่า มีแนวโน้มอ่อนตัวลงอีก เพราะเวลานี้ทางโรงงาน เริ่มที่จะหาคลังสินค้า เพิ่มเติมจากที่มีอยู่กว่า 20 แห่ง เพื่อเก็บสต๊อกน้ำตาลทรายในฤดูหีบที่จะมาถึง เนื่องจากเกรงว่าน้ำตาลทรายที่สต๊อกอยู่ราว 40 ล้านกระสอบ(กระสอบละ 100 กิโลกรัม) ยังไม่สามารถระบายส่งออกได้ทั้งหมด เนื่องจากลูกค้ายังไม่มารับสินค้า เพื่อรอดูแนวโน้มของราคาว่าจะเป็นอย่างไร หากไม่เร่งหาคลังสินค้าเพิ่มก็จะกระทบต่อการจัดเก็บน้ำตาลในฤดูหีบอ้อยที่จะมาถึงนี้ได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ก.อุตฯ ออกประกาศการขยายโรงน้ำตาลตามคำสั่งศาลปกครอง

กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 หลังรับทราบคำสั่ง “ศาลปกครองกลาง” พิพากษาให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งการกรณีบริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ขอย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปสุโขทัย และการขอขยายกำลังการผลิตจาก 18,000 เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน

               วันนี้ (18 ส.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ว่า

               “โดยที่เป็นการสมควรให้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้มีจํานวนโรงงานน้ำตาลที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมและรองรับปริมาณการปลูกอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบส่งเข้าสู่การผลิตของโรงงานน้ำตาลและสามารถบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ ทําให้เกิดผลดีกับชาวไร่อ้อยและระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ

               ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓๒ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

               ข้อ ๑ ในประกาศนี้

               “โรงงานน้ำตาล” หมายความว่า โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาลซึ่งทํามาจากอ้อยตามประเภทหรือชนิดของโรงงานในลําดับที่ ๑๑ (๓) และ (๔) ตามที่ระบุในบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕

               “ตั้งโรงงานน้ำตาล” หมายความว่า ตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นใหม่ และให้หมายความรวมถึงย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งยังที่อื่นด้วย

               ข้อ ๒ การตั้งโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ให้กระทําได้เมื่อโรงงานน้ำตาลที่จะตั้งนั้น

            (๑) มีเขตโรงงานน้ำตาลที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่าห้าสิบกิโลเมตร โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ในจังหวัดเดียวกันหรือไม่ก็ตาม และ

               (๒) มีแผนการเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของกําลังการผลิตของฤดูการผลิตนั้น ๆ โดยกําหนดจํานวนวันหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเฉลี่ยหนึ่งร้อยยี่สิบวันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลอื่น โดยแผนการเตรียมปริมาณอ้อยดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแต่ละฤดูการผลิตหรือการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อดําเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทําการเกษตร

               ข้อ ๓ การขยายโรงงานน้ำตาลตามมาตรา ๑๘ วรรคสาม (๑) ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรให้กระทําได้เมื่อโรงงานน้ำตาลที่จะขยายนั้นมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริม และพัฒนาอ้อยของโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสามปี อีกทั้งโรงงานน้ำตาลนั้นไม่อาจหีบอ้อยได้ทันตามเวลาที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายกําหนด อันเนื่องจากกําลังการผลิตเดิมของโรงงานน้ำตาล และต้องมีแผนการเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในส่วนที่จะขออนุญาตขยายโรงงานน้ำตาลด้วยและต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลอื่น แผนการเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแต่ละฤดูการผลิต หรือการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อดําเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทําการเกษตร

               ข้อ ๔ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของผู้อนุญาตให้เป็นไปตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ผู้ที่จะขอตั้งโรงงานน้ำตาลหรือขยายโรงงานน้ำตาล ต้องมีหลักฐานการรับรองว่าอยู่ในเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๒หรือข้อ ๓ แล้วแต่กรณี จากสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

               ผู้ขออนุญาตต้องดําเนินการขออนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลให้แล้วเสร็จและเริ่มประกอบกิจการภายในห้าปีนับจากวันที่ได้รับการรับรองตามวรรคหนึ่ง หากดําเนินการไม่แล้วเสร็จให้ถือว่าการรับรองสิ้นสุดลง      

        ข้อ ๕ ให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้ตั้ง หรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลตามมติคณะรัฐมนตรีและได้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ดําเนินการแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และมิให้นําหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในประกาศนี้มาใช้บังคับ

               ข้อ ๖ ให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้ตั้ง หรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ยังมิได้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และอยู่ในเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในข้อ ๒ และข้อ ๓ ต้องดําเนินการยื่นคําขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ และแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๑

               ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

               จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช

       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม”

               มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 589/2554 หมายเลขแดงที่ 1919/2558 ที่บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องคดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด (บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด เดิม) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ตามลำดับ เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

               คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานประเภทที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาลที่ทำจากอ้อย การทำน้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว ในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี 2517 โดยได้รับอนุญาตหีบอ้อย 18,000 ตันต่อวัน เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรผลูกอ้อยในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยจำนวนกว่า 3,700 ราย

               โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ของผู้ฟ้องคดี เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

               สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 นั้น มาตรา 6 วรรค 1 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี 2548 กำหนดให้การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 เป็นอำนาจหน้าที่ข่องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด

               อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีนี้ ครม.ได้มีมติเเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2558 ให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 30 ตุลาคม 2532 (เรื่องการย้ายสถานที่ตั้งและการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายใหม่) และให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 22 ก.ค. 2546 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาราคาอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ) ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว ข้อ 1.2(5) ของหนังสือกระทรวงอุตสาหกรรม ด่วนที่สุด อก 0626/2740 ลงวันที่ 3 ก.ค. 2546 แล้ว

               ทำให้ขั้นตอนการเสนอขอย้ายโรงงานน้ำตาลหรือขยายกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติไม่มีอีกต่อไป ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำบังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็น “ผู้อนุญาต” ตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 มีอำนาจพิจารณาว่าจะอออกใบอนุญาตย้ายหรือขยายกำลังการผลิตให้แก่โรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ โดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนอีกต่อไป

               ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงต้องรีบพิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายหรือขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ ใน พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการขออนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 พ.ศ. 2549 และประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ผู้ฟ้องคดีต่อไป

               พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ของผู้ฟ้องคดีจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปจังหวัดสุโขทัย และการขอขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าวจากอัตราวันละ 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็วต่อไป ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก  

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

จับตากดค่าเงินหยวนยาวชี้บาทอ่อนตามไม่ได้อานิสงส์ 

           สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เงินหยวนมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปีและยังเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินและเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ

          ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงตามทิศทางของเงินหยวน แต่ก็มีข้อจำกัดต่อการส่งออกอยู่เช่นกัน เพราะสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งก็อ่อนค่าตามไปด้วย โดย สศช.ระบุว่า แม้ค่าเงินบาทในเดือน ก.ค.ปีนี้ จะอ่อนลงมาถึง ในเดือน ก.ค.ปีนี้ จะอ่อนลงมาถึง 4.3% เมื่อเทียบกับต้นปี 2557 แต่ก็เป็นการอ่อนค่าพร้อมๆ กับสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยในช่วงเดียวกันค่าเงินยูโร เงินเยน และเหรียญออสเตรเลีย อ่อนค่าลง 23.8% 18.8% และ 19.6% ตามลำดับ ในขณะที่ค่าเงินริงกิต มาเลเซียและรูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 15.1% และ 9.8%

          การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในประเทศสำคัญๆ ดังกล่าว ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีข้อจำกัดในการสนับสนุนการ ฟื้นตัวของปริมาณการส่งออก ส่วนข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดเจน คือมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะทำให้รายรับและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของ ผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้นเท่านั้น

          อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การประกาศลดค่าเงินหยวนของจีนว่ายังไม่น่าจะกระทบกับค่าเงินและการส่งออกของไทยมาก โดยค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง 2-3% ยังตามหลังไทยอยู่ที่อ่อนค่าลง 7%

          "การลดค่าเงินหยวนของจีนเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ตามปกติจีนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยการก่อสร้าง การลงทุน แต่ส่วนดังกล่าวเป็นผลระยะยาว แต่หากการส่งออกชะลอตัวลง ขยายตัวอัตราต่ำลงไปเรื่อยๆ จะมีปัญหาแน่นอน เพราะเม็ดเงินจากการส่งออกจะจ่ายให้กับประชาชนและแรงงานได้ทันที ส่วนนี้จึงต้องลดค่าเงินหยวนลง ทั้งนี้ จีนคงไม่ต้องการให้เงินหยวนอ่อนค่าไปมากกว่านี้ เนื่องจากต้องการสร้างเสถียรภาพการเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ" อาคม กล่าว

          ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลจากการลดค่าเงินหยวนของจีนกระทบทั่วโลก แต่คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะไม่มาก เพราะค่าเงินอ่อนลงมาเหมือนกัน ดังนั้นต้องพยายามที่จะสร้างสมดุลระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสินค้าไทยทีมีคุณภาพจะยังส่งออกได้เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก

          ขณะที่ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลคือ เกรงว่าค่าเงินหยวนจะไหลจะไปถึง 10% ซึ่งจะวุ่นวายไปทั้งโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอกชนทำก็คือพยายามทำระบบกาลักน้ำเพราะในส่วน ของเงินยูโรและเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเพราะเศรษฐกิจดีขึ้น ช่วยทำให้เอกชนสามารถกระจายความเสี่ยงได้

          "สินค้าเกษตรกระทบมาก ข้าวหาย ยางหาย แต่ที่กระทบมากกว่าคือสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่อง นุ่งห่ม ซึ่งเอกชนคงไม่เสนอหรือเรียกร้องอะไร เพราะก่อนหน้าช่วงต้นปีขอให้รัฐทำให้ค่าเงินอ่อนเพื่อช่วยเรื่องการส่งออก ก็ไม่ทำน่าเสียดายมากในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม ยางพาราผลกระทบคงลดลงเพราะรัฐบาลเริ่มเดินมาถูกทางที่จะแปรรูปในประเทศเพิ่ม" นายพจน์ กล่าว

          ด้าน ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ไม่กังวลหากธนาคารกลางบางประเทศออกมาปกป้องเศรษฐกิจของตัวเอง ด้วยการใช้นโยบายค่าเงินหรือลดค่าเงินให้อ่อนค่าลงนั้น เพราะมีมาตรการรับมือแล้ว

          "ในการรับมือกับภาวะเช่นนี้ เราก็มีเครื่องไม้เครื่องมือ ด่านแรก คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นเป็นตัวช่วย ด่านที่สอง เรามีนโยบายมหภาคของตลาดเงินมาช่วย มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นระยะๆ ก็ช่วย ด่านที่สาม เครื่องมือที่มีในปัจจุบันมีมากกว่าในอดีต อีกทั้งยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงพอควร และมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สามารถปรับใช้ได้ ดังนั้น เราจึงมีชุดเครื่องมือที่ผสมผสานใช้ได้ในเวลาฉุกเฉิน" ประสาร กล่าว

          ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากได้ติดตามการเคลื่อนไหวค่าเงินหยวนมาตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. และได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน สรุปว่าเป็นกลไกการทำงานปกติ ไม่ได้เป็นความตั้งใจจะใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ และไม่ได้กระทบกับความสามารถในการส่งออกของไทย เท่าที่ติดตามดูขณะนี้ อัตราแลกเปลี่ยนแต่ละสกุลก็ค่อนข้างนิ่งและตอนนี้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอะไร โดยได้คุยกับทาง ธปท.แล้ว ว่าจะใช้กลไกตลาดปกติ แต่ก็ยังคงต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิดต่อไป

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

จ่อประกาศตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่เพิ่ม 10 โรง 

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้จะลงนามในคำสั่งประกาศเกณฑ์ตั้งขยายโรงงานน้ำตาลทรายที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ใหม่ มีระยะห่างระหว่างโรงงานไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งมีอยู่กว่า 50 คำขอที่รอการอนุมัติ โดยคาดว่าจะอนุมัติตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้ 10 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ โดยคาดว่าจะมีกำลังผลิตรวม 2 หมื่นตัน/ปี จากปัจจุบันปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลิตได้อยู่ที่ 10 ล้านตัน จากจำนวนไร่อ้อย 10 ล้านไร่

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

เงินสะพัด5หมื่นล้านบาท อนุมัติสร้างโรงงานน้ำตาลใหม่10แห่ง 

          “จักรมณฑ์” ปล่อยผีใบอนุญาตโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ 10 แห่ง จากที่คำขอถูกแช่แข็ง ให้วิ่งเต้นมานานรวม 50 แห่ง หลังจากที่แก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง คาดเม็ดเงินลงทุนสะพัด 5 หมื่นล้านบาท เตือนโรงงานแห่งใหม่ ต้องหาอ้อยเข้าหีบด้วยตัวเอง ห้ามไปแย่งอ้อยโรงงานที่มีอยู่เดิม

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนจะลงนาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลทราย ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร หลังจากที่ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ระยะห่าง การตั้งหรือขยายโรงงานใหม่ จากเดิมกำหนดให้มีระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร (กม.)กับโรงงานที่ตั้งกิจการอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็นมีระยะห่างกัน 50 กม. ซึ่งจะทำให้เป็นการปลดล็อกการตั้ง และขยายโรงงานน้ำตาล ที่ค้างคาในอดีต ที่มีเอกชนมายื่นขอตั้งโรงงานแห่งใหม่ประมาณ 50 โรงงาน ที่ต้องค้างการอนุมัติ โดยเท่าที่ประเมินข้อมูล ในเร็วๆนี้ ตนจะลงนามอนุมัติคำขอดังกล่าวได้ 10 โรงงาน

          “ที่ผ่านมามีคำขอตั้ง ย้ายและขยายโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ๆ ค้างการพิจารณา 50 โรงงาน แต่ถูกดองเรื่องไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะติดปัญหาเรื่องระยะห่างโรงงานดังกล่าว ที่ยังไม่ได้ออกเป็นประกาศให้ดำเนินการได้เพื่อ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเกิดการวิ่งเต้นกัน เป็นปัญหาต่อเนื่องมานาน ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างมีการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และผม จะเซ็นใบอนุญาตให้โรงงานในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ภาคเอกชนลงทุนก่อสร้างต่อไป”

          นายจักรมณฑ์กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้ลงไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ในภาคอีสาน ก็พบว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกอ้อยที่เหมาะสม และยังมีพื้นที่เหลือและพบว่าโรงงานน้ำตาลที่จะได้รับอนุมัติในเร็วๆนี้ ก็จะตั้งกิจการอยู่ในแถบพื้นที่อีสานเป็นส่วนใหญ่ และจากเดิมภาคอีสาน จะเน้นปลูกข้าวและมันสำปะหลัง แต่ขณะนี้เริ่มมีการปลูกอ้อยและยางพาราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอ้อย ที่ใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าพืชชนิดอื่นๆ จึงมีความเหมาะสม และการยื่นขอตั้ง ย้ายและขยายโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ๆ นอกจากระยะห่างของการตั้งโรงงาน ยังจะต้องเป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนดแล้ว โรงงานแห่งใหม่ จะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อย จากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตฤดูการผลิตนั้นๆ และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกร ที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม รวมทั้งต้องมีการส่งเสริมปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง 3 ปี เป็นต้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายที่เปิดหีบอ้อยจริงมี 51 แห่ง โดยอีก 1 แห่งยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนที่มีการอนุมัติให้ก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ มีทั้งสิ้น 11 แห่ง อาทิ ในจังหวัดลพบุรี ชัยภูมิ และขณะนี้กำลังมีการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดหีบอ้อยได้ในฤดูการผลิตปี 2558/59 ส่วนที่เหลือมีความชัดเจนที่จะก่อสร้าง 1-2 แห่ง ทำให้ ภาพรวมคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ราว 5-6 แห่ง หากกระทรวงอุตสาหกรรมจะอนุมัติเพิ่มอีก 10 แห่ง แนวโน้มโรงงานน้ำตาลทรายของประเทศ ไทยก็จะเกิดขึ้นรวมประมาณ 60 แห่ง

          สำหรับการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่ๆ ต้องใช้เงินลงทุนสูงเฉลี่ยแห่งละ 5,000 ล้านบาท ต่อแห่ง หากมีการลงทุนทั้ง 10 แห่ง ก็จะเกิดเงินลงทุนรวม 50,000 ล้านบาท และผู้ได้รับอนุญาตจะต้องก่อสร้างและเปิดกิจการภายใน 5 ปี หลังได้รับใบอนุญาต และคาดว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ราคาอ้อยอาจเข้าสู่ภาวะตกต่ำต่อเนื่อง การลงทุนโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ๆ อาจเกิดขึ้นได้ลำบาก และหากโรงงานน้ำตาลในประเทศไทยเกิดขึ้นหมดคือ 70 แห่ง ก็จะมีปริมาณเฉลี่ยการใช้อ้อยเข้าหีบแห่งละ 1.5ล้านตันต่อโรงต่อปี ทำให้ต้องใช้อ้อยสูงถึง 150 ล้านตันต่อปี ขณะที่ผลผลิตอ้อยของประเทศไทยใน ปัจจุบันเฉลี่ย 90-100 ล้านตันต่อปี ทำให้จะต้องเร่งส่งเสริมปลูกอ้อยอีกจำนวนมาก และพื้นที่ปลูกจริงๆ ของไทยในขณะนี้ก็มีเพียงในภาคอีสานเท่านั้น.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ก.อุตฯปลดล็อกตั้งรง.น้ำตาลจ่อปล่อยผี10 

"จักรมณฑ์" เตรียมเซ็นประกาศเกณฑ์ตั้ง ย้าย ขยายโรงงานน้ำตาลทรายเร็วๆ นี้ปลดล็อกครั้งใหญ่หลังกว่า 50 คำขอถูกแช่แข็งไม่มีการอนุมัติ ส่งสัญญาณเป็นไม่ได้ให้ทั้งหมดคาดเคาะให้ได้ไม่เกิน 10 แห่งเงินลงทุน 4-5 หมื่นล้านบาท คาดพื้นที่ปลูกอ้อยมีเหลือมากแถบภาค อีสานส่งผลให้โรงงานน้ำตาลทรายไทยจะมีมากถึง 70 แห่งหากเกิดตามแผน

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ตนจะประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรซึ่งได้มีการ ปรับเกณฑ์ระยะห่างการตั้งหรือขยายโรงงานใหม่จากเดิมกำหนดให้มีระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรเป็นต้องมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตรซึ่งจะทำให้เป็นการปลดล็อกการตั้ง และขยายโรงงานน้ำตาล ที่ค้างคาในอดีตที่มีเอกชนมายื่นกว่า 50 คำขอที่ต้องค้างการอนุมัติโดยเบื้องต้นเท่าที่ประเมินคาดว่าจะสามารถอนุมัติคำขอดังกล่าวได้ประมาณ 10 ราย

          ทั้งนี้ จากการที่ตนลงพื้นที่อีสานก็พบว่ามีศักยภาพการปลูกอ้อยพอสมควรโดยยังมีพื้นที่เหลือและพบว่าโรงงานที่จะได้รับอนุมัติเพิ่มก็จะอยู่ในแถบพื้นที่อีสานเป็นส่วนใหญ่ โดยพบว่าเดิมภาคอีสานจะเน้นปลูกข้าวและมันสำปะหลังแต่ขณะนี้เริ่มมีการปลูกอ้อยและยางพาราเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอ้อยที่ใช้น้ำน้อย

          อย่างไรก็ตามการยื่นขอตั้ง ย้าย และขยายโรงงานใหม่นั้นนอกจากระยะห่างต้องเป็นไปตามกำหนดแล้ว โรงงานแห่งใหม่จะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตฤดูการผลิตนั้นๆ และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีการส่งเสริมปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง 3 ปี เป็นต้น

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายที่เปิดหีบอ้อยจริงมี 51 แห่งโดยอีก 1 แห่งยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างเพราะย้ายไปที่อื่น ส่วนที่มีการอนุมัติไปใหม่ในช่วงการเมืองที่ผ่านมามี ทั้งสิ้น 11 แห่ง โดยขณะนี้มีการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดหีบอ้อยได้ในฤดูการผลิตปี 58/59 อีก 2 แห่งที่จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดลพบุรี ส่วนที่เหลือมีความชัดเจนที่จะก่อสร้าง 1-2 แห่ง ภาพรวมคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ราว 5-6 แห่ง หากรัฐอนุมัติเพิ่มอีก 10 แห่งแนวโน้มโรงงานน้ำตาลทรายของไทยก็จะเกิดขึ้นกว่า 60 แห่ง

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมาเกณฑ์ในการอนุญาตตั้งย้ายขยายโรงงานน้ำตาลของเดิมนั้นเป็นเพียงนโยบายที่มีการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) แล้วเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติไม่ได้ถือเป็นกฎหมายเมื่อเอกชนไปฟ้องร้องเรื่องการไม่อนุมัติให้ย้าย และขยายก็จะแพ้คดีมาอย่างต่อเนื่องเพราะที่ผ่านมามีการอนุมัติให้บางรายไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยเฉพาะระยะห่าง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

อุตฯรื้อเกณฑ์ตั้งรง.น้ำตาลใหม่ ‘ปลดล็อก’ให้10ราย ลงทุน5หมื่นล้านบ.

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ จะลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งได้มีการปรับเกณฑ์ระยะห่างการตั้งหรือขยายโรงงานใหม่จากเดิมกำหนดให้มีระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร เป็นต้องมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตรซึ่งจะทำให้เป็นการปลดล็อกการตั้ง และขยายโรงงานน้ำตาลที่ค้างคาในอดีตที่มีเอกชนมายื่นกว่า 50 คำขอที่ต้องค้างการอนุมัติโดยเบื้องต้นเท่าที่ประเมินคาดว่าจะสามารถอนุมัติคำขอดังกล่าวได้ประมาณ 10 ราย

“ที่ผ่านมามีคำขอตั้ง ย้ายและขยายโรงงานน้ำตาลใหม่กว่า 50 คำขอแต่ถูกดองไม่ได้รับการอนุมัติเพราะติดปัญหาเรื่องระยะห่างโรงงานที่ไม่ได้ออกเป็นประกาศใช้ทำให้ขัดกฎหมายและเกิดการวิ่งเต้นกันเป็นปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างก็จบแล้วผมจะเซ็นประกาศเร็วๆ นี้เลย แต่เมื่อขีดวงแล้วบอกเลยว่าไม่เกิน 10 ราย”

นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่อีสานก็พบว่ามีศักยภาพการปลูกอ้อยพอสมควรโดยยังมีพื้นที่เหลือและพบว่าโรงงานที่จะได้รับอนุมัติเพิ่มก็จะอยู่ในแถบพื้นที่อีสานเป็นส่วนใหญ่ โดยพบว่าเดิมภาคอีสานจะเน้นปลูกข้าวและมันสำปะหลังแต่ขณะนี้เริ่มมีการปลูกอ้อยและยางพาราเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอ้อยที่ใช้น้ำน้อย

อย่างไรก็ตามการยื่นขอตั้ง ย้ายและขยายโรงงานใหม่นั้นนอกจากระยะห่างต้องเป็นไปตามกำหนดแล้ว โรงงานแห่งใหม่จะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตฤดูการผลิตนั้นๆ และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิมและต้องมีการส่งเสริมปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง 3 ปี เป็นต้น

แหล่งข่าวจาก กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การตั้งโรงงานนั้นต้องใช้เงินลงทุนสูงเฉลี่ย 4,000-5,000 ล้านบาทต่อแห่ง หากตั้ง 10 แห่ง จะมีวงเงินลงทุนประมาณ5 หมื่นล้าน และรัฐกำหนดให้ต้องเกิดขึ้นภายใน 5 ปี เท่าที่ดูของเดิมที่ขอไป 11 แห่งคงเกิดไม่ได้หมดยิ่งราคาอ้อยตกต่ำในขณะนี้ยิ่งแล้ว แต่ของใหม่ที่จะอนุมัติก็ยอมรับว่าเป็นการยื่นขอกันรายอื่นเอาไว้ถึงเวลาจริงจะเกิดหรือไม่ก็ต้องดูอีกที

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดิน (7)

กลุ่มผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ใช้ผลิตสารบำบัดน้ำเสีย ขจัดกลิ่นเหม็น และกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ เป็นอีกกลุ่มผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปปรับใช้ เพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหารในสภาพที่มีอากาศและมีอากาศน้อย สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อผลิตสารบำบัดน้ำเสีย ขจัดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำทำความสะอาดคอกสัตว์ และกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ยีสต์ Saccharomyces ceareviceae แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก Lactobcillus fermentum แบคทีเรียย่อยสลายโปรตีน Bacillus cereus แบคทีเรียย่อยสลายไขมัน Bacillus subtilis และแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ : Bacillus sphaericus

วิธีการผลิตสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6

วิธีที่ 1 ผลิตจากการหมักขยะสด คือ ผสมกากน้ำตาล 10-20 กิโลกรัม ในน้ำ ลงในถังหมัก นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 จำนวน1 ซอง ผสมในสารละลายกากน้ำตาลคนให้เข้ากันนาน 5 นาที จากนั้นนำเศษอาหาร 40 กิโลกรัม เทลงไปในถังหมักแล้วคนส่วนผสมให้เข้ากัน ปิดฝาถังหมักเก็บไว้ในที่ร่ม ในระหว่างการหมักคน 2-3 วัน/ครั้ง ใช้ระยะเวลาหมักประมาณ 20-30 วัน จึงกรองน้ำไปใช้ได้

วิธีที่ 2 การผลิตโดยการขยายเชื้อสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ด้วยการผสมน้ำ 50 ลิตร กับกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม ในถังหมัก คนให้เข้ากัน นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 จำนวน 1 ซอง ผสมในสารละลายกากน้ำตาล คนให้เข้ากันนาน 5 นาที ปิดฝาหมักไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 4 วัน ควรนำไปใช้ทันที ไม่ควรเก็บไว้

อัตราและวิธีการใช้สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น

1.บำบัดน้ำเสียและใช้ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ใช้สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น 1 ลิตรต่อน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตร ทุกๆ 10 วัน

2.ทำความสะอาดคอกสัตว์โดยเจือจาง สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นในน้ำอัตรา 1:10 ฉีดพ่นหรือราดให้ทั่วบริเวณคอกสัตว์ทุกวัน หรือทุกๆ 3 วัน

อัตราและวิธีการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 กำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 จำนวน 1 ซอง (แบบผงแห้ง 25 กรัม) ในพื้นที่ 100 ตารางเมตร โรยกระจายให้ทั่วบริเวณที่พบลูกน้ำยุงรำคาญ เพื่อให้ลูกน้ำมีโอกาสกินจุลินทรีย์ได้มากที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

“จักรมณฑ์” ลั่นพร้อมปลดล็อกตั้ง ย้าย ขยาย โรงงานน้ำตาลเร็วๆ นี้

 “จักรมณฑ์” เตรียมเซ็นประกาศเกณฑ์ตั้ง ย้าย ขยายโรงงานน้ำตาลทรายเร็วๆ นี้ ปลดล็อกครั้งใหญ่หลังกว่า 50 คำขอถูกแช่แข็งไม่มีการอนุมัติ ส่งสัญญาณเป็นไปไม่ได้ให้ทั้งหมด คาดเคาะให้ได้ไม่เกิน 10 แห่ง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลทรายไทยจะมีมากกว่า 70 แห่งหากเกิดตามแผนจริง        

        นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ตนจะประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งได้มีการปรับเกณฑ์ระยะห่างการตั้งหรือขยายโรงงานใหม่จากเดิมกำหนดให้มีระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรเป็นต้องมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้เป็นการปลดล็อกการตั้งและขยายโรงงานน้ำตาลที่ค้างคาในอดีตที่มีเอกชนมายื่นกว่า 50 คำขอที่ต้องค้างการอนุมัติ โดยเบื้องต้นเท่าที่ประเมินคาดว่าจะสามารถอนุมัติคำขอดังกล่าวได้ประมาณ 10 ราย

               “ที่ผ่านมามีคำขอตั้ง ย้าย และขยายโรงงานน้ำตาลใหม่กว่า 50 คำขอแต่ถูกดองไม่ได้รับการอนุมัติเพราะติดปัญหาเรื่องระยะห่างโรงงานที่ไม่ได้ออกเป็นประกาศใช้ทำให้ขัดกฏหมายและเกิดการวิ่งเต้นกันเป็นปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างก็จบแล้วผมจะเซ็นประกาศเร็วๆ นี้เลย แต่เมื่อขีดวงแล้วบอกเลยว่าไม่เกิน 10 ราย 50 กว่ารายนั้นเป็นไปไม่ได้” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

               รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายที่เปิดหีบอ้อยจริงมี 51 แห่ง โดยอีก 1 แห่งยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างเพราะย้ายไปที่อื่น ส่วนที่มีการอนุมัติไปใหม่ในช่วงการเมืองที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 11 แห่ง หากรัฐอนุมัติเพิ่มอีก 10 แห่งแนวโน้มโรงงานน้ำตาลทรายของไทยก็จะเกิดขึ้นถึงกว่า 70 แห่งหากเกิดขึ้นได้ตามแผน แต่ทั้งนี้ระเบียบการตั้งโรงงานกำหนดให้ต้องดำเนินการจริงภายใน 5 ปีนับตั้งแต่ได้รับอนุมัติ 

จาก http://manager.co.th วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

จับตาแนวโน้ม-ผลกระทบจีน'ลดค่าหยวน'

              การอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินหยวน เป็นประเด็นที่ต้องจับตาในฐานะที่จีนถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 11% แบ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ 50% และสินค้าขั้นกลางอีกกว่า 10% โดยในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 กระทรวงพาณิชย์จะเชิญตัวแทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาหารือ เพื่อประเมินถึงผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังต้องจับตาดูผลกระทบในภาคการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เนื่องจากพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจากจีนจำนวนมาก คาดว่าในปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 7.24 ล้านคน เติบโตประมาณ 56.1%

               ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากเงินหยวนไม่ดิ่งค่าลงอีกอย่างต่อเนื่องก็คงจะกระทบต่อภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในช่วงที่เหลือของปี 2558 ในกรอบที่จำกัด ซึ่งคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนตลอดปี 2558 จะหดตัวอยู่ในช่วงติดลบ 5.5-3.2% ภายใต้สมมุติฐานว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้ยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ที่ 6.9% และอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนกลับมาเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวนและความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนน่าจะส่งผลกดดันให้การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ล่าช้าออกไป อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องจับตาถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีน รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนในระยะข้างหน้า เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ของทางการจีนจะไม่ส่งผลกระทบทางบวกได้มากเท่าที่คาด ซึ่งจะทำให้โมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจจีนกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องกังวลอีกครั้งหนึ่ง

              ขณะที่ทิศทางของตลาดนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เหลือของปี 2558 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า น่าจะยังเติบโตได้ โดยสังเกตได้ว่า แม้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าชะลอลง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา

              “ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องอาจจะต้องติดตามสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีนอย่างใกล้ชิด แม้ขณะนี้ยังประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนในระดับไม่เกิน 4% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนมากนัก แต่ยังต้องจับตาว่า ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้ายังคงออกมาในทิศทางที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดหมายก็อาจส่งผลกดดันต่อค่าเงินหยวนของจีนให้อ่อนค่าลงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจกระทบต่ออำนาจซื้อของตลาดนักท่องเที่ยวจีนบางกลุ่ม ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องมาสู่การเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนมายังประเทศไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

              ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การส่งออกอ่อนแอ และภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งการอ่อนค่าของเงินหยวนจะไม่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทยมากนัก เนื่องจากไทยยังมีสถานะทางการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลได้ราว 6% ของจีดีพี ในปีนี้ และยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงที่ 40% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อเงินทุนไหลออกมากที่สุดคือมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

              ส่วนผลกระทบทางด้านการส่งออกนั้น ราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินหยวนจะเพิ่มสูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินหยวน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าของจีนอาจลดลง อย่างไรก็ตารม ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันของไทยอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกัน ขณะที่การท่องเที่ยวของไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา พบว่าค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงไม่ได้เป็นการกำหนดพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ปัจจัยสำคัญคือ การเติบโตของเศรษฐกิจจีน

              ทั้งนี้สาเหตุที่จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะสั้น มีสาเหตุ 2 ประการ คือ 1.ค่าเงินหยวนจะเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียมีทิศทางอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก ขณะที่ค่าเงินหยวนค่อนข้างคงที่ นอกจากนี้จีนได้เผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกนับตั้งแต่กลางปี 2014 เห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่ลดลงจากราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ระดับ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมิถุนายน หรือลดลงราว 9% และ 2.การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ภายในปีนี้ส่งผลให้เงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลออกอย่างต่อเนื่อง

              ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า ภาคการส่งออกของไทยน่าจะได้รับผลดีจากการลดค่าเงินหยวนของจีนมากกว่าผลเสีย เพราะจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของจีนให้ดีขึ้นและทำให้จีนนำเข้าสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากไทยไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกมากขึ้นตามไปด้วย จึงไม่ต้องการให้วิตกกังวลมากเกินไป ซึ่งกระทรวงยังไม่จำเป็นต้องปรับแผนผลักดันการส่งออกใหม่และจะไม่ปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ติดลบ 3%

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

“ผู้ว่าแบงก์ชาติ”ยันศก.ไทยยังไม่วิกฤติ-พร้อมดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เปิดเผยกรณีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศในปี 2558 เหลือ 2.7-3.2% ว่าเ ป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประมาณการไว้ โดยธปท.จะมีการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ลดลงเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีอัตราที่ชะลอตัวลงจากปัญหาโครงสร้างการส่งออก

นายประสารกล่าวว่า สำหรับการส่งออกที่ชะลอตัวนั้น เป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญ แต่ประเทศไทยยังมีเสถียรภาพการเงินที่แข็งแกร่ง ทั้งด้านทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด และสถาบันการเงินยังมีความมั่นคง สำหรับทิศทางเงินเฟ้อที่ติดลบนั้นจะอ่อนลงเรื่อยๆ ซึ่งพอเข้าสู่ในปี 2559 เงินเฟ้อจะกลายเป็นบวกเมื่อเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำกว่าในปีก่อน โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจยังยืนได้แม้อาจจะไม่สดใส ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอะไรบ่งบอกว่าจะมีวิกฤตการณ์

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถทำให้มาตรการต่างๆ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเห็นผล จะช่วยวางรากฐานในอนาคต และบรรเทาความเดือดร้อนที่ตรงจุด โดยเฉพาะเกษตรกรและเอสเอ็มอี จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ส่วนกรณีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)นั้น ยืนยันว่ายังไม่มีการมาทาบทามตนเพื่อเข้าร่วมในครม.ชุดใหม่แต่อย่างใด

นายประสาร กล่าวว่า กรณีที่จีนปรับลดค่าเงินหยวนลง แสดงให้เห็นว่าทางการจีนต้องการให้เงินหยวนมีการเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยการกำหนดค่าเงินใหม่จากการคำนวณหาความมดุลของเงินหยวน ซึ่ง ธปท.จะต้องติดตามนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนต่อไปว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ส่วนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น การดำเนินนโยบายของจีนดังกล่าวไม่ได้มีอะไรที่น่ากังวลใจ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงถึง 7% ซึ่ งสกุลเงินอื่นๆ ก็อ่อนค่ากว่ามาก

“ยืนยันว่าธปท.มีนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวตามภาวะตลาดและให้มีความยืดหยุ่น ทั้งยังมีเครื่องมือที่หลากหลายสามารถปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งหากเห็นว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวจนอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการ ธปท.ก็อาจเข้าไปดูแล”

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

เดินหน้าอุตสาหกรรมสีเขียวดันผู้ประกอบการพัฒนาสู่ยั่งยืน 

          กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปี 2558 เพื่อแสดงถึงความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางการปรับปรุงองค์กรให้มีธรรมาภิบาล เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ธรรมา ภิบาลสิ่งแวดล้อมในปีนี้ จำนวน 231 ราย และผ่านการรับรองอุตสาหกรรม สีเขียวระดับที่ 4 และ 5 จำนวน 50 ราย ซึ่งได้จัดในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ณ โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอรีน กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ก.อุตฯ ยกระดับโรงงานสีเขียว

          นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในอดีตภาคอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญต่อผลประกอบการเป็นอันดับแรก โดยเน้นการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก จนลืมคำนึงว่าสิ่งที่ทำไปนั้นส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนที่อยู่รอบสถานประกอบการ และระบบนิเวศขาดความสมดุล ต้องใช้เวลาในการเยียวยาแก้ไข

          ความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของ "โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว" โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเชิญชวน และสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศหันมาใส่ใจกับการปรับปรุงกิจการอย่างต่อเนื่อง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด สำหรับในส่วนของการส่งเสริมสถานประกอบการให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับสถานประกอบการ ระดับนิคมอุตสาหกรรม และระดับเมืองอุตสาหกรรม โดยในระดับสถาน

          ประกอบการ กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการผ่านโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เริ่มจากการผลักดันให้องค์กรกำหนดนโยบายที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยึดถือหลักการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติตามนโยบายของบุคลากรในทุกระดับ และขยายผลการพัฒนาตลอดโซ่อุปทาน และสำหรับระดับนิคมอุตสาหกรรมและเมืองอุตสาหกรรม กระทรวงฯ ได้ดำเนินการผ่านโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

          ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งสิ้น 20,144 ราย นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงานในการให้ตราสัญลักษณ์ Thailand Trusted Mark (TTM) แก่สถานประกอบการเพื่อรับรองคุณภาพสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยผู้ได้รับการรับรอง TTM จะต้องได้อุตสาหกรรมสีเขียว อย่างน้อยระดับ 2 ขึ้นไป และได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงอยากเชิญชวนและขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกท่าน ช่วยกันเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ความพยายามที่ดีของสถานประกอบการที่เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว และความตั้งใจของรัฐบาลในการเสริมสร้างเศรษฐกิจสีเขียว แก่ประชาชน ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับทราบโดยทั่วกัน

          สนองนโยบายรัฐเพิ่มขีดแข่งขัน

          ด้าน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีการผลักดันและส่งเสริมสถานประกอบการภาคการผลิตให้ดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

          กระทรวงอุตสาหกรรมได้ริเริ่มโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการตลอดจนร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการประกอบการซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบสถานประกอบการ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม จำนวนทั้งสิ้น 1,508 ราย และเพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญามะนิลาว่า ด้วยอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเดือนกันยายน 2552

          ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ขึ้นในปลายปี 2553 เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยอาศัยหลักการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นพื้นฐานภายใต้กรอบการพัฒนาใน 5 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ การแสดงความมุ่งมั่นในรูปแบบของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้ ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ

          โดยระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกด้านของการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรเองออกสู่ภายนอก ตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วยจนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการภาคการผลิตทั่วประเทศได้รับการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมกว่า 20,000 ราย และคาดว่าจะมีถึง 35,000 ราย ภายในปี 2561 ความสำเร็จของโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัตินั้น ได้ให้ความสำคัญและมีความพยายามของทุกระดับในการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจกรรมขององค์กรให้ถูกต้องตามกฎหมาย สร้างประโยชน์แก่สังคม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้ นับเป็นโอกาสอันดี ที่สถานประกอบการจำนวน 279 ราย ซึ่งผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมสีเขียว จะได้รับเกียรติบัตรและโล่ ที่แสดงถึงความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

รายงานพิเศษ : ประชุมนานาชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ฉลองปีดินสากล 2558

ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถผลิตอาหารได้อย่างเหลือเฟือ แต่นับจากนี้ไปอีก 30-40 ปีข้างหน้า เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นอีก ความต้องการทางด้านอาหารก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่วันนี้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรส่วนใหญ่ได้กลายเป็นบ้านจัดสรร และโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เหลือพื้นที่ทำการเกษตรน้อยมาก ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดูแลเรื่องทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของความมั่นคงทางอาหาร

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้นำมาเป็นหัวข้อหลักในการจัดการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ International Soil Conference หัวข้อ “การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน ในแนวทางที่สอดคล้องกับความมั่นคงอาหาร (Sustainable Uses of Soil inHarmony with Food Security)” ที่โรงแรมรีเจนท์ ชะอำบีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 18-21 สิงหาคม 2558

ดร.อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่กรมพัฒนาที่ดินได้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองปีดินสากล 2558 โดยร่วมกับ 7 หน่วยงานระหว่างประเทศ และในประเทศ ที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับดิน ได้แก่ IUSS FAO ADB IRD สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยที่ผ่านมากรมได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี 2558 อาทิ เมื่อเดือนเมษายน 2558 กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ หัวข้อ “การพัฒนาที่ดิน ปี 2558” ระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2558 จังหวัดขอนแก่น การจัดทำพิพิธภัณฑ์ดินระดับภูมิภาค ซึ่งตั้งอยู่ที่สถานีพัฒนาที่ดินเขต จังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี ราชบุรี สงขลา และนราธิวาส

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินยังได้จัดกิจกรรมพิเศษที่สนับสนุนการรับรู้และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของดิน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลทั่วไป นักศึกษา และเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญและเป็นอนาคตของประเทศ ด้วยการจัดประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา หัวข้อ Healthy Soils for a Healthy Life ซึ่งทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับรางวัลชนะเลิศ และการประกวดภาพยนตร์สารคดีสั้น เรื่องพลังแห่งแผ่นดิน ซึ่งทีม July Film จากประชาชนทั่วไป ได้รับรางวัลชนะเลิศจากภาพยนตร์สั้น เรื่อง “คำตอบของก้อนดิน (Meaning of Life)” นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่กรมพัฒนาที่ดินจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน ได้แก่ การบรรยายพิเศษเกี่ยวกับความสำคัญ และการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดิน และเปิดให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษาเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ดินที่กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพฯ

การประชุมครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีดินสากล และสร้างเวทีให้ผู้บริหารระดับนโยบาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านดิน จากประเทศต่างๆ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมทั้งร่วมอภิปราย เพื่อหามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร โดยรูปแบบการประชุม ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจาก FAO IUSS การประชุมหารือ การนำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรดินภาคบรรยายภาคโปสเตอร์ การดูงานนอกสถานที่ และการจัดแสดงนิทรรศการ โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านดินจากกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศสมาชิกเอเปก อเมริกา และยุโรป จำนวน 460 คนจาก 32 ประเทศ เข้าร่วมประชุมนำเสนอผลงานทั้งภาคบรรยาย โปสเตอร์ และนิทรรศการ

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาที่ดินได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมในวันที่ 20 สิงหาคม 2558 เวลา 15.00 น. และทรงพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์ และภาพยนตร์สารคดีสั้น ซึ่งทั้งสองทีมนี้ จะแสดงผลงานที่ชนะเลิศถวายต่อหน้าพระที่นั่งอีกครั้งในวันนั้น ต่อจากนั้น พระองค์จะร่วมฟังการบรรยายพิเศษ จากศาสตราจารย์เกียรติคุณสตีเฟ่น นอร์ตคลิฟฟ์ (Emeritus Professor Dr.Stephen Nortcliff) อดีตประธานสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (IUSS) ผู้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2555 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการประชุมครั้งนี้ จะสามารถนำไปรวบรวม จัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานGlobal Soil Partnership (GSP) ของ FAO เพื่อกำหนดแนวทางในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินอย่างมีประสิทธิภาพ ในแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ความมั่นคงทางด้านอาหารไม่ใช่เป็นเรื่องของประเทศไทยประเทศเดียว แต่เป็นเรื่องของสังคมโลกทั้งระดับอาเซียน และระดับทวีป ที่ต้องการสร้างความร่วมมือในการดูแลและจัดการทรัพยากรดินในประเทศไทย ให้เป็นทรัพยากรในการผลิตอาหาร นอกจากนี้ ทรัพยากรดินนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตอาหารแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่จะเก็บน้ำไว้ในดินได้อย่างมหาศาลอีกด้วย” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

กรมชลประทานทุ่มงบกว่า950ล้าน สร้างงานสร้างรายได้ช่วยเกษตรกร

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการจ้างแรงงาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศโครงการตามมาตรการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการงดการปลูกพืชฤดูแล้ง(ปี 2557/2558) และการเลื่อนการทำนาปี (ปี 2558/2559)โดยจ้างแรงงานภาคการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร มาดำเนินการก่อสร้างงานชลประทาน กำจัดวัชพืช และขุดลอกคู คลอง

“การจ้างแรงงานอันเนื่องมาจากการงดปลูกข้าวนาปรัง ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างไปแล้ว จำนวน 89,250 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,221.6557 ล้านบาท และมีแผนการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอันเนื่องมาจากการเลื่อนทำนาปี (ปี 2558/2559) จำนวน 36,673 คนค่าจ้างงานประมาณ 957.4133 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ในระหว่างที่รอฝนตกเพื่อทำนาปีต่อไป” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ด้าน นายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่มาสมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวทำงานให้กับกรมชลประทาน เพื่อทำความสะอาดและลอกตะกอนคูคลอง รวมทั้งงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชลประทานแล้วมากกว่าร้อยละ 60 ของเป้าหมายที่วางไว้คือ 3,000 คน โดยใช้งบในการจ้างแรงงานประมาณ 25 ล้านบาท

สำหรับการจ้างแรงงานดังกล่าว จะให้ความสำคัญว่าจ้างเกษตรกร หรือลูก หลาน เกษตรกรเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่มีจำนวนเกษตรกรที่มาสมัครไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องว่างจ้างแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ แต่ต้องเป็นคนในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริม ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งรอที่จะทำนาปี เพราะขณะนี้ฝนเริ่มตกบ้างแล้ว คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2558 นี้ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาน่าจะเริ่มทำนาปีได้ หลังจากที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้เลื่อนการทำนาปีออกไปจนกว่าฝนจะตกตามปกติ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดิน(6)

การผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 เป็นสิ่งที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ในพื้นที่แปลงเกษตร เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดสารออกฤทธิ์โดยกระบวนการหมักพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ เพื่อผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ประกอบด้วย ยีสต์ Saccharomyces sp. แบคทีเรียผลิตกรดอะซิติก Gluconobacter oxydans และ แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก Lactobcillus fermentum

สารสกัดที่ได้จากการหมักพืชสมุนไพร โดยกิจกรรมจุลินทรีย์ ประกอบด้วย สารออกฤทธิ์ และสารไล่แมลงที่อยู่ในพืชสมุนไพร รวมทั้งกรดอินทรีย์หลายชนิด เพื่อใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช

การผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืชจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ชนิดพืชสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลง โดยสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพควบคุมเพลี้ยแป้ง และเพลี้ยอ่อน ได้แก่ ยาสูบ (ยาเส้น) ดีปลี รากหางไหล หัวกลอย และพริก ส่วนสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพควบคุมหนอนกระทู้ผัก และหนอนใยผัก ได้แก่ เหง้าว่านน้ำ เหง้าขมิ้น เมล็ดมันแกว และเหง้าหนอนตายหยาก ส่วนวิธีการทำนั้น คือ สับพืชสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็ก ทุบหรือตำให้แตก จากนั้นนำพืชสมุนไพรและรำข้าวละเอียดใส่ลงในถังหมัก ละลายกากน้ำตาลในน้ำ แล้วใส่สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ผสมให้เข้ากันนาน 5 นาที เทสารละลายใส่ลงในถังหมักคลุกเคล้าและคนให้เข้ากัน ปิดฝาถังไม่ต้องแน่น ตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม และคนทุกวันใช้ระยะเวลาในการหมัก 21 วัน เมื่อทำการหมักได้ที่แล้ว จะสังเกตได้ว่าฝ้าจุลินทรีย์ลดลง ไม่มีฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีน้อยลง กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลงสารละลายมีสภาพเป็นกรด pH ระหว่าง 3-4 และได้กลิ่นเปรี้ยว

สำหรับอัตราและวิธีการใช้นั้น ต้องเจือจางสารควบคุมแมลงศัตรูพืช : น้ำ เท่ากับ 1:100 ฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน และฉีดต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการระบาดของหนอนและเพลี้ย ควรฉีดพ่นช่วงตัวอ่อน หรือช่วงที่เพลี้ยยังไม่เกิดแป้ง ใส่สารจับใบ เช่น น้ำยาล้างจาน 10 มิลลิลิตร ลงในสารควบคุมแมลงศัตรูพืช 10 ลิตร พืชผัก พืชไร่ และไม้ดอก ฉีดพ่นสารควบคุมแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้ว อัตรา 50 ลิตรต่อไร่ ส่วนไม้ผล ฉีดพ่นสารควบคุมแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้วอัตรา 100 ลิตรต่อไร่ ฉีดพ่นที่ใบ ลำต้น หรือบริเวณที่มีหนอนหรือเพลี้ยอาศัยอยู่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

รื้อพ.ร.บ.อ้อย/น้ำตาลใหม่ก.อุตฯเสนอ'ประยุทธ์'ดึงเอทานอล-ไฟฟ้า เข้าระบบ70/30   

          กระทรวงอุตสาหกรรม จ่อชง "ประยุทธ์" ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ เสนอปรับแก้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เปิดกว้างให้นำเอทานอล ไฟฟ้าและผลพลอยได้อื่นๆ เข้าสู่ระบบแบ่งปันให้ชาวไร่อ้อย หวังแก้ปัญหาอุ้มเกษตรกร จากราคาน้ำตาลตกต่ำ พร้อมให้ทำใจปีนี้ราคาอ้อยแค่ 700 บาทต่อตัน รัฐบาลไม่มีเงินช่วยเหลือ

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเปิดหีบอ้อยในฤดูปี 2558/2559 ที่จะเริ่มในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อลดปัญหาการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาช่วยเหลือชาวไร่ จากราคาอ้อยละน้ำตาลทรายที่ตกต่ำ ซึ่งปัจจุบันที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องแบกรับภาระหนี้จากการกู้เงินมาช่วยเหลือแล้วกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

          นอกจากนี้ ทางนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การจะกู้เงินจากธ.ก.ส.จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อมาจ่ายราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูปี 2557/2558 ให้กับโรงงานน้ำตาลที่จะสรุปในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นที่จ่ายไปแล้ว 900 บาทต่อตันสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย หากจะกู้เงินเพิ่ม จะต้องมีแผนการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายที่ชัดเจนนำมาเสนอควบคู่ด้วย

          ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายดิบโลกที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยปัจจุบันอยู่ในระดับ 10.5-11 เซ็นต์ต่อปอนด์ และเมื่อนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูปี 2558/2559 ที่จะมาถึงนี้ จะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ในระดับประมาณ 700 บาทต่อตัน หากจะให้เกษตรกรได้รับรายได้เท่ากับฤดูกาลที่ผ่านมา จะต้องใช้เงินช่วยอีกราว 360 บาทต่อตัน หรือคิดเป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทางรัฐบาลคงไม่สามารถช่วยได้ และธ.ก.ส. ก็คงจะพิจารณาสถานะของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมากขึ้นว่า จะมีศักยภาพพอที่จะหาเงินมาจ่ายหนี้ได้หรือไม่

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ดังนั้นแนวทางในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น มีความเป็นไปได้ว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ขึ้นมาใหม่ เพื่อเปิดกว้างให้นำรายได้ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจากการผลิตเอทานอล ไฟฟ้า หรือผลพลอยได้อื่นๆ สามารถนำมาเข้าระบบ 70/30 แบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล

          รวมถึงอาจจะมีการเสนอให้มีการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีที่จะมีขึ้นในปีหน้าด้วย

          นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่าขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแล้ว แต่ยังไม่ทราบแนวทางว่าจะออกมาอย่างไร เพราะยังมีข้อถกเถียงกันอีกมาก แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนการเปิดหีบอ้อยในฤดูที่จะมาถึง โดยยอมรับว่าราคาอ้อยปีนี้คงจะไม่สูงเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องทำใจและยอมรับสภาพที่จะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลคงไม่สามารถช่วยได้ในระดับ 300 บาทต่อตันอ้อย เพราะราคาน้ำตาลทรายโลกมีแต่แนวโน้มอ่อนตัวลงเรื่อยๆ

          ประกอบกับปริมาณอ้อยในปีนี้มีผลผลิตมากขึ้นกว่าปีก่อนโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ประมาณการปริมาณอ้อยขั้นต้นที่จำนวน 111.05 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ราว 11-12 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากฤดูก่อนมีอ้อยเข้าหีบ 105.96 ล้านตัน และแม้ว่าบางพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ก็มีการประเมินจะมีอ้อยเข้าหีบที่ประมาณ 106.36 ล้านตัน

          ดังนั้น ด้วยจำนวนเงินช่วยเหลือที่มากขึ้น และปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นการยากที่จะให้รัฐบาลกู้เงินมาช่วยเหลือเกษตรกรให้ครอบคลุมเหมือนกับปีที่ผ่านมาได้ ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำตาลทราย  ล่าสุดโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลว่า มีแนวโน้มอ่อนตัวลงอีก เพราะเวลานี้ทางโรงงาน เริ่มที่จะหาคลังสินค้า เพิ่มเติมจากที่มีอยู่กว่า 20 แห่ง เพื่อเก็บสต๊อกน้ำตาลทรายในฤดูหีบที่จะมาถึง เนื่องจากเกรงว่าน้ำตาลทรายที่สต๊อกอยู่ราว 40 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) ยังไม่สามารถระบายส่งออกได้ทั้งหมด เนื่องจากลูกค้ายังไม่มารับสินค้า เพื่อรอดูแนวโน้มของราคาว่าจะเป็นอย่างไร หากไม่เร่งหาคลังสินค้าเพิ่มก็จะกระทบต่อการจัดเก็บน้ำตาลในฤดูหีบอ้อยที่จะมาถึงนี้ได้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 16 สิงหาคม 2558

ก.อุตสาหกรรมเตรียมปรับฐานข้อมูลโรงงานรองรับไทยแลนด์ ดิจิตอล เกตเวย์

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ของหน่วยงานในสังกัดในส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงาน ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาค และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดยให้ติดตามการดำเนินงานใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 2.ความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วน 3.การเบิกจ่ายงบประมาณ และ 4.ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการโรงงาน

ทั้งนี้แต่ละภาคได้มีการรายงานข้อมูลด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ที่มีโรงงานหนาแน่น เช่น สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ระยอง ชลบุรี และภาคเหนือ ภาคอีสานบางจังหวัด พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 สิงหาคม 2558 มีตัวเลขของข้อมูลโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่/ขยายโรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 3,115 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 309,130 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 111,809 คน และโรงงานที่แจ้งเริ่มกิจการ/ขยายโรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 1,385 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 96,470 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 52,480 คน

สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ของปี 2558 คืออุตสาหกรรมอโลหะ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์จากกระดาษ และอุตสาหกรรมพลาสติก ตามลำดับ ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ในปี 2558 คือ อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมอโลหะ และอุตสาหกรรมพลาสติก ตามลำดับ

“เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นเพราะการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่เกี่ยวกับการอนุญาตต่างๆ ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งการจัดทำคู่มือประชาชน ตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด มีการจัดทำ 72 คู่มือ เผยแพร่ให้กับนักลงทุน ผู้ประกอบการ โดยการปิดประกาศเผยแพร่คู่มือ ณ จุดให้บริการ และเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของแต่ละ สอจ. และของส่วนกลาง เพื่อให้เข้าถึงทุกคู่มือของทุกส่วนราชการที่เผยแพร่”นายจักรมณฑ์ กล่าว 

ในขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับปรุงฐานข้อมูลด้านโรงงานให้เป็นหนึ่งเดียว โดยให้ทุก สอจ.ไปทำการปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ส่งรายงานไปยัง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อปรับฐานข้อมูลให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติงาน และเพื่อรองรับนโยบาย Thailand Digital Gateway โดยคาดว่าจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดิน(5)

กลุ่มผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 สำหรับผลิตจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช และสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 สำหรับผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช เป็นอีกกลุ่มผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมี

สารเร่งซุปเปอร์ พด. 3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดินมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ในดินในสภาพน้ำขังที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการรากเน่าหรือโคนเน่า ประกอบด้วย เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus sp.)

กลไกการควบคุมโรคพืชของกลุ่มจุลินทรีย์ในสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 สามารถเข้าทำลายเชื้อสาเหตุโรคพืชได้โดยตรง เส้นใยของเชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญอย่างรวดเร็วเข้าปกคลุมเชื้อสาเหตุโรคพืช จากนั้นจะสร้างโครงสร้างที่ทำหน้าที่ดูดของเหลวภายในเซลล์ของเชื้อสาเหตุโรคพืชเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร อีกทั้งยังมีความสามารถในการแข่งขันการใช้อาหารและเจริญเติบโตได้ดีกว่าเชื้อสาเหตุโรคพืช ทำให้แหล่งอาหารของเชื้อสาเหตุโรคพืชในดินถูกจำกัด และเชื้อสาเหตุโรคพืชไม่สามารถเจริญได้ในที่สุด นอกจากนี้สามารถสร้างสารปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน ทำให้เชื้อสาเหตุโรคพืชไม่สามารถแพร่กระจายได้

วิธีการขยายเชื้อ ซุปเปอร์ พด.3 คือ ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 จำนวน 1 ซอง และรำข้าวละเอียด 1 กิโลกรัมในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที จากนั้นรดสารละลายซุปเปอร์ พด.3 ลงในกองปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม และรำข้าวละเอียดคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับความชื้นให้ได้ 60-70% ตั้งกองปุ๋ยเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ย เพื่อรักษาความชื้น ขยายเชื้อเป็นเวลา 7 วัน จึงนำไปใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ สามารถป้องกันและควบคุมการเจริญของเชื้อสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล ไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน มะละกอ กล้วย พืชไร่ เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด พืชผัก เช่น พริก มะเขือเทศ ผักกาด กะหล่ำปลี โรคถอดฝักดาบของข้าว โรคผลเน่าของผลสตรอเบอร์รี่ และไม้ดอกไม้ประดับ

สำหรับอัตราและวิธีการใช้ ในส่วนของพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ ใช้อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ระหว่างแถวก่อนปลูก ไม้ผล และไม้ยืนต้น ใช้อัตรา 3-6 กิโลกรัมต่อตัน ใส่รองก้นหลุมหรือรอบทรงพุ่ม ส่วนแปลงเพาะกล้า ใช้อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร โรยให้ทั่วแปลงเพาะกล้า

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

'จักรมณฑ์'ลงพื้นที่ตามงานในภูมิภาคเข้ม

 “จักรมณฑ์”ลงพื้นที่ติดตามงานในภูมิภาคเข้ม เตรียมปรับฐานข้อมูลโรงงานให้เป็นหนึ่งเดียวรองรับ Thailand Digital Gateway ดีเดย์ 1 พ.ย. นี้

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมของหน่วยงานในสังกัดในส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.), ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค, สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต, ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงาน, ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาค และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยให้ติดตามการดำเนินงานใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 2. ความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วน 3. การเบิกจ่ายงบประมาณ และ 4. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการโรงงาน ทั้งนี้ แต่ละภาคได้มีการรายงานข้อมูลด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ที่มีโรงงานหนาแน่น เช่น จังหวัดสมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ระยอง ชลบุรี และภาคเหนือ ภาคอีสานบางจังหวัด พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 สิงหาคม 2558 มีตัวเลขของข้อมูลโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่/ ขยายโรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 3,115 โรง มูลค่าการลงทุน 309,130 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 111,809 คน และโรงงานที่แจ้งเริ่มกิจการ/ ขยายโรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 1,385 โรง มูลค่าการลงทุน 96,470 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 52,480 คน

สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ของปี 2558 คือ อุตสาหกรรมอโลหะ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์จากกระดาษ และอุตสาหกรรมพลาสติก ตามลำดับ ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ในปี 2558 คือ อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมอโลหะ และอุตสาหกรรมพลาสติก ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับปรุงฐานข้อมูลด้านโรงงานให้เป็นหนึ่งเดียว โดยให้ทุก สอจ. ไปทำการปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ส่งรายงานไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อปรับฐานข้อมูลให้เป็นหนึ่งเดียว อันจะส่งผลให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

“พาณิชย์” นัดเอกชน-คลัง-แบงก์ชาติ หารือ 18 ส.ค.นี้ ประเมินผลกระทบจีนลดค่าเงินหยวน  

          “พาณิชย์” นัดถกภาคเอกชน คลัง แบงก์ชาติ วันที่ 18 ส.ค.นี้ ประเมินผลกระทบจีนลดค่าเงินหยวน “ฉัตรชัย” เผยไม่กระทบส่งออก อาจเป็นผลดีทำให้ขายสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางให้จีนได้มากขึ้น ยันยืนเป้าส่งออกไว้ติดลบ 3% เท่าเดิม พร้อมเร่งเดินหน้าเจรจาขายสินค้า เน้นตลาดรองและตลาดใหม่

               พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 18 ส.ค. 2558 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ จะเชิญตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เงินหยวนอ่อนค่าว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยอย่างไร หลังจากที่ธนาคารกลางของจีนประกาศปรับลดค่าเงินหยวนถึง 3 ครั้ง ในรอบสัปดาห์เดียวกัน

               ทั้งนี้ ในเบื้องต้นเห็นว่าการส่งออกของไทยน่าจะได้รับผลดีจากการที่จีนลดค่าเงินหยวน เพราะจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของจีนให้ดีขึ้น และมีผลต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าขึ้นต้นและขั้นกลาง เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าส่งออกต่อ จึงไม่อยากให้กังวลเกินไป และจีนก็ประกาศแล้วว่าจะไม่มีการปรับลดค่าเงินลงไปอีก ส่วนในด้านการท่องเที่ยวเชื่อว่าคงเป็นปกติ แม้เงินหยวนจะอ่อนค่า แต่เงินบาทก็อ่อนค่าด้วย ทำให้คนจีนที่มาเที่ยวไทยไม่กระทบ

               อย่างไรก็ตาม จากการเดินทางไปเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์การค้าระหว่างจีนกับไทยยังคงปกติ โดยจีนได้กำหนดที่จะเซ็นสัญญาซื้อข้าวจากไทย 1 ล้านตัน ในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ แม้ว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปซึ่งอาจทำให้การนำเข้าจากไทยแพงขึ้นแต่จะไม่กระทบต่อการลงนามซื้อขายข้าวดังกล่าว เพราะข้อตกลงเป็นการซื้อขายในราคาตลาดตามช่วงเวลาที่ส่งมอบอยู่แล้ว

               พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ส่วนแผนการผลักดันการส่งออกของไทยจากนี้ไปจะยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาการส่งออกไปยังตลาดเดิม และผลักดันการส่งออกไปยังตลาดรองและตลาดใหม่ให้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงจีน และที่ผ่านมาก็ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานไว้ชัดเจนแล้ว และจะยังคงเดินหน้าผลักดันการส่งออกต่อไป โดยปีนี้ยังคงเป้าหมายการส่งออกในภาพรวมที่ติดลบ 3% และคาดหวังว่าจะขยายตัวติดลบน้อยกว่านี้

      

        โดยในเร็วๆ นี้ มีแผนที่จะเดินทางไปเยือนประเทศตุรกี อิหร่าน สหรัฐฯ จีน เพื่อเจรจาการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ได้เดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ และล่าสุดปากีสถาน โดยได้ตกลงบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการที่จะเปิดเจราจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างกัน หากสามารถทำเอฟทีเอได้สำเร็จ จะทำให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 จากปัจจุบันมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้ากลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น      

        ขณะเดียวกัน จากการเดินทางไปเยือนปากีสถาน ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของปากีสถานได้แจ้งว่ามีความสนใจที่จะนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ

               พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวถึงกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี โดยมีชื่อถูกปรับจากกระทรวงพาณิชย์ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ว่ายังไม่มีโอกาสได้หารือกับนายกรัฐมนตรี แต่เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีจะมีข้อมูลในการจัดสรรตำแหน่งผู้บริหารกระทรวงต่างๆ เป็นอย่างดี โดยส่วนตัวแล้วถือว่าโชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีชื่อที่ถูกปรับออกไปทำงานในหลายๆ กระทรวง

               ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในการหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ค่าเงินหยวนในวันที่ 18 ส.ค.นั้นจะเป็นการพิจารณารายละเอียดว่าเงินหยวนที่อ่อนค่าส่งผลกระทบด้านใดบ้าง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

'จักรมณฑ์'ลงนามตั้งรง.น้ำตาลใหม่เข้าไม่เกิน10ราย 

          "จักรมณฑ์"จ่อลงนามประกาศตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ภายในสัปดาห์นี้ ลุ้น 51 คำขอ 70-80 โรงงาน เชิงเค้ก สอน.ประเมินมีพื้นที่ให้ลงได้แค่ 7-10 โรงงานเท่านั้น หลังกางแผนที่ดูแล้วติดระยะห่างรัศมี 50 กิโลเมตร จากโรงงานเดิม ขณะที่ 21 คำขออนุญาตขยายกำลังผลิตคาดฉลุย ทุกโรงหีบอ้อยเกินเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว ขณะที่คนในวงการมองเจ้าเดิมๆ มีแผนชัดเจนคว้าใบอนุญาตไปครอง

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการอนุญาตให้ตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 6 สำนักนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะส่งเรื่องมายังกระทรวงอุตสาหกรรมภายในสัปดาห์นี้ และตัวเองพร้อมจะลงนามประกาศฯได้ทันที เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งจะมีผลใช้บังคับได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

          ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร และจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ

          การประกาศกฎกระทรวงดังกล่าว จะเป็นการปลดล็อกการตั้งโรงงานน้ำตาลให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ สามารถยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นได้ จากเดิมที่ดำเนินการได้เฉพาะผู้ประกอบการรายเดิมที่ขอตั้งโรงงานใหม่หรือขยายกำลังการผลิตเท่านั้น และโรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งจะต้องมีระยะห่างจากโรงงานเดิมหรือโรงงานน้ำตาลอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร จากเดิมที่กำหนดต้องมีระยะห่าง 80 กิโลเมตรขึ้นไปนายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับแล้ว สอน.จะออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองในการขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลและขยายโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะมีรายละเอียด เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ต้องจัดเตรียม ไม่ว่าจะเป็น พิกัดของสถานที่ตั้งโรงงาน แผนการดำเนินงานจัดตั้งโรงงาน เป็นต้น แจ้งไปยังผู้ประกอบการให้มายื่นหลักฐานต่างๆ ภายในระยะเวลา 1 เดือน และสอน.จะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน โดยจะเรียงลำดับการยื่นคำขอก่อนและหลังไล่กันไป หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็ต้องตัดออกไป และไปพิจารณาโรงงานในลำดับถัดไปแทน

          ส่วนจำนวนผู้ที่มายื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาล จากการรวบรวมพบว่าตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นคำขอเข้ามาจำนวน 51 คำขอ ซึ่งบางคำขอมีการขอตั้งโรงงานน้ำตาลเข้ามามากกว่า 1 แห่ง ไปจนถึงสูงสุด 9 แห่ง รวมจำนวนโรงงานที่ขอตั้งใหม่ประมาณ 70-80 โรงงาน ซึ่งแต่ละโรงงานจะมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1.8-2 หมื่นตันต่อวัน ใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 5-6 พันล้านบาท  และมีการยื่นคำขอขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลเดิมเข้ามาจำนวน 21 คำขอ ขนาดกำลังผลิตประมาณ 1.2-2 หมื่นตันต่อวัน เงินลงทุนแห่งละประมาณ 1-2 พันล้านบาท

          ทั้งนี้ จากจำนวนคำขอที่ยื่นเข้ามามากนั้น มองว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต้องการกีดกันไม่ให้กลุ่มโรงงานน้ำตาลรายอื่นๆ เกิดขึ้น เพราะหากกางแผนที่ดูแล้วจำนวนโรงงานเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 50 แห่ง และเมื่อรวมกับครม.อนุมัติจำนวน 11 โรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง 7 โรงงาน เมื่อนำระยะห่างในรัศมี 50 กิโลกเมตรมาวัด พบว่าจะมีโรงงานน้ำตาลที่ตั้งใหม่เกิดขึ้นได้ 7-10 แห่ง เท่านั้น นอกจากนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะติดหลักเกณฑ์ระยะห่างการตั้งไม่ถึง 50 กิโลเมตร

          ในขณะที่การขยายกำลังการผลิตนั้น มองว่าอาจจะได้รับการอนุญาตได้ทั้งหมด เนื่องจากจะพิจารณาจากปริมาณอ้อย และแผนส่งเสริมแผนพัฒนาอ้อยติดต่อกัน 3 ปี โดยไม่ใช้อ้อยของคู่สัญญาจากโรงงานอื่น ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละโรงงานก็มีการหีบอ้อยไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา 120 วัน เนื่องจากมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น ดังนั้น การอนุญาตขยายกำลังการผลิตจึงไม่น่ามีปัญหาอะไร

          ส่วนกรณีที่โรงงานน้ำตาลที่ผ่านครม.อนุมัติไปแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง 4 โรงงาน ซึ่งใบอนุญาตจะหมดในปี 2559 นั้น หากยังไม่มีการแจ้งกลับมาภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ทางสอน.จะตัดสิทธิ์ และหากจะดำเนินการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ ก็จะต้องยื่นคำขอเข้ามาตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่กำหนดระยะห่างในการพิจารณา

          แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกล่าวว่าในจำนวน 51 คำขอ ที่ยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นั้นจะมีเข้าเกณฑ์อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร และมีแผนส่งเสริมการปลูกอ้อยชัดเจนไม่ถึง 10 ราย ทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่ทำอยู่แล้วและต้องการจะลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ เช่น กลุ่มน้ำตาลมิตรผล วังขนาย กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ไทยรุ่งเรือง บริษัทน้ำตาลเอราวัณ อุตสาหกรรมน้ำตาลโคราช และกลุ่มน้ำตาลเกษตรไทย เป็นต้น ส่วนโรงงานน้ำตาลที่ขอขยายอีกจำนวน 21 รายนั้นน่าจะได้รับการส่งเสริมทั้งหมด

          นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวถึงสาเหตุหลักที่ผู้ประกอบการยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่และขยายกำลังผลิตโรงงานเดิมเพิ่มขึ้นจำนวนมากนั้นเกิดจาก 2 เหตุผลหลักคือ 1.สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ชาวนาที่ปลูกข้าวนาดอนหันไปปลูกอ้อยแทน เนื่องจากการปลูกข้าวต้องใช้ปริมาณน้ำมาก ในขณะที่การปลูกอ้อยใช้น้ำไม่มาก และเหมาะกับสภาพอากาศในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากขึ้น 2.อ้อยเข้ามามีบทบาทในการผลิตพลังงานทดแทนได้มากขึ้น ก็จะแก้ปัญหาได้เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมาเราพึ่งพาตลาดส่งออกมากถึง 75% ทำให้ได้รับผลกระทบทุกครั้งที่ราคาในตลาดโลกร่วง เช่น ปัจจุบันที่ราคาน้ำตาลทรายดิบลงมาอยู่ที่ 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น

          อนึ่ง ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2557/2558 มีกำลังผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 11 ล้านตันน้ำตาลต่อปี และผลิตอ้อยได้ที่ประมาณ 106 ล้านตันอ้อย และมีการคาดการณ์ว่าปี 2558/2559 ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2557/2558

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดิน(4)

ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ในส่วนของปุ๋ย พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหารหรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืชเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 ชนิด ได้แก่ Azotobacter tropicalis แบคทีเรียตรึงไนโตรเจนแบบอิสระ, Burkholderia

 unamae แบคทีเรียละลายฟอสเฟต, Bacillus subtilis แบคทีเรียละลายโพแทสเซียม และ Azotobacter chroococcum แบคทีเรียสร้างฮอร์โมนพืช

วิธีการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ พด.12 คือ ผสมปุ๋ยชีวภาพ พด.12 จำนวน 1 ซอง และรำข้าวละเอียด 3 กิโลกรัม ในน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) คนให้เข้ากันนาน 5 นาที หลังจากนั้นรดสารละลายปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ลงบนกองปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม และคลุกเคล้าให้เข้ากันปรับความชื้นให้ได้ 70% จากนั้นตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้น กองปุ๋ยหมักไว้ในที่ร่มเป็นระยะเวลา 4 วัน แล้วจึงนำไปใช้ประโยชน์

สำหรับอัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ร่วมกับปุ๋ยเคมีสำหรับพืชชนิดต่างๆ ได้แก่

1.ข้าว เช่น ข้าวไม่ไวแสง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 16-20-0 อัตรา 26 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนข้าวไวแสง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-8 อัตรา 19 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วพื้นที่ช่วงเตรียมดินปลูก

2.พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 38 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ สูตร 46-0-0 อัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ ในส่วนของอ้อย ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 60 กิโลกรัมต่อไร่ และมันสำปะหลัง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 8 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 15-7-18 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกพืช และคลุกเคล้ากับดิน ในส่วนของอ้อยปลูก หว่านให้ทั่วพื้นที่ช่วงเตรียมดินปลูก ส่วนอ้อยตอ ใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน หว่านให้ทั่วแปลงแล้วยกร่องปลูกมันสำปะหลัง

3.พืชผัก (พืชตระกูลกะหล่ำ) ใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 23 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน

หลังจากที่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เกษตรกรพอใจ และให้การตอบรับเป็นอย่างดี จนนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : อ่างเก็บน้ำแม่เสริมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการขนาดเล็กที่สร้างความสุขให้ราษฎร

 “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มีน้ำในการเพาะปลูก ตลอดจนการอุปโภคบริโภค อย่างพอเพียง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนและประเทศชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเกษตรกรรมอย่างเช่นประเทศไทย

หากทำการเกษตรโดยอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงอย่างเดียวนั้น มีความเสี่ยงสูงที่ ผลผลิตได้รับความเสียหายได้ กรณีฝนแล้ง หรือ ฝนทิ้งช่วง อย่างเช่นเหตุการณ์วิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้

กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องน้ำของประเทศ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 113 ปี โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไม่ว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน โครงการเขื่อนห้วยโสมง เป็นต้น หรือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรง โครงการอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยทอนตอนบน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน เป็นต้น หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช่องกล่ำ (ตอนบน) โครงการฝายคลองแซ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโพนเพ็ก โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยนาผาง เป็นต้น

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริแต่ละโครงการนั้น ล้วนแต่สร้างประโยชน์ให้กับราษฎร ทำให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ช่วยให้ได้ผลิตผลมากขึ้นและในหลายพื้นที่สามารถทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้ รวมทั้งยังทำให้เกิดอาชีพเสริมจากการทำประมง หรือเลี้ยงปลา เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยให้ ราษฎรมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดอย่างพอเพียงตลอดปี

ทำให้มีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น และที่สำคัญยังช่วยป้องกันหรือบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

การพัฒนาแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือแม้แต่ขนาดเล็ก ล้วนแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้น แม้จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ไม่มาก แต่สามารถดำเนินได้ง่าย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีน้อย ราษฎรในพื้นที่ไม่ต่อต้าน ในทางตรงข้ามกลับให้การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และที่สำคัญบางพื้นที่ได้ขอพระราชทานให้ดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำอีกด้วย อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เสริม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตําบลเสริมกลาง อําเภอเสริมงาม จังหวัดลําปาง

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เสริม เกิดขึ้นเนื่องจากราษฎรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง รวมทั้งยังประสบอุทกภัยในฤดูฝน เป็นประจำเกือบทุกปีอีกด้วย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 นายกองค์การบริหารส่วนตําบลเสริมกลาง จึงได้ขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เสริม ถึงสำนักราชเลขาธิการ และสํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) และทางสำนักงาน กปร. ได้มีหนังสือที่ กร.0005/3510 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 ถึงอธิบดีกรมชลประทานขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการ ให้ความช่วยเหลือราษฎรดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการดําเนินงาน

 ของสำนักงาน กปร.

หลังจากนั้นกรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ได้ดำเนินการสำรวจ รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม แล้วเห็นว่า มีแนวทางช่วยเหลือได้ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เสริม จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่มักเกิดขึ้นเป็นประจําทุกปีได้อย่างมีประสิทธิภาพเห็นผลเป็นรูปธรรม

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เสริมไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ตามหนังสือเลขที่ รล.0008.4/14351 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2555

ทั้งนี้พื้นที่รับน้ำฝนเหนืออ่างเก็บน้ำแม่เสริมประมาณ 8.3 ตารางกิโลเมตร เป็นสาขาของลำน้ำแม่ต๋ำ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวัง มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับ 1.51 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

หลังจากนั้นกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เสริม และแล้วเสร็จในปี 2557 ใช้งบประมาณ 33.79 ล้านบาท เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ บ้านโป่งน้ำร้อน หมู่ที่ 1 ตําบลเสริมกลาง ทํานบดิน กว้าง 8.00 เมตร ยาว 144.00 เมตร มีความสูงประมาณ 26.00 เมตร มีความจุอ่างฯ ที่ระดับเก็บกัก 731,450 ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำใช้การ 689,050 ลบ.ม.

สามารถส่งน้ำผ่านระบบท่อส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนได้ประมาณ 700 ไร่ และในฤดูแล้งได้ประมาณ 400 ไร่ โดยใช้ระบบเหมืองฝายที่มีอยู่เดิมในการจัดสรรน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีจํานวน 22 แห่ง เป็นฝายคอนกรีตจำนวน 3 แห่ง และฝายไม้ตอก จํานวน 19 แห่ง ส่วนใหญ่ชํารุดเสียหาย ราษฎรต้องซ่อมแซมทุกปี

นอกจากนี้ราษฎรในพื้นที่โครงการอ่างฯแม่เสริม และบริเวณใกล้เคียงยังใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอีกด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำของที่นี่นั้น ค่อนข้างเข้มแข็ง ราษฎรในพื้นที่รวมตัวกันบริหารมายาวนานตั้งแต่ยังไม่มีอ่างฯ มีการตั้งกฎกติกาเชื่อมโยงกับความเชื่อและวัฒนธรรมเพื่อนํามาใช้ในการจัดการน้ำ ซึ่งเดิมราษฎรในพื้นที่ได้ใช้นํ้าทั้งการอุปโภคบริโภคและทําการเกษตรตามความจําเป็นเท่านั้น บางครั้งก็ไม่เพียงพอ แต่เมื่อมีอ่างฯ แล้วทำให้สามารถที่จะบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความมั่นคงให้กับอาชีพการเกษตร ทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ก็ดี

“ตกลงกันว่า ช่วงหว่านกล้า 3 วันจะเปิดน้ำ หว่านกล้า เสร็จก็ปิด พอดำนาเสร็จก็เปิดน้ำอีกที ทั้งหมดนี้ มีคณะกรรมการคอยดูแลการปิดเปิดน้ำ เป็นกฎระเบียบชัดเจน” นายปั่น วันคำ ผู้ใหญ่บ้านโป่งน้ำร้อนหมู่ 1 ประธานบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำแม่เสริมกล่าว

หลังจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เสริมแล้วเสร็จ กรมชลประทานสำรวจผลประโยชน์ที่ได้รับจากอ่างฯ พบว่า ก่อนที่จะมีอ่างฯ ฤดูฝน ราษฎรปลูกข้าว 300 ไร่ ได้ผลผลิตไร่ละ 320 กก. ส่วนฤดูแล้ง ปลูกถั่วลิสง 60 ไร่ ได้ผลผลิตไร่ละ 367 กก. แต่หลังจากมีอ่างฯ ฤดูฝนปลูกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 700 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 65% ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 600 กก. หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 33 % ส่วนฤดูแล้งปลูกถั่วลิสงเพิ่มขึ้น 100 ไร่ และยังไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกประมาณ 10 ไร่ ส่วนการทำนาปรัง หากมีน้ำเพียงพอก็จะสามารถปลูกได้ตามปริมาณน้ำที่มีอยู่

เมื่อราษฎรมีความมั่นคงในเรื่องน้ำ ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น มีรายได้สูงขึ้นจากเดิมที่รายได้ต่อครัวเรือนประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน และยังต้องออกไปรับจ้างต่างหมู่บ้าน ต่างอําเภอ ข้าวปลูกได้แต่ไม่พอกินต้องซื้อ จากหมู่บ้านอื่นมากิน และหาของป่าขายประทังชีวิต แต่พอมีอ่างฯราษฎรมีข้าวพอกินได้ทั้งปี และเหลือจําหน่ายได้บางส่วน มีน้ำพอใช้ในการอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง อย่างเช่นในฤดูแล้งที่ผ่านมาหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่ที่บ้านโป่งน้ำร้อนมีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ 100% ส่วนในฤดูฝนน้ำก็ไม่ท่วม ลดความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นซ้ำซากได้

อ่างเก็บน้ำแม่เสริม เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กรมชลประทานได้ดำเนินงานตามพระราชดำริ แม้จะเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก มีพื้นที่ชลประทานได้ไม่มากเหมือนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ก็สามารถสร้างความสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับราษฎรที่ในพื้นที่ได้.....

และยังเป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาลที่ว่า...

“ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

‘หมอดิน’สั่งลูกทีมเดินเครื่อง ผลักดันเกษตรแปลงใหญ่ตอ.

นายก่อเกียรติ จันทร์พึ่งสุข ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่าขณะนี้อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ซึ่งในส่วนของพื้นที่ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 รับผิดชอบในเบื้องต้นมีอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโครงการข้าวแปลงใหญ่ และจังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่โครงการลำไยแปลงใหญ่ จังหวัดสระแก้ว เรื่องการเลี้ยงโคนม

โดยหน้าที่รับผิดชอบของกรมพัฒนาที่ดินในโครงการเกษตรแปลงใหญ่ จะเป็นเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้มีความเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด สนับสนุนปัจจัยการผลิต วัสดุปรับปรุงบำรุงดิน รวมถึงให้คำแนะนำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต

“ตนได้มอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบ ที่มีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เข้าไปดำเนินการสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างเต็มที่ เพื่อให้โครงการเกษตรแปลงใหญ่บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้พื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการเป้าหมาย กรมพัฒนาที่ดิน ก็พร้อมที่จะดำเนินการเข้าไปสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรให้มีการปรับปรุงพัฒนาที่ดินให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากดินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานทางการผลิตที่สำคัญ และนับวันการถือครองที่ดินทำกินของเกษตรกรจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่เดิมที่มีจำกัดให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากที่สุด” นายก่อเกียรติ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจโลกซบเซาส่งออกแย่กำลังการผลิตตกต่ำเอกชนทำใจลงทุนฟุบยาว 2 ปี

สศอ. จ่อปรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI รวมทั้ง GDP อุตสาหกรรมใหม่หลังไตรมาส 3 การส่งออกติดลบหนัก ด้าน สอท. ประเมินการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวได้ในปี’60 เหตุเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น การเมืองยังไม่นิ่ง การเจรจาการค้าสะดุด อุตสาหกรรมขาดการพัฒนา ศักยภาพการแข่งขันถดถอย

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ยังมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง แต่อาจอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีที่ติดลบมากถึง 7.6% ทำให้ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา MPI ติดลบไปแล้วถึง 3.7% ขณะที่ไตรมาส 3 ยังพอมีปัจจัยที่จะส่งผลบวกต่อ MPI อยู่บ้าง เช่น ตลาดคู่ค้าของไทยในภูมิภาคอาเซียนที่ยังขยายตัวอยู่เล็กน้อย และเพื่อนบ้านที่ยังมีความนิยมสินค้าที่ผลิตในไทย แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะยังไม่ส่งผลบวกต่อ MPI มากนัก แต่จะช่วยในภาพรวมดีขึ้นเล็กน้อย

ส่วนการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสที่ 3 นั้นคาดการณ์ว่าจะไม่ขยายตัวมากนัก แต่มีแนวโน้มดีกว่าเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนับจากนี้จะเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เดือนเมษายนมีกำลังการผลิตตกต่ำสุดในรอบครึ่งปีอยู่ที่ 52.68% และเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคมที่ 56.94% และเดือนมิถุนายนที่ 57% ดังนั้นคาดว่าเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นการขยายตัวในระดับต่ำ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวฉุดทำให้การใช้กำลังการผลิตไม่ขยายตัว มาจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ทำให้เหลือกำลังการผลิตอยู่อีกมาก จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ทั้งนี้จะต้องจับตาดูช่วงปลายไตรมาส 3 เข้าสู่ไตรมาสที่ 4 เพราะเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมจะมีกำลังการผลิตมากที่สุด เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งซื้อสินค้าที่จะนำไปจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ จึงจะสามารถสรุปได้ว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศใช้กำลังการผลิตไปเท่าไร

นายอุดมกล่าวว่า สศอ.จะมีการทบทวน MPI อัตราการใช้กำลังการผลิต และจีดีพีอุตสาหกรรม ก่อนจะปรับประมาณการหลังสิ้นสุดไตรมาส 3 ของปี 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง และตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด โดยในขณะนี้การผลิตยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะเศรษฐกิจโลกก็ยังชะลอตัว แม้ช่วงนี้ราคาน้ำมันจะลดลง ค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่ก็ต้องดูว่าคู่แข่งของไทยค่าเงินอ่อนค่าด้วยหรือไม่ ส่วนเรื่องที่น้ำมันลดลงนั้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็ส่งผลประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไม่มาก ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบหลักก็อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานงานส่งเสริมการค้าการลงทุนและสภาธุรกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวถึงภาพรวมของการลงทุนของภาคเอกชนในปีนี้โดยมองว่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 ปี และคาดว่าน่าจะฟื้นตัวได้ในปี 2560 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยยอดผู้ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2556 ที่มีจำนวนกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และในปี 2557 มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท อาจจะมีบางส่วนประมาณ 20-30% ที่จะเริ่มลงทุนตั้งโรงงานภายในปีนี้ ที่เหลือก็จะชะลอดูภาวะเศรษฐกิจก่อน เพราะมีระยะเวลาลงทุนภาย 3 ปี หลังได้รับการอนุมัติจากบีโอไอ แต่อาจมีบางส่วนที่เกิน 3 ปี ก็จะขอยืดเวลาการลงทุนออกไปกับบีโอไอ

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนมาจาก 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนประมาณ 80% และผลจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองของไทยประมาณ 20% โดยปัจจัยจากการเมืองภายในประเทศนักลงทุนมีความกังวลในเรื่องของกรอบระยะเวลาการเลือกตั้ง หากยิ่งยืดเวลาออกไป ก็จะกระทบต่อการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และการลงนามเขตการค้าเสรีในประเทศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยเสียเปรียบคู่แข่ง

รวมทั้งมีความกังวลภายหลังการเลือกตั้งด้วยว่าจะมีเหตุความไม่สงบตามมาหรือไม่ จึงทำให้นักลงทุนบางส่วนชะลอดูความชัดเจนในเรื่องนี้

“ส่วนตัวมองว่าปัญหาการซบเซาของเศรษฐกิจโลกจะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานใหม่หรือขยายการลงทุนมากที่สุดหากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก็จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ทั้งนี้จากภาวะความไม่สงบภายในประเทศที่กินเวลามายาวนาน ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนที่ประเทศอื่น และส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนออกไป เห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าเครื่องจักร และสินค้าทุนที่ลดลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขาดการพัฒนามานานกว่า 3 ปี จนทำให้ศักยภาพการแข่งขันลดลง”นายเกรียงไกร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ก.อุตฯเดินหน้าดัน7ยุทธศาสตร์มุ่งยกระดับผู้ประกอบการไทยขึ้นสู่ผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2559 ไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อย่างเต็มตัว ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อวงการอุตสาหกรรมไทย ในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ จากการส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมออกไปขายในตลาดอาเซียน ที่เป็นหนึ่งในตลาดที่มีกำลังซื้อมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ทั้งนี้เพื่อยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย ในการก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียนและเวทีโลก กระทรวงจึงได้เดินหน้าผลักดัน 7 ยุทธศาสตร์สำคัญที่สะท้อนมาจากรางวัลอุตสาหกรรม 7 ประเภท ที่มอบให้แก่สถานประกอบการที่มีระบบบริหารจัดการผ่านเกณฑ์การประเมิน เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการไทย ไม่ให้หยุดนิ่งในการพัฒนา

โดย 7 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิต เน้นปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ภายใต้การควบคุมต้นทุนการผลิต ลดการสูญเสียในทุกรูปแบบ นำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพพนักงาน 2.ยุทธศาสตร์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดนโยบายลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง ทั้งกระบวนการบริหารจัดการและการผลิต

3.ยุทธศาสตร์การบริหารความปลอดภัย โดยการสร้างระบบการจัดการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพราะความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตพนักงาน และจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นตามไปด้วย 4.ยุทธศาสตร์การบริหารงานคุณภาพ ด้วยการจัดการระบบบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

5.ยุทธศาสตร์การจัดการพลังงาน โดยการตั้งเป้าในการใช้พลังงานทุกประเภทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดปริมาณการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการวางนโยบายลดใช้พลังงานอย่างจริงจัง ไม่เพียงส่งผลดีต่อการลดอัตราสิ้นเปลืองพลังงานของประเทศ แต่ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลงอีกด้วย

6.ยุทธศาสตร์การจัดการโลจิสติกส์ โดยการบริหารจัดการระบบการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา และต้นทุนค่าเสียโอกาส 7.ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกด้าน ทั้งการวิเคราะห์ตลาด ความต้องการผู้บริโภค การบริหารจัดการ การผลิต ช่องทางการตลาดและจัดจำหน่าย

“เชื่อว่าหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย สามารถพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการและการผลิตสินค้าเข้าไปตีตลาดอาเซียนได้สำเร็จ ในภาพรวมไม่เพียงสามารถยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันได้ทัดเทียมกับนานาชาติ แต่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” นางอรรชกา กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

‘อ้อย’พืชเศรษฐกิจสำคัญภาคอีสาน

 “อ้อย” เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศตามยุทธศาสตร์สินค้าเป็นพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย) และเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย และพลังงานทดแทน ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก

ประเทศไทยผลิตน้ำตาลทรายได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยปริมาณการส่งออกรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2557 เท่ากับ 7,321,575.94 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.56 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ อินโดนีเซีย และกัมพูชา

ในขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมีมากขึ้นในปีการผลิต 2557/58 ผลผลิตโดยรวมทั่วประเทศเท่ากับ 104.59 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2556/57 เท่ากับ 0.89 ล้านตันอ้อย (ร้อยละ 0.86)

โดยเป็นผลผลิตอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 44.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 42.94 ของผลผลิตทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2556/57 เท่ากับ 1.30 ล้านตัน (ร้อยละ 2.98) เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกข้าวไปเป็นพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มรายได้นอกเหนือจากมันสำปะหลัง และยางพารา ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (เดือนมีนาคม 2558) พบว่ามีโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งสิ้นจำนวน 19 โรงงาน โดยตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีมากที่สุด รวม 4 โรงงาน ซึ่งยังไม่รวมถึงโรงงานน้ำตาลทรายขนาดเล็กซึ่งผลิตน้ำตาลทรายแดง และโรงงานที่อยู่ในขั้นตอนของการขออนุญาตขยายกำลังการผลิต หรือตั้งโรงงานเพิ่มเติมในปีการผลิต 2557/58

โรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับการจัดสรรปริมาณอ้อยเข้าโรงงานเท่ากับ 46.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.33 ของปริมาณที่ได้รับการจัดสรรในปี 2556/57 ตามประกาศของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

ทั้งนี้ปริมาณอ้อยที่ได้รับการจัดสรรเข้าโรงงานจะเป็นไปตามชนิดและปริมาณน้ำตาลทรายที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายผลิตในปีนั้น ๆ ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลทรายที่กำหนดให้ผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้บริโภคภายในประเทศ และสำหรับการส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือการซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ

แต่จากข้อมูลรายงานการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานทั่วประเทศประจำปีการผลิต 2557/58 (ฉบับปิดหีบอ้อย) พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่ากับ 47.37 ล้านตันอ้อย คิดเป็นร้อยละ 44.70 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั่วประเทศ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.50 ของปีการผลิต 2556/57 ซึ่งมีปริมาณมากกว่าปริมาณอ้อยที่ได้รับการจัดสรรตามประกาศของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

โดยสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้โดยเฉลี่ย 112.29 กิโลกรัม/ตันอ้อย ทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทราย ของปีการผลิต 2557/58 เท่ากับ 5,318,966.88 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.85 ของปีการผลิต 2556/57 คิดเป็นน้ำตาลทรายขาวร้อยละ 27.44 และน้ำตาลทรายดิบร้อยละ 71.39 ของปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าในปี 2557 ได้มีการขยายพื้นที่การผลิตอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 3,780,963 ไร่ เป็น 4,018,989 ไร่ ในปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.30

ในขณะที่เมื่อพิจารณาผลผลิตต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว พบว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2558 เท่ากับ 11,175 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 3.12) น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของผลผลิตทั่วประเทศที่เท่ากับ 11,240 กิโลกรัมต่อไร่

ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ได้ย้ายฐานการผลิตจากภาคกลางมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึง by-product จากการผลิตน้ำตาลทราย ได้แก่ กากน้ำตาล (Molasses) ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเอทานอล ทั้งเพื่อการบริโภคและใช้เป็นพลังงานทดแทน และถึงแม้ว่าเกษตรกรในพื้นที่จะหันมาปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวทั้งในรูปแบบของเกษตรกรอิสระ และ Contract Farming เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็ตามแต่การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอาจจะทำได้ไม่เต็มที่นัก

เนื่องจากเกษตรกรยังคงมีตัวเลือกอื่นซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ เช่น มันสำปะหลัง และยางพารา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนและจัดโซนนิ่งการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ และส่งเสริมความรู้ในการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวอ้อยที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ใช้ออนไลน์เจาะส่งออกอาเซียน

          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เพิ่มช่องทางการส่งออกให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ตามนโยบาย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้สร้างโอกาสทางการค้าให้กับ SMEs โดยใช้ Thaitrade.com ซึ่งเป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ช่วยขยายตลาดส่งออกให้กับ SMEs ไทยผ่านการค้าขายออนไลน์ และยังเป็นการสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy)

            “กรมฯ จะทำการเชื่อมช่องทางการค้าออนไลน์ของไทยกับกลุ่มอาเซียนและอาเซียนบวก 6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยใช้ Thaitrade.com ทำการเชื่อมโยงกับเว็บที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์ในประเทศเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อเข้าถึงสินค้าไทยได้ง่ายขึ้น และสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดอาเซียนและอาเซียน+6 ได้เพิ่มขึ้น” นางนันทวัลย์กล่าว

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ ผู้อำนวยการสำนักพาณิชย์ดิจิตอล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมฯ ได้มุ่งขยายโอกาสและความร่วมมือทางการค้าออนไลน์ โดยใช้เว็บไซต์ Thaitrade.com เป็นตัวเปิดทางให้กับผู้ประกอบการ SMEs ของไทยในการทำตลาดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้ทำการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของกรมฯ กับเว็บไซต์ของประเทศคู่ค้าที่จะเป็นตลาดการค้าออนไลน์ให้กับไทย ทั้งอาเซียนและอาเซียน+6 แล้ว ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฮ่องกง เวียดนาม เป็นต้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หมอดินสนับสนุนแผนที่สวทช. เพิ่มประสิทธิภาพปลูกพืชทดแทน-เพิ่มผลผลิตการเกษตร

ดร.อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้การสนับสนุนแผนที่สภาพการใช้ที่ดิน แผนที่กลุ่มชุดดิน แผนที่เขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข มาตราส่วน 1:4,000 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ กรมพัฒนาที่ดินให้การสนับสนุนและให้บริการกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปมาโดยตลอด ทั้งนี้ สวทช.เป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้และมีศักยภาพด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมาก ด้วยข้อมูลแผนที่ของกรมพัฒนาที่ดินที่ สวทช. นำไปใช้จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ดิน การปลูกพืชและช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก

นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล(กอ-อะ-นัน-ตะ-กูน) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.จะนำข้อมูลแผนที่ ไปดำเนินโครงการ What2grow (ว๊ทอซ์ ทู โกลว์) ซึ่งจะเป็นการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร ซึ่งหลักการดำเนินงานของโครงการนี้จะคล้ายกับ นโยบายการทำ Zonning แต่จะมีข้อมูลในเชิงลึกกว่าเป็นเท่าตัว เนื่องจากข้อมูลของชั้นดิน คุณภาพดินที่ได้นั้นมีความละเอียด อีกทั้งสามารถระบุเป็นรายแปลงได้ ซึ่งโครงการ What2grow นี้จะมีระยะการดำเนินงาน 5 ปี แบ่งระยะการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่1 การดำเนินงาน 1 ปี จะเน้นการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลและทำแบบจำลองการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตรในพื้นที่นำร่อง 1 จังหวัด / ระยะที่ 2 ดำเนินงาน 2 ปี ระหว่างปี 2559 – 2560 พัฒนาระบบเพิ่มเติมและขยายผลใช้งานในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานครอบคลุม 29 จังหวัด / ระยะที่ 3 ดำเนินงาน 2 ปี ระหว่างปี 2561 – 2562 พัฒนาระบบให้สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศ โดยในขณะนี้เริ่มดำเนินโครงการในพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชรเป็นแห่งแรก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สศก.เร่งทำข้อมูล “Water Footprint” ติดฉลากแจงใช้น้ำ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำเป็นที่สนใจไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในระดับโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำและการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับ Water Footprint ของระบบการผลิตพืชและสัตว์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ทั้งนี้ สศก. กำลังเร่งศึกษาข้อมูล Water Footprint ของสินค้าเกษตรแต่ละชนิดอยู่ เนื่องจากคาดว่าในอนาคตการติดฉลาก Water Footprint บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่าใช้น้ำในการผลิตเท่าไร น่าจะถูกมาใช้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงการผลิตสินค้าโดยใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการใช้นำในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดด้วย นอกจากนี้ อาจมีการเก็บภาษีน้ำ เนื่องด้วยน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด จึงต้องใช้มาตรการใครใช้ใครจ่าย (Who use, Who pay)  เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวสาร อาจต้องคำนวณภาษีค่าน้ำเข้าไป เพื่อนำเงินส่วนนี้เข้ากองทุนน้ำ สำหรับนำเงินไปใช้ในงานวิจัยพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่เพื่อรักษาสมดุลน้ำด้วยกระบวนการ 3R ได้แก่ Reuse Reduce Recycle เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดิน (3)

จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์อีกกลุ่มหนึ่งที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้ ซึ่งกลุ่มจุลินทรีย์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศ เพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน ประกอบด้วย ไรโซเบียมที่มีความเฉพาะเจาะจงกับพืช มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศ และจุลินทรีย์ละลายสารประกอบฟอสเฟตให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์กับพืช โดยแบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด.11 สำหรับโสนอัฟริกัน และปอเทือง

วิธีการขยายเชื้อ จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 สำหรับปอเทืองและโสนอัฟริกัน คือ

1.ผสมจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 จำนวน 1 ซอง และรำข้าวละเอียด 1 กิโลกรัม ในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที

2.รดสารละลายจุลินทรีย์ ลงบนกองปุ๋ยหมัก จำนวน 100 กิโลกรัม และคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับความชื้นให้ได้ 70% ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้น ขยายเชื้อเป็นเวลา 4 วัน จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้

อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อจุลินทรีย์สำหรับปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 (ปอเทืองและโสนอัฟริกัน) เริ่มจากหว่านปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.11 (ปอเทืองและโสนอัฟริกัน) ให้ทั่วพื้นที่ปลูก หรือโรยในแถวร่องปลูก 100 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนกรณีที่ใช้จุลินทรีย์สำหรับปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 สำหรับปอเทือง ให้หว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ และกรณีที่ใช้จุลินทรีย์สำหรับปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 สำหรับโสนอัฟริกัน ให้หว่านโสนอัฟริกันที่แช่น้ำแล้ว 1 คืน อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่

สำหรับประโยชน์ของเชื้อจุลินทรีย์สำหรับปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 นั้น สามารถช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจนให้กับพืชปุ๋ยสด เมื่อสับกลบจะเป็นแหล่งธาตุอาหารไนโตรเจนทดแทนปุ๋ยเคมีในระบบเกษตรอินทรีย์ เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดิน ช่วยให้พืชปุ๋ยสดดูดใช้และสะสมปริมาณฟอสฟอรัสให้กับพืชปรับปรุงบำรุงดินมากขึ้น รวมถึงเพิ่มมวลชีวภาพของพืชปรับปรุงบำรุงดิน (ปอเทืองและโสนอัฟริกัน) เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุ และความอุดมสมบูรณ์ของดินหลังสับกลบ ทำให้การปลูกพืชหลักตามมาได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พาณิชย์ แจงแก้ไข พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกฯ

กระทรวงพาณิชย์ แจงแก้ไข พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกฯ ให้สอดคล้องสถานการณ์ ชี้ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ทางกรมฯ ได้ปรับปรุง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนดนิยามคำว่า “นำผ่าน” เอาไว้ ทำให้ที่ผ่านมามีปัญหาการตีความว่าการนำสินค้าถ่ายลำ ผ่านแดนประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้อย่างไร โดยการปรับปรุงนิยามและความชัดเจนในส่วนที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้แนวปฏิบัติการนำสินค้าถ่ายลำ ผ่านแดนมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ศุลกากร ในการอำนวยความสะดวกทางการค้า พันธกรณีระหว่างประเทศ และสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน รวมทั้งรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โดย พ.ร.บ.การส่งออกและนำเข้าฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ศาลฯสั่งปลัดอุตฯจัดการ หลังถ่วงคำขอรง.น้ำตาล 

          ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งการกรณีบริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ขอย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปสุโขทัย และการขอขยายกำลังการผลิตจาก 18,000 เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน หลังจากรัฐมนตรีอุตสาหกรรมถ่วงเรื่องมานาน

          วานนี้ (11 ส.ค.) ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 589/2554 หมายเลขแดงที่ 1919/2558 ที่บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องคดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทน้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด(บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด เดิม) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ตามลำดับ เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

          คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานประเภทที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาลที่ทำจากอ้อย การทำน้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว ในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี 2517 โดยได้รับอนุญาตหีบอ้อย 18,000 ตันต่อวัน เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรปลูกอ้อยในจังหวัดอุตรดิตถ์และสุโขทัยจำนวนกว่า 3,700 ราย

          เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2532 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติห้ามตั้งโรงงานน้ำตาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก ครม. ต่อมาวันที่ 22 ก.ค.2546 ครม.ได้มีมติห้ามโรงงานน้ำตาลขยายกำลังการผลิต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก ครม. อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น มีโรงงานน้ำตาลวังกะพี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ห่างจากโรงงานของผู้ฟ้องคดี 22 กิโลเมตร ได้รับอนุญาตให้หีบอ้อยในอัตราไม่เกิน 3,000 ตันอ้อยต่อวัน มีชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเป็นผู้ปลูกอ้อย จำนวนประมาณ 350,000 ตันอ้อยต่อปี เดิมโรงงานแห่งนี้เป็นรัฐวิสาหกิจ ต่อมา มติครม.วันที่ 10 ส.ค.2547 ขายโรงงานนี้ให้บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด โดยมีเงื่อนไขให้โรงงานแห่งนี้หีบอ้อยในอัตราไม่เกิน 18,000 ตันอ้อยต่อวัน และสามารถย้ายโรงงานไปยังพื้นที่ที่มีปริมาณอ้อยเพียงพอกับการผลิตในระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร โดยไม่ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มและต้องไม่เข้าแย่งชาวไร่ที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานอื่น ต่อมา บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด ได้ขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปอยู่ที่ตำบลดงคู่ และตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และขอขยายกำลังผลิตเป็น 18,000 ตันอ้อยต่อวัน โดยไม่มีชาวไร่อ้อยเป็นคู่สัญญาเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2,000,000 ตันอ้อยแต่อย่างใด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้อนุญาตให้มีการย้ายโรงงาน และขยายกำลังการผลิตดังกล่าว โดยอ้างมติ ครม.วันที่ 10 ส.ค.2547 ทั้งที่ในขณะนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดหลักเกณฑ์การย้ายโรงงานไว้แล้วว่า ต้องมีระยะห่างระหว่างโรงงานเดิมกับโรงงานใหม่ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ให้โรงงานที่จะย้ายมีการเตรียมอ้อยที่จะเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตในฤดูหีบนั้นๆ และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดิม

          เมื่อโรงงานน้ำตาลวังกะพี้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่จะอยู่ห่างจากโรงงานของผู้ฟ้องคดีเพียง 39 กิโลเมตร และจะเข้าไปอยู่ในบริเวณกลางพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของผู้ฟ้องคดี และบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด ไม่มีคู่สัญญาในพื้นที่ใหม่เพียงพอสำหรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จึงไม่อาจหาอ้อยได้ในปริมาณที่เพียงพอ เว้นแต่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย ซึ่งจะขัดกับมติ ครม.วันที่ 10 ส.ค.2547 ที่ห้ามโรงงานน้ำตาลวังกะพี้เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย ทำให้เกิดการแย่งอ้อยของผู้ฟ้องคดีโดยไม่เป็นธรรม ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคัดค้านการย้ายโรงงานน้ำตาลวังกะพี้ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้ผู้ฟ้องคดีแค่อย่างใด

          ผู้ฟ้องคดีจึงได้จัดหาที่ดินในเขตตำบลในเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย จำนวน 1,500 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่กลางกลุ่มชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของผู้ฟ้องคดี เพื่อก่อสร้างโรงงาน และได้มีหนังสือวันที่ 9 ก.ค.2550 ขออนุญาตย้ายโรงงาน ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการขออนุมัติต่อ ครม. แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการใดๆ จึงมีหนังสือขอไปอีกครั้ง ในวันที่ 29 สิงหาคม 2550 และวันที่ 1 ต.ค.มีหนังสือขอความเป็นธรรมในการย้ายโรงงาน แต่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 2 ต.ค.2550 แจ้งว่ายังไมมีเหตุผลเพียงพอในการขอย้ายโรงงาน เนื่องจากกำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตเดิม ไม่ใช่เป็นการขยายกำลังการผลิต และอ้างว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่โรงงานต้องอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ทั้งที่โรงงานน้ำตาลวังกะพี้แห่งใหม่ที่ได้รับอนุญาต อยู่ห่างจากโรงงานของผู้ฟ้องคดีเพียง 37 กิโลเมตร ขณะที่โรงงานแห่งใหม่ของผู้ฟ้องคดีจะอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลวังกะพี้ถึง 56 กิโลเมตร หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือถึงผูถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อขอย้ายโรงงานหลายครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้า

          จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ของผู้ฟ้องคดี เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด ที่ได้รับอนุญาตให้ไปตั้งโรงงานที่ตำบลดงคู่ และตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และได้ขยายกำลังผลิตเป็น 18,000 ตันอ้อยต่อวัน

          ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องบางข้อหาไว้พิจารณา ลงวันที่ 29 มีนาคม 2554 โดยไม่รับคำฟ้องในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด ไว้พิจารณา

          ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่นำเรื่องการขอย้ายโรงงานน้ำตาลไปตั้งที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และขยายกำลังผลิตโรงงานน้ำตาลเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ของผู้ฟ้องคดี เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

          สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น มาตรา 6 วรรค 1 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี 2548 กำหนดให้การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 เป็นอำนาจหน้าที่ข่องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด

          อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีนี้ ครม.ได้มีมติแมื่อวันที่ 20 เม.ย.2558 ให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 30 ตุลาคม 2532 (เรื่องการย้ายสถานที่ตั้งและการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายใหม่) และให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 22 ก.ค.2546 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาราคาอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ) ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว ข้อ 1.2(5) ของหนังสือกระทรวงอุตสาหกรรม ด่วนที่สุด อก 0626/2740 ลงวันที่ 3 ก.ค.2546 แล้ว ทำให้ขั้นตอนการเสนอขอย้ายโรงงานน้ำตาลหรือขยายกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติไม่มีอีกต่อไป ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำบังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการการตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็น "ผู้อนุญาต" ตาม พ.ร.บ. โรงงาน 2535 มีอำนาจพิจารณาว่าจะอออกใบอนุญาตย้ายหรือขยายกำลังการผลิตให้แก่โรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ โดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนอีกต่อไป ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงต้องรีบพิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายหรือขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลของผู้ฟ้องคดี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ ใน พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการขออนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 พ.ศ.2549 และประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ผู้ฟ้องคดีต่อไป

          พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาสั่งการเรื่องการออกใบอนุญาตย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ของผู้ฟ้องคดีจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปจังหวัดสุโขทัย และการขอขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลดังกล่าวจากอัตราวันละ 18,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยเร็วต่อไป ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ: กระทรวงเกษตรต่อยอดงานวิจัยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างรอบด้าน 

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งมั่นพัฒนางานด้านวิจัย รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จมาโดยตลอด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง พัฒนาสายพันธุ์และการแปรรูปต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ การวิจัยด้านเศรษฐกิจ และการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ไปสู่เกษตรกร ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพ หรือเพิ่ม รายได้แก่ครอบครัว

          นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง จึงได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ชื่อนิทรรศการ ว่า"เกษตรวิจัย เกษตรไทยก้าวหน้า" เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรในการช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างรอบด้านให้แก่เกษตรกร รวมทั้ง เป็นการเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบนิทรรศการของหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่โดดเด่น ทั้ง 15 หน่วยงาน

          อาทิ ฝายพับได้ในงานชลประทาน โดย กรมชลประทาน เทคโนโลยีการจัดการน้ำในนาข้าวอย่างประหยัดแบบ เปียกสลับแห้ง โดย กรมการข้าว, การส่งเสริมการใช้ชุดเครื่องมือไถระเบิดดินดาน ในพื้นที่การปลูกพืชไร่ (มันสำปะหลัง) โดย กรมส่งเสริมการเกษตร  การเปรียบเทียบคุณภาพเนยแข็งเฟต้าที่ผลิตจากน้ำนมโคและจากน้ำนมกระบือ โดยกรมปศุสัตว์, รูปแบบกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ในชุมชนที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งต่อสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์, การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลบนพื้นที่รับน้ำป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม โดยกรมพัฒนาที่ดิน

          การผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์ โดยกรมประมง, การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร, เครื่องให้ความร้อนแบบไดอิเล็กตริกสำหรับฆ่ามอดข้าว โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), BIO-Product ความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), นวัตกรรมแผ่นใยไหม โดยกรมหม่อนไหม และไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยควบคุมแมลง โดยกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น เป็นต้น

          ทั้งนี้การนำเสนอผลงานที่เป็นรูปธรรมในรูปแบบอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้จริง และเนื้อหา สาระสำคัญของงานวิจัยในรูปแบบเอกสาร รวมทั้งการสาธิตให้เห็นถึงขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ของงานวิจัยที่ได้นำมาจัดแสดง ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะเผยแพร่ผลงานวิจัยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้สาธารณชนได้รับรู้และประชาสัมพันธ์ใน วงกว้าง ซึ่งผลงานที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยจากหลายๆ ผลงานที่ประสบความสำเร็จ สามารถนำไปขยายผลได้และเป็นประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความสนใจในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับงานวิจัยให้แก่เกษตรกร และประชาชนคนไทยให้ขยายผลต่อไป โดยเฉพาะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบว่า ผลงานวิจัยของ กระทรวงเกษตรฯ มีเรื่องใดบ้าง

          ดังนั้น เพื่อให้เกิดการรับรู้และประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง จึงได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ชื่อนิทรรศการ "เกษตรวิจัย เกษตรไทยก้าวหน้า" ระหว่างวันที่  3 สิงหาคม  2558-11 มีนาคม 2559 ตั้งแต่ เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม 115   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก แบ่งเป็นในส่วนของกรมวิชาการเกษตร วันที่ 17-21 สิงหาคม กรมการข้าว 31 สิงหาคม-4 กันยายน กรมหม่อนไหม วันที่ 14-18 กันยายน กรมปศุสัตว์ วันที่ 5-9 ตุลาคม กรมประมง วันที่ 26-30 ตุลาคม กรมชลประทาน วันที่ 9-13 พฤศจิกายน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์กรมหาชน) วันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ 2559

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) วันที่ 7-11 มีนาคม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร แห่งชาติ วันที่ 7-11 มีนาคม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร วันที่ 7-11 มีนาคม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วันที่ 23-27 พฤศจิกายน  กรมพัฒนาที่ วันที่ 14-18 ธันวาคม กรมส่งเสริมการเกษตร วันที่ 11-15 มกราคม 2559 กรมส่งเสริมสหกรณ์ วันที่ 25-29 มกราคม 2559 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์  ซึ่งมีรูปแบบการจัดนิทรรศการ ทั้งการ นำเสนอผลงานที่เป็นรูปธรรมในรูปแบบอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้จริง และเนื้อหา สาระสำคัญของงานวิจัยในรูปแบบเอกสาร รวมทั้งการสาธิตให้เห็นถึงขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ของงานวิจัยที่ได้นำมาจัดแสดง ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะเผยแพร่ผลงานวิจัยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้สาธารณชนได้รับรู้และประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ซึ่งผลงานที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยจากหลายๆ ผลงานที่ประสบความสำเร็จ สามารถนำไปขยายผลได้และเป็นประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความสนใจในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับงานวิจัยให้แก่เกษตรกร และประชาชนคนไทยให้ขยายผลต่อไป โดยเฉพาะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบว่า ผลงานวิจัยของกระทรวงเกษตรฯ มีเรื่องใดบ้าง

          "การจัดงานนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของกระทรวงเกษตรฯ ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักวิจัย นักวิชาการ ที่สามารถนำผลสำเร็จของงานวิจัยต่างๆ ไปต่อยอด เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรในการช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างรอบด้านให้แก่เกษตรกรต่อไป โดยกระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นที่จะทำงานโดยยึดประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง โดยอาศัยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำพาภาคเกษตรของประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกร พัฒนาภาคเกษตรให้เจริญก้าวหน้า เข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ" รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ชดเชยภัยแล้งแค่2แสนไร่ ใช้งบฉุกเฉินจังหวัดจ่าย หวังภัยพิบัติดึงราคาข้าว 

          นายชวลิต  ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สรุปผลสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรในเขตชลประทานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีพื้นที่ได้รับผลเสียหายแล้วประมาณ 200,000 ไร่ หรือ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% จากเดิมที่ประเมินว่า จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งประมาณ 1.5 ล้านไร่  ดังนั้นกระทรวงฯ เตรียมเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,113 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับการชดเชยภัยพิบัติพืชผลอื่นในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา โดยไม่จำเป็นต้องเสนอขอใช้งบกลางรายการสำรองฉุกเฉิน กรณีเร่งด่วนและจำเป็นปีงบ ประมาณ 58 มาชดเชย เพราะจะใช้งบประมาณฉุกเฉินของจังหวัด ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจังหวัดละ 10 ล้านบาทมาใช้แทน

          "งบประมาณที่จะชดเชยโดยนำงบของจังหวัด มาใช้ในส่วนนี้เพียงพอที่จะจ่ายให้กับเกษตรกรได้แน่นอน โดยไม่ต้องขออนุมัติงบกลาง ซึ่งหากรวมกับการสนับสนุนงบประมาณในส่วนของวงเงิน 6,500 ล้านบาท ที่กระทรวงมหาดไทยได้รับการเห็นชอบจาก ครม. จะลงไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ทันที โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการจ้างงานให้คนในพื้นที่ ด้วยการเน้นไปที่การขุดบ่อน้ำและปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำบางส่วนไว้ใช้ในการทำนารอบต่อไป เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณฝนที่จะตกจนถึงเดือน พ.ย. นี้ ยังไม่เพียงพอสำหรับสนับสนุนการทำนาปรังในช่วงต้นปีหน้าได้ทั้งหมด"

          สำหรับปริมาณการผลิตข้าวที่ลดลงในปีนี้ จากภาวะภัยแล้งขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวให้ปรับตัวสูงขึ้นได้หรือไม่ เนื่องจากต้องดูการระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาลด้วยว่าสามารถทำได้รวดเร็วเพียงใด อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาข้าวมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวในต่างประเทศหลายแห่งต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในเมียนมา และเวียดนามก็ประสบปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ประเทศ ไทยก็มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง ราคาข้าวจึงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

          รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ยังดำเนินมาตรการเดิมเพื่อช่วยเกษตรกรที่มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยล่าสุด ธ.ก.ส. ได้รับรายงานจากสาขาทั่วประเทศหลังคณะกรรมการ ธ.ก.ส. อนุมัติโครงการและมีการปล่อยสินเชื่อไป มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการและขอยื่นกู้เป็นจำนวนมาก และหากมีเกษตรกรขอกู้จนครบวงเงิน ธนาคารจะเสนอคณะกรรมการเพื่อขยายวงเงิน หรือพิจารณามาตรการเพิ่มเติมต่อไป

          "ธ.ก.ส.ยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมออกมาใหม่ที่จะช่วยเกษตรกร  แต่คงใช้มาตรการเดิม เพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งไปก่อน เพื่อให้เกษตรกรได้มีความคลายกังวลเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและให้มีสภาพคล่องใช้ จ่ายในชีวิตประจำวันในภาวะที่ขาดรายได้ขณะนี้ โดยจะประเมินเป็นระยะ ๆ จะต้องดูทั้งปริมาณน้ำและฝนหลังจากนี้ว่าเป็นอย่างไรก่อนจะพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม"

          สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า และสหกรณ์การเกษตร ปี 58 วงเงิน 60,000 ล้านบาท จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 50% ของผลผลิตทั้งหมด หรือเกษตรกรที่ชะลอทำการเกษตร และไม่มีรายได้จากภัยแล้ง โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการสินเชื่อระยะสั้นวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และระยะยาวอีก 3 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบการผลิตด้านการเกษตรเป็นการพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อการเพิ่มประสิทธิ ภาพการผลิตทางการเกษตร หรือเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นรูปแบบอื่นที่มีความเหมาะสมมากขึ้น

          นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังขยายเวลาชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 9 เดือน และกรณีพิเศษไม่เกิน 12 เดือน โดยให้สอดคล้องกับแหล่งที่มาของรายได้ และช่วยเหลือสหกรณ์การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการชำระหนี้ของสมาชิก โดยพิจารณาขยายตารางกำหนดชำระหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารออกไปไม่เกิน 12 เดือน

          "ปัจจุบันธนาคารฯ ได้มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง  แต่การช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งแต่ละรายอาจจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน โดยการช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกรเท่านั้น  แต่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันแก้ไข".

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ไทย-ลาวจับมือยกระดับ AEC  ยกระดับการค้า-ตั้งเป้าหมายมีมูลค่าเพิ่มใน 3 ปี

     ไทย-ลาวผนึกกำลัง ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 3 ปีข้างหน้า พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะระบบถนนและรถไฟรางคู่ใหม่ทั่วประเทศ 8 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้า

    พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “การเกื้อกูลทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน” ในงานสัมมนา “เขตเศรษฐกิจพิเศษไทย-สปป.ลาว โอกาสการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว” ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญลำดับต้นกับการพัฒนายกระดับการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สปป.ลาว โดยได้ตั้งเป้าหมายให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศระหว่างกันเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่าการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้อย่างเต็มศักยภาพ และจะบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ

     ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันการดำเนินการใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การที่ภาครัฐจะสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถขยายและพัฒนาโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลงภายใต้เออีซีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด 2.การที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมมือกันสร้างเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้นให้เป็นที่น่าสนใจ สามารถดึงดูดคู่ค้าผู้ลงทุนจากภูมิภาคอื่นให้เข้ามาสู่เออีซี เพราะจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวขนาดใหญ่ของโลกอีกแห่งหนึ่ง

     พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นเพื่อร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่หนึ่งคือ การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) 10 จังหวัดครอบคลุมทั่วประเทศ ให้สอดรับกับความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง การค้าและการลงทุนที่กำลังจะยกระดับขึ้นในอาเซียนและประเทศคู่ค้าหลัก เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้จะเป็นประตูสู่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียน

     นอกจากนี้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่ติดกับ สปป.ลาว คือจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก โดยมีกิจการเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดนักลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน, คลังสินค้า, นิคมอุตสาหกรรม และบริการสาธารณูปโภค และยังมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ในอนาคตจะจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมที่จังหวัดหนองคายและนครพนมต่อไป

    ส่วนยุทธศาสตร์ที่สอง คือ การเร่งขับเคลื่อนการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะระบบถนนและรถไฟรางคู่ใหม่ทั่วประเทศ 8 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้า และที่สำคัญเพื่อเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเข้าด้วยกัน โดยสามารถเชื่อมต่อสู่ประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายคมนาคมขนส่งประสิทธิภาพสูงของอาเซียน สำหรับฐานผลิตสินค้าในชุมชนสู่ตลาดทั้งในไทย และในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ

     “ระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ กรมการค้าต่างประเทศจะจัดกิจกรรมนำคณะผู้แทนการค้าการลงทุนไทย ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค เดินทางไปเจรจาขยายลู่ทางการค้าการลงทุน ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ขณะนี้มีเอกชนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมคณะผู้แทนฯ แล้วกว่า 40 ราย นับเป็นนิมิตหมายอันดีในการเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศต่อไป” รมว.พาณิชย์ กล่าว

    ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า การเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการรวมทั้งการลงทุนที่ข้ามไปมาระหว่างประเทศที่ง่ายขึ้น จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปสู่การเติบโตของรายได้และการแก้ปัญหาความยากจน แต่การเปิดเสรีจะมีบางกลุ่มในแต่ละประเทศที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ซึ่งกลุ่มที่เสียประโยชน์อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการหรือถึงขั้นต้องปิดตัวลง

 อย่างไรก็ดี แม้จะมีบางกลุ่มเสียประโยชน์ แต่โดยภาพรวมจะเกิดการนำทรัพยากรที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่มาหมุนเวียนใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ดีขึ้น เช่น ภาคเกษตรกรรมในประเทศไทยอาจเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงเท่าประเทศคู่แข่ง และยังมีการอุดหนุนจากภาครัฐค่อนข้างมาก อีกทั้งพึ่งพาการใช้แรงงานค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปิดเสรีก็จะมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ทำให้ประเทศไทยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนในภาคเกษตรสูงแต่กลับมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่ำ ให้แรงงานเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปยังภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ซึ่งก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีมูลค่าเพิ่มได้ดีขึ้น แต่ภาครัฐต้องเพิ่มคุณภาพของแรงงานเหล่านี้ให้มีการศึกษามีทักษะที่ดีขึ้นเตรียมพร้อมสำหรับการเข้ามาสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

โครงสร้างอ้อย-น้ำตาลใหม่อุตฯพร้อมชงครม.กันยานี้ 

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนกันยายนนี้ พร้อมแผนเงินกู้เพื่อดูแลราคาอ้อยเพิ่มเติมอีก 1.3 หมื่นล้านบาท เพราะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2557/58 ต่ำกว่าขั้นต้นประมาณ 50 บาทต่อตัน

          นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน หนึ่งในคณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ตามแผนจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายใน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เนื่องจากยังมีช่องทางอื่นที่สามารถดำเนินการได้ อาทิ ออกเป็นระเบียบของคณะทำงานอ้อยและน้ำตาลทราย ให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) นำไปปฏิบัติใช้ "การปรับโครงสร้างจะไม่มีผลต่อราคาน้ำตาลทรายที่รัฐกำหนดไม่เกิน 23 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ 70-30 ระหว่างชาวไร่กับโรงงาน" นายธีระชัยกล่าว

          นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า การปรับโครงสร้างใหม่นี้เพื่อให้ทันโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ชงรื้อโครงสร้างน้ำตาลแลกกู้เพิ่ม1.3หมื่นล้าน 

          ตัวแทนชาวไร่ยันคงระบบ แบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ตามเดิม

          กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอแผน ปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายเข้าครม.เดือนก.ย.นี้ พร้อมขอกู้เงินเพิ่ม1.3 หมื่นล้าน อุดหนุนราคาอ้อย

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งเป็นไป ตามเงื่อนไขเดิมที่ ครม.ระบุว่าหากจะมีการกู้เงินเพื่อดูแลเสถียรภาพราคาอ้อยเพิ่มเติม จะต้องส่งแผนปรับโครงสร้างไปพร้อมกันด้วย

          โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนที่จะกู้เงิน มาดูแลราคาอ้อยเพิ่มเติมอีก 1.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2557/58 ต่ำกว่าขั้นต้นประมาณกว่า 50 บาทต่อตัน ซึ่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องกู้มาจ่ายคืนโรงงานตาม กฎหมาย ดังนั้นหากจะกู้เงินก็ต้องเสนอแพ็คเกจ การปรับโครงสร้างเข้าไป

          นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรม สถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และหนึ่งในคณะทำงาน ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การเตรียมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตามมติ ครม.ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติในเร็วๆ นี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายใน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ 2527 เนื่องจากยังมีช่องทางอื่นที่สามารถดำเนินการ และบังคับใช้ตามกฎหมายได้ เช่น การออกเป็นระเบียบของคณะทำงานอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ที่มีอำนาจในการจัดการอุตสาหกรรมนี้นำไปปฏิบัติใช้

          ทั้งนี้ ในเบื้องต้นในรายละเอียดที่จะบังคับใช้ จะมีการกำหนดให้เกษตรกรชาวไร่ต้องมีกระบวนการผลิตอ้อยให้ได้มาตรฐานและต้องได้ประสิทธิภาพตามที่ภาครัฐกำหนด โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดการเพื่อรับมือกับปัญหาแล้ง การจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้อ้อยได้รับน้ำตลอดทั้งปี ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตอ้อยลดลง จนเกษตรกรมีรายได้จากการขายอ้อยเพิ่มขึ้น

          ขณะที่โรงงานน้ำตาลนั้นตามระเบียบจะกำหนดให้มีการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการหีบอ้อยให้ได้ปริมาณอ้อยไม่ต่ำกว่า90% โดยในส่วนของโรงงานนี้ที่ผ่านมาแต่ละโรงมีมาตรฐานต่างกัน ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอ กระทบรายได้เกษตรกร รวมทั้งในระเบียบนี้จะเพิ่ม ความชัดเจนในส่วนการจัดการ ผลผลิตอุตสาหกรรมอ้อยที่ยังไม่กำหนดใน พ.ร.บ. เช่น การนำน้ำอ้อยไปทำเอทานอล และปัจจุบันเป็นรายได้ของ โรงงาน แต่ในคณะกรรมการปรับโครงสร้างจะพิจารณาว่า รายได้ส่วนนี้จะจัดสรรอย่างไรให้เป็นธรรมที่สุด

          "การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะไม่มีผลต่อราคาน้ำตาลทราย ที่ภาครัฐกำหนดราคาไม่เกิน 23 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งระบบการแบ่งปัน ผลประโยชน์ของทั้งอุตสาหกรรมที่กำหนดให้ชาวไร่ได้ 70% และโรงงานได้ 30% จะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยแนวการพิจารณาเงินเพิ่ม ค่าอ้อยในกรณีที่ราคาขั้นต้นต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจะยังคงเดิม เพราะเรื่องนี้ในข้อเท็จจริงชาวไร่มองว่า ไม่ใช่เป็นการนำเงินรัฐมาช่วยเหลือ แต่เป็นการนำเงินของอุตสาหกรรมมาดูแล และเจตนาของชาวไร่ต้องการดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด จึงพยายามลดต้นทุนการผลิต และหวังว่าจะสามารถลดการกู้เงินเพิ่มค่าอ้อยในแต่ละปีลงได้" นายธีระชัย กล่าว

          นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เวลานี้อยากให้ไทยมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายเพื่อให้ทันโลก โดยเฉพาะเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

          อย่างไรก็ตามเนื่องจากอุตสาหกรรม ดังกล่าวมีชาวไร่อ้อยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะ เป็นผู้ผลิต ดังนั้นการปรับโครงการสร้าง อุตสาหกรรมน้ำตาลตามนโยบายรัฐบาล ก็คง ต้องดูความพร้อมของชาวไร่ด้วยเช่นกัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

กู้เงินมาอุ้มชาวไร่อ้อย 

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ก.ย.นี้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขมติ ครม.เดิมว่า หากจะกู้เงิน เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาอ้อยเพิ่มเติมจะต้องส่งแผนปรับโครงสร้างไปพร้อมๆกันด้วย ซึ่งล่าสุด ต้องกู้เงินมาดูแลราคาอ้อยเพิ่มเติมอีก 13,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2557/58 ต่ำกว่าขั้นต้น 50 บาทต่อตัน ซึ่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องกู้มาจ่ายคืนโรงงานตามกฎหมาย

          “การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะเสนอให้ ครม. ไม่ได้มองเพียงเรื่องการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย แต่เป็นการเสนอข้อมูล ทั้งระบบ โดยแนวทางใดที่ดีอยู่แล้ว จะไม่แก้ไข ขณะเดียวกัน ประเทศบราซิล ก็เตรียมที่จะร้องเรียนประเทศไทย กรณีที่ไทยยังมีการอุดหนุนราคาอ้อย ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม โดยการขึ้นราคาน้ำตาลทรายขายปลีก 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพื่อนำเงินดังกล่าวไปดูแลระบบแบ่งปันผลประโยชน์อ้อยและน้ำตาลทราย ระบบ 70/30 จึงเป็นโอกาสที่ดี ในการแก้ไขโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้ทั้งระบบ”

          นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยต้องปรับปรุงการผลิตให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุน เพราะราคาอ้อยจะตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง โดยรัฐบาลจะต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องการให้นำเอาผลผลิตทั้งหมดของอ้อยมาคำนวณเป็นรายได้ในระบบ 70/30 ด้วย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ลุ้นเตาเผากากอุตสาหกรรม 

          นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วย รมว. อุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าในการสร้างพื้นที่รองรับเตาเผาขยะอุตสาหกรรมที่องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ของประเทศญี่ปุ่น มอบให้รัฐบาลว่า ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และเนโดะ ได้ทำการศึกษาพื้นที่ในการตั้งเตาเผาขยะ 2 พื้นที่ คือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และนิคมฯ สมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยคาดว่าพื้นที่ที่เหมาะสมจะเป็นนิคมฯ มาบตาพุด โดย กนอ. ได้จัดหาพื้นที่ 50 ไร่ เพื่อรองรับโครงการนี้

          ทั้งนี้ เพื่อการขยายโครงการในอนาคต ซึ่งในเฟสแรกจะใช้พื้นที่ 25 ไร่ โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างฝ่าย กนอ. และเอกชนไทย 50% และเนโดะกับเอกชนญี่ปุ่นอีก 50% การลงทุนในเฟสแรกของฝ่ายไทย จะเป็นค่าที่ดิน 100 ล้านบาท ส่วนการก่อสร้างอาคาร ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการศึกษาที่ทำการศึกษาต่อไป ซึ่งการที่เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนก็เพื่อให้มีการลงทุนต่อเนื่องในเฟสต่อไป และเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญในการตั้งนิคมฯ กำจัดกากอุตสาหกรรมในอนาคต

          สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างนิคมฯ กำจัดกากขยะอุตสาหกรรม ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 6 แห่ง จะต้องรอผลการศึกษาจากที่ปรึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัญหาหลักของโครงการนี้เป็นเรื่องของการจัดหาที่ดินขนาดใหญ่ในขณะที่การผลักดันโครงการนิคมฯ เชิงนิเวศ ก็จะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศรวม 59 แห่ง ที่กระจายอยู่ใน 18 จังหวัด ให้กลายเป็นนิคมฯ เชิงนิเวศให้ครบตามแผนงานในปี 2562 และกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการนำร่องจัดทำแผนแม่บทนิคมฯ เชิงนิเวศเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และในปีนี้จะจัดตั้งอีก 10 จังหวัด

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

กระทรวงอุตฯรวมศูนย์ข้อมูลรับ AEC 

          นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมของคณะอนุกรรมการประชาคมอาเซียนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ผ่านมา โดยมีผลจากการประชุมในครั้งนั้นหลายประการที่น่าสนใจ ซึ่งผลดำเนินการสำคัญที่เป็นความคืบหน้าในปัจจุบันและช่วงต่อไป ดังนี้คือ

          ในส่วนของมาตรการเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบ National Single Window (NSW) นั้น หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องดำเนินการเชื่อมต่อระบบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) โดยสถานะล่าสุด สอน. กพร. กรอ. และ สฟอ. ได้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบแล้ว สำหรับ สมอ.อยู่ในระหว่างดำเนินการโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนนี้

          อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกันนั้น ถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังต้องให้ทุกหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทั้ง 36 แห่ง ที่สำคัญ อาทิ กรมศุลกากร, กรมการค้าต่างประเทศ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ประสานความร่วมมือบูรณาการข้อมูลของแต่ละฝ่ายให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดีในอนาคต

          ทั้งนี้ National Single Window (NSW) เป็นการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ บูรณาการเพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจากการติดต่อเพียงจุดเดียว โดยมุ่งที่จะลดต้นทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรม และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ลดขั้นตอนการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เอกสารต่างๆ เช่น ใบอนุญาตการนำเข้า ใบอนุญาตการส่งออกและใบรับรองต่างๆ ที่ออกโดยหน่วยงานหนึ่งสามารถที่จะจัดส่งทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างอัตโนมัติไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันระบบ NSW ของประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้พัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านอุตสาหกรรม การค้าระหว่าง NSW ของแต่ละประเทศให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนหรือ ASEAN Single Window   (ASW) เพื่อให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นตลาดเดียวและมีฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน (Single Market and Production Base)

          ทั้งนี้ยังมีผลดำเนินการสำคัญหลังจากมีการประชุมอนุกรรมการในครั้งนั้นอีกประการหนึ่งคือ การดำเนินการตาม พิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 เพื่อเป็นการรองรับประชาคม ASEAN ในช่วงต้นปี 2559 โดยขณะนี้ดำเนินการไปตามแผนทุกประการ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดิน(2)

การผลิตน้ำหมักชีวภาพ โดยใช้สารเร่ง ซุปเปอร์ พด.2 เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ที่รับผิดชอบดูแล นำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยวัสดุที่มีลักษณะสด ความชื้นสูง เพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพในเวลาสั้นและได้คุณภาพน้ำหมักชีวภาพที่ได้ประกอบด้วย ฮอร์โมน กรดอะมิโนกรดฮิวมิค กรดอินทรีย์ และธาตุอาหาร

สำหรับสูตรน้ำหมักชีวภาพโดยใช้สารเร่ง ซุปเปอร์ พด.2 นั้น มีหลายสูตรด้วยกัน เช่น สูตรน้ำหมักชีวภาพจากผักและผลไม้สูตรน้ำหมักชีวภาพจากปลาหรือหอยเชอร์รี่ สูตรน้ำหมักชีวภาพจากน้ำนมดิบคุณภาพต่ำ และสูตรน้ำหมักชีวภาพจากน้ำนมดิบคุณภาพต่ำและผลไม้

การผลิตน้ำหมักชีวภาพโดยวิธีการต่อเชื้อ เป็นการผลิตน้ำหมักชีวภาพที่มีอายุการหมัก 5-7 วัน จำนวน 2 ลิตร แทนการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง และใช้อัตราส่วนของวัสดุหมักเท่าเดิม

ส่วนน้ำหมักชีวภาพที่หมักสมบูรณ์แล้ว การเจริญของจุลินทรีย์น้อยลงโดยคราบเชื้อที่พบในช่วงแรกจะลดลง กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง ไม่พบฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความเป็นกรดเป็นด่าง อยู่ระหว่าง 3-4

การใช้พืชให้ความหวานทดแทนกากน้ำตาลในการผลิตน้ำหมักชีวภาพได้แก่ น้ำตาลทรายน้ำอ้อย ลำไย ฝักจามจุรี โดยมีปริมาณการใช้แทนการใช้กากน้ำตาล 10 กิโลกรัมดังนี้ น้ำตาลทราย 5 กิโลกรัม น้ำอ้อย 10 ลิตร ลำไย 20 กิโลกรัม และฝักจามจุรี 30 กิโลกรัม

อัตราและวิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ ในพื้นที่นาข้าว เริ่มจากการแช่เมล็ดพันธุ์ข้าว ผสมน้ำหมักชีวภาพ 2 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 1 ปี๊บ แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว 20 กิโลกรัม 12 ชั่วโมง แล้วนำขึ้นพักไว้ 1 วัน แล้วนำไปปลูกจากนั้นไถกลบตอซัง โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ 5 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ราดให้ทั่วแปลง หมักไว้ 10- 15 วัน ในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อถึงช่วงการเจริญเติบโตของต้นข้าว ให้ผสมน้ำหมักชีวภาพ 13 ช้อนโต๊ะ น้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อข้าวอายุ 30 50 และ 60 วัน

ส่วนพืชไร่ ควรผสมน้ำหมักชีวภาพ 13 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 400 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุกๆ 10 วัน ในพื้นที่ 1 ไร่ พืชผักและไม้ดอก ผสมน้ำหมักชีวภาพ 6 ช้อนโต๊ะในน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุกๆ 10 วัน ในพื้น 1 ไร่ และไม้ผล ผสมน้ำหมักชีวภาพ 30 ช้อนโต๊ะ ในน้ำ 250 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุกๆ 1 เดือน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธ.ก.ส.เร่งเครื่อง3โครงการแก้หนี้นอกระบบเกษตรกร 6เดือนปล่อย5หมื่นล.50%ของเป้า8แสนราย

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. ) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 6 ส.ค. 58 ว่า มียอดปล่อยกู้และปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 3.32 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 5.18 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายช่วยเกษตรกรรายย่อย 8.1 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 1.16 แสนล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการผ่าน 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1.โครงการปลดเปลื้องหนี้สิน ตั้งเป้า 2.8 หมื่นราย มูลหนี้ 4,000 ล้านบาท ล่าสุดจำหน่ายหนี้สูญ ให้เกษตรกรในรายที่เสียชีวิต ทุพพลภาพไปแล้ว 4,464 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 217 ล้านบาท

2.โครงการปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งเป้าหมายช่วยลูกค้า 3.4 แสนราย มูลหนี้ 4.8 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้ขยายเวลาการชำระหนี้ เป็น 15 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปี ฟื้นฟูอาชีพ และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูอาชีพรายไม่เกิน 5 หมื่นบาทแล้วจำนวน 6.93 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ 9,486 ล้านบาท และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ตั้งเป้าหมายช่วยลูกหนี้ 4.5 แสนรายคิดเป็นมูลหนี้ 6.4 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้ขยายเวลาการชำระหนี้ตามกระแสเงินสด งดคิดดอกเบี้ยปรับหนี้เดิม และให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ไปแล้ว 2.58 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 4.21 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการแก้หนี้นอกระบบ โดยจากการสำรวจข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยล่าสุดพบว่า  มีจำนวน 1.6 ล้านราย มีเกษตรกรเป็นหนี้นอกระบบ 1.49 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 2.1 หมื่นล้านบาท  หรือเฉลี่ยเป็นหนี้ 1.4 แสนบาทต่อราย นอกจากนี้ยังพบว่าในจำนวนดังกล่าวมีเกษตรกรกว่า 9 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท ที่มีปัญหาหนี้สินจนต้องเอาที่ดินไปจำนอง ขายฝาก และกำลังจะถูกยึดที่ดินทำกิน

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลลูกหนี้ทั้งหมดว่ามีลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และหนี้ที่กำลังจะถูกยึดที่ดินที่ติดจำนองว่ามีจำนวนเท่าไรคาดว่าได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในอีก 2 สัปดาห์  เบื้องต้นคณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติขยายเวลาโครงการแก้หนี้นอกระบบที่จะปิดโครงการในเดือน ก.ย. 58 นี้ ขยายเวลาดำเนินการไปอีก 1 ปี สิ้นสุดเดือน ก.ย. 59 และขอขยายวงเงินช่วยเหลือเกษตรกร จากที่ปล่อยกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย จะให้เพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทต่อราย ( กรณีที่มีหลักประกัน ) แล้ว ซึ่งขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนอำเภอและจังหวัด ได้เร่งทำการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ในแต่ละพื้นที่ หากลูกหนี้มีภาระหนี้เกินกว่าวงเงินที่ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ 1.5 แสนบาทต่อราย ก็จะดึงเข้าโครงการกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งปัจจุบันมีเงินที่เหลือสำหรับปล่อยกู้อยู่อีก 642 ล้านบาท สามารถกู้ได้สูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 5 %  และกรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็จะนำเข้าสู่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินคณะใหญ่ต่อไป

ด้านนายสุรพงศ์ นิลพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.  เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้เปิดทดสอบระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรองรับการเปิดตัวกองทุนการออมแห่งชาติ ( กอช. ) ที่จะมีการเปิดรับสมาชิกอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ส.ค. นี้ ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายดึงกลุ่มลูกค้าเงินฝากและบุคคลทั่วไปเข้า กอช.ในปีนี้ราว 3 แสนราย และในปี 2559 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 1 ล้านราย โดยคาดว่าภายในปี 2560 จะมีลูกค้าประชาชนเข้าระบบ กอช. ผ่านเครือข่าย ธ.ก.ส. ไม่น้อยกว่า 3 ล้านราย ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีฐานลูกค้าเกษตรกร 4  ล้านครอบครัว เมื่อคิดเป็นจำนวนเกษตรกรและสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน และ ธ.ก.ส. จะได้รับค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจาก กอช. ในอัตรา 5 บาทต่อ 1 รายการ

ทั้งนี้จากการทำการประชาสัมพันธ์เรื่อง กอช. กับลูกค้าและประชาชนทั่วไปพบว่ามีผู้ที่แสดงความต้องการเข้าระบบ กอช. ผ่านเครือข่าย ธ.ก.ส. ทันทีที่เปิดรับสมัครกว่า 1.2 แสนราย วงเงินประมาณ 50 ล้านบาท โดย 80 %  เป็นกลุ่มลูกค้าเงินฝากของธนาคารที่เหลืออีก 20 % เป็นบุคคลทั่วไป และจากการทดลองระบบที่สาขาพบว่า สามารถเปิดรับฝากเงิน กอช. ได้เฉลี่ย 2 หมื่นรายต่อวัน โดยผู้ฝากใช้หลักฐานคือบัตรประชาชนในการเปิดบัญชี กอช.

" มั่นใจว่าทำได้ 3 ล้านราย เพราะฐานลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เกี่ยวข้องมีมากถึง 16 ล้านคน โดยธนาคารจะทำการประชาสัมพันธ์ กอช. ไปควบคู่กับเงินฝากกองทุนทวีสุข ที่มีเงื่อนไขให้ออมตอ่เนื่องอย่างน้อย 5 ปี และมีประกันชีวิต ซึ่งลูกค้าจะได้ประโยชน์จากกองทุนทวีสุขในช่วงก่อนเกษียณ พอหลังเกษียณก็มารับประโยชน์จาก กอช. ต่ออีกทอดหนึ่ง " นายสุรพงศ์กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

‘หมอดิน’สนับสนุนแผนที่สปก. จัดระบบ-สกัดรุกล้ำที่ดินเกษตร

ดร.อภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินนอกจากจะเป็นหน่วยงานที่พัฒนาที่ดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ยังเป็นหน่วยงานที่ผลิตและให้บริการชุดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข โดยล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนแผนที่ภาพถ่ายเชิงออร์โธสี ระหว่าง กรมพัฒนาที่ดิน กับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้นจะใช้เป็นพื้นฐานเพื่อการจัดทำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.4-01 อีกทั้งจะเป็นการบูรณาการทำงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางแผนที่ ในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความทันสมัย ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศในปัจจุบัน โดยบันทึกข้อตกลงจะมีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี

ด้าน นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ภาพถ่ายทางอากาศของกรมพัฒนาที่ดินจะทำให้เห็นสภาพความลาดชัน สภาพที่ดินของเป้าหมาย ซึ่งเมื่อ ส.ป.ก.นำภาพถ่ายเหล่านั้นไปรวมกับระบบดิจิตอลก็จะสามารถเห็นถึงที่ดินรายแปลงของเกษตรกร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าที่ดินแปลงนั้นมีการทำประโยชน์หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำประโยชน์อย่างไร อีกทั้งหากมีการรุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่หวงห้ามก็จะสามารถตรวจสอบจากภาพถ่ายเหล่านี้ได้ เช่น พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวที่มีการเข้ารุกล้ำพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อใช้ระบบนี้ตรวจสอบและพบว่ามีการบุกรุก ก็แจ้งเรื่องไปยังพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

รัฐเล็งจ่ายชดเชยเกษตรกรประสบภัยแล้ง

รัฐบาล เตรียมจ่ายเงิน ชดเชย ชาวนา ประสบ ภัยแล้ง นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สรุปผลสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรในเขตชลประทานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีพื้นที่ได้รับผลเสียหายประมาณ 200,000 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% จากเดิมที่ประเมินว่า จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1.5 ล้านไร่

โดยเตรียมเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยในอัตราไร่ละ 1,113 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับการชดเชยภัยพิบัติพืชผลในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา โดยไม่จำเป็นต้องเสนอขอใช้งบกลางรายการสำรองฉุกเฉิน กรณีเร่งด่วนและจำเป็นปีงบประมาณ 58 ,kชดเชย เพราะจะใช้งบประมาณฉุกเฉินของจังหวัดรับที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจังหวัดละ 10 ล้านบาทมาใช้แทน

“งบประมาณที่จะชดเชยโดยนำงบของจังหวัดมาใช้ในส่วนนี้เพียงพอที่จะจ่ายให้กับเกษตรกรได้โดยไม่ต้องขออนุมัติงบกลาง รวมกับการสนับสนุนงบประมาณในส่วนของวงเงิน 6,500 ล้านบาท

ที่กระทรวงมหาดไทยได้รับการเห็นชอบจาก ครม.จะลงไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการจ้างงานที่เน้นไปที่การขุดบ่อน้ำและปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ต่างๆเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำบางส่วนไว้ใช้ในการทำนารอบต่อไป

เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณฝนที่จะตกจนถึงเดือน พ.ย.นี้จะยังไม่เพียงพอสำหรับสนับสนุนการทำนาปรังในช่วงต้นปีหน้าได้ทั้งหมด” ขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวที่ลดลงในปีนี้จากภาวะภัยแล้งขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวให้ปรับตัวสูงขึ้นได้หรือไม่

เนื่องจากต้องดูการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลด้วยว่าสามารถทำได้รวดเร็วเพียงใด อย่างไรก็ตามมองว่าราคาข้าวมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่ลูกข้าวในภูมิภาคหลายแห่งประสบปัญหาภัยธรรมชาติ โดยในพม่า และเวียดนามมีปัญหาน้ำท่วมขณะที่ประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องภัยแล้งราคาข้าวจึงมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยกัน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เล็งออกแพคเกจดูแลอุตสาหกรรมอ้อย

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย คาดว่า จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาจากที่ประชุมครม. ภายในเดือนก.ย.นี้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขเดิมจากครม.ว่า หากจะกู้เงินเพื่อดูแลเสถียรภาพราคาอ้อยเพิ่มเติมจะต้องส่งแผนปรับโครงสร้างไปพร้อมกันด้วย "ล่าสุดนี้ต้องกู้เงินมาดูแลราคาอ้อยเพิ่มเติมอีก 13,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 57/58 ต่ำกว่าขั้นต้นประมาณกว่า 50 บาทต่อตัน ซึ่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องกู้มาจ่ายคืนโรงงานตามกฏหมายดังนั้นหากเราจะกู้ก็ต้องเสนอแพคเกจการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมฯเข้าไป

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วอนรัฐช่วยเพิ่มประสิทธิการผลิต

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีล่าสุด ต้องการให้กสอ.ช่วยเหลือเรื่องการให้ความรู้กระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธภาพการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุน ให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ รวมทั้งการหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เช่น จัดหาแสดงสินค้าในประเทศต่อเนื่อง เพื่อชดเชยการส่งออก และกระตุ้นยอดขายในประเทศ

ขณะเดียวกันต้องการให้เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาหลายปี “ กสอ.ได้รับปากจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลายๆ ด้าน โดยจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ เช่น สถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายอุตฯ ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ปรับลดลง แต่อุตฯแฟชั่นแม้ส่งออกติดลบ 3-4 % แต่ยอดขายในประเทศ ยังขยายตัว 2-3% ซึ่งได้รับอานิสงค์จากนักท่องเที่ยวที่เดินเข้ามา

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

“พาณิชย์” ดึงลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มการค้าไทย-ลาว 8 พันล้านเหรียญใน 3 ปี 

        “พาณิชย์” ชูเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ขยายการค้าการลงทุนไทย-สปป.ลาว มั่นใจเพิ่มยอดการค้าเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐภายใน 3 ปีได้แน่ ด้าน สปป.ลาวเผยมีค่าแรงต่ำ ค่าเช่าถูก ทรัพยากรเพียบ การเมืองมั่นคง เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุน

                พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษเรื่องการเกื้อกูลทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านว่า ไทยได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ติดกับ สปป.ลาว ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร หนองคาย และนครพนม มีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักลงทุนในกลุ่ม อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน ศูนย์การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ ให้เข้ามาลงทุน รวมถึงการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรไทยกับเพื่อนบ้าน

               โดยในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ไทยกำลังเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบถนนและรถไฟทางคู่ใหม่ทั่วประเทศ 8 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้า โดยสามารถเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายคมนาคมประสิทธิภาพสูงของอาเซียน หากไทยและประเทศเพื่อนบ้านร่วมกันผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการค้าชายแดน ก็จะเกิดโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น และยังดึงดูดการลงทุนจากประเทศอื่นให้เข้ามาด้วย

               ทั้งนี้ ในส่วนของ สปป.ลาว ไทยจะเร่งขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และเป็นการผลักดันให้เป้าหมายมูลค่าการค้าเพิ่มเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 3 ปี

               ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าหมายตัวเลขการส่งออกในปีนี้เป็นขยายตัวติดลบ 3% เป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยในช่วงสุดท้ายของปีนี้จะเร่งผลักดันการส่งออกเพื่อให้ติดลบน้อยที่สุด รวมถึงการผลักดันการค้าชายแดน ส่วนการที่ไทยส่งออกได้มูลค่าลดลง ก็ถือว่าไม่เสียหายเพราะส่วนแบ่งตลาดของไทยยังคงเท่าเดิม และปรับตัวดีขึ้นในบางตลาด

               นางบุนเพ็ง มูนโพไซ รมว.ประจำห้องว่าการรัฐบาล สปป.ลาว กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ สปป.ลาว โอกาสการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว” ว่า ไทยและ สปป.ลาวมีนโยบายที่ต้องการส่งเสริมการค้าชายแดนที่สอดคล้องกัน เชื่อว่าสองประเทศจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาการค้าและการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ร่วมกันได้ โดยการลงทุนใน สปป.ลาว มีความได้เปรียบจากค่าแรงต่ำ มีแรงงาน 2.9 ล้านคนจากประชากร 6.2 ล้านคน มีค่าเช่าพื้นที่ถูก และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การเมืองมั่นคง ส่วนอุตสาหกรรมที่ สปป.ลาว ให้การส่งเสริม เช่น การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โดยปัจจุบันจีนลงทุนในไทยอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ไทย เวียดนาม และเกาหลีใต้

จาก http://manager.co.th  วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดิน(1)

กรมพัฒนาที่ดินได้มีการคิดค้นนวัตกรรมจุลินทรีย์ ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่างๆ ใช้เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สนับสนุนการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรที่ต้องการลดใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 8 ผลิตภัณฑ์ จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามประเภทการใช้งานอย่างชัดเจน เกษตรกรสามารถเลือกใช้ได้หลากหลายตรงตามวัตถุประสงค์ ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มธาตุอาหาร และฮอร์โมนพืช กลุ่มผลิตภัณฑ์ จุลินทรีย์ด้านควบคุมศัตรูพืช และกลุ่มผลิตภัณฑ์ จุลินทรีย์ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ส่งเสริมและแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ในพื้นที่ของตน เช่นเดียวกับที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ที่ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรในจังหวัดที่รับผิดชอบดูแล นำไปใช้

สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ผลิตปุ๋ยหมัก สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพ จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9 ผลิตเชื้อจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินกรด ดินเปรี้ยวจัด จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 เพิ่มมวลชีวภาพและธาตุอาหารของพืชปุ๋ยสด ปอเทืองและโสนอัฟริกัน และปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เพิ่มธาตุอาหาร และผลิตฮอร์โมนพืช

1.1 การผลิตปุ๋ยหมัก โดยใช้สารเร่ซุปเปอร์ พด.1 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ทนอุณหภูมิสูงมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายอินทรีย์วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ที่มีองค์ประกอบของเซลลูโลสและไขมันที่ย่อยสลายยากเพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็ว สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ประกอบด้วยราย่อยเซลลูโลส ได้แก่Scytalidiumthermophilum, Chaetomiumthermophilum, CorynascusverrucosusScopulariopsisbreviaulis แอคติโนมัยซิสย่อยเซลลูโลส Streptomyces sp. 2 สายพันธุ์ และจุลินทรีย์ย่อยไขมัน ได้แก่ Bacillus subtilis 2 สายพันธุ์

ส่วนผสมในการผลิตปุ๋ยหมัก 1 ตัน ประกอบด้วย เศษพืชแห้ง 1,000 กิโลกรัม มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม ปุ๋ยไนโตรเจน 2 กิโลกรัม (หรือน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากปลา 9 ลิตร) สารเร่งซุปเปอร์พด.1 จำนวน 1 ซอง

วิธีการผลิตปุ๋ยหมัก คือ เริ่มจากการกองปุ๋ยหมัก 1 ตัว มีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากัน 10-15 นาที กองชั้นแรกให้นำวัสดุที่แบ่งไว้ส่วนที่หนึ่งมากองเป็นชั้นมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืช โรยปุ๋ยไนโตรเจนทับบนชั้นของมูลสัตว์ หรือรดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากปลาหลังจากนั้นราดสารละลายสารเร่งให้ทั่วโดยแบ่งใส่เป็นชั้นๆ แล้วนำเศษพืชมากองทับเพื่อทำชั้นต่อไป ปฏิบัติเหมือนการกองชั้นแรก ทำเช่นนี้อีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่ เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 สิงหาคม 2558

เกษตรบูรณาการ : ทุ่ม6.5พันล้านช่วยเกษตรกรวัดใจคนมหาดไทย-เกษตรฯ ก๊อบปี้โครงการฯใครเกาถูกที่คัน

การประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่ากันว่ามีการอนุมัติ ทุ่มเงินงบประมาณ กว่า 6.541 พันล้านบาท

 ในการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้โครงการ “ช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ให้ลงไปถึงเกษตรกรทุกประเภท และให้เริ่มทันทีหลังจากผ่านมติ ครม. และจะต้องดำเนินการผูกพันให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้ทุกอย่าง คาดหวังว่าเกษตรกรจะมีความเข้มแข็งขึ้น จากการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เขาเพิ่มเติม รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต พัฒนาศักยภาพในการทำการเกษตร หรืออาชีพ โครงสร้างพื้นฐาน

 ด้านการเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งหมด หวังที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้เกิดการ

 กระจายรายได้เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม

งานนี้ทางกระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย บอกว่า โครงการเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่รวมกลุ่มกันมา ทำแผนงานกิจกรรมขึ้น ว่าอยากได้ หรืออยากทำอะไร แต่ต้องรวมกลุ่มกันมา และมีหลักการจะทำอย่างไรในทุกๆ ด้าน ผ่านการกลั่นกรองของระดับจังหวัดขึ้นมาถึงกระทรวงมหาดไทย แล้วจะทำเรื่องประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อพิจารณาร่วมกันว่า ผ่านหรือไม่ ในหลักการที่กลุ่มเกษตรกรเสนอมา

เป็นเรื่องแปลก แต่จริงที่ เมื่อช่วงแล้งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯได้มีโครงการลักษณะเดียวกันในการช่วยเหลือพื้นที่แล้งซ้ำซากมาแล้ว โดยใช้โครงการตำบลละ 1 ล้านบาท  ซึ่งตามแนวทางของโครงการนั้น ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการที่มีการตั้งธงไว้ว่า จะมีงบประมาณให้ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นที่ตั้ง แต่การที่จะต้องได้เงินไปใช้นั้นคนในชุมชนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอมาว่าชุมชนต้องการอะไร ที่จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนของตนเองมากที่สุด และให้เสนอมายังกรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาอีกครั้ง โดยเน้นว่าจะต้องให้เกิดการจ้างงานในชุมชน  ปรากฏว่า

 โครงการที่ว่านี้ใช้ได้ผลมากเพราะเท่าที่เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ มีทั้งการสร้างระบบชลประทานระบบท่อ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลงไปสู่ไร่นาเกษตรกรในพื้นที่แล้งซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ การสร้างลานตากข้าวชุมชน การรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกันจำหน่ายเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ในจังหวัดสุรินทร์ และอีกหลายจังหวัด และมีการขอชุมชนที่ยังไม่ได้ทำอีกหลายพื้นที่ที่ ขอเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก

ที่สำคัญไปกว่านั้น  เมื่อลงตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า โครงการที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการไปบางส่วน ใช้งบมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ที่ที่เกินกว่า 1 ล้านบาท เกิดจากการที่ชาวบ้านร่วมลงแรงลงเงิน เพราะคิดว่าเป็นสมบัติของพวกเขาที่ต้องทำร่วมกัน สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เมื่อมีการลงมือลงแรงร่วมกันทำงานร่วมกันสิ่งที่เป็นมากกว่าคือ มีการละลายพฤติกรรมความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้เป็นอย่างดี แต่มาวันนี้โครงการที่ว่าที่กระทรวงเกษตรฯ ของท่าน รมว. “ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา”  กำลังเป็นพระเอก ที่พอจะสร้างผลงานชิ้นโบแดงกลับถูกกระทรวงมหาดไทยชิงโครงการหน้าตาเฉย จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ

จากนี้ไป ต้องดูว่า กระทรวงเกษตรฯจะปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองอย่างไร กับการเดินหน้าในการช่วยเหลือเกษตรกรและจะสร้างผลงานอย่างไรให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และต้องพยายามเกาให้ถูกที่คัน มิฉะนั้นจะโดนแย่งซีน

วันนี้ต้องทำให้สมกับนายกรัฐมนตรีไว้วางใจให้เข้ามาแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไทยเพราะแม้ช่วงนี้ จะเป็นช่วงฝนตกหนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าปีหน้าจะไม่เกิดปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นอีกเพราะจนถึงขณะนี้ น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนหลักยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ มาถึงสุดท้ายนี้ ท่านน่าจะคิดได้แล้วสิครับว่าทำไมข่าวปรับครม. ทุกครั้ง หวยถึงมาออกแถวๆ กระทรวงเกษตรฯตลอดเวลา

การประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่ากันว่ามีการอนุมัติ ทุ่มเงินงบประมาณ กว่า 6.541 พันล้านบาท

ในการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้โครงการ “ช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ให้ลงไปถึงเกษตรกรทุกประเภท และให้เริ่มทันทีหลังจากผ่านมติ ครม. และจะต้องดำเนินการผูกพันให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้ทุกอย่าง คาดหวังว่าเกษตรกรจะมีความเข้มแข็งขึ้น จากการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เขาเพิ่มเติม รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต พัฒนาศักยภาพในการทำการเกษตร หรืออาชีพ โครงสร้างพื้นฐาน

 ด้านการเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งหมด หวังที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้เกิดการ

 กระจายรายได้เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม

งานนี้ทางกระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย บอกว่า โครงการเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่รวมกลุ่มกันมา ทำแผนงานกิจกรรมขึ้น ว่าอยากได้ หรืออยากทำอะไร แต่ต้องรวมกลุ่มกันมา และมีหลักการจะทำอย่างไรในทุกๆ ด้าน ผ่านการกลั่นกรองของระดับจังหวัดขึ้นมาถึงกระทรวงมหาดไทย แล้วจะทำเรื่องประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อพิจารณาร่วมกันว่า ผ่านหรือไม่ ในหลักการที่กลุ่มเกษตรกรเสนอมา

เป็นเรื่องแปลก แต่จริงที่ เมื่อช่วงแล้งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯได้มีโครงการลักษณะเดียวกันในการช่วยเหลือพื้นที่แล้งซ้ำซากมาแล้ว โดยใช้โครงการตำบลละ 1 ล้านบาท  ซึ่งตามแนวทางของโครงการนั้น ได้มอบหมายให้กรม

 ส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการที่มีการตั้งธงไว้ว่า จะมีงบประมาณให้ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นที่ตั้ง แต่การที่จะต้องได้เงินไปใช้นั้นคนในชุมชนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอมาว่าชุมชนต้องการอะไร ที่จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนของตนเองมากที่สุด และให้เสนอมายังกรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาอีกครั้ง โดยเน้นว่าจะต้องให้เกิดการจ้างงานในชุมชน  ปรากฏว่า

โครงการที่ว่านี้ใช้ได้ผลมากเพราะเท่าที่เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ มีทั้งการสร้างระบบชลประทานระบบท่อ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลงไปสู่ไร่นาเกษตรกรในพื้นที่แล้งซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ การสร้างลานตากข้าวชุมชน การรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกันจำหน่ายเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ในจังหวัดสุรินทร์ และอีกหลายจังหวัด และมีการขอชุมชนที่ยังไม่ได้ทำอีกหลายพื้นที่ที่ ขอเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก

ที่สำคัญไปกว่านั้น  เมื่อลงตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า โครงการที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการไปบางส่วน ใช้งบมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ที่ที่เกินกว่า 1 ล้านบาท เกิดจากการที่ชาวบ้านร่วมลงแรงลงเงิน เพราะคิดว่าเป็นสมบัติของพวกเขาที่ต้องทำร่วมกัน สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ เมื่อมีการลงมือลงแรงร่วมกันทำงานร่วมกันสิ่งที่เป็นมากกว่าคือ มีการละลายพฤติกรรมความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้เป็นอย่างดี แต่มาวันนี้โครงการที่ว่าที่กระทรวงเกษตรฯ ของท่าน รมว. “ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา”  กำลังเป็นพระเอก ที่พอจะสร้างผลงานชิ้นโบแดงกลับถูกกระทรวงมหาดไทยชิงโครงการหน้าตาเฉย จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ

จากนี้ไป ต้องดูว่า กระทรวงเกษตรฯจะปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองอย่างไร กับการเดินหน้าในการช่วยเหลือเกษตรกรและจะสร้างผลงานอย่างไรให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และต้องพยายามเกาให้ถูกที่คัน มิฉะนั้นจะโดนแย่งซีน

วันนี้ต้องทำให้สมกับนายกรัฐมนตรีไว้วางใจให้เข้ามาแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไทยเพราะแม้ช่วงนี้ จะเป็นช่วงฝนตกหนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าปีหน้าจะไม่เกิดปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นอีกเพราะจนถึงขณะนี้ น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนหลักยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ มาถึงสุดท้ายนี้ ท่านน่าจะคิดได้แล้วสิครับว่าทำไมข่าวปรับครม. ทุกครั้ง หวยถึงมาออกแถวๆ กระทรวงเกษตรฯตลอดเวลา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 สิงหาคม 2558

4แนวทางหลักแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน

บทเรียนวิกฤติแล้งฤดูการผลิต57/58 -4แนวทางหลักแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน : ดลมนัส กาเจรายงาน

             จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนเพื่อการเกษตรในฤดูการผลิตปี 2557/2558 โดยเฉพาะเขตชลประทานสองฟากฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสัก เข้าสู่ขั้นวิกฤติที่สุดในรอบหลายปี ถึงขนาดต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรัง และชะลอการทำนาปีนั้น นับเป็นบทเรียนสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐบาล และก็เป็นบทเรียนสำคัญเช่นกันสำหรับเกษตรกรที่จะต้องทบทวนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาว่ามีการใช้อย่างฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็นหรือไม่

             สำหรับปัญหาหลักที่ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำในครั้งนี้ ที่วิกฤติที่สุดคือเขตชลประทานตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสักเท่านั้น เพราะในรอบปี 2557 เกษตรกรหันมาปลูกข้าวทั้งข้าวนาปี และข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นแรงจูงใจ ทำให้เขื่อนต่างๆ ต้องปล่อยน้ำเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงอีกด้วย

             แม้ช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา จะมีปริมาณฝนตกลงมาและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่การเกษตรได้ในระดับหนึ่ง แต่หากดูปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนสำคัญที่ปล่อยน้ำลงสู่เจ้าพระยา และลุ่มป่าสักนั้น ก็ถือว่ายังอยู่ในขั้นวิกฤติ ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ที่ใช้ได้จริงเพียง 2% เท่านั้น ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้ 8% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มี 12% ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีน้ำที่ใช้ได้ 4% ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือตั้งแต่เกษตรกรจนถึงหน่วยงานของรัฐเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤติน้ำอย่างยั่งยื่น

             การจัดนิทรรศการโครงการเทิดพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 และจะสิ้นสุดในเดือนสิ้นปี 2558 โดยให้หน่วยงานต่างๆ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สลับเป็นเจ้าภาพเดือนละครั้ง ล่าสุด สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2558 นั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่รณรงค์เพื่อที่จะให้คนไทยทุกย่อมหญ้าได้หันมาตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัด

             “การดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเทิดพระเกียรติ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดินกระทรวงเกษตรฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ได้ร่วมรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านโครงการต่างๆ ของหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้” นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน

             อย่างไรก็ตาม นายปีติพงศ์ มองว่า แนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่สำคัญนั้นมี 4 แนวทางหลักคือจัดหาแหล่งกักน้ำใหม่ๆ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ตามความเหมาะสม ซึ่งที่กำลังสำรวจอยู่ พร้อมกับการซ่อมแซมปรับปรุงสระน้ำชุมชนซึ่งมีอยู่กว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศมาลอกและขุดใหม่ให้ลึกลงไปอีกจะสามารถกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ อีกแนวทางหนึ่งคือรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชทนแล้งให้มากขึ้น ปัจจุุบันมีพืชเศรษฐกิจรวมถึงข้าวที่มีสายพันธุ์ทนแล้ง และที่สำคัญจะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี คือดึงน้ำจากภายนอกคือผันน้ำจากแม่น้ำโขง และสาละวิน ด้วยการสำรวจพื้นที่เหมาะสม ขุดสระขนาดใหญ่ผันน้ำแม่น้ำโขงเข้ามาใช้ในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือผันน้ำจากสาละวินมา แต่ทั้งนี้ต้องมีการหารือละเอียดก่อน เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

             ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน แสดงมุมมองบนเวทีเสวนา “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันน้ำท่าจากธรรมชาติมีทั้งหมด 258,230 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในจำนวนนี้ความต้องการน้ำรวมนิเวศ 151,750 ล้าน ลบ.ม. แต่จัดการได้เพียง 102,140 ล้าน ลบ.ม. ยังจัดการไม่ได้ 49,610 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในปี 2570 ความต้องการรวมนิเวศ 156,820 ล้าน ลบ.ม. จะจัดการไม่ได้ 45,200 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ต้องเก็บน้ำสำรองไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการเพาะปลูกในฤดูฝน และจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำให้กิจกรรมต่างๆเป็นต้น

             ขณะที่ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวว่า การประหยัดน้ำมีหลายแนวทางบางครั้งมองข้ามไป อย่างกรณีการเลือกพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ซึ่งที่ผ่านมา สวก.เองมีการดำเนินงานด้านการวิจัยพืชเพื่อได้มาของสายพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ซึ่งที่วิจัยกันแล้ว อาทิ ข้าวทนแล้ง ลำใยทนแล้ง และอีกหลายชนิดที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่งานวิจัยต้องใช้เวลาพอสมควรจนกว่าจะมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ ปริมาณผลผลิต และรสชาติด้วย

             ทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางส่วนหนึ่ง ในการที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร หรือวิกฤติแล้ง ทั้งนี้ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือ

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 10 สิงหาคม 2558

เปิด4กลยุทธ์บุกตลาดอาเซียนย้ำต้องเชี่ยวชาญ-พึ่งพันธมิตรท้องถิ่น

            การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในช่วงปลายปี 2015 จะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นตลาดที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าจ้างแรงงานที่มีราคาต่ำ การมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การดำเนินนโยบายของภาครัฐ ทั้งในด้านการเปิดการค้าเสรี การจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลงทุนต่างๆ ให้แก่นักลงทุน             ทั้งนี้ ในภาวะที่การแข่งขันในตลาดทวีความรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวอย่างช้าๆ และเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอ่อนแอ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี แนะ 4 กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้เพื่อคว้าโอกาสจากซีแอลเอ็มวี เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้น คือ

             1.กลยุทธ์การลดต้นทุน เหมาะสำหรับธุรกิจที่ปัจจุบันมีการใช้แรงงานไร้ฝีมืออย่างเข้มข้น ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการย้ายฐานการผลิตออกไปยังกลุ่มซีแอลเอ็มวี เพื่อลดต้นทุนจากแรงงานและวัตถุดิบราคาถูก กลยุทธ์นี้เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมเบาหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) และกึ่งฝีมือ (Semi-skilled labor) อย่างไรก็ตาม ข้อพึงระวังจากการลงทุนในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ได้แก่ ต้นทุนแฝงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

             2.กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่า สามารถปรับใช้ได้กับธุรกิจที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดสินค้าพื้นฐาน ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเผชิญกับการแข่งขันในการส่งออกวัตถุดิบ หรือสินค้าพื้นฐาน (Primary product) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากผู้เล่นที่มีฐานการผลิตในซีแอลเอ็มวี ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางการเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรมเบา เช่น เครื่องนุ่งห่ม เบาะรถยนต์ ดังนั้นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเหล่านี้สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้โดยการต่อยอดจากสินค้าพื้นฐานให้เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่า โดยอาศัยการสร้างแบรนด์ การปรับรูปลักษณ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มประโยชน์และการใช้สอย

             3.กลยุทธ์การหาตลาดใหม่ เหมาะสำหรับธุรกิจหรือบริการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและตอบโจทย์ความต้องการของชนชั้นกลางในประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น การบริโภคในครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับแรงกดดันในการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้า สภาวะเช่นนี้เป็นการบังคับให้เกิดการแย่งชิงกลุ่มลูกค้าที่เข้มข้นขึ้น ตลาดเปิดใหม่อย่างซีแอลเอ็มวี จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ทั้งในด้านการกระจายความเสี่ยงจากตลาดในประเทศที่โตช้าและมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยธุรกิจที่มีโอกาสสูงในการขยายออกไปตลาดใหม่เหล่านี้ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจเกี่ยวกับความงามและสปา อาหารสำเร็จรูปและเครื่องอุปโภคบริโภค ธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น

             4.กลยุทธ์การหาโอกาสจากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจในกลุ่มคลัสเตอร์และกลุ่มบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของซีแอลเอ็มวี โดยการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ การก่อสร้างถนนใหม่และปรับปรุงถนนไฮเวย์ระหว่างหัวเมืองและระหว่างประเทศให้มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ๆ การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดซึ่งโอกาสสำหรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะเติบโตไปพร้อมกับความเจริญเหล่านี้ ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจเช่า/ซื้อ/ขายอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคม ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคม และธุรกิจบริการต่างๆ เช่น บริการรักษาความปลอดภัย อุปกรณ์นิรภัย บริการที่ปรึกษาต่างๆ เป็นต้น

             แม้จะมีโอกาสมากมายในหลายมิติจากกลุ่มซีแอลเอ็มวี แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จคือ การนำความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมีเข้าไปคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ไม่ใช่แค่เพียงผู้ประกอบการไทยเท่านั้นที่เล็งเห็นโอกาสในตลาดใหม่นี้ ประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือสิงคโปร์ ต่างกำลังมองภาพเดียวกัน ดังนั้นการที่จะเข้าไปรุกตลาดดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจึงควรนำเอาความเชี่ยวชาญที่มีไปใช้ในการแข่งขัน

             ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญอีกประกาศคือ การมองหาพันธมิตรทางธุรกิจจากในท้องถิ่นของประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี เพื่ออาศัยความเป็นเจ้าบ้านที่เข้าใจตลาด วัฒนธรรม สังคม กฎหมาย และข้อมูลท้องถิ่นที่ดีกว่า ในการปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้ โดยการที่ผู้ประกอบการไทยเร่งดำเนินการหาพันธมิตรทางธุรกิจได้เร็วมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการนั้นๆ เนื่องจากพันธมิตรที่มีศักยภาพในแต่ละประเทศมีจำนวนจำกัด

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 10 สิงหาคม 2558

รมว.พลังงานยืนยันพบแหล่งก๊าซใหม่ที่กาฬสินธุ์-ผลิตได้20ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเดินทางมาตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่หลุมดงมูล 5 (DM-5) ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ว่า การสำรวจพบก๊าซธรรมชาติ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ในครั้งนี้ มาจากการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานรอบที่ 18 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2546 หลังจากที่เคยทำการสำรวจในพื้นที่เดียวกันมาแล้วก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ.2533 หรือ เมื่อ 25 ปีที่แล้ว  แต่ต้องทำการปิดหลุมและคืนพื้นที่  เนื่องจากบางหลุมมีปัญหาภายในหลุม และบางหลุมไม่พบปิโตรเลียม

สำหรับการสำรวจในรอบนี้ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด  เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน  ผู้ได้รับสัมปทาน ได้ใช้ความพยายามสำรวจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2552 ซึ่งไม่พบปิโตรเลียมเช่นกัน จนกระทั้งต้นปี พ.ศ. 2555  จึงได้เปลี่ยนวิธีสำรวจ โดยการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ (3D-Seismic) ทำให้พบปิโตรเลียมที่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ นับว่าเป็นความโชคดีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม ซึ่งผลิตก๊าซได้ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง ซึ่งผลิตก๊าซได้ 11-15 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแหล่งจะใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  และใช้เป็นเชื้อเพลิง NGV  สำหรับยานยนต์ 15 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแหล่งมีปริมาณลดน้อยลง การขนส่งก๊าซเข้ามาจากภาคอื่นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการต้องใช้รถบรรทุกเพราะไม่มีท่อขนส่ง การสำรวจพบก๊าซฯ จากแหล่งดงมูล  จ.กาฬสินธุ์จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เพิ่มขึ้น และป้องกันการขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

การดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมแหล่งดงมูลในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำอย่างรอบคอบ ผู้ได้รับสัมปทานมีกระบวนการสำรวจทุกขั้นตอนอย่างระมัดระวัง ตั้งแต่การเผาก๊าซฯ ช่วงการทดสอบอัตราไหลของก๊าซฯ จนกระทั่งช่วงปิดหลุมชั่วคราวหลังทดสอบ โดยมีกระบวนการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชนและประชาชน ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เช่น ผ่านมาตรฐาน EIA  มีการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ มีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่มีการทดสอบเผาก๊าซฯ  

คาดว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติดงมูล ซี่งประกอบด้วยหลุมผลิตดงมูล 3ST และหลุมผลิตดงมูล 5 จะมีปริมาณสำรองเบื้องต้นประมาณ 35,000 และ 50,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตตามลำดับ  มีแผนจะผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จะส่งผ่านทางท่อเชื่อมต่อภายในแหล่งดงมูลไปยังสถานีปรับปรุงคุณภาพ (กำลังการผลิตสูงสุด 28 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) ที่ ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ เพื่อส่งไปยังจุดซื้อขายที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น โดยจะมีสถานีผลิตก๊าซ NGV ณ จุดซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะผลิตก๊าซ NGV ได้ประมาณ 640 ตันต่อวัน 

ทั้งนี้ หากผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ผลิตดงมูล ในอัตรา 20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รัฐจะได้รับค่าภาคหลวงสำหรับจัดสรรลงสู่ท้องถิ่นในพื้นที่ผลิต ประมาณ 27 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามจากการประเมินปริมาณสำรองของแหล่งดงมูลสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในระยะเวลา 15 ปี จากปริมาณสำรองทั้งหมด 90 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ดังนั้นจึงคาดว่าจะสามารถจัดสรรค่าภาคหลวงให้แก่พื้นที่ผลิตตลอดโครงการ เป็นเงิน 405 ล้านบาท 

 “ขอย้ำว่า ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย มีความเสี่ยงและต้องใช้เงินลงทุนสูงทุกขั้นตอนและส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลานานตั้งแต่การสำรวจ พัฒนา จนถึงการผลิต เพราะนอกจากต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีมาตรฐานทางด้านปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องเพิ่มมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ชุมชนในทุกๆด้าน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กับการความมั่นใจแก่ประชาชนอย่างแท้จริง” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ชงครม.เคาะกฎหมายอุ้มเกษตรกร

เกษตรฯ จ่อเสนอ พ.ร.บ.รายได้เกษตรกรฯ เข้า ครม.พร้อมอุ้มทุกกลุ่ม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.รายได้เกษตรกร พ.ศ.. ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในวันที่ 11 ส.ค.นี้ โดยกฎหมายมีเป้าหมายช่วยเหลือรายได้ของเกษตรกร หากพบว่าเกษตรกรมีรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่ำกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดรายได้รายจ่ายเกษตรกรประกาศไว้จะมีการช่วยเหลือเป็นครัวเรือน โดยในปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย กำหนดให้ธนาคารรัฐเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้เกษตรกร และให้ภาครัฐตั้งงบประมาณชดเชย

ทั้งนี้ จะตั้งคณะกรรมการกำหนดรายได้ให้แล้วเสร็จภาย 120 วันนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาการจัดสรรเงินช่วยเหลือเกษตรกร โดยเกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือจะต้องเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ทำการประมง หรือกิจการที่คณะกรรมการกำหนด

“ส่วนจำนวนเงินที่จะไปช่วยเหลือแต่ละปี จะมีจำนวนเท่าไหร่หรือมีโครงการอะไรที่จะช่วยเกษตรกรได้บ้าง ขอให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดรายได้รายจ่ายเกษตรกรพิจารณา ซึ่งบางปีหากเกษตรกรมีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่คณะกรรมการกำหนดก็ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมาจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายที่มุ่งให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน”นายปีติพงศ์ กล่าว

 แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมี 23 มาตรา กำหนดให้รัฐจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีไม่เกิน 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ก่อนหน้าที่มีการตั้งงบประมาณประจำปี โดยการช่วยเหลือจะต้องประกาศให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าก่อนถึงรอบการผลิต 1 เดือน

นอกจากนี้ การดำเนินการจะมีคณะกรรมการกำหนดรายได้และรายจ่ายเกษตรกรที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการพิจารณาและกำหนดรายได้ที่เกษตรกรควรจะได้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า รายได้เกษตรกรต่อครัวเรือนต่ำกว่าเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำจะเสนอไปยังคณะกรรมการรายได้เกษตรกรที่มี รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน ซึ่งกรรมการชุดนี้จะมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น พาณิชย์ มหาดไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558   

เดินหน้ายุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงเรื่องน้ำ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดประชุมชี้แจงการเสนอแผนงานตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการบริหารจัดการภัยแล้งให้กับผู้บริหารระดับผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่า “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”สำหรับยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยา กรน้ำ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 7 พฤษภาคม 2558

ที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์รองรับไว้ 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน และกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้ได้ภายใน 12 ปี คือตั้งแต่ปี 2558-2569 ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธ ศาสตร์การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิต(เกษตรและอุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ

นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิต ยังได้กำหนดที่จะให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยที่ไม่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ และปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ ซึ่งตั้งเป้าในระยะแรกที่จะดำเนินการจำนวน 15,000 แห่ง เพิ่มปริมาณการกักเก็บให้ได้อีก 2,700 ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 2569 นี้.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 8 สิงหาคม 2558

ก.เกษตรเผยมีโครงการขยายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในฤดูกาลหน้า

นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานแถลงข่าวเรื่องสถานการณ์น้ำและการแก้ปัญหาในระยะเวลาเร่งด่วน โดยนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการขยายอ่างเก็บน้ำเพื่อเเก้ปัญหาภัยแล้งในฤดูกาลหน้าเร่งด่วนหลายโครงการ ที่สำคัญคือโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบนความจุ 13 ล้านลูกบาศก์เมตรพื้นที่ 10,000 ไร่เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากขณะนี้เริ่มก่อสร้างแล้ว,โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ.วังจันทร์ ระยอง เพื่อใช้ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมจาก 248 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 295 ล้านลูกบาศก์เมตรเพิ่มขึ้น 47 ล้านลูกบาศก์เมตร,โครงการปรับปรุงเขื่อนลำพระเพลิง นครราชสีมา เพิ่มความจุเขื่อน 50 ล้านลูกบาศก์เมตร จาก 105 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 155 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ยังมีโครงการขุดลอกคลองระบายน้ำคลองอู่ตะเภาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่หาดใหญ่ สงขลาจาก 930 ลูกบาศก์เมตรเป็น 1,665 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งการซ่อมแซมคันกั้นน้ำโกลกป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่จำนวน 6,873 ไร่ช่วยราษฎรได้ 2,959 ครัวเรือน รวมทั้งงานขุดลอกโดยรถขุดและเรือขุดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีอีก 8 โครงการในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี,อ่างทอง,ชัยนาทและนครสวรรค์

ทางด้านนายอภิชาติ จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ระบุ กรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์ 21,832 ไร่และเพิ่มปริมาณความจุกักเก็บ 8.9005 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสั่งการให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1,2,8,9 และ 10 วิเคราะห์คุณภาพน้ำ สนับสนุนข้อมูลดินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

อธิบดีกรมชลฯเผยสถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้น

อธิบดีกรมชลประทาน เผย สถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้น คาด ฤดูฝนอาจลดการระบายน้ำ เหลือวันละ 10 ล.ลบ.ม.

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปัจจุบันเริ่มดีขึ้น โดยในพื้นที่ที่กรมชลฯ ส่งน้ำทั้งหมด 4.9 แสนไร่ ยังคงแผนการระบายน้ำในระบบเดิม และยังเหลือพื้นที่เสี่ยงอยู่ 272,000 ไร่ อาจเป็นพื้นที่ที่น้ำไปไม่ถึงจริง ๆ โดย ขณะนี้ กรมชลฯ พยายามบริหารการจัดการน้ำ เพื่อที่จะให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ดังนั้น หากฝนตกในลักษณะของสถานการณ์ปัจจุบันตลอด คาดว่า จะมีน้ำเหลือเพื่อการเกษตรบ้าง แต่ไม่ใช่สำหรับทำนาปรัง ทั้งนี้ หากทราบปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ว่ามีเท่าไหร่ จะทำให้ทราบว่าน้ำจะเหลือพอใช้ถึงต้นปีหน้าหรือไม่ โดยคาดการณ์กรณีเลวร้ายที่สุด จะเหลือน้ำในเขื่อน 3,977 ล.ลบ.ม. แต่ถ้าฝนตกเช่นนี้คาดว่า มีแนวโน้มน้ำในเขื่อนลดเหลือ 5,000 ล.ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม หากปริมาณในตกต่อเนื่องดีขึ้น กรมชลฯ จะปรับลดการระบายน้ำ กรณีที่ความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรลดลง และพืชบางส่วนถูกเก็บเกี่ยวไปแล้ว โดยคาดว่า ฤดูฝนอาจะลดการระบายน้ำ เหลือวันละ 10 ล.ลบ.ม.

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

อนท.ขายน้ำตาลไม่ออกหลังราคาโลกดิ่ง ก.อุตฯมึนอ้อยขั้นต้น58/59ต่ำกว่า800บ. 

           กระทรวงอุตสาหกรรมมึนคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 58/59 สุดหินหลัง "อนท." ยังขายน้ำตาลส่งออกไปต่างประเทศไม่ได้สักกระสอบ เหตุราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกดิ่ง ต่อเนื่องล่าสุดเคลื่อนไหวเฉลี่ย 12.50 เซ็นต์ต่อปอนด์ ราคาอ้อยขั้นต้นส่อแวว ได้แค่ 700 กว่าบาทต่อตัน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2558/59 ซึ่งจะต้องประกาศในเดือน ต.ค.นี้ โดยยอมรับว่าการคำนวณราคาเป็นไปได้ยากมากเนื่องจากขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ยังไม่สามารถขายน้ำตาลทรายดิบส่งออกล่วงหน้า (โควตา ข. 8 แสนกระสอบ) ไปยังต่างประเทศได้เลยเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเคลื่อนไหวล่าสุด ยังคงลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยมาอยู่ที่ 12.50 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น

          "น้ำตาลทรายที่ อนท.บริหารจะต้องนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นเมื่อยังไม่ได้ขายออกไปเลยก็ทำให้การคำนวณราคาจะต้องระมัดระวังให้ดีเพราะหากตั้งสูงเกินไปเมื่อราคาตลาดโลกไม่ดีจริงก็จะกระทบต่อราคาขั้นสุดท้ายอีก หากราคาอยู่ในระดับ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์เฉลี่ยราคาอ้อยคงไม่ถึง 800 บาทต่อตัน โดยเฉลี่ยจะอยู่ 700 กว่าบาทต่อตันเท่านั้นแต่ทั้งหมดก็จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าราคาตลาดโลกจะมีทิศทางอย่างไรซึ่งก่อนหน้าก็มองว่าน่าจะขยับขึ้นบ้างแต่ปรากฏว่าค่าเงินบราซิลยังคงอ่อนค่าลงและทำให้มีการส่งออกน้ำตาลได้มากขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยแม้จะอ่อนค่าแต่ก็ยังต่ำกว่ามาก" แหล่งข่าวกล่าว

          นอกจากนี้ ล่าสุดจากการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 57/58 อยู่ที่ประมาณ 820 บาทต่อตันซึ่งต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศ 900 บาทต่อตันทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องจ่ายเงินคืนโรงงานตามกฎหมาย ซึ่งคิดเป็นวงเงินถึง 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่หากราคาอ้อยขั้นต้นประกาศฯ มาตกต่ำ ชาวไร่อ้อยก็คงจะต้องเรียกร้องให้มีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อ ช่วยเหลือราคาอ้อยให้สูงขึ้นรวมกันแล้วแนวโน้มที่กองทุนฯ จะต้องเตรียมกู้จะมี ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นกว่าล้านบาทแต่ปัญหาคือจะนำรายได้จากที่ใดมาชำระหนี้เพราะขณะนี้รายได้จากราคาน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ได้ถูกนำมาใช้ชำระหนี้ เงินกู้ ธ.ก.ส.จนถึงปี 2560 แล้ว

          "กรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ต่ำ กว่าขั้นต้นปี 57/58 ที่ต้องใช้เงิน 1.3 หมื่นล้านบาทขณะนี้กองทุนฯ มีเงินแล้ว 8,000 ล้านบาทขาดอีกราว 5,000 ล้านบาทกำลังหารือกันอยู่มีหลายแนวทางแต่ละฝ่ายก็ยังถกเถียงกันโดยชาวไร่อ้อย ต้องการใช้งบประมาณแผ่นดินมาช่วย แต่โรงงานต้องการให้กู้ ธ.ก.ส.เพราะ ไม่ต้องการให้มีปัญหากับสถาบันการเงิน" แหล่งข่าวกล่าว

จาก http://manager.co.th วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ทุนสหรัฐไม่หนีจ่อตั้งศูนย์วิจัยในไทย 

          นักธุรกิจสหรัฐเล็งตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไทย แย้มซีเกทฯ นำร่อง ยันปัญหาการเมือง-ประเด็นค้ามนุษย์ไม่กระทบการค้า-การลงทุนในไทย

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสภานักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน พบว่าผู้ประกอบการสหรัฐให้ความสนใจในการเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ล่าสุดบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) มีความสนใจเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยฯ ซึ่งได้ขอให้หน่วยงานรัฐของไทยให้การสนับสนุน โดยในเรื่องนี้ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีไอไอ) ที่ได้ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเต็มที่อยู่แล้ว

          สำหรับการหารือในภาพรวมมั่นใจว่าปัญหาทางการเมืองไทย และการที่ไทยถูกจัดอันดับในเรื่องการค้ามนุษย์ไว้ในระดับแย่ที่สุดนั้น จะไม่กระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ ทำให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการสหรัฐ จะไม่ย้ายฐานการลงทุนและยังคงขยายการลงทุนในไทยต่อไป

          "ที่ผ่านมาผู้ประกอบการสหรัฐได้เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น โดยปีที่ผ่านมา ได้เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มูลค่าลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท และได้รับการส่งเสริมไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท" นายจักรมณฑ์ กล่าว

          ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นักธุรกิจสหรัฐได้แสดงความสนใจเส้นทางโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของประเทศไทย และเส้นทางที่จะเชื่อมจากแม่สอดของไทยไปเมียนมาร์ และเชื่อมต่อไปยังอินเดียด้วย รวมทั้งยังสนใจในโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย โดยขอให้แก้ปัญหาความแออัดบริเวณด่านชายแดน แต่ยังมีความเป็นห่วงกรณีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

แจงสี่เบี้ย : สพข.2เร่งเครื่องพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน

แม้ช่วงนี้ฝนจะตกบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังวางใจในเรื่องของสถานการณ์ภัยแล้งไม่ได้ เนื่องจากปีนี้สถานการณ์ค่อนข้างรุนแรง และได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคตะวันออกที่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จนเกษตรกรหลายรายต้องซื้อน้ำมาใช้ในสวน เนื่องจากไม้ผลจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมาก

โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 ได้มอบหมายทางสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการพัฒนาเรื่องแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 ได้รับงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ แบ่งเป็น แหล่งน้ำชุมชน 1 แห่ง ที่จังหวัดจันทบุรี แหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 23 แห่ง และแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร 1,700 บ่อ โดยขณะนี้แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานหรือบ่อจิ๋ว ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ส่วนแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และแหล่งน้ำชุมชน ขณะนี้ดำเนินการไปกว่า 80% คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ก็จะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้ทันฤดูฝนนี้อย่างแน่นอน

นอกจากกรมพัฒนาที่ดินจะพยายามจัดหาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องย้ำเตือนให้เกษตรกรตระหนักคือการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยการใช้น้ำเพื่อการเกษตรนั้นเกษตรกรควรคำนึงถึงดินเป็นตัวตั้ง ต้องรู้ว่าดินที่ดีควรมีความชื้นมากน้อยเท่าใดจึงจะเหมาะสมต่อความต้องการของพืชแต่ละชนิด เกษตรกรไม่ควรรดน้ำในปริมาณมากตามความเคยชิน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

 และยังสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย และที่สำคัญเกษตรกรควรปลูกพืชคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นไว้ในดิน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทางเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินได้เข้าไปแนะนำเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อให้ผ่านวิกฤติภัยแล้งนี้ไปได้ และนำไปสู่การใช้น้ำอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรรายใดหรือชุมชนไหนประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ สามารถยื่นเรื่องมายังสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดในพื้นที่ของท่านได้ ซึ่งทุกสถานีพัฒนาที่ดินพร้อมจะพิจารณาคำร้อง และเสนอต่อกรมพัฒนาที่ดิน ในการจัดสรรงบประมาณลงมาดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

'อำนวย' มั่นใจงบช่วยเกษตรฟื้นฟู ศก. ได้

 รมว.เกษตรและสหกรณ์ มั่นใจ ครม. อนุมัติงบช่วยเกษตรกร คนยากจน ช่วยฟื้นฟูเศรษกิจได้ กษ.-มหาดไทย เร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน ก.ย.นี้

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงโครงการ ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งและคนยากจน ที่ทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกัน ซึ่งเป็นโครงการในลักษณะของการจ้างงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เมื่อ ครม. อนุมัติงบประมาณจำนวน 6 พันล้านบาทแล้ว จะต้องดำเนินการ ในขั้นตอนต่อไปให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งมีประมาณ 5 พันโครงการ แบ่งเป็น 6 พันกว่ากิจกรรม

ทั้งนี้ นายอำนวย ยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพื่อช่วยเกษตรกร-คนยากจน ซึ่งเชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

สัมมนาเข้มจัดการกากอุตสาหกรรม เข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตาม

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรพล สุทธจินดา อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดการสัมมนาการจัดการกากอุตสาหกรรมตามโครงการอุตสาหกรรมทั่วไทย ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรม โดยมี นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมสำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ร่วมพิธี เพื่อให้การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายให้เข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดภายใต้กิจกรรม ได้แก่ 1. จำนวนกากอันตรายเข้าสู่ระบบการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 2. เรื่องร้องเรียนการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมลดลง 3. เกิดการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางการขนส่งการกำจัด/บำบัด และ 4. เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชน

          ด้าน นายสุรพล กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มาจากภาคอุตสาหกรรมจึงจัดทำโครงการอุตสาหกรรมทั่วไทย ร่วมใจจัดการขยะอุตสาหกรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา โดยเร่งรัดการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดระยอง

          ทั้งนี้ จากข้อมูลปริมาณกากอุตสาหกรรมของจังหวัดระยองต่อปี มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 34,913,306,266 ตัน จึง ต้องดำเนินการกำกับดูแลและเข้มงวดในการจัดการนำกากอุตสาหกรรมที่เหลืออยู่เข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกต้อง.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ธุรกิจสหรัฐถกทีมศก.ทาบไทยเข้าร่วม"ทีพีพี" 

          สภาธุรกิจฯสหรัฐเดินสายเข้าพบรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หวังเพิ่มความสัมพันธ์ทาง การค้า-การลงทุนเรียกร้องไทยเข้าร่วม "ทีพีพี" ขณะวุฒิสภาสหรัฐรับรองแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

          สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน เข้าพบรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล หวังขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นักธุรกิจสหรัฐมาในนามองค์กรธุรกิจ

          การเข้าพบครั้งนี้ นำโดยนาย อเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน ประธานสภาฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐ อาทิ Brown-Forman Caterpillar Chevron Glaxo Smith Kline Google Guardian MasterCard และ Mead Johnson

          การเดินทางเข้าพบรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับวุฒิสภาของสหรัฐ มีมติรับรองให้นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนต่อไป โดยทวิตเตอร์ส่วนตัวของนายกลิน ระบุว่ามีความสุขและยินดีกับผลมติของวุฒิสภา และขณะนี้ตนเองและครอบครัวกำลังเตรียมตัวที่จะย้ายมายังประเทศไทย

          พร้อมกันนี้ ยังแสดงความขอบคุณไปยัง ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในการแต่งตั้ง ครั้งนี้ด้วย

          นายกลิน เดวีส์ ได้รับการรับรองจากสภาสหรัฐ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ต่อจากนางคริสตี เคนนีย์ ที่หมดวาระไปเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว

          ทั้งนี้ ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทย-สหรัฐไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯมักจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์คสช.และรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

          ในขณะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ได้หันไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลจีนและญี่ปุ่น ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในโครงการขนาดใหญ่

          นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการหารือกับสภานักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ว่านักธุรกิจสหรัฐฯได้เข้ามาถามในเรื่องความก้าวหน้าในการปฏิรูปการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งได้ชี้แจงว่ารัฐบาลไทยได้เร่งรัดดำเนินการทั้ง 3 เรื่องไปพร้อมๆกัน เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนด้านการเมืองก็กำลังเดินไปตามแนวทางโรดแมปที่ได้วางไว้

          ผู้ประกอบการสหรัฐฯยังได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ปัญหาติดขัดในการดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ เช่น การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่จะเริ่มในปีหน้า ซึ่งก็ได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ลงไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการสหรัฐฯ รวมทั้งยังเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมแก้ไขปัญหาในเรื่องของเหมืองทรายแก้ว ที่มีปัญหาพื้นที่ในการทำเหมือง

          "ในเรื่องนี้ก็ได้ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ลงไปดูแลแก้ไขปัญหาให้กับภาคเอกชน และปัญหาการขอใบอนุญาตตั้งโรงงานประกอบเครื่องจักรอุตสาหกรรมของ บ.แคทเทอร์พิลาร์ ซึ่งติดปัญหาหน่วยงานในพื้นที่พิจารณาล่าช้า ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้ชี้แจงว่ารัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยได้แนะทำให้ไปใช้กฎหมายฉบับนี้ในการแก้ไขปัญหา"2558 โดยได้แนะทำให้ไปใช้กฎหมายฉบับนี้ในการแก้ไขปัญหา"

          นายจัรกมณฑ์ กล่าวว่าผู้ประกอบการสหรัฐฯให้ความสนใจในการเข้ามาตั้งศูนย์วิจัย และพัฒนาในประเทศไทย ล่าสุด บริษัทซีเกท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ก็มีความสนใจเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีในประเทศไทย ซึ่งได้ของให้หน่วยงานราชการของไทยให้การสนับสนุน โดยในเรื่องนี้ก็ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ได้ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งจะให้ทาง บีโอไอ เข้าไปให้คำแนะนำต่อไป ทั้งนี้จากการหารือในภาพรวมมั่นใจว่าปัญหาทางการเมืองของไทย และการถูกคงอันดับการค้ามนุษย์ไว้ที่เทียร์ 3 จะไม่กระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

          "การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง และมั่นใจว่าผู้ประกอบการสหรัฐฯจะไม่ย้ายฐานการลงทุน และยังคงขยายการลงทุนในไทยต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการสหรัฐฯได้เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น" 

          ซึ่งในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการสหรัฐฯได้เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ มีมูลค่าลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท และได้อนุมัติให้การส่งเสริมไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท และยังมีมูลค่าการประมาณ 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของยอดการค้าของสหรัฐฯในอาเซียน และยังเป็นคู่ค้าของไทยอันดับ 3 รองจากจีน และญี่ปุ่น

          หวังไทยเข้าร่วมทีพีพี

          ด้าน นายอเล็กซานเดอร์ ซี. เฟลด์แมน ประธานสภานักธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน กล่าวว่า มีความเป็นห่วงอุตสาหกรรมบางสาขาอยู่ในช่วงขาลง และอยากให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP)ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไทยมีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในอาเซียนอยู่แล้ว รวมถึงต้องการให้ไทยเร่งสนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมในอาเซียน ซึ่งจะทำให้ไทยพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันมากขึ้น

          แจงไทยเร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์

          หลังจากนั้น สภาธุรกิจสหรัฐเข้าพบนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

          นางอภิรดี กล่าวว่าการหารือไม่มีเรื่องการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) แต่การเจรจาดังกล่าวกำลังดำเนินการอยู่และยังไม่เปิดรับคู่เจรจาเพิ่ม ตามเงื่อนไข หากการเจรจาได้ข้อสรุปไทยก็จะประเมินข้อสรุปดังกล่าวอีกครั้งว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร และจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนของไทยอย่างไรก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเป็นภาคีหรือไม่ หากข้อตกดังกล่าวเปิดรับสมาชิกเพิ่ม

          แม้ไทยไม่มีข้อตกลงดังกล่าวไม่ทำให้ความน่าสนใจการค้าการลงทุนของไทยลดลง เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่เป็นคู่เจรจาข้อตกลงดังกล่าว เช่น เวียดนาม มาเลเซีย เพราะขณะนี้ไทยกำลังฉีกตัวเองออกจากการแข่งขันทางการค้ากับประเทศที่มีฐานการผลิตอย่างเวียดนามที่ยังเน้นการรับจ้างผลิต โดยไทยกำลังเข้าสู่การพัฒนาการค้าภาคบริการ และการเป็นเทรดดิ่ง เนชั่นแทน เช่นเดียวกับที่ไทยไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งจะไม่ทำให้ขาดแต้มต่อทางการค้า

          นอกจากนี้ ไทยได้ย้ำกับนักธุรกิจสหรัฐถึงความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ว่ามีความจริงจังและจริงใจ แม้ไทยจะถูกจัดให้อยู่ในอันดับเทียร์ 3 ของรายงานการค้ามนุษย์ (TIP report) โดยขอให้นักธุรกิจที่มาร่วมประชุมกว่า 29 บริษัท  และมีเครือข่ายที่สามารถเข้าถึงทั้งภาครัฐและภาคประชาชนของสหรัฐร่วมชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อให้ไทยไม่ถูกเข้าใจผิดจากผู้บริโภคและกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้า

          สหรัฐฯกังวลละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

          นางอภิรดี กล่าวอีกว่า ส่วนข้อกังวลที่ฝ่ายสหรัฐนำขึ้นหารือในที่ประชุม ได้แก่ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางออนไลน์ เช่น การฉายภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากจะมีประเด็นการละเมิดแล้วยังพบว่าเป็นช่องทางที่มีโฆษณาแฝง เช่น สื่อลามก อนาจารซึ่งทำให้เยาวชนเข้าถึงสื่อดังกล่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งการแสดงความกังวลระยะเวลาการจดทะเบียนสิทธิบัตรสินค้ายาที่ใช้เวลานานถึง 19 ปี ทำให้ระยะเวลาการคุ้มครองเหลือเพียง 1 ปี ตามกฎหมายไทยซึ่งน้อยเกินไป

          เห็นพ้องถึงศักยภาพความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน (Hub) และการบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก ผ่านการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการจัดทำความตกลง FTA กับคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ อาทิ ASEAN+6 (RCEP) ปากีสถาน และตุรกี

          นอกจากนี้ สหรัฐฯ เห็นว่า ไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถรองรับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิ จพิเศษ (Special Economic Zone: SEZs) ในพื้นที่ชายแดน 6 จังหวัดนำร่องภายในปี 2558

          ปัจจุบันสหรัฐเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2553-2557) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 35,560.43 ล้านดอลลาร์ และในปี 2557 ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 38,471.21 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.37% ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ เป็นมูลค่า 23,891.61 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากสหรัฐคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 14,579.60 ล้านดอลลาร์

          ปี 2557 สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนต่างชาติลำดับ 4 ที่เข้ามาลงทุนในไทย รองจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ ไต้หวัน มีโครงการลงทุน FDI ที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI จำนวน 38 โครงการ อาทิ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปโภคบริโภค บริการทางการเงิน บริการขนส่ง เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุน50,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9,400 ล้านบาท ในปี 2556

          ปรีดิยาธรเผยนักลงทุนสหรัฐมั่นใจไทย

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังหารือร่วมกับสภาธุรกิจสหรัฐ–-อาเซียน (US-ASEAN Business Council : USABC) ว่า นักลงทุนสหรัฐส่วนใหญ่ แสดงความมั่นใจที่จะลงทุนในไทย โดยมองว่าไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ที่มีความสมบูรณ์ในเรื่องวัตถุดิบและมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายๆอย่างในภูมิภาคนี้ และผู้บริหารของหลายบริษัทก็มีประสบการณ์ที่ดีในการลงทุนทำธุรกิจในไทย

          การหารือครั้งนี้ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องการเจรจา (TPP) ขึ้นมาหารือแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการหารือกันระหว่างรัฐบาลกับภาคธุรกิจ

          ทั้งนี้ผู้บริหารบริษัทต่างๆของสหรัฐได้มีการสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐ เช่น ความคืบหน้าของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งตนก็ได้ให้ความมั่นใจว่าจะมีการสำรวจในรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีบริษัทยาสอบถามเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อทักท้วงว่าอาจจะขัดต่อกฎหมายขององค์การการค้าโลก (WTO)

          บริษัทขนาดใหญ่ด้านการสื่อสาร เช่น บริษัทไมโครซอฟท์ และบริษัทซิสโก้ ซีสเต็มส์ อิงค์ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายดิจิทัล อีโคโนมี ซึ่งก็ยืนยันว่าได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนทั้งในเรื่องของกฎหมายและการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 Gปลายปีนี้อย่างแน่นอน

          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่าในวันนี้ (7 ส.ค.) สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน มีกำหนดการเข้าหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนในไทย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ผลสำรวจเชื่อมั่นอุตฯยังน่าห่วง ลุ้นออเดอร์ก.ย.ช่วยภาคการผลิต 

          นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่นำเนียบรัฐบาลว่า ส.อ.ท.เตรียมเสนอข้อมูลความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยช่วงครึ่งปีนี้ และแนวโน้มเดือนกรกฎาคม 2558 ต่อที่ประชุม กอช. เพื่อประกอบการพิจารณาในการติดตามสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรม ผลักดันให้มีกำลังผลิตเต็มประสิทธิภาพ มีส่วนช่วยภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยยอมรับว่าความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมโดยรวมที่ ส.อ.ท.ทำการสำรวจยังต่ำกว่าระดับ 100 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จึงถือเป็นสถานการณ์ที่ซบเซาไม่ดีนัก

          "ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าตัวเลขภาคผลิตของไทยช่วงครึ่งปีหลังจะลดลงต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกหรือไม่ เพราะต้องลุ้นกับคำสั่งซื้อสินค้าหรือออเดอร์จากต่างประเทศ และกำลังซื้อในประเทศช่วงเดือนกันยายนนี้ก่อน เพราะภาคอุตสาหกรรมจะรับออเดอร์ล่วงหน้าประมาณ 2 เดือนก่อนผลิตสินค้าส่ง" นายเจนกล่าว

          นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เรื่องที่จะเสนอวาระเข้าสู่ที่ประชุม กอช. อาทิ การรายงานความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองใหม่ของกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เสนอแนวทางจัดทำเพิ่มเติมหลังรับฟังความเห็นจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ผังเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดทำเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว หรืออีโคทาวน์ 5 จังหวัด และการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม คือ พลาสติกและแฟชั่น ระหว่างปี 2559-2564

          นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.อยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 2559-2564 เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กอช. โดยมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต 5 กลุ่มที่สำคัญ ดังนี้ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่ต้องเน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงกับภาคบริการ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนองกระแสโลก 3.กลุ่มอุตสาหกรรมรองรับดิจิตอลอีโคโนมี 4.กลุ่มอุตสาหกรรมฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายภูมิภาค ที่ใช้ประโยชน์ด้านวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

ชงแผนพัฒนายุทธศาสตร์อุตฯ

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ.2559-2564 ทั้งในระดับมหภาคและรายสาขา เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคต พร้อมทั้งผลักดันการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วสู่การปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ด้วยเนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดยปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายด้านยังอยู่ในระดับต่ำ อาทิ การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา ผลิตภาพและประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทำให้เงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ ที่เคยเกื้อกูลและสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบที่ประเทศเคยมีได้เปลี่ยนไป

โดยการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยในระยะ 6 ปีต่อจากนี้ ตั้งแต่ ปี 2559-2564 จึงเป็นช่วงเวลาที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศที่ส่งผลต่อการพัฒนา ทั้งในแง่ของโอกาสที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงจุดแข็งที่จะใช้ผลักดันการพัฒนาให้ก้าวหน้า ควบคู่กับการแก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน ดังนั้นในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต จึงต้องมุ่งเน้นที่จะสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ และแนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมี แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ดังนี้ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป 2.กลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนองกระแสโลก 3.กลุ่มอุตสาหกรรมรองรับดิจิทัลอิโคโนมี 4.กลุ่มอุตสาหกรรมฐานความรู้และความคิดสร้างสรรค์ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายภูมิภาค

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 6 สิงหาคม 2558

ชลบุรีเหลือน้ำใช้อีกแค่1เดือนกรมชลฯเตรียมมาตรการรับมือนายกฯยอมจ่ายชดเชย  

          กรมชลประทานยอมรับ สถานการณ์น้ำชลบุรีวิกฤตเหลือใช้อีกแค่ 1 เดือน

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้จะมีฝนตกมากขึ้น แต่ก็ยังห่วงพื้นที่ภาคตะวันออก เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มีน้ำใช้การได้ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถใช้ได้อีกประมาณ 40 วัน และอ่างเก็บน้ำบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีน้ำใช้การได้ 5 ล้าน ลบ.ม. ใช้ได้อีกประมาณ 30 วัน ซึ่งจะกระทบต่อน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงต้องจับตาดูและจะเร่งวางมาตรการรับมือต่อไป

          รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีแนวโน้มดีมาก แต่กลางเดือน ส.ค.นี้อาจมีการลดการระบายน้ำจากเขื่อนสำคัญในภาคกลางอีกครั้ง เพื่อใช้น้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งต่อไป คาดว่าจะมีน้ำใช้การได้ถึงเป้าหมาย 3,500 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอตลอดฤดูแล้งที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้

          ด้าน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำไหลลงเขื่อนทั่วประเทศดีขึ้น แต่ยังไม่น่าพอใจ จึงยังคงการระบายน้ำที่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม. จะไม่มีการระบายเพิ่ม เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดสำหรับฤดูแล้ง ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยดูแลการสร้างรายได้ หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้ 6,500 ล้านบาท

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังบินตรวจเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และเขื่อนป่าสัก ชลสิทธิ์ ว่า ได้วางแผนว่าต้องขยายการขุดแก้มลิงในพื้นที่เขื่อนที่ตื้นเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำอีกประมาณ 46 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้เพียงพอต่อการจัดสรรน้ำในพื้นที่การเกษตร ส่วนการช่วยเหลือชาวนาได้เตรียมการไว้แล้ว โดยแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ ปลูกก่อนประกาศให้ชะลอการเพาะปลูก ปลูกหลังประกาศ และกลุ่มสุดท้ายคือยังไม่ได้เพาะปลูก โดยคณะกรรมการจะพิจารณาหลักการเยียวยา หลักเกณฑ์เดิมมีอยู่แล้วไร่ละประมาณ 1,000 บาท แต่จะจ่ายแค่ไหนอย่างไรนั้นกำลังพิจารณา

          นายวีระศักดิ์ วิเชียรแสน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) นครพนม กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นใกล้แตะจุดวิกฤต ส่งผลให้ลำน้ำสาขาเอ่อทะลักเข้าท่วมนาข้าวในพื้นที่ลุ่มกว่า 2 หมื่นไร่ จึงประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง เพราะยังมีแนวโน้มฝนจะตกต่อเนื่องอีกหลายวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 6 สิงหาคม 2558

อัดงบ58-59อุ้มรากหญ้ากก.ขับเคลื่อนฯหว่าน3.2 แสนล้าน 

          นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ที่มีนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นประธาน รวบรวมงบประมาณรายจ่ายที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจรากหญ้า ประจำปีงบประมาณ 2558-2559 วงเงิน 3.26 แสนล้านบาท

          แบ่งเป็นงบประมาณ ปี 2558 จำนวน 1.57 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2559 จำนวน 1.67 แสน ล้านบาท เป็นงบประมาณภายใต้ 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 8.55 หมื่นล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 1.64 หมื่นล้านบาท กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 2.23 แสนล้านบาท และ 1 รัฐวิสาหกิจ คือกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง วงเงิน 145.37 ล้านบาท

          "มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ยังมีมาตรการช่วยเหลือโดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในช่วงไตรมาส 3 ที่เหลือมีมาตรการช่วยภัยแล้งวงเงิน 6,000 ล้านบาท โครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร 47,912 ล้านบาท โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกร 126 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 100 ล้านบาท และอื่นๆอีก 3,200 ล้านบาท"

          ส่วนไตรมาส 4 ปีนี้มีมาตรการช่วยภัยแล้งวงเงิน 8,000 ล้านบาท โครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร 21,912 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 8,000 ล้านบาท โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง 2,000 ล้านบาท และโครงการให้สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 3,900 ล้านบาท

          ปีหน้าไตรมาส 1 ธ.ก.ส.เตรียมงบประมาณ 10,000 ล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง ในส่วนของกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ผ่านโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระยะขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน 77,096 ล้านบาท

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 6 สิงหาคม 2558

อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย เทียบเชิญประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมกลุ่ม ASEAN Sugar Alliance รับการเปิด AEC 

          3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เชิญอุตสาหกรรมน้ำตาลประเทศเวียดนาม เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน (ASEAN Sugar Alliance: ASA) เชื่อมสัมพันธ์ด้านธุรกิจและการค้า พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศสมาชิกอาเซียน รองรับการเปิด AEC พร้อมลุ้นคำตอบอินโดนีเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกราย หลังเตรียมยกทีมผู้บริหารโรงงานน้ำตาลไทยไปพบลูกค้าในเดือนสิงหาคมนี้

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือTSMC เปิดเผยว่า คณะผู้บริหาร 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย นำโดยนายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร TSMC และรองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล และนายกสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ได้เข้าพบนาย Nguyen Thanh Long ประธานสมาคมน้ำตาลเวียดนาม (Vietnam Sugarcane Association: VSA) ในระหว่างการประชุม TTC 3rd Annual International Sugarcane Conference ที่จัดโดยกลุ่มบริษัท Thanh Thanh Cong Group (TTC) ณ เมืองนาตรัง ประเทศเวียดนาม โดยเชิญชวนสมาคมน้ำตาลเวียดนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างอุตสาหกรรมน้ำตาลในชาติสมาชิกอาเซียนและส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมน้ำตาลในอาเซียน รองรับการเปิดตลาด AEC และการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ คณะผู้บริหาร 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายยังได้พบหารือกับนาย Dang Van Thanh ประธานกลุ่มบริษัท TTC ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เพื่อหาลู่ทางขยายความร่วมมือทางธุรกิจและการค้าระหว่างกันอีกด้วย

          ทั้งนี้ สมาคมน้ำตาลเวียดนามได้ตอบตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนเป็นรายที่ 3 จากปัจจุบันที่มีไทยและฟิลิปปินส์ได้ตกลงก่อตั้ง ASA ร่วมกัน ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเวียดนามในครั้งนี้จะถือเป็นเปิดประตูด้านการส่งเสริมความร่วมมือในการขยายความร่วมมือทางธุรกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งและการค้าสินค้าน้ำตาล ตลอดจนแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา องค์ความรู้ด้านเทคนิควิชาการ เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศสมาชิก

          “กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน จะเป็นเวทีสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคนี้ได้ร่วมกันปรึกษาหารือให้ความช่วยเหลือแก่กัน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำตาลอาเซียนในตลาดโลก หลังการเปิด AEC ต้นปี 2559 ซึ่งการตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิก ASA ของสมาคมน้ำตาลเวียดนาม จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมากขึ้น โดยเวียดนามถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมน้ำตาลของอาเซียนมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นได้” นายสิริวุทธิ์ฯ กล่าว

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ทางคณะผู้บริหาร 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จะเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซีย พบปะกับผู้ประกอบการน้ำตาลทรายและสมาคมน้ำตาลทรายของอินโดนีเซีย เพื่อเสนอให้ประเทศอินโดนีเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิก ASA เช่นกัน หลังจากที่ผ่านมา ทางอินโดนีเซียได้เห็นชอบในหลักการเข้าร่วมเป็นสมาชิก หลังจากที่ได้มีการหารือกันไปตั้งแต่ปี 2555 โดยผู้ประกอบการของอินโดนีเซียได้ขอเวลาหารือเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปพบปะของผู้บริหาร 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถชักชวนให้อุตสาหกรรมน้ำตาลอินโดนีเซียตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเป็นพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนได้

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สกู๊ปพิเศษ: กระทรวงเกษตรเดินหน้าขับเคลื่อน ปลุกกระแสทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าตลอดปี 58   

          เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมาเผยแพร่พระเกียรติคุณในโครงการ “ใช้น้ำอย่างคุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” โดยให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระองค์ในทุก ๆ มิติ และนำเสนอให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมตลอดทั้งปี 2558

          โครงการ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” นอกจากจะเป็นโครงการแพร่พระเกียรติคุณด้านน้ำของพระองค์แล้วยังช่วยสร้างความตระหนักให้กับเกษตรกรในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำในการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในไร่นาของตนเอง และสามารถใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่าล่าสุดการยางแห่งประเทศไทย (สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และองค์การสวนยาง) และหน่วยงานในสังกัดหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดขอนแก่น อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

          นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขยายผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้ประชาชน เกษตรกรได้นำไปเป็นแบบอย่าง ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งน้ำที่สำคัญมากมายอย่างทุกวันนี้ได้ ด้วยความอุตสาหะ วิริยะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอด 30 ปี หรือ 50 ปีที่ผ่านมาคนไทยจะได้เห็นภาพพระองค์ท่านเสด็จไปตามแหล่งทุรกันดารมากมายทั้งในพื้นที่ป่าเขา ลำเนาไพร เพื่อที่จะหาแหล่งน้ำให้กับพสกนิกรของพระองค์ท่าน เมื่อมีแหล่งน้ำยังทรงพระราชทานแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เก็บกักน้ำไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เขื่อน ฝาย หรือลักษณะแก้มลิง ซึ่งต่าง ๆ เป็นพระราชดำริของพระองค์ท่านที่จะหาน้ำไว้ให้กับพสกนิกรใช้ นอกเหนือจากนั้น น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และน้ำบนฟ้า ที่ทรงพระราชทาน เรื่องของแนวคิดการทำฝนหลวงให้กับพสกนิกรของพระองค์ท่าน ทั้งหลายทั้งปวง รวมเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ น้ำคือชีวิต เพราะถ้าไม่มีแหล่งน้ำ มนุษย์โลกคงอยู่ไม่ได้ คือสิ่งที่อยากจะเห็นความสำคัญ และคุณค่าคือที่มาที่ไปของการณรงค์ในการให้เห็นคุณค่าของน้ำ ว่าน้ำกว่าจะได้มาแต่ละหยด ไม่ได้มาง่ายนั้น การที่จะใช้น้ำแต่ละหยด แต่ละขัน แต่ละลิตรที่ใช้ไป เกิดจากอะไรบ้าง

          ดังนั้น กระทรวงเกษตรจึงได้จัดทำโครงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดินขึ้นเพื่อต้องการรณรงค์อย่างกว้างขวางต่อเนื่องทั้งปีเพื่อให้ประชาชนคนไทย ตระหนักและเห็นความสำคัญของน้ำต่อการดำรงชีพ น้ำต่อการทำอาชีพ น้ำต่อการพัฒนาตัวเอง พัฒนาชาติ พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

          “จากข้อมูล เกี่ยวกับสถานการณ์การใช้น้ำของคนไทย 70% ใช้เพื่อการเกษตรอีก 30% ใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค กิจการอื่น นั่นหมายถึงว่า ในปริมาณน้ำที่พระองค์ท่านทรงแสวงหาให้ได้ 100 ลิตร 70 ลิตร ใช้เพื่อการเกษตร ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้แต่ละกรมไปเร่งวิจัย ศึกษาค้นคว้า และพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการน้ำ ว่าสามารถนำเทคโนโลยีด้านใดบ้างที่จะทำให้การใช้น้ำอย่างมีคุณค่า

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พาณิชย์จ่อปรับเป้าส่งออกใหม่ ชี้ติดลบแน่นอนแต่ไม่ถึง-4%

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับตัวเลขเป้าส่งออก ของกระทรวงฯอีกครั้ง เบื้องต้น ตัวเลขส่งใหม่จะติดลบแน่นอน แต่ขณะนี้ อยู่ระหว่างให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนย.) จัดทำรายละเอียดของตัวเลข บนพื้นฐานปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรโลก ภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งในวันที่ 6 ส.ค.58 นี้น่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขส่งออกใหม่ของกระทรวงฯ อาจไม่ติดลบมากเหมือนที่เอกชน หรือหลายหน่วยงานคาดไว้ ถึง -4%

สำหรับข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้ฟื้นคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ และขอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นั้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนรอออกประกาศสำนักงานนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถนัดประชุมครั้งแรกภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการส่งออกของเดือนที่เหลือปี 2558 และแผนผลักดันการส่งออกในปี 2559 โดยการทำงานต้องมีการบูรณาการของทุกหน่วยงาน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 ส.ค. 2558 กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนย.) จะแถลง เป้าส่งออก อีกครั้ง โดยจากเดิมกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกทั้งปี 2558 ไว้ว่าจะขยายตัว 1.2% ซึ่งการทบทวนเป้าครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้มีการทบทวนตัวเลขส่งออกให้ชัดเจน หลังจากที่ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ในวันนี้ ผู้บริหารได้นำเสนอตัวเลขการส่งออกที่ติดลบใกล้เคียงกับภาคเอกชน และมีโอกาสติดลบเกิน 2%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กนง.คงดอกเบี้ย1.5%บาทอ่อนดันศก.หวั่นลงทุนเสี่ยงเพิ่ม

 บอร์ด กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%ต่อปี มองนโยบายการเงินผ่อนคลายช่วงที่ผ่านมา และการอ่อนค่าเงินบาทเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ชี้กำลังดูหลายเครื่องมือนโยบายการเงินอื่นไม่ใช่ดอกเบี้ย เพื่อดูแลภาวะเศรษฐกิจไทย จับตาพฤติกรรมคนหันลงทุนเสี่ยงเพิ่มขึ้นในยุคดอกเบี้ยในประเทศต่ำนาน ส่วนระยะหลังธุรกิจรายใหญ่หันมาออกหุ้นกู้ไม่ได้เกิดผลเสีย หลายแห่งนำไปปรับโครงสร้างหนี้

               นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) ในที่ประชุมบอร์ด กนง.ครั้งที่ 5 ของปีนี้ได้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินได้ช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งการอ่อนค่าเงินบาทได้ช่วยการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย แม้เงินบาทอ่อนค่าอาจจะเร็วบ้างในบางช่วง แต่ทิศทางยังเป็นประโยชน์ต่อภาวะเศรษฐกิจ

               “ในการช่วยเหลือเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ เรากำลังดูหลายเครื่องมือนโยบายการเงินด้านอื่น ไม่ใช่แค่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียว ขณะเดียวกันเห็นว่าระดับการผ่อนคลายพอควรไม่เป็นอุปสรรคฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพการเงินยังอยู่ระดับจำกัดและยังไม่มีภาคส่วนใดน่าห่วง อย่างไรก็ตามช่วงอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำเป็นเวลานาน เรายังคงติดตามผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจสะสมจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for yield) อย่างใกล้ชิดต่อไป”

               ในที่ประชุมมองว่าครั้งนี้ บอร์ด กนง.ได้ปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่ รวมถึงตัวเลขการส่งออกและเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัว ส่วนขนาดการปรับมากน้อยเพียงใดจะประกาศเป็นทางการในรายงานนโยบายการเงินครั้งหน้า คือ วันที่ 25 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ ได้หารือประสิทธิภาพดอกเบี้ยนโยบาย หลังปรับลดช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน โดยผลผ่านตลาดการเงินออกมาค่อนข้างดี ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงทุกครั้งที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราแลกเปลี่ยนมีผลส่งผ่านมากขึ้น แต่ยอมรับว่าประสิทธิภาพน้อยลงผ่านธนาคารพาณิชย์

               เมื่อมองไปข้างหน้าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในเอเชีย และเศรษฐกิจไทยเองทั้งต้องเผชิญเรื่องภัยแล้ง การส่งออกไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม มองว่าขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) ยังมีเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือ ส่วนกรณีทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) นั้นก็มีการพูดคุยในที่ประชุม โดยเห็นว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้อย่างแน่นอน ส่วนจะส่งผ่านมายังตลาดการเงินไทยให้มีความผันผวนมากขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้

               ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 7 เดือนที่ผ่านมาจากต้นทุนด้านพลังงานเป็นหลักไม่ใช่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ แต่ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ซึ่งช่วงที่เหลือของปี58 ยังคงติดลบอยู่ในอัตราชะลอลงผลจากฐานราคาน้ำมันสูงที่ทยอยหมดไป ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวกถูกเลื่อนออกไปเป็นไตรมาส 3 ของปีนี้แทน จากเดิมประเมินไว้ไม่เกิน 6 เดือน ส่วนเป้าหมายนโยบายการเงินปี 59 แม้ตามกฎหมายจะมีการทบทวนช่วงสิ้นเดือนธ.ค.ของทุกปี แต่มองว่าในทางปฏิบัติไม่ควรเปลี่ยนแปลงเป้าหมายบ่อย ซึ่งปัจจุบันใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2.5% บวกลบ 1.5%ต่อปี

               ส่วนกรณีระยะหลังธุรกิจขนาดใหญ่หันมาออกหุ้นกู้แทนขอสินเชื่อในช่วงต้นทุนออกหุ้นกู้ถูกลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นไม่ได้เกิดผลเสียในช่วงเศรษฐกิจชะลอ ซึ่งหลายแห่งมีการออกหุ้นกู้หลายเหตุผล รวมถึงนำไปปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเศรษฐกิจไทยมีการโตแบบช้าๆ ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีไม่มาก อีกทั้งสถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังมาก แต่เท่าที่ดูขณะนี้ยังไม่เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว (credit crunch).

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

21หน่วยงานร่วมจัด ‘ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า’ ถวายพ่อของแผ่นดิน

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพจัดงานเทิดพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ระหว่างวันที่1-15 สิงหาคม ที่อาคารนิทรรศการ 2 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 21 หน่วยงาน เข้าร่วม

โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกิจกรรมคู่ขนาน อาทิ การจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ การสาธิตอาชีพเสริม การฝึกอบรมให้ความรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร การออกร้านจำหน่ายสินค้าจากหน่วยงานและเกษตรกร การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบนพื้นที่สูง และงาน “หว่านข้าววันแม่12 สิงหา” ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้นอกจากเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ใช้อย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ช่วยเกษตรกรในช่วงฝนทิ้งช่วง

ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมพัฒนาที่ดินได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้กับสถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ เพื่อให้บรรเทาความเดือดร้อนในการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกร จังหวัดตราดเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตรด้วยเช่นกัน สถานีพัฒนาที่ดินเขต 2 โดยสถานีพัฒนาที่ดินตราด จึงได้นำโครงการดังกล่าวมาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังได้เข้าไปดำเนินการถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สถานีพัฒนาที่ดินตราด ได้รับงบประมาณมาดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 2 แห่งด้วยกัน คือ บ้านมุมสงบ หมู่ 6 ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง ด้วยการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน และสร้างคันเขื่อน เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรและกิจกรรมด้านต่างๆ ของเกษตรกรและประชาชนโดยรอบบริเวณ ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะแห่งนี้ และอีกแห่งหนึ่งเป็นกิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่บ้านเจียรพัฒนา หมู่ 4 ตำบลเทพนิมิตร อำเภอเขาสมิง ซึ่งเป็นการขุดลอกขยายแหล่งน้ำเดิมที่มีขนาดเล็กและตื้นเขิน ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรชาวสวนผลไม้

แม้การดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย แต่ทางสถานีพัฒนาที่ดินตราด จะยังคงส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตามและให้คำแนะนำโดยเฉพาะการดูแลรักษาแหล่งน้ำไม่ให้ตื้นเขิน ด้วยการส่งเสริมปลูกหญ้าแฝกรอบแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

PTTGC จ่อตั้งนิคมฯ ไบโอฮับ 2 พันไร่ ดึง รง.น้ำตาลถือหุ้น 50% สรุปสิ้นปีนี้ 

          พีทีที โกลบอลฯ เตรียมผุดนิคมฯ ไบโอฮับ 2 พันไร่ในภาคกลาง โดยร่วมทุนกับผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย คาดได้ข้อสรุปปลายปีนี้ หวังดึง Nature Work เลือกไทยเป็นฐานผลิต PLA แย้มเตรียมเซ็นสัญญาพันธมิตรผุดโครงการโพลียูรีเทนภายในเดือนนี้

               นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า ในสิ้นปีนี้บริษัทฯ ได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยทำนิคมอุตสาหกรรมด้านไบโอพลาสติก (ไบโอฮับ) บนพื้นที่ 2 พันไร่ในภาคกลาง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 5 พันล้านบาท โดยบริษัทจะถือหุ้นประมาณ 50%

                โครงการนิคมฯ ดังกล่าวจะมีการตั้งโรงหีบอ้อยเพื่อนำน้ำอ้อยไปทำไบโอพลาสติก และเอทานอล โดยไม่มีการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อจำหน่าย ส่วนชานอ้อยนำไปผลิตไฟฟ้า โดยนิคมฯ ดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่งจึงแล้วเสร็จ และมั่นใจว่าโครงการนี้จะสร้างแรงจูงใจให้ทาง NATURE WORKS ตัดสินใจเข้ามาลงทุนโครงการผลิตไบโอพลาสติกชนิด PLA ในไทย เนื่องจากมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบและต้นทุนต่ำในการผลิตไบโอพลาสติก PLA โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากภาครัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางมาเลเซียพยายามที่จะดึง NATURE WORKS มาตั้งโรงงานผลิต PLA ในมาเลเซียโดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

              “พาร์ตเนอร์มีพื้นที่ 2 พันไร่ในการเตรียมพัฒนานิคมฯ ไบโอฮับ โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างการศึกษาขั้นสุดท้าย โดยจะรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในพื้นที่แถวนั้นเพื่อนำมาหีบเป็นน้ำอ้อยมาผลิตเอทานอลขายให้ ปตท. และส่วนหนึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอพลาสติก PLA ต่อไป ซึ่งพาร์ตเนอร์นี้จะเป็นผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลรายใหญ่ติด 1 ใน 5 ของไทย”

               นายสุพัฒนพงษ์กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนโพลียูรีเทนในไทยว่า บริษัทฯ เตรียมลงนามสัญญาร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อลงทุนทำโรงงานผลิตโพลียูรีเทนในเดือน ส.ค.นี้ โดยโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ

               สำหรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่ใช้ Shale Gas เป็นวัตถุดิบที่สหรัฐฯ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง รายละเอียดเงินลงทุนและจัดหาเงินกู้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปตัดสินใจลงทุนหรือไม่ในกลางปีหน้า การตัดสินใจมองลู่ทางการลงทุนปิโตรเคมีในสหรัฐฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเทศที่มีก๊าซฯ ราคาไม่แพงและสำรองจำนวนมาก

               นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังศึกษาที่จะนำแนฟทาจากกระบวนการกลั่นมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ หลังจากแนวโน้มก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดน้อยลง และแนวโน้มราคาน้ำมันไม่ขยับเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ และใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงเครื่องจักร 3 ปี

               ซึ่งที่ผ่านมาโรงกลั่นน้ำมันของพีทีที โกลบอลฯ มีแนฟทาที่ได้จากการกลั่นประมาณ 2 ล้านตัน/ปี แต่ส่งออก 7-8 แสนตัน ซึ่งในอนาคตจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีสัดส่วนใช้ก๊าซฯ 85% แนฟทา 15% ก็จะเปลี่ยนเป็นก๊าซฯ 60% แนฟทา 40%

              นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ทิศทางของบริษัทฯ นับจากนี้จะหันมาให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Product : HVP) มากกว่าการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานปิโตรเคมี โดยตั้งเป้าหมายรายได้จาก HVA ปีละ 5.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567 หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ปิโตรเคมี จากปัจจุบันบริษัทฯ มีรายได้ HVP ปีละ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4% ของรายได้รวมปิโตรเคมี

               ทั้งนี้ บริษัทได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอยู่ที่จังหวัดระยองในปี 2549 เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีนักวิจัยรวม 200 คน ซึ่งการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญในการสร้างและรักษาความเป็นผู้นำด้านเคมีภัณฑ์ของบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาใช้เงินในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไปแล้ว 9 พันล้านบาท 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คลอดกฎกระทรวงตั้งรง.น้ำตาลใหม่ ยื่นก่อนไม่ทำใน3ปีริบคืนเล็งถอนใบอนุญาต9โรงเก่า 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีเอกชนมายื่นเรื่องขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ประมาณ 56 ราย มีหลักเกณฑ์การพิจารณาให้เหลือประมาณ 10 ราย ซึ่งหลายรายมีการยื่นพื้นที่มาซ้ำซ้อนกัน แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 39 ราย ภาคตะวันออก 1 ราย ภาคกลาง 7 ราย และภาคเหนือ 9 ราย โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ซึ่งได้จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศเป็นกฎกระทรวง

          โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.โรงงานน้ำตาล 11 แห่งที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 2553-2554 แต่ยังไม่ก่อสร้างจะมีกรอบการพิจารณา หากโรงงานใดยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) มาแล้ว แสดงว่ามีความตั้งใจดำเนินการจริง จะไม่นำเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงานซึ่ง ครม.เพิ่งมีมติว่า โรงงานที่จะขออนุญาตตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างไม่ต่ำกว่า 50 กม. จากโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ปัจจุบัน จากเดิมกำหนดต้องห่างจากโรงงานเดิม 80 กม. แต่หากผู้ประกอบการรายใดได้ใบอนุญาตไปแล้ว 3-4 ปี และไม่ดำเนินการใด ๆ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะยกเลิกใบอนุญาตดังกล่าว

          2.กรณีเอกชนยื่นเรื่องขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ มีหลักเกณฑ์การพิจารณา ได้แก่ 1.รายใดยื่นขอใบอนุญาตมาก่อนได้รับการพิจารณาก่อน 2.สถานที่ตั้งโรงงาน ต้องมีเอกสารสิทธิของที่ดินชัดเจน 3.โรงงานแห่งใหม่ต้องมีระยะห่างจากโรงงานที่ตั้งอยู่ปัจจุบัน 50 กม. 4. ต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ โดยกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง 3 ปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ

          5.การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 6.เมื่อได้ EIA แล้วจึงมายื่นขอ รง.4 ได้ 5.หลังจาก ได้รับใบอนุญาตให้ก่อตั้งโรงงานใหม่แล้ว จะต้องดำเนินการก่อสร้างภายใน 5 ปี หากไม่ดำเนินการจะถูกริบใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการรายต่อไปที่เคยมายื่นเรื่องไว้ได้รับการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่อไป

          "เอกชนที่ยื่นมาประมาณ 56 รายพบว่า ประมาณ 50 รายเสนอพื้นที่ตั้งโรงงานทับซ้อนกัน ในความจริงแล้วรัศมี 50 กม.นั้น 2 โรงอยู่ห่างกันแบ่งครึ่งคือคนละ 25 กม. เมื่อตีวงรัศมี 25 กม.แล้วพื้นที่ดังกล่าวจะอยู่ที่ 1.2 ล้านไร่ หากโรงงานที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมปริมาณที่ 2 หมื่นตันอ้อย/วัน จะต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยในวงรัศมี 25 กม. ใช้พื้นที่อยู่ที่ 2.4 แสนไร่ หรือคิดเป็น 20% ของ 1.2 ล้านไร่ เราจึงต้องกำหนดเพื่อไม่ให้แน่นจนเกินไป เพราะหากกำหนดที่ 40 กม. แล้วระยะห่างของโรงงานที่ 20 กม. พื้นที่ปลูกอ้อยในวงรัศมีต้องคูณ 25 หรือ 30% ของพื้นที่ เราทำอย่างนี้เผื่อมีพื้นที่ป่า ภูเขา บ้าน ถนนไว้ด้วย ถ้าผลิตน้ำตาลหีบ 120 วัน/ปี ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณนี้เพียงพอสำหรับสามารถทำอ้อยได้จึงยังไม่แย่งกัน เราห่วงการขอตั้งโรงงานมากจะแย่งอ้อยกัน ส่วนการกำหนดระยะห่างที่สมควรส่งเสริมปลูกอ้อย 50% ของกำลังการผลิต เพื่อมั่นใจว่าต้องมีชาวไร่อ้อยเป็นของตนเอง ต้องมีหลักฐาน มีชาวไร่ มีพื้นที่ว่าทำได้จริง

          ต่อไปขั้นตอนการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ ไม่ต้องเข้า ครม.เป็นอำนาจกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติได้ หากใครผ่านตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดยื่นก็ได้เลยไม่ต้องไปจ่ายใต้โต๊ะใคร" นางอรรชกากล่าว

          ส่วนเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล ประสิทธิภาพทั้งการผลิตอ้อย น้ำตาล กองทุนทำอย่างไรให้จัดเก็บรายได้เข้ากองทุนแบบเป็นระบบ โดยเร่งดำเนินการให้เสร็จใน 3 เดือน

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาล 11 แห่งที่ผ่าน มติ ครม.แล้ว ได้แก่ 1.บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ 2.บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี 3.บริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ 4.บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 5.บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี 6.บริษัท น้ำตาลทิพย์นครสวรรค์ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ 7.บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด อ.เทิง จ.เชียงราย (หรือ อ.จุน จ.พะเยา) 8.บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร 9.บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 10.บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว และ 11.บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ

          ปัจจุบันมีบริษัทน้ำตาลระยองที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และบริษัทน้ำตาลสระบุรี จ.ลพบุรี ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ห่วงส่งออกทรุดหนักจี้รัฐเร่งสางอุปสรรคกกร.ชงฟื้นทีมพัฒนาฯ-พาณิชย์ประเมินใหม่ส่อลดเป้าเหลือ0% 

           กกร.กระทุ้งรัฐประชุมคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกแห่งชาติ แก้ปัญหาส่งออกจริงจังห่วงอาการทรุดหนัก เร่งแก้อุปสรรคกลุ่ม 12 สินค้าส่งออก ด้านพาณิชย์ทำใจถกประเมินเป้าหมายส่งออกปีนี้ใหม่ คาดปรับลดเหลือ 0%

          นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่าที่ประชุมเห็นว่ารัฐบาลควรจะรื้อฟื้นคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการส่งออกอย่างจริงจัง โดยไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์เพียงกระทรวงเดียว ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่เคยมีการเรียกประชุมมานานหลายปีแล้ว จึงควรจัดให้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่อการส่งออกใน 12 กลุ่มสินค้าตามที่กระทรวงพาณิชย์ริเริ่ม

          ทั้งนี้ 12 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย 1.กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 2.กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ 3.กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร 4.กลุ่มสินค้าตลาด CLMV 5.กลุ่มไลฟ์สไตล์ 6.กลุ่มสิ่งทอและเครื่องหนัง 7.กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 8.กลุ่มวัสดุและบริการก่อสร้าง 9.กลุ่มโลจิสติกส์ 10.กลุ่มสุขภาพและความงาม 11.กลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์และการพิมพ์ 12.กลุ่มสินค้าฮาลาล

          "ที่ประชุมมีความกังวลถึงสถานการณ์ส่งออกที่ยังหดตัว และมีโอกาสที่ทั้งปีจะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แม้ขณะนี้จะได้รับปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทอ่อนลง แต่เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงต้องการแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาคส่งออกที่มีสัญญาณอ่อนแอมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งในเดือนกันยายนน่าจะเห็นตัวเลขที่ชัดเจนมากขึ้น" นายบุญทักษ์กล่าว

          ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เพียงกระทรวงเดียวไม่สามารถที่จะช่วยผลักดันการส่งออกได้ แต่ควรจะมีรัฐมนตรีจากกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม รวมไปถึงกระทรวงการต่างประเทศ เข้ามาบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาการส่งออกเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น ในการแก้ปัญหารัฐบาลจะต้องดูเรื่องตัวเลขการลงทุน รายได้จากการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายเงินในประเทศควบคู่กันไปด้วย

          ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า อีกประเด็นที่ สอท. สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งดำเนินการคือ การเปิดฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมแร่โปแตส เพื่อนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดการลงทุนแบบครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคเกษตรของประเทศด้วย รวมทั้งการสนับสนุนให้เดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่

          ขณะที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกและทบทวนเป้าหมายการส่งออกใหม่ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดเป้าหมายส่งออกปีนี้ลงเหลือ 0% หรืออาจจะติดลบ เนื่องจากขณะนี้เห็นได้ชัดว่าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาด และราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ปรับสูงขึ้น ซึ่งปัญหาส่งออกติดลบเกิดขึ้นทั่วโลก แต่การส่งออกของไทยที่ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าน้อยกว่า และผลจากมาตรการผลักดันที่รัฐดำเนินการอยู่ขณะนี้จะเริ่มปรากฏประมาณต้นปีหน้า

          สำหรับความคืบหน้าในการเรียกประชุมคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกแห่งชาตินั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว ส่วนที่มีปัญหายังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะเร่งดำเนินการติดตามเพื่อให้มีการประชุมได้ในนัดแรกโดยเร็ว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

'วีระศักดิ์ ขวัญเมือง'เข้าทำหน้าที่'ผู้ว่าฯการยาง'คนแรก

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คนใหม่ (อดีต ผอ.สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย) ได้ให้โอวาทในการเข้าปฏิบัติงานในฐานะผู้ว่าการฯ คนแรกของ กยท.โดยกล่าวว่า กยท.ถือเป็นองค์กรน้องใหม่ ที่มีภารกิจเร่งด่วน ควบรวม 3 องค์กร คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อสย.) และสถาบันวิจัยยาง ให้ลงตามโครงสร้างและปฎิบัติงานให้การยางแห่งประเทศไทย เกิดความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ พร้อมกับดูแลสถานภาพบุคลากร และสวัสดิการชาวสวนยางทั้งประเทศ โดยเน้นให้ชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางต้องดีขึ้น

"กยท.เป็นองค์กรเกิดใหม่ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 โดยมุ่งปฏิรูปการบริหารระบบยางพาราใหม่ทั้งหมด จากเดิมมีการแบ่งออกเป็นหลายหน่วยงาน ให้สามารถบริหารแบบครบวงจรในองค์กรเดียว ทำหน้าที่ทั้งส่งเสริมปลูกยาง การตลาด และการพัฒนาวิจัยยางพารา เป้าหมายหลักคือ ดูแลภาคเกษตรชาวสวนยาง ให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ยังมีเรื่องการส่งมอบยางพาราให้ผู้ซื้อที่เป็นผู้ค้าจากต่างประเทศที่มีการทำสัญญาค้างอยู่กว่า 2 แสนตัน ต้องเร่งโดยเร็วที่สุด อีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการคือ สวัสดิภาพของชาวสวนยางและแรงงานผู้กรีดยาง เพราะชาวสวนยางเป็นผู้ทำอาชีพที่ดูแลส่งเงินบำรุง กยท.ดังนั้น กยท.ต้องคืนกำไรกลับไปในรูปของสวัสดิการชาวสวนยาง รวมถึงแรงงานผู้กรีดยางด้วย โดยกฎหมาย กยท.กำหนดให้จัดสรรเงินจำนวนหนึ่งมาเป็นสวัสดิการชาวสวนยางตรงนี้" นายวีระศักดิ์ กล่าว

รายงานข่าวเปิดเผยว่า นายวีระศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยนายวีระศักดิ์ ได้เคยร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ สมัยที่นายอำนวยทำงานให้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาล

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 สิงหาคม 2558

ปภ.เผยภัยแล้งคงเหลือเพียง 3 จ.เท่านั้น

อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. เผยภาวะภัยแล้งคลี่คลายไปแล้ว เหลือเพียง 3 จ.เท่านั้น

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่นั้น ทำให้สถานการณ์ภาวะฝนแล้งเริ่มคลี่คลายลงจาก 10 จังหวัด เหลือเพียง 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร สุโขทัย และสุพรรณบุรี

ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแจกจ่ายน้ำ การขุดลอกแหล่งน้ำ การซ่อมสร้างบ่อบาดาล รวมถึงดำเนินมาตรการจ้างแรงงานประชาชนในพื้นที่ประกอบกิจกรรมที่เป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 4 สิงหาคม 2558

เร่งหาแผนเยียวยาเกษตรภัยแล้ง คาดหลังส.ค.สรุปความเสียหาย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งว่า ตอนนี้ทางผู้ว่าแต่ละจังหวัดกำลังรวบรวมอยู่ซึ่งต้องดูด้วยเพราะหลายพื้นที่ก็มีฝนตกลงมาแล้ว บางพื้นที่ก็สามารถปลูกพืชต่อเนื่องได้เลย แต่บางพื้นที่อาจยังไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องมาพิจารณาดูว่าจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเหล่านั้นได้อย่างไร อาจจะเป็นการแนะนำให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยโดยให้เป็นตัวเงินไป หรือให้พันธุ์พืชไป ทั้งนี้คาดว่าหลังเดือนสิงหาคมนี้น่าจะสรุปได้ว่าความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้งมีจำนวนเท่าไหร่

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความชัดเจนของตัวเลขที่จะเยียวยาเกษตรกรหรือไม่ว่าจะให้เท่าไหร่ นายอำนวย กล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปได้เพราะสุดท้ายแล้วต้องเสนอ ครม.แต่สิ่งที่ตกลงกันในคณะกรรมการระดับที่ไม่ใช่ครม.คือความเดือดร้อนแบบนี้จะช่วยเหลืออย่างไร ด้วยมาตรการอย่างไร และได้สั่งให้ทางจังหวัดประมวลความเสียหายให้ทันต่อเหตุการณ์ด้วย อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือเยียวยาหากเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนก็จะมีงบประมาณก้อนหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่ที่ให้จังหวัดละ 10 ล้านคอยดูแลอยู่

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 สิงหาคม 2558

ครม.อนุมัติ 6 พันล้าน ให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบแผนงานการช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนในการเสริมการเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยใช้งบกลางปี 2558 จำนวน 6,541 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเป็นองค์กรเกษตรกร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการทำกิจกรรม ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว มีทั้งสิ้น 4,966 โครงการ แบ่งเป็น 6,740 กิจกรรม ครอบคลุมกลุ่มงาน 9 ในหมวดที่สำคัญ ประกอบด้วย ด้านส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การทำประมง เศรษฐกิจพอเพียง ปัจจัยการผลิต ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร สาธารณูปโภค ทั้งนี้ เม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรประมาณ 2 ล้านกว่าครัวเรือน หรือประมาณ 10 ล้านคน โดยเริ่มดำเนินการทันที และให้ทางจังหวัดเร่งดำเนินการผูกพันงบประมาณให้เสร็จภายในเดือนกันยายน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งขึ้น ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิต

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 4 สิงหาคม 2558

ชาวเพชรบูรณ์ค้านสร้างโรงงานน้ำตาลบึงสามพัน

เพชรบูรณ์-กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนต้านสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งที่ 2 ที่บึงสามพันหวั่นก่อมลพิษสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 4 ส.ค.กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนจาก 3 ตำบล ประกอบด้วย ก่ ต.หนองแจง ต.บึงสามพัน และต.ซับสมอทอด อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 50 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลพื้นที่ ต.หนองแจง อ.บึงสามพัน ผ่าน นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผวจ.เพชรบูรณ์ แต่เนื่องจากติดภารกิจอยู่ข้างนอกจึงมอบหมายให้นายโยธิน นันทา ผู้ช่วยนิติกร ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ออกมารับหนังสือแทน

แกนนำเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวให้เหตุผลที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านครั้งนี้ว่าเพราะกังวลว่าหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่จะส่งผลกระทบด้านมลภาวะต่างๆ รวมทั้งหากปล่อยให้เกษตรกรปลูกอ้อยในพื้นที่จะต้องใช้สารเคมีจำนวนมากอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อพืชการเกษตรข้างเคียงได้

ด้านนายโยธิน กล่าวภายหลังรับหนังสือคัดค้านว่า จะส่งหนังสือให้ผวจ.เพชรบูรณ์ พิจารณาอย่างเร่งด่วนและจะแจ้งให้ทราบทันที จากนั้นกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนจึงสลายการชุมนุม

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 4 สิงหาคม 2558

ข้อคิดเมื่ออ้อยเป็นพืชทางเลือกแทนนาข้าว

มูลจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตอ้อยของไทยในปีการผลิต 2556/57 ที่ผ่านมาว่า แม้ผลผลิตโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่ค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่กลับมีแนวโน้มลดลงด้วยราคาน้ำตาลโลก

ขณะนี้ถือว่าต่ำมาก อาจจะกระทบต่อฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในการเป็นเครื่องมือรัฐที่จะดูแลเสถียรภาพราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 58/59 ให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และสิ่งที่น่ากังวล คือ ชาวนาหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เปลี่ยนพื้นที่นาบางส่วนมาปลูกอ้อยแทน ทำให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้น แต่ราคาอ้อยมีแนวโน้มจะตกต่ำ ส่งผลให้ราคาอ้อยในประเทศต่ำลงด้วย

ทั้งนี้จากที่สหกรณ์ได้ทำการรวบรวมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสมาชิกและบุคคลทั่วไปนำมาขายหรือแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป เพื่อจำหน่ายต่อให้ได้ราคาดี รักษาผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกและเป็นกลไกในการต่อรองเจรจาทางธุรกิจในหลายประเภทสินค้านั้น

สำหรับอ้อยในปี 2557 ที่ผ่านมามีมูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อยทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงิน 421.46 ล้านบาท อยู่ในพื้นที่ 18 จังหวัด ผ่านเครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 36 แห่ง การรวบรวมผลผลิตอ้อยมีอยู่ในทุกภาคของประเทศ ไทย ยกเว้นภาคใต้ ซึ่งมูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจำนวนเงิน 324.04 ล้านบาท หรือคิดเป็น 76.88% ของมูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อยทั้งสิ้น

โดยจังหวัดขอนแก่น มีมูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อยมากที่สุด เป็นจำนวนเงิน 239.44 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56.81% ของมูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อยและในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คือระหว่าง พ.ศ. 2553–2557 การรวบรวมผลผลิตอ้อยผ่านเครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีการลดลงและเพิ่มขึ้นสลับกันทุก ๆ ปี คือปี 2554 ลดลง 13.33% ส่วนปี 2555 เพิ่มขึ้น 34.62% แต่ ปี 2556 ลดลง 11.43% และปี 2557 เพิ่มขึ้น 16.13%

ส่วนมูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 174 ล้านบาท ในปี 2553 เป็น 421 ล้านบาท ในปี 2557โดยมูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อย ผ่านเครือข่ายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปี 2557 ขยายตัวจากปี 2556 เท่ากับ 26.43%

หากพิจารณาภาพรวมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คือ พ.ศ. 2553–2557 จำนวนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมผลผลิตอ้อย และมูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อย ยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอ้อย เป็นสินค้าจำเป็นต่อการผลิตน้ำตาลทรายและเป็นพืชพลังงานทดแทนที่ตลาดต้องการ และได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวในพื้นที่นาดอน ซึ่งให้ผลผลิตต่ำ มาปลูกอ้อยโรงงานทดแทนจึงคาดว่าในปี 2558 มูลค่าการรวบรวมผลผลิตอ้อย จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 27.35%

ขณะที่อ้อยนับเป็นพืชพลังงานอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลทราย น้ำอ้อยพร้อมดื่มกากน้ำตาลสามารถผลิตเป็นกระดาษ หรือไม้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ และอ้อยมีปลูกกันทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ทั้งนี้ เพราะสภาพอากาศภาคใต้ไม่เหมาะแก่การปลูกอ้อย คือ มีฝนตกชุก และมีอากาศร้อนตลอดปี ซึ่งสภาพดังกล่าวทำให้อ้อยไม่หวาน โดยเดือนที่เหมาะสมในการปลูกอ้อย คือธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ และเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ของทุกปี.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 4 สิงหาคม 2558

ก.เกษตรฯ ผุดนิทรรศการ ใช้น้ำอย่างรู้ค่า ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จัดนิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ตั้งแต่วันนี้ – 15 สิงหาคม 2558 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ นายปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงาน โครงการเฉลิมพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละเดือน ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2558 ว่า ในเดือนสิงหาคม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดแสดงนิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 1 ถึง 15 สิงหาคม 2558 ณ อาคารนิทรรศการ 2 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งการจัดนิทรรศการในครั้งนี้มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 21 หน่วยงาน โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” และกิจกรรมคู่ขนาน ได้แก่ การจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ การสาธิตอาชีพเสริม การฝึกอบรมให้ความรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร การออกร้านจำหน่ายสินค้าจากหน่วยงานและเกษตรกร การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบนพื้นที่สูง และการจัดงาน “หว่านข้าววันแม่ 12 สิงหา” เป็นต้น

นอกจากเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยเสมอมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ไกลแหล่งน้ำ ท้องถิ่นทุรกันดารที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยได้     

"การดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” นี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ได้ร่วมรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านโครงการต่างๆ ของหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการด้วย" นายปีติพงศ์ กล่าว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 4 สิงหาคม 2558

เร่งเปิดเวทีประชาคมถกร่วมมือเกษตรกรทำเกษตรแปลงใหญ่ 

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่และการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ได้พิจารณารายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผน ปฏิบัติการ ประจำปี 2558 รวมทั้งการคัดเลือกพื้นที่ สินค้า และชื่อผู้จัดการแปลง โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด เพื่อดำเนินการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ รวม ทั้งสิ้น 263 แปลง 28 ชนิดสินค้า ได้แก่ ด้านพืช 21 ชนิด จำนวน 241 แปลง ด้านปศุสัตว์ 3 ชนิด ด้านประมง 3 ชนิด และเกษตรผสมผสาน 1 ชนิด จำนวน 2 แปลง ซึ่งได้มีการจัดทำข้อมูลรายแปลง และการพัฒนาทักษะผู้จัดการแปลง

          ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พิจารณาแผนการดำเนินงานในปี 2558 ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน และแนวทางการดำเนินการปี 2559 เพื่อทบทวนและเตรียมการในปีถัดไป ซึ่งเน้นให้มีการจัดอบรมผู้จัดการแปลง จำนวน 252 ราย ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่แบบมีส่วนร่วม โดยการทำประชาคมร่วมกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ โดยจะต้องมีความชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เร่งปลดหนี้เกษตรกร สกัดถูกยึดที่ดินทำ

          รบ.เริ่มทยอยปลดหนี้เกษตรกร 1.6 ล้านราย มูลหนี้กว่า 3.8 แสนล้าน เร่งสกัดถูกยึดที่ดิน ทำกิน 'สมหมาย'แจงเลิกขอคืนแวตส่งออก

          'บิ๊กตู่'กำชับ3แบงก์รองรับกอช.

          เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำชับให้การดำเนินโครงการ กอช. ผ่านธนาคารรัฐ 3 แห่งคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ให้มีความพร้อมมากที่สุด ทั้งระบบการให้บริการ การให้คำปรึกษา และทดสอบระบบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความสมบูรณ์และพร้อมให้บริการในวันเปิดโครงการ

          "เบื้องต้นทราบว่า ธ.ก.ส.ซักซ้อมอบรม เจ้าหน้าที่และทดสอบระบบแล้ว ขณะที่ธนาคารออมสินทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่แล้วและกำลังทดสอบระบบ รวมทั้งทำเรื่องชี้แจงไปยังธนาคารสาขา คาดว่าวันเปิดโครงการจะเลื่อนจากเดิมวันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันที่ 20 สิงหาคม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบอย่างทั่วถึงครอบคลุมมากที่สุด" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

          พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า กอช.มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จ บำนาญ คาดว่ามีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ อาชีพเกษตรกรรม แม่ค้าหาบเร่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อ หรือแรงงานรายวันที่ไม่มีระบบสวัสดิการ สามารถสมัคร กอช.ได้ตั้งแต่อายุตั้งแต่ 15-60 ปี โดยใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว เพื่อให้พี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ได้สร้างระบบการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยรัฐบาลจะสมทบเงินให้ส่วนหนึ่ง ปีละไม่เกิน 13,200 บาท เมื่อออมจนเกษียณอายุ 60 ปี กองทุนจะจ่ายเงินบำนาญให้ทุกเดือนตลอดชีพ

          ก.ย.เริ่มทยอยปลดหนี้เกษตรกร

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยรวบรวมข้อมูลพบว่าเกษตรกรไทย 1.6 ล้านราย มีหนี้สินรวมกว่า 3.8 แสนล้านบาท จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือ มิฉะนั้นอาจส่งผลให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งวันที่ 4 สิงหาคม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องถึงมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะจำหน่ายหนี้สูญ 12 แหล่งเงิน รวมวงเงิน 4,500 ล้านบาท ขณะนี้แต่ละกองทุนอยู่ระหว่างตรวจสอบสถานะลูกหนี้ คาดว่าประมาณเดือนกันยายนจะทยอยปลดหนี้เกษตรกรได้เห็นผลชัดเจน

          นายชวลิตกล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งช่วงที่ฝนยังไม่ตก และหลังเก็บเกี่ยวนั้น ได้วางไว้ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชน้ำน้อยที่ภาครัฐจะดูแลเรื่องการตลาดให้ 2.สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กประจำไร่นา 3.จ้างงานปรับปรุงระบบชลประทาน ช่วงที่ไม่สามารถทำการเกษตรกรได้ เริ่มจ้างตั้งแต่ 1 สิงหาคม และ 4.ส่งเสริมการทำฟาร์มตัวอย่างในชุมชนเพื่อพัฒนาให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งหมดรอ ครม.พิจารณาเห็นชอบ

          คลังพร้อมช่วยเกษตรกรปลดหนี้

          นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีตรีกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือหนี้สินเกษตรกรเพิ่มเติมนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดต่างๆ เชื่อว่า ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีมาตรการช่วยเหลือที่เกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด ในส่วนกระทรวงการคลัง หาก ครม.เห็นชอบ มาตรการนั้นๆ ก็พร้อมดำเนินการทันที

          นายสมหมายกล่าวว่า ส่วนกรณีที่จะมีการยกเลิกระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับการส่งออก และเปลี่ยนมาเป็นระบบปลอดภาษีสำหรับการส่งออกแทน เพื่อแก้ปัญหาการโกงขอคืนภาษีแวต ทำให้รัฐเสียหายว่า เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน เป็นแนวคิดและเป็นการหารือของคณะทำงาน ยังไม่ใช่ในระดับนโยบาย สำหรับโครงการรถคันแรกจากข้อมูลพบว่ายังมีผู้จองรถที่ได้สิทธิแต่ยังไม่มารับรถประมาณ 1 แสนราย ดังนั้นต้องมารับรถภายในวันที่ 30 กันยายนนี้

          'จุติ'จี้บิ๊กตู่จ่ายเงินช่วยชาวนา

          นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกฯสั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาจ่ายเงินชดเชยปัญหาภัยแล้งให้กับชาวนาและเกษตรกร เนื่องจากกระทรวงการคลังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง โดยจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่

          "ผมอยากเสนอให้ช่วยเหลือเกษตรกรเฉลี่ยคนละไม่เกิน 20 ไร่ ชดเชยไร่ละ 1,000 กว่าบาท โดยเศษที่เหลือขอให้หักเป็นค่าประกันภัยพืชผล เพราะปีนี้ถือว่าแล้งที่สุดในรอบ 36 ปี หากปีหน้าเกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบ รัฐบาลจะได้ไม่ต้องกังวลในการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร เพราะมีเงินประกันความเสี่ยงให้เกษตรกรแล้ว ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ใช่ประชานิยม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้เกษตรกรรู้จักการประกันภัยความเสี่ยง" นายจุติกล่าว

          ตัดสิ่งปลูกสร้างออกจากกม.ที่ดิน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ล่าสุด ทางคณะทำงานตัดมูลค่าสิ่งปลูกสร้างออกจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ทำให้ภาระภาษีที่เจ้าของบ้านและที่ดินจ่ายลดลง แม้ว่าจะทำให้รายได้ลดต่ำกว่าจากที่เคยประเมินไว้ 2 แสนล้านบาท แต่ยังสูงกว่ารายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่ปัจจุบันจัดเก็บปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาษีที่ดินจะเข้ามาแทนที่กฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งมีช่องโหว่ภาษี และอัตราภาษีที่เก็บต่ำมาก โดยใช้ราคาปานกลางของราคาที่ดินช่วงปี 2521 รวมถึงการยกเว้นภาษีสำหรับเจ้าของที่ดิน ขนาดตั้งแต่ 50 ตร.ว. จนถึง 5 ไร่  และโครงสร้างภาษีมีลักษณะถดถอย คือราคาที่ดินที่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อไร่ จ่ายอัตราภาษีเฉลี่ยที่ 0.50% ขณะที่เกินกว่า 3 หมื่นบาทต่อไร่ จ่ายอัตราต่ำลงที่ 0.25%

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินดังกล่าวนั้น ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งให้ชะลอเสนอ ครม.ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 โดยนายกฯให้กระทรวงการคลังไปพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งนายสมหมายยืนยันที่จะผลักดันกฎหมายภาษีฉบับนี้ต่อไป ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษี เพื่อสร้างรายได้ให้รัฐ ที่มีภาระรายจ่ายสูงขึ้นและรัฐจัดทำงบขาดดุลติดต่อกันนานกว่า 10 ปีแล้ว

          ยกเว้นที่ดินเกษตรไม่เกิน1.5ล.

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานได้สรุปเรื่องอัตราภาษี สำหรับที่ดิน 3 ประเภท คือ ที่ดินเพื่อการเกษตรอัตรา 0.25% ของราคาประเมิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย ในอัตรา 0.50% และอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ อาทิ อาคารพาณิชย์ หรือที่รกร้างว่างเปล่า อัตรา 2% โดยกำหนดเป็นเพดาน แต่อัตราเก็บจริงจะต่ำกว่า ซึ่งเคยมีข้อเสนอว่าให้เก็บที่ดินเพื่อการเกษตรอัตรา 0.05% ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 0.1% และเชิงพาณิชย์ ในอัตรา 0.2%

          แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังตัดฐานราคาสิ่งปลูกสร้างออกจากร่างกฎหมาย ต้องรอการพิจารณาจากนายสมหมายว่าอัตราลดหย่อนที่เคยคิดไว้จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยอัตราลดหย่อนที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ คือบ้านและที่ดิน ที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท จ่ายอัตรา 25% ของภาระภาษี หากภาษีบ้านและที่ดินอยู่ในอัตรา 0.1% ภาษีจะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อมูลค่าบ้านและที่ดิน 1 ล้านบาท เมื่อจ่ายเพียง 25% เท่ากับจ่ายภาษีเพียง 250 บาทต่อ 1 ล้านบาท ส่วนบ้านและที่ดินที่มากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านบาท จ่ายภาษีอัตรา 50% ของภาระภาษี เท่ากับว่าจ่ายภาษี 500 บาทต่อมูลค่าบ้านและที่ดิน 1 ล้านบาท และราคาบ้านและที่ดินเกินกว่า 4 ล้านบาท ให้จ่ายเต็ม 100% ของภาระภาษี ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตร ยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

          ยอดผลิตจยย.เริ่มกลับมาโตอีก

          นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตรถจักรยานยนต์ของไทยค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ เพราะเติบโตทั้งยอดขายในประเทศ และยอดส่งออก โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายผลิตรถจักรยานยนต์ไว้ที่ 1.8-2 ล้านคัน กลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากช่วงปี 2556-2557 ยอดผลิตลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอและพฤติกรรมของผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ และรถกระบะมากขึ้น

          "ช่วง 6 เดือนปีนี้มียอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศประมาณ 8-9 แสนคัน เติบโตเพิ่มขึ้น 3% ขณะที่ส่งออกมากกว่า 1 แสนคัน เพิ่มขึ้นกว่า 30% ทำให้มั่นใจว่าทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมาย" นายสุรพงษ์กล่าว และว่า ไทยเคยผลิตรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 1.8 ล้านคัน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2554 และปี 2555 อยู่ที่ 2 ล้าน และ 2.1-2.2 ล้านคันตามลำดับ แต่ปี 2556 ยอดผลิตลดเหลือ 2 ล้านคัน และลดเหลือ 1.8 ล้านคัน ในปี 2557 ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีที่ค่อนข้างดี

          ยืดเวลาเป้าผลิตรถยนต์3ล้านคัน

          นายสุรพงษ์กล่าวว่า ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 850,000 คัน คาดว่าเหลือเพียง 800,000 คันเท่านั้น ขณะที่การส่งออกรถยนต์ยังคงเป้าหมายเดิมที่ 1,200,000 คัน ทำให้เป้าการผลิตรถยนต์ปีนี้จะอยู่ที่ 2 ล้านคัน

          "แม้ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศจะหดตัวมาก แต่ได้ตลาดต่างประเทศมาทดแทน ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดยุโรปที่เติบโตกว่า 72% เพิ่มขึ้นจากเดิม 65% เป็นการส่งออกรถยนต์นั่งประเภทอีโคคาร์มากขึ้น รองลงมาคือ ออสเตรเลียเติบโตกว่า 20% เอเชีย 23%"

          นายสุรพงษ์กล่าวว่า แม้ตลาดส่งออกรถยนต์อีโคคาร์จะเติบโตอย่างโดดเด่น แต่การที่ตลาดในประเทศชะลอตัวอย่างรุนแรง ส่งผลต่อภาพรวมเงื่อนไขการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ เฟส 1 ที่ระบุว่าบริษัทรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตรถอีโคคาร์ให้ได้บริษัทละ 1 แสนคันต่อปี ภายในปีที่ 5 ทำให้หลายค่ายต้องการผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าว หลังเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ประเมินว่าการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ในปีที่ 5-8 ค่ายรถยนต์จะผลิตรถอีโคคาร์รวมกันได้ 4 แสนคัน

          นายสุรพงษ์กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ให้ได้ 3 ล้านคันในปี 2560 นั้น อาจต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2562-2563 หลังจากมีการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ เฟส 2 แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งการเมืองภายในประเทศ เศรษฐกิจที่ชะลอ รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัย

          พณ.รับฟังแนะล้ม'ธงฟ้า'

          นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงกรณีที่นายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้ยกเลิกโครงการธงฟ้า เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ควรอุดหนุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมากกว่า เพื่อให้ราคาสินค้าปรับลดลงทั้งระบบและประชาชนทั่วประเทศได้รับประโยชน์ ว่ายินดีรับฟังทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะประชาชนและภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

          "ทุกโครงการที่ทำ ขอยืนยันว่ามีการพิจารณาถึงความเหมาะสมอยู่ตลอด อย่างไรก็ตามทุกโครงการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับหลักเหตุผลและบริบทของสถานการณ์ในแต่ละช่วง" นายบุณยฤทธิ์กล่าว

          ลุ้นกบง.ลดราคา'แอลพีจี'

          นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 3 สิงหาคมจะมีการพิจารณาราคาแอลพีจีเดือนสิงหาคม หากราคาตลาดโลกลดลงมากก็อยากให้ กบง.ปรับลดราคาขายปลีกให้ประชาชน จะทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการขึ้นลงของราคา เนื่องจากช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาราคาตลาดโลกลดแต่ไม่มากพอ จึงตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 23.96 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแทน

          นายชิษณุพงศ์กล่าวว่า กรณีที่ราคาดีเซลลดลงมาอยู่ระดับไม่ถึง 24 บาทต่อลิตรนั้น ทางผู้ค้าแอลพีจีคงไม่สามารถลดค่าขนส่งที่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 10 บาทต่อถัง 15 กก. (ไม่รวมค่าบริการเร่งด่วนที่ต้องบวกตามระยะทาง) เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งราคาดีเซลที่แพงในอดีตและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 300 บาทต่อวัน ทางผู้ค้าเองได้ตรึงค่าบริการเอาไว้ ยอมแบกรับภาระส่วนนี้มาอย่างต่อเนื่องแล้ว

          รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า การประชุม กบง.วันที่ 3 สิงหาคม จะพิจารณาโครงสร้างต้นทุนราคาแอลพีจีเพื่อประกาศราคาขายปลีกประจำเดือนสิงหาคม เบื้องต้นราคาแอลพีจีตลาดโลกที่จะนำมาคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่ 369 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ 407 เหรียญต่อตัน ลดลงประมาณ 38 เหรียญต่อตัน อย่างไรก็ตามเมื่อรวมกับต้นทุนนำเข้าและจัดหาจากโรงแยกก๊าซแล้ว ภาพรวมคงลดลงอีกเล็กน้อย ดังนั้นราคาขายปลีกน่าจะลดลงได้ 30 กว่าสตางค์ต่อ กก.

          "ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กบง.ว่าจะตัดสินใจปรับลดราคาขายปลีกให้ประชาชนหรือไม่ แต่หลักการของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานที่ผ่านมา ถ้าลดลงเล็กน้อยไม่ถึงมือประชาชนจะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเก็บสะสมเงินไว้แทน ปัจจุบันเงินสะสมเป็นกองทุนที่แยกเป็นบัญชีแอลพีจีอยู่ที่ 7,700 ล้านบาท" รายงานข่าวระบุ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เพิ่มงบปีหน้า3.4

เพิ่มงบประมาณปี 2559 เข้าไปอีก 3.4 หมื่นล้าน จากที่เสนอมาเฉียด 1.95 แสนล้าน

          นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีหนังสือเวียนแจ้งไปยังรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและหน่วยงานราชการ ให้ทราบว่าสำนักงบประมาณได้เสนอเรื่องการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ไปแล้ว กว่า 3.39 หมื่นล้านบาท โดยสำนักงบฯ ได้นำเรื่องที่ได้รับอนุมัติเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณต่อไป

          หนังสือของสำนักงบประมาณ ระบุว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ได้เสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ที่ผ่านความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดแล้วทั้งสิ้น 194,875 ล้านบาท แต่สำนักงบฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นงบประมาณรายจ่ายในรายการที่จำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศ หรือเป็นรายการที่ประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง เห็นสมควรให้เพิ่มงบทั้งสิ้น 33,993 ล้านบาท

          ทั้งนี้ หากแยกตามหน่วยงานจะพบว่า เป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของงบกลางรวม 1.5 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นการเพิ่มในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7,926 ล้านบาท งบประมาณของรัฐวิสาหกิจ 1,918 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 1,871 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 1,814 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 1,277 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม 772 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรม 392 ล้านบาท กระทรวงไอซีที 238 ล้านบาท กระทรวงวิทยาศาสตร์ 181 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 119.3 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการเพิ่มของงบประมาณไม่เกิน 100 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม งบที่เพิ่มขึ้นเป็นรายการผูกพันข้ามปี 12 รายการ วงเงิน 22,137 ล้านบาท เป็นงบในปี 2559 แค่ 2,417 ล้านบาท และงบปีต่อๆ ไป 19,719.7 ล้านบาท

          ขณะที่กรอบงบรายจ่ายประจำปี 2559 ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. มีวงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบ 3.9 แสนล้านบาท เป็นงบรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท รายจ่ายเงินลงทุน 5.4 แสนล้านบาท และงบกลาง 402,139 ล้านบาท

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ก.เกษตรฯเร่งช่วยหนี้นอกระบบเกษตรกร

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่ง ช่วยหนี้นอกระบบเกษตรกร เผย ปีงบประมาณนี้ ขับเคลื่อนงานเป็นรูปธรรม

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ เร่งดำเนินการแก้ไขหนี้สิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเสนอที่ประชาชนเสนอมา เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล ว่าจะมีโนบายอย่างไรต่อไป ซึ่งขณะนี้ ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาคัดกรองรายละเอียด โดยทำการคัดแยกออกเป็นกลุ่มที่พืชผลการเกษตรได้รับความเสียหาย ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการชดเชยตามกฎระเบียบกระทรวงการคลัง ขณะที่ เกษตรกรกลุ่มที่ชะลอการเพาะปลูกออกไป เเละกลุ่มที่พืชผลการเกษตรไม่ได้รับความเสียหายนั้น ต้องรอดูนโยบายอีกครั้ง และจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ และในวันที่ 4 สิงหาคม นี้ จะมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เสนอรายชื่อเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่มีหนี้สินมายังกระทรวงเกษตรฯ เเล้ว โดยรายชื่อเกษตรกรผู้มีหนี้สิ้นมีจำนวน 1.6 ล้านราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้รับมอบให้ทำหน้าที่ในการดูเเลหนี้นอกระบบ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากได้ตัวเลขจากกระทรวงมหาดไทยชัดเจนเเล้ว จะเเบ่งกรอบการดำเนินการช่วยเหลือเป็น 2 ขั้นตอน โดยเจรจาประนีประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ จากนั้นจะพิจารณารวบรวมเรื่องงบประมาณ ก่อนเสนอของบกลางต่อไป ซึ่งการพิจารณาช่วยเหลือต้องผ่านคณะอนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัดเเละอำเภอ ที่คอยคัดกรองเเละตรวจสอบข้อมูลหนี้สินก่อน ส่วนหนี้ในระบบนั้น เป็นหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงการคลัง พร้อมมั่นใจว่า การเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เเละคาดว่าภายในปีงบประมาณนี้ การขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ของกระทรวงฯ ต้องเป็นรูปธรรมมากที่สุด

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สรท.ปรับเป้าส่งออกทั้งปีติดลบ4.2% หลังมิ.ย.ร่วง7.8%ต่ำสุดรอบ6ปี

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออก ว่า การส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย.ที่ลดลง 7.87% ถือว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤตแฮมเบอเกอร์ ที่ส่งออกลดลงถึง 14.26% ดังนั้น สรท.จึงได้ปรับเป้าการส่งออกในปีนี้เป็นครั้งที่ 2 มาอยู่ที่ ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงที่เพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมที่คาดว่าจะลดลง 2%

โดยใน 6 เดือนแรกของปีมียอดรวมอยู่ที่ 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน หรือลดลงประมาณ 900 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นยอดส่งออกที่ลดลงอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำทำให้สินค้าใน 4 กลุ่มมียอดลดลง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ พลาสติก และยางพารา ซึ่งเป็นตัวฉุดรายได้ลดลง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ที่เหลืออีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ลดลงมาจากสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำตาล กุ้ง อาหารทะเล เป็นต้น ส่งผลให้ยอดรวมในครึ่งปีแรกการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐจะลดลง 4.8% แต่ถ้าในรูปเงินบาทคาดจะลดลง 4%

นายนพพร กล่าวว่า ใน 6 เดือนหลังของปีนี้ จะดีกว่าในครึ่งปีแรกเล็กน้อย คาดว่าจะมียอดส่งออกเฉลี่ย 18,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน หรือลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 700 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ซึ่งในจำนวนนี้จะมาจากสินค้า 4 กลุ่ม ที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันโลกฉุดยอดส่งออกลดลง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือนมาจากสินค้ากลุ่มอื่นๆ โดยยอดรวมในครึ่งปีหลังหากคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐจะลดลง 3.6% แต่ถ้าคิดในรูปค่าเงินบาทอย่างคร่าวๆจะลดลง 2 - 2.5% ส่งผลให้ทั้งปีในรูปดอลลาร์สหรัฐจะลดลง 4.2% แต่ถ้าเป็นเงินบาทคาดว่าจะลดลง 2.5 - 3%

"จากยอดส่งออกรวมทั้งปีที่คาดว่าจะลดลง 4.2% จะมาจากสินค้า 4 กลุ่มที่ลดลงตามราคาน้ำมันโลกประมาณ 2.5% ซึ่หากตัดในส่วนเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน จะทำให้ยอดส่งออกลดเพียง 1.7% ซึ่งจากตัวเลขนี้จะเห็นว่าตัวเลขติดลบที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง แต่จะมาจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นหลักและมาจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัว อย่างไรก็ตามหากในอนาคตอันใกล้ไทยไม่เร่งปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่สินค้าชนิดใหม่ๆที่ทันสมัยได้ศักยภาพการแข่งขันก็จะลดลงเรื่อยๆจนแพ้คู่แข่งในภูมิภาค" นายนพพร กล่าว

ด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท.กล่าวว่า ในครึ่งปีหลังคาดว่าค่าเงินบาทจะผันผวนอย่างรวดเร็ว โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะไม่ช่วยการส่งออกในระยะสั้น เพราะว่าได้รับออเดอร์มาล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว แต่จะเห็นผลบวกได้ในช่วงปลายไตรมาส 4 ทั้งนี้ คาดว่าในเดือน ก.ค.คาดว่าการส่งออกจะลดลง 2.5% เดือน ส.ค.ลดลง 2.5% เดือน ก.ย.ลดลง 6% เดือน ต.ค.ลดลง 7% เดือน พ.ย. ลดลง 2% และเดือน ธ.ค.ลดลง 2% ทำให้ยอดรวมเฉลี่ยในครึ่งปีจะลดลง 3.6% และทั้งปีจะลดลง 4.2% มีมูลค่าการส่งออกรวม 2.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคิดเป็นเงินบาทจะลดลง 3 แสนกว่าล้านบาท ส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลักๆ ของไทย คาดว่าในปีนี้การส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 5% นอกจากนั้นลดลงหมด ได้แก่ อาเซียนลดลง 0.7% จีนลดลง 6.3% ญี่ปุ่นลดลง 8% ยุโรปลดลง 9.6% อื่นๆ ลดลง 7.8%

นายวัลลภ กล่าวว่า จากการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สรท.พบว่า ปัญหาหลักที่สำคัญของการส่งออกไทยที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขมีอยู่ 10 เรื่อง ได้แก่ 1.ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลจะต้องหาวิธีที่จะก้าวข้ามโครงการประชานิยมอย่างไร และจะเพิ่มราคาสินค้าเกษตรได้อย่างไร 2.การบริโภคภายในประเทศที่หดตัว รัฐจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงระดับกลาง 3.การแก้ไขปัญหาการส่งออกที่ลดลง 3 ปีซ้อน โดยการปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกใหม่ให้ตรงกับการเปลี่ยนไปของตลาดโลก หากสินค้าใดแข่งค่าแรงไม่ได้ก็ต้องส่งเสริมให้ไปลงทุนต่างประเทศ

4.ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป โดยฉวยโอกาสในขณะนี้ที่ญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการพึ่งพาการนำเข้าและการเข้าไปลงทุนในจีน มายังซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น อันเนื่องมาจากความขีดแย้งทางการเมืองกับประเทศจีน และต้นทุนการผลิตสินค้าในระดับกลางถึงสูงของจีนแพงขึ้น เห็นได้จากในอดีตญี่ปั่นนำเข้าเสื้อผ้าจากจีนมากถึง 90% แต่ขณะนี้ลดเหลือ 70% ดังนั้นไทยจะต้องแย่งส่วนที่ย้ายตลาดจีนใน 30% นี้มาให้ได้มากที่สุด ซึ่งในอนาคตสินค้ากลุ่มอื่นๆก็จะย้ายออกจากจีนเช่นกัน ดังนั้นภาครัฐจะต้องมีนโยบายดึงดูดให้เข้ามาลงทุน หรือซื้อสินค้าจากไทยให้ได้ 5.ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU อาจทำให้สินค้าในกลุ่มประมงมีปัญหา ดังนั้นรัฐบาลจะต้องวางมาตรการรับมือและจับตาว่าจะส่งผลกะทบกับไทยมากน้อยเพียงไร

6.ปัญหาไม่ผ่านมาตรฐานการบินของ ICAO ซึ่งอาจทำให้ค่าระหว่างการขนส่งทางอากาศสูงขึ้น และมีพื้นที่ลดลง 7.ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ไทยยังถูกวางที่อันดับ เทียร์ 3 อาจส่งผลต่อการส่งออกไปสหรัฐ 8.ภัยแล้ง ซึ่งแม้ว่าในปีนี้ความรุนแรงจะลดลงแต่รัฐบาลจะต้องวางมาตรการแก้ไขในระยะยาว เพราะส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบภายในประเทศ 9.ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะต้องสมดุลไม่เอียงไปด้านใดมากจนเกินไป รวมทั้งจะต้องเร่งรัดในเรื่องการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ และ 10.การลงทุนขยายฐานการผลิต ที่แม้ว่าจะมีเอกชนเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการลงทุนจริง รัฐบาลควรเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากรัฐบาลแก้ไขปัญหาทั้ง 10 ข้อนี้ก็จะทำให้การส่งออกไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พาณิชย์นำทัพบุกฝรั่งเศสขยายการค้า

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมนำนักธุรกิจไทยบุกฝรั่งเศส ขยายลู่ทางการค้าการลงทุน ต.ค.นี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเดินทางร่วมประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจ (High Level Economic Dialogue : HLED) ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในช่วงเดือนตุลาคม นี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังจากว่างเว้นการประชุมไป 8 ปี เพื่อเป็นเวทีที่ช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะนักธุรกิจไทยร่วมเดินทางเพื่อไปขยายลู่ทางการค้าการลงทุนในฝรั่งเศส ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การสัมมนาเกี่ยวกับลู่ทางการประกอบธุรกิจและการลงทุนทั้งในฝรั่งเศสและไทย และกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ โดยฝ่ายไทยตั้งเป้าหมายในการหาผู้ซื้อ หาเครือข่าย แลกเปลี่ยนถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และหาผู้ร่วมทุน

โดยฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในสหภาพยุโรป มีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีระดับสูงที่ทันสมัย มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีศักยภาพทางการค้าการลงทุนสำหรับประเทศไทย

จาก www.innnews.co.th  วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พิษศก.ถล่มภาคอุตสาหกรรมปรับแผนลุยตลาดภูมิภาคอาเซียน   

          ก.อุตสาหกรรม ประเมินจีดีพีภาคอุตฯ ปี 58 โต 2-3% ตามการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ดันแผนหนุนอุตสาหกรรมเดิม รุกอุตสาหกรรมใหม่ สู่การเป็น ฮับของภูมิภาคอาเซียน ระบุภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังโงหัวไม่ขึ้น 6 เดือนแรกติดลบ 3.67% ขณะที่ทำใจเดือนมิถุนายน ตัวเลขเอ็มพีไอติดลบถึง 8% จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและในประเทศยังชะลอตัว

          วาดฝันจีดีพีภาคอุตฯ โต 3%

          นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2558 คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวประมาณ 2-3% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม (GDP) ซึ่ง ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการพิจารณาอนุญาตต่างๆ ของภาคเอกชนให้มีความรวดเร็วมากขึ้น การส่งเสริม SMEs ที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วยการใช้ระบบไอทีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ (SMEs Digital) และลดต้นทุน โลจิสติกส์ รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสาขาที่มีศักยภาพเดิมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

          "ประเด็นที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะขอรับการสนับสนุนจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการผลักดันในระดับชาติ มี 3 เรื่อง คือ 1.กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการเพิ่มผลิตภาพของประเทศโดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ 2.ขอให้สนับสนุนการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป และให้ภาครัฐรณรงค์กำหนดมาตรการจูงใจ เพื่อให้มีการใช้พลาสติกชีวภาพ และ 3.ขอให้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร เพราะเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมต่างๆ

          ภาคผลิตยังโงหัวไม่ขึ้น

          นายณัฐพล รังสิตพล รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือเอ็มพีไอว่า จากภาวะเศรษฐกิจของโลกและภายในประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ ได้ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวลดลง 3.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ไอซี ปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์อยู่ช่วงเปลี่ยนรุ่นการผลิต เป็นรถประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษ อีกทั้ง อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศได้รับผลกระทบจากการยังไม่ฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์

          โดยมองว่าเอ็มพีไอในเดือนกรกฎาคมนี้ จะยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายนที่ติดลบ 2.2% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนติดลบ 8% เป็นผลมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ การผลิตปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ โทรทัศน์ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเบียร์ เป็นต้น ซึ่งเห็นได้จากในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการนำเข้าสินค้าทุนติดลบ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบติดลบ 1.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวลดลง 3%

          อย่างไรก็ตาม ทาง สศอ.ยังประเมินว่าเอ็มพีไอในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น และทั้งปีตัวเลขเอ็มอีไอน่าจะยังเป็นบวก แต่อาจจะปรับตัว ลดลงจากที่ประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ประมาณ 3-4% ขณะที่ตัวเลขจีดีพีอุตสาหกรรม ยังไม่มีการปรับตัวลดลงจากที่ประมาณการไว้อยู่ที่ 2-3%

          ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีปัจจัยบวกที่จะสามารถขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศยังเติบโตดีอยู่ ที่จะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนรายจ่ายในประเทศเพิ่มมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่เริ่มดีขึ้น ความชัดเจนในโครงการก่อสร้างพื้นฐานทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังอ่อนอยู่จะส่งผลให้มีการเร่งส่งออกมากขึ้น

          นายณัฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่สหรัฐอเมริกายังคงจัดประเทศไทยอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (TIER 3) ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 นั้น คงไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาลงกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาก็ยังเติบโตอยู่ในระดับ 8% ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณี เครื่องประดับ เป็นต้น และคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.ประมงอยู่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีหน้า

          ส่วนเอ็มพีไอในเดือนมิถุนายนที่ปรับตัวลดลง หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์มีจำนวน 1.51 แสนคัน ปรับตัวลดลง 5.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำหน่ายภายในประเทศ 6.03 หมื่นคัน ปรับตัวลดลง 18.26% และส่งออกมีจำนวน 7.67 หมื่นคัน ปรับตัว ลดลง 26.14

          ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงประมาณ 17.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง

          18.84% และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงประมาณ 11.4% อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคภายในประเทศมีปริมาณ 1.29 ล้านตัน ลดลงประมาณ 5.15% การผลิตมีประมาณ 0.48 ล้านตัน ลดลงประมาณ 14.29% มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงประมาณ 8.89% โดยมีการนำเข้าเหล็กลดลงประมาณ 16.7% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวอยู่ โดยเฉพาะเหล็กทรงยาวที่ใช้ในการก่อสร้าง การผลิตลดลงทุกตัวที่เห็นได้จากยอดการอนุมัติปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง

          สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะเป็นสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยการผลิตเส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้นประมาณ 3.22% เป็นการใช้เพื่อบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการผลิตผ้าผืนปรับตัวลดลงประมาณ 4.87% ส่วนหนึ่งมาจากการปิดกิจการของโรงงานทอผ้าในประเทศ ประกอบกับผู้ใช้ในประเทศบางส่วนนำเข้าผ้าจากต่างประเทศ ขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2% รวมทั้งการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 6.6%

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สัมภาษณ์พิเศษ: อรรชกา สีบุญเรือง 'เพิ่มผลิตภาพ'นำอุตฯไทยสู่เวทีโลก 

          การแข่งขันที่รุนแรงในเวทีการค้าโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตของไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มี บทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุน "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ "อรรชกา สีบุญเรือง" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงภารกิจสำคัญในการช่วยผลักดัน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงทิศทางของนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ ก่อนจะเกษียณอายุราชการในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค.58)

          นโยบายที่ต้องเร่งผลักดัน

          ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญที่ต้องดำเนิน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 โดยทั้งหมดต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการจัดทำคู่มือประชาชน 269 คู่มือ ที่จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ตอนนี้เป็นเรื่องติดตามการทำงาน เข้มงวด เวลาผู้ประกอบการมายื่นขอ รง.4 ต้องมั่นใจว่า เตรียมเอกสารมาครบถ้วน หากทำได้เรื่องคอร์รัปชั่นจะน้อยลง

          2.ใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน (มอก.) ในฐานะที่ประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.)ได้ให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กลับไปดูว่ายังมีมาตรฐานอะไรที่ยังคงค้างอยู่ ซึ่งพบว่ายังมี ค้างอีกจำนวนมาก บางอย่างต้องการให้เป็นเรื่องเร่งด่วน บางเรื่องค้างมา 2 ปีแล้วเป็นเรื่องที่ต้องให้ไปประสานกับ ทางคณะกรรมการวิชาการชุดต่าง ๆ และในอนาคตจะมีการแก้ พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

          3.เรื่องเหมืองแร่ ต้องดูให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนแม่บท ในอนาคตไทยมีแร่สำคัญอะไรที่จะนำมาใช้ได้บ้าง และต้องมีการก่อสร้างโรงงานแปรรูปมา รองรับ เช่น โพแทช ที่ชัยภูมิขุดมาแล้วเป็นประโยชน์อย่างไร ตอนนี้อยู่ในขั้น เตรียมการ ยังติดเรื่องการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนี้มีแรงต้านจาก NGO เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ไม่เกิดผล กระทบกับสิ่งแวดล้อม แม้แต่อุตสาหกรรมเหล็ก จะขุดขึ้นมาต้องมีโรงถลุงมารองรับ ต้องยอมรับบริเวณบางสะพาน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมทำท่าเรือน้ำลึกได้

          4.ยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล กำลังพิจารณาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม อ้อยน้ำตาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยน้ำตาล ต้องเร่งทำให้เสร็จภายใน 3 เดือนก่อนเกษียณ

          ขณะเดียวกันบทบาทของกองทุนอ้อยและน้ำตาล ทำอย่างไรให้จัดเก็บรายได้เข้ากองทุนแบบเป็นระบบ เพราะที่ผ่านมาเวลาราคาดี ไม่มีการเก็บเงินส่วนต่างเข้ากองทุน และไม่ยอมกัน พอเวลาราคาไม่ดีต้องไปกู้ ส่วนเงินที่รัฐช่วย 5 บาทอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ถือเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค อนาคตต้องตกลงกันให้ชัดเจนว่า เมื่อไรราคาน้ำตาลดีจะเก็บเงินเข้ากองทุน ต้องจัดระบบให้ดี ยังไม่รู้ข้อสรุปจะออกมาอย่างไร อย่างตอนนี้เราถูกโจมตีจากองค์การการค้าโลก(WTO) ว่า รัฐให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการ แต่ชาวไร่อ้อยเดือนร้อนให้ทำอย่างไร เราก็ต้องช่วย ส่วนเรื่องการขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะออกเป็นกฎกระทรวง

          5.ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2559-2564) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ โดยเน้นการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มผลิตภาพ และมาตรฐาน ให้ภาคอุตสาหกรรมมีความสามารถในการแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการเร่งให้ทำมาก เรื่องการเพิ่มผลิตภาพภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการลดต้นทุนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน หลังพบภาคการผลิต รวมถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันชะลอตัว และเพื่อก้าวข้ามกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และแข่งกับประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า

          การลงทุนของต่างชาติในไทย

          ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 ใน ขณะเดียวกันจีนกำลังทยอยเข้ามาลงทุน แต่คงไม่ได้มองประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เพราะจีนมีฐานการผลิตที่ประเทศของตัวเองหลายแห่ง ขณะเดียวกันที่มีข่าวเรื่องการย้ายโรงงานไปผลิตที่เวียดนาม เพราะเวียดนามมีแรงงานจำนวนมากและราคาถูก หากเปรียบเทียบกับไทย สถานการณ์ตอนนี้กับ 10 ปีที่ผ่านมาต่างกันไปแล้ว ไทยตอนนี้มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และราคาค่าแรงไม่ถูก การจะหวังพึ่งแรงงานต่างด้าวทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้น การที่ไทยจะผลิตสินค้าไปแข่ง ต้องปรับนโยบายไปผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สินค้าเพิ่มมูลค่า การจะผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เหมือนเมื่อก่อนมันยากขึ้น แข่งไม่ได้ ต้องพิจารณาดูสินค้าประเภทไหนต้องย้ายฐานการผลิต

          ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีการเคลื่อนย้ายปรับตัวของอุตสาหกรรมในอาเซียน อุตสาหกรรมอะไรจะย้ายไปอยู่ที่ไหน อุตสาหกรรมไหนทำอยู่ไทย การปรับเปลี่ยนจะเริ่มเห็นชัดเจนในปีหน้าไม่ใช่ปีนี้ แต่ไม่ใช่ปิดโรงงานแล้วไปเลย ต้องพิจารณาด้วยว่า ประเทศนั้น ๆ ต้องมีความพร้อมในการรองรับหลาย ๆ ด้านด้วย

          มองภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร

          สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่รู้ว่า จะ ชะลอตัวอีกนานหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ราคาน้ำมัน ซึ่งมีความผันผวนเร็ว และกระทบไปทั่วโลก ผู้ประกอบการต้องอดทนขวนขวายหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ ตลาดใหม่ แต่ยังคงเชื่อว่า คนยังต้องกินต้องใช้ ขณะเดียวกันต้องขอให้รัฐบาลเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้เงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบ

          ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับโรงงาน

          ด้านสิ่งแวดล้อมยังมีปัญหาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนอยู่บ้าง ทั้งเรื่องกลิ่น เรื่องฝุ่น ปัญหาน้ำเสีย กำลังพิจารณาที่จะออกมาตรการในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน เช่น การบำบัดน้ำเสีย บำบัดฝุ่นต้องทำอย่างไรที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีปัญหาว่า โรงงานมีเครื่องกรองฝุ่น แต่เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ แต่ฝุ่นขนาดเล็กยังลอยออกมาได้ ดังนั้น จึงได้ให้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดที่จะ ต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดไปพิจารณาว่า อุตสาหกรรมไหนเหมาะสมกับพื้นที่ไหน ดูแลอย่างไร ตอนนี้มีการควบคุมด้วยระบบออนไลน์

          รวมถึงเรื่องขยะกากอุตสาหกรรม ต้องตรวจไม่ให้มีการลักลอบทิ้ง โดยมีการควบคุมด้วยระบบ GPS จากต้นทางไปถึงปลายทาง เราให้ความสำคัญกับเรื่องการกำจัดกากอุตสาหกรรมมาก ตอนนี้มีการจัดสัมมนา ซึ่งมีหลายคนมารอลงทะเบียนว่าจะบำบัดกากกับใครปีนี้ตั้งเป้าให้เข้ามา 50,000 ราย เสร็จแล้วต้องตามว่าไปบำบัดจริงแค่ไหนถ้าเราทำจริงจะได้รู้ว่ากากอุตสาหกรรมแต่ละโรงมีเท่าไร ผลิตอะไร กากอันตรายหรือไม่

          โดยปัจจุบันมีแผนงานเร่งรัดการนำกาก อุตสาหกรรมเข้าระบบภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2562) ในระดับโรงงานได้ยกระดับมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ในระดับพื้นที่พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศปี 2557-2558 (Eco industry Town) รวม 15 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครปฐม ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา

          แผนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

          กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีของกระทรวงมี 2 งาน จะเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีในการมีช่องทางจำหน่ายสินค้า และประชาชนได้ซื้อสินค้าในราคาโรงงาน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ คือ งานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของขวัญแด่แม่ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ระหว่างวันที่ 3-23 ส.ค. 58 และงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรม Thailand Industry Expo 2015 ระหว่างวันที่ 22-27 ก.ย. 58 ที่เมืองทองธานี

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พิษศก.ถล่มภาคอุตสาหกรรมปรับแผนลุยตลาดภูมิภาคอาเซียน 

          ก.อุตสาหกรรม ประเมินจีดีพีภาคอุตฯ ปี 58 โต 2-3% ตามการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ดันแผนหนุนอุตสาหกรรมเดิม รุกอุตสาหกรรมใหม่ สู่การเป็น ฮับของภูมิภาคอาเซียน ระบุภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังโงหัวไม่ขึ้น 6 เดือนแรกติดลบ 3.67% ขณะที่ทำใจเดือนมิถุนายน ตัวเลขเอ็มพีไอติดลบถึง 8% จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและในประเทศยังชะลอตัว

          วาดฝันจีดีพีภาคอุตฯ โต 3%

          นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2558 คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวประมาณ 2-3% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม (GDP) ซึ่ง ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการพิจารณาอนุญาตต่างๆ ของภาคเอกชนให้มีความรวดเร็วมากขึ้น การส่งเสริม SMEs ที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วยการใช้ระบบไอทีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ (SMEs Digital) และลดต้นทุน โลจิสติกส์ รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสาขาที่มีศักยภาพเดิมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

          "ประเด็นที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะขอรับการสนับสนุนจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการผลักดันในระดับชาติ มี 3 เรื่อง คือ 1.กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการเพิ่มผลิตภาพของประเทศโดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ 2.ขอให้สนับสนุนการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป และให้ภาครัฐรณรงค์กำหนดมาตรการจูงใจ เพื่อให้มีการใช้พลาสติกชีวภาพ และ 3.ขอให้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร เพราะเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมต่างๆ

          ภาคผลิตยังโงหัวไม่ขึ้น

          นายณัฐพล รังสิตพล รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือเอ็มพีไอว่า จากภาวะเศรษฐกิจของโลกและภายในประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ ได้ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวลดลง 3.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ไอซี ปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์อยู่ช่วงเปลี่ยนรุ่นการผลิต เป็นรถประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษ อีกทั้ง อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศได้รับผลกระทบจากการยังไม่ฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์

          โดยมองว่าเอ็มพีไอในเดือนกรกฎาคมนี้ จะยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายนที่ติดลบ 2.2% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนติดลบ 8% เป็นผลมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ การผลิตปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ โทรทัศน์ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเบียร์ เป็นต้น ซึ่งเห็นได้จากในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการนำเข้าสินค้าทุนติดลบ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบติดลบ 1.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวลดลง 3%

          อย่างไรก็ตาม ทาง สศอ.ยังประเมินว่าเอ็มพีไอในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น และทั้งปีตัวเลขเอ็มอีไอน่าจะยังเป็นบวก แต่อาจจะปรับตัว ลดลงจากที่ประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ประมาณ 3-4% ขณะที่ตัวเลขจีดีพีอุตสาหกรรม ยังไม่มีการปรับตัวลดลงจากที่ประมาณการไว้อยู่ที่ 2-3%

          ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีปัจจัยบวกที่จะสามารถขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศยังเติบโตดีอยู่ ที่จะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนรายจ่ายในประเทศเพิ่มมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่เริ่มดีขึ้น ความชัดเจนในโครงการก่อสร้างพื้นฐานทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังอ่อนอยู่จะส่งผลให้มีการเร่งส่งออกมากขึ้น

          นายณัฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่สหรัฐอเมริกายังคงจัดประเทศไทยอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (TIER 3) ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 นั้น คงไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกาลงกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาก็ยังเติบโตอยู่ในระดับ 8% ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณี เครื่องประดับ เป็นต้น และคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.ประมงอยู่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีหน้า

          ส่วนเอ็มพีไอในเดือนมิถุนายนที่ปรับตัวลดลง หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์มีจำนวน 1.51 แสนคัน ปรับตัวลดลง 5.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำหน่ายภายในประเทศ 6.03 หมื่นคัน ปรับตัวลดลง 18.26% และส่งออกมีจำนวน 7.67 หมื่นคัน ปรับตัว ลดลง 26.14

          ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงประมาณ 17.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง

          18.84% และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงประมาณ 11.4% อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคภายในประเทศมีปริมาณ 1.29 ล้านตัน ลดลงประมาณ 5.15% การผลิตมีประมาณ 0.48 ล้านตัน ลดลงประมาณ 14.29% มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงประมาณ 8.89% โดยมีการนำเข้าเหล็กลดลงประมาณ 16.7% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวอยู่ โดยเฉพาะเหล็กทรงยาวที่ใช้ในการก่อสร้าง การผลิตลดลงทุกตัวที่เห็นได้จากยอดการอนุมัติปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง

          สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะเป็นสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยการผลิตเส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้นประมาณ 3.22% เป็นการใช้เพื่อบริโภคเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการผลิตผ้าผืนปรับตัวลดลงประมาณ 4.87% ส่วนหนึ่งมาจากการปิดกิจการของโรงงานทอผ้าในประเทศ ประกอบกับผู้ใช้ในประเทศบางส่วนนำเข้าผ้าจากต่างประเทศ ขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2% รวมทั้งการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 6.6%

 จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558 

รายงานพิเศษ : กระตุ้นคนไทยเดินตามในหลวง ใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างรู้คุณค่าดับวิกฤติภัยแล้ง

วิกฤตการณ์ภัยแล้งที่ดูหนักหน่วงสำหรับชาวไทยในปีนี้ใช่เพียงแต่ส่งกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกภาคเกษตรเท่านั้น ยังได้ส่งผลทบภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือนขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ทุกหย่อมหญ้าอีกด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประเมินสถานการณ์และได้เตรียมแผนรับมือต่อภาวะวิกฤติดังกล่าวมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ด้วยการจัดทำโครงการจัดกิจกรรมโครงการเทิดพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Campaign ตลอดทั้งปี 2558) โดยครั้งแรกได้จัดงานขึ้น 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2557 ณ บริเวณท้องสนามหลวง และถนนราชดำเนินนอก (แยกผ่านฟ้า - แยก จปร.)และจะมีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2558 นี้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลือกที่จะนำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเผยแพร่เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนไทยได้ตระหนัก และรณรงค์การใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างรู้คุณค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด /ทั้งจากภาคครัวเรือน ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และบริการ

การจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความหลายหลายตามสาขา อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย ด้วยผลงานวิจัยและเทคโนโลยีเปียกสลับแห้ง Wet and dry  แสดงการใช้น้ำในกระบวนการผลิตปศุสัตว์ตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ซึ่งการแสดงนิทรรศการแต่ละเรื่อง สื่อให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจต่างๆ ในด้านน้ำทรงตระหนักถึงความสำคัญของน้ำแต่ละหยดเพียงใดรวมทั้งนำองค์ความรู้ต่างๆนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเราเองในฐานะสมาชิกหนึ่งของสังคมตลอดจนปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์น้ำและใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างรู้คุณค่าให้กับเยาวชนอันจะเป็นรากฐานการพัฒนาชาติในอนาคต

นายสมชายกล่าวด้วยว่า ภายใต้โครงการเทิดพระเกียรติ“ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า จึงได้เน้นกิจกรรม 3 ส่วน ได้แก่ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและครัวเรือน  โดยภาคการเกษตร จะรณรงค์ให้เกษตรกรรู้จักการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และแหล่งน้ำ หรือแม้แต่ลด/เลิกการเพาะปลูกพืช/กิจกรรมการเกษตรบางชนิดที่ไม่คุ้มค่ากับคุณค่าของน้ำและการลงทุน การทำการเกษตรในลักษณะเอื้อต่อกันในระบบ ลดการใช้น้ำฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นของแต่ละกิจกรรมในฟาร์ม โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆในการจัดการน้ำในระบบการผลิตให้เกษตรกรรายย่อย/กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น การใช้น้ำในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระบบหมุนเวียนน้ำ และบำบัดคุณภาพน้ำตามธรรมชาติโดยไม่มีการระบายน้ำที่ผ่านการเลี้ยง การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้น้ำน้อย อาทิ การเลี้ยงปลาดุก การเลี้ยงกบ การทำระบบ Zero Waste ในฟาร์มปศุสัตว์ การแปรรูปจากน้ำสาวไหม หรือการปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวโดยเฉพาะพื้นที่การปลูกข้าวในภาคกลาง

ส่วนภาคอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า ก็จะเน้นรณรงค์การใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การปรับระบบการใช้น้ำในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้น้ำเพื่อลดความร้อน/การชะล้าง มาสู่ระบบอื่นทดแทน และการปรับเทคโนโลยีการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้มากขึ้น โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด

ในขณะภาคบริการและครัวเรือน  จะเน้นส่งเสริมกิจกรรมที่ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการที่มีการใช้น้ำเป็นปริมาณมากๆ เช่น โรงแรม สถานบันเทิง ร้านอาหาร และกิจกรรมอื่นๆ ในเมืองใหญ่ และการสนับสนุนการใช้น้ำในครัวเรือนเท่าที่จำเป็นและประหยัดรวมทั้งการหมุนเวียนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกิจกรรมต่างๆ ของครัวเรือน เช่น การซักล้าง การรดน้ำต้นไม้ การล้างรถ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรมั่นใจว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญต่อสถานการณ์ความเสี่ยงภาวะขาดแคลนน้ำในปัจจุบันและรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและความยากลำบากในการได้มาของน้ำแต่ละหยด เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือของคนในชาติในการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์น้ำให้กับเยาวชน อันจะเป็นรากฐานการพัฒนาชาติ อย่างยั่งยืนทั้งปัจจุบันและอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558