http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนสิงหาคม 2560)

น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ กลุ่ม KTIS รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่น

พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่น ระดับประเทศ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี 2560 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ระดับเพชรให้กับ บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ในกลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS โดยมี นายสุทัศน์ พิพัฒนชัยพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด เป็นตัวแทนรับมอบ ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

จาก https://mgronline.com วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ผนึกเอกชนยกระดับไทย ฮับอุตฯหุ่นยนต์อาเซียน 

          พญาไท * "อุตตม" ร่วมมือภาคเอกชน เร่งสร้างเครือข่ายด้านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ กระตุ้นการใช้หุ่นยนต์ ในประเทศพร้อมกับพัฒนาผู้ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ หวังเกิดการลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำการผลิตและการใช้หุ่นยนต์ในอาเซียน ภาย ใน 10 ปี

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลัง การลงนามร่วมกับรัฐและเอกชน 2 ฉบับเพื่อขับเคลื่อนอุตสาห กรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโน มัติว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีความจำเป็นที่จะตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

          ดังนั้น จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับรัฐและเอกชน โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโน โลยีและระบบอัตโนมัติ (CoRE) จะนำร่อง 8 หน่วยงานการศึกษาก่อน โดยได้มอบให้จัดตั้งที่เป็นระดับสากล และดึงสถาบันชั้นนำด้านนี้จากต่างประเทศ เช่น จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น เข้ามา เพื่อที่จะต่อยอดในการลงทุนเพื่อผลิต ซึ่งระยะยาว 10 ปี ซึ่งวางเป้าไว้ว่าไทยจะเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอา เซียนโดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง

          นอกจากนี้ความร่วมมือ กับเอกชนจะผลักดันให้เกิดการกระตุ้นการใช้หุ่นยนต์ใน ประเทศ ในปีนี้อย่างน้อยให้เกิด การลงทุนการใช้ก่อน 12,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 50% และระยะกลาง 5 ปี จะมีการยกระดับเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการลงทุนขยายตัว  200,000 ล้านบาท โดยมีการใช้หุ่นยนต์ในโรงงาน 50% เพื่อทดแทนการนำเข้า 30%

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประ เทศไทยมีผู้ทำหน้าที่ออกแบบ ติดตั้งระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะต่อยอดไปเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในอนาคตประมาณ 200 ราย ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ราย.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

รมว.เกษตรฯ เตรียมชงครม. ขยายเวลาโครงการ 9101 ช่วยชาวนาน้ำท่วม ใช้เงิน 2 พันล้าน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัยละ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ก.ย. 2560 เพื่อขอขยายระยะเวลาโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ใต้ร่มบารมี ซึ่งหมดระยะดำเนินการแล้วตั้งแต่ส.ค.ที่ผ่านมา และเพิ่มโครงการอีกประมาณ 5,000 โครงการ จากเดิมดำเนินการไปแล้วในเฟสแรก 24,000 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้รับกระทบจากน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) โดยเฉพาะชาวนาที่นาข้าวเสียหายสิ้นเชิงไม่สามารถปลูกข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ได้ทันในปีนี้

สำหรับโครงการ 9101 ที่จะเพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิม เบื้องต้นคาดว่าจะมีอีก 5,000 โครงการ จึงสั่งให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสรุปข้อมูลพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะได้นำเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายมาเข้าร่วมโครงการ 9101 ให้เร็วที่สุด โดยจะใช้งบประมาณจากเงินในโครงการซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนโครงการที่เพิ่มเข้ามา

ทั้งนี้ จากเดิมกระทรวงเกษตรฯ ตั้งใจจะลงไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยนำเงินปัจจุบัน ซึ่งมีเงิน 2 ส่วน ได้แก่ เงินบริจาคผ่านสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ชดเชยตามระดับความเสียหาย ตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป ชดเชยให้เกษตรกรไปบางแล้ว

ส่วนที่ 2 คือ เงินในงบประมาณของแต่กรม ที่เฉลี่ยงบลงไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนเงินที่จะของบกลางมาทำช่วยเกษตรกรเพิ่มเติม จะทำได้ยากเพราะติดเรื่องระเบียบที่ทับซ้อนกัน อาทิ ข้าว ก็มีการจ่ายเงินให้เกษตรกรไร่ละ 1,123 บาท เป็นต้น จึงเลือกใช้เงินโครงการ 9101 ซึ่งง่ายที่สุด

เบื้องต้นสั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ เร่งทำสิ่งที่ทำได้ไปก่อนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมล็ดพันธุ์ข้าวที่แจกไปไม่สามารถปลูกข้าวได้ในพื้นที่ที่ไวแสงแล้ว กระทรวงเกษตรฯ จึงจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์เกษตรกรสำหรับปลูกพืช ผักแทน ส่วนเกษตรกรปลูกข้าวที่เสียโอกาส โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง ถ้ากระทรวงเกษตรฯ จะให้เงินชดเชยค่าเสียโอกาสนั้นยาก เพราะจะไปทับซ้อนกับระเบียบการให้เงินช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจะขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ต่ออีกเป็นปีที่ 2 โดยจะมีรายละเอียดต่างจากโครงการแรก เนื่องจากในปีแรก จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มากกว่าครึ่งของเงินสนับสนุนจึงจ่ายไปกับค่าแรงเยอะ เพราะอยากให้เกษตรกรมีรายได้ ปีที่ 2 อยากให้เกษตรกรทำในสิ่งที่ตนเองถนัดสามารถประกอบอาชีพได้ทันที โดยการรวมกลุ่มรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าวัสดุ และเครื่องมือต่างๆ และให้เกษตรกรลงทุนเรื่องค่าแรงเอง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากพอเกษตรกรมีกำไร ก็จะมีเงินทุนต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไป

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุตาลัส และเซินกา ดังนี้ช่วยเหลือเยียวยา ครัวเรือนละ 3,000 บาท ผ่านคณะอนุกรรมการจังหวัด 3 จังหวัด 9 อำเภอ 18,828 ครัวเรือน วงเงิน 56.48 ล้านบาท, ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง พบเสียหายสิ้นเชิงด้านพืช 2.12 ล้านไร่ ด้านประมง 9,402 ไร่ 4,031 ตร.ม. ด้านปศุสัตว์สัตว์ตาย 43,137 ตัว ทดรองจ่ายเงินผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว 9 จังหวัด 20 อำเภอ 7,710 ราย วงเงิน 49.71 ล้านบาท และมีการช่วยเหลือด้านหนี้สิน ขยายเวลาชำระหนี้ 6 เดือน แก่สมาชิกและสถาบันเกษตรกร 138,371 ราย เป็นเงินต้น 15,567 ล้านบาท

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

จับตารัฐสั่งแบนยาฆ่าหญ้า-แมลง เกษตรกรจ่อส่งข้อมูลใหม่ให้พิจารณา 

          กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับวงการเกษตรไทย กับกรณี "พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส" เมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีตัวแทนจาก 5 กระทรวงหลักเข้าร่วมได้มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิดนี้ โดยไม่ให้กรมวิชาการเกษตรรับขึ้นทะเบียน ไม่ต่ออายุทะเบียน และห้ามนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยอีก ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2560 และเลิกใช้อย่างสิ้นเชิงภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง ไม่สามารถหายาถอนพิษได้ ที่ผ่านมา 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ทำเอาบริษัทขายยาและเกษตรกรที่นิยมใช้ออกมาคัดค้าน

          โดยล่าสุดสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยได้จัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ศกนี้ วันถัดมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 60 "กรมวิชาการเกษตร" ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งเกษตรกรและกลุ่ม NGOs เอกชนมาช่วยกันเสนอ ไอเดียเพื่อหาทางออก

          จี้ "ฉัตรชัย" ไขคำตอบ

          นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า เกษตรกรล้วนกังวลว่า หากยกเลิกสารเคมี 2 ตัวนี้ โดยเฉพาะสารพาราควอตอาจ กระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร ซึ่งสวนทางกับนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนและแนะนำให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบปลอดภัย ให้ใช้สารเคมีได้ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งสารพาราควอต เกษตรกรเข้าใจและคุ้นชิน รู้ว่าจะใช้อย่างไร ในปริมาณเท่าใด จึงจะ เหมาะสม

          นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า เกษตรกรใช้สารเคมีในประเทศไทยมานาน ในฐานะผู้ผลิตขอย้ำว่า ผู้ประกอบการมีจรรยาบรรณในการผลิตทุกกระบวนการ หากสารเคมีเหล่านี้เป็นผลเสียในทางเดียวแล้วถูกผลิตออกไป คงไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการเกษตรกรรมไทยมาถึงจุดนี้ได้แน่นอน

          เกษตรกรทั่วประเทศไม่ให้แบน

          ส่วนเวทีกรมวิชาการเกษตรได้เปิดเวทีรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสตขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมารวยการ์เด้นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเกษตรกรจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแสดงความคิดเห็นอย่างคับคั่ง ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้เห็นว่า การใช้สารทั้ง 3 ชนิด ถ้าทำถูกที่ ถูกเวลา ถูกอัตรา ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จึงไม่ต้องการให้แบนการใช้ หลายคนใช้มา 20-40 ปี สุขภาพยังแข็งแรง บางคนเป็นเบาหวานต้องตรวจเลือดทุกเดือนก็ไม่มีสารพิษตกค้าง ดังนั้นจึงเสนอให้กรมวิชาการเกษตรรับต่อทะเบียนสารเคมีเหล่านี้อีก แต่ถ้าหากยังสงสัยกัน ก็ทำวิจัยอันตรายจากสารอีกครั้ง หากพบว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี ก็ยกเลิกการขึ้นทะเบียนได้

          กรมฯ ชี้ 8 ปี พบตกค้างต่ำ

          ทางด้านนางผกาสินี คล้ายมาลา จากกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการเก็บตัวอย่างหาสารตกค้างพาราควอตในดินและน้ำทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552-2560 ในดิน 500 กว่าตัวอย่าง และในน้ำ 700 กว่าตัวอย่าง ทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก บางปะกง ท่าจีน แม่กลอง พบที่ดินตะกอนแม่น้ำน่านแห่งเดียว แต่อยู่ในระดับ 1.08 มิลลิกรัม/กก.เท่านั้น และเจอคลอร์ไพริฟอสในอาหารบ้าง ซึ่งช่วงนี้กำลังเก็บตัวอย่างจากสวนผลไม้ภาคตะวันออก 4 จังหวัดมาวิจัยหาสารตกค้างเพิ่มอีก

          "ข้อมูลที่ไทยแพนหรือเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่ จะอิงข้อมูลอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ไปตรวจดินและน้ำที่น่านเพียง 2 เดือน แต่ผลวิจัยยังไม่ครบถ้วน และมีกระแสข่าวว่าเจอสารตกค้าง ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปตรวจซ้ำ ปรากฏว่าไม่พบ และที่มีกระแสข่าวว่า พบผู้ป่วยมะเร็งจากสารนี้ 42 ราย ตรวจสอบแล้วว่ามีสาเหตุจากพยาธิ 2 ราย ที่เหลือเป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่ไม่เกี่ยวกับพาราควอต"

          ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจ บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ไกลโฟเสตย่อยสลายได้ในดิน ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ย่อยโดยจุลินทรีย์ในดิน ตกค้างในดินเพียง 30-40 วัน ซึ่งไกลโฟเสต และพาราควอตเปรียบเสมือนประจุลบ ดินเป็นประจุบวก จะจับตัวกันแน่น ในขณะที่หากไหลลงสู่แหล่งน้ำจะจับตัวกับสารอินทรีย์ที่แขวนลอยในน้ำและมีการย่อยสลายไปในที่สุด แล้วแต่ปริมาณสาร หากมีมากอาจใช้เวลาย่อยสลาย เพิ่มขึ้น

          นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรม วิชาการเกษตรได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไปแล้วทุกภาค จะต้องรวบรวมความคิดเห็นส่งให้คณะทำงานเฝ้าระวังวัตถุอันตรายพิจารณาตามหลักวิชาการให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานพิจารณาต่อไป

          ผงะผลวิจัย ม.นเรศวร

          น-ผัก พบปนเปือนเพียบ

          ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณาลด ละเลิกใช้วัตถุอันตรายฯ ครั้งนี้ ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN) นำโดยนางสาวภาวิณี วัตถุสินธุ ในฐานะนักวิจัยของไทยแพนได้เข้าชี้แจง และนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ของแผนงานวิจัยเรื่องการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดการและป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษบนพื้นที่ต้นน้ำน่าน ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร พอสรุปได้ว่า

          พบการปนเปื้อนสารเคมีในช่วงฤดูเพาะปลูกใน "น้ำผิวดิน" พบพาราควอตถึง 64 ตัวอย่าง จาก 65 ตัวอย่าง ส่วน "ในน้ำใต้ดิน" พบพาราควอต 13 แห่ง จาก 15 แห่ง นอกจากนี้ จากการสุ่มตรวจดังกล่าว พบพาราควอตใน "ผัก" 45 ตัวอย่าง (จากทั้งหมด 45 ตัวอย่าง และพบในปลา 19 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 19 ตัวอย่าง

          ทำให้ไทยแพนนำข้อมูลเหล่านี้เสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงพิจารณาแบน 2 สารดัง คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ 1 สาร คือ ไกลโฟเสต

          โดยในน้ำประปาและน้ำดื่มบรรจุขวดมีการตกค้างของสารเคมีทั้ง 4 ชนิด โดยพบ อาทราซีน ไกลโฟเสต และพาราควอต ในทุกตัวอย่างของน้ำประปาและน้ำดื่มบรรจุขวด

          ที่มาของการตกค้างของสารเคมีเหล่านี้ ในน้ำประปาและน้ำดื่มนั้น มาจากการสำรวจของคณะผู้วิจัยซึ่งพบว่า แหล่งน้ำดิบที่นำมาผ่านกระบวนการทำให้น้ำสะอาดเพื่อเป็นน้ำประปาและน้ำดื่มนั้น ได้มาจากแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำบ่อตื้น ซึ่งแหล่งน้ำเหล่านี้มีการปนเปื้อนของสารเคมีอยู่แล้ว และจากการที่ระบบผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มนั้นไม่ได้มีกระบวนการเฉพาะในการกำจัดสารเคมีปราบศัตรูพืชให้หมดไปโดยเฉพาะ จึงทำให้พบสารเคมีตกค้างในน้ำประปาและน้ำดื่ม ส่วนในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว พบพาราควอตตกค้างในน้ำผิวดินทุกตัวอย่าง โดยมีค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบในฤดูเก็บเกี่ยวนี้มากกว่าฤดูเพาะปลูก

          จากผลของการวิเคราะห์ที่ผ่านมา แสดงถึงการตกค้างของสารเคมีในน้ำและในดิน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตกค้างของสารเคมีเหล่านี้ปรากฏในผักจากการดูดซึมสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในดินเข้าสู่ลำต้น และส่วนต่าง ๆ ของพืช ในลักษณะเดียวกัน การตกค้างของสารเคมีในน้ำอาจทำให้เกิดการได้รับสารเคมีไปสู่ตัวปลา ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีนั้น ๆ และเกิดการสะสมในอวัยวะต่าง ๆ

          "ผลวิจัยกล่าวถึงเฉพาะพาราควอต อย่างเดียว แต่ประเด็นสำคัญ คือ พาราควอตจะถูกดูดซับในดินได้ดีก็ตาม แต่เนื่องจากมีการใช้มาเป็นเวลานานเกินกว่าที่ดินจะดูดซับไว้ได้ จึงลงไปสู่แหล่งน้ำ"

          นอกจากนี้ นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้ยื่นหนังสือ ถึง "อธิบดีกรมวิชาการเกษตร" โดยมีสาระสำคัญว่า "เพื่อยกระดับความปลอดภัยมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นการเพิกเฉยต่อผลการศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไทยแพน ขอสนับสนุนมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่มีตัวแทนจาก 5 กระทรวงหลักให้ยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งพาราควอต ไกลโฟเสต และควอไพริฟอส

          อย่างไรก็ตาม นางสาวภาวิณีได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฯ ครั้งนี้ ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ไม่หลากหลาย โดยกลุ่มเกษตรกรที่แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ สนับสนุนการใช้ยาฆ่าหญ้า

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

รัฐหัวหอกนำร่องใช้หุ่นยนต์ 'อุตตม'เปิดทางราชการจัดซื้อเริ่มงบปี'61 หวังช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างในไทย

           รัฐนำร่องใช้หุ่นยนต์หวังบูมลงทุน

          โพสต์ทูเดย์ - รัฐ-เอกชนขานรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรม หุ่นยนต์ ดันหน่วยงานราชการนำร่องใช้หุ่นยนต์ เริ่มทันที ในปีงบ 2561 เดือน ต.ค.นี้ หวังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนสร้างและพัฒนาในเมืองไทย

          โพสต์ทูเดย์ - รัฐ-เอกชน ขานรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ดันหน่วยงานราชการนำร่องใช้หุ่นยนต์ เริ่มปีงบ 2561

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ เรื่องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย กับเรื่องการขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในแนวทางมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0

          ทั้งนี้ จะผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐนำระบบหุ่นยนต์ไปใช้ดำเนินงานได้ทันที ซึ่งจะเริ่มการจัดซื้อจัดจ้างทันทีในปีงบประมาณ 2561-2562 เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้งานมากขึ้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเริ่มนำร่องใช้ระบบอัตโนมัติในการควบคุมมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม และจะมีการนำระบบอัตโนมัติด้านอื่นๆ ไปใช้ร่วมกับโรงงานต้นแบบที่มีแผนจะก่อสร้างด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับภาครัฐและภาคเอกชน

          นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ ให้เข้ามาร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (เซ็นเตอร์ ออฟ โรบอติก เอ็กเซลเล้นส์) พัฒนาสถาบันระดับสากลด้านหุ่นยนต์ โดยกระทรวงจะกำหนดขอบเขตของงานให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ จากนั้นคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติงานได้ในปี 2561

          น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ขณะนี้มีเอกชนหลายรายให้ความสนใจยื่นขอส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้ผลิตซิสเต็ม อินติเกรเตอร์เพิ่มเติม จากปัจจุบันยื่นมาแล้วประมาณ 20 ราย ซึ่งรัฐต้องสร้างความต้องการใช้ให้เกิดขึ้นในประเทศก่อน จากนั้นจึงจะมีการลงทุนผลิตชิ้นส่วนและหุ่นยนต์มากขึ้น

          สำหรับปัจจุบันกลุ่มเอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ แบ่งเป็น กลุ่มผู้ผลิตและผู้ใช้ โดยกลุ่มผู้ผลิต เช่น บริษัท สุพรีม โพรดักส์ บริษัท เควีฯ และบริษัท ยาวาต้า ส่วนผู้ที่จะนำหุ่นยนต์ไปใช้ เช่น ซีพี เอสซีจี ปตท. ดับบลิว เอชเอ โฮมโปร เป็นต้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

หมายเหตุประเทศไทย: ครม.ไฟเขียวผลิตหุ่นยนต์ คนออฟฟิศจะตกงาน

          "ลมเปลี่ยนทิศ"

          ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ "อุตสาหกรรม 4.0" โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน

          ผมเห็นด้วยที่จะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตความจริง บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยก็ใช้มานานแล้วแม้ ดร.อุตตม จะบอกว่าไม่ได้มาทดแทนคน แต่สุดท้ายแล้วหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติก็ต้องเข้ามาทดแทนคนอยู่ดี โรดแม็ปการพัฒนาหุ่นยนต์จะเริ่มตั้งแต่การกระตุ้นอุปสงค์ โดยใช้งบประมาณ 12,000 ล้านบาท ไปกระตุ้นให้เกิดการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในการผลิตผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนลดหย่อนภาษีให้ 50% สำหรับนิติบุคคลที่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการผลิตและบริการ

          กระทรวงการคลังยกเว้นภาษีเงินได้ให้ 300% สำหรับการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติสำนักงบประมาณจะสนับสนุน ให้ส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาให้บริการประชาชนกระทรวงอุตสาหกรรมจะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้กับเอสเอ็มอีที่หันไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในการผลิตผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีและกองทุนอื่นๆ เรียกว่าโด๊ปกันเต็มที่กระทรวงการคลังยังยกเว้นอากรนำเข้าให้กับชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำมาผลิตหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนสูงสุดแก่ System lntegrator(Sl) ผู้ทำหน้าที่ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ

          จะมีการจัดตั้ง Center of Robotic Excellence(CoRE) ร่วมกับเอกชนชั้นนำจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่น ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นภายใน 5 ปี จะมีหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์

          โครงการนี้สะท้อนให้เห็นภาพของ "ไทยแลนด์ 4.0" ชัดเจนขึ้น

          วันนี้ไทยยังใช้หุ่นยนต์ค่อนข้างต่ำเฉลี่ย 53 ตัวต่อหมื่นคน ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 69 ตัวต่อหมื่นคนไต้หวัน 190 ตัวต่อหมื่นคนสิงคโปร์ 398 ตัวต่อหมื่นคน โอกาสที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยจะเติบโตยังมีอีกมาก

          ในรายงานของ World Robotic Report 2016 ระบุว่าภายในปี 2019 จะมีการติดตั้งหุ่นยนต์การผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ทั่วโลกถึง 1.4 ล้านตัว ประเทศที่ติดตั้งหุ่นยนต์มากที่สุดก็คือยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออกประเทศที่มาแรงอีกประเทศก็คือจีนปีที่แล้วจีนติดตั้งหุ่นยนต์การผลิตสูงถึง 9 หมื่นตัว เท่ากับ 1 ใน 3 ของทั้งโลกปี 2019 คาดว่าจีนจะติดตั้งหุ่นยนต์เพิ่มอีก 160,000 ตัว

          หุ่นยนต์ทุกตัวระบบอัตโนมัติทุกระบบ แน่นอนว่าติดตั้งไปแทนแรงงานคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลิตหุ่นยนต์แต่ละตัวจะทดแทนคนงานกี่คนก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตมีความซับซ้อนขนาดไหน

          ผมอยากจะเตือนล่วงหน้าไว้ตรงนี้ว่าแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกงานมากที่สุด ก็คือคนทำงานออฟฟิศที่เรียกกันว่า White Collar จบปริญญาจากมหาวิทยาลัย วันก่อนสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพิ่งเปิดเผยข้อมูลว่าปีนี้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น 102,000 คนเป็น 499,000 คน คนตกงานส่วนใหญ่เป็นผู้จบปริญญาตรี

          เมื่อมีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ คนกลุ่มนี้จะตกงานมากขึ้น

          แต่ Blue Collar หรือผู้ใช้แรงงานกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า แม้หุ่นยนต์จะทำงานแทนคนได้มากมายแต่ก็ทำไม่ได้ทุกอย่าง สู้แรงงานระดับล่างไม่ได้แต่แรงงานที่เคยทำงานสบายในสำนักงานอนาคตน่าเป็นห่วงจริงๆ นะ.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 31 สิงหาคม 2560

ดึงหน่วยงานรัฐเพิ่มใข้'หุ่นยนต์'หนุนตลาดภายใน 

"อุตตม"เร่งสร้างตลาดหุ่นยนต์ภายในประเทศ ดันหน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ นำร่องหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐ ระบบอัตโนมัติตรวจสอบมลพิษ พร้อม ดึง 14 หน่วยงานรัฐ-เอกชนร่วมพัฒนา  เล็งดึงมหาวิทยาลัยต่างชาติตั้งสถาบันวิจัยหุ่นยนต์ภายในอีอีซี เล็ง"สมาร์ทพาร์ค- นิคมฯเหมราช"ตั้งโรงงานหุ่นยนต์ เผยมีเอกชนสนใจกว่า 20 ราย

          หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ มาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทย ในหลายมาตรการ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและการใช้หุ่นยนต์ในภาคผลิตและบริการของไทย เดินตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยังตั้งเป้าหมายในระยะ 10 ปีจะให้ไทยเป็นหนึ่งในฐานการส่งออกหุ่นยนต์ของโลก

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ว่า ในขั้นแรกจะต้องเร่งเพิ่มความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศก่อน โดยสำนักงบประมาณ ได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผลิตในประเทศไทย เพราะเริ่มได้ทันที ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่น่าจะใช้หุ่นยนต์ ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ ใช้หุ่นยนต์เข้ามาดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องการระบบตรวจสอบมลพิษอัตโนมัติ และการสร้างโรงงานอัตโนมัติต้นแบบสำหรับเอสเอ็มอี รวมทั้งส่งเสริมให้เอสเอ็มอีนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในระบบการผลิต ซึ่งจะมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี และกองทุนอื่นๆมาให้การสนับสนุน

          "อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการพัฒนา ภาคการเกษตรโดยจะส่งเสริมไปสู่ Smart farming และพัฒนาไปสู่การทำเกษตรแปลงใหญ่ ด้านการแพทย์ ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว  และการบริการอื่นๆ"

          เล็งผนึกสถาบันศึกษาชั้นนำโลก

          นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาด้านหุ่นยนต์ชั้นนำในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐ รวมทั้งบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญในเรื่องหุ่นยนต์ จัดตั้งสถาบันวิจัยหุ่นยนต์ระดับสากลร่วมกับสถาบันการศึกษาของไทย ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

          ทั้งนี้ ยังได้ลงนามเอ็มโอยู "รวมพลังความร่วมมือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่ประเทศไทย 4.0" ร่วมกับ 14 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (CoRE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัทสุพรัม โพรดักส์ จำกัด บริษัท เควี อีเลคทรอนิกส์ จำกัด และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่ภาคอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป

          ดัน"สมาร์ทพาร์ค"ตั้งรง.หุ่นยนต์

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  (อีอีซี) กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ใน อีอีซี  ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติใน อีอีซี จะมี 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่สมาร์ทพาร์ค ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในพื้นที่มาบตาพุด และนิคมฯเหมราช ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

          โดยในขั้นแรกจะสนับสนุนธุรกิจคลังสินค้าระบบอัตโนมัติ เนื่องจากธุรกิจคลังสินค้าส่วนใหญ่ขาดแคลนแรงงานในการดำเนินงานมาก และบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายก็เริ่มพัฒนาระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ มีพื้นที่รวมกันหลายล้านตารางเมตร ซึ่งจะทำให้มีความต้องการชิ้นส่วนระบบอัตโนมัติภายในประเทศมีมากพอที่จะดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต

          3บริษัทหุ่นยนต์สนลงทุนไทย

          โดยในขณะนี้มีผู้ผลิตหุ่นยนต์ประมาณ 3 ราย ให้ความสนใจที่จะเข้า มาตั้งดรงงานผลิตหุ่นยนต์ในไทย  เช่น บริษัทฮิราตะ ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยแล้ว ส่วนอีก  2 รายจะเป็นการผลิตหุ่นยนต์ทาง การแพทย์ และหุ่นยนต์เฉพาะทาง ซึ่งในอนาคตบริษัทญี่ปุ่นในไทยจะนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

          นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)ในขณะนี้มีผู้ผลิตชิ้นส่วน และผู้ผลิตหุ่นยนต์กว่า 20 ราย ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งยังได้หารือกับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้เร่งส่งเสริมภาคเอกชนหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น

          ระบุช่วยปัญหาแรงงานขาด

          นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงานของไทย และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ภายในประเทศ บริษัทใหญ่ๆจะต้องเข้ามาร่วม เพื่อสร้างความต้องการภายในประเทศ ดึงดูดให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตหุ่นยนต์ในไทย และเกิดการสร้างวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญต่างๆในสาขานี้   

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ฝนหลวงฯ เตรียมรับมือฤดูแล้ง ปฏิบัติงานตามความต้องการน้ำให้เขื่อนสำคัญ 10 เขื่อน

ฝนหลวงฯ เตรียมรับมือฤดูแล้ง ปฏิบัติงานตามความต้องการน้ำให้เขื่อนสำคัญ 10 เขื่อน และหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง

 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้เขื่อนสำคัญทั่วประเทศที่ยังมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับใช้รองรับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ และระมัดระวังการปฏิบัติการไม่ให้กระทบต่อพื้นที่น้ำท่วมขังจากสถานการณ์ฝนตกหนักในบางแห่ง

วันที่ 30 สิงหาคม 2560 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 สถานการณ์น้ำในเขื่อนสำคัญบางเขื่อนของประเทศยังมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และมีความต้องการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อน จำนวน 10 เขื่อน ของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ เขื่อน พระปรง จังหวัดสระแก้ว อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขื่อนพลวง จังหวัดจันทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่ดูแลพื้นที่ในความรับผิดชอบ ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับเขื่อนสำคัญ 10 เขื่อน ให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว เพื่อเตรียมรองรับฤดูแล้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายน 2560 และกำชับให้ระมัดระวังพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังในบางแห่งด้วย

สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่การเกษตรที่ยังมีการขอรับบริการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ผลการปฏิบัติภารกิจวันที่ 28 สิงหาคม 2560 พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณอำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคอง และมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณพื้นที่การเกษตร อำเภอ พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวงทางภาคเหนือในพื้นที่เป้าหมายเขื่อนแม่กวงอุดมธาราและเขื่อนภูมิพล โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตาก พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อมก๋อย และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนภูมิพล จังหวัดเชียงใหม่ และ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณพื้นที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ เพจ facebook กรมฝนหลวงและ การบินเกษตร และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ฝนหลวงเตรียมพร้อมรับมือฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงพฤศจิกายนนี้

                   วันที่ 30 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ  การบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2560 สถานการณ์น้ำในเขื่อนสำคัญบางเขื่อนของประเทศยังมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ        และมีความต้องการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อน จำนวน 10 เขื่อน ของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่             ภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ เขื่อน       พระปรง จังหวัดสระแก้ว อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขื่อนพลวง จังหวัดจันทบุรี            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่ดูแลพื้นที่ในความรับผิดชอบ ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับเขื่อนสำคัญ 10 เขื่อน           ให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว เพื่อเตรียมรองรับฤดูแล้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายน 2560 และกำชับให้ระมัดระวังพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังในบางแห่งด้วย

                   สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่การเกษตรที่ยังมีการขอรับบริการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ผลการปฏิบัติภารกิจวันที่ 28 สิงหาคม 2560 พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณอำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคอง และมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณพื้นที่การเกษตร อำเภอ      พัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวงทางภาคเหนือในพื้นที่เป้าหมายเขื่อนแม่กวงอุดมธาราและเขื่อนภูมิพล โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตาก พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อมก๋อย และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนภูมิพล จังหวัดเชียงใหม่ และ    มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณพื้นที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

‘อุตตม’ ขับเคลื่อนอุตฯหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นำร่องลงทุนปีนี้ 1.2 หมื่นล้าน

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในแนวทางประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวม 14 หน่วยงาน 2 ฉบับ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ว่า กระทรวงเตรียมขอความร่วมมือให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ดำเนินงานในส่วนต่างๆ มากขึ้น เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยนำร่องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ใช้ระบบอัตโนมัติตรวจจับฝุ่นละอองภายนอกโรงงานมาใช้ รวมทั้งนำระบบหุ่นยนต์มาใช้สร้างโรงงานต้นแบบด้วย

“ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ ช่วยยกระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม พัฒนาด้านการเกษตร สาธารณสุข โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการบริการอื่นๆ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยจะนำหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคนในส่วนที่เหมาะสม ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาปลดพนักงานออก เพราะระบบนี้จะใช้ในงานที่มีความเสี่ยง ต้องใช้ความปลอดภัยหรืองานที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ ให้ดึงสถาบันชั้นนำด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศ เช่น จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น เข้ามาต่อยอดการลงทุนระยะยาว 10 ปี หรือปี 2569 สร้างเครือข่ายความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ (Center of Robotic Excellence:CoRE) ในระดับสากล ให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนที่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า คาดปี 2560 อุตสาหกรรมในประเทศจะมีการลงทุนนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการของไทยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ในปี 2560 และขยายการลงทุนได้กว่า 200,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยตั้งเป้าหมายมีผู้ทำหน้าที่ออกแบบ ติดตั้งระบบอัตโนมัติเพิ่มเป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันประเทศไทยมีประมาณ 200 ราย และตั้งเป้าหมายพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการ 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมจัดงานโรบอต แฟร์ (Robotic Fair) ขึ้นในปี 2561 เพื่อรวบรวมผู้ผลิตมาต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำลังศึกษาการใช้พื้นที่อีอีซีรองรับการลงทุนที่เหมาะสม

“กนอ. กำลังศึกษาการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2. นิคมอุตสาหกรรมรายประเทศ เรากำลังดูว่านิคมอุตสาหกรรมไหนมีพื้นที่เหลือ เช่น ดับบลิวเอชเอ ก็สนใจจะรองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ส่วนอย่างจีนต้องการพื้นที่ที่มีเฉพาะคนจีนลงทุนอยู่ เราก็คิดว่าน่าจะทำเป็นรายประเทศไปด้วย”นายคณิศ กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

3 มาตรการหุ่นยนต์หนุนเศรษฐกิจ 4.0 

           นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ใน 3 มาตรการ มาตรการแรกกระตุ้นอุปสงค์โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพผ่านการให้สิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะได้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% โดยขยายครอบคลุมไปถึงประเภทกิจการที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนัก ซึ่งเดิมไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการส่งเสริม ขณะที่กระทรวงคลังจะยกเว้นภาษีเงินได้ 300% สำหรับการวิจัยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

          นอกจากนี้ ทางสำนักงบประมาณจะสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อบริการประชาชน และกระทรวงอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ใช้หุ่นยนต์มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตซึ่งมาตรการแรกนี้จะช่วยให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์วงเงิน 12,000 ล้านบาทในปีแรก

          สำหรับมาตรการที่สองเป็นการสนับสนุนอุปทาน โดยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศโดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ (System Integrator) ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนจากปัจจุบันอยู่ที่ 200 ราย เป็น 1,400 รายภายใน 5 ปี โดยบีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์สูงสุด ขณะที่กระทรวงการคลังจะยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่นำมาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

          ส่วนมาตรการสุดท้าย เป็นการพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่นๆที่มีความซับซ้อนโดยจัดตั้งศูนย์เครือข่ายความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงานนำร่อง ตั้งเป้าหมาย 5 ปี จะพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการ 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน จะช่วยลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติลง ซึ่งแต่ละปีนำเข้าสูงถึง 266,000 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 132,000 ล้านบาท.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

“ผู้ว่าธปท.”เผยทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นดันบาทแข็ง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมากเมื่อช่วงที่ผ่านมา จนส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น เห็นว่า น่าจะมาจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่ดีขึ้น ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ที่เห็นสัญญาณเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายมากขึ้นในปัจจุบัน ส่วนธปท. จะออกมาตรการมาดูแลค่าเงินบาทหรือไม่นั้น คงไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพราะหากจะดำเนินการคงทำทันที อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ธปท. ได้ ทำหนังสือเวียนไปถึงสถาบันการเงิน เพื่อขอความร่วมมือให้ติดตามการทำธุรกรรมเงินบาทของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non resident) นั้น เพราะธปท. พบว่า ปริมาณการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในบางราย จึงได้มีการเตือน จะได้ระวังได้ทัน โดยขณะนี้ก็ยังรอข้อมูลจากสถาบันการเงิน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เปิดเวทีไทยแลนด์โฟกัส ชูอีอีซีดึงความเชื่อมั่นกองทุนทั่วโลก

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นประธานเปิดงานThailand Focus 2017: Establishing the New Engine โดยกล่าวว่างานนี้ถือเป็นการประชุมสัมมนาหลักด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯโดยมีผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกเข้าร่วมงาน 120 บริษัท มูลค่าสินทรัพย์รวม 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และได้พบหารือกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ถึง 142 บริษัท

ปีนี้ผู้จัดการกองทุนให้ความสนใจสอบถามถึงความคืบหน้าโครงการต่างๆ ของรัฐบาล มากกว่าปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเชื่อว่า หลังการจัดงานครั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติและผู้จัดการกองทุน จะให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้น โดยระดับราคาต่อกำไรสุทธิ หรือ พีอีเรโช ของตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ประมาณ 16 เท่า ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นมาเลเซีย เวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยแม้จะดูชะลอตัวจากปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ มากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย นักลงทุนในประเทศ เป็นกลุ่มที่ชะลอการลงทุน ซึ่งโดยภาพรวม ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น 7-8% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ตลาดหลักทรัพย์เตรียมไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ใน 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อดึงดูดนักลงทุนมายังประเทศไทยให้มากขึ้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงจุดแข็งของอีอีซีว่า ในปี 2561 จะเห็นการลงทุนของต่างชาติรายใหญ่ 30 ราย เข้ามา ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 43,000 ล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 5 ปี

ล่าสุดคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ที่เชื่อมโยง 3 สนามบินขนาดใหญ่ของไทยคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ซึ่งจะกลายเป็นฮับการบินภาคตะวันออก ใน 5 ปี พร้อมด้วยการลงทุนทางถนนเพื่อเชื่อมโยง 3 ท่าเรือขนาดใหญ่ของไทย ทั้งแหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบรวมทั้งรถไฟรางคู่ที่จะเชื่อมท่าเรือทั้ง 2 แห่ง เพื่อลดการขนส่งทางถนนซึ่งปลายปีนี้จะเห็นร่างทีโออาร์

ขณะที่ความคืบหน้าของอีอีซี ในรอบ5 เดือนมานี้การลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ภาคอุตสาหกรรมการบินที่ แอร์บัสและการบินไทย ร่วมกันลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานวงเงินกว่า 14,200 ล้านบาทไปแล้ว และยังมี Boeing SAAP และ Air Asiaที่แสดงความสนใจ/อุตสาหกรรมยานยนต์ มีโตโยต้าที่ประกาศแล้วว่า จะลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฮบริด และยังมีนิสสันที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV รวมถึงซูซูกิ และ BMW/อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่คาดว่าจะมียอดขอรับส่งเสริมลงทุนจาก BOI กว่า 12,000 ล้านบาท ในสิ้นปีนี้รวมถึงอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่ลาซาด้าและอาลีบาบาจะเข้ามาพัฒนาอีคอมเมิร์ซพาร์คในพื้นที่ อีอีซี อีกด้วย

ส่วนกฎหมายอีอีซี คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้นเดือนหน้า และปลายปีนี้จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างทำให้สำนักงานอีอีซีอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 แล้ว

นางพัชนี ลิ่มอภิชาติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทรกล่าวว่าบริษัทยังคงเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงสิ้นปี2560 อยู่ที่ระดับ 1,600 จุด จากปัจจุบันอยู่ที่1,567.52 จุด เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวประกอบกับเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำทำให้นโยบายการเงินทั่วโลกปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้เงินลงทุนยังไหลเข้าตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว โดยช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขยายตัว 3.7%สูงที่สุดรอบ 17 ไตรมาสส่งผลให้ครึ่งปีแรกขยายตัว3.5% และคาดว่าทั้งปี 2560 จะขยายตัว 3.5-4%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : ศาสตร์พระราชารับมือน้ำเหนือ...ลุ่มเจ้าพระยาพ้นวิกฤติ!

“พายุเซินกา” พัดผ่านประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่จังหวัดสกลนคร ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี สร้างความเสียหายให้กับชีวิต ทรัพย์สิน และผลผลิตทางการเกษตร แต่ในพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยานั้น แม้จะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย พืชผลทางการเกษตร สามารถเก็บเกี่ยวข้าวนาปีได้โดยไม่ได้รับความเสียหายใดๆ

ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา โดย นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาเตือนว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะในภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกกับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง จากนั้นถึงจะลดลงและเข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนตุลาคม 2560

กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องน้ำของประเทศ ได้วางแผนรับมือน้ำเหนือที่อาจจะไหลหลากลงมา โดยนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องของแก้มลิงมาขยายผลใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “โครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ” หรือ “โครงการบางระกำโมเดล 60” จึงเกิดขึ้น โดยเปลี่ยนปฏิทินการทำนาปีของเกษตรกรทุ่งบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำใน 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ยังส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภาครัฐเองก็ยังสามารถประหยัดงบประมาณที่จะจ่ายเงินชดเชยค่าความเสียหายจากน้ำท่วม และที่สำคัญหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และสถานที่ราชการของจังหวัดสุโขทัย ตลอดจนเป็นการหน่วงน้ำรอการระบายไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย โดยจะควบคุมระดับน้ำท่วมไม่ให้กระทบต่อที่อยู่อาศัยและการสัญจรของราษฎร ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุดประมาณ 400 ล้านลบ.ม. ในระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน

นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ และการปล่อยน้ำให้ท่วมนาในช่วงนี้ จะทำให้ปลาชุกชุมมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นในช่วงเก็บเกี่ยวหรือเกิดขึ้นมาใหม่ จะเป็นอาหารอย่างดีของปลา รวมทั้งน้ำที่เก็บกักไว้ยังสามารถนำมาบริหารจัดการใช้เป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง และการอุปโภคบริโภคเป็นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

โดยปกติเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง จะทำนาปีในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เพราะต้องรอน้ำฝนก่อน เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนภายในลุ่มน้ำ จึงมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม กระทรวงเกษตรฯโดยกรมชลประทานจึงได้ปรับเปลี่ยนปฏิทินการทำนาปีใหม่ ให้มาทำนาปีตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จากเดือนเมษายน2560 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน “โครงการบางระกำโมเดล 60” การดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามแผนที่วางไว้

นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จทั้งหมดแล้ว และกรมชลประทานเริ่มระบายน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำยมสายหลัก เข้าไปกักเก็บไว้บ้างแล้วประมาณ 100,000 ไร่ ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที หรือวันละ 12 ล้านลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งในคลองและในทุ่งบางละกำแล้วประมาณ 120 ล้านลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 280 ล้าน ลบ.ม.

“แม้การเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรบางส่วนอาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทุกแปลง โดยที่ไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำ” นายชำนาญกล่าว

การวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิง ตามศาสตร์พระราชานั้น กรมชลประทานไม่ได้ดำเนินการแค่ “โครงการบางระกำโมเดล 60” เท่านั้น ยังมีการขยายผลไปยังพื้นที่ลุ่มต่ำอื่นๆ ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน เช่น ทุ่งบางบาล ที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างก่อนที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งมีพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ ครอบคลุม 4 อำเภอ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง สามารถหน่วงน้ำรอการระบายได้ประมาณ 75 ล้าน ลบ.ม.

นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร กล่าวว่ากรมชลประทานได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณทุ่งบางบาล ให้ปล่อยพื้นที่นาให้ว่างหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังในเดือนกันยายน 2560 ที่จะถึงนี้ อย่าเพิ่งทำนาปีต่อเนื่อง เพื่อเตรียมสำรองพื้นที่ไว้ใช้เป็นแก้มลิงธรรมชาติ ตัดยอดน้ำที่จะไหลลงสู่กรุงเทพฯและปริมณฑล

แต่สถานการณ์น้ำจะต้องวิกฤติจริงๆ ถึงจะปล่อยน้ำเข้าพื้นที่นาดังกล่าว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างขณะนี้ยังไม่วิกฤติ ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะไหลเข้าสู่เขตกรุงเทพฯ ณ สถานีวัดน้ำบางไทรยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ล่าสุดอัตราการไหลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,568 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังต่ำกว่าเกณฑ์วิกฤติคือ 3,000-3,500 ลูกบาศก์ต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้ใช้โอกาสนี้ในการพร่องน้ำในคลองสายต่างๆ เขตปริมณฑลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อรองรับปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลลงมาในช่วงสิงหาคม-กันยายนนี้

“สถานการณ์น้ำในพื้นที่ปริมณฑลในขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะเกิดน้ำท่วม ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมาทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีผลกระทบต่อลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีปริมาณน้ำเพียงร้อยละ 55 ของปริมาณความจุเท่านั้น ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กล่าว

ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนแล้ว แม้จะมีฝนตกหนักบ้างในบางพื้นที่ แต่สำหรับลุ่มเจ้าพระยาแล้วปัจจัยต่างๆที่จะส่งสัญญาณว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 ยังไม่มีเลย ในขณะที่การเตรียมพร้อมรับมือ ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” ของกรมชลประทาน มีความพร้อมเต็ม 100%

ปี 2560 ลุ่มเจ้าพระยาไม่เกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน…..ฟันธง!!

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เปิดแผนยุทธศาสตร์จัดการน้ำภาคอีสาน มุ่งพัฒนาโขง-ชี-มูล

           จากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องปี 2558-2559 และอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จึงสั่งการให้ร่วมบูรณาการหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน และได้มอบหมายให้มีการปรับและทบทวนแผนงานตามยุทธศาสตร์น้ำของประเทศให้สอดรับกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พร้อมเร่งรัดดำเนินการได้ทันทีในโครงการที่มีความพร้อมให้พิจารณาบรรจุไว้ในแผนงบประมาณปี 2561 และปี 2562

          สำหรับภาคอีสานถือเป็นภาคที่มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดของประเทศกว่า 63 ล้านไร่  แต่ยังขาดความมั่นคงในเรื่องน้ำ เนื่องจากความไม่สมดุลของการกระจายตัวของฝนและลักษณะภูมิประเทศมีส่วนสำคัญที่ทำให้พื้นที่ภาคอีสานแห้งแล้ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และเกษตรกรส่วนใหญ่ตัองพึ่งพาอาศัยน้ำฝนทำการเกษตร นอกจากนั้นในฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ ริมฝั่งแม่น้ำโขง และสองฝั่งของลำน้ำมูลและลำน้ำชี

          กระทั่งล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรที่จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 10 ปี 2560-2569 ของภาคอีสาน ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน วงเงิน 95,532 ล้านบาท ใน 8 พื้นที่ภาคอีสาน 421 โครงการ เฉพาะปี 2561 ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้ว 15 โครงการ วงเงิน 1,246 ล้านบาท และอยู่ในระหว่างการปรับแผนดำเนินการอีก 165 โครงการ วงเงิน 6,883 ล้านบาท

          ส่วนปี 2562 ทางคณะกรรมการได้เสนอไป 40 โครงการ วงเงิน 9,812 ล้านบาท เมื่อพิจารณาผลตอบแทนทั้งระบบจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานมากกว่า 1.15 ล้านไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ 7.34 ล้านไร่ ความจุน้ำเพิ่ม 1,254 ล้านลบ.ม. โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 368,885 ครัวเรือน     

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงแผนพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายรัฐบาลว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(2557-2560) กรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1,276 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 487 ล้านลบ.ม. ได้พื้นที่ชลประทาน 782,973 ไร่ ประมาณร้อยละ 50 ของทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มความจุแหล่งเก็บน้ำเดิมและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ท้องถิ่นต้องการและใช้เวลาสำรวจออกแบบไม่นานนัก เช่น แก้มลิง ฝาย และประตูระบายน้ำเพื่อนำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และระบบชลประทาน ที่ทำได้โดยไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

          รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบอย่างบูรณาการในภาคอีสาน โดยลุ่มน้ำโขงจะสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำทุกสาย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงและสร้างสถานีสูบน้ำสองทาง รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากได้แก่ลุ่มน้ำก่ำและลุ่มน้ำสงคราม ส่วนลุ่มน้ำชีจะมีการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำบริเวณจ.ชัยภูมิ ส่วนพื้นที่กลางน้ำเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ โดยการสร้างประตูระบายน้ำ ฝายและแก้มลิงบริเวณพื้นที่ริมน้ำ ขณะที่ลุ่มน้ำมูล เนื่องจากหาพื้นที่ในการทำอ่างฯ ขนาดใหญ่เพิ่มเติมได้ยาก จึงใช้แนวทางการพัฒนาโดยการสร้างอาคารเก็กกักน้ำในลำน้ำและแก้มลิงเพื่อบรรเทาอุทกภัยบริเวณสบชี-มูล และเมืองอุบลราชธานี นอกจากนี้ ในแผนระยะยาว มีการเชื่อมโครงข่ายน้ำได้แก่โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูลมาไว้ในอ่างเก็บน้ำ และการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาไว้ที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง เป็นต้น

             “ถ้าจะสรุปแผนบริหารจัดการน้ำภาคอีสานจะมุ่งไปที่แม่น้ำ 3 สายหลักคือ น้ำโขง น้ำมูล และน้ำชี แม่น้ำโขงนั้นจะเน้นสร้างฝาย ประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำก่อนลงสู่น้ำโขง ส่วนมูลและชีเน้นสร้างคันกั้นน้ำและแก้มลิงทั้งสองฝั่งตลอดลำน้ำ”

             ดร.สมเกียรติ แจงรายละเอียดต่อไปว่า สำหรับปัญหาน้ำใน จ.นครราชสีมา ซึ่งมีทั้งปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง  กรมชลประทานได้จัดทำแผนงานเพื่อเสนอรัฐบาลผ่าน กนช. พิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีโครงการบรรเทาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ แก้มลิง และพิจารณาสร้างทางระบายน้ำเพิ่มเติมช่วงลำเชียงไกรตอนล่างและลำสะแทด ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าน้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝน และการขยายตัวของชุมชนเมืองในพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำมาก จึงเกิดน้ำท่วมบ่อย ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง รวมถึงสร้างคลองเชื่อมลำตะคอง–บึงพุดซา เพื่อเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำลำตะคอง และเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำบึงกระโตน ขณะนี้การก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว

            “สำหรับโครงการที่จะดำเนินการเร่งด่วนปี 2561-2562 คือ ศึกษาการเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำลำตะคอง โดยสูบน้ำจากเขื่อนป่าสัก และผันน้ำลำตะคอง-ลำเชียงไกร-ลำสะแทด-ลำมูล สำหรับ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำชี มีสภาพเป็นแอ่งกระทะ น้ำท่วมบ่อย กรมชลประทานได้เร่งรัดดำเนินการแผนงานโครงการในปี 2557-2560 ได้แก่เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำลำคันฉู และปรับปรุงอ่างเก็บน้ำโป่งขุนเพชร ซึ่งยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ขณะที่โครงการที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในปี 2561 -2562 ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำล้ำชี (พรด) และอ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ เป็นพื้นที่แก้มลิงก่อนรับน้ำเข้า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวย้ำ 

             นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ภาคอีสานอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 10 ปีของรัฐบาล

เขื่อนลำตะคองเหลือน้ำเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ 

             วันที่ 29 สิงหาคม 2560 นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่งใน จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินกว่า 50% แล้ว 4 เขื่อน มีเพียงเขื่อนลำตะคองเท่านั้นที่มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ไม่ถึง 50% โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั้ง 5 แห่ง ประกอบไปด้วย เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 94 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้านลบ.ม., เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 160 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 275 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 86 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 64 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้าน ลบ.ม.

               ทั้งนี้ ในส่วนของเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำน้อยติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เขียนแผนดำเนินการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มาช่วยเพิ่มน้ำในเขื่อนลำตะคอง สำหรับใช้อุปโภคบริโภคของชาวบ้านใน 5 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ในวงเงินดำเนินการมูลค่า 4,000 ล้านบาท ที่เพิ่งจะได้รับอนุมัติงบประมาณจาก

คณะรัฐมนตรีสัญเจรจาผ่านมา จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และเตรียมที่จะดำเนินการในปี 2561-2562 นี้ 

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อนาคตพลังงานไทยรุ่ง

 “อนาคตธุรกิจพลังงานไทย” โชติช่วงชัชวาล นโยบายภาครัฐให้ความสำคัญและสนับสนุนพลังงานทดแทนจากโรงไฟฟ้าพลังงาน แดด ลม ชีวมวล กระตุ้นภาคเอกชนวิ่งเข้าหาตลาดหุ้นแห่ระดมทุน รองรับโอกาสการเติบโตอีก 1.2 หมื่นเมกะวัตต์

 การสัมมนา “อนาคตธุรกิจพลังงานไทย” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 24 สิงหาคม 2560 โดยมีพล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายชาติกับยุทธศาสตร์พลังงานทางเลือก”, นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายพิเศษ “Energy 4.0” และ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย กับการบรรยาย “แหล่งระดมทุนของพลังงานทางเลือก”

++ไฟฟ้ารอเกิด 1.2 หมื่นเมก

 นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ประมาณ 12,144 เมกะวัตต์ โดยประเมินจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 ได้วางเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนไว้สูงถึง 30.10% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศภายในปี 2579

“โรงไฟฟ้าที่จะใช้พลังาน ทางเลือก ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรกคือ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และพลังงานลม จำนวน 4,701 เมกะวัตต์ 3,028 เมกะวัตต์ และ 2,777 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง และยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว” นางเกศรากล่าว

 นางเกศรากล่าวว่า ตลาด หลักทรัพย์ฯกำลังทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทพลังงานต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้สะดวกมากขึ้น

 สำหรับปี 2560 มีหลักทรัพย์ด้านพลังงานเข้าจดทะเบียน 3 หลักทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ณ ราคาไอพีโอ รวม 135,454 ล้าน บาท ได้แก่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ฯ (TPIPP) มูลค่า 58,800 ล้านบาท บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) 40,669 ล้านบาท และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มนํ้าตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) จำนวน 3,605 ล้านบาท

++3 บจ.ชั้นนำเร่งลงทุน

 นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ฯ (BGRIM) กล่าวว่า บริษัทเป็นเบอร์ 1 การเป็นผู้ให้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ใน 5 นิคมอุตสาหกรรมชั้นนำ มีกำลังการผลิตที่รับรู้รายได้เชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1,646 เมกกะวัตต์ และสัญญาขายไฟฟ้า (PPA) 2,500 เมกะวัตต์ หลากหลายชนิดในหลายประเทศ ที่จะทำให้บริษัทเติบโตต่อเนื่อง มองการขยายการลงทุนไปยังกลุ่ม CLMV, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงาน Conventional เพิ่มขึ้นเป็น 70% ขณะที่พลังงานทดแทนจะอยู่ที่ 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 50:50 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ปี 2561 จะเป็นบิ๊กเยียร์สำหรับ BGRIM เนื่องจากมีโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โรง COD ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์, กรกฎาคม และตุลาคม รวม 399 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าที่ลาว 15 เมกะวัตต์ และโซลาร์ ฟาร์ม 36 เมกะวัตต์ ทั้งปีมี COD เพิ่มขึ้นมา 450 เมกกะวัตต์ หรือ COD ทั้งหมด 2,060 เมกกะวัตต์

 นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดเขียว โดยไม่มุ่งแค่การทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างมูลค่าให้บริษัทเติบโตต่อเนื่องให้สมดุลระหว่างคุณค่าและมูลค่า ปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนที่หลากหลายทั้งโซลาร์ฟาร์มในประเทศขนาด 170 เมกะวัตต์, ญี่ปุ่น 200 เมกะวัตต์, พลังงานลมที่ประเทศฟิลิปปินส์ 50 เมกะวัตต์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทมีการศึกษาการลงทุนต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเป็นพลังงานสะอาดทั้งพลังงานลม, ไบโอแมส แสงอาทิตย์

 สำหรับการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปินส์ รับรู้รายได้ทันทีตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไป

 นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ฯ (WHAUP) กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภทคือ โรงไฟฟ้าและสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท ดับบลิว เอช เอฯ (WHA) ซึ่งบริษัทวางกลยุทธ์ไปที่นิคมอุตสาหกรรม 8 แห่งและนิคมใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ในภาคตะวันออก โดยมองโอกาสธุรกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งบนหลังคาโรงงานลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมในกลุ่ม WAH ซึ่งมีพื้นที่จำนวนมาก 2 ล้านตารางเมตร กำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์ ตามการส่งเสริมการทำโซลาร์รูฟท็อป ปลายปีนี้

++ยังส่งเสริมพลังงานทดแทน100%

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงพลังงาน เปิด เผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ(พีดีพี 2015) โดยมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งการสนับสนุนด้านพลัง งานจะต้องพิจารณา 3 ปัจจัยหลัก คือ ความมั่นคง ราคาที่เหมาะสม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยแผนพีดีพี 2015 ได้ใช้มาแล้ว 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างทบ ทวนให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งจะเน้นพลังงานทดแทน ทั้งพลังลม พลังนํ้า ขยะ ก๊าซชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน 100% แต่คงต้องดูจังหวะแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้องดูด้านความมั่นคงและราคาด้วย ซึ่งปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเริ่มถูกลง จากค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายกว่า 3 บาทต่อหน่วย ในส่วนนี้เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 21 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะส่งเสริมพลังงานทดแทนแบบ SPP Hybrid Firm ซึ่งเป็นการผสมผสานเชื้อเพลิงของพลังงานทดแทน ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ่ายไฟเข้าระบบอย่างมีเสถียรภาพ ดังนั้นในอนาคตการเปิดรับซื้อไฟฟ้าแบบ Non Firm จะน้อยลง โดยเริ่มกระบวนการเปิดรับซื้อในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบไฮบริดจะเข้ามาทดแทนพลังงานหลักได้ดีเพียงใด และจะทำให้ราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้หรือไม่

 สำหรับการปรับแผนพีดีพี 2015 คาดว่าจะชัดเจนภายในสิ้นปี 2560 นี้ โดยเบื้องต้นกำลังศึกษาความเหมาะสมว่า จะขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งหมด (พลังงานไฟฟ้ารวมกับความร้อน) จาก 30% เป็น 40% ของปริมาณพลังงานทดแทนทั้งหมด

 อีกทั้ง จะปรับเปลี่ยนการพิจารณาปริมาณสำรองไฟฟ้าประเทศใหม่ จากปัจจุบันเน้นดูปริมาณสำรองไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้มีสูงถึง 30% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมด แต่การปรับแผนพีดีพี 2015 จะพิจารณาปริมาณสำรองเป็นรายภูมิภาคแทน รวมถึงศึกษาการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามภูมิภาคด้วย เพื่อทำให้สำรองไฟฟ้าเกิดความเหมาะสม

++ดันไทยเป็นฮับซื้อขายไฟฟ้า

 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยถึงการขับเคลื่อนพลังงานไทย 4.0 (Energy 4.0) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าพลังงาน 60% คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท โดยเป็นการนำเข้านํ้ามันดิบมากถึง 85% ดังนั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงพลังงานมีโครงการส่งเสริม การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานให้กับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้ประหยัดค่าไฟลงได้ อาทิ โรงแรมที่เคยเสียค่าไฟ 4 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงานจะเสียค่าไฟฟ้า 2 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่การขนส่งนํ้ามัน จากเดิมที่ต้องใช้รถบรรทุกขนส่งก็เปลี่ยนเป็นการขนส่งทางท่อนํ้ามันแทน ล่าสุดโครงการท่อขนส่งนํ้ามันภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะเดียวกันรถยนต์ที่มีความต้องการใช้นํ้ามันมากที่สุด พบว่ารถยนต์ขนาดเล็กจะเสียภาษีถูกกว่า ทำให้การใช้นํ้ามันมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะส่งเสริมจากเดิมใช้นํ้ามันก็จะเป็น สำหรับการส่งเสริมด้านไฟฟ้า กระทรวงพลังงานมองว่า การสร้างโรงไฟฟ้าของประเทศจะเปลี่ยนไป ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการบริหารจัดการระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า เพราะยังถูกใช้ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นจะทำตลาดกลางรับซื้อไฟฟ้า เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN Hub) และต้นทุนค่าไฟฟ้าแข่งขันได้เมื่อเทียบกับอาเซียน

 ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ยังใช้พลังงานความร้อนไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ กระทรวงพลังงานจะสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และอนุรักษ์พลังงานเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าประหยัดพลังงานในภาคอุตสาห- กรรมลง 22% ในปี 2579 นอกจากนี้ในส่วนของการส่งเสริม Energy 4.0 ยังมีการสนับสนุนการออก แบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) มีผู้ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนที่ 2 จำนวน 7 โครงการ

 อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานส่งเสริมพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายปี 2579 อยู่ที่ 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ ปัจจุบันเข้าระบบแล้ว 9.8 พันเมกะวัตต์

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ไฟเขียวงบ 2,225 ล้าน ปั้น 11 โครงการชลประทาน-พัฒนาเกษตร

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการ 11 โครงการ กรอบวงเงิน 2,225 ล้านบาท จากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ 60 แยกเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำจำนวน 59 โครงการ วงเงิน 1,737 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก แหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำในพื้นที่ ส.ป.ก.เป็นต้น ในพื้นที่ 20 จังหวัด เพิ่มพื้นที่ชลประทานได เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 246,864 ไร่ เพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ 7.51 ล้านลูกบาศก์เมตร มีครัวเรือนได้ประโยชน์ 63,207 ครัวเรือน และโครงการด้านการพัฒนาการเกษตรจำนวน 8 โครงการ วงเงิน 488 ล้านบาท “โครงการด้านการพัฒนาการเกษตร 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการสร้างเครือข่ายการผลิต เมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วพันธุ์ดี 16.90 ล้านบาท, โครงการตลาดเกษตรอินทรีย์ ของ อ.ต.ก. 9.17 ล้านบาท, โครงการพัฒนาตลาดน้ำ อ.ต.ก. 25.54 ล้านบาท, โครงการสนับสนุนการสร้างปัจจัยพื้นฐานรวบรวมและจัดเก็บข้าวเปลือกคุณภาพ 232.01 ล้านบาท, โครงการเพิ่มศักยภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 123.77 ล้านบาท, โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพในสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ 6.53  ล้านบาท, โครงการโรงแช่แข็งผลไม้และห้องเย็น 20.25 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไข่ไหม 53.94 ล้านบาท”.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งอย่างยั่งยืน หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

กรมชลประทานคลอดแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง หนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง หวังสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืน ต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค ตามนโยบายรัฐบาล มั่นใจจะมีพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์กว่า 68,000 ไร่ และพื้นที่ชุมชน-ย่านการค้าชายแดน ยังปลอดภัยจากน้ำท่วมอีกด้วย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยพรมโหดและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เพื่อรองรับการจัดตั้ง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว” ตามนโยบายของรัฐในการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ โดยมุ่งเน้นในการจัดหาและบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุลยั่งยืน ต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค ทั้งปัจจุบันและอนาคต และป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำเช่นกัน

ทั้งนี้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้นที่ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เครื่องมือเกษตร พลาสติก และโลจิสติกส์ จำนวน 660 ไร่ นั้น พื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยปัญหาภัยแล้งจะเกิดขึ้นในพื้นที่ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง และอำเภออรัญประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่จะต้องส่งผลผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ส่วนปัญหาน้ำท่วมจะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ โดยเฉพาะย่านชุมชน และตลาดการค้าชายแดน

 “ในการศึกษาแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าว พบว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน จะต้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพทั้งการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำแห่งใหม่ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม การก่อสร้างอาคารควบคุมบังคับน้ำ ระบบกระจายน้ำ รวมถึงการผันน้ำมาจากลุ่มน้ำข้างเคียง โดยมีการกำหนดเป้าหมายแต่ละโครงการไว้ว่า เพื่อการเกษตรหรือการอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค หรือเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

สำหรับการศึกษาแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำดังกล่าว มีแผนงานที่สำคัญ 18 โครงการ จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 62 ล้าน ลบ.ม. และยังมีปริมาณน้ำที่ผันจากพื้นที่ลุ่มน้ำใกล้เคียงอีกประมาณ 35 ล้าน ลบ.ม./ปี มีพื้นที่รับประโยชน์ด้านการเกษตรรวม 68,500 ไร่ โดยแยกเป็นโครงการจัดหาน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 โครงการ คือ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองพระปรง ซึ่งจะได้น้ำใช้การเพิ่มขึ้น 10 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และโครงการวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระปรงสู่พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งทั้ง 2โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างอยู่โดยกรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีโครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 โครงการ ได้แก่ คลองผันน้ำหลากอ้อมเมืองอรัญประเทศ โครงการประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำปลายคลองพรมโหด และโครงการพนังกั้นน้ำคลองพรมโหด ส่วนที่เหลือ 13 โครงการ เป็นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต แยกเป็นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 8 แห่ง ก่อสร้างฝาย 2 แห่ง เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม 1 แห่ง และขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง โดยมีโครงการที่พร้อมจะดำเนินการได้ทันที 1 แห่ง คือโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออ อำเภอวัฒนานคร ความจุ 2.34 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานมีแผนก่อสร้างในปี พ.ศ.2561

ส่วนอีก 12 โครงการในแผนที่เหลือได้ทำการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และนำมาศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(IEE) จำนวน 5 โครงการ โดยแบ่งเป็น โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและจัดหาน้ำพื้นที่เกษตร 3 โครงการ และโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 2 โครงการ

สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและจัดหาน้ำพื้นที่เกษตรทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อำเภอตาพระยา เป็นอ่างฯขนาดกลางมีความจุ 21 ล้าน ลบ.ม. สามารถบรรเทาปัญหาในพื้นที่แห้งแล้งในเขตอำเภอตาพระยา ประมาณ 10,000 ไร่ อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 2.โครงการประตูระบายน้ำบ้านคลองยาง ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร ซึ่งเดิมเป็นทำนบดินสร้างปิดลำห้วยพรมโหด แต่ถูกน้ำพัดจนขาดเมื่อปี 2553 ต่อมาได้สร้างเป็นท่อลอดถนน หากก่อสร้างเป็นประตูระบายน้ำคลองยาง จะสามารถกักเก็บน้ำในลำน้ำได้ 629,000 ลบ.ม. โครงการนี้นอกจากจะแก้ปัญหาภัยแล้งแล้วยังสามารถในการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อีกด้วย

และ 3.โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองบัวเหนือ ปัจจุบันเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กของกรมชลประทานตั้งอยู่ที่ ตำบลหันทราย อำเภออรัญประเทศ มีความจุประมาณ 400,000 ลบ.ม. โครงการนี้จะพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 7.65 ล้าน ลบ.ม. โดยการจัดซื้อที่ดินหน้าอ่างฯประมาณ 1,000 ไร่ ขุดเป็นสระขนาดใหญ่ความลึกประมาณ 5 เมตร พร้อมทั้งปรับปรุงทางระบายน้ำล้นเดิม(spillway) ให้เป็นอาคารระบายน้ำล้นแบบประตูระบายน้ำ ซึ่งทั้งโครงการประตูระบายน้ำบ้านคลองยาง และโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองบัวเหนือ สามารถดำเนินการก่อสร้างพร้อมกันได้ เนื่องจากที่ตั้งของโครงการอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันคือ ลุ่มน้ำพรมโหด แหล่งน้ำของเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถบริหารจัดการน้ำร่วมกันได้

ส่วนโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 2 โครงการนั้นประกอบด้วย 1.โครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองอรัญประเทศ ซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุดที่จะต้องเร่งดำเนินการ และ2. โครงการประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำปลายห้วยพรมโหด พร้อมพนังป้องกันน้ำท่วม โดยทั้งสองโครงการจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำห้วยพรมโหด โดยเฉพาะบริเวณชุมชนเมืองอรัญประเทศ และย่านการค้าชายแดนได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงได้คัดเลือกทั้งสองโครงการ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 29 สิงหาคม 2560

เกษตรไทย อินเตอร์ฯ กำไรครึ่งปีแรกพุ่ง 579%

         เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น เชื่อว่า รายได้ปีนี้เข้าเป้าที่วางไว้ว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 59 ไม่น้อยกว่า 30% โดยครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 11,690.0 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 973.5 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 578.8% ชี้เป็นการเติบโตทั้งสายน้ำตาล และชีวพลังงาน จากผลผลิตอ้อยที่ดีขึ้นทั้งปริมาณ และคุณภาพ ประกอบกับราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในครึ่งปีแรกของปีนี้สูงกว่าปีก่อน

               นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ผลประกอบการของกลุ่ม KTIS ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-มิถุนายน 2560) สามารถทำรายได้รวม 11,690.0 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 973.5 ล้านบาท สูงกว่ากำไรสุทธิช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 ถึง 578.8%

                “ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ว่ารายได้ของกลุ่ม KTIS ปีนี้น่าจะทำได้เกิน 20,000 ล้านบาทนั้น ยังเชื่อว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย เพราะรายได้ครึ่งปีแรกก็ทำได้เกินครึ่งทางแล้ว และปกติรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังก็ไม่ได้แตกต่างจากครึ่งปีแรกมากนัก” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

               ทั้งนี้ จากงบการเงินปี 2559 กลุ่ม KTIS มีรายได้รวม 15,086.6 ล้านบาท ซึ่งหากปี 2560 ทำได้เกิน 20,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย จะคิดเป็นอัตราการเติบโตสูงกว่า 30% โดยปัจจัยหลักมาจากผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นจากปีการผลิตก่อนหน้านั้นถึง 15.4% และคุณภาพอ้อยก็ดีขึ้น ทำให้ผลิตน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นถึง 29.9%

                รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า ในครึ่งปีแรกของปีนี้มีการเติบโตของรายได้ในทุกสายธุรกิจทั้งสายน้ำตาล และชีวพลังงาน โดยสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาล ประมาณ 79.1% จากการผลิตและจำหน่ายเอทานอล ประมาณ 7.7% ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 5.3% ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 4.2% และอื่น ๆ 3.7%

                สำหรับผลผลิตอ้อยของฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 หากมองในภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งประเทศพบว่า แม้พื้นที่ปลูกอ้อยในประเทศบางส่วนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยอยู่บ้าง แต่คาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตอ้อยจะสูงถึงกว่า 100 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่มีปริมาณผลผลิตอ้อย 93 ล้านตัน และในส่วนของปริมาณอ้อยของกลุ่ม KTIS จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการปีต่อไปอย่างแน่นอน

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

KTIS เซ็นเอ็มโอยูกับ ม.ขอนแก่น

 นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS และ นายอภิชาต นุชประยูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด บริษัทย่อยในกลุ่ม KTIS ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กับ รศ. ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี และ ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยด้านอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่สนองตอบต่อการแก้ปัญหาของภูมิภาคและประเทศ โดยมีคณะผู้บริหารจากทั้งสององค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ไปดูชาวไร่อ้อยยุคใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม-ก้าวทันเทคโนฯ ฟันรายได้ 16 ล้าน/ปี  

นายสมดี ดำรงภูมิ ชาวไร่อ้อย จ.นครราชสีมา ยึดหลักทำไร่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

         ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ถอดบทเรียนตัวอย่างเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ประสบความสำเร็จได้ทั้งเงินและโล่เพราะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ทำลายระบบนิเวศ ช่วยผลผลิตอ้อยมีคุณภาพขายได้ราคาสูง ทั้งยังหมั่นเรียนรู้ประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มผลผลิต ทึ่ง! เจ้าของไร่อ้อยรายใหญ่ จ.มหาสารคามมีรายได้มากกว่า 16 ล้านบาท/ปี

             มอบเป็นประจำทุกปีสำหรับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจและเชิดชูเกียรติชาวไร่อ้อยที่มีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานดีเด่นรอบด้าน ทั้งด้านการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ด้านการจัดการพันธุ์อ้อย ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการดินและปุ๋ย

               รวมถึงการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นชาวไร่ตัวอย่างในการผลิตอ้อย และเป็นชาวไร่ที่มีการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่

               เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับเลือกให้รับรางวัลดังกล่าวคัดเลือกผ่านสถาบันชาวไร่อ้อยต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวไร่อ้อยทั่วไปได้นำแนวทางปฏิบัติไปปรับใช้ประโยชน์พัฒนาปลูกอ้อยในไร่ของตน เป็นอีกกลไกขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป     

        สำหรับชาวไร่อ้อยในภาคอีสานที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจาก กอน.ประจำปี 2560 นั้นมีด้วยกันหลายราย เช่น นายสมดี ดำรงภูมิ รางวัลชนะเลิศรางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีพื้นที่ปลูกตั้งแต่ 1-59 ไร่, นางชูนิท ยางนอก รางวัลชาวไร่ดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อยอีสานใต้, นายรัฐพงศ์ พรมเลา รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม

ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี อาศัยระบบนิเวศฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดิน

         ยึดหลักเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมช่วยเพิ่มคุณภาพ

               นายสมดี ดำรงภูมิ ชาวไร่อ้อย จ.นครราชสีมา วัย 59 ปี เจ้าของรางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เล่าว่า การทำไร่อ้อยของตนนั้น เวลาทำไร่อ้อยจะตระหนักถึงความปลอดภัยโดยการสวมใส่รองเท้าบูต ถุงมือ ผ้าปิดจมูก แว่นตา แต่งตัวให้เหมาะสมต่อการทำไร่อ้อย และจะตัดอ้อยสดเท่านั้น ไม่เผาใบ เพราะการเผาใบอ้อยนอกจากทำให้เกิดปัญหามลภาวะแล้ว ยังทำให้น้ำหนักอ้อย และค่าความหวานของอ้อยน้อยลง มีผลให้ขายได้ราคาต่ำตามไปด้วย

               นอกจากนี้ การเผาอ้อยทำให้อินทรียวัตถุในดินน้อยลง ดินทึบแน่นขึ้น ดินไม่อุ้มน้ำ ไม่มีใบอ้อยคลุมดิน วัชพืชขึ้นได้ง่ายมาแย่งอาหารอ้อย ทำให้ตออ้อยแคระแกร็น แถมบรรดาแมลงศัตรูอ้อยบินมาวางไข่ เติบใหญ่เป็นหนอน สามารถชอนไชไปทำลายตอได้ง่าย ที่สำคัญยังเป็นการทำลายปุ๋ย เพราะเศษซากใบอ้อยมีปุ๋ยไนโตรเจน 0.35-0.66 เปอร์เซ็นต์

               ในช่วงระหว่างที่รอเก็บเกี่ยวอ้อย นายสมดีบอกว่าจะปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้นานาชนิดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่า “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ผักสวนครัวที่ปลูกสามารถนำไปประกอบเป็นอาหาร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และมีรายได้จากการขายผลไม้ที่ปลูก ทั้งมะพร้าวน้ำหอม ลำไย กระท้อน ฝรั่ง ชมพู่ มะไฟ กล้วย ขนุน ลูกหว้า มะม่วง น้อยหน่า ซึ่งนอกจากจะขายได้แล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นขนมหวานได้หลากหลายอย่างสร้างเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย

ด้านรัฐพงศ์ พรมเลา ชาวไร่อ้อย จ.มหาสารคาม มีรายได้จากการขายอ้อยเข้าโรงงานมากถึงปีละ 16 ล้านบาท

         ตามเทคโนฯ ให้ทัน-ดูแลไร่เหมือนลูกคนหนึ่ง

               ด้านรัฐพงศ์ พรมเลา ชาวไร่อ้อยดีเด่นประจำปี 2560 สมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า ตนเริ่มปลูกอ้อยอย่างจริงจังในปี 2534 แต่ในตอนนั้นยังไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ในการทำอ้อยจึงลองผิดลองถูกมาตลอด จนกระทั่งในปี 54/55 จึงได้เปิดโควตากับโรงงานน้ำตาลวังขนายและส่งอ้อยให้กับโรงงานในปีนั้นจำนวน 8,500 ตัน ต่อมาจึงมีความคิดว่าจะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยให้มากที่สุด บางแปลงก็ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาของตัวเองมาทำไร่อ้อย

               โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบเข้าอบรมเรื่องการปลูกอ้อยด้วยวิธีใหม่ๆ กับโรงงานเพื่อจะพัฒนาไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตและคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมาทดแทนแรงงาน เพราะการใช้เครื่องจักรทำให้จัดการไร่อ้อยได้สะดวกรวดเร็ว ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การปลูก การใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช ตลอดจนการใช้รถตัดอ้อย

               ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยของตัวเองทั้งหมด 2,300 ไร่ พื้นที่เช่าอีก 1,500 ไร่ สามารถส่งอ้อยให้โรงงานได้มากถึง 15,000 ตัน มีรายได้ประมาณ 16 ล้านบาทต่อปี

               “เทคนิคการทำไร่อ้อยให้มีคุณภาพและมีความยั่งยืนก็คือ การดูแลดิน หากดินมีปัญหาก็จะทำให้ปลูกอ้อยไม่ค่อยดี ต้องปรับปรุงบำรุงดินให้มีคุณภาพ การเลือกพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับพื้นที่ก็มีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลเอาใจใส่ ซึ่งผมดูแลเอาใจใส่ไร่อ้อยเหมือนดูแลลูกคนหนึ่ง มีคนถามว่าใช้เครื่องจักรกลมาทดแทนแรงงาน เป็นการลงทุนสูง แต่ผมคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว เพราะทุกวันนี้แรงงานคนหายากมาก” รัฐพงศ์กล่าว และเล่าต่อว่า

               สำหรับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของจังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2560 นั้นตนต้องขอขอบคุณโรงงานน้ำตาลวังขนาย สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ส่งเสริมอ้อยของโรงงานน้ำตาลวังขนาย และคณะกรรมการที่เลือกมอบรางวัลนี้ให้แก่ตน รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะรางวัลนี้ถือเป็นเกียรติต่อวงศ์ตระกูล ตนจะรักษามาตรฐานการทำไร่อ้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

        นางสาวธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนายกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มีชาวไร่อ้อยของกลุ่มวังขนายในพื้นที่ทั้ง 4 โรงงานได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยจาก กนอ.ถึง 10 รายด้วยกัน ในจำนวนนี้เป็นชาวไร่อ้อยที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน 3 ราย โดยชาวไร่อ้อยทั้ง 10 รายที่ได้รับรางวัลเป็นชาวไร่ที่ปลูกอ้อยมานานหลายปี และยังเป็นชาวไร่อ้อยที่มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาเพิ่มผลผลิตการปลูกอ้อยให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลดการใช้สารเคมีในการปลูกอ้อยได้อย่างสิ้นเชิง

               “ถือเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มวังขนายที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้ชาวไร่อ้อยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งด้านรายได้และด้านสุขภาพ เพราะเราให้ความสำคัญต่อการทำไร่อ้อยที่พึ่งพิงปุ๋ยเคมีน้อยที่สุดหรือไม่ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างสิ้นเชิงเป็นอย่างมาก” นางสาวธัญรักษ์ระบุ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ระทึก! เรือพ่วงบรรทุกน้ำตาล 1.2 พันตัน ชนตอม่อสะพานใต้น้ำเจ้าพระยาช่วงบางปะอิน โชคดีเรือรั่วแค่ชั้นนอก

ระทึก! เรือพ่วงบรรทุกน้ำตาล 1.2 พันตัน ชนตอม่อสะพานใต้น้ำเจ้าพระยาช่วงบางปะอิน โชคดีเรือรั่วแค่ชั้นนอก  

เรือพ่วงบรรทุกน้ำตาลทราย ชนตอม่อสะพาน 

         พระนครศรีอยุธยา -พระนครศรีอยุธยา-เรือพ่วงบรรทุกน้ำตาลทราย 1,200 ตัน ชนตอหม้อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง อ.บางปะอิน ขณะลำเลียงจาก จ.อยุธยา ไป อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทำให้เกิดรอยรั่ว ต้องแวะจอดที่ท่าเทียบเรือสุวรรณเกลียวทอง อ.บางไทร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบเรือรั่วแค่ชั้นนอก ไม่มีสินค้ารั่วไหลออกสู่แม่น้ำ

               วันนี้ (28 ส.ค.) เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุเรือพ่วงบรรทุกน้ำตาลทราย ของบริษัทอ่างทองซูก้า กระแทกกับของแข็งใต้น้ำจนทำให้เกิดเป็นรูรั่ว ทำให้เจ้าหน้าต้องเร่งทำการอุดรอยรั่วโดยด่วน เพราะเกรงว่าจะทำให้เรือล่ม และส่งผลกระทบต่อลำน้ำ และสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ โดยได้นำเรือไปเทียบริมฝั่งใกล้กับท่าเทียบเรือสุวรรณเกลียวทอง ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายวิวัฒน์ ชิดเชิดวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ

               เบื้องต้น พบว่าเป็นรอยรั่วที่เกิดจากแรงกระแทกชั้นนอกไม่รั่วไหลเข้าไปกระทบต่อสินค้าด้านใน ส่งผลไม่มีน้ำตาลรั่วไหลออกมาจากเรือ ส่งผลกระทบต่อน้ำแต่อย่างใด

               นายวิวัฒน์ ชิดเชิดวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาอยุธยา กล่าวว่า ได้เกิดเหตุเรือบรรทุกลากพ่วงบรรทุกน้ำตาลทรายของบริษัทอ่างทองซูก้า ซึ่งลากพ่วงมา จำนวน 4 ลำ ตามลำน้ำเจ้าพระยา มุ่งหน้าไปยังท่าเรือศรีราชา จ.ชลบุรี แต่ในขณะที่เดินทางมาถึงบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถนน 347 เขตอำเภอบางปะอิน ปรากฏว่า เรือบรรทุกลำที่ 4 ชื่อเรือ TMS 16 ซึ่งภายในบรรจุน้ำตาลทราย จำนวน 1,200 ตัน ด้านข้างเรือช่วงสะโพกหัวเรือด้านขวาลอยไปกระแทกตอม่อสะพานใต้น้ำ ทำให้เรือเกิดรอยรั่ว มีรอยรั่วกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร

               โดยเรือดังกล่าวเป็นลักษณะ 2 ชั้น ด้านนอกมีรอยรั่วทำให้น้ำไหลเข้าได้ แต่ไม่สามารถผ่านชั้นที่ 2 ซึ่งบรรทุกสินค้า จึงทำให้สินค้าไม่ได้รับความเสียหาย และไหลออกมาไม่ได้ คนขับเรือต้องจอดเรือเกยตื้นก่อนถึงท่าเรือสุวรรณเกลียวทอง อ.บางไทร ประมาณ 40 เมตร เพื่อรอการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่มาทำการช่วยกันอุดเรือ

               ในเบื้องต้นนั้น ผู้ควบคุมเรือได้เตรียมอุดรอยรั่วบริเวณใต้ท้องเรือเพื่อป้องกันน้ำเข้าเรือ พร้อมนำเครื่องสูบน้ำมาค่อยสูบน้ำที่ไหลเข้าไป และจะทำการลากจูงเรือมาที่ท่าเรือสุวรรณเกลียวทอง เพื่อขนย้ายน้ำตาลไปลงเรืออีกลำ ด้านกรมเจ้าท่า ได้ออกประกาศชาวเรือแจ้งให้เรือระวังเรื่องการเดินเรือแล้ว พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางไทร กู้ภัยอยุธยา และสำนักงานป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว ซึ่งจะให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในวันนี้

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พัฒนาโมเดลปั้นนักส่งเสริมการเกษตร n คลอด4หลักสูตรเพิ่มศักยภาพ-ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเกษตรกร

นายสุรัตน์ สงวนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำโครงการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการปฏิบัติงาน รวมถึงเพื่อให้ได้รูปแบบ หรือ Model ในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตรในอนาคต เป้าหมาย 210 ราย โดยมีทั้งหมด 4 หลักสูตร คือ

1.หลักสูตรการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ กลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ที่มีความสนใจที่จะพัฒนาตนเองด้วยความสมัครใจมีประสิทธิภาพ ประยุกต์ใช้ความรู้ และทักษะในการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่และเกษตรกร 2.หลักสูตรการพัฒนานักยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเกษตร กลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดทำโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และเลือกใช้กลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.หลักสูตรการพัฒนามิสเตอร์พืช กลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด คาดหวังให้กรมส่งเสริมการเกษตรมีนักส่งเสริมการเกษตรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละสินค้าเกษตรของพื้นที่ และเกิดเครือข่ายผู้รู้ในสินค้าเกษตร และ 4.หลักสูตรการพัฒนาผู้สอนงานนักส่งเสริมการเกษตร กลุ่มเป้าหมาย คือ หัวหน้ากลุ่ม/ฝ่าย เกษตรอำเภอ

ทั้งนี้กระบวนการพัฒนาตามโครงการ จะมุ่งเน้นการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง (Learning by Doing) โดยให้ผู้เข้ารับการอบรมเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มีเนื้อหาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการ และสามารถออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เข้ารับการอบรมต้องมีส่วนร่วมในการค้นคว้าและแสวงหาความรู้ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในกลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วยกัน

ขณะที่วิทยากรประกอบด้วย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรรุ่นพี่ที่จะลงมาถ่ายทอดและสอนงาน ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น เนื่องจากช่วงปี 2560-2562 จะมีข้าราชการที่มีความรู้ ความชำนาญ และสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน เกษียณอายุราชการจำนวนมาก ในเรื่องดังกล่าวในส่วนของเขต 1 จึงได้เตรียมพร้อมขานรับนโยบายของกรมฯ เร่งสร้างนักส่งเสริมการเกษตรให้เป็นมืออาชีพ ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์สภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรให้เกิดผลสำเร็จ และเกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพให้มากที่สุดต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สมคิด’ สั่งปั่นเป้าส่งออกปีนี้ พาณิชย์จัดให้ขยับเพิ่มโต 7%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อติดตามงานและมอบนโยบายแก่กระทรวงพาณิชย์ ว่า จากการได้รับฟังรายงานผลงานที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในส่วนของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถือว่าทำได้ดีดังนั้นก็ถือว่าเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ที่ 6% ก็คิดว่าคงเป็นแค่เป้าขั้นต่ำเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาทำได้ดี ตามยุทธศาสตร์และนโยบายที่ได้วางไว้

ขณะเดียวกันมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จัดทำดัชนีภาคบริการ โดยแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น ภาคก่อสร้าง การเงิน โรงแรม เป็นต้น ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้เห็นการเติบโตรายอุตสาหกรรมที่มีความชัดเจน และเป็นตัวช่วยชี้วัดการส่งออก ทำให้สามารถวางแผนยุทธศาสตร์การส่งออกด้วย เพราะที่ผ่านมาภาคบริการของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ไม่มีการรวบรวมทำเป็นดัชนีมาก่อนทำให้ภาคธุรกิจขาดข้อมูลในการประกอบการตัดสินในในการดำเนินธุรกิจ ส่วนภาครัฐก็ขาดข้อมูลในการนำไปส่งเสริมให้ถูกจุด

รวมทั้งยังมอบหมายให้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุนเอกชนที่ลงทุนในภาคบริการด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งเอกชนที่ลงทุนด้านการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริมด้านโลจิสติกส์เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้นด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทย มีแบรนด์ของตัวเองเพราะปัจจุบันสินค้าเกษตรของไทยจะถูกส่งไปยังร้านค้าทั่วโลกในนามแบรนด์อื่นทำให้สินค้าไทยไม่เป็นที่รู้จัก

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้ให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีใช้เป็นช่องทางทำการค้า เหมือนกับ LAZADA และ AMAZON เพื่อดึงให้ผู้ประกอบการมาใช้อีคอมเมิร์ชมากขึ้น และจะมีการเปิดตัวในเดือนก.ย.นี้ เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของประเทศไทยในการจะเป็นศูนย์กลางด้านอีคอมเมิร์ซของอาเซียน

นอกจากนี้ จะได้สั่งการให้เร่งช่วยผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการ “ประชารัฐสวัสดิการ” โดยให้กระทรวงพาณิชย์ จัดหารายการสินค้า และร้านโชห่วยในเครือข่าย เพื่อให้สิทธิผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนกว่า 11.67 ล้านคน ซื้อสินค้าจำเป็นในโครงการธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งราคาถูกกว่าท้องตลาด 15-20% ผ่านบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้พร้อมเริ่มดำเนินการกับการออกบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ที่จะเริ่มใช้ได้ในเดือนต.ค.นี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยปีนี้ ยังไปได้ดี และเป้าหมายการส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 7% หรือมีมูลค่า 230.465 ล้านเหรียญ หรือ 19.613 ล้านเหรียญต่อเดือน ในช่วงที่เหลือ เนื่องจากพบว่า การนำเข้าของโลก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงเตรียมแผนขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้น และในระหว่างวันที่ 12 ก.ย.นี้ จะมีคณะนักธุรกิจมาจากญี่ปุ่น จำนวน กว่า 500 บริษัท ที่เป็นคณะใหญ่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดมา นำโดย กระทรวง เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่น เพื่อมาดูลู่ทางการลงทุนเพิ่มเติม ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และกระทรวงพาณิชย์จะจัดให้มีการจับคู่ธุรกิจ ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กรมโรงงานฯยกระดับหม้อน้ำสมองกล

กรมโรงงานฯ ยกระดับหม้อน้ำสมองกลตั้งเป้านำร่องโรงงานลดใช้พลังงาน กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ. ผลักดันและพัฒนายกระดับหม้อน้ำเข้าสู่โหมด Smart boiler หรือ หม้อน้ำสมองกล เพื่อพัฒนา ปรับปรุง ยกระดับ และส่งเสริมสนับสนุนงานด้านหม้อน้ำทั้งความปลอดภัย พลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้ก้าวหน้าและยั่งยืน ให้สอดคล้องกับแนวคิด SMART Boiler สู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยได้วางแผนการขับเคลื่อนครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านประสิทธิภาพพลังงาน โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนงานด้านหม้อน้ำที่ปัจจุบันมีอยู่ในโรงงานกว่า 15,000 เครื่อง อยู่ในโรงแรมและโรงพยาบาลกว่า 10,000 เครื่อง ได้อย่างปลอดภัยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยลดความเสี่ยงแก่พนักงาน ลดต้นทุนการผลิตและเกิดการประหยัดพลังงานได้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2560

กรมชลฯ สั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศรับมือฝนตกหนักอีกระลอก จากพายุโซนร้อน “ปาข่า”

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนที่อาจจะประสบกับปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนนี้ กำชับให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้การช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด

ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาวะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน “ปาข่า” (PAKHAR) ที่เคลื่อนตัวอยู่บริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ และกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าจะเลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางในวันนี้ (26 ส.ค.) มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางเกาะไหหลำ ประเทศจีน และประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 27-28 ส.ค.

ซึ่งในระยะแรกจะยังไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย แต่เมื่อพายุนี้เคลื่อนเข้าใกล้ประเทศเวียดนามตอนบนจะทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม (Himawari) เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 25 ส.ค. ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ากลุ่มเมฆฝนกำลังแรงบริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ปราจีนบุรี สระแก้ว ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ระยอง จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช อาจมีผลให้เกิดฝนตกหนักมากกว่า 50 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป

กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ ประจำไว้ในพื้นที่ด้วย

ในกรณีที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะวิกฤตน้ำท่วมหรือน้ำเอ่อล้นตลิ่งในแม่น้ำสายหลัก โครงการชลประทานในพื้นที่ จะรายงานสถานการณ์น้ำต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ เข้าไปประจำในพื้นที่เสี่ยงภัยที่จะเกิดน้ำท่วม เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 26 สิงหาคม 2560

คลังให้ธุรกิจเครื่องดื่มปรับตัว รับภาษีน้ำหวานยาว6ปี

สารพัดเครื่องดื่ม เฮ คลังให้เวลาปรับตัวภาษีน้ำหวานยาว 6 ปี ทยอยเก็บเพิ่มแบบขั้นบันไดทุก 2 ปี หวานน้อยเสียน้อย หวานมากเสียมาก                                        นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยหลังครม.เห็นชอบกฎหมายโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่จำนวน 13 สินค้า และ 4 บริการว่า สินค้าที่ได้รับผลกระทบมากสุด จะเป็นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม เพราะจากเดิมถูกเก็บภาษีจากฐานราคาเพียงอย่างเดียว รวมถึงเครื่องดื่มบางชนิดก็ไม่ถูกเก็บภาษี  แต่ในอัตราภาษีสรรพสามิตที่กำลังจะใช้ใหม่ จะมีการเพิ่มการจัดเก็บภาษีในส่วนของความหวานหรือค่าน้ำตาลรวมอยู่ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ต้องการให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลจะได้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่ม ได้มีเวลาปรับตัวนานถึง 6 ปี แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 2 ปี ซึ่งในช่วง 2 ปีแรกจะเก็บในอัตราที่ต่ำสุด และทยอยขยับขึ้นไปจนเต็มอัตราในปีที่ 6 ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับเปลี่ยนสินค้า หรือปรับสูตรการผลิตโดยลดการใช้น้ำตาลให้มีความหวานน้อยลง ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น และเป็นภาระต่อผู้บริโภค 

สำหรับกฎหมายโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ คาดจะประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาได้ในเร็วๆ นี้  แต่จะเริ่มมีผลบังคับใช้จริงได้ต้องรอ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ มีผลก่อนตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.60 เป็นต้นไป โดยยืนยันว่าอัตราภาษีใหม่ที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้ผู้ประกอบการ และประชาชนได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป ส่วนสาเหตุที่ต้องประกาศอัตราภาษีสรรพสามิตล่วงหน้าก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้จริงในวันที่ 16 ก.ย. เพราะมีบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก จะได้ปรับตัวทัน ซึ่งอัตราภาษีใหม่ไม่ได้ทำให้ภาระภาษีต่างไปจากเดิม... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/economic/594197

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ชลประทานนำร่อง22จังหวัด ต่อยอดโครงการพระราชดำริ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ทำ MOU ร่วมกับ มูลนิธิปิดทองหลังพระเพื่อดำเนินโครงการสืบสานงานโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริแบบบูรณาการ ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการที่ยังไม่มีระบบชลประทาน 1,645 โครงการ ทั้งที่เป็นฝาย อ่างเก็บน้ำและรูปแบบอื่นๆ กรมชลประทาน จะเร่งศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คลอบคลุมในทุกมิติ เพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบชลประทานให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในทั่วทุกภาคของประเทศ ที่จะได้มีแหล่งน้ำสำหรับเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี

โดยกรมชลประทานได้เริ่มดำเนินโครงการที่จังหวัดเชียงรายเป็น 1 ใน 22 จังหวัดนำร่อง ซึ่งมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวมทั้งสิ้น 242 โครงการ เป็นโครงการที่มีระบบชลประทานจัดส่งน้ำแล้ว 187 โครงการ และอีก 55 โครงการ ยังไม่มีระบบชลประทานต้องส่งน้ำตามลำน้ำเดิม ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระจะดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพด้วยการปรับปรุง พัฒนา และต่อยอดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้สมบูรณ์ทุกโครงการ เพื่อสามารถการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง

ด้าน นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและการพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสาน

 พระราชดำริ กล่าวว่า ในการดำเนินงานได้น้อมนำองค์ความรู้ 6 มิติ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งประกอบด้วย น้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ คือ การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตลอดจนหลักการทรงงานและหลักการโครงการมาใช้ในการดำเนินงานโครงการนี้ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นเพื่อให้คนในชุมชนพออยู่พอกินแบบพอเพียง และเกิดความยั่งยืนในที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สมคิดสั่งบีโอไอ หนุนอุตฯเกษตร ยกระดับรายได้

 “สมคิด” สั่งบีโอไอหนุนอุตฯ เกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกรดึงเทคโนโลยีเข้าช่วย ด้านหิรัญญาเตรียมเสนอแพ็กเกจ ชงนายกฯ ก.ย.นี้ ปรับบทบาททุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปในทิศทางเดียวกัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ได้มอบหมายให้บีโอไอเร่งดำเนินการช่วงครึ่งปีหลัง คือ การออกสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแก่อุตสาหกรรมเกษตรและการบริการให้มีความเชื่อมโยงกัน เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังมีเรื่องเกษตรจะเชื่อมโยงกับเกษตรกรที่มีจำนวน 25 ล้านคน ซึ่งผลผลิตที่ได้เน้นส่งออกเป็นหลัก ทำให้มีสัดส่วนภาคเกษตรเพียง 8-10% ของจีดีพีประเทศ

"จะต้องยกระดับรายได้เกษตรกร นำสินค้าเกษตรของไทยไปวางจำหน่ายร้านค้าในต่างประเทศ มีระบบโลจิสติกส์กระจายสินค้าที่ดี เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งผู้บริหารบีโอไอจะไปรับตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) น่าจะทำให้เกิดการประสานงาน สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยภาคเกษตรมากขึ้น" นายสมคิดกล่าว

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอเตรียมเสนอแพ็กเกจยกระดับภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รวมทั้งอุตสาหกรรมภาคบริการในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเดือน ก.ย.นี้ โดยแพ็กเกจที่จะนำเสนอจะเป็นภาพรวมทั้งหมดว่า แต่ละหน่วยงานจะต้องทำอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่มีแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ในการลงทุนของบีโอไอเท่านั้น

โดยจะต้องปรับเปลี่ยนแม้กระทั่งบทบาทของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องดำเนินการอย่างไร กระทรวงดีอีจะต้องเน้นเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การขับเคลื่อนทั้งระบบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 25 สิงหาคม 2560

ไทยมีความมั่นคงทางอาหารดีขึ้น ขยับอันดับ 51 ของโลก รั้งที่ 3 ในอาเซียน สศก.แนะรัฐออกมาตรการคุ้มครองที่ดินเกษตรช่วยลดปัจจัยเสี่ยง

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถาบันอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรือ อีไอยู ได้จัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลก (จีเอฟเอสไอ) ปี 2559 จาก 113 ประเทศทั่วโลก โดยคิดจากองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ 1.ความพอเพียงของอาหาร 2.ความสามารถในการหาซื้ออาหาร และ 3.คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ประเทศไทยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 59.5 คะแนน สูงขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 0.5 คะแนน หรือคิดเป็นอันดับที่ 51 ของโลก โดยมีสหรัฐอเมริกา ครองอันดับ 1 รองลงมา คือ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามหากคิดคะแนนเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ (ไม่รวมบรูไน) จะพบว่า ไทยอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ที่มีคะแนนรวม 83.9 คะแนน และมาเลเซีย ที่มีคะแนนรวม 59.5 คะแนน ส่วนอันดับ 4 คือ เวียดนาม มีคะแนนรวม 57.1 คะแนน และอันดับ 5 คือ อินโดนีเซีย มีคะแนนรวม 50.6 คะแนน

นายภูมิศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่าวิกฤตอาหารของโลกจะดูเหมือนไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากไทยสามารถผลิตอาหารเพียงพอการบริโภคภายในประเทศ และยังมีผลผลิตมากพอที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ต่อเนื่อง จนขึ้นเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง อันดับ 1 ของโลก ข้าวและน้ำตาล อันดับ 2 ของโลก กุ้ง อันดับ 3 ของโลก และไก่เนื้อ อันดับ 4 ของโลก แต่ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้านที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะการกระจายรายได้ ที่มีการกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ การเข้าถึงอาหารที่ดีมีประโยชน์ของกลุ่มคนส่วนใหญ่อาจเกิดความยากลำบาก ภาคการตลาด ที่มีแนวโน้มว่า บริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติจะเข้ามาครอบครองและผูกขาดกลไกการกระจายอาหารมากยิ่งขึ้น จากการขยายตัวของกิจการร้านค้าสะดวกซื้อ ที่เข้ามาแทนที่ตลาดสด ตลาดนัด และร้านขายของชำขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว รวมถึงปัญหาของการใช้ที่ดินทางการเกษตรที่ผิดวิธี มีการนำที่ดินที่เหมาะสมกับการทำเกษตรไปทำอุตสาหกรรมมากขึ้น และปัญหาด้านระบบน้ำที่ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานเพียง 31.54 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็น 21.13% ของเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรทั้งประเทศเท่านั้น

นายภูมิศักดิ์ กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงความมั่นคงทางอาหาร ภาครัฐควรออกมาตรการเชิงนโยบาย อาทิ การคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อให้มีที่ดินเพียงพอที่จะทำการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกพืชอาหารได้อย่างยั่งยืน โดยควรออกกฎหมายหรือมีมาตรการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกการเกษตรและไม่อนุญาตให้บุคคลต่างด้าวทั้งส่วนตัวและนิติบุคคลเข้าครอบครองที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช และสามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมทั้งส่งแสริมและสนับสนุนการทำการเกษตรที่หลากหลาย การทำการเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ สนับสนุนการวางแผนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารแก่เกษตรกรรายย่อย เน้นการปลูกพืชควบคู่กับการทำปศุสัตว์ด้วยเพื่อเป็นการเกื้อกูลกันในระบบ

“แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร อันดับต้นๆของโลก คนส่วนใหญ่คงคิดว่าประเทศเราไม่น่าจะประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างแน่นอน แต่เมื่อดูดัชนีจีเอฟเอสไอลงไปในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหารอยู่มาก โดยเฉพาะด้านความสามารถในการหาซื้ออาหาร จากปัญหารายได้ของครัวเรือนที่อาจไม่เพียงพอ และบางครัวเรือนมีรายได้ลดลง สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ที่ปัจจุบัน อาหารในประเทศไทยยังมีสารตกค้างสูง และคุณค่าทางอาหารยังต่ำอยู่ เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออก ดังนั้นภาครัฐจึงควรมีมาตรการเพื่อมากำกับดูแลในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต” นายภูมิศักดิ์ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ชาวไร่อ้อยวังขนายรับรางวัลดีเด่น

ชาวไร่อ้อยของกลุ่มวังขนาย คว้ารางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ที่จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติชาวไร่อ้อยที่มีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงคุณภาพอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานดีเด่นในด้านการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ด้านการจัดการพันธุ์อ้อย  ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการดินและปุ๋ย มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นชาวไร่ตัวอย่างในการผลิตอ้อย และเป็นชาวไร่ที่มีการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ ตลอดจนชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อยต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวไร่อ้อยทั่วไปได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการปลูกอ้อย ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไป

นางสาวธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ชาวไร่อ้อยของกลุ่มวังขนายทั้ง 4 โรงงาน ได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นประจำปี 2560 ถึง 10 ท่านด้วยกัน คือ นายบุญปลูก แสงรักษาวงศ์ รางวัลชาวไร่อ้อยพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในเขตภาคกลาง  นายณรงค์  จาดใจดี และนายไพเราะ เกิดแก้ว รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการพันธุ์อ้อย นายธันยพัฒน์  มั่งมีธนพิบูลย์ รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการดินและปุ๋ย นายสมดี ดำรงภูมิ นางบุญเหลือ ทองรักษาวงศ์ และนายเถลิงศักดิ์ ชูเมือง รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายไสว เหล็งหวาน รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่างด้านการบริหารจัดการพื้นที่ปลูก นางชูนิท ยางนอก และนายรัฐพงศ์ พรมเลา รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันไร่อ้อย ซึ่งชาวไร่อ้อยทั้ง 10 ท่านที่ได้รับรางวัล เป็นชาวไร่ของกลุ่มวังขนายที่ปลูกอ้อยมานานหลายปี และยังเป็นชาวไร่ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พร้อมจะพัฒนาเพิ่มผลผลิตการปลูกอ้อยให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนลดการใช้สารเคมีในการปลูกอ้อยอีกด้วย

นางบุญเหลือ ทองรักษาวงศ์ ชาวไร่อ้อย วัย 67 ปี ที่ได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เล่าว่า เริ่มปลูกอ้อยตั้งแต่ พ.ศ.2532 โดยใช้ปุ๋ยเคมี และใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมานานหลายปี ทำให้สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จนกระทั่งกลุ่มวังขนายได้เข้ามาแนะนำโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ป้าจึงเข้าร่วมโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553  รวมระยะเวลา 7 ปี ทำให้ป้าลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดวัชพืช แม้ว่าปลูกอ้อยอินทรีย์จะเห็นผลช้าหน่อย แต่ระยะยาวจะได้ผลผลิตดี ที่สำคัญคือ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ป้าแข็งแรง มีแรงที่จะทำงาน เมื่อก่อนปลูกอ้อยแบบใช้สารเคมี ทำแป๊บเดียวก็เหนื่อยแล้ว ต้องกินอาหารเสริมทุกวันเพราะไม่มีแรง  ตอนนี้ป้าไม่ต้องกินอาหารเสริมแล้ว มีแรงทำงานได้  นอนหลับสนิททุกคืน แถมยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงกว่าเดิม ที่สำคัญก็คือ ป้าไม่เคยเผาอ้อยเลย ตัดอ้อยสดอย่างเดียว หญ้าที่ขึ้นข้างทางหรือบริเวณบ้าน ก็ไม่ใช้สารเคมีฉีดแต่จะใช้รถไถเล็กไถกลบหญ้า มันเป็นปุ๋ยในดินที่ดีมาก ท้ายสุดป้าบุญเหลือย้ำว่า จะดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ไว้ใช้หายใจไปนานๆ ถึงรุ่นลูกหลาน

 นายสมดี ดำรงภูมิ ชาวไร่อ้อยวัย 59 ปี ที่ได้รับรางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เล่าว่า เวลาทำไร่อ้อยจะตระหนักถึงความปลอดภัยโดยการสวมใส่รองเท้าบูท ถุงมือ ผ้าปิดจมูก แว่นตา แต่งตัวให้เหมาะสมต่อการทำไร่อ้อย และจะตัดอ้อยสดเท่านั้น ไม่เผาใบ เพราะการเผาใบอ้อย นอกจากทำให้เกิดปัญหามลภาวะแล้ว ยังทำให้น้ำหนักอ้อย และค่าความหวานของอ้อยน้อยลง มีผลให้รายได้น้อยตามไปด้วย  นอกจากนี้ การเผาอ้อยทำให้อินทรียวัตถุในดินน้อยลง ดินทึบแน่นขึ้น ดินไม่อุ้มน้ำ ไม่มีใบอ้อยคลุมดิน วัชพืชขึ้นได้ง่าย มาแย่งอาหารอ้อย ทำให้ตออ้อยแคระแกร็น  แถมบรรดาแมลงศัตรูอ้อยบินมาวางไข่ เติบใหญ่เป็นหนอน สามารถชอนไชไปทำลายตอได้ง่าย ที่สำคัญยังเป็นการทำลายปุ๋ย เพราะเศษซากใบอ้อยมีปุ๋ยไนโตรเจน 0.35 - 0.66 เปอร์เซ็นต์

ในช่วงระหว่างที่รอเก็บเกี่ยวอ้อย นายสมดี  ได้ปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้นานาชนิดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่า “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก”  ผักสวนครัวที่ปลูกสามารถนำไปประกอบเป็นอาหาร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว และมีรายได้จากการขายผลไม้ที่ปลูก ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม ลำไย กระท้อน ฝรั่ง ชมพู่  มะไฟ กล้วย ขนุน ลูกหว้า มะม่วง น้อยหน่า ซึ่งนอกจากจะขายได้แล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูป เป็นขนมหวานได้หลากหลายอย่างสร้างเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กลุ่มมิตรผล”ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร มุ่งส่งเสริมองค์ความรู้อย่างรอบด้าน

กลุ่มมิตรผล เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร มุ่งส่งเสริมองค์ความรู้อย่างรอบด้าน พร้อมผลักดันวิสาหกิจชุมชนสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ

การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งได้ในยุคอุตสาหกรรมปัจจุบัน นอกจากการนำเทคโนโลยี เครื่องจักร และการบริหารจัดการแบบเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในภาคการผลิตแล้ว การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยมีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้าน ทั้งการจัดการกับผลผลิต การจัดจำหน่าย การหาแนวทางสร้างรายได้เสริม พร้อมผลักดันวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ คืออีกส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนเกษตรอย่างยั่งยืน

ธุรกิจของกลุ่มมิตรผลมีความผูกพันกับชาวไร่อ้อยมาเป็นเวลานาน โดยมีปณิธานในการช่วยให้ชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุดิบ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังหลักปรัชญาองค์กร “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” โดยเริ่มเข้าไปมีส่วนดูแลชาวไร่จากโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตในปี พ.ศ. 2545 และพัฒนามาสู่การตั้งฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในปี พ.ศ. 2555จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการนำผู้รู้มาช่วยคิด ช่วยพัฒนา เริ่มต้นจากระดับหมู่บ้านจนยกระดับมาสู่ตำบล โดยอาศัยความร่วมมือกับชาวไร่เป็นหลัก โดยเน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และการเข้าถึงโอกาสต่างๆ เช่นการศึกษาเรียนรู้ การพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ รวมทั้งโอกาสในกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งการสร้างพื้นฐานทางความคิด และการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โครงการ “สืบสานงานพ่อ ถักทอตำบล มิตรผลร่วมพัฒนา” ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มมิตรผล ที่โรงเรียนบ้านแจงงาม ตำบลแจงงาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี คือ บทพิสูจน์ความสำเร็จของแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนที่วางเป้าหมายไว้ 3 ประการ คือ การส่งเสริมการสร้างรายได้ด้วยอาชีพเสริม โดยการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต การเพิ่มเติมองค์ความรู้เพื่อขยายผลสู่การเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก จากการรวมกลุ่มชุมชนสู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จนไปถึงการสร้างมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS (Participatory Guarantee System) โดยมีพื้นที่นำร่องในอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และการต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยกระดับคุณภาพการผลิต สร้างมาตรฐานเพื่อให้แข่งขันในตลาด และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย

สุนันท์ แสงประสิทธิ์ ปราชญ์ชุมชนพึ่งตนเอง หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า “สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการเข้าร่วมโครงการนี้คือการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี การทำมาหากินของเราลำบากน้อยลง ไม่ต้องคอยกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยธรรมชาติเหมือนแต่ก่อน เพราะเรารู้จักวิธีป้องกัน ทำให้มีผลิตผลที่เหลือกิน เหลือใช้ อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ซึ่งนอกจากการสนับสนุนการศึกษาแล้ว ยังมีการช่วยเหลือในด้านปัจจัยการผลิต เช่น การสร้างโรงเรือน การให้คำแนะนำเรื่องวัสดุอุปกรณ์ รวมไปถึงความรู้ด้านการตลาดพื้นฐาน เพื่อให้เรานำไปต่อยอดในการดำรงชีพ”

ตัวแทนจากกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ ชูชีพ งามขำ เล่าว่า “โครงการปลูกผักปลอดสารเกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้าน ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก ทำให้ชุมชนแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ชีวิตก็ดีขึ้น ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือสุขภาพดีขึ้น เพราะเรากินผักที่ปลูกเอง ได้กินของสด ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ส่วนที่เหลือก็นำไปขายสร้างรายได้เสริม”

สายชล เมฆฉาย ตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอิ่มสุข เล่าถึงที่มาของโครงการวิสาหกิจชุมชนเพื่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ “เริ่มจากชาวบ้าน 7 คนมารวมตัวกันทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง  จากนั้นก็มาทำยาฆ่าแมลงสมุนไพร ปุ๋ยคอกเพิ่ม ผลตอบรับดีมีสมาชิกมีเพิ่มขึ้นจนเป็น 27 คน การเข้าร่วมโครงการกับมิตรผลมีส่วนช่วยในเรื่องการสร้างเครือข่าย การตลาด และการทำแพ็คเกจจิ้ง เรียกได้ว่าเป็นบริษัทเอกชนที่เข้ามาผลักดันให้คนรู้จักเครือข่ายเรามากขึ้น ธุรกิจเติบโตขึ้น จากที่เมื่อก่อนเรามีแต่เครือข่ายจากราชการ”

ส่วน ภาษวงค์ วัชราไทย ตัวแทนจากโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านแจงงาม เล่าว่า “เรามีการจัดตั้งโรงเรียนเงินออมขึ้นมา ซึ่งพวกเราช่วยกันดูแล เพื่อให้ชุมชนได้บริหารจัดการการเงินได้ด้วยตัวเอง โดยปัจจุบันมีกรรมการ 13 คน และมีสมาชิกรวม 323 คน มิตรผลเองได้เข้ามาช่วยสร้างศูนย์การเรียนรู้  และร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคีให้กับชาวบ้านในชุมชนสิ่งที่เห็นได้ชัดจากการร่วมโครงการนี้เลยคือ ชุมชนเข้มเเข็งมากขึ้น ชุมชนมีแรงผลักดันจากปัจจัยต่างๆ และ มีความกระตือรือร้นที่จะสร้างนิสัยการออมเพื่ออนาคต”

นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “เป้าหมายในการพัฒนาตั้งแต่ปี2560 จนถึงพ.ศ. 2564 ฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนมีแผนงาน และตัวชี้วัดความสำเร็จของงานภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เป้าหมายโดยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนแต่ละโรงงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานร่วมกับสมาชิก กลุ่ม/องค์กร และภาคี/เครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้ง 3 หลัก ได้แก่ ด้านการพัฒนาระบบเกษตรชุมชนและอาหารปลอดภัย  ด้านการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน และด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน”

ปัจจุบัน ฝ่ายพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของมิตรผลมีการดำเนินงานอยู่ในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผลทั้งหมด 21 ตำบลใน 8 จังหวัด โดยเป็นพื้นที่นำร่อง 9 ตำบล และพื้นที่ขยายผล 12 ตำบล มีสมาชิกครัวเรือนอาสา 1,612 ครัวเรือน ซึ่งพัฒนาครัวเรือนต้นแบบแล้ว 105 ครัวเรือน  มีกลุ่มปลูกผัก 45 กลุ่ม เกิดตลาดเพื่อการจำหน่ายผลผลิต 21แห่ง และมียอดจำหน่ายสูงถึง 1,410,239 บาทต่อปี

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สิงคโปร์ลดน้ำตาล

บริษัทเครื่องดื่มหวาน 7 แห่ง จับมือเลิกขายเครื่องดื่มน้ำตาลสูง รับมือเบาหวานในสิงคโปร์

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ เปิดเผยว่า บริษัทเครื่องดื่มหลัก 7 แห่ง ซึ่งรวมถึงโค้ก เป๊ปซี่ โค เนสท์เล่ และเอฟแอนด์เอ็นฟู้ด ลงนามร่วมมือกับรัฐบาลสิงคโปร์เลิกขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 12% ภายในปี 2020 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการจัดการโรคเบาหวานภายในสิงคโปร์

ด้านโค้ก เปิดเผยกับทางสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า นอกจากการให้ความมือในลักษณะดังกล่าว บริษัทจะปรับลดน้ำตาลในเครื่องดื่ม 10% ภายในปี 2020 โดยที่ผ่านมาโค้กได้ลดน้ำตาลในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงการออกเครื่องดื่มใหม่ที่มีน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาลด้วย

ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามจัดการกับเครื่องดื่มน้ำตาลเช่นเดียวกับหลายชาติในเอเชียและตะวันตกยูโรมอนิเตอร์ บริษัทวิจัยตลาด เปิดเผยว่า การบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มปรับขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2010 และอยู่ที่ 6.08 กรัม/วัน ในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่สิงคโปร์บริโภคน้ำตาลในเครื่องดื่มเฉลี่ย 11.99 กรัม เทียบกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิ้ลยูเอชโอ) ที่ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 30 กรัม

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์เคาะส่งออกโต6% จับตาค่าเงินหวั่นเสียเปรียบคู่แข่ง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงได้ทำการปรับเพิ่มประมาณการส่งออกปี 2560เป็นขยายตัว 5-6% จากเป้าเดิมที่ 5% เนื่องจากการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องโดยตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งออกมีมูลค่า 18,852 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 10.5% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเมื่อรวม 7 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกมีมูลค่า 132,399 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 8.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี

ทางด้านการนำเข้าในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 19,040 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 18.5% เมื่อรวม 7 เดือนแรกของปีนำเข้ามีมูลค่า 125,616 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.5% และดุลการค้าเดือนกรกฎาคม ขาดดุล 188 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่เมษายน 2558 แต่เมื่อรวมด้าน 7 เดือนแรกของปี2560 ดุลการค้ายังคงเกินดุล 6,783 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ขยายตัวดีนั้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะตลาดจีน ตะวันออกกลาง CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และสหรัฐ โดยมองว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้หากจะให้การส่งออกเติบโตได้ถึง 6% ช่วง 5 เดือนจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 19,182 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 3.1% ต่อเดือน

“อีกทั้งต้องจับตาการมอบนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมามอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ในวันจันทร์ 28 สิงหาคมนี้ว่าจะมอบหมายเป้าการส่งออกใหม่หรือไม่”นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่าการส่งออกอาจจะเติบโตได้มากกว่า 6% แต่ตอนนี้ยังมองแค่ 6% ส่วนผลกระทบในเรื่องสหรัฐคว่ำบาตรเกาหลีเหนือนั้น ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อไทยเนื่องจากสินค้าที่ถูกคว่ำบาตร เช่น อาวุธ พลังงาน ถ่านหิน น้ำมัน ซึ่งไทยไม่มีการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปเกาหลีเหนือ และปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยไปเกาหลีเหนือมีเพียง 0.01% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับกรณีที่ดุลการค้าเดือนกรกฎาคมที่ขาดดุล 188 ล้านดอลลาร์นั้นยอมรับว่า เป็นผลจากการเก็งกำไรทองคำเป็นหลักเนื่องจากสถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอน นักลงทุนจึงวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งมองว่าไทยอาจยังขาดดุลการค้าต่อเนื่องอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ทั้งนี้ หากหักทองคำ จะพบว่า ดุลการค้าเกินดุล 1,087 ล้านดอลลาร์

ส่วนการส่งออกของปีนี้ แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่เติบโตดีโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าในเอเชีย สินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการสามารถกลับมาขยายตัวได้ในระดับสูง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และยาง การส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกยางพาราที่ขยายตัวทั้งจากปริมาณและราคา

ด้านสมมุติฐานค่าเงินบาท กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทปีนี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยมองกรอบไว้ที่ 34-36 บาทต่อดอลลลาร์ จากเดิมมองที่ 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ มองที่ 45-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ยังมองว่า สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ลดแรงกดดันต่อเงินบาทได้บ้าง

“ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามอง คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ยังต้องติดตาม แต่มองว่า ค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และการส่งออกในระยะสั้นเท่านั้น โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ประเมินว่าสินค้าข้าว ผลิตภัณฑ์สำปะหลัง อาหาร และยางพารา จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าสินค้ากลุ่มอื่น” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯร่วง วอนรัฐช่วยขยายตลาดต่างประเทศ

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย(Thai Industries Sentiment Index : TISI)มิถุนายน 2560 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.5 ในเดือนพฤษภาคม เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 10 เดือนนับจากเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 84.8 ซึ่งค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้การดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้เกรงว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

“ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศจากภาครัฐเท่าที่ควร เช่นมาตรการลดหย่อนภาษีจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2560 และเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอินเดียและปากีสถาน เพื่อขยายตลาดสินค้าไทย ควบคู่กับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมีตัวแทนภาครัฐช่วยประสานการลงทุน เจรจาหาคู่ค้า รวมถึงการจัดตั้งบริษัท เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก เป็นต้น” นายเจนกล่าว

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.6 ในเดือนพฤษภาคม สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีมุมมองต่อการดำเนินกิจการใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) รวมทั้งภาคการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ พร้อมเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงแก้ไขปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และสนับสนุนให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใช้สินค้าของ SMEs มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาทกลับ 'แข็งค่า' รับกังวลการเมืองสหรัฐ

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "33.33 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดกลับมากังวลปัญหาการเมืองสหรัฐ และติดตามเฟดคืนนี้

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ33.33บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ ช่วงปิดสิ้นวันก่อน

ในคืนที่ผ่านมาตลาดกลับมากังวลกับปัญหาการเมืองหลังโดนัลด์ทรัมป์แถลงว่าต้องการทำกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก แม้ว่าการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐต้องมีความเสี่ยงเรื่องเพดานหนี้ที่ต้องเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้บอนด์ยีดล์อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงทันที4.5 basis point มาอยู่ที่ระดับ 2.17% พร้อมกับตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวลงเช่นกัน ส่งผลให้ค่าเงินยูโรก็แข็งค่าขึ้นมากอีกครั้ง

สำหรับวันนี้เชื่อว่าเงินบาทน่าจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้นตามภูมิภาค ขณะที่ตลาดคงจับตาไปที่การกล่าวเปิดการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่ jackson holeในคืนวันนี้ มองกรอบเงินดอลลาร์ที่ระดับ 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แวดวงเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วไทย

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่จ.ร้อยเอ็ด และ จ.ชัยภูมิ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอแผนงานโครงการของกระทรวงเกษตรฯ ในพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานในด้านการเกษตรไปสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามนโยบายรัฐบาล ที่จะนำเสนอในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ระหว่างวันที่ 21 – 22 ส.ค.นี้ ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่ข้าว ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เพื่อรับฟังบรรยายสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้แทนแปลงใหญ่ข้าว ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจผลิตแป้งข้าวขาวดอกมะลิ 105 ผู้แทนโครงการ 9101ฯ ที่เกี่ยวกับการแปรรูปฯ ก่อนที่รมว.กษ.จะมอบนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์แป้งข้าวหอมดอกมะลิจากนั้นในช่วงบ่ายได้เดินทางต่อไปยังไปกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าว ต.หนองไผ่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานในพื้นที่ ก่อนเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ข้าวอารมณ์ดีของเกษตรกรในชุมชน

เรื่องดีๆ...การประชุมนานาชาติพรรณพฤกษชาติประเทศไทย เป็นโครงการระยะยาว จัดขึ้นทุก 3 ปี หมุนเวียนระหว่างสถาบันที่เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ เป็นการจัดประชุมเพื่อติดตามการดำเนินโครงการพรรณพฤกษศาสตร์ชาติประเทศไทย หรือ Flora of Thailand Project เพื่อให้ทราบจำนวนทรัพยากรพรรณพืชที่ พบในประเทศไทย สำหรับการจัดการประชุมนานาชาติพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ครั้งที่ 17 (17TH Flora of Thailand Conference) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า กระบี่ ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ องค์กรที่เกี่ยวข้องระดับนานาชาติและในประเทศ เข้าร่วมประชุม

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายธีรยุทธ สมตน ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ นายยรรยง กางการ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) เข้าร่วมในพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีและมอบหนังสืออนุญาตดังกล่าว ณ ศาลาอเนกประสงค์สวนสาธารณะเทศบาลหัวทะเล ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา เนื่องในโอกาสเดินทางมาตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ซึ่งมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ทั้งนี้ ได้มีการมอบหนังสืออนุญาตให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13 พื้นที่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มุกดาหาร ยโสธร บึงกาฬ นครพนม มหาสารคาม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุบลราชธานี รวมเนื้อที่ 56,266 ไร่

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ได้จัดการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว หรือโครงการ “ชายหาดติดดาว” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบ่งชี้คุณภาพสิ่งแวดล้อมของชายหาด และเป็นข้อมูลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาด ซึ่งได้จัดการประชุมคณะกรรมการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว โดยมีผู้แทนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และ คพ. ได้มีมติเห็นชอบผลการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว ปี 2560 โดยชายหาดที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับดีมาก (5 ดาว) 13 หาด มีรายชื่อหาดและหน่วยงานดูแลชายหาด มีดังนี้ 1.หาดเตยงาม (หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สัตหีบ) จังหวัดชลบุรี 2.หาดแหลมศาลา (อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด) 3.หาดอ่าวมะนาว (กองบิน 5 กองทัพอากาศ) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4.หาดอ่าวคา 5.หาดสามเส้า 6.หาดถ้ำร้าง (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง) จังหวัดสุราษฎร์ธานี 7.หาดท้ายเหมือง(อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง) 8.หาดอ่าวเกือก (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน) 9.หาดไม้งาม (อุทยาน หมู่เกาะสุรินทร์) จังหวัดพังงา 10.หาดแหลมโตนด 11.หาดเกาะรอก (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา) 12.หาดบิเละ (อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี) จังหวัดกระบี่ และ13.หาดทรายเกาะลิดี (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา) จังหวัดสตูล

นางสุรีย์รัช อวนสกุล เลขานุการกรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ทำข่าวการดำเนินงานส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่นาเกลือของสหกรณ์ กรุงเทพฯ จำกัด ในพื้นที่นิคมสหกรณ์โคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร และการสร้างความร่วมมือแบบประชารัฐกับหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้โครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าเกลือสมุทร เป็นเกลือสปาขัดผิว ขยายช่องทางจำหน่ายสู่ผู้บริ โภคทั้งในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรชาวนาเกลือสามารถลดต้นทุนการผลิตเกลือทะเล มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถยึดอาชีพการทำนาเกลือได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดประชุมเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางขั้นตอนการปฏิบัติในการขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนและการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านทรัพยากรป่าไม้ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธาน พร้อมกันนี้ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกรมฯ เข้าร่วมประชุม จำนวนกว่า 50 คน

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน ได้นำเสนอแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามรายงานผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ครั้งที่ 2/2560 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ คนหนุ่มไฟแรง กล่าวว่า การประชุมการป่าไม้ ประจำปี พ.ศ. 2560 กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน หัวข้อหลัก คือ “รวมพลังรักษ์ป่า ด้วยศาสตร์พระราชา” เป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 กันยายน 2560 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชน ประชาชน นักศึกษา ประชาชนที่สนใจด้านการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติเข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ครม.อนุมัติภาษีใหม่ รีดกลุ่มเครื่องดื่ม/‘อาบ อบ นวด’โดนด้วย

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ได้เห็นชอบอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่จำนวน 13 สินค้า และ 4 ภาคบริการ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะเริ่มใช้วันที่ 16 กันยายน 2560 นี้ โดยมีการเปลี่ยนการเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานหรือราคาสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาปลีกแนะนำ ทำให้ต้องมีการกำหนดอัตราภาษี เพื่อไม่ให้ภาระภาษีของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ตามมติของ ครม. ที่มีมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามในส่วนสินค้าที่เหลืออีก 3 รายการ คือ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไพ่ จะเสนออัตราภาษีใหม่ให้ ครม. เห็นชอบสัปดาห์สุดท้าย ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหว เกรงว่าจะเกิดการกักตุนเพื่อเก็งกำไร โดยที่ภาระภาษีไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ในส่วนของภาษีน้ำหวานในภาพรวมของอัตราใหม่อัตราภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 2% อย่างไรก็ตาม กฎหมายจะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี ซึ่งหากมีการลดความหวานลง ก็อาจจะเสียภาษีในอัตราเท่าเดิมหรือลดลงก็ได้ ซึ่งหากทำได้ก่อน 2 ปี ก็สามารถเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าได้ทันที ดังนั้นจึงไม่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มราคาสินค้าในช่วง 2 ปีนี้

ด้านอัตราภาษีสินค้าบริการ เช่น ไนต์คลับ อาบอบนวด และสนามกอล์ฟ อัตราภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อความเหมาะสม แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตามนโยบายของ ครม

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 นี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง จะแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีใหม่สรรพสามิตที่ได้รับการเห็นชอบจาก ครม.เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อราคาสินค้าและบริการ ซึ่งกรมสรรพสามิตยืนยันว่าอัตราภาษีใหม่ไม่มีผลทำให้ภาระภาษีและราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่

มีรายงานแจ้งว่า สำหรับภาษีเครื่องดื่มจะจัดเก็บจากค่าความหวานของน้ำตาลเพิ่มขึ้นมา ถือเป็นอัตราภาษีใหม่ที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน โดยไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง และชาเขียว หากมีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องเสียภาษีเพิ่ม จากปัจจุบันที่เสียภาษี 20% จากมูลค่าอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ค่าความหวานมี 6 ระดับ คือ 1.ค่าความหวาน 0-6 กรัม ต่อ 100 มล. ไม่เสียภาษี 2.ค่าความหวาน 6-8 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร 3.ค่าความหวาน 8-10 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 30 สตางค์ ต่อลิตร 4.ค่าความหวาน 10-14 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 50 สตางค์ ต่อลิตร 5.ค่าความหวาน 14-18 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาท ต่อลิตร 6.ค่าความหวาน 18 กรัม ต่อ 100 มล. ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาท ต่อลิตร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ส.ป.ก.เตรียมแจกที่ดินยึดคืนแก่เกษตรกรเพิ่มอีก5จ.กว่าหมื่นไร่

ส.ป.ก.เผยความคืบหน้าการจัดสรรที่ดินยึดคืนจากผู้ครอบครองผิดกฎหมายกว่า 3.1 แสนไร่ แจกเกษตรกรโคราชช่วงครม.สัญจรแล้ว 2,095 ไร่ คิวถัดไปเดือน ก.ย.เชิญนายกฯเป็นประธานแจกอีก3,000 กว่าไร่ที่สระแก้ว เมืองกาญจน์ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่คิวถัดไปรวม4 จังหวัด 11,039 ไร่

 จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่กับ ผู้ครอบครองโดยมิชอบในเขตปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ 310,167 ไร่ ในพื้นที่ 28 จังหวัด ขณะนี้ ส.ป.ก. มีพื้นที่ที่มีความพร้อมต่อการนำมาจัดสรรให้เกษตรกร 6 จังหวัด คือ จังหวัดสระแก้ว นครราชสีมา ชลบุรี กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ เนื้อที่ 16,746 ไร่ สามารถรองรับเกษตรกรได้ 1,384 ราย

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ณ จังหวัดนครราชสีมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูป ณ เทศบาลตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่ตัวแทนเกษตรกรจำนวน 3 ราย จำนวน 3 แปลง เนื้อที่กว่า 2,095 ไร่ โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 185 ราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่ได้จากการยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 ประกอบด้วย

1) แปลงบ้านกอก อำเภอปากช่อง จัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด มีเนื้อที่กว่า 1,021 ไร่ รองรับเกษตรกรได้ 85 ราย แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยรายละ 1 ไร่ และที่ทำกินรายละ 5 ไร่ ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหลัก และส่งเสริมเกษตรผสมผสานเป็นอาชีพเสริม

2) แปลง No.4843 อำเภอครบุรี จัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินครบุรี (คทช.) จำกัด มีเนื้อที่กว่า 537 ไร่ รองรับเกษตรกรได้ 60 ราย แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยรายละ 1 ไร่ และที่ทำกินรายละ 5 ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้ผล (ทุเรียน) ในแปลงเกษตรเป็นอาชีพหลัก และส่งเสริมเกษตรผสมผสานเป็นอาชีพเสริม

3) แปลงศูนย์เรียนรู้ อำเภอปากช่อง จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตปฏิรูปที่ดิน มีเนื้อที่กว่า 535 ไร่ รองรับเกษตรกรรุ่นใหม่ 40 ราย แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยรายละ 0.5 ไร่ และที่ดินทำกินรายละ 2 ไร่ ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และวนเกษตร

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดที่พื้นที่มีความพร้อมต่อการนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กราบเรียบเชิญท่านนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการมอบหนังสืออนุญาตฯ ณ ตำบลหนองม่วง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ในวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ที่จะถึงนี้ โดย ส.ป.ก. ได้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว จำนวน 10 แปลง เนื้อที่กว่า 3,342 ไร่ ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอโคกสูง อรัญประเทศ วัฒนานคร และวังน้ำเย็น และจะนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายละ 5 + 1 ไร่ คือ แปลงที่อยู่อาศัย 1 ไร่ แปลงเกษตรกรรม 5 ไร่ และมีพื้นที่ส่วนกลางให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ร่วมกัน พื้นที่เป็นที่ตั้งสหกรณ์ฯ ที่สาธารณประโยชน์ เช่น ถนนหนทาง แหล่งน้ำ ประปา บ่อบาดาล ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ จำนวน 303 ราย นอกจากนี้ จังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ส.ป.ก. จะดำเนินการนำมาจัดสรรให้เกษตรกร ในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป(พื้นที่รวมใน 4 จังหวัด 11,039 ไร่)

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

“โครงการ 9101 กับความหวังพลิกฟื้นฐานะเกษตรกรไทย”

บทความกองบรรณาธิการเรื่อง“พลิกฐานะเกษตรกรไทย”กล่าวถึงโครงการ 9101 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีเป้าหมายพลิกฟื้นฐานะเกษตรกรไทยให้พ้นความยากจน ไม่ว่าชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือชาวประมง โดยเน้นกิจกรรม 8 สาขาด้วยกันนั้น

อยากเรียนว่า ผมหวังเช่นเดียวกับท่านบรรณาธิการ เพราะเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ใช้งบประมาณมากกว่า 22,000 ล้านบาท ครอบคลุมทุกตำบลของประเทศ รวมทั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) อีก 882 ศูนย์...แต่เมื่อได้รู้เห็นวิธีการปฏิบัติในพื้นที่ที่ผมมีโอกาสสัมผัสด้วยตนเอง ขอรวบรวมปัญหาที่พบหลายประการ ดังนี้

ก.เป็นโครงการที่เร่งรัด มีเวลาดำเนินการสั้นมาก สำหรับโครงการใหญ่ งบฯมาก เกี่ยวข้องกับเกษตรกรมากที่ต้องทำความเข้าใจนโยบายและวิธีปฏิบัติให้ผู้เข้าร่วม ซึ่งมีเป้าหมายเกษตรกรชุมชนละ 500 คน

ข.ภายใต้เวลาที่สั้น ทำให้การรวบรวมสมาชิกแต่ละชุมชนไม่ผ่านกระบวนการที่ให้เกษตรกรได้เข้าใจหลักการและเป้าหมาย ส่วนใหญ่กำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต.หรือส่วนราชการจะรวบรวมคนเอง ซึ่งได้ผู้เข้าร่วมที่ใกล้ชิดกลุ่มคนเหล่านี้ และเป็นกลุ่มที่มักได้รับประโยชน์จากโครงการรัฐมาตลอด

ค.โครงการ 9101 จัดสรรงบฯให้ชุมชนละ 2.5 ล้านบาท มีเงื่อนไขต้องจ่ายเป็นค่าแรงให้ผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณ ที่เหลือใช้สนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการที่นำเสนอโดยการทำประชาคมของชุมชน

ง.แต่ด้วยเวลาที่สั้นกระชั้นชิด กิจกรรมที่เสนอโดยชุมชน ส่วนใหญ่ไม่ผ่านขั้นตอนการทำประชาคม โครงการส่วนใหญ่เกิดจากข้อเสนอผู้นำชุมชนร่วมกับข้าราชการ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคมชุมชน

จ.ดังนั้นกิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องทำปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งทำได้ง่าย แต่กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามนโยบายกระทรวงฯ เช่น การจัดการฟาร์มการจัดการศัตรูพืช การแปรรูป การปศุสัตว์ขนาดเล็กและการประมง มีจำนวนน้อยมาก เพราะทำได้ยากและต้องใช้เวลา

ฉ.โครงการ 9101 ที่ประสบความสำเร็จน่าจะมีเพียงประการเดียวคือ การอัดฉีดเงินลงไปในชนบทที่จ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ แต่ด้านความยั่งยืนของกิจกรรมตามนโยบายคงจะไม่เกิดขึ้น

จากปัญหาที่ผมรวบรวมมานี้ ความหวังที่โครงการนี้“พลิกฐานะเกษตรกรไทย”ให้พ้นความยากจนอย่างยั่งยืน ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เพราะจะไม่มีความยั่งยืนที่ก่อรายได้ให้กิจกรรมดำเนินการได้ตลอดไป เพราะเมื่อจ่ายค่าจ้างแรงงานให้เกษตรกร เบิกจ้างงบฯทำกิจกรรมหมดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะจบลง “จ่ายเงินครบก็จบกัน”

ผมเคยคิดว่าถ้ามีงบฯมากขนาดนี้ น่าจะดำเนินการตามแนวพระราชดำริจัดทำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ทุกตำบล ตำบลละ 1 แปลงแปลงละประมาณ 20 ไร่ จะได้ตัวอย่างโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทุกตำบลทั่วประเทศ โดยงบฯ 2.5 ล้านบาทต่อ 1 แปลง สามารถเบิกจ่ายตามวัตถุประสงค์กระทรวงเกษตรฯ คือ

1.เป็นค่าจ้างแรงงานเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า 50% หรือไม่ต่ำกว่า 1.25 ล้านบาท

2.เป็นค่าปัจจัยการทำกิจกรรมแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ แบ่งพื้นที่ 20 ไร่เป็นแหล่งน้ำ 30% นาข้าว 30% แปลงเกษตรผสมผสาน 30% เช่น ปลูกพืชผัก ปลูกไม้ผล ร่วมกับเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู และเลี้ยงปลาในแหล่งน้ำที่พัฒนาขึ้น อีก 10% เป็นที่อยู่อาศัย ทำกิจกรรมรอบๆ ที่อยู่อาศัยในลักษณะเกษตรผสมผสาน ซึ่งหมายความว่างบฯกิจกรรมใช้จ้างเครื่องจักรกลมาขุดสระน้ำ ส่วนการเตรียมพื้นที่แปลงนา พื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ก็จ่ายเป็นค่าจ้างแรงเกษตรกรที่ร่วม ซึ่งอาจเบิกจ่ายตามช่วงเวลาที่มาทำงาน และงบฯอีกส่วนใช้ซื้อปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ข้าว พันธุ์ผัก พันธุ์ไม้ผล พันธุ์เป็ด-ไก่ พันธุ์หมูและพันธุ์ปลา สุดท้ายอาจกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าจ้างเกษตรกรที่จะดูแลพื้นที่และกิจกรรมในโครงการนี้ตลอดไป เมื่อมีผลผลิตขึ้น อาจแบ่งปันบริโภคภายในชุมชน เหลือก็ขายเป็นรายได้ นำมาเป็นค่าใช้จ่ายดูแลโครงการ โดยไม่ต้องอาศัยงบฯจากรัฐบาลอีกต่อไป

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ผมได้พิจารณาว่าแปลงตัวอย่างโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 จะอยู่ในทุกตำบลทั่วประเทศ กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรและชุมชนได้น้อมนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนต่อไป ซึ่งจะเกิดความยั่งยืนและน่าจะพลิกฟื้นฐานะของเกษตรกรได้ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

ผมได้รับจดหมายที่บรรณาธิการ“แนวหน้า” ส่งต่อมา เป็นจดหมายของคุณอนันต์ ดาโลดม แสดงความคิดเห็นต่อบทบรรณาธิการเรื่อง “พลิกฐานะเกษตรกรไทย” ตั้งหัวเรื่องว่า“โครงการ 9101 กับความหวังพลิกฟื้นฐานะเกษตรกรไทย”...คุณอนันต์เป็นลูกหม้อกระทรวงเกษตรฯ ผ่านตำแหน่งใหญ่มาหลายกรม แม้เกษียณแล้ว ก็ยังห่วงใยภาคการเกษตร ข้อคิดความเห็นมีสาระประโยชน์ควรต่อการรับฟัง ผมจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ โดยขอตัดทอนให้พอเหมาะกับเนื้อที่คอลัมน์ ครับ...

อนันต์ ดาโลดม  นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ครม.เทงบ 1,399 ล้าน พัฒนาเกษตรอินทรีย์ 185 โครงการ วาง 3 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 2560 ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน จำนวน 185 โครงการ งบประมาณ 1,399 ล้านบาท ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ส่งเสริมการวิจัย เพื่อให้ได้พันธุ์พืช ปัจจัยการผลิต การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ อบรมเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์ งบประมาณ 413 ล้านบาท จำนวน 100 โครงการ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ จัดทำปัจจัยการผลิต ส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์ พัฒนาศักยภาพการผลิต โดยส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ การเพาะเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ ส่งเสริมระบบแปลงใหญ่ ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ งบประมาณ 863 ล้านบาท จำนวน 31 โครงการ

พ.อ.อธิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ พัฒนามาตรฐานและระบบการตรวจรับรอง เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ งบประมาณ 106 ล้านบาท จำนวน 48 โครงการ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เช่น โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร งบประมาณ 15 ล้านบาท จำนวน 6 โครงการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

กรมชลฯ เตรียมรับมือพายุโซนร้อน "ฮาโต๊ะ"23-28 สิงหาคมนี้

               นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติดตามสภาวะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 23-28 สิงหาคม 2560 อิทธิพลของพายุโซนร้อน "ฮาโตะ"  จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่

              กรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำใน

 พื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ประจำไว้ในพื้นที่อย่างน้อย 1 เครื่อง

              ในกรณีที่เกิดสภาวะวิกฤติ โครงการชลประทานในพื้นที่ จะรายงานสถานการณ์น้ำ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมความพร้อม ในด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยงภัยที่จะเกิดน้ำท่วม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

พาณิชย์เปิดแผนแม่บทอาเซียน8ปีข้างหน้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยแผนแม่บท 8 ปีของอาเซียนเน้นพัฒนาเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพมากขึ้น

นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวภายในงาน 50 ปีอาเซียน ภายใต้แนวคิดเดินหน้าสู่ เออีซี 2568 ว่า แผนแม่บทของประชาคมอาเซียนจากนี้ไปอีก 8 ปีข้างหน้า หรือในปี 2568 ได้มีการให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ธุรกิจขนาดเล็กมาก (ไมโครเอสเอ็มอี) รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพมากขึ้น โดยจะทำอย่างไรให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของโลกที่เป็นความท้าทายทั้งเรื่องของการนำเทคโนโยลีมาใช้ในอี-คอมเมิร์ส การหานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้กับธุรกิจ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 “เอกชนไทยตื่นกับการทำตลาดสินค้าในตลาดอาเซียน เนื่องจากอาเซียนเป็นตลาดใหญ่อันดับ3ของโลกมีประชากร 630 ล้านคน รองจากตลาดจีน และอินเดีย  จากต่าง 4-5 ปีก่อน ที่มีการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการในกัมพูชา มีความตื่นตัวมากกว่าไทย แต่ตอนนี้ไทยก็ไม่รองใคร”

ทั้งนี้ อาเซียนโดยรวม 9 ประเทศ ถือเป็นตลาดการค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยพบว่า มูลค่าการค้าปี59 การค้าภายในอาเซียนรวม 270,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การค้าไทยอาเซียน มีมูลค่า  91,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นการส่งออก 54,000 ล้านดอลลาร์ และนำเข้า  36,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนเป้าหมายเดินหน้าสู่อาเซียน 68 กรมกำหนดแผนงานเพื่อรับมือกับความท้าทายโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และคาดว่าแผนงานที่ดำเนินการนั้นจะผลักดันมูลค่าการค้าอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ครม.ไฟเขียว กรมชลฯ-ปภ.เสนอโครงการแก้น้ำท่วม-แล้ง เร่งด่วน 348 โครงการ

 เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 22 ส.ค.60 ที่อาคารสุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัตร ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า ในที่ประชุมครม. ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.)ครั้งที่ผ่านมา โดยเห็นชอบกำหนดพื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งอย่างเป็นระบบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 พื้นที่ โดยกรมทรัพยากรน้ำร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั้งประเทศ พบว่ามีพื้นที่ 84.2 ล้านไร่ หรือ 26.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40.9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อย 49 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด โดยพื้นที่เสี่ยงอุกทภัยทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 45.4 ล้านไร่ คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งประเทศ และเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15.9 ล้านไร่ หรือ 35 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่เสี่ยงอุกทกภัยทั้งประเทศ

ทั้งนี้ มีการกำหนดพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งอย่างเป็นระบบทั้งหมด 8 พื้นที่ครอบคลุม18 จังหวัด ประกอบด้วย 1.จังหวัดในลุ่มน้ำเลยตอนล่าง ลุ่มน้ำเลยห้วยหลวง ลุ่มน้ำแม่น้ำสงคราม ลุ่มน้ำภูน้ำกัด ลุ่มชีตอนบน ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลุ่มน้ำมูลตอนบน และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และกรมทรัพยากรน้ำ เสนอโครงการที่มีความพร้อม และเร่งด่วน เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมปี 2560 อีก 348 โครงการ เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 8,820 ล้านบาท โดยจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 449,700 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น107 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

พาณิชย์ พร้อมตามแผนแม่บทอาเซียน หวังดันมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น

'พาณิชย์' เผย เออีซี ดันมูลค่าการค้าในอาเซียนเพิ่มขึ้น พร้อมเปิด 4 แผนแม่บทอาเซียน 2568 ยันร่วมพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี-พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์-นวัตกรรม-วิจัยและพัฒนา รองรับการเป็นห่วงโซ่การผลิตโลก พร้อมดันมูลค่าการค้าระหว่างกัน...

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.60 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยภายในงาน '50 ปีอาเซียน' ว่า หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง เพราะภาษีนำเข้าลดลงเป็น 0% ในเกือบทุกรายการที่ค้าขายระหว่างกัน รวมทั้งอนุญาตให้นักลงทุนจากอาเซียนถือหุ้นในธุรกิจบริการได้อย่างน้อย 70% แต่กรมต้องการให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าในอาเซียนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

สำหรับ 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าอาเซียนเติบโตมากกว่า 30 เท่าตัว มูลค่าการลงทุนก็เช่นกัน แต่สิ่งที่กรมอยากเห็น คือการตื่นตัวของคนไทย ให้เข้าใจและใช้ประโยชน์ตามข้อตกลงที่อาเซียนทำร่วมกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนำเข้าสินค้าเป็น 0% รวมถึงการเปิดเสรีการลงทุน ที่จะทำให้เคลื่อนย้ายเงินทุนสะดวก และเสรีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยยังใช้ประโยชน์ได้ไม่ 100%

อย่างไรก็ตาม อาเซียนได้กำหนดแผนแม่บท 2568 ร่วมกัน ในการพัฒนาตัวแปรสำคัญ 4 เรื่องหลัก คือ พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) พัฒนานวัตกรรมทางการค้า และลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้าโลกร่วมกัน

รวมทั้งการพัฒนา 4 ด้าน เพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต และห่วงโซ่มูลค่าของโลก สนับสนุนให้อาเซียนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและระบบเศรษฐกิจภายในของสมาชิก

ทั้งนี้ อาเซียน 9 ประเทศ ถือเป็นตลาดการค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 59 อาเซียนมีมูลค่าการค้ารวมกัน 270,000 เหล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการค้าของไทยกับอาเซียน อยู่ที่ 91,000 ล้านเหรียญฯ แบ่งเป็น ไทยส่งออก 54,000 ล้านเหรียญฯ และไทยนำเข้า 36,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของอาเซียนให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

นายกฯสั่งศึกษาแนวทางกักเก็บน้ำ“โขง- ชี- มูล”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ให้ศึกษาแนวทางนำ น้ำโขง เลย ชี มูล ให้เร่งดำเนินการกักเก็บน้ำที่ต้นน้ำชี อ่างเก็บน้ำวังสะพุง ให้ทำอ่างต่ำลงมา เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่นอกเขตชลประทานให้เพิ่มหลุมขนมครก ให้ศึกษาใช้โซลาร์เซลในการสูบน้ำ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ไปดูแล ศึกษาการปลูกต้นไม้ล้างหนี้ หาแรงจูงใจ อย่าเป็นต้นกล้วย  เพิ่มเส้นทางคมนาคม 198 เส้นทางทั้งประเทศ นำยางพารามาสร้างถนน

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดต่าง: น้ำตาลลอยตัว 

           ดร.รุจิระ บุนนาค

กรรมการผู้จัดการ Marut Bunnag International Law Office rujira_bunnag@yahoo.com           Twitter : @RujiraBunnag

          อุตสาหกรรมส่งออกอ้อยและน้ำตาลของไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยถึง 3 แสนล้านบาท/ปี โดยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล

          เมื่อกลางปี 2559 รัฐบาลบราซิลผู้ค้าน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ได้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) กล่าวหาว่า รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาล ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลและกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในน้ำตาลของบราซิลจนมีการปิดโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศกว่า 50 โรงงาน

          คณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ได้มีการประชุมหลายครั้ง เพื่อหาแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายเป็นแบบลอยตัวเสรี ระบบโควตาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล (ฉบับที่..) พ.ศ. ...

          เมื่อเดือน ต.ค. 2559 รัฐบาลได้ประกาศการยกเลิกระบบโควตาที่กำหนด 3 โควตา โควตา "ก." คือ น้ำตาลทรายขาวที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ โควตา "ข." คือ น้ำตาลทรายดิบ เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ และโควตา "ค." คือ น้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว ที่เหลือจากการจัดสรร นำมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำตาลทรายสำหรับบริโภคในประเทศ

          สำหรับราคาน้ำตาลกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มีมติประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล ต.ค. 2560 นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 ธ.ค. 2560

          เดือน ก.ค. 2560 ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน อยู่ที่ 19 บาท/กิโลกรัม (กก.) เมื่อถึงมือผู้บริโภคราคาขายปลีกจะเพิ่มขึ้น 3-3.50 บาท หรือประมาณ 22-22.5 บาท/กก.

          นับจากวันที่ 1 ธ.ค. 2560 ราคาน้ำตาลทรายจะลอยตัวตามราคาตลาดโลก หากช่วงไหนความต้องการของตลาดโลกสูง ราคาจะปรับขึ้นช่วงไหนที่ผลผลิตล้นตลาดเกินความต้องการ ราคาจะถูกลง เมื่อพิจารณาราคาน้ำตาลทรายช่วงปี 2550-2559 ราคาเฉลี่ยหน้าโรงงานอยู่ที่ 14-26 บาท/กก. หรือเฉลี่ยประมาณ 19 บาท ดังนั้น แม้มีการใช้ราคาลอยตัวราคาลอยตัวยังอยู่ใกล้เคียงราคาระดับเดิม คือ ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาว 22 บาท/กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 22.5 บาท/กก.

          การปล่อยให้ราคาน้ำตาลลอยตัว หลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม  ภัตตาคาร ร้านอาหาร แม้กระทั่งพ่อค้า-แม่ค้ารายเล็กๆ ที่ขายขนมหวานคงจะวิตกกังวล เพราะเมื่อราคาน้ำตาลสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นทำให้ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น

          เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นกำลังซื้อผู้บริโภคย่อมลดลง เรื่องนี้น่าจะเป็นผลดีทางอ้อมเพราะทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภครสหวาน เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยทานหวานน้อยลง พ่อค้าแม่ค้าต้องปรับตัวโดยการเติมหวานให้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพคนไทยระยะยาว

          ประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะออกกฎหมาย เก็บภาษีอาหารที่มีรสหวาน เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน ในขณะที่หลายประเทศได้เก็บภาษีนี้แล้ว เช่น เดนมาร์ก ฝรั่งเศส  ฮังการี ไอร์แลนด์ เม็กซิโก และอินเดีย ในบางรัฐ

          องค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่า การบริโภคน้ำตาลแต่ละวันไม่ควรบริโภควันละเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม ปริมาณนี้รวมถึงน้ำตาลที่แฝงอยู่ในอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งมักมองไม่เห็น แต่รับรู้ได้ในรสชาติ เช่น ซอสมะเขือเทศ ซีเรียล โยเกิร์ต น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ชาเขียว นมเปรี้ยว น้ำผลไม้ การบริโภคน้ำตาลแฝงไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณการบริโภคทั้งหมดในแต่ละวันจะช่วยลดความเสี่ยง น้ำหนักเกิน โรคอ้วน และฟันผุ          

          หากพิจารณาจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทย น่าเป็นห่วงมาก ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลสูงสุดถึง 20 ช้อนชา/วัน หรือมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 3 เท่า ส่งผลให้คนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อที่เรื้อรังหรือเอ็นซีดี (Non-Communicable Diseases : NCD)  หรือบางครั้งนิยมพูดว่า โรคที่คุณสร้างเอง เช่น โรคอ้วนลงพุงและน้ำหนักตัวเกิน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

          ไทยยังเป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของโรคอ้วนในเด็ก (Childhood Obesity) สูงมากสาเหตุสำคัญ คือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารขยะ (Junk Food) และน้ำอัดลม การบริโภคอาหารเหล่านี้ส่งผลถึงประสิทธิภาพในการเรียน สติปัญญา และคุณภาพพลเมืองในอนาคต ถือเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศ

          จากข้อมูลของสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทยทุก 6 วินาทีทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายและมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคหัวใจ ไตวาย ปัจจุบันมีรายงานทางการแพทย์พบว่ามีเด็กป่วยเป็นโรคเบาหวานในประเทศไทยแล้ว 

          ปัญหาประชากรสุขภาพไม่ดี ถือเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของทั่วโลก มาร์การ์เล็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเคยกล่าวทำนองว่า ปัญหาสุขภาพของประชากรในแต่ละประเทศ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องการจัดการอย่างเร่งด่วน ในแต่ละปีรัฐบาลไทยต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ แม้บางคนอาจมองว่าการปล่อยให้ราคาน้ำตาลลอยตัว อาจทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่หากถือวิกฤตเป็นโอกาสเพราะจะทำให้คนไทยลดพฤติกรรมการบริโภครสหวานซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

นิ่งโรงงานภาคอีสาน อัพเกรดอุตฯเชิงนิเวศยกระดับสินค้า

          นครราชสีมา * "อุตตม" สั่ง กนอ.ศึกษาความหนาแน่นใน 7 จังหวัด กำหนดโซนตั้งโรงงาน พร้อมปักหมุด 3 จังหวัดอีสานพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ยกระดับพื้นที่และสินค้า เผยมอบสินเชื่อเงินกู้ผ่านกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี 67 ราย วงเงินกว่า 111 ล้านบาท

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค.60 ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอีสาน ซึ่งกระทรวงได้มีแนวทางที่จะพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพ เพื่อรองรับการลงทุน โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีการพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และมุกดาหาร

          ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ไม่ใช่การเงิน เช่น มาตรการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต มาตรการเพิ่มศักยภาพด้านการเงินและการบัญชี มาตรการยกระดับมาตรฐานสินค้า มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด มาตรการยกระดับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

          ขณะที่ปัจจุบันได้จัดทำแผนพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับศึกษาพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีความหนาแน่น และพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 7 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, อุดรธานี, หนองคาย, อุบลราชธานี และนครพนม เพื่อกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่จัง หวัดมุกดาหาร และได้ร่วมหารือกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่ และได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่

          นายอุตตมกล่าวในโอ กาสเป็นประธานมอบนโยบายศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 6 พร้อมมอบสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่ จ.นครราชสีมา ว่าขณะนี้กระทรวงได้เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับรายงานจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า ล่าสุดมีเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 67 ราย ได้รับอนุมัติสินเชื่อรวม 111.10 ล้านบาท

          "การมอบสินเชื่อได้ผ่าน กองทุนเอสเอ็มอีวงเงิน 38,000 ล้านบาท และกองทุนอื่นที่เกี่ยว ข้อง ขณะที่ภาพรวมการขอสิน เชื่อของเอสเอ็มอีใน จ.นครราชสีมา ปัจจุบันมีจำนวน 400 ราย อนุมัติแล้ว 40 ล้านบาท พื้นที่ภาคอีสานขอสินเชื่อเข้ามาแล้ว 3,000-4,000 ล้านบาท มีการทยอยอนุมัติคำขอต่อเนื่องขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมตัว เลข" นายอุตตมกล่าว

          นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมบริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ป โฮล ดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของภาคอีสานที่มีการใช้หุ่นยนต์ในการผลิต และบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปแป้งมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โดยได้ชักชวนให้เข้าร่วมโครงการประชารัฐของรัฐบาล โดยกระทรวงฯ จะเป็นผู้สนับสนุนทั้งในรูปตัวเงิน ผ่านกองทุนและสินเชื่อ ตลอดจนองค์ความรู้.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ครม.สัญจรจัดหนัก ฟื้นเศรษฐกิจอีสาน   

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. โดยภารกิจหลักในวันที่ 21 ส.ค. เป็นประธานมอบเอกสารสิทธิเพื่อเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินให้กับสถาบันเกษตรกร 2 แห่ง และตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ 10 ราย โดยที่ดิน ดังกล่าวยึดจากนายทุนที่ครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 รวม 2,095 ไร่

          ทั้งนี้ สหกรณ์ที่ได้รับมอบเอกสารสิทธิครั้งนี้ คือสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) มีสมาชิก 85 ราย และสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินครบุรี (คทช.) มีสมาชิก 60 ราย ได้สิทธิทำกินคนละ 6 ไร่ เป็นที่อาศัย 1 ไร่

          นอกจากนี้ ได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน และ ผู้บริหารท้องถิ่น โดยได้หารือแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง" ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อม กทม. อีอีซี การยกระดับสินค้าโอท็อป สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงเศรษฐกิจตามแนวชายแดน และแนวระเบียงเศรษฐกิจ EWEC (ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร) เหนือ-ใต้ (ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย)

          อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.สัญจร วันที่ 22 ส.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.อนุมัติ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับแผนก่อสร้างทางยกระดับรถไฟทางคู่จุดตัดนครราชสีมา 2.โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในส่วนของสัญญาควบคุมงานและสัญญาการออกแบบ 3.เสนอ ครม.อนุมัติให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (พีพีพี) มอเตอร์เวย์ บางปะอินนครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี และ 4.โครงการฟื้นฟูถนนที่ได้รับผล กระทบจากอุทกภัย รวม 3,500 ล้านบาท

          อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธานแจกใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์

          ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพิ่มเติม 5 ราย ทำให้ตอนนี้มีพิโกไฟแนนซ์ใน จ.นครราชสีมา จำนวน 11 ราย จากยื่นทั้งหมด 30 ราย เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของ ภาครัฐให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีหนี้นอกระบบ 1.3 ล้านคน มูลหนี้ 7 หมื่นล้านบาท ส่วนนี้จะทำการแก้ปัญหาในเชิงรุก โดยให้เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่หาลูกหนี้เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เข้ามาในระบบ โดยทั้งสองธนาคารมีวงเงินให้กู้ฉุกเฉินรวม 1 หมื่นล้านบาท

          อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถาน ประกอบการและมอบสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐใน จ.นครราชสีมา โดยมีเอสเอ็มอียื่นขอ สินเชื่อตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 3,000-4,000 ล้านบาท โดยมอบสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ 62 ราย ประกอบด้วย สินเชื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอีจากอุทกภัยและภัยภิบัติ 10 ราย สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 12 ราย สินเชื่อเอสเอ็มอี ทรานส์ฟอร์เมชั่น โลน 12 ราย เงินทุนฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดย่อม 28 ราย วงเงินรวม 111 ล้านบาท ส่วนภาพรวมการขอสินเชื่อของเอสเอ็มอีใน จ.นครราชสีมา ปัจจุบันมีจำนวน 400 ราย อนุมัติแล้ว 40 ล้านบาท

          นอกจากนี้ ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคอีสานเพิ่มขึ้น พร้อมยกระดับนิคมฯ ให้รองรับเอสเอ็มอีมากขึ้น สร้างโรงงานต้นแบบโรงงานเอสเอ็มอีและมีห้องปฏิบัติการ โดยขณะนี้ กนอ.ได้ร่วมกับเอกชนในพื้นที่พัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่จำนวน 3 แห่ง จ.อุดรธานี มุกดาหาร และหนองคาย

          ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนท้ายของการประชุมว่า การรักษาความสงบสุขในสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาภาคอีสาน หากประชาชนภายในประเทศขัดแย้งกันเองก็จะทำให้ประเทศเกิดความเสียหายและไม่สามารถพัฒนาประเทศไปตามที่ต้องการได้ ดังนั้นทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกันในการหาแนวทางพัฒนาที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาประเทศได้ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

แจงสี่เบี้ย : เกษตรฯจับมือก.วิทย์ เดินหน้าบริหารจัดการเชิงรุก‘Agri-Map’

จากความสำคัญของภาคการเกษตรที่มีต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรรายย่อยมักต้องประสบกับปัญหารายได้ต่ำ อันเกิดจากความผันผวนทางการตลาด และการขาดการวางแผนจัดการผลิตที่ดี ขณะที่ภาครัฐก็ขาดข้อมูลภาคสนามที่ถูกต้องสมบูรณ์ ทำให้การวางแผนในระดับมหภาคไม่สอดคล้องความเป็นจริง จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด กระทรวงเกษตรฯโดย กรมพัฒนาที่ดิน จึงดำเนินการจัดทำระบบบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายใต้ชื่อโครงการ Agri-Map

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีโดยศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) หรือ เนคเทค มีเทคโนโลยีที่พร้อมจะไปสนับสนุนโครงการดังกล่าวอยู่แล้ว โดยมีการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการบูรณาการข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตรที่ชื่อว่า What2Grow ซึ่งเป็นระบบบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ ข้อมูลแผนที่ ข้อมูลการผลิต ผลผลิต สภาพพื้นดิน ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูก ข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์ด้านราคา แหล่งรับซื้อ และสร้างเครื่องมือสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่

โดยการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เกิดขึ้นเพื่อเดินหน้าโครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก Agri-Map ในระบบออนไลน์และโมบายเพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้ข้อมูลในการวางแผนและจัดทำนโยบายด้านการเกษตร ร่วมพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาและการใช้แผนที่การเกษตรเพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 สิงหาคม 2560

รายงานพิเศษ : พด.ร่วมโชว์นวัตกรรม-ความก้าวหน้า‘AGRI-MAP’ ในงาน‘เกษตรไทยก้าวหน้า ใต้ร่มพระบารมี’

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดงาน “เกษตรไทยก้าวหน้า ใต้ร่มพระบารมี” ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการทรงงานด้านเกษตร และเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมจัดนิทรรศการและให้บริการภายใต้ภารกิจของกรม ภายในงานครั้งนี้ ได้แก่ การนำเสนอผลงานนวัตกรรม โดยจัดแสดงนิทรรศการแผนที่การเกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) การใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ พด. ในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และนำเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จมานำเสนอ ตลอดจนให้บริการทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน ด้วยชุดวิเคราะห์ดินอย่างง่าย (LDD Test Kit) ซึ่งเป็นชุดวิเคราะห์ดินเคลื่อนที่ การให้คำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สารเร่ง พด. พร้อมทั้งแจกจ่ายผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สารเร่ง พด. ต่างๆ และน้ำหมักชีวภาพพร้อมใช้

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนิทรรศการแผนที่ Agri-Map ที่จัดแสดงภายในงาน ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็น Agri-Map Online และพัฒนาเข้าสู่ระบบ On Mobile ก็คือสามารถใช้ได้ในโทรศัพท์มือถือ หรือ Smart Phone ที่เราใช้กัน โดยสามารถใช้ดูข้อมูล Agri-Mapได้แล้ว รวมถึงนิทรรศการ การใช้บริการ การให้ความรู้เรื่องการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีความสมบูรณ์ เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชในแต่ละพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิต สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่เกษตรกร ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคต โดยการดำเนินงานของกรมพัฒนาที่ดินหลังจากนี้ จะมีการส่งเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดิน รวมถึงหมอดินอาสาในพื้นที่ ลงพื้นที่เพื่อแนะนำให้ความรู้เกษตรกร ในเรื่องของการใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ พด.ผลิตปุ๋ยหมัก นำหมักชีวภาพ การผลิตสารขับไล่แมลงศัตรูพืช และแนะนำวิธีการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินด้วยการปลูกพืชปุ๋ยสดชนิดต่างๆ การให้คำแนะนำในเรื่องของชนิดดินในพื้นที่และวิธีการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก อีกทั้งยังจัดให้มีบริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เพิ่มความสะดวกให้แก่เกษตรกรที่ต้องการความรู้และคำแนะนำอีกด้วยงาน “เกษตรไทยก้าวหน้า ใต้ร่มพระบารมี” ถือได้ว่าเป็นมหกรรมการเกษตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ที่จัดแสดง

 ผลงานเด่น นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การให้บริการวิชาการด้านการเกษตร ตลอดจนการนำผลสำเร็จทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล ผ่านการดำเนินกิจกรรมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) วิสาหกิจชุมชน ตลาดเกษตรกร Smart Farmer และ Young Smart Farmer ภายใต้การพัฒนาการเกษตร โดยผู้เข้าร่วมชมงานจะเรียนรู้นวัตกรรมสมัยใหม่รู้จักวิธีคิด รู้จัดวิชาการ รู้จักการบริหารจัดการด้านตลาด เพื่อนำไปปรับใช้ได้ในอนาคต และเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่สนใจเกี่ยวกับการนำนวัตกรรมจุลินทรีย์ พด.ไปใช้ การวิเคราะห์ดิน วิธีการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างถูกวิธี สามารถสอบถามเพิ่มได้ที่หมอดินอาสา เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่ของท่าน หรือสายด่วน กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 1760

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 22 สิงหาคม 2560

เร่งทำฝนหลวง เติมน้ำในอ่าง ภาคตะวันออก

นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝนหลวงฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่เป้าหมายหลักๆ ในการทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในระบบชลประทาน จะเน้นพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำพลวง จ.จันทบุรี และอ่างเก็บน้ำพระปรง จ.สระแก้ว สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของน้ำสำหรับทำการเกษตร ยกเว้น อ.โคกสูง อ.ตาพระยา ของ จ.สระแก้ว ที่ส่วนใหญ เป็นนาข้าว และมีการร้องขอให้ทำฝนช่วยเหลือ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายในการทำฝน ณ ตอนนี้ จะเน้นเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำคลองสียัดที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 44% ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้อีกมากโดยการบินปฏิบัติการฝนหลวงของภาคตะวันออกนั้น สภาพอากาศในช่วงนี้สามารถบินได้เกือบทุกวัน เนื่องจากมีฝนตกเป็นที่น่าพอใจ และครอบคลุมพื้นที่การเกษตรบริเวณใกล้เคียง ทำให้อ่างเก็บน้ำลดการระบายน้ำหรือหยุดการระบายน้ำเพื่อการเกษตรลงไปได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ได้ปฏิบัติการฝนหลวงฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงปัจจุบัน โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ สมดังที่ข้าราชการฝนหลวงยึดเป็นแนวทางมาโดยตลอด สามารถต่อสู้ปัญหาภัยแล้งและเติมน้ำในระบบชลประทานเป็นอย่างดี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 สิงหาคม 2560

ชงแผนพัฒนาอีสานเข้าครม.วันนี้(22ส.ค.)

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจร ที่จ.นครราชสีมาจะเริ่มขึ้นในวันนี้ (22 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกันผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่น วานนี้ (21 ส.ค.) เพื่อให้นำเสนอปัญหา และข้อเสนอในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่การพิจารณาของครม.สัญจร 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบข้อเสนอของจังหวัด และภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานหลายโครงการ ทั้งการบริหารจัดแหล่งน้ำครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ ทั้งแม่น้ำโขง ชี มูล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ไปสรุปข้อเสนอต่างๆมาให้ชัดเจนจากนั้นจะเสนอเป็นแผนพัฒนาภาคอีสานในภาพรวมให้ที่ประชุม ครม.สัญจรวันที่22ส.ค.เห็นชอบต่อไป

 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่ใน จ.นครราชสีมา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับกรณีโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางจิระ-ขอนแก่น ที่ตามรูปแบบเดิมระหว่างสถานีนครราชสีมา-สีคิ้ว จะต้องวิ่งผ่านตัวเมืองนครราชสีมามีการก่อสร้างกำแพงกั้นตลอดแนวโดยไม่มีจุดตัดทำให้แยกตัวเมืองออกเป็น2 ส่วน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สร้างเป็นทางยกระดับในส่วนที่ผ่านเมืองระยะทาง 4 กิโลเมตร จากทั้งหมดที่ต้องผ่านเมือง12 กิโลเมตร โดยยกระดับตั้งแต่ทางเลี่ยงเมืองลงไปที่สถานีจิระ โดยจุดที่เป็นจุดตัดกับถนนตรงทางลงจากยกระดับจะทำเป็นอุโมงค์ลอดใต้ถนนลงไป ซึ่งการปรับแบบใหม่นี้จะทำให้ต้องมีการทุบสะพาน 1 แห่ง จุดหน้าโรงแรมสีมาธานี ซึ่งข้อสรุปถือนี้ถือว่าทั้งเอกชน จังหวัดและภาคประชาชนพอใจ

“ต้องปรับแบบและเปิดประกวดราคาใหม่ซึ่งจะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้น 2,200-2,600 ล้าน ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่22ส.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการล่าช้าออกไปประมาณ 12 เดือน แต่ก็จะพยายามเร่งรัดให้เกิดความล่าช้าน้อยกว่านั้น” นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องให้ที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในวันนี้ (22ส.ค.) เห็นชอบ 4 เรื่อง 1.เรื่องการปรับแผนก่อสร้างยกระดับเส้นทางรถไฟทางคู่จุดผ่านตัวเมืองนครราชสีมารวม 4 ก.ม. 2.โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วสูง กทม.หนองคายระยะที่ 1 ช่วง กทม.- นครราชสีมา ในส่วนของสัญญาควบคุมงาน และสัญญาการออกแบบ ที่เมื่อผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้วจะเป็นเอกสารที่นายกรัฐมนตรีนำไปลงนามกับทางการจีนในการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจบริคส์(BRICS)ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย. นี้

3.เสนอให้ครม.อนุมัติเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน(พีพีพี) ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมาและสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในส่วนของการบริหารแนวเส้นทางและบำรุงรักษา (O&M)และ 4.การเสนอแนวทางการฟื้นฟูถนนและโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืองบประมาณรวม3,500ล้านบาท โดยจะของบกลางปี2560จำนวน2,100ล้านบาท และขอเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณของกระทรวงคมนาคมจากส่วนอื่นมาใช้เพื่อการฟื้นฟูอีก1,400ล้านบาท 

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) ได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้เร่งหาทางทำแผนบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานโดยด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอีสาน เน้นการทำเกษตรเป็นหลัก จึงอยากให้มาช่วยเหลือเรื่องนี้เป็นลำดับแรกโดยทางกลุ่มฯ ได้ขอให้พิจารณาแผนการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักมาลงที่เขื่อนลำตะคอง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ทำการเพาะปลูก โดยนายกรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแผนงานว่าจะดำเนินการได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้รัฐบาล มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งการบริหารจัดการการค้าชายแดนอย่างเป็นระบบ เพราะปัจจุบันการค้าชายแดนในภาคอีสานผ่านด่านชายแดนต่างๆ มีความคึกคัก และมีมูลค่าการค้าในพื้นที่จำนวนมาก จึงต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมขั้นตอนการอำนวยความสะดวก รวมไปถึงการพิจารณาเปิดจุดผ่านแดนบริเวณอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเชื่อมโยงการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 22 สิงหาคม 2560

"พลังงาน"ชงครม.เคาะซื้อไฟฟ้า“สตึงมนัม”กัมพูชา

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้(22 ส.ค.) กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จะนำเสนอข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ในประเทศกัมพูชา ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและพิจารณารายละเอียดโครงการ

นายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ในประเทศกัมพูชา เป็นเพียงโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 24 เมกะวัตต์ ซึ่งนอกจากจะได้ไฟฟ้าแล้ว ยังได้น้ำจากเขื่อน 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มาสนับสนุนความต้องการใช้น้ำจืดในภาคตะวันออก ซึ่งไทยกำลังพัฒนาเป็นพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เพื่อรองรับการลงทุนตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่จะทำให้เกิดความใช้น้ำในพื้นที่เติบโตขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กพช.เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2560 ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม เบื้องต้นกระทรวงพลังงานได้เลือกรูปแบบดำเนินโครงการโดยตั้งโรงไฟฟ้าฝั่งกัมพูชาขนาด 24 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้ 105.6 ล้านหน่วยต่อปี ราคาค่าไฟฟ้า 10.75 บาทต่อหน่วย มูลค่าไฟฟ้า 2.60 บาทต่อหน่วย และมูลค่าน้ำ 2.87 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งโครงการนี้ทางกัมพูชาจะไม่คิดค่าน้ำ รวมทั้งมอบหมายให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สามารถร่วมพัฒนาโครงการจากบริษัท Steung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH)

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า คณะกรรมการบูรณาการนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งที่ตนเป็นประธาน อยู่ระหว่างพิจารณาปรับแนวทางและเป้าหมายการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาคขนส่งใหม่ ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงครั้งที่ 1 หลังพบว่าแผนเดิมยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายและยังไม่ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยขณะนี้ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ เพื่อรวมรวมข้อมูลและกำหนดแผนงาน คาดว่าจะใช้เวลา 45-60 วัน หรือเสร็จสิ้นในเดือน ก.ย. นี้ และเห็นมาตรการที่ชัดเจน เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มเป้าหมายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) เพิ่มขึ้น จากแผนเดิมที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ว่าจะมีรถ EV จำนวน 1.2 ล้านคันในปี 2579

สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมพลังงานทดแทนภาคขนส่ง กระทรวงพลังงาน กำหนดให้ลดใช้พลังงานลง 1,300 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ(KTOE)ต่อปี ตลอด 5 ปีแรก (ปี2558-2562) หรือประหยัดพลังงานเป็นมูลค่า 28,700 ล้านบาทต่อปี และกำหนดลดใช้พลังงานภาคขนส่งระยะ 20 ปี หรือในปี 2579 ลดลง 6,400 kTOE ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 141,000 ล้านบาทต่อปี

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 22 สิงหาคม 2560

“สมคิด” ดีใจจีดีพีไตรมาส 2 โต 3.7% ขุนคลังชี้เศรษฐกิจไทยโต 5% ในอีก 2 ปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพีที่สภาพัฒน์แถลงว่าไตรมาส 2/2560 ขยายตัว 3.7% เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวเร็วและรักษาโมเมนตัมได้ดี เอื้อต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป ซึ่งตัวเลขที่สนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือการลงทุนภาคเอกชนการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร แต่ในส่วนที่ชะลอลงคือการลงทุนภาครัฐ ดังนั้นระยะที่เหลือของปีนี้ภาครัฐจะต้องปั๊มการลงทุนให้เพิ่มขึ้น และรอฟังตัวเลขการส่งออกที่จะออกมาเร็วๆ นี้ หากทั้งสองตัวนี้ดีต่อเนื่องก็จะทำให้เศรษฐกิจดีต่อเนื่องไปได้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปีนี้ที่ขยายตัวได้มาก เป็นผลจากที่รัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทำให้ไทยมีพื้นฐานที่ความเข้มแข็ง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 โตได้ 3.7% แต่ยังต่ำกว่ารัฐบาลคาดหวังไว้ที่ให้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพอย่างน้อย 4% ซึ่งขณะนี้ใกล้ความเป็นจริง เพราะตอนนี้เศรษฐกิจยังโตเพิ่มขึ้นได้อีก

นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี ) มีนักลงทุนมาขอลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน (บีโอไอ) จำนวนมาก ซึ่งจะมีส่วนสำคัญให้จีดีพีไทยโตได้ถึง 5% คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี ในการลงทุนของอีอีซีจะเดินหน้าได้เต็มที่ เพราะว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้มีการตั้งสำนักงานอีอีซี ทำให้การขับเคลื่อนลงทุนเอกชนเป็นด้วยความรวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมาได้หารือกับนักลงทุนต่างชาติสนับสนุนโครงการอีอีซีอย่างมาก

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้มาก เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลดีในภาพรวมให้กับประเทศ ทำให้เอกชนเริ่มลงทุนมากขึ้น และจะมีผลตามมาทำให้กระจายรายได้ไปสู่ผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น เหมือนในอดีตที่เศรษฐกิจประเทศไทยเคยโตกว่า 10% ช่วยให้คนจนลดลงไปจำนวนมาก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยหยุดขยายตัวทำให้คนจนกลับมาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวครั้งนี้ ยังไม่ส่งผลต่อผู้มีรายได้น้อยอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม เช่น แจกสวัสดิการภาครัฐ มีทั้งค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ยังมีช่วยเหลือระยะที่สอง คือการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือผู้มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี โดยรัฐบาลจะเติมเงินให้คนกลุ่มนี้ ตอนนี้อยู่ระหว่าพิจารณารายละเอียด เกี่ยวกับตัวชี้วัด เรื่องความยากจนให้ชัดเจน เบื้องต้นให้ทำบัญชีครัวเรือน โดยแบงก์รัฐได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะทำให้แก้ปัญหาความยากจนดีขึ้นมาก

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 21 สิงหาคม 2560

ค่าบาท 'ทรงตัว' ตลาดจับตาจีดีพีไตรมาส2

บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัว "33.22 บาทต่อดอลลาร์" ยังแกว่งตัวแคบจับตาจีดีพีไตรมาส2ของไทย กรุงไทยคาดโต3.4%แรงหนุนท่องเที่ยวและลงทุนภาครัฐ

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ33.22บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อน

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดเงินยังคงตัวแคบ หุ้นสหรัฐปรับตัวลงเล็กน้อยขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปียังอยู่ในระดับต่ำเพียง 2.20% เนื่องจากการเมืองสหรัฐที่เกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีกครั้งหลังจากที่คณะทำงานของโดนัลด์ทรัมป์เริ่มหายไปเรื่อย ๆ ราคาทองปรับตัวขึ้นแต่ระดับ 1,285 เหรียญ/ออนซ์อีกครั้ง

ขณะที่ในสัปดาห์นี้นักลงทุนจับตาที่ตัวเลข GDP ไตรมาสที่สองของไทยที่จะมีการรายงานในวันนี้ ขณะที่วันศุกร์ตลาดจะจับตาไปที่การสัมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole มลรัฐไวโอมิง

ในส่วนของ GDP ไทย มองว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องที่ระดับ 3.4% ในไตรมาส 2 จากแรงส่งหลักของการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การส่งออกที่กลับมาเติบโตกีอาจเป็นตัวหนุนให้ GDP ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาดได้ในไตรมาสนี้ โดยรวมน่าจะสร้างมุมมองในเชิงบวกเพิ่มขึ้นให้กับค่าเงินบาทมากขึ้น

ขณะที่การเปิดสัมนาประจำปีของเฟดในช่วงสุดสัปดาห์ เชื่อว่าตลาดจพจับตาไปที่ทาทีของธนาคารกลางสหรัฐและยุโรป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะ “ไม่มี” การส่งสัญญาณการลดปริมาณ QE ในรอบนี้จาก ECB หลังค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับเฟดที่จะความเป็นไปได้สูงที่จะส่งสัญญาณ “คงดอกเบี้ย” ต่อไปก่อน โดยจะใช้นโยบายการลดขนาดงบดุลเป็นตัวช่วยในการดำเนินนโยบายการเงินแทน ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์และยูโรยังอ่อนค่าลงได้

แนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ยังคงจะแกว่งตัวแข็งค่าต่อ โดยการฟื้นตัวของส่งออก ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้น เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ความต้องการเงินบาทยังอยู่ในระดับสูงกรอบเงินดอลลาร์รายวัน 33.17 - 33.27 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินดอลลาร์รายสัปดาห์ 33.00 - 33.50 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 สิงหาคม 2560

เกษตรกรตอบรับเปลี่ยนการผลิต เพิ่มความมั่นคงอาชีพ-ใช้ดินยั่งยืน

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า โครงการ Zoning by Agri-Map มีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ปลูกพืชในเขตไม่เหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อความเสียหาย ใช้ทุนการจัดการสูง ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีความสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน เพื่อนำไปสู่การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน จากการใช้ที่ดินตามสมรรถนะของดิน และศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลปี 2558 ประเทศไทยปลูกพืชในพื้นที่ไม่เหมาะสม 14.5 ล้านไร่ พบว่า เกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมมากถึง 8.5 ล้านไร่ รองลงมาเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา 3.8 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.5 ล้านไร่ ก่อให้เกิดความเสี่ยงความเสียหายของผลผลิต ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรดิน น้ำ พืช ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกที่ดำเนินการผ่าน ศพก. ปรากฏว่า มีพื้นที่ปรับเปลี่ยน 32,618 ไร่ เกษตรกร 10,502 รายต่อมาในปี 2560 มีพื้นที่การปรับเปลี่ยน 157,474 ไร่ ร้อยละ 56 ปรับเปลี่ยนเป็นอ้อยโรงงาน โดยเกษตรกรเริ่มเกิดการรับรู้มีความเข้าใจและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมากขึ้น ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนจากพืชเดิมเป็นการผลิตใหม่ที่เหมาะสมดังกล่าวได้แก่ 1.การผลิตเดิมให้ผลตอบแทนต่ำมีความเสี่ยงสูง ขาดความพร้อมด้านอื่นๆ เช่นเทคโนโลยี นวัตกรรม 2.เกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยนเป็นทางเลือกอื่นที่ดีกว่า 3.มีการตลาด แหล่งรับซื้อ ผลตอบแทนสูงกว่าเดิม 4.ข้อมูลพื้นที่ ชนิดพืช การจัดการที่ดี 5.สร้างองคความรู้ ให้ความรู้ทางวิชาการ สร้างความมั่นใจ โดยกลไกของ ศพก. 6.ภาครัฐ/ประชารัฐ สร้างแรงจูงใจ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรตัดสินใจ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 สิงหาคม 2560

หนองแวงโมเดล โมเดลชีวิตเกษตรกร

หนองแวง โมเดล เป็นแม่แบบผสมผสานการพัฒนาชีวิตเกษตรกร ตั้งแต่แหล่งน้ำ ระบบสูบน้ำ ระบบแพร่กระจายน้ำ เกษตรทฤษฎีใหม่ และการต่อยอดขึ้นไป

                หนองแวง โมเดล มาจากฝายหนองแวง ต.บ้านหนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เป็นฝายประชารัฐที่ก่อสร้างด้วยการผนึกกำลังร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ เกษตรกร อบต.หนองแวง  บริษัทห้างร้านเอกชน และกรมชลประทาน

                ต้นกำเนิดมาจากความเดือดร้อนของเกษตรกรบ้านหนองแวงที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนักในปี 2558 เป็นทั้งปีแห้งแล้งและไม่มีฝายกักน้ำได้แม้แต่น้อย จนต้องร้องขอให้โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ช่วยเหลือ

                จะไปลงทุนสร้างฝายให้ก็ไม่มีงบประมาณในมือ ถ้าเป็นฝายหลักของชลประทานต้องมีงบไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท อย่างนั้นใช้วิธีประชารัฐร่วมแรงร่วมใจกันดีกว่า

                เกษตรกรลงแรงก่อสร้าง ห่อข้าวมากินที่ฝายเลย อบต.เจียดงบมากว่า 5 แสนบาท โครงการก่อสร้างออกแบบฝายให้ โดยมีทีมจิตอาสาบรรเทาภัยแล้งร่วมด้วย และห้างร้านเอกชนช่วยต่อยอดด้วยบริจาคเงินซื้อแผงโซลาร์เซลล์ เครื่องสูบน้ำ ถังเก็บน้ำและระบบน้ำหยด

                เป็นประชารัฐตามนโยบายรัฐบาลและลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2558

                ฝายหนองแวงประชารัฐใช้เทคนิคก่อสร้าง ซอยล์ ซิเมนต์ (Soil Cement) คือดินผสมผงปูน ดินก็ใช้ดินตรงนั้น ปูนผงก็ใช้ปูนปอร์ตแลนด์ ขนาดความกว้างเท่าลำน้ำชี 20 เมตร สันฝายกว้าง 1 เมตร ระดับความสูง 2.50 เมตร เจาะหูฝาย 2 ข้างเพื่อความแข็งแรง พื้นไม่ต้องขุดร่องแกนเพราะพื้นเป็นพลาญหินอยู่แล้ว เจาะตั้งเสาใส่ซอยซีเมนต์

                3 ปีจนถึงวันนี้ยังปักหลักสู้กระแสน้ำชีที่ไหลเชี่ยวได้สบายๆ เหนือฝายมีสถานีสูบ 3 ตัว สูบน้ำวันละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร/ตัว ทั้งปีสูบน้ำใช้ประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำท่า 700 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 1% ของน้ำท่า

                เพื่อให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ทีมงานจิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการชลประทานเกษียณ 2 คน นักประดิษฐ์ นักส่งเสริมการเกษตร รวมทั้ง นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6  ซึ่งรับผิดชอบโครงการชลประทานขนาดเล็ก 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด  มหาสารคาม และ ชัยภูมิ คิดอ่านใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ผ่านศูนย์เรียนรู้เกษตรหนองแวง ซึ่งเป็นที่ดินของ นายอารี ศรีนวลจันทร์ ซึ่งปกติทำนาและไร่อ้อยเท่านั้น

                แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นการผสานความคิดประยุกต์เข้าไปด้วย

                ความมั่นคงของน้ำ แม้จะได้น้ำจากฝายหนองแวงประชารัฐ ยังไม่พอ ยังมีสระเก็บน้ำในไร่ตัวเอง มีบ่อบาดาล สำรองอีกชั้นหนึ่ง

                ระบบสูบน้ำทำไงให้ประหยัด ใช้สูบน้ำด้วยระบบโซลาร์เซลล์ หรือพลังงานแสงแดด อุปกรณ์ที่หาซื้อในตลาดราคาถูกประกอบได้เอง และเครื่องสูบน้ำที่เรียกปั๊มชักที่มีอยู่แล้ว ผสมผสานกับระบบเจ็ทที่จะสูบน้ำได้ลึกได้สูงกว่า 30 เมตร และราคาประหยัดอีก โดยสูบน้ำขึ้นไปไว้ในถังความจุ 2,000 ลิตร จำนวน 2 ถังเพื่อส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง

                ราคาอุปกรณ์สูบน้ำเหล่านี้ ถ้าซื้อสำเร็จรูปแบบอีเลกทรอนิกส์ ต้องใช้เงินนับแสนบาท แต่งานนี้ลงทุน 3 หมื่นบาท แถมเสียก็ซ่อมได้เอง ซื้ออุปกรณ์ในท้องตลาดทำเอง ไม่ต้องซื้อยกชุดเหมือนของแพงๆ

                มีระบบสูบน้ำแล้วยังไม่พอ ยังคิดถึงการใช้น้ำที่มีจำกัดให้ประหยัดสูงสุดด้วย นั่นคือระบบชลประทานน้ำหยดผ่านท่อขนาดเล็ก เจาะรูติดตั้งอุปกรณ์จิ๋วให้น้ำหยดตามต้นพืช ไม่เหวี่ยงแหสิ้นเปลือง  น้ำเท่ากันแต่ได้พื้นที่มากกว่า

                พืชที่ปลูกนอกจากมีความหลากหลายของพืชกิน พืชขาย ยังปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งใช้ทั้งกินได้อย่างไม้ผล มีบ่อปลา มีคอกเลี้ยงสัตว์ ครบสูตร ทีมงานยังคิดใช้น้ำให้เกิดประโยชน์กว่านั้นด้วยการเพิ่มชื่อพืชใหม่ๆ ที่ราคาดี เช่น มันญี่ปุ่น องุ่นดำ องุ่นเขียว แต่จำกัดพื้นที่ปลูก หากมีปัญหาความเสียหายจำกัดวง

                พื้นที่สวนหลายไร่ของ นายอารี ศรีนวลจันทร์ เกษตรกรคนขยัน เจียดมา 15 ไร่เป็นศูนย์เรียนรู้ ชั่วแวบเดียวกลายเป็นสวนสารพัดอย่าง  ใช้และขายได้ทุกอย่าง รายได้เข้ามือทุกวัน 500-1,000 บาท เป็นศูนย์สำหรับเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ และโซลาร์เซลล์ ยังช่วยให้มีแสงสว่าง และเครื่องอำนวยความสะดวก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

                จากหนองแวง โมเดล โครงการก่อสร้างฯ และทีมอาสาบรรเทาภัยแล้งนำไปขยายผลเองที่โครงการชลประทานบ้านเสาเล้า ต.กุดเพียขอม อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ฝายชลประทานสร้างเสร็จแล้ว ก็นำน้ำมาใช้ด้วยหลักคิดเดียวกัน แม้วันนี้ยังเริ่มต้น แต่เกษตรกรแปลงตัวอย่างเริ่มตระหนักแล้วว่า พวกเขาเห็นอนาคตจากการมีน้ำทำกินด้วยระบบประหยัดทุกอย่าง

                นายวิระ มีนา  ด้านหนึ่งมีอาชีพครู อีกด้านเป็นเกษตรกร เล่าว่า พื้นที่บริเวณนี้ปกติแห้งแล้ง พอมีฝายชลประทานก็ชุ่มชื่น พื้นที่ตัวเองแม้อยู่ท้ายฝายอาศัยสูบน้ำในฤดูฝนใส่นาได้ เพราะไม่มีสระเก็บน้ำ เนื่องจากพื้นที่เล็กเพียง 4 ไร่ แต่ขุดบ่อบาดาลพร้อมระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายมาก

                “เดิมทำนาปีช่วงฤดูฝน พอฤดูแล้งปล่อยทิ้งว่างไม่ได้ทำอะไร เพราะไม่มีน้ำ ตอนนี้ทำได้ตลอดทั้งปีแล้ว ผมจะปลูกพืชตามเกษตรทฤษฎีใหม่ กะว่าจะให้เด็กนักเรียนมาดูงาน และที่ตรงนี้เป็นขนำ ต่อไปจะสร้างบ้านเล็กๆ และ วางแผนใช้เป็นที่พักหลังเกษียณ เพราะถึงระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แต่เรามีไฟฟ้าใช้จากระบบโซลาร์ เซลล์”

                นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง เป็นทั้งนักก่อสร้าง และนักคิดในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวว่า ปกติเกษตรกรทำงานปีละ 4-6 เดือนเท่านั้น จากนั้นอพยพไปขายแรงงานในเมือง เพราะไม่มีน้ำทำกิน พอมีฝายประชารัฐ ฝายชลประทานขึ้นมา บวกกับหลักคิดใช้น้ำประหยัด ประสิทธิภาพสูงสุด ก็สามารถทำเกษตรได้ทั้ง 12 เดือน

                เกษตรกรทำงานได้ 12 เดือนใน 1 ปี เท่ากับสร้างรายได้ตัวเอง สร้างครอบครัวที่อบอุ่น  ชุมชนที่เข้มแข็งตามมา

                “เกษตรกรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ มีครอบครัวอบอุ่น ไม่ต้องจากลูกจากเมียไปไหนอีกแล้ว”

                ข้อดีจากฝายประชารัฐ นอกเหนือจากกักน้ำไว้ในลำน้ำแล้ว ยังเพิ่มระดับน้ำใต้ดินอีกด้วย และถ้าใช้ก่อสร้างฝายระบบนี้ไปตามลำน้ำเป็นระยะๆ ก็เท่ากับเพิ่มน้ำให้พื้นที่ โดยต้นทุนที่ต่ำ แต่ประโยชน์สูงค่า

                นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวว่า  ผลงานของโครงการก่อสร้างและทีมอาสาบรรเทาภัยแล้งไปไกลกว่าการสร้างฝายประชารัฐอย่างเดียว หากแต่ยังไปถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการใช้น้ำ เช่น การใช้ระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ การใช้ระบบน้ำหยด การใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ และการต่อยอดปลูกพืชที่มีอนาคต

                “ผลงานของที่นี่ส่งผลกระเทือนไปยัง อบต.อื่นๆ โดยมีการสร้างฝายแบบนี้ 47 แห่ง ซึ่งยังไม่สุดทาง เพราะยังไปถึงระบบสูบน้ำ การสร้างแหล่งน้ำสำรอง การใช้เกษตรทฤษฎีใหม่จนถึงการใช้ระบบน้ำหยดที่คุ้มค่าต่อการใช้น้ำแต่ละหยด”

                ทั้งหมดนี้ เป็นคำตอบว่า น้ำคือชีวิตที่เป็นรูปธรรม อันหมายถึงชีวิตที่มีคุณภาพจากการใช้น้ำอย่างถูกต้องด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 สิงหาคม 2560

กรมชลฯชงแผนจัดการน้ำอีสานทั้งระบบ 6.8 พันล้าน

กรมชลฯเสนอครม.สัญจรอนุมัติแผนจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งระบบ 6.8 พันล้านบาท

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการเกิดเหตุการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องปี 58-59 และอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ในปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สั่งการให้ร่วมบูรณาการหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน และได้มอบหมายให้มีการปรับและทบทวนแผนงานตามยุทธศาสตร์น้ำของประเทศให้สอดรับกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พร้อมเร่งรัดดำเนินการได้ทันทีในโครงการที่มีพร้อมให้พิจารณาบรรจุไว้ในแผนงบประมาณปี 2561 และปี 2562

ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 21-22 ส.ค.จะเสนอให้มีการปรับแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำมูลและน้ำชีล้นตลิ่งทั้งระบบ วงเงินงบประมาณ 2561 จำนวน 6.8 พันล้านบาท อาทิ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.) เช่น ปตร.น้ำพุง-น้ำก่ำควบคู่กับทางผันน้ำร่องข้างเผือก ปตร.ศรีสองรัก ปตร.ห้วยหลวง ขุดลอกหนองบึงและทางน้ำธรรมชาติ เช่น หนองหารและน้ำก่ำ วางแผนพัฒนาหนองหารจังหวัดสกลนคร และปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิมให้มีประสิทธิภาพเก็บกักน้ำและมีความมั่นคงมากขึ้น พร้อมศึกษาความเหมาะสมโครงการบรรเทาอุทกภัยอุบลราชธานี ศึกษาโครงการผันน้ำป่าสัก-ลำตะคอง ศึกษาฟื้นฟูแหล่งน้ำ และการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่และเพื่อสร้างความมั่นคงน้ำในระยะยาวพิจารณาวางโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล

เนื่องจากในฤดูฝนมักประสบปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่ริมขอบแม่น้ำโขง และสองฝั่งลำน้ำชี-มูลอย่างเช่นที่เกิดในหลายพื้นที่ในขณะนี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ ได้พัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายรัฐบาล ผลงานตั้งแต่ปี 2557-2560 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1,276 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 487 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ได้พื้นที่ชลประทาน 782,973 ไร่ ประมาณ 50% ของทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นการเพิ่มความจุแหล่งเก็บน้ำเดิมและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ท้องถิ่นต้องการและใช้เวลาสำรวจออกแบบไม่นานนัก เช่น แก้มลิง ฝาย และประตูระบายน้ำเพื่อนำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และระบบชลประทาน ที่ทำได้โดยไม่กระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากแผนงานเดิมและกระจายทั่วไปทั้งภาคอีสาน

โดยปัญหาน้ำในจังหวัดนครราชสีมานั้นมีทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม กรมชลประทานได้จัดทำแผนงานเพื่อเสนอรัฐบาลผ่าน กนช. พิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ในวันที่ 22 สิงหาคม นี้ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งโครงการจะแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำมีหลายรูปแบบ อาทิ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ แก้มลิง และพิจารณาสร้างทางระบายน้ำเพิ่มเติมช่วงลำเชียงไกรตอนล่างและลำสะแทด

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 20 สิงหาคม 2560

เปิดเกณฑ์ขอตั้งเขตส่งเสริมฯอีอีซี ชง‘ประยุทธ์’เร่งประกาศใช้-นิคมอุตฯจ่อคิวยื่นขอเพียบ

เปิดหลักเกณฑ์ขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในอีอีซีรับ10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นิคมฯจ่อขอเพียบเงื่อนไขต้องมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน พร้อมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ“ประยุทธ์”ประกาศใช้ในเร็วๆนี้

 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อให้เอกชนที่มีความสนใจยื่นเรื่องขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯใน10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่างๆ

 แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในเร็วๆ คณะกรรมการบริหารฯ จะนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงนามประกาศใช้ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายรายแสดงความสนใจที่จะขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องเร่งออกหลักเกณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติ

 สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมนั้น จะต้องเป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการจัดสรรที่ดิน เพื่อขายหรือเช่าตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 โดยเงื่อนไขการจัดตั้งเขตส่งเสริม ผู้ประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติ เป็นนิติบุคคลไทย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง หรือหลักฐานแสดงการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง หรือหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เป็นเขตส่งเสริม

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้เสนอโครงการจัดตั้งเขตส่งเสริมจะต้องแสดงแผนที่กำหนดแนวบริเวณให้ชัดเจน รวมทั้ง จะต้องยื่นผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการและความสอดคล้องกับแผนภาพรวมของอีอีซี รวมทั้งผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการกำหนดเขตส่งเสริม ทั้งในภาพรวมของประเทศและในเขตพื้นที่อีอีซี และเสนอรายงานผลกระทบและมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนหรือชุมชนที่อาจได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อน อีกทั้งผลการศึกษาจากการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำแผนการลงทุน แผนการเงิน แหล่งเงินทุน และการวิเคราะห์ผลตอบแทนโครงการ เป็นต้น

 โดยที่ผ่านมาทางคณะกรรมการนโยบายฯ ได้พิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค ในบริเวณนิคมฯมาบตาพุดของกนอ.ไปแล้วเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ และการแพทย์ครบวงจรขณะที่มีนิคมที่แสดงความสนใจเช่น นิคมฯเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด4รองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยานยนต์แห่งอนาคตการบินและชิ้นส่วนอากาศยานนิคมฯอมตะมีความพร้อมเป็นเมืองอัจฉริยะด้านการศึกษาและพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีและนิคมฯปิ่นทอง 5รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

 ส่วนพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีนั้น ขณะมีพื้นที่ในนิคมต่างๆ ประมาณ 1.69 หมื่นไร่ รองรับการขยายตัวของอีอีซีได้ถึงปี 2561และยังมีผู้ประกอบการพัฒนานิคมอีกประมาณ 10-12 ราย ขอตั้งนิคมใหม่ โดยแต่ละรายจะมีที่ดินประมาณ 1.5-2 พันไร่ รวมแล้วกว่า 2 หมื่นไร่ซึ่งเพียงพอในการรองรับอีอีซีในระยะยาว

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 19 สิงหาคม 2560

ปรับสารดูดความชื้นทำ‘ฝนหลวง’ l เกษตรฯเสริมประสิทธิภาพปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนลำตะคอง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง แต่ยังคงมีพื้นที่การเกษตรในบางที่ ได้แก่ อ.สูงเนิน สีคิ้ว และปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ขอรับบริการฝนหลวงให้กับพื้นที่การเกษตรที่ปลูกข้าวและข้าวโพด ซึ่งอยู่ในระยะกำลังเจริญเติบโต และเขื่อนลำตะคองที่ยังมีปริมาณน้ำน้อย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี ประสานการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำ โดยใช้พลุสารดูดความชื้น (Hygroscopic flare) เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มขนาดของเมฆให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น ทำให้ฝนตกลงในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

โดยคุณสมบัติพลุสารดูดความชื้น จะมีอนุภาคเล็กมากกว่าสารฝนหลวงที่ทำให้การคละขนาดอนุภาคมากขึ้น เป็นการเพิ่มปริมาณเม็ดน้ำในเมฆ ซึ่งนำมาเสริมในขั้นตอนของการเลี้ยงให้อ้วน และจากการปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 หน่วยปฏิบัติการ ได้ปฏิบัติภารกิจร่วมกัน โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ปฏิบัติการในขั้นตอนก่อกวนโดยใช้เครื่องบินชนิด BT67 จำนวน 1 ลำ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี ปฏิบัติการในขั้นตอนเลี้ยงให้อ้วน ใช้พลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวง โดยเครื่องบินชนิด AU 23 จำนวน 1 ลำ และในขั้นตอนโจมตีโดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ใช้เครื่องบินชนิด CASA จำนวน 2 ลำ ส่งผลให้มีฝนตกเล็กน้อย-ปานกลางบริเวณ อ.สีคิ้ว สูงเนิน และปากช่อง จ.นครราชสีมา และมีรายงานจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักชลประทานที่ 8 ที่สามารถวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงเขื่อนลำตะคองได้ 40 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงภูมิภาคอื่นๆ ที่ยังมีความต้องการน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยภาคเหนือ ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เนื่องจากยังมีน้ำเก็บกักอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ รวมถึงทางภาคใต้ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ที่ปลูกพืชชนิดมะพร้าว บริเวณอ.ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ติดตามสถานการณ์นํ้า เขื่อนเจ้าพระยา

    เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมานายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ ได้เดินทางติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ตำบลชีน้ำร้าย และตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

     ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยราษฎรที่จะได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีติดตามการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้น

    ตลอดจนรับทราบความเป็นอยู่ของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบพื้นที่โครงการซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต ด้วยทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดการพัฒนาโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ คงอยู่และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติสืบไป

     โอกาสนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ ได้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จากผู้แทนกรมชลประทาน และศึกษาสภาพการบริหารจัดการน้ำบริเวณ Control House ของเขื่อนเจ้าพระยา และพบปะราษฎรบริเวณโครงการ

     จากนั้นได้เดินทางไปยังโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) บางโฉมศรี ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา และได้ดำเนินการก่อสร้างใหม่และเพิ่มประสิทธิ ภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยสร้างอาคารไซฟอนคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 ลอดคลองส่งน้ำ ชัยนาท-อยุธยา ให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยขยายใหญ่กว่าเดิมถึง 2 เท่า

     พร้อมก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามคลองชัยนาท-อยุธยา และสถานีสูบน้ำพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 4 เครื่อง สูบระบายน้ำได้สูงสุด 24 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจัดทำท่อระบายน้ำพร้อมท่อแยกเพื่อระบายน้ำลงคลองชัยนาท-อยุธยา

    สำหรับแนวทางการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูน้ำหลากของปี 2560 นี้ โดยเฉพาะในช่วงที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำประมาณ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที และไม่สามารถระบายน้ำผ่านไซฟอนปลายคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 (หรือไซฟอนบางโฉมศรี) โดยวิธี Gravity ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ ก็จะทำการเปิดเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำปลายคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 (บางโฉมศรี) ทั้ง 4 เครื่อง โดยการเปิดเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง หยุด 1 เครื่อง สลับกันตลอด 24 ชั่วโมงของทุกวัน ซึ่งจะสามารถระบายน้ำในคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้ประมาณวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว และ 12 นิ้ว บริเวณปลายคูระบายน้ำสายหลัก ๆ ของคลองระบายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก 2 จำนวน 5 จุด รวมทั้งสิ้น 11 เครื่อง     เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกข้าว และเกษตรกรจะสามารถทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนที่จะเกิดความเสียหายอีกด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'แข็งค่า' ตลาดกระจายเงินทั่วโลก

บาทปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "33.27 บาทต่อดอลลาร์" ตลาดปิดรับความเสี่ยง กระจายการลงทุนทั่วโลก เงินบาทยังไม่อ่อนค่าแรง

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ33.27บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 33.28 บาทในช่วงปิดสิ้นวันก่อน

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นทั้งจากปัญหาการเมืองสหรัฐและการก่อการร้ายในยุโรป ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรเนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยรายงานการประชุมครั้งล่าสุด ชี้ว่ายังคงมีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป และมองเงินยูโรที่แข็งค่าเป็นปัญหากับฝั่งยุโรป

อย่างไรก็ตามพบว่าตลาดยังคงกระจายการลงทุนไปทั่วโลกและไม่กลับไปซื้อดอลลาร์แบบเต็มตัว เนื่องจากมองว่าโดนัลด์ทรัมป์ยังจะเป็นปัญหาหลักที่กดดันให้ดอลลาร์ไม่สามารถฟื้นตัวได้

ในฝั่งของเงินบาท หลังจากที่กนง.คงดอกเบี้ย ก็มีแรงขายเงินบาทออกมาบ้าง แต่เงินบาทยังคงไม่สามารถอ่อนค่าได้แรง เนื่องจากยังมีแรงซื้อของผู้ส่งออกอย่างหนาแน่น โดยรวมเชื่อว่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อ ขณะที่การประกาศตัวเลข GDP ไทยไตรมาสที่สองในสัปดาห์หน้า (คาดเติบโต 3.5%y/y หรือราว 1.3%q/q) น่าจะเป็นผลบวกกับเงินบาทมากขึ้นอีกด้วยมองกรอบเงินดอลลาร์ที่ระดับ 33.23-33.33 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ชีพจรเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น

เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นครึ่งปีแล้วไปก็ยังไม่วี่แววการฟื้นของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ยังรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ดีขึ้น และตอนนี้ก็เข้าสู่ครึ่งปีหลังแล้วสัญณานเหมือน ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เศรษฐกิจไทยคงไม่ได้สดใสอย่างที่คาดหวังไว้

โดยเฉพาะความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่สำคัญคือ การใช้จ่ายของภาคประชาชนที่ยงัไม่ได้ดีขึ้น หนี้ครัวเรือนยังสูง รวมไปถึงปัญหาสินค้าพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ว่ารัฐอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเท่าไรก็จะกลายเป็นการไปใช้หนี้มากกว่าไปใช้จ่ายเพื่อเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ก็ยังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ที่ค่อนข้างสูง รวมถึงปัจจัยต่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อการค้าการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของค่าเงินบาท และการกำหนดนโยบายการค้าการลงทุนของสหรัฐ และ ยุโรป ทำให้การทำธุรกิจคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น

ดังนั้นเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวชัดเจน ทำให้บรรดาบริษัทจดทะเบียน ออกมาส่งสัญญาน ปรับเป้าการเติบโตลดลง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทอินทัช โฮลดิ้ง ปรับเป้ารายได้ปีนี้ลดลง 10-12 % เพราะได้รับผลกระทบจากบริษัทย่อย คือ ไทยคมและแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส มีกำไรลดลง

นอกจากนี้บริษัทไลน์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ ก็ปรับเป้ารายได้ปีนี้ลงเหลือ 5-10 % จากเดิม 15 % เนื่องจากการแข่งขันที่สูง ทำให้ราคาต่อหน่วยลดลง และกำลังซื้อผู้บริโภคหายไป เช่นเดียวกับ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ลดยอดขาย จาก 18,300 ล้านบาทเป็น 17,000 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากกำลังผู้บริโภคต้องการซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง

โดยบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) ระบุว่า กำไรบริษัทจดทะเบียน ไตรมาส 2/60 อยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท เติบโตลดลง 11% จากปีก่อน และลดลงถึง 23 % จากไตรมาสก่อน ส่วนงวด 6 เดือนแรกกำไรอยู่ที่ 5.17 แสนล้านบาท เติบโต 5 % จากปีก่อน

เมื่อเปรียบเทียบไตรมาส 1/60 บริษัทจดทะเบียนทำกำไรสูงถึง 2.91 แสนล้านบาท คาดว่าน่าจะเป็นไตรมาสเดียวที่ทำกำไรสูงที่สุดของปีนี้ ดังนั้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 จนถึงไตรมาส 4 ปีนี้ ทิศทางการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ในช่วงขาลง และจะสะท้อน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กรมโรงงานฯดันกว่า 900 โรงงานเข้าโครงการ CSR-DIW

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผลักดันโครงการ CSR-DIW  ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดำเนินกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนประกอบด้วยมาตรฐาน 7 ข้อ อาทิ  เผยปี 2560  ได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ให้ความรู้และมาตรฐาน CSR-DIW และให้คำปรึกษา พร้อมทั้งดำเนินตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้โรงงานมีความรู้ ความเข้าใจไปพัฒนา และประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการภายในโรงงานและชุมชนโดยรอบให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จำนวนกว่า 900 โรงงาน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลายปีที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและพัฒนามุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 ในขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีแนวทางการสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยผลักดันโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มาปฏิบัติให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ จากชุมชนในการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง

 นายมงคล กล่าวต่อว่า โครงการ CSR-DIW ได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดำเนินกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนประกอบด้วยมาตรฐาน 7 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การกำกับดูแลองค์กร  2.สิทธิมนุษยชน  3.การปฏิบัติด้านแรงงาน 4.สิ่งแวดล้อม 5.การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม  6.ประเด็นด้านผู้บริโภค  และ 7.การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ให้ความรู้และมาตรฐาน CSR-DIW และให้คำปรึกษา พร้อมทั้งดำเนินตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้โรงงานมีความรู้ ความเข้าใจไปพัฒนา และประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการภายในโรงงานและชุมชนโดยรอบให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

 โดยในปี 2560 กรมโรงงานฯ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ เน้นการพัฒนาสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความไว้วางใจจากภาคประชาชน พึ่งพาอาศัย เกื้อกูลกัน โดยในปีนี้มีโรงงานเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน 915 โรงงาน  โดยในจำนวนดังกล่าวมีโรงงานที่สามารถดำเนินโครงการได้อย่างโดดเด่นจนได้รับรางวัล CSR-DIW จำนวน 62  โรงงาน รางวัล CSR-DIW Beginner จำนวน 65 โรงงาน และรางวัล CSR-DIW Continuous จำนวน 310 โรงงาน อย่างไรก็ตามหนึ่งในผลสัมฤทธ์ที่เป็นรุปธรรม พบว่า โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ CSR-DIW พบปัญหาเรื่องร้องเรียนจาก ลดน้อยลงและชุมชนให้การยอมรับมากขึ้น นับว่าเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จหนึ่งในการดำเนินโครงการตลอด 10 ปี ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมั่นคง และยั่งยืนได้ และคาดว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการลดผลกระทบอย่างยั่งยืน นายมงคล กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

“บิ๊กตู่” ยกระดับเกษตรก้าวทันไทยแลนด์4.0

นายกฯ รวมพลเกษตรกรทั่วประเทศ แสดงพลังเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น เดินแผน 5 ปี ยกมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย

วันนี้ (16 ส.ค. 60) - เว็บไซต์ www.thaigov.go.th เผยแพร่ข่าวว่า เมื่อเวลา 15.30 น. ณ สวนลุมพินี  กรุงเทพมหานคร  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “เกษตรไทยก้าวหน้า ภายใต้ร่มพระบารมี” โดยมีคณะรัฐมนตรี อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนประธานเครือข่ายแปลงใหญ่ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกร ประชาชนเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2560

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน “เกษตรไทยก้าวหน้า ภายใต้ร่มพระบารมี” ว่า เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา  และเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมงานด้านการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย โดยได้เสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชชนนี ไปในการเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข  พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ อันเป็นการสืบสานพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงพระองค์ทรงพระราชทานไว้หมดแล้ว ดังนั้น ทุกคนต้องนำมาสานต่อยอดสิ่งเหล่านี้ อีกทั้ง ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์เมื่อปี พ.ศ.2545 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ช่วยเหลือราษฎรในท้องถิ่นอีกด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมภาคการผลิต และการบริการ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ Value - Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม พร้อมทั้งการนำพาประเทศก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี และเกษตรกรแบบผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farmer การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งเป็นการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยที่มีอาชีพเดียวกันให้มาร่วมกลุ่มกันเพื่อให้ต่อรองการรวมกลุ่มกันขายและการผลิตสินค้าแปลงใหญ่ การผลิตวางแผนการตลาดเพื่อการนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ในขณะที่ผลผลิตได้คุณภาพ มีการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย และต่อไร่มากขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมีการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรให้มีตรงตามความต้องการของตลาด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง รัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยการดำเนินการผ่าน 3 โครงการหลักต่อเนื่องกัน 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2564 ได้แก่ โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีและโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ รวมทั้งการส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากบัญชีงานวิจัยและนวัตกรรมไทยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าผลผลิต และยังส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี การกำหนดนโยบายให้ใช้ตลาดนำการผลิต โดยการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีการเชื่อมโยงตลาด พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคสถาบันการเงินการธนาคาร สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ร่วมกันระดมความคิดผนึกกำลังกันขับเคลื่อนแบบบูรณาการตามแนวทางประชารัฐ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ทั้งการผลิต การตลาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยสามารถพัฒนาต่อยอดสู่ประเทศไทย 4.0 ไปพร้อมๆ กันกับทุกภาคส่วน

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อัด9.4พันล้านพัฒนาศักยภาพผลิต เกษตรฯเปิดแผนมุ่ง3เป้าหลักเสริมแกร่งเกษตรกร

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2561 ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ 29 แผนบูรณาการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร และมีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 7 กระทรวง 28 หน่วยงาน 2 รัฐวิสาหกิจ ภายใต้หลักการบริหารจัดการสินค้าเกษตร (Product Base) และให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา (Farmer Center) ซึ่งเน้นใน 3 เป้าหมาย ภายใต้งบประมาณ 9,456.6522 ล้านบาท ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เน้นสินค้า ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย สับปะรด ไม้ผล (ลำไย ทุเรียน เงาะ มังคุด) ยางพารา ปศุสัตว์ (โคนม โคเนื้อ) ประมง (กุ้ง ปลานิล) วงเงิน 4,826.3962 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตามความต้องการของตลาด (ต้นทาง) วงเงิน 4,165.7690 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการ ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ/ประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

2.การพัฒนาศักยภาพกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร (กลางทาง) วงเงิน 205.8676 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนากระบวนการและแปรรูปสินค้า พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ

3.การพัฒนาศักยภาพกระบวนการตลาดสินค้าเกษตร (ปลายทาง) วงเงิน 454.7596 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนาตลาดเกษตรกร ขยายช่องทางการตลาดสินค้าเกษตร สร้างความสามารถในการแข่งขันตลาดสินค้าเกษตร

เป้าหมายที่ 2 ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วงเงิน 3,192.9653 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ อาทิ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3,980 แปลง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri–Map 418,500 ไร่ ปรับปรุงข้อมูลในแผนที่ Agri–Map โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ ยกระดับเกษตรกรเป็น Smart Farmer

 73,715 ราย จัดตั้งสถาบันเกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ 100 แห่ง จัดตั้งและพัฒนาธนาคารสินค้าเกษตร 173 แห่ง

เป้าหมายที่ 3 พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน วงเงิน 1,437.2907 ล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ /ยโสธรโมเดล /พื้นที่ทั่วไป 368,503 ไร่ เกษตรทฤษฎีใหม่ 210,000 ไร่ เกษตรผสมผสาน 33,500 ไร่ (4) วนเกษตร 65,000 ไร่

ทั้งนี้ แผนบูรณาการการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร จะช่วยยกระดับการผลิตและการบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรและนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ดันร่างยุทธศาสตร์เกษตร เร่งระดมความคิดเห็นเกษตรกรนำเสนอรัฐบาล

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึง พระราชบัญญัติ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และ พระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่กรุณาให้เกียรติตั้งตัวแทนเกษตรกรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อำนาจหน้าที่หลักๆ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้เห็นโครงสร้างแล้วเชื่อว่าเป็นประโยชน์เพราะประเทศเราควรมียุทธศาสตร์ระยะยาว แต่จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับปัญหาของประเทศและของโลก คงต้องมีการคุยกันในคณะทำงานยุทธศาสตร์ชาติ ในส่วนของสภาเกษตรกรแห่งชาตินั้นได้จัดทำยุทธศาสตร์ของเกษตรกรไว้กับแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งต้องนำมาปรับให้เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะนำเสนอเรื่องนี้ให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ของเกษตรกรเพื่อนำไปบรรจุไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ

นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ชาติควรมีองค์ประกอบหลายๆ ส่วน เช่น ภาคอุตสาหกรรม การค้าต่างประเทศ การศึกษา เกษตรกร ฯลฯ สิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรคือ ต่อไปนี้การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติจะต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหาของเกษตรกรและสามารถปฏิบัติได้จริง ทำให้เสร็จสิ้นในเวลาที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมารัฐบาลเปลี่ยนบ่อยมาก แต่ละรัฐบาลก็จะมีนโยบายของตนจึงทำให้นโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ขาดความต่อเนื่องไม่สามารถทำให้ยั่งยืนและลุล่วงจนสำเร็จได้ เปลี่ยนรัฐบาลทุกครั้งนโยบายก็เปลี่ยนด้วย ผิดกับครั้งนี้ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะทำให้แผนงานนโยบายดีๆ สามารถกำหนดเป็นแผนและประโยชน์ระยะยาวได้ โดยระหว่างนี้สภาเกษตรกรฯเองได้รวบรวมเอาความคิดทั้งหลายจัดเตรียมไว้เพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯเมื่อนายกรัฐมนตรีเรียกประชุม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'แข็งค่า' หลังเงินเฟ้อสหรัฐต่ำคาด

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "33.24 บาทต่อดอลลาร์" หลังเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่าคาดและตลาดกลับมาจับตากับตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกอีกครั้ง

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ33.24บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเมื่อเทียบจากระดับ 33.28 บาทในช่วงปิดสิ้นวันก่อน

ช่วงคืนที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ถูกกดดันอีกครั้งจากแถลงการณ์รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ทิศทางอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐน่าจะปรับตัวขึ้นได้ถึงระดับเป้าหมายที่ 2.0% ทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวลงทันที ขณะที่ฝั่งการเมืองก็ยังมีความวุ่นวายหลังจากที่โดนัล ทรัมป์ยุบคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ หลังจากที่ที่ปรึกษาต่าง ๆ ทยอยลาออกไปเกือบทั้งหมด

อย่างไรก็ตามค่าเงินดออลาร์ยังไม่อ่อนค่ามากนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นเพราะในฝั่งยุโรป นายมาริโอ ดารกีก็ให้สัมภาษณ์ในช่วงหัวค่ำเช่นกันว่า “ยังไม่มีแผน” ในการยกเลิกการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน

ภาพรวมดังกล่าวส่งผลให้ผู้ค้าในตลาดกลับมาจับตากับตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกอีกครั้ง เชื่อว่าโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะ “ลดขนาดงบดุล” ตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ปีนี้ เป็นต้นไปอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่โอกาสในการ “ขึ้นดอกเบี้ย” ครั้งต่อไปทันทีในเดือนกันยายนยังอยู่ในระดับต่ำจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว มองกรอบเงินดอลลาร์ที่ระดับ 33.22-33.32 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เกษตรไทย อินเตอร์ฯ กวาดรายได้เฉียด 8 พัน ล.  

          เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลฯ เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 60 มีรายได้รวม 7,746.2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 561.5 ล้านบาท โตกว่าช่วงเดียวกันของปี 59 ถึง 498.9% รวมครึ่งปีแรกมีรายได้ 11,690 ล้านบาท ชี้มาจากผลผลิตอ้อยที่ดีขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ และราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยปีนี้สูงกว่าปีก่อน ด้านธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย 100% ก็ล้วนมีการเติบโตที่แข็งแกร่งจากปริมาณวัตถุดิบที่มีมากกว่าปีก่อน

               นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ของ KTIS มีรายได้รวม 7,746.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.5% และมีกำไรสุทธิ 561.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 498.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2559

                สำหรับงวด 6 เดือนของปี 2560 KTIS สามารถทำรายได้รวม 11,690 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 973.5 ล้านบาท สูงกว่าครึ่งปีแรกของปี 2559 ถึง 578.8%

                “ปีนี้กลุ่ม KTIS มีผลผลิตอ้อยเพิ่มมากขึ้นกว่าปีการผลิตก่อนหน้านั้นถึง 15.4% และคุณภาพอ้อยก็ดีมาก ทำให้ผลิตน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นถึง 29.9% นับเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ในปีนี้เกือบทุกสายธุรกิจของกลุ่มเรา มีผลการดำเนินงานที่ดี” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

                นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับผลผลิตอ้อยปีนี้ หากมองในภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งประเทศอาจมีผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยอยู่บ้าง แต่ในส่วนของกลุ่ม KTIS ได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยของเกษตรกรในกลุ่ม KTIS ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม“กลุ่ม KTIS เชื่อว่า ปีนี้ปริมาณอ้อยของกลุ่ม KTIS น่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยด้านบวกต่อผลประกอบการปีต่อไป”

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ทุนการศึกษา “มิตรผล” พัฒนา น.ศ.รับอุตสาหกรรมเกษตร

เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน เพราะจำนวนแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานลดน้อยลง โดยเฉพาะภาคการเกษตร จากข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกประจำปี 2560 ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตร และการปรับตัวของภาคเกษตร การจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปัญหาโครงสร้างแรงงาน

โดยช่วง 4 ปีผ่านมา แรงงานเกษตรลดลง 1.3 ล้านคน ยิ่งเฉพาะแรงงานช่วงอายุ 30-49 ปี ลดลง 0.99 ล้านคน ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้ง ในช่วงปี 2557-2559 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายออกไปทำงานนอกภาคเกษตรมากขึ้น

ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทน และกลุ่มแรงงานสูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง ทั้งพื้นที่เพาะปลูกก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตร 151.0 ล้านไร่ ในปี 2546 ปัจจุบันเหลือเพียง 149.2 ล้านไร่ ในปี 2556 เฉลี่ยคือลดลงปีละ 0.16 ล้านไร่

แม้ว่าภาคการเกษตรของประเทศไทยเปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่เรื่องกรอบความคิด (Mindset) ของคนที่อยู่ภายในภาคเกษตรกรรม และภายนอก มักมองว่าเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความยากลำบาก มีรายได้ที่ไม่มั่นคง และไม่มีความต่อเนื่องในระยะยาว

จึงส่งผลทำให้การเข้าถึงข้อมูล และองค์ความรู้ต่าง ๆ ลดน้อยลง ที่สำคัญยังทำให้แรงงานรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในกลุ่มนี้ลดลงอีกด้วย

แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญ และมุ่งพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จนส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Landscape ของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนากำลังคน และกำลังแรงงานในอนาคต

จากหลาย ๆ ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องของแรงงานเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการบริหารองค์กรในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้กลุ่มมิตรผลจึงมีการวางแนวทางรับมือกับปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ “โครงการมอบทุนการศึกษากลุ่มมิตรผล”

“บวรนันท์ ทองกัลยา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ หากมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดี รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในด้านต่าง ๆ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์อนาคตของประเทศได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้กลุ่มมิตรผลเองมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจ

 “ไม่เพียงเท่านี้ การเตรียมบุคลากรในอนาคตขององค์กร และของประเทศให้มีความพร้อมต่อการทำงานภาคธุรกิจการเกษตรยังถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการมอบทุนการศึกษาของกลุ่มมิตรผล ที่ไม่ใช่เป็นเพียงมอบแค่เงินทุน แต่เป็นการพัฒนาด้านทักษะต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการจัดการเกษตรสมัยใหม่”

แต่ละปีกลุ่มมิตรผลมอบทุนการศึกษาจำนวนมาก โดยปี 2560 เรามอบทุนการศึกษารวมทั้งสิ้น 461 ทุน มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท ประกอบด้วย ทุนบุตรเกษตรกร ที่มอบให้ลูกหลานเกษตรกรที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นพาร์ตเนอร์ และคู่ค้าที่สำคัญของมิตรผล เพื่อให้ลูกหลานของเขาให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร และเข้าถึงองค์ความรู้การจัดการสมัยใหม่

“ทุนโครงการพัฒนาวิชาชีพ นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา (ทุนโครงการทวิภาคี) ถือเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวะ และกลุ่มมิตรผล ซึ่งเราเองเข้าไปช่วยพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้มาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมัน ในการพัฒนานักศึกษาระดับอาชีวะของกลุ่มมิตรผล”

ปัจจุบันมีนักศึกษาในระดับ ปวส.ที่ได้รับทุนนี้กว่า 336 คน ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาขาพืชศาสตร์, ช่างกลการเกษตร, เทคนิคเครื่องกล, ไฟฟ้ากำลัง และเมคคาทรอนิกส์

ขณะที่ทุน MitrPhol Career Camp เป็นทุนที่มอบให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่นิสิต นักศึกษา และเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ ดูงาน และฝึกทักษะการทำงานกับบริษัทในกลุ่มมิตรผล อีกทั้งยังมีทุนที่มอบให้บุตรหลานพนักงาน โดยแบ่งเป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และระดับปริญญาตรีอีกด้วย

“บวรนันท์” กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้กลุ่มมิตรผลจะมอบทุนการศึกษาจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การสนับสนุนเรื่องของการศึกษาในภาพรวมเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมความพร้อมนิสิต นักศึกษา ให้มีทักษะ และความพร้อมใหม่ ๆ ในอนาคต เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ (Productivity) สูง

“ตัวอย่าง เช่น ทุนบุตรเกษตรกร ผู้ที่ได้รับทุนจะต้องมาเรียนรู้ และฝึกงานจากพื้นที่จริงกับกลุ่มมิตรผล ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการไร่แบบสมัยใหม่ ทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยีที่เป็น Modern Farm”

“ส่วนทุนทวิภาคี ที่นอกจากจะเรียนทฤษฎีในห้องเรียนเป็นระยะเวลาอีก 1 ปี และในอีก 1 ปี น้อง ๆ กลุ่มนี้จะเข้ามาเรียนรู้จริงในพื้นที่หน้างานจริงกับกลุ่มมิตรผล ทั้งในเรื่อง Operation Process ภายใต้ Automation Thailand 4.0 ว่าเป็นอย่างไร มีกระบวนการ และวิธีการอย่างไรบ้าง เป็นต้น”

“อีกทั้งเรายังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสาร และการบริหารงานระดับสากล ด้วยการเสริมทักษะ Global Skills ได้แก่ ทักษะภาษาอังกฤษ และไอที เพื่อความพร้อมร่วมงานกับสถานประกอบการต่าง ๆ และเพื่อผลักดันให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมทำงานในองค์กรระดับสากล”

ในส่วนของทุนโครงการทวิภาคี เมื่อนักเรียนสำเร็จการศึกษาจะมีการสอบวัดมาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมันระดับอาชีวศึกษา

โดยปีนี้มีนักเรียนทุนรุ่นที่ 1 สำเร็จการศึกษารวม 148 คน และสามารถสอบผ่าน จะได้รับมอบประกาศนียบัตรรับรองจากหอการค้าเยอรมัน-ไทย จำนวน 124 คน และนักเรียนรุ่นนี้ปัจจุบันเริ่มทำงานกับกลุ่มมิตรผลแล้ว จำนวน 113 คน

“ที่สำคัญ เรายังนำมาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมันระดับอาชีวศึกษา มาผูกติดกับเรื่อง Skill-Based Pay ซึ่งจะทำให้เกิดการจ่ายค่าแรงตามทักษะวิชาชีพ โดยที่นักเรียนที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพเมื่อเข้ามาทำงานกับมิตรผล จะมีการจ่ายค่าทักษะเพิ่มเติมให้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้เขาสนใจในการพัฒนาทักษะของตนเองอีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “บวรนันท์” บอกว่า ภายหลังจากที่นักเรียนนักศึกษาในโครงการรับมอบทุนการศึกษาสำเร็จการศึกษา กลุ่มมิตรผลยังเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้มีสิทธิที่จะเลือกที่จะทำงาน หรือไม่ทำงานกับมิตรผลก็ได้

“แต่ส่วนใหญ่เกือบ 100% ของผู้ที่ได้รับทุน จะเลือกกลับมาทำงานกับเรา เพราะการที่ได้เรียนรู้และฝึกงานในหน้างานจริง จะทำให้เกิดการ Engagement หรือเกิดความผูกพัน ทำให้รู้สึกว่า ที่นี่คือครอบครัว หรือเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับพวกเขา”

จึงนับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตรในอนาคตอย่างน่าสนใจทีเดียว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

‘อภิรดี’ นำคณะร่วมประชุม ‘STEER’ ไทย-สิงคโปร์ แง้มแผนชวนนักลงทุนสิงคโปร์ร่วม EEC

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนจะนำคณะผู้บริหารเข้าร่วมประชุม Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) ซึ่งสิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นี้ขึ้น โดยเป็นการประชุม STEER ครั้งที่ 5 จะมีขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2560 ที่จะถึงนี้ ซึ่งการประชุมดังกล่าว ถือเป็นกลไกการหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมกัน หาแนวทางอำนวยความสะดวกทางการค้าและเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

ไทยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน การเชิญชวนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของไทย เช่น เรือ ราง ท่าอากาศยาน การซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน รวมทั้งหารือถึงความร่วมมือในด้านพลังงาน รวมถึงการขยายความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรและอาหาร การอำนวยความสะดวกทางการค้าต่อการส่งออกสินค้า ปศุสัตว์ของไทย ได้แก่ สัตว์ปีก สุกร และไข่ไก่ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ได้สะดวกและมากขึ้น ขณะที่สิงคโปร์ต้องการจะขยายตลาดสินค้ารังนกตากแห้งส่งออกมาตลาดไทย”

นอกจากนี้ยังมี ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในด้าน ICT ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับสิงคโปร์ เช่น Cyber Security และ Online Consumer Protection เป็นต้น

ขณะเดียวกันมุ่งจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทางเรือสำราญระหว่างไทย-สิงคโปร์ และความร่วมมือด้านการบิน ซึ่งจะมีการเจรจาแก้ไขความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) กับสำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (CAAS) และการจัดทำบันทึกความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือด้านการบินไทย-สิงคโปร์ ระหว่าง CAAT กับ CAAS ตลอดจนการสร้างความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่นการให้บริการตรวจสอบสิทธิบัตรภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยและ Intellectual Property Office of Singapore (IPOS) เรื่องการแต่งตั้ง IPOS เป็นองค์กรตรวจค้นระหว่างประเทศและองค์กรตรวจสอบเบื้องต้นระหว่างประเทศของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทย

ทั้งนี้ ในปี 2559 สิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียนรองจากมาเลเซีย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในโลก โดยในปี 2559 การค้ารวมไทย-สิงคโปร์ มีมูลค่า 14,737.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อน 7.43% โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 1,715.61 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค. – มิ.ย.) การค้ารวมไทย-สิงคโปร์ มีมูลค่า 8,365.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.90 % โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 312.29 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญไปสิงคโปร์ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ แผงวงจรไฟฟ้า

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

เปิดแล้ว “TILOG-LOGISTIX 2017” เวทีพัฒนาโลจิสติกส์การค้า ดันไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน

เปิดแล้ว “TILOG-LOGISTIX 2017” เวทีพัฒนาโลจิสติกส์การค้า ดันไทยเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียน ดึงดูดผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย เจรจาธุรกิจ 300 ล้านบาท

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิธีเปิด “TILOG-LOGISTIX 2017” งานแสดงเทคโนโลยี โซลูชั่น พร้อมธุรกิจบริการด้าน โลจิสติกส์ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ รี้ด เทรดเด็กซ์ ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 16 – 18 สิงหาคม 2560 ฮอลล์ 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจการค้าโลจิสติกส์ไทยในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าจะมี ผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย และมีคณะผู้แทนการค้าชั้นนำด้านโลจิสติกส์นานาชาติ กว่า 500 ราย จาก จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา และเกาหลีใต้ เป็นต้น สร้างมูลค่าจากการเจรจาธุรกิจได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

ภายในงานนี้มีผู้แสดงสินค้าจำนวนกว่า 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ แสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมและโซลูชั่น บริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมจัดสัมมนาระดับนานาชาติ Trade Logistics Symposium โดยกูรูจากกลุ่ม ASEAN+6 นำเสนอองค์ความรู้โลจิสติกส์ในยุคดิจิทัล และ World Transport & Logistics Forum เผยกุญแจสำคัญในการขยายโลจิสติกส์การค้ายุค CLMVT 4.0 โดยธนาคารโลก (World Bank)

นายวินิจฉัย กล่าวว่า การจัดงาน TILOG–LOGISTIX 2017 เป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์การค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ได้กล่าวถึงความสำคัญของธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ว่า มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการในภาคการผลิต (Infrastructure Services) สามารถสร้างรายได้แก่ประเทศ เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี และมีการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน

“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน และบริษัท รี้ด เทรด-เด็กซ์ จำกัด จัดงาน TILOG-LOGISTIX 2017 เป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด ‘ASEAN+6 Connectivity for Sustainable Growth’ และนับเป็นปีที่ 14 สำหรับงาน TILOG โดยมุ่งพัฒนารูปแบบการจัดงานให้เป็นเวทีที่มีความเป็นสากลมากขึ้น แสดงศักยภาพของโลจิสติกส์ไทยในการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายโลจิสติกส์การค้าที่ เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค CLMV ต่อยอดไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ขยายเครือข่ายและเส้นทางการค้าด้านโลจิสติกส์ของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน+6 เพื่อเกื้อหนุนและเติบโตไปด้วยกันในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถ และยกระดับศักยภาพให้มีความเป็นมืออาชีพ แข่งขันได้ในระดับสากล ด้วยการเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ แลกเปลี่ยนทัศนะของผู้เชียวชาญด้านโลจิสติกส์ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV”

นายอิสระ บุรินทรามาตย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เผยถึงการจัดงาน “TILOG – LOGISTIX 2017” เป็นการรวมพลังหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับงานให้เป็นเวทีแสดงการให้บริการด้านโลจิสติกส์เชิงพาณิชย์ที่ครบวงจรสำหรับคนในวงการโลจิสติกส์และวงการอุตสาหกรรมต่างๆ จากทั่วภูมิภาคอาเซียนและอื่นๆ โดยเฉพาะในปีนี้ได้รวบรวมผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ สำหรับผู้นำเข้าและส่งออกที่กำลังมองหาบริการเพื่อขยายเส้นทางธุรกิจใหม่ เรียกได้ว่าเป็นเวทีที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเดินคู่กับการสร้างเครือข่ายธุรกิจนานาชาติ

ทั้งนี้ ภายในงาน TILOG-LOGISTIX 2017 จัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีครบวงจร ด้านการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ การลำเลียง ระบบโกดัง และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ โดยจะเลือกสรรเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสมกับภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โลจิสติกส์ยุคดิจิตอล ยุค 4.0 และ Internet of Thing ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการอาทิ ที่โซน “Innovation Showcase” นำเสนอการทำงานของนวัตกรรมแขนกล 3 แบรนด์ดัง จำลองการจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกใช้นวัตกรรมด้วยงบประมาณที่ไม่สูงนัก ช่วยบริหารจัดการต้นทุนโลจิสติกส์/ ระบบการจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (Automated racking System) รวดเร็วแม่นยำ ประหยัดพื้นที่/ AGV Robot หุ่นยนต์ที่เข้าถึงพื้นที่ไร้ขีดจำกัด หรือเสี่ยงอันตรายต่อมนุษย์/ Collaborative Robot หุ่นยนต์จัดเก็บสินค้าที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมธุรกิจด้านโลจิสติกส์อย่างครบครัน ภายในงานประกอบด้วยองค์ความรู้มากมาย จากงานสัมมนาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การประชุมวิชาการนานาชาติ Trade Logistics Symposium ในหัวข้อ “A Roadmap to Sustainable Growth in Digital Connectivity Era” ชมนิทรรศการแนวทางปฏิบัติ(Best Practices) “ELMA Showcase” จากผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ที่มีการบริหารจัดการเป็นเลิศ (ELMA Awards) และงานประชุม World Transport & Logistics Forum (WTLF) ที่จะนำเสนอกุญแจสำคัญในการขยายฐานธุรกิจสู่ตลาด กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย โดยผู้แทนจากธนาคารโลก (World Bank) และประเด็นสัมมนาอื่นๆ กว่า 20 หัวข้อ ซึ่งครอบคลุบตั้งแต่กระบวนการจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน แนวโน้มโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาค ไปจนถึงกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

บูรณาการบริหารจัดการน้ำ 

           พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กำลังอยู่ระหว่างเตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงาน โดยให้รวมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของภาครัฐทั้งหมดที่กระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ 42 หน่วยงานเข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และให้การดำเนินงานมีการบูรณาการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ และต้องการแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน

          ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กำลังพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติพ.ศ. . ในมาตรา 9 กำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือกนช. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกฯที่มอบหมายเป็นรองประธานคนที่ 1 รมว.ทรัพยากรฯเป็นรองประธานคนที่ 2 คณะกรรมการโดยตำแหน่ง ปลัดเกษตรฯ ปลัดทรัพยากรธรรมชาติฯปลัดพลังงาน ปลัดมหาดไทย ปลัดอุตสาหกรรม อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน

          กรรมาธิการสนช.เสนอให้มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมา ทำหน้าที่กำกับดูแล หรือเรกูเลเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งไม่ใช่กรมทรัพยากรน้ำ ตรงกับแนวคิดรัฐบาลจะใช้มาตรา 44 ตั้งองค์กรที่เป็นเรกูเลเตอร์ ส่วนจะจัดตั้งใหม่ หรือย้ายกรมทรัพยากรน้ำออกจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรัฐบาลต้องพิจารณา แต่ 42 หน่วยงาน จะยังคงทำหน้าที่เป็นโอเปอเรเตอร์ หรือผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเดิมของตัวเอง

          ประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน หรือในฤดูฝนที่มีน้ำหลากก็เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นในหลายๆพื้นที่ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำหลักของประเทศ บางครั้งทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมก็เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน

          การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ น้ำคือชีวิต ที่หล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่ง การที่รัฐบาลและสนช.มีแนวทางให้เกิดบูรณาการจัดการ น้ำทั้งระบบ จึงเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานแก้ปัญหาจัดการน้ำสะเปะสะปะและไร้ทิศทาง ทั้งที่น้ำสำคัญโดยเฉพาะเกษตรกรไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐบาลจึงต้องแก้ปัญหาให้เกิดความเท่าเทียมกันในการใช้และเข้าถึงทรัพยากรน้ำในทุกภาคส่วน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ส่องเกษตร : สำนักงาน‘น้ำ’แห่งชาติ

ในช่วงนี้ นายกรัฐมนตรี-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญทั้งการพูดและลงมือผลักดันเรื่องการแก้ไขปัญหา “น้ำ” มากเป็นพิเศษ ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดอุทกภัย น้ำท่วมหนักมากในหลายภาค หลายสิบจังหวัดของประเทศไทยในเวลานี้ ที่ทำให้ผู้คนหันกลับมาสนใจเรื่อง“น้ำ”อีกหน

ช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว นายกฯประยุทธ์ได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อถวายรายงานการทำงานของรัฐบาล โดยมีการเปิดเผยว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานพระบรมราโชบาย 9 เรื่องให้นำไปปฏิบัติ...

ซึ่งเรื่องที่ทรงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ ทรงห่วงใยประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย ทรงมีรับสั่งให้ช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ ด้วยความรวดเร็วและทั่วถึงลดภาระการซ้ำซ้อน สิ่งใดที่สถาบันจะช่วยได้ก็จะพระราชทานความช่วยเหลือให้อย่างที่ทรงทำอยู่ นอกจากนี้ ยังทรงมีรับสั่งให้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นแต่ละพื้นที่ไป ถ้ายังไม่สามารถดำเนินการภาพรวมใหญ่ๆทั้งหมดได้ ก็ให้ทยอยดำเนินการไป...จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยที่กำลังเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

หลังเข้าเฝ้าฯ ในวันต่อมานายกฯประยุทธ์ก็ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มอบนโยบาย ให้แนวทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการปัญหาน้ำทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1.น้ำอุปโภคบริโภค 2.น้ำเพื่อภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม 3.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์รวมทั้งที่เพิ่มเติม แยกออกมาให้ความสำคัญคือ 4.ปัญหาน้ำท่วม และ 5.ปัญหาน้ำแล้ง

ขณะที่ผลการประชุม ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้มีเอกภาพและรวดเร็วมากขึ้น โดยจะย้ายหน่วยงานกรมทรัพยากรน้ำจากที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกฯ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะโอนภารกิจหน้าที่,บุคลากร มาอยู่ภายใต้โครงสร้างใหม่ ให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถรองรับสถานการณ์เร่งด่วน ทันต่อสถานการณ์ทั้งอุทกภัยและน้ำแล้ง

โดยนายกฯเตรียมจะใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งคสช.ในเร็วๆ นี้ เพื่อจัดตั้ง“สำนักงานบริหารจัดการน้ำ” ดังกล่าว เพื่อให้การทำงานที่เป็นเอกภาพต่อไป

และเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นหลักที่นายกฯ ประยุทธ์นำไปบอกกล่าวประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ที่ออกอากาศทางทีวีทุกช่องช่วงค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมาให้ได้รับทราบถึงความจำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการน้ำให้เป็นเอกภาพ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้าง อาทิ การมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจดูแลเรื่องน้ำในด้านต่างๆอยู่ถึง 30 หน่วยงาน ภายใต้ 10 กระทรวง ทำงานกันสลับทับซ้อน อีกทั้งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมาย จนเกิดความล่าช้า ไม่สามารถผลักดันการพัฒนาทรัพยากรน้ำให้ก้าวหน้าได้รวดเร็วเท่าที่ควร เป็นต้น

นายกฯประยุทธ์ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ริเริ่มจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ระยะยาวขึ้น และดำเนินการตามแผนประสบความสำเร็จไปมาก หากสามารถแก้ไขอุปสรรคต่างๆที่คอยฉุดรั้งอยู่ ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำซึ่งรัฐบาลถือเป็นวาระเร่งด่วนสำคัญ ต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ จึงมีแนวทางจะตั้ง “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ให้มาสังกัดสำนักนายกฯ โดยยุบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ให้แก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของงานและงบประมาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานปฏิรูปและบูรณาการการทำงานของส่วนราชการ ให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.น้ำ ที่สนช.กำลังดำเนินการอยู่ด้วย

ครับ คงต้องติดตามดูกันไปว่า “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ”ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีนี้ จะสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานให้เป็นเอกภาพได้จริงหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านๆมานั้นใช่ว่า จะไม่เคยพูดหรือไม่เคยทำในเรื่องที่จะ “สร้างเอกภาพ”นี้ แต่ก็ได้แต่พูด โดยที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จเลย

โดยเฉพาะเมื่อโครงการบริหารจัดการน้ำต่างๆ คิดเป็นเงินนับพันๆล้าน,หมื่นๆล้าน ถึงแสนล้าน ล้วนแต่ต้องใช้เม็ดเงินสูงๆ ยั่วยวนใจในการหาผลประโยชน์ทั้งที่ชอบและมิชอบ จนทุกหน่วยงานต่างก็อยากจะ“ฮุบ”ไว้ทำเอง การบูรณาการรวมกันจึงเป็นเรื่องยากมากมาตลอดของหน่วยราชการไทย...ก็เอาใจช่วย หวังว่า ยุคคสช.ของท่านนายกฯประยุทธ์จะทำได้ ประโยชน์ส่วนใหญ่จากโครงการน้ำ จะได้ตกแก่ประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรไทยตาดำๆ ไม่ใช่ตกหล่นเข้ากระเป๋าคนคิดมิชอบมากกว่า

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

บาทอ่อนหนุนกำไรบจ. กสิกรไทยคาดสิ้นปีอยู่ที่ 34.50 รอซื้อหุ้น 1,550

ค่าเงินบาทที่แข็งปั๋งแซงภูมิภาค กดดันบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 บล.กสิกรไทยฯ มองบวกครึ่งปีหลัง หลายอุตสาหกรรมดีขึ้น แต่ไม่ต้องรีบซื้อหุ้น เงินต่างชาติยังไม่เข้า รอเวลาดัชนีหุ้นอ่อนไตรมาส 4

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทยฯ เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่ามากในช่วงที่ผ่านมามีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในงวดไตรมาส 2/2560 แต่สถาน การณ์จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าสิ้นปีนี้เงินบาทจะอยู่ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลบวกต่อการส่งออก และภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวม คาดครึ่งปีหลังผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 3.7% จากครึ่งปีแรกเติบโต 3.2% รวมทั้งปีขยายตัว 3.4%

“เงินบาทที่แข็งมากในครึ่งปีแรก น่าจะค่อยๆดีขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่คงไม่อ่อนถึง 35 บาท อย่างที่เราคาดการณ์ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นยังคงไม่ไปไหน ขาดเม็ดเงินใหม่มาลงทุน รายย่อยไม่มีเงิน ต่างชาติยังไม่เข้ามาลงทุน มีเพียงสถาบันในประเทศที่เลือกซื้อและขายหุ้นเป็นรายตัวรายกลุ่มเท่านั้น จึงไม่จําเป็นต้องรีบซื้อหุ้น รอดักซื้อก่อนกำไรบจ.จะออกมาดี ในไตรมาส 4 แนวรับรอซื้อบริเวณ 1,550 จุด” นายกวีกล่าว

 รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ภาพรวมที่ดีขึ้น ส่งผลบวกต่อธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อขยายตัวดีขึ้นและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ใหม่เพิ่มในอัตราชะลอตัว ตั้งสำรองตามปกติ รวมถึงธุรกิจที่มีการส่งออกสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนกลุ่มพลังงาน ไม่มีผลขาดทุนจากสต๊อกเหมือนในไตรมาส 2 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่เปิดขายในไตรมาส 1 จะทยอยการโอน และรับรู้รายได้ในช่วงปลายปี ส่วนการท่องเที่ยวที่สดใส ส่งผลบวกต่อกลุ่มโรงแรม และกลุ่มค้าปลีกก็จะดีขึ้น จากไตรมาส 2 แย่มาก บางบริษัทมีโอกาสขาดทุน กลุ่มโรงพยาบาล เป็นฤดูกาลของธุรกิจและมีคนไข้จากอาเซียนมาใช้บริการมากขึ้น เช่น เมียน มา และลาว

 ขณะที่กลุ่มสื่อสารและรับเหมาก่อสร้างคาดจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก และกลุ่มเกษตรก็จะไม่ดี แต่เกษตรเป็นกลุ่มเล็กจึงไม่มีผลต่อภาพตลาดโดยรวม

 กลยุทธ์การลงทุนเดือน สิงหาคม เน้นที่หุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงกว่าตลด อาทิ PTT BBL SCB หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐ STEC TPCH และการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ PSH SPALI และ HMPRO

ด้านบล.เอเซียพลัสฯ วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่เริ่มชะลอการแข็งค่า น่าจะส่งผลบวกต่อการส่งออก ในช่วงที่เหลือของปีนี้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงวด ไตรมาส 3/2560 เป็นช่วงพีก การส่งออก แนะนำซื้อหุ้นส่งออก ชื่นชอบ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ยังแนะนําขาย DELTA, KCE

ด้านผลงานบริษัทจดทะเบียน ฝ่ายวิจัยรวบรวมล่าสุดรวม 213 บริษัท คิดเป็น 55% ของทั้งตลาด ทำกำไรสุทธิรวมกัน 1.32 แสนล้านบาท หากคิดเป็นผลงานของแต่ละบริษัท กำไรสุทธิ ลดลง 18.7% จากงวด ไตรมาส 2/2559 และลดลง 22.3% จากงวดไตรมาส 1

“โดยรวมกำไรของตลาดในไตรมาส 2 น่าจะเกินกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อรวมไตรมาส 1 ที่ทำได้ 2.85 แสนล้านบาท จึงยังประมาณการกำไรปีนี้ที่ 9.9 แสนล้านบาท” บล.เอเซียพลัสฯ ระบุ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

สร้างมูลค่าเพิ่มกากอุตสาหกรรม ช่วยลดของเสีย-ทำรายได้เข้าโรงงาน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่าปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีการขยายกิจการเพิ่มขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการก็ย่อมมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณของเสียทั้งหมดที่ขออนุญาตนำออกนอกบริเวณโรงงานในแต่ละปีจะเห็นว่ามี แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสัดส่วนของปริมาณของเสียที่ ขออนุญาตนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบระหว่างปี 2549-2559 อยู่ระหว่าง 7.1%-10% ของปริมาณของเสียทั้งหมดที่ขออนุญาตนำออกนอกบริเวณโรงงานในแต่ละปี

กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากของเสียเป็นไปตามนโยบายการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสียส่วนหนึ่งจะทำให้ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียลดลงค่าใช้จ่ายในการกำจัดลดลงมูลค่าของเสียเพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้าสนับสนุนให้เกิดธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้พบว่าตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกากของเสียและสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการสามารถนำกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียและเศษเหลือจากกระบวนการจากโรงงานผลิตอาหารมาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งหรือนำเศษวัตถุดิบจากการผลิตและกากตะกอนน้ำเสียมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือนำน้ำเสียไปผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปปั่นไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ขนาดรูปร่างไม่ได้มาตรฐานสามารถไปขายเป็นอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้กับโรงงาน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมาได้นำกากตะกอนน้ำเสียดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดิน และจำหน่ายจะสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า 127 ล้านบาทและสามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากการฝังกลบลงได้ประมาณ 20,000 ตันต่อปี

2.อุตสาหกรรมผลิตเซรามิกอิฐกระเบื้องสำหรับงานก่อสร้างผู้ประกอบการสามารถนำเศษกระเบื้องแตกอิฐทนไฟ และกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกลับมาใช้เป็นวัตถุดิ บทดแทนในกระบวนการผลิต ในส่วนของน้ำที่มีการปนเปื้อนสี จากกระบวนการพ่นสีให้นำไปตกตะกอนและนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการพ่นสีเพื่อลดการใช้น้ำ

3.อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าจากการกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่จะต้องมีการเผาถ่านหิน หรือชีวมวลมักจะก่อให้เกิดเถ้าลอยและเถ้าหนัก ส่วนหนึ่ง ก็จะนำเอาเถ้าลอยไปใช้ ทดแทนซีเมนต์ในงานคอนกรีตต่างๆ และเถ้าหนักสามารถนำไปบดแปรรูปทำเป็นอิฐหรือวัสดุแทนทรายในงานปรับพื้นที่ หรือถนนได้ ทั้งนี้ต้องมีผลวิเคราะห์และนำกากดังกล่าวไปพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นของเสียอันตรายก่อนนำกลับมาใช้ประโยชน์

นายมงคลกล่าวว่ากระบวนการที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสียที่มุ่งเน้นในการลดปริมาณกากอุตสาหกรรมที่ต้องฝังกลบ เพิ่มศักยภาพในการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้มีขีดสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

ทั้งนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสียอย่างต่อเนื่องผลักดันให้ความรู้และความเข้าใจและเพิ่มขีดความสามารถในการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ โดยได้นำร่องให้โรงงานเข้าร่วมโครงการฯดังกล่าวในปี 2560 จำนวน 37 โรง สามารถสร้างมูลค่ากว่า 17.3 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถลดปริมาณของเสียที่ขออนุญาตนำไปฝังกลบกว่า 2,800 ตัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงปิโตรเลียม 4 ฉบับ

ครม.เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงปิโตรเลียม 4 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์การสำรวจปิโตรเลียม ระบุพื้นที่พบปิโตรเลียมสูงกว่าค่าเฉลี่ย 39% ให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกรณีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยให้ใช้  ระบบสัมปทาน คาดผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กันยายนนี้ ก่อนเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ในเดือนตุลาคม

 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (15 สิงหาคม2560 ) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวม 4 ฉบับ โดยก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ 7 ปี 2560 ได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งเป็นการให้ทางเลือกกับรัฐบาลในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยให้ตามระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบสัญญาจ้างบริการมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทย นอกเหนือจากเดิมที่เคยให้เป็นระบบสัมปทานตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน วันนี้เป็นการดำเนินการปฏิรูปกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย

ซึ่งในวันนี้ ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ.. สาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ผู้ขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียมและต้องมีหนังสือรับรองความจริงจากสถาบันที่เชื่อถือได้

ในกรณีการขอเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยบริษัทที่ไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะสำรวจผลิต และจำหน่ายปิโตรเลียม ต้องมีบริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือรับรองที่จะเป็นผู้ให้ทุน เครื่องมืออุปกรณ์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เครื่องจักรจนเพียงพอ และต้องแสดงหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดระหว่างบริษัทอย่างชัดเจน นอกจากนี้ในการยื่นขอสิทธิดังกล่าวผู้ขอต้องเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินและปริมาณงาน สำหรับโครงการสำรวจหรือผลิตโดยสังเขปโดยกำหนดให้ช่วงสำรวจมีระยะเวลาไม่เกิน6 ปี

 ฉบับที่ 2 คือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ...ซึ่งเป็นการกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2560 ซึ่งมีทั้งหมดรวม 26 ข้อ ครอบคลุมตั้งแต่บททั่วไป การกำหนดระยะเวลาให้แต่ละสัญญามีระยะเวลาได้ไม่เกิน 39 ปี แบ่งออกเป็น ระยะเวลาสำรวจ 6 ปี ต่ออายุได้ 3 ปี มีระยะเวลาการผลิตได้ไม่เกิน 20 ปี ต่ออายุได้ครั้งเดียวไม่เกิน 10ปี

 นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้รับสัญญามีหน้าที่นำส่งค่าภาคหลวงในอัตรา 10% ของผลผลิตรวมของปิโตรเลียม สำหรับค่าใช้จ่ายสามารถหักได้เท่าที่จ่ายจริง ตามที่แผนงานได้รับอนุมัติ แต่ไม่เกิน 50% ของผลผลิตรวม กรณีที่เกิน สามารถนำไปหักในไตรมาสถัดไปได้ ส่วนที่เหลือที่หักได้ผลผลิตรวม ค่าภาคหลวงและค่าใช้จ่ายของการขุดเจาะแล้ว หรือปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรสามารถจัดสรรให้ผู้รับสัญญาได้ในอัตราไม่เกิน 50%

ฉบับที่ 3 คือ ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ โดยกำหนดให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐโดยหักจากผลผลิตรวมของปิโตรเลียมในอัตรา 10% โดยให้หักจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายผลผลิตรวมของปิโตรเลียม และยื่นแบบแสดงรายการนำส่งค่าภาคหลวงพร้อมการนำส่งค่าภาคหลวงเป็นสกุลเงินบาทไทยเป็นรายเดือนต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

 และ 4.ร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ อาทิ มีการกำหนดพื้นที่ที่มีการสำรวจปิโตรเลียมชัดเจน มีข้อมูลคาดการณ์ได้ว่า มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบตั้งแต่ 300 ล้านบาเรลขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มีค่ามากกว่า 400 ล้านบาเรลต่อหลุม หรือกรณีของก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ 3

ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มากกว่า 4 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุม ให้ใช้วิธีสัญญาจ้างบริการ

“พูดง่ายๆ คือ หลุมไหนที่มีศักยภาพสูงหลุมนั้นให้ใช้วิธี สัญญาจ้างบริการ ซึ่งประโยชน์ต่างๆที่เกิดขึ้นจะเกิดกับรัฐเป็นสำคัญ ทำให้ทรัพยากรคนไทยตกอยู่กับคนไทย นอกจากนี้จากข้อมูล ระบุว่า

 ประเทศไทยมีโอกาสในการพบปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 39% ดังนั้น จึงกำหนดให้ในพื้นที่ใดที่มีโอกาสพบปิโตรเลียมสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 39%ให้ดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวให้ใช้

 ระบบแบ่งปันผลผลิต ส่วนกรณีที่มีโอกาสต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 39% ให้ใช้ระบบสัมปทาน ทั้งนี้ ให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าวทุกๆ 3 ปี”

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า คาดว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ทันเวลากับการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ในเดือนตุลาคมนี้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ขึ้นภาษีน้ำหวาน คาดดื่มชูกำลัง-น้ำอัดลมผลักภาระคนไทย  

     คลังชงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากเครื่องดื่มผสมน้ำตาลทรายให้ ครม. พิจารณาวันนี้ อิงระดับความหวาน 5 ระดับ ต่ำสุด 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม ไม่เสียภาษี แต่ถ้าความหวานสูงเกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม จะเสียภาษีสูงสุด 1 บาท เผยเครื่องดื่มชูกำลัง เจอภาษีสูงสุด รองลงมา คือ น้ำอัดลม คาดประชาชนรับเคราะห์แทน เหตุถูกผลักภาระด้านราคา ระบุมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี เริ่มเก็บจริงปี 63 ส่วนภาษีเหล้า-บุหรี่ จะเสนอครม. อนุมัติอีกครั้งก่อนกฎหมายบังคับใช้ 16 ก.ย.นี้

       นายสมชาย พูนสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเสนอกฎหมายลูกตามพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติกฎกระทรวงเกี่ยวข้องกับการกำหนดตัวเลขพิกัดอัตราภาษีที่กรมสรรพสามิตจะใช้เก็บจริงสำหรับรายการสินค้าทั่วไป เช่น รถยนต์ เครื่องดื่ม ในวันนี้ (15 ส.ค.) ก่อนจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป  

        ส่วนพิกัดอัตราภาษีในหมวดรายการสินค้าที่มีความอ่อนไหว เช่น เหล้า บุหรี่นั้น จะยังไม่เสนอให้ ครม. พิจารณาในครั้งนี้ แต่จะรอเสนออีกครั้งในช่วงที่ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 16 ก.ย.2560 โดยจะดำเนินการพร้อมกันกับการเสนอกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตที่เป็นกฎหมายลูกซึ่งยังเหลืออีก 1 ฉบับ      

        โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา ได้อนุมัติกฎกระทรวงเพื่อรองรับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ไปแล้วทั้งสิ้น 28 ฉบับ จากจำนวนรวมการออกกฎกระทรวงที่จำเป็นทั้งสิ้น 30 ฉบับ โดยกฎกระทรวงทั้ง 28 ฉบับดังกล่าว จะเป็นเรื่องของกระบวนงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิธีชำระภาษี การขอใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น

               สำหรับวัตถุประสงค์ของการกำหนดตัวเลขพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าทั่วไป เนื่องจากผู้ประกอบการเรียกร้องให้กำหนดพิกัดอัตราภาษีใหม่ที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการคำนวณต้นทุนและวางแผนการดำเนินธุรกิจ หลังจากที่ผู้ประกอบการมีความเข้าใจว่าอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่จะไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้า แต่เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในกระบวนการทำงานเท่านั้น

               โดยการกำหนดพิกัดอัตราภาษีเครื่องดื่ม จะอิงตามค่าระดับความหวานใน 5 ระดับ คือ เริ่มตั้งแต่ 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่ต้องเสียภาษี , เกิน 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษีที่ 10 สตางค์ , เกิน 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ , เกิน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ , เกิน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาท และตั้งแต่ 18 กรัมขึ้นไป เสียภาษีที่ 1 บาท

               ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่มีค่าความหวานเกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ส่วนเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าภาษีที่ใหญ่สุด จะมีค่าความหวานอยู่ที่ระดับเกินกว่า 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร

            ส่วนระยะเวลาการเริ่มจัดเก็บภาษีตามอัตราใหม่ กรมสรรพสามิตจะกำหนดให้เริ่มเก็บจริงหลังกฎหมายได้มีผลบังคับใช้แล้ว 2 ปี เพื่อให้เวลาเอกชนในการปรับตัว โดยบางรายอาจยินยอมปรับสูตรการผลิตโดยการปรับลดค่าความหวานลง เพื่อที่จะทำให้ตัวเองเสียภาษีในอัตราที่ถูกลงเรื่อยๆ ตามช่วงค่าความหวานซึ่งสามารถปรับลดลงมาได้ แต่เมื่อถึงปี 2563 กรมสรรพากรจะเริ่มทำการเก็บภาษีตามอัตราใหม่ตามประกาศของกฎกระทรวงการคลัง และในทุกๆ 2 ปีกรมสรรพสามิตจะมีการทบทวนอัตราภาษีแบบขั้นบันใด โดยจะดำเนินการ 3 ครั้ง ซึ่งจะทำให้การปรับอัตราภาษีโดยรวมใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ปี

               อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสรรพากร ได้แสดงความเป็นห่วงต่อกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่มที่ช่วยเหลือภาคการเกษตร เช่น เครื่องดื่มพืชผัก-ผลไม้ ซึ่งมีทั้งสิ้น 111 รายการตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ก่อนการออกกฎหมายใหม่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต แต่กำลังต้องเริ่มแบกรับภาษีค่าความหวานตามกฎหมายใหม่ด้วย      

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับขึ้นภาษีน้ำหวานในครั้งนี้ ผู้ผลิตมีแนวทางที่จะลดต้นทุนได้ คือ ต้องลดปริมาณน้ำตาลลงมา เพื่อให้เกณฑ์ความหวานลดต่ำลง และเสียภาษีในอัตราที่น้อยลง แต่หากไม่ลดปริมาณน้ำตาล จะมีทางออกอีกทางหนึ่ง ก็คือ การผลักภาระไปให้กับผู้บริโภคโดยการปรับขึ้นราคา เพื่อชดเชยต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ยอดร้องเรียนโรงงานพุ่ง23% แหกกฎหมาย-กลิ่นเหม็น-เสียงดัง

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงเรื่องร้องเรียนและเหตุภาวะฉุกเฉินอันเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2559-กรกฎาคม 2560) โดยศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียน 427 เรื่อง เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ที่มี 348 เรื่อง) เหตุภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น 135 เรื่องลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ที่มี 169 เรื่อง)

ปัญหาร้องเรียนส่วนใหญ่เกิดจากการที่โรงงานบางโรงลักลอบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่ดำเนินมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมเช่น กลิ่นเหม็น เสียงดัง ฝุ่นละอองและเขม่าควัน น้ำเสีย ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต กากของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล และเหมืองแร่ ตามลำดับ จังหวัดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ ปทุมธานี ส่วนเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับโรงงาน สาเหตุเกิดจากเพลิงไหม้มากที่สุด รองลงมาคืออุบัติเหตุ สารเคมีรั่วไหล และการชุมนุมคัดค้าน ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีเหตุภาวะฉุกเฉินมากที่สุด คือชลบุรี

“กระทรวงได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ตั้งแต่การจัดทำแผนการตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการเข้มงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทั่วไปจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจโรงงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และจะเน้นพิเศษสำหรับโรงงานที่ถูกร้องเรียนซ้ำซากมีการเข้าตรวจมากกว่า 2 ครั้ง/ปี ซึ่งจะรายงานผลความก้าวหน้าให้ผมทราบเป็นประจำทุกเดือนการตรวจโรงงานของเจ้าหน้าที่ จะให้คำปรึกษาแนะนำโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้จัดทำโครงการเสริมสร้างโรงงานที่ดีเพื่อลดปัญหาร้องเรียนจากการประกอบกิจการโรงงาน SMEs ในภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ

 เกี่ยวกับกฎหมายโรงงานการจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมโรงงานอย่างถูกต้องเหมาะสม” นายสมชายกล่าว

นอกจากนี้กระทรวงยังดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้แทนชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมตรวจสอบสถานประกอบการ ร่วมกับโรงงานและกระทรวง รวมทั้งร่วมตัดสินใจในแผนงานและกิจกรรมของโรงงานที่ส่งผลต่อชุมชนตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันมีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ปี 2551-2560 ทั้งสิ้น 2,135 ราย ในปี 2559 มีผู้ได้รับใบประกาศนียบัตร 184 ราย ในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ผ่านเกณฑ์ฯ 200 ราย และปี 2561 มีเป้าหมาย

 จะเปิดรับสมัครสถานประกอบการ 150 ราย โดยเฉพาะรายที่มีปัญหากับชุมชนควรเข้าร่วมโครงการนี้ ทั้งนี้กระทรวงยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนรวมกว่า 432 เครือข่าย ครอบคลุมโรงงานที่มีปัญหาใน 54 จังหวัด ซึ่งผลการสำรวจความพึงพอใจโดยรวมของประชาชน เมื่อโรงงานเข้าโครงการดังกล่าว ปรากฏว่ามีระดับความพึงพอใจมากกว่า 80

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

โครงการ9101ฯขยับใกล้เป้าหมาย ชุมชนทั่วปท.ตื่นตัวพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม

นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้โครงการมีความคืบหน้ากว่า 50% และสามารถเบิกง่ายงบประมาณบางส่วนเข้าสู่ชุมชนไปแล้วกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนค่าแรงคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือนสิงหาคม ส่วนค่าจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็เบิกจ่ายไปแล้วเช่นกันกว่า 80% โดยรวมการดำเนินงานในโครงการ 9101 มีความคืบหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 75% มีการดำเนินงานครบทั้ง 8 กิจกรรม ซึ่งก็มีหลายโครงการที่แล้วเสร็จบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าการดำเนินงานในโครงการจะสามารถเสร็จสิ้นเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ภายในเดือนกันยายนอย่างแน่นอน

สำหรับสัดส่วนการดำเนินงานในโครงการทั้งสิ้น 24,160 โครงการ ที่มีการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 35% โครงการปลูกพืช 20% โครงการเกี่ยวกับเลี้ยงสัตว์และประมง 10% อีก 5% เป็นเรื่องของการถนอมอาหารและฟาร์มชุมชน โดยทุกโครงการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความสมัครใจและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีตัวเลขความต้องการสูงกว่าโครงการอื่นๆ สืบเนื่องมาจากเกษตรกรไทยต้องการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อผลิตพืชผลทางการเกษตรให้มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกับลดต้นทุนการผลิตด้วยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง ซึ่งในระยะยาวก็จะทำให้ภาคการเกษตรของประเทศสามารถพัฒนา พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทำให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความยั่งยืนและมั่นคง

นางวัชรีพร โอฬารกนก ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลดำเนินงานจนถึงขณะนี้ เบื้องต้นสามารถประเมินผลในเชิงบวกได้ว่า เกษตรกรทุกชุมชนมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรกรรม มีความรักสามัคคีเกิดขึ้นในชุมชน เกิดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน และสามารถที่จะดำเนินงานต่างๆ ในลักษณะกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนและมีสภาพคล่องส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ถกหน่วยงานน้ำ นายกฯห่วงพายุฤดูมรสุม สั่งวางแผนรับอุทกภัย

ถกหน่วยงานน้ำนายกฯห่วงพายุฤดูมรสุมสั่งวางแผนรับอุทกภัยเน้นจุดเสี่ยงการเตือนภัยฝนถล่มใต้หลายจว.อ่วม

นายกฯเรียกประชุมหน่วยงานน้ำ 15 สิงหาคม วางแผนบูรณาการทำงานรับสถานการณ์อุทกภัย สั่งจับตาพายุช่วงมรสุมเป็นพิเศษ เพื่อความไม่ประมาท ขณะที่หลายจังหวัดใต้ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมน้ำป่าไหลหลากเป็นวงกว้าง อย่างจ.ตรังผู้ว่าฯเตือน 10 อภ.เฝ้าระวัง หลังฝนกระหน่ำท่วมฉับพลัน

4 อ.กระบี่ระทึก!ชาวบ้าน-กู้ภัยช่วยลากกระบะถูกน้ำเชี่ยวพัดตกคลองคนขับดับคาที่

มีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมช่วงฤดูมรสุม เพื่อวางแผนป้องกันรับมือเหตุน้ำท่วมรุนแรง ตั้งเป้าลดผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชน ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคใต้เริ่มขยายวงกว้าง

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้รับรายงานสถานการณ์อุทกภัยช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมโดยรวมเริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีสถานการณ์อยู่ 8 จังหวัดคือ สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี หนองคายและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรมชลประทานและกองทัพเรือเร่งใช้เครื่องผลักดันน้ำและเรือผลักดันน้ำ ระบายน้ำออกนอกพื้นที่ คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม

“ทั้งนี้ นายกฯให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะช่วงฤดูมรสุมที่ต้องเฝ้าจับตาเรื่องพายุเป็นพิเศษ แม้ว่าหลายฝ่ายออกมาให้ข้อมูลว่าจะไม่เกิดอุทกภัยใหญ่เช่นปี 2554 แต่ต้องไม่ประมาท เพราะอาจเกิดสถานการณ์ขึ้นได้ในพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุซ้ำซากมาแล้ว โดยสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามข้อมูลใกล้ชิด และเตรียมรับมือปริมาณน้ำช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมที่จะถึงนี้”นายกฯกล่าว

เรียกถกหน่วยงานน้ำ15สค.

และว่า นอกจากนี้ นายกฯยังกำชับเรื่องเตือนภัยแก่ประชาชน และจัดทำแผนลดความเสี่ยงหากเกิดอุทกภัยในจุดสำคัญ เช่น โรงพยาบาล สนามบิน พื้นที่เศรษฐกิจ ต้องดำเนินการจริงจังเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ หลังคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีแล้ว วันที่ 15 สิงหาคมหลังประชุมคณะรัฐมนตรี จะเรียกประชุมอธิบดีรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทานหารือแนวทางบูรณาการทำงานต่อไปสำหรับบริหารจัดการน้ำในภาคกลาง เช่น ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปีนี้ถือเป็นปีแรก ที่กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้เต็มที่ ไม่มีข้อจำกัด คาดว่าน่าจะรับมือกับสถานการณ์ฝนตกหนักได้เป็นอย่างดี

เกาะหลีเป๊ะพื้นที่ภัยพิบัติ

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคใต้เริ่มขยายวงกล้าง อย่างจ.สตูล นายสุวรรณ ช่วยนุกูล นายอำเภอเมืองสตูลประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติบนเกาะหลีเป๊ะ มีชาวบ้านเดือดร้อน 400 ครัวเรือน ประมาณ 1,000 คน ขณะที่สภาพอากาศของเกาะหลีเป๊ะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้น้ำที่ท่วมขังมีปริมาณมาก นอกจากนี้ ยังมีขยะปริมาณมากถูกน้ำพัดไหลมาจากบ้านเรือนชาวเลร้านค้า รีสอร์ตกระจายลงพื้นที่น้ำท่วมขัง ขณะที่ชาวเลเริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพราะน้ำจากบ่อบาดาลถูกท่วมน้ำไม่สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนำถุงยังชีพ 500 ชุด รวมทั้งเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพิ่มบนเกาะหลีเป๊ะอีก 1 ตัว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมในจ.สตูลหลายอำเภอ อาทิ อ.ท่าแพ. อ.ควนโดน. อ.เมือง อ.ควนกาหลงประสบน้ำท่วมขังน้ำป่าไหลหลากตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม หลายหน่วยงานเร่งระดมช่วยเหลือชาวบ้านเป็นการด่วน

ฝนถล่มตรังจม4อำเภอ

เช่นเดียวกับ ที่จ.ตรังเกิดพายุฝนตกหนัก แรงลมทำให้ต้นมะขามยักษ์ บริเวณถนนทางหลวงชนบทสายตรัง-ท่าอากาศยานตรัง ต.โคกหล่อ อ.เมือง ขนาด 2 คนโอบ สูง 17 เมตรโค่นหักปิดการจราจร ก่อนที่เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลโคกหล่อเข้าตัดกิ่งต้นมะขามที่โค่น เปิดการจราจรได้แล้ว นอกจากนั้น ยังมีน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลหลากเข้าท่วมถนน และบ้านเรือนชาวบ้านใน 4 อำเภอ คือ อ.นางโยง อ.ปะเหลียน อ.ห้วยยอด อ.เมืองตรัง ชาวบ้านเดือดร้อนประมาณ 100 ครัวเรือน โดยเฉพาะหมู่ที่ 3,4,6 และ 8 ต.น้ำผุด อ.เมือง น้ำป่าไหลท่วมโรงเรียนน้ำผุดและบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำสูง 60 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น สวนยางพาราและสวนผลไม้ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ส่วนบนถนนสายบ้านโพธิ์ บริเวณห้วยยางแดง หมู่ที่ 5 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง น้ำท่วมผิวการจราจรเป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร

นางกุลธารินทร์ โรจนสุรสีห์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดตรังกล่าวว่า ฝนที่ตกหนักหลายวันติดต่อกัน ทำให้เกิดมวลน้ำสะสมบนเทือกเขาบรรทัดและไหลลงพื้นที่ราบลุ่มเชิงเขาน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม 4 อำเภอ 5 ตำบลกว่า 30 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ต.ละมอ,ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง,ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด,ต.ลิพัง อ.ปะเหลียนและ ต.นาโยงใต้ อ.เมือง โดยเฉพาะที่หมู่ 4 ต.นาโยงใต้ อ.เมืองซึ่งเป็นหมู่บ้านที่น้ำท่วมซ้ำซาก ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร ส่วนต.ลิพัง อ.ปะเหลียน น้ำป่าหลากท่วม 7 หมู่บ้าน 150 หลังคาเรือนระลอกสอง ทำให้ถนนเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาด ไม่ต่ำกว่า 4 สาย ระยะทางประมาณ 200 เมตร บางจุดน้ำสูงกว่า 1 เมตร คาดว่าถ้าไม่มีฝนตกซ้ำ สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

ผู้ว่าฯประกาศเตือน10อ.เฝ้าระวัง

ด้านนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังออกประกาศเตือนทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 10 อำเภอระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัย ดินโคลนถล่มและคลื่นลมแรงออกไปอีก โดยให้ทุกฝ่ายที่รับผิดชอบเตรียมพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือและสถานที่อพยพประชาชนถ้าเกิดกรณีฉุกเฉินตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ ชาวบ้านจัดเวรยามร่วมกับเจ้าหน้าที่ อบต.ฝ่ายปกครองเฝ้าระวังสังเกตปริมาณน้ำที่ยังคงมีสีแดงเข้มและเอ่อล้นตลิ่ง ด้านปภ.จว.ตรังนำเรือท้องแบน 2 ลำ และเรือไฟเบอร์ 7 ลำ ไปมอบให้ อบต.ในพื้นที่ได้ใช้ช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งคนเจ็บอาจต้องรีบไปโรงพยาบาล

ชาวบ้านนับร้อยกู้รถตกน้ำคนขับดับ

ส่วนที่จ.กระบี่ หลังฝนตกหนักนานหลายชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมถนนสายเขาประ-พรุเตียว พื้นที่หมู่ 1 ต.พรุเตียว อ.เขาพนมสูงกว่า 1 เมตร ท่วมถนนหลายร้อยเมตร ทำให้เกิดอุบัติเหตุสลด น้ำพัดรถยนต์ตกถนนคนขับเสียชีวิต เจ้าหน้าที่กู้ภัยและชาวบ้านนับ 100 คนใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ช่วยกันชักลากรถคันดังกล่าวขึ้นจากคลองพรุเตียว ต.พรุเตียว อ.เขาพนมได้สำเร็จ ในรถพบศพนางกาญจนา ชูค้ำ อายุ 40 ปี คนขับเป็นชาวบ้านหมู่ 1 ต.พรุเตียว สอบสวนทราบว่า ผู้ตายขับรถมาถึงจุดเกิดเหตุซึ่งน้ำท่วมสูง ไหลเชี่ยวจึงพัดรถตกคลอง ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์จึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาช่วยเหลือ

เตือน8อ.กระบี่เสี่ยงภัยระวังน้ำป่า

ขณะที่นายไพศาล ขุนศรี ปภ.จ.กระบี่ ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 8 อำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่รอบเทือกเขาพนมเบญจา เฝ้าสังเกตระดับน้ำในลำคลอง ตรวจเช็กจุดวัดปริมาณน้ำฝน หากมีปริมาณน้ำฝนสะสมเกิน 80 มิลลิลิตรภายใน 24 ชั่วโมง ปริมาณน้ำในลำคลองเพิ่มขึ้น ให้แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังอันตรายจากน้ำท่วมน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ต้นไม้ล้ม เตรียมพร้อมขนย้ายทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงไว้ที่ปลอดภัยในระยะนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เปิดร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำผุด'กนช.'บูรณาการทั้งระบบ 

          หมายเหตุ- ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านวาระ 1 เข้าสู่การพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อรองรับการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นตรงกับ สำนักนายกรัฐมนตรี

          บันทึกหลักการและเหตุผล

          โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในหลายด้าน การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้กระทำโดยหลายหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาขาดความเป็นเอกภาพ ประกอบกับการจัดทำกิจกรรมและโครงการบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และบางครั้งส่งผล กระทบต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ดังนั้น จึงสมควร มีกฎหมายในการบูรณาการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดความเป็นเอกภาพ กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิ ขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ ตลอดจนจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" เรียกโดยย่อว่า "กนช." ประกอบด้วย

          (1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ(2) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง

          (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง

          (4) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)

          (5) กรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 6 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกรรมการผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 2 คน กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน

          (6) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

          ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการของกรมทรัพยากรน้ำอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

          มาตรา 11 กรรมการตามมาตรา 9(5) และ (6) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี อาจได้รับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

          มาตรา 16 กนช.มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยทั่วไป รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (1) กำหนดนโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

          (2) เสนอแนะและประสานแผนงานหรือโครงการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม และนโยบายตาม (1) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดงบประมาณแผ่นดิน

          (3) พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำนำเสนอตามมาตรา 34(1)

          (4) ควบคุม กำกับ ติดตาม เร่งรัดและตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ และการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการตาม (2) และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

          (5) ควบคุม ติดตาม ตรวจสอบแผนการใช้งบประมาณของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นต่างๆ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

          (6) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาปัญหาจากการ ปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบของแต่ละหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

          (7) กำหนดกรอบและแนวทางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำและกำหนดลำดับสำคัญของการใช้น้ำสำหรับกิจการประเภทต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมการ ลุ่มน้ำนำไปพิจารณาในการจัดสรรน้ำ

          (8) ให้ความเห็นชอบแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมของคณะกรรมการลุ่มน้ำต่างๆ

          (9) ให้ความเห็นชอบการอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สามตามมาตรา 42

          (10) พิจารณาและให้ความเห็นชอบในการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ

          (11) ไกล่เกลี่ยและชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำ

          (12) เสนอแนะเกี่ยวกับการออกหรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้

          (13) เสนอแนะคณะรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องให้มีการ ตรากฎหมายหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ

          (14) ปฏิบัติการอื่นใดตามกำหนดในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กนช.หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

          การเสนอข้อพิพาทระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อให้ กนช.ไกล่เกลี่ยและชี้ขาดตาม (11) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กนช.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          มาตรา 18 ให้ กนช.จัดทำนโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำตามมาตรา 17(1) ทุก 5 ปี ในการจัดทำนโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำตามวรรคหนึ่ง ให้ กนช.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กนช.กำหนด

          นโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ และให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำปฏิบัติตามนโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำดังกล่าว

          มาตรา 19 ในระหว่างที่นโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำตามมาตรา 17(1) มีผลใช้บังคับอยู่ ให้ กนช.ติดตามและประเมินผลการดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาทบทวนหรือปรับปรุงนโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการ บริหารทรัพยากรน้ำดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลง และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกปี

          มาตรา 23 ให้กรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กนช.โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (1) ปฏิบัติงานธุรการทั่วไปของ กนช.

          (2) ประสานการดำเนินงานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

          (3) รวบรวมและจัดเตรียมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ และริเริ่มกิจกรรมโครงการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของ กนช.

          (4) ช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำตามที่ได้รับการร้องขอ

          (5) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

          (6) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำแผนและโครงการพัฒนา บริหารจัดการ บำรุง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำต่อ กนช.

          (7) ประสานข้อมูลด้านการจัดการสารสนเทศทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในการจัดทำนโยบาย แผนงาน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำของ กนช.

          (8) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์ การพัฒนา การใช้ และการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

          (9) จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ กนช.และคณะกรรมการลุ่มน้ำ

          (10) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ กนช.มอบหมาย

          ลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำ

          มาตรา 24 การกำหนดลุ่มน้ำให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงสภาพอุทกวิทยา สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ ประกอบด้วย

          มาตรา 26 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา 24 แล้วให้คณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำนั้น ประกอบด้วย

          (1) กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนประมง ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทน กรมโรงงานอุตสาหกรรม

          (2) กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในเขตลุ่มน้ำนั้น จังหวัดละหนึ่งคน

          (3) กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำนั้นที่มาจากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ภาคละ 3 คน

          (4) กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และ ประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำจำนวน 3 คน

          ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตาม (1) เลือกกันเองเพื่อเป็นประธานกรรมการลุ่มน้ำ และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเลือกกรรมการลุ่มน้ำอีก 2 คน เป็นรองประธานลุ่มน้ำ

          ให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาคในเขตลุ่มน้ำนั้นเป็นกรรมการลุ่มน้ำและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาคแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาคอีกไม่เกินสองคนเป็น ผู้ช่วยเลขานุการ

          มาตรา 34 คณะกรรมการลุ่มน้ำมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยทั่วไปในเขตลุ่มน้ำ

          บทเฉพาะกาล

          มาตรา 97 ในระหว่างที่ยังไม่ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา 24 หรือมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำตามมาตรา 24 แล้ว โดยลุ่มน้ำที่กำหนดขึ้นไม่ได้แตกต่างจากลุ่มน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน และยังไม่มีคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา 26 ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2550 ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมในลุ่มน้ำนั้นไปพลางก่อน ทั้งนี้ ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

          พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์

          ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา

          ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...

          ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำจะทำให้เกิดองค์กรบริหารจัดการน้ำ นั่นคือ "คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" หรือ กนช.ขึ้นมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่ออุตสาหกรรม รวมไปถึงน้ำเพื่อการคมนาคม ท่องเที่ยว และจัดการปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำ ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำเสีย เป็นต้น ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับดังกล่าวจะทำให้ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ มีคณะกรรมการแต่ละลุ่มน้ำเพื่อจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมในลุ่มน้ำที่ ตัวเองรับผิดชอบ เพื่อเสนอต่อ กนช.เพื่อขอความเห็นชอบ หากร่างกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ เมื่อเกิดเหตุอุทกภัยจะทราบว่าพื้นที่ไหนใครรับผิดชอบ จะเกิดการบูรณาการกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อรับมือต่อภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อเป็นการลดความสูญเสีย

          เริ่มแรกเมื่อมีการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา ได้ให้ "กรมทรัพยากรน้ำ" เป็นเลขานุการของ กนช.แต่เมื่อคณะ กมธ.รับไม้ต่อมาพิจารณา จึงเห็นว่าจะให้กรมทรัพยากรน้ำมาเป็นเลขานุการของ กนช.ไม่ได้แล้ว เพราะในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามร่างนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และหน่วยงานส่วนราชการอื่นๆ มากมาย เฉพาะในประเทศไทย มีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำในทุกมิติถึง 38 ฉบับ มีกฎหมายระดับรองมากถึง 3,835 ฉบับ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 42 หน่วยงาน ดังนั้น การจะยกหน้าที่เลขานุการ ให้กับกรมทรัพยากรน้ำในฐานะองค์กรกลางสำหรับการดำเนินการ จึงไม่เหมาะสม เพราะการจะบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้ได้ทุกมิติจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่อยู่ภายใต้อำนาจ ของนายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแล

          ด้วยเหตุนี้คณะ กมธ.จึงได้จัดทำข้อเสนอนี้เสนอต่อสภาฯ เพื่อให้นำเรื่องเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งประจวบเหมาะกันกับรัฐบาลที่จะออกคำสั่ง มาตรา 44 เพื่อแต่งตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พิจารณาได้ 72 มาตรา จากทั้งหมด 100 มาตราแล้ว ดังนั้นในระหว่างการพิจารณาคณะ กมธ.จะนำคำสั่งมาตรา 44 ที่รัฐบาลกำลังจะออกมาดูและนำเนื้อหาในคำสั่งมาพิจารณาเพื่อทำให้ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่คณะ กมธ.กำลังพิจารณาอยู่มีเนื้อหาที่สอดรับและสอดคล้องกัน

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

สนช.ผ่านงบ กระทรวงอุต5,740ล้าน แผนบูรณาการงานใหม่เท122ล.ให้EEC

กางแผนงบปี”61 ก.อุตสาหกรรม 5,740 ล้าน เน้นบูรณาการแผนงานใหม่ 4 ด้าน EEC-เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ-ป้องกันปัญหาทุจริต

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงว่า ขณะนี้การจัดทำแผนงบประมาณประจำปี 2561 ของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยได้วงเงินที่ 5,740.39 ล้านบาท ลดลง 3.08% จากงบประมาณของปี 2560 ซึ่งมีวงเงินอยู่ที่ 5,922.88 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณปี 2561 จะเน้นแผนงานใหม่ 4 ด้าน (ตามตาราง) โดยงบประมาณทั้งหมด 5,740.39 ล้านบาท จะแบ่งใช้ใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.แผนงานบุคลากรภาครัฐ 1,617.97 ล้านบาท ลดลง 2.73% 2.งบประมาณตามฟังก์ชั่น 806.05 ล้านบาท ลดลง 52.33% อาทิ แผนการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

3.งบประมาณตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง และหน่วยงานในกำกับ (ไม่รวมวิสาหกิจ) 648.15 ล้านบาท ลดลง 9.98% อาทิ แผนงานพัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม บริการ การค้าและการลงทุน เป็นต้น

4.งบประมาณบูรณาการทั้งตาม Agenda และตามพื้นที่ 2,668.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.35% อาทิ แผนงาน บูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ แผนงานบูรณาการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น

“สาเหตุที่งบประมาณพื้นฐานถูกปรับลดลง เนื่องจากต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานกันมากขึ้น การทำงานเพียงลำพังหน่วยงานเดียวอาจไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดี หรือออกมาสมบูรณ์”

ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด เนื่องจาก สมอ.อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการสนามทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

สำหรับภาพรวมผลความสำเร็จการดำเนินงานของงบฯปี 2560 คือ 1.การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้รับการพัฒนาด้านผลิตภาพ 65% สร้างที่ปรึกษา วิทยากรด้านมาตรฐานการจัดการจำนวน 130 คน มาตรฐานระบบการจัดการของสถานประกอบการ 10 แห่ง เป็นต้น

2.การส่งเสริม SMEs หรือ Startup ได้ 2,024 คน กลุ่มที่ประสบปัญหา (Turn Around) เข้าสู่การพัฒนา 93 ราย และมีขีดความสามารถในสาขาเป้าหมาย 301 กิจการ 43 คน 2 กลุ่ม และกลุ่มแข็งแกร่ง (Strong) เร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักร SMEs 500 ราย 3.การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ 1,365 ไร่

4.การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เช่น การพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 591 ราย 5.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรดำเนินการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม OTOP จำนวน 217 ราย 795 คน อบรมประชาชนในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 90 คน 6.การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ (อันตรายไม่อันตราย) 21.85 ล้านบาท/ตัน/ปี 7.การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น SMEs และวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเพชรบุรี 210 ผลิตภัณฑ์

8.การพัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของการผลิต บริการ การค้า และการลงทุน เช่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมรายสาขา 10 โรงงาน

9.การป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เช่น การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 7 จังหวัด หรือ 400 โรงงาน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 สิงหาคม 2560

ชงแพ็กเกจหุ่นยนต์เข้ำครม.SCG-ซีพี-ปตท.ขอบีโอไอ 

          5 บริษัทยักษ์ไทย "SCG-CPFCPALL-ปตท.-KV" พาเหรดลงทุนหุ่นยนต์อัตโนมัติใช้แทนแรงงานคน จ่อยื่นขอส่งเสริมลงทุนจาก BOI พร้อมมาตรการภาษี 12,000 ล้านบาท หลังกระทรวงอุตฯ ชงแพ็กเกจหุ่นยนต์ เข้า ครม. ยักษ์หุ่นยนต์โลก "คูก้า-ฮิราตะ" พร้อมขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เร็วนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอ "แพ็กเกจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์" เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หลังจากที่ ได้สรุปมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน ทุกรูปแบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะส่งผล ให้นักลงทุน 6 รายที่สนใจจะขอรับ ส่งเสริมการลงทุนจากแพ็กเกจนี้สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพและการลงทุนใหม่เพื่อ ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์รวมถึงระบบ อัตโนมัติ (Automation) จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ทันที คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 12,000 ล้านบาท

          ทั้งนี้ นักลงทุนทั้ง 6 รายที่สนใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ประกอบไปด้วย กลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCG), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท เควี อิเลคทรอนิกส์ จำกัด (KV) และบริษัท คูก้า โรโบติกส์ (ไทยแลนด์) นอกจากนี้ยังมีบริษัท ฮิราตะ คอร์ปอเรชั่น เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในระบบอัตโนมัติ 1 ใน 5 รายของญี่ปุ่น แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในไทยด้วย

          ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นักลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจจะยื่นขอ BOI จะมีทั้งที่เป็นรายเก่าที่ขอขยายการลงทุนเพื่อผลิตชิ้นส่วน กับนักลงทุนรายใหม่ที่จะเข้าสู่การปรับเปลี่ยนระบบและกระบวนการโดยใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยแพ็กเกจที่เตรียมเสนอเข้า ครม. เช่น การ "ยกเว้น" ภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง หากการนำเข้าชิ้นส่วนบางประเภทที่ เป็นเป้าหมายและมีความต้องการใช้ ส่วนของ BOI จะเปิดให้บางธุรกิจ ที่ต้องการใช้หุ่นยนต์ได้สิทธิประโยชน์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำจัดให้เพียงบางประเภท ธุรกิจเท่านั้น

          นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เพิ่มการทำตลาดที่กำหนดให้โรงพยาบาลรัฐจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ที่เป็นอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายด้วย

          5 บริษัทไทยนำร่อง

          สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของบริษัทไทยทั้ง 5 บริษัท จะเป็นการลงทุนระบบหุ่นยนต์เข้ามา ใช้แทนระบบเครื่องจักรเดิมเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตภายในโรงงานทั้งหมด โดย 1) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ได้เริ่มโครงการนำร่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันธุรกิจเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่แช่แข็งไทย ลงทุน 944 ล้านบาท ทดแทนแรงงาน 1,050 คน/วัน

          2) บริษัทซีพี ออลล์ หรือ CPALL จะทำโครงการนำร่องระบบการจัดเก็บสินค้าและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ (AS/RS) 15,000 แห่ง เพื่อใช้แรงงานน้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีความถูกต้อง สามารถควบคุมสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์ ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท

          3) เครือ SCG มีโครงการนำร่องระบบ การจัดเก็บสินค้าและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ (AS/RS) 9,000 แห่ง เพื่อ ปรับปรุงระบบการเก็บรักษาการใช้ประโยชน์ให้มีความถูกต้องและความปลอดภัย ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 179 ล้านบาท ลงทุนในประเทศ 135 ล้านบาท การลงทุนทั้งหมดสามารถทดแทนกำลังคนจาก 61 คน เหลือ 47 คน

          4) บริษัท ปตท. หรือ PTT วางแผน 4 ปี (2559-2563) ในการพัฒนาหุ่นยนต์บังคับใต้น้ำ (ROV) ใช้สำหรับ ท่อส่งก๊าซเพื่อการทำงานและการบำรุง หากการลงทุนเป็นไปตามแผน หุ่นยนต์ ROV จะเข้ามาแทนที่การจ้างบริษัทเอาต์ซอร์ซ โดยหุ่นยนต์ใต้น้ำ 1 ตัวสามารถลดต้นทุนได้ถึง 70 ล้านบาท

          5) บริษัท เควี อิเลคทรอนิกส์ จำกัด หรือ KV จะทำโครงการนำร่อง ระบบอัตโนมัติสำหรับการผลิตแรงดันไฟฟ้าต่ำและหม้อแปลง สามารถเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดเจนว่า หากบริษัทลงทุน 9.1 ล้านบาท ประหยัดต้นทุน ได้ 2.8 ล้านบาท/ปี หากกำลังการผลิตอยู่ที่ 7,000 ยูนิต/วัน จากที่ต้องใช้ กำลังคน 28 คน ก็จะลดลงเหลือเพียง 10 คน

          6) บริษัท คูก้า โรโบติกส์ (ไทยแลนด์) เป็นนักลงทุนต่างชาติ มีแผนขยาย การลงทุนในไทยไปสู่ภาคการผลิต ชิ้นส่วนอัตโนมัติและหุ่นยนต์หยิบจับในพื้นที่ EEC จากปัจจุบันให้บริการติดตั้งระบบเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์อยู่แล้ว

          เปิดแพ็กเกจหุ่นยนต์

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า นักลงทุนในอุตสาหกรรม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่จะเข้ามา ตั้งโรงงานในเขตพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) จะได้เพิ่มสิทธิ พิเศษสำหรับดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามา ทำงานขยายระยะเวลาของวีซ่าให้เป็น 5 ปี จากเดิม 1 ปี ส่วนบริษัท ที่มีความร่วมมือกับทางสถาบันการศึกษา/สถาบันเครือข่าย ซึ่งตรงกับ หลักเกณฑ์การพิจารณาภายใต้ พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะได้รับการ "ยกเว้น" ภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี โดยมาตรการสนับสนุนการพัฒนานี้จะเป็นการสร้างบุคลากรขึ้นมาใหม่ป้อนให้กับ S-Curve และใน EEC ที่ นักลงทุนยังมีความกังวลเรื่องของบุคลากรอาจไม่เพียงพอ หรือมีความสามารถไม่ตรงกับอุตสาหกรรม

          โดยสรุปแล้ว มาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนคลัสเตอร์หุ่นยนต์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง อุตสาหกรรมการผลิต (Demand) ใช้มาตรการทางภาษีด้วยการหักค่าใช้จ่ายหรือหักค่าเสื่อมอัตราเร่ง/หักค่าเสื่อมเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อซื้อระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ (ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40%) และหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับการอบรมบุคลากร, มาตรการทางการเงิน ประสานสถาบันการเงินในการจัดสรรวงเงินสินเชื่อในการปรับปรุงกระบวนการผลิต, มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (ได้สิทธิ์จาก BOI) "ยกเว้น" ภาษีเงินได้ 3 ปี สัดส่วน 50% ของเงินลงทุน และ "ยกเว้น" อากรขาเข้าเครื่องจักร

          กับส่วนที่สอง อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ (Supply) จะใช้มาตรการดึงดูดนักลงทุนด้วยการ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้ 8 ปี ลดหย่อน 50% อีก 5 ปี, ใช้กองทุน Fund of Fund เพื่อลงทุนใน Venture Capital ในลักษณะ Matching Fund, มาตรการทางการเงิน จะมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, มาตรการทางภาษี ปรับโครงสร้างอากรขาเข้าชิ้นส่วน/อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต "ยกเว้น" อากรขาเข้ามาทำ R&D/ทดสอบ และหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับการอบรมบุคลากร

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 สิงหาคม 2560

กลุ่มวังขนายร่วมยินดี

นส.ธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย ร่วมแสดงความยินดีกับชาวไร่อ้อยของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มวังขนาย หลังจากได้เข้ารับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นประจำปี 2560 ในประเภทชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ประเภทพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และในประเภทบริหารปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการพันธุ์อ้อย ดิน และปุ๋ย จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้จัดพิธีมอบรางวัลชาวไร่ อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2560 ณ อาคารอิมแพ็ค เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเร็วๆ

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 14 สิงหาคม 2560

อีก 7 ปี EEC ส่อขาดน้ำ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ในพื้นที่ EEC อุตสาหกรรมและการลงทุนต่าง ๆ จะขยายตัวอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “น้ำ” กรมชลประทานระบุว่า ในช่วง 5 ปีจากนี้ปริมาณน้ำในภาคตะวันออกยังพอรองรับ

หากว่า 16 โครงการที่กรมชลประทานเตรียมพัฒนาขยายศักยภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 16 โครงการ ปริมาณน้ำในภาคตะวันออกจะไม่พอรองรับการใช้ตั้งแต่ช่วงปี 2567 ดังนั้นจึงมีความ “จำเป็น” ต้องมีการวางแผนรองรับ เพราะหากว่าระบบน้ำและไฟฟ้าไม่พอรองรับการใช้อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในพื้นที่ EEC ดังนั้นต้องจึงมีการผันน้ำจากโครงการสตึงมนัม ซึ่งเดิมทีลำน้ำดังกล่าวไหลลงทะเลประมาณ 1,040 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยที่ไม่มีการประโยชน์ กระทรวงพลังงานจึงมองการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ และผันน้ำเข้ามาฝั่งไทย 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรองรับพื้นที่ EEC ในเรื่องของการผันน้ำและวางท่อเพื่อมาเชื่อมกับระบบท่อที่มีอยู่ในพื้นที่เดิมก็จะให้กรมชลประทานดูแลในเรื่องนี้ นอกจากโครงการนี้แล้ว เรายังมีการวางแผนเพื่อจัดหาน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้อีก 2 เรื่อง คือ 1) การรีไซเคิลน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และ 2) ศึกษาการกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด เพราะคาดว่าต้นทุนในอนาคตจะถูกลงจากการพัฒนาเทคโนโลยีการกลั่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 13 สิงหาคม 2560

ชี้ขยะอุตสาหกรรมมีค่าอย่าทิ้ง

                    กรมโรงงานเปิด 3 อุตสาหกรรม อาหาร–เซรามิค–ไฟฟ้า แปลงขยะเป็นทรัพย์สิน หวังลดปัญหาลักลอบทิ้งขยะอุตฯ พร้อมช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ

                    นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ส่งเสริมให้โรงงานเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากของเสีย เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสีย เนื่องจากขณะนี้ยังมีโรงงานหลายแห่งลักลอบทิ้งของเสียตามสถานที่ต่างๆ และกรมฯ ได้ศึกษากากของเสียอุตฯพบว่า มีหลายประเภทที่นำกลับมาใช้ประโยชน์และมีมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการสามารถนำกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียและเศษเหลือจากกระบวนการจากโรงงานผลิตอาหารมาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือนำเศษวัตถุดิบจากการผลิตและกากตะกอนน้ำเสียมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือนำน้ำเสียไปผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปปั่นไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ขนาดรูปร่างไม่ได้มาตรฐานนำไปขายเป็นอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มรายได้กับโรงงาน

ปี 59  อุตฯอาหารและเครื่องดื่ม มีการส่งกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียไปกำจัดด้วยการฝังกลบ ปริมาณมากกว่า 36,000 ตัน หากนำกากตะกอนน้ำเสียดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดิน และจำหน่าย จะช่วยสร้างมูลค่าได้มากกว่า 127 ล้านบาท และลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากการฝังกลบลงได้ประมาณ 20,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีอุตฯผลิตเซรามิก อิฐ กระเบื้องสำหรับงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการสามารถนำเศษกระเบื้องแตก อิฐทนไฟ และกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในกระบวนการผลิต ในส่วนของน้ำที่ปนเปื้อนสีจากกระบวนการพ่นสีให้นำไปตกตะกอนและนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการพ่นสีเพื่อลดการใช้น้ำ ในปี 59 อุตฯเซรามิค ขออนุญาตนำกากจำพวกกากตะกอนน้ำเสีย เศษอิฐ กระเบื้อง หรือวัตถุดิบ ออกนอกโรงงานกว่า 230,000 ตัน ขอนำไปฝังกลบเพียง 250 ตัน เพียง 0.1% ของปริมาณที่ขออนุญาตนำออกนอกโรงงาน กากของเสียส่วนใหญ่จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น นำกลับไปบดย่อยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน หรือนำไปปรับสภาพพื้นที่ลุ่มเพื่อใช้ประโยชน์ ลดต้นทุนการผลิตโดยรวมได้ เมื่อเทียบกับการนำไปฝังกลบ

ขณะเดียวกันยังมีอุตฯ ผลิตกระแสไฟฟ้า จากการกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ต้องเผาถ่านหินหรือชีวมวลมักจะก่อให้เกิดเถ้าลอยและเถ้าหนัก ส่วนหนึ่งจะนำเอาเถ้าลอยไปใช้ทดแทนซีเมนต์ในงานคอนกรีตต่างๆ และเถ้าหนัก สามารถนำไปบดแปรรูปทำเป็นอิฐ หรือ วัสดุแทนทรายในงานปรับพื้นที่หรือถนนได้ โดยต้องมีผลวิเคราะห์และนำกากดังกล่าวไปพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นของเสียอันตรายก่อนนำกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งในปี  59 โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง มีการขออนุญาตนำเถ้าหนักและเถ้าลอยที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นของเสียอันตรายออกนอกโรงงานมากกว่า 3 ล้านตัน ขอนำไปฝังกลบเพียง 8,620 ตัน คิดเป็นเพียง 0.3% ของปริมาณที่ขออนุญาตนำออกนอกโรงงาน โดยเฉพาะเถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถส่งออกไปใช้สร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนกว่า 330,00 ตัน คิดเป็น 14% ของปริมาณเถ้าลอยที่ขออนุญาตนำออกนอกโรงงาน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า 700 ล้านบาท

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 สิงหาคม 2560

ปรับเปลี่ยนที่นามาปลูกอ้อยแปลงใหญ่ประชารัฐ ลดความเสี่ยงเรื่องตลาด มีรายได้มั่นคง

เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานหลายรายปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมๆ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่ได้ผลซ้ำซาก ปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรอื่นที่เหมาะสมกว่า ดังเช่น ในจังหวัดอำนาจเจริญที่เกษตรกรรวมตัวกับปรับเปลี่ยนการทำทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสมมาทำไร่อ้อยให้สอดรับกับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ในลักษณะแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ซึ่งเป็นการทำเกษตรแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) ที่มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ในการพัฒนารายได้สินค้าเกษตร สร้างรายได้เร็ว เชื่อมโยงตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้แก่เกษตรกรรายย่อย คาดหวังให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า แนวทางการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ในปีงบประมาณ 2560 มีแปลงเกษตรเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 1,910 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 3,400,000 ไร่ เกษตรกร 250,000 รายอยู่ใน 10 กลุ่มสินค้า 67 ชนิดสินค้า โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นคือกลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ เช่น ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด เป็นต้น   ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เสริมการใช้เทคโนโลยี มีการเชื่อมโยงตลาด และเพิ่มเติมการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรให้เกิดความมั่นคงมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการแปลงเกษตรของตนเอง

นอกจากนี้ ในแปลงเกษตรที่เข้าร่วมโครงการใหม่จะเน้นให้เกษตรกรได้วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแผน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และในปี 2561 ได้วางเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,200 แปลง ขณะที่โรดแม็ปในระยะ 20 ปี นั้นจะต้องทำให้พื้นที่การเกษตรของไทยร้อยละ 60 เป็นรูปแบบการเกษตรแปลงใหญ่ เนื่องจากการทำเกษตรแปลงใหญ่ สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรได้จริง จนสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่ผ่านเพิ่มขึ้นถึงรายละ 50,000 บาท

สำหรับความคืบหน้านโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่แบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 กลุ่ม อาทิ พืชเศรษฐกิจหลัก สัตว์บก ประมง เกษตรสร้างรายได้เร็ว (Chash Crop) หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวคืออ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอน และสิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันคือแปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก. 882 ศูนย์ทั่วประเทศจะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร ซึ่งเมื่อพูดถึงลักษณะของเกษตรแปลงใหญ่อ้อย หลายคนคงคิดถึงไร่อ้อยโรงงานที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ผืนเดียวกัน แต่จริงๆแล้ว เกษตรแปลงใหญ่คือการรวมกลุ่มของเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่เข้าด้วยกัน อย่างเช่น ที่ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีการรวมกลุ่ม เกษตรกร 10 ราย เนื้อที่รวมกัน จำนวน 121 ไร่

ด้าน นายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวเสริมว่า จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและรวมกันจำหน่าย มีตลาดรองรับที่แน่นอน สามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งการดำเนินแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ดำเนินการในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองอำนาจเจริญ เกษตรกรเป้าหมาย 159 ราย พื้นที่ 2,945 ไร่ อำเภอเสนางนิคม เกษตรกรเป้าหมาย 117 ราย พื้นที่ 2,019 ไร่ อำเภอหัวตะพาน เกษตรกรเป้าหมาย 258 ราย พื้นที่  2,359  ไร่

แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่รวม 7,323 ไร่ รวม 3 อำเภอ พื้นที่มีความเหมาะสมพื้นที่พื้นที่ N ของข้าว 3,450 ไร่ ปรับเปลี่ยนปลูกอ้อย 3,047 ไร่ แปลง มีเกษตรกรสมาชิก 534  ราย กลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม มีSmart Farmer 200 คน สินค้าอ้อยโรงงาน และพันธุ์อ้อย ผลผลิตรวม 8,678.4 ตัน มีการดำเนินงานจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐานสมาชิกแปลงใหญ่ ถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการองค์กรเกษตรในแต่ละแปลง/การรวมกลุ่มเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร หลักสูตรการบริหารจัดการการตลาด/เชื่อมโยงการตลาด

โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตร้อยละ  7.18 ลดต้นทุนจาก 11,150 บาท/ไร่ เป็น 10,350  บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต  ร้อยละ 20 จาก 10 ตัน/ไร่ เป็น 12 ตัน/ไร่ กิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปอเทืองบำรุงดิน ไม่เผาใบอ้อย ลดการอัดแน่นของเครื่องจักรเหยียบย่ำ (Control Traffic) ลดการไถพรวนเพื่อรักษาโครงสร้างดิน เพิ่มผลผลิต  ใช้พันธุ์คุณภาพดีใช้ปุ๋ยเหมาะสม จัดระยะปลูกรองรับรถตัดอ้อย 1.65 เมตรขึ้นไป ไถดะลึก 40 เซนติเมตร ลงริบเปอร์ฝังปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าผลผลิต ปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัท และดูแลรักษาต่อเนื่อง บริหารจัดการ บริหารจัดการแปลงแบบ Mitrphol Modern Farm มาตรฐาน Bonsucro เป็นต้น

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 12 สิงหาคม 2560

มิตรผลปันความรู้ปั้นเยาวชน สู่อุตสาหกรรมการเกษตร 4.0

จากกรอบความคิดของคนภาคเกษตร ที่มองว่าวิชาชีพสายนี้ขาดความมั่นคง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันภาครัฐให้การสนับสนุน ภาคการเกษตรคือกระดูกสันหลังของประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กลุ่มมิตรผล ซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก จึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาผลักดันและสร้างบุคลากรด้านการเกษตร เป็นการตอบโจทย์ภาครัฐ ภาคเกษตรกรรม และการดำเนินธุรกิจของมิตรผลเอง

“บวรนันท์ ทองกัลยา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เล่าว่า กลุ่มมิตรผลมีนโยบายจัดเตรียมบุคลากรสำหรับเกษตรสมัยใหม่ สร้างบุคลากรคุณภาพสู่อุตสาหกรรมการเกษตรยุค 4.0 ด้วยการจัดให้ทุนการศึกษารวม 461 ทุน ด้วยงบกว่า 11.2 ล้านบาทต่อปี ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ทุนบุตรเกษตรกร 2. ทุนโครงการทวิภาคี มิตรผลเข้าไปช่วยจัดการโปรแกรมการเรียนการสอน ตามมาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมนีระดับอาชีวศึกษา และ 3. โครงการค่ายมิตรผลแคเรียร์ แคมป์ (Mitr Phol Career Camp)

MP32-3286-2aปีนี้ถือเป็นปีที่ 5 ของการจัดโครงการทุนการศึกษากลุ่มมิตรผลสำหรับเยาวชน นอกจากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแล้ว มิตรผลยังให้ความสำคัญกับทักษะในการทำงาน นักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนจากโครงการทวิภาคีและค่ายมิตรผลแคเรียร์ แคมป์ ยังมีโอกาสเปิดโลกทัศน์ในอุตสาหกรรมเกษตรแบบ 4.0 โดยกลุ่มมิตรผลเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่การบริหารจัดการไร่แบบสมัยใหม่ กระบวนการผลิตน้ำตาล ไปจนถึงการต่อยอดสร้างคุณค่าเพิ่มจากอ้อย ทั้งยังได้ฝึกฝนทักษะการทำงานต่างๆ ในสำนักงาน เพื่อความเข้าใจกระบวนการทำงานภาคอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างครบวงจร และยังพัฒนาทักษะ ที่เป็น Global Skill ที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ และไอที

MP32-3286-3aนักศึกษาจากโครงการทวิภาคียังได้เข้ารับการสอบวัด “มาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมันระดับอาชีวศึกษา” จากหอการค้าเยอรมัน-ไทย เพื่อวัดความพร้อมด้านทักษะการประกอบอาชีพ เป็นบุคลากรคุณภาพมาตรฐานสากลด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่โครงการทวิภาคี รุ่นที่ 1 จบการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมันระดับอาชีวศึกษา จากหอการค้าเยอรมัน-ไทย รวม 148 คน โดยนักเรียนที่ผ่านการวัดผลตามมาตรฐานวิชาชีพแบบเยอรมันระดับอาชีวศึกษา จะได้รับค่าตอบแทนโดยอิงกับทักษะ (Skill-Based Pay) ทำให้ได้รับอัตราเงินเดือนที่สูงขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 20% จากเรต มาตรฐานเด็กอาชีวะ ที่ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน

MP32-3286-4aการจับมือกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย มิตรผลมีาส่วนในการช่วยสร้างสรรค์เนื้อหาที่เพิ่มเรื่องของ Future Skill สำหรับเกษตรกรยุค 4.0 ของไทย นักศึกษาจะได้รับการพัฒนาทักษะด้านดิจิตอล และภาษาอังกฤษ เนื่องจากมิตรผลมีพนักงานต่างชาติร่วมงาน เด็กๆ ก็จะได้ประสบการณ์ด้านภาษาในการทำงานกับต่างชาติตรงนี้ด้วย และศัพท์หรือภาษาที่ได้ ก็เป็นภาษาที่ใช้กับงานด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่จริงๆ และยังมีภาคีเข้ามาช่วยสอนภาษาโดยตรง ประกอบกับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในมิตรผล จะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกใช้งานจริงกับเครื่องจักรที่ทันสมัย เช่น การเรียนรู้การตัดอ้อยผ่านเครื่องซิมูเรเตอร์ ก่อนลงไปตัดจริงกับเครื่องจักรขนาดใหญ่ ซึ่งนักศึกษาและนักเรียนเหล่านี้ จะได้เข้ามาเรียนที่เทคนิคัลเทรนนี เซ็นเตอร์ ของกลุ่มมิตรผล เป็นเวลา 1 ปีเต็ม

MP32-3286-5aในปี 2560 กลุ่มมิตรผลมอบทุนการศึกษา รวมทั้งสิ้น 461 ทุน มูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท ประกอบด้วย ทุนมิตรผล แคเรียร์ แคมป์ (Mitr Phol Career Camp) จำนวน 16 ทุน ทุนบุตรเกษตรกร จำนวน 17 ทุน ทุนโครงการทวิภาคี จำนวน 37 ทุน และทุนการศึกษาที่มอบให้บุตรหลานพนักงานอีก 391 ทุน นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ มีสิทธิ์ได้ทำงานกับกลุ่มมิตรผลตามระยะเวลาทุนที่ได้รับ โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละคน และเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองอีกครั้งว่าจะร่วมงานกับมิตรผลต่อหรือไม่ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีงานทำในทันทีหลังจบการศึกษาด้วย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 สิงหาคม 2560

นํ้าตาลขอนแก่น ชิงเค้กเอสพีพี ชี้ไม่ได้เปรียบต้นทุน

เคเอสแอลจ่อยื่นเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม 2 โครงการ 40-45 เมกะวัตต์ ขณะที่ยูเอซียังลังเล หวั่นแข่งประมูลต้นทุนโรงงานนํ้าตาลยาก หากชวดหวังชิงวีเอสพีพีอีกรอบช่วงปลายปีนี้

 นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการบริษัท นํ้าตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทเตรียมยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน หรือ เอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม (SPP Hybrid Firm) ที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดรับข้อเสนอขายไฟฟ้าในวันที่ 2-6 ตุลาคมนี้

โดยบริษัทมีความพร้อมเสนอขายไฟฟ้าเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเอสพีพี ที่อ.วังสะพุง จ.เลย กำลังการผลิต 20-25 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรง งานนํ้าตาลแต่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ จึงต้องการเสนอขอขายไฟฟ้าเข้าระบบในโครงการดังกล่าว

 สำหรับเงินลงทุน คาดว่าจะใช้ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการลงทุนด้านสายส่งและสถานีไฟฟ้าย่อย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท ส่วนรายได้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม กรณีที่บางกลุ่มมองว่าการออกนโยบายดังกล่าวเอื้อกลุ่มโรงงานนํ้าตาลนั้น ส่วนตัวมองว่าต้นทุนชีวมวลมีความผันผวน ไม่คงที่ การขายไฟฟ้าตามสัญญา 20 ปีในระดับไม่เกิน 3.66 บาทต่อหน่วย ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากราคาต้นทุนชีวมวลปรับขึ้นลง และในอีก 20 ปีข้างหน้าราคาอาจสูงขึ้นได้

 นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือยูเอซี เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าในโครงการเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม ซึ่งบริษัทก็เตรียมโครงการโรงไฟฟ้าจากพืชพลังงาน ที่จ.ขอนแก่น กำลังการผลิตกว่า 10 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองโครงการดังกล่าวจะเอื้อให้กลุ่มโรงงานนํ้าตาลที่มีโรงไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ดังนั้นโรงไฟฟ้าจากโรงงานนํ้าตาล ซึ่งใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบ ย่อมมีต้นทุนตํ่า หากจะประมูลแข่งขันโรงไฟฟ้าจากพืชพลังงานอาจไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้

อย่างไรก็ตาม หากการยื่นขอขายไฟฟ้าในโครงการเอสพีพีไฮบริดเฟิร์มของบริษัทไม่สามารถแข่งขันได้ บริษัทก็คาดหวังจะยื่นประมูลในโครงการวีเอสพีพีไฮบริด เฟิร์ม ที่คาดว่าทาง กกพ. เตรียม จะเปิดเสนอขอขายไฟฟ้าในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี 2015) มีแผนรับซื้อ 500 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 ดังนั้นจะเป็น ความถนัดของบริษัทมากกว่า

“บริษัทกำลังดูอยู่ว่าจะยื่นเอสพีพีไฮบริดเฟิร์มหรือไม่ เพราะมองว่าต้นทุนอาจแข่งขันกับกลุ่มโรงงานนํ้าตาลไม่ได้ ดังนั้นอาจรอยื่นวีเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม แทน เนื่องจากถนัดมากกว่า และเป็นโครงการเล็ก ซึ่งบริษัท เตรียมไว้ 4-5 โครงการ กำลังการผลิตแห่งละ 3 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์” นายชัชพล กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 สิงหาคม 2560

3 สารอันตรายป่วนเคมีเกษตร 3 หมื่นร้านค้าเบรกออร์เดอร์-ลุ้นผลสรุปเวที 4 ภาค

3 หมื่นร้านเคมีเกษตรทั่วประเทศตื่น หลังกรมวิชาการเกษตร ร่อนจดหมาย ให้รอผลรับฟังผลสรุปเวที 4 ภาคจะยกเลิก 3 สารเคมีอันตรายหรือไม่ ส่งผลร้านค้าชะลอออร์เดอร์ เหตุหากขายไม่หมดสินค้าที่ครอบครองจะผิดกฎหมายทันที เผยไทยติดอันดับ 6 ใช้สารเคมีโลก

 นายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีความคิดเห็นให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย 3 ตัว ได้แก่ สารเคมีกำจัดวัชพืช “พาราควอตไดคลอไรด์” สารเคมีกำจัดแมลง “คลอร์ไพริฟอส” และไกลโฟเสต-ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม ยาฆ่าหญ้า เนื่องจากเกรงสารเหล่านี้นี้จะตกค้าง และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของกรมวิชาการเกษตรได้จัดเวที 4 ภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณา ลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตราย โดยจัดครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จังหวัดเชียงใหม่

 ส่วนครั้งที่ 2 จัดในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเคพาร์ค จังหวัดสุราษฎร์ธานี และครั้งที่ 3 ในวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมวีวิช ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และครั้งที่ 4 วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นทางกรมวิชาการเกษตร ได้ส่งหนังสือถึงร้านค้าเคมีเกษตรกว่า 3 หมื่นรายทั่วประเทศ เพื่อให้รอฟังผลและผลสรุปจากการประชุมว่าสารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้จะต่อทะเบียนให้กับผู้ผลิตหรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นตามมาในขณะนี้คือ ทำให้ร้านค้าไม่กล้าสั่งของ เพราะกลัวว่าถ้ากรมสั่งยกเลิกทะเบียนหรือไม่ต่ออายุทะเบียนให้ จะส่งผลทำให้สินค้าที่ครอบครองอยู่กลายเป็นของผิดกฎหมายทันที ดังนั้นตลาดค้าสารเคมีเวลานี้จึงชะงักไปหมด อย่างไรก็ดีทางสมาคมไม่ได้นิ่งนอนใจจะเร่งทำหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตร เพราะผลกระทบ ที่บริษัทต่างๆ ได้รับท้ายที่สุดจะตกถึงเกษตรกร

 ขณะที่นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน เปิดเผยว่าทางไทยแพนสนับสนุนข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุขให้เพิกถอนทะเบียนสาร 2 ตัว ได้แก่ พาราควอตฯ ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ไทยมีการใช้มาก โดยจากข้อมูลในปี 2558 มีการใช้มากถึง 29.8 ล้านกิโลกรัม เป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลันสูง และยังไม่มียาถอนพิษซึ่ง 47 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการใช้แล้ว ส่วนคลอร์ไพริฟอส เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช แต่นิยมใช้ในบ้านเรือนเพื่อกำจัดมด ปลวก เห็บ และแมลงสาบ สารตัวนี้พบการตกค้างสูงสุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง ทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาสมอง ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น หลายประเทศห้ามใช้ในบ้านเรือน และผักผลไม้แล้ว

“จากการศึกษา พาราควอตฯ พบว่าเกษตรกรนิยมใช้สารนี้ในพืชเกษตร เช่น ปาล์ม และอ้อย เป็นต้น ส่วนคลอร์ไพริฟอสพบ 10% ของผักและผลไม้ในประทศไทย มีสารตกค้างชนิดนี้เกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสมองทารกและเด็ก จึงเห็นควรจะยกเลิก 2 ตัวนี้ กล่าวคือไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และต้องยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562

ส่วนสารไกลโฟเสต ให้จำกัดพื้นที่และควบคุมการใช้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค

 นางสาวปรกชล กล่าวอีกว่า ไทยเป็นประเทศใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากเป็นลำดับ 6 ของโลก (ดูกราฟิกประกอบ) โดยจากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรในปี 2556 ไทยมีการใช้รวม 77.1 ล้านกิโลกรัม ในจำนวนนี้สัดส่วน 20% เป็นสารพาราควอตฯ ซึ่งเป็นสารพิษอันตรายร้ายแรงที่ 47 ประเทศได้มีการยกเลิกการใช้แล้ว ส่วนประเทศที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา และเวียดนาม ตามลำดับ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 สิงหาคม 2560

รายงานพิเศษ : ‘อำนาจเจริญ’เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ลดพื้นที่ทำนามาปลูกอ้อยแปลงใหญ่สมัยใหม่

กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ เดินหน้าเกษตรสมัยใหม่ ขับเคลื่อนโครงการ “สานพลังประชารัฐ เกษตรสมัยใหม่อ้อย จ.อำนาจเจริญ” เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกร 3 เรื่อง คือ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน โดยยึดแนวนโยบายกระทรวงเกษตรฯ คือ ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเผยว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย มาสู่การรวมกลุ่มที่สามารถใช้เครื่องมือเครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิตเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น มีความสามารถจัดการการผลิตผลผลิตอย่างมืออาชีพ ทำให้คุณภาพสินค้าได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงการตลาดและมีอำนาจต่อรองทางการตลาดสูงขึ้น จากจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่นำไปสู่การส่งเสริมการเกษตรรูปแบบใหม่หรือเกษตรสมัยใหม่ที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสู่การพัฒนาขยายผลเกิดเป็นแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ เพื่อการพัฒนาระบบการผลิต ซึ่งเกษตรสมัยใหม่ก็คือการใช้นวัตกรรม การวิจัยและความเจริญก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิต และวิธีการปลูกอย่างแม่นยำเพื่อการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการรวมกลุ่มการผลิต เพื่อให้มีขนาดแปลงที่เหมาะสมเชิงเศรษฐกิจ ยังผลให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ต้นทุนลดลง

โดยปัจจุบันความคืบหน้านโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่แบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 กลุ่ม อาทิ พืชเศรษฐกิจหลัก สัตว์บก ประมง เกษตรสร้างรายได้เร็ว (Chash Crop) หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวคือ อ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอนและสิ่งที่รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันคือ แปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก. 882 ศูนย์ทั่วประเทศจะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร ซึ่งเมื่อพูดถึงลักษณะเกษตรแปลงใหญ่อ้อย หลายคนคงคิดถึงไร่อ้อยโรงงานที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ผืนเดียวกัน แต่จริงๆแล้ว เกษตรแปลงใหญ่คือการรวมกลุ่มของเกษตรกรในหลายพื้นที่เข้าด้วยกัน เช่น ที่ต.กุดปลาดุก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ที่รวมกลุ่มเกษตรกร 10 ราย เนื้อที่รวมกัน 121 ไร่

สำหรับแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) จ.อำนาจเจริญ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตรไม่เหมาะสม จากเดิมทำนาแต่ไม่ได้ผลแล้วหันมาปลูกอ้อยแทน ซึ่งมีพื้นที่รวม 7,323 ไร่ รวมอำเภอพื้นที่เหมาะสมพื้นที่ N ของข้าว 3,450 ไร่ ปรับเปลี่ยนปลูกอ้อย 3,047 ไร่ แปลงมีเกษตรกรสมาชิก 534 ราย กลุ่มใหญ่ 3 กลุ่มมี Smart Farmer 200 คน สินค้าอ้อยโรงงานและพันธุ์อ้อย ผลผลิตรวม 8,678.4 ตัน มีการดำเนินงานจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐานสมาชิกแปลงใหญ่ ถ่ายทอดความรู้บริหารจัดการองค์กรเกษตรในแต่ละแปลง/การรวมกลุ่มเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร หลักสูตรบริหารจัดการการตลาด/เชื่อมโยงการตลาด โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิต ร้อยละ 7.18 ลดต้นทุนจาก 11,150 บาท/ไร่ เป็น 10,350 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิตร้อยละ 20 จาก 10 ตัน/ไร่ เป็น 12 ตัด/ไร่ กิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปอเทืองบำรุงดิน ไม่เผาใบอ้อย ลดการอัดแน่นของเครื่องจักรเหยียบย่ำ(Control Traffic) ลดการไถพรวนเพื่อรักษาโครงสร้างดิน เพิ่มผลผลิตใช้พันธุ์คุณภาพดีใช้ปุ๋ยเหมาะสม จัดระยะปลูกรองรับรถตัดอ้อย 1.65 เมตรขึ้นไป ไถดะลึก 40 เซนติเมตร ลงริบเปอร์ฝังปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มมูลค่าผลผลิต ปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัทและดูแลรักษาต่อเนื่องบริหารจัดการ บริหารจัดการแปลงแบบ Mitrphol Modern Farm มาตรฐาน Bonsucro เป็นต้น

ด้านนายชาญชัย สุภิวงศ์ ประธานแปลงใหญ่อ้อย อ.เมืองอำนาจเจริญ กล่าวว่า เริ่มปรับพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยและเข้าร่วมโครงการเกษตรสมัยใหม่ นำรูปแบบเทคโนโลยีมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มาปรับใช้เมื่อปลายปี 2559 เนื่องจากเดิมทำนา แต่ได้ผลผลิตไม่แน่นอน ไม่มีกำไร จึงนำเอารูปแบบเทคโนโลยี Mitrphol Modern Farm มาปรับใช้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านบริหารการจัดการไร่อ้อย ตามแบบฉบับของกลุ่มมิตรผลที่ได้รับการพัฒนามาจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีโดยใช้หลัก 4 เสา นำมาปฏิบัติ คือ 1.พักดินและปลูกพืชปรุงบำรุงดิน 2.การควบคุมแนวล้อวิ่งของแทรกเตอร์และเครื่องจักรกล 3.ลดการไถพรวน และ 4.การทิ้งใบอ้อยคลุมดิน ซึ่งพบว่าช่วยเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 25 จากผลผลิตเดิม 12 ตัน/ไร่ เพิ่มเป็น 15 ตัน/ไร่ พร้อมทั้งมิตรผลเข้ามาประกันราคาตลาดที่แน่นอน ตามราคาอ้อยโรงงาน 1,050 บาท/ไร่ และอ้อยพันธุ์ 1,200 บาท/ตัน และค่า C.C.S. ความหวานเกิน 10 ราคาเพิ่ม C.C.S.ละ 63 บาท

“ก่อนการรวมกลุ่มแบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อนเกษตรกรยังไม่มั่นใจ เพราะอาจยังไม่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เมื่อเห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาใช้จึงเป็นแรงจูงใจ เพราะช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยยังมีรายได้จากพืชตระกูลถั่ว ปอเทือง ที่รัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง อีกทั้ง ปัจจุบันยังมีระบบจัดการลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ใช้สารเคมี พึ่งพาตนเองโดยการใช้ปุ๋ยสั่งตัด และนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลขนาดใหญ่มาช่วยในการผลิต ช่วยลดค่าใช้จ่ายทำเกษตรกรรมและมีรายได้เหลือเพิ่มขึ้น”นายชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นายกฯลุยแก้น้ำทั้งระบบ ใช้ม.44ปลดล็อกจัดการน้ำ

นายกฯแจงดึง “กรมน้ำ” เข้ามาสังกัดสำนักนายกฯหวังลุยแก้ปัญหาน้ำยั่งยืนทั้งระบบ รองรับพ.ร.บ.จัดการน้ำ ด้าน “วิษณุ”นัดถกทุกหน่วย 15 สิงหานี้ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม ปภ.แจ้งเหลือ 8 จังหวัด ยังอ่วม

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ให้โอนกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เข้ามาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า เพื่อต้องการ

แก้ปัญหาน้ำที่ยั่งยืน ครบวงจร ตนจึงสั่งให้มีการปรับแผนเพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนซึ่งมีโครงการที่ต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้ได้ ทั้งการขุดลอกคูคลอง การผันน้ำ

แจงรวมศูนย์จัดการน้ำแก้ทั้งระบบ

“ในการปรับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำมาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หมายความว่าเดิมเขาทำไม่ได้ผล แต่เขาทำมาเยอะเดี๋ยวผมจะสรุปให้ในรายการศาสตร์พระราชาฯ ในวันศุกร์ที่11สิงหาคมนี้จะเป็นตัวอย่างให้ดูว่า3ปีที่ผ่านมา เราทำอะไรไปบ้าง ในปี2560-2561 ะต้องเร่งดำเนินการในส่วนของความยั่งยืน อย่างน้อยต้องแก้ปัญหาได้ 30-50%เพราะถ้าแก้ 100 % ต้องทำใหญ่มาก ต้องใช้ทั้งงบประมาณ เวลา และต้องทำต่อไป เขาทำได้ดี แต่มันกระจายอยู่หลายหน่วยงาน ซึ่งผมไม่ได้เอาทุกหน่วยงานมา เพียงแต่เป็นสำนักงานในการขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและสั่งการในกรอบนโยบาย ดูแลงบประมาณบูรณาการ ผมต้องการขับเคลื่อน ในทุกกิจการบูรณาการของรัฐบาล ”นายกฯ กล่าว

แจงออกมาตรา44เพื่อปลดล็อค

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการใช้มาตรา44นำหน่วยงานน้ำมาสังกัดสำนักนายกฯว่ายืนยันว่า ไม่ใช่ยุบรวม แต่เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้าง จะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำ อยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อจะรองรับ การย้ายหน่วยงานจัดการน้ำมาอยู่สำนักนายกรัฐมนตรีจึงปรับให้สอดคล้องกัน ส่วนการออกมาตรา44เพื่อใช้ระหว่างรอกฎหมาย เพื่อให้การปฏิบัติงาน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ต้องปลดล็อคไปก่อน แต่ไม่ออกนอกกรอบความเป็นสากล

วิษณุเตรียมนัดถกทุกหน่วย15สค.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการใช้มาตรา44โยกกรมทรัพยากรน้ำ มาสังกัดที่สำนักนายกฯว่าเป็นเพียงแค่การโอนเท่านั้น ไม่มีการยุบรวมใดๆทั้งสิ้น อีกไม่ช้าพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ที่อยู่ใน สนช.กำลังจะออกมา จะมอบภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ให้กับกรมทรัพยากรน้ำ หากมาอยู่ที่สำนักนายกฯ จะทำให้เกิดความสะดวกในการแก้ปัญหาน้ำ เป็นปัญหาที่เร่งด่วนของประเทศไทยในขณะนี้ นอกจากเรื่องน้ำ ยังมีภัยแล้ง น้ำท่วมนาข้าว พืชผลการเกษตร อีกหลายๆเรื่องจึงควรจะรับนโยบายตรง โดยกรมทรัพยากรน้ำ เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ทั้งนี้ ในวันอังคารที่15สิงหาคม หลังประชุมคณะรัฐมนตรีได้นัดอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยามาคุยถึงเรื่องการ บูรณาการในการทำงานร่วมกัน

ปภ.แจง8 จว.ยังท่วม เร่งฟื้นฟูพื้นที่

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว 36 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 8 จังหวัด รวม 66 อำเภอ 478 ตำบล 3,958 หมู่บ้าน 43 ชุมชน แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัดได้แก่ 1.สกลนคร 2.กาฬสินธุ์ 3.นครพนม 4.ร้อยเอ็ด 5.ยโสธร 6.อุบลราชธานี 7.หนองคาย ภาคกลาง1จังหวัดคือพระนครศรีอยุธยา ผลกระทบจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำทำให้น้ำท่วมในพื้นที่6 อำเภอโดยได้ประสานหน่วยงานกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

พิจิตรริมน้ำยมสูงล้นตลิ่งท่วม

สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.พิจิตร เริ่มส่งผลกระทบบ้านเรือนประชาชนแนวริมฝั่งของแม่น้ำยม หลังระดับน้ำรับน้ำจากตอนบน จ.สุโขทัยและพิษณุโลก เพิ่มระดับสูงขึ้นทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มหมู่ที่ 11บ้านวัดใหม่ราษฎร์บำรุง ต.สามง่าม อ.สามง่ามจ.พิจิตรเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดกับแม่น้ำยม ทำให้บ้านเรือนกว่า 15หลังคาเรือนถูกน้ำท่วมขัง บ้านเรือน 60-80 เซนติเมตร ต้องเก็บของไว้บนที่สูง ต้องเดินลุยน้ำเข้า ออกและใช้เรือไว้สำหรับสัญจรในช่วงน้ำท่วมแล้ว นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจชาวนาบ้านไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตรรวมใจนำเครื่องยนต์ทางการเกษตรของตนเองจำนวน 27เครื่อง เพื่อรวมตัวสูบน้ำที่ท่วมในพื้นที่นาข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยวมูลค่ากว่า20ล้านบาท ในพื้นที่ 4 หมู่บ้านเนื้อที่ รวมกว่า 4,000ไร่ ไว้ให้ได้

พิษณุโลกตลิ่งทรุดผวาถนนพังซ้ำ

จ.พิษณุโลก ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านหมู่ที่ 1ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลกว่ามีตลิ่งทรุด จากฝนที่ตกหนักจึงได้ไปตรวจสอบพบว่าตลิ่งริมแม่น้ำน่าน บริเวณหมู่ที่ 1 ได้ทรุดยาวกว่า 30 เมตร โดยดินได้สไลด์ลงส่งผลให้พื้นถนนทรุดตาม รวมทั้งต้นไม้ จากความตกใจแก่ชาวบ้านหวั่นว่า ถนนจะพังมากกว่านี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งมาซ่อมแซม เบื้องต้นทางเทศบาลตำบลท่าทองได้นำแผงเหล็ก มากั้นปิดไม้ให้รถใหญ่ผ่าน แต่รถเล็กยังพอสัญจรไปมาได้ แต่ชาวบ้านอยากให้เร่งซ่อมแซมเพราะหวั่นว่าถนนจะทรุดมากขึ้นอีกจนไม่สามารถสัญจรไปมาได้

กาฬสินธุ์ฝนซ้ำระดับน้ำยังเพิ่ม

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เผยว่า ระดับน้ำหลายแห่งกลับเพิ่มสูงขึ้นหลังจากช่วงกลางดึก มีฝนตกลงมาอย่างหนักอีกทั้งเขื่อนลำปาวยังคงระบายน้ำออกวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้ลุ่มน้ำของลำน้ำพานและลำน้ำปาว ส่งผลให้ระดับน้ำในจุดที่เคยท่วมขังที่กำลังจะลดลงกลับสูงขึ้นอีกครั้ง กระทบใน 5 อำเภอคือ อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ร่องคำชาวบ้านที่เคยอพยพขึ้นมาพักอาศัยอยู่บนที่สูง ยังไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ที่บ้านได้ จึงอยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาแก้ไขปัญหา เพื่อให้กลับเข้าไปอาศัยภายในบ้านให้ได้โดยเร็ว

หนองคายพร้อมรับน้ำโขงขึ้นสูง

สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจ.หนองคายยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่4ล่าสุดระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่8.60เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันถึง 2.24 เมตร ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เจ้าของโป๊ะแพและร้านอาหารที่อยู่ริมแม่น้ำโขงต่างพากันซ่อมแซม เพิ่มความแข็งแรงในการยึดโป๊ะแพเพื่อเตรียมรับน้ำโขงที่ขึ้น ส่วนเทศบาลเมืองหนองคายได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 12เครื่องไว้รับมือน้ำโขงที่สูงขึ้น ฝนที่จะตกในพื้นที่

ดินสไลด์ทับร้านสามเหลี่ยมทองคำ

จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังฝนตกลงมาอย่างหนักในหลายพื้นที่ จ.เชียงราย ติดต่อหลายวันทำให้พื้นที่สูงชันที่เสี่ยงภัยต่อดินไถลตัว หรือ สไลด์เกิดการสไลด์ตัวซึ่งได้เกิดเหตุที่บริเวณเนินเขาตรงสามเหลี่ยมทองคำใต้วัดดอยปูเข้า บ้านสบรวก ม ต.เวียง อ.เชียงแสน เบื้องล่าง เป็นร้านค้าขายสินค้าชายแดนโดยเฉพาะประเภทเสื้อผ้า และของฝากอยู่ขนานไปตาม ถนนเลียบชายแดนติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย -สปป.ลาว-เมียนมา ถูกดินถล่มลงมาทับทันที2-3 ร้าน ถูกดินและต้นไม้รวมทั้งวัชพืชทับจนเกือบมิด ยังมีร้านค้าที่เรียงรายกันทางด้านข้างรวมกันอีกประมาณ 10 ร้านได้รับผลกระทบโดยมีสายไฟฟ้าและเสาไฟฟ้าถูกดึงลงมาระโยงระยางหน้าร้าน รวมทั้งเจ้าของร้านต่างเกรงว่าดินด้านบนจะพังทลายลงมาเหมือนกัน โชคดีช่วงเกิดเหตุไม่มีผู้อยู่ภายในร้าน และไม่มีนักท่องเที่ยว ประชาชนอยู่จึงไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย

มาร์คนำทีมช่วยน้ำท่วมร้อยเอ็ด

วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับมูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช พร้อมคณะได้นั่งเรือเข้าไปตรวจเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และมอบถุงยังชีพให้ประชาชนบ้านวังยาว-วังเจริญ ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยแม่น้ำชีเอ่อท่วม หมู่บ้านถูกตัดขาดจนกลายเป็นเกาะ การเข้า-ออกต้องใช้เรือ ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากมานานกว่า 1 สัปดาห์จากนั้นได้เดินทางไปมอบถุงยังชีพ ไม้เท้าให้กับผู้สูงอายุและประชาชน อ.เชียงขวัญ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านแก่งข่า และบ้านวังปากบุ่ง ที่ถูกน้ำจากแม่น้ำชีเอ่อท่วมหมู่บ้านรวม 79 ครัวเรือน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

บาทเปิด33.23บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 33.23 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าจากดอลล์อ่อน หลังตัวเลข PPI สหรัฐฯต่ำกว่าคาด-นักลงทุนจับตา CPI คืนนี้.

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 33.23 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ที่ระดับ 33.26 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าหลังตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯในเดือน ก.ค.60 ที่ประกาศออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

"บาทแข็งค่าจากช่วงเย็นวานนี้ เนื่องจากตัวเลข PPI ที่ประกาศออกมาเมื่อคืนนี้แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงเป็นปัจจัยลบต่อดอลลาร์เพิ่มเติมนอกเหนือจากปัจจัยหลังเกี่ยวความกังวลเรื่องสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี" นักบริหารเงิน กล่าวนักบริหารเงิน ประเมินกรอบเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 33.20-33.30 บาท/ดอลลาร์"

วันนี้บาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ รอดูตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ ที่จะประกาศคืนนี้" นักบริหารเงิน กล่าว.

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

EEC ภาคประชาชน

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) ได้ลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด เพื่อร่วมประชุมกับผู้แทนระดับจังหวัดครบทุกจังหวัด

 จากการลงพื้นที่7ครั้งได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ1.ประชาชนเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และเชื่อว่าเป็นโอกาสจากการพัฒนาอีอีซี จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับจังหวัดธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ 2.ประชาชนเห็นด้วยว่าอีอีซีจะทำให้อนาคตดีขึ้น เช่น มีการลงทุนในปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ทันสมัย และสะดวกสบายในอนาคต มีโอกาสในการประกอบอาชีพ มีรายได้สูงขึ้น และลูกหลานจะได้ประโยชน์ในอนาคต

 อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วน ก็ยังมีความกังวลกับปัญหาต่างๆ เช่น 1.ระบบสาธารณูปโภคจะไม่เพียงพอกับการขยายตัวของประชากรและอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ซึ่งเรื่องนี้อีอีซีสามารถแก้ไขได้โดยการจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆเพื่อเตรียมแผนรับมือ

2.การขาดแคลนแรงงาน ใน SMEs และภาคบริการ ซึ่งการพัฒนาตามแผนอีอีซีนั้นเน้นการใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานที่ขาด และใช้เทคโนโลยีให้การผลิตสะดวกสบายขึ้นเป็นหลัก 3.ขอให้มีการวางแผนการพัฒนาคนและการศึกษาในพื้นที่อย่างเป็นระบบให้เยาวชนในพื้นที่มีขีดความสามารถในการทำงานและการศึกษาวิจัย เพื่อรองรับกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอีอีซี และควรส่งเสริมให้ชุมชนมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการปรับปรุงระบบการพัฒนาคน การเรียนรู้และเทคโนโลยี โดยกระตุ้นให้ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาร่วมกันขับเคลื่อนอีอีซีด้วยงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเน้นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อนำไปต่อยอดสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

น้ำตาลบุรีรัมย์ ไตรมาส 2 กำไรพุ่ง 540%   

          น้ำตาลบุรีรัมย์ โชว์ผลงานไตรมาส 2 ทุบสถิติในประวัติศาสตร์ กำไรพุ่ง 540% ขณะรายได้ทะยาน 66% หลังบริษัททำราคาขายน้ำตาลทรายได้ดี สอดรับกับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น พร้อมลุยเดินหน้าขอสร้างโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm อีก 60 เมกะวัตต์ แถมข่าวดีจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.15 บาทต่อหุ้น      

        นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/60 บริษัทมีรายได้รวมที่ 2,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1,208 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 540% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 41.5 ล้านบาท และนับเป็นกำไรที่สูงสุดในประวัติการณ์

               ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรก บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 663.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 498.24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 301.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 165.43 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 28% เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 20% ในการนี้บริษัทได้เสนอให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2560 ในอัตรา 0.15 บาทต่อหุ้น สำหรับหุ้นสามัญ จำนวน 812,099,845 หุ้น รวมเป็นจำนวนเงินที่จะจ่ายปันผลทั้งสิ้น 121,814,976.75 บาท

               เนื่องจาก บริษัทสามารถทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในปีนี้สูงเฉลี่ยที่ 22 เซ็นต์ต่อปอนด์ นับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างน่าพอใจเมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 14-16 เซ็นต์ต่อปอนด์ ส่วนราคาเฉลี่ยปี 2559 ที่ประมาณ 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ รวมถึงผลผลิตอ้อยก็เพิ่มจาก 2.06 ล้านตัน เป็น 2.21 ล้านตัน จากความสามารถในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และค่าความหวาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลการผลิต การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรนักธุรกิจชาวไร่อ้อยตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่” สำหรับปีการผลิต 2560/61 ที่จะถึงนี้ จากการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งหมดราว 240,000 ไร่ บริษัทค่อนข้างมั่นใจว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบจะแตะระดับ 2.8 ล้านตัน ทำให้จะมีผลผลิตน้ำตาลทรายราว 320,000 ตัน เทียบกับปีก่อนที่ปริมาณ 251,696 ตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 21%

                นอกจากนี้ ธุรกิจโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จํากัด (BEC) และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จํากัด (BPC) ซึ่งเพิ่งจัดตั้งเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำตาลกลุ่มบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF ยังสามารถเดินเครื่องได้เต็ม 100% บนกำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ (MW) ในไตรมาส 2 นี้ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 81.6 ล้านบาท

               “แม้ว่าบริษัทจะจัดตั้ง BRRGIF ด้วยการขายสิทธิรายได้รายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ไปในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งทำให้บริษัทได้รับกระแสเงินสดจากการระดมทุนทันทีราว 3,600 ล้านบาท แต่ตามหลักการบันทึกการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 จะยังทยอยรับรู้ต่อเนื่อง ไม่หายไปจากงบการเงิน” นายอนันต์ กล่าว

               ทั้งนี้ บริษัทจะนำเม็ดเงินจากการระดมทุนของ BRRGIF ลงทุนขยายธุรกิจที่เพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งในด้านการสร้างโรงงานแปรรูปเพิ่มมูลค่าน้ำตาลทราย โรงงานผลิตเอทานอล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะที่ล่าสุด บริษัทก็ได้ยื่นเสนอขอใบอนุญาตขายไฟฟ้า 3 โครงการบนพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ จำนวนรวม 60 เมกะวัตต์ ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

มวลน้ำถึง'ปากน้ำโพ'! กรมชลฯเตือน7จว.เตรียมรับมือ

สำนักงานชลประทานที่ 12 ออกหนังสือเตือนด่วนถึง 7 จังหวัด โดยเฉพาะอยุธยา ว่าต้องเร่งปล่อยน้ำเพิ่มลงเจ้าพระยา เพราะมวลน้ำเหนือไหลหลากเดินทางมาถึงปากน้ำโพแล้ว

10 ส.ค.60 นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ล่าสุดนายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 7 แห่ง ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และจ.ลพบุรี ว่าเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท จำเป็นต้องเร่งพร่องน้ำลงท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น นับจากนี้เป็นต้นไป เพราะว่ามวลน้ำเหนือที่ไหลมาตามแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ได้มารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ที่ 1,699 ลบ.ม./วินาทีแล้ว

ทางเขื่อนเจ้าพระยา จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำเหนือหลาก เพื่อผลักดันลงสู่ทะเล ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา และจะพยายามทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยปัจจุบันได้ระบายน้ำลงท้ายเขื่อนที่ 1,267 ลบ.ม./วินาที และจะต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นไปอีกในช่วงนี้ แต่จะพยายามระบายไม่ให้เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นจึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานกรมชลประทานในรายชื่อจังหวัดดังกล่าว ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ให้ระมัดระวังและเตรียมความพร้อม

มีรายงานจากท้องถิ่นต่าง ๆ ในเขตอ.บางบาลว่า น้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะไหลและเดินทางมาถึงอำเภอบางบาล ที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมงเท่านั้น และการเร่งระบายน้ำในครั้งนี้ จะเป็นการท่วมรอบที่ 3 ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แจงสนง.ทรัพยากรน้ำ ระดับกระทรวง-แก้ท่วม'บิ๊กตู่'ดันวาระแห่งชาติยึดแนวศาสตร์พระราชา 

          นายกฯดันแก้'ท่วม-แล้ง'เป็นวาระแห่งชาติ ลั่น ทนเห็นภาพซ้ำซากไม่ได้  'ฉัตรชัย'แจงตั้งหน่วยงาน ใหม่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นตรง สำนักนายกฯเทียบเท่ากระทรวง

          ทูตจีนบริจาคช่วยน้ำท่วม1ล.

          เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับมอบเงินสมทบกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากบริษัท ยูเอชเอ็ม จำกัด จำนวน 4 แสนบาท นายโชติ โกมลโรจนาภรณ์ 1 แสนบาท และบริษัท บางกอกแอร์เวยส์ จำกัด โดย น.ส.อารียา ปราสาททองโอสถ และนายสมบูรณ์ กิติญาณทรัพย์ กรรมการบริษัท จำนวน 515,500 บาท

          นายออมสินกล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขเบื้องต้นที่ได้รับบริจาคค่อนข้างมาก เฉพาะวันนี้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 151 ล้านบาท และยังแสดงความจำนงมาแล้วอีกประมาณ 65 ล้านบาท ทั้งหมดก็ประมาณ 215 ล้านบาท ทั้งนี้สำนักนายกรัฐมนตรีกำลังสรุปตัวเลขความเสียหายเพื่อประเมินความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

          ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้การต้อนรับนายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งเข้าคารวะอำลาในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยเอกอัครราชทูตจีนแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์อุทกภัยของไทยและบริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลขอขอบคุณและจะนำเงินบริจาคให้กับศูนย์ช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วมที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับบริจาคของประชาชนที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

          'บิ๊กตู่'เร่งงานบริหารจัดการน้ำ

          พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่าเป็นการวางแผนว่าจะทำให้กรมทรัพยากรน้ำหรือกรมน้ำมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ให้รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยอาจมีการปรับโอนบางส่วนให้มาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการและเป็นแกนนำที่จะพัฒนาทั้งเก็บกักน้ำ ระบายน้ำ ส่งน้ำ ต้องทำให้เรียบร้อยเป็นพื้นที่ แต่เรื่องการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเป็นแผนใหญ่ ในขณะนี้ทำค่อนข้างยาก เพราะติดปัญหาเรื่องที่ดินของประชาชน

          "สื่อต้องทำความเข้าใจด้วย ไม่ใช่ให้รัฐบาลนี้ทำอะไรก็ทำ แล้วพอไม่เกิดขึ้นก็บอกว่ารัฐบาลไม่ทำ รัฐบาลทำทุกแผนแต่ทำไม่ได้เลย เพราะประชาชนไม่ยินยอม แล้วใครจะรับผิดชอบกับผมบ้าง ประเทศนี้มีปัญหามากมาย แต่ผมพยายามทำให้ดีที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

          ยกแก้'ท่วม-แล้ง'วาระแห่งชาติ

          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะปรับนโยบายและงบประมาณด้านการบริหารจัดการน้ำใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เดิมเคยคำนึงถึงกิจกรรมหลักของการบริหารจัดการน้ำ 1.น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2.น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม 3.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยจะเพิ่มอีก 2 กิจกรรมถือเป็นวาระแห่งชาติ คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมและการแก้ปัญหาน้ำแล้งอย่างเป็นระบบครบวงจร ดังนั้น การจัดทำแผนและโครงการต่างๆ จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ที่ต้องมีทั้งของเดิมและเพิ่มของใหม่ลงไป ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องแจ้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน

          "เราทนเสี่ยงภัยอีกต่อไปไม่ได้แล้ว ในกรณีที่ต้องใช้เงินเกี่ยวกับการเยียวยาทุกปี หลายหมื่นหลายแสนล้านบาทแต่กลับไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย และน้ำก็ระบายทิ้ง ไม่เกิดคุณค่าเท่าที่ควร ต้องจัดการให้เร็วและทันเวลา กำหนดเวลาให้เกิดความชัดเจนในช่วงปี 2557 ถึง 2560 ใน 5 กิจกรรมนี้ ทำอะไรลงไปแล้วบ้าง ในพื้นที่ใด ขอให้สรุปมาให้ได้ และระยะที่ 2 ในช่วงปี 2560-2561 จะดำเนินการอะไรได้บ้างและแผนในปี 2562 ให้เน้นหนักในกิจกรรม 2 อย่าง คือน้ำท่วม น้ำแล้ง เพราะผมทนเห็นภาพแบบนี้ต่อไปไม่ได้ และการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้แก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนก็ต้องตอบให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ที่ทำให้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งให้เกิดความชัดเจนเร็วยิ่งขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

          ให้ใช้ศาสตร์พระราชาแก้ท่วม

          ต่อมาเวลา 16.00 น. นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงผลการประชุม กนช.ว่า  นายกฯให้ความสำคัญกับการบริหารน้ำ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนและมีมรสุมเข้ามาทำให้จังหวัดในภาคอีสานได้รับผลกระทบ นายกฯได้สั่งการให้ส่วนราชการแก้ไขปัญหาให้เป็นระบบมากขึ้น โดยนำศาสตร์พระราชาเข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามในการประชุมครม.สัญจรที่ จ.นครราชสีมา วันที่ 221-22 สิงหามนี้ จะมีการพิจารณาแผนป้องกันน้ำท่วมในภาคอีสานทั้งระบบ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำในฐานะเลขาฯ จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยจะนำข้อมูลแต่ละพื้นที่ของภาคอีสานมาพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขอย่างชัดเจน

          นายวรศาสน์ กล่าวว่า นายกฯได้กล่าวในที่ประชุมถึงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำที่มีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การประชุมแต่ละครั้งเกิดความล้าช้า โดยคาดว่า จะใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ให้กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) มาเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรงเป็นการถาวร ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมายและคาดว่า คำสั่งจะออกมาในเร็วๆนี้

          'ฉัตรชัย'แจงตั้งหน่วยงานใหม่

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการ กนช.กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมออกคำสั่งใช้มาตรา 44 รวมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของภาครัฐทั้งหมดเข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ผู้บริหารสูงสุดเป็นข้าราชการระดับ 11 หรือเทียบเท่าปลัดกระทรวง โดยจะมีโครงสร้างและบุคลากรของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาทำหน้าที่หน่วยงานในการวางแผนงานด้านน้ำของทั้งประเทศ ลักษณะคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ทำหน้าที่ในการวางแผนในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนและมีหน่วยงานด้านปฏิบัติ คือบรรดากระทรวงและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย

          "ยืนยันว่าไม่ได้มีการยุบกรมชลประทานเข้าไปร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติอย่างแน่นอน กรมชลประทานยังเป็นฝ่ายปฏิบัติ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นฝ่ายวางแผนและสั่งการลงมา เหมือนที่หน่วยงานอื่นๆ ปฏิบัติตามที่บีโอไอสั่งการลงมา" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

          ปภ.สรุป9จว.ท่วม-ดับ29ศพ

          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม-8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 44 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 578,814 ครัวเรือน 1,840,716 คน ผู้เสียชีวิต 29 ราย บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 4,129 หลัง ถนน 2,055 สาย พื้นที่การเกษตร 3,036,310 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 35 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 9 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 327,361 ครัวเรือน 1,010,004 คน แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ 1.สกลนคร น้ำท่วมพื้นที่ 18 อำเภอ 2.กาฬสินธุ์ น้ำท่วมพื้นที่ 18 อำเภอ 3.นครพนม ฝนที่ตกหนักและมวลน้ำจากหนองหาร จ.สกลนคร ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 10 อำเภอ

          นายฉัตรชัยกล่าวว่า 4.ร้อยเอ็ด น้ำท่วมพื้นที่ 20 อำเภอ 5.ยโสธร น้ำท่วมพื้นที่ 9 อำเภอ 6.อำนาจเจริญ น้ำท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ 7.อุบลราชธานี น้ำท่วมพื้นที่ 22 อำเภอ 8.หนองคาย ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ อ.เฝ้าไร่ ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ผลกระทบจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,097 ครัวเรือน

          'ฉัตรชัย'สั่งช่วยเหลือเกษตรกร

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรประจำสัปดาห์ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องแพคเกจช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานทุกหน่วยงาน อาทิ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ ไปจัดทำแผนงานมาว่าจะออกมาตรการในรูปแบบใดช่วยเหลือบ้าง เพื่อมาหารือกันอีกครั้งก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ แต่คาดว่าจะไม่ทันการประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า

          นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่า มาตรการฟื้นฟูน่าจะเป็นรูปแบบใกล้เคียงกับโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีของกรมส่งเสริมการเกษตร คือให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมรวมกลุ่มแล้วเสนอโครงการด้านการเกษตร อาทิ การทำปุ๋ยคอก การปลูกพืชอื่นทดแทนนาข้าวที่ได้รับความเสียหายมายังกระทรวงเกษตร และกระทรวงจะให้งบประมาณสนับสนุน

          เล็งมาตรการให้ชาวนามีรายได้

          "มาตรการฟื้นฟูส่วนใหญ่จะออกมาเพื่อช่วยเหลือชาวนา เนื่องจากการสำรวจในพื้นที่น้ำท่วมเบื้องต้นพบว่ากว่า 90% ของพื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่นาข้าว หรือประมาณ 5 ล้านไร่ถูกน้ำท่วมขัง และในจำนวนนั้น 50% หรือ 2.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เสียหายโดยสิ้นเชิง หรือนาข้าวตาย และไม่สามารถปลูกข้าวอีกรอบได้ทัน เนื่องจากข้าวในภาคอีสานเป็นข้าวประเภทไวแสง ทำให้ปลูกข้าวได้เพียงรอบเดียว ดังนั้นชาวนาจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักและขาดรายได้ไปเลย กระทรวงเกษตรฯจึงต้องเร่งออกมาตรการมาเพื่อฟื้นฟูให้ชาวนากลับมามีรายได้" นายอนันต์กล่าว

          รายงานจากกระทรวงเกษตรฯแจ้งว่า จากการประเมินเบื้องต้นของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ พบว่า สถานการณ์น้ำท่วมทุกพื้นที่ในขณะนี้ได้รับความเสียหายรวม 39 จังหวัด เกษตรกร 770,220 ราย แยกเป็นด้านพืช 38 จังหวัด เกษตรกร 671,139 ราย จำนวน 6.3 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าว 5.71 ล้านไร่ พืชไร่ 5.3 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ 6 หมื่นไร่ ด้านประมง 29 จังหวัด เกษตรกร 40,027 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประสบภัย 32,594 ไร่ แบ่งเป็นบ่อเลี้ยงปลา 32,178 ไร่ บ่อกุ้ง 416 ไร่ กระชังเลี้ยงปลา 1,440 ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ 21 จังหวัด เกษตรกร 59,054 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 1,526,096 ตัว แบ่งเป็นโค-กระบือ 146,095 ตัว สุกร 36,830 ตัว แพะ-แกะ 2,672 ตัว ม้า 95 ตัว สัตว์ปีก 1,340,404 ตัว และแปลงหญ้า 2,162 ไร่

          พณ.ปล่อยคาราวานช่วย5จว.

          ที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเวลา 09.30 น. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ร่วมปล่อยขบวนรถบรรทุกสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วมเบื้องต้นใน 5 จังหวัด คือ สกลนคร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และนครพนม

          นางอภิรดีกล่าวว่า กระทรวงยังมอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดงานธงฟ้าราคาประหยัด นำสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นต่อชีวิตประจำวันราคาถูกกว่าท้องตลาด 20-40% ไปจำหน่ายในพื้นที่ที่ประสบภัยใน 5 อำเภอของ จ.สกลนคร ได้แก่ เมือง สว่างแดนดิน พังโคน โคกศรีสุพรรณ และโพนนาแก้ว นอกจากนี้ยังประสานห้างสรรพสินค้าเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการนำสินค้าไปจัดจำหน่าย เป็นต้น

          สกลนครเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

          นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่เทศบาลนครสกลนครกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จากการติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำก่ำ ซึ่งรับน้ำจากหนองหาร อ.เมืองสกลนคร และจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พบว่าปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลเข้าหนองหาร จ.สกลนคร ประมาณวันละ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และมีการเร่งระบายน้ำออกจากหนองหารวันละประมาณ 25 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำคงเหลือประมาณ 280.00 ล้าน ลบ.ม. ยังเกินความจุอยู่ประมาณ 13 ล้าน ลบ.ม. และระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าคันถนนรอบหนองหารแล้ว ส่งผลให้พื้นที่ในเขตเทศบาลนครสกลนครกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

          นายทองเปลวกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากระดับที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวลำน้ำก่ำประมาณ 20,000 ไร่ และยังมีปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในพื้นที่ทั้งสองฝั่งลำน้ำก่ำประมาณ 32 ล้าน ลบ.ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำได้วางแผนและดำเนินการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ อ.นาแก โดยขุดเปิดทางระบายน้ำ 2 จุด เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังอีกทางหนึ่ง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดการณ์สถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วัน

          ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงต่อเนื่อง

          ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.หนองคาย ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ผ่าน จ.หนองคาย ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเป็นวันที่ 3 ล่าสุดวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ อยู่ที่ระดับ 8.43 เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาถึง 111 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.77 เมตร รวมทั้งมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เนื่องจากน้ำทางตอนเหนือคือ ที่สถานีเชียงคาน จ.เลย ยังเพิ่มขึ้น 6 เซนติเมตร หากยังมีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะหนุนเข้าลำน้ำสาขาจนไม่สามารถระบายน้ำได้

          นอกจากนี้ฝนที่ตกต่อเนื่องทั้งใน จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี ทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยหลวง ลำน้ำสาขาขนาดใหญ่ของแม่น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงการห้วยหลวงเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 3 บาน 100 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมเปิดประตูน้ำเพียงเล็กน้อยเพื่อให้การระบายน้ำในลำห้วยหลวงลงในแม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว

          เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยช่วยปชช.

          ด้านพื้นที่ ต.นาดี อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย ปริมาณน้ำท่วมในพื้นที่เริ่มลดลง และน้ำที่ล้นจากลำห้วยคำมิดสามารถไหลลงสู่แม่น้ำสงครามได้ แต่ยังมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชน 185 หลัง และน้ำท่วมนาข้าวในพื้นที่ ต.นาดี และ ต.อุดมพร ส่วนน้ำท่วมถนนช่วงที่ผ่านบ้านเจริญสุข ต.นาดี ไปยัง อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ระดับน้ำเริ่มลดลงเหลือประมาณ 80 เซนติเมตร รถเล็กยังไม่สามารถสัญจรได้

          ขณะที่พระครูภาวนาธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อ.เมืองหนองคาย พร้อมคณะสงฆ์วัดโพธิ์ชัย และกรรมการวัด นำข้าวสาร อาหารแห้ง ถุงยังชีพ ที่ได้รับการบริจาคจากประชาชนไปมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาดี เพื่อนำไปแจกจ่ายประชาชนที่ประสบน้ำท่วมได้บรรเทาความเดือดร้อน

          น้ำชีย้อนดันประตูพัง1บาน

          ที่ จ.ร้อยเอ็ด นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมหัวหน้าสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด และชลประทาน ออกสำรวจพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำชีไหลย้อนกลับดันประตูปิด-เปิดระบายน้ำพัง ที่ประตูระบายน้ำชลประทาน บ้านมะแว ต.บึงงาม อ.ทุ่งเข้าหลวง จ.ร้อยเอ็ด ทั้งนี้ นายช่างชลประทานรายงานว่า ประตูระบายน้ำบ้านมะแว มีขนาด 2.1X2.4 เมตร จำนวน 4 บาน เพื่อระบายน้ำจากห้วยน้ำเค็มลงสู่ลำน้ำชี แต่ปรากฏว่าน้ำชีเอ่อขึ้นด้วยความรวดเร็วจนระดับสูงและน้ำย้อนกลับมาพังประตูระบายน้ำไป 1 บาน จนไม่สามารถปิด-เปิดน้ำได้ น้ำได้เอ่อเข้าท่วมห้วยน้ำเค็มและระดับน้ำสูงขึ้นตลอดเวลา ล่าสุดมีน้ำล้นจากห้วยน้ำเค็มเข้าท่วมพื้นที่เกษตร 2 ตำบล คือ ต.บึงงาม และมะบ้า แล้ว 17,000 ไร่

          นายสฤษดิ์กล่าวว่า ได้สั่งการทุกภาคส่วน รวมทั้งประสานหน่วยทหารในพื้นที่เร่งแก้ปัญหาก่อนน้ำเข้าท่วมพื้นที่กระทบบ้านเรือนประชาชน และที่ว่าการอำเภอทุ่งเขาหลวงสั่งให้แก้ปัญหาโดยใช้กระสอบทรายและถุงบิ๊กแบ๊กปิดกั้นบริเวณอีกฝั่งของประตูระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาก่อนขยายไปสร้างความเสียหายมากขึ้น

          เขื่อนลำปาวเร่งพร่องน้ำ

          นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จ.กาฬสินธุ์ เพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามปัญหาของพื้นที่ประสบภัยทั้ง 18 อำเภอ โดยพบว่าพื้นที่เสี่ยงและประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในเขตที่ราบลุ่ม 5 อำเภอ คือ ฆ้องชัย ร่องคำ กมลาไสย ยางตลาด และเมืองกาฬสินธุ์ ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ประกาศให้ 14 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย 195,301 ไร่ เป็นนาข้าว 194,449 ไร่ พืชไร่ 810 ไร่ พืชสวน 42 ไร่ บ่อปลา 1,068 บ่อ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 37,136 ครัวเรือน

          นายสุวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนลำปาวได้ระบายน้ำวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวฯได้ขอมติที่ประชุมเพิ่มการระบายเพิ่มเป็นวันละ 35 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาวอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเร่งพร่องน้ำออกจากตัวเขื่อน แต่คณะกรรมการในที่ประชุมขอให้ระบายน้ำได้วันละ 30 ล้าน ลบ.ม. เป็นเวลา 2 วัน ถึงวันที่ 11 สิงหาคม จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

          ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวอยู่ที่ 1,745 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 88 ของความจุอ่าง จากความจุที่ 1,980 ล้าน ลบ.ม. เหลือเพียง 235 ล้าน ลบ.ม. จะเต็มความจุ

          'องคมนตรี'มอบถุงยังชีพ

          ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมคณะ เดินทางมอบถุงยังชีพ 2,000 ชุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ขณะที่นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกเทศมนตรีตำบลยางตลาด และนายกสมาคมเทศบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ นำถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร และน้ำดื่ม แจกจ่ายให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่บ้านเชียงสา ต.บัวบาน และศูนย์อพยพบ้านดอนสมบูรณ์ ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ประชาชนต้องอพยพมาพักที่ศูนย์พักพิงที่ทางเจ้าหน้าที่จัดเตรียมให้เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ รวมทั้งแจกถุงยังชีพกว่า 1,000 ชุดให้ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

          ส่วนที่วัดโพธิ์ชัยศรี หมู่ 2 บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม พล.อ.ธีรชัย นาควานิช องคมนตรี เป็นประธานมอบถุงยังชีพพระราชทานแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยพื้นที่บ้านปากบัง 200 ชุด ทั้งนี้ นายเมธา ชูจันทร์ นายอำเภอนาแก กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมบ้านปากบังลดลงอย่างต่อเนื่องมา 5 วันแล้ว ระดับน้ำลดลงวันละ 10-20 เซนติเมตร แต่การสัญจรเข้าหมู่บ้านยังลำบาก ถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นหลุมเป็นบ่อ มีโคลนตม จึงต้องปรับปรุงซ่อมแซมพื้นถนนในเบื้องต้นเพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าหมู่บ้านได้

          4อำเภอ'สารคาม'ยังน่าห่วง

          นายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะรองผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จ.มหาสารคาม เปิดเผยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ว่า จ.มหาสารคามเกิดฝนตกหนัก เป็นเหตุให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 12 อำเภอ จากทั้งหมด 13 อำเภอ ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย 4 อำเภอ ได้แก่ พยัคฆภูมิพิสัย เมืองมหาสารคาม กันทรวิชัย และโกสุมพิสัย

          พิจิตรเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำ

          นายนรสิง ยังเพิง กำนันตำบลวังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วม ต.วังจิก ขณะนี้มีปริมาณน้ำมากขึ้น เพราะรับน้ำจากน้ำฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำยมล้นตลิ่ง อีกทั้งน้ำป่าจาก จ.กำแพงเพชร ไหลมาสมทบ ทำให้ท่วมบ้านเรือนประชาชน 10 หมู่บ้าน กว่า 400 หลัง นาข้าวกว่า 3,000 ไร่จมน้ำ ทางชลประทานได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาสูบน้ำออกจากนาข้าว 5 จุด อีกทั้งชาวนายังนำเครื่องสูบน้ำกว่า 15 เครื่อง มาช่วยสูบน้ำออกจากนาข้าว แต่ช่วยอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากฝนตกลงมาต่อเนื่อง ชาวนาบางรายต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนี

          ด้านนายหนึ่ง สังข์ทอง อายุ 31 ปี ชาวนาหมู่ 8 ต.วังจิก กล่าวว่า ทำนาเกือบ 50 ไร่ ข้าวถูกน้ำท่วมทั้งหมด ขณะนี้เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำและขายข้าวได้บางส่วนให้กับพ่อค้าคนกลางตันละ 3,000 บาท ส่วนข้าวที่เหลือกำลังเก็บเกี่ยวหนีน้ำเนื่องจากน้ำกำลังมาต่อเนื่อง

          'บางระกำ'สร้างคันกั้นน้ำ

          ที่ จ.พิษณุโลก พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมส่วนใหญ่ขณะนี้อยู่ในเขตลุ่มน้ำยม ทั้งแม่น้ำยมสายหลักในเขต ต.คุยม่วง ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ และแม่น้ำยมสายเก่า หรือคลองบางแก้ว ในเขตบ้านคลองคู หมู่ 4 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ ที่กำลังประสบปัญหาน้ำจากน้ำฝนที่ตกหนัก และไม่สามารถระบายออกได้ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำยมสายเก่าเพิ่มระดับสูงเกือบล้นตลิ่ง ขณะที่ชาวนาเร่งว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวมาเก็บเกี่ยวข้าวก่อนกำหนด นำไปขายราคาตันละ 3,000-4,000 บาท และจ้างรถแบ๊กโฮมาทำคันดินกั้นแปลงนาข้าว พร้อมกับติดเครื่องสูบน้ำออก

          น.ส.อภิญญา ไทรนนทรี อายุ 30 ปี ชาวนา ต.ท่านางงาม เปิดเผยว่า ปีนี้น้ำมาเร็วมาก ทำให้น้ำท่วมนาข้าว ชาวนาต้องช่วยเหลือตัวเองโดยทำคันดินกั้นแปลงนาแล้วสูบน้ำออก ค่อยๆ เก็บเกี่ยวทีละแปลง หลายรายต้องเกี่ยวข้าวก่อนกำหนด ทำให้ได้เมล็ดไม่เต็มที่และมีความชื้นสูง ต้องนำมาตากก่อน พอจะขายได้บ้างตันละ 5,000 บาท

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ย้าย'กรมน้ำ'ขึ้นตรงนายกฯแก้ท่วมซ้ำซาก-อีกหลายจังหวัดยังวิกฤติ 

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาโปรด เกล้าฯ ให้องคมนตรีเชิญ ถุงพระราชทานไปมอบ ช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยที่ จ.นครพนม ขณะ เดียวกัน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เนื่องจากทรงห่วงใยราษฎรที่จะได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัย เผยทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา และต่อยอดการพัฒนาโครงการ ร.9 แก้ไขปัญหาต่างๆให้คงอยู่และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ขณะที่สถานการณ์น้ำที่ จ.อุบลฯ เจ้าหน้าที่เร่งอพยพชาวบ้านหนีน้ำ ส่วนที่ จ.กาฬสินธุ์ ปักธงแดงแจ้งเตือนประชาชน หวั่นน้ำท่วมหนักเหมือนปี 54 ขณะที่นายกฯ ประยุทธ์ สั่งย้ายกรมทรัพยากรน้ำ ไปสังกัดสำนักนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น

          แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง ในหลายพื้นที่จะเริ่มคลี่คลาย น้ำลดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังมานานและเน่าเหม็นจนเกิดมลภาวะ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า ล่าสุดเกิดน้ำป่าทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องขนย้ายของหนีน้ำกันโกลาหล

          ร.10 ทรงพระเมตตาช่วยผู้ประสบภัย

          ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อวันที่ 9 ส.ค. จ.นครพนม สรุปสถานการณ์ล่าสุด ได้ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่มอีก 3 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบ รวมเป็น 10 อำเภอ จากพื้นที่ทั้งหมด 12 อำเภอ พื้นที่การเกษตรนาข้าวเสียหายรวมกว่า 2 แสนไร่ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 20,612 ครัวเรือน รวม 62,561 คน ถนนได้รับความเสียหายกว่า 60 สาย ช่วงสายที่วัดโพธิ์ชัยศรี บ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานจำนวน 200 ชุด มามอบช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย มีนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.นครพนม พล.ต.ดร.อรรถ สิงหัษฐิต ผบ.มทบ. 210 นครพนม พล.ร.ต.วารห์ แทนขำ ผบ.นรข.เข้าร่วมพิธี

          อุบลฯเร่งอพยพชาวบ้านหนีน้ำ

          ที่ จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำในแม่น้ำมูล เพิ่มสูงขึ้น ที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.วารินชำราบ อยู่ที่ 112.86 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยระดับเพิ่มขึ้นอีก 3 ซม. ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหาร มทบ. 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ นำรถและเรือออกช่วยเหลืออพยพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และขนย้ายสิ่งของให้กับชาวบ้านในชุมชนเกตุแก้ว ชุมชนหาดสวนยา ชุมชนท่าบ้งมั่ง ที่ถูกน้ำท่วมบ้านหนีน้ำขึ้นไปอยู่บนชั้นสอง และไปอยู่ที่เพิงพักชั่วคราว ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จ.อุบลราชธานี ยังมีสถานการณ์น้ำท่วม 9 อำเภอ บ้านเรือนถูกน้ำท่วม 2 อำเภอ คือ อ.เมือง จำนวน 218 ครัวเรือน อ.วารินชำราบ จำนวน 206 ครัวเรือน ที่เหลืออีก 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ม่วงสามสิบ อ.ดอนมดแดง อ.ตระการพืชผล อ.เดชอุดม อ.เขื่องใน อ.นาเยีย และ อ.สว่างวีระวงศ์ น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ขณะที่ชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องระบายน้ำจำนวน 22 ชุด บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง

          ปักธงแดงแจ้งเตือนประชาชน

          ที่ จ.กาฬสินธุ์ น้ำท่วมขังพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และอ.ร่องคำ และยังเฝ้าระวังเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวมีจำนวนมาก และเพิ่มการระบายเป็น 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลง 4 ซม. แต่ยังวิกฤติ ได้ปักธงแดงแจ้งเตือนให้ประชาชน เพราะเกรงน้ำจะท่วมหนักเหมือนปี 2554 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ จัดเวรยามเฝ้าระวังพนังดินกั้นแม่น้ำชียาว 22 กม. ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมกระสอบทรายไว้เสริมพนังกั้นน้ำ

          มอบถุงยังชีพช่วยเหลือ

          วันเดียวกัน นายชัชวาลย์ คงอุดม อดีต ส.ว.กทม. นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นำถุงยังชีพไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านเชียงสา ต.บัวบาน และที่ศูนย์อพยพบ้านดอนสมบูรณ์ ต.ดอน– สมบูรณ์ อ.ยางตลาด นอกจากนี้ นำถุงยังชีพอีกกว่า 1 พันชุด ไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ขณะที่ พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี รอง ผอ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำถุงยังชีพจำนวน 2,000 ชุด ไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่หอประชุมอำเภอยางตลาด

          เยียวยาหลังน้ำลดที่ยโสธร

          ที่ จ.ยโสธร นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ผวจ.ยโสธร เปิดเผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำชี มีแนวโน้มที่ลดลง สถานการณ์น้ำท่วมใน อ.เมือง เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ที่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำใน อ.คำเขื่อนแก้ว อ.มหาชนะชัย และ อ.ค้อวัง ขณะเดียวกัน ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปาวขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 35 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ สำหรับพื้นที่น้ำลดกลับสู่ภาวะปกติทางจังหวัดจะพิจารณาเยียวยาให้ความช่วยเหลือต่อไป

          จ.แพร่ น้ำป่าซัดฝายพัง

          ที่ จ.แพร่ มีรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา เกิดพายุฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เมือง อ.ร้องกวาง อ.สอง อ.สูงเม่น อ.ลอง และ อ.วังชิ้น โดยเฉพาะที่ ต.แม่ป้าก อ.วังชิ้น เกิดน้ำป่าจากห้วยแม่จอกไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน หมู่ 5 หมู่ 8 หมู่ 9 และหมู่ 10 รวมกว่า 30 หลังคาเรือน ต้องขนย้ายข้าวของขึ้นไปไว้ที่สูง ส่วนฝายตงจ้อย ที่หมู่ 4 ต.หนองม่วงไข่ อ.หนองม่วงไข่ ถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย นอกจากนี้ ที่บ้านนาฮ่าง หมู่ 9 ต.แม่ป้าก มีต้นไม้ใหญ่ล้มทับสายไฟและถนนทำให้ไฟฟ้าดับทั้งหมู่บ้าน ขณะที่นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.แพร่ นำกำลังทหาร และตำรวจ สภ.วังชิ้น ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพร้อมสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือเร่งด่วน

          น้ำท่วมสูงถึงขอบหน้าต่างห้องเรียน

          ที่ จ.พิษณุโลก หลังเกิดฝนตกหนักและน้ำป่าทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านน้ำปาด และโรงเรียนบ้านน้ำปาด หมู่ 3 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง ระดับน้ำสูง 2 เมตร ว่าที่ ร.ต.เกตุ ต่วนเครือ ผอ.ร.ร.บ้านน้ำปาด กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้สูงถึงขอบหน้าต่างอาคารเรียน อุปกรณ์การเรียน และเครื่องใช้ต่างๆ จมน้ำและลอยไปกับน้ำเสียหายจำนวนมาก ขณะนี้น้ำเริ่มลดแต่ยังท่วมขังในบริเวณโรงเรียน ได้สั่งปิดการเรียนการสอน 1 วัน มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 มาช่วยเหลือเคลื่อนย้ายสิ่งของและทำความสะอาดอาคารเรียน

          เร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำ

          ที่ จ.นครสวรรค์ นายธนาคม จงจิระ ผวจ.นครสวรรค์ ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 11 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ชุมแสง อ.โกรกพระ อ.พยุหะคีรี อ.ตาคลี อ.ท่าตะโก อ.บรรพตพิสัย อ.แม่วงก์ อ.หนองบัว อ.ตากฟ้า และ อ.ไพศาลี ประชาชนได้รับความเดือนร้อน 21,340 ครัวเรือน จำนวน 56,527 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 256,740 ไร่ ส่วนใหญ่น้ำที่ท่วมขังยังทรงตัว มีลดลงเล็กน้อยในบางจุดเท่านั้น ส่วนที่โรงเรียนวัดช่องแกระ ต.วังมหากร อ.ท่าตะโก ระดับน้ำท่วมขังสูง 10-20 ซม. ยังไม่มีผลกระทบกับการเรียนการสอน ขณะที่ชาวนาในพื้นที่ ต.พนมเศษ อ.ท่าตะโก นำข้าวที่เกี่ยวหนีน้ำขึ้นมาตากแดดริมถนนสายทับกฤษ-พนมรอก เพื่อลดความชื้นก่อนส่งขายให้กับโรงสี ทั้งนี้ นายสมาน บ่ายสกุล ชาวนาในพื้นที่ เปิดเผยว่า ทำนาข้าวจำนวน 70 ไร่ เก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำได้เพียง 3 ตัน หากนำไปขายจะขายได้เพียงตันละ 4,000-4,200 บาทเท่านั้น เมื่อข้าวตากแดดจะขายได้ ตันละ 5,000-5,200 บาท

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยราษฎร

          วันเดียวกัน นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะ เดินทางมายังสำนักชลประทานที่ 12 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ต.ชีน้ำร้าย และ ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี นายจรัลธาดากล่าวว่า ด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพย วรางกูร ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้ติดตามการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนรับทราบความเป็นอยู่ของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบพื้นที่โครงการ อาจจะได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต ด้วยทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดการพัฒนาโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวทางในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้คงอยู่และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติสืบไป

          “พาณิชย์” ปล่อยขบวนรถช่วยผู้ประสบภัย

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผย ภายหลังการปล่อยขบวนรถบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดหาและรับบริจาคสิ่งของเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เบื้องต้นกำหนดไว้ 5 จังหวัด คือ สกลนคร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และนครพนม จะทยอยให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ สำหรับสิ่งของที่จะส่งไปช่วยเหลือเป็นสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะแรก ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนช่วยกันบริจาค เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช ปลากระป๋อง นมยูเอชที บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสปรุงรส เป็นต้น นอกจากนี้ได้จัดงานธงฟ้าราคาประหยัด เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชนที่ประสบอุทกภัยด้วย

          ทูตจีนบริจาคช่วย 1 ล้านบาท

          ที่ทำเนียบรัฐบาล นายหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่ออำลาในโอกาสพ้นจากหน้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือว่า นายกฯขอบคุณที่เอกอัครราชทูตจีนได้ช่วยประสานงานสำหรับการเยือนจีนของบุคคลสำคัญของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯแสดงความขอบคุณ พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดิน ไหวในมณฑลเสฉวน ที่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย และผู้บาดเจ็บกว่า 160 คน โดยนายกฯระบุว่า “ไทยกับจีนนั้นจะสุขก็สุขด้วยกัน จะทุกข์ก็ทุกด้วยกัน” ในโอกาสนี้เอกอัครราชทูตจีนแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์อุทกภัยในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย พร้อมบริจาคเงินจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย

          “ประยุทธ์”สั่งย้ายกรมน้ำ

          นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ย้ายกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตั้งเป็นสำนักงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำมีหลายหน่วยงาน และขาดหน่วยงานที่จะมาควบคุมกำกับ ทำให้ขั้นตอนการทำงานมีความล่าช้า โดยหลังจากที่กรมทรัพยากรน้ำมาขึ้นตรงและรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีจะทำให้การประสานงานมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจในทางบริหารมาดำเนินการได้ การย้ายสังกัดครั้งนี้คาดว่านายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามมาตรา 44แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกเป็นคำสั่ง และจะมีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          ชงแผนแก้น้ำท่วมเข้า ครม.สัญจร

          นอกจากนี้จากปัญหาน้ำท่วมในภาคตะวันออก เฉียงเหนือในช่วงที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในปัญหาดังกล่าว และระบุว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมยังใช้เวลาการระบายน้ำนาน ให้ส่วนราชการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาแบบยั่งยืน โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ที่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 22 ส.ค.นี้

          ที่ประชุมจะพิจารณาแผนป้องกันน้ำท่วมภาคตะวันออก เฉียงเหนือทั้งระบบ เพื่อให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนในอนาคตต่อไป และนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมจะต้องพิจารณาถึงการเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

          แจงตั้ง สนง.ทรัพยากรน้ำฯ

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมออกคำสั่งใช้มาตรา 44 รวมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของภาครัฐทั้งหมด ที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน จัดตั้งเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ขอชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ที่มีผู้บริหารสูงสุดเป็นข้าราชการระดับ 11 หรือเทียบเท่ากับปลัดกระทรวง โดยให้บุคลากรของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาทำหน้าที่หน่วยงานในการวางแผนงานด้านน้ำของทั้งประเทศ ลักษณะคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ทำหน้าที่ในการวางแผนในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน และมีหน่วยงานด้านปฏิบัติ คือ กระทรวงและกรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

          “ยืนยันว่า ไม่ได้มีการยุบกรมชลประทาน เข้าไปร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติอย่างแน่นอน กรมชลประทานยังเป็นฝ่ายปฏิบัติต่อจากที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้วางแผนและสั่งการลงมา เหมือนที่หน่วยงานอื่นๆปฏิบัติตามที่บีโอไอสั่งการลงมา” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวย้ำ

          กรมอุตุฯ คาดฝนตกหนัก 13–15 ส.ค.

          กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในช่วงวันที่ 10-12 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเล อันดามัน มีกำลังอ่อนลง ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

กรอ.เร่งคุมเข้มรง.ปล่อยสารปนเปื้อนดิน-น้ำ

กรอ.เร่งทำกฎกระทรวงควบคุมการปนเปื้อนดิน-น้ำใต้ดิน คาดแล้วเสร็จสิ้นปี ครอบคลุม 3,000 โรงงาน ขู่ลงโทษปรับ 4 แสน จำคุก 4 ปี เผยเดือน ก.ค. มีโรงงานโดนร้องแล้วกว่า 34 โรง ชี้สั่งแก้ไขปรับปรุงแล้ว

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรอ.อยู่ระหว่างเร่งจัดทำกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมการปนเปื้อนดินและน้ำใต้ดิน พ.ศ.2559 เพื่อกำหนดมาตรฐานการจัดการมลพิษรวมถึงสารอันตรายที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 60 นี้

ซึ่งครอบคลุม 12 ประเภทอุตสาหกรรมกว่า 3,000 โรงงาน ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ อาทิ การแจ้งให้กรมทราบทั้งเรื่อง การจัดเก็บสารอัตราย การขนย้าย และเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ รวมถึงต้องมีการออกกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติในแต่ละโรงงานเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของดินและน้ำใต้ดิน

“กฎหมายใหม่มีการเพิ่มบทลงโทษตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรงงานฉบับแก้ไข เพิ่มเป็น 2 เท่าจากข้อกำหนดเดิม ซึ่งจะมีอัตราปรับสูงสุด 400,000 บาท และจำคุก 4 ปี ขณะที่ในช่วงเดือน ก.ค.เพียงเดือนเดียว กรอ.ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 43 โรง ซึ่งเป็นปัญหาสารปนเปื้อนในน้ำและดิน 34 โรง โดยกำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงให้สถานประกอบปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” นายมงคลกล่าว

นอกจากนี้ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค-ก.ค.) กรอ.ได้ดำเนินการให้สถานประกอบการสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวตามยุทธศาสตร์กรีน อินดัสทรีได้ 1,736 โรงงาน สูงกว่าเป้าหมายปีนี้กำหนดไว้ที่ 1,000 โรง โดยปี 2561 ตั้งเป้าหมายมีสถานประกอบการเข้าสู่กรีน อินดัสทรี 1,500 โรง

  จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'แข็งค่า' ผู้ส่งออกยังขายต่อเนื่อง

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "34.24 บาทต่อดอลลาร์" แรงขายฝั่งผู้ส่งออกกดดันบาทไม่อ่อนตามภูมิภาค

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินดอลลาร์เปิดเช้าวันนี้ที่ระดับแข็งค่าที่ระดับ33.24 บาทต่อดอลลาร์ ในระดับเดียวกับระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ช่วงปิดสิ้นวันก่อน

ในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดยังถูกปกคลุมไปด้วยข่าวการเมืองระหว่างกรุงเปียงยางและโดนัลด์ทรัมป์ ส่งผลให้ตลาเเริ่ม “ปิดรับความเสี่ยง” บอนด์ยีลด์ทั้งในฝั่งสหรัฐและยุโรปปรับตัวลงพร้อมกับหุ้น แม้สต๊อกน้ำมันดิบในสหรัฐจะปรับตัวลงอีกถึง 6.4 ล้านบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันกลับไม่สามารถไม่ปรับตัวขึ้นต่อได้ มีเพียงทองที่ขยับขึ้น 15 ดอลลาร์มาที่ระดับ 1275 ดอลลาร์/ออนซ์ ทำสูงที่สุดในรอบ 2 เดือนจากความกังวลเรื่องสงคราม

ขณะที่ฝั่งตลาดไทย แรงขายของผู้ส่งออกยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาทไม่ให้สามารถปรับตัวอ่อนค่ากลับขึ้นไปได้เหมือนสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ขณะที่มีเพียงแรงซื้อปิดสถานะขายทำกำไรบ้างเล็กน้อย มองกรอบเงินดอลลาร์ที่ระดับ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์

  จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การพัฒนาการเศรษฐกิจไทย.......อีกมุมผ่านกระทรวงอุตสาหกรรม 

          กว่าไทยจะก้าวมาถึงคำ "ยุทธศาสตร์ชาติ" อย่างแท้จริง ไทยต้องคลำหาดัชนีอุตสาหกรรมใหม่  กระทรวงอุตสาหกรรมแต่เดิมต้องวิ่งไล่คำว่า"ดัชนีอุตสาหกรรม" และมองเห็นประโยชน์การวิเคราะห์ข้อมูลดัชนีอุตสาหกรรม  และยังได้ออกกำลังค้นคิด  พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่  ทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม หลายรุ่นต้องออกแรงอย่างหนัก  แม้ว่าจะต้องพยายามนำ "ความรู้ความเข้าใจ" มาให้ผู้นำของราชการในยุคก่อนได้เข้าว่า   คำว่า อุตสาหกรรมไม่ใช่เป็นเพียง โรงสีข้าว  โรงสุรากลั่น  ของราชการ อุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบเศรษฐกิจ ต่อดัชนีและคนรุ่นใหม่ปัจจุบันเข้าใจจากการสร้างความวิเคราะห์  แนวทาง  และการวิเคราะห์ของดัชนีวิเคราะห์ดัชนีอุตสาหกรรม รู้จักคำว่า "บวก" และ "ลบ" ต่อผลผลิตอุตสาหกรรมไทยในแต่ละเดือน

          วันนี้  คนไทยรู้ว่าอุตสาหกรรมทราบถึงผลกระทบ ด้าน "บวก" และ"ลบ" ต่อดัชนีผลผลิตอสาหกรรม  ล่าสุด  เราทราบว่า "การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิคส์" และส่วนประกอบ มีผลประกอบเป็น ดัชนีผลผลิต บวก  เท่าไรดัชนีการส่งสินค้า เป็นบวก  หรือ ลบ เท่าไร  และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเป็นเท่าไร ไม่เพียงด้านผลิต แม้การผลิตการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ  การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ  การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์กระทั่งน้ำดื่ม เครื่องปรับอากาศ  ยานยนต์  และอีกมาก กว่า 36 ชนิดอย่างละเอียด เพราะความเกิดจากคนกระทรวงอุตสาหกรรม

          วันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแนว การพัฒนาดัชนีใหม่ของ สศอ.การจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมอุตสาหกรรม ตามมาตรฐานสากล การขยายดัชนีให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมหมวดใหม่ การตัดเลือกผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมหมวดใหม่ การตัดเลือกคัดเลือกผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมใหม่ และที่สุดคือ"10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve"

          ตามมาตรฐาน UN ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมควรครอบคลุม 4 หมวด เช่น การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน  การผลิตโรงงานหนัก  การไฟฟ้า

          ไอน้ำ ก๊าซ และระบบอัดอากาศ และ การจัดหาน้ำ การจัดการและการบำบัดน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูล  หลายสิ่งหลายสิ่งตามแผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 ตามแผนที่ 3  แผนที่ 5 แผนที่ 8  แผน 12 ทำให้ประเทศที่เคยมีรายได้พุ่งขึ้น 13,000 US  จากปี 2507 และพุ่งสู่เลข 4 โดยการทำนายของ ,ธนาคาร

          พลังที่ร่วมกันสร้างงานให้ประเทศอย่างมากมาย มาจากการร่วมมือของข้าราชการท้วงทั้งปวงในกระทรวงอุตสาหกรรมทุกส่วนทุกฝ่าย  อาทิ  รองปลัดกระทรวง คุณสมชาย  หาญหิรัญที่มีข่าวว่าจะครบกำหนดเกษียนในอีก 6 เดือนน งานนี้  เชื่อหากสวรรค์มีตา  ยังมีคนอุตสาหกรรมเสียดาย  แต่ก็ยังมีข่าวว่า สมชาย อาจมีเก้าอี้ใหญ่ที่สมควร  อย่างไร  สมอ.ก็ยังมีคนสำคัญที่เป็นนักสร้างสรรค์  เช่นเลขา สมอ. คุณพิสิษฐ พนมชัย  และท่านรองคู่ใจ  คุณวันชัย พนมชัย หนุ่มทั้งสองท่านยังมีพลังสร้างงานให้ สมอ.อีกมากมาย

จาก  พิมพ์ไทย วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เฝ้าระวัง'เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ'ทั่วปท. กรมชลฯสั่งเร่งลดระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้

8 ส.ค.60 นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด 11 แห่ง คือ กิ่วคอหมา, แควน้อยบำรุงแดน, ห้วยหลวง, น้ำอูน, น้ำพุง จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำปาว, สิรินธร, ป่าสักชลสิทธิ์ และทับเสลา ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่าง 80 – 100 % มีจำนวน 153 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 100% จำนวน 77 แห่ง

“ขอมอบหมายผู้รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำของแต่ละอ่าง ต้องติดตาม วิเคราะห์ และเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที ได้เน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯมากกว่าความจุของอ่างฯ รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ เมื่อมีฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”นายทองเปลว กล่าว

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สภาเกษตรกรฯร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเกษตรกร

             นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึง พระราชบัญญัติ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และ พระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่กรุณาให้เกียรติตั้งตัวแทนเกษตรกรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อำนาจหน้าที่หลักๆของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี กำกับดูแลการปฎิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ  ซึ่งได้เห็นโครงสร้างแล้วเชื่อว่าเป็นประโยชน์เพราะประเทศเราควรมียุทธศาสตร์ระยะยาว แต่จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับปัญหาของประเทศและของโลก คงต้องมีการคุยกันในคณะทำงานยุทธศาสตร์ชาติ 

             ในส่วนของสภาเกษตรกรแห่งชาตินั้นได้จัดทำยุทธศาสตร์ของเกษตรกรไว้กับแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว  ซึ่งต้องนำมาปรับให้เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะนำเสนอเรื่องนี้ให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ของเกษตรกรเพื่อนำไปบรรจุไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ                  นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ชาติควรมีองค์ประกอบหลายๆส่วน เช่น ภาคอุตสาหกรรม  การค้าต่างประเทศ  การศึกษา  เกษตรกร ฯลฯ สิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรคือ ต่อไปนี้การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติจะต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหาของเกษตรกรและสามารถปฏิบัติได้จริง ทำให้เสร็จสิ้นในเวลาที่กำหนดไว้

               ที่ผ่านมารัฐบาลเปลี่ยนบ่อยมาก แต่ละรัฐบาลก็จะมีนโยบายของตนจึงทำให้นโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ขาดความต่อเนื่องไม่สามารถทำให้ยั่งยืนและลุล่วงจนสำเร็จได้ เปลี่ยนรัฐบาลทุกครั้งนโยบายก็เปลี่ยนด้วย ผิดกับครั้งนี้ที่กำหนดไว้ใน พรบ.ยุทธศาสตร์ชาติก็จะทำให้แผนงานนโยบายดีๆสามารถกำหนดเป็นแผนและประโยชน์ระยะยาวได้  โดยระหว่างนี้สภาเกษตรกรฯเองได้รวบรวมเอาความคิดทั้งหลายจัดเตรียมไว้เพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯเมื่อนายกรัฐมนตรีเรียประชุม

จาก  http://www.komchadluek.net   วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : เกษตรกรอำนาจเจริญปรับที่นาปลูกอ้อยแปลงใหญ่ ลดความเสี่ยงเรื่องตลาด-รายได้มั่นคง

เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานหลายรายปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมๆ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่ได้ผลซ้ำซาก ปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรอื่นที่เหมาะสมกว่า ดังเช่น ในจ.อำนาจเจริญที่เกษตรกรรวมตัวกันปรับเปลี่ยนการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสมมาทำไร่อ้อย ให้สอดรับกับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ในลักษณะแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ซึ่งเป็นการทำเกษตรแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) ที่มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างเกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนารายได้สินค้าเกษตร สร้างรายได้เร็ว เชื่อมโยงตลาดเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้เกษตรกรรายย่อย คาดหวังให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า แนวทางการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ในปีงบประมาณ 2560 มีแปลงเกษตรเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 1,910 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 3,400,000 ไร่ เกษตรกร 250,000 รายอยู่ใน 10 กลุ่มสินค้า 67 ชนิดสินค้า โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นคือกลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ เช่น ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด เป็นต้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เสริมการใช้เทคโนโลยี มีการเชื่อมโยงตลาด และเพิ่มเติมการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรให้เกิดความมั่นคง มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการแปลงเกษตรของตนเอง นอกจากนี้ ในแปลงเกษตรที่เข้าร่วมโครงการใหม่จะเน้นให้เกษตรกรได้วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแผน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และในปี 2561 ได้วางเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย1,200 แปลง ขณะที่โรดแมปในระยะ 20 ปีนั้น จะต้องทำให้พื้นที่การเกษตรของไทยร้อยละ 60 เป็นรูปแบบการเกษตรแปลงใหญ่ เนื่องจากการทำเกษตรแปลงใหญ่ สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรได้จริง จนสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่ผ่านเพิ่มขึ้นถึงรายละ 50,000 บาท

สำหรับความคืบหน้านโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่แบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 กลุ่ม อาทิ พืชเศรษฐกิจหลัก สัตว์บก ประมง เกษตรสร้างรายได้เร็ว (Chash Crop) หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวคือ อ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอน และสิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันคือแปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก. 882 ศูนย์ทั่วประเทศจะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร ซึ่งเมื่อพูดถึงลักษณะของเกษตรแปลงใหญ่อ้อย หลายคนคงคิดถึงไร่อ้อยโรงงานที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ผืนเดียวกัน แต่จริงๆแล้ว เกษตรแปลงใหญ่คือการรวมกลุ่มของเกษตรกรในหลายๆพื้นที่เข้าด้วยกัน เช่น ที่ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีการรวมกลุ่ม เกษตรกร 10 ราย เนื้อที่รวมกัน จำนวน 121 ไร่

ด้านนายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวเสริมว่า จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและรวมกันจำหน่าย มีตลาดรองรับที่แน่นอน สามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งการดำเนินแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ดำเนินการในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองอำนาจเจริญ เกษตรกรเป้าหมาย 159 รายพื้นที่ 2,945 ไร่ อำเภอเสนางนิคม เกษตรกรเป้าหมาย 117 ราย พื้นที่ 2,019 ไร่ อำเภอหัวตะพาน เกษตรกรเป้าหมาย 258 ราย พื้นที่ 2,359 ไร่

แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่รวม 7,323 ไร่รวม 3 อำเภอ พื้นที่มีความเหมาะสมพื้นที่พื้นที่ N ของข้าว 3,450 ไร่ ปรับเปลี่ยนปลูกอ้อย 3,047 ไร่ แปลง มีเกษตรกรสมาชิก 534 ราย กลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม มี Smart Farmer 200 คน สินค้าอ้อยโรงงาน และพันธุ์อ้อย ผลผลิตรวม 8,678.4 ตัน มีการดำเนินงานจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐานสมาชิกแปลงใหญ่ ถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการองค์กรเกษตรในแต่ละแปลง/การรวมกลุ่มเกษตรกรถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร หลักสูตรการบริหารจัดการการตลาด/เชื่อมโยงการตลาด โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 7.18 ลดต้นทุนจาก 11,150 บาท/ไร่ เป็น 10,350 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิตร้อยละ 20 จาก 10 ตัน/ไร่ เป็น 12 ตัน/ไร่ กิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปอเทืองบำรุงดิน ไม่เผาใบอ้อย ลดการอัดแน่นของเครื่องจักรเหยียบย่ำ (Control Traffic)ลดการไถพรวนเพื่อรักษาโครงสร้างดิน เพิ่มผลผลิต ใช้พันธุ์คุณภาพดีใช้ปุ๋ยเหมาะสม จัดระยะปลูกรองรับรถตัดอ้อย 1.65 เมตรขึ้นไป ไถดะลึก 40 เซนติเมตร ลงริบเปอร์ฝังปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าผลผลิต ปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัท และดูแลรักษาต่อเนื่อง บริหารจัดการ แปลงแบบ Mitrphol Modern Farm มาตรฐาน Bonsucro เป็นต้น

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

น้ำตาลบุรีรัมย์"ลุยสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 4

น้ำตาลบุรีรัมย์รอได้สัมปทานพร้อมลุยสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 4 ต่อทันที หลังกระทรวงพลังงานเตรียมรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR เปิดเผยว่า มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 4 อยู่แล้ว โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุน 700-800 ล้านบาท ขณะนี้รอเพียงขอสัมปทานโรงไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงานได้เท่านั้น ซึ่งกระทรวงพลังงานเพิ่งมีประกาศวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา เชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ด้านโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ที่สร้างไปก่อนหน้านี้ก็สร้างเสร็จจ่ายไฟได้แล้ว

ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำโรงไฟฟ้าแห่งที่ 4 ที่กำลังสร้างและแห่งที่ 3 ที่สร้างไปแล้วเข้าไปอยู่ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) ที่ได้นำโรงไฟฟ้าแห่งที่ 1 และ 2 เข้าไปอยู่แล้ว

สำหรับ BRRGIF เป็นกองทุนโรงไฟฟ้ากองแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มซื้อขายวันแรก 7 ส.ค. 2560 โดยระดมทุนได้จากการขายกองทุนนี้ 3,605 ล้านบาท เงินที่ได้ก็จะนำไปขยายโรงไฟฟ้า ซึ่งการขยายโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งจะใช้งบ 700-800 ล้านบาท

นอกจากนี้ก็จะลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลทราย โดยขณะนี้พิจารณาอยู่ 2 กลุ่ม คือ การทำเอทานอลและการทำน้ำตาลที่ผ่านกระบวนการขัดขาว (รีไฟน์)

ทั้งนี้การทำเอทานอล จะใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท หากจะลงทุนทำก็ต้องรอให้ผ่านขั้นตอนประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อน ส่วนการทำน้ำตาลรีไฟน์ ต้องลงทุน 1,500 ล้านบาท หากจะทำก็สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสรุปได้ในเดือน ต.ค. นี้ เนื่องจากต้องการรอดูภาวะตลาดก่อน เพราะเป็นตลาดที่มีคู่แข่งอยู่มาก โดยเฉพาะในยุโรป

นายอนันต์ กล่าวว่า ปีนี้ยังยืนยันเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% ตามที่เคยประกาศไว้ โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้รายได้เป็นไปตามเป้าหมายก็คือราคาน้ำตาลดิบที่ขายได้ปีนี้ ขายล่วงหน้าไปแล้วที่ 22 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นมาเกือบ 30% จากราคาที่ขายได้ปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาในตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ “ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจขก็คงจะเป็นเรื่องราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกที่เป็นราคาอนาคต เราไปควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่คุมได้คือปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเอง ถ้าราคาช่วงไหนดีก็เป็นจังหวะขาย”

นายอนันต์ กล่าว นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นช่วงที่เหลือของปีนี้ยังไม่หวือหวาขยับไปไหนมาก โดยหุ้นที่น่าสนใจน่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงพยาบาล รวมทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจพลังงาน

ในส่วนของ BRRGIF มองว่าเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและกองทุนนี้ก็ได้รับสิทธิ์ยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ถึง 10 ปี โดยกองทุนระบุว่าให้ผลตอบแทนปีแรก 6.5% หากนับรวมที่ไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย ก็เท่ากับได้ผลตอบแทน 7.2-7.5%

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง กล่าวว่า BRRGIF ลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิที่จะเกิดจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลในกลุ่มบุรีรัมย์ซึ่งมีความมั่นคงของรายได้จากสัญญาขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ โรงแรกมีสัญญาขายไฟฟ้าถึงสัญญาขายไฟฟ้าถึง 10 ส.ค.2571 โรงที่ 2 มีสัญญาขายไฟฟ้าถึง 6 เม.ย.2578 อีกทั้งมีความมั่นคงเรื่องวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างกากอ้อย เพราะเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล และไม่มีต้นทุนค่าขนส่งเพราะซื้อจากโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับโรงไฟฟ้า โดยที่โรงไฟฟ้าทำสัญญาซื้อวัตถุดิบระยะยาวกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ดังนั้นก็จะป้องกันความเสี่ยงในความผันผวนของราคาและปริมาณที่ได้รับด้วย

รายงานข่าวจาก ตลท. กล่าวว่า BRRGIF ตั้งราคาขายให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ไว้ที่ 10.30 บาท หลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ราคาเปิดตลาดวันแรกอยู่ที่ 10.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท หรือ 2.91% จากราคาไอพีโอ ปิดตลาด 10.50 บาท สูงกว่าราคาจอง 0.20 บาท หรือ 1.94%

จาก  http://www.posttoday.com  วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รักษ์เกษตร : พืชเศรษฐกิจของไทย

คำถาม ผมอยากทราบว่า พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในปัจจุบัน มีอะไรน่าสนใจบ้างครับ

สุพจน์ ปฏิมาภรณ์

อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

คำตอบ พืชเศรษฐกิจ หมายถึง  พืชที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต มีลักษณะเด่นในการค้า ที่สามารถจะนำไปบริโภค โดยเป็นอาหารที่ให้วิตามิน แร่ธาตุ และเป็นแหล่งพลังงานของมนุษย์และสัตว์ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ พืชเศรษฐกิจระยะสั้นมีอายุการเก็บไม่นาน เมื่อเก็บผลผลิตแล้ว พืชจะตาย หรือได้ผลผลิตลดลงอย่างมาก ไม่คุ้มที่จะเก็บผลผลิต เพราะส่วนใหญ่จะเป็นพืชล้มลุก และมีขั้นตอนในการปลูกน้อยกว่าพืชอื่นๆ

การปลูกพืชเศรษฐกิจ นอกจากจะได้ผลผลิตเพื่อบริโภคและการสร้างรายได้ของครอบครัว แล้วก็ยังมีความสำคัญในระดับภูมิภาครวมถึงระดับประเทศ ดังนี้ เป็นอาชีพหลักของคนไทย ลดอัตราการว่างงานลง เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปแปรรูปต่อ ช่วยส่งเสริมและเป็นปัจจัยส่งเสริมภาคธุรกิจและบริการด้านการเกษตรในประเทศไทย เป็นแหล่งผลผลิตของการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ และเป็นปัจจัยในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศในปัจจุบัน

พืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ได้แก่

-ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่คู่ประเทศไทยมานาน และเป็นพืชเศรษฐกิจที่คนไทยนิยมปลูกมากที่สุดในภาคอีสาน ภาคเหนือภาคกลาง ใช้ระยะในการปลูกเวลาสั้นคือ 4 เดือนแต่ผลเสียคือ ต้นทุนในการปลูกต่อไร่ค่อนข้างสูง และต้องอาศัยน้ำฝน หรือระบบน้ำชลประทาน และต้องปลูกใหม่ทุกปี เกษตรกรส่วนมากใช้สารเคมีในการปลูก

-ยางพารา เป็นพืชอุตสาหกรรมที่เข้ามามีบทบาท ในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม สภาพปัญหาในปัจจุบัน มีแนวโน้มจะขยายพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้น ระยะเวลาในการปลูกหลายปีต้นทุนสูง ตลาดรองรับมีจำกัด เพราะต่างประเทศปลูกและแปรรูปเองได้

-อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวที่เกษตรกรนิยมปลูก ปลูกครั้งเดียวจะเก็บเกี่ยวได้ 3-4 ปี โดยไม่ต้องปลูกซ้ำ แต่ผลเสียคือ ราคาต่อตันถูก การเก็บเกี่ยวต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ต้องปลูกซ้ำอีกครั้งทุก 4-5 ปี และต้องปรับสภาพดินก่อนปลูกใหม่ ทำให้มีต้นทุนในส่วนนี้เพิ่ม

-มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทนแล้งได้ดี แต่ผลเสียคือ ต้นทุนในการปลูกค่อนข้างสูง และต้องปลูกใหม่ทุกปี และราคาต่อ กก. ค่อนข้างถูกมาก เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทางราชการมีการกำหนดมาตรการยกระดับราคาหลายวิธี อาทิ การชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกมันอัดเม็ด หรือการยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น ดังนั้น จึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำแปลงขยายพันธุ์ เพื่อกระจาย มันสำปะหลังพันธุ์ดีที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงให้มากขึ้น ในแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญ ยังคงมีการส่งเสริมให้มีการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี ส่วนในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกมันสำปะหลัง ทางราชการก็จะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน

-ปอแก้ว เป็นปอชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูก เนื่องจากปอแก้วมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง และขึ้นในสภาพดินไร่ทั่วไปได้ดีเป็นพืชที่มีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยที่สุด ช่วงเวลาที่เพาะปลูกเริ่มต้นประมาณเดือน เมษายน-สิงหาคม ผลผลิตที่ได้จะออกสู่ตลาดช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม

-มะม่วง พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์แก้วเขียว แก้วขาวอกร่อง พันธุ์ส่งเสริม ได้แก่ พันธุ์น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน เขียวเสวย หนองแซง เจ้าคุณทิพย์ สภาพปัญหาที่เกิดคือ ผลผลิตต่ำ เนื่องจากขาดการปฏิบัติดูแลรักษาที่ดี และพันธุ์ที่ปลูกไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ เคียงคู่กับเกษตรกรไทยมานานแสนนาน ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก ทั่วทุกภาคของประเทศ จึงทำให้มีข่าวถึงราคาผลผลิตที่ตกต่ำ นำไปสู่ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในที่สุด

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งพัฒนาเกษตรกร

 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงพระราชบัญญัติ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และ พระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่กรุณาให้เกียรติตั้งตัวแทนเกษตรกรเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อำนาจหน้าที่หลักๆของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี กำกับดูแลการปฎิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้เห็นโครงสร้างแล้วเชื่อว่าเป็นประโยชน์เพราะประเทศเราควรมียุทธศาสตร์ระยะยาว แต่จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับปัญหาของประเทศและของโลก คงต้องมีการคุยกันในคณะทำงานยุทธศาสตร์ชาติ

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของสภาเกษตรกรแห่งชาตินั้นได้จัดทำยุทธศาสตร์ของเกษตรกรไว้กับแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งต้องนำมาปรับให้เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะนำเสนอเรื่องนี้ให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ของเกษตรกรเพื่อนำไปบรรจุไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ชาติควรมีองค์ประกอบหลายๆส่วน เช่น ภาคอุตสาหกรรม การค้าต่างประเทศ การศึกษา เกษตรกร ฯลฯ สิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรคือ ต่อไปนี้การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติจะต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหาของเกษตรกรและสามารถปฏิบัติได้จริง ทำให้เสร็จสิ้นในเวลาที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมารัฐบาลเปลี่ยนบ่อยมาก แต่ละรัฐบาลก็จะมีนโยบายของตนจึงทำให้นโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ขาดความต่อเนื่องไม่สามารถทำให้ยั่งยืนและลุล่วงจนสำเร็จได้ เปลี่ยนรัฐบาลทุกครั้งนโยบายก็เปลี่ยนด้วย ผิดกับครั้งนี้ที่กำหนดไว้ใน พรบ.ยุทธศาสตร์ชาติก็จะทำให้แผนงานนโยบายดีๆสามารถกำหนดเป็นแผนและประโยชน์ระยะยาวได้ โดยระหว่างนี้สภาเกษตรกรฯเองได้รวบรวมเอาความคิดทั้งหลายจัดเตรียมไว้เพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯเมื่อนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมต่อไป

จาก  http://www.siamrath.co.th  วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เปิดงบแผนบูรณาการเกษตรปี’61 วงเงินกว่า 9.4 พันล้านบาท หวังสร้างเกษตรกรแข็งแกร่งขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยวงเงินงบประมาณแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร ปี 2561 รวม 9,456 ล้านบาท พร้อมแจงวงเงินทั้ง 3 เป้าหมาย เตรียมเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร พัฒนาเศรษฐกิจภาคเกษตรให้เติบโตอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2561 ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ 29 แผนบรูณาการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร และมีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 7 กระทรวง 28 หน่วยงาน 2 รัฐวิสาหกิจ ภายใต้หลักการบริหารจัดการสินค้าเกษตร (Product Base) และให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา (Farmer Center) ซึ่งเน้นใน 3 เป้าหมาย ภายใต้งบประมาณ 9,456.6522 ล้านบาท ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เน้นสินค้า ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย สับปะรด ไม้ผล (ลำไย ทุเรียน เงาะ มังคุด) ยางพารา ปศุสัตว์ (โคนม โคเนื้อ) ประมง (กุ้ง ปลานิล) วงเงิน 4,826.3962 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด (ต้นทาง) วงเงิน 4,165.7690 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการ ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิต ที่มีคุณภาพ/ประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

2) การพัฒนาศักยภาพกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร (กลางทาง) วงเงิน 205.8676 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนากระบวนการและแปรรูปสินค้า พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ

3) การพัฒนาศักยภาพกระบวนการตลาดสินค้าเกษตร (ปลายทาง) วงเงิน 454.7596 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนาตลาดเกษตรกร ขยายช่องทางการตลาดสินค้าเกษตร สร้างความสามารถในการแข่งขันตลาดสินค้าเกษตร

เป้าหมายที่ 2 ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วงเงิน 3,192.9653 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ อาทิ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3,980 แปลง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri – Map 418,500 ไร่ ปรับปรุงข้อมูลในแผนที่ Agri – Map โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ ยกระดับเกษตรกรเป็น Smart Farmer 73,715 ราย จัดตั้งสถาบันเกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ 100 แห่ง จัดตังและพัฒนาธนาคารสินค้าเกษตร 173 แห่ง

เป้าหมายที่ 3 พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน วงเงิน 1,437.2907 ล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ /ยโสธรโมเดล /พื้นที่ทั่วไป 368,503 ไร่ เกษตรทฤษฎีใหม่ 210,000 ไร่ เกษตรผสมผสาน 33,500 ไร่ (4) วนเกษตร 65,000 ไร่

ทั้งนี้ แผนบูรณาการการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร จะช่วยยกระดับการผลิตและการบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตร และนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

อธิบดีกรมชลฯ สั่งคุมเข้มอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ที่มีระดับน้ำเกิน 80% เร่งพร่องน้ำต่อเนื่อง

อธิบดีกรมชลฯ สั่งคุมเข้มอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ที่มีระดับน้ำเกิน 80% เร่งพร่องน้ำต่อเนื่อง อาศัยจังหวะฝนลดน้อยลงในระยะนี้ ย้ำต้องไม่กระทบพื้นที่ด้านท้าย

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากปริมาณฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หลายแห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่จากการติดตามสถานการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีฝนตกน้อยลงในระยะนี้ จึงได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานและโครงการชลประทานที่รับผิดชอบในแต่พื้นที่ เร่งดำเนินการลดระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้า (Inflow) มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ (Watershed area) เมื่อฝนตกหนักจะมี Inflow เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะไม่กระทบกับประชาชนที่อยู่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำ

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด (upper rule curve) 11 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา อ่างฯแควน้อยบำรุงแดน อ่างฯน้ำอูน อ่างฯห้วยหลวง อ่างฯน้ำพุง อ่างฯจุฬาภรณ์ อ่างฯอุบลรัตน์ อ่างฯลำปาว อ่างฯสิรินธร อ่างฯป่าสักชลสิทธิ์ และอ่างฯทับเสลา ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่างร้อยละ 80-100 จำนวน 153 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่าร้อยละ 100 จำนวน 77 แห่ง ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวม 48,476 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 64 มากกว่าปี 2559 รวม 13,804 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 26,739 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีระดับมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างเก็บน้ำ หลายอ่างได้จัดทำกาลักน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการระบายอีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากการระบายน้ำปกติของตัวอ่าง ให้เหลือปริมาณน้ำต่ำกว่า ร้อยละ 80 อาทิ อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด อ่างเก็บน้ำห้วยลิ้นควาย อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำสวย และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำแห้ว จังหวัดเลย อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำห้วยเรือ ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร เป็นต้น โดยไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำ ติดตาม วิเคราะห์ และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ตลอด 24 ชั่วโมง และประสานเรื่องข้อมูลและการแจ้งเตือนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ พร้อมเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ บรรเทาและแก้ไขสถานการณ์ ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝน อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในต้อนท้าย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ลูกค้าชะลอซื้อน้ำตาลอ้างรอนโยบายลอยตัว

โรงงานน้ำตาลมึนลูกค้าชะลอซื้อรอนโยบายลอยตัว 1 ธ.ค. สอน.ยังอ้ำอึ้งราคาหลังลอยตัวลดลงตามราคาตลาดโลกหรือไม่   

รายงานข่าวจาก3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ได้เห็นชอบการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ ในวันที่ 1 ธ.ค.ว่า  ขณะนี้ลูกค้าเริ่มหลายรายเริ่มสอบถามเข้ามาจำนวนมากถึงแนวทางและทิศทางราคา และบางส่วนเริ่มชะลอการซื้อขายน้ำตาลทราย  เนื่องจากไม่แน่ใจว่าราคาจะเป็นอย่างไรกันแน่ ขณะเดียวกันโรงงานน้ำตาลเองก็ไม่กล้าจำหน่าย เพราะยังไม่มั่นใจถึงทิศทางราคา ที่ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังราคาตกต่ำ

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า ทุกฝ่ายจะต้องเร่งดำเนินการในขั้นตอนปฏิบัติลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศในวันที่ 1 ธ.ค. เพื่อให้เป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายที่ไทยได้เสนอไปยังบราซิลจากกรณีที่ก่อนหน้าบราซิลได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ)กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทราย

“ราคาน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ(โควตาก.)ที่ปัจจุบันถูกควบคุมอยู่ก็จะไม่กำหนดราคาตายตัวโดยจะเป็นราคาที่สะท้อนกลไกตลาดโลกบวกค่าพรีเมียม ซึ่งหากราคาน้ำตาลทราบดิบตลาดโลกเคลื่อนไหวระดับ 14-15 เซนต์ต่อปอนด์ยอมรับว่าการลอยตัวราคาอาจทำให้ราคาขายปลีกลดลงแต่ก็ยังตอบยากเพราะยังเหลือเวลาอีก3เดือน”

นอกจากนี้การลอยตัวจะทำให้มีการยกเลิกระบบโควตาแต่ประชาชนจะไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำตาลเพราะจะกำหนดให้โรงงานน้ำตาลทรายสำรองเอาไว้ พร้อมกับต้องเปิดเสรีการนำเข้า ขณะเดียวกันราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 60/61 นั้นสามารถนำราคาประมาณการมาคำนวณได้เช่นกับการส่งออกซึ่งชาวไร่และโรงงานต้องตกลงกันเอง อย่างไรก็ เช่นเดียวกับการเก็บเงินรายได้5 บาทต่อกิโลกรัมเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเมื่อลอยตัวแล้วหลักการก็จะต้องไม่เก็บแต่ระหว่างนี้ยังมีหนี้สะสมอยู่ที่คาดว่าจะใช้หมดได้ในเดือนมิ.ย.61 อยู่ระหว่างสรุปแนวทางเช่นกันซึ่งมั่นใจว่าระยะเวลาที่เหลือจะดำเนินการได้เสร็จ

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ไฟเขียวตั้งอนุกก.เกษตรอินทรีย์6ภาค 

          คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งและองค์ประกอบคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 6 คณะแล้ว มั่นใจเป็นอีกกลไกเชื่อมโยงการขับเคลื่อนทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และจังหวัด ตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564

          นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงบประมาณ หน่วยงานภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ มีนายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

          ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ 3 ประเด็น คือ 1) ร่างคำสั่งและองค์ประกอบของการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 6 คณะ โดยภาคเหนือ มีอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคกลาง อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคตะวันออก เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคใต้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ และภาคใต้ชายแดน มีเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้ แต่ละคณะจะมีหน่วยงานในสังกัดของประธานอนุกรรมการเป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งจะทำให้เกิดกลไกเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ให้การดำเนินงานเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564

          2) แผนปฏิบัติงานปีงบประมาณ 2560 (ก.ค.-ก.ย.) และปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และ 3) โครงการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยจัดทำเป็นโครงการต้นแบบ ส่งเสริมการผลิตในลักษณะ Area Based เชื่อมโยงสู่การเป็นจังหวัดเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เน้นการทำงานแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ ทั้งพืช สัตว์ สัตว์น้ำ ภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดงานมหกรรมผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์พบผู้บริโภค เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิต ผู้บริโภค การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และสร้างกลุ่มต้นแบบเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อยจังหวัดละ 1-10 กลุ่ม ตามศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่

          นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ 4 เรื่อง คือ 1) การจัดงาน Organic and Natural Expo 2017 โดยกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2560 2) การเสนอรายชื่อผู้แทนเกษตรกร ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา เพื่อขอความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นผู้แทนในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบและแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดที่ได้มีการแต่งตั้งแล้ว จำนวน 36 จังหวัด 3) การจัดทำแผนที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ (Organic mapping) เพื่อแสดงพื้นที่เหมาะสมกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลการผลิตและช่วงเวลาของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด โดยจะพัฒนาเป็น Mobile Application ในปี 2561 และ 4) ผลความก้าวหน้าการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ ปี 2560 ของกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

กรอ.ผงะ 16 โรงงานลอบทิ้งขยะ อุตฯเร่งออกกฎหมายคุมเข้มรถขนส่งติด GPS

กรอ.ลุยจับ 16 โรงงานลอบทิ้งกากขยะ โอดแบกรับต้นทุน ดึงเอกชนช่วยกำจัด พร้อมเร่งออกกฎหมายคุมเข้มโรงงานอุตสาหกรรม-โรงกำจัดกากเข้าระบบ ต้องเลือกใช้บริการรถขนส่งที่มีการติดตั้ง GPS ที่ กรอ.อนุญาตเท่านั้น

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปี 2559 พบมีปริมาณขยะทุกประเภทอยู่ที่ประมาณ 38 ล้านตัน เป็นกากอันตราย 10% หรือ 3.8 ล้านตัน แต่ที่เข้าระบบกำจัดถูกต้องเพียง 28 ล้านตัน ดังนั้นการเร่งกำจัดกากขยะเหล่านี้ยังคงเป็นงานเร่งด่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม

 นายสุธน อยู่เกตุ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการตรวจจับโรงงานที่กระทำความผิดลักลอบทิ้งกากขยะนอกพื้นที่ โดยไม่เข้าสู่การกำจัดอย่างถูกต้องตามระบบพบว่าในปี 2559 มีจำนวนถึง 12 ราย และในจำนวนดังกล่าว 3 ราย แจ้งความร้องทุกข์ในพื้นที่เรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ส่วนอีก 9 ราย ส่งเรื่องให้อุตสาหกรรมจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เพื่อรอผลวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ เนื่องจากยังไม่พบผู้กระทำผิด ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจจับและจากการร้องเรียนต่อเนื่อง กรอ. ได้รับการประสานจากหน่วยงานภายนอก ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมจังหวัด และได้รับการร้องเรียนโดยตรง

ขณะที่ปี 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) ตรวจพบจำนวนโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากขยะ 4 ราย ในจำนวนดังกล่าว 1 ราย ได้ดำเนินคดีและทำการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 แล้ว ส่วนอีก 3 รายอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบของอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรงงาน โทษปรับสูงสุด 200,000 บาท จำคุกสูงสุด 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ได้กำหนดบทลงโทษด้วยการเปรียบเทียบปรับตั้งแต่หลักพันบาทถึงหลักหมื่นบาทต่อครั้ง ตามแต่ความผิดที่ได้กระทำ

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อพบกากขยะที่ทิ้งไว้ทาง กรอ.จะขนส่งไปยังโรงกำจัดกากเพื่อแยกประเภทที่เป็นกากอันตราย และไม่อันตรายออกก่อน จากนั้นจะถูกกำจัดให้ถูกต้องตามระบบ ภาครัฐต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายแต่ละปีสูงถึงหลายล้านบาท เพราะหาผู้กระทำผิดได้ยาก แต่ปริมาณขยะจำเป็นต้องถูกกำจัดไปก่อน ดังนั้น กรอ. จึงต้องขอความร่วมมือจากโรงกำจัดกากเอกชนรับกำจัดไปก่อน หรือบางรายช่วยรัฐกำจัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และถือเป็นการตอบแทนสังคม (CSR)

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า โครงการจัดสร้างระบบฐานข้อมูลและการติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเทคโนโลยีการติดตามการขนส่งที่มีระบบรายงานตำแหน่ง (GPS) และกำกับดูแลผู้ขนส่งและยานพาหนะประมวลผลเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมจากต้นทางไปยังปลายทาง ปัจจุบันรถขนส่งของเสียอันตรายซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ขนส่งวัตถุอันตรายจาก กรอ. มีจำนวนกว่า 3,000 คัน และทุกคันได้มีการติดตั้ง GPS ในระบบการติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรมด้วย GPS ของ กรอ. จะกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมและโรงกำจัดกากเข้าระบบ เพื่อแจ้งข้อมูลการขนส่งกากอุตสาหกรรมทุกครั้ง โดยเริ่มการติดตามโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดขยะและหยุดการติดตามเมื่อถึงโรงกำจัดกากปลายทาง

ทั้งนี้ ในการส่งข้อมูลเป็นหน้าที่ของ Service Provider ที่เป็นผู้ให้บริการระบบ GPS แก่รถขนส่ง โดยก่อนที่โรงงานอุตสาหกรรม และโรงกำจัดกากจะสามารถแจ้งการขนส่งในระบบ Service Provider จะต้องพร้อมที่จะส่งสัญญาณ GPS ของรถขนส่งมาที่ระบบการติดตามของ กรอ. โดย กรอ.จะขึ้นทะเบียนรถที่ติดตั้ง GPS และพร้อมส่งสัญญาณในระบบการติดตามฯ เพื่อที่จะรองรับการแจ้งการขนส่งในระบบการติดตามฯ

 ขั้นตอนดังกล่าว กรอ.จะออกเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดหน้าที่ของโรงงานอุตสาหกรรมและโรงกำจัดกากให้ใช้ระบบการติดตามฯ และเลือกใช้บริการรถขนส่งที่มีการติดตั้ง GPS ที่ยินยอมส่งข้อมูลให้ระบบของ กรอ.เท่านั้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

ไฟเขียวตั้งอนุกรรมการเกษตรอินทรีย์ 6 ภาค

คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งและองค์ประกอบคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 6 คณะแล้ว มั่นใจเป็นอีกกลไกเชื่อมโยงการขับเคลื่อนทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค และจังหวัด ตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงบประมาณ หน่วยงานภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ มีนายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ 3 ประเด็น คือ 1) ร่างคำสั่งและองค์ประกอบของการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 6 คณะ โดยภาคเหนือ มีอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคกลาง อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคตะวันออก เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธานอนุกรรมการ ภาคใต้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ และภาคใต้ชายแดน มีเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้ แต่ละคณะจะมีหน่วยงานในสังกัดของประธานอนุกรรมการเป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งจะทำให้เกิดกลไกเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ให้การดำเนินงานเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564

2) แผนปฏิบัติงานปีงบประมาณ 2560 (ก.ค.-ก.ย.) และปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และ 3) โครงการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยจัดทำเป็นโครงการต้นแบบ ส่งเสริมการผลิตในลักษณะ Area Based เชื่อมโยงสู่การเป็นจังหวัดเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เน้นการทำงานแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ ทั้งพืช สัตว์ สัตว์น้ำ ภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดงานมหกรรมผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์พบผู้บริโภค เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิต ผู้บริโภค การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และสร้างกลุ่มต้นแบบเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อยจังหวัดละ 1-10 กลุ่ม ตามศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ 4 เรื่อง คือ 1) การจัดงาน Organic and Natural Expo 2017 โดยกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2560 2) การเสนอรายชื่อผู้แทนเกษตรกร ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา เพื่อขอความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นผู้แทนในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ซึ่งได้รับความเห็นชอบและแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดที่ได้มีการแต่งตั้งแล้ว จำนวน 36 จังหวัด 3) การจัดทำแผนที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ (Organic mapping) เพื่อแสดงพื้นที่เหมาะสมกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลการผลิตและช่วงเวลาของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด โดยจะพัฒนาเป็น Mobile Application ในปี 2561 และ 4) ผลความก้าวหน้าการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ ปี 2560 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 6 สิงหาคม 2560

สั่งคุมเข้มอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ที่มีระดับน้ำเกิน 80%

       นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ตกในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะเกิดฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หลายแห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานและโครงการชลประทานที่รับผิดชอบในแต่พื้นที่ เร่งดำเนินการลดระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้า (Inflow) มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ (Watershed area) เมื่อฝนตกหนักจะมี Inflow เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

        ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด (upper rule curve) 11 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา อ่างฯแควน้อยบำรุงแดน อ่างฯน้ำอูน อ่างฯห้วยหลวง อ่างฯน้ำพุง อ่างฯจุฬาภรณ์ อ่างฯอุบลรัตน์ อ่างฯลำปาว อ่างฯสิรินธร อ่างฯป่าสักชลสิทธิ์ และอ่างฯทับเสลา ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่างร้อยละ 80-100 จำนวน 148 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่าร้อยละ 100 จำนวน 89 แห่ง ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และ ขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวม 48,216 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 64 มากกว่าปี 2559 รวม 13,605 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 26,998 ล้าน ลบ.ม.

            สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีระดับมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างเก็บน้ำ หลายอ่างได้จัดทำกาลักน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการระบายอีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากการระบายน้ำปกติของตัวอ่าง ให้เหลือปริมาณน้ำต่ำกว่า ร้อยละ 80 อาทิ อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด อ่างเก็บน้ำห้วยลิ้นควาย อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำสวย และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำแห้ว จังหวัดเลย อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำห้วยเรือ ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร เป็นต้น

            โดยไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำ ติดตาม วิเคราะห์ และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และประสานเรื่องข้อมูลและการแจ้งเตือนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ พร้อมเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ บรรเทาและแก้ไขสถานการณ์ ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 6 สิงหาคม 2560

ให้ทูต WTO ตั้งรับผล “Brexit” รักษาสิทธิไทย-โควตาสินค้าต้องเท่าเดิม

พาณิชย์ประสานทูต WTO รักษาผลประโยชน์ทางการค้าไทย-อังกฤษ หลัง Brexit ชี้หากปลดอังกฤษพ้นระบบสหภาพศุลกากร “Custom Union” รื้อระบบภาษีทั้งหมด ไทยเตรียมขอเจรจาชดเชยโควตาภาษี ด้านเอกชนแนะจับตาผลเบร็กซิตอีก 1-2 ปี อียูโดดเดี่ยวกระทบเอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” กรมได้มีหนังสือแจ้งไปยังเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขอให้ประสานและเตรียมความพร้อมในกรณีที่อังกฤษจะเจรจาออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ภายหลังจากการเจรจา Brexit ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับจากอังกฤษ เมื่อครั้งที่อยู่ในสหภาพยุโรป

“ถ้าอังกฤษออกจากอียูแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ เช่น เรื่องภาษีที่ไทยเคยได้รับเมื่อครั้งที่อยู่ในอียู เราทำหนังสือแจ้งเข้าไปโดยผ่านทางท่านทูตที่เจนีวาว่าขอให้ตระหนักถึงความสำคัญด้วยว่า ไทยจะไม่เสียประโยชน์ที่เคยได้ เพราะเมื่อออกจากอียูแล้วก็ต้องมีอัตราภาษีสำหรับประเทศอังกฤษเอง ซึ่งอาจต้องมีการนัดหารือในโอกาสข้างหน้า คุยกับอังกฤษให้มากขึ้น แต่ต้องให้เวลาทางอังกฤษได้เจรจากับทางอียูให้เรียบร้อยก่อนว่าอนาคตความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไร หลังจากนั้นจึงจะมาเจรจากับประเทศอื่น”

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ดังกล่าว หมายถึง อัตราภาษีนำเข้า อัตราภาษีภายใต้โควตา – นอกโควตา สินค้าต่าง ๆ เช่น ไก่ ข้าว รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร (GSP)

รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ไทยต้องติดตามสถานการณ์ผลการเจรจา Brexit ของอังกฤษกับอียู ที่ตกผลึกแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ก่อนที่จะวางแนวทางในการรักษาความสัมพันธ์ทั้งในฝั่งอังกฤษ และอียู

โดยเบื้องต้นต้องรู้ว่าอังกฤษยังคงใช้ระบบสหภาพศุลกากร (Custom Union) กับอียูต่อไปหรือไม่ เพราะระบบนี้หมายถึงการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่พัฒนามาจากเขตการค้าเสรี มีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกันระหว่างสมาชิก ซึ่งมีผลต่อประเทศที่มิใช่สมาชิก อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น เดิมสินค้าชนิดหนึ่งที่อังกฤษเคยให้ลดภาษีเมื่อครั้งอยู่ในอียู แต่อาจจะเป็นสินค้าที่อังกฤษต้องการปกป้อง ซึ่งพอออกจากอียูอาจปรับขึ้นภาษี หรือจะย้อนกลับไปใช้อัตราภาษีเดิมก่อนเข้าอียูซึ่งผ่านมานานมากแล้ว

“สิ่งที่อังกฤษเคยให้ไทยควรจะต้องคงไว้ บางอย่างที่ไทยจะหารือต้องอาศัยช่องทางผ่าน WTO ซึ่งอังกฤษคงเข้าใจหลักการนี้ เรียกว่าอย่างน้อยเรายังมีหลักพิงอยู่ว่า หากเกิดอะไรขึ้น เช่น ถูกปรับเปลี่ยนอัตราภาษีนำเข้า ไทยสามารถไปขอเจรจาที่ดับบลิวทีโอได้ แต่ไม่ใช่เฉพาะไทยเพียงคนเดียวที่ต้องไปเจรจา อังกฤษต้องเตรียมรับมือกับการเจรจาของทุกประเทศที่จะมุ่งเข้ามาเจรจา เพราะทุกอย่างที่เจรจาไปแล้วตั้งแต่อยู่ในอียูจะต้องเจรจาใหม่หมด ขึ้นอยู่กับว่าผลเจรจากับอียูจะเป็นอย่างไร โจทย์คืออังกฤษคงต้องคิดอะไรที่ทำให้ตัวเองเหนื่อยน้อยที่สุด ค่อนข้างจะซับซ้อน ไม่ใช่แค่อัตราภาษี แต่จะต้องมีเรื่องมาตรฐาน กฎระเบียบต่าง ๆ แต่ประเด็นที่เสี่ยงคือกรอบระยะเวลาในการเจรจาเดินไปเรื่อย ๆ ยิ่งนาน อียูจะมีความได้เปรียบในการต่อรองมากขึ้น ถ้าอังกฤษยังเจรจาไม่เสร็จ คนเดือดร้อนคือคนที่โดนโดดเดี่ยว ซึ่งก็มีเพรสเชอร์เรื่องเวลาที่จะต้องติดตามต่อไป”

ด้านนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าอังกฤษยินดีที่จะเจรจาเอฟทีเอกับไทย แต่ยังไม่สามารถจะเริ่มเจรจาได้ เพราะยังอยู่ในกระบวนการเจรจา Brexit ฝ่ายไทยต้องติดตามผล Brexit อีก 1-2 ปี ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น ในกรณีที่อังกฤษถูกโดดเดี่ยวจากสหภาพยุโรป การลงทุนตรงไปยังอังกฤษลดลง ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ชะลอตัว ซึ่งจะมีผลให้อังกฤษกลายเป็นตลาดส่งออกที่มีขนาดเล็กลง กรณีนี้ไทยต้องประเมินว่า ไทยส่งออกไปยังอังกฤษมากน้อยเพียงใด และมีสินค้าใดบ้างที่ส่งเข้าไป หรือกรณีคือ อังกฤษยังอยู่ใน Custom Union หมายถึงสหภาพศุลกากร อัตราภาษีนำเข้ายังเท่าเดิมจะไม่ต้องเจรจาใหม่ แต่หากไม่เป็น Custom Un-ion ไทยต้องได้ทั้งโควตาเดิมที่อียูเคยให้ และได้โอกาสขยายตลาดอังกฤษเพิ่มขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมาอังกฤษเปรียบเสมือนพ่อค้าคนกลางที่นำเข้าสินค้าจากไทยไปขายในอียู หากอังกฤษพ้นจากการเป็นสหภาพศุลกากรไทยจะต้องปรับตัว โดยการส่งออกตรงไปยังประเทศเศรษฐกิจใหญ่ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ส่วนผลกระทบตลาดอังกฤษคงน้อย ถ้าถึงเวลานั้น เพราะอังกฤษจะกลายเป็นตลาดที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก”

รายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ระบุว่า ผล Brexit ไม่กระทบต่อไทยมากนัก เพราะไทยส่งออกไปอังกฤษสัดส่วน 3.41% เทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร-เกษตรไปยังตลาดโลก ภายหลังจาก Brexit ไทยต้องหาทางเจรจาให้อังกฤษเปิดตลาดนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยมากขึ้น เพราะสินค้าไก่แปรรูปส่งไปอังกฤษมากเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกไก่แปรรูปทั้งหมดของไทย รวมถึงต้องขอเจรจาเปิดตลาดสินค้าที่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีอื่นๆ เช่น ทูน่ากระป๋อง อาหารแปรรูป กุ้งแปรรูป และสับปะรดกระป๋องด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 5 สิงหาคม 2560

ก.เกษตรจับมืออิสราเอล ใช้เทคโนแปลงใหญ่อีสาน

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลจากการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและชนบทของอิสราเอล รวมถึงได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ รัฐอิสราเอล นั้น ขณะนี้กรมชลประทานได้จัดทำกรอบแผนงานโครงการเกษตรแปลงใหญ่ผสานเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรและการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทาน

อ่างเก็บน้าห้วยประดู่โครงการชลประทานมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ระยะเวลา 2 ปี (2561-2562) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่นำร่องที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่มีความชัดเจนและเห็นผลเร็ว เสนอให้ทางอิสราเอลเพื่อทำงานร่วมกัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนกำหนดวันจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่ของสองประเทศโดยเร็ว

สำหรับกรอบแนวทางที่ไทยขอรับการสนับสนุนและร่วมมือจากอิสราเอล มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรในระดับไร่นา การจัดการ ดิน น้ำและพืช การวิเคราะห์คุณสมบัติดินและน้ำในพื้นที่ การแนะนำพืชทางเลือกที่เหมาะสมกับดินและน้ำและมีมูลค่าสูงทางการตลาด การนำน้ำมาใช้ซ้ำและหมุนเวียนน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การจัดแปลงเพาะปลูก และระบบการให้น้ำ การจัดแปลงเพาะปลูกที่เหมาะสมเพื่อลดการระเหยของน้ำและให้ผลผลิตต่อหน่วยสูง การออกแบบระบบการให้น้ำแบบประหยัดน้ำและประหยัดพลังงานที่เหมาะสมกับชนิดพืช ทางเลือก ดิน และปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่โดยคำนึงถึงผลผลิต ต่อหน่วยและผลผลิตต่อพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรในระดับธุรกิจ ในด้านเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวเพื่อเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ 2.ให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการเลือก การพัฒนา การติดตั้ง และประยุกต์ใช้เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 3.เป็นพี่เลี้ยงการดำเนินโครงการให้กับบุคลากรฝ่ายไทยจนสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี (2561-2562)

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยประดู่ โครงการชลประทานมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคามมานำร่องภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-อิสราเอล ครั้งนี้ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยประดู่ซึ่งมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 2.8 ล้าน ลบ.ม. มีระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่เกษตร 2,270 ไร่ การเกษตรโดยส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นหลักในฤดูฝน ขณะที่ในฤดูแล้งปลูกพริก และพืชตระกูลถั่ว/ข้าวโพดหวาน ขณะเดียวกัน สภาพดินในพื้นที่มีปัญหาเรื่องดินเค็ม เนื้อดินมีทรายปนสูง จึงมีการสูญเสียน้ำมาก หากส่งน้ำแบบผิวดินแบบเดิม ประกอบกับน้ำต้นทุนในอ่างมีแนวโน้มลดลง จึงต้องการใช้เทคโนโลยีการส่งและกระจายน้ำเพื่อให้มีการสูญเสียน้อย และลดผลกระทบปัญหาดินเค็ม

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 4 สิงหาคม 2560

ส.อ.ท.ชี้เงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาคกระทบส่งออก

"ส.อ.ท." ชี้เงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาคถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี หวั่นกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก

 นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก ที่จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออก ซึ่งจะต้องติตตามว่าค่าเงินบาที่แข็งจะเป็นไปในระยะสั้นหรือระยะยาวเพียงใด ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้จัดตั้งคณะทำงาน 1 ชุด ประกอบด้วยสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประชุมหารือและติดตามผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่า ก่อนที่จะนำเข้าหารือในที่ประชุมกกร.ประจำเดือนกันยายน

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ได้ส่งสัญญาณกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่มีแผนการลงทุนใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งค่านำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี จากต่างประเทศเพื่อขยายกำลังการผลิต แต่ยังพบว่า สัญญาณการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการขณะนี้ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 สิงหาคม 2560

ยอดลงทุนเริ่มโงหัว แห่ขอใบ ‘ร.ง. เดือนกค.เพิ่ม4%

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม แถลงยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการหรือ ใบ ร.ง.4 และการขยายกิจการในเดือนกรกฎาคม 2560 ว่า มีจำนวนโรงงานขอทั้งสิ้น 404 โรงงาน เพิ่มขึ้น 4.39% มูลค่าการลงทุนรวม 39,848 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ถือว่าเพิ่มขึ้น 31.52%

โดยแบ่งเป็น 1. กลุ่มจดประกอบกิจการจำนวน 333 โรงงาน เพิ่มขึ้น 7.07% แรงงานจำนวน 8,558 คน เพิ่มขึ้น 27.81% มูลค่าการลงทุนมูลค่า 25,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.28% 2. กลุ่มขยายกิจการจำนวน 71 โรงงาน เพิ่มขึ้น 26.79% แรงงานจำนวน 7,425 คน เพิ่มขึ้น 61.27% มูลค่าการลงทุน 14,724 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.04%

“การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น พร้อมกับเป็นช่วงครึ่งปีหลังที่ผู้ประกอบการส่วนมากจะมีการลงทุนที่สูงขึ้นจึงส่งผลให้ยอดการจด ประกอบขยายโรงงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน” นายมงคลกล่าว

ในวันเดียวกัน นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวเสวนาเรื่อง ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรม(สศอ.) ที่ ว่า นโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมีโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)เป็นตัวเชื่อมโยงนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมประเทศ และยังมีการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ(เอสเคิร์ฟ) อย่างไรก็ตาม จากการติดตามนโยบายดังกล่าวพบว่า รัฐบาลอาจมุ่งเน้นตัวอุตสาหกรรมหลัก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากเกินไป

“อยากให้รัฐบาลทบทวนแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เข้มข้นขึ้นกว่านี้ อาจประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเพิ่มจากปัจจุบันที่มีเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเน้นพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมเป็นหลัก” นายโอฬาร กล่าว

สาเหตุที่รัฐบาลควรสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้เป็นเขตส่งเสริมฯได้สิทธิประโยชน์เต็มของอีอีซี เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ 3 จังหวัดอีอีซี คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีศักยภาพ ทั้งความเป็นเมืองผลไม้ เมืองท่องเที่ยว และปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีน รัสเซีย ที่มีกำลังซื้อสูง เข้ามาเที่ยวพร้อมกับบริโภคผลไม้ สินค้าเกษตรของไทย ขณะเดียวกัน ก็มีการนำผลไม้ของไทยไปบริโภคต่างประเทศ นอกจากนี้ ในด้านสุขภาพทั้งการรักษาโรค ศูนย์สุขภาพและความงาม ก็เป็นกลุ่มที่มูลค่าสูง และสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้ ดังนั้น การยกระดับทั้ง 2 อุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็น มั่นใจว่าจะทำให้อีอีซีมีการพัฒนาและประสบความสำเร็จ

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า สศอ.กำลังจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ)รูปแบบใหม่ ให้มีการครอบคลุมไปยังหมวดต่างๆ นอกเหนือจากภาคการผลิต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดหมวดหมู่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) คาดว่าการทำข้อมูลทั้งหมดจะต้องเกิดการบูรณาการร่วมกัน โดยวางเป้าหมายให้แล้วเสร็จในช่วงปี 2562

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 4 สิงหาคม 2560

พด.เปิดเวทีระดมสมองพัฒนาดิน-ปุ๋ย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่า ในกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขณะที่ประเทศมีแนวโน้มปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ดินเสื่อมโทรม ป่าไม้ถูกทำลาย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติมีความถี่และรุนแรง รัฐบาลจึงมีแนวคิดปฏิรูปภาคเกษตรของไทยสู่เกษตร 4.0 : เกษตรกรมั่งคั่ง ประเทศมั่นคงด้านอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืน สอดคล้องกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และการบริการเป็นเลิศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรของไทย โดยพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัจจัยต้นทุนการผลิตการเกษตร ให้ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0” ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคมที่ผ่านมาที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เป็นเวทีเผยแพร่งานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ย สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

ด้าน ดร.พิทยากร ลิ่มทอง นายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีผลงานวิจัยที่ทดลองทดสอบจนประสบผลสำเร็จ รวมทั้งมีนวัตกรรมเด่นๆ มานำเสนอหลายเรื่อง เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำเศษวัสดุเหลือใช้จากไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาใช้ประโยชน์ภาคเกษตร เช่น นำยิปซัมมาใช้ในภาคเกษตร การวิจัยเชื้อจุลินทรีย์ในดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งสภาพดินทางการเกษตรของไทยปัจจุบัน เราจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีปริมาณเหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 4 สิงหาคม 2560

โรงงานน้ำตาลดิ้นพบ"อุตตม"สัปดาห์หน้า เคลียร์โรงงานตั้งใหม่-ลอยตัวราคา1ธ.ค.

         3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเตรียมเข้าพบ "อุตตม" สัปดาห์หน้าหวังเร่งเคลียร์ปัญหาการขยายและตั้งโรงงานใหม่สะดุดไม่ทันเวลา 5 ปีตามเงื่อนไข เหตุติดผังเมือง EIA ไม่ผ่าน จ่อขอขยายเวลา จนกว่า EIA จะเสร็จ พร้อมถกขอชัดเจนลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ 1 ธ.ค.นี้

          แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้  3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกำลังประสานเพื่อขอเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสัปดาห์หน้าเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่ขณะนี้โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตั้งและขยายโรงงานใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ประมาณ 36 แห่งมีแนวโน้มสูงที่จะตั้งโรงงานใหม่ได้ไม่ทันกำหนดระยะเวลา 5 ปี จึงจะขอขยายเวลาออกไปจนกว่ารายงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะเสร็จ

          "ขณะนี้ติดปัญหา EIA และผังเมือง โดยกรณีผังเมืองนั้นจะขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยในการช่วยแก้ไขปัญหาเนื่องจากโรงงาน บางแห่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานเดิม แต่กลับติดผังเมืองเพราะถูกระบุว่าเป็นสีเขียวจึงขอให้ดูในจุดนี้" แหล่งข่าวกล่าว

          นอกจากนี้ ยังจะหารือถึงนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ สอน.กำหนดจะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เนื่องจากโรงงานมีความกังวลในขั้นตอนการปฏิบัติว่าจะดำเนินการอย่างไรแน่โดยเฉพาะจะนำราคาใดมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 60/61 พร้อมกันนี้ต้องการให้มีการหารือในรายละเอียด กับทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ก่อนที่จะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ออกมาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

          "ตามร่าง พ.ร.บ.ใหม่เองก็ยังกำหนดว่าเมื่อลอยตัวราคาในประเทศหากราคาอ้อย ขั้นต้นต่ำกว่าขั้นปลายกองทุนน้ำตาลทรายจะไม่รับผิดชอบโดยให้ไปหักในปีถัดไปกับชาวไร่หากชาวไร่คนเดิมเลิกไปจะทำอย่างไร และเมื่อยกเลิกระบบโควตาจะบริหารอย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า โรงงานน้ำตาลเองพร้อมที่จะลอยตัวราคาแต่ก็ต้องขอความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติเพราะเวลาก็เหลือไม่กี่เดือนก็จะถึง 1 ธ.ค.แล้ว  ดังนั้น จะคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นอย่างไร แต่ยืนยันว่าน้ำตาลจะไม่ขาดแคลนแน่นอน อย่างไรก็ตาม ระบบแบ่งปันผลผลิตระหว่างชาวไร่อ้อย 70% กับโรงงาน 30% เป็นระบบที่ดีอยู่แล้วมีเพียงบางส่วนต้องปรับปรุงเท่านั้น

          นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)  หรือเคเอสแอล กล่าวว่า  จะลอยตัวราคา 1 ธ.ค.ไม่มีปัญหาแต่สิ่งที่โรงงานน้ำตาลอยากเห็นคือแผน รายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานว่าเป็นอย่างไรแน่ที่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  สอน.ได้กำหนดไว้ว่าเมื่อได้ใบอนุญาตตั้งและขยายโรงงานแล้วต้องสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปีไม่เช่นนั้นก็จะยึดใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นขอตั้งโรงงานใหม่ 22 แห่ง ขยายโรงงาน 17 แห่งมีเพียง 1 แห่งที่เปิดดำเนินการแล้วคือโรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์ของกลุ่มไทยเบฟ ส่วนที่เหลือ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเป็นส่วนใหญ่และที่กำลังจะสิ้นสุดใบอนุญาต 5 ปี คือโรงงานไทยรุ่งเรือง จ.สกลนคร และตะวันออก จ.สระแก้ว ที่เหลือก็จะทยอยสิ้นสุดอายุใบอนุญาตปี 2561 เป็นต้นไป

          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมย้ำชัดเจนว่าจะไม่ต่อใบอนุญาตให้เพราะให้เวลาแล้วและพบว่าบางโรงงานที่ยื่นขอเป็นเพียงการกั๊กกันเองไม่ได้ตั้งใจทำจริง.

จาก http://manager.co.th วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

โรงงานน้ำตาลใหม่ส่อแท้งติดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 

          รายงานข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เตรียมเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตั้งและขยายโรงงานใหม่ จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณ 36 แห่ง มีแนวโน้มที่จะตั้งโรงงานใหม่ได้ไม่ทันกำหนดระยะเวลา 5 ปี  เนื่องจากติดปัญหาการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงจะขอขยายเวลาออกไปจนกว่าอีไอเอจะแล้วเสร็จ

          "โรงงานอ้อยใหม่ที่ตั้งไม่ทัน เพราะติดปัญหา และผังเมือง ซึ่งจะขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย ช่วยแก้ไขปัญหา เนื่องจากโรงงานบางแห่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานเดิม แต่กลับติดผังเมืองเพราะถูกระบุว่าเป็นสีเขียวจึงขอให้ดูในจุดนี้ ซึ่งตามเงื่อนไขของ กระทรวงอุตฯ หากตั้งไม่ทันภายใน 5 ปีจะยึดใบอนุญาต"

          นอกจากนี้ยังจะหารือถึงนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลที่สอน.กำหนดจะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศวันที่ 1 ธ.ค. นี้ เนื่องจากโรงงานมีความกังวลในขั้นตอนการปฏิบัติจะดำเนินการอย่างไรแน่ โดยเฉพาะจะนำราคาใดมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 60/61 พร้อมกันนี้ต้องการให้หารือในรายละเอียดกับทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ก่อนที่จะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ออกมาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สอน.ได้กำหนดไว้ว่าเมื่อได้ใบอนุญาตตั้งและขยายโรงงานแล้วต้องสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปีไม่เช่นนั้น จะยึดใบอนุญาตซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นขอตั้งโรงงานใหม่ 22 แห่ง ขยายโรงงาน 17 แห่งมีเพียง 1 แห่งที่เปิดดำเนินการแล้ว คือ โรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์ของกลุ่มไทยเบฟ ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างดำเนินการ และที่กำลังจะสิ้นสุดใบอนุญาต 5 ปี คือโรงงานไทยรุ่งเรือง จ.สกลนคร และตะวันออก จ.สระแก้ว ที่เหลือต้องทยอยสิ้นสุดอายุใบอนุญาตปี 61 และที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำชัดเจนว่าจะไม่ต่อใบอนุญาตให้ เพราะพบว่าบางโรงงานกั๊กกันเองไม่ได้ตั้งใจทำจริง

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลพร้อมรับการลอยตัวราคา แต่ก็ต้องขอความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติจากทางการด้วย.

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

เคลียร์ปัญหาน้ำตาล 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ประสานขอเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ขณะนี้โรงงานน้ำตาล ที่ได้รับใบอนุญาตตั้งกิจการใหม่และที่ได้รับอนุมัติให้ขยายกิจการ จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) 36 แห่ง มีแนวโน้มสูงที่จะตั้งโรงงานใหม่ไม่ทันกำหนด 5 ปี จึงจะขอขยายเวลาออกไปจนกว่ารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะจัดทำแล้วเสร็จ รวมทั้งบางโรงงานยังติดปัญหาเรื่องผังเมือง นอกจากนี้ จะหารือถึงนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่ สอน.กำหนดลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เนื่องจากโรงงานน้ำตาลมีความกังวลในขั้นตอนการปฏิบัติจะนำราคาน้ำตาลประเภทใดมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/61 ที่จะเปิดหีบในเดือน พ.ย.นี้ พร้อมกันนี้ต้องการให้มีการหารือในรายละเอียดกับทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ก่อนที่จะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ออกมาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560 

พด.เปิดเวทีระดมสมองพัฒนาดิน-ปุ๋ย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่า ในกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขณะที่ประเทศมีแนวโน้มปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ดินเสื่อมโทรม ป่าไม้ถูกทำลาย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติมีความถี่และรุนแรง รัฐบาลจึงมีแนวคิดปฏิรูปภาคเกษตรของไทยสู่เกษตร 4.0 : เกษตรกรมั่งคั่ง ประเทศมั่นคงด้านอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืน สอดคล้องกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และการบริการเป็นเลิศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรของไทย โดยพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัจจัยต้นทุนการผลิตการเกษตร ให้ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0” ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคมที่ผ่านมาที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เป็นเวทีเผยแพร่งานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ย สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

ด้าน ดร.พิทยากร ลิ่มทอง นายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีผลงานวิจัยที่ทดลองทดสอบจนประสบผลสำเร็จ รวมทั้งมีนวัตกรรมเด่นๆ มานำเสนอหลายเรื่อง เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำเศษวัสดุเหลือใช้จากไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาใช้ประโยชน์ภาคเกษตร เช่น นำยิปซัมมาใช้ในภาคเกษตร การวิจัยเชื้อจุลินทรีย์ในดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งสภาพดินทางการเกษตรของไทยปัจจุบัน เราจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีปริมาณเหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560

โรงงานน้ำตาลลุ้นถก “อุตตม” สัปดาห์หน้าเคลียร์โรงงานตั้งใหม่-ลอยตัวราคา   

         3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเตรียมเข้าพบ “อุตตม” สัปดาห์หน้า หวังเร่งเคลียร์ปัญหาการขยายและตั้งโรงงานใหม่สะดุดไม่ทันเวลา 5 ปีตามเงื่อนไข เหตุติดผังเมือง EIA ไม่ผ่าน จ่อขอขยายเวลาจนกว่า EIA จะเสร็จ พร้อมถกขอชัดเจนลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ 1 ธ.ค.นี้

               แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกำลังประสานเพื่อขอเข้าพบ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่ขณะนี้โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตั้งและขยายโรงงานใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณ 36 แห่งมีแนวโน้มสูงที่จะตั้งโรงงานใหม่ได้ไม่ทันกำหนดระยะเวลา 5 ปี จึงจะขอขยายเวลาออกไปจนกว่ารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะเสร็จ

               “ขณะนี้ติดปัญหา EIA และผังเมือง โดยกรณีผังเมืองนั้นจะขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยในการช่วยแก้ไขปัญหา เนื่องจากโรงงานบางแห่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานเดิมแต่กลับติดผังเมืองเพราะถูกระบุว่าเป็นสีเขียวจึงขอให้ดูในจุดนี้” แหล่งข่าวกล่าว

               นอกจากนี้ยังจะหารือถึงนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ สอน.กำหนดจะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เนื่องจากโรงงานมีความกังวลในขั้นตอนการปฏิบัติจะดำเนินการอย่างไรแน่ โดยเฉพาะจะนำราคาใดมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 60/61 พร้อมกันนี้ต้องการให้มีการหารือในรายละเอียดกับทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ก่อนที่จะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ออกมาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

               “ตามร่าง พ.ร.บ.ใหม่เองก็ยังกำหนดว่าเมื่อลอยตัวราคาในประเทศหากราคาอ้อยขั้นต้นต่ำกว่าขั้นปลายกองทุนน้ำตาลทรายจะไม่รับผิดชอบ โดยให้ไปหักในปีถัดไปกับชาวไร่ หากชาวไร่คนเดิมเลิกไปจะทำอย่างไร และเมื่อยกเลิกระบบโควตาจะบริหารอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว

               แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า สอน.ได้กำหนดไว้ว่าเมื่อได้ใบอนุญาตตั้งและขยายโรงงานแล้วต้องสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปีไม่เช่นนั้นก็จะยึดใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นขอตั้งโรงงานใหม่ 22 แห่ง ขยายโรงงาน 17 แห่ง มีเพียง 1 แห่งที่เปิดดำเนินการแล้ว คือ โรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์ของกลุ่มไทยเบฟ ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ และที่กำลังจะสิ้นสุดใบอนุญาต 5 ปี คือ โรงงานไทยรุ่งเรือง จ.สกลนคร และตะวันออก จ.สระแก้ว ที่เหลือก็จะทยอยสิ้นสุดอายุใบอนุญาตปี 2561 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำชัดเจนว่าจะไม่ต่อใบอนุญาตให้เพราะให้เวลาแล้ว และพบว่าบางโรงงานที่ยื่นขอเป็นเพียงการกั๊กกันเองไม่ได้ตั้งใจทำจริง

จาก http://manager.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2560

โรงงานน้ำตาลทราย เตรียมตบเท้าคุย “อุตตม” เคลียร์ตั้งโรงงานใหม่ติดอีไอเอผังเมืองไม่ผ่าน

รายงานข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เตรียมเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตั้งและขยายโรงงานใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณ 36 แห่ง มีแนวโน้มที่จะตั้งโรงงานใหม่ได้ไม่ทันกำหนดระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากติดปัญหาการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงจะขอขยายเวลาออกไปจนกว่าอีไอเอจะแล้วเสร็จ

“โรงงานอ้อยใหม่ที่ตั้งไม่ทัน เพราะติดปัญหา และผังเมือง ซึ่งจะขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย ช่วยแก้ไขปัญหา เนื่องจากโรงงานบางแห่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานเดิม แต่กลับติดผังเมืองเพราะถูกระบุว่าเป็นสีเขียวจึงขอให้ดูในจุดนี้ ซึ่งตามเงื่อนไขของกระทรวงอุตฯ หากตั้งไม่ทันภายใน 5 ปี”

นอกจากนี้ ยังจะหารือถึงนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลที่สอน. กำหนดจะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เนื่องจากโรงงานมีความกังวลในขั้นตอนการปฏิบัติจะดำเนินการอย่างไรแน่ โดยเฉพาะจะนำราคาใดมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/61 พร้อมกันนี้ต้องการให้หารือในรายละเอียดกับทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ก่อนทีจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ออกมาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สอน. กำหนดไว้ว่าเมื่อได้ใบอนุญาตตั้งและขยายโรงงานแล้วต้องสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปี ไม่เช่นนั้นก็จะยึดใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นขอตั้งโรงงานใหม่ 22 แห่ง ขยายโรงงาน 17 แห่งมีเพียง 1 แห่ง ที่เปิดดำเนินการแล้วคือ โรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์ ของกลุ่มไทยเบฟ ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ และที่กำลังจะสิ้นสุดใบอนุญาต 5 ปี คือโรงงานไทยรุ่งเรือง จ.สกลนคร และตะวันออก จ.สระแก้ว ที่เหลือต้องทยอยสิ้นสุดอายุใบอนุญาตปี 2561 เป็นต้นไป โดยที่ผ่านมานายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำชัดเจนว่าจะไม่ต่อใบอนุญาตให้ เพราะให้เวลาแล้ว และพบว่าบางโรงงานที่ยื่นขอเป็นเพียงการกั๊กกันเองไม่ได้ตั้งใจทำจริง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลเองพร้อมที่จะลอยตัวราคาแต่ก็ต้องขอความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติเพราะเวลาก็เหลือไม่กี่เดือนก็จะถึง 1 ธ.ค.แล้ว ดังนั้นจะคำนวณราคอ้อยขั้นต้นอย่างไร แต่ยืนยันว่าน้ำตาลจะไม่ขาดแคลนแน่นอน อย่างไรก็ตามระบบแบ่งปันผลผลิตระหว่างชาวไร่อ้อย 70% กับโรงงาน 30% เป็นระบบที่ดีอยู่แล้วมีเพียงบางส่วนต้องปรับปรุงเท่านั้น

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2560

'น้ำตาลบุรีรัมย์' ซื้อกองทุน BRRGIF 29.61%

น้ำตาลบุรีรัมย์ เผยเข้าลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) สัดส่วน 29.61% มูลค่า 1.06 พันล้านบาท

นายอนันต์ ตั้งตรงเวช ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทฯได้เข้าจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) จำนวน 103,629,328 หน่วย ราคา 10.30 บาทต่อหน่วย เป็นเงิน 1,067.38 ล้านบาท คิดเป็น 29.61% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุน

นอกจากนี้บริษัทฯ และบริษัทบุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์จำกัด (BPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยและบริษัทโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด ยังได้เข้าทำสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นต่อการจัดตั้งกองทุน ซึ่ง BEC และ BPC ได้รับเงินค่าขายและโอนสิทธิในรายได้สุทธิจากดารประกอบกิจการโรงไฟฟ้าจากกองทุน BRRGIF เรียบร้อยแล้ว

 ทั้งนี้ กองทุน BRRGIF เสนอขายหน่วยลงทุนจำนวน 350 ล้านหน่วย ราคาหน่วยละ 10.30 บาท ได้รับเงินจากการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก 3,605 ล้านบาท คาดว่าหน่วยลงทุนจะเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งแรกในวันที่ 7 ส.ค.2560

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 สิงหาคม 2560

กรมโรงงานฯ เผย 7 เดือนแรกปีนี้ยอดขอ รง.4 เริ่มขยายตัว   

          กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และการขยายกิจการในเดือนกรกฎาคม 2560 ยอดตั้งโรงงานโต 4.39% ส่งผลให้ 7 เดือนแรกปีนี้เริ่มกลับมาขยายตัวเล็กน้อย

                นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และการขยายกิจการในเดือนกรกฎาคม 2560 มีจำนวนโรงงานขอทั้งสิ้น 404 โรงงาน เพิ่มขึ้น 4.39% มูลค่าการลงทุนรวม 39,848 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 เพิ่มขึ้น 31.52% ส่งผลให้การขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานเดือนมกราคม-กรกฎาคม2560 มีจำนวน 2,883 โรงงาน ก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน 122,917 คน มูลค่าการลงทุนรวม 259,316 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีตัวเลข จำนวน 2,829 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 258,952 ล้านบาท

               สำหรับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และการขยายกิจการในเดือนกรกฎาคม 2560 มีจำนวนโรงงานขอทั้งสิ้น 404 โรงงาน แบ่งเป็น 1. กลุ่มจดประกอบกิจการจำนวน 333 โรงงาน เพิ่มขึ้น 7.07% แรงงานจำนวน 8,558 คน เพิ่มขึ้น 27.81% มูลค่าการลงทุน 25,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.28% 2. กลุ่มขยายกิจการจำนวน 71 โรงงาน เพิ่มขึ้น 26.79% แรงงานจำนวน 7,425 คน เพิ่มขึ้น 61.27% มูลค่าการลงทุน 14,724 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.04%       

        ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงานมากที่สุด 3 อันดับแรกในเดือนมกราคม-กรกฎาคม คือ 1. อุตสาหกรรมอาหาร 412 โรงงาน เพิ่มขึ้น 11.35% มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 30,035 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 262 โรงงาน เพิ่มขึ้น 12.45% มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.54% 3. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ 227 โรงงาน เพิ่มขึ้น 6.27% มูลค่าการลงทุน 8,694 ล้านบาท ลดลง 38.34%

 จาก http://manager.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2560

“บิ๊กฉัตร” ขับเคลื่อนโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ทุ่ม 2.2 หมื่นล้านพลิกโฉมเกษตรกรไทย  

         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยโครงการ 9101 อุดหนุนงบให้แก่ชุมชนๆ ละ 2.5 ล้านบาท รวม 2.28 หมื่นล้านบาท คาดมีเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยรับประโยชน์จากโครงการนี้ถึง 4 ล้านคน

               พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 4 ก.ค.60 เห็นชอบโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีหลักการในการอุดหนุนงบประมาณให้แก่ชุมชนๆ ละ 2.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 2.28 หมื่นล้านบาท ทั่วประเทศว่า สำหรับโครงการ 9101 มีความหมายคือ 9 คือ รัชกาลที่ ๙ และ 10 หมายถึงรัชกาลที่ ๑๐ คือในหลวงรัชกาลปัจจุบัน และ 1 คือ ปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่าจะมีเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยรับประโยชน์จากโครงการนี้ถึง 4 ล้านคน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของเกษตรกรไทยจะลืมตาอ้าปาก โดยการพิจารณาอนุมัติแต่ละโครงการจะช่วยยังประโยชน์สูงสุดและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรได้อย่างแท้จริงในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้ 8 กลุ่ม โครงการ ประกอบด้วย ด้านการผลิตพืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้านการจัดการศัตรูพืช ด้านฟาร์มชุมชน ด้านการผลิตอาหาร และการแปรรูปการผลิต ด้านปศุสัตว์ (ขนาดเล็ก) และการประมง โดยตนได้ได้มอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติแก่ผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯเพื่อให้ขับเคลื่อนโครงการ 9101 ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้สำเร็จ โดยมีลักษณะเป็นสายโซ่เชื่อมโยงทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทุกมิติ

               “การปฏิรูปภาคการเกษตรกรไทยภายใต้แนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องนำนวัตกรรมแบบอัจฉริยะมาใช้ ตั้งแต่การผลิต แปรรูป และการตลาดหมายถึงเราจะต้องดูแลพี่น้องเกษตรกรตั้งแต่การลดความเสียหายจากภัยพิบัติ เช่น ปัญหาท่วมท่วม ภัยแล้ง หรือแม้แต่การป้องกันความเสียหายจากการแพร่ระบาดของศัตรูพืชหนอนหรือแมลงต่างๆ เรียกว่าต้องดูแลกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเลยทีเดียว” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

               พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวยอมรับว่า มีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท จะมีประสิทธิภาพถึงมือพี่น้องเกษตรกรได้ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าโครงการนี้กำหนดให้มีระบบการตรวจสอบและรับรองกันเองของแต่ละชุมชน ที่สำคัญจะต้องเป็นการจ้างแรงงานในท้องถิ่นร้อยละ 50 โดยชุมชนจะคัดเลือกและรับรองกันเองด้วย นอกเหนือจากความโปร่งใสแล้วตนเห็นว่าปัญหาของเกษตรกรต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที หลายเรื่องถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การแพร่ระบาดของศัตรูพืช และโรคระบาดในสัตว์เลี้ยง ที่แต่ละปีเกิดความเสียหายเป็นเงินจำนวนมหาศาล จึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ เมื่อมีปัญหาต้องลงพื้นที่ทันทีและตรวจสอบให้แน่ใจว่าสามารถป้องกันปัญหาต่างๆ ได้ ปีที่ผ่านมามีหลายประเทศให้ความเชื่อมั่นนำเข้าเนื้อไก่สดและไข่ไก่จากประเทศไทยมากขึ้น

               พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า โดยประเทศจีนได้ขอเข้ามาชมการผลิตของประเทศไทยและได้กล่าวชื่นชมกระบวนการผลิตของไทยที่มีมาตรฐานสูง อยากจะนำเข้าสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก สำหรับปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยซึ่งอียูเข้ามาตรวจสอบ เจ้าหน้าที่กรมประมง กรมเจ้าท่า และหน่วยอื่นๆ ได้ทำงานหนักมา กว่า 2 ปี เพื่อยกมาตรฐานการทำประมงให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ทั้งการดูแลสัตว์น้ำให้มีปริมาณที่เหมาะสม และดูแลแรงงานประมงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมามีปัญหาหมักหมมมาอย่างยาวนานรัฐบาลชุดนี้ได้ออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อทำให้อุตสาหกรรมประมงไทย โดยเฉพาะชาวประมงเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ปัญหาที่ทำกิน ส.ป.ก. มีการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ยึดคืน เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พร้อมหน่วยทหารช่างเข้าไปเร่งพัฒนาพื้นที่ให้มีความพร้อม หน่วยอื่นๆ เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และอื่นๆ ลงพื้นที่เตรียมการเสริมสร้างอาชีพให้เกษตรกรมีความพร้อม ถือเป็นการช่วยพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืนด้วย

 จาก http://manager.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2560

นโยบายราคาสินค้าเกษตร : โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

สินค้าจากภาคเกษตรกรรมเป็นสินค้าที่ราคาเป็นปัญหาทุกประเทศทั่วโลก เพราะทุกวันนี้มนุษย์สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้เกินความต้องการในการอุปโภคบริโภคได้เป็นจำนวนมาก ถ้าหากราคาสินค้าเกษตรนั้นมีราคาสูงพอ ปริมาณการผลิตจึงมิได้อยู่ที่ความสามารถของการผลิตของเกษตรกรโดยส่วนรวม ยกเว้นแต่บางประเทศที่แห้งแล้งเป็นทะเลทราย แต่ถ้าราคาสูงมากมนุษย์ก็ขวนขวายหาทางเพาะปลูกจนได้ เช่น เกษตรกรในมณฑลซินเจียงของประเทศจีน สามารถระบายหิมะจากยอดเขาเทียนซาน ไหลลงมากลายเป็นน้ำใช้ทำการเพาะปลูกได้

ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง รวมทั้งมันฝรั่ง อ้อย ยางพารา และอื่นๆ ล้วนกลายเป็นสินค้าการเมืองทั้งสิ้น กล่าวคือ ราคามีผลต่อความนิยมและเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคการเมือง รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศด้วย เพราะมีความต้องการทั้งด้านผู้ผลิตและผู้บริโภคและอุปโภค

สำหรับประเทศในระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นประเทศที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมในระดับสูง ที่มาตรฐานการดำรงชีวิตสูง ค่าจ้างแรงงานก็ถีบตัวสูงตามไปด้วย ถ้าหากจะเปิดตลาดให้สินค้าเกษตรสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีระหว่างประเทศ สินค้าเกษตรจากต่างประเทศก็จะหลั่งไหลเข้ามาทำให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศล่มสลายได้

ในการเจรจาเพื่อเปิดตลาดให้มีการค้าเสรี จึงไม่สามารถรวมสินค้าภาคเกษตรเข้าไปในรายการที่จะต้องเปิดเสรี สำหรับประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การค้าระหว่างประเทศ เพราะถ้าเปิดเสรีประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะต้องเลิกการผลิตสินค้าเกษตร เพราะถ้าเปิดเสรีประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเลิกผลิตสินค้าเกษตร เพราะราคาจะต่ำลงจนผลิตไม่ได้ ไม่คุ้มค่าแรง

ประเทศเหล่านี้จึงมีนโยบายสินค้าเกษตรของตนเอง กล่าวโดยรวมๆ ก็คือห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่ตนต้องการจะปกป้องเกษตรกรของตน เกษตรกรที่จะผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิดต้องมาลงทะเบียนกับทางการ ทางการจำกัดเนื้อที่เพาะปลูกให้แต่ละครอบครัว หรือแต่ละบริษัทที่จะทำการเพาะปลูกได้ รัฐบาลตั้งงบประมาณจำกัดในการรับซื้อสินค้าเกษตรทั้งหมดในราคาประกัน จะเรียกว่าโครงการประกันราคา หรือโครงการรับจำนำ หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วรัฐบาลจะโดยหน่วยงานของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือสหกรณ์ก็จะเป็นผู้นำสินค้าเกษตรเหล่านั้นออกมาขายให้กับพ่อค้าขายส่งในราคาที่รัฐบาลกำหนด ขึ้นกับความต้องการว่าจะให้ราคาที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายควรเป็นเท่าไหร่

เกษตรกรทั้งหมดในประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเกษตรได้จะมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมดทั่วประเทศ กล่าวคือมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้นเอง ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเกษตรได้มักจะมีฐานะและความเป็นอยู่ดีกว่าครอบครัวที่เป็นแรงงานหรือพนักงาน หรือแม้แต่ผู้บริหารในบริษัท เพียงแต่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ในสมัยที่โลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ยังดำรงอยู่ ที่ดินไม่ว่าจะเป็นที่ดินทางการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ทั้งหมดล้วนเป็นของรัฐ ในภาคเกษตรกรรมนั้นหน่วยงานผลิตไม่ใช่ครอบครัว แต่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ก็สหกรณ์ ราคารับซื้อสินค้าเพื่อการเกษตรต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาตลาดโลก เกษตรกรจึงไม่อยากจะทำการผลิต หรือเมื่อผลิตแล้วก็มักจะซุกซ่อนไว้ไม่ส่งมอบทั้งหมด เพื่อเอาไว้บริโภคหรือแอบขายในตลาดมืด

สินค้าเกษตรกรรมจึงเป็นสินค้าที่รัฐบาลต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวควบคุม ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าแล้วทางอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงทางทหาร เช่น กรณีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และยุโรป ต้องรักษาภาคเกษตรกรรมไว้ จึงต้องทำให้ราคาสูงพอโดยการชดเชยจากภาษีอากรและให้ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาในตลาดโลก สำหรับสหรัฐก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้ราคาภายในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก แต่จำกัดจำนวนประชากรในภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ให้มีเพียงไม่เกิน 5% ของประชากรที่เป็นแรงงานทั้งหมด นโยบายดังกล่าวแม้จะต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินแต่ก็มีจำนวนจำกัด ไม่เป็นอันตรายต่อฐานะการคลังของประเทศ สำหรับประเทศสังคมนิยมที่รัฐบาลเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เกษตรทั้งหมดก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะปริมาณผลผลิตลดลงจนไม่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในยุคที่รัสเซียและยุโรปตะวันออกเป็นคอมมิวนิสต์ประเทศต่างๆ เหล่านี้ต้องปันส่วนอาหารและเสื้อผ้า ต้องนำเข้าอาหารจากสหรัฐและที่อื่นๆ

พม่าเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวออกมากที่สุดในโลก เพราะรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษเปิดให้มีการค้าเสรี แต่เมื่อกองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจแล้วโอนกิจการการสีข้าว ค้าข้าว และส่งออกเป็นของรัฐ หลังจากนั้นพม่าที่เคยเป็นประเทศส่งออกมากที่สุดในโลกก็กลายเป็นประเทศที่ต้องนำข้าวเข้ามาบริโภค ขณะที่ประเทศไทยที่เคยมีการค้าเสรี รัฐบาลได้หันมาเก็บภาษีขาออกและพรีเมียมการส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลกครึ่งหนึ่ง

หลังจากที่ไทยเลิกการจำกัดโควต้าการส่งออกสินค้าเกษตร เลิกภาษีขาออก เลิกค่าธรรมเนียมการส่งออก เลิกพรีเมียมการส่งออก ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศก็ถีบตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก เป็นเหตุให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1-2 ล้านตัน/ปี เป็นประมาณ 9-10 ล้านตัน/ปี

ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกไม่ว่าจะเป็นสินค้าชนิดไหน ไม่มีประเทศใดจะกำหนดราคาได้ เพราะทุกประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรก็เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรไปพร้อมกันด้วย สินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะถูกบริโภคภายในประเทศและนำเข้าเฉพาะส่วนที่ขาด สินค้าเกษตรที่ซื้อขายกันในตลาดโลกจึงมีเพียง 10-15% ของสินค้าที่ผลิตและบริโภคทั้งหมดเท่านั้น นอกจากนั้นสินค้าเกษตรเกือบทุกชนิดมีสินค้าที่ทดแทนกันได้เยอะมาก โดยเฉพาะในประเทศใหญ่ที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น เช่น จีน อินเดีย อเมริกา ความสามารถของสินค้าที่ทดแทนกันได้ระหว่างข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และอื่นๆ จึงเป็นเรื่องปกติมาก ขึ้นอยู่กับราคาเปรียบเทียบ เพราะรสนิยมในการบริโภคของประชากรเหล่านั้นมีความยืดหยุ่น มีการทดแทนด้วยธัญพืชต่างชนิดกันได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถดูดซับแรงงานจากภาคเกษตรได้หมดอย่างประเทศพัฒนาแล้ว สถานการณ์จะกลับกันกับประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือแรงงานที่ยังอยู่ในภาคเกษตรยังมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมด ภาคเกษตรกรรมยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในการโอบอุ้มแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าภาคเกษตรจะผลิตเพียงร้อยละ 10-15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่โอบอุ้มแรงงานไว้ถึงร้อยละ 35-40 ของแรงงานทั้งหมด

การจะใช้นโยบายราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรทั้งหมด โดยการรับซื้อหรือรับจำนำสินค้าเกษตรกรรมทั้งหมด โดยไม่ได้จำกัดเนื้อที่เพาะปลูกและจำนวนครัวเรือนที่เป็นเกษตรกร จึงเป็นไปไม่ได้สำหรับฐานะการคลังของประเทศ นอกจากจะเป็นภาระอย่างมากแล้วในระยะยาวก็จะยิ่งทำให้เกษตรกรเร่งผลิตสินค้าชนิดที่ได้รับการชดเชยจากรัฐบาลและลดการเพาะปลูกสินค้าที่ไม่ได้รับการชดเชยรัฐบาลอย่างเป็นระบบ ในที่สุดก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น การชดเชยพืชที่ส่งออกจึงเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตมากขึ้นและผู้ได้รับประโยชน์จากการชดเชยก็คือผู้บริโภคต่างประเทศ

นโยบายราคาสินค้าเกษตรสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ผลิตสินค้าเหลือเพื่อการส่งออกอย่างประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะเป้าหมายของนโยบายเป็นเรื่องทางการเมือง นักวิชาการของรัฐบาลที่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้มักจะคิดเอาเองว่า เมื่อประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ประเทศไทยก็น่าจะเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าเช่นว่านั้นในตลาดโลกได้ ถ้าเขาลดปริมาณการส่งออกโดยการเก็บกักตุนสินค้าเกษตรเช่นว่านั้น จึงประสบความล้มเหลวมาโดยตลอดแม้แต่สินค้าประเภทแร่ธาตุ เช่น ดีบุก ที่เคยมีการจัดตั้งมูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศก็ประสบความล้มเหลว ประโยชน์จะไปตกอยู่กับประเทศคู่แข่ง ไม่มีมาตรการใดที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกได้

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหรือกึ่งพัฒนาอย่างประเทศไทย นโยบายราคาสินค้าเกษตรที่ดีที่สุดก็คือปล่อยให้เป็นไปตามราคาตลาด เพื่อให้ราคาสินค้าประเภทต่างๆ เป็นตัวกำหนดว่าสินค้าประเภทใดควรจะผลิตเท่าใด พื้นที่ใดเหมาะสมกับพืชชนิดใด รู้จักใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสมกับพืชชนิดต่างๆ ที่มีราคาแตกต่างกัน ที่สำคัญต้องตระหนักไว้เสมอว่า เราไม่สามารถกำหนดราคาตลาดโลกของสินค้าเกษตรชนิดใดได้เลย แม้ว่าเราจะไม่ส่งออกเลยก็ตามก็จะมีผู้ผลิตจากประเทศอื่นผลิตและส่งออกแทนเรา แล้วราคาก็จะอยู่ที่เดิม แต่ราคาสินค้าเกษตรอาจจะถูกกระทบจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมหรือฝนแล้งได้ แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะที่และชั่วคราวเท่านั้น

ถ้าจะต้องทำเพื่อผลทางการเมือง ก็อาจจะต้องทำบ้าง แต่ต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังและตระหนักเสมอว่า เราไม่อาจจะทำให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกซึ่งก็คือราคาปัจจุบันได้ จะได้ไม่มีปัญหาทางการเมืองอีกด้านหนึ่งที่จะตามมาได้

นโยบายภาคเกษตรกรรมควรคิดกันใหม่ได้แล้ว   ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

จาก http://manager.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2560

'พลังงาน' เดินหน้าเจรจาซื้อไฟฟ้าจากกัมพูชา

"รมว.พลังงาน" เดินหน้าเจรจาซื้อไฟฟ้าจากกัมพูชาทั้งโรงไฟฟ้าสตึงนัม 30 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินจากเกาะกง คาดได้ข้อสรุปชัดเจนภายในปลายปีนี้

 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อไฟฟ้าจากประเทศกัมพูชาใน 2 แหล่ง ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม 30 เมกะวัตต์ คิดเป็น 0.1% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ อัตราค่าไฟฟ้า 10 บาท/หน่วย รวมถึงการเจรจาซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและความจำเป็นที่จะนำมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คาดจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาภายในปลายปีนี้

"อัตราค่าไฟที่กัมพูชาเสนอในอัตรากว่า 10 บาท/หน่วยถือว่าสูงเกินไป ไทยคงต้องดูว่าราคาควรจะอยู่ในระดับใดจึงจะเหมาะสมและเป็นราคาที่ยอมรับกันได้ เพราะมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนอาจแพงขึ้นในอนาคต"

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานยังคงเป้าหมายตามตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ปี 2558-79 ที่ไทยต้องการลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า เหลือ 40% จากเดิมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักถึง 67% ขณะเดียวกันต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 40% จากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ที่ 18% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟจากเชื้อเพลิงถ่านหินเป็น 20-25% จากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ที่ 17% แต่ขณะที่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาไม่ได้ยกเลิกออกจากแผนพีดีพีแต่อย่างใด

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 สิงหาคม 2560

“ก.เกษตรฯ”เล็งชงครม.เพิ่มมาตรการเยียวยาเกษตรกรถูกน้ำท่วมครัวละ 3,000 บาท

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมเบื้องต้นทุกพื้นที่ในขณะนี้ ได้รับความเสียหายรวม 35 จังหวัด เกษตรกร 518,770 ราย แยกเป็นด้านพืช 4.14 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นข้าว 3.77 ล้านไร่ พืชไร่ 3.3 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ 4 หมื่นไร่ ประมง 17 จังหวัด มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประสบภัย 17,785 ไร่ กระชังเลี้ยงปลา 1,422 ตารางเมตร(ตร.ม.) ด้านปศุสัตว์ 600,634 ตัว เป็นโค-กระบือ 71,949 ตัว สุกร 17,135 ตัว แพะ –แกะ 18,124 ตัว สัตว์ปีก 493,426 ตัวและแปลงหญ้า 452 ไร่

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ทั้งนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ กข.15 และ กข. 6 ซึ่งเป็นชนิดข้าวไวแสงที่ต้องมีช่วงแสงช่วยให้การออกดอกติดรวง ใช้ระยะเวลาปลูก 120 วัน และเกษตรกรสามารถปลูกได้ปีละครั้ง ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงสั่งให้กรมการข้าวลงไปสำรวจพื้นที่ความเสียหายเพื่อเร่งซ่อมแซม อีกทั้งให้กรมชลประทานรีบระบายน้ำให้ลดลงลงเร็วที่สุดเพื่อสำรวจถึงความเสียหายอย่างสิ้นเชิง และฟื้นฟู ปลูกรอบใหม่ โดยข้าว กข.15 นั้นคาดว่ายังสามารถ ปลูกได้ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ หากเลยระยะเวลานี้ไปจะเสี่ยงต่อการติดดอกออกรวง ซึ่งกรมการข้าวได้เตรียมเมล็ดพันธุ์สำรองไว้แล้ว 182 ตัน รวมทั้งเมล็ดถั่วเพื่อปลุกทดแทน 103 ตันซึ่งจะช่วยลดปัญหาของเกษตรกรในเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 8 สิงหาคมนี้ กระทรวงเกษตรฯจะเสนอมาตรการเยียวยานอกเหนือจากมาตรการทางกระทรวงการคลัง คือชดเชยค่าเสียโอกาสรายได้จากการขายผลผลิตที่เกษตรกรควรจะได้รับ เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถปลูกทดแทนและสร้างรายได้รอบใหม่ได้ทันฤดูกาลผลิตในปีนี้ และเยียวยาเพิ่มเติมโดยช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท รวมทั้งลดภาระหนี้สิน ให้แก่ สมาชิกสถาบันเกษตรกร และสมาชิกกองทุนหมุนเวียน โดยกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสถาบันเกษตรกร จำนวน 300 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

 “เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิงกรณีที่เป็นนาข้าวจะได้รับการชดเชยตามมาตรการกระทรวงการคลัง ไร่ละ 1,113 บาท ในกรณีที่เกษตรกรร่วมโครงการประกันภัยพืชผลจะได้รับการชดเชยอีก ไร่ละ 1,260 บาท แต่ทั้งนี้ต้องรอผลการสำรวจว่า เสียหายสิ้นเชิงหรือไม่ หลังน้ำลดอีกครั้ง “น.ส.ชุติมา กล่าว

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า จากน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับแผนข้าวครบวงจร ผลผลิตข้าวไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้คือ 8 ล้านตันข้าวเปลือก จากพื้นที่ปลูก 23 ล้านไร่ ซึ่งจะพิจารณาปรับแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 2 สิงหาคม 2560

กรมพัฒนาที่ดิน จับมือ สมาคมดิน-สมาคมอนุรักษ์ดิน ขับเคลื่อนดินสู่เกษตร 4.0

กรมพัฒนาที่ดินจับมือสมาคมดินฯ และสมาคมอนุรักษ์ดินฯ จัดประชุมวิชาการ ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0” โดยมีนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ กล่าวรายงาน เพื่อใช้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ย ระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ปัจจุบันกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขณะที่ประเทศมีแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร สภาพดินเสื่อมโทรมลง ป่าไม้ถูกทำลาย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกษตรกรยากจนและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ปัญหาขาดวัยแรงงานเกษตร ทำให้ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรสูงและราคาผลผลิตไม่แน่นอน

รัฐบาลจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย สู่เกษตร 4.0 : เกษตรกรมั่งคั่ง ประเทศมั่นคงด้านอาหาร และเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีความสอดคล้องกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ความคิดสร้างสรรค์ และการบริการที่เป็นเลิศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรของประเทศไทย

โดยพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัจจัยต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ลดสิ่งเหลือใช้และขยะ ให้เกิดมีการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับอัตราที่พืชต้องการและไม่มีการสูญเสีย ขณะเดียวกันส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร นำความรู้มาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

 “กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ/เอกชน และองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศ ใช้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ย ส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นเวทีอภิปรายเสวนา สร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย สู่เกษตร 4.0 ที่มีเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร” นายสุรเดช กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 2 สิงหาคม 2560

รัฐเยียวยาภาคเกษตร-เอสเอ็มอีสั่งลดภาษี-ดอกเบี้ยพักชำระหนี้

          สารพัดแบงก์พาณิชย์ หน่วยงานรัฐบาลแห่ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs-เกษตรกร ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งลดดอกเบี้ย ยืดเวลา พักชำระหนี้ ครม.อนุมัติเพิ่มลดภาษีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ช่วยผู้บริจาค ฟื้นฟูหลังน้ำลด

          สถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนครเริ่มลดระดับลงแล้ว แต่การเร่งระบายน้ำได้ส่งผลกระทบกับอำเภอรอบนอก ในขณะที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนหลัก 3 แห่งต้องเร่งระบายน้ำออก โดยเขื่อนลำปาวมีปริมาตรน้ำในอ่าง 1,678 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 85 น้ำไหลลงอ่าง 55.28 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 33.68 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนน้ำอูน 645 ล้าน ลบ.ม. (124%) น้ำไหลเข้า 16.08 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 11.19 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนน้ำพุง173 ล้าน ลบ.ม. (105%) น้ำไหลเข้า 4.52 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 3.12 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้พื้นที่ตามแนวลำน้ำปาว-อูน-พุง เกิดน้ำท่วมตามมา

          ต้องหว่านข้าวใหม่อีกรอบ

          ดร.บุญร่วม คำจันทราช เกษตรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัย 2,465,130 ไร่ 18 อำเภอ 125 ตำบล1,520 หมู่บ้าน โดยอำเภอเมืองได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 126,000 ราย โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ นาข้าว 946,846 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้าหอมมะลิ 101 ส่วนพื้นที่ที่คาดว่าน่าจะเสียหาย ประมาณ 715,284 ไร่ เกษตรกร 65,025 ราย "กรมการข้าวได้สแตนด์บายเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุน โดยประมาณการไว้ที่ 800,000 ไร่ ซึ่งเฉลี่ยไร่ละ 10 กิโลกรัม"

          นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าวหลายจังหวัดได้รับผลกระทบมีน้ำท่วมขังในนา หากระดับน้ำยังไม่ลดลงจะกระทบต่อต้นกล้าข้าวนาปี ปีการผลิต 2560/2561 ที่เริ่มหว่านไปแล้ว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียว ซึ่งอาจต้องหว่านข้าวใหม่อีกครั้งใน จ.อุดรธานี, สกลนคร, ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, สุรินทร์ ซึ่งชาวนาต้องนำข้าวที่เก็บไว้ในยุ้งฉางสำหรับบริโภคมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวแทน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวนาปี 2560/2561 ออกมาล่าช้าจากปกติ

          แบงก์ออกมาตรการช่วยเหลือ

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารจัดมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ 3 ทางเลือก ได้แก่ 1) พักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี หรือ 2) พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยอีก 50% ไม่เกิน 3 ปี หรือ 3) พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 3 เดือนรวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รายละไม่เกิน 500,000 บาท ผ่อนชำระภายใน 30 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยปีแรก ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย 3.00% ปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR -0.75%

          นอกจากนี้จะให้สินเชื่อเพิ่มเติมกับลูกค้า SMEs วงเงินสูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 1 3.50% ต่อปี และมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับประชาชนรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ 5 ปี ปลอดการชำระคืน 3 เดือน โดยปีที่ 1 ไม่คิดดอกเบี้ย

          ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ประกาศมาตรการประนอมหนี้ช่วยระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก ไม่ต้องชำระเงินงวด กรณีได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี

          ขณะที่นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) กล่าวว่า ธนาคารได้ออก 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้า คือ มาตรการที่ 1 การพักชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน สำหรับเงินกู้เทอมโลน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน และมาตรการที่ 2 วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟี้นฟูกิจการ ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4.99% ต่อปีตลอดอายุสัญญา

          ส่วนธนาคารกสิกรไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ ประกอบด้วย การพักชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ขยายเทอมตั๋วสัญญาใช้เงินและวงเงินการค้าต่างประเทศสูงสุด 6 เดือน พร้อมสนับสนุนวงเงินเพื่อซ่อมแซมสถานประกอบการ เครื่องจักร รวมถึงชดเชยสต๊อกสินค้าที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยพักชำระเงินต้นนานสูงสุด 6 เดือน และไม่ต้องประเมินราคาหลักประกัน

          BOI เว้นภาษีเครื่องจักร

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า BOI ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ 1) ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากน้ำท่วม ทั้งเครื่องจักรใหม่และเก่าจากต่างประเทศซึ่งมีอายุไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า 2) อนุมัติให้เพิ่มกำลังการผลิตตามกำลังผลิตจริงของเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ได้รับความเสียหาย 3) อนุญาตให้ตัดบัญชีวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ได้รับความเสียหาย หรือสูญหายจากน้ำท่วมโดยไม่มีภาระภาษีอากร โดยจะต้องยื่นขอนำเข้าเครื่องจักรทดแทนภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560

          ส่วน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มีโรงงานและ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขณะนี้ 80-100 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตร ได้ "ยกเว้น" ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมตรวจควบคุมคุณภาพ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต พักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากนั้นให้คิดอัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 1% เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอ ครม. พิจารณาเพิ่มหลักเกณฑ์การขยายสินเชื่ออุทกภัยภาคใต้ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันที่มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท จากวงเงิน 5,000 ล้านบาท ที่ตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2559 รายละไม่เกิน 15 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี

          ครม.ออกมาตรการภาษี

          ล่าสุด ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลร่วมบริจาคทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยสามารถนำจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-31 ต.ค. 60 มาหักค่าลดหย่อนรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ 1.5 เท่า

          2) มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟี้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แบ่งออกเป็น 2 มาตรการย่อย ได้แก่ มาตรการยกเว้นภาษีค่าใช้จ่าย ซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ใช้จ่ายไประหว่างวันที่ 5 ก.ค.-31 ต.ค. 60 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และมาตรการยกเว้นภาษีค่าใช้จ่ายซ่อมแซมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

          สามารถหักลดหย่อนบริจาคไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้สุทธิของบุคคลธรรมดา และไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้สุทธิของนิติบุคคล

          3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อฟี้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติปี 2560 วงเงิน 3.5 พันล้านบาท เป็นการให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ร้อยละ 3 และปีที่ 3-7 คิดตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเอสเอ็มอีกำหนด ระยะเวลาขอสินเชื่อ 6 เดือน นับตั้งแต่วันนี้หรือจนกว่าวงเงินจะเต็ม

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 2 สิงหาคม 2560

หนุนใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณสินค้าหีบห่อเพื่อรองรับ AEC

หนุนใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณสินค้าหีบห่อ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยบรรจุสินค้าหีบห่อให้มีปริมาณครบถ้วนได้มาตรฐานเข้าสู่สากลรองรับการแข่งขันทางการค้าในตลาด AEC มุ่งสร้างความเชื่อมั่นปริมาณการบรรจุสินค้าหีบห่อให้กับผู้บริโภค

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ส่งเสริมการใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณสินค้าหีบห่อ เพื่อมุ่งหวังจะสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าหีบห่อ หรือเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าสินค้าหีบห่อที่จ้างผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าหีบห่อที่ได้มาตรฐานมีปริมาณครบถ้วนเข้าร่วมการขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณสินค้าหีบห่อ  กรมการค้าภายในจึงได้จัดอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลปริมาณการบรรจุสินค้าหีบห่อและวิธีการควบคุมคุณภาพปริมาณสินค้าหีบห่อให้ได้ตามมาตรฐานสากล เข้าสู่หลักเกณฑ์การขอใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณสินค้าหีบห่อเป็นผลให้การบรรจุสินค้าหีบห่อมีปริมาณครบถ้วนถูกต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภคสินค้าหีบห่อ เครื่องหมายรับรองปริมาณสินค้าหีบห่อจะแสดงไว้ที่ฉลากสินค้าวางอยู่ด้านหน้าปริมาณสุทธิหรือด้านหลังของหน่วยปริมาณการชั่งตวงวัด

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องหมายรับรองแสดงไว้ที่ฉลากสินค้ากับสินค้าหีบห่อประเภท น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันปลา น้ำมันพืช ไขมันพืช เนยเทียม มาร์การีน น้ำดื่ม เครื่องดื่มน้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ น้ำหวาน ยาสีฟัน ครีมทาผิว น้ำมันบำรุงผิวกายและเส้นผม ครีมอาบน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ แชมพู ครีมนวดผม ผงซักฟอก ไบโอคอฟฟี่ ครีมเทียม กาแฟ ชานมชนิดผง อาหารเสริม กุ้งแห้ง ปลาอินทรีเค็ม ผลิตภัณฑ์ปลาแดดเดียว ซอส ข้าวสาร น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ขนมคุกกี้ ไอศกรีม น้ำสลัด แป้งทำขนม อาหารสุนัข อาหารแมว กระดาษเช็ดหน้า เป็นต้น ผู้บริโภคจะสามารถเลือกซื้อสินค้าหีบห่อที่แสดงเครื่องหมายรับรองปริมาณสินค้าหีบห่อได้ในท้องตลาดได้แล้ว 

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอใช้เครื่องหมายรับรอง สามารถติดต่อได้ที่ กรมการค้าภายใน สำนักชั่งตวงวัด ส่วนสินค้าหีบห่อ

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 2 สิงหาคม 2560

น้ำมันดันเงินเฟ้อขึ้น ก.ค.พลิกบวก0.17% ลอยLPGไม่กระทบ!

เงินเฟ้อ ก.ค.พลิกกลับมาสูงขึ้นในรอบ 2 เดือน เพิ่ม 0.17% เหตุราคาน้ำมันดิบขยับขึ้น พาณิชย์ยืนเป้าทั้งปี 0.7-1.7% ชี้ลอยตัวแอลพีจีไม่กระทบอาหารจานด่วน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อเดือน ก.ค.2560 เท่ากับ 100.53 สูงขึ้น 0.17% เทียบเดือน ก.ค.2559 เป็นการกลับมาเพิ่มขึ้นในรอบ 2 เดือน จากก่อนหน้านื้ คือ เดือน พ.ค.เงินเฟ้อติดลบ 0.04% และเดือนมิ.ย.ติดลบ 0.05% แต่เมื่อเทียบเดือน มิ.ย.2560 เงินเฟ้อลดลง 0.13% ส่วนเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) สูงขึ้น 0.60% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

สาเหตุที่เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้น 0.17% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 0.57% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 3.40% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่ม 0.62% ค่าตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลเพิ่ม 0.42% ค่าหมวดการบันเทิง การอ่าน และการศึกษาเพิ่ม 0.68%

ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง 0.55% สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลด 2.47% ไข่และผลิตภัณฑ์นมลด 2.76% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำลด 0.79% ผักและผลไม้ลด 4.60% ส่วนเครื่องประกอบอาหารราคาเพิ่มขึ้น 1.10% อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่ม 1.27% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.81% และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 0.78%

“เงินเฟ้อในเดือน ก.ค.ที่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ได้รับผลกระทบจากสินค้ากลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก แต่สินค้าหมวดอาหารส่วนใหญ่มีราคาลดลง อย่างผักและผลไม้ ราคาลดลงมาก เพราะปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง โดยทั้งปียังคงประมาณการไว้ที่ระดับ 0.7-1.7%" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ส่วนการลอยตัวก๊าซแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ที่มีผลในวันที่ 1 ส.ค.2560 เชื่อว่าไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก เพราะต้นทุนสินค้าไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น จากการประเมินเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน พบว่าหากราคาแอลพีจีขึ้น 1 บาท จะกระทบต่ออาหารจานด่วนปรับขึ้น 5 สตางค์/จาน/ชามเท่านั้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 2 สิงหาคม 2560

หวานได้โล่

“หลี” คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล นายหญิงกลุ่มบริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก ที่ล่าสุดจับใจผู้บริโภคจนต้องขึ้นเวทีรับรางวัล

    สร้างความหวานเป็นอมตะ ยกให้ “หลี” คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล นายหญิงกลุ่มบริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก ที่ล่าสุดจับใจผู้บริโภคจนต้องขึ้นเวทีรับรางวัลการันตีคุณภาพโรงงานน้ำตาลดีเด่นประจำปี 2560 ชื่นมื่นมากๆ เพราะทำแบบนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 ตอกย้ำให้หนักแน่นเข้าไปอีกว่าเรื่องความหวานไม่เป็นรองใคร

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 1 สิงหาคม 2560

พด.จับมือ 2 สมาคม ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0

 กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0” โดยมี นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ย ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัจจุบัน กระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขณะที่ประเทศมีแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร สภาพดินเสื่อมโทรมลง ป่าไม้ถูกทำลาย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกษตรกรยากจนและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ปัญหาขาดวัยแรงงานเกษตร ทำให้ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรสูงและราคาผลผลิตไม่แน่นอน รัฐบาลจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย สู่เกษตร 4.0 : เกษตรกรมั่งคั่ง ประเทศมั่นคงด้านอาหาร และเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีความสอดคล้องกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ความคิดสร้างสรรค์ และการบริการที่เป็นเลิศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัจจัยต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ลดสิ่งเหลือใช้และขยะ ให้เกิดมีการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับอัตราที่พืชต้องการและไม่มีการสูญเสีย ขณะเดียวกันส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร นำความรู้มาใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0” ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศ ใช้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ย ส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นเวทีอภิปรายเสวนา สร้างความรู้และความเข้าใจถึงแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย สู่เกษตร 4.0 ที่มีเป้าหมายการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีการบริหารจัดการทรัพยากรดินที่มีความสมดุลและยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 1 สิงหาคม 2560 

สภาเกษตรกรฯ จับมือก.วิทย์ฯ ขับเคลื่อนแผนแม่บทโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ 4 ปี 15,000 กลุ่ม

 นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คระรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560-2564 ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานประสานบูรณาการกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมเป็นกระทรวงแรกร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป้าหมายพัฒนาร่วมกันกับกลุ่มองค์กรเกษตรกรที่สภาเกษตรกรฯได้ขึ้นทะเบียนไว้รวมทั้งลูกค้าของธกส. โดยทำแผนระยะยาว 4 ปีที่จะพัฒนา จำนวน 15,000 กลุ่ม เพื่อให้กลุ่มองค์กรเกษตรกรกลายเป็นผู้ประกอบการโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนวัตกรรมในด้านการผลิต,การแปรรูป,การตลาด การให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป้าหมาย 260,000 คน สร้างชุมชนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา และได้ดำเนินการโครงการร่วมกันโดยจัดเวทีอบรมเกษตรกรตามภูมิภาค โดยเริ่มต้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2560 เป้าหมายเรื่องข้าว/หอม/กระเทียม จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 26-30 กรกฎาคม 2560 เป้าหมายเรื่องพริก/เห็ด/ลำไย เมื่อจบกิจกรรมให้เกษตรกรกรอกแบบฟอร์มเพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าต้องการเรื่องใดบ้าง กระทรวงวิทย์ฯจะรวบรวมเข้าสู่โปรแกรมโครงการลงมาสนับสนุนชุมชนตามความต้องการ โดยส่งนักวิทยาศาสตร์/งบประมาณลงมาช่วย ซึ่งสภาเกษตรกรฯ จัดหากลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันองค์ความรู้ไหนที่ยังไม่มีกระทรวงวิทย์ฯ ก็จะศึกษาวิจัยแล้วเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป

รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากนี้ไปกระทรวงเกษตรฯจะต้องเชิญกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ระบุไว้ในแผนมาร่วมหารือกันว่าจะแปลงแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติร่วมกันได้อย่างไร พร้อมกันนี้กระทรวงเกษตรฯจะร่วมกันจัดทำแผนกับกลไกในระดับจังหวัดร่วมกับสภาเกษตรกรฯ สร้างกลไกในการขับเคลื่อนแผน โดยแยกเป็นปี 2561 ซึ่งอาจยังไม่เห็นผล แต่จะขับเคลื่อนเป็นบางกิจกรรม กับเตรียมบูรณาการโครงการเข้าสู่ปีงบประมาณปี 2562 ร่วมกับกระทรวงฯอื่นๆ โดยเฉพาะสภาเกษตรกรฯก็จะเป็นกลไกไปขับเคลื่อนร่วมกับเกษตรกรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่จะนำแผนลงไปสู่การปฏิบัติ และแผนเหล่านี้เป็นแผนที่ระดมมาจากความคิดเห็นของเกษตรกร ตัวเกษตรกรต้องคิดเป็นผู้ดำเนินการเองไม่ใช่เป็นผู้รอรับบริการอย่างเดียว ก็จะเป็นส่วนที่สะท้อนกลับขึ้นมาในส่วนดำเนินการร่วมกับรัฐบาลและโครงการต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรต้องปรับตัวแล้วเรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆเพราะต่อไปนี้งบประมาณในการจัดทำจะไปอยู่กลุ่มภูมิภาคเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและยุทธศาสตร์กลุ่มภูมิภาคซึ่งมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นตัวขับเคลื่อน/แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 รวมทั้งแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560-2564 ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอ ซึ่งทั้ง 3 แผนนี้จะไปสอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำที่จะนำไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนในระยะยาว

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 1 สิงหาคม 2560

เปิดร่างแผนแม่บทโลจิสติกส์-โซ่อุปทานเกษตร ปี 60-64 เพิ่มมูลค่า พัฒนาตลอดห่วงโซ่

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดตัวร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร ปี 2560 – 2564 ชู 3 แนวทาง เพื่อยกระดับการบริหารจัดการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุน สู่การขับเคลื่อนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรในระยะ 5 ปี

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และ สศก. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ โดย สศก. ในฐานะหน่วยงานหลักของการจัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ.2560 – 2564 ได้จัดทำแผนแม่บทฯ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ และคำนึงถึงมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระยะ 5 ปี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560 – 2564) รวมทั้ง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังดำเนินการ

สาระสำคัญร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ.2560 – 2564 ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มมูลค่าในห่วงโซอุปทาน และพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตร โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่

1) ยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน โลจิสติกส์การเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ด้วยการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงส่งมอบผู้บริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ (Agro Logistics) โดยให้สำคัญกับการพัฒนาสถาบันเกษตรกรเป็นกลไกหลักในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการผลิต การตลาดและการบริการโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร

2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตรให้มีประสิทธิภาพ โดยสร้าง พัฒนาและปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร และพัฒนาด่านสินค้าเกษตรและระบบการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบ Nation Single Window รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ (E- Logistics)

3) พัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ด้วยการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน โลจิสติกส์การเกษตร และการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการบริหารจัดการโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ร่างแผนแม่บทฯ ดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งในหน่วยงานภายในและภายนอก กษ. รวมทั้งเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ปี 2560-2564 เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 สิงหาคม 2560

ค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่า 33.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 1 ส.ค. 2560 ระบุว่าค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 33.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากการปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ระดับ 33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน (10.10 น.) มีการซื้อขายค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.27บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางแข็งค่า โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาพูดว่า ปัจจัยทางการเมืองของสหรัฐส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐให้ขยายตัวอย่างช้าๆ นอกจากนี้นักลงทุนยังมีความกังวลต่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้ไว้ที่ 33.20-33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้นักลงทุนจับตาตัวเลขทางเงินเฟ้อของไทย นอกจากนี้ยังมีตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสหรัฐ ได้แก่ เงินเฟ้อ การใช้จ่ายส่วนบุคคล ฯลฯ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 สิงหาคม 2560

รุกโลจิสติกส์ยกระดับภาคเกษตร !!!

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สศก, ปี 2560 – 2564, ร่าง, พศ 2560-2564, สศช, Agro Logistics, E- Logistics, Action Plan

เปิดร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์-โซ่อุปทานภาคการเกษตร ชู 3 แนวทางยกระดับการบริหารจัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-ปัจจัยสนับสนุนขับเคลื่อนโลจิสติกส์เกษตรใน 5 ปี

           31 ก.ค.60  นางสาวจริยา  สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก.ในฐานะหน่วยงานหลักของการจัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ.2560 – 2564 ได้จัดทำแผนแม่บทฯ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ และคำนึงถึงมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระยะ 5 ปี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560 – 2564) รวมทั้ง  (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)  ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังดำเนินการ

             สาระสำคัญร่างแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร  พ.ศ.2560 – 2564 ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน และพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตร โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ ยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน   โลจิสติกส์การเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ ด้วยการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงส่งมอบผู้บริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์  (Agro Logistics) โดยให้สำคัญกับการพัฒนาสถาบันเกษตรกรเป็นกลไกหลักในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการผลิต การตลาดและการบริการโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร

            พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตรให้มีประสิทธิภาพ โดยสร้าง พัฒนาและปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร และพัฒนาด่านสินค้าเกษตรและระบบการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบ Nation Single Window รวมทั้งพัฒนาระบบโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ (E- Logistics)

           พัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ด้วยการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน     โลจิสติกส์การเกษตร และการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการบริหารจัดการโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ

           ทั้งนี้ร่างแผนแม่บทฯดังกล่าวคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร  ได้เห็นชอบให้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งในหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมทั้งเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติงาน (Action Plan)   ปี 2560-2564 เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 1 สิงหาคม 2560

เจรจาเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงสำเร็จ

 ‘พาณิชย์’ ปลื้ม ปิดการเจรจา เอฟทีเอ “อาเซียน – ฮ่องกง” ได้สำเร็จ หลังเจรจามา 10 รอบ ลั่นพร้อมลงนามพ.ย.นี้

 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพประชุมคณะกรรมการเจรจาทางการค้าสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) อาเซียน-ฮ่องกง ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 30-31 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปการเจรจาทุกประเด็นเรียบร้อยแล้ว และกำหนดจะประกาศความสำเร็จในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ฮ่องกง ครั้งที่ 2 ในเดือนก.ย.นี้ ก่อนที่จะลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ครั้งที่ 31 ในเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ต่อไปที่ ประเทศฟิลิปปินส์

 ทั้งนี้ อาเซียนและฮ่องกง ได้เริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - ฮ่องกง มาตั้งแต่ปี 57 เจรจาไปทั้งสิ้น 10 รอบ โดยรอบที่ 10 นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพ และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง นี้ จะเป็นความตกลงฉบับที่ 6 ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่ค้า หลังจากลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เมื่อปี 52

 “การจัดทำเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับฮ่องกงนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ที่อาเซียนสามารถใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประตูสู่ตลาดใหญ่อย่างจีน เนื่องจากฮ่องกงมีความตกลงการค้าเสรีกับจีนอยู่แล้ว มีสินค้า 1,819 รายการจากฮ่องกง ที่สามารถส่งออกไปยังจีน ในอัตราภาษี 0% อีกทั้งยังเป็นโอกาสการยกมาตรฐานภาคบริการโดยผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกง โดยเฉพาะด้านการเงิน โลจิสติกส์ และการให้บริการทางกฎหมาย การเข้าสู่แหล่งทุนในฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงมีศักยภาพในการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงอาเซียน”

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 สิงหาคม 2560

กรมพัฒนาที่ดินชูนวัตกรรมดินปุ๋ยสู่เกษตร4.0

กรมพัฒนาที่ดินขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0 จัดการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 1-2ส.ค.60

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขณะที่ประเทศมีแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร สภาพดินเสื่อมโทรมลง ป่าไม้ถูกทำลาย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกษตรกรยากจนและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ปัญหาขาดวัยแรงงานเกษตร ทำให้ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรสูงและราคาผลผลิตไม่แน่นอน รัฐบาลจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย สู่เกษตร 4.0 : เกษตรกรมั่งคั่ง ประเทศมั่นคงด้านอาหาร และเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีความสอดคล้องกับโมเดลไทยแลนด์ 4.0 การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ความคิดสร้างสรรค์ และการบริการที่เป็นเลิศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรของประเทศไทย

ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการดินและปุ๋ยแห่งชาติ ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย ก้าวสู่เกษตร 4.0” ระหว่างวันที่ 1 - 2 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศ ใช้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในสาขาวิชาด้านดินและปุ๋ย ส่งเสริมการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นเวทีอภิปรายเสวนา สร้างความรู้และความเข้าใจถึงแนวทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดินและปุ๋ย สู่เกษตร 4.0

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 1 สิงหาคม 2560

ประเมินใช้ปุยพืชสด เกษตรกรพอใจรัฐเดินหน้าส่งเสริม

 นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูนาปรังปี 2560 ไปผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และปรับปรุงบำรุงดิน ในพื้นที่ 19 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา

    นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูนาปรังปี 2560 ไปผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และปรับปรุงบำรุงดิน ในพื้นที่ 19 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา

    โดยมีเป้าหมาย 200,000 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 12,477 ราย ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานระหว่างพฤศจิกายน 2559-มิถุนายน 2560 ใช้งบประมาณและงบกลาง จำนวน 189.27 ล้านบาท

    สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประเมินผลโครงการดังกล่าว โดยสำรวจและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรในโครงการที่ตกเป็นตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 229 ราย พบว่า มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไปปลูกพืชปุ๋ยสดได้ใกล้เคียงเป้าหมาย คือ มีพื้นที่ปลูกพืชปุ๋ยสด 194,510 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 97 ของเป้าหมาย เกษตรกรได้รับเงินค่าไถเตรียมดิน 97.26 ล้านบาท ครบตามเป้าหมายพื้นที่

   มีพื้นที่ไถกลบพืชปุ๋ยสด 124,347 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่โครงการ เกษตรกรได้รับเงินค่าไถกลบแล้ว 60.75 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ปอเทือง มีจำนวน 48,720 ไร่

    ด้านการถ่ายทอดความรู้ระหว่างการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ปอเทือง เกษตรกรร้อยละ 88 ได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการ เตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเมล็ดพันธุ์ ซึ่งร้อยละ 97 ได้ความรู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยปลูกปอเทืองมาก่อน และ ร้อยละ 63 ยังต้องการความรู้เรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม

     ในภาพรวมเกษตรกรพึงพอใจต่อโครงการในระดับดีมาก เนื่องจากโครงการได้ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดสามารถประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงบำรุงดินในรอบการผลิตต่อไปคิดเป็นมูลค่า 62.17 ล้านบาท และเกษตรกรร้อยละ 6.5 ที่สามารถขายเมล็ดพันธุ์ปอเทืองในโครงการมีเงินได้ถึง 2.33 ล้านบาท

     นอกจากนั้นเกษตรกรทุกรายได้รับเงินจากการสนับสนุนค่าไถ และค่าเมล็ดพันธุ์ เฉลี่ย 7,795-16,390 บาทต่อครัวเรือน จากพื้นที่ร่วมโครงการ 15.58 ไร่ต่อครัวเรือน

     ผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรกรร้อยละ 83 เห็นว่า สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินจากการไถซากพืชปุ๋ยสด ทำให้ดิน ดีขึ้น และร้อยละ 35 เห็นว่าช่วยลดวงจรการระบาดของศัตรูพืชในนาข้าว และที่สำคัญ เกษตรกร ร้อยละ 94 ต้องการจะปลูกพืชปุ๋ยสดต่อเนื่องไปทุกปี เพราะเห็นว่าคุ้มค่า และบางรายปลูกในพื้นที่นาที่ปล่อยทิ้งว่าง พื้นที่ที่ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาปรัง

     ทั้งนี้ ในส่วนการผลิตเมล็ดพันธุ์ปอเทือง ซึ่งเป็นพืชที่ส่งเสริมในโครงการ เกษตรกรเห็นว่าควรให้องค์ความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในการปลูกและเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์การปลูกปอเทืองควรให้ทันช่วงมีความชื้นในดินที่พอเหมาะ พร้อมหาวิธีป้องกันหนอนและแมลงเจาะฝัก ดังนั้น ควรต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ เพิ่มการให้ความรู้ด้านป้องกันกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร ส่งเสริมการรวมกลุ่มทำเมล็ดพันธุ์ปอเทือง สนับสนุนเครื่องมือเก็บเกี่ยว รวมทั้งการตลาด และอบรมให้ความรู้มากขึ้น โดยรัฐบาลได้มีโครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ต่อเนื่องในปี 2561

     ซึ่งจะสามารถลดพื้นที่นาปรังและอุปทานข้าวเปลือกเพิ่มประสิทธิภาพการปรับ ปรุงบำรุงดิน และตัดวงจรศัตรูพืชโดยการพักดิน (ลดรอบการทำนา) รวมทั้ง แก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อีกทางหนึ่งด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 สิงหาคม 2560