http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนสิงหาคม 2563]

นักวิชาการชี้ถึงเวลาไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้าประเทศ แบบมีเงื่อนไข สู้ยุคโควิดภิวัตน์

ที่กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จัดสัมมนาวิชาการ “ทิศทางเศรษฐกิจการค้าไทยในยุคโควิดภิวัตน์” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน กับโครงสร้างการค้าไทยในยุคหลังโควิด

นายสมประวิณ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูง ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากจากการที่พึ่งพาทั้งอุปสงค์และอุปทานจากต่างประเทศ ดังนั้น ไทยต้องลดความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงให้ดีขึ้น อุปทานสินค้าอาจเริ่มกลับมา แต่อุปสงค์ยังไม่เหมือนเดิม การค้าอาจกลับมาดีขึ้น แต่ยังไม่น่าจะเท่าก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด จากปัจจัยทั้งเรื่องการท่องเที่ยวที่อาจใช้เวลาสักพักกว่าจะฟื้นตัว รวมทั้งการค้าสินค้าและบริการอื่นๆ ไทยจึงควรมุ่งเน้นภาคการผลิต ที่เป็นดาวรุ่ง เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มองวิฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เพื่อปรับการใช้ทรัพยากรให้ถูกที่ถูกทาง แนวโน้มการค้าโลกจะมาจากคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แต่ยังต้องการของดีราคาไม่แพง การเป็นสังคมสูงวัยของทั้งไทยและโลกจะปรับเปลี่ยนแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการในตลาด นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม โรคระบาด และเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

นายสมประวิณ กล่าวอีกว่าห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โลกจะสั้นลง มีความหลากหลาย และเลือกพื้นที่การผลิตภายในภูมิภาคตนเองมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของโลก นอกจากนี้ ภาคบริการจะมีบทบาทและเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องนำการบริการเชื่อมต่อกับภาคการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเข้าถึงตลาดในอนาคต คาดว่าไทยจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น สิ่งสำคัญคือจะเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าได้อย่างไร และกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ทั้งไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า การค้าไทยจะเผชิญกับความไม่แน่นอน เพราะการส่งออกสินค้าและตลาดของไทยไม่หลากหลาย รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกได้ก็กระจุกตัวแค่ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ดังนั้น ต้องทำให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น ด้วยสินค้าที่หลากหลายและมีมูลค่าเพิ่มทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งไทยสามารถเชื่อมโยงการค้ากับประเทศในภูมิภาคได้อย่างส่งเสริมกัน ไม่ใช่แข่งขัน แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการค้าโลก อาทิ การกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป หันมาสนใจในภูมิภาคตนเองมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือแพลตฟอร์มการค้าในรูปแบบต่างๆ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ไทย มีความสามารถในการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า

นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่งผลต่อการค้าอย่างมาก ไทยควรปรับโครงสร้างการผลิตและการค้าให้กระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น พัฒนาทักษะให้แรงงานในภาคบริการที่ไม่สามารถกลับสู่อาชีพเดิมให้มีความสามารถหลากหลายในการหาเลี้ยงชีพ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ยังต้องการแรงงานภาคบริการที่มีทักษะจากไทย นอกจากนี้ เราต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเราอยู่ในโลกดิจิทัล จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงระบบได้รวดเร็วและทั่วถึงหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจในระดับสูง เป็นอีกปัจจัยที่ดึงไม่ให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เพราะธนาคารพาณิชย์มักไม่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีระดับหนี้สูง ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ธุรกิจในทุกระดับสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงอาจมีบางธุรกิจที่อยู่รอดและบางธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนไปเติบโต ในสาขาใหม่ๆ รวมทั้งการกลับสู่ท้องถิ่นเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตและการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม

นายกฤษฎ์เลิศ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือไทยต้องเลือกว่าจะอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าใดของภูมิภาค จะสนับสนุนส่งเสริมการผลิตการค้ากับประเทศในภูมิภาคอย่างไรให้สอดคล้องกับศักยภาพที่แตกต่างกัน เราจะผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้อย่างไร เราอาจเป็นปลายทางของกระบวนการผลิตของโลก แต่อาจเป็นต้นทางของการผลิตในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้าไม่ใช่เป็นเพียงการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ แต่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้าของประเทศแบบมีเงื่อนไขที่เกิดประโยชน์แก่คนในชาติด้วย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับจากวิทยากรในวันนี้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการนำไปพิจารณาปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต สนค. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจกำหนดแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าไทย เห็นความสำคัญของการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างรวดเร็วฉับไว และจะได้ใช้ประกอบการกำหนดแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อุตฯแนะผู้ประกอบการปรับตัว ดึงเทคโนโลยีเสริมขายผ่านออนไลน์

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนสละอาทิตย์ ชุมชนบ้านหนองปลิง อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ในการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยเน้นตลาดและนวัตกรรม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “ผลิตได้...ขายได้...อยู่ด้วยกันได้” ที่มีวัตถุประสงค์ยกระดับการแข่งขันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจและต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการผลิตได้ คือ การใช้งานวิจัยและพัฒนา(R&D) นวัตกรรม (Innovation) และเทคโนโลยี (Technology) เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ส่วนขายได้คือ การมีการตลาดที่ดีทั้งออนไลน์(Online) และออฟไลน์ (Offline) และอยู่ด้วยกันได้ คือ สินค้าและบริการ ต้องมีคุณภาพและมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงอุตสาหกรรมต้องทำงานร่วมกันในการส่งเสริมผู้ประกอบการ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ให้ความสำคัญกับเทรนด์โลก (Global Trend) ที่กระทรวงควรเร่งดำเนินการ เช่น BCG Model หรือระบบเศรษฐกิชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว(Bio-Circular-Green Economy) การสร้างความร่วมมือของโครงข่ายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการตลาดไร้พรมแดน (Global Marketing) เป็นต้น ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เป็นหน่วยกำกับดูแลการประกอบกิจการให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน

ส่วนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจงหวัด(สอจ.) เป็นหน่วยส่งเสริมด้านการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถขายได้ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน นอกจากนี้กระทรวงต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น หน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา หน่วยงานด้านการเงินหน่วยงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศสถาบันอิสระ และผู้ประกอบการภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของประเทศได้

“ในการลงพื้นที่สุราษฎร์ธานีครั้งนี้ ได้พบว่าหลังจากสวนสละมีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการสวน การตลาดผ่านสื่อออนไลน์ จนสามารถปรับตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวทางสวนได้ปรับเปลี่ยนการขายจากการขายหน้าร้านเป็นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี”นางวรวรรณกล่าว

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อาร์เซ็ปได้ข้อสรุปเรื่องคงค้าง พร้อมลงนามความตกลงพ.ย.นี้

รัฐมนตรีอาร์เซ็ป สรุปผลการเจรจาเรื่องคงค้างทั้งหมดได้แล้ว พร้อมยืนยันการลงนามความตกลงในการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป เดือนพฤศจิกายนนี้ เผยยังต้อนรับอินเดียกลับเข้าร่วมวง เหตุเป็นสมาชิกสำคัญที่เจรจากันมาตั้งแต่แรก มั่นใจอาร์เซ็ปจะช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน ช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัวจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ได้แน่

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ถึงผลการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ครั้งที่ 8 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับรัฐมนตรีของสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ว่า หลังจากสมาชิกอาร์เซ็ปมีการเจรจาในประเด็นคงค้างจากปี 2562 อย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นปี 2563 และในการประชุมรอบนี้ทุกประเทศสามารถได้ข้อสรุปการเจรจาประเด็นคงค้างทั้งหมด

โดยรัฐมนตรียืนยันพร้อมลงนามความตกลงในการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ครั้งที่ 4 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 และยังยินดีต้อนรับอินเดีย หากกลับเข้าร่วมความตกลง เนื่องจากอินเดียเป็นสมาชิกสำคัญที่เข้าร่วมเจรจาตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อปี 2555 และเชื่อว่าการเข้าร่วมของอินเดียจะช่วยสร้างความเติบโตให้กับภูมิภาคได้

“รัฐมนตรีอาร์เซ็ปเห็นความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงจำเป็นต้องเปิดตลาดให้มีการไหลเวียนของสินค้าและบริการที่จำเป็นระหว่างกัน รวมถึงเร่งสร้างความร่วมมือในภูมิภาคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น การลงนามความตกลงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ และส่งเสริมระบบกฎเกณฑ์การค้าแบบพหุภาคี และมั่นใจจะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัว รวมทั้งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ” นายสรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ป ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)  ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย มีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน คิดเป็น 48.1% ของประชากรโลก โดยในปี 2562 ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าจีดีพีกว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.7% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.5% ของมูลค่าการค้าโลก

นายสรรเสริญกล่าวว่า การค้าและการลงทุนของไทยกว่าครึ่ง พึ่งพาตลาดขนาดใหญ่ของสมาชิกอาร์เซ็ป ซึ่งไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 16 ประเทศ มีมูลค่าการค้ารวม 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 59.5% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กรมชลฯเร่งขับเคลื่อน3โครงการพัฒนาลุ่มน้ำชี

นายสนฑ์ จินดาสงวน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 13 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่กรมชลประทานเปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน

พื้นที่จ.ชัยภูมิ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามกระแสพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานเกี่ยวกับงานชลประทาน เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ความตอนหนึ่งว่า

“..เขื่อนเก็บกักน้ำลำน้ำชีในเขตอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งกรมชลประทานวางโครงการจะก่อสร้างนั้น ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมาก จึงควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของลำน้ำชี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีเดิม ให้สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย..”

ทั้งนี้ ลุ่มน้ำชีตอนบนมีพื้นที่ลุ่มน้ำมีลำน้ำชีเป็นลำน้ำสายหลัก ความยาวจากต้นน้ำถึงจุดบรรจบลำน้ำพอง 765 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีประมาณ 786 ล้านลูกบาศก์เมตร การพัฒนาแหล่งน้ำในปัจจุบันยังไม่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ มีเพียงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก สระเก็บน้ำขนาดเล็กเท่านั้น ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมใช้น้ำอื่นๆช่วงฤดูแล้ง ขณะที่ฤดูฝนก็เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรืออ่างเก็บน้ำยางนาดีเดิมความจุ 70.21 ล้านลบ.ม. หัวงานเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน สันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ความยาว 1,580 เมตร สูง 24 เมตร อาคารระบายน้ำล้นชนิดบานระบายแบบ

บานโค้งขนาดกว้าง 12.5 เมตร สูง 7.5 เมตร จำนวน 7 ช่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ โดยปีงบประมาณ 2562 ได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างถนนทางเข้าหัวงาน อาคารบ้านพักชั่วคราว อาคารที่ทำการถาวร และงานเตรียมความพร้อมเพื่อก่อสร้าง จะเริ่มก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบในปีงบประมาณ 2563 วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 939 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลำน้ำชีตั้งแต่ท้ายอ่างเก็บน้ำตามลลำน้ำชี ในเขตชัยภูมิ นครราชสีมา และขอนแก่น มีพื้นที่เกษตรสองฝั่งลำน้ำชีได้รับประโยชน์ฤดูฝน 75,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 30,000 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 27 หมู่บ้าน กว่า 22,000 คนในอ.หนองบัวระเหว อ.บ้านเขว้า และ อ.เมืองชัยภูมิ อีกทั้ง สนับสนุนการใช้น้ำตามลำน้ำชีตอนบนให้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดปีอีกทั้ง ยังช่วยสนับสนุนแหล่งน้ำเพื่อทำประมง ช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงด้านล่างเร็วเกินไป บรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำลำเจียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุ 45.17 ล้านลบ.ม พื้นที่รับประโยชน์ 30,000 ไร่ เขื่อนหัวงานสร้างปิดกั้นลำเจียงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำชีในอ.ภักดีชุมพล และ อ.หนองบัวแดง บรรจุเข้าแผนงานก่อสร้างในปี 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 นอกจากนี้ยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุ 48 ล้านลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 30,000 ไร่ เขื่อนหัวงานก่อสร้างปิดกั้นลำสะพุงในอ.หนองบัวแดง เริ่มก่อสร้างปี 2562 การก่อสร้างก้าวหน้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้คาดจะแล้วเสร็จในปี 2567

“ปัจจุบันราษฎรเห็นคุณค่าของแหล่งน้ำ ให้ความสำคัญพัฒนาบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น การพัฒนาแหล่งน้ำต้นในลุ่มน้ำชีตอนบนครั้งนี้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มหรือต่อยอดคุณภาพชีวิตของราษฎรได้เป็นอย่างดี กรมจึงสืบสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้การพัฒนาบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งลำน้ำชีเกิดผลประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดต่อไป”ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 13 กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาดเช้านี้"แข็งค่า"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด"แข็งค่า"จับตาดุลสะพัดหลังเกินดุลพันล้านดอลลาร์ส่งสัญญาณการส่งออกฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดของปีแล้ว

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.09 บาทต่อดอลลาร์ (วันที่31สิงหาคม2563) "แข็งค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.98-31.18 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงิน หลังจากที่ดอลลาร์อ่อนก็แข็งค่าตามทันที โดยในสัปดาห์นี้แนะนำจับตาตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ซึ่งทรงตัวมาตลอดสี่เดือนล่าสุด ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาเกินดุลเกินพันล้านดอลลาร์บ้าง ก็เชื่อว่าจะเห็นเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อได้ด้วย เพราะเป็นสัญญาณว่าการส่งออกฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำที่สุดของปีแล้ว

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.90-31.40 บาทต่อดอลลาร์

 สำหรับในสัปดาห์นี้แนะนำจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและทิศทางค่าเงินดอลลาร์ที่มีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องโดยตัวเลขที่สำคัญเริ่มต้นที่การรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตในสหรัฐ (ISM Manufacturing PMI) ในวันอังคารที่คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 53.4จุด ขณะที่วันพฤหัสก็จะต่อด้วยการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ISM Non-Manufacturing PMI) ที่มีโอกาสชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 58.1จุด มาที่ระดับ 56.4จุด หลังตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนชี้ว่าการจ้างงานไม่ได้ฟื้นตัวดีมากจากเดือนก่อนหน้า

ส่วนในวันศุกร์ จะมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (U.S. Non-farm Payrolls) ที่เชื่อว่าบริษัทในสหรัฐจะมีการจ้างงานเพิ่มเติมขึ้นได้อีก 1.4 ล้านตำแหน่งในเดือนที่ผ่านมา หนุนให้อัตราการว่างานปรับตัวลงมาที่ 10.0% อย่างไรก็ดีความเร่งของการฟื้นตัวดูจะช้าลงจากช่วงหลังวิกฤติ ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ช่วงปรับโครงสร้าง

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน สัปดาห์ก่อนดอลลาร์มีแนวโน้มปรับตัวลงชัดเจนหลังธนาคารกลางสหรัฐเปลี่ยนเป้าหมายนโยบายการเงินไปใช้เงินเฟ้อเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) พร้อมกับที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนายชินโซ อาเบะ แถลงลาออกทำให้เยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าไปด้วย

ในสัปดาห์นี้จึงต้องจับตาการเคลื่อนไหวของยูโร (EUR) และเยนญี่ปุ่นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มองว่าตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขเศรษฐกิจต้นเดือนด้วย แม้แนวโน้มหลักยังคงเป็นการอ่อนค่าของดอลลาร์จากนโยบายการเงิน แต่ถ้าเห็นการฟื้นตัวที่ช้ามากกว่าคาด ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะเห็นตลาดกลับไปปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) หนุนให้ดอลลาร์แข็งค่ากลับได้

มองกรอบดัชนีดอลลาร์สัปดาห์นี้ 91.5-93.0จุด จากปัจจุบัน 92.3จุด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

‘สรท.’ วอนรัฐช่วยเพิ่มเสถียรภาพค่าเงิน พร้อมแก้กฏหมายเก่า-ล้าสมัย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบศ. วันที่ 2 กันยายนนี้ สรท.ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย แต่จะนำข้อเสนอส่งต่อให้กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แทน โดยได้แบ่งหน้าที่ในการผลักดันข้อเสนอแนะ ซี่งในส่วนของสรท. จะเน้นการผลักดันด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์ เนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ต้องปรับลดเรื่องต้นทุนการระบบขนส่งโลจิสติกส์ เพราะความจริงมีการทำดัชนีประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ (เคพีไอ) วัดต้นทุนที่เหมาะสมระบบขนส่งโลจิสติกส์ต่อสัดส่วนจีดีพีไทย แต่ขณะนี้ต้นทุนดังกล่าวยังไม่ได้ปรับลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมมากนัก รวมถึงในช่วงที่เกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 ภาครัฐจะต้องพิจารณาในเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งโลจิสติกส์ด้วย

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า การดำเนินการของรัฐจะต้องเน้นในเรื่องกฏระเบียบศุลกากร การคมนาคมต่างๆ อยากให้กฎเหล่านี้อำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ และลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น รวมถึงอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามแผนการลงทุนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นงานด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นหลัก ทั้งทางบก ทางราก ทางน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือ ที่ต้องการผลักดันให้ใช้งานผ่านท่าเรือชายฝั่ง เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการขนส่งต่างๆ และลดความแออัดของการจราจร เนื่องจากในปัจจุบันหากส่งสินค้าจากภาคใต้ไปยังปลายทางคนละภาค จะต้องขนผ่านรถบรรทุก ก่อนจะส่งต่อไปยังท่าเรืออีกครั้ง ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องความแออัดของการจราจร และมีปัญหาเรื่องฝุ่นเกิดขึ้น จึงอยากผลักดันให้เกิดการใช้บริการขนส่งผ่านท่าเรือชายฝั่ง อย่างำรก็ตาม ขณะนี้เกิดปัญหาขึ้นในส่วนขอท่าเรือแหลมฉบัง โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีการเรียกเก็บและตั้งระเบียบในเรื่องการใช้ท่าเอศูนย์ ทำให้ไม่ส่งเสริมการใช้งานของผู้ประกอบการ จึงอยากให้แก้ไขกฎระเบียนที่ไม่เอื้อให้เพิ่มเติม

“ในส่วนของกระแสโครงการขุดคลองไทย ที่อาจมีการนำโครงการดังกล่าวมาปัดฝุ่นใหม่ และเตรียมนำเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจขุดคลองไทยแนว 9เอ เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ระยะทาง 135 กิโลเมตร มูลค่า 2 ล้านล้านบาท เบื้องต้นยังมองไม่ออกว่า หากมีการขุดคลองไทย จะทำให้ความมั่นคงทางทะเลดีขึ้นอย่างไร แม้จะมีการยืนยันว่า การทำโครงการดังกล่าวจะต้องยึดหลักผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงของประเทศทางน้ำเป็นหลักก็ตาม” นางสาวกัณญภัค กล่าว

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่ต้องการให้ทำเร่งด่วน ด้านผู้ส่งออก ยังต้องการให้รัฐบาลดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากที่สุด เพราะค่าเงินมีส่วนสำคัญมากกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ และเกี่ยวข้องกับการวางแผนธุรกิจในระยะยาวด้วย เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแบบอ่อนค่าสลับแข็งค่าต่อเนื่อง จะทำให้การความสามารถในการแข่งขัน และการวางแผนธุรกิจ

“เรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการก่อนคือ หากจะเอาให้ง่ายและเห็นผลเร็วที่สุด จะต้องเร่งแก้ไขกฎหมายเก่าที่ล้าหลัง ซึ่งเรื่องนี้คุยกันมานานและหลายรอบแล้ว แต่ยังไม่มีการทำกิโยติน หรือปฏิรูปกฎหมายพร้อมกัน โดยจะเน้นเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อให้เอื้อต่อการค้าและการขนส่งสินค้ามากที่สุด โดยขณะนี้รัฐวิสาหกิจพยามยามจะเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับการค้าที่ลดลง แต่ต้นทุนของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้น ถือเป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกอบการเพิ่ม” นางสาวกัณญภัค กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“คณะกรรมการวัตถุอันตราย” พร้อมทบทวนการแบน “พาราควอต”

คณะกรรมการวัตถุอันตรายพร้อมทบทวนการแบนพาราควอต หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งข้อมูลใหม่

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย (คกก.วอ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้แทนเกษตรกรและนักวิชาการเสนอให้คณะกรรมการฯทบทวนการยกเลิกใช้ "พาราควอต" โดยนำหนังสือร้องเรียนมายื่นต่อคณะกรรมการฯแล้วนั้น ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการประชุมของคณะกรรมการฯ ครั้งต่อไป แต่ตามขั้นตอนปฏิบัติ หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเรื่องมาถึง พร้อมกับข้อมูลใหม่เพื่อประกอบการพิจารณามาด้วย จะเสนอเรื่องต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการฯทันที

ทั้งนี้ หากนายสุริยะเห็นเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็อาจมีคำสั่งมายังเลขานุการฯ ให้จัดประชุมโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี เลขานุการฯ ต้องพิจารณาว่า จะต้องมีข้อมูลอื่นใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลทางวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสารเคมีการเกษตรที่เป็นวัตถุอันตราย ซึ่งเมื่อได้รับข้อมูลทุกด้านครบถ้วน คณกรรมการฯพร้อมประชุมพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

BGRIM เตรียมแผนโรงไฟฟ้าชุมชนฯ

BGRIM เตรียมแผนโรงไฟฟ้าชุมชนฯ 6-7 แห่ง​ รอกระทรวงพลังงานชัดเจน ​พร้อมเดินหน้าเจรจาซื้อกิจการ​ทั้งในและต่างประเทศ

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังสนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยรอดูกระทรวงพลังงานปรับแผนงานอย่างไร โดยเตรียมความพร้อมศึกษาศักยภาพของพื้นที่ประสานกับชุมชนประมาณ  6-7 แห่ง ๆ ละ 8-10  เมกะวัตต์

นางปรียนาถ กล่าวด้วยว่า อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขยายลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในไทยและต่างประเทศหลายโครงการ เช่น LNG to Power ในประเทศเวียดนามประมาณ 2,000-3,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ต้นปี 2564 พลังงานลมเวียดนาม 100-200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนภายในปี 2563

ขณะที่โครงการพลังงานลมที่ประเทศเกาหลีใต้ 130-150 เมกะวัตต์ และโครงการที่จะเข้าซื้อกิจการ (M&A) รวมกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เช่น​ โครงการ SPP โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในประเทศไทยประมาณ 4 โครงการ และเป็นโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติในประเทศมาเลเซีย 1 โครงการ โดยโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนให้กำลังการผลิตไฟฟ้าติดรวมที่มีอยู่ในมือเพิ่มเป็น 7,200 เมกะวัตต์ได้ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตในมือ 3,682 เมกะวัตต์ และจะส่งผลให้มีกำลังการผลิตเกินเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2565

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

รายงานพิเศษ : RID No.1 Express 2020 เร่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำอย่างยั่งยืน

“หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั้น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้”พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529

“น้ำคือชีวิต” น้ำ คือ ปัจจัยสำคัญในการขจัดความทุกข์ร้อนของราษฎรกรมชลประทานจึงได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานในภาคเกษตร ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และรักษาระบบนิเวศ

ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงของชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการ “RID NO.1” ซึ่งเป็นนโยบายของดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานที่มอบให้ผู้บริหารกรมชลประทาน และข้าราชการทุกคนนำไปใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน20 ปี ให้สัมฤทธิผล ใน 7 ด้าน ได้แก่1) เร่งรัดการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ2) ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ 3) เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 4) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ 5) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 6) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน และ 7) ดำเนินการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ

ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ภายใต้บริบทความเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2579 นั้นมีเป้าหมายสำคัญคือ มุ่ง พัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เน้นป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ บนหลักการมีส่วนรวมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 17.95 ล้านไร่ พร้อมเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 13,243 ล้านลูกบาศก์เมตรในอนาคต

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ กรมชลประทานได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเพื่อกำกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี โดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธาน และมีคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทานอีก 5 คณะ ประกอบด้วย1) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำ โดย นายประพิศจันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง เป็นประธาน 2) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนำอย่างบูรณาการตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำ โดย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษาเป็นประธาน 3) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันความเสียหายและสนับสนุนการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ โดย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษาเป็นประธาน 4) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการน้ำชลประทานในระดับพื้นที่ โดย นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีฝ่ายบริหารเป็นประธาน และ 5) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่องค์กรอัจฉริยะ โดย นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธาน

ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ในปีงบประมาณ 2561-2563 ที่ผ่านมา ถือว่า ประสบความสำเร็จครบทุกด้าน ได้แก่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 3,175 โครงการ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 55 โครงการ โครงการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงาน โดยเฉพาะแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค นั้นก็มีความคืบหน้าไปมาก กรมชลประทานได้วางแผนยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น ระดับลุ่มน้ำ 3 โครงการได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี โครงการพัฒนาลุ่มน้ำชี (ตอนบน) จังหวัดชัยภูมิ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำล้าเชียงไกร(ตอนล่าง) จังหวัดนครราชสีมา

กรมชลประทาน ได้ปรับปรุงการจัดทำแผนงานระยะปานกลาง (MTEF) จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน รวมทั้งริเริ่มแนวทาง PPPs (Public Private Partnerships) ซึ่งเป็นการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนมาใช้ในการทำงานชลประทาน

ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ทั้งโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กให้เป็นไปตามแผน พัฒนาระบบการแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ ปรับปรุงโครงการชลประทานที่มีอายุการใช้งานมานานให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานปัจจุบัน สร้างทางเลือกในการดำเนินการส่งน้ำและบำรุงรักษาในงานชลประทาน ตรวจสอบวิเคราะห์ความมั่นคงของเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง วางแผนรับมืออุทกภัยและภัยแล้ง และบูรณาการความร่วมมือกับ SC ในระดับพื้นที่ การพัฒนาสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ตรวจสอบการใช้พื้นที่ราชพัสดุและแก้ปัญหาการบุกรุกของราษฎร ส่งเสริมการใช้พื้นที่เขตคลองเป็นพื้นที่แก้มลิงและขยายผลพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤติ ตลอดจนการพัฒนาศูนย์ศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน

พร้อมกันนี้ กรมชลประทานให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยจากน้ำ เร่งรัดการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทานให้เต็มพื้นที่ชลประทานตลอดจนการทบทวนการดำเนินงาน 1 โครงการ 1 ล้านบาท

กรมชลประทานได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงานทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาระบบงานให้เข้าสู่ Digital Platform และมุ่งพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ โดยปรับโครงสร้างหน่วยงานและปรับปรุงระดับตำแหน่งของบุคลากรให้สูงขึ้น

ความสำเร็จของแผนปฏิบัติงานตามแนวทาง RID No.1 ตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กรมชลประทานมุ่งมั่นพัฒนาขยายผลต่อยอดเป็น “RID No.1 Express 2020” บนแนวคิด “ทำงานสุดกำลังตั้งมั่นสุจริต ใช้ชีวิตพอเพียง” เพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งพัฒนาระบบงานให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชน และเกษตรกรมีแหล่งน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอเพื่อให้มีอาชีพและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ในปีนี้ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน มุ่งพัฒนาต่อยอดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทานเป็นวาระเร่งด่วน ภายใต้แนวทาง “RID No.1 Express 2020 ” ใน 6 ด้าน ได้แก่

1.เร่งรัดก่อสร้างโครงการตามพระราชดำริ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้จำนวน 216 โครงการ

2.พัฒนาระบบแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุมพื้นที่จัดรูปที่ดินและการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายปรับปรุงพื้นที่ชลประทานในไร่นาจำนวน 86,300 ไร่ ในปี 2563

3.เร่งรัดปรับโครงสร้างหน่วยงานและปรับปรุงระดับตำแหน่งบุคลากรให้สูงขึ้น

4.เร่งรัดการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนในการทำงานชลประทาน โดยพัฒนา ต่อยอด โครงการประชารัฐร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships : PPPs) การปรับปรุง พ.ร.บ.ชลประทาน พ.ศ.2485ให้แล้วเสร็จ และต่อยอดระบบส่งน้ำและกระจายน้ำระดับแปลง การขุดลอกเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำทั้งประตูระบายน้ำ แก้มลิง อาคารบังคับน้ำ

5.โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เน้นปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 7 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 4 แห่ง เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ 4 แห่ง สูบกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง วางมาตรการป้องกันน้ำท่วม 4 แห่ง

6.เร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทาน ให้เต็มพื้นที่ชลประทาน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน 26 คณะ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 581,435 ไร่ อาสาสมัครชลประทาน 844 คน จัดตั้งแล้วเสร็จ รวม 4,212 ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 2,110,000 ไร่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ 1017 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 810,857 ไร่ และกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน121 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 1,492,330 ไร่

กรมชลประทานทุ่มเทความคิด และตั้งใจทำงาน พัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด มีน้ำกิน น้ำใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับดูแลสิ่งแวดล้อมและใช้ในภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ยื่นหนังสือ “เฉลิมชัย” ทบทวนแบนพาราควอต

ผู้แทนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด เตรียมยื่นหนังสือ รมว.เกษตรฯ ทบทวนการยกเลิกพาราควอต โดยมีข้อมูลใหม่ประกอบตามที่เลขาฯ คกก.วัตถุอันตรายแจ้งให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งมาเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาทบทวนการยกเลิกพาราควอต

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า บ่ายวันนี้ (28 ส.ค.) จะเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสารพาราคอวต รวมทั้งส่งหนังสือที่สมาคมเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้แก่ อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลทำขึ้นเพื่อให้รมว. เกษตรฯ เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย (คกก.วอ.) ให้ทบทวนการยกเลิกใช้พาราควอต ตามที่นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เลขานุการคกก. วอ. ระบุว่า พร้อมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนำเข้าสู่การพิจารณาของคกก. วอ. หากกระทรวงเกษตรฯ เสนอข้อมูลใหม่มา

ดังนั้น จึงได้ส่งข้อมูลที่สมาพันธ์ฯ ทดลองพบว่า เมื่อฉีดพ่นสารกลูโฟซิเนตในแปลงมันสำปะหลัง ต้นมันสำปะหลังใบร่วง แต่วัชพืชไม่ตาย ฉีดพ่นในไร่อ้อย ต้นอ้อยจะได้รับความเป็นพิษ ยับยั้งการเจริญเติบโตในช่วงย่างปล้อง เกษตรกรไม่กล้าใช้ “สารทางเลือก” ในสวนปาล์มน้ำมัน ไร่อ้อย และทุเรียน จนทำให้วัชพืชเติบโตอย่างมาก แย่งสารอาหารจากพืชประธานเสียหาย อีกทั้งสอบถามกรมวิชาการเกษตรแล้ว ได้คำตอบว่า สารทางเลือกอื่น ๆ  ไม่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทั้งในแง่ของประเสิทธิภาพและราคา

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สนอท.) สำรวจและวิเคราะห์สารตกค้างในกลุ่มสินค้าเพื่อบริโภคในประเทศไทย ได้แก่ น้ำตาล น้ำอ้อย แป้งมัน สาคู ข้าวโพดต้ม ข้าวโพดกระป๋อง ข้าวโพดอาหารสัตว์ และอื่นๆ รวม 35 รายการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ไม่พบสารพาราควอตตกค้างแม้แต่รายการเดียว ในทางตรงกันข้ามกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบ เพื่อมาเป็นอาหารสัตว์และอาหารคน  และมีการปรับค่ามาตรฐานการนำเข้า นั่นคือ ยอมรับสินค้าที่มีการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจากประเทศอื่น แต่กลับห้ามเกษตรกรในประเทศใช้ แบบนี้คือการปฏิบัติสองมาตรฐาน จึงไม่ได้ห่วงใยความปลอดภัยของผู้บริโภคและเกษตรกรอย่างแท้จริง แต่เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรและเอื้อกลุ่มนายทุน

นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้สารพาราควอตจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องมีการยกเลิกการใช้ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน และมีคำสั่งกรมวิชาการเกษตรไม่ให้เกษตรกรใช้หรือครอบครอง หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผลผลิตเสียหายอย่างหนัก แต่กรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่ชัดเจน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนการใช้แรงงานกำจัดวัชพืช แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะค่าแรงที่สูงและแรงงานภาคเกษตรที่ไม่เพียงพอ การใช้เครื่องจักรทดแทนมีข้อจำกัด ทั้งด้านภูมิศาสตร์และด้านต้นทุนในการเข้าถึงเครื่องจักรกลที่เหมาะสม

ดังนั้น เกษตรกรจึงทำหนังสือถึง รมว.เกษตรฯ เรียกร้องให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนจากแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่ไม่เป็นธรรมอย่างเร่งด่วน โดยขอให้ส่งข้อมูลใหม่ไปยัง คกก.วอ. เพื่อทบทวนการยกเลิกสารพาราควอตเร็วที่สุด จากนั้นนำมติของ คกก.วอ.ในการจำกัดการใช้สารพาราควอตมาดำเนินการ ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564  เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ ซึ่งเป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐานและไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทยอย่างแท้จริง

 “หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รมว.เกษตรฯ จะให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร เนื่องจากไม่สามารถหวังพึ่งใครได้อีกแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต้องปกป้องและดูแลเกษตรกรให้ประกอบอาชีพได้ และพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบและใจที่เป็นธรรม” นายสุกรรณ์ กล่าว

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 28 สิงหาคม 2563

วุ่นอีก “เฉลิมชัย” รับชงหนังสือถึงบอร์ดขอทบทวนมติแบนสารเคมี

งานเข้าบอร์ดวัตถุอันตราย “เฉลิมชัย” รับเซ็นหนังสือทบทวนมติแบนพาราควอตถึง คกก.วัตถุอันตราย ส.วัชพืช-เกษตรปลอดภัย จี้รัฐยกเลิก ชี้แรงงานภาคเกษตรวูบ เสียหายหนัก ขอพิจารณาทบทวนสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังมีการใช้พาราควอตใหม่ แนะจำกัดใช้ดีกว่าแบน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างหารือร่วมกับสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมรับเรื่องและจะจัดทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย จากเกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจเกือบร้อยรายโดยเร็วที่สุด

พร้อมนำเสนอข้อเท็จจริงผลสำรวจจากนักวิชาการ ไม่พบสารพาราควอตตกค้างในสินค้าภายในประเทศ และเกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยต่อการยกเลิกใช้สารพาราควอต

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ผลกระทบหลังจากการแบนพาราควอตปัจจุบัน ต้นทุนสูงขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้น บางส่วนเลิกทำเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม เลิกจ้างงาน สินค้าผิดกฎหมายลักลอบผสมสารเคมีอ้างเป็นสารชีวภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพราะขาดการตรวจสอบ ควบคุมสารชีวภัณฑ์

รวมทั้งเกษตรกรได้นำแนวทางที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำแล้ว ได้แก่ สารทางเลือก ไกลโฟเซต และกลูโฟซิเนต พบว่า วัชพืชไม่ตาย ยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชปลูก ผลผลิตเสียหาย ซึ่งนักวิชาการแสดงความเห็นต่อสารทางเลือกต่าง ๆ พบว่า ไม่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทั้งในแง่ของประเสิทธิภาพ และราคา

นายสุกรรณ์ กล่าวว่า จากการสำรวจดังกล่าวทางสมาพันธ์ มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1.เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการจัดทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อนำไปสู่การทบทวนอย่างเป็นธรรมใหม่อีกครั้ง 2.ขอให้นำมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

3.ขอให้จัดทำหนังสือถึง คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารทดแทนที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และราคาเทียบเท่าพาราควอต ให้เกษตรกรใช้เป็นทางเลือก ตลอดจน ปัจจุบันยังไม่มีชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร สำหรับให้เกษตรกรใช้กำจัดวัชพืช มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอต และไกลโฟเซต

ดังนั้น การพิจารณาทบทวนยกเลิกการใช้พาราควอตในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรศึกษาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและรอบด้านอย่างเป็นธรรม รวมทั้งไม่ควรอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังมีการใช้พาราควอต ถึงแม้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะมีค่าตกค้างของพาราควอตไม่เกินค่ามาตรฐานโคเด็กซ์ (codex) ก็ตาม

ในทางตรงกันข้าม ควรส่งเสริมมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร และฝึกอบรมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีความรู้ เพื่อให้สามารถใช้สารเคมีเกษตรได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ตามแนวทางการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) หรือเกษตรปลอดภัย เป็นทางออกที่ดีที่สุด

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 28 สิงหาคม 2563

นักวิเคราะห์ชี้เฟด-สหรัฐ ปรับนโยบายดูดเงินไหลเข้า กระทบเอเชียและบาทไทย

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 28 สิงหาคมอยู่ที่ระดับ 31.29 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.26 บาทต่อดอลลาร์

กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.22-31.42 บาทต่อดอลลาร์

ช่วงคืนที่ผ่านมา หุ้นสหรัฐเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ติดต่อกันเป็นวันที่ห้า ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นได้ 0.2% แม้จะไม่มีแรงหนุนจากกลุ่มเทคโนโลยี แต่ก็มีกลุ่มการเงินและอสังหาริมทรัพย์มาช่วย หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ขยับขึ้นแตะระดับ 0.75% ทำให้ส่วนต่างระหว่างยีลด์ระยะสั้นและระยะยาวขยับขึ้นมาที่ระดับ 53bps สูงที่สุดในรอบเดือน

 ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เกิดจากความเห็นของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการสัมมนาใหญ่ประจำปี Jackson Hole Symposium ที่เปลี่ยนเป้าหมายนโยบายการเงินไปเป็น “เงินเฟ้อเฉลี่ย” (Average Inflation Targeting หรือ AIT) และเปลี่ยนถ้อยคำที่ใช้ในการประเมินตลาดแรงงาน โดยจะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ การจ้างงานยังต่ำ (shortfalls) กว่าระดับการจ้างงานเต็มอัตรา (Full Employment) แทนที่คำว่า “เบี่ยงเบน” (Deviate) จากระดับการจ้างงานเต็มอัตรา

ฝั่งตลาดเงินตอบรับนโยบายการเงินใหม่ของเฟดอย่าง AIT ด้วยภาพดอลลาร์ที่แข็งค่า 0.1% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากนักลงทุน “คาดหมาย” การเปลี่ยนแปลงนี้ไว้แล้ว ขณะที่นโยบายดังกล่าว ก็เชื่อว่าจะช่วยหนุนสินทรัพย์การเงินในฝั่งอเมริกาอื่น ๆ นอกจากเทคโนโลยีได้ จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้า

ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างวันที่รายงานไม่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 1.0 ล้านตำแหน่ง การบริโภคภาคเอกชน (Personal Consumption) ของสหรัฐที่หดตัวลงถึง 34.2% ในไตรมาสที่ผ่านมา และตัวเลขยอดบ้านเราขาย (Pending Home Sales) ที่ชะลอตัวลงจากช่วงสองเดือนก่อนเหลือเติบโตเพียง 2.0% ในเดือนที่ผ่านมา

“ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าตามสกุลเงินภูมิภาคในวันก่อน ช่วงเช้านี้ก็มีการปรับตัวอ่อนค่าลงตามทิศทางของดอลลาร์เช่นกัน “

ดร.จิติพล กล่าวว่า ในระยะถัดไปเชื่อว่าตลาดจะรอเวลาสักพักในการปรับตัวกับนโยบายการเงินแบบใหม่ของเฟด คาดว่าน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงในช่วงการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งต่อไป (15-16 กันยายน) ถ้าเฟดมีนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม เช่นการตั้งเป้าหมายยีลด์ระยะยาว (Yield Curve Control) ในการประชุมครั้งหน้า ก็สามารถกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อได้อีก

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 28 สิงหาคม 2563

“มนัญญา” ลั่นจุดยืนสินค้าปนเปื้อน 2 สารห้ามเข้าประเทศ

อย.แบไต๋ เตรียมมาตรฐานใหม่ หลัง 1 มิ.ย.64 ระหว่างนี้ผ่อนปรนผู้นำเข้า ให้ตกค้างตามโคเด็กซ์ได้ “มนัญญา” ลั่น จุดยืนกระทรวงเกษตรฯ ห้ามสินค้าปนเปื้อน 2 สารเข้าประเทศ ด้านที่ปรึกษาฯ ไม่รู้ ค่า “LOD” แต่ควรจะเป็น “ซีโร่”

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมี ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่า "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of  Detection) ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวสาลี" มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน จะมี ผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564

แต่ในระหว่างนี้จนถึง มิถุนายน ปี 2564 ยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารจากประเทศที่ใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่ผลตกค้าง ต้องไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits) ของ โคเด็กซ์ (CODEX) ขณะในส่วนของเกษตรกร "กรมวิชาการเกษตร" ให้เกษตรกรส่งมอบ 2 สารเคมีเกษตร คืนร้านค้า ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เหลือระยะเวลา 2 วันเท่านั้น  หากใครมีไว้ครอบครองผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  จุดยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ให้สิ่งที่ปนเปื้อนที่ประเทศเราแบน (พาราควอต-ควอร์ไพริฟอส) แล้วจะอนุญาตให้นำผลผลิตปนเปื้อนทางการเกษตรนำเข้ามาในประเทศ เป็นไปไม่ได้ ฝ่ายของเรา ก็คือ "กระทรวงเกษตรฯ "ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และไม่อนุญาตให้มีสารตกค้างเข้ามาในประเทศไทยเด็ดขาด  ส่วน ของ อย.นั้นไม่ทราบ ก็ต้องไปถาม ทาง อย. แต่นี่คือจุดยืนของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สอดคล้องกับนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร  กล่าวว่า ถ้าแบน 2 สาร  "พาราควอต"  และ "คลอร์ไพริฟอส"  ก็ไม่ควรจะมีการนำเข้าผลผลิตสารตกค้างจะต้องเป็นศูนย์ ซึ่ง ผมไม่รู้ หรอกค่า "OLD" แต่ควรจะเป็น “ซีโร่”  หรือ "ศูนย์" ไม่เช่นนั้น "เกษตรกรก็โวยตายเลย" เพราะในประเทศไม่ได้ใช้เลย แล้วต่างประเทศใช้ได้ แล้วมีการผ่อนปรนคืออะไร แต่ผมยังไม่ทราบรายละเอียด ส่วนการชดเชยคงไม่มี เพราะเป็นสินค้าที่ทำให้ประชาชนและผู้บริโภคต้องเจ็บป่วยและต้องตาย แล้วกฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ปี 2535 ประกาศว่าวัตถุอันตรายที่เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามใช้ ห้ามผลิตและห้ามครอบครอง นี่คือกฎหมาย แล้วกรมวิชาการเกษตร บังคับกฎหมาย แล้วก็มีการผ่อนปรนเวลาให้ส่งคืน แต่ก่อนที่จะกฎหมายก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองมีสิทธิ์ที่จะส่งออกก็ได้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้นได้ทำความเข้าใจกันมาเป็นปีแล้ว

“ในส่วนของผม ในฐานะที่เคยรับราชการมาก่อน เห็นว่า กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องปฎิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายนี้สืบเนื่องมาจากประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบจากสารเคมี "พาราควอต"  และ "คลอร์ไพริฟอส"  จึงทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเลิกใช้ หากมองในอีกมุมมองหนึ่งสิ่งแวดล้อมเสีย ใครจะเป็นผู้ชดเชย แล้วหลักเกณฑ์วัตถุอันตรายที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจขึ้นบัญชีเป็นวัตถุอันตราย จะมีหลักเกณฑ์ชัดเจน เพราะกฎหมายเขียนบังคับไว้แล้ว แล้วไม่ใช่ไทยเพิ่งจะแบนสารเคมีตัวแรกในประเทศ และที่ผ่านมาก็ไม่มีการชดเชย คือผู้ขายหรือผู้ครอบครองสารจะต้องรับหน้าที่ทำลายสารนั้น”

นายฉกรรจ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับความขัดแย้งทางหลักวิชาการมีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ท้ายสุดก็ต้องไปจบที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ และเมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติใดแล้ว หน้าที่เราจะต้องทำตาม และคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็พูดมา 2-3 ปีแล้ว ที่จะแบน ทราบหรือไม่  “พาราควอต” นำเข้าจากประเทศจีน ลิตรละกว่า 40 บาท แต่มาขายให้กับคนไทย ลิตรละ 120 บาท แล้วขายมา 40 ปี แล้ว ความจริงควรที่จะแบนตั้งแต่ปี 2493  แล้ว  นักข่าวก็ถามสวนว่า ทำไมสมัยตอนท่านเป็นอธิบดี ทำไมท่านไม่แบน "พาราควอต"  และ "คลอร์ไพริฟอส"  นายฉกรรจ์ ก็ตอบสั้นๆว่า “ตอนนั้นผมโง่อยู่”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 สิงหาคม 2563

ดัชนีMPI โต3เดือนติดกัน ‘สุริยะ’ชี้อุตสาหกรรมผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พบว่าดัชนีผลผลิตในเดือนกรกฎาคม 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่3.12% โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกรกฎาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 56.01% จากเดิมที่ 55.07%

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.69% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัว แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

“ในขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศที่มีทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศจีนได้ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะงักลง อุตสาหกรรมบางประเภทต้องขาดชิ้นส่วนการผลิต เกิดปัญหาทางด้านการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจากฐานการผลิตในต่างประเทศ เช่น จีน ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องย้ายฐานการผลิตออกเพื่อกระจายความเสี่ยง นับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้รับผลอานิสงส์ โดยที่ประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านของแรงงานฝีมือและการควบคุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19ที่ดี สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จะย้ายเข้ามาใหม่ได้ รวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การเตรียมความพร้อมในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติได้ทันที” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสศอ. กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อยๆฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมและกิจการบางประเภทให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการแล้วเกือบทั้งหมด โดยเมื่อพิจารณาดัชนีการส่งสินค้าและดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีทิศทางเป็นไปตามสถานการณ์การผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและมีแนวโน้มติดลบน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่บางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะการหยุดผลิตในบางประเทศที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเปลี่ยนคำสั่งซื้อมายังไทย

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 27 สิงหาคม 2563

วิพากษ์ ไทยแบน “พาราควอต” แต่ให้นำเข้าตกค้างได้

“พรศิลป์” วิพากษ์ “ แรงทำร้ายเกษตรกรหรือไม่ ชี้มาตรฐานใหม่ ไม่ใช่ “ศูนย์” ด้าน “ชวลิต” แบ่งรับแบ่งสู้ เป็นทางออกทีดีที่สุด ขณะ รง.เล็งเข้มในประเทศห้ามตกค้าง ชี้ไม่เพียงพอขอนำเข้าทดแทน เพราะอนุญาตปนเปื้อน" พาราควอต" ได้

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมี ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่า "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of  Detection) ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวสาลี" มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมี ผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564

แต่ในระหว่างนี้จนถึง มิถุนายน ปี 2564 ยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารจากประเทศที่ใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่ผลตกค้าง ต้องไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits) ของ โคเด็กซ์ (CODEX) ขณะในส่วนของเกษตรกร "กรมวิชาการเกษตร" ให้เกษตรกรส่งมอบ 2 สารเคมีเกษตร คืนร้านค้า ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เหลือระยะเวลา 3 วันเท่านั้น  หากใครมีไว้ครอบครองผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  การกำหนดค่า "LOD"  ก็คือ Limit of  Detection เข้าใจง่าย ก็คือ ระดับที่ตรวจวัดได้ ซึ่งการออกมาในรูปแบบนี้ จะเห็นว่า เหมือน “ศรีธนญชัย” จะขึ้นอยู่กับวิธีวัด และเครื่องวัด คำถามที่ 1 ก็คือ อย.มีหรือไม่เครื่องวัด ซึ่งผมว่าไม่มี แล้วไม่มีจะทำอย่างไร ไม่แน่ใจว่าจะไปทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ แต่คิดว่าไม่เกี่ยวกัน ก็คิดว่า อย.น่าจะมีวิธีการในรูปแบบที่ยังนึกไม่ออกว่าจะใช้รูปแบบไหน

"แต่สมมติว่าไม่มี จะนำมาจากไหน ก็ต้องนำตัวอย่างจริง มาตรวจสอบจริงว่าที่ผ่านมาสินค้าเกษตร แต่ละล็อตที่นำเข้ามา ตรวจสอบ แล้วค่าตกค้างได้เท่าไร แล้วมาคิดเอาเองว่า ใช้ค่าเฉลี่ย มาตรฐานใหม่ ของ อย จะแบ่ง เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่ม “ผักผลไม้สด” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.01-2 mg./kg.) 2. กลุ่ม “เนื้อสัตว์ นม ไข่” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.005-1 mg./kg.) และ 3. กลุ่ม “ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต 0.02 mg./kg. คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.01 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.03-6.00 mg./kg.) เป็นตัวเลขที่คุยกันในวันนั้น สรุปว่า “ไม่ศูนย์” นี่งัย คือ “ศรีธนญชัย”   ตั้งคำถามว่า ในประเทศแบน แต่กลับปล่อยให้สินค้านำเข้าเปื้อนตกค้างสารเคมี "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" สามารถนำเข้ามาได้"

นายพรศิลป์ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังทำร้ายตัวเอง และ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะต้องตอบคำถามว่า กำลังทำร้ายเกษตรกรไทยใช่หรือไม่ เอาเกษตรกรไทยไปบูชายัญหรือ ซึ่งไม่มีเหตุผล อีกด้านต่างประเทศก็หัวเราะเยาะ แล้ว กลุ่มเอ็นจีโอหายไปไหนหมด  ซึ่งการกระทำลักษณะแบบนี้ถ่มน้ำลายแล้วไปเลียกลับมา เพราะตอนแรกคุณโวยวายสารตกค้างไม่ได้ อย่างโน้นอย่างนี้ แต่วันนี้ให้นำเข้าสารปนเปื้อนเข้ามาได้ แล้วประเทศที่ส่งสินค้ามาให้กับไทย ประเทศนั้นก็ใช้สารเคมีเต็มที่ แต่ก็ใช้ระวัง สารตกค้างจึงต่ำ แล้วประเทศไทย เกษตรกรก็บอกว่าสามารถทำให้ต่ำได้ คุณก็สอนวิธีใช้ให้ แค่นี้ก็จบแล้ว

ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ผมเข้าใจในเรื่องนี้ต้องมีทางออกไปด้วยกันได้ทุกฝ่าย แต่เราก็ต้องยึดมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งการที่จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี หรือถั่วเหลือง ซึ่งมีมาตรฐานโคเด็กซ์อยู่แล้วที่ปฏิบัติติมาช้านาน สามารถที่จะดำเนินการได้เพื่อไม่ให้กิจการของที่ทำอุตสาหกรรมด้านนี้เสียหายไป และไม่เสียหายกับผู้บริโภค ผมคิดว่าได้กันทุกฝ่าย ผมไม่ได้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ตัวเลขมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ แต่ถ้าทั่วโลกยอมรับได้ ทำไมในประเทศไทยจะยอมรับไม่ได้ คิดว่าทางออกในรูปแบบนี้น่าจะไปได้

“ในส่วนเกษตรกรเวลาใช้สารไม่ได้มาตรฐาน จะเห็นว่าไปสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่เห็นชัด เช่น ไปใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ต้นน้ำ ที่จังหวัดน่าน ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตามคลิปวีดีโอ จากป่าต้นน้ำ ทำให้พันธุ์ปลาเสียหาย สิ่งแวดล้อมเสียหาย นั่นใช้อย่างไม่เป็นมาตรฐาน ดังนั้นการที่จะควบคุมการนำเข้าสินค้าตามมาตรฐานโคเด็กซ์ (CODEX) ก็ไม่ใช่ปล่อยเละเทะมา มีมาตรฐานโคเด็กซ์กำกับอยู่ ผมคิดว่า อย. คงพิจารณาแล้วให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินธุรกิจได้ปกติ และมีความปลอดภัยด้วย จึงออกมาในรูปแบบนี้”

แหล่งข่าวผู้ประกอกบการ เผย ว่า หากในประเทศแบน 2 สารเคมีเกษตร แล้ว หมายความว่าในประเทศห้ามมีสารตกค้าง ใช่หรือไม่ แล้วถ้าสมมติ มีเกษตรกรแอบใช้ แล้วโรงงานเกิดตรวจเจอ หมายถึงว่า ข้าวโพด หรือ อ้อย หากตกค้างพาราควอต ใช้ไม่ได้ และอาจจะรับซื้อไม่ได้ แล้วจะต้องทำอย่างไรกับสินค้าเกษตรเหล่านี้ หากไม่มีวัตถุดิบ โรงงานอาจจะขอนำเข้าสินค้าจากเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นที่ค้าขายกันอยู่แล้ว เพราะสินค้าเกษตรให้นำเข้ามาสามารถปนเปื้อนได้ เชื่อว่าในอนาคตบูมเมอแรง จะย้อนกลับมาที่เกษตรกร จะเกิดเหตุการณ์นี้แน่นอนในเร็วๆ นี้

ผู้สื่อข่าว รายงานข่าวว่า วันนี้ (27 ส.ค.63) นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ประธานการประชุมรับฟัง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรื่องการใช้ "พาราควอต" เวลา 13.00 น.  ผลสรุปการประชุมจะเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" จะนำมารายงานให้ทราบต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 สิงหาคม 2563

สทนช.เร่งแผนพัฒนาลุ่มน้ำยม เพิ่มจุดเก็บน้ำ-ตัดยอดน้ำหลาก

สทนช.เร่งเสนอแผนแก้ลุ่มน้ำยมท่วมซ้ำซาก เพิ่มจุดเก็บกักน้ำ-ชะลอน้ำ ควบคู่แนวทางบริหารจัดการน้ำที่ท่วมขังจ.สุโขทัย สู่พื้นที่ท้ายน้ำให้นำไปใช้ประโยชน์

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมแม่น้ำยม ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เพื่อลดผลกระทบประชาชน ปัจจุบัน จ.สุโขทัย ปริมาตรน้ำสูงสุดผ่านพ้นแล้วและจะลดลงตามลำดับ อ.ศรีสัชนาลัย ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งแล้วเมื่อเวลา 20.00 น.ของวานนี้ (25 ก.ค.)  โดย กอนช.ประเมินปริมาณน้ำหลากในเหตุการณ์ครั้งนี้ 384 ล้าน ลบ.ม. ไหลผ่านไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ที่คงค้างและอยู่ในระหว่างเร่งระบายในพื้นที่อีกประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้พื้นที่น้ำท่วมในเขตจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก 73,481 ไร่ และคาดการณ์ว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นดือนนี้

ทั้งนี้ ทุ่งบางระกำสามารถเก็บกักน้ำหลากประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ โดยปริมาณน้ำส่วนที่เหลือคาดว่าจะไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์วันที่ 1 กันยายน  ในอัตราสูงสุด 1,238 ลบ.ม./วินาที (ลำน้ำรับได้ 3,500 ลบ.ม/วินาที) และจะไหลลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท วันที่ 2 กันยายน  ในอัตรา 200 ลบ.ม./วินาที โดย กอนช.ได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการผันน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันตกในอัตรา 93 ลบ.ม./วินาทีและฝั่งตะวันออกในอัตรา 62 ลบ.ม./วินาที เพื่อเก็กกักน้ำไว้ในระบบชลประทานและสามารถใช้เป็นน้ำต้นทุนส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรที่กำลังขาดแคลนน้ำอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลประโยชน์ต่อพื้นที่ตอนล่างแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำส่วนหนึ่งอีกด้วย อีกทั้งผันน้ำผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ไปยังสถานีสูบน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อสูบน้ำส่งไปเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระ จ. ชลบุรี

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม สทนช.วางแผนเพิ่มจุดเก็บกักน้ำและชะลอน้ำทุกรูปแบบในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมและเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแหล่งน้ำตามแผนหลักลุ่มน้ำยม (ปี 2564 – 2580) มาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการ 3 ส่วน คือ ยมตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง โดยลุ่มน้ำยมตอนบนระยะเร่งด่วนเริ่มดำเนินปี 2564 ประกอบด้วย อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและติดตั้งระบบเตือนภัย ระยะสั้น เริ่มปี 2565-2566 ได้แก่ พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงแหล่งน้ำตามแนวคิด “สะเอียบโมเดล”

ส่วนยมตอนกลาง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี 2564 ได้แก่ การจัดการจราจรน้ำและปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน ระยะสั้นเริ่มปี 65-70 ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำสาขา และเพิ่มความจุแหล่งน้ำเดิม ระยะยาว (หลังปี 70) ได้แก่ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำยม ซึ่งต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนในพื้นที่มาพิจารณาด้วย สำหรับลุ่มน้ำยมตอนล่าง ระยะเร่งด่วน เริ่มปี 2564 ได้แก่ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยม อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง โดยมีแผนดำเนินการในอนาคตอีก 7 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 11 แห่ง รวมทั้งระบบผันน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำได้แก่ โครงการคลองผันน้ำยมน่าน ระยะกลาง เริ่มดำเนินการปี 2566 ได้แก่ พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจ. นครสวรรค์

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ลุ่มน้ำยมมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,369 มิลลิเมตร/ปี ปริมาณน้ำท่า 6,715 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ปริมาณน้ำท่วมคิดเป็บ 2,021 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งขาดแคลนน้ำประมาณ 1,875 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงมีเป้าหมายแผนหลักลุ่มน้ำยม 20 ปี ให้สามารถพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำตอนบน – ตอนกลาง 800 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชะลอน้ำตอนล่าง 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 253,630 ไร่ และลดปัญหาน้ำท่วมได้ 54,159 ไร่  ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างต่อเนื่องซึ่งช่วงช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 697 โครงการ เก็บกักน้ำได้ 68 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 140,000 ไร่ โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ. พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 จ. ลำปาง อ่างเก็บน้ำแม่แคม จ. แพร่ ปตร.ท่านางงาม จ. พิษณุโลก ปตร. ท่าแห จ. พิจิตร ปตร. บ้านวังจิก จ. พิจิตร การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทุ่งบางระกำ ปี 2563 จำนวน 500 แห่ง ได้น้ำรวม 24 ล้าน ลบ.ม. และโครงการบางระกำโมเดล

ขณะที่แผนงานโครงการสำคัญที่จะเริ่มดำเนินปี 2566 มีทั้งสิ้น 36 โครงการ สามารถเพิ่มความจุได้ 116 ล้าน ลบ.ม. แก้มลิงชะลอน้ำ 833 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1.67 แสนไร่ 26,949 ครัวเรือน โดยทำควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน-กลาง ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก 234 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเร่งผลักดันแผนการพัฒนาพื้นที่รับน้ำ ชะลอน้ำในลำน้ำยมตอนบนให้ได้โดยเร็วตามแผนหลักฯ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบปริมาณน้ำส่วนเกินก่อนไหลลงสู่พื้นที่จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นพื้นที่ท่วมซ้ำซากให้ไม่ประสบปัญหาอย่างในปัจจุบัน

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ประเทศไทยได้รับผลกระทบปริมาณฝนที่ตกหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุโซนร้อน “ซินลากู” พายุโซนร้อน “ฮีโกส” และอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 20 จังหวัด นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีระดับน้ำผันผวนโดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ฝนที่ตกลงมาทำให้เกิดผลดี มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศรวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. โดย 3 อันดับสูงสุด ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ 1,594 ล้าน ลบ.ม. จ. อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ. กาญจนบุรี 494 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนภูมิพล จ. ตาก 400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยปัจจุบันอ่างที่มีน้ำน้อยกว่า 30% มีจำนวนลดลงจาก 26 แห่ง เหลือ 14 แห่งเนื่องจากฝนตกในที่เดิมซ้ำ ๆ ทำให้เกิดน้ำหลากจุดเดิม แต่ยังไม่มีอ่างขนาดใหญ่ที่มีน้ำมากกว่า 80% จึงยังคงมีอ่างอีกหลายแห่งที่ต้องการน้ำที่อาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งถัดไปได้.-สำนักข่าวไทย

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 26 สิงหาคม 2563

ไทย-เยอรมนีผนึกความร่วมมือด้านเกษตร

ไทย-เยอรมนี ร่วมมือด้านการเกษตร สร้างโอกาสเรียนรู้ห่วงโซ่อุปทาน ระบบผลิต แปรรูป กระจายสินค้า การตลาด จนถึงผู้บริโภค

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงนามปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนง (Joint Declaration of Intent : JDI) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงอาหารและเกษตรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการส่งเสริมด้านการเกษตรของทั้ง 2ประเทศ เพื่อให้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายเกิดประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่และเกษตรกรรายย่อย สามารถเรียนรู้การบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร และสามารถนำเอาระบบบริการส่งเสริมการเกษตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอาหารและเกษตรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะเริ่มดำเนินความร่วมมือแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และขอชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและเยอรมนีที่ทำงานกันอย่างหนัก ที่ร่วมกันประชุมหารือ และสำรวจพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรในระยะแรก โดยเฉพาะในพื้นที่แปลงใหญ่ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในด้านการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน การลดต้นทุนการผลิต และการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงาน GFA พร้อมที่จะเริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือภายในเดือนกันยายนนี้ และหวังว่าไทยและเยอรมนี จะใช้กรอบนี้ในการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรในสาขาอื่น ๆ ที่สนใจร่วมกันในอนาคตต่อไป

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการทำความร่วมมือในครั้งนี้ คือ 1) การสนับสนุนโครงการความร่วมมือทวิภาคีเพื่อส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร โดย JDI จะเป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่อาจมีความร่วมมือขึ้นในอนาคต โดยทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ 2) การจัดทำความร่วมมือภายใต้ความตกลง IA – กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร กับ GFA Consulting Group GmbH สามารถพัฒนาบุคลากรด้านการต่างประเทศในลักษณะ On the Job Training (OJT) ในประเทศไทยเอง เป็นการสร้างโอกาสให้แก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจทำการเกษตร

นอกจากนี้ การทำความร่วมมือดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐสามารถร่วมกันคิดวิเคราะห์ ให้ข้อเสนอ รวมถึงสามารถสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างหน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริการส่งเสริมการเกษตร ระบบการเงิน ระบบการสนับสนุนความช่วยเหลือ ตลอดจนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรกรจากพื้นที่แปลงใหญ่

นอกจากนี้ เกษตรกรรายย่อย ยังสามารถเรียนรู้การบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ระบบการผลิต แปรรูป กระจายสินค้า การตลาด จนถึงผู้บริโภค โดยมีการนำเอาระบบบริการส่งเสริมการเกษตรเข้ามาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกษตรกรรายย่อยสามารถนำเอา ระบบการผลิตที่ทันสมัยและการทำธุรกิจที่ดี มาใช้ในการทำการเกษตรได้

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 26 สิงหาคม 2563

ส่งออกไทยไปอียูส่อทรุดหนักรอบ 11 ปี

2 แรงบวก “โควิด-เบร็กซิท” ขย่มส่งออกไทยไปอียูทรุดหนัก คาดติดลบมากสุดรอบ 11 ปี เอกชนจี้รัฐบาลเตรียมแผนเร่งเจรจาเอฟทีเอ ลดเสียเปรียบเวียดนาม ขณะพาณิชย์มองเบร็กซิทผลบวกไทย

ภาคการส่งออกรายได้หลักของประเทศ ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ยังน่าห่วง ติดลบที่ 7.7% โดยตลาดส่งออกหลักทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(อียู) ยังติดลบถ้วนหน้า มีเพียง 2 ตลาดที่ยังขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ จีน และสหรัฐฯ ทั้งนี้สถานการณ์การค้าของไทยกับอียู(คู่ค้าอันดับ 5 ของไทย) นับจากนี้ถือว่าน่าห่วงสุด จากเศรษฐกิจของอียูได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาด ส่งผลเศรษฐกิจและกำลังซื้อลดลงอย่างน่าใจหาย

การส่งออกของไทยไปตลาดอียู (28 ประเทศรวมอังกฤษ) ช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่า 3.62 แสนล้านบาท ติดลบ 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดปีนี้มีโอกาสสูงที่การส่งออกไทยไปอียูจะติดลบสูงสุดในรอบ 11 ปี (นับจากปี 2552 ที่ไทยส่งออกไปอียูติดลบ 19.6% จากผลกระทบวิกฤติซับไพร์ม) ขณะที่การเจรจาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) หรือเบร็กซิท (Brexit) ที่งวดเข้ามา ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ และอาจส่งผลต่อการค้าไทยกับอียูและอังกฤษในอนาคต

ข้อตกลง FTA อียู-เวียดนาม มีผลแล้ว ส่งออกไทยหืดจับแน่เร่งเครื่องเจรจา FTA ไทย-อียู ช่วยดันจีดีพีไทยโต 18 ล้านล้านส่งออกระส่ำ เอกชนแห่ลดเป้า ทั้งปีติดลบหนักชี้ส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ลุ้นทั้งปี -9% ผวาโควิดทุบรอบสอง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของอียูในภาพรวมอยู่ในภาวะชะลอตัวอยู่แล้วเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ขณะที่เบร็กซิทส่งผลให้ค่าเงินของยุโรปอ่อนค่าลง กระทบต่อกำลังซื้อและการนำเข้าสินค้า ยิ่งเวลานี้ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยซ้ำเติมทำให้เศรษฐกิจของอียูจะฟื้นตัวช้า

“คาดส่งออกไทยไปอียูปีนี้จะติดลบตัวเลขสองหลัก ยิ่งเวลานี้เวียดนามคู่แข่งขันสำคัญได้มีข้อตกลงเอฟทีเอกับอียูและมีผลบังคับใช้แล้ว(เริ่ม 1 ส.ค.63) ยิ่งทำให้การส่งออกของไทยเสียเปรียบเวียดนามมากขึ้นในเรื่องภาษีนำเข้า รวมถึงหลายสินค้าของเพื่อนบ้านอาเซียนยังได้สิทธิจีเอสพีจากอียู เช่นสับปะรดกระป๋อง สินค้าจากฟิลิปปินส์ภาษีนำเข้า 0% จากได้จีเอสพีพลัส อินโดนีเซียเสียภาษี 15% ขณะที่ไทยต้องเสียถึง 18.5%”

สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการหลังโควิดคลี่คลายคือการเตรียมแผนเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอียู และกับอังกฤษ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการดูแลค่าเงินบาทให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้น

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงความคืบหน้าการเจรจาเบร็กซิทว่า สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้าระหว่างกัน โดยรอบล่าสุด(รอบที่ 7) เมื่อวันที่ 18-21 สิงหาคม 2563 ยังมีประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ เช่น การอุดหนุนโดยรัฐ (state aid) และสิทธิการประมง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ทันในเดือนตุลาคมนี้ตามแผนหรือไม่ เพื่อให้ความตกลงทางการค้านี้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 หากไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้ทัน ทั้ง 2 ฝ่ายต้องกลับไปใช้กฎกติกาที่ต่างฝ่ายต่างผูกพันไว้ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) คือมีภาษีและข้อจำกัดทางการค้าในบางเรื่องระหว่างกัน

“ไทยน่าจะได้ผลเชิงบวกจากเบร็กซิท เนื่องจากสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางการค้าใหม่ตามนโยบาย Global Britain และมุ่งจัดทำเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าให้ครอบคลุมสัดส่วนการค้าของสหราชอาณาจักรให้ได้ถึง 80% ในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนของสหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิทจะมีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายมากกว่าของอียู”

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงลอนดอน รายงานว่า การเจรจาเรื่องสิทธิในการเดินรถขนส่งสินค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพราะจะส่งผลกระทบต่อการวางแผนการขนส่งสินค้า และต้นทุนของผู้ประกอบการไทยที่อาจเปลี่ยนแปลงไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 26 สิงหาคม 2563

ค่าเงิน​บาท​แข็งค่า​ขึ้น​ที่​ 31.44 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (26 ส.ค.)​ ที่ระดับ 31.44 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ที่ระดับ 31.47 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผย​ว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (26 ส.ค.)​ ที่ระดับ 31.44 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ที่ระดับ 31.47 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.30-31.50 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินสหรัฐยังคงเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ต่อ โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 0.4% ด้วยแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและดอลลาร์ที่อ่อนค่า สวนทางกับฝั่งยุโรป ที่ดัชนี STOXX 600 ร่วงลง 0.3% บนความกังวลกับภาคทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งอังกฤษ ที่จะต้องเจอกับกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นหลังแยกตัวจากสหภาพยุโรป

ด้านตลาดเงินแนวโน้มหลักกลับมาเป็นการอ่อนค่าของดอลลาร์อีกครั้ง แต่อารมณ์ของตลาดรอบนี้ดูจะอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) มากขึ้น เห็นได้จากอัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้น 2bps มาที่ระดับ 0.69% ขณะที่ราคาทองคำทรงตัวที่ระดับ 1928 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แปลความได้ว่านักลงทุนไม่ได้มีความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยมากเหมือนช่วงก่อนหน้า

ส่วนในฝั่งของเงินบาท เชื่อว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดทุนเอเชียยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามากที่สุด ขณะที่สกุลเงิน EM เป็นประเด็นต่อมาที่จะกำหนดทิศทางค่าเงินบาท ในระยะสั้นการฟื้นตัวของภาคอุตสากรรมการผลิตและการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน จึงเป็นสิ่งที่จะหนุนให้หุ้นและสกุลเงินเอเชียรวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 26 สิงหาคม 2563

'พาณิชย์' ฉีกตำราแก้เกมส์ส่งออกปี 63 ดิ่ง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หวังอีอีซีดันส่งออกไทยเพิ่ม พร้อมปรับกลยุทธ์ทำงานใหม่ เน้นสร้างผู้ประกอบการรายย่อย กลาง เล็ก เกษตรกร เจน ซี เป็นผู้ส่งออกหน้าใหม่ผ่านทั้งออฟไลน์ ออนไลน์

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับแผนการทำงานรองรับยุค”รวมไทยสร้างชาติ” และเร่งรัดยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มอันดับขีดความสามารถด้านส่งออกให้เป็นอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570 ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับ 8 มีมูลค่าส่งออก และอันดับ 23 ของโลก ด้วยมูลค่า 2.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการไปสู่เป้าหมายจะต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้ได้อย่างน้อยปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าในปีนี้การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยประเมินว่าทั้งปีส่งออกไทยจะขยายตัว -7 % ถึง- 9% โดยขณะนี้สถานการณ์การส่งออกของไทยเริ่มดีขึ้นหลายประเทศเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าของไทยมากขึ้นแล้ว

ปัจจัยที่หนุนให้ได้ตามเป้าหมายขึ้นเป็น Top 5 การค้าของเอเชีย นั้น มาจากศักยภาพในการผลิต การปรับตัวรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การรับมือของไทยกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยเน้นอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับดิจิทัล อุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยคาดว่าจะมีการย้ายฐานการลงทุนมาในอีอีซีเพื่อการส่งออกมากขึ้น รวมถึงความน่าเชื่อถือไทยในสายตาต่างชาติ ผู้ผลิตไทยปรับตัวพัฒนาสินค้ารองรับความต้องการโลกตลอดเวลา

นายสมเด็จกล่าวว่า สำหรับแนวทางการทำงานของกรม มีทั้งในระยะสั้น กลาง และยาวครอบคลุมการช่วยเหลือผู้ประกอบการ การผลักดันการส่งออกเป็นรายตลาด สินค้าและบริการ โดยระยะสั้น จะเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยเป็นแคมเปญใหญ่ทั่วโลก เน้นเรื่องความเชื่อมั่น ความปลอดภัยจากโควิด-19 รุกกิจกรรมไฮบริดเจาะตลาดทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทั่วถึงทุกระดับ

ส่วนระยะกลางและยาว จะเสริมThaitrade.comให้เป็นด่านหน้าออนไลน์ของสินค้าไทยอย่างเต็มรูปแบบส่งผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศ คัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพดี(Product Champion) เจาะตลาดทั้งแบบออฟไลน์ รวมถึงปรับบทบาทของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์)58 แห่งทั่วโลก ให้เป็นเซลส์แมนของประเทศ โดยทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ หาพันธมิตร พัฒนาข้อมูลการค้าให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์ และหาช่องทางขยายตลาดเชิงลึก เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทย

ทั้งนี้ ในปี 2562 ประเทศส่งออก 10 อันดับของเอเชีย คือ 1. จีนและฮ่องกง มีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านดอลลาร์ 2. ญี่ปุ่น มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ 3. เกาหลีใต้ มูลค่า 5.4 แสนล้านดอลลาร์ 4 .สิงคโปร์ มูลค่า 3.9 แสนล้านดอลลาร์ 5. อินเดีย มูลค่า 3.2 แสนล้านดอลลาร์ 6. ไต้หวัน มูลค่า 3.05 แสนล้านดอลลาร์ 7. เวียดนาม มูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์ 8. ไทย มูลค่า 2.4 แสนล้านดอลลาร์ 9 .มาเลเซีย มูลค่า 2.38 แสนล้านดอลลาร์และ10. ตุรกี มูลค่า 1.8 แสนล้านดอลลาร์

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 สิงหาคม 2563

ระวัง... การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ K-Shaped

จากวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ฉุดเศรษฐกิจสู่ภาวะตกต่ำ สภาพัฒน์ประเมินจีดีพีไทย Q263 ลด 12.2% ซึ่งหลายคนมองว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังเติบโตขึ้น แต่การฟื้นตัวจะเป็นในรูปแบบใด? L, U, V, W หรือ K-Shaped และจะส่งผลอย่างไรต่อไป?

เป็นที่ทราบกันดีว่าโควิด-19 นำไปสู่ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้ออกมาแถลงข่าวว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของประเทศไทยในไตรมาส 2 ลดลง 12.2% ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่อยู่ในช่วงที่คาดการณ์ไว้ของบรรดาสำนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย

อย่างไรก็ดี หลายคนก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว (ถ้าไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดจนทำให้ต้องปิดบ้านเมืองอีกรอบ) และในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะดีกว่าของไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

ความน่าสนใจต่อไปคือเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในลักษณะและรูปแบบใด? ซึ่งก็มีหลายแนวคิดหลายทฤษฎี ส่วนใหญ่ก็จะอ้างอิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตามสัญลักษณ์หรือตัวอักษรภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น ตัว L หรือ U หรือ V หรือ W หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์ Swoosh ของบริษัทไนกี้

ล่าสุดในสหรัฐเริ่มพูดถึงรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอีกรูปแบบหนึ่งนั้นคือ K-Shaped หรือตัวอักษร K นั้นคือสำหรับบางกลุ่มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวกลับมาในสภาพเดิมอย่างเต็มที่ (หางของตัว K ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน) ขณะเดียวกันสำหรับบางกลุ่มนั้นก็ยังไม่ฟื้นตัวแถมยังตกต่ำลงต่อไป (หางของตัว K ที่ชี้ลงมาด้านล่าง)

ในสหรัฐนั้น ที่เริ่มคุยกันเรื่องการฟื้นตัวแบบตัว K นั้นเนื่องจากตลาดหุ้นของสหรัฐ รวมทั้งตลาดที่อยู่อาศัยได้กลับมาฟื้นตัวกันอย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่ตลาดหุ้นบางแห่งของสหรัฐกลับมาทำสถิติอีกครั้ง หรือหุ้นของบริษัทอย่าง Apple ก็ขึ้นสู่ระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานของชาวอเมริกันและการปิดตัวเอง หรือล้มละลายของธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ยังคงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เริ่มเป็นที่กังวลกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวแบบตัว K

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ มีสายป่านทางการเงินที่ดีระดับหนึ่ง ย่อมจะก้าวผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดีกว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ระบบการบริหารจัดการยังไม่มีความเป็นมืออาชีพและกระแสเงินสดยังไม่เยอะ แถมบริษัทขนาดใหญ่ย่อมมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตและก้าวออกจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้อย่างเข้มแข็งมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่การฟื้นตัวแบบตัว K ในสหรัฐนั้น ก็เนื่องจากโควิดทำให้องค์กรต่างๆ นำเรื่องของดิจิทัลและออโตเมชั่นมาใช้มากขึ้น ทั้งเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อ

อย่างไรก็ดี ผลที่ตามมาคือ เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่การลดจำนวนบุคลากรในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งทำให้ตำแหน่งบางตำแหน่งไม่มีความจำเป็นต้องมีอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรระดับใช้แรงงานที่ทำงาน Routine และสามารถที่จะทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักร ก็มักจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกปลดออกจากงาน ขณะที่กลุ่มบุคลากรที่เป็นกลุ่ม Professional worker จะสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าและไม่ประสบปัญหาเท่ากับบุคลากรอีกกลุ่ม

สำหรับสาเหตุที่ต้องกังวลนั้น ก็เนื่องจากถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบตัว K นั้นจะนำไปสู่ความแตกต่างและแบ่งแยกทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายแล้วความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดังกล่าวก็อาจจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและความวุ่นวายทางสังคมได้

หันกลับมาดูประเทศไทยบ้าง สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในรูปแบบตัว K ยังไม่ชัดเจนเท่ากับที่สหรัฐ (อาจจะเนื่องจากสหรัฐกำลังเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย) ตลาดหุ้นไทยก็ยังขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตามปกติ แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณบางประการที่เริ่มน่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงานระดับปฏิบัติการตามโรงงานต่างๆ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ หรือการปิดตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหลายแห่ง รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันธุรกิจในบางภาคส่วนก็เติบโตไปด้วยดี อาทิ ในกลุ่มการส่งออกอาหารและผลไม้ไปต่างประเทศ หรือหลายๆ บริษัทใน ตลท. ที่ฝ่าฟันวิกฤติมาได้อย่างดีและประกาศจ่ายปันผลกลางปี

ถ้าไทยฟื้นตัวแบบตัว K จริง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะเพิ่มมากขึ้นต่อไป และสามารถที่จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ไม่คาดคิดได้

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 สิงหาคม 2563

เกษตรกร ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลขอผ่อนผันแรงงานต่างด้าวตัดอ้อย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ส.ค.63 ณ สำนักงานประธานหอการค้าจังหวัดสระแก้ว อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายบำรุง ล้อเจริญวัฒนชัย ประธานหอการค้าจังหวัดสระแก้ว ให้ต้อนรับ นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพา พร้อมคณะมายืนเพื่อผ่านไปยังรัฐบาลขอความอนุเคราะห์ผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยในฤดูกาลที่จะมาถึงนี้

 นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพา เปิดเผยว่า ด้วยในขณะนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในจังหวัดสระแก้ว ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยอย่างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งกรมการจัดหางานมีคำสั่งถึงจัดหางานจังหวัดไม่ให้พิจารณาคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวทั้งการนำเข้าตาม MOU และการเข้ามาทำงานลักษณะไป- กลับหรือตามฤดูกาล ตามมาตรา ๖๔ ซึ่งในขณะนี้เข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่ข้าวโพด และตัดอ้อยแต่เกษตรกรไม่สมารถหาแรงานมาช่วยเก็บผลิตผลได้ เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ไม่สามารถหาแรงงานคนไทยได้เนื่องจางดังกล่าวเป็นงานหนัก และในขณะนี้เข้าสู่ฤดูการตัดอ้อย หากเกษตรกรไม่สามารถหาแรงงานได้จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดและไรอ้อยของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจังหวัดสระแก้วมีเกษตรกรปลูกข้าวโพดประมาณ 50,000 ไร่ และอ้อยประมาณ 300,000 ไร่ จะถึงฤดูการเปิดหีบอ้อยใน ระหว่างเดือนธันวาคม - มีนาคมของปีถัดไปสมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพาในฐนะหน่วยงานซึ่งดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย จึงขอความอนุเคราะห์จากท่านในการนำเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกร พิจารณาหาทางช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการขาตแคลนแรงงนหรือผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ โดยสมาคมฯ มีมาตรการระวัง ป้องกันการแหรระบาดขอไวรัสโควิด 19 โดยจะให้กักตัวแรงงานเป็นเวลา 14 วัน และตรวจโรคก่อนเข้าประเทศไทยใช้โรงพยาบาลที่ได้รับรับรองตามมาตรการของรัฐ และเกษตรจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และหาสถานที่กักตัวในการดูแลแรงงานของตัวเอง ทั้งนี้ได้สอบถามไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว แต่ไม่ได้รับความคืบหนแต่ประการใด

 นายบำรุง ล้อเจริญวัฒนชัย ประธานหอการค้าจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ได้หนังสือขอความอนุเคราะห์พื้นที่จังหวัดสระแก้ว ถือเป็นพื้นที่มีการปลูกอ้อยมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ และแรงงานที่เข้ามาตัดอ้อยตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว สมัครใจมาทำงานด้วยค่าจ้างที่สูงขึ้น เนื่องด้วยภาครัฐขอความร่วมมือ ในการตัดอ้อยสด ส่งโรงงานน้ำตาล ลดการเผา สร้างความยากลำบากในการตัดมากขึ้น แต่แค่แรงงานก็สูงขึ้นเป็นแรงจูงใจให้เข้ามาทำงานมากขึ้น แม้จะฟังไม่เข้าใจ แต่เชื่อว่า เป็นเสียงเรียกให้มากินข้าวเที่ยง ของกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชากลุ่มนี้ ที่เดินทางมาจากละแวกบ้านใกล้เคียงกัน เพื่อมาเป็นคนงานตัดอ้อย ในช่วงฤดูหีบอ้อยของทุกปี ที่มีช่วงเวลาไม่นานนัก ที่เป้าหมายเดียวกันของแรงงานเหล่านี้ คือการเก็บเงิน เพื่อส่งกลับทางบ้าน ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ในช่วงระยะเวลา ไม่เกิน 4 เดือน การกินอยู่ประหยัด จึงถือเป็นหัวใจสำคัญ

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 สิงหาคม 2563

สศช. เผยผลการศึกษากรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ สู่การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ซึ่งเป็นประเด็นการพัฒนาสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560– 2565) ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ประกอบด้วย นิยามของเกษตรอัจฉริยะไม่ชัดเจนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร

ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อค้นพบจากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สศช. ได้คัดเลือก เรื่อง“การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในมันสำปะหลังในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มาเป็นกรณีศึกษาเนื่องจากพิจารณาควบคู่กับเป้าหมายการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพหลักของประเทศ (Bio-Based Hub) เพื่อให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของประเทศซึ่งเกษตรอัจฉริยะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันทั้ง 2 ภาคไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เหตุผลที่เลือกเจาะลึกในเกษตรอัจฉริยะของพืชมันสำปะหลัง เนื่องจากทั้ง 2 ภาคมีพื้นที่การเพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด เป็นพืชหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ ของประเทศ และยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพดูแลการพัฒนาทั้งระบบ  ซึ่ง สศช. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (FocusGroup) ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อระดมความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้

“ทิศทางการพัฒนาภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐบาลจะมุ่งไปสู่การเป็น Bio-hub  ซึ่งวัตถุดิบสำคัญของการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ คือ อ้อยและมันสำปะหลัง แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกัน การผลิตอ้อยมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นไปตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 และมีเจ้าภาพการพัฒนาที่ชัดเจนแล้ว  ในขณะที่การผลิตมันสำปะหลังยังไม่มีการบริหารจัดการทั้งระบบและไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพชัดเจน นอกจากนี้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่การปลูกมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ ดังนั้น หากสามารถส่งเสริมการใช้เกษตรอัจฉริยะในการผลิตมันสำปะหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ก็จะสามารถผลักดันให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น Bio-hub ของประเทศได้ตามนโยบายที่วางไว้”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าว

การจัดประชุมระดมความเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรและสถาบันการศึกษา จัดขึ้นรวม 2 ครั้ง ณ จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดนครราชสีมาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของที่ประชุม หน่วยงานและภาคีที่เข้าร่วมเห็นไปในทิศทางเดียวกับผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของ สศช. ว่า ความไม่ชัดเจนของนิยาม การขับเคลื่อนที่ขาดการบูรณาการและการขาดหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะคือปัญหาสำคัญและเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสะท้อนปัญหาการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในระดับพื้นที่เพิ่มเติม อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเกษตร เช่น ดิน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ยังไม่ดีพอ ทั้งในด้านคุณภาพและความทั่วถึง อีกทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลการผลิตและการตลาดยังกระจัดกระจาย ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มการผลิตและความต้องการของตลาดยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสนับสนุนการตัดสินใจด้านการผลิตของเกษตรกรนอกจากนี้ แหล่งเงินทุนที่สนับสนุนการใช้เกษตรอัจฉริยะก็ยังมีข้อจำกัดและเกษตรกรยังเข้าถึงได้ยาก  รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีและการแปรรูปผลผลิต บางรายยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเนื่องจากไม่มั่นใจในผลที่จะเกิดขึ้นและความต้องการของตลาดที่จะรองรับผลผลิต

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้ข้อค้นพบจากเวทีระดมความเห็นมีน้ำหนักและตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ สศช. ยังได้นำความเห็นที่ได้จากการจัดประชุม Focus group มาประมวลและจัดทำเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นจัดส่งไปยังภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการเอกชน สถาบันการศึกษาที่ทำการศึกษา วิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งเกษตรกร ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 800 ราย ได้รับกลับคืนมา 400 กว่าราย ซึ่งผลการประมวลแบบสอบถามก็ยืนยันความเห็นของที่ประชุม Focus Groupข้างต้น

“ในขั้นตอนต่อไป สศช. จะพยายามศึกษาเจาะลึกในรายละเอียดและทำงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อออกแบบแนวทางและวิธีการในการขับเคลื่อนบางประเด็นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ประเด็นที่หนึ่ง การกำหนดขอบเขตและนิยามของเกษตรอัจฉริยะที่ชัดเจน และสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเกษตรกรด้วย  และประเด็นที่สองคือ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหน่วยงานหรือกลไกหลักที่เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะอย่างครบวงจร และผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้มีการวางระบบการพัฒนา การเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้และทักษะของเกษตรกร การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การประสานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม  การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตของเกษตรกร  รวมทั้งการประสานการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวสรุป

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 25 สิงหาคม 2563

ชาติอาเซียนเร่งขยายความร่วมมือ 7 สาขาพลังงานกู้วิกฤตโควิด

เปิดเวทีประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส "อาเซียน" ด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 รูปแบบออนไลน์ หารือความร่วมมือพลังงานของกลุ่มใน 7 สาขา

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่24 – 27 สิงหาคม 2563 จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 38th Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings : The 38th SOME)

โดยประเทศไทยได้ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ให้ประเทศเวียดนามประธานอาเซียนปี 2563 ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2563 นี้ และการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุม SOME รูปแบบออนไลน์ ที่ถือเป็น New Normal จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้  ประเทศไทยได้นำนโยบาย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เน้นการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และรองรับนวัตกรรมด้านพลังงานอนาคต เสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนและร่วมมือกันลงทุนด้านพลังงานในโครงสร้างพื้นฐาน (สายส่งและท่อก๊าซธรรมขาติ) รวมถึงธุรกิจพลังงานสะอาดและนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยได้ยกตัวอย่างนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน (RE) และการนำน้ำมันปาล์มดิบมาผสมน้ำมันดีเซลกับการนำเอทานอลมาผสมน้ำมันเบนซินที่ทำเป็นนโยบายหลักของประเทศ

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักที่จะผลักดันร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation : APAEC Phase 2) 2021 – 2025 ซึ่งแผนนี้เป็นแผนใหม่ที่ต่อเนื่องจากแผนระยะที่ 1 เพื่อที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้นำแผนปฏิบัติการนี้ไปดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเริ่มตั้งแต่ปี 2564 (2021) เป็นต้นไป ภายใต้ 7 สาขาความร่วมมือ ดังนี้

1.ความร่วมมือการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) การขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอาเซียน

2.ความร่วมมือด้านปิโตรเลียม (Trans ASEAN Gas Pipeline: TAGP) ที่ประชุมเห็นชอบการพัฒนาตลาดร่วมก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค (Common Gas Market) และการเชื่อมโยงขยายการซื้อขายก๊าซธรรมชาติโดยใช้ Small Scale LNG พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ก๊าซ ในการเดินเรือ หรือ LNG Bunkering

3.ความร่วมมือด้านถ่านหิน (Coal and Clean Coal Technology: CCT) ที่ประชุมเห็นชอบและพร้อมที่จะลงนามในบันทึกข้อตกลงจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพลังงานถ่านหินสะอาดอาเซียน (ASEAN Coal Centre of Excellence) ณ ประเทศอินโดนีเซีย และระบบข้อมูลพลังงานถ่านหินอาเซียน (ASEAN Coal Data and Information System: ACDIS)

4.ความร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency & Conservation: EE&C) ที่ประชุมเห็นชอบการเพิ่มเป้าการลดความเข้มการใช้พลังงานจากที่กำหนดไว้เดิม 30% เป็น 32% ภายในปี 2025 เนื่องจากในปัจจุบันประเทศสมาชิกได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว 24.4% ในปี 2019

5.ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy: RE) ที่ประชุมเห็นชอบเป้าสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 23% เทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด (Total Primary Energy Supply) และ 35% เทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด (Installed Power Capacity) ในปี 2025 ซึ่งเป้าที่กำหนดเป็นเป้าหมายที่ท้าทายประเทศสมาชิกอาเซียนเนื่องจากในปัจจุบัน (2018) อาเซียนดำเนินการได้เพียง 13.3% เทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด (Total Primary Energy Supply) และ 27.1% เทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด (Installed Power Capacity)

“ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตติดตั้งจากพลังงานทดแทน 11,890 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 18% ของกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของทั้งอาเซียน และมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งมากที่สุดในอาเซียน และมีการใช้เอทานอลอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่การใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 5.22 ล้านลิตรต่อวัน”

,6.ความร่วมมือด้านนโยบายและแผนพลังงานอาเซียน (Regional Energy Policy & Planning: REPP) จัดทำ ASEAN Energy Outlook ฉบับที่ 7 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงาน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะพิจารณาแนวทางการเพิ่มการค้าการลงทุนด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นการเพิ่มเติมด้วย

และ7.ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ (Civilian Nuclear Energy: CNE) ที่ประชุมสนับสนุนการสร้างความร่วมมือด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียนสำหรับประชาชนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างขีดความสามารถและเครือข่ายความร่วมมือเชิงเทคนิคและเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ มุ่งสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่สาธารณชนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค

นอกจากนี้ อาเซียนจะได้ประชุมหารือร่วมกับประเทศคู่เจรจา อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย เป็นต้น เกี่ยวกับความร่วมมือในการเชื่อมโยงทางพลังงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของอาเซียน รวมถึงการหารือกับองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ อาทิ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานโลกและผลกระทบ พร้อมทั้งการรับมือจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคพลังงาน

นายกุลิศ กล่าวต่อไปอีกว่า การประชุม SOME ครั้งที่ 38 มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร โดยผลการประชุมในครั้งนี้จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาซียนครั้งที่ 38 ที่ประเทศเวียดนาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563ซึ่งอาจจะต้องใช้รูปแบบการประชุมออนไลน์เช่นเดียวกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดยังไม่คลี่คลายลง

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 25 สิงหาคม 2563

โวย 2 มาตรฐาน หลังแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

เกษตรกรโวยรัฐสองมาตรฐาน ไฟเขียวผ่อนปรนให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรคงค่าโคเด็กซ์ถึง มิ.ย.ปี64 “สภาเกษตรกร” ทำหนังสือทักท้วงต้องใช้มาตรฐานเดียวกับเกษตรกร “ธีระชัย” ชี้ ทัวร์ลง เรียกม็อบอีกแล้ว

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมี ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่า "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of  Detection)

ทั้งนี้ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวสาลี" มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมี ผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564  แต่ในระหว่างนี้จนถึง มิถุนายน ปี 2564 ยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารจากประเทศที่ใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่ผลตกค้าง ต้องไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits) ของ โคเด็กซ์ (CODEX) ในแต่ในส่วนของเกษตรกร "กรมวิชาการเกษตร" ให้เกษตรกร 2 สารคืนร้านค้า ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เหลือระยะเวลา 4 วันเท่านั้น  ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากมติที่ผ่อนปรนให้ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าได้นั้น 2 มาตรฐาน ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สารเคมี “พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" อย่างน้อยระยะเวลา 1 มิ.ย. 2564 เท่ากัน ขณะที่เกษตรกรจะต้องส่ง 2 สารคืน ภายในวันที่ 29 ส.ค. นี้ ซึ่งเหลือเวลาแค่ 4 วันเท่านั้น ทำไม 2 มาตรฐาน ไม่ยอมแน่นอน หากแบนในประเทศ สินค้านำเข้าก็ไม่ควรที่จะตกค้าง 2 สารเคมีแบน เช่นเดียวกัน

“ผมคิดว่าเกษตรกรไม่คืนแล้วต้องแอบใช้แน่นอน เพราะว่าในส่วนของ "พาราควอต"  ต้องยอมรับว่าเกษตรกรใช้ทุกพืช  เกษตรกรได้รับผลกระทบเพราะไม่มีสารทดแทนในราคาที่ถูกกว่า โดยราคาลิตร ประมาณ 100 กว่าบาท แล้วแต่ยี่ห้อ ใน 1 ลิตร สามารถกำจัดวัชพืชได้ประมาณ 2-3 ไร่ และช่วงนี้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ถ้าสารวัตรเกษตร จับกุม ผม

สอดคล้องกับนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่าถ้าพูดถึง “เกษตรกร”  รากหญ้า ไม่รู้เรื่อง จะมาใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือหลักนิติศาสตร์ไม่ได้ จะต้องใช้หลักแนะนำ พ่วงหลักรัฐศาสตร์ ถ้าไปจับกุมเลย ไม่ได้ เพราะทั้งรัฐบาลพังเลย เพราะจะกลายเป็นว่า “รัฐบาลรังแก" ทั้งทางเจ้าหน้าที่ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปลงพื้นที่อธิบายที่มาที่ไปให้เกษตรกรเข้าใจ พร้อมกับคำแนะนำ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจทั้งหมด อย่างน้อยตักเตือนก่อน แล้วอธิบายให้เข้าใจ ไม่ใช่จะใช้วิธีดำเนินคดีไม่ได้ อย่าทำ

“ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้ายังคงสารตกค้างได้ ในขณะที่เกษตรกรไม่ให้ใช้สารเคมี สวนทางกันหรือไม่ แล้วการแบนสารเคมี 2 ตัวนี้ เกษตรกรก็มีความเสียหายไม่แตกต่างจากผู้นำเข้า ซึ่งการกระทำแบบนี้ แปลเจตนาไปอีกแบบหนึ่งเลยว่า "ทำไมไม่ช่วยคนจน ช่วยแต่คนรวย" แล้วใครได้ใครเสียแบบนี้ "ย้อนแย้ง" ผมเชื่อว่าผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอนหากออกมาในรูปแบบนี้ เรียก "ทัวร์ลง" เกิดม็อบรายวัน แน่นอน เพราะ "เกษตรกรไม่มีวันยอม" ในประเทศให้เขาแบนไม่ให้ใช้เลย แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้นายทุนนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ตกค้างได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก ”

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 25 สิงหาคม 2563

“เฉลิมชัย” สั่งบริหารจัดการน้ำส่วนเกิน เตรียมผันน้ำเข้าบางระกำโมเดล

กรุงเทพฯ  25 ส.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำส่วนเกินจากฝนที่ตกหนักทางตอนบนของประเทศ สู่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งพื้นที่เกษตรต้องการน้ำ ส่วนน้ำที่ไหลลงเขื่อนให้เก็บกักไว้มากที่สุด ด้านอธิบดีกรมชลประทานเร่งจำกัดภาวะน้ำหลากโดยเฉพาะน่าน สุโขทัย และร้อยเอ็ด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทานรายงานสถานการณ์อุทกภัยว่า เกิดขึ้น 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ น่าน สุโขทัย ร้อยเอ็ด และสกลนคร จึงสั่งการให้เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรออกจนกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ กำชับให้บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยน้ำที่ไหลลงเขื่อนตอนบนของประเทศให้เก็บกักไว้ใช้จนถึงฤดูแล้ง ส่วนน้ำที่ท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนให้ระบายลงสู่ลำน้ำธรรมชาติแล้วบริหารจัดการเข้าสู่ระบบชลประทาน เพื่อส่งน้ำไปเลี้ยงพื้นที่เกษตรลุ่มเจ้าพระยาที่ยังขาดน้ำ นอกจากนี้ ยังให้เตรียมทุ่งบางระกำ ซึ่งเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวหมดแล้วให้พร้อมรับน้ำหลาก หากมีฝนตกหนักอีก ซึ่งการบริหารจัดการรูปแบบบางระกำโมเดลนั้น สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยได้เป็นอย่างดีตั้งแต่จัดทำขึ้นมา

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำ จ.แม่ฮ่องสอนว่า ยังมีอุทกภัย 4 อำเภอ คือ อ.เมือง น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมทางเข้าสถานปฏิบัติธรรมวัดป่าถ้ำวัวบ้านแม่สุยะ ต.ห้วยผา รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ และลำน้ำปายเอ่อท่วมพืชผลทางการเกษตรบ้านสบสอย หมู่ที่ 7 ต.ปางหมูเป็นรอบที่ 2 และหลากเข้าอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ อ.ปางมะผ้า น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ติดลำน้ำบริเวณบ้านไม้ซางหนาม หมู่ที่ 7 ต.นาป้อม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์เขตสันปันแดน ต.นาปูป้อม อ. แม่ลาน้อย ลำน้ำแม่ลาหลวงได้เพิ่มขึ้นและล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวหลายพื้นที่ และ อ.ขุนยวม น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพืชผลทางการเกษตรติดกับลำน้ำ ต.เมืองปอน แม่เงา และขุนยวม จ.ลำพูน เกิดน้ำป่าไหลหลากในลำน้ำแม่ขนาด สาขาแม่น้ำทา พัดพาเศษไม้ไผ่ ติดกีดขวางทางน้ำที่หน้าสะพานเหนือฝายทุ่งโปร่ง ซึ่งโครงการชลประทานลำพูนนำรถแบคโฮเข้ากำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง ระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มลดลง จ.แพร่ น้ำจากลำห้วยแม่สาย-แม่ก๋อนหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรในหมู่บ้านป่าแดง หมู่ที่ 3 และ 5 ต.ป่าแดง อ.เมือง และมีน้ำท่วมขัง อ.วังชิ้น แต่แนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ จ.น่าน ฝนตกหนัก ทำให้น้ำในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ต่าง ๆ 3 อำเภอ ได้แก่ อ. เฉลิมเกียรติ โดย ต.ขุนน่าน ดินสไลด์ปิดทับผิวทางจราจร รถไม่สามารถผ่าน เส้นทางหมายเลข 1081 – 0103 บ่อเกลือ – เฉลิมเกียรติ กม. 112+350 – 112+975 อ. เมืองมีน้ำหลากต. สวก หมู่ที่ 5 7 11 และ 13 บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 60 ครัวเรือน อ.ภูเพียง ต.เมืองจัง บ้านเมืองหลวง หมู่ที่ 5 บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 3 ครัวเรือน อ.เวียงสา ในพื้นที่ลุ่มต่ำมาก ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 3.45 เมตร

ส่วน จ.สุโขทัยระดับแม่น้ำยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มสูง ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง 3 อำเภอได้แก่ อ.สวรรคโลก ระดับน้ำยมเกินเกณฑ์ระดับควบคุม 1.10 เมตร จุดที่ 1 ด้านเหนือประตูระบายน้ำ (ปตร.) บ้านหาดสะพานจันทร์ น้ำล้นคันตลิ่งแม่น้ำยม หมู่ 3 ต.ป่ากุมเกาะ 350 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 9 หมู่บ้าน 1,019 ครัวเรือน จุดที่ 2 คันแม่น้ำยมฝั่งขวาขาดบริเวณ หมู่ที่ 7 ต. คลองกระจง ยาวประมาณ 20 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 6 หมู่บ้าน อ.ศรีสำโรง เกิดคันดินขาด 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณคอสะพานฝั่งขวาเข้าท่วมพื้นที่ ต.วัดเกาะ ไม่สามารถสัญจรได้ จุดที่ 2 คันแม่น้ำยมฝั่งซ้ายขาดบริเวณซอยหลังวัดโสภาราม ต. สามเรือน ยาวประมาณ 20 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 1 หมู่บ้าน 180 ครัวเรือน

อ.เมือง มีคันดินขาด 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 คันดินแม่น้ำยมฝั่งขวาขาดบริเวณ หมู่ที่ 1 ต. ปากแควขยายเพิ่มขึ้น จาก 20 เมตร เป็น 50 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 2 หมู่บ้าน 513 ครัวเรือน และจุดที่ 2 คันดินแม่น้ำยมฝั่งซ้ายขาดบริเวณ หมู่ที่ 6 ต.ปากพระขยายเพิ่มขึ้นจาก 5 เมตรเป็น 15 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 3 ตำบล 1,200 ครัวเรือน ทางโครงการชลประทานสุโขทัยควบคุมปริมาณน้ำด้านหน้าปตร.หาดสะพานจันทร์ให้ระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลักไม่เกิน 720 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ระบายน้ำออกตามคลองที่เชื่อมที่เชื่อมกับแม่น้ำยมตั้งแต่อ.สวรรคโลกถึงอ.เมือง รวมประมาณ 170 ลบ.ม./วินาที โดยความจุของแม่น้ำยมซึ่งผ่านตัวเมืองอยู่ที่ 550 ลบ.ม./วินาที จึงมั่นใจได้ว่า น้ำจะไม่ท่วมตัวเมืองสุโขทัยแน่นอน

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ร้อยเอ็ดฝนตกหนักในเขตลุ่มน้ำยังตอนบน จ.กาฬสินธุ์และลุ่มน้ำยังตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด ส่งผลให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำยังตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นและมีน้ำท่วม อ.เสลภูมิ รวม 7 ตำบล พื้นที่ 9,450 ไร่ โครงการชลประทานร้อยเอ็ดบริหารจัดการโดยวางแผนตัดยอดระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำในระบบสามารถตัดยอดระบายน้ำสูงสุดได้รวม 40 ลบ.ม./วินาที และสามารถนำเข้าไปเก็บในแก้มลิง 3 แห่งได้แก่ บึงบ่อแก บึงเกลือ และกุดปลาคูณ จึงเรียงหินป้องกันการกัดเซาะจากการตัดยอดน้ำด้านท้ายน้ำ บูรณาการจัดจราจรน้ำชี-น้ำยัง ร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 6 และ 7 โดยการเปิดบานระบายน้ำพร่องน้ำในเขื่อนยโสธรและเขื่อนธาตุน้อยไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลมาสมทบจากน้ำยังตอนบนด้วย

จ. สกลนคร อิทธิพลของพายุฮีโกสทำให้เกิดฝนตกหนัก จนน้ำไหลหลาก อ.ส่องดาว สว่างแดนดิน และวาริชภูมิ ทำให้ลำน้ำยามและห้วยปลาหางที่เป็นลำห้วยรับน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรหลายหมู่บ้าน ขณะนี้เหลือพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 200 ไร่ ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร โครงการชลประทานสกลนคร ใช้เครื่องจักรขุดคันดินคลอง LMC ช่วง กม.2+500 เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 3 เครื่องและเปิดประตูระบายน้ำโครงการห้วยปลาหางตอนล่าง 3 บาน คาดว่า สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติใน 1-2 วันนี้

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 25 สิงหาคม 2563

ต่างชาติเทขายกดบาทอ่อน จับตาปธ.เฟดร่วมถกเวทีโลก

จับตาประธานเฟดร่วมประชุมวิชาการเวทีโลกของธนาคารกลางจากหลายประเทศ อาจส่งสัญญาณด้านนโยบายการเงิน มีผลต่อค่าเงินบาทของไทย คาดสัปดาห์นี้ 31.35-31.80 บาทต่อดอลลาร์

รายงานข่าวจากกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35-31.80 บาทต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.54 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทอ่อนค่าสวนทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น 5,600 ล้านบาท และพันธบัตรไทย 3,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ตลาดจะให้ความสนใจ Jackson Hole Symposium ซึ่งเป็นการประชุมเชิงวิชาการของธนาคารกลางจากหลายประเทศโดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มักใช้เวทีนี้ส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญ ขณะที่คาดว่าในวันที่ 27 ส.ค. ประธานเฟดอาจกล่าวถึงการพิจารณาทบทวนกรอบนโยบายการเงินของเฟดเพื่อสะท้อนทิศทางนโยบายที่จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดเคยคาดไว้ 

โดยเฟดระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอีกเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจและประเมินว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานกำลังชะลอตัวและสถานการณ์ของตลาดแรงงานจะขึ้นอยู่กับการเปิดเมืองอีกครั้งอย่างถาวร นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงจับตาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการการคลังชุดใหม่ของสหรัฐฯ รวมถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ขยายวงอีกครั้งในยุโรปและเอเชีย

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลส่งออกและนำเข้าเดือนกรกฎาคม รวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) สำหรับวันที่ 5 ส.ค.โดยระบุว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจมีประสิทธิผลจำกัด จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด 

ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนทางการเห็นควรให้ประเมินความจำเป็นของมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเร่งสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเอื้อให้ภาคเอกชนทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้นและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น อนึ่ง เราคาดว่า กระแสเงินทุนไหลออกที่กลับมาเร่งตัวในเดือนนี้มีแนวโน้มกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์จนกว่าท่าทีของประธานเฟดจะชี้นำทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ในระยะถัดไป

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 25 สิงหาคม 2563

สภาพัฒน์ฯ เผยผลการศึกษากรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ สู่การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ซึ่งเป็นประเด็นการพัฒนาสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560– 2565) ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ประกอบด้วย นิยามของเกษตรอัจฉริยะไม่ชัดเจนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร

 ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อค้นพบจากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สศช. ได้คัดเลือก เรื่อง“การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในมันสำปะหลังในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มาเป็นกรณีศึกษาเนื่องจากพิจารณาควบคู่กับเป้าหมายการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพหลักของประเทศ (Bio-Based Hub) เพื่อให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของประเทศซึ่งเกษตรอัจฉริยะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันทั้ง 2 ภาคไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เหตุผลที่เลือกเจาะลึกในเกษตรอัจฉริยะของพืชมันสำปะหลัง เนื่องจากทั้ง 2 ภาคมีพื้นที่การเพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด เป็นพืชหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ ของประเทศ และยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพดูแลการพัฒนาทั้งระบบ ซึ่ง สศช. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (FocusGroup) ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อระดมความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้

 “ทิศทางการพัฒนาภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐบาลจะมุ่งไปสู่การเป็น Bio-hub  ซึ่งวัตถุดิบสำคัญของการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ คือ อ้อยและมันสำปะหลัง แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกัน การผลิตอ้อยมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นไปตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 และมีเจ้าภาพการพัฒนาที่ชัดเจนแล้ว ในขณะที่การผลิตมันสำปะหลังยังไม่มีการบริหารจัดการทั้งระบบและไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพชัดเจน นอกจากนี้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่การปลูกมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ ดังนั้น หากสามารถส่งเสริมการใช้เกษตรอัจฉริยะในการผลิตมันสำปะหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถผลักดันให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น Bio-hub ของประเทศได้ตามนโยบายที่วางไว้”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าว

 การจัดประชุมระดมความเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรและสถาบันการศึกษา จัดขึ้นรวม 2 ครั้ง ณ จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดนครราชสีมาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของที่ประชุม หน่วยงานและภาคีที่เข้าร่วมเห็นไปในทิศทางเดียวกับผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของ สศช. ว่า ความไม่ชัดเจนของนิยาม การขับเคลื่อนที่ขาดการบูรณาการและการขาดหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะคือปัญหาสำคัญและเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข

 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสะท้อนปัญหาการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในระดับพื้นที่เพิ่มเติม อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเกษตร เช่น ดิน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ยังไม่ดีพอ ทั้งในด้านคุณภาพและความทั่วถึง อีกทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลการผลิตและการตลาดยังกระจัดกระจาย ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มการผลิตและความต้องการของตลาดยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสนับสนุนการตัดสินใจด้านการผลิตของเกษตรกรนอกจากนี้ แหล่งเงินทุนที่สนับสนุนการใช้เกษตรอัจฉริยะก็ยังมีข้อจำกัดและเกษตรกรยังเข้าถึงได้ยาก รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีและการแปรรูปผลผลิต บางรายยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเนื่องจากไม่มั่นใจในผลที่จะเกิดขึ้นและความต้องการของตลาดที่จะรองรับผลผลิต

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้ข้อค้นพบจากเวทีระดมความเห็นมีน้ำหนักและตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ สศช. ยังได้นำความเห็นที่ได้จากการจัดประชุม Focus group มาประมวลและจัดทำเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นจัดส่งไปยังภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการเอกชน สถาบันการศึกษาที่ทำการศึกษา วิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งเกษตรกร ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 800 ราย ได้รับกลับคืนมา 400 กว่าราย ซึ่งผลการประมวลแบบสอบถามก็ยืนยันความเห็นของที่ประชุม Focus Groupข้างต้น

 “ในขั้นตอนต่อไป สศช. จะพยายามศึกษาเจาะลึกในรายละเอียดและทำงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อออกแบบแนวทางและวิธีการในการขับเคลื่อนบางประเด็นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ประเด็นที่หนึ่ง การกำหนดขอบเขตและนิยามของเกษตรอัจฉริยะที่ชัดเจน และสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเกษตรกรด้วย และประเด็นที่สองคือ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหน่วยงานหรือกลไกหลักที่เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะอย่างครบวงจร และผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้มีการวางระบบการพัฒนา การเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้และทักษะของเกษตรกร การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การประสานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตของเกษตรกร รวมทั้งการประสานการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวสรุป

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน ฝันไกลที่เป็นได้จริง

ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นโจทย์สำคัญของภูมิภาคอาเซียน เพราะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นใจของนักลงทุน ทุกประเทศในอาเซียนจึงให้ความสำคัญกับพลังงานไฟฟ้า อาทิ สปป.ลาว ชิงประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่อาเซียน เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากและราคาถูก ในขณะที่เวียดนามเร่งพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงแดดและลม ส่วนประเทศไทยมีศักยภาพในการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน จึงตั้งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้า (Regional Electricity Hub) ของภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งขายไฟฟ้าให้กับประเทศที่ขาดแคลน

ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของไทยที่มีความมั่นคงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าไม่ใช่ฝันไกลอีกต่อไป โดยมีก้าวสำคัญคือ การพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) มั่นคง เชื่อถือได้ สามารถรองรับความผันผวนไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน สามารถส่งไฟฟ้าได้ทันตามความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของไฟฟ้าในราคาที่แข่งขันได้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลระบบส่งไฟฟ้าของประเทศจึงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาช่วยบริหารจัดการ อาทิ  การใช้ระบบติดตามเฝ้าระวังแบบออนไลน์ในการวางแผนสำหรับบำรุงรักษา การใช้โดรนบินตรวจสายส่งแทนคน นำร่องติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูง ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาในระบบ รวมถึงการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงเป็นแบบดิจิทัลเพื่อรองรับกับการเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริดในอนาคต

ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กฟผ.

นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าของประเทศยังเตรียมขยายบทบาทเป็นศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียนของประเทศ โดยปัจจุบันได้เริ่มศึกษาระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน(RE Forecast) จากข้อมูลสภาพอากาศ ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ตำแหน่งของโรงไฟฟ้า ความเร็วลม ทิศทางลม และข้อมูลในอดีต 2561-2562 ซึ่งได้นำร่องศึกษากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 30 แห่ง  ทั่วประเทศ ทำให้สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง จนถึงใน  อีก 7 วันข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ เป็นฝันไกลที่หลายประเทศในอาเซียนอยากจะทำ แต่เมื่อประเทศไทยมีความได้เปรียบในทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โครงข่ายระบบส่งที่มั่นคง จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะเตรียม ความพร้อมสร้างขีดความสามารถด้านตลาดไฟฟ้าระดับภูมิภาค เพื่อช่วงชิงโอกาสนี้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สนค.ห่วงตกเป็นเป้าสหรัฐตอบโต้การค้า

ผอ.สนค.ห่วงส่งออกตลาดสหรัฐฯเติบโตสูง ถูกจับตาตอบโต้แนะดันการค้า CLMV ให้มากขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.มีความเป็นห่วงการตกเป็นเป้าตอบโต้ทางการค้าจากสหรัฐฯ หลังจากการส่งออกไปสหรัฐเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคมขยายตัวมากถึงร้อยละ 17.8 อาจเป็นที่จับตามองของสหรัฐได้ โดยทางสนค.อยากให้ผู้ส่งออกกระจายตลาดการค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ให้มากขึ้น เนื่องจากในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกยังคงติดปัญหาในเรื่องของการปิดด่านการค้า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมการค้าต่างประเทศ,กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกันในการผลักดันการส่งออก ไม่ทำให้ตลาดกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐ เชื่อว่าจะสามารถลดการเป็นเป้าหมายการจับตาของสหรัฐได้

แต่อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยถูกตอบโต้จากสหรัฐ เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงได้ว่าการทำการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนเกินไป หรือทำการค้าไม่เป็นธรรม

โดยส่วนหนึ่ง ที่การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐเติบโตสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการที่สหรัฐและจีนใช้มาตรการตอบโต้ระหว่างกันทำให้ผู้ประกอบการจากสหรัฐย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังประเทศไทย ซึ่งการส่งออกสินค้าหลายรายการเกิดจากบริษัทลูกของสหรัฐที่ตั้งฐานการผลิตในไทยแล้วส่งกลับไปยังบริษัทแม่

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ก.เกษตรฯจับมือธปท.ดึงBig Data-AI ตอบโจทย์ศก.การเกษตรยุคดิจิทัล

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและข้อมูลร่วมระหว่างสศก.กับธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 19 สิงหาคม ณ ตำหนักวังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่า จากนโยบายนายเฉลิมชัยศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ที่เน้นย้ำบูรณาการทํางานระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชนและภาคีต่างๆ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล Big data จึงตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center) หรือ AIC มี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯเป็นประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ พร้อมนี้ รมว.เกษตรฯยังมอบให้สศก.ดำเนินการหลักจัดทำ Big Data ของกระทรวงและตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center) หรือ NABC โดยสศก.พัฒนาฐานข้อมูลกับหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงรวม 10 กระทรวงและศูนย์ AIC ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแต่ละจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือก รวมถึงความร่วมมือกับธปท. ซึ่งมีพิธีลงนามร่วมกันครั้งนี้

สำหรับการลงนามความร่วมมือ สศก. กับ ธปท. ทั้งสองฝ่าย เห็นชอบตรงกันเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามภารกิจให้ทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ยิ่งสถานการณ์วิกฤติทั้งเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การวิเคราะห์ประเมินเศรษฐกิจแบบใหม่เชิงลึก จะช่วยตีความและทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้ข้อมูลดำเนินนโยบาย สนับสนุน หรือแก้ปัญหาได้ถูกต้อง รวดเร็ว และภาคส่วนต่างๆ อย่าง ธปท.จะใช้ข้อมูลเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร นำไปสู่มาตรการด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพ

เลขาธิการ สศก.กล่าวต่อว่า สศก.ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ เราต้องพัฒนาการจัดทำข้อมูลสารสนเทศการเกษตรและ Big Data อย่างต่อเนื่อง สศก.ยินดีให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาคเกษตร ข้อมูลดัชนีผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรทั้งที่ปรับฤดูกาลและไม่ปรับฤดูกาลทั้ง 3 หมวด คือ พืช ปศุสัตว์ ประมง รวมมากกว่า 30 สินค้า เพื่อประโยชน์ของ ธปท.ในการติดตาม วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาทักษะด้านวิชาการ วิเคราะห์ข้อมูล และประยุกต์ใช้เครื่องมือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อวิเคราะห์ วิจัย และการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจการเกษตรให้มีความรวดเร็ว สมบูรณ์ และแม่นยำ

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯธปท.กล่าวว่า ธปท.ยินดีให้ข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินที่ ธปท.จัดเก็บจัดทำ เพื่อประโยชน์ของสศก. ในการติดตามวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร เสริมศักยภาพของบุคลากรทั้ง 2 หน่วยงาน ภายใต้การวิเคราะห์ ตัดสินใจและกำหนดนโยบายบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลที่ละเอียดรอบด้าน(evidence-based decision making) ในโลก Big Data ซึ่งธปท.เราพัฒนา Application Programming Interface (API) เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูล และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ข้อมูลสถิติด้านการเงิน ไปใช้ประโยชน์ได้สะดวก คล่องตัว รวดเร็ว และปลอดภัย

นอกจากนี้ การร่วมลงนามวันนี้ ได้รับเกียรติจากพลเอกสุพจน์ ธำมรงค์รัตน์ อุปนายกสมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง (สวปอ.มส. รุ่นที่ 1) เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนาม MOU ดังกล่าว และจะได้นำโครงการ Big Data ด้านการเกษตร เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิชาการนักศึกษาหลักสูตร สวปอ.มส. รุ่นที่ 1 ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผลงานวิชาการที่จะนำเสนอ นายกรัฐมนตรี เดือนกันยายนนี้ต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เริ่ม24ส.ค.รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อาร์เซ็ป  นัดประชุมทำข้อสรุปเปิดเสรี ผลักดันลงนาม พ.ย.นี้

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM)  ครั้งที่ 52 การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ครั้งที่ 8 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง วันที่ 24-29 สิงหาคม 2563 ผ่านระบบทางไกล โดยการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

“ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ จะได้ร่วมกันหารือสรุปความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเสนอต่อผู้นำที่จะประชุมร่วมกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนเดือนพฤศจิกายน 2563 ขณะเดียวกันรัฐมนตรี RCEP 16 ประเทศ จะได้หารือเพื่อเตรียมการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการประชุมสุดยอด RCEP เดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย “

นายสรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะรับรองและเห็นชอบเอกสารสำคัญหลายฉบับ ทั้งในส่วนของการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ 1.ดัชนีวัดการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน 2. ข้อริเริ่มร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 3. ร่างแผนปฏิบัติการของอาเซียนบวกสามว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) 4. แผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาและการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี 2563-2564 5. แผนงานเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนและแคนาดาด้านการค้าและการลงทุน ปี 2565-2568 6. แผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 และ 7. แผนงานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย กับสำนักเลขาธิการอาเซียน ปี 2563-2568

นายสรรเสริญ  กล่าวว่า นอกจากการประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังจะมีการพบหารือและการประชุมกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 11 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย และสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ และเตรียมการก่อนที่ผู้นำอาเซียนจะพบกับผู้นำของประเทศคู่เจรจาทั้ง 11 ประเทศ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เดินหน้าหารืออย่างต่อเนื่องถึงแม้จะประสบกับปัญหาการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยสามารถบรรลุข้อตกลงและพร้อมจะลงนามภายในปีนี้ ได้แก่ (1) ข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์  (2) กรอบความตกลงอาเซียนด้านยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  (3) การทบทวนข้อตกลงยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบและรับรองของอาเซียน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 ให้ทันมัย (4) ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุก่อสร้าง

นายสรรเสริญ กล่าวว่า ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่มีความคืบหน้าอย่างมาก เช่น การใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนกันยายน การเตรียมขยายการใช้งานระบบ ASEAN Single Window ให้ครอบคลุมเอกสารอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : CO) เป็นต้น  การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,674 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 62,841 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าของไทยจากอาเซียน 44,833 ล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 47,749 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 28,498 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 19,251 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 23 สิงหาคม 2563

อาร์เซ็ปเตรียมลงนามความร่วมมือ พ.ย.นี้

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และอาร์เซ็ป นัดประชุมครั้งใหญ่สุดของปีนี้ เตรียมสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอผู้นำพิจารณา หารือเตรียมการลงนามความตกลง RCEP เดือน พ.ย.นี้ พร้อมประชุมกับคู่เจรจา 11 ประเทศสานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 52 การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ครั้งที่ 8 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 24-29 สิงหาคม 2563 ผ่านระบบทางไกล โดยการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ จะได้ร่วมกันหารือสรุปความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเสนอต่อผู้นำที่จะประชุมร่วมกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนเดือนพฤศจิกายน 2563 ขณะเดียวกันรัฐมนตรี RCEP 16 ประเทศ จะได้หารือเพื่อเตรียมการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการประชุมสุดยอด RCEP เดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะรับรองและเห็นชอบเอกสารสำคัญหลายฉบับ ทั้งในส่วนของการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ (1) ดัชนีวัดการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน (2) ข้อริเริ่มร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (3) ร่างแผนปฏิบัติการของอาเซียนบวกสามว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) (4) แผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาและการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี 2563-2564 (5) แผนงานเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนและแคนาดาด้านการค้าและการลงทุน ปี 2565-2568 (6) แผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 และ (7) แผนงานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย กับสำนักเลขาธิการอาเซียน ปี 2563-2568

นอกจากการประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังจะมีการพบหารือและการประชุมกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 11 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย และสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ และเตรียมการก่อนที่ผู้นำอาเซียนจะพบกับผู้นำของประเทศคู่เจรจาทั้ง 11 ประเทศ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เดินหน้าหารืออย่างต่อเนื่องถึงแม้จะประสบกับปัญหาการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยสามารถบรรลุข้อตกลงและพร้อมจะลงนามภายในปีนี้ ได้แก่ (1) ข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์  (2) กรอบความตกลงอาเซียนด้านยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (3) การทบทวนข้อตกลงยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบและรับรองของอาเซียน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 ให้ทันสมัย (4) ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุก่อสร้าง             

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่มีความคืบหน้าอย่างมาก เช่น การใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนกันยายน การเตรียมขยายการใช้งานระบบ ASEAN Single Window ให้ครอบคลุมเอกสารอื่นเพิ่มเติม นอกเหนือจากใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : CO) เป็นต้น

การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,674 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 62,841 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าของไทยจากอาเซียน 44,833 ล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 47,749 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 28,498 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 19,251 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

77 เครื่องยนต์ใหม่ของประเทศ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เผยว่า ผมประชุมศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center:AIC) เรียกสั้นๆ ว่า ศูนย์AIC5 จังหวัด(พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์)ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร(ศูนย์AICพิษณุโลก)ได้เห็นวิทยาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมากที่พร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร ประการสำคัญคือได้สัมผัสถึงความตื่นตัวและความมุ่งมั่นของทุกAICและช่วงบ่ายได้ไปพูดคุยกับสหกรณ์นิคมบางระกำและเกษตรกรแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อำเภอบางระกำ พิษณุโลก

โดยให้ศูนย์AIC พิษณุโลกเริ่มถ่ายทอดระบบเกษตรอัจฉริยะ เช่น ระบบอบข้าวโพดลดความชื้นหลังเก็บเกี่ยว  ระบบน้ำหยดอัตโนมัติ ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบเครื่องจักรกล ระบบเซนเซอร์อารักขาพืช ระบบเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์(Seed Technology)ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนเพิ่มรายได้และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้นจาก 1.2-1.8 ตันต่อไร่  รวมทั้งการเริ่มทะลายคันนาทำแปลงเกษตรเป็นผืนใหญ่และปรับพื้นเรียบเสมอกันที่เรียกว่าLand Levelling

รวมทั้งวางระบบกักเก็บน้ำและส่งน้ำให้เพียงพอต่อการผลิตแต่ละรอบ และโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดโดยสนับสนุนการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ด้วยแนวทางซีโร่ กิโลเมตร(Zero Kilometer)คือผลิตที่ไหนขายที่นั่น ผลิตจังหวัดใดขายจังหวัดนั่นก่อนเป็นหลักตลาดนำการผลิตเพื่อให้เกษตรกรในฝั่งอุปทาน(Supply Side)เข้าใจตลาดและฝั่งอุปสงค์คือความต้องการ(Demand Side)จากพื้นที่ตลาดที่ใกล้ตัวที่สุด

“วันนี้AICเริ่มขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและอบรมบ่มเพาะด้วยวิทยาการ ภูมิปัญญาไทยและเทคโนโลยีเมดอินไทยแลนด์(Made In Thailand)พร้อมกัน77จังหวัด  เรากำลังปฏิรูปภาคเกษตรด้วยนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0ภายใต้การนำของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ผู้กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ”

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรคืออนาคต การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายและตัองใช้เวลา จึงต้องบริหารเวลา(Time based Management)และบริหารพื้นที่(Area based management)ด้วยการสร้างกลไกและระบบเช่นการจัดตั้งAICทุกจังหวัด(เริ่มเดินหน้าตั้งแต่1มิถุนายน2563)โดยผนึกพลังการทำงานแบบบูรณาการศาสตร์ของ4ภาคี(ภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ-เกษตรกร)ทำหน้าที่บอร์ดบริหารAICยึดหลักจังหวัดจัดการตนเองบนศักยภาพของแต่ละจังหวัดเดินหน้าด้วยแผนปฏิบัติการ(Action Plan)ตามบริบทของความแตกต่างในอัตลักษณ์และศักยภาพของพื้นที่แบบตัดเสื้อเฉพาะตัว(Customization-มิใช่ตัดเสื้อแบบเดียวใส่ทุกพื้นที่)ตลอดจนการเรียนรู้และปรับตัวของภาครัฐในการปรับเปลี่ยนการวางกลยุทธ์การบริหารและทำงานใหม่

วิกฤติโควิดและยุคหลังโควิด(Post COVID)มีโอกาสใหญ่หลวงสำหรับประเทศไทยมิใช่มีแต่ปัญหา การแสวงหาโอกาสในวิกฤติทำให้กระทรวงเกษตรและภาคีต่างๆมองเห็นถึงถนนแห่งอนาคตรออยู่เบื้องหน้า   นั่นคือ การขับเคลื่อนสู่ฮับเกษตร(พืช-ปศุสัตว์-ประมง)และอาหารเพราะโลกกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนและอดอยากตามรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)โดยเฉพาะองค์กรโครงการอาหารโลก(World Food Program:WFP)ระบุว่าประชากรโลกที่เผชิญภาวะความอดอยากขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้น2เท่าเพียงชัาวข้ามปี(ปี2019>2020)

วันนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ11ของโลกในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารและอันดับ2ของเอเซียรองจากจีนเท่านั้น  นี่คือศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของเราที่ต้องให้เครดิตทุกรัฐบาลทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเกษตรกรของเรา

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ณ วันนี้พิมพ์เขียวการปฏิรูปภาคเกษตรสู่การเปลี่ยนแปลง(Blueprint for Change)ถูกออกแบบและทำงานอย่างเป็นระบบมีกลไกขับเคลื่อนทั้งส่วนกลางและภูมิภาคท้องถิ่นด้วยการลงมือทำทันทีบนความคาดหมายว่าประเทศไทยจะมีอีก77เครื่องยนต์(Engine of Growth)ซึ่งจะเป็นพลังขับดันอัพเกรดประเทศ ภาคเกษตรและเกษตรกรให้ก้าวพ้นปัญหาความยากจนหนี้สินปัญหาความเหลื่อมล้ำและก้าวขึ้นสู่คุณภาพใหม่ของประเทศและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรและประชาชนรวมทั้งการบรรลุเป้าหมายประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเท็นของโลกตามนโยบายของรัฐบาล

หมายเหตุ-ตอนต่อไปจะเล่าถึงโครงการFood Industry Transformationการแปลงโรงงานที่ปิดตัวเองเพราะพิษโควิดสู่การเป็นโรงงานผลิตอาหาร ที่โลกกำลังต้องการและยังแก้ปัญหาคนตกงานโดยเฉพาะกลุ่มSME วันนี้เครื่องจักรผลิตอาหารราคาลดลงมาและทันสมัยที่สุด จึงเป็นโอกาสปรับรากฐานอุตสาหกรรมอาหารและสร้างตลาดใหม่ให้ภาคเกษตรครั้งใหญ่รวมทั้งการกระจายโรงงานแปรรูปอาหารสู่ภูมิภาคตามฐานการผลิตเกษตรในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมอาหารและFood Innopolis ซึ่งได้มอบหมายให้ AIC กลุ่มจังหวัด(18กลุ่มทั่วประเทศ)ร่วมดำเนินการ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ไฟเขียวร่างกฎหมายสารพิษตกค้าง  “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมายสารพิษตกค้าง หลังแบน 2 สารพิษ "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เดินตามอียู ผวาถั่วเหลือง-ข้าวสาลี ในประเทศขาดแคลน  ผ่อนปรนมาตรฐานใหม่บังคับใช้ 1 มิ.ย.64

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมี ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะกรรมการอาหารเห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่า "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of  Detection) ทั้งนี้ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวสาลี" มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมี ผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 กำหนดให้คลอร์ไพริฟอส, คลอร์ไพริฟอสเมทิล, พาราควอต, พาราควอตไดคลอไรด์ และพาราควอตเมโทซัลเฟต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้สารดังกล่าวในทางการเกษตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอาหารจึงดำเนินการทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งในและต่างประเทศ

ประชุมหารือผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และเอกชน รวมทั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการ โดยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3)  โดยปรับเพิ่มรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่4 รวม 5 รายการดังกล่าว ในปี 2563 อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดที่มีวัตถุดิบที่มีโอกาสพบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอสและพาราควอต เช่น ถั่วเหลือง น้ำนมถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้งสาลี ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้างของพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส จำนวน 48 ตัวอย่าง ซึ่งผลตรวจไม่พบการตกค้างของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสทั้ง 48 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 100

สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะถั่วเหลืองและข้าวสาลี คณะกรรมการอาหารได้พิจารณาข้อมูลผลการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย ข้อมูลการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว และข้อกำหนดของสหภาพยุโรป ที่ประกาศห้ามใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งข้อกำหนดตาม(ร่าง)ประกาศฯ ฉบับนี้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป เลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้บริโภคได้มั่นใจกับความปลอดภัยของอาหารที่ อย.ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นอันดับแรก และในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงเศรษฐกิจของประเทศ

อนึ่ง สำหรับมาตรฐานใหม่ ของ อย ที่สามารถให้ 2 สารเคมี ที่ประเทศไทยแบนแล้วสามารถตกค้างได้ จะบังคับใช้หลังวันที่ 1 มิ.ย. 2564 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่ม “ผักผลไม้สด” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.01-2 mg./kg.) 2.กลุ่ม “เนื้อสัตว์ นม ไข่” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.005 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.005-1 mg./kg.) และ 3.กลุ่ม “ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง” กำหนดค่า LOD ของพาราควอต 0.02 mg./kg. คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอสเมทิล 0.01 mg./kg. (ในขณะที่ค่า MRL ของ CODEX อยู่ระหว่าง 0.03-6.00 mg./kg.)

หมายเหตุ

ค่าต่ำสุดที่วิเคราะห์ได้ในเชิงปริมาณ (Limit of Determination; LOD) หมายถึง ความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดของสารพิษตกค้าง

ตรวจพบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) ได้ไม่เกินที่กำหนด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ธุรกิจพลังงานปรับตัว รับ Prosumer

ปตท. เผยเทรนด์ธุรกิจพลังงาน เร่งปรับตัวรับ Prosumer หันผนึกกำลังพ่ร์ทเนอร์ นำเทคโนโลยีดิจิทัล ต่อยอดโนวฮาวด์ สร้างธุรกิจใหม่ลดความเสี่ยง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าบริหาร และกรรมการผู้จัดการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนาของหลักสูตร Digital Transformation For CEO รุ่น 2 ในหัวข้อ The Rapid Digital Transformation of The Leading Energy Business ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC ว่า จากทิศทางในอนาคตที่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน จะถูกแทนที่ด้วยพลังงานทดแทน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ที่มีแนวโน้มที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะกลายเป็นผู้ผลิตเอง (Prosumer) เพิ่มขึ้นมากขึ้น บริษัทธุรกิจพลังงานจะมีการปรับตัวมากยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ผนวกเข้ากับโนวฮาวด์ หรือความรู้ในองค์กรที่มี ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ

สิ่งที่จะได้เห็นในธุรกิจพลังงานคือ การจับคู่ธุรกิจมากขึ้น เช่น ปตท.เอง ก็ร่วมมือกับ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA Group) ผลิตสมาร์ทกริดในนิคมอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต่างๆ ก็จะดึงเทคโนโลยีดิจิทัล มาผนวกกับความรู้ในองค์กรที่มี ทำให้เกิดธุรกิจย่อยๆ เกิดเป็น Prosumer ผลิตกันเอง ซื้อขายกันเองเพิ่มมากขึ้น

สำหรับ ปตท.มีนโยบายที่จะนำมาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปพัฒนาต่อยอดในทุกส่วนธุรกิจ เป็น Digital for All ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ลดต้นทุน รวมถึงได้ธุรกิจใหม่ๆ

"ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว จะมานั่งพัฒนาเองทั้งหมดมันไม่ทัน ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์ชิฟ โดยเราต้องเป็นแพลทฟอร์มให้รายย่อย เช่น ปั้ม ของปตท. ก็มีธุรกิจอื่นๆ มาเกี่ยว มีธุรกิจอื่นๆ เข้ามาเสริม มีวิสาหกิจชุมชน และอื่นๆ เข้ามา" นายอรรถพลกล่าวและว่า ขณะนี้ มีกว่า 20 แบรนด์ที่เข้ามาร่วมธุรกิจไปกับปั้ม ปตท.

ส่วนของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเสริมกับองค์ความรู้ของ ปตท.ที่มี ขณะนี้ที่เห็นชัดเจน และต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่แล้วเช่น บริษัท AI and Robotics Ventures หรือ ARV ที่ให้บริการด้าน AI และ Robotics โดยตรง เป็นบริษัทย่อยภายใต้บริษัท อีพี-เทค เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดย ปตท.สผ. ซึ่งขณะนี้รับงานได้แล้ว 2-3 แห่ง

นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาพัฒนาเป็นโปรแกรม The Smoothsayer ที่สามารถตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร ว่ามีปัญหาหรือไม่ จะมีปัญหาเมื่อไร เพื่อทำการซ่อมบำรุงได้ทันท่วงที ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุนไปได้กว่า1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

เทคโนโลยีดิจิทัล ยังสามารถนำไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำตลาด เช่น การประเมินพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการในคาเฟ่ อเมซอน หรือสมาชิกของบูลการ์ด เพื่อจัดโปรโมชั่นได้ตรฝความต้องการของผู้บริโภค และยังมีระบบที่สามารถตรวจสอบผู้สมัครเข้ารับแฟรนไชส์ คาเฟ่ อเมซอน ที่สมัครเข้ามาปีละกว่า 2,500 ราย ในขณะที่ สามารถเปิดได้เพียงปีละ 400 สาขา

จากแนวโน้มธุรกิจพลังงานที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ กลุ่ม ปตท. มีการปรับเปลี่ยนทิศทางธุรกิจ ไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนมากขึ้น รวมถึงเพิ่มพอร์ตของนอลออย หรือธุรกิจน้ำมันให้มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาแพลทฟอร์ตเพื่อรองรับพันธมิตร ที่สามารถเข้ามาซินเนอร์จี้ธุรกิจไปด้วยกัน ทั้งในส่วนของปั้มน้ำมัน ที่ผันตัวไปสู่มาร์เก็ตเพลส หรือ คอมมูนิตี้เซ็นเตอร์มากขึ้น รวมไปถึงการสร้างธุรกิจนิวเอสเคิร์ฟ เช่น การผลิตยา อาทิ ยาต้านมะเร็ง และผลิตภัณฑ์ด้านโภชนาการ(Nutrition) ให้มากขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงอุตสาหกรรมเสริมแกร่งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลภาคอุตฯ

กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมพัฒนาบุคลากรเสริมแกร่งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลภาคอุตสาหกรรม

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงได้ดำเนินการร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์ข้อมูลและบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ในสังกัดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จะพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการนำข้อมูลด้านอุตสาหกรรมมาสร้างคุณค่าสำหรับการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้  ยังรวมถึงการสร้างนวัตกรรมบริการสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ประชาชน และทุกภาคส่วน ทั้งสองกระทรวง จึงมีเจตนารมณ์ร่วมกัน ที่จะมุ่งเน้นในการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างขีดความสามารถของบุคลากรกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลใน 5 ด้าน ได้แก่ 

1.การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้วยข้อมูล (Data-driven Policy and Strategy)  ,2.วิศวกรรมข้อมูล (Data Engineering) คือ การบริหารจัดการข้อมูลให้พร้อมสำหรับการใช้งาน เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล การวางระบบเส้นทางการไหลของข้อมูล และการรวบรวมข้อมูลไปเก็บไว้ที่แหล่งต่าง ๆ 

,3.วิทยาการข้อมูล (Data Science) คือ การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมข้อมูล การตรวจสอบ การทำการทดลองวิจัย การสร้างโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหารูปแบบ หาปัจจัยต่าง ๆ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพยากรณ์หรือการวินิจฉัย ไปจนถึงการนำเสนอผลการวิเคราะห์ เพื่อสรุปผลมาช่วยในการตัดสินใจ และการวางแผนต่าง ๆ ได้  ,4.การจัดการข้อมูลให้เหมาะสมกับมุมมองการวิเคราะห์ (Business Intelligent) และ5.การฝึกอบรมและปฏิบัติงานในสถานที่จริง (On the job Training)

 “การลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลภาคอุตสาหกรรม และปรับเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา (Intelligent Organization) อย่างแท้จริง”

นายกอบชัย กล่าวต่อไปอีกว่า กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

นางสาวอัจฉรินทร์  พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อพัฒนาประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และบุคลากรสามารถบูรณาการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้จากความมุ่งมั่น ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรด้วยการประยุกต์รูปแบบการนำข้อมูลมาใช้ในการรับรู้สถานะ ศึกษาแนวโน้มและเพื่อเข้าใจถึงปัญหาและโอกาส ในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านข้อมูลแบบครบวงจร

อย่างไรก็ดี  กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ GBDi หรือสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หน่วยงานภายในสังกัดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามาทำความร่วมมือทางวิชาการนี้กับกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องด้วย GBDi มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิเคราะห์ข้อมูล Data Science และ Data Engineering และมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา การวิเคราะห์ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ จึงมีความพร้อมในการขับเคลื่อนให้ภารกิจนี้บรรลุเป้าหมายต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้"แข็งค่า

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท-เคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ เหตุมีประเด็นโควิดและนักเก็งกำไรที่ขายตัดขาดทุนเข้ามาผสม

อัตราแลกเปลี่ยนค่างินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.41 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.44 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.30-31.50 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงนี้อธิบายการเคลื่อนไหวยาก เนื่องจากมีประเด็นการติดเชื้อของโควิดและการปรับสถานะของนักเก็งกำไรที่ขายตัดขาดทุนเข้ามาผสม จึงเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ อยางไรก็ดี ในระยะสั้น ยังเห็นแรงขายดอลลาร์จากกลุ่มค้าทองคำประคองอยู่ ถ้าสามารถลดความกังวลเรื่องการระบาดรอบใหม่ของไวรัสลงได้ ก็ควรเห็นเงินบาททยอยแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์เช่นกัน

สำหรับในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินฝั่งสหรัฐประคองตัวได้ด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 0.3% สวนทางกับในฝั่งยุโรป ที่ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.0% จากความกังวลเรื่องการกลับมาระบาดรอบสองของไวรัสในอิตาลี และปัญหาการเมืองสหรัฐกับอิหร่านซึ่งมียุโรปเป็นตัวกลาง

ส่วนตลาดเงินกลับเป็นภาพบอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอีกครั้ง หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอย่างผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) กลับขึ้นมาที่ 1.1 ล้านตำแหน่ง ทำให้ตลาดลดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว กดดันบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลง 3bps มาที่ระดับ 0.64% ขณะที่บอนด์ยีลด์เยอรมันก็กลับไป -0.49% หนุนให้ราคาทองฟื้นตัวขึ้น 1.0%

ส่วนเงินดอลลาร์ก็เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงค่ำปรับตัวขึ้น 0.3% แต่สุดท้ายกลับร่วงลง 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ประเด็นที่ตลาดเริ่มกลับมาสนใจคือเรื่องการเจรจา Brexit หนุนให้ปอนด์อังกฤษ (GBP) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดของปีที่ 1.32 ดอลลาร์ต่อปอนด์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ไทยจ่อขึ้นแท่นให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ชาติแรกในอาเซียน

รองโฆษกรัฐบาล เผย นายกรัฐมนตรี ไฟเขียวให้ลงทุน 5G ในพื้นที่อีอีซี จ่อขึ้นแท่นเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ชาติแรกในอาเซียน ตั้งเป้ามีโครงข่ายครอบคลุม 98% ภายในปี 2570

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว "รัชดา ธนาดิเรก-รองโฆษกรัฐบาล" ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุน 5G สร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่และโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม 5G โดยกำหนดการใช้งาน 5G ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ

พร้อมกับอีก 6 จังหวัด เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต รวมทั้งท่าอากาศยานที่สำคัญ

สำหรับแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ปี 2566-2570 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เช่น มีโครงข่าย 5G ครอบคลุมร้อยละ 98 ของประชากร ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีความเร็วไม่ต่ำกว่า 100  Mbps ในเขตเทศบาล และ 50 Mbps ในทุกพื้นที่  เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เป็นสัดส่วนร้อยละ 6.6 ของ GDP และมีผู้ประกอบการ SME ใช้เทคโนโลยี 5G ไม่ต่ำกว่า 7,000 ราย 

มีผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สามารถเข้าถึงบริการดิจิตอลด้านการศึกษา โดยการประยุกต์ใช้ 5G ไม่ต่ำกว่า 700,000 ราย มีผลงานวิจัยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G ต้องขยายผลเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีบริการ 5G เชิงพาณิชย์ เพราะมีความพร้อมทั้งด้านผู้บริโภค และผู้ให้บริการ ซึ่งจะทำให้ไทยไม่ตกขบวน 5G เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี เช่น  จีน สหรัฐ และเกาหลีใต้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“สุพัฒนพงษ์” ขับเคลื่อนนโยบายพลังงานหนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างงาน สร้างรายได้ และวางรากฐานสู่อนาคต

รายงานข่าวระบุว่า นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “สุพัฒนพงษ์” ประเดิมงานแรกด้วยการร่วมประชุมเวิร์คช็อปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้แนวทาง รวมไทยสร้างชาติ  โดยเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเศรษฐกิจที่แข็งแรง เช่น ภาคพลังงานที่จะสามารถเป็นตัวหลักดึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมบนฐานความเข้าใจเข้าถึงประชาชน  ซึ่งอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวของทุกภาคส่วน

นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัส “โควิด-19” (Covid-19) ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและประเทศไทย ซึ่งรวมถึงภาคพลังงานด้วย วิกฤตครั้งนี้จะยังไม่หายไปได้ในเร็ววัน แต่อาจจะมีวันสิ้นสุดใน 12-15 เดือนข้างหน้า สิ่งที่ภาครัฐรวมถึงกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้วในช่วงที่ผ่านมาเป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า เป็นมาตรการช่วยด้านรายได้ และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะยังคงมีการดำเนินมาตรการลักษณะนี้โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

ขณะเดียวกันก็จะต้องดำเนินมาตรการการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยกลับคืนมาโดยเร็วและเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงโดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงต้องมีการร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น กระทรวงพลังงานจึงได้จัดการประชุมเวิร์คช็อปขึ้นเพื่อรวมพลังในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสาขาพลังงาน ในการกำหนดทิศทางและวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง

ทั้งนี้  การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารและกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรอิระในสังกัดกระทรวงพลังงาน รวมถึงผู้บริหารจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการด้านกิจการพลังงาน เพื่อสื่อสารถึงจุดมุ่งหมายและรายละเอียดในการจัดทำแผนเพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เข้าร่วมประชุมรับทราบ และกลับมานำเสนอแนวคิดและแผนงานในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป

“สุพัฒนพงษ์” ลั่น ประกาศรับซื้อไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าชุมชน ได้ภายใน 30 วัน นำร่อง 200 เมกะวัตต์“สุพัฒนพงษ์” ยันไม่ล้มโรงไฟฟ้าชุมชน ปรับเกณฑ์เอื้อเกษตรกรสูงสุด"สุพัฒนพงษ์" ลั่นทำงานเต็มที่เตรียมถกทีมเศรษฐกิจแก้ปัญหาภาพรวม

นอกจากนี้  ยังมีการบรรยายภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจากผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สศช.” การถ่ายทอดข้อมูลสถานการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 และตัวอย่างการพัฒนาความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการร่วมจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดโดยมีการนำเสนอมุมมองคนรุ่นใหม่กับไอเดียช่วยเหลือประเทศชาติในยุคโควิดอีกด้วย

 อย่างไรก็ดี  ในส่วนของการดำเนินนโยบายด้านพลังงานนั้น จะเน้นนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงวางรากฐาน เพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศ โดยจะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ (Execution) ซึ่งได้มอบให้ผู้บริหารทำแผนระยะ 5 ปี ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้ติดตามได้อย่างใกล้ชิด สำหรับโครงการที่ต่อเนื่องจะยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้มีรูปแบบการดำเนินโครงการที่สร้างความมั่นใจได้ว่าเกษตรกรหรือชุมชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง มีความยั่งยืน

รวมทั้งการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ B10 ก็ต้องช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์ และมีมาตรการป้องปรามการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่จะใช้ในภาคพลังงานได้อย่างรัดกุม รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นกลไกขับเคลื่อนก็ยังเดินหน้าต่อไป โดยเน้นหนักให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้กับประชาชน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กลุ่ม KTIS เน้นคุมต้นทุน หนุนกำไรไตรมาส 3 โต 707%

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการล็อคดาวน์เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2563 นั้น ส่งผลต่อรายได้ของทุกสายธุรกิจของกลุ่มเคทิส แต่ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้กลุ่มเคทิสสามารถทำกำไรสุทธิในรอบบัญชีไตรมาสที่ 3 ปี 2563 (เม.ย.-มิ.ย. 63) ได้ถึง 654.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 706.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 107.9 ล้านบาท

“การล็อคดาวน์ทำให้เกิดการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 ลงไปต่ำกว่า 10 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งกระทบต่อรายได้ของสายธุรกิจน้ำตาล  นอกจากนั้น ในสายธุรกิจอื่น ทั้งธุรกิจเอทานอล เยื่อกระดาษชานอ้อย และการจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็มีรายได้ลดลงจากปริมาณการขายและราคาที่ลดลงด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารของกลุ่มเคทิสได้ประเมินไว้อยู่แล้ว เราจึงให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าต้นทุนขายและให้บริการในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ลดลงถึง 931.3 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยลดจาก 3,144.8 ล้านบาท เหลือ 2,213.5 ล้านบาท นอกจากนั้น ในด้านของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็ลดลงถึง 369.4 ล้านบาท หรือลดลง 44.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นการลดลงตามปริมาณการขายที่ลดลง และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการวางแผนการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวถึงทิศทางธุรกิจช่วงที่เหลือของปี 2563 ว่า ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้นจากจุดต่ำสุดของปีประมาณ 40% ซึ่งจะทำให้สายธุรกิจน้ำตาลมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ส่วนสายธุรกิจเอทานอล ก็กลับสู่ภาวะปกติแล้วในช่วงหลังคลายการล็อคดาวน์ จึงเชื่อว่าภาพรวมทั้งปี 2563 ธุรกิจของ KTIS ยังมีทิศทางที่ดี

“ถึงแม้ว่าผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของเราในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนจากปัญหาภัยแล้ง แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานทุกฝ่ายของกลุ่มเคทิส ทั้งฝ่ายไร่ ฝ่ายโรงงาน ฝ่ายสำนักงาน รวมถึงหน่วยงานบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทำงานอย่างเข้มแข็งและมีคุณภาพ ทำให้เราสามารถสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นได้ในไตรมาสที่ผ่านมา” นายณัฎฐปัญญ์กล่าวทิ้งท้าย

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

EUเพิ่มชื่อสารเคมีอันตราย4รายการ

กระทรวงพาณิชย์ เผย EU ปรับเพิ่มรายชื่อสารเคมีอันตราย 4 รายการ ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังการใช้ ไม่ให้กระทบส่งออกภาพรวม

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า องค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป หรือ ECHA ได้ออกประกาศปรับเพิ่มรายชื่อสารเคมีที่อยู่ในบัญชีที่เป็นสารเคมีอันตรายและมีความน่ากังวลสูง หรือ SVHCs จำนวน 4 รายการใหม่ ผู้ผลิต ผู้นำเข้าที่มีสารดังกล่าวมากกว่า 1 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์มีค่าความเข้มข้นของสารข้างต้นมากกว่าร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก จะต้องแจ้งต่อ ECHA ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ นอกจากนี้ผู้ขายที่มีค่าความเข้มข้นของสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์มากกว่าร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนักจะต้องให้ข้อมูลสำหรับการใช้อย่างปลอดภัยแก่ผู้บริโภค หรือตามที่ร้องขอ ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ได้รับการร้องขอ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกในภาพรวม

ซึ่งจากข้อมูลสถิติ พบว่า ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มสารเคมีไปยังสหภาพยุโรปในปี 2562 มูลค่าประมาณ 6,660 ล้านบาท โดยล่าสุดช่วง6เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 3,263 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลข้างต้นเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://echa.europa.eu/-/candidate-list-update-four-new-hazardous-chemicals-to-be-phased-out ในการเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า

โดยสารเคมีทั้ง 4 ชนิด ประกอบสาร 1-vinylimidazole เป็นมอนอเมอร์ที่ใช้ในการผลิตพอลิเมอร์ โดยมีผลต่อระบบสืบพันธุ์  สาร 2-methylimidazole เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการนำมาใช้ผลิตสารเคลือบผิว โดยมีผลต่อระบบสืบพันธุ์  สาร Dibutylbis (pentane-2,4-dionato-o,o’) tin เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาและเป็นสารเติมแต่งในการผลิตพลาสติก และมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ และสาร Butyl4-hydroxybenzoate (Butylparaben) นำมาใช้ในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย และยา โดยเป็นสารที่มีผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สินค้าอาหาร-เกษตรแปรรูปคึกคัก แห่ใช้สิทธิFTA-GSPส่งออกช่วงโควิด-19

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 5 เดือนของปี 2563(มกราคม-พฤษภาคม) มีมูลค่า 26,068.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15%

มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 77.53% ของการใช้สิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 23,980.51 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 15.87% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.75% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 2,088 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.52% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 75.02%

สาเหตุที่ทำให้การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้การส่งออกของไทยในภาพรวมชะลอตัวลง จึงส่งผลกระทบทำให้มีการขอใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลง แต่สินค้าเครื่องดื่ม อาหารเกษตรและเกษตรแปรรูป กลับมียอดการขอใช้สิทธิเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สินค้าที่ขยายตัวสูง เช่น อาหารปรุงแต่ง (สหรัฐ อาเซียน) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี)ข้าวโพดหวาน (อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (ไทย-ชิลีและอาเซียน-เกาหลี) ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง(อาเซียน-จีน) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ปลาทูน่าปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ไทย-เปรู) ปลาทูน่า-ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) เต้าหู้ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) น้ำผลไม้ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เป็นต้น

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTAพบว่า ตลาดที่มีการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 8,051.04 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.จีน มูลค่า 7,816.94 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ญี่ปุ่น มูลค่า 2,888.72 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.ออสเตรเลีย มูลค่า 2,446.84 ล้านเหรียญสหรัฐและ 5.อินเดีย มูลค่า 1,445.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไทย-ชิลี 100% 2.อาเซียน-จีน 89.84% 3.ไทย-เปรู 89.54% 4.ไทย-ญี่ปุ่น 84.30% และ 5.อาเซียน-เกาหลี 81.92%

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ GSP ทั้ง 4 ระบบ คือ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ พบว่า สหรัฐมีการใช้สิทธิสูงสุด มูลค่า 1,905.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.16% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.40% รองลงมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 106.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.68% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 46.18% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มูลค่า 66.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.66% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.06% และนอร์เวย์ มูลค่า 10.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.01% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.71%

ในเดือนกันยายนนี้กรมฯจะจัดสัมมนาในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออก แต่ด้วยสถานการณ์การเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมได้เตรียมปรับรูปแบบโดยจะจัดกิจกรรมแบบคู่ขนานที่มีผู้เข้าร่วมงานในสถานที่จัดงานจริงแบบไม่แออัด เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดผ่านสัมมนาออนไลน์ (webinars) และการสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook live) โดยผู้เข้าร่วมงานแบบออนไลน์สามารถรับชมและร่วมแสดงความเห็นได้แบบเสมือนเข้าร่วมงานสัมมนาจริง ติดตามรายละเอียดการสัมมนาดังกล่าวได้ที่ www. dft.go.th

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“สุริยะ” ลั่นจ่ายค่าอ้อยครบหมื่นล. ถึงมือชาวไร่2แสนรายภายในก.ย.นี้

 “สุริยะ”เร่งอัดหมื่นล้านช่วยชาวไร่ทุกรายก.ย.นี้ สอน.เผยเหลืออีกแค่ 700 รายรอรับเงิน เหตุตกหล่นเอกสารไม่ครบ ด้านรง.น้ำตาลเสนอแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ฤดูหีบ 2563/64 จี้กำหนดราคารับซื้ออ้อยสดต่างกับอ้อยไฟไหม้ แนะรัฐให้ประโยชน์รง.หีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 90 กก.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/63 วงเงิน 10,000 ล้านบาท ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ดำเนินการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยกว่า 200,000 รายโดยเร็ว เนื่องจากเป็นโครงการที่จำเป็น บรรเทาผลกระทบชาวไร่ที่เผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูง แต่ได้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำ ล่าสุดได้รับรายงานจากสอน.ว่ามีการเร่งการจ่ายเกือบครบ 100% คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะจ่ายเงินครบทุกราย

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ยังไม่ได้รับเงินไม่เกิน 700 คน ถือเป็นกลุ่มตกหล่นเนื่องจากเอกสารไม่ครบ แต่มั่นใจว่าจะเดินการโอนเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้แน่นอน สำหรับผลการจ่ายเงินให้ชาวไร่ทั่วประเทศ ตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/63 วงเงิน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น อ้อยรวม ตันละ 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน วงเงิน 6,500 ล้าน และอ้อยสด ตันละ 92 บาทให้ทุกตันอ้อย วงเงิน 3,500 ล้าน ล่าสุดมีการดำเนินการ 2 รอบ รอบแรกโอนเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อ้อยรวม ตันละ 85 บาท โอนให้ชาวไร่ไปแล้ว 187,924 ราย จำนวนเงิน 6,220 ล้านบาท อ้อยสด ตันละ 92 บาท โอนให้ชาวไร่แล้ว 131,980 ราย จำนวนเงิน 3,398 ล้านบาทครับ

“ล่าสุดเดือนสิงหาคมนี้ มีการโอนเงินช่วยปัจจัยการผลิต ตันละ 85 บาท อีกจำนวน 1,069 ราย ปริมาณอ้อย 560 ตัน วงเงิน 47.60 ล้านบาท และเงินช่วยอ้อยสด ตันละ 92 บาท จำนวน 795 ราย ปริมาณอ้อย 300 ตัน วงเงิน 27.60 ล้านบาท”นายวิฤทธิ์กล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า สนับสนุนการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2563/64 ทั้งกรณีที่ชาวไร่อ้อยเสนอให้กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 40% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบแต่ละโรงงาน ขณะที่เป้าหมายภาครัฐกำหนดไม่เกิน 20% เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยและเครื่องจักรจัดเก็บผลผลิตมีราคาสูง ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวไร่ไม่มีทางเลือกต้องเผาอ้อย นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลเห็นด้วยกับการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานโดยยึดหลักการใครทำดีควรได้ดีเช่นเดียวกัน หากกำหนดข้อบังคับมาตรฐานในการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 90 กิโลกรัม โรงงานที่หีบสกัดน้ำตาลได้ต่ำกว่าจะต้องรับผิดชอบส่วนต่างดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และหากโรงงานใดมีประสิทธิภาพหีบสกัดน้ำตาลที่ดีกว่า ก็ควรได้รับประโยชน์จากน้ำตาลที่ทำได้ดีเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ก.เกษตรฯมุ่งแก้ภัยแล้ง ‘ฝนหลวง’ได้ผล67จว.

รมช.เกษตรฯ รุดลงพื้นที่ รับฟังผลการปฏิบัติการฝนหลวง แก้ภัยแล้ง ภาคอีสานช่วยพี่น้องเกษตรกรขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วง กว่า 6 เดือน ออกปฏิบัติการแล้ว 4,582 เที่ยวบิน มีฝนตกใน 67 จังหวัด

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่การเกษตรขาดแคลนน้ำ ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.บุรีรัมย์ ว่ากรมฝนหลวงและการบินเกษตร พบปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากฝนทิ้งช่วงและฝนแล้ง จึงมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงปี 2563 เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร โดยเร่งทำฝนหลวงและเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย

ทั้งนี้ ปฏิบัติการฝนหลวงจะครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ซึ่งประสบปัญหา ทั้งพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ และส่งผลต่อการใช้น้ำอุปโภค บริโภค ของประชาชน

ในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีวันขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 137 วัน ปฏิบัติการรวม 670 เที่ยวบิน วันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.08 มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ 17.88 ล้านไร่ ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ทั้งสิ้น 7 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ บึงกาฬ นครพนม และชัยภูมิ เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่าง

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 จำนวน 6 เขื่อน และเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - 14 สิงหาคม 2563 จำนวน 5 เขื่อน

นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีวันขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 142 วัน ขึ้นปฏิบัติการรวม 805 เที่ยวบิน วันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 92.96 มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ 43.38 ล้านไร่ เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2563 จำนวน 62 เขื่อน และเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - 14 สิงหาคม 2563 จำนวน 52 เขื่อน

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ภาพรวมการปฏิบัติการฝนหลวงระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ - 14 สิงหาคม 2563 มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการ 12 หน่วย รวมวันขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 177 วัน ขึ้นปฏิบัติการ รวม 4,582 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 175 วัน คิดเป็นร้อยละ 98.87 จังหวัด ที่มีรายงานฝนตก รวม 67 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ 193.75 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 204 แห่ง แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง และเขื่อนขนาดกลาง 170 แห่ง สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 1,313.706 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ค่าเงินบาทอ่อนตามปัจจัยเสี่ยงในประเทศ

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.95-31.30 มองแนวโน้มอ่อนค่าตามปัจจัยเสี่ยงในประเทศ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.95-31.30 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.11 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ปริมาณธุรกรรมค่อนข้างเบาบางตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 4.0 พันล้านบาท และ 1.6 พันล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามท่าทีของสหรัฐฯ และจีน เพื่อประเมินทิศทางความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้า หลังการเลื่อนการเจรจาเพื่อทบทวนข้อตกลงการค้าเฟสแรกซึ่งเดิมกำหนดไว้วันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมาและยังไม่ได้กำหนดวันใหม่ รวมทั้งติดตามรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สำหรับวันที่ 28-29 ก.ค. และ ประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์พยายามที่จะคัดค้านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ การเจรจา Brexit ในสัปดาห์นี้จะอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน อนึ่ง ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอาจมีแนวโน้มซึมลงต่อไปท่ามกลางการซื้อขายที่เงียบเหงาในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกตะวันตก ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อาจย่ำฐานในกรอบเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังเจ้าหน้าที่เฟดประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง รวมทั้งทำเนียบขาวและสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครตยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นทางการคลังชุดใหม่ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสหรัฐฯ ชะลอตัวลง

สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒน์ฯ รายงานข้อมูลจีดีพีสำหรับไตรมาส 2/2563 หดตัว 12.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตรารุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี และหดตัว 9.7% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวถือว่าลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยหดตัว 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 7.3-7.8% ในปี 2563 โดยประเมินว่ายอดส่งออกจะลดลง 10.0% ขณะที่เรามองว่าแรงส่งของการฟื้นตัวยังคงมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นอาจจำกัดความต้องการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินบาทในระยะถัดไป

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 40%

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2563/64 ในทางเดียวกับที่ชาวไร่อ้อยเสนอให้กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 40% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบแต่ละโรงงาน

                อย่างไรก็ดี ก็ยังเห็นด้วยที่จะผลักดันให้อ้อยไฟไหม้ลดลงตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไม่เกิน 20% เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยและเครื่องจักรจัดเก็บผลผลิตมีราคาสูง ซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวไร่ไม่มีทางเลือกต้องเผาอ้อย ดังนั้น การทยอยปรับลดสัดส่วนรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัว

                ทั้งนี้ การกำหนดราคาอ้อยในปัจจุบัน คิดจากมาตรฐานอ้อยคุณภาพดีที่มีค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส เป็นฐานในการคำนวณ ดังนั้น หากชาวไร่ที่ส่งอ้อยสดที่มีค่าความหวานสูงเกินกว่า 10 ซี.ซี.เอส ก็จะได้ค่าอ้อยเพิ่มตามค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น และเมื่อบวกกับเงินช่วยเหลือค่าอ้อยสดจากเงินส่วนต่าง ก็จะส่งผลให้ราคาอ้อยสดเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดเพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

               ​นอกจากนี้ เห็นควรปรับเปลี่ยนแนวทางการหักเงินอ้อยไฟไหม้ในปัจจุบันที่ให้หักตันอ้อยละ 30 บาท นำไปเก็บรักษาไว้ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อปิดหีบให้นำเงินมาเฉลี่ยให้ชาวไร่ที่ส่งมอบเฉพาะอ้อยสดเท่านั้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนชาวไร่ที่ส่งมอบผลผลิตที่มีคุณภาพให้แก่โรงงาน ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่นำมาแบ่งให้กับอ้อยสดเพียง 70% และอ้อยไฟไหม้ 30% ทำให้ชาวไร่ยังเผาอ้อยอยู่

“เราควรใช้หลักการชาวไร่อ้อยที่ทำดีควรได้ดีเป็นแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ชาวไร่ที่ตั้งใจดูแลผลผลิตและจัดส่งอ้อยมีคุณภาพเข้าหีบต้องมีรายได้จากการเพาะปลูกมากกว่าเผาอ้อย เมื่อชาวไร่เห็นว่าราคาอ้อยสดมีความคุ้มค่ามากกว่าการส่งมอบอ้อยไฟไหม้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ลดการเผาอ้อยลงได้”

นายสิริวุทธิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า โรงงานน้ำตาลเห็นด้วยกับการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานโดยยึดหลักการใครทำดีควรได้ดีเช่นเดียวกัน หากกำหนดข้อบังคับมาตรฐานในการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 90 กิโลกรัม โรงงานที่หีบสกัดน้ำตาลได้ต่ำกว่าจะต้องรับผิดชอบส่วนต่างดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และหากโรงงานใดมีประสิทธิภาพหีบสกัดน้ำตาลที่ดีกว่า ก็ควรได้รับประโยชน์จากน้ำตาลที่ทำได้ดีเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน เพื่อจูงใจให้โรงงานทุกโรงต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการหีบให้ดีที่สุด และสุดท้ายแล้วผลดีจะทำให้ชาวไร่และโรงงาน ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้รับประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 สิงหาคม 2563

2 องค์กรพร้อมสู้ยักษ์ข้ามชาติฟ้องศาลยึดมติแบน 2 สารพิษ

จับตา “ไบโอไทย” ผนึก ”ไทยแพน” ลั่นพร้อม สู้ยักษ์ข้ามชาติ “ซินเจนทา” ยึดมติแบน 2 สารเคมีพิษ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” หวังศาลคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย เกษตรกร ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ "ไทยแพน" เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ในวันที่ 18 สิงหาคม เวลา 13.30 น. เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน พร้อมกับ มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เตรียมนำเสนอข้อมูลผลกระทบ 2 สารเคมีอันตราย หวังศาลคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม หลัง “ซินเจนทา “ บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติฟ้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศแบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส

ผลความคืบหน้า “ฐานเศรษฐกิจ” จะติดตามรายงานต่อไป เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีตัวอย่าง เชื่อว่าคนทั้งในและนอกวงการจับตา ไม่ว่าศาลจะตัดสินสั่งอย่างไร

อนึ่ง การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย (30 เม.ย.63) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีกรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 25 คน จากทั้งหมด 28 คน จึงมีองค์ประชุมครบตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2563 มีมติให้ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 ส่วน “ไกลโฟเซต” ให้จำกัดการใช้ตามมติ วันที่ 23 พ.ค.61

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 สิงหาคม 2563

ชงแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม

โรงงานน้ำตาลเสนอแนวคิดแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ยึดหลัก 'ชาวไร่ทำดีต้องได้ดี' ส่งสัญญาณเพิ่มราคารับซื้ออ้อยสดจูงใจชาวไร่ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เล็งหักเงินอ้อยไฟไหม้เข้าหีบอีก 30 บาทต่อตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการหีบอ้อยประจำปี 2563/2564 ในทางเดียวกับที่ชาวไร่อ้อยเสนอให้กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกินร้อยละ40 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบแต่ละโรงงาน 'อย่างไรก็ดีก็ยังเห็นด้วยที่จะผลักดันให้อ้อยไฟไหม้ลดลงตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไม่เกินร้อยละ 20 เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยและเครื่องจักรจัดเก็บผลผลิตมีราคาสูง ซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวไร่ไม่มีทางเลือกต้องเผาอ้อย ดังนั้น การทยอยปรับลดสัดส่วนรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัว

ทั้งนี้การกำหนดราคาอ้อยในปัจจุบัน คิดจากมาตรฐานอ้อยคุณภาพดีที่มีค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส เป็นฐานในการคำนวณ ดังนั้น หากชาวไร่ที่ส่งอ้อยสดที่มีค่าความหวานสูงเกินกว่า 10 ซี.ซี.เอส ก็จะได้ค่าอ้อยเพิ่มตามค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น และเมื่อบวกกับเงินช่วยเหลือค่าอ้อยสดจากเงินส่วนต่าง ก็จะส่งผลให้ราคาอ้อยสดเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดเพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ เห็นควรปรับเปลี่ยนแนวทางการหักเงินอ้อยไฟไหม้ในปัจจุบันที่ให้หักตันอ้อยละ 30 บาท นำไปเก็บรักษาไว้ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อปิดหีบให้นำเงินมาเฉลี่ยให้ชาวไร่ที่ส่งมอบเฉพาะอ้อยสดเท่านั้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนชาวไร่ที่ส่งมอบผลผลิตที่มีคุณภาพให้แก่โรงงาน ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่นำมาแบ่งให้กับอ้อยสดเพียง 70% และอ้อยไฟไหม้ 30% ทำให้ชาวไร่ยังเผาอ้อยอยู่

 “เราควรใช้หลักการชาวไร่อ้อยที่ทำดีควรได้ดีเป็นแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ชาวไร่ที่ตั้งใจดูแลผลผลิตและจัดส่งอ้อยมีคุณภาพเข้าหีบต้องมีรายได้จากการเพาะปลูกมากกว่าเผาอ้อย เมื่อชาวไร่เห็นว่าราคาอ้อยสดมีความคุ้มค่ามากกว่าการส่งมอบอ้อยไฟไหม้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ลดการเผาอ้อยลงได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ทางโรงงานน้ำตาลเห็นด้วยกับการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการหีบสกัดของโรงงานโดยยึดหลักการใครทำดีควรได้ดีเช่นเดียวกัน หากกำหนดข้อบังคับมาตรฐานในการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 90 กิโลกรัม โรงงานที่หีบสกัดน้ำตาลได้ต่ำกว่าจะต้องรับผิดชอบส่วนต่างดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และหากโรงงานใดมีประสิทธิภาพหีบสกัดน้ำตาลที่ดีกว่า ก็ควรได้รับประโยชน์จากน้ำตาลที่ทำได้ดีเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน เพื่อจูงใจให้โรงงานทุกโรงต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการหีบให้ดีที่สุด และสุดท้ายแล้วผลดีจะทำให้ชาวไร่และโรงงาน ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้รับประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 17 สิงหาคม 2563

“สุพัฒนพงษ์” ยันไม่ล้มโรงไฟฟ้าชุมชน ปรับเกณฑ์เอื้อเกษตรกรสูงสุด

“สุพัฒนพงษ์” มอบนโยบายพลังงาน ยันเดินหน้าไม่ล้ม “โรงไฟฟ้าชุมชน” สานต่อจาก “สนธิรัตน” ชี้ เป็นโครงการที่ดี แต่ต้องปรับหลักเกณฑ์เอื้อเกษตกรสูงสุด พุ่งเป้าช่วยชุมชน และเกษตรกรมีรายได้จริงๆ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำพิธีสักการะพระพรหม ณ ลานพระพรหม ข้างตึก ENCO A  เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมกับเชิญผู้บริหารกระทรวงหารือและมอบนโยบายกว้างๆ ให้ไปดำเนินงาน

ที่จับตามากสุดเวลานี้ พุ่งเป้าไปที่โครงการ โรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากการเข้าร่วมของวิสาหกิจชุมชนร่วมกับเอกชน ในปริมาณ 700 เมกะวัตต์  ว่านายสุพัฒนพงษ์ จะมีการสานต่อโครงการจากนายสนธิรตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ริเริ่มโคงการนี้ไว้หรือไม่ ซึ่งในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เวลา 11.45 น.นายสุพัฒนพงษ์ จะมีการแถลงนโยบายต่อสื่อมวลชน

กพช.ไฟเขียวตั้งโรงไฟฟ้า ชุมชนถือหุ้น 10-40 %ดันโรงไฟฟ้าชุมชนแก้จน ท้องถิ่นหุ้น30%เกษตรกรขายเชื้อเพลิงเพิ่มรายได้โรงไฟฟ้าชุมชน 7 หมื่นล้าน เค้กก้อนโตที่ต้องแย่งชิง“ส.การค้าก๊าซชีวภาพ” ขอ “นายกฯ” เดินหน้าโครงการ “โรงไฟฟ้าชุมชน”“วิสาหกิจชุมชน” 10 แห่งหนุน “โรงไฟฟ้าชุมชน”

ทั้งนี้ จากการให้นโยบายเบื้องต้นกับผู้บริหารกระทรวงพลังงานไปแล้วนั้น นายสุพัฒนพงษ์ เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นโครงการที่ดี เพราะชุมชนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินงานต่อ แต่อาจจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่บ้างเล็กน้อย  ซึ่งเน้นไปที่ชุมชน และเกษตรกร ต้องมีรายได้และเกิดผลประโยชน์สูงที่สุด

รวมถึงในระยะแรกอาจจะดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ที่มีการก่อสร้างแล้วหรืออยู่ระหว่างดำเนินงานก่อน ในปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม นายสุพัฒนพงษ์ ไดมอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไปสรุปแนวทางการดำเนินงานอีกครั้ง ก่อนที่จะนำแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเห็นชอบ และประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 สิงหาคม 2563

ยื่นหนังสือทบทวนมติแบน “พาราควอต”

​​​​​​สมาคมวิทยาการวัชพืชฯ ยื่นหนังสือทบทวนมติแบนพาราควอต จับโป๊ะแตกงานวิจัยอ้างบิดเบือนทั้งใน-ต่างประเทศ ทั้งยังไม่มีสารทดแทนใช้ ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งสังคมบานปลาย เผยสถานีต่อไป ก.เกษตรฯ 21 ส.ค.

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย (30 เม.ย.63) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีกรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 25 คน จากทั้งหมด 28 คน จึงมีองค์ประชุมครบตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2563 มีมติให้ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 ส่วน “ไกลโฟเซต” ให้จำกัดการใช้ตามมติ วันที่ 23 พ.ค.61

ล่าสุด วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขอเรียกร้องให้ทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกการใช้พาราควอต สืบเนื่องจาก เอกสารที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ใช้อ้างว่าเป็น รายงานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกรและผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพรีฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ครั้งที่1/2562 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562  นั้นกลายเป็น “รายงานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาแนวทางการควบคุมการใช้สารในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร : ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม :พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส” ไม่ใช่รายงานการประชุม ประกอบกับเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวอ้างอิงถึงงานวิจัยทั้งในและต่างประเท ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพาราควอต แต่ทางสมาคมได้ตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารวิจัยต้นฉบับเหล่านั้น พบว่า มีการสรุปเนื้อหาไม่ตรงกับผลงานวิจัยต้นฉบับ

นอกจากนี้การเก็บตัวอย่างตะกอนดินและน้ำ ของนักวิจัย ที่มาใช้ในประกอบการแบน ผลตรวจวิเคราะห์ในข้อมูลเอกสาร ไม่พบการตกค้างของพาราควอต แต่พบเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเนื้อเน่าทั้งในตะกอนดินและน้ำที่อ้าง ผลการศึกษาที่กล้าววอ้าง ได้ทดลองศึกษาความตกค้าง ตามงานวิจัยของนักวิชาการไทยท่านหนึ่งที่ได้เผยแพร่ข้อมูลไปทางสื่อต่างๆ หลายฉบับ เมื่อนำผลงานของท่านดังกล่าวมาพิจารณาก็พบว่า ผู้วิจัยท่านนั้นใช้ค่ามาตรฐานน้ำดื่มสากลผิดจากความเป็นจริง เช่น ค่ามาตรฐานที่ถูกต้องของพาราควอตในน้ำดื่มออสเตรเลีย คือ 20 ไมโครกรัมต่อลิตร (ppb) แต่อ้างตัวเลข ไมโครกรัมต่อลิตร (ppb) มาเปรียบเทียบ ทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนก และเป็นจุดเริ่มต้นในการแบนพาราควอต

ยังไม่นับประเด็นที่ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ได้รับจดหมายตอบเป็นทางการ โรงพยาบาลพหลพยุหเสนา ว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการศึกษาในครั้งนี้”  ส่วนโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์  ยืนยันว่า “ไม่พบข้อมูลการดำเนินการเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด”  ขณะที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ ตอบว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 7 ปี ซึงผู้บริหารและบุคลากรมีการเปลี่ยนแปลง จากข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือและไม่สมควรถูกนำมาใช้ในการแบนพาราควอต เพราะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้และเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง

ดร.จรรยา กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารทดแทนที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ และราคาเทียบเท่าพาราควอต ให้เกษตรกรใช้เป็นทางเลือก มีแต่ผลงานวิจัย “โครงศึกษาวิธีการจัดการวัชพืชแบบบูรณาการเพื่อลดปริมาณการใช้สารไกลโฟเซตและพาราควอต ในพืชเศรษฐกิจ” ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.ตามมาตรการและแผนการบริหารจัดการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และพาราควอต ของกรมวิชาการเกษตร เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย 30 สิงหาคม 2561 ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเริ่มต้นดำเนินการในปีที่2 คาดว่าจะสิ้นสุดภายในปี 2564 ปัจจุบันยังไม่มีชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนถูกตกับกรมวิชาการเกษตร สำหรับให้เกษตรกรใช้กำจัดวัชพืช มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอต และไกลโฟเซต

อย่างก็ดีทางสมาคมได้สำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ จำนวน เกษตรกร 432 ราย (มีหลักฐานบัตรประชาชนกรอก) ถึงผลกระทบหลังการแบนพาราควอต ระหว่างวันที่ 8-16 สิงหาคม 2563  (ยังเปิดรับฟังอยู่) ซึ้งเสียงส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าให้ทบทวนการแบนมติยกเลิกการใช้ "พาราควอต" โดยกลับไปอนุญาตให้ใช้พาราควอตแบบจำกัดการใช้ ตามมติของบอร์ดวัตถุอันตรายวันที่ 23 พ.ค.61 เช่นเดียวกับ “ไกลโฟเซต”

หากจะยกเลิกการใช้พาราควอตในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าปริมาณเพียงเล็กน้อย รัฐบาลไม่ควรอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังมีการใช้พาราควอต ถึงแม้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะมีค่าตกค้างของพาราควอตไม่เกินค่ามาตรฐานโคเด็กซ์ (codex) ก็ตาม

ดร.จรรยา กล่าวว่า ในวันที่ 21 ส.ค.นี้จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 สิงหาคม 2563

'เกษตร' ห่วงน้ำในเขื่อนน้อย ลุยจัดการเข้มลดผลกระทบ

นักวิชาการ หวั่นปี 63 แล้ง หลังพายุอ่อนแรงห่วงน้ำเข้าเขื่อนน้อย หลัง“ซิลากู”สามารถเก็บน้ำได้แค่ 10% ของความจุ ด้านกรมชลประทานเข้มแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา งดทำนาปรัง พร้อมเตือนน้ำท่วมภาคใต้

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คาดการณ์เบื้องต้นที่ปีนี้สภาวะอากาศของไทยจะเข้าสู่“ลานินญ่า” ซึ่งจะส่งผลให้ฝนตกเป็นภาวะปกติ โดยมีพายุเข้ามาในประเทศอย่างน้อย 2 ลูก แต่ขณะนี้ฤดูฝนล่วงเข้าเดือนที่ 4 แล้ว พบว่ามีพายุเข้ามา 1 ลูก คือ ซินลากู ซึ่งทำให้น้ำเข้าเขื่อนรวม แล้วเพียง 900 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือเพียง 10 % ของปริมาณฝนที่ตกลงมาเท่านั้น โดยไหลเข้าเขื่อนภูมิพล 300 ล้าน ลบ.ม. และสิริกิติ์ 700 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนคาดการณ์ที่ว่าจะมีฝนระลอกใหม่โดยจะตกหนักตั้งแต่ปลายส.ค. – ก.ย. หรือยาวไปถึง ต.ค. นั้นคาดว่าจะไม่ตกในเขตภาคเหนือแล้ว โดยอาจต้องมาตั้งรับฝนในเขตเพชรบุรี และภาคใต้แทน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าปริมาณน้ำใน4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ที่จะนำมาใช้ในเขตลุ่มเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้ว ปี 2563/64 (1 พ.ย.63- 30 เม.ย. 64) จะมีน้ำไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 9,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานปรับลดเป้าหมายเหลือเพียง 7,000 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับ ปี 2562 ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีเพียง 5,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต้องแบ่งสำรองในช่วงต้นฤดูฝนที่คาดว่าจะขาดช่วงด้วย ที่เหลือจึงบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด งดส่งน้ำเพื่อทำนาปรัง แต่เกษตรกรยังปลูกข้าว กว่า 3 ล้านไร่ โดยอาศัยน้ำบาดาล น้ำจากคลองธรรมชาติ ส่งผลให้พื้นที่ทำนาไม่ได้รับความเสียหาย

ดังนั้นในปีนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักจะใกล้เคียงกับปี 2562 ดังนั้นกรมชลประทานจึงต้องตั้งรับวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง โดยระหว่างนี้ ที่ยังมีน้ำท่าไหลลงเขื่อน จะเร่งจัดเก็บให้ได้มากที่สุด และลดการระบายน้ำ เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานที่ทำนาปีระหว่างนี้จะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยจากพื้นที่ 8 ล้านไร่ มีการปลูกไปแล้ว 4.1 ล้านไร่

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการพยากรณ์ที่คาดว่าในปีนี้จะมีพายุก่อตัว 21 ลูกเท่านั้นถือว่าน้อยมากเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2553 ซึ่งผ่านไปแล้วครึ่งปี พบว่าพายุเหลือเพียง 5 ลูกเท่านั้น แต่พลังพายุ หรือความเร็วลมของการทำลายล้างจะลดลง 50% ซึ่งหมายถึงเปอร์เซนต์การเกิดพายุจะน้อย และจากทุกแบบจำลองเรื่องปริมาณฝนที่เหลืออีก 3 เดือน คือ ส.ค.- ต.ค. นี้ระบุว่าฝนจะดี แต่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้

ส่วนพื้นที่ภาคกลางจะเป็นการท่วมปกติในที่ลุ่ม เช่น หักไห่ บางบาล แต่จะท่วมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 253 โอกาสจะทำนาปรังได้เพียง 4 ล้านไร่ สำหรับกรุงเทพฯ จะไม่เกิดน้ำท่วม แต่จะมีเหตุการณ์น้ำท่วมรอการระบายเท่านั้น

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า เพื่อชะลอน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงแล้งให้มากที่สุด รัฐบาลให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสำรวจและขุดลอกวงเงิน 44 ล้านบาท เตรียมพร้อมรับฝนในช่วงปลายฤดูกาลให้มากที่สุด เช่นที่บึงบอระเพ็ด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1 ล้าน ลบ.ม. จากขนาดความจุ 180 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นยังมีพื้นที่มากพอที่จะรับน้ำหลากได้อีกมาก

ขณะที่การดำเนินการโครงการอื่น ๆ ซึ่งจะพร้อมดำเนินการในปี2564 – 2565 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดการเสนอรายละเอียดแผนงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนหลักฯ ต่อไป อาทิ ขุดลอกคลองดักตะกอนขอบบึงฯ ขุดบึงบอระเพ็ดทำวังปลา (Deep Pool) การแก้ปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง โดยปรับปรุงประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด ขุดลอกคลองวังนา ปรับปรุงประตูระบายน้ำคลองบาง เป็นต้น โดยจะส่งผลให้ภายในปี 2572 บึงบอระเพ็ดจะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ประมาณ 67 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสียหายจากน้ำท่วม 21,000 ไร่ ช่วยพื้นที่ภัยแล้ง 85,000 ไร่

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 สิงหาคม 2563

สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจติดลบ7.5%

สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจติดลบ 7.5% หวั่นโควิดระบาดรอบสอง และปัญหาการเมืองทำเศรษฐกิจลบเพิ่ม

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 ขยายตัวติดลบ 12.2% จากไตรมาส 1 ที่ขยายตัวติดลบ 2.2% และคาดว่าทั้งปีจะขยายติดลบอยู่ที่ 7.8-7.3% มีค่ากลางอยู่ที่ 7.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายติดลบ 6-5% เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 หยุดทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวต่ำที่สุดของปี

"การลงทุนการบริโภคทั้งของภาคเอกชน ขยายตัวติดลบหมด จากโควิด-19 สงครามการค้า และปัญหาภัยแล้ง มีตัวช่วยเศรษฐกิจเพียงตัวเดียวที่ช่วยเศรษฐกิจ คือ การบริโภคและการลงทุนของภาครัฐเท่านั้น โดยการขยายตัวติดลบทั้งปีที่ 7.5% อยู่ภายใต้สมมุติฐานไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง" นายทศพร กล่าว

นายทศพร กล่าวว่า ด้านการผลิตทุกภาคอุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยว โรงแรม และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อาหาร รวมถึงภาคการเกษตร ที่ขยายตัวติดลบหมด

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ต้องเร่งรัดมาตรการที่ออกไปแล้วที่ใช้เงินกู้จาก 1 ล้านล้านบาท ให้ไม่ล่าช้า ต้องดูแลบางภาคอุตสาหกรรมไม่มีปัญหาหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ลุกลามไปกระทบสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ต้องดูแลสาขาเศรษฐกิจที่มีปัญหาการฟื้นตัว คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องมีการดูแลพิเศษ ซึ่ง สศช. จะมีการหารือกับกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงการคลัง เพื่อสรุปมาตรการเสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมนัดแรกในวันที่ 19 ส.ค. นี้

นายทศพร กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่เลี่ยงพูดไม่ได้ คือ ต้องดูแลรักษาบรรยากาศทางการเมือง เพราะถ้ามีปัจจัยทางการเมืองเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก จะทำให้เกิดปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาอีก

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 17 สิงหาคม 2563

จีดีพีไทยคาดว่าจะหดตัวรุนแรงในไตรมาสที่สอง

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.80-31.20 นักลงทุนรอติดตามความคืบหน้าการพิจารณาออกมาตรการทางการคลังฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ประกอบกับการทบทวนข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ-จีนระยะที่ 1 จะส่งผลให้ตลาดเคลื่อนไหวผันผวน ด้านประเด็น Brexit สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะกลับมาเจรจากันเป็นรอบที่ 6 ในสัปดาห์นี้ในประเด็นการค้าอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินปอนด์ ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจ รายงานจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มกดดันค่าเงินบาท จากแนวโน้มการหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจเป็นตัวเลขสองหลักจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ด้านนโยบายการเงินติดตามบันทึกจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งการตัดสินดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.00 -31.20 เงินบาทเคลื่อนไหวตามปัจจัยของตลาดการเงินโลกเป็นหลัก ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า คือ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนรุนแรงขึ้น เมื่อสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนและฮ่องกงรวม 11 คนซึ่งมีส่วนในการบ่อนทำลายความเป็นเอกราชของฮ่องกงและจำกัดเสรีภาพของประชาชนชาวฮ่องกง หนึ่งในจำนวนนี้มีแครี่ แลม ผู้นำของฮ่องกงด้วย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวต่อเนื่องจากที่สหรัฐฯห้ามชาวอเมริกันใช้แอปพลิเคชัน WeChat และ TikTok ตั้งแต่กลางเดือนหน้า และยังเตรียมออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อถอนการจดทะเบียนซื้อขายหุ้นของบริษัทจีนในตลาดสหรัฐฯ หากไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีภายในมกราคม 2022 ทำให้รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จำนวน 11 รายเช่นกัน ขณะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าจากปัจจัยสนับสนุนเงินดอลลาร์ที่อ่อนแอ คือ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันยังไม่สามารถเจรจาเพื่อหาข้อตกลงประเด็นมาตรการการคลังฉบับใหม่ได้ จนทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องลงนามใช้อำนาจพิเศษฝ่ายบริหารอนุมัติเพื่อให้เงินช่วยเหลือผู้ว่างงานรายละ 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ จากมาตรการเดิมที่ 600 ดอลลลาร์ต่อสัปดาห์ซึ่งหมดลงไปแล้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม และนักลงทุนรอติดตามการประชุมสหรัฐฯ-จีนเพื่อทบทวนข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 ในช่วงวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ตลาดคาดว่าจีนจะหยิบยกประเด็นการคว่ำบาตร TikTok และ WeChat มาเจรจา รวมทั้งการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่น้อยกว่าที่ตกลงไปมาก ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 31.10

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนกลับมาอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจัยหลักมาจากการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดี ทั้งตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดในเดือนกรกฎาคมที่ 0.59%MoM ซึ่งตลาดคาดไว้ที่ 0.33%MoM โดยดัชนีราคาผู้บริโภคได้รับแรงสนับสนุนจากราคาพลังงานและราคาสินค้าพื้นฐานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ใหม่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยตัวเลขอยู่ที่ 963,000 ราย จาก 1.2 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้า และน้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 ล้านราย นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มสูงขึ้นในการประมูลพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และการระดมทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก และเป็นการปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น (Bear Steepened) ส่งผลให้ ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.50% 0.47% 0.59% 0.86% 1.08% และ 1.37% ตามลำดับ ทั้งนี้นักลงทุนคงต้องติดตามการประกาศตัวเลขจีดีพีของไทยไตรมาสที่2 ที่จะประกาศในวันที่ 17 ส.ค. 63 โดยจากผลสำรวจในรอยเตอร์คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัว 13.3% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบแบบรายปี และหดตัว 11.4% หากเทียบแบบรายไตรมาส ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดในสัปดาห์นี้

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 1,610 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 401 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,011 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 198 ล้านบาท

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 17 สิงหาคม 2563

BOIหนุนเอกชนลงทุนหุ่นยนต์ 6เดือนแรกยื่นขอส่งเสริมแล้ว1.1หมื่นล้าน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม การนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เป็นอีกมาตรการของบีโอไอที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ในช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2563 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จำนวนรวม 88 โครงการ เงินลงทุนรวม 11,020 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการประหยัดพลังงาน จำนวน 67 โครงการ เงินลงทุน 9,260 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 1,760 ล้านบาท

สำหรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์ อาทิ ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในกรณีที่โครงการเลือกใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต นอกจากจะมีการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรแล้ว ยังมีมาตรการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การลงทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม การลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล และการลงทุนนำระบบดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตด้วย โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) เช่นเดียวกัน

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เปิดโควตานำเข้า “ไกลโฟเซต”

วงการค้าสาร ตื่น นาทีทอง “กรมวิชาการเกษตร” เปิดแล้วโควตานำเข้า “ไกลโฟเซต” 1.85 หมื่นตัน  พ่วงแผนธุรกิจ

เมื่อวันที่ วันที่ 27 พ.ย. 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ 27 คน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ. 2562 โดยมีวาระการพิจารณาทบทวนมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 เกี่ยวกับรายชื่อวัตถุอันตราย ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต และระยะเวลาในการบังคับใช้ ตามที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ภายหลังพบว่า หากประกาศให้มีผลบังคับใช้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะไม่สามารถบริหารจัดการวัตถุอันตรายและมาตรการที่เหมาะสมรองรับได้

ในที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 24 เสียง ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปอีก 6 เดือน โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 และให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 เพราะหากมีการยกเลิกในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชอาหารที่ยังคงมีการนำเข้าอยู่ ทั้งนี้ เหตุผลที่มีมติให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซต เนื่องจากพบว่า ยังมีการใช้ใน 160 ประเทศ ดังนั้นจึงยังอนุญาตให้ใช้ได้  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้น ทางสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตร ส่งหนังสือให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้เปิดโควตานำเข้าไกลโฟเซต ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ความคืบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง

สภาพัฒน์ เผย เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 ติดลบ 12.2% ปรับเป้าทั้งปี -7.5%

แหล่งข่าววงการค้าสารเคมี เผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ในขณะนี้กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดโควตานำเข้าไกลโฟเซต จำนวน 18,500 ตัน ซึ่งบริษัทที่นำเข้าจะต้องเขียนปริมาณที่จะนำเข้า พร้อมแผนธุรกิจ หากบริษัทไม่เขียนแผนก็จะไม่อนุมัตินำเข้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทที่กรมวิชาการเกษตรให้เปิดอนุญาตนำเข้ามาได้แล้ว ซึ่งในส่วนของผู้ขาย (ร้านค้า) จะต้องได้รับใบอนุญาตการขาย แจ้งปริมาณการขายให้กรมวิชาการเกษตร ต้องผ่านการอบรมทุกๆ 3 ปี ต้องขายให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเเกษตรกรและผ่านการอบรมเท่านั้น

สำหรับเกษตรกรที่ซื้อจะต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืช ได้ผ่านการอบรมและผ่านการทดแล้ว ถึงจะได้รับอนุญาตให้ซื้อสารเคมีได้ ห้ามใช้ในพืชผักพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวจำกัดการใช้ เริ่มมาแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2562

ส่วนอีก 2 สารเคมี ก็คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายที่4 ใครมีไว้ครอบครองโทษสุดสุดจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท  ซึ่งเกษตรกรจะต้องรีบคืน ภายใน 13 วันเท่านั้น จะครบกำหนดการครอบครองในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ มาส่งคืนให้กับร้านค้าตามวันและเวลากำหนด หากสารวัตรเกษตรไปตรวจพบ จะมีโทษตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดีในช่วงนี้ทางกลุ่มสารวัตรเกษตรกำลังจะมีการอบรมผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตรายทางการเกษตร รุ่นพิเศษ (รุ่นที่ 5) จัดอบรมวันที่ 24-25 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 สิงหาคม 2563

โอดไร่อ้อยเสียหายยับ “หญ้าแม่มด” ระบาด

​​​​​​ชาวไร่อ้อยนครสวรรค์เคว้ง “หญ้าแม่มด” ระบาดหนัก หลายครัวเรือนเผ่นไปทำอาชีพอื่น “ลุงมนัส” เผยเจ๊งยับ แบกหนี้เป็นแสน หวั่นไม่มีเงินจ่ายแบงก์

“หญ้าแม่มด” เป็นวัชพืชกักกัน (quarantine weed) ที่ทุกประเทศรังเกียจ และใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า และในขณะนี้กำลังระบาดอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์

นายมนัส ฟุ้งสุข ชาวไร่อ้อย อ.เมือง จังหวัดนครสวรรค์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า “หญ้าแม่มด”  ระบาดมา 3-4 ปี แล้วเกษตรกรแถบนี้หันไปปลูกพืชชนิดอื่นกันหมดแล้ว กำลังรอยาจากโรงงานมาฉีด ตอนนี้หญ้าขึ้นเต็มไปหมดเลย ส่วนเกษตรกรรายอื่นก็หนีหญ้าแม่มด หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ไม่มีใครปลูกกันแล้ว เพราะหญ้าชนิดนี้ที่มีปัญหา

 “ความสวยงามของหญ้า ก็ไม่คาดคิดถึงอันตรายว่าเป็นมหันตภัย ปลูกไถดินแล้ว มันก็ขึ้นมาใหม่ ไม่รู้จะทำอย่างไร อ้อยก็ทยอยตายหมดแล้ว เจ๊งเลย ผมก็นั่งบนทุกข์มีหนี้แสนกว่าบาทไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้คืนแบงก์ อยากจะขอให้กรมวิชาการเกษตรส่งยาดี มากำจัดให้หน่อย เพราะตอนนี้ลามระบาดไปหมดแล้ว

 ขณะที่แหล่งข่าว เผยว่า  ปัจจุบันหญ้าแม่มด ได้มีระบาด 5 อำเภอ จังหวัดนครสวรรค์ ล่าสุดกำลังลุกลามไปจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งถ้าหากกรมวิชาการเกษตร ไม่ลงไปประกาศเขตกักกันพืช ไม่ช้าจะซ้ำรอย "โรคใบด่างมันสำปะหลัง" จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในไม่ช้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 สิงหาคม 2563

อาร์เซ็ปขัดเกลาข้อกฎหมาย 20 บทเสร็จแล้ว พร้อมลงนามพ.ย.นี้

พาณิชย์คาดเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ในเดือนตค. ก่อนลงนาม ที่เวียดนามในเดือนพย. ชี้ อาร์เซ็ปออกแบบให้เหมาะกับประเทศสมาชิก

นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์กล่าวในการสัมมนา "ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป" ว่า ความคืบการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป (RCEP) ในขณะนี้ ประเทศสมาชิกได้ขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 ข้อบทเสร็จแล้ว คาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  เพื่อให้ความเห็นชอบการลงนามดังกล่าวได้ในเดือนต.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ในช่วงการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ในเดือนพ.ย.63

“เป้าหมายจะมีการการเจรจาให้สมบูรณ์ภายในส.ค.นี้ จากนั้นถึงจะนำเข้าครม.และจะนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง เมื่อสภาฯให้ความเห็นชอบ ประเทศไทยจึงจะไปแจ้งกับเลขาธิการอาเซียนในการให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงที่ไทยลงนามไปแล้วมีผลใช้บังคับ”

สำหรับโครงสร้างความตกลงอาร์เซ็ป มีทั้งหมด 20 บท ประกอบด้วย 1.บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป 2.การค้าสินค้า 3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง 7.การเยียวยาทางการค้า 8.การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ 9.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา 10.การลงทุน11.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ 12.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 13.ทรัพย์สินทางปัญญา 14.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 15.การแข่งขัน 16.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 17.บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน 18.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น 19.การระงับข้อพิพาท 20.บทบัญญัติสุดท้าย

นายรณรงค์  กล่าวว่า  ความตกลงอาร์เซ็ปนี้มีจุดขายสำคัญที่นอกจากจะเป็นความตกลงการค้าที่มีขนาดใหญ่สุดในโลก เพราะมีประชากรของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน หรือเกือบ 50% ของประชากรโลกแล้ว ความตกลงอาร์เซ็ป ยังเป็นความตกลงที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในแง่ลบกับประเทศสมาชิก ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างจากข้อตกลงทางการค้าอื่นๆ ในโลก ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ในข้อตกลงอาร์เซ็ปจะมีการออกแบบให้สอดรับกับแต่ละประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ดี ในอนาคตหลังจากความตกลงอาร์เซ็ปได้ลงนามในสัตยาบันและมีผลบังคับใช้แล้ว ภายในระยะเวลา 3-5 ปีจะมีการพัฒนาความตกลงหรือทบทวนความตกลงการเปิดเสรีตลาดสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีการเปิดตลาดอยู่ในระดับ 90%, การทบทวนการเจรจาในข้อบทหรือกติกาในมาตรการที่มิใช้ภาษี, เรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า, การระงับข้อพิพาท, การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีศุลกากร เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมอีกในอนาคตด้วย

นายรณรงค์ กล่าวว่า  นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในการส่งออกไป 16 ประเทศ จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันตามความตกลง FTA แต่ละฉบับ อีกทั้งเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ป ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากประเทศในกลุ่มและนอกอาร์เซ็ป ได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันอาร์เซ็ป ยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพอีกด้วย โดยผู้ประกอบการควรศึกษากฎระเบียบ และรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนจะเดินสายจัดงานสัมมนาในภูมิภาค โดยจะประเดิมจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) และต่อด้วยภาคใต้ (สงขลา) ในเดือนก.ย.63 เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และเตรียมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก อาร์เซ็ปอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหลังจากที่เผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ความตกลงอาร์เซ็ป จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างกิจกรรมทางการค้าการลงทุน และช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยและในภูมิภาคให้ดีขึ้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ผู้ประกอบการล็อบบี้‘BOI’ หนุนใช้หุ่นยนต์/ขยายมาตรการลดภาษี

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน เปิดเผยว่า ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ถึงการต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 คาดว่าเร็วๆ นี้จะทราบผล

สำหรับมาตรการดังกล่าวสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศให้มากขึ้นทั้งการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% หากโครงการมีการใช้ระบบอัตโนมัติเชื่อมโยงในอุตสาหกรรมการผลิตของไทยไม่น้อยกว่า 30% ของเงินลงทุน และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ให้ผู้ซื้อระบบหรือนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยนำเข้าอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 4 แสนล้านบาท และส่งออกระบบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้าและส่งออกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 10% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำส่งออกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภูมิภาคอาเซียนภายใน 10 ปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เกษตร และอาหาร รองรับการผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการ ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์แห่งอนาคตมากขึ้น

นายกัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด กล่าวว่าภาคเอกชนต้องการเสนอให้รัฐบาลทำการโปรโมทมาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้งานหุ่นยนต์ในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตดังกล่าว เนื่องจากผู้ประกอบการที่ต้องใช้งานหุ่นยนต์บางรายยังไม่รับทราบและเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ส่งเสริม รวมถึงระยะเวลาที่โครงการจะหมดอายุอาจจะทำให้การเตรียมเอกสารเพื่อขอยื่นนั้นไม่ทัน

“อยากให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานเพื่อคัดแยกหมวดหมู่การใช้ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน จากปัจจุบันมีการนิยามเหมารวมการใช้งานระบบอัตโนมัติเป็นเครื่องจักรกลทั้งหมด ทำให้หน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ตรงจุด ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาการขอสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่ใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น”นายกัมปนาทกล่าว

นายกัมปนาทกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากตื่นตัวศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับกระบวนการผลิตมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 30-40% ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการปรับทัศนคติในการพัฒนากระบวนการผลิตในแบบเร่งด่วน เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน เกิดความแม่นยำในการทำงานซ้ำๆ ด้วยแรงงานคน ช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สมุดปกขาวภาคประชาชน ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนถึงมือ รมต.ใหม่

ข้อเท็จจริงที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมแถลงต่อสาธารณชนก็คือ ในช่วง 10 ปีแรก (2561-2570) ของประเทศตกอยู่ในภาวะ “ล้นเกิน” อย่างหนัก จนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ (ยกเว้นโรงไฟฟ้าที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ถึงกำหนดต้องปลดออกจากระบบ)

ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ดำรงอยู่ในช่วงปลายสมัยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เจ้าของนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามแผนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนหลัก หรือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018)

ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากแผนดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม. ประกอบกับนายสนธิรัตน์ ต้อง “ลาออก” จาก รมว.พลังงานเสียก่อน

ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะ “ตัวแทน” ของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้จัดสัมมนา “ข้อเสนอ AEDP ภาคประชาชน” เพื่อจัดทำเป็น “สมุดปกขาว” ยื่นข้อเสนอการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เสนอต่อ “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานคนใหม่

สมุดปกขาวถึง รมว.พลังงาน

ที่ผ่านมาภาคเอกชนและภาคประชาชนแทบจะไม่มีส่วนในการเสนอแก้ไขปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ซึ่งประกอบไปด้วย 2 แผนหลัก คือ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) กับแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ในร่างแผน PDP 2018 Rev.1 ฉบับล่าสุด ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความ “จำเป็น” ต้องยกร่างแผน AEDP ฉบับประชาชนขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อ “นำเสนอ” จากการระดมความคิดเห็นต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงานคนใหม่ ก่อนที่จะประกาศนโยบายพลังงานชุดใหม่ออกมา

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฐานะผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (prosumer) กล่าวในระหว่างการสัมมนาว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง พลังงานสีเขียว (green ener-gy) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทุกประเทศ โดยจากการติดตามข้อมูลพบว่า ขณะนี้แหล่งเงินทุนของโลกจะมีเงินทุนสนับสนุนเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นใช้ไปที่ sector พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม ดังนั้น จึงถึงเวลาที่รัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์พลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“เทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อมจะสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของทุกประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงาน รัฐบาลจะมองข้ามพลังงานหมุนเวียนไม่ได้ รมว.ท่านใหม่เก่งเรื่องเศรษฐกิจ-เศรษฐศาสตร์ ที่ผ่านมาเราอาจจะเชื่อมโยงน้อยไป และเน้นราคาพลังงานมากเกินไป”

ดังนั้น แนวทางข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ก็คือการขอให้ภาครัฐเปิดทางให้เอกชนกับเอกชนซื้อขายไฟฟ้า peer to peer ผ่าน digital trading platform ได้ ซึ่ง prosumer team ร่วมกันศึกษาโครงการโมเดล 4 แซนด์บอกซ์ โดยมีบริษัท อาทิ EA, SCG, CPN, อสังหาริมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางระบบใหม่ ๆ

ขณะที่ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เห็นว่า พลังงานโลกสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแน่นอนคือ แบตเตอรี่ “แม้ต้นทุนสูง แต่ภาครัฐต้องจูงใจด้านภาษี” จะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุน ต้องสร้าง ecosystem โดยตั้งเป้าจากการที่ประเทศไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีประจุไฟฟ้าให้ได้

ส่วน นายชัพมนต์ จันทรพงศ์พันธ์ เลขาธิการกลุ่มพลังงานหมุนเวียน กล่าวถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นประโยชน์มีมูลค่าล้อไปกับเทคโนโลยี ซึ่งจากการปรับ PDP 2018 มีการเพิ่ม renewable ให้ กฟผ.เข้ามาได้ในข้อนี้รัฐบาลต้องเปิดทางให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น 100% ด้วยการเปิด peer to peer พลังงานแสงอาทิตย์ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องสร้างการรับรู้ประชาชนในเรื่อง “โซลาร์รูฟบ้านเรือน” มีราคาการรับซื้อที่ชี้ชวนและรัฐบาลต้องจริงจังเหมือนโซลาร์รูฟของรัฐบาลเวียดนาม สอดคล้องกับ นายอัครินทร์ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมกังหันลม(แห่งประเทศไทย) มองว่า นโยบายของไทยยังไม่มีความชัดเจนในการรับซื้อพลังงานลม

มาแรงขอไฟฟ้าขยะ 1,700 MW

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล กล่าวว่า นโยบายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนปัจจุบันยังมี “ข้อจำกัด” มาก ซึ่งจะต้องมีกฎหมายรองรับและปรับแก้ไขผังเมือง เพราะบางพื้นที่เคยทำโรงไฟฟ้าได้ แต่กลับทำไม่ได้ รัฐต้องยกเว้นใบ รง.4 เป็นกรณีพิเศษ และเน้นใช้จากเศษวัสดุทางการเกษตรที่ไม่เป็นเชิงพาณิชย์มาก่อน เช่น ซังข้าวโพด ใบอ้อย ฟางข้าว แต่หากอนาคตมีโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะยิ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนมีรายได้จากส่วนแบ่งการขายไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมีเงินทุนหมุนเวียน 100,000 ล้านบาทต่อปี

ด้าน นายทวี จงควินิต รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่า ท้ายที่สุด ส.อ.ท.ต้องการเสนอให้กระทรวงพลังงาน ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP ใหม่ โดยเริ่มจากการให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 MW จากตามแผนฉบับปัจจุบันที่เปิดรับซื้อประมาณ 900 MW ขณะที่ขยะล้นประเทศกว่า 27 ล้านตันต่อปี ถ้าหากคิดเป็นมูลค่าก๊าซธรรมชาติ 29,906 ล้านบาท จากเดิมภายใต้แผน PDP อยู่ที่ 15,860 ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะเรกูเลเตอร์ ให้ความเห็นว่า ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และ กกพ.เองต้องมองภาพรวมทั้งระบบ

ส่วนข้อเสนอให้เพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 MW นั้น “เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น” และประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นผู้รับภาระในท้ายที่สุด ซึ่งต้องมาพิจารณาให้รอบด้าน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

รางวัล‘ไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาล’ กับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม

“น้ำตาลทราย” สินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ “การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยเรียงตามมูลค่า” ชี้ว่า ในรอบ 10 ปีล่าสุด (2552-2562) น้ำตาลทรายครองอันดับ 2 สินค้าส่งออกประเภทสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรตลอดมา มีมูลค่าเฉลี่ยปีละหลักหลายหมื่นล้านบาท และบางปีขึ้นไปถึงหลักแสนล้านบาท เป็นรองเพียงอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเท่านั้น

เช่นเดียวกับเว็บไซต์ World’s Top Exports ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าต่างๆ ระบุว่า “ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 2 ของโลก” มีมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.4 ของตลาดส่งออกน้ำตาลทรายทั่วโลก เป็นรองเพียงบราซิลเท่านั้น ซึ่งเป็นผลงานของทั้ง “ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล-เกษตรกรชาวไร่อ้อย” ในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัด “พิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2563”

โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ณ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจ ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้บริหารโรงงานน้ำตาล ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างสม่ำเสมอ

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักมีหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งความหวานนี้ให้มีเสถียรภาพ แม้ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่การปรับแก้กฎหมายให้ครอบคลุมกับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต

จากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพ ในการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน พร้อมกับย้ำว่า“รัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม” ยกระดับเป็นเกษตรปลอดการเผา

ขณะที่ กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับบทบาทการทำงานในรูปแบบเน้นการบูรณาการโดยการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกับการสร้างความเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยในฤดูการผลิต ปี 2562/2563 ที่ผ่านมาถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่มีมาอย่างยาวนาน มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ คิดเป็นร้อยละ 49.65 จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด และในปี 2563 ถือเป็นปีที่ท้าทายของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทย ฉะนั้นการดำเนินการเพื่อพัฒนา และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ต้องสอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

“ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 จะหาแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการจูงใจที่คุ้มค่าเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด และการที่จะไปถึงเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ได้สำเร็จนั้น บุคคลที่สำคัญเห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยการแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5 ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยถือเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจังมาโดยตลอด” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน เอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเสริมว่า พิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2563 เป็นเสมือนการยืนยันถึงความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการพัฒนาตนเอง และการประกอบธุรกิจ เพื่อสรรสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอย่างแท้จริง และแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการร่วมมือร่วมใจ ในการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ให้มีความเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้าต่อไป

สำหรับพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2563 มีการคัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีผลงานการพัฒนาด้านอ้อยดีเด่น และโรงงานน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด รวม 89 รางวัล ประกอบด้วย 1.รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น จำนวน 3 รางวัลและระดับดี จำนวน 11 รางวัล 2.รางวัลอ้อยรักษ์โลก จำนวน 4 รางวัล 3.รางวัลโรงงานน้ำตาลที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง4 ปี ติดต่อกัน จำนวน 1 รางวัล 4.รางวัลชาวไร่อ้อยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา จำนวน 5 รางวัล

5.รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีผลผลิตและคุณภาพอ้อยดีเด่น จำนวน 5 รางวัล 6.รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการพันธุ์อ้อย น้ำ ดินและปุ๋ย จำนวน 16 รางวัล 7.รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล 8.รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง จำนวน 4 รางวัล และ 9.รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย จำนวน 34 รางวัล

อย่างไรก็ตาม กระแสโลกยุคใหม่ห่วงใยประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ยุโรปมีการแบนน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซีย โดยอ้างว่ามีการเผาป่าเพื่อทำสวนปาล์ม ขณะที่สังคมไทยเองก็เรียกร้องให้แก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองทั้ง PM10 และ PM2.5 ซึ่งมีสาเหตุจากการเผา ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลทรายก็ตกเป็นจำเลยสังคม เนื่องจากการเผาอ้อยเป็นการลงทุนที่ถูกกว่าการจ้างแรงงานคนหรือการใช้เครื่องจักรกล

โจทย์สำคัญที่ทั้งเกษตรกร โรงงาน รวมถึงภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ในปีต่อๆ ไปต้องช่วยกันคิดให้ตก คงหนีไม่พ้น “จะเปลี่ยนวิธีการเก็บเกี่ยวอย่างไร” ซึ่งคงไม่ใช่เพียงการบังคับในทางกฎหมาย แต่ต้องสร้างแรงจูงใจที่คุ้มค่าด้วย!!!

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด" แข็งค่า" แรงหนุนจากตลาดทุน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่า-รับแรงหนุนจากตลาดทุนเปิดเสี่ยงและแรงขายทองคำ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.05 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 31.10 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 30.95-31.15 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่าช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินกลับมาเป็นบวกทั้งหมดครั้งแรกของปีเมื่อวัดจาก MSCI All World Index ด้วยแรงหนุนของ S&P 500 ที่ปรับตัวขึ้น 1.4% และ Euro Stoxx 600 ที่ปิดบวก 1.1%

มุมมองเชิงบวกส่วนใหญ่ มาจากความหวังว่าวิกฤติโคโรนาไวรัสจะจบลงในไม่ช้า และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 42.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสูงที่สุดในรอบห้าเดือนที่สนับสนุนด้วย

ฝั่งตลาดพันธบัตรและตลาดเงินก็รับภาพการเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ด้วยการทยอยลดสินทรัพย์ปลอดภัยลง ล่าสุดบอนด์ยีลด์สหรัฐและเยอรมันอายุ 10ปี ต่างปรับตัวขึ้น 0.03% มาที่ระดับ 0.67% และ -0.45% ตามลำดับ ขณะเดียวกันเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่า 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยมีโครนนอร์เวย์ (NOK) เป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุด สวนทางกับเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าแตะระดับ 106.8 เยนต่อดอลลาร์เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอันดับหนึ่ง

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เชื่อว่าวันนี้จะได้รับแรงหนุนจากภาพตลาดทุนที่เปิดรับความเสี่ยงด้วย มองว่าความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเอเชียคือปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด ขณะที่ระยะสั้น คาดว่าเงินหยวนที่แข็งค่าใกล้ระดับ 6.9 หยวนต่อดอลลาร์จะเสริมให้นักลงทุนกล้าถือสกุลเงินเอเชีย นอกจากนี้ก็จะมีแรงขายทองคำ (ซื้อเงินบาท) เข้ามากดดันเพิ่มเติม เนื่องจากราคาทองโลกปรับตัวลงเร็วด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“พาณิชย์” เตรียมชง ครม.เดือน ต.ค.นี้ ไฟเขียวไทยลงนามความตกลงอาร์เซ็ป

 “พาณิชย์” เตรียมเสนอ ครม.เดือน ต.ค.นี้ ไฟเขียวไทยลงนาม “อาร์เซ็ป” หลังสมาชิกขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเสร็จแล้ว เผยจากนั้นจะเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนให้สัตยาบัน คาดมีผลบังคับใช้กลางปี 64 พร้อมเดินสายชี้แจงโอกาส ประโยชน์ที่จะได้ และแนวทางปรับตัว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค. 2563 กรมฯ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ไทยลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีสมาชิกประกอบด้วยอาเซียน และคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพราะขณะนี้การขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 บทเสร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว คงเหลือเพียงประเด็นคงค้างในเรื่องการเปิดตลาดอีกเล็กน้อย และพร้อมจะลงนามร่วมกันตามเป้าหมายภายในเดือน พ.ย. 2563 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ที่ประเทศเวียดนาม

“หลังจากการลงนามในเดือนพ.ย.2563 สมาชิกอาร์เซ็ปและไทย ต้องดำเนินการภายใน เพื่อให้สัตยาบัน ซึ่งไทยจะต้องทำเรื่องเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน คาดว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 2564 หลังจากสมาชิกอาเซียนกึ่งหนึ่งให้สัตยาบัน และคู่เจรจากึ่งหนึ่งให้สัตยาบัน” นางอรมนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ กรมฯ ได้เดินหน้าเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรกร และผู้ประกอบการ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้สามารถเตรียมการใช้ประโยชน์จากความตกลง เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า การลงทุนของไทย และปรับตัวรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในการช่วยเหลือด้านการปรับตัว ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการศึกษาถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า เพื่อเยียวยา และช่วยเหลือผู้ที่คาดจะได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอของไทยกับประเทศต่างๆ แล้ว

นอกจากนี้จะเผยแพร่เนื้อหาของความตกลงฉบับสมบูรณ์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dtn.go.th หลังจากสมาชิกตกลงให้เผยแพร่ต่อสาธารณะได้ รวมถึงจะชี้แจงคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งชี้แจงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย

สำหรับความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย เข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง รวมถึงช่วยสร้างโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตร และยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง และข้าว ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการที่สมาชิกเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง กระดาษ เป็นต้น

จาก https://mgronline.com วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

“สารเคมี” เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย?

กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี เตรียมจัดเสวนา “สารเคมี” เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย? เดือน ก.ย. ชี้ 10 ล้านลิตร หลังแบนวุ่น เผยมีบริษัทกำจัดแห่งเดียวในประเทศ  ขณะที่ เกษตรกร นับถอยหลัง 19 วันมีครอบครองโทษแรงกว่ายาเสพติด

กรมวิชาการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบทั่วประเทศแล้ว  ทั้งป้ายโฆษณารถเคลื่อนที่ และการแจ้งผ่านผู้นำชุมชนให้แจ้งเกษตรกรว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ห้ามครองครองวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราคาวอต และ คลอร์ไพริฟอส หากพบเบาะแสให้แจ้ง ได้ที่ 1. กรุงเทพมหานคร แจ้งที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

ส่วนภูมิภาคแจ้งที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา แต่ถ้าใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์/กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  สาเหตุที่จัดเสวนา “สารเคมี” เป็นพระเอกหรือผู้ร้าย? ประมาณเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เพราะว่าความเสียหายนอกเหนือจากการแบนสารเคมี ก็คือภาพพจน์ของสารเคมีในสายตาสาธารณชนถูกบิดเบือน ถูกทำให้เป็นเหมือนสิ่งชั่วร้าย ซึ่ง “สารเคมี” เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ อยากจะให้เกิดความเข้าใจ

“ในภาพของชาวบ้านคงจะเห็นว่าพวกที่อุตสาหกรรมเคมีก็คือ พวกเห็นแก่ตัว เมื่อภาพเป็นอย่างนั้นก็อยากมีเวทีที่จะชี้แจงสิ่งที่เราทำอยู่ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น จะเอาอะไรไปแข่งกับเพื่อนบ้านในตลาดโลกอย่างไรก็อยากจะทำความเข้าใจ ซึ่งจะยกกรณีของ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส  เป็นกรณีศึกษา เพราะฝ่ายมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย  ไปนำชื่อของคนที่คัดค้านการไม่แบนในบอร์ดคณะกรรมการวัตถุอันตรายไปด่าว่าเป็นคนเลว  จึงมีแนวคิดที่อยากจะหาเวทีเพื่อความเข้าใจและการรับรู้แล้วอยากจะชี้แจงให้เข้าใจว่าทำไมไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมี”

นางสาวเพชรรัตน์ กล่าวว่า การแบนง่าย แต่เวลาที่ไปทำลายของที่อ้างว่าเป็นพิษ มลภาวะไปไหน ขณะที่ 110 ประเทศก็ยังสารเคมีตัวนี้กันอยู่ จะจัดการอย่างไร 10 ล้านลิตร มี บริษัท  อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) กำจัดอยู่เพียงบริษัทเดียว เพราะถ้ากำจัดค่าใช้จ่ายตันละ 1 หมื่นบาท ใครเป็นคนรับผิดชอบ?

“ในขณะนี้ก็มีหลายบริษัทฟ้องแล้ว เนื่องจากตอนที่ขออนุญาต หรือเชิญชวนต่างชาติมาลงทุนในรูปแบบต่างๆ แต่พอมาลงทุนแล้วถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง เวลาที่จะต้องทำลายภายใน 90 วัน ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาทำไม่ได้ แม้แต่เกษตรกรเอง ก็นับถอยหลังเหลือ ระยะเวลา 19 วัน ที่มีสารเคมีตัวแบนอยุ่จะต้องนำไปคืนร้านค้า ร้านค้าคืนเงินให้หรือไม่ซึ่งเป็นไปไม่ได้  คิดง่าย มีของอยู่ในมือ แต่ไม่ให้ใช้ จะทำอย่างไร ซึ่งไม่มีการเตรียมการเลย แล้วโทษความรุนแรงหนักกว่ายาเสพติดอีก”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะสื่อสารก็คือ การที่มาอ้างว่า อันตรายเพราะเอาไปรับประทาน ทำให้คนถึงแก่ชีวิต ถามว่า คนจะฆ่าตัวตาย มีสารเคมี 100 กว่าชนิด ที่รับประทานแล้วถึงแก่ชีวิตไม่ใช่แค่ “พาราควอต” อย่าง เกลือแกง ถ้ากินถ้วยเป็นชาม ก็ตายเช่นเดียวกัน ตรงนี้ไม่มีใครสื่อสารให้เข้าใจ กลายเป็นถูกบิดเบือนไปหมด และมีการให้ข้อมูลเท็จด้วย ซึ่งเวทีนี้จะเปิดกว้าง คาดว่าจะจัดประมาณเดือนกันยายนนี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ก.อุตฯ ฮึ่มจัดการโรงงานอุตสาหกรรมทำผิดกฎหมาย

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดคุมเข้มป้องกันโรงงานแตกแถวสร้างความเดือดร้อนชาวบ้าน ด้าน "กรอ." เผย 7 เดือน มีชาวบ้านร้องเรียนโรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างความเดือดร้อนและปล่อยมลพิษ 90 ครั้ง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปดูแลกรณีที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง บางประเภทที่กระทำผิดกฎหมายด้วยการสร้างปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เช่น การปล่อยกลิ่นเหม็น ปล่อยน้ำเสีย ปล่อยมลพิษ แอบทิ้งกากของเสีย และปัญหาเสียงดัง เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน หากผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดก็ให้เร่งดำเนินการให้เกิดการแก้ไขให้ถูกต้องรวมถึงการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ส่วนผู้ประกอบการรายใดที่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ต้องส่งเสริมและสนับสนุนต่อไป

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) มีประชาชนในกรุงเทพมหานครได้ร้องเรียนสถานประกอบการ มายังกรอ. จำนวน 90 ครั้ง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการร้องเรียน 120 ครั้ง หรือลดลง 25% แบ่งเป็นเรื่องของโรงงานปล่อยกลิ่นเหม็น 48 เรื่อง, เสียงดัง 52 เรื่อง, ฝุ่น 36 เรื่อง, ไอสารเคมี 27 เรื่อง, โรงงานเถื่อน 27 เรื่อง, ปล่อยน้ำเสีย 21 เรื่อง, สั่นสะเทือน 19 เรื่อง, ควัน 15 เรื่อง, กากของเสีย 17 เรื่อง, ทำงานกลางคืน 14 เรื่อง และขวางการจราจร 10 เรื่อง และอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น กรอ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนโรงงานอุตสาหกรรมตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งพบว่าโรงงานบางรายมีการกระทำความผิดจริงตามที่ประชาชนร้องเรียน จึงได้ดำเนินคดีกับโรงงานที่กระทำผิดแล้ว 3 กรณี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ดำเนินคดีไป 13 ราย รวมถึงมีคำสั่งให้หยุดหรือปิดโรงงานชั่วคราวแล้วอีก 1 ราย และสั่งให้มีการแก้ไข 7 ราย เป็นต้น

นายประกอบ กล่าวอีกว่า อำนาจหน้าที่ของ กรอ. จะเข้าไปดูแลปัญหาการร้องเรียน และดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัดจะเป็นอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลของอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัด ก็ได้มีการทำงานบูรณาการความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง

โดยหากเกิดปัญหาที่อุตสาหกรรมจังหวัดไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ในเชิงลึก เช่น การตรวจสอบเกี่ยวกับโรงงานปล่อยมลพิษและกากของเสียที่มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชิงปฏิบัติการเพื่อลงรายละเอียด ก็สามารถประสานขอความร่วมมือมายัง กรอ. ได้ เพื่อที่ทาง กรอ. จะส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการตรวจสอบเชิงลึก ลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการได้รับความถูกต้อง เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สภาพัฒน์ฯ มุ่งขับเคลื่อนนโยบาย "เกษตรอัจฉริยะ” ยกระดับภาคเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560– 2565) ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญคือติดตามความก้าวหน้าและประเมินการทำงานของกลไก  ที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญต่างๆ ในแผนพัฒนาฯ เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาหรือผลักดันกลไกให้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละพื้นที่และเกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ           

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดเผยถึงแนวทางในการคัดเลือกประเด็นการพัฒนาสำคัญมาศึกษาวิเคราะห์และติดตามความก้าวหน้าและประเมินการทำงานของกลไกที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่ง สศช.กำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประเด็นมาดำเนินการ ประกอบด้วย

1)เป็นประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญและมีผลกระทบสูงต่อความสำเร็จของยุทธศาสตร์ประเทศ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ หรือเป็นประเด็นที่จะช่วยวางรากฐานเชิงโครงสร้างของการพัฒนาระยะยาวให้มีความเข้มแข็งและเป็นแรงส่งให้การพัฒนาประเทศในภาพรวมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน   

 2) เป็นประเด็นที่มีลักษณะเชิงบูรณาการ (Cross Cutting Issues)  ที่นำไปสู่การพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน และตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มากกว่า 1 ยุทธศาสตร์ และไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนหรือมีหลายหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย และ

3) เป็นประเด็นที่ยึดโยงกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-Based) โดยเป็นประเด็นที่สนับสนุนนโยบายการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่ช่วยยกระดับจุดแข็งหรือศักยภาพที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ ให้มีความสามารถในการแข่งขันช่วยกระจายความเจริญและโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่น เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและเอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในปี 2562 – 2563 การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เป็นประเด็นที่ สศช. เลือกขึ้นมาทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ เนื่องจาก1)ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจ ที่สำคัญของไทย เป็นฐานที่เชื่อมโยงทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ  สินค้าเกษตรเป็นสินค้าหลักที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ยังมีปัญหาในเรื่องผลิตภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันโลกได้มีการพัฒนาแนวคิด เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด ในภาคเกษตรกรรมก็เช่นกัน ที่เน้นการเปลี่ยนแนวคิดจากทำมากได้น้อย ซึ่งเป็นการเน้นภาคการผลิต มาเป็นแนวคิดทำน้อยได้มาก ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยิ่งไปกว่านั้นยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ามากกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิมอย่างมาก ซึ่งการสนับสนุนการใช้เกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ที่ประยุกต์การใช้เทคโนโลยีทั้งเครื่องจักร การบริหารจัดการข้อมูล และการต่อยอดผลผลิต จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับผลิตภาพและช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาคเกษตรไทยได้ และ2)เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในหลายยุทธศาสตร์ ทั้งยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ นอกจากนี้ เกษตรอัจฉริยะยังเป็นประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีแผนแม่บทย่อยที่กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจน  อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม Smart Farming ยังมีช่องว่างเกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ มีหน่วยงานที่ส่งเสริมนโยบายนี้หลายหน่วยงาน แต่ยังไม่มีเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน จึงควรเร่งติดตามค้นหาปัญหาหรือข้อจำกัดในการขับเคลื่อนและหาแนวทางแก้ไข เพื่อผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรให้มากที่สุด” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวส่วนการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะจะมีทิศทางอย่างไร จะสร้างแต้มต่อให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างไรนั้น ต้องเกาะติดแนวทางการขับเคลื่อนของ สศช. ที่มีการเปิดเผยผลการศึกษาออกมา เพื่อที่จะเชื่อมโยงให้เกษตรกรไทยได้เห็นภาพใหญ่ และแนวทางที่จะยกระดับภาคการเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สรท. ชู 4 ข้อ เสนอแบงก์ชาติ เร่งแก้อัตราแลกเปลี่ยน-เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นปัญหาค่าเงินบาทที่ปัจจุบันมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประเด็นการเข้าถึงมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ (ซอฟท์โลน) ของผู้ประกอบการส่งออก

ทั้งนี้ สรท. เสนอ 4 ข้อเรียกร้อง ให้ ธปท. เร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการส่งออกในสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.ขอให้ ธปท. เร่งรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการส่งออกซึ่งเป็นกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 2.ขอให้ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลน ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้การประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการมีความต่อเนื่อง 3.ขอให้ ธปท. และธนาคารพาณิชย์หาแนวทางขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ตาม พรก.เงินกู้ฯ จากเดิม 2 ปี ให้เป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจ เนื่องด้วยระยะเวลาโครงการ 2 ปี ค่อนข้างสั้น และอุปสงค์ในตลาดโลกยังคงหดตัว ทำให้ภาคการผลิตและการค้าระหว่างประเทศไม่สามารถฟื้นฟูกิจการและชำระคืนเงินต้นได้ทันตามกำหนด และ 4.ขอให้ ธปท. เพิ่มมาตรการดูแลสภาพคล่องของผู้ประกอบการขนาดกลาง ซึ่งมาตรการในปัจจุบันยังถือว่าค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอ

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า ธปท. ตอบรับพิจารณาผ่อนคลายมาตรการซอฟท์โลน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อและการจัดสรรมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับกลางเพิ่มเติมและได้ชี้แจงถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 และคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลามากถึง 2 ปี จึงจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เท่ากับระยะเวลาก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยในปี 2563 แม้ปัจจุบันค่าเงินบามเริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง แต่ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นและคู่แข่งสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลบวกจากที่ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กอปรกับการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ธปท. สนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนการจ้างงานควบคู่กับการดูแลภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ สรท. และ ธปท. ได้หารือและเห็นพ้องแนวทางความร่วมมือในการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก อาทิ 1. การเร่งปรับปรุงโครงสร้างการผลิตและการส่งออกของไทย เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของโลกหลังโควิด-19 ด้วยการลดกำลังการผลิตส่วนเกิน และเพิ่มผลิตภาพในการผลิต 2.การผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมและเร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการเข้าถึงห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญกับประเทศคู่ค้า อาทิ ไทย-สหภาพยุโรป ไทย-สหราชอาณาจักร รวมถึงซีพีทีพีพี

3.การช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในลักษณะพี่ช่วยน้อง โดยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีวงเงินหมุนเวียนเพียงพอและมีโอกาสได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ได้มากกว่าเอสเอ็มอี ขยายระยะเวลาการให้เครดิตเทอมแก่เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นลูกค้าของตนเองให้ยาวนานขึ้น พร้อมกับเร่งจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการให้กับซัพพลายเออร์ของตนให้เร็วขึ้น เพื่อให้เอสเอ็มอี ในซัพพลายเชนของตนที่ไม่สามารถเข้าถึงวงเงินสินเชื่อใหม่มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น และ 4.ให้ความรู้และสนับสนุนผู้ประกอบการในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเพิ่มทางเลือกในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศในสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลใดสกุลหนึ่ง

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อุตฯจับมือนิด้า หนุน BCG Model พัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน

  กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เน้นระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model : Bio Economy,Circular Economy,Green Economy) เพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาตร์ (นิด้า) นำโดยศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.วิสาขา ภู่จินดา คณบดีคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนามในความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เน้นระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและระบบเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อความยั่งยืนสำหรับภาคอุตสาหกรรม

สำหรับเจตนารมณ์ของการบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับนิด้า เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนที่พัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนของบุคลากร ทั้งในเชิงวิชาการ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยวิธีการต่างๆเช่น การวิจัย การฝึกอบรม การสัมมนา การให้คำปรึกษาแนะนำ ส่งเสริมความร่วมมือในการทำวิจัย บริการทางวิชาการ ศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติงานด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน

ทั้งนี้ปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เน้นระบบเศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน โดยเศรษฐกิจชีวภาพระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน สำหรับกิจกรรมแรกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวได้ขอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการหรือข้อเสนอเชิงวิชาการในการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยคาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาบุคลากร และพัฒนางานในภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเติบโต และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้บริบทของความยั่งยืนสืบไป

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 11 สิงหาคม 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด"แข็งค่า"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบกว้าง-2ปัจจัยบวกเพิ่มเติม "ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวและทุนสำรองระหว่างประเทศ"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.11 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน 31.13 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.03-31.23 บาทต่อดอลลาร์-2ปัจจัยบวกเพิ่มเติม แต่ยังไม่เห็นภาพเงินทุนไหลเข้าอย่างมีนัยสำคัญทั้งในหุ้นและบอนด์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงนี้ถือว่าแกว่งตัวในกรอบกว้าง โดยมีภาพวัฏจักรเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว และทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงทำสถิติใหม่เข้ามาเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นภาพเงินทุนไหลเข้าอย่างมีนัยสำคัญทั้งในหุ้นและบอนด์ เพราะตลาดมีมุมมองระมัดระวังตัวสูงกับสกุลเงินเอเชียอยู่ เชื่อว่าต้องรอข่าวดีจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนช่วงปลายสัปดาห์นี้ให้เกิดขึ้นก่อนจึงอาจมีการเปลี่ยนมุมมองให้ดีขึ้นได้

ช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินมีการเปลี่ยนกลุ่มผู้นำโดยหุ้นเทคโนโลยีเจอแรงกดดันบ้างหลังปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่ต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ S&P 500 ปรับตัวบวกได้ 0.3% ตามราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสที่ปรับตัวขึ้น 2.0% จากความหวังว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในเดือนนี้

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ระยะสั้นเป็นภาพการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี โดยปัจจุบันขยับขึ้นมาที่ระดับ 0.58% หนุนให้บอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นตามมาที่ระดับ 1.26% ประกอบกับภาพราคาทองคำที่ย่อตัวลงเล็กน้อยจึงทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.3-0.4% เมื่อเทียบกับสกุลเงินความเสี่ยงสูงตัวอย่างเช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) หรือ ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD)

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 สิงหาคม 2563

“สุริยะ” เดินหน้าขับเคลื่อนอุตฯอ้อยและน้ำตาลด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ดันเข้าสู่โมเดลประเทศไทย 4.0

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักมีหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีความมุ่งมั่นตั้งใจมาอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งความหวานนี้ให้มีเสถียรภาพ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

                ทั้งนี้  เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่การปรับแก้กฎหมายให้ครอบคลุมกับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการที่จะก้าวไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพ ในการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน

                “รัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมยกระดับเป็นเกษตรปลอดการเผา”

                นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับบทบาทการทำงานในรูปแบบเน้นการบูรณาการโดยการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกับการสร้างความเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

ในฤดูการผลิต ปี 2562/2563 ที่ผ่านมาถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่มีมาอย่างยาวนาน มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบคิดเป็น 49.65% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2563 ถือเป็นปีที่ท้าท้ายของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นการดำเนินการเพื่อพัฒนา และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ต้องสอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในฤดูการผลิตปี 2563/2564 จะหาแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการจูงใจที่คุ้มค่าเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด

                และการที่จะไปถึงเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ได้สำเร็จนั้น บุคคลที่สำคัญเห็นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยการแก้ไขฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยถือเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจังมาโดยตลอด

                นายเอกภัทร  วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สำหรับพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2563 เป็นเสมือนการยืนยันถึงความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะในการพัฒนาตนเอง และการประกอบธุรกิจ เพื่อสรรสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอย่างแท้จริง และแสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีการร่วมมือร่วมใจ ในการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ให้มีความเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้าต่อไป

เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้บริหารโรงงานน้ำตาล ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างสม่ำเสมอตลอดมา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงคัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่มีผลงานการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตดีเด่น เพื่อเข้ารับถ้วยเกียรติยศและโล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ สำนักงานได้คัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีผลงานการพัฒนาด้านอ้อยดีเด่น และโรงงานน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด รวม 89 รางวัล ประกอบด้วย

                1. รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น จำนวน 3 รางวัล และระดับดี จำนวน 11 รางวัล ,2. รางวัลอ้อยรักษ์โลก จำนวน 4 รางวัล ,3. รางวัลโรงงานน้ำตาลที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 4 ปี ติดต่อกัน จำนวน 1 รางวัล ,4. รางวัลชาวไร่อ้อยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา จำนวน 5 รางวัล ,5. รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีผลผลิตและคุณภาพอ้อยดีเด่น จำนวน 5 รางวัล ,6. รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการพันธุ์อ้อย น้ำ ดินและปุ๋ย จำนวน 16 รางวัล

                ,7. รางวัลชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล ,8. รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง จำนวน 4 รางวัล และ9. รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย จำนวน 34 รางวัล

                “การมอบรางวัลดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างกำลังใจ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ให้มีผลผลิตที่ดี รักษามาตรฐาน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมแข่งขันในเวทีสากลต่อไป”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 สิงหาคม 2563

‘สุริยะ’เข้มอ้อยไฟไหม้ฤดูผลิตปี 63-64 ต้องเหลือ 20%

‘สุริยะ’เข้มอ้อยไฟไหม้ฤดูผลิตปี 63-64 ต้องเหลือ 20% พร้อมหามาตรการจูงใจดันอ้อยสดเข้าโรงงาน 80% เพิ่ม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้กำหนดกำหนดนโยบายอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2563/64 จะมีอ้อยสดเข้าหีบในสัดส่วน 80% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ส่วนอ้อยไฟไหม้สัดส่วนจะลดลงเหลือ 20% จากฤดูการผลิตปี 2562/ 63 มีอ้อยสดเข้าหีบทั้งหมดประมาณ 51% อ้อยไฟไหม้ ประมาณ 49% ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดป้อนโรงงานน้ำตาล โดยชาวไร่อ้อยที่นำอ้อยไฟไหม้ส่งโรงงานจะถูกตัดเงินตันละ 30 บาท ไปให้ชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงาน เพื่อลดปัญหากฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5

“ฤดูการผลิตปี 63/64 จะหาแนวทางกำหนดมาตรการจูงใจที่คุ้มค่าเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเข้าโรงงานให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการเผาอ้อย เป็นส่วนหนึ่งให้เกิดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และจะยกระดับราคาอ้อยให้สูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยที่ผ่านมาได้ปรับแก้กฎหมายให้ครอบคลุมกับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรม”นายสุริยะกล่าว

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ฤดูกาลผลิตปี 2563/64 คาดว่า จะมีผลผลิตอ้อยทั้งประเทศลดลงเหลือประมาณ 65-70 ล้านตันอ้อย เนื่องจากภัยแล้ง โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง และข้าว เนื่องจากเกษตรกรเห็นว่า ขายได้ราคาดี ขณะที่ฤดูกาลผลิตปี 62/63 มีผลผลิตอ้อยรวมทั้งประเทศ 75 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลผลิตปี 61/62 ผลผลิตรวม 131 ล้านตัน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปี 63 เป็นปีท้าท้ายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยต่อเนื่อง รวมถึงภัยแล้ง และปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ในไทย ซึ่งกระทรวงอุตฯ ได้ปรับบทบาทการทำงานเน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างความเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำ ตาลทราย และผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำ ตาลทรายให้เติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 10 สิงหาคม 2563

“สุริยะ” ประกาศไม่ช่วยอ้อยไฟไหม้ ตั้งเป้าอ้อยสดเข้าหีบ 80% คาดผลผลิตปีนี้ 70 ล้านตันอ้อย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2563/2564 กระทรวงอุตสาหกรรมมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 โดยประกาศสนับสนุนชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลมากขึ้นและชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดป้อนโรงงานจะได้รับการช่วยเหลือ

"กระทรวงอุตสาหกรรมจะช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดป้อนโรงงานน้ำตาลเท่านั้น ส่วนวงเงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิต จะขอพิจารณาภาพรวมผลผลิตฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 ขณะที่ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการผลิตอ้อย คาดผลผลิตอ้อยปีนี้ประมาณ 70 ล้านตันอ้อย" นายสุริยะ กล่าว

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สอน.กำหนดนโยบายอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 จะมีอ้อยสดเข้าหีบในสัดส่วน 80% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ส่วนอ้อยไฟไหม้จะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 20 โดยชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลจะได้รับเงินช่วยเหลือในสัดส่วนที่มากกว่า ขณะที่ชาวไร่อ้อยที่นำอ้อยไฟไหม้ส่งโรงงานจะถูกตัดเงินตันละ 30 บาท อย่างไรก็ตาม ชาวไร่อ้อยทั้ง 2 กลุ่มจะยังคงได้รับเงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตจากภาครัฐ

ข้อมูลจาก สอน.ระบุว่าฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยทั้งประเทศลดลงเหลือประมาณ 65-70 ล้านตันอ้อย จากสาเหตุภัยแล้งโดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง และข้าว เพราะเกษตรกรเห็นว่าขายได้ราคาดี  ขณะที่ฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 มีผลผลิตอ้อยรวมทั้งประเทศ 75 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ผลผลิตรวม 131 ล้านตัน

ข้อมูลตามรายงานขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ หรือ ISO  ระบุว่าการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกคาดว่า จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.176 ล้านตัน หรือ 1.25% จากฤดูกาลก่อน แม้การบริโภคน้ำตาลจะลดลงจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 แต่มีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลจะกลับมาอยู่ในระดับปกติที่อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านการส่งออกของไทยลดลง เนื่องจากผลผลิตอ้อยลดลง ในทางกลับกันบราซิลสามารถส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่าลง โดย ISO คาดว่าจะมีน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.589 ล้านตัน  รวมแล้วมีการส่งออกน้ำตาลทั่วโลก 60.733 ล้านตัน

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 10 สิงหาคม 2563

‘พาณิชย์’ จัดทัพกูรู รับมือความตกลงอาร์เซ็ป

พาณิชย์ เตรียมจัดทัพกูรูทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และนักวิชาการ ร่วมสัมมนาประชาพิจารณ์ ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป ชี้ช่องทางเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ป พร้อมแนะแนวทางเตรียมตัวรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ชี้เปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็น รองรับการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปเดือน พ.ย. 63 นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมจัดงานสัมมนาประชาพิจารณ์ “ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป” ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) รวมถึงการเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากความตกลงและการปรับตัวจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รองรับการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ในเดือนพฤศจิกายน 2563

 สำหรับความคืบหน้าของความตกลงฯ ขณะนี้สมาชิกอาร์เซ็ปได้ขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 บทเสร็จแล้ว คงเหลือในส่วนการเปิดตลาดอีกเพียงเล็กน้อย และรัฐมนตรีอาร์เซ็ปมีแผนจะลงนามความตกลง ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยอาร์เซ็ปจะเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย มีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 48.1 ของประชากรโลก ในปี 2562 ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป มีมูลค่า GDP กว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.7 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29.5 ของมูลค่าการค้าโลก

การสัมมนาครั้งนี้ กรมฯ มีกำหนดเดินสายลงพื้นที่จัดสัมมนาที่จังหวัดขอนแก่น และสงขลา ในเดือนกันยายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสาระสำคัญ และความสำเร็จของการเจรจาอาร์เซ็ปให้กับผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กรมฯ ยังได้จัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ (Webinar) เรื่อง “อาร์เซ็ป เดอะซีรีย์: ครบเครื่อง เรื่องอาร์เซ็ป” จำนวน 6 ตอน เพื่อปูทางสร้างความเข้าใจเรื่องอาร์เซ็ปอย่างรอบด้าน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 สิงหาคม 2563

เร่งหามาตรการเยียวยาเกษตรกรจากการแบน 2 สาร

“มนัญญา” แจงวุฒิสภา กระทรวงเกษตรฯ เร่งหามาตรการเยียวยาเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแบนพาราคอวตและคลอร์ไพริฟอส อยู่ระหว่างคำนวณอัตราชดเชยที่เหมาะสม ควบคู่หานวัตกรรมทดแทน ด้านผู้แทนเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองยืนยันรอศาลปกครองกลางพิจารณาคำร้องให้ระงับการยกเลิก 2 สาร ชี้สารชีวภัณฑ์ปลอมเกลื่อน ร้องดีเอสไอปราบปราม

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ (10 ส.ค.) ได้ตอบกระทู้ถามของพลเอกดนัย มีชูเวท สมาชิกวุฒิสภา เรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการห้ามใช้สารพาราควอตและคลอไพริฟอส ซึ่งขณะนี้คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีปลัดกระทรวงเป็นประธานได้มอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คำนวณอัตราการชดเชยที่เหมาะสมให้เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีแนวทางสนับสนุนเครื่องจักรกล รวมทั้งการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อซื้อเครื่องจักรกลกำจัดวัชพืช

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีปฏิบัติในการกำจัดวัชพืชที่ทดแทนการใช้สารเคมี การทดสอบ สาธิต และถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ส่วนกรมวิชาการเกษตรเร่งจัดทำเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืช โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและสารเคมีอื่น โดยเปรียบเทียบวิธีการใช้และค่าใช้จ่าย ส่วนที่กังวลว่า ต้องพึ่งพาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศซึ่งบางประเทศยังใช้สารเคมีที่ไทยยกเลิกแล้วนั้น กรมปศุสัตว์เร่งส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์คุณภาพดีเพื่อลดการใช้อาหารข้นซึ่งประกอบด้วยถั่วเหลืองและข้าวโพดถึงร้อยละ 20

นางสาวมนัญญา ยืนยันว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั้น ทางกฎหมายมีผลปฏิบัติแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกประกาศ “สินค้านำเข้าเมื่อตรวจวิเคราะห์แล้ว ต้องไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4” ดังนั้น การนำเข้าถั่วเหลืองกับข้าวโพดทั้งจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และอื่น ๆ ต้องไม่มีสารตกค้างเลย (zero tolerance) โดยหลักการออกประกาศเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงความเท่าเทียมของผลิตภัณฑ์อาหารภายในประเทศกับที่นำเข้า และภาคอุตสาหกรรมต้องดำเนินธุรกิจได้ จึงผ่อนผันให้วัตถุดิบมีสารตกค้างมากกว่า 0 ได้ประมาณถึง 1 มิถุนายน 2564 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับไปดำเนินการ

“กระทรวงเกษตรฯ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ส่งการกำหนดค่าสารตกค้างในวัตถุดิบที่นำเข้าเป็นไปตาม พ.ร.บ. อาหาร ของกระทรวงสาธารณสุข” นางสาวมนัญญา กล่าว

ด้านนางสาวอัญชุลี พรรณสุนีย์วิไล ลักษณ์อำนวยพรจากเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอบคุณอธิบดีที่รับเรื่อง การปราบปรามสารชีวภัณฑ์ปลอม ซึ่งปนสารเคมีวัตถุอันตรายเป็นคดีพิเศษ เพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกหลอกลวง ส่วนการร้องศาลปกครองกลางจากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งยกเลิกสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสนั้น ขณะนี้เกษตรกรรอว่า ศาลจะพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับการแบนหรือไม่ ยืนยันว่าเกษตรกรเดือดร้อนจากการห้ามใช้ อีกทั้งยังไม่มีทางเลือกว่าจะให้เกษตรกรจะใช้สารใดทดแทน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องร้องศาลปกครองเพื่อให้ความยุติธรรม

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 10 สิงหาคม 2563

ค่าเงินบาท​ อ่อน​ค่าลง​ที่​ 31.18 บาท​/ดอลลาร์​ ตลาด​กังวล​การเมือง​ในประเทศ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผย​ว่า​ ค่าเงินบาท​ เปิดเช้าวันนี้​ (10 ส.ค.)​ ที่ระดับ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน 31.17 บาทต่อดอลลาร์กรอบเงินบาทวันนี้ 31.08-31.28 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับสัปดาห์นี้​ (10-14  ส.ค.)​ จะเป็นช่วงท้ายของการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าดีกว่าคาด (เช่น ในสหรัฐที่รายได้ปรับตัวลงราว 30% จากปีก่อนดีกว่าคาดการณ์ที่เฉลี่ยหดตัว 45%) ทำให้ตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ได้ต่อเนื่อง

และเมื่อใช้อัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปี เป็นตัวเปรียบเทียบ ก็จะเห็นว่าตลาดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวโดยยีลด์ขยับขึ้นมาที่ระดับ 0.56% จากระดับต่ำสุดช่วงต้นเดือนที่ 0.50% เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปี ที่ฟื้นตัวจากระดับ 1.16% มาที่ 1.22% ในปัจจุบัน ชี้ว่านักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกกับวัฏจักรของเศรษฐกิจและเริ่มลดการถือสินทรัพย์ปลอดภัยลงแล้ว

ส่วนในตลาดเงิน สัปดาห์นี้ต้องติดตามประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ การเมืองกับประเทศจีน ไปจนถึงความคืบหน้าในการเจรจาการค้าวันที่ 15 สิงหาคมนี้

“เรามีมุมมองเชิงบวกกับดอลลาร์มากขึ้น แม้ในระยะสั้นจะมีทิศทางของราคาทองคำ และการเมืองระหว่างประเทศเข้ามากดดัน แต่ฝั่งเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวขึ้นแล้ว เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาแข็งแกร่งในช่วงท้ายสัปดาห์ก่อนมองกรอบดัชนีดอลลาร์ที่ 92.0-95.0 จุดจากระดับปัจจุบันที่ 93.5 จุด“

ส่วนเงินบาท ตลาดกลับมีความกังวลเรื่องการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้นจึงมีแรงขายทำกำไรออกมา ทั้ง​นี้​ กรอบเงินบาทรายสัปดาห์อยู่ที่ 31.00 ถึง 31.50 บาทต่อดอลลาร์

“ในสัปดาห์นี้ คาดว่าเงินบาท​จะเคลื่อนไหวตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียกับดอลลาร์เป็นหลัก โดยจุดที่น่าสนใจคือทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก โดยถ้าหุ้นสหรัฐ สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ ก็จะเป็นแรงหนุนให้ตลาดฝั่งเอเชียฟื้นตัว และเงินบาทมีโอกาสแข็งค่ากลับ” ดร.จิ​ติ​พล​กล่าว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 10 สิงหาคม 2563

ไทยกำลัง 'เงินฝืด' จริงหรือไม่ ทำไมต้องกังวลเรื่องนี้

เช็คลิสต์ 4 ข้อ ไขข้อข้องใจ ประเทศไทยเข้าสู่ "ภาวะเงินฝืด" จริงหรือไม่ และหากภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นแล้ว เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ช่วงวิกฤติ "โควิด-19" อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว กลับยิ่งลดต่ำกว่าเดิมหรือบ้างติดลบ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนที่ลดลงมาก โดยเฉพาะจากมาตรการปิดเมืองในแต่ละประเทศ ผนวกกับราคาพลังงานที่ปรับลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางของ "ภาวะเงินฝืด" เข้าแล้ว

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปทำความรู้จักกับภาวะ "เงินฝืด" ที่กำลังเป็นข้อกังวลในตอนนี้ พร้อมไขข้อสงสัยว่า ณ เวลานี้ ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือยัง และหากภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นแล้ว เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

เงินฝืดคืออะไร ทำไมต้องระวัง?

"เงินฝืด" (Deflation) คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อ (Demand) สินค้าของคนในประเทศ ตรงข้ามกับ "เงินเฟ้อ" ซึ่งเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยสาเหตุของเงินฝืด โดยทั่วไปเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ซื้อลดลง ไม่กล้าใช้จ่ายเงิน เนื่องจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไม่เพียงพอ เช่น เงินตราไหลออกนอกประเทศมากเกินไป เป็นต้น

โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้อธิบายถึง สภาวะทางเศรษฐกิจของไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า "ยังไม่ใช่สัญญาณของภาวะเงินฝืด" โดยประเมินจากการเช็คลิสต์ เงื่อนไขของปัจจัยที่ทำให้ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. ราคาสินค้าและบริการโดยรวมปรับลดลงต่อเนื่อง

2. ราคาสินค้าและบริการปรับลดลงกระจายไปเกือบทุกประเภทสินค้า

3. เงินเฟ้อคาดการณ์ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน

4. เศรษฐกิจและการจ้างงานชะลอลงยาวนาน

จาก 4 ปัจจัยข้างต้นพบว่า "สภาวะเศรษฐกิจไทย" ในปัจจุบัน สรุปได้ว่า "ไทยยังไม่เข้าสู่สภาวะเงินฝืด" เพราะปัจจัยที่บ่งชี้ถึงภาวะเงินฝืดไม่เข้าข่ายถึง 3 ใน 4 ข้อ ดังนี้

1. ไม่เข้าข่ายราคาสินค้าและบริการโดยรวมปรับลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดชี้ว่า ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปีที่ 63 ที่ -1.7% มาอยู่ที่ 0.9% ในปี 64

2. ไม่เข้าข่ายราคาสินค้าและบริการปรับลดลงกระจายไปเกือบทุกประเภทสินค้า เนื่องจากข้อมูลล่าสุดชี้ว่า 70% ของสินค้าและบริการ มีราคาคงที่หรือเพิ่มขึ้น มีบางประเภทเท่านั้นที่ราคาลดลง

3. ไม่เข้าข่ายเงินเฟ้อคาดการณ์ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน เนื่องจากคาดการณ์เงินเฟ้อ (5 ปีข้างหน้า) อยู่ที่ 1.8% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

ส่วนปัจจัย 4. ยังต้องติดตาม คือ เศรษฐกิจและการจ้างงานชะลอลงยาวนาน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยหดตัวและผู้ว่างงาน เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากโควิด-19 แต่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งต้องติดตามความเสี่ยงในระยะต่อไป

 ถ้าเงินฝืด จะเกิดอะไรขึ้น

ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต

ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้ขายได้ และลดการผลิตลง เพราะหากผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้ไม่หมด ผลที่ตามมาคือ การจ้างงานและการซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว

ประชาชน

อัตราการว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนขายสินค้าและบริการได้น้อย จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตทำให้ไม่เกิดการจ้างงานเพิ่ม แต่บางกิจการอาจมีผลกระทบมากจนต้องลดกำลังการผลิตเพื่อรักษากิจการให้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะเงินฝืด จึงจะต้องลดพนักงานทำให้ประชาชนตกงานเพิ่มขึ้น

ระบบเศรษฐกิจโดยรวม

หากราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าและบริการของประชาชนลดลง คนก็จะลดการจับจ่ายใช้สอย เมื่อคนไม่ซื้อสินค้ากันมากๆ ผู้ผลิตก็ขายสินค้าไม่ได้ เป็นวงจรวนไปไม่รู้จบ ท้ายที่สุดก็จะกระทบกับภาคการผลิตและการจ้างงานทําให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในที่สุด ดังนั้น ภาวะเงินฝืดจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สําหรับระบบเศรษฐกิจ

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธปท. ธนาคารแห่งประเทศไทย

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 9 สิงหาคม 2563

กสิกรไทย คาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 30.90-31.40 บาท

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้า(10-14 ส.ค.) ที่ 30.90-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯโดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนและการเจรจาระดับสูงของผู้แทนการค้าของทั้งสองประเทศในเรื่องผลความคืบหน้าตามข้อตกลงเฟสแรก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระหว่างสัปดาห์ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนส.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนก.ค. ด้วยเช่นกัน

สำหรับเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 3-7 ส.ค.) กลับมาอ่อนค่าช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากที่เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ สอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียประกอบกับเงินบาทน่าจะได้รับอานิสงส์บางส่วนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำด้วยเช่นกัน โดยเงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 31.00แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 30.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงบวกลงบางส่วนตามการปรับโพสิชัน หลังจากที่ธปท. เปิดเผยว่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งธปท.จะติดตามการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ยังชะลอลงช่วงท้ายสัปดาห์ขณะที่ตลาดรอติดตามข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯโดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ในวันศุกร์ (7 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.14 เทียบกับระดับ 31.18บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 ก.ค.)

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 สิงหาคม 2563

สภาเกษตร หวังโรงไฟฟ้าชุมชนฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

สภาเกษตร ขานรับนโยบาย โรงไฟฟ้าชุมชน ดันไผ่ เป็นพืชพลังงาน หวังฟื้นเศรษฐกิจฐานราก แต่กังวลปัญหาสิ่งแวดล้อม ชี้รัฐต้องควบคุมเทคโนโลยี เผาไหม้สมบูรณ์

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า นโยบายของกระทรวง​พลังงาน เช่น การสูบน้ำจากบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) พลังงานชุมชน นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมาก เนื่องจากขณะนี้มีสินค้าเกษตรหลายชนิดที่เหมาะสมจะนำไปใช้เป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้า เช่น ไผ่ ที่กระทรวงพลังงานเห็นชอบในเบื้องต้นจะนำไปใช้เป็นพลังงานโดยนำไปบรรจุไว้ในแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลด้วย โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจะช่วยวิเคราะห์พื้นที่ศักยภาพ ต่อไป

อย่างไรก็ตามสภาเกษตรกรยังกังวลเรื่องการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ด้านมลภาวะ แม้ปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์จนแทบไม่ปล่อยมลภาวะเลย ดังนั้นรัฐบาลต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งการพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ โรงไฟฟ้าชุมชนเหล่านี้ ซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ด้วย

ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานต้องหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ด้านเกษตรกรมีความพร้อมมากที่จะนำศักยภาพอื่นๆมาพัฒนาเป็นเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งนี้ภาครัฐต้องเข้าใจและมีนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัญหาของเกษตรกร

“เกษตรกรทั้งประเทศให้ความสนใจเรื่องพลังงานชุมชน และคิดว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากได้ แก้ปัญหารายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นรูปธรรมและยั่งยืน การขายพลังงาน ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไม่เคยมีปัญหาเรื่องราคาเพราะผู้ซื้อโดยเฉพาะภาคราชการเป็นผู้ซื้อหลักไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ขายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างน้อยที่สุดเพื่อดูแลตัวเอง ใช้ในฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ หากเกษตรกรทั้งประเทศใช้โมเดลนี้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดต้นทุนในการผลิตของตัวเองลงได้ ที่สำคัญคือหากกระทรวงพลังงานนำเรื่องนี้เป็นนโยบายก็จะสามารถทำให้เกษตรกรในพื้นที่ชนบท มีความเข้มแข็งมากขึ้น มีเศรษฐกิจที่มั่นคงมากขึ้นได้”

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 8 สิงหาคม 2563

กรมส่งเสริมการเกษตรจับมือน้ำตาลมิตรผลหนุนใช้ชีวภัณฑ์คุมแมลงศัตรูอ้อยสร้างสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย

“เข้มแข็ง” อธิบดีกรมส่งเสิรมการเกษตรนำทีมลงพื้นที่สุพรรณบุรี ลงนามร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล หนุนเกษตรกรควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธี หลังแนวโน้มระบาดรุนแรงขึ้น พร้อมชู 3 ชีวภัณฑ์เด่นใช้เห็นผล แตนเบียนไซ่ทริคโคแกรมมาแมลงหางหนีบ และ เชื้อราเมลาไรเซียม

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการจัดพิธีลนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธีระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร โดยนายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กับบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด โดยนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ  รองประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหารกลุ่มมิตรผล

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธีในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ชีววิธีในการควบคุมศัตรูอ้อยและได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องการควบคุมศัตรูอ้อยซึ่งกันและกันร่วมกันศึกษาและพัฒนาการใช้ชีวภัณฑ์ให้ควบคุมศัตรูอ้อยได้หลากหลายชนิด วางเป้าหมายให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจัดการศัตรูพืช

ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเกษตรและชุมชนให้มีความรู้ สามารถผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ และจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองโดยนำร่องขยายผลผ่านแปลงใหญ่อ้อย จากนั้นจะขยายพืชและพื้นที่ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน อำเภอละ 2 แห่งทุกจังหวัด รวม 1,764 ศูนย์ นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ระหว่างบุคลากรและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการจัดการศัตรูอ้อยกับภาคเอกชน

.”แม้ว่าประเทศไทย จะเป็นประเทศผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่ของโลก โดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 11.46 ล้านไร่ แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้แล้วกลับพบว่าอ้อยให้ผลผลิตที่ลดลง โดยปัจจุบันมีผลผลิตเข้าโรงงานประมาณ 74.89 ล้านตัน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากโรคและแมลงศัตรูอ้อยที่มีแนวโน้มการระบาดรุนแรงมากขึ้น นอกจากทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ถึง 474,744 รายโดยตรง ยังมีผลต่อเศรษฐกิจต่อภาพรวมของประเทศอีกด้วย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management – IPM) เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและระบบนิเวศเกิดความสมดุลโดยหนึ่งในวิธีที่สำคัญคือ การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตในการควบคุมประชากรของศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหารหากผสมผสานกับวิธีจัดการศัตรูพืชวิธีอื่นๆ นำไปสู่การจัดการศัตรูพืชที่ความยั่งยืน”

นายเข้มแข็ง กล่าวต่อไปว่า การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ นับเป็นอีกความสำเร็จของการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการด้านการเกษตรใช้ชีววิธีในการควบคุมโรและแมลงศัตรูพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อลดการใช้สารเคมีนำไปสู่การเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล

นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า สำหรับชีวภัณฑ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรผลิต และมีประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช ซึ่งมีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติและส่งเสริมการใช้ศัตรูธรรมชาติ ปัจจุบันดำเนินการ ทั้ง ตัวห้ำ ตัวเบียน  และเชื้อจุลินทรีย์ ได้กว่า 14 ชนิด โดยในส่วนของอ้อยนั้น ที่แนะนำประกอบด้วย หนึ่ง แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมมา ใช้ควบคุมหนอนกออ้อยในระยะไข่ โดยวิธีการใช้ปล่อยแตนเบียนไข่โตรโตแกรมา อัตรา 20,000 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง(10-15 แผ่นต่อไร่) ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้งในช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย สอง แมลงหางหนีบใช้ควบคุมหนอนกออ้อยในระยะไข่ และระยะหนอนวิธีการใช้ และควรปล่อยซ้ำจนกว่าแมลงหางหนีบจะตั้งรกรากได้

“และสาม คือ เชื้อราเมดาไรเซียม เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในแมลง ส่วนใหญ่ใช้กำจัดแมลงที่อาศัยในดินเช่น ด้วงหนวดยาว ซึ่งวิธีการใช้ ให้นำข้ามที่มีสปอร์ของเชื้อราขึ้นปกคลุม จำนวน 2.5 กก. ผสมน้ำสะอาด จำนวน 100 ลิตร ผสมผสารจับใบลงไปเล็กน้อย ใช้ไม้คนจนสปอร์หลุดจากเมล็ดข้าวกรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อเอาเมล็มข้าวออก นำไปราดตามร่องปลูกอ้อย แล้วกลบดินทันทีหรือ โรยเชื้อราเมดาไรเชนียมอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยที่ใช้ปลูก” นายเข้มแข็ง กล่าวในที่สุด

จาก https://www.thaipost.net   วันที่ 7 สิงหาคม 2563

“สุริยะ” สั่งตรวจวิธีเก็บ “แอมโมเนียมไนเตรท” โรงงานกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ

“สุริยะ” สั่ง กรอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจโรงงานผลิตสาร “แอมโมเนียมไนเตรท” จังหวัดระยอง พร้อมเน้นย้ำอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศพร้อมรายงานด่วนภายใน 48 ชั่วโมง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ “กรอ.” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตสาร "แอมโมเนียมไนเตรท" ที่นิคมอุตสาหกรรมไออาร์ซีพี จังหวัดระยอง ในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิต และขั้นตอนในการจัดเก็บรักษาที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนคนไทยโดยเฉพาะชาวระยอง เนื่องจากกรณีเหตุระเบิดช็อกโลกที่ประเทศ "เลบานอน" จากแอมโมเนียมไนเตรทที่จัดเก็บอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมในคลังสินค้าที่ท่าเรือ ทำให้ประชาชนทั่วโลกเกิดความตระหนกอย่างมาก

นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเข้าไปตรวจสอบโรงงานลำดับที่ 48(4) หรือเป็นโรงงานทำไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง จำนวน 9 แห่ง ซี่งบางแห่งมีการครอบครองวัตถุหรือสารที่ก่อให้เกิดระเบิด และสารแอมโมเนียมไนเตรท ว่าแต่ละโรงงานมีการจัดเก็บหรือดำเนินการตามรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานที่ได้เสนอไว้หรือไม่ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต้องรายงานผลการเข้าตรวจสอบภายใน 2 วันหรือ 48 ชั่วโมง หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดจัดเก็บที่ไม่ถูกต้องต้องรีบสั่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในทันที

“กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่กำกับดูแลโรงงาน และมีโรงงานบางประเภทที่ครอบครองวัตถุอันตรายซึ่งรวมถึงสารแอมโมเนียมไนเตรท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องของมาตรการด้านความปลอดภัยของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ทางกระทรวงฯ ให้ความสำคัญมาตลอดในทุก ๆ ด้าน เป้าหมายเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และที่สำคัญจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ชุมชนในพื้นที่โดยรอบว่าโรงงานที่มีการครอบครองวัตถุดังกล่าว มีการจัดเก็บที่ปลอดภัยตามมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้”

เปิดภาพวินาที "ระเบิดยักษ์" กวาดกรุงเลบานอนเศรษฐกิจเลบานอนย่อยยับไปกับแรงระเบิด รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินกรุงเบรุตทำความรู้จักท่าเรือเบรุต เลบานอน

สำหรับสารแอมโมเนียมไนเตรทเกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างกรดไนตริกและแอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตไม้ขีดไฟ ดอกไม้ไฟ และวัตถุระเบิด อีกทั้งใช้เป็นปุ๋ยเคมี (ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท) สารดูดความชื้นสำหรับผ้าฝ้าย  สารกำจัดแมลงและใช้เป็นเวชภัณฑ์ที่ใช้กับสัตว์ โดยในปัจจุบันจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับผิดชอบดูแล 5 หน่วยงาน คือกระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 สิงหาคม 2563

"TPCH"จ่อ COD โรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง กำลังผลิต 26 MW เล็งลงทุนโครงการใหม่หนุนรายได้โต

TPCH เตรียม COD โรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 26 MW ภายในไตรมาส 3/2563 พร้อมลุยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามแผนนโยบายจากภาครัฐ และมองหาโอกาสเข้าลงทุนโครงการใหม่ๆ หนุนการเติบโตในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะที่ผู้ถือหุ้นเตรียมกระเป๋าตุง บอร์ดอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.088 บาท/หุ้น พร้อมจ่ายวันที่ 3 ก.ย.63

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า บริษัทเตรียม COD โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์1 (TPCH 1) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์2 (TPCH 2) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH 5) กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถ COD ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ และจะช่วยผลักดันกำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 109 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) กำลังการผลิต 8.0 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้

“เราคาดว่า จะสามารถ COD โรงไฟฟ้าชีวมวล TPCH 1, TPCH 2 และ TPCH 5 ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะนี้มีความพร้อมเกือบ 100% รอเพียงเจ้าหน้าที่วิศวกรจากต่างประเทศ เดินทางมาเพื่อตรวจโครงการเท่านั้น และจากการ COD โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 แห่งจะส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวล 109 เมกะวัตต์ จากเดิม 83 เมกะวัตต์ มั่นใจช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทฯ เติบโตได้ในระยะยาว”

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในอนาคต บริษัทยังคงเป้าหมายจะมีใบอนุญาตในการขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขยะ ให้ครบ 250 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 110 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่ 50 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ที่ 10 เมกะวัตต์ จากการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน พร้อมกันนี้บริษัทยังมองหาโอกาสการขยายการลงทุนใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้รายได้กำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

"บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการและรอความชัดเจนจากภาครัฐ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน คาดว่า จะเห็นความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้บริษัทได้มีการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีกหลายแห่ง ซึ่งทางบริษัทมีโอกาสพิจารณาการเข้าร่วมทุนหรือซื้อกิจการ ทั้งโครงการที่ดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการที่ได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลตอบแทนของแต่ละโครงการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตในอนาคตได้อย่างมั่นคง”

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 832.41 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 178.65 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2/63 มีรายได้รวมอยู่ที่ 439.05 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 92.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยจ่ายเป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.088 บาทต่อหุ้น ซึ่งการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท โดยกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลระหว่างกาล (Record Date) ในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 3 กันยายน 2563

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 7 สิงหาคม 2563

ภัยแล้งกระทบ “ข้าว-อ้อย-มันสำปะหลัง” คาดเสียหาย 7.6 หมื่นล้าน

ก่อนที่ “พายุซินลากู” จะเข้ามาระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-3 ส.ค. 2563 ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำได้ถึง 1,315 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ประเทศไทยต้องเผชิญกับ “ภาวะภัยแล้ง” ปี 2563 ที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหลายพื้นที่

ล่าสุด ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการประเมินผลกระทบภัยแล้งปี 2563 คาดการณ์ว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคเกษตร ติดลบ -5.9% จากปีก่อน มูลค่า 1,326.6 พันล้านบาท โดยเป็นการลดลงจากประมาณการเมื่อครั้งเดือนเมษายน 2563 ที่คาดว่าจีดีพีภาคเกษตรจะติดลบ -3.6% ถึง 2.1% ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะภัยแล้งกระทบผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลังรวม 106.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 76,333 ล้านบาท (ตามกราฟิก)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ทบทวนเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญซึ่งดำเนินการได้ในปี 2566 รวม 557 โครงการ เพื่อให้นำโครงการที่มีความจำเป็นเข้าสู่กระบวนการขอรับงบประมาณ อาทิ โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ปี 2565-2566 โครงการพัฒนากลุ่มบ่อน้ำบาดาลสำหรับอุตสาหกรรม ปี 2564-2565

ทั้งนี้ สทนช.อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานกำหนดพื้นที่พัฒนาน้ำบาดาลขึ้นประกอบด้วย 14 หน่วยงาน อาทิ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองทัพบก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมการทหารช่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำบาดาล กำหนดแนวทางการพัฒนาหลักเกณฑ์การขุดเจาะน้ำบาดาล ตลอดจนการบริหารศักยภาพน้ำบาดาลในภาพรวม ให้สอดคล้องกับศักยภาพน้ำบาดาลแต่ละพื้นที่ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ม.ค. และวันที่17 มี.ค. 2563 เห็นชอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 1,297 โครงการ ได้ปริมาณน้ำ 11.11 ล้าน ลบ.ม.

ภาพรวมจากรายงานการติดตามสถานการณ์น้ำบาดาลในประเทศไทยปี 2562 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2562 จากการจัดทำบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล 2,506 บ่อทั่วประเทศ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 6 สิงหาคม 2563

ศาลรับฟ้องแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

เกษตรกรทั้งประเทศ มีลุ้น เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เผย ศาลรับฟ้องแล้ว รอฟังคำตัดสินใจว่า จะคุ้มครองชั่วคราว ระงับการแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 19 พฤษภาคม 2563 ลงนามโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม” เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสอง และมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ1 ให้ยกเลิกรายการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2556 ดังต่อไปนี้ โดยให้รายการตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศฉบับนี้แทน

บัญชีที่1 ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ บัญชี 1.1 รายชื่อสารควบคุม ลำดับที่53 คอลร์ไพริฟอส ลำดับที่ 54 คลอร์ไพริสฟอส-เมทิล ลำดับที่ 352 พาราควอต ลำดับที่ 353 พาราควอตไดคลอไรด์ และลำดับที่ 354 พาราควอตไดคลอไรด์

ข้อ2. ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่4 ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

ข้อ3 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

จากกรณีดังกล่าวนี้ นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้มีคดีความคืบหน้าศาลปกครอง ท่านรับคำฟ้องคดีนี้แล้ว เพราะท่านเห็นเกษตรกร​เดือดร้อนจริง จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งแบน 2 สาร ก็คือ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ซี่งกำลังพิจารณา คำขอคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการแบนเป็นเท็จทั้งหมด ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาประมาณ 1-2 อาทิตย์ ซึ่งในขณะนี้กำลังรอการไต่สวนผลคดีจะเป็นอย่างไร

“ที่ผ่านมาไทยไม่ใช่จะเพิ่งจะมีการแบน แต่มีการแบนสารเคมีมากว่า 100 ตัวแล้ว แต่ 2 ตัวนี้ไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่อีกฝ่ายโจมตีกล่าวหา และยืนยันคำเดิมว่าการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แล้วมาแบน โดยที่ไม่มีทางเลือกให้เกษตรกรจะไปใช้สารทดแทนอะไร ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาให้ลุกขึ้นต่อสู้”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 สิงหาคม 2563

ปิดฉาก "CPTPP” เกษตรกร เฮ

เรียบร้อย เกษตรเฮ ลั่น หลัง “วีระกร” เผยปีนี้ไทยจบแล้ว ไม่ทันเจรจาเสนอตัวเข้าร่วม CPTPP อธิบดีกรมเจรจาการค้า ระบุชัด ต้องเป็นปีหน้าคาดจะเป็นเดือน ส.ค. 64 แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าปีหน้าจะมีประชุมกี่ครั้ง

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แจ้งในที่ประชุมว่า ไทย ไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อขออนุมัติไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเจรจา CPTPP ต่อนิวซีแลนด์(ประเทศผู้รักษาสนธิสัญญา CPTPP)เพื่อขอเจรจาเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ซึ่งปีนี้มีจัดแค่ครั้งเดียว ( 5 ส.ค.63) ปีหน้าคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้

นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในหลักของคณะกรรมาธิการ มีความเห็นร่วมกันอยู่ 1 ข้อก็คือ เราจะเข้าร่วม CPTPP เมื่อเราพร้อม ดังนั้นเมื่อทางอธิบดีกรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่าไทยไม่ทันเสนอตัวเพื่อขอเข้าร่วมรู้สึกโล่งผ่อนคลาย เพราะถ้าเราไม่พร้อมอย่าไปเข้า เป็นมติเห็นชอบร่วมกัน

“เราคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรอยู่แล้ว ที่นั่งพิจารณากันอยู่ แล้วไม่มีความคิดเห็นที่จะให้รัฐบาลเข้าร่วมใน CPTPP ในปีนี้ เพราะเราเป็นห่วงเกษตรกร และเชื่อว่ารัฐบาลก็เป็นห่วงเกษตรกรเช่นเดียวกัน แต่รัฐบาลก็ไว้ใจกรรมาธิการคณะนี้ เพราะ กรรมาธิการ ก็คือ ส.ส. ที่ได้รับอนุมัติจากสภา ซึ่งเราก็คือคนของเกษตรกร”

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งช่าติ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ปีนี้ตกขบวน CPTPP เพราะอยากเห็นไทยมีการเตรียมความพร้อมที่ดีกว่า ซึ่งตอนนี้เกษตรกรยังไม่มีความพร้อม ส่วนปีหน้าจะขอเข้าร่วมการเจรจาใหม่ต้องมาคุยกันอีกรอบหนึ่ง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 สิงหาคม 2563

เงินเฟ้อเดือนก.ค.ติดลบ 0.98%

เงินเฟ้อเดือนก.ค.ติดลบ 0.98% แต่ยังปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่2 หลังน้ำมันทรงตัว อาหารสดเริ่มขยับในรอบ3เดือน ขณะที่ทั้งปียังติดลบ1.1%  เหตุกำลังซื้อยังไม่ฟื้น

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ค.2563 ลดลง 0.98% เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากที่เคยติดลบหนักตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย.2563 โดยลดลง 2.99% , 3.44% และ 1.57% ตามลำดับ จึงไม่น่ากังวลในเรื่องเงินเฟ้อที่ขยายตัวติดลบ โดยมองว่าเงินเฟ้อจะยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไป ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศ และเงินเฟ้อรวม รวม 7 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) ลดลง 1.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออก เดือนก.ค.2563 สูงขึ้น 0.39% เฉลี่ย 7 เดือน สูงขึ้น 0.34%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนก.ค.2563 ฟื้นตัวดีขึ้น มาจากราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้การหดตัวของราคาพลังงานในเดือนนี้ลดลง จากเดิมที่ราคาพลังงานจะเป็นตัวฉุดเงินเฟ้อสำคัญ , อาหารสดกลับมาเพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือน จากการเปิดภาคเรียน การคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ และราคาเนื้อสุกรในประเทศสูงขึ้น จากความต้องการของเพื่อนบ้าน , มาตรการลดค่าไฟฟ้าและประปา สิ้นสุดลง และผู้ประกอบการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าน้อยลง ทำให้ราคากลับมาเป็นปกติ

ส่วนรายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.98% มาจากการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 1.87% โดยการขนส่งและการสื่อสาร ลด 5.12% กลุ่มพลังงาน ลด 10.91% เคหสถาน ลด 0.06% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.04% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.21% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลด 0.02% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.55% จากการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 5.17% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.43% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.63% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.57% นอกบ้าน เพิ่ม 0.71% แต่ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ ราคาลดลง

ทั้งนี้ ในเดือนก.ค.2563 มีสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 210 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ซี่โครงหมู ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า น้ำมันพืช น้ำอัดลม และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ไม่เปลี่ยนแปลง 75 รายการ และลดลง 137 รายการ เช่น น้ำมัน ทั้งเบนซิน และดีเซล ก๊าซหุงต้ม ส้มเขียวหวาน พริกสด และเงาะ เป็นต้น    

แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนต่อไป คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการที่รัฐบาลส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวในประเทศ และราคาพลังงานเริ่มทรงตัว แต่อาจจะยังอยู่ในแดนลบ เพราะราคาพลังงานเมื่อเทียบกับปีก่อนยังต่ำ และยังต้องติดตามการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ราคาพลังงานโลก เศรษฐกิจโลก ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังวางใจไม่ได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 0.7% ถึงลบ 1.5% มีค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1% มีปัจจัยสนับสนุนจากจีดีพี ติดลบ 7.6% ถึงลบ 8.6% น้ำมันดิบดูไบ 35-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 สิงหาคม 2563

ชาวไร่ยิ้มออก! ราคาน้ำตาลโลกขยับหวังดันราคาอ้อยขั้นต้นปี 63/64 ฟื้น

ชาวไร่อ้อยลุ้นราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขยับหลังเริ่มไต่ระดับสู่ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ เหตุบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลส่งออกรายใหญ่สุดของโลกเจอพิษโควิด-19 หวังฟื้นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 63/64 สูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยอมรับผลผลิตยังคงมีแนวโน้มตกต่ำหลังเจอแล้งต่อเนื่อง

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกส่งมอบล่วงหน้าขยับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกเผชิญปัญหาไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อการส่งออกซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยหากราคาเคลื่อนไหวในระดับดังกล่าวในช่วงนี้ก็จะทำให้โอกาสที่ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2563/64 เฉลี่ยความหวาน 10 ซีซีเอส จะสูงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในระดับ 750 บาทต่อตัน

“ราคาน้ำตาลตลาดโลกส่งมอบล่วงหน้าเริ่มขยับตัวเพิ่มซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตไทยของฤดูที่ผ่านมาตกต่ำและมีแนวโน้มจะลดลงอีกในฤดูหีบใหม่ โดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด หรือ อนท. จะมีการเปิดประมูลซื้อขายน้ำตาลฤดูหีบใหม่ช่วง 7 ส.ค.นี้ ซึ่งเมื่อรวมพรีเมียมแล้วราคาน่าจะอยู่ระดับ 15-16 เซ็นต์ต่อปอนด์ ดังนั้น หากเป็นระดับราคาดังกล่าวก็จะทำให้โอกาที่ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่จะสูงกว่าฤดูที่ผ่านมาแต่จะมากน้อยแค่ไหนก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง” นายนราธิปกล่าว

สำหรับชาวไร่อ้อย แม้ราคาที่อาจจะฟื้นตัวดีขึ้นจากฤดูหีบก่อนหน้านี้แต่ในแง่ของผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 63/64 ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้ยังมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอีกจากปี 2562/63 ที่ผลผลิตอ้อยอยู่ในระดับ 74.89 ล้านตัน เนื่องจากฤดูก่อนหน้าประสบปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ตออ้อยไม่ดีต่อเนื่องและปีนี้ฝนก็มาล่ากว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังพบต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นทั้งค่าแรงตัดอ้อยทั้งจากคนและเครื่องจักร ค่าปุ๋ย เป็นต้นทำให้ต้นทุนของชาวไร่อ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละประมาณ 1,000 บาทเป็นอย่างน้อย

สำหรับฤดูหีบปี 63/64 นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยังมุ่งเน้นให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเข้าหีบเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อเนื่อง โดยฤดูหีบปี 62/63 สามารถตัดอ้อยสดคิดเป็น 50.34% ส่วนอ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 49.65% ของอ้อยที่หีบทั้งหมด 74.89 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ฤดูหีบใหม่ตามแผนต้องการให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวันและหมดภายในปี 2564/65

“ยอมรับว่าก็ไม่ง่ายนักแต่ทุกฝ่ายก็จะพยายามทำ โดยก่อนเปิดหีบคงจะต้องหารือกันอีกครั้งเพราะเบื้องต้นชาวไร่เองต้องการให้รัฐสนับสนุนราคาอ้อยทุกตันอ้อยและให้คนตัดอ้อยสดสูงกว่าเช่นฤดูหีบที่ผ่านมา แต่ฝ่ายราชการระบุว่าจะช่วยเหลือเฉพาะอ้อยสดเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ชาวไร่ที่เหลือไม่มีศักยภาพจะไปซื้อรถตัดอ้อยแล้วเพราะผลผลิตอ้อยที่ลดลงจากระดับ 130 กว่าล้านตันเหลือแค่ 74-75 ล้านตันไม่คุ้ม ซึ่งขณะนี้ชาวไร่มีรถตัดอ้อยราว 2,000 คัน ที่เหลืออีกราว 1,000 คันเป็นของโรงงาน ดังนั้นภาระรถตัดอ้อยจากนี้ไปคงอยู่ที่โรงงาน” นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 4 สิงหาคม 2563

“มนัญญา” ยืนยันไม่ทบทวนแบนพาราควอต 

“มนัญญา” ระบุกระบวนการแบนพาราควอตจบไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องทบทวน เชื่อเกษตรอินทรีย์เป็นทางรอดของประเทศ 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีผู้แทนสมาคมการเกษตร 11 แห่ง ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทบทวนการยกเลิกใช้พาราควอต เพราะเกษตรกรเดือดร้อน เนื่องจากสารอื่นที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้มีประสิทธิภาพไม่เท่าเทียมพาราควอต อีกทั้งเมื่อฝนชุกกำจัดวัชพืชไม่ทัน ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และคาดว่าจะได้ผลผลิตต่ำ ว่า จากการเดินทางตรวจราชการทั่วประเทศไม่มีเกษตรกรมาร้องเรียนว่า เดือดร้อนจากการยกเลิกใช้พาราควอต ตามข้อมูลที่ได้รับรายงานพืชที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารกำจัดวัชพืชอื่นมีเพียงมันสำปะหลัง เนื่องจากสารที่มีฤทธิ์ดูดซึม ทำให้มันสำปะหลังโตช้า จึงแนะนำให้ใช้วิธีการเตรียมแปลงแบบยกร่อง ซึ่งจะกำจัดวัชพืชได้ง่าย

ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระบวนการแบนพาราควอตจบแล้ว จากนี้เกษตรกรต้องนำมาคืนร้านค้าตามเวลาที่คำสั่งกรมวิชาการเกษตรกำหนด คือ ภายใน 29 สิงหาคม ไม่จำเป็นต้องทบทวน เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาเกี่ยวกับการพัฒนาภาคเกษตร ข้อ 5.3.4 ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งจะลด ละ เลิกใช้ยาปราบศัตรูพืชโดยเร็ว ตลอดจนส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มและโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยประการแรก คือ เกษตรอินทรีย์

นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า เกษตรอินทรีย์เป็นทางรอดของประเทศ เนื่องจากตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงกว่าเกษตรที่ใช้สารเคมีมาก จึงจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรและทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัย

“จะไม่ทบทวนการแบนพาราควอต อีกทั้งหากมีข้อมูลว่าสารเคมีเกษตรใดมีอันตรายจะเสนอยกเลิกทุกชนิด เช่นเดียวกับไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชอีกชนิดที่มีมาตรการจำกัดการใช้นั้น จะผลักดันให้ยกเลิกให้ได้ แล้วส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่ปราชญ์เกษตรทั่วประเทศจำนวนมากใช้ได้ผลจริง” นางสาวมนัญญา กล่าว

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 4 สิงหาคม 2563

เศรษฐกิจปีนี้ติดลบใกล้แตะ10%

ม.หอการค้าไทย คาดเศรษฐกิจไทยติดลบแรง 9.4% จากผลกระทบของโควิด-19

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย หอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ปรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จากเดิมคาดจะติดลบ 4.9% เป็นติดลบ 9.4% จากผลกระทบของโควิด-19

"เศรษฐกิจไทยหายไป 2 ล้านล้านบาท จากพิษโควิด-19 ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล ต้องเร่งออกมาตรการเพิ่มเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นการเร่งด่วน" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ศูนย์ฯ ยังคาดว่าการส่งออกของไทยจะติดลบ 10.2% การลงทุนรวมติดลบ 8% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ติดลบ 82.3% หรือเหลือไม่ถึง 10 ล้านคน จากที่ประมารการไว้ประมาณ 40 คน จากมาตรการปิดเมืองป้องกันการระบาดของโควิด

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อุตสาหกรรมสั่งศูนย์ITCทั่วประเทศดันเกษตรอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม สั่งการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม รวบรวมเครื่องจักรกลที่ทันสมัย รองรับความต้องการของผู้ประกอบการเกษตร โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรที่มีราคาสูง เพื่อใช้ทดสอบตลาดให้ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นายจุลพงษ์ ทวีศรี  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและการยกระดับภาคการเกษตรไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งพบว่าปัจจัยที่จำเป็น คือ เครื่องจักรกล ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอุปสรรค์ที่ภาคการเกษตรประสบปัญหา จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)  เร่งรัดการดำเนินงานศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center :ITC 4.0) ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัยรวบรวมเครื่องจักรกลที่ทันสมัย รองรับความต้องการของผู้ประกอบการเกษตร โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรที่มีราคาสูง เพื่อใช้ศึกษาความเป็นไปได้และทดสอบตลาดให้ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

โดยพบว่าที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมากสนใจเข้ามาทดลองใช้เครื่องจักรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยที่ศูนย์ฯ ที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัดจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจผลิตภัณฑ์ภายในชุมชน เพื่อคัดสรรสินค้าที่คาดว่าจะสามารถนำมาแปรรูปและพัฒนาเพิ่มมูลค่าได้ 

"วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมหลายภาคส่วน แต่สำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เราเห็นว่ายังเป็นโอกาสที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี ซึ่งในปี 2564 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเดินหน้าสนับสนุนและพัฒนาต่อไป"

ในปัจจุบันศูนย์ ITC 4.0 ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการรวบรวมเครื่องจักรกลเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการและเกษตรกร อาทิ เครื่องสกัดด่วน (Hi Speed Extractor) เครื่องระเหยเข้มข้น (Falling Film Evaporator) เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) และเครื่องอบแห้งระบบปั้มความร้อน (Heat Pump Dryer) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Design Center) ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย สอดรับความต้องการของตลาดด้วย 

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา กสอ. โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 ได้ดำเนินการให้คำแนะนำรวมทั้งสบันสนุนในด้านต่าง ๆ จนกระทั่งเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในธุรกิจจนประสบความสำเร็จ อาทิ นางวิมล ฟักทอง ผู้ประกอบการบริษัท เห็ดดีไลท์ ไทยออร์แกนิค จำกัด อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่ได้แปรรูปเห็ดหูหนูผ่านเครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน เพื่ออบเห็ดให้แห้งและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเห็ดเจลลี่เฟรช ทำให้รายได้จากการจำหน่ายเห็ดหูหนูแห้งราคา กก.ละ 250 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 500 บาท ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 40,000 บาทต่อเดือน และ นางรัตนากร แก้วสายัณห์ ผู้ประกอบการผลิตจำหน่าย “กล้วยตากรัตนากร” อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ที่ได้นำหัวปลีมาทดลองแปรรูปเป็นหัวปลีผงอัดแคปซูล สำหรับบำรุงน้ำนมของแม่ลูกอ่อน ด้วยวิธี Spray Dryer เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย ทำให้รายได้จากการจำหน่ายหัวปลีสดเดิม กก.ละ 7 บาท เป็น กก.ละ 850 บาท นายจุลพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เทคโนโลยีบริหารนํ้าต้นทุน

การผลิตงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงต้องมาจากการมีส่วนร่วมของผู้เป็นเจ้าของโจทย์หรือใช้ประโยชน์จากงานผลการศึกษานั้น ดังนั้นในการศึกษากลยุทธ์การปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำสำหรับพัฒนาการบริหารจัดการน้ำต้นทุนระยะยาวของเขื่อนภูมิพล ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ หรือโครงการวิจัยเข็มมุ่งฯ จึงทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาตั้งแต่เริ่ม

ผศ.ดร.อารียา ฤทธิมา นักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษากลยุทธ์การปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำสำหรับพัฒนาการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในระยะยาวของเขื่อนภูมิพล (ระยะที่ 1) กล่าวถึงสถานการณ์ของหนึ่งในเขื่อนหลักของไทยอย่างเขื่อนภูมิพล ว่า แม้เขื่อนภูมิพลจะมีศักยภาพการกักเก็บน้ำได้ถึง 2,700-4,000 ล้าน ลบ.ม./ปี

แต่จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และปริมาณฝนที่ตกไม่แน่นอนล้วนมีผลต่อปริมาณน้ำกักเก็บ โดยหากย้อนกลับไปดูปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพล พบว่า หลังปี 2554 เป็นต้นมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย ทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักมีแนวโน้มลดลง จำเป็นต้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนในระยะยาว

เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มปริมาณน้ำ โดยเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.การคำนวณความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงโดยใช้ข้อมูลCould-Based Irri Sat Application ติดตามพื้นที่เพาะปลูกจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม วิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในทุกกิจกรรมบนพื้นที่โครงการเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งหากคำนวณความต้องการน้ำที่แท้จริงได้ก็จะกำหนดการระบายน้ำที่แท้จริงได้อย่างถูกต้องตามความต้องการใช้น้ำ

ซึ่งหากควบคุมพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตามปัจจัยน้ำต้นทุน ย่อมสามารถประหยัดส่วนหนึ่งจากเขื่อนได้ 2.การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลใหม่ โดยนำเสนอแบบจำลองโดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือ แบบจำลองแบบ Fuzzy และแบบจำลอง Neuro Fuzzy แบบปรับได้ ซึ่งผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนก่อนฤดูฝนได้18.37% และก่อนฤดูแล้ง 15.57% และ 3.การใช้โปรแกรมเชิงสุ่มแบบข้อจำกัด โดยนำข้อมูลการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมากำหนดการระบายน้ำ

โดยอาศัยเทคนิคการเรียนรู้แบบเคลื่อน(Machine Learning) ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า สามารถเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงก่อนฤดูฝนได้ 14% ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 10.36% ทั้งนี้ ในระยะต่อไป จะได้นำผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการวิจัยอื่นในแผนฯไม่ว่าจะเป็นปริมาณการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าสองสัปดาห์ ปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ที่ได้จากแบบจำลองที่มีความแม่นยำ หรือแม้กระทั่งปริมาณความต้องการน้ำที่แท้จริงในพื้นที่ถือเป็นข้อมูลนำเข้าที่สำคัญในแบบจำลองของการปฏิบัติอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล

เชื่อว่า หากการดำเนินงานแล้วเสร็จจะเป็นส่วนสำคัญให้หน่วยงานภาคปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน หรือ กฟผ. นำไปใช้กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่มีประสิทธิภาพในอนาคต หมายถึงสามารถบริหารจัดการน้ำต้นทุนในระยะยาวได้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทีมวิจัยอยู่ในระหว่างปรับสมการข้อจำกัดให้สอดคล้องกับพื้นที่ศึกษา โดยหารือกับผู้ปฏิบัติงานในส่วนของกองการจัดการทรัพยากรน้ำ กฟผ. เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจ

ขณะที่ นางวันเพ็ญ แก้วแกมทอง หัวหน้ากองจัดการทรัพยากรน้ำ กฟผ.กล่าวเสริมว่า กฟผ. นอกจากการผลิตและจัดหาไฟฟ้าแล้ว ยังดูแลอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 12 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับกรมชลประทาน คณะอนุกรรมการด้านน้ำ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ส่วนการพัฒนางานด้านการบริหารจัดการน้ำนอกจากงานวิจัยที่มีดำเนินการเองแล้ว งานวิจัยข้างต้นโดยแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำของ กฟผ. ได้ดียิ่งขึ้น

“ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ได้มีส่วนร่วมกับการทำวิจัยในครั้งนี้ ทั้งให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงาน เข้าร่วมศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมวิจัยด้วย นอกจากจะได้ประโยชน์ในแง่ของการนำชิ้นงานมาประยุกต์ใช้แล้ว ในตัวขององค์ความรู้ยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดใช้กับอีกหลายเขื่อน เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นเขื่อนขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนซึ่งมีความแปรผันค่อนข้างมาก” นางวันเพ็ญ กล่าว

แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead)

ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์

วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563

หนุนเกษตรกรใช้ประโยชน์FTA ขยายตลาดต่างประเทศ

 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดบูธแสดงสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปจากพื้นที่ภาคกลางตอนล่างกว่า 20 บูธ  หนุนเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมจัดคลินิกให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเอฟทีเอ ขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศ

  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย หลังเปิดงาน สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย ขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์การค้าโรบินสันไลน์สไตล์ จังหวัดเพชรบุรี ว่า การจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2563 เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 5 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และราชบุรี ได้นำสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่คัดสรรแล้วมาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และช่องทางการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่

กรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งช่วยฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 กรมฯ จึงได้ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ คัดสรรสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพมาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าภายในงาน เช่น น้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวทับสะแก สับปะรดเหลืองสามร้อยยอด นมอัดเม็ดจากสหกรณ์ โคนมห้วยสัตว์ใหญ่ ผ้าเขียนลายทอง ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากป่านศรนารายณ์ เครื่องสำอาง และเกลือทะเลขัดผิวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีคลีนิกให้ข้อมูลและคำปรึกษาเกี่ยวกับอัตราภาษีนำเข้า-ส่งออกของประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า และขั้นตอนการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ กิจกรรมพิเศษ อาทิ นาทีทองลดราคาสินค้า และตอบคำถามชิงรางวัล โดยผู้ร่วมงานสามารถชิม ช้อป และชิลกับสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมจัดงานรูปแบบเดียวกันให้กับกลุ่มเกษตรกร ภาคเหนือตอนล่าง ที่จังหวัดพิษณุโลกในเดือนกันยายนต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563

3 ส.ค.จับตา อนุฯ กมธ.ถกปมร้อน CPTPP02

​​​​​​​ไทย จะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ จับตา อนุฯ ศึกษาผลกระทบรายพืช “อนันต์” นั่งหัวโต๊ะ ถกข้อกังวล-อนุสัญญา UPOV 1991 คุ้มค่าหรือไม่ที่จะเข้าร่วม

แหล่งข่าวคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายอนันต์ ศรีพันธุ์  ประธานคณะอนุฯ จะมีวาระการพิจารณาศึกษาผลกระทบ CPTPP โดยจำแนกตามกลุ่มพืชถึงผลกระทบ ทั้งนี้ในกรอบการพิจารณากรอบและแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน ที่สำคัญ คือ ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับพันธุ์พืช โดยจะได้มีการพิจารณาศึกษาในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.แนวคิดและการตีความอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) รวมทั้งข้อกังวลและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยต้องเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าวรวมทั้งข้อกังวลและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยต้องเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เกษตรฯ ยืนยันไม่ทบทวนแบนพาราควอต

รมช.เกษตรฯ  ชี้กระบวนการแบนพาราควอตเป็นไปตามกฎหมายไม่สามารถทบทวนได้ แต่เปิดช่อง หากกรมวิชาการเกษตรรวบรวมข้อมูลพบว่าเกษตรกรเดือดร้อนจากต้นทุนที่สูงขึ้นและผลผลิตต่ำลงสามารถเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา ด้านผู้แทนเกษตรกรเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีพรุ่งนี้ หวังเป็นที่พึ่งสุดท้าย ให้ทบทวนการแบนพาราควอต

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การแบนสารเคมี 2 ชนิดเป็นไปตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จึงไม่สามารถทบทวนการแบนได้ โดยเกษตรกรจะต้องนำสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสส่งคืนร้านค้าภายในวันที่ 29 สิงหาคม เนื่องจากเป็นวัตถุอันตรายชนิด

ทั้งนี้ รู้สึกเห็นใจเกษตรกรที่ต้องเผชิญต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการห้ามใช้พาราควอตซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ใช้มายาวนาน แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่ามีอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมีข้อมูลว่าหากสะสมในร่างกายมากจะเกิดอันตรายต่อเกษตรกร อีกทั้งมีผู้นำพาราควอตไปดื่มเพื่อฆ่าตัวตายหลายราย จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทางกระทรวงเกษตรฯ หาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรโดยมอบหมายกรมวิชาการเกษตรหาสารทดแทน ได้แก่ สารไดยูรอน อาทราซีน อามีทรีน และกลูโฟซิเนตใช้ในมันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย ส่วนไม้ผล ยางพารา และปาล์มน้ำมันใช้สารไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนต ซึ่งทราบว่าประสิทธิภาพด้อยกว่าพาราควอตและราคาแพงกว่า แนวทางช่วยเหลืออีกประการ คือ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดหาเครื่องมือ-เครื่องจักรกำจัดวัชพืช ได้แก่ เครื่องตัดหญ้าและรถไถ ซึ่งเชื่อว่ามีต้นทุนถูกกว่าการใช้สารเคมี

นายประภัตร กล่าวต่อว่า การพิจารณายกเลิกสารพาราควอตอาจเป็นไปได้ในอนาคต หากกรมวิชาการเกษตรนำเสนอข้อมูลว่าเกษตรกรเดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำลง แต่ขณะนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วไปก่อน

ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) จะร่วมกับเกษตรกรจำนวนหนึ่งเดินทางไปยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทบทวนการแบนพาราควอต พร้อมข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร เนื่องจากสารกำจัดวัชพืชที่แนะนำให้ใช้ไม่สามารถทดแทนพาราคอวตซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีฤทธิ์เผาไหม้ได้ เพราะลักษณะการออกฤทธิ์ต่างกัน เกษตรกรใช้สารที่แนะนำแล้ว ปรากฏว่า พืชที่ปลูกชะงักการเจริญเติบโตจากสารกำจัดวัชพืชที่มีฤทธิ์ดูดซึม ไม่สามารถ​กำจัดวัชพืช​ซึ่ง​เติบโต​เร็ว​มากในฤดู​ฝนได้ทัน ทำให้ผลผลิตต่ำด้วย หวังว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายช่วยให้เกษตรกรที่เดือดร้อนมากนั้น สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้.

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 2 สิงหาคม 2563

อาเซียนเดินหน้าฟื้นเอฟทีเออียู

อาเซียนหารือคู่เจรจาผ่านการประชุมทางไกล เคาะแผนงานด้านการค้าการลงทุนอาเซียน-อียู เตรียมชงรัฐมนตรี 2 ฝ่ายรับรอง 29 ส.ค.นี้ ฟื้นเจรจาเอฟทีเอระหว่างกัน เดินหน้าอัพเกรดเอฟทีเอกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ถกเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวกับจีน เกาหลีใต้เพิ่มเติม เดินหน้าปูทางทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ส่วนรัสเซียเห็นพ้องเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยในการหารือกับสหภาพยุโรป (อียู) ได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 โดยจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ครั้งที่ 17 รับรอง วันที่ 29 สิงหาคม 2563 ซึ่งจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุน และเป็นการเตรียมพร้อมในการกลับมาเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-อียู

“การประชุมวันที่ 29 สิงหาคม 2563 นอกจากจะให้การรับรองแผนงานดังกล่าวแล้ว ยังจะถือโอกาสหารือประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกและภูมิภาค เช่น การรับมือและฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 การปฏิรูปองค์การการค้าโลก และหาแนวทางการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี รวมทั้งจะมีการหารือถึงการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างอาเซียน-อียู ที่หยุดชะงัก โดยปัจจุบันอียูมีความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศในอาเซียน 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และเวียดนาม อยู่ระหว่างการเจรจากับอินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างการพิจารณาฟื้นการเจรจากับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย” นางอรมน กล่าว

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการหารือกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ได้มีการติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และความคืบหน้าการเตรียมการเจรจาเพื่อปรับปรุงความตกลง AANZFTA ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ให้ทันสมัย ตอบสนองสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคการค้าดิจิทัล ซึ่งเบื้องต้นได้อนุโลมให้ใช้สำเนาใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารฉบับจริง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ส่งออกมากขึ้นในช่วงโควิด-19

ส่วนผลการหารือกับจีน ได้ติดตามความคืบหน้าการใช้บังคับพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA Upgrading Protocol) และการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม โดยจะเริ่มหารือภายหลังการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งอาเซียนได้ย้ำต่อจีนว่าการลดภาษีต้องเป็นประโยชน์กับการค้า 2 ฝ่าย และต้องไม่มีมาตรการกีดกัน เช่น SPS รวมทั้งการเพิ่มความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) เพื่อพัฒนาเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ทางด้านการหารือกับเกาหลี ได้ติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) และการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการเจรจาหลังจากการลงนาม RCEP เสร็จสิ้นแล้ว โดยเกาหลียังได้แสดงความพร้อมในการสนับสนุนอาเซียนผ่านโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาทิ โครงการ Technology Advice and Solutions from Korea (TASK) ที่มีเป้าหมายจะจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมและศูนย์ความร่วมมือด้านมาตรฐานในอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาประเทศที่จะจัดตั้งโดยคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ในปี 2564

 ขณะที่การหารือกับแคนาดา ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา โดยได้รับทราบความคืบหน้าการหารือด้านนโยบายการค้าของผู้เชี่ยวชาญอาเซียนและแคนาดา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนยน 2563 ที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งพบว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นและระดับความคาดหวังที่ต่างกัน ที่ประชุมจึงเห็นควรจัดทำเอกสารอ้างอิง (Reference Paper) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องขอบเขต ความคาดหวัง และหัวข้อที่เห็นควรมีในการจัดทำเอฟทีเอระหว่างกัน เพื่อเป็นข้อมูลนำเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่าย ในการพิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้ โดยในส่วนการเตรียมการของไทย กรมฯ จะจัดหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้าเรื่องนี้ และรับฟังความเห็นต่อการจัดทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ต่อไป

สำหรับรัสเซีย ได้ร่วมกันพิจารณาผลการดำเนินงานตามแผนความร่วมมือการค้าและการลงทุนนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา (Post-2017 ASEAN-Russia Trade and Investment Work Programme) ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือในสาขาเกษตร พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน และเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ ล่าสุด คณะกรรมการร่วมอาเซียนและรัสเซียได้อนุมัติโครงการด้านการเกษตรและประมง อาทิ การบริหารจัดการน้ำเสีย และระบบเครือข่ายการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในอาเซียนอีกด้วย และยังได้หารือกับผู้แทนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission : EEC) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ที่มีสมาชิก 5 ประเทศ ประกอบด้วย รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน เพื่อหารือด้านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมได้ให้ไฟเขียวกับข้อเสนอของ EEC ให้ขยายอายุแผนงานความร่วมมือระดับภูมิภาค (Programme of Cooperation : PoC) ระหว่างอาเซียนและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียออกไปจนถึงปี 2568 เพื่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ส.ค. 2563 พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับญี่ปุ่น ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่มีผลใช้บังคับกับไทยตั้งแต่ปี 2552 และการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น สมัยพิเศษว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 และรับทราบเรื่องความคืบหน้าการให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลง AJCEP ของญี่ปุ่นและเวียดนาม ส่งผลให้พิธีสารดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. 2563 ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้สัตยาบันแล้ว ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม โดยพิธีสารฉบับใหม่นี้ จะเป็นการยกระดับความตกลง AJCEP ให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุนด้วย จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 2 สิงหาคม 2563