http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนสิงหาคม 2564]

ธ.ก.ส. ชี้ คลายล็อกดาวน์ช่วยหนุนสินค้าเกษตรหลายตัวราคาขึ้น

ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. คาดราคาสินค้าเกษตรเดือน ก.ย. 64 หลายตัวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ค่าบาทที่อ่อนตัวลง และมาตรการคลายล็อกดาวน์ ยกเว้นข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว หลังอินเดีย เวียดนาม เพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน 2564  โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,075 - 10,465 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.42 - 5.35 เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดจากสต็อกข้าวของผู้ประกอบการที่ลดลง  ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 49.00 - 52.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.31 – 6.45 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณยางพาราในประเทศที่ออกสู่ตลาดลดลง การขาดแคลนแรงงานกรีดยางพารา และภาวะฝนตกชุกในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ประกอบกับความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และความต้องการในประเทศคู่ค้าที่เติบโตตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน อย่างไรก็ตาม สต็อกยางพาราโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยกดดันราคายางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้ มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.01 – 2.05 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 2.50 เนื่องจากปริมาณผลผลิตปรับตัวลดลงเพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.78 - 7.37 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.04 - 9.80 เนื่องจากนโยบายภาครัฐขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 และราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบของตลาดประเทศมาเลเซียสูงขึ้น  และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 126 - 127 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.80 - 1.50 เนื่องจากคาดว่าจะเริ่มมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ทำให้ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการและสามารถเดินทางได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณกุ้งลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้เกษตรกรลดจำนวนและเลื่อนเวลาการปล่อยลูกกุ้ง

คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือน ก.ย.64

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,211 - 7,405 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.36 - 4.01 เนื่องจากการปรับลดราคาส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ อาทิ ประเทศอินเดีย และประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลก และส่งผลกดดันให้ราคาส่งออกข้าวลดลง  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 9,114 - 9,311 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.69 - 3.77 เนื่องจากมีการคาดการณ์ผลผลิตข้าวเหนียวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีจะมีปริมาณมากกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคมีเท่าเดิม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.60 - 7.69 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.40 - 1.50 เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว คาดว่าปริมาณผลผลิตในเดือนนี้จะออกสู่ตลาดประมาณร้อยละ 17.53 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นไม่มากจากการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสัญญาส่งมอบถั่วเหลืองปรับตัวลดลง

ส่วน น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 19.49 - 19.69 เซนต์/ปอนด์ (14.11 - 14.25 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 - 1.50 เนื่องจากมีความชัดเจนว่าประเทศอินเดียจะดำเนินนโยบายอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลซึ่งส่งผลกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลก ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันในเดือนกันยายนที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการเอทานอลปรับลดลง อาจกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลของประเทศบราซิลเพิ่มการผลิตน้ำตาลมากกว่าเอทานอล ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สุกร ราคาอยู่ที่ 67.26 - 67.98 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.32 - 3.31 เนื่องจากโรงฆ่าสุกรบางพื้นที่ถูกระงับการดำเนินงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีสุกรเหลือสะสมในฟาร์มสุกรจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการบริโภค และส่งผลให้ราคาสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้น  และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.50 - 95.10 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.58 เนื่องจากจำนวนโคเนื้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการบริโภคที่ลดลง ส่งผลกดดันราคาซื้อขายโคเนื้อภายในประเทศปรับตัวลดลง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กรมฝนหลวงฯ เร่งแผนสร้างฝนฝ่าวิกฤติแล้ง หวัง 2 เดือนสุดท้ายก่อนหมดฤดูฝนช่วยเติมน้ำในเขื่อนให้ได้มากที่สุด

เหลืออีกประมาณ 2 เดือน (กันยายน-ตุลาคม) ก็จะหมดฤดูฝน แต่จากสถานการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและแหล่งเก็บน้ำต่างๆ ในประเทศไทยปีนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของเกษตรกรและประชาชนในอนาคต

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ฝนที่ตกนั้นมีการกระจายตัวในหลายพื้นที่และมีฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ปกติเกือบทุกภูมิภาค ตั้งแต่ภาคเหนือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งเป็นเขื่อนสำคัญที่ผันน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การได้ค่อนข้างน้อย เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลาง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา พื้นที่ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด พื้นที่ภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ พื้นที่ภาคใต้ตอนบน เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนรัชประภา ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ในเกณฑ์น้อย

ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 2 เดือนคือเดือนกันยายนและตุลาคมก็จะหมดฤดูฝน หากไม่มีพายุจรเข้ามาในประเทศไทยโดยตรงที่จะทำให้ฝนตกเหนือเขื่อนเหล่านี้ จะทำให้สถานการณ์น้ำต้นทุนน่าเป็นห่วง โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง และช่วยปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมมือกับเหล่าทัพ กองทัพอากาศและกองทัพบกในการเร่งปฏิบัติการฝนหลวงในภารกิจเติมน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เหลืออีก 2 เดือนต่อจากนี้เราจะพยายามขึ้นปฏิบัติการทำฝนทันทีที่สภาพอากาศเข้าเงื่อนไข เพื่อทยอยเติมน้ำในเขื่อนให้ได้ปริมาณน้ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอไปจนถึงฤดูฝนถัดไป

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเดือนกันยายนนี้ มี 2 ภารกิจหลัก คือ การบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และเติมน้ำต้นทุนให้กับลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะปฏิบัติการฝนหลวงทันทีหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการทำฝน โดยไม่มีวันหยุดใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้น้ำ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งกลับคืนสู่ภูมิลำเนา และไปประกอบอาชีพอาชีพดั้งเดิมคืออาชีพเกษตร มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำและสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ต้องเข้าไปดำเนินการเร่งด่วน ณ ขณะนี้อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเป็นประจำทุกปี เนื่องจากอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้สั่งการให้ให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง ให้เร่งขึ้นบินทำฝนทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว

“สถานการณ์น้ำปัจจุบันทั้งในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย จึงอยากฝากถึงเกษตรกรและประชาชนร่วมด้วยช่วยกันในการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าจะได้มีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้ เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤติภัยแล้งไปได้ด้วยดี” อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวย้ำ

สำหรับท่านใดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำต้องการขอรับบริการฝนหลวง สามารถติดต่อกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ผ่านช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ส่งออกเพิ่มดันดัชนีผลผลิตอุตฯโต5.12%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่าสถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2564 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้นภาคการผลิตของไทยจึงได้รับอานิสงส์

สามารถขยายการผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้นโดยการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ปัจจุบันยังไม่ส่งผลต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2564 ยังคงขยายตัว 3.41% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวของกับปีก่อนซึ่งแสดงให้เห็นจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 91.41 เพิ่มขึ้น 5.12%เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI ขยายตัว อาทิ รถยนต์และเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เป็นต้น เนื่องจากมีความต้องการตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) มูลค่า 541,763.15 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 28.67% ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564(มกราคม-กรกฎาคม) ดัชนี MPI อยู่ที่ระดับ 99.03 ขยายตัวเฉลี่ย 8.91%

ส่วนการนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัว 35.40%ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูงถึง 50.11% ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจากตัวเลขการนำเข้าดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังมีแนวโน้มที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 และแผนการเปิดประเทศในครึ่งปีหลังแต่ยังมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ อาทิ การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแคลนชิพและตู้คอนเทนเนอร์ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าคาดการณ์

อุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตขยายตัวในเดือนกรกฎาคม 2564 ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.49% ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.02% ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.55% เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.61% น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้น 93.73%

จาก https://www.naewna.com วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ  32.44 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท “ทรงตัว” คาดแนวรับหลักของเงินบาทยังอยู่ในโซน 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.44 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จาก ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและรัฐบาลได้ประกาศทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลต่อแนวโน้มการระบาดในไทย และมองว่า การตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสรุปได้ว่าการระบาดนั้นลดลงแล้ว (อัตราการตรวจพบเชื้อ หรือ Positive Rate ยังสูงกว่า 20% ซึ่งมากกว่าที่ WHO แนะนำไว้ว่าไม่ควรเกิน 5%)  จึงมองว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง ซึ่งอาจจะต้องจับตาแนวโน้มการระบาดในระยะ 3-4 สัปดาห์ หลังจากสัปดาห์แรกของการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อ จนอาจกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ได้หรือไม่

นอกจากนี้ เรามองว่า แนวรับหลักของเงินบาทยังอยู่ในโซน 32.30-32.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์อยู่ ขณะเดียวกัน การแข็งค่าเร็วของเงินบาทอาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยดูแลความผันผวนในตลาดค่าเงินมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทไม่ผันผวนไปมากและมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบได้ในระยะสั้น

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.50 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยความคาดหวังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กอปรกับผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่ได้กังวลประเด็นการปรับลดคิวอีมากเท่าใด หลังประธานเฟดส่งสัญญาณสนับสนุนการลดคิวอีในช่วงปลายปี  ในฝั่งสหรัฐฯ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.43% ส่วนทางด้านดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.90% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ หุ้น Apple ที่ปรับตัวขึ้นกว่า +3.0%

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ยังได้แรงหนุนจาก บอนด์ยีลด์ 10ปี ที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำใกล้ 1.30% ต่อ ส่วนในฝั่งยุโรป บรรยากาศการลงทุนที่เปิดรับความเสี่ยงได้ช่วยหนุนให้ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.19% เช่นกัน นำโดยหุ้นเทคฯ อย่าง Infineon Tech. +1.54%, Adyen +0.88%, ASML +0.87%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 4bps สู่ระดับ 1.28% หลังจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอีมากเท่าที่ตลาดคาดหวังไว้ โดยเฉพาะประเด็นอัตราการปรับลดคิวอี ขณะเดียวกัน บอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ได้แรงหนุนจากการซื้อของกลุ่มผู้เล่นที่ต้องการปรับสถานะพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม (Portfolio Rebalancing) หลังจากที่สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นบางส่วนจำเป็นต้องทยอยเข้ามาซื้อบอนด์เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนในบอนด์ให้สูงขึ้นสอดคล้องกับนโยบายการลงทุน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 92.71 จุด เนื่องจากตลาดยังคงรอดูยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งตลาดมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานจะส่งผลต่อทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟด โดยหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เฟดมีความมั่นใจการทยอยลดคิวอีในปีนี้มากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยหนุนโมเมนตัมของเงินดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าลงหนัก

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่าน รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence Index) โดย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม มีแนวโน้มลดลงเหลือ 123 จุด จากความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจกดดันให้การบริโภคในสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงในระยะสั้น

ส่วนในฝั่งจีน นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่อง หลังจีนเผชิญทั้งปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่กดดันให้รัฐบาลจีนใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด รวมถึงปัญหาน้ำท่วมใหญ่ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่ลดลงสู่ระดับ 50.1 จุด ส่วนดัชนี PMI ภาคการบริการก็จะปรับตัวลงสู่ระดับ 52 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 หมายถึง ภาวะขยายตัว)

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการคุมเข้มภาคธุรกิจโดยรัฐบาลจีนมากขึ้น หลังจากล่าสุด ทางการจีนเตรียมประกาศควบคุมเวลาในการเล่นเกมส์ของเยาวชน ซึ่งอาจส่งผลให้ หุ้นเทคฯ จีน ที่มีรายได้จากธุรกิจเกมส์ออนไลน์ต่างปรับตัวลดลงในระยะสั้นได้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 32.40 ไปแตะระดับ 32.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ (แข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 สัปดาห์) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงขาดแรงหนุน หลังจากที่ประธานเฟดส่งสัญญาณไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย แม้จะเริ่มทยอยปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ภายในปีนี้ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.30-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ตลาดรอติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค.ของธปท. ราคาบ้านเดือนมิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สนค.จัดสัมมนาผลิตภัณฑ์สีเขียว2-3ก.ย.

สนค. จัดสัมมนาวิชาการ รับกระแสโลกให้ความสำคัญกับ “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” ปกป้องสิ่งแวดล้อม 2-3 ก.ย. นี้

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค.กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามทิศทางการผลิตและความต้องการสินค้าของตลาดโลก พบว่าขณะนี้ตลาดโลกมีความต้องการ “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนเริ่มเห็นผลกระทบจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การบริโภคทรัพยากรต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากและทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อนจากการเผาขยะ ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในน้ำและดิน เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์สีเขียว กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้

เพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการทั้งในไทยและอาเซียน เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนค. โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการจากของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง มีกำหนดจัดงานสัมมนาวิชาการและกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ในหัวข้อ “The Future for Sustainable Eco-Packaging” (Webinar) ขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 3 กันยายนนี้ โดยมีประเด็นสำคัญที่ อาทิ โอกาสและความท้าทายในตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ และห่วงโซ่การผลิตของโลก

สำหรับผลิตภัณฑ์สีเขียว ที่กำลังเป็นที่ต้องการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารรักษ์โลกที่ผลิตจากเยื่อพืชธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ โดยไม่ทิ้งมลพิษหรือสารเคมี ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า กระบอกน้ำ แก้วน้ำแบบพกพา และกล่องข้าว ซึ่งตอบโจทย์ด้านการลดใช้พลาสติก รวมไปถึงกล่องโฟมเพราะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และ รูปแบบอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ รถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco Car) รถยนต์ Hybrid อาคาร บ้าน ที่พักอาศัย ที่ออกแบบมาเพื่อประหยัดพลังงาน

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 30 สิงหาคม 2564

นโยบายน้ำระหว่างประเทศ การทูตเพื่อนบ้านอาเซียน

โดยทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่โดดเด่นเป็นพิเศษ มักว่าด้วยเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่เห็นมูลค่าตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

​ประเทศไทยและชาติอาเซียน ล้วนมีเรื่องราวเหล่านั้น อีกด้านหนึ่งขยายบริบทความสัมพันธ์ว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลไทยจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นเป็นหน่วยงานกลาง บูรณาการหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศแล้ว ยังได้ร่วมขยายความร่วมมือเรื่องทรัพยากรน้ำไปสู่ระดับภูมิภาค โดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่าง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ( MRC) กับ อาเซียน

​“กลไกด้านน้ำที่ริเริ่มโดย ​MRC สามารถสร้างการทำงานร่วมกันในความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำในภูมิภาคได้ จึงมีแนวคิดที่ขยายความร่วมมือด้านนี้ไปยังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศด้วย” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว

ในประเทศไทยเอง สภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทบต่อความมั่นคงด้านน้ำ รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ตลอดจนน้ำข้ามพรมแดน

​“สทนช. เอง เน้นย้ำถึงการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ทางเทคนิคที่เชื่อถือได้ แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์ ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเพื่อต่อสู้กับความท้าทายด้านน้ำ จึงต้องการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง”

      เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า โดยภูมิประเทศของไทยมีพรมแดนติดต่อเพื่อนบ้านทั้ง 4 ด้าน และมีเรื่องน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เพียงกระชับความร่วมมือในชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ชาติ ประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มากขึ้นเท่านั้น หากยังรวมถึงการประสานความร่วมมือกับชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนบนเพิ่มด้วยคือจีนกับพม่า ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงมีความชัดเจนเป็นลำดับ นอกจากกำหนดแผนยุทธศาสตร์ MRC ระยะ10 ปี (พ.ศ.2564-2573) ยังปรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) ใหม่ ซึ่งประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2564 โดยยุทธศาสตร์มุ่งเน้นการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งระบบนิเวศของแม่น้ำโขงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ การเข้าถึงและการใช้น้ำและทรัพยากรเกี่ยวข้องของชุมชน การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนครอบคลุมอย่างทั่วถึง การเพิ่มความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ และการยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาคจากมุมมองทั้งลุ่มน้ำ

     “ยุทธศาสตร์ของ MRC ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น การกำหนดแผนงานกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่มองการพัฒนาเฉพาะส่วน หากมองทั้งระบบลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันในหลายมิติ”

​    ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านชายแดนติดกัน สทนช. หยิบเอาเรื่องน้ำมาเป็นตัวขับเคลื่อนความร่วมมือจริงจังยิ่งขึ้น ​ไทยกับมาเลเซียมีลุ่มน้ำโก-ลก เป็นความร่วมมือมาเนิ่นนาน และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์จนถึงวันนี้ ในฐานะมีแม่น้ำโก-ลก แบ่งพรมแดนกัน มีขอบเขตลุ่มน้ำใกล้เคียงกัน ยังมีโอกาสขยายการพัฒนาได้อีก

      ​ไทยกับพม่า มีแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นแบ่งพรมแดนเช่นกัน ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกันอยู่บ้างในระดับหนึ่ง ในอนาคตยังจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน สทนช. มีความชัดเจนในทิศทางมากกว่าเดิมที่คุยกันเป็นครั้งคราว ยังรอการสานต่อที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

      มีกรณีที่น่าสนใจคือไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำโตนเลสาบด้วยกัน โดยมีพื้นที่รับน้ำโตนเลสาบอยู่ในฝั่งกัมพูชา ในขณะพื้นที่ฝั่งไทย ประกอบด้วย จ.สระแก้ว กับ จ.จันทบุรี เป็นหลัก มีแม่น้ำพรมโหด จ.สระแก้ว และคลองโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ไหลลงไปที่ราบต่ำกัมพูชา ก่อนลงโตนเลสาบตามลำดับ

​เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบที่อยู่ฝั่งไทยกว่า 20% อีกกว่า 70% อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดของกัมพูชา

     ​ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ลักษณะลุ่มน้ำโตนเลสาบนั้น พื้นที่ในประเทศไทยถือเป็นต้นน้ำ กัมพูชาเป็นปลายน้ำ ไม่ได้เป็นแม่น้ำแบ่งเส้นพรมแดนเหมือนแม่น้ำโขง แต่แม่น้ำพรมโหดและคลองโป่งน้ำร้อนจากฝั่งไทยไหลลงฝั่งกัมพูชา ก่อนไหลต่อไปลงโตนเลสาบ แหล่งน้ำสำคัญของกัมพูชาที่รับน้ำจากแม่น้ำโขงด้วย

     ​“ไทยเป็นประเทศต้นน้ำ ถ้าไม่ต้องสนใจใคร เราจะพัฒนาอะไรของเราเองได้หมด แต่ถ้าสร้างเขื่อนเก็บน้ำมากไป ระบายน้ำน้อยไปหรือมากไป ก็กระทบกัมพูชาที่อยู่ปลายน้ำและอยู่ในลุ่มน้ำโตนเลสาบด้วยกัน ในทางกลับกัน ถ้าร่วมมือพัฒนาด้วยกันทั้งระดับลุ่มน้ำโตนเลสาบ คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วม ก็จะเป็นผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย” ในฐานะเลขาธิการ สทนช. ดร.สมเกียรติ เปิดมุมมองการพัฒนาลุ่มน้ำระหว่างประเทศ (ไทย-กัมพูชา) ในมิติที่กว้างไกลขึ้นอย่างน่าสนใจ

     การไม่ถือเอาประโยชน์จากการพัฒนาฝ่ายเดียว ไปเป็นการพัฒนาร่วมกันทั้งระบบลุ่มน้ำ จะเป็นคุณูปการต่อความร่วมมือและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปด้วย ข้อนี้ดูเหมือนเลขาธิการ สทนช. มีประสบการณ์ตรงจากการร่วมมือพัฒนาแม่น้ำโก-ลก ระหว่างไทยกับมาเลเซียมาก่อนแล้ว

      ขณะนี้ การพัฒนาลุ่มน้ำโตนเลสาบเข้าสู่โค้งสุดท้าย คือการจัดลำดับความสำคัญและจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนา หลังจากผ่านการชี้ปัญหาและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานพัฒนาของประเทศเยอรมนี

     โตนเลสาบ เป็นตัวอย่างหนึ่งในการใช้น้ำเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความมั่นคง ทั้งในเรื่องน้ำควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนที่น่าสนใจ

จาก https://mgronline.com วันที่ 30 สิงหาคม 2564

วิเคราะห์ '8 นโยบายเกษตร' สร้างมูลค่าต่ำกว่าเม็ดเงินงบลงทุน

หลากหลายรูปแบบที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาภาคการเกษตร แต่ผลวิเคราะห์ 8 นโยบายสาธารณะปี 63 ที่ใช้งบบกว่า 1.8 แสนล้านบาทต่อปี แต่สร้างมูลค่าได้เพียง 1.06 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการน้ำ และไม่ได้ลดหนี้ให้เกษตรกรได้แต่อย่างใด

นาย วิษณุ อรรถวานิช  อาจารย์ และนักวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   เปิดเผยว่าในอดีตภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งจ้างงาน แหล่งรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออก การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอดีตทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร GDP ภาคเกษตรในปี 2563 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.63%  แต่ภาคการเกษตรถือเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ 12.62ล้านคนและมีครัวเรือนในภาคเกษตร 8.06 ล้านครัวเรือน

ปัจจุบันเกษตรกรได้นำเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น แต่การผลิตในภาคเกษตรไทยยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของเกษตรกร   เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนเกษตร รัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ใช้นโยบายเกษตรในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแทรกแซงราคาตลาด การส่งเสริมการเรียนรู้ การส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเชิงพื้นที่ ส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งนโยบายต่างๆใช้งบประมาณในแต่ละปีจำนวนมาก

โครงการวิจัยและประเมินครั้งนี้ ได้หยิบยกผลกระทบของ 8 นโยบายสาธารณะที่หลากหลาย ต่อความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย   คือ  1. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 2. แปลงใหญ่ 3. การบริหารจัดการน้ำ 4. แผนการผลิตข้าวครบวงจร 5. Zoning by Agri-Map 6. ธนาคารสินค้าเกษตร 7. มาตรฐานสินค้าเกษตร GAP/ เกษตรอินทรีย์ และ 8. โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่

ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรมีความแตกต่างของรายได้ทางตรงจากการเข้าร่วมแต่ละนโยบายของครัวเรือนเกษตรเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้เข้าร่วม ในโครงการแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 128,018 บาทต่อครัวเรือนต่อปี การบริหารจัดการน้ำ มีเพิ่มรายได้ 397,793 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่แผนการผลิตข้าวครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 67,637 บาทต่อครัวเรือนต่อปี  นโยบาย Zoning by Agri-Map ลดรายได้26,443 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดรายได้237,759 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนนโยบายอื่นๆ ที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้รายได้ของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

ในด้านต้นทุนการผลิต พบว่า โครงการแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 107,255 บาทต่อครัวเรือนต่อปี การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มต้นทุน 219,458 บาทต่อครัวเรือนต่อปี Zoning by Agri-Map เพิ่มต้นทุน 278,962 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่แผนการผลิตข้าวครบวงจร ลดต้นทุน 24,586 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดต้นทุน 112,857 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้ต้นทุนของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

ด้านรายได้สุทธิ การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มรายได้สุทธิ 178,852 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ขณะที่ แผนการผลิตข้าวครบวงจร ลดรายได้สุทธิ43,158 บาทต่อครัวเรือนต่อปี Zoning by Agri-Map ลดรายได้สุทธิ 32,976 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ธนาคารสินค้าเกษตร ลดรายได้สุทธิ125,568 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ส่วนที่เหลือ ไม่พบว่าทำให้รายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตรเปลี่ยนแปลง

เมื่อนำรายได้สุทธิมาเฉลี่ยกับ 8.06 ล้านครัวเรือน  พบว่าเกษตรกรที่เข้าถึงโครงการการบริหารจัดการน้ำ  26.23%  สร้างเพิ่มมูลค่าได้ 378,221 ล้านบาทต่อปี  แผนการผลิตข้าวครบวงจร 3.4 ล้านครัวเรือน  มีมูลค่าลดลง 150,959 ล้านบาทต่อปี Zoning by Agri Map ที่เกษตรกรเข้าถึงโครงการ 1.80% มีมูลค่าลดลง 4,785 ล้านบาทต่อปี และ ธนาคารสินค้าเกษตร ที่เกษตรกรเข้าถึงโครงการ 4.129% มีมูลค่าลดลง  41,790 ล้านบาทต่อปี

และมูลค่าผลกระทบจากทั้ง 8 นโยบาย เท่ากับ180,686.25 ล้านบาทต่อปี เมื่อนำมาหักลบงบประมาณที่ใช้จ่ายตลอด 3ปี 8 นโยบายสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงบวกรวม 106,908 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งหมดจะพบว่าเกิดขึ้นจากนโยบาย การบริหารจัดการน้ำเท่านั้น ดังนั้นควรพิจารณาหาแนวทางปรับปรุงนโยบายอื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น  อีกทั้งนโยบายเกษตรช่วยลดภาระหนี้สินของครัวเรือนเกษตรน้อยมาก สะท้อนให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำในการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกร และควรส่งเสริมการขยายแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานมากขึ้น

ร่วมกับการทำเกษตรผสมผสานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระดับความเสี่ยงเดียวกับเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะครัวเรือนที่ปลูกข้าว ให้เงินช่วยเหลือต้องมีเงื่อนไขเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า  รวมทั้งสร้างแรงจูงใจเกษตรกรวัยหนุ่มสาวเข้าร่วมโครงการ

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 30 สิงหาคม 2564

กรมชลฯ เกาะติดฝนตกหนัก สั่งคุมเข้มจัดการน้ำ 15 เขื่อนใหญ่น้ำเกิน 51%

กรมชลประทานเกาะติดสถานการณ์น้ำ สั่งติดตามเฝ้าระวัง ไม่ให้ซ้ำเติม โควิด-19 พร้อมเร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม เผยขณะนี้มีอ่างฯ ขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก 15 แห่ง ขนาดกลาง 41 แห่ง คุมเข้มการบริหารจัดการน้ำตาม Rule Curve เพื่อลดผลกระทบ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการของรัฐบาล เพื่อลดผลกระทบไม่ให้ไปซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพภูมิอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) พบว่าในเดือนกันยายน 2564 นี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ โดยล่าสุดอิทธิพลของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกําลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 9  สำนักเครื่องจักรกล และโครงการชลประทานปราจีนบุรี ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งของแม่น้ำปราจีนบุรี โดยให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำในพื้นที่เสี่ยง ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำที่อาจจะล้นตลิ่ง

นอกจากนี้ให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงสามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งกําจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และมอบเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด  ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยน้ำท่วมก็ให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน  และให้รายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานให้ผู้บริหาร ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบทันที

สำหรับสถานการณ์น้ำ ในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่มีน้ำไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกในช่วงนี้  ทั้งนี้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 447 แห่ง มีจำนวน 39,035 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของปริมาณการเก็บกัก  เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 15,105 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% สามารถรับน้ำได้อีก 37,032 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กรมชลประทานได้สั่งการให้เฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำโดยเกณฑ์กักเก็บน้ำของอ่าง (Rule Curve) อย่างใกล้ชิด พร้อมให้มีการติดตามสถานการณ์และคาดการณ์น้ำในอ่างโดยใช้ Dynamic Operation Curve (DOC)

โดยเฉพาะอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 51% ของปริมาณการเก็บกัก ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 15 แห่ง  ได้แก่ อ่างฯจุฬาภรณ์ 56%  อ่างฯลำตะคอง 61%  อ่างฯมูลบน 63%  อ่างฯลำแซะ 56% อ่างฯลำนางรอง 56% อ่างฯสิรินธร 63%  อ่างฯศรีนครินทร์ 69%  อ่างฯวชิราลงกรณ 69%  อ่างฯขุนด่านปราการชล 67%  อ่างฯหนองปลาไหล 68%  อ่างฯประแสร์ 71%  อ่างฯนฤบดินทรจินดา 63%  อ่างฯแก่งกระจาน 61%  อ่างฯปราณบุรี 53% และอ่างฯรัชชประภา 65%   และอ่างฯขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของปริมาณการเก็บกักซึ่งขณะนี้มีจำนวน 41 แห่ง   โดยการระบายน้ำจะไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของอ่างฯ ทุกแห่ง

สำหรับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังในขณะนี้ กรมชลประทานได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ที่ อ.แกลง จ.ระยอง ได้เปิดประตูระบายน้ำ(ปตร.)คลองโพล้ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ตลาดเจริญสุข อ.เมืองจันทบุรี ได้เปิด ปตร.คลองภักดีรำไพ ในแม่น้ำจันทบุรี เพื่อเร่งให้คลองน้ำใสระบายลงแม่น้ำจันทบุรีได้มากขึ้น เป็นต้น  คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาซ้ำเติมสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติอย่างแน่นอน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 29 สิงหาคม 2564

ชาวไร่ “ อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด” เฮ ปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มแล้ว

ข่าวดี “อธิบดีกรมฝนหลวง” เปิดปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มแล้ว สั่งลุยทันที กู้พื้นที่เกษตรกว่า 7 หมื่นไร่ ชาวไร่ “ อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด” พ้นวิกฤติพืชไร่เสียหาย พ่วงเติมน้ำในเขื่อน อานิสงส์ 20 จังหวัด ชุ่มฉ่ำ

จากข้อมูลแผนที่อากาศผิวพื้นของทางกรมอุตุนิยมวิทยา ณ เวลา 01.00 น. ประเทศไทยขณะนี้ ยังคงมีร่องฝนหรือร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับทางลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พาดผ่านเข้ามาเติมในพื้นที่ประเทศไทย ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดฝนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และเสี่ยงต่อการเกิดฝนตกหนักได้ในบริเวณ จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี รวมถึงจังหวัดทางภาคตะวันออกด้วย และได้แจ้งเตือนให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดในเรื่องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน

​​วันที่ 28 สิงหาคม 2564  นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า  เมื่อวานนี้ นายวีระพล สุดชาฎา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก และเจ้าหน้าที่ ร่วมกับนายสำเรียน จันทร์น้อย อาสาสมัครฝนหลวงดีเด่น และอาสาสมัครฝนหลวงจ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา ได้ลงพื้นที่การเกษตร เพื่อสำรวจความต้องการน้ำในพื้นที่การเกษตร ส่วนใหญ่เป็น "พืชไร่"  มันสำปะหลัง ระยะเจริญเติบโต 37,000 ไร่ "อ้อยโรงงาน" 28,000 ไร่ "สัปปะรด" 4,500 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 70,000 ไร่ เพื่อนำข้อมูลในพื้นที่ประกอบการวางแผนดำเนินการช่วยเหลือในลำดับต่อไป

​​สำหรับผลการปฏิบัติฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศ และกองทัพบก ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจ.เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก ลำปาง เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานีมหาสารคาม บุรีรัมย์ พัทลุง เพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำจำนวน 7 แห่ง และบึงบอระเพ็ด

​​ส่วนด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า  ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ในภาคกลาง เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยฯ จ.สุรินทร์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุรินทร์ จ.ร้อยเอ็ด หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุราษฎร์ธานี

สำหรับหน่วยปฏิบัติการ จำนวน 3 หน่วย ไม่มีการปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี หน่วยฯหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่  เข้ารับการฉีดวัคซีน Covid-19 และหน่วยฯจ.ขอนแก่น เนื่องจากเครื่องบินขัดข้อง และอีก 7 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะยังคงติดตามสภาพอากาศต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 สิงหาคม 2564  

"พล.อ.ประยุทธ์" ชื่นชม เด็กไทยเจ๋ง! คว้ารางวัลระดับโลก เพิ่มธาตุอาหารอ้อย

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมเด็กไทยคว้ารางวัลระดับโลก จากคู่แข่ง 32 ประเทศ ในการประดิษฐ์เข็มขัดดูดซับความชื้น-เพิ่มธาตุอาหารท่อนพันธุ์อ้อย

วันที่ 28 สิงหาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝากความชื่นชมถึงนายธนวิชญ์ น้ำใจดี และนายฟิวเจอร์ คงชู นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ตัวแทนประเทศไทย ที่สามารถชนะรางวัลระดับโลก The Winner of Diploma of Excellence จากผลงานวิจัยชื่อ “Bio-Moisture-Nutrient Absorbing Belt for Promoting the Sugarcane Seedlings Growth from the Local Waste” หรือ เข็มขัดดูดซับความชื้นและให้ธาตุอาหารจากวัสดุเหลือทิ้งในชุมชน โดยร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ Stockholm Junior Water Prize 2021 (SJWP 2021) ในงาน World Water Week ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23- 27 สิงหาคม 2564 มีเยาวชนเข้าร่วมประกวด จาก 32 ประเทศ

ผลงาน “เข็มขัดดูดซับความชื้นและให้ธาตุอาหารจากวัสดุเหลือทิ้งในชุมชน” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนี้ พัฒนาขึ้นเพื่อการดูแลท่อนพันธุ์อ้อยระยะแรกปลูก ซึ่งได้นำวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นมาสร้างนวัตกรรมในลักษณะเข็มขัดที่สามารถอุ้มน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูกท่อนพันธุ์อ้อยในระยะแรกปลูก แม้จะปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง ช่วยลดการให้น้ำ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบจากการปลูกโดยใช้วิธีดั้งเดิม นอกจากนี้นี้ยังนำสารสกัดจากสะเดาช่วยไล่และกำจัดแมลงศัตรูอ้อย จึงเป็นการใช้สารธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี ที่จะเป็นการเพิ่มมลพิษให้แหล่งน้ำและดินอีกด้วย

นายกฯ ชื่นชมความสำเร็จในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของเยาวชนไทย รวมถึงการสนับสนุนที่ดีจากทั้งครูอาจารย์ ตลอดจนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมเยาวชนในการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ เพื่อยกระดับศักยภาพภาคการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานของประเทศไทย สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ และสอดรับกับนโยบายดังกล่าว ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ผู้สนใจสามารถนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน โดยมีรูปแบบโครงสร้าง 1 จังหวัด 1 ศูนย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก ขณะนี้มี จำนวนทั้งสิ้น 69 สถาบัน 83 แห่ง ทั่วประเทศ

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 28 สิงหาคม 2564

วิกฤต PM2.5 กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการรับมือ

นายณัฐพงษ์ เอียดเต็ม ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.โฉมศรี ชูช่วย คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Email: pongpiajun@gmail.com

ปัจจุบันวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (Particle Matter Smaller Than 2.5 Micron; PM2.5) ยังถือว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความอันตรายอย่างต่อเนื่องสำหรับประเทศไทย ซึ่งฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมถึง 25 เท่านั้น สามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศและฟุ้งกระจายได้เป็นวงกว้าง โดยแหล่งกำเนิดหลักๆมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า การเผาไหม้ชีวมวล การเผาขยะ หรือแม้กระทั้งการเผาพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเตรียมสำหรับการเพาะปลูก เป็นต้น [1-3] กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ปลดปล่อยฝุ่นละอองออกสู่สิ่งแวดล้อม สำหรับวัฏจักรของฝุ่นละอองที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศสามารถเคลื่อนที่ออกจากแหล่งกำเนิดได้จากการพัดพาของกระแสลม โดยฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจะสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลจากแหล่งกำเนิดเนื่องจากมีน้ำหนักเบา ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศสามารถตกลงสู่พื้นผิวโลกและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ 2 วิธี คือ แรงโน้มถ่วงของโลกและการถูกชะล้างด้วยฝน ดังแสดงภาพที่ 1

ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง แน่นหน้าอก หายใจถี่ หอบหืด มีผลต่อระบบทางเดินหายใจและทำลายเนื้อเยื่อปอด หรือหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นระยะเวลานานจะสามารถอาจ ส่งผลให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด เป็นต้น [4]

จากการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ PM2.5 โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ จํานวน 64 สถานี ใน 34 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ในช่วงปีพ.ศ. 2562-2564 สถานการณ์ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานในช่วงต้นปีและปลายปีดังแสดงภาพที่ 2 โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ที่มีการจราจรหรือบรรทุกขนส่งหนาแน่น เขตอุตสาหกรรม พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่มีการเผาในที่โล่ง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แม่ฮองสอน เชียงราย น่าน ลำปาง แพร่ นครสวรรค์ และ สระบุรี เป็นต้น (กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง, 2564) ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพจากปัญหา PM2.5 รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาสจากประเด็นต่างๆ อีกด้วย [5]

จากข้อมูลการประมาณการณ์ความเสียหายจากฝุ่น PM2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด ในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คิดเป็นเงินประมาณ 3,200-6,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านสุขภาพที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและกิจกรรมของประชาชนกว่า 1,000-2,400 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 75% ของค่าใช้จ่ายในการปกป้องและรักษาสุขภาพของประชากรรวมถึงการจัดหาหน้ากากอนามัยและเครื่องป้องกันที่จำเป็นอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่นๆ ประมาณ 200-600 ล้านบาท เช่น ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร ตลาดนัด โดยได้คำนึงถึงผลบวกที่อาจเกิดขึ้นต่อร้านค้าหรือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งถึงที่พักแล้ว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยที่ต้องเปลี่ยนมาใช้แรงงานและรถตัดอ้อยแทนการเผา ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น การก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร มีปัญหาความล่าช้า เนื่องจากมีระเบียบงดก่อสร้างในชั่วโมงเร่งด่วน ต้องมีฉีดพ่นน้ำเป็นระยะ และค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เนื่องจากการจัดอันดับมลภาวะทางอากาศในช่วงปีที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ [6,7]

จากงานเสวนา Chula Econ Forum คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อฝ่าวิกฤติฝุ่น PM2.5 : ปัญหาและทางออก ชี้ฝุ่นจากการจราจรยังเป็นปัญหาหลักของเมืองหลวง สร้างความสูญเสียที่มองไม่เห็นกว่า 450,000 ล้านบาท ขณะที่ทั้งประเทศปัญหาจากฝุ่นละอองสร้างความสูญเสียมากถึง 2.36 ล้านล้านบาท โดยผู้สัมมนายังได้ย้ำให้รัฐบาลเก็บข้อมูลจริงจัง เพื่อให้นักวิชาการเข้าถึงข้อมูลไว้ออกแบบนโยบายตรงจุด รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าหลายๆ ปัญหานั้นก็แก้ได้ลำบาก

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าแต่ละปีมีประชาชนกว่า 7 ล้านคนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ เช่น โรคหัวใจ ปอดอักเสบ และโรคหลอดเลือดสมอง บางโมเดลทะลุถึง 8 ล้านคน หากเทียบความเสียหายจากฝุ่น PM2.5 คงถือได้ว่าเป็นมัจจุราชเงียบบั่นทอนชีวิตคนไทยและคนทั่วโลกมาตลอด ในประเทศไทยบางโมเดลมีประชาชนกว่า 7 หมื่นคนต่อปีต้องเสียชีวิตจากฝุ่นพิษนี้ เพราะฝุ่นขนาดเล็กเมื่อเข้าสู่เม็ดเลือดแดงไปอวัยวะต่างๆรวมถึงไต ซึ่งทำหน้าที่กรองฟอกเลือดให้สะอาด เมื่อเลือดสกปรก ไตก็จะทำงานหนักขึ้น และมลพิษอากาศจะกระทบโดยตรงต่อกลุ่มเสี่ยง โดยผู้หญิงจะเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เด็กเล็กจะอ่อนไหวต่อมลพิษอากาศมากกว่ากลุ่มช่วงวัยอื่นๆ ซึ่งก๊าซส่วนใหญ่ที่ส่งผลต่อการแอดมิทในโรงพยาบาล คือ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามหาวิธีในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนดมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่าอาจจะยังหาวิธีการแก้ไขปัญหาช้าเกินไป เพราะปัญหาดังกล่าวได้เริ่มส่งผลกระทบต่อหลายๆ ด้าน ซึ่งด้านหลักๆ คือ ด้านสุขภาพ ที่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในขณะนี้เปลี่ยนไปจากเดิม และอีกด้านที่สำคัญ คือ ด้านเศรษฐกิจ ที่นับวันยิ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเบื้องต้นอาจเกิดการลังเลที่จะเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร และกรณีเลวร้ายอาจจะปฏิเสธที่จะไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาฝุ่น PM2.5 นี้ ได้เคยสร้างปัญหาให้แก่ประเทศจีนมาแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 0.7% ของจีดีพีจีน [8]

ปัจจุบันประเทศไทยได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้น เช่น การให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเส้นทางไฟฟ้าปรับเปลี่ยนเวลาก่อสร้างไม่ให้ตรงกับชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อป้องกันฝุ่นละอองสะสมหนาแน่นในพื้นที่ รณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถส่วนตัวหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าสาธารณะมากขึ้น ควบคุมการเผาในที่โล่ง ตรวจจับรถควันดำ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM2.5 จากควันท่อไอเสียรถยนต์ นโยบายเพิ่มจำนวนรถตัดอ้อยเพื่อการเก็บเกี่ยว สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อรถตัดอ้อย นอกจากนี้ยังกำหนดราคาอ้อยไฟไหม้ให้มีราคารับซื้อต่ำกว่าอ้อยสด เพื่อจูงใจเกษตรกรให้ลดการเผาอ้อย การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การส่งออกรถยนต์ของไทย โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศจะเพิ่มขึ้น เพื่อตอบรับกระแสความต้องการ EV จากทั่วโลก เป็นต้น [9] นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอนโยบายสำหรับกระทรวงพาณิชย์ เช่น การส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของประเทศไทยให้ปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่บรรเทาผลกระทบ เช่น สินค้าเครื่องฟอกอากาศ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัย เนื่องจากกลายเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นและความต้องการอย่างมาก ทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก การส่งเสริมร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการลดฝุ่น PM2.5 เช่น ให้รางวัลหรือติดตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองว่าผู้ประกอบการมีการดำเนินการเพื่อลดฝุ่น PM2.5 การสนับสนุนการลดภาษีสินค้าจำพวกเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เพื่อให้ราคาไม่สูงเกินไป และผู้บริโภคทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมสามารถซื้อหาได้ เป็นต้น

จาก https://mgronline.com   วันที่ 28 สิงหาคม 2564

ปฏิรูป WTO พลิกเกมการค้าโลก “ศุภชัย” แนะปลดล็อกระบบระงับข้อพิพาท

“ศุภชัย” จี้ปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) เรื่องเร่งด่วน ประชุมที่รัฐมนตรีการค้า MC ครั้งที่ 12 พร้อมแนะ 4 ข้อที่ควรเสริมศักยภาพปฏิรูปเวทีค้าโลก WTO หนุนเปิดเสรีด้านเกษตรและอาหาร หวั่นอาจขาดแคลนหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวข้อ “จับตาการปฏิรูป WTO ยุค new normal” ต้อนรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 (The 12th WTO Ministerail Conference : MC12) ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 30 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

โดยกล่าวถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี และบทบาทของ WTO ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในปัจจุบันว่า ในช่วงที่ได้รับหน้าที่สำคัญบนเวทีการค้าโลกได้แก้ไขปรับปรุงโครงสร้างแต่ละหน่วยงานให้มีบทบาทชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถิติ ค้นคว้า การช่วยเหลือและพัฒนาประเทศด้อยพัฒนา การจัดการฝึกอบรม

กระทั่งระยะหลังได้หารือหลายประเทศก็พบว่า สำนักงาเลขาธิการควรจะมีบทบาทมากขึ้น และไทยเองก็น่าจะมีส่วนช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ หรือช่วยให้ความเห็นจากฝ่ายที่เป็นกลาง โดยเฉพาะในปัจจุบัน กรณีที่ควรหารือและทำเร่งด่วนใน MC12 คือ ประเด็นการแก้ไขปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (The Dispute Settlement Understanding : DSU)

เนื่องจากมองว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ WTO ยังคงบทบาทได้ นั่นก็คือ DSU ยิ่งตอกย้ำว่า สุดท้ายแล้ว อุปสรรคสำคัญใน WTO คือข้อพิพาท เพราะบางประเด็นยังต้องกลับมาตั้งต้นใหม่หรือเรื่องที่เล็กน้อยได้บรรจุเป็นข้อพิพาทจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้า แข่งกับเวลา บุคลากร ที่มีไม่มากพอ หรือบางข้อตกลงที่ต้องการความชัดเจน 100% จึงตกลงกันไม่ได้ หลาย ๆ เรื่องถูกทิ้งเอาไว้ เพราะฉะนั้น การเจรจาที่มีทั้งได้และเสียควรต้องมีการให้การศึกษา เราไม่ควรเจรจาเพื่อที่จะต้องชนะทุกครั้ง

เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้ต้องมีคณะทำงานเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหา นำเอาบทเรียนต่าง ๆ มาศึกษาทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) เพราะแม้จะมีการเจรจาในกรอบปกติมา 7 ครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีการปฏิรูปใดเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะเดียวกัน ในช่วงเปลี่ยนแปลงองค์การการค้าโลก (WTO) ไทยควรต้องสร้างบทบาทให้มีความโดดเด่นให้มากขึ้นเพื่อสอดรับกับสถานการณ์ จึงขอเสนอแนะ 4 ประการ ประกอบด้วย 1.ควรยกระดับให้องค์การ WTO มีความเข้มแข็งและช่วยหาทางออกให้กับประเทศสมาชิก และสร้างผลงานให้สามารถจับต้องได้

2.ให้บทบาทกับประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนทุกมิติทั้งด้านการค้าการลงทุน ด้านสังคมต้องมีแบบแผน นำไปสู่ข้อสรุปในการประชุมเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริง

3.ควรมีการทำงานร่วมกันระหว่าง WTO และองค์กรอื่น ๆ โดยเฉพาะกับองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้นำไปสู่ข้อตกลงแบบใหม่ขึ้นมา อาทิ ข้อตกลงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) หรือข้อตกลงที่จะไปช่วยประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือประเทศที่เป็นเกาะต่าง ๆ

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มี nonbinding agreement หรือไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายให้มีตรงกลาง ควรให้ WTO เป็นผู้ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ หรือเพิ่มข้อตกลงร่วมกับนานาประเทศที่ไม่มุ่งเน้นเพียงแค่บทลงโทษให้เข้ามามีส่วนร่วมสามารถแสดงความเห็นได้ง่ายขึ้น

4.ความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) ควรมีการดำเนินการขั้นตอนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งไม่ควรให้ WTO ทำหน้าที่ในการฟ้องศาล แต่ขอให้เป็นการเจรจาด้านการทูต เพื่อนำมาสู่การยินยอมซึ่งกันและกัน สามารถตกลงกันได้มีข้อตกลงตรงกลางเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน และควรสนับสนุนด้านการเงินหรือมีโครงการช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์

“ถ้าจะมีการปฏิรูป WTO โดยกำหนดชัดเจน ผมคิดว่าคงจะยุ่ง ซึ่งยูเอ็นเองก็ไม่มี ยกตัวอย่างง่าย ๆ ประเทศกลุ่มอเมริกากลาง ปัญหาเรื่องการค้าเสรียากมาก ต้องออกกฎระเบียบมากมายเพื่อแก้ปัญหานั้น เราจะทำงานร่วมกับเขายังไงหากแต่ละที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้คำว่าปฏิรูปต้องขันนอตเพื่อแก้ไขต้นตอปัญหาจะช่วยทำงานได้ง่ายขึ้น”

“ดังนั้น WTO ไม่ใช่เรื่องของการฟ้องศาลว่าใครแพ้ชนะ ควรเป็นเรื่องของการเจรจาทางด้านการทูต เจรจาแล้วสามารถแลกเปลี่ยนกัน ตกลงกันได้ ผมอยากเห็นว่าเรื่องของกระบวนการควรมีข้อตกลงตรงกลาง เพราะหลายครั้งผมเห็นประเทศด้อยพัฒนา ยากจน คุณคิดว่าเขาชนะเขาได้ประโยชน์อะไร อาจจะมีเงินช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร มันควรต้องมีการปรับ”

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายและจบลง สิ่งที่ WTO ควรดำเนินการต่อไปคือ เปิดโอกาสให้มีการค้าเสรีมากขึ้น ทั้งสินค้าอาหาร และสินค้าเกษตร เพราะหลังจากนี้โลกจะขาดแคลนอาหารเป็นจำนวนมาก และเหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เอง

ส่วนเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ควรให้ความคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเรื่องการเก็บภาษีให้เสมอภาค และเห็นว่าไม่ควรยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลครองอำนาจเศรษฐกิจ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 27 สิงหาคม 2564

"สุพัฒนพงษ์" เดินหน้ามุ่งพลังงานสะอาดลดภาระเศรษฐกิจ 6-7 แสนล้านต่อปี

สุพัฒนพงษ์เดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติของไทยต้องมุ่งสู่พลังงานสะอาดหวังลดภาระเศรษฐกิจ 6-7 แสนล้านต่อปีในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดโลกร้อนตามสัญญา COP 21

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ "ทิศทางพลังงานไทยกับเป้าหมายลดการปล่อย CO2" ในงานสัมนาทิศทางพลังงานไทยสู่เป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายพลังงานของไทยไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นในแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนตามข้อตกลงภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส หรือ Cop21 ซึ่งไทยกำหนดจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศา ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 จึงได้ประกาศกรอบแผนพลังงานแห่งชาติที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดเป็นหลัก โดยตั้งเป้าจะลดก๊าซคาร์บอนฯให้เป็น 0% หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2565-2570

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการลดภาระทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องนำไปใช้เพื่อลดก๊าซคาร์บอนฯในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นภาระประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปีที่ต้องใช้ในการลดก๊าซคาร์บอนฯลง  โดยภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนฯมากสุด 250 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจากนโยบายดังกล่าวคาดว่าภาคพลังงานไทยจะลดคาร์บอนฯเหลือเพียง 90 ล้านตันต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้าได้

สำหรับแนวทางลดคาร์บอนในภายพลังงาน มี 4 ด้าน ได้แก่

1.มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% 

2.มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ให้มีการใช้มากขึ้นตามนโยบายตามนโยบาย 30@30

3.ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่า 30% โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน

4.ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E (Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า) ทั้งนี้เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงดังกล่าว (2065 – 2070) ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน 

“เรื่องดังกล่าวเป็นกระแสสังคมโลกที่ไทยจะต้องดำเนินการ  เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ดำเนินการ ก็จะต้องมีมาตรการต่างๆเร่งรัดส่งเสริม ทั้งมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี  โดยมองว่านอกจากเป้นการลดความเสี่ยง ยังเป็นการสร้างโอกาสในการพลิกโฉม  หรือต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ  มีความหลากหลายเรื่องของเชื้อเพลิง  และพลังงานสะอาด  ทั้งชีวมวล  ชีวภาพ  พลังงานแสงอาทิตย์  พลังงานน้ำ และการนำเข้าพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เดินหน้าการผลิตพลังงานทดแทนตามเป้าหมายให้มากกว่า 50% แล้ว โดยจะเดินต่อเนื่องจากที่ทำมาแล้วในแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ได้ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าเดือนตุลาคม 64 จะทราบผลประมูลที่ชัดเจน รวมทั้งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งต้องมีการปรับระบบสายส่งไฟฟ้าให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น

"แนวทางดังกล่าวยังถือเป็นโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสหกรรมไปสู่อุตสหกรรมใหม่ๆ ที่เน้นเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสหกรรมรถ EV ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุน และรักษาฐานการผลิตรถของประเทศไว้ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเกษตรกรได้ประโยชน์ในการปลูกพืชผลและต่อไปไทยจะก้าวไปสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศได้อีกด้วย" 

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 สิงหาคม 2564

กฟผ. ขานรับสังคมคาร์บอนต่ำมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด

ปัญหาสภาวะโลกรวนทำให้หลายประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกามีความพยายามที่จะกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้น รวมถึงประเทศไทยที่ออกมาขานรับการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ   โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2608-2613 โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งทางด้านพลังงานที่สำคัญของไทย โดยภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่อย่างนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. นั้น ล่าสุดได้นำร่องโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยลดข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางเวลา ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น

โดยในช่วงกลางวันจะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และช่วงกลางคืนผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ควบคู่กับแบตเตอรี่ที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าในตอนกลางวัน อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมของเขื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ สายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรครบทั้งหมด 7 ชุด พร้อมติดตั้งทุ่นคอนกรีตของระบบยึดโยงใต้น้ำและก่อสร้างอาคารสวิตช์เกียร์แล้วเสร็จ คาดจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนตุลาคม 2564

นอกจากนี้ กฟผ. ยังรอให้กระทรวงพลังงานอนุมัติขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำฯ จากแผน PDP ปัจจุบันที่มีสัดส่วน 2,725 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ เพื่อตอบโจทย์พลังงานสะอาดของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ยังพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาช่วยบริหารจัดการ อาทิ การติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาในระบบไฟฟ้า การใช้ระบบติดตามเฝ้าระวังแบบออนไลน์ในการวางแผนสำหรับบำรุงรักษา การใช้โดรนบินตรวจสายส่งแทนคน รวมถึงการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงเป็นแบบดิจิทัลเพื่อรองรับกับการเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริดในอนาคต

ส่วนในภาคการขนส่งนั้น กฟผ. ได้มีการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การติดตั้งสถานีชาร์จอีวี EleX by EGAT จำนวน 14 แห่ง และเตรียมขยายเพิ่มอีก 34  แห่งในอนาคต การพัฒนาแอพพลิเคชัน EleXA สำหรับค้นหาสถานีชาร์จอีวี ออกแบบและติดตั้ง EGAT Wallbox สำหรับชาร์จอีวีภายในบ้านหรือสถานที่ประกอบการ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์ม BackEN สำหรับบริหารจัดการสถานีชาร์จอีวีแบบครบวงจร

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 สิงหาคม 2564

ธปท.แนะตลาดเร่งใช้ THOR รับมือการยุติ THBFIX ในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า

ธปท.กระตุ้นผู้ร่วมตลาดปรับใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR รับมือการยุติ THBFIX ไม่ถึง2 ปีข้างหน้า หวังเพิ่มสภาพคล่องและช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน นำไปสู่การพัฒนาตลาดเงินไทยที่ยั่งยืนในอนาคต

ธปท.เผยผลคืบหน้าตลาดการเงินไทยมีความพร้อมในการพัฒนาการทำธุรกรรมอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย “THOR” เพื่อทดแทน “ THBFIX”  ที่จะถูกยุติการเผยแพร่หลังจากวันที่ 30 มิถุนายน 2566 พร้อมกับ “USD LIBOR” ระบุ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสถาบันการเงินและนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจค่อนข้างมาก ขณะที่สภาพคล่องของตลาดมีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ สะท้อน จาก bid/ask spread ของตลาดอนุพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิง THOR กับดอกเบี้ยคงที่ ของตลาด OIS ที่แคบลงโดยเฉพาะในอายุที่ไม่เกิน 5 ปี รวมทั้ง เริ่มมีการกำหนดราคา และทำธุรกรรมในระยะที่ยาวขึ้นมากถึง 20 ปี

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. และคณะทำงานเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการยุติการใช้ London Interbank Offered Rate (LIBOR)  ได้ร่วมมือกันพัฒนาอัตราดอกเบี้ย Thai Overnight Repurchase Rate (THOR)  จากธุรกรรมจริงที่สามารถสะท้อนภาวะตลาดการเงินและมีความโปร่งใส เพื่อใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในธุรกรรมทางการเงินทดแทนอัตราดอกเบี้ย Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX)  ที่จะถูกยุติการเผยแพร่หลังจากวันที่ 30 มิถุนายน 2566 พร้อมกับอัตราดอกเบี้ย LIBOR สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ (USD LIBOR) นั้น

หลังจากที่ได้เริ่มเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย THOR เมื่อเดือนเมษายน 2563 มาเป็นเวลากว่า 1 ปี  ตลาดการเงินไทยปัจจุบันถือว่ามีความพร้อมใช้อัตราดอกเบี้ย THOR เป็นอัตราอ้างอิงในสัญญาทางการเงินมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งในแง่ของการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เป็นทางเลือกสำหรับการระดมทุนและการลงทุน เช่น การให้สินเชื่อธุรกิจระยะสั้นและระยะยาว การออกหุ้นกู้และหุ้นกู้อนุพันธ์ รวมถึงการมีตลาดอนุพันธ์ Overnight Indexed Swap (OIS)  เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงและต้นทุนได้อีกด้วย

สำหรับการออกพันธบัตร ธปท. ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและนักลงทุนสถาบันค่อนข้างมาก ขณะที่สภาพคล่องของตลาดมีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนจาก bid/ask spread  ของตลาด OIS ที่แคบลงโดยเฉพาะในอายุที่ไม่เกิน 5 ปี รวมทั้ง เริ่มมีการกำหนดราคา และทำธุรกรรมในระยะที่ยาวขึ้นมากถึง 20 ปี อีกด้วย

“ธปท. ขอขอบคุณสถาบันการเงินและผู้ร่วมตลาดทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และทำธุรกรรมทางการเงินที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ในช่วงที่ผ่านมา และขอแนะนำให้ผู้ร่วมตลาดทุกฝ่ายเร่งสร้างความคุ้นเคยและเริ่มใช้อัตราดอกเบี้ย THOR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง  เพื่อให้มีความพร้อมรองรับการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย THBFIX ภายในระยะเวลาอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้านี้  เพราะหากผู้ร่วมตลาดปรับเปลี่ยนมาใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ได้เร็ว จะทำให้ตลาดมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านอีกทางหนึ่ง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของตลาดการเงินไทยในอนาคต”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 สิงหาคม 2564

“สุริยะ” ดันสุดลิ่มเชื่อมโยง “อีอีซี-จีบีเอ” พัฒนาการลงทุนและอุตสาหกรรม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง ครั้งที่ 1 ร่วมกับนายหม่า ซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีหารือเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย (GBA) ของจีน ประกอบด้วยมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างอีอีซีกับ GBA ให้มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทั้งด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน การเกษตร วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ตลอดจนความร่วมมือด้านอื่นๆ อาทิ พลังงานสะอาด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการเงินและตลาดทุน

“ผมให้ทั้งสองฝ่ายเร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ ความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต ในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ เกษตรสมัยใหม่ และพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ และการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และ 5G”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอีอีซีกับ GBA ด้านการลงทุนและอุตสาหกรรม 5 สาขาหลัก ที่กวางตุ้งมีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ EV, ดิจิทัลและ 5G , อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ, สมาร์ท ซิตี้.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 26 สิงหาคม 2564

'นฤมล'ไฟเขียว 2อุตสากรรมฯ เร่งผลิตแรงงานป้อน S-Curve

รมช.แรงงาน ขับเคลื่อน 2 อุตสาหกรรม “หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม-การบินและโลจิสติกส์” เร่งผลิตแรงงานป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายเอสเคิร์ฟ

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมายเอสเคิร์ฟ ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบ Video Conference  เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และพิจารณาแผนพัฒนาแรงงานและประสานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ.2565 – 2570) ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์  โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวจิราภรณ์  ปุญญฤทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าร่วมประชุม และนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่เลขานุการ ณ ห้องประชุมสมชาติ เลขาลาวัณย์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ของ 2 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้ผ่านการ Workshops สำรวจความต้องการ และประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้ว อุตสาหกรรมแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่มผู้ผลิตหุ่นยนต์ กลุ่มผู้ใช้หุ่นยนต์ กลุ่มนักบูรณาการระบบ และกลุ่มผู้สร้างเครื่องจักรกลอัตโนมัติ  ส่วนอุตสาหกรรมที่สอง ได้แก่ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ประกอบด้วย ด้านบริการลูกค้า ด้านการวิเคราะห์และวางแผน ด้านคลังสินค้าและการกระจายสินค้า ด้านการจัดซื้อและจัดหา ด้านเทคโนโลยีโลจิสติกส์ และด้านการขนส่ง โดยจะได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานที่ดำเนินการด้าน New Skills / Up Skills / Re Skills ตลอดจนหน่วยฝึกอบรม เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อแรงงานได้อย่างยั่งยืน

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 26 สิงหาคม 2564

กลุ่ม KTIS ได้เครื่องหมายรับรอง IPHA

กลุ่ม "เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น" ได้รับเครื่องหมายรับรอง IPHA โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของกรมควบคุมโรค ตอกย้ำทุกโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของกลุ่ม KTIS มีมาตรการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 ทั้งด้านสถานที่ กระบวนการผลิต และบุคลากร

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา กลุ่ม KTIS ได้เพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดทั้งในโรงงานและในสำนักงานมาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว ทำให้ไม่พบปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 ในพนักงานของกลุ่ม KTIS และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในมาตรฐานด้านสุขอนามัย กลุ่ม KTIS จึงได้ยื่นขอการรับรอง “IPHA” (Industrial and Production Hygiene Administration) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ออกโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ

“ขณะนี้โรงงานในกลุ่ม KTIS ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน IPHA แล้วว่าเป็นสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 ในสถานที่ กระบวนการผลิต และบุคลากร อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามเกณฑ์การประเมินตนเอง IPHA” นายประพันธ์ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้โรงงานในกลุ่ม KTIS ได้รับมาตรฐานและรางวัลต่างๆ มาแล้วมากมาย เช่น มาตรฐานบอนซูโคร ที่สะท้อนการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน รวมถึงรางวัล VIVE CLAIM LEVEL AWARD ซึ่งเป็นโปรแกรมระดับโลกสำหรับภาคธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานความยั่งยืนขององค์กร และยังได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นต่อเนื่องกันหลายปี เพราะกลุ่ม KTIS ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน การอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย Zero Waste Factory คือเน้นการนำสิ่งเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว วัสดุเหลือใช้จากการผลิตต่างๆ รวมถึงการติดตั้งระบบบำบัดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนรอบโรงงาน

“ในฐานะของหนึ่งในผู้นำของอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กลุ่ม KTIS จึงไม่ได้เน้นแค่การเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ แต่ยังพยายามยกระดับมาตรฐานในทุกด้านให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งจะทำให้กลุ่ม KTIS เติบโตได้อย่างมีคุณภาพและเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายประพันธ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 25 สิงหาคม 2564

“อีอีซี”ร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้งขับเคลื่อน 5 อุตสาหกรรมร่วมกัน

“อีอีซี”ร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้งขับเคลื่อน 5 อุตสาหกรรมร่วมกัน อุตสาหกรรมEV ดิจิทัล5G สุขภาพ Smart City และเศรษฐกิจสีเขียว เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง (High Level Cooperation Conference: HLCC) ครั้งที่ 1 หัวข้อ Stronger Strategic Synergy between GBA and the EEC for a Better Future เพื่อหารือเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area (GBA) ของจีน ซึ่งประกอบด้วยมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) กับ GBA ให้มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึง ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ให้แก่ทางมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในด้านการพัฒนา 5G ในพื้นที่อีอีซี พร้อมความก้าวหน้าการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งอีอีซี จะให้ความสำคัญกับ3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย

1. Digital and 5G ,2. Smart Logistics และ3.Health and Wellbeing โดยมี BCG  (Bio-circular-Green) เป็นแนวทางการลงทุนและประกอบธุรกิจสำหรับทุกคลัสเตอร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็น Net Zero Emissionในภาคอุตสาหกรรมของพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงการพัฒนาเชิงพื้นที่ระหว่างอีอีซี และ GBA ผ่านเส้นทางบกและทางรางผ่านทาง สปป.ลาว และไทยมายังปลายทาง อีอีซี จากแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry port) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับท่าเรือบกประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ เช่น ฉงชิ่ง และคุนหมิง การเชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันในอนาคตผ่าน Land bridge ไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเอเชียใต้และยุโรป

และโอกาสการเชื่อมโยงทางอากาศกับสนามบินอู่ตะเภา ที่สามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงเป็น Connectivity Hub เชื่อมโยงพื้นที่ GBA กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างดี โดยได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของอีอีซี ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ASEAN รวมถึงการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับ Belt & Road Initiative

นายคณิศ ย้ำถึงความร่วมมือระหว่างอีอีซี กับ GBA ในด้านการลงทุนและอุตสาหกรรม 5 สาขาหลักที่กวางตุ้งมีศักยภาพ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ EV ,2.ดิจิทัลและ 5G ,3.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ,4.Smart City และ 5.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Green and Circular Economy ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการร่วมประชุมฝ่ายไทย ได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต (supply chain connectivity) ในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ เกษตรสมัยใหม่ และพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และ Startups  และการพัฒนา Smart City และ 5G

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมฯได้รับรองความร่วมมือ 6 สาขา ที่ทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมสมัยใหม่ ,2.เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ,3.การเกษตร ,4.วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ ,5.การแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างท้องถิ่น และ6.ความร่วมมือด้านอื่น ๆ อาทิ พลังงานสะอาด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงการเงินและตลาดทุน

"ทั้งสองฝ่ายยินดียกระดับความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) กับสำนักงาน GBA และเขตนำร่องการค้าเสรีของกวางตุ้ง และเห็นพ้องให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง และมีการร่วมมือและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยจะเจาะลึกถึงการลงทุนในกิจการและอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน"

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 สิงหาคม 2564

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่าสุดรอบเกือบ1เดือน’ ที่32.88บาทต่อดอลลาร์

 “เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้พลิกกลับมาแข็งค่าที่32.88 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้แข็งค่าสุดในรอบเกือบ1เดือน หลังการแพร่ระบาดโควิดในไทยน่าจะผ่านจุดเลวร้ายสุด ดูดเงินต่างชาติไหลกลับ ขณะที่ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงขานรับเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวและดอลลาร์อ่อนค่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่32.80-33.00บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้(25ส.ค.) ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.88 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสูงสุดในรอบเกือบ1เดือนโดยแข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ  32.92 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.00บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทในระยะสั้นมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จาก มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มเปลี่ยนไปต่อสถานการณ์การระบาดทั่วโลก กดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน แนวโน้มการระบาดในไทยที่ดูเหมือนจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้วนั้น ก็เริ่มดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่ง อาจจะช่วยหนุนให้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น

ทั้งนี้ เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะชะลอลงเมื่อใกล้กับระดับแนวรับสำคัญใกล้ โซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรอบราคาที่ฝั่งผู้นำเข้าต่างรอทยอยแลกซื้อเงินดอลลาร์ โดยเราคาดว่าจะทยอยเห็นโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน ทำให้เงินบาทอาจทรงตัวในระดับราคาดังกล่าวได้

อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง

รวมถึงแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจกลับไปแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเฟดมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้ ซึ่งเรามองว่าประเด็นเฟดทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดคิวอี อาจส่งผลต่อการจัดพอร์ตของนักลงทุน ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยลดการลงทุนในภูมิภาค EM Asia ชั่วคราว เนื่องจากอาจกลัวผลกระทบจากการประกาศปรับลดคิวอีของเฟดจะเหมือนเหตุการณ์ QE Taper Tantrum ในปี 2556

ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) จากความหวังการฟื้นตัวของเศษฐกิจโลกหลังแนวโน้มการระบาดของ Delta เริ่มดูไม่น่ากังวลมากนัก จากประเด็นทางการจีนรายงานไม่พบผู้ติดเชื้อ และสหรัฐฯประกาศอนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินยังถูกหนุนด้วยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯBestbuy, JD.com กับ Pinduoduo ของจีน เป็นต้น

ภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ โดยดัชนี S&P500 ปิดบวก +0.15% นอกจากนี้ หุ้นเทคฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น จากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.52% หลัง

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดหุ้นยุโรปก็ได้รับอานิสงส์จากบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด โดยดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.04% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ Adyen +2.3%, Infineon Tech. +2.0% นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ก็ยังคงปรับตัวขึ้นช่วยพยุงตลาดไว้ อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen +2.1%, BMW +2% ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่าทางการจีนอาจเข้ามาจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อยอดขายของบริษัทสินค้าแบรนด์เนม ที่กว่า 30% ของยอดขายมาจากจีนLouis Vuitton -1.9%, Adidas -0.8%, Inditex -0.7%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ หลังจากที่ตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยมีความจำเป็นน้อยลง กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.30% ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.30% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตามุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการปรับลดคิวอี ซึ่งรวมถึงอัตราการปรับลดวงการทำคิวอี ในงานประชุมวิชาการประจำปีของเฟด ที่ jackson Hole ในวันพรุ่งนี้ จนถึง สุดสัปดาห์

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทกำไรสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ตามความต้องการหลุมหลบภัย (Safe Haven asset) ที่ลดลง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์(DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.91 จุด หนุนให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.175 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงช่วยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ต่างปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 70.4 และ 67.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของยุโรป ผ่านการประเมินดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) โดยตลาดมองว่า ปัญหาการระบาดของ Delta ในยุโรปอาจทำให้ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี เดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 100 จุด อย่างไรก็ดี เรามองว่า ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงไม่ได้น่ากังวลมากนัก เนื่องจาก การระบาดในยุโรป แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ทว่า ยอดผู้ป่วยหนัก นอนโรงพยาบาล หรือ ยอดผู้เสียชีวิต กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งไปมาก ทำให้รัฐบาลในยุโรปยังไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด

นอกเหนือจากการติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เรามองว่า ตลาดจะรอจับตางานประชุมวิชาการของเฟดที่Jackson Hole เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ภายหลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟดได้

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 สิงหาคม 2564

ก.อุตฯ รุดตรวจโรงงานต้นแบบทำ Bubble and Seal ยันได้ผลดีคุมโควิด-19

กระทรวงอุตสาหกรรมรุดตรวจเยี่ยมโรงงาน ลูเมนตั้ม อินเตอร์เนชั่นแนล ต้นแบบทำ Bubble and Seal ยืนยันผลปฏิบัติตั้งแต่การตรวจคัดกรองด้วย ATK ร่วมกับ RT-PCR เมื่อผลเป็นบวก ประเมินตนเองในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) ลดการติดเชื้อลงได้ ล่าสุดไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ (Onsite) ร่วมกับ นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือศูนย์ CMC : Crisis Management Center เพื่อติดตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของ บริษัท ลูเมนตั้ม อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จังหวัดปทุมธานี ว่า บริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจผลิตอุปกรณ์สำหรับโครงข่ายโทรคมนาคม อุปกรณ์ไฮเทคเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เลเซอร์ และเซ็นเซอร์สามมิติ โดยมีแรงงานจำนวน 1,800 คน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามหลักการจัดการโควิด-19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม หรือ Bubble and Seal อย่างเข้มข้นถึงเดือนกันยายน 2564 หรือจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ

มาตรการสำคัญ ได้แก่ การตรวจคัดกรองคนก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกสัปดาห์ ปรับลดจำนวนบุคลากรในโรงงาน ให้พนักงานส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน (Work from Home) และให้พักอาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงงาน จัดสถานที่ทางเดินและการรับประทานอาหารให้มีการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม พร้อมได้จัดเตรียมอาหารเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อของพนักงาน

นอกจากนี้ ยังได้สร้างแรงจูงใจให้พนักงานด้วยการแจกรางวัลให้แก่แผนกที่สามารถป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อได้ สำหรับบุคลากรที่เข้าทำงานจะต้องตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ร่วมกับ RT-PCR เมื่อผลเป็นบวกเพื่อยืนยันว่าติดเชื้อจริง โดยบริษัทได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาครัฐมาตลอด ทั้งการนำผู้ติดเชื้อไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม การประสานฉีดวัคซีนพนักงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้โรงงานฯ ได้ดำเนินการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ให้แก่พนักงานครบทุกคนแล้ว และจะใช้การตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจอีกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

“บริษัท ลูเมนตั้ม อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ถือเป็นแบบอย่างโรงงานที่ใช้แนวทาง Bubble and Seal ในการปฏิบัติและได้ผลดี เพราะไม่พบผู้ติดเชื้อมาพักใหญ่ และยังสามารถรับพนักงานใหม่เพิ่มเติมได้ และบริษัทฯ ยังได้เข้าประเมินตนเองในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และได้ถูกสุ่มตรวจประเมิน (Onsite) ถือเป็นโรงงานที่เป็นกรณีศึกษาและเป็นตัวอย่างที่ดี และจริงๆ แล้วยังมีอีกหลายโรงงานที่มีแนวทางที่มีประสิทธิภาพสามารถนำมาเป็น Best Practices เพื่อขยายผลเป็นต้นแบบต่อไปได้” รองปลัดอุตฯ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้ให้เห็นว่าโรงงานที่เข้าประเมิน TSC แล้วมีแนวโน้มการติดเชื้อโควิดน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงงาน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำแผนตรวจประเมินสถานประกอบการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแนะนำมาตรการ Good Factory Practice ให้กับโรงงานทุกขนาดทั่วประเทศ 1,805 โรงงาน ขณะนี้ตรวจแล้ว 1,583 โรงงาน คิดเป็น 88% โดยเพิ่มขึ้นในกลุ่มโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก และโรงงานที่ยังไม่ประเมินตนเองมากขึ้น ในแพลตฟอร์ม TSC เพื่อเชิญชวนให้เข้าประเมินตนเองและการให้คำแนะนำการทำ Bubble and Seal

จาก https://mgronline.com  วันที่ 25 สิงหาคม 2564

สทนช.เร่งเครื่อง 22 คณะกรรมการลุ่มน้ำ ได้เวลาประชาชนร่วมแก้ปัญหาน้ำ

“การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงภารกิจสำคัญของ สทนช.ในการเข้ามาทำหน้าที่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่มีเจตนารมณ์ ต้องการให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์

บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ...ระดับพื้นที่, ระดับลุ่มน้ำ และระดับชาติ

ในระดับพื้นที่ มีการเปิดรับจดทะเบียนก่อตั้ง องค์กรผู้ใช้น้ำ มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดมีกลุ่มบุคคลที่สนใจยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำกว่า 2,866 องค์กร อนุมัติแล้ว 2,771 องค์กร โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม 2,263 องค์กร ภาคอุตสาหกรรม 272 องค์กร และภาคพาณิชยกรรม 236 องค์กร ที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา โดยองค์กรผู้ใช้นํ้า จะมีกระจายครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลักของประเทศ และยังคงเปิดรับจดทะเบียนไปโดยตลอดโดยไม่มีกำหนดปิดรับการจดทะเบียน

ส่วนในระดับชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ชุดใหม่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้ทันต่อกรอบการเสนอแผนงาน/โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จะประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานฯ กรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 9 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน และกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 6 คน โดยมีเลขาธิการ สทนช. ปฏิบัติหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

สำหรับในระดับลุ่มน้ำ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเชื่อมโยงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จากระดับพื้นที่สู่การวางแผนและแก้ไขปัญหาในระดับชาติที่จะต้องมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” ขึ้นมาบริหารให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลักใหม่

อันประกอบไปด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำปิง, ลุ่มน้ำวัง, ลุ่มน้ำยม, ลุ่มน้ำน่าน, ลุ่มน้ำโขงเหนือ, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ลุ่มน้ำป่าสัก, ลุ่มน้ำบางปะกง, ลุ่มน้ำโตนเลสาป, ลุ่มน้ำแม่, แม่น้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ, ลุ่มน้ำชี, ลุ่มน้ำมูล, ลุ่มน้ำสะแกกรัง, ลุ่มน้ำท่าจีน, ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก, ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์, ลุ่มน้ำภาคใต้ ฝั่งตะวันออกตอนบน, ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

คณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำจะประกอบด้วยกรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น ผู้แทนจากหน่วยภาครัฐ 13 หน่วยงาน...แต่ถ้าเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนจะมีผู้แทนจากทหาร ลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล จะมีผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และถ้าเป็นลุ่มน้ำอยู่ในพื้นที่ 3 จังชายแดนภาคใต้ จะมีผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำนั้นๆด้วย

นอกจากจะมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดละ 1 คน รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 1 คน ร่วมเป็นกรรมการ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ถูกนำขึ้นมาสู่ระดับลุ่มน้ำ...คณะกรรมการลุ่มน้ำจึงมีผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำร่วมเป็นกรรมการด้วยถึง 9 คน มาจากภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน

รวมทั้งยังจะมีกรรมการลุ่มน้ำจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำอีกจำนวน 4 คน

ที่สำคัญจะมีการคัดเลือกผู้แทนกรรมการลุ่มน้ำจำนวน 6 คน ไปเป็นกรรมการใน กนช. เพื่อนำปัญหา แผนงาน ความต้องการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำจากระดับท้องถิ่นและระดับลุ่มน้ำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระดับชาติ

โดยคัดเลือกจากกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 4 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 1 คน

เลขาธิการ สทนช.กล่าวยืนยัน...หลังจากได้คณะกรรมการลุ่มน้ำครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลัก และได้กรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช.แล้ว จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการ สถานการณ์ในปัจจุบันและปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์นี้นับได้ว่าเป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยก็ว่าได้ ที่ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีบทบาทให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ตรงความต้องการของชาวบ้านได้มากขึ้น...ดีกว่าปล่อยให้ราชการจากส่วนกลางมากำหนดขีดเส้นชี้เป็นชี้ตายโดยไม่รู้ปัญหาสภาพพื้นที่ที่แท้จริง ปัญหาเลยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดเสียที

นับแต่ประเทศไทยมี สทนช.มาได้ 4 ปี การบริหารจัดการน้ำมีอะไรหลายอย่างเปลี่ยนไป...จากที่เคยแก้ปัญหากันแบบตั้งรับ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะตอนภัยธรรมชาติเกิดขึ้นแล้ว เปลี่ยนมาเป็นแก้ปัญหาแบบเชิงรุก เตรียมพร้อม วางแผน ป้องกันก่อนภัยจะมาถึง ยิ่งในอนาคตคนในพื้นที่จะมีบทบาทมากขึ้น ปัญหาท่วมแล้งซ้ำซากและซ้ำซ้อนจะได้เลือนหายไปซะที.

จาก https://mgronline.com  วันที่ 25 สิงหาคม 2564

ชู นโยบายน้ำระหว่างประเทศการทูตเพื่อนบ้านอาเซียน

"สมเกียรติ ประจำวงษ์"เลขา สทนช. บูรณาการหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศแล้ว  ยังได้ร่วมขยายความร่วมมือเรื่องทรัพยากรน้ำไปสู่ระดับภูมิภาค โดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่าง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ( MRC) กับ อาเซียน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า โดยทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่โดดเด่นเป็นพิเศษ มักว่าด้วยเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ที่เห็นมูลค่าตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ประเทศไทยและชาติอาเซียน ล้วนมีเรื่องราวเหล่านั้น อีกด้านหนึ่งขยายบริบทความสัมพันธ์ว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลไทยจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นเป็นหน่วยงานกลาง บูรณาการหน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศแล้ว  ยังได้ร่วมขยายความร่วมมือเรื่องทรัพยากรน้ำไปสู่ระดับภูมิภาค โดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่าง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ( MRC) กับ อาเซียน

“กลไกด้านน้ำที่ริเริ่มโดย   MRC สามารถสร้างการทำงานร่วมกันในความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำในภูมิภาคได้ จึงมีแนวคิดที่ขยายความร่วมมือด้านนี้ไปยังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศด้วย”

ในประเทศไทยเอง สภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทบต่อความมั่นคงด้านน้ำ รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ตลอดจนน้ำข้ามพรมแดน

“สทนช. เอง เน้นย้ำถึงการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ทางเทคนิคที่เชื่อถือได้ แม่นยำ ทันต่อสถานการณ์ ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเพื่อต่อสู้กับความท้าทายด้านน้ำ จึงต้องการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง”

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า โดยภูมิประเทศของไทยมีพรมแดนติดต่อเพื่อนบ้านทั้ง 4 ด้าน และมีเรื่องน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เพียงกระชับความร่วมมือในชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ชาติ ประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มากขึ้นเท่านั้น  หากยังรวมถึงการประสานความร่วมมือกับชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนบนเพิ่มด้วยคือจีนกับพม่า ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงมีความชัดเจนเป็นลำดับ นอกจากกำหนดแผนยุทธศาสตร์ MRC ระยะ10 ปี (พ.ศ.2564-2573) ยังปรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ.2564-2568) ใหม่ ซึ่งประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2564 โดยยุทธศาสตร์มุ่งเน้นการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งระบบนิเวศของแม่น้ำโขงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ การเข้าถึงและการใช้น้ำและทรัพยากรเกี่ยวข้องของชุมชน การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนครอบคลุมอย่างทั่วถึง การเพิ่มความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ และการยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาคจากมุมมองทั้งลุ่มน้ำ

“ยุทธศาสตร์ของ MRC ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น การกำหนดแผนงานกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่มองการพัฒนาเฉพาะส่วน หากมองทั้งระบบลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันในหลายมิติ”

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านชายแดนติดกัน สทนช. หยิบเอาเรื่องน้ำมาเป็นตัวขับเคลื่อนความร่วมมือจริงจังยิ่งขึ้นไทยกับมาเลเซียมีลุ่มน้ำโก-ลก เป็นความร่วมมือมาเนิ่นนาน และส่งผลดีต่อความสัมพันธ์จนถึงวันนี้ ในฐานะมีแม่น้ำโก-ลก แบ่งพรมแดนกัน มีขอบเขตลุ่มน้ำใกล้เคียงกัน ยังมีโอกาสขยายการพัฒนาได้อีก

ไทยกับพม่า มีแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นแบ่งพรมแดนเช่นกัน ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกันอยู่บ้างในระดับหนึ่ง ในอนาคตยังจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน สทนช. มีความชัดเจนในทิศทางมากกว่าเดิมที่คุยกันเป็นครั้งคราว ยังรอการสานต่อที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

มีกรณีที่น่าสนใจคือไทยกับกัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำโตนเลสาบด้วยกัน โดยมีพื้นที่รับน้ำโตนเลสาบอยู่ในฝั่งกัมพูชา ในขณะพื้นที่ฝั่งไทย ประกอบด้วย จ.สระแก้ว กับ จ.จันทบุรี เป็นหลัก มีแม่น้ำพรมโหด จ.สระแก้ว และคลองโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ไหลลงไปที่ราบต่ำกัมพูชา ก่อนลงโตนเลสาบตามลำดับ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบที่อยู่ฝั่งไทยกว่า 20%  อีกกว่า 70% อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดของกัมพูชา

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ลักษณะลุ่มน้ำโตนเลสาบนั้น พื้นที่ในประเทศไทยถือเป็นต้นน้ำ กัมพูชาเป็นปลายน้ำ ไม่ได้เป็นแม่น้ำแบ่งเส้นพรมแดนเหมือนแม่น้ำโขง แต่แม่น้ำพรมโหดและคลองโป่งน้ำร้อนจากฝั่งไทยไหลลงฝั่งกัมพูชา ก่อนไหลต่อไปลงโตนเลสาบ แหล่งน้ำสำคัญของกัมพูชาที่รับน้ำจากแม่น้ำโขงด้วย

“ไทยเป็นประเทศต้นน้ำ ถ้าไม่ต้องสนใจใคร เราจะพัฒนาอะไรของเราเองได้หมด แต่ถ้าสร้างเขื่อนเก็บน้ำมากไป ระบายน้ำน้อยไปหรือมากไป ก็กระทบกัมพูชาที่อยู่ปลายน้ำและอยู่ในลุ่มน้ำโตนเลสาบด้วยกัน  ในทางกลับกัน ถ้าร่วมมือพัฒนาด้วยกันทั้งระดับลุ่มน้ำโตนเลสาบ คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วม ก็จะเป็นผลดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย” ในฐานะเลขาธิการ สทนช. ดร.สมเกียรติ เปิดมุมมองการพัฒนาลุ่มน้ำระหว่างประเทศ (ไทย-กัมพูชา) ในมิติที่กว้างไกลขึ้นอย่างน่าสนใจ

การไม่ถือเอาประโยชน์จากการพัฒนาฝ่ายเดียว ไปเป็นการพัฒนาร่วมกันทั้งระบบลุ่มน้ำ จะเป็นคุณูปการต่อความร่วมมือและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปด้วย ข้อนี้ดูเหมือนเลขาธิการ สทนช. มีประสบการณ์ตรงจากการร่วมมือพัฒนาแม่น้ำโก-ลก ระหว่างไทยกับมาเลเซียมาก่อนแล้ว

ขณะนี้ การพัฒนาลุ่มน้ำโตนเลสาบเข้าสู่โค้งสุดท้าย คือการจัดลำดับความสำคัญและจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนา หลังจากผ่านการชี้ปัญหาและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานพัฒนาของประเทศเยอรมนี โตนเลสาบ เป็นตัวอย่างหนึ่งในการใช้น้ำเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความมั่นคง ทั้งในเรื่องน้ำควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนที่น่าสนใจ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 สิงหาคม 2564

"สุริยะ" เผยอุตสาหกรรมไบโอลงทุนเฉียด 1.5 แสนล้านดันไทยเป็นฮับอาเซียน

กระทรวงอุตสาหกรรมเผยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไบโอเดินหน้าลงทุนเฉียด 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มประเภทโรงงาน เสริมมาตรการสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนอุตสาหกรรมไบโอกระตุ้น GDP ตั้งเป้าหมายไทยเป็นไบโอฮับอาเซียน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบข้อมูลความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 โดยกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจใหม่  BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อคระยะห่างการตั้งโรงงาน 50 กิโลเมตร โดยให้โรงงานอื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานเอทานอล โรงงานเคมีชีวภาพสามารถตั้งในบริเวณใกล้กับโรงงานน้ำตาลเดิมได้ การแก้ไขเพิ่มประเภทโรงงานอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ 3 ประเภท ได้แก่ การทำเคมีภัณฑ์จากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องด้วยกระบวนการเคมีชีวภาพ การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และการผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องรวมกับวัตถุดิบจากปิโตรเลียมและทำให้สลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่งการเพิ่มประเภทโรงงานดังกล่าวจะช่วยให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานหลักที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดลพบุรี เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ

ทั้งนี้ แม้บางโครงการต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคจากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 (Covid-19) ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนหลายรายยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันให้เกิดการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด (GKBI) ที่ล่าสุด ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด (NatureWorks) จากสหรัฐอเมริกา

เพื่อผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด (PLA) กำลังการผลิตถึงประมาณ 75,000 ตันต่อปี โดยโครงการฯ ระยะที่ 2 มีมูลค่าลงทุน 21,430 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทยแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2565 นี้ และสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน เช่น โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ของบริษัท อิมเพรส กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุน 57,600 ล้านบาท ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และมีแผนลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical grade) โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด ที่จังหวัดลพบุรี มูลค่าลงทุน 32,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ

รวมถึงจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่จังหวัดขอนแก่น มูลค่าลงทุน 29,705 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบทางด้านพันธุ์สัตว์ในพื้นที่รอบโครงการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ เบกกิ้งยีสต์ (Baking yeast) จากกากน้ำตาล โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ของบริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด มูลค่าลงทุน 8,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA และพิจารณาแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดอุบลราชธานี โดยโครงการฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นพร้อมสร้างการรับรู้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโครงการแล้ว

"หากภาคเอกชนสามารถดำเนินโครงการต่างๆ ที่รายงาน ครม. รับทราบได้ตามแผนที่กำหนดไว้ จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศเพิ่มขึ้นอีกกว่า 149,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและช่วยหนุน GDP ของไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้นแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพเหล่านี้ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประการสำคัญจะเป็นการสร้างงาน ก่อให้เกิดรายได้ให้กับเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ทั้งฉะเชิงเทรา ลพบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่าด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพในทุกพื้นที่ของประเทศสอดรับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล และก้าวสู่การเป็น Bio Hub of ASEAN ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้"

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า นอกจากการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพแล้ว การสร้างดีมานด์ในประเทศ เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ซึ่ง สศอ. ได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิต (Converter) เพื่อให้ผู้ซื้อคนแรกที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามประเภทที่กรมสรรพากรกำหนดนำไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ในช่วงปี 2562- กรกฎาคม 2564 สศอ. ได้ออกใบรับรองแล้วทั้งสิ้น 48 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ผลิตรวม 4 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหลอดพลาสติก

ขณะนี้ สศอ. และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการว่ามีตลาดรองรับเพียงพออย่างแน่นอน และจูงใจให้ห้างร้านต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพทดแทนปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือคิดเป็นปริมาณความต้องการเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประมาณ 43,000 ตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นสวนหนึ่งที่จะช่วยการลดปริมาณการใช้พลาสติกของประเทศอีกด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 สิงหาคม 2564

“สุริยะ” ปลื้มเอกชนจ่อคิวลงทุนอุตฯ ชีวภาพเฉียด 1.5 แสนล้าน เล็งถกคลังต่อมาตรการภาษีฯ กระตุ้นการใช้

“สุริยะ” เผยแนวโน้มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีวภาพยังเดินหน้าลงทุนเฉียด 1.5 แสนล้านบาทฝ่าโควิด-19 กระตุ้นเศรษฐกิจไทยในอนาคตต่อเนื่อง หนุนไทยสู่ Bio Hub ภูมิภาค สศอ. เร่งหารือคลังขยายเวลามาตรการกระตุ้นใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 1.25 เท่า จูงใจห้างร้านใช้ไบโอพลาสติกทดแทนปีละไม่ต่ำกว่า 10%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ครม.เมื่อ 17 ส.ค. 2564 ได้รับทราบข้อมูลความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model (Bio, Circula, Green Economy) ซึ่งพบว่าภาคเอกชนยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการลงทุนให้เกิดขึ้นเป็นไปตามแผนแม้ว่าจะเผชิญกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีการลงทุนเบื้องต้นกว่า 149,000 ล้านบาทซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร สร้างงานและรายได้ให้คนในพื้นที่ และนำไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพในอาเซียน Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570

สำหรับโครงการที่สำคัญประกอบด้วย โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ของบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด (GKBI) ที่ล่าสุดได้ร่วมลงทุนกับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด (NatureWorks) จากสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติก แอซิด (PLA) กำลังการผลิตถึงประมาณ 75,000 ตันต่อปี โดยโครงการฯ ระยะที่ 2 มีมูลค่าลงทุน 21,430 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทยแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2565 และสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน เช่น โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ของบริษัท อิมเพรส กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุน 57,600 ล้านบาท ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และมีแผนลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical grade)

โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด ที่จังหวัดลพบุรี มูลค่าลงทุน 32,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ รวมถึงจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่จังหวัดขอนแก่น มูลค่าลงทุน 29,705 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบทางด้านพันธุ์สัตว์ในพื้นที่รอบโครงการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ เบกกิ้งยีสต์ (Baking yeast) จากกากน้ำตาล โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ของบริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด มูลค่าลงทุน 8,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA และพิจารณาแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดอุบลราชธานี โดยโครงการฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นพร้อมสร้างการรับรู้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโครงการแล้ว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐได้มีการออกระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมความต้องการผลิตภัณฑ์ในประเทศเพิ่มขึ้นโดยการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิต (Converter) เพื่อให้ผู้ซื้อคนแรกที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามประเภทที่กรมสรรพากรกำหนดนำไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ในช่วงปี 2562-กรกฎาคม 2564 ซึ่ง สศอ.ได้ออกใบรับรองแล้วทั้งสิ้น 48 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ผลิตรวม 4 ราย

“ขณะนี้ สศอ. และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการว่ามีตลาดรองรับเพียงพออย่างแน่นอน และจูงใจให้ห้างร้านต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพทดแทนปีละไม่ต่ำกว่า 10% ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด” นายทองชัยกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 24 สิงหาคม 2564

อาเซียนถกปท.พันธมิตร  เร่งเพิ่มความร่วมมือเศรษฐกิจ

อาเซียนเดินหน้ากระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศพันธมิตรในกรอบอาเซียน+3 และกรอบอาเซียน+8 เห็นพ้องแผนงานเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นพร้อมเร่งเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ครั้งที่ 38 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย) หรือ East Asia Summit (EAS) ครั้งที่ 10 ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าความร่วมมือและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจบวกสาม และ EAS ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้

โดยที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 38 ได้หารือถึงการจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี 2564 – 2565 ที่มีการจัดทำทุก 2 ปี ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมีทั้งสิ้น 11 หัวข้อ อาทิ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเฉพาะ FTA อาเซียน - จีน อาเซียน - ญี่ปุ่น อาเซียน – เกาหลีใต้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การอํานวยความสะดวกทางการค้าต่อภาคเอกชน และติดตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ที่ประชุมตั้งเป้าที่จะรับรองแผนงานดังกล่าวในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามในช่วงเดือนกันยายนนี้

สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด ครั้งที่ 10 ได้หารือถึงแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 พร้อมทั้งแนวทางความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างกันได้อย่างสะดวก การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยได้เน้นย้ำการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบใหม่ (new normal) ได้แก่ การเร่งการเข้าสู่โลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีจะมีบทบาทกับชีวิตของประชากรและภาคธุรกิจมากขึ้น การส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานและการกระจายฐานการผลิตในภูมิภาค และการสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางสาธารณสุข อาหาร และพลังงาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านสาธารณสุขและสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมอีกด้วย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EAS ภายหลังวิกฤตโควิด-19

ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน+8 มีมูลค่า 9.77 ล้านล้านบาท เป็นการส่งออกจากไทย มูลค่า 5.08 ล้านล้านบาท และไทยนำเข้า มูลค่า 4.68 ล้านล้านบาท และในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน+8 คิดเป็น 5.74 ล้านล้านบาท ขยายตัว 17.97 % จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 2.91 ล้านล้านบาท และไทยนำเข้า มูลค่า 2.82 ล้านล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 สิงหาคม 2564

“จุรินทร์” ปลื้มส่งออก 7 เดือนโต 4 เท่าจากเป้าหมาย ผนึกเอกชน เร่งเปิดตลาดใหม่

ส่งออกไทย 7 เดือนขยายตัวต่อเนื่อง16.20% มั่นใจทั้งปีขยายตัวตามเป้า4% จากอานิสงส์ค่าบาท ตลาดโลกฟื้นตัว ตลาดสำคัญๆของไทยมีแนวโน้มดี ดันส่งออกเดือนก.ค. ขยายตัว20.27% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่5 เดินหน้าเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่า การกระทรวงพาณิชย์เปิดผยถึงสถานการณ์ส่งออกเดือนกรกฎาคม ว่า การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคมว่าเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้วยมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ 20.27 % เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการขยายตัว4เท่าจากเป้าทั้งปี ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 22,467.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 45.94% ดุลการค้าเกินดุล 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นผลจากการเร่งแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีในระดับที่น่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรปทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดี

สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเพื่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยหนุนต่อการส่งออกไทย ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.20% การนำเข้า มีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว28.73% ดุลการค้า 7 เดือนแรก เกินดุล 2,622.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าเป้าส่งออก4% ไม่ไกลเกินเอื้อม

อย่างไรก็ตามสินค้าที่ขยายตัว เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ไก่สด แช่เย็น แช่เข็ง และแปรรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร   สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  รวมถึงสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้า

ขณะที่ตลาดส่งออก ขยายตัวเกือบทุกตลาด ตลาดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง หากมองในตลาดอาเซียน อาเซียน (5) และ CLMV มีศักยภาพการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดเมียนมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ ตลาดตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา แอฟริกา และรัสเซียและ CIS มีอัตราการขยายตัวในระดับสูงแทบทั้งสิ้น

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผุ้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษต ขยายตัว4.3%  เป็นการขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง โดย สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว80.2%  ขยายตัวต่อเนื่อง4เดือน เช่น ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ ยางพารา ขยายตัว 121%  ขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง  มันสำปะหลัง ขยายตัว 62%  ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่องเป็นต้น

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว5เดือนต่อเนื่อง โดยขยายตัว18% ซึ่ง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 39.2%  ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 16% ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง  ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว16.2%

โดยภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาด อย่าง ตลาดหลัก ขยายตัว25.8%  ประกอบด้วย สหรัฐฯขยายตัว 22.2%  จีนขยายตัว 41% ญี่ปุ่นขยายตัว 23.3 %   สหภาพยุโรป (27) ขยายตัว 20.9% อาเซียน (5) ขยายตัว 26.9%  CLMV ขยายตัว 16.1 2%    ตลาดรอง ภาพรวมขยายตัว 27.6%  ได้แก่ เอเชียใต้ขยายตัว 73.8% ตะวันออกกลาง ขยายตัว 12.4% ทวีปแอฟริกา ขยายตัว 17.9 % ลาตินอเมริกา ขยายตัว 93.5% และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 53%  ขณะที่ทวีปออสเตรเลียติดลบ 6.8 % และ 3 ตลาดอื่นๆ ติดลบ76.7%

สำหรับแนวโน้มกระทรวงพาณิชย์มองว่าส่งออกไทยยังคงมีการขยายตัวที่ดีเนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ    ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อีกทั้งการส่งออกไปยังอาเซียนยังได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน แม้ว่าจะยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรง    มาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และการเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลก ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย  และค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในขณะนี้

ด้านนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเร่งเพื่อเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับทูตพาณิชย์ของไทยในจีนเพื่อเร่งแก้ไขอุปสรรคการส่งออกในสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียน และลำไย ไปยังตลาดจีน ซึ่งจากความพยายามในการหารือและเจรจาครั้งที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้จีนปลดล็อกอุปสรรคการส่งออกในสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิดแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรในประเทศมีช่องทางในการระบายสินค้าและส่งผลดีต่อเกษตรกรของไทยต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 สิงหาคม 2564

เออาร์วี-โรโตเทคผุดหุ่นยนต์ตรวจสอบ บํารุงรักษาท่อแนวตั้งเครื่องแรกในโลก

เออาร์วี ร่วมกับ โรโตเทค เปิดให้บริการนวัตกรรมโรโต ไคลม์เมอร์ หุ่นยนต์ตรวจสอบ และบํารุงรักษาท่อแนวตั้งเครื่องแรกของโลก เพิ่มประสิทธิภาพในงานซ่อมบำรุงให้กับธุรกิจปิโตรเลียม และพลังงานทางเลือก

นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า เออาร์วี กับบริษัท โรโตเทค จำกัด  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญบริการด้านหุ่นยนต์จากสิงคโปร์ ได้ร่วมมือพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์โรโต ไคลม์เมอร์ (Roto Climber) เครื่องแรกของโลก เพื่อให้บริการตรวจสอบ และบํารุงรักษา รวมทั้งทําความสะอาดท่อประเภทต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ท่อส่งปิโตรเลียม ท่อขุดเจาะปิโตรเลียม ท่อสูบน้ำทะเลบนแท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง ท่อในท่าเทียบเรือ และหอกังหันลม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาสำหรับท่อแนวตั้งครั้งแรกของโลก จากเดิมที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับท่อแนวนอนเท่านั้น ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการหลายรายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความสนใจที่จะใช้บริการ โรโต ไคลม์เมอร์

“ความร่วมมือครั้งดังกล่าวเป็นการพลิกโฉมธุรกิจบริการด้านการตรวจสอบ และบำรุงรักษาโครงสร้าง สิ่งติดตั้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับท่อในแนวตั้ง สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยนวัตกรรมและวิธีการแบบใหม่ ขณะนี้ เออาร์วี และโรโตเทค กำลังเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของ โรโต ไคลม์เมอร์ ไปอีกขั้น เพื่อให้บริการซ่อมแซม เจาะ และตัดโครงสร้างต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถรองรับ ตอบโจทย์ และแก้ปัญหาของธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น”

นายไซมอน ฮาร์ท็อก (Mr. Simon Hartog) กรรมการผู้จัดการ โรโตเทค เปิดเผยว่า โรโต ไคลม์เมอร์ ปฏิบัติงานด้วยการควบคุมจากระยะไกล โดยไม่ต้องอาศัยนักประดาน้ำและเรือสนับสนุน จึงลดความเสี่ยงของบุคลากรจากการทำงานในพื้นที่อันตราย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างมาก รวมทั้ง ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย

"โรโต ไคลม์เมอร์ ปฏิบัติงานได้ทั้งในพื้นที่เหนือระดับน้ำ บริเวณระดับน้ำ และใต้ผิวน้ำลึกสุดถึง 200 เมตร หุ่นยนต์มีน้ำหนักเบาจึงติดตั้งได้ง่าย โรโต ไคลม์เมอร์ ทำงานโดยยึดเกาะและเคลื่อนที่ไปตามแนวตั้งของท่อ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างของท่อโดยละเอียด สามารถวัดความหนาของผนังเพื่อตรวจจับการสึกกร่อน และทําความสะอาดโครงสร้างภายนอกไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ยังติดตั้งกล้องคุณภาพสูง เพื่อรายงานการทำงานในรูปแบบวิดีโอได้อย่างเรียลไทม์ สำหรับการติดตามและวิเคราะห์ผลอีกด้วย"

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 สิงหาคม 2564

57รง.น้ำตาลเร่งวัคซีน ไม่ให้กระทบเปิดหีบอ้อยปลายปี

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี’64/65 คาดว่าจะอยู่ระดับ 80-90 ล้านตันที่สูงกว่าฤดูหีบปีที่ผ่านมา (ปี’63/64) ซึ่งอยู่ที่ 66.67 ล้านตันอาจทำให้การเปิดหีบอาจจะเร็วมาเป็นช่วงปลายพ.ย.ก็เป็นไปได้ ซึ่งระหว่างนี้ทางโรงงานและชาวไร่อ้อยได้ประสานงานใกล้ชิดในการฉีดวัคซีนให้ได้มากสุดก่อนเปิดหีบเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคได้

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายในประเทศ 57 แห่งได้เตรียมพร้อมรองรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่จะเกิดขึ้นช่วงประมาณต้นธ.ค. 2564 ด้วยมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในโรงงานเพื่อไม่ให้กระทบกับกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการผลักดันการฉีดซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับพนักงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องให้มากสุดเท่าที่จะทำได้

“ขณะนี้เริ่มเกิดคลัสเตอร์ในโรงงานน้ำตาลขึ้นก็ทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งควบคุมให้มากขึ้นก่อนที่จะเปิดหีบ หนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การฉีดวัคซีนให้กับแรงงาน แม้ว่าการฉีดจะไม่ได้ทำให้ทุกคนไม่ติดเชื้อเลย แต่อัตราการติดเชื้อและตายจะลดต่ำลง บางโรงงานก็ได้มีการจัดหาวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ส่วนหนึ่งและการฉีดวัคซีนตามแนวทางที่รัฐบาลจัดให้ ซึ่งขณะนี้โรงงาน 57 แห่ง มีการฉีดให้กับแรงงานแล้ว 30-40% ซึ่งหากรวมชาวไร่อ้อยคู่สัญญาจะมีแรงงานกว่า 800,000 ราย จึงคาดหวังว่าระยะเวลาที่เหลือรัฐจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้เข้าถึงได้เพียงพอ” นายชลัชกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ส่งออกเดือนก.ค.ขยายตัว 20.27% ต่อเนื่อง3เดือน

“พาณิยช์”เผยส่งออกไทยเดือนก.ค. ขยายตัวต่อเนื่อง 20.27% ส่งผลภาพรวม 7เดือนไทยส่งออก16.20% จากเศรษฐกิจโลกฟื้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดผยถึงสถานการณ์ส่งออกเดือนกรกฎาคม  ว่า มีมูลค่า22,650   ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่3  หรือขยายตัว 20.27   %  การนำเข้ามีมูลค่า  22,467  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว   45 %   และดุลการค้า183ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนภาพรวมการส่งออก7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม)  มีมูลค่า 154,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 16.20%   การนำเข้ามีมูลค่า  152,362 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บวก 28.73 % ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า2,622ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้การส่งออกไทยขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น  สินค้าของไทยมีการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ผลไม้ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารสำเร็จรูป  รวมถึงตลาดสำคัญๆของไทยที่ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเกือบทุกตลาด  และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลดีต่อการส่งออกไทย รวมถึงการทำงานรวมกับภารเอกชนภายใต้กกร.พาณิชย์มาอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ  33.30 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มแกว่งตัว ตลาดเชื่อว่าสถานการณ์การระบาดในไทยที่ยังดูมีแนวโน้มยืดเยื้อ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า  สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาการระบาดของ Delta กดดันให้ตลาดการเงินเผชิญการปรับฐานในเกือบทุกสินทรัพย์ ยกเว้น สินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง ดอลลาร์ และ บอนด์

สำหรับสัปดาห์นี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ งานประชุมวิชาการประจำปีของเฟด ณ เมือง Jackson Hole ซึ่งตลาดจะรอลุ้นทิศทางการปรับลดมาตรการคิวอีของเฟด

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินโอกาสของการทยอยลดคิวอีของเฟดในปีนี้ โดยตลาดจะให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีการจ้างงานของรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ทั้งนี้ ตลาดจะจับตางานประชุมวิชาการเฟด (Jackson Hole Symposium) ซึ่งตลาดคาดว่า เฟดอาจมีการส่งสัญญาณถึงการทยอยลดคิวอี รวมถึงมีความชัดเจนในแนวทางการปรับลดคิวอี เช่น อัตราการลดคิวอี เป็นต้น โดยตลาดการเงินอาจผันผวนสูงขึ้นได้ หากเฟดส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะลดคิวอีได้ในปีนี้ และ เฟดอาจลดคิวอีในอัตราที่สูงกว่ามุมมองของตลาด ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่าปัญหาการระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจกดดันให้ทั้งภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ดังจะเห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 62.3 จุด และ 59.2 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ขยายตัว)

ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อาจกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปไม่มากนัก เพราะ ดัชนี PMI ของทั้งภาคการผลิตและการบริการของยุโรป ในเดือนสิงหาคม ยังอยู่ที่ระดับ 62 จุด และ 59.5 จุด ตามลำดับ สะท้อนถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการบริการ เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ ทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคม ก็ยังอยู่ที่ระดับ 59.5 จุด และ 59 จุด ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดในยุโรปอาจทำให้ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 100 จุด

ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-day Repo) ไว้ที่ระดับ 0.50% หลังเกาหลีใต้เผชิญการระบาดของ COVID-19 อีกครั้ง ทว่า BOK ก็อาจเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ขึ้นดอกเบี้ย หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง และเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ

ฝั่งญี่ปุ่น เศรษฐกิจอาจส่งสัญญาณฟื้นตัวจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตที่หนุนโดยความต้องการสินค้าทั่วโลก โดยเฉพาะ Semiconductor, เครื่องใช้ไฟฟ้า และ เคมีภัณฑ์ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่ระดับ 53 จุด ส่วนภาคการบริการ แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะยังคงหดตัวจากปัญหาการระบาดของ Delta แต่ภาคการบริการก็เริ่มฟื้นตัว สะท้อนจากการปรับตัวขึ้นของ ดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 หมายถึง หดตัว)

ส่วนในฝั่งเวียดนาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จากปัญหาการระบาดที่ยังคงรุนแรงอยู่และทำให้รัฐบาลยังคงต้องใช้ มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด ซึ่ง ตลาดมองว่า ผลกระทบจากปัญหาการระบาดจะทำให้ ยอดส่งออกของเวียดนามในเดือนสิงหาคม โตลดลงเหลือ +5%y/y สอดคล้องกับ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่จะโตราว 2%y/y

ฝั่งไทย – ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงคลัสเตอร์การระบาดในโรงงานไทย อาจกดดันให้ ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกรกฎาคม ขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือ +20%y/y เช่นเดียวกันกับ ยอดนำเข้า (Imports) ที่จะโตเพียง 38%y/y จากการนำเข้าวัตถุดิบ รวมถึง สินค้าเพื่อบริโภคในประเทศที่ลดลง ทั้งนี้ โดยรวม ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุลกว่า 950 ล้านดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ในสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอคอยปัจจัยสำคัญอย่าง สัญญาณรวมถึงรายละเอียดเพิ่มเติมของการปรับลดมาตรการคิวอีของเฟด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจถูกสะท้อนบนแนวโน้มเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ ปัจจัยปัญหาการระบาด COVID-19 ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางของค่าเงิน โดยสถานการณ์การระบาดในไทยที่ยังดูมีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดมีความเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายน ซึ่งภาพดังกล่าวจะกดดันให้เงินบาทก็มีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่

ส่วนแนวโน้มเงินดอลลาร์ เรามองว่า ความต้องการ “Safe Haven” ในระยะสั้น คือปัจจัยหนุนโมเมนตัมของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจผันผวนและพลิกอ่อนค่าลงได้บ้าง หากสุดท้ายเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณหรือข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอี หรือ เฟดแสดงความกังวลปัญหาการระบาดของ Delta ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาสที่เฟดจะรีบลดคิวอี

ส่วนในฝั่งเงินบาท เราคงมองว่า โซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงเป็นโซนแนวต้านสำคัญ ส่วนแนวรับเงินบาทอยู่ใกล้โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ บรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้ามาแลกเงินดอลลาร์

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทขยับแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ที่แล้วที่ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน เนื่องจากตลาดรอสัญญาณสำคัญจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จากที่ประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิงในระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ โดยเฉพาะท่าทีที่สะท้อนว่าเฟดกำลังเตรียมที่จะวางแนวทางปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนภายใต้มาตรการ QE ซึ่งอาจเริ่มได้ภายในช่วงปลายปีนี้เป็นอย่างเร็ว อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทน่าจะยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายวันที่เริ่มชะลอลง แต่ก็ยังเป็นระดับที่สูง และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.20-33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดในประเทศ ทิศทางกระแสเงินทุนต่างชาติ  รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ และดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 สิงหาคม 2564

อาเซียน-สหรัฐฯ เคาะแผน ร่วมมือเศรษฐกิจฉบับใหม่ เตรียมชงรัฐมนตรีก.ย.นี้

พาณิชย์ เผยข่าวดีประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน – สหรัฐฯ  2 ฝ่ายเห็นชอบแผนความร่วมมือการค้าการลงทุนฉบับใหม่ หวังช่วยเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น และช่วยอาเซียนฟื้นตัวจากโควิด-19 เตรียมชงรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ พิจารณากันยายนนี้

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งที่ 34 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อหารือแผนงานความร่วมมือฉบับใหม่ภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง อาเซียน – สหรัฐฯ สำหรับปี 2564-2565 และจะเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ในเดือนกันยายนนี้

โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนและสหรัฐฯ เห็นชอบร่วมกันต่อสาขาความร่วมมือภายใต้แผนงานฉบับใหม่ดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมเรื่องสำคัญ เช่น การค้าดิจิทัล แนวทางการจัดทำกฎระเบียบที่ดี การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย รวมถึงความร่วมมือด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า พร้อมกันนี้ แผนงานฉบับใหม่ดังกล่าวจะมีกิจกรรมความร่วมมือที่น่าสนใจ

เช่น การจัดทำรายงานดัชนีการรวมกลุ่มพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียน การพิจารณาความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งออกระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การสร้างความพร้อมให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในการประกอบธุรกิจออนไลน์และการค้าดิจิทัล และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้คาดว่าแผนงานความร่วมมือฉบับใหม่ดังกล่าวจะช่วยสานต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ และสนับสนุนให้อาเซียนเกิดการปรับตัวและฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งในช่วงปี 2563-2564 สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอาเซียนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืชทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ การจัดสัมมนาเรื่องการค้าและแรงงานเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และการส่งเสริมการมีบทบาทของนักธุรกิจสตรีในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพด้านการค้าการลงทุนของอาเซียน รวมถึงประเทศไทยในเวทีโลก

ทั้งนี้ การค้าระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 มีมูลค่ารวม 181,664.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 135,764.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 45,900.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกัน มีมูลค่ารวม 27,049.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 19,873.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ  มูลค่า 7,175.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 สิงหาคม 2564

ห่วงน้ำน้อย “ฝนหลวง” ลุยต่อเนื่องไม่เว้นวันหยุด เติมน้ำต้นทุน- ช่วยเกษตรกร

กรมฝนหลวงฯ เฝ้าติดตามสถานการณ์สภาพอากาศใกล้ชิด เตรียมความพร้อมออกปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันทีหากสภาพอากาศเหมาะสม เร่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ จากฝนน้อยกว่าทุกปี ชี้ 16 เขื่อนน่าห่วง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกองทัพอากาศ กองทัพบก ได้สนับสนุนอากาศยานและกำลังพล ร่วมปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2564 ใน 2 ภารกิจหลัก คือ การบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และเติมน้ำต้นทุนให้กับลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยไม่มีวันหยุดราชการ และไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์

โดยในขณะนี้เข้าสู่ช่วงกลางฤดูฝนแล้วแต่จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนในเชิงปริมาณและการกระจายตัวของฝนถือว่าไม่ค่อยดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาจะมีร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านมาจากบริเวณภาคเหนือไล่ลงไปสู่ภาคใต้ ซึ่งทำให้เกิดปริมาณฝนกระจายตัวค่อนข้างมาก แต่ในปีนี้จะเห็นได้ว่าร่องมรสุมดังกล่าวแทบจะไม่ปรากฏว่าพาดผ่านเข้ามาในประเทศไทย จึงทำให้หลายพื้นที่มีปริมาณฝนน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ประชาชนประสบปัญหาพื้นที่การเกษตรมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาภาคเหนือตอนบนถึงตอนล่าง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ก็ยังประสบปัญหาน้ำฝนน้อยเช่นเดียวกัน

ขณะที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% มีจำนวน 16 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดกลางอีก 98 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ขณะนี้มีการขอรับบริการฝนหลวงรวม 686 แห่ง ครอบคลุม 48 จังหวัด 362 อำเภอ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน รวมทั้งความชื้นในดิน ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ และข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวงมาวิเคราะห์ปรับแผนให้สอดคล้องในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ให้ได้มีปริมาณน้ำมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำต้นทุนไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งต่อไป

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-6 ส.ค.64) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่อง ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร สระแก้ว เพิ่มปริมาณน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่(วังแขม) อ่างเก็บน้ำซับตะเคียน อ่างเก็บน้ำห้วยนา อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง อ่างเก็บน้ำป่าเลา และบึงบอระเพ็ด เป็นต้น

 “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยทั้ง 13 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงกระจายอยู่ทุกภูมิภาคยังคงปฏิบัติงานเฝ้าติดตามสภาพอากาศตลอดเวลา หากสภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวงก็พร้อมขึ้นบินปฏิบัติการทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและช่วยภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนต่างๆ ให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนมีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างต่อเนื่อง ส่วนเกษตรกรควรประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิต” นายสุรสีห์ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 สิงหาคม 2564

ส่งออกน้ำตาลอ่วม ร่วงแรงสุดรอบกว่า 10 ปี สวนทางราคาตลาดโลกพุ่ง

นอกจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต้องรับศึกหนักกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ปัญหาหนักอกที่เข้ามาซ้ำเติมในเวลานี้คือการส่งออกน้ำตาลที่ตกต่ำลงมากจนน่าใจหาย

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมการส่งออกน้ำตาลของไทยที่ลดลง ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกกลับปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงสิ่งที่น่ากังวลของอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลไทยนับจากนี้ไป

ส่งออกน้ำตาลร่วงแรง

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวถึงภาพรวมของการส่งออกน้ำตาลของไทยในปีนี้ (ปี 2563/64) ว่า ผลผลิตนํ้าตาลไทยลดลงถึงระดับตํ่าสุดในรอบมากกว่า 10 ปี เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง โดยผลิตนํ้าตาลได้รวมทั้งสิ้นเพียง 7.6 ล้านตัน จากผลผลิตอ้อยทั้งสิ้นรวม 66.7 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียงประมาณ 5 ล้านตันจากเดิมไทยส่งออกน้ำตาลได้ตั้งแต่  7-10 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้สถานการณ์ดูเลวร้ายลงอีก เมื่อปรากฏว่าการส่งออก นํ้าตาลของไทยกลับมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ เนื่องจากผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของไทยคืออินโดนีเซีย ได้เปลี่ยนไปนำเข้าจากอินเดีย ซึ่งอาจมีราคาตํ่ากว่า เพราะอินเดียสามารถขายนํ้าตาลในราคาที่ตํ่าได้ จากได้รับการอุดหนุนการส่งออกจากรัฐบาลไม่ตํ่ากว่าตันละ 6,000 รูปี หรือประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ไทยยังถูกเวียดนามใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) สินค้านํ้าตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากไทยโดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้านํ้าตาลจากไทยเป็น 52.64% จากเดิม 5%

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกนํ้าตาลได้ทั้งสิ้นจำนวน 1.88 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 4.12 ล้านตัน ลดลงถึง 54 %

ทั้งนี้กรณีเวียดนามตอบโต้การทุ่มตลาดของไทย เกิดผลกระทบ คือทำให้ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เพียงรายเดียวในภูมิภาคนี้ สูญเสียโอกาสที่ส่งออกนํ้าตาลไปยังเวียดนาม ทั้ง ๆ ที่ไทยได้เปรียบเรื่องค่าขนส่งและอัตราภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้าอาเซียนที่เรียกว่า ATIGA เพียง 5%

ส่วนสาเหตุที่เวียดนามตอบ โต้การทุ่มตลาด นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563 เมื่อเวียดนามเริ่มใช้อัตราภาษีนำเข้านํ้าตาลจากไทยในอัตรา 5% ตามข้อตกลงทางการค้าอาเซียน ATIGA จากเดิมอยู่ในอัตราที่สูง ประกอบกับเวียดนามประสบปัญหาผลผลิตนํ้าตาลตกตํ่า จึงนำเข้านํ้าตาลจากไทยเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2563 นำเข้ามากถึง 1,273,994 ตัน เทียบกับปี 2562 ที่นำเข้าเพียง 299,830 ตัน โดยเวียดนามมองว่าการที่ไทยส่งออกนํ้าตาลไปยังเวียดนามเป็นจำนวนมาก ขณะที่ราคาส่งออกน่าจะตํ่ากว่าราคาขายในประเทศถือเป็นการทุ่มตลาด

เสียโอกาสราคาโลกขาขึ้น

ในขณะที่ผลผลิตนํ้าตาลไทยลดลงถึงระดับตํ่าสุดในรอบมากกว่า 10 ปี  แต่ราคานํ้าตาลทรายดิบตลาดนํ้าตาลนิวยอร์ก ขณะนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุดที่ 20.21 เซ็นต์ต่อปอนด์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นจนถึงระดับสูงสุดที่ 21.49 เซ็นต์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ทำให้ไทยเสียโอกาสจากการส่งออกในภาวะราคาขาขึ้น

ส่วนสาเหตุที่ราคานํ้าตาลปรับตัวสูงขึ้นนั้น มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตนํ้าตาลในบราซิลกลาง-ใต้ ปี 2564/65 จะลดลงจากปีก่อนจำนวนมากถึง 10 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าผลผลิตอ้อยจะได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศแห้งแล้งและหนาวจัดจนเป็นนํ้าค้างแข็ง รวมถึงการปรับตัวสูงขึ้นของราคาตลาดสินค้าล่วงหน้าต่าง ๆ เช่นสินค้าธัญพืชและนํ้ามันดิบ มีส่วนช่วยหนุนให้ราคานํ้าตาลปรับตัวสูงขึ้นด้วย อีกทั้งผู้ส่งออกนํ้าตาลส่วนใหญ่โดยเฉพาะบราซิล ได้ทำการขายนํ้าตาลไปเป็นจำนวนมากแล้ว

คาดการณ์ผลผลิตไทย-โลก

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวถึงผลผลิตอ้อยและน้ำตาลว่าในปี 2564/65 มีการประมาณการว่าไทยจะมีผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านตัน และจะผลิตนํ้าตาลได้ประมาณ 10 ล้านตัน ขณะที่ทั่วโลก เป็นที่คาดกันว่าผลผลิตนํ้าตาลจะขาดประมาณ 2-3 ล้านตัน จากเดิมก่อนหน้านี้เคยคาดว่าผลผลิตนํ้าตาลจะเกินความต้องการ 1-2 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณการบริโภคนํ้าตาลลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ และส่งผลกระทบทางอ้อมให้เกิดการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งสินค้าทั่วโลก ทำให้อัตราค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อราคานํ้ามันปรับตัวสูงขึ้นด้วย จึงยิ่งทำให้อัตราค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนส่งผลให้ผู้ใช้นํ้าตาลต้องชะลอการนำเข้า จนกว่าอัตราค่าระวางเรือจะลดลง

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่น่ากังวลของอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลไทยนับจากนี้ว่า มี 4 เรื่องหลักคือ 1. ผลผลิตอ้อยไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของโรงงานนํ้าตาล  2.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านอ้อย 3.ปัญหาการอุดหนุนการส่งออก นํ้าตาลของอินเดียจะกดดันให้ราคานํ้าตาลตลาดโลกปรับตัวลดลง และทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการแข่งขันกับอินเดีย  4.ปัญหาการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้านํ้าตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากไทยของเวียดนาม จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกนํ้าตาลจากไทยไปยังเวียดนาม

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 สิงหาคม 2564

วว. เดินเครื่อง BCG Model แก้ปัญหา 7 พืชเศรษฐกิจ ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

อัปเกรดสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก ปลดล็อกเศรษฐกิจไทย วว.เดินเครื่อง BCG Model พลิกโฉมเกษตรกรรมด้วยชีวจุลินทรีย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รุก 4 จังหวัดนำร่อง มุ่งเป้ายกระดับ 7 พืชเศรษฐกิจ

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (Expert Center of Innovative Agriculture: InnoAg) ภายใต้การกำกับดูแลของวว. ได้ดำเนิน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล” ในปีงบประมาณ 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการผลิตพืชรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยใช้สารชีวภัณฑ์เป็นตัวตั้งต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกระบวนการผลิต ลดปัญหาสุขภาพของเกษตรกร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทาง BCG โมเดล พัฒนาให้เกิดการทำเกษตรแบบปลอดภัย มีความยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับโลก 

BCG โมเดล ตามกรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การใช้สารชีวภัณฑ์สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงมีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีสารพิษตกค้าง สามารถนำมาใช้เพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

๐ ขับเคลื่อน BCG Model 4 จังหวัดนำร่อง มุ่งเป้ายกระดับ 7 พืชเศรษฐกิจไทย

การขับเคลื่อน BCG โมเดลภายใต้การดำเนินงานของ วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้เลือก 4 จังหวัดในเขตภาคกลางตะวันตกเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 10,650,074 ไร่ 3 กลุ่มสินค้าเกษตร ทั้งพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก รวม 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง กล้วย ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม และ มะนาว

จากการสำรวจและวิจัยในเบื้องต้น พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน โดยปัญหาหลักของเกษตรกรในพื้นที่มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

1)ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต - ที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพการผลิต

2)ปัญหาเรื่องสุขภาวะของผู้ผลิตและผู้บริโภค - เกิดการตกค้างในสภาพแวดล้อม ในดิน รวมถึงตกค้างในผลผลิต ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง

3)ปัญหาด้านการตลาด – ปัญหาการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ราคาผลผลิตตกต่ำ

๐ อัปเกรดสินค้าเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

สำหรับการดำเนินงานของ วว. ในโครงการ BCG Model แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก คือ

1.ยกระดับการผลิตพืชรูปแบบเกษตรสมัยใหม่โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่

- เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก – ชุดอุปกรณ์ล้างและตัดหน่อไม้ฝรั่ง (ยืดอายุการเน่าเสียของหน่อไม้ฝรั่งได้นานขึ้น)

- เทคโนโลยีข้าวเสริมซีลีเนียม

-เทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุเพาะเห็ด – ก้อนเพาะเขื้อเห็ดจากฟางข้าวเสริมซีลีเนียมสำหรับเห็ดนางรม กากมันสำปะหลังสำหรับเห็ดฟาง)

- เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต – ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตอ้อยเสริมด้วยจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต เพื่อเพิ่มปริมาณ/คุณภาพผลผลิตของอ้อย

- การเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลผลิตพืชด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต (มันสำปะหลังและกล้วย)

- เทคโนโลยีผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในแปลงสาธิต และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัด (หัวเชื้อบาซิลัส ซับทิลิส บิววาเรีย ไตรโคเดอร์มา เมตาไรเซียมเชื้อสด จำนวนรวมทั้งสิ้น 270,950 ลิตร )

2.สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทาง BCG โมเดล ได้แก่

- การผลิตผลิตภัณฑ์จากข้าว - โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มผงชงดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวตัง และขนมขบเคี้ยวจากข้าว (กราโนล่า คุ้กกี้)

- จัดทำคู่มือถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงวัตถุดิบและสิ่งของที่จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำหรับจัดส่งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน

- การผลิตผลิตภัณฑ์จากอ้อย - ไซรัปจากอ้อย น้ำตาลอ้อยชนิดก้อน (รสชาติ 100% ธรรมชาติ กาแฟ ชาเขียว) น้ำตาลอ้อยชนิดผง

- เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากมะพร้าวน้ำหอม – ผลิตภัณฑ์ชงดื่มบำรุงกระดูก การทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมะพร้าวในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง และการเสริมสร้างกระดูกในเซลล์กระดูกอ่อน (การให้บริการในเชิงพาณิชย์)

- เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากกล้วยไข่ กล้วยหอม ส้มโอ และข้าว – สารสกัดสำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระและการสร้างเม็ดสีผิว (กระ ฝ้า)

3.พัฒนาบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตร สร้างโอกาสและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ - ถาดเพาะกล้าอ้อยจากชานอ้อย ผลิตภัณฑ์กันกระแทกจากกาบกล้วย

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

๐ ผลสัมฤทธิ์เกินความคาดหมาย พลิกโฉมเกษตรกรของไทย สู่ Smart Farmer

ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของนักวิจัยไทย ร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานสนับสนุนในท้องถิ่น ทำให้โครงการฯ นี้ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต Functional Food และต้นแบบบรรจุภัณฑ์ จำนวน 163 ราย มีเกษตรกร / วิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างปัจจัยการผลิตได้จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ มีการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าใหม่ได้จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ มีผู้ประกอบการสนใจร่วมลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ภายใต้ BCG โมเดล จำนวน 6 ราย

อีกทั้ง ยังสามารถสร้างต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Non Food) และผสานแนวคิด Green Technology และแนวคิดการออกแบบแบบองค์รวม (Holistic Design) ได้ 2 ต้นแบบ คือ พัฒนาแบบร่างสำหรับบรรจุภัณฑ์เพาะกล้าอ้อย และพัฒนาแบบร่างสำหรับบรรจุภัณฑ์กันกระแทก

ผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ทางการเกษตรของสถาบันถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจที่สามารถช่วยยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรไทยในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น ช่วยให้ผลผลิตในแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 494 ราย จาก 4 จังหวัดต้นแบบ ได้รับผลผลิตที่ดีขึ้นทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ ความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ

ความสำเร็จดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเกษตรกรคุณภาพรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชาติด้วย BCG โมเดล เพื่อเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 19 สิงหาคม 2564

"มิตรผล" เผย 8 กลยุทธ์ ฝ่าวิกฤติโควิด -19

"มิตรผล" เผย 8 กลยุทธ์เสริมภูมิคุ้มกัน พาองค์กรสู้วิกฤติ COVID-19 ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้คู่ค้าและผู้บริโภค

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ของไทยที่ยังคงไม่คลี่คลายและยังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ส่งผลให้หลายภาคส่วนมีความกังวลในการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของไทย ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมานานกว่า 60 ปี ตระหนักถึงวิกฤตินี้ และพร้อมเป็นหนึ่งในองค์กรที่เคียงข้างคนไทยฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน วันนี้ กลุ่มมิตรผลได้เผยแนวทางสร้าง 8 ภูมิคุ้มกันที่จะช่วยให้องค์กรสู้วิกฤติ COVID-19 เพื่อสร้างความมั่นใจด้านคุณภาพสินค้า รวมถึงความปลอดภัยให้กับคู่ค้าและผู้บริโภคอย่างเร่งรัด และรวดเร็ว ที่ประกอบไปด้วย

1. สร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจ ด้วยแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนให้ร่างกายเพื่อสร้างภูมิต้านทาน การมีแผน BCM ที่ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักลงในกรณีที่เกิดเหตุวิกฤติ ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้ฝึกซ้อมและปรับปรุงแผน BCM ให้ทันต่อสถานการณ์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 ในครั้งแรก มิตรผลสามารถตั้งรับและปรับตัวได้เร็ว โดยมีมาตรการให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่พัก (WFH) ได้ทันที และเปลี่ยนระบบการทำงานเป็นแบบ Online เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

2. สร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกายให้บุคลากรในองค์กร ด้วยการส่งเสริมการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 และจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานและผู้ที่ทำงานใกล้ชิด เช่น ชาวไร่อ้อย และพนักงาน Outsource รวม 6,000 คน ใน 20 จังหวัดมูลค่า 14 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้พนักงานและผู้ที่ทำงานใกล้ชิดทั้งหมดแล้ว และจะฉีดวัคซีนเข็มที่สองครบในเดือนกันยายน นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และปกป้องดูแลสังคมไทย

3. สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้ทุกคน ด้วยการสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์วิกฤติ เช่น สื่อสารกับพนักงานด้วยสารจากผู้บริหาร เพื่อให้พนักงานมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลให้มีความปลอดภัยระหว่างปฏิบัติงาน รวมทั้งมีความมั่นคงในอาชีพการงาน ไม่มีการเลิกจ้างและยังจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวน มีการทำประกัน COVID-19 ให้พนักงาน นอกจากนี้ ยังต้องสื่อสารให้ความมั่นใจกับคู่ค้า ลูกค้า และชาวไร่อ้อย ถึงแนวทางการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสถานประกอบการอย่างเข้มงวดพร้อมทั้งให้กำลังใจและให้ร่วมสู้ไปด้วยกัน

4. สร้างภูมิคุ้มกันให้จุดยุทธศาสตร์ของธุรกิจ เพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่อง ด้วยการสร้าง Bubble & Seal เป็นชั้นๆ แบ่งกลุ่มพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ภายในโรงงานออกเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มเล็กๆ ไม่มีการพบกันระหว่างกลุ่มหรือกะ เพื่อช่วยป้องกันบุคคลากรของเราไม่ให้ติดเชื้อ และเพื่อให้มั่นใจว่าการผลิตของเรายังคงเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการตรวจคัดกรองพนักงานด้วย Rapid Antigen Test Kit เป็นระยะ

5. สร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มอีกชั้นในกรณีที่เกิดเหตุ ด้วยการจัดตั้ง Factory Isolation เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายสู่ชุมชนหรือสังคมภายนอก วิธีนี้จะช่วยให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและ

มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน โรงงานในกลุ่มของมิตรผลทั้งหมดได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับ Factory Isolation ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขไว้เรียบร้อยแล้ว

6. สร้างภูมิคุ้มกันด้วยอาหารสมอง ส่งเสริมให้พนักงานเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดเวลา ผ่านหลักสูตรการเรียนออนไลน์ที่พนักงานกลุ่มมิตรผลสามารถเรียนที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อ Reskill-Upskill อย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่ดีที่พนักงานจะได้ใช้เวลาในการพัฒนาตัวเอง สร้างไอเดีย โอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรและธุรกิจ เหมือนที่เรารับประทานวิตามินเสริมกันนั่นเอง

7. สร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกายให้ทัพด่านหน้าสู้วิกฤติอย่างปลอดภัย ด้วยการมอบอุปกรณ์การแพทย์และความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ ผ่านการดำเนินงานของกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19 ที่จัดตั้งขึ้นทันทีที่ประเทศไทยพบกับวิกฤติ COVID-19 ครั้งแรก ด้วยการระดมทุนจากกลุ่มมิตรผลและบ้านปูฯ บริษัทละ250 ล้านบาท รวม 500 ล้านบาท ขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนทำงานเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ซ้ำซ้อน กระจายความช่วยเหลือไปในวงกว้าง เพื่อมอบอุปกรณ์และเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของบุคลากรการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ, เครื่อง CT-Scan, ห้องตรวจเชื้อความดันลบ-บวก, ชุด PPE, หน้ากาก N95, ชุดตรวจ โควิด เป็นต้น เพื่อเสริมทัพที่แข็งแกร่งให้ด่านหน้าต่อสู้กับ COVID-19

8. สร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกายให้ประชาชนคนไทยมีแรง ด้วยการมอบถุงยังชีพและอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน ให้กับแหล่งชุมชน และชุมชนบริเวณรอบโรงงานที่มิตรผลตั้งอยู่ จัดตั้งตู้มิตรปันสุขทั่วประเทศเพื่อแบ่งปันอาหารแห้งและน้ำดื่มให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน บริจาคข้าวกล่องรักษ์สุขภาพร่วมกับ Meat Avatar ผลิตภัณฑ์ Plant-Based Protein และมอบผลิตภัณฑ์น้ำตาลร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือไปยังพี่น้องประชาชน

กลุ่มมิตรผลมองว่าหากองค์กรธุรกิจมีการสร้างภูมิคุ้มกันโดยการวางแผนการดำเนินงานและบริหารจัดการบุคคลากรได้ทันต่อเหตุการณ์และพร้อมปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ว่าประเทศไทยจะต้องต่อสู้กับ COVID-19 หรือวิกฤติอื่นๆ อีกสักกี่ครั้ง เราก็จะผ่านไปได้อย่างแน่นอน 

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 สิงหาคม 2564

คิกออฟสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส ปั้นไทยฮับอาเซียน

เดินหน้า”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”ฝ่าวิกฤติโควิด ก.เกษตรผนึกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์คิกออฟสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอสครั้งแรกในไทย “อลงกรณ์”เล็งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับอาเซียน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางและแผนดำเนินการขับเคลื่อน”สภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส.แห่งประเทศไทย” ผ่านระบบ zoom cloud meeting โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า300คน

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมากโดยมีมูลค่ากว่า1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า3ล้านล้านบาท มีอัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท ยังขยายตัวได้อีกมากโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งเป็นสินค้าเกษตรแห่งอนาคต(Future Food)ที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลก

ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดงบประมาณปี 2564จำนวน 1.9 พันล้านบาทสนับสนุนโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆรวมทั้งสิ้น 209 โครงการเช่นโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ สำหรับปี2563ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานได้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปี 2564-2565เดินหน้าจัดทำร่าง พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืนพร้อมกับอนุมัติให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติรวมทั้งการจัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming)และโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank) เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติโควิด19ได้มอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม(PGS)พร้อมกับจัดตั้ง”สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.(PGS)แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก วันนี้จึงถือเป็นวันดีเดย์ก้าวแรกของสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส. ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรเกษตรอินทรีย์หลักๆเช่น มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิ เกษตรกรรมยั่งยืน สมําพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่ง ประเทศไทย ยังมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส ในเครือข่ายอื่นๆ อีกเป็นจํานวนมากที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส และแผนดําเนินงานขับเคลื่อนระบบ พี จี เอสของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

(1) เพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์

(2) เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์

(3) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

(4) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาค

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อวา การจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องบริหารเชิงกลยุทธ์แบบSand Box Modelให้เกิดความคล่องตัวเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นทั้งนี้จะต้องพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์โดยเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC)อย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์และออฟไลน์เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผลผลิตทั้งพืชและสัตว์กับโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมเกษตรอุตสาหกรรม ประการสำคัญคือจะต้องมีรวมศูนย์ข้อมูลกลางของเกษตรอินทรีย์ซึ่งสามารถใช้ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC)ได้ทันทีและควรยึดหลัก”Zero Kilometer”คือ”ผลิตที่ไหนขายที่นั่น”จะได้ผลิตตามความต้องการของตลาดที่ใกล้ตัวที่สุดจากในชุมชนสู่ภายในจังหวัดในระดับภาคระดับประเทศและต่างประเทศตาม5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ตลาดนำการผลิต,เทคโนโลยีเกษตร4.0,3S(safety-security-sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน,ศาสตร์พระราชาและบูรณาการเชิงรุกทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4ประการ

(1) เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ ภายในปี 2564(2) เพิ่มจำนวนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี 2564(3) เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกโดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60(4) ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น

“สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.ต้องบูรณาการ360องศา เปิดกว้างสร้างพันธมิตรทำงานเชิงโครงสร้างและระบบ วันนี้เป็นวันแรกเป็นช่วงของการจัดตั้งและเดินหน้า(Setup Startup)ต่อด้วยการ เชื่อมโยงต่อยอดให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ สภาเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือนคานงัดที่จะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่ออนาคตของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยของเรา”นายอลงกรณ์กล่าว

“กระทรวงพลังงาน” ศึกษาราคาเอทานอลใหม่เตรียมดัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารของกระทรวง นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เตรียมทบทวนแนวทางการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ ให้มีเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดรับกับสถานการณ์การผลิต และความต้องการใช้เอทานอลในตลาดให้มีความสมดุล ป้องกันปัญหาความไม่สมดุลของ Demand และ Supply ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาเอทานอลในอนาคต

“การทบทวนแนวทางปรับโครงสร้างราคาเอทานอลในครั้งนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการให้เกิดความสมดุลทั้งปริมาณการผลิต การใช้ และราคา ของเอทานอลให้มีความเหมาะสม สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ปิดช่องว่างปัญหาระหว่างทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ โดยไม่เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชนในอนาคต ตามแนวทางที่รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ไว้”

ทั้งนี้  การดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่กระทรวงพลังงานจะประกาศให้มีการยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และผลักดันน้ำมันเบนซิน E20 ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดชนิดของน้ำมันในตลาดให้มีความเหมาะสม ไม่ให้มีหลากหลายชนิดมากจนเกินไป เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณและราคาของเอทานอลในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเพื่อให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมทุกภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน อ้อย มันสำปะหลัง ไปจนถึงประชาชนผู้บริโภคน้ำมัน

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สำรวจแนวทางรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของสิงคโปร์สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

สำรวจแนวทางรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของสิงคโปร์สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

World Economic Forum ได้นิยามการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไว้ว่า

“... การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นการต่อยอดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ซึ่งมีรากฐานจากการปฏิวัติดิจิทัลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมา การผสมผสานของเทคโนโลยีซึ่งส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างลักษณะทางกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพเริ่มผสมผสานกัน …. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังวิวัฒนาการขึ้นแบบทวีคูณ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสร้างผลกระทบต่อแทบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างเฉียบพลัน (disrupt) และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการผลิต การจัดการของเอกชน และการกำกับดูแลของรัฐบาล…”

ขณะที่องค์การสหประชาชาติ เผยว่า การเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ และการขนส่ง ก่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ (new business model) และการเกิดขึ้นของธุรกิจ start-up จำนวนมหาศาลที่จะได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ และอาจได้รับประโยชน์มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่

ดังนั้น ลักษณะของงานในอนาคตจะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะที่แปลกใหม่ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างทันท่วงทีเนื่องจากภาคการผลิตจะเป็นลักษณะห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก (Global Value Chain) ที่จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีวัสดุใหม่ ๆ ที่จะสามารถสร้างผลผลิตในปริมาณที่สูงขึ้นแต่ลดต้นทุนได้ยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ จากผลการสำรวจทั่วโลก พบว่าประเทศผู้ผลิต (supply country) เทคโนโลยีขั้นสูงยังมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้รับเทคโนโลยีไปใช้ (adopt country) ซึ่งยังมีสัดส่วนไม่มาก

จึงเกิดช่องว่างระหว่างประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี ประเทศผู้รับเทคโนโลยีไปใช้ และประเทศที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้บทบาทของภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกสำหรับอาเซียนนั้น จากรายงานของ World Economic Forum ได้ประเมินว่าประเทศสิงคโปร์มีระดับความพร้อมรองกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากที่สุดในอาเซียน

โดยผลการศึกษาวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) พบว่า การเตรียมพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของประเทศสิงคโปร์เป็นการดำเนินงานคู่ขนานระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ดังปรากฏแนวทางการปรับตัวที่สำคัญดังต่อไปนี้บทบาทการปรับตัวของภาครัฐรัฐบาลสิงคโปร์ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการวางโครงพื้นฐาน การวิจัย และการพัฒนา รองรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น

เพื่อให้ประเทศสิงคโปร์สามารถยกระดับเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี และอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้อย่างเท่าทัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า “AI Singapore” เพื่อดำเนินภารกิจด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยทุ่มงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับการดำเนินงานในระยะเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ ยังจัดสรรงบประมาณกว่า 40 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 5G เพื่อพัฒนาประเทศสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ขณะที่ Monetary Authority of Singapore (MAS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินได้ทุ่มงบประมาณกว่า 225 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology – Fintech) ให้มีประสิทธิภาพภายใน 5 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีแผนการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยทุ่มงบประมาณในการส่งเสริมการพัฒนานัก Data Scientists กว่า 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในด้านการให้บริการประชาชน รัฐบาลสิงคโปร์ได้พัฒนาเว็ปไซต์ Gov.sg ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนและมีระบบ Chatbot ที่สามารถให้บริการประชาชนได้ตลอดเวลาและรองรับการใช้บริการครั้งละจำนวนมากได้

รวมถึงการพัฒนาระบบการชำระเงินผ่าน QR code แบบครบวงจรเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วบทบาทการปรับตัวของภาคเอกชนภาคธุรกิจที่มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่โดดเด่นในประเทศสิงคโปร์คือภาคการเงิน ธนาคารหลายแห่งได้พัฒนาระบบ Big Data เพื่อให้บริการลูกค้าในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศสิงคโปร์ยังมีผู้ประกอบการ Start-up ที่ให้บริการด้านธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence)

โดยการรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจ และประมวลผลเป็นรายงาน พร้อมการคำนวณผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำเพื่อประกอบการตัดสินใจของลูกค้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับตัวของภาครัฐและเอกชนของสิงคโปร์เป็นกรณีศึกษาถึงการตระหนักถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงจาการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลกซึ่งกำลังเกิดวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็วและสร้างผลกระทบอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น การปรับตัวของรัฐบาลและภาคเอกชนของประเทศสิงคโปร์ได้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้

จากการทุ่มงบประมาณมหาศาลในการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับบทบาทของภาคเอกชนที่ร่วมคิดค้นนวัตกรรมการให้บริการทางเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงทีการวางแผนและเตรียมการรับมือแต่เนิ่น ๆ ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศสิงคโปร์ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น

แต่ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ดียิ่งท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิต โครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“กระทรวงพลังงาน” ศึกษาราคาเอทานอลใหม่เตรียมดัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารของกระทรวง นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เตรียมทบทวนแนวทางการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ ให้มีเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดรับกับสถานการณ์การผลิต และความต้องการใช้เอทานอลในตลาดให้มีความสมดุล ป้องกันปัญหาความไม่สมดุลของ Demand และ Supply ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาเอทานอลในอนาคต

“การทบทวนแนวทางปรับโครงสร้างราคาเอทานอลในครั้งนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการให้เกิดความสมดุลทั้งปริมาณการผลิต การใช้ และราคา ของเอทานอลให้มีความเหมาะสม สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ปิดช่องว่างปัญหาระหว่างทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ โดยไม่เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชนในอนาคต ตามแนวทางที่รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ไว้”

ทั้งนี้  การดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่กระทรวงพลังงานจะประกาศให้มีการยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และผลักดันน้ำมันเบนซิน E20 ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดชนิดของน้ำมันในตลาดให้มีความเหมาะสม ไม่ให้มีหลากหลายชนิดมากจนเกินไป เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณและราคาของเอทานอลในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเพื่อให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมทุกภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน อ้อย มันสำปะหลัง ไปจนถึงประชาชนผู้บริโภคน้ำมัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ส่งออกแห่ใช้สิทธิ์FTAและGSPเพิ่ม34.34%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 8,380.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.61%เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีมูลค่า 7,576.68 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 40,244.26 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.07% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิฯ FTA จำนวน 38,329.42 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP จำนวน 1,914.84 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง6 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 34.34%

การใช้สิทธิฯ FTA เดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 8,057.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.07% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 7,189.66 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการใช้สิทธิฯ FTA ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 38,329.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 34.27%มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 79.05% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุดได้แก่ อาเซียนมีมูลค่า 13,439.89 ล้านเหรียญสหรัฐ

การใช้สิทธิฯ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกาสวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ เดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 323.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.41% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีมูลค่า 387.02 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการใช้สิทธิฯ GSP ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ1,914.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.63% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 62.61% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,705.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 44.59% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 65.15%

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.32 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มแกว่งตัวผันผวนจากโฟลว์ผู้ส่งออกบางส่วนทยอยขายดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์การขายทำกำไร Shorts ค่าเงินบาทของผู้เล่นในตลาด

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.32 บาทต่อดอลลาร์"อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงระหว่างวัน เราอาจจะเห็นค่าเงินบาทแกว่งตัวผันผวนจากโฟลว์การทำธุรกรรมของผู้ส่งออกบางส่วนที่กลับเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ รวมถึงโฟลว์การขายทำกำไร Shorts ค่าเงินบาทของผู้เล่นในตลาด หลังจากที่ผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองว่า สถานการณ์การระบาดในไทยใกล้จะถึงจุดเลวร้ายสุด

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย และแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของเฟด

ทั้งนี้ แนวต้านของค่าเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอคอยที่โซนดังกล่าวเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่ แนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นผู้นำเข้า ทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ได้ หากระหว่างวันค่าเงินบาทมีการแข็งค่าเข้าใกล้โซนดังกล่าว (Buy on Dip)

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงถูกกดดันจากทั้งความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 และล่าสุด แนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีในปีนี้ หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุดได้ระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่ต่างเห็นชอบให้เริ่มการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอีในปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเป้าหมายของเฟด โดยเฉพาะเป้าหมายด้านเงินเฟ้อที่กรรมการเฟดต่างมองว่าได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว ส่วนเป้าหมายการจ้างงานก็ปรับตัวดีขึ้นใกล้จะถึงระดับที่น่าพอใจ

บรรยากาศการลงทุนที่กลับมาอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยงของตลาด ส่งผลให้ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมา กดดันให้ ดัชนี Downjones และ ดัชนี S&P500 ปิดตลาดลดลงกว่า -1.1% ขณะเดียวกัน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็เผชิญแรงกดดันจากความกังวลเฟดทยอยลดคิวอี ส่งผลให้ ดัชนี Nasdaq ก็ปิดตลาด -0.9%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวลงกว่า -0.17% ตามแรงขายทำกำไร หุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Louis Vuitton -5.2%, Kerings -3.6%, L’Oreal -1.7% กลุ่มยานยนต์ Daimler -1.2%, Volkswagen -1.1%, BMW -0.7%

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นถึงระดับ 1.29% ในช่วงเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมล่าสุด ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด จากความกังวลเฟดทยอยลดคิวอีในปีนี้ รวมถึง ความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลัง COVID-19 ยังคงระบาดหนักในหลายพื้นที่ ยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงใกล้ระดับ 1.26%

ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจจะรอช่วงปลายเดือนสิงหาคม ที่เฟดจะมีงานสัมมนาวิชาการ Jackson Hole symposium เพื่อจับตาสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดการทำคิวอีในงานสัมมนาดังกล่าว ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ มีโอกาสแกว่งตัวในกรอบต่อในระยะสั้น ก่อนจะถึงช่วงงานสัมมนาดังกล่าว และอาจมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น หากเฟดมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการปรับลดคิวอี

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากความต้องการหลุมหลบภัยความผันผวนในตลาด (Safe Haven asset) ส่งผลให้เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) เดินหน้าปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.22 จุด กดดันให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.17 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งเรามองว่า เงินยูโรที่ระดับดังกล่าว เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการระบาดของเดลต้าในยุโรปไม่ได้มีความน่ากังวลมากนัก และเศรษฐกิจก็พร้อมจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ และ จีน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจกดดันให้ตลาดเข้าสู่สภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มสถานะถือครองเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนชั่วคราวได้

นอกเหนือจากประเด็นสถานการณ์การระบาดของเดลต้าทั่วโลก ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.8 แสนราย สอดคล้องกับมุมมองของเฟดที่ระบุว่า การจ้างงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจนใกล้ถึงระดับที่เฟดพอใจ ซึ่งเรามองว่า ตลาดจะติดตามการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่จะสะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดแรงงานเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจปรับลดคิวอีของเฟด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงเกษตรฯผนึกพันธมิตรคิกออฟสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.ครั้งแรกในไทย

เดินหน้า”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”ฝ่าวิกฤติโควิด กระทรวงเกษตรฯผนึกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์คิกออฟสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.ครั้งแรกในประเทศไทย “อลงกรณ์”เล็งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับอาเซียน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางและแผนดำเนินการขับเคลื่อน”สภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส.แห่งประเทศไทย”วันนี้ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมากโดยมีมูลค่ากว่า1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า3ล้านล้านบาท มีอัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน

สำหรับในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท ยังขยายตัวได้อีกมากด้วยนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ๆ คาดว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องสุขภาพจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ทวีมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งเป็นสินค้าเกษตรแห่งอนาคต(Future Food)ที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกได้อย่างมากจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค

ด้านการผลิต การแปรรูป การบริโภค การค้าสินค้า และ การบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและได้จัดให้มี”ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564”โดยมีคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกระดับนโยบายและมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภายใต้3คณะทำงานได้แก่คณะกรรมการด้านเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสานและคณะทำงานด้านวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ

ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดงบประมาณปี 2564จำนวน 1.9 พันล้านบาทสนับสนุนโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆรวมทั้งสิ้น 209 โครงการเช่นโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่

สำหรับปี2563ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานได้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปี 2564-2565เดินหน้าจัดทำร่าง พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืนพร้อมกับอนุมัติให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติรวมทั้งการจัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming)และโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank) เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติโควิด19ได้มอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม(PGS)พร้อมกับจัดตั้ง”สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.(PGS)แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก

วันนี้จึงถือเป็นวันดีเดย์ก้าวแรกของสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรเกษตรอินทรีย์หลักๆเช่น มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิ เกษตรกรรมยั่งยืน สมําพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่ง ประเทศไทย  ยังมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส ในเครือข่ายอื่นๆ อีกเป็นจํานวนมากที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส และแผนดําเนินงานขับเคลื่อนระบบ พี จี เอสของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

(1) เพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์

(2) เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์

(3) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

(4) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาค

การจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องบริหารเชิงกลยุทธ์แบบSand Box Modelให้เกิดความคล่องตัวเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นทั้งนี้จะต้องพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์โดยเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC)อย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์และออฟไลน์เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผลผลิตทั้งพืชและสัตว์กับโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมเกษตรอุตสาหกรรม ประการสำคัญคือจะต้องมีรวมศูนย์ข้อมูลกลางของเกษตรอินทรีย์ซึ่งสามารถใช้ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC)ได้ทันทีและควรยึดหลัก”Zero Kilometer”คือ”ผลิตที่ไหนขายที่นั่น”จะได้ผลิตตามความต้องการของตลาดที่ใกล้ตัวที่สุดจากในชุมชนสู่ภายในจังหวัดในระดับภาคระดับประเทศและต่างประเทศตาม5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ตลาดนำการผลิต,เทคโนโลยีเกษตร4.0,3S(safety-security-sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน,ศาสตร์พระราชาและบูรณาการเชิงรุกทุกภาคส่วน

เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4ประการ

(1) เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ ภายในปี 2564

(2) เพิ่มจำนวนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี 2564

(3) เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกโดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60

(4) ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น

“สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.ต้องบูรณาการ360องศา เปิดกว้างสร้างพันธมิตรทำงานเชิงโครงสร้างและระบบ วันนี้เป็นวันแรกเป็นช่วงของการจัดตั้งและเดินหน้า(Setup Startup)ต่อด้วยการ

เชื่อมโยงต่อยอดให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ สภาเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือนคานงัดที่จะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่ออนาคตของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยของเรา”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

การประชุมสัมนาเชิงปฏิบัติครั้งนี้มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษมอบนโยบายโดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวรายงาน  ผ่านระบบ zoom cloud meeting โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า300คนรวมทั้งนายสำราญ สารบรรณ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรและอดีตอธิบดีกรมการข้าว นางจินตนา อินทรมงคล ผู้แทนมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย นายอนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์ ผู้แทนสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส นายอนุรักษ์ เรืองรอบ ตัวแทนสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย นายชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย  นายสมนึก ยอดดำเนิน จากบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรอินทรีย์.

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

แก้ภาคการผลิตหยุดชะงัก คลอด 4 มาตรการเข้มกันโควิดในโรงงาน

อุตสาหกรรมผนึกกำลังเข้ม 4 มาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงงานหนุน “บับเบิล แอนด์ ซิล”ตรวจประเมินตนเองออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม TSC เพิ่มชุดตรวจ ATK ครอบคลุมถึงหอพัก รถรับส่งแรงงาน เผยผลลดติดเชื้อกว่าโรงงานไม่ทำถึง 4.5 เท่า ผลสำรวจการติดเชื้อ 1 เม.ย.–17 ส.ค.ในโรงงาน 749 แห่ง จำนวน 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด พบ 5 อุตฯ ติดมากสุด รับยังมีโรงงานติดเชื้อรายวันเพิ่มเฉลี่ยวันละ 13 แห่ง แต่ไม่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมดำเนินการใน 4 แนวทาง ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคการผลิตและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบด้วย

1.ปรับมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และ Factory Isolation หรือโรงพยาบาลสนาม ภายในสถานประกอบการให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ 2.สร้างความรู้ความเข้าใจ คอยให้คำแนะนำแนวทาง และให้ความช่วยเหลือทั้งออนไลน์และออฟไลน์

3.ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice ซึ่งหมายถึงการปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรอง เชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก รถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน 4.เร่งขอความร่วมมือโรงงาน โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก เข้าประเมินตนเองผ่านระบบออนไลน์ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่างๆในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย พบว่าโรงงานที่เข้าประเมินตนเองผ่านออนไลน์ในแพลตฟอร์ม TSC แล้วมีการติดเชื้อน้อยกว่า โรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้โรงงานทุกขนาดประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤติกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูล 1 เม.ย.-17 ส.ค. พบการระบาดในโรงงาน 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อ 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละ 13 แห่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 800 คน หรือ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ

สำหรับ 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ เพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน สมุทรสาคร 3,571 คน เพชรบูรณ์ 3,487 คน ที่ได้รับผลกระทบ 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงาน อิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน โลหะกรรม 65 โรงงาน เครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และพลาสติก 57 โรงงาน และขณะนี้มีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC รวม 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานผ่านเกณฑ์ 13,235 แห่ง คิดเป็น 66% และไม่ผ่านเกณฑ์ 6,797 แห่ง คิดเป็น 34%.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ก.อุตฯ ขอโรงงานเข้มมาตรการสกัดโควิดด้วย Bubble and Seal พร้อมประเมินออนไลน์ TSC

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประชุมหารือร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานที่ยังคงพบ ผู้ติดเชื้อโควิดต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อการพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศจากการส่งออก การบริโภค การจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ

ทั้งนี้จะดำเนินการร่วมกันดังนี้ 1.ปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ภายในสถานประกอบการ ให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ2.สร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำการทำ Bubble and Seal ในรูปแบบ Coaching คือคอยให้คำแนะนำแนวทางและให้ความช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้พร้อมกันทั่วประเทศ

3.ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice : GFP เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก การรถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน 4.เร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่างๆในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรงงานที่เข้าประเมิน TSC แล้ว มีแนวโน้มการติดเชื้อโควิดน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ดังนั้นจึงขอเชิญชวนโรงงานทุกขนาดได้เข้าประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-17 สิงหาคม 2564 พบการระบาดของโรงงานทั้งสิ้น 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อจำนวน 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด สำหรับ 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดคือ จังหวัดเพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน สมุทรสาคร 3,571 คน และเพชรบูรณ์ 3,487 คน ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงาน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 65 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 57 โรงงาน

“แม้ว่าภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ยังคงมีอย่างต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละประมาณ 13 แห่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 800 คน หรือประมาณ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ โดยแนวโน้มการระบาดในช่วงนี้จะไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ แต่จะกระจายตัวไปในหลายโรงงาน หลายจังหวัดและพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักสิบ ขณะที่ผู้ติดเชื้อในช่วงเมษายน-17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้หายป่วยและกลับมาทำงานได้แล้วจำนวนมาก เช่น ใน 10 ลำดับโรงงานที่พบการระบาดของเชื้อโควิดมากที่สุด มีผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 16,798 คน พบแรงงานหายป่วยแล้ว 12,954 คน หรือคิดเป็น 77% ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ติดเชื้อในโรงงานจะใช้เวลารักษาตัว 14-28 วัน ก็จะกลับมาทำงานได้ เนื่องจากอยู่ในวัยหนุ่มสาว สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนด้วยแล้ว สำหรับข้อมูลโดยละเอียดกระทรวงอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการรายงานฯ ให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ครอบคลุมทุกมิติและพร้อมเชื่อมต่อข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ในข้อมูลร่วมกัน”

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC แล้วจำนวน 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง โดยรวมพบโรงงานผ่านเกณฑ์ จำนวน 13,235 แห่ง หรือคิดเป็น 66%และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,797 แห่ง หรือคิดเป็น 34% ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อเข้าประเมินตนเองในแฟลตฟอร์ม TSC คือ เราจะทราบทันทีว่า สิ่งที่โรงงานดำเนินการอยู่ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ กรณีไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนใด ซึ่งการดำเนินการยกระดับให้ผ่านเกณฑ์ TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal จะเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 18 ส.ค. 2564

เปิดโผสินค้าส่งออกรับอานิสงส์บาทอ่อนรอบ 3 ปี

เปิดโผกลุ่มสินค้าส่งออก รับอานิสงส์เงินบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 3 ปี สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ทั้งข้าว มัน ยาง น้ำตาล อาหาร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ รับอานิสงส์ถ้วนหน้า อีกด้านเตรียมรับมือน้ำมัน เหล็กราคาพุ่ง

เงินบาทที่อ่อนค่าจากนักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นจากขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด รวมถึงสหรัฐฯปรับลดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า กดค่าเงินบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 3 ปี และอ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค แตะที่ระดับ 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลานี้นั้น

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 3 ปี ด้านบวก จะส่งผลดีต่อกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) แปรรูปส่งออกได้รับอานิสงส์ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเกษตรได้แก่ ข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล อาหาร ในกลุ่มสินค้าเหล่านี้ต้องฉกฉวยโอกาสในการเจรจา และเร่งรัดการส่งมอบสินค้าให้กับคู่ค้า หากเป็นไปได้ขอส่งมอบให้เร็วขึ้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกที่จะได้รับผลบวกจากเงินบาทในครั้งนี้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 60% เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง   ขณะที่สินค้าที่ได้รับผลทางด้านลบ คือสินค้าที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาผลิตหรือแปรรูป หรือเพื่อใช้ในประเทศ จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันดิบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น แต่หากมีการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกก็จะได้อานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่าเช่นกัน เพราะจะแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น

“ในภาพรวมทุกกลุ่มสินค้าเพื่อส่งออกได้รับผลดีจากเงินบาทที่อ่อนมากสุดในรอบ 3 ปี แต่จะมากน้อยขึ้นกับการใช้วัตถุดิบในประเทศหรือนำเข้า ส่วนข้อเสีย อาทิ น้ำมันดิบที่เป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ที่นำเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศจะมีราคาสูงขึ้น รวมถึงก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ปั่นกระแสไฟฟ้า และสินค้าเหล็กที่ส่วนใหญ่นำเข้า จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น และจะขายในประเทศในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ค่าระวางเรือจะใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อจ่ายค่าระวางเรือ”

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่มองทิศทางค่าเงินบาทจนถึงสิ้นปีนี้จะวิ่งอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้จากเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลให้คู่ค้าชะลอออร์เดอร์เพื่อรอสั่งซื้อในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าและราคาสินค้าไทยจะถูกลงอีกหรือไม่ มองว่าปัจจุบันสินค้ามีการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ต่างประเทศมีความต้องการวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากไทยเพื่อไปผลิตอยู่แล้ว เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อไปผลิตเป็นยางล้อรถยนต์ เป็นต้น ประกอบกับเวลานี้ทุกประเทศจำเป็นต้องเร่งในการนำเข้าสินค้าเพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์ และปีใหม่ คงไม่ชะลอคำสั่งซื้อ

“ช่วงส่งออกจริงๆ เพียง 3 เดือน คือช่วงกันยายนถึงพฤศจิกายนที่จะมีคำสั่งซื้อที่สูงมาก เพื่อส่งมอบให้ทันก่อนสิ้นปี ในสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่านี้ผู้ส่งออกได้รับผลดีไม่จำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะยิ่งอ่อนยิ่งได้รับเงินมาก ไม่เหมือนช่วงเงินบาทแข็งค่าที่ต้องทำประกันความเสี่ยง”

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึง เงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้ ทำให้แข่งขันกับข้าวจากเวียดนามและอินเดียได้ เพราะส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกห่างกันเพียง 5-10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเท่านั้น เชื่อว่าในเดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกข้าวไทยน่าจะส่งออกได้เฉลี่ย 6 แสนตันต่อเดือน และทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมายที่ 6 ล้านตัน

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลดีต่อภาคการส่งออกโดยรวม เพราะขายสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะแลกเป็นเงินบาทได้เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าจะถูกลงและมีผลต่อการสั่งซื้อมากขึ้น สินค้าส่งออกทุกตัวได้อานิสงส์ตรงนี้ แต่อาจจะเป็นเพียงระยะสั้น แต่ทั้งนี้ค่าเงินบาทเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าคือเรื่องความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการแพร่ระบาดของโควิดที่กระทบกับเอกชน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 ส.ค. 2564

FTA สร้างแต้มต่อ หนุนส่งออกเพิ่ม

พาณิชย์ ประสานเสียงเอกชน ชี้ สินค้าเด่นชายแดนใต้ มีโอกาสเจาะตลาดมาเลเซีย-อาเซียนสูง แนะใช้ FTA สร้างแต้มต่อส่งออกเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้จัดสัมมนาออนไลน์ “รู้ลึกก่อนใคร โอกาสการค้าชายแดนใต้สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” พบว่า สินค้าของดีในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีโอกาสขยายไปตลาดต่างประเทศสูงมาก โดยเฉพาะตลาดมาเลเซียและอาเซียน ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน และ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าและบริการฮาลาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA สร้างแต้มต่อส่งออกไปตลาดประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้น

โดยนายวรวรรณ วรรณวิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ให้ข้อมูลว่า มาเลเซียนำเข้าสินค้าไทยเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกไปตลาดโลก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าฮาลาลไปจีนและกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ซึ่งมีสมาชิกถึง 57 ประเทศ จึงเห็นโอกาสของผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะขยายส่งออกสินค้าไปตลาดมาเลเซียเพิ่มขึ้น

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ไทยจะเผชิญสถานการณ์โควิด-19 แต่ธุรกิจอาหารมีอัตราการเติบโตในตลาดมาเลเซียสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อช่วยป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งเครื่องปรุงรส ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยังสนับสนุนความร่วมมือเรื่องมาตรฐานสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อขยายการส่งออก นอกจากนี้ จังหวัดชายแดนใต้ยังมีจุดแข็ง ทั้งถนน ด่านชายแดน และวัฒนธรรมมุสลิมที่เชื่อมโยงกับตลาดมาเลเซีย

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 18 ส.ค. 2564

สนพ.คาดยอดใช้พลังงานปีนี้โต 0.1% เล็งเพิ่มเงินตรึงราคาก๊าซ

สนพ.คาดทั้งปี 2564 ยอดใช้พลังงานเพิ่มเพียง 0.1% หลังโควิดกระทบภาคธุรกิจทรุดตัวต่อเนื่อง เล็งขยายกรอบวงเงินดูแล LPG แตะ 2.2 หมื่นล้านบาท ตรึงราคาถัง 15 กิโลกรัม หวังลดผลกระทบผู้บริโภค

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.8% จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ในขณะที่การใช้น้ำมันลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งภาครัฐมีมาตรการต่างๆ อาทิ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและการจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น

“ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น ผลจากเศรษฐกิจต้นปีมีการฟื้นตัวดีขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว และการส่งออกประเทศคู่ค้าเริ่มมีการฟื้นตัว แต่ในช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา มีการควบคุมระบาดโควิด-19 จึงมีผลกระทบต่อการใช้พลังงาน ในสาขาโรงแรม ท่องเที่ยว อาหาร รวมถึงภาคขนส่ง ขายส่ง ขายปลีกได้รับผลกระทบ ทำให้ครึ่งปีแรกกระทบกับการใช้พลังงานพอสมควร”

สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 สนพ. ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 0.7 – 1.5% จากปัจจัยหลัก คือ

1. แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

2. แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ

3. การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ในช่วง 62 – 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ดังนั้นจากสมมุติฐานข้างต้น จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมัน

โดยปี 2564 การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้น 3.5% และ 1.8% ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าเพิ่มขึ้น 11.7% ขณะที่การใช้น้ำมัน คาดว่าลดลง5.5% อันเป็นผลจากการยกระดับมาตรการล็อกดาวน์และการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในเดือนก.ค. 2564

ส่วนการใช้ LPG ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.3% และ 11.5% ตามลำดับ ขณะที่ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลง24.0% ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้น 3.5% และการใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยที่ 0.4%

นายวัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันราคา LPG คาร์โก้อยู่ที่ 671 ดอลลาร์ต่อตัน หรือคิดเป็นประมาณ 381 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายจะตรึงราคาก๊าซ LPG ให้ได้ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ดังนั้นคงต้องจับตาดูว่าราคา LPG ตลาดโลกจะเป็นอย่างไร รวมทั้งอาจมีการขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG ประมาณ 2.1 – 2.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมในกรอบ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อลดผลกระทบผู้บริโภคจากราคา LPG ปรับสูงขึ้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 สิงหาคม 2564

โรงงานพลาสติกชีวภาพสำคัญอย่างไร

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดการก่อสร้าง โรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรในประเทศไทย เป็นที่มาของการตั้งข้อสังเกตว่า โรงงานพลาสติกชีวภาพ คืออะไร และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร

ทั้งนี้ บริษัท GC International Corporation บริษัทย่อยของ พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC และ Cargill Incorporated ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 50 ในบริษัท Nature Works LLC ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในการสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก ภายใต้การสนับสนุนของ บีโอไอ เนื่องจากเป็นโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่สำคัญคือจะเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดด

รายละเอียดตามที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พีทีที โกลบอล เคมิคอล ชี้แจง ประเทศไทยเป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์และผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนและหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างความสมดุลและการเติบโตไปข้างหน้าในมิติความเป็นมิตรระหว่าง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายคือการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนของโลก

โรงงานพลาสติกชีวภาพ ครบวงจร ใช้เทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพอันดับหนึ่งของโลก ใช้น้ำตาลจากอ้อย ที่ปลูกโดย เกษตรกรในประเทศ เป็นวัตถุดิบ ข้อแรกเลยเป็นการขยายฐานพันธมิตรในตลาด Bio-Polymer เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะใช้วัสดุที่ยั่งยืน

โครงการนี้มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นครสวรรค์ ไบโอ คอมเพล็กซ์ จ.นครสวรรค์ เป็นโครงการนำร่องที่จะยกระดับการแข่งขัน ตามนโยบายรัฐบาลที่จะขยายโอกาสทางการค้าร่วมกับพันธมิตรในเวทีโลก

การผลิตพลาสติกชีวภาพโพลีแลคติก แอซิด PLO ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อการค้า Ingeo เป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลายอยู่แล้ว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการเกษตรในประเทศ ยังเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ ตอบสนองการขยายตัวของตลาด ที่คาดว่าจะเห็นผลในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567

เนื่องจาก พลาสติกชีวภาพเป็นพลาสติกโพลิเมอร์ ที่สามารถย่อยสลายได้ นำไปใช้งานหลากหลายประเภท เช่น ถุงชา แคปซูลกาแฟ บรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยในงานพิมพ์แบบสามมิติ เส้นใยผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้งานในบ้าน เป็นต้น

คาดว่าจะใช้วัตถุดิบน้ำตาลจากอ้อยของเกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 110,000 ตัน และจะมีกำลังการผลิตโพลิเมอร์ชีวภาพที่ 75,000 ตันต่อปี เป็นโรงงานแห่งแรกของโลกที่ออกแบบมาให้บูรณาการรวมกันอย่างสมบูรณ์ โดยกระบวนการผลิตและการใช้พลังงานตอบสนองความต้องการสำหรับวัสดุยั่งยืนในตลาดโลก ทั้งปัจจุบันและอนาคต.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 17 สิงหาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ  33.43 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 33.50บาท/ดอลลาร์ หากสถานการณ์การระบาดในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมกับแนวโน้มเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.43 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย  ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนจากทั้งแนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีได้ในปีนี้ และความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดของเดลต้าทั่วโลก อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ถ้อยแถลงของประธานเฟดในสัปดาห์นี้ อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์ผันผวนและอ่อนค่าลงได้บ้าง หากประธานเฟดกลับไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมลดคิวอีได้ในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่ง เหมือนกับบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ออกมาก่อนหน้า

ในส่วนโฟลว์การทำธุรกรรม เราเชื่อว่า บรรดาผู้ส่งออกยังรอที่จะทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้เงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ทว่า เงินบาทก็อาจจะอ่อนค่าทะลุแนวต้านดังกล่าวได้ หากสถานการณ์การระบาดในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมกับแนวโน้มเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ไม่ว่าจากประเด็นเฟดพร้อมลดคิวอีในปีนี้ หรือ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกล่าสุด ซึ่งกดดันหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มพลังงานและการเงิน ต่างปรับตัวลดลง ทว่า ความกังวลปัญหาการระบาดนั้น ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวในระดับต่ำใกล้ 1.26% ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Apple +1.35%, Facebook +0.93%, Microsoft +0.60% และช่วยหนุนให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.26% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงกว่า -0.64% หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปและเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนสถาบัน รวมถึงนักวิเคราะห์ที่ลดลง จากผลสำรวจโดยสถาบัน ZEW  ท่ามกลางปัญหาการระบาดของ COVID ที่ยังไม่สงบ ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen -2.1%, BMW -1.9% หรือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Keings -4.7%, Louis Vuitton -2.1%, Adidas -1.87%

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลัง COVID-19 ยังคงระบาดหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ จีน กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.26% ทั้งนี้ เรามองว่า ยังมีโอกาสที่ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และมีโอกาสปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.50%-1.60% ณ สิ้นปีนี้ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ในกรณีที่การระบาดเดลต้าเริ่มสงบลงได้ภายในไตรมาสที่ 3 และ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมปรับลดการทำคิวอี

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมขาขึ้นหนุนอยู่ จากแนวโน้มเฟดทยอยอาจปรับลดคิวอีภายในปีนี้ นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ยังคงหนุนความต้องการเงินดอลลาร์เพื่อเป็นหลุมหลบภัยความผันผวนในตลาด (Safe Haven asset)อยู่ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.6 จุด แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ย่อลงหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าคาด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.178 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ เงินเยน (JPY) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แตะระดับ 109.3 เยนต่อดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนให้เห็นว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังตัวอยู่

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ และ จีน ซึ่งสำหรับสหรัฐฯ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด หลังปัญหาการระบาด Delta ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ โดยตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม อาจหดตัวราว -0.2% จากเดือนก่อนหน้า จากทั้งปัญหาการระบาด รวมถึงระดับราคาสินค้าที่เร่งตัวสูงขึ้น ตามการทยอยเปิดเมือง

นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Powell ถึงมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta และมุมมองต่อการทยอยลดคิวอีของเฟด ซึ่งท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีภายในปีนี้ของประธานเฟด สามารถหนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 สิงหาคม 2564

ชวนเกษตรกรใช้น้ำให้รู้ค่า รับสภาพอากาศแปรปรวน

ในสถานการณ์ฟ้าฝนไม่แน่นอน อันเกิดจากสาเหตุหลัก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ภาคเกษตรควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า นอกจากปัญหาสภาพอากาศไม่แน่นอน ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก วิธีการใช้น้ำของเกษตรกรยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำไปในบางส่วน รวมทั้งมีการออกแบบติดตั้ง ใช้งานระบบน้ำอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดปัญหา อาทิ หัวจ่ายน้ำอุดตัน แรงดันน้ำไม่เหมาะสม ทำให้มีค่าใช้จ่าย สูงกว่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งขาดความเข้าใจในการใช้และดูแลรักษา

เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการของพืชอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับสภาพฟ้าฝนที่ไม่แน่นอน กรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อแนะนำดังนี้

1.ใช้น้ำอย่างประหยัด หลีกเลี่ยงวิธีการให้น้ำแบบท่วมขัง หรือเกินความ ต้องการของพืช จะช่วยลดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ได้ อีกทั้งหลีกเลี่ยงการเกิดโรครากเน่าในพืชบางประเภท

2.รักษาความชื้น ลดการคายน้ำของพืชด้วยวิธีเขตกรรม เช่น ใช้วัสดุคลุมดินที่โคนต้น หรือแปลงเพาะปลูก ปรับปรุงบำรุงดินให้มีโครงสร้างเหมาะสมกับการอุ้มน้ำและความชื้น โดยการพรวนดินและใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยเคมีให้เหมาะสมกับความต้องการของพืช ระวังป้องกันสภาพแวดล้อมของแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียความชื้นได้ง่าย เช่น พรางแสงเพื่อลดความเข้มของแสง หรือการปลูกไม้บังลม และตัดแต่งกิ่งเพื่อลดการคายน้ำ

3.ควบคุมความชื้นในแปลงเพาะปลูกช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก หรือช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันน้ำขัง จะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคพืชที่มีสาเหตุจากเชื้อรา หรือรากพืชขาดอากาศเน่าตาย และต้นพืชหรือผลผลิตเสียหาย โดยในกรณีสภาพพื้นที่เป็นดินเหนียวจัด ให้ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ระบายน้ำได้ดีขึ้นด้วยปุ๋ยอินทรีย์

สำหรับไม้ผลควรให้ดินโคนต้น (หลุมปลูก) ยกสูงขึ้นเป็นเนินเต่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ดินเหนียว เพื่อป้องกันน้ำขัง ส่วนในแปลงพืชไร่-พืชผัก ควรให้หน้าดินบนแปลงมีลักษณะราบเรียบไม่เป็นแอ่ง เพื่อไม่ให้น้ำขังได้ง่าย ใช้วัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้นพืช แต่ต้องให้มีแสงแดดส่องถึงโคนต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นสูงเกินไป และตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการเกิดเชื้อราและศัตรูพืช รวมทั้งควรหมั่นกำจัดวัชพืช และดูแลรักษาสวนหรือแปลงเพาะปลูกพืชไม่ให้รก เพื่อให้พื้นที่เพาะปลูกมีอากาศถ่ายเทสะดวก

4.ให้น้ำพืชด้วยระบบน้ำที่เหมาะสมกับชนิดพืช ควรมีการออกแบบติดตั้งรวมทั้งการใช้และดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้น้ำได้ตามความต้องการของพืชและมีประสิทธิภาพเกษตรกรที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามที่ได้สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 17 สิงหาคม 2564

แพลตฟอร์มฝีมือสตาร์ตอัพไทย

เพื่อสร้างความมั่นคงยกระดับเกษตรกรรมไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงส่งเสริมสตาร์ตอัพในประเทศ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเกษตรแก้ปัญหาให้เกษตรกร

3 สตาร์ตอัพ ผู้พัฒนา “ดีพเทค” ด้านเกษตรกรรมที่สามารถช่วยเกษตรกรให้รอดพ้นจากสภาพปัญหาความไม่แน่นอน

โครงการระบบวิเคราะห์การเจริญเติบโตของอ้อยด้วยโดรนแบบ TAILSITTER โดย บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบจุดที่อ้อยล้มและไม่เจริญเติบโตได้ เนื่องจากไร่อ้อยมีจำนวนมาก ใช้แรงงานคนตรวจสอบไม่ทั่วถึง รวมถึงตรวจสอบปัญหาที่เกษตรกรไม่สามารถทำได้ด้วยตาเปล่า ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายโดรนที่มีความละเอียดสูง ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่ส่งผลให้อ้อยเจริญเติบโตได้ไม่ดีพอ ตรวจหาบริเวณที่อ้อยล้ม หรือไม่เจริญเติบโต เพื่อปลูกทดแทน

ระบบบริหารจัดการการเพาะปลูกข้าวแบบรวมกลุ่มด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีและภาพถ่ายจากดาวเทียม ของ บริษัท ลิสเซินฟิลด์ จำกัด เป็นแอปพลิเคชันฟาร์มเอไอ-เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ตรวจสอบสภาพดินผ่านระบบฟาร์ม AI ในนาข้าว เพื่อหาว่าดินในที่นาแต่ละแปลงต้องปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสม

พร้อมกับมีการเก็บบันทึกข้อมูลรวมถึงจัดทำโมเดล วิเคราะห์และพยากรณ์สภาพอากาศ ประเมินประสิทธิภาพการเจริญเติบโตแบบอัตโนมัติ วิเคราะห์ข้อมูลกรณีฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำในดินจากน้ำฝน มีระบบการเตือนอัตโนมัติในพื้นที่ที่การเจริญเติบโตต่ำด้วยระบบ AI ช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลมากพอสำหรับนำไปวางแผนเพาะปลูกข้าวได้อย่างเหมาะสม ดีกว่าคาดคะเนจากประสบการณ์ของตัวเกษตรกรเอง

ระบบมีการเก็บและรายงานข้อมูลผ่านบน Web Dashboard สำหรับให้วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรจังหวัดได้เข้าไปใช้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกข้าว เพื่อนำไปวางแผนในการเพิ่มผลผลิตและมูลค่าได้

แอปพลิเคชัน ใบไม้-รีคัลท์ แอปพลิเคชันที่จะช่วยเกษตรกรจัดการกระบวนการเพาะปลูกอย่างครบวงจรของ บริษัท รีคัลท์ ประเทศไทย จำกัด เป็นแอปฯฟรีที่ช่วยให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากการเช็กปริมาณฝน สามารถคำนวณได้ล่วงหน้านานกว่า 9 เดือน วิเคราะห์ปัญหาในแต่ละช่วงฤดู ไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและขายผลผลิต.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 16 สิงหาคม 2564

BRR พลิกเทิร์นอะราวนด์กำไร 231.20 ล.

"น้ำตาลบุรีรัมย์" กำไรสุทธิพุ่ง 234.19% เด้งรับจังหวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยูในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ส่งมอบน้ำตาลให้ลูกค้าเพิ่มพร้อมบริหารจัดการด้านต้นทุนโดยรวมได้ดี หนุนภาพรวมครึ่งปีแรกทำกำไรสุทธิรวม 231.20 ล้านบาท พลิกเทิร์นอะราวนด์อย่างแข็งแกร่ง ด้านผู้บริหารมองแนวโน้มครึ่งปีหลังสดใส หลังกลุ่มธุรกิจ New S Curve กลุ่มบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยรับรู้รายได้จากบิ๊กออเดอร์ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2564 (เมษายน-มิถุนายน) บริษัทฯ สามารถผลักดันการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยทำกำไรสุทธิได้ 45.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 234.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้มีรายได้รวม 1,070.81 ล้านบาท ลดลง 37.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากปริมาณการส่งมอบน้ำตาลทรายในไตรมาสนี้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้รวมจะลดลง แต่ในช่วงเวลานี้ราคาน้ำตาลโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงหรือเฉลี่ย 17 เซนต์ต่อปอนด์ ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสดังกล่าวปรับตัวขึ้นจากปีก่อนเป็น 17.17% และต้นทุนทางการเงินที่เอื้อต่อการผลักดันการเติบโตของกำไรสุทธิได้เป็นอย่างดี

ความสำเร็จครั้งนี้ ส่งผลดีต่อผลประกอบการของ BRR ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2564 (มกราคม – มิถุนายน) มีกำไรสุทธิ 231.20 ล้านบาท พลิกกลับมาทำกำไรเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลงานขาดทุน และมีรายได้รวม 2,046.08 ล้านบาท

“การดำเนินงานของเราตอกย้ำปีนี้ BRR เข้าสู่ปี Growth Mode จากการนำศักยภาพทางธุรกิจของ BRR ในทุกมิติเพื่อทำกำไรสูงสุดจากธุรกิจน้ำตาลในช่วงที่ราคาสูง รวมถึงแผนบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นและสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายอนันต์ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRR กล่าวว่า การดำเนินงานครึ่งปีหลัง บริษัทฯ มั่นใจทำผลงานเติบโตต่อเนื่อง หลังจากธุรกิจ New S Curve กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยที่ดำเนินงานภายใต้บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) จะเริ่มรับรู้รายได้จากการดำเนินงานผลิตและส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา รวมถึงประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการต้นทุนโดยนำผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล มาช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ รวมถึงวิจัยพัฒนาเยื่อและลงทุนก่อสร้างโรงเยื่อใหญ่ ช่วยเสริมสร้างกลุ่มธุรกิจนี้เข้มแข็งรองรับออเดอร์ผลิตสินค้าเพิ่มเติมในอนาคต

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นแผนขยายลงทุนไปยังต่างประเทศในโครงการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพอัดแท่ง (Wood Pellet) ใน สปป.ลาว ผ่าน บริษัทบุรีรัมย์กรีนเอ็นเนอร์จี จำกัด (BGE) โดย BRR ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน BGE จากการเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้ถือหุ้นอีก 5,400 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 10.80 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ส่งผลให้ BRR มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BGE เพิ่มเป็นร้อยละ 55.60 เนื่องจากมองเห็นศักยภาพเติบโตของธุรกิจดังกล่าว และทำให้การบริหารงานที่เอื้อต่อประสิทธิภาพการดำเนินโครงการมากที่สุด

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 สิงหาคม 2564

จีดีพีไทยในไตรมาส 2 มีแนวโน้มขยายตัวสูง

อัตราการขยายตัวของจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 2 ซึ่งประเมินว่าจะขยายตัวสูงสุดตั้งแต่วิกฤตโควิด โดยตลาดประเมินไว้ที่ 6.4%

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.50 ในสัปดาห์นี้ ในช่วงที่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้ารุนแรงขึ้น ประเทศที่มีวัคซีนเพียงพออาทิ สหรัฐฯ และเยอรมนี เข้มงวดการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยทำให้ต้นทุนการครองชีพของผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแพงขึ้น ด้านนโยบายการเงิน การปาฐกถาของเจอโรม โพเวล ประธานเฟดในวันอังคารนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญ หลังจากจำนวนสมาชิกของเฟดที่สนับสนุนการลดขนาดมาตรการคิวอีภายในปีนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุการณ์นี้ประเมินว่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเฟดและธนาคารกลางของออสเตรเลียจะเปิดเผยรายงานการประชุมในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ตลาดประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีของจีนจะไม่เปลี่ยนแปลง

ด้านไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะประกาศอัตราการขยายตัวของจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 2 ซึ่งประเมินว่าจะขยายตัวสูงสุดตั้งแต่วิกฤตโควิด โดยตลาดประเมินไว้ที่ 6.4% YoY โดยหลักมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 รุนแรง อีกทั้งรายงานการประชุมนโยบายการเงินของไทยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมอาจกล่าวถึงสาเหตุและรายละเอียดการปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือ 0.7% รวมทั้งสาเหตุที่คณะกรรมการมีมติไม่เป็นเอกฉันท์เป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 1 ปี ต่อแนวโน้มนโยบายดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 9-13 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทผันผวนหนักในทิศทางอ่อนค่า จากความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง และสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศที่ปะทุขึ้นอีกครั้งภายหลังจากผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนกรกฎาคมลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน เนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อและการปิดเมืองกระทบกับความเชื่อมั่น และเสี่ยงกระทบกำลังการผลิตและการส่งออกในระยะข้างหน้า ปัจจุบันกำลังการผลิตหลายอุตสาหกรรมลดลงไปแล้ว 5-10% เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานและขั้นตอนการทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 3.35 หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ประกันตน ในขณะที่ ธปท. เสนอว่าควรปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว รวมถึงปรับลดหนี้ ลดยอดผ่อนชำระต่องวด และลดดอกเบี้ย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ยาวนานและรุนแรงทำให้ผู้กู้มีแนวโน้มใช้เวลามากในการฟื้นตัว ในขณะที่มาตรการพักชำระหนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น

ด้านเงินดอลลาร์แข็งค่าจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ จะพุ่งเหนือ 1 แสนรายต่อวัน ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2021 โดยการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 9.43 แสนตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม นับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่สิงหาคม 2020 ส่งผลให้ในปีนี้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นรวม 4.3 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่ยังมีผู้ว่างงานสูงกว่าระดับก่อนวิกฤตอีก 5.7 ล้านคน ด้านอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคมลดลงเหลือ 5.4% ต่ำกว่าคาดการณ์มาก ในขณะที่ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงติดต่อกัน 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทำให้ตลาดกลับมาคาดการณ์ถึงการลดคิวอีของเฟดอีกครั้ง ในขณะที่สมาชิกเฟดที่มีสิทธิ์โหวตในปีนี้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการลดขนาดคิวอีภายในปีนี้เพิ่มมากขึ้น ด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลง โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 5.4%YoY แต่ลดลงจากในเดือนก่อน สะท้อนภาวะไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่ผ่อนคลายลง ในขณะที่ไบเดนระบุว่ากำลังติดตามเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดและเชื่อมั่นว่าเฟดจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมหากจำเป็น

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ถึงช่วงเวลาที่เฟดจะเริ่มส่งสัญญาณลดขนาดคิวอีเร็วขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของสมาชิกเฟดหลายท่านที่ออกมาให้ความเห็นว่าเฟดควรที่จะเริ่มลดขนาดคิวอีภายในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมายังคงแสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 5.4%YoY ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 7.8%YoY ในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าคาดการณ์ที่ 7.2%YoY รวมไปถึงตัวเลขยยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 375,000 คนในสัปดาห์ที่แล้ว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และถือเป็นการลดลง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีการปรับตัวโดยเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันเพิ่มขึ้น (Steepening) ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตัวสั้น ที่มักเคลื่อนไหวไปตามอัตราดอกเบี้นนโยบายมีการปรับตัวลดลง สะท้อนมุมมองที่นักลงทุนบางส่วนคิดว่าโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ส่งผลให้ ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.47% 0.46% 0.49% 0.70% 1.05% และ 1.56% ตามลำดับ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 8,392 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,244 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 7,187 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 39 ล้านบาท

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 16 สิงหาคม 2564

กลุ่ม KTIS ร่วมกับ GGC ลงทุน 1,430 ล้านบาท ผุด “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” เฟส 2

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร กับ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้เดินหน้าสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 หลังจากที่บริษัท NatureWorks LLC (“NatureWorks”) ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจลงทุนโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) โดยโครงการฯ ในระยะที่ 2 จะเป็นผู้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพดังกล่าว คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ สอดรับกับนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ของภาครัฐ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องตามนโยบายมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ที่ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub ของเอเซียภายในปี 2570 และเป็น Bio Hub แห่งแรกของประเทศ โดยดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุน ระหว่าง GGC และกลุ่ม KTIS ในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ในนามบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บนเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ในตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง (High Value Added) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายอภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 มีมูลค่าโครงการ 1,430 ล้านบาท ยังคงสัดส่วนร่วมลงทุน 50:50 ระหว่างกลุ่ม KTIS และ GGC โดย GKBI เป็นผู้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อป้อนไฟฟ้า รวมถึงระบบผลิตไอน้ำ ผลิตน้ำ บำบัดน้ำเสีย ให้กับโครงการของ NatureWorks โดยโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์นี้เป็นไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจของชาวนครสวรรค์แต่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เป็นโครงการที่ก่อประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของภาคเศรษฐกิจนั้นจะมีการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ที่จะเข้ามาทำงานในโรงงาน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น ด้านสังคมทำให้แรงงานในชุมชนไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้น

อีกทั้งยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในภาวะที่แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และในด้านสิ่งแวดล้อมจะเห็นได้ชัดเจนมากตั้งแต่กระบวนการผลิตของโรงงานหีบอ้อยและโรงงานเอทานอลที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้ไม่เกิดของเสียออกสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียหรือฝุ่นควันต่างๆ นอกจากนี้ ยังมี Carbon Credit และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องของการลดมลพิษทั้งในไร่อ้อยและในโรงงานอีกด้วย

นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กล่าวว่า “GGC มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ คือการเป็น Leading Green Company และ Green Flagship ของ GC Group การร่วมทุนดังกล่าวในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทฯ สำหรับธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพและเพิ่มโอกาสในการลงทุนต่อยอดธุรกิจเคมีชีวภาพ (Biochemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ในอนาคต ที่ก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมชีวภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรของประเทศอย่างยั่งยืน

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 มีมูลค่าโครงการจำนวน 1,430 ล้านบาท โดย GKBI เป็นผู้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค อาทิ โครงการโรงไฟฟ้า Biomass เพื่อป้อนไฟฟ้า รวมถึงระบบ ผลิตไอน้ำ ผลิตน้ำ บำบัดน้ำเสีย ให้กับโครงการของ NatureWorks ซึ่งการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพในครั้งนี้ จะทำให้เกิดโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย ตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก นับเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ต่อไปในอนาคต

โดย GGC เองก็มีโครงการลงทุนทางด้านเคมีชีวภาพอื่นๆที่จะลงทุนในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯที่จะเติบโตในธุรกิจเคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ซึ่งพื้นที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เปิดรับการลงทุนจากนักลงทุนอื่นๆ ที่สนใจลงทุนในธุรกิจชีวภาพต่างๆด้วยเช่นกัน

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 15 สิงหาคม 2564

กรมฝนหลวงฯ เร่งปฏิบัติการช่วยพื้นที่ต้องการน้ำต่อเนื่อง วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ระยะนี้หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนบนของ สปป.ลาว และเวียดนาม ขยับมาใกล้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสในการเกิดฝนมากขึ้น โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้พัฒนาแผนที่ปริมาณฝนสะสม 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าฝนเริ่มตกกระจายตัวมากขึ้น มีปริมาณมากขึ้นครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น แต่บางพื้นที่มีปริมาณฝนน้อยกว่า 10 มิลลิลิตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนกลาง ลุ่มเจ้าพระยา ภาคใต้ตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และจากข้อมูลปริมาณน้ำใช้การในแหล่งน้ำจากกรมชลประทาน พบว่าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% หรืออยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย มี 17 แห่ง แหล่งน้ำขนาดกลาง 105 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาค จึงรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตร และจากข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง มีจำนวน 792 แห่งครอบคลุม 55 จังหวัด 396 อำเภอ ซึ่งเป็นตัวแทนของพื้นที่การเกษตรที่มีความต้องการน้ำ และการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำด้วย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมากที่สุด รองลงมาคือพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่างตามลำดับ

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ ตลอดจนการจราจรทางน้ำด้วย ผลการปฏิบัติฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 9 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา ลำปาง ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลกอุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี เพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศในช่วงเช้านี้จากสถานีเรดาร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรพบว่า สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่

-หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.พะเยา จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา

-หน่วยฯ จ.ตาก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ตาก และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล

-หน่วยฯ จ.ลพบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ลพบุรี

-หน่วยฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น

-หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา

อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ เนื่องจากเครื่องบินกองทัพอากาศตรวจซ่อมพิเศษประจำสัปดาห์ แต่อีก 7 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการ สามารถขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายได้ทันที โดยใช้ข้อมูลปริมาณฝนตกสะสม ความชื้นในดินแต่ละพื้นที่ การขอรับบริการฝนหลวง ตลอดจนปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ ประกอบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ตรงความต้องการของประชาชน

​พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง และติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 15 สิงหาคม 2564

พาณิชย์ เร่งถกกรอบFTAอาเซียน-แคนาดา   ชงรัฐมนตรีเศรษฐกิจเปิดเจรจาก.ย.นี้

พาณิชย์ ร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 14 เตรียมเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา เพื่อพิจารณาเปิดการเจรจา กันยายนนี้ คาดสินค้าเกษตร สินค้าวัตถุดิบ ภาคบริการและการท่องเที่ยวของไทยจะได้ประโยชน์

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังการเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 14 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เพื่อเร่งหาข้อสรุปขอบเขตสาระที่อาจครอบคลุมในเอฟทีเอ ของทั้งสองฝ่าย ก่อนเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ในเดือนกันยายน 2564 เพื่อพิจารณาเปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา

ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน (ASEAN Priority Economic Deliverable) ในปี 2564 นี้ด้วย

โดย ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนและแคนาดาใกล้ได้ข้อสรุปในเรื่องประเด็นที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา แล้ว โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาจะสามารถประกาศเปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งในส่วนการเตรียมการของไทยนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มอบให้สถาบันวิจัยภายนอกศึกษาประโยชน์และผลกระทบในการจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา รวมถึงได้จัดประชุมหารือรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนกันยายน 2563 - มิถุนายน 2564

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นว่าการจัดทำเอฟทีเอดังกล่าว จะเป็นโอกาสผลักดันให้แคนาดาลดเลิกภาษีศุลกากร ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้กับสินค้าศักยภาพของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าที่เป็นวัตถุดิบขั้นต้น โดยแคนาดาเป็นประตูสำคัญในการเข้าสู่ตลาดอเมริกาเหนือ เนื่องจากมีความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และเม็กซิโก นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์กับสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบอาชีพพ่อครัวและแม่ครัว บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในขณะที่ด้านการลงทุน ความตกลงนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่ประเทศไทย เช่น พลังงาน ขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นสาขาที่แคนาดามีความเชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ต้องใช้ความรอบคอบในการเจรจา โดยเฉพาะประเด็นที่ไทยอาจมีความอ่อนไหว โดยคำนึงถึงความพร้อมและประโยชน์ภาพรวมของประเทศ ซึ่งจะต้องพิจารณาระยะเวลาปรับตัว และการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยกรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ไทยสามารถจับมือกับอาเซียนและแคนาดาร่วมประกาศเปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา ได้ทันตามกำหนดการในเดือนกันยายนนี้

ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับแคนาดา ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 1,333.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปแคนาดามูลค่า 902.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 21.7% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนการนำเข้าจากแคนาดามีมูลค่า 431.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.8% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 สิงหาคม 2564

หวั่นคาร์บอนอียูกระทบส่งออก พาณิชย์จับมือรัฐ-เอกชนหาวิธีรับมือ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมยุโรป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผ่านการประชุมระบบทางไกล กรณีสหภาพยุโรป (อียู) ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment

Mechanism : CBAM) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าของอียูจะต้องซื้อ“ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าของไทยไปอียูต้องเตรียมปรับตัว และปรับกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีค่าใช้จ่ายสำหรับขอใบรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากอียูเห็นชอบร่างกฎหมายมาตรการดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับในต้นปี 2566

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่ามาตรการ CBAM ของอียูจะกระทบกับการส่งออกสินค้าของไทยไปอียู โดยเฉพาะสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ซึ่งในปี 2563 ไทยส่งออกไปอียูมูลค่าประมาณ 145 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น

เบื้องต้นอียูจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้า 5 ประเภทก่อน ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และอาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นในอนาคต โดย 3 ปีแรก (2566–2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM

รายละเอียดมาตรการ CBAM เช่น ให้ผู้นำเข้าจัดทำ “คำสำแดง CBAM” ยื่นให้แก่หน่วยงานในประเทศสมาชิกอียู ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี โดยระบุปริมาณสินค้าที่นำเข้าในรอบหนึ่งปีก่อนหน้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้านั้น และต้องส่งมอบ

ใบรับรอง CBAM ซึ่งราคาใบรับรองจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู (EU Emission Trading Scheme : EU-ETS) และหากแสดงได้ว่าสินค้าถูกปรับคาร์บอนในประเทศต้นทางแล้ว ผู้นำเข้าก็จะลดภาระค่าใช้จ่ายภายใต้มาตรการ CBAM ได้ ส่วนผู้ประกอบการต่างชาติ สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ระดับโรงงาน) ของสินค้าที่ตนผลิต โดยข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ จะต้องได้รับการรับรองโดยผู้รับรองที่แต่งตั้งโดยประเทศสมาชิกอียู

มาตรการ CBAM ของอียู สืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายโลกสีเขียวไร้มลพิษของอียู (European Green Deal) ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% ภายใน 10 ปี

(ปี 2573) และทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมเป็น 0 ภายใน 30 ปี (ปี 2593) จึงส่งผลให้อียูจำเป็นต้องออกมาตรการดังกล่าว เพื่อช่วยผู้ประกอบการอียูไม่ให้มีค่าใช้จ่ายในการปรับระบบการผลิตสินค้าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในอียูต้องมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วและแรง จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ตลาดการเงินฝั่งไทยปิดทำการ แต่ยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.10 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.35 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันที่ 11 สิงหาคม)มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.20 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย  ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าเร็วและแรง จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ตลาดการเงินฝั่งไทยปิดทำการ แต่เราคงมองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีได้เร็วกว่าคาดไปจนถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่จะมีงานสัมมนาเฟดที่ Jackson Hole ซึ่งต้องจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงาน อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก หรือ ดัชนีการจ้างงานของรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เพราะหากข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดอาจลดคิวอีได้เร็ว ทำให้ เงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าหรืออ่อนค่าลงมาได้บ้าง

นอกจากนี้ประเด็นการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทย ยังมีผลสำคัญต่อทิศทางเงินดอลลาร์และเงินบาท โดยหากสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นในฝั่งยุโรป รวมถึงในฝั่งเอเชีย เงินดอลลาร์ก็อาจเริ่มอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เรามองว่า สถานการณ์การระบาดในฝั่งไทยยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะดีขึ้นในระยะสั้น ทำให้ นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้

ในส่วนโฟลว์การทำธุรกรรม เราเชื่อว่า บรรดาผู้นำเข้าจะทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงจังหวะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว จะช่วยหนุนให้ เงินบาทไม่ได้แข็งค่าไปมาก และมีโซนแนวรับสำคัญใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาด COVID-19 อาจทำให้ทิศทางของเงินบาทยังคงผันผวนอยู่ในระยะสั้น ผู้ประกอบการจึงควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ใช้ Options เพื่อช่วยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.20 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.30% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวกกว่า +0.35% ท่ามกลางความหวังแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง อาทิ Disney ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 5.5% หลังประกาศผลกำไรดีกว่าคาด จากธุรกิจ Streaming Disney+ ที่มีสมาชิกสูงกว่าที่ตลาดมองไว้ ขณะเดียวกัน ธุรกิจสวนสนุกก็กลับมากำไรสูงกว่าคาด หลังผู้คนเริ่มกลับมาเที่ยวมาขึ้นจากการทยอยเปิดเมือง

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้น +0.48% ตามบรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen +1.5%, BMW +1.3% หรือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Adidas +1.7%, Intidex +1.2% (แบรนด์ Zara), Louis Vuitton +1.0%

ทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงผลประมูลบอนด์ 30ปี สหรัฐฯ ที่มีความต้องการของผู้เล่นในตลาดน้อยกว่าคาด และเสียงสนับสนุนการทยอยลดคิวอีภายในปีนี้จากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 1.36% ซึ่งการเคลื่อนไหวปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และมีโอกาสปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.50%-1.60% ณ สิ้นปีนี้

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมขาขึ้นหนุนอยู่ หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการทยอยปรับลดคิวอีภายในปีนี้ แม้ว่า ในช่วงวันที่ 11 และวันที่ 12 สิงหาคม เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ออกมาอยู่ที่ระดับ 5.4% ซึ่งไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมากนัก ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93 จุด แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากที่ย่อลงใกล้ระดับ 92.8 จุด หลังประกาศเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในวันที่ 11 สิงหาคม

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ และ จีน ซึ่งสำหรับสหรัฐฯ ตลาดมองว่า ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม ลดลงสู่ระดับ 81 จุด และอาจสะท้อนว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึง ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงได้ในระยะสั้น สอดคล้องกับประมาณการผลประกอบการของบริษัทที่พักแรม อาทิ Airbnb ที่มองว่ายอดจองที่พักอาจลดลง หลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta ที่รุนแรงมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 33.15-33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันนี้ (13 ส.ค.) ที่ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าอีกครั้งตามสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศซึ่งมีรายงานล่าสุด ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำนิวไฮที่ 23,418 ราย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงสะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงาน และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นหลังรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 7.8% YoY ในเดือนก.ค. (สูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลนี้ในปี 2553)

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.0-33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย ดัชนีราคาสินค้านำเข้าเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น)

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ทางรอด อ้อย น้ำตาลไทย

วิกฤติโควิด-19 สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลต่อการผลิตอ้อยของชาวไร่อ้อย กระทบไปถึงการส่งออก รวมทั้งการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี

ข้อมูลกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ปี 2564 ภาพรวมคลังน้ำตาลตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น 3 ล้านตัน จากเดิม 42.8 ล้านตัน เป็น 45.8 ล้านตัน จากปริมาณการบริโภคลดลง

ยังไม่รวมวิกฤติอื่นที่เกษตรกรไม่สามารถจัดการได้ อาทิ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขาดเสถียรภาพ ความมั่นคงในการส่งอ้อยเข้าโรงงาน ขาดแหล่งทุน แรงงาน การเผาอ้อยก่อให้เกิดมลพิษ การพัฒนาภาคการผลิตให้มีศักยภาพ การนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตเพื่อลดความสูญเสีย ลดแรงงาน ดูแล และกระตุ้นให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้น

เวทีเสวนาออนไลน์ “เราจะฝ่าวิกฤติ อ้อย และน้ำตาลไทยได้อย่างไร” จัดโดยสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนภาคเอกชน เพื่อร่วมระดมสมองหาทางออกในยามวิกฤติรอบด้าน ได้ข้อสรุป ทุกภาคส่วนต้องนำมาตรฐานสากลต่างๆ เช่น Bonsucro หรือ Fairtrade International และ Organic มาปรับใช้ตลอดกระบวนการ ให้สอดคล้องกับความต้องการแต่ละตลาด พัฒนาระบบบริหารจัดการ เทคโนโลยีการผลิต เก็บเกี่ยว ขนส่ง ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง ต้นทุนลดแต่กำไรเพิ่ม

และต้องขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาแบบองค์รวม (BCG) ใน 3 มิติ ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ปรับแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สนับสนุนอุตสาหกรรมโดยไม่ขัดแย้งกับข้อบังคับความร่วมมือในระดับนานาชาติ จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เครื่องจักร เพื่อส่งเสริมการผลิต พัฒนาความรู้ สร้างเครือข่าย และสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่

สร้างกลไกสนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลรับซื้อเศษซากใบ ยอดอ้อย และผลักดันธุรกิจที่ต้องการเชื้อเพลิงได้ใช้วัสดุเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เน้นประสานความร่วมมือรอบด้านระหว่างภาครัฐ โรงงาน และเกษตรกร.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เอกชนมองบาทอ่อนไร้ประโยชน์ตู้สินค้าไม่มีจี้รัฐแก้ตรงจุด

เอกชน มอง ค่าเงินบาท อ่อน ประโยชน์ไม่ถึงผู้ส่งออก หากไม่มีตู้ส่งสินค้า ขอรัฐบาลดูปัญหา ยอมรับความจริง แก้ให้ตรงจุด

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ค่าเงินบาท ที่อ่อนค่าลง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ส่งออกจะต้องเร่งส่งออกให้ได้เร็วที่สุด แต่จากจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ ที่หมุนเวียนเข้ามาในประเทศ เพื่อรองรับการส่งออกนั้น เวลานี้มีตัวเลขไม่ดีนัก หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเริ่มมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น

จึงเกิดการช่วงชิงตู้คอนเทนเนอร์เพื่อใช้ในการนำเข้าส่งออก และเจ้าของสายเดินเรือ มีการปรับค่าระวางเรือสูงขึ้น แบบไม่มีเหตุผล จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การส่งออกของไทยไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวังไว้ แม้ตัวเลขการส่งออกเวลานี้จะมีการขยายตัวสูง แต่เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ส่วนหนึ่งตัวเลขที่สูงขึ้นเกิดจากการเปรียบเทียบการส่งออกในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ซึ่งการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประเทศคู่ค้าหลายประเทศปิดเมือง ไม่นำเข้าทำให้การส่งออกของไทยทำได้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกในช่วงนี้ที่เริ่มทำได้ดีขึ้น จึงมองเห็นตัวเลขที่สูงเกินจริง เพราะมีตัวเปรียบเทียบที่ต่ำ

รัฐบาลควรมองเห็นปัญหาในเรื่องนี้ และต้องยอมรับตามความเป็นจริง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงจุด ให้ผู้ส่งออกยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และโดยส่วนตัวมองว่า กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาการขยายตัวของการส่งออกจากมูลค่าสินค้า โดยไม่ดูปริมาณการส่งออก จึงทำให้เกิดการมองปัญหาที่คลาดเคลื่อน

โดยตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวสูง เกิดจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าอาหาร สินค้าเกษตร สินค้าในหมวดปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ หรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอื่นๆ แต่เมื่อดูปริมาณแล้วไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ETDA เร่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ หนุนพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ ปี’65 ไทยต้องติด Top 20

นายชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2562 มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ETDA ดำเนินการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (Thailand National Digital Trade Platform : NDTP) ให้มีความสอดคล้องกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ สพร. กำหนด เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมนั้น ETDA ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ที่ทำหน้าที่ในการผลักดัน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564-2565 เพื่อเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติและการสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมให้ประเทศ มีสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการ ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกที่ ทุกเวลา สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคตนั้น จึงได้นำเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ หรือ NDTP มาเป็นอีกงานสำคัญที่ต้องถูกขับเคลื่อนภายใต้ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ในโปรแกรมที่ 2 Thailand’s Digital Services & Cross Digital Platform Standard ที่มีเป้าหมายผลักดันให้บริการดิจิทัลของรัฐและเอกชนมีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ยกระดับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันในทุกมิติ (Cross Digital Platform) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ซึ่งล่าสุด ETDA ก็ได้เปิดเวทีจัดประชุมในรูปแบบ Focus Group ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงาน ก.พ.ร., สำนักงาน ป.ย.ป., กกร., ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมศุลกากร และบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นต้น เพื่อระดมความคิดเห็น หารือถึงแนวทางความร่วมมือ วิเคราะห์และทำความเข้าใจร่วมกันว่า ในการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ของ ETDA ว่ามีส่วนไหนที่จะสามารถเข้าไปสนับสนุน ส่งเสริม ให้แผน NDTP ของไทยให้เดินหน้าไปต่อได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่จะทำให้ดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศ หรือ Ease of Doing Business อยู่ในอันดับดีขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายที่ว่าจะต้องติด Top 20 ในปี 2565

ซึ่งจากการ Focus Group จะเห็นว่า NDTP คือแพลตฟอร์มกลางของการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) ที่มีการบูรณาการในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการค้าระหว่างกัน เพื่อลดตุ้นทุน กระบวนการนำเข้าส่งออก (แบบไร้กระดาษ) รวมถึงการเอื้อต่อ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งที่ผ่านมา NDTP ได้มีการเชื่อมโยงกับระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (G2G, G2B และ B2B) สำหรับการนำเข้า ส่งออก ที่รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศ หรือ National Single Window (NSW) ของกรมศุลกากร รวมถึงแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลของต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์และมีแนวโน้มที่จะเชื่อมต่อกับ ASEAN Single Window ในอนาคตด้วย ดังนั้น ในที่ประชุมจึงมองว่า ในการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ จะช่วยเข้ามาส่งเสริมให้เกิด ecosystem ที่มีมาตรฐานร่วมกัน สามารถแลกเปลี่ยนเอกสารและข้อมูลทางการค้าต่างๆ ข้ามแพลตฟอร์มระหว่างประเทศได้ และต้องเร่งผลักดันในเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ทั้งในบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องดังกล่าวคือโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาสถาปัตยกรรมระบบ (System Architecture) และเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยง NDTP กับระบบ NSW และระบบอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้ผู้นำเข้า-ส่งออกทำการค้าบน NDTP ด้วย นอกจากนี้ เราจะพบว่า ในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศให้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาระบบ NDTP ประกอบกับปัจจุบันเราเริ่มมีการใช้งาน Digital ID และการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) แล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินหน้าพัฒนามาตรฐาน กฎหมาย ให้ครอบคลุมเพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศคู่ค้าในทุกด้าน ทั้ง ด้านการชำระเงิน ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) และการรับ-ส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เป็นต้น

ทั้งนี้ การจัดประชุมดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงาน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ไม่เพียงหาความเชื่อมโยงแนวทางการสนับสนุนระหว่าง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ กับ NDTP เท่านั้น แต่ยังเป็นการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานในภาพรวมของแผนที่เชื่อมโยงในส่วนของงานสำคัญอื่นๆ ด้วย ซึ่ง ETDA จะมีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ขึ้นอีก ภายในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ เพื่อติดตามและประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคและจัดทำ Problem statement สู่การกำหนดแผนส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ในภาพรวมที่สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศและของโลกในอนาคตต่อไป โดยติดตามรายละเอียดความคืบหน้าของการดำเนินงานได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th และเพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564

'จุรินทร์'จับมือ 3 สมาคมปุ๋ย นำ 4.5 ล้านกระสอบลดราคา บรรเทาทุกข์เกษตรกร

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมติดตามการดําเนินโครงการลดราคาปุ๋ยเคมีให้แก่สถาบันเกษตรกร ณ สหกรณ์การเกษตรไทรน้อย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ผ่านทั้งระบบ Zoom conference กับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด และสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย บริษัท เจียไต๋ จำกัด สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สหกรณ์การเกษตรไทรน้อย เป็นต้น

หลังการประชุมหารือ นายจุรินทร์ กล่าวว่า โครงการนี้ต้องการประชาสัมพันธ์ปุ๋ยราคาพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯและภาคเอกชน โดยจัดเตรียมปุ๋ยราคาพิเศษไว้ทั้งโครงการประมาณ 4,500,000 กระสอบ มีทั้งสิ้น 84 สูตร และเกษตรกรสามารถแจ้งความจำนงได้ในนามของกลุ่ม กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนการเกษตร หรือการรวมกลุ่มกเฉพาะกิจ เพื่อซื้อปุ๋ยตามโครงการนี้ในราคาพิเศษ โดยสั่งจองปุ๋ย 84 สูตรนี้ตามราคาที่กำหนดไม่รวมค่าขนส่งขึ้นอยู่กับระยะทางเพราะเป็นราคาหน้าโรงงาน สามารถแจ้งความจำนงค์ผ่านสหกรณ์จังหวัด สหกรณ์อำเภอหรือที่เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล เพื่อขอซื้อปุ๋ยราคาพิเศษได้

"ตั้งแต่เริ่มโครงการมามีเกษตรกรสั่งซื้อมาแล้วประมาณ 1,000,000 กระสอบ ทยอยส่งมอบแล้วขณะนี้เหลือประมาณ 3,500,000 กระสอบ ซึ่งจะดำเนินการต่อไปจนกระทั่งสถานการณ์ราคาปุ๋ยจะคลี่คลายลง หรือหมด 3,500,000 กระสอบที่เหลือนี้จะขอมอบหมายให้เกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ให้บรรลุผลตามนโยบายและประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเกษตรกรรับทราบต่อไป" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

นายจุรินทร์ ระบุว่า ขณะนี้ที่ราคาปุ๋ยได้ปรับตัวสูงขึ้นมากเพราะแม่ปุ๋ยทั้งหมดเกือบ 100% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจึงขึ้นอยู่กับภาวะราคาตลาดในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ราคาปุ๋ยสูงขึ้นเพราะต้นทุนราคาน้ำมันดิบเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสูงขึ้นประมาณ 30% และประเทศจีนที่ประเทศที่ไทยนำเข้ามาเป็นหลักได้มีการประมูลปุ๋ยให้กับประเทศอินเดียเป็นล็อตใหญ่มาก และจีนต้องเก็บปุ๋ยไว้ใช้ในฤดูหว่านไถของประเทศ ทำให้ซัพพลายในตลาดโลกลดน้อยลง และค่าระวางเรือ ค่าขนส่ง ค่าน้ำมันสูงขึ้นทำให้ราคาปุ๋ยในช่วงที่ผ่านมาสูงขึ้น จึงจัดปุ๋ยราคาพิเศษเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถสั่งซื้อผ่านโครงการนี้ได้ต่อไป

ด้าน ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ระยะเวลาดำเนินโครงการตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 เป็นเวลา 2 เดือนหรือจนกว่าสินค้าจะหมด โดยปุ๋ยยูเรียราคาถูกกว่าปกติเฉลี่ยตันละ 1,000 บาท และปุ๋ยยูเรียมีการตรึงราคาในล็อตแรกที่ 650 บาทต่อกระสอบ ในขณะที่ราคาตลาด 825 บาทต่อกระสอบ และล็อตถัดไป 775 บาทต่อกระสอบ

นายทวีสุข เมฆธวัชชัยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า ปุ๋ยมีการนำเข้าเป็นเรือขนาดใหญ่ ปุ๋ยที่นำเข้าจากต่างประเทศมีค่าขนส่งที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันทำให้สูงขึ้นร่วมกับมีการต้องการใช้ปุ๋ยทั่วโลกมากเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าเกือบ 100% ปุ๋ยที่ผลิตต้องนำวัตถุดิบมาเพื่อผลิตในประเทศ เฉพาะค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเกินกว่าเท่าตัว ค่าปุ๋ยเกินกว่า 60% ขณะที่ราคาปุ๋ยในปัจจุบันค่อยๆปรับขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบันตามต้นทุนที่เปลี่ยนไป การนำเข้าเป็นการนำเข้าล่วงหน้า 30-45 วัน และอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนจาก 30 เป็น 33 บาท  จากการคาดการณ์ล่าสุดไตรมาสที่ 3 (ตุลาคม-ธันวาคม)ในปุ๋ยบางสูตรราคาจะต่ำลง สมาชิกสหกรณ์ดีใจมากเพราะปุ๋ยมีราคาต่ำลงแนวโน้มหลังจากนี้

รายงานกรมการค้าภายใน ระบุว่าสำหรับโครงการนี้ สถาบันเกษตรกรที่สนใจซื้อปุ๋ยราคาต่ำกว่าท้องตลาดสามารถแจ้งความต้องการซื้อได้ผ่านตามช่องทางดังนี้

1.กรณีเป็นสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแจ้งต่อสํานักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่สํานักงานสหกรณ์จังหวัดตามเบอร์โทรในเว็บไซต์ https://www.cpd.go.th/cpdth2560/contact-office/email-cpd

2.กรณีเป็นสถาบันเกษตรกรอื่นๆ (ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/แปลงใหญ่)แจ้งต่อสํานักงานเกษตรอําเภอ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร โทร 02 9551515

จากนั้นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งมอบปุ๋ยราคาพิเศษนี้ให้กับสหกรณ์การเกษตรไทรน้อย จ.นนทบุรี เป็นตัวอย่าง นอกจากนั้นก็ได้ทำความเข้าใจกับทุกจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อการดูแลเกษตรกรตามโครงการ โดยการประชุมครั้งนี้มี นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และ นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เข้าร่วมด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "ทรงตัว"ที่ระดับ 33.46 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.46 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าโดยรวมค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ เรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีได้เร็วกว่าคาด ทว่าต้องจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงาน รวมถึง เงินเฟ้อ เพราะหากข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดอาจลดคิวอีได้เร็ว ทำให้ เงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าหรืออ่อนค่าลงมาได้บ้าง

นอกจากนี้ประเด็นการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทย ยังมีผลสำคัญต่อทิศทางเงินดอลลาร์และเงินบาท โดยหากสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นในฝั่งยุโรป รวมถึงในฝั่งเอเชีย เงินดอลลาร์ก็อาจเริ่มอ่อนค่าลงได้ แต่ทว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดในไทยอย่างใกล้ชิด เพราะปัญหาการระบาดที่เลวร้ายลงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้อยู่

อนึ่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาด COVID-19 อาจทำให้ทิศทางของเงินบาทยังคงผันผวนอยู่ในระยะสั้น ผู้ประกอบการจึงควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ใช้ Options เพื่อช่วยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจาก วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure bill) วงเงินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะครอบคลุมถึง การลงทุน Infrasutrcture ใหม่ กว่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยแรงหนุนจากการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ช่วยหนุนให้ หุ้นในกลุ่ม Energy, Industrials และ Utilities ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนดังกล่าว ต่างปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ ดัชนี Dowjones ปิดบวก +0.46% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวขึ้นราว +0.10% อย่างไรก็ดี ความคาดหวังต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 3bps ใกล้ระดับ 1.36%  กดดันให้ หุ้นเทคฯ ปรับตัวลดลง ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดลบกว่า -0.49% อนึ่ง ร่างกฎหมายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะถูกนำไปพิจารณาต่อในสภาผู้แทนฯ (House of Representatives) ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่า ทางสภาผู้แทนจะมีมติอย่างไร

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้น +0.26% ตามบรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง  โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.07 จุด ทำให้ สกุลเงินหลัก G7 ส่วนใหญ่ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ อาทิ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.171 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 110.6 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ได้ช่วยพยุงให้ เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ปรับตัวแข็งค่าขึ้น สู่ระดับ 0.734 ดอลลาร์ต่อ AUD

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดได้ โดย หาก CPI เดือนกรกฎาคม พุ่งสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดมองไว้ที่ 5.3% บรรดาผู้เล่นในตลาดก็อาจกลับมากังวลปัญหาการเร่งตัวของเงินเฟ้ออีกครั้งได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว พร้อมกับเงินดอลลาร์ ปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2564 อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.35-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.45 น.) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลง (หลังเงินบาทไม่อ่อนค่าหลุดแนว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวานนี้) และเงินบาททยอยฟื้นตัวมาได้บางส่วน ขณะที่ตลาดรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในคืนนี้ตามเวลาสหรัฐฯ

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนก.ค.

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 สิงหาคม 2564

บ่มดิน..ก่อนปลูก นวัตกรรมเพิ่มปุ๋ย by กรมพัฒนาที่ดิน

 “เพาะปลูกพืช เกษตรกรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องจะใส่ปุ๋ยสูตรไหนดี พืชถึงจะโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง โดยลืมคิดไปว่า ดินในแปลงของตัวเองเป็นอย่างไร การจะทำให้ดินดี เราต้องรู้จักการสร้างสมดุลเสาหลัก 3 ด้าน ด้านกายภาพ ต้องรู้ว่าดินมีคุณสมบัติอย่างไร เป็นดินชนิดไหน ความสามารถในการอุ้มน้ำ ระบายน้ำ ระบายอากาศมากน้อยแค่ไหน ความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารได้ดีหรือไม่

ด้านเคมี ความเป็นกรดเป็นด่างในดิน สารอาหารในดิน และ ด้านชีวภาพ จุลินทรีย์ในดิน ไส้เดือน สัตว์ในดินขนาดเล็กมีอะไรบ้างเป็นประโยชน์หรือโทษ เราต้องทำให้ทั้ง 3 ด้านสมดุลกันถึงจะได้ดินดี เปรียบได้กับก้อนเส้าทำเตาไฟหุงอาหาร หากก้อนใดก้อนหนึ่งไม่สมบูรณ์ก้อนเอียง ทำหม้อข้าวล้มได้ การปรุงดินก็เช่นกัน ถ้าขาดด้านใดด้านหนึ่งจะส่งผลต่อพืชและการทำการเกษตร”

น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พูดถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เกษตรกรมักจะมองข้าม พร้อมกับเปิดตัวนวัตกรรมปรับปรุงดินแบบใหม่

ที่เรียกว่า “การบ่มดิน” เป็นเทคนิคการปรับปรุงดินก่อนปลูกพืชใหม่ ที่กรมพัฒนาที่ดินมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 จ.ราชบุรี เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดสู่เกษตรกร

“การปรับปรุงดินแบบใหม่แม้จะคล้ายกับการนำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์มาคลุกเคล้ากับดิน หรือนำไปหว่านในแปลง หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบทิ้งไว้ก่อนปลูกพืช แต่ปรากฏว่า วิธีแบบเดิมได้ผลดีในด้านเคมีและชีวภาพเป็นสำคัญ แต่ด้านกายภาพไม่ค่อยเห็นผลเปลี่ยนแปลงมากนัก และยังต้องใช้วัสดุอินทรีย์มาก ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงได้คิดค้นนวัตกรรมการบ่มดินนี้ขึ้นมา”

นายอนุวัชร โพธินาม ผอ.สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 บอกถึงที่มาของเทคนิคการบ่มดินที่มีอยู่ด้วยกัน 2 สูตร

สูตรแรก การบ่มดินในแปลงเกษตร ...เริ่มจากไถพรวนดินยกร่อง และปรับพื้นที่บนร่องให้เรียบ จากนั้นใส่มูลวัวในอัตรา 1 กก. ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. รดน้ำให้ชุ่มชื้นถึงข้างล่างตามความลึกที่ต้องการ เช้า กลางวัน เย็น เป็นเวลา 2 วัน แล้วนำขุยมะพร้าวประมาณ 2 เท่าของของมูลวัว คลุมให้ทั่วกอง ปิดหน้าดินให้มิด รดน้ำซ้ำอีกที ทิ้งไว้ประมาณ 10-14 วัน ขุยมะพร้าวจะเป็นตัวอุ้มน้ำป้องกันไม่ให้แสงแดดโดนผิวดิน

ระหว่างนี้ควรหมั่นตรวจสอบถ้าดินแห้งให้รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นอีกครั้ง ให้น้ำที่ไหลผ่านสกัดเอาธาตุอาหารในมูลวัวลงไปสะสมในดิน เพื่อให้ธาตุอาหารแทรกซึมไปในเม็ดดิน เมื่อจุลินทรีย์ในดินทำงานก็จะเคลือบเม็ดดิน ทำให้โครงสร้างดินเปลี่ยนแปลงไป ดินร่วนซุยขึ้นก็พร้อมปลูกพืชได้ทันที

สูตรที่ 2 การบ่มดินสำหรับเตรียมดินปลูกในกระถางปลูกพืช...ด้วยการกองดิน ขุยมะพร้าว มูลวัว เป็นชั้นๆ อัตรา 1:1:1 เรียงชั้นแรกเป็นขุยมะพร้าวครึ่งส่วน ชั้นที่สองเป็นดิน 1 ส่วน ชั้นที่สามมูลวัว 1 ส่วน จากนั้นค่อยๆรดน้ำให้ไหลลงไปถึงชั้นล่าง ตรวจสอบดูว่าน้ำซึมไปทั่วทั้งกองดินหรือยัง เสร็จแล้วนำขุยมะพร้าวอีกครึ่งส่วนที่เหลือโรยปิดทับหน้า จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง

ใช้พลาสติกคลุมบ่มไว้ให้จุลินทรีย์ทำงาน จากนั้นประมาณ 7-10 วัน สังเกตดูว่าดินมีความร่วนซุย ขึ้นหรือยัง ถ้าดินร่วนซุยไม่แฉะความชื้นพอประมาณ (กำก้อนดินในมือแล้วแบมือออกดินไม่เป็นก้อน) คลุกส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 7-10 วัน รวมระยะเวลาบ่มดินทั้งหมดประมาณ 14-20 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพดิน...เพียงเท่านี้ เสร็จขั้นตอนการเตรียมดินพร้อมนำไปปลูกพืช

“จากผลการทดลองเราพบว่า วิธีการนี้ช่วยให้ดินมีปริมาณธาตุอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นจาก 1.1% เป็น 11% ปริมาณฟอสฟอรัส (P) ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เพิ่มขึ้นจาก 4.2 ส่วนในล้านส่วน เป็น 269.7 และโพแทสเซียม (K) เพิ่มขึ้นจาก 380.55 ส่วนในล้านส่วน เป็น 1,544.38”

ผอ.สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 อธิบายถึงเหตุผลที่วิธีการนี้ทำให้ดินมีปริมาณธาตุอาหารเพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัว มากกว่าวิธีการเดิม นั่นเพราะการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยพืชสดทั่วไป ปุ๋ยจะไม่ไปจับตัวเป็นเนื้อเดียวกับดิน มีการแยกตัวกันชัดเจน...แต่เทคนิคการบ่มดินนี้ทุกอย่างจะรวมตัวกัน

และข้อแตกต่างอีกประการ...การทำปุ๋ยหมักเป็นการทำให้วัสดุอินทรีย์ย่อยสลายเร็ว แต่การบ่มดินโดยใช้ขุยมะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุที่คงทน ย่อยสลายยาก ทำให้วัสดุอินทรีย์คงทนอยู่ในดินได้นาน และเมื่อมีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี จึงช่วยให้โครงสร้างดินดีขึ้น โปร่ง ร่วนซุย อากาศถ่ายเทสะดวกและไม่กลับไปแข็งกระด้างอีก แต่ถ้าไม่มีขุยมะพร้าวก็สามารถใช้วัสดุอื่นๆแทนได้ ที่มีคุณลักษณะอุ้มน้ำได้ดีและย่อยสลายช้า

เกษตรกรสนใจ ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 เลขที่ 196 หมู่ 11 ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี 0-3232-0929 หรือผ่านช่องทางเพจ Facebook: สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 11 สิงหาคม 2564

GGC จับมือ KTIS ผุด ‘นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์' เฟส 2

GGC ผนึก KTIS ลุยลงทุน “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” ระยะที่ 2 พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 1,430 ล้านบาท รองรับ NatureWorks LLC ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA แห่งที่ 2 ในไทย

นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โดยการร่วมทุนระหว่าง GGC บริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เดินหน้าสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 หลังจากที่บริษัท NatureWorks LLC (“NatureWorks”) ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจลงทุนโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) โดยจะเป็นการลงทุนโดย GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่าง GGC และ KTIS ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับโรงงาน PLA ดังกล่าว คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC)สอดรับกับนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)ของภาครัฐ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องตามนโยบายมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ที่ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub ของเอเซียภายในปี 2570 และเป็นโครงการ Bio Hub แห่งแรกของประเทศไทย โดยดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุน ระหว่าง GGC และ KTIS ในนามบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บนเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ในตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

โดยโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง (High Value Added) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

GGC มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ คือการเป็น Leading Green Company และ Green Flagship ของ GC Group การร่วมทุนดังกล่าวในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ สะท้อนถึงการเป็นผู้นำด้านธุรกิจเคมีชีวภาพของ GGC ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทฯ สำหรับธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพและเพิ่มโอกาสในการลงทุนต่อยอดธุรกิจเคมีชีวภาพ (Biochemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ในอนาคต ที่ก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมชีวภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรของประเทศอย่างยั่งยืน

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2  มีมูลค่าโครงการจำนวน 1,430 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อป้อนไฟฟ้า รวมถึงระบบผลิตไอน้ำ ผลิตน้ำ บำบัดน้ำเสีย ให้กับโครงการของ NatureWorks ซึ่งการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพในครั้งนี้ จะทำให้เกิดโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย ตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก นับเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ต่อไปในอนาคต

โดย GGC ยังมีโครงการลงทุนทางด้านเคมีชีวภาพอื่นๆ ที่จะลงทุนในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ตามแผนและกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่จะเติบโตในธุรกิจเคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ซึ่งพื้นที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เปิดรับการลงทุนจากนักลงทุนอื่นๆ ที่สนใจลงทุนในธุรกิจชีวภาพต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ด่วน! ยอด 'โควิด-19' วันนี้ ยังสูง! พบเสียชีวิต 207 ราย ติดเชื้อเพิ่ม 21,038 ราย ไม่รวม ATK อีก 2,081 ราย

'พยากรณ์อากาศ' วันนี้ 'กรมอุตุนิยมวิทยา' ชี้ ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง - กทม. มีฝน 40%

ศึกรอบด้านขนาบ‘ประยุทธ์’ วัดใจเขย่าใหญ่ ‘ใครอยู่-ใครไป’ ?

นายอภิชาติ นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์นี้เป็นไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจของชาวนครสวรรค์แต่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

ทั้งนี้ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เป็นโครงการที่ก่อประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทางด้านเศรษฐกิจนั้นจะมีการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ ที่จะเข้ามาทำงานในโรงงาน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น ด้านสังคมทำให้แรงงานในชุมชนไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้น

อีกทั้งยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในภาวะที่แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และ ด้านสิ่งแวดล้อมจะเห็นได้ชัดเจนมากตั้งแต่กระบวนการผลิตของโรงงานหีบอ้อยและโรงงานเอทานอลที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้ไม่เกิดของเสียออกสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียหรือฝุ่นควันต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมี Carbon Credit และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องของการลดมลพิษทั้งในไร่อ้อยและในโรงงานอีกด้วย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 สิงหาคม 2564

PTTGC ผนึก Cargill ตั้ง รง.พลาสติกชีวภาพในไทย

PTTGC จับมือ Cargill ในฐานะผู้ถือหุ้น NatureWorks ประกาศตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 ในประเทศไทย มูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2567 ตอกย้ำผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก สนับสนุนโมเดล BCG Economy

วันนี้ (10 ส.ค.) บริษัท GC International Corporation บริษัทย่อยของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (จำกัด) มหาชน (PTTGC) และ บริษัท Cargill Incorporated (Cargill) ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 50 ในบริษัท NatureWorks LLC (NatureWorks) ประกาศเดินหน้าสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย ตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก ภายหลังได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมแสดงความยินดีผ่านระบบเสมือนจริง ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ตามเป้าหมายที่วางไว้

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของประเทศไทยและผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันดับหนึ่งของโลก มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนและหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างสมดุลและการเติบโตไปข้างหน้าร่วมกัน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยขับเคลื่อนบนกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ในวันนี้ บริษัทและ Cargill ในฐานะผู้ถือหุ้นของ NatureWorks ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA อันดับหนึ่งของโลก พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับ NatureWorks

โรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพอันดับหนึ่งของโลกและใช้น้ำตาลจากอ้อยจากเกษตรกรในประเทศไทยเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยขยายฐานพันธมิตรในตลาด Bio-Polymer รวมถึงการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการใช้วัสดุที่ยั่งยืน

โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยโรงงานจะตั้งอยู่ที่นครสวรรค์ไบโอ คอมเพล็กซ์ (NBC) จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการแห่งแรกของประเทศไทยที่สอดคล้องกับโมเดล BCG Economy ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายโอกาสทางการค้าร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ในเวทีโลก และสนับสนุนให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

นางสาวคอลลีน เมย์ President บริษัท Cargill’s Bioindustrial Group กล่าวว่า คาร์กิลรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ก้าวไปข้างหน้าร่วมกับ PTTGC เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจของ NatureWorks ด้วยการสร้างฐานการผลิตแห่งที่ 2 ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้นับเป็นการตอกย้ำที่สำคัญถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของเราในการลงทุนเพื่อพัฒนาโซลูชันที่ยั่งยืนสำหรับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพทั่วโลก

โรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย โดยโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในไทยนี้เป็นโรงงานพลาสติกชีวภาพโพลีแลคติก แอซิด (Polylactic Acid : PLA) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อทางการค้า Ingeo™ และส่งเสริมการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มกับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศไทย ตอบสนองการขยายตัวของตลาด ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2567

Ingeo™ PLA เป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ มีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น นำไปผลิตเป็นถุงชา แคปซูลกาแฟ บรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยใช้ในงานพิมพ์ชิ้นงานสามมิติ เส้นใยที่นำมาใช้ผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน เป็นต้น โดยโรงงานนี้จะใช้น้ำตาลจากอ้อยจากเกษตรกรในประเทศไทยเป็นวัตถุดิบปีละประมาณ 110,000 ตัน นำไปผลิตเป็นกรดแลคติก (Lactic Acid) แลคไทด์ (Lactide) และพอลิเมอร์ (Polymer) จนได้เป็นพอลิแลคไทด์ (Polylactide) ส่งผลให้โรงงานนี้เป็นโรงงานผลิตพอลิแลคไทด์แบบครบวงจรแห่งแรกของโลก โดยมีกำลังการผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพอยู่ที่ 75,000 ตันต่อปี นับว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานแห่งแรกของโลกที่ออกแบบมาให้บูรณาการร่วมกันอย่างสมบูรณ์

จาก https://mgronline.com วันที่ 10 สิงหาคม 2564

ระทึกเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 3 ปี หลังสหรัฐฯประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เงินบาทเปิดตลาดเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ 33.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบจากปิดตลาดวันศุกร์ที่ 6 ส.ค. ที่ระดับ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็นการอ่อนค่าในรอบ 3 ปี 1 เดือน นับตั้งแต่ ก.ค.2561 ที่อยู่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังจากสหรัฐฯประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 943,000 ตำแหน่ง เมื่อเดือน ก.ค. สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 845,000 ตำแหน่ง และจากระดับ 938,000 ตำแหน่ง เมื่อเดือน มิ.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 5.4% เมื่อเดือน ก.ค. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.7% หลังจากแตะระดับ 5.9% เมื่อเดือน มิ.ย. ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ มีแนวโน้ม เคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ยังวิตกกังวลกรณีค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าเพื่อนบ้าน ไม่สะท้อนไปตามภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีผลกระทบกับการนำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักรเข้ามา ทำให้ต้นทุนรวมสูงขึ้น ค่าเงินบาทขณะนี้ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าเหมาะสมแล้ว แต่ล่าสุดได้อ่อนค่าเกินกว่านี้แล้ว บาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่า สิ่งสำคัญคือต้องสะท้อนค่าให้ใกล้เคียงกับสกุลเงินในภูมิภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาทองคำในประเทศได้ผันผวนตามค่าเงินบาท ล่าสุดสมาคมค้าทองคำได้ระบุราคาทองคำในประเทศเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ช่วงเช้าราคาปรับตัวลดลงบาทละ 450 บาท รับซื้อบาทละ 27,450 บาท ขายบาทละ 27,550 บาท และการซื้อขายระหว่างวันปรับตัวไป 4 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายซื้อบาทละ 27,600 บาท ขายบาทละ 27,700 บาท.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 10 สิงหาคม 2564

ส่งออกสินค้าเกษตร6เดือนแตะ7.16แสนลบ.

ส่งออกสินค้าเกษตรไทย 6 เดือน พุ่ง 716,581 ล้านบาท ขณะที่โควิด-19 กระทบสินค้าเกษตร 5 เดือน เสียหาย 13,895 ล้านบาท

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงและน่าจะยืดเยื้อ ซึ่งย่อมกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่หดตัวถึงร้อยละ 3.1 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และช่วงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย และไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้สถานการณ์การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต โดยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งปี 2564 ยังคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 ถึง 2.7 ตามเดิมที่คาดการณ์ไว้ จากการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19 พบว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ โดยผลกระทบ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – สิงหาคม 2564 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 13,895 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามอย่างไรก็ตาม แม้โควิด -19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ยังขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงนับเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท หรือเพิ่มร้อยละ 7.1

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 9 สิงหาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”ที่ระดับ 33.42 บาท/ดอลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มยังคงต้องติดตามทั้งเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทยที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.42 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.20-33.70 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา การฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าคาด ได้หนุนมุมมองของตลาดที่เริ่มมองว่าเฟดอาจทยอยลดคิวอีในปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตาการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป และ ทิศทางนโยบายการเงินเฟด โดยเฉพาะการปรับลดคิวอี

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์แนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างเริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนการทยอยลดคิวอีมากขึ้น ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งหาก CPI เดือนกรกฎาคม พุ่งสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดมองไว้ที่ 5.3% บรรดาผู้เล่นในตลาดก็อาจกลับมากังวลปัญหาการเร่งตัวของเงินเฟ้ออีกครั้งได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว พร้อมกับเงินดอลลาร์ ปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นได้ ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม ลดลงสู่ระดับ 81 จุด นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนได้ อนึ่ง ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Barkin & Bostic (วันจันทร์) ถึงมุมมองต่อการทยอยลดคิวอีของเฟด โดยเฉพาะ Barkin เพราะเป็นคณะกรรมการ FOMC ที่มีมุมมองเป็นกลางต่อนโยบายการเงิน จึงน่าจับตาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง มาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวด (Hawkish มากขึ้น) หรือไม่

ฝั่งยุโรป – การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อาจกดดันความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence)เล็กน้อย เนื่องจากโดยรวมผู้เล่นในตลาดยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปซึ่งได้แรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ภาพดังกล่าวยังสอดคล้องกับมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์จากปัญหาการระบาดรอบล่าสุดในยุโรปและทั่วโลก โดยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Sentiment) เดือนสิงหาคม อาจลดลงสู่ระดับ 55 จุด จาก 63.3 จุด ในเดือนก่อน อนึ่ง  เศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 2 จะพลิกกลับมาโตกว่า +22%y/y จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown หลังจากที่หดตัวถึง -6.1%y/y ในไตรมาส 1 ที่อังกฤษเผชิญปัญหาการระบาดที่รุนแรง นอกจากนี้ เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะเผชิญปัญหาการระบาดระลอกใหม่ก็ตาม เนื่องจากยอดผู้ป่วยหนัก หรือ เสียชีวิตยังไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากจนทำให้ ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว

ฝั่งเอเชีย – ความต้องการสินค้าเทคฯ โดยเฉพาะชิพคอมพิวเตอร์จะหนุนให้ยอดการส่งออกของไต้หวันในเดือนกรกฎาคม โตกว่า +33%y/y ซึ่งการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการส่งออกจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไต้หวันกลับมาขยายตัวได้ดี ส่วนประเทศอื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เรามองว่าความไม่แน่นอนของปัญหาการระบาดจะกดดันให้บรรดาธนาคารกลางในอาเซียนเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) ที่ระดับ 2.00% แม้ว่าเศรษฐกิจอาจกลับมาโตกว่า +10%y/y ในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ก็มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ในการประชุมเดือนกันยายน หลังมาเลเซียเผชิญการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจชะลอลง แม้ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะโตกว่า +13%y/y ในไตรมาสที่ 2 ก็ตาม

ฝั่งไทย – ปัญหาการระบาด COVID-19 ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติสะท้อนผ่านทั้งยอดผู้ติดเชื้อ รวมถึง ยอดการตรวจพบ (Positive rate) ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยอดผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนๆ (Excess Mortality) ก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ต้องติดตามการแจกจ่ายวัคซีน ว่าจะสามารถเร่งตัวขึ้นได้ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะการเร่งแจกจ่ายวัคซีนประสิทธิภาพสูงและการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งจะเป็นการปูทางสู่การทยอยเปิดเมืองและจะเริ่มเห็นจากแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของ Google Mobility ในอนาคต

แนวโน้มของค่าเงินบาท ยังคงต้องติดตามทั้งแนวโน้มเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทยที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติโดยเรามองว่า แม้ในสัปดาห์นี้จะมีข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ประกาศออกมาไม่มาก ทว่า โมเมนตัมขาขึ้นเงินดอลลาร์ยังคงอยู่ โดยเงินดอลลาร์อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ หากบรรดาเจ้าหน้าเฟดออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจถูกจำกัดด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ในกรณีที่ เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและดีกว่าคาด

ส่วนในฝั่งเงินบาท โซนแนวต้านใกล้ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นระดับที่เงินบาทอ่อนค่าไปถึงได้ในระยะสั้น หลังปัญหาการระบาด COVID-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทั้งนี้ วิกฤติการระบาดอาจเริ่มคลี่คลายลงได้ หากรัฐบาลสามารถเร่งแจกจ่ายวัคซีนประสิทธิภาพสูงได้ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดสต่อวัน ซึ่งอาจช่วยให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.20-33.70 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (9 ส.ค.) เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 33.40 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปีรอบใหม่ที่ 33.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังเผชิญแรงขายตามสัญญาณเสี่ยงของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์อายุ 10ปีของสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาที่ 1.30% ในช่วงวันศุกร์) หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.43 แสนตำแหน่ง (สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 8.7 แสนตำแหน่ง) ประกอบกับมีการปรับเพิ่มตัวเลขในเดือนพ.ค. และมิ.ย. ให้สูงขึ้นกว่าที่ประกาศในรอบแรกด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยวันนี้ที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ของจีน ตลอดจน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 สิงหาคม 2564

กรมชลฯ ลุยเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ก่อนสิ้นฤดูฝน

กรมชลประทาน เดินหน้าเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หวังลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (9 ส.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,272 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 14,343 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 37,796 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,234 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,538 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 16,637 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปี ปัจจุบันมีการทำนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 13.26 ล้านไร่ คิดเป็น 79% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.23 ล้านไร่ คิดเป็น 78% ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 165,000 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมด (265,000 ไร่) ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ส่วนพื้นที่ที่เหลือคาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลากต่อไป

สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มเจ้าพระยา ปัจจุบัน (9 ส.ค.64 เวลา 07.00 น.) ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล วัดค่าความเค็มได้ 0.16 กรัม/ลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เนื่องจากปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องปรับลดการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการตามมาตรการใช้น้ำส่วนเกิน มาควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแทนการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือ มายังสถานีสูบน้ำสิงหนาท2 ในอัตรา 15 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุตนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่ยังคงมีปริมาณน้ำท่าค่อนข้างน้อย ต้องบริหารจัดการน้ำด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการของนายประพิศ จันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน อย่างเคร่งครัด หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 9 สิงหาคม 2564

ส.อ.ท. เผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ค. แตะ 78.9 ลดลง 4 เดือนติด ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน เหตุโควิด ยังรุนแรง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 78.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.7 ในเดือนมิถุนายน 2564

โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลายและกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ ในพื้นที่ 13 จังหวัด ออกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน ช่วงเวลา 21.00 – 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. – 2 ส.ค. 2564 การจำกัดการเดินทางภายในประเทศ

ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทำให้กำลังการผลิตลดลง เนื่องจากแรงงานต้องกักตัวทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งโรงงานบางแห่งต้องปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด นอกจากนี้ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อย

ส่วนปัจจัยสนับสนุนคือ ภาคการส่งออกที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีทิศทางที่ดีขึ้นจากสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศขยายตัว

ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออกในเดือนนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 2

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ได้เสนอให้ภาครัฐเร่งการตรวจเชิงรุก ในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุข ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ รัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการ

รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการด้วยรูปแบบ Community Isolation ที่รับรองโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม เสนอให้ภาครัฐนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Exposure Notification Express: ENX) ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดลดการติดเชื้อและเสียชีวิต

ให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการSMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 9 สิงหาคม 2564

DHL เตรียมใช้เครื่องบินไฟฟ้า Alice ในการขนส่งสินค้าครั้งแรกของโลก

ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส ร่วมมือกับ Eviation ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ เตรียมใช้เครื่องบินไฟฟ้า Alice เพื่อการขนส่งสินค้าครั้งแรกของในโลก

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 จอห์น เพียร์สัน ซีอีโอของดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้ในการขนส่งทุกประเภท ล่าสุดได้ร่วมมือกับ Eviation บริษัทพันธมิตร ที่มีวัตถุประสงค์ในการทำงานแบบเดียวกับบริษัทฯ โดยการสั่งซื้อเครื่องบินไฟฟ้า Alice จำนวน 12 ลำ

สำหรับ เครื่องบินไฟฟ้า Alice ขับเคลื่อนได้ด้วยนักบินเพียงคนเดียวสามารถขนของได้ 1,200 กิโลกรัม โดยใช้เวลาชาร์จพลังงาน 30 นาทีหรือน้อยกว่า ต่อการบินหนึ่งชั่วโมง และมีระยะบินไกลสุด 815 กิโลเมตร หรือ 440 ไมล์ทะเล Alice จะปฏิบัติการในทุกส่วนแทนที่เครื่องแบบลูกสูบและใบพัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โดยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ทันสมัยของ Alice มีชิ้นส่วนที่ถอดได้เพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ซึ่งทำให้เครื่องนี้ยิ่งทรงประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เครื่องบิน Alice ยังมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยตรวจจับประสิทธิภาพการบินเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องบินกำลังบินด้วยประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

โอเมอร์ บาร์-โยเฮ ซีอีโอของ Eviation กล่าวว่า นับตั้งแต่วันแรก เราได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการบินและสร้างศักราชใหม่ด้วยเครื่องบินไฟฟ้า การได้ร่วมมือกับบริษัทอย่างดีเอชแอล ซึ่งเป็นผู้นำด้านการขนส่งสินค้าอย่างยั่งยืน คือบทพิสูจน์ว่ายุคสมัยของพลังงานไฟฟ้าขึ้นอยู่กับพวกเรา การประกาศความร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับอนาคตการบินโลก

นอกจากนี้ เครื่องบินไฟฟ้านี้เหมาะสำหรับลำเลียงสิ่งของและยังใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสถานีน้อยกว่า เครื่องบิน Alice สามารถชาร์จไฟฟ้าขณะแวะโหลดของหรือนำของลงได้ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าการส่งมอบสินค้าตามตารางเวลาขนส่งที่กำหนดในมาตรฐานของดีเอชแอล เอ็กซ์เพรสจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ทราวิส ค็อบบ์ ผู้บริหารระดับสูงด้าน Global Network Operations and Aviation ของดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า Alice คือโซลูชันเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์เครือข่ายระดับโลกของบริษัทฯ เนื่องจากระยะการบินและพื้นที่บรรจุสินค้าสำหรับขนส่ง และเป้าหมายที่พยายามลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะพัฒนาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าด้านการบินอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดคาร์บอนให้ได้มากขึ้นในอนาคต และยังเป็นความก้าวหน้าสำหรับอุตสาหกรรมการบินโดยรวมด้วย

โรอี้ แกนซาสกี้ ประธานกรรมการบริหารของ Eviation กล่าวว่า จากการ ช็อปปิ้งออนดีมานด์และการขนส่งที่เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ Alice จะช่วยให้ดีเอชแอลสามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะอาด เงียบ และใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งความก้าวหน้าครั้งนี้จะเปิดประตูสู่โอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่าให้กับประชาคมอื่นๆ ด้วย.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 9 สิงหาคม 2564

แผนพลังงานชาติกับนโยบายเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต

หลายคนคงอาจจะเคยได้ยินคำว่า “แผนพลังงานชาติ” จากสื่อต่าง ๆ มาบ้าง แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่า..คืออะไร? และมีความสำคัญต่อประเทศไทยของเราอย่างไร ลองมาหาคำตอบ... และทำความรู้จักกับแผนพลังงานแห่งชาติกันเลย...

พลังงาน เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศ แล้วเราจะต้องพัฒนาภาคพลังงานไปในทิศทางไหน? พัฒนาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ?

กระทรวงพลังงาน จึงได้จัดทำ “แผนพลังงานชาติ” หรือ National Energy Plan ขึ้นเพื่อเป็นกรอบแนวทาง ดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต โดยในการจัดทำแผนพลังงานชาติครั้งใหม่นี้ จะเป็นการนำแผนพลังงานชาติ ทั้ง 5 แผน ที่มีอยู่ซึ่งประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง มาบูรณาการและรวมกันไว้ภายใต้แผนเดียว

กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดแผนพลังงานชาติ ที่สอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมาย "ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070" ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญประกอบด้วย

ด้านไฟฟ้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน RE ไม่น้อยกว่า 50% ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตเองใช้เองดังกล่าว

ด้านก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องวางแผน สร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศ และการนำเข้า LNG มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย หรือ LNG Hub

ด้านน้ำมัน ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้น จะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่าน สร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และ EV

ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ในทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูล จากศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ หรือ NEIC ไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะนำแผนพลังงานชาติไปรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนในขั้นตอนต่อไป

อาจกล่าวได้ว่า “แผนพลังงานชาติ” เปรียบเสมือนแผนที่ ที่จะช่วยกำหนดทิศทางให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย ขับเคลื่อนไปอย่างมีเป้าหมาย และเกิดการพัฒนาพลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

สามารถติดตามชมคลิป VDO Motion Graphic เรื่อง แผนพลังงานชาติ ได้ที่ https://youtu.be/-okrNBkRtDY

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 สิงหาคม 2564

‘โดรน’เทคโนโลยีติดปีก พลิกวงการเกษตรไทย

 ‘โดรน’เทคโนโลยีติดปีก พลิกวงการเกษตรไทย – โดรน หมายถึงยานปลอดมนุษย์โดยสารแต่ถูกบังคับโดยมนุษย์ทางวิทยุหรือ โดยระบบอัตโนมัติ มีทั้งโดรนบนบก โดรนใต้น้ำ และโดรนอากาศ

เมื่อพูดถึงโดรน ใครหลายๆ คนอาจกำลังคิดถึงโดรนถ่ายภาพ แต่โดรนอีกประเภทที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือโดรนสำหรับการเกษตรซึ่งหลากหลายประเทศ ทั่วโลกต่างก็นำเทคโนโลยีชนิดนี้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรของตัวเอง

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นอีกประเทศ ที่มีจุดเด่นทางด้านเกษตรกรรม เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยิ่งควรให้ความสนใจและศึกษาหาความรู้ในเทคโนโลยีนี้อย่างเต็มที่ บทความนี้จึงชวนคุณมาสำรวจโดรนตัวนี้กัน

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากเกษตรกรไทยนำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 1,100 ล้านบาทในปี 2560 และจะสามารถลดต้นทุนการผลิต ได้กว่า 6,000 ล้านบาทในปี 2564

อีกทั้งปัจจุบัน แรงงานไทยในภาคการเกษตรกำลังเผชิญปัญหาแรงงานผู้สูงอายุ ขาดคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงาน ทำให้มีแรงงานไม่เพียงพอต่อกระบวนการผลิต หากมีโดรนเข้ามาก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานของเกษตรกรได้มาก

“โดรนสำหรับการเกษตร” จึงเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าจับตา เพราะสามารถเข้ามาช่วยจัดการพื้นที่ทางการเกษตรได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จนเรียกได้ว่าเข้ามาพลิกวิถีการทำการเกษตรได้เลยทีเดียว ส่วนจะเข้ามาพลิกในมิติอะไรบ้าง มาศึกษาไปพร้อมกัน

พลิกวิถีการเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร

– Soil and Field Analysis ระบบเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและวิเคราะห์คุณภาพดิน การทำงานของ โดรนสามารถสร้างแผนที่สามมิติด้วยอินฟราเรด แสดง ผลภาพรวมพื้นที่ทางการเกษตรได้ เพื่อใช้ในการเตรียมดิน และกำหนดพื้นที่ในการเพาะปลูก

พลิกเทคนิคหว่านเมล็ดรดน้ำและให้ปุ๋ย

– Seed Planting การหว่านเมล็ดพืชด้วยการยิงลงบนดินโดยใช้แรงลมเป็นตัวขับ ลดต้นทุนได้มากกว่า ประหยัดเวลา หว่านได้สม่ำเสมอ และยังสามารถผสมสารอาหารที่จำเป็นต่อพืชนั้นๆ ระหว่างการหว่านเมล็ดได้ เพื่อให้พืชผลสามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ

– Crop Spraying การฉีดพ่นน้ำ ปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความแม่นยำ โดยระบบจะวัดระยะในการพ่นของเหลวสู่พื้นดินด้วยคลื่นอัลตราโซนิกและเลเซอร์เพื่อให้ฉีดในปริมาณที่เหมาะสมต่อพื้นที่ในแต่ละจุด โดยเฉลี่ยวิธีการนี้ทำให้พ่นได้รวดเร็วกว่าเครื่องจักรทั่วไปกว่า 5 เท่า

พลิกวิธีดูแลพืชผลครบทุกแปลง

– Crop Mapping and Surveying ระบบเซ็นเซอร์และกล้องสำหรับถ่ายภาพโดยใช้ระบบ GPS เพื่อใช้วิเคราะห์การเจริญเติบโตของพืชในแต่ละจุดได้อย่างทั่วถึงจากภาพมุมสูง ระบบนี้ช่วยเหลือได้มากสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ทางการเกษตรที่ใหญ่ มีพื้นที่เยอะ

– Irrigation Monitoring ระบบมอนิเตอร์ที่ใช้ตรวจสอบความชื้นว่ามากหรือน้อยเกินไปด้วยเซ็นเซอร์ความร้อน และอินฟราเรดหากพื้นที่ไหนแห้งเกินไปหรือพืชคาย ความร้อนมาก ก็สามารถตรวจสอบได้ทันที

– Health Assessment ระบบวิเคราะห์สุขภาพพืช สามารถตรวจสอบการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ด้วยการสแกนพืชผลผ่านอินฟราเรด โดยสังเกตได้จากสเปกตรัมของสีที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ติดตามพืชผลทางการเกษตรได้สม่ำเสมอ

เกษตรกรหลายคนอาจกำลังมีคำถามนี้ อยู่ในใจ แล้วทำไมคนทำการเกษตรถึงควรใช้โดรน ในเมื่อก็มีเครื่องมือที่คุ้นเคยอยู่แล้ว แถมยังต้องลงทุนเพิ่มอีก

จากคุณสมบัติของโดรนที่ได้อธิบายในข้างต้นก็สามารถตอบได้ว่า…

แม้จะต้องใช้เงินลงทุน แต่เมื่อเทียบกับกระบวนการแบบเดิมแล้ว การใช้โดรนช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ประหยัดเวลา แถมมีความแม่นยำมากกว่า เช่น การหว่านเมล็ดพันธุ์พืชด้วยโดรน ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะหว่านได้สม่ำเสมอ เป็นระเบียบกว่า แถมขณะหว่านก็ยังสามารถผสมปุ๋ย ไปได้ด้วย

สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่พร้อมลงทุน ซื้อโดรนมาใช้เอง ปัจจุบันในไทยเริ่มมีแพลตฟอร์มให้ใช้บริการโดรนสำหรับการเกษตรกันได้แล้วที่ “เก้าไร่” (https:// gaorai.io/main/) เว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรและคนขับโดรน เพื่อเป็นพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายติดต่อหากันได้ โดยทั้งเกษตรกรและคนขับโดรนสามารถแจ้งความต้องการผ่านเว็บไซต์นี้ บริการหลักในเก้าไร่ ให้บริการโดรนในรูปแบบ Crop Spraying หรือระบบฉีดพ่นน้ำ ปุ๋ย และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากเป็น กระบวนการที่เห็นผลลัพธ์การทำงานได้ชัดเจนและเป็นบริการที่เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้

หากเกษตรกรท่านไหนสนใจก็เข้าไปใช้บริการได้ ซึ่งเก้าไร่เองก็เป็นอีกสตาร์ตอัพไทยที่มีใจมุ่งมั่นอยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องเกษตรกร และยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้ทัดเทียมต่างชาติ

“เก้าไร่” คือตัวอย่างสตาร์ตอัพด้าน AgTech ที่อยู่ในโครงการ “AgTech Connext” ของ NIA ที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมเกษตรกรเข้ากับนักพัฒนานวัตกรรม ให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีหรือบริการที่ตอบโจทย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีให้พี่น้องเกษตรกรในอนาคตต่อไป สำหรับใครที่มีไอเดียนวัตกรรมด้าน การเกษตรดีๆ และอยากเป็นส่วนหนึ่งของพลังการเปลี่ยนแปลงวงการเกษตรไทย ติดตามทุกโครงการทุนได้ที่ http://mis.nia.or.th/

ติดตามคอนเทนต์ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https : /www.nia.or.th/article/blog.html

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 8 สิงหาคม 2564

แผนพลังงานชาติกับนโยบายเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต

หลายคนคงอาจจะเคยได้ยินคำว่า “แผนพลังงานชาติ” จากสื่อต่าง ๆ มาบ้าง แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่า..คืออะไร? และมีความสำคัญต่อประเทศไทยของเราอย่างไร ลองมาหาคำตอบ... และทำความรู้จักกับแผนพลังงานแห่งชาติกันเลย...

พลังงาน เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศ แล้วเราจะต้องพัฒนาภาคพลังงานไปในทิศทางไหน? พัฒนาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ?

กระทรวงพลังงาน จึงได้จัดทำ “แผนพลังงานชาติ” หรือ National Energy Plan ขึ้นเพื่อเป็นกรอบแนวทาง ดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต โดยในการจัดทำแผนพลังงานชาติครั้งใหม่นี้ จะเป็นการนำแผนพลังงานชาติ ทั้ง 5 แผน ที่มีอยู่ซึ่งประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง มาบูรณาการและรวมกันไว้ภายใต้แผนเดียว

กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดแผนพลังงานชาติ ที่สอดคล้องกับแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมาย "ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070" ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญประกอบด้วย

• ด้านไฟฟ้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน RE ไม่น้อยกว่า 50% ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระบบไมโครกริด ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตเองใช้เองดังกล่าว

• ด้านก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องวางแผน สร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศ และการนำเข้า LNG มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย หรือ LNG Hub

• ด้านน้ำมัน ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้น จะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่าน สร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และ EV

• ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ในทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูล จากศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ หรือ NEIC ไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะนำแผนพลังงานชาติไปรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนในขั้นตอนต่อไป

อาจกล่าวได้ว่า “แผนพลังงานชาติ” เปรียบเสมือนแผนที่ ที่จะช่วยกำหนดทิศทางให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย ขับเคลื่อนไปอย่างมีเป้าหมาย และเกิดการพัฒนาพลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

สามารถติดตามชมคลิป VDO Motion Graphic เรื่อง แผนพลังงานชาติ ได้ที่ https://youtu.be/-okrNBkRtDY

จาก https://mgronline.com   วันที่ 6  สิงหาคม 2564

บาทเปิด 33.28 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มยังอ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 33.28 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มยังอ่อนค่าจากปัจจัยในประเทศ - ต่างประเทศ จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.28 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าต่อจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 33.22 บาท/ดอลลาร์

วันนี้บาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยยังเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี 9 เดือนครั้งใหม่ ปัจจัยจากตลาดโลก หลังจากที่เมื่อคืนบอลด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น หนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า ส่วนปัจจัยในประเทศ คือสถานการณการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงทำยอดติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิตนิวไฮอย่างต่อเนื่อง

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.20 - 33.25 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยที่ต้อง ติดตามวันนี้ คือตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ

จาก https://mgronline.com   วันที่ 6  สิงหาคม 2564

สอน.ตั้งรับเปิดหีบอ้อยปี 64/65 หวั่นโควิดถล่มโรงงาน-แรงงานขาดฉุดซ้ำ

สอน.ระดมสำรวจโรงงานน้ำตาลได้รับผลกระทบโควิด-19 เตรียมพร้อมรับมือเปิดหีบอ้อยฤดูใหม่ 64/65 ธ.ค.นี้ เร่งคุมเข้มทุกมาตรการหวั่นแรงงานขาดกระทบ ด้าน “โรงงานน้ำตาล” หวั่นโควิดลากยาวถึงปลายปี แถมแรงงานขาด เตรียมพร้อมมาตรการสกรีนเข้ม

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง สอน.กำลังสำรวจผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีโรงงานน้ำตาลบางแห่งต้องปิดชั่วคราว ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้การผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกขายทั้งในและต่างประเทศในรอบปี 2563/2564 จะสิ้นสุดกระบวนการทุกอย่างแล้ว แต่ยังคงมีพนักงานประจำของโรงงานที่ยังต้องทำงานอยู่ และต้องเตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 ที่จะเปิดหีบช่วงประมาณต้นเดือนธันวาคม 2564

วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)

“เรากำลังให้สำรวจโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงสำรวจความพร้อมทุกโรงงาน โดยแต่ละโรงงานมีการนำแผนเดิมที่เคยใช้ตอนโควิดระบาดรอบ 2 มาปรับปรุงให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น”

“ซึ่งในกระบวนการผลิตน้ำตาลใช้พนักงานประจำของโรงงานก็พอที่จะควบคุมป้องกันได้ แต่ที่มีข่าวการติดเชื้อของคนงานเพราะช่วงนี้บางโรงงานอาจไม่มีการผลิตน้ำตาล อาจทำให้หละหลวมไปบ้าง แต่ที่ต้องกังวล คือ ช่วงฤดูหีบจะมีการจ้างคนงานชั่วคราวระยะสั้นมาช่วยงานบริเวณลานรับอ้อยจำนวนมาก ซึ่งส่วนนี้ทางโรงงานกำลังดำเนินการว่าจะใช้มาตรการอย่างไรได้บ้าง”

ทั้งนี้ เบื้องต้นฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 ที่จะเปิดหีบช่วงประมาณต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งจะเป็นการจ้างแรงงานชั่วคราวเข้ามานั้น ทุกโรงงานจะใช้มาตรการที่เข้มขึ้น คือ ใช้การตรวจสอบเพื่อหาเชื้อโควิด-19 สำหรับแรงงานที่จะเข้ามาทำงานก่อนทุกคน โดยใช้ antigen test kit (ATK) ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่เหลือก็จะเข้มขึ้นตามแต่ละวิธีการของโรงงาน

สำหรับการขาดแคลนแรงงานการตัดอ้อย ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะในแถบ จ.สระแก้ว ซึ่งปกติใช้แรงงานต่างด้าวค่อนข้างมากอาจได้รับผลบ้าง แต่ฤดูหีบที่ผ่านมามีการระดมรถตัดที่ตัดเสร็จแล้วจากภาคอื่น ๆ ไปช่วยตัดอ้อย จึงทำให้พอมีแนวทางที่จะรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งคาดว่าในฤดูกาล 2564/2565 น่าจะใช้แนวทางเดียวกัน

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลมีความกังวลว่าโควิด-19 จะลากยาวไปถึงปลายปี จนกระทบต่อการเปิดหีบอ้อยฤดูกาล 2564/2565

สิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC)

ซึ่งขณะนี้ทุกโรงงานได้ร่วมกันหารือและหาแนวทางป้องกันรับมือกับสถานการณ์ โดยหลักใหญ่ ๆ มาตรการป้องกันจะยึดเอาตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนดให้ทุกโรงงานต้องปฏิบัติตาม เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิเข้าพื้นที่ทำงาน การล้างมือทำความสะอาด การจัดพื้นที่แยกโซนให้ชัดเจนลดการแออัด การประเมินตนเอง เป็นต้น ซึ่งเป็นมาตรการกว้าง ๆ ที่รัฐให้ปฏิบัติ

ส่วนในรายละเอียดของความเข้มงวดอื่น ๆ นอกจากนี้ แต่ละโรงงานจะเป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง แล้วแต่โรงงานเล็กใหญ่จะมีความสามารถทำได้ขนาดไหน ซึ่งจะแตกต่างกันไป เช่น การลงทุนให้แรงงานต้องตรวจหาเชื้อทุกคน จัดที่อยู่อาศัยในโรงงานให้เพื่อลดการเดินทางและลดความเสี่ยงจากการเดินทางเข้าออก บางโรงงานสามารถตัดพื้นที่แยกโซนได้แต่บางโรงงานอาจมีขนาดเล็กไม่สามารถทำได้ ก็จะหาแนวทางอื่นเข้ามาช่วยเพื่อลดความเสี่ยง

“ถึงมันจะมีต้นทุนเพิ่มแต่โรงงานน้ำตาลเขาก็พร้อมที่จะทำ โดยยึดมาตรการตามที่รัฐประกาศไว้ก่อน ที่เหลือคือส่วนเสริมเข้าไป เพราะเขาก็กลัวว่าเปิดหีบแล้วจะไม่มีแรงงาน โรงงานต้องปิด ซึ่งก็จะแย่หนักกว่าเดิมแม้เราจะมีถึง 57 โรงงาน แต่มันมีอ้อยต้องส่งเข้ามาหีบถ้าต้องปิดโรงงานก็กระทบเกษตรกรไปด้วย เพราะเราเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลายส่วน ทั้งชาวไร่ การขนส่ง แรงงานชั่วคราว แรงงานประจำ ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตออกมาก็มีทั้งส่งออก ขายในประเทศอีกมันจะกระทบทั้งห่วงโซ่”

ครม.เคาะประกาศน้ำตาล สกัดปัญหาดัมพ์ราคา

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 ได้เห็นชอบในหลักการเรื่องร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร พ.ศ. … ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน

โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ร่างดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร โดยให้มีการจัดเก็บเงินส่วนต่างจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรของโรงงานส่งให้แก่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และนำเงินดังกล่าวมาบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างโรงงาน โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เป็นต้นไป

สิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าวโรงงานน้ำตาลได้หารือกันมาโดยตลอด เนื่องจากมีปัญหาตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาในการที่มีโรงงานน้ำตาลรายใหญ่มีฐานะทางการเงินดี สามารถขายน้ำตาลที่เกินสัดส่วนที่กำหนด เช่น กำหนดขาย 100,000 ตัน แต่มีความสามารถขายได้ถึง 120,000 ตัน

โดยใช้วิธีดัมพ์ราคาทำให้ราคาขายน้ำตาลในตลาดเป็นสภาพที่เรียกว่าตลาดตก ส่งผลให้ระบบน้ำตาลพัง ในขณะที่จะมีบางโรงงานไม่สามารถขายตามปริมาณสัดส่วนได้ เช่น กำหนดขาย 100,000 ตัน แต่ขายได้เพียง 80,000 ตัน

เมื่อระบบไม่สมดุลจึงเป็นที่มาว่า แต่ละโรงงานจำเป็นต้องกลับมาตกลงกันใหม่ให้มีการ “ขายตามสัดส่วน” ที่กำหนด และรายใดที่ขายเกินให้นำเงินส่วนเกินหักเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยวัตถุประสงค์ของอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นตัวสร้างสมดุลทำให้กลไกของระบบอ้อยและน้ำตาล

ทั้งนี้ การเริ่มเก็บส่วนต่างเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะมีผลต่อเมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็หวังว่าจะประกาศให้ทันก่อนเปิดหีบฤดูกาล 2564/2565 ส่วนจะเก็บย้อนหลังในฤดูกาล 2563/2564 หรือจะย้อนหลังไปอีกนั้นอยู่ที่รัฐว่าได้กำหนดไว้อย่างไร

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 5  สิงหาคม 2564

“จุรินทร์”สั่งลุยเต็มพิกัด สร้างพื้นที่ยืนเกษตรกรไทยในตลาดโลก จับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์ ตปท.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์ ระหว่างสหกรณ์การเกษตรไทยกับผู้นำเข้าต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29-30 ก.ค.64 คาดสร้างมูลค่าการซื้อขายได้กว่า 80 ล้านบาท

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP) เปิดเผยว่า กิจกรรมเจรจาธุรกิจการค้าผ่านช่องทางออนไลน์จัดขึ้นตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์เพื่อผลักดันให้"อาหารไทยเป็นอาหารโลก" และให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานนานาชาติ รวมทั้งยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้ภาคเกษตรของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยงการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อในต่างประเทศกับสหกรณ์การเกษตรของไทยโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้รายได้เข้าสู่ประเทศและกระจายลงสู่ชุมชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ทั้งนี้ภายใต้กรอบความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรมการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้แก่สหกรณ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมทั้งสิ้น 9 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุรินทร์ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี สหกรณ์โคนมหมวกเหล็ก สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น สหกรณ์การเกษตรวิสัย สหกรณ์การเกษตรพิมาย สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล สหกรณ์การเกษตรปักธงชัย สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน ให้ร่วมเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าจำนวน 22 บริษัท จาก 9 ประเทศ ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมจำนวน 59 คู่เจรจา โดยคาดว่าจะเกิดคำสั่งซื้อคาดการณ์ภายใน 1 ปี เป็นมูลค่า 2,410,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 79,460,000 บาท

สำหรับสินค้าที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวอินทรีย์ นมอัดเม็ด ผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์เนื้อวัวแปรรูป ทั้งนี้ สินค้าที่จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยได้แก่ สินค้าเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในต่างประเทศ พฤติกรรมการบริโภคเริ่มให้ความสนใจกับสุขภาพร่างกายและในขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยในกระบวนการผลิตควรให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่มีการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และต้องได้การรับรองมาตรฐานจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรของไทย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ดเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและยังไม่มีความหลากหลายของสินค้าในตลาดต่างประเทศมาก

โดยกิจกรรมการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Business Matching) ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศใน 7 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ค.) ของปี 2564 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกิจกรรม 1,684 ราย เจรจาการค้ากับผู้นำเข้าต่างประเทศ 962 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจ 2,795 คู่เจรจา และคาดว่าสามารถสร้างมูลค่าซื้อขายภายใน 1 ปี เป็นมูลค่า 13,863.39 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นยอดขายสินค้าเกษตรถึง 9,741.33 ล้านบาท ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาการค้า สามารถติดต่อได้ที่สายตรงการค้าระหว่างประเทศ (DITP Call Center) 1169 หรือโทร 02-507-7825 และที่ Facebook Fan page: Thaitrade.com

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 5  สิงหาคม 2564

กรอ.ติวโรงงานเสริมพร้อมระงับเหตุภัยสารเคมี

กรอ.ชวนเจ้าของโรงงานฯ อบรมออนไลน์ “ป้องกันภัยพิบัติจากสารเคมี-เสริมความพร้อมระงับเหตุ”

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศในส่วนของภาคการผลิต พบว่ามีใช้สารเคมีหลากหลายชนิดในกระบวนการผลิต ซึ่งสารเคมีที่ใช้นั้นมีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีทั้งโรงงานที่ผลิตสารเคมี โรงงานแบ่งบรรจุสารเคมี และโรงงานที่นำสารเคมีไปใช้ในกระบวนการผลิตทั้งที่ได้ผลผลิตเป็นเคมีภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งสารเคมีแต่ละชนิดก็มีความเป็นอันตรายที่แตกต่างกัน เช่น ไวไฟ กัดกร่อน หรือมีความเป็นพิษ เป็นต้น ซึ่งหากเกิดการรั่วไหลของสารไวไฟอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ดังอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ หรือหากเกิดการรั่วไหลของสารพิษอาจทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนหรือชุมชนโดยรอบโรงงานได้

กรอ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโรงงานให้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562) ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดจัดการฝึกอบรม “การป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี และเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุ” ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีการเก็บหรือการใช้สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยสารเคมีในการป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมีและเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและถูกต้อง การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นการจัดอบรมในรูปแบบออนไลน์ โดยวิทยากรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์

สำหรับการฝึกอบรม “การป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี และเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุ” กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เวลา 08.30 – 12.00 น. โดยเป็นการจัดอบรมในระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมการฝึกอบรมได้ที่ www.diw.go.th/regis_safety/ ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กลุ่มความปลอดภัยสารเคมี โทร 0-2202-4220 ในวันและเวลาราชการ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 5  สิงหาคม 2564

ฝนหลวงฯ เกาะติดปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน ช่วยพื้นที่เกษตรขาดน้ำจากฝนน้อย

สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร รวมถึงปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง จากข้อมูลของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% มีอยู่ถึง 22 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% มีมากถึง 116 แห่ง ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่ดูแลด้านบริหารจัดการน้ำ เร่งหามาตรการและจัดทำแผนเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและเกษตรกร

แต่จากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน-อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง พบว่ามีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์อยู่หลายแห่งรวมถึงบริเวณพื้นที่การเกษตร เช่น เขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ขณะเดียวกันในบางพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำเกินความต้องการของพี่น้องเกษตรกร จากข้อมูลดังกล่าวทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะนำมาวางแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ตรงพื้นที่เป้าหมาย โดยจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว ต่อปัญหาสถานการณ์ดังกล่าว พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้แสดงความเป็นห่วงต่อภาวะฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ประชาชนประสบวิกฤติในหลายด้านและมีความเป็นอยู่ที่ลำบากจึงไม่อยากให้เกิดวิกฤติการณ์น้ำแล้งหรือขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรหรืออุปโภค บริโภคมาซ้ำเติมเพื่อสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีก ดั้งนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือต่อภาวะวิกฤติดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พื้นที่นาข้าวและพืชไร่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ

นำข้อมูลปริมาณน้ำฝนรวมทั้งความชื้นในดินและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อมาวิเคราะห์ปรับแผนให้สอดคล้อง ในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ให้ได้มีปริมาณน้ำมากที่สุด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำต้นทุนไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งต่อไป สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบกขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำ ซึ่งผลปฏิบัติการฝนหลวงในประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมามีการปฏิบัติการ 7 หน่วย ส่งผลให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ อาทิ หน่วยจังหวัดตาก บริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กำแพงเพชร(พรานกระต่าย) จ.สุโขทัย(คีรีมาศ) ส่วนจังหวัดพิษณุโลกมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กำแพงเพชร(เมืองกำแพงเพชร ลานกระบือ ไทรงาม คลองลาน) จ.พิจิตร(เมืองพิจิตร วชิรบารมี สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง ตะพานหิน สากเหล็ก) จ.พิษณุโลก(บางกระทุ่ม) จ.เพชรบูรณ์(บึงสามพัน วิเชียรบุรี) พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง จ.เพชรบูรณ์

ส่วนหน่วยขอนแก่นมีฝนตกบริเวณบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กาฬสินธุ์(สหัสขันธ์ สามชัย สมเด็จ ห้วยผึ้ง นามน ดอนจาน กมลาไสย หนองกุงศรี ห้วยเม็ก ยางตลาด เมืองกาฬสินธุ์) จ.ขอนแก่น(อุบลรัตน์ หนองเรือ บ้านฝาง น้ำพอง ซำสูง กระนวน เมืองขอนแก่น) จ.มหาสารคาม(เชียงยืน ชื่นชม)

ส่วนหน่วยจังหวัดลพบุรีมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.นครสวรรค์(เมืองนครสวรรค์ ลาดยาว ชุมแสง พยุหะคีรี ตากฟ้า ไพศาลี ตาคลี ท่าตะโก) จ.อุทัยธานี(เมืองอุทัยธานี ลานสัก ห้วยคต สว่างอารมณ์ หนองฉาง บ้านไร่ หนองขาหย่าง) จ.ชัยนาท(เมืองชัยนาท หนองมะโมง วัดสิงห์ เนินขาม หันคา สรรคบุรี มโนรมย์) จ.สิงห์บุรี(เมืองสิงห์บุรี อินทร์บุรี) จ.ลพบุรี(เมืองลพบุรี ท่าวุ้ง บ้านหมี่ หนองม่วง โคกเจริญ โคกสำโรง พัฒนานิคม ชัยบาดาล) หน่วยจ.สระบุรี(พระพุทธบาท) พื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์(อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี) อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่(อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี)อ่างเก็บน้ำทับเสลา(อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี)อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว(อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี)อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง(อ.เนินขาม จ.ชัยนาท)

หน่วยจังหวัดกาญจนบุรีมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี(ทองผาภูมิ สังขละบุรี ศรีสวัสดิ์ หนองปรือ เลาขวัญ บ่อพลอย)จ.สุพรรณบุรี(อู่ทอง ดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี ศรีประจันต์ หนองหญ้าไซ ด่านช้าง สามชุก บาางปลาม้า)จ.อ่างทอง(แสวงหา โพธิ์ทอง วิเศษชัยชาญ สามโก้ เมืองอ่างทอง ไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา(มหาราช นครหลวง ท่าเรือ บางปะหัน) และพื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ(อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี) เขื่อนศรีนครินทร์(อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี) อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน(อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี) อ่างเก็บน้ำกระเสียว(อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี)หน่วยหัวหินมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ส่วนหน่วยสุราษฎร์ธานีมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ทั้งนี้ เกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 5  สิงหาคม 2564

EEC เพิ่มเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 7 แห่ง พื้นที่ 8 พันไร่ ดึงเงินลงทุน 3 แสน ล.

บอร์ด EEC เพิ่มเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอีก 7 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งเป้าดึงดูดเงินลงทุนรวม 3 แสนล้านใน 10 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กพอ. ครั้งที่ 2/2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (4 ส.ค.) ได้พิจารณา จัดตั้ง และเปลี่ยนแปลง เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มเติม 7 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 4 แห่ง และ จังหวัดระยอง 3 แห่ง พื้นที่โครงการรวมประมาณ 8,000 ไร่ มีพื้นที่รองรับประกอบกิจการรวมประมาณ 6,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายเงินลงทุนรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ภายใน 10 ปี (2564 – 2573) ได้แก่

เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม รูปแบบนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม จำนวน 5 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 3 แห่ง ได้แก่ นิคมโรจนะแหลมฉบัง นิคมโรจนะหนองใหญ่ และ นิคมเอเชียคลีน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และในจังหวัดระยอง 2 แห่ง ได้แก่ นิคมเอ็กโก และนิคมดับบลิวเอชเออินดัสเตรียลเอสเตทระยอง รองรับยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ โดยมีจำนวนพื้นที่โครงการ 6,884.42 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับประกอบกิจการ 5,098.56 ไร่ เงินลงทุนสูงถึง 280,772.23 ล้านบาท

จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง พื้นที่โครงการ 519 ไร่ รองรับงานวิจัยพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และกิจการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ประกอบกิจการ 360 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ เปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) หรือ EECmd โดยขยายพื้นที่เพิ่ม 18.68 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่ 566 ไร่ เป็นพื้นที่รวมประมาณ 585 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5  สิงหาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.15 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท “อ่อนค่า”ในระยะสั้นจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ที่พร้อมกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามแนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่แข็งค่าขึ้น รวมถึง ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย จากความกังวล ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.15 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.14 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองแนวต้านสำคัญของค่าเงินยังอยู่ในโซน 33.20-33.25 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงแรงซื้อดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเข้ามาเร่งปิดความเสี่ยงเนื่องจากกังวลว่า เงินบาทอาจจะอ่อนค่าเร็วและแรง

ดังนั้นเราจึงยังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ ค่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ซึ่งก็อาจจะต้องรอในช่วงต้นเดือนกันยายน

ทั้งนี้ ในระยะสั้น อาจต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ เพราะ เงินดอลลาร์ยังพร้อมกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามแนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่แข็งค่าขึ้น รวมถึง ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย จากความกังวล ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็พร้อมอ่อนค่าลง หากบรรยากาศการลงทุนกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด

อนึ่งเรามองว่า แนวต้านสำคัญของค่าเงินยังอยู่ในโซน 33.20-33.25 บาทต่อดอลลาร์ และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาช่วยลดความผันผวนของเงินบาทลงในระยะสั้น ทำให้ เงินบาทอาจยังประคองตัวในช่วง 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์  ในขณะที่แนวรับของเงินบาทก็ปรับขึ้นมาสู่ระดับ 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นช่วงราคาที่ผู้นำเข้าบางส่วนต่างรอจังหวะย่อตัว เพื่อทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.20 บาท/ดอลลาร์

 ความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินยังคงมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19, รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึง ทิศทางของนโยบายการเงินจากธนาคารกลาง

โดยในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้น และเริ่มทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาการระบาด Delta ในสหรัฐฯ อาจกดดันให้โมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจลดลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด เริ่มออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP ก็เพิ่มขึ้นเพียง 3.3 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่เกือบ 7 แสนตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (Crude Oil Inventories) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด สะท้อนถึงความต้องการใช้พลังงานที่ลดลง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้รับแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Richard Clarida ที่ออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีภายในปีนี้ รวมถึงการทยอยขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 ซึ่งทั้งภาพความกังวลปัญหาการระบาด Delta และแนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ได้กดดันให้ ดัชนี Dowjones ปิดลบ -0.92% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวลดลงราว -0.46% ส่วน หุ้นเทคฯ ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวในระดับต่ำต่อไป หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.13%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.65% นำโดยหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังรายงานผลปะกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯ ยังคงออกมาดีต่อเนื่อง Infineon +4.07%, ASML +2.93% ขณะเดียวกันแนวโน้มธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ รวมถึงความหวังแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ได้หนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มธนาคาร Adidas +4.04%, BNP Paribas +1.19%, Santander +1.05%

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดบอนด์ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังตัวอยู่ จากความกังวลปัญหาการระบาดของเดลต้า ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยยังเป็นที่ต้องการของตลาด ดังจะเห็นได้จากการที่ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ ระดับ 1.18%

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าเฟดที่ออกมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวด อย่าง การทยอยลดคิวอีภายในปีนี้ ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์โดยรวมพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนในช่วงที่ปัญหาการระบาดของ COVID-19 อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.30 จุด กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.184 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงแตะระดับ 109.5 จุด

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก รวมถึงรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจและผลการประชุมธนาคารกลางนั้น ตลาดมองว่า เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แม้ว่าล่าสุด อังกฤษจะพบการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากยอดผู้ป่วยหนักและยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มในอัตราเร่งตามยอดผู้ติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดอาจทำให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้ง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องต่อ ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินบางส่วนเริ่มสนับสนุนการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องในปลายปีนี้ หรือ ช่วงต้นปีหน้า

ส่วนในฝั่งไทย ภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ซบเซาลงหนักจากปัญหาการระบาด Delta ที่รุนแรงมากขึ้น จะกดดันให้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนกรกฎาคม ชะลอลงสู่ระดับ 0.10% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ก็จะชะลอลงสู่ระดับ 1.0% เช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อยังได้แรงหนุนจากราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่แรงกดดันจะมาจากภาวะการบริโภคที่ซบเซาและมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของภาครัฐ อาทิ ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5  สิงหาคม 2564

เงินเฟ้อเดือนก.ค.ชะลอตัว

พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อเดือน ก.ค.เพิ่ม 0.45 %  ชะลอตัวจากเดือนมิ.ย. ปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานและอาหารสด รวมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.ค.2564 เพิ่มขึ้น 0.45% เป็นผลจากการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ 6.30 % และการสูงขึ้นของอาหารสดบางประเภท อาทิ เนื้อสุกร ไข่ไก่และผลไม้สด ตามความต้องการในช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับเกิดโรคระบาดในสุกรส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง

นอกจากนี้ ไข่ไก่และผลไม้สด ฐานราคาของปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ ขณะที่มาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ในรอบเดือนก.ค. – ส.ค.  2564 และการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้ง การลดลงของอาหารสดบางประเภท (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นปัจจัยทอนที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัว สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการในช่วงการระบาดของโควิด-19

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว ขยายตัว 0.14 % ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.52 % เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. 2564 ลดลง 0.12 %(MoM) และเฉลี่ย      7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) ปี 2564 สูงขึ้น 0.83%

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 5  สิงหาคม 2564

กพช. เคาะกรอบ “แผนพลังงานชาติ” ปรับสูตรราคาก๊าซช่วยลดค่า Ft 0.39 สต.

กพช. เคาะกรอบ “แผนพลังงานชาติ” มุ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายใน พ.ศ.2608-2613 ดันเพิ่มผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 50% ชี้เปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่ neutral-carbon economy เพิ่มขีดความสามารถดูดการลงทุนต่างประเทศ พร้อมปรับสูตรราคาก๊าซใหม่ กดค่าเอฟทีลง 0.39 สตางค์ต่อหน่วย

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบ กรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 หรือ พ.ศ.2608-2613

สำหรับแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ 1. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 พิจารณาร่วมกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว 2.ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV)  การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งมาเป็น EV เป็นแนวทางที่ช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มความสามารถในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM 2.5

3.ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่าร้อยละ 30 โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน 4.ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ทั้งนี้เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงดังกล่าว  ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน 

“เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 อย่างต่อเนื่อง และเพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่ neutral-carbon economy การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดภายในช่วงเวลา 1-10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564 – 2573) กพช. จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการระยะเร่งด่วน”

โดยมี 1.จัดทำแผนพลังงานชาติ ภายใต้กรอบนโยบายที่ทำให้ภาคพลังงานขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ neutral-carbon economy ได้ในระยะยาว ครอบคลุมการขับเคลื่อนพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน

2.พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้ PDP2018 rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564 – 2573) ตามความเหมาะสม อาทิ ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มีการผูกพันเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าที่จำเป็นและสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ในระยะยาว การคำนึงถึงต้นทุนและความก้าวหน้าเทคโนโลยีเป็นสำคัญ

3.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ

สำหรับกระบวนการจัดทำแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยจะมีรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติ ในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2564 เพื่อนำความเห็นมาประกอบการจัดทำแผน 5 แผนหลัก และรวมเป็นแผนพลังงานชาติ หลังจากนั้นจะมีการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพลังงานชาติ ก่อนนำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  กพช. ยังได้เห็นชอบ โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (ใหม่)โดยโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ2. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ปตท. ขายในกลุ่ม Old Supplyและ 3. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ New Shipper ขายไฟฟ้าเข้าระบบใน Regulated Market

พร้อมกำหนดอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯใหม่ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าในภาพรวมลดลงประมาณ 56 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นค่า Ft ลดลงประมาณ 0.39 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ การนำเข้า Liquefied Natural Gas (LNG) ที่ไม่กระทบต่อ Take or Pay สำหรับ ปี 2564 -2566 เท่ากับ 0.48 1.74 และ 3.02 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ ได้มอบหมายให้ กบง. พิจารณาทบทวนหากพบว่าปริมาณความสามารถในการนำเข้า LNG มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขดังกล่าว และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรปริมาณการนำเข้า LNG ตามโครงสร้างของกิจการก๊าซธรรมชาติ ในระยะที่ 2 คือ Regulated Market และ Partially Regulated Market สำหรับ New Demand และกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของ Shipper รวมทั้งกำกับดูแลต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 4 สิงหาคม 2564

จีดีพีเกษตร Q2 โต 1.2%  ฝ่าปัจจัยเสี่ยง คาดเป้าทั้งปี 64 โต 1.7-2.7%

สศก. เผย GDP เกษตร Q2 โต 1.2% คาดเป้าทั้งปียังคงขยายที่ 1.7-2.7% จับตามรสุมปัจจัยเสี่ยงโควิด-19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ความผันผวนของค่าเงินบาท การกระจายสินค้า ต้นทุนการผลิต การส่งออก

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 (เมษายน-มิถุนายน 64) พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่หดตัวถึงร้อยละ 3.1 เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัด หลายพื้นที่ของประเทศประสบภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร

ขณะที่สถานการณ์ในปี 2564 มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และช่วงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงสามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้สถานการณ์การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต

นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ การส่งเสริมอาชีพเกษตร การพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การประกันรายได้สินค้าเกษตรที่สำคัญ และการพักชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ รวมถึงกิจกรรมการผลิตของโรงงานแปรรูปบางแห่งต้องหยุดชะงักลง ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรบางชนิดชะลอตัวลงไปด้วย

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2564 สศก. คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7-2.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยทุกสาขาการผลิตมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นในช่วงต้นปี และคาดว่าจะมีปริมาณฝนตกในระดับปกติในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐในด้านการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีในการผลิต และการยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาท อาจส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้า ต้นทุนการผลิต และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์

ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวในรายละเอียดแต่ละสาขาว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ที่ขยายตัวได้ในไตรมาส 2 เป็นผลจากการขยายตัวของทุกสาขา ยกเว้นสาขาประมงที่หดตัว โดย สาขาพืช ขยายตัว ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 พืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น

ได้แก่ ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มีมากขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 และราคาข้าวเปลือกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะปลูก มันสำปะหลัง ช่วงที่ผ่านมาราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่ปลูกทดแทนอ้อยโรงงานที่ราคา มีแนวโน้มลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่แปลงปลูกและเฝ้าระวังโรคมากขึ้น ประกอบกับมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น

สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรบำรุงรักษาต้นสับปะรดดีและขยายพื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ปลูกสับปะรดที่ปล่อยว่างในช่วงที่ผ่านมา ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ ประกอบกับต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง รวมทั้งภาครัฐได้ดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกในปี 2561 ทดแทนพืชชนิดอื่น

โดยปาล์มน้ำมันที่ปลูกเริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 2564 ประกอบกับในแหล่งผลิตสำคัญมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยมากขึ้นผลผลิตปาล์มน้ำมันจึงเพิ่มขึ้น และ ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีการบำรุงและดูแลรักษาเป็นอย่างดี ประกอบกับพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2559 ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ซึ่งปลูกทดแทนยางพารา และผลไม้อื่น ๆ เช่น เงาะ มังคุด และลองกอง เริ่มให้ผลผลิตในปี 2564 เป็นปีแรก

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด และการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าปศุสัตว์หลัก คือ ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีการขยายการผลิตรองรับความต้องการของตลาดส่งออกสำคัญ

อาทิ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นของระบบ Biosecurity ของฟาร์ม เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในระดับสูงสุด ส่งผลให้อัตรารอดของสุกรเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยด้านราคาที่จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น

เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศแวดล้อมของการเลี้ยงเอื้ออำนวย ส่งผลต่อการออกไข่ของแม่ไก่ รวมทั้งการดำเนินมาตรการรักษาสมดุลของผลผลิตไข่ไก่ในระบบ และ น้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนภาครัฐได้มีการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาด

สาขาประมง หดตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน จำนวนวันที่ชาวประมงนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำจึงลดลง ส่วนปริมาณกุ้งทะเล ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เกษตรกรจึงปรับลดพื้นที่การเลี้ยง ลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง อีกทั้งบางพื้นที่มีการระบาดของโรคขี้ขาวและโรคตัวแดงดวงขาว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

อย่างไรก็ตาม ผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเพียงพอต่อการเลี้ยง อีกทั้งเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยงจึงเพิ่มอัตราการรอดทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยกิจกรรมการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้น และราคาพืชหลายชนิดมีแนวโน้มสูงขึ้น เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชและมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยผลผลิตไม้ยางพาราขยายตัวตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น ขณะที่ผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเยื่อกระดาษและเป็นพืชพลังงาน ยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

เช่น จีน และญี่ปุ่น ด้านผลผลิตรังนกของไทยยังมีศักยภาพและคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับรังนกของคู่แข่ง ทำให้มีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง และถ่านไม้ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจีนและญี่ปุ่นอย่างมาก

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 4 สิงหาคม 2564

ทูตพณ.ยันจีน-อินเดีย นิยมสินค้าเกษตรไทย พณ.ชี้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “FTA นำเกษตรไทย ทะลุโควิด ตะลุยตลาดมังกรและแดนภารตะ” ปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มาตรการล็อคดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตลาดจีนและอินเดีย ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากไทยมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของการค้าไทยที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยทำกับจีนและอินเดีย คือเอฟทีเออาเซียน-จีน ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย ทั้งสองประเทศได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยแล้ว ส่งผลให้ไทยมีโอกาสขยายตลาดส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น

สินค้าอาหารที่เติบโตได้ดีและนิยมในตลาดจีน เช่น สิ่งปรุงรส เครื่องแกงไทยสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและอบแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ส่วนตลาดอินเดีย เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง น้ำผลไม้ที่มีวิตามิน ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องเทศและสมุนไพร เป็นต้น

นางสาวจีรนันท์ หิรัญญสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า สินค้าที่มีโอกาสขยายตัวในตลาดจีน ได้แก่ สินค้าอาหารแปรรูป ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับผู้สูงอายุและเด็ก และอาหารสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันผู้บริโภคจีนหันสนใจสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับข้อมูลผลิตภัณฑ์ อาทิ ส่วนประกอบ แหล่งที่มา และประโยชน์ของอาหาร รวมถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีนอีกด้วย จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะพัฒนาสินค้าและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคจีน

นางสาวสายทอง สร้อยเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย กล่าวเสริมว่า สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสขยายตัวในตลาดอินเดียสูงมาก โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและยังนิยมมากเป็นอันดับ 1 ในอินเดีย นอกจากนี้ ผู้บริโภคอินเดียยังนิยมผลไม้ไทย เช่น ลำไย เงาะ มะขามหวาน แก้วมังกร และฝรั่งกิมจู เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละรัฐของอินเดียด้วย เนื่องจากมีวัฒนธรรมและความนิยมการบริโภคที่แตกต่างกัน ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เสริมว่า สำหรับการขนส่งสินค้าในอินเดียอาจเกิดความล่าช้า เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่และมีภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่วนมากจะเน่าเสียก่อนถึงมือผู้บริโภค ปริมาณกว่า 20-30%

สำหรับช่วงครึ่งปีแรก 2564 การส่งออกของไทยไป 18 ประเทศคู่ FTA มีมูลค่ากว่า 81,961.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 16.9 โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่ากว่า 18,289.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 24.9 และไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 31,486.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31.8 ส่วนไทยส่งออกไปอินเดียมูลค่ากว่า 3,830.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 54.8 และไทยนำเข้าจากอินเดียมูลค่า 3,233.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 69.5

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 4 สิงหาคม 2564

'จุรินทร์'กำชับดึงประโยชน์ FTA ช่วยผู้ประกอบการ ลดต้นทุนผลิต-ส่งออก

"จุรินทร์"กำชับดึงประโยชน์ FTA ช่วยผู้ประกอบการส่งออก ลดต้นทุนการผลิต-การส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ เพราะสถานการณ์นี้ประเทศต้องพึ่งพาส่งออกเป็นขาหลัก

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามนโยบายด้านเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Area หรือ FTA ที่ประเทศไทยได้ประโยชน์ทั้งนี้เพื่อประกอบเป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ส่งออกในการหาตลาดที่เป็นประโยชน์และลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนการส่งออกได้นับจากนี้

นางมัลลิกา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่ไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ โดยในปี 2563 มีการค้ากับประเทศที่มี FTA รวม  276,005 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 8,044,703 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 63 ของการค้าไทยกับทั้งโลก สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 คือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 167,372 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,297,055 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 81,961 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการค้ามีการขยายตัวในประเทศที่มีการทำ FTA โดยเฉลี่ยประมาณ 150-200% ในขณะที่ประเทศที่ไม่มี FTA มีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 50-100%โดยการใช้สิทธิประโยชน์ผ่าน FTA ในปี 2563 มีมูลค่า 58,077.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 76.5 ของการส่งออก ที่ได้รับสิทธิ FTA

"ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 คือ มกราคม-เมษายน 2564 มีการขอใบรับรองเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกด้วย FTA มูลค่า 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 74.91 ของมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA  เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 18.09 และประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย" นางมัลลิกา กล่าว

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลผู้ประกอบการทุกระยะเพื่อได้ใช้ประโยชน์ทางการค้าและเพิ่มตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยในช่วงที่ผ่านมานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ในฐานะประธานการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ระหว่าง 15 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และบวกอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยที่ถือว่าเป็นความตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า GDP 1 ใน 3 ของโลกและมีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการเปิดการค้าเสรีเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ห่วงโซ่มูลค่าการผลิตโลกเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนนี้คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในต้นปี 2565 จึงอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าใช้บริการของ RCEP Center ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยสอบถามข้อมูลผ่าน Call Center ที่หมายเลข 02-507-7555 รวมทั้งสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ www.moc.go.th

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

138 เขื่อนน่าห่วง น้ำน้อยกว่า 30% ฝนหลวงฯ เร่งปฏิบัติการเติมน้ำ

กรมฝนหลวง เกาะติดปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน ช่วยพื้นที่เกษตรขาดน้ำจากฝนน้อย พบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศอยู่ในสถานการณ์น่าห่วง มีน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% จากฝนทิ้งช่วง “ทุ่งกุลาร้องไห้”เดือดร้อนน้ำไม่เพียงพอทำเกษตร

สถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร รวมถึงปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง จากข้อมูลของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% มีอยู่ถึง 22 แห่ง

ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30%  มีมากถึง 116  แห่ง ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่ดูแลด้านบริหารจัดการน้ำ เร่งหามาตรการและจัดทำแผนเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและเกษตรกร

นายสุรสีห์   กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  กล่าวว่า   นี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว แต่จากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน-อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง พบว่ามีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์อยู่หลายแห่งรวมถึงบริเวณพื้นที่การเกษตร เช่น เขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง

ขณะเดียวกันในบางพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำเกินความต้องการของพี่น้องเกษตรกร จากข้อมูลดังกล่าวทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะนำมาวางแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ตรงพื้นที่เป้าหมาย โดยจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว

ต่อปัญหาสถานการณ์ดังกล่าว  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้แสดงความเป็นห่วงต่อภาวะฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ประชาชนประสบวิกฤติในหลายด้านและมีความเป็นอยู่ที่ลำบากจึงไม่อยากให้เกิดวิกฤติการณ์น้ำแล้งหรือขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรหรืออุปโภค บริโภคมาซ้ำเติมเพื่อสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีก 

ดั้งนั้น  เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือต่อภาวะวิกฤติดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พื้นที่นาข้าวและพืชไร่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ นำข้อมูลปริมาณน้ำฝนรวมทั้งความชื้นในดินและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อมาวิเคราะห์ปรับแผนให้สอดคล้อง ในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ให้ได้มีปริมาณน้ำมากที่สุด เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำต้นทุนไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งต่อไป

สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบกขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำ ซึ่งผลปฏิบัติการฝนหลวงในประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมามีการปฏิบัติการ 7 หน่วย

ส่งผลให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ อาทิ หน่วยจังหวัดตาก  บริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กำแพงเพชร(พรานกระต่าย)จ.สุโขทัย(คีรีมาศ)ส่วนจังหวัดพิษณุโลกมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรจ.กำแพงเพชร(เมืองกำแพงเพชร ลานกระบือ ไทรงาม คลองลาน)จ.พิจิตร(เมืองพิจิตร วชิรบารมี สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง ตะพานหิน สากเหล็ก)จ.พิษณุโลก(บางกระทุ่ม)จ.เพชรบูรณ์(บึงสามพัน วิเชียรบุรี)  พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง จ.เพชรบูรณ์

ส่วนหน่วยขอนแก่นมีฝนตกบริเวณบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กาฬสินธุ์(สหัสขันธ์ สามชัย สมเด็จ ห้วยผึ้ง นามน ดอนจาน กมลาไสย หนองกุงศรี ห้วยเม็ก ยางตลาด เมืองกาฬสินธุ์)  จ.ขอนแก่น(อุบลรัตน์ หนองเรือ บ้านฝาง น้ำพอง ซำสูง กระนวน เมืองขอนแก่น) จ.มหาสารคาม(เชียงยืน ชื่นชม)

ขณะที่หน่วยจังหวัดลพบุรีมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.นครสวรรค์(เมืองนครสวรรค์ ลาดยาว ชุมแสง พยุหะคีรี ตากฟ้า ไพศาลี ตาคลี ท่าตะโก) จ.อุทัยธานี(เมืองอุทัยธานี ลานสัก ห้วยคต สว่างอารมณ์ หนองฉาง บ้านไร่ หนองขาหย่าง)  จ.ชัยนาท(เมืองชัยนาท หนองมะโมง วัดสิงห์ เนินขาม หันคา สรรคบุรี มโนรมย์) จ.สิงห์บุรี(เมืองสิงห์บุรี อินทร์บุรี) จ.ลพบุรี(เมืองลพบุรี ท่าวุ้ง บ้านหมี่ หนองม่วง โคกเจริญ โคกสำโรง พัฒนานิคม ชัยบาดาล)

หน่วย จ.สระบุรี(พระพุทธบาท) พื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์(อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี) อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่(อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี)อ่างเก็บน้ำทับเสลา(อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี)อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว (อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี)อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง(อ.เนินขาม จ.ชัยนาท)

หน่วยจังหวัดกาญจนบุรีมีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี(ทองผาภูมิ สังขละบุรี ศรีสวัสดิ์ หนองปรือ เลาขวัญ บ่อพลอย)จ.สุพรรณบุรี(อู่ทอง ดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี ศรีประจันต์ หนองหญ้าไซ ด่านช้าง สามชุก บางปลาม้า)จ.อ่างทอง(แสวงหา โพธิ์ทอง วิเศษชัยชาญ สามโก้ เมืองอ่างทอง ไชโย)  จ.พระนครศรีอยุธยา(มหาราช นครหลวง ท่าเรือ บางปะหัน) และพื้นที่ลุ่มรับน้ำ  เขื่อนวชิราลงกรณ(อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี) เขื่อนศรีนครินทร์(อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี) อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน(อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี) อ่างเก็บน้ำกระเสียว(อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี)หน่วยหัวหินมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  ส่วนหน่วยสุราษฎร์ธานีมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น 

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"เอ็นไอเอ" พารู้จักเรื่องโด(ร)น

ของ 2 นักพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร ส่งตรงความทันสมัยให้เกษตรกรไทย

วันนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จะพาไปอินไซด์แนวคิด 2 นักพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งหลายคนอาจจะคิดไม่ถึงว่าจริง ๆ แล้วโดรนที่เข้าไปช่วยเจ้าหน้าดับเพลิงในเหตุวินาศภัยนั้น เริ่มต้นมาจากโดรนเพื่อการเกษตรที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ในขั้นตอนการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะในด้านผลผลิตและความแม่นยำ และความหวังที่จับมือเกษตรกรวิ่งสู่ความเป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” ไปด้วยกัน

เริ่มกันที่ ดร.ดี จันทร์ศุภฤกษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโดรนชุมชน บริษัท นวัตกรรมเพื่อสังคมและเทคโนโลยีเกษตร จำกัด กล่าวว่า แนวคิดในการทำโดรนเพื่อชุมชนนั้น เกิดขึ้นจากที่ตนและทีมต้องการที่จะยกระดับ และเพิ่มโอกาสให้ชุมชนในแถบชนบทได้เข้าถึงเทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรม เนื่องจากทางทีมงานได้มองเห็นความสำคัญของเกษตรกรในการเป็นผู้สร้างความมั่งคงทางอาหาร ต่อเนื่องไปสู่ความมั่นคงของมนุษย์ และความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นจึงได้เริ่มต้นในการทำแพลตฟอร์มสำหรับการจัดหาโดรนเข้าไปใช้ในการทำการเกษตรให้แก่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก NIA ในโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (SID) จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับโดรนนั้นเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้าไปช่วยให้การทำเกษตรมีความแม่นยำ ช่วยในด้านการคำนวณปริมาณสารเคมี หรือปริมาณพันธุ์ข้าวที่จะใช้ต่อไร่ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีของเกษตรกรได้ดีมากขึ้น เพราะสามารถใช้โดรนฉีดพ่นสารเคมีได้เลย นอกจากนี้การใช้โดรนในภาคการเกษตรยังช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านแรงงานได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 นี้ จะมีโดรนเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000-4,000 ลำ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภาคการเกษตรไทย โดยเฉพาะด้านการผลักดันให้ภาคเกษตรก้าวสู่การทำเกษตรกรรมแบบ 4.0 อย่างเต็มตัว

“ในอนาคตเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนจะเริ่มมีความสำคัญและมีบทบาทมากกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้โดรนในระบบขนส่ง / โลจิสติกส์ที่มีน้ำหนักเบา ไม่ว่าจะเป็นกล่องพัสดุ เวชภัณฑ์ยา แต่ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตเชื่อว่าจะถูกพัฒนาให้แม่นยำ มีความทนทานพอที่จะส่งของหนักได้ หรือแม้แต่กระทั่งการใช้โดรนเพื่อซ่อมแซม บำรุงแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งจะทำให้ทราบแน่ชัดมากยิ่งขึ้นว่าแผงใดบ้างที่เสียหาย ส่งผลให้สามารถซ่อมแซมได้ตรงจุดและปลอดภัย สอดรับกับอนาคตที่ประเทศไทยจะหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นด้วย อีกด้านคือการใช้โดรนเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนมนุษย์ในการกู้ภัย ตนเห็นว่าจากนี้ต่อไปจะมีความสำคัญมาก เพราะคุณสมบัติที่รวดเร็ว คล่องตัว และแม่นยำ จะช่วยให้ลดการสูญเสียกำลังคน และช่วยลดความสูญเสียจากการเกิดเพลิงไหม้ หรือวินาศภัยในด้านอื่น ๆ ลงได้ด้วยเช่นกัน”

ต่อกันที่ นายกฤตธัช สารทรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวี่ (2018) จำกัด กล่าวว่า ตนเองมีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จากนั้นจึงตัดสินใจศึกษาต่อที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ตนและทีมเห็นว่าในอนาคตโดรนจะสามารถเข้าไปช่วยทำให้ระบบการทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว มีความแม่นยำ และยังช่วยลดความสูญเสียได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ UAV Startup 2017 ที่จัดขึ้นโดย NIA และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ทางทีมโนวี่โดรนก็ได้มีการต่อยอดและพัฒนาโดรนสำหรับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจโดรนเพื่อการเกษตรมาจนถึงปัจจุบัน

นายกฤตธัช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโดรนของโนวี่สามารถให้บริการภาคการเกษตรได้อย่างครอบคลุมไม่ว่าจะเป็น การพ่นยา พ่นปุ๋ย และที่สำคัญโนวี่โดรนยังช่วยให้กระบวนการการทำการเกษตรสะดวก และรวดเร็ว ประหยัดการใช้แรงงานคนได้มาก เพราะโดรน 1 ตัว สามารถทำงานได้เร็วกว่าแรงงานคนมากถึง 10 เท่า อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรปลอดภัยจากการที่ต้องสัมผัสสารเคมี นอกจากนี้ ยังมองว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับจะเข้าไปมีบทบาทกับภารกิจอื่น ๆ ได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนในระบบโลจิสติกส์ โดรนเพื่อการขนส่ง แท็กซี่โดรน หรือแม้แต่กระทั่งใช้โดรนในการกู้ภัยพิบัติต่าง ๆเพราะการใช้โดรนหรือหุ่นยนต์ในการกู้ภัยสามารถช่วยลดความสูญเสียจากการเข้าไปทำงานในจุดเสี่ยงอันตราย และอย่างน้อยหากเกิดอันตรายขึ้นเราก็แค่สูญเสียอุปกรณ์ไป ทั้งนี้ จากประโยชน์อันหลากหลายนี้ ทางทีมจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพให้โดรนสามารถทำงานแทนเจ้าหน้าที่ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงในกิจกรรมต่าง ๆ และพร้อมที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มภาคสังคมในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างเช่นที่ผ่านมา

ด้วยความฉลาด และความสามารถที่หลากหลายนี้เอง จึงทำให้โดรนถูกวางตัวไว้เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญให้กับหลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรม และเชื่อว่าในอนาคตคนไทยจะได้เห็นโดรนถูกใช้งานในภารกิจอื่น ๆ อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กำลังผลิตลดกระทบการส่งออก โควิดทำแรงงานอุตฯขาด

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 8 ในเดือนกรกฎาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “การจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น จนส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงและกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและการส่งออกของประเทศ

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) 166 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า อัตราการจ้างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดนั้น ส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคงอัตราการจ้างงานเท่าเดิม คิดเป็น 53.6% มีการจ้างงานลดลง 10 – 20% คิดเป็น 31.3% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10 – 20% คิดเป็น 10.3% และมีการจ้างงานลดลงมากว่า 50% คิดเป็น 4.8%

ส่วนของผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นขณะนี้ พบว่า โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบทำให้ต้องลดกำลังการผลิตลงน้อยกว่า 30% คิดเป็น 45.2% โรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ คิดเป็น 26.5% โรงงานที่กำลังการผลิตลดลง 30 – 50% คิดเป็น 20.5% และโรงงานที่กำลังการผลิตลดลงมากกว่า 50% คิดเป็น 7.8% สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานบางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หรือกักตัว รวมทั้ง การปิดโรงงานชั่วคราวตามข้อกำหนด 2.สถานประกอบการไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติไทยได้เพียงพอต่อความต้องการ และ 3.มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัด

มาตรการที่ภาครัฐควรนำมาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.การสนับสนุนเงินอุดหนุนในการจ้างแรงงานไทย และขยายโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ 2.การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมทดแทนการใช้แรงงานและ 3.การอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU เฉพาะแรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว มีการทำประกันสุขภาพ และต้องผ่านการกักตัว14 วัน เข้ามาทำงาน

กรณีที่ภาครัฐจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ควรเตรียมความพร้อม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ระบบคัดกรอง ติดตาม และประเมินสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว 2.จัดตั้งศูนย์ One Stop Service สำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวและ 3.ปรับลดขั้นตอน เอกสารที่ไม่จำเป็น และปรับมาดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.การเร่งจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้กับแรงงาน ม.33 2.การสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลแรงงานที่ติดเชื้อ และสนับสนุนยา อาหาร และเวชภัณฑ์ให้แก่แรงงานที่ติดเชื้อในการรักษาตัวที่บ้าน (HomeIsolation) และ 3.ลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือ 1% ถึงสิ้นปี 2564

ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังมองว่ามาตรการที่ภาคเอกชนมีความพร้อมและสามารถที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการได้ พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การมีระบบคัดกรองแรงงานก่อนเข้าโรงงาน และการเฝ้าระวังผู้ปฏิบัติงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามมาตรการ Bubble & Seal คิดเป็น 83.1% รองลงมา การจัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่แรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็น 68.1% และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด (D-M-H-T-T-A) คิดเป็น 65.7%

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สอน.เตรียมความพร้อมพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อย ประจำปี 2564

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าคัดเลือกชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่นประจำปี 2564 เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต เน้นย้ำ ช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นำเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือในการประชุมคัดเลือก ยืนยัน ความโปร่งใส ตรวจสอบได้

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดงานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจ ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย และผู้บริหารโรงงานน้ำตาล ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างสม่ำเสมอโดยในปี พ.ศ. 2564 สอน. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกชาวไร่อ้อยดีเด่น และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2564 เพื่อดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่มีผลงานการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตดีเด่น โดยการคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัลคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นไปอย่างมีระบบ โปร่งใส และเป็นธรรมเพื่อเข้ารับถ้วยเกียรติยศ และโล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงอุตสาหกรรม

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยมีอัตราการแพร่ระบาดขยายขอบเขตเป็นวงกว้าง และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอน. จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกและตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เพื่อเป็นการควบคุมพื้นที่และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และให้เป็นไปตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน รวมไปถึงการปฏิบัติตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยคณะทำงานได้มีการใช้เทคโนโลยีในการประชุมคัดเลือกผ่านระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ สอน.ที่สังกัดในส่วนภูมิภาค เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม

สำหรับกำหนดการจัดงานในปี พ.ศ. 2564 สำนักงานจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยดีขึ้น.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 2 สิงหาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.96 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มขึ้นอยู่กับ 2ปัจจัยหลัก แนะจับตา “ทิศทางเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.96 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์  มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.70-33.20 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.05 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท มีสองประเด็นหลักที่ต้องจับตา แนวโน้มเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทย โดยเรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์อาจ Sideways ในระยะสั้น โดยปัจจัยแข็งค่า คือ ความต้องการ Safe Haven asset จากปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก แต่ทว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวมากกว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาต่ำกว่าคาด ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงได้

ส่วนในฝั่งเงินบาท ปัญหาการระบาด COVID-19 ที่ยังไม่ถึงจุดเลวร้ายสุด อาจสร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะในกรณีที่เงินดอลลาร์ก็กลับมาแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงเข้ามาช่วยลดความผันผวนของเงินบาท เพื่อให้ภาคธุรกิจปิดความเสี่ยงค่าเงินได้ทัน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.70-33.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.05 บาท/ดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดการเงินกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 มากขึ้น ส่งผลให้ บรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมกลับมาสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และ รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก อย่างใกล้ชิด หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มน่ากังวลมากขึ้นและอาจกดดันให้ตลาดกลับมาสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ภาคการบริการขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกรกฎาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 60 จุด ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมนั้นยังคงได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะยังสามารถขยายตัวได้ดี โดย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.9 จุด ทั้งนี้ การจ้างงานอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่บ้าง แต่โดยรวม ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกรกฎาคม จะเพิ่มขึ้นกว่า 8 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราว่างงานลดลงเหลือ 5.7% นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนได้ อนึ่ง ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Bowman & Clarida (วันพุธ) และ Waller (วันพฤหัสฯ) ถึงมุมมองต่อการทยอยลดคิวอีของเฟด เพราะทั้งสามท่านล้วนเป็นคณะกรรมการ FOMC และมีส่วนในการตัดสินแนวทางการปรับลดคิวอี

ฝั่งยุโรป – เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แม้ว่าล่าสุด อังกฤษจะพบการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากยอดผู้ป่วยหนักและยอดผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มในอัตราเร่งตามยอดผู้ติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดอาจทำให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้ง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องต่อ ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อาจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินบางส่วนเริ่มสนับสนุนการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องในปลายปีนี้ หรือ ช่วงต้นปีหน้า

ฝั่งเอเชีย – ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในโซนเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น กดดันให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ที่ระดับ 0.10% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการคุม yields curve เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะเริ่มดีขึ้น หลังเกิด Natural Herd Immunity ซึ่งแลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล ทำให้ RBI จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ที่ระดับ 4.00% ต่อไป ส่วนในฝั่งจีน ตลาดอาจเริ่มกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Caixin Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม ที่จะลดลงสู่ระดับ 51 จุด และ 50.2 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ Delta ล่าสุดในเมืองใหญ่ อาทิ กรุงปักกิ่งและนครฉงชิ่ง ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจีนในระยะสั้นได้

ฝั่งไทย – ปัญหาการระบาด COVID-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่องจะกดดันให้เศรษฐกิจซบเซาลงมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินไว้ ทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เลือกที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% และเน้นย้ำถึงการใช้นโยบายการเงินเฉพาะจุด อาทิ การเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจที่ต้องการ ผ่านโครงการพักทรัพย์พักหนี้ หรือ Soft loans เป็นต้น นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจากปัญหาการระบาด โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนจะกดดันให้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนกรกฎาคม ชะลอลงสู่ระดับ 0.10% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ก็จะชะลอลงสู่ระดับ 1.0% เช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อยังได้แรงหนุนจากราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่แรงกดดันจะมาจากภาวะการบริโภคที่ซบเซาและมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของภาครัฐ อาทิ ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่ามาเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 32.90-32.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงวันนี้ (2 ส.ค.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันทำการก่อนหน้าที่ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงท่ามกลางความเสี่ยงในระดับสูงต่อเนื่องของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้สัญญาณการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของภาคการผลิตจีน สะท้อนจากข้อมูล PMI เดือนก.ค. ก็เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินหยวน รวมไปถึงบรรยากาศของสกุลเงินเอเชียในภาพรวมด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.85-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยวันนี้ที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาการระบาดของโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ และข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ และหลายๆ ประเทศในยุโรป ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญในสัปดาห์ ประกอบด้วย การประชุมกนง. (4 ส.ค.) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 สิงหาคม 2564

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2564

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ผลจากปัญหาภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าและมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ กดดันราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2564ปรับเพิ่ม ขณะเดียวกันอีก 6รายการสินค้าที่แนวโน้มราคาปรับลดลง

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ผลจากปัญหาภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าและมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ กดดันราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2564ปรับเพิ่ม ทั้ง “ข้าวเปลือกเจ้า- ข้าวเปลือกเหนียว- มันสำปะหลัง -น้ำตาลทรายดิบ และปาล์มน้ำมัน”   ขณะเดียวกัน 6รายการสินค้าที่แนวโน้มราคาปรับลด  ด้านข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

​ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ผลจากปัญหาภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าและมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง น้ำตาลทรายดิบ และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,419 - 8,465  บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 0.84 เนื่องจากปัจจัยบวกจากการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,335 - 10,537 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 2.26 เนื่องจากสต็อกของผู้ประกอบการเริ่มลดลง จึงคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น  มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.98 - 2.02 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.51 - 2.54 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น ประกอบกับประเทศจีนยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องจากพื้นที่  ในประเทศประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง จึงมีการนำเข้า   มันสำปะหลังจากไทยทดแทนเพื่อใช้ผลิตเอทานอล

น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 17.67 - 18.19 เซนต์/ปอนด์ (12.79 - 13.17 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.50 - 4.50 เนื่องจากคาดว่าประเทศจีนจะมีการนำเข้าน้ำตาลในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และจากความกังวลเรื่องน้ำค้างแข็งในประเทศบราซิลที่เกิดขึ้นในภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคปลูกอ้อยที่มากที่สุดของประเทศในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้ผลผลิตอ้อยของบราซิลได้รับความเสียหาย และปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.27 - 6.31 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.12 - 0.87 เนื่องจากความต้องการน้ำมันปาล์มของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาปาล์มน้ำมันยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ จากปัจจัยกดดันของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง จากการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศสหรัฐอเมริกา

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,166 - 10,288 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.91 - 2.08 เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของไทยลดลง ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลให้สามารถส่งออกข้าวได้เพียงร้อยละ 30 ของปริมาณคำสั่งซื้อเท่านั้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.11 - 8.17 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 1.00 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว (ประมาณร้อยละ 8.0 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด) ทั้งนี้ ปัญหาฝนตกในหลายพื้นที่อาจเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยวผลผลิต อาจทำให้ผลผลิตออกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีการนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาผลิตอาหารสัตว์เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศมีราคาสูง

ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 48.00 - 49.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.04 – 2.08 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากสต็อกยางพาราโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ยังรุนแรง มีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึง   นักลงทุนในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้า ถึงแม้ราคายางพาราในประเทศจะได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลงก็ตาม สุกร ราคาอยู่ที่ 70.55 - 71.26 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.34 – 1.33 เนื่องจากภาครัฐยกระดับมาตรการปิดสถานที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ การงดรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร โรงเรียนและสถาบันศึกษาให้ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง กุ้งขาว  แวนนาไม ราคาอยู่ที่ 133.69 – 135.32 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 - 1.70 เนื่องจากคาดว่าจะมีการใช้มาตรการ ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม  จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศลดลง

สำหรับการส่งออกกุ้งของไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งจากการขาดแคลนแรงงานและประเทศผู้นำเข้าที่มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพกุ้งของไทย และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.90 - 95.25 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.42 เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อโคในประเทศลดลงจากปัจจัยด้านอาหารตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับปริมาณโคเนื้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการบริโภค

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 สิงหาคม 2564

กรมเจรจาฯ ชำแหละประโยชน์ไทยใน RCEP จีนลดภาษีเพิ่มอีก 33 รายการ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชำแหละผลประโยชน์ไทยใน RCEP รอบนี้เจาะจีน พบยกเลิกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยถึง 90.5% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด และยกเลิกภาษีสินค้า 33 รายการ เพิ่มเติมจาก ACFTA ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ แนะผู้ประกอบการใช้โอกาสส่งออกสินค้าเจาะตลาดจีนเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดจีนภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับจีนอยู่แล้ว 1 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ว่า ภายใต้ความตกลง RCEP จีนจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ซึ่งจำนวนสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้คิดเป็น 67.9% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ที่เหลือจะทยอยยกเลิก และยังมีสินค้า 33 รายการที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก ACFTA โดยมีทั้งที่จะยกเลิกทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้และทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10-20 ปี

สำหรับสินค้าที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก ACFTA ครอบคลุมสินค้าเกษตรศักยภาพของไทยหลายรายการ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด สับปะรดปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง และสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทย เช่น เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณสำหรับยานยนต์ ชุดสายไฟสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ เครื่องยนต์ ที่ปรับกระจกในรถยนต์ และเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และยังเปิดตลาดให้กับสินค้าอื่นๆ ของไทยเป็นการเพิ่มเติม ภายใต้ความตกลง RCEP เช่น พริกไทย น้ำมันเบาและสิ่งปรุงแต่ง และแผ่นไวแสงและฟิล์มที่ใช้ในการถ่ายรูป

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบ ACFTA จีนได้ยกเลิกภาษีให้ไทย 94.8% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด โดยสัดส่วนการเปิดตลาดการค้าสินค้าสูงกว่ากรอบ FTA กับคู่ภาคีอื่นๆ ของอาเซียน ยกเว้นกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) จึงส่งผลให้จำนวนสินค้าที่จีนนำมายกเลิกภาษีศุลกากรเพิ่มเติมให้ไทยใน RCEP มีไม่มากนัก ประมาณ 33 รายการ แต่ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสสะสมถิ่นกำเนิดในเครือข่ายการผลิตสินค้าใน RCEP ซึ่งสมาชิกทั้ง 15 ประเทศใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ทำให้มีความสอดคล้องและยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อเทียบกับเกณฑ์สะสมถิ่นกำเนิดภายใต้กรอบ ACFTA

ขณะเดียวกัน ยังสามารถสะสมวัตถุดิบในการผลิตได้จากหลายแหล่งมากขึ้น ทั้งในและนอกภูมิภาค RCEP และหากผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตที่ทำให้สินค้าผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้ เช่น การเปลี่ยนสภาพวัตถุดิบจะส่งผลให้เปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 4 หลัก ซึ่งจะสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภูมิภาค RCEP ได้ด้วย และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งออกไปยังตลาดจีนได้

จาก https://mgronline.com  วันที่ 1 สิงหาคม 2564