|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนสิงหาคม 2565] |
"ปฏิรูปภาคเกษตรไทย" สู่ดิจิทัล เปิดตัวฐานข้อมูลเกษตรแบบ Open Data
กระทรวงเกษตรฯลุยขับเคลื่อน Big Data ภาคเกษตร "สศก." เดินหน้าเปิดตัวโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบ Open Data ปฏิรูปภาคเกษตรไทยก้าวสู่ Digital Transformation
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดงานสัมมนา โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายมุ่งไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Thailand 4.0)
โดยจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ร่วมกัน 10 กระทรวง และขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2562
เพื่อให้เกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าถึงระบบการให้บริการและสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผน การผลิต และการตลาด
ล่าสุด สศก. ได้จัดทำ โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล สำหรับจัดเก็บ และบริการข้อมูลทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง จากหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่าง 10 กระทรวง ซึ่งเป็นการรวบรวมชุดข้อมูล (Datasets) จากการสำรวจ นำมาจัดทำเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร และวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้สนใจ ใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร มีการพัฒนาระบบงาน 5 ระบบ คือ
ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน
ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics)
ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร
ระบบ Coaching Program Platform (CPP)
ระบบ Public AI ตลอดจนปรับปรุงการให้บริการ ข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการเกษตร แก่หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกร
การสัมมนาเปิดตัวโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรในวันนี้ สศก. มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และนำเสนอผลสำเร็จในการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา พร้อมทั้งสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งหารือแนวทางต่อยอดความร่วมมือในอนาคตร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ ที่ MOU ร่วมกัน
ซึ่งเชื่อมั่นว่า ผลสำเร็จของโครงการฯ จะเป็นประโยชน์แก่ เกษตรกร ภาครัฐ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทานการผลิต ทำให้มีข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตที่แม่นยำ สามารถนำไปใช้วางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ สศก. ในฐานะเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร
"หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือเนวิเกเตอร์ ที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถเชิงดิจิทัล ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และแม่นยำ เลขาธิการ สศก. กล่าว
การขับเคลื่อน Big Data ภาคเกษตร ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดการและเชื่อมโยงในระดับแปลง เกษตรกร และพื้นที่ มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในทุกระดับ
โดยสร้าง Platform เก็บข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ Mobile Technology เพื่อให้ได้ฐานข้อมูล Big Data ภาคเกษตรที่แม่นยำ รวดเร็ว ต่อเนื่องในทุกฤดูปลูก นอกจากนี้ ยังมี Web Tool และ Mobile Application ในการประมวลผลข้อมูลจาก Big Data เพื่อวางแผนเชิงพื้นที่ วางนโยบาย และเผยแพร่สู่ทุกภาคส่วนอย่างเข้าใจง่าย
"ปฏิรูปภาคเกษตรไทย" สู่ดิจิทัล เปิดตัวฐานข้อมูลเกษตรแบบ Open Data
โดยปัจจุบัน สศก. ได้พัฒนาระบบและจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้สนใจ ใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซด์ nabc-catalog.oae.go.th รวบรวมชุดข้อมูล กว่า 734 ชุด จาก 90 หน่วยงาน โดยจัดแบ่งกลุ่มข้อมูล 17 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.กลุ่มข้อมูลด้านแผนงาน/งบประมาณ
2.กลุ่มข้อมูลด้านเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร
3.กลุ่มข้อมูลด้านดินและที่ดิน
4.กลุ่มข้อมูลด้านแหล่งน้ำและการชลประทาน
5.กลุ่มข้อมูลด้านภัยธรรมชาติ
6.กลุ่มข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7.กลุ่มข้อมูลด้านการเพาะปลูกพืช
8.กลุ่มข้อมูลด้านการทำปศุสัตว์
9.กลุ่มข้อมูลด้านการทำประมง
10.กลุ่มข้อมูลด้านสินเชื่อและแหล่งเงินทุน
11.กลุ่มข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการตลาด
12.กลุ่มข้อมูลด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง และแหล่งรับซื้อ
13.กลุ่มข้อมูลด้านราคา
14.กลุ่มข้อมูลด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการผลิตและสินค้าเกษตร
15.กลุ่มข้อมูลด้านงานวิจัยและองค์ความรู้
16.กลุ่มข้อมูลด้านปัจจัยการผลิต
17.กลุ่มข้อมูลด้านแผนที่และข้อมูลเชิงแผนที่
สำหรับแผนการขับเคลื่อน Big Data หลังจากนี้ สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ได้วาง Road map 3 ระยะ คือ
ระยะ 1 Short Term (พ.ศ. 2566 2567)
มีฐานข้อมูลกลางในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น Internal Data, External Data, Partner Data, Customer Data ซึ่งข้อมูลทั้งหมดต้องมีความถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน โดยบุคลากรของหน่วยงาน จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ หรือตัดสินใจกันบนข้อมูลที่มีประโยชน์ สามารถแบ่งปันผลลัพธ์ที่ได้และปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น
ระยะ 2 Medium Term (พ.ศ. 2568 -2569)
จัดทำการให้บริการในการเข้าถึงข้อมูลแบบเปิด (Open Access) เพื่อให้เกษตรเข้าถึง ค้นหา แจกจ่ายข้อมูลต่อได้แบบเรียลไทม์ มีการจัดทำการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) การเกษตร
"ปฏิรูปภาคเกษตรไทย" สู่ดิจิทัล เปิดตัวฐานข้อมูลเกษตรแบบ Open Data
ระยะ 3 Long Term (พ.ศ. 2570)
เปิดให้บริการข้อมูลในรูปแบบ Personalization Driven ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับรายบุคคล รวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลนั้น ๆ มีการนำเสนอข้อมูล/บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในลักษณะ proactive ในทิศทางของ Hyper Automation
ทั้งนี้ การสัมมนาโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร จัดโดย ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC)
ซึ่งภายในงานมีการบรรยาย หัวข้อ การใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลการเกษตร โดย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การบรรยายเกี่ยวกับ Update Technology หัวข้อ แนวทางและนโยบายด้านการใช้ประโยชน์ของข้อมูลในระดับประเทศที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) รับผิดชอบ
โดย ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการเสวนา หัวข้อ การเรียนรู้สมัยใหม่ Immersive Media & Trends โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ปรึกษา (Advisor) สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ ดร.สุทธิศักดิ์ อินทวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงบูธนิทรรศการ นำเสนอผลการดำเนินงานทั้ง 5 ระบบของโครงการฯ อาทิ การจัดแสดงระบบ Big Data เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เชิงพื้นที่ของประเทศไทยในภาพรวมและรายพืชไร่ 10 ชนิด ระบบบันทึกและนำเข้าข้อมูลปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหาร ระบบ Web Application และ Mobile Application
ที่ประกอบด้วย ฟังก์ชั่นการวาดแปลงและระบุพื้นที่ทำการเกษตรเป็นจุดพิกัดแผนที่ ฟังก์ชั่นการให้คำแนะนำสนับสนุนการตัดสินใจเลือกกิจกรรมทางเกษตรของยางพารา ข้าว ปลานิล และโคขุน รวมไปถึงบูธแสดงองค์ความรู้ด้านการทำเกษตร ที่จัดทำในรูปแบบ Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR)
ผนวกกับการสาธิตการใช้งานสื่อในรูปแบบ Mixed Reality ด้วยอุปกรณ์ HoloLens ในองค์ความรู้ต่าง เช่น GAP ระบบเกษตรอัจฉริยะ : การแปลงเพศปลานิลและโรงเรือนอัจฉริยะ การทำสวนทุเรียนด้วย Smart Sensor และ IoT และแปลงนาสาธิต เป็นต้น
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 31 ส.ค.2565
เงินบาทวันนี้เปิดตลาด อ่อนค่าที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้างและยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้น
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้างและยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ไกล
(อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 36.75 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกอาจรอขายเงินดอลลาร์ในโซนแนวต้านดังกล่าว อีกทั้ง ภาวะปิดรับความเสี่ยงในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ก็ไม่ได้กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยรุนแรง กลับกัน เรายังคงเห็นการทยอยซื้อสุทธิหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวอยู่
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในวันนี้ เนื่องจากมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญหลายอย่าง เริ่มจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาดไปมาก ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia
หรือกดดันให้สกุลเงินฝั่ง EM Asia อ่อนค่า ตามเงินหยวนของจีนได้ ส่วนในช่วงตลาดรับรู้เงินเฟ้อของยูโรโซน เงินบาทก็อาจผันผวนตามเงินดอลลาร์ ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากเงินยูโรได้ หากผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นใจแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ECB
อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.55 บาท/ดอลลาร์
รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) รวมถึงยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ต่างออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
ทำให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ กังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยและยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย/บอนด์ยีลด์ อย่าง หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla -2.5%, Apple -1.5%)
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil -3.8%, Chevron -2.4%) หลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลงหนักจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลง หากบรรดาธนาคารกลางต่างเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ
รวมถึงความกังวลแนวโน้มการกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันจากฝั่งอิหร่านและเวเนซุเอลา ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.12% ส่วนดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาด -1.10%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -0.67% ท่ามกลางแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies -3.6%)
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML -2.6%) หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเศรษฐกิจหลักในยุโรป อาทิ เยอรมนีและสเปนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.75% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 108.75 จุด หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ถูกชะลอลงด้วยการกลับมาแข็งค่าขึ้นเหนือระดับ 1.00 ดอลลาร์ ของเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
ทั้งนี้ แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจเป็นโซนแนวรับที่ผู้เล่นบางส่วนจะเริ่มกลับมาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Official Manufacturing & Non-Manufacturing PMIs) ในเดือนสิงหาคม โดยตลาดประเมินว่า สารพัดปัญหาที่รุมเร้าการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน
อาทิ ปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ วิกฤติภัยแล้ง รวมถึงการระบาดของ COVID-19 จะกดดันให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนอาจหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 48.6 จุด ส่วนภาคการบริการก็อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง หลังการระบาดของ COVID-19 นั้นเกิดขึ้นในหลายเมืองท่องเที่ยว โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 52.6 จุด
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซนอาจพุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 9.0% ในเดือนสิงหาคม และอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนได้
และในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งมักเคลื่อนไหวสอดคล้องกับ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ โดยหากยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2 แสนรายไปมาก อาจยิ่งทำให้ตลาดมั่นใจการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ตามภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง
นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าแตะ 36.585 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 36.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.30 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทยังมีแรงกดดันด้านอ่อนค่า
สวนทาง sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจ ทั้ง ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 36.40-36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค. ของไทย ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนส.ค. ของสหรัฐฯ
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 31 ส.ค.2565
อ้อยโรงงานพันธุ์ใหม่ ผลผลิตน้ำตาลสูง
กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวอ้อยโรงงานพันธุ์ใหม่ กวก. นครสวรรค์ 1 ให้ความหวาน ผลผลิตน้ำตาลสูง สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร ทรงกอตั้งตรง เก็บเกี่ยวได้ง่ายทั้งแรงงานคนและเครื่องจักรกล ชูเป็นพันธุ์ทางเลือกใหม่ สร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ปรับปรุงพันธุ์อ้อยเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตและความหวานสูง เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกในดินร่วน ร่วนเหนียว และดินเหนียวเขตน้ำฝน เพื่อเป็นทางเลือกด้านพันธุ์ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้อยพันธุ์ใหม่ล่าสุดดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2553-2565 รวมระยะเวลา 12 ปี จนได้อ้อยพันธุ์ กวก. นครสวรรค์ 1 ซึ่งเป็นอ้อยโรงงานที่มีความหวานและผลผลิตน้ำตาลสูง ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง พันธุ์แม่ Q76 และพันธุ์พ่อ CP63-588
ลักษณะเด่นของอ้อยพันธุ์ กวก. นครสวรรค์ 1 คือ มีความหวานสูงถึง 15.77 ซีซีเอส สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 และพันธุ์ขอนแก่น 3 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.82 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 และให้ผลผลิตอ้อย 18.02 ตัน/ไร่ มีทรงกอที่ตั้งตรงทำให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนหรือใช้เครื่องจักร ดังนั้น อ้อยพันธุ์นี้จึงเป็นทางเลือกด้านพันธุ์ให้กับชาวไร่อ้อยอีกพันธุ์หนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกอ้อยที่เป็นดินร่วน ร่วนเหนียว และดินเหนียวเขตน้ำฝน ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครราชสีมา
ทั้งนี้ อ้อยเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนับเป็นสินค้าภาคเกษตรที่มีมูลค่าโดยรวมกว่า 2 แสนล้านบาท และผลผลิตน้ำตาลมากกว่า 2 ใน 3 ส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายล้านบาท ที่สำคัญอ้อยเป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน นอกจากการแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายแล้ว ยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายชนิด รวมทั้งนำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการยกระดับผลผลิตและปริมาณอ้อยเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดคือ พันธุ์อ้อย ดังนั้น การเลือกใช้พันธุ์อ้อยได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่นอกจากจะยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังสามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบต่อไปได้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การปรับปรุงพันธุ์อ้อยเป็นกระบวนการต้นน้ำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ใช้ระยะเวลานาน 10-12 ปี ถึงจะได้อ้อยพันธุ์ดี ซึ่งพันธุ์อ้อยที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 3 และ LK92-110 เป็นพันธุ์ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้พบการระบาดของโรคมากขึ้น โดยการใช้พันธุ์อ้อยพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งในสัดส่วนที่มากเกินไป หรือเรียกว่าใช้พันธุ์เชิงเดี่ยว จะก่อให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากศัตรูพืชมีการปรับตัวจนสามารถเข้าทำลายอ้อยพันธุ์นั้นได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้พันธุ์อ้อยที่เคยให้ผลผลิตสูงมีผลผลิตลดลง
สำหรับเกษตรกรที่สนใจอ้อยพันธุ์ กวก. นครสวรรค์ 1 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โทรศัพท์ 0 5624 1019
จาก https://tna.mcot.net วันที่ 30 ส.ค.2565
กรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ ยกระดับภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน
กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าพัฒนาบุคลากรคุณภาพ ยกระดับความรู้ความสามารถ ขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตร โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำบันทึกความเข้าใจพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตรขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันทั้งทางด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร พร้อมทั้งการขยายผลโครงการวิจัยทางด้านการเกษตรที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร
จาก https://tna.mcot.net/agriculture วันที่ 30 ส.ค.2565
สอน. จับมือ สยามคูโบต้า ยกระดับไร่อ้อยสู่สมาร์ทฟาร์มมิง นำร่องพื้นที่ 33 ไร่
สอน. เอ็มโอยู สยามคูโบต้า พัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตอ้อยและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร นำร่องแปลงสาธิต 33 ไร่ ก่อนขยายผลทั่วประเทศ หวังยกระดับกระบวนการผลิตอ้อยแบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตอ้อยและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการบริหารจัดการไร่อ้อย เพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยมุ่งสู่สมาร์ทฟาร์มมิง
โดย สอน. ได้ร่วมมือกับสยามคูโบต้าในการจัดทำแปลงสาธิตการผลิตอ้อย ภายใต้การนำของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ภาค ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อย 33 ไร่ ดังนี้ เขตพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 8 ไร่ เขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 10 ไร่ เขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร จำนวน 6 ไร่ เขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 5 ไร่ เขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 ไร่ และเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จำนวน 4 ไร่
โดยจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นต้นแบบในการทำสมาร์ทฟาร์มมิง ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่ปลูกอ้อยอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งทาง สอน. หวังยกระดับกระบวนการผลิตอ้อยแบบครบวงจรและพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็งด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในปี 2562สยามคูโบต้าและสอน. ได้เคยลงนามความร่วมมือเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้กระบวนการปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีปลอดการเผา (Zero Burn) ตลอดจนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบครบวงจร
โดยสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ สยามคูโบต้าพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการผลิตอ้อยและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ในการดำเนินงาน วิจัย พัฒนา รวมทั้งการสาธิตเพื่อการผลิตอ้อย ตลอดจนสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรในด้านวิชาการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร
ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนศักยภาพของเกษตรกร และภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ผิดหวัง กรมวิชาการเกษตร ไฟเขียวนำเข้า ไกลโฟเซต แค่ 1.1 หมื่นตัน
กมธ.เกษตรฯ ไล่บี้ กรมวิชาการเกษตร เปิดโควตา ไกลโฟเซต ปี 2565 ให้นำเข้า 2.4 หมื่นตัน กังขา นำเข้าแค่ 1.1 หมื่นตัน กังขา หายไป 1.3 หมื่นตัน เครือข่ายแม่กลองฯ ชี้เกษตรกรเผชิญสารเคมีราคาพุ่ง ขาดแคลน ซ้ำเติมทุกข์เกษตรกร
นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่าเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ทางผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ได้มาชี้แจงโดยมี พล.อ.ดนัย มีชูเวท รองประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ปฎิบัติหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เป็นประธานในการพิจารณาในประเด็นเรื่อง ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกรณีขาดแคลนสารไกโฟเชตใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจากการที่ก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดโควตานำเข้าไกลโฟเซต ที่ 24,000 ตัน แต่ปรากฏว่าผู้ที่มาชี้แจง ได้อนุญาตให้นำเข้า 11,000 ตัน แล้วอีก 1.3 หมื่นตันหายไปไหน
ขัดคำสั่งของกมธ.ที่ให้นำเข้าตามพื้นที่ความเป็นจริงหรือไม่ ส่วนที่เหลือก็ไม่ออกใบอนุญาตเลย ส่งผลทำให้เกษตรกรต้องใช้ของแพง และทางกมธ.จะใช้อำนาจของนิติบัญญัติในการแก้ประกาศกระทรวงที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรด้วย
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565
วช.หนุนนวัตกรรมกากน้ำตาล สู่อุตสาหกรรมเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ได้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์โดยฝีมือคนไทย นำวัตถุดิบจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป ต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทยเพื่อการผลิตบิวทิลแลคเตทและกรดแลคติกระดับโรงงานต้นแบบ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมี รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้รับการสนับสนุนจาก วช. เป็นงานวิจัยที่ได้พัฒนากระบวนการหมักกรดแลคติกจากกากน้ำตาลอ้อยในถังปฏิกรณ์ชีวภาพ 500 ลิตรและทำบริสุทธิ์ด้วยปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชั่นควบคู่กับการกลั่นหรือที่เรียกว่าการกลั่นแบบมีปฏิกิริยาที่มีการใช้บิวทานอลและตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์ชนิดแอมเบอร์ลิสต์-15 พบว่าสามารถเพิ่มค่าผลผลิตของบิวทิลแลคเตทได้มากกว่าร้อยละ 99 ส่วนการสังเคราะห์บิวทิลแลคเตทแบบต่อเนื่องด้วยระบบการกลั่นแบบมีปฏิกิริยาในระดับโรงงานต้นแบบนั้น สภาวะที่เหมาะสมคือสัดส่วนโดยโมลของกรดแลคติกต่อบิวทานอลที่ 1:3 ทำให้ได้บิวทิลแลคเตทตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ผลงานวิจัยยังสามารถคัดแยกเชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสร้างกรดแลคติกขึ้นมาโดยให้ผลผลิตที่สูงจากการใช้วัตถุดิบกากน้ำตาล โดยพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งการแยกและการทำบริสุทธิ์ทำผลิตภัณฑ์ในระบบ แต่เนื่องจากกรดแลคติกที่ได้จากกระบวนการหมักจะมีสิ่งเจือปนหลายชนิด จากการศึกษาพบว่าเทคโนโลยีเมมเบรนและเทคนิคการกลั่นระยะทางสั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดี จึงมีการพัฒนาประสิทธิภาพการทำบริสุทธิ์กรดแลคติก เพื่อให้สามารถสร้างผลผลิตที่เป็นกรดแลคติกที่เป็นกรดอินทรีย์ที่มีประโยชน์ ทำให้สามารถที่จะพัฒนาสู่การผลิตนำร่องหรือ pilot plantscale ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ อุปกรณ์และเครื่องมือภายในประเทศ ที่มีการศึกษาวิจัยให้เกิดองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดให้เกิดการใช้งานจริงในโรงงานอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำกรดแลคติกที่ผลิตได้นำไปทำปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชั่น (Esterification) กับบิวทานอล ทำให้เกิดเป็นบิวทิลแลคเตท ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดโลก อีกทั้งยังมีการพัฒนาปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชั่นในการกลั่นด้วยตัวเร่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำปฏิกิริยาที่ดีภายใต้สภาวะความดันบรรยากาศและอุณหภูมิไม่สูงมาก ได้ผลสูงเทียบเท่ากับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันและสามารถขยายองค์ความรู้ไปสู่กระบวนการผลิตขนาดใหญ่ในอนาคต
จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565
อัพเดท "เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย" จ่อชง ครม.สัปดาห์หน้า
เฟซบุ๊ก โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย แจ้งข่าวดี เปิดไทม์ไลน์ เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 120 บาท/ตัน เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ปีการผลิต 2564/65 กระทรวงอุตสาหกรรมจ่อชง ครม.สัปดาห์หน้า ตรงกับวันที่ 30 ส.ค.นี้ จากนั้น 3-4 สัปดาห์ เงินเข้าบัญชี ผ่าน ธ.ก.ส.
เฟซบุ๊ก โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย โพสต์แจ้งข่าวดี ความคืบหน้าเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ปีการผลิต 2564/65 คาดการณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอเพื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 หลังจากที่ ครม. เห็นชอบแล้ว ยังมีขั้นตอนด้านงบประมาณและการโอนเงินของ ธกส. รวมประมาณ 3 ถึง 4 สัปดาห์ เงินจะเข้าบัญชี ธกส.ของพี่น้องชาวไร่อ้อย
หมายเหตุ :
ข้อมูลนี้ เป็นลำดับงานและกรอบเวลาทำงานเบื้องต้น รายละเอียดอย่างเป็นทางการทาง สอน.จะมีการแจ้งความคืบหน้าอีกครั้ง
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565
สทนช. สั่งเร่งทบทวนแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ให้รับกับการเปลี่ยนแปลงโลก
เลขาธิการ สทนช. สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทบทวนแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน รองรับการเปลี่ยนแปลงโลก สร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานมอบนโยบายในพิธีเปิดการประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ โครงการศึกษาปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พร้อมทั้งนำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการฯ และสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยมีน้ำสะอาดใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการร่วมกับ 9 กระทรวง 40 หน่วยงาน ภายใต้ กนช. คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และได้มีการติดตามประเมินผลให้สามารถกำหนดทิศทางการดำเนินการระยะต่อไปได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
ผลการประเมินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน 6. การบริหารจัดการ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ
ปัจจุบันความก้าวหน้าการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 36.2 ซึ่งพบว่ามีบางกลยุทธ์หรือแผนงานที่ยังไม่ได้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมหรือยังไม่มีการขับเคลื่อน บางกลยุทธ์ต้องปรับปรุงแผนงาน ประกอบกับมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานคืนถิ่นนำไปสู่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ อีกทั้งภาวะสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหารโลกนำไปสู่ความต้องการพืชอาหารบางประเภทและการใช้น้ำที่มากขึ้นในบางพื้นที่ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ มีผลต่อเป้าหมายในแผนแม่บทฯน้ำเดิม จึงต้องปรับปรุงแผนใหม่ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก
ทั้งนี้เพื่อให้มีการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่ของทั้ง 22 ลุ่มน้ำ สทนช. จึงร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำยกร่างการปรับปรุงแผนแม่บทน้ำในระยะถัดไปปี 2566-2580 เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำและภาคประชาชนให้ครอบคลุมรอบด้าน โดยแบ่งการจัดประชุมเป็นกลุ่มย่อยรวม 7 พื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคเหนือ โดยกระบวนการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทฯน้ำครั้งนี้จะเน้นกระบวนการ Co-Design และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การปรับแผนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่แผนปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านน้ำในภาพรวมของประเทศและการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำที่สะท้อนปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจากการอุปโภค-บริโภคน้ำสะอาด มีน้ำใช้สร้างรายได้ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร ปีที่ 20 สอดรับเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยถึงความสำเร็จของโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรที่ได้ดำเนินการมาจนเข้าสู่ปีที่ 20 ว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามกลยุทธ์และเป้าหมายความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ด้วยการนำหลักการ 3Rs มาบริหารจัดการน้ำ ตลอดห่วงโซ่การผลิต ลดปริมาณการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ (Reduce) นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยมีเป้าหมายไม่ปล่อยน้ำทิ้งออกภายนอกฟาร์ม (Zero Discharge)
ที่ผ่านมาบริษัทมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้น้ำ เพื่อลดการใช้น้ำจากธรรมชาติให้มากที่สุด ขณะเดียวกันมีการนำน้ำที่ผ่านระบบไบโอแก๊ส ที่บำบัดให้เป็นน้ำมีคุณภาพและผ่านการฆ่าเชื้อมาใช้ล้างคอกสุกร ล้างพื้นถนน และลานจอดรถ ช่วยลดการใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ควบคู่กับการนำน้ำที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นพืช ที่เรียกกันว่าน้ำปุ๋ยมาใช้ ประโยชน์ รดต้นไม้ สนามหญ้า ผักและปลอดภัยจากสารพิษ
จนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่รอบฟาร์ม เห็นความสำเร็จจากการใช้น้ำปุ๋ยของบริษัท ได้ประสานผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ขอรับน้ำไปใช้รดพืชผลทั้งในช่วงฤดูแล้งและช่วงปกติตลอดทั้งปี จึงช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มผลผลิตแก่เกษตรกรได้ ทั้งสวนผลไม้ นาข้าว ต้นสัก ยางพารา ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง หญ้าเลี้ยงสัตว์ สวนไผ่ มะนาว กล้วย พืชผักสวนครัว เราภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งให้กับเกษตรกร และยังช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและลดต้นทุนให้เกษตรกร
นายสมพร เผยอีกว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีเกษตรกรในชุมชน 63 ราย ขอรับน้ำจากการบำบัดจากฟาร์มสุกรไปใช้แทนปุ๋ยเคมีถึง 544,208 ลบ.ม. สำหรับพื้นที่เพาะปลูก 1,601 ไร่ ช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีแก่เกษตรกรได้ถึง 1,814,200 บาท ที่สำคัญเกษตรกรที่รับน้ำมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ยังคงขอรับน้ำมาตลอด สะท้อนความสำเร็จในการใช้น้ำปุ๋ย ถือเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สอดคล้องกับมาตรการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันการสูญเสีย และลดการใช้อย่างเป็นรูปธรรม.
จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 25 สิงหาคม 2565
เฉลิมชัยเร่งแก้ปัญหา ปุ๋ยแพงและขาดแคลน งัดมาตรการใช้3ระยะ ลดการนำเข้าจากตปท.
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพง ปุ๋ยขาดแคลน ตามแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565-2569 เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้มากขึ้น ส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีช่วยเกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ อย่างเพียงพอทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แถลงว่า สถานการณ์ที่เกษตรกรกำลังเผชิญกับราคาปุ๋ยแพง ปุ๋ยขาดแคลน และขาดเสถียรภาพ เกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งปุ๋ยในตลาดโลกที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ชะลอการส่งออกรัสเซียประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยเคมี ตลอดจนราคาน้ำมัน แก๊ส ค่าระวางเรือสูงขึ้นส่งผลให้ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น ปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศร้อยละ 98 รวมปีละกว่า 5.1 ล้านตัน หรือ 40,000-50,000 ล้านบาท เรื่องดังกล่าว รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพง และไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565-2569 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต-นำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยมีคุณภาพ เพียงพอและทั่วถึง ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 ส.ค. 2565
จับตาทางเลือกใหม่ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงงานแห่งอนาคต
จับตาทางเลือกใหม่ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงงานแห่งอนาคต หลังจีน-สิงคโปร์เริ่มผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเวียน และเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานรองรับการบริโภคในอนาคต ชี้ไทยควรเร่งการส่งเสริมการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจฐานของประเทศ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากข้อตกลง Glasgow Climate Pact ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือน พ.ย. 64 ประเทศภาคีบรรลุข้อตกลงในการเร่งดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงการประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของผู้นำหลายประเทศทั่วโลก
โดยไทยตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 80% ภายในปี 2593 และกำหนดเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 ทั้งนี้ ในปี 2565 (ม.ค. -พ.ค) ไทยปล่อยก๊าซ CO2 ปริมาณเท่ากับ 110.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 รายสาขา ดังนี้ ภาคการผลิตไฟฟ้า 32% ภาคอุตสาหกรรม 32% ภาคขนส่ง 30% และอื่นๆ 6%
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นประเด็นสำคัญและเป็นความหวังของการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด (Clean Energy) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล จึงเป็นหนึ่งในแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยรัฐบาลหลายประเทศได้ออกมาตรการเพื่อผลักดันในเรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกาที่บังคับใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงหมุนเวียน (Renewable Fuel Standard: RFS)
สหภาพยุโรป มีการกำหนดคุณภาพเชื้อเพลิงของสหภาพยุโรป (Fuel Quality Directive: FQD) รวมทั้งกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดระดับก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งทางถนน และตั้งเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นในปี 2573 และ 2593 ขณะเดียวกันอินเดียมีนโยบายเพิ่มอัตราการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซิน และอินโดนีเซียมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคเอทานอลรายใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล ในขณะที่จีนปริมาณความความต้องการเอทานอลสูงกว่ากำลังการผลิตที่ผลิตได้ในประเทศจึงยังต้องพึ่งพาการนำเข้า สำหรับ ไบโอดีเซล ผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ ได้แก่ ยุโรป อินโดนีเซีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา โดยความต้องการ ไบโอดีเซลของยุโรปสูงกว่ากำลังการผลิตในภูมิภาค ในส่วนของน้ำมันดีเซลหมุนเวียน ผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและยุโรป เช่นเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน และที่น่าจับตามองคือจีนและสิงคโปร์ที่เริ่มมีการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเวียน และน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานเพื่อรองรับการบริโภคในอนาคต ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการใช้ในประเทศ
โดยการผลิตและความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพ ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2564 ปริมาณการใช้ เอทานอล (Ethanol) เท่ากับ 102,054 เมตริกตัน ไบโอดีเซล (Biodiesel) เท่ากับ 44,578 เมตริกตัน น้ำมันดีเซลหมุนเวียน (Renewable diesel) เท่ากับ 10,113 เมตริกตัน และน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (Biojet) เท่ากับ 142 เมตริกตัน และคาดการณ์ว่าในปี 2568 ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 110,236 เมตริกตัน 51,090 เมตริกตัน 21,038 เมตริกตัน และ 1.418 เมตริกตัน ตามลำดับ
ซึ่งไทยมีสัดส่วนการผลิตไบโอดีเซลมากกว่าเอทานอล โดยประมาณการว่าปี 2565 ไทยจะผลิต ไบโอดีเซลได้ 2,122 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่สามารถผลิตได้ 1,967 ล้านลิตร และคาดว่าจะผลิตเอทานอล ได้ 1,636 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่สามารถผลิตได้ 1,523 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเวียนและน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานไทยยังไม่มีการผลิต
และไทยส่งออกไบโอดีเซล มูลค่า 3,594.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 80.5% (YoY) และส่งออกมีมูลค่าเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในส่วนของเอทานอลไทยส่งออกมูลค่า 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 25.8% (YoY) โดยส่งออกมากเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจาก อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์
ดังนั้น นอกจากจะช่วยลดภาวะเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร และสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 ส.ค. 2565
กรมวิชาการเกษตร ยกระดับรับรองระบบการทำเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก
ก้าวรับเทรนด์โลก กรมวิชาการเกษตร ภายใต้การนำของ "มนัญญา-ระพีภัทร์" เล็งยกระดับเป็นหน่วยงานรับรองระบบการทำเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก ตัวช่วยเอกชนก้าวข้ามการกีดกันทางการค้าโลก
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมได้เตรียมยกระดับองค์กรให้เป็นหน่วยงานมีอำนาจรับรองระบบการทำการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก (Certification Body) สำหรับตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตในแปลงปลูกพืชของกรมวิชาการเกษตรและแปลงเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่การทำเกษตรคาร์บอนต่ำ
สอดคล้องกับแนวนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ให้ไว้ในการเป็นประธานเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เอเปค(APEC High-Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology:HLPDAB) โดยกรมวิชาการเกษตร(กวก.)เป็นเจ้าภาพ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงของมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคตจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจากภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดน
สำหรับสินค้านำเข้า(Carbon Border Adjusment Mechanism , CBAM )รวมถึงรองรับตลาดคาร์บอนเครดิต ตลาดสีเขียว และเงื่อนไขในมาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียวในอนาคตซึ่งจะเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน อันสอดคล้องกับนโยบาย BCG :Economy Models ของรัฐบาลและนโยบายประเทศซึ่งในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) ไทยได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
ทั้งนี้กรมได้เตรียมทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน)ซึ่งเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต เพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของกวก. ในการดำเนินกิจการดังกล่าวเช่นการประเมินการปล่อยก๊าซ และนำไปสู่การปรับระบบการเกษตรกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล
นอกจากนั้นเพื่อเป็นต้นแบบคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตให้เกษตรกร ทางกวก.ได้มีการศึกษาศักยภาพกักเก็บก๊าซ CO2 ของพืชนำร่อง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน 2,000 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 144,000 ตัน/ปี ยางพารา 4,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 103,500 ตัน/ปี ไม้ผลและไม้ยืนต้น 12,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 2,500 ตัน/ปี
โดยในส่วนของกรมวิชาการเกษตรมีพื้นที่สวน พื้นที่ป่า และพื้นที่ปลูกพืชวิจัยมากกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศทั้งพืชไร่ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชสวน อาทิเช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว มะม่วง เป็นต้นจะนำเข้าโครงการดังกล่าวทั้งหมด นอกจากนั้นจะเร่งสร้างโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ
อย่างไรก็ตามเมื่อ 19 ก.ค. 65 ที่ผ่านมากวก.ได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย(Thailand Carbon Neutral Netrork,TCNN) ร่วมกับ Climate Neutral Now ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC ) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจก
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 ส.ค. 2565
เกษตรฯ เฮ งบประมาณ ปี 2566 ผ่านวาระ 2-3 ได้รับจัดสรร 1.2 แสนล้านบาท
สศก.แจ้งข่าวดี เสร็จสิ้นสภาฯ ถก ร่าง พรบ. งบประมาณ ปี 66 วาระ 2-3 เกษตรฯ รับจัดสรรงบ 129,743 ล้านบาท จับตา วันที่ 29 - 30 ส.ค. วุฒิสภาจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อีกครั้ง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วาระ 2-3 ระหว่างวันที่ 17-23 สิงหาคม 2565 สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2566 จำนวน 129,743.9629 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 18,841.3948 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17) ซึ่งสามารถจำแนกประเภทงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้องตามภารกิจรวม 4 ด้าน ดังนี้
1. ด้านความมั่นคง จำนวน 276.7521 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณดำเนินการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 46,159.0122 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจริยะและส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เพื่อเสริมสร้างให้การพัฒนาภาคเกษตรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
3. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 2,569.4572 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส 4. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 80,738.7414 ล้านบาท ดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ชลประทานเดิม การป้องกันระดับน้ำเค็มการปฏิบัติการฝนหลวง จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการลดการเผาในพื้นที่เกษตร
การดำเนินงานตามภารกิจในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับโครงการที่สนับสนุนแผนแม่บทประเด็นการเกษตร โดยมีโครงการสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ และมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบูรณาการ รวม 18 โครงการ งบประมาณ 2,551.0300 ล้านบาท
อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลง เกษตรอัจฉริยะ โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร รวมไปถึงโครงการที่สนับสนุนแผนแม่บทอื่นๆ งบประมาณ 71,730.1425 ล้านบาท
อาทิ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนงานตามภารกิจพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น จำนวน 3,463.7273 ล้านบาท อาทิ การป้องกันโรคระบาดสัตว์ การจัดที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อย การพัฒนาพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ การส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร และการจัดทำข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทางการเกษตร
ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเป็นเจ้าภาพหลักแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้สูงขึ้น โดยได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2566 จำนวน 1,444.3502 ล้านบาท มีหน่วยงานร่วมดำเนินการ7 กระทรวง 21 หน่วยงาน 1 หน่วยงานอื่นของรัฐ และ 1 รัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะดำเนินงาน 14 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น จำนวน 342.1202 บาท
โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน จำนวน 301.4931 บาท โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส จำนวน 147.9090 ล้านบาท โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 229.8054 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer ) จำนวน 107.4822 ล้านบาท
ทั้งนี้ วุฒิสภาจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อีกครั้ง ในวันที่ 29 - 30 สิงหาคม 2565 ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายในเดือนกันยายน 2565 โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรมีทักษะมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และปรับตัวให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ปรับปรุง ฟื้นฟูอย่างยั่งยืน
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 ส.ค. 2565
ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด "แข็งค่า"ที่ระดับ 36.08 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทวันนี้ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง แม้ยังพอมีแรงหนุนจากการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำบ้าง แต่ปัจจัยการเมืองของไทยก็อาจทำให้ ตลาดการเงินผันผวนได้ในระยะสั้น
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.13 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง แม้ว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำบ้าง แต่ปัจจัยการเมืองของไทยก็อาจทำให้ ตลาดการเงินผันผวนได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจขายทำกำไรหุ้นไทยออกมาบ้าง เพื่อลดความเสี่ยงลง
นอกจากนี้ ในฝั่งของผู้ประกอบการก็อาจอยู่ในภาวะ wait and see เพื่อรอจังหวะในการทำธุรกรรม อาทิ ฝั่งผู้นำเข้าก็อาจรอจังหวะให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นหลุดต่ำกว่าระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกอาจไม่เร่งรีบเข้ามาทำธุรกรรม เพราะส่วนใหญ่ได้ปิดความเสี่ยงไปพอสมควรแล้ว ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจมีกรอบที่กว้างได้
อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.25 บาท/ดอลลาร์
รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด โดยเฉพาะ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 51.3 จุด และ 44.1 จุด (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ตามลำดับ ซึ่งแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และยังสะท้อนภาวะการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เป็นอีกปัจจัย นอกเหนือจากความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินให้อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.22%
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Exxon Mobil +4.2%, Chevron +3.2% หลังราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวขึ้นจากความคาดหวังว่ากลุ่ม OPEC+ อาจปรับลดกำลังการผลิตลงได้ เพื่อคุมปริมาณน้ำมันในตลาด หากอิหร่านกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันได้
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.42% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งสะท้อนจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 49.7 จุด และ 50.2 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ ความกังวลวิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้น หากรัสเซียยุติการส่งแก๊สธรรมชาติให้กับยุโรป ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นยุโรป ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ นำโดย TotalEnergies +3.2%, Equinor +2.8%
ทางด้านตลาดบอนด์ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากขึ้น ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดกลับมาเผชิญความไม่แน่นอนของ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.06% ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากวันก่อนหน้า ทั้งนี้ เรามองว่า หากตลาดเริ่มมั่นใจในแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเพิ่มสถานะการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งจะทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 108.5 จุด หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจยังคงแกว่งตัว sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุม Jackson Hole ทั้งนี้ การย่อตัวลดลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังปรับตัวขึ้นต่อชัดเจนได้ยาก เนื่องจากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดฝั่งไทย จะรอจับประเด็นการเมืองของไทย เกี่ยวกับการพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนได้บ้างในระยะสั้น ส่วนในฝั่งข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะบรรดาเศรษฐกิจหลักที่ทยอยสะท้อนผ่านดัชนี PMI ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอาจกดดันให้ยอดการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคมโตราว +10%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 ส.ค. 2565
อาเซียน-สหรัฐฯ ดันแผนร่วมมือเศรษฐกิจ พร้อมนัดแคนาดาถก FTA รอบแรก
อาเซียน-สหรัฐฯ หารือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ปี 65-66 เน้นช่วย SMEs ฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 เร่งเตรียมการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา รอบแรกปลายเดือน ส.ค. นี้ ดันแผนความร่วมมือการค้าการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้หารือติดตามการดำเนินการตามแผนงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และแผนงานความร่วมมือฯ ฉบับปี 2565-2566 ว่าอาเซียนและสหรัฐฯ ได้ติดตามความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ภายใต้แผนงานความร่วมมือกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน สหรัฐฯ (2564-2565) ซึ่งที่ผ่านมา
สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกอาเซียนในด้านต่างๆ ซึ่งมีกิจกรรมความร่วมมือที่น่าสนใจ อาทิ การสร้างความพร้อมให้กับของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย ในการประกอบธุรกิจออนไลน์ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการอำนวยความสะดวกทางการค้า
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแผนงานความร่วมมือฉบับต่อไป (2565-2566) โดยจะมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ อาทิ การยกระดับ ASEAN SME Academy เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย จากการระบาดของโควิด-19
การสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวระหว่างอาเซียน และแนวทางเชื่อมโยงของอาเซียนไปยังสหรัฐฯ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในอาเซียน และมาตรฐานด้านสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อมในความตกลงการค้าเสรี ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยขยายโอกาสและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาคในระยะยาว
สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน แคนาดา ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา (ACAFTA) รอบแรก ที่จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. นี้ โดยมอบหมายให้คณะทำงานเจรจากลุ่มต่างๆ ที่เริ่มเจรจาไปก่อนหน้านี้ รายงานผลต่อที่ประชุมหัวหน้าคณะกรรมการเจรจา อาเซียน-แคนาดา ในรอบนี้ด้วย รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนอาเซียน-แคนาดา ปี 2564-2568 ซึ่งแคนาดาพร้อมสนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการเจรจาให้อาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาเซียนให้เติบโตอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19
ทั้งนี้ แคนาดายังได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือทางเทคนิค เพื่อช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวนโยบายของประเทศสมาชิก อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เศรษฐกิจดิจิทัล การค้าบริการ MSMEs และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดทำเอฟทีเอ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ เช่น แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 ส.ค. 2565
อลงกรณ์ ขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0
อลงกรณ์ ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม AIC รับฟังความก้าวหน้าในนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกร
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ครั้งที่ 4/2565 และการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ครั้งที่ 4/2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ Zoom Meeting
โดยที่ประชุมได้ติดตามผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ GovTech คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมรับทราบผลการจัดพิธีมอบรางวัล AIC Award 2022 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาด้วย
จากนั้นที่ประชุมได้รับฟังผลการบริหารการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC จังหวัดตรัง นำเสนอโดยศูนย์ AIC จังหวัดตรัง มีวิสัยทัศน์ จังหวัดตรังผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ เกษตรกรมั่นคง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน เน้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตการแปรรูป การตลาดของสินค้าเกษตรของจังหวัด พร้อมส่งเสริมการนำงานวิจัย เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของจังหวัด
เช่น ตู้ฟักไข่อัจฉริยะ Smart Incubator เป็นตู้ฟักไข่ขนาด 378 ฟอง ซึ่งตู้ฟักและตู้เกิดมีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น เครื่องคั่วโอ่งอัตโนมัติ เลือกใช้โอ่งมังกรขนาด 6.5 นิ้ว สามารถคั่วกาแฟได้ ครั้งละประมาณ 1 กิโลกรัม โอ่งมังกรจะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมขึ้นของเมล็ดกาแฟ และมีลักษณะวางเป็นแนวนอนเพื่อให้ความร้อนกระจายได้ดี และการเลี้ยงหอยนางรมด้วยตะแกรงพลาสติก 3 ชั้น การเลี้ยงหอยนางรมที่มีขนาดตั้งแต่ 5 มม. ด้วยตะกร้าพลาสติกแบบแขวน 3 ชั้น สามารถรองรับลูกหอยนางรมประมาณ 450 ตัว/1 ชุด ซึ่งในพื้นที่กระชัง 9 ตร.ม. (เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการประกวด AIC Award 2022รองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม สาขานวัตกรรมเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ)
นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence: CoE) จังหวัดอุทัยธานี ยังได้รายงานผลการดำเนินการของศูนย์ CoE กระบือลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งอบรมบ่มเพาะ รวบรวมและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ภูมิปัญญาด้านการเกษตร และนวัตกรรมทางการเกษตร พร้อมเป็นศูนย์กลาง ในการให้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร
ประกอบกับ จังหวัดอุทัยธานีเป็นจังหวัดที่มีกระบือจำนวนมากและมีคุณภาพ รวมทั้งมีตลาดที่เป็นแหล่งรับซื้อขายกัน จึงเห็นว่าควรให้มีการพัฒนาโครงการ งานฟาร์มอนุรักษ์กระบือเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ การอนุรักษ์ ต่อยอดเชิงธุรกิจ และพัฒนาคุณภาพกระบืออุทัยธานี
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 ส.ค. 2565
วว. เสริมแกร่งเกษตรกรรมไทย ด้วยวิจัยพัฒนา "ปุ๋ยอินทรีย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม"
ประเทศไทยมีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม และเป็นอาชีพมั่นคงที่สามารถสร้างรายได้หลักให้แก่พี่น้องเกษตรกรมาอย่างยาวนาน เป็นหัวใจสำคัญที่สร้างผลผลิตให้กับคนในประเทศได้บริโภคเพื่อการดำรงชีพ ในการทำเกษตรกรรมนั้นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่เพาะปลูกก็คือ ปุ๋ยและความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิดจำหน่ายในท้องตลาด แต่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตจากวัสดุธรรมชาติในปริมาณน้อย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ หรือ ศนก. ซึ่งมีจุดเด่นภารกิจความเชี่ยวชาญและงานบริการเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ด้านการวิจัยและส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร พืชพื้นบ้านและพืชเศรษฐกิจใหม่ การปรับปรุงพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การเพาะเลี้ยงเห็ด เทคโนโลยีปุ๋ย จุลินทรีย์และชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตร เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การบริการวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยและพืช
วว. นำองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและพัฒนาในกรอบความเชี่ยวชาญดังกล่าวไปสู่การใช้จริงและเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในการเพาะปลูกพืชและตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย BCG โมเดล ให้กับพี่น้องเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะเทคโนโลยีปุ๋ย วว. ประสบผลสำเร็จในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้สั่งสมความเชี่ยวชาญของนักวิจัยจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลากว่า 59 ปี ก่อเกิดเป็นเทคโนโลยีปุ๋ยที่นำไปผลิตปุ๋ยชนิดต่างๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพและมาตรฐานด้านเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ....ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลติ ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ทั้งนี้ วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่มีคุณสมบัติช่วยในการเจริญเติบโตของพืช อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่พี่น้องเกษตรกร ดังนี้
ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง วว. วิจัยและพัฒนาสูตรปุ๋ยให้มีความเหมาะสมต่อความต้องการของพืชและการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้เกิดการผลิตอย่างยั่งยืน ลดการสูญเสียปุ๋ยส่วนเกินที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพบำรุงทั้งต้นไม้และบำรุงดิน ทำให้ต้นข้าว ไม้ผล เช่น ทุเรียน ขนุน ลองกอง ลำไย ส้มโอ เจริญงอกงามดี ให้ผลผลิตสูง และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน การผลิตปุ๋ยจะใช้วัตถุดิบจากมูลสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น มูลวัว มูลไก่ ที่ตากแห้งแล้ว มาทำการบดให้ละเอียด แล้วนำมาผสมกับปุ๋ยยูเรีย ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นใช้น้ำฉีดพ่นผสมให้มีความชื้นประมาณ 50-60 % (สังเกตได้จากนำมูลสัตว์ที่ผสมแล้วมาบีบด้วยมือ ถ้าปล่อยมือออกแล้วยังคงเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหรือก้อนกลมก็ได้) โดยให้ความสูงของกองไม่เกิน 1 เมตร เสร็จแล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติกหรือผ้าใบเพื่อป้องกันไม่ให้กองปุ๋ยสูญเสียความชื้น ในระหว่างการหมักกองปุ๋ยจะเกิดความร้อนสูงมาก ควรทำการกลับกองปุ๋ยครั้งแรกที่ระยะเวลา 3 วัน และกลับครั้งต่อไปทุกๆ 7 วัน (วันที่ 3, 7, 10, 17 และ 24 วัน) รวมเป็นจำนวน 4 ครั้งติดต่อกัน กองปุ๋ยหมักจะมีอุณหภูมิลดต่ำลง เมื่อปุ๋ยหมักมีสีเข้มและมีลักษณะร่วนซุย แสดงว่าการหมักปุ๋ยเสร็จสมบูรณ์แล้ว ให้นำปุ๋ยที่ได้ไปทำการอัดเม็ดด้วยเครื่องอัดเม็ด แล้วนำไปตากแดดอย่างน้อย 2-3 วัน บรรจุใส่ถุงเก็บไว้ใช้หรือจำหน่ายได้
ปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบเติมอากาศแบบลูกหมุน ใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวกับลูกหมุนที่ระบายอากาศตามหลังคาบ้าน อาคาร หรือโรงงาน ซึ่งสามารถระบายความร้อนได้ดี โดยนำหลักการนี้ใช้กับปุ๋ยหมักในซองหมักที่ทำจากบล็อกประสาน วว. พบว่า ทำให้ได้ปุ๋ยหมักเร็วกว่าวิธีการกลับกอง 20-30 วัน เป็นการพัฒนาวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้มีต้นทุนที่ต่ำและประหยัดแรงงาน เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้ของเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก
ปุ๋ยอินทรีย์เคมีสั่งตัด /โปรแกรมการคำนวณการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีสำหรับพืชเศรษฐกิจ เป็นการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อวางแผนจัดการดินและปุ๋ย ลดต้นทุนการผลิตพืช และสนับสนุนการวางแผนการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อการปลูกข้าว
ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว เป็นปุ๋ยควบคุมการละลายที่ประกอบด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงความเสื่อมโทรมของดิน และปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของข้าว ซึ่งปุ๋ยจะค่อยๆปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา ช่วยให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าฯ ประกอบด้วย การทำปุ๋ยหมักจากวัตถุดิบคือมูลสัตว์ ตัวอย่างเช่น การนำมูลวัวที่ใหม่และแห้ง ปริมาณ 950 1,050 กิโลกรัม มากองบริเวณพื้นปูน เติมปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปริมาณ 25 กิโลกรัม เติมปุ๋ยสูตร 0-3-0 ปริมาณ 20 40 กิโลกรัม ผสมวัตถุดิบทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันพร้อมกับการเติมน้ำให้มีความชื้นร้อยละ 4060 ใช้วัสดุที่สามารถกันน้ำได้คลุมให้มิด เพื่อป้องกันฝนและไม่ให้ความชื้นระเหยออกจากกองปุ๋ย และกลับกองปุ๋ยหมักที่ระยะเวลา 3 , 10, 17 และ 24 วัน หลังจากการกอง จากนั้นผสมปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ให้มีปริมาณธาตุอาหารหลักที่เพียงพอต่อการเจริญของข้าว 1 รอบการผลิต และสารที่มีความสามารถในการดูดยึดประจุบวกสูงลงไปในปุ๋ย เพื่อให้เกิดการละลายช้า
ปุ๋ยปลาจากวัสดุเหลือใช้ โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลาและเลือด ผ่านกระบวนการหมัก ทำให้เกิดการย่อยสลายโดยเอนไซม์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หลังจากการหมักจนได้ที่แล้วจะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม โดยมีธาตุกำมะถัน เหล็ก ทองแดง และ แมงกานีส เป็นธาตุอาหารรอง นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและอะมิโนแอซิด ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา จากการนำไปใช้จริง วว. พบว่า ปุ๋ยปลาจะไปช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้ให้สีสดขึ้นและผลไม้มีคุณภาพดีขึ้น รวมทั้งช่วยเร่งการแตกยอดและตาดอกใหม่ให้แก่ต้นไม้
ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับยางพารา วว. วิจัยและพัฒนากระบวนการหมักปุ๋ย โดยใช้วัตถุดิบที่มีมากในแต่ละชุมชน นำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ มูลสัตว์ ของเหลือใช้จากผลิตผลการเกษตร ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรม เช่น กากทะลายปาล์ม กากตะกอนหม้อกรองอ้อย เป็นต้น โดยนำวัตถุดิบดังกล่าวมาหมักตามกรรมวิธี วว. จนได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง จากนั้นนำปุ๋ยอินทรีย์มาผสมกับแม่ปุ๋ยเคมีตามผลวิเคราะห์ดิน แล้วนำมาคำนวณเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารตามความต้องการของยางพาราในแต่ละพื้นที่
ปุ๋ยมูลไส้เดือน เริ่มต้นด้วยการเตรียมเบดดิ้ง (Bedding) หรือแหล่งอาศัยให้ไส้เดือน โดยส่วนใหญ่จะทำจากมูลวัวแห้ง นำมาแช่น้ำแล้วเททิ้งเป็นเวลา 2-15 วัน ก่อนนำมูลวัวไปใช้เลี้ยงไส้เดือนตักเบดดิ้งใส่ถาดประมาณ 3 ใน 4 ของถาด ตรวจสอบความชื้นของเบดดิ้ง หากแห้งให้พรมน้ำพอชื้น ห้ามแฉะ ปล่อยไส้เดือนประมาณ 1-2 ขีดต่อถาด (ทดลองปล่อยจำนวนเล็กน้อยในถาดแรกก่อน หากไส้เดือนมุดลงไป แสดงว่าเบดดิ้งเหมาะสม) หากพบว่าไส้เดือนไม่มุดลงไปควรหมักเบดดิ้งต่ออีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงนำมาใช้ โดยนำถาดวางซ้อนกันเป็นคอนโด คลุมตาข่ายกันแมลง หมั่นตรวจสอบความชื้น ประมาณ 7-10 วัน จะเริ่มสังเกตเห็นมูลไส้เดือนตรงผิวหน้าเบดดิ้งชัดเจน ค่อยๆ ทยอยปาดเก็บออก เกลี่ยและผึ่งมูลไส้เดือนในที่อากาศถ่ายเทจนแห้ง ร่อน จากนั้นเก็บใส่กระสอบหรือถุงไว้ใช้ต่อไป ทั้งนี้เมื่อเก็บมูลไส้เดือนออกจนเกือบหมด เบดดิ้งที่เหลือพร้อมกับไส้เดือน เก็บไว้ใช้เพาะเลี้ยงบนเบดดิ้งชุดใหม่ต่อไป
สารปรับปรุงดิน ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นภายในชุมชนส่วนใหญ่เกิดจาก อาคาร บ้านเรือน และแหล่งชุมชน ขยะมูลฝอย ที่เกิดในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นประเภทขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก เช่น เศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์ เศษผัก และเปลือกผลไม้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีวิธีการจัดการขยะมูลฝอยด้วยตนเอง และยังไม่ให้ความสำคัญในการคัดแยกประเภทของขยะมูลฝอย ครัวเรือนบางส่วนอยู่ในพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบเก็บ ขนและกำจัดขยะมูลฝอย แต่ครัวเรือนบางส่วนยังไม่อยู่ในพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบเก็บ ขนและกำจัดขยะมูลฝอย จึงดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยด้วยตนเอง โดยวิธีการกองเผา หรือด้วยวิธีการเก็บใส่ถุงรวมกับขยะมูลฝอยประเภทอื่นๆ แล้วนำไปทิ้งตามที่สาธารณะริมทางเดิน ข้างถนน สนามหญ้า ใต้ต้นไม้ และแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบที่ตามมาก็คือ ปัญหากลิ่นเหม็นของกองขยะมูลฝอย ปัญหาแมลงวัน และสัตว์นำโรคชนิดต่างๆ ปัญหาควันไฟจากการเผาขยะมูลฝอย ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว วว. จึงร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ นำถุงพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการคัดแยกขยะอินทรีย์ แล้วจัดเก็บเพื่อนำมาหมักรวมกับมูลสัตว์เพื่อพัฒนาเป็นสารปรับปรุงดินที่สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุภายในดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงขึ้น
สารชีวภัณฑ์ วว. มีสายการผลิตชีวภัณฑ์ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ตามหลัก OECD GLP GUILDLINE และผ่านการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องจักรระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตสะอาด ปราศจากเชื้ออื่นปนเปื้อน
นอกจากการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆดังกล่าวแล้ว วว. ยังให้ บริการวิเคราะห์ดินและปุ๋ย เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการผลิตและลดต้นทุนการดำเนินการ โดยให้บริการวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ทั้งนี้เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปสนใจเข้ามาใช้บริการ มีขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดินเพื่อการนำมาวิเคราะห์ ดังนี้ 1.เก็บตัวอย่างดินภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเล็กน้อย หรือก่อนเตรียมดินปลูกพืชครั้งต่อไป เพื่อให้ทราบถึงระดับธาตุอาหารในดินและแนวทางการบริหารจัดการก่อนปลูกพืชครั้งต่อไป 2.วิธีการเก็บตัวอย่างดิน ให้แยกดินเป็นแปลงๆ จากนั้นแบ่งพื้นที่เป็นแปลงๆละ 10-20 ไร่ ต่อการเก็บดินหนึ่งตัวอย่าง โดยจะเก็บตัวอย่างดินแปลงละ 15-20 จุด และ 3.การสุ่มเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ ควรสุ่มเก็บตัวอย่างดินให้ได้ประมาณ 500 กรัม/หนึ่งแปลง
ผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยเสริมแกร่งการทำเกษตรกรรมของประเทศไทยดังกล่าวนั้น เป็นผลงานจากการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปส่งเสริม สนับสนุนและตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ ภายใต้นโยบาย BCG โมเดล เป็นความภาคภูมิใจของ วว. ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ... ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปในการดำเนินงานเสริม
จาก https://mgronline.com วันที่ 23 ส.ค. 2565
Case IH Austoft 9000 series รถตัดอ้อยรุ่นใหม่ สุดยอดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต
เปิดตัวครั้งแรกในไทย รถตัดอ้อยรุ่นใหม่ล่าสุด Case IH Austoft 9000 series ที่ผนวกรวมสุดยอดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต ปลดปล่อยสมรรถนะสุดเยี่ยมอย่างมั่นใจ ที่พร้อมสำหรับพี่น้องเกษตรกรทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี
เปิดตัวครั้งแรกในไทย รถตัดอ้อยรุ่นใหม่ล่าสุด Case IH Austoft 9000 series นวัตกรรมใหม่ล่าสุดสำหรับเกษตรกรรม ด้วยเทคโนโลยี FieldXplorer เทคโนโลยีที่แม่นยำด้วยโดรนที่ทำงานร่วมกันกับระบบ GPS ได้รับการพัฒนาและก้าวขึ้นอีกระดับใน Case IH สามารถทำงานตอบสนองทุกการใช้งานด้วยรุ่นล้อยางและล้อตีนตะขาบ เอื้อให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งหลายและโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ พร้อมด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและสมรรถนะเต็มพลังเพื่อพิชิตทุกความท้าทายจากการแข่งขันในตลาดโลก
โดยมี นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, คุณรัชนี วัตถุ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเงินฝาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส), Ms. Chun Woytera ประธานกลุ่มบริษัท ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค , Mr. Matthieu Sejourne Head of Brand and Commercial Services ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ,Mr. Mark Brinn กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศญี่ปุ่น เปิดงานร่วมกัน ซึ่งCase IH เป็นหนึ่งในแบรนด์ของบริษัท ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล (ประเทศไทย ) จำกัด
รถตัดอ้อย Case IH Austoft 9000 series รุ่นใหม่ล่าสุด มาพร้อมแรงม้าที่มากขึ้น ระบบไฮดรอลิกอัจฉริยะ เสริมด้วยหลากหลายสุดยอดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บเกี่ยวและลดต้นทุน จึงทำให้กำไรเพิ่มขึ้น
รถตัดอ้อยรุ่นใหม่ล่าสุดนี้พร้อมให้ทุกท่านจับจองเป็นเจ้าของได้ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวรอบหน้าที่จะถึงช่วงปลายปีนี้
รถตัดอ้อย Case IH Austoft 9000 series รุ่นใหม่ล่าสุด เป็นผู้สร้างและยกระดับมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมในหลากหลายด้าน ได้แก่ ประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว สมรรถนะ ความไว้วางใจได้ ความสะดวกในการใช้งาน ฯลฯ มร. มิคาเล่ มอนซีโอ ผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์รถตัดอ้อย Case IH ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว
ความเลื่องชื่อระดับโลกในปัจจุบันของรถตัดอ้อยตระกูล Austoft ก่อเกิดจากรถตัดอ้อยเชิงพาณิชย์เครื่องแรกของโลก คิดค้นและจำหน่ายโดยพี่น้องตระกูล Toft ในประเทศออสเตรเลีย ณ ปี 1944 และต่อจากนั้น ตำนานของแบรนด์นี้ก็เป็นผู้นำในด้านการพัฒนานวัตกรรมรถตัดอ้อยสำหรับธุรกิจอ้อย
เราวิจัยและพัฒนารถตัดอ้อย Case IH Austoft 9000 series จากการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวไร่อ้อยทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่ารถซีรี่ส์นี้ตรงตามความต้องการของพวกเขา
รถตัดอ้อย Case IH Austoft 9000 series ผ่านการทดสอบกว่า 30,000 ชั่วโมงทั้งในห้องทดสอบและการใช้งานจริง ความมุ่งมั่นของเรา คือ การเพิ่มความเชื่อมั่นและลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวให้พี่น้องชาวไร่อ้อยมร. มิคาเล่ มอนซีโอ กล่าว
พวกเราภาคภูมิใจอย่างมากกับการพัฒนาร่วมกันกับพี่น้องชาวไร่อ้อยเพื่อให้มั่นใจว่ารถตัดอ้อยนี้ตรงตามความต้องการของพวกเขาเพื่อสุดยอดประสิทธิภาพและประสิทธิผล พวกเขาควรได้รับสุดยอดสมรรถนะและความไว้วางใจได้ ซึ่งพวกเขามองหารถตัดอ้อยที่คุ้มค่าการลงทุนสำหรับธุรกิจของพวกเขา
รถตัดอ้อย Case IH Austoft 9000 series มาพร้อมหลากหลายเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในไร่อ้อย รวมถึง AFS® (Advanced Farming Systems) autoguidance system ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และระบบ Telematics รุ่นใหม่ล่าสุดซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถตัดอ้อยผ่านสัญญาณ 4G ได้ และเป็นรถตัดอ้อยรุ่นแรกที่มาพร้อมระบบนี้ เอื้อให้ชาวไร่อ้อยสามารถเชื่อมต่อรถตัดอ้อยกับระบบ AFS Connect telematics ได้ ช่วยให้สามารถเฝ้าติดตามการทำงานกลุ่มรถตัดอ้อยของพวกเขา การบริหารจัดการทั้งสภาพแปลงและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวอ้อย
คุณสมบัติเด่นอื่น ๆ ของรถตัดอ้อย Case IH Austoft 9000 series Other key features of the new Austoft 9000 include: ได้แก่
เครื่องยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด 420 แรงม้า พร้อมระบบไฮดรอลิกแบบใหม่ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิผลการเก็บเกี่ยวได้ระหว่าง 5 % ถึง 10 % และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 10 % ยืดอายุการใช้งานเครื่องยนต์สูงสุดถึง 50 %
เพิ่มความสะดวกในการบำรุงรักษา ด้วยการเข้าถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น พร้อมแชสซีส์แบบโมดูล่าร์ใหม่สุด
เหมาะกับการทำงานที่หลากหลาย ด้วยระบบควบคุมอัตราการป้อนท่อนอ้อยที่สามารถปรับได้แบบอัตโนมัติให้สอดคล้องกับแต่ละการเก็บเกี่ยว จึงช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและป้องกันอ้อยติดคอ
เพิ่มความสะดวกในการใช้งานด้วยการออกแบบแผงควบคุม ตำแหน่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในห้องโดยสารให้สอดคล้องกับหลักการยศาสตร์ และเพิ่มทัศนวิศัยที่ดีที่สุดในการขับขี่และใช้รถตัดอ้อย
รถตัดอ้อย Case IH Austoft 9000 series ไม่เพียงคงไว้ด้วยคุณสมบัติเด่นต่าง ๆ ของตระกูล Austoft ในอดีต แต่รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ยังพัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ มร. มิคาเล่ มอนซีโอ กล่าว
รถตัดอ้อยรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ให้แรงม้าที่สูงขึ้น ระบบไฮดรอลิกอัจฉริยะที่ปรับให้สอดคล้องกับแต่ละสภาพการใช้งานได้ การบำรุงรักษาที่สะดวกยิ่งขึ้นจึงมั่นใจได้มากขึ้น ลดเวลาที่เครื่องจักรหยุดทำงานจากความเสียหายระหว่างฤดูเก็บเกี่ยว ระบบการบริหารจัดการช้อมูลรถตัดอ้อยและสภาพแปลงอ้อย เพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจให้พี่น้องชาวไร่อ้อย มร. มิคาเล่ มอนซีโอ กล่าว
รถตัดอ้อย Case IH Austoft 9000 series โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในตลาด สะท้อนแนวทางรถตัดอ้อยรุ่นใหม่ พวกเราตื่นเต้นสำหรับสิ่งดี ๆ ที่รถรุ่นนี้จะสร้างให้พี่น้องชาวไร่อ้อย
สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถตัดอ้อยซีรี่ส์ พร้อมสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการใกล้บ้านท่านได้ หรือเยี่ยมชมเราผ่านทาง ... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/1386999/
จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 22 ส.ค. 2565
พด.สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ มุ่งแก้ปัญหาและจัดการทรัพยากรดินและที่ดินของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
กรมพัฒนาที่ดิน โชว์ผลงานวิชาการภาคนิทรรศการ จัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบูรณาการระหว่างนักวิชาการ มุ่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมกรมพัฒนาที่ดินให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาและจัดการทรัพยากรดินและที่ดินในพื้นที่ของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
วันที่ 21 สิงหาคม 2565 นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ ในการประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปี 2565 60 ปี กรมพัฒนาที่ดิน การเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหน้า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีนางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านบริหาร ดร.สถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน และนักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน เข้าร่วมพิธีฯ การประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การนำเสนอผลงานภาคนิทรรศการในการประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดินนับเป็นสื่อการถ่ายทอด และการเรียนรู้วิธีหนึ่งที่มีคุณค่า และศักยภาพสูงในการดึงดูดความสนใจ ผู้ชมสามารถรับรู้รูปแบบและเรื่องราวหลายๆ สิ่งพร้อมกันในเวลาเดียวกัน มองเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในความคิดที่เป็นนามธรรมไปสู่ความคิดที่เป็นรูปธรรม สื่อมีความหลากหลายตอบสนองความแตกต่างระหว่างผู้ชมได้ และมีอิทธิพลในด้านความรับรู้ ความเข้าใจ สามารถกระตุ้น หรือจูงใจให้ผู้ชมให้ทราบถึงความรู้ ความก้าวหน้าในวิทยาการต่างๆ ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติ วิสัยทัศน์ ให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป
ด้าน ดร.สถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้จัดการประชุมคัดเลือกผลงานวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ปี 2565 ขึ้น ระหว่างวันที่ 25 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาการกรมฯ ได้นำเสนอผลงานวิชาการ นำไปสู่การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมกรมพัฒนาที่ดินให้เกิดผลสำเร็จ สร้างโอกาสให้กับนักวิชาการรุ่นใหม่ให้สามารถนำเสนอผลงานวิชาการได้ และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น และประสบการณ์จากนักวิชาการรุ่นพี่ และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการกรมฯ สร้างผลงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำองค์ความรู้ไปแก้ปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรดินและที่ดินของเกษตรกรพร้อมทั้ง เป็นขวัญกำลังใจแก่นักวิชาการในการพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ
ในการประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ มีนักวิชาการนำเสนอผลงานวิชาการภาคนิทรรศการ จำนวน 50 ผลงาน ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานวิชาการดีเด่นภาคนิทรรศการ เพื่อเข้าสู่รอบต่อไป จำนวน 10 ผลงาน ได้แก่ 1) การจัดทำฐานข้อมูลดินในพื้นที่ลาดชันเชิงซ้อนของภาคเหนือตอนบน เพื่อการบริหารจัดการที่ดิน โดย นางสาวอารยัญต์ ขันทอง กองสำรวจและวิจัยทรัพยากรดิน 2) เครื่องผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดย นายจิราวุฒิ เวียงวงษ์งาม สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน 3) การศึกษากระบวนการทางดินด้วยภาพ 2D โดย นางสาวณัฐพร ประคองเก็บ สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน 4) การประเมินการชะล้างพังทลายของดินด้วยดัชนีพื้นที่ใบ (LAI) จากข้อมูลดาวเทียม Terra MODIS ในพื้นที่ 22 ลุ่มน้ำหลักประเทศไทย โดย นางสาวสมจิตต์ เลิศดิษยวรรณ กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน 5) ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และเทคนิคการวิเคราะห์สภาพพื้นที่แบบเชิงเลขเพื่อการจัดระบบอนุรักษ์และน้ำ : พื้นที่ศึกษาลุ่มน้ำคลองวังยาง โดย นางสาวรวมพร มูลจันทร์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 6) เกษตรอินทรีย์ PGS ไผ่ตอง แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อาหารปลอดภัย เมืองนครปฐม โดย นายนัฐพงษ์ แก้วรัตนชัย สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 7) การประเมินปริมาณน้ำ เพื่อการวางแผนการใช้ที่ดินด้วยแบบจำลอง InVEST ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่สะเปา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดย นางสาวจรวยพร ซาวขัด สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 8) ผลของวัสดุเพาะกล้าจากมูลไส้เดือนดินต่อการงอกและการเจริญเติบโตของต้นกล้าผักสลัด นางสาวนันทพร กอบธัญญกิจ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 9) ผลของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของบัวบกตามมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดย นางสาวบุษบา รู้น้อม สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 และ 10 ) การปลูกมันเทศญี่ปุ่นอินทรีย์ในกระสอบ โดย นางสาวสุภา ออมจิตร สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 11 ทั้งนี้ จะมีการประกาศผลการคัดเลือก และพิธีมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่นภาคนิทรรศการ จำนวน 6 รางวัล ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีการบรรยายพิเศษจากผู้บริหาร หัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการดิจิทัล กรมพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2566-2570 โดยนางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ต่อด้วยหัวข้อ แผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรม กรมพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2566-2570 โดยดร.สถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และหัวข้อ ทิศทางการดำเนินงานวิจัยกรมพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2566-2570 โดยนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน จากนั้นเป็นการนำเสนอของดินดีแอมบาสเดอร์ ในหัวข้อ LDD in the Future และปิดท้ายด้วยการนำเสนอแนวคิดเพื่อพิชิตเป้าหมาย Zoning by Agri-map โดยนายสุทธิดล วงษ์จันฬา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี
ในช่วงบ่าย มีการจัดกิจกรรม Side Event ทั้งหมด 3 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อการประกาศเขตดินดี พืชเศรษฐกิจ เพื่อรองรับ EEC หัวข้อความเชื่อมโยงของ BCG Model กับภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน และหัวข้อปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับชมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ ระหว่างนักวิชาการผู้ปฏิบัติงานในภาคสนาม และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การนำเสนอผลงานภาคนิทรรศการในการประชุมวิชาการฯครั้งนี้ จะเป็นการเผยแพร่ผลงานดีเด่น ที่สร้างการเพิ่มพูนความรู้และนำไปพัฒนาคุณภาพงานวิจัยด้านการพัฒนาที่ดิน และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และส่งเสริมการทำงานให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างนักวิชาการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมกรมพัฒนาที่ดินให้เกิดผลสำเร็จ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ แก้ไขปัญหาและจัดการทรัพยากรดินและที่ดินในพื้นที่ของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน
จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 22 ส.ค. 2565
เงินบาทวันนี้เปิดอ่อนค่าที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์
กรุงไทย ชี้ความเสี่ยงเงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านใกล้ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงต่างชาติหาจังหวะทยอยขายหุ้นทำกำไร มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.70- 36.90บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (22 ส.ค.) ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.74 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ35.30-36.00 บาทต่อดอลลาร์ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.90 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านใกล้ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ส่วนนักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยหรืออาจรอจังหวะให้หุ้นไทยย่อตัวลงบ้าง ก่อนจะซื้อเพิ่ม ทำให้เงินบาทอาจขาดแรงหนุนฝั่งแข็งค่า ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงด้วยแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออก รวมถึงผู้เล่นบางส่วนที่ยังมองแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อ นอกจากนี้ความกังวลเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวหนักก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์ผ่านแรงกดดันต่อเงินยูโร (EUR)
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ได้กดดันให้ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุม Jackson Hole พร้อมกับจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคม
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุมวิชาการประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole รัฐ Wyoming เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงมุมมองของประธานเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยหากประธานเฟดไม่ได้แสดงท่าทีกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมาก แต่ยังคงกังวลปัญหาเงินเฟ้อสูงและยังสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็อาจทำให้ตลาดกลับมามองว่าเฟดยังมีแนวโน้มเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและอาจคงดอกเบี้ยในระดับสูงได้นาน ซึ่งอาจจะเป็นไปตาม Dot Plot เดือนมิถุนายน แต่ก็จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดรับรู้หรือ price-in ในปัจจุบัน ที่ตลาดมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไม่เกิน 3.75% ก่อนที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในครึ่งหลังของปีหน้า ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนสิงหาคม (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ซึ่งการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลกและปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจกดดันให้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 51.9 จุด ส่วนดัชนี PMI ภาคการบริการอาจปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 50 จุด สอดคล้องกับการใช้จ่ายของผู้คนที่ฟื้นตัวดีขึ้น หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป PCE ที่เฟดติดตามก็อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.4% ในเดือนกรกฎาคม ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงาน อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อาจยังคงอยู่ในระดับ 4.7% ทำให้เฟดอาจประเมินว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงและจำเป็นที่เฟดต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
ฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจยุโรปยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 49 จุด และ 50.5 จุด ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับฝั่งอังกฤษ ที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการจะลดลงต่อเนื่องแตะระดับ 51 จุด และ 51.9 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจของเยอรมนีก็อาจปรับลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปัจจุบันและในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนสิงหาคมที่จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 86.8 จุด ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยุโรปออกมาแย่กว่าคาดที่ตลาดคาดไปมาก อาจยิ่งทำให้ตลาดกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงได้
ฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาดจนส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 2.75% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จะทำให้ในสัปดาห์นี้ PBOC อาจประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี LPR (Loan Prime Rate) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 3.60% และ4.35% ตามลำดับ เพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงจากปัญหาน้ำท่วมในเดือนสิงหาคมรวมถึงช่วงเทศกาลหยุดยาวของเกาหลีใต้อาจหนุนให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้(BOK) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.50% ส่วนในฝั่งอินโดนีเซีย ตลาดคาดว่า แนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะหนุนให้ BI สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% ได้ สำหรับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่า ภาคการผลิตและการบริการของญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่องจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 51 จุด และ 50 จุด ตามลำดับ
ฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะบรรดาเศรษฐกิจหลักที่ทยอยสะท้อนผ่านดัชนีPMI ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอาจกดดันให้ยอดการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคมโตราว +10%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 22 สิงหาคม 2565
ความตกลง RCEP ครึ่งปี ดันการค้าไทย 1.69 แสนล้าน
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประกาศบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
ข้อตกลงฉบับนี้ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อตกลง FTA ทั้งสิ้น 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้สร้างแต้มต่อด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับประเทศไทยอย่างมาก ในช่วง 6 เดือนแรก 2565 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ มูลค่าการค้า 169,041 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 78,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.8% และนำเข้า 90,869 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตามกราฟิก)
ญี่ปุ่น ถือเป็นตลาด 1 ใน 2 ตลาดการค้าหลักของไทยใน RCEP กำลังจะครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-ญี่ปุ่น 135 ปี มีแผนจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์จาก RCEP เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้า การลงทุน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (สำนักงานเจโทร ประจำกรุงเทพฯ) จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โอกาส MSMEs ไทยและญี่ปุ่น : เจาะลึกการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2539-2564 ผู้ประกอบการและนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่า 6,000 บริษัท ลงทุน กว่า 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยธุรกิจส่วนใหญ่ที่เข้ามา เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น นับว่าญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทย อีกทั้งยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจภาคบริการ การเงิน ประกันภัย ค้าส่ง-ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้แล้ว ไทย-ญี่ปุ่นยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันถึง 3 ฉบับ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือเจเทปปา บังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) หรือเอเจเซ็ป บังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552
และความตกลงล่าสุด RCEP ทำให้ประเทศไทยได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลง เฉพาะเจเทปปาและเอเจเซ็ป 80% ของสินค้าส่งออกที่ได้สิทธิประโยชน์ และเชื่อว่าจากข้อตกลง RCEP ล่าสุดจะทำให้ไทยได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้น
นางอรมนกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นและไทยมีความตกลงการค้าเสรีที่เป็นภาคีร่วมกัน ล่าสุด อาร์เซป โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2565 ไทยมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 46.47 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง เสื้อคาร์ดิแกน เสื้อกั๊ก และปลาปรุงแต่ง ขณะที่ไทยขอใช้สิทธิ RCEP นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 5.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ไฮโดรควีโนน เชื้อปะทุไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิด ปลาหมึกยักษ์ ด้ายโพลิยูรีเทน และลูกชิ้นปลา คาดหวังว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
เจโทรหนุนใช้อาร์เซป
นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ความตกลง RCEP สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจหลายประการ เช่น ช่วยเสริมสร้างซัพพลายเชนที่หลากหลาย ทำให้เกิดความยืดหยุ่นกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตในภูมิภาคมากขึ้น
นอกจากนี้ความตกลง RCEP มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เอื้อต่อผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่ง่ายขึ้น ช่วยให้การค้าราบรื่นจากที่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิก RCEP ทุกประเทศใช้แบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน มีระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง
และมีข้อกำหนดด้านพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น สินค้าเน่าเสียง่ายต้องตรวจปล่อยภายใน 6 ชั่วโมง เป็นต้น ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในช่วงครึ่งปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.)
การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 30,478.25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 12,714.89 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 17,763.36 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
RCEP ลุ้นรับสมาชิกใหม่
นางสาวจิตติมา นาคมโน ผู้อำนวยการสำนักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ความตกลง RCEP ตั้งแต่ที่ประเทศสมาชิก 13 ประเทศได้ให้สัตยาบัน และส่งผลให้ความตกลงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี
ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกก็อยู่ระหว่างเร่งรัดให้อีก 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดำเนินกระบวนการภายในให้แล้วเสร็จเพื่อที่จะได้ลงนามสัตยาบันต่อไป โดยคาดหวังว่าจะเห็นการดำเนินการและลงนามได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อตกลงอาร์เซปมีความสมบูรณ์และเชื่อมโยงและเชื่อมต่อการค้า การลดภาษีในประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ
ข้อตกลงอาร์เซปเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุด มีการค้า การลงทุนเป็นจำนวนมาก 1 ใน 3 ของโลก มีจีดีพี 31.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 33.6% ของจีดีพีโลก และมีการค้ารวม 13.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 31.5% ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งถือว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจ
โดยภายใต้ข้อตกลง RCEP ก็พร้อมที่จะเปิดรับสมาชิกที่สนใจเข้าร่วม หากอินเดียเปลี่ยนใจที่จะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกยิ่งจะส่งผลให้ตลาดใหญ่มากขึ้น ทั้งนี้ นับจากมีผลบังคับใช้ไปอีก 18 เดือน RCEP พร้อมจะมีการเปิดรับสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่สนใจเข้าร่วม เช่น ฮ่องกงและชิลี จะช่วยเชื่อมต่อการค้าได้มากขึ้น
ข้อตกลงอาร์เซปซึ่งมี 20 บทบาทความตกลงที่ได้มีการหารือและความตกลงใหม่ที่ข้อตกลงฉบับอื่นไม่มี เช่น การส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสขยายการค้า การส่งออกได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเองจำเป็นที่จะต้องศึกษาและใช้โอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์ให้เต็มที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการค้า การส่งออกในตลาดโลกได้
เพราะข้อตกลงที่ดำเนินการนั้นทำให้ไทยมีแต้มต่อทางการค้า การส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิกภาษี 0% ให้ไทย มีทั้งหมด 39,366 รายการ โดยลด 0% ทันที 29,891 รายการ และก็คาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้นจนครบได้ในอนาคต
จาก https://www.prachachat.net วันที่ 21 สิงหาคม 2565
อีอีซีต้องการพลัง ผลักดันต่อเนื่อง
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ผ่านมาแล้ว 5 ปี เป็นการปรับฐานอุตสาหกรรมของประเทศครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่มีการพลิกเปลี่ยนประเทศไปสู่ฐานการผลิตอุตสาหกรรม ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการอัตราการเจริญเติบโต มีการจ้างงาน มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นกระจายในหลายพื้นที่ ปรับเปลี่ยนจากการผลิตวิถีเกษตรดั้งเดิมมาเป็นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม
การพัฒนาอีอีซี เพื่อให้เป็นแหล่งลงทุนใหม่ สร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ในรอบ 5 ปีทีผ่านมา ถือเป็นก้าวแรกที่ประสบความสำเร็จพอสมควร โดยมีเงินลงทุนที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐและเอกชนราว 1.84 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านบาทบาท เป็นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน ใน 4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก 6.55 แสนล้านบาท ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตเภาและเมืองการบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลงฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ขณะที่บีโอไอออกบัตรส่งเสริม 1.09 ล้านล้านบาท
การขับเคลื่อนอีอีซี ดึงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ดึงนักลงทุนรายใหญ่ เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีหลายราย ทั้งบริษัท EVLOMO เกรท วอลล์ มอเตอร์ โดยเป็นพื้นที่ก้าวกระโดดสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตอีวี มีบริษัทในห่วงโซ่การผลิตกว่า 1,700 บริษัท และเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อีวี มีค่ายรถยนต์เกือบทั้งหมดสนใจที่จะลงทุน และยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตสูงสุดรวมกันสูง 5 หมื่นเมกะวัตต์
ปี 2566 - 2570 หรือใน 5 ปี ข้างหน้า จะเป็นระยะที่ 2 ของอีอีซี มีการวางแผนรองรับลงทุนเพิ่มอีก 2.2 ล้านล้านบาท ในการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเมืองการบินภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่ระยะ 30 กิโลกเมตร รอบสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหลักและยังต้องการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขึ้นอีก 1.5 แสนล้านบาทต่อปี รวม 5 ปี เงินลงทุน 7.5 แสนล้านบาท และยังเป็นการลงทุนจากฐานเดิมอีก 2.5 แสนล้านบาทต่อปี รวมประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท
อีอีซียังมีแผนพัฒนาโซนศูนย์สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทยและต่างประเทศที่มีธุรกิจในอีอีซี และศูนย์ราชการสำคัญ โซนศูนย์กลางการเงินอีอีซี ที่จะสนับสนุนการลงทุน Fin Tech และ Green Board โซนศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต โซนศูนย์การศึกษา วิจัย-พัฒนาระดับนานาชาติ โซนศูนย์ธุรกิจอนาคต พัฒนาพลังงานสะอาด กลุ่ม Digitization และ 5G หากสำเร็จตามเป้าหมายในปี 2570 การพัฒนาจะช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของประเทศเพิ่มเป็น 3.5 แสนบาทต่อคนต่อปี ผลผลักดันไทยขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2572 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวที่ 5 %
อีอีซียังต้องการแรงผลักดันและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังผลักดันจากภาคการเมือง ที่ต้องมองให้เห็นเป้าหมายเดียวกัน เป็นหมุดหมายสำคัญของชาติ ไม่มองเป็นผลงานของใครคนใดคนหนึ่งหรือหากมีการปรับเปลี่ยนทางการเมืองแล้ว แรงสนับสนุนลดน้อยถอยลง การพัฒนา การเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ อาจจะรั้งท้ายเมื่อเทียบกับในภูมิภาคนี้และคนไทยก็ยังคงจมปลักกับความยากจนเหมือนเดิม
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 สิงหาคม 2565
มนัญญา เปิดประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
APEC เริ่มแล้ว มนัญญา เปิดประชุม ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เร่งผลักดันตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ขานรับแผนยุทธศาสตร์ HLPDAB อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รับลูกเดินตามแผนเทคโนโลยีชีวภาพ การเกษตรขั้นสูง งานวิจัย ปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ สมุนไพร
วันที่ 20 สิงหาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เอเปค (APEC High-Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology: HLPDAB) ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งผลักดันตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
ขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตรและการผลิตพืช ติดตามความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรของเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงนโยบายด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ผลสำเร็จการเสริมสร้างองค์ความรู้ของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในปี 2565 รับรองแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ HLPDAB
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เปิดเผยว่าการที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงอาหาร (PPFS) ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (ATCWG) โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพจัดประชุม HLPDAB ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย
เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) มั่นคง (Security) และความยั่งยืน (Sustainability) มาปฏิรูปการเกษตรและระบบอาหาร ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร
ทั้งนี้ การประชุมได้มีการรายงานสถานะล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร นโยบายของแต่ละเขตเศรษฐกิจ รายงานความคืบหน้าการประชุมเชิงปฏิบัติการ HLPDAB ปี 2565 แลกเปลี่ยนมุมมองแนวโน้มและความท้าทายเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing Technology)
มุมมองด้านกฎระเบียบของพันธุวิศวกรรมและการปรับแต่งจีโนม หารือแผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงาน HLPDAB ให้สมาชิกเศรษฐกิจ HLPDAB เสนอแนะและอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ HLPDAB ปี 2565-2567 สถานะล่าสุดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการภายใต้กรอบเอเปค สนับสนุนการผลิต ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิตทางการเกษตร การเพิ่มความยั่งยืนด้าน Food Security ทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ พร้อมมุ่งมั่น สู่เป้าหมาย Sustainable Development Goal 2030 โดยจะมุ่งเน้นประเด็นหลักใน 5 เรื่อง คือ
1.ความปลอดภัยด้านอาหารและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเพียงพอ
2.การบูรณาการระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด
3.การนำนโยบาย 3S ความปลอดภัย (Safety) ความมั่นคง (Security) และ ความยั่งยืน (Sustainability) ในการปรับใช้ด้านการเกษตร
4.การปรับตัวสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
5.การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับพัฒนาประเทศไทย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรพร้อมเชื่อมต่อนโยบายรัฐบาล ให้ความสำคัญด้าน อาทิ การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลกัญชา กัญชง และกระท่อมให้มีสารสำคัญสูง การพัฒนายกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย ทุเรียน มันสำปะหลัง เห็ด ให้เป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ของเขตเศรษฐกิจเอเปค
ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีราคายุติธรรมและเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ทางการเกษตรในภาคอุตสาหกรรมสีเขียว การแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงและลดการสูญเสีย อีกทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสำเร็จของ SDGs ที่สอดคล้องกับ BCG Economy Models รวมถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารในปี 2573
ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีนโยบาย DOA together ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุล (Balance) การปรับปรุง (Improve) การยกระดับ (Upgrade) ความทันสมัย (Modernization) และความร่วมมือ (Cooperation) ที่ขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Economy Models อาทิ การวิจัยระบบการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมจะทำงานร่วมกับองค์การจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อยกระดับ
กรมวิชาการเกษตรให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองระบบการทำการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมด้านการนำขยะทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การพัฒนา Bioplastic หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ การพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงคุณภาพ ความทนทานโรค และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในพืชชนิดต่างๆ โดยใช้องค์ความรู้ด้านปรับปรุงพันธุ์ พันธุศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ
อาทิ เทคโนโลยีด้านเครื่องหมายโมเลกุล เทคโนโลยีการแก้ไขจีโนม การพัฒนาใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดต้นทุน เช่น ชุดทดสอบแบบง่ายต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งออก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ RNAi กำจัดศัตรูพืชและเอ็นไซม์จุลินทรีย์ที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่สำหรับใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม เราเชื่อมั่นในความพร้อมของกรมวิชาการเกษตรที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนจากประสบการณ์และองค์ความรู้กว่า 50 ปี
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 สิงหาคม 2565
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมอบหมายให้สถาบันพลาสติก ดำเนินโครงการพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมอบหมายให้สถาบันพลาสติก ดำเนินโครงการพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้มอบหมายให้สถาบันพลาสติก ดำเนินการโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของอ้อยและน้ำตาลทราย โดยการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ จึงได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน
โดยนายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นผู้มอบน้ำตาลซอง (พลาสติกชีวภาพให้กับร้าน DAVIN CAFE Specialty Coffee ถนนคลองลำเจียก เลียบด่วนรามอินทรา และนายเจริญ บุญอิทธิลลิต กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 โดยภายใต้การดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าวได้ดำเนินการพัฒนาซองบรรจุน้ำตาลทรายธรรมชาติ ซึ่งบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุน้ำตาลสำหรับร้านคาเฟ่แบบ take a way เป็นการแบ่งย่อยน้ำตาลทรายบรรจุเป็นซองเล็ก ๆ เพื่อความสะดวกนี้ มักจะถูกนำมาบรรจุน้ำตาลทรายขนาด 6-8 กรัม และสามารถใช้ได้ครั้งเดียว โดยส่วนใหญ่ผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีน ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ เมื่อผู้บริโภคใช้แล้วทิ้งจะทำให้เกิดขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้จำนวนมาก ทั้งนี้การพัฒนาซองบรรจุน้ำตาลที่สามารถย่อยสลายได้ จึงเป็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ซองบรรจุน้ำตาลที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ จะมีการนำเอาพลาสติกชีวภาพมาใช้ในการเคลือบบนกระดาษแทนโพลิเอทิลีน ทำให้สามารถย่อยสลายได้เมื่อทำการกำจัดอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ซองบรรจุน้ำตาลที่พัฒนาใหม่นี้ยังสามารถทำการผลิตและบรรจุด้วยกระบวนการผลิตเดิมได้ สามารถยึดเกาะกับกระดาษที่ใช้ในการผลิตซองน้ำตาลได้ และมีคุณสมบัติในการเก็บรักษาและป้องกันไม่ให้น้ำตาลที่บรรจุอยู่ภายในเกิดความเสียหายได้ อีกทั้งภายใต้โครงการฯ ปี 2565 ยังมีการดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบชีวภาพอีก 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ซองไปรษณีย์พลาสติกชีวภาพ ผ้ากันเปื้อนรองเตียงแอนตี้แบคใช้ครั้งเดียวทิ้งย่อยสลายได้ วัสดุกระจายกลิ่นหอมปรับอากาศในรถยนต์จากเถ้าชานอ้อยน้ำยาซักผ้าจากสารลดแรงตึงผิวที่ได้จากน้ำตาล ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทางสอน.ได้ทำการวางไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมทั้งผลักดันผู้ประกอบการหรือเกษตรกรให้เข้าสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งทางสอน. ได้ทำการวิจัย พัฒนาและมองหาโอกาสใหม่ที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมให้อุตสาหกรรมมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นได้ รวมทั้งทำการแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาและต่อยอดในอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างยั่งยืน
อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบทางการเกษตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา โดยเฉพาะอ้อยนั้นในแต่ละปีจะมีมีอ้อยเข้าหีบรวมกว่า 70-80 ล้านตันต่อไป ซึ่งทำให้มีผลผลิตน้ำตาลเกือบ 10 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศที่กำลังพัฒนาในยุโรปหลายๆ ประเทศ ได้หันมาเพาะปลูกอ้อย หรือพืชให้ความหวานกันมากขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าของอ้อยและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอ้อยของไทยมีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้นการแปรรูปอ้อยให้เป็นสารตั้งต้นทางชีวภาพเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมอีกทางหนึ่ง
จาก https://www.prachachat.net วันที่ 18 สิงหาคม 2565
รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาการเกษตรพื้นที่EEC ตั้งเป้ารายได้เกษตรกรโตร้อยละ 6.5 ต่อปี
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพียงพอที่จะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575 ทั้งนี้ แนวทางในการพัฒนา มิได้จำกัดอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการเท่านั้น แต่รวมถึงภาคการเกษตรด้วย
ซึ่งครม.ได้เห็นชอบ แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี (พ.ศ.2566-2570) เป้าหมายยกระดับภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีให้ผลการผลิตสูงขึ้น เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง ยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ
พัฒนาพื้นที่กลุ่มคลัสตอร์ทางการเกษตรที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาด ประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ คือ ผลไม้ประมง เกษตรมูลค่าสูง พืชสมุนไพร และพืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ
โดยคาดหวังอัตราการขยายตัวมูลค่าผลผลติมวลรวมภาคเกษตรของอีอีซี ร้อยละ 3.5 ต่อปี และอัตราการขยายตัวรายได้เกษตรต่อแรงงานเกษตรของอีอีซี ร้อยละ 6.5 ต่อปี
สำหรับการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรสอดรับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าให้ประเทศสู่เป็นศูนย์กลางการผลิตพืชสมุนไพร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ลงนามความร่วมมือกับ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พัฒนาพืชสมุนไพรครบวงจรในเขตปฏิรูปที่ดิน มีกฎหมายรองรับ สร้างวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ สร้างเครือข่ายงานวิจัย
พัฒนาสินค้าสมุนไพรให้ตรงตามความต้องการตลาด ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล ว่านนางคำและขิง และเพิ่มมูลค่าเปลือกทุเรียนมังคุดและเงาะ
โดยวิธีสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
น.ส.รัชดา กล่าวต่อถึงกลุ่มสินค้าผลไม้ ทางสกพอ. และบริษัท ปตท. ได้ร่วมกันดำเนินโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก Eastern Fruit Corridor : EFC) ซึ่งคือโครงการลงทุนตลาดกลางผลไม้และดิจิตอลแพลตฟอร์ม
ครอบคลุมการบริหารจัดการกระบวนการผลิต การทำแพลตฟอร์ม e-commerce และ e- auction การรับรองมาตรฐานเพื่อรองรับการซื้อขายกับต่างประเทศ พร้อมทั้งระบบการขนส่งสินค้าโดยกำหนดพื้นที่ตั้งโรงงานซึ่งมีขนาดห้องเย็นจุผลไม้ได้ถึง 10,000 ตัน
อยู่บริเวณใกล้แหล่งปลูกทุเรียน เพื่อเป็นกลไกในการรักษาสมดุลย์ด้านราคาของตลาดผลไม้ (ทุเรียน) อย่างยังยืนคาด ว่าจะเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคมปีนี้ 2565
รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะพัฒนาภาคการเกษตรให้มีรายได้เทียบเท่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการให้พื้นที่ EEC เป็นต้นแบบการพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศ ตามกรอบแนวคิดตลาดนาการผลิต
และการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหารากเหง้าการเกษตร โดยสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าสาคัญ ได้แก่ ผลไม้ ประมง พืชสาหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ พืชสมุนไพร และสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ต่อไป
จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 18 สิงหาคม 2565ชาวไร่-รง.น้ำตาลแตกคอล้ม พ.ร.บ.ปม กากน้ำตาล
การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ...... ใช้เวลานานกว่า 4 ปี จากความพยายามของชาวไร่อ้อยที่จะเพิ่มคำนิยามของ กากอ้อย เข้าไปเป็นผลพลอยได้ในกฎหมายฉบับนี้
ทั้งที่ 30 ปีก่อนหน้านี้ กากอ้อย ถูกจัดว่าเป็นของเสียหรือ ขยะ ที่ต้องขออนุญาตในการนำออกจากโรงงาน เพื่อไปเข้ากระบวนการกำจัดของเสียอย่างถูกวิธี
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เกิดการทวงผลตอบแทนจากโรงงานน้ำตาลเพียงเพราะเห็นว่ากากอ้อยที่เคยเป็นขยะในอดีต คือของมีค่าในปัจจุบัน จากการลงทุนของโรงงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมต่อยอดสินค้าจากขยะมูลสู่ไฟฟ้า ไบโอพลาสติกต่างๆ
พร้อมลาออกจากทุกสมาคม
ก่อนหน้านี้ นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรยกล่าวว่า การยื่นหนังสือคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายต่อประธานวุฒิสภาครั้งล่าสุดนี้ เพราะ ไม่ยอมรับ ที่จะนำกากอ้อยมาตีความว่าเป็นผลพลอยได้ แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กับชาวไร่ เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวเปิดโอกาสให้ฝ่ายโรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งในชั้นกรรมาธิการได้ผ่านความเห็นชอบผ่านการพิจารณาจาก ส.ส. จนในที่สุดเข้ามาถึง ส.ว.ที่กำลังพิจารณาจนได้
ท้ายที่สุดแล้วหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จริง แน่นอนว่าโรงงานน้ำตาลทุกแห่ง ซึ่งปัจจุบันมี 57 โรงจะ ลาออกจากทุกสมาคม ซึ่งนั่นหมายถึงระบบการรับซื้อขายน้ำตาลของประเทศไทยจะสั่นคลอนทันที่ผลที่จะตามมาคือ จะไม่มีความร่วมมือไม่มีการกำหนดราคา ไม่มีข้อตกลงใดๆ อีกต่อไป แล้วผู้ซื้อ (โรงงานน้ำตาล) ผู้ขาย (ชาวไร่อ้อย) จะเดินไปในทิศทางใดคือคำตอบที่ รัฐต้องรับผิดชอบ
เหตุร้าวฉานโรงงาน ชาวไร่
อ้อย คือ พืชเศรษฐกิจที่มีระบบการซื้อชายไม่เหมือนกับพืชชนิดอื่น ซึ่งระบบดังกล่าวนี้มีผู้ร่วมใน โครงสร้างหลัก 3ตัวละคร 1. สำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) 2. โรงงานน้ำตาล 57 โรง 3.ชาวไร่ผู้ปลูกอ้อยทั่วประเทศ เดิมก่อนที่จะมีกฎหมายอ้อยขึ้นมา 2 ฝ่าย คือ โรงงานน้ำตาลและขาวไร่ ได้มีการตกลงกันให้เกิดระบบการซื้อขาย มีรูปแบบการแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30
แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลรายหนึ่ง กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจ ถึงเบื้องลึกปัญหาโรงงานกับชาวไร่ว่า เปรียบเสมือน ผัวเมีย คนในครอบครัวเดียวกันคุยกันตกลงกันแล้วก็ให้คนนอกอย่าง สอน.เป็นญาติผู้ใหญ่ ช่วยร่างกฎหมายขึ้นมาให้เป็น พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายปี 2527 จากนั้นเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปมีหลายสาเหตุที่ต้องปรับแก้ เพราะต้องการที่จะหลุดจากข้อครหาของ WTO ผัวเมียตกลงกันแล้วยื่นเสนอให้รัฐเข้ากระบวนการปรับแก้ตามปกติ แต่อยู่มาวันหนึ่งเมื่อเมียกลับหักหลัง ยื่นเพิ่มเรื่องกากอ้อยเข้าไปโดยไม่ปรึกษาผัวโดยมีญาติผู้ใหญ่เห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ใช้วิธีการโหวตเป็นที่น่าเสียใจเมื่อเสียงข้างน้อยกลับชนะในเกมนี้ กากอ้อยถูกดันเข้าไปลึกจนถึงขั้นของ ส.ว.
คำถามคือเหตำใดคนในบ้านถึงไม่คุยกันก่อนและเหตุใด สอน.ในฐานะผู้กำกับดูแลถึงยอมให้เรื่องดังกล่าวไปไกลจนก่อให้เกิดความร้าวฉานกันได้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในเมื่อ กระทรวงอุตสาหกรรม เองมีอำนาจในการดึงเรื่องกลับ และให้ทั้ง 2 ฝ่ายโรงงาน-ชาวไร่ ได้ตกลงจนตกผลึกเสียก่อน
จ่อร้องศาลปกครองสูงสุด
แน่นอนว่าแก้วที่ร้าวย่อมพร้อมที่จะแตก แนวทางที่โรงงานน้ำตาลต้องทำคือการร้องต่อ ศาลปกครองและอาจไปถึง ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาถึงความไม่ชอบธรรมขณะเดียวกันก็จะกลับไป ซื้อขายอ้อยกันแบบปกติ ซื้อมาขายไป จ่ายเงินจบ เพราะจากการหารือกับชาวไร่อ้อยในพื้นที่จริง นับ10,000 ราย ยังคงพอใจกับ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับที่กระทรวงอุตสาหกรรมยื่นไปก่อนหน้านี้ และยินยอมที่จะซื้อมาขายไปกับโรงงานน้ำตาลกันแบบปกติเนื่องจากโรงงานเองก็ต้องดำเนินธุรกิจต้องผลิตน้ำตาลป้อนคนทั้งประเทศส่วนชาวไร่เองก็ไม่สามารถทิ้งอ้อยได้เมื่อปลูกแล้วก็ต้องขาย
เร็วๆ นี้ จะมีการคำนวณราคาค่าอ้อยขั้นต้น ก่อนเปิดหีบฤดูกาลปี 2565/2566 ในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ ก็ต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวกันพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่ากระแสการปรับ ครม. การเลือกตั้งใหม่ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงการเมืองในด้านอื่นๆ ย่อมมีผลต่อกฎหมายอ้อยฉบับนี้ไม่มากก็น้อยอย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลยังคงย้ำเสมอว่า ยอมรับการใช้กฎหมายอ้อย แต่ไม่ยอมรับกฎหมายฉบับใหม่ที่ร่างโดยคนเพียงกลุ่มเดียว
ลุ้น ส.ว. เคาะจบภายใน ส.ค.นี้
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผยว่า การลงความเห็นของ ส.ว. จะมีเวลาอีกราว 2 สัปดาห์ ในการพิจารณาว่าจะเป็นไปตามที่ ส.ส. ได้ผ่านร่าง นี้มาแล้วหรือไม่ หากเห็นต่างจะต้องนำเรื่องเข้ารัฐสภาเคาะให้จบตามกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ส่งเรื่องเข้าไปเมื่อ 2เดือนก่อน ดังนั้นแล้วร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับแก้ไขนี้จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค.2565 หากไม่ทันร่าง ดังกล่าวจะต้องประกาศใช้โดยอัตโนมัติ แน่นอนว่าตามที่โรงงานน้ำตาลประกาศจะลาออกจากคณะกรรมการและทุกสมาคมนั้น จะต้องมีผลต่อหลักการบริหารงาน เพราะตามกฎหมายมันคือความร่วมมือแบบไตรภาคี
ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีชาวไร่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการนำกากอ้อยเข้ามาในระบบและมีเพียงบางส่วนที่เห็นด้วย การพิจารณามันอยู่ที่ดุลพินิจ ในเมื่อมันถูกเดินหน้ามาไกลขนาดนี้ อยู่ที่ว่าจากนี้ไปหน้าที่ของรัฐบาลคือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ และจะมีแนวทางบริหารอย่างไรให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำ ไม่สะเทือนทั้งระบบ
จาก https://www.prachachat.net วันที่ 18 สิงหาคม 2565ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดเช้านี้ แข็งค่า ที่ระดับ 35.36 บาทดอลลาร์
เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 35.10-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทที่อาจมาจากเงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.47 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทที่อาจมาจากเงินดอลลาร์ได้ในช่วงระหว่างตลาดรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ รวมถึงช่วงตลาดรับรู้รายงานการประชุม FOMC
ล่าสุด ซึ่งเงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากตลาดกลับมามองว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ได้ชะลอตัวลงจนน่ากังวล แต่เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเฟดที่ต้องแก้ไข
ทั้งนี้ เรามองว่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 35.10-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางของตลาดการเงิน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.45 บาท/ดอลลาร์
รายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ Walmart และ Home Depot ที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ได้ช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ โดยรวมดีขึ้นและบรรดาผู้เล่นในตลาดยังคงกล้าที่จะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้ดัชนี Dow Jones ปิดตลาด +0.71% ส่วน S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.19%
อย่างไรก็ดี รายงานผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกที่ดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีมุมมองที่ดีต่อแนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนในสหรัฐฯและคลายกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 2.85% กดดันให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.19%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวขึ้นราว +0.16% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด นำโดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย
ซึ่งสะท้อนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ -55.3 จุด แย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยซื้อหุ้นในกลุ่ม Defensive อาทิ หุ้นกลุ่มเทเลคอม (Telefonica +2.7%) และกลุ่มการแพทย์ (Sanofi +1.7%) มากขึ้น
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 106.4 จุด หลังผู้เล่นในตลาดลดความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยลงบ้าง จากความหวังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนักหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดยังสอดคล้องกับการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่ระดับ 134.3 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงมาบ้าง แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,789 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกรกฎาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการบริโภคของผู้คน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้
ตลาดมองว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวได้ราว +0.1%m/m หรือ +0.3%m/m สำหรับยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหาร ซึ่งการขยายตัวต่อเนื่องของยอดค้าปลีกนั้นหนุนโดย ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนยังดูสดใส สะท้อนจากรายงานยอดขาย Amazon Prime ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคมที่แข็งแกร่ง และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (ซึ่งจะทราบในช่วงเวลา 01.00 น. ตามเวลาในประเทศไทยของวันพฤหัสฯ) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด หลังที่ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ โดยรวมเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้นจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะเงินเฟ้อทั่วไป (CPI)
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษ (CPI) เดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 9.8% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ก็เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 6.0% เช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน
จาก ttps://www.thansettakij.com วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565
KTIS กำไร 9 เดือน 315 ล้านบาท โต 125.8% รายได้สายธุรกิจน้ำตาล-ไฟฟ้า-เอทานอลเติบโตดี
KTIS เปิดเผยผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ปี 2565 (ต.ค. 64 - มิ.ย. 65) มีกำไรสุทธิ 315.3 ล้านบาท เติบโต 125.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 64 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 1,224.5 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณอ้อยมากกว่าปีก่อน ส่งผลให้มีรายได้จากการขายน้ำตาล ไฟฟ้า และเอทานอล เพิ่มขึ้น
นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในรอบ 9 เดือน ปี 2565 (ตุลาคม 2564 - มิถุนายน 2565) เติบโตได้ดี โดยมีรายได้รวม 11,187.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 315.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 125.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
ด้วยปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านตัน เป็น 6.2 ล้านตัน ในฤดูการผลิตปี 64/65 ส่งผลให้มีรายได้จากการขายน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 42.2% รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 21.3% และรายได้จากธุรกิจเอทานอลเพิ่มขึ้น 15.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า โครงการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ขณะนี้ได้ทดลองผลิตจนมั่นใจในการนำออกสู่ตลาดแล้ว โดยรายได้จากสายธุรกิจใหม่นี้จะรับรู้เข้ามาในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และจะรับรู้แบบเต็มปีในปี 2566 ซึ่งจะช่วยเสริมการเติบโตของกลุ่ม KTIS ในระยะยาว
จาก https://siamrath.co.th วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565
เกษตรฯไทย-ญี่ปุ่นร่วมมือ เปิดมิติใหม่บนแพลตฟอร์มFKII
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว นายโชติ พึงเจริญพงศ์ คณะทำงานที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ นายสกนธ์ วนาเศรษฐี ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโตเกียว เข้าหารือกับ นายคูนิอากิ คาวามูระ ประธานสภาความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และภาครัฐซึ่งมีแพลตฟอร์มเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการเป็นแหล่งองค์ความรู้ การบูรณาการและนวัตกรรม (Filed for Knowledge,
Integration & Innovation หรือ FKII) FKII ภายใต้กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) โดยมีนายโอคูมะ ราเคชิ(Mr. Okuma Rakeshi) ผอ.FKII และทีมงาน เข้าร่วม
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ประเทศไทยมีการขยายความร่วมมือทางด้านการเกษตรกับประเทศญี่ปุ่นในมิติต่างๆ ภายหลังจากนายเก็นจิโร คาเนโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น พร้อมคณะ เข้าพบหารือกับ ดร.เฉลิมชัย
ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 135 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง2 ประเทศ
พร้อมกันนั้น นายอลงกรณ์ ได้แสดงความชื่นชม FKII ที่สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ในหลากหลายด้าน อาทิ เกษตรอัจฉริยะ อาหารสุขภาพ เกษตรกรรมยั่งยืน ฯลฯ โดยเฉพาะงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable agriculture) ที่ FKII มีแพลตฟอร์มเพื่อการวิจัยและพัฒนาถึง 72 กลุ่ม สอดคล้องกับแนวนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาให้ไทยเป็นแหล่งอาหารของโลก โดยการวิจัยและพัฒนาการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่ให้คุณค่าทางสารอาหารและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ยังได้ให้ความสนใจกับการวิจัยและพัฒนาของ FKII และประสงค์จะสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในหลายประเด็น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และศูนย์ความเป็นเลิศ (COE) มีการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวเพื่อพัฒนาการผลิตการแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง หากมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันจะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ได้ให้ความสนใจด้านระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรักษาคุณภาพสินค้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหาร เพิ่มมูลค่าทางการค้าและลดความสูญเสียอาหารได้ด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565
กรมชลฯ สั่งเกาะติดสถานการณ์น้ำ-สภาพอากาศ พร้อมรับมือน้ำฝน
วันที่ 16 ก.ค.65 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (16 ก.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 46,102 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 29,983 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,011 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 12,860 ล้าน ลบ.ม.
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 16-17 ส.ค.65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 18 - 19 ส.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และในช่วงวันที่ 20 - 22 ส.ค. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ทั้งนี้ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนดและเป็นไปตามแผน รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ติดตามข้อมูลผ่านระบบโทรมาตรมาช่วยในการแจ้งเตือนประชาชนก่อนการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบนโยบายไว้ พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทานต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงานใด ต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา
จาก https://siamrath.co.th วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2565
จอดป้ายประชาชื่น : จับตาปฏิรูป กม.โรงงาน ปัญหาการลักลอบทิ้งกาก (ขยะ)
ผู้เขียน ปิยะวรรณ ผลเจริญ
ปัญหาการลักลอบทิ้งกาก (ขยะ) อุตสาหกรรม ทั้งชนิดทั่วไปและเป็นพิษ เป็นสิ่งที่สังคมกำลังจับตา แต่ดูเหมือนโทษทัณฑ์ของผู้กระทำผิดจะเบาไปหรือไม่ การลักลอบจึงเกิดขึ้นซ้ำ ประหนึ่งว่าผู้กระผิดไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย
ประเด็นนี้ล่าสุดได้รับข้อมูลจากหน่วยงานกำกับดูแลตรง อย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พบว่า ปีงบประมาณ 2565 กรมโรงงานฯได้ทุ่มสรรพกำลังเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 43 ฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการลักลอบทิ้งกากอุตฯ
ล่าสุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ตรวจสอบความคืบหน้าการปฏิรูปกฎหมาย มีกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว 14 ฉบับ อาทิ ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการผ่อนผันสำหรับการนำกลับเข้ามา หรือการส่งกลับออกไปซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ พ.ศ.2564, ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2564, กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2564
ดังนั้นจึงเหลือกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 29 ฉบับจำนวนนี้มีอยู่ฉบับหนึ่งที่สำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ) โดยกรมโรงงานฯมีเป้าหมายเพิ่มโทษ อาทิ ผู้ลักลอบทิ้งกาก จากปัจจุบันโทษมีเพียงปรับเป็นจำนวน 1 แสนบาท โดยจะเพิ่มในส่วนของโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้ผู้กระทำผิดหลาบจำ เรื่องนี้ยังมีข้อถกเถียงว่าโทษจำคุกรุนแรงไปหรือไม่ แต่กรมโรงงานฯยืนยันสถิติปัจจุบันพบผู้ทำผิดซ้ำซาก ไม่เกรงกลัวกฎหมาย การเพิ่มโทษจึงจำเป็น
ขณะเดียวกันในกฎหมายฉบับนี้ กรมโรงงานฯยังมีเป้าหมายเพิ่มอำนาจสั่งการแก้ไขหลังปิดโรงงาน จากปัจจุบันหากสั่งปิดโรงงานที่กระทำผิดแล้วผู้ประกอบการจะไม่รับผิดชอบแก้ไขใดๆ ขณะที่กรมโรงงานฯก็ไม่มีอำนาจ เพราะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นแล้ว ดังนั้นการเพิ่มอำนาจสั่งการหลังปิดโรงงานจึงจำเป็น
นอกจากนี้ ในกฎหมายฉบับนี้ กรมโรงงานฯตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมวงเงิน 70-80 ล้านบาทต่อโรง เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการดูแลประชาชนรอบพื้นที่หากโรงงานเกิดปัญหา โดยจะขอเงินตั้งต้นจากค่าธรรมเนียมโรงงานที่ส่งเป็นรายได้รัฐ เพื่อให้เงินนี้สามารถนำมาใช้เยียวยาประชาชนควบคู่กับการช่วยเหลือจากโรงงาน
น่าติดตาม ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ) และกฎหมายฉบับอื่นๆ รวม 29 ฉบับ ว่าจะได้ทำคลอดปีนี้หรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจะลงเอยแบบไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนและสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการดูแล ได้ประโยชน์จากกฎหมายที่กำกับโดยกรมโรงงานฯ!!
จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 16 สิงหาคม 2565
KSL ชี้ปี 66 ปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม ยอดขายโตตาม ราคาน้ำตาล
เงินเฟ้อ และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ - จีนกรณีไต้หวัน สารพัด! ปัจจัยลบที่มีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก แต่กลับเป็นผลบวกต่อ ราคาน้ำตาล และหนึ่งในนั้นคือ ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลอย่าง บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL
ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSLเล่าให้ฟังว่า คาดแนวโน้มราคาน้ำตาลในปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ (บวก-ลบ) จากปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานเงินเฟ้อสูง และสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความตึงเครียดระหว่าง สหรัฐ และจีน กรณีไต้หวัน
ขณะเดียวกันผู้ผลิต และส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก อย่าง ประเทศอินเดีย ก็ยังไม่มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะมีการส่งออกของรัฐบาลอินเดีย และความต้องการ (ดีมานด์) ของประเทศเวียดนาม ก็กลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งสะท้อนผ่านมีการนำเข้าน้ำตาลราว 1-2 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาน้ำตาลดังนั้น คาดการณ์ปริมาณการขายในปี 66 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากราคาขายน้ำตาลที่ปรับตัวขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทคาดปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 66 ที่จะเริ่มฤดูกาลหีบอ้อยในช่วงเดือนพ.ย. 2565 ไปจนถึงเดือน มี.ค.2566 จะเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 8.20 ล้านตันอ้อย และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลราว 9 แสนตัน จากปี 2565 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 6.56 ล้านตันอ้อย คิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาลประมาณ 6.9-7 แสนตัน เป็นผลจากสภาวะอากาศที่เอื้อต่ออ้อย
ปัจจัยลบที่ต้องติดตามเนื่องจากมีผลกระทบ กดดัน ต่อราคาน้ำตาล นั่นคือ สถานการณ์คาดการณ์เกินดุลในปี 66, การปรับภาษีพลังงานในประเทศบราซิล โดยเฉพาะเอทานอล จะส่งผลให้ราคาปรับตัวลงมา และดึงราคาน้ำตาลลงมาอยู่ใกล้ราคาเอทานอล, การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเทรนด์การบริโภคน้ำตาลที่ ลดลง รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ Sugar Currency ที่เป็นผู้ผลิตอ่อนค่า อีกทั้งปัจจุบันกองทุนยังคงถือสถานะ ขายสุทธิ
อย่างไรก็ตามบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) (TCSC) ได้มีการทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในปี 66 ไปแล้วถึง 50% เป็นราคาน้ำตาลที่ประมาณ 20.20 เซ็นต์ต่อปอนด์ มีค่าเฉลี่ยของค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยราคาน้ำตาลใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ค่าเงินบาทดีขึ้นประมาณ 2 บาท ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำตาลหรือโรงงานน้ำตาลมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น
สำหรับปริมาณการขายในครึ่งปีหลังของปี 65 คาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก จากอ้อยที่เพิ่มขึ้น และราคาขายที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัท ขณะที่ธุรกิจเอทานอล ยอมรับว่าครึ่งปีแรกยังไม่ค่อยดี จากวัตถุดิบปรับตัวขึ้นสูง และสถานการณ์ก็ไม่ได้ทำให้ราคาเอทานอลปรับตัวขึ้นไปตามต้นทุน แต่ครึ่งปีหลังคาดว่าราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้น ส่งผลดีต่อผลประกอบการของเอทานอลดีกว่าครึ่งปีแรก หรือกลับมามีกำไรที่ดีขึ้นพอสมควร ทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง
ด้านงบลงทุนปี 2565 ที่จะสิ้นสุดเดือนต.ค.2565 วางไว้ที่ 300 ล้านบาท แต่อาจจะใช้ไม่ถึง ส่วนในปี 2566 วางไว้ที่ 400 ล้านบาท เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก หากมีโครงการใดที่มี ผลตอบแทน (รีเทิร์น)ได้เร็วก็อาจจะมีการลงทุนเพิ่มเติม
ท้ายสุด ชลัชบอกไว้ว่า คาดทิศทางธุรกิจน้ำตาลได้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปแล้วหลังจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ขณะที่แนวโน้มในปัจจุบันมีหลากหลายปัจจัยที่หนุนราคาน้ำตาล ดังนั้น คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตตามทิศทางราคาน้ำตาลที่ทรงตัวในระดับสูง
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 15 สิงหาคม 2565
นายกฯชูอีอีซีวางรากฐานประเทศ 10 ปี สรุปผลช่วงแรกปี61-65 ตามเป้า 4 ด้าน
15 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า วันนี้ (15 ส.ค.65) ผมมีภารกิจสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาของประเทศไว้ให้ทุกคน ในอีกมากกว่า 10 ปีข้างหน้า นั่นคือ การขับเคลื่อน โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกในอนาคตของลูกหลานของเรา ซึ่งจะเป็นการนำบทเรียนในอดีตมาสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ ให้มีความสมดุล โดยจะต้องไม่เป็นเพียงการพัฒนาทางวัตถุอย่างเดียว แล้วละทิ้งการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ให้เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามมาในภายหลัง
ในครั้งนี้ ได้มีการสรุปผลการดำเนินการของ EEC ช่วงปี 2561-2565 ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เราประสบความสำเร็จในทุกๆ เป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ เช่น
1. การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินอู่ตะเภา รวมแล้วกว่า 6.55 แสนล้านบาท ในรูปแบบการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน หรือ PPP ที่เน้นเม็ดเงินจากภาคเอกชนไทยเป็นหลัก (64%) ที่จะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินให้สามารถนำไปใช้ในกิจการ หรือสวัสดิการอื่นๆ
2. การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเริ่มมีการลุงทุนแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท เช่น (1) บริษัท Great Wall Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศจีน มาตั้งฐานการผลิตรถ EV เบื้องต้น 80,000 คัน/ปี เงินลงทุนสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3,000 ตำแหน่ง และยังเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย (2) บริษัท EVLOMO ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของอาเซียน เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง มูลค่าการลงทุนกว่า 3.3 พันล้านบาท สร้างอาชีพในพื้นที่กว่า 3,000 ตำแหน่ง (3) บริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ร่วมกับบริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด เตรียมเปิดสวนสนุกและสวนน้ำ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส แห่งแรกของโลก ใน EEC ภายในปี 2565 นี้ เป็นต้น
3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแรงงานทักษะสูง ป้อนภาคการผลิตของประเทศอย่างตรงเป้าหมาย ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาครัฐ กับ 26 สถาบันการศึกษาและวิจัย และผู้นำภาคธุรกิจชั้นนำของโลก เช่น (1) Huawei Academy (2) Cisco Training Center ตลอดจน Toyota - Delta - BMW - SCG เป็นต้น ซึ่งจะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ที่ทันสมัย เพื่อระดมสร้างนวัตกรรมคลื่นรุ่นใหม่ให้กับประเทศ
4. การเชื่อมโยงผลประโยชน์ให้ตกถึงประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ในการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่นของตน โดยไม่ต้องไปแสวงโชคในเมืองใหญ่ และไม่ทิ้งมลพิษ ขยะมูลฝอย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่ง EEC นี้ รัฐบาลมุ่งหวังที่จะให้เป็นโมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป
แม้ว่าการปิดประเทศจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา จะทำให้อัตราการขยายตัวของ EEC นั้นชะลอตัวไปจากเป้าหมายเดิม แต่ในปัจจุบัน เราได้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง จากความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การระบาด และความมีเสถียรภาพของสถานะทางการคลังของเรา ทำให้มั่นใจได้ว่า ช่วงปีหน้า 2566-2570 จะเป็นช่วงการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ได้ถึง 7-9% ต่อ GDP ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นในอัตรา 5% ต่อปี
ผมขอเรียนกับพี่น้องประชาชนชาวไทยว่า แม้ว่าสถานที่ตั้งของ EEC จะอยู่ที่ภาคตะวันออก แต่ผลประโยชน์ล้ำค่าที่จะเกิดขึ้นนั้น จะตกถึงพี่น้องประชาชนไทยทั่วทั้งประเทศอย่างแน่นอน ทั้งในระดับมหภาค นั่นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามา รวมทั้งการเกิดธุรกิจ การจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และในระดับภูมิภาค ที่จะเกิดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ เดินทางเข้ามาลงทุน จับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย และการขยายสาขาของบริษัทขนาดใหญ่ลงไปในศูนย์กลางภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเมื่อผนวกกับมรดกวัฒนธรรมและ Soft Power ที่ไทยเรามีอย่างมากมาย จะนำพาให้ไทย กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ระดับชั้นนำ ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ในไม่ช้านี้อย่างแน่นอนครับ
จาก https://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม 2565
ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด อ่อนค่าที่ระดับ 35.29 บาทต่อดอลลาร์
ค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวน อ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ แต่หากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวดีกว่าคาดอาจพอหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.29 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.18 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะเป็นที่สนใจของตลาด นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตารายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ส่วนในฝั่งไทย ควรรอติดตาม รายงาน GDP ในไตรมาสที่ 2
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกรกฎาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการบริโภคของผู้คน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับนโยบายการเงินของเฟดได้
โดยตลาดมองว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวได้ราว +0.1%m/m หรือ +0.3%m/m สำหรับยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหาร ซึ่งการขยายตัวต่อเนื่องของยอดค้าปลีกนั้นหนุนโดย ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนยังดูสดใส สะท้อนจากรายงานยอดขาย Amazon Prime ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคมที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกรายสำคัญ อาทิ Walmart, Home Depot, Lowes และ Target เพื่อประเมินแนวโน้มการใช้จ่าย
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด หลังที่ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ โดยรวมเริ่มชะลอตัวลงมากขึ้นจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะเงินเฟ้อทั่วไป (CPI)
ฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษ (CPI) เดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 9.8% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ก็เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 6.0% เช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน
ส่วนในฝั่งยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็มีแนวโน้มเร่งขึ้นสู่ระดับ 8.9% เช่นกัน ทำให้ตลาดต่างมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกันยายนเช่นเดียวกับ BOE
ฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 อาจขยายตัวราว +2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี จากอานิสงส์การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
ทั้งนี้ แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นจะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.6% ในเดือนกรกฎาคม ตามการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ แต่เมื่อหักผลของราคาอาหารสดและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.1% ทำให้ตลาดคงมองว่า BOJ จะยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ในขณะที่ ธนาคารกลางอื่นๆ อาจเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
ในสัปดาห์นี้ ตลาดมองว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจมีความจำเป็นที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.00% และ 3.75% ตามลำดับ หลังเงินเฟ้อในทั้งสองประเทศได้เร่งตัวสูงขึ้น พร้อมภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น
ส่วนในฝั่งจีน ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน โดยตลาดคงมองว่า เศรษฐกิจจีนในเดือนกรกฎาคมยังมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) อาจโต +4.3%y/y ส่วนยอดค้าปลีกจะขยายตัวราว +4.9%y/y หลังรัฐบาลยังไม่ได้ใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดอีกครั้ง
ทว่า ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ความเสี่ยงที่ทางการจีนจะใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ
ฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีกว่าคาด รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานจะช่วยหนุนให้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวราว +3.1%y/y ในไตรมาสที่ 2 เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวเพียง +2.2%y/y ในไตรมาสแรก เราคาดว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่องจะช่วยหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องได้ โดย กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทว่า หากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวดีกว่าคาด เช่นเดียวกับ ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติอาจยังเดินหน้าซื้อสุทธิสินทรัพย์เสี่ยงได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ซื้อสุทธิหุ้นไทยอาจพอช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ แต่เรามองว่า แรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มจำกัดลง หลังหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควรในระยะสั้น
ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะเป็นโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้นำเข้าต่างรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจใช้จังหวะเงินบาทแข็งค่าใกล้แนวรับในการขายทำกำไรได้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีกว่าคาด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน (ตลาดให้โอกาสราว 45% จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด)
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.00-35.60 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาท/ดอลลาร์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 35.33-35.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.00 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในประเทศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาที่ 35.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลง (หลังแข็งค่าค่อนข้างมากในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า) ตามทิศทางเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงประคองจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายยังออกมาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่อาจสะท้อนว่า แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ชะลอตัวลงก็ตาม
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.15-35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่การตอบรับของตลาดต่อตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/65 ของไทย และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค.
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 สิงหาคม 2565
คิดเห็นแชร์ : ความมั่นคงพลังงานในโลกยุคใหม่
ผู้เขียน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน
ห่างหายไปหลายเดือน ผมต้องขอโทษด้วย ส่วนหนึ่งเพราะเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีเรื่องมาเล่าเพิ่มเติมในวันนี้ อีกทั้งมีภารกิจส่วนตัวที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาครับ
ผมคงจะขอเขียนบทความในเรื่องพลังงานน้อยลงนะครับหลังจากนี้ เพราะว่าผมได้ยื่นใบลาออกจากกระทรวงพลังงานแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการ กราบบังคมทูลขอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เรียบร้อยตามกระบวนการ ทั้งนี้ ด้วยเพราะผมได้รับการคัดสรรให้เตรียมที่จะเข้ารับตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.หรือ OKMD) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ครับ คาดว่าจะสามารถเริ่มทำงานที่ใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ ครับ
เลยจะขออนุญาตเล่าเรื่องที่ได้รับเชิญไปประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปลายเดือน ก.ค.นี้ ให้เป็นบทความส่งท้ายในสาระเรื่องพลังงานครับ อนึ่ง ต้องเกริ่นนำว่าด้วยในรอบปีกว่าๆ ที่ผ่านมาผมได้รับคัดเลือกให้เป็น Clean EDGE Asia Fellow หรือ นักวิจัยสมทบจากสถาบัน National Bureau of Asian Studies (NBR) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (US. State Department) ที่ทาง NBR ได้คัดเลือกผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition จากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศละ 1 คน (ยกเว้นอินเดีย มี 2 คน) ให้ได้ทำงานวิจัยเขียนบทความ และมาร่วมประชุมสัมมนาระดมสมองกัน ซึ่งที่ผ่านมาปีกว่าๆ ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมบรรยาย และแสดงความคิดเห็นในหลายเวทีผ่านทางการประชุมออนไลน์ มีครั้งสุดท้ายนี้แหละครับ ที่ทางผู้จัดได้เชิญให้ไปร่วมและชูเป็นประเด็นหลักเกี่ยวกับ Energy Transition ใน ASEAN คือ ASEAN จะสามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่การใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจังได้โดยไม่ยากนัก
หาก 3 เรื่องดังต่อไปนี้ได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งได้แก่
1.การลงทุนในโครงการ ASEAN Power Grid เพื่อเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงดันสูง (500 kv) ให้ครอบคลุมประเทศใน ASEAN ให้มากที่สุด
2.ให้มีการจัดตั้ง ตลาดกลางการซื้อ-ขาย และแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า ของ ASEAN ขึ้นโดยให้มีองค์ประกอบทางเทคนิค ซึ่งได้แก่ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) และองค์ประกอบในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ ตลาดกลาง (Market Operator) และระบบการจัดการ Payment & Tax Settlement
3.ควรให้แต่ละประเทศได้ปรับปรุงระบบกิจการไฟฟ้าของประเทศตัวเองให้มีกลไกยืดหยุ่น และเปิดเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับการ ซื้อ-ขาย กับผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละระดับ
ในบทความของผม ผมได้แสดงความเห็นว่าหากทำได้ดังกล่าวจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และเร่งการเปลี่ยนแปลงผ่านพลังงานสามารถขยายผลอย่างรวดเร็วได้
นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวแล้วยังมีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ Energy Security ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ทราบว่าทางอเมริกา ตระหนักและเป็นกังวลว่าความมั่นคงด้านพลังงานของโลกอาจจะมีปัจจัยใหม่ที่เกี่ยวกับ แร่ธาตุสำคัญ หรือ ที่เรียกว่า Critical Minerals or Rare Earth ที่หมายถึง แร่ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ แร่ลิเธียม โคบอลต์ นิเกิล และ แมงกานีส เป็นต้น
ประเด็นหลัก คือ แร่ธาตุเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ภูมิภาค และที่สำคัญ ได้แก่ ในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งเหมืองแร่หลายแห่งใน 2 ทวีปนี้ได้ถูกบริษัทของจีนครอบครองไปหมดแล้ว และแถมยังมีการหยิบยกเรื่องการซื้อ-ขาย แร่ธาตุเหล่านี้มาเป็นประเด็นในการกีดกัน และตอบโต้ทางการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน อีกด้วย ทำให้สินแร่เหล่านี้เริ่มแพง และหาได้ยากในตลาดทั่วไป ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ปลายทาง เช่น รถ EV และ แบตเตอรี่ ต่างๆ มีราคาแพงขึ้น (มาก) แถมการส่งมอบของก็อาจจะต้องใช้เวลานานมากๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมา เพียงจะเล่าว่า มิติของความมั่นคงด้านพลังงานในโลกยุคใหม่ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับแค่เรื่องน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า เท่านั้น แต่ยังไปโยงถึงนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ผมยังรู้สึกเหมือนว่าหลายๆ ประเทศใน ASEAN (รวมทั้งไทย) จะยังเป็นนโยบายตั้งรับอยู่เยอะเลย เรื่องนี้อาจสั่นคลอนความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาคได้ทีเดียวนะครับ
จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 14 สิงหาคม 2565
พาณิชย์ พร้อมรับมือวิกฤติ เน้นดูแลราคาสินค้า 18 หมวด-หาแหล่งนำเข้าปุ๋ย
พาณิชย์ เผยจัดมาตรการเตรียมพร้อมรองรับวิกฤติพลังงานและอาหารแล้ว ทั้งมาตรการที่ดำเนินการอยู่ มาตรการเร่งด่วน และมาตรการเร่งทำต่อเนื่อง เน้นดูแลราคาสินค้า 18 หมวดที่จำเป็น ส่งเสริมค้าออนไลน์ หาแหล่งนำเข้าปุ๋ยอื่นทดแทนรัสเซีย ผ่อนคลายนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เร่งเจรจาทดเอฟทีเอใหม่ และอัปเกรดเอฟทีเอเดิม พร้อมทลายอุปสรรคการค้าทุกรูปแบบ
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 1/65 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ได้พิจารณาการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับวิกฤติเศรษฐกิจ 4 ด้านคือ 1.พลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.การขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร 3.การเงินภาคครัวเรือนและ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และ 4.เชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทั้ง 4 ด้าน มีมาตรการที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน มาตรการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง
สำหรับกระทรวงพาณิชย์ มาตรการที่ดำเนินการในปัจจุบันและมาตรการเร่งด่วน และได้กำหนดไว้ในแผนรับมือวิกฤติครั้งนี้แล้ว ได้แก่ 1.การกำกับดูแลราคาสินค้า 18 หมวดสำคัญ ที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคของประชาชน 2.การเร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ 3.การเร่งรัดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับคู่ค้าที่มีศักยภาพ และเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า 4.ยกระดับการเจรจาเอฟทีเอที่มีอยู่ 5.เปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ และทำมินิ เอฟทีเอ หรือข้อตกลงในการเจาะตลาดเมืองรองในประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพ 6.การจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์ระหว่างผู้ส่งออกไทย และผู้นำเข้าประเทศต่างๆ 7.มาตรการทางด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์และปศุสัตว์
รองนายกฯ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์) ที่เข้าร่วมประชุมได้รายงานสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงาน โดยเฉพาะการหาแหล่งนำเข้าปุ๋ยเคมีทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย ซึ่งได้เจรจาซื้อจากซาอุดี อาระเบีย 300,000 กว่าตันแล้ว และจะต้องเจรจาอีกในช่วงการเดินทางไปซาอุฯ วันที่ 27-31 ส.ค.นี้ เพื่อให้เกษตรกรมีปุ๋ยเพียงพอ ไม่ขาดแคลน รวมทั้งมาตรการวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่มีการผ่อนปรนการนำเข้า เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ นอกนั้นในส่วนของหนี้ครัวเรือน จริงๆ ก็เริ่มลดลงแต่รายจ่ายครัวเรือนอาจจะยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และธุรกิจเอสเอ็มอี แม้ในภาพรวมค่อยๆฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ยังกังวลเรื่องต้นทุนกำไรกันอยู่ ก็จะต้องมีมาตรการมาดูแลต่อไป
ส่วนมาตรการเร่งด่วน ในส่วนของหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการเสนอในที่ประชุม ได้แก่ ด้านพลังงานและสินค้า ได้กำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน ต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ จัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือนของ ขสมก. รฟท. และ รฟม. เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน, ด้านการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร ได้เตรียมมาตรการลดต้นทุนการผลิต เช่น โครงการบริหารจัดการปุ๋ย ชดเชยราคาปุ๋ยให้เกษตรกร ส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ
สำหรับด้านวิกฤติการเงินภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี ที่ประชุมเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ต่อเนื่อง สนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด และให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีต่อ, ด้านเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ให้ ธปท.และกระทรวงการคลังพิจารณามาตรการสนับสนุนด้านการเงินในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร เป็นต้น
ขณะที่มาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง ด้านวิกฤติต้นทุนพลังงานและสินค้า ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เน้นการขนส่งทางราง ลดการใช้พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด, ด้านการขาดแคลนวัตถุดิบการเกษตร ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อลดการนำเข้า ศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทส ด้านวิกฤติการเงินภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี รัฐบาลจะดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พัฒนาทักษะทางการเงินทุกช่วงวัย เร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ สร้างแต้มต่อให้เอสเอ็มอีในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และดูแลหนี้สินของประชาชนรายย่อย
ด้านวิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เร่งเตรียมความพร้อมในการแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิตของโลกและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิต ยกระดับการเจรจาเอฟทีเอที่มีอยู่และเปิดเจรจากรอบใหม่ ตลอดจนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า.
จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 13 สิงหาคม 2565
กลัวเงินเฟ้อ vs กลัวเศรษฐกิจถดถอย
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่วงนี้ผู้อ่านคงเห็นข่าวธนาคารกลางในโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยแข่งกับเวลา หวังเอาชนะเงินเฟ้อสูงก่อนคุมไม่อยู่ จนนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มมองว่า นโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วทั่วโลกเพื่อสกัดเงินเฟ้อยามนี้ คล้ายช่วงเงินเฟ้อสูงปี 1970s จนอาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยตามมาได้
หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ธนาคารกลางส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยกระชากแรงหวังคุมเงินเฟ้อรอบนี้ ไม่กลัวหรือว่าจะกลายเป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจถดถอย เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ธนาคารกลางมีหน้าที่ดูแลให้เศรษฐกิจและราคามีเสถียรภาพยั่งยืน แล้วเหตุใดในยุคของแพงค่าแรงไล่ไม่ทันยามนี้ ธนาคารกลางจึงกลัวเงินเฟ้อสูง (inflation fear) มากกว่ากลัวเศรษฐกิจจะถดถอย (recession fear) จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวเร็วทั่วโลก วันนี้อยากชวนผู้อ่านมาคิดเรื่องนี้กันค่ะ
ธนาคารกลางอาจประเมินไว้ในกรณีฐาน (กรณีที่น่าจะเป็นไปได้มากสุด) ว่า แม้ทำนโยบายการเงินตึงตัวมากเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เศรษฐกิจก็ยังรับไหว การเหยียบเบรกนโยบายการเงินแรงจะช่วยกดเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปสงค์ได้ เพราะเมื่อต้นทุนดอกเบี้ยแพงขึ้น คนมีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น ต้องลดการใช้จ่ายลง ทำให้อุปสงค์รวมในประเทศลดลง แถมยังช่วยสกัดเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้คนไม่ให้สูงต่อเนื่องได้ด้วย สุดท้ายจะช่วยดึงเงินเฟ้อให้กลับเข้าเป้าได้สำเร็จ ไม่กระทบเศรษฐกิจเยอะ ความเสี่ยงเศรษฐกิจจะถดถอยอาจมี แต่คงไม่มาก
ช่วงหลังเริ่มมีคนเห็นต่างมากขึ้น มองว่าตัวแปรสำคัญอยู่ที่ บทบาทปัจจัยอุปทานต่อเงินเฟ้อ หากปัจจัยอุปทาน (จากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ปัญหาคอขวดอุปทานผลิตไม่ทันใช้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงมาตรการ Zero โควิดของจีนทำให้ผลิตป้อนโลกได้น้อยลง) เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เงินเฟ้อพุ่งแรงกว่าปัจจัยอุปสงค์และปัจจัยเงินเฟ้อคาดการณ์ การเหยียบเบรกนโยบายการเงินแรงไม่ได้ช่วยกดเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปทานแต่อย่างใด เงินเฟ้อจะไม่ชะลอลงมากอย่างที่ธนาคารกลางอยากเห็น แต่ผู้คนกลับต้องเผชิญเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง จนทำให้เศรษฐกิจชะลอมากในภาวะเงินเฟ้อสูง (stagflation)
ถ้าเศรษฐกิจหักหัวลงแรง (hardlanding) จริง แต่ธนาคารกลางยังกลัวเงินเฟ้อสูงมากกว่ากลัวเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมาอยู่ มุ่งขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือคงดอกเบี้ยสูงคุมเงินเฟ้อไว้ กลุ่มคน/ธุรกิจที่มีภาระหนี้สูงเจอต้นทุนการเงินแพงนานวันเข้า แต่รายได้เพิ่มตามไม่ทันก็อาจรับภาระไม่ไหว ผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลายมากขึ้น ทำให้โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยยิ่งเป็นไปได้มากขึ้นจาก stagflation พ่วงวิกฤติหนี้ที่สูงขึ้นมากเทียบกับก่อน COVID แต่ถ้าธนาคารกลางเริ่มกลัวว่าเศรษฐกิจอาจถดถอยตามมา กลับทิศนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปทานก็ยังอยู่อีกยาว จนกว่าปัจจัยอุปทานที่กล่าวมาจะคลี่คลายได้ด้วยตัวเอง ธนาคารกลางคงไม่อยากไปอยู่ในจุดที่ต้องเจอทั้งเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอย ตอนนี้นโยบายการเงินกำลังเจอความท้าทายที่กลไกดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้เงินเฟ้อจากปัจจัยอุปทาน แถมยังเจอผลข้างเคียงจากนโยบายการเงินตึงตัวของประเทศใหญ่ที่จะมาชะลอเศรษฐกิจและเพิ่มต้นทุนการเงินภายในประเทศได้อีก ภาครัฐอาจต้องปรับนโยบายรับมือภาวะเงินเฟ้อสูงนานไว้เช่นกัน เช่น รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศนโยบาย transform อุตสาหกรรม/เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและเพิ่มค่าจ้างให้เติบโต วิ่งนำเงินเฟ้อได้อย่างยั่งยืนขึ้นค่ะ.
จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 13 สิงหาคม 2565
พณ.มั่นใจหาปุ๋ยเพียงพอฤดูกาลเพาะปลูกในประเทศแน่
พาณิชย์ เผยมั่นใจหาปุ๋ยได้เพียงพอฤดูกาลเพาะปลูกในประเทศแน่นอน พร้อมย้ำจับตาราคาสินค้าทุกหมวดทุกวัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปุ๋ยเคมีจะมีปริมาณเพียงพอไม่ขาดแคลน ในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ อย่างแน่นอน และเตรียมเจรจากับซาอุดีอาระเบียอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่จะเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคมนี้ ซึ่งซาอุฯ ตกลงขายปุ๋ยให้ไทยแล้ว 3 แสนตัน จากที่ไทยเจรจาขอซื้อปุ๋ยไป 8 แสนตัน และสำหรับการรับมือราคาปุ๋ยที่อาจจะมีราคาสูงขึ้นจากต้นทุนราคาแก๊สธรรมชาติ ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบวิกฤติการณ์รัสเซีย -ยูเครนนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์จะดูแลไม่ให้มีการค้ากำไรเกินควร และ กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลในเรื่อง ราคา และปริมาณนำเข้าที่เหมาะสม ซึ่งหากมีผลกระทบ ราคาที่สูงขึ้นมาก ทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จะพิจารณา มาตรการชดเชยราคาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุน วัตถุดิบสินค้าเกษตร
และสำหรับเรื่องราคาสินค้ากระทรวงพาณิชย์จะยังเข้าไปดูอย่างใกล้ชิด มีการจัดเจ้าหน้าที่สำรวจราคาทุกวัน มีรายงานเข้ามาที่ส่วนกลางต่อเนื่อง ว่าสินค้าใดเพิ่มขึ้นสินค้าใดลดลง โดยมีสินค้าหลายรายการที่ราคาปรับลดลง เช่น ผักสด ปรับขึ้นตามฤดูกาล เครื่องใช้ไฟฟ้าปรับราคาลดลงมาหลายรายการ รวมทั้งน้ำมันพืช น้ำมันปาล์มขวด เวลานี้ราคาปรับลดลงมาเหลือ 52-54 บาท/ขวด จาก 70 บาท/ขวด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูโครงสร้างราคา ถ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลมากน้อยแค่ไหนเป็นรายกรณีไป เพื่อไม่ให้หยุดผลิตสินค้าจนขาดแคลนกระทบกับผู้บริโภค
จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 11 สิงหาคม 2565
KSL ชี้ปี66ปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม ยอดขายโตตามราคาน้ำตาล
เงินเฟ้อ และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีนกรณีไต้หวัน สารพัด! ปัจจัยลบที่มีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก แต่กลับเป็นผลบวกต่อ ราคาน้ำตาลและหนึ่งในนั้นคือผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลอย่าง บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL
ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSLเล่าให้ฟังว่า คาดแนวโน้มราคาน้ำตาลในปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 18เซ็นต์ต่อปอนด์ (บวก-ลบ) จากปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานเงินเฟ้อสูง และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน กรณีไต้หวัน
ขณะเดียวกันผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก อย่าง ประเทศอินเดียก็ยังไม่มีแนวโน้มชัดเจนว่าจะมีการส่งออกของรัฐบาลอินเดีย และความต้องการ (ดีมานด์) ของประเทศเวียดนามก็กลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งสะท้อนผ่านมีการนำเข้าน้ำตาลราว 1-2 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาน้ำตาลดังนั้น คาดการณ์ปริมาณการขายในปี 66 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากราคาขายน้ำตาลที่ปรับตัวขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทคาดปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 66 ที่จะเริ่มฤดูกาลหีบอ้อยในช่วงเดือน พ.ย. 2565 ไปจนถึงเดือน มี.ค.2566 จะเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 8.20 ล้านตันอ้อย และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลราว 9 แสนตัน จากปี 2565 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 6.56 ล้านตันอ้อย คิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำตาลประมาณ 6.9-7 แสนตัน เป็นผลจากสภาวะอากาศที่เอื้อต่ออ้อย
ปัจจัยลบที่ต้องติดตามเนื่องจากมีผลกระทบ กดดันต่อราคาน้ำตาล นั่นคือ สถานการณ์คาดการณ์เกินดุลในปี 66, การปรับภาษีพลังงานในประเทศบราซิล โดยเฉพาะเอทานอล จะส่งผลให้ราคาปรับตัวลงมา และดึงราคาน้ำตาลลงมาอยู่ใกล้ราคาเอทานอล, การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเทรนด์การบริโภคน้ำตาลที่ลดลง รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ Sugar Currency ที่เป็นผู้ผลิตอ่อนค่า อีกทั้งปัจจุบันกองทุนยังคงถือสถานะขายสุทธิ
อย่างไรก็ตามบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) (TCSC) ได้มีการทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในปี 66 ไปแล้วถึง 50% เป็นราคาน้ำตาลที่ประมาณ 20.20เซนต์ต่อปอนด์ มีค่าเฉลี่ยของค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยราคาน้ำตาลใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ค่าเงินบาทดีขึ้นประมาณ 2 บาท ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำตาลหรือโรงงานน้ำตาลมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น
สำหรับปริมาณการขายในครึ่งปีหลังของปี 65 คาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก จากอ้อยที่เพิ่มขึ้น และราคาขายที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัทฯ ขณะที่ธุรกิจเอทานอล ยอมรับว่าครึ่งปีแรกยังไม่ค่อยดี จากวัตถุดิบปรับตัวขึ้นสูง และสถานการณ์ก็ไม่ได้ทำให้ราคาเอทานอลปรับตัวขึ้นไปตามต้นทุน แต่ครึ่งปีหลังคาดว่าราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้น ส่งผลดีต่อผลประกอบการของเอทานอลดีกว่าครึ่งปีแรก หรือกลับมามีกำไรที่ดีขึ้นพอสมควร ทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง
ด้านงบลงทุนปี 2565 ที่จะสิ้นสุดเดือนต.ค.2565 วางไว้ที่ 300 ล้านบาท แต่อาจจะใช้ไม่ถึง ส่วนในปี 2566 วางไว้ที่ 400 ล้านบาท เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก หากมีโครงการใดที่มี ผลตอบแทน (รีเทิร์น)ได้เร็วก็อาจจะมีการลงทุนเพิ่มเติม
ท้ายสุด ชลัชบอกไว้ว่า คาดทิศทางธุรกิจน้ำตาลได้ผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากไปแล้วหลังจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ขณะที่แนวโน้มในปัจจุบันมีหลากหลายปัจจัยที่หนุนราคาน้ำตาล ดังนั้น คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตตามทิศทางราคาน้ำตาลที่ทรงตัวในระดับสูง
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ก.เกษตรฯ จัดเวทีเครือข่ายพัฒนา Young Smart Farmer ระดับประเทศ
ก.เกษตรฯ จัดเวทีเครือข่ายพัฒนา Young Smart Farmer ระดับประเทศ เสริมองค์ความรู้ที่ทันสมัย ให้สามารถทำการเกษตรได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนเป็นผู้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและองค์กรเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็นธุรกิจเกษตรได้
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดเวทีเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับประเทศ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 11 สิงหาคม 2565 เพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย Young Smart Farmer และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร กว่า 250 คน ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาขับเคลื่อนภาคการเกษตรผ่านการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันภาคการเกษตรของประเทศไทยมีทิศทางและแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยและสามารถทำการเกษตรอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก มีแนวคิดสร้างสรรค์ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการการเกษตร เป็นที่พึ่งแก่เพื่อนเกษตรกร เป็นผู้นำทางการเกษตร 4.0 ในท้องถิ่น และเป็นผู้สร้างแรงจูงใจ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพการเกษตรให้แก่เยาวชน เกษตรกร และบุคคลทั่วไป ทำให้ภาคการเกษตรเกิดความก้าวหน้า ขยายผลการพัฒนาไปสู่เกษตรกรรายอื่น ตลอดจนเป็นผู้สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและองค์กรเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ชุมชนเติบโตทางเศรษฐกิจจากฐานการเกษตรได้
"รู้สึกดีใจที่ได้เห็นความก้าวหน้า การเติบโต และการพัฒนาของ Young Smart Farmer ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมาก เกษตรกรเองจึงต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย ทั้งในเรื่องของการรับรู้ รับทราบ และเข้าถึงเทคโนโลยี กระบวนการ และวิชาการต่าง ๆ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายสำคัญที่ต้องการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรไปสู่เกษตรทันสมัย หรือเกษตร 4.0 โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย รวมถึง Young Smart Farmer เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานไปพร้อม ๆ กัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และปรับเปลี่ยนภาคการเกษตรของไทยจากการทำแบบเคยชิ้นหรือคุ้นเคย มุ่งสู่การเป็นธุรกิจเกษตรได้" ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และให้เกษตรกรรุ่นใหม่เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งช่วยตอบสนองความต้องการที่แท้จริงและนำไปสู่การปฏิบัติงานได้จริง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงความรู้ เทคโนโลยี ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาด โดยมุ่งหวังให้ Young Smart Farmer เป็นผู้นำด้านการเกษตรในอนาคต สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ เสริมสร้างทักษะทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer มาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้วกว่า 20,000 ราย โดยผ่านกระบวนการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการประเมินคุณสมบัติเป็น Young Smart Farmer จำนวน 18,215 ราย มีการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งระดับจังหวัดและระดับเขต รวมถึงมีคณะทำงานผู้ประสานงานเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับประเทศ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ และเป็นศูนย์กลางการประสานงานระหว่าง Young Smart Farmer กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ส.อ.ท. หวั่นต้นทุนพุ่งกดดันขีดความสามารถแข่งขันภาคอุตสาหกรรม
ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ 89.0 เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดประเทศ ยังหวั่นต้นทุนพุ่ง จากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน รวมทั้งเงินเฟ้อที่กดดันอำนาจซื้อ แนะรัฐปรับขึ้นค่าแรงและค่าไฟฟ้าอย่างเหมาะสม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 86.3 ในเดือนมิ.ย. ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ด้วยปัจจัยบวกจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค จากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ขณะที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ การเปิดประเทศและการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้รายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลดีต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการลดลงเนื่องจากปัญหาราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่ง ที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนกรกฎาคมจะทยอยปรับตัวลดลงก็ตาม ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อ ยังกดดันกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างชะลอตัวลงเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,238 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 72.2% สถานการณ์การเมือง 40.3% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 35.5%
ส่วนปัจจัยที่มีความกังวล ลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 80.7% เศรษฐกิจในประเทศ 51.8% สถานการณ์ระบาดของโควิด 50.1% และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 32.0%
ส.อ.ท. หวั่นต้นทุนพุ่งกดดันขีดความสามารถแข่งขันภาคอุตสาหกรรมสำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 97.5 ในเดือนมิ.ย. โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศรวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกระทบต้นทุนด้านการเงิน ตลอดจนสถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบรวมถึงเศรษฐกิจโลก
โดย ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. ขอให้ภาครัฐช่วยดูแลผลกระทบด้าน Supply Chain Shortage จากกรณีข้อพิพาทบริเวณช่องแคบไต้หวัน
2. ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งค่าไฟฟ้าอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
3. เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค
4. เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐบาล เมียนมาออกประกาศ ระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ เช่น ชะลอการชำระหนี้หรือให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยยกเว้นเงินต้น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือนักลงทุนไทยและการให้สถาบันทางการเงินไทยในเมียนมาเข้ามาช่วยเหลือในการรับชำระหนี้เป็นเงินจ๊าด
หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565
เกษตรอุทัยธานี ส่งเสริมการตัดอ้อยสดลดการเผา
สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีมีแนวคิดในการ ส่งเสริมการตัดอ้อยสดลดการเผาในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว
นายประเสริฐ วณิชชากรวิวัฒน์ เกษตรจังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีมีแนวคิดในการ ส่งเสริมการตัดอ้อยสดลดการเผาในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว โดยได้เลือกกลุ่มแปลงใหญ่อ้อยบ้านกระชอน อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบในการส่งเสริมการตัดอ้อยสดลดการเผา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 45 ราย โดยปลูกอ้อยที่ระยะห่างระหว่างร่อง น้อยกว่า 1.5 เมตร จำนวน 17 ราย คิดเป็น 37.78% ระห่างระหว่างร่อง เท่ากับหรือมากกว่า 1.5 เมตร จำนวน 28 ราย คิดเป็น 62.22% ดำเนินการในพื้นที่ 1,222 ไร่ ปริมาณอ้อยที่ส่งโรงงานทั้งหมด 14,318.8 ตัน ปริมาณอ้อยสดที่ส่งโรงงานทั้งหมด 4,895 ตัน คิดเป็น 34.19% ปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่ส่งโรงงานทั้งหมด 9,423 ตัน คิดเป็น 65.81% ซึ่งยังมีเกษตรกรบางรายยังไม่สามารถตัดอ้อยสดได้ เนื่องจากปัญหาฝนตกรถลงตัดไม่ได้ อ้อยล้ม แรงงานไม่ตัด ไม่มีคนมารับซื้อใบอ้อยที่ตัดแล้ว เป็นต้น
เกษตรจังหวัดอุทัยธานี กล่าวอีกว่า ในการส่งเสริมการตัดอ้อยสดลดการเผา ทำให้เกษตรกรได้รับการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย เรียนรู้กระบวนการผลิต แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากแปลงเรียนรู้ วางแผนการผลิตและได้รับการเชื่อมโยงการตลาด และยังสามารถลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรได้
จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565
อาเซียน-จีน จับมืออัพเกรด FTA ตั้งเป้าเริ่มเจรจาปลายปีนี้
อาเซียน-จีน จับมืออัพเกรด FTA ตั้งเป้าเริ่มเจรจาปลายปีนี้เล็งเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเสนอผู้นำอาเซียนและจีนร่วมประกาศเริ่มเจรจา พ.ย.นี้ เตรียมจัดทำแผนงานขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าเชิงลึก หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน จีน ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ กัมพูชา เพื่อเตรียมการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน จีน (ACFTA) ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน ซึ่งตั้งเป้าจะเสนอผู้นำอาเซียนและจีนประกาศเริ่มการเจรจาในเดือนพฤศจิกายนนี้ และเป็นการประชุมเตรียมการครั้งสำคัญ ก่อนจะมีการประชุมร่วมกันในระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ
ทั้งนี้อาเซียนกับจีนอยู่ระหว่างหารือเพื่อยกระดับความตกลง ACFTA อาทิ การเจรจาเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม การเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน เเละความร่วมมือในสาขาอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การส่งเสริม MSMEs เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างจัดทำการศึกษาก่อนที่จะเริ่มการเจรจา ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ด้านเศรษฐกิจ ได้ย้ำว่าต้องเร่งดำเนินการศึกษาให้เสร็จ ก่อนเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ให้ความเห็นชอบในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อให้ผู้นำอาเซียนและจีนประกาศเริ่มการเจรจาในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการยกระดับความตกลงฯ จะช่วยขยายการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ที่ประชุมยังสนับสนุนข้อเสนอของจีนที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 โดยจะร่วมกันจัดทำแผนงานว่าด้วยการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าอาเซียน-จีน ในเชิงลึกปี 2022 2026 เพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และจะเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ประกาศแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลกว่าอาเซียนและจีนให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2552 และจีนยังเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 4 ของอาเซียน โดยในปี 2564 การค้าระหว่างอาเซียนกับจีน มีมูลค่า 668,961 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการส่งออกจากอาเซียนไปจีน มูลค่า 280,538 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 28.30% และการนำเข้าจากจีนไปยังอาเซียน มูลค่า 388,424 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29.69% สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 54,454.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.8 พันล้านบาท) เป็นการส่งออกจากไทยไปจีน มูลค่า 18,453.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (612 พันล้านบาท) และไทยนำเข้าจากจีน มูลค่า 36,000.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 พันล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ครม.ไฟเขียว แผนพัฒนาเกษตรในอีอีซี 5 ปี 101 โครงการ 2,845 ล้าน
ครม.ไฟเขียว ร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขต EEC ระยะ 5 ปี 101 โครงการ 2,845 ล้านบาท ปั้น 5 คลัสเตอร์ 3 ยุทธศาสตร์ กระจายรายได้เกษตรกร
วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า
ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566-2570 ซึ่งร่างแผนปฏิบัติการฉบับนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ประกอบด้วย 101 โครงการ กรอบวงเงินรวม 2,845.55 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากภาครัฐ 1,535.55 ล้านบาท และภาคเอกชน 1,310 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายพัฒนาการเกษตร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.เป้าหมายรวม เช่น ยกระดับรายได้เกษตรกรภายในปี 2580 และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น 2.เป้าหมายระดับจังหวัด เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งพืชพลังงาน และจังหวัดระยอง เป็นแหล่งรวบรวมผลไม้และอาหารทะเลสด และ 3.เป้าหมายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและดำเนินการได้ทันที ซึ่งประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ ได้แก่
1.ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง เช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วง ในพื้นที่จังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา 2.ประมงเพาะเลี้ยง เน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่ เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งขาว และปลานิล ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและระยอง 3.พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ เน้นยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
4.พืชสมุนไพร เน้นการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย กัญชงและกัญชา ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี และ 5.เกษตรมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง เช่น เนื้อโคพรีเมี่ยมคุณภาพสูงและไข่ไก่อินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
น.ส.รัชดากล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนร่างแผนปฏิบัติการ จะดำเนินการภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับผลิตภาพการผลิตโดยเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จำนวน 34 โครงการ วงเงิน 596.21 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและการตลาด จำนวน 24 โครงการ วงเงิน 845.54 ล้านบาท และยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาคเกษตรและสร้างบรรยากาศเข้าสู่ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ จำนวน 43 โครงการ วงเงิน 1,403.8 ล้านบาท
โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก (พ.ศ. 2566-2567) เน้นเตรียมการปรับโครงสร้างการพัฒนาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการเกษตรและดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ระยะกลาง (พ.ศ. 2568-2570) เน้นการขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่ากับภาคเกษตร
พร้อมทั้งต่อยอดคลัสเตอร์การเกษตร เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายสมัยใหม่ และระยะถัดไป (พ.ศ. 2571 เป็นต้นไป) มุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมทั้งในการผลิตและการพัฒนาสินค้า ซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดสินค้าเกษตรและตอบสนองต่อความต้องการอาหารรูปแบบใหม่ ๆ
น.ส.รัชดากล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างแผนปฏิบัติการนี้ เป็นการปรับโครงสร้างการเกษตรในพื้นที่ EEC ให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ และเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรในประเทศไทย ที่เน้นการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดสินค้าเกษตรไทย และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกร
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565
รง.น้ำตาลร้องประธานวุฒิฯ ค้านเพิ่มกากอ้อยในคำนิยาม
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้ร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เพิ่ม กากอ้อย ในคำนิยาม ผลพลอยได้ ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่ไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา โดยหากร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมวุฒิสภา และถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม และกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับดังกล่าว ซึ่งผิดหลักนิติธรรมที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงตามโครงสร้างกฎหมายนี้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น จึงขาดผู้เกี่ยวข้องที่จะให้ความเห็นประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย และขัดต่อหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน กระทบสิทธิความเป็นเจ้าของ โดย กากอ้อย ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินและผลประโยชน์ของโรงงานที่เป็นผู้ซื้ออ้อยตามสัญญา และโรงงานต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อกำจัด กากอ้อย ที่เป็นของเสียไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุดต่อเศรษฐกิจไทย
โรงงานน้ำตาลประกาศชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมบริหารกฎหมายฉบับนี้หากมีการประกาศใช้ เพราะจะสร้างความไม่เป็นธรรม นำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยกไม่สิ้นสุด ฉุดอุตสาหกรรมให้ถอยหลังไม่ให้เกิดการพัฒนา นายปราโมทย์ กล่าว
จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565
จากปัญหาปัจจุบันปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น ทำให้มีผู้ฉวยโอกาสลักลอบผลิต ตลอดจนลักลอบขายปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพให้กับเกษตรกร
กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าโครงการร้านค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือ Q-Shop เพื่อยกระดับร้านค้าให้จำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ เป็นการแก้ปัญหาให้เกษตรกรโดยตรงในด้านปัจจัยการผลิต
แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถประสบความสำเร็จ หากเกษตรกรยังคงเห็นแก่สินค้าที่มีราคาถูก และผู้ขายสินค้าขาดจรรยาบรรณในการขายสินค้า
ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้ได้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และต้องให้การสนับสนุนร้านค้าที่ได้รับเครื่องหมายรับรอง QShop ซึ่งจะทำให้ร้านค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่จำหน่ายสินค้าไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานหมดไปจากประเทศโดยเร็ว
ร้าน Q-Shop ต้องมีผู้ควบคุมการขายหรือผู้ควบคุมร้านที่มีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาทางการ เกษตร หรือปริญญาตรี ในสาขาใดสาขาหนึ่งที่มีประสบการณ์ในการขายปัจจัยการผลิตทาง การเกษตรมาไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือมีประกาศ นียบัตรวิชาชีพชั้นสูงทางด้านเกษตรกรรมที่มีประสบการณ์ทางด้านการขายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือผู้ที่มีประสบการณ์ขายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมาไม่น้อยกว่า 4 ปี ซึ่งได้รับการรับรองจากสมาคมใดสมาคมหนึ่งที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปุ๋ย วัตถุอันตราย และพันธุ์พืช
สำหรับสิทธิประโยชน์ของร้านค้าที่ได้รับเครื่องหมาย Q-Shop จะได้รับการแจ้งเตือนการต่อใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ ได้รับการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้รับมอบป้ายสัญลักษณ์ Q-Shop เพื่อเป็นการรับรองในคุณภาพ ได้รับข้อมูลข่าวสารทั้งเอกสารทางวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรและสมาคมผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปุ๋ย วัตถุอันตราย และพันธุ์พืช
ปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ QShop แล้ว 1,893 แห่ง และกรมวิชาการเกษตรมีแผนเตรียมขยายร้าน QShop ทั่วประเทศให้ได้ 2,000 ร้านค้า ภายในปีนี้.
จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565
อาเซียน สรุปผลงานรอบ 1 ปี ก่อนชง AEM ก.ย. นี้
อาเซียน เร่งสรุปผลงาน 19 ประเด็น ภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 ก่อนชงที่ประชุม AEM ก.ย.นี้ เน้นใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูภูมิภาคหลังวิกฤตโควิด-19 เดินหน้าจัดทำแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับคู่เจรจา หวังขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ 3/53 ระหว่างวันที่ 1 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่กัมพูชา โดยเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสรอบสุดท้ายของปี เพื่อติดตามการดำเนินงานและเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค ก่อนเสนอผลการทำงานในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา
ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ก.ย.นี้ พร้อมเตรียมการสำหรับการประชุมร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหราชอาณาจักร รวม 11 การประชุม
ทั้งนี้ที่ประชุม SEOM ได้ติดตามการดำเนินงานตามแผนงานด้านเศรษฐกิจสำคัญประจำปีนี้ 19 ประเด็น ภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี , การลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน , การส่งเสริมการบูรณาการ การมีส่วนร่วม ความยืดหยุ่น และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นของอาเซียน และ การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกเพื่อการเติบโตและการพัฒนา
โดยอาเซียนได้ผลักดันและมีความคืบหน้าในหลายประเด็น อาทิ การประกาศเริ่มการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน และการประกาศการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยการแข่งขันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเชิงลึก และเกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น
สำหรับการฟื้นฟูภูมิภาคจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชุมได้เร่งหาข้อสรุปการพิจารณาขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่ไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกและการนำเข้า ให้เสร็จก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อมุ่งรักษาความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ ได้หารือถึงการพัฒนาข้อริเริ่มโครงการพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Project-Based Initiatives) ซึ่งเป็นแนวคิดการสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการเติบโตของโครงข่ายการผลิต ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยข้อริเริ่มดังกล่าว จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 และคำนึงถึงความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมในอนาคต อาทิ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) เศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ อาเซียนได้เตรียมเสนอเอกสารผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของอาเซียนต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ แผนปฏิบัติการกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินการให้อาเซียนนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยการแข่งขันของอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นธรรม ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าในตลาดอาเซียนผ่านความร่วมมือและการประสานงานด้านการแข่งขันระหว่างกัน ส่งเสริมขีดความสามารถของอาเซียนในการรับมือกับการจำกัดการแข่งขันและความท้าทายในอนาคต และส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียนในเชิงลึกมากขึ้น
อาเซียนยังได้ให้ความสำคัญในการขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค โดยการประชุมหารือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในแต่ละกรอบ นอกเหนือจากการหารือแนวทางการอำนวยความสะดวกทางการค้าและขยายการลงทุน ได้มีการจัดทำแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งใช้แนวทางตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน นอกจากนี้ ได้หารือการขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ซึ่งเมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดคณะเยือนติมอร์-เลสเต เพื่อรับทราบแผนการพัฒนาประเทศในภาคเศรษฐกิจสำคัญของติมอร์-เลสเต โดยจะมีการจัดทำเอกสารประเมินความพร้อมของติมอร์-เลสเต เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ก.ย.นี้
นอกจากนี้ อาเซียนจะเตรียมเสนอเอกสารผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค อาทิ เอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย ซึ่งเป็นการยกระดับความตกลงที่มีอยู่ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน รวมถึงบรรจุประเด็นการค้าใหม่ๆ อาทิ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน และการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนแผนงานความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อาทิ ประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2565
โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศยืนกรานค้านร่างแก้ไข พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย
โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศยืนกรานค้านร่างแก้ไข พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย ประกาศชัดหากบังคับใช้ ไม่ขอร่วมบริหารกฎหมาย ที่ทำลายโครงสร้างอุตสาหกรรม
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้ร่วมกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างแก้ไข พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เพิ่ม "กากอ้อย" ในคำนิยามผลพลอยได้ ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมย์ที่ชัดเจนของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา
โดยหากร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมวุฒิสภาและถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมและกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย
ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับดังกล่าว ซึ่งผิดหลักนิติธรรมที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายโรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงตามโครงสร้างกฎหมายนี้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น จึงขาดผู้เกี่ยวข้องที่จะให้ความเห็นประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย
และขัดต่อหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน กระทบสิทธิความเป็นเจ้าของ
โดยกากอ้อยซึ่งถือเป็นทรัพย์สินและผลประโยชน์ของโรงงานที่เป็นผู้ซื้ออ้อยตามสัญญา และโรงงานต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อกำจัดกากอ้อยที่เป็นของเสียไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุดต่อเศรษฐกิจไทย
โรงงานน้ำตาลประกาศชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมบริหารกฎหมายฉบับนี้หากมีการประกาศใช้ เพราะจะสร้างความไม่เป็นธรรม นำไปสูความขัดแย้งและแตกแยกไม่สิ้นสุด ฉุดอุตสาหกรรมให้ถอยหลังไม่ให้เกิดการพัฒนา เป็นกฎหมายที่ผิดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา และยังขัดต่อหลักปรัชญาของ พรบ.อ้อยและน้ำตาล ฉบับเดิม ที่ต้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หากพืชเกษตรอื่นออกกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ จะไม่เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรต่อเนื่องอย่างแน่นอน
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2565
ความมั่นคงด้านพลังงาน VS ความเป็นกลางทางคาร์บอน สู่ความสมดุลที่ยั่งยืน
ทุกประเทศมีความต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จะเติบโตได้ต้องใช้พลังงานและพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น ในมุมหนึ่งเราต้องมีพลังงานสำหรับใช้ และอีกด้านต้องเดินหน้าสู่ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" จึงจำเป็นต้องสร้างความสมดุลที่ยั่งยืนทั้งสองส่วน
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวในช่วงเสวนา "เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability)" หัวข้อ ความมั่นคงด้านพลังงาน VS ความเป็นกลางทางคาร์บอน ความสมดุลที่ยั่งยืน (Energy Security vs. Carbon Neutrality) ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (TCAC Opening Plenary) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สู่ความสมดุลทางคาร์บอน เทรนด์ของโลกมุ่งไปสู่ Net Zero เช่น การลงทุน พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานลง เปลี่ยนไปใช้ EV มากขึ้น ลดการใช้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และถูกแบนไปทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้ก๊าซ น้ำมัน แพง มีหลายประเทศหันกลับมาใช้ถ่านหินแต่เป็นการใช้ชั่วคราว เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย ด้วยเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% ในปี 2030 เดินหน้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ที่กำลังจะออกมาใหม่ จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนจากเดิม 30% เป็น 50% และมองว่ายังเพิ่มได้อีก มีการส่งเสริมการใช้ EV มากขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้มากกว่า 30% พร้อมกับใช้ดิจิทัลผลิตไฟฟ้ามากขึ้น
ยุทธศาสตร์ 4D1E
อีกทั้งยังมียุทธศาสตร์ 4D1E ได้แก่
1.DIGITALIZATION นำดิจิทัลเข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น
2.DECARBONIZATION ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ชีวภาพ ชีวมวล
3.DECENTRALIZATION ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่งไปตามที่ต่างๆ เท่านั้น แต่อาจจะเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าเล็กๆ หรือแม้กระทั่งบนหลังคาบ้าน ที่เหลือขายคืนระบบ
4.DE-REGULATION ตอบสนอง 3 เรื่องข้างบน ต้องมีการปรับเปลี่ยน กฎระเบียบต่างๆ
1.ELECTRIFICATION หันมาใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้น และลดการใช้ฟอสซิลลง
กลยุทธ์ Triple S
บุญญนิตย์ กล่าวต่อไปว่า กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง และกลายเป็นคนที่ถูกมองว่า ปล่อยคาร์บอน เพราะใช้ฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้ามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของโลกมาแบบนี้ อย่างที่ทราบว่าการปล่อยคาร์บอนจะส่งผลต่อโลกของเราในอนาคต ดังนั้น ในการทำงานของ กฟผ. และหน่วยงานของพลังงาน ของกระทรวงพลังงาน มีการปรับเปลี่ยน โดยกฟผ. มีการประกาศ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 หรือ 28 ปี จากนี้ไป ผ่าน 3 วิธีการ หรือที่เรียกว่า กลยุทธ์ Triple S
1. Sources Transformation
ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการผลิต เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต
2. Sink Co-Creation
เพิ่มแหล่งกักเก็บ ดูดซับคาร์บอน ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปลูกป่าไปแล้ว 4 แสนไร่ ตั้งเป้าจะเป็น 1 ล้านไร่ ในอีก 9 ปี คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเฉลี่ย 1.2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 23-24 ล้านตันตลอดโครงการ ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 - 7 ล้านตัน ในปีพ.ศ.2588
3. Support Measures Mechanism
ส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดการเข้าใจ มีส่วนร่วมในสังคม เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ฉลากเบอร์ 5 มีอุปกรณ์ 19 ชนิด ราคาอาจจะสูงขึ้นเล็กน้อย แต่สามารถช่วยเหลือโลกได้ หรือการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทุกหน่วยงานร่วมมือช่วยกันทั้งในส่วนของตัวรถ และสถานีชาร์ต
ผลิตไฟฟ้าจาก โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ
ทั้งนี้ กฟผ. ดูแลเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศราว 10 กว่าแห่ง โดยมีราว 9 แห่งทั่วประเทศที่มีความเหมาะสมในการทำแผงโซลาร์ฟฟาร์มลอยน้ำ โดยทำไปแล้วที่ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ พื้นที่ 450 ไร่ ไม่ถึง 1% ของพื้นที่ผิวน้ำทั้งหมดของเขื่อนสิรินธร
ข้อดี คือ เหมือนกับโซลาร์ฟาร์มบนบก แต่ไม่ต้องรบกวนพื้นที่ทางการเกษตร ใช้พื้นที่น้ำที่มีอยู่มหาศาล ใช้สถานีส่งไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมในเขื่อนนั้นๆ และมีแผนที่จะทำอีก 2,725 เมกะวัตต์ และมีการเสนอแผนเพิ่มเข้าไปอีก 5,000 10,000 เมกะวัตต์ และถือเป็นการสร้างงานภายในประเทศ
"โดยกฟผ. ได้ร่วมมือกับ ปตท. และ เอสซีจี ผลิตทุ่นในประเทศ ลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ และลดการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ รวมถึงปรับปรุงระบบส่งให้สามารถพลังงานทดแทนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังศึกษาเทคโนโลยี ในอนาคต คือ การพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน หากราคาเหมาะสม คาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกได้ คาดว่าจะเป็นประโยชน์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่ในช่วงการศึกษา ทดลองใช้
ความท้าทาย กับ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
สำหรับ อุปสรรค และ ความท้าทาย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มองว่า การตั้งเป้าหมายอีก 28 ปีข้างหน้า ต้องใช้ความพยายาม ทั้งเทคโนโลยี การลงทุน Mindset ของคน และความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรให้ช่วยกันทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้น สิ่งที่คุยกันวันนี้ หากอีก 28 ปีข้างหน้าเรามองกลับมาดูอาจจะรู้สึกว่าเราตั้งเป้าสูงเกินไปหรือเปล่า หรือเราพยายามน้อยเกินไปหรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของภาครัฐ เอกชน ขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน ภาครัฐ เอกชน และประชาชน
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 7 สิงหาคม 2565
สนธิรัตน์ ชี้ ไทยยังมีโอกาสในวิกฤต ดันไอเดียตั้ง แพลตฟอร์ม ขายสินค้าเกษตรออนไลน์
MGR Online - สนธิรัตน์ โชว์วิสัยทัศน์ ชี้ แก้โลกร้อนเป็นกติกาใหม่โลก ไทยมีโอกาสมหาศาล ส่งออกพลังงานสะอาด-ปลูกป่า ให้ได้คาร์บอนเครดิตขายเพื่อนบ้าน แนะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรจากปัจจัยต้นทาง ไม่ใช่แค่อุดหนุนราคา ขอรัฐบาลสนับสนุนเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านราชการต้องปรับตัวรับยุคดิจิทัล ปิ๊งไอเดีย ตั้งแพลตฟอร์มระดับโลก ขายสินค้าเกษตรออนไลน์ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
วานนี้ (5 ส.ค.) ที่กรมชลประทาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 2 ในหัวข้อ Vision from Leader : มิติการพัฒนาการเกษตร และพลังงานในอนาคต โดย นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม หากแก้ปัญหาเรื่องการเกษตรไม่ได้ ถือว่าเสียโอกาสทางการแข่งขัน มองว่า ประเทศไทยยังย่ำเท้าอยู่กับที่ในหลายๆ เรื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจากที่ตนได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีสัมมนาต่างๆ หลายคนมองเห็นปัญหาในทิศทางเดียวกัน คือ เราเป็นประเทศที่การเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อย ระบบราชการยังพัฒนาไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ขณะที่เรายังเป็นเวอร์ชั่นอนาล็อก ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังลึก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาโลกร้อน ที่เป็นกติกาและกฎระเบียบใหม่ของโลกใบนี้ที่ไทยต้องตามให้ทัน เพื่อสร้างโอกาสไทยจากเรื่องนี้ได้อย่างมหาศาล
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของพาณิชย์ กับเกษตรจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้ว่านโยบายการบริหารประเทศของทุกรัฐบาลหรือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวใจสำคัญคือมุ่งเน้นเพียงทำให้เกษตรกรพอใจในราคาสินค้า ทำให้ภาคการเกษตรย่ำเท้าอยู่กับที่ พอใจกับราคาที่ได้ ซึ่งความเป็นจริงต้องมองผลตอบแทนที่เป็นกำไรที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกร ไม่ใช่แค่ราคาสินค้า ตัวอย่างเช่น ราคาปาล์มน้ำมัน เราเป็นตัวเล็กของซัพพลายปาล์มน้ำมันของโลก เพราะอินโดนีเซีย และมาเลเซียเหนือกว่าเรามาก ราคาปาล์มน้ำมันไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่ราคาตลาดโลก การอุดหนุนราคาจึงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน แต่สิ่งที่ต้องสนับสนุน คือ การบริหารต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง เพราะเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องราคาอย่างเดียว แต่เป็นองค์ประกอบตั้งแต่สายพันธุ์ ระบบชลประทาน ปุ๋ย เป็นต้น
แต่เรามองที่ราคาอย่างเดียวบริหารเรื่องเดิมๆ เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องแก้ปัญหาโดยการออกเงินอุดหนุน ถามว่า เกษตรกรจะได้อะไร ถ้าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ได้บอกว่านโยบายผิด แต่ปัญหามันซับซ้อนมาก เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยนไปด้วย ที่น่าเป็นห่วง คือ วันนี้เรามุ่งเพียงนโยบายระยะสั้น เฉพาะหน้า และไม่ยั่งยืน ถ้าเราไม่แก้ให้ตรงจุด อีก 10 ปีก็อยู่ที่เดิม หลายประเทศพัฒนาเป็นระบบ แต่เราพัฒนาแบบแยกส่วน กระทรวงใครกระทรวงมัน ความจริงมิติเหล่านี้ภาคเอกชนเก่งมาก รัฐบาลต้องคิดทบทวนใหม่ เพราะภาคเอกชนคือตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ และธุรกิจ รัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุนได้ เวลาจะออกนโยบายอะไรก็ตามผมต้องออกให้คนต่อไปสามารถมาดำเนินการต่อได้ นั่นคือ Mind set การทำงานของผม
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนึ่งที่สำคัญของภาคการเกษตร คือ กลไกพ่อค้าคนกลาง ล้งจีน ล้งไทย เกษตรกรทำเท่าไหร่คนรวย คือ พ่อค้าคนกลาง เกษตรกรยังจนต่อไป วันนี้เราควรพลิกมิติตลาดใหม่สู่ตลาดออนไลน์ ในเมื่อเราเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับโลก ทั้งทุเรียน เงาะ ลำไย ข้าว ผัก ดังนั้น ตนมีแนวคิดที่จะยกสินค้าเกษตรสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ เว็บไซต์ Farm To The Table สร้างโอกาสให้เกิดการซื้อขายโดยตรงจากผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ได้ราคาดีกว่า คุณภาพชัดเจน
ขณะที่เรื่องพลังงานกับการเกษตร นายสนธิรัตน์ มองว่า เป็นภาคที่สอดประสานและเกื้อกูลกันได้ดีมาก ยิ่งปัจจุบัน โลกกำลังเข้าสู่กติกาใหม่ทั้ง Cop 26 ภาวะโลกร้อน Net zero และ Carbon neutrality ตนมองเห็นโอกาสเรื่องการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ไม้โตเร็ว และอ้อย เป็นต้น ซึ่งเกษตรกับพืชพลังงานเป็นโอกาสใหญ่มาก เพราะนอกเหนือจากเรื่องพลังงานแล้ว ยังรวมไปถึงโอกาสใหม่ในเรื่องคาร์บอนเครดิต ที่เป็นโอกาสใหญ่มากกับภาคเกษตรของประเทศไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ ยังได้ให้มุมมองเรื่องการเกษตรกับการแก้ปัญหาความยากจนไว้ว่า หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจนคือต้องแก้จากภาคการเกษตร ถ้าพลิกฟื้นเรื่องเกษตรได้จะพลิกฟื้นความยากจนได้ ทุกวันนี้ เกษตรกรประเทศไทยยังยากจน เพราะโครงสร้างเกษตรที่ผ่านมามีความซับซ้อนในตัวมาก เราอยู่ในวังวนผลผลิตต่ำ ต้นทุนสูง ขาดความรู้ ติดอยู่กับแนวคิดเดิมๆ ซึ่งวันนี้ 2 ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ให้ได้ คือ 1. โจทย์การแก้ปัญหาที่ชัดเจนในเรื่องที่ดินทำกิน พื้นที่ชลประทาน และการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ 2. ลดการพึ่งพา เช่น เรื่องปุ๋ย และพลังงาน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสมหาศาล ผมเชื่อว่า การเมืองกับราชการต้องปรับตัว ไม่ได้บอกว่าราชการไม่ดี ราชการมีกฎระเบียบ และกฎหมายคุมอยู่ แต่การเมืองจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบราชการ เกื้อกูลเอกชน เราต้องช่วยกันสร้างองค์ประกอบประเทศให้ไปด้วยกันให้ได้ ที่สำคัญ อย่ายอมกับสิ่งที่เป็นตัวซ่อนลึกอยู่ในปัญหาของการจัดการประเทศ และเชื่อว่า สิ่งเหล่านั้นจะถูกแก้ปัญหาด้วยระบบดิจิทัล การใช้ระบบดิจิทัลโปร่งใสมาก เป็นข้อมูลจริงออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ลดปัญหาคอร์รัปชัน นี่คือ โลกที่เปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี เราทุกคนต้องช่วยกัน นายสนธิรัตน์ กล่าว
จาก https://mgronline.com วันที่ 6 สิงหาคม 2565
มิตรผลตั้งเป้าทำธุรกิจช่วยลดก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตร
มิตรผลตั้งเป้าหมายธุรกิจช่วยลดก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตร ชี้แม้บริษัทจะผลิตน้ำตาลอันดับ 3 ของโลก แต่สัดส่วนธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้ามีสัดส่วนถึง 26% และ 7% เป็นธุรกิจทดแทนไม้และรีไซเคิล ที่ได้นำนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ พร้อมเปิดทางดึงพาร์ทเนอร์ร่วมธุรกิจ
นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงานธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ:วิกฤตหรือโอกาส ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย โดยกล่าวว่า กรณีที่ระบุว่า ภาคเกษตรปล่อยก๊าซคาร์บอน ถึง 20% นั้น เชื่อว่า เราจะสามารถเข้าไปช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้
ทั้งนี้ เพราะว่า วันนี้ พื้นที่ที่เกษตร 137 ล้านไร่ กว่าครึ่งหนึ่งหรือกว่า 70 ล้านไร่ เราปลูกข้าว ซึ่งขณะนี้กำลังใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ 70 ล้านไร่ ส่วนอ้อยมีประมาณ10 ล้านไร่เท่านั้น ฉะนั้น เราจะทำอย่างไรให้พืชเหล่านี้เติบโตโดยใช้คาร์บอนในการสังเคราะห์แสงและดูดคาร์บอนเข้าไป และเราก็ทำผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทน
เขากล่าวว่า นอกจากเราจะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายอันดับ 3 ของโลกแล้ว แต่ในปี 2019 สัดส่วนธุรกิจของเรานั้น มีถึง 26% เป็นธุรกิจพลังงานที่เกิดจากการทำนวัตกรรมจากการทำไฟฟ้าไบโอแมส ซึ่งเชื่อว่า มีศักยภาพมากมายที่รัฐบาลต้องการความมั่นคง
เรายังมีศักยภาพที่ลดคาร์บอน โดยวันนี้ เรามีไฟฟ้าเกือบ 900 เมกกะวัตต์ และเพิ่มได้อีก ถ้ารัฐบาลมีนโยบาย เรามีธุรกิจทดแทนไม้อยู่ 7% เป็นธุรกิจที่เศษวัสดุจากการทำไม้ และนำผลพลอยได้จากการผลิตกลับไปรีไซเคิล และยืดอายุของแต่ละผลิตภัณฑ์มากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี ฉะนั้น ก็กลับมาดูพืชพลังงาน โดยเฉพาะอ้อยน่าจะเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ทั้งนี้ ในระบบเรามีคาร์บอน 10 ล้านตัน แต่ซื้อขายกันอยู่ประมาณ 1 ล้านตันเท่านั้น โดย 90% เป็นคาร์บอนเครดิตที่มาจากมิตรผล ดังนั้น เราเตรียมแผนขยับตลาดคาร์บอนที่จะต้องทำร่วมกันกับธุรกิจอื่นๆ โดยคนแรกที่ซื้อคาร์บอนเครดิตคือสยามภิวัฒน์ 3 พันตัน แต่วันนี้ ลูกค้ารายใหญ่ คือ กสิกรไทย เป็นแสนตัน ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นของรัฐและนโยบายในการส่งเสริมตลาดคาร์บอนเครดิตมากขึ้น
เขากล่าวด้วยว่า มิตรผลเองก็ประกาศที่จะลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยจะพยายามลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง เรามองเห็นว่า ถ้ามีโอกาสสร้างพลังงานทดแทนมากขึ้น เราจะทำคาร์บอนเครดิตได้มากขึ้น โดยดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมดำเนินการ
ทั้งนี้ ระดับนโยบายควรต้องเข้ามาพัฒนากระบวนการรับรองให้การลงทะเบียนทำได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้อยู่ในมือต่างชาติ ซึ่งตนคิดว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องสร้างระบบขึ้นมาเพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกยั่งยืน
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 สิงหาคม 2565
พาณิชย์ ปรับเป้าเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 5.5-6.5%
พาณิชย์ ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 5.5-6.5% จากเดิม 4-5% ส่วนเงินเฟ้อเดือน ก.ค.อยู่ที่ 7.61% ลดลงจากเดือนมิ.ย.เป็นครั้งแรกในรอบปี ทั้งนี้สาเหตุหลักยังคงเป็นเรื่องราคาพลังงานสูงต่อเนื่อง
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 เป็นระหว่าง5.5 - 6.5% (ค่ากลาง 6%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย
โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประกาศประมาณการณ์เงินเฟ้อออกมาแล้ว เช่น สภาพัฒน์ คาดการณ์เงินเฟ้อ ณ เดือน พ.ค.อยู่ที่4.2-5.2% ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์เท่ากับสนค.ทีท6.2% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประมาณการณ์ไว้ที่6.5% และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ไว้ที่5-7%
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับ 107.41 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาลดลง 0.16% เป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.61% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ในเดือนนี้อยู่ที่ 2.99% สินค้ากลุ่มพลังงานยังเป็นสาเหตุหลักต่ออัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2565
ซึ่งเป็นต้นทุนในทุกขั้นตอนการผลิตและโลจิสติกส์ของสินค้าและบริการ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญสูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้เป็นผลของการคำนวณจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เงินเฟ้อขยายตัว
กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 33.82 % ส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อในเดือนนี้ (Contribution to Percentage Change : CPC) 52.57% แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิด (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) ในเดือนนี้จะปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ยังสูง เนื่องจากราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงอยู่ในระดับสูง
กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 8.02 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น ไก่สด พริกสด ต้นหอม เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ทั้ง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม รวมถึงน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการขนส่ง ประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้บางชนิด เช่นถั่วฝักยาว มะนาว ขิง ผักคะน้า กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ลองกอง
เงินเฟ้อเดือนนี้เทียบกับเดือนที่ผ่านมา ลดลง 0.16 เป็นการปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำมันพืช และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดบางชนิด (น้ำยารีดผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ) สำหรับค่าเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 5.89%
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกรกฎาคม 2565 สูงขึ้น 12.2% ปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ ต้นทุนการนำเข้าจากการอ่อนค่าของเงินบาท และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้น 6.3%เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นไปตามแผน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและใน 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง ขณะที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐ เป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 สิงหาคม 2565
กรมโรงงาน จับมือ สมอ. และ วศ.ยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบเอกชน สาขาสิ่งแวดล้อมสู่มาตรฐานสากลเป็นหน่วยทดสอบมลพิษ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) บูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการทดสอบสาขาสิ่งแวดล้อมของไทยสู่มาตรฐานสากล เน้นตรวจกำกับด้วยมาตรฐานเดียว ลดความซ้ำซ้อน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรอ. มีภารกิจในการกำกับดูแลโรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการระบายมลพิษ รวมทั้งการตรวจวัดวิเคราะห์มลพิษอุตสาหกรรม การศึกษา วิจัย พัฒนาเทคนิคและวิธีการวิเคราะห์ทดสอบ การให้คำแนะนำปรึกษาเผยแพร่เทคนิคและวิธีการวิเคราะห์ทดสอบรวมถึงการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการทดสอบเอกชน ซึ่งปัจจุบัน กรอ.รับขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการทดสอบเอกชน ทั่วประเทศจำนวน 277 ราย ขึ้นทะเบียนผู้ควบคุมดูแลห้องปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกชนรวมทั้งสิ้น 2,827 ราย
โดยที่ผ่านมา กรอ. ได้ดำเนินการส่งเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกชน อย่างต่อเนื่อง โดยการยกระดับความสามารถห้องปฏิบัติการตามเกณฑ์ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ที่ดีของ กรอ. (Good Laboratory Practice/Department of Industrial Works; GLP/DIW) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาห้องปฏิบัติการเข้าสู่มาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 (มอก.17025)
สำหรับการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 หน่วยงาน ระหว่าง กรอ. สมอ. และ วศ.ครั้งนี้ จะทำให้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 (มอก.17025) ในสารมลพิษที่ทดสอบตามวิธีมาตรฐาน (Standard Method) แล้วจะได้รับการขึ้นทะเบียนโดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำอีกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสสำหรับบุคลากร ซึ่ง วศ.จะได้ให้การรับรองความสามารถตาม ISO/IEC 17024 สาขาการควบคุมคุณภาพการวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นคุณสมบัติที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ควบคุมดูแลห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกชนกับ กรอ.ได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบซ้ำอีกเช่นกัน กรอ. จะเร่งส่งเสริม สนับสนุนและสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบ ด้านสิ่งแวดล้อม ให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการถ่ายโอนงาน ทดสอบมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อให้การกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ที่จะทำให้โรงงานและประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนั้นแล้วจะได้เร่งพัฒนาระบบทะเบียนห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกชน เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ พร้อมกับเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกชนเข้ากับระบบอื่นๆของ กรอ. เช่น ระบบรายงานตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเชื่อมโยงข้อมูลและสอดรับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ
จาก https://siamrath.co.th วันที่ 4 สิงหาคม 2565
"บิ๊กป้อม" หนุนยกระดับ "บริหารจัดการน้ำEEC" พื้นฐานความมั่นคงประเทศ
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หนุน "สทนช.-สภาน้ำแห่งเอเซีย OECD" เร่งยกระดับบริหารจัดการน้ำอีอีซี เดินหน้าทำ "ข้อเสนอเชิงนโยบาย"
วันที่ 4 ก.ค. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานเสวนา ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC
ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ กระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี สภาน้ำแห่งเอเชีย (Asia Water Council หรือ AWC) และ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ณ ห้องประชุมแคทลียา โรงแรม รามา การ์เด้นส์
โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวรายงาน และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ ดร. โช ยงด็อก เลขาธิการสภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) ผู้แทนองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค องค์การจัดการน้ำเสีย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การรายงานผลการศึกษา โดย OECD การนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ภายใต้หัวข้อ โอกาส ความท้าทาย และแนวทางการดำเนินการต่อไปของการนำข้อเสนอแนะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของ OECD มาประยุกต์ใช้ เป็นต้น
พลเอกประวิตร กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี สภาน้ำแห่งเอเชีย และ OECD ในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC การเสวนาครั้งนี้นับเป็นการเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ OECD ได้จัดทำขึ้นสัมฤทธิ์ผลและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปปรับใช้ให้ตรงตามบริบทของประเทศไทย
เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องมีการพัฒนาตลอดเวลาทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติการ เพื่อให้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศมีความมั่นคง ส่งผลถึงการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ
และได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นเข็มทิศในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561-2580) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบจะสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สิ่งสำคัญคือมีองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งภายในประเทศและกับพันธมิตรต่างประเทศ
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า งานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ การหารือระดับชาติเรื่องน้ำในประเทศไทยและพื้นที่ศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง AWC กระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี OECD และ สทนช. ภายใต้ โครงการข้อริเริ่มความร่วมมือด้านน้ำกรอบระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2020-2024
ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำซึ่งครอบคลุมการบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ มาตรการกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสุขาภิบาลในพื้นที่ EEC และช่องว่างของกลไกทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นำไปสู่การจัดทำร่างรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ฉบับสุดท้ายที่สมบูรณ์ ก่อนนำไปปรับใช้จริงให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EECโดยเร็ว ดร.สุรสีห์ กล่าว
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 4 สิงหาคม 2565
"ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส." คาดการณ์ เม.ย.นี้ "ราคาสินค้าเกษตร" ปรับตัวสูงขึ้น
"ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส." ชี้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจากสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" เป็นปัจจัยทำให้ "ราคาสินค้าเกษตร" เดือนเมษายน 2565 ปรับตัวสูงขึ้น เช็ครายละเอียดที่นี่
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. หรือ "ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส." คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2565 สินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคา 11,693 - 12,548 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.32 7.65 เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคา 8,198 8,240 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.86 1.38 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเพิ่มและความกังวลในค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดิม
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก 19.38 - 19.46 เซนต์/ปอนด์ (14.33 - 14.39 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.74 - 1.15 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ส่งผลให้บราซิลเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล จากเดิมที่เคยผลิตเอทานอลที่ร้อยละ 71.42 ได้ปรับสัดส่วนไปผลิตเอทานอลทั้งหมด (100%) ด้านอินเดียได้เพิ่มการส่งออกน้ำตาลกว่า 7.5 ล้านตัน จากเดิม 6 ล้านตัน จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำตาลไม่ปรับตัวเพิ่มมากนัก
มันสำปะหลัง ราคา 2.31 - 2.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.43 4.35 เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้น ควบคู่กับความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา 9.05 - 9.11 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.23 - 0.93 เนื่องจากในช่วงเก็บเกี่ยวเป็นช่วงฤดูแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งตรงข้ามกับความต้องการตลาด ที่ต้องการข้าวโพดไปใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในการผลิตอาหารสัตว์
ปาล์มน้ำมัน ราคา 9.66 - 11.86 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.83 - 23.79 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ปุ๋ยขาดแคลนในตลาดโลกและผู้ส่งออกหลักอย่างประเทศจีนลดการส่งออกปุ๋ยเคมี ทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 63.21 - 64.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 4.48 - 6.43 เนื่องจากราคายางสงเคราะห์ที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประกอบกับผลผลิตยางพาราของไทยลดลงในฤดูกาลปิดกรีดยางพารา อีกทั้งปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม
กุ้งขาวแวนนาไม ราคา 169.64 - 171.93 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.58 - 2.95 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และกำลังจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศสูงขึ้น นอกจากนี้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้ไทยสามารถส่งออกกุ้งไปยังประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ด้าน
สุกร ราคา 88.79 - 91.19 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.13 - 3.87 เนื่องจากความต้องการบริโภคสุกรเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเช็งเม้ง ประกอบกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์และค่าขนส่งสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสุกรยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ
โคเนื้อ ราคา 100 - 110 บาท/กก. ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.54 10.60 เนื่องจากในเดือนเมษายนเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร คึกคักมากขึ้น ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 8,871-8,901 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.06 - 1.39 เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลให้ราคาปรับตัวลงเล็กน้อย
ขอบคุณที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส.
จาก https://www.komchadluek.net วันที่ 4 สิงหาคม 2565
เงินบาทผันผวนกรอบวันนี้ 36.10-36.30/ดอลลาร์
ธนาคารกรุงไทย คาด กรอบเงินบาทวันนี้ อยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มยังผันผวน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
โดยเฉพาะหากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น หลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้คลี่คลายลง อย่างไรก็ดี ควรระมัดระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
เพราะแม้ว่า BOE จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่หาก BOE ยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักหรือเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยช่วงปลายปี เหมือนในการประชุมครั้งก่อนหน้า
ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงหลังรับรู้การประชุมและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตามมองกรอบค่าเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาท/ดอลลาร์
จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2565
RCEP ครึ่งปีแรกโต13% พาณิชย์หนุนใช้ประโยชน์เพิ่มช่องทางนำเข้าสินค้าทุน
RCEP ครึ่งปีแรก โตกว่า 13% ในตลาดอาเซียน จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดี สินค้าเกษตรแปรรูปโตแรงพาณิชย์หนุนใช้ประโยชน์เพิ่มช่องทางนำเข้าสินค้าทุน เผยยอดขอใช้สิทธิ์ RCEP มูลค่ากว่า 204.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ใช้สิทธิ์สูงสุด น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป มันสำปะหลัง
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. มิ.ย. 2565) มีมูลค่ารวม 169,041 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 78,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ทั้งนี้การขยายตัวของมูลค่าการค้า RCEP ถือเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและประเทศสมาชิก RCEP ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยจะใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP
เพื่อขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตขึ้น ทำให้สินค้าที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่จะใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าส่งออก ซึ่งการใช้ประโยชน์จาก RCEP จะช่วยเพิ่มช่องทางการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากแหล่งนำเข้าที่หลากหลายด้วยเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่นขึ้น
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรก กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปที่ส่งออกไปตลาด RCEP มีการขยายตัวได้ดี อาทิ น้ำตาลทราย (+145%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+19%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป (+10%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+9%) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+4%) กลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+14%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+24%) ข้าว (+12%) และไก่แปรรูป (+4%) และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า (+19%) เม็ดพลาสติก (+12%) และผลิตภัณฑ์ยาง (+3%)
การนำเข้าจากกลุ่มสมาชิก RCEP มีมูลค่า 90,869 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แหล่งนำเข้าสำคัญ อาทิ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจาก RCEP ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าทุน อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+9%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+1%) และกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป อาทิ เคมีภัณฑ์ (+14%) เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+12%) และแผงวงจรไฟฟ้า (+35%)
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ความตกลง RCEP ในช่วงเดือน ม.ค. เม.ย. 2565 มีมูลค่า 204.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+2,296%) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการมีผลบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีผู้ส่งออกขอใช้สิทธิ์ RCEP ไปยังญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ มากที่สุด
และสินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ส่งออกสูงสุด อาทิ น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป มันสำปะหลัง ทุเรียนสด และรถจักรยานยนต์ สำหรับการนำเข้าโดยใช้สิทธิ์ RCEP มีมูลค่า 72.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+1,887%) และรายการสินค้าที่ใช้สิทธิ์นำเข้าสูงสุด อาทิ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ ไม้อัด เม็ดพลาสติก และส่วนประกอบเครื่องยนต์ (ลูกสูบ)
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 สิงหาคม 2565
สรท.จับตาเศรษฐกิจถดถอยหวั่นลามตลาดส่งออกยุโรป
สรท.ประเมินส่งออกครึ่งปีหลัง หวั่นเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ยุโรป จีน กระทบส่งออกไทย ชี้ส่งออกไทยมีลุ้นส่งออกโต 10 % หากสถานการณ์ไม่รุนแรง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนชิปต้องคลี่คลายช่วงปลายปี
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยมีสัญญาณดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมั่นใจว่าปี 2565 อย่างน้อยการส่งออกไทยจะขยายตัว 6-8% แน่นอนจากเดิมที่คาดไว้ที่ 5% โดยดูจากการส่งออกในครึ่งปีแรกส่งออกรวม 149,184 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.7% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัยพบว่าการส่งออกขยายตัว 9% หากครึ่งปีหลังไม่ขยายตัวส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 6-8%
สำหรับปัจจัยบวกมาจากค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (PMI) ในเดือน มิ.ย.ของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น ยังทรงตัวเหนือเส้น Baseline ระหว่าง 50-60 ขณะที่จีนเริ่มฟื้นกลับมาเหนือระดับ Baseline หลังจากก่อนหน้า PMI หดตัวต่ำกว่าที่คาดสะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก
อย่างไรตามคงต้องจับตาปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คือ
1.สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 ประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% และประเทศเกิดขึ้นหรือประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 9.5% ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคในระดับกลางและระดับล่างทั่วโลกมีสัญญาณชะลอตัว
2.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตสินค้า รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก
3.สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง แต่พบว่าค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์ตู้เปล่าที่นำเข้ามาในประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
4.ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น
ส่งออกทั้งปีมีอยู่ในกระเป๋าแล้ว 6-8 % แต่ สรท.ยังคิดไม่พอ เพราะคาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้มีความเป็นไปได้ที่ส่งออกขยายตัวถึง 10 % จากปัจจัยที่จะหนุนให้การส่งออกโต ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว 34 บาทต่อดอลลาร์ น้ำมันดิบ 100-115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาวัตถุดิบไม่ผันผวน ตู้คอนเทนเนอร์เพียงพอ ซึ่งหากการส่งออกปีนี้โตถึง 10% ปีหน้ามีลุ้นยอดส่งออกแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์นายชัยชาญ กล่าว
อย่างไรก็ตามการส่งออกไทยจะโตถึง 10% ได้ต้องดูสถานการณ์ต่อจากนี้โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนชิปว่าจะคลี่คลายได้มากน้อยแค่ไหนในช่วงปลายปีเพราะจะส่งผลต่อการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพราะในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกติดลบ 6%
รวมทั้งติดตามว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ยุโรปและจีน จะรุนแรงมากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐและยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง
ขณะที่จีนกิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มกลับมาหลังจากเปิดเมือง ซึ่งตัวเลขการส่งออกจีนในครึ่งปีแรกยังขยายตัวได้ 6% หากในช่วงครึ่งปีหลังจีนไม่กลับมาประกาศล็อคดาวน์ปิดประเทศอีกก็จะเป็นแรงหนุนต่อการส่งออกไทยได้อีก
ทั้งนี้ สรท.จะประเมินตัวเลขส่งออกอีกครั้งในเดือน ก.ย.2565 ก่อนปรับประมาณการณ์การส่งออกไทยปี 2565 แต่มั่นใจว่าการส่งออกจะยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้
สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญเพื่อผลักดันการส่งออกและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ประกอบด้วย
1.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้ และไม่เป็นการซ้ำเติมรายจ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป
2.ขอให้ธนาคารพาณิชย์ เร่งออกแคมเปญเพื่อช่วยเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการส่งออกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต
3.การเร่งสร้างโอกาสทางการในตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ เช่น CLMV รวมถึงตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย อิรัก เป็นต้น
4.การรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป
สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในเดือน ก.ค.2565 มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ในกรอบ 35.44-36.83 บาท เนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ นั่นคือการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อยู่ ณ ระดับ 2.5%
ประกอบกับการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ความต้องการถือครองดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนสูงของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 15 ปี
ทั้งนี้ จากระดับอัตราเงินเฟ้อของประเทศหลักยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสอดรับกับที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ส่งผลต่อเนื่องกดดันให้ค่าเงินบาทในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ส่วนของไทยรอความชัดเจนจากการประชุม กนง.เดือน ส.ค.2565 แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งมีปัจจัยหลากหลายที่อาจส่งผลกระทบและทำให้เกิดการผันผวนได้ง่าย อาทิ เงินทุนไหลเข้า ดุลบัญชีเดินสะพัด
ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีโอกาสผันผวนได้ง่ายในช่วงนี้
สำหรับการส่งออกของไทยเดือน มิ.ย.2565 มีมูลค่า 26,553 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.9% เมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกขยายตัว 10.4% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28,082 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 24.5% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือน มิ.ย.2565 ขาดดุลเท่ากับ 1,529 ล้านดอลลาร์
ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออกรวมมูลค่า 149,184 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.7% และเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วง ม.ค.-มิ.ย.ปีนี้ ขยายตัว 9%
ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 155,440 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือน ม.ค.-มิ.ย.2565 ขาดดุลเท่ากับ 6,255 ล้านดอลลาร์
จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 สิงหาคม 2565
กรุงไทยชี้บาทอ่อน-สงคราม ดันยอดส่งออกสินค้าเกษตรโต 20.4%
Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 2/65 ขยายตัว 20.4% อานิสงส์บาทอ่อน-สงครามดันความต้องการพุ่ง เผยจีนยังเป็นตลาดหลัก คิดเป็นสัดส่วน 27% ระบุ มันสำปะหลัง-ผลไม้สดแช่แข็ง-ข้าว เติบโตดี จับตา 6 ปัจจัยเสี่ยงกระทบ
วันที่ 2 สิงหาคม 2565 Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2565 ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีแรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้มีความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารเร่งตัวขึ้น ทั้งเพื่อชดเชยการขาดแคลน และกักตุนไว้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
โดยมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไตรมาส 2 ปี 2022 ขยายตัว 20.4%YOY แบ่งเป็นหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นชัดเจนที่ 15.4%YOY การส่งออกขยายตัวดีในทุกตลาดสำคัญ โดยจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคิดเป็น 27% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดกลับมาเร่งตัวที่ 20%YOY ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และข้าว ขณะที่ตลาดแอฟริกาขยายตัวถึง 31%YOY จากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวตามราคาน้ำมันตลาดโลก โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าวนึ่ง ขยายตัวถึง 38.8%YOY
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 28.0% โดยสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงยังขยายตัวดี และโดยเฉพาะน้ำตาลทรายที่ได้รับผลดีจากราคาส่งออกและปริมาณอ้อยที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปยังคงขยายตัว โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ที่ได้รับผลดีจากความกังวลจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงฐานที่ต่ำในปีก่อน
ข้าว
ในปี 2022-2023 ตลาดส่งออกฟื้นตัว โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 7.2 และ 7.6 ล้านตัน ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้น 18.0%YOY และ 5.6%YOY ตามลำดับ (ปรับดีขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อนที่อยู่ที่ 7.0 และ 7.2 ล้านตัน จากอานิสงส์ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าที่คาด และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ) แต่ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด และนับว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต หากเทียบกับในช่วงปี 2557-2561 ที่เคยส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน เนื่องจากยังคงต้องแข่งขันรุนแรงกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย อีกทั้งคาดว่าผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ อย่างไทย เวียดนาม และอินเดีย มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ยิ่งทำให้การแข่งขันส่งออกข้าวในตลาดโลกรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ สายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนามมีราคาถูกและรสชาติดี จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อสามารถต่อรองและกดราคาข้าวไทยลงได้อีก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อ Margin ของผู้ส่งออก
ยางพารา
ในปี 2022 มูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่ง จะขยายตัวเป็น 1.38 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 11.5% โดยเป็นผลจากทั้งปัจจัยด้านราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้น 9.4% ตามราคาน้ำมันตลาดโลก และปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.23 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.0%YOY ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ส่วนในปี 2023 คาดว่ามูลค่าการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวหรือเท่ากับ 1.42 แสนล้านบาท
โดยเป็นผลจากปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.41 ล้านตัน หรือขยายตัว 9.0%YOY เพราะความต้องการใช้ยางแผ่นและยางแท่ง เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนและโลกที่ยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาการขาดแคลนชิปจะทำให้ในปี 2023 การผลิตยานยนต์ของจีนอาจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการส่งออกยางแผ่น ยางแท่งของไทย แต่คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะคลี่คลายในปี 2023
ในปี 2022 คาดว่ามูลค่าส่งออกน้ำยางข้นจะอยู่ที่ 4.65 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 5.0%YOY แม้ว่าราคาส่งออกน้ำยางข้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ปริมาณการส่งออกน้ำยางข้นจะมีแนวโน้มลดลง จากอุปทานถุงมือยางในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในปี 2023 คาดว่ามูลค่าส่งออกน้ำยางข้นจะอยู่ที่ 4.74 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.0%YOY เพราะความต้องการใช้น้ำยางข้นในการผลิตถุงมือยางที่จะกลับมาขยายตัวได้
เนื่องจากปัญหาอุปทานส่วนเกินถุงมือยางโลกที่บรรเทาลง อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางทางการแพทย์และเภสัชกรรม ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก
ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง
ในปี 2022 คาดว่ามูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจะอยู่ที่ 220,135 ล้านบาท หรือขยายตัว 15.7%YOY หลังจากที่ด่านส่งออกทางบกไปจีน 3 ด่าน จากทั้งหมด 4 ด่าน ที่ปิดทำการไปในช่วงไตรมาส 1 ได้เปิดทำการเป็นปกติแล้ว สะท้อนจากมูลค่าส่งออกในไตรมาส 2 ที่กลับมาขยายตัวสูง ส่วนในปี 2023 มูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจะอยู่ที่ 258,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 17.2%YOY
โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยคิดเป็น 53% ยังขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับชาวจีนนิยมผักและผลไม้เมืองร้อนจากไทย อีกทั้งไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน ทำให้ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้า ประกอบกับคาดว่าในระยะข้างหน้าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปจีนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออก รวมทั้งสามารถลดต้นทุนการขนส่งและระยะเวลาการขนส่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมง เร็วกว่าการขนส่งทางถนนที่ใช้เวลาถึง 2 วัน
อย่างไรก็ดี การเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบกักกันโรค (CIQ) อาทิ การปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อโควิด-19 สำหรับโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยของทางการจีน ทำให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้น และอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อต้นทุนสินค้าส่งออกของไทย
มันสำปะหลัง
ในปี 2022-2023 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทยจะอยู่ที่ 6.2 และ 6.6 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 20%YOY และ 5%YOY (สูงกว่าการประเมินครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 5.5 และ 5.7 ล้านตัน ขยายตัว 5% ต่อปี) ขณะที่ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 5.1 และ 5.3 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 4% ต่อปี เนื่องจากสต๊อกข้าวโพดจีน (สินค้าทดแทน) มีทิศทางลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตจีนมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมันเส้นและมันอัดเม็ด เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ข้าวโพดจากยูเครน โดยในปี 2021 จีนนำเข้าข้าวโพดจากยูเครนเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณนำเข้าข้าวโพดทั้งหมดของจีน
ในปี 2022-2023 ราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศและราคาส่งออกจะอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 7.4-9.2 บาท/กก. และ 250-310 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ (เพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 7.3-7.9 บาท/กก. และ 260-280 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ) ขณะที่ราคาเฉลี่ยแป้งมันในประเทศและราคาส่งออกในปี 2022-2023 จะอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 15.2-17.1 บาท/กก. และ 520-550 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 14.1-15.4 บาท/กก. และ 510-530 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนผลผลิตหัวมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 32.1 ล้านตัน และ 32.5 ล้านตัน หลังราคาหัวมันสด ในปี 2564 จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
เกาะติดเศรษฐกิจจีนคู่ค้าหลัก
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2022 จะขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
1.การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก และจากมาตรการควบคุมที่เข้มงวดด้านสุขอนามัยของจีน อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด
ซึ่งในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น และหากปรับตัวได้ช้า ก็อาจเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างมาเลเซียและเวียดนาม โดยล่าสุดจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนผลสดจากเวียดนามได้ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่สั้นกว่า
2.ความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จากแรงกดดันของเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าเกษตรในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่สินค้าเกษตรในกลุ่มอาหาร อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในการบริโภค ประกอบกับความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีการกักตุนเพื่อบริโภค โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลไม้กระป๋อง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
3.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพด รวมทั้งวัตถุดิบแม่ปุ๋ยที่มีราคาลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการบางรายที่เร่งนำเข้าในช่วงต้นปีมีความเสี่ยงขาดทุนสต๊อก ขณะที่ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอาจทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มราคา Commodity ในตลาดโลก ดังนั้น ในระยะนี้ผู้ประกอบการในกลุ่มโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์และปศุสัตว์ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนวัตถุดิบและสต๊อกสินค้ามากขึ้น
4.ตลาดตะวันออกกลางได้รับผลดี จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันโลก แต่ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มอาหาร ที่ควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานฮาลาล ซึ่งเปรียบเสมือนใบเบิกทางในการเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบกับผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรมการบริโภคอาหารที่แตกต่างกัน
เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคในตะวันออกกลางมีความหลากหลายทั้งในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิต รวมทั้งมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติทางศาสนาที่เคร่งครัด นอกจากนี้ ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพของสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังในอดีต เช่น เหตุการณ์ที่ประเทศอิรัก ได้แบนการสั่งซื้อข้าวจากประเทศไทย ถึง 7 ปี เนื่องจากข้าวไม่ได้คุณภาพ ตามคำสั่งซื้อ
5.ต้นทุนวัตถุดิบสินค้าเกษตรในกลุ่ม ปุ๋ยเคมี บรรจุภัณฑ์ อาหารสัตว์ รวมทั้งราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดขึ้น จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากอยู่แล้ว
6.ปัญหาค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อต้นทุนการขนส่งของการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเล ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยาง
จาก https://www.prachachat.net วันที่ 2 สิงหาคม 2565
ส่องตลาดส่งออกสำคัญของไทยครึ่งปีแรก ตลาดไหนรุ่งตลาดไหนร่วง
ส่องตลาดส่งออกสำคัญของไทยครึ่งปีแรก สหรัฐฯ อาเซียน CLMV เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา อินเดียยังเป็นโอกาสทองของส่งออกไทย ขณะที่ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ลุ้นเศรษฐกิจ-สงครามรัสเซียคลี่คลาย
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับครึ่งปีแรกของภาคการส่งออกไทย เครื่องจักรเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด แต่ส่งออกไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องโดยภาพรวมครึ่งแรกของปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน) ไทยส่งออก มีมูลค่า 149,184.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 12.7%
แม้ว่าจะขยายตัวลดลงแต่มูลค่าการส่งออกกลับเพิ่มขึ้นจากปี2564ที่มีมูลค่า132,354ล้านดอลลาร์สรัฐ แต่การนำเข้ากลับมีมูลค่าสูงขึ้น 155,440.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21% ส่งผลให้6เดือนไทยดุลการค้าขาดดุล 6,255.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญๆของไทยภาพรวมยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาด ตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ยังมีต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบของความขัดแย้งในยูเครนที่ยืดเยื้อ และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น แต่มีเพียงการส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังซบเซาจากผลกระทบของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวด
ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆแบ่งออกเป็น 3 ตลาด คือ ตลาดหลัก ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ อาเซียน(5) CLMV ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ตลาดรอง ประกอบด้วย เอเชียใต้ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่มCIS และ ตลาดอื่นๆ เช่นสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้สรุปได้ดังนี้
ตลาดหลัก ในช่วง6เดือน ขยายตัว11.5% หรือมีมูลค่า 103,943ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดดังนี้
ตลาดสหรัฐฯ 20.5% มูลค่า24,004ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดอาเซียน (5) 25% มีมูลค่า21,521ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปมาเลเซียสูงสุดมีมูลค่า6,435ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือขยายตัว9.8% รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย ขยายตัว 38%มีมูลค่า5,623ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
ตลาดCLMV 9.9% มูลค่า15,773ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเวียดนามสูงสุดมีมูลค่า6,707ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว0.1% รองลงมาเป็นกัมพูชา มีมูลค่า4,210ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว21% เป็นต้น
ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัว10.4% มีมูลค่า42,030ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนยังคงมีนโยบายซีโร่โควิดและยังไม่เปิดประเทศรวมถึงปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศส่งผลให้6เดือนไทยส่งออกไปตลาดจีนมีมูลค่า18,453ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว0.8%
ตลาดญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ไทยส่งออกไปในช่วง6เดือนมีมูลค่าลดลงโดยมีมูลค่า12,714ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพียง1.4%เท่านั้น
ตลาดรอง ภาพรวมขยายตัว42,030ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ10.4%ซึ่งขยายตัวในตลาดดังนี้
ตลาดเอเชียใต้ 6เดือนขยายตัว 7,301ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ35.7% โดยอินเดียไทยส่งออกไปสูงสุดถึง5,606ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ46.6% ส่วนตลาดที่ส่งออกติดลลคือฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่า5,547ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือติดลบ1.9%
ทวีปออสเตรเลีย 6เดือนขยายตัวติดลบ3.2%หรือมีมูลค่า6,503ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลาด ตะวันออกกลาง 6เดือนขยายตัว21.5%หรือมีมูลค่า5,279ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปซาอุดิอาระเบียขยายตัวเพิ่มขึ้น10.8% หรือมีมูลค่า934ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS 6เดือนขยายตัวติดลบมากถึง34.4%หรือมีมูลค่า396ล้านดอลลาร์สรัฐ โดยไทยส่งออกไปรัสเซียติดลบถึง36%หรือมีมูลค่า292ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และ (3) ตลาดอื่น ๆ 6เดือนขยายตัวถึง205% หรือมีมูลค่า3,210ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายตัวถึง319% หรือมีมูลค่า2,776ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้สินค้าสำคัญของไทยที่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เป็น
ตลาดอาเซียน (5)) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
ตลาด CLMV สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น
ตลาดสหภาพยุโรป (27) 0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ไก่แปรรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ตลาดเอเชียใต้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น
ตลาดทวีปออสเตรเลีย สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
ตลาดตะวันออกกลาง สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ตลาดทวีปแอฟริกา สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ตลาดลาตินอเมริกา สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น
ส่วนตลาดจีน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง และทองแดงและของทำด้วยทองแดง เป็นต้น
ตลาดญี่ปุ่น สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น
จาก ttps://www.thansettakij.com วันที่ 2 สิงหาคม 2565
ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด อ่อนค่าที่ระดับ 36.12 บาท/ดอลลาร์
ค่าเงินบาท ในระยะสั้นนี้แนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเห็นผู้นำเข้าบางส่วน รวมถึง บริษัท MNC ญี่ปุ่นทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์/เงินเยนญี่ปุ่นบ้างในช่วงที่ผ่านมา ด้านผู้ส่งออกรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วง 36.40 บาท
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่านวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะตลาดการเงินที่กลับมาระมัดระวังตัวมากขึ้น อาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ นักลงทุนต่างชาติบางส่วนทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของหุ้นไทยบ้าง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เพราะเงินดอลลาร์ก็ขาดปัจจัยหนุนที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ
ในระยะสั้นนี้ โซนแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นผู้นำเข้าบางส่วน รวมถึง บริษัท MNC ญี่ปุ่นทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์หรือเงินเยนญี่ปุ่นบ้างในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ส่งออกยังไม่รีบกลับมาขายเงินดอลลาร์และส่วนใหญ่ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วง 36.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวพอจะเป็นแนวต้านในช่วงนี้ได้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์
ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักอาจชะลอตัวลงมากขึ้น หลังจากล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคม ของทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพการชะลอตัวมากขึ้นของภาคการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งแนวโน้มการชะลอตัวของภาคการผลิตดังกล่าวยังได้ส่งผลให้
ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกังวลว่าความต้องการใช้พลังงานอาจลดลงตาม กดดันให้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเกือบ -5% และยังส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลดลง โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.28% ตามแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานด้วยเช่นกัน (Exxon Mobil -2.5%, Chevron -2.0%)
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.19% ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Equinor -2.9%, BP -1.9%) รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่าง ยอดค้าปลีกของเยอรมนี (Retail Sales) ในเดือนมิถุนายน หดตัวถึง -1.6% จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวราว +0.2%
ทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของบรรดาเศรษฐกิจหลัก รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและอาจเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคม (โอกาสราว 40%) ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 2.57% ซึ่งเราคาดว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสกลับมาผันผวนและปรับตัวขึ้นได้บ้าง
โดยเฉพาะในช่วงใกล้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อใหม่ของสหรัฐฯ เนื่องจากเฟดได้ย้ำชัดเจนว่า เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจนโยบายการเงิน ซึ่งหากเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงชัดเจนหรือเร่งตัวขึ้น เฟดก็อาจไม่สามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 105.4 จุด กดดันโดยแนวโน้มการชะลอตัวลงที่ชัดเจนมากขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่คาดว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า
ทั้งนี้ แม้ว่าเงินดอลลาร์รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงมาบ้าง และช่วยหนุนให้ราคาทองคำยังสามารถยืนเหนือระดับ 1,788 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็ทยอยเข้ามาขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำบ้าง ทำให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านได้
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้ โดยจะเริ่มจาก ยอดเปิดรับงานใหม่ (Job Openings) ที่ตลาดคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงราว 11 ล้านตำแหน่ง และมากกว่าจำนวนผู้ว่างงานเกือบ 1.9 เท่า สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ตึงตัวมาก นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการปรับนโยบายการเงิน หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น
ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.85% เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.10-36.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.45 น.) หลังเปิดตลาดช่วงเช้าวันนี้ที่ระดับประมาณ 36.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังมีแรงหนุนต่อเนื่องบางส่วน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากตัวเลขภาคการผลิตที่น่าผิดหวัง โดยทั้งดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี (แม้ว่า ค่าดัชนีจะยังอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งสะท้อนว่ากิจกรรมภาคการผลิตจะยังขยายตัวอยู่ก็ตาม)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.90-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ
จาก ttps://www.thansettakij.com วันที่ 2 สิงหาคม 2565
BRR ดันแบรนด์ บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย ย่อยสลายใน 45 วัน ตีตลาดรักษ์โลก
BRR ดันแบรนด์ บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย ตีตลาดผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ย่อยสลายเองได้ใน 45 วัน ทดแทนโฟมและพลาสติก 300 ล้านชิ้น ต่อปีสอดรับ Roadmap ภาครัฐ ในการลด-เลิกผลิตขยะพลาสติก
บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผุดไอเดียผลิตภัณฑ์ ชานอ้อย เสิร์ฟตรงผู้บริโภค ชูจุดเด่นรักษ์โลก ซึ่งบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย มีจุดเด่นเป็นเยื่อไม่ฟอกย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยการฝังกลบ ไม่เกิน 45-60 วัน ไม่ทำลายหน้าดิน แถมยังต่อยอดเป็นสารอาหารในดิน ปลูกต้นไม้ได้ไม่มีปนเปื้อนสารเคมี
โดย BRR ตั้งเป้าเป็นภาคเอกชนที่ทำธุรกิจไม่ส่งผลต่อสังคมในระยะยาว เพื่อสอดรับ Roadmap ภาครัฐ ในการลด-เลิกผลิตขยะพลาสติก และดำเนินธุรกิจบนหลัก ESG คือคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดแนวคิดของการทำธุรกิจเพื่อควบคู่กับการรักษ์โลก ช่วยโลกได้อย่างยั่งยืนว่า ตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจมากว่า 5 ทศวรรษ เราให้ความสำคัญ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า, คู่ค้า, ผู้ถือหุ้น, พนักงาน และชุมชน รวมถึงสังคมโดยรวม
BRR ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท มีปณิธาณที่ตั้งไว้ตลอดมาคือ กระบวนการผลิตของเราต้องไม่ทำร้ายโลก และปลอดภัยต่อสังคม และผู้บริโภคมากที่สุด ประกอบกับการสร้างความมั่นคงด้านผลผลิต พัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
โดยใช้หลักการพัฒนานวัตกรรม และสนับสนุนด้านการวิจัย เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรให้เติบโตมั่นคงไปพร้อมกัน
ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเริ่มพูดถึงกระแสคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) กันอย่างแพร่หลาย ทั้งการใช้ พลังงาน การเกษตรกรรม การพัฒนาและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสาเหตุสำคัญ ของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งนับวันปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกประเทศที่ต้องรับมือ ซึ่งนโยบายภาครัฐของไทยเอง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติแผน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา
โดยนำร่องลดและคัดแยกขยะในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ปี 2565 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศห้ามใช้พลาสติก 4 ชนิด แบบเด็ดขาดในปี 2565 ได้แก่ โฟม, ถุงหิ้ว, แก้ว และหลอดพลาสติก และเลิกใช้พลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และหลอดพลาสติก นี่จึงทำให้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ อย่าง ชานอ้อย ของ BRR มีโอกาสเติบโตได้ในตลาดนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ทำจากเยื่อชานอ้อย อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด หรือ SEW ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ BRR ถือหุ้นอยู่ 99.99% SEW ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ด้านอุปโภคและบริโภค อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ ที่ทำจากชานอ้อยร่วมกับเยื่อของพืชธรรมชาติอื่น
ปัจจุบัน SEW มีกำลังการผลิตประมาณ 300 ล้านชิ้น/ปี หรือราว 3,500 ตัน สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์จากโฟมและพลาสติกได้ในอัตราส่วนที่เท่ากันคือ 300 ล้านชิ้น ต่อปี ซึ่งรวมในหลายประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น กล่องโฟมใส่อาหาร จาน ชาม โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทมีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
โดยทางบริษัทหวังขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ชานอ้อยให้ทั่วถึงกลุ่มลูกค้าของบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ทุกคนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน
จาก ttps://www.thansettakij.com วันที่ 1 สิงหาคม 2565
นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมและทูตพาณิชย์ทั่วโลก จัดทำบัญชีผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีของประเทศต่างๆ และจัดส่งรายชื่อให้กับผู้นำเข้าปุ๋ยของไทย ซึ่งล่าสุด กรมได้รวบรวมรายชื่อผู้ส่งออกปุ๋ยได้แล้วประมาณ 100 ราย จาก 20 กว่าประเทศ และกำหนดจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ในช่วงปลายเดือน ส.ค.65 เพื่อเพิ่มแหล่งนำเข้าปุ๋ยเคมีให้มีความหลากหลายมากขึ้น และทำให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ของเกษตรกร จากปัจจุบันที่ไทยนำเข้าจากไม่กี่ประเทศ เช่น รัสเซีย และบางประเทศในตะวันออกกลาง
ตอนนี้ทูตพาณิชย์ได้จัดส่งรายชื่อมาให้แล้ว และได้ส่งต่อให้กับผู้นำเข้าปุ๋ย โดยเฉพาะผู้นำเข้าขนาดกลางและเล็ก ไปพิจารณาว่าสนใจจะเจรจากับรายใด ซึ่งกรมจะได้ประสานไปยังทูตพาณิชย์ เพื่อให้นัดหมายการเจรจาจับคู่กันต่อไป มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณปุ๋ยในประเทศได้เพิ่มมากขึ้น และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยตามนโยบายที่ได้รับได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเจรจากับซาอุดีอาระเบีย เพื่อขอซื้อปุ๋ยในราคาพิเศษ โดยจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.65 ระหว่างผู้ส่งออกปุ๋ยซาอุดีอาระเบียกับผู้นำเข้าปุ๋ยของไทย ตั้งเป้าซื้อขายอย่างน้อย 800,000 ตัน เจรจาได้แล้ว 324,000 ตัน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการเจรจา
นอกจากนี้ยังได้เจรจากับผู้ส่งออกปุ๋ยรัสเซีย ตกลงซื้อขายได้ 72,000 ตัน แต่มีปัญหาในการเพิ่มยอดสั่งซื้อ เพราะติดปัญหาระบบการโอนเงิน การขนส่ง บริษัทประกันภัยไม่รับรอง จากการที่นานาชาติคว่ำบาตรรัสเซีย และค่าเงินบาทอ่อน ที่ทำให้ราคาปุ๋ยนำเข้าแพงขึ้น แต่ยังมีความพยายามในการเจรจาซื้อขายต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดรัสเซียแจ้งว่าจะเพิ่มโควตาให้ไทย จาก 500,000 ตัน เป็น 1 ล้านตัน
พร้อมกันนั้น นายจุรินทร์ยังได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์จัดหาปุ๋ยจากแหล่งนำเข้าอื่นๆ เพื่อให้มีหลักประกันว่าปุ๋ยเคมีในประเทศจะไม่ขาดแคลน แม้ขณะนี้ราคาสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้นทั่วโลก.
จาก https://www.thairath.co.thวันที่ 1 สิงหาคม 2565