|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนสิงหาคม 2566] |
อินเดียเตรียมระงับการส่งออกน้ำตาลในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
แหล่งข่าวจากรัฐบาลอินเดียที่ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การระงับส่งออกน้ำตาลของอินเดียซึ่งจะทำให้น้ำตาลส่วนหนึ่งขาดหายไปจากตลาดโลกจะทำให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดนิวยอร์กและลอนดอนที่พุ่งสูงอยู่แล้ว สูงต่อขึ้นไปอีก ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกสูงขึ้นตาม ๆ กัน
สิ่งที่เราให้ความสำคัญในตอนนี้คือการตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศของเราเอง และใช้อ้อยส่วนเกินมาผลิตเอทานอล แหล่งข่าวกล่าว และว่า อินเดียไม่เหลือน้ำตาลมากพอที่จะนำมาจัดสรรโควตาการส่งออก
ทั้งนี้ ในฤดูกาลปัจจุบันที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลส่งออกได้เพียง 6.1 ล้านตัน หลังจากที่เคยให้ส่งออกทำสถิติมากสุดที่ 11.1 ล้านตันในฤดูกาลที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา รัฐบาลอินเดียยังกำหนดจัดเก็บภาษี 20% การส่งออกน้ำตาลไปยังต่างประเทศอีกด้วย
ปัญหาสภาพอากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติของอินเดีย เกิดจากฝนฤดูมรสุมปีนี้ที่ตกในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของอินเดีย มีน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติถึง 50 % โดยพื้นที่เพาะปลูกหลัก ๆนั้นอยู่ในรัฐมหาราษฏระทางภาคตะวันตกและรัฐกรณาฏกะทางภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยและเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลรวมกันเกินกว่าครึ่งของกำลังผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดีย
แหล่งข่าวอีกคนในอุตสาหกรรมน้ำตาลกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ฝนที่ตกน้อยกว่าปกตินี้จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียในฤดูกาล 2566/2567 ลดน้อยลง และจะทำให้การปลูกอ้อยในฤดูกาล 2567/2568 ลดลงไปด้วย ส่วนราคาน้ำตาลภายในประเทศอินเดียช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ขยับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบสองปี ทำให้รัฐบาลต้องยอมให้โรงสีนำน้ำตาลในสต๊อคออกมาขายมากขึ้น 200,000 ตันในเดือนสิงหาคม
เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่อินเดียวิตกคือเงินเฟ้อในหมวดสินค้าอาหารที่ไต่ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 11.5% เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี การที่ราคาน้ำตาลพุ่งสูงขึ้นล่าสุดนี้ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะส่งออกหายวับไปในทันที แหล่งข่าวกล่าว
บริษัทผู้ค้าในเมืองมุมไบให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากแผนการระงับการส่งออกน้ำตาลของอินเดียในเดือนกันยายนนี้ อีกปัจจัยที่อาจทำให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นคือการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะลดลงเช่นกันเนื่องจากผลผลิตมีน้อยลง ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลคาดว่าจะไม่สามารถผลิตเพิ่มได้มากพอที่จะชดเชยปริมาณที่ขาดหายไปในตลาด
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 31 สิงหาคม 2566
ปลัดฯ ณัฐพล ร่วมยินดีวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครบรอบ 39 ปี
วันนี้ (9 สิงหาคม 2566) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครบรอบ 39 ปี โดยมีนายเอกภัทร วังสุวรรณ นายวันชัย พนมชัย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมแสดงความยินดี และมีนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ให้การต้อนรับ ณ อาคารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
จาก https://www.industry.go.th วันที่ 10 สิงหาคม 2566
เกษตรฯร่วมประชุม คกก.น้ำตาลครั้งที่5
นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทรายครั้งที่ 5/2566 ในฐานะกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ) ที่ห้องประชุม 1601 ชั้น 16 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ โดยมีนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมฯ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและพิจารณาในประเด็น 1.การขอเพิ่มชนิดสินค้าเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ปี 2566 (โดยสิทธิคงเดิม) 2.การขอเพิ่มชนิดสินค้า และขอเพิ่มสิทธิซื้อน้ำตาลทรายผลิตเพื่อการส่งออก ปี 2566,3.ขอเพิ่มสิทธิซื้อน้ำตาลทรายผลิตเพื่อการส่งออก ปี 2566 และ 4.ขอปรับลดสิทธิซื้อน้ำตาลทรายเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ปี 2566
จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 สิงหาคม 2566
เช็คด่วน เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย (3 ส.ค.) จ่ายวันไหน
ชาวไร่อ้อย เฮ เงินค่าอ้อยเบื้องสุดท้าย ปี 2565/66 โรงงานน้ำตาล แจ้งข่าวดี (3 ส.ค.) มีโรงงาน ไหน แจ้งประกาศ กำหนดจ่ายเงินแล้ว โรงไหนบ้าง จ่ายวันไหน เช็คที่นี่ มีรายเอียดครบถ้วน
พลิกมติไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2565/66 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อยราคาเดียวกันในอัตรา 1,080 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 64.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น 462.86 บาทต่อตันอ้อย ตามที่ กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ เพื่อที่ชาวไร่อ้อยจะได้นำเงินไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูก การบำรุงรักษาอ้อย และการดำรงชีพต่อไป
ล่าสุด โรงงานน้ำตาลทราย โพสต์อัพเดทข่าว ล่าสุด (3 ส.ค.) ค่าอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 (ปีที่ผ่านมา) พี่น้องชาวไร่อ้อยคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาล จะได้รับทั้ง #อ้อยสด และ #อ้อยไฟไหม้ แต่เนื่องจากการปิดรอบการผลิต ปี 2565/66 จะสิ้นสุดใน 30 กันยายน 66 ทำให้ตัวเลขราคาอ้อย ยังไม่ถูกรับรองและยังไม่ถึงที่สุด
เพื่อให้พี่น้องชาวไร่อ้อย มีเงินหมุนเวียนใช้ โรงงานน้ำตาลหลายแห่งได้ทยอยประกาศสำรองจ่าย #เงินค่าอ้อยขั้นสุดท้าย (เงินตาม) ปี 65/66 ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม มีจำนวน 38 แห่ง (โรงงานน้ำตาล 37 แห่ง + โรงงานเอทานอล GKBI )
การสำรองจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 65/66 นี้ พี่น้อง #ชาวไร่อ้อย แต่ละเขตจะได้รับเงินแตกต่างกัน สำหรับบางพื้นที่แม้จะเป็นขตเดียวกัน #โรงงานน้ำตาล อาจกำหนดอัตราสำรองเงินที่แตกต่างกัน เนื่องจากจำนวนเงินยังไม่สรุปอย่างเป็นทางการ
หมายเหตุ :
1)เงินค่าอ้อยยังมีเพิ่มอีก คำนวณน้ำหนักและความหวาน 6% จากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่เพิ่มจากราคาอ้อยขั้นต้น
2)รายละเอียดการโอนเงิน สามารถสอบถามได้จากโรงงานน้ำตาลที่พี่น้องชาวไร่ส่งอ้อยโดยตรง
จาก https://www.thansettakij.com/business วันที่ 3 สิงหาคม 2566