http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนธันวาคม 2559)

ภาคเกษตร-ส่งออกฟื้น หนุนศก.ไทยปี’60ฝ่ากระแสการค้าโลกผันผวน

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี’59 และปี’60 มีแนวโน้มขยายตัวที่ใกล้เคียงกัน โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% ทั้งในปีนี้และปีหน้า จากบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงกว่าประมาณการ ได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นทั้งด้านราคาและผลผลิต รายจ่ายผ่านชำระรถยนต์ที่ทยอยหมดลงหลังครบระยะ 5 ปี ตามเงื่อนไขของมาตรการรถยนต์คันแรกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ การโอนเงินผู้มีรายได้น้อย

ทั้งนี้คาดว่าในปี’60 ตัวเลขส่งออกจะขยายตัว 0% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยจะได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากรายจ่ายลงทุนภาครัฐที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก จากโครงการประชารัฐสร้างไทยวงเงินรวม 1.9 แสนล้านบาท เป็นการพัฒนาในจังหวัด 1 แสนล้านบาท เพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน 3.6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ พัฒนาการเมืองในยุโรป ผลกระทบต่อการปราบปราม ทัวร์ผิดกฎหมายที่จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว, ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจบางกลุ่มที่ปรับตามภาวะเศรษฐกิจ และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลคู่ค้าสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2560 โดยระบุว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.3% จาก 3.2% ในปี 2559 โดยมีแรงขับเคลื่อนจาก 4 ด้านสำคัญ ด้านแรกคือ การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับปีก่อน อานิสงส์จากรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังภัยแล้งคลี่คลาย การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกอปรกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ซึ่งเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนมากขึ้น ขณะเดียวกันภาระหนี้ครัวเรือนจากโครงการรถคันแรกที่จะทยอยสิ้นสุดลง

สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านที่สอง คือ ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การเสริมสภาพคล่องแก่เกษตรกรและ SMEs การจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมที่ประมาณสองแสนล้านบาทเพื่ออัดฉีดเข้าสู่กลุ่มจังหวัดและกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ซึ่งจะเริ่มทยอยก่อสร้างหลังจากหลายโครงการมีการประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนแรงขับเคลื่อนในด้านที่สาม คือ ภาคส่งออกที่อาจพลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย โดยคาดว่าจะเติบโต 1.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางด้านราคา ประกอบกับการคาดการณ์ปริมาณการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแรงขับเคลื่อนสุดท้ายจะยังคงมาจากภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัว 8-10%

สำหรับประเด็นท้าทายและความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญในปี 2560 ได้แก่ การเดินหน้าตามโรดแมปทางการเมืองและการเลือกตั้ง ช่วงปลายปี ทิศทางนโยบายของสหรัฐฯที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้า และนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ผลกระทบจากการที่ สหราชอาณาจักรเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นอกจากนี้ การควบคุมความเสี่ยงภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและการค้าในเอเชียรวมถึงไทย

ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยและพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดว่าเศรษฐกิจเกษตรไทย ปี 2560 แนวโน้มขยายตัว 3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว ส่งผลให้มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า รวมทั้งสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร คาดว่าสินค้าเกษตรที่จะมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน และน้ำตาลทราย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม สำหรับสินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

 จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองปี60 เงินบาทแข็งค่า 

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปี 2559 เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 34.50-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยมีทิศทางแข็งค่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี เนื่องจากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี เงินบาทต้องลดช่วงบวกลงในช่วงเดือนท้ายๆ ของปี ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2559 และแนวโน้มการขึ้นต่อเนื่องในปี 2560 โดยเงินบาท ณ สิ้นปี 2559 แข็งค่าขึ้นประมาณ 0.5% เมื่อเทียบระดับปิดตลาด ณ สิ้นปี 2558

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-6 ม.ค. 2560) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.70-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนพ.ย. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามรายงานดัชนี PMI เดือนธ.ค. ของประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับ ภาพรวมตลาดหุ้นในปี 2559 ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 17.7% จากระดับ 1,288.02 จุด ณ สิ้นปี 2558 โดยตลาดหุ้นปรับลดลงในช่วงต้นปี โดยถูกกดดันจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ก่อนที่จะปรับฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 2 หลังเฟดส่งสัญญาณถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่อง ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสะสมหุ้นไทยอีกครั้งท่ามกลางมุมมองต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยเผชิญกับแรงขายอีกครั้งในช่วงกลางปี หลังสหราชอาณาจักรลงมติออกจากสหภาพยุโรป ขณะที่ กระแสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มาในช่วงปลายปีก็เป็นข้อจำกัดของการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-6 ม.ค. 2560) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,525  และ 1,510 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,550 และ 1,560 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งแรงขาย LTF และ RMFในช่วงต้นปี ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูล PMI ภาคการผลิต ข้อมูลการค้า และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ของประเทศในยูโรโซน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ลุย3แผนพลังงานทดแทน

พพ.เดินหน้า 3 แผนงานใหญ่ปี 2560 เพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานทดแทนในเชื้อเพลิงทุกชนิด

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 กรมจะผลักดันการใช้พลังงานทดแทน 3 ลักษณะ คือ 1.การใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแบบประมูลแข่งขัน ทั้งพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) และโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) เพื่อผลักดันให้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ

2.การใช้พลังงานทดแทนในภาคความร้อน จะส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน เช่น ไม้สับ เชื้อเพลิงอัดเม็ด ขยะอัดเม็ด ในโรงงานอุตสาหกรรม และ 3.การใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายผลักดันแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือเออีดีพี 2015 (พ.ศ. 2558-2579) ที่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2579

"แผนการผลักดันพลังงานทดแทนทั้ง 3 แผนงาน จะเร่งทำในปี 2560 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานทดแทนให้กับประเทศไทย เชื่อว่าปีหน้าจะสามารถผลักดันได้ตามแผนงาน เพราะในปีหน้าทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ก็น่าจะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนได้ดียิ่งขึ้น และน่าจะเป็นผลดีต่อประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของไทย"นายประพนธ์ กล่าว

นอกจากนี้ กรมได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในปี 2560 เพื่อให้เป็นไปตามแผนเออีดีพี 2015 โดยได้กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 14.5% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ 13.8% และมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้เป็นไปตามเป้าหมายได้

อย่างไรก็ตาม แม้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานที่มีต้นทุนสูงกว่าพลังงานหลัก แต่เมื่อคำนวณถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ทั้งในด้านการใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ภายในประเทศ ช่วยลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ รวมทั้งยังสามารถลดมลภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ถือได้ว่ามีความคุ้มค่า ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพลังงานที่ได้ยังสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี

 "จากโครงการต่างๆ ที่ พพ.เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนทั่วประเทศที่มีศักยภาพของวัตถุดิบเพื่อนำมาสู่การผลิตเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก ส่งผลให้ปัจจุบันชุมชนต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญ และเกิดการเรียนรู้ที่จะพัฒนาชุมชนของตนเอง และยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยพลังงานทดแทนที่หาได้ในท้องถิ่น สามารถลดการใช้พลังงานหลักในระยะยาวได้ ซึ่งจะส่งผลให้ลดการสูญเสียเงินตรา ทั้งในด้านการจัดซื้อเชื้อเพลิง เครื่องจักรและอุปกรณ์จากต่างประเทศ ทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน" นายประพนธ์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 30 ธันวาคม 2559

3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ชี้โอกาสดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย หลังความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่ม ดันราคาสูง ช่วยชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น

          3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ชี้เป็นจังหวะดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย หลังพืชอ้อยขึ้นแท่นเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มราคาดีเมื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทราย รับความต้องการซื้อน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกในหลายประเทศเริ่มดีขึ้น ดันแนวโน้มภาพรวมมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้าน มั่นใจชาวไร่อ้อยมีรายได้ที่มั่นคงจากการเพาะปลูก

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้ประเมินถึงทิศทางราคาพืชผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลังและยางพารา ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าหรือระหว่างปีการเพาะปลูก 2559-2561 พบว่า อ้อยจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายที่ผลิตมาจากอ้อยในปีนี้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่สูง โดยมีราคาอยู่ที่ 18-20 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำมาคำนวณเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ ปีนี้จึงจัดได้ว่าอ้อยเป็นพืชที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่เมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดราคาอยู่ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ยกเว้นพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 980 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูหีบที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 808 บาทต่อตันอ้อย ส่วนพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในปีก่อนเพียง 773 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งจากราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าว ถือเป็นราคาเหมาะสมที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยมั่นใจได้ว่า จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น

          สำหรับแนวโน้มดังกล่าว 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มองว่าปีการเพาะปลูกปีนี้ถือเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอีกปีหนึ่ง เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายได้ประเมินปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงทำให้หลายประเทศเริ่มสั่งซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงให้เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนามีเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายในตลาดโลกและค่าเงินบาทที่อ่อนลง ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้ที่จะมีรายได้จากการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

          "เดิมโรงงานน้ำตาลทรายได้ประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการหีบอ้อยปี 59/60 คาดการณ์ว่า ปริมาณอ้อยจะต่ำกว่าปีก่อนจากภาวะภัยแล้งในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก แต่อย่างไรก็ดี เมื่ออ้อยได้รับน้ำฝนเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนกรกฎาคม มีฝนกระจายในพื้นที่เพาะปลูกได้ดีขึ้น ทำให้อ้อยฟื้นตัวดีขึ้น และคาดว่า จะช่วยให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลทรายปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยบวกเข้ามาช่วยเสริม จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

KTIS ชี้ธุรกิจเอทานอลไตรมาส 4 สดใส คาดยอดขายทั้งปีมากกว่า 70 ล้านลิตร

          กลุ่ม KTIS มั่นใจสายธุรกิจเอทานอลไตรมาส 4 ปี 59 สดใส ชี้ปกติช่วงปลายปีมีปริมาณความต้องการสูงกว่าไตรมาสอื่น เผยช่วง 9เดือนแรกปริมาณการขายสูงกว่าปีก่อนกว่า 10% คาดทั้งปีมียอดจำหน่ายมากกว่า 70 ล้านลิตร ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นช่วยให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น ย้ำจุดแข็งลูกค้าเชื่อมั่นที่ส่งมอบได้ครบถ้วนตรงเวลามาตลอด ด้วยการบริหารวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกลุ่ม KTIS มีโรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตต่อวันสูงที่สุดในโลก จึงมีโมลาสป้อนเข้าโรงงานเอทานอลได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

          นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ในปีนี้ความต้องการใช้เอทานอลในประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการจำหน่ายเอทานอลของบริษัทใน 9 เดือนแรกของปีนี้เติบโตขึ้นจากปีก่อนกว่า 10% โดยคาดว่าตลอดทั้งปีจะมีปริมาณการจำหน่ายเอทานอลสูงกว่า 70 ล้านลิตร ซึ่งในรอบ 9 เดือน จำหน่ายไปแล้วประมาณ 54.60 ล้านลิตร มีรายได้ประมาณ 1,212 ล้านบาท

          "ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี เป็นช่วงที่ความต้องการใช้เอทานอลสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ ซึ่งในปีนี้ก็เช่นกัน เอทานอลที่เราผลิตด้วยกำลังการผลิต 230,000 ลิตรต่อวัน จึงขายในประเทศทั้งหมด ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้ราคาเอทานอลสูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงเชื่อว่าไตรมาสนี้ สายธุรกิจเอทานอลของ KTIS จะเป็นสายธุรกิจหนึ่งที่ทำผลการดำเนินงานได้ดี" นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

          ทั้งนี้ สายธุรกิจเอทานอลของกลุ่ม KTIS ดำเนินการภายใต้ บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด (ถือหุ้นโดย KTIS 100%) ซึ่งนับว่าเป็นโรงผลิตเอทานอลที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในประเทศไทย และได้รับการยอมรับจากลูกค้าที่เป็นบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ของประเทศในเรื่องของการส่งมอบสินค้าได้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด ไม่เคยขาดตกบกพร่อง เพราะสามารถบริหารวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกลุ่ม KTIS มีโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยที่มีกำลังการผลิตต่อวันสูงที่สุดในโลก จึงมีโมลาสเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

          รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า จากการไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม KTIS จึงได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตพลอยได้ (By products) จากเอทานอล ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้ใช้สารปรับปรุงดินคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ได้อ้อยคุณภาพดี เพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี เป็นประโยชน์ทั้งกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

KSLปี'59กำไรโต66%

KSL ปี 2559 กำไรโต 66% ฟื้นตามราคาน้ำตาลตลาดโลกที่พุ่ง-ประเมินที่ดินใหม่ทำมีกำไร 850 ล้านนายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานของบริษัทงวดปี 2559 (พ.ย. 2558-ต.ค. 2559) บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,426.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีกำไรสุทธิ 861.68 ล้านบาท

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จ.สกลนคร ผ่านฉลุยเกษตรกรขานรับตั้งสมาคมชาวไร่อ้อย “ชัยมงคล” นั่งนายกฯ

“ชัยมงคล ไชยรบ” นายก อบจ.สกลนคร อดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย นั่งนายกสมาคมชาวไร่อ้อยสกลนคร ลั่นพร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ให้เกษตรกร ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงงานน้ำตาล ที่จะมาก่อสร้างในพื้นที่

  สกลนคร/ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุม ค่ายศรีสกุลวงศ์ กก.ตชด.23 ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร นายถาวร สุขทาน เป็นประธานชั่วคราว ในที่ประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก ของการก่อตั้งสมาคมชาวไร่อ้อยสกลนคร โดยมี นายสนองศักดิ์ ดวงศรีจันทร์ อดีต นายก ทต.บะหว้า นายบุญฮงค์ ยอดหอ ประธานสภาเกษตร จ.สกลนคร เป็นแกนนำจัดตั้งสมาคม และมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมกว่า 120 คน ซึ่งวาระการประชุมที่สำคัญคือคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาดูแลสมาคมฯ จำนวน 18 คน ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสกลนครคนแรก คือ นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร อดีต นายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย โดยผ่านความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ เนื่องจากเกษตรกรทุกคนเห็นว่ามีความรู้ ความสามารถที่จะนำพาองค์กรซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ไปได้ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีความจริงใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบ เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ เพราะเคยผ่านการเป็นผู้นำสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยมาแล้ว

          นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร และ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสกลนคร กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทไทยรุ่งเรือง มีโครงการจะมาก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร เกิดการสร้างงานจำนวนมาก จากการตั้งโรงงานครั้งนี้ทำให้เกษตรกรบางส่วน ได้แบ่งพื้นที่จากการปลูก

ข้าวมาปลูกอ้อย ด้วยเชื่อมั่นว่าอ้อยคือพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ดังนั้นพวกตนจึงได้รวมตัวกันมาก่อตั้งสมาคมชาวไร่อ้อยขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งหมด ในการที่จะดูแลสิทธิ สวัสดิการต่างๆให้กับพี่น้องชาวไร่อ้อย เราไม่ประสงค์ที่จะให้กลุ่มทุนหรือนายทุนเจ้าของโรงงานมาเอารัดเอาเปรียบชาวไร่อ้อย ซึ่งวันนี้ การรวมตัวกัน น่าจะเป็นพลังความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เข้มแข็งที่จะมีอำนาจต่อรองกับทางโรงงานหรือกลุ่มทุนได้ เกษตรกรชาวนาถูกเอาเปรียบมานาน วันนี้พวกเรามีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ เข้ามาดูแล แต่เหนือสิ่งอื่นใด เรามีอุดมการณ์ที่จะรักษาผลประโยชน์ให้กับพี่น้องชาวไร่อ้อย รักษาความชอบธรรมให้กับชาวไร่อ้อย

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พณ.เตรียมปล่อยเพดานค้าปลีกน้ำตาลรอ”ฉัตรชัย” อนุมัติ

กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอขอยกเลิกเพดานราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศ อ้างปรับสมดุลตามกลไกตลาด

 นางจินตนา ชัยยวรรณาการ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ( กกร.) ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน จะมีการประชุมในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยกรมจะเสนอยกเลิกการกำหนดเพดานควบคุมราคาขายปลีกสูงสุดของรายการควบคุมน้ำตาลทราย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำตาลในประเทศกับต่างประเทศซึ่งคนไทยบริโภคน้ำตาลทรายแพงกว่าต่างประเทศ 5 บาท/กก.

ทางด้าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้เสนอนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรม และชาวไร่อ้อย ให้กำหนดนโยบายลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในฤดูกาลผลิตปีนี้ เพื่อให้สะท้อนราคาตลาดโลกเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี2558

ซึ่งปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควต้า ก.)เป็นสินค้าราคาควบคุม การลอยตัวราคาน้ำตาล ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากขณะนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีรายได้จากการขึ้นราคาน้ำตาลทราย 5 บาทต่อ กก.หรือปีละ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท นำมาชำระหนี้ที่กู้จากธนคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มค่าอ้อยช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น การมีแหล่งเงินทำให้ยืนยันได้ว่าราคาอ้อยจะไม่ตกต่ำ

จาก http://news.mthai.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สั่งลุยเต็มสูบ "ลอยตัวราคาน้ำตาล"  

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย จะนัดประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตายทราย ไปสู่การลอยตัวแบบเสรี วันที่ 12 ม.ค. 25560 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีผลทางการปฏิบัติก่อนฤดูหีบอ้อย ปี 2560/61 หรือก่อนเดือน พ.ย. 2560

          สำหรับแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาล หรือราคาขายปลีกในประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำตาลตลาดโลก และเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการเจรจากับประเทศบราซิลที่ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก กล่าวหารัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาล ดังนั้นในเรื่องของการกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายตามโควตา ก. (ขายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย (อนท.) และโควตา ค. (ส่งออกโดยชาวไร่ และ อนท.) อาจต้องยกเลิกไปแล้วหาวิธีการกำหนดปริมาณน้ำตาลอื่นๆ มาทดแทนโควตาดังกล่าว

          ทั้งนี้ ในเบื้องต้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์อาจใช้วิธีการประกาศราคาแนะนำซึ่งอาจเป็นรายเดือน และกำหนดให้มีการนำเข้าน้ำตาลอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าโดยหากนำเข้าจากกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หรือภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ แต่หากนำเข้านอกจากลุ่มเออีซี ก็จะกำหนดภาษีนำเข้าเพื่อจัดความสมดุลน้ำตาลทรายให้มาแข่งขัน ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้น ที่จะกำหนดจะคำนวณจากราคาน้ำตาลทรายส่งออกที่ อนท. ทำการส่งออก และหากพิจารณาจากราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลก คาดว่าแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 490-500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปอนด์ ซึ่งจะเท่ากับราคาขายปลีกของประเทศไทยในปัจจุบันระดับ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)

จาก ไhttp://www.thairath.co.th  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ก.อุตฯปรับโครงสร้าง รองรับยุทธศาสตร์ไทย4.0  

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทาง การปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ว่า จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้ต้องปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และสนับสนุนอุตสาหกรรมและวิสาหกิจทุกระดับให้เติบโต ทั้งด้านผลิตภาพ การมีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

          "การพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไปสู่ประเทศไทย 4.0 ตั้งใจเห็นภาพกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและกระจายงานสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve การปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวง แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 6 เดือนแรก ของปี 2560 ที่ดำเนินได้ทันที และระยะที่ 2 ภายในปี 2562 ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง โดย ทั้งสองระยะต้องทำคู่ขนานกันไป" นายอุตตม กล่าว

          โดยระยะแรกเป็นการปรับปรุงบทบาทของส่วนราชการระดับกรมต่างๆ แบ่งเป็น 4 กลุ่มงาน ได้แก่ 1.กลุ่มสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย หน่วยงาน อำนวยการและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 2.กลุ่ม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและพัฒนาผู้ประกอบการ ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ 3.กลุ่มสนับสนุนการประกอบการ ประกอบด้วยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ 4.กลุ่มขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบต้นน้ำ ประกอบด้วย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและวัตถุดิบ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

          ทั้งหมดจะปรับบทบาทให้คล่องตัว เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curve และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ด้วยการผลิตภาพ มาตรฐานและนวัตกรรม อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและประชาชน

          "จะเสนอกรอบการปรับบทบาทและโครงสร้างใหม่ต่อ คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคม 2560 เป็นอย่างช้า จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะใช้โครงสร้างใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2560"นายอุตตมกล่าว

          ระยะที่ 2 จะปรับปรุงกฎหมายเดิมและออกกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและ น้ำตาลทราย เพื่อให้ครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากอ้อยไปพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพที่มีมูลค่าสูง รวมถึงตั้งหน่วยบริการ รูปแบบพิเศษ (Special Delivery Unit) เพื่อให้บริการกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          นอกจากนี้ยังจะจัดทำ พ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ และปรับโครงสร้างของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ให้กลายเป็นสำนักงานส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ เพื่อครอบคลุมภารกิจการส่งเสริม และพัฒนาผลิตภาพในทุกสาขาธุรกิจของประเทศ รวมถึงการเจรจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานทั้งหมดเพื่อตั้งเป็นสำนักงานการมาตรฐานแห่งชาติ เพื่อตอบโจทย์รัฐบาล

          ที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยการมีมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม และทำให้ไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดัก รายได้ปานกลางในปี 2579 ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ

          "การปรับโครงสร้างจะทำให้กระทรวงมีสถาบันเครือข่ายเพิ่มขึ้น จาก 154 สำนักงาน เป็น 162 สำนักงานในจำนวนนี้ 124 สำนักงานต้องปรับบทบาทใหม่โดยจะโยกย้ายบุคลากรจากสำนักงานเดิมส่วนบุคลากรที่มีความชำนาญพิเศษจะจัดจ้างชั่วคราว และจะปรับโครงสร้างบุคลากรอีกครั้งในปี 2562 รวมทั้งเร่งปรับแผนงบประมาณปี 2561 ให้เหมาะสมกับแผนงานใหม่ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี" นายอุตตมกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุตฯรื้อโครงสร้างปีหน้าเอกชนชี้ทำงานคล่องตัว  

          กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปรับโครงสร้างรอรับไทยแลนด์ 4.0 มุ่งเน้นบทบาทส่งเสริมและความร่วมมือเอกชน คาดเริ่มใช้กลางปีหน้า ขณะเอกชนมั่นใจมากขึ้น หลังมีกรอบเวลาชัด มั่นใจหลังปรับโครงสร้างการทำงานคล่องตัว

          กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย สนับสนุนอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ยุค 4.0 โดย คาดว่าจะเริ่มมีผลในทางปฏิบัติ กลางปีหน้า

          รัฐบาลต้องการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ในขณะที่โครงสร้างไม่มีความคล่องตัวในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าโครงสร้างให้ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดรับกับ อุตสาหกรรม 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่จะขับเคลื่อนตามนโยบายประเทศ ไทย 4.0  ซึ่งจะต้องปรับบทบาทเน้นการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการมากขึ้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย

          "ต้องไม่ทอดทิ้งบทบาทด้านการกำกับดูแล แต่จะต้องติดตามให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น"

          นายอุตตม กล่าวว่าจะนำเสนอกรอบโครงสร้างใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือนมี.ค.ปี 2560 และสามารถนำมาสู่การปฏิบัติได้ภายในเดือนก.ค.2560 เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2560 โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย(S-Curve) พร้อมทั้งต้องปรับแผนการใช้งบประมาณในปี 2561 ให้สอดรับกับแนวนโยบายและแผนปรับโครงสร้างกระทรวงฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ

          แบ่งหน่วยงาน3กลุ่มตามภารกิจ

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าแผนการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มภารกิจ คือ 1. กลุ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและพัฒนาผู้ประกอบการ มี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) และกรมส่งเสริม อุตสาหกรรม(กสอ.) โดย สศอ.ตั้งเป้าหมาย ในปี 2562 จะปรับเป็นสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ โดยจะต้องจัดทำพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติขึ้น และมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขา ส่วนกสอ.จะเน้นสนับสนุนเอสเอ็มอีในทุกระดับ

          กลุ่มที่ 2 สนับสนุนผู้ประกอบการ มี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) โดยสมอ.ระยะแรกจะเน้นกระจายงานออกไปให้บุคคลที่ 3 หรือ เอกชน เข้ามาช่วยด้านการตรวจสอบมาตรฐานมากขึ้น และกระจายงานรับรองมาตรฐานไปสู่ระดับจังหวัด โดยสมอ.จะดูแลการออกมาตรฐานให้รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องแยกสำนักงานมาตรฐานแห่งชาติ ออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ ภายใน 6 เดือน ส่วนกรอ.จะเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการมากขึ้นและเน้นอุตสาหกรรมสีเขียว(Green Industry)

          กลุ่มที่ 3 การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ มี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) โดย กพร.จะเปลี่ยนชื่อเป็น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและวัตถุดิบในระยะ 6 เดือนแรก เพื่อมุ่งพัฒนาวัตถุดิบขั้นต้นในประเทศ นำไปสู่การเพิ่มมูลค่า ส่วนสอน. มีเป้าหมาย 2 ปี จะตั้งหน่วยงานด้านชีวภาพมา 2 กรม ซึ่งจะยกร่างพ.ร.บ.ฯมารองรับ การเปลี่ยนจากสอน.เป็นสำนักงาน คณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ

          เริ่มโยกย้ายบุคลากรปี 2562

          นายสมชาย กล่าวว่าการปรับโครงสร้างกระทรวงฯ ตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้กระทรวงฯจากเดิมมี 154 สำนักงาน เพิ่มเป็น 162 สำนักงาน โดย 124 สำนักงานจะต้องปรับบทบาทการดำเนินงานใหม่

          "การโยกย้ายบุคลากร ตามโครงสร้างใหม่จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2562 ขณะที่บางสำนักงานจะต้องจัดหาบุคลากรชำนาญการพิเศษ เช่น หน่วยงานด้านชีวภาพ ซึ่งอาจใช้รูปแบบการจัดจ้างชั่วคราว"

          นายอุตตม กล่าวอีกว่า วันนี้ (29 ธ.ค.) กระทรวงอุตสาหกรรม,  เกษตรและสหกรณ์ , พาณิชย์, ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สาธารณสุข และสำนักนายกรัฐมนตรี จะประชุมร่วมกับเพื่อจัดทำแผนบูรณาการแนวทางการขับเคลื่อนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป กลุ่มสมุนไพร โดยจะมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม วางแผนเชื่อมโยงในทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น นำไป ผลิตเครื่องสำอาง ยา อาหารเสริม เป็นต้น

          เอกชนหนุนปรับโครงสร้าง

          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า แผนการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ที่มีกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน และปรับบทบาทเน้นงานด้านการส่งเสริมมากขึ้นจะช่วยส่งเสริมการทำงานระหว่างภาครัฐ และเอกชนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

          "ที่ผ่านมา ยังมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการออกมาตรฐาน และเกิดความซับซ้อนในกระบวนการทำงาน เช่น สินค้าจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จะไม่ถูกมองว่าเป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ทำให้ขึ้นรับรองมาตรฐานเกิดความซับซน

          ดังนั้น ควรมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์ในการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นไปใน ทิศทางเดียวกัน และยังเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามนโยบายภาครัฐ"

          มั่นใจทิศทางพัฒนาเอสเอ็มอีชัดขึ้น

          ด้านนายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (เอสเอ็มไอ)มองว่า การปรับบทบาทของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีในทุกระดับ จะเกิดประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีโดยรวม

          นายศักดิ์ชัยเชื่อว่าจกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมจัดทำพิมพ์เขียวพัฒนาเอสเอ็มอี จะทำให้นโยบายขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในปี 2560 มีความชัดเจนเพราะที่ผ่านมาการใช้งบประมาณยังเป็นลักษณะเบี้ยหัวแตก

          อย่างไรก็ตาม ปี 2560 คณะประชารัฐฯ จะเน้นการขับเคลื่อนผู้ประกอบการใน 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่จะมีการแก้กฏหมายส่งเสริมให้เกิดการลงทุน 2.กลุ่มเอสเอ็มอี ที่จะเน้นการเสริมขีดความสามารถ ในการแข่งขันให้กับกลุ่มทั่วไป (Regular) และกลุ่มที่มีศักยภาพ (Strong) 3.กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม (โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์) ซึ่งในปีหน้าจะส่งเสริมการจัดงานอาเซียน เอสเอ็มอี เอ็กซ์โปดึง 10 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม เพื่อส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีในภูมิภาคให้เข้มแข็ง .

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ดึงดีเอสไอ-ปปง.เชือดทุจริตแก๊งตั๋วปุ๋ย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์แก้ไขปัญหาการซื้อขายปุ๋ยล่วงหน้า (ตั๋วปุ๋ย) ให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ โดยกรมต้องหารือร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบการดำเนินธุรกิจตั๋วปุ๋ยของสหกรณ์แต่ละแห่งว่ามีกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บริษัทผู้ค้าปุ๋ยในลักษณะฉ้อโกงสหกรณ์หรือไม่ หากพบว่ามีการฉ้อโกงจะฟ้องร้องดำเนินคดีทันที

“ขณะนี้มีตั๋วปุ๋ยคงเหลือปริมาณ 49,594 ตัน มูลค่า 591 ล้านบาท ใน 24 สหกรณ์ จาก 17 จังหวัด เนื่องจากสหกรณ์บางส่วนได้รับปุ๋ยจากบริษัทค้าปุ๋ยแล้ว 9,496 ตัน มูลค่า 65 ล้านบาท โดยบริษัทค้าปุ๋ยโอนเงินคืนสหกรณ์บางส่วนแล้ว 941 ตัน มูลค่า 6 ล้านบาท รวมทั้งเปลี่ยนเป็นสัญญาเงินกู้ 222 ตัน มูลค่า 2 ล้านบาท ซึ่งปุ๋ยที่เหลือยังไม่ได้มีการส่งมอบให้สหกรณ์ กรมจึงได้กำหนด ว่าหากบริษัทค้าปุ๋ยไม่สามารถส่งมอบได้ ให้บอกเลิกสัญญาและขอรับเงินคืนในวันที่ 15 ม.ค.2560 หากไม่ได้รับเงินคืนให้สหกรณ์ฟ้องแพ่งบริษัทขายปุ๋ย และกรรมการสหกรณ์ ผู้จัดการสหกรณ์ ภายในวันที่ 15 ก.พ.2560”.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

โรงงานน้ำตาลหยุดรับอ้อยเข้าโรงงานช่วงเทศกาลปีใหม่

สระแก้ว-โรงงานน้ำตาลหยุดรับอ้อยเข้าโรงงานช่วงเทศกาลปีใหม่ 29ธ.ค.59-3ม.ค.60 สนองนโยบายรัฐบาลหวังช่วยลดอุบัติเหตุ

นายธวัช ตินนังวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายเกษตร บริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิต อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบที่กำหนด จำนวน 19 ข้อ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน และในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุในการใช้ถนนใช้ถนนของประชาชนทั่วไป บริษัทจึงได้หยุดรับอ้อยเข้าสู่โรงงาน ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่คืนวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ถึงเที่ยงคืนวันที่ 3 มกราคม 2560 รวมระยะเวลา 5 วัน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชงครม.รื้อใหญ่โครงสร้างกระทรวงอุตฯ 

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปรับโครงสร้างใหญ่ ทั้งปรับ – เพิ่มบทบาท รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ชงครม.มี.ค. 60 หวังมีผล 

 นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมเสนอที่ประชุมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดรับกับอุตสาหกรรม 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวไทยแลนด์ 4.0  จะมีการเสนอกรอบการปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงใหม่ต่อครม.ภายในเดือนมีนาคม 2560 และสามารถนำมาสู่การปฏิบัตได้ไม่เกินเดือนก.ค. 60  เพื่อจะได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วโดยเฉพาะการรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย              

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า   การปรับโครงสร้างกระทรวงฯ จะแบ่งออกเป็น 3กลุ่มภารกิจหลักได้แก่ 1. กลุ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและพัฒนาผู้ประกอบการมีหน่วยงานสังกัดสำคัญได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) โดยสศอ.ตั้งเป้าหมายปี 2562 จะปรับเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ โดยจะต้องจัดทำพ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติขึ้นและมีกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขา  ส่วนกสอ.จะเน้นดูแลและสนับสนุนเอสเอ็มอีในทุกระดับ           

กลุ่มที่ 2 สนับสนุนผู้ประกอบการ หน่วยงานหลักคือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) โดยสมอ.ช่วงแรกจะเน้นกระจายงานด้านตรวจสอบมาตรฐานให้เอกชนทำมากขึ้นและการรับรองมาตรฐานไปสู่ระดับจังหวัด ขณะเดียวกันจะต้องศึกษาแยกงานมาตั้งเป็นสำนักงานมารฐานแห่งชาติออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ ส่วนกรอ.จะเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการมากขึ้นและเน้นอุตสาหกรรมสีเขียว               

กลุ่มที่ 3 ขับเคลื่อนมูลค่าวัตถุดิบขั้นต้น ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.)เปลี่ยนชื่อเป็นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและวัตถุดิบในระยะ 6 เดือนแรกเพื่อมุ่งพัฒนาวัตถุดิบในประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่า และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)โดยระยะแรกจะตั้งหน่วยงานด้านชีวภาพมา 2 กรม และใน 2 ปีจะมีการยกร่างพ.ร.บ.ฯเพื่อที่จะเปลี่ยนจากสอน.เป็นสำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ   

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เจาะลึก! ขวัญใจไร่อ้อย ใครกันแน่ตัวจริง! ระหว่างท่อน้ำหยด Netafim Streamline Plus VS. ท่อน้ำทั่วไปตามท้องตลาด

ถ้าจะพูดถึงอ้อย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเป็นผลิตผลส่งออกขายทอดสู่ตลาดโลกแล้ว อ้อยสามารถนำไปแปรรูปได้อีกหลายอย่างเลยทีเดียวนะ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้อ้อยเติบโตก็หนีไม่พ้น แสงแดด พื้นดิน น้ำ ยิ่งถ้าเป็นพันธุ์อ้อยที่ชอบน้ำ เกษตรกรก็ยิ่งต้องใส่ใจให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเลยล่ะ!

แต่การทำไร่ก็คงไม่ง่ายที่เราจะเดินไปรดน้ำเช้ากลางวันเย็นได้หรอก เขาจึงมีนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดแรง ซึ่งเรียกกันว่า “ระบบท่อน้ำหยด” ที่เพียงเดินสายครั้งเดียว ระบบนี้จะช่วยรดน้ำแทนเราตลอดฤดูกาล

สำหรับวันนี้เราจะพาทุกคนลงพื้นที่ไปดูให้เห็นกับตาเลยว่า ชาวไร่อ้อยที่เขาใช้ระบบท่อน้ำหยด คอยหยดน้ำให้กับอ้อยโดยไม่ต้องเปลืองแรงเสียเวลาไปรดน้ำเองกันเลย แต่ท่อน้ำหยดที่ใช้ก็จำเป็นจะต้องมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานด้วยนะ

มาเจาะลึกกันไปเลยว่าระหว่างท่อน้ำหยด Netafim Streamline Plus หรือ ท่อน้ำหยดทั่วไปตามท้องตลาด ใครจะแน่กว่ากัน

!!เริ่มจาก Shot แรกกันเลย... นำท่อน้ำหยดความยาว 1 ฟุต มาทั้ง 2 ยี่ห้อ

1. “ตัววัสดุ” ถ้ามองด้วยตาเปล่าก็ดูไม่แตกต่างกันมาก แต่เมื่อลองพิสูจน์โดยใช้คน 2 คนดึงเต็มแรงเท่านั้นแหละ ก็เป็นอย่างที่เห็น

ท่อ Netafim จะดูใช้วัสดุดีกว่ามีความหนา จึงทำให้ออกแรงดึงก็ไม่แตก มีความยืดหยุ่น แถมวัสดุเคลือบผิวป้องกัน UV อีกด้วย นี่สินะที่ทำให้กล้าท้าแดดเปรี้ยง! ขนาดนี้

• ส่วนท่อทั่วไปนั้น สัมผัสแรกก็รู้สึกว่ามันบางกว่า พอทดสอบด้วยการดึงใช้แรงไม่มากก็แตกซะแล้ว และตัวนี้ไม่มีเคลือบ UV ถ้าโดนแดดนานๆ ก็จะกรอบ แล้วทำให้ท่อแตกนั่นเอง

ต่อมาเรามาดูกันที่จุดสำคัญของท่อน้ำหยด ดูเพียง 5 วินาทีก็ได้เรื่องแล้ว...ขอบอกก่อนว่า 2 ท่อนี้ถูกต่อมาจากท่อเมนเดียวกัน แรงดันน้ำเท่ากันด้วยนะ

2. “การหยดน้ำ” รู้เลยว่า...

• Netafim Streamline Plus มีรูน้ำหยดที่สม่ำเสมอ แต่ละหยดเท่ากัน ด้วยมาตรฐานการขึ้นรูป เห็นได้จากการที่น้ำค่อยๆ หยด ลงบนดินเป็นวงเท่ากันตลอดแนว

• ท่อทั่วไปนั้น หากควบคุมการผลิตไม่ได้มาตรฐาน รูหยดน้ำจะมีขนาดไม่เสมอกัน ทำให้น้ำหยดไม่ได้ตามปริมาณที่เห็น ทำให้พืชโตไม่เท่ากัน

3. “ตัวกรอง” หรือที่เกษตรกรเรียกว่า “ตา, ลิ้น”

• Netafim Streamline Plus ตัวนี้ได้ถูกพัฒนามาให้เล็กลง เพราะคำนึงถึงตอนเก็บท่อน้ำหยดหลังใช้งาน เพราะเวลาม้วนไปตาเล็กๆ จะไม่ทำให้เกิดรอยโป่ง จึงทำให้ท่อไม่แตกนั่นเอง

• ส่วนท่อทั่วไป ด้วยความที่ตายาว เวลาม้วนเก็บจึงเกิดปัญหา ทำให้เกิดรอยโป่ง นี่แหละพอเกษตรกรนำกลับมาใช้ก็จะเห็นว่า ท่อแตกมีรูรั่วตรงตา จุดนี้ก็ทำให้เสียเวลา และเสียอารมณ์ด้วยจริงมั้ย?

4. “ความสม่ำเสมอของการหยดน้ำ”

• Netafim Streamline Plus ออกแบบให้หยดได้ใกล้เคียงกันตลอดสายได้ถึง 100 เมตร บนพื้นราบ จึงทำให้ผลผลิตคุณภาพของอ้อยก็ดีงามตลอดไร่

• ทางด้านท่อทั่วไปนั้น ต้นสายท่อน้ำหยดมีความหยดแรง แต่ดันไปแผ่วปลายซะนี่ 60 เมตรขึ้นไปน้ำก็ออกดีบ้าง ไม่ดีบ้าง อย่างนี้ผลผลิตก็จะโตบ้าง ด้อยคุณภาพบ้าง ก็ไม่เวิร์คเท่าไรนะ เรื่องราคา แม้ว่า Netafim Streamline Plus จะแพงกว่า แล้วมีสเน่ห์ เอ๊ย รวมๆ แล้วดี อายุการใช้งานนานได้หลายฤดูกาลเลยแหละ อย่างนี้สิถึงจะพูดได้เต็มปากว่า “เฮ้ยมันคุ้มที่จะเสีย” เพื่อผลผลิตที่ดีของไร่เรา รู้อย่างนี้แล้วเกษตรกรต้องตัดสินใจแล้วล่ะว่า ฤดูกาลต่อไปเราจะเลือกอะไรดี...

 จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รถขนอ้อยอุดรฯหยุดวิ่งช่วงปีใหม่ กันเกิดอุบัติเหตุ

น่าชื่นชม! รถขนอ้อยอุดรฯ หยุดวิ่งช่วงปีใหม่ เพื่อป้องกันเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายที่ชาวไร่อ้อย จะนำรถบรรทุกอ้อยส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาล โดยวันพรุ่งนี้รถบรรทุกอ้อยจะหยุดวิ่ง ตามเอ็มโอยู 1 ใน 19 ข้อ ที่ทำไว้กับฝ่ายความมั่นคง มทบ.24 และ จ.อุดรธานี ตามนโยบายของ คสช. ทำให้ที่โรงงานน้ำตาล มีรถบรรทุกอ้อยจำนวนมาก มารอเข้าคิวเพื่อส่งอ้อยเข้าไปยังโรงงานน้ำตาล ขณะที่บนถนนมิตรภาพ ที่เป็นเส้นทางมายังโรงงานน้ำตาลเกษตรผล บ้านห้วยกองสี ต.ห้วยเกิ้ง อ.กุมภวาปี มีรถบรรทุกอ้อยใช้เส้นทางน้อยมากกว่าปกติ

นายธนูศักดิ์ อมูลราช หน.สนง.สมาคมกลุ่มชาวไร่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปถึงวันที่ 3 มกราคม 2560 ทางรถอ้อยจะหยุดวิ่ง ไม่มีการขนอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล ทั้งนี้เป็นไปตามที่ทาง สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี ขอความร่วมมือชาวไร่อ้อย และผู้ประกอบการขนส่ง หยุดการขนอ้อยส่งโรงงาน รวมทั้งเป็นไปตามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ที่ทางสมาคมฯ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ร่วมลงนามไว้กับทาง กกล.รส.และ จ.อุดรธานี เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุจากรถอ้อย ที่อาจเกิดขึ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 นี้

“นอกจากนี้ช่วงปีใหม่ ทางโรงงานน้ำตาลก็จะปิดให้พนักงานหยุดงาน รวมทั้งชาวไร่อ้อยและคนงานตัดอ้อย ก็จะหยุดงานในช่วงปีใหม่ ซึ่งจะทำให้ไม่มีรถอ้อยวิ่งบนถนน เป็นการช่วยในการลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรถบรรทุกอ้อยที่ขนอ้อยส่งยังโรงน้ำตาลทั้ง 4 แห่งใน จ.อุดรธานี จะหายไปจากท้องถนนกว่า 500 คัน ไปจนถึงวันที่ 3 มกราคม ปีหน้า จึงจะเริ่มตัดอ้อยส่งโรงงาน และโรงน้ำตาลจะเริ่มเดินเครื่องต่อ แต่ทั้งนี้หลังจากที่รถอ้อยทำตามเอ็มโอยูทั้ง 19 ข้อ หลังจากเปิดหีบอ้อยเกือบ 1 เดือน ยังไม่มีอุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดจากรถบรรทุกอ้อยจนทำให้มีผู้เสียชีวิต”

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รถบรรทุกอ้อยพลิกคว่ำ ทำการจราจรติดยาว หลังรถประชาชนเริ่มทยอยกลับบ้านกันแล้ว

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 พ.ต.ท.นิกร หอมอ่อน พนักงานสอบสวนเวร สภ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ได้รับแจ้งเมื่อเวลา 14.00 น.ว่า มีอุบัติเหตุรถพ่วงบรรทุกอ้อยพลิกคว่ำกลางถนน ที่บริเวณ ถนนสายหนองบัวลำภู –เลย ช่วงบริเวณบ้านหนองกุง หมู่ที่ 4 ตำบลนาคำไฮ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ทำการจราจรติดขัดรถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จึงได้เดินทางไปตรวจสอบพร้อมกับแจ้งหน่วยกู้ชีพ กู้ภัยได้ให้การช่วยเหลือคนขับรถบรรทุกที่บาดเจ็บและนำส่งโรงพยาบาลอำเภอนากลาง พร้อมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยจัดการจราจรให้รถสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ก่อน ซึ่งรถที่พลิกคว่ำ เป็นรถพ่วง ทะเบียน 80-9654 หนองบัวลำภู สภาพตัวรถคันแม่พลิกคว่ำริมถนนด้านข้าง ส่วนลูกพ่วงพลิกคว่ำบริเวณกลางถนน ทำให้อ้อยกระจายเต็มถนน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้ประสานขอรถคีบอ้อย จากทางโรงงานน้ำตาลเอราวัณ ที่ รถบรรทุกอ้อยจะนำไปส่งให้มีช่วยในการคีบอ้อยออกจากเส้นทาง ให้การสัญจรไปมาได้สะดวก

ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ให้รถจากเส้นทางตัวเมืองหนองบัวลำภู ออกทางเบี่ยงข้างทางหลบบริเวณที่รถเกิดอุบัติเหตุ และหลังจากคีบอ้อยออกแล้ว จึงเปิดช่องทางบนถนนระหว่างตัวรถคันแม่และลูกให้รถผ่านได้แล้ว

ทางด้าน นายชีพ น้อมเศียร ขนส่งจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า ในปีใหม่ที่จะถึงนี้ ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ทำหนังสือ ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการใช้งานรถบรรทุกและการจอดรถบนไหล่ทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน โดยในช่วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2560 คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทั้งการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารซึ่งคาดว่าจะทำให้การจราจรคับคั่งและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหา จราจรและรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ ทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดหนองบัวลำภู จึงได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้รถในช่วงดังกล่าว พร้อมขอให้กำชับผู้ขับรถ ได้มีการ ตรวจสภาพรถและอุปกรณ์ส่วนควบให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยเฉพาะ ล้อ และยาง ระบบเบรก ระบบบังคับเลี้ยว

นอกจากนั้น ขนส่งจังหวัดหนองบัวลำภู ยังกล่าวอีกว่า ผู้ขับรถต้องพักผ่อนให้เพียงต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือ กรณีเจ็บป่วยผู้ประกอบการต้องไม่อนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ ขับรถ และกรณีหากมีความจำเป็น ต้องจอดไว้ บริเวณทางเดินรถหรือไหล่ทางในเวลากลางคืน หรือในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่จะมองเห็นรถที่จอดในทางเดินได้ชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร ให้เปิดโคมไฟเล็ก โคมไฟท้าย และโคมไฟส่องป้ายทะเบียนรถ และหากรถเครื่องยนต์หรืออุปกรณ์ขัดข้อง จนต้องจอดรถในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องจอดรถในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจร และต้องแสดงเครื่องหมาย ทำด้วยแผ่นโลหะรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ติดด้วยแถบสีสะท้อนแสง พื้นสีขาวขอบสีแดง มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำหัวท้ายมน อยู่บนพื้นทีสีขาว ในแนวดิ่ง พร้อมขาตั้งหรือสัญญาณไฟกระพริบสีเหลืองอำพัน หรือสีขาวติดอยู่หน้ารถด้านซ้ายและขวา และไฟสัญญาณกระพริบสีแดง หรือสีเหลืองอำพันติดอยู่ท้ายรถ ทั้งด้านซ้ายและขวา หากผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตาม หากเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน นอกจากจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 แล้ว จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกด้วย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปล่อยน้ำตาลลอยตัวเสรีปีหน้า คำนวณราคาอ้อยขั้นต้นตามราคาส่งออก-ตลาดโลก  

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย จะนัดประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวแบบเสรี ในวันที่ 12 ม.ค.2560 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีผลทางการปฏิบัติก่อนฤดูหีบอ้อย ปี 2560/61 หรือก่อนเดือน พ.ย.2560

          สำหรับแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาล หรือราคาขายปลีกในประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำตาลตลาดโลก และสอดรับกับแนวทางการเจรจากับประเทศบราซิลที่ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ที่กล่าวหารัฐบาลไทยว่าได้ดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาล ดังนั้น ในเรื่องของการกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายตามโควตา ก. (ขายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย (อนท.) และโควตา ค. (ส่งออกโดยชาวไร่และ อนท.) อาจต้องยกเลิกไปแล้วหาวิธีการอื่นมาทดแทน

          ทั้งนี้ เบื้องต้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์อาจใช้วิธีการประกาศราคาแนะนำซึ่งอาจเป็นรายเดือน และกำหนดให้มีการนำเข้าน้ำตาลอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้า โดยหากนำเข้าจากกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ แต่หากนำเข้านอกจากกลุ่มเออีซีก็จะกำหนดภาษีนำเข้าเพื่อจัดความสมดุลน้ำตาลทรายให้มาแข่งขัน ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นที่จะกำหนดจะคำนวณจากราคาน้ำตาลทรายส่งออกที่ อนท.ทำการส่งออก และพิจารณาราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลก คาดว่าแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 490-500 เหรียญสหรัฐฯต่อปอนด์ ซึ่งจะเท่ากับราคาขายปลีกของประเทศไทยในปัจจุบันระดับ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยต้องการเห็นแนวทางการ ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่มีกรอบต่ำสุดและสูงสุดเพื่อไม่ให้กระทบภาพรวม ทั้งนี้ ราคาอ้อยและผู้บริโภค และยังต้องการให้คงสถานะและบทบาทกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ในการดูแลเสถียรภาพราคาทั้งระบบ.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ก.อุตฯถกลอยตัวราคาน้ำตาล12ม.ค. เน้นกลไกราคาเสรี-เปิดนำเข้าแข่งขัน  

          กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้า "ลอยตัวราคาน้ำตาล" เตรียมนัดถกพาณิชย์ ชาวไร่ โรงงาน 12 ม.ค.60 เพื่อให้ได้ข้อปฏิบัติชัดเจนก่อนประกาศลอยตัวฤดูกาลผลิตปี 60/61 ยันใช้กลไกเสรีทั้งราคาและเปิดให้นำเข้าภายใต้กติกากำหนด พร้อมแก้ กม.กองทุนฯ ปรับบทบาทใหม่ ไม่ขัดหลัก WTO

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า คณะทำงานเปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีทั้งตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย เป็นต้น จะหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวแบบเสรีวันที่ 12 ม.ค. 60 ทั้งนี้เพื่อที่จะเร่งให้ชัดเจนก่อนมีผลในทางปฏิบัติได้ในฤดูหีบปี 60/61

          เบื้องต้นราคาน้ำตาลทรายกระทรวงพาณิชย์อาจจะใช้วิธีการประกาศราคาแนะนำซึ่งอาจเป็นรายเดือนแต่เป็นราคาเฉลี่ยน้ำตาลตลาดโลกรายวันและจะกำหนดให้มีการนำเข้าน้ำตาลอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าโดยหากนำเข้าจากกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ภาษีจะเป็นศูนย์ แต่นอก AEC จะกำหนดภาษีนำเข้าเพื่อจัดความสมดุลน้ำตาลทรายให้มาแข่งขัน

          ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นที่จะกำหนดจะคำนวณจากราคาน้ำตาลทรายส่งออกที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด(อนท.)ทำการส่งออก อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกคาดว่าแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 490-500 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ซึ่งจะเท่ากับราคาขายปลีกของไทยในปัจจุบันระดับ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ยกเว้นแต่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับไปมากกว่านี้ราคาขายปลีกของไทยจึงจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า  เบื้องต้นชาวไร่เองต้องการเห็นแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่มีกรอบต่ำสุดและสูงสุดไว้เพื่อไม่ให้กระทบในภาพรวมทั้งราคาอ้อยและผู้บริโภค และยังคงบทบาทกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ในการดูแลเสถียรภาพราคาทั้งระบบ

          นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับบทบาทกองทุนอ้อยฯใหม่ที่จะต้องไม่ขัดหลัก WTO โดยเฉพาะจะต้องยกเลิกการนำเงินจากการขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกก.มาเป็นรายได้เข้ากองทุนฯทันที โดยจะใช้วิธีเก็บเงินจากรายได้ของระบบไปเลยแทน

          "คงต้องหารือในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรให้การเก็บรายได้ของกองทุนฯไม่เข้าข่ายอุดหนุนที่จะผิดหลัก WTO แต่รูปแบบนั้นเราจะปล่อยเสรีทั้งราคาและเปิดให้นำเข้าด้วยซึ่งรายละเอียดขั้นตอนจะต้องหารือกันอีกพอสมควรแต่ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและ น้ำตาลทรายของไทยในเวทีโลก" นายวีระศักดิ์กล่าว.

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ลอยตัวราคาน้ำตาลปี60 ถกชาวไร่-โรงงาน12ม.ค  

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น ตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย  เตรียมหารือแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวแบบเสรีในวันที่ 12 ม.ค. 60 เพื่อเร่งให้มีความชัดเจนก่อนมีผลในทางปฏิบัติในฤดูหีบปี 60/61 เบื้องต้นราคาน้ำตาลทรายกระทรวงพาณิชย์อาจจะใช้วิธีการประกาศราคาแนะนำ ซึ่งอาจเป็นรายเดือน

          "การลอยตัวราคานั้น จะต้องเสรีอิงราคาตลาดโลกอย่างแท้จริง เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการเจรจากับบราซิลที่ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาล ดังนั้นในเรื่องของการกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายตามโควตา ก. ข. และค. เช่นอดีตก็จะไม่มี และจะกำหนดให้มีการนำเข้าน้ำตาลอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขที่จะต้อง ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้าโดยหากนำเข้าจากกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาษีจะเป็นศูนย์ แต่นอกเออีซี จะกำหนดภาษีนำเข้าเพื่อจัดความสมดุลน้ำตาลทรายให้มาแข่งขัน"

          หากพิจารณาจากราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกคาดว่าแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 490-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์เท่ากับราคาขายปลีกของไทยในปัจจุบันระดับ 23-24 บาทต่อกก. ยกเว้นแต่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับไปมากกว่านี้ราคาขายปลีกของไทย จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า  เบื้องต้นชาวไร่เองต้องการเห็นแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่มีกรอบต่ำสุด และสูงสุด เพื่อไม่ให้กระทบในภาพรวมทั้งราคาอ้อยและผู้บริโภค และยังคงบทบาทกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ในการดูแลเสถียรภาพราคาทั้งระบบ

          นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับบทบาทกองทุนอ้อยฯใหม่ที่จะต้องไม่ขัดหลักดับเบิลยูทีโอ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชีพจรธุรกิจ KSL คาดรายได้ปีหน้าเติบโต20%

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า ในปี 2560 บริษัทคาดว่า

 รายได้จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 20% เนื่องจากสัญญาญการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำตาลที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดโลก

 ที่ความต้องการสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20 เซนต์ต่อปอนด์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 16 เซนต์ต่อปอนด์ อีกทั้งคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะอยู่ที่ 7.6 ล้านตันอ้อย ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากไม่มีพื้นที่สำหรับปลูกอ้อยใหม่เข้ามาเพิ่ม

จาก  http://www.naewna.com  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มวังขนาย นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพชาวไร่อ้อย

ตามโครงการ “ใต้ร่มพระบารมี น้อมทำดีถวายพ่อ”

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชการปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำรัสที่ได้จดจำกันเป็นอย่างดีในเรื่องส่งต่อความดี ซึ่งเคยได้ทรงตรัสไว้ว่าให้เรารักกันเอง โดยให้เริ่มต้นจากสิ่งที่พวกเราทำได้ อย่างอาชีพหมอก็ให้รักและส่งเสริมการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธีให้กับคนไข้ ไม่เน้นเรื่องการกินยารักษาโรค หรือการผ่าตัด ต้องเน้นให้คนไข้ได้ดูแลตัวเองจากภายนอกสู่ภายใน จึงทำให้กลุ่มวังขนาย ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อออกตรวจสุขภาพชาวไร่อ้อยในจังหวัดลพบุรีและมหาสารคาม ภายใต้ชื่อโครงการ “ใต้ร่มพระบารมี น้อมทำดีถวายพ่อ” โดยได้นำทีมแพทย์และพยาบาล ออกหน่วยตรวจสุขภาพ พร้อมจ่ายยาให้กับชาวไร่อ้อยในพื้นที่ โดยกิจกรรมฯ ได้จัดขึ้นภายในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 ของโรงงานน้ำตาลวังขนาย จ.มหาสารคาม และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลที.เอ็น. จ.ลพบุรี เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อประชาชนชาวไทยมานานกว่า 70 ปี

นางจิตต์สุภา สุขเจตนี ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กรและกิจกรรมสังคม กลุ่มวังขนาย บอกว่า “นโยบายของกลุ่มวังขนาย ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องสุขภาพของเกษตรกร และอยากเห็นเกษตรกรทุกคนมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง จึงได้จัดกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อบริการด้านสุขภาพเกษตรกรโดยเน้นให้ความรู้ด้านสุขภาพ ชาวไร่อ้อยต้องดูแลตัวเองจากภายนอกสู่ภายใน โดยโครงการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกลุ่มวังขนายนั้นได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยทีมแพทย์และพยาบาลที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ทำการตรวจรักษาชาวไร่อย่างเป็นกันเอง มีการรักษาโรคตามอาการเบื้องต้น ที่สำคัญชาวไร่อ้อยไม่ต้องรอคิวนาน และไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงในอำเภอหรือในตัวจังหวัด ซึ่งได้สร้างความพอใจให้กับชาวไร่อ้อยที่มาเข้ารับบริการเป็นอย่างมาก

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งใน 9 กิจกรรมที่กลุ่มวังขนายได้จัดขึ้นภายใต้โครงการ “ใต้ร่มพระบารมี น้อมทำดีถวายพ่อ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนอกจากกิจกรรมในครั้งนี้แล้วนั้นก็ยังมีอีก 8 โครงการคือ 1.กิจกรรมถวายความอาลัยที่สำนักงาน และกิจกรรมแปรอักษร, 2.กิจกรรมสนับสนุนน้ำดื่มในงานแปรอักษรที่จังหวัดชัยนาท, 3.กิจกรรมมอบสิ่งของให้กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ ) ยามยาก, 4.กิจกรรมมอบอุปกรณ์กีฬาให้กับโรงเรียน, 5.กิจกรรมบริจาคโลหิต, 6.กิจกรรมสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลรัฐ, 7.กิจกรรมปรับปรุงห้องสมุด และ 8.กิจกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทางกลุ่มวังขนายได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำทุกโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง

ด้าน น.พ.สิทธา ลิขิตนุกูล แพทย์สังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม (หมอกอล์ฟ) ได้เล่าว่า กิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกลุ่มวังขนายที่จัดขึ้นในปีนี้ ทีมของผมได้มาร่วมสานกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้มีการลงพื้นที่มาพบกับคนไข้ด้วยตนเอง ซึ่งสุขภาพหรืออาการส่วนใหญ่ของชาวไร่อ้อยที่พบในปีนี้ ส่วนมากจะเกี่ยวกับอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย และโรคประจำตัวที่ยังพบกันได้ง่ายก็คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ที่ชาวไร่อ้อยยังคงมาขอรับยากันเหมือนเดิม ซึ่งอายุเฉลี่ยของคนไข้ในปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 50-60 ปี และยังมีกลุ่มที่เข้ามารับการตรวจสุขภาพเฉยๆ ไม่ขอรับยารักษาโรค

มีสิ่งหนึ่งที่ผมและชาวไร่อ้อย ต่างจดจำกันได้เป็นอย่างดีก็คือเรื่องส่งต่อความดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยได้ทรงตรัสไว้ว่าให้เรารักกันเอง โดยให้เริ่มต้นจากสิ่งที่พวกเราทำได้ อย่างอาชีพหมอก็ให้รักและส่งเสริมการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธีให้กับคนไข้ ไม่เน้นเรื่องการกินยารักษาโรค หรือการผ่าตัด ต้องเน้นให้คนไข้ได้ดูแลตัวเองจากภายนอกสู่ภายใน ผมจึงอยากฝากให้ทุกคนได้ดูแลสุขภาพของตัวเอง ถ้ามีอาการผิดปกติก็ให้รีบไปพบแพทย์ อย่าไปลองผิดลองถูกในการรักษาโรคด้วยตัวเอง และการทำความดีนั้นก็สามารถทำได้กันทุกคน โดยเริ่มจากการคิดดี ทำดี ปฏิบัติตามคำพ่อของแผ่นดินสอนไว้ อย่างเช่น ในเรื่องความพอเพียง ความเพียรรู้ และความกตัญญู ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ จะทำได้ง่ายมาก โดยไม่ต้องใช้เงินและยังสามารถทำได้กันทุกคน และถ้าพวกเราทำกันทุกคนแล้วสังคมก็จะมีแต่ความสุขอย่างแน่นอน

นายทึม แก้วเง้า อายุ 66 ปี อาชีพเกษตรกรชาวไร่อ้อย และ อสม.ประจำ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี กล่าวว่า ผมได้มาใช้บริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งทางกลุ่มวังขนายได้จัดมาให้บริการกับชาวไร่อ้อย เป็นประจำมาทุกปี จัดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะพวกเราชาวไร่อ้อยทั้งหลายก็ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงในโรงพยาบาลประจำจังหวัด เนื่องจากตัวเองและเพื่อนๆ อีกหลายคนก็มีอายุมาก นอกจากนี้ยังไม่ต้องรอหมอนาน และคุณหมอก็ยังให้คำปรึกษาที่ดี แนะนำให้ผมดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง สำหรับเรื่องการทำความดีเพื่อถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 นั้น ที่ผ่านมาผมตั้งใจทำมาโดยตลอด เพราะพวกเรารักพ่อหลวงกันมาก สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมจะสามารถทำกันได้ ก็มีอย่างเช่นช่วยดูแล ทำความสะอาดถนน หนทางในชุมชนของตัวเอง รู้จักความพอเพียง และถ้ามีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมถวายความอาลัยกับทางจังหวัดฯ ผมก็ยินดีที่จะเข้าร่วมในทุกโอกาส”

โดยผู้ที่สนใจใน  โครงการ “ใต้ร่มพระบารมี น้อมทำดีถวายพ่อ” ทั้ง 9 กิจกรรมของกลุ่มวังขนาย จะสามารถติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย โทร.0-2210-0853 ต่อ 82402 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จาก  http://www.banmuang.co.th   วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ก.เกษตรฯเร่งแผนงานปี’60 ดันเป้าแปลงใหญ่เพิ่มอีก 1,500 แปลง

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

        พลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนา การขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ให้แก่ประธานกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ประกอบด้วย เกษตรและสหกรณ์จังหวัด 56 จังหวัด เกษตรจังหวัด 8 จังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด 4 จังหวัด สหกรณ์จังหวัด 3 จังหวัด และประมงจังหวัด 6 จังหวัด เพื่อชี้แจงแนวนโยบายขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning By Agri-Map) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ 882 ศูนย์ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่

           “คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญ ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่ ซึ่งการดำเนินงานในปีที่ผ่าน ๆ มา ยังพบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากกว่าขึ้นระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้ส่วนภูมิภาคปฏิบัติงานได้เป็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งสองภาคส่วน เพื่อให้งานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” พลเอกฉัตรชัย กล่าว

             สำหรับผลงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ในรอบปีที่ผ่านมาถือว่ามีความคืบหน้าตามลำดับ ซึ่งต้องขอขอบคุณข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงเกษตรกร ในทุกพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือในการปฏิรูปภาคเกษตรอย่างจริงจัง ดังนั้น ในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งแผนงานต่างๆ ให้ได้ตามเป้าหมายโดยเฉพาะการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่ปี 2559 ได้ดำเนินการแล้วประมาณ 600 แปลง ในปี 2560 มีเป้าหมายดำเนินการอีก 1,500 แปลงใหญ่ จากแผนเดิมที่กำหนดไว้เพียง 1,000 แปลง

จาก  http://www.komchadluek.net    วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ก.อุตเดินหน้า”ลอยตัวราคาน้ำตาล”หารือพณ. ชาวไร่ โรงงาน 12 ม.ค.60 ใช้ฤดูการผลิตปี 60/61

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า  วันที่ 12 มกราคม 2560 คณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีทั้งตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายในและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย จะหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายประเด็นการลอยตัวแบบเสรีเพราะจะมีผลในทางปฏิบัติในฤดูหีบอ้อยปี 2560/61 โดยการลอยตัวราคานั้นจะต้องเสรีอิงราคาตลาดโลกอย่างแท้จริง เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการเจรจากับบราซิลที่ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาล ซึ่งการปรับโครงสร้างนี้จะรวมถึงการยกเลิกกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายตามโควตาก. ข. และค.ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นกรณีราคาน้ำตาลทราย กระทรวงพาณิชย์อาจจะใช้วิธีการประกาศราคาแนะนำซึ่งอาจเป็นรายเดือนแต่เป็นราคาเฉลี่ยน้ำตาลตลาดโลกรายวัน และจะกำหนดให้มีการนำเข้าน้ำตาลอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้า โดยหากนำเข้าจากกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ภาษีจะเป็นศูนย์ แต่นอกเออีซีจะกำหนดภาษีนำเข้าเพื่อจัดความสมดุลน้ำตาลทรายให้มาแข่งขัน

ขณะที่การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นจะคำนวณจากราคาน้ำตาลทรายส่งออกที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด(อนท.)ทำการส่งออก อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกปัจจุบันแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 490-500 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ เท่ากับราคาขายปลีกของไทยในปัจจุบันระดับ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) หากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับไปมากกว่านี้ราคาขายปลีกของไทยจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นด้วย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 ธันวาคม 2559

ปี 60 เห็นแน่ลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ก.อุตฯ นัดถกหาแนวทาง 12 ม.ค. 60  

         กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้า “ลอยตัวราคาน้ำตาล” เตรียมนัดถกพาณิชย์ ชาวไร่ โรงงาน 12 ม.ค. 60 เพื่อให้ได้ข้อปฏิบัติชัดเจนก่อนประกาศลอยตัวฤดูการผลิตปี 60/61 ยันใช้กลไกเสรีทั้งราคาและเปิดให้นำเข้าภายใต้กติกากำหนด พร้อมแก้ กม.กองทุนฯ ปรับบทบาทใหม่ไม่ขัดหลัก WTO

                แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีทั้งตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย เป็นต้น จะหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวแบบเสรีวันที่ 12 ม.ค. 60 ทั้งนี้เพื่อที่จะเร่งให้ชัดเจนก่อนมีผลในทางปฏิบัติได้ในฤดูหีบปี 60/61

                “การลอยตัวราคานั้นจะต้องเสรีอิงราคาตลาดโลกอย่างแท้จริง เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการเจรจากับบราซิลที่ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาล ดังนั้น ในเรื่องของการกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายตามโควตา ก. ข. และ ค. เช่นอดีตก็จะไม่มี” แหล่งข่าวกล่าว

               เบื้องต้นราคาน้ำตาลทรายกระทรวงพาณิชย์อาจจะใช้วิธีการประกาศราคาแนะนำซึ่งอาจเป็นรายเดือนแต่เป็นราคาเฉลี่ยน้ำตาลตลาดโลกรายวัน และจะกำหนดให้มีการนำเข้าน้ำตาลอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้า โดยหากนำเข้าจากกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภาษีจะเป็นศูนย์ แต่นอก AEC จะกำหนดภาษีนำเข้าเพื่อจัดความสมดุลน้ำตาลทรายให้มาแข่งขัน      

        ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นที่จะกำหนดจะคำนวณจากราคาน้ำตาลทรายส่งออกที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) ทำการส่งออก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกคาดว่าแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 490-500 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ ซึ่งจะเท่ากับราคาขายปลีกของไทยในปัจจุบันระดับ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ยกเว้นแต่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับไปมากกว่านี้ราคาขายปลีกของไทยจึงจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น      

        นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า เบื้องต้นชาวไร่ต้องการเห็นแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่มีกรอบต่ำสุดและสูงสุดไว้เพื่อไม่ให้กระทบในภาพรวมทั้งราคาอ้อยและผู้บริโภค และยังคงบทบาทกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ในการดูแลเสถียรภาพราคาทั้งระบบ      

        นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับบทบาทกองทุนอ้อยฯ ใหม่ที่จะต้องไม่ขัดหลัก WTO โดยเฉพาะจะต้องยกเลิกการนำเงินจากการขึ้นราคาขายปลีกน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อ กก.มาเป็นรายได้เข้ากองทุนฯ ทันที โดยจะใช้วิธีเก็บเงินจากรายได้ของระบบไปแทนหรืออื่นๆ ที่จะต้องหารือกัน

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 27 ธันวาคม 2559

รัฐมนตรีเกษตรฯ เรียกประชุมซิงเกิลคอมมานด์ทั่วประเทศ เร่งแผนงานปี′60

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนา การขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ให้แก่ประธานกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ประกอบด้วย เกษตรและสหกรณ์จังหวัด 56 จังหวัด เกษตรจังหวัด 8 จังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด 4 จังหวัด สหกรณ์จังหวัด 3 จังหวัด และประมงจังหวัด 6 จังหวัด เพื่อชี้แจงแนวนโยบายขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning By Agri-Map) ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ

คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญ ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่าน ๆ มา ยังพบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากกว่าขึ้นระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้ส่วนภูมิภาคปฏิบัติงานได้เป็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งสองภาคส่วน เพื่อให้งานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น 

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 27 ธันวาคม 2559

เกษตรไทยฯ มั่นใจธุรกิจเอทานอล Q4 สดใสดันยอดขายทั้งปีทะลุ 70 ล้านลิตร  

         กลุ่มบริษัทเกษตรไทยฯ มั่นใจสายธุรกิจเอทานอล ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ คาดยอดจำหน่ายทั้งปีละ 70 ล้านลิตร หลังแนวโน้มสูงสุดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ย้ำจุดแข็งลูกค้าเชื่อมั่นที่ส่งมอบได้ครบถ้วนตรงเวลามาตลอด ด้วยการบริหารวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีโรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตต่อวันสูงที่สุดในโลก ทำให้มีโมลาสป้อนเข้าโรงงานเอทานอลได้ต่อเนื่องทั้งปี

               นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า ในปี 2559 ความต้องการใช้เอทานอลในประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการจำหน่ายเอทานอลของบริษัทใน 9 เดือนแรกของปีนี้ เติบโตขึ้นจากปีก่อนกว่า 10% โดยคาดว่า ตลอดทั้งปีจะมีปริมาณการจำหน่ายเอทานอล สูงกว่า 70 ล้านลิตร ซึ่งในรอบ 9 เดือน จำหน่ายไปแล้วประมาณ 54.60 ล้านลิตร คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 1,212 ล้านบาท

               ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปีเป็นช่วงที่ความต้องการใช้เอทานอลสูงกว่าไตรมาสอื่น โดยบริษัทมีกำลังการผลิตเอทานอล 230,000 ลิตรต่อวัน จึงขายในประเทศทั้งหมด ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้ราคาเอทานอลสูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงเชื่อว่าไตรมาสนี้สายธุรกิจเอทานอลของ KTIS จะเป็นสายธุรกิจหนึ่งที่ทำผลการดำเนินงานได้ดี

               สำหรับสายธุรกิจเอทานอลของกลุ่ม KTIS ดำเนินการภายใต้ บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด (ถือหุ้นโดย KTIS 100%) ซึ่งนับว่าเป็นโรงผลิตเอทานอลที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในประเทศไทย และได้รับการยอมรับจากลูกค้าที่เป็นบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ของประเทศในเรื่องของการส่งมอบสินค้าได้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด ไม่เคยขาดตกบกพร่อง เพราะสามารถบริหารวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกลุ่ม KTIS มีโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยที่มีกำลังการผลิตต่อวันสูงที่สุดในโลก จึงมีโมลาสเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

               “การไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม KTIS จึงได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตพลอยได้ (By products) จากเอทานอลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้ใช้สารปรับปรุงดินคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ได้อ้อยคุณภาพดี เพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี เป็นประโยชน์ทั้งกับชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

จาก http://manager.co.th วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุทธรณ์ยืนคุกคนละ 4 ปีอดีต ส.จ.ชลบุรี-พวก โกงขายน้ำตาลนักธุรกิจอิเหนา-สั่งชดใช้ 76 ล้าน

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.3505/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ และนายบูดี ยูโวโน อายุ 64 ปี นักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องบริษัท ศรีสุวรรณ ทรานสปอร์ต จำกัด นายรุ่งโรจน์ สุวรรณศรี กรรมการ บมจ.ศรีสุวรรณฯ นายสมศักดิ์ ศักดิ์เกษมชัยกุล นายสมศักดิ์ เนตรนิมิตร อดีต ส.จ.ชลบุรี และนายนุกราฮา อัดมาจา อินตัน ปูตรา หรือบอย ล่ามแปลภาษาอินโดนีเซีย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และ 341 และขอให้พวกจำเลยคืนเงินจำนวน 76 ล้านบาทแก่ผู้เสียหาย

โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 มกราคม- 18 สิงหาคม 2548 จำเลยกับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวง บริษัท พีที บูมิเรโจ จำกัด ของนายบูดี ยูโวโน โจทก์ร่วม ชาวอินโดนีเซียซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลอินโดนีเซียให้เป็นผู้นำเข้าน้ำตาลทรายว่าพวกจำเลยมีน้ำตาลทรายจำนวนมากที่จะขายให้โจทก์ร่วม จำนวน 37,500 ตัน มูลค่า 9.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 76 ล้านบาท ให้กับบริษัท สามเสนไอแมกซ์ จำกัด นอกจากนี้ พวกจำเลยยังได้ร่วมกันปลอมใบตราส่งสินค้าหลายครั้งหลายหนให้แก่บริษัทผู้เสียหายว่าจะส่งน้ำตาลทรายจากท่าเรือ จ.ชลบุรี ไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งที่ความจริงจำเลยทั้งหมดไม่มีน้ำตาลทรายและไม่สามารถส่งสินค้าให้แก่บริษัทผู้เสียหายได้ โดยจำเลยมีเจตนาที่แท้จริงเพื่อหลอกลวงบริษัทผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินและจำเลยได้รับผลประโยชน์เป็นของตนเองโดยทุจริต จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกนายรุ่งโรจน์ จำเลยที่ 2 นายสมศักดิ์ จำเลยที่ 3 และนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 4 คนละ 4 ปี ปรับเงินบริษัท ศรีสุวรรณ ทรานสปอร์ต จำกัด จำเลยที่ 1 จำนวน 8,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ยกฟ้องเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าร่วมกระทำความผิดด้วย และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืน 76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย

เมื่อถึงเวลานัดจำเลยที่ 1-5เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ ขณะที่นายบูดี ยูโวโน อายุ 64 ปี นักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย โจทก์ร่วมก็เดินทางมาฟังคำพิพากษาเช่นกัน

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานเอกสาร พยานบุคคลแน่นหนา และดำเนินการร้องทุกข์ผ่านเจ้าพนักงานตำรวจ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการเอกสารปลอมให้ชัดเจน เนื่องจากเอกสารใบตราส่งสินค้าเป็นเพียงสำเนา หลักฐานโจทก์จึงไม่สามารถรับฟังได้นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีความน่าเชื่อถือ โดยโจทก์นำสืบมีน้ำหนักมั่นคง จำเลยที่ 1-4 กระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอม ทั้งนี้ขั้นตอนการนำสืบฝ่ายโจทก์สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ ศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจและชั่งน้ำหนัก ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานเอง การกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1-4 จึงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ ว่าไม่เกี่ยวข้อง

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอมนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงได้จากคำเบิกความของจำเลยที่ 5 เองว่าเป็นผู้ชักจูงให้โจทก์หลงเชื่อเพื่อมาซื้อน้ำตาล นั้นเห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่นำสืบให้เห็นชัดเจนว่า จำเลยที่ 5 มีความสัมพันธ์กับจำเลยอื่น หรือ มีการแบ่งหน้าที่ให้จำเลยที่ 5 อย่างไร รวมทั้งจำเลยที่ 5 ได้ผลประโยชน์อย่างไร ซึ่งจำเลยที่ 5 เบิกความยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้กระทำผิด อีกทั้งโจทก์ร่วมก็เบิกความว่า จำเลยที่ 5 กระทำหน้าที่เป็นเพียงผู้แนะนำเท่านั้น พยานหลักฐานจึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ใช้เอกสารปลอม อุทธรณ์ของโจทก์ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำผิดของพวกจำเลยเป็นการกระทำผิดหลายกรรมหรือไม่ เห็นว่าที่โจทก์ร่วมว่าอ้างถูกพวกจำเลยหลอกลวงหลายครั้งและจบเป็นคราวๆไป นั้น เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยมีลักษณะต่อเนื่องกัน อันแสดงเจตนาเดียว โดยมุ่งหมายเพื่อให้ได้เงินจำนวน 76 ล้านบาท จึงเห็นว่าเป็นความผิดกรรมเดียว

มีประเด็นวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษมานั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ เห็นว่าความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 4 ปี เป็นอัตราโทษที่ใกล้เคียงกับโทษสูงสุดซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเหมาะสมแล้วที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 4 ปี ปรับเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 8,000 บาท และยกฟ้องจำเลยที่ 5

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชาวแม่สอดผวา! น้ำประปาเป็นสีแดง เหตุเทน้ำกากอ้อยไหลลงน้ำเมย

ชาวบ้านในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ใช้บริการน้ำประปาภูมิภาคแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กำลังผวาดผวากับ น้ำเมยที่มีสีแดง จากน้ำวีนาส ที่มีชาวไร่รายหนึ่งที่มีไร่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเมย ได้ให้รถบรรทุกจากโรงงานผลิตเอทานอล นำน้ำวีนาสไปเทลงในไร่ของตนเอง ทำให้น้ำวีนาสไหลลงสู่แม่น้ำเมย บริเวณบ้านห้วยม่วง ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด ซึ่งอยู่เหนือกับสถานีกักเก็บน้ำดิบของการประปาภูมิภาคแม่สอด จนส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา โดยทางประปาภูมิภาคได้ลดกำลังผลิตน้ำลดลงเหลือร้อยละ 50 เพื่อควบคุมน้ำให้ได้มาตรฐาน โดยล่าสุด การประปาภูมิภาคได้ประสานไปยังเจ้าของไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกากน้ำตาลที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำเมยจนมีค่า BOD ติดลบ 14-15 ทำให้น้ำในแม่น้ำเมยที่เป็นแหล่งน้ำดิบของการประปามีสีแดง

อย่างไรก็ดีน้ำประปา ที่ใช้ตามบ้านยังคงมีสีออกเหลืองๆอยู่บ้าง ทำให้ชาวบ้านยังคงผวาดผวา แม้นว่า การประปาภูมิภาคแจ้งว่า สามารถแก้ปัญหาได้ก็ตาม ขณะที่น้ำบนแม่น้ำเมย ยังมีสีแดงอยู่

นายชูศักดิ์ เลื่อมนรินทร์ ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า จากการที่มีการลักลอบทิ้งสารและสิ่งปฎิกูลลงแม่น้ำเมย บริเวณต้นน้ำก่อนถึงสถานีสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา จนทำให้การประปาแม่สอด ต้องลดกำลังผลิตเหลือ 50 % เพื่อควบคุมน้ำให้ได้มาตรฐาน ว่า ล่าสุด การประปาส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สอด ได้ทำการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และสามารถผลิตน้ำประปาเพื่อจำหน่ายได้แล้ว 100 %

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชาวไร่อ้อยขอนแก่นหยุดวิ่งรถช่วงปีใหม่ลดอุบัติเหตุ

สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพองจังหวัดขอนแก่นหยุดวิ่งรถขนอ้อยเข้าโรงงาน 7 วัน ช่วยลดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่

               นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ของทุกปีจะมีประชาชนที่ไปทำงานยังต่างถิ่นเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวกับญาติพี่น้องเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการจราจรคับคั่งในทุกเส้นทาง รวมทั้งมีอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้น สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้

               เพื่อเป็นส่วนหนึ่งและเป็นแบบอย่างที่ดีและสนองนโยบายของรัฐบาลในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพองจังหวัดขอนแก่น จึงมีมติให้หยุดตัดอ้อยและหยุดวิ่งรถบรรทุกอ้อยเพื่อส่งโรงงาน 7 วันในช่วงปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.59 ถึงวันที่ 4 ม.ค.60 และยังได้ประสานไปยังโรงงานน้ำตาลด้วยว่าให้ชะลอหีบอ้อยในช่วงเวลา 7 วันนี้

                นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การหยุดรถบรรทุกอ้อยในช่วงนี้จะเป็นการช่วยลดความคับคั่งของการจราจรตามท้องถนน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรวมทั้งส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้หยุดพัก มีโอกาสร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กับบรรดาญาติพี่น้อง นอกจากการสนองนโยบายของรัฐในการหยุดรถบรรทุกแล้ว ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ยังได้ให้ความร่วมมือในการบรรทุกอ้อยไม่ให้เกินน้ำหนัก จากที่เคยบรรทุกสูงกว่า 4 เมตร ตอนนี้ลดเหลือไม่เกิน 3.8 เมตรหรือคานวัดระดับที่ทางโรงงานไว้ เพื่อให้น้ำหนักเบาลงลดความสูญเสียของถนนและอุบัติเหตุจากการบรรทุกเกิน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเป็นอย่างดี

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุตฯอ้อยและน้ำตาลมั่นใจออเดอร์ส่งออกเพิ่ม

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้ประเมินถึงทิศทางราคาพืชผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าหรือระหว่างปีการเพาะปลูก 2559-2561 พบว่า อ้อยจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายที่ผลิตมาจากอ้อยในปีนี้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่สูง โดยมีราคาอยู่ที่ 18-20 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำมาคำนวณเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปีนี้จึงจัดได้ว่าอ้อยเป็นพืชที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่เมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดราคาอยู่ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ยกเว้นพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 980 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูหีบที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 808 บาทต่อตันอ้อย ส่วนพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในปีก่อนเพียง 773 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งจากราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าว ถือเป็นราคาเหมาะสมที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยมั่นใจได้ว่า จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มดังกล่าว 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มองว่าปีการเพาะปลูกปีนี้ถือเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอีกปีหนึ่ง เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายได้ประเมินปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงทำให้หลายประเทศเริ่มสั่งซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงให้เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนามีเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายในตลาดโลกและค่าเงินบาทที่อ่อนลง ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้ที่จะมีรายได้จากการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“เดิมโรงงานน้ำตาลทรายได้ประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 คาดการณ์ว่า ปริมาณอ้อยจะต่ำกว่าปีก่อนจากภาวะภัยแล้งในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก แต่อย่างไรก็ดี เมื่ออ้อยได้รับน้ำฝนเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนกรกฎาคม มีฝนกระจายในพื้นที่เพาะปลูกได้ดีขึ้น ทำให้อ้อยฟื้นตัวดีขึ้น และคาดว่า จะช่วยให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลทรายปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยบวกเข้ามาช่วยเสริม จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

โรงงานเฮ!ราคาน้ำตาลโลกพุ่ง

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลชี้ อ้อย ดาวเด่นพืชเศรษฐกิจ ราคาน้ำตาลจ่อสูงถึง 20 เซนต์ต่อปอนด์ หลังรับอานิสงส์จากสต็อกโลกปรับลดลง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ทิศทางราคาอ้อยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปีการเพาะปลูก 2559-2561 พบว่าอ้อยเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในปีนี้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่สูง โดยอยู่ที่ 18-20 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำมาคำนวณเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 ต่อ 30 จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น

"ปีนี้อ้อยเป็นพืชที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่เมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 อยู่ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ความหวาน 10 ซีซีเอส ยกเว้นพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 จะได้เพียง 980 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูหีบที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 808 บาทต่อตันอ้อย ส่วนพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 อยู่ที่ 773 บาทต่อตันอ้อย" นายสิริวุทธิ์กล่าว

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า แนวโน้มสต็อกน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ปรับลดลง ทำให้หลายประเทศเริ่มสั่งซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงให้เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาเริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้มีรายได้จากการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2559/60 นั้น คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลทรายจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชาวไร่อ้อยขอนแก่นหยุดวิ่งรถช่วงปีใหม่ลดอุบัติเหตุ

สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพองจังหวัดขอนแก่นหยุดวิ่งรถขนอ้อยเข้าโรงงาน 7 วัน ช่วยลดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่

               นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ของทุกปีจะมีประชาชนที่ไปทำงานยังต่างถิ่นเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวกับญาติพี่น้องเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการจราจรคับคั่งในทุกเส้นทาง รวมทั้งมีอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้น สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้

               เพื่อเป็นส่วนหนึ่งและเป็นแบบอย่างที่ดีและสนองนโยบายของรัฐบาลในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพองจังหวัดขอนแก่น จึงมีมติให้หยุดตัดอ้อยและหยุดวิ่งรถบรรทุกอ้อยเพื่อส่งโรงงาน 7 วันในช่วงปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.59 ถึงวันที่ 4 ม.ค.60 และยังได้ประสานไปยังโรงงานน้ำตาลด้วยว่าให้ชะลอหีบอ้อยในช่วงเวลา 7 วันนี้

                นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การหยุดรถบรรทุกอ้อยในช่วงนี้จะเป็นการช่วยลดความคับคั่งของการจราจรตามท้องถนน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรวมทั้งส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้หยุดพัก มีโอกาสร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กับบรรดาญาติพี่น้อง นอกจากการสนองนโยบายของรัฐในการหยุดรถบรรทุกแล้ว ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ยังได้ให้ความร่วมมือในการบรรทุกอ้อยไม่ให้เกินน้ำหนัก จากที่เคยบรรทุกสูงกว่า 4 เมตร ตอนนี้ลดเหลือไม่เกิน 3.8 เมตรหรือคานวัดระดับที่ทางโรงงานไว้ เพื่อให้น้ำหนักเบาลงลดความสูญเสียของถนนและอุบัติเหตุจากการบรรทุกเกิน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเป็นอย่างดี

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สรท.แนะรวมกลุ่มAECดันยุทธศาสตร์

สรท. มองไทยเร่งดันยุทธศาสตร์ AEC รวมกลุ่มเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีโลก หลังครบ 1 ปี ยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สภาผู้ส่งออก (สรท.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยได้กระจายการค้า การลงทุนไปใน AEC โดยเฉพาะ CLMV เพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การเจรจาการค้า แต่ในภาพรวมถือว่ายังไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อกำลังซื้อและการลงทุนใน AEC รวมถึงความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ยังไม่รองรับ ซึ่งมีผลต่อการส่งสินค้าผ่านแดน

นอกจากนี้ อุปสรรคที่พบคือบางประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ให้ความสนใจในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) มากกว่า ทำให้การรวมตัวของ AEC ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ขณะที่ไทยเองประสบปัญหาภายในประเทศ ทำให้ขาดแรงกระตุ้น ทั้งนี้ ในปี 2560 เป็นปีที่สำคัญในการสร้างความสมดุลทางการค้าและการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ ไทยเองต้องเร่งเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งและเป็นแกนหลักของอาเซียน มียุทธศาสตร์ชัดเจน ชิงความได้เปรียบทางการค้า ผลักดัน AEC รวมกลุ่มเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก โดยเฉพาะข้อตกลงการค้ากับ จีน อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งไทยต้องใช้โอกาสแสดงถึงศักยภาพในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน รวมทั้งไทยต้องเร่งเจรจาการค้าแบบทวิภาคีควบคู่ไปด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเผย “อ้อย” ขึ้นแท่นพืช ศก.แนวโน้มสดใส   

         3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเผยแนวโน้มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสดใสต่อเนื่องถึงฤดูหีบหน้า “อ้อย” ขึ้นแท่นเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มราคาดีเมื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทราย รับความต้องการซื้อน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกในหลายประเทศเริ่มฟื้น

               นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้ประเมินถึงทิศทางราคาพืชผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปีการเพาะปลูก 2559-2561 พบว่าอ้อยจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายที่ผลิตมาจากอ้อยในปีนี้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่สูง โดยมีราคาอยู่ที่ 18-20 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำมาคำนวณเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น

               ทั้งนี้ ปีนี้จึงจัดได้ว่าอ้อยเป็นพืชที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่เมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดราคาอยู่ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ความหวาน 10 ซีซีเอส ยกเว้นพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 980 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูหีบที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 808 บาทต่อตันอ้อย ส่วนพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในปีก่อนเพียง 773 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งจากราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวถือเป็นราคาเหมาะสมที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยมั่นใจได้ว่าจะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น      

        สำหรับแนวโน้มดังกล่าว 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายมองว่าปีการเพาะปลูกปีนี้ถือเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอีกปีหนึ่ง เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายได้ประเมินปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงทำให้หลายประเทศเริ่มสั่งซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นเพื่อบริหารความเสี่ยงให้เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนามีเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายในตลาดโลก และค่าเงินบาทที่อ่อนลง ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้ที่จะมีรายได้จากการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

               “เดิมโรงงานน้ำตาลทรายได้ประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการหีบอ้อยปี 59/60 คาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยจะต่ำกว่าปีก่อนจากภาวะภัยแล้งในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก แต่อย่างไรก็ดี เมื่ออ้อยได้รับน้ำฝนเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนกรกฎาคม มีฝนกระจายในพื้นที่เพาะปลูกได้ดีขึ้น ทำให้อ้อยฟื้นตัวดีขึ้น และคาดว่าจะช่วยให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลทรายปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยบวกเข้ามาช่วยเสริม จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 25 ธันวาคม 2559

แนวโน้มราคาน้ำตาลอยู่ช่วงขาขึ้น

3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ชี้ โอกาสดีอุตฯ อ้อยและน้ำตาลทรายไทย หลังความต้องการบริโภคน้ำตาลตลาดโลก มีแนวโน้มเพิ่ม ดันราคาสูง ช่วยมีรายได้จากการเพาะปลูก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ประเมินถึงทิศทางราคาพืชผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า พบว่า อ้อยจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายที่ผลิตมาจากอ้อยในปีนี้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่สูง โดยมีราคาอยู่ที่ 18 - 20 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำมาคำนวณเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดราคาอยู่ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ยกเว้นพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 980 บาทต่อตันอ้อย สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูหีบที่ผ่านมา   ถือเป็นราคาเหมาะสมที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยมั่นใจได้ว่า จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น  

ทั้งนี้ ปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง ทำให้หลายประเทศเริ่มสั่งซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงให้เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนามีเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายในตลาดโลกและค่าเงินบาทที่อ่อนลง ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้ที่จะมีรายได้จากการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 25 ธันวาคม 2559

ปี 60 โอกาสทองน้ำตาลไทย

                    ตลาดโลกต้องการน้ำตาลพุ่ง หลังหลายประเทศเริ่มสั่งซื้อเพิ่ม ชี้โอกาสทองชาวไร่อ้อยรายได้ตุงกระเป๋า

                    นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์3สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ประเมินปีนี้และปีหน้า เป็นปีทองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายได้ประเมินปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่คาดว่า จะปรับตัวลดลง ทำให้หลายประเทศเริ่มสั่งซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนามีเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายในตลาดโลก รวมทั้งปัจจัยจากค่าเงินบาทที่อ่อนลง ส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้ที่จะมีรายได้จากการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“กลุ่มอุตฯอ้อย และน้ำตาลทรายไทยได้ประเมินถึงทิศทางราคาพืชผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลังและยางพารา ในช่วง2-3 ปีข้างหน้าหรือระหว่างปีการเพาะปลูก 59-61 พบว่า อ้อยจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายที่ผลิตมาจากอ้อยในปีนี้อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่สูง โดยมีราคาอยู่ที่ 18-20 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำมาคำนวณเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์70:30 จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 ธันวาคม 2559

ชาวไร่อ้อยเฮ!!! ราคาน้ำตาลโลกช่วง 3 ปีจากนี้พุ่งแน่ เหตุสต๊อกลด-บริโภคเพิ่ม

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้ประเมินถึงทิศทางราคาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย คือ อ้อย ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปีการเพาะปลูก 2559-2561 พบว่า อ้อยจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งช่วยให้เกษตรกรชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยสูง จากความต้องการของตลาดโลก โดยราคาอยู่ที่ 18-20 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งส่งผลให้เมื่อนำมาคำนวณเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดราคาอยู่ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ยกเว้นพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 980 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูหีบที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 808 บาทต่อตันอ้อย ยกเว้นพื้นที่เพาะปลูกเขต 5 ที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในปีก่อนเพียง 773 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งจากราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าว ถือเป็นราคาเหมาะสมที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยมั่นใจได้ว่าจะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น

“โรงงานน้ำตาลทรายยังประเมินปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายในตลาดโลก คาดว่าจะปรับตัวลดลงทำให้หลายประเทศเริ่มสั่งซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงให้เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนามีเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายในตลาดโลกและค่าเงินบาทที่อ่อนลง ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้ที่จะมีรายได้จากการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 25 ธันวาคม 2559

จับหมด! รถอ้อยพิจิตรบรรทุกจนล้น-ชั่งได้ถึง 57

        พิจิตร - เจ้าหน้าที่กรมทางฯ นำทหารตั้งจุดตรวจชั่งน้ำหนัก จับรถอ้อย 3 คันรวด พบบรรทุกกันจนล้นรถ

               วันนี้ (25 ธ.ค.) นายพิสูจน์ คำสิงห์ นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม นำเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง (ส่วนกลาง) ร่วมกับกำลังทหาร มทบ.36 ตั้งจุดตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย บริเวณทางหลวงหมายเลข 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก หลักกิโลเมตรที่ 87-88 ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร

               โดยสามารถจับรถบรรทุกอ้อยที่บรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด จำนวน 3 คัน คือ รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0780 พิจิตร, หมายเลขทะเบียน 81-2639 พิจิตร และหมายเลขทะเบียน 81-3646 กำแพงเพชร แต่ละคันบรรทุกอ้อยมากถึง 57 ตัน ขณะที่กฎหมายกำหนด 47 ตัน

               พร้อมควบคุมตัวคนขับ 3 คน คือ นายชำนาญ หลวงปราบ อายุ 32 ปี, นายจิตติ วรสิงห์ อายุ 28 ปี และนายอานนท์ กรีอินทอง อายุ 30 ปี นำส่ง พ.ต.ท.ณรงค์ พันมา สว.สสส.สภ.วชิรบารมี ดำเนินคดีตามกฎหมาย

               ซึ่งผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าได้เป็นคนรับจ้างขับรถบรรทุกอ้อยให้นายทุนรายหนึ่ง ขนอ้อยจากไร่อ้อย ต.หนองโสน อ.สามง่าม ไปส่งที่โรงงานน้ำตาล อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก แต่มาถูกกจับกุมในครั้งนี้เสียก่อน

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 25 ธันวาคม 2559

ส.อ.ท.หนุน ธปท.ดูแลค่าเงินบาทปี 60 เพิ่มขีดแข่งขันส่งออกไทย  

          “ส.อ.ท.” หนุน ธปท.ดูแลค่าเงินบาทปี 2560 ใกล้ชิดหลังแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่ยังน้อยกว่าภูมิภาค หวังให้ใกล้เคียงเพื่อการแข่งขันด้านการส่งออก แนะเอสเอ็มอีเร่งลดต้นทุน เหตุแนวโน้มน้ำมันราคาวัตถุดิบ ค่าแรงสูงขึ้น

                นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 2560 เอกชนยังคงต้องติดตามค่าเงินบาทใกล้ชิดหลังจากช่วงนี้ค่าเงินบาทของไทยมีทิศทางอ่อนค่าแต่ภาพรวมยังคงแข็งค่ากว่าภูมิภาคเล็กน้อย โดยเอกชนต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลใกล้ชิด และหากเป็นไปได้ขอให้ค่าเงินบาทของไทยใกล้เคียงกับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออก

               “ธปท.ขณะนี้ก็ดูแลใกล้ชิดนะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ระหว่าง 0.50-0.75% ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามทิศทางที่เงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งขึ้นแต่ก็ยังอ่อนค่าน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นเพราะทุนสำรองของไทยนั้นมีเยอะ แต่เราก็หวังว่า ธปท.จะดูแลใกล้ชิดเพราะตลอดปี 2560 เฟดจะยังทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง” นายวัลลภกล่าว

               สำหรับค่าเงินบาทของไทยที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงนั้นหากไม่ผันผวนและสะท้อนตามภูมิภาคก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในปี 2560 ในแง่ของมูลค่าส่งออกที่จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นปัจจัยเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบางที่ต้องติดตามใกล้ชิด ทั้งจากนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ (โดนัลด์ ทรัมป์) ว่าจะมีท่าทีต่อการค้าที่ชัดเจนอย่างไร

               ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป (อียู) มองว่าเศรษฐกิจอาจชะลอตัวทั้งจากหลายประเทศจะต้องมีการเลือกตั้ง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ รวมถึงกรณีอังกฤษที่จะต้องตัดสินใจว่าจะออกจากสมาชิกอียู (Brexit) แน่นอนหรือไม่ นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านภัยคุกคามที่แม้ว่าโดยรวมจะดีขึ้นแต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนนัก

               นายวัลลภกล่าวว่า ปัจจัยต้นทุนการผลิตในปี 2560 มีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นจากระดับราคาน้ำมันตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงกว่าปีนี้ จะทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น รวมไปถึงค่าแรงที่ปรับขึ้นในบางพื้นที่ ขณะที่ราคาวัตถุดิบที่สะท้อนตามต้นทุนน้ำมันหลายชนิดจะมีราคาที่สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้น ภาคการผลิตจะต้องมีการพิจารณาลดต้นทุนโดยเฉพาะเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตาม การปรับราคาสินค้าของผู้ประกอบการภายในประเทศในปี 2560 นั้นภาพรวมยังคงไม่ง่ายนักด้วยปัจจัยแรงซื้อยังต่ำการแข่งขันยังสูง 

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 25 ธันวาคม 2559

ชาวไร่อ้อยเสิงสาง โคราช เร่งตัดอ้อยหนีช้างป่าอาละะวาด

ชาวไร่อ้อยเสิงสางโคราช ต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังถูกโขลงช้างป่าทำลายบ่อยครั้ง

ด้านทับลานเตรียมติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบเรียลทามส์ เพื่อส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจัดการปัญหาช้างป่า

นครราชสีมา วันนี้(24ธ.ค.59) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ลงสำรวจพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านทรพย์เจริญ ต.บ้านราษฎร์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา หลังถูกโขลงช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติทับลาน บุกเข้าทำลายผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านนับสิบราย ส่วนใหญ่จะเป็นมันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด ถูกช้างโขลงช้างป่าจำนวนมาก เข้าไปหักกินและเหยียบย่ำผลผลิต ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างสภาพร่องรอยมีทั้งใหม่และเก่าปะปนกัน

นายตึม เสม็ดศรี อายุ45ปี เจ้าของไร่อ้อยซึ่งถูกโขลงช้างป่าบุกเข้าไปหักกิน และเหยียบย่ำผลผลิตเสียกว่าไปเกือบครึ่ง กล่าวว่า ต้องเร่งทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากพื้นที่นำไปจำหน่าย ก่อนจะถูกช้างป่าทำลายจนหมด ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวนานกว่าปกติ เนื่องจากคนงานมีน้อยก็ตาม เพราะก่อนหน้านี้โขลงช้างป่าบุกเข้ามาแล้วถึง2ครั้ง

เบื้องต้นนายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ให้ช่วยกันเฝ้าระวังผลักดันช้างให้กลับเข้าสู่ป่าอย่างถูกวิธี โดยไม่ใช้ความรุนแรง และขอให้ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าขณะนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้ความสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาหานี้อย่างเร่งด่วน

ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดแบบเรียลทาร์ม ระบบเอ็นแค็ป (NCAPS) มาติดตั้งบริเวณก่อนถึงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่ติดต่อกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เพื่อเฝ้าระวัง หากโขลงช้างป่ากำลังจะออกจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน กล้องก็จะสามารถบันทึกภาพและส่งข้อมูลมายังทางศูนย์ควบคุม และจะมีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ออกไปผลักดันช้างกลับเข้าสู่ป่าได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะเข้าไปทำลายผลผลิตของชาวบ้าน ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น ก็จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนช่วยกันสร้างแหล่งอาหารช้าง และสัตว์ป่าเพิ่มเติมด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 24 ธันวาคม 2559

สมาพันธ์ชาวไร่มันฯ-ผู้ผลิตเอทานอลเซ็น MOU ความร่วมมือซื้อขายผลผลิตมันฯ

        นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายมันสำปะหลัง ระหว่างสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กับสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย และสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคมนี้ ณ ห้องกำแพงเพชรอัครโยธิน ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกรมการค้าภายใน ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธี

               การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมันสำปะหลัง ในการผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มปริมาณการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมเอทานอล อันจะส่งผลต่อเสถียรภาพด้านราคาในภาพรวมต่อไป

               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง และสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย จะรับซื้อหัวมันสดคุณภาพเชื้อแป้ง 25% ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตทั้งหมดของเกษตรกร โดยตกลงรับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า 1.90 บาทต่อกิโลกรัม ไม่น้อยกว่า 1,200 ตันต่อวัน ณ โรงงานเอทานอล ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมากและราคามีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ ต้องมีการกำกับดูแลเกษตรกรที่เป็นสมาชิกให้เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเวลาที่เหมาะสมไม่ต่ำกว่า 8 เดือน เพื่อให้ผลผลิตมีเชื้อแป้งที่เหมาะสม คุณภาพดี และเป็นที่ต้องการของตลาด      

        นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งยังสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม อันจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว โดยรัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพและสามารถแปรรูปผลผลิตด้วยตนเอง และขยายการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นให้แก่อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารเพื่อการบริโภค อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งจะพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังและภาคเกษตรกรรมของไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 จาก http://www.manager.co.th วันที่ 23 ธันวาคม 2559

กษ.เดินหน้าจัดการน้ำทั้งระบบ

ประเทศไทย ถูกขนานนามจากประเทศอื่นๆ ว่าเป็นดินแดนสุวรณภูมิ ซึ่งหมายถึงดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ หรือเป็นแผ่นดินทองของเอเชีย จนมีการเล่าขานกันว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ส่งผลให้ประเทศไทยได้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ขณะที่ในความจริง คนที่ประกอบอาชีพการเกษตรในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักไม่ประสบความสำเร็จในด้านอาชีพเท่าที่ควร ปัญหาส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ของภาคการเกษตรไทย ต้นตอของปัญหา คือการวางแผนการพัฒนาทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่มีความจำเป็นต่อภาคการเกษตร ซึ่งถ้าหากไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตคงไม่ยากเกินกว่าที่จะคาดเดาได้

จากบทเรียนที่ผ่านมาของประเทศไทย ในเรื่องของน้ำ พบว่า ภาคการเกษตรไทยเจอทั้งปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรเป็นวงกว้าง ดังนั้นในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นกระทรวงที่รับผิดชอบดูแลภาคการเกษตรโดยตรง จึงได้พยายามที่จะปรับยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ เพื่อวางแผนบริหารจัดการภาคการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเเข็งแกร่ง ผ่านการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ในการใช้น้ำให้เป็นระบบมากขึ้น คุ้มค่า เพียงพอกับการอุปโภคบริโภค และนำมาใช้ในภาคการเกษตรที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของคนในประเทศ

สำหรับในช่วงฤดูแล้งที่ใกล้จะเข้ามาถึงนี้ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล่าให้ฟังถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ว่า เท่าที่มีการตรวจสอบ ข้อมูลพบว่า ช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้พื้นที่ทั่วประเทศจะใช้น้ำจากเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง รวมขนาดกลาง 448 แห่ง โดยลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด เป็นปีที่มีน้ำเข้าเกณฑ์เฉลี่ย ปริมาณน้ำใช้การ 9.7 พันล้าน ลบ.ม. ถือว่าดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าจะให้ดีต้องมีน้ำระดับ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป ซึ่งจะพอใช้เพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง หลังจากวันที่ 1 พ.ย.59 ได้จัดสรรน้ำในทุกกิจกรรม 5.9 พันล้าน ลบ.ม. และเตรียมปริมาณน้ำสำรอง 3.7 พันล้าน ลบ.ม.ไว้กรณีฝนทิ้งช่วงเดือน พ.ค.ปี’60 โดยปี 59/60 จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1.1 พันล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 1.4 พันล้าน ลบ.ม. เพาะปลูกทำเกษตรต่อเนื่อง 400 ล้าน ลบ.ม. และใช้น้ำปลูกข้าวนาปรัง 2.9 พันล้าน ลบ.ม.ส่วนนาปรังรอบสอง ต้องขอให้งดปลูก ซึ่งเป็นไปตามแผนการที่วางเอาไว้ ขณะที่กรมชลประทาน ได้กันน้ำไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อสนับสนุน พื้นที่ที่ต้องปลูกข้าวก่อนพื้นที่อื่นๆ เพื่อหนีฤดูน้ำหลาก โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการศึกษา อย่างละเอียดจนเป็นที่มาของการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชเร็วขึ้นก่อนฤดูน้ำหลาก และกันน้ำไว้อีก 70 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่เร่งปลูกข้าวก่อนให้กับชาวนา อาทิ พื้นที่พิษณุโลก พิจิตร เพื่อหนีน้ำหลากเก็บเกี่ยวก่อน และจัดสรรพื้นที่เอาไว้เป็นแก้มลิงรับน้ำต้นฤดูฝนลดปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ

ทั้งหมดที่นายเลิศวิโรจน์ กล่าวมานั้นยังไม่รวมถึงการเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำผ่านแม่น้ำ และลุ่มน้ำต่างๆจนมาถึงทุ่งเจ้าพระยาในคราที่ต้องรับน้ำหลาก ที่ไหลมาจากภาคเหนือในช่วงหน้าฝน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องวางแผนบริหารจัดการให้ดี ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องจัดเก็บน้ำ เพื่อเก็บไว้ใช้ในช่วงแล้งที่จะตามมา ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงาน วางแนวทางการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกันอย่างลงตัวไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นมา

 “น่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ อย่างจริงจังเสียทีว่า น้ำที่ใช้ในปัจจุบันเกินครึ่งของปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อน ที่รัฐต้องบริหารจัดการปล่อยลงมาจากเขื่อน และนำไปใช้ในการปลูกข้าวนาปรัง หากคิดตามหลัก การลงทุน มันไม่คุ้มและน่าจะถึงเวลา ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกพืชชนิดอื่นที่คุ้มค่าแทน นั้นหมายถึง ภาครัฐเองต้องมีพืชทางเลือกให้กับเกษตรกร ที่ต้องดูแล้วมันจูงใจให้เขาทำ สามารถชดเชยกับการปลูกข้าวได้ ซึ่งจากนี้ไปก็น่าจะถึงเวลา “ต้องทำ” อย่างจริงจังแบบว่าบูรณาการณ์จริงๆ และต้องเริ่มทำทันที เพราะยิ่งเนินนาน น้ำมีที่ต้องใช้อย่างจำกัดและคุ้มค่าที่สุด” รองปลัดกระทรวงเกษตร กล่าว

นอกจากทุ่งเจ้าพระยาแล้ว ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของภาคการเกษตรไทย ซึ่งวันนี้พบว่ามีหลายเขื่อนที่มีปัญหาน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย อย่างเช่นภาคอีสานตอนใต้ ที่ต้องงดส่งน้ำเข้าพื้นที่ชลประทานเพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรัง เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอให้ปลูกพืชในฤดูแล้ง รวมถึงเขื่อนในลุ่มน้ำแม่กลอง ที่ปีนี้ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อทำนาปรังได้ เพราะต้องกันน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลักและสำรองน้ำไว้ปีหน้า เนื่องจากปีนี้น้ำจากสองเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำใช้การได้ 5.4 พันล้าน จัดสรรน้ำ 2.9 พันล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภค 300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 1.7 พันล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำปลูกพืชต่อเนื่อง 950 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนแม่กวงฯ เขื่อนปราบุรี เขื่อนแก่งกระจาน มีน้ำต้นทุนเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับปลูกพืชฤดูแล้งได้เช่นเดียวกัน ส่วนเขื่อนมีน้ำใช้การเกณฑ์น้อย ไม่ส่งทำนาปรัง แต่ส่งปลูกพืชฤดูแล้ง ได้แก่เขื่อนแม่งัด เขื่อนลำนางรอง เขื่อนบางลาง เพราะช่วงแล้งยาวถึง 6 เดือน จึงได้มีการกันน้ำจากเขื่อนไว้ให้ระบบปะปาได้มีการแจกจ่ายน้ำให้แก่ชุมชนเพื่อใช้อุปโภคบริโภคต่อไป

และจากที่กล่าวมาทั้งหมด คงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไม ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีเเผนการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของภาคการเกษตร ก็เพื่อที่จะให้การทำเกษตรของเกษตรกรไทย สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้ที่ดี มั่นคง ไม่เดือดร้อนเพราะปัญหาน้ำท่วมหรือขาดแคลนน้ำเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา ให้สมกับที่ ประเทศไทย ถูกมองว่า เป็นดินแดนสุวรรณภูมิ แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ร้องผู้ว่าฯถูกด่านลอยจับ

กลุ่มชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน หลังถูกเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ตั้งด่านตาชั่งลอยจับรถอ้อย

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่หอประชุม ที่ว่าการ อ.บ้านผือ นายพินิจ พรรคพล ประธานสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สาขาไทยอุดรบ้านผือ พร้อมตัวแทนกลุ่มชาวไร่อ้อยในเขตพื้นที่อุดรธานี และตัวแทนจากโรงงานน้ตาลทราบขาวเริ่มอุดม อ.หนองหาน และโรงงานน้ำตาลไทยอุดร อ.บ้านผือ กว่า 30 คน รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ นายชยวุธ จันทร ผวจ.อุดรธานี พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 ให้ช่วยหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อน

จากการที่เจ้าหน้าที่ด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ กรมทางหลวง ออกจับกุมรถอ้อยบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่ออกจับกุมในเขตพื้นที่อุดรธานี มาตั้งแต่เริ่มเปิดหีบอ้อย วันที่ 6 ธันวาคมที่ ผ่านมา ทั้งที่รถบรรทุกอ้อยและโรงงานน้ำตาล ได้การปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง หรือMOU19 ข้อ ที่ทาง คสช.กหนดแนวทางไว้ สำหรับมาตรการความปลอดภัยของรถบรรทุกอ้อย ที่วิ่งบนท้องถนน

นายพินิจ พรรคพล ประธานสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สาขาไทยอุดรบ้านผือ กล่าวว่า ต้องการให้ทาง ผวจ.อุดรธานี สะท้อนปัญหาไปยังนายกรัฐมนตรี ถึงความเดือดร้อนจากด่านตาชั่งลอยของกรมทางหลวง ออกจับรถอ้อยบรรทุกหนัก สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อย ทั้งนี้ชาวไร่อ้อยเราไม่มีตาชั่งที่จะชั่งน้ำหนักรถก่อนออกมาบนถนน อีกทั้งที่ผ่านมาพวกเราก็ปฏิบัติตามMOUทั้ง 19 ข้อ ความเคร่งครัด แต่ยังมาถูกจับนำหนักเกิน หากยังเป็นเช่นนี้ชาวไร่อ้อยคงจะอยู่ไม่ได้จากหนี้สินที่กู้ยืมมาลงทุน เพราะตัดอ้อยก็ไม่ได้ ไม่กล้าตัด เพราะกลัวจะถูกจับ ซึ่งอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีระยะเวลาตัดส่งเข้าโรงงานเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น หากยังคงถูกจับอยู่อย่างนี้ คงไม่มีเงินไปใช้หนี้ใช้สิน ต้องขาดทุนย่อยยับ

“เดิมวันพรุ่งนี้เราตั้งใจจะรวมตัว นำรถอ้อยมาปิดที่หน้าศาลากลางทุกจังหวัด เพื่อจะสะท้อนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงความเดือดร้อนของพวกเรา แต่ทาง 4 องค์กรชาวไร่อ้อย แจ้งว่าจะนำเรื่องเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ ขอให้หยุดการรวมตัวไว้ก่อน พวกเราก็ยอมหยุด แต่หากยังไม่ได้รับความเห็นใจจากนายกรัฐมนตรี ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพวกเราชาวไร่อ้อย ก็คงต้องรวมตัวกันนำรถอ้อยมาปิดศาลากลางกันทุกจังหวัดแน่นอน”

นายพินิจฯ กล่าวอีกว่า หากยังมีการจับกุมแบบนี้ ทั้งที่เราทำตามกติกาทั้ง 19 ข้อ ท่านนายกรัฐมนตรี จะต้องลงมาช่วยชาวไร่อ้อย เหมือนกับภาคเกษตรอื่น ๆ ที่ช่วยมาด้วยวิธีต่าง ๆ เหมือนภาคเกษตรอื่น ที่มีทั้ง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ที่รัฐหาเงินมาช่วยอุดหนุนด้านต่าง ๆ ด้วย เพราะที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยไม่เคยต้องให้รัฐบาลต้องมาช่วย เราดูแลกันเองมาโดยตลอด แต่เมื่อมาถูกจับแบบนี้ ที่อาจจะต้องถึงกับถูกยึดรถ ติดคุก วันช้างหน้าคงต้องมีชาวไร่อ้อยผูกคอตาย เพราะมีหนี้สินที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้”

นายชยาวุธ จันทร ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ก่อนหน้าทราบว่าจะมีการรวมตัวของชาวไร่อ้อย ที่จะนำรถบรรทุกอ้อยมาที่หน้าศาลากลาง ซึ่งก็มีการพูดคุยกันจนชาวไร่อ้อยยอมที่จะไม่นำรถอ้อยมาปิดศาลากลาง ที่ผ่านมาตนก็ออกมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะหน้าไปแล้ว ซึ่งเรื่องที่รับการร้องเรียน รวมทั้งการรวมตัวจะปิดล้อมศาลากลาง ได้แจ้งให้ทางปลัดกระทรวงมหาดไทยรับทราบแล้ว ซึ่งได้ให้เราทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวไร่อ้อยที่เดือดร้อน ให้ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อไปยังผู้ต้องใช้รถใช้ถนน

“ส่วนขณะนี้ที่ยังมีการจับกุมจากชุดด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ กรมทางหลวง ซึ่งเขาปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของเขา ซึ่งผมได้แจ้งให้พี่น้องชาวไร่อ้อยไปแล้ว ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายของกรมทางหลวงอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากถูจับกุมจะต้องดำเนินคดีถูกส่งฟ้องศาล ที่อาจจะถูกยึดรถ ที่จะสร้างความเดือดร้อนมากขึ้นไปอีก คืออย่างไรก็ตามตอนนี้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไป จนกว่าจะมีการแก้ไข ระเบียบ หลักเกณฑ์ ให้เหมาะสมที่สุดออกมา ซึ่งตรงนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนกลาง ส่วนทางจังหวัดทำได้เพียงไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงจนบานปลายของมวลชน”

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 ธันวาคม 2559

รมว.อุตฯคนใหม่เร่งแผนงานรับThailand4.0

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ เร่งแผนงานรับThailand 4.0 กำชับประชุมผู้บริหารทุกพุธ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งและประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหารกระทรวง ว่า เบื้องต้นได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เร่งจัดวาระและแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนนโยบายของภาคอุตสาหกรรมให้เป็นรูปธรรม รวม 5 ด้าน สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยจะต้องเป็นแนวทางที่ชัดเจนและส่งมอบแผนงานภายในไตรมาสแรกของปี 2560 เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย การพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ S-Curve การพัฒนาบุคลากรให้พร้อมแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี / การขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC การปรับบทบาทและโครงสร้างของกระทรวงฯ เน้นส่งเสริมแผนงานตามยุทธศาสตร์มากขึ้น และการยกระดับบทบาทการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ติดค้างเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป โดยจะเร่งดำเนินการแผนปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนเดือนกันยายน 2560 หรือก่อนปีงบประมาณหน้า ซึ่งจะมีการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ทุกวันพุธ เพื่อติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่จะมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2560 ได้แก่ กลุ่มอาหาร คมีภัณฑ์ พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ หุ่นยนต์ และชีวภาพ พร้อมจะเร่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ก่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อีอีซี ในเดือนมกราคมปีหน้าขณะที่การกำกับดูแลเหมืองทองคำทั่วประเทศ จะยึดตามคำสั่งมาตรา 44 โดยจะนำผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ภายใต้กรอบเดิมมาพิจารณา ก่อนให้คณะกรรมการนโยบายเหมืองแร่แห่งช่าติภายใต้พรบ.แร่ฉบับใหม่เข้าไปศึกษากระบวนการอีกครั้ง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 22 ธันวาคม 2559

เตรียมชงครม.อนุมัติ เคลื่อน4ยุทธศาสตร์ พัฒนาเกษตรอินทรีย์

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.การเสริมสร้างและจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม 2.การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพื้นบ้าน 3.การเสริมสร้างเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์สู่สากล และ 4.การบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ปริมาณและมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ผลักดันให้เกิดการเทียบเคียงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยกับมาตรฐานประเทศคู่ค้า และให้เกิดกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อย 760 กลุ่มทั่วประเทศ

นอกจากนี้ที่ประชุมมีข้อเสนอ อาทิ การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เสนอให้มีกองทุนในรูป Green Credit เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่ง สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะได้นำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ให้สมบูรณ์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 ธันวาคม 2559

"อุตตม" สั่งรื้องานกระทรวงอุตฯ พิสูจน์ผลงาน 1 ปี

                    “อุตตม” สั่งทุกหน่วยกระทรวงอุตฯ รื้อแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายปี 60 เน้นให้เกิดรูปธรรม ทั้งอุตฯ 4.0 เอสเอ็มอี อีอีซี ส่งสัปดาห์หน้าก่อนเสนอบิ๊กตู่ หวังพิสูจน์ผลงานใน 1 ปี  มั่นใจปีไก่ เห็นภาพอุตฯเปลี่ยนแปลงชัด

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการมอบหมายนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมในการเข้ามาทำงานในวันแรกว่า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำทบทวนแผนปฏิบัติการแต่ละหน่วยงานที่จะขับเคลื่อนในปี 60 โดยเน้นให้เป็นรูปธรรม และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อนำมาหารืออีกครั้งในสัปดาห์หน้า ก่อนสรุปนำเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในไม่เกินไตรมาสแรก ปี 60

“ผมได้คุยกับผู้บริหารกระทรวงอุตฯ ไว้แล้วว่า ต่อไปจะต้องประชุมกันทุกวันพุธ เพื่อติดตามงานต่างๆ ให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง คืออุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (เอส-เคิร์ฟ) การพัฒนาเอสเอ็มอี การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)  โดยแผนทั้งหมดจะต้องปฏิบัติได้ทันที หากอันไหนยังไม่ใช่ ก็ต้องมาคุยกันปรับกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เป็นรูปธรรม ก่อนส่งมอบให้กับรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนต่อไปในปี 61”

สำหรับการดำเนินงานปี 60 ซึ่งเป็นระยะเวลาอีก 1 ปี ที่จะพิสูจน์ผลงานทั้งของตน และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสิ่งที่จะได้เห็น คือ การปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะต้องสอดรับกับอุตสาหกรรม 4.0 ต้องเปลี่ยนบทบาทการกำกับมาเป็นผู้สนับสนุนให้มากขึ้น การลงทุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่จะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางการเกษตร โดยเฉพาะมันสำปะหลังและอ้อย ที่จะนำมาสู่อุตฯ ใหม่ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงอุตฯอาหารที่จะมีการขับเคลื่อนการลงทุนอย่างเห็นได้ชัดเจนขึ้น

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 22 ธันวาคม 2559

ผลพวงภัยแล้ง ฉุดจีดีพีเกษตรทั้งปี หดตัว 0.5

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

            ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 59 หดตัว 0.5 เหตุจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปี 58 ในขณะที่รายได้เกษตรกร โดยเฉลี่ยตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้น คาดปี 60 แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ      2.4 - 3.4 จากนโยบายสำคัญที่ช่วยผลักดันและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น

นางสาวจริยา  สุทธิไชยา  รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 พบว่า หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 1.8 และ 0.5 ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.8 2.5 และ 2.2 ตามลำดับ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัว คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 โดยปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่วนการทำประมงทะเลยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการปรับตัวและการปฏิบัติตามกฎหมายประมงของผู้ประกอบการเรือประมง และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนยังคงชะลอตัว

 ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการปฏิรูปภาคการเกษตร เช่น โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) เกษตรอินทรีย์ ธนาคารสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต  ในส่วนของการผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มมาตรฐานที่มีการวางแผนการผลิตและดูแลอย่างเป็นระบบ แม้ปัญหาอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์บ้าง แต่ปริมาณผลผลิตปศุสัตว์โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น  ขณะที่สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากการจัดการปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หากพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า

สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.8 จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานและสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อการผลิตพืชมากนัก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง อาทิ ข้าวรวม ในปี 2559 มีผลผลิต 29.09 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 29.86 ล้านตัน มันสำปะหลัง  มีผลผลิตรวม 30.71 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 31.47 ล้านตัน อ้อยโรงงาน มีผลผลิตรวม 97.34 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 108.76 ล้านตัน ยางพารา มีผลผลิตรวม 4.38 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 4.42 ล้านตัน ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตรวม 11.17 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 12.05 ล้านตัน สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) มีผลผลิตรวม 1.72 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 1.99 ล้านตัน ด้านราคาพืชที่สำคัญในปี 2559 อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยผลผลิตไก่เนื้อ สุกร  ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4  6.6  8.7 2.2 และ 2.5 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบมาตรฐานฟาร์มที่ดี และราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี

/สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 2.5 …

สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น ส่วนปริมาณสัตว์น้ำ

ที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางลดลง

สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าเกษตรกรจะสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น แต่การจ้างบริการทางการเกษตรในภาพรวมยังคงลดลง

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายได้เกษตรกร เฉลี่ยเดือน มกราคม – ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.4 - 3.4 โดย สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 2.6 – 3.6 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.1 – 2.1 สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 3.0 – 4.0 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 – 3.2 โดยปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน (Changing Towards Smart Agriculture) ซึ่งจะดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการบริหารจัดการแบบธุรกิจเกษตร พัฒนาการเกษตรที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี องค์ความรู้แบบองค์รวม รวมถึงสนับสนุนกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเกษตรในปี 2560 ขยายตัว ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากนี้ คาดว่าสภาพอากาศและปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปี 2559 เนื่องจากในช่วงปี 2559 ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชที่สำคัญ  ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2560 ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังประเทศจีนลดลง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 22 ธันวาคม 2559

ค่าบาทไม่เอื้อเศรษฐกิจโต

กนง.ห่วงบาทแข็งเทียบคู่แข่ง ไม่เอื้อให้เศรษฐกิจโต กสิกรฯ เตือนปีหน้าผันผวนหนัก

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ค่าเงินที่อ่อนค่าลงมาแตะ 36 บาท/เหรียญสหรัฐ แม้จะอ่อนเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ช่วยทำให้ผู้ส่งออกมีสภาพคล่องเมื่อแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น แต่ถ้าดูดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ซึ่งเทียบค่าเงินบาทกับคู่ค้าคู่แข่งทั่วโลก เงินบาทยังแข็งค่าขึ้น และเมื่อเทียบเงินบาทกับสกุลเพื่อนบ้านก็แข็งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่า เกินไปเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งอาจจะ ไม่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ กนง.จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามดูสถานการณ์ โดยดูว่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง ไม่มีการเก็งกำไรค่าเงินเกิดขึ้น

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทในปี 2560 จะเป็นการอ่อนค่าแบบที่มีความผันผวน โดยแนะนำผู้ประกอบการต่างๆ ให้ระมัดระวังความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกปีหน้าเพราะมีปัจจัยและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบในช่วงต้นปีค่อนข้าง มาก โดยเฉพาะการประกาศนโยบาย ของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ว่าจะกระทบกับประเทศใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีการทบทวนทิศทางของค่าเงินบาทหลังการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่อีกครั้ง

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินบาทเริ่มมีทิศทางอ่อนค่าลงตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่เป็นอัตราที่ไม่มาก กระทั่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบจากการลอบสังหารทูตรัสเซียประจำตุรกี ที่ตลาดวิตกว่าจะเป็นชนวนที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งมีความกังวลในภูมิภาค เช่น ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าอย่างหนัก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงจนทะลุ 36 บาท/เหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับประเทศภูมิภาคเงินบาทยังอ่อนค่าน้อยกว่า เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับที่คาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 36 บาท/เหรียญสหรัฐ และสิ้นปี 2560 เงินบาทอยู่ที่ 36.50 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยจับตาผลจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีหน้า และนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะดันให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น

นักค้าเงินธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.98-36.00 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยระหว่างวันเคลื่อนไหวในกรอบ 35.92-36.08 บาท/เหรียญสหรัฐ

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 22 ธันวาคม 2559

7 ปัจจัยดันศก.ปี60

คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง โดย...บัญญัติ คำนูญวัฒน์

           เศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่คำตอบเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัจจัยรอบด้านที่กระเตื้องขึ้น หลายสำนักจึงประเมินออกมาในทิศทางเดียวกันว่าปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่อง แม้จะไม่หวือหวาแต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจทีเดียว

           ดูจากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 น่าจะขยายตัว 3.0-4.0% น่าจะมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งใกล้เคียงกับที่ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้ข้อมูลไว้ในงานสัมมนา “เจาะลึกเศรษฐกิจและการเงินไทย ในปี 2017” ในช่วงกลางเดือนธันวาคมว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 น่าจะเติบโตในระดับ 3.5-4.0%

            แล้วปัจจัยสนับสนุนที่จะสร้างโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีอะไรบ้าง หลักๆ ที่มีการวิเคราะห์กันทั้งสคช.และส.อ.ท.น่าจะสรุปได้ประมาณ 7 เรื่อง

           เรื่องแรก การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.7% โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 จะมีอัตราเร่งที่ดีขึ้นตามการปรับตัวที่ดีขึ้นของฐานรายได้ของภาคครัวเรือน ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกและการผลิตในภาคเกษตร ในขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัว 2.1%  ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 0.6% ในปี 2559

           เรื่องที่สอง การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัว 5.0%  เทียบกับการขยายตัว 3.0% ในปี 2559 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 1.2% ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออก ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ และแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย

           เรื่องที่สาม มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ คาดว่าจะขยายตัว 2.4%  ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.0% ในปี 2559 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้น 1.2% สูงขึ้นจากการขยายตัวประมาณ 0.2% ในปี 2559 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก

           เรื่องที่สี่ มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ คาดว่าจะขยายตัว 4.5% เทียบกับหดตัว 5.2% ในปี 2559 โดยคาดว่าปริมาณการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ตามแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าอื่นๆ ในตลาดโลก

           เรื่องที่ห้า ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 33.7 พันล้านดอลลาร์

           เรื่องที่หก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.0-2.0% สูงขึ้นจาก 0.2% ในปี 2559 ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก รวมทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท

           และเรื่องที่เจ็ด การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี 2559 คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในปี 2560

           เห็นอย่างนี้แล้วก็น่าจะอุ่นใจขึ้นเยอะทีเดียว เพราะทุกปีที่เศรษฐกิจขยายตัว ปริมาณเงินที่หมุนไปจะทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 21 ธันวาคม 2559

ผลพวงภัยแล้ง ฉุดจีดีพีเกษตรทั้งปี หดตัว 0.5 สศก. คาด ปีหน้าขยายตัว จากสภาพอากาศ - ศก.โลก ทิศทางดีขึ้น

          ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 59 หดตัว 0.5 เหตุจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปี 58 ในขณะที่รายได้เกษตรกร โดยเฉลี่ยตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้น คาดปี 60 แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.4 - 3.4 จากนโยบายสำคัญที่ช่วยผลักดันและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น

          นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 พบว่า หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 1.8 และ 0.5 ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.8 2.5 และ 2.2 ตามลำดับ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัว คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 โดยปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่วนการทำประมงทะเลยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการปรับตัวและการปฏิบัติตามกฎหมายประมงของผู้ประกอบการเรือประมง และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนยังคงชะลอตัว

          ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการปฏิรูปภาคการเกษตร เช่น โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) เกษตรอินทรีย์ ธนาคารสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต ในส่วนของการผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มมาตรฐานที่มีการวางแผนการผลิตและดูแลอย่างเป็นระบบ แม้ปัญหาอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์บ้าง แต่ปริมาณผลผลิตปศุสัตว์โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากการจัดการปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หากพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า

          สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.8 จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานและสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อการผลิตพืชมากนัก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง อาทิ ข้าวรวม ในปี 2559 มีผลผลิต 29.09 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 29.86 ล้านตัน มันสำปะหลัง มีผลผลิตรวม 30.71 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 31.47 ล้านตัน อ้อยโรงงาน มีผลผลิตรวม 97.34 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 108.76 ล้านตัน ยางพารา มีผลผลิตรวม 4.38 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 4.42 ล้านตัน ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตรวม 11.17 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบปี 2558 ที่มีผลผลิต 12.05 ล้านตัน สำหรับผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) มีผลผลิตรวม 1.72 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 1.99 ล้านตัน ด้านราคาพืชที่สำคัญในปี 2559 อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

          สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 6.6 8.7 2.2 และ 2.5 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบมาตรฐานฟาร์มที่ดี และราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี

          สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น ส่วนปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางลดลง

          สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าเกษตรกรจะสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น แต่การจ้างบริการทางการเกษตรในภาพรวมยังคงลดลง

          สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ รายได้เกษตรกร เฉลี่ยเดือน มกราคม – ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น

          สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.4 - 3.4 โดย สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 2.6 – 3.6 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.1 – 2.1 สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 3.0 – 4.0 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 – 3.2 โดยปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน (Changing Towards Smart Agriculture) ซึ่งจะดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการบริหารจัดการแบบธุรกิจเกษตร พัฒนาการเกษตรที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี องค์ความรู้แบบองค์รวม รวมถึงสนับสนุนกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเกษตรในปี 2560 ขยายตัว ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          นอกจากนี้ คาดว่าสภาพอากาศและปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปี 2559 เนื่องจากในช่วงปี 2559 ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชที่สำคัญ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

          อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2560 ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังประเทศจีนลดลง

          อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร

          หน่วย: ร้อยละ

สาขา              2559  2560      

ภาคเกษตร          -0.5  2.4 – 3.4 

พืช                -1.8  2.6 – 3.6 

ปศุสัตว์             2.8   1.1 – 2.1 

ประมง             2.5   3.0 – 4.0 

บริการทางการเกษตร  -0.5  1.5 – 2.5 

ป่าไม้              2.2   2.2 – 3.2

          ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 ธันวาคม 2559

'ฉัตรชัย'ชู11ยุทธศาตร์แก้ปัญหาการเกษตรไทย

"พล.อ.ฉัตรชัย" กำหนด 11 ยุทธศาตร์แก้ปัญหาการเกษตรไทย เชื่อปี 2560 เห็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการดำเนินงานใน 11 ยุทธศาสตร์ อาทิ การจัดโซนนิ่งพื้นที่ทางการเกษตร โครงการเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งตั้งเป้าที่ 1,500 แปลง เพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการการปลูกข้าวทั้งระบบ ซึ่งได้มีการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ในการดำเนินงาน ผ่านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ข้าว การกระจายน้ำในพื้นที่ชลประทาน โดยตั้งเป้าปี 2560 จะต้องทำให้ครอบคลุมพื้นที่ 470,000 ไร่ การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรในระดับภูมิภาค หรือ ซิงเกิ้ล คอมมานด์ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และยุทธศาสตร์ 5 ปีแรก คือ ระหว่างปี 2560-2564 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาดูแลเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ข้าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโดยรวม ซึ่งจากนี้ไปจะมีเเผนการดำเนินงานชัดเจนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 21 ธันวาคม 2559

จีดีพีภาคเกษตรปี60ฟื้น ผลพวงหมดภัยแล้ง‘รัฐ-ศก.โลก’หนุน

เป็นประจำทุกปีที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะได้วิเคราะห์สถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญในรอบปีที่ผ่านมา และทิศทางแนวโน้มในปีถัดไป “ฐานเศรษฐกิจ”ฉบับนี้จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ “จริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงสถานการณ์สินค้าเกษตรไทยในรอบปี 2559 และทิศทางแนวโน้มด้านการผลิต ราคา และการส่งออกปี 2560 ที่จะมาถึง ดังรายละเอียดถัดจากบรรทัดนี้

 ปี 59 หดตัว-แล้งฉุด

“จริยา กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 พบว่า หดตัว 0.5% เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 1.8% และ 0.5 % ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.8% 2.5% และ 2.2% ตามลำดับ โดยปัจจัยลบที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัว คือ ปรากฏการณ์เอลนิโญและสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 โดยปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมากไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด

“โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่วนการทำประมงทะเลยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการปรับตัว และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงของผู้ประกอบการเรือประมง และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนยังคงชะลอตัว”

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการปฏิรูปภาคการเกษตร เช่น โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (zoning by agri-map) เกษตรอินทรีย์ ธนาคารสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต

ในส่วนของการผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มมาตรฐานที่มีการวางแผนการผลิตและดูแลอย่างเป็นระบบ แม้ปัญหาอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์บ้าง แต่ปริมาณผลผลิตปศุสัตว์โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากการจัดการปัญหาโรคกุ้งตายด่วน(EMS)ที่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

  ผลผลิตลด-ดันราคาอัพ

สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในปี 2559 ภาพรวมลดลง อาทิ ข้าวทุกชนิด ในปี 2559 มีผลผลิต 29.09 ล้านตัน ลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 29.86 ล้านตัน, มันสำปะหลัง มีผลผลิตรวม 30.71 ล้านตัน ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 31.47 ล้านตัน,อ้อยโรงงาน มีผลผลิตรวม 97.34 ล้านตัน ลดลง 10.5% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 108.76 ล้านตัน, ยางพารา มีผลผลิตรวม 4.38 ล้านตัน ลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 4.42 ล้านตัน, ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตรวม 11.7 ล้านตัน ลดลงร้อย 7.2% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลผลิต 12.05 ล้านตัน

ส่วนผลไม้ ได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุดและเงาะ มีผลผลิตรวม 1.72 ล้านตัน ลดลง 13.4 % เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 1.99 ล้านตัน ด้านราคาพืชที่สำคัญในปี 2559 อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และผลไม้ ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ด้านสาขาปศุสัตว์ ภาพรวมขยายตัว 2.8% หากจำแนกเป็นรายชนิด อาทิ ผลผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น 4.4% 6.6% 8.7% 2.2% และ 2.5 % ตามลำดับ เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบมาตรฐานฟาร์มที่ดี และราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี สาขาประมง ขยายตัว 2.5 % โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วนคลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรคมากขึ้น

ขณะที่สาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 0.5% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าเกษตรกรจะสามารถเพาะปลูกข้าวนาปีได้เพิ่มขึ้น แต่การจ้างบริการทางการเกษตรในภาพรวมยังคงลดลง ส่วนสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% จากผลผลิตไม้ยางพาราและไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากผลผลิตดังกล่าวจึงส่งผลทำให้รายได้เกษตรกร เฉลี่ยเดือน มกราคม-ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น

 จีดีพีเกษตร ปี 60 ส่อฟื้น

“จริยา” กล่าวอีกว่า สศก.ได้มีการพยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร(จีดีพีภาคเกษตร)ปี 2560 คาดจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.4-3.4 % โดย สาขาพืชขยายตัว 2.6-3.6% สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.1-2.1% สาขาประมง ขยายตัว 3.0-4.0 % สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 1.5-2.5% และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2-3.2 % ซึ่งในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกษตรทำการผลิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการบริการจัดการแบบธุรกิจเกษตร พัฒนาการเกษตรที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี องค์ความรู้แบบองค์รวม รวมถึงสนับสนุนกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเกษตรในปี 2560 ขยายตัว ช่วยยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“สภาพอากาศและปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปี 2559 เนื่องจากในช่วงปี 2559 ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชที่สำคัญ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย”

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามในเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2560 ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังประเทศจีนลดลง

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 21 ธันวาคม 2559

ชาวไร่อ้อยโอด จับทุกวันขนเกิน25ตัน ขอผ่อนผัน-ขู่เข้ากรุง

ด่านลอยจับน้ำหนักเกิน25ตันส่งศาลทุกวัน เจ้ารถบรรทุกไร่อ้อย รวมตัวจี้ผู้ว่าฯ-ขอรัฐบาลผ่อนผัน หลังปีใหม่ไม่รู้ผล ฮึ่มเข้ากรุงเทพฯ

บ่ายวานนี้ (20 ธันวาคม 2559) ที่หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชรตำบลในเมืองอำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ชาวไร่อ้อยกว่า 2,000 คนก็ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับนายสุวิทย์ พันธุ์วิทยากูลนายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชร,นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ เลขาธิการสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการสมาคมชาวไร่อ้อยเขต6 ถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย

กรณีกรมทางหลวงได้มีนโยบายให้สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (spot check) ดำเนินการเข้มงวดกวดขัน ในการตรวจสอบจับกุมรถบรรทุกอ้อยที่ขนส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาลทั้ง 3 โรงงานในจังหวัดกำแพงเพชรที่เปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมเป็นต้นมาบนถนนสายหลักและทางหลวงสายรอง โดยขณะนี้มีรถบรรทุกถูกจับดำเนินคดีไปแล้วกว่า10ราย

สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชรในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยในจังหวัดกำแพงเพชรกว่า 3 หมื่นครอบครัว ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยว่าการดำเนินนโยบายของกรมทางหลวง ในการเข้มงวดและจับกุมรถบรรทุกอ้อยที่ขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน โดยไม่มีการผ่อนผันในครั้งนี้ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมากนอกจากจะไม่สามารถขนส่งอ้อยเข้าโรงงานได้ตามแนวทางปฏิบัติที่ตกลงกันไว้กับกองทัพภาคที่ 3 แล้วยังส่งผลกระทบทำให้ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะรถบรรทุกอ้อยในแต่ละเที่ยวได้น้ำหนักน้อยลงและต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งอ้อยเพิ่มมากขึ้นจนกว่าจะหมด

ซึ่งปัญหาดังกล่าวเท่ากับเป็นการซ้ำเติมและสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นทวีคูณ หลังจากที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งและผลผลิตอ้อยตกต่ำในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางสมาคมฯจึงนำเรียนปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้พิจารณาหนทางในการแก้ไข และหามาตรการผ่อนปรนเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถประกอบอาชีพอยู่รอดไปต่อไปได้

ทางสมาคมฯได้ยึดแนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานจำนวน 19 ข้อ สามารถบรรทุกอ้อยมีระดับความสูงท้ายกระบะ 4 เมตร มีสัญญาณไฟเตือนความปลอดภัย ทางสมาคมโรงงานน้ำตาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ตกลงไว้กับกองทัพภาคที่ 3 และถือปฏิบัติร่วมกันในฤดูการผลิตที่ผ่านมานั้น เป็นมาตรการสังคมที่ได้ผลทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้และอยู่ร่วมกันได้ในสังคมด้วยความเรียบร้อย ช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน และการใช้รถใช้ถนนของประชาชนทั่วไปลงได้เป็นอย่างมาก

นายสุวิทย์ พันธุ์วิทยากูลนายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 ได้เปิดเผยว่าการบังคับใช้กฎหมายของกรมทางหลวงส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้นำอุปกรณ์เครื่องมือไปตั้งด่านลอยดักจับรถบรรทุกอ้อยต่อเนื่องทุกวัน และมีรถอ้อยถูกจับกุมไปดำเนินคดีแล้วจำนวนด้วยกันกว่า10ราย ถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการนำผลผลิตส่งโรงงานได้ เพราะการควบคุมน้ำหนักบรรทุกรวมตัวรถ 25 ตันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเพราะตัวรถบรรทุกนั้นมีน้ำหนักถึง 14 ตันถ้าบรรทุกตามกำหนด 25 ตันเท่ากับบรรทุกอ้อยแค่เพียง 10 ตันเศษเท่านั้น

และอ้อยก็เป็นพืชผลทางการเกษตรของผู้ประกอบการที่นำรถบรรทุกของตัวเองมาบรรทุกผลผลิตไปขายให้กับโรงงานไม่ใช่รถประกอบการรับจ้าง และขณะนี้โรงงานก็ได้เปิดหีบอ้อย เจ้าของไร่อ้อยก็รับคนงานมาเตรียมพร้อมซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายในแต่ละวันทันทีและจำเป็นที่จะต้องเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนถึงฤดูฝนในช่วงเวลาสั้นๆ 3 เดือนนี้

นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ เลขาธิการสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าทางองค์กรกลาง 4 องค์กรกำลังขับเคลื่อนเพื่อขอพบกับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ยังไม่ทราบว่าจะได้เข้าพบได้หรือไม่ ทางจังหวัดได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวและขอเวลาในการประสานงาน ช่วงนี้จึงได้ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยใจเย็น ได้ปฏิบัติตามกฎหมายบรรทุกอ้อยได้ไม่เกิน 25 ตันไปก่อนจนถึงหลังช่วงของปีใหม่ และในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ของปีนี้ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2559

อย่างไรก็ตามทางผู้ประกอบการชาวไร่อ้อย ขู่ฮึ่มพร้อมจะรวมตัวเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องความเดือดร้อนหากไม่ได้รับความชัดเจนในด้านการผ่อนปรนให้กับการขนส่งของกรมทางหลวง พร้อมกล่าวถึงการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยปีละกว่า 4 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบที่ลานจอดรถบรรทุกอ้อยที่หน้าโรงงานน้ำตาลนครเพชร ปรากฏว่ามีรถบรรทุกอ้อยเข้าส่งโรงงานไม่ถึง สิบคัน จากการสอบถามทราบว่าเจ้าของไร่อ้อยไม่สามารถตัดอ้อยที่ต้องแบกภาระรอบค่าขนส่งเพิ่มขึ้นได้ จึงยังรอความชัดเจนจากการเคลื่อนไหว ขอผ่อนปรน และในวันนี้ก็มีการตั้งด่านลอยจับรถบรรทุกอ้อย จึงกลายเป็นที่หวาดกลัวของบรรดารถบรรทุกอ้อย จึงมีอ้อยปริมาณน้อยเข้าสู่โรงงานในขณะนี้

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 21 ธันวาคม 2559

ขู่ชะลอตัดทั้งประเทศ! ชาวไร่อ้อยประท้วงโดนจับบรรทุกเกิน

กำแพงเพชร - เครือข่ายชาวไร่อ้อยขู่กลางที่ประชุมหยุดตัดอ้อยทั่วประเทศ ประท้วงโดนจับบรรทุกน้ำหนักเกินกันทุกวัน หลังยกทีมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 2 ชั่วโมงไร้ข้อสรุป เจ้าหน้าที่ยันเรียกตรวจได้ทั่วจังหวัดฯ

               รายงานข่าวจากจังหวัดกำแพงเพชรแจ้งว่า ในการประชุมระหว่างสหพันธ์สมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถบรรทุกอ้อย ทั้งทหาร ตำรวจ ขนส่ง อุตสาหกรรมจังหวัดฯ ด่านชั่งน้ำหนัก ตลอดจนตัวแทนโรงงานน้ำตาลในจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีนายศิริชัย ศรีเหนี่ยง รองผู้ว่าฯ กำแพงเพชร เป็นประธานฯ ณ ห้องประชุมกลีบจำปา ชั้น 2 ศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชร วานนี้ (20 ธ.ค.) ซึ่งใช้เวลาในการหารือกันกว่า 2 ชั่วโมงแต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้

               ตัวแทนชาวไร่อ้อยได้เรียกร้องให้หน่วยงานแก้ปัญหาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากที่ผ่านมาอ้อยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้แก่จังหวัดและประเทศ และได้ทำตามเงื่อนไข 19 ข้อของการขนส่งบรรทุกอ้อย

               แต่ขณะนี้ชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อนจากด่านชั่งน้ำหนักกำแพงเพชร ที่นำเครื่องชั่งเคลื่อนที่ออกตรวจสอบ-จับ/ปรับ รถขนอ้อยที่มีน้ำหนักเกินเป็นเงินจำนวนหลายพันบาท ขณะที่ชาวไร่อ้อยมีต้นทุน เช่น ค่าพันธุ์อ้อย ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ที่สูงมาก และมีเวลาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลเพียง 120 วันก่อนโรงงานน้ำตาลจะปิดหีบ

               “ถ้าให้บรรทุกน้ำหนักตามที่กำหนด คือรถสิบล้อบรรทุกได้เพียง 30 ตัน เฉพาะตัวรถก็หนักกว่า 13 ตัน เท่ากับว่าบรรทุกอ้อยได้แค่ 17 ตันเท่านั้น ทำให้ต้องขนส่งหลายรอบ ซึ่งเกษตรกรรายเล็กที่เปลี่ยนจากทำนามาทำอ้อยส่วนใหญ่ไม่มีรถบรรทุกเอง จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายค่าขนส่งหลายเที่ยวด้วยเช่นกัน”    

        นายมนตรีกล่าวในที่ประชุมด้วยว่า หากชาวไร่อ้อยชะลอการตัดอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาลพร้อมกันหมด ทั้งสุโขทัย อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร รวมถึงภาคอีสาน เพราะกลัวไม่คุ้มกับต้นทุนในการขนส่ง จะทำให้น้ำตาลทรายในระบบขาดแคลนในช่วงเดือนมกราคม 60 อย่างแน่นอน       

        ด้านนายสัมพันธ์ อศูรย์ หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักกำแพงเพชร ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ออกตรวจตามมาตรการของกรมทางหลวง ที่มีระเบียบ กฎหมายห้ามบรรทุกน้ำหนักเกิน สามารถเรียกให้หยุดเพื่อทดสอบน้ำหนักได้ตลอดเส้นทางทั้งจังหวัด ไม่มีข้อยกเว้น และยืนยันจะออกตรวจจับตามคำสั่งที่ได้รับ ไม่สามารถผ่อนผันตามที่ร้องขอได้ ให้ไปยื่นข้อเรียกร้องที่ต้นสังกัด

               ขณะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรได้รับเรื่องร้องทุกข์ไว้ พร้อมขอเวลา 2-3 วันส่งเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อหาแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือ เช่นเดียวกับ พ.อ.โสภณ นันทสุวรรณ ผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดกำแพงเพชร แจ้งในที่ประชุมว่าทางกองทัพภาคที่ 3 ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว กำลังนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป      

        รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เครือข่ายชาวไร่อ้อยในจังหวัดกำแพงเพชรที่เดินทางมารอฟังผลการประชุมครั้งนี้ต่างยืนยันว่าพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวต่อ เช่น อาจจะนำรถบรรทุกมาวิ่งตามถนนต่างๆ หรือมารวมตัวที่ศาลากลางอีกครั้งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 21 ธันวาคม 2559

ชาวไร่อ้อย2พันคนยื่นผู้ว่าฯวอนรัฐ ผ่อนปรนน้ำหนักเกิน แบกค่าขนส่ง25ตันไม่ไหว

ไร่อ้อย วอนรัฐบาลผ่อนปรนน้ำหนักเกิน วันนี้มีความเคลื่อนไหวด่านลอยจับน้ำเกิน 25 ตัน ส่งศาลทุกวัน เจ้ารถบรรทุกไร้อ้อย รวมตัวยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ส่งรัฐบาลขอผ่อนผัน หลังปีใหม่ไม่รู้ผลจะรวมเข้ากรุงเทพฯdsc09834วันที่ 20 ธันวาคม 2559 เวลา 16.00 น. ที่หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชรตำบลในเมืองอำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชรชาวไร่อ้อยกว่า 2,000 คนก็ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับนายสุวิทย์ พันธุ์วิทยากูลนายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชรนายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ เลขาธิการสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 ถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย กรณีกรมทางหลวงได้มีนโยบายให้สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่(spot check)ดำเนินการเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบจับกุมรถบรรทุกอ้อยที่ขนส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาลทั้ง 3 โรงงานในจังหวัดกำแพงเพชรที่เปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมเป็นต้นมาบนถนนสายหลักและทางหลวงสายรอง โดยขณะนี้มีรถบรรทุกถูกจับดำเนินคดีไปแล้วกว่า 10 ราย

สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชรในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยในจังหวัดกำแพงเพชรกว่า 3 หมื่นครอบครัว ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยว่าการดำเนินนโยบายของกรมทางหลวง ในการเข้มงวดและจับกุมรถบรรทุกอ้อยที่ขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน โดยไม่มีการผ่อนผันในครั้งนี้ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมากนอกจากจะไม่สามารถขนส่งอ้อยเข้าโรงงานได้ตามแนวทางปฏิบัติที่ตกลงกันไว้กับกองทัพภาคที่ 3 แล้วยังส่งผลกระทบทำให้ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะรถบรรทุกอ้อยในแต่ละเที่ยวได้น้ำหนักน้อยลงและต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งอ้อยเพิ่มมากขึ้น

ปัญหาดังกล่าวเท่ากับเป็นการซ้ำเติมและสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นทวีคูณ หลังจากที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งและผลผลิตอ้อยตกต่ำในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางสมาคมฯจึงนำเรียนปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้พิจารณาหนทางในการแก้ไข และหามาตรการผ่อนปรนเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถประกอบอาชีพอยู่รอดไปต่อไปได้ ทางสมาคมฯได้ยึดแนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานจำนวน 19 ข้อ สามารถบรรทุกอ้อยมีระดับความสูงท้ายกระบะ 4 เมตร มีสัญญาณไฟเตือนความปลอดภัย ทางสมาคมโรงงานน้ำตาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ตกลงไว้กับกองทัพภาคที่ 3 และถือปฏิบัติร่วมกันในฤดูการผลิตที่ผ่านมานั้น เป็นมาตรการสังคมที่ได้ผลทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้และอยู่ร่วมกันได้ในสังคมด้วยความเรียบร้อย ช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน และการใช้รถใช้ถนนของประชาชนทั่วไปลงได้เป็นอย่างมากdsc09893นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 ได้เปิดเผยว่าการบังคับใช้กฎหมายของกรมทางหลวงส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้นำอุปกรณ์เครื่องมือไปตั้งด่านลอยดักจับรถบรรทุกอ้อยต่อเนื่องทุกวัน และมีรถอ้อยถูกจับกุมไปดำเนินคดีแล้วจำนวนด้วยกันกว่า 10 ราย  ถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการนำผลผลิตส่งโรงงานได้ เพราะการควบคุมน้ำหนักบรรทุกรวมตัวรถ 25 ตันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเพราะตัวรถบรรทุกนั้นมีน้ำหนักถึง 14 ตันถ้าบรรทุกตามกำหนด 25 ตันเท่ากับบรรทุกอ้อยแค่เพียง 10 ตันเศษเท่านั้นและอ้อยก็เป็นพืชผลทางการเกษตรของผู้ประกอบการที่นำรถบรรทุกของตัวเองมาบรรทุกผลผลิตไปขายให้กับโรงงานไม่ใช่รถประกอบการรับจ้าง และขณะนี้โรงงานก็ได้เปิดหีบอ้อย เจ้าของไร่อ้อยก็รับคนงานมาเตรียมพร้อมซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายในแต่ละวันทันทีและจำเป็นที่จะต้องเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนถึงฤดูฝนในช่วงเวลาสั้นๆ 3 เดือนนี้dsc09912

นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ เลขาธิการสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าทางองค์กรกลาง 4 องค์กรกำลังขับเคลื่อนเพื่อขอพบกับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ยังไม่ทราบว่าจะได้เข้าพบได้หรือไม่ ทางจังหวัดได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวและขอเวลาในการประสานงาน ช่วงนี้จึงได้ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยใจเย็น ได้ปฏิบัติตามกฎหมายบรรทุกอ้อยได้ไม่เกิน 25 ตันไปก่อนจนถึงหลังช่วงของปีใหม่ และในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ของปีนี้ ถึงวันที่ 2 มกราคม 255dsc09898อย่างไรก็ตามทางผู้ประกอบการชาวไร่อ้อย ขู่ฮึ่มพร้อมจะรวมตัวเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องความเดือดร้อนหากไม่ได้รับความชัดเจนในด้านการผ่อนปรนให้กับการขนส่งของกรมทางหลวง พร้อมกล่าวถึงการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยปีละกว่า 4 พันล้านบาท dsc09917ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบที่ลานจอดรถบรรทุกอ้อยที่หน้าโรงงานน้ำตาลนครเพชร ปรากฏว่ามีรถบรรทุกอ้อยเข้าส่งโรงงานไม่ถึง สิบคัน จากการสอบถามทราบว่าเจ้าของไร่อ้อยไม่สามารถตัดอ้อยที่ต้องแบกภาระรอบค่าขนส่งเพิ่มขึ้นได้ จึงยังรอความชัดเจนจากการเคลื่อนไหว ขอผ่อนปรน และในวันนี้ก็มีการตั้งด่านลอยจับรถบรรทุกอ้อย จึงกลายเป็นที่หวาดกลัวของบรรดารถบรรทุกอ้อย จึงมีอ้อยปริมาณน้อยเข้าสู่โรงงานในขณะนี้//พิพัฒน์ จงมีความสุข กำแพงเพชร

จาก http://www.kppnews.net  วันที่ 21 ธันวาคม 2559

อุตฯลิดอำนาจกรมโรงงานออกรง.4 จี้คุมเรื่องผิดกฎหมาย-จ่อฟัน1พันแห่งมลพิษริมน้ำ 

          "ปลัดสมชาย" รื้อใหญ่โครงสร้างใหม่กระทรวงอุตสาหกรรมอีกรอบ พลิกโฉม 6 กรมในสังกัด โดยเฉพาะปรับบทบาท โยกย้ายระดับ "'กอง" ข้ามห้วยไปอีกกรมให้เข้าที่เหมาะสม โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะลดการออก ใบอนุญาต รง.4 เพิ่มการคุมเข้มโรงงานทำผิดกฎหมาย เผยเร่งตรวจสอบโรงงานริมแม่น้ำอีก 1,000 แห่ง หากพบผิดกฎหมายสั่งฟันทันที

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำการปรับปรุงแผนการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่อีกครั้ง โดย 6 กรมภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการปรับเปลี่ยนบทบาททั้งเพิ่มและลดการทำงาน โดยจะเริ่มวางโครงสร้างเรื่องบุคลากร รวมถึงจัดสรรโยกย้ายหน่วยงาน กองในสังกัดบางหน่วยงานให้ไปสังกัดภายใต้หน่วยงานใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ การกำหนดภารกิจใหม่ที่ชัดเจนขึ้น การปรับบทบาททุกกรมจะมุ่งไปเรื่องการพัฒนา ส่งเสริมผู้ประกอบการโดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะลดเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) และจะเพิ่มงานด้านสนับสนุนให้แต่ละโรงงานดำเนินตามกฎหมาย รวมถึงการตรวจโรงงานที่กระทำความผิด

          ตามขั้นตอนหลังจากจัดทำแผนเสร็จ ต้องส่งเรื่องไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณา หลังจากได้สรุปภาพรวมทั้งหมดให้กับนางอรรชกา สีบุญเรือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารพิจารณาเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯใหม่ ต้องนำเรื่องที่หารือกับก.พ.และก.พ.ร.นำเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา จากนั้นจะนำส่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ และเตรียมประกาศใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

          สำหรับ 6 กรมในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะปรับบทบาทหลัก ๆ เช่น กรอ. จะลดการให้ใบอนุญาตประกอบโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) และจะเพิ่มงานด้านสนับสนุนให้แต่ละโรงงานดำเนินตามกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรการป้องกันเรื่องมลพิษ น้ำเสีย และเตือนภัย รวมถึงการตรวจโรงงานที่กระทำความผิด รวมถึงเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เช่น การร้องเรียนเรื่องปัญหาน้ำเสีย ส่งกลิ่นเหม็นซ้ำซาก ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการลงพื้นที่ตรวจแล้วประมาณ 29 โรงงาน เบื้องต้นสั่งปรับปรุง 2 โรงงาน สั่งหยุดดำเนินกิจการเพื่อปรับปรุง 4 โรงงาน และเพิกถอนใบอนุญาต 2 โรงงาน คือ บริษัท ไมด้า วัน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตเรซิ่น โดยได้ดำเนินการสั่งปิดไปเมื่อ 22 ก.ค. 59 และได้ดำเนินการสั่งปิดบริษัท เจซีซีบี บิสซิเนส จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานสกัดน้ำมันหล่อลื่นไปเมื่อ 22 พ.ค. 59 เนื่องจากได้รับการร้องเรียนเรื่องปัญหาน้ำเสีย และกลิ่นเช่นกัน

          นอกจากนี้ จะเริ่มตรวจสอบโรงงานริมฝั่งแม่น้ำอีกประมาณ 1,000 แห่ง โดยให้ ผู้ตรวจการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าไปมีบทบาทดำเนินการ เพื่อพิจารณาและสั่งการให้ผู้อำนวยการศูนย์ภาค และชี้แจงถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณากำหนดด้านการพัฒนาส่งเสริมมูลค่า 7,000 ล้านบาท ให้กับระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น ภายใต้โครงการ Local Economy

          สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มี 2 บทบาท 1.ด้านการพัฒนาสนับสนุน เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ให้มีการออก ใบอนุญาตมากขึ้นจากปัจจุบันมีเพียง 1,300 ใบอนุญาตเท่านั้น กำหนดมาตรการพัฒนา ผู้ประกอบการ ติดตามประเมินผลงาน มผช. โดยในเชิงปฏิบัติจะต้องลงไปยังพื้นที่มากขึ้น 2.ลดบทบาทการตรวจทดสอบลง และมอบหมายให้หน่วยตรวจ (IB) ขณะที่งานหลักจะเน้นส่งเสริมและกำกับออกมาตรฐาน

          สำหรับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มี 2 บทบาท 1.วางนโยบาย บริหารจัดการ การพิจารณาอนุญาตเขตพื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาล 2.ทำงานวิจัยเพื่อประโยชน์เสริมให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) แปรรูปการเกษตรโดยพัฒนาพืชไร่อย่างอ้อย  มันสำปะหลัง ไปใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ

          ส่วนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เน้นการพัฒนาวัตถุดิบแร่ในประเทศ กำหนดและควบคุมการทำเหมืองแร่ในประเทศที่ต้องไปเสริมกับการพัฒนาประเทศ สามารถนำแร่มาใช้ อย่างไรก็ตาม ในส่วน ก.พ.ร.ได้มีการจัดสรรโยกย้ายหน่วยงาน กองในสังกัดบางหน่วยงาน เช่น สำนักโลจิสติกส์เดิมอยู่กับ กพร. ซึ่งคาดว่าจะย้ายมาอยู่ภายใต้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (กสอ.) และเปลี่ยนเป็นสำนักโลจิสติกส์ระดับเทียบเท่าสำนัก รวมถึงเพิ่มงานด้านผลิตภาพ

          ขณะที่ กสอ.เน้นการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยต้องส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจทั่วไป สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และ สศอ.จะเป็นผู้วางยุทธศาสตร์ของทั้งกระทรวง รวมทั้งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพใหญ่ทั้งประเทศรวมกับ S-Curve

          สำหรับสถาบันเครือข่าย 11 แห่ง ได้แก่ สถาบันไทย-เยอรมัน, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, สถาบันอาหาร, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สถาบันรับรองมาตรฐาน ISO, สถาบันยานยนต์, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สถาบันพลาสติก และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย เพิ่มภารกิจให้มาสนับสนุน งาน (S-Curve)

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 21 ธันวาคม 2559

3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เตรียมหารือชาวไร่อ้อยและหน่วยงานภาครัฐ หาแนวทางปฏิบัติร่วมกันหลังปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

          3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เตรียมหารือชาวไร่อ้อยและหน่วยงานภาครัฐ กำหนดกติกาและแนวทางปฏิบัติภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ ที่จะมีการยกเลิกโควตาที่จัดสรรให้โรงงานน้ำตาลผลิตและการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเปิดเผยว่า แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ. 2559–2564 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ครอบคลุมประเด็นหลัก ได้แก่ การปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และระเบียบข้อบังคับต่างๆ การเปิดให้นำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอื่นๆ การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน และการกำหนดต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามราคาในตลาดโลก และยกเลิกโควตา ก. ข. ค. เป็นต้น

          ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย จะหารือถึงวิธีปฏิบัติภายใต้ระบบใหม่ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานจะต้องปรับตัว และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งชาวไร่โรงงาน ผู้บริโภค และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เช่น การลอยตัวราคาน้ำตาล และยกเลิกโควตา เป็นต้น ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนบังคับใช้ให้ทันในฤดูการผลิต 2560/61

          "ในประเด็นการอุดหนุนการเพาะปลูกอ้อย 160 บาทต่อตัน โดยใช้เงินกู้เงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เป็นข้อกังวลของชาวไร่อ้อยและเป็นหนึ่งในหัวข้อที่บราซิลนำมาเป็นประเด็นยื่นฟ้องร้องประเทศไทยต่อ WTOนั้น หลังจากเริ่มใช้ระบบใหม่ จะไม่สามารถเก็บเงินจากการขายน้ำตาลในประเทศ กก. ละ 5 บาท มาชำระหนี้เพื่อการนี้ได้อีกแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งการปรับเปลี่ยนระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดี ที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง 19-20 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 สูงตามไปด้วย โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้เห็นชอบแล้วให้กำหนดราคาที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส." นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า กรณีการลอยตัวราคาน้ำตาลให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกและการยกเลิกโควตาน้ำตาล ที่ผู้บริโภคอาจเป็นห่วงว่า ราคาในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น และมีน้ำตาลไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศนั้น ในประเด็นนี้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค และมีมาตรการรองรับไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว

          สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 นั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเห็นว่ามีหลายมาตรา โดยเฉพาะในมาตรา 17 ที่กำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องยกเลิกและปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับข้อตกลง WTO ตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วนบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้น ทางผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมองว่า ควรยึดเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายที่มุ่งหวังให้ทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลถือปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ และได้รับประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย มากกว่าที่จะมุ่งลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งจะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน สามารถตกลงและแก้ไขปัญหาร่วมกันได้เช่นที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานและชาวไร่อ้อยไม่มีการปฏิบัติขัดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรงแต่ประการใด

 จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 20 ธันวาคม 2559  

สมาคมชาวไร่อ้อย ยื่นหนังสือปลดล็อกถูกจับบรรทุกน้ำหนักเกิน

ตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อย ภาคอีสาน สุดทนยื่นหนังสือให้ผ่อนปรนรถบรรทุกอ้อย ที่ถูกจับจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ธ.ค.2559) นายธนูศักดิ์ อมูลราช ผู้จัดการสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ยื่นหนังสือต่อ ปลัดจังหวัดอุดรธานี เพื่อส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการอุดรธานี เรียกร้องให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนจากการเข้มงวดจับกุมรถบรรทุกอ้อย ที่ขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ทั้งบนถนนหลวงสายหลัก และ สายรอง ของเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงในช่วงที่ผ่านมา

นายธนูศักดิ์ อ้างถึงการดำเนินนโยบายเข้มงวด ของกรมทางหลวงที่จับกุมรถบรรทุกอ้อย โดยไม่มีการผ่อนปรน จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก ปัจจุบันชาวไร่อ้อยได้ลดความสูงของการบรรทุกอ้อยลงเหลือเพียง 3 เมตร 80 เซนติเมตรแต่ยังถูกจับอีก เนื่องจากน้ำหนักเกิน จึงเรียกร้องให้กลับไปใช้ข้อตกลงเอ็มโอยูร่วมกันก่อนหน้านี้เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดได้

สำหรับการแก้ปัญหารถขนส่งอ้อยมีน้ำหนักเกิน ตัวแทนเกษตรกรและฝ่ายความมั่นคงเคยหารือร่วมกับปลัดกระทรวงคมนาคมไปแล้วรอบหนึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้ยังมีการจับรถบรรทุกอ้อยที่มีน้ำหนักเกินอย่างต่อเนื่อง

จาก http://news.thaipbs.or.th  วันที่ 20 ธันวาคม 2559

ชาวไร่อ้อยอีสาน 20 จังหวัดเตรียมชุมนุมใหญ่ ร้องรัฐแก้ปัญหาน้ำหนักบรรทุก 23 ธ.ค.นี้

เวทีประชุมตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยจาก 20 จังหวัดภาคตะวันตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่โรงแรมโฆษะ อ.เมืองขอนแก่น

         ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ชาวไร่อ้อย 20 จังหวัดภาคอีสานเดือดร้อนหนัก หลังถูกด่านลอยไล่ตรวจรถบรรทุกอ้อยเกินอัตรา เผยเจ้าของรถบรรทุกถูกจับปรับ ขณะที่ชาวไร่ต้องลดปริมาณบรรทุกกระทบค่าขนส่งเพิ่ม หวั่นผลผลิตอ้อยเข้าโรงงานไม่ทัน เตรียมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาน้ำหนักบรรทุกอ้อย 23 ธ.ค.นี้ หน้าศาลากลาง 20 จังหวัดอีสาน

               วันนี้ (20 ธ.ค. 59) ที่โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยจาก 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้ร่วมกันหารือประเด็นปัญหาอ้อยโรงงาน หลังจากที่อ้อยที่เกษตรกรปลูกเริ่มนำเข้าสู่ระบบการผลิตลดลง เนื่องจากรถบรรทุกอ้อยถูกจับที่ด่านชั่งน้ำหนักและเสียค่าปรับ ทำให้เจ้าของรถบรรทุกไม่กล้านำรถออกไปรับจ้างบรรทุกอ้อย จนกระทบต่อภาพรวมในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

               นายเลียบ บุญเชื่อง ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับกรรมการบริหารชมรมฯ ว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลเปิดหีบรับอ้อยจากชาวไร่เข้าโรงงาน โดยสหกรณ์ชาวไร่อ้อยทุกแห่งกำชับให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง 19 ข้ออย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะรถบรรทุกอ้อยจะต้องสูงไม่เกิน 4 เมตร แต่ปัจจุบันพบว่าชาวไร่อ้อยกำลังได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางหน่วย นำตาชั่งลอยออกสุ่มตรวจและจับกุมรถบรรทุกอ้อย

               โดยแจ้งว่าบรรทุกน้ำหนักเกิน 25 ตันที่กฎหมายได้กำหนด ซึ่งไม่มีอยู่ในข้อตกลง 19 ข้อที่ทำกันไว้ ส่งผลให้เกษตรกรลดจำนวนบรรทุกลง ต้องเพิ่มเที่ยวขนส่งมากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วย ทั้งกระทบต่อปริมาณอ้อยป้อนโรงงานไม่ทัน หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ เมื่อสิ้นสุดฤดูตัดอ้อยประมาณช่วงเมษายน ปีหน้า จะมีชาวไร่อ้อยจำนวนมากที่ตัดอ้อยส่งให้กับโรงงานไม่หมด ซึ่งจะต้องตัดอ้อยที่เหลืออยู่ทิ้งไป

               ดังนั้น คณะกรรมการบริหารชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ซึ่งประกอบด้วย 17 สหกรณ์ชาวไร่อ้อยทั่วภาคอีสาน จึงมีมติร่วมกันว่าสมาชิกทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสานจะรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคมนี้

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 20 ธันวาคม 2559

ชาวไร่อ้อยบุรีรัมย์โวย ถูกด่านลอยตระเวนตรวจจับรถอ้อย ผู้ว่าฯ เต้นควง ผบ.ทหาร-ตร.เร่งแก้

บุรีรัมย์ - ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ พร้อม ผบ.มทบ.26 ผู้การฯ ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รุดลงพื้นที่ทำความเข้าใจพร้อมเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา หลังชาวไร่อ้อยร้องเรียนถูกด่านชั่งน้ำหนักลอยตระเวนตรวจจับรถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรต้องชะลอตัดอ้อยส่งโรงงาน หวั่นถูกจับ

               วันนี้ (20 ธ.ค.) นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายวิพัศวัชร พึ่งชลารัก ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดบุรีรัมย์, พล.ต.เดชอุดม นิชรัตน์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก, พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับตัวแทนชาวไร่อ้อย และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยให้ปฏิบัติตามประกาศจังหวัด 19 ข้อ ที่ทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน เช่น ไม่ใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ไม่บรรทุกอ้อยความสูงเกิน 4 เมตร และอื่นๆ ให้เป็นไปตามข้อตกลง หากฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย

               ทั้งนี้ยังได้ทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย กรณีที่ถูกด่านชั่งน้ำหนักลอยซึ่งอ้างว่ามาจากส่วนกลาง ตระเวนเคลื่อนที่ตรวจจับรถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน ซึ่งขณะนี้มีรถบรรทุกถูกจับแล้ว 2 คัน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต้องชะลอการตัดอ้อยส่งโรงงานเพราะเกรงจะถูกจับแม้จะเป็นช่วงเปิดหีบ และเหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนจะปิดหีบแล้วก็ตาม

               จากกรณีดังกล่าวเกษตรกรจึงได้เรียกร้องให้ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรด้วย

               นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดหีบอ้อย ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ทำความเข้าใจและเน้นย้ำให้ชาวไร่อ้อยปฏิบัติตามประกาศของทางจังหวัดตามบันทึกข้อตกลง 19 ข้อร่วมกันอย่างเคร่งครัด

               ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ถูกด่านลอยเข้ามาตรวจจับในพื้นที่นั้นจะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้ทันกับฤดูกาลเปิดหีบอ้อยดังกล่าวอย่างเร่งด่วนด้วย

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 20 ธันวาคม 2559

อ้อยอีสานลงมติยื่นทุกจังหวัด 23 ธ.ค.นี้ ร้องรัฐบาล แก้ปัญหาน้ำหนักรถบรรทุก

วันที่ 20 ธันวาคม 2559 นายเลียบ บุญเชื่อง ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เป็นประธานเปิดการประชุมคณะบริกรรมการบริหารชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน โดยมีนายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร่วมกับกรรมการบริหารชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน นายบุญถิ่น โครตศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย คุณสุดารัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด และตัวแทนจากสมาคมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสานกว่า 150 คน ร่วมประชุม

รายงานระบุว่า การประชุมได้เน้นไปที่เรื่องของการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน ขณะนี้เป็นช่วงที่โรงงานน้ำตาลเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรเข้าสู่โรงงาน โดยสหกรณ์ชาวไร่อ้อยทุกแห่ง ก็ได้กำชับให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง 19 ข้อ ที่ได้ทำไว้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะรถบรรทุกอ้อยจะต้องมีความสูงไม่เกิน 4 เมตร แต่ปัจจุบันกลับพบว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อย กำลังได้รับความเดือด ร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางหน่วย ได้นำตาชั่งลอยออกสุ่มตรวจและจับกุมรถบรรทุกอ้อย โดยแจ้งว่ามีการบรรทุกน้ำหนักเกิน 25 ตัน ไว้ ส่งผลให้เกษตรกรต้องลดจำนวนการบรรทุกลง ส่งผลให้ต้องเพิ่มเที่ยวในการขนส่งมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีอ้อยป้อนโรงงานไม่ทันตามห้วงเวลาของโรงงาน

นายเลียบ  เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับกรรมการบริหารชมรมฯ ว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่โรงงานน้ำตาลเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรเข้าสู่โรงงาน โดยสหกรณ์ชาวไร่อ้อยทุกแห่ง ก็ได้กำชับให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง 19 ข้อ ที่ได้ทำไว้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะรถบรรทุกอ้อยจะต้องมีความสูงไม่เกิน 4 เมตร ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับเกษตรกร แต่ปัจจุบันกลับพบว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อย กำลังได้รับความเดือด ร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางหน่วย ได้นำตาชั่งลอยออกสุ่มตรวจและจับ กุมรถบรรทุกอ้อย โดยแจ้งว่ามีการบรรทุกน้ำหนักเกิน 25 ตัน ที่กฎหมายได้กำหนด ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในข้อตกลง 19 ข้อที่ทำกันไว้

 “ส่งผลให้เกษตรกรต้องลดจำนวนการบรรทุกลง ส่งผลให้ต้องเพิ่มเที่ยวในการขนส่งมากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีอ้อยป้อนโรงงานไม่ทัน รวมทั้งหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ เมื่อสิ้นสุดฤดูการตัดอ้อยประมาณช่วงเดือดเมษายนปีหน้า จะมีเกษตรกรจำนวนมากที่ตัดอ้อยส่งให้กับโรงงานไม่หมด ซึ่งก็จะต้องตัดอ้อยที่ยังเหลืออยู่นั้นทิ้งไป ดังนั้นคณะกรรมการบริหารชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ซึ่งประกอบด้วย 17 สหกรณ์ชาวไร่อ้อยทั่วภาคอีสาน จึงมีมติร่วมกันว่าสมาชิกทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสานจะรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง เพื่อให้รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในวันศุกร์ ที่ 23 ธันวาคม นี้” นายเลียบ กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 20 ธันวาคม 2559

ส.ชาวไร่อ้อยเขต 5 ร้องรอง ผวจ.สิงห์บุรี ขอผ่อนปรนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 5 สิงห์บุรี เข้าพบ รองผวจ.สิงห์บุรี วอนอย่าจับรถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน ที่ไร่ไม่มีเครื่องชั่ง ทำให้ส่งอ้อยเข้าโรงงานลำบากค่าใช้ใช้จ่ายสูง รอง ผวจ.รับเรื่องแต่ไม่รับปาก ย้ำต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

...เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 ธ.ค.59 ที่สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 5 สิงห์บุรี ริมถนนสายเอเชีย อ.เมือง จ.สิงห์บุรี นายบุญลือ ดีประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 5 สิงห์บุรี นำสมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อยในจังหวัดสิงห์บุรี จำนวนประมาณ 200 คน ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ต่อ นายทรงพล ใจกริ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ในหนังสือร้องเรียนได้อ้างถึงปัญหา เนื่องจากรถบรรทุกอ้อยถูกจับกุมในข้อหาบรรทุกน้ำหนักเกิน และต่อเติมตัวถังรถ ทำให้รถบรรทุกไม่กล้าที่จะขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน และเนื่องจากการบรรทุกอ้อยจากไร่ไม่มีเครื่องช่างน้ำหนัก จึงขอผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี ตำรวจทางหลวงสิงห์บุรีและลพบุรี หากตัดอ้อยจากไร่นำเข้าสู่โรงงานเป็นไปด้วยความยากลำบากและทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

ด้าน นายทรงพล ใจกริ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า จะขอรับเรื่องร้องเรียนในวันนี้ไปเสนอ แต่ไม่อาจรับปากว่าจะช่วยผ่อนปรนได้หรือไม่ ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายในทางปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้ใช้ตาชั่งเคลื่อนที่ออกตรวจจับรถที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งได้กำหนดไว้ รถบรรทุกพ่วงได้ไม่เกิน 500 กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่านั้นจะทำให้ถนนได้รับความเสียหาย และไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน สำหรับการบรรทุก ความยาวอ้อยออกมาพ้นตัวรถได้ไม่เกิน 2.30 เมตร ความสูงจากพื้นไม่เกิน 3.80 เมตร หากมีความผิดก็จะส่งศาลพิจารณาและเสียค่าปรับเป็นเงิน 3-4 หมื่นบาท

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 20 ธันวาคม 2559

นลท.ผวา! อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินทั่วภูมิภาคอ่อนค่า-ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง ฉุดตลาดหุ้นไทยดิ่งลงแรง

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าสำหรับภาพรวมภาวะตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งวันนี้บรรยากาศการลงทุนค่อนข้างผันผวน หลังดัชนีฯปรับตัวลดลงแรงในแดนลบ ซึ่งเป็นผลมาจากความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติ หลังอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทของไทยที่ปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่อง ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันที่พลิกกลับมาอ่อนตัวลงและวอลุ่มการซื้อขายที่เบาบาง ซึ่งทำให้ความผันผวนของตลาดมีมากกว่าปกติ

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในวันพรุ่งนี้ โบรกฯประเมินว่าดัชนีฯจะแกว่งตัวผันผวนต่อ โดยเชื่อว่าตลาดยังมีโอกาสปรับฐานลงได้อยู่ เพราะหากทิศทางของค่าเงินบาทยังมีสัญญาณอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จะกดดันเงินทุนต่างชาติให้มีแรงขายออกมาจำนวนมาก ทั้งนี้ให้กรอบดัชนีฯไว้ที่ระดับ 1,500 – 1,521 จุด

 จาก http://www.prachachat.net    วันที่ 20 ธันวาคม 2559

ราคาน้ำตาลโลกในปีหน้าสดใส

โดย จิตรา อมรธรรมรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส jitra.a@fnsyrus.com

นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกวิ่งขึ้นในอัตราเร่งเพิ่มเติมจากข่าวดีที่ผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มโอเปกเห็นชอบลดกำลังการผลิต และยังสามารถตกลงกันได้ระหว่างกลุ่มโอเปกและนันโอเปกในการตรึงกำลังการผลิตเพราะทรัมป์สัญญากับประชาชนชาวอเมริกันว่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาสดใสขึ้น ส่งผลให้ราคาทั้ง Hard Commodity (น้ำมัน) และ Soft Commodity ขยับสูงขึ้น เพราะสหรัฐเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายของสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด

ในบรรดา Soft Commodity ทั้งหมด ราคาน้ำตาลโลกมีทิศทางที่สดใสมาก เพราะจะเข้าสู่ภาวะขาดดุลเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันราว 8-9 ล้านตัน ราคาหุ้นในกลุ่มน้ำตาลถูกคาดหวังสูง ต่างก็ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ย 20% ในช่วงระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในสัปดาห์นี้ FSS ขอแนะนำหุ้นบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) แต่ถ้าจะซื้อเพิ่ม ควรต่อราคาเพราะราคาวิ่งแรงจัดเกินไป

ปีหน้าดูดีขึ้น

สำหรับการเติบโตในปี 2560 คาดว่าปริมาณอ้อยของไทยอาจจะอยู่ที่ระดับ 90 ล้านตัน ลบ 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นจากเดิมเคยคาดไว้ที่ 85 ล้านตัน และคาดปริมาณอ้อยของ KSL น่าจะทำได้ทรงตัวจากปีนี้ที่ระดับ 7.6 ล้านตันอ้อย นั่นหมายถึงปริมาณขายน้ำตาลในปีหน้าน่าจะทรงตัวถึงเติบโตเล็กน้อย (มีสต๊อกจากปี 2559 เลื่อนมาขายในช่วงไตรมาสแรกปี 2560 ราว 9 หมื่นตัน) ดีกว่าเดิมที่เคยคาดว่าจะลดลงราว 12% ในขณะที่ราคาขายยังอิงสมมติฐานเดิมที่ 21-22 เซนต์/ปอนด์ สูงขึ้นจากปีนี้ที่ 16 เซนต์/ปอนด์ อ้างอิงจากการล็อกราคาน้ำตาลของ อนท.ที่ทยอยล็อกในส่วนของการส่งออกน้ำตาลปีหน้าไปแล้วราว 70% ที่ระดับราคา 20-21 เซนต์/ปอนด์ (สูงขึ้น 29-35% จากปีนี้) รวมถึงธุรกิจน้ำตาลที่ลาวและกัมพูชามีแนวโน้มว่าจะพลิกกลับมามีกำไรเล็กน้อยในปีหน้า จากที่น่าจะขาดทุนในปีนี้ประมาณ 200 ล้านบาท จากราคาขายที่สูงขึ้นตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก

ธุรกิจไฟฟ้าน่าจะปรับตัวดีขึ้น แม้ราคาขายไฟน่าจะทรงตัว แต่ปริมาณขายจะดีขึ้นจากปัญหาภัยแล้งที่หมดไป และธุรกิจเอทานอลยังดูดีต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการแย่งซื้อ นำไปสู่ราคาเอทานอลปรับตัวสูงขึ้นล่าสุดขยับมาอยู่ที่ 24-25 บาท/ลิตร (จาก 23 บาท/ลิตร ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2559 ที่ผ่านมา)

กำไรไตรมาส 4 น่าจะต่ำสุด

คาดกำไรสุทธิในปี 2560 ของ KSL จะเติบโตสูงถึง 75% เป็น 1,200 ล้านบาท ในระยะใกล้นี้อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในไตรมาส 4 ปี 2559 (ส.ค.-ต.ค. 2559) ที่จะประกาศภายในสิ้นเดือนนี้ คาดว่าจะเป็นกำไรต่ำสุดของปีที่ 79 ล้านบาท ลดลง 9% จากไตรมาสก่อน แต่พลิกจากที่ขาดทุน 273 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2558 เพราะราคาขายที่ไม่สดใส ขณะที่ปริมาณการขายลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนธุรกิจเอทานอลแม้ปริมาณขายน่าจะสูงขึ้นเป็น 23.5 ล้านลิตร แต่ราคาขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงไตรมาสก่อนที่ 23 บาท/ลิตร ในขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าน่าจะอ่อนแอตามฤดูกาลและต้นทุนสูงขึ้นจากเหตุภัยแล้งทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าและคาดว่าจะทำให้กำไรจากการดำเนินงานทั้งปี 2559 อยู่ที่ 694 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ควรรอซื้ออ่อนตัว

มองข้ามกำไรที่แย่ในปี 2559 จะพบว่ากำไรในปีหน้าสดใสมาก และราคาน้ำตาลโลกก็มีทิศทางขาขึ้นด้วย (ราคาหุ้นมักขึ้นตามราคาน้ำตาล) FSS ได้แนะนำซื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว (มีคนที่ต้นทุนต่ำกว่า) และประเมินราคาตามพื้นฐานไว้ที่ 4.80 บาท อิงสัดส่วนราคาต่อกำไร (พีอี) 17 เท่า ราคาหุ้นปัจจุบันถูกเก็งกำไรไปมาก หากจะซื้อเพิ่มควรรออ่อนตัว แม้ว่าไม่น่าจะกลับลงมาต่ำกว่า 4.80 บาท ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ควรรออ่อนตัวอยู่ดี เพราะหากสมมติให้ KSL ซื้อขายที่พีอี 20-22 เท่า (สูงกว่าที่ FSS ประเมิน แต่เป็นพีอีของหุ้นตัวอื่นในกลุ่มน้ำตาล) ราคาจะอยู่ที่ 5.40-6.00 บาท ซึ่งมีโอกาสปรับขึ้นจากปัจจุบันไม่มาก ไม่คุ้มเสี่ยง

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 20 ธันวาคม 2559

KSL - ซื้อ

ปรับราคาเป้าหมายเพิ่ม กำไรพลิกกลับครั้งใหญ่ในปี 2560

ประเด็นการลงทุน

ตั้งแต่เราออกบทวิเคราะห์ KSL เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ราคาหุ้น KSL ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 38% (มาอยู่ที่ 5.35 บาท) และราคาหุ้น ณ ปัจจุบันซื้อขายอยู่ในระดับ PER ปี 2560 ที่ 16.1 เท่า และเนื่องจากเราเชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานของทั้งสามธุรกิจหลักได้แก่ ธุรกิจน้ำตาล ธุรกิจเอทานอล และธุรกิจไฟฟ้าจะพลิกกลับอย่างแข็งแกร่งในปี 2560 เราจึงเชื่อว่าหุ้น KSL น่าจะซื้อขายในระดับ PER ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวของหุ้นเองซึ่งอยู่ที่ 15 เท่า ส่งผลให้เราทำการปรับค่า PER ใหม่สำหรับหุ้น KSL เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 23.3 เท่าซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วน PER ที่สูงสุดที่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (หรือคิดเป็นส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน +1.5 เหนือค่าเฉลี่ย PER ระยะยาว) และทำการปรับราคาเป้าหมายซึ่งอิงด้วยวิธี PER เพิ่มขึ้นเป็น 7.75 บาท เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรอย่างมีนัยสำคัญในปี 2560 ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจน้ำตาล เอทานอล และไฟฟ้า

ธุรกิจน้ำตาลกลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่งในปี 2560

การพลิกฟื้นของธุรกิจน้ำตาลในปี 2560 เป็นผลมาจากราคาขายของสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้ากับลูกค้าที่ล็อกในราคาที่สูงขึ้น โดย 70% ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอยู่ที่ 21 เซ็นต์ต่อปอนด์สำหรับในปี 2560 เทียบกับ 16 เซ็นต์ต่อปอนด์สำหรับในปี 2559 (เพิ่มขึ้น 31% YoY) และอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจน้ำตาลที่จะกว้างขึ้นในช่วงขาขึ้นของธุรกิจน้ำตาล (ภายใต้นโยบายระบบแบ่งปันผลประโยชน์น้ำตาล 70:30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและ KSL) เพื่อนำมากำหนดต้นทุนค่าอ้อย สำหรับในส่วนของต้นทุนค่าอ้อย 70% ที่ KSL จ่ายให้ชาวไร่อ้อย เราเชื่อว่าราคาขายส่งออกของน้ำตาลโควต้า ค. ของ KSL มีแนวโน้มสูงกว่าหรือชนะราคาขายส่งออกน้ำตาลโควต้า ข. ของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) คิดเป็น 1-2 เซ็นต์ (21 เซ็นต์ต่อปอนด์เทียบกับราคาอนท. ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์) สำหรับสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าซึ่งล็อกไปจนถึงปีหน้า โดยปกติแล้ว ราคาส่งออกของผู้ประกอบการน้ำตาลจะสูงกว่าราคาส่งออกของอนท. คิดเป็น 1-3 เซ็นต์ต่อปอนด์ในช่วงภาวะขาขึ้นของธุรกิจน้ำตาล

ในส่วนรายได้อีก 30% ที่เหลือที่ไปยัง KSL บริษัทจะได้รับผลบวกเต็มๆ จากราคาส่งออกน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะอิงจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ภายใต้สมมติฐานในกรณีที่ราคาส่งออกน้ำตาลของ KSL ไม่สามารถชนะราคาอนท. KSL ก็จะยังคงได้ส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากในส่วนของ 30% ที่เหลือ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนส.ค. 2558 มาจนถึงปี 2559 แต่ผลบวกจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะไปรับรู้และกระทบกำไรสุทธิจริงๆ ในปี 2560 แทนเนื่องจากราคาขายใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใหม่ที่เซ็นกับลูกค้า

ธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าพลิกกลับมาในระดับปกติ

การหยุดเครื่องจักรเป็นระยะเวลา 3 เดือนซึ่งเป็นผลจากภาวะแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำได้ส่งผลให้ปริมาณยอดขายเอทานอลลดลงในปี 2559 แต่เราคาดว่าปริมาณยอดขายเอทานอบมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในปี 2560 โดยได้รับปัจจัยบวกจากปริมาณน้ำที่เพียงพอจากปริมาณฝนที่ตกมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ภายใต้การคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2560 เราประเมินว่าราคาขายเอทานอลและราคาขายไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2560 ราคาเอทานอลได้เริมกลับมาฟื้นตัวจาก 23 บาทต่อลิตรในเดือนต.ค.-พ.ย. มาอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตรในเดือนธ.ค. 2559 ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และอุปทานเอทานอลที่ลดลงจากผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่รายหนึ่ง และภายใต้การคาดการณ์ว่าค่าเอฟทีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (ซึ่งไปผูกกับราคาน้ำมันและราคาก๊าซ) ในปี 2560 เราประเมินว่าอัตราค่าไฟฟ้าในปี 2560 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

ราคาเป้าหมายใหม่อยู่ที่ 7.75 บาทจากค่า PER ใหม่ที่ 23.3 เท่า

เนื่องจากความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของทั้งสามธุรกิจหลักในปี 2560 เราจึงเชื่อว่าหุ้น KSL สมควรที่จะซื้อขายในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย PER ระยะยาวของหุ้นเอง ถ้าอ้างอิงจากแบนด์ PER ในช่วงตั้งแต่ปี 2543-59 หุ้น KSL เคยขึ้นไปซื้อขายอยู่ในระดับ PER สูงสุดภายใน 2 ปีที่ 32.2 เท่า (ในเดือนม.ค. 2558) หรือคิดเป็นส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3.2 เท่าเหนือค่าเฉลี่ยระยะยาว และระดับ PER ที่สูงสุดภายใน 1 ปีที่ 23.3 เท่า (ในเดือนธ.ค. 2558) หรือคิดเป็นส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.5 เท่าเหนือค่าเฉลี่ยระยะยาว และถ้าอ้างอิงจากจุดสูงสุดของ PER ในช่วงระยะ 2 ปี และ 1 ปี ราคาเป้าหมายใหม่ของเรามีแนวโน้มอยู่ที่ 10.70 บาท และ 7.75 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ เราทำการปรับไปใช้อัตราส่วน PER ที่ 23.3 เท่าแทน และปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นจาก 5 บาทไปเป็น 7.75 บาท (เพิ่มขึ้น 55%)

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 ธันวาคม 2559

ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ปี60-64 พร้อมแล้ว เกษตรฯลุย 4 ยุทธศาสตร์ผลักดันสู่เป้าหมาย

กระทรวงเกษตรฯ พร้อมเดินหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 เต็มรูปแบบ มั่นใจ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดันสู่เป้าหมาย การเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี สร้างกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อย 760 กลุ่มทั่วประเทศ พร้อมเตรียมเสนอยุทธศาสตร์ เข้า ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้นเดือน ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนภาคเอกชน โดยฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธนิตย์ เอนกวิทย์) ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ในการนี้ ได้พิจารณา (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 และแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งในระดับชาติ และระดับพื้นที่ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 ที่ประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประเด็นคือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพื้นบ้าน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างศักยภาพการเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์สู่สากล และยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย โดยมีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ปริมาณและมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ผลักดันให้เกิดการเทียบเคียงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยกับมาตรฐานประเทศคู่ค้า และให้เกิดกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อย 760 กลุ่มทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอที่สำคัญ อาทิ การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่ ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาค รวมถึงเสนอให้มีกองทุนในรูปแบบ Green Credit เพื่อสนับสนุนผู้ที่ทำเกษตรอินทรีย์ การนำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้จริงในพื้นที่ การบูรณาการขับเคลื่อนทั้งแผนงาน/โครงการ และงบประมาณ ในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยให้มีคณะทำงานระดับจังหวัดที่มีผู้แทนทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในการขับเคลื่อนเห็นผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่ จึงเห็นชอบให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยเพิ่มผู้แทนกรมวิชาการเกษตร เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะได้นำข้อเสนอแนะไปปรับปรุง (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 ให้มีความสมบูรณ์ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 19 ธันวาคม 2559

แนะรัฐประกาศให้ไทยเป็นชาติการค้า

                    ทีดีอาร์ไอ ชงรัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์เป็นผู้นำชาติการค้าอาเซียนในปี 64 สร้างมูลค่าเพิ่มส่งออกคู่กับเพิ่มการลงทุนในอาเซียนโต 10% ทุกปี หลังผลศึกษาชี้ชัดเศรษฐกิจอาเซียโตแน่         

                นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่องอาเซียนและโอกาสทางธุรกิจของไทย ว่า ทีดีอาร์ไอได้เสนอให้รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำชาติการค้าของอาเซียนในปี 64 โดยต้องสร้างมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกของไทยในอาเซียนเพิ่มขึ้นให้ได้ปีละ 10% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 6% ซึ่งถ้าพิจารณาสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ประเทศไทยไทยยังมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 40% เท่านั้น ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างมาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีสัดส่วนสูงกว่าไทย พร้อมกันนี้ไทยยังต้องเพิ่มการลงทุนในอาเซียนให้ได้ปีละ 10% ด้วย

“เศรษฐกิจไทยจะโตในอนาคตไม่มาก น่าจะอยู่ที่ 3% กว่าๆ ไม่ถึง 4% ถือว่า เป็นการเติบโตในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเวียดนาม และเมียนมา ที่โตเฉลี่ย 7-8% ต่อไปอีก 5-6 ปีหลังจากนี้ ดังนั้นภาครัฐของไทยต้องกำหนดวิสัยทัศน์ และเป้าหมายทางด้านการค้าใหม่ โดยมียุทธสาสตร์ที่ส่งเสริมการค้าการลงทุนในอาเซียน เพราะตามผลการศึกษาในช่วงต่อจากนี้อาเซียนจะเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเกิดชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาเมืองจะขยายตัวไม่ใช่แค่มีแต่เมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ๆ จึงเป็นโอกาสของภาคธุรกิจไทยจะเข้าไปแสวงหาช่องทางการค้าและการลงทุน ขณะที่รัฐเองก็ต้องปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการลงทุนในอาเซียนให้เหมาะสมควบคู่กันไป”

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 19 ธันวาคม 2559

ไร่อ้อย..วิถีพอเพียง ดันไทยเป็นผู้นำส่งออก

“การทำไร่อ้อยให้ยั่งยืน ต้องสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ถึงจะสอดคล้องกับเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ใช้ชีวิตปานกลาง พึ่งพาตนเองไม่โลภหรือแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป”

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาในเวที ประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ “การทำไร่อ้อยโดยวิถีพอเพียงและยั่งยืน : จากเกษตรกรรายย่อยสู่ผู้ส่งออกระดับโลก” ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดยุทธศาสตร์ ภายในปี 2569 เพิ่มพื้นที่ปลูกอีกประมาณ 6 ล้านไร่ ให้ไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ไม่น้อยกว่าปีละ 500,000 ล้านบาท

เพื่อก้าวขึ้นสู่ประเทศศูนย์กลางการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลของโลก

“ทำไร่อ้อยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรจะต้องยอมคงพื้นที่ป่าและพื้นที่ปลูกอ้อยให้สมดุล อาจจะสวนทางกับการทำเกษตรสมัยใหม่ ที่ใช้พื้นที่เต็ม 100% แต่การคงพื้นที่ป่า จะช่วยสร้างความยั่งยืน เพราะป่ารอบๆ จะมีผลดีต่อดิน น้ำ ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ในที่สุดจะส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ได้ผลผลิตมากกว่าการใช้พื้นที่เต็ม 100% โดยอัตราที่เหมาะสมคือ เป็นพื้นที่ป่า 30% และพื้นที่ปลูกอ้อย 70% ป่า 30% ไม่ใช่ว่าจะเป็นไม้ป่าทั้งหมด สามารถปลูกไม้ผล สมุนไพร ในลักษณะเกษตรผสมผสาน หรืออาจจะขุดบ่อเลี้ยงปลา แบ่งพื้นที่เลี้ยงสัตว์ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยังมีรายได้เสริมในช่วงที่รอการเกี่ยวอ้อยอีกด้วย”

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่าการทำไร่อ้อยแบบพอเพียง สามารถทำให้เกษตรกรรายย่อยเป็นผู้ส่งออกระดับโลกได้ แต่เกษตรกรจำเป็นจะต้องรวมกลุ่ม แปลงเล็กหลายๆ แปลงรวมกันเป็นแปลงใหญ่ จากนั้นร่วมกันพัฒนา นำเครื่องจักรกลทันสมัยเข้ามาใช้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตอ้อยของไทยลดลง

และนักวิชาการจะต้องช่วยกันพัฒนาพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตทั้งในด้านน้ำหนักและความหวานเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ทนทานต่อแมลงศัตรูอ้อยและโรคอ้อยใหม่ๆ อันเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ด้าน ผศ.ดร.โสภณ อุไรชื่น เลขาธิการสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย คนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าไปเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคของ ISSCT (คณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล) มั่นใจการประชุมครั้งนี้ จะส่งผลให้การทำไร่อ้อยวิถีพอเพียง มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศผู้นำอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของโลกได้อย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันกับบราซิลได้อย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม การทำไร่อ้อยโดยวิถีพอเพียง จะต้องทำอย่างจริงจัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาล และเกษตรกร จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันมิเช่นนั้นประเทศคู่แข่งอาจจะแซงหน้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาร์เจนตินา เจ้าภาพการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติครั้งที่ 30 ในอีก 3 ปี ข้างหน้า ที่ได้ประกาศตัวจะก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศผู้นำอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเช่นเดียวกัน.

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 19 ธันวาคม 2559

สมชาย หาญหิรัญ มุ่งมั่น พัฒนาคน

โดย...ดวงนภา ประเสริฐพงศ์เส้นทางราชการตลอดระยะเวลากว่า 33 ปี ที่ สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มเข้ามารับราชการในกระทรวง จนกระทั่งก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคนที่ 27 ต้องพบเจออุปสรรคทั้งเล็กและใหญ่ แต่วิธีคิดและการวางตัวเองในแต่ละบทบาทที่ได้รับอย่างเหมาะสม ทำให้การทำงานราบรื่นและประสบผลสำเร็จมาโดยตลอด

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 18 ธันวาคม 2559

รง.-ชาวไร่เร่งถก'ลอยตัวราคาน้ำตาล' เล็งหารือพาณิชย์ก่อนบังคับใช้ปี60/61  

         3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเร่งตกผลึกแผนปรับโครงสร้างอ้อย และน้ำตาลทรายอย่างน้อยต้องจบใน 6 เดือน ให้ทันฤดูผลิตปี 60/61 โดยเฉพาะประเด็น ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจี้รัฐต้องสร้างความ เข้าใจหวั่นผู้บริโภคผวาราคาพุ่ง น้ำตาลขาด กอน.บี้สรุป ก.พ.60เสนอแผนให้บราซิลเห็นพร้อมจับตาถกพาณิชย์เร็วๆ นี้

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเตรียมหารือแนวทางปฏิบัติแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ. 2559/64 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาเนื่องจากมีหลายประเด็นที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานจะต้องปรับตัว และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะ ผู้บริโภค และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ เช่น การลอยตัวราคาน้ำตาล และยกเลิกโควตา เป็นต้น ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนบังคับใช้ให้ทันในฤดูการผลิต 2560/61

          "มีหลายประเด็นที่จะต้องหารือในการปรับโครงสร้างฯให้เป็นไปตามมติครม. เช่น การลอยตัวราคาและการยกเลิกโควตาน้ำตาล(ก.ข.และค.) ที่ผู้บริโภคอาจเป็นห่วง ว่า ราคาในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น และมีน้ำตาลไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศนั้น ในประเด็นนี้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค และมีมาตรการรองรับไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว" นายสิริวุทธิ์กล่าว

          นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใน ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดี ที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 สูงตามไปด้วย โดยคณะ กรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ได้เห็นชอบแล้วให้กำหนดราคาที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนัก งานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กอน.ได้แต่งตั้ง คณะทำงานเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อให้ดูรายละเอียดในแต่ละประเด็นโดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.2560 ทั้งหมด เพื่อที่จะนำแนวทางดังกล่าวเสนอต่อบราซิล

          "การปรับโครงสร้างฯหลักๆ เลยคือเกิดจากกรณีที่บราซิลกล่าวหาไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลทรายต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้เราต้องเจรจาที่ผ่านมาโดยบราซิลต้องการรายละเอียดและจะเจรจาอีกครั้ง ก.พ. เราจึงต้องเร่งทำให้เห็นก่อนด้วย" นายนราธิปกล่าว

          สำหรับแนวทางปรับโครงสร้างฯนั้นประเด็นการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องตกผลึกเพราะเกี่ยว ข้องหลายด้านโดยชาวไร่ฯเบื้องต้นมองว่า การลอยตัวนั้นควรจะต้องกำหนดเป็นกรอบ ราคาให้สะท้อนตลาดโลกที่อาจจะต้องมีการรวมค่าขนส่งโดยเรื่องนี้จะต้องหารือกับ กระทรวงพาณิชย์เพราะปัจจุบันเป็นหน่วยงานกำกับราคาน้ำตาลให้เป็นราคาควบคุม

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เร็วๆ นี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะหารือภายในกับกระทรวงพาณิชย์ถึงแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายก่อนในเบื้องต้นเพื่อนำไปกำหนดการปฏิบัติที่จะเสนอต่อบราซิล อย่างไรก็ตามการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะมีทั้งราคาขึ้นลงตามต้นทุนที่สะท้อนกลไกตลาดโลกโดยขณะนี้ราคาตลาดโลกเริ่มลดลงโดยน้ำตาลทรายดิบเริ่มลดมาอยู่ระดับ 18 เซ็นต์ ต่อปอนด์ หลังค่าเงินบราซิลอ่อนค่า ทำให้มีศักยภาพในการทำตลาดส่งออกมากขึ้นดังนั้น หากเฉลี่ยราคา 15-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ราคาขายปลีกไทยก็จะไม่เปลี่ยน แปลงก็ถือเป็นจังหวะที่ดีในการลอยตัวปลายปีหน้า.

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สั่งคุมเข้มโรงงานปีใหม่ ไฟไหม้-ปล่อยน้ำเสียเรี่ยราด พบทำผิดซ้ำซากฟันไม่เลี้ยง 

           นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการตรวจราชการและติดตามประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนอินดัสทรี 4.0 โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศกว่า 300 คน เข้าร่วมงานสัมมนาว่า ได้สั่งการอุตฯ จังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังตรวจติดตามโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ป้องกันเหตุไฟไหม้ในช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ และในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากตามสถิติแต่ละปี มีเกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรไฟไหม้บ่อยครั้ง ขณะเดียวกันให้ตรวจเข้มการประกอบกิจการโรงงานทั่วประเทศไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่อยู่ริมน้ำ มีการปล่อยน้ำเสียผิดเงื่อนไขหรือไม่

          "ล่าสุดอุตฯ จังหวัดทั่วประเทศ ได้ตรวจติดตามโรงงานที่ทำผิดซ้ำซาก 29 แห่ง ใน 17 จังหวัด พบว่า ยังมีโรงงานบางแห่งยังไม่ปรับปรุง จึงได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 2 แห่ง ปิดปรับปรุงเพื่อแก้ไข 2 แห่ง หยุดกิจการเพื่อปรับปรุงแก้ไข 2 แห่ง และได้ตรวจโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 600 แห่ง จากทั้งหมด 1,200 แห่ง ซึ่งจะเร่งตรวจให้ครบภายในสิ้นเดือน ธ.ค. นี้"

          ส่วนการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ซึ่งถือเป็นผู้แทนกระทรวงฯ มีบทบาทขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้ปรับบทบาทการกำกับดูแลสถานประกอบกิจการโรงงานและเหมืองแร่จากผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย ให้มาเป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการประกอบกิจการ โดยเฉพาะโครงสร้างของ สอจ.ทุกจังหวัด ที่ให้มีหน่วยงานพี่เลี้ยงด้านวิชาการต่าง ๆ ในพื้นที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

          "สิ่งสำคัญที่สุดคือ สอจ.ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อให้สามารถทำงานทดแทนช่วยเหลือกันได้ในระดับหนึ่ง นำระบบพี่สอนน้องมาพัฒนาองค์ความรู้ในฝ่ายตนเอง หมั่นหาความรู้ใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง นำรูปแบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานและการบริการประชาชนให้มากขึ้น  การให้บริการด้วยใจ และปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การดึงภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน และการทำให้โรงงานและประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน"

          นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศ พบว่า มีโรงงานที่ต้องจับตา เพราะเป็นกิจการที่เสี่ยงถูกร้องเรียน และ บางส่วนมีประวัติอยู่ระหว่างตรวจสอบอยู่แล้วจำนวน 32 แห่ง แบ่งเป็นโรงงาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 โรงงาน และโรงงานกระจายในต่างจังหวัด 27 แห่ง ดังนั้นกระทรวงฯ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัด จะเข้าไปดูแลไม่ ให้เกิดผลกระทบตามนโยบายนายกรัฐมนตรี.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุตเชือดรง.ผิดกฎหมายตรวจเข้มกระทบชุมชน 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การตรวจราชการและติดตามประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนอินดัสทรี 4.0 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลการประกอบกิจการโรงงานทั่วประเทศไม่ให้ส่งผล กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีการร้องเรียนโรงงานถึงผลกระทบต่างๆ โดยจากการตรวจสอบจำนวนโรงงานทั่วประเทศพบว่ามีโรงงานที่ต้องจับตาเพราะเป็นกิจการ ที่เสี่ยงถูกร้องเรียน และบางส่วนมีประวัติอยู่ระหว่างตรวจสอบ อยู่แล้ว รวมจำนวน 29 โรงงาน จาก 17 จังหวัด ดังนั้น กระทรวง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) จะเข้าไปดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบตามนโยบายนายกฯ

          "จาก 29 โรงงาน ปัจจุบันมี 2 โรงงานที่ กรอ.อาศัยอำนาจมาตรา 39(3) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน สั่งเพิกถอนใบอนุญาตแล้วจำนวน 2 โรงงาน และมาตรา 39(1) สั่งปิดชั่วคราวเพื่อปรับปรุง จำนวน 2 โรงงาน และมาตรา 37 สั่งปรับปรุง จำนวน 2 โรงงาน" นายสมชายกล่าว

          นายสมชายกล่าวว่า นายกฯยังกังวลถึงการประกอบกิจการโรงงานที่อยู่ริมแม่น้ำ ลำคลอง เบื้องต้นพบว่าเป็นกิจการขนาดใหญ่ จำนวน 1,200 โรงงาน และช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอุตสาหกรรมจังหวัดร่วมกับกำลังทหารได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วจำนวน 600 โรงงาน คาดว่าที่เหลือจะสามารถตรวจสอบได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สั่งปิด 2 โรงงานผิดกฎหมาย            

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนร้องเรียนปัญหาโรงงานถึงผลกระทบต่าง ๆ โดยจากการตรวจสอบจำนวนโรงงานทั่วประเทศพบว่ามีโรงงานที่ต้องจับตาเพราะเป็นกิจการที่เสี่ยงถูกร้องเรียน และบางส่วนมีประวัติอยู่ระหว่างตรวจสอบอยู่แล้ว รวม 29 โรงงาน จาก 17 จังหวัด จึงได้มอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) เข้าไปดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ จาก 29 โรงงานดังกล่าว ในปัจจุบันมี 2 โรงงานที่ กรอ.อาศัยอำนาจมาตรา 39 (3) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานอุตสาหกรรม สั่งเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว และมาตรา 39 (1) สั่งปิดชั่วคราวเพื่อปรับปรุง 2 โรงงาน และมาตรา 37 สั่งปรับปรุง จำนวน 2 โรงงาน

          ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความกังวลถึงการประกอบกิจการโรงงานที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ซึ่งพบว่าเป็นกิจการโรงงานขนาดใหญ่ 1,200 โรงงาน และเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับกำลังทหารลงพื้นที่ตรวจสอบ 600 โรงงาน คาดว่าที่เหลือจะสามารถตรวจสอบแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ธ.ค. นี้ และได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศประสานข้อมูลกับโรงงานอุตสาหกรรมในทุกจังหวัดหลายหมื่นโรงงานจัดทำแผนป้องกันอุบัติภัย เนื่องจากช่วงเดือน ธ.ค. 2559-เม.ย. 2560 ที่เป็นช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อนที่มีวันหยุดราชการจำนวนมาก โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดปัญหาไฟไหม้ สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อินดัสทรี 4.0 ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นการทำงานเชิงรุกนำรูปแบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานและการบริการประชาชนให้มากขึ้น

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กรมชลประทานทบทวนแนวทางผันน้ำเติมเขื่อนภูมิพล ตามข้อสั่งการ รมว.เกษตรฯ

ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก นายสุทธา สายวาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาและทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะผู้ศึกษาร่วมนำเสนอที่มาและความจำเป็นในการหาน้ำมาเติมให้เขื่อนภูมิพล ต่อประชาชน ผู้นำท้องถิ่นจากภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ที่เข้าร่วมรับฟังและเสนอแนวทางการนำน้ำไปใช้ประโยชน์

รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวในการเปิดประชุมว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพและใช้ในชีวิตประจำวัน จังหวัดตากมีเขื่อนภูมิพลเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญของพื้นที่ภาคเหนือและลุ่มเจ้าพระยาในภาคกลางที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ ในขณะเดียวกันพื้นที่ตอนบนยังมีแม่น้ำเมยที่มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงแม่น้ำสาละวินและลงทะเลในที่สุด ดังนั้นการที่กรมชลประทานจะหาแนวทางเก็บน้ำไว้ในเขื่อนภูมิพลซึ่งยังมีพื้นที่วางรองรับปริมาณน้ำดังกล่าวได้อีกมาก ก็จะทำให้มีน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ ซึ่งในการพัฒนาต้องบูรณาการระหว่างภาครัฐและประชาชน พัฒนาแหล่งน้ำควบคู่กับการดูแลฟื้นฟูป่าไม้  

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภายหลังจาก  พล.อ.ฉัตรชัย   สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้ให้นโยบายกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จาก 12 ปี เป็น 20 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579)

กรมชลประทานในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิต(เกษตรและอุตสาหกรรม) โดยได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ รวมทั้งปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล  เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงของน้ำ โดยการผันน้ำจากในลุ่มน้ำสาละวินในส่วนที่อยู่ฝั่งไทยมาเติมในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก  เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเขื่อนภูมิพลได้เต็มศักยภาพ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเขื่อนภูมิพลมีความจุทั้งสิ้น 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 9,662 ล้านลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนภูมิพล ตั้งแต่ปี 2507 ถึง 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 5,774 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลการเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2559 ปริมาตรน้ำใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เขื่อนภูมิพลยังมีที่ว่างที่สามารถรับน้ำเพิ่มให้เต็มศักยภาพของเขื่อน และจากการประเมินกิจกรรมการใช้น้ำบริเวณตอนบนของเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้ปริมาณน้ำที่จะลงมาเติมเขื่อนภูมิพลมีแนวโน้มลดน้อยลงทุกปี และเพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ภาคเหนือและลุ่มเจ้าพระยา  ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย ที่เคยกล่าวไว้ว่า

".....ควรจะหาแนวทางในการเอาน้ำจากแม่น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำนานาชาติ หรือ นำน้ำจากแม่น้ำนานาชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ก่อนที่จะปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเล.....”

กรมชลประทานจึงได้นำผลการศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลขึ้นมาทบทวนใหม่ ในการที่จะผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินจากที่มีปริมาณน้ำท่าที่อยู่ในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 8,937 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆเลย นำมาเติมในเขื่อนภูมพล จากผลการศึกษาเดิมมี 22 แนวทาง ซึ่งสรุปว่ามี 2 แนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

แนวทางแรก เป็นการผันน้ำจาก ห้วยแขนง และแม่น้ำเมย สาขาของลุ่มน้ำสาละวิน มาเติมในเขื่อนภูมิพล ส่วนแนวทางที่สอง เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นสาขาของลุ่มน้ำสาละวิน อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน   

“คณะผู้เชี่ยวชาญจากทีมที่ปรึกษาได้พิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่า แนวทางที่สอง ที่จะผันน้ำมาจากแม่น้ำแม่ยวมตอนล่าง มาเติมในเขื่อนภูมิพล มีความเป็นไปได้มากกว่า แต่เพื่อสร้างความมั่นใจประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายของรัฐบาล กรมชลประทานจึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  ทั้ง 2 แนวทาง เพื่อคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ผลักดันให้เป็นจริงภายในไม่เกิน 10 ปี  แม้การดำเนินโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนสูง แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็คุ้มค่า เพราะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำทั้งน้ำอุปโภคบริโภค  น้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรมให้กับลุ่มเจ้าพระยาได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้พลังงานไฟฟ้าที่สะอาดปราศจากมลพิษเพิ่มขึ้น สามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าอีกด้วย" รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ค่าบาทนิ่ง 35.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ประคองตัวช่วงปลายปี

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประจำวันศุกร์ 16 ธ.ค. 2559 ค่าเงินบาทเปิดตัวที่ระดับ 35.78/80บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี 15 ธ.ค. 2559 ที่ระดับ 35.76/78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน (09.40 น.) มีการซื้อขายอยู่ที่ระดับ 35.78/80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เพราะไม่มีปัจจัยใหม่ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอยู่ในช่วงหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก นอกจากนี้ค่าเงินบาทยังผ่านช่วงได้รับผลกระทบจากการขยายเวลาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารยุโรปด้วย

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 35.70-90 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ส่งออกไทยปีหน้าอ่วม คู่ค้าตั้งกำแพงกีดกัน

เศรษฐกิจโลกปี 60 ผันผวนหนัก ผวา “ทรัมป์” ก่อสงครามการค้าป้องขาดดุล ผู้ส่งออกฟันธงกีดกันการค้ารุนแรง สหรัฐฯ อาเซียน จีน ญี่ปุ่นงัดสารพัดมาตรการสกัดนำเข้า

สถานการณ์ส่งออกของไทย ปี 2560 ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า ล่าสุด 12ประเทศอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนใช้มาตรการเอดี-เซฟการ์ดสินค้าไทยถึง 17 รายการ

กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกในปี 2560 ในเบื้องต้นจะขยายตัวได้ที่ 3% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ค่าเงินของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มจะผันผวนเพิ่มขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่อีกด้านหนึ่งมาตรการกีดกันการค้าของประเทศต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2560 มีแนวโน้มที่ประเทศคู่ค้าต่างๆ ของไทยจะออกมาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น เห็นได้จากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธาธิบดีสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณกีดกันการค้าโดยในการหาเสียงได้ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไปที่ 45% และจะมีการเจรจาเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า)ใหม่ เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กเม็กซิโก 35%

ขณะเดียวกันทรัมป์ประกาศจะถอนสหรัฐฯออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(ทีพีพี)ที่ 12 ประเทศสมาชิกได้ลงนามความตกลงไปแล้ว ต้องจับตาว่าหลังทรัมป์รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2560 ท่าทีในเรื่องต่างๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร

 ทรัมป์จ้องตั้งกำแพงการค้า

“ทรัมป์ไม่นิยมทำการค้าเสรีแบบพหุภาคีหลายประเทศ แต่จะทำความตกลงแบบทวิภาคีหรือ 2 ประเทศมากกว่า ส่งสัญญาณว่าจากนี้ไปสหรัฐฯจะกีดกันการค้าประเทศคู่ค้ามากขึ้นโดยการขึ้นภาษี การคุมเข้มมาตรฐานสินค้าเข้าสหรัฐฯ จะมากขึ้น โดยล่าสุดสหรัฐฯ มีแผนตั้งออฟฟิศเอฟดีเอ หรือ อย.ของสหรัฐฯในต่างประเทศเพื่อคุมมาตรฐานสินค้าในประเทศต้นทางมากขึ้น ดังนั้นจึงมองว่าการกีดกัดการค้าที่มิใช่ภาษีในปีหน้าจะเข้มข้นขึ้น เป้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่ 3% คงเป็นโจทย์หินพอสมสมควร”

สอดคล้องกับนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า แนวโน้มการกีดกันการค้าปี 2560 จะรุนแรง เพราะเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศยกเว้นสหรัฐฯจะยังไม่ค่อยดี ดังนั้นทุกประเทศจะมีมาตรการกีดกันนำเข้ามากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม และแรงงานในประเทศ

 งัดมาตรการสุขอนามัยป้องตลาด

มาตรการที่นิยมมาใช้ได้แก่ มาตรการด้านสุขอนามัย การให้ผู้นำเข้าต้องขอใบอนุญาตนำเข้า การกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าที่ไม่รับรองการตรวจสอบของกันและกัน การออกระเบียบฉลากสินค้า การจำกัดโควตาการนำเข้า มาตรการต่างๆ เหล่านี้พบใช้มากในกลุ่มอาเซียน และอาเซียน +6 (อาเซียน 10 ประเทศบวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ซึ่งในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ของทั้ง 16 ประเทศควรเร่งเจรจาเรื่องการลดมาตรการกีดกันการค้าให้หมดไปก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วแม้หากเปิดเสรีการค้าสินค้า และการค้าบริการก็คงไม่เกิดประโยชน์มาก เพราะอุปสรรคจากการกีดกันจะยังมีอยู่จำนวนมาก

นายบัณฑูร ยังได้ยกตัวอย่างอุปสรรคจากการถูกกีดกันการส่งออกของไทยเพียงแค่สินค้ามันสำปะหลัง อาทิ ญี่ปุ่นได้จัดสรรโควตาให้ผู้ซื้อในประเทศนำเข้าแป้งมันสำปะหลังดัดแปลงภายใต้พิกัด HS.CODE 3505 จากไทยปีละไม่เกิน 2 แสนตัน อัตราภาษี 0% ส่วนเกินโควตาเก็บภาษี 6.8%, อินเดียกำหนดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพสินค้าแป้งมันสำปะหลัง ก่อให้เกิดความล่าช้าในการนำเข้าสินค้าของผู้ซื้อ, มาเลเซียไม่ออกใบอนุญาตนำเข้าแป้งที่ทำจากข้าว เป็นต้น

 12 คู่ค้างัดเอดี-เซฟการ์ดไทย

ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบปัจจุบันมีคู่ค้า 12 ประเทศอยู่ระหว่างการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด) กับสินค้าจากไทย ได้แก่ ตุรกี ปากีสถาน ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย แอฟริกาใต้ ตูนิเซีย กลุ่ม GCC(ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน คูเวต โอมาน การ์ตา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) จอร์แดน แซมเบีย และอินเดีย ในสินค้า 17 รายการ อาทิ กระดาษA4 น้ำตาล เม็ดพลาสติกพีพี เหล็กเสริมคอนกรีต แผ่นยิปซัม ไฟเบอร์บอร์ด ขวดแก้ว กระเบื้องเซรามิก อลูมิเนียมแท่ง เป็นต้น

ส่วนองค์การการค้าโลก (WTO) รายงานว่าในครึ่งแรกของปี 2559 กลุ่มประเทศG20 (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร 23 ประเทศซึ่งรวมทั้งไทย) มีการดำเนินมาตรการกีดกันการค้า 1,583 มาตรการ ในจำนวนนี้เป็นมาตรการใหม่ถึง 145 รายการ

 ผวาอียูยืดเอดีข้าวโพดหวาน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 200 บริษัท กล่าวว่า จากแศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในภาพรวมปี 2560 ที่คาดว่าจะยังชะลอตัว จะส่งผลให้ประเทศคู่ค้านำมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบใหม่ ๆ ที่มิใช่ภาษีมาใช้มากขึ้น ทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ มาตรการคุมเข้มเรื่องสารตกค้าง มาตรฐานการผลิต และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในและป้องกันสินค้านำเข้าไม่ให้เข้าไปขยายตลาดภายในมากเกินไป รวมถึงเพื่อลดการขาดดุลการค้า

ทั้งนี้ที่ทางสมาคมจับตามองคือในสินค้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องที่สินค้าไทยถูกสหภาพยุโรป (อียู) เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มาครบ 5 ปีในรอบที่2 ซึ่งจะครบรอบการทบทวนในปีหน้าว่าอียูจะมีการต่ออายุภาษีเอดีที่ปัจจุบันสินค้าไทยถูกเรียกเก็บที่อัตรา 11-14% อีกหรือไม่ จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่สินค้าไทยถูกใช้มาตรการยอดส่งออกได้หายไปกว่าครึ่ง

นางอุไรวรรณ บุนนาค นายกสมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทย ซึ่งมีตลาดหลักที่สหรัฐอเมริกาสัดส่วนประมาณ 30% กล่าวว่า ทางสมาชิกสมาคมประมาณ 120 รายต้องเผชิญกับมาตรการนำเข้าของสหรัฐฯที่เข้มงวดขึ้นทุกปี เฉพาะอย่างยิ่งมาตรการควบคุมความปลอดภัยเรื่องสารเคมีตกค้างในของเล่นที่สหรัฐฯจะแจ้งการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งต้องปฏิบัติตาม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่ก็ปรับตัวได้ แม้จะมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นก็ตาม

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จี้รัฐสร้างความเข้าใจปชช.กรณีลอยตัวราคาน้ำตาล

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเตรียมหารือแนวทางปฏิบัติตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานจะต้องปรับตัว และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะ ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ อาทิ การลอยตัวราคาน้ำตาล และยกเลิกโควตา ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนบังคับใช้ให้ทันในฤดูการผลิต 2560/61

“หลายประเด็นที่จะต้องหารือในการปรับโครงสร้างฯให้เป็นไปตามมติครม. อาทิ การลอยตัวราคาและการยกเลิกโควตาน้ำตาล(ก.ข.และค.) ที่ผู้บริโภคอาจเป็นห่วงว่า ราคาในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น และมีน้ำตาลไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศนั้น ในประเด็นนี้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค และมีมาตรการรองรับไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว”นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สั่งคุมเข้มโรงงานช่วงปีใหม่ ไฟไหม้-ปล่อยน้ำเสียเรี่ยราด พบทำผิดซ้ำซากฟันไม่เลี้ยง  

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการตรวจราชการและติดตามประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนอินดัสทรี 4.0 โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศกว่า 300 คนเข้าร่วมงานสัมมนาว่า ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังตรวจติดตามโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้ป้องกันเหตุไฟไหม้ช่วงวันหยุดยาว ทั้งในเทศกาลปีใหม่ และช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากตามสถิติแต่ละปีนั้น พบว่ามักเกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจร จนทำให้เกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง ขณะเดียวกัน ให้ตรวจเข้มเรื่องการประกอบกิจการโรงงานทั่วประเทศ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่อยู่ริมน้ำ ว่ามีการปล่อยน้ำเสียผิดเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

          "ทั้งนี้ ล่าสุดอุตฯ จังหวัดทั่วประเทศ ได้ตรวจติดตามโรงงานที่ทำผิดซ้ำซาก 29 แห่ง ใน 17 จังหวัด พบว่า ยังมีโรงงานบางแห่ง ยังไม่ปรับปรุง จึงได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 2 แห่ง ปิดปรับปรุงเพื่อแก้ไข 2 แห่ง หยุดกิจการเพื่อปรับปรุงแก้ไข 2 แห่ง  ขณะเดียวกันได้ตรวจโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 600 แห่ง จากทั้งหมด 1,200 แห่ง  ซึ่งจะเร่งตรวจให้ครบภายในสิ้นเดือน ธ.ค. นี้"

          ส่วนการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น ได้ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ซึ่งถือเป็นผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนงาน ตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้มากขึ้น  โดยให้ปรับบทบาทการกำกับดูแลสถานประกอบกิจการโรงงาน และเหมืองแร่ จากผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย ให้มาเป็นผู้ส่งเสริม และอำนวยความสะดวก การประกอบกิจการ โดยเฉพาะโครงสร้างของ สอจ.ทุกจังหวัด ที่ให้มีหน่วยงานพี่เลี้ยงด้านวิชาการต่าง ๆ ในพื้นที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

          "สิ่งสำคัญที่สุดคือ สอจ. ต้องปรับ เปลี่ยนวิธีการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อให้สามารถทำงานทดแทนช่วยเหลือกันได้ในระดับหนึ่ง นำระบบพี่สอนน้องมาพัฒนาองค์ความรู้ในฝ่ายตนเอง หมั่นหาความรู้ใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง นำรูปแบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานและการบริการประชาชนให้มากขึ้น การให้บริการ ด้วยใจ และปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงการดึง ภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน และการทำให้โรงงานและประชาชนในชุมชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข อย่างยั่งยืน"

          ด้าน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศ พบว่า มีโรงงานที่ต้องจับตา เพราะเป็นกิจการที่เสี่ยงถูกร้องเรียน และบางส่วนมีประวัติอยู่ระหว่างตรวจสอบอยู่แล้วจำนวนกว่า 32 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 6 โรงงาน และโรงงานกระจายในต่างจังหวัด 27 แห่ง ดังนั้นกระทรวงฯ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัด จะเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามนโยบายนายกรัฐมนตรี.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

พลังงานเร่งผู้ค้า-ผู้ผลิตฯ เคลียร์ปัญหาเอทานอล

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ได้เข้ารายงานต่อพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน หลังจากที่ได้หารือกับผู้ค้าและผู้ผลิตเอทานอลเกี่ยวกับความพร้อมที่จะนำข้าวเสื่อมคุณภาพที่ขณะนี้มีอยู่ในสต๊อกรัฐประมาณ 5 ล้านตัน มาผลิตเอทานอล โดยมีโรงงานที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการผลิตรวม 11 ราย ซึ่งหลังจากนี้รมว.พลังงานจะนำข้อมูลไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ต่อไป

“โรงงานเอทานอลที่สามารถนำข้าวเสื่อมคุณภาพไปผลิตเอทานอลได้จะเป็นโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังประมาณ 7 รายและโรงงานโมลาสที่สามารถปรับมาใช้วัตถุดิบอื่นได้ (ไฮบริด) อีก4 แห่ง และที่สำคัญหากเป็นโรงงานที่อยู่ใกล้โกดังข้าวก็จะเหมาะสุดเพราะจะไม่ทำให้ต้นทุนแพงขึ้นจากค่าขนส่งข้าวซึ่งก็พบว่ามีโรงงานที่จังหวัดอุบลราชธานี จ.ลพบุรี จ.นครราชสีมา และจ.ปราจีนบุรี”นายวิฑูรย์กล่าว

ทั้งนี้ ยังได้ติดตามปริมาณเอทานอลร่วมกับผู้ผลิตและค้าเอทานอลเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลน หลังจากที่ผ่านมาเอทานอลมีปัญหาภาวะตึงตัวโดยคาดการณ์ว่าในเดือนธันวาคมภาพรวมการผลิตเอทานอลอยู่ระดับ 4 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ระดับ 4.2 ล้านลิตรต่อวัน จึงสั่งให้ผู้ผลิตและผู้ค้าได้นำเอาสำรองที่พร้อมใช้ (Working Stock) ออกมาใช้ทำให้ปริมาณเอทานอลเริ่มคลายปัญหาตึงตัว โดยภายในสัปดาห์หน้าจะสรุปอีกครั้งว่าที่สุดแล้วจำเป็นต้องถึงขั้นนำสำรองเอทานอลตามกฎหมาย 1% มาใช้หรือไม่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ขุนคลัง มองเฟดขึ้น ดบ. กระทบไทยน้อย พร้อมมอบ ธปท. ดูแลความผันผวน   

         รมว.คลัง มองเฟดขึ้น ดบ. อยู่ในคาดการณ์ของตลาด ยันส่งผลกระทบต่อไทยน้อยมาก พร้อมอบ ธปท. ดูแลความผันผวนของเม็ดเงินไหลเข้า-ออก และค่าเงินบาท

               นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) โดยมองว่าเป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว เพราะในที่สุดเฟดจะต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวต่างมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น

               ทั้งนี้ มองว่าหากเฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้นานจนเกินไป และปล่อยให้เงินไหลออกสู่ตลาดเช่นนี้ ก็จะส่งผลให้เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง

               "การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย ก็เป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะดูตัวเลขเศรษฐกิจก็ดีขึ้น ซึ่งการที่สหรัฐคงดอกเบี้ยไว้ต่ำๆ โดยมีเงินปล่อยออกมาในตลาดมากแบบนี้ ก็จะเป็นความเสี่ยงของสหรัฐฯ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เขาอาจจะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะต้องแก้ปัญหานี้ และดึงให้อัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ"

                ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อภาวะการเงินและค่าเงินของไทยหลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น รมว.คลัง เชื่อว่า ผลกระทบจะมีน้อย เพราะเงินกู้ของไทยในส่วนที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีน้อยมาก

               ขณะเดียวกันในส่วนของค่าเงินบาทนั้น ความผันผวนเป็นเรื่องปกติเมื่อมีเงินไหลเข้าออก ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดูแล

               ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการกลางกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาสู่ระดับ 0.50-0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบเกือบ 10 ปี 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เงินบาทสุดฮอตในอาเซียน

อาเซียนใช้เงินบาทซื้อขายสินค้าและบริการพุ่ง ขยับเป็นอันดับ 2 รองจากเหรียญสหรัฐ สปป.ลาวใช้มากที่สุด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานโครงสร้างการชำระเงินค่าสินค้าออกของไทยกับอาเซียน จำแนกตามสกุลเงิน ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการค้าขายสินค้าและบริการของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านภายในภูมิภาคอาเซียน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าการค้าขายระหว่างกันภายในภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่ยังใช้เงินเหรียญสหรัฐเป็นสกุลหลักในการชำระ โดยมีสัดส่วนการใช้เงินเหรียญสหรัฐชำระค่าสินค้าและบริการสูงที่สุดที่ 83% ของวงเงินทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการใช้เงินเหรียญสหรัฐดังกล่าวได้ลดลงจาก 73.9% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินบาทของไทยมีการใช้มากเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วนอยู่ที่ 23.1% เพิ่มขึ้นจาก 21.6% ในระยะเดียวกันปีก่อน

สำหรับสกุลเงินที่มีการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการมาเป็นอันดับ 3 คือ เงินเยนญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วน 3.2% เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีสัดส่วน 1.8% อันดับ 4 คือ เงินเหรียญสิงคโปร์ มีสัดส่วนที่ 0.9% ลดลงจาก 1.1% อันดับ 5 คือ เงินยูโร มีสัดส่วนที่ 0.5% คงที่จากระยะเดียวกันปีก่อน และอันดับต่อมา 6 คือ เงินริงกิตมาเลเซีย มีสัดส่วน 0.4% คงที่จากระยะเดียวกันปีก่อนเช่นกัน นอกนั้นจะเป็นการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสกุลอื่นๆ รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.8% เท่ากันกับระยะเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลข้างต้นเป็นที่สังเกตว่าการใช้เงินบาทในการชำระค่าสินค้าและบริการส่งออกโดยตรงระหว่างกันในอาเซียนเริ่มมีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของทุกประเทศในอาเซียนที่ต้องการลดความผันผวนจากการใช้เงินสกุลหลักอย่างเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้มีการออกนโยบายที่จะลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลหลักกันมากขึ้น และหันมาใช้เงินสกุลในอาเซียนกันเองแทน

ทั้งนี้ การที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีภาวะเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน ทำให้การเทียบค่าเงินระหว่างกันจะมีความแตกต่างกันไม่มาก หรือมีความผันผวนต่อกันน้อยนั่นเอง ที่สำคัญการใช้เงินสกุลอาเซียนหรือสกุลเงินในท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ ยังช่วยลดต้นทุนจากค่าบริหารจัดการเงินหรือเทียบโอนไปมาระหว่างเงินสกุลหลักได้ด้วย

นอกจากนี้ หากพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่า ประเทศที่มีการใช้เงินบาทในการชำระค่าสินค้าและบริการเพื่อการส่งออกระหว่างกันมากที่สุด คือ สปป.ลาว มีการใช้เงินบาทคิดเป็นสัดส่วน 59.6% ของวงเงินการชำระสินค้าและบริการรวม รองลงมาเป็นเมียนมา มีสัดส่วนการชำระเงินในสินค้าส่งออกที่ 54.7% ตามมาด้วยกัมพูชา มีสัดส่วน 41.2% ถัดมาเวียดนาม มีสัดส่วน 20.7% ต่อมาฟิลิปปินส์ สัดส่วน 19.7% อินโดนีเซีย 14.9% มาเลเซีย 15.6% บรูไน 12.8% และสิงคโปร์ 6%

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การแก้ปัญหาการขาดแคลนเอทานอล

          นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การตึงตัวของการผลิตเอทานอลในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เนื่องจากฤดูกาลเปิดหีบอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเลื่อนออกไปจากระยะเวลาเดิมตามแผนที่กำหนด จึงอาจส่งผลกระทบกับการจัดหาของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์บางราย โดยเฉพาะรายที่มีปริมาณ เอทานอลคงเหลือต่ำ

          อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์เอทานอลอย่างใกล้ชิด ให้สามารถแก้ไขและป้องกันปัญหาการขาดแคลนเอทานอลได้ทันท่วงที และเพื่อมิให้กระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ค้าที่เป็นผู้ผลิตเอทานอล และที่เป็นผู้ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์เพื่อจำหน่าย ต้องรายงานปริมาณการผลิต การซื้อ การจำหน่าย ปริมาณการใช้ผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ และปริมาณเอทานอลคงเหลือรายวันให้กรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในเวลา 10.00 น. ของวันทำการถัดไปทุกวัน ตามแบบที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

นอกจากนี้ ยังมีการออกตรวจสอบปริมาณการผลิต ปริมาณการจำหน่าย และปริมาณเอทานอลคงเหลือ ณ โรงงานผู้ผลิตเอทานอล และสถานที่เก็บเอทานอลทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่กรมธุรกิจพลังงาน และพลังงานจังหวัด ซึ่งเป็นการสอบยันข้อมูลที่ผู้ค้ารายงานว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์ และวางแผนในการแก้ปัญหาการขาดแคลนเอทานอลต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 14 ธันวาคม 2559

ปลัดอุตฯสั่งตรวจเข้มโรงงานถูกร้องเรียนซ้ำซาก

"ปลัดอุตสาหกรรม" รับลูก "บิ๊กตู่" สั่งอุตฯจังหวัดตรวจเข้ม 29 โรงงานถูกร้องเรียนซ้ำซาก พร้อมเข้ม 4 พันโรงงานตั้งริมแม่น้ำ ป้องกันการก่อมลพิษ

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวมอบนโยบายอุตสาหกรรมจังหวัด (อสจ.) ทั่วประเทศกว่า 300 คน ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างเพื่อให้ภารกิจสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ 20 ปีของรัฐบาลและเดินหน้าภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยปรับบทบาทไปสู่การอำนวยความสะดวกมากกว่ากำกับดูแล ขณะที่การกำกับดูแลจะดำเนินการเชิงป้องปรามมากกว่า

ส่วนกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มความเข้มงวดกับโรงงานที่ถูกประชาชนร้องเรียนซ้ำซากนั้น ล่าสุดได้ดำเนินการตรวจสอบโรงงานที่ถูกร้องเรียนซ้ำซากเสร็จแล้ว 29 โรงงาน ร้องเรียนรวม 34 ครั้ง ในจำนวนนี้ใช้อำนาจตามมาตรา 37 ของพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรมให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข 2 โรงงาน ใช้อำนาจปิดโรงงานเพื่อซ่อมแซม 4 โรงงาน และใช้อำนาจปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพิกถอนใบอนุญาต รง.4 จำนวน 2 โรงงาน

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่ อสจ.ลงพื้นที่ตรวจดูรายละเอียดโรงงานที่มีความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว รวมถึงกลุ่มโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ คู คลอง ต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม 4,000 โรงด้วย โดยลงพื้นที่ตรวจทุกวัน ล่าสุดตรวจไปแล้วประมาณ 700 โรงงาน หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดทำสรุปรายงานการตรวจสอบโรงงานที่ถูกร้องเรียนซ้ำซากส่งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบก่อนสิ้นปีนี้ต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 14 ธันวาคม 2559

‘น้ำตาลบุรีรัมย์’ ล็อกราคาน้ำตาลล่วงหน้า

น้ำตาลบุรีรัมย์ประเมินปริมาณการหีบอ้อยทะลุ "3 ล้านตัน" เร็วกว่าคาด "ล็อกราคา" ซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า 60% ดันรายได้ปีหน้าเติบโตเกิน 30%

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)  BRR เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะมีปริมาณการหีบอ้อยที่ระดับ 3 ล้านตันได้ภายในปี 2561 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่วางไว้ในปี 2562 เนื่องจากปริมาณการปลูกอ้อยนั้นมีแนวโน้มที่มากขึ้นจากการเปลี่ยนพื้นที่นาข้าว เป็นพื้นที่ปลูกอ้อย

“บริษัทคาดว่าปริมาณการหีบอ้อยที่ระดับ 3 ล้านตันต่อปี จะเร็วกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งเดิมเราคาดว่าในปี 2561 อาจจะหีบได้ในระดับ 2.8 ล้านตัน เพราะปริมาณการผลิตอ้อยที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้เองทิศทางการหีบอ้อยยังขยายตัวได้ดี”

โดยในรอบการหีบอ้อยงวดปี 2560 นั้น บริษัทคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 2.4 ล้านตัน คาดว่าจะรับน้ำตาลหลังหีบทั้งสิ้น 2.7-2.8 แสนตัน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ระดับ 117 กิโลกรัมต่อตัน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 105-118 กิโลกรัมต่อตัน

ทั้งนี้ ทิศทางราคาน้ำตาลในปี 2560 บริษัทเชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ที่ระดับ 24 เซนต์ต่อปอนด์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 12 เซนต์ต่อปอนด์ จากปริมาณความต้องการน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศจีนและอินเดีย ทั้งนี้บริษัทได้มีการทำสัญญาการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้ว 60% ของปริมาณน้ำตาลทั้งหมด เพื่อป้องกันความผันผวนที่ราคา 22.9 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้การเติบโตของรายได้ในปีหน้าจะมีเพิ่มขึ้นจากปีนี้ในระดับ 30 % และมีแนวโน้มที่อัตรากำไรสุทธิจะปรับตัวมากขึ้นสูงกว่าระดับ 10% จากปัจจุบันที่ระดับ 7%

อย่างไรก็ตามในปี 2560 บริษัทมีแผนจะลงทุนตั้งโรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตน้ำตาลคุณภาพสูง โดยจะมีกำลังการผลิตที่ระดับ 1 พันตันต่อวัน ใช้เงินลงทุน 1.5 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตน้ำตาลได้ในปี 2561 นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะตั้งโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และตั้งโรงงานผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 1.2 แสนลิตรต่อวัน มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทในอนาคต

ในแผนการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาแบบแสดงรายการและคาดว่าจะสามารถยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ในต้นปีหน้า โดยในการระดมทุนนั้นคาดว่าจะได้รับเงินไม่ต่ำกว่า 3.6 พันล้านบาท คาดว่าจะเสนอขายได้ราว ไตรมาส 2 ปี 60 โดยบริษัทมีสัดส่วนถือหุ้น 33.33% อายุกองทุนราว 12 - 18 ปี เงินจากการระดมทุนใช้สำหรับลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสร้างโรงงานผลิตเอทานอล

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 14 ธันวาคม 2559

โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์เปิดหีบอ้อย คาดเงินสะพัด 3.5 พันล้านบาท

โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์เปิดหีบรับซื้ออ้อยฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ตั้งเป้าปริมาณอ้อย 3.1 ตัน คาดเงินสะพัดสู่เกษตรกรกว่า 3.5 พันล้านบาท เดินหน้าส่งเสริมตัดอ้อยสด พร้อมรณรงค์รถบรรทุกอ้อยปลอดภัย

กาฬสินธุ์/ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายมงคล อดทน รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายคนอง ศักดิ์เพชร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มโรงงานมิตรผล นายวิชรัตน์ บุพผาพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานอ้อย นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ นายทวีป ทัพซ้าย ผู้อำนวยการด้านอ้อยโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายอำเภอกุฉินารายณ์ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเกษตรกรชาวไร่อ้อยร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีโยนอ้อยในวันเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ เพื่อถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยว่าการหีบอ้อยฤดูกาลผลผลิตปี 2559/2560 เริ่มขึ้นแล้ว

            ทั้งนี้การจัดกิจกรรมทางโรงงานได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนแก่เกษตรกรและผู้ขับขี่รถบรรทุกอ้อยในช่วงเปิดฤดูกาล พร้อมมอบรางวัลให้กับเกษตรกรที่มีผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ และการรณรงค์การตัดอ้อยสด เพื่อรักษาค่าความหวาน

            นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 กล่าวว่า สำหรับประเพณีโยนอ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์นั้นได้จัดขึ้นประจำทุกปี เพื่อถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยว่าการเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลผลิตปี 2559/2560 เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงงานได้ส่งเสริมการปลูกอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ทางโรงงานก็ยังคงเน้นการรณรงค์พี่น้องเกษตรกรตัดอ้อยสด สะอาด ยอดสั้น ปราศจากดินทรายและสิ่งเจือปนเข้าหีบ รวมทั้งการรณรงค์งดการเผาอ้อย เพื่อทำให้อ้อยมีคุณภาพ ลดการกเกิดมลภาวะ

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ทางโรงงานจะมีการรณรงค์เปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว เป็นการปลูกอ้อยทดแทน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งน้ำน้อย สนองนโยบายของภาครัฐ เพราะอ้อยถือเป็นพืชเศรษฐกิจ และปัจจุบันอยู่ในช่วงยุคทองเพราะราคาน้ำตาลค่อนข้างดี จึงส่งผลให้ราคาอ้อยดีไปด้วย โดยฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 เบื้องต้นราคาอ้อยที่รับซื้อจะอยู่ที่ตันละ 1,050 บาท ในค่าความหวาน 10 ซีซีเอส และหากรวมค่าความหวานด้วยแล้วเกษตรกรน่าจะสามารถขายอ้อยได้ประมาณตันละ 1,200 บาท นอกจากนี้ยังทางโรงงานยังได้ร่วมกับหน่วยภาครัฐรณรงค์ให้มีการบรรทุกอ้อยอย่างปลอดภัย โดยการใช้สายรัดก้อนอ้อยป้องกันอ้อยตกหล่น ไม่บรรทุกสูงจนเกินไป และไม่เผาอ้อยใต้สายไฟอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับปีการผลิต 2559/2560 คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยของเกษตรกรเข้ามายังโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ประมาณ 3,100,000 ตัน มีเกษตรกร 12,000 ราย มีรถบรรทุกประมาณ 3,000 คัน และคาดว่าจะมีเงินสะพัดในการรับซื้ออ้อยสู่เกษตรกรประมาณ 3,500 ล้านบาท

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 14 ธันวาคม 2559

'น้ำตาลบุรีรีมย์' รายได้โต30% อานิสงส์ 'อ้อยเข้าหีบ'เพิ่ม

"น้ำตาลบุรีรัมย์" คาดรายได้ปี 60 โต 30% เหตุปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของรายได้ในปี 2560 มีโอกาสที่จะเติบโตจากปีนี้ในระดับ 20-30 % จากปริมาณการหีบอ้อยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนที่นาข้าวมาเป็นการปลูกอ้อย และทิศทางของราคาน้ำตาลที่ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ

โดยบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าที่ราคา 22.9 เซนต่อปอนด์ไปแล้วกว่า 60% ของปริมาณน้ำตาลทั้งหมด

ในด้านปริมาณการผลิตยังมีแนวโน้มที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในรอบการหีบอ้อยรอบต่อไปคาดว่าจะหีบได้ที่ 2.4 ล้านตัน โดยการหีบอ้อยนั้นได้รับผลตอบที่ดีโดยอ้อย 1 ตันให้น้ำตาลที่ 117 กิโลกรัม ปริมาณอ้อยที่มากขึ้นนั้นทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการหีบอ้อยของบริษัทจะแตะ 3 ล้านตันได้ภายในปี 2561

อย่างไรก็ตามในแผนการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นนั้น ปัจุจบันอยู่ระหว่างการพิจารณาแบบแสดงรายการและคาดว่าจะสามารถยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ในต้นปีหน้า โดยในการระดมทุนนั้นคาดว่าจะได้รับเงินไม่ต่ำกว่า 3.6 พันล้านบาท โดยจะนำเงินดังกล่าวมาลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการลงทุนอื่นๆในอนาคต

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ไทยออยล์ชี้ราคาLPGใหม่ดันรายได้โรงกลั่นพุ่ง เผยกำลังผลิตสูงอยู่แล้วเพิ่มอีกไม่ได้-เล็งทบทวนลงทุนเอทานอล

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เห็นชอบแผนเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีนั้น ไทยออยล์คงไม่สามารถเพิ่มกำลังการกลั่นแอลพีจีป้อนสู่ตลาดได้มากนัก แม้ว่าภาครัฐจะปรับเพิ่มราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นจากราคาตะวันออกกลาง (CP) ติดลบ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ (CP-20$)เป็นราคา CP ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2560 เนื่องจากปัจจุบันกำลังผลิตแอลพีจี ของไทยออยล์ เป็นการผลิตในอัตราสูงมากอยู่แล้วอยู่ที่ 1,450 ตันต่อวัน แต่มองว่าการปรับสูตรดังกล่าวจะเป็นผลดี ทำให้ทางโรงกลั่นต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมา เป็นการขายที่รับภาระ โดยในส่วนของไทยออยล์ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

อย่างไรก็ตาม จากราคาแอลพีจี ที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจเป็นแรงจูงใจให้โรงกลั่นอื่นๆ ผลิตแอลพีจีเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยในส่วนของโรงกลั่นที่มีทางเลือกในการนำแอลพีจีไปผลิตทั้งปิโตรเคมีและการขายเข้าสู่ตลาด หากพิจารณาพบว่าสามารถทำรายได้จากส่วนใดได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้โรงกลั่นนั้นมีทางเลือกที่จะผลิตแอลพีจีว่าจะนำเข้าสู่ปิโตรเคมี หรือขายเข้าสู่ตลาดของผู้บริโภค

“ราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นที่ขยับขึ้น ยังไม่เป็นราคาเสรี เพราะข้อเท็จจริงโรงกลั่นมีต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น แต่ละโรงกลั่นจะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน ทั้งน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง และประกันภัย ซึ่งหากรัฐจะเปิดเสรีก็ไม่ควรจะกำหนดราคาจำหน่ายหน้าโรงกลั่น แต่เข้าใจว่ารัฐจะค่อยๆทำ ซึ่งในกรณีได้ราคา CP ก็ยังดีกว่า ได้ราคา CP -20 ที่เดิมเป็นราคาที่ต้องแบกภาระต้นทุน” นายอธิคมกล่าว

นายอธิคมกล่าวว่า ไทยออยล์ อยู่ระหว่างทบทวนเรื่องการจัดลำดับการลงทุนในโรงงานเอทานอล ที่ปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนอยู่ 3 โรงงาน กำลังการผลิตรวม 830,000 ลิตรต่อวัน โดยบริษัทจะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งการขายหุ้นออก หรือปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน ผลตอบแทนการลงทุนของธุรกิจเอทานอลไม่ได้สูงมากนัก ประกอบกับสถานการณ์การค้าเอทานอล ผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 จะเป็นผู้ซื้อเอทานอลมาให้โรงกลั่นผสมเพื่อผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ออกไปจำหน่ายต่อ ทำให้ความจำเป็นที่โรงกลั่นจะต้องมีพอร์ตเอทานอลของตัวเองจึงลดลง

ดังนั้น ไทยออยล์จะต้องพิจารณาว่าจะปรับพอร์ตธุรกิจอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องคงสัดส่วนของธุรกิจกรีนไว้ ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องพิจารณาปรับเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากโรงงานเอทานอลไปสู่ธุรกิจกรีนให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 1 ปี 2560

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ธ.โลกเปิดบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย19ธ.ค.

ธนาคารโลก เตรียมเปิดบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยและภาคบริการ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ 19 ธ.ค.นี้

ธนาคารโลก เตรียมเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย : ภาคบริการที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม นี้ โดยรายงานดังกล่าวเป็นรายงานหลักที่วิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2559-2561 ที่ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย และอภิปรายถึงความเป็นไปได้ถึงศักยภาพของภาคบริการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้น โดย นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก

ก่อนที่ ธนาคารโลก จะร่วมกับศศินทร์ สัมมนา “ยกระดับศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทย : ภาคบริการจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ได้ไหม โดย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย และ นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ขู่น้ำตาลทรายอาจขาดตลาด ถ้าจับรถอ้อยมาก

โรงน้ำตาลขู่ หวั่นน้ำตาลทรายขาดตลาด หลังกรมทางฯ ลุยจับกุมรถอ้อยบรรทุกหนัก ทำให้ชาวไร่อ้อยหยุดวิ่งรถ

ที่ห้องประชุม ผวจ.อุดรธานี นายชยาวุธ จันทร ผวจ.อุดรธานี เรียกประชุมหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหารถบรรทุกอ้อย หลังจากตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม ที่เป็นที่โรงงานน้ำตาลทั้ง 4 แห่งในจังหวัดเปิดหีบอ้อย แต่รถอ้อยถูกด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ กรมทางหลวง จับกุมรถอ้อยน้ำหนักบรรทุกเกินไปแล้ว 17 คัน ซึ่งทางสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ระบุว่าได้ปฏิบัติตามเอ็มโอยู 19 ข้อ ตามนโยบายของ คสช.ที่ทำไว้กับฝ่ายความมั่นคง มทบ.24 และ จ.อุดรธานี ที่บรรทุกสูงไม่เกิน 4 เมตร พร้อมติดตั้งป้าย ไฟสัญญาณ และอื่น ๆ ตามที่ทำบันทุกข้อตกลงไว้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 , พ.ต.อ.นิติพงศ์ ธาตุทำเล รรท.ผบก.ภ.จว.อุดรธานี , นายเอนก สุวรรณภูเต ผอ.แขวงการทางอุดรธานี ที่ 1 , นายประจักษ์ ปุกสันเทียะ ผอ.แขวงการทางอุดรธานี ที่ 2 , นายสุริเยศ เกษีสังข์ หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนัก กรมทางหลวง , นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ , นายอำเภอและ ผกก.กุมภวาปี , นายอำเภอและ ผกก.หนองหาน , นายอำเภอศรีธาตุ , ตัวแทนโรงงานน้ำตาลทั้ง 4 โรง , ตัวแทนชาวไร่อ้อย และคณะกรรมการป้องกันอุบัติเหตุบนถนน จ.อุดรธานี

นายชยาวุธ จันทร ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า รับรายงานการจับกุมรถอ้อยที่เขต อ.หนองหาน ซึ่งมีการจอดรถไว้ข้างทาง โดยยังไม่ขึ้นชั่งตาชั่งลอย ที่ทางกรมทางหลวงมาตั้งจุดตรวจ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นทางโค้งเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ตนจึงเดินทางไปตรวจสอบ ขอให้ทางสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยฯ ขอให้นำรถไปจอดในสนามที่ว่าการอำเภอหนองหาน โดยให้บันทึกชื่อคนขับ ทะเบียนรถ ต่าง ๆ ไว้ ไม่ได้ไปไกล่เกลี่ยไม่ให้มีการจับกุมแต่อย่างใด และเมื่อรับทราบปัญหารถอ้อยถูกจับบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่มีการจับกุมไปแล้วถึง 13 คัน และเมื่อคืนยังมีการจับกุมอีก 4 คัน ในเขต อ.ไชยวาน จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มาร่วมประชุมเพื่อหามาตรการร่วมกันแก้ไขปัญหา เนื่องจากเอ็มโอยูทั้ง 19 ข้อ ไม่มีการระบุเรื่องของน้ำหนักรถอ้อย มีเพียงความสู.ไม่เกิน 4 เมตรเท่านั้น

เหมือนกับจราจรที่จับไม่สวมหมวกกันน๊อค ก็สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ แต่ไม่ใช่บรรทุกมากเกิน เหมือนที่ตนสั่งจับรถขนทราย ที่บรรทุกหนักถึง 91 ตัน อย่างนี้ต้องจับกุมดำเนินคดี ซึ่งศาลตัดสินไปแล้ว จำคุกคนขับ และยึดรถ แต่ทั้งนี้รถอ้อยส่วนใหญ่คุยกันแล้ว คือ ขณะนี้ได้ปฏิบัติตามเอ็มโอยูทั้งหมด ซึ่งน้ำหนักบรรทุกเกินไปไม่เท่าไหร่ ทั้งนี้เพราะมีการลดความสูงลงมาตามเอ็มโอยู่ได้ทำบักทึกไว้กับทาง กกล.รส.อุดรธานี

พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 กล่าวว่า  รับแจ้งจากทางกองทัพภาค 2 ว่า ทางกองทัพบก และ กกล.รส.ได้มีการประสานไปยังปลัดกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยทางปลัดประทรวงคมนาคมชี้แจงว่า ดำเนินการตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งข้อตกลงที่ทางผู้ประกอบการอ้อย น้ำตาลทราย ทำไว้กับ กกล.รส.ในแต่ละพื้นที่ เห็นว่ามีความเหมาะสม อาศัยหลักรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ หากทางกระทรวงคมนาคมจะใช้แต่หลักนิติศาสตร์อย่างเดียว ทางผู้ประกอบการจึงได้ร้องขอความเป็นธรรมมาแล้ว โดยวันที่ 13 ธันวาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม จะมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีผลดำเนิอนการอย่างไร จะมีการแจ้งกลับมาให้ทราบอีกครั้ง

“ผลที่ออกมาทำให้เราเชื่อมั่นว่า ผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนที่รถบรรทุกอ้อยผ่านจะดีขึ้น และทุกฝ่ายยอมรับที่จะปฏิบัติตามต่อไป โดยรวบรวมปัญหาสะท้อนไปยังผู้บริหารระดับสูงแล้ว โดยจะมีการพูดคุยกันในระดับนโยบายอีกครั้ง ในวันที่ 13 ธันวาคม นี้ ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี จ.อุดรธานี เป็นจังหวัดใหญ่มีโรงงานน้ำตาลถึง 4 โรงที่อยู่ทุกมุมเมือง ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งทาง มทบ.24 และหน่วยงานทหาร จะออกชี้แจงทำความเข้าใจ ประนสารรงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ปัญหามันบานปลาย กระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งจะทำให้แก้ไขปัญหาได้ยาก”

ขณะที่ทางนายอนุชิต ปุระสาทิต รอง กก.ผจก.โรงงานน้ำตาลทรายขวาเริ่มอุดม อ.หนองหาน กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละโรงงานน้ำตาล มีอ้อยเข้ามาหีบน้อยมาก หลังมีการจับกุมรถอ้อยน้ำหนักเกิน เพราะชาวไร่ไม่กล้าขนอ้อยมาส่งโรงงานกลัวจะถูกจับ ซึ่งที่ผ่านมาทุกโรงงานและชาวไร่อ้อย ทำตามบันทึกข้อตกลง 19 ข้อไปแล้ว เมื่อมาถูกจับเริ่องน้ำหนัก ที่มีโทษหนักถึงกับยึดรถ ทำให้ไม่มีรถส่งอ้อยเข้าโรงงานได้ ปกติจะหีบอ้อยได้วันละ 16,000 ตัน แต่ถึงวันนี้มีอ้อยเข้ามาเพียง 10,000 ตัน ที่สามารถผลลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ เพียง 1,000 กก.เท่านั้น ทั้งนี้ 30 เปอร์เซนต์ เราต้องนำส่งขายในประเทศ เมื่อเกิดเหตุการณ์อ้อยเข้าส่งโรงงานไม่พอ ผลิตน้ำตาลได้น้อย ในปีหน้าก็จะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศ     

“ทั้งนี้ยังไม่รวมสัญญาที่ทางโรงงานต้องส่งน้ำตาลออกต่างประเทศ 1.8 หมื่นตัน ในช่วงต้นปีหน้า มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราอาจต้องผิดสัญญา เพราะไม่มีน้ำตาลจะส่งให้ และจะส่งผลกระทบต่อไปเป็นลูกโซ่ ไม่ใช่โรงงานของเราแห่งเดียว แต่จะไปกระทบกับโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ที่ต้องเจอลักษณะเดียวกัน”

นายไกรสร สามเสน ผจก.ทั่วไป โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และเกษตรผล กล่าวว่า ทางโรงงานก็ประสบปัญหาเหมือน ๆ กัน ซึ่งขณะนี้อ้อยไม่พอเข้าระบบผลิต แต่เราต้องเดินเครื่องจักรโดยเฉพาะหม้อต้มทิ้งไว้ เพราะหากจะเริ่มใหม่ ต้องเสียเวลานาน ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายญี่ปุ่นที่ร่วมลงทุน กลัวปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะไม่เคยพบเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ที่ไม่มีอ้อยมาเข้าโรงงาน และขณะนี้มีแนวโน้มว่า จะเลิกจ้างคนงาน จากที่เคยทำงาน 3 กะ ที่จะลดลงเหลือ 2 กะ เท่านั้น

  นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ กล่าวว่า วันที่ 13 ธันวาคม 4 องค์กรของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกสมาคม จะมีการประชุมมใหญ่ หาแนวทางทางแก้ไขเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เข้าใจว่าทางกระทรวงคมนาคมใช้กฎหมายบังคับใช้ เมื่อมีปัญหาขึ้นมาบังคับใช้กฏหมาย ถ้าเป็นแบบนี้สั่งปิดโรงน้ำตาลไปเลยดีกว่าทุกคนพร้อมจะหยุด จะหันไปทำเศรษฐกิจพอเพียงกัน แต่เรื่องนี้เคยพูดคุยกับ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลแล้ว ก็บอกว่า หากมีปัญหาอะไร สามารถแจ้งมาได้ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งการประชุมทั้ง 4 องค์กรวันที่ 13 ธันวาคมนี้ อาจจะขอเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทราบ เพื่อจะได้มีการแก้ไข หากเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจของประเทศจะพัง เพราะว่าประเทศไทยส่งน้ำตาลออกเป็นอันดับ 12 ของโลก

ส่วนนายเอนก สุวรรณภูเต ผอ.แขวงการทางอุดรธานี ที่ 1 , นายประจักษ์ ปุกสันเทียะ ผอ.แขวงการทางอุดรธานี ที่ 2 , นายสุริเยศ เกษีสังข์ หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนัก กรมทางหลวง ชี้แจงไปแนวทางเดียวกันว่า การจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมทางหลวง ที่รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้จับเฉพาะรถบรรทุกอ้อย มีการจับกุมทั้งรถบรรทุกหิน ดิน ทราย หากส่วนไหนไม่ดำเนินการมีผลการจับกุม ต้องถูกพิจารณาโทษ ทั้งละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และจะต้องถูกสอบทางวินัยด้วย จึงขอให้ทุกภาคส่วนดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายไป จนกว่าจะมีคำสั่งมาจากอธิบดีกรมทางหลวงแจ้งมาว่า จะมีการให้ดำเนินการอย่างไร

หลังจากนั้นนายชยาวุธฯ มีการเรียกประชุมทางฝ่ายทหาร โรงงานน้ำตาล ชาวไร่ สมาคม แกละทางชุดจับกุม นอกรอบอีกครั้ง หลังยังหาข้อสรุปไม่ได้ หลังประชุม นายชยาวุธฯ ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า หลังจากนี้ตนได้ขอความร่วมมือให้รถบรรทุกอ้อยได้ปฏิบัติตามกฎหมายของกรมทางหลวง เรื่องของน้ำหนักบรรทุก เรื่องของการติดสัญญาณไฟท้ายรถ และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อตกลง ที่มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันไว้ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งอ้อยจากไร่อ้อยไปยังโรงงาน ไม่ใช่มีการขนอ้อยสูง ยาวเกินท้ายปิดบังสัญญารไฟต่าง ๆ อีกทั้งเรื่องอ้อยตกบนถนน ซึ่งบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้ เป็นเรื่องของความปลอดภัยบนถนน ที่มีการทำทั่วประเทศตามที่ คสช.ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“เอ็มโอยูที่ทำไม่ได้ครอบคลุมเรื่องของน้ำหนักบรรทุก เพราะมีกฎหมายเฉพาะของกรมทางหลวงอยู่ ทราบว่าวันที่ 13 ธันวาคม หน่วยการต่าง ๆ ของส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชุมทำความเข้าใจเรื่องของแนวงทางปฏิบัติ เรื่องของการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร ที่มีการออกสู่ตลาดพร้อมกัน ทั้งอ้อย ข้าวเปลือก เบื้องต้นเราพูดคุยทำความเข้าใจทั้งกับผู้บังคับใช้กฎหมาย ชาวไร่อ้อย และผู้ประกอบการ เบื้องต้นทางราชการคงต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก ส่วนเรื่องของนโยบาย เรื่องของการอะลุ่มอล่วย ก็ทำได้ในระดับหนึ่ง เช่น กฎหมายกำหนดรถ 10 ลอ บรรทุก 25 ตัน ที่จะมีปริมารบรรทุกที่ปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง หากเกินไปไม่มาก ทางเจ้าหน้าที่จะสามารถพิจารณาเองได้”

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 ธันวาคม 2559

จับตา"อ้อย"สินค้าเกษตรดาวรุ่งปี 60

                    ทหารไทย ยก อ้อย เป็น ดาวรุ่ง สินค้าเกษตรไทยปีหน้า ขณะที่ “กุ้งขาว-ยางพารา” ราคาฟื้น ด้านข้าว มันสำปะหลัง ยังน่าห่วงหลังจีนลดนำเข้า                      

                    รายงานข่าวจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรดาวรุ่งที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 60 ได้แก่ อ้อย กุ้งขาว และยางพารา โดยอ้อยได้มีผลดี จากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ปลายเดือนพ.ย.59 อยู่ที่ 19.8 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นกว่า 50 % จากราคาเมื่อเดือนม.ค.59 โดยราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากราคาทำจุดต่ำสุดในเดือนส.ค.58 และคาดหมายว่าราคายังอยู่ในแนวโน้มที่ดีในปีหน้าหลังอุปทานตลาดโลกตึงตัว ส่งผลให้ปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยยิ้มได้จากราคาอ้อยฤดูกาลผลิต 2559/60 สูงกว่าปีที่ผ่านมา

สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งกำลังเข้าสู่ภาวะผลผลิตฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากโรคตายด่วนระบาดเมื่อ 4 ปีก่อนทำให้ผลผลิตกุ้งขาว ลดลงกว่า 60% กระทบอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยขาดแคลนวัตถุดิบ คาดว่าผลผลิตยังมีแนวโน้มสูงขึ้น 15 % ในปีหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ส่วนราคากุ้งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากความต้องการของตลาดโลก  กุ้งขาวจึงถูกคาดว่าจะกลับมาสดใสอีกครั้ง

ส่วนยางพารา ราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาเฉลี่ยผ่านจุดสูงสุด 174 บาทต่อ กก.เมื่อต้นปี 54 แล้วราคาลดลงเกือบ  80 % ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำเม็ดเงินหายไปจากกระเป๋าชาวสวนยางเฉลี่ยเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ ล่าสุด ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ชั้น 3 อยู่ที่ 59.4 บาท.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 60 % จากต้นปีที่ผ่านมา หลังมีการปรับโครงสร้างการผลิตและใช้ยางของไทย เช่น การส่งเสริมการใช้ยางในประเทศมากขึ้น และการลดพื้นที่ปลูกยาง ยางพาราจึงมีอนาคนที่สดใสอีกครั้ง

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 ธันวาคม 2559

“แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่” มุ่งเน้นพัฒนาสหกรณ์การเกษตรประชารัฐ และสินค้าเกษตรสร้างรายได้เร็ว หรือ Cash Crop พร้อมเชื่อมโยงการตลาดเพื่อรับซื้อสินค้าเกษตรของสมาชิก

          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ณ จังหวัดสกลนคร ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ได้แก่ แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้คณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D6) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน

          การดำเนินงานแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ได้แบ่งกลุ่มสินค้าเพื่อการพัฒนาออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) พืชหลัก ข้าว มันสำประหลัง อ้อย ยาง 2) สัตว์บกขนาดเล็ก ไก่ สุกร 3) สัตว์บกขนาดใหญ่ โคเนื้อ โคนม 4) สัตว์น้ำ กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ กุ้งกามกราม ปลากะพง ปลานิล และ 5) เกษตรสร้างรายได้เร็ว หรือ Cash Crop ซึ่งเกษตรสร้างรายได้เร็วนี้เอง ได้มีการกำหนดแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว ได้แก่ การรวมกลุ่มการผลิตทางการเกษตรให้เป็นระบบแปลงใหญ่แบบเกษตรสมัยใหม่ การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรประชารัฐ การตั้งศูนย์วิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อการเกษตร

          ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ จำนวน 58 แปลง 14 ชนิดสินค้า ซึ่งดำเนินการใน 32 จังหวัด ในพื้นที่ 110,281 ไร่ เกษตรกร 6,636 ราย มีบริษัทเอกชนที่ร่วมดำเนินการ 14 ราย โดยเกษตรสร้างรายได้เร็ว หรือ Cash Crop มีจำนวน 16 แปลง จาก 58 แปลง แบ่งเป็น ผัก ผลไม้ และสมุนไพร จำนวน 15 แปลง และหม่อน 1 แปลง มีความคืบหน้าการดำเนินการโดยรวม 72% ซึ่งการดำเนินงานโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ ในสินค้าเกษตรสร้างรายได้เร็ว (cash crop) ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ได้ถูกกำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องโครงการสานพลังประชารัฐฯ ที่ได้รับมาตรฐาน Thai GAP/Primary ThaiGAP ทั้งนี้ เกษตรสร้างรายได้เร็ว (cash crop) ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นี้ มีพื้นที่ดำเนินการ 818 ไร่ เกษตรกร 126 ราย แบ่งเป็น แปลงใหญ่พริก จำนวน 104 ไร่ แตงโม จำนวน 324 ไร่ และมะละกอฮอลแลนด์ จำนวน 390 ไร่ โดยได้มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมดำเนินการ โดยการให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกร และเชื่อมโยงกับห้างโมเดรินท์เทรด เพื่อรับซื้อสินค้าเกษตรของสมาชิกด้วย สำหรับภาครัฐ ได้อบรมให้ความรู้ด้านการผลิตกับเกษตรกรผ่าน ศพก. เพื่อให้เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกร สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิต เช่น ให้บริการเพื่อบริหารจัดการน้ำ ตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อการเพาะปลูกที่เหมาะสม เป็นต้น รวมถึงระบบมาตรฐานการตรวจรับรองแปลงด้วย

          "เกษตรกรมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น ทำการเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังทำให้มีรายได้เสริมจากอาชีพหลัก เช่น การทำแปลงพริก ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 15,000 บาท/เดือน (6 เดือน) รวมถึงมีตลาดรับซื้อสินค้าเกษตรที่แน่นอน"พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 9 ธันวาคม 2559

ชาวไร่อ้อยอีสานเหนือถกเหตุจับรถบรรทุกกว่าสิบ พ้อปิดโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศดีกว่า

วันที่ 9 ธันวาคม 2559 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต.พันดอน อ.กุมภวาปี นายไพบูลย์ ธิติศักดิ์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ หลังโรงงานน้ำตาลทั้ง 4 แห่ง ใน จ.อุดรธานี เปิดหีบอ้อยมาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าถูกด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ กรมทางหลวง จับกุมรถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน ในเขต จ.อุดรธานี ถึง 10 คัน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมกับโรงงานน้ำตาลทั้ง 4 แห่ง ได้ทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ขนส่งอ้อย 19 ข้อ ตามคำสั่งของ คสช. เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน ข้อตกลงหลักประกอบด้วย การบรรทุกอ้อยสูงไม่เกิน 4 ม. โดยโรงงานทำคานกั้น 4.20 ม. ห้ามรถสูงเกินเข้าไปส่งอ้อย , ยื่นออกจากท้ายรถไม่เกิน 2.30 ม. และท้ายไม่บานออก ,ใช้สายรัดอ้อยไม่ให้หล่น , ติดธงแดงและไฟสีแดง ท้ายและข้างรถอ้อย , ติดป้ายแจ้งรถช้าท้ายรถ , สมาคม-โรงงาน ต้องดำเนินการตัดเก็บอ้อยตก และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเร่งด่วน รวมทั้งวินัยในการขับขี่ เช่นความเร็วในชุมชนไม่เกิน 40 กม./ชม. , รถอ้อยเว้นช่องว่างห่างกัน 100 ม. , ขับชิดซ้าย-ห้ามแซง และเมื่อรถเสียหรือจอด ต้องติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนด้านละ 150 ม.

“การจับกุมรถน้ำหนักเกินถึง 10 คัน ทั้งที่เราทำตามข้อตกลงทุกอย่าง โดยชุดจับกุมบอกว่า จับตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ฝ่ายทหาร มทบ.24 กำลังเร่งประสานกับทางกองทัพบก เพื่อขอทราบความชัดเจนจากทาง คสช. ถึงมาตรการกับรถบรรทุกอ้อยทั่วประเทศ ซึ่งระหว่างรอขอให้ทางชาวไร่อ้อยและรถบรรทุกอ้อย ต้องดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงทั้ง 19 ข้อ อย่างเคร่งครัด หากมีรถบรรทุกอ้อยถูกจับ นอกเหนือจากข้อตกลง 19 ข้อ ทางสมาคมฯ จะไม่เข้าไปรับผิดชอบ ให้ทางชาวไร่อ้อยและรถบรรทุกดำเนินการกันเอง ” นายไพบูลย์ กล่าว

ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ อดีต รมช.เกษตร เปิดเผยว่า หลังเปิดหีบอ้อยชาวไร่อ้อย และโรงน้ำตาลทุกแห่ง ได้ทำตามบันทึกข้อตกลงที่ทาง คสช.กำหนด 19 ข้ออย่างเคร่งครัด ซึ่งใน 19 ข้อ ไม่ได้ระบุเรื่องน้ำหนักบรรทุก แต่หากมีการบรรทุกสูงเกิน 4 เมตร ก็จะไม่สามารถนำอ้อยเข้าไปส่งในโรงงานได้ แต่เมื่อเราทำตามบันทึกข้อตกลง รถของอุดรธานีก็มาถูกทางกรมทางหลวงจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินถึง 10 คัน อยากให้ทางอธิบดีกรมทางหลวงได้ดูข้อเท็จจริงด้วย รถอ้อยวิ่งเพียงระยะสั้น ๆ 3 เดือนเศษ ไม่ได้วิ่งทั้งปีเหมือนรถขนอิฐ หิน ดิน ทราย ที่จะทำให้ถนนพังเสียหาย และเราก็เพิ่งจะเริ่มวิ่งได้เพียง 3 วันเท่านั้น ถ้าถนนจะพังคงไม่ใช่ ทำไมไม่ไปชั่งรถบรรทุกแถวสระบุรีไป

“ ในวันที่ 13 ธันวาคม นี้ ทางสมาคมอ้อยทั่วประเทศ จะมีการหารือในเรื่องนี้ เพราะหากถูกกรมทางหลวงจับทั่วประเทศ จะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะน้ำตาลทรายของไทยส่งออกมาเป็นอันดับ 2 ของโลก หากเกิดการเข้มงวดจับกุม ชาวไร่อ้อยจะเดือดร้อน ไปจนถึงโรงงานน้ำตาล หากจะทำแบบนี้ ก็ขอให้เลิกยกเลิกโรงงานน้ำตาลไปเลยทั้งประเทศ เรื่องนี้เราจะไปพบท่านนายรัฐมนตรีแจ้งให้รับทราบ ถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย เพื่อหามาตรการผ่อนปรนช่วยชาวไร่อ้อยด้วย ” นายธีระชัย กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 9 ธันวาคม 2559

มิตรผลกาฬสินธุ์” เปิดหีบอ้อยฤดูผลิต 59/60 คาดมีมากกว่า 3.1 ล้านตัน สะพัด 3.5 พันล้าน

กาฬสินธุ์ - โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์เปิดหีบรับซื้ออ้อยฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ตั้งเป้าอ้อยเข้าโรงงานกว่า 3.1 ล้านตัน คาดเงินสะพัดสู่เกษตรกรกว่า 3.5 พันล้านบาท เดินหน้าส่งเสริมตัดอ้อยสด ไม่เผาอ้อย พร้อมรณรงค์รถบรรทุกอ้อยปลอดภัย ใช้สายรัดก้อนอ้อยกันตกหล่น

               วันนี้ (8 ธ.ค. 59) ที่โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายมงคล อดทน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายคนอง ศักดิ์เพชร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มโรงงานมิตรผล นายวิชรัตน์ บุพผาพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานอ้อย นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์

               พร้อมด้วยนายอำเภอกุฉินารายณ์ ผู้นำชุมชน และเกษตรกรชาวไร่อ้อยร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีโยนอ้อยในวันเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ ถือฤกษ์เอาชัยว่าการหีบอ้อยฤดูกาลผลผลิตปี 2559/2560 เริ่มขึ้นแล้ว

               ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมทางโรงงานได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจมาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนแก่เกษตรกร และผู้ขับขี่รถบรรทุกอ้อยในช่วงเปิดฤดูกาลหีบอ้อย พร้อมมอบรางวัลให้กับเกษตรกรที่มีผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ และการรณรงค์การตัดอ้อยสด เพื่อรักษาค่าความหวาน

               นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 กล่าวว่า ประเพณีโยนอ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์นั้นได้จัดขึ้นประจำทุกปี เพื่อถือเอาฤกษ์เอาชัยว่าการเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลผลิตปี 2559/2560 เริ่มขึ้นแล้ว ที่ผ่านมาโรงงานได้ส่งเสริมการปลูกอ้อยมาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ทางโรงงานยังเน้นรณรงค์ให้เกษตรกรตัดอ้อยสด สะอาด ยอดสั้น ปราศจากดินทรายและสิ่งเจือปนเข้าหีบ รวมทั้งรณรงค์งดเผาอ้อย เพื่อทำให้อ้อยมีคุณภาพ ลดการเกิดมลภาวะ

               ในปีนี้โรงงานจะรณรงค์เปลี่ยนพื้นที่นาที่ไม่เหมาะปลูกข้าว มาปลูกอ้อยทดแทน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งน้ำน้อย ปัจจุบันอยู่ในช่วงยุคทอง เพราะราคาน้ำตาลค่อนข้างดี ส่งผลให้ราคาอ้อยดีด้วย

               โดยฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ราคาอ้อยเบื้องต้นที่รับซื้อจะอยู่ที่ตันละ 1,050 บาท ในค่าความหวาน 10 ซีซีเอส และหากรวมค่าความหวานด้วยแล้วเกษตรกรน่าจะขายอ้อยได้ประมาณตันละ 1,200 บาท นอกจากนี้ โรงงานยังร่วมกับหน่วยภาครัฐรณรงค์ให้บรรทุกอ้อยอย่างปลอดภัย โดยใช้สายรัดก้อนอ้อยป้องกันอ้อยตกหล่น ไม่บรรทุกสูงจนเกินไป และไม่เผาอ้อยใต้สายไฟอีกด้วย

               อย่างไรก็ตาม สำหรับปีการผลิต 2559/2560 คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยของเกษตรกรเข้ามายังโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ประมาณ 3,100,000 ตัน มีเกษตรกร 12,000 ราย มีรถบรรทุกประมาณ 3,000 คัน และคาดว่าจะมีเงินสะพัดในการรับซื้ออ้อยสู่เกษตรกรประมาณ 3,500 ล้านบาท

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ก.เกษตรฯสานต่ออนุรักษ์ดินตามรอยพ่อ

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

         พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน ให้อุดมสมบรูณ์และเหมาะสมแก่การเพาะปลูก และสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัย พัฒนาและแก้ไขปัญหา โดยระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้สนองนโยบายรัฐบาลและสามารถแก้ไขปัญหาดินให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูกไปแล้วกว่า40ล้านไร่

         พลเอกฉัตรชัยกล่าวต่อว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องดินอย่างต่อเนื่องโดยตั้งเป้าในปี 2560 ประเทศไทยจะมีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 4-5 แสนไร่ โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านระบบAgri-Map เพื่อให้ปรับข้อมูลให้ทันสมัยและครอบคลุมทั่วพื้นที่

          นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักทางด้านวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในการสำรวจดินและการพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีสถานีพัฒนาที่ดินกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่าง ๆ กว่า80,000คน เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ในการทำหน้าที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ ให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติเองและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไปได้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและน้ำ เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ มีทั้งการป้องกันและแก้ไขการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมและต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนตลอดไป

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ขัดขืนไม่ชั่งน้ำหนัก! ทางหลวงจับรถอ้อยน้ำหนักเกิน โดนมือดีฉกกุญแจ ยื้อยึดรถส่งตร.!!

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักสรรพยา (ขาเข้า) สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ประสาน ร.ต.เพิ่มศักดิ์ เจือทอง หัวหน้าชุดรักษาความสงบเรียบร้อย หมวดรักษาความสงบบที่ 2 กองรักษาความสงบที่ 3 จ.ชัยนาท นำกำลังพล 1 ชุด เข้าร่วมตรวจรถพ่วงบรรทุกอ้อย 2 คัน ทะเบียน 84-7958 สระบุรี ส่วนพ่วง ทะเบียน 83-7969 สุพรรณบุรี

อีกคันทะเบียน 85-9086 สระบุรี ส่วนพ่วงทะเบียน 84-7578 สุพรรณบุรี ที่ขัดขืนไม่ยอมชั่งน้ำหนัก อีกทั้งผู้ประกอบการตามมาดึงกุญแจรถและตัดสะพานไฟ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายรถของกลางส่งดำเนินคดี

นายไพศาล เปิดเผยว่า ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบน้ำหนักแบบเคลื่อนที่ ในพื้นที่รับผิดชอบบนถนนสาย 340 บริเวณกิโลเมตรที่ 149 หมู่ 5 ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท พบรถพ่วงบรรทุกอ้อย 2 คัน กำลังขับมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองชัยนาท เพื่อไปยังโรงงานน้ำตาลที่หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยคาดว่ารถทั้งสองคันนี้บรรทุกน้ำหนักเกิน จึงเรียกให้หยุดรถเพื่อทำการใช้อุปกรณ์ชั่งน้ำหนักตรวจสอบ แต่ปรากฏว่า นายสุธี อยู่พันธุ์ อายุ 49 ปี และนายสนธยา ดียิ่ง อายุ 28 ปีคนขับรถไม่ยินยอม จึงประสานเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ช่วยเจรจา จึงสามารถชั่งน้ำหนักได้และพบว่าน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

นายไพศาล กล่าวต่อว่า จากนั้นจึงเตรียมนำตัวคนขับรถ ส่งพนักงานสอบสวน สภ.สรรคบุรี ดำเนินคดี แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการขับรถเก๋งตามมาแล้วไปดึงกุญแจรถ พร้อมกับตัดสะพานไฟของรถ เพื่อไม่ให้นำรถของกลางไปที่ สภ.สรรคบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องประสานช่างทำกุญแจมาช่วยดำเนินการให้สตาร์ทรถได้ จนกระทั่งเวลา 6 โมงเย็นจึงสามารถนำรถของกลาง พร้อมคนขับรถ ส่งดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย โดยแจ้งข้อหาบรรทุกน้ำหนักเกิดกฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับ

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ระดมไฮเทครื้อฐานข้อมูลเกษตร พัฒนาเทคโนโลยีปรับปรุงการสำรวจ-วิเคราะห์ทะเบียนเกษตรกร

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ภาครัฐทราบความเคลื่อนไหวและสถานการณ์ของการเกษตร สามารถวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาทิศทางการเกษตรของประเทศ ดังนั้นการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรแต่ละปีจึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นต้องดำเนินการ แต่เนื่องจากมีพื้นที่การเกษตรกระจายอยู่ทั่วประเทศรวมถึงพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้การปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร โดยวิธีการให้เกษตรกรแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอเป็นไปได้ยาก กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ปรับปรุงกระบวนการและวิธีการปฏิบัติงาน โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ภูมิสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ ตำบล และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.)

นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมการปกคลองเพื่อตรวจสอบข้อมูลประชาชน, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เพื่อพัฒนาApplication FAARMis ที่ใช้ในการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร พร้อมทั้งวาดผังแปลงเพาะปลูกผ่านแท็บเลต (Tablet),สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เพื่อวาดผังแปลงเพาะปลูกจากภาพถ่ายดาวเทียม ผ่านโปรแกรม GISagro, กรมที่ดิน เพื่อตรวจสอบขอบเขตที่ดินของเอกสารสิทธิประเภทน.ส.4 และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อตรวจสอบขอบเขตที่ดินของเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำ FARMER MAP ซึ่งเป็นแผนที่แสดงสถานภาพของเกษตรกรด้านต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ โดยสังเคราะห์ข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนเกษตรกร สมาชิกครัวเรือน การถือครองที่ดิน การประกอบกิจกรรมเกษตร รายได้/หนี้สิน เครื่องจักรกลการเกษตร และแหล่งน้ำและพัฒนาระบบ Bisiness Intelligence (BI) เพื่อแสดงข้อมูล FARMER MAP แบบออนไลน์สามารถแสดงข้อมูลได้ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางการปรับปรุงทะเบียนเกษตรปี 2560 รับทราบปัญหาในการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรในปีที่ผ่านมาเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไข และมุ่งสู่การพัฒนาปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องครบถ้วนมากที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บาทเปิด 35.62 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 35.62 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มแข็งค่าจากแรงขายดอลล์ ตลาดจับตาผลประชุม ECB-FED

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.62 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ แข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.64 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากมีแรงเทขายดอลลาร์

 "บาทแข็งค่าจากเย็นวานนี้เล็กน้อย หลังดอลลาร์อ่อนค่าตามแรงเทขายทำกำไรหลังจากปรับตัวแข็งค่าขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้านี้ " นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบวันนี้ไว้ระหว่าง 35.55-35.65 บาท/ดอลลาร์ สำหรับปัจจัยที่ตลาดจับตามองในระยะนี้ คือ ผลประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกลางสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มมิตรผล เผยนวัตกรรมการผลิตน้ำตาลและเกษตรสมัยใหม่

กลุ่มมิตรผล นำโดย คุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ  ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจกลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล, คุณอัมพร กาญจนกําเนิด  ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานการผลิต และการตลาด กลุ่มมิตรผล พร้อมคณะผู้บริหาร นำนักวิชาการผู้เข้าร่วมการประชุมอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 เยี่ยมชมนวัตกรรมการผลิตน้ำตาลและเกษตรสมัยใหม่ของกลุ่มมิตรผล ต้นแบบสู่การผสานการพัฒนาชาวไร่และชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกษตรกรรายเล็กสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งเยี่ยมชมเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลและธุรกิจต่อเนื่องอันทันสมัย พร้อมให้ความรู้การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอ้อย เพื่อเป็นต้นแบบการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน แก่นักวิชาการกว่า 80 ประเทศทั่วโลกในงานประชุมสมาคมอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รง.หยุดซ่อม-หีบอ้อยช้าฉุดเอทานอลต่ำ “อนันตพร”สั่งเช็กปริมาณทั่วปท.3เดือน

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีความกังวลต่อสถานการณ์ตึงตัวของการผลิตเอทานอลช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ปัจจุบันมีปริมาณการใช้รวมเฉลี่ย 3.6 ล้านลิตรต่อวัน และมีปริมาณผลิต 4.9 ล้านลิตรต่อวัน แต่ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีผู้ผลิต 3 รายหยุดผลิตตามแผน ทำให้เอทานอลหายจากระบบจำนวน 1ล้านลิตรต่อวัน เหลือ 3.9 ล้านลิตร ประกอบกับมีการเลื่อนเปิดหีบอ้อยจากแผนเดิมคือปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเป็นธันวาคมของทุกปี เป็นเปิดหีบจริงวันที่ 6 ธันวาคม ทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบกับการจัดหาของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะรายที่มีปริมาณเอทานอลคงเหลือต่ำ

 “เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทาง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีหนังสือให้ผู้ค้าที่เป็นผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์เพื่อจำหน่ายต้องรายงานการผลิต การซื้อ การจำหน่ายปริมาณการใช้ผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ และปริมาณเอทานอลคงเหลือรายวันให้กรมธุรกิจพลังงานทราบในทุกวันทำการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559- 28 กุมภาพันธ์ 2560” นายวิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้ ทาง ธพ.จะออกตรวจสอบปริมาณการผลิต ปริมาณการจำหน่าย และปริมาณเอทานอลคงเหลือ ณ โรงงานผลิตเอทานอล และสถานที่เก็บเอทานอลทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบตัวเลขว่าตรงกับที่รายงานรัฐหรือไม่

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กรมโรงงานฯ ชี้แจงกรณีสั่งปรับปรุงโรงงานเอทานอลเร่งกำจัดภูเขาก๊าซชีวภาพ ใน 4 สัปดาห์

          กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ขอเรียนชี้แจง กรณีข่าวภูเขาก๊าซชีวภาพ ที่พองขึ้นจากบ่อกักเก็บน้ำกากส่าหรือน้ำเสียของโรงงานผลิตเอทานอล บริษัทไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่จำกัด (มหาชน) อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้สร้างความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณโดยรอบพื้นที่ชุมชน และยังเกิดปัญหาบ่อเก็บน้ำกากส่าซึ่งเกิดก๊าซสะสมจำนวนมาก ทำให้ผ้าใบคลุมบ่อโป่งพองสูงขึ้น จนชาวบ้านได้รับกลิ่นเหม็นและเกิดวิตกกังวลว่าเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดการระเบิด

          ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ประสานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรีทำหนังสือสั่งการ ให้โรงงานปรับปรุงแก้ไข ไม่ให้เกิดก๊าซเพิ่มมากขึ้นและให้มีการกำจัดก๊าซในบ่อกักเก็บน้ำกากส่าหรือน้ำเสียของโรงงาน โดยใช้วิธีเผาทิ้งหรือนำมารีไซเคิลกลับไปใช้ในบอยเลอร์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเกิดมลภาวะเรื่องกลิ่นเพิ่มขึ้นด้วยและในส่วนของน้ำเสียก็จะให้มีการนำไปบำบัดให้ได้คุณภาพตามค่ามาตรฐานประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วนำมาใช้ในภาคเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้อยู่ในสภาวะปกติ ภายใน 3 - 4 สัปดาห์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กระทรวงพลังงานเล็งดึงสต๊อกข้าวเสื่อมคุณภาพ 4 ล้านตันมาผลิตเอทานอล

กรมธุรกิจพลังงานเตรียมถกผู้ผลิตเอทานอลสัปดาห์หน้า ดึงสต็อกข้าวเสื่อมคุณภาพที่คาดว่ามี 4 ล้านตันมาผลิตเอทานอล พร้อมออกคำสั่งให้ผู้ค้าและผลิตเอทานอล 18 ราย รายงานการผลิต การซื้อ จำหน่ายทุกวัน เริ่ม 1 ธ.ค.-28ก.พ.60 แก้ไขเอทานอลตึงตัวพร้อมทบทวนประกาศเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ที่ต้องประกาศสิ้นเดือนนี้

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่าขณะนี้มีนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการนำข้าวเสื่อมคุณภาพในสต็อกรัฐซึ่งได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการปริมาณ 4 ล้านตันที่ยังคงเก็บไว้ในโกดังเพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอล ดังนั้นภายในสัปดาห์หน้าจะต้องหารือกับผู้ผลิตเอทานอลถึงความเป็นไปได้เนื่องจากที่ผ่านกระทรวงพาณิชย์เองเคยนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาประมูลแล้วแต่ราคาที่ประมูลหากนำมาผลิตเอทานอลยังไม่คุ้มค่า

นอกจากประเด็นดึงข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเอทานอลแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ทางผู้ค้าน้ำมัน ได้แก่ เชฟรอน (คาลเท็กซ์) เอสโซ่และบมจ.ปตท. ได้ทำหนังสือขอให้นำสำรองเอทานอล 1% มาใช้เพราะเอทานอลตึงตัวล่าสุดกรมฯยังไม่เห็นความจำเป็นในการลดสำรองเพราะพบว่าปริมาณเอทานอลไม่ถึงกับขาดแคลน แต่เพื่อป้องกันจึงได้มีหนังสือลงนามคำสั่ง โดย รมว.พลังงานกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้ค้าเอทานอล 18 ราย (21 โรงงาน) รายงานการผลิต การซื้อ การจำหน่าย ปริมาณเอทานอล คงเหลือรายวันให้กรมฯทราบภายในเวลา 11.00 น.ของวันทำการถัดไปทุกวันตามแบบที่กรมฯกำหนดเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.59 จนถึง 28 ก.พ.2560 หากไม่ดำเนินการจะถือกระทำผิดตาม พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ปัญหาเอทานอลตึงตัว คาดว่าเกิดจากการวางแผนที่ผิดพลาดของผู้ค้า รวมกับผู้ผลิตมีการหยุดซ่อมบำรุง 3 ราย  รวม 5 โรงงาน ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณเอทานอลหายไปจากระบบถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน ประกอบกับฤดูกาลเปิดหีบอ้อยที่ล่าช้าออกไปจากเดิมที่จะหีบ 1 ธ.ค.เลื่อนเป็น 6 ธ.ค. อาจทำให้การผลิตเอทานอลช่วงเดือนธันวาคมนี้-กุมภาพันธ์ปีหน้าเกิดภาวะตึงตัว กระทบต่อผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 บางราย ที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์แต่หลายรายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

"ขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอล 18 ราย 21 โรงงาน คิดเป็นกำลังผลิตรวม 4.9 ล้านลิตรต่อวัน แต่ความต้องการใช้ปกติอยู่ที่ 3.6 ล้านลิตรต่อวัน และความต้องการใช้สูงสุดที่เคยเกิดขึ้นอยู่ที่ 3.8 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเอทานอลจึงไม่น่าจะขาด และเมื่อมีการเปิดหีบอ้อย 6 ธ.ค.นี้ไปแล้วก็น่าจะดีขึ้น" นายวิฑูรย์กล่าว

จากปัญหาภาคการผลิตเอทานอลดังกล่าว อาจต้องทบทวนแผนการยกเลิกหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์ E10 แก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งเดิมกรมฯจะต้องประกาศเดือนนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวในการยกเลิกการจำหน่ายมีผลวันที่ 1 ม.ค.61 รวมถึงมาตรการเพิ่มส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์ E20 แก๊สโซฮอล์ E10 ตามค่าความร้อนที่จะต่างกันราว 4-5 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเสิรมการใช้ E20 ออกไปก่อนเช่นกัน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ธพ. เร่งแก้ปัญหาเอทานอลขาดแคลน

กรมธุรกิจพลังงาน เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนเอทานอล หลังฤดูกาลเปิดหีบอ้อยช้า เอกชนหยุดผลิต สั่งรายงานปริมาณการผลิต ซื้อ จำหน่าย รายวัน - พิจารณายกเลิกหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์E10

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า จากฤดูกาลหีบอ้อยล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนด ประกอบกับการหยุดผลิตเอทานอลของผู้ประกอบการ 3 ราย รวม 5 โรงงาน ในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณเอทานอลหายไปจากระบบถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลให้การผลิตเอทานอลในช่วงเดือนธันวาคมนี้ - เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เกิดภาวะตึงตัว ส่งผลกระทบกับการจัดหาของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์บางราย โดยเฉพาะรายที่มีปริมาณเอทานอลคงเหลือต่ำ

โดยล่าสุด พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ผู้ค้าที่เป็นผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์เพื่อจำหน่าย รายงานปริมาณการผลิต การซื้อ การจำหน่าย ปริมาณที่ใช้ผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ และปริมาณเอทานอลคงเหลือให้กรมรับทราบทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม นี้ - 28 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนแก้ปัญหาการขาดแคลนเอทานอล โดยหากรายใดรายงานข้อมูลเท็จหรือไม่รายงานจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน

นอกจากนี้ นายวิฑูรย์ ยังเปิดเผยว่า จากสถานการณ์การตึงตัวของการผลิตเอทานอลที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐไม่มั่นใจในเสถียรภาพการผลิตเอทานอลของภาคเอกชน ดังนั้น กรมธุรกิจพลังงาน อาจต้องทบทวนแผนการยกเลิกหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์ E10 เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ E20 มากขึ้น เนื่องจากหากปรับมาใช้ E20 ทั้งหมด จะมีความต้องการใช้เอทานอลในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น 1-2 ล้านลิตรต่อวัน จากเดิมที่จะประกาศยกเลิกหัวจ่าย E10 ช่วงปีหน้า และให้ผู้ประกอบการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ส่วนแผนการรับซื้อข้าวในสต็อกรัฐบาลมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล

ล่าสุดได้รับแจ้งจากกระทรวงพาณิชย์ว่ามีข้าวที่คงค้างอยู่เกือบ 4 ล้านตัน ที่เสื่อมสภาพ เบื้องต้นจะประสานนำข้าวดังกล่าวมาใช้ในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตเอทานอล 18 ราย 21 โรงงาน คิดเป็นกำลังผลิตรวม 4.9 ล้านลิตรต่อวัน แต่ความต้องการใช้ปกติอยู่ที่ 3.6 ล้านลิตรต่อวัน และความต้องการใช้สูงสุดที่เคยเกิดขึ้นอยู่ที่ 3.8 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้น หากไม่มีสถานการณ์การหยุดผลิตเอทานอลและการเลื่อนเปิดฤดูหีบอ้อยเกิดขึ้น กำลังผลิตเอทานอลก็เพียงพอต่อความต้องการใช้

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ไทย-จีนร่วมมือพัฒนายุทธศาสตร์ทางศก.

ไทย – จีน พร้อม จับมือเดินหน้าพัฒนาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เน้นความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

มีกำหนดการเดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ระหว่างไทย – จีน หรือ JC เศรษฐกิจ ครั้งที่ 5 ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกระชับความ

สัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน ในระดับรองนายกรัฐมนตรี กำหนดทิศทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้

แน่นแฟ้นมากขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนกำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน คือ เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงด้านต่าง ๆ และการพัฒนาการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และ ICT/digital ไทยและจีนสามารถร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ที่สองประเทศมีความสนใจและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะแนวคิด One-Belt One-Road ที่ไทยพร้อมใช้จุดแข็งของไทยในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ที่ตั้ง ร่วมมือกับจีนในการขยายความร่วมมือ

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

'บิ๊กฉัตร'สั่งเร่งเครื่องเกษตรแปลงใหญ่ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ5-20ปี ตั้งเป้า2พันแปลงทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงาน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่าได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดทั่วประเทศ จัดทำแผนการดำเนินงานการขับเคลื่อนแปลงใหญ่ ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 เพื่อเร่งให้เกิดการขับเคลื่อนแปลงใหญ่ ตามโครงการสินเชื่อของรัฐบาล ขยายวงเงินจาก 5 ล้านบาท เพิ่มเป็น 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ขยายระยะเวลา 3 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าแนวทางการดำเนินงานแปลงใหญ่ และบูรณการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ มี 3 กลุ่มคือ

1. แปลงที่ได้ดำเนินการแล้วในปี 2559 จำนวน 600 แปลง ต้องมีการสรุปทบทวนข้อมูลและการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้ต่อเนื่องชัดเจน  และจัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จ

2. แปลงใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2560 อีกจำนวน 400 แปลง ให้ดำเนินการคัดเลือกแปลง โดยพิจารณาจาก

(1) จะต้องมีแหล่งน้ำในการผลิต เช่น พื้นที่ชลประทาน  มีบ่อบาดาล ฯลฯ  ทั้งนี้ ขึ้นกับชนิดสินค้าซึ่งบางสินค้าอาศัยน้ำฝนในการผลิต เช่น  ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เป็นต้น

 (2) มีกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ ที่รวมกลุ่มอยู่แล้วและมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการ โดยให้ดำเนินการชี้แจงสร้างความเข้าใจการดำเนินงานแปลงใหญ่ และรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ โดยจัดทำข้อมูล วิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย การพัฒนา พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการ และรับรองเป็นแปลงใหญ่โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2560 ก่อนเริ่มต้นฤดูกาลผลิต

3. แปลงเตรียมความพร้อม อีกจำนวน 512 แปลง เพื่อดำเนินการเหมือนแปลงใหม่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในปี 2560 แต่ยกเว้นให้รับรองแปลงได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2560 รวมทั้งหมด 1,512 แปลง จากเป้าหมายทั้งหมด 2 พันแปลง วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท รัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 3 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติวางไว้ภายใน 5-20 ปี เกษตรกรไทยมีรายได้เฉลี่ย 3.9 แสนบาทต่อปีต่อครัวเรือน เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ทุกกิจกรรมด้านเกษตร 36 อาชีพ มุ่งเน้นวางรากฐานอนาคตภาคเกษตรไทยยั่งยืนอย่างมั่นคง

"โครงการนี้รัฐบาลมีเป้าหมายให้เกษตรกรรายย่อยร่วมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นกลุ่มเกษตรกร, วิสาหกิจชุมชน, สหกรณ์การเกษตร มีแรงจูงใจเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้นมาพัฒนาการเกษตรเป็นค่าใช้จ่ายลงทุน จัดหาปัจจัยการผลิต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดหาเครื่องมือ เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ทางการเกษตร และอื่นๆ มีการตลาดที่จะนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่เหมาะสมได้  ซึ่งจะสามารถสร้างความยั่งยืนในอนาคตได้ต่อไป" นายสมชาย กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เร่งปั้น‘เกษตรกร’ทฤษฎีใหม่ ตั้งเป้า7หมื่นราย882อำเภอทั่วประเทศ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำกิจกรรมส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยคัดเลือกเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ เป้าหมาย 7 หมื่นราย ใน 882 อำเภอ อำเภอละ 80 ราย ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีกินมีใช้ ลดหนี้สิน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรม นำแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางเกษตรในพื้นที่ของตนเอง สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดรูปแบบในการประกอบอาชีพให้พึ่งพาตนเองได้ สามารถลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินงานกระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สำรวจเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ อำเภอละ 80 ราย และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน ให้เกษตรกรได้ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ร่วมกับเกษตรกร ในการจัดทำผังแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ และวางแผนในการจัดผังแปลงต่อไป โดยกระทรวงเกษตรฯให้การสนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้การขับเคลื่อนดังกล่าวเกิดผลสําเร็จเป็นรูปธรรม สำหรับในวาระครบ 100 วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต เพื่อสนองต่อโครงการพระราชดำริให้เกิดขึ้นจริงทั่วประเทศในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตได้แก่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ให้แก่เกษตรกรรายละ 5 ต้น ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2560 และกระทรวงจะจัดให้มีงานเปิดตัวโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในวาระครบ 100 วัน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วิตกศก.โลก-สินค้าเกษตรต่ำฉุดเชื่อมั่นวูบ

                    ผู้บริโภคยังวิตกเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำฉุดดัชนีความเชื่อมั่นลด   

                      น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้สำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่าเท่ากับ 35.70 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ 36.4 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันเท่ากับ 28.4 ลดลงจาก 29.4 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต 3 เดือนข้างหน้า มีค่า 40.6 ลดลงจาก 41.1 ซึ่งค่าดัชนี ทุกรายการอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำ มีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอน ทำให้ภาคธุรกิจของไทยต้องปรับตัว เพื่อลดต้นทุนต่างๆ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคแรงงาน

“แม้ว่าที่ผ่านมา ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบางตัว จะสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นในลักษณะการกระจุกตัว มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ามากขึ้น หนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ราคาข้าวตกต่ำ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตล้นตลาดเกินความต้องการของผู้บริโภค โดยรัฐบาลได้พยายามหามาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งผู้ที่มีรายได้น้อย อย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ที่มีรายได้น้อย โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตแก่ชาวนา โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือชาวประมง และขยายเวลามาตรการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางของประชาชน ต่อไปอีก 6 เดือน คงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)ไว้ที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค

ทั้งนี้ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 46.4 ปรับลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 46.5 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ กังวลจากปัญหารายได้ ที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายหนี้ภาคครัวเรือน ที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้ง รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่เชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54.2 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่ 54.9 สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัว

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จ่อถกโละสต๊อกข้าวเน่าทำเอทานอล พร้อมทบทวนแผนเลิกโซฮอล์ 91  

         กรมธุรกิจพลังงานเตรียมถกผู้ผลิตเอทานอลสัปดาห์หน้าสนองนโยบายรัฐดึงสต๊อกข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเอทานอล หลังได้รับแจ้งมีปริมาณเบื้องต้น 4 ล้านตัน พร้อมออกคำสั่งให้ผู้ค้าและผลิตเอทานอล 18 รายรายงานกรผลิต การซื้อ จำหน่ายทุกวันเริ่ม 1 ธ.ค.-28 ก.พ. 60 และปัญหาเอทานอลตึงตัวทำให้ต้องทบทวนประกาศเลิกแก๊สโซฮอล์ 91

                นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการนำข้าวเสื่อมคุณภาพในสต๊อกรัฐซึ่งได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการปริมาณ 4 ล้านตันที่ยังคงเก็บไว้ในโกดังเพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอล ดังนั้นภายในสัปดาห์หน้าจะต้องหารือกับผู้ผลิตเอทานอลถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เองเคยนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาประมูลแล้วแต่ราคาที่ประมูลหากนำมาผลิตเอทานอลยังไม่คุ้มค่า

              “ได้รับรายงานว่าข้าวเสื่อมคุณภาพนำไปผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ได้ ก็ต้องดูว่าถ้าจะทำเอทานอลหากจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ต้องประมูลราคา เพราะลำพังแค่บวกค่าขนส่งมาก็อาจจะไม่คุ้ม โดยราคาต้องสู้กับมันสำปะหลังได้เพราะโรงงานผลิตเอทานอลที่จะผลิตจากข้าวได้จะเป็นโรงงานที่ผลิตจากมันสำปะหลังเท่านั้น และหากนำเข้ามาจะกระทบกับมันฯ หรือเปล่า” นายวิฑูรย์กล่าว

               อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางผู้ค้าน้ำมัน ได้แก่ เชฟรอน(คาลเท็กซ์) เอสโซ่ และ บมจ.ปตท. ได้ทำหนังสือขอให้นำสำรองเอทานอล 1% มาใช้เพราะเอทานอลตึงตัว ล่าสุดกรมฯ ยังไม่เห็นความจำเป็นในการลดสำรองจึงได้มีหนังสือคำสั่งที่ลงนามโดย รมว.พลังงานกำหนดให้ผู้ผลิตที่เป็นผู้ผลิตเอทานอล 18 ราย (21 โรงงาน) รายงานการผลิต การซื้อ การจำหน่าย ปริมาณเอทานอล คงเหลือรายวันให้กรมฯ ทราบภายในเวลา 11.00 น.ของวันทำการถัดไปทุกวันตามแบบที่กรมฯ กำหนด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 59 จนถึง 28 ก.พ. 2560 หากไม่ดำเนินการจะถือว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง

               นายวิฑูรย์กล่าวว่า ปัญหาเอทานอลตึงตัวนั้นคาดว่าเป็นการวางแผนที่ผิดพลาดของผู้ค้า และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ผลิตมีการหยุดซ่อมบำรุง 3 ราย รวม 5 โรงงาน ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณเอทานอลหายไปจากระบบถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน ประกอบกับฤดูกาลเปิดหีบอ้อยที่ล่าช้าออกไปจะส่งผลให้การผลิตเอทานอลช่วงเดือนธันวาคมนี้-กุมภาพันธ์ปีหน้าเกิดภาวะตึงตัว กระทบต่อผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 บางรายที่ใช้เอทานอลผสมเป็นแก๊สโซฮอล์

               “ขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอล 18 ราย 21 โรงงาน คิดเป็นกำลังผลิตรวม 4.9 ล้านลิตรต่อวัน แต่ความต้องการใช้ปกติอยู่ที่ 3.6 ล้านลิตรต่อวัน และความต้องการใช้สูงสุดที่เคยเกิดขึ้นอยู่ที่ 3.8 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเอทานอลจึงไม่น่าจะขาดและเมื่อมีการเปิดหีบอ้อย 6 ธ.ค.นี้ไปแล้วก็น่าจะดีขึ้น” นายวิฑูรย์กล่าว      

        สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐไม่มั่นใจในเสถียรภาพการผลิตเอทานอลของภาคเอกชน ดังนั้นกรมฯ อาจต้องทบทวนแผนการยกเลิกหัวจ่ายแก๊สโซฮอล์ E10 แก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งเดิมกรมฯ จะต้องประกาศเดือนนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวในการยกเลิกการจำหน่าย มีผลวันที่ 1 ม.ค. 61 รวมถึงมาตรการเพิ่มส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์ E20 แก๊สโซฮอล์ E10 ตามค่าความร้อนที่จะต่างกันราว 4-5 บาทต่อลิตรเพื่อส่งเสริมการใช้ E20 ออกไปก่อนเช่นกัน 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กกร.ลุ้นมาตรการรัฐฟื้นเศรษฐกิจ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2559 โดยยังมีความกังวลว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ อาจไม่สามารถขยายตัว ตามกรอบเป้าหมายที่ตั้งเป้าว่าจะขยายตัว 3.3-3.5% เมื่อเทียบกับปี 2558 หลังจากที่การส่งออกเดือน ต.ค.ที่ผ่านมากลับมาสู่ภาวะหดตัว 4.2% และทำให้ 10 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกติดลบ 1% คาดว่าตลอดทั้งปี 2559 การส่งออกจะขยายตัว 0% แต่หากสถานการณ์แย่สุดจะติจะติดลบ 1%

ไตรมาส 4 ปีนี้ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยได้รับแรงฉุดทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ยังคาดหวังว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งต้องต้องติดตามภาวการณ์การส่งออก 2 เดือนสุดท้ายว่าจะเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องดูว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ต.ค ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณรวม 422,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ช็อปช่วยชาติจะเป็นแรงส่งที่ดีได้มากน้อยแค่ไหน”

นายอิสระกล่าวว่า ปี 2560 กกร.คาดว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศจะมาจากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายๆโครงการของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่น และทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตามภาครัฐ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การทยอยปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกจะช่วยหนุนมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และผลักดันการส่งออกในภาพรวม จึงมองว่าการส่งออกอาจขยายตัว 0.0-2.0% ทำให้ กกร.จึงยังคงกรอบประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2560 ไว้ที่ 3.5-4.0%

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : 5ธันวาคม‘วันดินโลก’ กษ.น้อมนำดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุดต่อปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรดิน การพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมไว้อย่างมากมาย จนเป็นที่ประจักษ์ว่า “พระองค์เป็นมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดของโลก” ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศและสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างอเนกอนันต์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านการค้นคว้า พัฒนา เป็นนักวิจัยที่สามารถดำเนินงานโครงการสำคัญๆ ด้วยพระองค์เอง

จากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ปัญหาที่ทรงพบบ่อยครั้ง นอกจากปัญหาเรื่องสภาพดินที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นพื้นฐานแล้ว ยังมีดินปัญหาอื่นๆ ทั้งทางเคมีและทางฟิสิกส์อีกด้วย การเพาะปลูกจึงให้ผลผลิตต่ำ เป็นผลให้ราษฎรมีฐานะยากจน พื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดิน ได้แก่ พื้นที่ดินพรุในภาคใต้ ซึ่งเป็นทั้งดินอินทรีย์ และดินเปรี้ยวจัด พื้นที่ดินเปรี้ยวจัดและดินเค็มในภาคกลาง และพื้นที่ดินทรายและดินตื้นในหลายภูมิภาค ด้วยพระอัจฉริยภาพสามารถจำแนกดินที่มีปัญหาตามภูมิภาคต่างๆ และจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อหาต้นเหตุของปัญหาและทดลองหาวิธีการแก้ไขปัญหาดินของภูมิภาคนั้นๆ ทรงศึกษาและมีแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินประเภทต่างๆ ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ และวิธีการทางธรรมชาติ อาทิ โครงการแกล้งดิน ต้นแบบการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดที่ประสบผลสำเร็จ การแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นต้น เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินจากหลายๆ สาเหตุกลับมาใช้ประโยชน์ได้ดี และแก้ไขปัญหาดินที่เสื่อมสภาพหมดทางฟื้นฟู ให้สามารถพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในด้านการพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นที่ประจักษ์และยอมรับอย่างกว้างขวางระดับสากล เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 สมาพันธ์สมาคมวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ จึงได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลก เพื่อเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์ฯ ในโอกาสเดียวกันได้ทูลขอพระราชทานให้วันที่ 5ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ เป็น “วันดินโลก” และในวันที่ 20 ธันวาคม 2556 สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้ “5 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันดินโลก”

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อไปว่า ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งในด้านการพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยดินในการเลี้ยงชีพ มิได้ดูแลรักษาดินอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมอย่างมาก ประกอบกับความเสียหายจากธรรมชาติ ด้วยพระปรีชาญาณอันลึกซึ้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงความรุนแรง และอันตรายของความเสื่อมโทรมดังกล่าว จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำประโยชน์สุขมาสู่พสกนิกร โดยทรงศึกษา วิจัย ทดลอง พัฒนา ทำให้เห็นเป็นแบบอย่างความสำเร็จ แล้วขยายผลให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติ โดยวิธีการหรือแนวทางเหล่านั้นล้วนเป็นวิธีการที่เรียบง่ายประหยัด เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้สะดวก ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล พระปรีชาสามารถในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นที่ประจักษ์และยอมรับอย่างกว้างขวางระดับสากล

สำหรับปี 2559 นี้ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดจัดงานวันดินโลกในหัวข้อ Soils and Pulses, Symbiosis for Life : ดินและถั่ว...เกื้อกูลชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับปีสากลแห่งถั่วเมล็ดแห้ง (International Year of Pulses)

ที่สหประชาชาติ กำหนดขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีน วิตามินและ

 เกลือแร่ที่หาง่าย ราคาถูก และปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้งที่มีน้ำน้อย ดังนั้นถั่วจึงเป็นพืชอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการของประชากรโลก ทำให้มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร และช่วยลดปัญหาความอดอยาก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยนอกจากพืชตระกูลถั่ว จะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยปลูกเพื่อประโยชน์ทางการบริโภค และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญ ในด้านการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน และแก้ปัญหา ดินเสื่อมโทรมด้วย

“นอกจากการจัดงานดินโลก ปี 2559 แล้ว กรมพัฒนาที่ดินยังได้ดำเนินโครงการ “เรียนรู้ น้อมนำ ทำตามที่พ่อสอน” ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง เดือนกันยายน 2560 เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขยายผลไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างการเรียนรู้แนวทาง การทรงงานด้านการพัฒนาที่ดินให้เกษตรในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงฟื้นฟูดิน สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมให้เกษตรกรสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน” นายสุรเดช กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุดรธานีคุมเข้มคำสั่งคสช. รถอ้อยสูงห้ามเข้าโรงงานเด็ดขาด ช่วยลดอุบัติเหตุ

อุดร-จำกัดความสูงรถอ้อยเข้ารง. 3

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม เป็นวันแรกของการเปิดหีบอ้อยประจำปี 2559-60 ที่สมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ รวมทั้งโรงงานน้ำตาล 4 แห่งใน จ.อุดรธานี คือ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี โรงงานน้ำตาลเกษตรผล โรงงานน้ำตาลเริ่มอุดม และโรงงานตาลไทอุดร ทำข้อตกลงการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน 19 ข้อ ตามคำสั่งของ คสช. เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน หากไม่ทำตามข้อตกลงจะถูกดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.อุดรธานี มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 18 ราย

อุดร-จำกัดความสูงรถอ้อยเข้ารง. 1

 ข้อตกลงหลักประกอบด้วย การบรรทุกอ้อยสูงไม่เกิน 4 เมตร (ม.) โดยโรงงานทำคานกั้น 4.20 ม. ห้ามรถสูงเกินเข้าไปส่งอ้อย, ยื่นออกจากท้ายรถไม่เกิน 2.30 ม. และท้ายไม่บานออก, ใช้สายรัดอ้อยไม่ให้หล่น, ติดธงแดงและไฟสีแดง ท้ายและข้างรถอ้อย, ติดป้ายแจ้งรถช้าท้ายรถ, สมาคม-โรงงาน ต้องดำเนินการตัดเก็บอ้อยตก และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเร่งด่วน รวมทั้งวินัยในการขับขี่ เช่นความเร็วในชุมชนไม่เกิน 40 กม./ชม., รถอ้อยเว้นช่องว่างห่างกัน 100 ม., ขับชิดซ้าย-ห้ามแซง และเมื่อรถเสียหรือจอด ต้องติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนด้านละ 150 ม.

นายไกรสอน แจ่มหอม นักวิชาการขนส่ง สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกขอการเปิดหีบอ้อย มีรถบรรทุกอ้อยเริ่มขนอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลตั้งแต่คืนที่ผ่านมา ทั้งนำมาส่งโรงงาน 4 แห่งของอุดรธานี และนำไปส่งโรงงานที่ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และเลย ทำให้ สนง.ขนส่ง จ.อุดรธานี ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจติดตาม พบว่าเรียบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องความสูง โรงงานน้ำตาลทั้ง 4 โรง ได้ติดตั้งคานจำกัดความสูงไว้ ก่อนให้รถอ้อยไปชั่งน้ำหนัก

อุดร-จำกัดความสูงรถอ้อยเข้ารง. 2

“ยังมีรถบรรทุกอ้อยบางคันสูงเกิน โรงงานได้จัดการแตกต่างกันออกไป บางโรงไม่ให้รถผ่านคานจำกัดความสูง แต่ให้กลับออกไปที่ลานที่จัดไว้ เพื่อทำการตกแต่งความสูงให้ถูกต้อง ก่อนกลับมาเข้าคิวใหม่อีกครั้ง จะต้องเสียเวลาและเสียคิวของรถไปด้วย ก็จะเห็นมีรถบรรทุกสูงเกินบางคันจอดรอทำการแก้ไขอยู่ บางโรงใช้วิธีแก้ไขรถอ้อยสูงเกิน จะเอารถมาคีบอ้อยออกก่อนผ่านคาน โดยอ้อยที่ถูกคีบออกจะเป็นของโรงงานทันที รถที่บรรทุกมาจะไม่เสียคิว หรือไปเข้าคิวใหม่

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 6 ธันวาคม 2559

รัฐมนตรีเกษตรฯ เผยนโยบายปี 60 เน้นการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ความมั่นคง ด้านหน่วยงานในสังกัดสนองนโยบายร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ

          รัฐมนตรีเกษตรฯ เผยนโยบายปี 60 เน้นการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ความมั่นคง ด้านหน่วยงานในสังกัดสนองนโยบายร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ

          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเน้นให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ความมั่นคง ประกอบด้วยนโยบายที่สำคัญหลายด้าน อาทิ โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการเกษตรอินทรีย์ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning)และการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นต้น อีกทั้ง ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อให้มีความก้าวหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรม และเพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

          นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานขับเคลื่อนตามนโยบายที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2560 โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 5 เรื่อง ได้แก่

          1) โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักไม่ต่ำกว่า 4 ชนิด/ราย และส่งมอบเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรรายใหม่จำนวน 70,000 ราย พร้อมให้คำแนะนำการปลูกแก่เกษตรกร รวมถึงติดตามประเมินผลและให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและสถาบันการศึกษา อีกทั้งจัดทำแปลงศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ด้วย

          2) โครงการเกษตรอินทรีย์ ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ 2,200 แปลงใน 8 ชนิดพืช และตรวจรับรองการคัดบรรจุพืชอินทรีย์จำนวน 60 โรง รวมถึง สร้างศูนย์ต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศจำนวน 25 โรง ถ่ายทอดความรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้กับผู้สนใจ 4,500 ราย นอกจากนี้ยังร่วมผลักดันจังหวัดยโสธรให้เป็นต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศ (ยโสธร Model) โดยเพิ่มประโยชน์การใช้พื้นที่ด้วยการปลูกพืชหลังการทำนา ได้แก่ แตงโม และถั่วลิสง ครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ไร่ พร้อมทั้งตรวจรับรองมาตรฐาน

          3) การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) สร้างแปลงต้นแบบการปรับเปลี่ยนพืช 6 ชนิด (ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ลำไย อ้อย และ มันสำปะหลัง) ในพื้นที่นำร่อง ปี 2559/60 รวม 31 จังหวัด 1,200ไร่ 4) การขับเคลื่อนองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยอบรมเกษตรกรเครือข่าย ศพก. เพื่อเตรียมพร้อมรวมกลุ่มการผลิตพืชตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ รวมถึง การแจ้งเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืชและสนับสนุนเอกสารวิชาการด้านพืช ตลอดจนทำแปลงต้นแบบพืชใน 321 ศพก. (จาก 882 ศูนย์) 66 จังหวัด พื้นที่ 1,000 ไร่ ซึ่งเน้นขยายผลการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานด้วยชีวภัณฑ์ ให้องค์ความรู้ด้านพืชผ่านระบบ Smart Box และ 5) แปลงใหญ่ กรมวิชาการเกษตร ประสานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ Single Command (SC) และทีมผู้จัดการแปลงเพื่อนำเทคโนโลยีลดต้นทุนและเครื่องจักรกลใช้ในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนการตรวจรับรอง GAP ให้สมาชิกแปลงใหญ่ 16 ชนิดพืช เกษตรกร 7,226 ราย ตลอดจนสร้างเกษตรกรและแปลงต้นแบบด้านพืชในพื้นที่แปลงใหญ่เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบถึงวิธีการดูแลรักษา การปลูกเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องในพื้นที่ รวม 53 จังหวัด 117 แปลง 2,958 ไร่ และให้ความรู้สมาชิกแปลงใหญ่อีก 3,560 รายด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 ธันวาคม 2559

กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบคุณภาพปัจจัยการผลิต

กรมวิชาการเกษตร ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบติดตามคุณภาพของปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างปุ๋ย พันธุ์พืช โดยปี 59 จับกุมได้ 30 ราย มูลค่า 83 ล้าน

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร จะเข้มงวดต่อการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรพร้อมให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบติดตามคุณภาพของปัจจัยการผลิตทางการเกษตรแม้จะผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วก็ตาม โดยส่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ออกตรวจสอบในแหล่งผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทั้งประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2560 กรมมีเป้าหมายในการตรวจวัตถุอันตรายนำเข้า 550 ตัวอย่าง ตรวจโรงงานผลิตวัตถุอันตราย 100 โรงงาน ตรวจร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการปัจจัยการผลิตคุณภาพ หรือร้าน Q-shop และร้านค้าที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น  23,570 ร้านค้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างทั้งปุ๋ยและวัตถุอันตรายมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งยังมีแผนตรวจติดตามคุณภาพวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนแล้ว

ทั้งนี้ ปี 2558 ได้มีการเข้าจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ฝ่าผืนกฎหมาย จำนวนทั้งหมด 17 ราย อายัดของกลางรวมจำนวน 271 ตัน  คิดเป็นมูลค่ากว่า 73 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 30 ราย อายัดของกลางรวม จำนวน 2,132 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 83 ล้านบาท

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 6 ธันวาคม 2559

บุกโรงงานปุ๋ยเถื่อนยึดสารเคมีตรวจ 'บิ๊กฉัตร'ชี้เกษตรกรอย่าหลงเชื่อโฆษณา

"บุกโรงงานบรรจุปุ๋ย สารเคมีปราบศัตรูพืชเถื่อน รอจำหน่ายจำนวนมาก สั่งอายัดทันที อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลั่น บิ๊กฉัตร สั่งลุยตรวจกทม. ปริมณฑล ชี้เกษตรอย่าหลงเชื่อโฆษณาทางโซเซียลมีเดีย"

6 ธ.ค. 59 นายสุวิทย์  ชัยเกียรติยศ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตรพร้อมด้วยสารวัตรเกษตรจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สวพ.5และศวพ.ฉะเชิงเทรา เข้าตรวจโรงงานผลิต แบ่งบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โรงงานผลิตปุ๋ย ที่ต.คลองเปรง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากได้รับเบาะแสจากการโฆษณาในsocial media ที่มีการโฆษณาอย่างแพร่หลายเพื่อป้องกันเกษตรกรหลงเชื่อ

นายสุวิทย์ กล่าวว่า โรงงานดังกล่าวในส่วนของการผลิตปุ๋ยไม่ได้ปิดแสดงใบอนุญาตผลิตปุ๋ย ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยไว้ที่โรงงาน และสภาพโรงงานในส่วนของการผลิตสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีขนาดใหญ่มากแต่ไม่ผ่านเกณฑ์โรงงานผลิตทั้งเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยของแรงงานผู้ผลิตและตรวจพบผลิตภัณท์สำเร็จรูปอยู่ในขั้นตอนการผลิตและที่บรรจุลงในภาชนะพร้อมจำหน่ายจำนวนมาก

"สารวัตรเกษตรจึงได้เก็บตัวอย่างสินค้าทุกชนิดทั้งสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยเกล็ด และสารปรับปรุงดินนำส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เพื่อตรวจปริมาณสารว่าครบถ้วนตามสูตรที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือไม่ โดยไม่มีเจ้าของโรงงานมาแสดงตน มีเพียงคนงานที่เฝ้าโรงงานจำนวน2คน ไม่สามารถให้รายละเอียดได้.เจ้าหน้าที่ตรวจพบวัตถุอันตราย468ลิตร อายัดไว้348ลิตร ปุ๋ยเคมี4950 กก.วัตถุดิบในการผลิตวัตถุอันตราย650กก.จึงได้เก็บตัวอย่างวัตถุอันตรายจำนวน9รายการปุ๋ยเคมี3รายการไปตรวจสอบคุณภาพ"นายสุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้หากผลการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการพบสารเคมี และปุ๋ยดังกล่าวไม่ถูกต้องตามสูตรที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือเอกสารตามกฎหมายเช่น ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร หรือใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ย ไม่ถูกต้อง

กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานความผิดตามพ.ร.บ.ปุ๋ยฯ และพ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ ต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่านอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรจะขยายผลในการตรวจสอบโรงงานผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตรแห่งอื่นทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อคุ้มครองให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสมกับชนิดพืชซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯที่ต้องการยกระดับสินค้าเกษตรมีคุณภาพ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

'กกร.'ห่วงส่งออกฉุดจีดีพีปีนี้พลาดเป้า

"กกร." จับตาส่งออกหวั่นฉุดจีดีพีหลุดกรอบ 3.3-3.5% จับตาปีหน้าเศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวจากราคาน้ำมัน หวังการลงทุนภาครัฐดันจีดีพีปีหน้าโต 3.5-4%

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเนื่องแม้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นไฮซีซันของหลายธุรกิจ แต่ยังพบว่า ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร โดยเฉพาะภาคส่งออก ที่ยังคงติดลบต่อเนื่อง ทำให้ภาคเอกชนคาดว่า ปัจจัยเหล่านี้อาจจะกระทบต่อเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกเดือนต.ค.ที่ลดลง 4.4% อาจทำให้การส่งออกทั้งปี อยู่ในกรอบ 0% ถึงติดลบ 1% ได้ ประกอบกับบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนซบเซาอาจทำให้เศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนของปีมีแนวโน้มติดลบ

ส่วนปัจจัยต่างประเทศยังต้องจับตาคือ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จึงคาดว่าเศรษฐกิจปี 2559 อาจไม่ได้ตามเป้าหมาย จากที่คาดการณ์ไว้จะขยายตัวในกรอบ 3.3-3.5 % หรืออาจจะต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้ โดยยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม

“เศรษฐกิจไทยปีนี้ คงขยายตัวไม่ถึงเป้าหมายที่ 3.5% แต่คงไม่ต่ำกว่า 3.3% เพราะการส่งออกเดือนต.ค.ติดลบกว่า4% ต้องติดตามดูในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ ว่าทิศทางการค้าโลกจะเป็นอย่างไร หลังสัญญาณคำสั่งซื้อยังชะลอตัว แต่ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมันดิบ และยางพารา เริ่มปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้”

หวังลงทุนรัฐเคลื่อนจีดีพีปีหน้า

นายอิสระ กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2560 ประเมินว่า จะขยายตัวได้ในกรอบเดิมที่ 3.5-4% จากแรงขับเคลื่อนการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการของภาครัฐ และแรงกระตุ้นจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี 2559 อาทิ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรวม 4.22 แสนล้านบาท มาตรการสวัสดิการรัฐในการจ่ายเงินให้กลุ่มคนจนที่ไม่ใช่เกษตร มาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยว 3 หมื่นบาท และมาตรการช้อปช่วยชาติ ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะช่วยทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท

รวมถึง การออกพันธบัตรวงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อจัดสรรเพิ่มให้กับ 18 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 5,000-6,000 ล้านบาท ในช่วงก.พ-ก.ย.2560 จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4- 0.5%

ทั้งนี้กกร.ได้จัดทำ Workshop ในส่วนกลาง ระหว่างวันที่ 14-16 ธ.ค.นี้ โดยให้แต่ละกลุ่มจังหวัดจัดทำรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในก.พ. 2560

ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวยังเติบโต แม้ว่ามาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายของภาครัฐจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง แต่ยังมีนักท่องเที่ยวจากยุโรป และรัสเซีย เข้ามาทดแทนซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2560

นอกจากนี้ การทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันในตลาดโลก น่าจะช่วยหนุนมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และผลักดันการส่งออกในภาพรวมให้สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2560 โดยมองว่าการส่งออกอาจจะขยายตัว 0-2 %

ห่วงปัจจัยภายนอกฉุดศก.ไทย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด คือ แนวนโยบายด้านการค้า การลงทุนของรัฐบาลทรัมป์ โดยเฉพาะการทบทวนกรอบการค้า การลงทุนกับประเทศต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลก แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ความเสี่ยงจากการเลือกตั้งของหลายประเทศในยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ต้องติดตามโฉมหน้าของรัฐบาลชุดใหม่ว่า จะสร้างความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจยุโรป ปัญหาภาคธนาคาร และค่าเงินยูโร ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในระดับใด

เร่งหารือธปท.ทำธุรกรรมอิหร่าน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสภาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร. ได้ให้สมาคมฯ เร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อปรับปรุงการทำธุรกรรมกับอิหร่าน ให้สะดวกรวดเร็ว หลังสหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ธนาคารพาณิชย์ของไทยที่เชื่อมโยงธุรกรรมระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ยังไม่สามารถให้บริการด้านการชำระเงินในสกุลเงินอื่นได้ นอกจากสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสในการทำธุรกิจ และเป็นอุปสรรคต่อการค้าขายระหว่างกัน

“สมคิด”ดึงยักษ์จีนลงทุนไทย

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือกับนาย นาย Liu Fuming ประธานบริษัท MCC Group จากประเทศจีน วานนี้(6ธ.ค.)ว่า บริษัท MCC Group เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโลหะที่ใหญ่ที่สุดของจีน ว่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างถนน รถไฟ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมถึงการร่วมลงทุนบริเวณพื้นที่มักกะสัน

ประธานบริษัท MCC Group กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสหารือกับผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และได้ลงพื้นที่ที่มักกะสัน รวมทั้งโครงการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตที่บริษัทสนใจจะลงทุนเกี่ยวกับการผลิตด้วย

ทั้งนี้เขาได้เชิญชวนให้บริษัทมาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (IHQ) ที่ไทย เพราะปัจจุบันไทยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพและมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก

“บริษัทแห่งนี้ทำอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นยักษ์ใหญ่ของจีน สนใจมาลงทุนในไทย จากปัจจุบันที่ลงทุนในแถบประเพื่อนบ้านไทยอยู่แล้ว เมื่อมาลงลงทุนในไทยคงจะมีอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจของบริษัทนี้ตามมาด้วย ผมได้แต่บอกไปว่าทำไมถึงมาช้า น่าจะมาเร็วกว่านี้ ไทยมีนโยบายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)อยู่ ซึ่งเขาน่าจะสนใจเข้ามาลงทุน” นายสมคิด กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ระดมสมองนักวิชาการ60ชาติ ขับเคลื่อนงานพัฒนา-สร้างนวัตกรรมอ้อยและน้ำตาล

ไทยเปิดเวทีระดมมันสมองนักวิชาการจาก 60 ประเทศกว่า 1,500 คน ประชุมวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติครั้งที่ 29

ร่วมพัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านอ้อยและน้ำตาล พร้อมแสดงศักยภาพการเป็นผู้นำของไทย รองรับเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกกว่า 6 ล้านไร่ภายใน 10 ปี

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29

เปิดเผยว่า สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (TSSCT) ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการหรือทีเส็บ เตรียมจัดการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมกันจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอ้อยและน้ำตาลจากนานาประเทศทั่วโลก ด้วยแนวคิด “Sufficient and Sustainable Agri-Sugar Cane from Small Farmers to Global Exporters”

ทั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากภาครัฐ ผู้ประกอบการจากภาคเอกชน และมีนักวิชาการ ประมาณ 1,500 คนจากทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ

“การที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพ และบทบาทของเราในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลในตลาดโลกของประเทศไทย โดยปัจจุบันเรามีปริมาณการผลิตอยู่ในอันดับ 5 ของโลก และมีการส่งออกอยู่ในอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมายระยะเวลา 10 ปี คือในปี 2569 จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกประมาณ 6 ล้านไร่ ส่งผลมีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นประมาณ 59% และผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นประมาณ 24% รวมถึงมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 39% อันจะทำให้ในปี 2569 ประเทศไทยในปีมีรายได้เพิ่มจากอุตสาหกรรมอ้อย เพิ่มเป็น 500,000ล้านบาท” นายเชิดพงษ์กล่าว

ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้ จะมีการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และการแสดงผลงานวิจัยจากประเทศต่างๆ ในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ โดยเป็นผลงานนำเสนอของนักวิชาการชาวไทยถึง 40 เรื่อง รวมทั้งยังมีการจัดแสดงเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตลอดกระบวนการผลิต และผลพลอยได้ของอ้อยและน้ำตาลอีกด้วย

อนึ่ง ก่อนที่จะมีการประชุมนักวิชาการดังกล่าว ได้มีการนำผู้เข้าร่วมประชุมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว อุทยาน

 วิจัยมิตรผล และบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด ระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม 2559 และหลังจากการประชุมระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2559 ก็จะไปดูงานโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จังหวัดสุโขทัย และนครสวรรค์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ไทยเจ้าภาพ ประชุมอ้อยนํ้าตาลนานาชาติ

      อ้อยเป็น 1 ใน 4 พืชเศรษฐกิจของประเทศไทย รองจาก ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในปัจจุบันประเทศไทยผลิตน้ำตาลทรายได้มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และส่งออกมากเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล โดยปริมาณการส่งออกแต่ละปีมากกว่า 7 ล้านตัน

     สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์โรงงานอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้น ระยะเวลา 10 ปี คือในปี 2569 จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกประมาณ 6 ล้านไร่ จากปัจจุบันที่มีประมาณ 8-9 ล้านไร่ จะทำให้มีน้ำตาลเพิ่มขึ้นประมาณ 59 % และเอทานอลประมาณ 24% รวมถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 39% จะทำให้ไทยมีรายได้เพิ่มจากอุตสาหกรรมอ้อย ประมาณ 500,000 ล้านบาทในปี 2569

    นอกจากนี้สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (TSSCT) ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ในระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคม 2559 นี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่

    นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 เปิดเผยว่า การจัดประชุมครั้งนี้จะมีการแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอ้อยและน้ำตาลจากนานาประเทศทั่วโลก โดยจะมีตัวแทนภาครัฐ ผู้ประกอบการจากภาคเอกชน และนักวิชาการทั่วโลกกว่า 1,500 คนจาก 60 ประเทศ เข้าร่วมประชุม

   ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ

    “การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพและบทบาทของไทยในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลในตลาดโลก และเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ที่ประชุมจะมีการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และการแสดงผลงานวิจัยจากประเทศต่าง ๆ ในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ โดยเป็นของนักวิชาการไทยถึง 40 เรื่อง และมีการจัดแสดงเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตลอดกระบวนการผลิต และผลพลอยได้ของอ้อยและน้ำตาลอีกด้วย” นายเชิดพงษ์ กล่าว

   นอกจากนี้ยังจะมีการนำผู้เข้าร่วมประชุมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว อุทยานวิจัยมิตรผล และบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จังหวัดสุโขทัย และนครสวรรค์ อีกด้วย

    ด้านนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีองค์ปาฐกของการประชุม คือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่จะมานำเสนอประเด็นสำคัญ ในหัวข้อ การพัฒนาสภาพแวดล้อมและเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้อย่างยั่งยืน โดยนำเสนอการพัฒนาที่ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกษตรกรรายเล็กสามารถอยู่รอด นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจอื่น ๆ จากวิทยาการระดับโลก เช่น จากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส

  “ผลจากการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยอย่างแน่นอน และจะเป็นการก้าวสู่ผู้นำการผลิตและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค และจะทำให้เห็นว่า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก ที่มีความน่าสนใจจะลงทุนในเวลาเศรษฐกิจของประเทศ และของโลกเป็นเช่นนี้” นายกสมาคม

นักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยกล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

กอน.จับ9รง.น้ำตาลเซ็นMOUไม่รับเงินคืน

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า กอน.เตรียมลงนาม (MOU) กับโรงงานน้ำตาลทรายจำนวน 9 โรงงาน เพื่อยุติปัญหากรณีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) คืนเงินรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้โรงงานน้ำตาลทรายที่มีคำตัดสินแล้วจำนวน 4 โรงงานส่วนอีก 5 โรงงานยังอยู่ระหว่างพิพากษา 

โดยการลงนาม MOU ครั้งนี้ เพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 9 โรงงาน จะไม่รับเงินรักษาเสถียรภาพฯคืน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับโรงงานน้ำตาลทราย ในการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกองทุนฯในอนาคต คาดว่าจะลงนามได้ในเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้ กอน.ยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดวิธีการที่จะไม่รับเงินรักษาเสถียรภาพฯคืน

ทั้งนี้มีอยู่ 2 แนวทางคือ 1.การไม่รับเงินคืนตั้งแต่แรก ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ดีสุด 2.รับเงินไปก่อน แล้วคืนทีหลัง วิธีนี้อาจมีภาระภาษีเกิดขึ้น ดังนั้นทางโรงงานน้ำตาลทรายจึงขอให้ กอน.สร้างความชัดเจนว่า กรณีรับเงินคืนไปแล้วจะไม่ต้องมีการชำระภาษีใน

 ภายหลัง เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระสำหรับโรงงานเอง โดยเรื่องนี้ กอน.จึงต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป

นายสมศักดิ์กล่าวว่า คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก กอน.ได้กำหนดการเรียกเก็บเงินรักษาเสถียรภาพฯในอัตรา 0.5% ของรายได้สุทธิของโรงงานในแต่ละฤดูกาล แต่ในฤดูการผลิตปี 2542/2543-ฤดูการผลิตปี 2545/2546 โรงงานน้ำตาลบางส่วนค้างชำระหรือชำระล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ขณะที่มี 9 โรงงาน ได้ให้ความร่วมมือชำระเงินตามปกติ แต่เห็นว่าไม่เกิดความเป็นธรรม เพราะมีบางรายไม่ชำระ จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ในภายหลังโรงงานน้ำตาลที่ค้างชำระประมาณ 24 โรงงาน คิดเป็นเงิน 583.89 ล้านบาท ได้นำเงินมาชำระคืนกองทุนฯเรียบร้อยแล้ว

ในขณะเดียวกันเงินรักษาเสถียรภาพฯเป็นเงินที่ถูกหักจากรายได้สุทธิของเขตคำนวณราคาอ้อยที่โรงงานสังกัดอยู่ โดยเป็นเงินของชาวไร่และโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70:30 ดังนั้นการคืนเงินจะต้องคืนให้ชาวไร่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากในการจ่ายเงินคืน และจะกระทบต่อสถานะกองทุนฯในอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ดึง9โรงงานน้ำตาลเซ็นไม่รับเงิน

กอน. เตรียมเอ็มโอยู 9 โรงงานน้ำตาล ทำสัญญาไม่เอาเงินรักษาเสถียรภาพคืน บอร์ดเคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาล 2559/60 ที่ 1,050 บาท/ตัน และเขต 5 ที่ 980 บาท/ตัน จ่อเปิดหีบ 6 ธ.ค.นี้

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า จากกรณีการฟ้องร้องของทั้ง 9 บริษัทน้ำตาลทราย ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) คืนเงินรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการชำระตามปกติมาโดยตลอด แต่มีบางรายไม่ชำระ เพราะประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่เห็นว่าเกิดความไม่เป็นธรรม จึงได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ภายหลังโรงงานที่ค้างชำระกว่า 24 โรงงาน ได้นำเงินมาจ่ายเรียบร้อยแล้ว เป็นจำนวนเงินกว่า 583.89 ล้านบาท

ทาง กอน.จึงเตรียมที่จะลงนามความตกลง (MOU) กับทั้ง 9 บริษัท เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว และเป็นเครื่องยืนยันว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 9 จะไม่รับเงินรักษาเสถียรภาพฯ คืน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับโรงงานน้ำตาลทรายในการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกองทุนฯ ในอนาคต โดยคาดว่าจะลงนามได้เร็วๆ นี้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ การไม่รับเงินคืนตั้งแต่แรก หรือรับเงินไปก่อนแล้วคืนทีหลัง แต่วิธีนี้อาจมีภาระภาษีเกิดขึ้น

ขณะที่การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/2560 บอร์ด กอน.เห็นชอบกำหนดราคาอ้อย เป็น 2 ราคา คือในส่วนของราคาอ้อยขั้นต้นเขต 5 จ.สุพรรณบุรี อยู่ที่ 980 บาทต่อตันอ้อย และที่เหลือ 8 เขต จะอยู่ที่ราคา 1,050 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลพอใจ โดยกำหนดวันเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบวันที่ 6 ธ.ค.นี้ โดยจะต้องผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ยอดเรื่องร้องเรียนโรงงานลดลง17%

กระทรวงอุตสาหกรรม เผย เรื่องร้องเรียนปี 59 ลดลง อันดับ 1 ร้อยละ 29 คัดค้านการตั้งโรงงาน

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2559 มีเรื่องร้องเรียนโรงงานทั้งหมด จำนวน 421 เรื่อง จาก 66 จังหวัด เฉลี่ย 35 เรื่อง/เดือน ลดลง 70 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 17 จากปี 2558  มีการแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติ 370 เรื่อง และยังอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา 51 เรื่อง โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุดร้อยละ 29 เช่น คัดค้านการตั้งโรงงาน ปลาในกระชังตาย การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ การขอแก้ไขระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ การขอให้เร่งรัดมาตรการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ การขอให้ตรวจสอบโรงงาน เป็นต้น รองลงมาเป็นเรื่องกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง น้ำเสีย เสียงดัง โดยจังหวัดที่มีจำนวนเรื่องร้องเรียนโรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ราชบุรี 40 เรื่อง ปทุมธานี 37 เรื่อง และกรุงเทพฯ 36 เรื่อง และจังหวัดที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนโรงงาน มีทั้งสิ้น 11 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน สุโขทัย สมุทรสงคราม นครพนม มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร หนองคาย อำนาจเจริญ ระนอง และสตูล

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาโรงงานที่ถูกร้องเรียนซ้ำซาก โดยให้ตรวจสอบว่ามีโรงงานที่มีปัญหาต่อเนื่องมานานมีกี่โรง โรงใดบ้าง ซึ่งต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจบ่อยครั้ง เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และป้องปรามอีกทางหนึ่ง

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2559

มติ คคก.อ้อย กำหนดราคาต้นฤดูใหม่ 2 ราคา

คณะกรรมการอ้อย กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2559/2560 เป็น 2 ราคา 1,050 บาทต่อตัน ยกเว้นเขต 5 (สุพรรณบุรี)

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2559/2560 เป็น 2 ราคา โดยส่วนใหญ่จำนวน 8 เขต กำหนดราคา 1,050 บาทต่อตัน ยกเว้นเขต 5 (สุพรรณบุรี) กำหนดราคา 980 บาทต่อตันอ้อย ถือว่าเป็นราคาระดับสูง เนื่องจากมีการขายน้ำตาลล่วงหน้าไปมาก ค่าเงินบาททิศทางอ่อนค่าลง ประกอบกับฤดูการผลิตปีนี้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่คำนวณไว้ที่ 1,086 บาทต่อตัน ถือว่าต้นทุนสูง และปกติในทุกปีรัฐจะช่วยเหลือด้วยการให้กองทุนอ้อยฯ กู้กับสถาบันการเงินของรัฐมาอุดหนุนราคาเพิ่ม แต่ปีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดหลักขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2559

มติ สอน.กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 59/60 เป็น 2 ราคา 

        นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. มีมติให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2559/2560 เป็น 2 ราคา โดยส่วนใหญ่จำนวน 8 เขต กำหนดราคา 1,050 บาทต่อตัน ยกเว้นเขต 5 (สุพรรณบุรี) กำหนดราคา 980 บาทต่อตันอ้อย

ถือว่าเป็นราคาระดับสูง เนื่องจากมีการขายน้ำตาลล่วงหน้าไปมาก ค่าเงินบาททิศทางอ่อนค่าลง ประกอบกับฤดูการผลิตปีนี้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่คำนวณไว้ที่ 1,086 บาทต่อตัน ถือว่าต้นทุนสูง และปกติในทุกปีรัฐจะช่วยเหลือด้วยการให้กองทุนอ้อยฯ กู้กับสถาบันการเงินของรัฐมาอุดหนุนราคาเพิ่ม แต่ปีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดหลักขององค์การการค้าโลก 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2559

สอน.เคาะค่าอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่ 2 ราคา เขตสุพรรณบุรีต่ำสุด 980 บาท

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) มีมติกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2559/2560 เป็น 2 ราคา โดยส่วนใหญ่จำนวน 8 เขต กำหดราคา 1,050 บาทต่อตัน ยกเว้นเขต 5 (สุพรรณบุรี) กำหนดราคา 980 บาทต่อตันอ้อย ถือว่าเป็นราคาระดับสูงเนื่องจากมีการขายน้ำตาลล่วงหน้าไปมาก ค่าเงินบาททิศทางอ่อนค่าลง ประกอบกับฤดูการผลิตปีนี้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่คำนวณไว้ที่ 1,086 บาทต่อตัน ถือว่าต้นทุนสูง และ ปกติในทุกปีรัฐจะช่วยเหลือด้วยการให้กองทุนอ้อยฯกู้กับสถาบันการเงินของรัฐมาอุดหนุนราคาเพิ่ม แต่ปีนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดหลักขององค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ)

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สอน.กำลังเจรจากับโรงงาน 9 แห่ง ได้แก่ บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลแม่วัง จำกัด บ.น้ำตาลท่ามะกา จำกัด บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรีจำกัด บ.โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด บ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด บมจ.น้ำตาลขอนแก่น บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด และบ.น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด เพื่อทำบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) ไม่รับเงินค่ารักษาเสถียรภาพคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบได้เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากก่อนหน้านี้ 9 โรงงานได้ยื่นศาลปกครองกลางเพื่อขอความเป็นธรรมจากกรณีกอน.เรียกเก็บเงินรักษาเสถียรภาพที่เก็บทั้งชาวไร่และโรงงานในอัตรา 0.5% ของรายได้ แต่ฤดูการผลิตปี 2542/2543 และฤดูผลิต 2545/2546 และโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ไม่จ่ายเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ แต่ 9 โรงงานจ่ายจึงต้องขอความเป็นธรรมต่อมาศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางยกฟ้องทำให้ 9 โรงไปอุทธรณ์และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้ 4 โรงงานชนะคดี ทำให้รัฐต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 361 ล้านบาทและคาดว่าจะเป็นบรรทัดฐานให้อีก 5 โรงงานชนะคดีเช่นกัน

” สอน.และกองทุนฯเองได้เจรจาแล้วโรงงาน 9 แห่ง ต่างเห็นด้วยในหลักการที่จะไม่เอาเงินคืนเพียงแต่จะมีรายละเอียดในทางปฏิบัติจึงต้องทำเอ็มโอยู ประกอบกับคดีนี้มีมานานแล้วหลังจากที่ 9 รายยื่นฟ้องไปโรงงานอีก24 โรงงานที่ค้างชำระราว 583.89 ล้านบาทก็นำมาชำระคืนกองทุนฯจนหมด ทุกฝ่ายจึงเห็นชอบร่วมกัน และหากรัฐคืนเงินจะมีปัญหาต่อฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย”นายสมศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจาก กอน.กล่าวว่า หลักการของ 9 โรงงานเห็นด้วยที่จะไม่รับเงินคืน เพราะหากกองทุนฯคืนเงิน โรงงานจะโอนคืนภายหลัง ทำให้มีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะถือเป็นการรับรู้รายได้ แต่หากไม่รับเลยน่าจะดีกว่าและเห็นว่าโรงงานน้ำตาลที่เหลือก็ไม่ควรที่จะไปยืนฟ้องร้องฯ เพราะชาวไร่อาจยืนฟ้องเพื่อขอเงินได้เช่นกันและจบแบบเดียวกับโรงงาน ขณะเดียวกันหากมีการคืนเงินจะต้องย้อนกลับไปคำนวณราคาอ้อยใหม่หรือไม่ทั้งหมดในอดีต ปัญหาจะยิ่งขยายวงกว้าง โดยวันที่ 14 ธันวาคม จะครบกำหนด 90 วัน ที่กองทุนอ้อยฯจะต้องคืนเงินให้กับโรงงานที่ชนะคดี ดังนั้น เร็วๆนี้จะมีการลงนามเอ็มโอยู

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2559

ยอดเรื่องร้องเรียนโรงงานลดลง17%

กระทรวงอุตสาหกรรม เผย เรื่องร้องเรียนปี 59 ลดลง อันดับ 1 ร้อยละ 29 คัดค้านการตั้งโรงงาน

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2559 มีเรื่องร้องเรียนโรงงานทั้งหมด จำนวน 421 เรื่อง จาก 66 จังหวัด เฉลี่ย 35 เรื่อง/เดือน ลดลง 70 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 17 จากปี 2558  มีการแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติ 370 เรื่อง และยังอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา 51 เรื่อง โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุดร้อยละ 29 เช่น คัดค้านการตั้งโรงงาน ปลาในกระชังตาย การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ การขอแก้ไขระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ การขอให้เร่งรัดมาตรการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ การขอให้ตรวจสอบโรงงาน เป็นต้น รองลงมาเป็นเรื่องกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง น้ำเสีย เสียงดัง โดยจังหวัดที่มีจำนวนเรื่องร้องเรียนโรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ราชบุรี 40 เรื่อง ปทุมธานี 37 เรื่อง และกรุงเทพฯ 36 เรื่อง และจังหวัดที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนโรงงาน มีทั้งสิ้น 11 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน สุโขทัย สมุทรสงคราม นครพนม มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร หนองคาย อำนาจเจริญ ระนอง และสตูล

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาโรงงานที่ถูกร้องเรียนซ้ำซาก โดยให้ตรวจสอบว่ามีโรงงานที่มีปัญหาต่อเนื่องมานานมีกี่โรง โรงใดบ้าง ซึ่งต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจบ่อยครั้ง เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และป้องปรามอีกทางหนึ่ง

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2559

เลาะรั้วเกษตร : ยุทธศาสตร์ 20 ปี

ต้นปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยราชการต่างๆ จัดทำยุทธศาสตร์การดำเนินงานของหน่วยงานในช่วงระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) คงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดทำยุทธศาสตร์ช่วงระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ เพราะขนาดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละแผนก็ยังใช้ระยะเวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น เหตุผลที่ต้องวาดฝันกันยาวนานถึง 20 ปีนี้ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเออออห่อหมกด้วยหรือไม่ก็ไม่ทราบ ช่วง 20 ปีจะเกิดเหตุอะไรที่สำคัญๆ ที่กระทบกับยุทธศาสตร์นี้บ้างหรือไม่ก็ไม่อาจคาดเดาได้

เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล และสั่งการมา หน่วยงานก็ต้องทำด้วยระยะเวลาที่จำกัดเพียงไม่กี่วัน คนที่รับผิดชอบในการจัดทำก็ต้องนั่งเทียนวาดฝันกันให้บรรเจิดไปเลย เพราะถูกบังคับมา แม้จะไม่ใช่นักวางแผน ไม่ใช่นักจัดทำยุทธศาสตร์ แต่ก็พอจะพิจารณาด้วยเหตุและผลได้ว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ ซึ่งเปรียบเสมือนทิศทางของการพัฒนาประเทศนั้น ควรต้องระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน และมองในภาพรวมทั้งหมดของแต่ละสาขาของการพัฒนา ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำ เพื่อให้เสร็จทันตามที่ต้องการ

ยุทธศาสตร์การพัฒนา 20 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดวิสัยทัศน์ ไว้ว่า “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ

สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยทีมเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 390,000 บาท/คน/ปี เกษตรกรทุกคนเป็น smart farmer สถาบันเกษตรกรทั้งหมดมีความเข้มแข็ง และมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี

เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้า โดยมีเป้าหมาย GDP ภาคเกษตรเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี

 ฟาร์ม โรงงาน และสถานประกอบการได้มาตรฐาน จัดทำแปลงใหญ่ให้ได้จำนวน 14,500 แปลง หรือ 90 ล้านไร่

เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายว่างานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้รับการพัฒนาต่อยอดนำไปสู่การใช้ประโยชน์ร้อยละ 80 เกษตรกรทุกคนเข้าถึงและนำเทคโนโลยีงานวิจัย และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 10 ล้านไร่

 พื้นที่เกษตรได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูปีละ 2 ล้านไร่ พื้นที่ชลประทานมีจำนวน 42.78 ล้านไร่

พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้เป็น Smart Officer / Smart Researcher ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย

ในแต่ละยุทธศาสตร์มีแนวทางการดำเนินงานระบุไว้ แต่จะดำเนินการได้ตามนั้นหรือไม่ไม่ยืนยัน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พูดถึงเรื่อง “น้ำ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกษตรไว้น้อยมาก บอกแต่เพียงจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มี 42.78 ล้านไร่ ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่การเกษตรของไทยซึ่งมีประมาณ 150 ล้านไร่ ในปัจจุบัน พื้นที่ชลประทานรวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากน้ำชลประทานรวมแล้วประมาณ 40 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13 ของพื้นที่เกษตรเท่านั้น การจะพัฒนาด้านการผลิตอื่นๆ ถ้าปราศจากน้ำแล้ว ปัญหาคงตามมาอีกมากมาย เหมือนอย่างที่รัฐบาลเผชิญมาแล้วในปีที่ผ่านๆ มา

ตัวเกษตรกรเองจะให้เป็น Smart Farmer ทั้งหมดภายใน 20 ปี ก็คงต้องถามทายาทเกษตรกรในปัจจุบันว่าจะมีสักกี่รายที่จะสืบทอดอาชีพการเกษตรต่อจากพ่อแม่ และพัฒนาให้ก้าวหน้าทันสมัยขึ้น ขณะเดียวกันการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ คงต้องผลักดันให้มีการพัฒนาหลักสูตรให้รองรับยุทธศาสตร์ 20 ปีนี้ด้วย

กระทรวงเกษตรฯ เอง ก็คงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานให้รองรับภารกิจ ตามยุทธศาสตร์นี้ด้วยเช่นกัน เผลอๆ คนที่เขียน หรือคนที่ประกาศยุทธศาสตร์นี้ อาจจะไม่มีอายุยืนยาวได้เห็นยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จเสียด้วยซ้ำมันนานเกินไปจริง ๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ธปท. เผย เงินหยวนอ่อนค่า กระทบเงินบาทเล็กน้อย

ธปท.เผยเงินหยวนอ่อนค่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ชี้กระทบค่าเงินบาทเล็กน้อย พร้อมจับตาใกล้ชิด

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคาร .) กล่าวถึงกรณีที่ค่าเงินหยวนของจีน อ่อนค่าลงในรอบ 6 ปี ว่าในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาทางการจีนได้กำหนดค่ากลางเงินหยวนในทิศทางที่อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ขนาดการอ่อนค่าจะค่อนข้างมาก ประมาณ 1.28% แต่ก็เป็นขนาดที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และการอ่อนค่าดังกล่าวก็ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาดที่มาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากที่นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าการอ่อนค่าของค่ากลางของเงินหยวน ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทมากนัก โดยการเคลื่อนไหวของค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่ยังขึ้นกับทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ สำหรับค่าเงินบาทในเดือนตุลาคมได้อ่อนค่าลงประมาณ 0. 9% โดย ธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เงินเฟ้อ พ.ย.เพิ่ม 0.60% โตสูงสุดรอบ 23 เดือน “พาณิชย์” ตั้งเป้าปีหน้าโต 1.5-2.0% หลังเศรษฐกิจฟื้น   

         เงินเฟ้อ พ.ย.เพิ่มขึ้น 0.60% ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกัน 8 เดือนและสูงสุดในรอบ 23 เดือนนับจาก ธ.ค. 57 ส่วนยอดรวม 11 เดือนเพิ่มขึ้นแค่ 0.10% คาดทั้งปีโต 0.0-1.0% ตามเป้า ส่วนเป้าปี 60 ตั้งไว้ที่ 1.5-2.0% หลังเศรษฐกิจฟื้น ราคาเกษตรเพิ่ม รัฐเร่งลงทุน แต่ต้องระวังราคาน้ำมันและผลกระทบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

        น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ย. 2559 เท่ากับ 106.79 เพิ่มขึ้น 0.60% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2558 โดยเป็นการสูงขึ้นติดต่อกัน 8 เดือน และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.60% และเมื่อเทียบกับ ต.ค. 2559 เงินเฟ้อลดลง 0.06% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.10%

                สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้น 0.60% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.49% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.33% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 1.21% ผักและผลไม้เพิ่ม 6.09% เครื่องประกอบอาหารเพิ่ม 1.43% อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่ม 1.03% ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.11% สินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 1.52% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 12.94% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.58% เป็นต้น

               ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้า 450 รายการที่คำนวณเงินเฟ้อ พบว่ามีสินค้าราคาสูงขึ้น 123 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 26.02% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม เช่น หมูยอ ราคาเพิ่ม 0.69% แตงกว่า เพิ่ม 19.95% มะเขือเทศ เพิ่ม 31.55% นมสด เพิ่ม 0.12% นมข้นหวาน เพิ่ม 0.22% ครีมเทียม เพิ่ม 0.37% กะทิสำเร็จรูป เพิ่ม 0.88% มะพร้าวผลแห้ง/ขูด เพิ่ม 3.21% อาหารโทร.สั่งเพิ่ม 1.22% อาหารสำเร็จรูป/แพกพร้อมปรุง เพิ่ม 0.05% น้ำยาปรับผ้านุ่ม เพิ่ม 1.19% น้ำยาล้างห้องน้ำ เพิ่ม 0.80% ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง 101 รายการ สัดส่วน 21.38% และสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 226 รายการ สัดส่วน 52.60%

                ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก เดือน พ.ย. 2559 เท่ากับ 106.89 สูงขึ้น 0.72% เมื่อเทียบเดือน พ.ย. 2558 และสูงขึ้น 0.03% เมื่อเทียบเดือน ต.ค. 2559 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 11 เดือนสูงขึ้น 0.74%

             น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี 2559 คาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีเงินเฟ้อจะขยายตัวเล็กน้อยจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงปลายปี แต่ยังคงอยู่ในประมาณการที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ว่าจะขยายตัวในระดับ 0.0-1.0% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

               ส่วนเงินเฟ้อในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวระดับ 1.5-2.0% ภายใต้สมมติฐานคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 3.0-3.5% โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 เพราะมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การใช้จ่ายครัวเรือน การผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มจากปีนี้ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าอยู่ที่ 35.5-37.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

                อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปีหน้า ต้องติดตามภาวะราคาน้ำมัน ที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 5-10 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.2-0.35% โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ได้รับผลกระทบทำให้สูงขึ้น 0.08% และหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบสูงขึ้น 0.12% ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะค่าแรงที่ปรับขึ้นไม่ได้ปรับขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หุ้นเด่น : KSL ปัจจัยหนุนเพียบ

บล.บัวหลวง วิเคราะห์หุ้น บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) โดยระบุว่า หุ้น KSL จะเป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์รายหลักจากแนวโน้มราคาน้ำตาลช่วงขาขึ้นซึ่งเป็นผลจากราคาซื้อขายน้ำตาลที่ล็อกล่วงหน้าสำหรับสัญญาซื้อขายในปี 2559/60 นอกจากนี้การฟื้นตัวของธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจเอทานอลจะเป็นอีกปัจจัยที่จะหนุนกำไรสุทธิปี 2559/60ให้เติบโตก้าวกระโดดซึ่งเราคาดว่ากำไรสุทธิปี 2560 มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดสูงถึง 87% YoY ถึงแม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงเมื่อเร็วๆ นี้เนื่องจากเงินเรียลที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (ส่งผลให้มีแรงเทขายจากผู้ค้าน้ำตาลและนักเก็งกำไร) แต่เรายังมองว่าปัจจัยพื้นฐานของอุปทานและอุปสงค์น้ำตาลจะยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง จากภาวะน้ำตาลในตลาดโลกซึ่งยังคงอยู่ในภาวะขาดดุล (ถึงแม้ว่าจะขาดดุลลดน้อยลง)

อ้างอิงจากรายงานตลาดและการค้าน้ำตาลโลกของกระทรวงเกษตรสหรัฐ ซึ่งออกเป็นรายครึ่งปีในเดือนพ.ย. 2559 สต๊อกน้ำตาลปลายงวดรวมของปี 2559/60 ถูกปรับลดลงอีก 6.2% มาอยู่ที่ 30.79 ล้านตัน (เทียบกับ 32.82 ล้านตัน ในรายงานเมื่อเดือนพ.ค. 2559) เนื่องจากสต๊อกปลายงวดที่ลดลงของประเทศอินเดีย (ลดลง21% มาอยู่ที่ 6.33 ล้านตัน) ประเทศจีน (ลดลง 19% มาอยู่ที่ 2.56 ล้านตัน) ประเทศเม็กซิโก (ลดลง 5% มาอยู่ที่ 1.31 ล้านตัน)และประเทศอิหร่าน (ลดลง 24% มาอยู่ที่ 0.45 ล้านตัน) หากเปรียบเทียบ YoY สต๊อกน้ำตาลปลายงวดรวมของปี 2559/2560 (ล่าสุดในเดือนพ.ย. 2559) ปรับตัวลดลง 19% YoY (มาอยู่ที่30.79 ล้านตัน) เนื่องจากประเทศอินเดีย (ลดลง 35% YoY) ประเทศไทย (ลดลง 30%) ประเทศจีน (ลดลง 44%) และประเทศอียู(ลดลง 75%) เราประเมินว่าเนื่องมาจากผลผลิตน้ำตาลของประเทศอินเดียและประเทศไทยที่ลดลง รวมถึงการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกที่ทำสถิติใหม่สูงสุดในปี 2559/60 สต๊อกน้ำตาลปลายงวดในตลาดโลกสำหรับปี 2559/60 ถือว่าทำสถิติอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2553/54เป็นต้นมา

กระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดว่าภาวะการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกจะยังคงสูงกว่าผลผลิตที่ออกมาสำหรับในปี 2559/60ส่งผลให้ภาวะขาดดุลน้ำตาลอยู่ที่ 2.63 ล้านตัน ในปี 2559/60(ถึงแม้ว่าจะต่ำกว่าภาวะขาดดุล 6.68 ล้านตันในปี 2558/59) เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงของประเทศอินเดียและไทย และการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในประเทศอินเดีย สหรัฐ รัสเซีย และไทย บริษัทวิจัย F.O. Lichts ได้คาดภาวะขาดดุลของน้ำตาลโลกที่ 6.26 ล้านตัน ในปี 2559/60 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับภาวะขาดดุลที่ 6.38 ล้านตันในปี 2558/59 และคาดอัตราส่วนสต๊อกน้ำตาลโลกต่อการบริโภคมีแนวโน้มลดลงจาก 39% ในปี 2558/59 เหลือ 34% ในปี 2559/60

เราใช้สมมุติฐานว่าราคาส่งออกน้ำตาลของ KSL มีแนวโน้มอยู่ที่ 20.7 เซ็นต์ต่อปอนด์ (หรือ 557 เหรียญต่อตัน) ในปี 2559/60 หรือคิดเป็นสูงกว่าราคาส่งออกของอนท. 2 เซ็นต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้เราคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจน้ำตาลของ KSL มีแนวโน้มฟื้นตัวจาก 24% ในปี 2559 มาเป็น 26% ในปี 2560 ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

คำแนะนำพื้นฐาน : ซื้อเป้าหมายพื้นฐาน: 5.00 บาท

ที่มา : บล.บัวหลวง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"เทิดในหลวง รัชกาลที่9"กว่า200ประเทศร่วมจัดงาน"วันดินโลก"

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร 

            เปิดศูนย์ฯเขาหินซ้อน จัดใหญ่งานวันดินโลก 3-5 ธันวาคม 2559สดุดีและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” พร้อมกับอีกว่า 200 ประเทศสมาชิกสหประชาติร่วมเฉลิมฉลอง

           นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันดินโลกอันสืบเนื่องมาจากสมัชชาสหประชาชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 รับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก (World Soil Day) เพื่อสดุดีและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจการพัฒนาทรัพยากรดิน โดยได้พระราชทานแนวความคิดและพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟูพัฒนา อนุรักษ์ทรัพยากรดิน ซึ่งล้วนแล้วแต่นำประโยชน์สุขมาสู่พสกนิกร

            โดยพระองค์ทรงศึกษา วิจัย ทดลอง พัฒนา ทำให้เห็นเป็นแบบอย่างความสำเร็จ แล้วขยายผลให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติซึ่งแนวทางเหล่านั้น ล้วนเรียบง่าย ประหยัด เกษตรกรดำเนินการเองได้สะดวก อาทิ การปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดในภาคใต้ โดยวิธีการแกล้งดิน ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมที่เรียบง่ายในทางปฏิบัติแต่ล้ำลึกในทางวิชาการ และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ทรงประทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาในพื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดิน เพื่อศึกษา ค้นคว้า หารูปแบบที่เหมาะสมของการแก้ปัญหาและพัฒนาในแต่ละพื้นที่ในลักษณะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการร่วมกัน

            ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ทำให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากล สมาพันธ์สมาคมวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ จึงทูลเกล้าถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระองค์แรก และพระองค์เดียวของโลก โดยสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น วันดินโลก

            นายเลิศวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปี 2559 นี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินกำหนดจัดงานวันดินโลก ระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากการจัดงานวันดินโลกที่ประเทศไทยแล้ว ประเทศสมาชิกสหประชาชาติต่างจัดงานเฉลิมฉลองวันดินโลกพร้อมกัน กว่า 200 ประเทศ รวมถึงการกำหนดร่วมจัดงานวันดินโลกในต่างประเทศ 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 2 ธันวาคม 2559 และสำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี วันที่ 5 ธันวาคม 2559

            ด้านนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันดินโลก 5 ธันวาคมมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนที่สหประชาชาติจะประกาศเมื่อปี 2556 ให้มีการจัดตั้งวันดินโลกและปีดินสากล 2558 อย่างเป็นทางการ และสำหรับการจัดงานวันดินโลกปี 2559 นี้ ภายใต้หัวข้อ “Soils and Pulses, Symbiosis for Life : ดินและถั่ว...เกื้อกูลชีวิต” เพื่อให้สอดคล้องกับปีสากลแห่งถั่วเมล็ดแห้ง (International Year of Pulses) ที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีน วิตามินและเกลือแร่ที่หาง่าย ราคาถูก และปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้งที่มีน้ำน้อย ดังนั้น ถั่วจึงเป็นพืชอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการของประชากรโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

            พร้อมกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดพิธีน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและการแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การจัดนิทรรศการน้อมรำลึกถึงจอมปราชญ์แห่งการพัฒนาที่ดิน โดยแสดงพระราชกรณียกิจและโครงการพระราชดำริเรื่องดินการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับดินและการจัดการดิน เกษตรทฤษฏีใหม่ซึ่งแสดงถึงการบริหารจัดการดิน น้ำ พืชอย่างยั่งยืน พบตลาดนัดสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร การจัดอบรมปรับปรุงดิน ชมโดยรอบศูนย์เขาหินซ้อนฯ ศูนย์แห่งแรกที่จัดแสดง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” อบรมผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด อบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ ฝึกวิชาชีพเสริมรายได้ กิจกรรม Active Run 2016 เดินวิ่งเทิดพระเกียรติในสวนพ่อ กิจกรรมตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำความดีถวายพ่อหลวง และพิธีจุดเทียนถวายความอาลัย

           จึงขอเชิญทุกท่านร่วมงานวันดินโลก ปี 2559 เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร่วมพิธีถวายความอาลัยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกันในวันที่ 5 ธันวาคม 2559 เวลา 09.00 น.ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"ตั๋วปุ๋ย"ไม่ลงตัวอีก600ล้าน! เตรียมฟันหากพบทุจริต!

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

                กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ไขปัญหาธุรกิจตั๋วปุ๋ยในสหกรณ์ เตรียมฟันดาบผู้กระทำผิดทางกฎหมาย คาดแล้วเสร็จสิ้นปี 59

                พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายในการยกระดับมาตรฐานของสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางสินค้าเกษตร ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาการซื้อขายปุ๋ยล่วงหน้า (ตั๋วปุ๋ย) ของสหกรณ์ โดยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งตรวจสอบปัญหาการซื้อขายตั๋วปุ๋ยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

                ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่สหกรณ์ได้ดำเนินการจัดหาปุ๋ยให้แก่สมาชิก โดยสั่งซื้อจากบริษัทเป็นจำนวนมาก และไม่ได้สำรวจความต้องการของสมาชิก ซึ่งไม่เป็นไปตามกลไกของสหกรณ์ เนื่องจากการจัดหาปุ๋ยจะต้องสำรวจความต้องการของสมาชิกก่อน ซึ่งสหกรณ์จะต้องเป็นผู้จัดหาและรวมซื้อเพื่อให้เกษตรกรได้รับปุ๋ยที่มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ แต่จากการดำเนินการของบริษัทจะออกตั๋วปุ๋ยให้สหกรณ์เหมือนการซื้อขายล่วงหน้า ต่อเมื่อครบกำหนดบริษัทจะนำปุ๋ยมาให้ตามเวลาที่กำหนด

               อย่างไรก็ตาม กลไกปกติของสหกรณ์จะบริการจัดหาปุ๋ยให้แก่สมาชิก แต่ในกรณีดังกล่าวสหกรณ์ได้ปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์อื่นด้วย ซึ่งไม่ใช่การดำเนินการตามกฎหมาย จึงได้สั่งการให้เร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างชัดเจน หากพบการกระทำความผิดจะต้องมีผู้รับผิดชอบตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่มีการยกเว้น

               ด้าน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาการซื้อขายตั๋วปุ๋ยของสหกรณ์ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่สมาชิกสหกรณ์แล้ว 30 จังหวัด 59 สหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนใน 3 ส่วน

               คือ 1.กรณีที่สหกรณ์มีตั๋วปุ๋ยแล้ว แต่ทางผู้ขายยังไม่ส่งมอบ สหกรณ์ต้องให้ผู้ขายส่งมอบปุ๋ยให้ทั้งหมด หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะต้องยกเลิก และชดใช้ค่าเสียหายให้สหกรณ์ 2.กรณีที่สหกรณ์รับตั๋วปุ๋ยครบแล้ว ต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย หากพบว่าปุ๋ยขาดคุณภาพให้เรียกค่าเสียหายกับผู้ขายปุ๋ย และ 3.หากพบว่ากรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของกรมฯ มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด

             ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการแก้ปัญหาแล้วประมาณร้อยละ 70 จากมูลค่ารวมของตั๋วปุ๋ยประมาณ 1,900 ล้านบาท ทางสหกรณ์ได้รับปุ๋ยและดำเนินการจำหน่ายแล้วประมาณ 1,249 ล้านบาท ยังเหลืออีกประมาณ 600 กว่าล้านบาท ที่จะต้องดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ได้กำชับให้การดำเนินการสหกรณ์เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2559 นี้

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ทช.คุมน้ำหนักรถบรรทุกทั่วประเทศ 

    นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมตรวจสอบรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าน้ำหนักเกินกำหนดทั่วประเทศ ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บูรณาการร่วมมือกับจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหารและตำรวจ เพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดในการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะ ไม่ให้มีรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่ของประเทศ เพื่อลดความเสียหายของถนนและลดการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อสั่งการดังกล่าว ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท จึงได้กำหนดมาตรการในการดำเนินงานโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะสั้น จัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่แบบบูรณาการกับหน่วยงานภายนอก /ปรับเพิ่มแผนการดำเนินงานเน้นการทำงานเชิงรุกในสายทางที่มีความเสี่ยงในการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เข้มงวดให้การควบคุม กำกับน้ำหนักบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเพิ่มปริมาณความถี่ ในการตั้งด่านชั่งน้ำหนัก/ปรับแผนเน้นเข้าดำเนินการกำกับควบคุมน้ำหนักบรรทุกในสายทางที่มีความเสี่ยงที่จะมีการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด /และเคร่งครัดตามนโยบายรัฐบาล โดยควบคุมและไม่อนุญาตให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินและไม่อนุญาตให้มีการผ่อนผันเรื่องน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย ซึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เมษายน จะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการควบคุมพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยงจะบรรทุกน้ำหนักเกิน เช่น ด่านแม่สอด จ.ตาก ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ด่านเชียงของ จ.เชียงราย และด่านมุกดาหาร จ.มุกดาหาร

    สำหรับระยะกลาง ได้กำหนดแผนในการก่อสร้างสถานีด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะ ในพื้นที่สายทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง ถนนสายหลัก โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมจากปัจจัยทางด้านวิศวกรรม และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่กรมทางหลวงชนบท ใช้เพื่อกำกับป้องปรามรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน และระยะยาว กรมจะประสานกับกระทรวงคมนาคม/กรมทางหลวง เพื่อที่จะเสนอแนวคิดให้มีการแก้ปัญหาควบคุมน้ำหนักบรรทุกให้มีประสิทธิภาพ และมีบทลงโทษรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผลจากการกระทำความผิด ต้องรวมถึงผู้จ้างวาน/เจ้าของกิจการ, มีการปรับเป็นอัตราก้าวหน้า เช่น ครั้งที่ 1 ปรับ 20% ของมูลค่ารถที่ทำความผิด ครั้งที่ 2 ปรับ 50% ของมูลค่ารถที่ทำความผิด ครั้งที่ 3 ให้ทำการยึดพาหนะ ให้เป็นทรัพย์สินของราชการสามารถนำมาขายทอดตลาด เพื่อนำมาชดเชยค่าซ่อมบำรุง, ผู้กระทำความผิดต้องมีส่วนรับผิดชอบในการซ่อมฟื้นคืนสภาพให้แก่ถนน แม้ถนนจะอยู่ระหว่างค้ำประกันสัญญา, สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับยานพาหนะที่ขัดขืนไม่เข้าชั่งให้ถือเป็นกรณีแสดงเจตนากระทำความผิด เป็นต้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เอทานอลส่อขาดแคลน

ค่ายน้ำมันส่งหนังสือถึงกรมธุรกิจพลังงาน อ้อนขอนำเอทานอลสำรองมาใช้ป้องกันขาดแคลนช่วงสิ้นปี

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่าขณะนี้ผู้ค้าน้ำมัน 3 รายได้แก่ เชฟรอน (คาลเท็กซ์) ปตท. และเอสโซ่ ได้ยื่นหนังสือขอนำสำรองเอทานอลตามกฎหมาย 1% มาใช้ในการผลิตแก๊สโซฮอล์ เนื่องจากเกรงว่าเอทานอลจะขาดแคลน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นยังไม่อนุมัติตามที่เอกชนเสนอมา เพราะ ธพ.เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริงภายในเดือน ธ.ค.นี้ ขณะเดียวกันจะหารือกับผู้ผลิตเอทานอลเพื่อวางแผนรองรับการใช้เอทานอลปี 2560 และกำหนดแผนส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์และกำหนดแผนส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ให้ชัดเจน

ด้านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้รับข้อมูลจากผู้ผลิตเอทานอลถึงปัญหาภาวะตึงตัว เนื่องจากสัญญาซื้อขายที่บริษัทน้ำมันทำไว้กับผู้ผลิตเอทานอลนั้นยังไม่สามารถส่งมอบให้ครบ ดังนั้นทางผู้ค้าน้ำมันจึงมีความกังวลว่าอาจจะขาดแคลนได้ เพราะช่วงสิ้นปีนี้ปริมาณการใช้น้ำมันเพื่อการเดินทางจะอยู่ในระดับสูง ประกอบกับช่วงนี้มีผู้ผลิตเอทานอลส่วนใหญ่มีการหยุดซ่อมเครื่องจักรพร้อมกันทำให้ปริมาณเอทานอลลดลงมาก อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวคาดว่าจะคลี่คลายได้ เนื่องจากวันที่ 6 ธ.ค.นี้ โรงงานน้ำตาลทรายจะเริ่มทยอยเปิดหีบอ้อย ซึ่งจะทำให้เริ่มมีกากน้ำตาล (โมลาส) ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลมากขึ้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมา พพ.จะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลเอทานอล เนื่องจากมีการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนดังนั้น ธพ.จึงจะขอดึงเอทานอลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงมาดูแลเอง เพื่อที่จะสามารถกำหนดให้เกิดการแจ้งการปิดซ่อมเช่นเดียวกับโรงกลั่นน้ำมันในปัจจุบันเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนในอนาคต โดยปัจจุบันการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.6-3.8 ล้านลิตร/วัน ขณะที่กำลังผลิตอยู่ที่ 4.5-5 ล้านลิตร แต่ส่วนใหญ่การผลิตเอทานอลจะสอดคล้องกับความต้องการเป็นหลัก สำหรับการเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (บี100) จาก 3% (บี3) เป็นไม่ต่ำกว่า 5% (บี5) ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่าทำให้ราคา บี100 ปรับขึ้นจากเดิม 32 บาท มาอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร ขณะที่น้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เดิมอยู่ 27-28 บาท/ลิตร

โดยขณะนี้ยังต้องติดตามแผนผลิตต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งก่อนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพิ่มสัดส่วนเป็น บี7 หรือไม่

พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ที่ปรึกษา รมว.พลังงาน กล่าวถึงการหารือถึงปัญหาการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังเมียนมาผ่านท่าเรือขนส่งสินค้าชั่วคราว

อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ หลังกระทรวงพลังงานได้ออกกฎกระทรวงการขนส่งน้ำมันโดยถังขนส่งน้ำมัน พ.ศ. 2558 เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการค้าชายแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เบื้องต้นจัดให้ผู้ประกอบการคลังสินค้าท่าข้าม ตั้งเป็นสถานที่เก็บรักษาน้ำมันโดยให้ขออนุญาตหรือแจ้งต่อจังหวัดไปก่อน จนกว่ากระทรวงการต่างประเทศจะได้ประสานกับฝ่ายเมียนมาแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน

ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันที่ผ่านมาใช้วิธีถ่ายจากรถขนส่งน้ำมันผ่านทางท่อน้ำมันหรือถ่ายลงเรือข้ามแม่น้ำเมย โดยอ้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ชำรุดไม่สามารถรองรับน้ำหนักรถบรรทุกน้ำมันได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบสะพานได้รับการยืนยันจากกรมทางหลวงว่ารับน้ำหนักรถบรรทุกน้ำมันได้ ทางไทยจึงได้ออกกฎกระทรวงขึ้น แต่ล่าสุดจังหวัดเมียวดีของเมียนมา ไม่อนุญาตให้รถขนส่งน้ำมันวิ่งข้ามสะพาน โดยให้เหตุผลว่าจะต้องรอข้อสั่งการจากส่วนกลางก่อน ประกอบกับกฎกระทรวงการขนส่งน้ำมัน เริ่มมีผลมาตั้งแตวันที่ 26 ต.ค.-18 พ.ย. 2559

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559