http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนธันวาคม 2560)

จีดีพีเกษตร ปี”61พุ่ง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับปี 2559 แบ่งเป็นสาขา พืช ปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร ป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 6.8, 2.0, 2.2, 4.7 และ 2.3 ตามลำดับ

ปัจจัยบวกจากนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน เน้นบูรณาการงานใน 13 นโยบายหลัก ประกอบกับสภาพอากาศและปริมาณน้ำมีเพียงพอ โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนเพิ่มขึ้นและการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย สับปะรดยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยมีปัจจัยสภาพอากาศและมีน้ำมากพอ และจัดการพื้นที่เพาะปลูกเหมาะสม

ในปี 2561 รัฐบาลตั้งเป้าลดปัญหาความจนและความเหลื่อมล้ำ รายได้ในภาคเกษตรช่วงปี 2539-2559 มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ทั้งหมดในภาคเกษตรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด (ร้อยละ 20) มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.74 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 5.33 ในปี 2559 ส่วนเกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด (ร้อยละ 20) มีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ 58.75 ในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 53.23 ในปี 2559

จากสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 20 ปีของเกษตรกรกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด ส่งผลให้จำนวนคนจนในภาคเกษตรลดลงถึง 14.329 ล้านคน จากปี 2539 ภาคเกษตรมีคนจนอยู่สูงถึง 19.443 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.00 ของประชากรภาคเกษตร แต่ปี 2559 ภาคเกษตรมีจำนวนคนจนลดลงเหลือ 5.114 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 21.67 ของประชากรภาคเกษตรเท่านั้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 31 ธันวาคม 2560

พ.ร.บ.อีอีซีใช้ต้นปี พร้อมรับคลื่นลงทุน

 “อุตตม” ฟันธงปี 2561 เป็นปีแห่งการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ ยันพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมคลอด ม.ค.ปีหน้า ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมออกทีโออาร์โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานดินเนอร์ทอล์ก “โอกาสประเทศไทย 2018” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับ “สปริงนิวส์ กรุ๊ป” เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า ในปี 2561 จะเป็นปีแห่งการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศอีกครั้ง หลังจากที่การเตรียมงานในด้านต่างๆ ของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีใกล้จะแล้วเสร็จ โดยเฉพาะการประกาศใช้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คาดว่าจะมีผลใช้บังคับในช่วงเดือนมกราคม 2561 ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งแผนการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ จะมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการรถไฟรางคู่ โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ที่จะมีการออกทีโออาร์หรือการเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนได้ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

 โดยเฉพาะความคืบหน้าของการลงทุนด้านศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ) ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทแอร์บัสฯได้ลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในการศึกษาโอกาสการลงทุนในแต่ละกิจกรรมไปแล้ว

 อีกทั้ง ความสนใจของนักลงทุนเป้าหมาย อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้เข้ามาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วที่จะมุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 30 ธันวาคม 2560

KSL งวดปีกำไร 1.9 พันล้าน เติบโต 36%

น้ำตาลขอนแก่น งวดปีกำไรสุทธิ 1.97 พันล้านบาท เติบโต 36% จากงวดปีก่อน อานิสงส์รับรู้กำไรควบรวมกิจการธุรกิจเอานอลของบริษัทย่อยเข้ากับบางจาก กว่า 1.98 ล้านบาท

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL แจ้งผลการดำเนินงานปี 2560 สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.2560 มีกำไรสุทธิ 1,970.39 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.447 บาท เพิ่มขึ้น 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,440.26 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.323 บาท

บริษัทฯ ชี้แจงว่าปัญหาภัยแล้งในปี 2559 ส่งผลต่อปริมาณอ้อยเข้าหีบของบริษัทและบริษัทย่อยในปี 2560 ลดลงจาก 7.61 ล้านตันปี 2559 เหลือ 6.83 ล้านตันในปี 2560 หรือลดลง 10% ส่งผลให้ธุรกิจน้ำตาลในประเทศ ต้นทุนอ้อยและต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น ธุรกิจน้ำตาลต่างประเทศมีปริมาณอ้อยเสียหายจากการเพาะปลูก เกิดการด้อยค่าและเสียหายจำนวน 203 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจเอทานอล ต้นทุนการผลิตเอทานอลสูงขึ้นซึ่งมาจากราคากากน้ำตาลเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 3,649 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 4,305 ล้านบาทในปี 2560 ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นในงบกำไรขาดทุนรวมลดลงจาก 21% ในปี 2559 เป็น 16% ในปี 2560

อย่างไรก็ตามราคาน้ำตาลตลาดโลกผันผวนจากการเข้าเก็งกำไรของกองทุน ส่งผลให้บริษัทมีราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในปีเพิ่มขึ้น 16% จาก 14,939 บาทต่อตัน เป็น 17,362 บาทต่อตัน แต่มีปริมาณขายน้ำตาลลดลง 22% จาก 875,841 ตัน เป็น 687,046 ตันและบันทึกขาดทุนจากการลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือ 301 ล้านบาท

นอจากนี้ในปี 2560 บริษัทย่อยทำการควบรวมธุรกิจเอทานอล กับบริษัทย่อยของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัดประกอบธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้บริษัทมีกำไรหลังหักภาษีจากการควบรวมกิจการดังกล่าว 1,896 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ทีไม่ได้ใช้ดําเนินงานจํานวนจำนวน 223 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากประเมินมูลค่าทรัพย์สินใหม่ในธุรกิจน้ำตาลต่างประเทศและบันทึกสำรองค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานเพิ่มขึ้น 56 ล้านบาท จากการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 28 ธันวาคม 2560

ข่าวดีประเทศไทยส่งท้ายปี ‘อียู-สหรัฐฯ’ผ่อนคลายแรงกดดัน

ย้อนปรากฎการณ์หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ปรากฏเสียงเตือนจากนานาชาติที่ห้ามพลเมืองของตนเข้าประเทศไทยหากไม่จำเป็น และ 43 ประเทศเตือนให้พลเมืองระมัดระวังหากเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดจนควรติดตามสถานการณ์และเลี่ยงสถานที่ชุมนุม หลายประเทศประณามการรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่างๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์แสดงถึงความกังวลต่อวิกฤติการเมืองไทย พร้อมเรียกร้องทุกฝ่าย เคารพหลักการประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา และตอกยํ้าให้เห็นความจำเป็นของการเลือกตั้ง ขู่ซํ้าอีกจะทบทวนความช่วยเหลือแบบกองทัพต่อกองทัพ ระงับ เงินช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศ ไทยมูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเงินช่วยเหลือรวม 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในเดือนกันยายน 2558 เริ่มมีสัญญาณจากนานาชาติ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ราวกลางปี 2560 ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมยํ้าว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560 กระทั่งต่อมารัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติในเดือนสิงหาคม 2559

ผลจากการประกาศโรด แมปของรัฐบาล ทำให้ความเชื่อมั่นของไทยต่อสายตาต่างชาติเริ่มกลับมา รวมทั้งกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา จากที่เคยประกาศจะยกเลิกข้อผูกพันทางทหาร รวมทั้งการเยือนและการฝึกทหาร กองทัพสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจส่งทหารร่วมฝึกซ้อมรบคอบร้าโกลด์ 2016 ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 9-19 กุมภาพันธ์ 2559

“ความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะเติบโตและเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อประเทศไทยคืนสู่ประชาธิปไตย สะท้อนการแสดงถึงพันธะสัญญาที่สหรัฐฯมีต่อรัฐบาลไทย” นายกลิน ที.เดวีส์ (Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวยํ้า หลังจากนั้นดูเหมือนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ กลับเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

++ลดระดับค้ามนุษย์

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ประเทศไทยได้รับข่าวดี หลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทิปรีพอร์ต ประจำปี 2017 ปรากฏว่า สหรัฐอเมริกา ยังคงจัดอันดับให้ไทยอยู่ในระดับ เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง เป็นปีที่ 2 หลังจากอยู่ที่ระดับ เทียร์ 3 ซึ่งเป็นชั้นที่แย่ที่สุด คือเป็นประเทศที่ไม่มีมาตรการสอด คล้องกับสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ปัญหา เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันก่อนหน้านี้

ในรายงานยังระบุด้วยว่าแม้ไทยยังไม่ได้ตามมาตรฐานขั้นตํ่าของสหรัฐฯ ในการกำจัดขบวน การค้ามนุษย์ แต่ก็ได้พยายามอย่างยิ่งยวด ด้วยการอายัดเงินจากขบวนการค้ามนุษย์ได้มากกว่า 784 ล้านบาท มีรายงานเกี่ยวกับการสืบสวน ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดมากขึ้น รวมถึงลงโทษเจ้าของธุรกิจรายหนึ่งที่แสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานบังคับในภาคการประมง และขยายเวลาให้เหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติและพยานพำนักและทำงานในไทยต่อไป รวมทั้งไทยได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการไว้หน้าผู้ใดหากมีการกระทำผิด

++“บิ๊กตู่”ประกาศเลือกตั้งปี61

 การเดินทางเยือนสหรัฐ อเมริกาของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามคำเชิญของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกในรอบ 12 ปีที่เดินทางไปเยือนและหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ เป็นผู้นำของอาเซียนคนที่ 3 ที่ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาต่อจากผู้นำเวียดนาม มาเลเซีย

 การพบปะกันของ 2 ผู้นำในครั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า เป็นการเจรจาที่ไม่เสียของ เพราะนอกจากการหารือด้านการค้า การลงทุน แล้วยังเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ประเทศการเมือง 2 ขั้ว คือรัฐบาลทหาร และรัฐบาลประชาธิปไตย ได้มีโอกาสคุยกันแบบมหามิตรโดยเฉพาะคำยืนยันจากผู้นำรัฐบาลไทยต่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ประเทศไทยจะเดินตามโรดแมป ไม่มีเปลี่ยน และในปีหน้า (2561) ประเทศไทยพร้อมประกาศวันเลือกตั้ง

++ไทยมีความสุขติดอันดับโลก

 วันที่ 6 มีนาคม 2560 สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่ดัชนีความทุกข์ยาก (Misery Index) ประจำปี 2559 โดยรายงานข่าว 15 อันดับประเทศที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก (The 15 Happiest Economies in the World) โดยระบุว่าไทยมีอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อตํ่าคิดเป็นค่า Misery Index เท่ากับ 2.2 ซึ่งหมายถึงมีความทุกข์ยากตํ่าหรือมีความสุขมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกัน

และวันที่ 15 เมษายน 2560 เครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UNSDSN) ได้ประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ประจำปี 2017 โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดอันดับ 2 ของอาเซียน อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 32 ของโลก

วันที่ 16 ธันวาคม นิตยสารด้านการท่องเที่ยวออนไลน์อันดับ 1 ของฝรั่งเศส Le Routard.com ซึ่งมีผู้อ่านราว 2.5 ล้านคน/เดือน ได้ประกาศว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจและมีผู้ติดตามค้นหามากที่สุดในปี 2016 ในประเภทจุดหมายปลายทางระยะไกล หรือ Long-Haul Destination โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งาน ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2559 และพบว่ามีผู้ติดตามค้นหาเรื่องราวของประเทศไทยมากที่สุดในโลก ตามด้วยสหรัฐอเมริกา คิวบา บาหลี เวียดนาม แคนาดา โดยเว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุว่า ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และสามารถครองแชมป์ได้หลายปีติดต่อกัน

ขณะที่ สำนักข่าว CNN ยังคงจัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็น “สวรรค์แห่งอาหารริมทาง” หรือเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ดีที่สุดในโลก ต่อเนื่อง จากปีที่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้ออาหารได้หลากหลาย เช่น นํ้าเต้าหู้มื้อเช้า ข้าวหอมมะลิมื้อกลางวัน ผัดไทย หมูสะเต๊ะมื้อเย็น และระบุด้วยว่าเยาวราชคือย่านของกินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ สภาอาหารริมทางโลก (World Street Food Congress) ได้ยกให้ “หอยทอด” เป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ขึ้นชื่อมากที่สุดที่หารับประทานได้ริมทางในกรุงเทพฯ

++ICAO ปลดธงแดง

ถัดมาวันที่ 7 ตุลาคม 2560 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ทำการปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย อันจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ กลับมาให้การยอมรับในมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทยอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้สายการบินของไทยสามารถขอขยายจุดบิน หรือเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ในต่างประเทศได้ตามปกติ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ซึ่งปัจจุบันห้ามไทยขยายจุดบิน และเส้นทางบินเพิ่ม เพราะไทยติดปัญหาธงแดง ทั้งทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยจะได้รับการยอมรับในระบบมาตรฐานสากล ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางทางอากาศมีความมั่นใจที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ขณะที่สายการบินต่างๆ ทั่วโลกก็จะเปิดจุดบินใหม่ๆ และขยายเส้นทางการบินเข้ามาที่ไทยเพิ่มขึ้น

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2-2-503x69++อียูฟื้นสัมพันธ์ไทย

ขณะที่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 คณะมนตรีการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) มีมติจะกลับเข้าสู่การติดต่อทางการเมืองในทุกระดับกับประเทศไทยโดยหยิบ 14 ข้อในการชี้แจงที่มาที่ไปของการฟื้นสัมพันธ์กับไทย ซึ่งครอบคลุมในทุกด้านทั้งการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม หวังมุ่งอำนวยความสะดวกการเจรจาในประเด็นสำคัญๆ ร่วมกัน รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญหวังเรื่องแผนการดำเนินงานสู่ประชาธิปไตย แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าการฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้มุ่งเป้าที่รัฐบาลไทยมีโรดแมปการเลือกตั้งชัดเจนในเดือนพฤศจิกายน 2561

การฟื้นสัมพันธ์ของอียูต่อไทย จะเป็นผลดีต่อไทย การที่อียูส่งสัญญาณตรงนี้ออกมา เป็นผลหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เยือนสหรัฐฯ และพบนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมประกาศว่าไทยจะเลือกตั้งในปลายปี 2561 ทำให้หลายกลุ่มประเทศทั่วโลกมองไทยดีขึ้น

++สหรัฐฯปลดไทยพ้น PWL

 อีก 2 วันถัดมาคือ วันที่ 15 ธันวาคม 2560 สหรัฐฯได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาอยู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ซึ่งส่งผลดีในด้านความเชื่อมั่นในการทำการค้า การลงทุนกับไทย และยังช่วยส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวดีๆ ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก หลัง “รัฐบาล คสช.” ก้าวผ่านความท้าทายมาแล้วกว่า 3 ปี

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 28 ธันวาคม 2560

นักเศรษฐศาสตร์นิด้าชี้เศรษฐกิจไทยปี 2561 เติบโต 4-4.5%

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 ยังเติบโตได้ 4-4.5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 3.8% เนื่องจากแนวโน้มต่างประเทศส่งสัญญาณเชิงบวก ทั้งจากฝั่งยุโรปที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และการคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ รวมถึงสัญญาณการทำ FTA กับประเทศไทย ซึ่งเป็นผลเชิงบวกต่อภาคการค้าและภาคการส่งออกของไทย

ขณะเดียวกันทางสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีเช่นกันจากการดำเนินนโยบายปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 21% ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนให้เพิ่มสูงขึ้นและประเมินว่า เฟด จะประกาศปรัรบดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.5% อีก 2-3 ครั้งในปี 2561 นี้

ส่วนคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างประเทศญี่ปุ่น ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการคิวอี และประเทศจีนมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายใน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตต่อเนื่องได้อีกหลายปีโดยประมาณ 6.5% – 7% และอาเซียนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ถือครองสัดส่วนการส่งออกของไทยมากถึง 25.7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ก็ส่งสัญญาณเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี เฉลี่ยแล้วตลอดทั้งปี กลุ่มอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 6%

นอกจากนี้ กระแสความนิยมของประเทศไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวถึง 20.9% ส่วนในแง่รายได้เติบโต 24.4% โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่ยังให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 รองจากยุโรป ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า ปัจจัยภายดังกล่าวจะเป็นผลเชิงบวกต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งประเมินว่าในปี 61 ภาคการส่งออกของไทยจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 6%

นายมนตรี กล่าวอีกว่าสำหรับปัจจัยบวกในประเทศนั้นภาครัฐ ยังคงใช้นโยบายการคลังเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเร่งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2560 ที่ยังคงค้างอยู่และจัดตั้งงบประมาณปี 2561 ที่สูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท รวมถึงงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งเป้าไว้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนประเด็นที่ต้องระมัดระวังในปี 2561 คือ เศรษฐกิจฐานรากของไทยที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่เป็น เพราะสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ แม้ว่าภาครัฐจะเร่งรัดลงทุนหลายโครงการเป็นจำนวนมาก แต่การกระจายตัวเม็ดเงินของรายได้ยังไม่ดีนัก รวมถึงการกระจายตัวของประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและเอสเอ็มอี ซึ่งหากสามารถดำเนินการแก้ไขในจุดเหล่านี้ได้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 สดใสมากขึ้น

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 28 ธันวาคม 2560

คืนดอกเบี้ยให้เกษตรกร ชำระหนี้ดี2.3ล้านราย

ธ.ก.ส.คืนดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่มีประวัติการชำระหนี้ดี จำนวน 2.3 ล้านราย รายละ 30% รวมวงเงินกว่า 4,600 ล้านบาท มอบของขวัญปีใหม่ เริ่ม 1 มกราคม 61

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มอบของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วย "โครงการชำระดี มีคืน" โดยธนาคารจะคืนดอกเบี้ยเงินกู้ ให้กับพี่น้องเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ไม่เกิน 300,000 บาท จำนวน 2.3 ล้านราย รวมต้นเงินกู้ประมาณ 220,000 ล้านบาท

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานเมื่อเกษตรกรนำเงินมาชำระหนี้ตามกำหนด ธนาคารจะคืนดอกเบี้ยในส่วนที่ลูกค้าส่งชำระคืนในอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ ในกรณีที่มีหนี้คงเหลืออยู่จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้ลูกค้ามาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน กรณีที่ไม่มีหนี้คงเหลือธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของลูกค้า ทั้งนี้ประมาณการดอกเบี้ยที่จะคืนให้แก่เกษตรกรลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินที่ดีดังกล่าวคิดเป็นวงเงินรวม 4,620 ล้านบาท โดยระยะเวลาดำเนินโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2561

 “การคืนดอกเบี้ยตามโครงการชำระดีมีคืนถือเป็นของขวัญที่ ธ.ก.ส. มอบให้สำหรับส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ และลดภาระหนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด ให้สามารถมีเงินนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นการสร้างเสริมให้เกษตรกรลูกค้ารักษาวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของตนเองและประเทศในระยะยาว” นายสมศักดิ์กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 28 ธันวาคม 2560

 พาณิชย์เร่งปั๊มศก.ฐานราก ดูแลพืชผลเกษตร-แก้ปัญหาปากท้อง-ดันส่งออก

 “สนธิรัตน์” เดินหน้า 9 นโยบายเร่งด่วนรับปี 61 ลุยปั๊มเศรษฐกิจฐานราก ดูแลราคาสินค้าเกษตร แก้ปัญหาปากท้อง ช่วยคนไทยมีอาชีพ พร้อมผลักดันส่งออก ด้าน “พาณิชย์” คาดมันสำปะหลังปี 61 ราคาดี เหตุความต้องการเพิ่มทั้งมันเส้น แป้งมัน ลุยขยายตลาดรองรับเพิ่ม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2561 กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าขับเคลื่อน 9 นโยบายเร่งด่วน ได้แก่ การดูแลราคาสินค้าเกษตร, การดูแลค่าครองชีพ, การสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย, การขับเคลื่อน SMEs และ MSMEs, การส่งเสริมการค้าออนไลน์, การส่งเสริมธุรกิจบริการ, การผลักดันการส่งออก, การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน

โดยการดูแลราคาสินค้าเกษตรจะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าเกษตร เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้ล่วงหน้า และยกระดับสินค้าเกษตรสู่สินค้าเกษตรนวัตกรรม นอกจากนี้ยังได้เพิ่มทางเลือกซื้อสินค้าราคาถูกผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยจะเพิ่มให้เป็น 4 หมื่นแห่งครอบคลุมทุกพื้นที่ และจะเชื่อมโยงสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนให้มีมุมวางขายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจการค้าระดับพื้น

นอกจากนี้ยังจะเร่งสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย โดยผลักดันให้เข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมทั้งขับเคลื่อน SME ให้มีแหล่งค้าขาย ทั้งที่เป็นการค้าในรูปแบบออฟไลน์ อาทิ ตลาด ร้านโชห่วย ห้างสรรพสินค้า Modern Trade และส่งเสริมการค้าขายออนไลน์ รวมถึงการส่งเสริมบริการใหม่รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

นายสนธิรัตน์กล่าวถึงการส่งออกว่า จะผลักดันให้การขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ที่คาดว่าจะการส่งออกจะโตถึง 10% โดยจะเน้นการขยายตลาดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม สินค้าใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และตั้งทีมการตลาด จัดทำแผนการเจาะขยายตลาดรายประเทศ เช่น จีน อินเดีย สหภาพยุโรป และยังมีแผนเริ่มเจรจาทวิภาคีกับประเทศสำคัญๆ อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส ที่สำคัญจะเพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น

นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า มันสำปะหลังปี 2560/61 มีผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดประมาณ 28 ล้านตัน ลดลงจากปี 2559/60 ที่มีปริมาณ 30 ล้านตัน และยิ่งช่วงนี้ฝนตก เกษตรกรจึงต้องเลื่อนการขุดมันออกไปจากเดิม แทนที่จะเริ่มขุดกันช่วงนี้ หรือเดือน ม.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่กระจุกตัวและไม่กระทบต่อราคาที่เกษตรกรจะขายได้ โดยคาดว่าราคาปี 2561 น่าจะดีกว่าปี 2560 และอาจจะขยับขึ้นไปถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท หรือสูงกว่าได้

ปี 2561 ราคามันสำปะหลังไม่น่าห่วง โดยราคาหัวมันสำปะหลังสดล่าสุดได้ปรับขึ้นจาก กก.ละ 2.25 บาท มาอยู่ที่ 2.40 บาทแล้ว ดีกว่าปีก่อนมาก มีโอกาสถึง กก.ละ 2.50 บาท และหากเป็นไปอย่างที่คิด รัฐบาลจะหมดความกังวลสินค้าเกษตรหลักไปได้อีกตัว” นายกีรติกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 28 ธันวาคม 2560

มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม เกษตรยั่งยืนก้าวสู่ Bonsucro

ต้องยอมรับว่าในการผลิตน้ำตาลตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเพิ่ม productivity ให้แก่องค์กร เป็นสิ่งที่ “กลุ่มมิตรผล” ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

ผ่านมากลุ่มมิตรผลนำแนวทางการจัดการไร่อ้อยที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนตามหลักการเกษตรสมัยใหม่ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” เข้ามาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไร้อ้อย จนสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์น้ำ และดิน จนทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro (better sugar cane initiative) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ในการผลิตอ้อย และน้ำตาล อย่างยั่งยืน

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า หากกล่าวถึงแนวทางการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม นั้นต้องมองย้อนไปในช่วงที่เกิดภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะช่วงปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้ผลผลิตอ้อยที่ออกมามีจำนวนน้อย ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลลดลงหลายสิบล้านตัน

“จากเดิมที่กลุ่มมิตรผลเคยเป็นผู้ผลิต และผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 4 ของโลก ทำให้ตกไปอยู่ที่อันดับ 5 และในปีผ่านมาด้วยวิธีการทำการเกษตรสมัยใหม่ และแนวทางมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ทำให้กลุ่มมิตรผลกลับมาอยู่ในอันดับ 4 ของโลกอีกครั้ง ทั้งยังเป็นผู้ผลิต และส่งน้ำตาลมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย”

 “หลักการจัดการตามแบบโมเดิร์นฟาร์ม ถือเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการไร่อ้อยตามแบบฉบับของกลุ่มมิตรผล โดยเกิดจากการศึกษาวิธีการผลิตการทำไร่อ้อยในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดในโลก จากนั้นนำเอาเทคนิค และความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับประเทศไทย และวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยในประเทศไทย”

สำหรับแนวทาง มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม มีทฤษฎี 4 เสาหลัก โดยมีน้ำเป็นฐานที่สำคัญ ประกอบด้วย การปลูกพืชบำรุงดิน, การลดการไถพรวน, การลดการอัดหน้าดิน และสุดท้ายคือการลดการเผาใบอ้อย โดยใช้รถตัด ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำไร่อ้อย ทั้งในเรื่องของความรู้ที่ถูกต้อง ทั้งจากวิชาการและแปลงสาธิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างระบบฟาร์มอัจฉริยะเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ ระบบการจัดการน้ำในไร่ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย และสร้างวิถีการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านประโยชน์ที่ได้จากการจัดการไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มคือ การเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากการลดการบดอัดของชั้นหน้าดิน ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงกว่า 25% ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ไร่ละ 8,000 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 5-6 พันบาท ทั้งยังสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร พร้มกับช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย

“เมื่อเกษตรกรสามารถบริหารจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ตามแนวทางมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ได้แล้ว เรายังส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro (better sugar cane initiative) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการผลิตอ้อย และน้ำตาลอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยยกระดับภาคการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอ้อยของไทยสู่สากล”

“บรรเทิง” กล่าวเพิ่มเติมว่า Bonsucro เป็นองค์กรระดับโลกที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม จากการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาล ขณะเดียวกัน ยังตระหนักถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ โดยมาตรฐานนี้จะมีหน่วยงานตรวจสอบอิสระเป็นผู้ตรวจสอบ และให้การรับรองแก่กระบวนการผลิตที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน

“การได้รับมาตรฐาน Bonsucro แสดงให้เห็นถึงคุณภาพ และการใส่ใจของกลุ่มมิตรผล ในการสร้างความสุข และการเติบโตที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ชาวไร่ องค์กร คู่ค้า ตลอดจนผู้บริโภค ส่งผลลัพธ์ที่ดีให้แก่สังคมในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องของการจัดการระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ด้านกระบวนการผลิต ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่ถูกต้อง”

“ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน อย่างที่ชุมชนบ้านหนองแซง ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาอย่างยาวนาน แต่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อย จนนำไปสู่การเผาอ้อย ทำให้ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น”

จากการที่กลุ่มมิตรผลเข้าไปส่งเสริมความรู้ และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในชุมชนหนองแซง ทำให้แนวคิดต่างคนต่างทำ เกิดเป็นการรวมกลุ่มกันทำ บนหลักการ ร่วมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับ ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มที่ประกอบด้วย กลุ่มรถกล่อง, กลุ่มรถไถเตรียมดิน, กลุ่มรถวีแนส และกลุ่มอ้อยมัด

โดยใช้หลักการจัดการตามแบบเกษตรสมัยใหม่ และมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ทั้งการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน รวมถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมนำเอาแนวทางการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืนตามมาตรฐานระดับโลก Bonsucro มาปรับใช้จนพัฒนาเป็นหนองแซงโมเดล

“ปัจจุบันหนองแซงโมเดลสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกร โดยสามารถตัดอ้อยจากปริมาณพื้นที่เป้าหมายได้สูงถึง 98% มีปริมาณอ้อยสด สะอาดกว่า 100,000 ตันต่อปี สามารถสร้างรายได้ในกลุ่มปีละกว่า 42.3 ล้านบาท ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานการเก็บเกี่ยวอ้อยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และที่สำคัญมีพื้นที่ทำไร่อ้อยบนมาตรฐาน Bonsucro กว่า 5,000 ไร่ และพร้อมที่จะขยายให้ครบ 13,000 ไร่ และมีการใช้รถตัด 100% ภายในปี 2562 อีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “บรรเทิง” บอกว่า ในการส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้ Bonsucro นั้น กลุ่มมิตรผลมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรวมแปลงไร่ละ 700-1,000 บาท ในการรื้อหินและตอซังอ้อยเดิมออกจากแปลง โดยในแต่ละปีใช้งบฯราว 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ให้ฟรีกับเกษตรกร ในขณะที่งบฯการส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ผ่านมา ทั้ง 7 โรงงาน อยู่ที่ราว 7,000 ล้านบาท

“กลุ่มมิตรผลเราตั้งเป้าหมายที่จะทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ไว้ที่ 400,000 ไร่ ภายในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถผลิตน้ำตาลดิบภายใต้มาตรฐาน Bonsucro ได้ถึง 600,000 ตัน ขณะเดียวกัน ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของเรายังสามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่โคนถึงยอด โดยที่ยอดนั้นนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักดิน ส่วนลำต้นหลังจากหีบสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ และส่วนที่เป็นโคนต้นและเหง้าสามารถนำมาทำปุ๋ย”

“ส่วนที่เหลือจากการกลั่นเอทานอลยังเป็นสารปรับปรุงดิน โดยกลุ่มมิตรผลมีการพัฒนาต่อยอดทางด้านนวัตกรรม จนสามารถช่วยในการปรับปรุงดิน ซึ่งจะถูกนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริม ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยที่ไม่ต้องทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง และนับเป็นกระบวนการแบบ zero waste”

“อีกทั้งยังมีศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย (RDI-Research Development and Innovation) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่ม productivity และ value adder ให้กับอ้อย ขณะเดียวกัน เป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจ และในอนาคตอาจจะมีการก่อตั้งเป็นสถาบันที่ให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ต่อไป”

นับว่าเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอ้อย และน้ำตาลของไทย รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร และพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 27 ธันวาคม 2560

เกษตรฯจัดติวเข้มผู้บริหารสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

               วันที่ 26 ธ.ค.นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร นักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง : หลักสูตรฝึกอบรม นักบริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า ปัจจุบันสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารในทุกภาคส่วนและทุกองค์กรจะต้องเป็นผู้นำในการปรับตัวขององค์กร เพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งภาคราชการก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากเป็นกระทรวงหลักในการดูแลการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงถูกคาดหวังจากเกษตรกรว่าเป็นมืออาชีพ เป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ จึงจำเป็นที่นักบริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจสภาพความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการบริหารและการปฏิบัติงาน ต้องก้าวตามให้ทันวิทยาการใหม่ ๆ ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจะต้องพัฒนาตนเองให้สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเป็นผู้บริหารยุคใหม่ ซึ่งใช้ทั้งทักษะ ศิลปะ และศาสตร์ทุกแขนงที่มีอยู่ในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จได้จริงตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

              การฝึกอบรมดังกล่าว มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2560 - 16 กุมภาพันธ์ 2561 ประกอบด้วย ข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการหรือเทียบเท่า ไม่น้อยกว่า 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการและเทคนิคด้านการบริหาร รวมทั้งเสริมสร้างคุณลักษณะของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีความพร้อมด้านบริหารจัดการตามแนวทางการพัฒนาระบบราชการให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีความรอบรู้ รู้ลึก รู้จริง และสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ประโยชน์ของหน่วยงานในการพัฒนาคุณภาพของบุคลากร และประโยชน์ของประเทศและประชาชนจากการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพของบุคลากรภาครัฐ

                 สำหรับการฝึกอบรมหลักสูตร นักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง : หลักสูตรฝึกอบรม นักบริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายหลักเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการหรือเทียบเท่าในการเข้าสู่ตำแหน่งประเภทบริหาร ขยายโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งรองอธิบดี รองเลขาธิการ หรือเทียบเท่าของผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาผู้อื่น ตามบทบาทหน้าที่ทางการบริหารและการมีภาวะผู้นำในด้านต่าง ๆ

                    ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้น และจัดขึ้นเป็นรุ่นแรกในครั้งนี้ เพื่อขอรับการประเมินจาก ก.พ. หากผ่านการประเมินแล้ว ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าว และมีคุณสมบัติตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด จะสามารถเข้ารับการฝึกอบรมเสริมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (ส.นบส.) ของสำนักงาน ก.พ. และเมื่อผ่านหลักสูตร ส.นบส. แล้ว จะถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติเสมือนได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) ของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตรที่ ก.พ. พิจารณาให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเสมือนได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพียงไม่กี่หลักสูตร ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร บางหลักสูตรเท่านั้น

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 27 ธันวาคม 2560

ต้อนรง.ทั่วประเทศขึ้นทะเบียนบิ๊กดาต้าเริ่มกลางปีหน้า

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ในฐานะประธานคณะทำงานการจัดทำฐานข้อมูล(บิ๊กดาต้า) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯเตรียมนำระบบงานอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการอนุมัติอนุญาตในหน่วยงานต่างๆ อาทิ สมอ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่(กพร.) ภายใต้บิ๊กดาต้าที่มีสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานกลาง ซึ่งการจัดทำบิ๊กดาต้าดังกล่าวจะต้องใช้ข้อมูลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศหลายแสนราย ดังนั้นเพื่อให้ข้อมูลมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมมากที่สุด กระทรวงอุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเปิดให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ทั้งรายใหญ่และขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เข้ามาลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อจัดทำบิ๊กดาต้า มีกระทรวงมหาดไทยมาร่วมด้วย เพราะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กรณีการดึงข้อมูลต้องมีเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการด้วย โดยรูปแบบการลงทะเบียนจะใช้บัตรประจำตัวประชาชนผู้ประกอบการ และบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย จึงจะดึงข้อมูลได้

“เบื้องต้น สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะเปิดตัวบิ๊กดาต้าในรูปของถังข้อมูลช่วงกลางปี 2561 หลังจากนั้นอุตสาหกรรมจังหวัดจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เปิดให้เอกชนทั่วประเทศลงทะเบียนเพื่อจัดทำฐานข้อมูลกลางของประเทศ ซึ่งทำให้รู้ว่าเอกชนแต่ละรายมีการขออนุญาตใดไปบ้าง หรือมีข้อมูลที่ระบุถึงปัญหา ถูกร้องเรียน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การจัดการในเชิงนโยบายมีความคล่องตัวขึ้น”นายณัฐพลกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 27 ธันวาคม 2560

ชงไอเดียยิง‘ดาวเทียม’เกษตร เพิ่มความแม่นยำข้อมูล-พัฒนาดิน-น้ำ-ป้องกันภัยพิบัติ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 และแนวโน้มปี 2561 ในหัวข้อ “น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า การพัฒนาการเกษตรของประเทศให้เกิดความยั่งยืนภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงสร้างต้นแบบและพระราชทานบทเรียนในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวคิด คำสอน และแนวปฏิบัติที่พระองค์ได้ทรงศึกษาอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นองค์ความรู้ที่มีพื้นฐานบนความเป็นจริง มีเหตุมีผล และปฏิบัติได้จริง หรือเรียกว่า “ศาสตร์พระราชา”

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ของการทรงงานของพระองค์ เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า หลักการทรงงานของพระองค์ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงพระราชทานแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เช่น การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแกล้งดิน แก้ปัญหาดินเสีย การพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ หรือ “ฝนหลวง” โดยขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการพัฒนาจนสามารถใช้ต้นทุนการทำฝนหลวงเพียง 12 บาท ต่อไร่

อย่างไรก็ตาม ความแม่นยำของข้อมูลด้านเกษตรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จึงได้เสนอแนวทางว่า กระทรวงเกษตรฯควรมีดาวเทียมที่ทันสมัยและมีความแม่นยำของข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรทั้งเรื่องดิน น้ำ ข้อมูลการชะล้างหน้าดิน ผลกระทบจากภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น โดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่าง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่นๆ ต่อไป

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1.เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2560 และคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2561 รวมทั้งสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนและ 2.เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และตัวแทนเกษตรกร เกี่ยวกับ “ศาสตร์พระราชา” เพื่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศให้มีความยั่งยืนและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงเกษตรฯ ฟิตจัดเดินหน้าขับเคลื่อนระบบ “เกษตรพันธสัญญา

ผู้ประกอบการแห่เข้าระบบ “เกษตรพันธสัญญา” หรือ Contract Farming แล้ว 37 ราย หลังขีดเส้นให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำธุรกิจอยู่แล้วขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบ 26 ธันวาคม 60 เป็นวันสุดท้าย กระทรวงเกษตรฯ มั่นใจเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมเกษตรไทยสู่ความเท่าเทียม  ลดการเอาเปรียบ  หนุนเกษตรกรในประเทศแกร่งขึ้น–รายได้เพิ่ม 

นายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลัง“พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560” มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญามาแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ในท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสำนักงานแห่งใหญ่หรือมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ รวมถึงสามารถแจ้งผ่านในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซต์ผ่านเว็บไซต์ http://www.opsmoac.go.th/contractfarming ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ประกอบธุร กิจอยู่ก่อนแล้ว มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และจะครบกำหนดระยะเวลาแจ้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 นั้น    

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ 21 ธันวาคม 60 ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาแจ้งประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาแล้วจำนวน 37 รายแบ่งเป็นนิติบุคคล 35 รายและบุคคลธรรมดา 2 ราย ดังนี้ 1. บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด 2. บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท พี.เอส.คอนแทคท์ ฟาร์มมิ่ง จำกัด 4. บริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด 5. บริษัท ซาคาตะ สยาม ซีด 6. บริษัท ออแกนิค แมทเทอร์ จำกัด 7. บริษัท แวนด้า ซีดส์ จำกัด 8. บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด 9. บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด 10. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด 11. บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด 12. บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด 13. บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด

14. บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด 15. บริษัทน้ำตาล เอราวัณ จำกัด 16. บริษัท ประสิทธิ์ ฟาร์ม จำกัด 17. บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด 18. บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 19. บริษัท เมล็ดพันธุ์ เอเชีย จำกัด 20. บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด 21. บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด 22. บริษัท สหฟาร์ม จำกัด

23. บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด 24. บริษัท ไพโอเนีย ไฮ-เบรด (ไทยแลนด์) จำกัด 25. บริษัท ไทย ฟูดส์ สไวน อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด 26. บริษัท ไทยฟูดส์ คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง จำกัด 27. บริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด 28. บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด 29. บริษัท บิ๊ก ฟู๊ดส์ กรุ๊ป จำกัด 30. บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด 31. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 32. บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 33. บริษัท ซันฟู้ด อินเตอร์เนชันแนล จำกัด 34. บริษัท ซันฟีด (ประเทศไทย) จำกัด  35. บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด  ส่วนบุคคลธรรมดา  2 ราย ประกอบด้วย 1. นายตุลา ตรงเมธีรัตน์ และ 2. นายธีรเมศร์ สิริพงศ์ศรี

สำหรับการแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ของผู้ที่ประกอบธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว (รายเดิม) ใกล้จะครบระยะเวลาดำเนินการแล้ว ดังนั้น เพื่อให้การประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่ได้มาแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญารีบมาดำเนินการแจ้งการประกอบธุรกิจให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 เพราะหากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต่อไป โดยที่ไม่ได้มีการแจ้งการประกอบธุรกิจ จะมีความผิดและได้รับโทษตามกฎหมาย คือ โทษปรับสูงสุดเป็นจำนวนถึง 300,000 บาท นายพีรพันธ์  กล่าว

นายพีรพันธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปการทำสัญญากับเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดทำเอกสารสำหรับชี้ชวนและร่างสัญญาที่มีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนดให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าก่อนเข้าทำสัญญา  เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการทำสัญญาได้

“กฎหมายเกษตรพันธสัญญา” จึงถือเป็นการเปิดมิติใหม่ ในการสร้างความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบธุร กิจแบบยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทร. 0-2281-5955 ต่อ 354 หรือสายด่วน 1170

จาก https://www.siamturakij.com  วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ชาวบ้านร่ำไห้เตรียมเผาโลงค้าน รง.น้ำตาล-ไฟฟ้าชีวมวลฯ

ชาวบ้านวังใหม่บุกศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ขอพบผู้ว่าฯ ร้องตรวจสอบโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวลฯ ขนเครื่องจักรเข้าพื้นที่ ถูกปกปิดข้อมูลพิจารณา ร.ง.4

               26 ธ.ค. 60  เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว  ชาวบ้านวังใหม่ พื้นที่ ม.1 , ม.4 และ ม.10 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ จำนวนกว่า 10 คน ได้เดินมาขอเข้าพบ นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อยื่นหนังสือและสอบถามกรณีที่โรงงานดังกล่าวได้ดำเนินการปรับพื้นที่บริเวณทางเข้า และขนเครื่องจักรจากบริเวณลานจอดรถบรรทุกอ้อย ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร เข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามการพิจารณาใบอนุญาตการก่อสร้างโรงงาน หรือ ร.ง.4 และพื้นที่ยังมีความขัดแย้งจากประชาชน ชุมชน ที่ไม่เห็นด้วยในปัจจุบัน โดยมีนายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นผู้รับเรื่องแทนผู้ว่าราชการจังหวัด และนำชาวบ้านไปร่วมพูดคุยกับนายชวลิต ชัยนิวัฒนา อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ที่ห้องประชุมสำนักงานจังหวัดสระแก้ว ชั้น 4

               น.ส.กนกกาญจน์ วงษ์ชัยยะ ตัวแทนชาวบ้าน และผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ม.4 ต.วังใหม่ กล่าวทั้งน้ำตา ภายหลังอุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งว่า มีการออกใบ ร.ง.4 ให้กับโรงงานนี้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 60 พร้อมทั้งระบุว่า ชาวบ้านพยายามสอบถามรายละเอียดการพิจารณาจากหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ , กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ มีเพียงหนังสือแจ้งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60 ว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ชาวบ้านและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถร้องคัดค้านภายหลังขั้นตอนออกใบ ร.ง.4 และติดประกาศฯ ภายในเวลา 15 วัน แต่ปรากฏว่า ไม่มีการดำเนินการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมฯ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งแต่เพียงว่า ยังไม่ทราบ

               น.ส.กนกกาญจน์ และชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ร่วมกันให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานหนึ่งเดียวของในหลวงรัชกาลที่ 9 มะม่วงส่งออก ลำไยนอกฤดู จะต้องล่มสลายแน่นอน ชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไรกับมลพิษ อีกทั้งมีการดำเนินการขอรับใบอนุญาตที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายกำหนด หลายประการ ซึ่งชาวบ้านได้โต้แย้งส่งถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว แต่กลับไม่มีการนำมาพิจารณาและร่วมกันปกปิดข้อมูล

               "มีการนำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์จาก สผ.ไปส่งเรื่องที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 60 แต่กลับมีการออกใบ ร.ง.4 ในวันที่ 15 ธ.ค. 60 และที่สำคัญคือ มติ ครม.ปี 2554 ที่อนุญาตให้โรงงานนี้ขยายโรงงานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 60 นี้ และต้องแจ้งประกอบกิจการภายในสิ้นปี 2560 คือพร้อมเปิดดำเนินการ แต่ตอนนี้ขนเครื่องจักรเข้าไป จะดำเนินการก่อสร้างได้ทันอย่างไร ทั้งนี้ ชาวบ้านจะดำเนินการทุกวิถีทาง เนื่องจากมีข้อมูลหลายประการไม่ถูกต้องและเป็นเท็จ" น.ส.กนกกาญจน์ กล่าว

               นายชวลิต กล่าวว่า ขั้นตอนการอนุญาตเป็นของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตนมีหน้าที่ดูแลภายหลังที่โรงงานได้ใบอนุญาต ซึ่งเช้าวันนี้ (26 ธ.ค.) โรงงานดังกล่าวได้ทำหนังสือเข้ามาที่สำนักงาน เพื่อยื่นขอประกอบกิจการ  ซึ่งตนได้ชี้แจงไปว่า การยื่นประกอบกิจการต้องมีการก่อสร้างโรงงานและวางเครื่องจักรที่พร้อมเดินเครื่อง แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่เขาก็มีสิทธิ์ยื่น ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้มีหนังสือแจ้งกลับไปอีกครั้งว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ พร้อมทั้งศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีนี้อีกครั้งหนึ่ง

               นายภูสิต กล่าวว่า ตนเองก็เพิ่งเห็นเช่นกันว่า มีการพิจารณาใบอนุญาตแล้ว ดังนั้น การขนเครื่องจักรก็สามารถดำเนินการได้ แต่ในส่วนของการจะยื่นประกอบกิจการได้ทันเวลาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบาย เพราะข้อมูลล่าสุดบอกว่า ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2560 ทั้งนี้ หากประชาชนเห็นว่าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องก็สามารถใช้สิทธิ์ยื่นร้องเรียนหรือใช้สิทธิ์ทางศาลได้เช่นกัน

               อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพูดคุยระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานราชการครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ ร่วมรับฟังด้วย โดยมีการโต้แย้งข้อมูลของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กรณีทำหนังสือยืนยันไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ที่ผ่านมาไม่มีการร้องเรียนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในโรงงานเดิม ซึ่งไม่เป็นความจริง และไม่เชื่อถือในมาตรการเยียวยาหรือแนวทางแก้ไขต่างๆ ที่ระบุในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวได้ตั้งโลงศพจำนวน 6 - 7 โลง เพื่อแสดงออกและคัดค้านโครงการฯ บริเวณตลาดวังใหม่ สำหรับรอไว้เตรียมการเผาโลงศพหลังจากนี้ด้วย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2560

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายหวั่นระยะยาวชะลอตัวหลังเจอปัญหาอ้อยไฟไหม้เพิ่ม

โรงงานน้ำตาลทราย เผยข้อมูลรายงานผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 60/61 ช่วงโค้งแรก 19 วัน หลังเปิดหีบอ้อยตั้งแต่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีอ้อยส่งเข้าหีบรวม 10.2 ล้านตัน เทียบปีก่อนหีบอ้อยได้ 8.2 ล้านตัน โดยโรงงานสามารถหีบอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.0 ล้านตันต่อวัน ผลิตน้ำตาลได้แล้ว 8.3 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) ขณะที่ยิดล์น้ำตาลทรายต่อตันอ้อยและค่าความหวานอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่มีความกังวลเรื่องคุณภาพอ้อยในช่วงต่อไป หลังชาวไร่อ้อยจัดส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพิ่ม

     นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า หลังจากที่ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบการเปิดหีบอ้อยของ ประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมา มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยแล้ว 51 โรงงาน จากจำนวนทั้งหมด 54 โรงงาน รับอ้อยเข้าหีบในช่วงระยะเวลา 19 วันแรก (1-19 ธันวาคม 2560)  ได้แล้วกว่า 10.16 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนหีบอ้อยได้ 8.17 ล้านตัน ประสิทธิภาพการหีบอ้อยฤดูการผลิตนี้ดีขึ้นเมื่อปรียบเทียบกับระยะเวลาการหีบอ้อยในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยโรงงานน้ำตาลสามารถหีบอ้อยได้เฉลี่ย 1.03 ตันต่อวัน แม้ว่ามีอีกหลายแห่งยังไม่เปิดหีบอ้อยก็ตาม

     ส่วนคุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงแรกอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในช่วงแรกของฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 81.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบในปีก่อน ได้ยิลด์น้ำตาลอยู่ที่ 77.12 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สำหรับค่าความหวานของอ้อยในปีนี้ก็ดีขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 11.17 ซี.ซี.เอส. สูงกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10.74 ซี.ซี.เอส. ส่งผลให้ได้ผลผลิตน้ำตาลดีขึ้นอยู่ที่ 8.29 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ)

     “ในช่วงแรกของการหีบอ้อยประจำฤดการผลิตปี 2560/61 อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เนื่องจากโรงงานน้ำตาลได้เตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 105 ล้านตัน ซึ่งจากการเตรียมการเป็นอย่างดี ทำให้ประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลได้ดี แม้ว่าในช่วงแรกมีปัญหาอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

     อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลยังมีความกังวลกับคุณภาพอ้อย โดยพบว่าจากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 10.16 ล้านตันนั้น มีอ้อยไฟไหม้สูงถึง 5.73 ล้านตัน ขณะที่อ้อยสดมีเพียง 4.43 ล้านตัน ดังนั้น โรงงานน้ำตาลจะต้องรณรงค์ให้ชาวไร่ตัดส่งอ้อยสดมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดให้ได้ยิลด์น้ำตาลสูงขึ้น และช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รายได้เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ กอน. กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นต่ำกว่าปีก่อน โดยในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 กำหนดราคาอ้อยอยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาทต่อ 1 ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น เท่ากับ 377.14 บาทต่อตันอ้อย

     ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นในเขต 5 อยู่ที่ 830 บาทต่อตัน ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาทต่อ 1 ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นเท่ากับ 355.71 บาทต่อตันอ้อย

จาก สยามธุรกิจ  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จับตารง.ผลิตไบโอดีเซลผุดเพิ่มขึ้นปี 61

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย เปิดเผยว่า ปี 2561 แนวโน้มโรงงานผลิตไบโอดีเซล(บี 100 )จะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เพราะจะมีโรงงานแห่งใหม่เกิดขึ้นอีกประมาณ 2-3 แห่ง ของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือจีจีซี กับ บริษัทพีทีจี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือพีทีจี ซึ่งทั้งสองแห่งเน้นผลิตเองใช้เอง จากปัจจุบัน 13 แห่ง เมื่อรวมโรงงานทั้งหมดในปีหน้าจะทำให้มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า8-8.5 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันประมาณ 6.6-7 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการบี 100 ปัจจุบันมีเพียง 3-3.5 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น

นายศาณินทร์กล่าวว่า ที่ผ่านมาบี100 มีสภาวะล้นตลาดทำให้โรงงานมีอัตรากำลังผลิตเฉลี่ยไม่ถึง 50% เกิดสถานการณ์การตัดราคา(ดัมพ์)ราคาขายไม่ถึง 20 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตามจากการที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้มีการผสมบี100ในดีเซลอัตรา 7% เพื่อจำหน่ายไบโอดีเซลบี 7 ตลอดปี 2561 ถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยสร้างงานและพยุงราคาปาล์มทำให้ระบบเศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียน แทนที่จะต้องหันไปส่งออกเป็นน้ำมันปาล์มดิบ(ซีพีโอ)

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2560

รมช.เกษตรฯชงครม.ของบ20ล.สำรวจEHIAแหล่งน้ำ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เตรียมเสนอ ครม.สัญจร ของบ 20 ล้านบาท สำรวจ EHIA แหล่งกักเก็บน้ำ 4 แห่งสำคัญ อ.สะเอียบ จ.แพร่

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันนี้ (26 ธ.ค.) ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะมีการเสนอของบประมาณประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เกี่ยวกับแหล่งกักเก็บน้ำ 4 แห่งสำคัญในอำเภอสะเอียบ จ.แพร่ ที่จะใช้รับน้ำเมื่อเกิดน้ำท่วมและเพื่อใช้การบริโภค ประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นได้ลงพื้นที่พร้อมพูดคุยกับประชาชนแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วยพร้อมเสียสละพื้นที่ส่วนตัว เพื่อส่วนรวม โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนหรือพื้นที่เกษตรกรรมได้ถึง 2,000 - 3,000 ไร่

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ มีแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำอีก 70 แห่ง บริเวณลุ่มน้ำยม โดยล่าสุดยังอยู่ระหว่างการออกแบบ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2560

สภาเกษตรกรฯ ร่วมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมนำเกษตรอุตสาหกรรมสู่กลุ่มน้ำอ้อยวิสาหกิจชุมชนกรับใหญ่

 นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อน การปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยเกษตรอุตสาหกรรมของสภาเกษตรกรแห่งชาติว่า ตัวอย่างความสำเร็จในการนำเกษตรอุตสาหกรรมนำสู่เกษตรกรคือ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกรับใหญ่” ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จากแต่เดิมเกษตรกรปลูกอ้อยส่งโรงงาน โดยแต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่ปลูก 20–30 ไร่ ต่อมาครอบครัวขยาย ทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยแต่ละครอบครัวจะลดลงเหลือ 5–10 ไร่ อีกทั้งความไม่แน่นอนเรื่องราคา,พื้นที่ปลูกน้อย,ผลผลิตที่ได้น้อย ทำให้มีความยากลำบากในการประกอบอาชีพ เมื่อสภาเกษตรกรฯมีนโยบายเกษตรอุตสาหกรรมมุ่งให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการขายวัตถุดิบให้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ในปี 2558 นายวิชิต พันธ์เพียร ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีจึงได้เกิดแนวคิดการทำน้ำอ้อย โดยรวมกลุ่มเกษตรกร เริ่มจากสมาชิก 40 คน วางแผนการผลิตโดยแบ่งพื้นที่ปลูกอ้อยส่งโรงงาน มาปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ด้วย และสามารถตัดได้ทั้งปี หลังปลูกได้ผลผลิตก็แปรรูปเป็น 2 ผลิตภัณฑ์คือลำอ้อยปอกเปลือกขายให้พ่อค้าที่คั้นน้ำอ้อยขาย และนำมาคั้นเป็นน้ำอ้อยขายให้บริษัทไร่ไม่จนจำกัดไปทำน้ำอ้อยพาสเจอร์ไรส์ ผลปรากฏว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายอ้อยให้โรงงาน 900 บาท/ตัน เป็น 1,500 บาท/ตัน อ้อย 2 ตันคั้นน้ำอ้อยได้ 1 ตัน ราคาขายน้ำอ้อยตันละ 8,000 บาท กิจการไปได้ดีจึงจดทะเบียนเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกรับใหญ่” มีการวางแผนการปลูกให้สามารถคั้นน้ำอ้อยได้ทั้งปี การปลูกเป็นแบบอินทรีย์ น้ำอ้อยที่ได้จึงสะอาด 3 ปีที่ผ่านมากลุ่มมีรายได้เฉลี่ยปีละ 300,000-500,000 บาท รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์หลังหักค่าอ้อยให้สมาชิกแล้วคงเหลือกำไรจะจ่ายเพิ่มราคาให้สมาชิกและจัดสวัสดิการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกด้วย

ด้าน นายจารุพันธุ์ จารโยภาส ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการ โดยเห็นว่าควรวางแผนการพัฒนาทำผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยให้หลากหลายเพิ่มขึ้นเช่น น้ำเชื่อม น้ำตาลปึก โดยมีรูปแบบเป็นก้อนจะสะดวกสำหรับคนเมือง หรือไปในแนวสมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้เครื่องจักร โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมให้การสนับสนุน ซี่งการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมสามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งปี ระบบกลุ่มมีความเข้มแข็ง เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีแผนงานร่วมมือกับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาตินำการพัฒนา 600 กลุ่มในปีนี้ ซึ่ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกรับใหญ่” เป็นกลุ่มเดียวที่ทำผลิตภัณฑ์น้ำอ้อย

จาก https://www.siamrath.co.th วันที่ 25 ธันวาคม 2560

ชาวไร่อ้อยวอน"บิ๊กตู่" ผ่อนผันน้ำหนักบรรทุกเกินช่วงปิดหีบ

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธุ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการเปิดหีบในฤดูหีบปี 2560/61 ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2560 จนถึงขณะนี้ยังเกิดปัญหาการถูกสำนักตรวจน้ำหนักรถบรรทุก กรมทางหลวงสนธิกำลังออกตรวจจับรถบรรทุกอ้อยทุกคัน ที่มีความสูงเหิน 3.60 เมตร และน้ำหนักเกิน 25 ตัน ซึ่งเกรงว่าจะเป็นปัญหารกระทบต่อการปิดหีบอ้อยล่าช้าและทำให้ต้นทุนการขนส่งของชาวไร่อ้อยสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณอ้อยฤดูหีบปีนี้ คาดมีปริมาณสูงถึง 110 ล้านตัน ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา 4 องค์กรชาวไร่อ้อยได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอแก้ไขปัญหา หลังจากก่อนหน้าได้ยื่นถึงหลายหน่วยงานแล้วขอให้ผ่อนปรนความสูงของรถบรรทุกอ้อยเป็นไม่เกิน 3.80 เมตร ไม่เช่นนั้นอาจไม่ทันปิดหีบกลางเดือนเมษายน 2561 เพราะอ้อยเป็นฤดูกาล หากฝนตกแล้วจะเก็บเกี่ยวไม่ได้

นายอำนวย  กลิ่นสอน เลขานุการสหสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 กล่าวว่า ด่านลอยของกรมทางหลวงตรวจรถบรรทุกอ้อยจับชั่งน้ำหนักรถทำให้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศลำบากอย่างมาก ล่าสุดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องใช้วิธีจอดรถไม่ยอมตรวจและจะใช้เจอแล้วจอดเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ซี่งคงเป็นวิธีเดียวที่ชาวไร่จะประท้วงได้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับหนังสือที่ยืนยันถึงคำสั่ง พล.อ.ประจิน  จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีให้ผ่อนปรนการบรรทุกอ้อยให้ได้ความสุง 3.80 เมตร เพื่อเป็นเหตุบรรเทาความเดือดร้อนแต่กรมทางหลวงกลับไม่ปฏิบัติตาม

"อยากย้อนถามกรมทางหลวงเอากฎหมายไหนมาผ่อนปรน รัฐต้องเข้าใจว่าอ้อยเป็นฤดูกาล กรณีเกิดอุบัติเหตหุก็ดูแลปัญหาอย่างดี ถึงเทศกาลหยุดก็ให้ความร่วมมือ ต้องเข้าใจว่าอ้อยเป็นฤดูกาลผลิตแค่ 5 เดือน คือ ธันวาคม - เมษายน ไม่เกินนี้ เพราะถ้าฝนมาก็จบตัดอ้อยไม่ได้ ปีนี้อ้อยเยอะมาก ถ้าปิดหีบไม่ทัน จะส่งผลกระทบใครจะรับผิดชอบ ถึงจุดนั้นจริงชาวไร่จะไม่ยอมแน่" นายอำนวยกล่าว

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริหารบริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า โรงงานได้ติดตามปัญหารการขนอ้อยอย่างใกล้ชิด เพราะอาจกระทบต่อการปิดหีบอ้อยได้ ขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบแล้ว 51 โรงงาน จากจำนวน 54 โรงงาน รับอ้อยเข้าหีบช่วง 19 วันแรกของการเปิดได้แล้ว 10.16 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนหีบอ้อยได้  8.17 ล้านตัน เพราะประสิทธิภาคการหีบอ้อยฤดูกาลผลิตนี้ดีขึ้น โดยโรงงานน้ำตาลสามารถหีบอ้อยได้เฉลี่ย 103 ตันต่อวัน ส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยีลต์) ช่วงแรกของฤดูกาลผลิตปีนี้ เพิ่มเป็น 81.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบในปีก่อน ได้ยิลต์น้ำตาล 77.12 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ค่าความหวานของอ้อยก็ดีขึ้น เฉลี่ย 11.17 ซี.ซี.เอส. สูงกว่าปีก่อนที่ 10.74 ซี.ซี.เอส. ส่งผลให้ได้ผลผลิตน้ำตาลดีขึ้น อยู่ที่ 8.29 ล้านกระสอบ (100 กก.ต่อ 1 กระสอบ)แล้ว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 25 ธันวาคม 2560

สหพันธ์ไร่อ้อยร้อง‘บิ๊กตู่’ โดนจับ/จี้ผ่อนปรนความสูงรถบรรทุก

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการเปิดหีบในฤดูหีบปี’60/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2560 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ยังคงเกิดปัญหาที่ สำนักตรวจน้ำหนักรถบรรทุก กรมทางหลวง สนธิกำลังออกตรวจจับรถบรรทุกอ้อยทุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร และน้ำหนักเกิน 25 ตัน ซึ่งเกรงว่าปัญหาดังกล่าวจะกระทบต่อการปิดหีบอ้อยล่าช้าและจะทำให้ต้นทุนการขนส่งของชาวไร่สูงขึ้น เนื่องจากปริมาณอ้อยฤดูหีบปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณที่อาจสูงได้ถึง 110 ล้านตัน

โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ทาง 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ได้ไปยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้

 แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว และก่อนหน้านี้ก็ยื่นหลายที่เพื่อขอให้ผ่อนปรนความสูงของรถบรรทุกอ้อยเป็นไม่เกิน 3.80 เมตร เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่ทันปิดหีบในช่วงกลางเมษายน 2561 เพราะอ้อยเป็นฤดูกาลหากฝนตกแล้วก็จะเก็บเกี่ยวไม่ได้

นายอำนวย กลิ่นสอน เลขานุการสหสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกำลังลำบากมาก เพราะเจอด่านของ กรมทางหลวงตรวจรถบรรทุกอ้อยจับชั่งน้ำหนักรถ โดยเฉพาะล่าสุดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่จ.นครสวรรค์ ทำให้ชาวไร่ต้องใช้วิธีจอดรถไม่ยอมตรวจ ซึ่งคงเป็นวิธีเดียวที่ชาวไร่จะทำเพื่อประท้วงได้เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับหนังสือที่ยืนยันถึงคำสั่ง พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ผ่อนปรนการบรรทุกอ้อยให้ได้ความสูง 3.80 เมตร เพื่อเป็นเหตุบรรเทาความเดือดร้อนแต่กรมทางหลวงกลับไม่ปฏิบัติตาม

“ปีนี้คาดว่าปริมาณอ้อยเพิ่มสูงมากน่าจะอยู่ที่ 105-110 ล้านตัน ถ้าปิดหีบไม่ทันและ ส่งผลกระทบมากใครจะรับผิดชอบถึงจุดนั้นจริงชาวไร่จะไม่ยอมแน่” นายอำนวยกล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบการเปิดหีบอ้อยของประจำฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมา มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยแล้ว 51 โรงงาน จากจำนวนทั้งหมด 54 โรงงาน ส่วนคุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงแรก อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์)

ในช่วงแรกของฤดูกาลผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น81.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

อย่างไรก็ตาม โรงงานน้ำตาลยังมีความกังวลกับคุณภาพอ้อย โดยพบว่าจากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น10.16 ล้านตันนั้น มีอ้อยไฟไหม้สูงถึง 5.73 ล้านตัน ขณะที่อ้อยสดมีเพียง 4.43 ล้านตัน ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นในเขต 5 อยู่ที่ 830 บาทต่อตัน ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 ธันวาคม 2560

โวอ้อยเข้าหีบเกิน10ล้านตัน ชาวไร่จี้’บิ๊กตู่’เคลียร์ด่านลอย 

อุตฯ อ้อย-น้ำตาล โชว์ 19 วันแรกอ้อยเข้าหีบ รวม 10.2 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้แล้ว 8.3 ล้านกระสอบ ด้านชาวไร่อ้อยร้องหวัง “บิ๊กตู่” เร่งแก้ไขหลังเจอด่านลอยกรมทางหลวงไล่จับรถ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบการเปิดหีบอ้อยของประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2560 เป็นต้นมา มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยแล้ว 51 โรงงาน จากจำนวนทั้งหมด 54 โรงงาน รับอ้อยเข้าหีบในช่วงระยะเวลา 19 วันแรก ได้แล้วกว่า 10.16 ล้านตัน เทียบกับปีก่อน หีบอ้อยได้ 8.17 ล้านตัน

ส่วนคุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงแรกอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในช่วงแรกของฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 81.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบในปีก่อน ได้ยิลด์น้ำตาลอยู่ที่ 77.12 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สำหรับค่าความหวานของอ้อยในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 11.17 ซี.ซี.เอส. สูงกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10.74 ซี.ซี.เอส. ส่งผลให้ได้ผลผลิตน้ำตาลดีขึ้นอยู่ที่ 8.29 ล้านกระสอบ

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 4 องค์กรชาวไร่อ้อยได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาการถูกสำนักตรวจน้ำหนักรถบรรทุก กรมทางหลวงสนธิกำลังออกตรวจจับรถบรรทุกอ้อยทุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร และน้ำหนักเกิน 25 ตัน ซึ่งเกรงว่าปัญหาดังกล่าวจะกระทบต่อการปิดหีบอ้อยล่าช้า และไม่ทันปิดหีบในช่วงกลาง เม.ย.61 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการขนส่งของชาวไร่สูงขึ้นเนื่องจากปริมาณอ้อยฤดูหีบปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณที่อาจสูงได้ถึง 110 ล้านตัน.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 25 ธันวาคม 2560

อ้อยส่อแตะ 110 ล้านตัน ชาวไร่วอนรัฐเร่งแก้ไขรถบรรทุกหวั่นต้นทุนพุ่ง

ชาวไร่อ้อยหวังพึ่ง “บิ๊กตู่” เร่งแก้ไขหลังเจอด่านลอยกรมทางหลวงไล่จับรถบรรทุกขนอ้อยทั้งที่มีคำสั่งจาก “ประจิน” ผ่อนปรนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ความสูงได้ 3.80 เมตรแล้วแต่ก็ยังไม่ปฏิบัติ ย้ำปีนี้อ้อยส่อแตะ 110 ล้านตันทำให้ต้องใช้เวลาขนมาก จี้รับผิดชอบหากชาวไร่ขนอ้อยไม่ทันปิดหีบ เม.ย. 61 พร้อมขู่ใช้มาตรการเจอแล้วจอดประท้วง

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการเปิดหีบในฤดูหีบปี 60/61 ตั้งแต่ 1 ธ.ค.เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ยังคงเกิดปัญหาการถูกสำนักตรวจน้ำหนักรถบรรทุก กรมทางหลวงสนธิกำลังออกตรวจจับรถบรรทุกอ้อยทุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร และน้ำหนักเกิน 25 ตัน ซึ่งเกรงว่าปัญหาดังกล่าวจะกระทบต่อการปิดหีบอ้อยล่าช้า และจะทำให้ต้นทุนการขนส่งของชาวไร่สูงขึ้นเนื่องจากปริมาณอ้อยฤดูหีบปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณที่อาจสูงได้ถึง 110 ล้านตัน

“เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 4 องค์กรชาวไร่อ้อยได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว และก่อนหน้าก็ยื่นหลายที่เพื่อขอให้ผ่อนปรนความสูงของรถบรรทุกอ้อยเป็นไม่เกิน 3.80 เมตร เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่ทันปิดหีบในช่วงกลางเมษายน 61 เพราะอ้อยเป็นฤดูกาลหากฝนตกแล้วก็จะเก็บเกี่ยวไม่ได้” นายปารเมศกล่าว

นายอำนวย กลิ่นสอน เลขานุการสหสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกำลังลำบากมากเพราะเจอด่านลอยของกรมทางหลวงตรวจรถบรรทุกอ้อยจับชั่งน้ำหนักรถทั้งที่มีหนังสือยืนยันว่า พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งผ่อนปรนให้ความสูงเป็น 3.80 เมตรเพื่อเป็นเหตุบรรเทาความเดือดร้อนแล้วก็ตาม ชาวไร่เมื่อเจอด่านจึงต้องใช้วิธีจอดเป็นการเรียกร้องเพราะต้องเข้าใจว่าการหีบอ้อยเป็นฤดูกาลแค่ 4 เดือน ถ้าฝนมาทุกอย่างก็จะเสียหาย และการชั่งน้ำหนักก็ไม่ได้มีตราชั่งประจำไร่ ซึ่งปีนี้ปริมาณอ้อยเยอะมากคาดว่าจะอยู่ที่ 105-110 ล้านตัน ถ้าปิดหีบไม่ทันและส่งผลกระทบมากใครจะรับผิดชอบ ถึงจุดนั้นจริงชาวไร่จะไม่ยอมแน่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า โรงงานได้ติดตามปัญหาการขนอ้อยอย่างใกล้ชิดเพราะอาจกระทบต่อการปิดหีบอ้อยได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2560/61 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยแล้ว 51 โรงงาน จากจำนวนทั้งหมด 54 โรงงาน รับอ้อยเข้าหีบในช่วงระยะเวลา 19 วันแรก (1-19 ธันวาคม 2560) ได้แล้วกว่า 10.16 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนหีบอ้อยได้ 8.17 ล้านตัน ประสิทธิภาพการหีบอ้อยฤดูการผลิตนี้ดีขึ้นเมื่อปรียบเทียบกับระยะเวลาการหีบอ้อยในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยโรงงานน้ำตาลสามารถหีบอ้อยได้เฉลี่ย 1.03 ตันต่อวัน แม้ว่ามีอีกหลายแห่งยังไม่เปิดหีบอ้อยก็ตาม

ส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในช่วงแรกของฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 81.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบในปีก่อนได้ยิลด์น้ำตาลอยู่ที่ 77.12 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สำหรับค่าความหวานของอ้อยในปีนี้ก็ดีขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 11.17 ซีซีเอส สูงกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10.74 ซีซีเอส ส่งผลให้ได้ผลผลิตน้ำตาลดีขึ้นอยู่ที่ 8.29 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ)

จาก https://mgronline.com   วันที่ 24 ธันวาคม 2560

อัตราเงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินและการลงทุนในปี 2018

ทีมจัดการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด

ในปี 2018 ถึงแม้ว่าเรายังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนใตราสารทุน (Equity) มากกว่าตราสารหนี้ (Fixed Income) จากปัจจัยหนุนจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเติบโตในระดับที่น่าพอใจที่ 3.8% ในปี 2018 การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนที่ทำให้ Earnings ของบริษัทจดทะเบียนยังคงอยู่ในช่วงของการขยายตัว อีกทั้งนโยบายการเงินที่อัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เราเชื่อว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารทุนมีแนวโน้มที่จะดีกว่าตราสารหนี้อยู่มาก

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ภาพความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในปี 2018 อาจจะไม่เหมือน 2 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นอยู่ในทิศทางขาขึ้นมาตลอด จากสภาพคล่องที่ล้นมาจากการทำ QE ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก แต่ในปี 2018 เรามองว่าในช่วงครึ่งแรกของปีปัจจัยบวกต่างๆ ในปีที่แล้วจะยังคงเอื้อต่อการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางการเงินที่จะเริ่มตึงตัวขึ้นทีละน้อย ผ่านทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการลดขนาดงบดุลของสหรัฐฯ การปรับลดขนาดการทำ QE (QE Tapering) ของยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายทางการเงินที่จะตึงตัวขึ้นในปี 2018 จะเกิดมากหรือน้อยกว่าคาด ปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดคือ อัตราเงินเฟ้อ โดยในปี 2018 เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับสูงขึ้นจะมาจากสองส่วนด้วยกัน คือ ค่าจ้างแรงงานที่จะปรับสูงขึ้น จากที่ตลาดแรงงานในหลายประเทศเริ่มตึงตัว Unemployment Rate อยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันที่อาจจะปรับขึ้นได้จากอุปสงค์ที่มากขึ้นด้วยเหตุสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ผลของการปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะทำให้ธนาคารกลางต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้เร็วและแรงมากขึ้น

ผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ยที่แรงและเร็วกว่าคาด จะมีผลทำให้ 1) อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับสูงขึ้น ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ และตราสารทุน 2) ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะปรับสูงขึ้น ประกอบกับค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ทำให้อัตรากำไร (Profit Margin) ของบริษัทลดลงและจะเป็นแรงกดดันต่อผลกำไรของบริษัท 3. PER Valuation จะถูกปรับลดลง (De-rate) จาก Earnings Growth ที่ชะลอลง นอกจากนี้ การลดขนาดงบดุลของสหรัฐฯ ซึ่งได้เริ่มทำไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 และมีแผนที่จะทำการปรับลดเพิ่มขึ้นในปี 2018 อีกทั้งการทำ QE Tapering ของยุโรปและญี่ปุ่น จะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินนั้นลดลง

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ข้อความจากการประชุม Fed ครั้งล่าสุดในวันที่ 12-13 ธ.ค. 2017 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงให้ความเห็นว่า ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวดีกว่าคาดการณ์เดิมในปี 2018 โดยมีการ Revise up GDP (g) ขึ้นมาจาก 2.1% ในคาดการณ์ครั้งที่แล้วมาที่ 2.5% จากการรวมผลกระทบเชิงบวกจากการทำ Tax Reform ของประธานาธิบดี Donald Trump เข้ามา อีกทั้งคาดการณ์ว่า Unemployment Rate จะปรับลดลงมาที่ระดับ 3.9% ในปี 2018 จากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 4.1% ซึ่งจะทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้น แต่กระนั้น Fed ยังคง Target Inflation ที่ให้ไว้ในการประชุมครั้งที่แล้วที่ 1.9%

ด้วยการคาดการณ์ดังกล่าวข้างต้น Fed จึงยังคงทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามแผนเดิม คือจะปรับขึ้น 3 ครั้งในปี 2018 มาที่ 2.25% ณ สิ้นปี 2018 และอีก 2 ครั้งในปี 2019 ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จะเหมือนกับที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพการลงทุนที่เรายังคงให้น้ำหนักการลงทุนใน Equity มากกว่า Fixed Income ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นแรงกว่าที่ Fed คาดไว้ อาจจะทำให้ Fed จำเป็นต้องขึ้น Fed Fund Rate เกินกว่า 3 ครั้ง และจะทำให้ธนาคารหลายๆ ประเทศจะต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิด Correction ในตลาดหุ้นได้ ซึ่งเราคาดว่าหากจะเกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สภาพคล่องส่วนเกินจากการทำ QE จะลดลงจากการทำ QE tapering ของยุโรปและญี่ปุ่น และการลดขนาดงบดุลของสหรัฐฯ

จาก https://mgronline.com   วันที่ 24 ธันวาคม 2560

5 ดาวรุ่งเกษตร ดันจีดีพี 1.3 ล้านล.

สศก. ชี้จีดีพีภาคเกษตรปี 61 ยังแรง จ่อทำนิวไฮเป็นปีที่ 2 คาดโต 4-5% ระบุ ข้าว ทุเรียน มังคุด กุ้ง โคเนื้อ หัวขบวนตลาดสดใส ยาง มัน ข้าวโพด ทรงตัวรัฐยังต้องพยุงราคา ขณะอ้อย ปาล์ม สับปะรด ไก่เนื้อ สุกร ต้องเฝ้าระวัง เอกชนจี้รัฐจริงจังวางแผนผลิต

 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้วิเคราะห์สถานการณ์สินค้าเกษตรและทิศทางแนวโน้มด้านการผลิต ราคา และการส่งออก ในปี 2561 ที่กำลังจะมาถึงเพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ และลดความเสี่ยง

 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สศก. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สศก.ได้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีในภาคเกษตรของไทยในปี 2561 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ 4-5% หรือมีมูลค่าประมาณ 1.225-1.3 ล้านล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 9% ของจีดีพีรวมประเทศ) จากปี 2560 คาดจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัวที่ 2.5-3.5% หรือมูลค่าประมาณ 1.223 -1.227 ล้านล้านบาท และปี 2559 ติดลบ 0.5% หรือมูลค่า 1.197 ล้านล้านบาท ถือว่าจีดีพีภาคเกษตรในปี 2561 จะขยายตัวสูงเป็นปีที่ 2

++5สินค้าเกษตรยังรุ่ง

 ทั้งนี้ในปี 2561 สศก.ได้ประเมินรายสินค้า แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.สินค้าดาวรุ่งมี 5 สินค้าที่มีแนวโน้มสดใส ได้แก่ ข้าว มังคุด ทุเรียน โคเนื้อ และกุ้ง โดยในสินค้าข้าว ปัจจุบันไทยมีการพัฒนาการผลิตข้าวที่ได้คุณภาพหรือเกรดพรีเมียมขายได้ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม/ข้าวหอมจังหวัด ข้าวอินทรีย์ และข้าวสี เป็นที่ต้องการของตลาดมาก อาทิ จีน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น

มังคุด คาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.97 แสนตัน แต่จะยังไม่เพียงพอในการส่งออกและบริโภคภายใน ทำให้ราคาจะยังดีใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา, ทุเรียนคาดจะมีผลผลิต 7.6 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 คิดเป็น 23.36% โดยราคาจะยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา,โคเนื้อพันธุ์ดี คาดปี 2561 ราคาจะเพิ่มขึ้น จากความต้องการบริโภคภายในที่เพิ่มขึ้น และกุ้งเพาะเลี้ยง คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3.35 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื่องจากราคากุ้งอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้น

++3 สินค้าทรงตัว

 กลุ่มที่ 2 สินค้าที่มีแนวโน้มทรงตัว (รัฐยังต้องมีมาตรการพยุงราคาอยู่) ได้แก่ ยางพารา ปี 2561 คาดเนื้อที่กรีดยางได้จะมี 20.17 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 19.22 ล้านไร่ ส่งผลทำให้ราคามีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจโลกและราคานํ้ามันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เป็น 4.49 ล้านตันหรือคิดเป็น 3.46% ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น จากรัฐบาลได้เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมดูดซับผลผลิตส่วนเกินในช่วงที่มีผลผลิตมาก วงเงิน 45 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.60-31 มี.ค.61) ส่วนมันสำปะหลังคาดจะมีผลผลิต 28.57 ล้านตัน ลดลง 7.66% เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื่องจากราคามันที่เกษตรกรขายได้ตํ่าลง ส่งผลให้หันไปปลูกพืชอื่นที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

++5กลุ่มเฝ้าระวัง

 ส่วนสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ปี 2561 คาดจะมีผลผลิต 104.72 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 12.49% จากปี 2560 เนื่องจากภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย, ปาล์มนํ้ามันคาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็น 14.75 ล้านตัน จากอากาศเอื้ออำนวยฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับสต๊อกนํ้ามันปาล์มโลกเพิ่มสูงขึ้น คาดราคาปาล์มนํ้ามันที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งปีที่ 4 บาท/กก., สับปะรดราคาที่เกษตรกรขายได้ไม่สูงมากนัก เพราะผลผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีการแข่งขันสูง ส่งผลราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง

 ขณะที่ไก่เนื้อ ปี 2561 คาดแนวโน้มราคายังใกล้เคียงกับปี 2560 เนื่องจากผลผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น และสุกรปี 2561 คาดว่ามีปริมาณ 19.8 ล้านตัว เพิ่มจากปีก่อน 3.28% แต่การบริโภคจะใกล้เคียงกับปี 2560 หรือมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย

++ต้องใช้ตลาดนำการผลิต

 นายเฉลิม รูปเล็ก เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เผยว่า ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2560 เกษตรกรขายสับปะรดได้ราคา 3.00-3.20 บาท/กิโลกรัม(กก.) ตํ่าสุดในรอบปี จากปีที่แล้วขายได้สูงสุด 14 บาท/กก.ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจปลูกเพิ่มขึ้น คาดปี 2561 ผลผลิตจะลดลงเล็กน้อย จากราคาไม่จูงใจ สมาคมได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับโรงงานและผู้ซื้อตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลเรื่องการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อราคาจะได้ไม่ตกตํ่ามาก

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 23 ธันวาคม 2560

กลุ่มวังขนาย มอบถุงยังชีพช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมจ.มหาสารคาม

นางไพวัลย์ รักชาติเจริญ นายอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม รับมอบถุงยังชีพจำนวน 1,000 ชุด จาก นายอร่าม เชื้อหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงงานน้ำตาลวังขนาย เพื่อนำไปมอบส่งต่อให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยน้ำท่วม จนทำให้พื้นที่การเกษตร, ถนนและเส้นทางคมนาคม และบริเวณที่ตั้งของสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ในเขตพื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย ได้รับความเสียหาย โดยกิจกรรมได้จัดขึ้น ณ บริเวณหน้าโรงงานน้ำตาลวังขนาย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เมื่อเร็วๆ นี้

จาก https://mgronline.com   วันที่ 22 ธันวาคม 2560

ค่าบาท 'แข็งค่า' ส่งออกเกินดุลหนุน

.บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่า "32.65 บาทต่อดอลลาร์" ส่งออกพ.ย.ยังเกินดุลหนุนการแข็งค่า และผู้ค้าส่วนใหญ่เข้าสู่โหมดวันหยุดท้ายปี

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดที่ระดับ 32.65บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 32.72 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้มาตรการลดภาษีในสหรัฐจะได้รับการอนุมัติแล้ว แต่จีดีพีสหรัฐไตรมาสสามรายงานล่าสุดกลับถูกปรับลงมาที่ระดับ 3.2% การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลงมาที่ 2.2% เช่นเดียวกับเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงเหลือ 1.3% ทำให้ตลาดไม่มีความคึกคักมากนัก

ในฝั่งเศรษฐกิจไทย การส่งออกเดือนพฤศจิกายนที่ขยายตัว 13.4% ส่งผลให้การเกินดุลยังอยู่ที่ระดับ 1.7 พันล้านดอลลาร์ นอกจากจะสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ยังชี้ด้วยว่าการค้าระหว่างประเทศยังไม่มีทีท่าจะชะลอตัวในระยะสั้น

สำหรับค่าเงินบาทช่วงท้ายปีแกว่งตัวกว้างกว่าปกติแต่ไม่มีปริมาณการซื้อขายมากนัก ผู้ค้าส่วนใหญ่เข้าสู่โหมดวันหยุดท้ายปี มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 32.62-32.72 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2560

นักวิชาการชี้ปัญหาสารเคมีเกษตรในไทยเหตุคือใช้ไม่เป็น แนะคุมบางชนิดก่อนซื้อต้องมีใบอนุญาต

นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวในเวทีเสวนา “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช...อุปสรรคหรือตัวช่วยไทยแลนด์ 4.0?” ณ รร.รามาการ์เดนส์ ถ.วิภาวดีรังสิต ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ ถึงกระแสหวาดกลัวและตื่นตระหนกของสังคมไทยเกี่ยวกับสารเคมีตกค้างในพืชผลทางการเกษตร ว่าความจริงแล้วต้นตอของปัญหาคือความไม่รู้และความไม่ตระหนักอย่างจริงจังในการใช้สารเคมีให้ถูกต้องตามหลักวิชาการของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

อาทิ การเข้าไม่ถึงข้อมูล ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐมีงานวิจัยอยู่ไม่น้อย โดยยกตัวอย่างครั้งหนึ่งตนเคยไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการใช้สารเคมีกับนาข้าว ก็ไปพบเกษตรกร 2 รายมานั่งฟังแบบไม่สนใจ คุยกันไปเล่นกันไป เมื่อเข้าไปสอบถามก็ทราบว่าทั้ง 2 ไม่ได้ปลูกข้าวแต่ปลูกต้นชะอม ส่วนที่มางานของชาวนาข้าวเพราะมีผู้อื่นส่งมา โดยทั้ง 2 รายนี้มักจะได้รับมอบหมายให้ไปฟังการอบรมต่างๆ เป็นประจำ

นางจรรยา กล่าวว่า เรื่องนี้แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ตนมองว่าสำคัญ เพราะคนที่ควรจะได้รู้เรื่องเกี่ยวกับอาชีพของเขาจริงๆ กลับไม่ได้มารับรู้ ปัญหาก็จะตกอยู่กับเกษตรกรเอง เช่น เพลี้ยกับไรแดงไม่เหมือนกัน เพลี้ยเป็น “แมลง” มี 6 ขา ส่วนไรแดงนั้นเป็น “แมง” มี 8 ขา พอเกษตรกรแยกแยะไม่ออกก็ไปบอกร้านขายสารเคมีทางการเกษตรขอซื้อยากำจัดเพลี้ยมาใช้ ผลคือไรแดงระบาดหนักกว่าเดิมเพราะยากำจัดเพลี้ยไม่ได้ฆ่าไรแดง แต่ไปฆ่าสัตว์บางชนิดที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของไรแดงแทน หรือหัวฉีดพ่นสำหรับใช้กับสารเคมีแต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน เป็นต้น

ขณะที่การอบรมผู้ประกอบการร้านขายสารเคมีทางการเกษตร ด้วยหวังจะให้ไปช่วยแนะนำการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องกับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง ก็พบว่าหลายร้านอบรมไปแล้วเจ้าของร้านก็ไม่ได้ขายเอง แต่ไปให้ลูกจ้างที่ไม่ได้รับการอบรมมาขายแทนทั้งที่ไม่มีความรู้ เรื่องนี้ตนเคยเจอมากับตัวตอนที่จะไปขอซื้อสารเคมีเกษตรชนิดหนึ่งเพื่อมาทำการทดลอง ลูกจ้างหน้าร้านนอกจากจะบอกว่าสารชนิดดังกล่าวไม่มีแล้วยังคะยั้นคะยอจะให้ซื้อสารเคมีอีกชนิดที่คิดว่าคล้ายกันแทน ทั้งที่ตนก็ชี้ให้ดูและย้ำว่าสารเคมีชนิดที่ต้องการก็วางอยู่ในตู้หน้าร้านที่ลูกจ้างเฝ้าอยู่นั่นเอง

“ลูกจ้างหน้าร้านก็พยายามจะบอกว่าเอาตัวนี้แล้วกัน ราคาถูกกว่า เราบอกว่าไม่เอาเขาก็พยายามจะยัดเยียด นี่นึกถึงว่าเราเป็นนักวิชาการ เรารู้เราก็ยังต้องเถียงอยู่ ก็ถามไปว่าคุณชื่ออะไร พอเขาบอกชื่อเราก็ถามว่าแล้วป้ายชื่อนั่นคืออะไร มันคนละชื่อกัน พอถามว่าเคยอบรมไหมเขาก็บอกว่าไม่เคย ก็เลยถามว่าแล้วกล้าแนะนำได้อย่างไร ก็บอกไปว่าเรานี่แหละเป็นคนเขียนคู่มือแนะนำการใช้ยา คือเขาต้องการขายยาที่ดูแล้วได้กำไร อาจจะดูราคาต่ำลงมาหน่อย ถูกดีก็เอาไปใช้เถอะ” นางจรรยา กล่าว

นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการบางรายนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรแบบเน้นต้นทุนต่ำที่สุดโดยไม่สนใจว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยจะมีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ สุดท้ายเมื่อเกษตรกรไม่รู้และไม่ตระหนักก็ใช้กันแบบตามมีตามเกิด เช่น ใช้หมดก็โยนภาชนะบรรจุทิ้งตรงไหนก็ได้ตามสะดวก ไม่สวมชุดป้องกันสารเคมีโดยอ้างว่าร้อนบ้างอึดอัดบ้าง หรือฉลากระบุให้ใช้ 1 ส่วน ก็ขอแถมใส่เพิ่มเป็น 2 ส่วน 3 ส่วน จึงเป็นที่มาของทั้งอันตรายต่อตัวเกษตรกรเองและทั้งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นางจรรยา เสนอแนะว่า การซื้อสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มที่จัดว่ามีผลข้างเคียงเป็นอันตราย ผู้ซื้อต้องผ่านการอบรมการใช้งานอย่างถูกวิธีและได้รับใบรับรองความรู้เฉกเช่นเดียวกับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ เมื่อจะไปซื้อต้องแสดงใบรับรองดังกล่าวทุกครั้งและร้านที่ขายให้ผู้ที่ไม่มีใบรับรองจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้มีบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดว่า พาราควอด (Paraquat) เป็นสารอันตรายต่อมนุษย์ ดังนั้นเกษตรกรที่ต้องการไปซื้อมาใช้ต้องมีใบอนุญาตด้วย

พาราควอด (Paraquat) สารเคมีเกษตรที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก

“เคยเชิญอดีตรัฐมนตรีเกษตรของญี่ปุ่นมาเป็นวิทยากร ก็ถามท่านว่าทำไมญี่ปุ่นใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากกว่าไทย 2-3 เท่า แต่ทำไมคนเชื่อว่าสินค้าเกษตรญี่ปุ่นปลอดภัย ท่านก็บอกคนญี่ปุ่นใช้สารเคมีเยอะจริง แต่เขาใช้อย่างถูกต้อง และเขาเริ่มจากระบบสหกรณ์ชุมชน เช่น สตอเบอรี่จากหมู่บ้านนี้ ลงบาร์โค้ดเรียบร้อยก็ต้องปลอดภัย ถ้าปลายทางไปสุ่มตรวจเจอเกินค่ามาตรฐานก็โดนตีกลับทั้งหมู่บ้าน ทีนี้คนในหมู่บ้านเขาก็ตรวจสอบกันเอง พวกที่จะไปซื้อสารมาพ่นกันมั่วๆ ก็จะไม่เกิด ถามว่ามีพวกนอกคอกไหม มีแต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้” นางจรรยา ระบุ

ด้าน นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร ในฐานะผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้ง GAP และเกษตรอินทรีย์ มาเกือบ 30 ปี กล่าวเสริมว่า ปัญหาภาคเกษตรของไทยประการหนึ่งคือ สังคมของเกษตรกรไทยไม่ใช่สังคมของการคิดค้นหาความรู้ ไม่ใช่สังคมวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสังคมบันเทิง การนำตำรานำสื่อไปแจกจ่าย ที่ผ่านมาเท่าที่เคยไปร่วมประชุมจะพบว่ามีเกษตรกรเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่สนใจศึกษาทำความเข้าใจอย่างจริงจัง แต่ในทางกลับกันเกษตรกรจะเชื่อร้านค้าที่ขายสารเคมีทางการเกษตรมากที่สุด

นายเปรม ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการยกระดับการผลิตในภาคเกษตรของไทยให้ได้มาตรฐานเกษตรปลอดภัยเป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือ GAP (Good Agriculture Practices) ภาครัฐควรนำร่องจากกลุ่มที่มีศักยภาพก่อน นอกจากนี้ควรทำในรูปแบบสหกรณ์ที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าแต่ได้คนเข้าร่วมมากกว่า และทำในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยดึงภาครัฐอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วย ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วม หากทำได้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะสะอาดและปลอดภัยอย่างแท้จริง การส่งออกก็จะทำได้มากขึ้น

ส่วนเกษตรกรที่เลือกทำเกษตรแบบอินทรีย์ จากที่ตนได้ศึกษามาทั้งในไต้หวัน ออสเตรเลีย อิสราเอล พบว่าเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความรักความชอบในเกษตรอินทรีย์จริงๆ แต่การสนับสนุนของภาครัฐคือต้องมีตลาดที่ชัดเจนให้เกษตรกรกลุ่มนี้ รวมถึงต้องมีแหล่งวัตถุดิบสนับสนุน เพราะต้นทุนเกษตรอินทรีย์จะสูงกว่าเกษตรแบบทั่วไปที่ใช้สารเคมีถึง 3 เท่า

8 ปัจจัยที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP

“สินค้าอินทรีย์ที่วางอยู่ในตลาดถูกโจมตีว่าเป็นของปลอม เพราะพอไม่มีของก็ไปเอาของธรรมดามาใส่ ภาครัฐจะต้องอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ควรจะเป็นอย่างไร อย่างกระดูกที่จะนำมาทำปุ๋ยฟอสฟอรัส มันจะต้องมีใบรับรอง และต้องมีแหลงป้อนให้เขา คือใครจะทำเกษตรอินทรีย์ก็จะมีพวกนี้สนับสนุน ไม่ใช่บอกว่าอินทรีย์แต่มันคืออะไร” นายเปรม กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

10 ปีที่รอคอย สหรัฐ ปรับไทยพ้นสถานะ “PWL”

เมื่อคืนวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลาประเทศไทย นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (United States Trade Representative : USTR) ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List : PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) หลังจากที่จัดให้ไทยอยู่ในบัญชี PWL มาเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2550-2560

การพิจารณาดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่สหรัฐฯประกาศทบทวนสถานะของไทยนอกรอบ (Out-of-Cycle Review : OCR) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ผลการพิจารณาดังกล่าวทำให้ไทยขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับอีก 23 ประเทศ เช่น เวียดนาม กัมพูชา บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา บาบาโดส โบลิเวียร์ บัลแกเรีย เม็กซิโก ปากีสถาน เป็นต้น

ปราบพื้นที่สีแดงลดลง 10 จุด

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับลดสถานะเป็นผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ทั้งยังตั้งคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทหารทั้งสามเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทางคณะได้มีการจัดตั้งศูนย์ปราบปราม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อออกตรวจตราจับกุมใน 5 ย่านการค้าสำคัญ คือ มาบุญครอง ตลาดนัดจตุจักร ตลาดโรงเกลือ (จ.สระแก้ว) หาดป่าตอง และหาดกะรน (จ.ภูเก็ต) ส่งผลให้ขณะนี้พื้นที่สีแดงที่มีการละเมิดอย่างอื้อฉาว ( notorious market) ลดจาก 12 เหลือ 2 พื้นที่ คือ มาบุญครอง และตลาดโรงเกลือนับจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

อีกทั้ง USTR เห็นความคืบหน้าในการพัฒนาประสิทธิภาพในการจดทะเบียนสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า ซึ่งไทยเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบ และปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน ช่วยลดปริมาณงานค้างสะสมลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้จดทะเบียนสิทธิบัตรได้เพิ่มขึ้นจาก 1,000 คำขอต่อปี เป็น 4,000 คำขอต่อปี

นอกจากนี้ ผลดีจากไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศนับตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลา 1 เดือนเศษ มีผู้ยื่นคำขอผ่านระบบมาดริดแล้ว 11 ราย ถือเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถขอรับความคุ้มครองได้ในประเทศภาคีหลายประเทศตลอดจนการที่ไทยได้เสริมสร้างความโปร่งใส โดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประจำ ซึ่งช่วยคลายความกังวลของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องลงไปได้มาก

นักลงทุนมั่นใจสร้างนวัตกรรม

นายสนธิรัตน์เห็นว่า การแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ และการที่ไทยได้รับการปรับสถานะให้ดีขึ้นจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่เพียงเฉพาะแต่นักลงทุนสหรัฐ (ซึ่งมีการลงทุนในไทย 15,000 ล้านเหรียญในปี 2559 หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.4% ของการลงทุนทั้งหมดที่มูลค่า 199,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตลอดจนส่งผลดีต่อการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิง และ content ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 56,000 ล้านบาทในปี 2558 และมีแนวโน้มเติบโต 2-3 เท่า

นอกจากนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สหรัฐพิจารณาในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งสหรัฐให้แก่ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ รวมถึงไทย ซึ่งขณะนี้โครงการ GSP กำลังจะหมดอายุลงในเดือนธันวาคมนี้ และไทยอยู่ระหว่างยื่นขอต่ออายุการให้ GSP เพื่อรักษาแต้มต่อในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ โดยในช่วง 9 เดือนแรกมีการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP ไปยังสหรัฐ 3,098 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 72.98% ของการส่งออกไปสหรัฐทั้งหมดที่มีมูลค่า 4,245 ล้านเหรียญสหรัฐ

เดินหน้าปลดไทยพ้น WL

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะผลักดันแผน “ปฏิรูป” ด้านทรัพย์สินทางปัญญา 4 ด้าน โดยมีเป้าหมายให้หลุดพ้นจากการจับตามองของสหรัฐ ประกอบด้วย 1) ดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้มากที่สุด พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการเลิกซื้อสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 2) ปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านระบบออนไลน์ที่มีจำนวนมากขึ้น และแก้ไขในประเด็นเรื่องการถอดเว็บละเมิด (notice and takedown) กฎหมายสิทธิบัตร และแก้ไขเพื่อเข้าสู่การเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์

3) มุ่งยกระดับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งการพัฒนาและสร้างความเชี่ยวชาญให้กับผู้ตรวจสอบ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดปัญหาการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาคั่งค้าง (back lock) ตามระบบใหม่ เพื่อให้การจดทะเบียนระหว่างขาเข้าและขาออกสมดุลกันภายในปี 2562-2563 ซึ่งอาจ “ไม่จำเป็น” ต้องประกาศใช้มาตรา 44 ภายใต้รัฐธรรมนูญ และ 4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0

MPA จี้คุมก๊อบปี้ออนไลน์

นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้อำนวยการ Motion Picture Association (MPA) ประจำประเทศไทย ได้แสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยซึ่งทำงานอย่างหนักมาโดยตลอดจนทำให้ภารกิจนี้สำเร็จได้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ลงมาเป็นแม่ทัพในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ด้วยตนเอง หน่วยงานต่าง ๆ ทำงานกันอย่างสอดประสานและจริงใจ โดยนำสรรพกำลัง สรรพกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องและมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและสถานการณ์ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้มองเพียงการรักษาสถานะ WL เท่านั้น แต่เป้าหมายแท้จริงคือ การผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่มีมาตรฐานในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา ตามที่ไทยได้ประกาศไว้หลังจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ ให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าไทยจะให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสมาชิก ขณะเดียวกันทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ก็จะได้รับการคุ้มครองด้วยเช่นกัน

การที่จะปกป้อง คุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญาไทยและบรรดาสมาชิกสนธิสัญญา ต้องอาศัยรัฐมีเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่น เครื่องมือด้านกฎหมายที่ทันสมัยทันต่อเทคโนโลยีมาใช้เพื่อต่อกรกับกระบวนการการละเมิดในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการละเมิดทาง online ซึ่งต้องนำสรรพกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้ เพราะผู้ละเมิดมักทำเป็นกระบวนการ หาแหล่งการกระทำผิดยากมาก และเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่หลากหลายถักทอเป็นใยแมงมุม

ดังนั้น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน กฎหมายสรรพากร ศุลกากร เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่ว่าจะมีต้น และปลายที่แหล่งไหนในโลก แต่ไม่มีประเทศใดในโลกได้รับภาษีจากผู้กระทำเหล่านั้นเลย

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายต้องนำมาใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่องต้องมีการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดอย่างจริงจัง และต้องพยายามดำเนินการกับผู้บงการ หรือ masterminding มารับโทษให้ได้ และผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษที่รุนแรงเพียงพอที่จะให้ผู้ละเมิดเกรงกลัวต่อตัวบทกฎหมาย ที่สำคัญเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิ และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนปฏิเสธสินค้าละเมิด การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการร่วมกัน

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จีเอสพี (GSP) คืออะไร

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ท.พ.ประโยชน์ เพ็ญสุต อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ผู้ที่ติดตามเรื่องการค้าระหว่างประเทศคงจะเคยได้ยินคำว่า จีเอสพี (GSP) ซึ่งย่อมาจาก generalized system preference คือ สิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งกับสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแข่งกับประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ เช่น จีน เป็นต้น

เมื่อสามารถขายสินค้าของตนเองได้ จะทำให้เกิดการผลิต การจ้างงาน และทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับสิทธิมีความเจริญเติบโต ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและมาตรฐานการครองชีพคนงานในประเทศดีขึ้น นอกจากนี้ GSP ยังมีส่วนช่วยผู้ประกอบการของประเทศผู้ให้เองสามารถลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เมื่อนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าด้วย

การให้สิทธิ GSP นี้ เป็นการให้แบบฝ่ายเดียว (unilateral) คือประเทศที่ให้สิทธิ GSP ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่เป็นการให้แบบมีเงื่อนไข คือ ประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP นี้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประเทศผู้ให้วางไว้ เช่น ในกรณีของประเทศสหรัฐ ประเทศผู้มีสิทธิได้รับ GSP จากสหรัฐ จะต้องมีรายได้ของประชากรต่อหัว (GNP per capita) ไม่เกิน 12,476.00 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (ประเทศไทยมีรายได้ประมาณหกพันเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี) ต้องเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล มีความพยายามในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก และมีเงื่อนไขอื่น ๆ ในด้านการค้าและการปฏิบัติต่อสหรัฐอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่น เป็นต้น

ในปัจจุบันสหรัฐให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 125 ประเทศ ครอบคลุมสินค้าประมาณ 3,500 รายการ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป แต่ประเทศกำลังพัฒนาในระดับน้อยที่สุด (least developed country : ซึ่งมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวน้อยกว่า 1,305 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี) สหรัฐจะเพิ่มรายการที่ได้รับสิทธิ GSP นี้อีกประมาณ 1,500 รายการ สหรัฐเริ่มให้สิทธิทางภาษีแก่ประเทศต่าง ๆ โดยออกเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แต่ไม่ได้เป็นการถาวร โดยเมื่อกฎหมายหมดอายุลงก็มีการต่ออายุออกไปเป็นระยะ ๆ จนถึงปัจจุบัน

กฎหมายสิทธิ GSP ล่าสุดของสหรัฐจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมปี 2560 นี้ โดยขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องทั้งประเทศผู้ได้รับสิทธิ เอกชน และทางการสหรัฐ กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลักดันในการดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อ ขยายเวลา GSP ออกไปอีก ในปัจจุบันสหรัฐสูญเสียรายได้จากการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณปีละกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ

การให้สิทธิทางภาษี GSP นอกจากจะเป็นการช่วยประเทศต่าง ๆ ในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่สหรัฐใช้ในการชักจูงและกดดันประเทศต่าง ๆ ให้ปรับปรุงกฎระเบียบและพัฒนาแนวทางปฏิบัติทางการค้าและทางสังคมที่เกี่ยวข้องในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การควบคุมการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงลดการกีดกันทางการค้าให้น้อยลงด้วย

ในอดีตสหรัฐมีการยกเลิกการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ได้แก่ กรณีไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น บังกลาเทศ ในปี 2556 เบลารุส ในปี 2543 กรณีไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ฮอนดูรัส ในปี 2541 ยูเครน ในปี 2544 ซึ่งเมื่อประเทศที่ถูกยกเลิก GSP มีการปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะได้สิทธิ GSP กลับคืนมา แต่มีบางประเทศที่ถูกยกเลิกสิทธิ GSP เป็นการถาวรเมื่อมีระดับการพัฒนาประเทศที่สูงมากจนไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ GSP แล้ว ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ในปี 2532 มาเลเซีย ในปี 2541 และรัสเซีย ในปี 2556 ส่วนประเทศไทยยังคงเป็นประเทศหนึ่งที่ยังได้รับสิทธิทางภาษี GSP จากสหรัฐ

ครั้งหน้าจะเล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรจาก GSP และมีแนวโน้มเป็นอย่างไรครับ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ไทย-อิสราเอลเดินหน้าเพิ่มการค้า

พาณิชย์ เผยไทยและอิสราเอลจับมือนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี63

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนายเมอีร์  ชโลโม   เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมว่า ได้หารือเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือการค้าการลงทุน เนื่องจากไทยและอิสราเอลมีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานกว่า 60 ปี และเป็นประเทศที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนกัน โดยอิสราเอลเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยี มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมขั้นสูง ไทยสามารถขยายความร่วมมือกับอิสราเอลในด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ยกระดับการเกษตรและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของไทยได้ ซึ่งอิสราเอลพร้อมร่วมมือและยังแสดงความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อิสราเอลเชี่ยวชาญ  เช่น  การแพทย์ครบวงจร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น

 “ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือเจทีซี ครั้งที่ 2 ในปี  61 ซึ่งอิสราเอลจะเป็นเจ้าภาพ โดยอิสราเอลเสนอใช้การประชุมนี้หารือเรื่องการจัดทำเอฟทีเอระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้สองประเทศบรรลุเป้าหมายทางการค้า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 63 ตามที่ตั้งไว้"

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สนพ.ชี้คนไทยใช้พลังงานเติบโต 2.1%

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์และสารสนเทศพลังงาน สนพ.ได้สรุปสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทยในปี 2560 พบว่า มีการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.75 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ทั้งการใช้น้ำมัน การใช้ไฟฟ้านำเข้า การใช้พลังงานทดแทน ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากแหล่งก๊าซยาดานา เยตากุน และซอติก้าของพม่า หยุดจ่ายก๊าซในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ประกอบกับแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ-เอ18) ในอ่าวไทยหยุดซ่อมบำรุงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และตุลาคม ส่งผลให้ก๊าซลดลงจากระบบ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ที่คาดการณ์ขยายตัวทั้งปี 3.9% เพราะเติบโตทั้งจากการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนโดยรวม ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เมืองกำแพงเพชรคุมเข้มรถบรรทุกอ้อย ขอความร่วมมือทำตามกฎหมาย

นายไพโรจน์ แก้วแดง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ตามที่ตนเองได้รับมอบหมายเป็นประธานการประชุมคณะทำงานควบคุม กำกับ ดูแลการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล ในฤดูการหีบอ้อย ประจำปี 2560/2561 ตามที่โรงงานผลิตน้ำตาลในจังหวัดกำแพงเพชร ได้กำหนดเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2560 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีรถบรรทุกอ้อยเข้าสู่โรงงานเป็นจำนวนมาก จังหวัดกำแพงเพชรจึงได้จัดระเบียบรถบรรทุกอ้อย เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำตาล และสมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดจนเพื่อความปลอดภัยบนเส้นทางในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวอีกว่า ในการประชุมได้มีข้อสรุปแนวทางในการปฏิบัติการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยได้มีแนวทางปฏิบัติ โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถบรรทุกอ้อย ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดโดยบรรทุกอ้อยความสูงไม่เกิน 3.60 เมตร ความยาวด้านหลัง ไม่เกิน 2.30 เมตร มีสายรัด 2 เส้น รถบรรทุกอ้อยทุกคันและรถพ่วง ให้มีการติดธงแดง ติดแผ่นป้ายสะท้อนแสงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ติดสัญญาณไฟแดงไว้ท้ายสุดของรถบรรทุกอ้อย และด้านข้าง รถบรรทุกขับรถด้วยความระมัดระวัง ในเขตหมู่บ้าน ชุมชน เขตเมือง ขับด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง โรงงานน้ำตาลมีป้ายแสดงสัญลักษณ์ที่บอกระยะทางก่อนถึงโรงงานเป็นระยะ ในช่วง 1 กิโลเมตร 500 เมตร และ 250 เมตร และขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งอ้อย และโรงงานผลิตน้ำตาล ได้หยุดการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2561

นายไพโรจน์ แก้วแดงรอง ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ในฐานะประธานการประชุมคณะทำงานควบคุม กำกับ ดูแลการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของเกษตรกร ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในการงดการเผาอ้อย ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศลง และทางผู้ประกอบการ กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือจะมีการดำเนินการอบรมให้ความรู้กับพนักงานขับบรรทุกอ้อย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะร่วมกันลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงการฤดูการหีบอ้อย ประจำปี 2560/2561 ด้วย

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“มิตรผล”ร่วมทุนโรงงานน้ำตาลอินโดฯ

“มิตรผล”ผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของเอเชีย จับมือกับโอแลมอินเตอร์เนชั่นแนล (โอแลม) ผู้นำธุรกิจการเกษตรอินโดนีเซีย ประกาศความร่วมมือเพื่อลงทุนในธุรกิจน้ำตาลของโอแลมที่อินโดนีเซีย

กลุ่มมิตรผลของไทยและบริษัทโอแลมแถลงร่วมกันว่า มิตรผลจะเข้าถือหุ้น 50% ในบริษัทฟาร์อีสต์ อะกริของโอแลม ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในอินโดนีเซีย ภายใต้ชื่อ “พีที ดาร์มาพาลา อูซาฮา ซัคเซส” PT Dharmapala Usaha Sukses) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของเกาะชวา

“กลุ่มมิตรผลยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีประสบการณ์ในอินโดนีเซียอย่างโอแลม และอินโดนีเซียถือเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลทรายรายใหญ่ที่สุดของไทยและออสเตรเลีย” นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล กล่าว

“เรามีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของอุตสาหกรรมน้ำตาลในอินโดนีเซียและมองเห็นแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลของอินโดนีเซียให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น”

นายกฤษฎา เสริมว่าบริษัทหวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้อินโดนีเซียสามารถผลิตน้ำตาลให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ และจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน ทั้งโอแลมหน่วยงานภาครัฐเกษตรกรและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายโจ  เคนนี กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากนมของโอแลม กล่าวว่านอกเหนือจากโรงงานน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่มีอยู่ 1 แห่งในปัจจุบันนั้น คาดว่าการขยายการลงทุนในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่จะช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมน้ำตาลของอินโดนีเซีย อีกทั้งกลุ่มมิตรผลมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์อันยาวนาน และยังมีวิสัยทัศน์เช่นเดียวกันกับโอแลม

สำหรับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2563 โดยจะรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยในพื้นที่ส่งเสริมรอบโรงงานได้ถึงปีละ 1.2 ล้านตัน

ในการร่วมทุนครั้งนี้ กลุ่มมิตรผลยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรชาวไร่อ้อย ด้วยการนำปรัชญาการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับที่โอแลมนำมาใช้ดูแลเกษตรกรตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2539

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ดึงจีนลงทุนอีอีซี‘สมคิด’สั่งลุยหุ้นส่วนศก.-แย้มส่งออกทั้งปีทะลุ10%

"สมคิด"สั่งลุยยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับคู่ค้า ประเดิมม.ค.นี้ ดึงจีนลงทุนใน EEC หลังจีบญี่ปุ่นสำเร็จ ส่วนยุโรปให้ทำแผนเจาะเป็นรายประเทศ ย้ำต่อไปต้องดัน SMEs ส่งออกเพิ่มขึ้น แย้มตัวเลข 11 เดือนโต 10.01% คาดทั้งปีไม่ต่ำกว่า 10% พร้อมสั่งบูม thaitrade.com เป็นเว็บค้าออนไลน์ ดันตั้งมิสเตอร์สินค้าทำงานประกบเกษตรฯ และเชื่อมโยงกับท่องเที่ยว ไฟเขียวเพิ่มงบติดเครื่องรูดบัตรร้านธงฟ้าประชารัฐ ช่วยคนไทยซื้อสินค้าราคาถูกง่ายขึ้น

 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการประชุมมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ วานนี้ (20 ธ.ค.) ว่า ได้มอบหมายให้เดินหน้ายุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) กับประเทศคู่ค้า โดยงานเร่งด่วนงานแรกเดือนม.ค.2561 จะเป็นการเจรจาในระดับรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจไทย-จีน ซึ่งขอให้ทำแผนว่าจะเจรจาอะไรกับจีน แต่ไม่ใช่การไปเสนอขายข้าว ขายยาง แบบนี้ไม่เอา ต้องมียุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนอย่างไร รวมถึงการเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษจูไห่ ที่เชื่อม 3 เมืองฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ จะทำอย่างไร เพราะถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่มีโอกาสทำการค้า การลงทุนสูงมาก

 โดยการดึงดูดการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขอให้ไปทาบทาม ไปเจรจา และหาให้ได้ว่าในแต่ละมณฑลของจีน มีอะไรที่ไทยจะดึงเข้ามาลงทุนใน EEC ได้ รวมถึงดึงนักลงทุนจากฮ่องกงด้วย เพราะตอนนี้ยักษ์ใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง จีนก็ใช้ฮ่องกงเป็นหัวหอก ฉะนั้น ไปหามา ไปดึงมาให้ซัพพอร์ต EEC เพราะนโยบายของจีนเองก็ชัดเจน สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ก็พูดถึง EEC ถ้าไทยดึงจีนมาได้อีกประเทศหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดึงญี่ปุ่นมาได้แล้ว ประเทศที่เหลือเรื่องเล็ก ขอฝากเอาไว้ เรื่องนี้สำคัญจริงๆ

ทั้งนี้ ในช่วงที่จีนนำคณะมา นอกจากการเจรจาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และความร่วมมืออื่นๆ แล้ว ขอให้เตรียมนำคณะลงพื้นที่ไปดู EEC ด้วย เพื่อให้จีนเห็นภาพจริงและความคืบหน้าของโครงการ

 สำหรับยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมา ไทยทำกับจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และอาเซียนมาแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี ก็ขอให้ทำต่อ และต้องมุ่งไปยุโรป เพราะตอนนี้ยุโรปเปิดกว้างสำหรับไทย ควรจะทำแผนให้ชัดเป็นรายประเทศเลยว่าจะคุยกับใครก่อน ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ จะร่วมมือกันยังไง ต้องมีแผนให้ชัดจะคุยเรื่องอะไร ต้องการความร่วมมือด้านไหน

 นายสมคิดกล่าวว่า ในด้านการส่งออกถือว่าทำได้ดี การส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการส่งออกเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 13.36% ส่วน 11 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 10.01% และทั้งปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% โดยได้มอบนโยบายขอให้ช่วยผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เป็นผู้ส่งออกให้ได้มากขึ้น เพราะรายใหญ่ไม่น่าห่วง เขาดูแลตัวเองได้ และขอให้เร่งขยายแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ thaitrade.com ที่จะต้องทำให้เป็นที่รู้จัก และให้มีส่วนช่วยผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการค้าขายออนไลน์เพิ่มขึ้น

 ในด้านการดูแลราคาสินค้าเกษตร ให้ตั้งผู้บริหารขึ้นมาดูแลสินค้าเป็นรายตัว ทำหน้าที่ประกบกับมิสเตอร์สินค้าของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำงานร่วมกันตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด และให้ขยายความร่วมมือไปถึงกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อผลักดันให้แหล่งผลิตสินค้า เช่น โอทอป เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

 ส่วนการดูแลค่าครองชีพ ขอให้เพิ่มจำนวนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าให้กับประชาชน ซึ่งได้สนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์หารือกับกระทรวงการคลัง ในการเพิ่มงบประมาณติดตั้งเครื่องรูดบัตรเพิ่มเติมอีก 2 หมื่นร้าน และให้เข้าไปช่วยพัฒนาร้านโชห่วยให้เป็นโชห่วยไฮบริด โดยต้องผลักดันให้โชห่วยสามารถค้าขายออนไลน์ เป็นจุดรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรและผู้ผลิตในชุมชน ก่อนนำไปจำหน่ายและกระจายต่อ

นอกจากนี้ ขอให้ดึงอดีตผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เช่น นายเกริกไกร จีระแพทย์ นายการุณ กิตติสถาพร นางจันทรา บูรณฤกษ์ เป็นต้น ให้เข้ามาช่วยงาน เพราะคนเหล่านี้มีประสบการณ์ในการทำงานและมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ซึ่งต้องการให้คนเหล่านี้ช่วย เพราะบางที คนของพาณิชย์ที่มีอยู่อาจจะเข้าไม่ถึง ไม่ใช่ปล่อยให้คนเหล่านี้ไปอยู่กับภาคเอกชน ต้องดึงมาช่วยงานรัฐบาลด้วย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กรมชลประทาน เดินเครื่องก้าวสู่ปีที่ 116 ตั้งเป้าสร้างความมั่นคงด้านน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

กรมชลประทาน เดินเครื่องก้าวสู่ปีที่ 116 ตั้งเป้าสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ประชาชนทั่วประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมเปิดแผนขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เดินหน้าปรับปรุงระบบชลประทานและการระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยา ขุดคลองบางบาล-บางไทรสายใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำท่าจีน และเร่งรัดงานโครงการพระราชดำริ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานกำลังจะก้าวย่างสู่ปีที่ 116 ในปี 2561 ภารกิจหลักสำคัญที่กรมชลประทานตั้งเป้าหมายไว้คือ การพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การป้องกันความเสียหายของภัยอันเกิดจากน้ำ และการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์น้ำ ทั้งนี้เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศไทยให้ได้ภายในปี 2579

สำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำ ในปี 2561 กรมชลประทานจะให้ความสำคัญงานที่เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรที่ยังค้างคาอยู่ จะขับเคลื่อนให้สำเร็จเสร็จสิ้นตามพระราชดำริ ไม่ว่าจะเป็นงานโครงการเก่าที่จะต้องมีการเพิ่มศักยภาพ หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ เพื่อจะให้สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ตามเป้าหมาย

ส่วนการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานจะมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดและคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อม เช่น สภาวะอากาศของโลกที่มีต่อน้ำท่า น้ำฝน ปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศ เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกับการป้องกันความเสียหายของภัยอันเกิดจากน้ำ โดยเฉพาะในเรื่องของอุทกภัย กรมชลประทานจะดำเนินโครงการป้องกันแก้ไขอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ

นอกจากนี้อีกเรื่องที่กรมชลประทานจะให้ความสำคัญคือเรื่องของทรัพยากรบุคคล ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สำคัญมาก จะพัฒนาให้มีความเข้มแข็งจากกลุ่มผู้ใช้น้ำทั่วไปพัฒนาไปสู่กลุ่มบริหารจัดการน้ำ มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะนำมาช่วยในการบริหารให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้องตามหลักวิชาการสอดคล้องกับพื้นที่ รวมทั้งจะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรของชลประทาน เนื่องจากในช่วง 5-10 ปีต่อไปนี้ข้าราชการจะเริ่มเกษียณอายุมากขึ้น ทำให้เรามีอัตรากำลังคนน้อยลง

 จึงต้องวางแผนหาคนมาทดแทน เพราะงานยังคงเดิมหรือเพิ่มขึ้น ดังนั้นต่อไปบุคลากรของกรมชลประทานต้องมีประสิทธิภาพ ทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ

อธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวถึงโครงการที่จะดำเนินการในปี 2561ว่า มีหลายโครงการที่สำคัญๆ เช่น โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบางบาล-บางไทร โครงการขุดคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทรสายใหม่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช โครงการประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค จังหวัดสระบุรี โครงการประตูระบายน้ำปากคลอง 13 จ.ปทุมธานี โครงการประตูระบายน้ำ

 พระมหินทร์ จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำพระยาวิสูตร สถานีสูบน้ำท่าถั่ว จ.ฉะเชิงเทรา และสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ จ.นครนายก และการศึกษา EIA เขื่อนทดน้ำพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

แตกใบอ่อน : ‘พาราควอต’ใช้ผิดยิ่งพิษแรง

2 สัปดาห์ก่อนเขียนถึงกรณี “กรมวิชาการเกษตร”ทยอยต่ออายุทะเบียนนำเข้าและจำหน่ายยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” ให้กับบรรดาบริษัทเอกชนต่างๆ ทั้งที่มีข้อทักท้วงเรื่องปัญหาสุขภาพจาก คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน

มาสัปดาห์นี้มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผลกระทบการใช้ “พาราควอต” ซึ่งนักวิจัยจาก สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงพื้นที่ตรวจสอบพบมา และพบปัญหาที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการใช้“พาราควอต” ที่ผิดวิธี กระทั่งทำให้เกิดปัญหา“โรคเนื้อเน่า” ตามมาในกลุ่มเกษตรกร

สกว.ให้ข้อมูลมาว่า รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัย สกว. จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ ทพญ.วรางคณา อินทโลหิต จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และ ดร.ภาสกร บัวศรีผู้ประสานงานและนักวิจัยท้องถิ่น สกว. ลงพื้นที่หาปัจจัยการเกิด “โรคเนื้อเน่า” หลังพบสถิติผู้ป่วยที่ค่อนข้างสูง โดยตั้งแต่ปี 2557 โรงพยาบาลหนองบัวลำภู มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวประมาณปีละ 120 ราย ขณะที่ปี 2560 ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคนี้ 102 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย

โดยคณะวิจัยได้เก็บข้อมูลสถิติ สัมภาษณ์เกษตรกร และผู้ป่วย รวมถึงเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมเพื่อวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในดิน ตะกอนดิน น้ำในลำน้ำอ่างเก็บน้ำ และผัก ในเขต อ.สุวรรณคูหาเพื่อให้ได้ภาพเบื้องต้นของปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่า เกษตรกรใช้สารเคมีหลายชนิด ได้แก่พาราควอต ไกลโฟเสต อาทราซีน และอามิทรีนในการกำจัดวัชพืชในแปลงของไร่ยางพาราและไร่อ้อย ซึ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรได้ขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก และใช้สารพาราควอตเป็นสารเคมีหลัก ทำให้มีการนำเข้าสารดังกล่าวมากกว่า 3 แสนลิตร และคาดว่าทั้งจังหวัดมีการใช้สารมากกว่า 8 แสนลิตรต่อปี จากการสัมภาษณ์พบว่าเกษตรกรนิยมใช้สารเคมีพาราควอตอย่างเข้มข้นมากกว่าที่ฉลากระบุถึง 4 เท่า โดยผสมสารพาราควอต 400 มิลลิลิตรกับน้ำ 20 ลิตร ซึ่งเป็นอัตราส่วนเข้มข้นสูงมาก ทำให้มีโอกาสของเกิดการตกค้างของสารเคมีในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำในพื้นที่ในระดับความเข้มข้นที่สูงจนก่อให้เกิดอันตรายได้

ผลของงานวิจัยในส่วนของการเจ็บป่วยของเกษตรกร พบว่า พื้นที่ของจังหวัดหนองบัวลำภูมีผู้ป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าเป็นอันดับ 1 ของผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมของโรงพยาบาลหนองบัวลำภูตั้งแต่ปี 2553-2556 ปีละ 100-140 คน ส่งผลทำให้พิการหรือเสียชีวิตเกือบร้อยละ 10 ของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามักมีการสัมผัสกับน้ำในลำน้ำ นาข้าว หรืออ่างเก็บน้ำเป็นเวลานาน หลายรายมีบาดแผลในบริเวณแขน ขา จากการทำงานและไปล้างตัวในแหล่งน้ำที่รองรับสารเคมีทางการเกษตรดังกล่าว อาการผื่นบนผิวหนัง คัน และเกิดแผลไหม้ในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสร่วมกับอาการเป็นไข้สูง เป็นอาการเริ่มต้นของโรคเนื้อเน่ามักเกิดขึ้นภายในเวลา 1-2 วัน ซึ่งต้องนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลโดยด่วน

จากสถิติของการรักษาโรค พบว่าผู้ป่วยหลายรายต้องถูกตัดอวัยวะขาหรือแขนเพื่อรักษาชีวิตไว้ โดยทางแพทย์ได้วินิจฉัยถึงการเป็นโรคที่มาจากแบคทีเรียเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งอยู่ในกลุ่มของแบคทีเรียชนิดไม่ใช้อากาศ เช่น Bacteroides fragilis, Clostidium, Pepto Streptococcus และแบคทีเรียชนิดใช้อากาศ เช่น E.Coli, Enterobacter, Klebsiella, Proteus, non-group A streptococcus ซึ่งรวมถึงแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ มักพบในแหล่งน้ำจืด ซึ่งจากผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมโดยคณะนักวิจัย ได้ยืนยันว่าตัวอย่างสิ่งแวดล้อมทั้ง ดินตะกอนดิน ลำน้ำ และอ่างเก็บน้ำที่นำมาตรวจสอบนั้นมีการตกค้างของสารเคมีพาราควอตในทุกตัวอย่าง และอยู่ในระดับความเข้มข้นที่สูง ในขณะที่มีการตรวจพบสารเคมีทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ในปริมาณต่ำมาก จึงมีแนวโน้มว่าแหล่งน้ำทั้งอ่างเก็บน้ำและลำน้ำในพื้นที่มีทั้งสารเคมีพาราควอตและเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ร่วมกัน

เบื้องต้น คณะวิจัยได้รายงานผลต่อผู้ว่าราชการและคณะผู้บริหารจังหวัดหนองบัวลำภู โดยจังหวัดได้มอบนโยบายให้ดำเนินการค้นคว้าวิจัย เพื่อแก้หาสาเหตุและปัญหาของโรคที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทางการเกษตรอย่างเร่งด่วน และให้มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอรายชื่อคณะนักวิจัยและดำเนินการวิจัยร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ “หนองบัวลำภูโมเดล” ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อนำขยายผลการแก้ปัญหาไปสู่พื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานตอนบน ซึ่งประสบปัญหา “โรคเนื้อเน่า” อยู่ในลักษณะเดียวกันในหลายจังหวัดต่อไป

นี่แหละครับคือตัวอย่างของพิษภัยจากสารเคมี “พาราควอต” ซึ่งมีความเป็นพิษสูงอยู่แล้ว และยิ่งนำมาใช้อย่างผิดวิธี ก็จะยิ่งส่งผลรุนแรงตามมาอย่างมากมาย ทั้งในแง่สุขภาพประชาชน รวมถึงการตกค้างของสารพิษในแหล่งน้ำและผิวดินตามธรรมชาติ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กรมทรัพย์สินฯลุยต่อ หลังสหรัฐปลดไทยจากบัญชี PWL เหลือ WL เตรียมปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตร

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาลุยต่อ หลังสหรัฐฯ ปลดไทยจากบัญชี PWL เหลือ WL เตรียมปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับการนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยว่าจะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มที่ และการแก้ไขดังกล่าวจะไม่กระทบต่อขอบเขตการคุ้มครองหรือมาตรฐานการตรวจสอบสิทธิบัตรแต่อย่างใด เช่น กำหนดระยะเวลาการประกาศโฆษณาคำจดทะเบียนภายใน 18 เดือนนับแต่วันยื่นคำขอในไทย การลดระยะเวลาการขอให้ตรวจสอบจาก 5 ปีนับแต่วันประกาศโฆษณา เป็น 3 ปีนับแต่วันยื่นคำขอในไทย กำหนดให้คัดค้านได้เมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วแต่ก่อนออกสิทธิบัตร เป็นต้น

ทั้งนี้ การแก้ไขบทบัญญัติเรื่องการบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตร ยังเป็นการแก้ไขเพื่อรองรับพันธกรณีความตกลงทริปส์และสุขภาพ ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะทำให้ไทยดูแลการเข้าถึงยาของประชาชนได้ดีขึ้น

“การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ปลดสถานะประเทศไทยจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาอยู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ได้ส่งผลในด้านความเชื่อมั่นในการทำการค้า การลงทุนกับไทย และยังช่วยส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อนตามนโยบาย Thailand 4.0 ด้วย”นายทศพลกล่าว

สำหรับประเด็นที่สหรัฐฯ พอใจและนำมาสู่การปรับลดสถานะดังกล่าว เกิดจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการกำหนดเป็นนโยบายประดับประเทศที่ชัดเจน โดยผู้นำระดับสูงของประเทศให้ความสำคัญ ส่งผลให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม 2.การพัฒนาการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เช่น การเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก ทำให้การจดทะเบียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3.การเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และ 4.การเสริมสร้างความโปร่งใสโดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 20 ธันวาคม 2560

จี้ผลสอบอดีตพ่อเมืองอุตรดิตถ์ปล่อยรถขนอ้อยน้ำหนักเกินวิ่งถนนหลวง

วันที่ 20 ธันวาคม นายสิทธิชัย เจริญธนะจินดา อดีตนายกเทศมนตรีตำบลท่าเสา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงกรณีนายสุกิจพงษ์ วงค์ทะกัน เจ้าพนักงานทางหลวง สถานีตรวจสอบน้ำหนักทองแสนขัน สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย พร้อมกำลังนำเครื่องชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ตรวจจับรถบรรทุกอ้อยที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา จนสร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าของสวนและรถบรรทุกอ้อย ด้วยการนำรถบรรทุกอ้อยมากกว่า 50 คันมาทำการปิดถนนสาย 11 อุตรดิตถ์-พิษณุโลกให้การจราจรขึ้นเหลือและลงใต้ติดขัด ก่อนที่ทางจังหวัด ตำรวจ ทหารต้องเจรจากับกลุ่มเจ้าของรถบรรทุกอ้อยและเจ้าของสวน สุดท้ายเจ้าหน้าที่ควบคุมน้ำหนักยอมผ่อนปรนให้รถบรรทุกอ้อยวิ่งบนถนนหลวงได้ด้วยน้ำหนักที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว เนื่องจากชาวไร่ที่ปลูกอ้อยจาก จ.สุโขทัยและอุตรดิตถ์ ต้องนำมาเข้าโรงงานที่ จ.อุตรดิตถ์ ถนนหลวงถนนท้องถิ่นที่รถบรรทุกอ้อยวิ่งผ่านจะมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเสียหายอย่างหนัก หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องนำงบประมาณมาซ่อมแซมปีละหลายสิบหลายร้อยล้านบาท เจ้าของโรงงานที่รับอ้อยจากชาวสวนไม่เคยที่จะดูแลหรือนำงบประมาณที่ได้จากกำไรมาซ่อมแซมหรือดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเลยแม้แต่น้อย หน่วยงานใดก็ตามที่ไม่ใช่กรมทางหลวงไม่สามารถกำหนดข้อผ่อนปรนให้รถบรรทุกทุกชนิดที่บรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งบนถนนได้ แต่ที่ผ่านมามีอดีตผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขนส่ง จ.อุตรดิตถ์ กลับกำหนดเงื่อนไขให้รถบรรทุกอ้อยที่บรรทุกน้ำหนักเกินสามารถวิ่งบนถนนหลักได้

 “หลังเจ้าของรถบรรทุกอ้อยและชาวไร่อ้อยปิดถนนสาย 11 เมื่อกลางดึกวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น นายเสฐียรพงษ์ มากศิริ ผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์คนปัจจุบันต้องเข้าเจรจาถือว่าเป็นกลายเป็นเผือกร้อนที่อดีตผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์รายหนึ่งได้ทำขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกับรถบรรทุกอ้อยเลย ผมจึงร้องเรียนอดีตผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์มาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีปล่อยให้รถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกินวิ่งบนถนนได้ โดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง โดยร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนถึงวันนี้ผ่านไปแล้วกว่า 1 ปีเรื่องก็เงียบไปเฉยๆ จึงอยากให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง บ้านเมืองต้องมีมาตรฐานเดียว และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกันด้วย ไม่ใช่มีสองมาตรฐานเหมือนปัจจุบันนี้ อย่าทำอะไรประเภทปากว่าตาขยิบ เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาบังตาเอาไว้”นายสิทธิชัย

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหารถบรรทุกอ้อยเป็นการด่วน

ที่บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 11 อุตรดิตถ์ – พิษณุโลก หรือสายเอเชีย ช่วงก่อนถึงสี่แยกสัญญาณไฟจราจรบุ่งวังงิ้ง หมู่ 8 ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ได้มีรถบรรทุกอ้อยจำนวนประมาณ 50 คัน รวบตัวกันปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้มีการผ่อนผันการบังคับใช้ประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในจังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับฤดูกาลผลิต ปี 2560/2561 หลังจากมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านเคลื่อนที่ตรวจจับความสูงและน้ำหนักของรถบรรทุกอ้อย ตามเส้นทางที่รถวิ่งผ่านจากไร่ไปยังโรงงานน้ำตาลของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งนายลับแล พิพิจทอง นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย กล่าวว่า ไม่สามารถบรรทุกอ้อยตามที่กำหนดได้ เพราะค่าใช่จ่ายสูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าแรงคนขับ ค่าแรงคนงาน จึงรวมตัวกันขอให้มีการผ่อนผัน เนื่องจากรถบรรทุกอ้อยวิ่งเพียงปีละ 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งนายเสถียรพงศ์ มากศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยทหารและตำรวจ ลงพื้นที่เจรจาคลี่คลายปัญหา พร้อมนัดหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกันในเวลา 09.30 น. ซึ่งใช้ปิดถนนอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง จึงเปิดการจราจรได้ตามปกติ

ต่อมาในเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมตรอนตรีสิทธุ์ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ นายเสฐียรพงศ์ มากศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติเรื่องการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอุตรดิตถ์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 35 รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์ แขวงการทางอุตรดิตถ์ที่ 1 ตัวแทนโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ นายกสมาคมไร่อ้อยพระยาพิชัย เข้าร่วม โดยที่ประชุมได้ชี้แจงประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในจังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับฤดูกาลผลิต ปี 2560/2561 ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมกองทัพภาค 3 ที่ให้ใช้แนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาล จำนวน 20 ข้อ โดยกำหนดให้การบรรทุกอ้อยมีความสูงจากพื้นถนนไม่เกิน 3.80 เมตร ซึ่งทางสมาคมไร่อ้อยพระยาพิชัย ขอให้ปรับเพิ่มเป็น 4 เมตร สุดท้ายที่ประชุมมีมติร่วมกันให้ยืดหยุ่นการบรรทุกอ้อยสูงไม่เกิน 3.90 เมตร ส่วนน้ำหนักบรรทุก ยืดหยุ่นจากน้ำหนักไม่เกิน 25 ตัน เป็น 28 ตัน ซึ่งผ่อนผันให้ใช้เฉพาะในช่วงก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ที่จะต้องเร่งรัดขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

จาก http://thainews.prd.go.th   วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จังหวัดกำแพงเพชร ประชุมคณะทำงานควบคุม กำกับ ดูแลการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล ในฤดูกาลหีบอ้อย

ที่ห้องประชุมทุ่งเศรษฐี ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร นายไพโรจน์ แก้วแดง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ประชุมคณะทำงานควบคุม กำกับ ดูแลการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล ในฤดูกาลหีบอ้อย ประจำปี 2560/2561 ตามที่โรงงานผลิตน้ำตาลในจังหวัดกำแพงเพชร กำหนดเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2560 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีรถบรรทุกอ้อยเข้าสู่โรงงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จังหวัดกำแพงเพชรจึงได้จัดระเบียบรถบรรทุกอ้อย เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำตาล และสมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดจนเพื่อความปลอดภัยบนเส้นทางในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน ซึ่งในการประชุมได้มีข้อสรุปแนวทางในการปฏิบัติการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยได้มีแนวทางปฏิบัติ โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถบรรทุกอ้อย ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดโดยบรรทุกอ้อยความสูงไม่เกิน 3.60 เมตร ความยาวด้านหลัง ไม่เกิน 2.30 เมตร มีสายรัด 2 เส้น รถบรรทุกอ้อยทุกคันและรถพ่วง ให้มีการติดธงแดง ติดแผ่นป้ายสะท้อนแสงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ติดสัญญาณไฟแดงไว้ท้ายสุดของรถบรรทุกอ้อยและด้านข้าง รถบรรทุกขับรถด้วยความระมัดระวัง ในเขตหมู่บ้าน ชุมชน เขตเมือง ขับด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง โรงงานน้ำตาลมีป้ายแสดงสัญลักษณ์ที่บอกระยะทางก่อนถึงโรงงานเป็นระยะ ในช่วง 1 กิโลเมตร 500 เมตร และ 250 เมตร และขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งอ้อยและโรงงานผลิตน้ำตาล ได้หยุดการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2561 รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรได้งดการเผาอ้อย ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศลง และทางผู้ประกอบการ กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือจะมีการดำเนินการอบรมให้ความรู้กับพนักงานขับบรรทุกอ้อย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่จะร่วมกันลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงการฤดูกาลหีบอ้อย ประจำปี 2560/2561 ด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th   วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ครม. อนุมัติกรอบเงินเฟ้อทั่วไปปี 61 ร้อยละ 1-4 เท่ากับปี 60

ครม. อนุมัติกรอบเงินเฟ้อทั่วไปปี 61 ร้อยละ 1-4 เพื่อดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ และเห็นชอบร่างรูปแบบจัดทำเหรียญหมุนเวียน ร.10 รวม 9 ชนิดราคา เพื่อใช้หมุนเวียนในระบบ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน ประจำปี 2561 กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2561 ร้อยละ 2.5 บวกลบร้อยละ 1.5 หรืออัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1-4 นับเป็นเป้าหมายเดียวกับปี 60 นับเป็นการกำหนดแบบยืดหยุ่นให้เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น เพื่อการรักษาสมดุลในระบบเศรษฐกิจการเงิน 3 ประการ คือ 1. การรักษาเสถียรภาพราคา ในระยะปานกลาง การดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และเคลื่อนไหวไม่ผันผวนมากเกินไป 2. การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ดูแลเศรษฐกิจให้ใกล้เคียงกับศักยภาพ และ 3. เสถียรภาพระบบการเงิน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังได้เห็นชอบให้กรมธนารักษ์ จัดทำเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชุดใหม่ รวม 9 ชนิดราคา ประกอบด้วย สิบบาท, ห้าบาท, สองบาท, หนึ่งบาท, ห้าสิบสตางค์, ยี่สิบห้าสตางค์, สิบสตางค์, ห้าสตางค์ และหนึ่งสตางค์ เพื่อใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังได้รับพระราชทานพระราชนุญาตการผลิตเหรียญหมุนเวียนชุดใหม่

จาก https://mgronline.com วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ส.ไร่อ้อยอีสานเหนือจับมือรัฐเอกชน เปิดฝึกอบรมขับรถตัดอ้อย

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ ส.ไร่อ้อยอีสานเหนือเปิดฝึกอบรม ขับรถตัดอ้อยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดการเผาไร่อ้อย รองรับไทยแลนด์ 4.0

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 60 ที่สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สาขาไทอุดรบ้านผือ บ.เจริญสุข ต.คำบง อ.บ้านผือ นายวิรัช คันศร ผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดการเผาไร่อ้อ รองรับไทยแลนด์ 4.0 หลักสูตรยกระดับฝีมือแรงงาน สาขา พนักงานขับรถตัดอ้อย โดยมี นายธีรระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ , สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานึ ผู้แทนจาก ศูนย์ความปลอดภัยเขต 4 จัดหางานจังหวัด , บริษัทไทยเอเยนซี่ เอ็นจิเนียริ่ง จก. และโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และวังเกษตร พร้อมเกษตรกรผู้สนใจ ที่เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 28 คน

นางสาวสมลักษณ์ สุวรรณพรหมา ผอ.สถาบันพันาฝีมือแรงงาน 18 อุดรธานี กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้บูรณาการความร่วมมือกับบริษัทไทยเอเย่นซี่เอ็น จิเนียริ่ง จำกัด ในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับ พนักงานขับรถตัดอ้อย พนักงานขับรถคีบอ้อย ช่างซ่อมบำรุงรถตัดอ้อยและรถคีบอ้อย เพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในไร่อ้อย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 18 อุดรธานี จึงได้ทำโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรลดการเผาไร่อ้อย รองรับไทยแลนด์ 4.0 ในหลักสูตรยกระดับฝีมือแรงงาน สาขาพนักงานขับรถตัดอ้อย

โดยการอบรมมีการบรรยายความปลอดภัยในการขับรถตัดอ้อย ส่วนประกอบของรถ และเครื่องยนต์ ระบบหล่อลื่นและระบายความร้อนของเครื่องยนต์ ระบบควบคุมรถตัดอ้อย ปฏิบัติให้ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งกำหนดฝึกวันที่ 18-20 ธันวาคม ระยะเวลาฝึก 18 ชั่วโมง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานในสถานประกอบกิจการ พนักงานขับรถตัดอ้อย บุคคลทั่วไป เจ้าหน้าที่พัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 28 คน โดยฝึกอบรมที่ สมาคมไร่อ้อยอีสานเหนือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

นายวิรัช คันศร ผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ เนื่องจากกำลังคนของประเทศไทย ขาดประสิทธิภาพทักษะด้านฝีมือแรงงาน และทัศนคติที่ไม่ต้องการทำงานในลักษณะที่ใช้แรงงาน เป็นผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน การฝึกอบรมครั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม สามารถรู้ถึงหลักความปลอดภัยในการขับรถตัดอ้อย สามารถขับรถตัดอ้อยได้ถูกวิธี เกิดความปลอดภัย รู้ถึงหลักการบำรุงรักษารถตัดอ้อย จากการฝึกจากรถตัดอ้อจริง จะเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยต้องการให้คนไทยมีงานทำอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพที่มั่นคง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

รถบรรทุกอ้อยปิดถนนประท้วงถูกจับน้ำหนักเกิน25ตัน

กลุ่มรถบรรทุกอ้อย ประท้วงปิดถนนสายทางหลวงหมายเลข 11 อุตรดิตถ์-พิษณุโลกหลังไม่พอใจเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจจับน้ำหนักเกิน 25 ตัน

             19 ธ.ค.60 เมื่อเวลา 02.00 น. ที่ถนนทางหลวงหมายเลข 11 อุตรดิตถ์-พิษณุโลก ก่อนถึงสี่แยกสัญญาไฟจารจรบุ่งวังงิ้ว หมู่ 8 ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ต่างเร่งเข้าอำนวยความสะดวกด้านการจราจรสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งช่วงขาขึ้นสู่ภาคเหนือและล่องสู่กรุงเทพฯ ให้ใช้ทางเลี่ยงเมืองแทน หลังกลุ่มรถบรรทุกอ้อย สังกัดสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย ที่กำลังขนอ้อยนำเข้าสู่โรงงานน้ำตาลของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ทำการจอดปิดถนนสายดังกล่าว หลังไม่พอใจ เจ้าหน้าที่ทำการตั้งด่านเคลื่อนที่ตรวจจับความสูงและน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนด

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร พยายามเข้าขอความร่วมมือ ให้กลุ่มรถบรรทุกอ้อยเปิดช่องทางขาล่องเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้วิ่งรถสวนทาง จะได้ไม่กระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมนำอุปกรณ์แสงสว่างติดตั้งให้ลดความเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ก่อนที่นายเสฐียรพงศ์ มากศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เดินทางรับทราบปัญหาและเจรจาคลี่คลายปัญหาในเบื้องต้น ส่งผลให้การจารจรติดขัด นานกว่า 2 ชั่วโมง

          นายลับแล พิพิจทอง นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย กล่าวว่า ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากได้มีเจ้าหน้าที่ ทำการตั้งด่านเคลื่อนที่ ตรวจจับความสูงเกิน 3.60 เมตรและน้ำหนักเกิน 25 ตันของรถบรรทุกอ้อย ตามเส้นทางที่รถวิ่งผ่านจากไร่ไปยังโรงงานน้ำตาลของจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมถึงจุดที่รถบรรทุกอ้อยทำการปิดถนนด้วย ซึ่งรถบรรทุกอ้อยไม่สามารถบรรทุกอ้อยตามที่กำหนดได้ เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าแรงคนขับ ค่าแรงคนงาน รวมถึงคิวรถที่ต้องจอดรอเข้านำอ้อยโรงงาน หากขนได้น้อยก็จะเสียเงิน เสียเวลาและส่งผลผลิตอ้อยเข้าระบบการผลิตไม่ทันเวลา โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งด่านแบบเคลื่อนที่ นำอุปกรณ์การติดตั้งชั่วคราว เพื่อดักรอรถบรรทุกอ้อย ยิ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงรวมตัวเพื่อขอให้มีการผ่อนผัน เนื่องจากรถบรรทุกอ้อยวิ่งเพียงปีละ 4 เดือนเท่านั้น หมดดูกาลหีบอ้อยก็หยุดวิ่ง

          ต่อมา ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ ได้รุดเข้าเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นการเบื้องต้น โดยขอให้รถบรรทุกอ้อย เปิดเส้นทางตามปกติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกการตรวจจับชั่วคราว เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย และจะมีการประชุมเพื่อหารือหาทางออกร่วมกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่และสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัยเป็นกรณีด่วนที่สุด ในเวลา 10.00 น.วันนี้ ที่ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้กลุ่มรถบรรทุกอ้อยพึ่งพอใจ และยอมเปิดเส้นทาง ล่าสุดถนนทางหลวงหมายเลข11จังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถสัญจรได้ตามปกติแล้ว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กนอ.พัฒนาระบบบริการคิวอาร์โค้ด

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการลงทุนในเขตประกอบการเสรี (FreeTrade Zone) ทั้ง 11 แห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เป็นต้น นอกจากนักลงทุนและผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆในด้านภาษีอากร เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์ รวมทั้งกรรมสิทธิ์ในด้านพื้นที่ การโอนย้ายเงินตรา การขนส่ง และอื่นๆ แล้ว กนอ.ยังได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นฐานการผลิตที่มีความสมบูรณ์แบบ เหมาะสมกับสถานการณ์และทันกับการแข่งขันในตลาดโลกยิ่งขึ้น โดยได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะมาให้บริการด้านอนุมัติอนุญาตนำส่งสินค้าเข้า-ออกในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเอื้อให้มีความรวดเร็ว พร้อมสร้างประสิทธิภาพในด้านผลลัพธ์และคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างสูงสุด

นายวีรพงศ์ กล่าวว่า ล่าสุด กนอ.ได้พัฒนาระบบบริการคิวอาร์โค้ด (QR CODE) การอนุญาตอนุมัติการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและการส่งออกสินค้า โดยที่ไม่ต้องมีลายเซ็นของ กนอ. ผู้ประกอบการส่งคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-pp เจ้าหน้าที่ กนอ.พิจารณาอนุญาตในระบบ พร้อมทั้งข้อมูลการอนุญาตของผู้ประกอบการก็ยังคงถูกเชื่อมโยงไปยังกรมศุลกากรเช่นเดิม แต่ข้อมูลการอนุมัติทั้งหมดนั้นจะถูกเชื่อมโยงไปยังระบบของผู้ประกอบการ และสามารถพิมพ์หนังสืออนุญาตแบบมีคิวอาร์โค้ด พร้อมนำหนังสืออนุญาตที่ได้รับไปทำพิธีการต่อไปที่กรมศุลกากรได้เอง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พัฒนาแหล่งนํ้า เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก

    จังหวัดตาก เป็น 1 ใน 5 พื้นที่  ที่รัฐบาลประกาศจัดตั้งเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษตากเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากอินโดจีน สู่ยุโรป

    โดยได้กำหนดพื้นที่ไว้ทั้งหมด 886,875 ไร่ ครอบคลุม 14 ตำบล ของ 3 อำเภอ คือ อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด และ อำเภอพบพระ โดย อำเภอแม่สอด จะเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศเครือข่ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน และการจัดทำนิคมอุตสาหกรรม ส่วนอำเภอแม่ระมาด เหมาะกับอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าทางการเกษตร และอำเภอพบพระจะเป็นพื้นที่การเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

     ซึ่งขณะนี้ด้านโครงสร้างพื้นฐาน กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการทั้งหมด ด้านสาธารณูปโภคระบบไฟฟ้า กำลังก่อสร้างสถานีไฟฟ้าเพิ่ม ระบบการสื่อสารโทร คมนาคมก็ไม่มีปัญหา แต่สาธารณูปโภคที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือเรื่อง “น้ำ” ทั้งน้ำดิบเพื่อการทำระบบประปา และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม

     อย่างไรก็ตาม พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก มีลุ่มน้ำสำคัญ ๆ คือ ลุ่มน้ำแม่ละเมา ลุ่มน้ำเมยตอนบน และลุ่มน้ำเมยตอนล่าง แต่ละปีมีปริมาณฝนประมาณ 1,347 มม. มีปริมาณน้ำท่ามากถึง 5,228 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น่าจะเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ในทุก ๆ กิจกรรมของพื้นที่

    แต่ยังขาดแหล่งกักเก็บน้ำ ซึ่งปริมาณฝน และน้ำท่า ในพื้นที่มีกว่า 80-90% เกิดขึ้นในฤดูฝน จนทำให้เกิดน้ำท่วมถึง 18 ครั้งในรอบ 13 ปี โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนในฤดูแล้งมีปริมาณฝน และน้ำท่าเพียง 10-20% ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ จนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เช่น ในปี 2558 เกิดภาวะภัยแล้งถึง 5 ครั้ง และปี 2559 เกิดภัยแล้งขึ้น 4 ครั้ง

    นายปรีชา สุขกล่ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) กรมชลประทาน ในฐานะประธานกรรมการดูแลกำกับงานที่ปรึกษาด้านวิชาการ เปิดเผยว่า ได้มีการศึกษาประมาณความต้องการใช้น้ำทุก ๆ ด้านในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตากภายใน 20 ปี จะมีความต้องการใช้น้ำสูงถึง 508.23 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี โดยเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 360.28 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ที่เหลืออีก 147.95 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เพื่อผลิตน้ำประปา อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

    แต่แหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ พิเศษตากในปัจจุบัน ที่รวมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบนที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จ  ในปี 2561 ด้วยจะมีเพียง 29.45 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการในอนาคต

     ซึ่งตามแผนหลักที่กรมชลประทาน  ได้ศึกษาเบื้องต้นไว้แล้วนั้น จะต้องดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางทั้งหมดจำนวน 21 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำ    รวมกันได้ 401.66 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้รวม 337,700 ไร่ เมื่อรวมกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามแผนงานอีก 132 โครงการ และใช้หลักการบริหารจัดการน้ำแล้วจะมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการในอีก 20 ปีข้างหน้า

     ตามแผนหลักโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง 21 โครงการนั้น กรมชลประทานได้ทำการคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญในระดับต้นและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการจำนวน 3 โครงการ ได้แก่

     โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ละเมาตอนกลาง-บ้านห้วยยะอุ ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยอุ้มเปี้ยมตอนบน บ้านแม่ละเมา ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กึ๊ดหลวงตอนบนบ้านใหม่พัฒนา ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

     โดย 2 ใน 3 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ละเมาตอนกลาง-บ้านห้วยยะอุ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยอุ้มเปี้ยมตอนบน จะต้องศึกษา EIA ปรากฏว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าไปทำการศึกษา เพราะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ก่อน

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

‘พาณิชย์’ขานรับนโยบาย เตรียมพร้อมเจรจาFTAไทย-อียู

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมเตรียมการ กรณีคณะมนตรีการต่างประเทศ ของสหภาพยุโรป(อียู) ได้ส่งสัญญาณพร้อมรื้อฟื้นการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ซึ่งหยุดชะงักตั้งแต่ปี 2557 นั้น กรมพร้อมดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย และเป็นโอกาสดีที่จะสานต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอียูให้ก้าวหน้าและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมเตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องหารือในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การเจรจา FTA ไทย-อียู หยุดชะงัก กรมได้ติดตามพัฒนาการสำคัญของอียูมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการค้าและการลงทุนของอียู การจัดทำ FTA หรือข้อตกลงทางการค้าของอียูกับประเทศต่างๆ รวมถึงกรณีที่อังกฤษขอแยกตัว

 ออกจากอียู (Brexit) ทั้งนี้การดำเนินการในขั้นต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทย กรมให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

โดยจะเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหารือ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และพิจารณาท่าทีของฝ่ายไทยอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทั้งในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของไทย เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ และประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาและการคุ้มครองพันธุ์พืช

“ไทยต้องเตรียมการอย่างรอบคอบ เพื่อให้การเจรจาที่จะเกิดขึ้นเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ฝ่ายไทยคงจะต้องรอดูท่าทีของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าจะตอบสนองต่อข้อมติของคณะมนตรีการต่างประเทศของอียูอย่างไร ซึ่งกรมกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” นางอรมน กล่าว

นอกจากนี้ กรมจะเตรียมความพร้อมหารือทวิภาคีกับอียูรายประเทศ ตามที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กำชับมา ตามข้อสั่งการของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยจะเน้นการเจรจาเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อขยายการค้าการลงทุน และเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาทร่วง หลังดอลลาร์แข็งโป๊ก ลุ้นร่างกม.ภาษีผ่านสภาสัปดาห์นี้

ค่าเงินบาทวันนี้อ่อนค่า หลังค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยนักลงทุนคาดว่าร่างกฏหมายภาษีสหรัฐ น่าจะได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภาและรัฐสภาในช่วงกลางสัปดาห์นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับระดับปิดตลาดเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ 32.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารซีไอเอ็มบีกล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่า หากเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนย้ายเงินลงทุนไปเน้นถือครองดอลลาร์ และถือสินทรัพย์ของสหรัฐมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ น่าจะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ในกลางสัปดาห์นี้ ทำให้หนุนเงินดอลลาร์ขึ้นมาแข็งค่าหากเทียบกับหลายสกุลเงิน

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันพุธนี้ และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันพฤหัสนี้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พณ.ลุ้นGSPหลังสหรัฐปรับสถานะไทยเป็นWL

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุ สหรัฐปรับสถานะไทยเป็น WL ดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ ลุ้นรับสิทธิ์ GSP

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) แล้วนั้น มั่นใจว่า การปรับสถานะให้ดีขึ้นจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุนของประเทศในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมทั้งจะส่งผลดีต่อการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ที่สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงไทยด้วย นอกจากนี้การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย "Thailand 4.0" และนำประเทศไทยก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงต่อไป

โดยประเทศไทยถูกจัดสถานะให้อยู่ในบัญชี PWL ตั้งแต่ปี 2550 - 2560 ก่อนที่ได้ประกาศทบทวนสถานะของไทยนอกรอบ (OCR) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 และประกาศปรับสถานะประเทศไทยดีขึ้น ในวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

นครสวรรค์ป่วน! รถบรรทุกอ้อยกว่า 50 คัน รวมตัวปิดถนน ประท้วง จนท.จับบรรทุกเกิน

วันที่ 18 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าสำนักงานแขวงการทางบรรพตพิสัย ติดกับวิทยาลัยการอาชีพบรรพตพิสัย ถนนสายเก้าเลี้ยว-บรรพตพิสัย มีกลุ่มรถบรรทุกอ้อย กว่า 50 คัน รวมตัวกันจอดรถขวางถนน ทำให้การจราจรบนถนนสายเก้าเลี้ยว-บรรพตพิสัยติดขัด รถต่างๆ ไม่สามารถวิ่งผ่านได้

ทั้งนี้มีรายงานว่าประเด็นสาเหตุหลักที่ทางกลุ่มรถบรรทุกอ้อยทราบคือ ทีมสำนักตรวจน้ำหนักรถบรรทุก ได้สนธิกำลังจากจังหวัดลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชรและสุโขทัย เพื่อวิ่งตรวจจับรถบรรทุกอ้อยทุกคันที่ความสูงเกิน 3.60 เมตร ตั้งแต่เย็นวันที่ 18 ธ.ค. จนถึงเช้าวันที่ 20 ธ.ค. โดยมีชุดตรวจจับไม่ต่ำกว่า 5 ชุด ดังนั้นทางโรงงานน้ำตาลรวมผลอุตสาหกรรม อ.เก้าเลี้ยว จึงแจ้งไปยังกลุ่มไลน์ของลูกไร่และไลน์กลุ่มรถบรรทุกอ้อย รวมทั้งแจ้งเตือนไปยังรถบรรทุกอ้อยทุกคัน ผู้รับเหมาขนอ้อยทุกคันว่า ให้ใส่อ้อยให้บรรทุกอ้อย ที่ความสูง 3.6 เมตรเท่านั้น รถกล่องห้ามพูนโดยเด็ดขาด ต้องเกลี่ยอ้อยให้เสมอที่ความสูง 3.6 เมตร

ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปิดถนนเด็ดขาด จนทางเจ้าหน้าที่ต้องเข้าเจรจา ส่วนกลุ่มรถบรรทุกอ้อยยังปิดถนนอยู่ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะต้องมีผู้ใหญ่ระดับจังหวัดหรือระดับกรมเจ้าร่วมเจรจา พร้อมทั้งต้องแก้ไขปัญหาการตรวจจับน้ำหนักเกิน ซึ่งทางผู้รับเหมาขนอ้อยและรถบรรทุกอ้อยไม่สามารถบรรทุกอ้อยตามที่กำหนดได้ เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าแรงคนขับ ค่าแรงคนงาน รวมถึงคิวรถที่ต้องจอดรอเข้านำอ้อยโรงงาน หากขนได้น้อยก็จะเสียเงิน เสียเวลา และส่งเข้าระบบการผลิตไม่ทันเวลา

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

‘กฤษฎา’ สั่งตั้งทีมจังหวัด พัฒนา-แก้ปัญหาเกษตรกร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งจัดตั้งทีม 76 จังหวัด เป้าหมายบริหารงานเชิงรุก มั่นใจช่วยการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกษตรกรในพื้นที่ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล

               นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการผ่านไลน์ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึง ปลัดกระทรวงฯ / อธิบดี / ผอ.สำนักในสังกัดกระทรวงเกษตร เรื่อง “การจัดโครงสร้างหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ให้เป็นที่พึ่งของเกษตรกร”

               ตามที่ได้กำหนดให้มีการประชุมเพื่อหารือข้อราชการของผู้บริหารกระทรวงเกษตร ในวันพฤหัสบดีที่ 21 ธ.ค. 60 นี้ ผมขอให้ท่านปลัดหรืออธิบดี และผู้เกี่ยวข้อง ช่วยเตรียมข้อมูลหรือเสนอความเห็นประเด็นการประชุม ดังนี้

                1. เนื่องจาก กษ.มีโครงสร้างหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจรวมทั้งองค์กรมหาชน และ ขรก.ที่มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมการทำเกษตรทุกด้าน ทั้งวิชาการเกษตรพืชไร่ พืชสวน ไม้ผล หรือการเกษตรพื้นที่สูง / การดูแลคุณภาพดิน / การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร / การทำฝนเทียม / การเลี้ยงสัตว์แต่ละประเภท / การประมงน้ำจืด น้ำเค็ม / การสหกรณ์การเกษตรที่จะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนทางการเกษตรและรับผิดชอบงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกกว่าสามพันโครงการทั่วประเทศ เป็นต้น

               ผมจึงมีแนวคิดว่า กษ.ควรจัดโครงสร้างการบริหารงานของ กษ.ในพื้นที่จังหวัด / อำเภอ ให้เป็นทีม ขรก.กษ.ตามลักษณะหน่วยงานข้างต้น ที่ให้ข้าราชการซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตรในแต่ละด้านไปทำงานร่วมกันเป็นทีมกระทรวงเกษตรฯ ที่มีองค์ความรู้ครบวงจร สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถบอกได้ว่าดินบริเวณที่จะทำการเพาะปลูกว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด หรือจะเลี้ยงสัตว์อะไรที่จะเหมาะสมกับพื้นที่ เวลา สภาพอากาศ และประการสำคัญสอดคล้องกับความต้องการของตลาด (demand) / จะหาน้ำจากที่ไหน / จะรวมกลุ่มกันอย่างไร / จะหาทุนทำการเกษตรได้จากแหล่งใด / จะหาองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำการเกษตร / แปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร ฯลฯ

               2. ขอทราบจำนวนข้าราชการในสังกัด กษ.ของแต่ละสำนักงาน / กรมที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัดหรืออำเภอ รวมทั้ง 76 จังหวัด ว่ามีจำนวนเท่าไหร่และโดยเฉลี่ยในแต่ละจังหวัดจะมี ขรก.จาก กษ.ในแต่ละกรม / สำนัก จำนวนเท่าไหร่ โดยให้แยกเป็นสังกัดส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นรายหน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมฯ กรมวิชาการเกษตร / กรมปศุสัตว์ / กรมประมง / ปฏิรูปที่ดิน (สปก.) / กรม ชป. ฯลฯ เพื่อนำมาพิจารณาจัดโครงสร้างการบริหารหน่วยงานเป็นทีมเกษตรประจำพื้นที่จังหวัด / อำเภอ

               3. ขอให้ท่านปลัดหรือผู้รับผิดชอบช่วยจัดการรับความข้อเสนอหรือความเห็นจากพวกเราซึ่งเป็นผู้บริหารในส่วนกลางและเพื่อนข้าราชการในพื้นที่จังหวัด / อำเภอ ว่า หากจะจัดโครงสร้างการบริหารงานของหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ ให้เป็นทีมข้าราชการเกษตรที่มีเอกภาพและมีคุณสมบัติความรู้ความสามารถครอบคลุมอาชีพการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวในข้อ 2 นั้น ควรกำหนดโครงสร้างหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในระดับพื้นที่จังหวัด / อำเภอ อย่างไร ซึ่งผมและ รมช.ทั้ง 2 ท่าน พร้อมที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดทีมเกษตรประจำพื้นที่จังหวัด / อำเภอ สำหรับดูแลช่วยเหลือประชาชนที่เป็นเกษตรกรต่อไป

               4. เมื่อกระทรวงเราสามารถจัดโครงสร้างการบริหารหน่วยเป็นทีมงานในพื้นที่ให้เข้มแข็งได้แล้ว จะสามารถนำไปทำงานเชื่อมโยงกับทีมงานข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดและอำเภอ เช่น พณ. / ท่องเที่ยว / ดิจิทัล / สาธารณสุข / วิทย์ / มท. / อุตสาหกรรม ฯลฯ โดยมีภาคเอกชนและประชาสังคมในรูปแบบประชารัฐเข้าร่วมด้วยแล้ว ก็จะทำให้โครงการเกษตรแปลงใหญ่ / เกษตรผสมผสาน / โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามพื้นที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by agri-map) / การลดพื้นที่ปลูกพืชเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาต่ำหรือล้นตลาด (over supply) การปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรนั้น ประสบผลสำเร็จได้ และประการสำคัญจะทำให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในพื้นที่ (area-based) และการนำนโยบายการเกษตรของรัฐบาล (agenda) ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์เร่งเจรจาFTAไทย–ตุรกีรอบ2 หวังสรุปผลภายในปี 2561

พาณิชย์เผยผลเจรจาFTAไทย-ตุรกี รอบที่ 2 บรรลุผลตามแผน สองฝ่ายย้ำจุดยืนสรุปผลการเจรจาภายปี 2561 ฉลองความสัมพันธ์ไทย-ตุรกีครบรอบ 60 ปี

       นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยในการประชุมเจรจาFTAไทย-ตุรกี กล่าวถึงผลการเจรจาFTAไทย-ตุรกี รอบที่ 2 เมื่อวันที่ 13-15 ธันวาคม 2560 ว่าการเจรจารอบนี้มีความคืบหน้าที่น่าพอใจโดยหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและมาตรการทางการค้าในการเจรจาFTA รอบแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม2560 ที่กรุงอังการา ประเทศตุรกีแล้ว ในการเจรจารอบที่2 นี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนร่างข้อบทการค้าสินค้า ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการเปิดตลาด และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการต่อต้านการอุดหนุน และมาตรการปกป้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการจัดทำข้อบทร่วมในการเจรจาครั้งต่อไปที่กำหนดจัดขึ้นในเดือนมีนาคม256 1 ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี

               นางอรมน กล่าวถึงความสำคัญของประเทศตุรกีถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญและเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีขนาดใหญ่ กลุ่มผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และมีจุดเด่นในเรื่องที่ภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างรัสเซีย กลุ่มประเทศบอลข่าน แอฟริกา ยุโรป และเอเชีย อีกทั้ง ยังเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง จึงสามารถเป็นประตูการค้า (Gateway) ให้ไทยไปยังภูมิภาคเหล่านั้น

               สำหรับผลการเจรจาFTAจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการลดเลิกภาษีนำเข้าและขจัดอุปสรรคทางการค้า ปัจจุบันตุรกีเป็นประเทศที่มีภาษีศุลกากรสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร การทำ FTA กับตุรกีจะช่วยขยายโอกาสส่งออกสินค้าของไทยไปตุรกี โดยเฉพาะสินค้าที่ผู้บริโภคในตุรกีสนใจ เช่น ผัก ผลไม้ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

            ทั้งนี้ สองฝ่ายตั้งเป้าที่จะเพิ่มการค้าระหว่างกันเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี2563 จาก 1,374.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 ในปี 2559 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่35 ของไทยในตลาดโลกและเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการค้าสองฝ่ายรวมกันมีมูลค่า 1,374.65 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ0.34 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า ไทยส่งออกมูลค่า 1075.4ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 299.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

             สำหรับในช่วง10เดือนแรกของปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า1,265.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า7.02%โดยมูลค่าการค้าสองฝ่ายคิดเป็นสัดส่วน0.34%ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ไทยส่งออกมูลค่า1,065.84ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 16.47%และนำเข้ามูลค่า199.64ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 25.33% สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตุรกี ได้แก่เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยางตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์

            ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากตุรกี ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระจก แก้วและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ไทยพ้นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษปมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว สหรัฐลดระดับแค่จับตามอง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เวลาประเทศไทย ประมาณ 22 นาฬิกา นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) หลังจากที่ได้จัดให้ไทยอยู่ในบัญชี PWL ตั้งแต่ปี 2550 – 2560 ก่อนที่ได้ประกาศทบทวนสถานะของไทยนอกรอบ (OCR) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560

“การที่ไทยได้รับการปรับสถานะให้ดีขึ้นจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สหรัฐฯ พิจารณาในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ซึ่งสหรัฐฯ ให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงไทยด้วย”นายสนธิรัตน์กล่าว และว่า การปรับสถานะของไทยออกจากบัญชี PWL จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของประเทศ นอกจากนี้การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และนำประเทศไทยก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงและขอให้การปรับสถานะของไทยที่บรรลุผลในครั้งนี้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยทุกคน”

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในการประกาศผลครั้งนี้ USTR ระบุว่า สหรัฐฯ ตระหนักถึงความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญในการพัฒนาด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในระดับสูงภายใต้คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน อีกทั้งมีการดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการละเมิดในท้องตลาด ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทหารทั้งสามเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น ดำเนินการอย่างจริงจังจนการละเมิดได้หมดสิ้นไปในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อออกตรวจตราจับกุมใน 5 ย่านการค้าสำคัญ คือ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ตลาดนัดจตุจักร ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว หาดป่าตอง และหาดกะรน จังหวัดภูเก็ต

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ USTR เห็นถึงความพยายามของไทยในการแก้ไขข้อกังวลของภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพในการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบ และปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน จนทำให้สามารถลดปริมาณงานค้างสะสมลงไปอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศใดประเทศหนึ่งแต่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ในประเทศภาคีหลายประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่มิได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การเสริมสร้างความโปร่งใส โดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประจำ ซึ่งช่วยคลายความกังวลของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องลงไปได้มาก

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯไฟเขียวต่อเบียนพาราควอต ยันเอกสารถูกต้องมายื่นขอได้ทันที

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีการพิจารณาคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายพาราควอต ของผู้ประกอบการเดิมที่ขอต่ออายุก่อนที่ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนจะหมดอายุว่า คณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายได้พิจารณาข้อมูลความเป็นพิษของวัตถุอันตราย ผลการวิเคราะห์ของผลิตภัณฑ์ ผลการทดลองประสิทธิภาพ และรายละเอียดอื่นๆแล้ว  พบว่ามีเอกสารครบถ้วน และถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงมีมติเสนอให้รับต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนได้จนถึงปัจจุบันจำนวน 4 ทะเบียน  ซึ่งในจำนวน 4 ทะเบียนนี้เป็นผู้ประกอบการคนไทย 1 รายซึ่งเป็นพาราควอตจากแหล่งผลิตประเทศจีน และผู้ประกอบการต่างชาติ 1 ราย  ซึ่งเป็นพาราควอตจากประเทศอินโดนีเซียและจีน โดยยืนยันว่า กรมวิชาการเกษตร ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทข้ามชาติหรือผู้ประกอบการรายใด รวมทั้งไม่ได้ส่งเสริมการค้าผูกขาดทำให้มีผู้ขายน้อยรายแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทที่ได้รับการต่อทะเบียนนำเข้าพาราควอตจากประเทศจีนเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ประกอบการที่นำเข้าพาราควอตจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ยังสามารถขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนพาราควอตได้เหมือนเดิมหากมีข้อมูลเอกสารครบถ้วนและถูกต้องตามหลักวิชาการ

“ผู้ประกอบการที่ได้รับการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนทั้ง 2 ราย ยังคงนำเข้าพาราควอตจากประเทศจีน ซึ่งผลิตเพื่อการส่งออก ส่วนกรณีพาราควอตไดคลอไรด์สูตรเม็ด ปัจจุบันยังไม่มีผู้มายื่นขอขึ้นทะเบียน” นายสุวิทย์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560\

พบยักษ์ใหญ่โลกใน EEC

เป้าหมายสำคัญของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor : EEC) คือการเป็นจุดศูนย์กลางในระดับโลก (World-Class Economic Zone) โดยเฉพาะด้านการลงทุนรองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และจากการที่ไทยมีศักยภาพการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งภูมิภาคอาเซียน เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ จึงสามารถยกระดับสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และก้าวสู่การเป็นประตูสู่เอเชียในอนาคต

ข้อได้เปรียบดังกล่าวประกอบกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนของรัฐบาล รวมถึงมาตรการการเร่งการลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์การลงทุนทำให้ EEC จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยเห็นได้จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและการตอบรับเป็นอย่างดีต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้

ล่าสุดคณะกรรมการบริหารระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ Account Management ในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อจัดทำแผนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) โดยกำหนดรายชื่อนักลงทุนที่จะเป็นเป้าหมาย ซึ่งแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีแล้วจำนวน 16 ราย ใน 7 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมคือ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท Tesla (สหรัฐ), บริษัท Shanghai Motor (จีน), บริษัท BMW (เยอรมนี), บริษัท Suzuki (ญี่ปุ่น), บริษัท Mercedes-Benz (เยอรมนี) 2) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป้าหมายคือ บริษัท Foxconn (ไต้หวัน) 3) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ บริษัท Reliance Group (อินเดีย), บริษัท Otsuka (ญี่ปุ่น) 4) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ บริษัท Kuka (ญี่ปุ่น) 5) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร บริษัทเป้าหมายนักลงทุนคือ บริษัท Fujifilm (ญี่ปุ่น) 6) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน บริษัท Airbus (ฝรั่งเศส), บริษัท Boeing(อังกฤษ), บริษัท Tianjin(จีน) และ 7) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัล บริษัท Lazada (สิงคโปร์), บริษัท Alibaba (จีน), บริษัท IZP Group (จีน)

โดยการส่งเสริมและชักจูงการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอลในประเทศไทยยังมีการจัดทำแผนการดำเนินงานชักจูงการลงทุนในกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่เป็นธุรกิจชั้นนำระดับโลก จำนวน 10 ราย ได้แก่Google, Amazon, Celestica, Seagate, IBM, Huawei, AliCloud, Cisco, Asean Korea Trade Investment และ ผู้ว่าการเทศบาลนครเมืองเสินเจิ้น

ด้านอุตสาหกรรมการบินยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท แอร์บัสฯ ได้มาลงนามเอ็มโอยูกับทางการบินไทย เพื่อดำเนินการลงทุนศูนย์ซ่อมสร้างอุตสาหกรรมอากาศยานแล้ว ส่วนบริษัท โบอิ้งฯ ของฝรั่งเศส ก็แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโดยสนใจทำโครงการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบทางการบิน รวมทั้งการลงทุนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบิน เพื่อป้อนให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ที่ยังได้รับความสนใจจากหลายบริษัทชั้นนำ เช่น นิสสัน และ ฟอม (Fomm) หรือแม้แต่บีเอ็มดับเบิ้ลยู (BMW) ก็ได้ให้ความมั่นใจว่าจะเข้าไปร่วมลงทุนใน EEC แน่นอน เช่นเดียวกับทางโตโยต้า (Toyota)ที่ยืนยันว่าจะเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ และใช้ฐานการผลิตใน EEC

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สารกำจัดศัตรูพืช อุปสรรคหรือตัวช่วยของ Thailand 4.0

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จะจัดเสวนา “สารกำจัดศัตรูพืช อุปสรรคหรือตัวช่วยของ Thailand 4.0”   ระบุเป็นการท้าทายหาความจริงในฐานะประเทศไทยเป็นครัวโลก ต้องส่งออกสินค้าเกษตรทำรายได้เข้าประเทศปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ในขณะที่สารกำจัดศัตรูพืชถูกมองต่างมุม มุมหนึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อปกป้องผลผลิต แต่อีกมุมหนึ่งถูกกล่าวหาเป็นจำเลยสังคม

ดร.จรรยา  มณีโชติ  นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า  ในฐานะองค์กรด้านวิชาการที่ก่อตั้งมานานถึง 40 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชให้สมาชิกและสาธารณชนได้รับทราบข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง แต่ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดความวิตกกังวลว่าเกษตรกรไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากเกินไป จนเกิดปัญหาทั้งผลตกค้างในผักผลไม้ ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม  และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ อีกมากมาย เรื่องเหล่านี้มีข้อเท็จจริงมากน้อยอย่างไร จำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือตรวจสอบได้มาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันในการแก้ปัญหา ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตั้งเป้าว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ในอีก 20 ปีข้างหน้า

ดังนั้น สมาคมฯ จึงกำหนดจัดงานเสวนาเรื่อง “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช...อุปสรรคหรือตัวช่วยของ Thailand 4.0” ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2560 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมแคทลียา โรงแรมรามา การ์เด้นส์ สำหรับวิทยากรผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย นายเปรม ณ สงขลา ตัวแทนเกษตรกร GAP และเกษตรอินทรีย์ ดร.วีระวุฒิ กตัญญูกุล ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นายวีระชัย ประทักษ์วิริยะ ตัวแทนผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทย และ ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โดยมีนายธีมะ กาญจนไพริน ผู้ประกาศข่าวช่อง one เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ มีแรงงานในภาคเกษตรประมาณ 17 ล้านคน เพื่อผลิตสินค้าให้เพียงพอบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ จนได้รับสมญานามว่าเป็นครัวของโลก ประเทศไทยมีจุดแข็งที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ตลอดทั้งปี กลับกันเป็นจุดอ่อนที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากศัตรูพืชตลอดทั้งปีเช่นกัน ไม่ว่าโรค แมลง ไร สัตว์ศัตรูพืช และวัชพืช

เกษตรกรไทยจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากสินค้าที่สวยงามไม่มีร่องรอยการทำลายของโรคและแมลงแล้ว ยังต้องควบคุมไม่ให้สารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานสากล ต้องปลอดเชื้อจุลินทรีย์ และต้องไม่มีศัตรูพืชติดไปกับสินค้าด้วย

“เกษตรกรใช้เป็นอาวุธปกป้องกันผลผลิตไม่ให้เสียหายหรือถูกทำลายจากศัตรูพืช แต่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลับถูกมองเป็นจำเลยของสังคมไทยมานานว่า เป็นตัวการทำให้เกิดการปนเปื้อนอาหารทำลายระบบนิเวศ และเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยล้มตายของเกษตรกรผู้ใช้และสารก่อมะเร็งในผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ต้องค้นหาความจริงเช่นกัน” ดร.จรรยากล่าว

นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่า Thailand 4.0 สำหรับภาคเกษตรต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เกษตรกรต้องเป็น smart farmer บริหารจัดการฟาร์มแบบ smart farming ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เป็นผลมาจากงานวิจัย ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ฐานะร่ำรวยขึ้น เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้พ้นกับดักประเทศมีรายได้ปานกลาง

 “เป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับคำว่า Thailand 4.0 หรือ เกษตร 4.0 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะเป็นอุปสรรคหรือตัวช่วย เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และเอ็นจีโอ ต้องร่วมคิดวางแผนหาทางออกด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง”

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

แผนบริหารจัดการนํ้า 2560/61

       ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเข้าฤดูฝน กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 34 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทำการพร่องน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม                    

     ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเข้าฤดูฝน กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 34 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทำการพร่องน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

     เพื่อที่จะรองรับน้ำฝนให้ได้มากที่สุด และใช้ในการหน่วงน้ำ ในขณะเดียวกันจะต้องไม่ระบายน้ำออกมากเกินไป เพราะจะต้องมีปริมาณน้ำสำรองกักเก็บไว้ให้เพียงพอ สำหรับใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำนาปรังช่วงฤดูแล้งของฤดูกาล 2560/61 ด้วย

     ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืชให้เร็วขึ้นเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง เพื่อใช้พื้นที่รับน้ำฝนในพื้นที่และใช้เป็นทุ่งหน่วงน้ำชะลอการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่อาจจะท่วมในพื้นที่ชุมชน เศรษฐกิจ และพื้นที่ราชการ จำนวน 13 ทุ่ง

     ประกอบด้วยพื้นที่เจ้าพระยาตอนบนจำนวน 1 ทุ่ง คือทุ่งบางระกำ มีพื้นที่รวมประมาณ 0.26 ล้านไร่ รับน้ำประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 12 ทุ่งในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง มีพื้นที่ประมาณ 1.15 ล้านไร่ วางแผนรับน้ำประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำที่วางแผนตัดยอดน้ำ ประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระดับน้ำในทุ่งลึกประมาณ 1.5-2.5 เมตร ตามสภาพพื้นที่ในทุ่งไม่ให้กระทบต่อการสัญจรไปมา และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่

     และขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิ้นสุดฤดูฝนแล้ว ปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ 34 แห่ง ค่อนข้างดี ปัจจุบัน (1 ธ.ค. 60) สถาน การณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 60,154 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 85 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 36,610 ล้านลูกบาศก์เมตร      คิดเป็นร้อยละ 77 มากกว่าปี 2559 จำนวน 9,558 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 27,052 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมี  อ่างฯ ที่น้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก คือ น้ำมากกว่า 80% ถึง 22 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ดี ถึงพอใช้ 12 แห่ง และไม่มีอ่างฯ ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

     ในส่วนของลุ่มเจ้าพระยา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การดังนี้ เขื่อนภูมิพล 7,180 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 74 เขื่อนสิริกิติ์ 5,676 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 76 ในขณะที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การ 100% คือ 897 และ 957 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2560) ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างดีมาก จะส่งผลดีต่อการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่จะมาถึง คาดว่าจะมีการปลูกนาปรังเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ ประมาณ 8.35 ล้านไร่ โดยอยู่ในลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 5.17 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นกับนโยบายข้าวครบวงจรของรัฐบาล ที่จะมีการควบคุมพื้นที่การเพาะปลูกในแต่ละรอบการทำนาด้วย

     กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2560/2561 จากปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จำนวน 42,313 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,167 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อระบบนิเวศและอื่น ๆ 6,948 ล้านลูกบาศก์เมตร สำรองน้ำต้นฤดูฝน 16,797 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อภาคการเกษตร 15,952 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเพาะปลูกพืชประมาณ 13.75 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกแล้ว 1.16 ล้านไร่ (ข้อมูลเพาะปลูก ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560)

    ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน วางแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2560/61 จากปริมาณน้ำ 14,187 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,140 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเกษตร 5,110 ล้านลูกบาศก์เมตร

     และจะเหลือน้ำสำรองต้นฤดูฝนปี 2561 (พฤษภาคม-กรกฎาคม) อีกประมาณ 6,487 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

BAY เผยปีนี้เงินบาทแข็งค่า10%อันดับ2ของเอเชีย

"ธนาคารกรุงศรีฯ" เผยปีนี้เงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 10% เป็นอันดับสองของเอเชีย รองจากเงินวอนของเกาหลีใต้

 กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีความเห็นต่อผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีมติ 7 ต่อ 2 เสียงให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed funds 0.25% สู่ช่วง1.25-1.50% หลังการประชุม FOMC วันที่ 12-13 ธันวาคม 2560 โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งที่สามของปี และเป็นครั้งที่ห้าของวัฏจักรการปรับสมดุลนโยบายการเงินซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ขณะที่เฟดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มสดใสขึ้น สะท้อนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ เฟดคงประมาณการว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกสามครั้งทั้งในปี 2561 และปี 2562 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับ 2.8% การแถลงข่าวรอบล่าสุดนับเป็นครั้งสุดท้ายของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด โดยนางเยลเลนจะเข้าร่วมประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 30-31 มกราคม 2561 เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะหมดวาระและนายเจอโรม พาวเวลล์ จะเข้ารับตำแหน่งต่อไป

ในช่วงเปิดการซื้อขายในประเทศเช้านี้ เงินบาทแข็งค่าสู่ระดับ 32.53 ต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้เคียงระดับแข็งค่าสุดในรอบ 32 เดือน เทียบกับ 32.58 ต่อดอลลาร์ช่วงท้ายตลาดวานนี้ ในปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 10.0% ซึ่งแข็งค่าเป็นอันดับสองของเอเชีย รองจากเงินวอนเกาหลีใต้ ด้วยปัจจัยหนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องและกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ของไทย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง หลังเฟดเปิดเผยแถลงการณ์ซึ่งส่งผลให้มีแรงขายเงินดอลลาร์เทียบกับทุกสกุลเงินหลักและหนุนราคาทองคำในตลาดโลกขึ้น ขณะที่สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไปน่าจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2561

ท่าทีล่าสุดของเฟดตอกย้ำว่า เฟดจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโต แต่สัญญาณการฟื้นตัวของเงินเฟ้อกลับอ่อนแอเกินคาด ทำให้เราประเมินว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงสองครั้งในปี 2561 นอกจากนี้ การลงมติด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันฑ์ถือว่ามีนัยสำคัญ หลังกรรมการสองรายสนับสนุนให้เฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ท่าทีเช่นนี้จะเพิ่มความเสี่ยงด้านขาลงของค่าเงินดอลลาร์ต่อไป ส่วนปัจจัยชี้นำสำคัญถัดไปสำหรับตลาดการเงินโลกในระยะสั้น ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ช่วงค่ำของวันนี้

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กรอ.ขอ3เดือนแบน 3 สารเกษตรอันตราย

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(ไทยแพน) และเครือข่ายภาคประชาชนเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีนายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ให้พิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารคลอไพริฟอส และสารไกลโฟเซต ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้เป็นสารกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง และมีความประสงค์ให้แก้ไขบัญชีสารเคมีเหล่านี้จากเดิมที่เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นประเภทที่ 4 ที่ห้ามไม่ให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง พร้อมทั้งควบคุมห้ามไม่ให้ประกอบกิจการใดๆ เพราะสารดังกล่าวอาจตกค้างและก่อให้ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

“กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้นำกรณีที่เกิดขึ้นมาประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อหาข้อเท็จจริงในการพิจารณาให้มีการยกเลิกสารหรือไม่อย่างเข้มงวดภายใน 3 เดือน รวมถึงแนวทางเพิกถอนใบอนุญาตหรือการชะลอสำหรับการต่ออายุขึ้นทะเบียน ซึ่งหลังจากนี้หากมีการยกเลิกจริงให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เป็นผู้พิจารณาตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย”นายมงคลกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ถึงคิวชาวไร่อ้อยรับกรรม รายได้หดช่วงน้ำตาลโลกขาลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยปล่อยลอยตัวอ้อย-น้ำตาล  ห่วงเกษตรกรรายได้หดช่วงราคาน้ำตลาดในตลาดโลกปรับตัวลดลง  วอนรัฐหามาตรการช่วยเหลือแต่ไม่ขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ                   

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า  มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมาเห็นชอบกับการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล โดยลดการอุดหนุนและแทรกแซงลง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากเดิมที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในช่วงที่ชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ไปเป็นการให้กลไกตลาดทำหน้าที่ทดแทน รวมถึงการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อตกลงที่ภาครัฐมีกับประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการดูแลทางฝั่งของประชาชนและภาคอุตสาหกรรมผู้ใช้น้ำตาลให้ได้รับราคาน้ำตาลที่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน

สำหรับการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาล เกิดขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลง  แม้ว่าจะส่งผลดีต่อผู้ใช้ที่สามารถบริโภคน้ำตาลในราคาที่ถูกลง แต่มีโอกาสที่ราคาอ้อยในปีการผลิต 60/61 จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 860-880 บาทต่อตันอ้อย เทียบกับปีการผลิตก่อนที่ได้รับอยู่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบต่อชาวไร่อ้อย ซึ่งขึ้นกับเม็ดเงินที่เข้ามาในระบบ รวมถึงเงื่อนไขพันธกรณีที่ไทยมีข้อตกลงกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่า ในระยะข้างหน้า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล คงจะถูกขับเคลื่อนโดยกลไกตลาดมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพการแข่งขันในระยะยาว ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะขึ้นอยู่กับการปรับลดต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับราคาน้ำตาลตลาดโลกที่อาจจะผันผวนในระยะข้างหน้า โดยไม่ขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ อาทิ การเร่งหาหนทางปรับลดต้นทุนการผลิต หรือการเพิ่มผลตอบแทนจากการเพาะปลูก ซึ่งในระยะสั้นทำได้โดยการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ หรือการเพิ่มค่าความหวานอ้อย ที่จะทำให้รายได้ต่อไร่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในระยะยาว การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำเอาอ้อยและน้ำตาลไปผลิตสินค้าประเภทอื่นที่มีมูลค่าเพิ่ม น่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีความยั่งยืนในระยะข้างหน้าได้

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 ธันวาคม 2560

3 องค์กร ขานรับนโยบายรัฐหนุนลงเกษตร EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

องค์กร ขานรับนโยบายรัฐหนุนลงเกษตร EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้าส่งออกอาหาร ปี’61 ทะลุ 7% ยอดพุ่ง 1 ล้านล้านบาท แม้ส่งออกอาหารพบวิกฤตค่าเงินบาทแข็ง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดยร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร พร้อมขานรับนโยบายรัฐบาลผลักดันนักลงทุนกลุ่มอาหารทั้งไทยและต่างประเทศเข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหากรรมเป้าหมายรัฐบาล ทั้งนี้การผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรจะมีส่วนช่วยเกษตรกรและช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็งตามเป้าหมายรัฐบาลด้วย

ขณะที่ภาคการส่งออกกลุ่มอาหารในปี 2561 ยังขยายตัวไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากความต้องการของผู้นำเข้าและเศรษฐกิจในหลายประเทศดีขึ้น อีกทั้งสหภาพยุโรปมีความต้องการสานสัมพันธ์กับประเทศไทยก็เป็นปัจจัยบวกให้การค้า การส่งออกดีขึ้นและเป็นการทิศทางที่ดีในประเด็นประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU อีกด้วย ดังนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งเจรจาด้านการค้าต่อไป

ส่วนปัญหาหรือปัจจัยที่เป็นความกังวลของผู้ส่งออก ผู้ผลิตที่ต้องติดตาม หลักเป็นเรื่องของค่าเงินบาทแข็งค่าที่จะมีผลกระทบต่อการแข่งขัน ดังนั้น ก็ต้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ส่วนเรื่องแรงงาน และค่าแรง ภาครัฐมีแนวนโยบายดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% จากปี 2560 และมีมูลค่าส่งออก 1.07 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตรในปีการผลิต 2560/61 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝนและนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล

โดยสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาลทราย กุ้ง และทูน่ากระป๋อง ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+17.6%) แป้งมันสำปะหลัง, อาหารพร้อมรับประทาน (+10.0%), กุ้ง (+9.3%), น้ำตาลทราย (+6.8%), เครื่องปรุงรส (+6.8%) ไก่ (+6.6) และน้ำผลไม้ (+6.6%)

สำหรับในปี 2561 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ได้แก่ การแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ราคาพลังงานที่สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม และต้นทุนแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ สำหรับการก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอาหาร คือ การผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่ภาครัฐ สถาบันอาหาร รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อผลสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป

ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.0% สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีปริมาณ 32.5 ล้านตัน มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.5% และ 5.3% ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะส่งออกได้ 33.0 ล้านตัน มูลค่า 1.03 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักหลายรายการลดลงกว่าที่คาด โดยเฉพาะกุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลัง และน้ำผลไม้ ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาททำ ให้มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทลดลง แม้ว่ามูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์ จะยังขยายตัว 10%

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ CLMV ยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วน 16.6% รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น 13.5% อาเซียนเดิม 11.6% สหรัฐอเมริกา 10.6%, แอฟริกา 9.3% จีน 9.0% สหภาพยุโรป 6.0% ตะวันออกกลาง 4.2% โอเชียเนีย 3.3% สหราชอาณาจักร 3.0% และเอเชียใต้ 1.6% โดยตลาดส่งออกหลักของไทยส่วนใหญ่ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า ยกเว้น ตลาดอาเซียนเดิม (ASEAN-5) ลดลง 10.7% ตามปริมาณการส่งออกสินค้าหลัก อาทิ น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลังที่ลดลง สหรัฐอเมริกา ลดลง 2.3% จากการส่งออกสับปะรดกระป๋อง และปลาทะเลแช่แข็งที่หดตัวลง และสหราชอาณาจักร ลดลง 10.9% จากการเผชิญภาวการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการแข็งค่าของค่าเงินปอนด์เทียบบาท

“แม้ว่าสินค้าส่งออกหลักหลายรายการจะชะลอตัวลง แต่ก็มีสินค้าส่งออกกลุ่มใหม่ๆ ที่ขยายตัวสูงและคาดว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าดาวเด่นของไทยในอนาคต ได้แก่ กลุ่มผลไม้สดไม่รวมผลิตภัณฑ์มะพร้าว ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด 72,340 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปีล่าสุด (+23%) เครื่องดื่มชูกำลัง 22,520 ล้านบาท (+10%) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ 13,533 ล้านบาท (+11%) นม 10,469 ล้านบาท (+6%) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่รวมวิตามิน 3,201 ล้านบาท (+6%) และไอศกรีม 2,122 ล้านบาท (+5%) โดยสินค้าส่วนใหญ่มีตลาดหลักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มใหม่ๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 13 ธันวาคม 2560

สมาคมวิทยาการวัชพืชฯ เสวนา 21 ธ.ค.นี้ “สารกำจัดศัตรูพืช อุปสรรคหรือตัวช่วยของ Thailand 4.0”

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยจัดเสวนา “สารกำจัดศัตรูพืช อุปสรรคหรือตัวช่วยของ Thailand 4.0” จัดงาน 21 ธ.ค.นี้ ระบุเป็นการท้าทายหาความจริงในฐานะประเทศไทยเป็นครัวโลก ต้องส่งออกสินค้าเกษตรทำรายได้เข้าประเทศปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ในขณะที่สารกำจัดศัตรูพืชถูกมองต่างมุม มุมหนึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อปกป้องผลผลิต แต่อีกมุมหนึ่งถูกกล่าวหาเป็นจำเลยสังคม

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในฐานะองค์กรด้านวิชาการที่ก่อตั้งมานานถึง 40 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชให้สมาชิกและสาธารณชนได้รับทราบข้อมูลวิชาการที่ถูกต้อง แต่ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยเกิดความวิตกกังวลว่าเกษตรกรไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากเกินไป จนเกิดปัญหาทั้งสารตกค้างในผักผลไม้ ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ อีกมากมาย เรื่องเหล่านี้มีข้อเท็จจริงมากน้อยอย่างไร จำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือตรวจสอบได้มาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันในการแก้ปัญหา ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตั้งเป้าว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ในอีก 20 ปีข้างหน้า

ดังนั้น สมาคมฯ จึงกำหนดจัดงานเสวนาเรื่อง “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช...อุปสรรคหรือตัวช่วยของ Thailand 4.0” ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2560 เวลา 08.30-12.00 น. ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ สำหรับวิทยากรผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย นายเปรม ณ สงขลา ตัวแทนเกษตรกร GAP และเกษตรอินทรีย์ ดร.วีระวุฒิ กตัญญูกุล ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นายวีระชัย ประทักษ์วิริยะ ตัวแทนผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทย และ ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย โดยมีนายธีมะ กาญจนไพริน ผู้ประกาศข่าวช่อง one เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ มีแรงงานในภาคเกษตรประมาณ 17 ล้านคนเพื่อผลิตสินค้าให้เพียงพอบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ จนได้รับสมญานามว่าเป็นครัวของโลก ประเทศไทยมีจุดแข็งที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ตลอดทั้งปี กลับกันเป็นจุดอ่อนที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากศัตรูพืชตลอดทั้งปีเช่นกัน ไม่ว่าโรคแมลง ไร สัตว์ศัตรูพืช หรือวัชพืช เกษตรกรไทยจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากสินค้าที่สวยงามไม่มีร่องรอยการทำลายของโรคและแมลงแล้ว ยังต้องควบคุมไม่ให้สารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานสากล ต้องปลอดเชื้อจุลินทรีย์ และต้องไม่มีศัตรูพืชติดไปกับสินค้าด้วย

“เกษตรกรใช้เป็นอาวุธป้องกันผลผลิตไม่ให้เสียหายหรือถูกทำลายจากศัตรูพืช แต่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลับถูกมองเป็นจำเลยของสังคมไทยมานานว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการปนเปื้อนอาหาร ทำลายระบบนิเวศ และเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยล้มตายของเกษตรกรผู้ใช้และสารก่อมะเร็งในผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ต้องค้นหาความจริงเช่นกัน” ดร.จรรยากล่าว

นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่า Thailand 4.0 สำหรับภาคเกษตรต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เกษตรกรต้องเป็น smart farmer บริหารจัดการฟาร์มแบบ smart farming ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เป็นผลมาจากงานวิจัย ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ฐานะร่ำรวยขึ้น เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้พ้นกับดักประเทศมีรายได้ปานกลาง

“เป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับคำว่า Thailand 4.0 หรือเกษตร 4.0 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะเป็นอุปสรรคหรือตัวช่วย เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และเอ็นจีโอ ต้องร่วมคิดวางแผนหาทางออกด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง”

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 ธันวาคม 2560

การประชุมการค้าโลกส่อแววล้มเหลว

การประชุมเวทีการค้าโลกที่กรุงบัวโนไอเรส ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฏหมาย หรือ IUU ได้สำเร็จ

โฆษกองค์กรการค้าโลก คีท รอกเวลล์ กล่าวว่า ตัวแทนคณะเจรจา 164 ประเทศยังไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม หรือไอยูยู ได้สำเร็จ โดยเฉพาะข้อกำหนดที่จะยกเว้นให้บางประเทศ เช่นประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งปีที่แล้วสหรัฐฯและอีก 12 ประเทศ ตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม WTO เพื่อห้ามสนับสนุนการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ซึ่งรวมไปถึงการทำกิจกรรมประมงที่มากเกินไป

 ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวถึงการประชุม WTO ว่าการประชุมในครั้งนี้ หลุดประเด็นจากการเจรจาการค้าโลก ไปพูดถึงเรื่องกฏหมายมากกว่า นอกจากนี้ WTO ไม่ค่อยมีความเข้มงวดกับประเทศที่มีความร่ำรวยกว่าประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น จีน อีกด้วย

 ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยโจมตีสมาชิกทั้ง 164 ประเทศขององค์การการค้าโลก ว่าเป็นหายนะของสหรัฐฯ และต้องการให้สหรัฐฯ ออกจากประเทศสมาชิกองค์การการค้า เพราะมองว่าเป็นการขัดขวางนโยบายของเอเมริกาเฟิร์ส ของสหรัฐฯ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

รมว.เกษตรฯจี้หน่วยงานจัดแผนปี61 อุ้มเกษตรกร

“กฤษฎา” ส่งหนังสือเวียนถึงหน่วยงานสังกัดเร่งทำแผนปฏิบัติงานปี 2561 มุ่งแก้ความเดือดร้อนเกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือแจ้งข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ให้ดำเนินตามนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งนี้ได้กำชับให้เร่งรัดเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กและการพัฒนายกระดับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำหลายรายการ เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ทั้งนี้ ได้ให้อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเร่งรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็กเช่น บ่อหรือสระ ที่กรมได้ไปดำเนินการไว้ในพื้นที่ต่างๆ ว่าครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยของประชาชนมากน้อยเพียงใด ที่ไหนบ้าง โดยแยกเป็นรายจังหวัดหรือรายภาค เพื่อให้เห็นภาพว่าพื้นที่ใดมี แหล่งน้ำเพียงพอแล้วหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้วางแผนในการทำงานก่อนฤดูแล้ง และหาแนวทางที่จะเสริมแหล่งน้ำในพื้นที่สวนยางเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกยางและไปปลูกพืชอื่น

“ถ้าพวกเราท่านใดที่มีความรู้หรือเชี่ยวชาญการพัฒนาจัดหาแหล่งน้ำในสวนยางหรือพื้นที่ใกล้เคียง ขอให้ช่วยเสนอแนะกรมพัฒนาที่ดินหรือพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ด้วย เช่น การทำหลุมขนมครกหรือแก้มลิงเก็บน้ำ/การชักน้ำลงคลองไส้ไก่หรือการสร้างเหมืองฝายชะลอน้ำ หรือเก็บน้ำ โดยใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่มาทำแหล่งน้ำดังกล่าว โดยให้ชาวบ้านหรือชาวสวนยางได้ออกแรงงาน แล้วส่วนราชการซื้อวัสดุให้ชาวบ้านมาร่วมกันทำก็ได้” นายกฤษฎา กล่าว

นอกจากนั้น หากพื้นที่ใดมีเกษตรกรรวมตัวกันในรูปกลุ่มเกษตรกรตามลักษณะอาชีพ หรือจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร หรือการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนอย่างได้ผลดี ขอให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ได้ช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรเหล่านั้นให้เป็นต้นแบบหรือขอมาเป็นวิทยากรขยายผลการรวมกลุ่มในพื้นที่ให้มากๆ ขึ้นด้วย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัจจุบันบ่อน้ำขนาดเล็กหรือบ่อจิ๋วที่กรมดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งมีคำร้องขอจากเกษตรกรทั่วประเทศประมาณ 7 แสนบ่อ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 4 แสนกว่าบ่อ และในปี 2561 มีงบประมาณจะดำเนินการอีก 4.5 หมื่นบ่อ ส่วนปี 2560 ดำเนินการได้ 4.4 หมื่นบ่อ ซึ่งบ่อเก็บน้ำมีขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ราคา 1.78 หมื่นบาท/บ่อ

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาทเช้านี้ 'แข็งค่า'

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ "32.60 บาทต่อดอลลาร์" เงินบาทเริ่มแกว่งตัวเบาลงช่วงปลายปี

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดที่ระดับ 32.60บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 32.66 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงปรับตัวขึ้นจากแรงหนุนของราคาน้ำมัน และการขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้า ๆ ของธนาคารกลางสหรัฐในสัปดาห์นี้

ในฝั่งของราคาน้ำมัน เรื่องที่ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นคือการปิดท่อก๊าซในทะเลเหนือเพื่อซ่อมแซมนานกว่าคาด ส่งผลให้ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขยับขึ้นมาที่ระดับ 65 เหรียญต่อบาร์เรลสูงที่สุดในรอบปีครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยสหรัฐยังไม่ปรับตัวขึ้นตาม แม้นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในคืนวันพุธนี้แน่นอน แต่ตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังชี้ว่าเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นได้ยากแม้เศรษฐกิจจะแข็งแกร่ง ส่งผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในอนาคตเกิดขึ้นช้า บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 5ปียังคงอยู่ในระดับ 2.15% ตามเดิม ขณะที่ราคาทองปรับตัวลงมาที่ 1243 ดอลลาร์ต่อออนซ์

เงินบาทยังคงซื้อขายในกรอบแคบ มีปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างเบาบางในช่วงท้ายปี เชื่อว่าตลาดจะไม่ผันผวนมากขณะที่ทิศทางหลักในระยะสั้นเป็นการแข็งค่าของดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 32.55-32.66 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : เจาะลึก...แผนบริหารจัดการน้ำกรมชลประทาน

ฤดูฝนปีนี้มีพายุพัดผ่านประเทศไทยหลายลูกไม่ว่าจะเป็นพายุโซนร้อน “ตาลัส” พายุโซนร้อน “เซินกา” พายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี” ตลอดจนยังมีพายุดีเปรสชั่น หย่อมความกดอากาศต่ำที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก จนเกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลในภาคอีสาน และบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากพายุที่พัดผ่านเช่นกัน แต่ด้วยมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่ดีทำให้ผลผลิตทางการเกษตรแทบจะไม่ได้รับความเสียหายเลย แม้จะมีภาวะน้ำท่วมเกิดขึ้นในบางพื้นที่ก็ตาม โดยกรมชลประทานใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center) หรือ SWOC ที่เพิ่งเปิดใช้งานปีนี้เป็นปีแรก เป็นศูนย์บัญชาการในการประมวลวิเคราะห์ ติดตาม และพยากรณ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเข้าฤดูฝน กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 34 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทำการพร่องน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาให้ได้มากที่สุด และใช้ในการหน่วงน้ำ ในขณะเดียวกัน จะต้องไม่ระบายน้ำออกมากเกินไป เพราะจะต้องมีปริมาณน้ำสำรองกักเก็บไว้ให้เพียงพอ สำหรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการทำนาปรังช่วงฤดูแล้งของฤดูกาล 2560/61 ด้วย

ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืชให้เร็วขึ้น เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวรับน้ำฝนในพื้นที่และใช้เป็นทุ่งหน่วงน้ำชะลอการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่อาจจะท่วมในพื้นที่ชุมชน เศรษฐกิจ และพื้นที่ราชการ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายในภาพรวมของประเทศได้ จำนวน 13 ทุ่ง ประกอบด้วยพื้นที่เจ้าพระยาตอนบนจำนวน 1 ทุ่ง คือทุ่งบางระกำ มีพื้นที่รวมประมาณ 0.26 ล้านไร่ วางแผนรับน้ำประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 12 ทุ่งในพื้นที่เจ้าพระตอนล่าง มีพื้นที่ประมาณ 1.15 ล้านไร่ วางแผนรับน้ำประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำที่วางแผนตัดยอดน้ำ ประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระดับน้ำในทุ่งลึกประมาณ 1.5-2.5 เมตร ตามสภาพพื้นที่ในทุ่งไม่ให้กระทบต่อการสัญจรไปมา และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ โดยมีการสร้างกระบวนการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา มีการวางแผนตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมรับสถานการณ์ การจัดจราจรทางน้ำ กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เรือผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

เมื่อเริ่มเข้าฤดูฝนการบริหารจัดการน้ำส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เริ่มดำเนินการผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำเป็นลำดับแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 และอีก 12 ทุ่งที่เหลือในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างสามารถหน่วงน้ำตัดยอดน้ำเก็บกักในทุ่งได้ถึง 2,185 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเก็บกักในทุ่งบางระกำ ประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่เหลือประมาณ และ 12 ทุ่งที่เหลือประมาณ 1,685 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนระบายน้ำออกจากทุ่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 แต่จะยังคงเหลือน้ำค้างทุ่งบางส่วนที่เก็บกักในคลองส่งน้ำ ประมาณ 439 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่คงค้างดังกล่าว อยู่ในทุ่งบางระกำ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และใน 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างอีกประมาณ 339 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกข้าวในฤดูการถัดไปตามแผนและข้อตกลงที่ได้สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ของแต่ละทุ่งแล้ว

สำหรับภาคอีสานที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ ทั้งด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ และท้ายอ่างฯ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ อีกทั้งยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาวและเขื่อนอุบลรัตน์เป็นจำนวนมาก กรมชลประทานได้บริหารจัดการโดยจัดจราจรน้ำ ซึ่งได้ทยอยระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวก่อน จากนั้นจึงเริ่มระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นลำดับถัดมา โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีปริมาณน้ำสูงสุดถึง 2,969 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 122 ของปริมาณการกักเก็บ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560 ซึ่งเกินปริมาณความจุ ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ลดการระบายลงเหลือวันละ 8.30 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ มีการเตรียมแปลงทำนาปรังแล้ว คาดว่าฤดูแล้งปีนี้จะสามารถส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเกษตรได้เต็มพื้นที่ ตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแน่นอน

ส่วนภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวัง เพราะขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝนของภาคใต้ แต่กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยได้มีการขุดลอกคลองต่างๆ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมได้ส่งเครื่องจักร เครื่องมือ ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 380 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 180 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 63 เครื่อง รถบรรทุก 34 คัน รถขุดตีนตะขาบ 30 คัน รถแทรกเตอร์ 3 คัน และรถลากจูง 12 คัน ไปไว้ที่จุดพักเครื่องจักร 16 แห่งในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้พร้อมเตรียมรับสถานการณ์ไว้แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในระดับเกณฑ์ควบคุมการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ และได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักและน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่างๆ และรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องโดยมีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เป็นศูนย์บัญชาการและบริหารจัดการน้ำ

ขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิ้นสุดฤดูฝนแล้ว ปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ 34 แห่ง ค่อนข้างดี ปัจจุบัน (1 ธ.ค. 2560) สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 60,154 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 85 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 36,610 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 77 มากกว่าปี 2559 จำนวน 9,558 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 27,052 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมีอ่างฯ ที่น้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก คือ น้ำมากกว่า 80% ถึง 22 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ดี-พอใช้ 12 แห่ง และไม่มีอ่างฯ ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ในส่วนของลุ่มเจ้าพระยา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การดังนี้ เขื่อนภูมิพล 7,180 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 74 เขื่อนสิริกิติ์ 5,676 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 76 ในขณะที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การ 100 % คือ 897 และ 957 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2560) ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างดีมาก จะส่งผลดีต่อการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่จะมาถึง คาดว่าจะมีการปลูกนาปรังเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ ประมาณ 8.35 ล้านไร่ โดยอยู่ในลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 5.17 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามต้องขึ้นกับนโยบายข้าวครบวงจรของรัฐบาล ที่จะมีการควบคุมพื้นที่การเพาะปลูกในแต่ละรอบการทำนาด้วย

กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2560/2561 จากปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จำนวน 42,313 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,167 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อระบบนิเวศและอื่นๆ 6,948 ล้านลูกบาศก์เมตร สำรองน้ำต้นฤดูฝน 16,797 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อภาคการเกษตร 15,952 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเพาะปลูกพืชประมาณ 13.75 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกแล้ว 1.16 ล้านไร่ (ข้อมูลเพาะปลูก ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560)

ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน วางแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2560/61 จากปริมาณน้ำ 14,187 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,140 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเกษตร 5,110 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะเหลือน้ำสำรองต้นฤดูฝนปี 2561 (พฤษภาคม-กรกฎาคม) อีกประมาณ 6,487 ล้านลูกบาศก์เมตร

การบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศในปีนี้จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน?เป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่? เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของอธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ที่ชื่อ “ดร.ทองเปลว กองจันทร์”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ก.อุตฯ เตรียมประกาศเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์นหวังดึงต่างชาติลงทุน EEC เพิ่ม

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานของกลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นโรงงานเกษตรแปรรูปปาล์มน้ำมันและยางอุตสาหกรรมต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิต

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกทั้งตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จึงสามารถขอใช้สิทธิส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ บอร์ด EEC ได้ ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมาเช่าพื้นที่ของไทยอีสเทิร์นในการประกอบธุรกิจจำนวนมาก คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากการลงทุนครั้งนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมประกาศให้กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมแห่งที่ 26 ภายในปี 2561 หลังจากผ่านการพิจารณาจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือให้กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์นเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือชุมชน ด้วยการให้ความรู้แก่รัฐวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม และยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะกระจายความรู้ พัฒนาผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้มีความสามารถมากขึ้น

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น ถือเป็นอุตสาหกรรมต้นแบบศูนย์เรียนรู้ ในการเป็น Smart famer และการใช้พลังงานสีเขียว ลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานจากพืชพลังงาน นำน้ำเสียจากการผลิต มาบำบัดให้เป็นน้ำดีที่สามารถอุปโภคได้ ก่อนไปรดต้นปาล์มภายในพื้นที่โรงงาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนตั้งเขตประกอบการ หรือชุมชนอุตสาหกรรม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ชาวไร่อ้อยเลยร้องสื่อ ล่าตัวนายหน้าสุดแสบเชิดเงินค่าแรงตัดอ้อยกว่า 7 ล้านบาท

ชาวไร่อ้อย 3 อำเภอของจ.เลย ร้องสื่อช่วยตามหานายหน้าจัดหาคนงานตัดอ้อย

เลย - ชาวไร่อ้อย 3 อำเภอ จ.เลย กว่า 100 รายร้องสื่อช่วย หลังถูกนายหน้าแสบเชิดเงินจะหาคนงานมาตัดอ้อยให้ แต่ถึงฤดูเก็บเกี่ยวกลับไร้เงาทั้งตัวแรงงานตัดอ้อยและนายหน้า เผยสูญเงินมัดจำไปแล้วกว่า 7 ล้านบาท คาดยังมีชาวไร่อ้อยถูกหลอกอีกมาก วอนหน่วยงานรัฐช่วยเหลือ

วันนี้ (10 ธ.ค. 60) เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่อำเภอภูหลวง, อำเภอหนองหิน และอำเภอวังสะพุง จ.เลย กว่า 100 ราย ได้รวมตัวเข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนช่วยเหลือให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยเร่งตามหาแก๊งนายหน้าต้มตุ๋นชาวไร่อ้อย อ้างว่าจะนำแรงงานมาตัดอ้อย โดยชาวไร่อ้อยได้ทำสัญญาจ้างแรงงานจ่ายเงินล่วงหน้าให้นายหน้าเหล่านี้ไปแล้วมากกว่า 6-7 ล้านบาท แต่เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อยกลับไร้ตัวนายหน้าและแรงงานที่จะมาตัดอ้อยตามสัญญาจ้าง

นางดอกอ้อ ศรีคำม้วน บ้านเลขที่ 13 หมู่ 6 บ้านโนนสว่าง ต.หนองคัน อ.ภูหลวง จ.เลย กล่าวว่า ตนปลูกอ้อยมากว่า 10 ปีแล้ว เดิมทีชาวไร่อ้อยจะจ้างแรงงานจาก สปป.ลาว แต่ปีนี้ทางรัฐบาลเข้มงวดกับแรงงานต่างชาติ และการขอใช้แรงงานยุ่งยากมาก และมีโทษปรับสูงมาก 1 แสนถึง 4 แสนบาท จึงหันมาใช้คนงานต่างจังหวัด โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีนายหน้าชื่อนางหนูพินมารับจ้างและมารับเหมาตัดอ้อยในหมู่บ้าน มาพร้อมกับพวกหลายคน สามารถตัดอ้อยได้ดี

ปีนี้ไม่มีคนงานจาก สปป.ลาว ชาวไร่อ้อยจึงได้ติดต่อกับกลุ่มนายหน้าพวกนี้ที่มีอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่มคาดว่าน่าจะรู้จักกันหมด ให้มาทำสัญญาข้ามปี เพราะเกรงว่าเมื่อถึงเวลาฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยจะขาดแรงงาน ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่จะวางมัดจำ บางคนจ่ายล่วงหน้าไปเลย โดยราคาคนงาน 20 คนจะจ่ายค่าจ้าง 1 แสนบาท จนตัดอ้อยเสร็จ บางคนมีไร่อ้อยกว่า 1,000-2,000 ไร่ก็จะจ้างคนงานมากขึ้น รายเล็กๆ มี 30-40 ไร่ อาจจะวางมัดจำ 2-3 หมื่นบาท

ที่เดือดร้อนขณะนี้ หลังจากนายหน้าส่วนใหญ่อยู่ อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น พอถึงเวลากลับไม่มีแรงงาน ทั้งตัวนายหน้าต่างหายตัวไปด้วย ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเดือดร้อนอย่างหนัก ปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องสูญเสียเงินค่ามัดจำค่าแรงตัดอ้อยล่วงหน้าไปแล้ว ซ้ำยังต้องเร่งหาแรงงานมาตัดอ้อยให้ทันฤดูกาลหีบอ้อยก่อนโรงงานปิด

นอกเหนือจากชาวไร่อ้อยกว่า 100 รายในเขต อ.วังสะพุง อ.หนองหิน และ อ.ภูหลวง ที่มารวมตัวกันกว่า 100 คนแล้ว คาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยที่ถูกแก๊งนายหน้าแสบกลุ่มนี้หลอกลวงอีกหลายพื้นที่ ทั้ง อ.ภูหลวง, อ.ผาขาว ตนกำลังร่วมลงชื่อและรวบรวมสัญญาจ้าง เบื้องต้นชาวไร่อ้อยสูญเงินไปแล้วกว่า 6-7 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ได้เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมที่ อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ตามที่อยู่ของนายหน้า และจะเข้าแจ้งความดำเนินคดีกลุ่มนายหน้าพวกนี้ที่ สภ.ภูหลวง จ.เลย ต่อไป

จาก https://mgronline.com วันที่ 10 ธันวาคม 2560

ไทยพร้อมจัดประชุม‘BIMSTEC’ ผลักดันความร่วมมือภาคเกษตร

ไทยพร้อมจัดประชุม‘BIMSTEC’ ผลักดันความร่วมมือภาคเกษตร 7ชาติเอเชียใต้-ตะวันออกเฉียงใต้

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือทางการเกษตรของ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 12-16 ธันวาคม ที่ จ.เชียงราย โดยการประชุมครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ที่เชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าด้วยกัน 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดียเมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าความร่วมมือในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน การจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรภาคเกษตร

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุขเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกต่างๆ และยังเป็นการเน้นย้ำความตั้งใจในการผลักดันให้ประเทศสมาชิกบรรลุเป้าหมายและเจตนารมณ์พื้นฐานของ BIMSTEC ในฐานะเจ้าภาพ ไทยจะเร่งรัดประเทศสมาชิกให้ดำเนินงานตามแผนความร่วมมือที่ได้ตกลงกันไว้ โดยเฉพาะแผนงานโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรของ BIMSTEC ทั้ง 8 โครงการ เช่น โครงการ Food Security Information System and Networks ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศในด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาค โครงการ Human Resources Development in Agriculture เพื่อพัฒนาบุคลากรในโครงการที่ฝ่ายไทยสนใจ เช่น เทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่แห้งแล้ง การผลิตแพะและแกะโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีสำรวจดิน การใช้ชีวะวิธีในการควบคุมศัตรูพืช และโครงการ Development of Seed Sector เพื่อพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2556-2559 ไทยกับประเทศสมาชิก BIMSTECมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ย 17,300 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ประมาณ 10,791 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และมีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปีสำหรับการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยและสมาชิก BIMSTEC ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการค้าสินค้าเกษตร เฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปีโดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าคิดเป็นร้อยละ 1.4/ปี สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปยังสมาชิก BIMSTEC ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารแปรรูป น้ำตาลอาหารทะเลแปรรูป รวมถึงผลไม้ต่างๆ และสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากภูมิภาคนี้ได้แก่ ปลาทะเลแช่แข็ง เครื่องเทศ เมล็ดพืชและผักสำหรับบริโภค

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ผวาโรงไฟฟ้าตั้งกองทุน ปัญหาลงบัญชีรับรู้รายได้-นํ้าตาลบุรีรัมย์หารือตลาด8ธ.ค.นี้

ผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้า วิ่งโร่หารือตลาด หลักทรัพย์ฯ พบปัญหาการลงบัญชีรับรู้รายได้การขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุน เป็นการขายรายได้ล่วงหน้า

 นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นํ้าตาลบุรีรัมย์ฯ (BRR) เปิดเผยว่า บริษัท จะเข้าหารือตลาดหลัก ทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการลงบันทึกบัญชีการขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุน ซึ่งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา BRR ได้ขายโรงไฟฟ้า (ชีวมวลจากกากชานอ้อย) เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มนํ้าตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) ไปแล้วจำนวน 2 โรง และมีแผนนำโรงไฟฟ้าที่มีเข้ากองทุนเพิ่มเติมอีก 2 โรง ซึ่งโรงไฟฟ้าที่นำเข้ากองทุนแล้ว เป็นการขายรายได้ล่วงหน้า โดยบริษัทรับเงินจากการขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุนแล้ว 3,000 ล้านบาท ผลตอบแทนจากหน่วยลงทุนเฉลี่ยปีละ 6% เป็นเวลา 18 ปี ตามสัญญาโอนสิทธิรายได้โรงไฟฟ้าดังกล่าว

ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า การตีความรายได้จากการขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุน บริษัทเห็นว่า มีรายได้จากการขายโรงไฟฟ้าเข้ามา การลงบัญชีจะบันทึกเป็นรายได้การขาย ไม่ใช่หนี้สิน แต่บริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส (PWC) ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท เห็นว่าเป็นการขายรายได้ ล่วงหน้า จึงต้องบันทึกบัญชีเป็นหนี้สิน ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มขึ้น และสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงขึ้น แม้ว่าจะเป็นตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น

“ตัวแทนบริษัท จะเข้าหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 8 ธันวาคมนี้ ว่ารูปแบบการรับรู้รายได้จากการขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุน จะสรุปอย่างไร ซึ่งทั้งตลาดและบริษัท เห็นตรงกันให้บันทึกเป็นการขายสินทรัพย์ ที่มีเงินสดเข้ามา หากเป็นรูปแบบการลงบัญชี เป็นรายได้รับล่วงหน้า จะเป็นการลงบัญชีหนี้สิน ทำให้โรงไฟฟ้าโรง 3-4 ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ต้องสะดุดพับแผนขายเข้ากองทุน” นายอนันต์ กล่าว

ประธานกรรมการบริหาร BRR กล่าวถึง การลอยตัวราคานํ้าตาลว่า ไม่ส่งผลกระทบกับบริษัท เนื่องจากบริษัทขายนํ้าตาลล่วงหน้าแล้ว 2.8 ล้านตัน หรือ 30% ของปี 2561 ราคาเฉลี่ย 19.25 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่ราคาตลาดโลกประมาณ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งจุดเด่นของนํ้าตาลบุรีรัมย์คือ นํ้าตาลต่อตันอ้อยสูงที่สุด โดยอ้อย 1 ตัน ได้นํ้าตาล 118 กิโลกรัม สูงกว่าเฉลี่ยของประเทศได้ 103 ตัน

“ราคาเฉลี่ยนํ้าตาลปีก่อน 20 เซ็นต์ แต่บริษัทมีมูลค่าเพิ่มที่ได้จากผลผลิตมาช่วยเรื่องราคา รวมทั้งความเข้มแข็งเรื่องผลผลิตต่อไร่ที่โตมาตลอด 3 ปี ผลผลิตอ้อยจาก 2.2 ล้านตัน ขึ้นมา 2.8 ล้านตัน และปี 2561 ขึ้นสู่ 3 ล้านตัน และแผนการลงทุนใหม่ๆ ที่มีผลตอบแทนการลงทุนไม่ตํ่ากว่า 10% รอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เช่นธุรกิจต่อยอดจากการใช้ชานอ้อย ประเภทกล่องโฟม และโรงไฟฟ้า 3-4 ขณะนี้รอการขอใบอนุญาตจากรัฐ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที

วิทยุพลังงานแหล่งข่าวผู้สอบบัญชี กล่าวว่า ตามรูปแบบการขายรายได้ล่วงหน้า เข้ากองทุน มี 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรก การขายขาด หรือขายสินทรัพย์ออกไป มีเงินสดเข้ามา และมีผลต่างกำไร วิ่งเข้าไปเป็นกำไรจากการขายสินค้านั้นๆ ทำให้งบกำไรขาดทุนในปีที่ขายออกมาดี และรูปแบบที่ 2 คือ การขายรายได้ล่วงหน้า แต่สินทรัพย์รวมทั้งสิทธิการบริหาร ยังอยู่กับเจ้าของเงินที่ได้มาจะเป็นหนี้สินแทน ซึ่งมุมของผู้สอบบัญชีมองว่าเป็นการกู้เงิน ผลกระทบนี้ทำให้บริษัทมีหนี้เพิ่มขึ้น

“ก่อนที่ผู้สอบบัญชี จะยอมให้เป็นการขายขาดได้ ต้องให้เจ้าของทรัพย์สินดีแคร์ขนาดไหน เงื่อนไขการทำสัญญาต่างๆ ขณะตั้งกองทุน จะกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯมีบางรายที่ขายรายได้ล่วงหน้า เป็นการขายขาด โดยเฉพาะกรณีของกองทุนบีทีเอส เป็นกองทุนแรกๆ ที่นำมายกตัวอย่างไม่ได้ เพราะเป็นเคสแรกยังมีแนวทางไม่ชัดเจน” ผู้สอบบัญชีกล่าว

ผู้บริหารบีทีเอส กรุ๊ป (BTS) กล่าวว่า บริษัท ขายรายได้จากค่าโดยสารล่วงหน้า เป็นการขายขาด และมีกำไรจากการขาย 2,000 ล้านบาท สามารถนำมาจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นได้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

อีก2สัปดาห์ ก.เกษตรฯเสนอแผนแก้จนเกษตรกรเข้าครม. มุ่งจ่ายเงินค้าง-ลดหนี้-ฟื้นฟู

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงเกษตรฯ ว่า กระทรวงเกษตรฯจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จะร่วมมือกันขจัดความยากจน ให้เกษตรกรทั่วประเทศ โดยจะทำงานเชิงรุกเข้าหาเกษตรกร จากนี้หารือกันและภายใน 2 สัปดาห์ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติแผนงาน เบื้องต้นจะใช้ฐานข้อมูลจากทะเบียนคนจนของกระทรวงการคลัง ที่มีเกษตรกรจำนวน 3.96 ล้านคน ที่ยากจนและมีรายได้น้อยกว่า 30,000-100,000 บาทต่อปี

นายลักษณ์ กล่าวว่า โครงการร่วมขจัดความยากจนครั้งนี้ จะเข้าบรรเทาความเดือดร้อนด้านหนี้สินและฟื้นฟู จะสร้างพลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทำงานเชิงรุกและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวลงลึกในรายพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เป็นต้น ก่อนจะนำข้อมูลไปร่วมกับหน่วยงานอื่น เชื่อว่าจะมองเห็นภาระหนี้สินของเกษตรกรว่ามีอยู่เท่าไหร่ รวมทั้งภาระหนี้สินนอกระบบด้วย ถ้าเป็นหนี้ในระบบของธ.ก.ส. ก็จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยขอให้รัฐบาลมาช่วยด้วย

ในส่วนแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพรายบุคคล อาจใช้เวลา 3-5 ปี กว่าจะฟื้นตัว ทำตามแผนแล้วเกษตรกรดีขึ้นอย่างไรบ้าง และแนวทางในการแก้ไขที่รองนายกรัฐมนตรี หมายมั่น คือ ต้องมีเอสเอ็มอีเกษตร ที่มีความรู้สามารถเข้าถึงการตลาดได้ ซึ่งเป็นหัวขบวนช่วยเกษตรกรยากจนเหล่านี้ โดยทางกระทรวงเกษตรฯ เสนอว่า กระทรวงเกษตรฯ มีสหกรณ์ที่จัดลำดับชั้นแล้วพอจะเป็นหัวขบวนช่วยเกษตรได้เหมือนกันอยู่ประมาณ 1,000 สหกรณ์ และยังมีวิสาหกิจชุมชน 5,000-7,000 แห่งในการเป็นหัวขบวนได้

นายลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้าว เช่น การชะลอขายข้าว เก็บข้าว ด้านการตลาด เสริมสภาพคล่อง และลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเปลือกให้แก่เกษตกร ปีการผลิต 2560/61 ภายใต้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติจาก ครม.ก่อนหน้าแล้ว รัฐบาลจะเร่งจ่ายเข้าถึงมือเกษตรกรโดยตรงภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อทำให้เกษตรกรมีกำลังใจ ในส่วนนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตรวจสอบ ว่าหากเกษตรกรที่รับเงินช่วยเหลือจากน้ำท่วมแล้ว ก็ไม่มีสิทธิ์ในโครงการ โดยจะโอนเงินให้กับเกษตรกรผ่านธ.ก.ส ถือเป็นมาตรการอัดเงินลงรากหญ้าช่วยการจับจ่าย

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กอ.รมน.กาฬสินธุ์แจงเข้มกฎขนส่งอ้อย20ข้อคสช.

กอ.รมน.กาฬสินธุ์แจงเข้มแนวทางปฏิบัติการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน 20 ข้อของ คสช. ย้ำหากฝ่าฝืนเจอจับแน่

ที่โรงงานน้ำตาล อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้าชี้แจงและทำความเข้าใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย คนขับรถบรรทุกอ้อย สมาคมชาวไร่อ้อย และผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อย เข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาลทรายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2561 และได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวที่ได้ผ่อนปรนแล้วจำนวน 20 ข้อ ของคสช.และรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้รัดก้อนอ้อยป้องกันการตกหล่น การบรรทุกอ้อยสูงไม่เกิน 3.80 เมตร การบรรทุกน้ำหนักตามกฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยการเคารพกฎจราจร การจอดรถอย่างปลอดภัย ไม่เผาอ้อยใต้แนวสายไฟ และการร่วมสนับสนุนส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยหยุดการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานในช่วงเทศกาลต่างๆ 

ด้าน พ.อ.มานพ กล่าวว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้ออกกฎ และมีการผ่อนปรน พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการโรงงานและคนขับรถบรรทุกอ้อยถึงแนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาลทราย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว 20 ข้อ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การเกิดอุบัติเหตุในช่วงฤดูกาลส่งอ้อยเข้าโรงงานในปีนี้ลดลงให้มากที่สุด สำหรับโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่คาดว่าจะมีผลิตผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานในปี 2560/61 จำนวน 3.8 ล้านตัน และจะมีรถบรรทุกประมาณ 2,500 คันวิ่งรับ-ส่งอ้อยตามท้องถนน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 7 ธันวาคม 2560

อุทัยธานีเปิดโครงการรณรงค์ตัดอ้อยสดลดการเผา

จังหวัดอุทัยธานี เปิดโครงการรณรงค์ตัดอ้อยสด ลดการเผา ลดผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศและรักษาหน้าดิน

นายแมนรัตน์  รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์การตัดอ้อยสด ลดการเผา ที่ โรงงานบริษัท มิตรเกษตร อุทัยธานี จำกัด อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี โดยมี กรรมการผู้จัดการ บริษัทมิตรเกษตร อุทัยธานี จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกรชาวไร่อ้อย สมาคมชาวไร่อ้อยไทยเศรษฐ์ เข้าร่วมโครงการ โดยทางบริษัทมิตรเกษตร อุทัยธานี จำกัด ได้จัดโครงการรณรงค์ให้ชาวไร่อ้อย หันมาตัดอ้อยสด แทนการเผา เนื่องจากการเผาอ้อยทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อ้อยสูญเสียน้ำหนักและคุณภาพความหวาน ก่อให้เกิดปัญหาในกระบวนการผลิตน้ำตาล นอกจากนี้การเผาไร่อ้อยยังทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง และทำให้โครงสร้างหน้าดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น โดยทางบริษัทได้กำหนดมาตรการ ลดการเผาอ้อย 20 มาตรการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาตัดอ้อยสด แทนการเผาด้วย ภายในงานมีกิจกรรมสาธิตการตัดอ้อยสดด้วยแรงงานคนและเครื่องจักรกล ตรวจรถบรรทุกอ้อยตามมาตรการการควบคุมกวดขันรถบรรทุกอ้อย พร้อมปล่อยขบวนรถบรรทุกอ้อยเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเป็นปฐมฤกษ์ในฤดูเปิดหีบอ้อย และเยี่ยมชมกระบวนการผลิตของโรงงานบริษัท มิตรเกษตร อุทัยธานี จำกัด ด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 7 ธันวาคม 2560

ไทยร่วมประชุมรมต.ดับบลิวทีโอครั้งที่11

                    “พาณิชย์’ ร่วมประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 11 ที่อาร์เจนตินา เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าให้โปร่งใส เป็นธรรม                   

                    นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม  รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ในวันที่ 10-13 ธ.ค. นี้ อาร์เจนตินาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก  (ดับบลิวทีโอ) สมัยสามัญ ครั้งที่ 11   ณ กรุงบัวโนสไอเรส โดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ได้มอบ น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม เพื่อร่วมเจรจาผลักดันประเด็นสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของไทย รวมถึงการจัดทำกฎเกณฑ์การค้าสินค้าเกษตร การอุดหนุนประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

                    สำหรับการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ผู้แทนระดับรัฐมนตรีของสมาชิกดับบลิวทีโอ 164 ประเทศ ได้พบหารือติดตามความคืบหน้าของการเจรจารอบโดฮา และผลักดันให้การเจรจาซึ่งดำเนินมากว่า 16 ปี คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยการหารือจะครอบคลุมหลายประเด็น เช่น เรื่องการจัดทำกฎระเบียบการค้าสินค้าเกษตร กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอุดหนุนประมง การกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านการค้าบริการ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยการขยายเวลาการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรกับการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์   และการต่ออายุ การยกเว้นการฟ้องร้องกรณีพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แม้สมาชิกจะไม่ได้กระทำผิดความตกลง เป็นต้น

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 7 ธันวาคม 2560

ชาวนา-ชาวไร่อ้อยวอนรัฐอย่าอุ้มแต่ยาง น้ำท่วมทำราคาตก ไม่อยากให้ใครว่ารัฐบาล2มาตรฐาน

นายสมชัย สิบหย่อม อายุ 62 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 16 ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลจะใช้เงินเข้าไปดูแลราคายางกว่า 1 หมื่นล้าน ตนเองเห็นด้วย แต่อยากถามว่าชาวนาชาวไร่อ้อย รัฐบาลจะดูแลอย่างไร ขณะนี้ข้าวหอมมะลิที่รัฐบาลบอกว่าจะให้ราคาตันละ 15,000บาทนั้น หลุดไปอยู่ในมือโรงสีหมดแล้ว เกษตรกรชาวนาไม่เคยขายข้าวให้กับโรงสีได้ในราคาถึงหมื่นบาทต่อตัน จะขายก็ได้เพียง 7,000-8,000 บาทเท่านั้น

นายสมชัยกล่าวอีกว่า อยากฝากถามไปยังรัฐบาลว่าที่ผ่านมาชาวนาชาวสวนพิจิตรได้รับผลกระทบหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วมเรื่องราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลเคยคิดอยากช่วยเหลือหรือไม่หรือคิดแต่จะช่วยอุ้มเรื่องราคายางอย่างเดียว ตนเองไม่อยากให้รัฐบาลเป็น 2 มาตรฐาน หรือคิดว่าปกครองแบบคนจน ปกครองง่ายกว่าคนรวย จริงๆ แล้วรัฐบาลควรมองภาพรวมของประเทศ ว่ามีกลุ่มไหนบ้างที่เดือดร้อน

นายสมชัยกล่าวอีกว่า อยากวิงวอนรัฐบาลออกมาดูแลชาวนาชาวสวนบ้าง ซึ่งชาวนาก็บ่นราคาข้าวไม่ดี ชาวไร่อ้อยก็บ่นราคาไม่ดี ซึ่งที่ผ่านมาไม่เป็นแบบนี้ หากจะแก้ ก็ขอให้แก้ทั้งหมดไม่ใช่แก้แต่ยางอย่างเดียว ดังนั้น ตนเองไม่อยากให้ใครว่ารัฐบาล 2 มาตรฐาน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 7 ธันวาคม 2560

กรมธุรกิจพลังงานเสนอ ‘ยกเลิก’ แก๊สโซฮอล์ 91

แก๊สโซฮอล์ 91 ยอดขายลดลง ส่งผลผู้ให้บริการน้ำมันหยุดขาย ด้านกรมธุรกิจพลังงานเตรียมเสนอ รมว.พลังงานคนใหม่ ยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เตรียมเสนอนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ พิจารณาแนวทางการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ด้วยกลยุทธ์ราคา ด้วยการปรับราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ให้มีราคาเท่ากับแก๊สโซฮอล์ 95 จากปัจจุบันที่ราคาต่างกัน 26 สตางค์ แล้วให้ประชาชนเลือกเติมตามความพอใจ แต่เชื่อว่าผู้ใช้รถจะเติมแก๊สโซฮอล์ 95 มากกว่า

ขณะนี้มีผู้ค้าน้ำมัน 2 ยี่ห้อ แจ้งความประสงค์ยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายกระทรวงพลังงาน เพราะผู้ค้าเห็นว่ากลุ่มเบนซินเป็นออกเทน 95 หมด ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ 91 หากยกเลิกจะทำให้น้ำมันเบนซินพื้นฐานเป็นชนิดเดียวกันหมด และเมื่อลดหัวจ่ายลง คาดว่าจะทำให้คนหันไปเติม อี 20 ที่มีสัดส่วนการผสมเอทานอลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยส่งเสริมราคาพืชผลทางการเกษตร ซึ่งแม้ปัจจุบันผู้ใช้รถนิยมเติม อี 20 มากขึ้น แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานปรับราคาให้แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 ให้ใกล้เคียงกัน ทำให้ยอดการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่า โดยเดือนตุลาคมอยู่ที่ 12.01 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 หากเทียบกับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 91 มียอดการใช้ 10.35 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงร้อยละ 0.9 ช่วยสะท้อนกลไกตลาดที่ประชาชนนิยมใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากกว่า 91 และในอนาคต ผู้ค้าอาจตัดสินใจยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ไปเองโดยปริยาย

จาก http://money.sanook.com วันที่ 7 ธันวาคม 2560

ผู้ผลิต “น้ำตาล” ไทยเมินกระทบประกาศลอยตัว

แม้จะยังไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าจะมีการปล่อยลอยตัวเมื่อไหร่ แต่เบื้องต้นคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยการอออกกฎหมายลูกมารองรับ และยังให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้านราคาจากการลอยตัวน้ำตาลที่จะเกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้สินค้าน้ำตาลถือได้ว่าเป็นสินค้าในบัญชีควบคุม ด้วยการกำหนดราคาขายปลีกสูงสุดเอาไว้ไม่ให้เกิน 23.50 บาทต่อกิโลกรัม และยังแบ่งราคาขายน้ำตาลออกเป็น 3 บัญชี ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างของราคาขาย

บัญชีดังกล่าวคือ กลุ่มน้ำตาลที่ขายเพื่อบริโภคภายในประเทศ เรียกว่า โควตา ก. กลุ่มน้ำตาลที่ผลิตเพือ่ส่งอออกโดย บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เรียกว่า โควตา ข. และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออกเอง เรียกว่าโควตา ค.

โดยในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยถูกโจมตีจากประเทศบราซิลในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ว่าประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก มีการพยุงราคาน้ำตาลด้วยการเข้ามาแทรกแซงราคาให้ราคาน้ำตาลไม่เป็นไปตามกลไกตลาดองค์กรการค้าโลก (WTO) จึงส่งผลให้รัฐบาลไทยจึงต้องาแก้ไขปัญหาราคาน้ำตาลด้วยการประกาศลอยตัว

ปัจจุบันราคาน้ำตาลตลาดโลก เคลื่อนไหวผันผวนล่าสุดราคาส่งมอบในปี 2561 อยู่ที่ระดับ 20 -19  เซนต์ต่อปอนด์โดยราคาขึ้นมาทำช่วงสูงสุดของปีที่ 20-84 เซนต์ต่อปอนด์ (เดือน ก.พ.) จากนั้นราคาปรับตัวลดลงมาโดยตลอด

แหล่งข่าวผู้ผลิตในกลุ่มโรงงานน้ำตาลเปิดเผยว่า ด้วยที่ผ่านมาประเทศไทยมีระบบการขายแบ่งเป็นโควตาซึ่งทุกโรงงานจะได้รับการจัดสรรอยู่แล้วว่าได้ปริมาณขายในประเทศ หรือขายเพื่อส่งออกของ อนท. เท่าไร รวมทั้งราคาขายน้ำตาลภายในประเทศมีการควบคุมเอาไว้จากที่ภาครัฐกำหนด

เมื่อมีการปล่อยให้ลอยตัวน้ำตาลเกิดขึ้นจริงระบบโควตาถูกยกเลิกไป ส่งผลทำให้ทุกโรงต้องบริหารจัดสรรการขายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศด้วยตัวเองเช่นเดียวกับราคาขายในประเทศที่ถูกกำหนดเพดานไว้เมื่อปล่อยลอยตัวราคาขายจะวิ่งขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก

ดังนั้นจึงเชื่อว่าทุกโรงงานต้องมาดูการตลาดภายในประเทศมากขึ้น เพราะราคาขายจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับโรงไหนทำต้นทุนได้ถูกลง ซึ่งส่วนตัวแล้วยังมองว่าแม้จะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลแต่โรงงานยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้

เนื่องจากที่ผ่านมาราคาขายที่ 20 กว่าบาทแต่ต้องถูกหักเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลประมาณ 5 บาท ที่เหลือ 14 15 บาทโรงงานน้ำตาลจึงได้ไป ซึ่งอนาคตเงินที่ถูกหักตรงนี้จะหายไป ส่วนผลกระทบกับผู้บริโภคต้องแบ่งเป็นสองส่วน

หากเป็นประชาชนทั่วไป อาจจะต้องซื้อน้ำตาลในราคาที่แพงขึ้นหรือถูกลง ซึ่งดูจากราคาน้ำตาลโลกปัจจุบันลดลงมาราคาขายน้ำตาลจะถูกลงกว่าเมื่อก่อน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลในการผลิตสินค้าไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไร เพราะมีความเชี่ยวชาญในการบริหารต้นทุนของตัวเอง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาครัฐน่าจะเข้ามาดูไม่ให้ประชาชนกระทบในวงกว้าง

บริษัทหลักทรัพย์  (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่าการประกาศลอยตัวน้ำตาลเป็นปัจจับลบต่อผู้ผลิต มี บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL , บริษัท น้ำตาละครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS  และบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR

เนื่องจากยังไม่มีโครงสร้างราคาน้ำตาลที่ขายชัดเจนว่าเป็นเท่าไรจากเดิมที่กำหนดเพดานขายสูงสุดเอาไว้ รวมทั้งยังต้องรอแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล นอกจากนี้ยังมีประเด็นกดดันเรื่องราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลง

แนวโน้มราคาน้ำตาลถูกผลกระทบจากความคาดหมายการปริมาณการผลิตน้ำตาลในตลาดโลกสูงเกินกว่าปริมาณการบริโภคในฤดูกาล 2560/2561 หลังจากการผลิตต่ำกว่าการบริโภคมาสองฤดูการติดต่อกันได้ฉุดทำให้ราคาน้ำตาลปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในระยะยาวยังมองราคาน้ำตาลจะยังถูกกดดันจากปัจจัยดังกล่าวต่อไป

ขณะที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มได้ปัจจัยบวกจากกรณีดังกล่าว ประกอบไปด้วย บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE , บริษัท มาลี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE และ บริษัทที.เอ.ซี  คอนซูมเมอร์  จำกัด (มหาชน) หรือ TACC เบื้องต้นคาดว่าจะมีการปรับราคาขายน้ำตาลในประเทศลดลง เป็นบวกต่อกลุ่มธุรกิจดังกล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 7 ธันวาคม 2560

เปิด4มุมมอง หลัง‘ราคานํ้าตาลลอยตัว’

ตามมติครม.ก่อนหน้านี้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ราคานํ้าตาลลอยตัวตามราคาในตลาดโลก และยกเลิกระบบโควตา ก. (นํ้าตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (นํ้าตาลดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทยฯ) และโควตา ค. (นํ้าตาลดิบหรือนํ้าตาลทรายที่ส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาล)

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “การเปลี่ยนผ่านระบบอ้อยและนํ้าตาลไปสู่การลอยตัว” ณ ห้องประชุมกองบรรณาธิการ ชั้น 25 อาคารเล้าเป้งง้วน 1 ถ.วิภาวดีรังสิต เชิญตัวแทนจากแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนํ้าตาล เพื่อติดตามความพร้อม ข้อกังวล หลังราคานํ้าตาลลอยตัว ถึงผลที่จะตามมาทั้งทางบวกและทางลบ มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยตัวแทนทั้ง 4 ภาคส่วน ในฐานะตัวแทนภาครัฐ โรงงานนํ้าตาล กลุ่มชาวไร่อ้อย และตัวแทนผู้ใช้นํ้าตาลจากโรงงานอุตสาหกรรม

**ระเบียบรองรับออกไม่ทัน 1 ธ.ค.

นายบุญถิ่น โคตรศิริ 
ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและนํ้าตาลทราย ฉายภาพให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้ไทยถูกบราซิลฟ้องว่า ทำผิดกฎกติกาองค์การการค้าโลก (WTO) และทางรัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่เจรจากับบราซิลมาแล้วหลายรอบ และรับปากว่าในฤดูการผลิตปี 2560/2561 นี้เราจะมีการปรับเปลี่ยนให้สอด คล้องกับการค้าโลก ทั้งด้านกฎหมาย กติกา และเรื่องของรายได้ราคาอ้อย โดยสาระสำคัญการเปลี่ยนผ่านรอบนี้ คือ ระเบียบ 4 ฉบับ ที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามพันธะสัญญาองค์การการค้าโลก (WTO) คือ 1. ยกเลิกโควตานํ้าตาลโควตาก. โควตา ข. และโควตา ค. 2. ปล่อยลอยตัว
ราคานํ้าตาล 3. การคิดราคาอ้อยโดยนำกติกาต่างๆในการคำนวณราคาอ้อยแบบใหม่มาใช้ 4. ระเบียบว่าด้วยการส่งออกนํ้าตาลไป
ยังต่างประเทศภายใต้กติกา
ใหม่ ทั้งหมดนี้ผ่านคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (กอน.) แล้ว

“วันนี้เหลือแต่กระบวน
การที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอเข้า ครม. กฤษฎีกาตรวจร่างระเบียบ เมื่อครม. เห็นชอบก็ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกมาถึงจะใช้ได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ยังอยู่ในกระบวนการ ที่ระเบียบปฏิบัติออกไม่ทัน วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่นโยบายบอกว่าให้เริ่มลอยตัววันที่ 1 ธันวาคมนี้ ที่จะต้องมีระเบียบกฎหมายออกมารองรับ ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกราว 2 เดือนหรือราวปลายเดือนมกราคม นับจากนี้ถึงจะสามารถลอยตัวได้ 100%”

สำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การลอยตัวนํ้าตาลอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นน่าจะมาจากผู้ซื้อนํ้าตาลกับโรงงานนํ้าตาล เพราะวันนี้ทุกคนเข้าใจว่าถ้าลอยตัวเมื่อไหร่ราคานํ้าตาลจะลงเพราะเวลานี้ราคานํ้าตาลในตลาดโลก
ขาลงอยู่ จึงเกิดการชะลอการซื้อนํ้าตาลจากโรงงาน วันนี้โรงงาน
นํ้าตาลเริ่มบ่นว่าขายนํ้าตาลไม่ค่อยได้ หรือผู้ค้าก็คิดว่าเราไปซื้อหลังราคาลอยตัวน่าจะดีกว่า เพราะราคานํ้าตาลจะถูกลง ตรงนี้ก็น่าจะมีปัญหาอยู่ระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าอีกสักระยะหนึ่งจะกลับไปสู่ภาวะปกติได้ เพราะทุกประเทศลอยตัวหมดแล้ว ทั้งบราซิล ออสเตรเลีย

**ราคาอ้อยตํ่าดันกองทุนช่วย

 นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 และสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ตัวแทนกลุ่มชาวไร่อ้อย กล่าวถึงผลต่อราคาอ้อยหลังราคานํ้าตาลลอยตัวว่า เราผลิตนํ้าตาลเพื่อทำรายได้ในการกำหนดราคาอ้อยตามระบบที่เรากำหนด 70/30 ฉะนั้นนํ้าตาลภายในประเทศจะเปลี่ยนไปตามกลไกราคาเดียวกับตลาดโลก เดิมในประเทศเรากินนํ้าตาลโดยเป็นราคาที่ถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ พอราคาเปลี่ยนไปตามตลาดโลกแปลว่าราคามีขึ้น-ลง ซึ่งเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่ามันจะกระทบไปในทิศ
ทางที่บวกหรือลบ ซึ่งการเปลี่ยน แปลงตรงนี้ชาวไร่อ้อยเข้าใจดี ส่วนเรื่องราคาอ้อยตํ่ากว่าต้นทุนเราก็ต้องใช้การบริหารโดยกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย (กท.) มาช่วยสนับสนุน

 ปัจจุบันมีพื้นที่ส่งเสริมปลูกอ้อยทั่วประเทศอยู่ที่ 11 ล้านไร่ แบ่งเป็นเขตๆ โดยมีกำลังผลิตที่ประเมินว่า อยู่ที่ประมาณ 10.6-10.7 ตันต่อไร่ และปีที่ผ่านมามีค่าความหวานอยู่ที่ 12 C.C.S กำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตใหม่ที่ประเมินเบื้องต้นคาดว่า น่าจะอยู่ที่ 103 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ประมาณ 93 ล้านตัน โดยตัวเลขที่แท้จริงจะสิ้นสุดในช่วงเวลาที่มีการปิดหีบ

 อย่างไรก็ตามให้เกษตรกรเข้ามาพึ่งพิงการทำอ้อยแล้ว ก็ต้องพยุงให้อยู่ได้ เช่น การตั้งกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทรายก็ควรที่จะต้องมีเม็ดเงินเข้ามาในยามที่ตกตํ่า เช่นเดียวกับผู้บริโภค การกำหนดเพดานสูงหรือตํ่าสามารถเป็นไปได้หมด เพราะเรื่องของตลาดสินค้าที่เป็นคอมมิวนิตี ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัจจัย
พื้นฐาน ซึ่งพูดถึงความต้องการซื้อและขาย แต่เป็นเรื่องของผู้ค้าและผู้ซื้อ

**ผู้บริโภควิ่งรับความเสี่ยง

 นายปิยวงศ์ ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด ตัวแทนผู้ใช้นํ้าตาลจากโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวถึงข้อกังวลหลังราคานํ้าตาลลอยตัว ในเรื่องปริมาณ ถ้าเกิดมีการขาดแคลน
นํ้าตาลในประเทศขึ้นมา ก็จะทำให้เราไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ตามเวลาที่กำหนด นอกจากนี้หากราคานํ้าตาลมีราคาขึ้น-ลงแรงๆ เพราะบริษัททำสัญญาซื้อขายกับลูกค้าไว้ก่อนแล้วตลอดปี โดยขายสินค้าในราคาเดียวที่ตกลงกันไว้ทั้งปี ฉะนั้นในระหว่างปีถ้าราคานํ้าตาลมีราคาที่เหวี่ยงขึ้นหรือเหวี่ยงลงแรงๆ ก็มีผลกระทบต่อต้นทุนเรา รวมถึงความกังวลเรื่องคุณภาพนํ้าตาล เป็นต้น

 สำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแง่ราคาผันผวนนั้น คงต้องพึ่งพาผู้ผลิตนํ้าตาลที่เป็นคู่ค้าเยอะขึ้น ปกติเราเองจะมีการคุยกับลูกค้าทุกรายก่อนว่า ปีนี้จะซื้อสินค้าจากโรงงานเราเท่าไหร่ เราก็จะคำนวณปริมาณนํ้าตาลแล้วคุยกับโรงงานนํ้าตาล เช่นคุยกับมิตรผลว่า ปีนี้เราจะซื้อเท่านี้ ในราคาเท่านี้ได้หรือไม่ซึ่งบางปีก็ต่อรองกันได้ บางปีก็ต่อรองไม่ได้

“ปัจจุบันกฎระเบียบในการซื้อนํ้าตาลเพื่อผลิตผลไม้อบแห้งส่งออก ปัจจุบันขั้นตอนยังยุ่งยากในทางปฏิบัติ อาทิ ทางหน่วยงานราชการจะให้บริษัทแจ้งล่วงหน้าในแต่ละปีว่ามีปริมาณการใช้นํ้าตาลเท่าไร ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นการพิจารณาปริมาณการใช้นํ้าตาล 1-4 ครั้งต่อปี ขณะเดียวกันบริษัทไม่ได้ขายสินค้าโดยตรงให้กับลูกค้า แต่ขายผ่านเทรดเดอร์ ต้องมีใบอนุญาตจากภาครัฐ ดังนั้นต้องการให้มีการผ่อนผันมาตรการดังกล่าวเพื่อความคล่องตัวทางการค้า”

**นํ้าตาลถูกลง 1-2 บาท

 นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงแนวโน้มราคานํ้าตาลภายหลังจากลอยตัวราคาตามตลาดโลก ส่วนตัวคาดว่าราคาจะลดลงอย่างแน่นอน แต่จะลดลงเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณการซื้อ หากมีการสัญญาระยะยาวและซื้อในปริมาณมาก ราคาจะถูกลง ปัจจุบันราคานํ้าตาลหน้าโรงงาน 19-20 บาทต่อกิโลกรัม คาดว่าจะถูกลงอย่างน้อย 1-2 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันราคานํ้าตาลภาคครัวเรือนอยู่ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคานํ้าตาลจะลดลงมากน้อยเพียงใด มีหลายปัจจัย แต่เชื่อว่าทางกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลราคาให้มีความเหมาะสมต่อไป

“ภายหลังจากลอยตัว
ราคานํ้าตาลในประเทศ อย่ากังวล ไม่ต้องกลัวว่าปริมาณนํ้าตาลในประเทศจะขาดแคลน เพราะมีปริมาณการผลิต 11 ล้านตัน กินในประเทศ 2.5-3 ล้านตัน นํ้าตาลเพียงพอให้ผู้บริโภคใช้ในประเทศแน่นอน ซึ่งราคานํ้าตาลที่ถูกลงจะเป็นผลดี ผู้ใช้นํ้าตาลจะเติบโต จะมีกำลังการผลิตที่ขยายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในอาเซียนที่มีประชากรมากถึง 600 ล้านคน นอกจากนี้ยังมั่นใจว่ากฎระเบียบ กติกาจะง่ายขึ้น เริ่มผ่อนคลาย ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น ต้นทุนแข่งขันได้เพื่อสู้กับตลาดโลก” นายคมกริช กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 6 ธันวาคม 2560

เกษตรไทย อินเตอร์ฯ มั่นใจฤดูการผลิต 60/61 อ้อยเข้าหีบพุ่ง

กลุ่ม "เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น " ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มั่นใจฤดูการผลิต 60/61 มีอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน หนุนทุกกลุ่มธุรกิจเติบโต ทั้งน้ำตาล เยื่อกระดาษ เอทานอล และไฟฟ้า เผยช่วง 9เดือนแรกปีนี้ มีรายได้ 15,305.3 ล้านบาท สูงกว่าทั้งปี 59 และมีกำไรสุทธิ 1,140.2 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4,307%

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ได้เปิดหีบอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2560/2561 แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้ง 3 โรงงาน คือ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ และโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ สาขา 3 มากกว่าฤดูการผลิตปี 2559/2560 เนื่องจากปีนี้มีปริมาณฝนมาก ประกอบกับการทำงานอย่างใกล้ชิดของพนักงานฝ่ายไร่กลุ่ม KTIS กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทำให้ผลผลิตตันต่อไร่สูงขึ้นด้วย

“เมื่ออ้อยมีปริมาณมากขึ้น ก็จะสามารถผลิตน้ำตาล รวมไปถึงผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่นๆ ทั้งเยื่อกระดาษ เอทานอล และไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก็จะได้ปริมาณมากขึ้น ส่วนราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้น ก็ยังเชื่อว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันได้อีก” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาแยกเป็นรายกลุ่มธุรกิจ จะพบว่าธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลจะเติบโตดีในช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปี ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้น ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 โรงไฟฟ้ายังไม่สามารถเดินเครื่องและขายไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ เพราะปัญหาเรื่องของเชื้อเพลิงบ้าง เครื่องจักรบ้าง แต่นับจากฤดูหีบนี้เป็นต้นไป ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ดังกล่าวแล้ว การรับรู้รายได้จากสายธุรกิจนี้ก็จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ทางด้านของธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ก็มีการเติบโตที่

ดีทั้งปริมาณความต้องการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม - กันยายน 2560) กลุ่ม KTIS มีรายได้รวม 15,305.3 ล้านบาท สูงกว่าปี 2559 ทั้งปีที่มีรายได้รวม 15,086.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิงวด 9 เดือน 1,140.2 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปี 2559 ถึง 4,307%

 ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.60) พบว่า รายได้ของสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย เติบโตสูงสุดถึง 30% เนื่องจากปริมาณการขายเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นแม้ว่าราคาเฉลี่ยจะลดลง รองลงมาเป็นการผลิตและจำหน่ายเอทานอล ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น 8.7% จากราคาขายที่สูงขึ้น และธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 4%

จาก https://mgronline.com  วันที่ 6 ธันวาคม 2560

สยามคูโบต้า พาไปฟังความสำเร็จจาก 3 เกษตรกรตัวจริง ที่หันมาทำการเกษตรด้วยวิธี KAS

กว่า 40 ปี ที่สยามคูโบต้าร่วมขับเคลื่อนเกษตรกรรมไทย ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตร ผสานกับองค์ความรู้ด้านการเกษตร จนเกิดเป็น KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS เกษตรครบวงจร ระบบการจัดการด้านการเกษตร ที่นำไปใช้ส่งเสริมเกษตรกรไทย เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และมีรายได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา สยามคูโบต้าได้นำความรู้ KAS ไปถ่ายทอดให้กับพี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ เห็นได้จากวิดีโอนี้ ที่สยามคูโบต้าได้หยิบยกเรื่องราวความสำเร็จของการทำเกษตรครบวงจร ผ่าน 3 เกษตรกรตัวจริง จากวิสาหกิจชุมชนทำนาห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี มาเล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มาเป็นวิธี KAS ที่ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง

โดยคนแรก คุณปรีชา สมสีดา เกษตรกรปลูกอ้อย ที่เจ้าตัวบอกว่าการทำเกษตรด้วยวิธี KAS นอกจากจะช่วยให้ตนเองได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าแล้ว ต้นทุนยังลดลงเกือบเท่าตัว

สำหรับคนที่สอง คุณทิพย์ กรมวงศ์ เกษตรกรปลูกข้าว ที่เขาเองประทับใจการปลูกข้าวด้วยวิธี KAS เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ แต่ต้นทุนที่ใช้ไปนั้นกลับน้อยลงกว่าเดิม

ส่วนเกษตรคนสุดท้าย คุณศุภชัย เพียรสามารถ เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง ที่ชื่นชอบเครื่องปลูกมันสำปะหลัง เพราะนอกจากจะช่วยเขาประหยัดต้นทุนการจ้างแรงงานคนแล้ว ยังทำให้ได้มันสำปะหลังหัวใหญ่ ขายได้ราคาดีอีกด้วย

ถ้าใครได้ฟังเรื่องราวความสำเร็จของการทำเกษตรด้วยวิธี KAS แล้วอยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมสามารถคลิกเข้าไปดูได้ที่ www.kubotasolutions.com  แล้วอย่าลืม…นำองค์ความรู้ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในชุมชนของตนเอง เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 6 ธันวาคม 2560

สรท.คาดส่งออกปีนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8.5 - 9%

"สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ" คาดส่งออกปีนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8.5-9% ส่วนปีหน้าประเมินเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีนี้อีก 5% วอนรัฐบาลดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป

 น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวถึงการส่งออกเดือนตุลาคม 2560 ว่า มีมูลค่า 20,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่วนในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 659,517 ล้านบาท ขยายตัว 7.6% ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 195,518 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 9.7% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศและสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียใต้ ออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา กลับมาเติบโตในช่วงต้นไตรมาส 4 ประกอบกับการฟื้นตัวของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก ยางพาราและผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกไทย ทั้งมาตรการปฏิรูปภาษีและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ อาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีโอกาสไหลกลับสู่ตลาดสหรัฐและส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในอนาคตได้ ตลอดจนผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวน การขาดแคลนแรงงานเฉพาะทางที่มีคุณภาพในประเทศ และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่อาจกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน

ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกไทย เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ในส่วนของกฎหมายลำดับรองยังไม่มีความชัดเจนและอาจเป็นภาระต้นทุนผู้ประกอบการ ความไม่ชัดเจนต่อการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต ตลอดจนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกในอาเซียน

ทั้งนี้ สรท.คาดการณ์การส่งออกปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 8.5 - 9% ส่วนปีหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้อีก 5% ภายใต้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกทำให้การค้ายังเติบโต แต่สิ่งที่ สรท.กังวล คือ ปัญหาจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนไทยที่แข็งค่าสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเงินบาทไทยจาก 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 32.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาด้านการแข็งขันการส่งออกของไทย ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเข้ามาดูแลลดความผันผวนค่าเงินไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป และปัจจัยเรื่องค่าน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่อาจจะไม่มาก และรัฐบาลควรเร่งส่งเสริมภาพธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็งมากกว่านี้

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 6 ธันวาคม 2560

ครม.เร่งลอยตัวน้ำตาลป้องกันบราซิลฟ้องไทย

ครม.ไฟเขียว การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมเห็นชอบร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับ สั่งกระทรวงอุตสาหกรรมหาวิธีการคำนวณราคาขายในประเทศ คาดประกาศบังคับใช้เร็วๆ นี้ ป้องกันบราซิลฟ้องฐานอุดหนุนส่งออกทางอ้อม

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการ แนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้เห็นชอบร่างกฎหมายลูกรวม 4 ฉบับเพื่อเป็นการรองรับการลอยตัวน้ำตาล ประกอบด้วยร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน  1 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำประมาณรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ.....

โดยร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษาสถานที่เก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย การส่งมอบและการจำหน่ายน้ำตาลทราย พ.ศ.... ร่างระเบียบคณะกรรมการ้อยและน้ำตาลว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลทราย พ.ศ.... และร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.....

“ร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จะรองรับการลอยตัวน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับตลาดโลก ซึ่งหลังจากนี้จะมีการส่งร่างประกาศนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็วๆนี้ แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่าสำหรับการบริหารจัดการน้ำตาลทราย ตามที่ครม.เห็นชอบกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการยกเลิกการกำหนด

โควตา โดยให้โรงงานต้องมีการสำรองน้ำตาลตามปริมาณน้ำตาลทรายสำรอง (Buffer Stock) ที่กำหนดปริมาณน้ำตาลทรายส่วนที่ใช้เพื่อจำหน่ายส่งออกโดยให้คงจำนวน 400,000 ตันเท่าเดิม

ส่วนแนวทางการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตการจำหน่ายน้ำตาลทราย รวมทั้งปรับปรุงร่างประกาศและร่างระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาขายเปลี่ยนวิธีการในการคำนวณรายได้ขั้นต้นและรายได้ขั้นสุดท้ายโดยการอ้างอิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกกับค่าฟรีเมี่ยมน้ำตาลทรายไทย

สั่งยกเลิกเงินอุดหนุน 160 บาท/ตัน

พร้อมกันนี้ให้ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเลิกการกำหนดน้ำตาลทรายโควตา ก. น้ำตาลทรายโควตา ข. น้ำตาลทรายโควตา ค. กำหนดให้มีน้ำตาลทรายภายในประเทศ น้ำตาลทรายที่ส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด น้ำตาลทรายเพื่อการส่งออกและน้ำตาลทรายสำรอง (Buffer Stock)

แหล่งข่าว กล่าวว่า ตามแนวทางการบริหารจัดการนี้ ให้ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ จากปัจจุบันที่ถูกควบคุมราคาหน้าโรงงานโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและราคาขายปลีกโดยกระทรวงพาณิชย์ หลังจากนี้จะเป็นการปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) มีหน้าที่ในการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายจริงใน 1 เดือน และกำหนดวิธีการคำนวณเงินเพื่อให้ทุกโรงงานนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นประจำทุกเดือน

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศเป็นไปโดยสอดรับกับข้อตกลงทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)  และเป็นที่ยอมรับของสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ

เชื่อทำให้ราคาน้ำตาลลดลง

แหล่งข่าว กล่าวว่า การลอยตัวราคาน้ำตาลขณะนี้ จะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศลดลง ตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกเนื่องจากปัจจุบันในประเทศบริโภคน้ำตาลแพงกว่าต่างประเทศ เนื่องจากมีการเก็บราคากิโลกรัมละ 5 บาท ที่หน้าโรงงาน เพื่อนำไปส่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกสรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลมีการกู้มาเป็นเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ 160 บาทต่อตันอ้อยทุกๆปี

“หลังจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะไปพิจารณาแนวทางการคำนวณทั้งราคาอ้อยขั้นต้น และขั้นสุดท้าย ราคาน้ำตาลที่ขายจริง รวมถึงเงินที่โรงงานน้ำตาลจะต้องส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็วๆนี้แหล่งข่าวกล่าว

บราซิลขู่ฟ้องบีบไทยลอยตัวน้ำตาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาประเทศบราซิลขู่จะฟ้องประเทศไทย โดยกล่าวหาว่าประเทศไทยดำเนินนโยบายอุดหนุนชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นการอุดหนุนราคาส่งออกทางอ้อมอันเป็นการขัดต่อเกณฑ์ของ WTO ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางไปเจรจากับทางการบราซิล พร้อมกับระบุว่าทางการไทยจะดำเนินการลอยตัวน้ำตาลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 แต่ได้เกิดความล่าช้าออกมาเพราะความไม่พร้องของร่างระเบียบต่างๆ กระทั่งครม.ได้เห็นชอบร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการลอยตัวราคาน้ำตาล ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2560

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 6 ธันวาคม 2560

ยกเลิกโควตา-อุดหนุนเกษตรกร รัฐออกกฎหมาย 4 ฉบับรับมือลอยตัวน้ำตาลทราย

ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายรองรับลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ตามราคาตลาดโลก ส่งกฤษฎีกาตรวจแก้ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา มอบอุตสาหกรรมหาแนวทางคำนวณราคาขายในประเทศ เชื่อราคาลดลงจากปัจจุบัน เพราะจะเลิกเก็บราคาหน้าโรงงาน กก.ละ 5 บาท และเลิกมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ยกเลิกโควตา ก-ข-ค ป้องกันบราซิลฟ้องฐานอุดหนุนส่งออกออกทางอ้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการบริหารจัดการจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยได้เห็นชอบร่างกฎหมายลูกรวม 4 ฉบับ เพื่อเป็นการรองรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ให้สอดคล้องกับราคาในตลาดโลก ซึ่งหลังจากจากนี้จะมีการส่งร่างประกาศนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน จากนั้นจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้

สำหรับกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 1 ฉบับ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำประมาณรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทรายและอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. ...พร้อมกันนี้ มีร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 3 ฉบับ ว่าด้วยเรื่องการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา สถานที่เก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย การส่งมอบ และการจำหน่ายน้ำตาลทราย

เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลทราย และเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำตาลทราย ที่ ครม.เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอจะมีการยกเลิกการกำหนดโควตา โดยให้โรงงานต้องมีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณน้ำตาลทรายสำรอง (Buffer Stock) ที่กำหนดปริมาณน้ำตาลทรายส่วนที่จะใช้เพื่อจำหน่ายส่งออก โดยให้คงจำนวน 400,000 ตันเท่าเดิม ส่วนแนวทางการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย

รวมทั้งปรับปรุงร่างประกาศและร่างระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาขาย เปลี่ยนวิธีการในการคำนวณรายได้ขั้นต้นและรายได้ขั้นสุดท้าย โดยให้อ้างอิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกกับค่าพรีเมียมน้ำตาลทรายไทย พร้อมกันนี้ให้ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเลิกการกำหนดน้ำตาล

ก. น้ำตาลทรายโควตา ข.และน้ำตาลทราย โควตา ค. กำหนดให้มีน้ำตาลทรายภายในประเทศ น้ำตาลทรายที่ส่งมอบให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด น้ำตาลทรายเพื่อการส่งออก และน้ำตาลทรายสำรอง (Buffer Stock)

นอกจากนั้น ให้ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ จากปัจจุบันที่ถูกควบคุมราคาหน้าโรงงานโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และราคาขายปลีกโดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นการปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศ ที่ขายจริงใน 1 เดือน และกำหนดวิธีการคำนวณเงินเพื่อให้ทุกโรงงานนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นประจำทุกเดือน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศเป็นไปโดยสอดรับกับข้อตกลงทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และเป็นที่ยอมรับของสากลมากยิ่งขึ้น จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ อีกทั้งการลอยตัวราคาน้ำตาลในขณะนี้จะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันในประเทศบริโภคน้ำตาลแพงกว่าต่างประเทศ เนื่องจากมีการเก็บราคากิโลกรัมละ 5 บาทที่หน้าโรงงาน เพื่อนำไปส่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลมีการกู้มาเป็นเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ 160 บาทต่อตันอ้อยทุกๆปี และหลังจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะไปพิจารณาแนวทางการคำนวณทั้งราคาอ้อยขั้นต้น และขั้นสุดท้าย ราคาน้ำตาลที่ขายจริง รวมถึงเงินที่โรงงานน้ำตาลจะต้องส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศบราซิลขู่จะฟ้องไทยโดยกล่าวหาว่าไทยดำเนินนโยบายอุดหนุนชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นการอุดหนุนราคาส่งออกทางอ้อม ขัดต่อเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางไปเจรจากับทางการบราซิล พร้อมกับระบุว่าทางการไทยจะดำเนินการลอยตัวน้ำตาลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา แต่ได้เกิดความล่าช้าออกมาเพราะความไม่พร้อมของร่างระเบียบต่างๆกระทั่ง ครม.ได้เห็นชอบดังกล่าว.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 6 ธันวาคม 2560

ครม.เห็นชอบแผนเลิกโควตาน้ำตาลทราย

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ พร้อมด้วยพ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (4ธ.ค.60) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 1 ฉบับ และร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 3 ฉบับ  รวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบด้วย แนวทางการบริหารจัดการน้ำตาลทราย  ยกเลิกการกำหนดโควตา โดยให้โรงงานต้องมีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณ Buffer Stock ที่กำหนดปริมาณน้ำตาลทรายส่วนที่จะใช้เพื่อจำหน่ายส่งออก โดยให้คงจำนวน 400,000 ตันเท่าเดิม และแนวทางการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย รวมทั้งปรับปรุงร่างประกาศและร่างระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาขายเปลี่ยนวิธีการในการคำนวณรายได้ขั้นต้นและรายได้ขั้นสุดท้าย

 โดยการอ้างอิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน หมายเลข 5 บวกกับค่าพรีเมียมน้ำตาลทรายไทย และยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเลิกการกำหนดน้ำตาลทรายโควตา ก. น้ำตาลทรายโควตา ข. และน้ำตาลทราย โควตา ค. กำหนดให้มีน้ำตาลทรายภายในประเทศ น้ำตาลทรายที่ส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด น้ำตาลทรายเพื่อการส่งออกและน้ำตาลทรายสำรอง  (Buffer Stock) รวมทั้งยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ และปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศเป็นไปตามกลไกของตลาด

ตลอดจนให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย  มีหน้าที่ในการสำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายจริงใน 1 เดือน และกำหนดวิธีการคำนวณเงินเพื่อให้ทุกโรงงานนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศเป็นไปโดยสอดรับกับข้อตกลงทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)  เขตการค้าเสรีอาเซียน  (AFTA)  และเป็นที่ยอมรับของสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ โดยสามารถสร้างงานและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 5 ธันวาคม 2560

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” เกมรุกขับเคลื่อนน้ำตาลมิตรผล

ท่ามกลางการแข่งขัน และความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจ ‘กลุ่มน้ำตาลมิตรผล’ ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาล อันดับที่ 4 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบอุตสาหกรรมเกษตรที่ปรับแนวรบอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับโลกอนาคตที่ท้าทาย ซึ่ง “บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผล ได้มาเปิดวิสัยทัศน์การเดินเกมรุกที่จะก้าวไปข้างหน้ากับ “ประชาชาติธุรกิจ”

ปัจจุบันอัตรากำลังการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลทั้ง 6 โรงงาน อยู่ที่ 2.15 แสนตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 2 หมื่นตัน หรือ 1.9 แสนตันต่อวัน และคาดว่าในปีนี้จะสามารถผลิตน้ำตาลได้ 21 ล้านตัน ใช้ระยะเวลาในการหีบ 100 วัน

ปัจจัยที่ทำให้มีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศจีนมีการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงอินโดนีเซียที่เป็นตลาดส่งออกหลักของกลุ่มมิตรผลมีความต้องการนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกน้ำตาล 70% และจำหน่ายภายในประเทศ 30% มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศประมาณ 20%

หากย้อนไปในปีที่เกิดภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะช่วงเกิดเอลนิโญ ทำให้ผลผลิตอ้อยออกมาน้อย ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลงหลายสิบล้านตัน จากเดิมกลุ่มมิตรผลเคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 4 ของโลก ตกไปอยู่อันดับที่ 5 และปีที่ผ่านมาด้วยวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่ และแนวทางโมเดิร์นฟาร์ม ทำให้กลุ่มมิตรผลกลับมาอยู่อันดับที่ 4 ของโลกอีกครั้ง และเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

โดยหลักการจัดการตามแบบโมเดิร์นฟาร์ม ถือเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการไร่อ้อย เกิดจากการศึกษาวิธีการผลิตการทำไร่อ้อยในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดในโลก

จากนั้นนำเทคนิคและความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับประเทศไทย โดยมีทฤษฎี 4 เสาหลัก ที่มีน้ำเป็นฐานที่สำคัญ ประกอบด้วย การปลูกพืชบำรุงดิน ลดการไถพรวน ลดการอัดหน้าดิน และลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด ขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำไร่อ้อย ทั้งความรู้ที่ถูกต้องทั้งด้านวิชาการ แปลงสาธิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างระบบฟาร์มอัจฉริยะเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ ระบบการจัดการน้ำในไร่ ซึ่งเป็นการสร้างวิถีการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์จากการจัดการไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากลดการบดอัดของชั้นหน้าดิน สามารถลดต้นทุนการผลิตลงกว่า 25% จากเดิมอยู่ที่ไร่ละ 8,000 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 5-6 พันบาท และสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรมด้วย

“นายบรรเทิง” กล่าวอีกว่า กลุ่มมิตรผลยังส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยยกระดับภาคการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอ้อยของไทยสู่สากล

ในการส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้ Bonsucro นั้น กลุ่มมิตรผลได้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรวมแปลง ไร่ละ 700-1,000 บาท ในการรื้อหินและตอซังอ้อยเดิมออกจากแปลง โดยในแต่ละปีใช้งบฯราว 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ให้ฟรีกับเกษตรกร ในขณะที่งบฯส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ผ่านมา ทั้ง 7 โรงงาน อยู่ที่ราว 7,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลตั้งเป้าหมายที่จะได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ไว้ที่ 400,000 ไร่ ภายในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถผลิตน้ำตาลดิบภายใต้มาตรฐาน Bonsucro ได้ถึง 600,000 ตัน

ขณะเดียวกัน ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล สามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่โคนถึงยอด โดยที่ยอดนั้นนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักดิน ส่วนลำต้นหลังจากหีบสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ และส่วนโคนต้นและเหง้าสามารถนำมาทำปุ๋ย และส่วนที่เหลือจากการกลั่นเอทานอลยังเป็นสารปรับปรุงดิน โดยกลุ่มมิตรผลได้มีพัฒนาต่อยอดทางด้านนวัตกรรม จนสามารถช่วยในการปรับปรุงดิน ซึ่งจะถูกนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริม ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยที่ไม่ต้องทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง และนับเป็นกระบวนการแบบ zero waste

“นายบรรเทิง” กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันจะมีกระแสสังคมในเรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาล ส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลถูกลง จึงเกิดเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรให้อ้อยที่เป็น core value ของกลุ่มมิตรผล จะสามารถพัฒนาเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น

กลุ่มมิตรผลมีศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย (RDI-Research Development and Innovation) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่ม productivity และ value ad-der ให้กับอ้อย ขณะเดียวกันเป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจ ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลได้ร่วมทุนกับบริษัท Dynamic Food Ingredients (DFI) สหรัฐอเมริกา วิจัยสารให้ความหวานจากแป้งหรือน้ำตาลที่มีแคลอรีต่ำ 2 ชนิด คือ อีริทริทอล (Erythritol) และไซลีทอล (Xylitol) โดยใช้วัตถุดิบจากพืชเกษตรที่ปลูกในเมืองไทย

และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้กลุ่มมิตรผลมีความสนใจจะเข้าไปลงทุน โดยจะนำน้ำตาลที่มีอยู่แล้วไปต่อยอดหรือเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ ไบโอพลาสติก ฟาร์มาซูติคอล และการผลิตสารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำ อย่างอีริทริทอล และไซลิทอล ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา

และโครงการที่จะลงทุนในอีอีซี ถือเป็นโครงการไม่ใหญ่ และมีมูลค่าไม่สูงมาก คาดว่าในอีก 5 ปี จะเห็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาสู่ตลาด

“นายบรรเทิง” กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนนั้น กลุ่มมิตรผลมีแผนที่จะลงทุนใหม่นอกจากโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่ จ.อำนาจเจริญ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในพื้นที่ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้างและเปิดโรงงานแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาข้อมูลการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เหมือนเอาตลาดไปอยู่ใกล้กับผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศนั้น กลุ่มมิตรผลมีแผนจะไปร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซียในการปรับปรุงโรงงานนํ้าตาลและปลูกอ้อย ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ในอาเซียนของกลุ่มมิตรผล โดยผู้ร่วมทุนมีโรงงานและพื้นที่อยู่แล้ว และกลุ่มมิตรผลจะเข้าไปส่งเสริมเรื่องการปลูกอ้อย การทำโมเดิร์นฟาร์ม เพื่อขยายพื้นที่ต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4  ธันวาคม 2560

น้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์จัดประเพณีโยนอ้อย เข้มขนส่งอ้อยเข้าโรงงานตามแนวทาง คสช.

กาฬสินธุ์ - โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์นำส่วนราชการและชาวไร่อ้อยจัดประเพณีโยนอ้อยฤดูกาลเปิดหีบ 2560/61 กำชับเข้มแนวทางปฏิบัติการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานตามแนวทาง คสช. คาดผลผลิตมากถึง 3.8 ล้านตัน เงินสะพัดถึงมือเกษตรกร 4 พันล้านบาท

วันนี้ (4 ธ.ค. 60) ที่โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์, พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์, นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ นายอำเภอกุฉินารายณ์, นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผอ.โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานอ้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยส่วนราชการ และเกษตรกรสมาคมชาวไรอ้อย ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีโยนอ้อย ถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในวันเปิดฤดูกาลหีบอ้อยประจำปีการผลิต 2560/61

กิจกรรมในงานยังมีการมอบรางวัลให้แก่เกษตรกรและคนขับรถบรรทุกอ้อยที่มีผลผลิตสูงและปฏิบัติตามกฎระเบียบ พร้อมรณรงค์ใช้สายรัดก้อนอ้อยป้องกันการตกหล่น และรณรงค์ให้เกษตรกรชาวไร่ตัดอ้อยสด สะอาด ยอดสั้น คีบอ้อยสะอาด ปราศจากดินทรายและสิ่งเจือปน

นายทวีป ทัพซ้าย ผู้อำนวยการด้านอ้อย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ประเพณีโยนอ้อยนั้น ทางโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ได้ร่วมกับชาวไร่อ้อยจัดขึ้นทุกปี เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยว่าการเปิดหีบอ้อยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยปีนี้คณะกรรมการบริหารตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ได้อนุญาตให้โรงงานเปิดหีบได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560

นอกจากจะรณรงค์ให้เกษตรกรตัดอ้อยสด สะอาด ยอดสั้น คีบอ้อยสะอาด ปราศจากดินทรายและสิ่งเจือปนมาเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว ทางโรงงานยังได้รณรงค์ให้เกษตรกรรวมกลุ่มจัดรูปแปลงอ้อยจำนวน 50 ไร่ขึ้นไป จัดการแปลงอ้อยด้วยเครื่องจักร รักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการทำลายดินจากการเผาอ้อย ลดการใช้สารเคมี เน้นเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งปีนี้มีชาวไร่คู่สัญญาจำนวน 10,070 ราย คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงาน 3.8 ล้านตัน มีรถบรรทุกประมาณ 2,500 คัน ทำให้มีเงินสะพัดกลับคืนแก่เกษตรกรประมาณ 4,000 ล้านบาท

ด้าน พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การเปิดฤดูกาลผลผลิตอ้อยในปี 2560/61 ทาง กอ.รมน.กาฬสินธุ์เน้นย้ำและกำชับให้เกษตรกร คนขับรถบรรทุก ผู้ประกอบการโรงงาน และสมาคมชาวไร่อ้อย ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาลทรายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2561 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ผ่อนปรนจำนวน 20 ข้อของ คสช. และรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

โดยเฉพาะการใช้สายรัดก้อนอ้อยป้องกันการตกหล่น การบรรทุกอ้อยสูงไม่เกิน 3.80 เมตร การบรรทุกน้ำหนักตามกฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยการเคารพกฎจราจร จอดรถอย่างปลอดภัย ไม่เผาอ้อยใต้แนวสายไฟ และร่วมสนับสนุนส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยหยุดการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานในช่วงเทศกาลต่างๆ

จาก https://mgronline.com วันที่ 4  ธันวาคม 2560

คลังห่วงเงินเฟ้อต่ำเป้า-กระทุ้งกนง. ดันสู่เป้าหมาย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เรื่องการกำหนดกรอบเงินเฟ้อ เนื่องจากตามกำหนด ครม. ต้องอนุมัติก่อนสิ้นปีเพื่อเริ่มใช้กรอบเงินเฟ้อใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. 2561 ซึ่งกรอบเงินเฟ้อได้มีการรายงานให้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560 ทราบถึงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครึ่งแรกของปี 2560 ซึ่ง กนง. ประเมินว่าครึ่งปีแรกนโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและเอื้อให้แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น จึงยังมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นแต่สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กนง. ให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านกมาคือการพัฒนาการสื่อสารด้านนโยบายการเงินต่อสาธารณชน เพื่อสร้างความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบาย ติดตามพัฒนาการและประเมินความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกรอบการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนและศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ และติดตามการพัฒนาเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจควบคู่กับการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายระยะต่อไป

 “คลังเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 และ 2 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ ครม. อนุมัติซึ่งกำหนดกรอบเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.5% บวกลบ โดยปี 2558 อยู่ที่ -0.9% และปี 2559 อยู่ที่ 0.19% ครึ่งแรกปี 2560 อยู่ที่ 0.67% ซึ่งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุน จึงเห็นควรให้ กนง. พิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ภายในกรอบเป้าหมายในโยบายการเงิน และรายงานผลการพิจารณาแนวทางดังกล่าวให้ ครม. ทราบโดยเร็ว”

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 4  ธันวาคม 2560

เจาะลึก‘แอพพลิเคชั่น’ด้านดินและปุ๋ย ตอบโจทย์นโยบาย‘ไทยแลนด์4.0’

            ก้าวให้ทันเทคโนโลยีตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้มุ่งมั่นพัฒนาแอพพลิเคชั่นผ่านสมาร์ทโฟนในรูปแบบต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อให้หมอดินอาสาและเกษตรกรทั่วประเทศนำไปประยุกต์ในการสืบค้นข้อมูลด้านดิน

            สมโสตถิ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ว่า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลทำให้มีการพัฒนานวัตกรรมวิจัยด้านดินเป็นไปอย่างก้าวกระโดดเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหลายตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หมอดินอาสาที่อยู่ในพื้นที่นำไปใช้และถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรนำไปใช้แล้วกว่า 70%

            “เรามีแอพพลิเคชั่นโมบายหลายตัวที่เกษตรกรสามารถโหลดผ่านมือถือหรือสมาร์ทโฟน อย่างเช่น “Agri-Map Mobile” ซึ่งเปิดใช้ไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ตัวนี้ถือเป็นพระเอก เพราะมีข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต ดิน น้ำ พืช ข้อมูลด้านการตลาด ข้อมูลเกษตรกร และเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะมีการปรับปรุงตลอดเวลา”

            ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนด้านการผลิตสินค้าเกษตรภายในพื้นที่ ทำให้สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและการตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่ สถานการณ์ปัจจุบัน และช่วยในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             ในส่วนกรมพัฒนาที่ดินก็ได้จัดทำโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ หรือโมบายแอพพลิเคชั่น ให้คำแนะนำจัดการดินและปุ๋ยขึ้น 2 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ LDD Soil Guide ซึ่งนำเสนอแผนที่ดิน ข้อมูลดิน สมบัติดิน พร้อมคำแนะนำในการจัดการดิน ปุ๋ย ความเหมาะสมสำหรับพืชและข้อจำกัดต่างๆ ในเบื้องต้น และแอพพลิเคชั่น “ปุ๋ยรายแปลง” ที่เน้นให้คำแนะนำจัดการดินและปุ๋ยเมื่อมีการเก็บตัวอย่างดิน มีผลวิเคราะห์ดินเป็นรายแปลง โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง เป็นโปรแกรมช่วยตัดสินใจ ในการจัดการดินตามค่าวิเคราะห์ของดินตามพื้นที่ แสดงการจัดการดินเบื้องต้น รวมถึงชนิด ปริมาณ และเวลา ในการใส่ปุ๋ย

           โดยในการใช้งาน เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ใช้แอพพลิเคชั่น LDD Soil Guide ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ก่อน เพื่อให้ทราบสมบัติ ลักษณะของดิน ข้อจำกัด แนวทางจัดการดินและปุ๋ยของดินนั้นๆ หากหาแนวทางการจัดการดิน ปุ๋ยได้ตามต้องการ สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงในพื้นที่แล้วก็สามารถนำคำแนะนำนั้นไปปรับใช้ได้ทันที

           “นอกจากแอพพลิเคชั่น 2 ตัวนี้แล้วยังมีโปรแกรมปลูกหญ้าแฝก ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาขึ้นมา จนได้รับรางวัลหญ้าแฝกโลกที่ประเทศเวียดนามมาแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาและเรากำลังเชื่อมเครือข่ายให้เชื่อมกันทั่วโลก ในวันครบรอบกรมพัฒนาที่ดินเดือนพฤษภาคมปีนี้จะมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นทางด้านดินและปุ๋ยทุกตัวอย่างยิ่งใหญ่เพื่อสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลด้วย” ผอ.สมโสตถิ์กล่าวย้ำ 

            ขณะที่ ภิรมย์ แก้ววิเชียร หมอดินอาสาดีเด่นระดับชาติ ต.วังโตนด อ.นายายอาม จ.จันทบุรี เกษตรกรเจ้าของสวนพริกไทยส่งออก ยอมรับว่าผลพวงจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากเมื่อก่อนหากมีปัญหาต้องวิ่งไปหาเจ้าหน้าที่ แต่ปัจจุบันสามารถเปิดแอพพลิเคชั่นจากมือถือดูได้ทันที เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องดินและปุ๋ยหรือเกี่ยวกับการเกษตรก็จะสามารถสื่อสารผ่านไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กหรือค้นหาในแอพพลิเคชั่นของกรมพัฒนาที่ดินได้ตลอดเวลา

            “เดี๋ยวนี้มันง่ายครับแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็ทำได้ทุกอย่าง อยากจะรู้เรื่องอะไรก็รู้ได้โดยผ่านมือถือ ซึ่งมีทั้งกลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ก แอพพลิเคชั่นต่างๆ มากมายที่จะช่วยค้นหาคำตอบให้เราต่างจากเมื่อก่อนมาก” หมอดินอาสาคนเดิมระบุ 

          ไม่ปฏิเสธว่าผลสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนส่งผลให้หลายนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลบังเกิดผลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) หรือโซนนิ่ง โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อส่งเสริมสนับสนุน จูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนการผลิต

           จากการสำรวจข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) พบว่าในปีงบประมาณ 2559 มีการปรับเปลี่ยนการผลิตทั้งสิ้น 32,618 ไร่ ในพื้นที่ 49 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 10,502 ราย โดยในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมรวมทั้งสิ้น 3,930 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 950 ราย เมื่อปรับเปลี่ยนแล้วเกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 28.7 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 7,303 บาทต่อไร่ต่อปี เพิ่มจากเดิมที่มีผลตอบแทนสุทธิรวม 3.4 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 864 บาทต่อไร่ต่อปี โดยมีผลตอบแทนสุทธิรวมเพิ่มขึ้น 25.4 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 6,463 บาทต่อไร่ต่อปี

            ส่วนสินค้าชนิดใหม่ที่ผลิต ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน 2,220 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,470 ไร่ การผลิตอ้อยโรงงาน 145 ไร่ ปลูกหม่อน 55 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 30 ไร่ และเลี้ยงปลา 10 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก

            สำหรับปีงบประมาณ 2560 มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 157,701 ไร่ ในพื้นที่ 53 จังหวัด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 30,444 ราย ประกอบด้วย อ้อยโรงงาน 88,132 ไร่ เกษตรผสมผสาน 38,287 ไร่ พืชอาหารสัตว์ 20,767 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 5,427 ไร่ มันสำปะหลัง 2,439 ไร่ ประมง 2,061 ไร่ และหม่อน 588 ไร่

             ทั้งนี้ จากการประเมินผลในเบื้องต้น พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิต ได้ทราบถึงความเหมาะสมของการผลิตในพื้นที่ตนเอง ได้รับการสนับสนุนปัจจัยในการปรับเปลี่ยนการผลิต และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำในการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สศก.จะทำการประเมินผลลัพธ์ของโครงการปีงบประมาณ 2560 อีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 และจะนำเสนอผลการประเมินให้ทราบต่อไป

            จึงนับเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยให้ข้อมูลด้านการเกษตรสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และน่าจะได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อันจะเป็นการเสริมสร้างการบริหารจัดการด้านการเกษตรของไทย ให้มีความยั่งยืน สมดุลทั้งทรัพยากรน้ำ ดิน ผลผลิตทางการเกษตรในอนาคตต่อไป

  น้อมรำลึกในหลวงร.9 "รักษ์โลก รักษ์ดินสู่ความยั่งยืน"

         ในระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดงานวันดินโลก ปี 2560 ภายใต้สโลแกน "รักษ์โลก เริ่มจากรักษ์ดิน สู่ความยั่งยืน” (Caring for the Planet Starts from the Ground) ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

          สุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยรายละเอียดของการจัดงานครั้งนี้ เนื่องมาจากพระปรีชาสามารถด้านการจัดการทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นที่ประจักษ์และยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากล สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) และองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก" (World Soil Day) ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้จัดงานวันดินโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี

            ทั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรดินของประเทศ ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ทรงศึกษา วิจัย ทดลอง พัฒนา ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ขยายผลให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติด้วยวิธีการที่เรียบง่าย ประหยัด เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ผลสำเร็จของการพัฒนาเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในระดับสากล ก่อให้เกิดประโยชน์คุณูปการอเนกอนันต์แก่ปวงชนชาวไทย ซึ่งจะมีพิธีเปิดงานในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2560 เวลา 09.30 น. โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธาน

           ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ “ตามรอยพระราชปณิธาน ปราชญ์แห่งดิน” ประกอบไปด้วย นิทรรศการสหประชาชาติสดุดี นิทรรศการฟื้นฟูปฐพีด้วยพระปรีชาพ่อ นิทรรศการสานต่องานพ่อทำ และนิทรรศการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน นิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเสวนาวิชาการ การประกวดวาดภาพและสุนทรพจน์ระดับเยาวชน การแข่งขันตอบปัญหา กิจกรรมสาธิตและฝึกปั้นภาชนะจากดิน กิจกรรมนั่งรถพ่วงชมแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ แปลงปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามพระราชดำริด้วย

 กว่าจะเป็น“วันดินโลก”

            วันดินโลก ถูกกำหนดขึ้นตามมติขององค์การสหประชาชาติ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2556 ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก และกำหนดให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดิน ต่อการพัฒนาด้านการเกษตร โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

         ส่วนการกำหนดให้วันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมนั้น สืบเนื่องจากการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา ครั้งที่ 17 เมื่อปี 2545 ทางสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการปกป้องและพัฒนาทรัพยากรดิน ซึ่งประกอบด้วย โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โครงการหญ้าแฝก โครงการแกล้งดิน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย และโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ เป็นต้น

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 4  ธันวาคม 2560

คลังอนุมัติกรอบเงินเฟ้อปีหน้า1-4%

คลังเห็นชอบกรอบเงินเฟ้อ ปี 2561 ตามที่ ธปท. เสนอระดับ 1-4% เชื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจขยายได้เต็มศักยภาพ 4-5%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ได้เห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะดูแลการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2561 ตามที่ ธปท. เสนอมา คือ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือ ช่วง 1-4% ซึ่ง ธปท. ยืนยันกับกระทรวงการคลังว่ายังเป็นระดับที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 4-5% อย่างที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

นอกจากนี้ ธปท. ได้ยืนยันกับกระทรวงการคลังว่าระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 2561 จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ หลังจากที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายมาต่อเนื่อง 3 ปี เนื่องจากตอนนี้ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีการฟื้นตัวขึ้น ในส่วนของการค้าขายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยอย่างเห็นได้ชัด การส่งออกที่ขยายตัวได้มาก และการลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มขยายตัวจากความเชื่อมั่นการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนอย่างรวดเร็ว และมีมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2561 ทาง ธปท. จะคงระดับไว้ที่ 1.5% เหมือนเดิม เพราะเห็นว่าเป็นระดับที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพดีอยู่ การจะปรับอัตราดอกเบี้นนโยบายของ ธปท. จะดูเรื่องปัจจัยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐเป็นสำคัญ เพื่อดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้าออกไม่ให้เกิดความผันผวนกับการลงทุนและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

"กระทรวงการคลังไม่ต้องการให้ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะตอนนี้เศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ต่อเนื่องเต็มศักยภาพที่ 4-5% อย่างช้าในปี 2561 หาก ธปท. มาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ เศรษฐกิจจะชะงักทันที ซึ่งที่รัฐบาลพยายามทำมาในการประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องก็จะพังลงทันที" แหล่งข่าวกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 4  ธันวาคม 2560

คาดเงินบาทสัปดาห์หน้าแกว่ง 32.50-32.80 บาท/ดอลล์

ธนาคารกสิกรไทย คาดค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.80 บาท/ดอลลาร์ สั่งจับตาแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ

 ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท ระหว่างวันที่ 4 - 8 ธันวาคม 2560 โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยคงต้องติดตามสัญญาณเกี่ยวกับการผลักดันแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคบริการ และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนธ.ค. และยอดสั่งซื้อของโรงงาน สต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนต.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามรายงานดัชนี PMI ของประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนใกล้ๆ ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนอ่อนค่าลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันเงินดอลลาร์ จากความไม่แน่นอนของแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐ อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยลดช่วงบวกลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ ที่กลับมาได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาดีเกินคาด เช่น จีดีพีไตรมาส 3 ที่มีการปรับทบทวนเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ ก่อนผลการพิจารณาแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐของวุฒิสภา

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 ธันวาคม 2560

ยืด2เดือนลอยตัวน้ำตาล

ชงรัฐยืดเวลาลอยตัวนํ้าตาลอีก 2 เดือน คาดเต็มรูปแบบปลายม.ค.61 รอระเบียบก.ม.ออกมารองรับ ชี้หลังลอยตัวราคาหน้าโรงงานไม่น่าเกิน 19 บาทต่อกิโลกรัม ลั่นต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ผู้ใช้นํ้าตาลห่วงผลกระทบ 4 ด้าน “มิตรผล” ยันนํ้าตาลไม่ขาด ชาวไร่มั่นใจไม่กระทบราคาอ้อย

หนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” จัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม “การเปลี่ยนผ่านระบบอ้อยและนํ้าตาลไปสู่การลอยตัว” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุมกองบรรณาธิการ ชั้น 25 อาคารเล้าเป้งง้วน 1 ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อประมวลภาพความพร้อมจาก แต่ละภาคส่วนจากตัวแทนโรงงานนํ้าตาล ชาวไร่อ้อย กลุ่มผู้ใช้นํ้าตาลรวม ถึงสำนักบริหารอ้อยและนํ้าตาลทราย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศให้มีการลอยตัวราคานํ้าตาล พร้อมยกเลิกระบบโควตา โดยให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและนํ้าตาลทราย กล่าวถึง ความพร้อมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลอยตัวราคานํ้าตาลว่า ขณะนี้คณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย มีมติเรื่องระเบียบ 4 ฉบับ ที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามพันธะ สัญญาองค์การการค้าโลก(WTO) คือ 1. ยกเลิกโควตานํ้าตาลโควตาก. (นํ้าตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (นํ้าตาลดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทยฯ) และโควตา ค. (นํ้าตาลดิบหรือนํ้าตาลทรายที่ส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาล) เป็นที่แน่นอนแล้ว 2.ปล่อยลอยตัวราคานํ้าตาล 3.การคิดราคาอ้อยโดยนำกติกาต่างๆ ในการคำนวณราคาอ้อยแบบใหม่มาใช้ 3.ระเบียบว่าด้วยการส่งออกนํ้าตาลไปยังต่างประเทศภายใต้กติกาใหม่ ทั้งหมดนี้ผ่านคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (กอน.) แล้ว ดังนั้นวันนี้เหลือแต่กระบวนการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอเข้า ครม. กฤษฎีกาตรวจร่างระเบียบ เมื่อครม. เห็นชอบก็ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ออกมาถึงจะใช้ได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่า นี้ยังอยู่ในกระบวนการ

“กระบวนการต่างๆ ได้ผ่านไประดับหนึ่งแล้วและคิดว่าระเบียบปฏิบัติคงออกไม่ทัน วันที่ 1 ธันวาคมนี้แต่นโยบายบอกว่าให้เริ่มลอยตัววันที่ 1 ธันวาคมนี้ ที่จะต้องมีระเบียบกฎหมายออกมารองรับ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเกิดการลอยตัวเต็มรูปแบบน่าจะใช้เวลาอีกราว 2 เดือนหรือราวปลายเดือนมกราคม นับจากนี้ไป ดังนั้นวันที่ 1 ธันวาคมนี้ราคานํ้าตาลยังไม่สามารถลอยตัว จนกว่าระเบียบปฏิบัติจะเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเสนอให้ภาครัฐและประชาชนรับทราบถึงเงื่อนเวลาที่พร้อมลอยตัวในเร็วๆ นี้”

++ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อน

 นอกจากนี้กรณีที่กลุ่มผู้ใช้นํ้าตาลต่างวิตกกังวลว่า หลังราคานํ้าตาลลอยตัวจะทำให้ราคา นํ้าตาลมีความผันผวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ในกระบวนการก็มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์และโรงงานนํ้าตาลอยู่ และคิดว่าประเทศไทยยังต้องกินนํ้าตาลถูกที่สุดในโลกเหมือนเดิม ก็ขอให้สบายใจได้ ถึงวันนี้ราคานํ้าตาลลอยตัวก็เชื่อว่าราคาหน้าโรงงานไม่น่าจะเกิน19 บาทต่อกิโลกรัม เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกภาคส่วนมีการหารือกันว่าหากราคาสูงเกินไปเราก็จะไม่ขายสูงเกินไป แม้ว่าจะมีการลอยตัว แต่ในความเป็นจริงจะต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน จะต้องขายในราคาที่เหมาะสม

++ผู้ใช้นํ้าตาลห่วงข้อกังวล4ด้าน

 นายปิยวงศ์ ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจริญ อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตผลไม้อบแห้ง กล่าวในฐานะผู้ใช้นํ้าตาลว่า มี 4 ด้าน ที่เป็นข้อกังวลหลังราคานํ้าตาลลอยตัว ประการแรกคือข้อกังวลในเรื่องปริมาณ เพราะเวลาที่บริษัทติดต่อกับลูกค้า หรือกับห้างในต่างประ เทศ จะดีลกันตอนต้นปีว่าเราจะส่งของให้ลูกค้าในปริมาณเท่าไร แล้วเราก็ต้องตกลงที่ปริมาณนั้นไว้ ตลอดปี แต่ถ้าเกิดมีการขาดแคลน นํ้าตาลในประเทศขึ้นมา ก็จะทำให้เราไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งทางห้างคู่ค้าจะมาปรับเงินกับผู้ผลิต หรือถ้าสินค้าขาดตอนไปนานๆ ห้างเหล่านั้นสามารถดึงสินค้าออกจากเชลฟ์ได้

ประการที่ 2 มีความกังวลมาก หากราคานํ้าตาลมีราคาขึ้น-ลงแรงๆ เพราะบริษัททำสัญญาซื้อขายกับลูกค้าไว้ก่อนแล้วตลอดปี โดยขายสินค้าในราคาเดียวที่ตกลงกันไว้ทั้งปี ฉะนั้นในระหว่างปีถ้าราคานํ้าตาลมีการเหวี่ยงขึ้นหรือเหวี่ยงลงแรงๆ ก็มีผลกระทบต่อต้นทุนเราแน่นอน

ประการที่ 3 สูตรคำนวณราคานํ้าตาลอยากให้เป็นสูตรที่ตายตัวเหมือนการคิดราคานํ้ามัน คือนํ้ามันจะมีมูลค่านํ้ามันในตลาดโลกบวกกับค่าการตลาด ฉะนั้นถ้า เรามีสูตรตายตัวในการคิดราคานํ้าตาลจะทำให้ผู้ผลิตเวลาคิดต้นทุนตอนต้นปี เวลาไปคุยกับลูกค้าก็จะประมาณการได้ง่ายกว่า

 ประการที่ 4 มีความกังวลเรื่องคุณภาพนํ้าตาล โดยมองว่าเวลาที่ราคานํ้าตาลสูง ก็ไม่น่าห่วงเรื่องคุณภาพนํ้าตาลแต่ในเวลาที่ราคานํ้าตาลโลกตํ่าลงก็น่าเป็นห่วงเรื่องคุณภาพนํ้าตาล เพราะผลผลิตจะออกมาไม่มี หรือนํ้าตาลที่ออกมามีหลายคุณภาพ

ต่อเรื่องนี้นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัด การสายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่ม มิตรผลกล่าวว่า บริษัทเป็นห่วงความ เข้าใจของลูกค้านํ้าตาล เนื่องจากที่ผ่านมายังคุ้นชินกับระบบจำหน่ายนํ้าตาลแบบโควตา มีการส่งมอบทุกสัปดาห์ หากลอยตัวจึงมีความกังวลกับราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งกังวลเรื่องปริมาณนํ้าตาลจะเพียงพอขายในประเทศหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าไม่ต้องกังวล เนื่องจากกำลังการผลิต 10-11 ล้านตัน แต่บริโภคในประเทศเพียง 2.5 ล้านตัน มีเหลือส่งออก 7 ล้านตัน

 อีกทั้งมีข้อตกลงให้ทุกโรงงานมีการตั้งสำรองนํ้าตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) ไว้ 10% ของ ปริมาณนํ้าตาลที่ขายในประเทศ ก็ประมาณ 2.5-3 แสนตันนํ้าตาล หรือราว 25,000 ตันต่อเดือน ที่ทุก ค่ายจะต้องจัดสรรมาสต๊อกไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินสำหรับรองรับภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมภาย ในประเทศให้เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องมีสต๊อกไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

 ด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต7และสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะตัวแทนชาวไร่อ้อยว่า การลอยตัว ถ้าในแง่ชาวไร่อ้อยนั้น ถ้าเรามองให้เข้าใจในการลอยตัว การกำหนดราคานํ้าตาลภายในประเทศ ถือว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับเรื่องราคาอ้อยภายในมากนัก เพราะโดยกลไก การกำหนดราคา เรามีกฎหมายอ้อยและนํ้าตาลทรายในการกำหนดร่วมกัน ระหว่างชาวไร่อ้อย โรงงาน และภาคราชการ ฉะนั้นต้องบอกว่า ที่มารายได้ของนํ้าตาล ที่ขายภายในประเทศ มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

“ปัจจุบันจะเห็นว่านํ้าตาลที่ผลิตในประเทศ ถ้าเป็น 5 ส่วน เราบริโภคภายในประเทศเพียง 1 ส่วน ดังนั้นการกำหนดราคาที่มาของรายได้ ที่มากำหนดเป็นราคาอ้อย จะถูกเทไปทางรายที่เกิด จากการส่งออกเป็นหลัก ฉะนั้นกลไกเรื่องของราคานํ้าตาลในตลาด โลกก็เป็นตัวที่จะนำมากำหนดราคาอ้อยเป็นหลัก หรือถ้ามองเป็นสัดส่วนจะเห็นว่า ปริมาณนํ้าตาลทั้งหมดมี 10 ล้านตัน 7-8 ล้านตันส่งออกและขายในประเทศ 2.5 ล้านตันแล้วแต่อัตราการบริโภคในประเทศในแต่ละปี”

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 2 ธันวาคม 2560

ไทยมีลุ้นสหรัฐฯ ต่ออายุโครงการ GSP ทันปีนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้าการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร( GSP) สหรัฐฯ ที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะประกาศต่ออายุโครงการ GSP ได้ทันก่อนโครงการปัจจุบันจะสิ้นสุด และจะมีผลทำให้การใช้สิทธิพิเศษฯ GSP ของสินค้าส่งออกไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ มีความต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะประธานกลุ่ม GSP Alliance ว่าได้เข้าร่วมกับผู้แทนประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ GSP (ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา เอกวาดอร์ อียิปต์ โบลีเวีย และฟิลิปปินส์) พบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมาธิการต่างๆ ของรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และทราบว่าฝ่ายสหรัฐฯ น่าจะผนวกกฎหมายการต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP เป็นในรูปแบบ “Large trade package” โดยอาจรวมอยู่กับ Miscellaneous Tariff Bill Act of 2017” ที่มีกำหนดประกาศภายในสิ้นปี 2560 นี้

ดังนั้น การต่ออายุโครงการ GSP มีความเป็นไปได้สูงที่จะประกาศภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ก่อนที่โครงการ GSP ปัจจุบันจะหมดอายุลง สำหรับระยะเวลาการต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP กลุ่ม GSP Alliance อยากให้มีการต่ออายุเป็นเวลา 3 ปีนั้นยังคงไม่มีความชัดเจน

เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่แน่ใจว่าจะหางบประมาณจากส่วนไหนมาสนับสนุนการให้สิทธิพิเศษฯ GSP ได้นานถึง 3 ปี อย่างไรก็ตามจะต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าจะพิจารณาการต่ออายุโครงการได้นานเท่าใด

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษฯ GSP แก่ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดทั้งหมด 120 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย โดยให้สิทธิพิเศษฯ GSP สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 3,500 รายการ เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง และอาหารปรุงแต่ง เป็นต้น ซึ่งในปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิพิเศษฯ มากเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20.05 ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 15,453.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับประเทศที่มีการใช้สิทธิพิเศษฯ GSP สูง 5 อันดับแรก คือ1. อินเดีย มูลค่า 4,065.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนแบ่งการใช้สิทธิ GSP 26.31 % 2. ไทย 3,098.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 20.05% 3. บราซิล 1,818.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 11.77 % 4. อินโดนีเซีย 1,397.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 9.04% 5. ตุรกี 1,189.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 7.70%

ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ควรเร่งการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษฯ GSP ที่เป็นแต้มต่อที่ได้รับอยู่ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดที่ให้สิทธิพิเศษฯ GSP ให้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

นำร่องโรงงานอุตสาหกรรม 50 แห่งใช้ “เอเนอร์ยี่ ชาร์ต” ตั้งเป้าเซฟพลังงานไฟฟ้า 11.6 ล้านหน่วย/ปี

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. จัดทำโครงการนำร่องการอนุรักษ์พลังงานในกระบวนการผลิตด้วยแผนผังพลังงาน (เอเนอร์ยี่ ชาร์ต : Energy Chart) แก่ผู้ประกอบการโรงงานควบคุม 50 แห่ง ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เคมี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางและพลาสติก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานจากการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า 11.6 ล้านหน่วยต่อปี หรือ 1 พันตันน้ำมันดิบ เทียบเท่า (Ktoe) ต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 46 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ 6,844 ตันต่อปี

ทั้งนี้ การดำเนินงานจะเป็นการให้คำปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรมในการพัฒนาและวิเคราะห์การอนุรักษ์พลังงานในกระบวนการผลิตด้วยแผนผังพลังงาน (เอเนอร์ยี่ชาร์ต) และต่อยอดสู่แนวทางการออกแบบโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อการอนุรักษ์พลังงานในอนาคต ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนด้านพลังงานแก่สถานประกอบการ และเป็นการลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

“ในการดำเนินการทาง พพ.จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมไปถึงการศึกษาและวิเคราะห์ด้วยแผนผังพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นภาพรวมของการใช้พลังงานในทุกกระบวนการ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากสามารถประเมินการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ตั้งแต่เริ่มต้นรับวัตถุดิบไปจนถึงเป็นสินค้าสำเร็จรูปและการจัดส่งสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานในกระบวนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายประพนธ์ กล่าว

นอกจากนี้ พพ. ยังมีแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า ภายใต้โครงการให้คำปรึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า (อิเล็กทริก ฟาซิลิเตเตอร์) ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการปรับปรุงอุปกรณ์และมีการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพแก่บุคลากรโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 60 แห่ง ผ่านการปฏิบัติหน้างานจริง เพื่อให้บุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เกิดการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายประหยัดพลังงานรวมทุกแห่งไม่น้อยกว่า 1 พันตันน้ำมันดิบเทียบเท่าต่อปี

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ช่วงหวาน “น้ำตาลบุรีรัมย์” 2 ปีรายได้ทำสถิติใหม่

ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกด้วยปริมาณ 10-11 ล้านตันต่อปี รองจากประเทศบราซิลที่ส่งอออกน้ำตาลอันดับ 1 มากถึง 30 ล้านตันต่อปีในฐานผู้เล่นในตลาดโลกที่สำคัญจึงทำให้หุ้นในกลุ่มน้ำตาลหอมหวานไม่น้อย

ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกจากลงไปต่ำสุดที่ 13.50 เซ็นต์ต่อปอนด์  ช่วงนี้สามารถขึ้นมายืนเหนือ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ บวกกับการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนธ.ค.จนถึงเม.ย. ปี 2561 ทำให้แต่ละโรงเริ่มออกมาคาดการณ์ปริมาณน้ำตาลในปีหน้ากัน

นอกจากจะนำอ้อยมาผลิตเป็นน้ำตาลแล้วเกือบจะทุกโรงงานจะมีชานอ้อยเหลือจำนวนมากจึงเป็นที่มาทำให้เพิ่มรายได้ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลขายให้กับการไฟฟ้า และยังมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าปลายน้ำด้วยการแปรรูป (Refined Sugar) เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์   จำกัด (มหาชน) หรือ BRR หนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในภาคอีสานมี 34 โรง จากทั้งหมดทั่วประเทศ 50 กว่าโรง ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตน้ำตาล และนำส่วนที่เหลือของอ้อยไปทำโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์

โดยได้มีการต้องกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF ซึ่งนำรายได้จากการขายไฟฟ้าจากชีวมวลจำนวน 2 โรงเข้ากองทุน ไปเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกัน 19.8 เมกะวัตต์ ซึ่งได้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วกับการไฟฟ้าส่วนภุมิภาคมีผลตอบแทนกองทุน อยู่ที่ 6.5% ต่อปี

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนน้ำตาลบุรีรัมย์ มีรายได้ 5,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38 %  จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรที่ 581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกน้ำตาล 66% ในประเทศ 14% จากปุ๋ย 7% ขายไฟฟ้า 5% กากน้ำตาล 5% และอื่นๆ 3%

“ภัทรพงศ์  พงศ์สวัสดิ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เปิดเผยกับ Stock Gossip ว่าในปีนี้รายได้คาดจะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 4,685 ล้านบาท ซึ่งมีผลมาจากการพื้นที่ปลูกอ้อยที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.5 แสนไร่ ปริมาณอ้อยอยู่ที่ 2.8 ล้านตันทำให้มีปริมาณน้ำตาลที่ 3.3 แสนตัน

โดยได้คาดการณ์ว่าในปี 2561 จะมีปริมาณอ้อยแตะที่ 3 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ทำสถิติสูงสุดของบริษัทจากปริมาณน้ำตาลทั้งหมดได้มีการขายล่วงหน้าไว้แล้ว 70% สำหรับการส่งออก ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 30% ได้ขายในราคาสูงกว่า 19 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากเป็นการาขายในช่วงที่ราคาน้ำตาลยังไม่ได้ปรับลดลง

นอกจากนี้ยังคาดว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกน่าจะทรงตัวที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ปัจจัยสำคัญมาจากประเทศบราซิลเริ่มนำอ้อยไปผลิตเอทานอล ทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกหายไป ซึ่งยังมีแนวโน้มว่าปีหน้าจะนำไปผลิตเอทานอลมากขึ้น ส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกน่าจะดีขึ้นด้วย มองสิ้นปี 2560-2561 คาดจะยืนอยู่ที่ 15-17 เซ็นต์ต่อปอนด์

ส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าได้ทำไปแล้ว 2 โรง ทุกโรงกำลังผลิตอยู่ที่ 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากนำรายได้โรงไฟฟ้า 2 โรงแรกขายให้กับกองทุน BRRGIF ได้เงินมา 3,600 ล้านบาท ทางบริษัทยังเหลืออีก 1 โรงที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จและกำลังรอภาครัฐประกาศประมูล

จากเม็ดเงินที่ได้มาจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน BRRGIF ทำให้บริษัทเริ่มมองการเพิ่มรายได้ จากโครงการใหม่ๆ ซึ่งจะมีการเสนอคณะกรรมมการในเดือนธ.ค.นี้ และจะเดินหน้าลงทุนปีหน้ามีทั้งการสร้างโรงแปรรูป   และโรงงาน้ำตาลทรายขาว ซึ่งประเมินว่าแต่ละโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท ส่วนนี้จะเพิ่มรายได้ในปี 2561 น่าจะเพิ่มขึ้นและยังเป็นปีที่ดีสำหรับบริษัท

อย่างไรก็ตามประเด็นการลอยตัวน้ำตาลยังไม่มีการประกาศจากภาครัฐอย่างเป็นทางการ แต่หากใช้จริงเป็นการยกเลิกระบบโควต้าของโรงงานน้ำตาล ทำให้ทุกโรงมีสิทธิขายได้หมดข้อเสียคือการขายในประเทศก็จะยากขึ้น แต่ข้อดีคือ ความยึดหยุ่นในการบริหารเพราะราคาส่งออกและขายในประเทศจะเท่ากัน

เนื่องจากที่ผ่านมาราคาเดิมมีการควบคุมและต้องมีการหักเงิน 5 บาท จากการขายเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล แต่เมื่อมีการลอยตัวราคาขายจะวิ่งตามราคาน้ำตาลขาวในตลาดโลก ที่ตลาดลอนดอน

“ส่วนของประชาชนต้องเตรียมรับมือกับราคาน้ำตาลที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงได้ในอนาคต หากมีการประกาศลอยตัวน้ำตาลแล้ว ส่วนลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเพราะมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการต้นทุนน้ำตาลได้อยู่แล้ว”

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พด.จัดยิ่งใหญ่งาน‘วันดินโลก’ปี’60

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เตรียมจัดงานวันดินโลกประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2560 ในหัวข้อ “Caring for the planet starts from the ground” : “รักษ์โลก เริ่มจากรักษ์ดิน สู่ความยั่งยืน” ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการ “สหประชาชาติสดุดี” แสดงภาพเหรียญรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยนานาประเทศ โดยเฉพาะเหรียญนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม หรือ Humanitarian Soil Scientist และภาพความเป็นมาของ

 วันดินโลก 5 ธันวาคม, นิทรรศการ “ฟื้นฟูปฐพีด้วยพระปรีชาพ่อ” โดยการแสดงแบบจำลองสภาพพื้นที่ก่อนและหลังมีโครงการพระราชดำริ รวมทั้งแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการพัฒนาที่ดินของไทย โดยแสดงแบบจำลองของพื้นที่ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ดินทรายจัดที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการพัฒนาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมที่ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, นิทรรศการ“สานต่องานพ่อทำ” แสดงภาพโปสเตอร์และแบบจำลองงานพระราชดำริและพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อแสดงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9, นิทรรศการ“น้อมนำสู่ความยั่งยืน” แสดงผลงานตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปปรับใช้จนเกิดความยั่งยืน รวมทั้งบอร์ดนิทรรศการของหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการการดำเนินงานในพื้นที่ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนาทางวิชาการต่างๆ รวมถึงการจัดการสาธิตกิจกรรมเด่นๆ ของชุมชน เช่น การปั้นโอ่ง การทอผ้า เป็นต้น การจัดตลาดนัดสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ยังมีการประกวดแข่งขันต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมนำชมสถานที่สำคัญภายในศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พลิกภาคเกษตรสู่การปฏิรูป เดินหน้าดันเกษตรกรรายย่อย ก้าวข้ามสู่ยุค‘4.0’เต็มรูปแบบ

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีความก้าวหน้าในการทำการเกษตร มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดสู่เกษตร 4.0 ได้รวดเร็ว แต่สำหรับเกษตรรายย่อยที่มีอยู่จำนวนมาก ยังไม่สามารถก้าวข้ามเกษตร 2.0 ไปได้ จำเป็นต้องมีแนวทางและนโยบายในการพัฒนาเฉพาะ

สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรสู่เกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีที่มาจากพื้นที่ทางการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้วางรากฐานการทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในภาคการเกษตรควบคู่กับการใช้ศาสตร์พระราชามาเป็นภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

ทั้งนี้ ตัวอย่างการนำวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่ และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตลอด Supply Chain ได้แก่ โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อย มารวมกลุ่มรวมพื้นที่กันทำการเกษตรภายใต้การบริหารจัดการปัจจัยการผลิต การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกล และการวางแผนการผลิตร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โครงการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไปปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยการทำ Zoning จากแผนที่ Agi-Map ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน อาทิ GAP และเกษตรอินทรีย์ และโครงการจัดตั้งศูนย์เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากญี่ปุ่นในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการทำการเกษตรในประเทศไทยโดยจะทดลองใช้กับพืชสำคัญก่อน คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่ไปกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงให้เกษตรกรจากสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“กรมน้ำบาดาล“เปิดเวทีถกจัดระเบียบ”โรงแป้งมัน-น้ำตาล” ยกระดับอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช นายจรัสชัย  โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานพิธีเปิดโครงการศึกษาการใช้น้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาอนุรักษ์น้ำบาดาลในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีผู้แทนภาครัฐและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตแป้งมันสำปะหลังและกลุ่มผลิตน้ำตาล เครือช่วยประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น จำนวน 100 คน รับฟังการชี้แจงรายละเอียดจากตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายจรัสชัยกล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปริมาณน้ำผิดดินมีอยู่อย่างจำกัดและบางส่วนยังปนเปื้อน จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำผิวดินได้ ภาคอุตสาหกรรมจึงใช้น้ำใต้ดินมาใช้เสริม หรือทดแทนน้ำผิดดินกันมากขึ้น จึงต้องกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร ท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน รวมถึงนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งน้ำสำรอง บรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ด้านนายไพสิทธิ์  ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงระยะเวลาการดำเนินโครงการ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 สิ้นสุดเดือนตุลาคม 2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภารการใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตแป้งมันสำปะหลังและผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่และใช้น้ำเป็นองค์ประกอบของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ จึงต้องบริหารจัดการโรงงานให้สอดคล้องกับระบบเชิงนิเวศร่วมกบเทคโนโลยีสะอาดประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ตลอดจนการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการการทรัพยากรน้ำ

ขณะที่ น.ส.พรรัตน์  เพชรภักดี ผู้อำนวยการสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่น ถือเป็น 1 ใน 15 พื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Factory) ให้สามารถรองรับการเติบโตและก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของ SMART CITY / Eco Industrial Town ได้ในอนาคต ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการเติมเต็มความยั่งยืนให้แก่พื้นที่ภายใต้แนวคิดการพัฒนา “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม”

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560