http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนธันวาคม 2562)

ผู้ตรวจฯเร่งแบน 3 สารตามกำหนด 1 ม.ค.63 แต่เปิดช่องขอขยายเวลาได้

ผู้ตรวจการแผ่นดิน เร่งรัดแบน 3 สาร ครบกำหนด 1 ม.ค.63  ยอมรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถขอขยายเวลาได้ แต่ต้องมีเหตุผล อย่าอ้างเวลาเพราะเตือนมาแล้วหลายครั้ง ชี้ควรแบนในส่วนของสารที่สามารถทำได้ทันที

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนแบน 3 สารพิษออกไปเป็นเดือนมิถุนายน 2563  ขณะที่ผู้ตรวจฯ มีมติให้แบน 3 สาร คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 1 ม.ค.2563 ว่า เรื่องนี้มีเวลา 13 เดือนในการเตรียมการ ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐไปดำเนินการตามขั้นตอนที่ผู้ตรวจฯ ให้คำแนะนำไปก็จะไม่เกิดผลเสียหายเช่นนี้ ซึ่งการประชุมผู้ตรวจฯเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา มีความเห็นว่า การนำเข้าสารพิษทั้ง 3 ตัวนี้ ปริมาณการนำเข้าตั้งแต่มิถุนายน 2562 ที่กรมวิชาการเกษตรบอกว่า ได้ยุติการออกใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งผู้ตรวจฯได้ตรวจพบว่ามีการแจ้งองค์การการค้าโลกทราบตั้งแต่เดือนตุลาคม

พล.อ.วิทวัส  กล่าวด้วยว่า ส่วนที่ระบุว่า เมื่อห้ามนำเข้าไกลโฟเซตแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการปลูกถั่วเหลืองและต้องมีการนำเข้าจากประเทศบราซิล อเมริกา ซึ่งถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเป็นพืชจีเอ็มโอ เมื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารสำหรับคนและสัตว์แล้ว ผู้ตรวจฯ กังวลเพราะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องที่เกี่ยวกับอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ถ้าจะห้ามเรื่องไกลโฟเซตจะต้องไปกำหนดว่าหน่วยวัดที่เรายอมให้มีสารตกค้างของไกลโฟเซตมีแค่ไหนถึงก่ออันตราย รวมถึงจะต้องมีการปิดฉลากในผลิตภัณฑ์อาหาร ว่ามีการใช้ถั่วเหลืองที่มีการใช้สารไกลโฟเซตตกค้างกี่หน่วย  เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้และผู้บริโภคก็ต้องรับความเสี่ยงต่อไป

“ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภคจะรู้ว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วเป็นอันตราย  และต้องรับผิดชอบสุขภาพของตัวเอง ทางผู้ตรวจฯก็จะหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์  ที่จะต้องดูเรื่องการปิดฉลากผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ การดำเนินงานของกรมวิชา

การเกษตรที่มีการวิจัยการหาสารชีวพันธุ์ในแต่ละปีดำเนินการไปถึงไหน ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ผู้ตรวจฯจะขอความร่วมจากองค์อิสระอื่น เช่น สตง. ที่จะช่วยผู้ตรวจฯตรวจการใช้งบประมาณผลการทำงานในการใช้งบประมาณคุ้มค่าหรือไม่ และที่สำคัญได้ขอรายงานที่ประชุมของคณะกรรมการฯ 2 ครั้งที่ผ่านมาคือ 22 ตุลาคม และ 27 พฤศจิกายน  เพื่อมาพิจารณาว่าได้มีการดำเนินการด้วยความรอบคอบอย่างไร ซึ่งจะครบกำหนด 30 วันในเดือนมกราคม 2563"พล.อ.วิทวัส กล่าว

เมื่อถามว่า หน่วยงานสามารถขอขยายเวลาส่งรายงานได้หรือไม่ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า เขาก็มีสิทธิขยายได้  แต่ต้องมีเหตุพอสมควร  ส่วนการแบน 3 สารพิษมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยดูเป็นการกดดันรัฐบาล

เมื่อถามว่า ถ้าเป็นเช่นนี้มองว่าโอกาสที่จะแบนสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ในเมื่อพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส มีแนวโน้มที่จะแบนได้ แต่ต้องดูว่ากระบวนการที่นำไปสู่การแบนเป็นอย่างไร ซึ่งมติคณะกรรมการฯ มีการขยายการแบนถึงเดือนมิถุนายน  ซึ่งก่อนหน้านี้มีเสียงคัดค้านคณะกรรมการฯ ก็คงเกรงว่าภายใน 1 เดือนปริมาณสารพิษที่มีอยู่ในมือผู้นำเข้าหรือเกษตรกรจะทำลายอย่างไร  ซึ่งเห็นว่า ตั้งแต่ที่ออกมติมากรมวิชาการเกษตรต้องไปควบคุมให้ดีเมื่อถึงมิถุนายน 2563 แล้วต้องมีคำตอบ ไม่ใช่มาขอต่อรอง นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดีในการทำงานของข้าราชการที่จะมาต่อรองอยู่เรื่อย

ส่วนการควบคุมไกลโฟเซต  เป็นเหมือนทาง 2 แพร่ง ถ้าแบนก็ต้องมีหลักฐานทางการแพทย์มายืนยัน  ถ้าไม่แบนต้องมีมาตรการอย่างน้อยที่สุดต้องปิดฉลากว่าผลิตภัณฑ์อาหารมีสารไกลโฟเซตตกค้างอยู่กี่หน่วย  ถ้าถึงกำหนดแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขอขยายระยะเวลาอีก  ผู้ตรวจฯ ก็มีอำนาจที่จะส่งต่อไปยังองค์กรอิสระอื่นที่ลงโทษทางวินัยอาญาและแพ่ง

“ผู้ตรวจฯไม่ประสงค์จะไปใช้อำนาจเช่นนั้น  ต้องการให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอยู่ในขอบเขต  รวมถึงไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับองค์กรอิสระ พร้อมทั้งหวังว่า คำวินิจฉัยที่ออกไปแล้ว ถือว่าผู้ตรวจฯได้ช่วยทำงาน อย่างประเด็นที่บอกว่าห้ามใช้ในพื้นที่สูง หมายถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์โซนเอ  ผู้ตรวจฯเห็นว่าไม่มีการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าวแน่นอน  เป็นการเขียนไว้อย่างสวยหรู ซึ่งความเป็นจริงพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ด้านล่างและใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งสารมันกระจายไปทั่ว”พล.อ.วิทวัส กล่าว

ประธานผู้ตรวจ ยังกล่าวด้วยว่า การที่จะเอากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.มาร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจการใช้สารพิษแต่ละพื้นที่ ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ด้วยความเป็นพี่เป็นน้องมีความสัมพันธ์ในชุมชน จึงไม่มีทางไปตรวจสอบ  และการบังคับใช้กฎหมายเป็นหน้าที่ของท่านจะเอาคนเหล่านี้ไปช่วยตรวจฯคงทำไม่ได้เข้าใจว่าที่มีการขยายระยะเวลาแบนไปถึงเดือนมิถุนายนนั้น  อาจเป็นเพราะไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายใน  1 เดือน แต่ต้องทราบด้วยว่าผู้ตรวจฯได้ให้เวลาถึง 13 เดือนแล้วและได้มีการบอกขั้นตอนการดำเนินการด้วย  อย่างไรก็ตามหลังได้รับรายงานผู้ตรวจฯ ก็จะเชิญหน่วยงานมาหารือ ถึงเหตุผลที่ขอขยายเวลา รวมถึงตัวเลขปริมาณสารเคมีที่มีอยู่ ปริมาณการใช้แต่ละพื้นที่เพาะปลูก หากทำให้ละเอียดรอบคอบฝ่ายต่างๆก็คงจะเห็นด้วย

เมื่อถามว่า ส่วนที่ยังดำเนินการแบนไม่ได้  เป็นเพราะมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องหรือไม่  พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ทุกคนคงระวัง  คิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรู้ว่าตัวเองทำอะไรในตอนนี้  คงหนีไม่พ้น  เพราะข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งผู้ตรวจฯก็สามารถหาได้  และทุกภาคส่วนก็หาได้ เพราะอยู่ในโลกข้อมูล แต่ต้องระวัง ว่าสิ่งที่ท่านไม่ให้แล้วคนอื่นไปได้มาจากแหล่งอื่น  จึงอยากให้มาร่วมมือช่วยกันดีกว่า

จาก https://www.naewna.com วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

รักษ์เกษตร : ทางเลือกการปฏิบัติการเกษตรหน้าแล้ง

คำถาม ผมจะแก้ปัญหาการเกษตรในหน้าแล้งได้อย่างไรบ้างครับ

แสงทอง ทองอุทัยวรรณ

อ.เมือง จ.ชัยภูมิ

คำตอบ

ในช่วงหน้าแล้ง และต้องใช้น้ำที่มีอย่างจำกัด เป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องพบและวนกันไปอย่างนี้อยู่ทุกปี แม้ว่าจะวางแผนกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะผ่านหน้าแล้งนี้ ไปได้รัฐบาลได้ประกาศให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวออกไปก่อน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้ำน้อย มีเพียงพอสำหรับอุปโภคและบริโภคเท่านั้น ทางจังหวัดและเกษตรกร ที่มีการปลูกข้าวมาก จึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้ผ่านพ้นหน้าแล้งนี้ไปได้ ในขณะที่ยังสามารถทำการเกษตรปลูกพืชผัก มีอาหารและสร้างรายได้ระหว่างที่ปลูกข้าวที่ต้องใช้น้ำมากไม่ได้

เกษตรกร ต้องมีการวางแผนเตรียมตัวปลูกพืชหลังทำนา หากภาครัฐต้องการรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชทดแทนในฤดูน้ำน้อยว่างนา อาจจะต้องมีการวางแผนให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกันในการเลือกชนิดพืช ระยะเวลาการให้ผลผลิต การใช้น้ำ การตลาด และราคาผลผลิต หากผลผลิตชนิดใดมีจำนวนมาก ก็สามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ หากทำได้อย่างนี้แล้ว การปลูกพืชทดแทนช่วงพักนา (น้ำน้อย) จะเป็นแนวทางการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

แนวทางเลือกการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ดีคือ

1. ปลูกผักอินทรีย์ สร้างรายได้ช่วงพักนาน้ำน้อยงดปลูกข้าว หันมาปลูกผักอินทรีย์แม้ว่าช่วงว่างจากการทำนาจะมีเพียงไม่กี่เดือน การแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าว ให้หันมาปลูกผักอินทรีย์ โดยแบ่งเนื้อที่หลังบ้านมาปลูกผัก มีอาหาร สร้างรายได้ระหว่างฤดูฝนที่จะมาถึงแต่ผลผลิตจากแปลงผักหลังบ้านนี้ ก็มีผลผลิตออกให้เก็บเกี่ยวหมุนเวียนจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี เมื่อผักใบเริ่มหมดรุ่น พืชที่ให้ผลผลิตเป็นผล เช่น พริก มะเขือพวง มะเขือเปราะ มะเขือเทศ และถั่วพู ก็จะเริ่มออกผลผลิตให้เก็บรุ่นต่อไปได้เลย เมื่อจำหน่ายผลสดไม่หมด มะเขือเทศก็นำมาแปรรูปเป็นมะเขือเทศเชื่อม สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าการขายผลสด

2.ปลูกพืชหลากหลายชนิดเป็นวนเกษตร โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่หลังบ้าน ทำเป็นแปลงปลูกผักหลายชนิด อย่างละน้อย แต่ให้มีผักขายได้ทุกวัน เช่น ปลูกพริกพันธุ์ต่างๆ ปลูกพริกหนุ่ม พริกพื้นบ้านสายพันธุ์โบราณ พริกจินดา ซึ่งเป็นพริกที่มีภูมิต้านทานโรคได้ดี และสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกครั้งต่อไปได้ ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ปลูก และยังมีรายได้จากการนำพริกมาแปรรูปเป็นน้ำพริกขายได้อีก

3. เลือกปลูกผักตามที่ตลาดต้องการโดยเน้นการขายได้ และนำมาแปรรูปได้ การปลูกให้ทำการยกร่องทำแปลงลักษณะเป็นหลังเต่า แต่ละแปลงมีขนาดสั้นยาวไม่เท่ากันตามพื้นที่ที่มีอยู่ ออกแบบให้ง่ายต่อการทำงานในแปลง ให้ปลูกพริกพันธุ์ต่างๆ ปลูกผักกาดเขียว ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักสลัด กวางตุ้ง คะน้า ซึ่งเป็นผักที่สามารถขายได้ทั้งปี เป็นที่ต้องการของตลาด ปลูกต้นหอม หอมแดง หอมแบ่งไว้ทำพันธุ์ ปลูกผักสวนครัว เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว มะเขือพวงชมจันทร์ กะเพรา โหระพา และมะเขือเทศ ที่สามารถนำมาแปรรูปขายได้อีก จากนั้นให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้เองอีกต่อไป

4. ให้เพาะเมล็ดในถาด ลดการใช้น้ำเกินความจำเป็นปกติการปลูกพืชผักสวนครัวจะใช้น้ำมาก ให้มีการคำนวณการใช้น้ำอย่างคร่าวๆ ตลอดฤดูกาล ในช่วงวิกฤติน้ำน้อยต้องใช้น้ำอย่างประหยัด โดยวิธีการเพาะเมล็ดพันธุ์ในถาด จะช่วยประหยัดน้ำได้มาก เนื่องจากระยะแรกของการเจริญเติบโตของกล้าผักจะต้องการน้ำสูง และต้องมีอย่างเพียงพอแก่ความต้องการ หากปลูกโดยหว่านเมล็ดลงดินเลยและรดน้ำลงดินโดยตรงจะไม่สามารถควบคุมการใช้น้ำได้ และสิ้นเปลืองน้ำเกินความจำเป็น

5. ใส่ปุ๋ยตามระยะการโตของพืชการยกร่องแปลงปลูก จะสะดวกต่อการทำงานใส่ปุ๋ย การใช้ปุ๋ยควรเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหน เช่น แกลบดิบ แกลบดำ ใช้มูลสัตว์ที่มีอยู่มากในพื้นที่ เช่น มูลแพะมูลวัว และมูลหมู เพื่อเพิ่มแร่ธาตุในดินและช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินอีกด้วย

6. การนำกล้าลงดิน เมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว ให้เอากล้าลงดิน โดยต้องรดน้ำในแปลงให้ชื้นก่อน กล้าที่ใช้อายุประมาณ 10 วัน จากนั้นใช้ฟางข้าวคลุมหน้าดิน และรดน้ำแค่พอชื้น

7. การให้น้ำ ควรให้น้ำแบบระบบสปริงเกอร์เพื่อความสะดวกและประหยัดน้ำที่สุด โดยเดินระบบทุกแปลงผ่านหัวจ่ายน้ำหลักผ่านท่อส่งน้ำไปตามร่องผัก โดยจะให้น้ำร่วมกับการให้น้ำหมักชีวภาพในระบบเดียวกันเลย รดน้ำผักวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 9 โมง และอีกครั้ง ประมาณ 4 โมงเย็น

8. การดูแลปราบวัชพืชให้ใช้วิธีการถอนหญ้าออกจากแปลง แล้วทำเป็นปุ๋ยพืชสดในร่องเลย เมื่อรดน้ำหมักในแปลงหญ้าที่ถูกถอนทิ้งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน ก็จะถูกย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในแปลงได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ประหยัดทั้งน้ำในการหมักปุ๋ยและรดผักได้พร้อมๆ กัน นะครับ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรอ.ขับเคลื่อนโครงการBCG ดึงโรงงาน-ชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรอ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยหลักการBCG (Bio Circular Green) โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด

โดยมีเป้าหมายที่จะบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการป้องกันการเกิดมลพิษ และสร้างจิตสำนึกให้กับโรงงาน ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม โดยนำร่องในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ 200 แห่ง สามารถนำวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการป้องกันมลพิษไปปฏิบัติใช้จริงเพื่อสามารถจัดการพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม จนสามารถลดการใช้พลังงานได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ(toe) หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ตันคาร์บอนออกไซด์เทียบเท่า (ton Co2eq) รวมถึงการผลักดันให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 800 ราย ได้รับความรู้และเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

“พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา หรือพื้นที่ใกล้เคียงก็จะเน้นกลุ่มเป้าหมายภาคอุตสาหกรรม ชุมชน สถาบันการศึกษา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดให้โรงงานที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 ลุ่มน้ำรวมกัน 200 โรงงาน นำไปปฏิบัติใช้จริงสำหรับการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงถ่ายทอดความรู้ การสร้างความตระหนัก และจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานให้กับภาคประชาชนในส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตามหากโครงการประสบความสำเร็จในอนาคต กรอ.ก็จะพิจารณาขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” นายประกอบ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เกษตรฯประกาศปี’63ลุย6แนวทาง ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพิ่มศักยภาพการผลิต

กรมส่งเสริมการเกษตรจัดงานพบสื่อมวลชน Meet the Press ส่งสุขปีใหม่  ให้เกษตรกร ประกาศปี 2563 เป็นปีแห่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมนำการเกษตร ขับเคลื่อนผ่าน 6 แนวทางหลักที่ต้องดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดส่งความสุขถึงมือเกษตรกรทุกพื้นที่

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศขับเคลื่อน 6 แนวทางหลัก เป้าหมาย

สำคัญคือ ใช้หลักตลาดนำการเกษตรขับเคลื่อนทุกพื้นที่ ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับพืชและสถานการณ์ผ่านสำนักงานส่งเสริมและและพัฒนาการเกษตร ที่ 1 - 6 สำนักงานเกษตรจังหวัด 77 จังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการ 50 ศูนย์ สำหรับ 6 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.ขยายผลโครงการพระราชดำริสู่เกษตรกรอื่นในชุมชนกว่า 1,000 คน โดยตัวอย่างผลสำเร็จเกิดจากการขยายผลโครงการบนพื้นที่สูง รวมถึงศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีผลผลิตทางการเกษตรมายมาย ต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรอื่นในชุมชนและเครือข่าย                  

2.บริหารจัดการสินค้าเกษตรยึดหลักตลาดนำการเกษตรผ่านโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เช่น แปลงใหญ่กล้วยหอมทอง จ.เพชรบุรี มีพื้นที่ 1,401 ไร่ สมาชิก 465 ราย มีตลาดรองรับทั้งในและนอกประเทศ ใช้นวัตกรรมหลังเก็บเกี่ยวช่วยยืดอายุส่งออก 3.พัฒนาองค์กร วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อเนื่อง ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีรายได้นอกเหนือจากทำการเกษตร มีเกษตรกรรุ่นใหม่มาต่อยอดแนวคิด และใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ เช่น บ้านสวนขวัญ ชุมชนริมคลองบ้านบางขาม ของ จ.ลพบุรี พัฒนาแนวคิดจากเกษตรกรรุ่นใหม่ที่อยากให้คนในชุมชนมีรายได้ จึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

4.สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและบูรณาการทำงาน สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เป็นกลไกสำคัญในงานส่งเสริมการเกษตร ผ่านการจัดงานวันเริ่มต้นฤดูผลิตใหม่ (Field day) ใน 882 ศพก.และเครือข่าย ทั่วประเทศ ให้ชุมชน วิเคราะห์ปัญหา มีฐานเรียนรู้ ที่จะนำตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรในพื้นที่มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา ในพื้นที่เกษตรของตัวเอง ตัวอย่าง การจัดงาน Field day การผลิตพริกไทยคุณภาพ ของ ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

5.ช่วยเหลือให้บริการเกษตรกร เรียนรู้ป้องกันแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น มีกรมฯคอยสนับสนุน เช่น การจัดการหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ของจ.ชัยภูมิ ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน มี ศูนย์ส่งเสริมการอารักขาพืช สนับสนุนแมลงหางหนีบ และ ชุมชนนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์จนสามารถส่งต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เห็นผล 6. พัฒนาองค์กร ระบบทำงาน พัฒนาเจ้าหน้าที่ ไปถึงเกษตรกรในพื้นที่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เช่น เกษตรกรรุ่นใหม่ ของจ.สงขลามีแนวคิด มะพร้าว zero waste คือ ใช้ทุกส่วนของมะพร้าว แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มได้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ก.อุตฯ ดีเดย์ 1 ม.ค.เปิดระบบ “i-Industry”

กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเปิดให้บริการ 4 ระบบงานหลัก ผ่านระบบออนไลน์ i-Industry ปรับปรุงการให้บริการภาครัฐ ชี้เริ่ม 1 มกราคม 63 พร้อมกันทั่วประเทศ

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป กระทรวงอุตสาหกรรมจะเปิดใช้ระบบ i-Industry ทั่วประเทศ ใน 4 ระบบงานหลัก ผ่านระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ คือ 1) ระบบการลงทะเบียนกลางเพื่อเข้ารับบริการของกระทรวงอุตสาหกรรม 2) ระบบการออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) 3) ระบบการรายงาน การประกอบการด้วยตนเองผ่านการรายงาน single form และ 4) ระบบเรียกเก็บและชำระเงิน

อย่างไรก็ดี  กระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ โดยในปี 2563 และ 2564 จะเร่งพัฒนาและขยายผลระบบงานแบบ Big data สมัยใหม่ในลักษณะนี้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีจุดเน้นคือการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมิให้หน่วยงานภาครัฐล้าสมัย หรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

“หลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กระทรวงฯ เร่งรัดปรับวิธีการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของกระทรวงฯ ซึ่งเดิมมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างกระจัดกระจายตามกรมและหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงฯ ให้เข้ามารวมศูนย์ไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย Big data ของรัฐบาล”

จาก www.thansettakij.com วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2563

6ชาติสมาชิกเห็นชอบแผนบริหารลุ่มน้ำโขง

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หัวหน้าคณะทำงานร่วมสาขาทรัพยากรน้ำของไทย (Joint Working Group) และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนฝ่ายไทยร่วมประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation : MLC) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยนายเทวัญกล่าวว่า ที่ประชุมสรุปผลดำเนินงานที่ผ่านกรอบความร่วมมือ กลไกการทำงาน ทิศทางดำเนินการในอนาคต โดยประเทศสมาชิกกลุ่มแม่โขง-ล้านช้าง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และประเทศเจ้าภาพคือ จีน เห็นชอบพัฒนากรอบความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการคำนึงถึงการใช้แม่น้ำร่วมกัน โดยเคารพสิทธิใช้น้ำของประเทศต้นน้ำและท้ายน้ำ ซึ่งจีนในฐานะผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างแสดงจุดยืนเคารพสิทธิใช้น้ำบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน และตอบสนองเป้าหมายพัฒนายั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ รวมถึงปัจจัยอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก นอกจากนี้ เวทีประชุมยังเปิดให้รัฐมนตรีของประเทศสมาชิก กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของแต่ละประเทศ ผลลัพธ์จากความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และทิศทางความร่วมมือในอนาคต ในส่วนไทยแสดงเจตจำนงว่า เนื่องจาก MLC เป็นความร่วมมือจัดการทรัพยากรน้ำที่พัฒนารวดเร็วและเป็นไปเชิงบวก จึงควรมีกลไกความร่วมมือที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณน้ำทั้งปี เพื่อให้ประเทศท้ายน้ำนำข้อมูลมาใช้วางแผนบริหารจัดการน้ำหรือแจ้งเตือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงทันเวลา

ด้านดร.สมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกรอบแม่โขง-ล้านช้าง และกรอบคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีโอกาสร่วมเป็นสักขีพยานลงนาม MOU ระหว่าง LMC Water Center และ MRCS จึงเชื่อมั่นว่าศูนย์น้ำทั้งสองจะแบ่งปันข้อมูล เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้างต่อไป รวมทั้งฝ่ายไทยยังเสนอให้ตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของแม่น้ำโขง หรือประเด็นโดดเด่นที่ควรได้รับความสนใจ จากกรณีระดับน้ำส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งขอความร่วมมือจากจีนพิจารณาบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนเป็นครั้งคราว โดยตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อร่วมติดตามและป้องกันสถานการณ์ภัยแล้ง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562

‘มนัญญา’ จัดหนัก!เล็งรีดภาษีสารเคมี นำเงินวิจัยพัฒนาเกษตรอินทรีย์

“มนัญญา” เล็งเก็บภาษีสารเคมีการเกษตร นำมาใช้วิจัยพัฒนาเกษตรอินทรีย์พร้อมเร่งดันร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ควบคุมโรงงานผลิตและบรรจุสารเคมี ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบ เพื่อป้องกันการผสมสารอื่นที่ไม่เป็นไปตามทะเบียนหรือเจือจาง หวั่นเกษตรกรถูกหลอกขายและอาจเป็นอันตรายเมื่อนำไปใช้

น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า จะเร่งหารือกรมศุลกากรให้พิจารณาการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร ที่ผ่านมาสารเคมีต่างๆ ที่นำเข้ามา ได้รับการยกเว้นภาษีโดยระบุว่า เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านด้วยซึ่งไม่มีการเก็บภาษีส่งออกเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์จะนำรายได้จากการเก็บภาษีมาใช้วิจัยพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ในลักษณะเดียวกับการเก็บภาษีเหล้าและบุหรี่ แล้วนำมาใช้ส่งเสริมการดูและรักษาสุขภาพประชาชน

ส่วนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มอบหมายให้กรมวิชาการยกร่างเพื่อใช้ควบคุมโรงงานผลิตและแบ่งบรรจุสารเคมีทางการเกษตร โดยนำมาตรฐาน ISO มากำกับเพื่อไม่ให้มีการลักลอบแบ่งบรรจุ ซึ่งที่ผ่านมาพบ ผู้ประกอบการผสมสารเคมีที่สำคัญสำหรับกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชเจือจางหรือผสมสารอื่นที่ไม่เป็นไปตามทะเบียน รวมทั้งกำหนดให้โรงงานต้องมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพและความเป็นพิษของสารเคมีได้ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้หากยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ เสร็จสมบูรณ์แล้วจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อทราบ จากนั้นจะนำเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามเพื่อบังคับใช้ต่อไป

น.ส. มนัญญา กล่าวต่อว่า สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรรายงานการดำเนินการสารเคมี 3 ชนิดได้ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางเกษตร โดยต้องรายงานทุก 15 วันเพื่อจะได้ทราบว่า พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสซึ่งเลื่อนการแบนในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 สตอกลดลงไปแค่ไหน ส่งออกหรือจำหน่ายแก่เกษตรกรไปจำนวนเท่าไร ซึ่งสำหรับ 2 สารนี้ไม่อนุญาตให้นำเข้าแล้ว ส่วนไกลโฟเซตซึ่งมีมติไม่แบน จากนี้ไปต้องลดปริมาณการนำเข้าลงให้สอดคล้องกับมาตรการจำกัดการใช้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 ธันวาคม 2562 

ประกาศ 2020 ปีแห่งเทคโนฯ 4 โครงการยักษ์จุดเปลี่ยนเกษตรกร

เกษตรฯประกาศ 2020 ปีแห่งเทคโนโลยีเกษตรคิกออฟ 4 โครงการใหญ่สร้างจุดเปลี่ยนสู่เกษตร 4.0

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 กล่าวว่า ภายใต้นโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0 ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายปฏิรูปการบริหารและการบริการของกระทรวงเกษตรฯและภาคเกษตรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล วันนี้การขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 ได้ปรากฎผลเป็นรูปธรรมสู่ยุคดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชั่น(Digital Transformation)เฟสที่1เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่2563ด้วย4โครงการดิจิทัลดังนี้

1. โครงการบริการออนไลน์ ควิกวิน(22 Quick Win)แก่เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และสาธารณะ โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม Cluster เริ่มบริการ1มกราคม2563พร้อมกัน 22 หน่วยงาน

2. โครงการ วันแอพ (One App)กระทรวงเกษตรได้พัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน ที่รวบรวมงานบริการ ด้านการเกษตร องค์ความรู้ด้านการเกษตร และเชื่อมโยงบริการโมบายกว่า50แอปพลิเคชันของทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงและสหกรณ์ มาไว้ในที่เดียวคือ แอปพลิเคชัน ”เกษตรดิจิทัล”  เริ่มคิกออฟ 1 มกราคม 2563

3. โครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ใน 77 จังหวัด ทำหน้าที่ส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรมรวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรทั้งยังเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกรและสนับสนุนสตาร์ทอัพในแต่ละจังหวัดเป็นรูปแบบการบริหารจัดการในภูมิภาคมิติใหม่โดยความร่วมมือของ6ภาคีหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน เริ่มจัดตั้งตั้งแต่เดือนมกราคมให้แล้วเสร็จภายใน ปี พ.ศ.๒๕๖๓4. โครงการศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC

มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติของ10หน่วยงานภาครัฐประกอบด้วย(1) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (2) กระทรวงการคลัง (3) กระทรวงดิจิทัล เพื่อ เศรษฐกิจและสังคม (4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม (5) กระทรวงพาณิชย์(6) กระทรวงอุตสาหกรรม (7) กระทรวงมหาดไทย (8) กระทรวงสาธารณสุข (9) สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (10)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

โดยเฟส 1 ตั้งแต่เดือนมกราคมเริ่มบริการฐานข้อมูลสินค้าเกษตรที่สำคัญเช่นข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งฐานข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจการเกษตรและข้อมูลครัวเรือนเกษตร ทั้งนี้ในเฟสที่2จะเพิ่มฐานข้อมูลและเชื่อมฐานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่นๆและนำระบบปัญญาประดิษฐ์(AI)มาใช้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล

 อย่างไรก็ตามโครงการทั้ง4ดำเนินการมาโดยไม่ใช้งบประมาณใหม่จนแล้วเสร็จภายใน120วันภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษคร4.0ซึ่งประกอบไปด้วยคณะอนุกรรมการรัฐบาลเทคโนโลยี่(GovTech)และบิ๊กดาต้า (Big Data)คณะอนุกรรมการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture )คณะอนุกรรมการเทคโนโลยีอนาคต(Future Tchnology )และคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซ(E-Commerce)

โดยความร่วมมือของศูนย์ไอที 22 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานรัฐหน่วยงานวิชาการหน่วยงานเอกชนพร้อมเปิดบริการเป็นของขวัญปีใหม่ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคเกษตรกรรมสู่มิติใหม่ของไทยแลนด์ 4.0 นับได้ว่าปี2563คือปีแห่งเทคโนโลยีเกษตร(AgriTech 2020)

จาก https://www.komchadluek.net  วันที่ 26 ธันวาคม 2562

“สนธิรัตน์”ชี้ทิศทางพลังงานปี 2563

“สนธิรัตน์”ชี้ทิศทางปี63 แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน –เปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ - มุ่งสู่ฮับ LNG ภูมิภาค

  กระทรวงพลังงานภายใต้การนำของ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สรุปผลงานด้านพลังงานที่เป็นรูปธรรมในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมวางทิศทางพลังงานในปี 2563 คาดผุดโรงไฟฟ้าชุมชนได้ภายในครึ่งปีแรก ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เกิดความเป็นธรรม ส่งเสริมการใช้ B10 ทั่วประเทศ พร้อมเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และการเป็นฮับ LNG เตรียมซื้อขายได้จริงภายในไตรมาสที่ 3 ปีหน้า

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในช่วงที่ผ่านมาว่า ในช่วงที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงพลังงานนั้นได้ผลักดันผลงานให้บรรลุเป้าหมายไม่เพียงแต่ด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังมองว่าต้องบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทั่วถึง มั่นคง สร้างรายได้ให้ประเทศ การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดภาระค่าครองชีพ   ลดความเหลื่อมล้ำ ยกบทบาทไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมพลังงานสะอาดและลดมลพิษจากการใช้พลังงาน

“เป้าหมายหนึ่งที่เป็นหัวใจในการทำงานของผมและได้ย้ำมาโดยตลอดคือ การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เพราะเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพถ้าเราเข้าไปปลดล็อคหรือส่งเสริมให้ตรงจุด และที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เศรษฐกิจของประทศ แม้ว่าจะมีความผันผวนจากภายนอกเกิดขึ้นก็ตาม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

สำหรับผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมาที่เป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐาน ซึ่งช่วยสร้างสมดุลของดีมานด์และซัพพลายของปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้นในระยะยาว โดยช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่า ปาล์มน้ำมันถูกยกระดับราคาอยู่ที่กิโลกรัมละเกือบ 6 บาทแล้ว  หรือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป้าหมายเพื่อประชาชนในท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ โดยมีกลไกของเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือหนึ่งมาร่วมพัฒนาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม

ส่วนการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของประชาชน จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 2,280 บาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ช่วยลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ทั้งการตรึงราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมไว้ที่ 363 บาทต่อถัง ช่วยตรึงค่า Ft ช่วง 4 เดือนแรกของปีหน้า และการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซลลิตรละ   1 บาทเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 62 - 10 ม.ค.63 เพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทางช่วงปีใหม่ ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงพลังงานมอบให้ประชาชน

สำหรับการสร้างบทบาทนำด้านพลังงานในเวทีนานาชาติ โดยปี 2562 ที่ผ่านมาไทยเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยไทยมีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางอาเซียนสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงระบบฟ้าจากตะวันตกไปตะวันออก จากเหนือไปใต้เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจ โดยการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่ผ่านมาเพิ่มกรอบการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซียขึ้นอีกเป็น 300 เมกะวัตต์

ส่วนการสร้างรายได้เข้าสู่ภาครัฐ โดยปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมเข้าสู่ภาครัฐจำนวน 166,332 ล้านบาท ค่าภาคหลวง 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 12,688 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2563 กระทรวงพลังงานได้วางทิศทางการดำเนินการด้านพลังงานไว้ 3 ด้านหลักๆ ประกอบด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจฐานราก การช่วยค่าครองชีพประชาชน  จะเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก ขับเคลื่อนโครงการชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ สถานีพลังงานชุมชุน และที่เร่งด่วนคือ โครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสู้ภัยแล้ง การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซให้มีความเป็นธรรม การส่งเสริมการใช้ B10 ให้กว้างขวาง และบริหารน้ำมันปาล์มดิบในภาคพลังงานอย่างเป็นระบบ

2.ด้านความเข้มแข็งทางพลังงาน จะทบทวนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ให้พร้อมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การผลักดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)และค่าไฟฟ้ารถ EV และรถไฟฟ้าสาธารณะ

3.ด้านบทบาทนำในภูมิภาค โดยกำหนดกรอบเพื่อการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลาง LNG ซึ่งคาดว่าจะสามารถเกิดการซื้อขายได้จริงภายในไตรมาสที่ 3 ของปี2563

จาก www.thansettakij.com วันที่ 25 ธันวาคม 2562

10 กระทรวง MOU ครั้งประวัติศาสตร์ คิกออฟฐานข้อมูลเกษตรแห่งชาติ สร้างมิติใหม่ Big Data ด้านเกษตร

 วันนี้ (25 ธ.ค.62) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ในครั้งนี้ว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ทั้ง 10 กระทรวง ร่วมกันสร้างมิติใหม่ของวงการเกษตรสู่  Digital Thailand 4.0 โดยร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยมาตรฐานเดียวกันสู่รัฐบาลดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน) ที่มุ่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร ด้วยฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการจัดทำ Big Data มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2559  โดยจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE)  ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำ Big Data ของกระทรวงเกษตรฯ และพัฒนาต่อยอดสู่โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติในปีนี้ เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลด้านการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ  ในกระทรวงเกษตรฯ และอีก 9 กระทรวง (8 กระทรวง และ 1 หน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอนันต์ สุวรรณรัตน์) เป็นผู้ลงนามร่วมกับผู้บริหารอีก 9 กระทรวง

สำหรับความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน และข้อมูลทางด้านการเกษตรอื่นๆ ที่จำเป็น โดยกระทรวงพาณิชย์ จะสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านการตลาด  กระทรวงการคลัง สนับสนุนแหล่งข้อมูลด้านการเงินของเกษตรกร รวมทั้งแหล่งเงินทุน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น

 ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้การสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญ โรงงานและแหล่งที่ตั้ง กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนข้อมูลการใช้ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหาร และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย  ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จะเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาในการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สนับสนุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง         

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าว ทั้ง 10 กระทรวง มีความพร้อมเต็มที่ในการสนับสนุนระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย (Social Media) เพื่อนำมาวิเคราะห์ในส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ภาคเกษตร ทั้งด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้านสินค้า และด้านทรัพยากรเกษตร และนำมาจัดเก็บเข้าสู่ฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติต่อไป

 การขับเคลื่อนในระยะแรก จะผลักดันฐานข้อมูลสินค้าเกษตรที่สำคัญ  5 ชนิด  คือ ข้าว  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งฐานข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร และจะขยายเพิ่มอีก 8 สินค้า ให้ครบ 13 สินค้า ภายในมกราคมปี 2563 รวมทั้งขยายฐานข้อมูลด้านปศุสัตว์และประมงในระยะต่อไป  โดยปัจจุบัน ทุกท่านสามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้ผ่าน  http://agri-bigdata.org  และระยะถัดไป จะเร่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล 10 กระทรวง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  ขณะนี้ สศก. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ Big Data ด้านการเกษตร โดยมีแนวทางการจัดตั้งเป็นหน่วยงานในสังกัด สศก. เทียบเท่าศูนย์/สำนัก และเตรียมความพร้อมบุคลากรประจำศูนย์เพื่อปฏิบัติงานและให้บริการข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป  ทั้งนี้ มั่นใจว่า โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ  นับเป็นก้าวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่ทุกหน่วยงาน ได้ร่วมกันยกระดับการพัฒนาและปฏิรูปภาคการเกษตรให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน รวดเร็ว แม่นยำ โดยใช้ระบบ AI  ให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4.0 ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านนโยบาย การพยากรณ์ และการเตือนภัยด้านการเกษตร อีกทั้งทุกภาคส่วนยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล ซึ่งก่อให้ให้เกิดการต่อยอดธุรกิจและบริการใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) สู่บริการข้อมูลข่าวสารทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร

จาก www.thansettakij.com วันที่ 25 ธันวาคม 2562

ก.อุตทุ่มหมื่นล.อุ้มชาวไร่อ้อยค่าปัจจัยการผลิต-ยกเครื่องช่วย SMEs

ครม.ผ่านร่างหลักการช่วยชาวไร่อ้อยฉลุย เตรียมเคาะวงเงิน 10,000 ล้านบาทอีกครั้งในปี “63 หนุนปัจจัยการผลิตให้ต่ำกว่า 100 บาท/ราย ชาวไร่รอรับเงินหลังปิดหีบ มี.ค.63 กระทรวงอุตสาหกรรมอัดงบฯทุ่ม 800 ล้านบาท อุ้มทั้ง SMEs ดึ่งพาร์ตเนอร์ TOTOYA –เอกชน ชี้เป้าพัฒนาสินค้าชุมชน พร้อมดันร่าง กม.กองทุน SMEs ประชารัฐ 3,000 ล้าน”ถาวร” แน่

นางวรวรรณ  ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รักษาการรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 โดยวางกรอบวงเงินช่วยเหลือ 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอสำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและบรรเทาภาระค่าครองชีพ

เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ราคาน้ำตาลโลกที่อยู่ในช่วงขาลง บวกกับภาระเศรษฐกิจและค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นอย่างมาก ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ฉุดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 อยู่ที่ 750 บาท/ตันอ้อย ในระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. อัตราขึ้นลงอยู่ที่ 45 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. โดยระดับความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 12.51 ซี.ซี.เอส. จะได้รับในอัตราตันละ 862.91 บาท

สำหรับวงเงินที่จะช่วยเหลือชาวไร่อ้อยแต่ละรายนั้น เดิมกำหนดไว้ให้แต่ละรายไม่เท่ากัน แต่จากการหารือแนวทางดังกล่าวยังไม่เหมาะสม ดังนั้นคาดว่าวงเงินแต่ละรายต้องกำหนดใหม่ซึ่งอย่างน้อยจะต้องได้รายละไม่ต่ำกว่า 100 บาท เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลได้เคยสัญญาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างหลักการดังกล่าวได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดจะต้องเข้า ครม.อีกครั้ง เพื่ออนุมัติวงเงินและกำหนดอัตราวงเงินให้ชาวไร่แต่ละราย คาดว่าสามารถจัดสรรเงินให้ได้เดือนมี.ค.2563 หลังจากปิดหีบทันที

อีกด้านหนึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย

นายณัฐพล  รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสม.) กล่าวว่าปัจจุบัน SMEs มีจำนวน 2.7 ล้านรายยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมามาตรการและการพัฒนาไม่ได้ผลสำเร็จมากนัก คิดเป็น 1%  เท่านั้น ดังนั้นในปี 2563 เตรียมใช้งบประมาณกว่า 800 ล้านบาท พัฒนาผู้ประกอบการ 16,200 คน 2,200 กิจการให้เกิด 9,600 ผลิตภัณฑ์ใน 70 กลุ่มคลัสเตอร์ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท

โดยจะเริ่มปรับโครงสร้างภายในตั้งกองเกษตรอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) โดยเน้นการบริการที่รวดเร็วตรงเป้าหมายมากขึ้น

ขณะเดียวกันได้ดึง TOYOTA  มาเป็นพาร์ตเนอร์รูปแบบพี่เลี้ยงน้อง (big brother) เพื่อสนับสนุนด้านบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรรูปแบบดั่งเดิม สู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจเกษตร โดยนำระบบการผลิตและการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเกษตร เช่น ระบบการผลิตแบบโตโยต้า Toyota Product System (TPS) มาเป็นต้นแบบ พร้อมให้ผู้เชี่ยวชาญอบรม SMEs ด้วย

“สิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมใน 3 เดือนแรก จะเห็นการลงพื้นที่ตามศูนย์ภาคมากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวจะถูกชี้เป้าว่า SMEs รายใดที่จะต้องพัฒนา และจะเดินหน้าโครงการเดิมและจะเปิดโครงการพัฒนาใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน เชื่อว่าแผนพัฒนา กสอ.จะทำให้ SMEs โตขึ้นแบบดับเบิลเป็น 2 เท่า จาก 2% เป็น 4% เป็นต้น”

นายภาสกร ชัยรัตน์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กรมลดขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือ SMEs ตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งมีวงเงิน 2,200 ล้านบาท แต่มียอดการอนุมัติแล้ว 10% ซึ่งกระบวนการพิจารณาที่ใช้เวลา 7-8 เดือนถูกมองว่าล่าช้า กรมจึงลดขั้นตอน โดยหลังรับคำขอ SMEs จะส่งให้คณะอนุกรรมการกองทุนพิจารณาคุณสมบัติขั้นต้น ขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อส่งให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) วิเคราะห์และอนุมัติวงเงินได้เลย

“แนวคิดจะผลักดันเป็นกองทุนถาวรพูดกันมานานแล้ว โดยล่าสุดได้เริ่มร่างกฎหมายกองทุน SMEs เตรียมจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา เนื่องจากกระทรวงมีภารกิจสำคัญบริหารเงินกองทุนช่วยเหลือ SMEs ถ้าปรับเปลี่ยนเป็นกองทุนถาวรจะมีเงินเข้ากองทุนเป็นก้อนทุกปี โดยไม่ต้องรอเงินคืนมาหมุน”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 25 ธันวาคม 2562

เงินบาท"ทรงตัว"

เงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาท วันที่ผ่านมาซื้อขายในกรอบแคบ โดยติดอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดของปีที่ 30.15-17 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ในวันนี้ดูอาจโดนแรงกดดันของทองคำและสภาพคล่องที่เบาบางช่วงวันหยุด จึงต้องระวังว่าอาจจะเห็นเงินบาทพยายามทำจุดแพงที่สุดของปีในช่วงนี้เช่นกัน

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.12-30.18 บาทต่อดอลลาร์

 อย่างไรก็ตามในในช่วงนี้ตลาดการเงินอยู่ในห้วงเวลาของวันหยุดเต็มตัว หลายตลาดปิดทำการ ที่น่าสนใจคือบอนด์ยีลด์ทั่วโลกที่ทำปิดปีสลับด้าน โดยฝั่งสหรัฐน่าจะเห็นยีลด์พันธบัตร 10ปีปิดปีที่ต่ำกว่า 2.0% เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ไทยที่อาจปิดปีที่ระดับ1.5% ชี้ว่าตลาดเชื่อว่าในที่สุดธนาคารกลางอาจต้องลดดอกเบี้ยต่อ สวนทางกับยีลดญี่ปุ่นและฝรั่งเศสที่พยายามขึ้นมาปิดเหนือระดับ 0.0% ในท้ายปี จากความคาดหวังว่ารัฐบาลจะหันไปใช้นโยบายการคลังแทนที่

ด้านเงินดอลลาร์ก็ปรับตัวลงเมื่อเทียบกับปอนด์อังกฤษ 0.1% แต่แข็งค่ากลับเมื่อเทียบกับยูโร 0.1% และไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 109.39 เยนต่อดอลลาร์ขณะที่ทองคำฟื้นตัวขึ้นยืนเหนือระดับ 1500 เหรียญต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 ธันวาคม 2562

KSLยิ้มราคาน้ำตาลโลกขยับสูงขึ้น หนุนผลประกอบการปี62/63โต

น้ำตาลขอนแก่นคาดผลประกอบการงวดปี62/63 ใกล้เคียงหรือดีขึ้นเล็กน้อยจากแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่เจอภาวะภัยแล้งทำให้มีอ้อยเข้าหีบน้อยลง แต่ราคาเอาทานอลปีหน้าปรับตัวขึ้นเช่นกัน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน)(KSL) เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรสำหรับปี 62/63 (พ.ย.62-ต.ค.63) จะใกล้เคียงหรือดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 61/62 (พ.ย.61-ต.ค.62) เนื่องจากราคาน้ำตาลปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะราคาส่งออกน้ำตาลที่คาดว่าจะดีขึ้นมาอยู่ที่ราว 13 เซนต์/ปอนด์ และมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก โดยประเมินราคาน้ำตาลเฉลี่ยปี 62/63 เบื้องต้นน่าจะอยู่ที่ราว 15-16 เซนต์/ปอนด์ แต่ปริมาณน้ำตาลออกสู่ตลาดน้อย หลังผลผลิตอ้อยลดลงจากภาวะภัยแล้ง คาดว่าปี 62/63 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 7.5-8 ล้านตันอ้อย จากปีก่อนหน้าที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบกว่า 9 ล้านตันอ้อย

ส่วนธุรกิจเอทานอล และไบโอดีเซล (B100) ที่ดำเนินการภายใต้บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 40% นั้น คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยราคาเอทานอล ปรับขึ้นมาเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับราคาวัตถุดิบที่ขึ้นมาค่อนข้างมากทั้งในส่วนของมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล ก็ทำให้มาร์จิ้นไม่มากนัก แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะเห็นผลประกอบการของกลุ่มเอทานอลดีขึ้นในระยะกลาง ตามทิศทางราคาที่จะขยับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ และปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4 ล้านลิตร/วันในช่วงปลาย จากเดิมที่อยู่ในระดับ 4 ล้านลิตร/วันในช่วงกลาง จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตรวมของทั้งประเทศราว 6 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากรัฐบาลจะส่งเสริมการใช้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานในอนาคต

ด้านธุรกิจไบโอดีเซล ก็มีราคาขยับขึ้นมาอยู่ที่ราว 30 บาท/ลิตร ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่สูงขึ้น หลังรัฐบาลประกาศการใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ซึ่งจะผลักดันให้ผลประกอบการของ BBGI ดีขึ้น

จาก https://mgronline.com   วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

รับมือภัยแล้ง! รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลฯระดมตั้งเครื่องสูบ ผันน้ำแม่กลองลงลุ่มเจ้าพระยา

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการรับมือภัยแล้งที่ลุกลามส่งผลกระทบหลายพื้นที่ว่า ได้สั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านคลองจระเข้สามพันและคลองท่าสาร-บางปลามาช่วยด้านท้ายลุ่มเจ้าพระยาเพิ่ม เนื่องจากช่วงน้ำทะเลหนุนสูงค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำต่าง ๆ อาจเกินกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังเป็นบางช่วงเวลา ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานวางไว้ถึงสิ้นฤดูแล้งกลางเดือนพฤษภาคม 2563 ต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนกลางเดือนกรกฎาคม 2563 หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง จึงกำชับให้จัดสรรน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพออุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และเลี้ยงพืชต่อเนื่องได้

 “กรมชลประทานจัดสรรน้ำตามแผนที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำหนดในการบริหารจัดการไว้ แต่การใช้น้ำไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากลุ่มเจ้าพระยาแจ้งล่วงหน้าแล้วว่าไม่มีน้ำสนับสนุนการปลูกข้าวนาปรัง แต่ปลูกจำนวนมาก นอกจากนี้ เมื่อระบายมาจากท้ายเขื่อนหลัก 4 เขื่อน พบว่า มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำของประชาชนสูบน้ำไประหว่างทาง ซึ่งย้ำให้กรมชลประทานขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาช่วยดูแลให้เข้มงวดขึ้น ”   รมว.เกษตรฯกล่าว

 ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการขอความร่วมมือฝ่ายปกครองและอปท. ทำให้สถานการณ์น้ำน้อยที่ใกล้เข้าขั้นวิกฤติดีขึ้น ขณะนี้การสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตามริมแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และเจ้าพระยาลดลง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน   จ.นครสวรรค์เพิ่มขึ้นสัปดาห์นี้ ส่วนหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสัปดาห์ที่แล้ว ระดับน้ำลดต่ำลงอยู่ที่ +13.10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) วันนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ +13.19 เมตร รทก. แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด เนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่แล้งจัด โดยระดับน้ำหน้าเขื่อนสูงกว่า +14 เมตร รทก. ส่วนท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระบายที่อัตรา 70 ลูกบาศก์เมตร (ลบ. ม.) ต่อวินาทีตลอดเวลา เพื่อให้พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีน้ำเพียงพอและควบคุมค่าความความให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เพื่อการผลิตน้ำประปา การเพาะปลูกกล้วยไม้ และไม้ผล โดยช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงอาจทำให้ค่าความเค็มสูงขึ้นเป็นบางห้วงเวลา ซึ่งสูบน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสู่คลองพระยาบันลือที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพื่อแก้ปัญหา โดยให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและค่าความเค็มใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการผลิตน้ำประปาและภาคการเกษตร

 อธิบดีกรมชลประทาน ยังย้ำให้เกษตรกรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้ปลูกข้าวนาปรัง ฤดูแล้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีแผนให้ปลูกเลย แต่พื้นที่ปลูกมากถึง 1.39 ล้านไร่แล้ว หากเกษตรกรยังฝืนปลูก เสี่ยงที่ข้าวเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำได้ เนื่องจากกรมชลประทานไม่มีแผนจัดสรรน้ำสนับสนุนการทำนาปรัง สงวนไว้สำหรับอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และเลี้ยงพืชต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าเท่านั้น

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ระวังดีใจเก้อ! “น้ำตาล” อินเดียสกัดราคาตลาดโลกขยับไม่แรง

พื้นฐานตลาดอุตสาหกรรมน้ำตาลเริ่มส่งสัญญาณบวก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ราคาน้ำตาลตลาดโลกขยับอยู่ที่ 13.67 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก่อนที่จะปิดตลาดที่ 13.50 เซ็นต์ต่อปอนด์ การที่ราคาน้ำตาลขยับตัวสูงขึ้นถือว่าเป็นข่าวดีของผู้ผลิตน้ำตาล จากที่ก่อนหน้านั้นราคาน้ำตาลยืนอยู่ระดับ 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์

 สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำตาลไต่เพดานสูงขึ้น มาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ 1.ปัญหาภัยแล้ง ลามถึงผลผลิตอ้อยทั่วโลกลดลง โดยเฉพาะผลผลิตอ้อยจากประเทศอินเดีย ปี 2561/2562 ผลิตน้ำตาลได้ 33 ล้านตัน คาดว่าปี 2562/2563 จะลดลงเหลือ 27 ล้านตัน

ขณะที่ผลผลิตอ้อยจากประเทศไทย ปี2562/2563 ภาครัฐออกมาประกาศที่ 111 ล้านตันอ้อย แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมองว่าปริมาณอ้อยในปีดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ 100-105 ล้านตันอ้อย หรือไปไม่ถึง 100 ล้านตันอ้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณอ้อยปีที่แล้วอยู่ที่ 130.97 ล้านตันอ้อย ถือว่าผลผลิตหายไปมาก

-ปริมาณอ้อยหายวับ

หากดูเปรียบเที่ยบจากตัวเลขปริมาณอ้อยปีที่แล้ว ถ้าผลผลิตอ้อยหายไป 20% เท่ากับว่าปริมาณอ้อยหายไปจากระบบอ้อยและน้ำตาลราว 26 ล้านตัน สาเหตุหลักมาจากความแห้งแล้งส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงไปมาก บางพื้นที่มีผลผลิตเพียง 3-5 ตันต่อไร่ ผลผลิตที่ออกมาดีจะต้องได้ปริมาณอ้อยที่ 10 ตันต่อไร่ขึ้นไป เมื่อปริมาณอ้อยหายไปผลผลิตน้ำตาลลดลง สะท้อนราคาน้ำตาลพุ่งสูงขึ้น

2.กองทุนนักเก็งกำไร ได้เข้ามาทำการซื้อตั๋วน้ำตาลทรายดิบคืนจากตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า จากเดิมมีตั๋วขายมากกว่าตั๋วซื้อ 225,800 ล็อต (1 ล็อต มีปริมาณน้ำตาลทรายดิบเท่ากับ 50.80 ตัน) ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์  และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีตั๋วซื้อน้ำตาลมากกว่าตั๋วขาย อยู่ที่ 13,556 ล็อต ราคาน้ำตาลขยับตัวไปทิศทางบวก (13.50 เซ็นต์ต่อปอนด์ เมื่อ 13 ธ.ค.62) ราคาขยับตัวสูงขึ้น กองทุนซื้อกลับ โดยติดตามผลผลิตอ้อยจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอินเดียและไทยลดลง  ดังนั้นถ้ากองทุนเข้ามาซื้อกลับเรื่อยๆจะยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลดีดตัวสูงขึ้น

3.ค่าเงินเรียลของบราซิลแข็งค่าขึ้น ก็ลดโอกาสในการส่งออกน้ำตาลของบราซิลลง  เนื่องจากโรงงานน้ำตาลหันไปผลิตเอทานอลมากขึ้น

4.การที่ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นดี บราซิลจะนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้นและนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลน้อยลง  ถ้าออกมาในรูปนี้ก็จะดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเพราะบราซิลเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์1 ของโลก หันไปโฟกัสที่การผลิตเอทานอลแทน  ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแปรที่มีบทบาทต่อราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในขณะนี้

-อนท. รอจังหวะราคาดี

นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.) กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำตาลที่ขายล่วงหน้าโดย อนท.จำนวน 8 แสนตัน มีการขายล่าช้าไปกว่าเดิม  เนื่องจากรอดูสถานการณ์ราคาน้ำตาลโลกก่อน ว่าจะไต่ระดับสูงขึ้นอีกแค่ไหน ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจำนวน 4 แสนตัน เป็นการขายให้กับผู้ซื้อต่างประเทศ โดย อนท.แบ่งการขายสัญญาล่วงหน้าออกเป็น 3 เดือนส่งมอบที่แตกต่างกัน ที่จะต้องขายในปี 2563

โดยเดือนการส่งมอบแรกจำนวน 133,333 ตัน จะต้องรีบขายสัญญาล่วงหน้า ก่อนที่สัญญาล่วงหน้าจะหมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เดือนการส่งมอบที่ 2 จำนวน 133,333 ตัน จะต้องขายภายในเดือนเมษายน 2563 และเดือนการส่งมอบที่ 3 จำนวน 133,334 ตัน จะต้องขายภายในเดือนมิถุนายน 2563  เนื่องจากรอดูจังหวะราคาน้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากเดิม  และส่วนที่ 2 อีกจำนวน 4 แสนตันจะเป็นส่วนที่อนท. ขายคืนโรงงานน้ำตาล

 อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญในวงการน้ำตาลต่างตั้งข้อสังเกตว่า  วิกฤตภัยแล้งปี 2562 จะทำให้ผลผลิตอ้อยหายไปมาก ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกก็จะลดลง ล้อตามกันไป  ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยทั้งปีโงหัวขึ้น คาดการณ์ว่าจะไต่ระดับโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์!

 - 2ปัจจัยเสี่ยง กดราคาไม่พุ่งเท่าที่ควร

ขณะที่แหล่งข่าวจากกูรูวงการน้ำตาลตั้งข้อสังเกตว่า  อย่าเพิ่งคาดหวังมากนัก แม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะดีดตัวสูงขึ้น  แต่อย่าลืมว่าของแพงขึ้นแต่เรามีของขายน้อยลง  เพราะเผชิญปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำลง  เหมือนทุกครั้งพอผลผลิตมากราคาร่วง พอผลผลิตน้อยราคาจะพุ่งสูงขึ้น  ขณะเดียวกันถ้าราคาไปในทิศทางบวก  อุตสาหกรรมน้ำตาลก็ยังมี 2 ความเสี่ยงอยู่ดี

ความเสี่ยงแรก คือ 1.ปัจจุบันอินเดียมีสต็อกน้ำตาลอยู่ในมือราว 14 ล้านตัน ก็มีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะระบายสต๊อกออกมา ถึงแม้ว่าปี 2562/63 ในตลาดโลกมีผลผลิตน้อยกว่าการบริโภคอยู่ประมาณ  5-7 ล้านตันก็ตาม อินเดียอาจจะนำน้ำตาลออกมาปล่อยขาย   ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่ขยับสูงขึ้นเท่าที่ควร ดังนั้นสต็อกน้ำตาลจากอินเดียจึงเป็นแรงกดดันในตลาดพอสมควรนับจากนี้ไป

2.ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า เวลาซื้อ-ขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ  ดังนั้นราคาดีขึ้นแต่ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่า ไทยจะนำเงินเข้าประเทศจากการส่งออกน้ำตาลได้น้อยลง

เหมือนทิศทางราคาน้ำตาลจะดี  แต่ไปไม่สุด เพราะสต็อกน้ำตาลจากอินเดียที่มีจำนวนมาก อาจจะเข้ามาขายเพิ่ม  และจะเป็นตัวการที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่สามารถไต่ระดับได้สูงกว่าที่ควรจะเป็น เกรงว่าบรรดาผู้ค้าน้ำตาล จะดีใจเก้อ! เพราะ“น้ำตาล”อินเดียสกัดราคาตลาดโลกให้ขยับไม่แรงนั่นเอง!

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

แนะเฝ้าระวังด้วงหนวดยาวบุกไร่อ้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระยะนี้อากาศแห้งแล้ง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังการระบาดของด้วงหนวดยาวอ้อย ที่พบการเข้าทำลายได้ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ถึงระยะแตกกอของอ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอ เริ่มแรกจะพบการเข้าทำลายของหนอนด้วงเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มปลูกอ้อย ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอก หน่ออ้อยอายุ 1-3 เดือน จะถูกหนอนด้วงกัดกินตรงส่วนโคนที่ติดกับเหง้าให้ขาดออก ทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย เมื่ออ้อยมีลำแล้วจะพบการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาวอ้อย ทำให้กาบใบและใบอ้อยแห้งตายทั้งต้นหรือทั้งกออ้อย หนอนขนาดเล็กจะกัดกินเหง้าอ้อย ทำให้ระบบส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง เมื่อหนอนใหญ่ขึ้นจะเจาะไชโคนลำต้นขึ้นไปกินเนื้ออ้อย ทำให้ลำต้นเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก ลำต้นหักล้มและแห้งตายในที่สุด

เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสานคือ ใช้วิธีกล โดยให้เกษตรกรไถพรวนดินแล้วเดินเก็บตัวหนอนและดักแด้ตามรอยไถช่วงก่อนปลูกอ้อย และช่วงค่ำให้จับหรือเดินเก็บตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวในแปลงอ้อย ส่วนอ้อยระยะแตกกอ ถ้าพบกออ้อยมีหน่ออ้อยแห้งตายให้ขุดกออ้อยและเก็บตัวหนอนด้วงหนวดยาวอ้อยออกไปทำลาย การใช้ศัตรูธรรมชาติกำจัดศัตรูพืช อ้อยปลูก ให้โรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมบนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ อ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมชิดกออ้อยแล้วกลบดินอัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่

กรณีระบาดรุนแรง ให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด แบบชนิดน้ำ อ้อยปลูก ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง  ฟิโพรนิล 5% เอสซีอัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน อ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วพ่นชิดกออ้อยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ และให้กลบดิน แบบชนิดเม็ด อ้อยปลูก ให้โรยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยบนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน อ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วโรยชิดกออ้อยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วให้กลบดิน หากมีความชื้นในดินจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมและสารเคมีมากขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สศก.คาดจีดีพีเกษตรปี’63ขยายตัว2-3%

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2562 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ภาคเกษตรขยายตัวได้คือ สภาพอากาศเย็นช่วงปลายปี 2561 เอื้อให้ไม้ผลทั้งทุเรียน มังคุด และเงาะออกดอกติดผลให้ผลผลิตได้จำนวนมาก ไม้ยืนต้นมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และในส่วนการผลิตสินค้าปศุสัตว์มีระบบผลิตได้มาตรฐาน มีการวางแผนผลิตและเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดต่อเนื่อง  ประกอบกับ กระทรวงเกษตรฯมุ่งพัฒนาภาคเกษตร โดยเน้นเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ดำเนินนโยบายสำคัญต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer และพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเกษตรกรมืออาชีพ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิตควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรสอดคล้องความต้องการของตลาดและมีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 ส่งผลต่อการเติบโตของข้าว อ้อย และสับปะรด นอกจากนี้ ฝนที่มาช้าและภาวะฝนทิ้งช่วงยังทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช  รวมถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคม - กันยายน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล ส่งผลพื้นที่เพาะปลูกพืชเสียหาย  รวมทั้งการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตเสียหาย อีกทั้ง การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ มีทิศทางลดลง จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว 

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2563 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 2.0-3.0 ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การส่งเสริมการรวมกลุ่ม ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร การบริหารการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุน ทำให้เกษตรกร มีรายได้ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยโดยรวม และเศรษฐกิจโลก ในปี 2563 ยังมีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้งการส่งเสริมการบริโภคและใช้สินค้าเกษตรในประเทศต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคเกษตรในปี 2563 ขยายตัวได้ดี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

รายงานพิเศษ : เจาะลึก...แก้ปัญหาภัยแล้ง ‘อีสานกลาง-อีสานเมืองกาญจน์ยั่งยืน

เป็นที่ทราบดีกว่า ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึงประมาณร้อยละ 40 ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่อย่างน้อย 6 แห่ง คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา และเขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ต้องเฝ้าระวังควบคุมการบริการจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด พร้อมให้งดทำนาปรัง

พื้นที่ “อีสานกลาง” และ พื้นที่ “อีสานแห่งกาญจนบุรี” แม้จะอยู่คนละภูมิภาคแต่ปีนี้ก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเช่นกัน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำใน 3 เขื่อนขนาดใหญ่ ของพื้นที่ลุ่มน้ำชี 5 จังหวัด“อีสานกลาง”คือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด พบว่าเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 521 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.)หรือร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ ต่ำกว่าปริมาณน้ำที่ใช้การได้ขณะนี้นำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ไปแล้วมากกว่า 60 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 47 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 9.37 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ดังนั้น เขื่อนทั้ง 2 แห่ง จะส่งน้ำสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น งดปลูกพืชฤดูแล้งทุกชนิด

ในขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ปีนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,527 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,427 ล้าน ลบ.ม.สนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 13 แห่ง โดยอยู่ในเขตจ.ชัยภูมิ 5 แห่ง จ.ขอนแก่น 6 แห่ง และจ.ร้อยเอ็ด 2 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ

ดังนั้น กรมชลประทานต้องวางแผนจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้น้ำที่มีจำกัดพอใช้เฉพาะอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า ดังนี้

พื้นที่จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด มีเป้าหมายลดปริมาณใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะส่งไปสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในอ.เมืองมหาสารคาม ด้วยการสูบน้ำย้อนกลับจากแม่น้ำชี ที่ส่งมาจากเขื่อนลำปาวมาเติมหน้าเขื่อนวังยาง พร้อมควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก. เพื่อให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบย้อนกลับดังกล่าว 4 เครื่อง จะสูบน้ำได้ประมาณวันละ 170,000 ลบ.ม.สูบประมาณ 35 วัน เริ่มสูบกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้หน้าเขื่อนวังยางเก็บน้ำได้เพิ่มอีก 6 ล้าน ลบ.ม. เพียงพออุปโภคบริโภคของประชาชนเมืองมหาสารคาม ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563 จากแนวทางรดังกล่าว จะลดใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้วันละ 50,000 ลบ.ม. ทำให้เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเพียงพออุปโภคบริโภคในเขตจ.ขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม หากน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเมืองมหาสารคามยังไม่พอ ได้วางแผนระบายจากเขื่อนลำปาวช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนลำปาวไม่ต้องการน้ำทำการเกษตรมาช่วยผ่านประตูระบายน้ำพนังชี มาเติมน้ำหน้าเขื่อนวังยางได้อีกประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการตระหนักรู้ร่วมกันของประชาชนช่วยประหยัดน้ำให้มากที่สุด

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น กรมมีแผนพัฒนาปรับปรุงเพิ่มความจุแก้มลิงที่กระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำชีให้เต็มศักยภาพ ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 จะพัฒนาแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบอีก 129 แห่ง เก็บน้ำได้เต็มศักยภาพรวม 257.96 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 171,583 ไร่

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่เพิ่มขึ้น กำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง อยู่ในจ.ชัยภูมิคือ อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อ.หนองบัวแดง อ่างเก็บลำน้ำชี อ.บ้านเขว้า และอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ.หนองบัวระเหว เก็บน้ำได้รวมกันประมาณ 160 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 127,000ไร่ และตั้งแต่ปี 2562-2565 จะสร้างอ่างเก็บน้ำใน จ.ชัยภูมิอีก 3 แห่ง เช่นกัน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ

อ่างเก็บน้ำห้วยจอมแก้ว และอ่างเก็บน้ำลำเจียง มีความจุรวมกันประมาณ 74 ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 49,000 ไร่

ในอนาคตเมื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนที่กำหนดไว้แล้วเสร็จ ปัญหาขาดแคลนน้ำของ“อีสานกลาง” จะบรรเทาลง

ขณะเดียวกัน“อีสานแห่งกาญจนบุรี”หรือ“อีสานเมืองกาญจน์”พื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอ ในจ.กาญจนบุรี ได้แก่ อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือและอ.พนมทวน ก็ประสบปัญหาภัยแล้งเกิดขาดแคลนน้ำยาวนานถึงขั้นไม่มีน้ำเพื่ออุปโภค–บริโภค จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสูงและซ้ำซาก เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ ที่อยู่บนสันเขาใกล้เส้นแบ่งสันปันน้ำ จึงไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้

การแก้ปัญหาปัจจุบันเป็นการแก้เฉพาะหน้าเร่งด่วน กรมชลประทานสูบน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทอง ที่มีน้ำท่าสมบูรณ์ไปเติมสระเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ สระเก็บน้ำหนองนาทะเลความจุ 2.5 ล้านลบ.ม. สระเก็บน้ำวัดทิพย์สุคนธารามความจุ 1.15 ล้านลบ.ม. และสระเก็บน้ำบ้านหนองมะสังข์ความจุ 400,000 ลบ.ม รวมทั้งยังเติบให้สระเก็บน้ำอื่นๆที่มีศักยภาพด้วย แต่จะสนับสนุนเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การแก้ปัญหาอีสานแห่งกาญจนบุรีระยะยาวนั้น ล่าสุดคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเร่งศึกษา โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาแล้ง จ.กาญจนบุรี เพื่อแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากใน 5 อำเภอดังกล่าวให้แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งกรมชลประทานเป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติที่จะร่วมบูรณาการขับเคลื่อนโครงการ

โดยการศึกษาเบื้องต้น แนวทางที่เป็นไปได้คือ สร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ลอดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสลักพระไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ของกรมชลประทานระยะยาว 22 กม. พร้อมระบบท่อส่งน้ำ 14 กม. และคลองส่งน้ายาว 147 กม. หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ จะแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.14/24 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 30.17 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า ในช่วงคืนที่ผ่านมา สินทรัพย์ทางการเงินแทบทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติทศวรรษที่ดีที่สุดของการลงทุน โดยดัชนี S&P500 ของสหรัฐปรับตัวบวกขึ้น 0.1% FTSE100 ของอังกฤษปรับตัวขึ้น 0.5% ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้น 0.5% พร้อมกับราคาทองคำที่ปิดบวก 0.6% กลับมาที่ระดับ 1489 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ประเด็นหลักที่หนุนการลงทุน ยังคงเป็นเรื่องการค้าที่ล่าสุดทางการจีนออกมาตราการลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายชนิด ขณะเดียวกันตลาดก็อยู่ในช่วงวันหยุดจึงไม่ได้มีปริมาณการซื้อขายมาก และเงินเงินลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาใหม่เป็นฝั่งซื้อสินทรัพย์หลายชนิดในช่วงท้ายปี ทำให้ตลาดอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะดังกล่าวจะเป็นบวกกับการลงทุนส่วนใหญ่แต่เชื่อว่าตลาดเงินจะไม่เคลื่อนไหวไกลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของเงินบาท เนื่องจากช่วงนี้ไม่ได้มีผู้ประกอบการและผู้ค้าที่เก็งกำไรมากนักจึงน่าจะเห็นเงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงสัปดาห์สุดท้ายของทศวรรษ

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.14-30.24 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ส่งออกปี62มีแววลบเกิน3%

"เชาว์" ชี้เศรษฐกิจโลกชะลอ บาทแข็ง ฉุดส่งออกไทยร่วงหนัก ทั้งปีอาจลบเกิน 3% ขณะเลข พ.ย.62 แย่กว่าที่คาด

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 62 ติดลบที่ร้อยละ 7.39 คิดเป็นมูลค่า 19,656 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมยอด 11 เดือนแรก ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 2.77 คิดเป็นมูลค่า 227,090 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า ทำให้ตัวเลขทั้งปีมีโอกาสติดลบมากกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเลวร้ายที่สุดจะอยู่ติดลบมากกว่าร้อยละ 3

อย่างไรก็ตาม จากฐานตัวเลขส่งออกไทยที่ต่ำมากของปีนี้ ดังนั้น ในปี 63 อาจฟื้นตัวได้ จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สงครามการค้าอยู่ในทิศทางบวกหนุนเศรษฐกิจโลกขยายตัว เศรษฐกิจของประเทศหลัก เช่น จีน สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นต้องไม่ชะลอตัวมาก และเงินบาทต้องไม่แข็งค่ามากกว่าจากปัจจุบันที่เป็นอยู่

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

“บิ๊กตู่”ตรวจภัยแล้ง ชมไร่อ้อยยุคใหม่ ที่ชัยภูมิ 25ธ.ค.

นายกฯลงพื้นที่ชัยภูมิ 25 ธ.ค. ตรวจงานแก้ภัยแล้ง-เกษตรไร่อ้อยสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและลดมลพิษ

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.62 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการที่จ.ชัยภูมิ ในวันที่ 25 ธ.ค. 2562 เพื่อติดตามการปัญหาภัยแล้ง และเยี่ยมชมการจัดการเกษตรไร่อ้อยสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและลดการสร้างมลพิษ พร้อมทั้งสร้างรายได้เสริมจากการทำการเกษตรตามนโยบายแห่งรัฐ  โดยในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีและคณะ จะออกเดินทางโดยเครื่องบินออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานขอนแก่น อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น  และเดินทางต่อโดยเฮลิคอปเตอร์ จากโรงเรียนกุดตุ้มวิทยา ไปยังบริเวณจัดงานที่คลองเทา บ้านหนองแหน จ.ชัยภูมิ  เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูและพัฒนาคูคลองโดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมปลูกต้นมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย และปลูกหญ้าแฝกกับประชาชนด้วย  จากนั้น นายกฯจะเดินทางไปยังไร่กุดจอก อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อพบปะประชาชนและตรวจเยี่ยมการตัดอ้อย สางใบอ้อย และเก็บใบอ้อย ด้วยวิธีทำไร่อ้อยสมัยใหม่ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืนจากองค์ความรู้ที่ได้มีการนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เสริมประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อยและลดการเผาอ้อยและลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า  ต่อมา ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน  นายกฯและคณะ จะเดินทางไปที่โรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปภัมภ์) ที่เข้าโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เพื่อเยี่ยมชมการเรียนการสอนลักษณะการเรียนรู้จากการปฏิบัติและเยี่ยมชมนิทรรศการพัฒนาทักษะอาชีพ ได้แก่ การทำน้ำอ้อยคั้นสด  การจับจีบผ้า  และการทำมาลัยมะกรูดใบเตย  เยี่ยมชมการสาธิตการบังคับหุ่นยนต์โดยเด็กพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะการเขียนโปรแกรม (โค้ดดิ้ง) ที่ห้องศูนย์การเรียนรู้ และเยี่ยมชมแปลงเพาะชำอ้อยของโรงเรียนดังกล่าว ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเย็นวันเดียวกัน      

สำหรับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปร่วมพัฒนาโรงเรียน พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ เพื่อวางรากฐานการศึกษาแก่ลูกหลานเกษตรกรในพื้นที่และลูกหลานคนในชุมชน ต่อยอดโครงการโรงเรียนประชารัฐ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นถึงความสำคัญในการให้เยาวชนไทยทุกคน ทุกที่ มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตาม

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เกษตรกรชาวอ่างทอง ไร้น้ำปลูกอ้อยยอมลงทุนเจาะน้ำบาดาล สู้ภัยแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณไร่อ้อย ในท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลศรีพราน อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง รถขุดเจาะน้ำบาดาลทีมงานนอนน้อยของนายปัญญา วิลัยรัตน์ ชาวค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี กำลังเร่งใช้เครื่องเจาะลงในพื้นดินเพื่อหาน้ำบาดาลใต้ดิน หลังจากได้รับการว่าจ้างจากนายเสน่ห์ เพ็ญศรี เกษตรกรชาวตำบลศรีพรานที่ลงทุนเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำใต้ดินมาหล่อเลี้ยงต้นอ้อยที่กำลังจะปลูกในฤดูกาลต่อไป หลังน้ำในคลองชลประทาน 2 ซ้าย 5 ซ้าย 1 ขวา ชัณสูตร แห้งขอดไม่มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรได้

 นายปัญญา วิลัยรัตน์ อายุ 26 ปี หัวหน้าชุดขุดเจาะน้ำบาดาล กล่าวว่า ช่วงนี้งานขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลมีทุกวัน ซึ่งทีมงามมีงานขุดเจาะน้ำบาดาล ทั้งจังหวัดอ่างทองและจังหวัดอื่นด้วย ซึ่งมีทั้งไกลและใกล้ ซึ่งจังหวัดอ่างทอง ตั้งแต่เกิดวิกฤติภัยแล้งทีมงานขุดมาแล้ว 200-300 บ่อเห็นจะได้ โดยราคาค่าขุดเจาะอยู่ที่ความลึก 30-60 เมตร ในราคา 15,000-18,000 บาท

 ด้านนายเสน่ห์ เพ็ญศรี เกษตรกรชาวตำบลศรีพราน กล่าวว่าเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งน้ำไม่มี ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ตนปลูกอ้อยในเนื้อที่ 7 ไร่ ตนต้องลงทุนเจาะบ่อน้ำบาดาลเบื้องต้นวางงบไว้ 12,000 บาทขนาดความลึก 22 วาแต่ดูแล้วน่าจะเกินเพราะใช้ความลึกมากจึงเจอน้ำ แต่ถ้าตนไม่ขุดบ่อบาดาลต้นอ้อยที่ปลูกไว้ก็จะตายหมด ซึ่งบริเวณแถวนี้ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลกันทุกนาไม่ขุดก็ไม่ได้น้ำไม่มี เพราะน้ำคลองชลประทาน 2 ซ้าย 5 ซ้าย 1 ขวา ชัณสูตร ไม่ปล่อยมาให้เรา ถึงชลประทานปล่อยน้ำมาเราก็ไม่ได้เพราะเกษตรกรแย่งกันสูบทำให้น้ำมาไม่ถึงเรา เราจะทำอย่างไรจึงต้องยอมลงทุนตอกบ่อ

 ซึ่งนายเสน่ห์ เพ็ญศรี เกษตรกรชาวตำบลศรีพราน ทำการเพาะปลูกอ้อยไว้หลายแห่งนอกจากบริเวณนี้ 7 ไร่แล้ว ในบริเวณใกล้เคียงยังปลูกอ้อยไว้อีก 50 ไร่และนาข้าวอีก 30 ไร่ โดยในทุกพื้นที่ทางการเกษตรของนายเสน่ห์ เพ็ญศรี ได้ลงทุนขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลไว้ใช้ตั้งแต่จังหวัดอ่างทองประสบปัญหาภัยแล้ง

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมการค้าฯดันอาเซียนใช้ e-Form D

กรมการค้าต่างประเทศ เผย ผลักประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ e-Form D ในการใช้ประโยชน์ทางการค้า ล่าสุดเหลือ ฟิลิปปินส์ ยังอยู่ระหว่างทดสอบ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เร่งผลักดันและสนับสนุนการดำเนินการของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่เข้าร่วมการเชื่อมโยงระบบการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ให้สามารถเข้าร่วมได้สำเร็จ เพื่อเพิ่มทางเลือกและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียน ล่าสุด ได้มีการเชื่อมโยงระบบดังกล่าวเป็นผลสำเร็จเพิ่มอีก 2 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา และสปป.ลาว ซึ่งพร้อมจะเข้าร่วมระบบ e-Form D ภายใต้กรอบอาเซียนแล้ว

โดยกรมการค้าต่างประเทศจะเริ่มใช้แนวทางการอำนวยความสะดวกกับสองประเทศดังกล่าวผ่านระบบ e-Form D ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2563 เป็นต้นไป และคงเหลือประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบช่วงสุดท้าย คาดว่าฟิลิปปินส์จะสามารถใช้งานระบบ e-Form D ได้ในช่วงต้นปี 2563

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

คุมเข้มใช้3สาร หาช่องเก็บภาษีส่งออก

“มนัญญา” ลุยแผนจำกัดการใช้ 3 สารเคมีเกษตร ย้ำต้องรายงานสต๊อกการซื้อ-ขายทุก 15 วัน ป้องกันตัวเลขสต๊อกดิ้นได้ ปิ๊งไอเดียเก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตรส่งออก นำรายได้มาพัฒนาวิจัยภาคเกษตร เร่งชงร่างพรบ.วัตถุอันตราย เข้าบอร์ดวัตถุอันตราย เข้มใช้สารพิษทุกชนิดยึดหลักสุขภาพประชาชน

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า เตรียมส่งร่างกฎหมายพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่ปรับแก้ใหม่ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย (คก.วอ.) ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธานเพื่อทราบ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีอยู่แล้วได้ปรับบางข้อที่ไม่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันมาเพิ่มให้รัดกุม ครอบคลุมสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกชนิด การนำเข้า การผลิต ต้องผ่านโรงงานที่มีมาตรฐานสากล มีห้องปฎิบัติการติดตามตรวจสอบความเป็นพิษและสารตกค้างได้ ผู้ใช้สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ จะควบคุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ยึดหลักสุขภาพ ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน โดยคุมเข้ม ผู้นำเข้า โรงงาน ร้านค้า โดยเฉพาะสารไกลโฟเซต ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย คก.วอ.มีมติกำจัดการใช้ ต่อไปจะต้องควบคุมให้สารไกลโฟเซต เป็นชื่อการค้าเพียงชื่อเดียว ไม่ให้ไปแตกหลายยี่ห้อ จากที่ผ่านมา จึงไม่ใช่มาตรการจำกัดการใช้ที่ถูกต้อง

“มาตรการจำกัดการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางเกษตร จะต้องรายงานทุก 15 วัน เข้ามาให้หน่วยงานที่กำกับควบคุม สามารถติดตามได้ว่า ร้านไหน ขายไปเท่าไหร่ ขายให้กับผู้ผ่านการอบรมใช้สารหรือไม่ ต้องแจ้งให้ชัดเจนและถ้าวันใดต้องยกเลิกสารเหล่านี้ จะรู้ได้ทันทีว่าร้านไหนขายเท่าไหร่ โรงงานสต็อกเท่าไหร่ จะไม่เกิดปัญหาตัวเลขบวม เหมือนในขณะนี้ที่กรมวิชาการเกษตร รายงานตัวเลขสต็อกสารดิ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.ใหม่ จะควบคุมตรงนี้ได้ทุกสารเคมี ช่วงนี้ให้ระยะเวลาปรับตัวผู้นำเข้าสารเคมีมีพิษเข้ามา ต้องเข้าใจใหม่ถึงมาตรการจำกัดการใช้ และการยกเลิก 2สารเคมีทางการเกษตรคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ที่เกิดขึ้นปีหน้าจะต้องปฏิบัติอย่างถูกต้อง ชัดเจนทุกพื้นที่ มีหน่วยงานติดตามผลตลอดเวลา ไม่ใช่ทำกันอยู่แค่ในกระดาษ”น.ส.มนัญญากล่าว

และย้ำว่า ตั้งแต่มาเป็นรมช.เกษตรฯไม่อนุญาตให้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส นำเข้าประเทศไทย แต่ตอนนี้กลับมีสต็อกเพิ่ม 2.4 หมื่นตัน จากตอนแรกที่กรมวิชาการเกษตร แจ้งคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า มีสต็อก 2.3 หมื่นตัน ดังนั้น เมื่อพ.ร.บ.ผ่านคณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบแล้ว ก็จะประกาศกฎกระทรวง โดยรมว.เกษตรฯ ลงนาม ซึ่งหลังจากนั้นต่อไปเรื่องการลักลอบนำเข้าจะไม่มี เมื่อร่างกฎหมายตัวนี้ออกมา ทุกขั้นตอนรัดกุมและราคาต้องควบคุมได้ เพราะยกเว้นภาษีนำเข้า ในส่วนส่งออก จะหารือหน่วยงานที่ดูแลต่อไป ดูว่าการเก็บภาษี จะแยกมาเพื่อส่งออก และนำรายได้จากนี้ไปใช้พัฒนาวิจัยภาคเกษตร จะเหมือนกับภาษีบาป เหล้า บุหรี่

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สทนช.บูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาคุณภาพน้ำเร่งด่วน

รัฐผนึกกำลังเฝ้าระวังแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง ค่าความเค็มเกินมาตรฐานจากน้ำทะเลหนุนสูง สทนช.ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์แม่น้ำสายหลักอย่างใกล้ชิด พร้อมประสาน กปน. กรมชลฯ ปรับแผนรับน้ำดิบจากฝั่งแม่กลอง 2 แสน ลบ.ม./วัน ป้องน้ำเค็มกระทบการผลิตประปาสถานีสูบน้ำดิบสำแล

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้มีการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยอาจได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลต่อคุณภาพน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร นอกจากนี้ ยังติดตามคุณภาพของแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีการติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมภาค (สสภ.) ทั้งนี้ สถานการณ์คุณภาพน้ำของ 4 แม่น้ำสายหลักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีแม่น้ำที่ค่าความเค็มเกินค่าเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง

 ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สทนช.ได้มีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า พร้อมประสานเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กปน.และกรมชลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้ กปน.มีการติดตามการเฝ้าระวังเกณฑ์คุณภาพน้ำดิบ หากค่าความเค็มที่จุดตรวจวัดสะพานพระนั่งเกล้า มีค่าเกิน 2 กรัม/ลิตร กปน.จะประสานกรมชลประทาน เพื่อระบายน้ำผลักดันน้ำเค็ม ไม่ให้รุกล้ำถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล และหากหน้าสถานีสูบน้ำดิบสำแลมีค่าความเค็มเกิน 0.25 กรัม/ลิตร จะจัดการสูบน้ำดิบให้เหมาะสมตามเกณฑ์คุณภาพน้ำ รวมทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมชลประทานลดการรับน้ำดิบจากฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและเพิ่มการรับน้ำดิบจากฝั่งแม่กลอง 200,000 ลบ.ม./วัน เพื่อบรรเทาสถานการณ์คุณภาพน้ำ

ปัจจุบันกรมชลประทานจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและป้องกันน้ำเค็มตลอดฤดูแล้ง 4 มาตรการ คือ 1. การบริหารจัดการน้ำจะพิจารณาให้สัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำทะเล  2.ควบคุมการปิดเปิดประตูระบายน้ำตามคลองต่าง ๆ ไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่การเกษตร  3.วางแผนและดำเนินการบริหารจัดการน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ การลำเลียงน้ำจากคลองและแม่น้ำสายหลัก เร่งผลักดันน้ำเพื่อลดค่าความเค็มและผลกระทบด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง และ 4.ช่วยเหลือรถบรรทุกน้ำเพื่อขนส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกร โดยกำหนดให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องหมุนเวียนในพื้นที่

ขณะเดียวกัน สทนช.ได้ประสาน คพ. สสภ. กปภ. ให้ดำเนินการติดตามคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยทำการตรวจวัดค่าความเค็มที่จุดเฝ้าระวัง และควบคุมค่าความเค็มทุกวันจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง ประกอบด้วย 1. สถานีสูบน้ำสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 0.25 กรัม/ลิตร  2.ปากคลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 0.75 กรัม/ลิตร 3.ปากคลองดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 2.00 กรัม/ลิตร และ 4.อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ปราจีนบุรี ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 1 กรัม/ลิตร โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเร่งด่วนและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากบริเวณใดมีแนวโน้มส่งผลกระทบจะสามารถบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สุริยะเตือนโรงงานป้องกันไฟไหม้หน้าแล้ง

รมว.อุตสาหกรรม สั่งกรอ.แจ้งเตือนโรงงานเพิ่มความเข้มงวดป้องกันไฟไหม้ช่วงหน้าแล้ง พบ 8กลุ่มเสี่ยงสูง ขณะสถิติ 9 เดือนของปี 62 เกิดอัคคีภัยในโรงงาน 42 ครั้ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะอากาศของประเทศไทยไทยที่เข้าสู่ฤดูแล้งจึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แจ้งเตือนโรงงานทั่วประเทศให้ระมัดระวังและเข้มงวดด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงใน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย โรงงานสิ่งทอ เส้นใยจากพืช ฟอกย้อมผ้า, โรงงานแปรรูปไม้และเฟอร์นิเจอร์, โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก โฟม กระดาษ ยาง, โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี สารอันตราย, โรงงานผลิตสี ทินเนอร์ ก๊าซ วัตถุระเบิด กลั่นสุรา, โรงงานเกี่ยวกับกากหรือขยะอุตสาหกรรม รีไซเคิลของเสีย, โรงงานเกี่ยวกับอาหาร แป้ง มันสำปะหลัง อาหารสัตว์ และโรงงานประเภทอื่นๆ เช่น โกดังเก็บสินค้า งานซ่อม งานโลหะ เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า ตนเองมีความเป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาสาเหตุการเกิดไฟไหม้ในโรงงานมาจากไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ชำรุด และความประมาท จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำชับไปยังผู้ประกอบการโรงงานให้ใส่ใจ ระมัดระวัง ตรวจสอบ ตรวจตราอุปกรณ์เครื่องจักรให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนกิจกรรมภายในโรงงานที่ทำให้เกิดประกายไฟ เช่น การเชื่อม การตัดเจียร การเผา และการใช้ความร้อน ต้องให้ความระมัดระวังอย่างสูง และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพราะหากไม่มีความระมัดระวังปัญหาที่ตามมาคือความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศจนสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนและประชาชนด้วย

ด้าน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้แจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้เพิ่มความระมัดระวังด้านความปลอดภัยในช่วงหน้าแล้งตามนโยบาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งได้สั่งกำชับให้ผู้ประกอบการโรงงานปฏิบัติตามขั้นตอนเช็คความปลอดภัยการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงหน้าร้อน และข้อควรระวังในการใช้ระบบความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น และคู่มือเอกสารความปลอดภัยต่าง ๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ของกรมโรงงานฯนอกจากนี้ กรอ. ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัย และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานช่วง 9 เดือนของปี 62 (ตั้งแต่ม.ค. – ก.ย.) พบว่า มีโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุ จำนวน 55 ครั้ง แบ่งเป็นประเภทอุบัติเหตุ ดังนี้ อัคคีภัย 42 ครั้ง, สารเคมีรั่วไหล 8 ครั้ง, การระเบิด 2 ครั้ง, และอื่น ๆ เช่น เครื่องจักรชำรุด หล่นทับ จำนวน 3 ครั้ง

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

2 กก.วัตถุอันตรายชิ่งมติยืดแบน 3 สาร

เปิดหนังสือเวียนคกก.วัตถุอันตราย พบ 2 คกก. ไม่เห็นด้วยยื้อแบน 3 สารพิษ ส่งหนังสือไม่รับรองมติ 27 พ.ย.

22  ธันวาคม 2562 เปิดหนังสือเวียนคกก.วัตถุอันตราย พบ 2 คกก. ไม่เห็นด้วยยื้อแบน 3 สารพิษ เดินตามรอย "จิราภรณ์" ขณะที่ 2 ตัวแทนสธ. ส่งหนังสือไม่รับรองมติวันที่ 27 พ.ย. เหตุยังไม่ลงมติ บันทึกการประชุมไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ตอกหน้า “สุริยะ” อ้างมติเอกฉันท์ 24 ต่อ 0 เชื่อหากฟ้องร้องเป็นโมฆะ ด้าน"หมอธีระวัฒน์" ชี้มติใช้ไม่ได้ จี้นายกฯ รักสุขภาพปชช.สำคัญสุด พร้อมประกาศเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ สุดเพลียฟ้องร้องมาแล้ว 40 ปี

 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุสาหกรรม เป็นประธาน ได้ออกหนังสือฉบับเวียนให้แก่คณะกรรมการวัตุอันตรายทั้ง 24 คน ให้รับรองผลการประชุม ในวันที่ 27 พ.ย.62 ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าให้ออกประกาศกำหนดวัตุอันตรายพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดเวลาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 63

ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ ตามมิติคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61 ซึ่งเอกสารระบุว่ามีคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่เห็นด้วย อาทิ นางสมศรี สุวรรณจรัสกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ นางชุติมา รัตนเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนองค์การ สาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน

นอกจากนี้ ล่าสุด ยังพบว่าตัวแทนคณะกรรมการวัตถุอันตราย 2 คน ตัวแทน จากกระทรวงสาธารณสุข คือนายไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณากลับไปกลุ่มวิชาการและเลขานุการ กองบริหารจัดการวัตุอันตราย กรมโรงงานอุสาหกรรม ไม่รับรองผลการประชุมวันที่ 27 พ.ย.

โดยมีสาระสำคัญคือ ยังคงยืนยันรับรองผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค. คือให้แบน 3 สารเคมี และให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค. 62 ด้วยเหตุผลว่าในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ไม่มีการลงมติโดยการลงคะแนนแต่อย่างใด และ ไม่มีการยกเลิกมติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 49-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 62 ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย

ดังนั้นจึงไม่สามารถรับรองรายงานการประชุมครั้งนี้ได้ รวมทั้งมีความคลาดเคลื่อนในการบันทึกการประชุม ซึ่งได้นำเสนอที่ประชุมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการตามพ.ร.บ.อาหารว่ามีองค์ประกอบของ “ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนภาคเอกชน” ซึ่งไม่ได้ปรากฎในเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการวัตุอันตรายครั้งที่ 1-2562 วันที่ 27 พ.ย. หน้า15/27บรรทัด 19-20

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ก็ลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะไม่เห็นด้วยกับมติวันที่ 27 พ.ย.62

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การทำหนังสือไม่รับรองผลการประชุมในวันที่ 27 พ.ย. ของคณะกรรมการวัตุอันตรายของ 4 คน และ อีก 1 อดีตคณะกรรมการฯ ที่ลาออก รวมเป็น 5 คน จึงสะท้อนให้เห็นว่า การที่นายสุริยะ แถลงมติเอกฉันท์ 24 ต่อ 0 ไม่เป็นความจริง และรวบรัด อีกทั้งยังไม่มีการลงมติ และการบันทึกการประชุมไม่ตรงตามข้อเท็จจริง

"เชื่อว่าหากมีการฟ้องร้องมติในวันที่ 27 พ.ย.62 อาจทำให้มีผลเป็นโมฆะ เพราะมีพยานที่หนักแน่นจากกระทรวงสาธารณสุขถึง 2 คน และคณะกรรมการฯจากผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน และสภาเภสัชกรรม 1 คน อีกทั้งการใช้วิธีเวียนหนังสือรับรองให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งถือว่าไม่ใช่วิธีปกติ เพราะโดยปกติจะใช้ในโอกาสพิเศษที่ไม่สามารถประชุมได้"รายงานข่าวระบุ

ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 27 พ.ย.จากการถอดเทปมาฟังก็ไม่ครบถ้วน และมีคณะกรรมการวัตถุอันตราย และผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง สภาเภสัชกรรม แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ให้ยึดเวลาการใช้ 3 สารเคมี

จึงทำให้มติดังกล่าวใช้ไม่ได้ ประกอบกับก่อนหน้านี้มีข้อมูลจากสาธารณสุข และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีมติ 423 ต่อ 0 ก็ยืนยันผลกระทบทางด้านสุขภาพที่ชัดเจน และแนวทางทดแทนการใช้ 3 สารเคมีเพื่อไปสู่เกษตรอินทรีย์ และตลอด 40 ปี มีการร้องเรื่องนี้ผ่านทุกองค์กรมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เพราะสุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญสุด

"หากจะทำให้การแบนสารเคมีได้สำเร็จจริง ๆ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ เพราะท่านเป็นผู้มีอำนาจ"นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

จาก https://www.komchadluek.net   วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ชลประทานแจงสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์วางแผนรับมือ

กรมชลประทานเร่งสร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ทั้งเหนือน้ำ ท้ายน้ำ เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือทุกพื้นที่

22 ธันวาคม 2562 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดลงในปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน

 รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือ และวางแผนรับมือภัยแล้งในอนาคต ซึ่งอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ และเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของสังคม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในอนาคต

ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 507 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20.86 ของปริมาณความจุอ่าง ซึ่งขณะนี้ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้วประมาณ 74 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น 

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 สนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และส่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้แก่พื้นที่รับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ได้แก่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้งปี 2562 ที่ผ่านมา จำนวน 49 เครื่อง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และมีบางพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงยังคงเครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือเฉพาะการอุปโภคบริโภค 6 เครื่อง

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมกับรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 6 เข้าร่วมประชุมสานเสวนาเครือข่ายผู้ใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เหนือน้ำ-ท้ายน้ำ เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมในลุ่มน้ำชี แผน-ผลการใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและมาตรการให้ความช่วยเหลือภัยแล้งสร้างการมีส่วนร่วมให้ตระหนักและรับรู้การใช้น้ำให้ประหยัดและรู้คุณค่า

 สำหรับในพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ สำนักงานชลประทานที่ 6 ร่วมกับ โครงการชลประทานหนองบัวลำภู สำนักงานชลประทานที่ 5 จัดการประชุมร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านค้อ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำบริเวณเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์

 รวมทั้งขอความร่วมมือจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ไม่เดินเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้อย จึงต้องสงวนไว้ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงฤดูฝน ปี 2563

 สำหรับจังหวัดมหาสารคาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ ได้นำรถติดป้ายประชาสัมพันธ์และเครื่องกระจายเสียง ออกวิ่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด นอกจากนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ร่วมกับชาวบ้านและผู้นำชุมชน ลงพื้นที่หาแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่บ้านเหล่าบัวบ้าน หมู่ 4 ตำบลเหล่าบัวบาน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ที่ประสบปัญหาน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอ 

 พร้อมชี้แจงสถานการณ์น้ำและรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดอีกด้วย   โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

จาก https://www.komchadluek.net   วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562

KTIS มั่นใจปี’63 สายธุรกิจชีวภาพ ไฟฟ้า-เอทานอล เยื่อกระดาษเติบโต

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ KTIS เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานที่มีการเติบโตที่ดีของสายธุรกิจชีวภาพของกลุ่ม KTIS ในปี 2562 โดยมีรายได้จากการขายไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มจากปีก่อนถึง28.8% รายได้ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพิ่มขึ้น 23.3% และรายได้จากธุรกิจเยื่อกระดาษจากชานอ้อย เพิ่มขึ้น 7.6% นั้น มั่นใจว่าทั้ง 3 ธุรกิจนี้จะยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2563 เนื่องจากแนวโน้มราคาขายไฟฟ้า เอทานอล และเยื่อกระดาษ ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ขณะที่ปริมาณการขายก็ยืนอยู่ในระดับที่เต็มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสายธุรกิจอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น เชื่อว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ประกอบกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่ลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งจึงเชื่อว่าราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในปี 2563 จะสูงกว่าปี 2562 อีกทั้งคุณภาพของอ้อยหรือค่าความหวานของอ้อยในฤดูหีบปี 2562/2563 คาดว่าจะดีกว่าปีก่อน เพราะมีช่วงอากาศหนาวเย็นนานพอสมควร และการลดอ้อยไฟไหม้ตามนโยบายของรัฐบาลก็ทำให้มีอ้อยสดนำส่งเข้าโรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้นด้วย

ธุรกิจในสายชีวภาพของกลุ่ม KTIS นอกเหนือจากที่สร้างรายได้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ได้เริ่มดำเนินการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกับผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ของประเทศจีน และโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งร่วมลงทุนกับ บริษัท โกลบอล กรีน เคมิคอล ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้และผลกำไรให้กับกลุ่มKTIS ได้ในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เป็นต้นไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมชลฯส่งจนท.แจงสถานการณ์น้ำแล้ง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาล่าสุดว่า มีปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมกัน 11,451 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม4,755 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ นับว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ทั้งนี้ กรมชลประทานจัดสรรน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เพียงพอกับการอุปโภค บริโภคก่อนเป็นลำดับแรก 1,150 ล้านลบ.ม. ปล่อยน้ำลงแม่น้ำคูคลองเพื่อรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม 2,335 ล้านลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรต่อเนื่อง สวนผลไม้ ไม้ดอก 515 ล้านลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 1,877 ล้านลบ.ม.สำรองไว้ต้นฤดูฝนหน้า กรณีฝนมาช้า มาน้อย หรือฝนทิ้งช่วง

ปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยาปีนี้จึงไม่พอปลูกข้าวนาปรัง กรมขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งปี 2562/63 พร้อมลงพื้นที่สร้างความรับรู้และเสนอแนะแนวทางเลือกสร้างรายได้ หรือป้องกันกรณีเหตุการณ์น้ำน้อย อย่างไรก็ดี ปีนี้กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องจักรกล รถบรรทุกน้ำ รวมมากกว่า 2,000 หน่วย เพื่อเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ว และจะจ้างแรงงานเกษตรกรเพื่อชดเชยรายได้ควบคู่ไปด้วย ล่าสุดลงพื้นที่พบกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกรจากอ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันมีปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ฤดูแล้งนี้เพียง 22 ล้านลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทานโครงการกระเสียวมีมติให้สำรองน้ำ 20 ล้านลบ.ม. ไว้เพื่ออุปโภคบริโภค ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2562-กรกฎาคม 2563

ผลจากการขอความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างฯกระเสียวงดทำนาปีต่อเนื่องและนาปรังปี 2562/63 ได้รับผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ราษฎรเข้าใจให้ความร่วมมือประหยัดน้ำ จึงมั่นใจว่าจะมีน้ำใช้ไม่ขัดสนไปจนหมดหน้าแล้งแน่นอน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ชลประทานยังจัดทำบันทึกชี้แจงสถานการณ์น้ำ จัดเวทีประชุมชุมชน เสียงตามสาย ป้ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี และอยุธยา สร้างความรับรู้เข้าใจ และขอความร่วมมืองดทำนาปีและนาปรังต่อเนื่อง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

KTIS เชื่อ ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

KTIS เชื่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว มั่นใจกระแสรักสิ่งแวดล้อมดันผลิตภัณฑ์ธรรมชาติบูม ดันสายธุรกิจชีวภาพปี 63 เติบโตดี

นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท  เกษตรไทย  อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเปิดเผยว่า แนวโน้มราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยในปี 2563 จะสูงกว่าปี 2562 เพราะเชื่อว่า ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ประกอบกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่ลดลง จากปัญหาภัยแล้ง และคุณภาพของอ้อยหรือค่าความหวานของอ้อยในฤดูหีบปี 2562/2563 คาดว่า จะดีกว่าปีก่อน เพราะมีช่วงอากาศหนาวเย็นนานพอสมควร และการลดอ้อยไฟไหม้ตามนโยบายของรัฐบาลก็ทำให้มีอ้อยสดนำส่งเข้าโรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้นด้วย

ส่วนสายธุรกิจชีวภาพมั่นใจว่า ทั้ง 3 ธุรกิจนี้ จะยังมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2563 เนื่องจากแนวโน้มราคาขายไฟฟ้า เอทานอล และเยื่อกระดาษ ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ในขณะที่ปริมาณการขายก็ยืนอยู่ในระดับที่เต็มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีปี 2562 มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 28.8% รายได้ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพิ่มขึ้น 23.3% และรายได้จากธุรกิจเยื่อกระดาษจากชานอ้อย เพิ่มขึ้น 7.6%

นอกจากนั้นบริษัทยังเริ่มดำเนินการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกับผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ของประเทศจีน และโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งร่วมลงทุนกับ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้และผลกำไรให้กับกลุ่ม KTIS ได้ในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เป็นต้นไป

“การขายไฟฟ้า เรามีสัญญารับซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนเอทานอลก็มีความต้องการซื้อรองรับเต็มกำลังการผลิตโดยตลอด ขณะที่เยื่อกระดาษชานอ้อย เนื่องจากโรงงานของเราเป็นโรงงานขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในประเทศที่ผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย ขณะที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดการตัดไม้ทำลายป่า ดังนั้น จึงมีความต้องการสินค้ารองรับเต็มกำลังการผลิตเช่นกัน”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

5 ปี ไทยส่งออกภายใต้FTA ขยายตัว3.31%

พาณิชย์  เผยFTA 18 ประเทศคู่ค้า ในรอบ5ปี ขยายตัวถึง3.13% มากกว่าประเทศที่ไทยไม่มีFTA ถึง4เท่า พร้อมเตรียมปิดดีล กับ ศรีลังกา ปากีสถาน ตุรกีภายในปี 2563 หวังขยายโอกาสการค้าการลงทุนไทยในเวทีโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามมูลค่าการค้าของไทยกับ 18 ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557–2561) การส่งออกของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอ เติบโตเฉลี่ย 3.31 % สูงกว่าการส่งออกไปประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอด้วย ซึ่งเติบโตเฉลี่ยเพียง 0.75 %

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2562 เป็น 253,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 62.4 % ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก เป็นการส่งออก 128,271 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 125,626 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คู่เอฟทีเอที่ไทยค้าด้วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อาเซียน 90,737 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ จีน 65,155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่น 48,733 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออสเตรเลีย 12,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ เกาหลีใต้ 11,297 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้ากับประเทศส่วนใหญ่ เช่น อาเซียน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลิ และฮ่องกง สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก และผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย) ของปี 2562 ไทยส่งออกโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 50,312 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 78.25%  ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ และนำเข้าโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 27,594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 52.25%  ของการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิ กรอบเอฟทีเอที่ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 3 อันดับแรก คือ อาเซียน จีน และออสเตรเลีย และสินค้าที่ใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

“เอฟทีเอเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ท่ามกลางแนวโน้มการกีดกันการค้าและความไม่แน่นอนของการค้าโลก กรมฯ ได้ตอบสนองนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งสรุปเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา ให้เสร็จภายในปี 2563 และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดการเจรจาเอฟทีเอกรอบใหม่ๆ เพื่อแสวงโอกาส และ ลดอุปสรรคทางการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทย ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยขยายตัว มีแต้มต่อในการแข่งขัน ที่สำคัญอยากให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญและใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่ เพิ่มโอกาสการส่งออก และอาจนำเข้าวัตถุดิบราคาถูก หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำมาต่อยอดและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการของไทย” นางอรมนกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

คาด 'จีดีพีเกษตร' ปีหน้าโต2-3 % สศก.ห่วงภัยแล้ง - บาทแข็งกระทบ

สศก.คาดปี 63จีดีพีเกษตรขยายตัว 2 - 3% เตือนระวังแล้งจัดค่าเงินบาทแข็งกระทบผลผลิตสินค้าเกษตรปีหน้า

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ในส่วนของภาคเกษตร ปี 2562 จะ ขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับปี2561 ส่วนในปี 2563 สศก.คาดว่าจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัวประมาณ2 – 3% จากปัจจัยอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกขณะที่แนวโน้มการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าเกษตรในประเทศอย่างต่อเนื่องที่สนับสนุนให้ภาคเกษตรในปี 2563 ขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของภาคเกษตรในปีหน้ายังต้องระวังเรื่องเงินบาทแข็งค่า หากแข็งกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าจะกระทบกับการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างแรง โดยสศก. ได้ประสานและตั้งคณะทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อเฝ้าระวังเรื่องค่าเงินดังกล่าว

รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าปริมาณน้ำจะน้อยกว่าปี2562 ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการน้ำให้พอเหมาะ ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรภาพรวมในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จากนโยบายประกันราคาของรัฐบาล ความต้องการของตลาดโลกที่ยังมีอยู่ ในขณะผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้นจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร

สำหรับในปี 2562 คาดว่าจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัว 0.5%เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อต้นปีที่ตั้งไว้ 3-4 %โดยปัจจัยหนุนที่จีดีพีเกษตรยังขยายตัวมาจากไม้ผลทั้งทุเรียน มังคุด และเงาะมีการออกดอกติดผลให้ผลผลิตได้จำนวนมาก ไม้ยืนต้นมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และในส่วนของการผลิตสินค้าปศุสัตว์ มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการวางแผนการผลิตและการเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่องประกอบกับนโยบายกระทรวงเกษตรฯเช่น การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer และพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นการผลิตสินค้าเกษตรสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพมากขึ้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เงินบาท"นิ่ง"

เงินบาทเปิดเช้านี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.21 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาท และบอนด์ไทยในระยะสั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะปรับตัวอ่อนค่าในช่วงเช้าจากแรงเก็งกำไร และมีแรงซื้อกลับในช่วงบ่ายจากผู้ส่งออก

ขณะที่ในวันนี้ ต้องติดตามการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษที่คาดว่าจะ "คง" ดอกเบี้ยที่ 0.75% และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่คาดว่า จะไม่เปลี่ยนนโยบายการเงินเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าในอนาคต BOJ อาจต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามตลาด เพราะบอนด์ยีลด์ญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นมาตลอดไตรมาสที่ผ่านมา ในอนาคตถ้ายีลด์พันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นกลับมาซื้อขายในแดนบวก เนื่องจากไม่มีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเข้ามาสนับสนุน นักลงทุนก็จะกลับเข้าซื้อ กดให้เงินเยนกลับมาแข็งค่า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกในระยะยาวได้

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.17-30.27 บาทต่อดอลลาร์

 เนื่องจากภาพตลาดการเงินทั่วโลกแทบไม่ไปไหน ดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P500 ปรับตัวลง 0.1% และ FTSE100 ของอังกฤษที่ปรับตัวขึ้น 0.2% ขณะที่บอนด์ถูกขายต่อเนื่อง ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10ปีขยับขึ้นมาที่ระดับ 1.93% กดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลง 0.1%

ฝั่งในประเทศ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคาร แห่งประเทศไทย (กนง.) เป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ด้วยการ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.25%

แต่ความน่าสนใจอยู่ที่มุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2020 ที่กนง.ปรับลงมาเหลือเพียง 2.8% ด้วยความเสี่ยงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่หดตัว การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวดเร็วตามคาด และการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนทั้งหมดถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่ากนง.สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายต่อในปีหน้าได้ ถ้าเศรษฐกิจเร็วร้ายไปกว่านี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

จ่อเซตซีโร่ 3 พันทะเบียน สารเคมีเกษตร

3 พันทะเบียนสารเคมีเกษตรส่อโมฆะ หลังกฤษฎีกาตีความประกาศกระทรวงเกษตรฯ ปี 2551 มิชอบด้วยกฎหมาย “เสริมสุข” ใส่เกียร์ 5 ชงประกาศกระทรวงใหม่ให้มีผลย้อนหลัง ส่ง “เฉลิมชัย” ลงนามแต่รัฐมนตรีช่วยยังดองเรื่องชี้ความผิดสอยอธิบดีย้อนหลัง

กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ลงนามโดยนายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายธีระ  วงศ์สมุทรที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น)

อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการ เกษตรคนปัจจุบัน ได้เร่งออกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ.... เพื่อให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรนั้น

 แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2559 ที่มีนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ทำหนังสือที่ กษ 0927/6054 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความกฎหมายประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2551 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ว่ามิชอบด้วยกฎหมายในประเด็นสำคัญคือ

1. กรณีที่มีผู้ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายชนิดเดียวกันจากแหล่งผลิตเดียวกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ร่วมกันทำการทดลองจนได้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างแล้ว ต่อมาผู้ขอยื่นขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายรายที่ 1 ได้ใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างร่วมไปทำการขอขึ้นทะเบียน หากปรากฏว่าต่อมาผู้ร่วมทดลองรายที่ 2 หรือรายที่ 3 ไปยื่นคำขอขึ้นทะเบียนโดยใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างซึ่งได้ทำการทดลองร่วมกันดังกล่าวข้างต้นมาใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยจะถือว่าผลการทดลองดังกล่าวเป็นของผู้ร่วมทดลองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในผลการทดลองดังกล่าวได้หรือไม่ หรือจะถือว่าเมื่อมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนำผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างนั้นไปใช้แล้วบุคคลอื่นที่ร่วมกันทดลองนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่สามารถนำมาใช้เพื่อประกอบการขอขึ้นทะเบียนได้อีก

2. การออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเสียก่อนโดยมาตรา 36 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 บัญญัติให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ซึ่งในกรณีนี้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจโดยเฉพาะของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการขึ้นทะเบียนไม่สามารถมอบอำนาจให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรออกประกาศในเรื่องของการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรได้     

แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวนี้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบัน ได้ออกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. ... เพื่อไปรับรองการจดทะเบียนย้อนหลังทั้งหมดตั้งแต่การขึ้นทะเบียน ต่ออายุ ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2551 ไม่เช่นนั้นสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนอยู่ ณ ปัจจุบันกว่า 3,000 ทะเบียนจะเป็นโมฆะทันที ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 1,000 ทะเบียน เป็นพาราควอต และไกลโฟเซต จากเป็นสารกำจัดวัชพืชท็อปเทน รวมทั้งสารทดแทนต่างๆ ก็จะต้องเซตซีโร่ใหม่ทั้งหมด

“ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวง ฉบับใหม่ อยู่ในมือของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ยังไม่ส่งให้รัฐมนตรีว่าการ ลงนามเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งหากเรื่องนี้ถูกเปิดโปงขึ้นมากลุ่มเอ็นจีโอหรือกลุ่มที่อยากให้แบนสารเคมีอาจนำไปขยายผลเพื่อเอาผิดอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแต่ละยุคว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำให้ถูกต้อง”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สศก.คาดจีดีพีเกษตรปี 63 โตร้อยละ 2-3

สศก.เผยจีดีพีเกษตรปี 62 ยังขยายตัวได้ร้อยละ 0.5% แม้เผชิญสภาพอากาศแปรปรวนและเศรษฐกิจโลกผันผวน  คาดปี 63 ภาคเกษตรยังโตต่อเนื่องร้อยละ 2 - 3

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2562 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ภาคเกษตรขยายตัว คือ สภาพอากาศเย็นในช่วงปลายปี 2561 เอื้ออำนวยให้ไม้ผลทั้งทุเรียน มังคุด และเงาะมีการออกดอกติดผลให้ผลผลิตจำนวนมาก ไม้ยืนต้นมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และในส่วนของการผลิตสินค้าปศุสัตว์ มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการวางแผนการผลิตและการเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง  ประกอบกับ กระทรวงเกษตรฯ ได้มุ่งพัฒนาภาคเกษตร โดยเน้นเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer และพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเกษตรกรมืออาชีพ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิตควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น

ส่วนทิศทางภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2563 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0  ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรที่ต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การส่งเสริมการรวมกลุ่ม การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร การบริหารการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยโดยรวม และเศรษฐกิจโลกปี 2563 ยังมีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้งการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าเกษตรในประเทศอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคเกษตรปี 2563 ขยายตัวได้ดี

ด้านนายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า หากพิจารณาแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัว ขณะที่สาขาประมงหดตัว โดยสาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 0.7 ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง  ทุเรียน มังคุด และเงาะ ผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน  สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.8 ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ  โคเนื้อ ผลผลิตลดลง ได้แก่ สุกร และไข่ไก่  สาขาประมง หดตัวร้อยละ 1.3  ประมงน้ำจืด ได้แก่ ปลานิล และปลาดุก  สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.7 สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.0

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมชลฯเข้มมาตรการจัดสรรน้ำทั่วปท. วอนปชช.ช่วยประหยัดยันให้พอใช้จนสิ้นแล้ง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ระหว่างเดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 พื้นที่ประเทศไทยตอนบน จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ มีปริมาณน้ำลดน้อยลงไปด้วย กรมชลประทานจำเป็นต้องวางมาตรการการบริหารจัดการน้ำทุกพื้นที่อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า โดยปัจจุบัน(13 ธ.ค.2562)เขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน48,337 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 64ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 24,474 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,451 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 4,755 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 26ของปริมาณน้ำใช้การได้

ทั้งนี้ ยืนยันว่า กรมชลประทานจะจัดสรรน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ให้เป็นไปตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและพืชใช้น้ำน้อย ส่วนข้าวนาปรังเนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่พอต่อการเพาะปลูกจึงไม่สามารถสนับสนุนได้ ต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากเกษตรกรลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวมทั้ง ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2562 - 30 เม.ย.2563 รวมกันประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 500 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.ขณะนี้นำไปใช้แล้วประมาณ 1,072 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ซึ่งกรมชลประทานจะควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ยังคงการระบายน้ำในอัตรา 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธ.ค. 2562) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 1.46 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผักอีก 0.07 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืช เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่พอสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้เพาะปลูกพืชนอกแผนฯรวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.15 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองเพาะปลูก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กรมชลฯ เร่งจัดสรรน้ำพื้นที่อีสานกลางช่วงหน้าแล้ง หวั่นขาดแคลนน้ำกิน-ใช้

อธิบดีกรมชลฯ เร่งจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ภาคอีสานกลาง หวั่นปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้เหตุจากน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก 

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังจากได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานกลาง จากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6ว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมได้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้จัดให้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างโครงการชลประทาน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยมีเป้าหมายที่ลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะส่งไปสนับสนุนการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม ด้วยการสูบน้ำย้อนกลับจากแม่น้ำชี ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนของเขื่อนลำปาว มาเติมบริเวณหน้าเขื่อนวังยาง พร้อมกับควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้ระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จากนั้นจะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบสูบย้อนกลับได้ โดยมีแผนการใช้เครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า submersible จำนวน 4 เครื่อง อัตราการสูบเครื่องละ 0.5 ลบ.ม./วินาที สามารถสูบน้ำได้ประมาณวันละ 170,000 ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการสูบน้ำย้อนกลับประมาณ 35 วัน เริ่มสูบประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้บริเวณหน้าเขื่อนวังยาง สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนเมืองมหาสารคาม ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563

จากแนวทางดำเนินการดังกล่าวข้างต้น จะสามารถลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ประมาณวันละ 50,000 ลบ.ม. ส่วนกรณีหากเกิดน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในเมืองมหาสารคามไม่เพียงพอ ได้วางแผนในการระบายจากเขื่อนลำปาวในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2563 เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่เกษตรกรในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนลำปาว ไม่มีความต้องการน้ำในการทำการเกษตร โดยมีแผนในการระบายน้ำจากคลอง 4R-RMC ผ่านอาคาร wastway ฃงกุดซวย จากนั้นจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีผ่าน ประตูระบายน้ำพนังชี ซึ่งจะช่วยเติมน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางได้อีกประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม.

"ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในทุกพื้นที่ รวมถึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า"อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กษ.จับมือ10กระทรวง Kick off ฐานข้อมูลเกษตรแห่งชาติ25ธ.ค.

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯมีนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตรด้วยการขับเคลื่อนพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ (Intelligence Agricultural Big data) และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อยกระดับการพัฒนาและปฏิรูปภาคการเกษตรยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายเกษตร 4.0 กระทรวงเกษตรฯ จึงตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรฯ โดยมีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นประธาน ภายใต้ชื่อโครงการฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ โดย สศก.จัดประชุมคณะอนุกรรมการช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หารือแผนขับเคลื่อนฐานข้อมูลด้านการเกษตรให้เป็นรูปธรรมใช้ได้จริง และกำหนดแผน Kick off  โครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติวันที่ 25 ธันวาคม เป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ให้เกษตรกรเข้าถึงการบริการข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรของภาครัฐ ทั้งนี้ จะมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติร่วมกันทั้ง 10 กระทรวง คือ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อนำข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางกลางทาง และปลายทาง

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ การดำเนินการจะจัดทำชุดข้อมูล (Datasets) ที่กำหนดหน่วยงานเจ้าของข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเกษตรกรดำเนินการด้านการเกษตรตั้งแต่ผลิตถึงขายผลผลิตโดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่จะให้คำแนะนำแก้ปัญหา (Coaching) สำหรับข้อมูลดังกล่าวจะนำมาจัดเก็บเข้าสู่ฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ เพื่อวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และให้บริการข้อมูล Open Data และ Open API อย่างมีรอบด้านและมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ ระยะแรก จะเร่งผลักดันฐานข้อมูลเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยฐานข้อมูลสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิดคือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งฐานข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร และมีแผนเปิด Open Data และ Open API ชุดข้อมูลสำคัญให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์ คาดว่าเมื่อโครงการเสร็จ จะช่วยให้การคาดการณ์พยากรณ์ เตือนภัยภาคเกษตรแม่นยำมากขึ้น เป็นประโยชน์สำหรับจัดทำนโยบายเกษตรบริหารจัดการและตัดสินใจวางแผนการผลิตการตลาด พร้อมบริการข้อมูลข่าวสารทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562

“ก.พลังงาน” นำร่องตั้ง “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ” ใช้ข้อมูล Big Data ขับเคลื่อน “Energy 5.0”

กระทรวงพลังงานเดินหน้าขับเคลื่อนพลังงานของประเทศด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เร่งเครื่องสู่ยุค Energy 5.0 นำร่องตั้ง “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ” เก็บรวบรวมข้อมูลด้านพฤติกรรมการใช้พลังงานยุคดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาสู่นวัตกรรมพลังงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการประชาชนในอนาคต    บูรณาการทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมลงนามความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลพลังงาน ยกระดับการวางแผน การกำหนดนโยบาย และการพัฒนาขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานของประเทศต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนา “Energy 5.0 โครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย” พร้อมกล่าวปาฐกถา ประเด็นแนวคิดการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ว่าจะเป็นเหมือนฐานข้อมูลหลักของประเทศด้านพลังงาน คล้ายสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพราะยุคปัจจุบันต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย นำสู่ความน่าเชื่อถือในการแก้ปัญหา การบริหารจัดการด้านพลังงาน ทั้งเรื่องต้นทุนพลังงานที่แข่งขันได้ ราคาพลังงานที่เป็นธรรม และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัท Start Up ใหม่ๆ ยอมลงทุนสร้าง Platform เป็นจำนวนมาก เช่น บริษัทที่เกี่ยวกับการส่งอาหาร Food Delivery ธุรกิจ Car Hailing อย่างเช่น แกร็บ อูเบอร์ เป็นต้น แม้จะยังคงขาดทุนแต่บริษัทเหล่านี้ค่อยๆ สะสมข้อมูลให้เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน เพราะ Data ที่สะสมไว้จะก่อเกิดองค์ความรู้เป็น Insights ยิ่งข้อมูลมากยิ่งมีค่า เพราะนั่นหมายถึงการเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น

สำหรับด้านพลังงานก็เช่นกัน แม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้มีการใช้ Big Data ในการบริหารจัดการอย่างเต็มศักยภาพ เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Digital Transformation) พยายามเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนของการทำงานเพื่อเก็บข้อมูลให้ละเอียดขึ้น เร็วขึ้น ถี่ขึ้น และกว้างขึ้น เช่น การเก็บข้อมูลการใช้พลังงานจาก Internet Of Thing (IOT) การนำข้อมูลมาสร้างนวัตกรรมด้านพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานคาดหวังว่า การตั้งศูนย์ที่เป็นแหล่ง Big Data ด้านพลังงานขึ้นมาจะเป็นอีกก้าวสำคัญของกระทรวงพลังงานที่ต้องเปลี่ยนผ่าน เป็นการสอดรับไปกับนโยบาย Energy For All ของกระทรวงพลังงานที่วางไว้

“ในอนาคตกระทรวงพลังงานจะต้องใช้ Ai, Big Data เพื่อทำงานบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน ทำ Big Data เพื่อใช้ข้อมูล เช่น ความต้องการใช้เท่าไหร่ การขายวัตถุดิบชีวภาพเข้าโรงไฟฟ้าต่อครัวเรือน ทำแล้วยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มี Big Data จะไม่มีการวิเคราะห์โดยละเอียดและใช้ผลที่ได้อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการนำ Big Data มาใช้กับโครงการที่มีอยู่ ได้ข้อมูลว่า มีประสิทธิภาพกี่โครงการ ต้องปรับปรุงกี่โครงการ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากทั้งในระดับปฏิบัติการ และมีการควบคุมในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ แผนงานจะเกิดการบูรณาการอย่างเห็นภาพชัด ทำให้ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์มากขึ้น มองได้ไกลขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น และคาดหวังว่ากระทรวงพลังงานจะเป็นกระทรวงแรกๆ ที่จะประกาศตัว เป็น Energy 5.0 ที่ใช้ Digital Technology ในการทำงานภายใต้ Big Data, Ai และ IoT ในการบริหารจัดการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

ทางด้าน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สนพ. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานในการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวม เชื่อมโยง บูรณาการ วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานหลักของประเทศที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย มีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลาและต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในทุกภาคส่วน มีความน่าเชื่อถือ ทันสมัย รวมถึงได้รับการยอมรับในระดับสากล สอดรับการปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างฐานนวัตกรรมในอนาคต

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้เป็นประธานสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลพลังงาน ภายใต้ “โครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย” ระหว่าง 7 หน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อประสานความร่วมมือในการรวบรวม เชื่อมโยง วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันทุกภาคส่วน อันจะมีส่วนช่วยส่งเสริมยกระดับการวางแผน กำหนดนโยบาย และการพัฒนาขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานของประเทศต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 30.18 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงหนุนสกุลเงินฝั่งเอเชีย ขณะที่ความผันผวนเงินบาทอาจลดลงบ้างจากการประชุมกนง.รออยู่ในวันพุธ นี้ แต่ในระยะถัดไปเชื่อว่า ประเด็นการเมืองที่ร้อนแรงจะกลับมากดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีกครั้ง

นายจิติพล  พฤกษาเมธานันท์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ30.18 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ30.22 บาทต่อดอลลาร์

ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดการเงินอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง(Risk On) จากข้อตกลงเบื้องต้น(Phase I) ระหว่างสหรัฐและจีนอย่างไรก็ดีดัชนีS&P500 ของสหรัฐกลับร่วงลงมาปิดทรงตัวเนื่องจากนักลงทุนดูจะไม่มั่นใจเมื่อเนื้อหาในข้อตกลงไม่ได้ให้ข้อมูลมากแตกต่างจากการลงทุนในฝั่งยุโรปที่ปรับตัวขึ้นทั้งEuro Stoxx50 ที่บวก0.67% และFTSE100 ของอังกฤษที่ปรับตัวขึ้นถึง1.1% จากผลเลือกตั้งที่ชัดเจนในอังกฤษ

ส่วนของตลาดเงินวันนี้สกุลเงินฝั่งเอเชียน่าจะได้รับแรงหนุนจากภาพตลาดที่คึกคักและบอนด์ยีลด์ของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงทุกอายุกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง

ส่วนประเด็นที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้คือการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่นอินโดนีเซียและไทย(กนง.) แม้ทั้งหมดมีทีท่าที่จะ"คงนโยบายการเงิน" ตามเดิมเป็นแรงหนุนให้เงินแข็งค่าต่อแต่ก็ต้องระวังว่าทุกธนาคารกลางมีความสามารถที่จะ"ผ่อนคลาย" นโยบายทางการเงินลงได้ตามความเร่งด่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ฝั่งเงินบาทประเด็นที่น่าสนใจนอกจากเรื่องนโยบายการเงินก็คือเรื่องการเมืองเห็นได้จากในช่วงวันศุกร์ที่สามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเราเชื่อว่าความผันผวนอาจลดลงบ้างในสัปดาห์นี้เนื่องจากมีการประชุมกนง.รออยู่ในวันพุธแต่ในระยะถัดไปเชื่อว่าประเด็นการเมืองที่ร้อนแรงจะกลับมากดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้30.15-30.25 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้30.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 ธันวาคม 2562 - 15:13 น.

พณ. ศึกษาผลกระทบเจรจา FTA ไทย UK

กระทรวงพาณิชย์ พร้อมศึกษาผลกระทบเจรจา FTA ไทย UK หลังเบร็กซิทเดินหน้าต่อสานสัมพันธ์การค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามผลการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร (UK) ที่พรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้แกนนำของนายบอริส จอห์นสัน ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภา ส่งผลให้การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิท ทันกำหนดเส้นตายวันที่ 31 มกราคม 2563 และจะมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้มีเวลาปรับตัว จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก่อนที่ UK จะออกจากอียูอย่างเป็นทางการ

โดยในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน UK สามารถเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยได้ ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะใช้โอกาสดังกล่าวเดินหน้าสานสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับ UK โดยไทยอยู่ระหว่างจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้า เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต หากทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมและเห็นว่าเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกัน กรมฯ เตรียมจ้างหน่วยงานวิจัยภายนอก ศึกษาประโยชน์และผลกระทบต่อไทย หากมีการทำ FTA กับ UK รวมทั้งจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการทำ FTA ระหว่างสองประเทศต่อไป

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 16 ธันวาคม 2562

สทนช.เร่งแผนปฏิบัติการสร้างความมั่นคงน้ำช่วงแล้ง 62/63

สทนช. เรียกประชุมทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 62/63 พื้นที่เสี่ยงขาดน้ำครอบคลุมทุกมิติ  เน้นย้ำเร่งปรับแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุน รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนโดยด่วน เตรียมชงแผนงาน โครงการ งบประมาณอุดช่องกระทบแล้ง เสนอ กนช.เห็นชอบ 20 ธ.ค.นี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนป้องกันภัยแล้ง ปี 2562/2563 และการกำหนดพื้นที่แหล่งน้ำสำรองตามที่ได้รับมอบหมายจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สามารถรับมือกับฤดูแล้งที่ใกล้จะมาถึงได้อย่างครอบคลุมทุกมิติประกอบด้วย 5 แผนปฏิบัติการหลัก ได้แก่ 1. แผนปฏิบัติการรองรับภาวะเสี่ยงการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค แบ่งเป็น ในเขตการประปานครหลวง (กปน.) พบว่า มีความต้องการใช้น้ำในเขตให้บริการช่วง พ.ย. 62 – เม.ย. 63 ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งแหล่งน้ำสนับสนุน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำฯ ที่กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 1,260 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลือ กปน. ได้จัดทำแผนสำรองโดยการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 4 บ่อ ประกอบด้วย สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี โรงงานผลิตน้ำบางเขน และสถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.63 ขณะที่ในเขตให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในเขต กปภ. รวม 61 สาขา 31 จังหวัด ซึ่ง กปภ.ได้จัดสรรงบปกติแก้ไขปัญหา 706 ล้านบาท อาทิ การใช้น้ำจากชลประทาน แหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำอื่น แต่พบว่ายังมีบางโครงการต้องขอรับการสนับสนุนงบกลางจัดสรรน้ำและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในเขต กปภ. โดยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของแผนงานโครงการ

สำหรับพื้นที่นอกเขตการให้บริการของ กปภ. ตามที่ สทนช.ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง 38 จังหวัด ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำใน 38 จังหวัดถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อจำแนกระดับความเสี่ยงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่มีผลกระทบมาก ผลกระทบปานกลาง  ผลกระทบเล็กน้อย และไม่มีผลกระทบกระทบเลย เพื่อจัดลำดับแผนงานโครงการในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ โดย สถ.จะมีการหารือร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เพื่อเสนอแผนงาน โครงการ พร้อมงบประมาณที่ต้องขอรับการสนับสนุนให้ชัดเจนภายในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ อาทิ ขุดเจาะบ่อดาล สนับสนุนรถแจกจ่ายน้ำ จัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน ขยายเขตประปาหมู่บ้าน เป็นต้น

2.แผนปฏิบัติการรองรับสถานพยาบาลเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยสถานพยาบาลที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 224 แห่ง สำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า กปภ.สามารถส่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกัน สธ.ร่วมกับ กปภ.จัดหาแหล่งน้ำสํารองเพื่อรองรับในภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำ  ขณะที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ สถ.ได้รับการถ่ายโอนจาก สธ.จากการสำรวจพบโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ  157 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 99 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 41 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง และ ภาคตะวันออก 4 แห่ง  ซึ่ง สถ.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนปฎิบัติการรองรับภาวะเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ดังกล่าวให้เสร็จและเสนอกลับมายัง สทนช.ภายในวันที่ 17 ธ.ค.นี้  3. แผนปฏิบัติการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่การเกษตร (ไม้ผล-ไม้ยืนต้น) ที่ประชุมมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตรวจสอบข้อมูลไม้ผลยืนต้นระดับตําบลที่ไม่มีแหล่งน้ำสําหรับสนับสนุน แบ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน 34 จังหวัด ในเขตชลประทาน 4 จังหวัด พร้อมวางแผนปฏิบัติการรองรับให้แล้วเสร็จภายใน 17 ธ.ค. 62

4. แผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยกรมชลประทาน (ชป.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินการปรับแผนการจัดสรรน้ำใหม่ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับแผนจัดสรรน้ำในอ่างฯ ขนาดใหญ่ 14 แห่ง อาทิ ภูมิพล สิริกิติ์ กระเสียว ขนาดกลาง 11 แห่ง รวมถึงควบคุมการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด และต้องประชาสัมพันธ์ในระดับพื้นที่รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องด้วย และ 5. แผนปฏิบัติการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือภัยแล้ง โดยจัดทำข้อมูลบัญชีเครื่องจักร-เครื่องมือของทุกหน่วยงานแยกเป็นรายภาคที่ชัดเจน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนได้ทันที อาทิ รถบรรทุกน้ำ รถผลิตน้ำดื่ม เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น

“ปริมาณน้ำต้นทุนปีนี้มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของภาครัฐในการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงภาคประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ และคอยติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานเพื่อนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการรับรองภาวะเสี่ยงภัยแล้ง รวมทั้งงบประมาณที่จะขอรับการสนับสนุนงบกลาง  โดยเน้นเป็นแผนระยะสั้นสามารถดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำให้เสร็จฤดูแล้งนี้ ส่งให้ สทนช.พิจารณาภายในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ เพื่อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) วันที่ 20 ธันวาคมนี้พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบด้าน และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 15 ธันวาคม 2562

กลไก WTO กำลังวิกฤต “ระเบียบค้าโลก” เผชิญอันตราย

A sign of the World Trade Organization (WTO) is seen on their headquarters on September 21, 2018 in Geneva. A World Trade Organization arbitrator will review on September 21, 2018 a Chinese request to impose more than $7 billion (nearly 6 billion euros) in annual sanctions on the United States over anti-dumping practices, a Geneva trade official said. / AFP PHOTO / Fabrice COFFRINI

องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กำลังเผชิญกับวิกฤต โดยเฉพาะกลไกการระงับข้อพิพาทของสมาชิก หลังจากสมาชิกคณะผู้ตัดสินคดีได้หมดวาระลงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“เดอะ ไทมส์” รายงานว่า “องค์กรอุทธรณ์” (Appellate Body) ซึ่งเปรียบเสมือนศาลสุดท้ายในการตัดสินข้อพิพาทของประเทศสมาชิกของดับเบิลยูทีโอ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยตามกฎของดับเบิลยูทีโอ องค์กรอุทธรณ์ต้องมีสมาชิกคณะผู้ตัดสินอย่างน้อย 3 คน จากทั้งหมด 7 คน แต่มีสมาชิก 2 คนครบวาระเมื่อ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันเหลือคณะผู้วินิจฉัยเพียง 1 คนเท่านั้น เนื่องจากทางสหรัฐคัดค้านกระบวนการสรรหา จึงทำให้ทางดับเบิลยูทีโอไม่สามารถหาผู้วินิจฉัยเพิ่มตามข้อกำหนดขั้นต่ำ 3 คนได้

ทั้งนี้การคัดค้านกระบวนการสรรหาสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของสหรัฐ ได้เกิดขึ้นครั้งแรกสมัยอดีตประธานาธิบดี “บารัก โอบามา” ซึ่งมีสาเหตุจากความไม่พอใจของสหรัฐต่อกระบวนการระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอ

ขณะที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน มีแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิเสธระบบพหุภาคี ซึ่งสร้างความกังวลต่อระเบียบการค้าของโลก โดยหนึ่งในเหตุผลการคัดค้านของสหรัฐต่อระบบการทำงานของ “ดับเบิลยูทีโอ” ในครั้งนี้ บีบีซีระบุว่า มาจากคำตัดสินข้อพิพาทในประเด็น “การทุ่มตลาด” ซึ่งสหรัฐมีวิธีการคำนวณเป็นของตนเองว่าสินค้านำเข้าจากประเทศใดเข้าข่ายการทุ่มตลาด ที่เรียกว่า “zeroing”

ขณะที่องค์กรอุทธรณ์ตัดสินว่า วิธีการคำนวณของสหรัฐขัดกับเจตนารมณ์ว่าด้วยการต่อต้านการทุ่มตลาดของดับเบิลยูทีโอ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐความไม่พอใจดังกล่าวทำให้สหรัฐยื่นข้อเสนอให้เกิดการ “ปฏิรูป” กฎเกณฑ์ของดับเบิลยูทีโอ

โดย “คีท ร็อกเวล” เจ้าหน้าที่อาวุโสของดับเบิลยูทีโอ กล่าวว่า “สมาชิกหลายประเทศเสนอแนวทางการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดับเบิลยูทีโอกำลังเผชิญ แต่การปฏิรูปของแต่ละประเทศกลับมีวาระของตนเองรวมอยู่ด้วย ซึ่งยากที่จะหาจุดร่วมระหว่างกันได้”

รายงานระบุว่า สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ มีเสนอวาระคล้ายกัน กล่าวคือ “ดับเบิลยูทีโอ” ควรจะปฏิรูปกฎเกณฑ์ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ, การสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ, กระบวนการของกลไกระงับข้อพิพาท รวมถึงการกำหนดนิยาม “ประเทศพัฒนาแล้ว” กับ “กำลังพัฒนา” ใหม่

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ย่อมขัดผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะ “จีน” ซึ่งเล่นบทบาทเป็น

ผู้รักษากฎระเบียบพหุภาคี โดยเน้นย้ำจุดยืนของแนวทาง “ฉันทามติ” และการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ “กำลังพัฒนา”

“ฟอเรียน โพลิซี” นิตยสารเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ รายงานว่า กลไกระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอเป็นกลไกสำคัญในการรักษาระเบียบการค้าโลก โดยในช่วงปลายปี 2020 มีการคาดการณ์ว่า ดับเบิลยูทีโอจะตัดสินข้อพิพาทกรณีการเพิ่มภาษีศุลกากรสินค้าประเภท “เหล็กและอะลูมิเนียม” ของสหรัฐ ทั้งนี้การที่เกิดสุญญากาศกระบวนการอุทธรณ์อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบตัดสินข้อพิพาทขององค์กรได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าหากคำตัดสินเอื้อประโยชน์ต่อประเทศที่ยื่นคำร้อง “สหรัฐ” ภายใต้การนำของนายทรัมป์ ซึ่งมีจุดยืนที่ชัดเจนจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน (America First)” และเคยประกาศว่าจะนำสหรัฐออกจาก ดับเบิลยูทีโอ อาจไม่ยอมรับคำตัดสิน และเร่งให้เกิดการถอนตัวออกจากดับเบิลยูทีโอได้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 ธันวาคม 2562

“บิ๊กป้อม” ห่วงเกษตรกร สั่ง สทนช.เพิ่มแหล่งน้ำรับอนาคต

วันที่ 13 ธันวาคม 2562 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  กล่าวว่า ที่ประชุมในวันนี้ได้รับทราบผลการดำเนินงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไป ประกอบด้วยการกำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนกลยุทธ์ การแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการฯ แผนแม่บทน้ำฯ การกำหนดกรอบปฏิทินในการดำเนินงาน

ตลอดจนการพิจารณาแผนปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยองค์การจัดการน้ำเสีย  ดำเนินการระหว่าง ปี 2564–2580  โดยส่งเสริมให้มีการจัดสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนในเขตพื้นที่เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

แบ่งกรอบการดำเนินงาน 3 ระยะ รวมระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องก่อสร้าง 780 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1.70 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้องค์การจัดการน้ำเสียดำเนินการตามขั้นตอน กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยในกรณีที่เป็นภารกิจถ่ายโอนภารกิจ ต้องเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือจัดทำกรอบความร่วมมือระหว่างในการดำเนินการ (MOU) ต่อไป เพื่อเป็นไปตาม พ.ร.บ. กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2562 และ ปี 2563 โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอีก 10 ปี ข้างหน้าอย่างพอเพียง ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลทั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) และรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 14 โครงการ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก 513,960 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 453,583 ราย (ประมาณ 729,542 คน)

แต่เนื่องจากแผนปฏิบัติดังกล่าวมีเป้าหมายและรายละเอียดเพียงในระยะปี 62-63 เท่านั้น ที่ประชุมจึงมอบให้ กปภ. กลับไปจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการเพิ่มเติมให้ครบทุกแผนงาน และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอและชัดเจนยิ่งขึ้น

โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล  เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่โดยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนประเภทน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ด้วยเครื่องสูบน้ำ ซึ่งมีระบบเชื่อมต่อกับแผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำ เข้าไปสำรองเก็บในถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ พร้อมพัฒนาระบบกระจายน้ำและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำให้กับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 5,583 แปลง โดยมีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 320,453 ราย ในพื้นที่ 5,520,422 ไร่

โดยที่ประชุมให้นำแผนงานเร่งด่วนจัดทำรายละเอียดแผนงานโครงการให้ชัดเจน โดยต้องพิจารณากฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอให้ กนช. พิจารณา รวมทั้งให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนรูปแบบโครงการ เป้าหมาย และพื้นที่ดำเนินการให้ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน รวมทั้งจัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในระยะ 20 ปี และเสนอให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปปรับปรุงรายละเอียดในส่วนที่รับผิดชอบเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น ก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาอีกครั้งในการประชุมวันที่ 20 ธันวาคม 2562 นี้ และขอให้ทุกหน่วยงานด้านน้ำร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนแผนงานภายใต้แผนแม่บทน้ำ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างความมั่นคง ยั่งยืน ด้านน้ำ ให้กับประชาชนต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 13 ธันวาคม 2562

“สุริยะ” อัดหมื่นล้านอุ้มไร่อ้อย เพื่อยกระดับราคาอ้อย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯพร้อมให้การช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ที่จะได้รับการดูแลจากรัฐบาล โดยได้เตรียมเงินไว้ 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยยกระดับราคาอ้อยปีการผลิต 2562/63 ที่อยู่ระหว่างการหาตัวเลขที่เหมาะสม ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ปีการผลิต 2562/63 ที่ราคา ตันละ 750 บาท ณ ความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส อัตราขึ้นลง อยู่ที่ 45 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส โดยระดับความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 12.51 ซี.ซี.เอส ได้รับในอัตราตันละ 862.91 บาท โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป.

นายเอกภัทร วังสุวรรณ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)กล่าวว่า สอน. ได้ลงพื้นที่ติดตามการเก็บเกี่ยวอ้อย การขนส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาล พร้อมรณรงค์ไม่ให้ชาวไร่เก็บเกี่ยวอ้อย ด้วยวิธีการเผาไร่อ้อย ก่อนตัดส่งเข้าโรงงาน รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 1-4 เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และเจ้าหน้าที่ สอน. ที่ประจำโรงงาน 57 แห่งทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และทำงานร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562

คนซื้ออ่วมน้ำตาลพุ่งโลละ 4 บ.สูตรใหม่ไม่อิงราคาตลาดโลก

หมดเวลา “ม.44 ลอยตัวราคาน้ำตาล” ครม.ไฟเขียว ใช้สูตรคำนวณราคาหน้าโรงงาน ไม่อิงราคาตลาดโลก ไฟเขียวผู้ผลิตอัดโปรโมชั่นเพิ่มรายได้ชาวไร่ ดันราคาน้ำตาลขยับโลละ 4 บาท เป็น กก.ละ 22 บาท พาณิชย์พร้อมเพิ่มมาตรการดูแลหลังหมดลอยตัวแม้ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ หรือการลอยตัวน้ำตาล ยกเลิกระบบโควตาหมดอายุลงเมื่อเดือน ก.ย.2562 ส่งผลให้การค้าน้ำตาลกลับสู่ระบบเดิม

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร วันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ “ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่องการจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทรายและอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ.... ซึ่งจะมีผลต่อสูตรคำนวณส่วนแบ่งรายได้จาการขายน้ำตาลทราย ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลทราย ที่จะใช้สูตรใหม่ในฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่เริ่มเปิดหีบวันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป และเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย การจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2561 พ.ศ.... ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามเกณฑ์ของWTO

ทั้งนี้สูตรคำนวณใหม่จะเปลี่ยน”ปริมาณน้ำตาลทราย” ที่ใช้ในการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่จำหน่ายจริงของฤดูการผลิตที่แล้ว เป็นใช้ “ปริมาณน้ำตาลทรายขั้นต้น” ที่แบ่งตามสัดส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายของทุกโรงงาน ที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนด และ”เปลี่ยนแปลงราคาน้ำตาลทราย” จากเดิมที่ใช้ราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนหมายเลข 5 บวกพรีเมี่ยมน้ำตาลทรายไทย มาเป็นใช้ราคาเฉลี่ยของราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักร ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ประกาศต้นฤดูการผลิต ทำให้ “ราคาน้ำตาลทราย” ที่ใช้เป็นตัวแปรในการคำนวณส่วนแบ่งระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 12-13 บาท/กก.เป็น 17.5 บาท/กก.

ราคาพุ่ง 3-4 บาท/กก.

ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจน้ำตาลขายปลีกในห้างสรรพสินค้า  ร้านค้าทั่วไปพบว่าราคาน้ำตาลทรายขาวหลังหลับไปใช้สูตรราคาน้ำตาลใหม่สูงขึ้นโดยขนาดบรรจุถุง 1 กิโลกรัม จำหน่ายกก.ละ 21-22 บาท สูงขึ้น กก.ละ 3-4 บาท เทียบช่วงหลังประกาศลอยตัวน้ำตาลปีก่อนราคา กก.ละ 17-18 บาท ส่วนน้ำตาลทรายธรรมชาติ กก.ละ 24-35 บาท แตกต่างกันตาม “คุณภาพ” น้ำตาลทรายแดงซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกสูงสุด กก.ละ 40-45 บาท

ขณะที่นายวิฤทธิ์  วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่าสอน.ต้องกำหนดกลไกราคาน้ำตาลใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 โดยใช้วิธีกำหนดราคาหน้าโรงงานซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)  เป็นผู้กำหนดสูตรคำนวณเพื่อกำหนดราคาหน้าโรงงานใหม่  และยกเลิกโควตา ก.ข. ทั้งหมด ไม่อิงราคาในตลาดโลก หรือราคาลอนดอน No.5 แต่จะใช้เป็นข้อมูลประกอบไม่ให้ราคาต่างจากตลาดโลกมากนัก

“ขณะนี้ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ กก.ละ 21 บาท ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายใดจะใช้การตลาดเข้ามาทำโปรโมชั่นก็ทำได้ สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะเป็นคนเลือกซื้ออย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทำโปรโมชั่น แต่หากพบการแข่งขันในราคาที่ต่างกันเกินไป กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแล”

สูตรราคาน้ำตาลทรายใหม่คำนวณจากองค์ประกอบต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาล ฤดูการผลิตปี 2561/62 ซึ่งมีผลผลิต 130.97 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 14.58 ล้านตัน เฉลี่ยต้นทุนการผลิตอ้อย ตันละ 1,131.43 บาท รวมกับต้นทุนการผลิตน้ำตาลทราย ตันอ้อยละ 515.65 บาท คิดเป็นต้นทุนรวมตันอ้อยละ 1,647.08 บาท และมีผลผลิตน้ำตาลทรายรวม 145,806 ล้านกระสอบ(แบ่งเป็นน้ำตาลทรายดิบ 111,003 ล้านกระสอบ, น้ำตาลทรายขาว 32,816 ล้านกระสอบ) ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย ตันอ้อยละ 111.33 กก.

เท่ากับต้นทุนผลิตเฉี่ยอยู่ที่ กก.ละ 14.97 บาท เมื่อรวมกับค่าจัดการจำหน่าย กก.ละ 0.213 บาท เท่ากับต้นทุนการผลิตรวม กก.ละ 15,0003 บาท และผลตอบแทนการผลิตที่คิดในอัตราไม่เกิน 15% หรือ กก.ละ 2.25  บาท จะได้ราคาจำหน่ายน้ำตาลน้ำตาลทรายขาว กก.ละ 17.25 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 18.25 บาท/กก.

“เดิมเราใช้วิธีกำหนดโควตา ก. คือน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลชนิดอื่นๆ ที่ กอน.กำหนดให้ผลิตบริโภคภายในประเทศว่าจะขายได้เท่าไรในแต่ละปี ส่วนโควตา ข. คือ น้ำตาลทรายดิบที่ กอน.ให้ผลิตเพื่อส่งมอบให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ส่งออกและจำหน่ายไปต่างประเทศ เพื่อใช้ทำราคาในการคำนวณราคาน้ำตาลส่งออก เมื่อเราถูกกดดันจากบราซิลโดยร้อง WTO  ทำให้ไทยต้องประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

แหล่งข่าววงการน้ำตาล เปิดเผยว่าแม้ ครม.จะพิจารณากลับไปสูตรราคาหน้าโรงงานเช่นเดิม แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบถึงกรณีบราซิลยื่นฟ้องไทยต่อ WTO เนื่องจากล่าสุดหลังจากคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปประชุมน้ำตาลโลกที่กรุงลอนดอน อังกฤษ เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้พบและหารือกับตัวแทนจากบราซิล ซึ่งแสดงความพอใจฝ่ายไทยอย่างไรก็ตาม บราซิลมีท่าทีจะพิจารณาลงนามทำสัญญายกเลิกฟ้องไทยภายใน 3 เดือนนับจากนี้ และขอไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบราซิลฟ้องร้องอินเดีย ซึ่งหารือหน่ายงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เอกชนชี้ระบบโควตายังไม่เคลียร์

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลจะประกาศโดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้ระเบียบเดิม ซึ่งราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงาน ก่อนบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่กก.ละ 18.25 บาท น้ำตาลทรายขาวธรรมดา กก.ละ 17.25 บาท โดยระเบียบใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม.ทั้งนี้ราคาแนะนำดังกล่าวยังเป็นราคาที่สามารถบวกแพงกว่านี้ได้ ส่วนการแบ่งโควตาน้ำตาลขณะนี้ไม่มีการแบ่งโควตาแล้ว แต่สำหรับการส่งออกยังไม่มีหลักเกณฑ์ออกมา ต้องให้ทุกฝ่ายหารือข้อสรุปร่วมกันก่อน สำหรับแนวโน้มว่าปริมาณผลผลิตปี 2562/63 จะลดลงเหลือเพียง 105 ล้านตันอ้อยจากปีก่อน 131 ล้านตันอ้อย

“ประเด็นที่เอกชนกังวลนอกจากการปรับระเบียบและทิศทางราคาน้ำตาลทรายแล้ว ต้นทุนสูงขึ้นทุกด้าน อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนผสมเกินจะถูกเก็บภาษี”

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สถานการณ์การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกก็บประสบปัญหาการส่งออกลดลง 3.95 เหลือ 7.9 ล้านตัน ส่วนอัตราค่าอ้อยในปีการผลิต 2562/63 เฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกินตันละ 700 บาท

นายประโยชน์  เพ็ญสุด รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าน้ำตาลไม่เป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุม ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 แล้ว เนื่องจากขึ้นอยู่กับกฎหมายของอุตสาหกรรมที่ดูแลราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน แต่กรมการค้าภายในได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามราคาขายปลีกในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าทั่วไป เพื่อติดตามวามีการจำหน่ายผิดปกติหรือไม่

“หากมีการขึ้นผิดปกติ เพราะสาเหตุอะไร หน้าโรงงานขาวเท่าไร  ต้นทุนเท่าไร หากพิจารณาแล้วไม่มีปัญหา ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด ก็ไม่ต้องนำกฎหมายเข้าดูแล”

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ก.อุตขอครม.10,000ล้านช่วยชาวไร่อ้อย รับเงินทันปิดหีบมี.ค.63

ก.อุตขอครม.10,000ล้านช่วยอ้อย คาดรองบ63ประกาศใช้ สอน.เผยรง.จ่ายเงินชาวไร่ตามราคาขั้นต้น

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 กรอบวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ว่า โครงการดังกล่าว คาดว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติในเร็วๆนี้ ซึ่งระหว่างนี้จะต้องให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบด้วย เพราะเป็นเรื่องการใช้งบประมาณ โดยจะใช้เงินจากงบประมาณ 2563 ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เดือนมกราคม 2563 ทำให้โครงการนี้ไม่ทันประกาศเป็นของขวัญปีใหม่จากกระทรวงอุตสาหกรรม

“จากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มการแกว่งตัวสูง ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำและไม่คุ้มกับต้นทุนการปลูกอ้อยที่ตันละ 1,110 บาท ที่ประชุมกอน.จึงเสนอขอรับการช่วยเหลือเงินค่าอ้อยจากรัฐบาล ภายใต้โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 กรอบวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอ นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ และใช้จ่ายในครัวเรือน”นายกอบชัยกล่าว

นายเอกภัทร วังสุวรรณ รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 กรอบวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 10,000 ล้านบาท นั้น ต้องให้รัฐบาลพิจารณาความเหมาะสม เพราะการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือกลุ่มสินค้าเกษตรการ ใช้งบประมาณรายจ่ายของปี2562 ไปพลางก่อน และปัจจุบันพบว่าวงเงินใกล้เต็มเพดานแล้ว เพราะรัฐบาลช่วยเหลือสินค้าเกษตรหลายกลุ่ม คาดว่าจะเข้าครม.เร็วๆนี้ โดยความช่วยเหลือนี้ไม่เร่งรีบ เพราะฤดูการผลิตอ้อยปี 2562/63 จะปิดหีบช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเมษายน 2563 สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือช่วงนั้นได้ และระหว่างนี้หากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับสูงขึ้น เงินคำนวณราคาอ้อยขั้นปลายก็จะสูงตาม จะทำให้ชาวไร่ได้รับเงินค่าอ้อยสูงขึ้นด้วย

นายเอกภัทรกล่าวว่า สำหรับมติกอน.ที่มติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตราอ้อยตันละ 750 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอต่อครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนจะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป อย่างไรก็ตามแม้ทางกฎหมายต้องรอครม.อนุมัติ แต่ในทางปฏิบัติโรงงานน้ำตาลที่รับซื้อจะจ่ายเงินตามราคาอ้อยขั้นต้นให้กับชาวไร่ไปพลางก่อน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กอน.เคาะราคาอ้อยตันละ750บาท ขอรัฐบาลจัดงบหมื่นล้านช่วยเหลือชาวไร่

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่าที่ประชุมกอน.ครั้งที่11/2562 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ในอัตราอ้อยตันละ 750 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอสอัตราขึ้นลง อยู่ที่ 45 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส โดยระดับความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 12.51 ซี.ซี.เอสจะได้รับในอัตราตันละ 862.91 บาท ซึ่งได้ผ่านกระบวนการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) จากเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เรียบร้อยแล้ว โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ทั้งนี้จากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มการแกว่งตัวสูง ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับ

ผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำและไม่คุ้มกับต้นทุนการปลูกอ้อยที่ตันละ 1,110 บาท โดยในที่ประชุมกอน.มีผู้แทนฝั่งชาวไร่อ้อยได้เสนอให้ขอรับการช่วยเหลือเงินค่าอ้อยจากรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เสนอโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 กรอบวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอ สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

นายเอกภัทร วังสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการกอน.กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เตรียมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเก็บเกี่ยวอ้อย การขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล พร้อมรณรงค์ไม่ให้ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 1-4 เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8และเจ้าหน้าที่ สอน. ที่ประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และประสานการทำงานร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

คลัง-ธ.ก.ส. ยันพร้อมรับมือภัยแล้งปี 63

รมว.คลัง สั่ง ธ.ก.ส. วางแนวทางดูแลผลกระทบภัยแล้งปีหน้า เชื่อยังสามารถดูแลได้ ขณะที่ ธ.ก.ส. ขอเกษตรกรอย่ากังวล แต่แนะควรวางแผนการผลิตตามคำแนะนำของรัฐ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาภัยที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ไว้แล้ว ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายอย่าเป็นห่วง ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีการออกมาตรการและสินเชื่อออกมาดูแลอยู่ แต่ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมข้างหน้าว่าหากต้องมีมาตรการเพิ่มเติมจะมีอะไรบ้าง โดยให้ประสานกับกระทรวงมหาดไทยต่อเนื่อง เพื่อกำหนดพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถดูแลปัญหาได้อย่างทันท่วงที และดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ธ.ก.ส. ได้เตรียมมาตรการดูแลผลกระทบด้านภัยแล้ง ทั้งมาตรการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ขณะนี้หลายภาคส่วนได้แสดงความเป็นห่วง โดยยืนยันว่า ธ.ก.ส. มีความพร้อมในการดูแลเกษตรกร ซึ่งทางคณะกรรมการฯได้อนุมัติกรอบวงเงินในการช่วยเหลือหากไม่เกิน 5,000 ล้านบาทจะสามารถนำออกมาใช้ได้ทันที แต่หากเกินก็สามารถขออนุมัติเพิ่มเติมได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวล โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สิน

อย่างไรก็ตามเกษตรกรก็จะต้องเตรียมความพร้อมการวางแผนการผลิตตามที่ภาครัฐได้ออกมาให้คำแนะนำด้วย ทั้งในพื้นที่เขตชลประทานว่าควรจะปลูกหรือไม่ปลูกพืชใด ซึ่งเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องอาศัยข้อมูลจากภาครัฐเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะต้องการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ต่างชาติเชื่อมั่น ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงในปีหน้า

นักวิเคราะห์ต่างประเทศเห็นตรงกันค่าเงินบาทไทยปีหน้าอ่อนค่า ไม่หลุด 30 บาท/ดอลลาร์

สำนักข่าว Bloomberg ที่เปิดเผยคาดการณ์ล่าสุดของทิศทางค่าเงินบาทจากนักวิเคราะห์สำนักต่างๆ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2562 โดยพบว่าค่ากลาง (Median) ของการคาดการณ์ค่าเงินบาทของนักวิเคราะห์สะท้อนมุมมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงในปีหน้า

นักวิเคราะห์อาทิ JPMorgan Chase คาดว่าไตรมาส 4 ปี 2563 ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 30.6 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ Standard Chartered คาดว่าไตรมาส 4 ปี 2563 เงินบาทจะอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 31.0 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับ 31.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ Rabobank มองว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 เงินบาทจะอยู่ที่ 33.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

บาทเปิด 30.29/30 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแกว่งแคบ

ขณะที่นักวิเคราะห์ไทยอาจยังมองแนวโน้มค่าเงินบาทในทิศทางแข็งค่า ในภาพรวม จะเห็นว่าการคาดการณ์ค่าเงินบาทของนักวิเคราะห์สำหรับปลายปี 2563 สามารถเคลื่อนไหวได้ในสองทิศทางตั้งแต่ช่วง 28.7 - 33.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

รมช.พณ.เตรียมลงพื้นที่ช่วยเกษตรกรอีสานใต้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมลงพื้นที่อุบลฯ ช่วยเกษตรกรอีสานใต้ ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลก โดยในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ จะนำคณะลงพื้นที่พบปะเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมเป็นประธานเปิดงานสัมมนาโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องตลาดการค้าเสรีและการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างแต้มต่อทางการค้า

โดยการสัมมนาครั้งนี้ จะมีการเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ชี้ช่องรวยรุกตลาดส่งออกสินค้าเกษตรด้วยเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้ส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดการค้าเสรี” ให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่อีสานใต้ ครอบคลุมจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดมาวิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสม

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยอ่วม!!! เจอแน่แล้งจัด-ผลผลิตหาย

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.) เปิดเผย “ฐาน เศรษฐกิจ”ว่า เวลานี้น่าเป็นห่วงชาวไร่อ้อย คาดว่าตลอดปี2562/2563 ตกอยู่ในสภาพอ่วมหนัก เพราะเวลานี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตราอ้อยตันละ 750 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส  ถือว่าราคายังร่วงต่อเนื่องติดต่อกันมา 2-3 ปีแล้ว  อีกทั้งกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอีก จะทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำลง  ก่อนหน้านั้นต่อไร่จะได้ผลผลิตสูงถึง 11 ตันต่อไร่  ปัจจุบันเหลือผลผลิตเพียง  6-7 ตันต่อไร่  อีกทั้งปัญหาราคาอ้อยที่เหลือไม่ถึง 1,000 บาทต่อตัน

“จะทำอย่างไรปัญหาชาวไร่อ้อยเวลานี้ก็ไม่มีเงินไปใช้หนี้เก่า เพราะเวลานี้ชาวไร่ไม่มีเงินไปชำระหนี้เงินเกี๊ยว ซึ่งเป็นเงินที่โรงงานส่งเสริมการปลูก-ดูแลอ้อยล่วงหน้า และจะต้องมีการหักคืนเมื่อมีการส่งอ้อยเข้าหีบ แต่เวลานี้ต้นทุนชาวไร่อยู่ที่1,110 บาทต่อตัน  แต่อค่าอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาทต่อตัน ดังนั้นชาวไร่จะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้”

ส่วนเงินที่ฝั่งชาวไร่อ้อยได้เสนอให้ขอรับการช่วยเหลือเงินค่าอ้อยจากรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เสนอโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 กรอบวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 10,000 ล้านบาทนั้นเป็นเงินที่จะมาช่วยเรื่องปัจจัยการผลิต ซึ่งรัฐบาลก็คงจะช่วยมากไปกว่านี้ไม่ได้หากดูโดยภาพรวมแล้ว

อย่างไรก็ตามปี 2562/2563 เริ่มการเปิดหีบอ้อยไปตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดการหีบอ้อยในเดือนเมษายน 2563  และมีการคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยปี2562/2563 เดิมที่อยู่ที่ 119 ล้านตันอ้อย ล่าสุดชาวไร่อ้อยมองว่าน่าจะลงมาอยู่ 111.5 ล้านตันอ้อย  แต่สุดท้ายมีการคาดการณ์ตัวเลขใหม่ว่าจะไปไม่ถึง 100 ล้านตันอ้อย เนื่องจากเผชิญปัญหาภัยแล้ง และราคาอ้อยยังไม่จูงใจให้คนปลูกอ้อย

“จากปัญหาดังกล่าว ชาวไร่อ้อยมองว่าปี2563/2564 คาดว่าปริมาณอ้อยจะเหลือไม่ถึง 80-90 ล้านตันอ้อย  ถึงแม้ว่าราคาอ้อยจะดี  แต่ถึงวันนั้นปริมารอ้อยก็ลดลง เพราะเวลานี้ไม่มีแรงจูงใจอะไรให้เกษตรกรปลูกอ้อย”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 ธันวาคม 2562

เคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต 62/63 ที่ 750 บาท ชง ครม. อนุมัติเงินช่วยเหลืออีก 10,000 ล้านบาท

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ครั้งที่ 11/2562 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 ว่าที่ประชุม กอน. มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ในอัตราอ้อยตันละ 750 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส อัตราขึ้นลง อยู่ที่ 45 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส

โดยระดับความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 12.51 ซี.ซี.เอส จะได้รับในอัตราตันละ 862.91 บาท ซึ่งได้ผ่านกระบวนการประชุมรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) จากเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เรียบร้อยแล้ว โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

และจากสถานการณ์ปัจจุบันราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มการแกว่งตัวสูง ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากทั้งด้านราคาที่ตกต่ำและไม่คุ้มกับต้นทุนการปลูกอ้อยที่ตันละ 1,110 บาท

โดยในที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีผู้แทนฝั่งชาวไร่อ้อยได้เสนอให้ขอรับการช่วยเหลือเงินค่าอ้อยจากรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เสนอโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 กรอบวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็กให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และมีผลตอบแทนเพียงพอ สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

นายเอกภัทร วังสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เตรียมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเก็บเกี่ยวอ้อย การขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล พร้อมรณรงค์ไม่ให้ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ในฤดูการผลิตปี 2562/2563

รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 1 – 4 เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1 – 8 และเจ้าหน้าที่ สอน. ที่ประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และประสานการทำงานร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 9 ธันวาคม 2562

"สุวิทย์" ดึงอุตฯ-ศูนย์วิจัยต่างชาติ ผนึกลงทุนไฮเทค “อีอีซี”

 หัวใจหลักของการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ การสร้างบุคลากรทักษะสูงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพราะถ้าขาดบุคลากรกลุ่มนี้ก็ยากที่จะดึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงมาลงทุน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะสร้างบุคลากรเร่งด่วน

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมฯ ได้ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง “อีอีซี โมเดล” ซึ่งได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา

รวมทั้งเมื่อโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 5 โครงการ ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว ในปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเร่งเดินหน้าเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี)

การพัฒนาอีอีซีไอจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดการลงทุนการลงทุน การวิจัยและพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิด “เบรนพาวเวอร์” หรือบุคลากรที่เป็นมันสมองของประเทศในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

รวมทั้งสร้าง “แมนพาวเวอร์” หรือบุคลากรที่มีทักษะสูงในเทคโนโลยี โดย สกพอ.จะดึงมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลกมาตั้งในอีอีซี พร้อมดึงอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมาลงทุนไทยด้วย ซึ่งจะเข้ามาลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำที่เป็นการวิจัยไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นภาคการผลิต

นอกจากนี้ จะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยนำผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยของไทยนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมและสินค้าเชิงพาณิชย์และจะไปวางรูปแบบการของบประมาณของอีอีซีไอ ซึ่งปัจจุบันต้องขอเป็นปีต่อปีและจะปรับให้สอดคล้องกับงานวิจัยที่จะต้องใช้งบประมาณในระยะยาว เพื่อให้งานวิจัยมีความต่อเนื่อง

รวมทั้งจะต้องสอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศไทยไปสู่บีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อม) ดึงดูดบริษัทระดับโลกด้านนี้มาอยู่ที่ไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้าง “เบรนพาวเวอร์” ที่เข้มแข็งให้กับไทย

ส่วนการสร้าง “แมนพาวเวอร์” โดยเรื่องนี้ สกพอ.ทำมา 2 ปีแล้ว จากผลการสำรวจพบว่าในอีอีซี 3 จังหวัด ภายใน 5 ปี ต้องการบุคลากรทักษะสูง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ซึ่งผลสำรวจนี้มาจากความต้องการของภาคเอกชน ทำให้ สกพอ.มีภาพที่ชัดเจนในการผลิตบุคลากรเข้ามาป้อนภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด โดยการสร้างบุคลากรจะมีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ระดับอาชีวะศึกษา 2.ระดับตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป

สำหรับรูปแบบการผลิตบุคลากรจะผลิตตามความต้องการของภาคเอกชนทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยปัจจุบันจะเรียนในห้องเรียนสูงถึง 80% และฝึกงานในโรงงานเพียง 20% แต่หลักสูตรอาชีวะศึกษาในอีอีซี จะเรียนในห้องเรียน 50% และฝึกในโรงงานอีก 50% และในอนาคตจะเป็นการเรียนและฝึกงานในโรงงาน 80% และเรียนในห้องเรียน 20%

นอกจากนี้ จะฝึกทักษะให้นักศึกษาอีอีซีให้เรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษที่ต่างจากภาษาอังกฤษทั่วไป เพื่อให้สื่อสารกับวิศวกรต่างชาติและศึกษาเรียนรู้ได้เอง

“การผลิตบุคลากรในอีอีซีจะเป็นแบบดีมานด์ไซด์ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษา ดังนั้นนักศึกษาในอีอีซี ที่เรียนในหลักสูตรที่กำหนด และตั้งใจเรียนจบออกมาจะมีงานรองรับอย่างแน่นอน และมีรายได้สูง”

ทั้งนี้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีความคล่องตัวเปิดให้ทดลองสิ่งใหม่ได้สะดวก รวมทั้งมีการผลิตบุคลากรที่ชัดเจน และมีแผนดึงดูดการวิจัย ทำให้อีอีซีจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดบริษัทใหญ่ที่ผลิตนวัตกรรมแห่งอนาคตเข้ามาลงทุนในอีอีซี

ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาเลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงที่ไทยจะดึงเข้ามาลงทุน ล้วนมีความร่วมมือที่ดีกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ ดังนั้นการไปเจรจาดึงการลงทุนจะไม่เพียงเน้นเฉพาะอุตสาหกรรม แต่จะขยายไปถึงการดึงสถาบันวิจัยเครือข่ายของอุตสาหกรรมให้มาตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยในไทย ซึ่งทำให้ไทยได้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาตั้งฐานในประเทศ รวมทั้งจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทยในอนาคต

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะมีมาตรการพิเศษให้กับอุตสาหกรรมที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเต็มที่

รวมทั้ง สกพอ.มีมาตรการวัสสต็อปเซอร์วิสอำนวยความสะดวกในการต่อวีซ่าให้กับผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่การเก็บภาษีบุคคลธรรมดากลุ่มนี้อยู่ที่อัตรา 12.8% ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง ตลอดจาการจัดการด้านสาธารณูปโภคทั้งที่พัก โรงเรียน สำหรับครอบครัวที่จะตามมาก ซึ่งจะเป็นแรงดึงดูดให้นักวิจัยบุคลากรชั้นนำเหล่านี้อยากเข้ามาทำงานในไทย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของอีอีซีที่จะดึงดูดบุคลากรมันสมองชั้นนำของโลกให้เข้ามาทำงานในไทย

“สกพอ.กำลังเจรจากับสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์เกาหลี (Korea Advanced Institute of Science : KAIS) ซึ่งสถาบันฯ กำลังดูจำนวนของอุตสาหกรรมจากเกาหลีใต้ที่จะมาลงทุนในไทย โดยถ้ามีจำนวนเหมาะสมจะเข้ามาตั้งสถาบันวิจัยในไทย เพื่อรองรับการวิจัยพัฒนาของอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันวิจัยทำงานใกล้ชิดกันมากจึงเหมาะที่จะดึงดูดมาทั้งกลุ่มเพื่อให้เกิดการวิจัยและผลิตในไทย”

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 9 ธันวาคม 2562

คลังสั่งธปท.ดูแลค่าเงินบาทแข็งค่าสุดรอบ6ปี

ธปท.แจงคลังดูแลค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดกระทบส่งออกถึงปีหน้า

นายอุตตม สาวนาย รมว.คลัง กล่าวว่า นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายว่า ธปท. ดูแลค่าเงินบาทอยู่ทุกช่วงเวลา บางช่วงเวลาก็มีมาตรการที่จะพยายามให้ค่าเงินบาทสอดคล้องกับสภาพความจริงของเศรษฐกิจไทยให้มากที่สุด ในรายละเอียดเป็นเรื่องของ ธปท. ว่าใช้วิธีไหนในการดูแล

รมว.คลัง กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งมีผล 2 ด้าน ด้านหนึ่งกระทบกับการส่งออก แต่อีกด้านหนึ่งเป็นโอกาสดีของการลงทุนที่ดี ต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรก็จะถูกลง จากที่ค่าเงินบาทแข็ง

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทขยับแข็งค่าทดสอบแนว 30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ และเมื่อเทียบกับความเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแล้ว เงินบาทยังคงเป็นสกุลเงินที่มีอัตราการแข็งค่ามากที่สุด โดยแข็งค่าขึ้นแล้วในปีนี้ประมาณ 7.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และค่อนข้างจะทิ้งห่างสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่ตามมาเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 อย่างเงินรูเปียห์ และเงินเปโซ ที่แข็งค่าขึ้นในปีนี้เพียง 2.8% และ 1.8% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ตามลำดับ

ส่งออกงานเข้าไม่หยุด ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในเอเชีย

หวังเม็ดเงิน LTF ปีสุดท้ายช่วยพยุงตลาดหุ้นโค้งท้ายปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทอาจผันผวนได้ทั้ง 2 ด้านในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปมปัญหาของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสถานการณ์ของการเมืองภายในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงมากกว่าที่คาดในปีหน้า จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เงินบาทก็อาจถูกกดดันให้แข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่องจากการที่ไทยยังคงมีดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และมุมมองของนักลงทุนที่ว่า เงินบาทเป็นสกุลเงินปลอดภัยที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยอาจจะยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 9 ธันวาคม 2562

เปิดแผนจัดการสารเคมีแห่งชาติ เลิกใช้ 3 สารพิษ ปี 63

เปิดแผนจัดการสารเคมีแห่งชาติ เลิกใช้ 3 สารพิษ ปี 63 “อนุทิน” ขึ้นนั่งคุมบอร์ดสารเคมี เคาะเองคานอำนาจคณะกรรมการวัตถุอัยตราย

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งมีรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือแต่งตั้งดังกล่าวให้กับหน่วยงานรับปฏิบัติ

ประกอบด้วยแผนฉบับที่ 1(พ.ศ. 2540-2544) ต่อมา พ.ศ. 2554 มีแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2549) ซึ่ง แผนแม่บททั้ง 2ฉบับ เป็นความพยายามที่จะบริหารจัดการสารเคมีทุกชนิดที่หลายหน่วยงานกำกับดูแลรับผิดชอบให้เป็นเอกภาพ และในปี 2550 มีแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550-2554) ซึ่งมีทิศทางที่ต่อเนื่องจากแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 และมีการบูรณาการแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี เพื่อให้มีนโยบายเดียวในการบริหารจัดการสารเคมีของประเทศในการป้องกันอันตราย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีต่อสุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมของประชาชน

สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำคัญของแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 คือ ต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ก่อให้เกิดการจัดการสารเคมีของประเทศที่เป็นระบบและมีทิศทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย สังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายด้านสารเคมี สู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากล รวมทั้งเป้าหมายของการจัดการสารเคมีของโลก คือ ลดการผลิต และใช้สารเคมีในทางที่จะนำไปสู่การลดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมภายในปี 2563

ในส่วนการขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ดำเนินการโดย คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน เมื่อพัฒนามาเป็น แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ คณะกรรมการจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการยังคงเดิม คือประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการและเครือข่ายวิชาชีพ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ

ในส่วนระยะเวลาของแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ.2550-2554) ใกล้จะสิ้นสุด ได้มีการเสนอแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555-2564) เป็นแผนระยะยาว 10 ปี ในฉบับที่ 4 นี้ มีเป้าประสงค์ว่า ภายในปี 2564 สังคม และสิ่งแวดล้อมปลอดภัย บนพื้นฐานของการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 3 ยุทธศาสตร์ และยุทธศาสตร์แรก คือ พัฒนาฐานข้อมูล กลไก เครื่องมือในการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบครบวงจร ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพและบทบาทในการบริหารจัดการสารเคมีของทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีใน 3 แนวทาง คือ ป้องกันอันตรายจากสารเคมี เฝ้าระวังและตรวจสอบผลกระทบจากสารเคมี รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน การรักษาเยียวยา และฟื้นฟู

กำหนดให้มีการทบทวนผลการดำเนินงานทุก 2 ปี และแบ่งระยะเวลาการดำเนินงานออกเป็น 3ระยะ คือ ระยะต้น (พ.ศ. 2555 - 2558) ระยะกลาง (พ.ศ. 2559-2561) และระยะปลาย (พ.ศ. 2562-2564) มีเป้าหมาย คือ มีกลไกและระบบบริหารจัดการสารเคมีของประเทศที่คุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนมีศักยภาพในการป้องกันและควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากสารเคมี และมีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการจัดการสารเคมีของประเทศ

โดยแผนปฏิบัติการระยะต้น ได้มีการเสนอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายการจัดการสารเคมี เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจัดการสารเคมี และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมีขึ้นมาภายใต้ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ซึ่งเป็น คณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ ในปัจจุบัน และมีคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมี โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดัน พ.ร.บ. สารเคมี พ.ศ.......ขึ้นมาใช้แทน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการทำประชาพิจารณ์ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม-18 ตุลาคม 2562

“จากนี้ในการเดินหน้ามาตรการเลิกใช้สาร 3ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ในปี 63 จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ เพื่อจัดการสารเคมีของประเทศในภาพรวมต่อไป ก่อนส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกมติ รวมทั้งการแบนสารชนิดอื่นที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ความเป็นพิษ มีอันตรายต่อมนุษย์”แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 8 ธันวาคม 2562

ไม่เผาไร่อ้อย-วัชพืช ใกล้แนวเสาสายส่งไฟฟ้า

กฟผ. ขอความร่วมมือเกษตรกรในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ไม่เผาไร่อ้อย ซังข้าวและวัชพืช โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ใกล้แนวเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

          นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูกาลเปิดหีบอ้อย หรือในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว (ประมาณเดือนธันวาคม - เมษายน ของทุก ๆ ปี) กฟผ. ขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชน ไม่จุดไฟเผาไร่อ้อย วัชพืช และซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ในพื้นที่ใกล้แนวเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ทรัพย์สิน และระบบไฟฟ้าของประเทศ

             โดยควันและเขม่าจากการเผาดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรสู่พื้นดิน เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ตลอดจนเป็นอันตรายต่อทัศนวิสัยในการเดินทางและการคมนาคมของประชาชน และอาจทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวม ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นวงกว้าง

รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวต่อว่า เสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ กฟผ. ดูแลและรับผิดชอบนั้น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบไฟฟ้าของประเทศไทย เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงานที่เชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าจากระบบผลิตไปยังระบบจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ซึ่งจะมีการปรับแรงดันไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ก่อนส่งถึงผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนและทุกครัวเรือนต่อไป ดังนั้นเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จึงต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ซึ่ง กฟผ. มีการดูแลบำรุงรักษาเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเป็นประจำ เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง

          “ทั้งนี้ กฟผ. ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้แนวเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ไม่เผาไร่อ้อยและวัชพืช และขอความร่วมมือประชาชนทั่วประเทศร่วมกันดูแลเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติของชาติ โดยหากพบเหตุผิดปกติและไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โปรดแจ้ง ศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. โทร. 1416” รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าว

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 7 ธันวาคม 2562

กระทรวงพลังงานไทย ลงนาม IEA พัฒนากรอบความร่วมมือพลังงาน 8 ด้าน

ร่วมถกผู้นำด้านพลังงานของ IEA เตรียมความพร้อมรองรับยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต เน้นกระชับพร้อมลงนามความร่วมมือแผนดำเนินงานระหว่างกระทรวงพลังงานกับ IEA ประจำปี พ.ศ. 2563-2564 พัฒนา 8 กรอบความร่วมมือ และการบริหารจัดการด้านพลังงานยั่งยืนนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าคณะกระทรวงพลังงานได้กล่าวในการร่วมประชุมระดับผู้นำด้านพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิกทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency (IEA) Ministerial Meeting 2019) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วานนี้ (6 ธ.ค.62) เกี่ยวกับประเด็นนโยบายด้านการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานของไทยว่า

ได้มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ เทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานโดยสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน??นอกจากนี้ ในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 ไทยได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในอาเซียน ผ่านกิจกรรม/โครงการต่างๆ อาทิ การศึกษาการควบรวมพลังงานทดแทนเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน การพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก IEA เป็นอย่างดี

ในที่ประชุม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาภาคพลังงานร่วมกับ IEA และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ IEA ในอนาคต โดยไทยมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ร่วมกับ IEA เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและพลังงานเพื่อความยั่งยืนร่วมกันในอนาคต

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้หารือร่วมกันระหว่างผู้นำด้านพลังงานระดับสูงในประเด็นสำคัญระดับโลกด้านพลังงาน อาทิ แนวทางการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งรวมไปถึงการขยายตัวของตลาด LNG ในอนาคต แนวทางการส่งเสริมให้เกิดระบบพลังงานที่ทันสมัย เป็นธรรมและยั่งยืน รวมทั้งหารือแนวทางการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก IEA และการขยายความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรต่างๆ อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ ดร. Fatih Birol ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ได้ลงนามร่วมกันในแผนการดำเนินงานระหว่างกระทรวงพลังงานกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2563-2564 (Joint Work Programme between the Ministry of Energy of the Kingdom of Thailand and the International Energy Agency 2020-2021)

ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวเป็นกรอบและแนวทางความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2563-2564?ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานจะประกอบไปด้วยความร่วมมือในประเด็น 8 ด้าน ดังนี้ 1. ข้อมูลและสถิติพลังงาน 2. ความมั่นคงทางพลังงานและการรองรับสภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน 3. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 4. พลังงานไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน

5. เทคโนโลยีพลังงานสะอาด 6. ก?ารทบทวนนโยบายพลังงานและการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร 7. การเยือนระดับสูง และ 8. การมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ?"กิจกรรมภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการพัฒนาด้านพลังงานและการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป" นายกุลิศ กล่าว

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 7 ธันวาคม 2562

ชงตั้งกองทุนเยียวยาFTA

พาณิชย์ชงตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตเสรีทางการค้า(กองทุนเอฟทีเอ)  ช่วยเกษตรกรเข้าถึงเงินกองทุนง่ายขึ้น

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่อยุ่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตเสรีทางการค้า(กองทุนเอฟทีเอ)  โดยในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานในที่ประชุมคณะทำงานเพื่อจัดตั้งกองทุนดังกล่าว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรกระทรวงอุตสาหกรรม สภาเกษตรรแห่งชาติ ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรก โดยมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมการทำเอฟทีเอของไทยกับทุกประเทศ  ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558   โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแล ซึ่งกรมจะต้องหารือร่วมกันจากนั้นก็จะเสนอต่อรัฐสภาให้มีการจัดตั้งต่อไป   จากการที่กรมได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นจากเกษตรกรในพื้นที่ ก็พบว่ามีข้อเรียกร้องจากเกษตรกรว่าต้องการให้ภาครัฐปรับปรุงแก้ไขวิธีการขอใช้เงินจาก โครงการช่วยเหลือ เพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการ เปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) ที่ทางกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ดูแล มีความยุ่งยาก  เกษตรกรไม่สามารถเขียนคำร้อง กรอกข้อมูล เพื่อรับการเยียวยารวมทั้งการเตรียมเอกสารประกอบเอง ทำให้ต้องจ้างนักวิชาการเป็นผู้ดำเนินการให้  และงบประมาณจากกองทุนเอฟทีเอในรูปแบบเก่า ก็เป็นการขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปี บางปีที่ได้ บางปีก็ถูกตัด  และได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงทุกปี ดังนั้น เพื่อให้กองทุนสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ กรมฯจึงต้องเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนฯอย่างเป็นทางการมีเงินหมุนเวียน ส่วนรายละเอียด รูปแบบกองทุนต้องรอภายหลังการประชุมของคณะทำงานที่จะมีการประชุมในวันที่ 20 ธ.ค. นี้

สำหรับ หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติ การใช้เงินจากกองทุนเอฟทีเอในรูปแบบเดิมคือ 1. สินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันหรือทดแทนกันมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากจากต่างประเทศอย่าง เห็นได้ชัดเจน หรือมีสัญญาณบ่งชี้ หรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าไทย ที่ผลิต ภายในประเทศหลังจากการเปิดเสรีทางการค้า

 2. ผลกระทบต่อราคาของสินค้า หรือบริการประเภทเดียวกัน หรือ ทดแทนกัน หรือมีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบต่อราคาของสินค้าข้างต้น 3. ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าประเภท เดียวกันหรือทดแทนกันที่ผลิตในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง 4. มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือ อุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง  5. มีผลการศึกษาระบุว่า ภาคการผลิตหรือภาคบริการนั้น ๆ ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า 

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 ธันวาคม 2562

เงินบาท "อ่อนค่า"

เงินบาทเปิดเช้านี้อ่อนค่าลงแตะระดับ 30.36 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.29 บาทต่อดอลลาร์

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องเงินบาทปัจจุบันที่แพงกว่าพื้นฐาน ส่งผลให้ผู้ค้าเงินต่างประเทศกลับเข้าเก็งกำไรค่าเงินด้วยการขายเงินบาทและซื้อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีแรงต้านจากผู้ส่งออก เนื่องจากเป็นวันหยุดฝั่งไทย

ในวันนี้เชื่อว่าเงินบาทจะผันผวนสูงขึ้น โดยในระยะสั้น มองแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติสามารถดันให้ค่าเงินขยับขึ้นได้ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเข้าสู่ช่วงปิดสิ้นปีไปแล้ว และส่วนมากก็ทำประกันความเสี่ยงไปก่อนหน้านี้เช่นกัน

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.32-30.42 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ช่วงสองวันที่ผ่านมาตลาดทุนทั่วโลกอยู่ในภาวะฟื้นตัว S&P500 ปรับขึ้น 0.15% ขณะที่ Euro Stoxx 50 ปรับตัวลง 0.3% พร้อมกับ FTSE100 ที่ปรับตัวลง 0.7% สลับกับการปรับตัวขึ้นแรงในช่วงวันทำการก่อนหน้า

ฝั่งตลาดบอนด์ ยีลด์ทั่วโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย ล่าสุดยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีซื้อขายที่ระดับ 1.81% ขณะที่บอนด์ยีลด์เยอรมันอายุ 10 ปีขยับขึ้นมาที่ -0.29% เนื่องจากตลาดมีความเชื่อว่าธนาคารกลางต่างๆ จะ "คง" อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงท้ายปีไปจนถึงปี 2020 ขณะที่ในระยะสั้น ก็มีปัจจัยบวกจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจหาข้อตกลงกันได้ก่อนการขึ้นภาษีในวันที่ 15 ธันวาคมนี้เข้ามาทำให้ตลาดกลับไปเปิดรับความเสี่ยง (Risk On)

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อ เมื่อผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ปรับตัวลงแตะ 2.03 ตำแหน่ง ต่ำที่สุดในรอบเจ็ดเดือน สวนทางกับตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment) เดือนล่าสุด ที่ขยายตัวเพียง 6.7 หมื่นตำแหน่ง จึงต้องจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในสหรัฐ (Non-farm Payrolls) คืนนี้ว่าจะสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับ 1.8 แสนตำแหน่ง อย่างที่ตลาดหวังไว้หรือไม่

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 ธันวาคม 2562

'อัครเดช'ทวงถาม'รมต.อุตสาหกรรม' ใกล้ฤดูหีบอ้อย มีมาตรการคุมมลพิษรง.น้ำตาลหรือยัง!?

'อัครเดช' ทวงถาม รมต.อุตสาหกรรม ใกล้ฤดูหีบอ้อย มีมาตรการควบคุมมลพิษจากโรงงานน้ำตาลให้พี่น้องประชาชนยัง

ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 ได้ตั้งกระทู้ถามทั่วไป ต่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึง ความเดือดร้อนของประชาชนรอบโรงงานน้ำตาลราชบุรี อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

โดยนายอัครเดช ตั้งคำถามว่า เนื่องจากประชาชนรอบโรงงานน้ำตาลราชบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็นจากโรงงานน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีประชาชนได้มีการลงชื่อร้องเรียนเข้ามายังตนแล้ว และเวลานี้ใกล้เวลาที่โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะเริ่มหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลตามฤดูกาลการผลิตปี62  ดังนั้น จึงขอเรียนถามว่า

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตรวจสอบในปัญหาดังกล่าวหรือไม่  ต่อมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามและดำเนินการเยียวยา ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่รอบโรงานน้ำตาลราบุรีหรือไม่

และกระทรวงอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใดบ้าง ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ได้ดำเนินการในการลดปัญหาฝุ่นละอองและกลิ่นเหม็นของโรงงานหรือไม่

ด้าน นายสุริยะ กล่าวว่าทางอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ได้มีหนังสือสั่งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่สายพานลำเลียงกากชานอ้อยและสายพานลำเลียงขี้เถ้า มีฝุ่น กระจาย และมีลมพัดกระโชก โดยให้โรงงานมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันฝุ่นจากชานอ้อย โดยให้มีการติดตั้งหัวฉีดน้ำเพิ่มอีก 2 จุดรวมเป็น 3 จุด ซึ่งทางโรงงานได้ดำเนินการติดตั้งหัวฉีดน้ำเรียบร้อย หลังจากนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมราชบุรีมีหนังสือให้โรงงานประกอบกิจการด้วยความระมัดระวังและควบคุมการทำงานของชุดสายพานลำเลียงจากชานอ้อย ให้ทำงานให้อย่างมีประสิทธิภาพอย่าให้เกิดปัญหาโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีได้เข้าตรวจสอบโรงงาน ประเด็นที่ชาวบ้านร้องเรียน ว่าทางโรงงาน

มีฝุ่นละอองและเขม่าควันฟุ้งกระจายเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าโรงงานอยู่ในระหว่างหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกิดลมพายุในพื้นที่ทำให้แผ่นกันฝุ่นฉีกขาดทำให้มีฝุ่นละอองออกไปนอกโรงงาน ซึ่งหลังจากตรวจสอบแล้วทั้งทางด้านของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้จะได้สั่งการให้โรงงานจัดการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งได้แก้ไขด้วยความเรียบร้อย

“การนำวัตถุดิบที่โรงงานน้ำตาลไม่ใช้แล้วไปใช้ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเปลี่ยนขยะหรือของเสียไปใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน ซึ่งชานอ้อยที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองนี้นำไปใช้ประโยชน์ให้หลากหลาย อาทิ นำไปเป็นส่วนผสมปุ๋ยหมัก หรือใช้เป็นอินทรีย์วัตถุปรับปรุงดิน นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือนำไปผลิตเป็นกระดานไม้อัด ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อลดปริมาณการเก็บกองชานอ้อยอันจะลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองได้อย่างยั่งยืน สำหรับกลิ่นที่เกิดจากกากการผลิตน้ำตาลนั้น มีการใช้น้ำกากสะอาดเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอแก๊ส เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำได้ สำหรับการป้องกันกลิ่นอันเกิดจากการผลิตได้

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดเป็นพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ของ จ.ราชบุรี ประกอบด้วย เทศบาลเมืองบ้านโป่ง เทศบาลเมืองท่าผา เทศบาลตำบลเบิกไพร และตำบลปากแรด โดยการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมดังกล่าว ครม. มีความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 ให้เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน” นายสุริยะกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 ธันวาคม 2562

กรมชลฯมั่นใจน้ำพอใช้จนสิ้นแล้ง ผันแม่กลองช่วยลุ่มเจ้าพระยา

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สภาพการณ์รวมของน้ำต้นทุนเมื่อเข้าฤดูแล้งที่ใช้การได้เก็บกักในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำอื่นทั่วประเทศจะอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยประมาณ 29,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ดังนั้น กรมวางแผนจัดสรรน้ำต้นทุนจากทุกแหล่งน้ำสำคัญ ทั้งอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ 17,699 ล้านลบ.ม.อย่างรัดกุมเหมาะกับสภาพพื้นที่บนพื้นฐานสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคให้ประชาชนมีน้ำสะอาดกินใช้ตลอดฤดูแล้งประมาณ 2,300 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำลำคลอง 6,999 ล้านลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตร 7,881 ล้านลบ.ม. พร้อมสำรองน้ำที่เหลือไว้กรณีฝนมาช้าหรือทิ้งช่วง อย่างไรก็ตาม แม้สภาพการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนปราณบุรี เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนสิรินธร เขื่อนลำปาว เขื่อนน้ำอูน ทำให้พื้นที่ในเขตชลประทานของอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ใช้น้ำได้ทุกกิจกรรม รวมถึงปลูกพืชหน้าแล้ง

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ชลประทานของเขื่อนอื่น ต้องบริหารจัดการน้ำเข้มงวด อาทิ พื้นที่ชลประทานของเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์แควน้อยฯ ป่าสักฯ แม่กวงอุดมธารา ห้วยหลวง ลำตะคอง ลำนางรอง กระเสียว คลองสียัด บางพระ ประแสร์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา ที่มีน้ำพอทำเกษตรต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำไม่พอทำเกษตรเลย ได้แก่ เขื่อนแม่มอก น้ำพุงอุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะหนองปลาไหล และเขื่อนรัชชประภา

ดร.ทองเปลวกล่าวต่อว่า กรมยังวางแผนผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งมีแหล่งน้ำต้นทุนเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีปริมาณค่อนข้างมาก มาช่วยลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่มีน้ำน้อย 500 ล้านลบ.ม. ทำให้เจ้าพระยามีน้ำต้นทุนเพิ่มเป็น 4,000 ล้านลบ.ม. โดยจะจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 1,150 ล้านลบ.ม. ซึ่งเพียงพอผลิตน้ำประปาใบ 22 จังหวัดภาคกลางรักษาคุณภาพน้ำในการผลิตน้ำประปา รักษาระดับความเค็มของน้ำให้ไม่กระทบสวนผลไม้และสวนกล้วยไม้อีก 2,200 ล้านลบ.ม. ซึ่งกรมจะใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนเข้ามาช่วยควบคุมคุณภาพน้ำด้วยอีกทาง

“การคาดการณ์หลังจัดสรรน้ำแล้ว ยังมีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทานมากกว่า 20 จังหวัด มาตรการสำคัญที่เตรียมป้องกันเหตุในพื้นที่ชลประทาน นอกจากเฝ้าระวังให้การจัดสรรรอบเวรส่งน้ำ การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเป็นไปตามกติกาแล้วคือ ขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรงดทำการ ลดเพาะเลี้ยงบ่อปลาบ่อกุ้ง ที่รับน้ำจากระบบชลประทาน ลดเพาะเลี้ยงปลากระชัง ในแม่น้ำสายหลักคือ ปิง น่าน เจ้าพระยา แม่น้ำน้อย ป่าสัก ท่าจีน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562- 30 เมษายน 2563 สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานสำรองสูบน้ำ พร้อมรถแจกน้ำทั่วประเทศ 150 คันและมาตรการจ้างแรงงานเยียวยาเกษตรกรที่ขาดรายได้จากการงดปลูกพืชหน้าแล้งด้วย”ดร.ทองเปลวกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 ธันวาคม 2562

ปลัดเกษตรฯ แจง จำกัดการใช้ 3 สารตามประกาศกระทรวงระบุ

ปลัดเกษตรฯ แจง จำกัดการใช้ 3 สารตามประกาศกระทรวงระบุ ยังคงรอมติอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการวัตถุอันตรายอยู่ โดยระหว่างนี้ดำเนินมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ด้านผู้แทนเกษตรกรพึงพอใจคำชี้แจงของปลัดฯ ในการเตรียมมาตรการช่วยเหลือและหาสาร-วิธีการทดแทน จากนี้จะเชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดมาเร่งอบรมเพื่อให้ใช้สารเคมีทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในวันนี้มีผู้แทนเกษตรกรซึ่งปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดเข้าพบเพื่อสอบถามถึงแนวทางปฏิบัติของกระทรวงเกษตรฯ หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่า ยังไม่ได้รับหนังสือมติที่ประชุมอย่างเป็นทางการ ระหว่างนี้กระทรวงเกษตรฯ ต้องดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ทั้ง 3 สารตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ตุลาคม 2562 ซึ่งถือเป็นกฏหมาย ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้อบรมเกษตรกรไปเกือบ 500,000 คนและไม่ได้หยุดรับสมัครการอบรมหรือสอบเพื่อออกใบอนุญาตแก่เกษตรกรและผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทางการเกษตรนอกจากนี้ยังได้อธิบายให้ผู้แทนเกษตรกรเข้าใจว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ละเลยเกษตรกร ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ห่วงใยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทุกภาคส่วนจึงให้คณะทำงานของกระทรวงฯ เร่งวิเคราะห์และหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อไม่ให้ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

“กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ต้องรอมติอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะการที่ต่างฝ่ายพูดกันไปพูดกันมายิ่งเป็นประเด็นถกเถียง แต่ประเทศชาติไม่ได้อะไร จึงอยากให้ทุกฝ่ายลดอคติและรับฟังเหตุผลของกันและกันบ้าง ซึ่งผู้แทนเกษตรกรเข้าใจแล้ว” นายอนันต์กล่าว

ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า จากการเข้าพบปลัดกระทรวงเกษตรฯ นั้น ผู้แทนเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผลได้รับทราบถึง แนวทางปฏิบัติซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้งพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสซึ่งเลื่อนระยะเวลาการพิจารณายกเลิกไป 6 เดือน ส่วนไกลโฟเซตจำกัดการใช้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เช่นเดิม  จากนี้ไปจะเชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดมาสมัครรับการอบรมหรือสอบเพื่อได้รับใบอนุญาตให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดจากกรมวิชาการเกษตร ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่แน่ใจว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเป็นอย่างไรจึงไม่มีใครมาอบรมเพิ่มเติม นอกจากนี้จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งการใช้ตามชนิดพืชที่กำหนด ใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง ตลอดจนไม่ใช้ในพื้นที่ที่ห้ามไว้เช่น พื้นที่ต้นน้ำต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งแก่เกษตรกรและประชาชนทุกคน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 ธันวาคม 2562

เกษตรกรงง! มี 3สารเคมีครอบครองตอนนี้ผิดหรือยัง? “สุริยะ” จ่อประชุมรับรองมติเลื่อนแบนสารเคมี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากได้สอบถามกับกลุ่มเกษตรบางกลุ่ม ทั้งฝ่ายสนับสนุนการแบนและคัดค้าน ส่วนใหญ่เกษตรกรยังคงไม่เข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าแท้จริงรัฐบาลกำลังปกป้องหรือทำลายเกษตรกร และงงกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา

และยังไม่รู้ว่าสารเคมีที่ตนมีครอบครองอยู่ตอนนี้ถือว่าผิดกฎหมายหรือยัง ต้องทำอย่างไรต่อ และเห็นเพียงการออกมาแฉกันเองของรัฐบาล นักวิชาการ ที่ดูเหมือนจะเป็นเกมการเมือง เรียกคะแนนเสียงมากกว่าจะเข้าใจเกษตรกรจริงๆ เพราะสุดท้ายวันนี้มาตรการรองรับ เยียวยา สารทดแทนก็ยังไม่มี

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าจากกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย ให้ความเห็นว่าการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ไม่มีการนับองค์ประชุมขณะลงมติการเลื่อนแบนของ 2 สารเคมีอันตราย คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ ไกลโฟเซต และไม่มีการให้กรรมการแต่ละคนออกเสียงในเรื่องที่ขอมติ ดังนั้น มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงไม่ใช่มติที่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งคณะกรรมการยังคงยืนยันว่ามติคณะกรรมการฯ ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ มีการลงมติในหลายรูปแบบ เช่น ขอมติที่ประชุม หากไม่มีผู้คัดค้าน ถือว่ามีมติเป็นเอกฉันท์ ถ้ามีผู้คัดค้านจะบันทึกความเห็นไว้ และถือเป็นมติเสียงข้างมาก หรือมีการลงคะแนนโดยการยกมือ หรือใช้บัตรลงคะแนนก็ได้

ดังนั้น ในเดือน ธ.ค. 2562 นี้ จะต้องมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อรับรองมติของวันที่ 27 พ.ย. 2562 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันประชุม เพราะต้องรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะต้นเรื่อง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามาเพื่อรับรองมติของวันที่ 27 พ.ย.2562 ก่อน

“การรับรองมติได้ ต้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. … ให้เสร็จสมบูรณ์ ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายล่าสุด จากนั้นให้นำร่างประกาศกระทรวงฯ เข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรอง เพื่อตรวจพิจารณาร่างประกาศฯ เสียก่อน ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ส่วนจะมีการประชุมในเดือน ธ.ค. หรือไม่ต้องติดตามอีกครั้ง จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อลงราชกิจจาประกาศใช้ต่อไป”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 4 ธันวาคม 2562

ชงครม. แสนล้าน ซื้อหนี้เกษตรกรยกเข่ง

บอร์ดบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ทุบโต๊ะซื้อหนี้เกษตรกรยกเข่ง อุ้มสมาชิก 4.5 แสนราย บวกฟื้นฟูฯ รวมกว่าแสนล้าน ในโครงการ “บินก่อนผ่อนทีหลัง” เล็งเข้า ครม.เร็วๆ นี้ แนะรัฐผ่อนจ่าย 4 ธนาคารปีละ 2 หมื่นล้าน “ยศวัจน์” ยันคุ้ม หลักทรัพย์มากกว่าหนี้

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อมา ในปี 2544 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 2) โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับเดิม ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอันเนื่องมาจากโครงการส่งเสริมของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ภายใต้คณะกรรมการชุดใหม่ ปัจจุบันมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการรับผิดชอบดูแล ล่าสุดมีความคืบหน้าอย่างไรบ้างนั้น

นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คนที่ 1 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปัจจุบันโครงสร้างของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ตาม พ.ร.บ. สมบูรณ์แล้วทางบอร์ดบริหารได้มอบนโยบายการจัดการหนี้สินให้เกษตรกรอย่างเร่งด่วนจัดทำแผน 2 เรื่อง ได้แก่ การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยระเบียบได้ผ่านราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย วันนี้ได้ให้ทางสำนักงานไปกำหนดหลักเกณฑ์แล้วเรื่องแผนฟื้นฟูฯ รื้อใหม่ทั้งหมด

“ที่ผ่านมาแนวทางปฏิบัติเดิมไม่ต่างอะไรกับการออกคำสั่งให้เกษตรกรออกไปทำตามคำสั่ง เช่น กำหนดวงเงินงบประมาณให้ แนะอาชีพไป มองว่าทุ่มเท่าไรก็เจ๊ง ดังนั้นควรให้เกษตรกรเป็นคนกำหนดอนาคตเอง ว่าต้องการทำอาชีพอะไร ต้นทุนการผลิตเท่าไร ต้องให้ฟื้นฟูตามความเป็นจริง แต่หากแนวทางไหนดีก็ต้องทำต่อเนื่อง ส่วนสำนักงานคอยให้คำปรึกษาให้เดินภายใต้ระเบียบ เพราะใช้เงินงบของแผ่นดิน”

 ปัจจุบันทางกองทุนได้มีการเจรจากับ 4 ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรที่มีหนี้กว่า 90% ไปเจรจาทำข้อตกลงว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของเกษตรกรซึ่งจะไม่กระทบต่อผู้ฝากเงิน และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นธนาคารในอนาคต เนื่องจากจะให้ธนาคารขอชดเชยจากรัฐบาล ซึ่งทางบอร์ดของธนาคารจะนำเรื่องนี้ไปเจรจากับรัฐบาล และส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในโครงการ “บินก่อนผ่อนทีหลัง” เปรียบกับชาวนาไม่มีโอกาสนั่งเครื่อง บิน สื่อเหมือนกับให้นั่งเครื่องบินไปก่อน พอถึงจุดมุ่งหมายแล้ว ค่อยมาชำระเงินภายหลัง

 “เมื่อเกษตรกรได้รับโอกาสแล้วค่อยมาพูดถึงเรื่องการฟื้นฟูอาชีพและการซื้อหนี้ทั้งหมด 4.5 แสนราย งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ภายในระยะเวลาโครงการ 5 ปี รัฐบาลไม่ต้องจ่ายทีเดียว จ่ายปีละ 2 หมื่นล้านบาท หากเจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ให้อีก รัฐบาลก็ลดภาระจ่ายลงไปอีก ถามว่าคุ้มหรือไม่ ผมคิดว่าคุ้ม เพราะราคาที่ดินต้องคูณด้วย 10 เท่า ยกตัวอย่างรัฐใช้เงินไป 1 หมื่นบาท วันที่เกษตรกรนำที่ดินไปคํ้าประกัน 10 ปีผ่านไปราคาที่ดิน ณ ตอนนั้นประเมินไว้ 1 แสนบาท ถ้าผ่านมา 10 ปีราคาที่ดินก็ต้องเพิ่มทวีคูณ”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 ธันวาคม 2562

เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 4 เดือน

พาณิชย์เผยประชาชนใช้จ่ายคล่องมือหลังรับเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ประกันรายได้ยอดจดทะเบียนจักรยานยนต์ในต่างจังหวัดเพิ่ม ข้าว-แป้งราคาสูงขึ้นดันเงินเฟ้อสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน  0.21% คาดทั้งปีอยู่ที่ 0.8%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า  ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ย.2562 อยู่ที่ระดับ 102.61 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.21%ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนส.ค. 2562  ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.47% ซึ่งการขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้นสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3และการเพิ่มขึ้นของยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่องส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะการจ่ายเงินประกันราคาสินค้าเกษตร

ขณะเดียวกันก็พบว่าหมวดพลังงาน หดตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันในปีนี้เริ่มใกล้เคียงกับปีก่อนจึงมีแนวโน้มว่าหมวดพลังงานจะไม่ค่อยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อมากนัก  ในขณะที่หมวดอื่น ๆยังขยายตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  1.51%  จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 8.92%โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว ที่แหล่งเพาะปลูกเสียหายจากอุทกภัย และแหล่งน้ำมีน้อยไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ผลผลิตมีน้อย เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 1.73%ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกรหน้าฟาร์มเนื่องจากเกษตรกรรายย่อยลดการเลี้ยงและมีการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยกเว้นกุ้งขาว ราคาลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและความต้องการโลกที่ลดลง

ส่วนปลาน้ำจืด (ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล)ปริมาณลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติขาดแคลน ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 2.83% ตามการลดลงของปริมาณไก่ไข่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้) สูงขึ้น 2.05%จากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้น 0.70% และ 0.28 ตามลำดับ รวมทั้งผลไม้ สูงขึ้น 3.16%  ในขณะที่ผักสด (ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง) ลดลง 5.43%ตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะต่อการเพาะปลูก ประกอบกับฐานราคาในปีที่ผ่านมาสูง เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) ลดลง 0.23% หมวดอื่น ๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.53% ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร  1.97%โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 7.54 %

ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ (รถโดยสารประจำทาง รถตู้ ค่าเครื่องบิน)สูงขึ้น 6.17% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์ ) ลดลง 0.10%ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) สูงขึ้น 0.29% หมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้าค่าเช่าบ้าน หลอดไฟฟ้า) สูงขึ้น 0.30% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ค่ายา ค่าตรวจรักษา ค่าของใช้ส่วนบุคคล) สูงขึ้น 0.32 % หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญค่าทัศนาจรในและต่างประเทศ) สูงขึ้น 0.76%

สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย. 2562 เทียบกับเดือนต.ค. 2562  ลดลง 0.13%  และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) สูงขึ้น 0.69% และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.53%  คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2562 จะอยู่ประมาณ0.7-1% ซึ่งปรับค่าตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ระดับเงินเฟ้อมากที่สุด 0.8% แต่จะไม่ถึง 1%อย่างแน่นอน 

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ยื้อแบน 3 สารป่วน ราชกิจจาฯ กรมวิชาการเกษตรโมฆะ

งานเข้า! กรมวิชาการเกษตรหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายพลิกมติเลื่อนแบน 2 สารไปอีก 6 เดือนและจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ส่งผลร่างราชกิจจาฯ เดิมเป็นโมฆะทันทีต้องเขียนใหม่เพื่อรองรับ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเลื่อนการแบน 2 สารเคมีประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือนจากเดิมที่มีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคม 2562 เป็นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน  2563 พร้อมกันนี้ยังมีมติให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซตตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 นั้น

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า จากมติดังกล่าวนี้ทำให้ราชกิจจานุเบกษาเดิม  ( วันที่ 18 พ.ย.2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร เรื่องการดำเนินการกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีรายละเอียดว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร) นั้นเป็นโมฆะ

ดังนั้นต้องเร่งทำราชกิจจานุเบกษาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีมติเลื่อนการแบน 2 สารออกไปอีก 6 เดือน ส่วนมติจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 เรื่องดังกล่าวนั้นความจริงผิดขั้นตอน จะไปประกาศราชกิจจาฯ รองรับก่อนไม่ได้ จะต้องรอฟังมติก่อน แล้วค่อยประกาศฯ ยังไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างคนปฎิบัติกับรัฐมนตรีผู้สั่งการ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สศก.แนะปรับการผลิตรายภาค ดึง Agri-Mapพร้อมBig dataบริหารจัดการสินค้าเกษตร

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง นโยบายบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจ(Zoning by Agri-Map) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำแผนการผลิต ปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการผลิตสินค้าที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาดสศก. จึงจัดทำแนวทางบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจระดับภาค โดยใช้ Agri-Map และ Big data ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อปรับสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรแต่ละพื้นที่ โดยศึกษาวิเคราะห์พืช/กิจกรรม เพื่อเป็นทางเลือกสร้างโอกาสได้รับรายได้เพิ่มขึ้น

นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สศก. กล่าวถึง ผลการศึกษาและแนวทางการบริหารจัดการรายภาคว่า ภาคเหนือ หากพิจารณาถึงความเหมาะสมของที่ดินปลูกข้าว พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) รวม 12.4 ล้านไร่ (ร้อยละ 82) โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มากขึ้น และปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ ข้าว GAP ซึ่งตลาดต้องการ สำหรับพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม(S3/N) มี 2.8 ล้านไร่ (ร้อยละ 18)  ต้องปรับเปลี่ยนการผลิต ไปสู่สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยน้ำว้า ไผ่ ไม้เศรษฐกิจ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านความเหมาะสมของที่ดินปลูกข้าว มีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) รวม 20.3 ล้านไร่ (ร้อยละ 47) ควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมาตรฐานข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ไปสู่การผลิตให้เป็นสินค้า Premium เพื่อส่งออกและมีพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) 22.9 ล้านไร่ (ร้อยละ 53) ควรปรับเปลี่ยนไปเป็น กล้วยหอมทอง เงาะ ไม้ดอกไม้ประดับ พริก หรือปลูกพืชเสริมรายได้หลังการทำนา ได้แก่ ข้าวโพดสด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านแหล่งน้ำและปรับปรุงดินร่วมด้วย

ภาคกลาง ความเหมาะสมดินปลูกข้าวมีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) 7.7 ล้านไร่ (ร้อยละ 91) ซึ่งพร้อมด้านกายภาพเหมาะสำหรับปลูกข้าวมาก แนวทางพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว ด้วยการผลิตข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานตลอดโซ่อุปทาน รวมทั้งบริหารจัดการสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด และในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) 0.8 ล้านไร่ (ร้อยละ 9) จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าศักยภาพที่ควรส่งเสริมพืชผัก พืชสมุนไพร เนื่องจากมีตลาดของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรรองรับ และพืชอาหารสัตว์รองรับฟาร์มปศุสัตว์ที่กระจายอยู่ทั้งภาค

ภาคตะวันออก แนวทางการพัฒนาสำคัญ เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมควบคู่กับส่งเสริมการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น โดยกำหนดผังเมืองเขตพื้นที่เกษตรกรรมเมือง อุตสาหกรรม และพื้นที่ประมงชายฝั่งให้ชัดเจน สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าวมีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) 2.3 ล้านไร่ (ร้อยละ 77) แนวทางพัฒนาเน้นใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต ดูแลรักษา เก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามความต้องการตลาด ส่วนพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) 0.7 ล้านไร่ (ร้อยละ 23) จึงเสนอสินค้าเพื่อปรับเปลี่ยน ได้แก่ พืชสมุนไพร มีตลาดโรงพยาบาลและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติรองรับสินค้ารายใหญ่

ภาคใต้ (ยกเว้นภาคใต้ชายแดน) ปี 2560 พื้นที่ปลูกยางพาราของภาคใต้คิดเป็น 10 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 49 ของพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศ ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกยางพารา พบว่า มีพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) 9 ล้านไร่ (ร้อยละ 90) โดยแนวทางการพัฒนาควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพาราและปลูกพันธุ์ยางคุณภาพดีในพื้นที่เหมาะสม และปลูกพืชแซมหรือปลูกพืชร่วมยาง ส่วนพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) 1 ล้านไร่ (ร้อยละ 10) ควรเปลี่ยนการผลิตเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพ ได้แก่ ทุเรียน พัฒนาเป็นสินค้าเกษตรอัตลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

จับตาเงินเฟ้อกด"บาทแข็งค่าต่อ"

เงินบาทเปิดเช้าแข็งค่าขึ้นที่ 30.21 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.23 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มเงินบาท แนะนำจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของไทย (CPI) ซึ่งคาดว่าจะสูงตัวขึ้นเพียง 0.2% กดดันให้เงินบาทแข็งค่าต่อ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยต่อในช่วงปีหน้า สนับสนุนให้มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงก็จะหนุนให้การเกินดุลบัญชีการค้าอยู่ในระดับสูง เป็นพื้นฐานให้เงินบาทมีความแข็งแกร่งขึ้นอีกในช่วงปลายปีถึงปีหน้าด้วย

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.15- 30.25 บาทต่อดอลลาร์

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.90-30.40 บาทต่อดอลลาร์

 สำหรับช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทุนไม่สดใส นักลงทุนขายทำกำไรทั้งหุ้นและบอนด์โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 0.4% และบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปีปรับตัวขึ้น 4bps 1.81% ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 1464 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอยู่ที่ฝั่งตลาดน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงถึง 4.5% มาที่ระดับ 61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความกังวลว่ากลุ่มโอเปคจะไม่ลดกำลังการผลิตเพิ่มในการประชุมช่วงกลางสัปดาห์นี้ ส่งผลให้ตลาดจะได้รับทั้งแนวต้านจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน ขณะเดียวกันประเทศฝั่งผู้นำเข้าน้ำมันก็จะได้รับแรงหนุนสวนในบอนด์และค่าเงิน

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจต้องจับตาฝั่งสหรัฐเป็นหลัก เริ่มต้นที่การรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสากรรมของสหรัฐ (ISM Manufacturing PMI) ในคืนวันจันทร์ คาดว่าจะฟื้นตัวมาที่ระดับ 50.1 ตามภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก

ขณะที่ในวันพุธ การรายงานตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment) คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.3 แสนตำแหน่ง ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง

ส่วนในวันศุกร์ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในสหรัฐ (Non-farm Payrolls) จะขยายตัว 1.9 แสนตำแหน่ง ขณะที่อัตราค่าจ้างรายสัปดาห์จะเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อน และการว่างงาน (Unemployment Rate) จะอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 3.6% ภาพรวมทั้งหมดสนับสนุนว่าเศรษฐกิจในสหรัฐยังขยายตัวได้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

“สุริยะ”เผยเบื้องหลัง เลื่อนแบน 3 สารเคมี

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ให้เลื่อนการใช้สารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส จาก 1 ธ.ค.นี้ เป็น 1 มิ.ย.2563

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า หลังการประชุมดังกล่าวมีความเห้นแย้งเรื่องมติที่ประชุมที่อาจจะไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งได้มีการสอบถามนักกฎหมายเกี่ยวกับการลงมติยืนยันได้ว่ามติมีผลบังคับใช้ โดยก่อนที่จะมีการลงมติได้ให้กรรมการในที่ประชุมอภิปรายความเห็น ซึ่งผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขก็มีการแสดงความเห็นก่อนการสรุปมติ โดยเมื่อสรุปมติทั้งผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขและผู้แทนกรมวิชาการเกษตรต่างเห็นด้วยกับมติ

รวมทั้งมีการสอบถามกรรมการในที่ประชุมเกี่ยวกับมติและมีการเขียนมติร่วมกัน โดยยืนยันในฐานะประธานได้สอบถามที่ประชุมว่าเห็นด้วยกับมติหรือไม่ ซึ่งการพูดด้วยวาจาอาจจะต่างคนต่างคิด จึงกำหนดให้ในที่ประชุมขึ้นกระดานมติการเลื่อนบังคับใช้การแบนสารเคมี เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและสรุปมติออกมาตรงกัน

โดยเมื่อเขียนมติเสร็จก็ได้สอบถามที่ประชุมอีกครั้ง และมีการแสดงความเห็น เช่น ขอให้กำหนดวันที่ให้ชัดเจนว่าเลื่อนไปถึงเมื่อไหร่จากที่ช่วงแรกระบุเพียงให้เลื่อนออกไป 6 เดือน และเมื่อส่วนใหญ่ไม่เห็นแย้งกับมติที่ขึ้นกระดานจึงสรุปให้มีการเลื่อนจากวันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นวันที่ 1 มิ.ย.2563 ดังนั้นกรรมการทุกคนจึงเห็นมติที่ประชุม

"ที่ประชุมเห็นว่าควรเลื่อนการบังคับใช้ออกไป เพื่อดูผลกระทบ จึงชัดเจนในที่ประชุมว่าให้เลื่อน และกรมวิชาการเกษตรก็ยอมรับ”นายสุริยะ กล่าว

การดำเนินการดังกล่าวทำตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้พิจารณาเรื่องนี้โดยดูผลที่เกี่ยวข้องกับ 4 ส่วน คือ 1.ภาครัฐ 2.ภาคเกษตร 3.ภาคเอกชน 4.ผู้บริโภค

ในขณะที่มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเกิดจากการพิจารณาร่วมกันของหลายหน่วยงานที่ได้แสดงความเห็นร่วมกันในที่ประชุม เพราะการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นการดำเนินการในรูปคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม ร่วมถึงผู้แทนในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ

หลังจากนั้นได้มีการตั้งอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อสรุปมติที่ประชุมเพื่อส่งให้กรรมการทุกคนรับรอง โดยถ้ามีการสงสัยมติที่ประชุมดังกล่าวจึงสามารถตรวจสอบได้ เพราะเป็นการสรุปมติที่ผ่านขั้นตอนทุกอย่างถูกต้อง รวมทั้งมติที่ประชุมก่อนวันที่ 27 พ.ย.มีการรับรองมาตลอดทุกครั้ง ซึ่งมติวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ส่วนมติวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้จำกัดการใช้สารเคมีดังกล่าว และเมื่อมีการรับรองมาตลอดทำให้วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ยังไม่มีการเลื่อนแบนสารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด

การที่มีผู้ออกมาแสดงความเห็นว่ามติที่ประชุมไม่ถูกต้องและต้องกลับไปใช้มติวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่กำหนดให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด อาจมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย และพร้อมที่จะเปิดเผยรายละเอียดของการประชุมก่อนที่จะมีมติเลื่อนการยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด

นายสุริยะ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวได้พิจารณาข้อมูลกรมวิชาการเกษตรเห็นว่าไม่แบนทั้ง 3 ชนิด และให้จำกัดการใช้เฉพาะพื้นที่ที่จำเป็นและใช้ในพืช 6 ตัว เช่น อ้อย ปาล์ม มัน ยาง ข้าวโพด ซึ่งมีการชี้แจงที่ประชุมว่าการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต เนื่องจากมีประเทศที่ยังใช้ 161 ประเทศ และมีประเทศที่ห้ามใช้เพียง 5 ประเทศ ดังนั้นจะหาเหตุผลใดในการแบนสารไกรโพรเซต รวมทั้งหากประเทศไทยห้ามใช้สารไกรโฟเซตจะต้องควบคุมไม่ให้มีสารดังกล่าวตกค้างเลย แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีจากสหรัฐที่ยังใช้สารไกลโฟเซต

ในขณะที่มีหลายประเทศทำหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว คือ กระทรวงเกษตรสหรัฐ กระทรวงเกษตรสหรัฐ สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศแคนาดา

ทั้งนี้ หากมีการห้ามนำเข้าถั่วเหลืองจะเกิดปัญหาถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มาก รวมทั้งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อชี้แจงว่าจะกระทบการค้าระหว่างประเทศทั้งระบบ 800,000 ล้านบาท เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบจะปรับตัวไม่ทัน

นอกจากนี้ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขได้คัดค้านในช่วงแรกเพราะต้องการให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรดังกล่าวทันที แต่ได้ชี้แจงถึงผลกระทบต่อเนื่องและมีข้อสรุปไม่แบนสารไกรโฟเซตและจำกัดการใช้ รวมทั้งเลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เพราะยังมีสารเคมีดังกล่าวในตลาดปริมาณ 23,000 ตัน มูลค่า 3,000 ล้านบาท หากดำเนินการทันทีจะสร้างความเดือนร้อนให้กับเกษตรกรและร้านค้าจึงมีมติให้เลื่อนการแบนออกไป

รวมทั้งได้รายงานในที่ประชุมว่าหากมีการยืนยันยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จะทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสารเคมีดังกล่าวที่นำเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นหากภาครัฐจะยึดสินค้าที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมายมาทำลายจะต้องใช้วิธีการซื้อคืน ซึ่งจะต้องมีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ขึ้นมา ดังนั้นจึงต้องมีการให้เวลา 6 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ชี้ เป็นหน้าที่กรมวิชาการเกษตรหาสารทดแทน หลังเลิกสารเคมีเกษตร 3ชนิด

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เผยความคืบหน้าภายหลังที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติขยายเวลาการแบน 2 สารเคมีประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน เป็นวันที่ 1 มิ.ย.63 และให้จำกัดการใช้สารเคมีไกลโฟเซตว่า  วันนี้ (2 ธ.ค.62) จะมีการประชุมหารือเรื่องมาตรการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ซึ่ง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้ให้อิสระตนเองในการแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย  โดยจะแสดงความคิดเห็นตามที่ตนเองมีข้อมูล  พร้อมยืนยันว่าการปฏิวัติกำจัดวัชพืชแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมียังคงเดินหน้าต่อไป  ส่วนสารเคมีที่จะเข้ามาทดแทนสารตัวเดิมนั้น เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรที่จะเป็นผู้พิจารณาศึกษารายละเอียด

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงอุตฯ เผยฝ่ายกฎหมายกำลังร่างประกาศ 3 สาร ชี้ไม่รีบมีเวลา 6 เดือนกว่าจะบังคับใช้ 

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาคณะกรรรมการวัถตถุอันตราย กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมาย กำลังร่างประกาศเกี่ยวกับ 3 สารตามผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่มีมติให้เลื่อนแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปอีก 6 เดือน มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และส่วนสารไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าตัวประกาศเรื่อง 3 สารจะออกมาเมื่อไหร่ เพราะฝ่ายกฎหมายต้องพิจารณาข้อความประกาศให้รอบคอบ และต้องให้เป็นไปตามกฎหมาย

นายประกอบกล่าวต่อว่า ส่วนข้อวิจารณ์ในเรื่องการลงมตินั้น ที่ผ่านมาการประชุมคณะกรรมการวัตถุอัตราย ส่วนใหญ่ใช้วิธีการลงมติแบบมีความเห็นร่วมกันเหมือนกับการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 วิธีลงมติแบบมีความเห็นร่วมกันนั้นจะมีการเสนอว่าควรจะดำเนินการอย่างไร และกรรมการคนไหนจะมีความเห็นอย่างไร  ซึ่งในที่ประชุมในวันดังกล่าวส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้เลื่อนแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปอีก 6 เดือน โดยระยะเวลาดังกล่าวเพียงพอที่จะให้เกษตรกรปรับตัว อย่างไรก็ตามมีกรรมการบางท่านเสนอเลื่อนออกไปถึง 1 ปีด้วยซ้ำ

“การลงมติของคณะกรรมการวัตถุ พบว่าน้อยครั้งมากที่จะใช้วิธีการยกมือโหวตหรือโหวตแบบวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ดังนั้นอยากให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่าการประชุมคระกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนนั้นเป็นไปตามกฎหมายและไม่ขัดต่อมาตรา 12 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ซึ่งฝ่ายกฎหมายได้ดูเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบแล้ว”นายประกอบกล่าว

นายประกอบกล่าวต่อว่า ส่วนมีการเรียกร้องให้ส่งกฤษฎีกาตีความมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 27 พฤศจิกายนนั้น ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมคงไม่ส่งไปตีความ เพราะยืนยันว่าดำเนินการตามหลักของกฎหมาย ส่วนหน่วยงานไหนองค์กรไหน หรือใครจะส่งไปตีความเป็นเรื่องของเขาที่จะดำเนินการ

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562