http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกุมภาพันธ์ 2556)

ปลัดก.อุตฯสั่ง7หมื่นรง. ลดใช้ ไฟ10%รับมือวิกฤตพลังงาน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำชับให้โรงงานทั่วประเทศทั้งที่ตั้งในเขตอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม ในนิคมฯ และพื้นที่ทั่วไปรวม70,000 แห่ง คิดเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมรวม 12,000 เมกะวัตต์ ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงให้ได้อย่างน้อย 10% ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรับมือภาวะวิกฤตด้านพลังงาน กรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติจะหยุดจ่ายก๊าซให้ไทย ในช่วงวันที่ 5-14 เม.ย. 56

ทั้งนี้หากโรงงานใดสามารถปฏิบัติตามได้จะมีส่วนในการพิจารณาจัดลำดับประเภทโรงงาน 4 ประเภท ดีสุด ดี ทั่วไป และปรับปรุง โดยประกาศดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงาน ซึ่งจะเสนอให้กระทรวงพิจารณาภายในเดือนมีนาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงงานอุตสาหกรรมรวมประมาณ 70,000 โรงงาน มีกำลังการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 12,000 เมกะวัตต์ต่อวัน หากแยกโรงงานในส่วนที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กำกับดูแลออกไปประมาณ 4,000 โรงงาน จะเหลือโรงงานภายใต้กำกับดูแลอีกประมาณ 60,000 โรง คงเหลือสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 8,300 เมกะวัตต์หากมีการลดไฟฟ้าได้ 10% ก็จะช่วยให้การสำรองไฟฟ้าในช่วงฮอตสแตนด์บายเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 800-1,000 เมกะวัตต์

จาก พิมพ์ไทย  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

‘วิฑูรย์’ขู่รง.เข้าระบบกำจัดกากอุตฯ เลย30ก.ย.ไม่ต่อใบอนุญาต-ปรับ2แสน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า คณะทำงานประสานความร่วมมือด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม ได้รายงานผลการดำเนินงานจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 จนถึง 20 กุมภาพันธ์ 2556 มีโรงงานเป้าหมายที่ปฏิบัติตามกฎหมายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ. พ.ศ.2535 คิดเป็น 21% จนถึงตอนนี้มีโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายเพิ่มมากขึ้นคิดเป็น 42% หรือเป็นจำนวน 1,515 โรง

ทั้งนี้โรงงานเป้าหมาย 20 ประเภท ที่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายทุกโรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 3,641 โรง คิดเป็น 5.5% ของโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ขออนุญาตกับกระทรวง ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงได้ออกประกาศกำหนดให้โรงงานประเภทดังกล่าว ต้องเข้าระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างน้อย 80% ถึง 4 ครั้ง ครบกำหนดครั้งแรกวันที่ 1 เมษายน 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 31 สิงหาคม 2554 ครั้งที่ 3 วันที่ 30 กันยายน 2554 และครบกำหนดเวลาที่ขยายผ่อนผันเนื่องจากติดน้ำท่วมใหญ่ คือ วันที่ 30 ธันวาคม 2555 แต่กลับมีโรงงานเป้าหมายดำเนินการตามกฎหมายลดลง คิดเป็น 42% จากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 44% กระทรวงจึงต้องดำเนินมาตรการขั้นต่อไปสำหรับโรงงานเป้าหมาย 20 ประเภทดังกล่าวที่เข้มข้นขึ้น

ดังนั้น ภายในวันที่ 30 กันยายน 2556 โรงงานเป้าหมาย 20 ประเภททุกโรงงาน ต้องขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกไปกำจัด บำบัดนอกโรงงาน หรือการแจ้งขอขยายระยะเวลาเก็บไว้ภายในโรงงาน หากยังไม่ปฏิบัติตาม ได้วางมาตรการลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ทุกรายปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และอาจพิจารณาไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ที่ต้องต่อทุก 5 ปี ซึ่งปัจจุบัน จากข้อมูลโรงงานที่เข้าระบบ คิดเป็นจำนวนกากอุตสาหกรรมต่อปีที่ 2.4 ล้านตัน แต่เข้าระบบไม่ถึงครึ่ง หรือไม่เกิน 1 ล้านตันเท่านั้น

โดยจังหวัดที่จัดการกากอุตสาหกรรมได้ 100% มี 14 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง อำนาจเจริญ เลย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม พะเยา เชียงราย ตาก ตรัง ปัตตานี ยะลา และอีก 4 จังหวัด ที่สามารถจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นตามเป้าหมายเกิน 80% ได้แก่ ขอนแก่น สงขลา สุพรรณบุรี สระแก้ว และมี 3 จังหวัด ไม่มีกากอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่ ได้แก่ น่าน ชุมพร พัทลุง และที่เหลืออีก 52 จังหวัด รวมทั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินการ

นอกจากนี้ กระทรวงได้มีการจัดตั้งประเภทของโรงงานออกเป็น 4 ระดับ คือ โรงงานชั้นดี (ชั้น A), โรงงานชั้นที่น่าพอใจ (ชั้น B), โรงงานชั้นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงภายในกำหนดเวลา (ชั้น C) และโรงงานชั้นร้องเรียนซ้ำซากต้องแก้ไขปรับปรุงทันที (ชั้น D) ซึ่งระดับ A และ B จะพิจารณาให้ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ ไม่ต้องตรวจโรงงาน ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม เป็นต้น ส่วนระดับ C และ D จะต้องถูกตรวจเข้ม เพื่อให้พัฒนาและยกระดับเป็นโรงงานระดับ B หรือ A ให้ได้ในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กฟผ.ระดมแผนรับมือวิกฤติพลังงานระบุวันที่10-11 เมษายนน่าห่วง

รัฐระดมแผนรับมือพม่าหยุดจ่ายก๊าซ ทำไฟดับไฟตก “วิฑูรย์” สั่งโรงงานทั่วประเทศลดใช้ไฟ 10% หวังเพิ่มปริมาณสำรองช่วงวิกฤติอีก 1,200 เมกะวัตต์ กฟผ.ถกผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ขอรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ประชาชนจากกรณีที่พม่าหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้ไทยในช่วงวันที่ 5-14 เมษายน 2556 เพื่อซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซยานาดาทำให้หลายหน่วยงานต้องเร่งหามาตรการมารองรับป้องกันวิกฤติพลังงานโดยนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าจะประสานงานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกำชับให้โรงงานทั่วประเทศ ที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยกันลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงให้ได้อย่างน้อย 10% ตามนโยบายรัฐบาล หากโรงงานใดปฏิบัติได้ จะได้รับการพิจารณาจัดลำดับประเภทโรงงานใหม่ โดยประกาศดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงาน ซึ่งจะเสนอให้กระทรวงพิจารณาจัดอันดับเกรดภายในเดือนมีนาคมนี้

ปัจจุบันทั่วประเทศมีโรงงานอุตสาหกรรมรวมอยู่ที่ประมาณ 70,000 โรงงาน ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 12,000 เมกะวัตต์ หากโรงงาน 70,000 โรงงานสามารถลดไฟฟ้าได้ 10%ก็จะช่วยให้การสำรองไฟฟ้าในช่วงฮอตสแตนบายเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1,200 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ จะรณรงค์ให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ประหยัดพลังงานมากขึ้น เบื้องต้นจะทำคู่มือ 70,000 ฉบับ ส่งให้ทุกโรงงานเพื่อขอความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การดับไฟ การลดอัตราเร่งของเครื่องจักร และเปิดให้ร่วมโครงการเปลี่ยนหลอดผอมประหยัดไฟ

ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประชุมร่วมกับผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน (ไอพีพี) ปตท. และสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกันโดยนายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ทำแบบสอบถามมาตรการใช้ไฟฟ้า ส่งให้กับประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ทั้งนี้คาดว่าจะได้รับข้อมูลทั้งหมดในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ซึ่ง กฟผ. จะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการประชุมร่วมกับไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. เพื่อกำหนดแผนจัดการไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว

“การหยุดส่งก๊าซดังกล่าวจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าประมาณ 4.1 พันเมกะวัตต์ที่จะหายไปจากระบบการผลิตไฟฟ้า และมีการประมาณการว่าในวันที่ 5 เมษายน จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ ที่จะสามารถจ่ายไปยังประชาชนผู้บริโภคได้ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าวันดังกล่าวจะมีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าจำนวน 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ และกำลังผลิตมาตรฐานที่ กฟผ.พยายามสำรองไว้ที่ 1.2 พันเมกะวัตต์ หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นเรายังสามารถที่จะดึงส่วนนี้ขึ้นสำรองใช้ได้”

“ส่วนวันที่ 6-8 เมษายนนั้นเป็นวันหยุดตรงนี้เราไม่ค่อยเป็นห่วงเท่าไรแต่ในวันที่ 10-11 เมษายนต้องดูแลกันพิเศษอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารของกฟผ.ได้มีการสั่งไปแล้วว่าการดำเนินการทั้งหมดประชาชนจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้ กฟผ.จะขอความร่วมมือไปยังโรงผลิตกระแสไฟฟ้าเอกชนให้ดำเนินการผลิต ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนกระแสไฟฟ้าสำรองมากขึ้นมาอีก” นายธนา กล่าว

นายวิวัฒน์ชัย รัตนชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่ากปน.ให้ความสำคัญกับการเตรียมแผนสำรองด้านพลังงาน และการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการผลิต ส่งและบริการน้ำประปา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการผลิตและสูบจ่ายน้ำประปาไปยังทุกครัวเรือนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างจริงจัง ลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

“ปัจจุบัน กปน.ผลิตน้ำประปาวันละประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีค่าไฟฟ้าใช้ในระบบผลิต สูบส่งและจ่ายน้ำทั้งสิ้นปีละประมาณ 350 ล้านกิโลวัตต์หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 1,087 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าและการใช้น้ำประปา เพื่อร่วมกันใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด”นายวิวัฒน์ชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กรมชลจับมือกฟผ.ปั๊มไฟฟ้าเพิ่มเน้นใช้พลังน้ำลดต้นทุนการผลิต

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าแผนจัดสรรน้ำในการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2555/56 ว่า ขณะนี้ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศทั้งในและนอกเขตชลประทานยังเป็นไปตามแผนและเป้าหมาย โดยมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งแล้วทั้งสิ้น 15.35 ล้านไร่ จากแผน 16.62ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรังมีการปลูกแล้ว 13.31 ล้านไร่ จากแผน 13.99 ล้านไร่ พืชไร่ พืชผัก ปลูกแล้ว 2.04 ล้านไร่ จากแผน 2.63 ล้านไร่ ซึ่งกรมชลประทานบริหารจัดการและควบคุมระบบการระบายน้ำได้จนถึงเริ่มต้นฤดูกาลผลิตในต้นเดือนพฤษภาคมได้

ขณะเดียวกัน การระบายน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อระบบนิเวศน์ และเพื่อการเกษตรแล้ว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานยังร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำในเขื่อนต่างๆ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่ม ในช่วงที่พม่าจะปิดซ่อมท่อแก๊ส และของไทยรวม 3 ช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะเขื่อนในภาคตะวันตก ที่มีศักยภาพสามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้น เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ์ ที่เดิมมีการระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงที่ปิดซ่อมท่อแก๊ส 27 วันนั้น จะเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำที่ระบายทั้งสิ้น 384 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 62.95 กิกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานจากแหล่งอื่นมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยหากเป็นน้ำมันเตาคิดเป็นมูลค่า 418 ล้านบาท หรือน้ำมันดีเซลคิดเป็นมูลค่า 632 ล้านบาท

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า นอกจากเขื่อนต่างๆ ที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่เดิมแล้ว เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ที่ขณะนี้ไม่สามารถระบายน้ำในแต่ละอ่างฯ เกินวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เนื่องจากต้องรักษาระดับการเก็บกักน้ำในอ่างฯ แต่กรมชลประทานได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับกฟผ.ในการติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยขณะนี้เริ่มเปิดดำเนินการแล้ว ส่วนอีก 5 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนแม่กลอง เขื่อนนเรศวร และเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะขยายความร่วมมือกับกฟผ.หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไปยังเขื่อนต่างๆ ที่มีศักยภาพได้อีกกว่า 30 แห่ง แม้ว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานน้ำจะมีสัดส่วนเพียง 5% ของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งทรัพยากรอื่น แต่ก็ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เผาดะ!ชาวไร่อ้อยเมินปัญหาหมอกควัน

เผาดะ! ชาวไร่อ้อยพิษณุโลกเมินปัญหาหมอกควัน ด้าน 'ปภ.' ประกาศภัยแล้งแล้ว 9 อำเภอ เผยมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 4 พันไร่

28 ก.พ.56 นางวรรณา บางยิ้ม อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 89/2 หมู่ 1 ต.บึงกอก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนทำไร่อ้อย ทั้งสิ้น 25 ไร่ ในการปลูกแต่ละรอบก็จะต้องมีการเผาเศษใบอ้อยที่ตกหล่นจากการเก็บเกี่ยว เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ รถไถที่จะมายกร่อง หรือทำแปลงอ้อย จะไม่สามารถทำงานได้ เพราะใบอ้อยจะเข้าไปพันตัวเครื่องรถจนได้รับความเสียหาย จากนั้นเมื่อถึงอายุต้นอ้อยตัดได้ก็จะต้องมีการเผาอีกครั้ง เพื่อให้คนงานและรถตัดอ้อยสามารถเข้าไปตัดได้สะดวก

ในพื้นที่ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ เกษตรกรส่วนใหญ่ทำไร่อ้อย เป็นพื้นที่หลายพันไร่ อายุการเก็บเกี่ยวจะใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงทำให้ปัญหาหมอกควันจากการเผา จะมีมากในระยะเวลาดังกล่าว เนื่องจากเกษตรกรทุกราย เลือกใช้วิธีการเผาเหมือนกัน

นางวรรณา กล่าวอีกว่า การเผาไร่อ้อยเป็นวิธีการที่เกษตรกรทำอยู่เป็นประจำ ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่าวิธีอื่น แต่ในช่วงเวลาการเผาเจ้าของไร่ก็จะต้องคอยดูแลไม่ให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่น หมอกควันที่เกิดขึ้นก็เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น อีกทั้งไร่อ้อยของตนเอง ก็อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ใช่ในเมือง หรือ ในชุมชน หมอกควันที่เกิดขึ้น จึงไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

ปภ.พิษณุโลก ประกาศภัยแล้งแล้ว 9 อำเภอ

นายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดพิษณุโลก ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งไป ทั้งหมด 9 อำเภอจังหวัดพิษณุโลกแล้ว เบื้องต้นได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมประสานหน่วยงาน นำน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายในพื้นที่ที่ขาดแคลน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกล ระบบประปาหมู่บ้านมีปัญหาไม่เพียงพอ

ด้านพื้นที่การเกษตร ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งไปยังเกษตรกร งดทำนาปรังรอบ2 อย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้ผลผลิตเสียหาย จากการขาดแคลนน้ำได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก ได้รับรายงานพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งหนัก ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือที่ อำเภอเนินมะปราง อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือในเบื้องต้นไปแล้วกว่า 3ล้านบาท ส่วนที่เหลือ จะได้หางบประมาณในการช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับผลกระทบต่อไป

ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ เริ่มลดการระบายน้ำออกจากเขื่อน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยจากเดิมระบายน้ำออก วันละ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร จะลดลงเหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่าน ต่ำลงกว่าปกติ อาจจะทำให้ แพที่อยู่อาศัย แพร้านอาหาร และผู้เลี้ยงปลากระชังได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชน เตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ส.ป.ก. เชิญชวนผู้ประกอบการสินค้าเกษตร หนุนผลผลิต GAP

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะเชิญผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตร ตั้งแต่โรงงานผลิต โรงงานแปรรูป โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานน้ำตาล สมาคมผู้ส่งออก ที่เกี่ยวกับพืชอุตสาหกรรม 4 ชนิด คือ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และสับปะรด มาประชุมเพื่อหาแนวทางในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP โดยจะประชุมหารือร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้แทนเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณการผลิต ราคาประกันสินค้าเกษตร และความสม่ำเสมอของผลผลิต หรือประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการเสนอเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ทั้งนี้ หากเจรจาแล้วสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ จะนำไปสู่การลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลง (MOU : Memorandum of Understanding) ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การรับซื้อผลผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในอนาคต

ปัจจุบัน เขตปฏิรูปที่ดิน มีพื้นที่ดำเนินการที่เกษตรกรมีความพร้อมในการขอรับรอง GAP และมีพื้นที่ผลิตพืชแต่ละชนิดมากเพียงพอที่จะผลิตเชิงการค้าได้ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังที่จังหวัดนครราชสีมาและกำแพงเพชร ข้าวโพดที่จังหวัดแพร่ อ้อยที่จังหวัดขอนแก่น และสับปะรดที่จังหวัดราชบุรี สำหรับกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีความประสงค์จะขอใบรับรอง GAP แบบกลุ่ม เพื่อส่งผลผลิตให้โรงงานแปรรูปเพื่อส่งออก จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานในพื้นที่ ส.ป.ก. พบว่า พื้นที่ อ.อ่าวน้อย ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน บางส่วนเป็นพื้นที่เช่า จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ศรม.) ที่จะออกใบรับรองได้

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อออกใบรับรอง GAP ข้าว กับพืชผัก ในปี 2556 ส.ป.ก. จะดำเนินการให้ความรู้แก่เกษตรกร และฝึกฝนเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีทักษะความสามารถในการตรวจสอบแปลง ตลอดจนการสร้างกระบวนการรับรองมาตรฐานให้เกิดขึ้น เชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และในปี 2557 ก็จะสามารออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ข้าวและพืชผักให้แก่เกษตรกรได้ ในเรื่องของการส่งเสริมเกษตรกรนั้น จะมีความแตกต่างไปจากเดิม เฉพาะในเรื่องของข้าวและพืชผัก

ส.ป.ก.จะใช้วิธีการจำแนกพื้นที่ (Zoning ) คือ คัดเลือกพื้นที่เพื่อรวมกลุ่มผู้ผลิต เพื่อสะดวกทั้งในเรื่องของการส่งเสริม การรับรองคุณภาพผลผลิต รวมถึงการรวบรวมผลผลิตเพื่อการจำหน่าย หากพื้นที่เหล่านี้ประสบผลสำเร็จ จะเป็นต้นแบบของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ ส.ป.ก.ส่งเสริมเพื่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนก้าวสู่…ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอนาคต

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อ้อย2พันธุ์ใหม่...เหมาะป้อนโรงงานน้ำตาล - ดินดีสมเป็นนาสวน

ถึงแม้ ประเทศไทย จะมีศักยภาพการผลิต ’อ้อย“ สูง และมีโรงงานผลิตน้ำตาลที่ทันสมัยระดับโลก แต่ปัจจุบันผลผลิตอ้อยของไทยยังค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยประมาณ 11.26 ตันต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง บราซิลที่ได้ผลผลิต 12.67 ตันต่อไร่ และ ออสเตรเลีย 12.43 ตันต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร สุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุง พันธุ์อ้อยพันธุ์ใหม่ สำเร็จเพิ่มอีก 2 พันธุ์ มี จุดเด่น ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงทั้งน้ำหนักและน้ำตาล คาดว่า น่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรที่จะใช้อ้อยพันธุ์ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อ้อยพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ปรับปรุงพันธุ์ประสบผลสำเร็จและ คณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ได้พิจารณาประกาศเป็นพันธุ์แนะนำในปี 2556 นี้ มี 2 พันธุ์ ได้แก่ อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 (U-Thong 84-12) และ พันธุ์อู่ทอง 84-13 (U-Thong 84-13) ถือเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำหนักและผลผลิตน้ำตาลสูง สำหรับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 เดิมชื่อ อ้อยโคลน 02-2-477 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์แม่สุพรรณบุรี 80 กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 3 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรีได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2545 จากนั้นได้ปลูกเปรียบเทียบเบื้องต้น และปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน แล้วปลูกทดสอบในไร่เกษตรกรพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรีด้วย

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 มีลักษณะเด่น คือ ปลูกในเขตชลประทาน หรือเขตที่มีน้ำเสริม ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 16.92 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 19 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 20 หากเกษตรกรมีระบบการจัดการที่ดีจะให้ผลผลิตสูงถึง 20-25 ตันต่อไร่ นอกจากนั้น อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 ยังให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.40 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 17 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 24 และให้ความหวาน เฉลี่ย 14.21 ซีซีเอส

ส่วนอ้อย พันธุ์อู่ทอง 84-13 เดิมชื่อ อ้อยโคลน 03-2-287 เป็นลูกผสมย้อนกลับชั่วที่ 3 ของ Saccharum spontaneum กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 8 มีลักษณะเด่น คือ ปลูกในเขตใช้น้ำฝน ให้น้ำหนักเฉลี่ย 14.30 ตันต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 34 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 45 ขณะที่ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 1.99 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 32 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 42 อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการปลูกอ้อยพันธุ์นี้ในพื้นที่ที่น้ำขังและน้ำมาก เพราะเจริญเติบโตเร็วมาก จะทำให้ล้มและไม่ควรปลูกในแหล่งที่มีประวัติโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำระบาด

จากการทดสอบความพึงพอใจของเกษตรกรต่ออ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 และพันธุ์อู่ทอง 84-13 พบว่า เกษตรกรพึงพอใจมาก ขณะนี้ชาวไร่อ้อยในหลายพื้นที่เริ่มใช้อ้อยพันธุ์ใหม่ทั้งสองพันธุ์ไปปลูกแล้ว อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และบางจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันโรงงานผลิตน้ำตาล หลายแห่งยังพึงพอใจในคุณภาพของอ้อยพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเครือข่ายปลูกเพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงานด้วย

กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี เร่งเตรียมท่อนพันธุ์เพื่อรองรับความต้องการของชาวไร่อ้อยที่สนใจใช้พันธุ์ โดยศูนย์ฯได้ขยายแปลงผลิตพันธุ์อ้อยอู่ทอง 84-12 และอ้อยอู่ทอง 84-13 รวมประมาณ 20 ไร่ สามารถใช้ปลูกขยายได้กว่า 200 ไร่ กำหนดราคาจำหน่ายท่อนพันธุ์ ลำละ 1 บาท (ประมาณ 4-5 ท่อน) ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกใช้พันธุ์ไปปลูกเพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงานน้ำตาลได้

อย่างไรก็ตาม หากสนใจอ้อยพันธุ์ใหม่ ’พันธุ์อู่ทอง 84-12“ และ ’พันธุ์อู่ทอง 84-13“ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 0-3555-1543, 0-3555-1433 และ 0-3556-4863.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556

ขอนแก่นรุกต้นแบบโครงการอำเภอเกษตรพัฒนา นำร่อง อ.ซำสูง

ขอนแก่นเดินหน้า สร้างต้นแบบโครงการอำเภอเกษตรพัฒนา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ร่วมขับเคลื่อน ผนึกกำลัง 41 หน่วยงานในจังหวัด

บูรณาการภารกิจสู่การพัฒนาพื้นที่ นำร่องแล้วที่อำเภอซำสูง ตั้งเป้าเกษตรกร 1 พันครัวเรือน/ปี พร้อมชูกิจกรรม 6 ด้าน หวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านการเกษตรอย่างครบวงจร

นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศข. 4 ได้ร่วมวางแผนบูรณาการกับ 41 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดขอนแก่นสร้างต้นแบบโครงการอำเภอเกษตรพัฒนา เพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาอำเภอต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนในพื้นที่ ส่งเสริมสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทางการเกษตร และเครือข่ายการค้าผ่านสถาบันเกษตรกร ในการเพิ่มทักษะทางอาชีพการเกษตร และวิธีการสร้างรายได้ที่หลากหลายแก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างคุณภาพและมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรในพื้นที่รองรับความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัด ภูมิภาค และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับพื้นที่ที่จะดำเนินการนำร่อง กำหนดที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น โดยมีเป้าหมายเกษตรกรจำนวน 1,000 ครัวเรือน/ปี ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2556 - 2558) โดยแยกกิจกรรมที่จะดำเนินการรวม 6 ด้าน ดังนี้

ด้านพืช มุ่งเน้นกิจกรรมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีใช้เองในชุมชน การผลิตเมล็ดพันธุ์หลักถั่วลิสง การปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ การพัฒนาและส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัย และการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตอ้อย ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ กิจกรรมโคนอนนาคืนคุณค่าสู่ผืนดิน การส่งเสริมกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์และขยายพันธุ์ กิจกรรมธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ การส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและปรับปรุงพันธุ์ด้วยน้ำเชื้อคุณภาพดี กิจกรรมเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม บำบัดและชันสูตรโรคสัตว์ ป้องกัน แก้ไข และเตรียมพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนก ด้านประมง จัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ประมงโรงเรียน และเพิ่มผลผลิตปลาในแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน

สำหรับ ด้านการจัดการทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน จัดกิจกรรมปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ จัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นา ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ซ่อมแซมคลองส่งน้ำฯ และเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มผู้ใช้น้ำฯ ด้านการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เน้นกิจกรรมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนรวมทั้งในโรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน พัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชีสู่บัญชีต้นทุนอาชีพ สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ พัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน สำรวจเกษตรกร ศักยภาพ ความต้องการด้านหม่อนไหม การยกระดับมาตรฐานการผลิตเครือข่ายวิสาหกิจไหม และเผยแพร่หลักการอุดมการณ์วิธีการสหกรณ์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป และ ด้านการติดตามและประเมินผล ซึ่งได้แก่ กิจกรรมติดตามนิเทศงาน และติดตามประเมินผล

ผลที่ได้จากโครงการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความรู้เพิ่มมากขึ้น มีทักษะทางอาชีพ และวิธีสร้างรายได้ที่หลากหลาย มีแหล่งเรียนรู้ชุมชนในพื้นที่ มีเครือข่ายการเรียนรู้ทางการเกษตร เครือข่ายทางการค้าผ่านสถาบันเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพมาตรฐาน และมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง สศข.4 จะร่วมดำเนินการประเมินผลโครงการดังกล่าวด้วย นายบัณฑิตกล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556

ค่าบาท-ภัยแล้ง-ราคาตลาดโลก ปัจจัยเสี่ยงฉุด”อ้อย-น้ำตาล”

อัตราและเปลี่ยนเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของอุตฯอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้

โรงงานน้ำตาลเริ่มเปิดหีบอ้อย ฤดูกาลผลิต 2555/2556 ตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีอ้อยเข้าหีบแล้ว 64.6 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 6.14 ล้านตัน คาดว่าปีนี้จะมีผลลผิตอ้อยเข้าหีบประมาณ 90 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งมีอ้อยเข้าหีบ 97.9 ล้านตัน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปี 2556 คือ ราคาน้ำตาลในตลาดโลก มีแนวโน้มลดลง โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงมาจากดุลน้ำตาลโลกซึ่งเกินดุลติดต่อกันมา 4 ปี ตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2553/2554 – 2556/2557 โดยในฤดูกาลผลิตปัจจุบันทั่วโลกผลิตน้ำตาลได้ 177.55 ล้านตัน มีการบริโภค 171.37 ล้านตัน เกินดุล 6.1 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลผลิตก่อนที่เกินดุลน้ำตาล 6.99 ล้านตัน

ในช่วงที่ราคาน้ำตาลเกินดุลประเทศผู้ผลิตน้ำตาลได้เพิ่มการผลิต โดยอินเดียเพิ่มการผลิตจนสามารถส่งออกได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาจากเดิมที่ผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ผลิตของประเทศผู้ผลิตสำคัญมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำตาลในอนาคต จะเห็นว่าออสเตรเลียได้เร่งฟื้นตัวหลังจากพื้นที่ปลูกอ้อยประสบปัญหาพายุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยส่งผลให้ฤดูกาลผลิต 2555/2556 สามารถเพิ่มการผลิตน้ำตาลเป็น 4.5 ล้านตัน และออสเตรเลียยังได้ปรับปรุงพันธุ์และเพิ่มประสิทธิ์ภาพการปลูกอ้อยผลผลิตอ้อยในอนาคตจึงมีแนวโน้มดี

ส่วนบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น โดยบราซิลได้เปรียบเรื่องพื้นที่ปลูกซึ่งมีจำนวนมหาศาลและปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อย 8 ล้านเฮกตาร์ และในฤดูกาลผลิต 2555/2556 บราซิลมีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกอ้อยจึงผลิตน้ำตาลได้ 38.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 37.2 ล้านตันในฤดูกาลก่อน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของบราซิลจึงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลอยู่ในช่วงขาลงหลังจากราคาเริ่มปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2552 โดยราคาน้ำตาลทรายดิบไต่จากปอนด์ละ 11 เซ็นต์ ขึ้นมาสูงสุดที่ปอนด์ละ 36.08 เซ็นต์ในเดือน ก.พ. 2554 และลงมาอยู่ที่ปอนด์ละ 19-21 เซ็นต์ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีก่อน ล่าสุดในเดือนก.พ.นี้ลงมาอยู่ที่ปอนด์ละ 18 เซ็นต์

“ถามว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกขณะนี้เป็นที่พอใจหรือไม่ ต้องย้อมไปช่วงที่ราคาน้ำตาลเคยอยู่ปอนด์ละ 11 เซ็นต์ ขณะนั้นผู้เกี่ยวข้องก็พอใจ ราคาในปัจจุบันจึงถือว่าดีกว่าปี 2552 มาก”

อย่างไรก็ตาม บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) มีหน้าที่ส่งออกน้ำตาลโควตา ข. 8 แสนตัน สำหรับใช้เป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณรายได้ของระบบแบ่งปันผลประโยชน์ โดยในฤดูกาลผลิต 2554/2555 ส่งออกในราคาเฉลี่ยปอนด์ละ 24.7 เซ็นต์ ในฤดูกาลผลิต

ปัจจุบัน อนท. ประเมินในช่วงปลายปี 2555 ซึงราคาน้ำตาลเฉลี่ยปอนด์ละ 23 เซ็นต์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 31.28 บาท แต่ในช่วงที่ประเมินยังไม่มีเหตุการณเงินทุนไหลเข้าและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนในช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาจนค่าเงินอยู่ในระดับประมาณ 29 บาท เมื่อเทียบกับบราซิลที่เงินเรียลอ่อนค่า ส่งผลให้น้ำตาลส่งออกของบราซิลได้เปรียบไทย อัตราแลกเปลี่ยนจึงกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้

ปัจจุบัน อนท. ขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้ว 43% และประมูลขายน้ำตาลล่วงหน้าได้ราคาบวกค่าพรีเมี่ยมเกินปอนด์ละ 24 เซ็นต์ ถือว่าได้ราคาค่อนข้างดี ส่วนน้ำตาลที่ยังไม่ได้ประมูลขายต้องพิจารณาว่าจะประมูลได้เท่าใด เพราะขณะนี้ราคาน้ำตาลอยู่ที่ปอนด์ละ 18 เซ็นต์ ถ้าราคาไม่ดีจะมีผลต่อรายได้ราคาขั้นปลายของฤดูกาลนี้ เพราะน้ำตาลที่ไทยผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งออก

นอกจากนั้น ปัญหาภัยแล้งยังเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีนี้เช่นกัน และส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลง โดยในช่วงที่อ้อยต้องการน้ำแต่มีปริมาณฝนตกน้อย ลำต้นจึงไม่เติบโตเหมือนฤดูกาลก่อน เมื่อฝนเริ่มตกมากในเดือน ก.ย. 2555 แต่เป็นช่วงที่ไม่ผลแล้ว ซึ่งในฤดูกาล 2555/2556 อ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้เฉลี่ย 94 กิโลกรัม น้อยกว่าฤดูกาลผลิตก่อนที่ผลิตน้ำตาลได้ 104 กิโลกรัม และสภาพอากาศที่หนาวช้ามีผลต่อการสะสมความหวานของอ้อย ค่าความหวานเฉลี่ยของอ้อยที่เข้าหีบในช่วงนี้อยู่ที่ 11.16 ซี.ซี.เอส. ต่ำกว่าค่าความหวานเฉลี่ยฤดูกาลก่อนคือ 12.04 ซี.ซี.เอส.

“ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มีผลต่อรายได้ของระบบแบ่งปันผลประโยชน์และราคาอ้อย ในฤดูกาลผลิต 2555/2556 โดยฤดูกาลที่แล้วระบบมีรายได้จากการขายน้ำตาลในประเทศและส่งออก 1.4 แสนล้านบาท แต่ฤดูกาลนี้จะน้อยกว่าฤดูกาลที่แล้ว”

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันอ้อยละ 950 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ชาวไร่อ้อยเห็นว่าไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับตันทุนการผลิต ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางให้การช่วยเหลือชาวไร่อ้อย เพื่อกำหนดแนวทางในการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่ต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556

รมว .กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้งที่จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี และเลย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจภัยแล้งที่จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี และจังหวัดเลย ระบุ สั่งการให้กรมน้ำบาดาลขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใช้ในการเกษตร อุปโภคและบริโภค เพราะปัจจุบันใช้น้ำใต้ดินเพียงร้อยละ 10 จากที่มีอยู่

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้ง ที่อ่างเก็บน้าบ้านสะพุงเหนือ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ว่า อ่างเก็บน้าบ้านสะพุงเหนือมีประโยชน์ในการกักเก็บน้ำของต้นน้ำชี โดยมีโครงการที่จะก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2538 แต่ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากพื้นที่บางส่วนเป็นของป่าสงวนแห่งชาติ และของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงเตรียมหารือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านสะพุงเหนือตามที่กรมชลประทานจัดทำแผนไว้ รวมทั้งสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อรองรับการจัดการน้ำกว่า 200 แห่ง และสร้างอ่างแบบขั้นบันไดสำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมน้ำบาดาล จัดทำแผนของบประมาณต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย วงเงินประมาณ 1,700 ล้านบาท ภายในปีนี้ เพื่อขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใช้ในการเกษตร อุปโภคและบริโภค โดยการขุดเจาะจะใช้ระบบเทอร์ไบน์ เพื่อประหยัดไฟฟ้าแก่เกษตรกรอีกด้วย

นายปรีชา กล่าวอีกว่า น้ำใต้ดินยังมีอีกมากที่จะนำมาใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภค เพราะปัจจุบันใช้น้ำใต้ดินเพียงร้อยละ 10 จากที่มีอยู่ ดังนั้นน้ำใต้ดินจึงเป็นทางเลือกให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งได้อีกทาง

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

'ประเสริฐ'ปฏิเสธกั๊กใบอนุญาตโรงไฟฟ้า

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ล่าสุดจนถึงวันที่ 22 ก.พ.2556 รวม 120 เรื่อง จากที่ยื่นขอมาทั้งหมด 143 เรื่อง คงเหลือ 23 เรื่อง โดยยืนยันว่าคณะกรรมการดำเนินการพิจารณากลั่นกรองทุกกรณีที่ขออนุญาตให้รวดเร็วที่สุดและเป็นไปตามกรอบเวลา 90 วัน และคงไม่มีใครไปเรียกรับสินบน หรือไปประวิงเวลา กลั่นแกล้งภาคธุรกิจ หากมีใครทำแบบนั้นให้แจ้งมาได้เลย

ทั้งนี้ จากจำนวนโรงงานที่ขออนุญาตมา 143 เรื่อง แบ่งเป็นกลุ่มพลังงานและพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานไฟฟ้าจากน้ำ ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ รวม 55 เรื่อง โดยอนุมัติไปแล้ว 35 เรื่อง ในส่วนที่เหลือ 20 เรื่อง เพราะเอกสารยังไม่เรียบร้อย เช่น มีกรณีที่ดินที่ใช้ก่อสร้างไปทับซ้อนที่สาธารณะ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการจัดการปัญหาได้เรียบร้อยและยื่นหลักฐานมายังคณะกรรมการฯ ครบก็สามารถดำเนินการพิจารณาได้ทันที แต่หากเลยกรอบเวลา 90 วันไปแล้ว กระบวนการก็คงต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด

ส่วนกรณีโรงน้ำตาล 2 แห่งที่จ.เลย ของ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น และบ.น้ำตาลมิตรผล นั้น คณะกรรมการฯ ได้มีมติไม่ออกใบอนุญาต รง.4 เนื่องจากติดหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้ต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 80 ก.ม. โดยเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์มายังรมว.อุตสาหกรรมภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้ง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายใดอุทธรณ์เข้ามา

ก่อนหน้านี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นักวิชาการด้านพลังงานและอดีตรมว.พลังงาน ตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการพิจารณาของทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมมีความล่าช้า ทำให้การขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทนเกิดขึ้นได้ลำบาก

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อุตสาหกรรมเตรียมเสนอแผน 'จัดการมลพิษ'5ปี5.8พันล้าน

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเสนอแผนจัดการมลพิษภาคอุตสาหกรรม 5 ปี วงเงิน 5,800 ล้านบาท หนุนผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแผนจัดการมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555-2559 ให้นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา ซึ่งถ้า นายประเสริฐเห็นชอบ ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยแผนดังกล่าวจัดทำเพื่อจัดการมลพิษ และเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนใหม่ ซึ่งจะมีแผนงานย่อย 124 โครงการ และใช้งบ 5 ปี รวม 5,800 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการมลพิษและอยู่ร่วมกับชุมชนได้

แผนจัดการมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ดังกล่าวกำหนด 5 แนวทาง คือ 1.กระบวนการ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมใช้งบ 3,980 ล้านบาท โดยเน้นให้โรงงานใช้ประโยชน์จากของเสียได้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า ปีละ 10 ราย เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ 10 แห่ง มีโรงงานสีเขียวจำนวน 50,000 ราย 2.เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบควบคุมแหล่งกำเนิดใช้งบ 1,390 ล้านบาท จะเน้นการเข้าตรวจสอบโรงงานทุกโรงงานตามแผนประจำปี การมีฐานข้อมูลสถานประกอบการอุตสาหกรรม คุณภาพน้ำทิ้งในแม่น้ำสายหลักเป็นไปตามมาตรฐาน และการตอบสนองต่อปัญหาข้อร้องเรียนด้านมลพิษทั้งหมด

3.กำกับดูแลการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในภาคอุตสาหกรรม ใช้งบ 137 ล้านบาท ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมปฏิบัติตามกฎหมายด้านกากอุตสาหกรรมและของเสียอันตรายได้ทั้งหมด 4.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ใช้งบ 190 ล้านบาท สร้างเครือข่ายชุมชนปีละ 200 เครือข่าย 5.การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ ใช้งบ 102 ล้านบาท จะมีคู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน และมาตรการรองรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศของภาคอุตสาหกรรม

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กฟผ.งัดแผนสลับดับไฟ 3ค่ายยักษ์มือถือตั้งรับสู้

3 การไฟฟ้าเตรียมพื้นที่ดับไฟไว้แล้ว ชี้หากเกิดวิกฤตจริง เล็งที่อยู่อาศัยย่านชานเมืองก่อนหมุนเวียนปิดไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจมั่นใจไม่กระทบ แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ จะเป็นพื้นที่สุดท้ายที่ดับ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ กนอ.จะเชิญผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม และผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาหารือเพื่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานช่วงวันที่ 5-14 เมษายน 2556 ว่าเป็นอย่างไร เพื่อร่วมกันกำหนดแผนรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลผ่านสื่อเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการออกมา และกนอ.ก็ยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูลจากหน่วยงานใด ที่จะให้เตรียมตัวหรือหามาตรการรองรับ

"จนถึงขณะนี้ กนอ.ยังไม่ได้รับแจ้งจากนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมว่าจะมีการหยุดเดินเครื่องการผลิตในช่วงที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซ" นายวีรพงศ์กล่าว

นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า ตั้งแต่ในวันที่ 5 เมษายน ที่พม่าเริ่มหยุดจ่ายก๊าซนั้น โรงไฟฟ้ายังผลิตเหมือนเดิมโดยจะมีไฟฟ้าสำรองส่วนเกิน 760 เมกะวัตต์ จากปกติที่จะมีไฟฟ้าสำรอง 1,200 เมกะวัตต์ ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าขัดข้องอาจเกิดปัญหาไฟฟ้าดับได้ จึงต้องเตรียม ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและประชาชนให้ลดใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลาดังกล่าวลงจากเดิมที่คาดว่าจะมีการใช้ไฟในระบบประมาณ 26,300 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองต่ำลงไปอีก แต่กรณีที่ร่วมกันลดการใช้ไฟลง ก็จะช่วยให้การผลิตไฟสำรองเพิ่มขึ้นได้

"อย่าเพิ่งกังวลเรื่องไฟดับมากนัก ถึงแม้จะมีโอกาสก็ตาม แต่หากช่วยกันก็จะไม่มีปัญหา โดยโรงไฟฟ้าที่จะส่งผลกระทบกับกรุงเทพฯและปริมณฑล คือโรงไฟฟ้าพระนครใต้พระประแดง และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือบางกรวย จะหยุดผลิตเมื่อไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ก็จะดึงเอาไฟฟ้าที่อยู่ในระยะไกลมาแทนก็จะทำให้แรงดันไฟตกจากเดิม เดิมอุปกรณ์ไฟฟ้าจะใช้ไฟ 220 โวลต์ แต่ช่วงดังกล่าวจะมีไฟฟ้าเข้ามาได้เพียง 200 โวลต์ ก็จะส่งผลกับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด เช่น หลอดไส้ เพราะแรงดันไฟจะต่ำในบางจุด" นายธนากล่าว

นายธนากล่าวว่า อย่างไรก็ตามวิธีการที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะดำเนินการ คือปรับไฟทางอื่นเข้ามาแทนเพื่อให้ไฟเป็นปกติ ที่ผ่านมา กฟน.ก็ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เป็นข่าว โดยวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้หารือเรื่องดังกล่าวกันมาแล้ว และจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 5 มีนาคมนี้ โดยจะหารือกันให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรหากเกิดไฟฟ้าดับขึ้นจริงๆ เช่น กรณีมีไฟสำรอง 700 เมกะวัตต์ แต่ใช้ไฟถึง 1,200 เมกะวัตต์ จะทำอย่างไร

นายธนากล่าวว่า แผนการที่การไฟฟ้าทุกแห่งเตรียมไว้อยู่แล้ว กรณีที่ไฟไม่เพียงพอและต้องดับไฟในบางพื้นที่จริง จะต้องรักษาสถานที่สำคัญไว้ไม่ให้ได้รับผลกระทบ เช่น โรงพยาบาล และจะปิดไฟในพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็นใช้ไฟแทน เช่น ชานเมืองซึ่งที่อยู่อาศัย ส่วนที่เป็นหัวใจของประเทศจะต้องรักษาเอาไว้จนถึงที่สุด

"เรื่องการปิดไฟมีการจัดสรรพื้นที่ไว้แล้ว แต่ละพื้นที่อาจจะปิดไม่เกิน 1 ชั่วโมง แล้วสลับไปปิดพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อไม่ให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยจะไม่ปิดพื้นที่เดียวไปตลอด ส่วนพื้นที่สำคัญที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สีลม หรือ ปทุมวัน จะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน หากไม่ไหวจริงๆ ก็จะเป็นพื้นที่สุดท้ายที่จะปิดไฟฟ้า ส่วนแรงดันไฟฟ้าจะอ่อนที่สถานีลาดพร้าว รัชดา บางกะปิ ซึ่งจะส่งผลไปถึงถนน วิภาวดีฯนั้น ทาง กฟผ.ได้ติดต่อไปยัง กฟน.ให้ย้ายโหลดไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงอื่นมาทดแทนแล้ว ดังนั้น ไฟไม่ตกไม่ดับแน่นอน ส่วนในต่างจังหวัดก็จะปิดในพื้นที่รอบนอกก่อน ส่วนในตัวเมืองจังหวัด หรืออำเภอ จะเป็นพื้นที่สุดท้ายที่จะปิดเช่นเดียวกัน" นายธนากล่าว

นายธนากล่าวว่า พื้นที่ที่ไฟดับไม่มีผลอะไรมาก เพราะปกติเมื่อไฟฟ้าไม่พอก็ดำเนินการแบบนี้อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเป็นการส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า เพราะปัจจุบันไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้า 67-70% เมื่อก๊าซมีปัญหาก็จะหาเชื้อเพลิงชนิดใหม่มาใช้ควบคู่กันไปด้วย เพราะถือเป็นเรื่องความมั่นคง ตอนนี้มีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าเรื่องการหยุดส่งก๊าซ ก็ยังดีที่เตรียมตัวล่วงหน้า แต่ในอนาคตหากไม่มีการเตือนจนส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับจะเกิดความวุ่นวายมากยิ่งขึ้น

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 กฟผ.มีแผนที่จะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณจาก 29 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 35 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นวันละ 6 ล้านลบ.ม.จำนวน 10 วัน เพื่อเสริมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่หายไปบางส่วนจากการที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซ และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำในอ่างและแผนการระบายน้ำในภาพรวมและในช่วงฤดูแล้ง จะปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ลงต่ำกว่าแผนในช่วงที่ความต้องการใช้น้ำลดลง

นายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ กล่าวว่า ช่วงวันที่ 5-14 เมษายน ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพล จะไม่ปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นจากปกติที่เคยปล่อยอยู่ เนื่องจากเขื่อนทางด้านเหนือมีปริมาณน้ำน้อยกว่าเขื่อนทางด้านล่าง ดังนั้น จึงต้องรักษาระดับการปล่อยน้ำไว้เท่าเดิม

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกจากจะมีมาตรการประหยัดไฟเพื่อรองรับวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดร่วมกับหอการค้าจังหวัดในการให้ข้อมูลเรื่องการประหยัดไฟและสำรวจผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย และให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรวบรวมโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องไฟฟ้าด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครแจ้งว่ามีโรงงานใดหรือบริษัทใดจะหยุดเดินเครื่องการผลิตในวันดังกล่าวเลย

นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสเตรียมแผนสำรองด้านพลังงานเป็นปกติ เพื่อให้ลูกค้ามีผลกระทบน้อยที่สุด เช่น บำรุงรักษาให้อุปกรณ์ต่างๆ พร้อมใช้งานระบบไฟฟ้าสำรองได้ตลอดเวลา และสำรองเชื้อเพลิงเพื่อใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประจำชุมสาย เตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเคลื่อนที่ จ่ายไฟให้กับสถานีฐานในพื้นที่ต่างๆ ประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อบริหารการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผนงานของรัฐบาล

นายประเทศ ตันกุรานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานปฏิบัติการโครงข่าย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเตรียมมาตรการป้องกันและรับมือ ถ้าเกิดเหตุการณ์สุดวิสัยขึ้น โดยประสานงานตลอดเวลากับ กฟน.และ กฟภ. เพื่อให้มีการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีฐานดีแทคอย่างต่อเนื่องในกรณีที่กระแสไฟฟ้าบางส่วนไม่เพียงพอ รวมทั้งเตรียมน้ำมันสำรองไว้ที่สถานีฐานเพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่องได้ในทันที หากมีการหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าชั่วคราว รวมถึงจัดเตรียมรถโมบายเคลื่อนที่ พร้อมเครื่องปั่นไฟเพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารในกรณีฉุกเฉินในบางพื้นที่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร กลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรูเตรียมพร้อมใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์สำรองไฟจำนวนมาก รวมถึงประสานงานกับ กฟน.และ กฟภ.ให้จ่ายไฟฟ้าไปยังสถานีฐานของทรูในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่องเท่าที่ยังสามารถทำได้ แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลได้อย่างดีในช่วงที่เกิดวิกฤตพลังงาน การใช้งานด้านโทรคมนาคมจะไม่ได้รับความเดือดร้อน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ส.ป.ก.ปรับทัพรับมือเออีซี ดันสินค้าเกษตรสู้เวทีสากล

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีรายได้หลักหมุนเวียนเข้าประเทศ มาจากการเกษตร จนก่อให้เกิดประโยคที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่ทั้งนี้ผลผลิตทั้งหมดจะผลิดอกออกผล และสามารถส่งขายได้ ปัจจัยพื้นฐานอาจต้องมาจากการมีพื้นที่การเกษตร รวมถึงทรัพยากรดินที่ดี

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 38 ปี ส.ป.ก. มีภารกิจการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร โดยมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พร้อม ๆ กับพัฒนาการเกษตร พัฒนาเกษตรกร สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุด

ทั้งนี้การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐ กิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี พ.ศ. 2558 ได้ส่งผลดีและผลกระทบกับภาคการเกษตรไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง อุตสาหกรรมบริการและแรงงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน เกษตรกร และวิถีการผลิตภาคเกษตรในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อสนองนโยบาย และภารกิจ ส.ป.ก. ตลอดถึงสานต่อและขยายผลภารกิจที่เกี่ยวข้องในอนาคต

หากมีการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ความสำเร็จในการแข่งขันด้านต่าง ๆ ในฐานะ 1 ใน 10 สมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน จะชี้ขาดด้วยมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพ แสดงถึงถิ่นกำเนิดสินค้าและสุขอนามัยที่ชัดเจน ทั้งมีศักยภาพการผลิตที่เหนือกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ย้ำว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพยายามอย่างยิ่งในการผลักดัน ให้สินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินมีมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ศรม.) เพื่อเป็นหน่วยในการตรวจสอบและออกใบรับรองให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่สามารถปรับเปลี่ยนระบบผลิตสินค้าเกษตร ให้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP ได้ หากเกษตรกรรายใดได้รับใบรับรอง GAP ก็เท่ากับว่า ได้ยกระดับผลผลิตของตนเองให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ทั้งในคุณภาพ ความปลอดภัย

จากผลการดำเนินงานสองปีที่ผ่านมาของ ศรม. ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรไปแล้ว 2,576 ราย อบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่จนสามารถเป็นผู้ตรวจ ประเมินแปลงไปแล้ว 34 ราย ซึ่งเกษตรกรที่ยื่นขอรับรองใน 14 จังหวัด จำนวน 634 ราย ตรวจประเมินแปลงไปแล้ว 495 ราย ในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง GAP ไปแล้ว 67 ราย โดยผู้ที่ผ่านการอบรมและได้ใบรับรองอาจจะยังไม่มาก แต่คนเหล่านี้เป็นผู้นำท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ขยายความคิด และเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิต GAP ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร และ อาหารแห่งชาติ ได้รับรองให้ ศรม. รับรองกระบวนการผลิต GAP ในพืช 4 ชนิด คือ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด รวมถึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อออกใบรับรอง GAP ข้าวกับพืชผักในปี 2556 ส.ป.ก. จะดำเนินการให้ความรู้แก่เกษตรกร และฝึกฝนเจ้าหน้าที่ให้มีความเชี่ยวชาญ มีทักษะ ความสามารถในการตรวจสอบแปลง ตลอดจนสร้างกระบวนการรับรองมาตรฐานให้เกิดขึ้น เชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และในปี 2557 ก็จะสามารถออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ข้าวและพืชผักให้แก่เกษตรกรได้ เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวต่อว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่จะถึงนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะเชิญผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตร ตั้งแต่โรงงานผลิต โรงงานแปรรูป โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานน้ำตาล สมาคมผู้ส่งออก ที่เกี่ยวกับพืชอุตสาหกรรม 4 ชนิด คือ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และสับปะรด มาประชุมเพื่อหาแนวทางในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP โดยจะประชุมหารือร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้แทนเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และนักวิชาการเพื่อหาแนวทางร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณการผลิต ราคาประกันสินค้าเกษตร และความสม่ำเสมอของผลผลิต หรือประเด็นปัญหาอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการเสนอเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ทั้งนี้ หากเจรจาแล้วสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ จะนำไปสู่การลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลง (MOU: Memorandum of Understanding) ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การรับซื้อผลผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในอนาคต

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลกระทบการสร้างเครือข่ายคมนาคม และการขนส่ง การใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. ได้มีการเตรียมความพร้อม อาทิ ด่านสะเดา จ.สงขลา ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือมีส่วนที่อยู่ในเขต ก็ต้องวางแผนจัดการ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่อาจจะต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเยียวยาแก่เกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งทาง ส.ป.ก. ได้วางแผนสำหรับจัดซื้อที่ดินใหม่ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ไทย ให้มีความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

35 จังหวัดประสบภัยแล้ง! รัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือฝนทิ้งช่วง

ปภ.เผยพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 35 จังหวัด รัฐบาลเตรียมแผนจัดหาน้ำรับมือฝนทิ้งช่วง พร้อมเตรียมขุดบ่อบาดาลเพิ่มช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

วันนี้(23 ก.พ.56) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ถึง สถานการณ์ภัยแล้งล่าสุดว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้ว 35 จังหวัด รวม 25,014 หมู่บ้าน หรือคิดเป็น 33% ของทั่วประเทศที่มีทั้งหมดกว่า 74,000 หมู่บ้าน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดมาจากปริมาณน้ำฝนน้อยลงมาก ประกอบกับแหล่งน้ำต้นทุนมีปริมาณน้อยกว่าปีก่อน

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแก้ไขสถานการณ์ไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดปัญหาภัยแล้ง โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนต.ค.55 ที่ผ่านมาในส่วนของ 2P คือ การป้องกัน และการเตรียมการ โดยมีระบบบริหารจัดการและสั่งการแบบ Single Command

สำหรับสิ่งที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว เช่น การเติมน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในถังน้ำกลางทั้ง 49,000 ถังทั่วประเทศ ซึ่งรวมแล้วมีปริมาณน้ำถึง 100 ล้านลิตร เพื่อสำรองน้ำไว้ให้ประชาชนได้ใช้เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงระบบประปา และสำรวจจุดที่ขาดแคลนระบบประปาเพื่อจัดทำเพิ่มเติม โดยได้มีการใช้งบประมาณจากส่วนราชการเพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้วไปแล้วราว 889 ล้านบาท

ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งพบว่าเริ่มมาตั้งแต่เดือนต.ค.ปีก่อน ทั้งนี้หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในม.ค.-เม.ย.ปีนี้ ได้มีการจัดเตรียมสต็อกเครื่องสูบน้ำไว้สำหรับทั่วประเทศ ตลอดจนการจัดหาแหล่งน้ำดิบ การขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร

"เราเตรียมสต็อกเครื่องสูบน้ำเอาไว้แล้ว จังหวัดใดที่คิดว่าจะมีการประกาศภัยแล้งก็จะมีเครื่องสูบน้ำไว้ รวมถึงมีแหล่งน้ำดิบไว้สำหรับการช่วยเหลือ" รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556

ด่วนอิเหนาลดนำเข้าน้ำตาลไทย

หลังราคาน้ำตาลโลกหล่นวูบ สบช่องนำเข้าจากบราซิลแทน ด้านไทยลุ้นจีนซื้อน้ำตาลสำรองไว้ในสต๊อกมากขึ้น ผู้อำนวยการใหญ่TSTC ห่วงยิ่งผลผลิตอ้อยและน้ำตาลมากขึ้นจะเจออุปสรรคท่าเรือไม่พอรองรับการขยายตัวของโรงงานน้ำตาล

สืบเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดนิวยอร์กลดลงเหลือ 17.94 เซ็นต์/ปอนด์ เปรียบเทียบกับราคาน้ำตาลทรายดิบในช่วงเดียวกันปีที่แล้วอยู่ที่ 24-25 เซ็นต์/ปอนด์ ตกต่ำที่สุดในรอบ 32เดือน จากที่ราคาน้ำตาลเคยทุบสถิติสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ราคา 36.08 เซ็นต์/ปอนด์ โดยราคาน้ำตาลที่ผันผวนนี้มีตัวแปรมาจากกำลังการผลิตอ้อยและน้ำตาลในประเทศบราซิลที่มีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะที่บางประเทศก็ผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น จึงลดการนำเข้าลง เช่น อินเดียและ จีน ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีน้ำตาลส่วนเกินที่ล้นตลาดอยู่มากถึง 10.3 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบจากที่มีปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกจำนวน 180.1 ล้านตัน ขณะที่มีความต้องการใช้ในตลาดโลกเพียง 169.8 ล้านตัน (ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาคิงสแมน เอสเอ)

ภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ล่าสุดนายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด หรือ TSTC เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกจากนี้ไป มีโอกาสจะหล่นลงไปต่ำกว่า 18 เซ็นต์/ปอนด์ต่อไปอีก โดยสาเหตุประการแรกเกิดจากที่ปริมาณน้ำตาลจากบราซิลมีมากขึ้น เดิมคิดว่าเปิดหีบปี 2555/56 จะมีปริมาณอ้อยไม่ถึง 500 ล้านตัน เพราะบราซิลเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติ แต่สุดท้ายปริมาณอ้อยมีมากถึง 532 ล้านตันอ้อย นอกจากนี้ผลกระทบจากบาทแข็งค่าฉุดให้รายได้ที่เป็นเงินบาทลดลง ถ้าเทียบกับบราซิลค่าเงินอ่อนก็สามารถส่งออกได้ในราคาไม่ขาดทุน จากกรณีนี้จะทำให้ค่าเฟสต่ำลง ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อน้ำตาลในโซนเอเชียสั่งซื้อน้ำตาลจากบราซิลได้มากขึ้นโดยมีต้นทุนที่ถูกลง

จากกรณีดังกล่าว ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องเฝ้าจับตาอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยในการนำเข้าน้ำตาล จะหันไปนำเข้าจากบราซิลได้หลังจากที่ค่าเฟสถูกลง จากที่ปัจจุบันอินโดนีเซียนำเข้าน้ำตาลดิบและน้ำตาลทรายขาวรวมกันทั้งสิ้น 2.6 ล้านตัน/ปี โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากไทยมากที่สุด นอกนั้นจะนำเข้าจาก ออสเตรเลีย และบราซิล โดยที่ผ่านมานำเข้าจากไทยเป็นหลัก เพราะมีภาระค่าขนส่งไม่สูงมาก สะดวกในการขนส่งเพราะอยู่ใกล้ไทย แต่ขณะนี้อินโดนีเซียมีตัวเลือกมากขึ้น จึงคาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำตาลไปยังอินโดนีเซียจะลดลง จากที่ปีก่อนไทยส่งออกน้ำตาลไปยังอินโดนีเซีย 1.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2554 ที่ส่งออกเพียง 1.4 ล้านตัน

ในขณะที่จีนเองก็มีสัญญาณลดการนำเข้าจากไทย จากที่ปี2555 จีนนำเข้าน้ำตาลจากไทย 9.6 แสนตัน ปีนี้อาจจะนำเข้าน้อยลง หลังจากที่จีนสามารถผลิตได้เองในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านตัน/ปี เป็น 13-14 ล้านตัน/ปี เนื่องจากจีนมีนโยบายซื้อน้ำตาลมาเก็บสำรองไว้ในสต๊อก ซึ่งเวลานี้นักวิเคราะห์ตลาดน้ำตาลมองว่าถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงก็จะจูงใจให้จีนซื้อสำรองไว้มากขึ้น ดังนั้นต้องมาลุ้นว่าจีนจะนำเข้าจากไทยเพื่อสำรองน้ำตาลไว้หรือไม่ จากที่ปกติจีนจะสำรองน้ำตาลไว้ที่ 5 ล้านตัน ก็อาจจะเพิ่มเป็น 6.5 ล้านตันหรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับตัวแปรจากราคาน้ำตาลในตลาดโลก เพราะถ้ามีกำไรแล้วจีนจะนำเข้ามากขึ้น

สำหรับอินเดีย เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น และเป็นที่ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยปี2555 ผลิตน้ำตาลได้เกิน 26 ล้านตันและส่งออกน้ำตาลได้ 2 ล้านตันเศษ ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้นำเข้าน้ำตาลจากไทย โดยผลผลิตปี 2556 จะอยู่ที่ 23-25 ล้านตัน คาดว่าจีนจะไม่มีการส่งออก จะผลิตเพื่อใช้ในประเทศเกือบทั้งหมด ขณะที่ญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลจากไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและจีน โดยปี 2555 ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทย 8.5 แสนตัน คาดว่าปีนี้ญี่ปุ่นจะยังรักษาระดับนี้ไว้

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวอีกว่า ปี2556 สถานการณ์การส่งออกจะขึ้นอยู่กับว่าปริมาณน้ำตาลจากบราซิลจะไหลเข้าไปยังตลาดอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่ประเทศไทย ปี 2555/56 จะมีผลผลิตน้ำตาล 9-9.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้จะใช้ในประเทศ 2.4 ล้านตัน หรือ24 ล้านกระสอบ และเป็นโควตาข. 8 แสนตัน ที่เหลือส่งออกโดยโควตาค. จะเห็นว่าเมื่อหักโควตาก.ออก ไปแล้ว ไทยจะมีน้ำตาลส่งออกประมาณ 7 ล้านตัน/ปี โดยมีมูลค่าเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทั้งในประเทศและส่งออกรวมราว 2 ล้านตัน/ปี โดยจะมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากการส่งออกเป็นหลัก

ส่วนข้อกังวลของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอนาคตพบว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น เมื่อผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายมีปริมาณมากขึ้น ก็จะเกิดปัญหาท่าเรือขนส่งและสถานที่เก็บน้ำตาลของไทยมีไม่เพียงพอ ขณะที่ปริมาณอ้อยเพิ่มจาก 70-80 ล้านตันขึ้นมาเกือบ 100 ล้านตัน อนาคตเชื่อว่าผลผลิตอ้อยยังได้รับผลตอบแทนดี จะทำให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 120 -150 ล้านตันอ้อย หลังจากที่มีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นจาก 47 โรงงานมาเป็นกว่า 50 โรงงานแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาด้านโลจิสติกส์ จากที่ปกติใช้ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ศรีราชาซึ่งมีแค่ 2 ท่าเท่านั้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556

สภาเกษตรกรฯ ร่วมหารือภาครัฐ วางนโยบายเกษตร

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นสภาของเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ตามพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ 2553 ซึ่งระหว่างปี 2554-2555 เป็นช่วงเวลาของการได้มา ซึ่งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรฯส่งมอบภารกิจให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกรจังหวัด เพื่อดำเนินการต่อ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ถึงขณะนี้เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ขับเคลื่อนตามบทบาทภารกิจ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการ ทั้งด้านพืช สัตว์และประมงเพื่อศึกษาข้อมูลแต่ละด้าน รวมทั้งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ สภาเกษตรกรฯยังเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายด้านการเกษตรร่วมกับภาครัฐ โดยเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกร เช่น การจัดทำเขตโซนนิ่ง เพราะหากเกษตรกรไม่ได้รับทราบถึงผลประโยชน์หรือผลกระทบก็อาจทำให้ไม่เกิดความร่วมมือ

นายประพัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สภาเกษตรกรฯยังเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้านต่างๆของเกษตรกร เช่น วิกฤติการณ์ปาล์มน้ำมัน หรือการรับจำนำข้าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้เกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกจุดรับจำนำข้าว โดยร่วมกันตรวจสอบ ไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการดำเนินงาน และเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง

“การดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นการลดช่องว่างระหว่างรัฐบาลและเกษตรกร โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมักเกิดกับเกษตรกรรายย่อย เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งสภาเกษตรกรฯ จะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ผลักดันเกษตรกรรายย่อยให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความขัดแย้งในสังคมลงได้” นายประพัฒน์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556

8 พันโรงงานขานรับรัฐบาล 5 เม.ย.หยุด-ลดการผลิต

21 ก.พ.56 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงการรับมือภาวะขายแคลนไฟฟ้าในเดือนเม.ย.ว่า ส.อ.ท.ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการลดกำลังการผลิตส่วนที่ไม่จำเป็น และโรงงานบางส่วนอาจปิดโรงงานในช่วงวันที่ 5 เม.ย.นี้ แล้วย้ายไปทำการผลิตในวันอื่นที่ไม่กระทบต่อปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งในวันที่ 5 เม.ย.นี้เป็นวันที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศลดต่ำลงสูงสุด โดยมีกำลังสำรองไฟฟ้าที่ 750 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดไฟฟ้าตก หรือดับในบริเวณวงกว้างได้

"จากความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จะทำให้มีปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจนพ้นขีดอันตราย โดยกระทรวงพลังงานจะประสานไปยัง ส.อ.ท.ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสรุปว่าภาคอุตสาหกรรมจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้มาเพียงใด ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ก็จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าไปได้มาก เพราะภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าสูงถึง 40% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ถ้าลดการใช้ไฟฟ้า 10% ก็จะช่วยลดไฟฟ้าในภาพรวมของทั้งประเทศได้ถึง 4% ส่วนห้างสรรพสินค้าก็ได้ให้ความร่วมมือเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในวันดังกล่าวเช่นเดียวกัน"

ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมจะพยายามเลื่อนวันทำงานจากวันที่ 5 เม.ย.นี้ ไปทำงานในช่วงวันหยุดอื่น เพราะช่วงวิกฤตสูงสุดจะอยู่ในวันที่ 5 เม.ย. โดย ส.อ.ท.จะนัด รือสมาชิกทั้ง 42 กลุ่มอุตสาหกรรมอีกครั้งว่าจะให้ความร่วมมือประหยัดไฟฟ้าได้มากเท่าไร ซึ่งมั่นใจว่าสมาชิด ส.อ.ท.ทั้ง 8 พันโรงงาน พร้อมให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ เพราะเป็นสถานการณ์ที่รู้ล่วงหน้า และสามารถเตรียมการรับมือได้ทัน แต่ทั้งนี้ในอนาคตรัฐบาลควรเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด เพื่อเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศให้มีความมั่นคง และมีราคาต่ำ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ยืดเคาะส่วนเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้น 250 บาท/ตันอ้อย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า ที่ประชุม

มีมติให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางให้การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยขึ้นมา มีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กบ.) เป็นประธาน เพื่อไปหาข้อมูลเหตุผลสนับสนุนเพิ่มเติม

ก่อนที่จะยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้พิจารณาเห็นชอบเพิ่มส่วนต่างราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต2555/2556 จำนวน 250 บาท/ตันอ้อยตามที่ชาวไร่อ้อยเสนอมา โดยคาดว่าน่าจะสามารถเรียกประชุมและได้ข้อสรุปภายในวันศุกร์ที่ 22 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตฯ ยืนยันว่า กอน.ไม่ได้เกี่ยงว่าจะไม่ให้ส่วนเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นอีก 250 บาท/ตันอ้อย ตามที่ชาวไร่อ้อยร้องขอ แต่ในฐานะที่เป็นคนกลางในการนำเสนอต่อ ครม. จึงต้องมีหลักการและเหตุผลที่เหมาะสมในการเข้าไปชี้แจงให้ ครม.พิจารณา

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

แนะรัฐเร่งเจรจาอินโดฯลดภาษีนำเข้าน้ำตาล0%

สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย (Thai Sugar and Bio-Energy Producers Association – TSEA) ก่อตั้งมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2514 เดิมชื่อ สมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทย

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบวิสาหกิจอันเกี่ยวกับการผลิตและการค้าน้ำตาล การสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการแก้ไขอุปสรรคขัดข้องต่างๆ รวมทั้งความร่วมมือกับภาครัฐในการส่งเสริมกิจการของสมาชิกที่มาจากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศกว่า 40 ราย
คุณหญิง ณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ในฐานะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงบทบาทของสมาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล รวมถึงมุมมองการแข่งขันเมื่อเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีและปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมน้ำตาล

นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลฯ มองถึงความสำคัญและบทบาทของสมาคมน้ำตาลฯว่า เป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกให้อุตสาหกรรมสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดน้ำตาลโลก ตลอดจนการรายงานให้สมาชิกทราบถึงการเคลื่อนไหวและความรู้ใหม่ๆในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล นอกจากนี้ยังเป็นผู้แทนของสมาชิกในการไปร่วมประชุมกับภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลและจุดยืนของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จากที่ผลผลิตอ้อยต่อไร่ของไทยค่อนข้างต่ำและมีต้นทุนการผลิตในไร่สูง ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องร่วมกันผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการจัดสรรงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมฯ ที่ปัจจุบันภาครัฐก็ได้เริ่มเข้ามาให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้านอ้อยและน้ำตาลทราย เห็นได้จากบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เข้ามาดูแลการจัดสรรทุนวิจัยด้านอ้อยและน้ำตาลทรายให้กับอุตสาหกรรมอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในปี 2556 นี้

ขณะเดียวกันภาครัฐควรเข้ามาให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านการขนส่งน้ำตาลทรายและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ท่าเรือ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นจาก 6 – 7 ล้านตัน/ปี เป็น 9 – 10 ล้านตัน/ปี

+++เปิดเออีซีจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ส่วนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีนั้น มองว่าบทบาทของอุตสาหกรรมอ้อยและ น้ำตาลไทย จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ คือ จะมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมฯ เพิ่มโอกาสในการส่งออกให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย สามารถที่จะขยายการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน และจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล จากการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบ เนื่องจากโรงงานน้ำตาลจะสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยไม่มีกำแพงภาษี รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ในอาเซียนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนในอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการเปิดเออีซี จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย และประเทศสมาชิกอื่น ๆ ต้องลดภาษีการนำเข้าน้ำตาลลงเป็น 0% ในขณะที่ประเทศสมาชิกบางประเทศเช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยังไม่ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำตาลเป็น 0% ในปี 2558 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขอให้ภาครัฐเร่งเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อตกลงโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของไทย เพราะเมื่อเข้าสู่การเป็นเออีซีแล้ว จะทำให้อาเซียน กลายเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม (Single market and production base) โดยจะมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ การลงทุน แรงงาน และเงินทุนระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งนั่นย่อมเป็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย

+++ไทยได้เปรียบตลาดเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยยังมีความได้เปรียบเรื่องระยะทางสู่ตลาดเป้าหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในทวีปเอเชียส่วนใหญ่ที่ต้องนำเข้าน้ำตาล และมีความยืดหยุ่นในการผลิตน้ำตาลทรายตามมาตรฐานและคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ ขณะที่ความสามารถในการขยายกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอกับการเติบโตของอุปสงค์ความต้องการน้ำตาลทรายของไทยและของประเทศในทวีปเอเชียที่มีการเติบโตตามทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ และความเชี่ยวชาญเรื่องการตลาดน้ำตาลในภูมิภาค

ขณะที่จุดด้อยของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยคือ 1.ผลผลิตอ้อยต่อไร่ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ 2.ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนการตัดอ้อยและการขนส่งอ้อยที่สูงเนื่องจากเป็นไร่ขนาดเล็กทำให้ใช้เครื่องจักรได้ไม่เต็มศักยภาพ 3. ระบบบริหารจัดการโควตาอาจจะไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 4.การควบคุมราคาอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลขาดแคลนกรณีราคาตลาดโลกสูง 5.ขาดแคลนพันธุ์อ้อยใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

+++อุตฯน้ำตาลยังมีปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงปี2556 มีประเด็นที่น่าจับตาคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศซึ่งเป็นสิ่งที่คาดคะเนได้ยาก แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการรายงานเรื่องภาวะแห้งแล้งในหลายๆ พื้นที่ ทำให้คาดได้ว่า อ้อยจะถูกผลกระทบจากภาวะอากาศแล้งและส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพอ้อยต่ำกว่าที่คาดในฤดูการผลิตปี 2556/57 เช่นเดียวกับที่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินจากการส่งออกน้ำตาล (70% ของผลผลิตทั้งหมด) ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยในที่สุด และจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจปลูกอ้อยของเกษตรกร ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลกจะส่งผลต่อพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของกองทุนที่เข้ามาเก็งกำไรน้ำตาล ซึ่งกรณีที่มีการเทขายน้ำตาลจำนวนมากๆ ก็จะส่งผลต่อราคาน้ำตาลที่จะปรับตัวลงไปโดยอัตโนมัติ

แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี 2556 มองว่าจากที่ผลผลิตส่วนเกินที่หลายๆ สำนักคาดว่าจะมีปริมาณระหว่าง 7 – 10 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 2555/2556 นี้ ทำให้ราคาน้ำตาลทรายปรับตัวอยู่ในระดับประมาณ 18 – 21 เซ็นต์/ปอนด์ โดยปัจจัยพื้นฐานด้านสภาพอากาศที่ค่อนข้างดี จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลของโลกยังเกินความต้องการและจะมีส่วนกดดันราคาต่อไป และตัวแปรที่จะมีส่วนทำให้ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้น คือ ผลผลิตของประเทศผู้ผลิตสำคัญมีแนวโน้มลดลง เช่น ไทย

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

ห่วงบาทแข็งกระทบอาหารไทย หลังปีนี้มูลค่าส่งออกทะลุ1ล้านล. ซ้ำเติม2ปัจจัยเสี่ยง "ภัยแล้ง-300"

ส่งออกอาหารไทยบรรลุฝัน มูลค่าการส่งออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก จับตาค่าบาทแข็ง ภัยแล้ง ขึ้นค่าแรง 300 บาท ล้วนปัจจัยเสี่ยงหลักกระทบราคาขายขยับสูงขึ้น

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปี 2556 คาดว่าการส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท นับเป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% จากปี 2555 ที่มีมูลค่าส่งออก 971,689 ล้านบาท โดยปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ประเมินว่าจะขยายตัว 3.5% โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย แต่เป็นพื้นฐานขยายตัวบนสมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีที่ 29.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท หรืออยู่ที่ 28.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกที่จะลดลง 20,400 ล้านบาท หรือ ลดลงประมาณ 2% ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกอาหารไทยรวมปีนี้เหลือ 1,009,600 ล้านบาท และขยายตัวเพียง 3.9%

นายเพ็ชรกล่าวว่า ทั้งนี้กลุ่มอาหารส่งออกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผักผลไม้แปรรูป ปลาแปรรูป กุ้ง และเครื่องปรุงรส ส่วนสินค้าอาหารที่เป็นดาวเด่นของปีนี้มีทั้งหมด 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.ไก่และสัตว์ปีก คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกประมาณ 82,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% จากปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการที่สหภาพยุโรป หรืออียูอนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทย ตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อาจจะเปิดตลาดไก่สดให้กับไทยในเร็วๆ นี้

นายเพ็ชร 2.มันสำปะหลัง คาดว่าจะได้ผลบวกจากที่เศรษฐกิจจีนที่เป็นตลาดหลักของมันสำปะหลัง ขยายตัวดี 3. อาหารสัตว์เลี้ยง จำพวกอาหารสุนัขและแมว คาดว่ามูลค่าส่งออกจะอยู่ที่ 27,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% 4.ปลากระป๋องและปลาแปรรูป คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออก 27,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% 5.เครื่องปรุง คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกกว่า 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% และ 6.ทูน่าแปรรูป

นายเพ็ชร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีสินค้าส่งออกที่อาจเสี่ยงต่อการหดตัวด้วย ได้แก่ น้ำตาลทราย และ ผัก ผลไม้สด เนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้งทำให้น้ำตาลจากอ้อยมีคุณภาพลดลง และจีนมีแนวโน้มลดการนำเข้าเนื่องจากผลผลิตในจีนมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยน่าจะชะลอตัวลงในปีนี้ ส่วนการส่งออกผักผลไม้สดน่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสำหรับอุตสาหกรรมอาหารปีนี้ คือปัญหาภัยแล้ง ทำให้วัตถุดิบลดลง รองลงมาคือปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว 17.3% และราคาต้นทุนยังขยับขึ้นต่อเนื่อง

นายพรศิลป์กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารไทยได้ตั้งเป้าหมายยอดการส่งออกอาหารว่าจะทะลุ 1 ล้านล้านบาท มา 3 ปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีปัญหาและอุปสรรค ทั้งเรื่องปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม แต่ปีนี้น่าจะได้ตามคาดการณ์เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการเพิ่มของประเทศนำเข้า

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

กำหนดเขตความเหมาะสมการปลูกพืช

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดิน ร่วมกับความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อาทิ เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทานประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรในการพิจารณาสร้างความสามารถในการแข่งขันของแต่ละหน่วยผลิต

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ประกาศจะนำไปสู่การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิ ภาพและผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร การรักษาเสถียรภาพด้านราคา และอุปสงค์ อุปทานในอนาคต โดยเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำแนกตามรายภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล โดยสรุปได้ ดังนี้ เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว 76 จังหวัด 809 อำเภอ 5,880 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง 49 จังหวัด 448 อำเภอ 2,113 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกยางพารา 60 จังหวัด 403 อำเภอ 1,703 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 48 จังหวัด 401 อำเภอ 2,105 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 43 จังหวัด 268 อำเภอ 1,175 ตำบล

การบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ จะเป็นผลให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตรเนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิต มีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้สุทธิจากการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมประสิทธิภาพการผลิตข้าวอยู่ที่ 715 กิโลกรัมต่อไร่ (ณ ความชื้นร้อยละ 14) ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้การจะปรับเพิ่มปริมาณ คุณภาพและมาตรฐาน จะทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

ศก.เอเชียโตใช้น้ำมันโลกเพิ่ม

บางจากคาดราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้เคลื่อนไหว 100-115 เหรียญ/บาร์เรล ความต้องการใช้สูงขึ้นเล็กน้อยตามเศรษฐกิจเอเชีย

นายวิเชียร อุษณาโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความต้องการใช้น้ำมันในปี 2556 ตามการคาดการณ์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ว่า อยู่ที่ระดับ 90.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ระดับ 89.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย ส่วนราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงในช่วงปลายไตรมาสแรก เนื่องจากโรงกลั่นในเอเชียหยุดซ่อมประจำปีในเดือนมีนาคม ประกอบกับความต้องการน้ำมันในกลุ่มประชาคมยุโรปลดลง และเข้าสู่ปลายฤดูหนาว ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วง 9 เดือนที่เหลือ ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 100 – 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังอยู่ในระดับสูง ยกเว้นน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

ด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ในปี 2556 จะกลั่นเฉลี่ย 105,000 - 110,000 บาร์เรลต่อวัน โดยไม่หยุดซ่อมบำรุงประจำปี คาดว่าจะมีค่าการกลั่นเฉลี่ย 7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนธุรกิจการตลาด มีแผนจำหน่ายน้ำมัน 414 ล้านลิตรต่อเดือน เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนหน้า โดยในปีนี้จะเปิดสถานีบริการเพิ่มขึ้นอีก 50 แห่ง เพื่อขยายการให้บริการผู้ใช้รถอย่างทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ ให้มีความทันสมัย สะดวกสบายและสวยงาม (Rebranding) รวม 120 แห่ง ใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายการจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และวางแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันในพม่า ลาวและกัมพูชา ประมาณ 20 แห่งภายในปี 2558

นายวิเชียร กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมการผลิตและการใช้เอทานอลให้มากขึ้น จะขยายสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน E20 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศและ E85 เพิ่มเป็น 100 แห่ง และจะขยายร้านสะดวกซื้อมินิบิ๊กซีเพิ่มเป็น 70 แห่ง ร้านกาแฟอินทนิล 350 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้บริการที่หลากหลาย ตอบสนองวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ และเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil)

ผลการดำเนินงานในปี 2555 มีรายได้ 165,246 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,273 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 3.10 บาท คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเห็นชอบให้เสนอขออนุมัติต่อผู้ถือหุ้นในการจ่ายเงินปันผล 1.25 บาทต่อหุ้น โดยก่อนหน้านี้ จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.35 บาทต่อหุ้น จะจ่ายเพิ่มอีก 0.90 บาทต่อหุ้น ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น 7 มีนาคม 2556 และจ่ายเงินปันผล 24 เมษายน 2556

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

เปิด 8 อุตสาหกรรมดาวรุ่งพร้อมบุกเออีซี

ไอซีทีผนึกกำลังผู้ประกอบการเปิด 8 อุตสาหกรรมดาวรุ่งไทย พร้อมบุกตลาดอาเซียน 600 ล้านคน

นายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างเสวนา “การเปิดตลาดการค้าบริการสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของไทยในกรอบอาเซียน: ประเทศไทยพร้อมหรือไม่” ว่า ขณะนี้ไทยมี 8 อุตสาหกรรมดาวรุ่งที่สามารถพัฒนาศักยภาพและ ความพร้อมของบุคลากรในประเทศให้ไปสร้างงานในตลาดอาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน

สำหรับอุตสาหกรรมทั้ง 8 ประเภท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์บริการ แอนิเมชั่น อีเลิร์นนิ่ง สมองกลฝังตัว (Embedded software) เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีบริการเพื่อการท่องเที่ยว โดยอุตสาหกรรมดาวรุ่งทั้ง 8 ประเภทนี้ไม่ได้มุ่งเน้นว่าไทยต้องแข่งกับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว แต่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผนึกกำลังพันธมิตรที่ทำให้ไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ทั้งนี้ การส่งเสริมหรือเตรียมความพร้อมของไทยที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รัฐบาลต้องมีเป้าหมายจริงจัง เช่นประเทศเวียดนามที่กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีให้ครบ 1 ล้านคนในอีก 7 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีเพียง 2 แสนคนเท่านั้น การสร้างรายได้จากซอฟต์แวร์ในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศเวียดนามจริงจังกว่าไทยมาก ดังนั้น หากไทยจะไปเปิดตลาดอาเซียน ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรมากกว่านี้

นายวิชัย เบญจรงคกุล นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย (ในพระบมราชูปถัมภ์) กล่าวว่า รัฐต้องแก้ปัญหาเรื่องลหลักสูตรของสถาบันการศึกษาที่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเพื่อผลิตบุคลากรให้ไปเปิดตลาดอาเซียนได้ เพราะขณะนี้แรงงานด้านโทรคมนาคมของไทยขาดแคลนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาไม่ได้มุ่งเน้นที่การผลิตบุคลากร ทำให้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังต้องกฎหมายที่ส่งเสริมนักลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่หรือเขตที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนหรือประกอบการได้ เพราะปัจจุบันยังไม่ค่อยชัดเจนมากนัก ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และเลือกที่จะไปลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านใก้ลเคียงไทยมากกว่า

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักการค้าบริการและการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยต้องมองตลาดให้ใหญ่ขึ้น เพราะตลาดอาเซียนใหญ่กว่าประเทศไทย 10 เท่า รวมทั้งควรเจรจาเพิ่มเติมเรื่องการเปิดเสรี โดยจัดกลุ่มอื่นๆ ที่ระบุได้เองว่าจะเปิดเสรีเท่าไร อย่างไร เพราะที่ผ่านมาการเปิดเสรีในกลุ่มบริการที่ตกลงไว้ คือ โทรเลข แฟกซ์ ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีด้านบริการต้องเปิดเสร็จริงๆ เช่น กำหนดให้ต่างชาติมาลงทุนได้ 70% แต่ในทางปฏิบัติยังติดขัดเรื่องข้อกฎหมายและทำให้สัดส่วนการเปิดเสรีไม่ถึง 70%

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

กรมโรงงานฯ เข้ม “โรงงานอุตสาหกรรมไทย”

• พลิกโฉมหน้า “โรงงานอุตสาหกรรมไทย” ก้าวสู่ “อุตสาหกรรมสีเขียว”
• เดินยุทธศาสตร์เชิงรุก ทั้งบู๊และบุ๋น ให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวสู่มาตรฐาน ISO 26000
• กรอ.วาดอนาคตโรงงานอุตสาหกรรมไทย เป็น Eco-Industial Town

พงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

นั่นเป็นเหตุผลของการดำเนินโครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมโดยเน้นให้ผู้ประกอบการมุ่งตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม หรือ CSR-DIW มากขึ้น ซึ่งทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551
เรียกว่าเป็นโครงการสำคัญของกรมโรงงานฯ และยังเป็น 1 ใน 10 ของ Flagship Project ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอด 5 ปีที่ดำเนินโครงการ CSR-DIW ซึ่งมีโรงงานเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 384 ราย และได้รับเกียรติบัตรแล้ว 321 ราย

ยุทธศาสตร์สองด้านในเชิงรุก
สืบเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาใน 5 มิติ คือ มิติทางด้านกายภาพ มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสิ่งแวดล้อม มิติทางสังคม และมิติการบริหารจัดการ ซึ่งต่อจากนี้การพัฒนาของอุตสาหกรรมในพื้นที่จะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นสำคัญ

ทำให้ กรอ.เดินหน้ายุทธศาสตร์ในเชิงรุก 2 ด้าน คือ ตั้งสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ให้กับเครือข่ายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ล่าสุดจัดสัมมนาเป็นรุ่นแรก ในภาคเหนือ เมื่อวันที่ 23 - 24 มกราคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ส่วนอีกด้านเป็นการควบคุมดูแลให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศปฎิบัติตามกรอบกฎหมาย โดยมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. อุตสาหกรรมจังหวัดซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้มีการติดตามสอดส่องโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น

“โดยหน้าที่และความรับผิดชอบของ กรอ.เอง การใช้กำลังคนภายในหน่วยงานคงไม่เพียงพอต่อการดูแลอย่างทั่วถึง ด้านหนึ่งเราจึงมุ่งถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง ให้เขามองเห็นข้อดีต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ทำให้เห็นผลดีของการคำนึงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่วนอีกด้านเราก็ต้องเข้มข้นในการวางกรอบให้ปฏิบัติตามอย่างเท่าเทียม” พงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว และว่า

เราประเมินภารกิจโดยมุ่งถึงประสิทธิผลของงานเป็นสำคัญ จึงวางกรอบแผนปฏิบัติงานไว้ 3 ระยะ คือ ในระยะสั้น มุ่งให้โรงงานอุตสาหกรรม เคารพในกติกาโดยปฏิบัติภายใต้ ในระยะกลาง มุ่งส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่เข้าร่วมโครงการ CSR-DIW แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามแก้ไขข้อปฏิบัติให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนในระยะยาว เราคาดหวังว่าโรงงานอุตสาหกรรมไทยจะเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industry Town)

เดินหน้าโครงการ CSR-DIW
ในปี 2556 นี้ กรมโรงงานฯ เปิดรับสมัครโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ CSR-DIW เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มโรงงานที่มีศักยภาพในการดำเนินงานตามมาตรฐาน CSR-DIW ตาม 7 หัวข้อหลัก
กลุ่มที่ 2 CSR-DIW for Beginner กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการดำเนินตามมาตรฐาน CSR-DIW เฉพาะหัวข้อสิ่งแวดล้อม หรือ ด้านพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการฝึกการทำ CSR เบื้องต้น
กลุ่มที่ 3 CSR-DIW Network กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับเกียรติบัตร CSR-DIW ปี 2551-2555 ให้มีการดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบเครือข่าย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พงษ์เทพ กล่าวว่า โครงการนี้ตั้งเป้าให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ นำมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Work : CSR-DIW) ไปประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ แต่ละปี เราตั้งเป้าหมายขั้นต่ำไว้ที่ 100 โรงงานต่อปี ตลอดจนมีเป้าหมายให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับเกียรติบัตร CSR-DIW ไปแล้ว มีการทำอย่างต่อเนื่องยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาตนเองเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน ISO 26000 มากที่สุด

"รวมถึงยังมีแผนที่จะผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีบริษัทลูก หรือ คู่ค้าดำเนินการอยู่ในกลุ่มประเทศกลุ่มอาเซียน ได้ดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อีกด้วย”

"สำหรับโรงงานในกลุ่ม CSR-DIW for Beginner เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กที่ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ CSR-DIW for Beginner จึงเป็นการเริ่มต้นที่ของโรงงานขนาดเล็กที่อยากเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อไปสู่มาตรฐาน CSR-DIW และ ISO26000 เมื่อปีที่แล้วตั้งเป้ามีโรงงาน CSR-DIW for Beginner 400 โรงงาน แต่ก็มีโรงงานได้รับเกียรติบัตรถึง 403 โรงงาน ส่วนในปีนี้ต้องการให้มีโรงงานเข้าร่วม 750 โรงงาน”

วัตถุประสงค์ของมาตรฐาน CSR-DIW ต้องการให้เกิดองค์กรในรูปเครือข่ายในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ชุมชนอย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วม อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ก่อให้เกิดการร่วมมือกันขององค์กรในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญการ สามารถดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ให้เกิดผลกระทบที่เป็นรูปธรรมโดยใช้เวลาและทรัพยากรน้อยที่สุด โดยนำศักยภาพขององค์กรมาผสมผสานเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“หลายคนมักจะสับสน หรือ อาจจะสงสัยว่าโครงการ CSR-DIW และการรับรองระดับอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นการดำเนินที่เกื้อหนุน หรือ ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ที่จริงทั้งสองเรื่องเป็นโครงการภายใต้นโยบายสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมจึงเปรียบเสมือนเป็นร่มคันใหญ่ และยังอยู่ภายใต้การดำเนินโครงการที่สำคัญในปี 2557ของรัฐบาล คือ โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน”

สำหรับปีนี้ กรอ.ได้ขยายโรงงานเป้าหมายไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก กลางไปจนถึงขนาดใหญ่ เพื่อมุ่งเน้นการนำไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวและเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้สามารถปรับตัวสู่มาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นระบบ สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสร้างระบบการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรมให้กับประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการผลิตสินค้าและบริการบนฐานปัญญานวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

Eco-Industial Town
หรือ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หมายถึง การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ประการส าคัญ มีการดูแลคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของคนในพื้นที่และทุกคนต้องมีความจริงจังในการดำเนินการร่วมกัน โดยสามารถด าเนินการได้ทุกระดับเริ่มตั้งแต่
1) ระดับปัจเจกชน เช่น ครอบครัวและโรงงาน (Green Family / Green Factory)
2) ระดับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือชุมชน เช่น นิคมอุตสาหกรรม เขต ประกอบการอุตสาหกรรม หรือหมู่บ้าน หรือต าบล (Eco Industrial Zone/Estate / Eco Community)
3) ระดับเมือง (Eco Town / Eco City) หรือเครือข่ายของเมืองหรือ จังหวัด
กลยุทธ์การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
• การพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดหรือไม่มีการปล่อยมลพิษ (Zero Emission) โดยใช้ Cleaner Technology, 3 Rs
• สร้างความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในและนอกพื้นที่ (ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ประหยัดการใช้พลังงาน แลกเปลี่ยนของเสีย ฯ )
• สร้างพื้นที่ของการใช้วัสดุหมุนเวียน (Recycling Society) และพื้นที่ลดการปล่อยก๊าซที่ท าให้เกิดสภาวะโลกร้อน (Low carbon Society)
• การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชุมชนในการพัฒนาพื้นที

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

 

สศก. จัดใหญ่ เปิดเวที 4 ภาค เดินหน้าร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ปี 56 – 59

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้า ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 – 2559 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้ยกร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวขึ้น และจัดระดมข้อคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเกษตรกร และเกษ ตรกรในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และเหมาะสมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ เนื่องจากยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 – 2554 นั้น ได้สิ้นสุดลง แต่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์มีความสำคัญที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์

สำหรับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ในช่วงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 - 2554 ที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์ของไทยในปัจจุบันมีมากกว่า 212,000 ไร่ สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้มากกว่า 5,900 ตัน มีมูลค่าภายในประเทศมากกว่า 1,752 ล้านบาท สามารถส่งออกได้ โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 249 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่าเกษตรอินทรีย์ของไทยได้พัฒนาขึ้นมาจนมีความสำคัญต่อสังคมเศรษฐกิจ และมีโอกาสสูงในการแข่งขันกับต่างประเทศ จึงควรขยายการผลิต การบริโภค ภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความยังยืนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกทางหนึ่ง

จาก http://www.thaipost.netวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

เร่งอนุมัติโรงงานเสี่ยงภัย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯได้พิจารณากลั่นกรองคำขออนุญาตของโรงงานก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) หรือใบอนุญาตขยายโรงงานเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับของเสียโรงงานที่อาจมีปัญหามวลชน หรือโรงงานที่ต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากทั้งหมด 135 เรื่องใกล้เสร็จสิ้นแล้ว และคาดว่าในเดือน ก.พ. นี้จะพิจารณาอนุญาตได้หมด

"โรงงานที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่าง โรงงานไฟฟ้า เป็นต้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากโรงงานประเภทนี้มักจะก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญหรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จนมีประชาชนชุมนุมประท้วง หรือคัดค้านการตั้งหรือประกอบกิจการอยู่ต่อเนื่อง"

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การพิจารณาอนุญาตจะทำกันเป็นองค์คณะ ซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองอธิบดีกรมโรงงงานอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา อาจมีผลกระทบต่อผู้ขออนุญาตอยู่บ้างเนื่องจากคณะกรรมการต้องมีความรอบคอบ เพราะปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ จำนวนมากที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่รอบโรงงาน และมีผลต่อการลงทุนของโรงงานเอง

"ปัจจุบันคณะกรรมการการกลั่นกรองฯจะประชุมกันทุกวันศุกร์ โดยมีเรื่องพิจารณาแต่ละสัปดาห์ 15-20 เรื่อง ซึ่งการมีคณะกรรมการกลั่นกรองทำให้การพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานประเภทที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นไปด้วยความรอบคอบมากยิ่งขึ้น และเบ็ดเสร็จในจุดเดียว".

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

ไทยชูการ์ชี้ภัยแล้งดึงยอดผลิตน้ำตาลหด

ไทยชูการ์ มิลเลอร์ เผยผลผลิตน้ำตาลปี 2556 หดตัว หีบอ้อยแล้ว 60 ล้านตัน ได้น้ำตาล 5.6 พันล้านกิโลกรัม เหตุน้ำแล้ง หนาวช้า ทำค่าความหวานลด เร่งแก้ปัญหาหวั่นฤดูกาลหน้าซ้ำรอย ด่าน ครม.เห็นชอบจ่ายเงินชดเชยเกษตรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล วงเงิน 78 ล้านบาท

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (ทีเอสเอ็มซี) เปิดเผยว่า การหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2555/2556 ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2555 รวม 90 วัน พบว่าโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 50 โรง รับอ้อยเข้าหีบแล้ว 59.24 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลได้ 55.69 ล้านกระสอบ หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 94.01 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของฤดูการผลิตที่ผ่านมาที่ผลิตน้ำตาลทรายได้ 100.74 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

ส่วนค่าความหวานของปี 2556 นี้ ก็ต่ำกว่าปี 2555 โดยอยู่ที่ 11.06 ซี.ซี.เอส ขณะที่ปีก่อนอยู่ที่ 11.64 ซี.ซี.เอส. เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และอากาศหนาวเย็นก็มาช้ากว่าที่ควร ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าโรงงานน้ำตาลทรายจะใช้ระยะเวลาหีบอ้อยในฤดูการผลิตไม่ถึง 140 วัน โดยอาจปิดหีบอ้อยภายในเดือน มี.ค.2556 ซึ่งจะเร็วกว่าปีที่ผ่านๆ มา ดังนั้น เมื่อฤดูการผลิตปี 2556 นี้ สามารถปิดหีบได้เร็วขึ้น ทางโรงงานน้ำตาลทรายต่างๆ คงต้องเร่งเตรียมแผนการสร้างอ้อยที่ดีสำหรับปีหน้า โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือชาวไร่อ้อย บำรุงตออ้อย ดิน และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการจ่ายเงินชดเชยพิเศษให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล จ.ตาก โดยอนุมัติให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ได้รับอนุมัติจาก
กระทรวงการคลัง ให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแล้ว ภายในกรอบวงเงิน 78 ล้านบาท.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

สปก.ชวนผู้ประกอบการสินค้าเกษตรหนุนผลผลิตGAP

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคม ส.ป.ก.จะเชิญผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตร ตั้งแต่โรงงานผลิต โรงงานแปรรูป โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานน้ำตาล สมาคมผู้ส่งออก ที่เกี่ยวกับพืชอุตสาหกรรม 4 ชนิดคือ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและสับปะรด มาประชุมหาแนวทางรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) โดยจะหารือร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้แทนเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินและนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณการผลิต ราคาประกันสินค้าเกษตร และความสม่ำเสมอของผลผลิตหรือปัญหาอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการเสนอเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ทั้งนี้ หากเจรจาแล้วสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ จะนำไปสู่การลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลง (MOU: Memorandum of Understanding) ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การรับซื้อผลผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในอนาคต

ปัจจุบันเขตปฏิรูปที่ดินมีพื้นที่ดำเนินการที่เกษตรกรมีความพร้อมในการขอรับรอง GAP และมีพื้นที่ผลิตพืชแต่ละชนิดมากเพียงพอที่จะผลิตเชิงการค้าได้ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังที่จ.นครราชสีมาและกำแพงเพชร ข้าวโพดที่จ.แพร่ อ้อยที่จ.ขอนแก่น และสับปะรดที่จ.ราชบุรี สำหรับกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสงค์จะขอใบรับรอง GAP แบบกลุ่ม เพื่อส่งผลผลิตให้โรงงานแปรรูปเพื่อส่งออก จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานในพื้นที่ ส.ป.ก. พบว่า พื้นที่ อ.อ่าวน้อยไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน บางส่วนเป็นพื้นที่เช่า จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ศรม.) ที่จะออกใบรับรองได้

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อออกใบรับรอง GAP ข้าวกับพืชผัก ในปี 2556 ส.ป.ก.จะดำเนินการให้ความรู้แก่เกษตรกรและฝึกฝนเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีทักษะความสามารถในการตรวจสอบแปลง ตลอดจนการสร้างกระบวนการรับรองมาตรฐานให้เกิดขึ้น เชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และในปี 2557 ก็จะสามารถออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ข้าวและพืชผัก ให้แก่เกษตรกรได้ ในเรื่องการส่งเสริมเกษตรกรนั้น จะมีความแตกต่างไปจากเดิม เฉพาะในเรื่องของข้าวและพืชผัก

ส.ป.ก.จะใช้วิธีการจำแนกพื้นที่ (Zoning)คือ คัดเลือกพื้นที่เพื่อรวมกลุ่มผู้ผลิต เพื่อสะดวกในเรื่องการส่งเสริม การรับรองคุณภาพผลผลิต รวมถึงการรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย หากพื้นที่เหล่านี้ประสบผลสำเร็จ จะเป็นต้นแบบของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ส.ป.ก.ส่งเสริมเพื่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

ชาวไร่อ้อยลุ้นเงินเพิ่ม2หมื่นล.

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ประสานกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งพิจารณาการเพิ่มเงินค่าอ้อย 250 บาทต่อตัน รวมเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาท ว่า นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เร่งจัดประชุมพิจารณาวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2555/2556 ว่า หลังเปิดหีบอ้อยวันแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่าโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 50 โรง รับอ้อยเข้าหีบแล้ว 59.24 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 55.69 ล้านกระสอบ หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ยอยู่ที่ 94.01 กิโลกรัม (ก.ก.) ต่อตันอ้อย ต่ำกว่าฤดูการผลิตที่ผ่านมา ซึ่งผลิตน้ำตาลทรายได้ 100.74 กก.ต่อตันอ้อย เนื่องมาจากปีนี้ปริมาณน้ำน้อย บางพื้นที่ถึงขั้นแล้ง และอากาศหนาวเย็นมาช้ากว่าที่ควร

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

หาทางออกวัตถุอันตรายเฝ้าระวัง 4 ชนิด

จกกรณีที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันของทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็น ด้วยต่อการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ อีพีเอ็น (EPN) ไดโครโทฟอส (dicrotophos) คาร์โบฟูราน (carbofuran) และเมโทมิล (methomyl) ทาให้กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 เตรียมดาเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงตัวเกษตรกร

ที่ผ่านมาเกษตรกรใช้วัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังทั้ง 4 ชนิดนี้ เพื่อกาจัดศัตรูพืช แตกต่างกันออกไปโดย อีพีเอ็น ใช้กาจัดหนอนเจาะลาต้นข้าวโพดในข้าวโพด ไรขาวพริกในถั่วเขียว เพลี้ยไฟฝ้ายในแตงโม ไรแดงหม่อน ไรแดงมันสาปะหลังในมันสาปะหลัง เพลี้ยไฟ เพลี้ยไฟพริกในเงาะ ฯลฯ ไดโครโทฟอส ใช้กาจัดด้วงหมัดผักในผักคะน้าและผักกาดขาว คาร์โบฟูราน ใช้ กำจัดบั่วเพลี้ยกระโดดสีน้าตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว เพลี้ยจักจั่นสีเขียว หนอนกอสีครีม หนอนกอแถบลายม่วง หนอนกอแถบลาย หนอนกอสีชมพูในข้าว หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่วในถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วฝักยาว หนอนกออ้อย หนอนกอลายจุดเล็กอ้อย หนอนกอสีขาว หนอนกอสีชมพู ด้วงขี้ควายในอ้อย ฯลฯ และ เมโทมิล ใช้กาจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายในมะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง หนอนคืบ หนอนใยฝัก เพลี้ยอ่อน ในพืชตระกูลกะหล่ำ หนอนคืบ เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้ หนอนเจาะฝักในหอม พริก มันฝรั่ง หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกินดอกยาสูบ เพลี้ยอ่อนลูกท้อในยาสูบ เป็นต้น

ในต่างประเทศ วัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดนี้ มีทั้งประเทศที่ประกาศการขึ้น ทะเบียนและประเทศที่ห้ามใช้ เช่น ดังตารางวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังทั้ง 4 ชนิดนี้ มีการวิเคราะห์ถึงอันตรายที่จะ เกิดขึ้น ดังนี้

อีพีเอ็นและไดโครโทฟอส เป็นสารเคมีกาจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง และหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้ว ประกอบกับในปัจจุบันผู้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายได้ยกเลิกคาขอขึ้นทะเบียนอีพีเอ็นแล้ว สาหรับ ไดโครโทฟอสผู้ประกอบการไม่สามารถหา หลักฐานการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตในประเทศผู้ผลิตได้

คาร์โบฟูราน เป็นวัตถุอันตรายที่มีอันตรายร้ายแรง หลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเช่นเดียวกัน สาหรับประเทศไทย เกษตรกรมักนิยมใช้คาร์โบ ฟูรานในพืชผัก ซึ่งใช้ไม่ตรงตามคาแนะนา ของทางราชการ จึงทาให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม คาร์โบฟูรานจานวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณที่นาเข้าทั้งหมดจะถูกใช้กาจัดศัตรูพืช ในนาข้าว ซึ่งกรมการข้าวเห็นว่าไม่ควรใช้คาร์โบฟูรานในนาข้าว เพราะจะก่อให้ เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ เกิดการ ระบาดซ้ารุนแรงของแมลงศัตรูพืช ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ และเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และข้อมูลจากงานวิจัย พบว่า คาร์โบฟูรานที่ตกค้างในอาหาร ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม ไม่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทาให้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตคาร์โบฟูรานยกเลิกการใช้คาร์โบฟูราน

เมโทมิล เป็นวัตถุอันตรายที่มีอันตรายร้ายแรง หลายประเทศยกเลิกการใช้แล้ว เมโทมิลเป็นวัตถุอันตรายที่มีพิษเฉียบพลันรุนแรง และมีสารเคมีที่มีอันตรายน้อยกว่าอีกหลายชนิดที่ใช้ทดแทนได้ เช่น ไดอะเฟนไทยูเอน คลอร์ฟีนาเพอร์ ฟิโปรนิล และไซเปอร์เมทริน ทั้งยังสามารถใช้สารทางเลือกหรือผลิตภัณฑ์ชีวินทรีย์ทดแทนสารเคมีได้ เช่น เชื้อแบคทีเรียบีที เป็นต้น และเป็นการลดความเสี่ยงจากการตรวจพบเมโทมิลตกค้างในผักและผลไม้ที่ส่งออกจากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นสาเหตุของการห้ามใช้วัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิด เนื่องจากเป็นสารที่มีอันตรายสูง และมีผู้ร้องเรียนให้ห้ามใช้ ตามลาดับเวลาดังนี้

1. กรมวิชาการเกษตรได้เฝ้าระวังวัตถุอันตรายที่มีอันตรายสูงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จานวน 16 ชนิด ซึ่งมีวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดนี้รวมอยู่ด้วย
2. ในระหว่างปี พ.ศ. 2546 2552 กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สานักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยความเสี่ยงจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร พบว่า เกษตรกรผู้ใช้มีระดับความเสี่ยงสูงจากการใช้คาร์โบฟูราน รวมทั้งการฉีดพ่นเมโทมิลในแปลงองุ่นใกล้ร่องน้า ซึ่งเป็นอันตรายสูงต่อสัตว์น้า ส่วนอีพีเอ็นและไดโครโทฟอส เกษตรกรผู้ใช้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน
3. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกมีหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 เพื่อขอเรียกร้องให้ระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกาจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิด คณะทางานดาเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่จะห้ามใช้ วัตถุอันตรายต้องมีการพิจารณาอย่างเป็นระบบ มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า วัตถุอันตรายนั้นมีพิษภัยต่อสุขภาพของมนุษย์หรือ สิ่งแวดล้อม จากการติดตามการนาไปใช้ และผลการศึกษาวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเพียงฉบับเดียวไม่เพียงพอที่จะใช้ตัดสินใจให้ห้ามใช้ได้ จึงเสนอให้กรมวิชาการเกษตรทาการศึกษาวิจัยร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรอิสระเพื่อให้ผล ที่ได้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
4. สมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีมติ ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรทบทวนการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิด เพื่อผลักดันให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้)
5. สานักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีหนังสือเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 เรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายของวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิด โดยมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้จัดวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดนี้เป็นชนิดที่ 4 ซึ่งสานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบให้พิจารณาข้อเสนอแนะของสานักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเรื่องต่อมายังกรมวิชาการเกษตรเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555
6. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 กรมวิชาการเกษตรได้ประชุมหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อมอบหมายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ การขึ้นทะเบียนและการห้ามใช้ในต่างประเทศ สารที่จะใช้ทดแทนพร้อมด้วยข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษ และการจัดทาการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะกำหนดจัดในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
7. ผลการศึกษาวิจัยของกลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สานักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2555 พบว่า

การประเมินความเสี่ยงในการใช้สาร คาร์โบฟูราน ได้ค่า MOE (Margin of Exposure) ออกมาต่ำกว่า 100 ดังนั้น ประเมินได้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติงานหว่าน คาร์โบฟูรานในนาข้าวมีความเสี่ยงต่อการ ได้รับสารพิษ

การประเมินระดับความเสี่ยงของ ผู้ฉีดพ่นสารเมโทมิลในสวนองุ่นจากการใช้ในอัตราแนะนา พบว่า ระดับความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ ในด้านสารพิษตกค้าง เมื่อเว้นระยะเก็บเกี่ยว 21 วัน ตรวจพบปริมาณสารพิษตกค้างเมโทมิลในปริมาณเฉลี่ยสูงถึง 1.04 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ใกล้เคียงกับค่า MRL ของไทยแต่ยังสูงกว่าค่า Codex MRL 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ค่าครึ่งชีวิตของการสลายตัวของสารพิษตกค้างเมโทมิลในดินมีค่าเท่ากับ 3 - 4 วัน ถือว่าสลายตัวในดินค่อนข้างเร็ว

เมื่อตรวจสอบสารพิษตกค้างของ เมโทมิลในน้าทุกตัวอย่าง พบในระดับ 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ตค่ามาก และไม่มีความเสี่ยงภัยในเรื่องสารปนเปื้อนในน้าเมื่อใช้สารเมโทมิลในองุ่นในอัตราที่แนะนา สาหรับสารพิษ ตกค้างในปลาพบสูงสุดเพียง 0.013 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าปริมาณสารพิษตกค้างเมโทมิลที่ตรวจพบในปลามีปริมาณค่ามาก

จากข้อคิดเห็นของแต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันของทั้งกลุ่มที่ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิด จาเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว เนื่องจากการจะยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายชนิดใดก็ตาม จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มบุคคล ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียกับวัตถุอันตรายชนิดนั้นก่อน

แล้วเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานพิจารณาว่าจะกำหนดให้วัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนาเข้า ห้ามจาหน่าย และมีไว้ในครอบครองโดยเด็ดขาด หรือไม่ กรมวิชาการเกษตรไม่มีอำนาจหน้าที่ในการยกเลิกการใช้ได้เอง

ด้วยเหตุนี้ กรมวิชาการเกษตร จึงจะจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง 4 ชนิด ในวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ ณ ห้องประชุม 501 (ชั้น 5) อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สานักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระหว่างเวลา 08.30 16.00 น. สาหรับผู้ที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวนั้นจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดในทุกภาคส่วน จานวน 150 คน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ เกษตรกร และสื่อมวลชน

นายดารงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการมายื่นข้อมูลเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทั้ง 4 ชนิดกับกรมวิชาการเกษตร โดยมีการขอยกเลิกคาขอขึ้นทะเบียน 1 ชนิด คือ อีพีเอ็น แต่กรมวิชาการเกษตรยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน เนื่องจากเป็นวัตถุอันตรายที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังและยังมีความ คิดเห็นไม่ตรงกันของบุคคลบางกลุ่ม ดังที่กล่าวมาแล้ว การจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ คาดว่าจะ ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนเพื่อเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

ธุรกิจน้ำตาลยักษ์ใหญ่ปั้น ” ปั้นม.เจ้าพระยา “ สร้างทุนมนุษย์

จ่อเปิดสาขาอ้อย ดึงทายาทไร่อ้อยเรียน
เครือธุรกิจน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ใช้ประสบการณ์ความเป็นมืออาชีพทางธุรกิจ กับกว่า 20 บริษัทในเครือร่วมหนุน ม.เจ้าพระยา มหาลัย ปั้นเถ้าแก่ใหม่ ให้ทุนฟรีไม่อั้น จบแล้วมีงานให้ทำ เตรียมเปิดสาขาด้านอ้อย-น้ำตาล รับทายาทเกษตรกรเรียน พร้อมจัดสรรพื้นที่มหา”ลัย กว่าพันไร่เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรกรรมครบวงจร

นางดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองอธิบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัทในเครือน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ในรายภาคเหนือ เปิดเผยถึงการจัดการศึกษาและการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาว่า มหาวิทยาลัยเริ่มจัดการเรียนการสอนในปี 2541 ปัจจุบันเปิดสอนถึงระดับปริญญาเอกแล้ว มีบัณฑิตจบไปแล้ว 13 รุ่น มีนักศึกษา 1,300 คน ซึ่งหากดูที่สาขาวิชาและจำนวนนักศึกษาถือว่ายังไม่มาก เนื่องจากไม่ได้หวังกำไรจากจำนวนนักศึกษา และเชื่อว่าการมองการศึกษาเป็นธุรกิจไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นแนวคิดในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของสังคมและท้องถื่นมากกว่า ให้คนต่างจังหวัดที่ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะลูกหลานเกษตรกรที่พ่อแม่ยากจนแต่อยากให้ลูกเรียนจบปริญญาตรี ต้องขายที่ดินทำกินเพื่อส่งลูกเรียน มหาวิทยาลัยจึงอยากให้โอกาสเด็กกลุ่มนี้ได้เรียนหนังสือและมีอาชีพที่ดี โดยมีทุนการศึกษาแบบให้เปล่า ในแต่ละปีจำนวนหลายสิบทุน เฉพาะที่เป็นทุนของมหาวิทยาลัยมีกว่า 13 ทุน รวมเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 22 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังยังมีเงินรางวัลสำหรับนักศึกษาที่มีความสามารถด้านต่างๆ รวมถึงทุนฉุกเฉินกรณีประสบภัยพิบัติธรรมชาติหรือภัยพิบัติอื่นๆ โดยไม่จำกัดจำนวนเงินและจำนวนทุน ดังนั้นนักศึกษาที่นี่จะไม่มีการออกกลางคันเพราะไม่มีเงินเรียน

“นอกจากเราจะให้ทุนเรียนแบบไม่อั้นแล้ว เรายังมีกลุ่มธุรกิจในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นฐานรองรับ เช่นโรงงานน้ำตาล ซึ่งมีอยู่ 3 โรง และ 1 ใน 3 เป็นโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีโรงงานเยื่อกระดาษ โรงงานเอทานอลที่ใหญ่สุดในโลกและภูมิภาค มีโรงไฟฟ้าชีวมวล และก็ยังมีธุรกิจส่งออก อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเดินเรือสมุทร ดังนั้นนักศึกษาของเราจะมีแหล่งฝึกงานและแหล่งงานเมื่อเรียนจบ เป็นหลักประกันว่าเรียนที่นี่ถ้าคุณไม่อยากไปทำงานที่อื่นเรามีงานให้คุณทำ นอกจากนี้เรายังมีพันธมิตรทางธุรกิจอยู่ทั้งในและต่างประเทศ ที่รับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานหรือทำงาน เช่น บริษัทไพรท์วอเตอร์เฮาส์ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นโอกาสของนักศึกษาซึ่งที่อื่นอาจจะไม่มีโอกาสอย่างนี้” นางดารัตน์กล่าว

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยากล่าวถึงแนวทางการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนว่า เนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถวิเคราะห์ความต้องการตลาดแรงงานได้ค่อนข้างชัด ดังนั้นทุกสาขาที่เปิดสอนจึงสามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี เช่น สาขาบัญชี การจัดการ การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว, สาขาการโฆษณาประชาสัมพันธ์, นิติศาสตร์, รัฐประศาสนศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรเทียบโอนสำหรับผู้ที่จบปวส. ในสาขาการบัญชี การจัดการ การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ปริญญาโทมีหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน และปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาองค์การ ส่วนการเรียนการสอนนอกจากจะเน้นความเข้มข้นทางวิชาการและทักษะทางด้านวิชาชีพแล้ว ยังเน้นปลูกฝังด้านคุณธรรมจริยธรรม บุคลิกภาพที่มีทั้งความเป็นไทยและเป็นสากล นอกจากนี้ยังมีวิชาเสริมซึ่งที่อื่นไม่มี เรียกว่าวิชาแก้วสารพัดนึก เพื่อสอนให้นักศึกษาเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะเด็กที่มาเรียนที่นี่บางคนมาจากครอบครัวที่ยากจน ไม่มีพ่อแม่ อยู่กับพระกับตายาย แต่ทุกคนสามารถไปถึงฝั่งฝันและประสบความสำเร็จได้

“การทำมหาวิทยาลัยของเราเป็นส่วนหนึ่งของบริการเพื่อสังคมหรือซีเอสอาร์ คือสร้างคนดีและคนเก่งออกไปรับใช้สังคม และก็สร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น ตอนนี้มีลูกหลานชาวไร่อ้อยมาเรียนกับเราเยอะมาก ซึ่งเด็กเหล่านี้จบแล้วต้องออกจากบ้านไปทำงานที่อื่น ทั้งที่เขาควรทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง ได้อยู่กับพ่อแม่ และการทำอ้อยสามารถเลี้ยงชีพได้ และเป็นธุรกิจก็ยังโตอีกเยอะ ตอนี้เราก็เลยมีแผนจะเปิดหลักสูตรปริญญาตรีที่เกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล เรียนรู้การทำไร่อ้อยและการทำธุรกิจอ้อยและน้ำตาล เช่น ทำอย่างไรถึงจะได้ผลผลิตดี ราคาอ้อยในตลาดเป็นยังไง ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านอ้อยและน้ำตาลในเครือมาร่วมร่างหลักสูตร คาดว่าไม่เกิน 2 ปีน่าจะเปิดสอนได้ ส่วนในมหาวิทยาลัยซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ที่เหลือจากการสร้างอาคาร ก็จะทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมแบบครบวงจร ซึ่งนอกจากนักศึกษาและอาจารย์แล้วก็จะรับอบรมให้ความรู้กับบุคคลภายนอกด้วย” อธิการบดี ม.เจ้าพระยากล่าวในที่สุด

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

โรงงานแก้ปัญหาคุณภาพอ้อยปี 57

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 55/56 ว่า หลังโรงงานน้ำตาลทรายเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เปิดหีบวันแรกเมื่อ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 50 โรง รับอ้อยเข้าหีบแล้ว 59.24 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลได้ 55.69 ล้านกระสอบ (5,569 ล้านกิโลกรัม) หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 94.01 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าระยะเวลาเดียวกันของฤดูการผลิตที่ผ่านมา ซึ่งผลิตน้ำตาลทรายได้ 100.74 กิโลกรัม/ตันอ้อย ส่วนค่าความหวานของปีนี้ก็ต่ำกว่าปีก่อน โดยอยู่ที่ 11.06 ซี.ซี.เอส ขณะที่ปีก่อนค่าความหวานเฉลี่ย 11.64 ซี.ซี.เอส. ทั้งนี้ คุณภาพอ้อยที่ต่ำลงเนื่องมาจากปีนี้ปริมาณน้ำน้อย บางพื้นที่ถึงขั้นแล้ง และอากาศหนาวเย็นก็มาช้ากว่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทราย พบว่า โรงงานมีประสิทธิภาพในด้านการหีบอ้อยเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ดีขึ้น โดยหากเปรียบเทียบเฉพาะโรงงานที่จำนวนเท่ากับปีที่ผ่านมา ไม่รวมปริมาณอ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ที่เพิ่งเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตนี้อีก 4 แห่ง พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 58.02 ล้านตัน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.44 แสนตัน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวัน 6.16 แสนตัน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานน้ำตาลทรายหลายแห่งได้ลงทุนปรับปรุงคุณภาพเครื่องจักร และจัดระบบการนำอ้อยเข้าหีบได้ดีขึ้น

“หากนำตัวเลขค่าเฉลี่ยอ้อยเข้าหีบต่อวันดังกล่าว บวกกับโรงงานที่เปิดหีบอ้อยเพิ่มอีก 4 โรงในปีนี้ มาคำนวณด้วยปริมาณอ้อยที่คาดการณ์ผลผลิตอ้อยในปีนี้ที่ 90 ล้านตันนั้น คาดว่าโรงงานน้ำตาลทรายจะใช้ระยะเวลาหีบอ้อยในฤดูการผลิตปีนี้เพียงไม่ถึง 140 วัน โดยอาจปิดหีบอ้อยภายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะเร็วกว่าปีที่ผ่านๆ มาซึ่งปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ โดยเฉพาะปีที่แล้ว โรงงานสุดท้ายที่ปิดหีบยาวไปถึงวันที่ 18 พ.ค.55” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นายสิริวุทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อฤดูการผลิตปีนี้สามารถปิดหีบได้เร็วขึ้น ทางโรงงานน้ำตาลทรายต่างๆ คงต้องเร่งเตรียมแผนการสร้างอ้อยที่ดีสำหรับปีหน้า โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือชาวไร่อ้อย บำรุงตออ้อย ดิน และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อบำรุงพันธุ์อ้อยให้เจริญเติบโตเป็นอ้อยที่มีคุณภาพที่ดี หลังผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปีนี้ไม่ดีนัก ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกด้าน เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

“พาณิชย์” จับมือเอกชนตั้งคณะทำงานร่วมวางแผนถก FTA ไทย-อียู และแก้ข้อกีดกัน

“พาณิชย์” ถกภาคเอกชน ดันตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย หารือกำหนดท่าทีเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และร่วมมือแก้ไขปัญหาการค้า พร้อมเดินหน้าเตรียมความพร้อมรับมือเปิดเออีซีปี 58

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับความร่วมมือทางการค้า วานนี้ (18 ก.พ.) ว่า ได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา 2 ชุด โดยชุดแรกเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจ 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐบาล เอกชน และประชาสังคม ทำหน้าที่ติดตามการเจรจาเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการวันที่ 4-6 มี.ค.นี้ และอีกชุดเป็นคณะทำงานประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าในทุกด้าน โดยทั้ง 2 ชุดมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ทั้งนี้ ในการเดินทางเยือนเบลเยียมอย่างเป็นทางการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันที่ 4-6 มี.ค.นี้ รัฐบาลไทยจะมีการประกาศเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูอย่างเป็นทางการ โดยกระทรวงพาณิชย์ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากฝ่ายใดได้รับผลกระทบจะมีการเยียวยาช่วยเหลือ โดยมั่นใจว่าการเจรจาเอฟทีเอรอบนี้ จะก่อให้ประโยชน์ในภาพรวมมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าที่การเปิดเอฟทีเอจะช่วยลดภาษีการค้าทดแทนการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในปี 2558 ได้

สำหรับคณะทำงานประสานความร่วมมือฯ จะทำหน้าที่ดูแล ติดตาม ประสานงานทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการออกเตือน ปกป้อง และต่อสู้คดีเกี่ยวกับการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) กับสินค้าไทยที่ไม่เป็นธรรม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) รวมถึงมาตรการอื่นๆ จากปัญหาสิ่งแวดล้อม และด้านแรงงาน

นายบุญทรงกล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 2 ปีข้างหน้า สภาหอการค้าฯ ได้เสนอให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น เช่น การตั้งศูนย์งานวันสต็อปเซอร์วิสเกี่ยวกับการค้า การเปิดด่านการค้าชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง และการเพิ่มจุดผ่านแดนใหม่ เช่น จุดผ่อนปรนกิ่วผาวอก ซึ่งต่อไปกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทางการค้าทั้งระบบ รวมถึงมาตรการดูแลธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ตลอดจนการปกป้องต่อสู้กับการค้าที่ไม่เป็นธรรม

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูโดยเร็ว เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยรวม และเชื่อว่าการตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย จะช่วยให้การเจรจาเอฟทีเอเดินหน้ารวดเร็ว และช่วยในการแก้ไขปัญหาข้อกีดกันทางการค้าได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทขณะนี้ไม่มีความน่ากังวล เพราะตอนนี้ค่าเงินเริ่มเสถียรภาพมากขึ้น ไม่ได้ผันผวนรวดเร็วเหมือนช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่อยากให้ภาครัฐช่วยดูแลให้ดี โดยเฉพาะเงินร้อน ที่เข้าออกอย่างรวดเร็ว และหากค่าเงินบาทจะแข็งค่า ก็ขอให้แข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

ลุ้น กอน.ถกแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยวันนี้

ลุ้น กอน.ถกแนวทางเยียวยาราคาอ้อยวันนี้ (20 ก.พ.) ปลัดอุตสาหกรรมชี้ เป็นเพียงการหารือรอบแรก แง้มเรื่องเงินขอให้รัฐช่วยกู้ให้อาจจะยังไม่เคาะผลสรุป

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2556 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวไร่อ้อย ได้เข้าพบนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จ.อุดรธานี เพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบ หน้าการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดราคาขั้นต้นที่ 950 บาทต่อตันอ้อย ในขณะที่ต้นทุนการผลิตที่เป็นจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 1,196 บาทต่อตันอ้อย

ทั้งนี้ นายยุทธพงศ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ประสานงานระหว่าง ครม. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว โดยนายประเสริฐได้มอบหมายให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและ น้ำตาลทราย (กอน.) เร่งหารือภายในคณะกรรมการฯ ในเรื่องนี้ ซึ่ง กอน.ได้กำหนดวันประชุมหารือในวันที่ 20 ก.พ.2556

“แนวทางที่ชาวไร่ต้องการยังคงอยู่ที่การให้รัฐบาลหาแหล่งเงินหรือกู้เงินจาก ธกส. มาเพื่อจ่ายส่วนเพิ่มค่าอ้อยให้ กับเกษตรกรที่ตอนนี้ต้นทุนอยู่ที่ 1,196 บาทต่อตันอ้อย แต่เงินชดเชยจะถึง 250 บาทต่อตันอ้อยหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับการ พิจารณาของ กอน.” นายกำธร กล่าว

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 20 ก.พ.2556 กอน.ทั้ง 3 ภาคจะประชุมเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งถือเป๋นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่ ครม.มีมติให้หาแนวทางช่วยเหลือชาวเกษตรกร แต่ในเรื่องของเงินกู้นั้นคงจะไม่ได้มีมติออกมาเลย ทั้งนี้ การช่วยเหลือจะยังไม่ได้ข้อยุติทันที

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวถึง ความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2555/2556 ว่า หลังโรงงานน้ำตาลทรายเปิดหีบอ้อยเปนระยะเวลารวม 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2555 เป็นต้นมา พบว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 50 แห่ง รับอ้อยเข้าหีบแล้ว 59.24 ล้านตัน สามารถ ผลิตน้ำตาลได้ 55.69 ล้านกระสอบ (5,569 ล้านกก.) หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 94.01 ก.ก.ต่อตันอ้อย ต่ำกว่าระยะเวลาเดียวกันของฤดูการผลิตที่ผ่านมา ซึ่งผลิตน้ำตาลทรายได้ 100.74 กก.ต่อตันอ้อย

ส่วนค่าความหวานก็ต่ำกว่าปีก่อน โดยอยู่ที่ 11.06 ซี.ซี.เอส ขณะปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 11.64 ซี.ซี.เอส. คุณภาพ อ้อยที่ต่ำลงเนื่องมาจากปีนี้ปริมาณน้ำน้อย บางพื้นที่ถึงขั้นแล้ง และอากาศหนาวเย็นก็มาช้ากว่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ในแง่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยพบว่าฤดูกาล 2555/2556 มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา กล่าวคือมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 58.02 ล้านตัน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.44 แสนตัน สูงกว่าปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ เฉลี่ยต่อวัน 6.16 แสนตัน ซึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานน้ำตาลทรายหลายแห่งได้ลงทุนปรับปรุงคุณภาพเครื่องจักร และ จัดระบบการนำอ้อยเข้าหีบได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ หากนำตัวเลขค่าเฉลี่ยอ้อยเข้าหีบต่อวันดังกล่าว บวกกับโรงงานที่เปิดหีบอ้อยเพิ่มอีก 4 โรงในปีนี้ มาคำนวณ ด้วยปริมาณอ้อยที่คาดการณ์ผลผลิตอ้อยในปีนี้ที่ 90 ล้านตัน คาดว่าโรงงานน้ำตาลทรายจะใช้ระยะเวลาหีบอ้อยในฤดูการผลิต ปีนี้เพียงไม่ถึง 140 วัน โดยอาจปิดหีบอ้อยภายในเดือนมี.ค. ซึ่งจะเร็วกว่าปีที่ผ่านๆ มาซึ่งปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ โดย เฉพาะปีที่แล้ว โรงงานสุดท้ายที่ปิดหีบยาวไปถึงวันที่ 18 พ.ค.2555

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

รง.น้ำตาลเตรียมแผนแก้คุณภาพอ้อยปีหน้าเผยปีนี้น้ำน้อย-หนาวช้าผลผลิตน้ำตาลหด

โรงงานน้ำตาลหีบอ้อยแล้ว 60 ล้านตัน ได้น้ำตาล 5.6 พันล้านกิโลกรัม ยิลด์ไม่ถึง 100 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ไทยชูการ์ มิลเลอร์ เผยเหตุน้ำตาลต่อตันอ้อยหด เพราะน้ำน้อย หนาวช้า

ต้องเร่งแก้ไม่ให้ซ้ำรอยในปีหน้า ขณะที่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลสูงขึ้น คาดอาจปิดหีบอ้อยได้ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม พร้อมเร่งส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ออกให้คำแนะนำชาวไร่อ้อย ดูแลตออ้อย การเตรียมดิน พร้อมจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อรองรับการเพาะปลูกอ้อยฤดูการผลิตปีหน้า ให้มีคุณภาพมากขึ้น

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC (Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited’ s public relations working group) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2555/2556 ว่า หลังโรงงานน้ำตาลทรายเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 90 วันนับตั้งแต่วันที่เปิดหีบวันแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 50 โรง รับอ้อยเข้าหีบแล้ว 59.24 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลได้ 55.69 ล้านกระสอบ (5,569 ล้านกิโลกรัม) หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 94.01 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าระยะเวลาเดียวกันของฤดูการผลิตที่ผ่านมา ซึ่งผลิตน้ำตาลทรายได้ 100.74 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่วนค่าความหวานของปีนี้ก็ต่ำกว่าปีก่อน โดยอยู่ที่ 11.06 ซี.ซี.เอส ขณะที่ปีก่อนค่าความหวานเฉลี่ย 11.64 ซี.ซี.เอส. ทั้งนี้ คุณภาพอ้อยที่ต่ำลงเนื่องมาจากปีนี้ปริมาณน้ำน้อย บางพื้นที่ถึงขั้นแล้ง และอากาศหนาวเย็นก็มาช้ากว่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทราย พบว่า โรงงานมีประสิทธิภาพในด้านการหีบอ้อยเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ดีขึ้น โดยหากเปรียบเทียบเฉพาะโรงงานที่จำนวนเท่ากับปีที่ผ่านมา ไม่รวมปริมาณอ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ที่เพิ่งเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตนี้อีก 4 แห่ง พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 58.02 ล้านตัน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6.44 แสนตัน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวัน 6.16 แสนตัน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานน้ำตาลทรายหลายแห่งได้ลงทุนปรับปรุงคุณภาพเครื่องจักร และจัดระบบการนำอ้อยเข้าหีบได้ดีขึ้น

“หากนำตัวเลขค่าเฉลี่ยอ้อยเข้าหีบต่อวันดังกล่าว บวกกับโรงงานที่เปิดหีบอ้อยเพิ่มอีก 4 โรงในปีนี้ มาคำนวณด้วยปริมาณอ้อยที่คาดการณ์ผลผลิตอ้อยในปีนี้ที่ 90 ล้านตันนั้น คาดว่าโรงงานน้ำตาลทรายจะใช้ระยะเวลาหีบอ้อยในฤดูการผลิตปีนี้เพียงไม่ถึง 140 วัน โดยอาจปิดหีบอ้อยภายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะเร็วกว่าปีที่ผ่านๆ มาซึ่งปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ โดยเฉพาะปีที่แล้ว โรงงานสุดท้ายที่ปิดหีบยาวไปถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2555” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC กล่าวด้วยว่า เมื่อฤดูการผลิตปีนี้สามารถปิดหีบได้เร็วขึ้น ทางโรงงานน้ำตาลทรายต่างๆ คงต้องเร่งเตรียมแผนการสร้างอ้อยที่ดีสำหรับปีหน้า โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือชาวไร่อ้อย บำรุงตออ้อย ดิน และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อบำรุงพันธุ์อ้อยให้เจริญเติบโตเป็นอ้อยที่มีคุณภาพที่ดี หลังผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปีนี้ไม่ดีนัก

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกด้าน เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อย โดยมีเป้าหมายให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ที่มั่นคงจากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ และให้มั่นใจได้ว่าจะมีผลผลิตอ้อยที่เพียงพอต่อการผลิตน้ำตาลทราย และความต้องการใช้ภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

ครม.อนุมัติสนับสนุนเงินชดเชยพิเศษให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล จ.ตาก

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง

วันนี้ (19 ก.พ. 56) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแล้ว ภายในกรอบวงเงิน 78,000,000 บาท โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมที่เหมาะสมดำเนินการเกี่ยวกับหน่วยงานและสัดส่วนงบประมาณที่ต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน และให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างยั่งยืนต่อไป แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 60 วัน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

สศก.เปิดเวที4ภาคระดมความเห็น ร่างยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์ปี56-59

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยหลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็น ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2556 - 2559 ที่ จ.ขอนแก่นว่า สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้ยกร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวขึ้น และจัดระดมข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเกษตรกร และเกษตรกร ในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ให้ครบถ้วน สมบูรณ์และเหมาะสมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ เนื่องจากยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 ได้สิ้นสุดลง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์

สำหรับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ในช่วงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 ที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์ของไทยในปัจจุบันมีมากกว่า 212,000 ไร่ ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้มากกว่า 5,900 ตัน มีมูลค่าภายในประเทศมากกว่า 1,752 ล้านบาท สามารถส่งออกได้ โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 249 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่าเกษตรอินทรีย์ของไทยพัฒนาขึ้น มีโอกาสสูงในการแข่งขันกับต่างประเทศ จึงควรขยายการผลิต การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกทางหนึ่ง

นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ในส่วนร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556-2559 ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1) การบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม 2) การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน 3) การสร้างความเข้มแข็งด้านการตลาดและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย และ4) การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งผ่านความเห็นชอบ จากคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556-2559 ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติแล้ว

ดังนั้น การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จึงระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภาคๆละ 150 คน รวม 600 คน เพื่อให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวครอบคลุมและสมบูรณ์ทุกประเด็น โดยครั้งแรกจัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ภาคใต้ วันที่ 4 มีนาคม ที่จ.สงขลา และครั้งที่ 4 ภาคกลางวันที่ 8 มีนาคม ที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ผลจากการจัดระดมข้อคิดเห็นทั้ง 4 ภาค สศก.จะรวบรวมสรุปเสนอคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานของประเทศปี 2556-2557 ให้มั่งคงและยั่งยืน 7 แนวทาง

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดการประชุมนโยบายและทิศทางของกระทรวงพลังงาน และการติดตามผลการดำเนินงาน โครงการลดใช้พลังงานภาครัฐว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายการพัฒนาพลังงานที่มีอยู่ เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคต
ทั้งนี้ มีการกำหนดแนวทางนโยบายและทิศทางพลังงาน ประกอบด้วย 1.นโยบาย Energy Bridge เนื่องประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ มีชายฝั่ง 2 ด้าน คือฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย ที่เอื้อประโยชน์ต่อการส่งเสริมการค้า 2.นโยบายกำหนดราคาน้ำมันเท่ากันทั่วประเทศ โดยจัดสร้างท่อขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความเสมอภาคในการใช้พลังงานราคาเดียว 3.นโยบายสำรองเชื้อเพลิงเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต 4.พัฒนาวิสาหกิจพลังงานทดแทนในชุมชน การผลิตพลังงานจากหญ้าเนเปียร์ เป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนในภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้น 5.การพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจากภาคเกษตร อาทิ เอทานอล จากอ้อย มันสำปะหลัง 6.ด้านการอนุรักษ์พลังงาน 7.เรื่องการกำกับราคาพลังงาน ในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้ม

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556

"ก.อุตฯ" เร่งพิจารณาออกใบ 'รง.4' "วิฑูรย์" เผย2เดือนมีคำขอ 135 เรื่อง มั่นใจแล้วเสร็จไม่เกินสิ้น ก.พ.นี้

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตามคำสั่งแต่งตั้งของ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคำขออนุญาตของโรงงาน ก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) หรือใบอนุญาตขยายโรงงาน เฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับของเสียโรงงานที่อาจมีปัญหามวลชน หรือโรงงานที่ต้องมีการประเมินความเสี่ยง ซึ่งเป็นโรงงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากโรงงานประเภทนี้มักจะก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญหรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จนมีประชาชนชุมนุมประท้วง หรือคัดค้านการตั้งหรือประกอบกิจการอยู่บ่อยๆ

สำหรับการพิจารณาอนุญาตนั้น จะทำกันเป็นองค์คณะ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่จะร่วมกันพิจารณาแต่ละเรื่องในครั้งเดียว และสรุปผลการพิจารณา ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้ได้ก็จะออกใบอนุญาตเลย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในรูปแบบของคณะกรรมการเช่นนี้ หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นการเพิ่มขั้นตอนและล่าช้า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ขออนุญาตอยู่บ้าง แต่ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนต่างๆ จำนวนมากที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่รอบโรงงาน และมีผลต่อการลงทุนของโรงงานเองในที่สุดด้วย แต่ขณะนี้ได้เร่งรัดและกระชับขั้นตอนต่างๆในการพิจารณาอนุญาตให้รวดเร็วยิ่งขึ้นแล้ว

โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555-14 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา หรือประมาณ 2 เดือน ได้รับเรื่องคำขอ ใบอนุญาตโรงงานทั้งหมด 135 เรื่อง ขณะนี้ได้นัดประชุมคณะกรรมการและพิจารณาใกล้จบหมดแล้ว คงเหลือเพียง 11 เรื่องเท่านั้น ซึ่งทุกเรื่องยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 90 วัน ทั้งนี้คาดว่าจะพิจารณาได้แล้วเสร็จหมด ทุกเรื่องได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นี้ อย่างแน่นอน

"ปัจจุบันคณะกรรมการกลั่นกรอง จะประชุมทุกวันศุกร์ โดยมีเรื่องพิจารณาแต่ละสัปดาห์ 15-20 เรื่อง ทั้งนี้ การมีคณะกรรมการกลั่นกรอง จะทำให้การพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานประเภท ที่มีผลกระทบต่อประชาชน เป็นไปด้วยความรอบคอบยิ่งขึ้น และเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ซึ่งการพิจารณาอนุญาตและการกำหนดเงื่อนไขก็จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายได้ รวมทั้งสามารถตรวจสอบข้อขัดข้องของกฎหมายที่ควรจะปรับปรุงแก้ไขให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ขออนุญาตด้วย" นายวิฑูรย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ทำให้พบว่า มีโรงงานมากกว่า 90% ที่ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรก่อนได้รับใบอนุญาต เป็นสาเหตุหลักของปัญหาเหตุเดือดร้อนจากสิ่งแวดล้อมและอุบัติเหตุอันตราย เพราะมักจะก่อสร้างไม่ตรงกับแบบที่ถูกต้อง ซึ่งการก่อสร้างไปก่อนแล้ว ทำให้แก้ไขได้ยาก โดยทุกวันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมนอกจากจะมีหน้าที่ต้องเอื้ออำนวยต่อการลงทุนแล้ว ยังต้องสร้างหลักประกันให้กับชุมชนด้วยว่า โรงงานที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว จะไม่ก่อปัญหาต่างๆ ใน ภายหลัง เพื่อให้โรงงานและชุมชนอยู่ ร่วมกันได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556

ส่งออกน้ำตาลระส่ำเงินบาทแข็ง

ผู้ส่งออกน้ำตาลรับศึกหนัก 2 เด้งทั้งราคาน้ำตาลโลกร่วงต่ำสุดในรอบ 32 เดือน คืนวันวาเลนไทน์กดราคาดิ่ง เหลือ 17. 94 เซ็นต์/ปอนด์ จากปัจจัยผลผลิตในบราซิลตัวแปรหลัก บาทแข็งกระแทกซ้ำ ฉุดรายได้เป็นเงินบาทลดลง บริษัทค้าผลผลิตน้ำตาล ชี้ รายได้จากการส่งออกน้ำตาล 20 โรงงาน ลดลงแล้ว 25-30% อนท.ชี้ มีน้ำตาลล้นตลาดแล้วกว่า10 ล้านตัน

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด หรือ TSTC เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยขณะนี้ว่า ผู้ส่งออกน้ำตาลกำลังรับศึกหนักกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก2 ส่วนใหญ่ โดยส่วนแรกมาจากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก เมื่อคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ราคาในตลาดนิวยอร์กลดลงเหลือ 17.94 เซ็นต์/ปอนด์ เปรียบเทียบกับราคาน้ำตาลทรายดิบในช่วงเดียวกันปีที่แล้วอยู่ที่ 24-25เซ็นต์/ปอนด์ ถือว่าตกต่ำที่สุดในรอบ 32 เดือน หลังจากที่ราคาน้ำตาลเคยทุบสถิติสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ราคา 36.08 เซ็นต์/ปอนด์

ทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตในประเทศบราซิลมีปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่สูงขึ้น จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณอ้อยไม่ถึง 500 ล้านตันอ้อย เพราะด้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ แต่สุดท้ายปริมาณอ้อยกลับพุ่งสูงถึง 532 ล้านตันอ้อย ทำให้ผลิตน้ำตาลได้ถึง 34 ล้านตันน้ำตาล โดยในจำนวนนี้บราซิลส่งออกราว 23-25 ล้านตัน ถือว่าเป็นปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่บางประเทศก็ผลิตน้ำตาลในประเทศได้มากขึ้นจึงพึ่งพาการนำเข้าลดลง เช่น อินเดียและ จีน จึงส่งผลทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกมีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และไม่สมดุลกับความต้องการใช้จนทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลง

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับผลกระทบบาทแข็งค่าฉุดให้รายได้ที่เป็นค่าเงินบาทลดลงกระทบโรงงานน้ำตาลที่เป็นสมาชิกส่งออกผ่าน TSTC ประกอบด้วยกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง กลุ่มมิตซุย กลุ่มน้ำตาลโคราชและน้ำตาลครบุรี กลุ่มทีซีซีหรือกลุ่มแสงโสม และกลุ่มอื่นๆ รวมจำนวน 20 โรงงานน้ำตาล ที่มีการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ ปี2554/55 รวมจำนวน 2.5 ล้านตัน ก็คาดว่าปี 2555/56 จะส่งออกลดลงเหลือ 2.2 ล้านตัน จากที่ผลผลิตในประเทศลดลง ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้โรงงานน้ำตาลที่ส่งออกโดยTSTC จะมีรายได้ลดลงจากการส่งออก 25-30%

อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วบราซิลจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินมากขึ้น ซึ่งในฤดูการผลิตปี 2556/57 ของบราซิลที่จะเริ่มเปิดหีบขึ้นในเดือนเมษายนนี้ ปริมาณอ้อยจะเพิ่มขึ้นจาก 532 ล้านตันอ้อยเป็น 580 ล้านตันอ้อย แต่รัฐบาลบราซิลจะหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตเอทานอลมากขึ้นโดยเพิ่มสัดส่วนเอทานอลในน้ำมันจาก 20% เป็น25% ทำให้ราคาเอทานนอลเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนี้ก็น่าจะทำให้ราคาน้ำตาลดีขึ้นในขณะที่นโยบายของบราซิลกำลังพิจารณายกเว้นภาษีการผลิตเอทานอลก็จะยิ่งทำให้ราคาเอทานอลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3.5%"

ทั้งนี้ข้อมูล จากบริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด แจ้งว่า ปริมาณการส่งออกน้ำตาลของไทยแยกตามบริษัทผู้ส่งออกเปรียบเทียบปี 2555 กับปี 2556 ประกอบด้วย 1.บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล ปี 2555 มีการส่งออก 2.630 ล้านตัน ปี 2556 ประมาณการว่าจะส่งออก จะอยู่ที่ 2.400 ล้านตัน 2.บริษัท ส่งออกน้ำตาลสยาม จำกัด ส่งออก 1.402 ล้านตัน ปีนี้คาดว่าจะส่งออก 1.300 ล้านตัน 3.บริษัท แปซิฟิค ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ส่งออก ที่ 1.389 ล้านตัน คาดว่าปี 2556 จะส่งออก 1.200 ล้านตัน 4.บริษัท ที.ไอ.เอส.จำกัด ส่งออก 0.840 ล้านตัน คาดว่าปีนี้จะส่งออก 0.800 ล้านตัน 5.บริษัท การค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด ส่งออกปีที่แล้ว 0.688 ล้านตัน คาดว่าจะส่งออกปีนี้ 0.600 ล้านตัน 6.บริษัท เค.เอส.แอล เอ็กซ์ปอร์ต เทรดดิ้ง จำกัด ส่งออกปีที่ผ่านมา 0.533 ล้านตัน ประมาณการว่าปีนี้จะส่งออก 0.500 ล้านตัน รวมสัดส่วนที่ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศส่งออกทั้งสิ้นปี 2555 จำนวน 7.482 ล้านตัน ปี 2556 ประมาณการว่าจะส่งออก 6.800 ล้านตัน

นายภิรมย์ศักดิ์ กล่าวอีกว่าราคาน้ำตาลปัจจุบันลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ อนท. ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลโควตา ข. (โควตาส่งออก) ได้ทำราคาขายน้ำตาลดิบล่วงหน้าปี 2555/2556 ไว้จำนวน 44% ถือว่าปลอดภัยแล้ว เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำตาลโควตา ข. ที่จะต้องมีการส่งออก 8 แสน ตัน/ปี โดยขายในราคา 25 เซ็นต์/ปอนด์ (รวมพรีเมียมแล้ว) แต่ยังเหลือน้ำตาลส่งออกอีก 56% ที่ยังไม่ได้ขายมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 23 เซ็นต์/ปอนด์ และเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบเพราะมีแนวโน้มว่าจะขายได้ในราคาต่ำกว่าเดิม และเมื่อนำเอาราคา 2 ตัวนี้มารวมกัน หัวเฉลี่ยค่าเฉลี่ยราคาอ้อยเบื้องต้นในส่วนที่เหลือจะอยู่ที่ 21 เซ็นต์/ปอนด์ ถือว่ากระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวม เนื่องจากสัดส่วนของรายได้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลจะมาจากการส่งออกเป็นหลัก

โดยปัจจุบันจะมีมูลค่าการจำหน่ายน้ำตาลรวมทั้งส่งออกและขายในประเทศราว 2 แสนล้านบาท/ปี สัดส่วน 70-75% เป็นรายได้จากการส่งออก ทั้งนี้ มองว่า ภาพรวมการส่งออกน้ำตาลในปี 2556 ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นต้องรีบกำหนดราคาและรีบส่งออกทันทีก่อนที่ราคาจะร่วงลงไปอีก

ด้านนายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)กล่าวว่าข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาคิงสแมน เอสเอ ระบุว่าขณะนี้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ที่ 180.1 ล้านตัน ขณะที่มีความต้องการใช้ในตลาดโลกมีเพียง 169.8 ล้านตัน ทำให้มีส่วนเกินที่ล้นตลาดอยู่ 10.3 ล้านตัน ประกอบกับที่บราซิลมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 493 ล้านตันเป็น 532 ล้านตัน และมีปริมาณเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 20.5 พันล้านลิตร มาเป็น 21.3 พันล้านลิตร โดยปี2555/56 บราซิลนำอ้อยมาผลิตน้ำตาลในสัดส่วน 49.99% และนำอ้อยไปผลิตเอทานอล 50.41%เทียบกับปี 2554/55 นำอ้อยมาผลิตน้ำตาล48.44% และนำอ้อยไปผลิตเอทานอล 51.56% โดยปี 2555/56 มีการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลมากขึ้น เลยกดดันให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกถูกลง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556

รมว.อุตฯตอบกระทู้ปชป. ราคาอ้อย950/ตันเหมาะแล้ว

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 พิจารณา กระทู้ถามสดเรื่อง ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเงินเพิ่มค่าอ้อย ของนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โดยถามว่า สถาบันชมรมชาวไร่อ้อยภาคอีสานมีหนังสือร้องเรียนรองประธานสภา เพื่อให้ ธ.ก.ส.อนุมัติให้ชาวไร่อ้อยสามารถกู้เพิ่มตันละ 250 บาทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ทั้งนี้จากการศึกษามีราคาเฉลี่ยอ้อยต้นทุนตันละ 1,196 บาท แต่ข้าราชการทั้งหลายพิจารณาควรมีราคา 950 บาท จึงถามว่ารัฐบาลจะให้ชาวไร่อ้อยกู้เพิ่มได้ตันละ 250 บาทหรือไม่ และมีการเร่งรัดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือไม่

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจากนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า อ้อยและน้ำตาลมี พ.ร.บ.อ้อยและนำตาล พ.ศ.2527 ได้กำหนดโครงสร้างต่างๆ ที่จะพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย โดยราคาอ้อยขั้นต้นจะผ่านคณะกรรมการบริหาร มีองค์ประกอบที่จะนำไปคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น โดยจะดูประมาณการผลผลิตอ้อยฤดูการผลิต และดูค่าความหวานเฉลี่ยของอ้อย ดูการผลิตน้ำตาล อัตราการแลกเปลี่ยนสกุลดอลลาร์ องค์ประกอบดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารมีตัวแทนจากชาวไร่อ้อย โรงงานและข้าราชการ โดยผลการประชุม 3 ฝ่ายยืนยันว่าราคาเหมาะสมอยู่ที่ 950 บาทต่อตัน

จาก พิมพ์ไทย  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยจี้รัฐสรุปเงินกู้เพิ่มค่าอ้อย สัปดาห์หน้าไม่ยุติก.อุตฯเจอม็อบแน่

แกนนำชาวไร่อ้อยเตรียมตบเท้าพบ "ยุทธพงศ์" รมช.เกษตรฯ 18 ก.พ. เพื่อหวังให้ประสานเร่ง กระทรวงอุตสาหกรรมสรุปแนวทางการกู้เงินเพิ่มค่าอ้อยให้คุ้ม ทุนการผลิตโดยกู้ผ่าน ธ.ก.ส. ขีดเส้นถ้าสัปดาห์หน้า ไม่คืบเจอม็อบมาเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมแน่

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 18 ก.พ.นี้แกนนำชาวไร่อ้อยจากภูมิภาคต่างๆ จะเดินทางไปพบนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นฤดู การผลิตปี 55/56 ที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบที่ 950 บาทต่อตัน ให้คุ้มทุนโดยการสนับสนุนแหล่งเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ในการเพิ่มส่วนต่างราคาเพิ่มขึ้นอีก

"ราคาอ้อย 950 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ถือเป็นระดับราคาที่ไม่ถึงจุดคุ้มทุนของชาวไร่ที่ประเมินไว้ที่ 1,195 บาท/ตันอ้อยซึ่งเราไม่ได้กดดันว่าจะต้องช่วย 250 บาทต่อตันแต่ต้องการเห็นว่าจะช่วยอย่างไร ชาวไร่คาดหวังว่าจะมีการประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมและได้ข้อสรุปภายใน สัปดาห์หน้า แต่หากไม่มีการดำเนินการใดต่อไปคงต้องเป็นเรื่องระหว่างชาวไร่อ้อยกับ กระทรวงอุตสาหกรรม ทุกอย่างควรจบในสัปดาห์หน้า แต่ถ้าไม่จบกระทรวงอุตสาหกรรมก็เตรียมรับชาวไร่อ้อยได้เลย"

นายกำธรกล่าวว่า วันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมาเดิมตนเองและตัวแทนชาวไร่อ้อยมีกำหนดการหารือเรื่องนี้กับนาย ประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่นายประเสริฐยกเลิกนัดกะทันหันทำให้ทางกลุ่ม แกนนำฯไม่สบายใจนัก เนื่องจากขณะนี้ชาวไร่ได้ตัดอ้อยไปกว่าครึ่งและอยู่ในช่วงเตรียมลงทุนปลูก ฤดูกาลใหม่ซึ่งจำเป็นต้องมีสภาพคล่องสนับสนุน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวง อุตสาหกรรม ในฐานประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า กอน.ยังไม่หารือเกี่ยวกับเงินเพิ่มค่าอ้อยโดยต้องรอการเสนอเรื่องจากสำนัก อ้อยและน้ำตาลทรายก่อน

จาก  http://www.manager.co.th   วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชาวไร่จี้รัฐกู้มาจ่ายค่าอ้อย อ้างราคาขั้นต้น950บ./ตันไม่คุ้มต้นทุน เร่ขอพบรมช.เกษตรฯอ้อนจ่ายเพิ่ม

ชาวไร่ไม่พอใจราคาอ้อยขั้นต้น ขู่บุกกระทรวงอุตฯ ทวงเงินเพิ่ม
สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยไม่พอใจราคาอ้อยขั้นต้นที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติไว้ 950 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. อ้างว่า ไม่คุ้มทุนที่ชาวไร่ประเมินไว้ 1,196 บาท/ตันอ้อย และยืนยันให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสนับสนุนเงินเพิ่มค่าอ้อย ส่วนจะช่วยเท่าไหร่ต้องหารือกัน โดยอาจจะไม่ใช่ 250 บาทต่อตันอ้อย

ส่วนแหล่งเงินที่จะนำมาจ่ายค่าอ้อยส่วนที่เพิ่มขึ้น ให้กองทุนอ้อยฯกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ เพราะปัจจุบันกองทุนอ้อยฯ มีหนี้ต้องชำระกับ ธ.ก.ส.ไม่สูง และที่ผ่านมามีการนำสภาพคล่องไปทดรองจ่ายหนี้ที่เกษตรกรมีกับ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรมาเป็นลูกหนี้กองทุนฯ แทนอยู่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า ได้นัดหารือ รมว.อุตสาหกรรม วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ถูกยกเลิกนัดกะทันหันทำให้ไม่สบายใจเพราะชาวไร่ได้ตัดอ้อยไปกว่าครึ่งและเตรียมลงทุนปลูกฤดูกาลใหม่ จำเป็นต้องมีสภาพคล่องสนับสนุน ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ แกนนำชาวไร่อ้อยจึงจะเข้าพบนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมแก้ปัญหานี้ เพื่อขอความชัดเจนว่าทางการจะช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอย่างไร

"วันที่ 18 ก.พ. เราจะไปพบคุณยุทธพงศ์และทุกอย่างควรจะจบในสัปดาห์หน้า แต่ถ้าไม่จบกระทรวงอุตสาหกรรมก็เตรียมรับชาวไร่อ้อยได้เลย" นายกำธร กล่าว

สำหรับแนวโน้มราคาอ้อยช่วง 1-2 ปีจากนี้ คงอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตันอ้อย ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกน้ำตาลได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาอ้อยลดลง 70 บาทต่อตันอ้อย และเสียเปรียบบราซิลที่ค่าเงินอ่อนค่าลงถึง 25%

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)กล่าวว่า กอน. ยังไม่มีการหารือเกี่ยวกับเงินเพิ่มค่าอ้อย โดยต้องรอการเสนอเรื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายก่อน

ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานกองทุนอ้อยฯ กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนฯ มีหนี้คงค้างจากการกู้ยืมเพื่อจ่ายส่วนเพิ่มราคาอ้อยให้เกษตรกรฤดูกาล 2554/2555 ในสัดส่วน 154 บาทต่อตัน ต้องชำระกับธ.ก.ส. 1,400 ล้านบาท จากยอดหนี้ 1.5 หมื่นล้านบาทหากไม่กู้เพิ่มเติมจะสามารถชำระหนี้ทั้งหมดและฐานะกองทุนกลับมาเป็นบวกได้ในเดือน มี.ค. นี้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

“ประสาร” ลั่นบทบาทธนาคารกลางต้องมีไว้เพื่อดูแลเสถียรภาพ ศก.-การเงิน

ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับขาดทุนแทรกแซงค่าเงินบาท 5.3 แสนล้าน เพื่อดูแลเสถียรภาพ ศก. ลั่นไม่ของบชดเชยจากรัฐบาล พร้อมย้ำหน้าที่ของทางธนาคารกลางมีไว้เพื่อดูแลเสถียรภาพ ศก.-การเงิน และดูดทรัพย์แรงกระแทกจากความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งตามหลักสากลการวัดผลงานของแบงก์ชาติ จะดูจากการดูแลเสถียรภาพทาง ศก. มากกว่าการแสวงหาผลกำไร

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงข้อมูลของทางธนาคารแห่งประเทศไทยที่ขาดทุนสะสมกว่า 5.3 แสนล้านบาท มาจากการแทรกแซงค่าเงินที่แข็งค่าของเงินบาท ในปี 2551 และขาดทุนจากส่วนต่างดอกเบี้ยอีกกว่าแสนล้านบาท

กรณีดังกล่าวยืนยันว่า ทาง ธปท. สามารถบริหารจัดการได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากรายจ่ายดอกเบี้ยที่อยู่ที่ร้อยละ 8 สูงกว่าดอกเบี้ยที่รับร้อยละ 2 ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้รัฐบาลตั้งงบประมาณมาใช้หนี้ หรือรบกวนเงินภาษีของประชาชน

ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวย้ำว่า หน้าที่ของทางธนาคารกลางมีไว้เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน และดูดทรัพย์แรงกระแทกจากความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งตามหลักสากลการวัดผลงานของแบงก์ชาติจะดูจากการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการแสวงหาผลกำไร

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โครงการห้วยโสมงทุ่มงบพัฒนาอาชีพ - ทิศทางเกษตร

นายโกวิทย์ เพ่งวาณิชย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีแหล่งน้ำต้นทุน และเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน จำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้ง จำนวน 45,000 ไร่ ในเขต อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สำหรับใช้ในการเกษตร สามารถปลูกพืชได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดปราจีนบุรี ทรงมีข้อห่วงใยและมีพระราชดำริกับนายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ในขณะนั้น เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า โดยเห็นควรให้มีการฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อให้ทุกฝ่ายรับรู้และเข้าใจทั่วกัน

“โครงการห้วยโสมงเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ชนิดเขื่อนดิน ความสูงประมาณ 33 เมตร ความยาวประมาณ 3,970 เมตร และทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ จำนวน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี โดยกรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 โครงการดังกล่าว นอกจากแก้ปัญหาอุทกภัย การอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาสการเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่สามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้อีกด้วย”

นายโกวิทย์ กล่าวรองเลขาธิการ กปร. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า โครงการห้วยโสมงเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนและสาขา ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2532 ซึ่งมีโครงการในแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ คือ โครงการพระปรง จังหวัดสระแก้ว และโครงการคลองระบม จังหวัดฉะเชิงเทรา และนอกจากนั้นยังมีโครงการคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ ที่ผ่านมาพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีประสบปัญหาการเกิดอุทกภัย สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ. 2547 พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี รวมกว่า 117 หมู่บ้าน นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2549 มีพื้นที่ประสบภัยใน 2 อำเภอดังกล่าวรวมกว่า 207 หมู่บ้าน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรกว่า 49,316 ไร่ ซึ่งปัญหาการเกิดอุทกภัย ยังคงสร้างความเสียหายให้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2551 จังหวัดปราจีนบุรี ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง 582 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 64 ตำบล ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรีกว่า 190 หมู่บ้าน ดังนั้นหากไม่มีการพัฒนาโครงการห้วยโสมงจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ สำนักงาน กปร. ได้ประชุมติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปราจีนบุรีร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตรฯ ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ หมู่ที่ 8 บ้านแก่งยาว และหมู่ที่ 12 บ้านแก่งใหญ่ ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 741 ครัวเรือน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 400 ราย

“โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพการเกษตร ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยการเข้ารับการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมและวางแผนทางเลือกอาชีพด้านการเกษตร ตามความต้องการได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเพิ่มช่องทางการสื่อสาร สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ ระหว่างผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ค่ารื้อย้ายและค่าทดแทนไม้ การดำเนินงานป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์โครงการฝึกอบรมเยาวชนพื้นที่โครงการ และการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง” นายโกวิทย์ กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทบาทของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังต่อการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้า

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาเงินทุนไหลเข้าดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เกิดวิวาทะระหว่างผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังกับผู้ใหญ่ในธนาคารแห่งประเทศไทย จนนำไปสู่การเรียกร้องของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังให้คณะกรรมการนโยบายการเงินลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง รวมทั้งให้คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบต่อผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดูดซับสภาพคล่องที่เกิดจากการแทรกแซงค่าเงินเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป รวมทั้งจะต้องรับผิดชอบถ้าการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยผิดพลาดนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ

วิวาทะที่เกิดขึ้นทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นผู้ร้ายตัวหลักที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้าจนสร้างความปั่นป่วนให้แก่ค่าเงินบาท และผู้ส่งออก รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าได้อย่างอยู่หมัด นอกจากนี้ ยังทำให้คนเข้าใจธนาคารแห่งประเทศไทยผิดว่าดำเนินนโยบายแบบขาดความรับผิดชอบ อ้างแต่ความเป็นอิสระ รวมทั้งจะทำให้เกิดผลขาดทุนหลายแสนล้านบาท จนทำให้ส่วนทุนติดลบ เป็นภาระที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดชอบ ผมคิดว่าวิวาทะที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะท่าทีของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลัง ได้ทำให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย

ทำไมผมถึงคิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้เป็นผู้ร้ายตัวหลักที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้าจนเกิดความปั่นป่วนขึ้น งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเงินทุนไหลเข้าในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) ได้ข้อสรุปคล้ายกันว่าปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้าคือศักยภาพและโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักยังทรงๆ ทรุดๆ และมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ล้นโลก เงินทุนย่อมไหลไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่า ซึ่งในขณะนี้หนีไม่พ้นว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทย ที่รัฐบาลทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัว และให้ความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าการรักษาวินัยการเงินการคลัง

ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดเงินทุนไหลเข้าแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า ถ้าดูตัวเลขเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 พบว่าเรามีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเพียง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ 21.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินของคนไทยไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ 19.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศนั้น แบ่งได้เป็นเงินลงทุนโดยตรง (foreign direct investment) ประมาณร้อยละ 40 เงินลงทุนในหุ้นประมาณร้อยละ 15 และเงินลงทุนในตราสารหนี้อีกร้อยละ 45 การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะทำให้เงินที่ไหลมาลงทุนในตราสารหนี้ลดลง แต่จะทำให้เงินลงทุนทางตรงและเงินลงทุนในหุ้นเพิ่มสูงขึ้น เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนทางตรงและการลงทุนในหุ้นจะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในสภาวะที่เศรษฐกิจมีสัญญาณของความร้อนแรง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อีกมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศในหลายมิติ (มากกว่าเพียงเรื่องเงินทุนไหลเข้าและค่าเงินบาท) ในวันนี้การบริหารเศรษฐกิจไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพเพิ่มขึ้น เพราะมีสัญญาณทั้งเรื่องความเปราะบาง และความร้อนแรงในหลายด้าน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้วส่งผลให้คนไทยให้ความสำคัญต่อการออมลดลง ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และอัตราการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้นด้วย อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคทำให้คนไทยไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ สินเชื่อสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มขยายตัวเกินร้อยละ 10 ต่อปี ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวสูงถึงร้อยละ 20 ต่อปี ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นรวดเร็ว คนที่จ่ายตลาดรู้ดีว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขเงินเฟ้อร้อยละ 3 ต่อปีของทางการมาก นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งต่ำที่สุดในโลก หลายอุตสาหกรรมหาแรงงานไม่ได้ และเราต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวอีกหลายล้านคน

ถ้ามองไปในระยะข้างหน้า เราจะยังเห็นความร้อนแรงของเศรษฐกิจไทยในอีกหลายด้าน ในด้านการลงทุน โครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2555 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 984,000 ล้านบาท จะเริ่มทยอยลงทุนจริงตามลำดับ รัฐบาลมีโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำอีก 300,000 ล้านบาทที่จะต้องรีบกู้เงินก่อนที่จะหมดเวลาการกู้เงินที่พระราชกำหนดอนุญาตในช่วงกลางปี 2556 ทั้งนี้ ยังไม่รวมแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอีก 2,000,000 ล้านบาท นอกจากภาครัฐมีแผนจะลงทุนจำนวนมากแล้ว เศรษฐกิจไทยยังได้รับอานิสงค์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ(แบบทุ่มสุดตัว)ของรัฐบาลอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำสินค้าเกษตรในราคาที่สูงเกินควร ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดคึกคักเป็นพิเศษ โครงการรถคันแรกที่ยังส่งมอบไม่หมดอีกประมาณ 600,000 คัน ทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นในสภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของเรามีแนวโน้มดีขึ้น (ยกเว้นการส่งออกข้าวและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายรับจำนำข้าวและการขึ้นค่าแรง 300 บาท) และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในสภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงและรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัว ไม่ประหลาดใจที่เงินทุนจะไหลเข้ามาในประเทศไทยโดยต่อเนื่อง

ถ้าพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ จะพบว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่สูง (นักเศรษฐศาสตร์บางคนอาจจะคิดว่าต่ำเกินควรด้วยซ้ำไป) ถ้าเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ประสบปัญหาเงินทุนไหลเข้าคล้ายกัน จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ร้อยละ 2.75 นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เกือบต่ำสุดในภูมิภาค มีเพียงไต้หวันเท่านั้นที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราต่ำมากเมื่อเทียบกับอินเดีย (ร้อยละ 8.0) จีน (ร้อยละ 6.0) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ5.75) และที่น่าสนใจคืออัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่อาจจะถูกมองว่าสูงจนดึงดูดให้เกิดเงินทุนไหลเข้ามาสงทุนในตลาดตราสารหนี้นั้น เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (repurchase rate 1 วัน) เมื่อมองย้อนกลับไปช่วงก่อนเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นเดือนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 2.75 พบว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว(อายุ 10 ปี) ในช่วงนั้นต่ำกว่าในเดือนมกราคม 2556 การที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับสูงขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นปรับลดลง(หรือ yield curve ชันขึ้น) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการกู้เงินของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นมาก ไม่ใช่ความผิดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือคณะกรรมการนโยบายการเงินแต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมจึงไม่คิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นผู้ร้ายตัวหลักที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้า และผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังไม่ควรทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายการเงินด้วยความเป็นอิสระแบบดื้อดึง ขาดความรับผิดชอบ ในทางตรงกันข้าม ผมเห็นว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังต้องมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้า เพื่อให้เงินทุนไหลเข้าเหล่านั้นเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยไม่ทำให้เกิดความเปราะบาง และกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในอนาคต บทบาทที่ควรเป็นของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังมีอย่างน้อย 4 ประการ

ประการแรก จะต้องปรับนโยบายการคลัง(และนโยบายการก่อหนี้สาธารณะ)ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังต้องไม่ติดกับความคิดว่าเศรษฐกิจต้องขยายตัวสูงๆ และต้องเข้าใจว่าเงินทุนไหลเข้ามีแรงจูงใจจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ร้อนแรง ซึ่งได้รับอานิสงค์ไม่น้อยจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังจะต้องให้ความสำคัญต่อการประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังและหยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัว รัฐบาลของหลายประเทศที่เผชิญกับภาวะเงินทุนไหลเข้าได้ปรับลดการขาดดุลของภาครัฐลง ในกรณีของประเทศไทยที่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องลดรายจ่ายประจำที่คิดเป็นถึงร้อยละ 80 ของงบประมาณประจำปี และมีแนวโน้มจะบานปลายขึ้นเรื่อยๆ รายจ่ายประจำที่ควรปรับลดลงครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น ค่าเช่าป้ายโฆษณารูปรัฐมนตรีที่ติดอยู่ทั่วประเทศ หรือ งบประมาณจ้าง organizer เพื่อจัดงานเปิดตัวรายวัน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด หรือ การปฏิรูประบบราชการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้งบเงินเดือนข้าราชการบานปลายในอนาคต การปรับนโยบายการคลังให้สมดุลกับสภาวะเศรษฐกิจนี้ นอกจากจะลดความร้อนแรงของสภาวะเศรษฐกิจและลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ (ซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้ฝากเงินและคณะกรรมการนโยบายการเงิน)แล้ว ยังจะช่วยลดความจำเป็นในการกู้เงินของรัฐบาล ไม่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้นเช่นในช่วงที่ผ่านมา

ประการที่สอง ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังควรเร่งให้เกิดสมดุลมากขึ้นระหว่างเงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศในระยะยาว โดยผ่านกลไกของภาครัฐทั้งรัฐวิสาหกิจและโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องนำเข้าสินค้าทุน เงินทุนไหลเข้าได้ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงมาก แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มี(และอาจจะยังไม่ควรมี)กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) แต่รัฐวิสาหกิจของไทยหลายแห่งต้องลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงาน ถ้ารัฐวิสาหกิจเหล่านี้สามารถเร่งขยายการลงทุนในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยความเป็นมืออาชีพ และไม่ถูกการเมืองหรือผลประโยชน์อื่นแทรกแซง จะเป็นช่องทางสำคัญในการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็เช่นกัน หลายโครงการต้องนำเข้าสินค้าทุนในสัดส่วนที่สูง ถ้ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และโครงการเหล่านี้ไม่ถูกการเมืองหรือผลประโยชน์อื่นแทรกแซงแล้ว จะทำให้เงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออกสมดุลมากขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทเหมือนที่กังวลกัน

ประการที่สาม ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังควรเร่งให้หน่วยงานในกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมสรรพากร แก้ไขกฎเกณฑ์ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ยังคั่งค้างอยู่ ผมนึกถึงตัวอย่างสองเรื่อง เรื่องแรกคือการยกเลิกการยกเว้นไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยที่นักลงทุนต่างชาติได้รับจากการถือพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในอดีตนั้นรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรรัฐบาลไทย จึงยกเว้นไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยที่นักลงทุนต่างชาติได้รับ (ในขณะที่นักลงทุนไทยต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย) เมื่อมีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกเลิกการยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 บัดนี้ผ่านไปสองปีเศษแล้วการแก้ไขประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องยังไม่เรียบร้อย มาตรการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ประกาศไปแล้วจึงยังไม่เห็นผล เรื่องที่สองคือการแก้ไขกฎเกณฑ์ภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทย ในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ยังติดอุปสรรคภาษีซ้ำซ้อนในการส่งกำไรกลับ ถ้าอุปสรรคอันนี้หมดไป ความต้องการลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทยจะเพิ่มสูงขึ้น และจะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสมดุลมากขึ้น

ประการสุดท้าย ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังควรหยุดเอาเรื่องการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยและส่วนทุนติดลบ มาสร้างความสับสนและความตระหนกตกใจให้แก่สาธารณะชน ไม่มีองค์กรไหนต้องการเห็นองค์กรของตัวเองขาดทุน แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศย่อมมีต้นทุน ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเร็วเกินไป ส่งผลให้ปริมาณเงินบาทสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดูดซับสภาพคล่องเงินบาทส่วนเกินนี้กลับคืนมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ และการขยายตัวของสินเชื่อมากเกินควร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเปราะบางในอนาคต และบั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ความจำเป็นในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินนี้จำเป็นมากในภาวะที่เศรษฐกิจร้อนแรง และรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัว

ปัญหาเรื่องการขาดทุนของธนาคารกลางไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกลางของหลายประเทศที่ประสบกับภาวะเงินทุนไหลเข้าคล้ายกับเราต้องประสบกับปัญหาขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางอิสราเอล สวิสเซอร์แลนด์ เช็ค ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือชิลี ธนาคารกลางเหล่านี้ยังคงทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมลองคำนวณต้นทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกิดจากการดูดซับสภาพคล่องคร่าวๆ ว่าอยู่ประมาณ 70,000 - 80,000 ล้านบาทต่อปี คนทั่วไปคงเห็นว่าเป็นต้นทุนที่สูงมาก (แม้ว่าจะน้อยกว่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดอยู่มาก) แต่เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจไทยที่ 12.5 ล้านล้านบาทต่อปีแล้ว จะพบว่าต้นทุนส่วนนี้คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.6 - 0.7 เท่านั้น ถ้าจะอุปมาต้นทุนที่เกิดขึ้น ก็คงเทียบเศรษฐกิจไทยคล้ายกับรถแข่งขับโดยรัฐบาลใจร้อน เน้นแต่เรื่องความเร็ว เสียเงินติดเทอร์โบว์ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัวหลายมาตรการ แต่ให้งบประมาณธนาคารแห่งประเทศไทยไปดูแลรักษาระบบเบรกเพียงแค่ร้อยละ 0.6 - 0.7 ของมูลค่ารถทั้งหมด แล้วยังบอกว่าระบบเบรกแพงเกินควร คนส่วนใหญ่คงเห็นคล้ายกันว่าถ้าอยากจะให้ระบบเบรกถูกลงแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่คนขับจะต้องลดความเร็วลง ลดเทอร์โบว์กระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น และลดรายจ่ายประจำของภาครัฐลงด้วย

ใครก็ตามที่ได้ฟังผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังพูดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีส่วนทุนติดลบคงตกใจ เพราะไปเปรียบเทียบกับกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีส่วนทุนติดลบและต้องเลิกกิจการ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารกลางที่ไม่มีผู้ฝากเงินมารีบถอนเงินในเวลาที่คิดว่าธนาคารไม่มั่นคง ทรัพย์สินที่ธนาคารกลางถืออยู่เป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำไม่กลายเป็นหนี้มีปัญหาเหมือนกับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ นอกจากนี้ ธนาคารกลางมีความสามารถในการหารายได้จากการพิมพ์เงิน และถ้าค่าเงินอ่อนค่าลงในอนาคต ฐานะการเงินของธนาคารกลางจะดีขึ้นเพราะทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถืออยู่มีค่าในสกุลเงินท้องถิ่นสูงขึ้น ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้าธนาคารกลางมีภาระหนี้ที่ต้องพิมพ์เงินออกมาใช้หนี้หรือจ่ายดอกเบี้ยมากจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อ หรือนักลงทุนไม่กล้าถือพันธบัตรของธนาคารกลาง(ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะตกใจจากความสับสนที่เริ่มขึ้นโดยผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลัง) เมื่อถึงเวลานั้นจะกระทบกับความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางและอาจจะทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปเพิ่มทุนให้ธนาคารกลาง เมื่อพิจารณาส่วนทุนและความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ ผมคิดว่ายังห่างไกลจากสภาวะดังกล่าวมาก แม้ว่างบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมียอดขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 333,000 ล้านบาท แต่ถ้าส่วนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยคิดเหมือนกับธนาคารกลางอื่นๆ ที่ไม่ได้แยกบัญชีทุนสำรองเงินตราออกจากบัญชีของฝ่ายปฏิบัติการแล้ว จะต้องรวมทุนในบัญชีสำรองพิเศษและบัญชีผลประโยชน์ประจำปีของทุนสำรองเงินตราอีกประมาณ 820,000 ล้านบาทเข้ามาด้วย เมื่อคิดแบบนี้แล้วจะเห็นว่าธนาคารกลางของประเทศไทยยังมีส่วนทุนเป็นบวกอยู่ประมาณ 487,000 ล้านบาท

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นด้วยความหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงแนวทางการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้าที่ควรเป็นและเห็นมิติต่างๆ ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินต้องพิจารณาในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งหวังว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังจะเข้าใจว่าหน่วยงานของตนมีบทบาทไม่น้อยไปกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในการบริหารนโยบายเงินทุนไหลเข้า ถ้าผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทยไม่เข้าใจการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในภาพรวม ยังชอบโยนความรับผิดชอบไปให้หน่วยงานอื่น ไม่เห็นความสำคัญของการประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความเปราะบางที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทยจะน่ากลัวกว่าเรื่องค่าเงินบาทแข็งเพราะเงินทุนไหลเข้ามากมายนัก

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อีกหลาย"ความเข้าใจผิด" เรื่อง "AEC"ที่คนไทยอาจไม่รู้

สังคมไทยมองการเปิด "ประชาคมอาเซียน" ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง และมีผลกระทบต่าง ๆ อย่างมากตามมา การตื่นตัวและหาความรู้เป็นเรื่องที่ไทยต้องทำ แต่ด่านแรกที่สังคมไทยต้องฝ่า คือเรายังมี "ความเข้าใจผิด" อีกมากเกี่ยวกับ "ประชาคมอาเซียน" ซึ่งสังคมควรรื้อความเข้าใจใหม่ก่อนนับถอยหลังไปยังปลายทางคือปลายปี 2558

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนา "ผลกระทบจากการเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" ณ โรงแรมเดอะไทด์ บีช รีสอร์ท บางแสน จ.ชลบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะจากหลายภาคส่วนถึงผลกระทบจากการเลื่อน และความเข้าใจผิดที่ยังแพร่กระจายในสังคม จากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"อาเซียน" ไม่เปลี่ยนปุบปับ
นายนพพร อัจฉริยวณิช รองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การรวมของประชาคมอาเซียนไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในแต่ละอย่างของอาเซียน จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีฉันทามติร่วมกันจากชาติสมาชิกทั้งหมด จึงเป็นไปแบบช้ามาก

ข้อเสนออาเซียนหลายข้อจะยึดข้อตกลงเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น เรื่องการค้าเสรีอาเซียน จะยึดตามหลักข้อตกลงที่กำหนดขึ้นในปี 2535 และการเปิดเสรีด้านบริการอาเซียน จะยึดตามข้อตกลงที่ริเริ่มขึ้นในปี 2538 เป็นต้น ซึ่งข้อตกลงหลายข้อของอาเซียน ถูกกำหนดขึ้นมาก่อนการเจรจาเปิดประชาคมในปี 2546 ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า การเปิดเออีซีจะเข้ามาเป็นตัวต่อยอดการเจรจานั่นเอง

นายนพพรเพิ่มเติมว่า การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะในปัจจุบันไม่มีชาติใดยืนอยู่ได้โดยลำพังอีกต่อไป

"CLMV" กระทบมากสุด

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดประชาคมอาเซียน ปลายปี 2558 จะส่งผลกระทบ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ หรือ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ซึ่งยังมีภาระต้องลดภาษีให้เท่ากับกลุ่มประเทศอาเซียนเดิม (ไทย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) ซึ่งปัจจุบัน ลดได้เพียง 60-70% เท่านั้น

ดังนั้น สำหรับไทย การเปิดประชาคมอาเซียน ปลายปี 2558 แทบไม่มีความหมายกับประเทศไทย เนื่องจากข้อตกลงด้านการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบัน กลุ่มประเทศอาเซียนเดิมได้ลดภาษีสินค้านำเข้าอยู่ในอัตรา 0% ราว 99.5-99.6% ของสินค้าทั้งหมด ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวบางรายการ

"เอสเอ็มอี" ได้ประโยชน์

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า หากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีหาความรู้และปรับตัว ก็จะสามารถออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยให้มองข้อดีว่า ประเทศ CLMV ที่อยู่ล้อมรอบไทยยังคงได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพี หรือสิทธิด้านศุลการกรที่ยกเว้นภาษีเป็น 0% ในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอเมริกาและสหภาพยุโรป อีกทั้งหากต้องการนำสินค้ากลับเข้ามาในไทย ก็มีการขนส่งสะดวก ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยอีกประการ

ทั้งนี้ หากพิจารณาให้ดี ขณะนี้กัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่น่าพิจารณาในการออกไปลงทุนอย่างมาก เพราะรัฐบาลสนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีแทบทุกสาขา เป็นผลดีในอนาคต ส่วนเวียดนามก็มีข้อได้เปรียบที่มีข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อีกแห่ง

"ถือหุ้น 100%" ไม่ใช่ในทุกสาขา

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองว่า ความเข้าใจผิดอีกเรื่องที่สำคัญคือการถือครองหุ้นในระหว่างชาติอาเซียนเป็นสัดส่วน 100% ของสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะสาขาบริการ ที่อนุญาตให้นักลงทุนชาวอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่า 70% เท่านั้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือธุรกิจด้านโทรคมนาคม ที่อนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่า 70% แต่รายละเอียดของการถือหุ้นนั้น ต้องดูกฎหมายด้านการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยด้วย เนื่องจากระบุว่า สามารถถือหุ้นในกิจการโทรศัพท์มือถือแค่ 49% เท่านั้น

"วีซ่าอาเซียน" ไม่ใช่ "วีซ่าเชงเก้น"

นายนพพร อัจฉริยวณิช รองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ปัจจุบัน อาเซียนได้ดำเนินการให้มี "วีซ่าระหว่างกัน" ในชาติอาเซียนแล้ว โดยเอื้อให้ประชากรอาเซียนสามารถเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้โดยใช้พาสปอร์ต ไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งยังติดอยู่เพียงประเทศเดียวคือเมียนมาร์ โดยจะใช้เวลาอีก 2 ปีจึงสำเร็จ ทั้งนี้ การใช้พาสปอร์ตเข้า-ออกระหว่างกันของอาเซียน ก็ยังต้องมีการลงตรวจที่ด่านศุลกากรของแต่ละประเทศอยู่ดี ยังไม่สามารถเดินทางระหว่างกันอย่างอิสระ เช่น สหภาพยุโรป

ส่วนการจัดให้มี "วีซ่าเดียวอาเซียน" (Asean Common visa) ยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน ล่าสุด ไทย-กัมพูชานำร่องโครงการวีซ่าเดียวเป็นครั้งแรก ภายใต้ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง หรือ ACMECS : The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy โดยวีซ่านี้ไม่ได้มีลักษณะเหมือน "วีซ่าเชงเก้น" ของยุโรป เพราะเป็นวีซ่าที่ขอเข้าไทย-กัมพูชา ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีประเภทเข้าออกหลายครั้ง (multiple entry) จึงยังมีข้อจำกัดอยู่

รวม "เออีซี" ไม่มี "แย่งงาน"

นายนพพร อัจฉริยวณิช รองอธิบดีกรมอาเซียน ชี้ว่า ความเข้าใจผิดอีกประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่ คือประชาชนเข้าใจว่าการรวมประชาคมอาเซียนจะทำให้เกิดการแย่งงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มีแรงงานเพียง 8 สาขาอาชีพ ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ช่างสำรวจ และท่องเที่ยว (ยกเว้นมัคคุเทศก์) เท่านั้น ที่สามารถไหลเวียนได้อย่างเสรี ส่วนแรงงานสาขาอื่น ๆ ยังไม่มีการเปิดให้ไปทำงานระหว่างกันได้อย่างเสรี ความหวาดกลัวที่จะเกิดการแย่งงานจึงไม่จริง

อย่างไรก็ตาม นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มองว่า แม้อาเซียนเปิดเสรีวิชาชีพทั้ง 8 สาขา ก็ไม่ส่งผลกระทบมากต่ออาเซียน เพราะกลไกระหว่างอาเซียนด้วยกันภายใต้ MRA หรือ ASEAN Mutual Recognition Arrangement กำหนดให้ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพในกลุ่มดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศปลายทางด้วย ซึ่งกฎหมายในหลายอาชีพของไทย (ยกเว้นสาขาท่องเที่ยว) ไม่เอื้อต่อการเข้ามาประกอบอาชีพของคนต่างชาติแต่อย่างใด เช่น ผู้ที่จะมาเป็นแพทย์ในไทยต้องสามารถเข้าใจภาษาไทย และทำข้อสอบวิชาภาษาไทยได้เกณฑ์ตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกอาเซียนไม่ได้มีจุดประสงค์ในการเคลื่อนย้ายอาชีพร่วมกันแม้แต่น้อย

ชัดเจนว่าอาเซียนยังต้องร่วมมือกันอีกมาก เพื่อขจัด "ความเข้าใจผิด" อย่างน้อยที่สุด ก็ก่อนปลายปี 2558 มาถึง

จาก http://www.prachachat.net/news  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่มีประกัน 'บ. น้ำตาลมิตรผล' ที่ 'A+/Stable'

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”

โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจน้ำตาลและกระแสเงินสดที่มาจากธุรกิจที่หลากหลายขึ้นทั้งจากธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย โดยในปีการผลิต 2554/2555 กลุ่มมิตรผลมีผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 3.5 ล้านตัน

บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยปริมาณการผลิตน้ำตาลที่ 1.96 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.1% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศในฤดูการผลิต 2554/2555 รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (18.3%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (11.2%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (7.3%) และกลุ่มวังขนาย (6.4%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 108.46 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 104.63 กก. ต่อตันอ้อย

บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.04 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.0% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 124.5 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2554/2555 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายธุรกิจน้ำตาลไปยังประเทศอื่น โดยในปี 2551 บริษัทจัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่ประเทศลาว และต่อมาในเดือนเมษายน 2555 บริษัทประสบความสำเร็จในการซื้อหุ้น 100% ใน MSF Sugar Ltd. (MSF) ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทใช้เงินลงทุนรวม 302 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 9,700 ล้านบาท MSF มีโรงงานน้ำตาล 4 แห่งซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดและตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนแลนด์ด้วยกำลังการหีบอ้อย 35,000 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2554/2555 MSF มีผลผลิตน้ำตาลรวม 0.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 13% ของการผลิตน้ำตาลรวมของกลุ่มมิตรผล

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 72,131 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) 17,205 ล้านบาท กำไรจากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็น 70% ของ EBITDA โดยกำไรของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 36% ของ EBITDA รวม ในขณะที่กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของ EBITDA รวม ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังให้ผลกำไรไม่มาก โดย MSF มี EBITDA เพียง 48 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เนื่องจากบริษัทมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าและเป็นการรวมงบการเงินเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่วนบริษัทมิตรลาวมี EBITDA เพียง 266 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555

นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจผลิตกระดาษ และธุรกิจโลจิสติกส์ ณ เดือนธันวาคม 2555 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 690,000 ลิตรต่อวัน บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 322 เมกะวัตต์ด้วย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,313 ล้านบาทในปีการผลิต 2554 จาก 3,792 ล้านบาทในปีการผลิต 2553 และ 2,268 ล้านบาทในปีการผลิต 2552 โดย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 22% ของ EBITDA รวมของบริษัทในปี 2554

รายได้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 โดยบริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 72,131 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว เพิ่มขึ้น 12.4% จาก 64,158 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2554 การเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายน้ำตาลของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย การรวมงบการเงิน MSF และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศจีนราคาขายน้ำตาลในประเทศปรับลดลงเนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ราคาน้ำตาลที่ลดลงส่งผลทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงเป็น 22.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 จาก 26.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับอัตรากำไรในช่วงปี 2550-2553 ที่อยู่ระดับ 15.6%-21.0% กระแสเงินสดของบริษัทในช่วงปีการผลิต 2553 ถึง 2554 แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายงานและการซื้อหุ้น MSF อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 32.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เทียบกับ 48.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับปานกลาง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 47.7% ณ เดือนกันยายน 2555 จาก 39.4% ในปลายปี 2554 บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจโดยใช้เงินลงทุนจำนวนรวม 13,500 ล้านบาทในปี 2556-2557 จากประมาณการ EBITDA ที่ระดับ 17,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า

ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2555/2556 ประมาณการปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยอยู่ที่ระดับ 90-95 ล้านตันอ้อย ซึ่งลดลงจาก 98 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยคาดว่าจะลดลงเช่นกันเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ทำสถิติสูงสุดที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมกราคม 2554 ราคาน้ำตาลทรายดิบเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 18 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนมกราคม 2556 เนื่องจากผลผลิตของผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เพิ่มขึ้น ส่วนในประเทศจีนนั้น ราคาน้ำตาลมักเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศและอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ราคาน้ำตาลในประเทศจีนปรับตัวลงมาที่ระดับ 5,500 หยวนต่อตันในปัจจุบัน จากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 7,400 หยวนต่อตันในเดือนกันยายน 2554

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC135B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC136A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC136B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC13DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC155B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC15OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC175A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต:

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มิตรผลเผยเคล็ดลับความหวานคู่สังคมไทย

“น้ำตาลมิตรผล” เชื่อว่าไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักน้ำตาลยี่ห้อนี้ เพราะเป็นความหวานที่อยู่คู่กับคนไทยมานานถึง 57 ปี และยังเป็นแบรนด์น้ำตาลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และเพื่อเผยถึงความรักความผูกพันกับคนไทย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำตาลมิตรผล จึงได้จัดงาน “ตำนานความหวานมิตรผล” เชิญ 3 เจ้าของร้านขนมหวานชื่อดังระดับตำนาน มาไขเคล็ดลับความหวานอร่อยของขนมหวานต้นตำรับ พร้อมด้วยคู่หวาน ชาคริต-วุ้นเส้น วิริฒิภา แย้มนาม ควงแขนมาโชว์เมนูหวาน และ ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ เจ้าของร้านไอศกรีม Iberry มาแนะนำเครื่องดื่มสูตรพิเศษ โดยมี รลเมล์-คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์ รับหน้าที่ดำเนินรายการ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม แกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยท์ สุขุมวิท

อัมพร กาญจนกำเนิด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการตลาด กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กว่า 57 ปี ที่น้ำตาลมิตรผลมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์น้ำตาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมและผู้บริโภคทั่วไป โดยให้ความใส่ใจตั้งแต่การคัดอ้อยพันธุ์ดี ใช้ชีววิธีแทนการใช้สารเคมี ไม่ใช้สารฟอกขาวในกระบวนการผลิต ทำให้ได้น้ำตาลคุณภาพที่ได้มาตรฐานการรับรองจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย ควบคู่กับการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีและการันตีคุณภาพของมิตรผลได้เป็นอย่างดีเมื่อเราได้รับรางวัล Superbrands Thailand 2013 ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้บริโภคและคณะกรรมการของซูเปอร์แบรนด์ ประเทศไทย กว่า 5,000 คน ว่าเป็นแบรนด์สินค้าที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ และมีการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

หลังจากได้ฟังตำนานความหวานจากผู้บริหารแล้ว สานต่อตำนานความหวานกับ 3 ทายาทร้านขนมหวานชื่อดังทีปกร สุจจิตรจูล ร้านขนมกุฎีจีน ธนูสิงห์,กรกมล ลีลาภีรภัทร ร้านขนมไทยเก้าพี่น้อง และ ภาวพันธน์ ดุลยพฤกษ์ร้านข้าวเหนียวมูนบุญทรัพย์ ซึ่งทั้ง 3 ท่านต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า เคล็ดลับที่จะทำให้ขนมไทยมีรสชาติดี คือการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพความสดใหม่ และส่วนผสมสำคัญคือ “น้ำตาล” ในการทำขนมหวานให้อร่อย สีสันไม่เปลี่ยน มีคุณภาพสม่ำเสมอและไว้วางใจได้อย่าง “น้ำตาลมิตรผล” นั่นเอง

จากนั้นถึงคิวของ ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ เซเลบริตี้สาวเจ้าของร้าน Iberry มาโชว์ฝีมือปรุงเครื่องดื่มซิกเนเจอร์สูตรพิเศษ “มิตรผล
อัญชัญเจลลี่” ที่คิดค้นขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ปิดท้ายด้วยนักแสดงหนุ่มที่ชื่นชอบการทำอาหาร ชาคริต แย้มนามควงภรรยาสาวสวย วุ้นเส้น-วิริฒิภา มาร่วมเนรมิตเมนู “บูล สวีท มาร์ชเมลโลว์” (Blue Sweet Marshmallow) ที่รังสรรค์จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลมิตรผล เป็นไอเดียการทำเมนูสำหรับวันวาเลนไทน์

งานนี้ยังมีคู่รักเซเลบริตี้ อาทิ ปราการ ไรวา และ ชณิตณัท สุดแสวง, นรัษฐา จิราธิวัฒน์ และ พีรภา สิทธินวิธ, พัทธมน เตชะณรงค์ และ ณัฐพงษ์ ภัทรธีรานนท์, ชลลดา ไชยวรรณ และ ชาคริตโชติอุดมพันธ์ ที่มาร่วมตอกย้ำความหวานแบบมีคุณภาพอย่างคับคั่ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กรมชลฯ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า กรม ชลประทานได้ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลองมาตั้งแต่เริ่มต้นฤดูแล้งคือตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา โดยที่แม่น้ำเจ้าพระยามีจุดติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ที่ปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี และที่ท่าน้ำ จ.นนทบุรี ส่วนที่แม่น้ำแม่กลองมีจุดติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่บริเวณปากคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

“กรมชลประทานจะทำการวัดค่าความเค็ม และค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ โดยค่าความเค็มของน้ำสำหรับการเกษตรจะต้องไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร ซึ่งที่จุดติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองแห่งมีค่าความเค็ม 0.20 กรัมต่อลิตร และที่แม่น้ำแม่กลองมีระดับค่าความเค็มอยู่ที่ 0.10 กรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้กรมชลประทานได้ระบายน้ำจำนวน 55 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที จากปกติระบายน้ำจำนวน 50 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อทำการรักษาระบบนิเวศ โดยเกษตรกรบริเวณดังกล่าวจะสามารถทำการเกษตรได้โดยหมดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ สำหรับค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ หรือค่า DO ต้องอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม (มก.) ต่อลิตร โดยที่ปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี วัดค่า DO ได้ 1.71 มก.ต่อลิตร ที่ท่าน้ำ จ.นนทบุรี วัดค่า DO ได้ 2.18 มก.ต่อลิตร และที่ปากคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี วัดค่า DO ได้ 2.35 มก.ต่อลิตร” รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กล่าว

ทั้งนี้ ตามแผนการจัดสรรน้ำของลุ่มเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง ปี 2555/2556 กรมชลประทานได้วางแผนการใช้น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศทั้งประเทศไว้ทั้งสิ้น 6,600 ล้าน ลบ.ม. และจัดสรรน้ำให้เพื่อรักษาระบบนิเวศในลุ่มเจ้าพระยาจำนวน 1,800 ล้าน ลบ.ม.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ศูนย์ส่งเสริมอุตฯ อ้อยและน้ำตาลชลบุรี เร่งพัฒนาสายพันธุ์อ้อย

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 3 จ.ชลบุรี กำลังพัฒนาสายพันธุ์อ้อย ให้มีคุณภาพและทนต่อสภาพแวดล้อม

วันนี้ (13 ก.พ.) นายธวัช หะหมาน หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมด้านอ้อย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาค 3 จ.ชลบุรี กล่าวว่า ศูนย์ได้ศึกษาวิจัยสายพันธุ์อ้อยเพื่อให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกรนำไปปลูกป้อนโรงงานน้ำตาล สำหรับในปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายแจก หรือขายให้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรรายเล็กจะแจกให้ฟรีประมาณ 3 ตัน ส่วนการขายนั้นจะขายในราคา 1,045 บาทต่อตัน แต่ละรายไม่เกิน 10 ตัน ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรมารับพันธุ์อ้อยและมาซื้อเป็นจำนวนมากแล้ว

“สำหรับพันธุ์อ้อยที่ทางศูนย์ผลิตนั้น เป็นพันธุ์อ้อยใหม่ๆ ที่ได้ปรับปรุงสายพันธุ์ โดยมีกระบวนการตรวจโรคตรวจแมลง และที่สำคัญตรงตามที่ต้องการ เพราะที่ผ่านมา ชาวไร่ไปซื้อพันธุ์จากชาวไร่ด้วยกัน อาจถูกหลอกได้ โดยอ้อยพันธุ์ใหม่ ประกอบด้วย K2001-10, K 2001-20, ขอนแก่น 3, อู่ทอง 10, อู่ทอง 11 ผ่านการทดสอบโรคและแมลงศัตรูอ้อย เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ต้านทานโรค ต้านทานศัตรูพืช ก่อนส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูก สำหรับผลผลิตที่ได้นั้น เนื้อที่ 1 ไร่ ปลูกอ้อยได้ 11 ตัน ผลิตเป็นน้ำตาลได้ 90 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 ปี ราคารับซื้อตันละ 950 บาท ที่ความหวาน 10 ซีซีเอส”

นายธวัช กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ปลูกอ้อยใน จ.ชลบุรี มีประมาณ 1.9 แสนไร่ กระจายอยู่ในเขต อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง อ.หนองใหญ่ และ อ.ศรีราชา

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เกษตรฯเร่งโซนนิ่งพืช6ชนิด-หวังผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าทางศก.

กระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าโซนนิ่งพืช 6 ชนิด หวังปรับเกษตรกรผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แปลงยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศ กลยุทธ์ การจัดการใช้ที่ดินประเทศ (Zoning) ไปสู่การปฏิบัติ โดยได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดิน ร่วมกับความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทานประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรในการพิจารณาสร้างความสามารถในการแข่งขันของแต่ละหน่วยผลิต ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ประกาศนี้จะนำไปสู่การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร การรักษาเสถียรภาพด้านราคา และอุปสงค์ อุปทานในอนาคต

โดยเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำแนกตามรายภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล โดยสรุปได้ ดังนี้ เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว 76 จังหวัด 809 อำเภอ 5,880 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง 49 จังหวัด 448 อำเภอ 2,113 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกยางพารา 60 จังหวัด 403 อำเภอ 1,703 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 48 จังหวัด 401 อำเภอ 2,105 ตำบล เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 43 จังหวัด 268 อำเภอ 1,175 ตำบล

“ประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ Zoning จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตรเนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายสุทธิได้จากการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมประสิทธิภาพการผลิตข้าวอยู่ที่ 715 กิโลกรัมต่อไร่ (ณ ความชื้นร้อยละ 14) ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้การจะปรับเพิ่มปริมาณ คุณภาพและมาตรฐาน จะทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกษตรกรสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านราคาจำหน่าย นอกจากนั้นในภาพรวมประเทศจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรได้เต็มศักยภาพในการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ” นายยุคล กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อมูลเขตเหมาะสมที่ประกาศ นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการและภาคเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้รับรู้และเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของตนเองและร่วมกันคิดสร้างสรรค์แนวทางการปรับเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ หาทางเลือกดำเนินการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของภูมิสังคมของตนเองและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลสนับสนุนหรือประสานความร่วมมือในการหาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ การปรับเพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรดินและน้ำ การกำกับดูแลให้มีการซื้อขายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประสานอำนวยความสะดวกทางการตลาด การบริหารตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับวิธีคิดเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart officers และในที่สุดจะนำไปสู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและในตลาดโลก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เล็งเทอีก2หมื่นล.อุ้มอ้อยชาวไร่ยันขอขึ้นราคาขั้นต้นอ้างต้นทุนเพิ่ม กองทุนฯบักโกรกเหลือเงินแค่4พันล้าน..

ครม.สั่งถกเพิ่มราคาอ้อยคาดต้องควักอีก 2 หมื่นล้านบาทอุ้มชาวไร่ ทั้งที่เงินกองทุนเหลือแค่ 4,000 ล้าน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่12 ก.พ. มีมติเห็นชอบให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ที่อัตรา 950 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ลดลงจากราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ที่ 1,000 บาทต่อตัน หรือลดลง 50 บาทต่อตัน

อย่างไรก็ตาม ครม.มอบหมายนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรมหารือกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อขอให้นำเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาจ่ายเงินค่าอ้อยเพิ่มเติมให้ชาวไร่อ้อย โดยก่อนหน้านี้ชาวไร่อ้อยได้เสนอขอเงินเพิ่มเติมอีก 250 บาทต่อตันอ้อย เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนการปลูกอ้อยที่ 1,196.31 บาทต่อตันอ้อย

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีเงินกองทุนติดลบ 3,000-4,000 ล้านบาทแต่ลดลงจากปี 2551 ที่กองทุนอ้อยฯ เคยติดลบ 3 หมื่นล้านบาทหลังจากมีการปรับเพิ่มราคาน้ำตาลทรายอีก 5 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้แต่ละปีมีเงินไหลเข้ากองทุน 1.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี หาก รมว.อุตสาหกรรมหารือกับ กอน.และมีมติให้ชดเชยเงินค่าอ้อยให้อีก 250 บาทต่อตัน จะต้องใช้เงินจากกองทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นภาระกองทุนอย่างมาก ดังนั้นการพิจารณาเพิ่มเงินค่าอ้อยจึงต้องดูรายได้และรายจ่ายของกองทุนอ้อยฯ ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานให้ความเห็นต่อ ครม.ว่า การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่950 บาทต่อตันอ้อย ถือว่าเหมาะสมแล้วเพราะในปี 2556 มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่นราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย

นายชลิตรัตน์ กล่าวด้วยว่า ครม.ยังรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มและราคาผลปาล์มตกต่ำปี 2555/2556 โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบตลาดในรอบที่ 1 โดยเข้ารับซื้อตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2555-24 ม.ค. 2556 มีโรงงานสกัดรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรตามโครงการ 42 ราย รวม 43,583 ตัน และส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบเข้าคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) เมื่อวันที่27 ม.ค. 2556 แล้ว 27,233.84 ตัน ทำให้ราคารับซื้อผลปาล์ม ณ หน้าโรงงานเดือน ม.ค. 2556 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน พ.ย. 2554 กก.ละ 3.35-3.80 บาท เป็น กก.ละ 3.80-4 บาท

สำหรับรอบที่ 2 อคส.จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบรวม 1 แสนตัน ราคา กก.ละ 25 บาท ขยายเวลารับซื้อไปจนถึงเดือน เม.ย. 2556 สำหรับแนวทางการระบายน้ำมันปาล์มดิบที่ อคส.รับซื้อนั้น จะผลิตเป็นน้ำมันพืชปาล์มบรรจุขวด ถุง และปี๊บจำหน่ายในโครงการธงฟ้าราคาประหยัดร้านถูกใจและร้านค้าทั่วไป และจำหน่ายให้โรงงานไบโอดีเซล พร้อมกับผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปต่างประเทศ

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ครม.เคาะราคาอ้อยขั้นต่ำ950บาท เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต่ำฤดูการผลิต 2555/2556 ที่ 950 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับ 90.96% ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,044.45 บาท/ตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น-ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 57 บาท/1 หน่วยซี.ซี.เอส./เมตริกตัน ส่วนผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/56 เท่ากับ 407.14บาท/ตันอ้อย

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้หารือเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเห็นพ้องในราคาอ้อยขั้นต่ำดังกล่าว และให้ความเห็นแก่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลควรทบทวนโครงสร้างการคำนวณต้นทุนผลิตอ้อยและเร่งรัดการพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเป็นห่วงเกษตรกร ซึ่งปกติจะขอให้รัฐบาลช่วยชดเชยเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง โดยจะเร่งรัดการพิจารณาเงินเพิ่มโดยเร็วที่สุด โดยจะนำผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไปทบทวนวิธีการคิดต้นทุน
การผลิตเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ธนาคารโลกจี้จี20 เลี่ยงสงครามค่าเงิน

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เวิลด์แบงก์ออกโรง กระตุ้นจี20 ให้ร่วมมือด้าน ศก.มากกว่านี้ ป้องกันการเกิดสงครามค่าเงิน มะกันประสานเสียง เรียกร้องร่วมมือใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาด

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายคอชิก บาซู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คนใหม่ เรียกร้องให้ผู้นำทางการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ หรือจี20 ร่วมมือกันด้านนโยบายทางเศรษฐกิจมากกว่านี้ เพื่อป้องกันความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดสงครามค่าเงินโลกขึ้น

ในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ นายบาซูระบุว่า รัฐมนตรีคลังของกลุ่มจี20 ที่จะประชุมกันที่กรุง มอสโก ประเทศรัสเซีย ในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ ควรจะหาหนทางแก้ปัญหาก่อนที่ความตึงเครียดจะยกระดับจนเกิดปะทุเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่

ขณะที่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะดิ่งอย่างฮวบฮาบลดลงจากมาตรการหลายๆ อย่างที่ยุโรปใช้ในการผ่อนคลายหนี้สาธารณะ แต่บาซูบอกว่า การดีดตัวกลับของอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

"เราไม่ได้ตกอยู่ในสงครามค่าเงินตอนนี้ แต่อาจจะกำลังมุ่งหน้าไปยังเส้นทางนั้นได้" บาซูกล่าว

และว่า "ผู้นำโลกจำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น หรือเพื่อไม่ให้ตลาดคิดว่าสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้น ความร่วมมือดังกล่าวนี้ทั้งหมดอยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้ ทั้งหมดที่ต้องการคือความตั้งใจเท่านั้น"

บาซูบอกว่า ขณะที่นโยบายทางการเงินที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนซึ่งนำมาใช้โดยธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป เพื่อฟื้นฟูอัตราการเติบโตได้พิสูจน์แล้วว่ามีคุณค่า แต่ผลกระทบของนโยบายเหล่านั้น "เริ่มที่จะแทรกซึมเข้าสู่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกแล้ว"

เขาเสริมว่า "ความจำเป็นคือ การร่วมมือด้านนโยบายการเงินและการคลังบางอย่าง และจี20 เป็นเวทีที่สามารถผลักดันเรื่องดังกล่าวได้ และผมคิดว่าเราควรจะต้องจริงจังกับเรื่องนี้"

ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหลายแห่งได้พยายามลดหนี้และพิมพ์เงินออกมาเพิ่ม ซึ่งเป็นการทำให้สกุลเงินของพวกเขาอ่อนค่าลง และทำให้มีขีดความสามารถด้านการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ในประเทศร่ำรวย ทำให้ปัญหาการไหลของเงินทุนไปยังประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก และเป็นการผลักดันอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเหล่านั้นให้สูงขึ้น

ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่า สหรัฐอเมริกาออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศ จี20 หลีกเลี่ยงการแข่งขันกันลดค่าเงินที่จะเป็นการคุกคามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยนางลาเอล เบรนาร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังด้านกิจการต่างประเทศ ที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของสหรัฐเข้าร่วมในการประชุม จี20 ครั้งนี้กล่าวว่า "เพื่อให้แน่ใจว่ายุทธศาสตร์ด้านการเติบโตของประเทศที่มีขนาดของเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเข้ากันได้และช่วยส่งเสริมอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จี20 จำเป็นต้องมีพันธสัญญาในการปรับมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดและหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันลดค่าเงิน"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กรมชลประทานห่วงพื้นที่เพาะปลูกที่เกินจากแผนฤดูแล้ง

อธิบดีกรมชลประทาน ห่วงพื้นที่เพาะปลูกที่เกินจากแผนฤดูแล้งประมาณ 9 แสนไร่ มีความเสี่ยงเสียหายจากน้ำไม่เพียงพอ ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศยังรับมือได้

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า การใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ ยังเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง แม้บางภูมิภาคใช้น้ำเกินแผน แต่ภาพรวมทั้งประเทศเกินกว่าแผนเพียง 100 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น โดยอ่างเก็บน้ำที่เหลือน้ำน้อยมาก ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างลำแซะ อ่างมูลบน อ่างลำตะคอง และเขื่อนปราณบุรี ซึ่งได้งดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกแต่ยังส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้คือพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เกินจากแผน ปลูกพืชฤดูแล้งประมาณ 8 - 9 แสนไร่ มีความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย เพราะไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุนจนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ และประกาศให้งดทำนาปรัง ครั้งที่ 2 อย่างเด็ดขาด เพื่อสงวนน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค และสนับสนุนนาปี ขณะเดียวกันได้ระดมรถสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนนอกเขตชลประทานด้วย

ส่วนการความคืบหน้าการซ่อมแซมฝายกั้นแม่น้ำปิง อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรค์ ที่ชำรุดจนส่งผลกระทบต่อการสูบน้ำและพื้นที่เกษตรกว่า 70,000 ไร่ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ส่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่วางแผนและติดตามการซ่อมแซมร่วมกับบริษัทผู้รับเหมาแล้ว โดยอาจต้องชะลอการระบายน้ำในแม่น้ำปิง เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้ โดยวางแนวทางให้ต้องแล้วเสร็จก่อนฤดูนาปี หรือต้นเดือนพฤษภาคม.- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

อนุมัติร่วมทุน"ลาว"สร้างเขื่อนไฟฟ้า"น้ำเงี้ยบ1"

ทำเนียบรัฐบาล 12 ก.พ.56 น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ)พิจารณาเรื่อง การร่วมทุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ที่อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยเห็นชอบการลงทุนของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 พร้อมอนุมัติวงเงินการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 30 จำนวน 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,438 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) และการร่วมทุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

"นอกจากนี้ เห็นชอบการร่วมทุนและอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และเห็นชอบให้สัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholders Agreement) ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว รวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการร่วมทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี้ยบ 1 ใช้เงื่อนไขการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญา โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ"

ครม. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ให้บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

'แก้ปัญหาดิน'สู่ภาคเกษตรยั่งยืน

'หมอดินอาสา' มุ่งแก้ปัญหาดิน สู่ความแกร่งภาคเกษตรยั่งยืน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

ไม่ปฏิเสธว่าผลจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมาจากการใช้ที่ดินอย่างไม่ถูกต้องจากอดีตจนปัจจุบัน มีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้กำหนดนโยบายลักษณะการให้บริการเชิงรุกถึงพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ภายใต้ชื่อ “หมอดินอาสา” ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพและยังสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

เกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงบทบาทหมอดินอาสาในปัจจุบันว่า ทรัพยากรดินเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำการเกษตร เป็นต้นกำเนิดของความเจริญทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน จึงนับเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องสงวนไว้ ภารกิจในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน ลำพังเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินซึ่งมีประมาณ 1,700 คน ไม่สามารถดูแลแก้ไขปรับปรุงดินได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง จำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่ายหมอดินอาสา ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรกรรม รวมทั้งช่วยเจ้าหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เพื่อนบ้าน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

“หมอดินถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรท้องถิ่น และเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินในชุมชนเคียงคู่ไปกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นผู้นำในการทำการเกษตรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการการพัฒนาที่ดิน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรในพื้นที่"

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเผยต่อว่าที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้จัดตั้งหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนกรมพัฒนาที่ดินในระดับพื้นที่ตั้งแต่ปี 2538 จนปัจจุบัน ทำให้หมอดินอาสาเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการอาสาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เสมือนเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับงานพัฒนาที่ดิน โดยไม่ได้รับการตอบแทนที่เป็นเงินเดือนหรือเงินสมนาคุณจากทางราชการ

นอกจากนี้แล้วหมอดินอาสายังเป็นผู้ให้คำแนะนำ เผยแพร่ความรู้ ประชาสัมพันธ์และชักชวนเพื่อนบ้านไปศึกษาดูงาน ณ แปลงสาธิตจุดเรียนรู้และศูนย์บริการงานพัฒนาที่ดินประจำตำบลหรือสถานที่ที่น่าสนใจ บริการข่าวสารความรู้เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหว กิจกรรมในเครือข่ายหมอดินอาสา หรือกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งเป็นผู้รวบรวมปัญหาความต้องการด้านปัจจัยหรือวัสดุการเกษตร เช่น สารเร่ง พด.1-12 กล้าหญ้าแฝก เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดและแหล่งน้ำของเกษตรกรในพื้นที่ ตามแบบฟอร์มของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อรวบรวมให้หมอดินประจำสถานีพัฒนาที่ดินดำเนินการต่อไป

เกรียงศักดิ์ระบุอีกว่า กรมพัฒนาที่ดินมีการกำหนดให้หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านชักนำให้เกษตรกรในหมู่บ้าน ร้อยละ 50 หรืออย่างน้อยประมาณ 40 คนต่อหมู่บ้าน รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ได้มีการนำวัสดุการเกษตรต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ในการทำวัสดุปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยการถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำและการปรับปรุงดิน ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยการผลิต พด.1-12 เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดและหญ้าแฝกให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง

“หมอดินอาสาเปรียบเสมือนปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรอบรู้ ความชำนาญในเรื่องดินเป็นเสมือนตัวแทนของภาครัฐ เพราะเป็นสื่อกลางของกรมพัฒนาที่ดินในการนำความรู้ไปบอกต่อกับชาวบ้าน จะเห็นว่าบทบาทหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านมีความสำคัญมาก เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านจะมีความเชื่อใจมั่นใจมากกว่าคนนอก"

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวถึงความรู้ความสามารถที่มีอยู่ของหมอดินทั่วประเทศว่าไม่มีวันหมด เพราะกรมได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหมอดินอาสาให้มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อหมอดินจะได้นำความรู้ที่ได้จากกรมไปบอกต่อเพื่อนบ้านในการทำเกษตรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินมีหมอดินอาสาทั่วประเทศ กว่า 79,000 รายในการช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินในชุมชน เคียงคู่กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั่นเอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

อนุมัติกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่950บาท/ตัน

ครม.ไฟเขียวกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดู 55/56 ที่ราคา 950 บาท/ตัน สศช.แนะกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดราคาอ้อยให้สอดคล้องต้นทุน

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม (ครม.)วานนี้ (12 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ที่ราคา 950 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.หรือประมาณ 90.96%ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,044.45บาทต่อตันอ้อยและกำหนดอัตราขึ้นและลงของราคาอ้อยเท่ากับ 57 บาทต่อ 1 หน่วยซี.ซี.เอส และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูกาลผลิต 2555/2556ที่ 407.15 บาทต่อตันอ้อยตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มีความเห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมควรกำหนดราคาให้คุ้มกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของชาวไร่อ้อย พร้อมทั้งให้คุ้มทุนกับการผลิตที่แท้จริงสำหรับฤดูการผลิตปีต่อ ๆ ไปด้วย เพื่อที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ไม่ต้องมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาจ่ายเงินส่วนเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย เนื่องจากสถานะการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 56 ยังเป็นลูกหนี้ต่อธ.ก.ส. จำนวน 3,045.15 ล้านบาท

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ที่ให้ผลผลิตต่อไร่และความหวานที่เพิ่มขึ้น มีความต้านทานโรค และพัฒนาระบบการจัดการน้ำในไร่อ้อย พัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องจัดทำแผนการชำระหนี้โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการชำระหนี้คืนให้แก่ธ.ก.ส.และยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่มาจากการปรับเพิ่มราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในอัตราก.ก.ละ5บาทหลังจากที่กองทุนอ้อยฯชำระหนี้เงินกู้ธ.ก.ส.ที่เหลืออยู่เสร็จสิ้นแล้ว พร้อมทั้งให้เร่งรัดศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบให้แล้วเสร็จและเสนอให้ครม.เพื่อให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาวต่อไป

นายชลิตรัตน์ กล่าวด้วยว่า ครม.ยังรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มและราคาผลปาล์มตกต่ำปี 2555/2556 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบตลาดในรอบที่ 1โดยเข้ารับซื้อตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2555- 24 ม.ค.2556 มีโรงงานสกัดรับซื้อตามโครงการฯ 42 ราย รับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรตามโควตาที่ได้รับการจัดสรรคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ รวม 43,583 ตันและได้ส่งมอบน้ำมันปาล์มดิบเข้าคลังกลางของอคส. เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2556แล้วจำนวน 27,233.84 ตัน โดยส่งผลต่อตลาด ราคารับซื้อผลปาล์ม ณ หน้าโรงงานเดือนม.ค. 2556ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพ.ย. 2554 ก.ก.ละ 3.35-3.80 บาท เป็นก.ก.ละ 3.8 - 4 บาท

ส่วนการดูดซับน้ำมันปาล์มออกจากระบบตลาดในรอบที่ 2 นี้ องค์การคลังสินค้าจะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบรวมทั้งสิ้น1 แสนตัน ในราคาก.ก.ละ 25บาทโดยขยายเวลารับซื้อไปจนถึงเดือนเม.ย.2556 ส่วนแนวทางการระบายน้ำมันดิบที่อคส.รับซื้อนั้นจะผลิตเป็นน้ำมันพืชปาล์มบรรจุขวด ถุงและปี๊บจำหน่ายในโครงการธงฟ้าราคาประหยัด ร้านถูกใจและร้านค้าทั่วไป และจำหน่ายให้แก่โรงงานไบโอดีเซล พร้อมกับผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปต่างประเทศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

“ครม.”ยืดเวลาลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

“ครม.” ขยายเวลา ลดหย่อนค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไปถึง 31ธ.ค.58 ด้านสภาพัฒน์จี้กำหนดราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุน

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ให้ขยายระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามอัตราการเรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เหลือในอัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 58

ตามที่ระบุไว้ในร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมครม.ด้วยว่า ที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 55/56 ที่ราคา 950 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.หรือประมาณ 90.96% ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,044.45 บาทต่อตันอ้อยและกำหนดอัตราขึ้นและลงของราคาอ้อยเท่ากับ 57 บาทต่อ 1 หน่วยซี.ซี.เอส และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูกาลผลิต 55/56 ที่ 407.15 บาทต่อตันอ้อยตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมควรกำหนดราคาให้คุ้มกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของชาวไร่อ้อย พร้อมทั้งให้คุ้มทุนกับการผลิตที่แท้จริงสำหรับฤดูการผลิตปีต่อ ๆ ไปด้วย เพื่อที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ไม่ต้องมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาจ่ายเงินส่วนเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย เนื่องจากสถานะการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 56 ยังเป็นลูกหนี้ต่อธ.ก.ส. 3,045.15 ล้านบาท

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ที่ให้ผลผลิตต่อไร่และความหวานที่เพิ่มขึ้น มีความต้านทานโรค และพัฒนาระบบการจัดการน้ำในไร่อ้อย พัฒนาระบบโลจิสติกส์ในการเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องจัดทำแผนการชำระหนี้โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการชำระหนี้คืนให้แก่ธ.ก.ส.และยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่มาจากการปรับเพิ่มราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในอัตราก.ก.ละ 5 บาท

หลังจากที่กองทุนอ้อยฯชำระหนี้เงินกู้ธ.ก.ส.ที่เหลืออยู่เสร็จสิ้นแล้ว พร้อมทั้งให้เร่งรัดศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบให้แล้วเสร็จและเสนอให้ครม.เพื่อให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาวต่อไป..

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

มิตรผลบุกอาเซียนสบช่องภาษี0% มุ่งค้าปลีก-ปั้นแบรนด์ตัวเอง

นางอัมพร กาญจนกำเนิด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการตลาด กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า จากนี้ไปกลุ่มมิตรผลจะให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยการส่งออก และเข้าไปทำตลาดน้ำตาลทรายขาวในรูปแบบค้าปลีก ภายใต้แบรนด์มิตรผล เพราะมองเห็นโอกาสจากภาษีนำเข้าในประเทศแถบอาเซียน จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% จะเหลือ 0% ในปี 2558 เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ขณะนี้กลุ่มมิตรผลส่งออกไปยังอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 40-50% หรือประมาณ 4-5 แสนตัน แบ่งเป็นในรูปแบบค้าปลีก 20,000 ตัน จากยอดส่งออกรวมทั้งในรูปแบบน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว 1.5 ล้านตัน แต่ต้องยอมรับว่าการทำตลาดในอาเซียนไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแต่ละประเทศตั้งกำแพงทางการค้า แต่กลุ่มมิตรผลมองว่ายังมีโอกาสที่ดี จากราคาน้ำตาลของไทยที่มีราคาถูกกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ปัจจุบันอยู่ที่ 23.50 บาท ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 30-35 บาท

ส่วนภาพรวมตลาดน้ำตาลยังมีแนวโน้มการเติบโตดี โดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการบริโภคภายในประเทศยังมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 5-7% จากปัจจุบันที่การบริโภคน้ำตาลในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท เนื่องจากตลาดรวมน้ำตาลเติบโตตามอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่เติบโต ด้วยมีสินค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมิตรผลมีส่วนแบ่งตลาดรวม 20% และช่องทางค้าปลีกมีส่วนแบ่งตลาดที่ 35% สำหรับปีนี้มิตรผลตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 38,000-40,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนรายได้ในประเทศ 30% และที่เหลือเป็นรายได้จากการส่งออก 70%

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

มั่นใจภาคเกษตรไทย...มีโอกาสมากขึ้นใน"เออีซี" - นานาสารพัน

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าประเทศไทยจะเสียเปรียบหรือได้รับผล
กระทบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของภาคเกษตรนั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการวิเคราะห์ทั้งด้านของผลกระทบรวมถึงโอกาสของไทยไว้แล้ว

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้เปิดเสรีการค้าให้กับประเทศในอาเซียนตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เพียงรอประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV ที่ขอให้มีการเปิดเสรีการค้าในปี 2558 หรือ เออีซี และการค้าสินค้าเกษตรในอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2553 คิดเป็นมูลค่ารวม 2.6 แสนกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าปีละประมาณ 1.6 แสนล้านบาท และมูลค่ารวมมีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่องใน ปี 2554-2555 ประมาณ 3.2-3.4 แสนล้านบาทต่อปี และยังได้เปรียบดุลการค้ากว่า 2 แสนกว่าล้านบาท ฉะนั้นการเปิดเออีซีอย่างเป็นทางการในปี 2558 จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่าในภาคเกษตรแล้วไทยยังคงได้เปรียบอีก9 ประเทศสมาชิกเออีซี เนื่องจากเราเป็นประเทศพัฒนาด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีพื้นฐานการเกษตรที่ดีกว่าหลายด้าน

โดยเฉพาะถ้ามองในเรื่องของโอกาสทางธุรกิจการเกษตรจากการเปิดเออีซี เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวแล้ว สามารถแยกได้เป็น 5 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วยด้านที่ 1 ด้านตลาด ที่เปิดกว้างขึ้น เนื่องด้วยจำนวนประชากรของอาเซียนที่มีอยู่กว่า 600 ล้านคน ทำให้มีความต้องการใช้สินค้าเกษตรและอาหารในปริมาณมากขึ้น

ด้านที่ 2 ด้านแหล่งวัตถุดิบใหม่ เราสามารถใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนถูกกว่า เช่น ถั่วเหลือง ที่ในประเทศสามารถผลิตได้ปีละประมาณ 1.5 แสนตันและต้องนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล ปีละกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5,000 กว่าล้านบาท ดังนั้น เราสามารถใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบที่ถูกกว่าการนำเข้าจากประเทศนอกอาเซียน เพื่อนำกลับมาแปรรูปในประเทศไทย หรือจะเป็นมันสำปะหลังก็ดี เอาวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปเป็นแป้งมัน หรือเอทานอล ใช้ในประเทศหรือส่งออกไปยังนอกอาเซียน รวมถึงวัตถุดิบเครื่องเทศ สมุนไพร กุ้ง ปลา ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของการแปรรูปสินค้าเพราะมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย จะสามารถลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีขึ้น

ด้านที่ 3 คือการขยายฐานการผลิตของภาคเกษตรอุตสาหกรรมเกษตร เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ ไก่ สุกร อุตสาหกรรมแป้งมัน อุตสาหกรรมประมง อาหารทะเล เป็นต้น ที่เราสามารถย้ายฐานการผลิตไปตั้งยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีแหล่งวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกลงรวมทั้งมีสิทธิพิเศษทางการค้า GSP จากประเทศยุโรป เพื่อผลิตสินค้าส่งกลับมายังประเทศไทยหรือส่งออกไปยังประเทศที่สามโดยตรง

ด้านที่ 4 มีความสำคัญมากคือการเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน เนื่องจากเรามีภูมิประเทศที่อยู่ตรงกลางของอาเซียน จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางทั้งด้านโลจิสติกส์ภาคเกษตร สามารถส่งออกสินค้าผ่านประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อไปยังประเทศนอกอาเซียนได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถเป็นศูนย์ที่พักและกระจายสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรอีกหลายด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและการพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่สามารถส่งไปยังประเทศอาเซียนได้ เราจึงได้เปรียบและเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในทุกด้านของภาคเกษตร

ส่วนด้านที่ 5 คือการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการสร้างตลาดเดียวกัน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของเออีซีในการก้าวกระโดดไปสู่นอกอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตเหมือนกันและรวมกัน ที่มีส่วนแบ่งการตลาดโลกได้มากกว่า 50% เราจะสามารถรวมตัวกันและสร้างอำนาจการต่อรองทางการค้า เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น เช่น ยางพารา ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดโลกขณะนี้ 80-90% อยู่ในอาเซียน ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เป็นไตรภาคีในการรวมตัวเรื่องยางพารา แต่ถ้าสามารถรวมเวียดนาม ลาว หรือพม่าที่มีการผลิตยางพาราเข้ามาก็จะสามารถรวมเป็นตลาดผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องข้าว ไทยคงต้องดึงเวียดนามมาเป็นพันธมิตร รวมทั้งพม่า กัมพูชา หรือประเทศใดก็ตามที่มีการผลิตข้าว ต้องรวมตัวกันค้า อย่าแข่งกันเอง

นายคนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่กล่าวมานี้เป็นด้านของโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรไทยเมื่อเปิดเออีซี แต่ก็ยังมีด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าเกษตรของไทยบางประเภท เช่น เมล็ดกาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน แต่ทางกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนและเตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกร ที่เป็นต้นน้ำของการผลิตสินค้าเกษตรพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิต มีการใช้ข้อมูลวางแผนการผลิตและตลาดรวมทั้ง ติดตามข่าวสารของประเทศในอาเซียนเพื่อนำมาปรับใช้ในฟาร์มของตนเอง

...และที่สำคัญต้องยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยให้สูงกว่าประเทศอาเซียน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในอนาคต.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

สัญญาณ"ฟองสบู่"มาแล้ว

ความเห็นที่ขัดแย้งของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องของนโยบายดอกเบี้ย จะเป็นปมใหญ่ที่จะเริ่มรุนแรงขึ้นในกลางปีนี้

ที่ต้องเป็นกลางปี ก็เพราะในช่วงเวลานั้นแผนการกู้เงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลกำลังจะคลอดออกมา

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลเลือกที่จะกู้เงินในประเทศมากกว่าจะกู้จากต่างประเทศ

ดังนั้น การลดดอกเบี้ยลงก็เท่ากับลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาล ทำให้สามารถระดมทุนได้ถูกลง

การถกเถียงเรื่องดอกเบี้ยของ ธปท.กับกระทรวงการคลังนั้น มีแต่การพูดถึงเหตุผลที่ต้องคงดอกเบี้ยสูงเพราะคุมเงินเฟ้อ

แต่ความจริงที่ ธปท.ไม่ได้พูด คือ ธปท.ห่วงสัญญาณของฟองสบู่เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการลดดอกเบี้ย เนื่องจากขณะนี้สัดส่วนการออมภาคครัวเรือนลดลง สวนทางกับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น

การลดดอกเบี้ยลงอีกจะไล่เงินฝากออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งน่าเป็นห่วงหากจะไปเพิ่มการบริโภค และการเก็งกำไรในตลาดหุ้น หรือในภาคอสังหาริมทรัพย์

ธปท.ระบุว่า สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของภาคครัวเรือนในปี 2555 เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40-50% ของรายได้รวม เทียบกับอดีตอยู่ที่ 30% ขณะที่สัดส่วนที่เหมาะสมคือ 28%

ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2.5 หมื่นบาท จะมียอดหนี้คงค้างเกิน 1 เดือนสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าปัญหาหนี้เสียจะไปเกิดขึ้นในกลุ่มรากหญ้า

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สะท้อนหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งอาจเป็นผลมาจากน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ที่ทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ประสบภัยต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้น รองลงมาเป็นหนี้เพื่อใช้ซื้อบ้าน/ที่ดินและเพื่อประกอบธุรกิจ

สำหรับที่มาของแหล่งเงินนั้น ส่วนใหญ่เป็นการกู้ในระบบ คือ ธนาคาร 63.6% รองลงมาเป็น กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง 22.4% สำหรับแหล่งเงินกู้นอกระบบสัดส่วนเพียง 7.5% อาทิ กู้จากนายทุนเงินกู้ พ่อค้าคนกลาง ญาติ เพื่อนบ้าน เป็นต้น

นั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีของเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง

แต่สัญญาณฟองสบู่ของเศรษฐกิจที่เริ่มตีฟองขึ้นอย่างช้าๆ ในด้านอสังหาริมทรัพย์ กลับยังไม่มีใครยอมรับอย่างเป็นทางการ

ที่ไม่มีใครยอมรับ เพราะการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้กระจุกตัวอยู่ในคอนโดมิเนียมริมทางรถไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หัวหิน เป็นต้น ที่มีการปรับราคาขึ้นประมาณ 20-30%

ส่วนการปั่นราคาที่ดิน บ้านเดี่ยว ยังไม่มีมากจนเห็นได้ชัด ดังนั้นจึงไม่มีใครยอมรับว่าเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

แต่ ชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดขยายตัวขึ้นค่อนข้างมาก และมีราคาที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งราคาต่อตารางเมตรในหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น เฉลี่ยในระดับสูง 6-8 หมื่นบาท เทียบเท่าราคาในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าชานเมือง ราคาคอนโดมิเนียมบางแห่งสูงกว่าราคาบ้านเดี่ยวเสียอีก

ส่วนหนึ่งมองว่าอาจเกิดการเก็งกำไรขึ้น เห็นได้จากการขายใบจองที่หมดลงภายใน 1 วัน ในหลายๆ โครงการ

นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดมีที่ดินอีกมากที่จะสร้างบ้านในแนวราบ ไม่จำเป็นต้องสร้างบ้านในแนวสูง ยกเว้นในจังหวัดท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคาที่ดินในต่างจังหวัดเร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเข้าไปสร้างที่อยู่อาศัยของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ดังนั้นจึงอยากให้ ธปท.ควบคุมหรือเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นสัญญาณการเข้าสู่สภาวะฟองสบู่แบบอ่อนๆ แล้ว

นอกจากนี้ เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในหมู่ของเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้สินเชื่อเคหะ ที่เริ่มเข้มงวดในการปล่อยกู้สินเชื่อเคหะมากขึ้น โดยธนาคารไทยพาณิชย์นำร่องลดการทำแคมเปญ เงินกู้ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 1 ปี ฟรีจำนอง จะทำแคมเปญให้กับเจ้าของโครงการที่เป็นลูกค้าและมาขอให้ออกแคมเปญเป็นกรณีพิเศษให้ดอกเบี้ย 0% อั้นแค่ 3 เดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ การปฏิเสธคำขอสินเชื่อก็เพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 15% เนื่องจากธนาคารเข้มงวดกฎเกณฑ์การขอสินเชื่อมากขึ้น เช่น หากมีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท จะสามารถขอสินเชื่อบ้านได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้เพราะธนาคารพบว่าลูกค้าเป็นหนี้ด้านอื่นเพิ่มขึ้น ความสามารถในการขอกู้จึงลดลง

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ก็มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเป็นพิเศษเช่นกัน

นอกจากนี้ ธปท.เองก็เป็นห่วงฟองสบู่ ที่หากเกิดขึ้นแล้วจะนำมาสู่ปัญหาหนี้เสียในภาคสถาบันการเงิน จึงเริ่มจับตาใกล้ชิดกับกระบวนการตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยเน้นหนักไปที่กระบวนการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น

ส่วนภาวะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เติบโตขึ้นค่อนข้างเร็ว จนหลายคนกังวลว่าจะเกิดปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ว่า ธปท.ได้ติดตามดูอย่างใกล้ชิด โดยสาเหตุที่สินเชื่อเร่งตัวขึ้นเป็นผลจากมาตรการรถยนต์คันแรก และอาจมีผลต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้

หาก ธปท.จะลดดอกเบี้ยในภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มจะมีฟองสบู่ เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก

จากนี้ไปการชี้แจงเรื่องนโยบายดอกเบี้ยของ ธปท.จะเปลี่ยนเหตุผลจากเพราะต้องการคุมเงินเฟ้อ เป็นการป้องกันปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่

เหตุผลประการหลังนี้มีน้ำหนักมากกว่าเหตุผลด้านเงินเฟ้อมาก แต่ ธปท.ต้องยอมรับเสียก่อนว่า กำลังเกิดสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ขึ้นแล้ว

การยอมรับเช่นนี้ อาจจะทำให้ตลาดตื่นตระหนกบ้าง แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจมองข้าม หาก ธปท.จะลดดอกเบี้ยลง ต้องมีมาตรการคุมเข้มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เสียก่อน จึงจะผ่อนคลายดอกเบี้ยได้

และหากมีสัญญาณฟองสบู่แล้ว รัฐบาลยังไม่หยุดกดดัน ธปท.ให้ลดดอกเบี้ยนั้น คนที่จะต้องรับผิดชอบอาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลที่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป

ส่วนการส่งออกที่กำลังย่ำแย่เพราะเงินบาทแข็งค่านั้น ธปท.จะมีมาตรการเพิ่มต้นทุนการเงินให้สูงขึ้นเพื่อสกัดเงินร้อนแน่นอน แต่จะใช้เมื่อไรนั้น คงจะต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

โพเทนเชียลฯรุกค้นคว้าวิจัยพลังงานทดแทนรับเออีซี

นายเกียรติภูมิ สิริพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โพเทนเชียล เอ็นเนอร์ยีจำกัด (Potential Energy Co., Ltd.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เตรียมที่จะศึกษาวิจัยหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเทศไทย อาทิ ลาว กัมพูชา บรูไน เวียดนาม สิงค์โปร โดยจะศึกษาวิจัยในลักษณะบูรณาการร่วมกับภูมิประเทศอื่นๆ โดยให้ประเทศไทยเป็นหลักทางด้านเงินทุนและKnow How เทคโนโลยีในการพัฒนาโครงการ

รวมทั้งเตรียมต่อยอดหาแหล่งพลังงานในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตไฟฟ้า อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานคลื่น เพราะเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ฟรีไม่ต้องลงทุน โดยนำเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นต้นแบบการศึกษาวิจัย เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อเชื้อเพลิงในราคาแพง

“พลังงานขยะเป็นอีกหนึ่งวิจัยที่ได้ดำเนินการอยู่โดยไประสานงานกับทางเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ทั่วประเทศ ในการกำจัดขยะเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงหรือรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ และมีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ สามารถกำจัดสิ่งปฏิกูล โดยได้พลังงาน และได้โปรดักส์มาทดแทน” นายเกียรติภูมิ กล่าว

นายเกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆนี้บริษัทฯยังได้อนุมัติเงินสนับสนุนโครงการพลังงานลม (Wind Energy) ขนาด 4.8MW นำร่องพื้นที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่ในสัดส่วน 65% หรือประมาณ 117 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 35% จะเป็นผู้พัฒนาโครงการจากประเทศเยอรมนี และเจ้าของรีสอร์ทในเกาะเต่าร่วมลงทุน 63 ล้านบาท รวม 180 ล้านบาท รวมทั้งได้เงินสนับสนุนจากธนาคารอีก 420 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 600 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะผลิตไฟฟ้าได้ 14-15 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นรายได้ปีละประมาณ 115ล้านบาท หักค่าบำรุงรักษาและเดินเครื่องปีละ 5 ล้านบาท จะมีกำไรจากการดำเนินงานประมาณปีละ 110 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถคืนทุนได้ประมาณ 6 ปี โดยโครงการนี้ช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซล ถึงหน่วยละ 10-12บาท

ปัจจุบัน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสูงถึงหน่วยละ 18-20บาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะซื้อไฟฟ้าจากโครงการที่ราคาหน่วยละ 8 บาท ลดต้นทุนได้หน่วยละ 10-12บาท เมื่อโครงการผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 14-15หน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดให้กับประเทศชาติได้ถึงปีละ 150-200 บาท

จากผลงานดังกล่าว คณะกรรมการโครงการ Smart Green Hero 55 ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คัดเลือกให้ตนเข้ารับรางวัล Smart Green Hero 55 ด้าน Wind Energy เพราะเห็นว่า เป็นผู้ที่เผยแพร่ และปฏิบัติจริงในการนำพลังงานลมมาใช้ให้เกิดประโยชน์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เตรียมเปิดเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งด้านการผลิต และด้านอุตสาหกรรมร่วมวางกลยุทธการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร

นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรได้วิเคราะห์สถานการณ์เครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศ พบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องจักรการเกษตรเป็นมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี และไทยมีศักยภาพในการสร้างเครื่องจักรกลการเกษตรส่งออกสู่ประเทศในอาเซียนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดเวทีการปฏิบัติการให้ผู้เกี่ยวข้องในสินค้าเกษตรทั้งในด้านการผลิต และด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตรร่วมเสวนาในการหาความต้องการในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร แนวทางการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อเป็นกลยุทธในการนำเครื่องมือจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมมาใช้ และจะต้องพัฒนาให้เกษตรกรรายย่อยสามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเครื่องจักรกลการเกษตรในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้

ทั้งนี้การพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นหนึ่งใน 8 ยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปีงบประมาณ 2557 และจะนำการพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมาร่วมพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ smart famer อีกด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556

เร่งรัด6มาตรการดันเศรษฐกิจ รับมือตลาดการค้าหลักถดถอย

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งทำความตกลงด้าน การค้า การลงทุน ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ทั้งในระดับทวิภาคี และภูมิภาค (JTC) รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์การใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเสรีที่เสร็จสิ้นไปแล้วให้นักธุรกิจไทยได้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก พร้อมทั้งเตรียมทีมงานรองรับศูนย์บริการการค้าการลงทุน อย่างครบวงจร เพื่อให้บริการทั้งนักธุรกิจ ไทยและต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทยและอาเซียน

อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ กล่าวอีกว่า เนื่องจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ของยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการ ค้า การส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งสอง ล่าสุด กรมเจรจาการค้าได้เร่งมาตรการออกมา 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การส่งเสริมการค้าการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยฟื้นฟูความสัมพันธ์เพื่อ ลดอุปสรรคทางการค้า และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การประชุม JTC กับ เมียนมาร์ เวียดนาม สปป.ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา รวมทั้งการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย-เวียด-นาม-สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้เพิ่มขึ้น ส่วนมาตร-การที่ 2 จะแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ แทนตลาดหลัก เพื่อให้มีตลาดที่หลากหลายขึ้น โดยอาศัย FTA ที่มีผลบังคับใช้ แล้ว โดยมุ่งเน้นเป้าตลาดอย่างประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย เปรู รวมถึงตลาดชิลี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กลางปีนี้ด้วย

มาตรการที่ 3 การแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ จากทั่วโลก (Global Sourcing) เพื่อให้ไทยเกิดความได้เปรียบ ด้านต้นทุน ราคา และคุณภาพการผลิตสินค้าและบริการ มาตรการที่ 4 เรื่องการ ขอสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ซึ่งปัจจุบัน กรมฯอยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นการทดแทนหรือชดเชยสินค้าที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP และถือเป็นการได้รับสิทธิภาษีนำเข้าอย่างถาวร

มาตรการที่ 5 คือส่งเสริมการลง ทุนในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจากับอินเดีย แคนาดา และในกลุ่มอาเซียน และจะกำหนดแผนเจรจาด้านการลงทุนในความตกลงไทย-เปรู และไทย-ชิลี ในอีก 2 ปี มาตรการสุดท้าย เป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียน (ASEAN Gateway) โดยยกระดับการให้บริการศูนย์บริการข้อมูล AEC ให้เป็น ศูนย์บริการการค้าการลงทุนอย่างครบวงจริง ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 6 มาตรการจะช่วยส่งเสริม และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้สามารถ แข่งขันได้ตรงตามเป้าหมาย

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556

กรอ.ปฏิเสธ'รง.4'สองโรงน้ำตาล 'ขอนแก่น'-'มิตรผล'แจง'ผิดหลักเกณฑ์'

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยไม่ออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ให้บ.น้ำตาลขอนแก่น และบ.น้ำตาลมิตรผล ในจังหวัดเลย เหตุระยะห่างแค่ 60 กม. ขัดเกณฑ์ต้องห่าง 80 กม. ป้องกันโรงงานแย่งผลผลิตอ้อย เปิดทางให้อุทธรณ์ ด้านน้ำตาลขอนแก่นระบุ กระทรวงอุตฯควรรอคำตัดสินศาลปกครอง

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ทำหนังสือถึงบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ชี้แจงว่าไม่สามารถออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ให้กับโรงงานน้ำตาลของผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ในจังหวัดเลยได้ เนื่องจากติดหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้ต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร (กม.) เพื่อไม่ให้โรงงานน้ำตาลแย่งผลผลิตอ้อยเข้าโรงงาน แต่โรงงานทั้งสองมีระยะห่างกันประมาณ 50-60 กม. เท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการได้รับหนังสือพิจารณาคำขอ รง.4 แล้วสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ภายใน 30 วัน

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทน้ำตาลขอนแก่น ได้ร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้โรงงานน้ำตาลที่จังหวัดเลยเดินเครื่องหีบอ้อยได้ ในคำฟ้องระบุว่า การสร้างโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาตเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ ส่วนบริษัทน้ำตาลมิตรผลใช้วิธีการนำอ้อยไปหีบที่โรงงานในจังหวัดขอนแก่นแทน โดยกระทรวงเห็นว่าผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย เร่งลงทุนสร้างโรงงานก่อนที่ได้รับใบอนุญาตโรงงาน เมื่อกระทรวงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดปัญหาขึ้น

นายวิฑูรย์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาปัญหาการออกใบอนุญาตโรงงานให้กับโรงงานน้ำตาลเพื่อพิจารณาปรับลดเงื่อนไขระยะทาง 80 กม. ของโรงงานน้ำตาลใหม่ เมื่อกำหนดเงื่อนไขระยะทางใหม่จะบังคับใช้กับการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ทั่วประเทศ โดยเงื่อนไขใหม่ไม่ได้ปรับแก้เพื่อโรงงานน้ำตาล 2 แห่งนี้เท่านั้น

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย จะไม่อุทธรณ์คำสั่งเรื่องการไม่อนุมัติใบอนุญาตรง.4 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งให้แน่นอน เพราะไม่มีความจำเป็น ต้องการให้คำสั่งศาลปกครองเป็นผู้ชี้ขาดจะเหมาะสมกว่า โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้โรงงานสามารถเปิดหีบอ้อยถึงวันที่ 15 เมษายน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนเพื่อพิจารณาตัดสินคดีดังกล่าว ซึ่งคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวจะทำให้กระทรวงรู้ว่าควรรอคำตัดสินใจของศาล ไม่ใช่เตรียมดำเนินการเช่นนี้

จากhttp://www.matichon.co.th วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กองทุนอ้อยฯเผยมี.ค.ชำระหนี้เก่าหมด 'แต่ทำใจเตรียมก่อหนี้ใหม่เพิ่มค่าอ้อย'

กองทุนอ้อยฯเผยสิ้น มี.ค.หนี้ชำระหนี้เดิม ธ.ก.ส.หมด แต่แนวโน้มอาจต้องเป็นหนี้ต่อไปหลังชาวไร่ผลักดันให้เพิ่มค่าอ้อยฤดูกาลผลิตใหม่อีกรอบ ส่อแววกู้เพิ่ม 2 หมื่นล้านบาท

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ฐานะกองทุนอ้อยฯมีภาระหนี้คงเหลือที่จะชำระคืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ประมาณ 1,300 ล้านบาท จากหนี้ทั้งหมดที่กู้มาเพิ่มค่าอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 54/55 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทซึ่งคาดว่าจะชำระได้หมดภายในสิ้น มี.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มค่าอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 55/56 อีกโดยให้กองทุนฯ กู้ ธ.ก.ส.เพื่อชดเชยส่วนต่างเพิ่มนั้นก็ยังคงทำให้ฐานะกองทุนฯยังคงมีหนี้ต่อไป

"หนี้จริงๆ เรามี 2 ส่วนส่วนแรกเป็นเงินกู้ช่วยค่าอ้อยตั้งแต่ปี 49/50 แต่รัฐได้ตั้งงบประมาณให้ชำระหนี้คืนปีละ 450 ล้านบาท จะครบในปี 2563 แต่หนี้ ธ.ก.ส.หลักคือที่เหลืออยู่ 1,300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้หมดสิ้น มี.ค.นี้ส่วนการจะกู้ใหม่นั้นก็ต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ก่อน หลังจากนั้นก็จะต้องมาดูความสามารถในการชำระหนี้คืนของกองทุนฯให้เหมาะสมต่อไป" นายอาทิตย์กล่าว

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดการพิจารณากู้เงินเพิ่มค่าอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 55/56 ที่ภาครัฐได้คำนวณราคาขั้นต้นที่ 950 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนการผลิตของชาวไร่ อยู่ที่ 1,196.31 บาทต่อตันอ้อยดังนั้น จึงควรเร่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ประมาณ 20,000 ล้านบาทผ่านกองทุนฯในการช่วยเหลือ

"ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยเองก็ได้มีการชำระหนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้วและหนี้เดิมก็จะหมดลงใน เดือนมี.ค.นี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรเพราะการอุดหนุนพืชเกษตรอื่นใช้เงินงบประมาณจำนวนมากกว่านี้แต่อ้อยเป็นเงินกู้ด้วยซ้ำ" นายชัยวัฒน์กล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยจี้อุตฯเพิ่มราคา250บาทต่อตัน

กองทุนอ้อยฯ ระบุ ต้องพิจารณาสถานะกองทุน เผยหนี้เก่าหมดเดือนมี.ค.นี้
ชาวไร่อ้อย จี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งพิจารณาเงินเพิ่มค่าอ้อยตันละ 250 บาท ชี้ ราคาขั้นต้นไม่คุ้มต้นทุนการเพาะปลูก ห่วงกระทบสภาพคล่องเตรียมปลูกฤดูกาลใหม่

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ที่ปรึกษาชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ชาวไร่อ้อยต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งพิจารณาจัดหาเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูกาลผลิต 2555/2556 อีกตันละ 250 บาท เพื่อให้ชาวไร่ได้กำไรจากการปลูกอ้อย โดยต้นทุนการผลิตอ้อยในฤดูกาลนี้อยู่ที่ตันละ 1,196 บาท แต่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นไว้ที่ตันละ 950 บาท และ กอน.

ยังไม่มีการพิจารณาเงินเพิ่มค่าอ้อยให้แก่ชาวไร่ ซึ่งปีที่แล้ว กอน. เห็นชอบในเดือนก.พ. ก่อนที่จะให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการจัดหาเงินเพิ่มค่าอ้อยควรใช้แนวทางเดียวกับฤดูกาลผลิต 2554/2555 ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งคาดว่าฤดูกาลปัจจุบัน จะต้องกู้เงินจากประมาณ 20,000 ล้านบาท ธ.ก.ส.พร้อมที่จะให้กู้เพราะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นลูกค้าชั้นดีและมีแผนการชำระเงินที่ชัดเจน รวมทั้งหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจากการกู้มาจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยในฤดูกาลผลิตที่แล้ว 15,000 ล้านบาท คาดว่าจะชำระหมดภายในเดือนมี.ค. นี้

ทั้งนี้ ต้นทุนการปลูกอ้อยของชาวไร่สูงขึ้นจากการปรับราคาปุ๋ย และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ และชาวไร่อ้อยจำเป็นต้องจ้างแรงงานตัดอ้อยในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพราะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่เมื่อชาวไร่อ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนตัดอ้อยเข้าหีบแล้วก็เริ่มปลูกอ้อยในฤดูกาลผลิต 2556/2557 ต่อเลย ซึ่งทำให้ชาวไร่อ้อยจำต้องมีเงินทุนหมุนเวียนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการไถดิน ซื้อพันธุ์อ้อย บำรุงอ้อยและเตรียมระบบน้ำเข้าไร่อ้อย และถ้าการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยล่าช้า อาจทำให้ชาวไร่มีผลต่อสภาพคล่องในการเตรียมปลูกอ้อยในฤดูกาลถัดไป

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยในฤดูกาลปัจจุบันคาดว่าจะอยู่ที่ 90 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลที่แล้วที่มี 97 ล้านตัน โดยปัญหาแล้งในหลายพื้นที่ทำให้อ้อยโตไม่เต็มที่มีความสูงและเส้นรอบวงน้อยกว่าอ้อยฤดูกาลที่แล้ว รวมทั้งปัญหาแล้งทำให้ค่าความหวานของอ้อยลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ซี.ซี.เอส. จากฤดูกาลที่แล้วที่มีค่าความหวานเฉลี่ย 12 ซี.ซี.เอส. และทำให้อ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 100-101 กิโลกรัม ต่างจากฤดูกาลที่แล้วที่ผลิตได้ 107 กิโลกรัม

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ฤดูกาลที่แล้วจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยตันละ 154 บาท ต้องกู้ ธ.ก.ส.15,000 ล้านบาท และปัจจุบันเหลือหนี้ประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยในฤดูกาลนี้กองทุนอ้อย และน้ำตาลทรายยังไม่พิจารณาเงินเพิ่มค่าอ้อย เพราะต้องรอให้ ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นฤดูกาลผลิต 2555/2556 ก่อน และคาดว่า ครม.จะพิจารณาได้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งการกำหนดเงินเพิ่มค่าอ้อยจะพิจารณาราคาที่เหมาะสม และสถานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และมีข้อสรุปว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อย ก็ต้องมาหารือว่าจะกู้เงินจากแหล่งไหน แต่ถ้าไม่มีการกู้เงินจะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีสถานะเป็นบวกได้ในสิ้นเดือนมี.ค. 2556

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อุตฯเล็งประกาศมอก.9999 ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง หาสิทธิพิเศษให้ธุรกิจเข้า

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาอนุมัติร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 9999) ตามคณะกรรมการวิชาการที่มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษาเสนอ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ตั้งแต่การใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ พลังงาน เป็นต้น ให้สามารถประคองกิจการอยู่รอดภายใต้สภาวะการแข่งขันที่สูง คาดว่าจะมีผลบังคับในเดือน มี.ค. 56

"หลังจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณามาตรการจูงใจแก่ผู้ที่ได้รับ มอก. 9999 ซึ่งอาจใช้กลไกของกระทรวงที่มีอยู่โดยเฉพาะเรื่องของค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยผู้ที่ได้รับ มอก.นั้นสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจกระบวนการผลิตสินค้าที่พอเพียง ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างรู้ค่า การใช้พลังงานที่ไม่ฟุ่มเฟือย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ เพราะต้นทุนการผลิตในไทยมีการเปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า มอก. 9999 ยังสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกันตัวในช่วงเศรษฐกิจที่มีความผันผวนทั้งเรื่องของผลกระทบค่าเงิน ผลกระทบต้นทุนที่สูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทั้งการเมือง และกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น เพราะการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้องค์กรมีความเตรียมพร้อมทั้งบุคลากร และองค์กร รวมถึงการลงทุนที่ไม่ควรเกินความสามารถของผู้ประกอบการอีกด้วย

แหล่งข่าวจาก สมอ. กล่าวว่า ในวันที่ 17 เม.ย. 56 การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทองแดงและทองแดงเจือสำหรับจุดประสงค์ทั่วไปทางไฟฟ้า : เส้น และแท่งจะมีผลบังคับใช้ เพื่อความปลอดภัย และป้องกันความเสียหายแก่ประชาชน หลังจากปัจจุบันมีการนำเข้าทองแดงและทองแดงเจือฯ ที่ไม่ได้มาตรฐานในราคาต่ำกว่าปกติเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดอันตรายและผลเสียหายกับผู้ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผล กระทบต่อคุณภาพของระบบส่งและจ่ายไฟฟ้า เนื่องจากการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในแท่งตัวนำที่มีคุณภาพต่ำ

"สมอ.ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาห กรรมทองแดงเจือสำหรับจุดประสงค์ทั่วไปทางไฟฟ้า : เส้น และแท่ง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ลดการนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำ เพราะผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในระบบจ่ายไฟฟ้า และระบบจ่ายไฟฟ้าที่มีพิกัดกระแสสูงในอาคารขนาดใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรม"

ขณะเดียวกันปลายปีที่ผ่านมา สมอ.ได้ปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ โดยมาตรฐานฉบับนี้ กำหนดปริมาณสารพิษตามแนวทางของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เทียบได้กับมาตรฐานยุโรป 4 เพื่อใช้ควบคุมปริมาณสารมลพิษจากเครื่องยนต์รถยนต์นั่งรวมถึงรถยนต์ออฟโรด รถยนต์บรรทุก และรถยนต์นั่งที่ดัดแปลงมาจากรถยนต์บรรทุก ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ผู้ใช้รถยนต์มีความปลอดภัยมากขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556

อ้อยพันธุ์ใหม่เหมาะป้อนโรงงานน้ำตาล

ถึงแม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพการผลิต “อ้อย” สูง และมีโรงงานผลิตน้ำตาลที่ทันสมัยระดับโลก แต่ปัจจุบันผลผลิตอ้อยของไทยยังค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยประมาณ 11.26 ตัน/ไร่ ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งอย่างบราซิลที่ได้ผลผลิต 12.67 ตัน/ไร่และออสเตรเลีย 12.43 ตัน/ไร่ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับปรุงพันธุ์อ้อยพันธุ์ใหม่สำเร็จเพิ่มอีก 2 พันธุ์ มีจุดเด่นที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทั้งน้ำหนักและน้ำตาล คาดว่าน่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรที่จะใช้อ้อยพันธุ์ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อ้อยพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรีปรับปรุงพันธุ์ประสบผลสำเร็จ และคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชได้พิจารณาประกาศเป็นพันธุ์แนะนำในปี 2556 นี้ มี 2 พันธุ์ ได้แก่ อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12(U-Thong 84-12) และพันธุ์อู่ทอง 84-13(U-Thong 84-13) ถือเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำหนักและผลผลิตน้ำตาลสูง สำหรับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 เดิมชื่ออ้อยโคลน 02-2-477 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์แม่สุพรรณบุรี 80 กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 3 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรีได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2545 จากนั้นได้ปลูกเปรียบเทียบเบื้องต้น และปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน แล้วปลูกทดสอบในไร่เกษตรกรพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรีด้วย

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 มีลักษณะเด่นคือ ปลูกในเขตชลประทานหรือเขตที่มีน้ำเสริม ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 16.92 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 19 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 20 หากเกษตรกรมีระบบการจัดการที่ดีจะให้ผลผลิตสูงถึง 20-25 ตัน/ไร่ นอกจากนั้น อ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 ยังให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.40 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 17 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 24 และให้ความหวานเฉลี่ย 14.21 ซีซีเอส

ส่วนอ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-13 เดิมชื่ออ้อยโคลน 03-2-287 เป็นลูกผสมย้อนกลับชั่วที่ 3 ของ Saccharum spontaneum กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 8 มีลักษณะเด่นคือ ปลูกในเขตใช้น้ำฝนให้น้ำหนักเฉลี่ย 14.30 ตัน/ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 34 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 45 ขณะที่ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 1.99 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 32 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ร้อยละ 42 อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการปลูกอ้อยพันธุ์นี้ในพื้นที่ที่น้ำขังและน้ำมาก เพราะเจริญเติบโตเร็วมาก จะทำให้ล้ม และไม่ควรปลูกในแหล่งที่มีประวัติโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำระบาด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทดสอบความพึงพอใจของเกษตรกรต่ออ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-12 และพันธุ์อู่ทอง 84-13 พบว่า เกษตรกรพึงพอใจมาก ขณะนี้ชาวไร่อ้อยในหลายพื้นที่เริ่มใช้อ้อยพันธุ์ใหม่ทั้ง 2 พันธุ์ไปปลูกแล้ว อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และบางจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันโรงงานผลิตน้ำตาลหลายแห่งยังพึงพอใจในคุณภาพของอ้อยพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเครือข่ายปลูกเพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงานด้วย

กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี เร่งเตรียมท่อนพันธุ์เพื่อรองรับความต้องการของชาวไร่อ้อยที่สนใจใช้พันธุ์ โดยศูนย์ฯ ได้ขยายแปลงผลิตพันธุ์อ้อยอู่ทอง 84-12 และอ้อยอู่ทอง 84-13 รวมประมาณ 20 ไร่ สามารถใช้ปลูกขยายได้กว่า 200 ไร่ กำหนดราคาจำหน่ายท่อนพันธุ์ลำละ 1 บาท (ประมาณ 4-5 ท่อน) ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกใช้พันธุ์ไปปลูกเพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่โรงงานน้ำตาลได้

อย่างไรก็ตาม หากสนใจอ้อยพันธุ์ใหม่ “พันธุ์อู่ทอง 84-12” และ “พันธุ์อู่ทอง 84-13” สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โทร.0-3555-1543, 0-3555-1433 และ 0-3556-4863.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556

จี้ปล่อยกู้2หมื่นล้านช่วยชาวไร่อ้อย

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า อยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งหาแหล่งเงินกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อย 250 บาทต่อตันอ้อย ที่ร้องขอไปก่อนหน้านี้ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1,196.31 บาทต่อตันอ้อย แต่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต้นฤดูนี้เพียง 950 บาทต่อตันอ้อย

“กอน. ควรเร่งพิจารณาเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ราว 2 หมื่นล้านบาท โดยกอน. เข้ามาบริหารจัดการนำเงินจากการขายน้ำตาล 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) มาใช้หนี้ การกู้เงินที่ผ่านมาก็ใช้หนี้อย่างดี โดยเฉพาะวงเงินกู้เพิ่มค่าอ้อยฤดูการผลิต 2554/2555 รวม 1.5 หมื่นล้านบาท จะหมดเดือนมีนาคมถึงเมษายนนี้” นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตของชาวไร่สูงกว่าราคาขั้นต้นมาก โดยเฉพาะค่าปุ๋ยค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำตาลของอ้อยลดลงเฉลี่ยไร่ละ 7 กก.ค่าความหวานลดลงเหลือ 11 ซีซีเอส ผลผลิตอ้อยรวมทั้งปีเหลือประมาณ 90 ล้านตัน ลดจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 97 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายน้ำตาลในตลาดโลกลดลงเช่นกัน

“ความล่าช้าของ กอน. จะทำให้ชาวไร่เดือนร้อน เพราะปกติเงินเพิ่มจะเริ่มดำเนินการในช่วงนี้ ถ้าได้เงินเพิ่มช้าจะทำให้ชาวไร่ขาดสภาพคล่องในการลงทุนผลิตอ้อยฤดูใหม่” นายชัยวัฒน์กล่าว และว่า ขณะนี้แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน เริ่มปลูกอ้อยฤดูใหม่แล้ว ทำให้ชาวไร่จำเป็นต้องมีวงเงินลงทุน อาทิ การจ้างแรงงงานเตรียมดิน หว่านปุ๋ย เตรียมระบบชลประทาน และการใช้จ่ายในครอบครัว

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธาน กอน. กล่าวว่าการพิจารณาเงินเพิ่มค่าอ้อยนั้นคณะกรรมการฯ คงต้องพิจารณาระดับราคาที่เหมาะสม รวมถึงฐานะของกองทุนด้วยว่าสามารถรองรับได้มากน้อยเพียงใด โดยฐานะกองทุนปัจจุบันมีหนี้คงค้างที่เกิดจากการกู้ยืมในการาจ่ายส่วนเพิ่มราคาอ้อย 154 บาทต่อตัน ให้เกษตรกรฤดูกาลผลิต 2554/2555 ต้องชำระให้ ธ.ก.ส.วงเงิน 1,400 ล้านบาท จากยอดหนี้ทั้งสิ้น 1.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะใช้หนี้หมดจนฐานะกองทุนกลับมาเป็นบวกสิ้นเดือนมีนาคมนี้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556

เบรก'ขอนแก่น-มิตรผล'ตั้งโรงงานในเลย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ทำหนังสือชี้แจงถึงบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด ว่า ไม่สามารถออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ให้กับโรงงานน้ำตาลของผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ในจังหวัดเลยได้ เนื่องจากติดหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้ต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร (ก.ม.) ซึ่งหลักเกณฑ์นี้กำหนดขึ้นมาตั้งแต่สมัย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม เพราะไม่ต้องการให้โรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ใกล้กันและแย่งผลผลิตอ้อยเข้าโรงงาน

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่งมีระยะทางห่างกัน 50-60 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อผู้ประกอบการได้รับหนังสือพิจารณาคำขอ รง.4 แล้วสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อรมว.อุตสาหกรรมได้ภายใน 30 วันตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 16
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาปัญหาการออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาล โดยปรับลดเงื่อนไขระยะทาง 80 ก.ม. ของโรงงานซึ่งจะบังคับใช้กับการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ทั่วประเทศ

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จะไม่อุทธรณ์คำสั่งเรื่องการไม่อนุมัติใบอนุญาตรง.4 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งให้ เพราะให้คำสั่งศาลปกครองเป็นผู้ชี้ขาดจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2556 ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้โรงงานสามารถเปิดหีบอ้อยถึงวันที่ 15 เม.ย.แล้ว ขณะนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนเพื่อพิจารณาตัดสินคดี ซึ่งคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวจะทำให้กระทรวงรู้ว่าควรรอคำสั่งศาล ไม่ใช่เตรียมดำเนินการเช่นนี้

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กองทุนอ้อยฯรับลูก'ทีดีอาร์ไอ' ทั้งลอยตัวราคา-นำเข้าน้ำตาล

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน รับทราบผลการศึกษาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ รวมถึงเปิดให้นำเข้าเสรีด้วย และให้ยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ที่ไม่จูงใจให้โรงงานน้ำตาลเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลเพื่อเป็นสูตรในการคำนวณราคารับซื้ออ้อยจากชาวไร่ที่จะจูงใจโรงงานมากขึ้น พร้อมทั้งให้เพิ่มปริมาณน้ำตาลในโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) อีก 10%

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คงไม่จำเป็นต้องคง โควตา ก. เพราะโครงสร้างใหม่เปิดให้มีการนำเข้าเสรีอยู่แล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์ควรแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมราคาน้ำตาลในประเทศ ไม่เช่นนั้นจะลอยตัวราคาไม่ได้

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 หากพบจุดใดบกพร่องควรปรับปรุง

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

'ทีดีอาร์ไอ'เสนอลอยตัวน้ำตาล-เลิก70:30

ทีดีอาร์ไอเสนอกองทุนอ้อยฯปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทราย แนะลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ สะท้อนราคาตลาดโลกเหมือนน้ำมัน ยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ด้านโรงงานค้านคงโควตาก.ไว้ หวั่นไม่เสรีจริง

คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งมีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้ประชุมคณะกรรมการรับทราบผลการศึกษาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เสนอให้ลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ซึ่งทีดีอาร์ไอเสนอให้ลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศและเปิดให้นำเข้าน้ำตาลเสรี การลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศไม่กำหนดเพดานราคาขั้นต่ำหรือขั้นสูงไว้ แต่ใช้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอิงราคาน้ำตาลในประเทศ ถ้าราคาในประเทศสูงก็นำเข้าได้

ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดราคาขายปลีกน้ำตาลโควตา ก. แต่เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายภายในอาเซียนจะลดลง ซึ่งไทยจะลดภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายจากอาเซียน ซึ่งภาษีนำเข้าน้ำตาลจากอาเซียนที่ลดลงทำให้ยี่ปั๊วนำเข้าน้ำตาลจากอาเซียนได้เสรี ไม่จำเป็นต้องซื้อจากโรงงานน้ำตาลในไทยอย่างเดียว ถ้ายกเลิกการควบคุมราคา ก็ต้องปล่อยให้ราคาน้ำตาลขายปลีกในประเทศลอยตัวเพื่อสะท้อนต้นทุนและราคาตลาดโลกเหมือนน้ำมัน

ทั้งนี้ทีดีอาร์ไอเสนอให้ยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลเพื่อนำมาเป็นสูตรคำนวณราคารับซื้ออ้อยจากชาวไร่ หากโรงงานน้ำตาลเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงกว่าค่ามาตรฐานจะทำให้โรงงานได้ส่วนต่างจากน้ำตาลที่ผลิตได้เกินมาตรฐาน เป็นแนวทางจูงใจให้โรงงานน้ำตาลเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอเสนอให้คงกำหนดน้ำตาลโควตา ก. สำหรับบริโภคไว้เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะมีน้ำตาลเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งให้เพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. อีก10% จากปริมาณโควตาก.ในปัจจุบัน หลังจากนี้กองทุนอ้อยฯจะเสนอรายงานให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาต่อไป

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโรงงานน้ำตาลเห็นว่าเมื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดน้ำตาลโควตา ก. เพราะโครงสร้างใหม่เปิดให้นำเข้าน้ำตาลเสรี หากน้ำตาลในประเทศไม่พอสามารถนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศได้ การกำหนดให้โรงงานต้องเก็บน้ำตาลโควตา ก.ไว้จะเพิ่มต้นทุนการบริหารจัดการของโรงงาน ถ้ากำหนดโควตา ก.ไว้เหมือนเดิมก็เหมือนกับว่ายังไม่เปิดเสรีน้ำตาลจริง และเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ควรแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมราคาน้ำตาลในประเทศ หากยังมีกฎหมายควบคุมราคาอยู่จะทำให้ลอยตัวราคาน้ำตาลไม่ได้

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ถ้าภาครัฐเห็นว่าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ใช้มานานและมีจุดใดบกพร่องก็ควรมาปรับจุดที่บกพร่องแทนที่จะยกเลิกระบบนี้ไปเลย ที่ผ่านมาระบบแบ่งปันผลประโยชน์ก็ใช้ได้ดีและทำให้ชาวไร่สนใจเข้ามาปลูกอ้อย  ชาวไร่อ้อยยันระบบ แบ่งปันผลประโยชน์เดิม ยังใช้ได้ดี

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มิตรผลปั้นแบรนด์เจาะตลาดอาเซียน

เผยปีนี้เตรียมส่งออกสิงคโปร์-กัมพูชา-ลาวเพิ่ม ตั้งเป้ายอดขายน้ำตาลในตลาดเอเชียในช่วง 1-2 ปีนี้ เติบโต 20% จากปีก่อนที่มียอดขายกลุ่มผู้บริโภคอยู่ที่ 2 หมื่นตันต่อปี ยันค่าบาทแข็งไม่กระทบรายได้ ทำประกันความเสี่ยงไว้แล้ว

นางอัมพร กาญจนกำเนิด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการตลาด กลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะขยายยอดส่งออกน้ำตาลในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่จะมีผลในปี 2558 ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมทำแผนการตลาดเพื่อขยายตลาดไปสู่กลุ่มผู้บริโภคในประเทศสิงคโปร์ กัมพูชา และ สปป.ลาว เพิ่มขึ้น โดยจะเน้นการสร้างแบรนด์ "มิตรผล" เพื่อให้เป็นที่รู้จักของตลาดเอเชีย จากปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศดังกล่าวแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะส่งไปขายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นหลัก

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดเอเชียยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดเออีซีแล้วประมาณ 5 แสนตันต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 40-50% ของยอดขายในตลาดต่างประเทศ โดยตั้งเป้าในช่วง 1-2 ปีนี้ จะมียอดขายในตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น 10-20% ต่อปี อย่างไรก็ตามหากเออีซีเกิดขึ้นจะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลอันดับสองของโลก รองจากบราซิล ซึ่ง จะทำให้ภาษีนำเข้าลดลงเหลือ 0% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 35%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาษีนำเข้าจะลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการนำเข้าของแต่ละประเทศด้วยว่าจะมากน้อยเพียงใด เนื่องจากบางประเทศอาจจะกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้า ทั้งนี้บริษัทก็ยังมองเห็นโอกาสในการขยายตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น โดยยังมีความสนใจที่จะขยายตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้น อาทิ พม่า และมาเลเซีย โดยการวางแผนการตลาดจะเน้นดำเนินการในรูปแบบเดียวกับประเทศไทย โดยเน้นที่คุณภาพสินค้าเป็นหลัก

นางอัมพร กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมตลาดน้ำตาลในปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 5-7% จากปีก่อน โดยการบริโภคอยู่ที่ 2.4-2.5 ล้านตันต่อปี เทียบกับปีก่อนที่ 2.3 ล้านตันต่อปี เนื่องจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเติบโตขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคอาหารมากขึ้นตามด้วย อย่างไรก็ตามปัจจัยที่น่าจับตาในปีนี้ก็ยังเป็นเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งยอมรับว่าทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะกระทบต่อรายได้ของบริษัทประมาณ 1% แต่บริษัทก็ทำประกันความเสี่ยงไว้แล้ว จึงไม่กระทบต่อรายได้มากนัก โดยในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 3.8-4 หมื่นล้านบาท

"ในปีนี้คาดว่ายอดขายน้ำตาลของบริษัทจะเติบโตขึ้นทั้งตลาดในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันบริษัทขายในประเทศ 30% ส่วนที่เหลือส่งออก ซึ่งบริษัทมีแนวทางจะเจาะกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโรงงานน้ำตาลที่ออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทเข้าไปซื้อกิจการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีทั้งหมด 4 โรง จะช่วยเพิ่มยอดขายด้วย"

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 18-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เทียบกับปีก่อนที่ 24 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากยังมีปริมาณส่วนเกินน้ำตาลในตลาดโลก 7-8 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำตาลอ่อนตัวลง อย่างไรก็ตามประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ อาทิ บราซิล และอินเดียก็ผลิตน้ำตาลได้น้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากภาวะภัยแล้ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

น้ำชีวภาพดินระเบิดแนวเศรษฐกิจพอเพียง

กำนันแหนบทองคำยึดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และเข้าร่วมเครือข่ายปราชญ์ชาวนา พาหุภาคีภาคอีสาน เกี่ยวกับการทำการเกษตรหลากหลาย เป็นเวลากว่า 15 ปี จนกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร มีเกษตรกรสนใจเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

นายนิคม ฝ่ายบุตร อายุ 59 ปี กำนัน ต.นาจิก อยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ 4 บ้านเชือก ต.นาจิก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ เล่าว่าได้ศึกษาโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอย่างต่อเนื่อง ทุกโครงการให้ประโยชน์แก่ประชาชนมาก จึงน้อมนำทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์มาปรับใช้กับที่นาและชีวิตประจำวัน ส่งผลให้การดำรงชีวิตราบรื่น อยู่อย่างมีความสุข ประกอบกับได้เข้าร่วมเครือข่ายปรัชญาชาวนาพาหุภาคีอีสาน โดยเข้ารับการอบรมเรื่องการเกษตรหลายรูปแบบเดือนละ 1 ครั้ง จึงมีความรู้ความเข้าใจด้านการเกษตรเป็นอย่างดี พร้อมกับนำความรู้ที่ได้รับไปแนะนำลูกบ้าน โดยเฉพาะการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใส่นาข้าว ส่งผลให้เกษตรกร ต.นาจิกหันมาปลูกข้าวอินทรีย์กันทั้งตำบล กลายเป็นตำบลปลอดสารเคมีอย่างยั่งยืน อันนำไปสู่การได้รับรางวัลแหนบทองคำ สาขาพัฒนาชุมชนดีเด่น ประจำปี 2550 จากกระทรวงมหาดไทย

นายนิคมกล่าวว่า การจะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินก็ต้องเตรียมอาหาร จะพัฒนาการต้องเตรียมคน จะพัฒนาใครเขาต้องเตรียมเราก่อน ซึ่งการจะทำสิ่งใดต้องมีความพร้อม การจะปลูกพืชก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากให้ข้าวงอกงาม ต้นไม้เจริญเติบโต ต้องถามดิน เพราะดินที่สมบูรณ์คือดินที่มีจุลินทรีย์และอินทรียวัตถุ มีธาตุอาหารที่สมบูรณ์ มีความโปร่ง ทั้งนี้ วงจรชีวิตของดินประกอบด้วย ผู้ผลิต คือพืชสังเคราะห์ธาตุอาหารในลำต้น ผู้บริโภค คือคนและสัตว์บริโภคพืชเป็นอาหาร ผู้ย่อยสลาย คือจุลินทรีย์ย่อยพืชและสัตว์ คืนแร่ธาตุสู่ดิน จุลินทรีย์จึงเสมือนทหารเอกในการช่วยกู้แผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกอย่างรวดเร็ว จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ทำงานและขยายพันธุ์ตลอดเวลา โดยการแตกตัวจาก 1 เป็น 2 เป็น 4 ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีอาหารและพืชให้ขยายตัว

นายนิคมกล่าวว่า การเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์โดยการนำพืชหรือสัตว์ หรือทั้งพืชและสัตว์หมักกับน้ำตาลทรายแดง หรืออ้อยสด หรือกากน้ำตาล จุลินทรีย์ในธรรมชาติจะย่อยพืชและสัตว์ให้เป็นของเหลวมีสีน้ำตาล กลิ่นหอมหวานอมเปรี้ยว เรียกว่าน้ำหมักชีวภาพ ทั้งนี้ น้ำหมักชีวภาพมีประโยชน์ดังนี้ 1.ด้านกสิกรรม ทำปุ๋ยบำรุงดิน บำรุงพืชทั้งทางรากและทางใบ 2.ทำความสะอาด ทำแชมพูสระผม สบู่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างรถ ฯลฯ 3.รักษาสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายขยะเปียก สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย รักษาความสะอาดในตลาดสดและคอกสัตว์ 4.ด้านการปศุสัตว์ ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 10,000 ให้สัตว์กินทุกวัน จะช่วยให้สัตว์แข็งแรง สุขภาพดี 5.รักษาสุขภาพ จุลินทรีย์จะช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย ปรับสมดุลให้ผิวพรรณนวลเนียนผ่องงาม

กำนันแหนบทองคำ ต.นาจิกยังบอกถึงวิธีการทำน้ำหมักด้วยว่า น้ำหมักนั้นมีหลายชนิด เช่น น้ำหมักดินระเบิด น้ำหมักน้ำซาวข้าว น้ำหมักฮอร์โมนพืชสีเขียว น้ำหมักฮอร์โมนผลไม้สุก น้ำหมักขยะหอม น้ำหมักผลไม้รสเปรี้ยว น้ำหมักไล่แมลง ฯลฯ ซึ่งในที่นี้จะบอกเพียงสูตรน้ำหมักดินระเบิดเพียงสูตรเดียวคือ

ส่วนประกอบในการทำน้ำหมักดินระเบิดคือ 1.ดินที่อุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่น 1 กิโลกรัม 2.รำอ่อนละเอียด 1 กิโลกรัม 3.น้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ 4.น้ำ 1-2 แก้ว 5.ผ้าฝ้ายหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ผืน หรือ 4 แผ่น

วิธีทำ นำดินที่อุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นมาคลุกเคล้ากับรำละเอียดและน้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ แล้วเติมน้ำ 1-2 แก้ว ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ให้ได้ความชื้นพอหมาดๆ แล้วใช้กระดาษหรือผ้าฝ้ายห่อไว้ ห่อละ 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาในการเพาะเลี้ยง 2-3 คืน จะเป็นก้อนแข็ง เพราะเชื้อราสีขาวเดินเต็มก้อน ผสมน้ำ 20 กิโลกรัม กับน้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล 2 กิโลกรัม นำจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงไว้ 2-3 คืนไปเลี้ยงในที่ผสมไว้ แล้วเลี้ยงต่อไปอีก 2-3 คืน ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ซึ่งอัตราส่วนการใช้ 1.ต้นกล้าอ่อนใช้น้ำดินระเบิด 1 ส่วนต่อน้ำ 1,000 ส่วน 2.ผักผลไม้น้ำดินระเบิด 1 ส่วนต่อน้ำ 500 ส่วน 3.นาข้าวใช้น้ำดินระเบิด 1 ส่วนต่อน้ำ 800 ส่วน 4.ดินแข็งดินตายใช้อินทรียวัตถุคลุมดิน แล้วใช้น้ำดินระเบิด 1 ส่วนต่อน้ำ 100 ส่วน

นายนิคมกล่าวว่า ตนมีที่นา 11 ไร่ ทำเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลมากมาย เช่น ปี 2546 ได้รับเกียรติบัตรเป็นผู้ประสานพลังแผ่นดิน ปี 2547 ได้รับเกียรติบัตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ สถาบันพัฒนาบุคลากร ปี 2548 หลักสูตรการสร้างวิทยากร เศรษฐกิจพอเพียง ระดับจังหวัด ปี 2549 ได้รับเกียรติบัตรจากรัฐสภาสัญจร ปี 2549 หลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเกียรติบัตรการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พร้อมรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดปลาดุกใหญ่ที่สุดของ จ.อำนาจเจริญ ปี 2550 หลักสูตรการเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสัตว์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และล่าสุดปี 2553 ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่ายจากสำนักงานงานเกษตรและสหกรณ์ จ.อำนาจเจริญ

หากเกษตรกรรายใดต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการศึกษาดูงาน ก็ติดต่อไปได้ที่ โทร.08-6867-3552 ได้ทุกวัน.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

ขอนแก่นอ่วมหนัก ภัยพิบัติแล้งทั้งจว. เสียหายแล้ว700ล้าน

ขอนแก่นอ่วมหนัก ภัยพิบัติแล้งทั้งจว.เสียหายแล้ว700ล้าน เขื่อนโคราชลดฮวบ น้ำประปาขาดแคลน

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ จ.ขอนแก่นว่า นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้วทั้งจังหวัดจำนวน 26 อำเภอ 197 ตำบล 2,243 หมู่บ้าน 35 ชุมชน หลังพบว่าทุกพื้นที่ประสบปัญหาของการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายรวม 733,948.25 ไร่ แยกเป็นนาข้าว 732,552.25 ไร่ พืชไร่ 1,396 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 708,951,448.50 บาท

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือว่า ขณะนี้ได้ระดมทุกภาคส่วนเข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนครอบคลุมทั่วทุกหมู่บ้านโดยได้อนุมัติเงินทดรองราชการจำนวน 50 ล้านบาท โดยให้แต่ละอำเภอนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอำเภอละ 1 ล้านบาท จำนวน 26 อำเภอ รวมเป็นเงิน 25,951,121.07 บาท แล้วในขณะนี้

ส่วนที่ จ.นครราชสีมา หม่อมหลวงอานุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นคราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภายในเขื่อนกักเก็บน้ำในจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อนโดยเฉลี่ยเหลือไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งขณะนี้ทางสำนักชลประทานที่ 8 ได้สั่งการให้ทุกเขื่อนจำกัดน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นางปิยะฉัตร อินสว่าง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา สรุปภาพรวมของสถานการณ์ภัยแล้งว่า ล่าสุด ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งแล้ว 29 อำเภอ 217 ตำบล 2,214 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 130,816 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 864,811 ไร่ โดยทาง ปภ.จังหวัดได้แก้ไขปัญหาด้วยการเปิดจุดแจกจ่ายน้ำไปแล้ว 4,544,000 ลิตร สูบน้ำเพื่อกักเก็บ 12 โครงการขุดลอกเปิดทางน้ำ 99 โครงการ ซ่อมบำรุงแหล่งน้ำ 174 โครงการ และขณะนี้ได้ให้ความช่วยเหลือโดยใช้จ่ายเงินทดรองราชการวงเงินกว่า 48 ล้านบาท พร้อมดำเนินการของบกลาง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งอีกจำนวน 413,823,676 บาท

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ประชาชนกว่า 60,000 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ใช้น้ำประปาบางพื้นที่กำลังประสบความเดือดร้อนเพราะน้ำประปาไหลอ่อน และบางแห่งก็ไม่ไหล เนื่องจากโรงผลิตน้ำประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา ที่อาศัยน้ำดิบจากลำตะคองมีปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอ ทำให้ต้องนำรถแบคโฮไปขุดลอกกำแพงดินบริเวณลำน้ำลำตะคองที่ติดกับบ่อน้ำดิบของโรงผลิตน้ำประปา บ้านมะขามเฒ่า ต.บ้านใหม่ อ.เมืองนครราชสีมา เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลเข้าบ่อกักเก็บน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา

ที่ จ.ชัยภูมิ นายวงษ์ คุงดิน ประธานคณะกรรมการโครงการสูบน้ำพลังไฟฟ้าหนองตูม ต.หนองตูม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เข้าพบ นายทวีพล ปัญญาวัฒนานนท์ นายอำเภอภูเขียว กรณีที่คณะกรรมการบริหารกิจการสถานีสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าหนองตูม ขัดแย้งกับ อบต.หนองตูม ที่นายกอบต.หนองตูมไม่ยอมเซ็นการปล่อยน้ำให้สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำกว่า 250 ราย ทำให้ข้าวนาปังและอ้อยได้รับผลกระทบเสียหาย ซึ่งทางด้านนายอำเภอภูเขียว รับปากว่า จะสั่งการให้ปลัด อบต.หนองตูม และปลัดอำเภอประจำต.หนองตูมลงตรวจสอบและทำการปล่อยน้ำให้เร็วที่สุด

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้จัดแบ่งการแก้ปัญหาเป็น 4 ด้าน ตั้งแต่การป้องกัน การเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุ ตลอดจนการฟื้นฟู นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาลุ่มน้ำต่างๆ หลังจากที่เกิดอุทกภัยปีที่ผ่านมา ทั้งลุ่มน้ำขนาดเล็กไปจนขนาดใหญ่ เพื่อให้การจัดเก็บน้ำมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นี้ ตนจะเดินทางไปดูความคืบหน้าโครงการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เขื่อนแม่วงก์

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

ปลัดอุตฯอ้างแย่งอ้อยระงับออกใบใบอนุญาตรง.4

ปลัดอุตสาหกรรม ระบุชัดออกใบอนุญาตรง.4 ให้กับโรงงานน้ำตาลขอนแก่น-มิตรผล ไม่ได้ หวั่นเกิดปัญหาแย่งอ้อย เหตุตั้งโรงงานขัดหลักเกณฑ์การกำหนดพื้นที่ต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กม.ชี้ทางออกยื่นขออุทธรณ์ ให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมชี้ขาด ด้านรง.ขอนแก่น ไม่สน ขอฟังคำสั่งศาลปกครองอย่างเดียว โวยตั้งโรงงานก่อนมิตรผลแต่ต้องเป็นผู้รับผิดด้วย

วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)ได้ทำหนังสือถึงโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน) และโรงงานน้ำตาลมิตรผล ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ในจังหวัดเลย ที่มีปัญหาในเรื่องของการจัดตั้งระยะห่างของโรงงาน ทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ให้กับโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 โรงได้ เนื่องจากติดหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดขึ้นมาตั้งแต่สมัยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้แต่ละโรงงานน้ำตาลต้องมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งผลผลิตอ้อยเข้าโรงงาน

"โรงงานทั้ง 2 แห่ง มีระยะห่างอยู่ที่ประมาณ 50-60 กิโลเมตร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าใจและไม่อยากให้เรื่องเกิด เพราะถือเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ แต่เมื่อไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ก็ต้องมีหนังสือแจ้งให้รับทราบ เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ พิจารณาและสรุปความเห็นให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าไม่สามารถออก รง.4 ให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่งได้จริงๆ เว้น แต่ว่า จะมีการแก้หลักเกณฑ์เรื่องระยะห่างของโรงงานก่อน"

ทั้งนี้ เมื่อโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่งได้รับหนังสือพิจารณาคำขอ รง.4 แล้วสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ได้ทราบคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต โดยคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นที่สิ้นสุด ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนในเรื่องของโรงงานจำนวนมากกว่า 20 โรงงาน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างแก้ไข โดยเฉพาะโรงงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งผู้ร้องเรียนส่วนมากจะเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้บริษัทน้ำตาลขอนแก่น ได้ร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้โรงงานน้ำตาลที่จังหวัดเลยเดินเครื่องหีบอ้อยได้ ซึ่งในคำร้องของผู้ประกอบการระบุว่าการสร้างโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ ส่วนบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด ใช้วิธีการนำอ้อยไปหีบที่โรงงานในจังหวัดขอนแก่นแทน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าผู้ประกอบการทั้ง 2 รายเร่งลงทุนสร้างโรงงานก่อนที่ จะได้รับใบอนุญาตโรงงาน เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดปัญหาขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาปัญหาการออกใบอนุญาตโรงงานให้กับโรงงานน้ำตาลว่าจะสามารถพิจารณาปรับลดเงื่อนไขระยะทาง 80 กิโลเมตร ของโรงงานน้ำตาลใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งหากมีการกำหนดระยะทางใหม่ก็จะบังคับ ใช้กับการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ทั่วประเทศ โดยเงื่อนไขใหม่ไม่ได้ปรับแก้เพื่อโรงงานน้ำตาล 2 แห่งนี้เท่านั้น

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอุทธรณ์คำสั่งเรื่องการไม่อนุมัติใบอนุญาตรง.4 เนื่องจากต้องการให้คำสั่งศาลปกครองเป็นผู้ชี้ขาดจะเหมาะสมกว่า เพราะเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้โรงงานสามารถเปิดหีบอ้อยถึงวันที่ 15 เมษายน 2556 แล้ว ขณะนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนเพื่อพิจารณาตัดสินคดีดังกล่าว

ทั้งนี้มองว่า แม้จะอุทธรณ์คำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรม คงไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องระยะห่าง 80 กิโลเมตร อีกทั้ง โรงงานเองไม่เข้าใจทำไมจึงเป็นผู้ทำผิด เพราะจริงๆ แล้ว โรงงานน้ำตาลขอนแก่นมีการตั้งโรงงานก่อนโรงงานมิตรผล แต่ผลออกมาเป็นว่า มีความผิดทั้ง 2 โรงงาน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556

กษ.ออกประกาศเขตโซนนิ่งพืช 6 ชนิดแล้ว เตรียมส่งข้อมูลถึงผวจ.ลดปัญหาผลผลิตล้น

กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศเขตโซนนิ่งพืช 6 ชนิดแล้ว เตรียมส่งข้อมูลถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด หวังปรับการผลิตของเกษตรกรให้เหมาะสมลดปัญญาผลผลิตล้นตลาด

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช 6 ชนิดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เรียบร้อยแล้ว โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดินกับปัจจัยความต้องการของพืชแต่ละชนิดตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดในปัจจุบันร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทาน เป็นต้น

โดยขั้นตอนหลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จะจัดส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำการผลิตหรือการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม มีปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถรักษาเสถียรภาพของระดับราคาผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

สำหรับเขตเหมาะสมต่อการปลูกข้าวมีทั้งสิ้น 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 51 จังหวัด 432 อำเภอ 2,369 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสิ้น 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด

ขณะที่พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพารามีทั้งสิ้น 68 จังหวัด 499 อำเภอ 2,251 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลังมีทั้งสิ้น 49 จังหวัด 478 อำเภอ 2,314 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และสุดท้ายคือเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน มีทั้งสิ้น 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด

“การประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืช 6 ชนิดในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการให้เกษตรกรพิจารณาและตัดสินใจร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ เพื่อให้การเพาะปลูกของตัวเองเกิดความเหมาะสมและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องมีการพิจารณาหามาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเรื่องน้ำ หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ ควบคู่ด้วย“ นายยุคล

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พิษภัยแล้งฉุดอ้อย-น้ำตาลฮวบ

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแลงในช่วงปี 2555 ทำให้อ้อยที่ตัดเพื่อเข้าสู่กระบวนการหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 น่าจะอยู่ที่ 90 ล้านตันอ้อย ลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 97.98 ล้านตัน ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลทรายตกต่ำไปด้วยและน่าจะอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านตัน จากปีก่อนที่ผลิตได้ทำสถิติสูงสุดคือ 10.2 ล้านตัน และทำให้ไทยส่งออกน้ำตาลทรายสู่ตลาดโลกลดลงเหลือ 6.5 ล้านตัน จากปีที่แล้วที่ส่งออกกว่า 7 ล้านตัน

“เดิมประมาณการปริมาณอ้อยเข้าหีบ 94.64 ล้านตันอ้อย แต่ตัวเลขเบื้องต้น น่าจะอยู่ที่ 90 ล้านตันอ้อย เพราะประสบปัญหาภัยแล้ง และก่อนเปิดหีบยังเจอฝน ทำให้ประสิทธิภาพในการนำอ้อยเข้าหีบลดต่ำลงไปด้วยเหลือ 100 กิโลกรัม(กก.) ต่อตันอ้อย เพราะปีที่แล้วผลิตน้ำตาลได้เฉลี่ย 104.59 กก.ต่อตันอ้อย” นายกำธรกล่าว

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยปีนี้ลดต่ำลงเพราะภาวะภัยแล้ง คาดว่าจะส่งผลให้การปิดหีบปีนี้เร็วขึ้น จากปกติจะปิดช่วงปลายมีนาคม 2556 จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งพิจารณากำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 2555/2556 ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ถือว่าล่าช้ามามากแล้ว

“ชาวไร่อ้อยภาคอีสานต้องการราคาอ้อยที่ 1,200 บาทต่อตัน จึงต้องการให้รัฐบาลกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจ่ายส่วนต่าง 250 บาทต่อตัน จากที่รัฐกำหนดราคาไว้ 950 บาทต่อตัน” นายชัยวัฒน์กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งผลการหีบอ้อย ณ วันที่ 29 มกราคม 2556 พบปริมาณอ้อยเข้าหีบ 47.28 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 4.3 ล้านตัน โดยประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ยอยู่ที่ 91.98 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

นางอัมพร กาญจนกำเนิด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการตลาด กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า กลุ่มมิตรผลเล็งเห็นโอกาสในการทำตลาดน้ำตาลทรายขาวในภูมิภาพอาเซียนมากขึ้น เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 โดยเตรียมเข้าทำตลาดในพม่า และมาเลเซีย ซึ่งภูมิภาคอาเซียนบริโภคน้ำตาลทรายระดับสูง แต่ส่วนใหญ่บริโภคน้ำตาลทรายดิบ ดังนั้น น้ำตาลทรายขาวจึงยังมีโอกาสเติบโตสูง และราคาน้ำตาลทรายขาวยังมากกว่าน้ำตาลทรายดิบ 25-30 % ด้วย
“ปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายขาวในอาเซียนของมิตรผลอยู่ที่ 4-5 แสนตัน มากเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน คิดเป็น 40 % ของปริมาณส่งออกน้ำตาลทั้งหมด 1.5 ล้านตันของกลุ่มมิตรผล หากส่งออกอาเซียนมากขึ้นจะทำให้สัดส่วนการส่งออกในภูมิภาคอื่นลดลง” นางอัมพรกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ส.ไร่อ้อยกาฬสินธุ์ขู่ก่อม็อบขอ 250บ.เพิ่มค่าอ้อยสุดท้าย

สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเตรียมก่อม็อบ หลังการประชุม กอน.ล่าสุดไม่มีวาระเพิ่มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายให้ 250 บาทต่อตันอ้อย แนะหากไม่กู้ ธกส.ให้ดึงเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาช่วย ชาวไร่อ้อยโอดรัฐต้องช่วยเหลือ เพราะเจอปัญหา 2 เด้ง ทั้งค่าแรง-ภัยแล้ง

นายพนมพร เขตอนันต์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ครั้งล่าสุดไม่มีการหยิบยกวาระเพิ่มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายเข้ามาในที่ประชุม ทั้งที่สมาคมได้เสนอให้ปรับเพิ่มเป็น 250 บาทต่อตันอ้อย ทำให้มองว่าการช่วยเหลือเกษตรกรอาจจะต้องล่าช้าออกไปอีก เพราะเรื่องดังกล่าวนอกจากต้องผ่านการพิจารณาจาก กอน.แล้วยังต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติด้วย

ในเมื่อ กอน.ไม่รีบแก้ไขความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ฉะนั้นในเร็ว ๆ นี้จะมีการหารือภายในสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เพื่อหามาตรการออกมาช่วยเหลือ และต้องผลักดันโดยเร็ว รวมถึงต้องสำรวจความเห็นของสมาชิกสมาคมด้วยว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่อาจจะต้องมีม็อบชาวไร่อ้อยออกมาเคลื่อนไหว

"ความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ กอน.กลับไม่มีวาระในการประชุมครั้งล่าสุด ซึ่งหาก กอน.มองว่าราคาที่เสนอเข้าไปนั้นไม่ได้แน่นอน ขอให้แจ้งมาว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่เหมาะสม ควรจะอยู่ที่ระดับใด การแก้ไขปัญหายิ่งล่าช้า ชาวไร่อ้อยยิ่งขาดทุน"

นายพนมพรกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าทาง กอน.ค่อนข้างไม่เห็นด้วยที่จะใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อนำมาจ่ายชดเชยราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฉะนั้นทางสมาคมขอเสนอให้มีการนำเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้จากราคาขายน้ำตาลทราย 5 บาท/กิโลกรัม มาช่วยชาวไร่อ้อยแทน แต่หากจะใช้วิธีเดิม คือการกู้เงินจาก ธกส. เมื่อประเมินจากราคาอ้อยที่ 250 บาทต่อตันอ้อย คำนวณจากผลผลิตอ้อยทั้งหมดที่ 90 ล้านตันอ้อย คาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 22,500 ล้านบาท

ด้านนายทองคำ เชิงกลัด นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บ. ทำให้ต้นทุนราคาอ้อยเพิ่มขึ้น เพราะจากเดิมค่าแรงในการจ้างคนงานอยู่ที่ 150-200 บาท รวมถึงปีนี้ยังต้องประสบกับภัยแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตน้อยกว่าปีก่อน ๆ มาก

"ปีนี้ (2555/2556) ราคาต้นทุนเบื้องต้นควรอยู่ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย แต่ต้นทุนในปีนี้สูงถึง 1,196 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องการเพิ่มราคาอ้อยอีก 250 บาทต่อตันอ้อย เพื่อให้ต้นทุนมาอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ถึงแม้ว่าส่วนต่างจะไม่มาก แต่เราพอได้กำไรบ้างจากค่าความหวาน"
นายทองคำกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีที่แล้ว (2554/2555) ราคาอ้อยเบื้องต้น 1,000 บาทต่อตันอ้อย ชาวไร่อ้อยได้ราคาอ้อยเพิ่ม 154 บาท รวมเป็น 1,154 บาทต่อตันอ้อย จากต้นทุน 1,010 บาทต่อตันอ้อย เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มอีก 8,000-12,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังเจอภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลงจากเดิมที่ 15 ตันต่อไร่ ลดลงเหลือเพียง 7 ตันต่อไร่

ในขณะที่นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ปีที่แล้ว (2554/2555) ได้เพิ่มส่วนต่างราคาอ้อยขั้นสุดท้าย 154 บาทต่อตันอ้อย แต่ในปีนี้ชาวไร่อ้อยขอเพิ่มเป็น 250 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งแนวทางที่จะต้องหาเงินมาชดเชยส่วนต่างตรงนี้ อาจจะต้องขอกู้ทาง ธ.ก.ส.เหมือนเดิม ทั้งนี้ต้องขอหารือกับนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อีกครั้งก่อนที่จะเสนอ ครม.ต่อไป

จาก http://www.prachachat.net     วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มิตรผลยันบาทแข็งไม่กระทบ

ประเทศไทย แนวโน้มกินหวานมากขึ้น มิตรผล ตั้งเป้ายอดขาย 4 หมื่นล้าน ยันค่าบาทแข็งไม่กระทบส่งออก
นางอัมพร กาญจนกำเนิด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดธุรกิจน้ำตาล ของกลุ่มมิตรผล เปิดเผยถึงภาพรวมทางการตลาดน้ำตาลภายในประเทศ พบว่า ยังมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 5-7% ซึ่งในปี 2556 คาดว่าการบริโภคจะมีมากขึ้นอยู่ที่ 2.4 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท โดยตลาดที่จะโตขึ้นเป็นอย่างมากคือ ตลาดทางด้านอาหารและเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ ปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 36 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างทวีปยุโรป ที่มีการบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 40-45 ต่อปี นับว่าแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีการบริโภคเท่ากันนั้นมีโอกาสสูงมาก ในส่วนของน้ำตาลมิตรผลมีส่วนแบ่งปริมาณผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 20% และตลาดผู้บริโภคมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 35% ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตประมาณ 26% และในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 38,000–40,000 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนรายได้ในประเทศ 30% และที่เหลือเป็นรายได้จากการส่งออก 70%

นางอัมพร กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของมิตรผล เนื่องจากบริษัทมีการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้อยู่แล้ว และเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีการทำประกันความเสี่ยงเอาไว้แล้วเช่นกัน เนื่องจากการทำธุรกิจที่มีการส่งออกอยู่เรื่อยๆ จะต้องเผชิญภาวะกดดันที่หลากหลายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เงินบาทแข็งค่าลงมา 1 บาท จะกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ด้านสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลก ปัจจุบันยังอยู่ในภาวะ Over Supply คือ ผลผลิตมากกว่าความต้องการ 7-8 ล้านตัน ส่งผลให้ปีนี้ราคาน้ำตาลปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 18-20 เซนต์/ปอนด์ จากปี 2555 ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 24 เซนต์/ปอนด์.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556

ม็อบไร่อ้อย จ.ตาก สลายการชุมนุมแล้ว-นัดคุยจารุพงศ์7ก.พ.

หลังจากที่ในวันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2556) ชาวไร่อ้อย ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยังคงชุมนุมปิดถนนสายเอเชียแม่สอด-ตาก เรียกร้องเงินชดเชย ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.)

มีมติอนุมัติเงินชดเชยประกันผลผลิตอ้อยเอทานอล จากตันละ 900 บาท เป็น 1,150 บาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว ซึ่งนายอำเภอแม่สอดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตากได้เข้าเจรจากับกลุ่มชาวไร่อ้อย

ล่าสุด ในช่วงเย็นที่ผ่านมา ได้ยุติการชุมนุมประท้วงชั่วคราว และได้เปิดเส้นทางที่ได้ปิดทั้งหมดแล้ว ภายหลัง นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.ตาก ได้โฟนอินกับกลุ่มผู้ประท้วง และให้ทางตัวแทนกระทรวงมหาดไทยได้โฟนอินและเจรจา โดยได้ข้อยุติว่ารัฐบาลจะจ่ายประกันราคาอ้อยอย่างแน่นอน และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นี้ กลุ่มเกษตรกรจะส่งตัวแทนจาก 3 อำเภอ เข้าพบ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างที่จะเดินทางมาตรวจราชการที่ชายแดน อ.แม่สอด ในเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะให้ตัวแทนเข้าพบ และได้เสนอข้อเรียกร้องทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยยอมที่จะยุติการประท้วงชั่วคราว และสลายตัว

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556

‘ส่งออก’ร่วง!ต่างชาติแห่เล่นหุ้นชะลอสั่งซื้อสินค้า/เอกชนหนาวปลายปีมีสิทธิ์เห็น 28 บ./ดอลล์

ผู้ส่งออกขนหัวลุก กลัวค่าเงินแตะ 28 บาท/เหรียญสหรัฐ ดิ้นหนีตายแห่ซื้อฟอร์เวิร์ดป้องกัน ความเสี่ยง-ลดเครดิตลูกค้าต่างประเทศจาก 3 เดือน เหลือ 1 อาทิตย์ ด้านส.อ.ท.เตือนรัฐอย่าประมาท เพราะผู้นำเข้าฝั่งยุโรป-อเมริกาหยุดซื้อสินค้าเอาเงินมาซื้อหุ้นแทน และอาจไม่ขนเงินออกถ้าเศรษฐกิจตะวันตกยังอึมครึม ขณะที่ประชาชนมีลุ้นลดราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวระดับสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก เปิดเผย ็สยามธุรกิจิ ว่า ปัญหาค่าเงินบาทที่กำลังแข็งค่าขึ้นในขณะนี้แม้จะยังไม่ถือว่าน่ากลัวมากนัก เนื่องจากเป็นการแข็งค่าเหมือนกันทั้งภูมิภาคเอเชีย แต่สิ่งทีน่าเป็นห่วงคือ รัฐบาลต้องมีนโยบายจัดการค่าเงินที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว จะมองว่าเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการป้องกันการเก็งกำไรในระยะยาว ก็มีสิทธิ์ที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอยู่ในกรอบ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้

ขณะที่นายไพบูลย์ พลสุวรรณา รองประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนได้อีก เพราะในช่วงปลายปี 2555 ค่าเงินบาทวิ่งอยู่ในกรอบ 30.50-31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่วันนี้แข็งค่าขึ้นไปเป็น 29.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับว่าแข็งค่าขึ้นมาเกือบ 1 บาท ส่งผลให้ธุรกิจส่งออกจำนวนมากขาดทุนแลกเปลี่ยน เพราะโค้ดราคาขายเมื่อช่วงปลายปี 2555 แต่ได้รับเงินค่าขายสินค้าตอนนี้ คิดง่ายๆถ้าขายสินค้าไป 4 ล้านบาท เงินหายไป 4 หมื่นบาท หายไปเฉยๆโดยไม่ได้ทำอะไรเลย

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นไปถึง 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นายไพบูลย์ตอบว่า มีความเป็นไปได้ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการป้องกันปัญหาระยะยาว เท่าที่เห็นตอนนี้รัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลย นอกจากบอกว่าเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น อีกไม่นานเงินร้อนเหล่านี้ก็จะออกไปเอง จากนั้นค่าเงินก็จะกลับไปอยู่ในระดับเดิม จึงเป็นห่วงว่าสถานการณ์อาจบานปลาย เพราะเงินจำนวนดังกล่าวที่เข้ามาเป็นเงินที่เคยเข้าไปเก็งกำไรในตลาดฮ่องกง แต่รัฐบาลฮ่องกงออกมาตรการมาป้องกัน จึงต้องเบนเข็มเข้ามาในประเทศไทยแทน

"เมื่อค่าเงินบาทแข็ง จะมีทั้งคนหัวเราะและคนร้องไห้ คนร้องไห้คือผู้ส่งออก ส่วนคนที่หัวเราะก็คือผู้นำเข้าที่จ่ายเงินซื้อสินค้าถูกลง จึงเป็นไปได้ที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลงในช่วงนี้" นายไพบูลย์ กล่าว สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน ที่วิเคราะห์ว่าราคาน้ำมันในปีนี้น่าจะอ่อนตัวลงและไม่ผันผวนเท่ากับราคาน้ำมันในปีที่แล้วตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

นายพรชัย ชื่นชมลดา ประธานกรรมการบริษัท พรชัย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า ตนมองมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่าค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนโยบายประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า หันมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งออก จึงต้องการทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เพื่อขายสินค้าในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น แต่ค่าเงินที่อ่อนค่าในขณะนี้ ไม่ใช่เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯเพียงอย่างเดียว ปัจจัยหลักมาจากการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นของนักค้าเงิน จะเห็นได้ว่ามีเงินเข้ามาตลาดหุ้นช่วงนี้มากมายเป็นประวัติการณ์ นับจากปี 1990 เราไม่เคยเห็นการซื้อขายในตลาดหุ้นมากถึงวันละ 5-6 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงมีมาตรการออกมาสกัดกั้นเงินทุนดังกล่าว คงไม่ทำให้ค่าเงินแข็งไปถึง 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะหากปล่อยให้เป็นแบบนั้น ธุรกิจส่งออกเดือดร้อนทั้งประเทศแน่นอน

นายจิรบูรณ์ วิทยสิงห์ นายกกิติมศักดิ์ สมาคมของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้าน เปิดเผยว่า ได้ส่งสัญญาณเตือนผู้ประกอบการให้พยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด โดยมีมาตรการ 2 เรื่องที่จะต้องทำทันทีคือ 1. ซื้อความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าหรือทำฟอร์เวิร์ด เพื่อไม่ต้องมีปัญหาเรื่องความผันผวน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ไม่ค่อยนิยมทำกันเพราะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2.ทำสัญญาจ่ายเงินให้สั้นที่สุด จากเดิมเคยให้เครดิตลูกค้า 1-3 เดือน ควรขอร่นระยะเวลาเหลือไม่เกิน 1 อาทิตย์

"หลายคนมองว่า เงินที่เข้ามาเป็นเงินระยะสั้น แต่ถ้าเงินที่เข้ามาไม่ยอมออกไปจะทำยังไง โดยพาะเศรษฐกิจในสหรัฐฯและยุโรปยังไม่มีความแน่นอน ผู้นำเข้าต่างประเทศหลายรายบอกว่า ตอนนี้หยุดซื้อสินค้าก่อน เอาเงินมาซื้อหุ้นดีกว่า" นายจิรบูลย์ กล่าว

ดร.ธนวรรษณ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ็สยามธุรกิจิ ว่า คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 29.50-29.70 บาท รัฐบาลคงทำทุกวิถีทางเพื่อให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบนี้ เพราะหากหลุดจากกรอบนี้จะมีปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะความเดือดร้อนของผู้ส่งออกและ ผลกระทบในธุรกิจท่องเที่ยว

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556

กกร.ชง 8 ข้อ รัฐบาลแก้บาทแข็ง แบงก์ชาติยันไม่ลดดอกเบี้ย

คลังเตรียมชงมาตรการบรรเทาปรับค่าแรง ธปท.ยันไม่ลด ดบ. ชี้ผลกระทบ ศก.หลายส่วน เชื่อไทยดอกเบี้ยต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค กกร.ชง 8 ข้อ รบ.ช่วยสู้บาทแข็ง

@ กกร.ชง8มาตรการรบ.ช่วย

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมประจำเดือนกุมภาพันธ์

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานการประชุมครั้งนี้ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงผลกระทบจากการปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ โดยมีมติเห็นชอบข้อเสนอมาตรการรองรับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท 8 ข้อ ประกอบด้วย 1.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป 2.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงประเทศจีนและเอเชียใต้ 3 ประเทศ คือ อินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศ โดยเสนอให้เปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐกับ 14 ประเทศดังกล่าว

3.ควรผ่อนคลายกฎเกณฑ์เรื่องการถือครองเงินตราต่างประเทศ 4.การลดวงเงินการทำธุรกรรมด้านการป้องกันความเสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงมาตรการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น 5.ควรแยกแยะบัญชีของกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนกับกลุ่มที่เข้ามาเก็งกำไร 6.การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเร่งแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน 7.ให้ภาครัฐและเอกชนเร่งการลงทุนโครงการโครงสร้าง

พื้นฐานต่างๆ และ 8.ให้แนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงเรื่องการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

@ อยากเห็น30บาท/ดอลลาร์

นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า หน้าที่ในการดูแลเรื่องค่าเงินบาทเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง โดยทั้ง 2 หน่วยงานต่างทำหน้าที่อยู่ตลอด ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ได้เสนอไปแล้ว แต่ได้ยกให้เป็นมติของ กกร.โดยรวมไปเลย ส่วนเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องภาษี หรืออัตราดอกเบี้ย ต่างก็มีผลทั้งบวกและลบ ส่วนผู้ดูแลจะเลือกใช้เครื่องมือใดให้เหมาะกับสถานการณ์ ก็แล้วแต่ผู้ดูแลนำไปพิจารณา ที่ประชุมไม่ได้ระบุว่าจะใช้อะไร หรือค่าเงินบาทควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ถ้าถามผู้ประกอบการก็อยากให้อยู่ประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายพยุงศักดิ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้เสนอให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนสกุลเงินในการทำการค้าจากเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นค่าเงินท้องถิ่นของคู่ค้าแทน เพื่อเลี่ยงความผันผวน สำหรับด้านการบรรเทาผลกระทบทางการค้านั้น จะขอเข้าหารือกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้มีการช่วยเหลือทางการค้า ผ่านการหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางภาวะการแข็งค่าของเงินบาท ขณะนี้กำลังรอวันนัดจากทางนายบุญทรง เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นภายในสัปดาห์นี้

"ขณะที่เรื่องผลกระทบจากค่าแรง 300 บาทนั้น ยังเดินหน้าในเรื่องนี้เพื่อหาทางบรรเทาผลกระทบผ่านมาตรการต่างๆ เรื่องการตั้งกองทุนเพื่อชดเชยผลกระทบ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา อาจจะพิจารณาจากต้นทุนค่าแรงต่อราคาสินค้า หากผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานต่อราคาสินค้ามากกว่า 12% ก็อาจจะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยประมาณการคร่าวๆ คาดว่าจะมีประมาณ 1 ล้านราย" นายพยุงศักดิ์กล่าว

@ ชี้เสียจังหวะ′ม.ค.′ค่าบาทแข็ง

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องที่จำเป็นที่สุดในการช่วยบรรเทาผล

กระทบจากค่าบาทที่แข็งค่ามี 2 ข้อ คือ การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป และดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากว่า 18 เดือน ธปท.สามารถดูแลค่าเงินบาทได้ค่อนข้างดี แต่มาเสียงจังหวะในเดือนมกราคมค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าการออกกฎหมายการฟอกเงินและก่อการร้ายว่า ปัจจุบันกฎหมายแม่ทั้ง 2 ฉบับผ่านแล้วเหลือเพียงแต่กฎหมายลูกอีก 7 ฉบับ คาดว่าจะสามารถออกได้ภายในเร็วๆ นี้ หลังจากกฎหมายผ่านแล้วก็เหลือเพียงชี้แจงต่อที่ประชุมของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ว่าประเทศไทยมีความพร้อมตามข้อกำหนดแล้ว ทาง FATF อาจจะส่งคนมาตรวจสอบในประเทศไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หวังว่าจะมีผลออกมาในทิศทางบวก

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งพร้อมดูแลลูกค้าของตนเองที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอยู่แล้ว โดยขณะนี้ได้เข้าไปดูแลลูกค้าและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดแล้ว

@ คลังชงครม.บรรเทาขึ้นค่าแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 กุมภาพันธ์ กระทรวงการคลังจะเสนอขอความเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อปรับปรุงมาตรการประหยัดในการเบิกค่าใช้จ่ายที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้เดิม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ในส่วนของค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มในการฝึกอบรมและการประชุม และค่าอาหารในการประชุมให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสภาวการณ์ปัจจุบัน

โดยเสนอให้ปรับอัตราเพิ่มขึ้นเพื่อให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ ได้แก่ ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มการฝึกอบรมและการประชุมในสถานที่ราชการเบิกได้ไม่เกิน 35 บาทต่อมื้อต่อคน ส่วนในสถานที่เอกชนเบิกได้ไม่เกิน 50 บาทต่อมื้อต่อคน จากเดิม 25 บาทต่อมื้อต่อคน และขอความร่วมมือให้ประชุมในสถานที่ราชการ ส่วนค่าอาหารในการประชุมเบิกได้ไม่เกิน 120 บาทต่อมื้อต่อคน จากเดิม 80 บาทต่อมื้อต่อคน วงเงินที่จะนำมาให้ ขอให้พิจารณาใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละส่วนราชการ การปรับวงเงินเพิ่มขึ้นดังกล่าวเพื่อสอดคล้องและเป็นไปตามมติ ครม.วันที่ 8 มกราคม 2556 และมาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนมาตรการเดิมที่ ครม.มีมตินั้น เนื่องจากช่วงดังกล่าวประเทศมีความจำเป็นต้องประหยัดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

@ เสนอปรับโครงสร้างหนี้ตปท.

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.รับทราบและให้ความเห็นชอบ การปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ได้แก่ ปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อชำระหนี้แทนรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และขอความเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดหาเงินเพื่อชำระหนี้ในส่วนที่กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อชำระหนี้แทนได้ไม่ครบตามจำนวน รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ขอความเห็นชอบให้สำนักงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แก่ รฟม. เพื่อชำระหนี้คืนแก่แหล่งเงินกู้โดยตรง สำหรับเงินต้นและดอกเบี้ยรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนที่ รฟม.จัดหาเงินเอง และส่วนที่กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และชำระหนี้แทน สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล โดยจัดสรรงบประมาณให้เป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555-2559

@ ธปท.ย้ำลดดบ.กระทบหลายส่วน

ด้านนายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายการเงิน ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายต้องการให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ว่าเรื่องดังกล่าวจะพิจารณาหรือเปลี่ยนตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องพิจารณากันในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายภาคส่วน ดอกเบี้ยของประเทศใดก็เป็นตัวสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนนั้น มีผลกระทบหลายด้าน เพราะปัจจุบัน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มาจากการบริโภคในประเทศ อีก 20% มาจากการลงทุน และอีกประมาณ 20% มาจากภาครัฐ ถ้าจะให้ลดอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ดอกเบี้ยประเทศไหนก็ควรถูกใช้ดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น การพิจารณาดอกเบี้ยมีปัจจัยอื่นต้องดู อาทิ เงินเฟ้อ แนวโน้มเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงิน และการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ย ทาง ธปท.ไม่ได้พิจารณาจากบุคคลเดียว แต่พิจารณาจากโดยคณะบุคคลคือ กนง. เมื่อ กนง.มีความเห็นในทางใดทางหนึ่ง ทาง กนง.จะอธิบายให้สาธารณชนรับทราบ โดยมีเหตุผลรองรับ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนตามอำเภอใจ

@ ยันศก.ไทยดีเงินไหลเข้ามาก

นายทรงธรรมกล่าวว่า อย่านำดอกเบี้ยของไทยไปเปรียบกับอเมริกา หรือญี่ปุ่น การที่มีเงินทุนไหลเข้ามากไม่ใช่เพียงปัจจัยดอกเบี้ยเท่านั้น แต่มีปัจจัยอื่นๆ มาประกอบด้วย เช่น 1.ด้านผลตอบแทน 2.ภาวะทางเศรษฐกิจ 3.ความวิตกกังวลของภาพรวมเศรษฐกิจ อาทิ การเมือง และ 4.การเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ปัจจัยของดอกเบี้ยอาจมีผลบ้างแต่น้อยมาก อยากให้มองว่าเศรษฐกิจไทยดีจึงมีผู้สนใจให้การลงทุน

นายทรงธรรมกล่าวอีกว่า ประเทศไทยนั้นสภาพเศรษฐกิจและการบริโภครวมทั้งการลงทุนในประเทศยังดี ทำให้ความจำเป็นจะใช้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงน้อย หากเทียบอัตราดอกเบี้ยไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีสภาวะเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ หรืออัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยมีระดับต่ำสุดในภูมิภาค ถ้าอ้างว่าดอกเบี้ยเป็นตัวดึงดูดเงินทุนไหลเข้า อยากให้มองว่าทำไมประเทศอื่นในภูมิภาคจึงไม่ลดอัตราดอกเบี้ย เป็นเพราะว่าประเทศอื่นนั้นมีภาวะคล้ายกับประเทศไทย ฉะนั้นต้องยอมรับว่าที่เงินทุนไหลเข้าประเทศในขณะนี้มาจากปัจจัยเศรษฐกิจของไทยที่ดีกว่า

@ กนง.นัดประชุมཐก.พ.′

นายทรงธรรมกล่าวว่า ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2556 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาว่าอยู่ที่ 104.44 หรือสูงขึ้น 3.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 นั้นเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ ธปท.คาดไว้ และเป็นตัวเลขแค่เดือนเดียวจึงยังเอามาวัดไม่ได้ว่าสูงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท.ได้ประเมินตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี 2556 ไว้ที่ระดับ 2.8% ส่วนจะปรับคาดการณ์ใหม่หรือไม่ มีหลายปัจจัยต้องดูทั้งเรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ขณะนี้รัฐบาลยังตรึงไว้ แต่หากเมื่อไหร่เลิกตรึงก็อาจเป็นแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้นค่อยมาว่ากัน ส่วนเงินทุนที่ไหลเข้าไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำหนดการประชุมของ กนง. ในครั้งที่ 2/2556 จะมีขึ้นในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 ด้านวาระการประชุมนั้นกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

@ สำนักนายกฯพร้อมรับร้องเรียน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีนายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้จัดตั้งศูนย์ร้องเรียนเฉพาะกิจที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทั้งวิกฤตยูโรโซน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบกับยุทธศาสตร์ประเทศที่ต้องการให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้เริ่มรับเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันแรกนั้น ปรากฏว่ายังไม่มีใครเข้ามาร้องเรียน

นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานมวลชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ดูแลศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งข่าวว่าในที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีจำนวนเท่าใด และเป็นเอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจใดบ้าง ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ 4 ช่องทาง คือ 1.โทร.ร้องเรียนได้ที่หมายเลข 1111 ของรัฐบาลฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย 2.เว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี http://www.opm.go.th 3.ทางไปรษณีย์ที่ ตู้ ปณ.1111 และ 4.ที่ศูนย์ร้องเรียนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556

ตั้งสำนักยุทธศาสตร์การค้ารับเออีซี

ครม.ไฟเขียวตั้งสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ายุบสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า อ้างรองรับ เออีซี

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอจัดตั้งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เพื่อเสนอให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาเหตุในการจัดตั้งสำนักงานฯดังกล่าว คือ 1.กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงาน พ.ศ. 2555 – 2556 โดยเสนอขอจัดตั้งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เป็นหน่วยงานใหม่ในสังกัด มีฐานะเทียบเท่ากรม เป็นหน่วยงานด้านวิชาการ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการเสนอแนะจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าแห่งชาติแบบบูรณาการ ให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและมีเอกภาพ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ที่เป็นของสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย และโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้และภาระผูกพันทั้งปวง ไปเป็นของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

และให้โอนบรรดาข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานปลัดกระทรวง พณ. กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามจำนวนอัตราที่กำหนด ไปเป็นของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556

มิตรผลคาดอุตฯ อ้อยและน้ำตาลทรายปีนี้โตร้อยละ 5-7

นางอัมพร กาญจนกำเนิด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการตลาด กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 5-7 เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นทั้งจากตรงและทางอ้อม และอานิสงส์จากที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคน้ำตาลของคนไทยเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ 36 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จะเพิ่มเป็น 40 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า

นางอัมพร กล่าวว่า ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในระดับนี้ มีปริมาณใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรป ขณะที่ในด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยคาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยประมาณ 92-94 ล้าน ลดลงจากเป้าหมายที่ 100 ล้านตันอ้อย เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งในภาคเหนือและภาคกลาง จึงคาดว่าตลอดทั้งปีนี้จะผลิตน้ำตาลจะลดลงต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

ส่วนแนวโน้มของราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับลดลงจาก 20 เซ็นต่อปอนซ์ เหลือ 18 เซ็นต่อออนซ์ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกมีมากกว่าความต้องการถึง 7-8 ล้านตัน แม้อินเดียจะประสบภัยแล้งไม่สามารถส่งออกได้ ขณะที่ผู้ส่งออกน้ำตาลของไทยต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาท โดยการแข็งค่าของเงินบาททุก ๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะกระทบทำให้รายได้จากการส่งออกร้อยละ 1

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มมิตรผล ดำเนินการจัดทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้แล้ว ส่วนด้านการผลิตน้ำตาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.4 ล้านตัน ร้อยละ 70 ส่งออก นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังวางแผนส่งออกประเทศในอาเซียนและเอเซีย เนื่องจากการที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไทยมีต้นทุนที่แข่งขันได้ เชื่อว่าจะทำให้ไทยมีการขยายส่งออกได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556

ชาวไร่อ้อยตากปักหลักปิดถนนข้ามคืน จี้ “ปู” จ่ายชดเชยตามสัญญาข้ามปี

ตาก - เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยชายแดนตาก ปักหลักปิดถนนทางแยกวงเวียนใหญ่แม่สอด เรียกร้องเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยตามมติ ครม.ต่อเนื่อง ขอเจรจา “ปู” เท่านั้น ขู่ไม่ได้คำตอบยกระดับการชุมนุมปิดถนนแม่สอด-ตาก

รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งถึงความคืบหน้าการชุมนุมประท้วงของเกษตรกรผู้ปลุกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ที่รวมตัวกันนำรถบรรทุกอ้อยเต็มลำหลายสิบคันชุมนุมปิดถนนบริเวณวงเวียนใหญ่ 5 แยก ตาก-แม่สอด-พบพระ-อุ้มผาง เขต อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่วานนี้ (4 ก.พ.) ว่า กลุ่มเกษตรกรยังคงปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอเจรจาทางโทรศัพท์กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเงินชดเชยส่วนต่างที่ ครม.มีมติจ่ายให้แล้วตั้งแต่ 11 ก.ย.55 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินกันแม้แต่บาทเดียว

ขณะที่หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้พยายามติดต่อกับผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อเจรจาให้คำตอบกับผู้ชุมนุม โดยการใช้วิธีการโฟนอิน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะไม่มีคำตอบชัดเจน ทำให้ผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมต่อและจะขอคุยโทรศัพท์กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนรี โดยตรง และยังประกาศว่า หากไม่มีคำตอบในวันนี้ (5 ก.พ.) จะยกระดับการชุมนุมไปปิดถนนบริเวณจุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ถนนสายเอเชีย หรือ สายอำเภอแม่สอด-อำเภอเมืองตาก ซึ่งจะทำให้รถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถไปมาได้โดยสิ้นเชิง

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงกรณีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ปิดถนนบริเวณวงเวียนใหญ่ 5 แยก ตาก-แม่สอด-พบพระ-อุ้มผาง เขต อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่วานนี้ (4 ก.พ.) ว่า เข้าใจดีว่าเกษตรกรเดือดร้อนเรื่องเงินส่วนต่างของราคาประกันอ้อย ที่รัฐจะให้เพิ่มอีก 200 บาท ตามมติ ครม.ที่ได้อนุมัติให้แล้ว แต่ขอให้ใจเย็นๆตนเองกำลังติดตามเรื่องให้อยู่ ซึ่งก็ยังไม่สามารถกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนได้ เพราะอยู่ที่คณะกรรมการกองทุนน้ำมัน ที่จะหางบประมาณส่วนต่างมาให้ โดยผู้รับผิดชอบขอเวลา 7 วันที่จะให้คำตอบ

แต่เบื้องต้นยืนยันได้ว่า เมื่อมีมติ ครม.ออกมาเช่นนี้ เกษตรกรก็ต้องได้รับเงินส่วนต่างอย่างแน่นอน แต่ขอให้รอหน่อย อย่าสร้างแรงกดดันทำผิดกฎหมายบ้านเมืองนำรถบรรทุกมาปิดถนน ผิดกฎหมายปิดกั้นทางจราจร ตนเองก็ไม่อยากที่จะใช้ความรุนแรงกับกลุ่มที่ประท้วง เพราะเข้าใจและเห็นใจ แต่ทุกฝ่ายก็ต้องเข้าใจกันด้วย

“ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หาหลักฐานภาพถ่าย เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดที่ปิดถนนกีดขวางทางจราจร เพราะได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนใหญ่แล้ว” ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นยังคงปักหลักบริเวณวงเวียนใหญ่ 5 แยกทางเข้าแม่สอดจนถึงขณะนี้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สวทช.จับมือญี่ปุ่น วิจัยน้ำมันสบู่ดำ ปตท.-บางจาก นำร่องทดลองใช้

สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนแนวทางสร้างพลังงานทดแทนร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ปตท.และบางจาก เตรียมทดลองใช้น้ำมันจากสบู่ดำเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ในปีนี้

ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภายหลังศึกษาดูงานเมืองอัจฉริยะ โตโยต้าสมาร์ททาวน์ ที่เมืองนาโกยา จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์มาแทนพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในชีวิตประจำวันว่า ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมแนวทางการประหยัดพลังงาน หรือการสร้างพลังงานทดแทน ต้องเน้นการใช้พลังงานทางการเกษตร ซึ่งจะประสบความสำเร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมได้มากกว่าด้านเทคโนโลยีอื่นๆ

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอ็มเทค สวทช.ได้ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ปตท. บางจาก และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในการวิจัย คิดค้นและพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืชสบู่ดำ ด้วยเครื่องหีบสกัดน้ำมันแบบไม่ใช้ไอน้ำที่พัฒนาเป็นพิเศษ ประกอบกับองค์ความรู้ในการวิเคราะห์น้ำมัน เพื่อรองรับประสิทธิภาพของน้ำมันที่สกัดจากสบู่ดำ เป็นโครงการระยะ 3 ปี งบประมาณ 300 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาวิเคราะห์ประสิทธิภาพของน้ำมันสบู่ดำ คาดว่าจะได้ผลการวิเคราะห์น้ำมันสบู่ดำที่ชัดเจนภายใน 2-3 เดือน และจะเริ่มทดลองเติมในรถยนต์เพื่อทดลองเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนรถจริงระยะทาง 5 หมื่นกิโลเมตรในปีนี้ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและผลกระทบจากการใช้สบู่ดำ นำไปปรับปรุงสามารถให้นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้จริงในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สภาที่ปรึกษาฯระดมความเห็น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เสนอครม.วางกรอบนโยบาย

สศ.จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า" ระดับภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช

นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศ.)กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนแผนอื่นตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในระดับภูมิภาค เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการสะท้อนปัญหาด้านต่างๆ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังจากการสัมมนาระดมความคิดเห็นในระดับภูมิภาคเสร็จสิ้นแล้ว 3 ภูมิภาค จะมีการรวบรวมผลที่ได้ไปประมวลผล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อจัดทำเป็นเอกสารประกอบสัมมนาวิชาการ พ.ศ.2556 ภายในเดือนมีนาคม 2556 ก่อนจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า” เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณานำไปใช้เป็นแนวทางและทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า สู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นครั้งนี้ ถือเป็นอีกเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของ สังคม ในการร่วมสะท้อนปัญหา ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกำหนดทิศทางในการกำหนดนโยบาย หรือยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้มีความสอดคล้องและ เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ก.อุตสาหกรรมจะเสนอ ครม. กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 950 บาทต่อตันอ้อย

กรุงเทพฯ 4 ก.พ.-กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/2556 ในอัตรา 950 บาทต่อตันอ้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (5 ก.พ.) กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/2556 ในอัตรา 950 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 90.96 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,044.45 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น-ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 57 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/2556 เท่ากับ 407.14 บาทต่อตันอ้อย.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กกร.จี้ธปท.ดูแลค่าบาทก่อนแข็งเร็วกว่านี้

"พรศิลป์"ระบุธปท.จะนำไปพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ย ให้ผู้ส่งออกถือเงินดอลลาร์ และแก้กม.หนุนนำเงินลงทุนนอก เพื่อแก้บาทแข็ง

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกูล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจทีวี เรื่อง "ข้อเสนอกกร.ลดผลกระทบค่าบาทแข็ง"ว่าเป็นที่คาดการณ์กันว่าค่าเงินบาทที่แข็งอยู่นี้ จะแข็งกว่าคู่แข็งน่าเป้นห่วงอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับจีน อาเซียนและค่าเงินในภูมิภาค โดยค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศเหล่านี้ 2% และมีโอกาสแข็งกว่านี้

นายพรศิลป์ กล่าวว่า การขึ้นลงเร็วของค่าเงินบาทตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมาค่าเงินบาทแข็งขึ้น 2-3% เทียบอินโดนีเซียนที่อ่อนลงไปอีก ซึ่งมาจากเรื่องอุปสงค์ อุปทานที่แข็งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออก

"ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน เริ่มส่งผลกระทบแล้ว โดยที่1ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทมูลค่าการส่งออกหายไป 1.8 หมื่นล้านบาท และหากค่าเงินบาทแข็งขึ้นเท่าไหร ก็ต้องปรับราคาขายในการแข่งขัน โดยต้องปรับลดลงตามที่เงินสูญหายไป จากนี้ไปคงได้เห็นชัดเจนในระยะ 3-5 เดือน"นายพรศิลป์ กล่าว

นายพรศิลป์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ 8 ข้อของกกร.วันนี้ ที่สำคัญให้ธปท.ดูเรื่องอัตราดอกเบี้ย เรื่องนี้ธปท.เอาไปคิดกัน 2.ให้ผู้ประกอบการเก็บบัญชีดอลลาร์ไว้ โดยไม่ต้องขายทันที เพื่อไม่ให้เสียส่วนต่าง ซึ่งให้ดูแต่ละบริษัทไป3.ธปท.คุยเรื่องการสนับสนันนำเงินลงทุนในต่างประเทศระยะยาวแต่ต้องแก้กฏหมายการเก็บภาษีที่จะส่งกลับเข้ามาในประเทศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยเขตปนเปื้อนแคดเมียมฮือ จวกรัฐบาลปูโกหก

ตาก- ชาวไร่อ้อยพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียมชายแดนแม่สอด ฮือประท้วง จวก"รัฐบาลปู"โกหก อนุมัติงบกลางตั้งแต่กันยายน 55 ชดเชยให้ 70 กว่าล้าน แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เห็นเงินแม้แต่บาทเดียว แถมขอเพิ่มราคาประกันอีก 200 บาทก็ไม่คืบ ขู่ไม่มีคำตอบปิดถนนแน่

วันนี้(4 ก.พ.) ชาวไร่อ้อยในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม ประกอบด้วย ต.แม่กุ ต.แม่ตาว และต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก นำรถบรรทุกอ้อยนับร้อยคัน พร้อมข้อความติดข้างรถว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาราคาประกันอ้อยในพื้นที่แคดเมียม ทั้งที่ได้รับปาก และได้แถลงเป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยนำมาจอดเรียงกันริมถนน หน้าเทศบาลนครแม่สอด

ทั้งนี้กลุ่มชาวไร่อ้อยขู่ว่าจะปิดถนนทันที หากรัฐบาลไม่ยืนยันที่จะจ่ายเงินชดเชยอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ตามที่นายภักดีหาญ หิมะทองคำ รองโฆษกรัฐบาลระบุเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ว่าคณัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติงบกลางประจำปี 2555 จำนวน 76,643,406 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ปลูกอ้อยของจังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องการให้เพิ่มราคาประกันจากตันละ 950 บาท เป็นตันละ 1,150 บาท หรือเพิ่มขึ้น 200 บาท เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลรับปากที่จะช่วยแล้ว

ด้านนายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด และตำรวจสภ.แม่สอด ได้นำกำลังไปดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจร เนื่องจากรถติดเป็นทางยาวนับกิโลเมตร พร้อมเจรจาไม่ให้ปิดถนน เพราะจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนส่วนใหญ่

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผวาออร์เดอร์ต่างชาติเผ่นไทยกกร.ถกรับมือค่าบาท-ค่าแรงวันนี้

“กกร.”ถกวันนี้เฟ้นหามาตรการรรับมือผลกระทบค่าแรงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น หลังเอสเอ็มอีส่งออกเริ่มกระทบหวั่นระยะยาวออร์เดอร์ต่างชาติเผ่นหนีไปเพื่อนบ้านเหตุสินค้าไทยแพงกว่า ยื่นรัฐอัดยาแรงรับมือค่าแรงตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าแรง ขณะที่ค่าเงินบาทต้องการให้รัฐเกาะติด 13 ประเทศคู่แข่งส่งออกไทย

นายวัลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันนี้(4 ก.พ.)ภาคธุรกิจจะร่วมกันหามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาทต่อวันทั่วประเทศและค่าเงินบาทแข็งค่าเนื่องจาก 2 ปัจจัยดังกล่าวทำให้สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี)ได้รับผลกระทบมากต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มหากปล่อยไว้คำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)อาจหนีไทยแล้วไปหาเพื่อนบ้านที่มีราคาต่ำได้

“ ตอนนี้มีลูกค้าหลายรายหันไปซื้อสินค้าจากเพื่อนบ้านที่ถูกกว่าไทยอย่าง จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และ อินเดีย เป็นต้น เพราะนอกจากต้นทุนการผลิตต่ำและการแข็งค่าของค่าเงินยังน้อยกว่าไทย”นายวัลลภกล่าว

สำหรับเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทนั้น ส.อ.ท. จะเสนอแนวทางการช่วยเหลือแบบยาแรงด้วยการจัดตั้งกองทุนในการจ่ายเงินส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการ แต่จะเพิ่มเงื่อนไขให้รัฐบาลจ่ายงบประมาณน้อยที่สุด เช่น กำหนดการช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆแบบขั้นบันได หากผู้ประกอบการกลุ่มใดต้นทุนสูงไม่เกิน 5% ไม่ได้รับการช่วยเหลือ แต่หากอยู่ระดับ 5-10% จะให้ช่วยเหลือระดับหนึ่ง และ ต้นทุนเกิน 10% ก็จะให้การช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่น ฯลฯ ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการที่รัฐออกมาก่อนหน้านี้ยังแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

ส่วนเรื่องของค่าเงินบาทนั้นกกร. จะร่วมกันหามาตรการเพิ่มเติมที่จะนำไปเสนอให้ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยเหลือ หลังจากที่ผ่านมาตัวแทนของ ส.อ.ท. ได้เข้าพบ ธปท. มาแล้ว เบื้องต้น เอกชนต้องการให้ธปท. เกาะติดสถานการณ์ค่าเงินประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกของไทย 13 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ รวมถึง จีน, อินเดีย, ศรีลังกา และ บังกลาเทศ เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีการส่งออกสินค้าในลักษณะที่คล้ายและตลาดระดับใกล้เคียงกับไทย

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธานส.อ.ท. กล่าวว่า การประชุมกกร. ในวันที่ 4 ก.พ. 56 ทางกลุ่มจะยอมเสียสละไม่เข้าร่วมประชุมเนื่องจากไม่ต้องการให้เสียภาพพจน์ของ ส.อ.ท. เพราะหากเข้าประชุมกันทั้งสองกลุ่มอาจเพิ่มปัญหาความขัดแย้งจนในอนาคตเกรงว่า กกร. จะตัด ส.อ.ท. ออกจากการเป็นสมาชิกก็ได้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ยื้อใบอนุญาตลามโรงไฟฟ้าVSPP100MWหายวูบโวยอุตฯดองรง.4

ผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 30 โรง รวมกว่า 100 เมกะวัตต์ หวั่นถูกยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คณะกรรมการกลั่นกรองไม่อนุมัติใบอนุญาต รง.4 ส่งผลผลิตไฟฟ้าไม่ทันกำหนด COD ก.พลังงานเตรียมพิจารณาขยับเลื่อนเวลาให้เป็นรายโครงการ ด้านกลุ่มพลังงานทดแทน ส.อ.ท. ผนึกกรมโรงงานชี้แจงสมาชิกทำอย่างไรให้ผ่านการพิจารณาใบอนุญาต รง.4

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการพิจารณาให้ใบอนุญาต รง.4 จากคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะถึงกำหนดการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ฉะนั้นเป็นไปได้ที่อาจถูกยกเลิกสัญญาประมาณ 30 โครงการ รวมกำลังผลิตติดตั้งกว่า 100 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ต้องการให้กระทรวงพลังงานพิจารณาช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นโครงการที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในความเป็นจริงจึงไม่ควรเข้าข่ายต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองชุดดังกล่าว

ด้านนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองผู้อำนวย การสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.และกระทรวงพลังงานอยู่ในขั้นตอนหารือเพื่อแก้ปัญหาให้กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อาจจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามที่ระบุไว้ใน COD เนื่องจากไม่ได้รับพิจารณาอนุมัติใบอนุญาต รง.4 เบื้องต้นจะแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1) กลุ่มที่ไม่มีคุณสมบัติได้ใบ รง.4 อยู่แล้ว และอาจต้องยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 2) กลุ่มที่มีคุณสมบัติได้ใบ รง.4 และอาจจะได้รับการอนุโลมปรับช่วงเวลาไฟฟ้าเข้าระบบได้

สำหรับกลุ่มที่อาจได้รับการอนุโลมนั้นจะต้องพิจารณาเป็นรายโครงการไปว่ามีความพร้อมจะผลิตไฟฟ้าหรือไม่ หากติดปัญหาแค่เพียงใบ รง.4 ก็จะให้ปรับเลื่อนเวลาการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ ส่วนจะยืดระยะเวลาออกไปอย่างไรจะต้องพิจารณาอีกครั้งตามความเหมาะสมของแต่ละโครงการ

"ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ดีที่กระทรวง อุตฯให้ความสำคัญและเข้มงวดในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าเท่านั้นมักจะก่อสร้างโรงงานไปก่อนที่จะได้ใบอนุญาต เมื่อมีคณะกรรมการกลั่นกรองเข้ามาพิจารณาก็ต้องให้ความสำคัญในขั้นตอนนี้เพิ่มมากขึ้น"

นายเสมอใจกล่าวว่า ไม่ได้มีเพียง โรงไฟฟ้าเฉพาะรายเล็กเท่านั้นที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต รง.4 โรงไฟฟ้าใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือโรงไฟฟ้าจะนะ ยูนิต 2 กำลังผลิต ติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ ที่จะต้องเข้าระบบในช่วงเดือนเมษายน 2557 และโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิต 4 ที่จะเข้าระบบในปี 2557 กำลังผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขอใบอนุญาต รง.4 เช่นกัน รวมถึงทั้ง 2 โรงได้มีการก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติโรงงาน ฉะนั้นจึงต้องจ่ายค่าปรับให้กับอุตสาหกรรมจังหวัด

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมศิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทั้ง 2 โรง กฟผ.ได้ยื่นขอใบอนุญาต รง.4 ตั้งแต่ปี 2554 ถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ยังไม่กังวลมากเพราะโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเข้าระบบในปีหน้า ยังพอมีเวลา และมั่นใจว่าโครงการโรงไฟฟ้าที่พัฒนาโดย กฟผ.เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"กฟผ.ไม่ได้เตรียมแผนสำรองไว้ หากว่าโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงยังไม่ได้ใบอนุญาต เพราะเชื่อว่าต้องผ่าน แต่หากกระทรวงอุตฯเห็นว่าโครงการมีจุดบกพร่อง ขอให้แจ้งมาที่ กฟผ. พร้อมที่จะแก้ไข มองว่าการเข้มงวดการก่อสร้างโรงงานในประเทศเป็นเรื่องที่ดี และพร้อมปฏิบัติ ช่วงนี้ กฟผ.ก็ยังดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 โรงต่อไป และทำคู่ขนานไปกับการขอใบอนุญาต รง.4"

ขณะที่นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เปิดเผยว่า ในเมื่อผู้ผลิตไฟฟ้าได้รับความล่าช้าจากขั้นตอนการขอใบอนุญาต รง.4 ซึ่งเป็นเหตุผลที่ถือว่าไม่ได้ทำความผิดตามที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระบุไว้ ต้องพิจารณาเป็นรายโครงการก่อนที่จะมีการยกเลิกสัญญา รวมถึงอาจจะมีการเลื่อน COD ออกไปให้ประมาณ 6 เดือน หรือมากกว่านั้น ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่วมกับกระทรวงพลังงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดสัมมนาเชิงชี้แจงให้กับผู้ประกอบการในประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะผ่านขั้นตอนการพิจารณาใบอนุญาต รง.4 เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้นตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกลั่นกรองกำหนด นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดชี้แจงหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าวเปิดเผย ในทำนองเดียวกันว่า ขณะนี้ในกลุ่ม โรงสีข้าวมีโรงสีที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทชีวมวล 20 โรงยังไม่ได้ใบอนุญาต รง.4 เช่นเดียวกันทั้งที่หลายแห่งได้รับการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ละแห่งลงทุนเฉลี่ย 600-1,000 ล้านบาท/โรง ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่มีการติดต่ออะไรทั้งสิ้น ว่าติดขัดปัญหาอะไร

ทั้งที่การตั้งโรงงานมีผลดีต่อประเทศชาติ เกิดการจ้างงาน การลงทุน และเสียภาษีให้กับรัฐปีละหลายร้อยล้านบาท

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : สารกำจัดศัตรูพืชเถื่อน

สารกำจัดศัตรูพืชถือเป็นวัตถุอันตรายจะนำเข้า ผลิต จำหน่าย หรือส่งออก ต้องขึ้นทะเบียนสถานเดียว โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551

พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลให้ทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืชดั้งเดิมต้องยกเลิกทั้งหมด ต้องมาเริ่มต้นขึ้นทะเบียนกันใหม่ นับตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2554 เหมือนให้เวลาผู้ประกอบการเตรียมตัว 3 ปี

แต่ความจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้นเพราะหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯออกลายเขย่าไฮโล มีทั้งยึกทั้งยักสารพัดอย่าง ทั้งโดยความล่าช้าจากระบบการทำงาน ตลอดจนผลประโยชน์แอบแฝง จนผู้ประกอบการอย่างสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร แหวกม่านประเพณีออกโรงชนกรมวิชาการเกษตรอย่างไม่เกรงใจ ราวหมูไม่กลัวน้ำร้อน

โชคดีอยู่บ้างที่ คุณจิรากร โกศัยเสวีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรยุคนั้น ยังพอเห็นปัญหาและหาทางออกโดยการยืดเวลาออกไป 2 ปีให้สารกำจัดศัตรูพืชทะเบียนเก่าสามารถค้าขายต่อไปได้

2 ปีกำลังจะครบใน 22 สิงหาคม 2556 ณ เวลานี้มีจำนวนทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืชขึ้นได้แล้ว 2,400 กว่าทะเบียน ดูตัวเลขแล้วน่าอุ่นใจว่า อย่างน้อยมีสารกำจัดศัตรูพืชขายในตลาด เกษตรกรที่จำเป็นใช้สามารถซื้อหาได้

ความจริงตรงข้ามเลย เมื่อแยกตัวเลขเป็นรายทะเบียน 4 ประเภทคือนำเข้า ผลิต จำหน่าย และส่งออก ปรากฏว่าเป็นทะเบียนนำเข้า และส่งออกเกือบครึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นการผลิตและจำหน่าย ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มเดียวกัน และที่ขึ้นทะเบียนจำหน่าย 1 ตัว
สามารถแตกยี่ห้อได้ 3 ตัว ในขณะสินค้าจำเป็นหลายตัวขึ้นทะเบียนไม่ได้เลย

เป็นการขึ้นทะเบียนแบบกระจุก ยังขาดๆ เกินๆ เป็นปัญหาในระบบพอสมควร ช่องว่างนี้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ยาเถื่อนแพร่ระบาด สร้างปัญหาให้เกษตรกรที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชไม่ได้ผล ชื่อว่าของเถื่อนเปอร์เซ็นต์ตัวยาอาจน้อยเกินไปหรือมากเกินไป สุดท้ายกระทบต่อเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคปลายทาง

กรมวิชาการเกษตร ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ของพรรค์อย่างนี้ใครหลอกใครไม่ได้หรอก

บางอย่างก็อาจเกินความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร เช่น มีข้าราชการกรมศุลกากรเที่ยวออกเร่ขายใบรับประกันการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช ข้าราชการจำพวกนี้มีดีเอ็นเอพิเศษ รู้ว่าผู้ประกอบการกำลังประสบปัญหาจากการขึ้นทะเบียน จึงยื่นข้อเสนอว่า ใครจะนำเข้าสารตัวไหนได้ทั้งนั้น มีข้อแม้ข้อเดียวจ่ายเงิน 4 แสนบาทต่อการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช 1 คอนเทนเนอร์ ประมาณ 18 ตันเมื่อเงินถึง นอกจากจ้างผีโม่แป้งได้แล้ว มือไม้ข้าราชการก็พลอยอ่อนแรง ถึงขั้นเปิดตู้ไม่เป็น

เรื่องนี้ก็ต้องกราบเรียน คุณเบญจาหลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร อย่ามัวเสียเวลานั่งโพสท่าขับรถยนต์หรูของกลางราคาแพงในช่างภาพถ่ายรูปลงเลย ควรหมั่นกำชับลูกน้องอย่างเข้มงวด ให้รู้ว่าอำนาจไม่ได้มีไว้เพื่อเซ็งลี้ไม่งั้นประเทศชาติและประชาชนหายนะ

สารกำจัดศัตรูพืชเถื่อนไม่ใช่ลูกอมฮอลล์รสน้ำผึ้งผสมมะนาว แต่เป็นยาพิษผสมน้ำผึ้ง กินหรือสัมผัสสูดดมมีโอกาสตายได้ เผลออาจตายยกกรมได้

พฤติกรรมนี้แสดงว่า ต้องมีคนทำเป็นตัวอย่างบ้างอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ จึงต้องเร่งเครื่องออกมาเร่ขายเพิ่มยอด การตลาดกรมศุลนั้นเฉียบขาดขนาดไหน เซียนการตลาดยังต้องยอมศิโรราบเรียกเจ๊ เรียกเฮีย เป็นแถวฉายหนังตัวอย่างแค่นี้ ยาเถื่อนมันไม่ระบาดก็ให้รู้ไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ปุ๋ยยาเครื่องจักรกลเฮบาทแข็ง

ธุรกิจปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เครื่องจักรกลการเกษตรคึกรับอานิสงส์บาทแข็งนำเข้าต้นทุนต่ำลง-เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดีจากประชานิยมรัฐบาล บิ๊กเพย์เยอร์ " เทอราโกร-สยามคูโบต้า"แข่งอัดโปรโมชันลดแลกแจกแถม ดูดกำลังซื้อ พร้อมทุ่มงบตั้งโรงงานใหม่ ยอมรับผวาภัยแล้งสกัดดาวรุ่ง แต่ยังไม่ปรับลดเป้าระบุยังเร็วเกินไป

เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในปีนี้ถือเป็นปีทองของเกษตรกรไทย ที่จะขายผลผลิตได้ราคาดี จากนโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในราคาสูงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ส่งผลให้ตลาดการค้าปุ๋ยเคมีมีความคึกคักตามไปด้วย แต่คาดการณ์ว่าทั้งปีนี้ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั่วประเทศจะมีประมาณ 5 ล้านตัน โตถดถอยจากปีที่แล้วที่มีปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี 5.3 ล้านตัน สาเหตุจากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นจะกระทบทำให้ยอดขายของแต่ละบริษัทหดตัวลง อย่างไรก็ดีมองว่าเกษตรกรจะได้ประโยชน์ จาก 2 เรื่อง คือเรื่องเงินบาทที่แข็งค่า และการแข่งขันทำโปรโมชันของแต่ละบริษัท โดยงัดกลยุทธ์ลดแลกแจกแถม เกษตรกรจะได้รับอานิสงส์ได้สินค้าดี ราคาถูกลง
สอดคล้องกับ นายฮิโรชิ คาวาคามิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถแทรกเตอร์และรถไถเดินตาม กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้ทุ่มแผนงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางการตลาดกว่า 300 ล้านบาท โดยในปี 2556 ได้ตั้งเป้ายอดขาย 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของยอดขายคูโบต้าทั่วโลกที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

"สินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของบริษัทคือ รถแทรกเตอร์ รองมาคือ รถไถเดินตาม มองว่าตลาดในเมืองไทยจะเติบโตสูงขึ้น ล่าสุดได้เตรียมใช้เงินลงทุนประมาณ 900 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิต และเพิ่มไลน์การผลิตทั้งเครื่องจักรกลระบบไฮดรอลิก และเหล็กหล่อที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี คาดจะแล้วเสร็จในปี 2557"

ขณะที่นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าฯ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า คาดจะไม่มีผลกระทบต่อยอดขายเครื่องจักรกลการเกษตร ของบริษัท เพราะได้มีแผนกระตุ้นกำลังซื้อโดยผ่านตัวแทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 18 แห่ง จาก 186 แห่งในปัจจุบัน และต่างประเทศอีก 60 แห่ง อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา

ด้านนายวุฒิพงษ์ หวังสันติธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายปุ๋ยตรา "มงกุฎ" และปุ๋ยตรา "ทิพย์" กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมีแผนใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ตลอดทั้งปีกว่า 150 ล้านบาท เพราะมองว่าตลาดยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกษตรกรต้องการเพิ่มผลผลิต แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเรื่องภัยแล้งที่มองว่าปีนี้ค่อนข้างที่จะรุนแรงกว่าหากเทียบกับปี 2555 ซึ่งจะทำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลง

อย่างไรก็ตามบริษัทยังไม่ปรับเป้ายอดขายในปี 2556 โดย ปุ๋ยตรามงกุฎ ตั้งเป้ายอดขายกว่า 8 พันล้านบาท ส่วนปุ๋ยตราทิพย์ ตั้งเป้ายอดขายกว่า 1 พันล้านบาท เพราะยังเร็วเกินไปที่จะปรับลดเป้า

นายประวิทย์ จตุรศรีวิไล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตร กล่าวว่าปีนี้ตลาดสารเคมี คาดว่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับการขึ้นทะเบียนนำเข้าสารวัตถุอันตรายที่ได้ใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตรเพิ่ม เพราะในปีก่อนมีเพียงไม่กี่รายที่สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งจากสมาชิกสมาคม 180 บริษัท จะขึ้นทะเบียนได้กว่า 50% ซึ่ง ณ วันที่ 15 มกราคม 2556 ขึ้นทะเบียนได้แล้ว 10%

คาดช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไปจะกลับมาอัดโปรโมชัน ลดแลก แจกแถม เอาใจเกษตร เพื่อเพิ่มยอดขาย มูลค่าตลาดประมาณ 8 พันกว่าล้านบาท นับว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรโดยตรง ที่จะเพิ่มผลผลิตได้ในราคาถูก มีทางเลือกหลากหลายยี่ห้อ "

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นายกฯขายฝันชาวไร่อ้อยลพบุรี ชูแนวคิดพัฒนาแหล่งน้ำยั่งยืน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่สมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรี เพื่อปราศรัยหาเสียงช่วยนายพหล วรปัญญา ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดลพบุรี เขต 4 พรรคเพื่อไทย โดยมีประชาชนคอยต้อนรับอย่างหนาแน่น และมอบดอกไม้ พร้อมชูป้ายให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี ด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นเวทีปราศรัยโดยระบุว่า มีแนวคิดในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรอย่างยั่งยื่น และยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนในการทำเกษตรกรรมลดลง
ขณะเดียวกัน นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรีได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรี ว่า อยากให้นายกรัฐมนตรี ช่วยดูแลเรื่องปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ และการไม่ได้รับผลประโยชน์เรื่องน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยจะมีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในรายละเอียดเรื่องดังกล่าวด้วย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รัฐดูแลบาทแข็งค่ามากจัดการทันที

"นิวัฒน์ธำรง"ยันจับตาค่าเงินบาทแข็งใกล้ชิดถึงเวลาจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการ
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ทางช่อง 11 ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทเป็นเรื่องที่รัฐบาลก็จับตาดูตลอดเวลาถ้าเมื่อถึงจังหวะที่จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการใดๆก็คงต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง และได้มีการหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ซึ่ง ธปท.ก็ได้ดูอย่างละเอียดตลอดเวลาและหากมีความจำเป็นก็ต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฐานะการเงินของประเทศดีมาก ไม่มีปัญหาแต่ระยะยาว การแก้ปัญหาช่วงสั้นอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องดูปัจจัยต่างๆ ในการตัดสินใจอย่างใกล้ชิด

ด้านนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องรีบปรับตัวในการปรับปรุงคุณภาพสินค้า เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม จะเดินหน้าแผนการเดินทางไปพบปะนักลงทุนต่างประเทศเพื่อชักชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่องและที่ผ่านมาพบว่าต่างประเทศให้ความเชื่อมั่นประเทศไทย

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ยืนยันว่าในรอบปี 2555 ยังไม่มีกิจการใดที่เลิกกิจการเพราะนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวันส่วนในปี 2556 มอบให้หน่วยงานทั้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสำนักงานประกันสังคม เพื่อจะดูว่าบริษัทใดบ้าง กิจการใดบ้างที่ปิดกิจการ แล้วตรวจสอบย้อนหลังถึงบัญชีผลประกอบการ 5 ปี ก็จะเห็นว่าสภาพที่แท้จริงส่วนใหญ่เป็นผลขาดทุนต่อเนื่องไม่ได้เป็นผลกระทบจากตัวนโยบายค่าแรง300 บาท

รมช.พาณิชย์ ระบุถึงข้อมูลจดทะเบียนเลิกกิจการว่า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พาณิชย์นัดถก"สอท.-หอการค้า" หามาตรการรับมือบาทแข็ง ไม่มั่นใจส่งออกโตตามเป้า9%

"บุญทรง" ยอมรับกังวล "บาทแข็ง" กระทบการค้ากับต่างประเทศ นัดสภาหอการค้า-สภาอุตฯหารือสัปดาห์หน้า ด้านสถาบันอาหารจับตาเงินบาทแข็ง ค่าแรง 300 บาท มากระทบต้นทุน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หารือกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศ และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อรับฟังปัญหา และแนวทางการบรรเทาผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ โดยจากการหารือเบื้องต้นร่วมกับผู้ส่งออกในแต่ละอุตสาหกรรม พบว่าผู้ส่งออกรายใหญ่ยังทำธุรกิจได้ตามปกติ และยังไม่ได้รับกระทบ เพราะได้ซื้อความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่รายเล็กอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากหารือจะเสนอรัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือให้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชนต่อไป เพราะมาตรการช่วยเหลือจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน เป็นต้น

"เป้าหมายการขยายตัวของมูลค่า การส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ ยังคงไว้ที่ 8-9% ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงาน ซึ่งตอนที่เราจัดทำเป้าหมาย ยังไม่ได้ประเมินค่าเงินบาท แข็งอย่างปัจจุบันเข้าไปด้วย แต่ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวบรวมปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการ ส่งออก เพื่อดูว่าต้องมีการทบทวนตัวเลขการส่งออกหรือไม่ คาดว่าน่าจะประเมินสถานการณ์ส่งออกก่อนเดือนพ.ค.นี้" นายบุญทรง กล่าว

ขณะที่ นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะหารือกับ ทั้ง 2 สภาฯ ได้ราวสัปดาห์หน้า ซึ่งคงต้อง ฟังภาคเอกชนก่อนว่าได้รับผลกระทบอย่างไร และต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไร จากนั้นจึงจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบก่อนออกมาตรการช่วยเหลือต่อไป

ด้าน นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันอาหาร ได้ประชุมกับ คณะกรรมการสถาบันอาหาร โดยยอมรับว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมไทยปีนี้มีปัญหาที่กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันมาก โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและเงินบาทแข็งค่าแต่ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการ ไทยจะปรับตัวได้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มี ขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ซึ่งต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต พัฒนาบุคลากรและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจากความต้องการของตลาดโลก

ทั้งนี้ สถาบันอาหารคาดว่า การ ส่งออกสินค้าอาหารปี 2556 จะมีมูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7.2% โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มขยายตัว และส่งผลดีกับการ ส่งออกสินค้าอาหารทุกกลุ่ม ซึ่งเศรษฐกิจโลก ปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี ที่แล้วที่ขยายตัว 3.3% และเศรษฐกิจเอเชีย จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รวมทั้งได้รับปัจจัยบวกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ช่วยให้การค้าภายในภูมิภาคขยายตัว เช่น อาเซียน บวก 6

อย่างไรก็ตาม ต้องดูปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่อง คือ 1.แนวโน้มการแข็งค่าเงินบาท โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2556 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.58 บาท แข็งค่าขึ้น 2.67% เมื่อเทียบกับสัปดาห์สุดท้ายของปี 2555 รวมทั้งเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ยูโร ปอนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลีย

ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผล ให้ราคาสินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่งและทำให้แข่งขันลำบาก เช่น ข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง น้ำตาล ผักผลไม้สดและแปรรูป โดย เมื่อเทียบกับจีนแล้วไทยจะแข่งขันลำบากในสินค้าไก่ และอาหารทะเล

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556

ลดดบ.นโยบาย สกัดเงินร้อนหรือเพิ่มฟองสบู่?

จับคำพูดของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ว่า"...เริ่มเห็นความคึกคักในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอสังหาริมทรัพย์บางจุด จากแรงกระตุ้นอันเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสภาพคล่องระดับสูงจากเงินไหลเข้า พอจะตีความว่า แบงก์ชาติกำลังห่วงภาวะฟองสบู่ที่จะเกิดขึ้น

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล แม้ว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 9 มกราคม 2556 ระบุว่า พิจารณาจากทั้งมาตรฐานการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯของธนาคารพาณิชย์ และความสามารถในการชำระหนี้ผู้กู้ก็ดี ภาวะฟองสบู่ในอสังหาฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่น่าห่วงเพราะอัตราส่วนรายได้ต่อภาระดอกเบี้ยจ่าย ณ เดือนพฤศจิกายน 2555 อยู่ที่ 4.7 เท่า ซึ่งยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดไว้ที่ 2.0 เท่าด้วยซ้ำ
++เงินทะลักเข้าไทย
แต่จากสภาพคล่อง อันเนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ต่างใช้นโยบายเชิงปริมาณเงิน ( QE ) ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็เพิ่งประกาศอัดฉีดเงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ถึงเดือนละ 13 ล้านล้านเยนโดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ ประกอบกับมติผลการประชุมของเฟด เมื่อ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ที่ยังคงแผนการซื้อหลักทรัพย์ (QE3,QE 4) ถึงเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0 - 0.25% ต่อ
ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่ภูมิภาคในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเสี่ยงว่าจะเกิดฟองสบู่

ข้อมูลจากรายงานสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน ( 2-28 มกราคม 2556 ) มีเงินลงทุนในตราสารหนี้แล้วถึง 1 แสนล้านบาท สัดส่วน 90% เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และเมื่อรวมกับยอดซื้อสุทธิของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยรอบ 13 เดือนอีก 1.07 แสนล้านบาท สองตลาดนี้มียอดซื้อสะสมสุทธิรวมกว่า 2.07 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี แข็งค่ามากกว่า 3% (ปิดตลาดเมื่อ1 ก.พ. 2556 ที่ 29.78/80 บาท/ดอลลาร์ )

++สัญญาณฟองสบู่ภาคการเงิน-อสังหาฯ

ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ "วีรพงษ์ รามางกูร "ตั้งข้อสังเกตว่า ผลประกอบการของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ เมื่อ 6 เดือนก่อน เทียบกับปัจจุบันแทบไม่มีความแตกต่าง แต่ราคาหุ้น-ตราสารหนี้เวลานี้ขึ้นไปแล้ว 100% และมาพร้อมกับบาทที่แข็ง อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าหากว่าไม่ระมัดระวังให้ดี อาจเกิดภาวะฟองสบู่ทางการเงิน และอาจเสี่ยงลามไปภาคอสังหาริมทรัพย์

++รัฐบาลชี้นำ"ลดดอกเบี้ย"

ผลกระทบจากเงินร้อนป่วนเศรษฐกิจไทยเวลานี้ รัฐบาลไม่เพียงต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ทว่ายังต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในระบบปรับลงอีกด้วย เพราะหลังจากที่นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ พร้อมมอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการคลัง ไปร่วมหารือกับ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ กนง. ติดตามการไหลเข้าของทุนนอกอย่างใกล้ชิดและหาแนวทางลดความผันผวนของค่าเงิน

นายกิตติรัตน์ ได้ออกมาย้ำว่า รัฐจะไม่ใช้มาตรการภาษี ไม่ว่าการเก็บภาษีจากผลตอบแทนดอกเบี้ย,ปันผล หรือภาษีมูลค่าเพิ่มจากกำไรของการลงทุน เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงิน เพราะเคยเห็นจากบทเรียนเมื่ออดีต (ปลายปี 2551-2552 สมัยผู้ว่าการธปท. "ธาริษา วัฒนเกษ ") ทั้งยังเห็นว่า ต้นเหตุปัญหาเงินนอกไหลเข้า ก็มาจากการที่ กนง.ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าชาวบ้านที่ 2.75 เทียบกับดอกเบี้ยสหรัฐฯหรือยูโรโซนที่ต่ำเกือบติดดิน

"ผมพูดมานานแล้วว่าดอกเบี้ยนโยบายไทยสูงเกินไป แต่คนตัดสินใจคือกนง. ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ ในเมื่อหลายฝ่ายให้ความเห็นออกไป กนง.ก็ต้องรับฟังและนำไปพิจารณา"

หนุนแนวคิดของประธานบอร์ดแบงก์ชาติ "วีรพงษ์ รามางกูร" ที่จุดพลุกล่าวนำก่อนหน้าเพียง 1 วัน โดยดร.โกร่ง กล่าวหลังการรับเชิญเป็นองค์ปาฐกถาในงาน " Thailand Economic Outlook 2013 " ว่า...การที่ดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในอัตรา 2.75% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯอยู่ที่ 0.25% จะยิ่งทำให้เงินทุนไหลเข้า และแนวทางที่สกัดเงินทุนไหลเข้าตรงจุดที่สุดคือ การลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนมาตรการส่งเสริมการนำเงินไปลงทุนนอก ผมเห็นว่าเป็นเพียงยาหม่อง ยาดม เท่านั้น" ซึ่งกลายมาเป็นสงครามวิวาทะระหว่างภาครัฐที่หนุนให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย และลูกหม้อธปท.ที่ห่วงว่าจะยิ่งทำให้ฟองสบู่แตกเร็ว

++ลดดอกเบี้ยเสี่ยงก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

โดยฝ่ายหลังชี้เห็นว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายต้องคิดให้รอบคอบ เพราะอาจเป็นการเพิ่มความร้อนแรงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่เสี่ยงต่อการเพิ่มหนี้ครัวเรือน และภาวะฟองสบู่อีกทาง ในสถานการณ์ที่รัฐบาลยังเดินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ"ประชานิยม "

การลดดอกเบี้ย เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่แตกได้ เพราะการประเมินราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ในยามที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าสินทรัพย์มีมูลค่าสูง จึงทุ่มเงินเข้าไปมากขึ้น แต่พอถึงเวลาต้องปรับดอกเบี้ยสะท้อนความเป็นจริง ฟองสบู่ก็อาจแตกได้" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวพร้อมแจงต่อว่าลดดอกเบี้ยที่ปรับลง ยังอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงมากเกินตัว หลังจากที่ธปท.เห็นข้อมูลการขยายตัวของสินเชื่อไตรมาส 3/2555 ขยายตัวแบบก้าวกระโดดมากกว่า 75% ของจีดีพี จากปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 58% ของจีดีพี ทำให้เริ่มรู้สึกว่ามีการก่อหนี้มากจนอาจกระทบต่อการชำระหนี้ และอาจเป็นจุดเปราะบางต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธปท. ที่กล่าวว่า แม้เงินทุนไหลเข้ารอบนี้จะน่าห่วง แต่เห็นว่าเรื่องนโยบายดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่กนง.จะตัดสินใจ เพราะมีนักเศรษฐศาสตร์ มีข้อมูลที่เพียงพอ ที่สำคัญการตัดสินใจของ กนง.ไม่ผูกติดกับนักการเมือง โดยเฉพาะการส่งสัญญาณ ของประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ เหมือน "หวังผล" แต่เชื่อไม่กระทบความน่าเชื่อถือของธปท. เพราะประธานแบงก์ชาติไม่นั่งเป็นกรรมการ ในกนง.

ดูจากการประสานเสียงฝ่ายรัฐครั้งนี้อย่างขึงขัง จึงไม่พ้นที่จะถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ "หวังผล " กระนั้นก็ดี เชื่อว่า กนง.ไม่ช้านี้ คงต้องคลอดมาตรการออกมาเพื่อเบรกการไหลเข้าของเงินต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงิน โดยดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน และภาวะฟองสบู่ ควบคู่กัน

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โกร่งให้ลด'ดบ.'แก้'ค่าบาท'แข็ง

'ดร.โกร่ง'สั่งเฝ้าระวังหลังเงินนอกไหลเข้าประเทศมากขึ้น เห็นสัญญาณเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น-ตลาดตราสารหนี้ สะท้อนเงินต่างชาติเข้าเก็งกำไรทำให้เงินบาทแข็งขึ้น

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ และประธานคณะกรรมการ ธปท. ตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ร่วมประชุมด้วย

นายกิตติรัตน์เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมาก และได้สั่งการให้ประชุมร่วมกับ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่ใน ธปท.และ กนง. เพื่อหาสาเหตุแก้ปัญหาค่าเงินผันผวน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า สิทธิและหน้าที่ในการกำกับดูแลนโยบายการเงินยังเป็นของ ธปท.และ กนง.เช่นเดิม

"ธปท.รายงานว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกิดจากการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงสั้นๆ การเข้ามาลงทุนในตราสารหุ้นทุนในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนในพันธบัตร ถือว่ามีความเสี่ยงแม้จะเข้ามาถือในระยะยาวก็ตาม จึงมีความเป็นห่วงว่าการไหลเข้าของเงินทุนในตราสารต่างๆ เหล่านี้มีส่วนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบกับไม่มีหลักประกันว่าเงินทุนดังกล่าวจะอยู่ระยะยาว ขณะเดียวกัน สศช.ชี้แจงว่า มาตรการที่รัฐบาลดำเนินการเช่น การส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ นั้นเป็นมาตรการระยะยาว ไม่พอดีกับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นอย่างที่ควรจะเป็น ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นต้องประชุมร่วมระหว่างนักแก้ไขปัญหาระยะสั้นอย่างที่ควรจะเป็น ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นต้องประชุมร่วมระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน" นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ยืนยันว่าจะไม่มีมาตรการที่ ควบคุมการไหลเข้าออกของเงินเด็ดขาด เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเปิด แต่จะใช้กลไกทำงานที่เป็นทิศทางของการบริหารนโยบายการเงิน และจะไม่ใช้นโยบายควบคุมและไม่ใช้มาตรการเก็บภาษีจากผลตอบแทน ไม่ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากกำไรของการลงทุน ภาษีผลตอบแทนดอกเบี้ยและเงินปันผล เพราะไม่ใช่นโยบายการเงิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในระหว่างการประชุม นายนิวัฒน์ธำรงรายงานว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นั้น คณะกรรมการจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นกรรมการเพิ่มเติมเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ วิธีการทำงาน จะทำงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า และสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะได้นำรูปแบบของสถาบันการเงิน และวิธีการขององค์กรขนาดใหญ่มาช่วยเหลือ

ขณะที่ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท. กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Thailand's Economic Outlook 2013 จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอดีโอ) ว่า มาตรการกระตุ้นและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งจากสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น เป็นปัจจัยที่จะทำให้เงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น เริ่มเห็นสัญญาณการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของไทยอย่างร้อนแรง ทั้งที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไม่เปลี่ยนแปลง แต่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูง สะท้อนเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไร ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น อาการเหล่านี้ต้องเฝ้าระวังให้ดี เพราะอาจเกิดปัญหาฟองสบู่ในตลาดเงิน ซึ่งอาจลุกลามต่อไปในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้

"การไหลเข้าของเงินทุนมาจากดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.75% ที่สูงกว่าของสหรัฐอยู่ที่ 0.25% และสูงกว่ายุโรป ญี่ปุ่น ผมเห็นว่ามีทางเดียวที่จะหยุดการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นคือ ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นการลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดมูลเหตุจูงใจของทุนต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องมีมาตรการอื่นที่สกัดกั้นการไหลเข้าของเงินทุนด้วย แต่จะเป็นมาตรการอะไรนั้นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ" นายวีรพงษ์กล่าว

นายวีรพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือ ผู้บริหารนโยบายการเงินไม่เข้าใจเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่างดอกเบี้ยกับเงินทุนเคลื่อนย้าย แม้ว่าเป็นประธาน ธปท.ก็ยังพูดกันไม่ได้ เพราะหากยังรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ การไหลเข้าของเงินทุนก็จะร้อนแรงจนนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ ดังนั้น ผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยควรจะน้อยกว่า 0.75-1% ที่เท่ากับต้นทุนการกู้ยืมจากต่างประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้มีเงินไหลเข้าน้อยลง อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เงินไหลเข้าได้เช่นกัน

"ที่ประชุมที่มีการหารือเรื่องผลกระทบต่อผู้ส่งออกและเอสเอ็มอีจากค่าบาทนั้น ไม่มีใครบอกให้ทำค่าบาทให้อ่อน มีแต่คนเสนอให้นำเงินออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องยาลม ยาดม ยาหม่อง ทั้งที่ปัญหาคือบาทแข็ง ก็ควรจะทำให้บาทอ่อนลง หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นในกรอบ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ คิดว่าภาคธุรกิจส่วนหนึ่งคงยังดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่หากเงินบาทแข็งค่าในกรอบ 28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ได้" นายวีรพงษ์กล่าว

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการไอโอดี กล่าวว่า ธปท.ต้องบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินบาท ผันผวน ทำให้สะท้อนตลาดและให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ รวมถึงทำอย่างไรที่จะนำเงินทุนไหล เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ไม่นำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัว ทั้งในรูปของการกู้เงินเพื่อลงทุนของ ภาครัฐ การกู้เงินขยายธุรกิจของภาคเอกชน และ การกู้เงินเพื่อใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะการ ขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนถึงการสะสมหนี้ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องระมัดระวัง

"เห็นว่าขณะนี้ความจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคก็น้อยลง เพราะอาจจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดหนี้ ทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องมีการประสานงานร่วมกันให้เหมาะสม ไม่ใช่แทรกแซง" นายบัณฑิตกล่าว

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินสถานการณ์เงินทุนเคลื่อยย้ายจะไหลเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องไปอีก 2 ปี โดยภัทรมองว่า ค่าเฉลี่ยของเงินบาททั้งปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2557 จะอยู่ที่ 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หุ้นส่วนด้านการจัดการ (Managing Partner) บริษัท ดิ แอดไวเซอร์ จำกัด กล่าวว่า เห็นว่าควรลดดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เงินไหลเข้าเป็นไปในทิศทางเดียว เพราะต้นทุนของการลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้มากนัก ส่วนมาตรการอื่นๆ อาจดำเนินการได้ยากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

จับตาเงินเฟ้อพุ่งตามราคาพลังงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังต้นทุนผู้ผลิตสินค้าเพิ่มจากราคาพลังงาน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2556 พบว่า แม้ว่าทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกในเดือนม.ค.2556 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% จากระดับปิดสิ้นปี 2555 แต่เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในอัตราที่พอๆ กัน ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับขึ้นไม่มากนัก ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือน ม.ค. ชะลอลงมาอยู่ที่ 3.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 3.63%

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยยังคงมีโอกาสปรับสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ตามแรงผลักดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ คาดว่า ราคาสินค้าในหมวดอาหาร (โดยเฉพาะอาหารสด) ก็น่าจะมีแรงหนุนเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ในปีนี้ตรงกับในเดือนก.พ. 2556 ขณะที่ การปรับโครงสร้างราคา LPG ในภาคขนส่งและครัวเรือนที่จะเกิดขึ้น หลังผลการสำรวจฐานข้อมูลร้านค้าและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยแล้วเสร็จในเดือนมี.ค. 2556 รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานประเภทอื่นๆ ในช่วงที่เหลือของปีนั้น อาจมีผลเข้ามาเสริมให้การส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมาที่ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคขั้นสุดท้าย มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การปรับราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคขั้นสุดท้าย อาจเป็นภาพที่ทยอยขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในบางกรณี การปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 จะเพิ่มขึ้น 3.3% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 2.4% ซึ่งถือเป็นระดับเหมาะสม โดยคาดว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะมีลักษณะทยอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐยังคงมีมาตรการติดตามดูแลราคาสินค้า และยังสามารถยืดหยุ่นกรอบเวลาในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และอุดหนุน/ชดเชยราคาขายปลีกพลังงานในประเทศผ่านกลไกของกองทุนน้ำมันฯ ต่อไป หากตัวแปรนอกเหนือการควบคุมอื่นๆ ส่งผลเพิ่มแรงกดดันต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556

ม็อบชาวบ้านจี้รง.จี้แก้กลิ่นเหม็น

ชาวบ้านบุกโรงงานเอทานอลราชบุรีเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหากลิ่นเหม็นกระทบชีวิตความเป็นอยู่

ชาวบ้านหมู่ 5 หมู่ 7 และหมู่ 8 ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ประมาณ 200 คน ได้เดินทางไปยังบริษัท เอทานอล ราชบุรี จำกัด ซึ่งอยู่ในหมู่ 5 ต.เบิกไพร เพื่อขอให้ทางบริษัทฯได้ทำการแก้ปัญหากลิ่นเหม็นที่เกิดจากน้ำเสียที่ผลิตเอทานอลภายในโรงงาน ซึ่งกลิ่นเหม็นดังกล่าวได้แผ่กระจายไปทั่วบริเวณต.เบิกไพร ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อากาศเรื้อรัง มีอาการแสบจมูกเวลาสูดดม ผิวหนังเกิดอาการผื่นคันจากฝุ่นละออง โดยก่อนหน้านี้ได้แจ้งให้ทางโรงงานได้รับทราบถึงปัญหามาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยปรับปรุงให้ดีขึ้นจึงต้องรวมตัวกันเดินทางมาเพื่อให้ทางโรงงานได้เร่งดำเนินการทำให้กลิ่นเหม็นนั้นหายไป

นางสมคิด ทองงามขำ อยู่บ้านเลขที่ 12/7 หมู่ 8 ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง กล่าวว่า ตั้งแต่สูดดมกลิ่นเหม็นที่เกิดจากโรงงานแห่งนี้ ก็ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ต้องคอยหาหมอตลอด หายใจเหนื่อยหอบ ซึ่งในหมู่บ้านก็เป็นกันหลายคน จึงอยากให้ทางโรงงานได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาด้วย ไม่ใช่นำแป้ง นำยาคาราไมล์ทาแก้คัน หรือยาหยอดตาไปให้ชาวบ้านเพื่อหาแก้คันซึ่งไม่ให้การแก้ปัญหาดังกล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายคุณภาพของโรงงานเอทานอล ออกมายอมรับว่ากลิ่นเหม็นนั้นเกิดจากน้ำเสียของโรงงานที่นำน้ำอ้อย มันสำปะหลัง หรือกากข้าวโพดมาผลิตเอทานอล มาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2555 ซึ่งก็ได้ทำการแก้ปัญหาโดยการนำปูนขาวไปเติมในบ่อที่มีปัญหาแต่ก็ยังไม่หายเหม็น โดยจะเร่งดำเนินการแก้ไขและคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับชาวบ้านโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ชาวบ้านได้ให้เวลากับทางโรงงานแก้ปัญหาเป็นเวลา 30 วัน ถ้าครบกำหนดที่ให้เวลากับทางโรงงานแล้ว ยังดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นไม่ได้ ทางอุตสาหกรรม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเดินทางมารับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านในครั้งนี้ด้วย ก็กล่าวว่า จะเข้ามาดำเนินการตรวจสอบผลความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ซึ่งถ้าภายใน 30 วัน โรงงานยังไม่มีการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านเพื่อให้ได้มาตรฐานที่ถูกต้อง ทางอุตสาหกรรมก็จะดำเนินการตามกฎหมายกับโรงงาน โดยอาจจะทำการสั่งปิดจนกว่าจะทำการแก้ไขเสร็จ ซึ่งทำให้ชาวบ้านนั้นพอใจที่มีหน่วยงานภาครัฐมาช่วยแก้ปัญหาในครั้งนี้ด้วย

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556