http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกุมภาพันธ์ 2558)

คาด2-6มี.ค.ค่าบาทเคลื่อนไหวในกรอบ32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา(23-27ก.พ.)เงินบาทแข็งค่าขึ้น หลังเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ช่วงต้นสัปดาห์ทั้งนี้ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น และเข้าทดสอบระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเทคนิค และแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในช่วงกลางสัปดาห์ยังไม่สะท้อนสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยบวกจากสถานะซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

สำหรับในวันศุกร์ (27 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ 32.32 เทียบกับระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ก.พ.)     

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยประเด็นที่น่าสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่สัญญาณของการเดินหน้าทำ QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จากที่ประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 5 มี.ค. 2558 ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการในเดือนก.พ. ตลอดจนยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานในเดือนม.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจจับตาข้อมูลดัชนี PMI ของหลายๆ ประเทศ และรายงานอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนก.พ. ด้วยเช่นกัน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

จับตาวิกฤติภัยแล้งปีแพะ (อาจ) ซ้ำเติมกำลังซื้อเกษตรกร

ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : จับตาวิกฤติภัยแล้งปีแพะ (อาจ) ซ้ำเติมกำลังซื้อเกษตรกร : โดย...ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี

                            แท้จริงแล้วปัญหาภัยแล้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรเสี่ยงแล้งบ่อยครั้งหรือแล้งซ้ำซากกว่า 3 ใน 4 กระจุกอยู่ในภาคอีสาน แต่ที่กลับมาประเด็นน่าห่วงมากในปีนี้ เนื่องจากเด้งแรก เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่กับปัญหาราคาพืชผลตกต่ำสุดในรอบ 5 ปี และเด้งที่สอง หากภัยแล้งมีความรุนแรง จะกลายเป็นสิ่งซ้ำเติม ฉุดกำลังซื้อเกษตรกรให้ทรุดหนักลงไปอีกตามผลผลิตที่ลดลงมาก

                            จากข้อมูลของทางการ (18 ก.พ.58) ระบุว่า ระดับน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางอยู่ที่ร้อยละ 60 และร้อยละ 57 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำที่กักเก็บในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 อีกทั้งระดับน้ำกักเก็บในปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุด ทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นรุนแรงในปีนี้

                            ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการวิเคราะห์เชิงพื้นที่และประเมินว่าพื้นที่เกษตรใน 58 จังหวัด จำนวน 16.17 ล้านไร่ อาจประสบความแห้งแล้งในปี 2558 โดยแบ่งออกเป็นภาคอีสาน 12.61 ล้านไร่ ภาคเหนือ 1.50 ล้านไร่ ภาคกลาง 1.19 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 0.81 ล้านไร่ และภาคใต้ 0.06 ล้านไร่ ซึ่งจะมีอยู่ 23 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

                            จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2545 พบว่า ปัญหาภัยแล้งสร้างความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 53-71 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายตั้งแต่ 0.5-13.7 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยราว 357 บาทต่อไร่ ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าหากภัยแล้งในปี 2558 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่พื้นที่การเกษตรจำนวน 16.17 ล้านไร่ อาจก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 5.8 พันล้านบาท นั่นหมายความว่าเกษตรกรทั่วประเทศจะมีรายได้ลดลงเกือบ 1 พันบาทต่อครัวเรือน หรือมีรายได้ลดลงเฉลี่ยรายละ 251 บาท

                            อย่างไรก็ดี แม้ว่าระดับน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำในปัจจุบันจะใกล้เคียงกับระดับวิกฤติภัยแล้งในปี 2548 แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่รุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2548 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีนี้จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้ในระดับหนึ่ง และภาครัฐก็ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ประกาศมาตรการบรรเทาปัญหาภัยแล้งโดยเน้นสร้างรายได้และกระตุ้นการจ้างงานในชุมชน ตำบลละ 1 ล้านบาท จำนวน 3,052 ตำบล วงเงินรวมค่าบริหารจัดการ 3,174 ล้านบาท

                            ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้คำนวณออกมาเป็นเงินช่วยเหลือภัยแล้งสำหรับเกษตรกรต่อราย เฉลี่ยรายละ 133 บาท จะเห็นได้ว่าหากภัยแล้งส่งผลให้เกิดขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงดังประเมินข้างต้น เม็ดเงินช่วยเหลือดังกล่าวอาจได้แค่เพียงบรรเทา แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งได้ ดังนั้น การเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือ/กระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติมของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ขี้เถ้าฟุ้งทั่วเมืองตาก คล้ายหิมะดำตก เกษตรกรฝ่าฝืนเผาไร่อ้อย

เกษตรกรเผาเศษอ้อยภายในไร่ เพื่อเตรียมเพาะปลูกใหม่ ส่งผลให้เกิดเป็นเขม่า ขี้เถ้า ลอยฟุ้งทั่วเมืองตาก คล้ายหิมะดำตก หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งประชุมแก้ไข...

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เป็นฤดูตัดอ้อย เพื่อส่งโรงงานผลิตเอทานอล ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เกษตรกรทั้งจากพื้นที่อำเภอแม่สอดอำเภอแม่ระมาด รวมทั้งอำเภอท่าสองยาง ต่างเร่งรีบตัดอ้อยส่ง ซึ่งเกษตรกรบางส่วนมักจะใช้วิธีการเผาต้นอ้อยก่อน เพื่อง่ายต่อการตัด นอกจากนี้เกษตรกรบางรายที่ตัดอ้อยแล้วจะเผาเศษวัสดุของอ้อยเพื่อจะทำการเพาะปลูกใหม่ทำให้ชาวบ้านในอำเภอแม่สอด และอำเภอใกล้เคียง ต่างได้รับผลกระทบจากกลิ่นควัน และเศษซากเขม่าจากการเผาไร่อ้อย เกิดเป็นขี้เถ้าเขม่าปลิวว่อน คล้ายหิมะดำตก ซึ่งจะล่องลอยไปในอากาศไกลนับสิบกิโลเมตร สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

เกษตรฝ่าฝืนเผาไร่อ้อย เศษเขม่า ขี้เถ้า ที่ลอยฟุ้งอยู่ทั่วเมือง ซึ่งชาวบ้านบอกว่า คล้ายหิมะดำตก

โดย นายสุวรรณ ตาคำ เกษตรอำเภอแม่สอด ร่วมประชุมอาสาสมัครเกษตรกรตำบลต่างๆ ของ อำเภอแม่สอด เพื่อเน้นย้ำการรณรงค์ลดการเผาวัชพืช เพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรที่สร้างมลพิษทางอากาศ ทั้งปัญหาหมอกควันกระทบต่อสุขภาพและบรรยากาศการท่องเที่ยว รวมทั้งส่งผลต่อสภาพพื้นที่ดินที่ใช้เพื่อการเกษตรหน้าดินเสื่อมและขาดแร่ธาตุที่สำคัญต่างๆ ตลอดจนการเกิดอัคคีภัยได้ ในขณะที่ทางการได้เตือนและห้ามเผาทุกชนิด แต่เกษตรกรก็ยังไม่เชื่อฟัง ส่งผลให้ขณะนี้ตัวเมืองแม่สอดมีหมอกควันฟุ้งกระจายตลอดทั้งวัน.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เอกชนเร่งแก้ปัญหา'โลจิสติกส์'ข้ามแดน

เอกชนเร่งแก้ปัญหา "โลจิสติกส์" ข้ามแดน หลังเปิดเออีซี เหตุลาว-เวียดนาม ต้องเปลี่ยนหัวลาก ใช้รถพวงมาลัยซ้าย

นายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวถึงปัญหาการขนส่งสินค้าข้ามแดนว่า ขณะนี้ยังเป็นอุปสรรคอยู่มาก เนื่องจากรถจากไทยที่จะขนส่งสินค้าข้ามแดนไปยังลาวและเวียดนามต้องไปเปลี่ยนหัวลาก เนื่องจากรถที่วิ่งในไทยเป็นรถพวงมาลัยขวา ขณะที่สองประเทศดังกล่าวใช้พวงมาลัยซ้าย ทำให้ต้องเปลี่ยนหัวลากที่ปลายสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ฝั่งเวียดนาม โดยจะมีรถเวียดนามมาขนตู้คอนเทนเนอร์เข้าไป อีกจุดที่ต้องเปลี่ยนหัวลาก คือ ด่านนาพร้าว เพื่อเข้าเวียดนาม

"เวียดนาม ทางลาว ยังใช้วิธีนี้ เพราะถือเป็นประโยชน์ของประเทศ ซึ่งจะต้องใช้รถของประเทศเขาในการขนถ่ายสินค้าจากฝั่งไทย อาจมองเป็นการกีดกันการค้าอย่างหนึ่ง แต่ถ้าลาวและเวียดนามปล่อยให้รถจากฝั่งไทยวิ่งเข้าไปอาจจะทำให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศเขามีปัญหา"

นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าข้ามแดน ยังต้องใช้บริการผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทางฝั่งเวียดนาม เพราะชำนาญพื้นที่ และสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ดีกว่าคนไทย

 แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการขนส่งสินค้าข้ามแดน กล่าวว่า หากอาเซียน 10 ประเทศรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปีนี้ คาดว่าจะประสบปัญหาในการขนส่งแน่นอน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการสื่อสาร หากคนขับรถพูดภาษาต่างประเทศ อีกปัญหาคือ การรีดไถรถต่างประเทศของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ต้องแก้ไขอย่างเข้มงวด แต่อาจจะทำให้เสียเวลาในการขนส่งสินค้า

 ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย เห็นว่า การขนส่งสินค้าในปัจจุบันคล้ายกับการทำตลาดในอาเซียนอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเตรียมความพร้อมอะไรมาก เพียงแต่หลายอย่างต้องใช้เงินเป็นใบเบิกทาง ไม่ว่าจะเปิดเออีซีหรือไม่ก็ต้องเป็นแบบนี้

"ปัญหาหลัก คือเรื่องการเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ ส่วนตัวมองว่า ถ้าหากไม่มีเงินเป็นใบเบิกทาง ก็ทำให้การขนส่งสินค้าช้าลง" แหล่งข่าว กล่าวและว่า การเจรจากับเจ้าหน้าที่ บางครั้งช่วยได้แค่เบื้องต้น แต่การปฏิบัติก็อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือปัญหาคอร์รัปชันที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญ

 ส่วนความพร้อมของ จ.นครพนม ซึ่งรัฐกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 1 ใน 10 จังหวัด ได้เตรียมความพร้อมของพื้นที่ไว้หลายจุด เช่น บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 มีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ที่จะเป็นศูนย์บริการครบวงจร (One stop service) เกี่ยวกับการส่งออกสินค้า พิธีการผ่านแดนต่างๆ ทั้งด่านศุลกากร ด่านกักกัน และเป็นจุดกระจายสินค้า คลังสินค้าที่รถขนส่งสินค้าสามารถมาเปลี่ยนหัวลากหรือพักสินค้าบริเวณดังกล่าวได้

 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในพิธีสาร 7 เรื่องระบบศุลกากรผ่านแดนและภาคผนวกทางเทคนิค : กฎเกณฑ์และพิธีการว่าด้วยศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการผูกพัน ตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้เออีซี โดยไทยถือเป็นประเทศสุดท้ายของสมาชิกอาเซียนที่ลงนามดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาการเมืองในประเทศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ไทยผนึก 10 ชาติอาเซียนยกระดับมาตรฐาน "ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป"

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปอาเซียน ครั้งที่ 20 ร่วมหารือ 10 ประเทศสมาชิกปรับประสานมาตรฐานสินค้า พร้อมจัดทำกรอบข้อตกลงร่วมผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป หนุนการค้า AEC

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2558 คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและระบบคุณภาพของอาเซียน (ASEAN Consultative Committee on Standards and Quality : ACCSQ) ภายใต้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ได้มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป หรือ ASEAN Consultative Committee on Standard and Quality for Prepared Foodstuff Product Working Group (ACCSQ PFPWG) ครั้งที่ 20 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพิจารณาจัดทำกรอบความตกลง (MRA) ในการยอมรับผลการตรวจประเมินและรับรองด้านสุขลักษณะในการผลิตอาหารสำเร็จรูปของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการประชุมครั้งนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาถ้อยคำทางกฎหมาย ก่อนนำเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามร่วมกันในช่วงปลายปีนี้ ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นการปรับประสานมาตรฐานอาหารปลอดภัยของอาเซียน เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร สารปนเปื้อน ฉลากอาหาร วัสดุสัมผัสอาหาร และแนวปฏิบัติการตรวจสอบรับรองสุขลักษณะในการผลิตอาหาร อันเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านมาตรฐานอาหาร และส่งเสริมการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของภูมิภาค นอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดเตรียมความพร้อมเพื่อขอเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านการวิเคราะห์อาหารของอาเซียนสาขาใหม่ คือ สคอมโบรทอกซินซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อาจเกิดขึ้นในอาหารทะเล เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์อาหารของอาเซียนมีความปลอดภัยจากสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว

"กรอบความตกลงที่ทำขึ้นจะช่วยลดข้อจำกัดและลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าที่อาจเกิดจากมาตรฐาน กฎระเบียบทางวิชาการ และการตรวจสอบรับรองในอาเซียน เป็นกลไกสำคัญในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งด้านมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ช่วยให้การส่งออก นำเข้า และการค้า ภายในภูมิภาคเกิดความคล่องตัวสูงขึ้น และสร้างแรงดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของไทยในตลาด AEC ไม่ว่าจะเป็นตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และตลาดโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันมูลค่าส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น" เลขาธิการ มกอช.กล่าว

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยยังกล่าวอีกว่า ไทยมีการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารสำเร็จรูปปีละประมาณ 180,000-200,000 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในเอเชีย มีสินค้าส่งออกหลักคือ ทูน่ากระป๋อง อาหารทะเลแปรรูป ข้าวโพดหวานกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ผักผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป สำหรับภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีสินค้าอาหารสำเร็จรูปส่งออกหลักคือ น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ซอสปรุงรส ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

จาก www.prachachat.net    วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

"ลพบุรี" อาณาจักรแห่งพลังงานทดแทน

จังหวัดลพบุรี เมืองที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมายาวนานกว่า 3,000 ปี นับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุครุ่งเรืองสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่อยมาจนถึงเมืองแห่งศูนย์กลางการทหารในยุคเปลี่ยนผ่านการปกครอง และในปัจจุบัน ด้วยศักยภาพจากภูมิศาสตร์อันเหมาะสมทำให้จังหวัดลพบุรี กำลังก้าวไปสู่ "เมืองแห่งพลังงานทดแทน"

ปัจจุบันลพบุรีมีพื้นที่ประมาณ 6,199.753 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ ในปี 2557 มีประชากรประมาณ 758,627 คน และปี 2555 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด 86,602 ล้านบาท รายได้ต่อหัว 112,119 บาท/คน/ปี โดยรายได้ส่วนใหญ่กว่า 50% มาจากภาคอุตสาหกรรม รองลงมาคือสาขาเกษตรกรรม และการท่องเที่ยว บริการ

กำลังซื้อสุดอู้ฟู่

ในบรรดา 4 จังหวัดกลุ่มภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรีถือเป็นหัวขบวนทางเศรษฐกิจ และจัดอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุน เขต 3 ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ทำให้มีโรงงานอุตสาหกรรมถึง 776 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเครื่องจักรกล มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมกว่า 50,000 คน ซึ่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดได้ถึง 1 ล้านบาท/คน/ปี

"สมนึก เต็งชาตะพันธุ์" ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี กล่าวกับ"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ด้วยความเป็นเมืองอุตสาหกรรม และมีทั้งทหาร ข้าราชการ ครู นักศึกษาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้กำลังซื้อของลพบุรีสูงมาก ติด 1 ใน 5ของประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น ระดับการออมของคนในจังหวัดยังค่อนข้างต่ำ จึงเป็นสาเหตุให้เหล่าเมกะสโตร์จมูกไวต่างพากันเข้ามาลงทุนในจังหวัดลพบุรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งบิ๊กวัสดุภัณฑ์อย่างโกลบอลเฮาส์ ไทวัสดุหรือค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างแม็คโคร เทสโก้โลตัส บิ๊กซี 2 แห่ง มังกี้มอลล์ และอีกไม่นาน ห้างโรบินสันก็จะเริ่มตอกเสาเข็ม บริเวณถนนบายพาสมุ่งหน้าไปจังหวัดอ่างทอง คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปีนี้

อุตฯเกษตรดันพลังงานทดแทน

สืบเนื่องจากการเป็นแหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 3.7 ล้านไร่ โดยมีผลผลิตทั้งข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และทานตะวัน ทำให้ลพบุรีมีการลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรถึง 273 แห่ง อาทิ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งทุ่มกว่า 1,000 ล้านบาท ตอกเสาเข็มโรงงานใหม่ชื่อ เพ็ทโฟกัส ผลิตอาหารสุนัขและแมว เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ในบริเวณอำเภอพัฒนานิคม โดยจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศก่อน

ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมดังกล่าว ทำให้ลพบุรีมีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานทดแทน โดยการนำกากและของเหลือจากการกระบวนการผลิตไปเป็นวัตถุดิบ อาทิ กากน้ำตาล กากอ้อย ชานอ้อย นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าจากชีวมวล (ไบโอแมส) ในอุตสาหกรรมน้ำตาล หรือการนำของเสีย น้ำทิ้ง มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลด้วยมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดในไทย ของบริษัท ทรัพย์ทิพย์ จำกัด มีกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวันและกำลังจะเพิ่มเป็น 5 แสนลิตร/วันในอนาคต

โซลาร์ฟาร์มใหญ่สุดในเอเชีย

ความโชคดีอีกประการหนึ่งของจังหวัดลพบุรีคือตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงทำให้ลพบุรีมีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม โดยในปี 2553 มีการเปิดตัวต้นแบบโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระบบฟิล์มบาง (Thin Film) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือ "ลพบุรี โซลาร์" และ "วังเพลิงโซลาร์" พื้นที่กว่า 1,200 ไร่ที่ อ.โคกสำโรง มีกำลังการผลิตรวม 84 เมกะวัตต์

ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมพลังงานทั้งหมด 20 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าจากวัสดุอื่น (วัสดุเหลือใช้) 2 โรงงาน โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2 โรงงาน โรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง 1 โรงงาน และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) จำนวน 15 โรงงาน

นอกจากนี้ การเป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่องด้านการจัดการขยะ ยังทำให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าจากขยะในลพบุรี ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนแล้ว 3 แห่ง คือ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ใช้ขยะ 280 ตัน/วัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8 เมกะวัตต์ต่อวัน, บริษัท เสริมทรัพย์ไพศาลกรุ๊ป 1999 จำกัด และบริษัท รุ้งเอกรยา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ใช้ขยะ 600 ตัน/วัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6 เมกะวัตต์ต่อวัน

นายสมนึกกล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้มากติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ด้วยพลังงานทดแทนทั้งหมดในลพบุรี ทั้งโซลาร์เซลล์ เอทานอลไบโอแก๊ส หากสามารถคอนเวิร์สกลับมาเป็นกระแสไฟฟ้าได้ จะทำให้มีกระแสไฟฟ้ามากถึง 220 เมกะวัตต์

ด้วยศักยภาพอันเต็มเปี่ยมนี้ จะทำให้จังหวัดลพบุรีกลายเป็นเมืองแห่งพลังงานทดแทนที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทยในอนาคต

จาก www.prachachat.net    วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผู้บริหารBRRมั่นใจปี 58 โตก้าวกระโดด-ดันแผนรุกพลังงานทดแทน

 ‘บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ หรือ BRR โชว์ผลการดำเนินงานปี57 กำไรพุ่ง 23% หลังผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยปรับตัวสูงขึ้น หนุนผลผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มและช่วยต้นทุนผลิตน้ำตาลทรายต่อหน่วยลดลง แถมกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนจากโรงไฟฟ้าพลังงาน ชีวมวลโรงที่ 1 รับรู้เต็มปี ดันรายได้ทั้งปี 3,328 ล้านบาท ด้านบอร์ดไฟเขียวอนุมัติจ่ายเงินปันผล 0.20 บาทต่อหุ้น ขณะที่ผู้บริหาร BRR มั่นใจปี 2558 จะเป็นปีที่ผลการดำเนินงานสุดแกร่งเติบโตได้ดีทั้งในแง่รายได้และกำไร หลังผลผลิตน้ำตาลทรายรอบปี 57/58 และกากน้ำตาลมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจพลังงานทดแทนจะเป็นแรงหนุนต่อผลกำไรที่สูงขึ้น จากการปรับเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าเป็นแบบ Feed-in-Tariff ดันราคาขายไฟต่อหน่วยเพิ่ม         

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานใน ไตรมาส 4/57 (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/56 ส่วนกำไรสุทธิทำได้ 91 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 88 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน        

 ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ได้ส่งผลต่อการเติบโตที่ดีของผลการดำเนินงานรวมทั้งปี 2557 (มกราคม-ธันวาคม) ซึ่งบริษัทฯ สามารถทำรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 3,328 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิของธุรกิจรวมทำได้ 241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 196 ล้านบาท         

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานในไตมาส 4/57 และภาพรวมของปี 2557 ที่สามารถเติบโตได้โดดเด่นทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิมาจากการบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายที่ดี โดยสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้สูงถึง 118 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ส่งผลให้ BRR สามารถผลิตน้ำตาลทรายเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้มากถึง 208,860 ตัน ขณะเดียวกันยังช่วยให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายลดลงและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้ดียิ่งขึ้น ทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างผลตอบแทนจากธุรกิจน้ำตาลทรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยบวกจากธุรกิจพลังงานทดแทนในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงาน ชีวมวลแห่งที่ 1 ที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 8 เมกะวัตต์ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจเต็มปี รวมถึงยังนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปชำระหนี้คืนทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง จึงเป็นแรงหนุนให้ผลการดำเนินงานเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกด้วย        

“ปี 2557 ถือเป็นปีที่ BRR สามารถทำผลการดำเนินงานเติบโตได้เป็นอย่างดีทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่มีประสิทธิภาพในด้านการบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้ผลผลิตน้ำตาลทรายสูงที่สุด รวมถึงยังนำผลพลอยได้ไปต่อยอดผลักดันธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อช่วยทำให้กำไรสุทธิเติบโตได้อย่างโดดเด่นอีกด้วย” นายอนันต์ กล่าว        

 ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับรอบการดำเนินงานปี 2557 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท หรือคิดเป็น 56% ของกำไรสุทธิ โดยบริษัทฯ กำหนดปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 นี้         

ประธานกรรมการบริหาร BRR กล่าวว่า สำหรับปี 2558 บริษัทฯ มองว่าเป็นปีที่มีผลการดำเนินงานเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป เนื่องจากบริษัทฯ ได้เพิ่มพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยเพื่อผลักดันรายได้จากธุรกิจจำหน่ายน้ำตาลทรายและกากน้ำตาลได้มากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้จะรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบได้ 2.2 ล้านตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ประมาณ 2.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ผลิตได้ 2.08 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนตัน และมีกากน้ำตาลเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพิ่มเป็น 80,000 ตันจากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 70,000 ตัน

ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำชานอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายมาช่วยสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งในปีนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9.9 เมกะวัตต์ โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.จำนวน 8 เมกะวัตต์ ซึ่งภาครัฐได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการซื้อรับขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลมาเป็นแบบ Feed-in-Tariff หรือ FiT มีผลให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมหน่วยละ 3.60 บาท เป็น 4.53 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย        

 ทั้งนี้ ด้วยนโยบายของภาครัฐดังกล่าว ส่งผลดีต่อธุรกิจพลังงานทดแทนของ BRR ต่อขีดความสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนในปี 2558 ที่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 450 ล้านบาท โดยดันสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 10% จากเดิมที่มี 5% ของผลการดำเนินงานรวมของบริษัทฯ และยังทำให้สัดส่วนกำไรเพิ่มเป็นกว่า 30% จากเดิมที่มีสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 20%         

“ปีนี้จะเป็นปีที่ BRR เติบโตได้แบบก้าวกระโดดทั้งในแง่ของรายได้และกำไร ซึ่งมาจากฐานธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่เรามีผลผลิตน้ำตาลทรายที่มากขึ้นและยังสามารถสร้างเม็ดเงินรายได้และกำไรที่แข็งแกร่งจากธุรกิจพลังงานทดแทนอีกด้วย ซึ่งจะทำให้หุ้น BRR เป็นหุ้น Growth Stock ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน” นายอนันต์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เกาะติดศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในAEC

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เจาะลึกแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจไทยต่อระบบเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ต่างประเทศในปัจจุบัน พร้อมเกาะติดเปิดเออีซีปลายปีนี้ กับสินค้าเกษตรไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน มั่นใจไทยมีฐานการผลิตที่ดีได้มาตรฐาน ช่วยเปิดโอกาสในการขยายตลาดมายังอาเซียนเพิ่มขึ้น

นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีสะพานเชื่อมต่อ (Bridge linkage) ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 เส้นทางหลักคือ ปริมาณการค้าและการลงทุน เศรษฐกิจทางการเงินหรือตลาดการเงินระหว่างประเทศ และ การบริการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ  เป็นต้น ซึ่งจากสถานการณ์ระดับโลก อย่างสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯและรัสเซีย ที่เข้าไปเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศยูเครน หากเรามาพิจารณาในแต่ละเส้นทางจะพบว่า

1. เส้นทางมูลค่าการค้าและการลงทุน พบว่า ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ไปยังประเทศยูเครน รวมทั้งปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,067 ล้านบาท และขณะที่ ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกเหลือเพียง 115 ล้านบาท จะเห็นว่าแนวโน้มของการส่งออกทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลง เพราะกำลังซื้อภายในประเทศยังมีน้อย ผลกระทบคงจะมีบ้างแต่มีปริมาณการค้าระหว่างประเทศยังมีน้อย

2. เส้นทางเศรษฐกิจทางการเงินหรือตลาดการเงินระหว่างประเทศ เป็นที่ทราบกันดีว่าแบงก์ชาติยูเครนลดค่าเงินครั้งใหม่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 26 เทียบดอลล์ (ณ 17 ก.พ. 2558) ดังนั้น ค่าเงินฮริฟเนีย (hryvnia) ร่วงลงเกือบ 50% เมื่อเทียบดอลลาร์ในปีที่แล้ว จากความขัดแย้งทางการเมือง และการทำสงครามกับกลุ่มกบฏที่มีรัสเซียหนุนหลัง  ซึ่งความผันผวนของการเงินเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศพอสมควร  สำหรับประเทศไทยแล้วจะพบว่า จะส่งผลต่อระบบการเงินไม่มาก เพราะระบบของเรามีมาตรฐานและแข็งแกร่งมากอยู่แล้ว จึงคาดว่า จะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

3. เส้นทางการบริการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ พบว่า มีนักท่องเที่ยวที่มาไทยของยูเครนนั้นน้อยมาก เนื่องมากจากรายได้ของประชากรยังน้อย และระยะทางและเวลาของการเดินทางยังไกลอยู่จึงส่งผลต่อปริมาณนักท่องเที่ยว ดังนั้น     จึงคาดว่าวิกฤติของยูเครนในครั้งนี้จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวเล็กน้อยและรายได้ก็ยังไม่มากเท่าใดนักเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จากกรณีเหตุการณ์กลุ่ม IS ที่มีการสังหารหมู่ อย่างโหดร้ายต่อชาวญี่ปุ่น ชาวจอร์แดน และท้ายสุดจำนวน 45 ศพ เป็นชาวอียีปต์นั้น มีระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของไทย 6 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ด้านมูลค่าการนำเข้าน้ำมันตลาดต่างประเทศรวม  ช่องทางการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยนั้น จะพบว่ามีช่องทางการนำเข้าประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท บางปีอาจจะสูงกว่านี้เพียงเล็กน้อยหรือประมาณร้อย 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งถือว่าประเทศเรามีการนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่สูงมากประเทศหนึ่ง หากเกิดสถานการณ์วิกฤติของกลุ่มในตะวันออกกลางขึ้นย่อมส่งผลต่อปริมาณนำเข้าน้ำมันจากตลาดต่างประเทศอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันไทยอาจมีทางเลือกในตลาดอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

2.ด้านมูลค่าการนำเข้าน้ำมันจากตลาดตะวันออกกลาง พบว่า มูลค่าการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง  ในปี 2557 มีประมาณ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 63 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งผลิตในตะวันออกกลางสูง

3.ด้านผลกระทบที่มีต่อระดับราคา  พบว่า หากเหตุการณ์นี้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงจากปัจจุบันมากขึ้นนั้น จะส่งผลต่อระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตหรืออุปทานการผลิตน้ำมันในแหล่งอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐ รัสเซีย เวเนซูเอลา บรูไน และแหล่งผลิตน้ำมันอื่นๆ เป็นต้น ว่าจะสนองตอบต่อระดับราคาตามสถานการณ์นั้นๆ ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีแหล่งน้ำมันที่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการ ก็จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันสูงมากนัก แต่ถ้าหากทั้งสหรัฐและแหล่งอื่น ร่วมมือกันทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง ก็จะทำให้ระดับราคาน้ำมันมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น

4. ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปตะวันออกกลาง พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในลำดับต้นที่ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอาหารฮาลาลและพืชเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ยางพารา ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ นั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าทางเกษตรอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสำคัญ

5. ด้านมูลค่าการลงทุนของไทยในประเทศตะวันออกกลาง พบว่า การลงทุนของนักลงทุนไทยไปยังตะวันออกกลางยังมีน้อยเพียงบางประเทศ เช่น อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เป็นตัวอย่างของตะวันออกกลางที่เป็นที่สนใจของนักลงทุนไทย

6. ด้านปริมาณนักท่องเที่ยวสัญชาติตะวันออกกลางที่เข้ามาในประเทศไทย พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางนิยมที่มาเที่ยวเมืองไทย โดยใน ปี 2557 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 5.9 แสนคน นำมาซึ่งรายได้ของประเทศจำนวนมาก แต่หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวแน่นอน

นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปลายปี 2558 สมาชิก 10 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมาร์) มีประชากรรวมกันมากกว่า 625 ล้านคน  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้สินค้าเกษตรและอาหารเคลื่อนย้ายผ่านกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าตามกลไกการตลาดได้อย่างเสรี ซึ่งถ้ามองถึงการวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยด้วยวิธี Thailand Competitiveness Matrix : TCM โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่าง        2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยความน่าสนใจของสินค้า (Attractiveness Factors) และปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของสินค้า (Competitiveness Factors) เพื่อระบุตำแหน่งหรือสถานะของสินค้าเกษตรชนิดนั้น โดยจะพิจารณาแบ่งกลุ่มสินค้าเกษตรตามความพร้อมหรือศักยภาพการแข่งขันของไทยหลังเปิด AEC ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

1 กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ได้แก่ เนื้อสุกร โคเนื้อและผลิตภัณฑ์ โคนมและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลทราย มังคุด ลำไย และสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด โดยสินค้าที่มีความโดดเด่นมากในกลุ่มนี้ คือ สินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงและพันธุกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะโคนมและผลิตภัณฑ์เป็นอีกสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแทบทุกด้าน ซึ่งสามารถพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนม (Hub) ในภูมิภาคอาเซียนได้

2 กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพใกล้เคียงกับคู่แข่งขัน ได้แก่ ข้าว (เวียดนามและกัมพูชา) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(ลาวและกัมพูชา) กุ้ง(อินโดนีเซียและเวียดนาม) ปลาทูน่า(ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) ไหม (เวียดนาม) และยางพารา (อินโดนีเซียและมาเลเซีย)

3. กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ได้แก่ เมล็ดกาแฟ (เวียดนามและอินโดนีเซีย) ปาล์มน้ำมัน(อินโดนีเซียและมาเลเซีย) และมะพร้าว(ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย) ซึ่งสินค้าเกษตรกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากหลังเปิด AEC เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยได้กำหนดสินค้าเหล่านี้ไว้เป็นรายการสินค้าอ่อนไหว ซึ่งสามารถเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 แต่ประเทศคู่แข่งในอาเซียนมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศไทย ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และรัฐบาลจะต้องมีการปรับตัวและเตรียมรับกับการแข่งขันเสรีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึง ปี 2557 ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสมาชิกใหม่ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม แสดงว่าอาเซียนมีเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลด้านการขยายตัวของความต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพดี และได้มาตรฐาน โดยที่ผ่านมาประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพดี สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงเป็นโอกาสของไทย ในการขยายตลาดมายังอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลวอนรัฐบาลกดดันอินเดียเลิกอุดหนุนส่งออก

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเสนอรัฐบาลยื่นข้อเรียกร้อง WTO กดดันอินเดียเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ ทำโครงสร้างราคาน้ำตาลตลาดโลกปั่นป่วน

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยื่นหนังสือถึง กอน. และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อ WTO เร่งดำเนินการเรียกร้องให้อินเดียยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบรอบใหม่ ชี้ขัดต่อหลักการค้าเสรีน้ำตาลทราย ส่งผลต่อโครงสร้างราคาน้ำตาลในตลาดโลกปั่นป่วน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการเรียกร้องให้ประเทศอินเดีย ยกเลิกมาตรการการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอินเดียได้อนุมัติการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลรอบใหม่จำนวน 1.4 ล้านตัน ในราคาตันละ 4,000 รูปีต่อตัน (64เหรียญสหรัฐฯ/ตัน) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว พร้อมทั้งยื่นขอเรียกร้องต่อการกระทำของประเทศอินเดียในครั้งนี้ไปยัง WTO เรียบร้อยแล้ว

"การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบของประเทศอินเดียในรอบนี้ ถือเป็นการบิดเบือนตลาด ซึ่งขัดต่อหลักการปฏิบัติภายใต้ WTO และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก ทำให้ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบได้รับความเสียหาย ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบอันดับ 2 ของโลก จึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐของไทยเร่งดำเนินการยื่นเรื่องเรียกร้องให้ประเทศอินเดียหยุดมาตรการอุดหนุนดังกล่าวโดยเร็วที่สุด" นายสิริวุทธิ์กล่าว

สำหรับในปี 2557 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้เพิ่มมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 4 ล้านตัน ในราคาตันละ 3,300 รูปีต่อตัน หรือประมาณตันละ 54 เหรียญสหรัฐฯ และได้ขยายเวลาการอุดหนุนไปจนถึงเดือนกันยายน ทำให้ประเทศบราซิล ออสเตรเลียและไทย ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (GSA) และเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบรายใหญ่ของโลก ได้เห็นพ้องร่วมกันต่อการดำเนินมาตรการกดดันให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการดังกล่าวมาโดยตลอด

ก่อนหน้านี้ ในการประชุม Thailand-Australia Sugar Industry Dialogue ครั้งที่ 8 ที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยและออสเตรเลียได้แสดงความกังวลต่อประเด็นการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทรายดิบในรอบนี้ และออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบโดยเร็ว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดิน กับแนวทางหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ (3)

ที่ผ่านมา “แจงสี่เบี้ย” ได้เขียนถึงคุณประโยชน์ของหญ้าแฝกและแนวทางหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำไปพอสมควรแล้ว

 มาคราวนี้เราจะมาเจาะลึกถึงการปลูกหญ้าแฝกในแต่ละพื้นที่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้ข้อมูลไว้ คือ 1.การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชั้น เกษตรกรควรปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับใช้ระยะปลูก 5 เซนติเมตร ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร 2.การปลูกหญ้าแฝกเพื่อคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ โดยควรปลูกหญ้าแฝกพาดขวางร่องน้ำ และทำการขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำเป็นแนวตรงหรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปในทิศทางที่น้ำไหล อาจจะใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างต่อต้น 10 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร โดยควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้างเพื่อกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก 3.การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนไม้ผล เกษตรกรควรปลูกหญ้าแฝกในสวนไม้ผลระยะที่ไม้ผลยังไม่โตหรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร

4.การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ เป็นการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้าหญ้าแฝกเพาะชำในถุง ใช้ระยะปลูก 10 เซนติเมตร และใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน 5.การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝก จะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้ 6.การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่น เมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระ ตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่สระ และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลายในที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โปรแกรมพยากรณ์การเคลื่อนย้ายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ช่วยชาวนาหลบปลูกข้าวช่วงระบาดลดการสูญเสีย

แม้ว่าขณะนี้การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวจะเบาบางลงไปมาก เนื่องจากชาวนางดทำนาปรังเพราะขาดแคลนน้ำ แต่ก็มีชาวนาในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่อยู่ในเขตชลประทานและมีน้ำพอที่จะปลูกก็จะทำการปลูกข้าวนาปรังอยู่ โดยบางรายกลับมาปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่เป็นพันธุ์ที่ได้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของโรงสี ส่งผลให้ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณเตือนว่าพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี นครนายก และพระนครศรีอยุธยา

นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวได้ติดตามสถานการณ์เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างใกล้ชิด แม้ในระยะนี้จะไม่พบการแพร่ระบาดรุนแรงแต่ก็มีการพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาในพื้นที่ภาคกลางบ้าง ดังนั้น กรมการข้าวจึงยังคงมีนโยบายแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างเข้มข้นโดยเน้นเดินหน้ามาตรการ “1 ลด 2 งด 3 เพิ่ม” ประกอบด้วย ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ให้เหลือ 15-20 กก.ต่อไร่ และให้ใช้วิธีปักดำหรือโยนกล้าแทนการหว่าน เพื่อลดความหนาแน่นของข้าวไม่ให้เป็นแหล่งอาหารและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2 งด คืองดใช้สารเคมีกำจัดแมลงในระยะข้าวอายุน้อยกว่า 40 วัน เนื่องจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะมาเริ่มวางไข่แต่ยังไม่มีการทำลาย ฉะนั้นช่วงนี้ศัตรูธรรมชาติในแปลงนา เช่น ตัวห้ำ แตนเบียน จะกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยวิธีธรรมชาติ อีกหนึ่งงด คือ งดใช้อบาเม็กตินและไซเพอร์เมทรินในนาข้าว เนื่องจากสารเคมีสองชนิดนี้เป็นอันตรายอย่างมากและมีฤทธิ์ฆ่าทุกอย่างไม่เพียงแต่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยังฆ่าศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ในแปลงนาด้วย

สำหรับ 3 เพิ่มนั้น คือเพิ่มการปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน ซึ่งกรมการข้าวมีการรับรองพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดด

 สีน้ำตาลออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น พันธุ์ กข47 กข49 เพิ่มการปลูกพืชมีดอกบนคันนาเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ สร้างระบบนิเวศน์บนคันนา สุดท้ายเพิ่มการสำรวจตรวจเยี่ยมแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็จะสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตของชาวนาได้ด้วย เนื่องจากการลดอัตราเมล็ดพันธุ์ ชาวนาก็มีต้นทุนลดลง และยังสามารถตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ การใช้สารเคมีก็ลดลงต้นทุนการผลิตก็ลดลงตามไปด้วย ที่สำคัญกรมการข้าวยังได้คิดค้นวิธีการหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมารองรับกับการแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงให้กับพี่น้องชาวนา

“ขณะนี้กรมการข้าวมีทั้งข้อมูลเชิงวิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถควบคุมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงอยากฝากถึงพี่น้องชาวนาว่า ท่านควรจะทำนาแบบมืออาชีพ ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารที่ทางหน่วยงานราชการแนะนำ ประกอบกับนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวางแผนการผลิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับอนาคตข้าวไทย” อธิบดีกรมการข้าว กล่าวย้ำ

ชาญพิทยา ฉิมพาลี

ด้าน นางวันทนา ศรีรัตนศักดิ์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีที่กรมการข้าวนำมาใช้ในการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ได้ผลชัดเจน คือ กับดักแสงไฟ ที่เป็นตัวพยากรณ์ได้ว่าถ้ามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาเล่นไฟในกับดักนี้จำนวนมากแสดงว่าถ้าปลูกข้าวในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายผลผลิตชาวนาควรจะหลบการปลูกข้าวช่วงนั้นออกไป ซึ่งจากการนำกับดักแสงไฟไปติดตั้งไว้ที่ศูนย์วิจัยข้าว 27 แห่ง และหมู่บ้านนำร่องปลอดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท และนครนายก รวม 15 หมู่บ้าน เป็นเวลากว่า 5 ปี จนได้สถิติสามารถพยากรณ์ได้ว่าช่วงเวลาใดที่เพลี้ยกระโดดจะอพยพเข้ามาในพื้นที่

วันทนา ศรีรัตนศักดิ์

ทั้งนี้ กรมการข้าวได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาโปรแกรมการใช้ระบบพยากรณ์การเคลื่อนย้ายประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งสามารถช่วยแนะนำชาวนาในพื้นที่ต่างๆ ได้ว่าควรจะหลบการปลูกข้าวในช่วงที่จะมีเพลี้ยกระโดดอพยพเข้ามาในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น พร้อมกับได้พัฒนาการติดตั้งและการใช้งานโปรแกรมถ่ายภาพเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโปรแกรมส่งภาพไปยังเครื่องแม่ข่าย (แอพพลิเคชั่น Insec Shot) ที่ใช้งานได้กับระบบปฏิบัติงานแอนดรอยด์ (Android) บนสมาร์ทโฟน เป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วจากการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาแทนการสุ่มนับด้วยคน โดยเมื่อถ่ายภาพเสร็จก็จะส่งภาพไปที่เครื่องแม่ข่ายก็จะประมวลผลนับจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ทันที อย่างไรก็ตาม ในอนาคตยังมีโครงการที่จะพัฒนาโปรแกรมตรวจนับปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เข้าไปในกับดักแสงไฟ เพื่อลดขั้นตอนการนับด้วยแรงงานคนอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พด.จับมือ‘เอดีบี’ พัฒนาผู้นำเกษตร 6ชาติ‘ลุ่มน้ำโขง’

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้มีการพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญและค้นคว้าวิจัยในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด ทำให้มีความพร้อมในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ล่าสุดกรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมมือธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank)หรือ ADB ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและด้านวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ทางด้านการเกษตรแนวใหม่แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมใน 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม พม่า ไทย และจีน (มณฑลยูนนานและกวางสี) ประเทศละ 10 คน รวมทั้งสิ้น 60 คน และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีดินสากล 2558 จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร Training of Master Trainers and Farmer Leaders for Climate friendly Agriculture (CFA) ระหว่างวันที่ 9-19 มีนาคม 2558 ณ กรมพัฒนาที่ดิน ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังได้นำศึกษาดูงานภาคสนามในพื้นที่จริงอีกด้วย

สำหรับหลักสูตรในการฝึกอบรมครั้งนี้ เป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาที่เข้มข้นเน้นส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนหรือเกษตรอินทรีย์ที่ลดการใช้สารเคมี เพื่อผลิตอาหารปลอดภัย และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการจัดการชีวมวลต่างๆ ช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งวิทยากรที่ผ่านการฝึกอบรมนานาชาติในแต่ละประเทศดังกล่าว 10 คน จะต้องไปทำหน้าที่อบรมขยายเครือข่ายในแต่ละประเทศให้กับวิทยากรฝึกอบรมอีกจำนวน 50 คน ให้เกษตรกรอีกจำนวน 2,500 คน และต้องสามารถผลิต หรือรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก สำหรับใช้ทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนให้ได้ปริมาณอย่างน้อย 15,000 ตัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วางมาตรการเสริมจุดแข็งสหกรณ์ ผุด2โครงการเพิ่มรายได้เกษตรกร

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ เปิดเผยถึงการวางแนวทางส่งเสริมระบบสหกรณ์ในส่วนของรัฐบาลใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การแก้ไขกฎหมายสหกรณ์ เพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนที่จะมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ 2.การสร้างกระบวนการในการตรวจสอบสหกรณ์เพื่อป้องกันเหตุความเสียหาย และ 3.การส่งเสริมให้สหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ โดยเบื้องต้นจะเน้นธุรกิจเกี่ยวกับข้าวและปาล์มน้ำมัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร และโครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวสถาบันเกษตรกร ซึ่งทั้งสองโครงการมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 - 2562

โดยโครงการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร จะเน้นดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการปรับโครงสร้างการผลิตโดยจะจัดตั้งกลุ่มสมาชิกให้เป็นกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ จำนวน 150 ไร่ เพิ่มศักยภาพการปลูกปาล์ม พื้นที่ 393,300 ไร่ พื้นที่เดิม 353,000 ไร่ ปลูกปาล์มใหม่ทดแทนปาล์มเดิม 35,300 ไร่ และปลูกปาล์มใหม่ทดแทนยางพารา 5,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 3.3 ตัน เป็น 3.8 ตันต่อไร่ อัตราการให้น้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นจาก 17 % เป็น 20 % ผลผลิตปาล์มรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 633,237 ตัน/ปี เป็น 1,495,000 ตัน/ปี สมาชิกลดต้นทุนการผลิต 880 บาท/ไร่ ซึ่งจะส่งผลให้การลดต้นทุนการผลิตในภาพรวมทั้งหมดได้ 347.86 ล้านบาท และส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมัน มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,240 บาท/ไร่/ปี และมีปริมาณรายได้เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 1,667.59 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 3,387.58 ล้านบาท แบ่งเป็นการดำเนินงานในปี 2558 วงเงิน 311.25 ล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 1,698.30 ล้านบาท และปี 2560-2562 วงเงิน 1,378.03 ล้านบาท

สำหรับโครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวสถาบันเกษตรกร จะมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือก ธุรกิจแปรรูปข้าวสาร รวมถึงการจัดการผลผลิตเพิ่มมูลค่าของสถาบันเกษตรกรให้มีปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้น และสร้างความเข็มแข็งในการดำเนินธุรกิจข้าวของสถาบันเกษตรกร ให้สามารถร่วมกับชุมชนจัดการผลผลิตของสมาชิก และกลุ่มผู้ผลิตข้าวในพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณการรวบรวมข้าวเปลือก จากปี 2557 จำนวน 4.5 แสนตัน เป็น 9.48 แสนตันในปี 2562 ขณะที่การแปรรูปข้าวสารจะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 53,000 ตัน เป็น 1.34 แสนตันข้าวสารในปี 2562 เนื่องจากปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรประมาณ 3,000 กว่าแห่ง ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวของสมาชิกกว่า 26 ล้านไร่ คิดเป็น 48 % ของพื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกรทั้งประเทศ ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกของสมาชิกประมาณ 11.3 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็น 39.77% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ

ทั้งนี้ จำนวนสถาบันเกษตรกรที่จะพัฒนาศักยภาพจะดำเนินการตามชนิดข้าว ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวเหนียว ดำเนินการในพื้นที่ 19 จังหวัด สถาบันเกษตรกร 50 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการตลอด 5 ปี จำนวน 6,500 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

สั่งคลังปรับหนี้เกษตรกร8แสนราย

สั่งคลังปรับหนี้เกษตรกร 8 แสนราย เร่งกระทรวงเกษตรฯทำแผนรายละเอียดลูกหนี้เสนอครม.อีกครั้งสัปดาห์หน้า

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.ศก.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้(25 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกร วงเงิน 116,000 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 8.18 แสนราย โดยมอบให้กระทรวงการคลัง ไปหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อสรุปหลักเกณฑ์และรายละเอียดก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งวันที่ 3 มี.ค.นี้

 ทั้งนี้ในเบื้องต้นโครงการดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการไปแล้ว ทั้งครม.และคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีการปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกร เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมไปแล้ว

 สำหรับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรรายย่อย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวงเงิน 116,000 ล้านบาท จากเกษตรกร 8.18 แสนราย ได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 3ส่วน 1 .โครงการปลดเปลื้องหนี้ หรือ ตัดหนี้สูญสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้องรัง ชรา และมีปัญหาสุขภาพ และเป็นหนี้ที่ใช้หลักประกันหรือค้ำประกันกลุ่ม กลุ่มนี้ครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 2.84 ราย วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท

 กลุ่มที่ 2 โครงการปรับโครงสร้างหนี้ เกษตรเกษตรกรจำนวน 3.4 แสนราย วงเงิน 48,000 ล้านบาท เกษตรกรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลุ่มนี้สามารถเข้าโครงการพักชำระหนี้เงินต้น เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นสามารถชำระเป็นรายงวด ตามแต่จะตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิด 15 ปี เมื่อมีการชำระหนี้เงินต้นได้ตามเวลาที่กำหนด หรือชำระหมด ในส่วนของดอกเบี้ยก็ไม่ต้องชำระ ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ปรับโครงสร้างแล้ว ธ.ก.ส.จะรับภาระดอกเบี้ยบางส่วนแทนเกษตรกร รวมทั้งจะสนับสนุนสินเชื่อใหม่ตามแผนฟื้นฟู การประกอบอาชีพ การเกษตรหรือาชีพอื่นที่เหมาะสมในวงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท

 และกลุ่มที่ 3 โครงการขยายเวลาพักชำระหนี้ สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพ ในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำมูลหนี้วงเงิน 64,000 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 4.5 แสนราย กลุ่มนี้พิจารณายืดระยะเวลาในการชำระดอกเบี้ย และงดคิดเบี้ยปรับดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่เหมาะสม รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้ เพื่อปลูกพืชทดแทน และประกอบอาชีพการเกษตรอย่างอื่น หรือประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย รวมวงเงินสินเชื่อทั้งโครงการ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยอัตราปกติของธ.ก.ส.

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมฯได้อนุมัติในหลักการและให้กระทรวงเกษตรฯ กลับไปทำรายละเอียดและหลักเกณฑ์ของจำนวนเกษตรกร วงเงินที่จะมีการตัดหนี้สูญ ยืดเวลาชำระหนี้และให้สินเชื่อเพิ่มเติมเป็นจำนวนและวงเงินเท่าไหร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

ครม.ศก.ไฟเขียวแผนเคลียร์หนี้เกษตรกรธ.ก.ส.ตั้งเป้าช่วย8.18แสนรายหวังบรรเทาความเดือดร้อน

ครม.เศรษฐกิจไฟเขียวธ.ก.ส.แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรรายย่อย 8.18 แสนราย บรรเทาความเดือดร้อน โดยแบ่งออก เป็น 3 กลุ่ม ทั้งตัดหนี้สูญ ปรับโครงสร้างหนี้ และยืดระยะเวลาการจ่ายคืน ช่วยหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.ศก.)เห็นชอบในหลักการตามที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่กู้มานานมีหนี้ค้างชำระนานและชำระหนี้ไม่ไหวซึ่งธ.ก.ส.จะทำการเจรจาและตัดหนี้สูญให้แก่เกษตรกรกลุ่มดังกล่าว

สำหรับกลุ่มที่ 2 เป็นเกษตรกรที่มีหนี้และมีศักยภาพต่ำแต่ยังสามารถชำระหนี้ได้บางส่วน ธ.ก.ส.จะเจรจาเพื่อพักชำระหนี้และยืดหนี้ในการผ่อนชำระ และต้องมีมูลหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มประสบภัยแล้ง ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.กลับไปทบทวนจำนวนมูลหนี้และจำนวนเกษตรกรทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าไร ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการของโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย ผ่านระบบ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายในการชำระหนี้ให้เกษตรกรจำนวน 8.18 แสนราย โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.โครงการปลดหนี้ สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพ(เสียชีวิต) ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง ชราภาพและมีปัญหาสุขภาพ และเป็นหนี้ใช้หลักประกันบุคคลค้ำประกัน รวมจำนวน 2.8 หมื่นราย หนี้สินรวม 4,000 ล้านบาท โดยจะดำเนินการปลดหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ

2.โครงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำ แต่ยังสามารถประกอบอาชีพได้แต่มีปัญหาในการชำระหนี้จำนวน 3.4 แสนราย หนี้สินรวม 4.8 หมื่นล้านบาท จะทำการปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ต้องชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้ผ่อนชำระเงินตามงวด หรือระยะเวลาที่ตกลงไม่เกิน 15 ปี หลังจากนั้นเมื่อชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามงวดแล้ว จะยกหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งจำนวน รวมถึงจะสนับสนุนสินเชื่อใหม่ตามแผนการฟื้นฟูประกอบอาชีพวงเงินต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท วงเงินสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้านบาท

3.โครงการขยายเวลาชำระหนี้ สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการทำนาปรังและราคาขายยางพาราตกต่ำจำนวน 4.5 แสนราย หนี้สินรวม 6.4 หมื่นล้านบาท จะพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตร พร้อมปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรประกอบอาชีพอื่น หรืออาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 3.5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปกติของ ธ.ก.ส.

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า อัตราการชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. ในภาพรวมยังอยู่ที่ 93% ของยอดสินเชื่อรวม ถือว่าเป็นระดับเดียวกับปีก่อน ส่วนยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 4.6% ของยอดสินเชื่อคงค้าง และตั้งเป้าลดเหลือ 3.5% ภายในสิ้นปีบัญชี 2557 นี้ โดยจะเร่งเรื่องการปรับโครงสร้าง ยืดหนี้

ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีลูกหนี้ที่มีปัญหาหนักคือ พวกที่ไม่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ไม่พอรายจ่าย มีจำนวนราว 3.2 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้มีลูกหนี้ราว 2-3 หมื่นราย ที่คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการตัดหนี้สูญ เนื่องจากผู้กู้ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ขณะที่เรื่องของการพักชำระหนี้ จะเน้นช่วยกลุ่มที่ยังพอฟื้นตัวได้ โดยต้องมีมาตรการฟื้นฟูอาชีพเข้ามาเสริม ส่วนจำนวนผู้ที่เข้าโครงการและวงเงินทั้งหมดต้องรอประชุมเพื่อหา

 ข้อสรุปก่อนเสนอเข้าครม.ก่อน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

กรมพัฒนาที่ดินหนุนเกษตรกรทั่วประเทศ

จากการที่กรมพัฒนาที่ดินมีนวัตกรรมในเรื่องของจุลินทรีย์ พด. ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนงานทางด้านการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และการทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างเห็นผลชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลพอดี ประกอบกับมีเครือข่ายหมอดินอาสาอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 8 หมื่นราย เป็นเครือข่ายที่ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ด้วยการดำเนินการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขึ้น

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์นั้น ทางกรม จะเข้าไปส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม โดยนโยบายในปี 2558 กำหนดไว้ให้ดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 1-2 กลุ่ม รวมทั้งหมด 87 กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งการแบ่งกลุ่มจะกำหนดให้เป็นกลุ่มธนาคารปุ๋ยอินทรีย์เป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยกลุ่มธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ขนาดใหญ่ต้องมีเกษตรกรร่วมดำเนินการโครงการอย่างน้อย 30-50 ราย ส่วนขนาดกลางต้องมีอย่างน้อย 20-30 ราย และขนาดเล็กต้องมีเกษตรกรที่ร่วมโครงการอย่างน้อย 10-20 ราย ซึ่งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ธนาคารน้ำหมักชีวภาพ ธนาคารปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

เปิดตัว‘แอพ’ใหม่ เผยแพร่องค์ความรู้ วินิจฉัยโรค-ศัตรูพืช

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “Protect PLANTS” บนสมาร์ทโฟน ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวเป็นการให้บริการข้อมูล โดยรวบรวมองค์ความรู้ด้านการอารักขาพืชที่กรมส่งเสริมการเกษตร มีมาผนวกกับเทคโนโลยีสารสนเทศสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ แก่ประชาชน

โดยในแอพพลิเคชั่นนี้ประกอบด้วย 6 เมนูหลัก คือ 1.ข่าวสารการเกษตร 2. ชุดความรู้ด้านการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช 6 กลุ่มพืชเศรษฐกิจ 3.การวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืชเบื้องต้นตามชิดอาการ 4.การวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืชเบื้องต้นตามชนิดพืช 5.พยากรณ์สภาพอากาศ และ 6.พยากรณ์เตือนการระบาดโดยผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนี้ได้ฟรี ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ iOS ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร รวมไปถึงอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เกษตรกร หรือประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ด้านอารักขาพืช วินิจฉัยศัตรูพืชเบื้องต้น วินิจฉัยศัตรูพืชตามชนิดพืช พยากรณ์เตือนการระบาดศัตรูพืชประจำสัปดาห์ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรแก่หน่วยงานทั้งภายใน ภายนอก และประชาชนทั่วไป ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

ผวาต่างชาติปรับนโยบายเกษตร จี้ทูตเกาะติดข้อมูล-ทำโรดแมปรายสินค้า

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ประชุมหารือกับปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ 7 แห่ง ได้แก่ กรุงโรม สหภาพยุโรป กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กรุงแคนเบอร์รา กรุงจาการ์ตา กรุงโตเกียว และกรุงปักกิ่ง กงสุลฝ่ายการเกษตร 3 แห่ง ได้แก่ นครลอสแองเจลิส นครกวางโจว และนครเซี่ยงไฮ้ รวมถึงผู้แทนไทยประจำองค์การการค้าโลก เพื่อเร่งรัดในการขับเคลื่อนกลไกในการเชื่อมโยงการพัฒนาภาคการเกษตรและขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการส่งออกสินค้าเกษตรในต่างประเทศ โดยมอบนโยบายใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1.การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสินค้าเกษตร 2.การจัดทำโรดแมปการค้าขายสินค้าเกษตร ทั้งการนำเข้าและส่งออก เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น และ 3.การจัดระบบบริหารจัดการภายในกระทรวงเกษตรฯ ในการเชื่อมโยงระหว่างทูตเกษตรที่จะมีข้อมูลในกลุ่มประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่เกิดขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นผู้ขับเคลื่อน

สำหรับส่วนแรกในเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาเรื่องประมง ได้มอบหมายให้ทูตเกษตรพยายามทำความเข้าใจกับแต่ละประเทศให้ตรงกันว่าประเด็นปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อให้ไทยนำมาแก้ไขให้ตรงจุด รวมถึงชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ที่ไทยกำลังทำอยู่

ประเด็นที่สอง การจัดทำโรดแมปการค้าขายสินค้าเกษตร ซึ่งพบข้อมูลว่าขณะนี้มีหลายประเทศได้มีการปรับนโยบายใหม่ๆ ด้านการเกษตรออกมา เช่น กรณีออสเตรเลีย กำลังปรับเป็นประเทศส่งออกสินค้าและอาหารมากขึ้น หรือญี่ปุ่น ที่เคยมีความสัมพันธ์กับไทยอย่างใกล้ชิดในลักษณะของสหกรณ์ ก็พบว่าจะมีการปรับโครงสร้างของสหกรณ์ใหม่ อาจจะทำให้สหกรณ์ของญี่ปุ่นแต่ละแห่งมีอิสระมากขึ้นกว่าเดิม ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคสหกรณ์ของไทยที่เคยเจรจาซื้อขายกัน ข้อตกลงต่างๆ ที่ไทยเคยเจรจาไว้กับเอฟเอโอ เช่น ข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม หรือร่างแนวคิดในการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ซึ่งทูตเกษตรจะต้องติดตามข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด และจัดทำเป็นโรดแมปเป็นรายสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ส่วนสุดท้าย คือ การบริหารจัดการและการเชื่อมโยงการทำงานของทูตเกษตรในต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวงเกษตรฯ เอง โดยเฉพาะในมิติของอาเซียนกับไทย และอาเซียนกับประเทศอื่นๆ ในด้านการลงทุนระหว่างกันทั้งในด้านการผลิต การรับรองคุณภาพ ห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบต่างๆ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

เกษตรตื่นวิจัยเทรนด์บริโภคอียู หวังเจาะตลาดเพิ่มกว่าแสนล้าน

เกษตรฯลุยเจาะเทรนด์ตลาดสินค้าเกษตร-อาหารไทยในอียู กรอบ 5 ปี ครอบคลุม 9 รายการ พร้อมวิเคราะห์โอกาส-แนวโน้มการแข่งขัน ข้อกฎหมาย หวังใช้กำหนดนโยบลักดันส่ง ออก ตั้งเป้าส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปอียูเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.2 แสนล้านบาท/ปี

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป เร่งดำเนินโครงการศึกษาสถานการณ์สินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดยุโรปในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2563)

ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดอียู ทั้งสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมงรวม 9 ชนิด ได้แก่ ผลไม้ ผัก สินค้าอินทรีย์ สมุนไพร เครื่องเทศ กุ้ง ปลาทูน่า และไก่ เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านสภาพเศรษฐกิจ สังคม การค้า และสิ่งแวดล้อมของอียู ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยในช่วง 5 ปี

พร้อมศึกษาขนาดตลาด ความต้องการของผู้บริโภค ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ส่วนแบ่งตลาดสินค้าสดและแปรรูป วิเคราะห์แนวโน้ม โอกาส ศักยภาพ และคู่แข่งทางการตลาดของสินค้าเกษตรไทยในอียู

ปัจจุบันผู้บริโภคใน EU มีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสังคมและการใช้แรงงานด้วย ส่งผลให้ผู้นำเข้าและผู้ค้าปลีก เพิ่มความระมัดระวังและให้ความใส่ใจในเรื่องคุณภาพเพื่อรักษาภาพลักษณ์และสร้างจุดขายในการจำหน่ายสินค้า

นอกจากนี้ ตัวโครงการจะศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ และนโยบายที่อาจส่งผลกระทบ การผลิตสินค้าแบบเกษตรอินทรีย์ บรรจุภัณฑ์และฉลาก เพื่อนำไปกำหนดนโยบายและวางมาตรการเพิ่มศักยภาพและสร้างขีดความสามารถการส่งออก และใช้วางแผนประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในอียูมากขึ้น

ขณะที่ภาคเอกชนสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวไปใช้กำหนดนโยบายผลิตสินค้า และวางกลยุทธ์ทางการตลาดและส่งออกไปยังตลาด EU ได้

นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า โครงการนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน เริ่มต้นจากกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน 2558 โดยจะศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ยุโรปตะวันออก 11 ประเทศ ยุโรปตะวันตก 9 ประเทศ ยุโรปใต้ 6 ประเทศ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย 4 ประเทศ คาดว่าจะช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรและอาหารไทย และเป็นช่องทางผลักดันปริมาณและมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสู่ตลาดอียูเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.2 แสนล้านบาท/ปี

จาก www.prachachat.net   วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

'โลจิสติกส์'เรื่องต้องแก้ปัญหาเมื่อเปิดประตูการค้าสู่เออีซี

ส่วนการขนส่งสินค้า การใช้เส้นทางจากระหว่างชายแดนลาวข้ามไปในตัวของเวียดนาม ยังใช้บริการผู้ประกอบการทางด้านโลจิสติกส์ทางฝั่งเวียดนาม

ในการเปิดประตูสู่อาเซียนของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น นั่นคือเรื่องของระบบโลจิสติกส์ เพราะในการขนส่งสินค้านั้น ต้องยอมรับว่า การที่รถพวงมาลัยขวาของไทย จะไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ ประกอบกับเรื่องของภาษี โดยเฉพาะภาษีการขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน ซึ่งไทยยังเจอปัญหาการจัดเก็บภาษีในอัตราที่แพง เนื่องจากไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกับจีนเหมือนเวียดนาม

เรื่องนี้ ชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวถึง ปัญหาในการขนส่งสินค้าสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนว่า ปัญหาที่พบเห็นอยู่ขณะนี้คือการต้องเปลี่ยนหัวลากที่ชายแดนระหว่างลาวกับเวียดนาม เนื่องจากรถพวงมาลัยขวา ทางเวียดนามยังไม่อนุญาตให้เข้าประเทศได้ ซึ่งขณะที่มีการขนสินค้าข้ามไปสะพานมิตรภาพแห่งที่3บริเวณปลายสะพานฝั่งเวียดนามก็จะมีพื้นที่เพื่อให้เปลี่ยนหัวลาก ซึ่งก็จะมีรถทางเวียดนามมาขนตู้คอนเทนเนอร์เข้าไป ส่วนจุดที่2ก็จะเปลี่ยนกันที่ รถไทยวิ่งในลาว และพอไปถึงด่านนาพร้าว ก็จะไปเปลี่ยนหัวลากเป็นหัวลากของเวียดนาม เพื่อเข้าไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งก็ยังมีการใช้วิธีนี้กันอยู่ เพราะรถไทยไม่สามารถเข้าไปในเวียดนามได้เลย

ทางเวียดนาม ทางลาว ยังกีดกันในเรื่องการขนส่งบางอย่างอยู่ เพราะถือเป็นประโยชน์ของประเทศเขาเอง ซึ่งจะต้องใช้รถของประเทศเขาที่เป็นพวงมาลัยซ้ายมาขนถ่ายสินค้าจากฝั่งไทย จึงเหมือนกับกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ แต่ถ้าหากทางประเทศลาวและเวียดนามปล่อยให้รถจากฝั่งไทยวิ่งเข้าไป นั่นอาจจะส่งผลถึงระบบโลจิสติกของประเทศเขาก็จะเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นจึงเกิดข้อกีดกันเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ให้ฝั่งไทยได้บ้าง ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านได้ประโยชน์บ้าง ก็ต้องเอื้อกัน จึงทำให้ระบบการขนส่งยังต้องอยู่ในรูปแบบนี้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้เคยยกขึ้นมาเจรจาในที่ประชุม แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในเรื่องของการใช้รถพวงมาลัยซ้าย ขวา ที่จะสามารถวิ่งเจ้าไปถึงประเทศเวียดนาม

จ.นครพนม ก็ถือเป็นชายแดนการค้าที่สำคัญ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมที่เกือบจะสมบูรณ์ ในการรองรับอาเซียน ทั้งเรื่องของการเตรียมพื้นที่ ที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ1ใน10จังหวัดที่รัฐบาลมีการประกาศแล้ว ซึ่งการเตรียมพื้นที่ที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีการเตรียมไว้หลายจุด เช่น ในบริเวณเชิงสะพานก็มีประมาณ2,000กว่าไร่ ที่จะเป็นศูนย์One stop serviceทั้งหมดในการที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับ การส่งออกสินค้า ในเรื่องของการผ่านแดนต่างๆ ก็จะเป็นจุดเดียว ทั้งด่านศุลกากร ด่านกักกัน และอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นจุดกระจายสินค้า คลังสินค้า ในบริเวณนี้ ซึ่งรถขนส่งสินค้าก็สามารถมาเปลี่ยนหัวลากหรือพักสินค้าที่นี่ได้

การเตรียมความพร้อมของ จ.นคพนม มีการเตรียมพร้อมมากกว่า จ.หนองคาย หรือมุกดาหาร เนื่องจากนครพนมมีพื้นที่สาธารณะมากกว่า และเป็นพื้นที่แปลงใหญ่อีกหลายแปลงซึ่งถือว่ามีความพร้อมประมาณ80%

ขณะที่สะพานที่มุกดาหารกับสะพานที่หนองคาย ขณะนี้มีความแตกต่างกัน และสะพานยังไม่ได้มีการบรรจุเข้าไปอยู่ในกรอบของเส้นทางการค้าที่ลดต้นทุนของการขนส่ง ยังมีการเสียภาษีที่แพงกว่าหากมีการมาใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่3จึงอยากให้รัฐบาลนำเข้าสู่เส้นทางเช่นเดียวกับเส้นทางหมายเลข9ที่ไม่มีการเก็บภาษี

ส่วนการขนส่งสินค้า การใช้เส้นทางจากระหว่างชายแดนลาวข้ามไปในตัวของเวียดนาม ยังใช้บริการผู้ประกอบการทางด้านโลจิสติกทางฝั่งเวียดนามเนื่องจากมีความชำนาญในพื้นที่มากกว่าคนไทย ทั้งเรื่องคนขับรถที่ชำนาญเส้นทางกว่า และภาษาการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ก็ดีกว่า ทำให้ผู้ประกอบการเองก็นิยมที่จะใช้รถบรรทุกหรือรถขนส่งของอทางเวียดนามในการขนถ่ายสินค้าเข้าไปที่เวียดนาม เพื่อความสะดวก

ด้าน แหล่งข่าวที่เป็นผู้ประกอบการ ก็ยังประสบปัญหาที่หลายคนมองข้าม ซึ่งเปิดเผยว่า หากมีการเปิดตลาดอาเซียนในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าการขนส่งสินค้าต้องมีปัญหาแน่นอน คือปัญหาหนึ่งเรื่องของภาษา คนขับรถพูดภาษาต่างประเทศไม่ได้ ส่วนปัญหาที่ตามมาอีกคือ การรีดไถรถต่างประเทศของเจ้าหน้าที่ ทุกประเทศเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขโดยการเข้มงวด ตรวจตราความถูกต้อง แต่อาจจะทำให้เสียเวลาในการขนส่งสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการเองก็อาจจะไม่ต้องการแบบนั้นเพราะจะทำให้เสียเวลา

ส่วนการเตรียมความพร้อมรับอาเซียน การขนส่งสินค้าปัจจุบันนี้ก็เหมือนการทำตลาดอาเซียนอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพราะมีการติดต่อกับต่างประเทศ จึงไม่ต้องเตรียมพร้อมอะไรมาก เพียงแต่ว่าหลายอย่างต้องใช้เงินเป็นใบเบิกทาง ไม่ว่าจะเปิดAECหรือไม่ก็ยังต้องเป็นแบบนี้ นี่คือปัญหาหลัก คือเรื่องการเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ ส่วนตัวมองว่า ถ้าหากไม่มีเงินเป็นใบเบิกทาง ก็ทำให้งานช้าลง

นอกจากนั้น การเจรจากับเจ้าหน้าที่ บางครั้งช่วยได้ในเบื้องต้น แต่การปฏิบัติก็อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเจอกันอยู่ ซึ่งมันก็ไม่พ้นเรื่องของการคอรัปชั่นเรื่องการตลาด ขณะนี้ต่างชาติพร้อมที่จะบุกตลาดของไทยตลอดเวลา หากยกเว้นภาษี ซึ่งแทนที่เราจะได้เปรียบ เราอาจจะเสียเปรียบด้วยซ้ำ ซึ่งจะเสียเปรียบในเรื่องอัตราภาษี แม้แต่ทุกวันนี้มีอัตราภาษีกั้นอยู่ ต่างประเทศอย่างจีน ก็ยังบุกตลาดทั่วประเทศไทยได้ในเรื่องการค้า ในขณะที่ฝั่งไทยส่งออกไปประเทศเขา ก็ยังต้องมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างสารพัด แม้แต่ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปประเทศจีน สามารถเช็คได้เลยว่าสถิติการส่งออกผลไม้จีน ไม่ค่อยมีของไทย มีแต่ส่งไปประเทศเวียดนาม เพราะถ้าหากส่งออกไปจีน จะต้องมีเงื่อนไขเรื่องภาษีถึง13เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าส่งประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ภาษีจะอยู่ที่5% ไทยก็เลยจำเป็นต้องส่งออกไปแค่เวียดนาม แล้วพ่อค้าเวียดนามก็มารับไปส่งต่อ ทำให้เราค่อนข้างเสียเปรียบ

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

เออีซีดันขนส่ง-โลจิสติกส์โต3.2-4.4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย เออีซีหนุนธุรกิจขนส่ง - โลจิสติกส์ปีนี้คึกคัก คาดปีนี้ขยายตัว 3.2-4.4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยในปีนี้คึกคัก เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การลงทุนในโครงการของภาครัฐ และเอกชนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีการเตรียมตัวเพื่อรับโอกาสจากการขยายตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยการเข้าไปให้บริการด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ดังนั้นคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ จีดีพี ในภาคขนส่งและโลจิสติกส์ทางถนนเฉพาะการขนส่งสินค้า จะมีมูลค่า 105,300-106,600 ล้านบาท โดยขยายตัว 3.2-4.4% จากปีที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 0.4%

สำหรับธุรกิจที่จะลงทุนในกลุ่มซีแอลเอ็มวี เช่น ธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามแดน ธุรกิจคลังสินค้า คลังสินค้าห้องเย็น และรถขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้บริการธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร เครื่องดื่มและเวชภัณฑ์ เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นรายการสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดต่ำลงมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนด้านพลังงานของภาคการขนส่ง รวมถึงทิศทางการลดลงของราคาพลังงานโดยรวมที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคลงได้บางส่วน และส่งผลดีต่อการบริโภค แต่คาดว่าในระยะข้างหน้าอัตราค่าขนส่งจะไม่ได้ปรับตัวลงมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัว และนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐที่ลดการนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันและเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ขณะที่ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องเผชิญต้นทุนด้านอื่นๆ โดยเฉพาะต้นทุนด้านค่าตอบแทนแรงงานซึ่งมีสัดส่วนกว่า 39% ของต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถซึ่งมีสัดส่วนกว่า 25 %ของต้นทุนทั้งหมดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรสนับสนุนภาคการขนส่ง โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้งการตั้งนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ปรับปรุงกฎระเบียบศุลกากรในกระบวนการขนส่งข้ามแดนและผ่านแดนให้รวดเร็วเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่เป้าหมายที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งที่เชื่อมปัจจัยการผลิต ระบบการผลิต ห่วงโซ่การผลิตระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

พลังงานน้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้

ตอนที่ 6 Headline: โรงไฟฟ้าพลังน้ำระดับมาตรฐานสากล

พลังงานน้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมากที่สุด เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์

ปัจจุบัน สปป.ลาว มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 3,200 เมกะวัตต์ ซึ่ง 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมด จะถูกส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยที่เป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด โดย สปป.ลาว ยังมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้สูงสุดถึง 24,000 เมกะวัตต์

เอ็กโก กรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย ได้เข้าร่วมลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยร่วมกับกลุ่มบริษัทไฟฟ้าประเทศฝรั่งเศส หรือ EDF และรัฐบาล สปป.ลาว ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ลาว โฮลดิ้ง สเตท เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 35:40:25 ตามลำดับ

โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ตั้งอยู่ในแขวงคำม่วน ตอนกลางของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำระดับสูง เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2553 มีกำลังการผลิตทั้งหมด 1,070 เมกะวัตต์ จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันน้ำ จำนวน 6 เครื่อง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้กว่า 95% ส่งกลับมาจำหน่ายในประเทศไทย และอีก 5% ใช้ภายใน สปป. ลาว

จุดเด่นของโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 คือ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ธนาคารโลก (World Bank) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นต้น รวมทั้ง เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังน้ำต้นแบบที่มีการบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การจัดการสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน

นอกจากนั้น โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3.19 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือประมาณ 79 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดอายุสัญญาของโรงไฟฟ้า 25 ปี

ความสำเร็จของการพัฒนาโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 นอกจากมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของไทยแล้ว ยังทำให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทเอกชนไทย ในการมีส่วนร่วมพัฒนาและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าระดับมาตรฐานสากลในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและเป็นฐานสำหรับการต่อยอดไปสู่ความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ก.เกษตรฯไม่หวั่นแล้งยาวถึงมิ.ย. คุยเอาอยู่-น้ำมีใช้พอถึงเดือนก.ค.

 นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวหลังการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปี 2558 ฤดูฝนจะล่าช้าไปถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิ.ย. ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกนาปรังเสียหายรุนแรงรวม 1.33 แสนไร่ แบ่งเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9.5 หมื่นไร่ใน 12 จังหวัด และในลุ่มน้ำแม่กลองอีก 3.8 หมื่นไร่ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานแจ้งว่าวางแผนการใช้น้ำแล้ว ยืนยันว่าน้ำมีเพียงพอจนถึงกลางเดือนก.ค. แม้ว่าจะไม่มีฝนตกเลยจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว

 นายชวลิต กล่าวว่า สำหรับโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตำบลละ 1 ล้านบาท ทั้งหมด 3,051 ตำบลนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรวางแผนให้มีตำบลนำร่อง 541 ตำบล ที่จะเสนอแผนงานเพื่อของบประมาณภายในเดือนก.พ.นี้  ที่เหลือจะเสนอให้ครบทั้งหมดภายในเดือนมี.ค. ซึ่งกระทรวงได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานแจ้งการดำเนินการลงไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะงบประมาณ 50% จะเป็นงบจ้างงานที่ช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ทันที

  "กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าและการเผาในไร่นา โดยจะเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านไม่ให้มีการเผาพื้นที่เกษตร และให้กรมฝนหลวงปฏิบัติการเพื่อลดความเข้มข้นของหมอกควัน" นายชวลิตกล่าว

 ด้านนายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ความเข้มข้นของฝุ่นละอองยังไม่ถึงระดับอันตรายต่อสุขภาพ ยกเว้นที่จ.ลำปางซึ่งเริ่มใกล้เข้าสู่ระดับดังกล่าว อย่างไรก็ตามกรมฝนหลวงจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วแล้วที่จ.นครสวรรค์ และแผนปฏิบัติการประจำปีจะเริ่ม 1 มี.ค.นี้ โดยในภาคเหนือจะจัดตั้ง 2 จุด คือที่จ.พิษณุโลก และ จ.เชียงใหม่ รวมถึงจะร้องขอให้รัฐบาลร่วมมือกันช่วยควบคุมปัญหาหมอกควันด้วย

 จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เกษตรกรเฮ! ธ.ก.ส.ตัดหนี้สูญให้ 4,000 ล้านบาท

เตรียมเสนอครม. แก้ปัญหาให้เกษตรกรที่ติดหนี้ธ.ก.ส. เผยจะตัดเป็นหนี้สูญ 4,000 ล้านบาท อีก 1.12 แสนล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ให้ ธ.ก.ส.ช่วยรับภาระดอกเบี้ย-ยืดเวลาชำระ สนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูอาชีพ 3.5 หมื่นล้านบาท

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกร มูลหนี้รวม 1.16 แสนล้านบาท ลูกหนี้ 8.18 แสนรายแล้ว และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อสรุปหลักเกณฑ์และรายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 มี.ค. 2558

รายงานจากคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกรกับธ.ก.ส. 8.18 แสนรายนั้น จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามศักยภาพลูกหนี้ ได้แก่ 1)โครงการปลดเปลื้องหนี้ สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพชำระหนี้ เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง ชราภาพ และเป็นหนี้ที่ใช้หลักประกันหรือค้ำประกันกลุ่ม จะครอบคลุมเกษตรกร 2.84 หมื่นราย วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่จะตัดหนี้สูญให้ทั้งหมด

2)โครงการปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับเกษตรกรกลุ่มที่มีศักยภาพประกอบอาชีพ แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ครอบคลุมเกษตรกร 3.4 แสนราย วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท โครงการจะให้พักชำระหนี้เงินต้น 3 ปี หลังจากนั้นให้ชำระเป็นรายงวด ระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี โดยธ.ก.ส.จะรับภาระดอกเบี้ยบางส่วนแทนเกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่เหมาะสม วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ราย รวมทั้งโครงการ 1.5 หมื่นล้านบาท

3)โครงการขยายเวลาพักชำระหนี้ สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพประกอบอาชีพ แต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรังและราคายางพาราตกต่ำ ครอบคลุมเกษตรกร 4.5 แสนราย วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท โครงการจะยืดระยะเวลาชำระดอกเบี้ย และงดคิดเบี้ยปรับดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่เหมาะสม และธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปลูกพืชทดแทน ประกอบอาชีพเกษตรอื่นหรืออาชีพเสริมเพิ่มรายได้ วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย รวมทั้งโครงการ 3.5 หมื่นล้านบาท

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ตะลึงเอสเอ็มอี 92.9% รู้เออีซีผิวเผิน อีก 5 ปีหวั่นไทยเสียแชร์ตลาดเพิ่ม

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการสำรวจ 13 ประเภทธุรกิจทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ จำนวน 2,000 ราย ประเด็นความเข้าใจของผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พบว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2553-57) ผู้ประกอบการไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซีเพิ่มขึ้น โดยปี 2557 ผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ 98.3% มีความเข้าใจแล้ว เพียง 1.7% ยังไม่เข้าใจ หรือจำนวน 125 ราย ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) 87.6% มีความเข้าใจแล้ว ส่วนอีก 12.4% ยังไม่รู้เรื่อง หรือจำนวน 3.4 แสนราย โดยในส่วนที่เข้าใจแล้ว พบว่า เอสเอ็มอี 92.9% เข้าใจระดับพื้นฐาน ทราบเพียงเออีซีเป็นการเปิดเสรีสินค้า บริการ แรงงาน และลงทุน แต่ไม่รู้ถึงรายละเอียด หรือมีจำนวน 2.23 ล้านราย จึงมีเพียง 7.8% เข้าใจเชิงลึก หรือมีจำนวน 1.88 แสนราย ขณะที่รายใหญ่ 72.7% เข้าใจแค่พื้นฐาน หรือมีจำนวน 5.25 พันราย และอีก 27.3% เท่านั้นเข้าใจเชิงลึก หรือมีจำนวน 1.97 พันราย

เมื่อแยกเป็นกลุ่มธุรกิจ พบว่า ภาคบริการ จะเข้าใจเชิงลึกมากกว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร และภาคบริการที่ใช้ประโยชน์แล้วคือสถาบันการเงิน ขนส่ง สุขภาพและสปา และการศึกษา ประเด็นที่ไม่เข้าใจมากสุดคือ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าซึ่งพบว่าไทยใช้สิทธิต่ำกว่า 50% ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลมากสุด ในเรื่องสินค้า/บริการต่างชาติมาตีตลาด การย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เอสเอ็มอีไทยแข่งขันได้ยากขึ้น ส่วนแบ่งตลาดในอาเซียนของไทยลดลง และการขอปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงาน

"อาจจะรู้สึกสบายใจว่าผู้ประกอบการไทยรู้เรื่องเออีซี แต่รู้ระดับพื้นฐาน น่าห่วงมากเพราะเชิงลึกรู้เล็กน้อยมาก จะทำให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิและได้ประโยชน์จากการเปิดเออีซีหลังปี 2558 น้อยมาก โอกาสทางการค้าและศักยภาพของไทยก็จะน้อยกว่าประเทศในอาเซียนด้วยกัน อีก 5 ปีข้างหน้าหากยังเป็นอย่างนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีอาจเหลือน้อยกว่า 2 ล้านราย อาจต้องปิดตัว ตอนนี้ไทยเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนเทียบด้านศักยภาพโดยรวม รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลและเอกชนรายใหญ่ส่งเสริมและดูแลเอสเอ็มอีในการขยายธุรกิจและไปต่างประเทศ ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม กำลังจะแซงไทย ซึ่งตอนนี้ไทยได้เปรียบเรื่องการยอมรับในคุณภาพ แต่ไทยด้อยในเรื่องต้นทุนถูกกว่าและแรงงานมากกว่า" นายอัทธ์กล่าว และว่า ที่อยากเสนอคือรัฐต้องเร่งในเรื่องให้ความรู้เชิงลึก และตั้งบุคคลและหน่วยงานดูแลรายประเทศ (มิสเตอร์เออีซี) เพื่อให้การทำงานเดินหน้าโดยเร็ว

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กลุ่มมิตรผลผนึก บ.ศักดิ์สยามพัฒนาระบบผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูงในจีน

กลุ่มมิตรผล ร่วมกับ กลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ประกาศความร่วมมือในการลงทุนโรงงานผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูง 'ซอยล์เมต' (Soil Mate) กำลังการผลิตกว่า 3 แสนตันต่อปี ณ เมืองหนิงหมิง มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้งบลงทุนกว่า 400 ล้านบาท อันนับเป็นการผสานความแข็งแกร่งของ 2 องค์กรธุรกิจไทย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ปุ๋ยผสมคุณภาพสูงที่ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ ลดปริมาณการใส่ปุ๋ย และช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผล ดำเนินธุรกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนมากว่า 20 ปี และผลิตน้ำตาลปีละประมาณ 1 ล้านตัน จากปริมาณอ้อย 9-10 ล้านตัน โดยมีชาวไร่คู่สัญญาประมาณ 141,000 ราย โดยที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมชาวไร่อ้อยในพื้นที่ที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่มมิตรผลเล็งเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรซึ่งมีต้นทุนในการทำไร่อ้อยสูงกว่าในประเทศไทย โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือปุ๋ยในท้องตลาดมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานและมีธาตุอาหารน้อย ทำให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยในปริมาณมากถึง 3 รอบต่อปี อีกทั้งเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปุ๋ยมีความชื้นสูงและแตกร่วนง่าย จึงไม่สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องจักรในไร่ และต้องอาศัยแรงงานคนในการใส่ปุ๋ยด้วยมือ ซึ่งสวนทางกับปัญหาค่าแรงและการขาดแคลนแรงงานในไร่อ้อยที่เพิ่มมากขึ้น"

"กลุ่มมิตรผลจึงได้ร่วมกับพันธมิตรคือกลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ในการลงทุนระบบการผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูงซอยล์เมตขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และช่วยให้กลุ่มชาวไร่ที่มิตรผลให้การดูแล สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงได้กว่าครึ่ง จากเดิมที่ต้องใส่ปุ๋ยประมาณ 6 - 7 กระสอบต่อไร่ ลดลงเหลือเพียง 2 - 3 กระสอบต่อไร่สำหรับผลผลิตอ้อย 10 - 11 ตัน หรือโดยรวมแล้วจะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยจาก 200,000 ตันลงเหลือ 100,000 ตันต่อปีเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มมิตรผล ในการช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนในไร่อ้อยด้วยเช่นกัน”

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นการผสานจุดแข็งของกลุ่มมิตรผลซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระดับโลก กับกลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมปุ๋ยมานานกว่า 30 ปี และเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ใช้กระบวนผลิตแบบผสมถุงต่อถุง ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างแม่นยำ และมีธาตุอาหารเต็มสูตร เหมาะสมตามที่ฝ่ายไร่อ้อยของกลุ่มมิตรผลได้กำหนดไว้สำหรับการปลูกอ้อยแต่ละพันธุ์ ในแต่ละช่วงเวลา

นายทวีศักดิ์ สุทิน ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า "โรงงานผลิตปุ๋ยซอยล์เมต ในมณฑลกวางสี จะเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตปุ๋ยผสมคุณภาพสูงที่มีความทันสมัยที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีกระบวนการผลิตที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ และใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยจุดเด่นด้านกระบวนการผลิตของศักดิ์สยามที่ควบคุมคุณภาพได้อย่างแม่นยำและสม่ำเสมอ เมื่อผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยของกลุ่มมิตรผล จะทำให้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยผสมคุณภาพสูงซอยล์เมต ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างดี"

นอกเหนือจากการนำเสนอปุ๋ยผสมคุณภาพสูงให้กับเกษตรกรแล้ว กลุ่มมิตรผลยังถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องด้วยการฝังใต้ดินเพื่อให้รากพืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารได้อย่างเต็มที่ แทนการหว่านด้วยมือซึ่งธาตุอาหารบางส่วนจะระเหยไปในอากาศและยังสิ้นเปลืองปริมาณมากกว่าวิธีการฝัง นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ในการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเกษตรของจีน รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรแบบชีววิถีด้วยการตัดอ้อยทิ้งใบคลุมดินและไม่เผาใบอ้อย รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพดินด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จากกากอ้อย (filtered cake) ในระหว่างเตรียมดินอีกด้วย

"ความร่วมมือระหว่างกลุ่มมิตรผล และกลุ่มบริษัทศักดิ์สยาม ในวันนี้ นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยผสมที่มีคุณภาพดีแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างตรงจุด เราภูมิใจที่ได้มีส่วนถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดปริมาณการใช้สารเคมีในไร่อ้อย และสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับชาวไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน" นายกฤษฎา กล่าวสรุป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

'ประยุทธ์'ห่วง'ภัยแล้ง-หมอกควัน' ชี้ปฏิบัติการฝนหลวงเร็วกว่าทุกปี

25 ก.พ.58 นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ภัยแล้ง และหมอกควัน ที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นในเดือน มี.ค.ของทุกปี ซึ่งจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในปีนี้ฤดูฝนจะมาช้ากว่าปกติ หรือเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง โดยจะมาในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน มิ.ย.

ทั้งนี้ กรมชลประทาน มั่นใจว่าจะสามารถวางแผนในการบริหารจัดการปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ให้ใช้ได้อย่างเพียงพอ จากปริมาณน้ำล่าสุดในเขื่อนที่มีอยู่ประมาณ 1.8 หมื่นกว่าล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 57 พร้อมกับวางแผนจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ได้เพียงพอจนถึงเดือน ก.ค.

"แต่จะไม่มีน้ำสนับสนุนการทำนา โดยนาปรังที่ทำเกินแผนปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มเจ้าพระยาเสียหายอย่างสิ้นเชิง ประมาณ 9.5 หมื่นไร่ ในพื้นที่ปลูกข้าว 12 จังหวัด โดยเฉพาะ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง และในลุ่มน้ำแม่กลองเสียหายอีกประมาณ 3.8 หมื่นไร่ หรือประมาณร้อยละ 3 - 4 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ส่วนสถานการณ์หมอกควัน หรือฮอตสปอตในภาคเหนือ จากข้อมูลที่กรมฝนหลวงรายงาน พบว่าปีนี้มีแนวโน้มสถานการณ์ในระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือน มี.ค.และ เม.ย.โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะทำงานด้านการเกษตร ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมชลประทาน เร่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกร และรณรงค์ในการงดเผาไร่นาและพื้นที่เกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันในประเทศ ขณะเดียวกันให้กรมฝนหลวง ได้วางแผนขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน และบรรเทาภัยแล้งทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสมแก่การขึ้นปฏิบัติการ

ด้าน นายวราวุธ ขันติยานันท์ ตำแหน่ง อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากข้อมูลย้อนหลังพบว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ระดับคุณภาพอากาศส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีเพียง จ.ลำปาง แห่งเดียว ที่มีเริ่มมีปัญหาแล้ว ในเดือน มี.ค. - เม.ย.จะมีจังหวัดอื่นได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมอกควันที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชาที่เริ่มเผาพื้นที่เกษตรมาแล้วระยะหนึ่งและประเทศพม่ากำลังจะเข้าสู่ฤดูการเผา

ทั้งนี้ มองว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะในประเทศยังไม่เพียงพอ ต้องให้รัฐบาลเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามชายแดนด้วย ซึ่งจะได้ผลยิ่งขึ้น ส่วนกรมฝนหลวงจะพยายามขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยในเดือน มี.ค.จะมีการหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเพิ่มขึ้นอีก 2 หน่วย ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ตาก เพื่อขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันท่วงที เพราะในช่วงแล้งจัดอาจมีไฟป่าเกิดขึ้นได้ง่ายด้วย ซึ่งมีฐานปฏิบัติในแต่ละภูมิภาคอีก 9 ฐาน ที่พร้อมสนับสนุนเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สอน.เตรียมพัฒนาลูกหลานชาวไร่อ้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากกรณีที่ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับของประเทศที่ต้องเฝ้าระวังการใช้แรงงานเด็กจาก ระดับ 2 มาเป็นระดับ 3 หรือ Tier 3Watch List โดยให้เหตุผลว่าไทยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าไทยมีความพยายามเพิ่มขึ้นในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้ถูกระงับความช่วยเหลือทางการค้าและกระทบต่อภาพพจน์สินค้าของไทยในตลาดโลก

เมื่อเร็วๆนี้นายสมพล  รัตนาภิบาล รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย ประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ผู้แทนโรงงานน้ำตาล สถาบันสมาคม เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อเกาะติดสถานการณ์แก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย

นายสมพล  กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมา สำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สมาคมชาวไร่อ้อย ได้ตระหนักถึงความสำคัญจึงได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU)แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กเราพบว่าทั้งโรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการรณรงค์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุชุมชน การจัดประชุมสัมมนาชี้แจงความเข้าใจแก่พนักงาน เกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชน

ขณะนี้ คณะทำงานแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กในไร่อ้อย ได้กำหนดงานที่จะทำกันต่อไปโดยกำหนดมาตรการแบ่งเป็น 8 ขั้นตอนได้แก่

สร้างการมีส่วนร่วมการสื่อสารและฝึกอบรม การจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีการประเมินความเสี่ยง และผลกระทบการติดตามการปฏิบัติตามแนวทางที่ดี การแก้ไขให้สามารถปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดี การทบทวนที่เป็นอิสระ และการรายงานผลการปฏิบัติงาน และได้นำมาตรการทั้ง 8 ขั้น มาจัดทำแผนปฏิบัติการ(Action Plan) เพื่อให้การทำงานต่อจากนี้ให้สำเร็จเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น  ด้วยการประสาน ติดตาม ประเมินผลการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น  สถาบัน องค์กร ชุมชม ในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจัดให้เด็กได้รับการพัฒนาตามวัยที่เหมาะสม มีที่อยู่ที่กินที่เล่นอย่างอบอุ่นปลอดภัย

นายสมพล  ได้กล่าวเสริมว่า “ เด็กเป็นความหวังของประเทศชาติ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าภาครัฐเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปอย่างแนวแน่มั่นคง"

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรมหมอดินโชว์ความสำเร็จการแก้ปัญหา‘ดินเค็ม’ในงานประชุมวิชาการเรื่องดิน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ถือเป็นภาคที่มีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดในประเทศไทย แต่อัตราการขยายตัวของผลผลิตด้านการเกษตรต่ำสุด เนื่องจากมีปัญหาคุณภาพหลายประการ ปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งคือดินเค็ม แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน ได้ดำเนินโครงการแก้ปัญหาดินเค็มมาอย่างต่อเนื่องจนได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ

นายไพรัช พงษ์วิเชียร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาการจัดการดินเค็ม สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัญหาดินเค็ม นอกจากเกิดจากธรรมชาติแล้ว ยังเกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การทำนาเกลือ และการขุดบ่อน้ำในพื้นที่ดินเค็ม เป็นต้น ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระจายอยู่ทั่วไปเกือบทุกจังหวัด ยกเว้น จังหวัดเลย และมุกดาหาร และที่พบปัญหาดินเค็มมาก เช่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น ลักษณะที่พบคือจะเห็นคราบเกลือในช่วงฤดูแล้งชัดเจน พืชจะตายเป็นหย่อมๆ พืชทางเศรษฐกิจจะขึ้นไม่ได้ จะมีพืชบางชนิดที่ทนเค็มพอขึ้นได้

ดินเค็มแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ดินเค็มน้อย ดินเค็มปานกลาง และดินเค็มจัด ซึ่งตอนนี้ทาง กรมพัฒนาที่ดินใช้เกณฑ์ในการแบ่งคือ ดูจากปริมาณคราบเกลือ ถ้าคราบเกลือประมาณ 1% จะเป็นดินเค็มน้อย คราบเกลือ 1-10% จะเป็นดินเค็มปานกลาง และคราบเกลือ 10-50% จะเป็นดินเค็มจัด สำหรับแนวทางในการดินเค็ม จะพิจารณาจากระดับความเค็มของดิน กรณีที่เป็นดินเค็มน้อย หรือดินเค็มปานกลางเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้ในการปลูกข้าว แต่ว่าผลผลิตจะอยู่ในระดับต่ำ โดยกรมพัฒนาที่ดินแนะนำเกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็ม ต้องมีการเตรียมดินที่ดี ปรับระดับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ และก็มีการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่นโสนอัฟริกันซึ่งเป็นปุ๋ยพืชสด ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปลูกข้าวที่ทนต่อดินเค็ม เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 การจัดการน้ำที่ดี ในที่ๆ พอมีน้ำ หลังการเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรพอที่จะปลูกพืชผักเศรษฐกิจได้ โดยปรับปรุงดินบำรุงด้วยอินทรียวัตถุ คือ แกลบ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เลือกปลูกพืชทนเค็มเช่น หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ กุยช่าย แตงแคนตาลูป บร็อคโคลี่ คะน้า และควรมีการคลุมดินหลังปลูกเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันการสะสมของเกลือที่ผิวดิน ส่วนในกรณีที่เป็นดินเค็มจัด จะเน้นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมก่อน โดยปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วที่ทนเค็มจัด เช่น กระถินออสเตรเลีย (Acacia ampliceps) และหญ้าดิกซี่ ซึ่งเป็นหญ้าทนเค็ม ที่เรานำมาจากต่างประเทศเอามาปลูกและก็ขยายผลไปในพื้นที่ดินเค็ม ซึ่งเกษตรกรยอมรับ สภาพแวดล้อมเริ่มดีขึ้น ระบบนิเวศน์ดีขึ้นพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็จะกลับคืนมา ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากทุ่งเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น หลังจากที่มีการนำพืชทนเค็มจัดดังกล่าวไปปลูกประมาณ 4-5 ปี ร่วมปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เกษตรกรสามารถกลับมาปลูกข้าวได้ อีกวิธีหนึ่งที่ใช้จัดการดินเค็มจัด คือ ใช้ทางด้านระบบวิศวกรรม โดยการขุดคูระบายน้ำเค็ม แต่จะลงทุนสูง ซึ่งทางกรมพัฒนาที่ดินก็มีโครงการนำร่องอยู่ที่เมืองเพียเช่นกัน โดยการขุดคูระบายน้ำ รักษาระดับน้ำใต้ดินไว้ และระบายน้ำเค็มออก หลังการดำเนินการความเค็มของดินก็จะลดลง เกษตรสามารถใช้พื้นที่ปลูกพืชได้

ไพรัช พงษ์วิเชียร

ส่วนในพื้นที่ที่ไม่เค็ม แต่มีศักยภาพที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาดินเค็มได้ อย่างพื้นที่ที่เป็นเนินที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ควรที่จะปลูกป่ารักษาป่าเอาไว้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม แต่ว่ามีปัญหาอยู่ที่ต้องใช้ระยะเวลานาน เกษตรกรไม่ค่อยยอมรับมากนัก เกษตรกรต้องการปลูกพืชเศรษฐกิจอายุสั้นที่ได้ผลผลิตเร็ว ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงมีการปรับแนวทางในการดำเนินการ โดยจัดทำโครงการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลเพื่อสูบน้ำใต้ดินบริเวณดังกล่าวขึ้นมาใช้เพื่อลดระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้ได้ผล และเกษตรกรก็ยอมรับ เพราะว่าน้ำที่สูบขึ้นมา เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในฤดูแล้งได้ โดยมีโครงการนำร่องอยู่ที่ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น โดยทางกรมพัฒนาที่ดินลงทุนขุดบ่อให้ นอกจากนี้ยังได้ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้น้ำบนพื้นที่รับน้ำ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรเอาน้ำขึ้นมาใช้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม

นายไพรัชกล่าวอีกว่า จากแนวทางในการแก้ปัญหาดินเค็มที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการอยู่จนประสบความสำเร็จนั้น สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการฟื้นฟู แก้ไขปัญหาดินเค็มแบบบูรณาการ ทั้งหน่วยงานในกรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น สวทช. และภาคเอกชน เช่น SCG ให้เป็นรูปธรรมที่ทุ่งเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น จนกลายมาเป็นโมเดลที่สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่ที่มีปัญหาดินเค็มที่อื่นๆ ได้

สำหรับปี 2558 ซึ่งเป็นปีดินสากล (International Year of Soil 2015) นั้น กรมพัฒนาที่ดินจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมวิชาการเรื่องดินระดับชาติ เพื่อเฉลิมฉลองปีดินสากล ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2558 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออร์คิด จังหวัดขอนแก่น การประชุมก็จะมีทั้งภาคบรรยาย ภาคนิทรรศการ และทัศนศึกษา โดยที่หนึ่งในพื้นที่ดูงานคือผลสำเร็จในการแก้ปัญหาดินเค็มที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมทุ่งเมืองเพีย จังหวัดขอนแก่น ที่จะแสดงให้เห็นถึงการจัดการปัญหาดินเค็มโดยเน้นการจัดการแบบบูรณาการ ทั้งคน ทั้งงาน ที่หลายๆ หน่วยงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สวทช. SCG หน่วยงานภายในกรมพัฒนาที่ดิน ที่ทำงานร่วมกันที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จนประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม หวังว่าการประชุมครั้งนี้ นักวิชาการจะได้นำผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการดินที่มีปัญหาต่างๆ รวมทั้งปัญหาดินเค็ม มานำเสนอเผยแพร่และก็มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นร่วมกัน ตลอดจนมีการสร้างเครือข่ายของนักวิชาการเกี่ยวกับดิน ไม่ใช่เฉพาะดินเค็มอย่างเดียวเกี่ยวกับดินทั้งหมด เพื่อเป็นประโยชน์กับเกษตรกรต่อๆไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

จัดรูปที่ดินเขื่อนแควน้อย

ผลดีอีกประการหนึ่งจากการจัดรูปที่ดิน นอกจากเกษตรกรเข้าถึงน้ำได้แล้ว ยังส่งผลให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดการสูญเสียน้ำ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดภาวะแห้งแล้ง

จัดรูปที่ดินเขื่อนแควน้อย วัดประสิทธิภาพงานปลายน้ำ - ดินดำน้ำดี

งานจัดรูปที่ดิน เป็นงานปลายน้ำ ที่เชื่อมโยงจากระบบชลประทาน ซึ่งได้แก่คลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย โดยการก่อสร้างคูส่งน้ำเข้าสู่แปลงนาของเกษตรกรโดยตรง ถือเป็นระบบการแพร่กระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรได้รับน้ำอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม

ลำพังคลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย จะส่งน้ำผ่านแปลงนาเป็นทอด ๆ ต้นคลองได้รับน้ำดี ปลายคลองอาจกระท่อนกระแท่น ไม่ทั่วถึงและเป็นธรรม แต่เมื่อจัดรูปที่ดินจะวางระบบเชื่อมต่อจากคลองไปเป็นคูน้ำ และส่งน้ำผ่านที่นาไร่ทุกแปลง ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงน้ำอย่างเท่าเทียมกัน ประเทศต้นแบบการจัดรูปที่ดินของไทย ไม่ว่าเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ได้สร้างนวัตกรรมใหม่คือการจัดรูปที่ดินแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ผลดีอีกประการหนึ่งจากการจัดรูปที่ดิน นอกจากเกษตรกรเข้าถึงน้ำได้แล้ว ยังส่งผลให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดการสูญเสียน้ำ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดภาวะแห้งแล้ง

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพความสำเร็จของงานจัดรูปที่ดิน ในปี 2557 ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สศก.)ได้ประเมินผลการดำเนินงานโครง การจัดรูปที่ดินนำร่องโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก กว่า 1,500 ไร่ พบว่า เกษตรกรพึงพอใจมาก

โดยพบว่า การส่งน้ำและระบายน้ำมีประสิทธิภาพมาก จากเดิม 30% เป็น 98% การใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 168% เป็น 191% หมายความว่าใช้ที่ดินเพาะปลูกบ่อยครั้งขึ้น อันเป็นผลมาจากระบบส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง ผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้นจาก 720 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 840 กิโลกรัม/ไร่ นาปรังจาก 737 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 849 กิโลกรัม/ไร่ เป็นผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นจากการต่อยอดพื้นที่ชลประทานทั่วไป เป็นพื้นที่จัดรูปที่ดิน ซึ่งมีการก่อสร้างคูส่งน้ำเข้าไปในแปลง ทำให้เกษตรกรได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และทั่วถึงกันที่สำคัญ ในช่วงฤดูแล้งมักมีข้อพิพาทในการใช้น้ำระหว่างเกษตรกร แต่ในพื้นที่จัดรูปที่ดินข้อขัดแย้งการใช้น้ำฤดูแล้งลดเหลือเพียง 8% จากเดิมก่อนจัดรูปที่ดินเคยมีมากถึง 58%

“สะท้อนว่า การจัดรูปที่ดิน นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพหลายด้านแล้ว ยังลดทอนความขัดแย้งในการแย่งชิงน้ำในหมู่เกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญด้วย” นายสิริวิชญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลจากการประเมินของ สศก. ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของงานจัดรูปที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการส่งน้ำ ระบายน้ำ ผลผลิตเฉลี่ย การใช้ที่ดินและการลดข้อขัดแย้ง ซึ่งสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง จะนำไปพิจารณาหาทางต่อยอดเพิ่มเติม โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาการเกษตร หรือการส่งเสริมการทำกินของเกษตรกรให้เต็มรูปแบบยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของเกษตรกรโครงการในระยะยาว

“จัดรูปที่ดินเสร็จแล้ว ก็ต้องหาทางเพิ่มพูนเรื่องการทำกินที่อาจเพิ่มความหลากหลาย การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง การผลิตเพื่อสร้างความต้องการให้ตลาด ฯลฯ ซึ่งต้องหารือกับหน่วยงานอื่นด้วย” ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางกล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชาวไร่อ้อยเฮ ครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยครบวงจร 3 ปี

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าครม.เห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่ม“โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร”

โดยอนุมัติวงเงินกู้ปีละ 3,000 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งนี้ ใช้จากวงเงิน 10,000 ล้านบาท ของเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เงินเกี๊ยว)เป็นระยะเวลา 3 ปี  โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชาวไร่อ้อยผู้กู้ชำระในอัตราร้อยละ 2 และให้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่ปีที่กู้ยืม  โดยมีโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันและให้รัฐบาลช่วยรับภาระอัตราดอกเบี้ยส่วนเกิน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยนำไปพัฒนาการปลูกอ้อยให้มีประสิทธิภาพครบวงจร  โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประสานกับกระทรวงการคลังและธ.ก.ส. ในการตั้งงบประมาณการชดเชยดอกเบี้ยตามหลักการต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

KTISทำรายได้ปี 57ทะลุ 2หมื่นลบ.ธุรกิจผลิตไฟฟ้าโตเด่น

กลุ่ม KTIS ปิดงบปี 2557 มีรายได้ 20,348.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,365.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1%  เผยรายได้เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มธุรกิจ โดยรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 133.7% ขายเยื่อกระดาษเพิ่ม 6.9% เอทานอลเพิ่ม 12.4% ทำให้สัดส่วนรายได้ของ KTIS ปี 57 ในส่วนของการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลอยู่ที่ 77.8% เอทานอล 8.6% เยื่อกระดาษ 7.9% ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 3.1% และอื่นๆ 2.6% พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.18 บาท

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ในทุกกลุ่มธุรกิจของ KTIS ยังคงมีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจที่มีการเติบโตของรายได้สูงสุดคือการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 133.7%

ทั้งนี้ จากงบการเงินของบริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวมในปี 2557 เท่ากับ 20,348.8 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีรายได้ 18,485.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,365.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากยอดส่งออกน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 12.4% การขายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น 6.9% โดยสามารถจำแนกสัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้เป็น การผลิตและจำหน่ายน้ำตาล  77.8% การผลิตและจำหน่ายเอทานอล 8.6% การขายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 7.9%  การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 3.1% และอื่นๆ 2.6%

นายประพันธ์กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2557 (1 ม.ค.- 31 ธ.ค.57) ในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท โดยกำหนดวันที่ผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 29 เมษายน 2558

“ปีนี้กลุ่ม KTIS จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ คือโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) มีกำลังการผลิตน้ำเชื่อม 400 ตัน (400,000 กิโลกรัม) ต่อวัน และกำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ 500 ตัน (500,000 กิโลกรัม) ต่อวัน และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลอีก 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวม 100 เมกะวัตต์ รวมถึงการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยชีวภาพอีกด้วย ซึ่งจะทำให้รายได้ของปีนี้สูงกว่าปี 2557” นายประพันธ์กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวถึงแนวโน้มของปริมาณอ้อยที่อยู่ในช่วงเปิดหีบในขณะนี้ด้วยว่า แม้ว่าในฤดูการผลิต 2557/2558 พื้นที่ปลูกอ้อยจำนวนมากได้ประสบกับปัญหาความแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตอ้อยโดยรวมไม่ดีนัก แต่สำหรับกลุ่ม KTIS นั้น มีทีมงานฝ่ายไร่ที่เข้มแข็ง ที่เข้าไปช่วยชาวไร่อ้อยดูแลเรื่องการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวไร่อ้อย KTIS ซึ่งอยู่ในแถบภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ก็ไม่ได้ประสบปัญหาความแห้งแล้ง ดังนั้น จึงเชื่อว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบของ KTIS ในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รมว.คลังลงนามในพิธีสาร 7 ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน

รมว.คลังลงนามในพิธีสาร 7 ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน

วันนี้ (24 ก.พ. 2558) ณ ห้องวายุภักษ์ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในพิธีสาร 7 เรื่องระบบศุลกากรผ่านแดน และภาคผนวกทางเทคนิค : กฎเกณฑ์และพิธีการว่าด้วยศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการเข้าผูกพัน ตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พิธีสาร 7 เป็นพิธีสารหนึ่งของกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับการขนส่ง การค้า และศุลกากรให้ง่ายและมีมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อจัดตั้งระบบการขนส่งผ่านแดนให้มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประชุมปรึกษา และลงมติเห็นชอบในการรับรองความถูกต้องแล้ว เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามร่างพิธีสาร 7 และภาคผนวกทางเทคนิค : กฎเกณฑ์และพิธีการว่าด้วยศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) รวมทั้งอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ในการลงนามร่างพิธีสารดังกล่าว โดยกรอบความตกลงนี้ได้กำหนดรายละเอียดของการขนส่งสินค้าผ่านแดนไว้ในพิธีสารทั้งหมดจำนวน 9 พิธีสาร

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิธีสารดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว จะมีประโยชน์หลายประการ อาทิ ช่วยกระตุ้นและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนและสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้ระบบการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ ประเทศสมาชิกอาเซียนมีระเบียบกฎเกณฑ์และมาตรการเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีระเบียบพิธีการและขั้นตอนในการขนส่งสินค้าผ่านแดนที่เป็นระบบ มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์อย่างเต็มรูปแบบโดยมีการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการขนส่งสินค้าผ่านแดน มีการใช้หลักประกัน  (Guarantee)  ฉบับเดียวโดยให้มีผลบังคับในทุกประเทศและครอบคลุมถึงสินค้าตลอดเส้นทางการขนส่ง รวมทั้งมีการใช้แบบสำแดงหรือเอกสารการสำแดงทางศุลกากรที่เหมือนกันทั่วทั้งภูมิภาคในการขนส่งผ่านแดน (Single Regional Customs Declaration/ Document for Transit) อันจะส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ระบุไว้ใน AEC Blueprint  ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียนในภาพรวมก็จะดียิ่งขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังจากการลงนามในพิธีสาร 7 ระบบศุลกากรผ่านแดน และภาคผนวกทางเทคนิคดังกล่าวแล้ว จะมีการเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 23 วรรค 2 ก่อนให้สัตยาบันต่อไป

นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ประเทศไทยลงนามในพิธีสาร 7 (ทั้งหมดมี 9 พิธีสาร) เป็นประเทศสุดท้าย เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาการเมือง ซึ่งยังเหลือพิธีสาร 2 อีกฉบับที่ยังไม่ได้ลงนาม แต่เป็นส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ครม.เห็นชอบงบเดินหน้า1,756โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

ครม.เห็นชอบงบประมาณ 1,756 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอนุมัติทำอ่างเก็บน้ำแม่สอดรับเขตเศรษฐกิจ วงเงิน 4.3 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณปรับปรุงโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2558

ตามที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ประธานกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเสนอ ในส่วนของงบประมาณปกติ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยขอให้อนุมัติจำนวน 1,756 โครงการ งบประมาณ 7.8 พันล้านบาท

สำหรับเงินที่คงเหลือ 8.4 พันล้านบาท ที่ประชุมให้ไปไปเร่งผูกพันงบประมาณโครงการปีปี 2559-2569 แบ่งเป็น 1.โครงการที่มีระยะเวลาโครงการมากกว่า 1 ปี และสามารถดำเนินการได้โดยวิธีการดำเนินการเอง 77 โครงการ วงเงิน 4.1 พันล้านบาทเป็นงบปี 58จำนวน 1.3 พันล้านบาทและเป็นงบผูกพัน 2.8 พันล้านบาท 2.โครงการที่มีเวลาดำเนินการมากกว่า 1 ปี และดำเนินการด้วยการจ้างเหมาก่อสร้างก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ ระหว่างการดำเดินการทำข้อผูกพันกับบริษัทบริษัท 5 โครงการ วงเงิน 4.3 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบปี 58 จำนวน 594 ล้านบาทและที่เหลือเป็นงบผูกพันปีต่อๆไป และโครงการปลูกป่าโดยกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โครงการปี 2559-2567 วงเงิน 2.8 พันล้านบาท

"คณะกรรมการฯได้เพิ่มเติมงบประมาณสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สอด จ.ตาก เพื่อรองรับการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร รวมถึงเพิ่มโครงการเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่น ขยายศักยภาพอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี บึงระเหว จ.ชัยภูมิ สถานีสูบน้ำพานทอง จ.ชลบุรี ระบบส่งน้ำลำปาว และหนองเลิงเปือย จ.กาฬสิน เป็นต้น"พล.อ.สรรเสริญกล่าว สำหรับโครงการที่เพิ่มเติมเข้ามาในงบปี2558 อาทิ

 1.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน วงเงิน 4.3 พันล้านบาท เป็นงบประมาณปี 58 จำนวน 594 ล้านบาท ปี 59จำนวน 1.3 พันล้านบาท ปี 60 วงเงิน 1.1 พันล้านบาท ปี61 วงเงิน 1 พันล้านบาทและปี 62 วงเงิน 202 ล้านบาทดำเนินการโดยกรมชลประทาน

2. โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก และประตูระบายน้ำคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง คลองบางซื่อ และบริเวณเขื่อนเดิม อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหงไปทางประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้วงเงินรวม 2,426 ล้านบาท ดำเนินการโดยกทม.

3. โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมทางเดินริมคลองแสนแสบ บริเวณประตูระบายน้ำหนองจอกจนถึงสุดเขตกทม. และคลองนครเนื่องเขตจากคลองแสนแสบถึงบริเวณคลองหลวงแพ่งวงเงิน 1,041 ล้านบาทดำเนินการกทม

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ยกเว้นค่าบริการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานเพิ่มแรงจูงใจอุตสาหกรรมสีเขียว

นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กนอ. ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว โดยจะลดหย่อนค่าบริการในการต่ออายุใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงาน เป็นเวลา 3 ปี ให้กับผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาได้ตามเกณฑ์ของการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว

“สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น จะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้มีการดำเนินธุรกิจที่เน้นในเรื่องของความปลอดภัย และการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างมีดุลยภาพ ระหว่างสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม” นางอรรชกา กล่าว

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะมอบให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ตามเกณฑ์การชี้วัดของโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ที่กำหนดโดยกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ผู้ประกอบการจะได้รับการลดหย่อนค่าบริการ ผู้ประกอบการที่พัฒนาได้ตั้งแต่ระดับที่ 3-5 จากทั้งหมดที่มี 5 ระดับ ตามเกณฑ์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดไว้

ทั้งนี้ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว, ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว, ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว จะได้รับการลดหย่อนค่าบริการ 5,000 บาท, ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว จะได้รับการยกเว้นค่าบริการ 10,000 บาท พร้อมมอบรางวัล โล่ประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญ คุณค่า และประโยชน์ที่ได้รับจากรางวัลอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มีการเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการสนับสนุนและส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา กนอ.ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประจำปี 2557-2559 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

โดยในปี 2558 นี้ กนอ.ได้กำหนดเป้าหมายให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวที่ 15% คือจำนวน 465 โรงงาน จากโรงงานที่แจ้งเริ่มประกอบกิจการแล้วจำนวน 3,100 โรงงาน สำหรับโรงงานที่ยังไม่ได้ยื่นใบสมัครการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จะต้องยื่นใบสมัครและได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2558 จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จะเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เกษตรฯเตรียมถกคลังวางเกณฑ์ ลุยปลดหนี้เกษตรกร3แสนราย

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ ที่ผ่าน ครม.เศรษฐกิจ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ อยู่ระหว่างประสานรอหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อวางหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ เบื้องต้นจะมีเกษตรกรเข้าข่ายที่จะได้รับการยกเว้นหนี้จำนวน 3 แสนราย โดยการจำหน่ายหนี้สูญให้กับเกษตรกรที่มีหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล โดยกำหนดเงื่อนไขเกษตรกรที่เข้าข่ายได้รับการปลดหนี้ ซึ่งจะต้องเข้าเกณฑ์การพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งจาก 10 ข้อ ได้แก่ กรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐนั้นไม่ประสบความสำเร็จ / กรณีเกษตรกรประสบภัยพิบัติธรรมชาติ / กรณีเผชิญปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ / หนี้ขาดอายุความ / หนี้ค้างชำระระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป / หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินเพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ / ผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งที่อยู่ / ผู้กู้ยืมเงินชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง /ลูกหนี้มีรายได้น้อย ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และหนี้ที่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท

ส่วนมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งขณะนี้ ได้เร่งรัดโครงการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกร จำนวน 3,051 ตำบล โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่แล้ว คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานกว่าร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือจะใช้เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นำร่องงานชลประทานท้องถิ่น

 ทั้งนี้เป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานให้กรมชลประทานศึกษาแนวทางช่วยเหลือราษฎรพื้นที่ อ.นบพิตำ ที่ประสบปัญหาอุทกภัยและดินถล่ม

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้นำงานชลประทานท้องถิ่นมาใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และภัยอันเกิดจากน้ำ โดยล่าสุดสำนักบริหารโครงการ สำนักงานชลประทานที่ 15 และสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) งานชลประทานท้องถิ่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย อ.นบพิตำ และ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ขึ้น

ทั้งนี้เป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานให้กรมชลประทานศึกษาแนวทางช่วยเหลือราษฎรพื้นที่ อ.นบพิตำ ที่ประสบปัญหาอุทกภัยและดินถล่ม เพื่อให้การแก้ปัญหาประสบผลสำเร็จ และเกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริง ๆ จึงได้นำงานชลประทานท้องถิ่นเข้าไปแก้ไขปัญหา พร้อมขยายพื้นที่ครอบคลุมไปถึง อ.ท่าศาลา ซึ่งประสบปัญหาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการ ในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อ.ทุ่งสง ของ จ.นครศรีธรรมราช โดยมี สำนักบริหารโครงการ สำนักออกแบบวิศวกรรรมและสถาปัตยกรรม สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สำนักงานชลประทานที่ 15 และสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เมืองหลวงเออีซี 2015

ลองนึกภาพดูสิว่า เมื่อมนุษย์เศรษฐกิจไทยรุ่นใหม่สามารถสื่อสารได้ 3 ภาษาหลัก คือ อังกฤษ บาฮาซา และจีนกลาง ชีวิตหรือหน้าตาจะเจริญก้าวหน้าขนาดไหน? ตัวเลขจีดีพี 2 หลักที่เคยทำได้เป็นยังไง? รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีขึ้นไปอยู่ใน 3 อันดับแรกกับสิงคโปร์และบรูไนจะเป็นยังไง? คนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความเป็นเถ้าแก่จะมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนจะดีแค่ไหน? มูลค่าเศรษฐกิจทั้งประเทศขยับเข้าใกล้เคียงอินโดนีเซียจะยิ่งใหญ่อย่างไร? คนไทย และเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนรวมกันกว่า 600 ล้านคน มีเวลาเหลืออีก 3 ปี ซึ่งไม่นานเกินไป ไม่น้อยเกินไป แต่จะพอดีกับความกระตือรือร้น ผนวกกับความพยายามที่ไม่สิ้นสุดของทุกฝ่ายที่จะทำให้ได้คำตอบกับคำถามเหล่านั้น บนแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเมืองไทยสู่ความเป็นเมืองหลวงเศรษฐกิจแห่งอาเซียน หรือ The Capital of AEC

Capital of Logistics ไม่มีใครปฏิเสธว่า ที่ตั้งเมืองไทย คือ เส้นทางขนส่งสินค้า และขนส่งผู้โดยสารทุกรูปแบบจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก หากประกาศเป็นเพียงแค่ประตู หรือ Gateway ก็ดูจะใช้ประโยชน์ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของภูมิศาสตร์ประเทศ แต่เมื่อประกาศเป็นจุดเชื่อมต่อ หรือ Connectivity ก็ทำให้ศักยภาพเมืองไทยเหนือชั้นถึงขั้นโดดเด่นในสายตาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทั่วโลก แต่หากประกาศควบคู่ให้เป็นศูนย์กลางของสายสัมพันธ์ หรือ Connection ยิ่งทำให้ไทยได้รับการมองเป็นพันธมิตรคู่ค้าที่ไม่มีวันตาย ในเมื่อวัฒนธรรมการทำธุรกิจแถบเอเชียและอาเซียนมีจุดเด่นตรงการอาศัยสายสัมพันธ์มากกว่าตัวเลขคืนทุน หรือตัวเลขกำไรขาดทุนสุทธิที่ชาติตะวันตกยึดเป็นตัวชี้วัดตลอดกาล

Capital of Agricultural Industry ไม่มีใครเป็นงงว่า เมืองไทย เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และก็หวังอย่างสุดๆ ว่าจะไปต่อถึงอนาคต หากประกาศเป็นเพียงแค่ส่งออกข้าว ส่งออกน้ำตาล ส่งออกมันสำปะหลัง ส่งออกยางพาราติด 3–5 อันดับแรกของโลก ก็ดูจะใช้ศักยภาพของธรรมชาติและภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษให้มาเพียงครึ่งเดียว แต่หากประกาศให้ควบคู่กับ Capital of Partnership Exchange หรือศูนย์กลางพันธมิตรแห่งการซื้อขายสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมล่วงหน้า ยิ่งทำให้ทั้งไทยในฐานะผู้นำ และเพื่อนบ้านในชาติอาเซียนเป็นคู่ค้ากับทั่วโลกอย่างโดดเด่นและยั่งยืน เพราะหากเกิดการร่วมมือกันทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ผลผลิต และราคาขาย ทั้งไทย พม่า กัมพูชา และเวียดนาม พื้นที่อาเซียนแผ่นดินใหญ่ไม่ต่างอะไรกับ “คันนาข้าวโลก” ในขณะที่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คือ “ป่ายางพาราโลก”

Capital of Tourism Industry ไม่มีใครพูดไม่ออกว่า เมืองไทย คือ สยามเมืองยิ้ม ด้วย 2 มือพนมบนหน้าอกพร้อมกับก้มศีรษะไหว้กลายเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่สุดจะงดงามไปทั่วโลก หากประกาศแต่เพียงต้องสร้างเม็ดเงิน 2 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เข้าไทยภายใน 3 ปีข้างหน้า ก็ดูจะได้รายได้ไม่สมน้ำสมเนื้อกับดินแดนมหัศจรรย์แห่งกลุ่มชาติอาเซียน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีมรดกโลกมากที่สุดแห่งหนึ่งเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ ของโลก ในขณะเดียวกัน ดูจะไม่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่กับ 2 สนามบินนานาชาติในกลุ่มชาติอาเซียน คือ สนามบินสุวรรณภูมิของประเทศไทย และสนามบินชางงีของประเทศสิงคโปร์ ที่ติดอันดับโลกบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่หากประกาศให้ควบคู่กับการเป็น Single AEC Destination บนการเชื่อมต่อของโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และปรับทัศนคติที่มีต่อทุกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในแต่ละประเทศ ให้กลายเป็น “มรดกท่องเที่ยวแห่งกลุ่มชาติอาเซียน” แม้แต่เครื่องบินใหญ่ที่สุดในโลกก็ขนไม่พอ

The Capital of AEC อาจเป็นวิธีคิดใหม่สุดบนบทความนี้ อาจต้องใช้ความเสียสละระดับภูมิภาค อาจต้องฝากคนรุ่นใหม่ในอนาคต อาจต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปีที่เหลือก่อนถึงเส้นตายการเป็นเออีซี แต่ที่แน่ๆ ผมอยากชวนทุกท่านช่วยกันผลักดันให้เขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีเมืองไทยรวมอยู่ด้วย กลายเป็นแม่เหล็กเศรษฐกิจพลังใหม่ในอนาคตสำหรับลูกหลานทุกท่านครับ

บัญชา ชุมชัยเวทย์

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558         

พณ.เปิดงานAECไฮไลท์2015พัฒนาศักยภาพธุรกิจ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดงาน AEC ไฮไลท์ 2015 พัฒนาศักยภาพ ธุรกิจไทย สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด วางรากฐานเศรษฐกิจ

นางสาวรัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ จัดการสัมมนา AEC ไฮไลท์ 2015 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพสมาคมการค้า โดยมีผู้ประกอบการภาคธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะ ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจแบบมืออาชีพเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจ มาถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สมาคมการค้าไทย พร้อมยกระดับคุณภาพมาตรฐานการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดและเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับประเทศ

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558        

ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้“บ. น้ำตาลมิตรผล” ที่ “A+/Stable”

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่ก็คาดว่าความต้องการเอทานอลจะยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากรัฐบาลยังคงมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ระบบการแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ ตลอดจนการกระจายตัวของแหล่งรายได้จะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้แก่ราคาน้ำตาลที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน หรือการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนอ่อนแอลง ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีอยู่ไม่มากในภาวะที่ราคาน้ำตาลยังอยู่ในระดับต่ำ                 

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจซึ่งถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในฤดูการผลิต 2556/2557 บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลจาก 4 ประเทศรวมทั้งสิ้น 4.08 ล้านตัน                  

 บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2556/2557 บริษัทผลิตน้ำตาลได้ 2.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.3% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.17 ล้านตันในปีการผลิต 2556/2557 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.7% ในประเทศจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาวผลิตน้ำตาลได้ 0.04 ล้านตัน และในประเทศออสเตรเลีย (โรงงาน MSF Sugar -- MSF) ผลิตได้ 0.56 ล้านตันในฤดูการผลิต 2556/2557 นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการพัฒนาโรงงานน้ำตาลในประเทศกัมพูชาด้วย แต่ได้ระงับการพัฒนาโครงการมา 2-3 ปีแล้ว ในเดือนตุลาคม 2557 บริษัทได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าวไป โดยคาดว่าจะมีการตัดจ่ายเงินลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรวมมูลค่า 200-300 ล้านบาท                 

ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรจากการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูงที่สุดของบริษัท ในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวม 84,331 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วน 81% ของรายได้รวม และรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในไทยมีสัดส่วน 41% ในขณะที่รายได้จากประเทศจีนมีสัดส่วน 33% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังมีจำนวนไม่มาก                  

นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตวัสดุทดแทนไม้ และธุรกิจผลิตกระดาษ บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลและไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนกันยายน 2557 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทมีกำลังการผลิตที่ 960,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 442.8 เมกะวัตต์ด้วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้รวมของบริษัท และบริษัทได้วางเป้าหมายว่าภายในปี 2563 บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวน 200 เมกะวัตต์นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากชานอ้อยจำนวน 100 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน

                   ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2557 เนื่องจากยังคงมีอุปทานน้ำตาลส่วนเกินทั่วโลกต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4 ตามรายงานของ The United States Department of Agriculture หรือ USDA แจ้งว่าราคาขายน้ำตาลทรายดิบปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 16.34 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2557 คิดเป็นอัตราการลดลง 6.4% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของปี 2556 แม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดลง แต่รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยรายได้เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 71,489 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณขายน้ำตาลจากการดำเนินงานในประเทศไทยและออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 25.2% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ารวมกันเพิ่มขึ้น 31.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยเหล่านี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนที่ลดลง 21.7% อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจน้ำตาลลดลงตามราคาน้ำตาลที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนอ้อยที่สูงจากนโยบายการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลจีนเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ด้วย อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงลดลงเป็น 15.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จาก 17.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ทรงตัวอยู่ที่ 13,133 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 13,177 ล้านบาท

 ทั้งนี้ เป็นผลจากกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่เติบโตซึ่งช่วยบรรเทาการลดลงของกำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจน้ำตาล เงินปันผลที่ได้รับเพิ่มขึ้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ EBITDA ทรงตัว อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงอยู่ในระดับน่าพอใจแม้จะอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลชะลอตัว โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงมาอยู่ในระดับ 7.0 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 8.8-9.2 เท่าในปี 2553 และ 2555 ซึ่งเป็นปีที่อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ในภาวะปกติ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ในระดับเพียงพอที่ 20.5% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 51.7% ณ เดือนกันยายน 2557 จากระดับ 48.7% ณ เดือนกันยายน 2556 เนื่องจากบริษัทออกหุ้นกู้รวมจำนวน 6,100 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2557 บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนปีละประมาณ 6,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2558-2559 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554-2557 ที่ผ่านมาที่บริษัทมีการซื้อสินทรัพย์และการลงทุนรวมจำนวน 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงชะลอตัวในช่วงอุตสาหกรรมน้ำตาลประสบภาวะตกต่ำตามวัฏจักร แต่คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้จากภาระการลงทุนระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า                  

สำหรับฤดูการผลิต 2557/2558 คาดว่าผลผลิตอ้อยในประเทศไทยจะลดลงอยู่ที่ระดับ 95-100 ล้านตัน จาก 103.7 ล้านตันในปี 2556/2557 โดยผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยจะปรับตัวลดลงเช่นกันเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ราคาน้ำตาลจะยังคงอ่อนแอในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเนื่องจากยังมีปริมาณน้ำตาลคงเหลือจำนวนมากทั่วโลก USDA คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิต 2557/2558 ทั่วโลกจะผลิตน้ำตาลรวม 172.5 ล้านตันซึ่งใกล้เคียงกับฤดูการผลิต 2556/2557 ที่ 175.0 ล้านตัน โดยคาดว่าผลผลิตน้ำตาลจะลดลงในประเทศบราซิล จีน และไทย ในขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลจะเติบโต 2.2% เป็น 171.0 ล้านตันจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนและอินเดีย ทั้งนี้ USDA คาดว่าปริมาณน้ำตาลคงเหลือจะลดลงเล็กน้อย แต่นับว่าเป็นการลดลงปีแรกหลังจากปริมาณน้ำตาลคงเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลคงเหลือที่มีอยู่จำนวน 43.6 ล้านตันสำหรับฤดูการผลิต 2556/2557 ตามประมาณการของ USDA จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาลในอนาคตอันใกล้นี้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บอร์ด กนอ. ไฟเขียวเว้นค่าต่ออายุโรงงาน 3 ปี หนุนอุตฯสีเขียว

บอร์ด กนอ.เห็นชอบ ลดหย่อนค่าบริการต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน เป็นเวลา 3 ปี สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตฯสีเขียว กำหนดยื่นใบสมัครภายใน 15 ส.ค.นี้…

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด กนอ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กนอ. มีมติเห็นชอบในการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว โดยจะลดหย่อนค่าบริการในการต่ออายุใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงาน เป็นเวลา 3 ปี ให้กับผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาได้ตามเกณฑ์ของการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งจะเพิ่มแรงจูงใจและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้ดำเนินธุรกิจที่เน้นความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างมีดุลยภาพระหว่าง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ตามเกณฑ์การชี้วัดของโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ที่กำหนดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะได้รับการลดหย่อนค่าบริการ ผู้ประกอบการที่พัฒนาได้ ตั้งแต่ระดับที่ 3-5 จากทั้งหมดที่มี 5 ระดับตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนี้ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว จะได้รับการลดหย่อนค่าบริการ 5,000 บาท ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว จะได้รับการยกเว้นค่าบริการ 10,000 บาท พร้อมมอบรางวัล โล่ประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญ คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากรางวัลอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กนอ.ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประจำปี 2557-2559 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ ทั่วประเทศ โดยในปี 2558 กนอ.ได้กำหนดเป้าหมายให้โรงงานในนิคมฯ ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวที่ร้อยละ 15 คือ 465 จากโรงงานที่แจ้งเริ่มประกอบกิจการแล้ว 3,100 โรงงาน และสำหรับโรงงานที่ยังไม่ได้ยื่นใบสมัครการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จะต้องยื่นใบสมัครและได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ภายในวันที่ 15 ส.ค. 2558 จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จะเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นักวิชาการแนะเร่งผลักดันเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ 4G ก่อนโดนเพื่อนบ้านแซง

นักวิชาการชี้เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งจะเป็นโอกาสดีให้ไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่เออีซี ช่วงปลายปีแข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมแนะรัฐบาลเร่งผลักดันไทยเข้าสู่ระบบ 4G และเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลโดยเร็ว

กรมพัฒนาธุรกิจจัดสัมมนาหัวข้อ "AEC Highlight 2015" ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพสมาคมการค้า เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สมาคมการค้าไทย พร้อมยกระดับคุณภาพมาตรฐานการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดและเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับประเทศ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยค่อนข้างได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่นิยม แต่ยังมีจุดอ่อนเน้นผลิตสินค้าพื้นฐานโดยไม่มีนวัตกรรม ทำให้ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยจากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการทั่วโลกกว่า 1,300 ราย จาก 77 ประเทศ พบว่า ไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 4 ของโลก โดยเฉพาะนโยบายการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน และเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐจะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงควรใช้จุดแข็งดังกล่าวเร่งผลักดันการประมูล 4G เพื่อให้ไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังควรร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและสนับสนุนการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อให้ไทยได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) รวมทั้งยังควรดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ซึ่งต้องการใช้ไทยเข้าสู่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อให้ประเทศไทยมีแต้มต่อในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในช่วงปลายปี ทั้งนี้ หากไทยไม่เร่งปรับตัว บริษัทวิจัยชั้นนำของโลกประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกมาเลเซียและฟิลิปปินส์ แซงหน้าภายในปี 2050 หรือในอีก 35 ปีข้างหน้า

ส่วนที่ภาคเอกชนเสนอให้มีการปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากเดิมเก็บอัตราร้อยละ 20 ให้ปรับเป็นขั้นบันไดร้อยละ 5-15 นั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การจ่ายภาษีนิติบุคคลจะช่วยให้ภาคธุรกิจบริหารต้นทุนได้ดีกว่าการเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม หรือแวต ซึ่งโครงการนี้น่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี เข้าสู่ระบบภาษีถูกต้องขึ้นจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 60-80 ภายในระยะเวลา 3-5 ปี

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พื้นที่สีเขียวขวางการตั้งรง.ใหม่ ‘ก.อุต’เร่งหารือกรมโยธาฯ

แก้ไขผังเมือง‘มาบตาพุด’

นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการหารือกับ กรมโยธาธิการ และผังเมือง และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ในการปรับปรุงผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลัก และชุมชนมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 ประชุมคณะกรรมการผังเมืองพิจารณาร่างผังเมืองรวม เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งนี้หากกำหนดพื้นที่ของภาคอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย เขตพาณิชย์กรรม และพื้นที่เกษตรกรรมไม่สมดุล ก็จะกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้

“ที่ผ่านมามีผังเมืองชุมชนในหลายจังหวัดได้มีการปรับปรุงอย่างไม่เหมาะสม พื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมถูกลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเดิมที่เข้าไปตั้งโรงงานตั้งแต่ก่อนออกประกาศผังเมือง ทำให้ไม่สามารถตั้งหรือขยายโรงงานได้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ยาก และกระทบต่อการแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่รวมทั้งในบางพื้นที่กว่าจะออกผังเมืองมาได้ก็ใช้เวลา 5-6 ปี ทำให้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่เปลี่ยนไป ไม่สะท้อนกับความเป็นจริง ดังนั้นจึงมองว่าในหลายพื้นที่ควรจะปรับปรุงผังเมืองรวมใหม่ ให้เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน”นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ได้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อการเกษตรกรรมมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อโรงานอุตสาหกรรมทั้ง 64 ประเภท จำนวนหลายพันโรงงานที่ไม่สามารถตั้ง หรือขยายโรงงานได้ ซึ่งรวมไปถึงโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร อาหารแปรรูปยาง และโรงงานอื่นๆอีกมาก ที่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบต่างๆในพื้นที่ ไม่สามารถตั้ง หรือขยายโรงงานได้ ทำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการโรงงานได้รับความเดือดร้อน สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และมีต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมบริการโลจิสติกส์ เช่น คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ ก็ไม่สามารถตั้งได้ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องอยู่ตามแนวถนน หรือทางรถไฟ ดังนั้นจึงควรแก้ไขผังเมืองให้สอดรับต่อศักยภาพของพื้นที่ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุล

“กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชน ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก เพราะในขั้นตอนการทำผังเมืองมีทั้งหมด 18 ขั้นตอน แต่ขั้นตอนที่สามารถแก้ไขในรายละเอียดผังเมืองได้จะอยู่ในขั้นตอนที่ 4-5 ซึ่งเป็นการพิจารณาในระดับชุมชน ที่ภาคประชาชนส่วนใหญ่มองอุตสาหกรรมในด้านลบ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม และเอกชนก็คัดค้านได้ยาก ดังนั้นเทศบาล รวมไปถึงหน่วยงานระดับจังหวัดที่เป็นคณะกรรมการผังเมืองก็มักจะจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องไปตามความต้องการของชุมชน” นายสมชาย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดกรอบทิศทางการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำผังเมืองชุมชนกำหนดรายละเอียดการใช้พื้นที่อย่างชัดเจน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด เหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีความร่วมมือกันตั้งแต่เริ่มต้น ก็คาดว่าในการจัดทำผังเมืองรวมชุมชนในครั้งต่อไป จะเกิดความสมดุล และใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพื้นที่ได้มากที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เล็งเปิดอาเซียนเลน รองรับเคลื่อนย้ายแรงงาน

        เล็งเปิด “อาเซียนเลน” รองรับเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานฝีมือ 8 อาชีพ ทำเอ็มโอยูจัดกลุ่มไร้ฝีมือให้เข้าไทยแบบถูกกฎหมาย 3

                นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการดูแลแรงงานต่างชาติเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่าปัจจุบัน กกจ.มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2518 ที่ใช้ในการกำกับดูแล ซึ่งแรงงานฝีมือต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในไทยต้องขอใบอนุญาตทำงานกับ กกจ. เมื่อยื่นเอกสารขอใบอนุญาตทำงานแล้วทาง กกจ.ก็จะเร่งตรวจสอบและออกใบอนุญาตทำงานภายใน 1 วัน แต่หากเอกสารไม่ครบหรือต้องมีการตรวจสอบสถานประกอบการว่ามีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติหรือไม่ ก็จะตรวจสอบและออกใบอนุญาตทำงานภายใน 5 วัน ซึ่งทั้ง 8 สาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ นักบัญชีและท่องเที่ยวและบริการที่จะมีการเปิดเสรีให้แรงงานฝีมือเข้าทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนก็จะสามารถใช้กฎหมายรองรับได้

               อธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า ในอนาคตหากประเมินแล้วว่าจะมีแรงงานจากประเทศอาเซียนเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก กกจ.ก็จะพิจารณาเปิดช่องทางพิเศษ (อาเซียนเลน) เพื่อออกใบอนุญาตทำงานให้ประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเฉพาะ นอกจากนี้จะพิจารณายกเลิกการแจ้งขออนุญาตของแรงงานฝีมือที่เข้ามาประชุมสัมมนาในประเทศไทยในระยะสั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับประเทศสมาชิก เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น ภายใต้นโยบายของรัฐบาล ส่วนแรงงานไร้ฝีมือจะผลักดันให้เกิดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) เพื่อให้แรงงานเข้ามาอย่างถูกกฎหมายและได้รับความคุ้มครอง

จาก http://manager.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

"อาสาจัดรูปที่ดิน"พี่เลี้ยงเกษตรกร

พิษณุโลก - นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เผยถึงแนวทางการขยายศักยภาพของสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดว่า หลังจากสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่โครงการมาเป็นอาสาจัดรูปที่ดินแล้ว เตรียมความพร้อมให้แก่อาสาจัดรูปที่ดิน โดยการจัดอบรมเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงานจัดรูปที่ดินทั้งกระบวนการ เพื่อให้อาสาจัดรูปที่ดินเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ช่วยสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดในแต่ละพื้นที่โครงการ

"เริ่มโครงการอบรมอาสาจัดรูปที่ดินทั่วประเทศ 26 จังหวัด เมื่อเดือนก.พ.ผลตอบรับเป็นอย่างดี ช่วยให้อาสาจัดรูปที่ดินมีความรู้พอที่จะเป็นพี่เลี้ยงแนะนำเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง บางเรื่องเกษตรกรไม่ต้องเดินทางไปถึงสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัด หรือกรณีต้องไปติดต่อเพื่อทำธุรกรรมด้านกฎหมาย แนะนำเตรียมเอกสารได้ถูกต้อง ลดภาระให้เกษตรกรได้ สร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของงานจัดรูปที่ดิน ทำให้เกิดการใช้น้ำและที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หวังว่า ‘ปุ๋ยโปแตช’ เกิดได้แน่

โอฬาร สุขเกษม วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชให้กับ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนมากถึง 40,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปุ๋ยโปแตช (K) ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

    นี่นับว่าเป็นข่าวดีอีกข่าวที่ความพยายามจะทำเหมืองแร่โปแตชในไทยบรรลุไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นบริษัทแรกที่ได้รับใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช และดูจะเป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่ต่อต้านโครงการเหมืองแร่โปแตชมาตลอด

    ในกลุ่มของอาเซียนเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว เคยตกลงกันว่าใครจะทำอะไรดีในนามของสมาชิกอาเซียน หากใครรับไปดำเนินการ คนอื่นก็จะไม่ไปแข่งขันในประเภทเดียวกันชนิดเดียวกันด้วย เป็นต้นว่ามาเลเซียเลือกที่จะผลิตรถยนต์ในนามประเทศมาเลเซีย ส่วนไทยฐานะที่มองเกษตรกรรมน่าจะเหมาะ จึงเลือกที่จะทำโครงการปุ๋ย ซึ่งนั่นทำให้เกิดโครงการปุ๋ยแห่งชาติขึ้นมา ด้วยความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2525 โดยจัดตั้ง บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด ขึ้น แต่ช่วงนั้นยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ จนกระทั่งปี 2535 โครงการปุ๋ยแห่งชาติได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกรอบ

    ปัจจุบันโครงการนี้ยังดำเนินการอยู่ แต่ดูเหมือนว่าต้องเบนเข็มและทิศทางในการประกอบธุรกิจ เพราะ "ฝันที่แท้จริง" ในยุคนั้นก็คือ ต้องการจะพัฒนาแหล่งแร่ที่อำเภอบำเหน็จนณรงค์ จังหวัดชัยภูมิมาพัฒนา มากกว่าที่จะทำธุรกิจที่ไม่แตกต่างจากบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจผลิตและค้าปุ๋ยเคมี

    ในอดีตนั้น ไม่ได้มีชาวบ้านที่ไหนออกมาคัดค้านโครงการ การสำรวจแหล่งแร่โปแตชยังดำเนินต่อไป บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติฯ ก็ยังดำเนินต่อไป แต่อุปสรรคใหญ่อยู่ที่ความสำเร็จในการทำธุรกิจต่ำมาก มักจะขาดทุน ทำให้นักธุรกิจใหญ่ๆ ในขณะนั้นพูดกันว่า "หากินกับชาวไร่ชาวนาเป็นเรื่องยาก สู้เอาเวลาไปทำมาหากินกับคนมีอันจะกินดีกว่า" และดูทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น

    วันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติออกใบประทานบัตรให้กับบริษัทเอกชนเป็นแห่งแรก นับว่า "อาจหาญ" พอดู เพราะสมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกัน ปัจจุบันทั้งในเมืองและชนบทมีเจริญมากขึ้น เจริญไปทั่วทุกหย่อมหญ้า  ผู้คนก็มีความรู้ ความคิดความอ่านมากขึ้น เครือข่ายก็กว้างขวางมากขึ้น ทำให้มีการคัดค้านการทำเหมืองแร่(ทุกชนิด)อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มเอ็นจีโอ ที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ

    เหมืองอยู่ที่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ประทานบัตรเลขที่ 31708/16118 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มีอายุประทานบัตร 25 ปี จะผลิตโปแตชด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน (Rooms and Pillars) ซึ่งถือเป็นต้นแบบการออกแบบการทำเหมืองแร่โปแตชในอนาคต และแต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน (Hot Crystallization) ตลอดระยะเวลา 25 ปี จะผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 17.33 ล้านตัน ส่วนโรงงานปุ๋ยโปแตชจะเกิดขึ้นในปี 2562

    โครงการเหมืองแร่โปแตช ของอาเซียน เป็นโครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี 2532 เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และไทย ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 20

    หวังว่าคราวนี้โครงการอาเซียนโดยไทยเป็นแกนนำ จะสามารถเดินหน้าได้เสียที หลังจากเวลาผ่านไปนานกว่า 30 ปีมาแล้ว ปฏิบัติการเริ่มในช่วงรัฐบาลจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี่ล่ะ ครับ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558

ชงของบฯพัฒนาอุตสาหกรรม 1.02 หมื่นล้าน

อุตสาหกรรมชงขอสำนักงบ ฯ ปี 59 วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท เน้นอุ้มเอสเอ็มอีผงาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มากถึง 3,655 ล้านบาท

นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้ประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณสรุปจำนวนงบประมาณที่ต้องใช้ในปีงบประมาณ 2559โดยกระทรวงอุตฯ ได้ของบประมาณเพื่อการใช้พัฒนาโครงการในภาคอุตสาหกรรมรวม10,200 ล้านบาทโดยเน้นการยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้แข็งแกร่ง เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขอใช้งบประมาณสูงสุดประมาณ 3,655 ล้านบาท คิดเป็น 64.45% ของจำนวนเงินทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศการยกระดับเอสเอ็มอี เป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นการทำงานเชิงรุกให้เกิดเป็นรูปธรรมมมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมใช้วงเงินประมาณ 784 ล้านบาทหรือคิดเป็นมีสัดส่วน 13.83% , โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นเงินประมาณ 674ล้านบาท คิดเป็น 11.88% ,การเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซีและการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเงินประมาณ527 ล้านบาท หรือ 9.3% , โครงการการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เป็นเงินประมาณ21 ล้านบาท คิดเป็น 0.36%, โครงการการจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะแร่และส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปในกระทรวง เช่น เงินเดือนข้าราราชการ ค่าสาธารณูปโภคประมาณ 5,670 ล้านบาท

“งบประมาณที่ขอไปในปีงบ 2559 มากกว่าปี 2558 เล็กน้อยแต่เมื่อเข้าไปในกระบวนการต่างๆ แล้วสำนักงบประมาณจะพิจารณาอีกครั้งซึ่งอาจจะตัดหรือเพิ่มยังไงก็แล้วแต่ทางนั้นซึ่งปีก่อนก็ขอไปในสัดส่วนใกล้เคียงกับปีนี้ แต่ก็ถูกตัดออกส่วนหนึ่งซึ่งกระทรวงอุตฯ ก็ได้มา 5,8000 ล้าน ส่วนการใช้งบประมาณในปี 2558 ขณะนี้สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 30% ในไตรมาสแรก ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 40% เนื่องจากที่ผ่านมายังติดปัญหาการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์(อีอ๊อกชั่น) คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่2จะเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะการดำเนินงานมีความคล่องตัวมากขึ้น”

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558

กรมชลฯ เดินหน้าจัดรูปที่ดินหวังให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง

ปัจจุบันการจัดรูปที่ดินถือเป็นการพัฒนาระบบชลประทานในระดับไร่นา เพื่อส่งน้ำเข้าถึงแปลงอย่างทั่วถึง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่ลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รองรับเชื่อมโยงจากระบบชลประทานใหญ่ไหลสู่คูน้ำ คูระบายน้ำ ส่งน้ำถึงแปลงไร่นาอย่างทั่วถึง ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปีในทุกแปลงอย่างทั่วถึง

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประมาน เปิดเผยว่า รัฐได้ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบคูส่งน้ำ การระบายน้ำ ซึ่งได้เชื่อมโยงกับภารกิจหน้าที่ของกรมชลประทานในการจัดรูปที่ดิน โดยการจัดทำคูส่งน้ำจากแหล่งน้ำคลองชลประทานเพื่อส่งไปยังเกษตรกรที่มีพื้นที่ห่างไกล และสามารถนำน้ำไปใช้ในการเกษตรในไร่นาได้อย่างทั่วถึง โดยพัฒนาในพื้นที่ชลประทานเสร็จแล้วจำนวน 1.9 ล้านไร่ จากพื้นที่ชลประทาน 29.9 ล้านไร่ โดยพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาจะทำ 2 แบบ คืองานคันและคูน้ำ และจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างในพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมางานจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำไปแล้ว 1.96 ล้านไร่ ส่วนงานคันและคูน้ำทำไปแล้ว 10.77 ล้านไร่ และยังคงเหลือพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะพัฒนาต่อเป็นงานจัดรูปที่ดินประมาณ 1.5 ล้านไร่ สำหรับงานคันและคูน้ำอีกประมาณ 5 ล้านไร่

ในหลากหลายพื้นที่มีระดับแหล่งน้ำที่แตกต่างกัน บางแห่งมีพื้นที่อยู่สูงกว่าระดับแหล่งน้ำต้นทุน ทำให้ไม่สามารถอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกในการส่งน้ำได้ จึงจ้องอาศัยการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาระต้นทุนส่วนหนึ่งของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว เปรียบเทียบกับพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำต้นทุนที่อาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกส่งน้ำได้ ไม่ต้องพึ่งเครื่องสูบน้ำและไม่ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้า

พื้นที่ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นพื้นที่นำร่องจัดรูปที่ดินของภาคอีสาน ซึ่งมีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ คือห้วยสำราญไหลผ่าน ปริมาณน้ำต้นทุนมีมากพอสมควรและเพียงพอสำหรับฤดูแล้ง สำหรับปัญหาซ้ำซากของเกษตรกรในพื้นที่นี้คือน้ำหลากช่วงฤดูฝน ทั้งจากแม่น้ำมูลโดยตรงกับห้วยสำราญซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ส่งผลกระทบทำให้น้ำไหลผ่านพื้นที่ทำกิน

“ในพื้นที่ตำบลโพธิ์ กรมชลประทานได้สนับสนุนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร เมื่อนำน้ำเข้าสู่พื้นที่แล้วแต่การกระจายน้ำยังไม่มี จึงได้มาสนับสนุนจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยทำคูส่งน้ำระดับเล็ก ทางลำเลียง ทางคลองระบาย จัดรูปแปลงและปรับระดับดินในพื้นที่การเกษตร เพื่อให้สามารถสูบน้ำผ่านคูส่งน้ำไหลเลาะไปยังแปลงของเกษตรกรทุกแปลง ขณะเดียวกันยังทำให้ประสิทธิภาพผลผลิตของเกษตรกรดีขึ้น”

ด้านนายณัฐกิตติ์ กองรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำก่อนการจัดรูปที่ดินแม้จะไม่ทั่วถึงดีนัก แต่ก็ยังทำให้เกษตรกรทำกินได้ และมีรายได้จากการทำนาในฤดูแล้ง ส่วนฤดูฝนจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลทำให้ท่วมพื้นที่แทบทุกปี จากการจัดรูปที่ดินทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านน้ำอย่างชัดเจน โดยห้วยสำราญจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญสำหรับพื้นที่ตรงนี้ ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำเพาะปลูกในหน้าแล้ง นอกจากนี้เกษตรกรได้มีการวางแผนปลูกข้าวนาปรัง 2 ครั้งต่อปีอีกด้วย

จากการจัดรูปที่ดินของกรมชลประทาน ทำให้เห็นได้ว่าเกษตรกรมีแหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึง มีผลผลิตเพิ่ม รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558

ส่งออกมึนออร์เดอร์ไปอียูขาดทุนลุ้นรัฐลดดบ.หนุนค่าบาท 

          ผู้ส่งออกไทยมึนออร์เดอร์ไปอียูทั้งที่ซื้อขายเป็นสกุลเงินยูโรและดอลลาร์ชะงักเหตุถูกต่อรองราคาหนักไม่สามารถรับได้หลังค่าเงินยูโรอ่อนหนักเทียบค่าเงินบาทยังแข็งนำประเทศเพื่อนบ้าน หวัง”กนง.”ลดดอกเบี้ย 0.50% กดค่าบาทดูแลศก.

                นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตและส่งออกที่พึ่งพิงตลาดสหภาพยุโรปหรืออียูหลายรายเริ่มประสบภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่สกุลยูโรที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องสำหรับคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) เดิมที่ตกลงซื้อขายล่วงหน้าไปแล้ว ส่วนออร์เดอร์ใหม่ขณะนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถรับได้เพราะถูกต่อรองราคา ภาวะค่าเงินดังกล่าวหากพิจารณาค่าเงินบาทของไทยพบว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะคู่แข่งทางการค้า ดังนั้นภาคเอกชนจึงเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) น่าจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.50%จาก 2 % เพื่อปรับค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงมาในการดูแลขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออก

               “ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งมาก ดอกเบี้ยเองก็เฉลี่ยสูงกว่า ขณะที่เงินยูโรที่อ่อนค่าลงล่าสุดเฉลี่ย 18% เมื่อคิดกลับเป็นเงินไทยคือขาดทุนราว 4 บาทต่อยูโร ใครที่พึ่งตลาดอียู 100% ขาดทุนแน่นอน ดังนั้นถ้าลดดอกเบี้ยลง0.50% จะทำให้ค่าเงินไทยอ่อนค่าลงมาเมื่อเทียบกับสกุลยูโรเพียงพอที่จะไม่ทำให้เอกชนรับภาระขาดทุนหรือรับออร์เดอร์ใหม่ได้ ซึ่งหากดูเงินเฟ้อไทยเองก็ได้สูงหลักการถ้าเงินเฟ้อต่ำก็ควรลดดอกเบี้ยลง”นายวัลลภกล่าว

               ทั้งนี้ไทยส่งออกไปยังตลาดอียูนั้นคิดเป็นสัดส่วน 9% ของตลาดส่งออกรวมโดยการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวพบว่าครึ่งหนึ่งซื้อขายโดยอิงสกุลเงินยูโร และอีกครึ่งหนึ่งอิงสกุลเงินเหรียญสหรัฐ โดยออร์เดอร์เก่าที่อิงสกุลยูโรนั้นกำลังประสบภาวะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ออร์เดอร์ใหม่ทั้งสกุลเงินอียูและดออล์ลาร์ล้วนถูกต่อรองราคาลดลงเฉลี่ย 10-15% โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์ที่เดิมมองว่าอาจจะไม่กระทบแต่ล่าสุดเริ่มถูกต่อรองราคาแล้วเนื่องจากผู้รับซื้อก็ต้องไปคิดเป็นเงินอียูกลับซึ่งอ่อนค่าเงินเช่นกัน

               นายวัลลภ กล่าวว่า หากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อต่อเนื่องและค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างมากเมื่อเทียบยูโรในระยะสั้นจะทำให้การรับออร์เดอร์ใหม่หยุดชะงักลงทั้งหมดก็คาดการณ์ว่าตลาดอียูที่ไทยส่งออกคิดเป็น 9% ของการส่งออกทั้งหมดจะมีแนวโน้มลดลงและจะกระทบต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมของไทยที่อาจไม่ขยายตัวไม่ถึง 1.5% 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558

กรมโรงงานฯ รุกสร้างมูลค่าเพิ่ม ปั้น 4 จังหวัดสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดตัว "โครงเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม 4 แห่ง ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายใต้แนวทางการพัฒนาในด้านต่างๆ คือ กายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ โดยเน้นการลดและป้องกันมลพิษ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558

ผวาแล้งเผาพื้นที่เกษตร16ล้านไร่ ฉุดรายได้วูบ-กำลังซื้อทรุดหนัก

  TMB แนะจับตาวิกฤติภัยแล้งปีแพะ ชี้หากรุนแรงเสียหาย 5.8 พันล้านบาท ซ้ำเติมกำลังซื้อเกษตรกรทรุด รายได้หาย 1 พันบาทต่อครัวเรือน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคเกษตรจากปัญหาภัยแล้ง โดยระบุว่า แม้ภัยแล้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี แต่มีประเด็นน่าห่วงมากในปีนี้ ประการแรกคือ เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่กับปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำสุดในรอบ 5 ปี และประการที่ 2 หากภัยแล้งมีความรุนแรง จะกลายเป็นสิ่งซ้ำเติม ฉุดกำลังซื้อเกษตรกรให้ทรุดหนักลงไปอีกตามผลผลิตที่ลดลงมาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลของทางการ ณ วันที่ 18 ก.พ.58 ระบุว่า ระดับน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางอยู่ที่ 60% และ 57% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำที่กักเก็บในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 อัตรา 5% และ 11% ตามลำดับ อีกทั้งระดับน้ำกักเก็บในปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุด สร้างความเดือดร้อนครอบคลุมพื้นที่ 71 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 7.6 พันล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการวิเคราะห์เชิงพื้นที่และประเมินว่า พื้นที่เกษตรใน 58 จังหวัด จำนวน 16.17 ล้านไร่ อาจประสบความแห้งแล้งในปี 2558 แบ่งออกเป็นภาคอีสาน 12.61 ล้านไร่ ภาคเหนือ 1.50 ล้านไร่ ภาคกลาง 1.19 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 0.81 ล้านไร่ และภาคใต้ 0.06 ล้านไร่ ซึ่งจะมี 23 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า หากภัยแล้งในปี 2558 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่พื้นที่การเกษตรจำนวน 16.17 ล้านไร่ อาจก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 5.8 พันล้านบาท หรือ 0.4% ของจีดีพีภาคการเกษตร นั่นหมายถึง เกษตรกรทั่วประเทศจะมีรายได้ลดลงเกือบ 1 พันบาทต่อครัวเรือน หรือมีรายได้ลดลงเฉลี่ยรายละ 251 บาท

    ดังนั้น การเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือ/กระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติมของเกษตรกร เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ.

จาก  http://www.thaipost.net วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558

คาดโลจิสติกส์ไทยยังโต ชี้คู่แข่งเยอะหลังเปิดเออีซี

แมเนจเมนท์ จำกัด ประเมินว่า ภาพรวมโลจิสติกส์ไทยจะยังคงโตต่อเนื่องปีนี้ที่ 10% จากปีที่ผ่านมาโต 8% ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.5-4.5% ปี 2557 เศรษฐกิจไทยโตต่ำเพียง 0.7% นับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ

สำหรับต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยมีแนวโน้มลดลง จากที่อยู่ในระดับ 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2550

ลดลงมาอยู่ระดับ 14.3% ปี 2555 ขณะที่มูลค่าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ภายในประเทศสูงขึ้นอย่างเนื่อง มูลค่าเพิ่มจากประมาณ 270,000 ล้านบาท ในปี 2550 เป็น 310,000 ล้านบาทในปี 2554 และจะเพิ่มเป็น 350,000 ล้านบาทในปี 2558 ส่วนการปรับราคาเอ็นจีวี ของรัฐบาลนั้น บริษัทยอมรับว่ากระทบเช่นกัน เพราะรถบรรทุกมากถึง 30%

ใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง

ส่วนสถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ปัจจุบันยังคงมีการแข่งขันสูงและตลาดต่างจังหวัดมีการขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการต้องการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้มีความต้องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยและต่างชาติเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยอย่างเอสซีจี โลจิสติกส์ มีแผนที่จะขยายธุรกิจออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต่างชาติมีแนวโน้มที่จะขยายธุรกิจเข้ามาในไทยเช่นกัน

นายสยามรัฐ กล่าวว่า หากเทียบต้นทุนโลจิสติกส์ในกลุ่มอาเซียนแล้ว ประเทศสิงคโปร์มีต้นทุนภาพรวมต่ำที่สุด รองลงมา คือ ประเทศมาเลเซีย ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 3 สำหรับแผนธุรกิจเอสซีจี โลจิสติกส์ ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 17,300 ล้านบาท เติบโต 12% จากปีที่ผ่านมาที่มียอดขาย 15,500 ล้านบาท และมีรายได้สูงสุดในไทย โดยบริษัทให้ความสำคัญมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับลูกค้า จากบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของธุรกิจทั้งห่วงโซ่อุปทาน พร้อมกับขยายเครือข่ายกระจายสินค้าเพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและขยายไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเน้นการพัฒนาเครือข่ายการขนส่งข้ามประเทศ 3 ด่าน คือ อรัญประเทศ แม่สอด และมุกดาหาร

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชงแผนกำจัดขยะอุตฯ ครม. สศอ.แรงงานไทยขาดแคลนสังคมผู้สูงอายุมาแล้ว

กรอ.ชงแผนจำกัดขยะอุตสาหกรรม ระยะ 5 ปี งบประมาณ 429 ล้านบาท คาดเข้า ครม.ต้นมีนาคมนี้ ช่วยกำจัดขยะกว่า 90% ด้าน สศอ.คาด 3 ปีข้างหน้า 5 อุตสาหกรรมหลักต้องการแรงงานเข้าสู่ระบบรวม 3.268 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรอ.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์กำจัดขยะอุตสาหกรรม มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบและรับทราบภายในต้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งหาก ครม.อนุมัติก็จะเริ่มดำเนินงานได้ทันที โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประกอบด้วย การควบคุมกำกับดูแลการสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการสร้างเครือข่ายสนับสนุน และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้งบประมาณ 429 ล้านบาท

โดยตั้งเป้านำขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย และขยะอุตสาหกรรมทั่วไปเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 แบ่งเป็นการกำจัดขยะอุตสาหกรรมอันตรายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3.35 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่มีขยะอุตสาหกรรม มีพิษเข้าสู่ระบบประมาณ 1.1 ล้านตัน/ปี หรือเพิ่มปีละ 4.7 แสนตัน และกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั่วไปให้ได้ 50 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีเข้าระบบประมาณ 12 ล้านตัน หรือเพิ่มปีละ 8 ล้านตัน

สำหรับแผนการตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร ได้กำหนดพื้นที่ที่จะตั้งนิคมฯ คร่าวๆ 6 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคละ 1 แห่ง ส่วนพื้นที่ใดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น ก็จะมีมากกว่า 1 แห่ง แต่จะอยู่ในพื้นที่ใดบ้างนั้น จะต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจนก่อน ซึ่งหากสามารถตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมได้ตามเป้าหมาย ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว ลดการนำเข้าวัตถุดิบอุตสาหกรรม เนื่องจากจะมีการรีไซเคิลนำขยะกลับมาเป็นวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้น

ดร.พสุ กล่าวว่า ในปี 2558 ปีแห่งการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบ 60 พรรษา กรอ.จึงพัฒนาโครงการความปลอดภัยในโรงงาน น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของปีนี้ คือ โรงงานที่ใช้ก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) และใช้หม้อต้มน้ำมันร้อน (Hot Oil) เนื่องจากปี 2549-2557 พบว่าเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากการผลิต การใช้ก๊าซชีวภาพ และหม้อต้มน้ำมันร้อน ใน 3 ประเภท คือ การระเบิด การเกิดไฟไหม้ และการเสียชีวิตเนื่องจากพื้นที่อับอากาศ โครงการฯ นี้มีโรงงานร่วมกิจกรรมทั้งหมด 160 โรงงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องถึง 1,060 คน คาดว่าความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวจะนำมาซึ่ง “มาตรฐานหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย” ที่เป็นต้นแบบให้โรงงานอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ใช้ก๊าซชีวภาพ 336 โรงงาน และโรงงานที่ใช้หม้อต้มน้ำมันร้อน 856 โรงงาน มีหม้อต้มน้ำมันร้อนทั้งหมด 1,000 เครื่อง

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากการประเมินโดยใช้ระบบ LEED-X โดยใช้ฐานข้อมูลในช่วงปี 2554-2555 ซึ่งมีความถูกต้องและแม่นยำถึงร้อยละ 80 พบว่าในช่วงปี 2558-2560 หรือ 3 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 4 ภาคอุตสาหกรรมไทยใน 5 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรม จะมีความต้องการแรงงานรวมกันมากถึง 3.268 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และอัตราว่างงานของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.6-0.7 เท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยเสริม

ระยะสั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพทักษะฝีมือแรงงานก่อนเข้าทำงาน พร้อมกันนี้ต้องสนับสนุนโรงงานและสถานประกอบการมีส่วนร่วมในนโยบายส่งเสริม Talent Mobility ส่วนระยะกลางถึงระยะยาวต้องเพิ่มประสิทธิภาพหรือความสามารถของแรงงาน สนับสนุนให้มีการลงทุนในเครื่องจักร มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี อีกทั้งควรจัดทำยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจน

สำหรับภาพรวมความต้องการแรงงาน 5 อุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานถึง 3.268 ล้านคน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องการมากถึง 1,310,000 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ต้องการ 885,000 คน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 470,000 คน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 430,000 คน และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ต้องการ 173,000 คน

ทั้งนี้ ระบบ LEED-X เป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และแรงงาน ที่มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งปีงบประมาณ 2558 สศอ.จะพัฒนาระบบให้มีความแม่นยำมากขึ้น โดยพัฒนาฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บริหารจัดการน้ำครบวงจร จากอ่างเก็บน้ำจนถึงไร่นา

 จากปี 2517 กระทั่งปี 2558 เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจัดรูปที่ดินไปแล้ว 1.98 ล้านไร่ ใน 26 จังหวัด

จากปี 2517 กระทั่งปี 2558 เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน  ได้ดำเนินการจัดรูปที่ดินไปแล้ว 1.98 ล้านไร่ ใน 26 จังหวัด ไม่นับรวมระบบแพร่กระจายน้ำในระดับไร่นาโดยงานก่อสร้างคันคูน้ำของกรมชลประทานด้วยอีกกว่า 10 ล้านไร่

เหตุผลหลักที่สนับสนุนการจัดรูปที่ดินในระยะแรก ได้พื้นที่นับล้านไร่  เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลยุคนั้น โดยอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศซึ่งให้การสนับสนุนประเทศไทยในการผลิตอาหารเข้าสู่ตลาดโลก   เช่น โครงการเจ้าพระยาใหญ่และโครงการแม่กลอง ล้วนสำเร็จลงได้ด้วยเงินกู้ธนาคารโลก ซึ่งดำเนินการจัดรูปที่ดินปีละมากกว่า  200,000 ไร่ จากนั้นการจัดรูปที่ดินก็กลายเป็นงานประจำภายใต้งบประมาณรายปีที่จำกัด มีพื้นที่จัดรูปที่ดินประมาณ 20,000 ไร่ต่อปี  ตลอด 40 ปี จึงมีเพียง 1.98 ล้านไร่ เท่านั้น

เพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางจึงจับมือกับสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน ผนวกงานจัดรูปที่ดินเข้ากับงานพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หมายถึงเมื่อใดที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้น เมื่อนั้นจะมีงานจัดรูปที่ดินพ่วงเข้าไปเป็นแพ็กเกจ เดียวกัน และจะเกิดพื้นที่จัดรูปที่ดินเกิดขึ้น หลายหมื่นไร่จนถึงนับแสนไร่เช่นเดียวกัน

เป็นลักษณะ 3 ประสาน คือ ต้นน้ำสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ กลางน้ำสร้างระบบชลประทาน เป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย และปลายน้ำจัดรูปที่ดินด้วยการสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียงในไร่นา ซึ่งจะก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้การจัดรูปที่ดินในโครงการง่ายขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้พัฒนาต้นน้ำกับกลางน้ำไปก่อน แล้วค่อยมาพัฒนาปลายน้ำภายหลัง เกษตรกรที่ได้รับน้ำอยู่แล้วมักอิดออดไม่ร่วมจัดรูปที่ดินด้วย

งานจัดรูปที่ดินมีความสำคัญยิ่งยวด นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำโดยตรงแล้ว ยังสะท้อนความคุ้มค่าในการลงทุนก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ต้นน้ำอีกด้วย เพราะเป็นเครื่องมือในพื้นที่ปลายน้ำที่ส่งน้ำถึงไร่นาของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลผลิตที่คุ้มค่าการลงทุน และลดต้นทุนในหลาย ๆ ด้าน

อย่างไรก็ตามความเป็นธรรมในการได้รับน้ำของเกษตรกร ถือว่าน่าสนใจมากพออยู่แล้ว ยิ่งเชื่อมโยงกับความคุ้มค่าในการลงทุนก่อสร้างเขื่อนอ่างเก็บน้ำ และระบบชลประทานใหญ่ด้วยแล้ว การจัดรูปที่ดินจึงถือเป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษอยู่ไม่น้อย

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เฟอร์รารี่ตัดอ้อย วิศวะ ป.7..ผลิตและบริการ

ค่าแรงแพง แรงงานขาดแคลน วันนี้ภาคเกษตรใครๆต่างถวิลหาเครื่องจักรกลมาทดแทน และมักจะชะเง้อมองหารถจักรกลนำเข้าจากต่างประเทศ... น้อยคนนักที่จะรู้ว่าของไทยนี่แหละ เลื่องลือระบือไกลผลิตส่งขายต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ละแวกอาเซียน ...แต่ข้ามทวีปไปไกลถึงบราซิล

ยิ่งไปกว่านั้น จักรกลผ่อนแรงงานคนที่ทำเอาฝรั่งติดใจสั่งซื้อ เป็นผลงานของคนไทยธรรมดา จบชั้น ป.7 แต่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลกว่าคนจบด็อกเตอร์ดุษฎีบัณฑิตบางคนซะอีก

รถตัดอ้อยของสามารถเกษตรยนต์

“อยู่กับไร่อ้อยมาตั้งแต่เด็ก เห็นปัญหาเรื่องแรงงานมานานแล้ว โดยเฉพาะคนงานตัดอ้อย จนเจ้าของไร่บางรายรอแรงงานไม่ไหว ใช้วิธีจุดไฟเผา ทำให้อ้อยเสียน้ำหนักและเก็บไว้ทำพันธุ์ปีต่อไปไม่ได้ ต้องปลูกกันใหม่ ต้นทุนก็ยิ่งสูง จึงคิดทำรถตัดอ้อยขึ้นมา”

สามารถ ลี้ธีระนานนท์ เจ้าของกิจการ “สามารถเกษตรยนต์” อ.หันคา จ.ชัยนาท ผู้คว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น ปี 2556” ด้วยผลงาน “รถตัดอ้อย” เทคโนโลยีเครื่องจักรกลหนักที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อยเป็นรายแรกของโลก จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

รถตัดอ้อยผลงานของวิศวะ ป.7

ด้วยความรู้มีเพียงแค่ชั้น ป.7 มีประสบการณ์ด้านช่างจากการฝึกงานแถววงเวียนใหญ่ หาวิชาใส่ตัวแบบครูพักลักจำ แล้วกลับมาอยู่บ้านช่วยครอบครัวทำไร่อ้อย...ปี 2528 เอาความรู้มาสร้างรถคีบอ้อย...ปี 2550 ปัญหาขาดแคลนคนงานตัดอ้อยรุนแรง

เลยมานั่งคิดออกแบบและสร้างรถตัดอ้อยมีกระบะบรรจุท่อนอ้อยทำงานแบบอัตโนมัติ ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่รถตัดอ้อยของฝรั่งทำไม่ได้และไม่ได้คิดทำ

จะซื้อรถเราได้ต้องซักถามประวัติก่อน

นั่นคือ สามารถตัดอ้อยได้ในทุกสภาพพื้นที่จะเรียบราบ ไม่ราบเรียบ ลาดชัน 35 องศา พื้นที่เป็นดินอ่อน ดินแข็ง พื้นที่จะเป็นแปลงขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และไม่ว่าอ้อยจะถูกพายุพัดจนต้นล้ม หรือจะยืนตั้งตรง...รถตัดอ้อยผลงานของวิศวะ ป.7 ทำได้หมด

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องตอบคำถามว่า ทำไมฝรั่งจากแดนไกลถึงต้องมาสั่งรถตัดอ้อยจากเมืองไทย แต่ใช่ว่าพกเงินมาเป็นกระบุงแล้วจะมาซื้อรถจาก สามารถเกษตรยนต์ ได้ทุกคน

“รถเราซื้อยากยิ่งกว่าเฟอร์รารี่ซะอีก เราไม่ได้ขายให้ทุกคน คนซื้อต้องมีเจตนาต้องการซื้อรถไปใช้งานจริง ดูแลรักษารถได้หรือไม่ ไม่ใช่ซื้อไปแล้วใช้งานอย่างเดียวบำรุงรักษาไม่เป็น ใช้ได้ไม่เท่าไรรถพัง ทำให้เราเสียชื่อเสียง จะซื้อรถเราได้ต้องซักถามประวัติก่อน บ้านอยู่ที่ไหน ซื้อไปทำอะไร แล้วจะให้กลับไปถามคนแถวบ้านที่เคยซื้อรถเราไปใช้มาก่อนว่ารถเป็นยังไง ใช้ดีขนาดไหน บำรุงรักษายากง่ายหรือเปล่า ถ้าทำตามนั้นได้ แล้วกลับมาขอซื้ออีกครั้ง นั่นแสดงว่าเขาต้องการรถเราจริงๆ แต่ก็จะยังไม่ขายให้ ต้องมาเข้าค่ายอบรม ขับรถและซ่อมบำรุงรถไปด้วย เราอบรมให้ฟรีกินอยู่เสร็จ 7 วัน”

สามารถตัดอ้อยได้ในทุกสภาพพื้นที่ซื้อยากกว่ารถเฟอร์รารี่ซะอีก

ถ้าทำตามเงื่อนไขนี้ได้ สามารถ ถึงจะยอมขายให้ในราคา 5.5 ล้านบาท...ไปพบกันได้ ในงานฮอร์ติเอเชีย และอะกริเอเชีย ไบเทค บางนา ระหว่าง 17-19 มี.ค.นี้.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

KTIS ชี้หลายปัจจัยหนุนขยายลงทุนในไทย ดัน ‘ซูมิโตโม’ หัวหอกบุกตลาดต่างประเทศ

           กลุ่ม KTIS รุกลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจในการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรชาวไร่อ้อย รองรับนโยบายรัฐในการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย เผยไม่ห่วงการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เหตุลูกค้าในประเทศเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เติบโตอย่างมั่นคง ส่วนตลาดต่างประเทศมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง “ซูมิโตโม” คอยช่วย มั่นใจปีนี้รายได้เติบโตแน่ จากโรงไฟฟ้าที่เพิ่มใหม่ 2 โรง 100 เมกะวัตต์ โรงงานผลิตน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ รวมถึงโรงงานปุ๋ยชีวภาพ

          นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ในรอบปี 2557 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนจำนวน 3,772 ล้านบาท ไปลงทุนตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ ใช้เงินประมาณ 1,400 ล้านบาท การลงทุนในโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) 980 ล้านบาท สร้างโรงงานปุ๋ยชีวภาพ 20 ล้านบาท ที่เหลือนำไปชำระหนี้และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

          “โครงการต่างๆ เหล่านี้ เป็นการใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่ได้จากการผลิตน้ำตาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นการขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานอยู่ภายในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลทราย ทั้งที่จังหวัดนครสรรค์ และจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้บริหารต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยโครงการเหล่านี้ทั้งหมดจะเริ่มรับรู้รายได้ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้รายได้ปี 2558 เติบโตจากปีก่อนอย่างแน่นอน” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

          ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ KTIS กล่าวด้วยว่า เนื่องจากกลุ่ม KTIS เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นหนึ่งในสามของรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งมีพันธมิตรที่มีชื่อเสียงและทำธุรกิจการค้าในระดับโลกอย่างซูมิโตโม จึงมักจะได้รับการสอบถามถึงการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ซึ่งทีมบริหารก็ได้มีการศึกษาถึงโอกาสต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และเห็นว่าในประเทศไทยยังมีปัจจัยที่เอื้อสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอยู่มาก ส่วนในประเทศอื่นๆ นั้น กลุ่ม KTIS มองการขยายตลาดมากกว่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า ในด้านการลงทุนนั้น ต้องมองที่แหล่งวัตถุดิบเป็นหลัก โดยวัตถุดิบของกลุ่ม KTIS คืออ้อย ซึ่งนโยบายของภาครัฐก็ออกมาชัดเจนแล้วว่าจะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยโดยการเปลี่ยนที่นาบางส่วนเป็นไร่อ้อย ดังนั้น การลงทุนในประเทศจึงไม่ต้องกังวลเรื่องของวัตถุดิบ ที่จะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทราย และผลพลอยได้ยังนำเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า เอทานอล เยื่อกระดาษ ปุ๋ย เป็นต้น ทั้งนี้ การขยายการลงทุนของกลุ่ม KTIS ยังสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ว่า จะมีผู้รับซื้ออ้อยจากเกษตรกรอย่างแน่นอน

          “เมื่อมีการลงทุนมากขึ้น มีผลผลิตออกมามากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตขึ้น โดยลูกค้าในประเทศของ KTIS เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีความมั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ก็ถือเป็นจุดแข็งของกลุ่ม KTIS ที่มีพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างซูมิโตโม ที่สามารถหาลู่ทางการตลาดในต่างประเทศให้กับสินค้าของกลุ่ม KTIS ได้เป็นอย่างดี” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

          นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวด้วยว่า การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศนั้น จะต้องประเมินถึงผลได้ผลเสียให้รอบด้าน ทั้งเรื่องต้นทุนต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง ของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน จึงเห็นว่า หาก KTIS ยังสามารถเติบโตได้ดีจากการลงทุนในประเทศไทย ก็ทำตรงนี้ให้เต็มที่ก่อน ส่วนในต่างประเทศนั้นจะใช้การตลาดเป็นตัวนำ และหากเห็นลู่ทางของการลงทุนที่ชัดเจน มั่นคงเพียงพอแล้วจึงจะพิจารณาเรื่องการลงทุน

          “ตอนนี้เรากำลังมองเรื่องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของไทย อย่างเช่นแนวคิดของไบโอฮับ (Bio Hub) ที่ต้องการใช้ศักยภาพของไทยเราผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ KTIS กล่าว

          ทั้งนี้ กลุ่ม KTIS นั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่หลายประการ ที่สามารถต่อเชื่อมกับการค้าขายหรือการลงทุนกับต่างประเทศ เช่น โรงงานของ KTIS ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือเป็นทำเลที่ดีที่สุดที่จะเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ และลาว ส่วน KTIS Complex ที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงสามารถรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก นอกเหนือจากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย โรงงานเอทานอล โรงไฟฟ้า และโรงงานปุ๋ยชีวภาพที่มีอยู่แล้ว

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เพิ่มน้ำตาลล้านกระสอบ เคาะช่วยชาวไร่อีก 160 บาท

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เห็นชอบเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควต้า ก.) อีก 1 ล้านกระสอบ (1 แสนตัน) จากเดิมที่จัดสรรไว้ระดับ 24 ล้านกระสอบ (2.4 ล้านตัน) รวมเป็น 25 ล้านกระสอบ (2.5 ล้านตัน) เนื่องจากเห็นว่าการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นมากจึงเกรงว่า ระดับดังกล่าวอาจตึงตัวได้ ซึ่งหลังจากนี้จะนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาต่อไป

"ปริมาณ น้ำตาลทรายค้างกระดานจากเดิมที่เคยอยู่ในระดับ 3 ล้านกระสอบ ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 1.3 ล้านกระสอบ เมื่อรวมกับปริมาณน้ำตาลที่ขึ้นงวดแต่ละสัปดาห์จากการเปิดหีบอ้อยขณะนี้รวม เป็น 1.7 ล้านกระสอบ จึงต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าเพียงพอ" รายงานข่าวระบุ

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่ อ้อยฤดูการผลิตปี 2557/2558 ที่มีนายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้พิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้ 900 บาทต่อตัน เพิ่มอีก 160 บาทต่อตัน คาดว่าจะนำเสนอ กอน.เห็นชอบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในมีนาคมนี้

"ต้องการให้รัฐเร่งพิจารณาช่วยเหลือชาวไร่ อ้อย ซึ่งการกู้ ธ.ก.ส.เพิ่มอีก 160 บาทต่อตันนั้นจะทำให้การชำระหนี้ของกองทุนฯยืดออกไปเป็นอีก 17-18 เดือนข้างหน้าหรือชำระหมดช่วงปลายปี 2559" นายธีระชัยกล่าว

จาก www.prachachat.net   วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ระวังสงครามค่าเงินดันบาทแข็ง

ค่ายกรุงศรี เตือนระวัง "เงินบาท" แข็งค่า หากประเทศต่างๆ จุดกระแสสงครามค่าเงินทั้งในรูปแบบ "การพิมพ์เงิน-ลดอัตราดอกเบี้ย-ปรับกรอบอัตราแลกเปลี่ยน" แนะเร่งลงทุนโครงการภาครัฐ/ขยายการลงทุนเอกชนช่วยบรรเทาบาทแข็ง ขณะที่ทั้งปี 58 บาทยังผันผวนตามตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะจังหวะที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจของสหรัฐฯฟื้นตัวดี ดันเงินบางส่วนไหลกลับไปลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งดอลลาร์สหรัฐ-เยน-ฟรังก์สวิส

    altจากกรณีที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าหารือและมีข้อเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลใน 3 เรื่องประกอบด้วย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคและประเทศคู่แข่ง  เรื่องขอให้สนับสนุนการใช้เงินของประเทศคู่ค้าแทนการใช้สกุลเงินของประเทศที่ 3 และเรื่องช่วยสร้างโอกาสด้วยการสนับสนุนเครื่องมือทางการเงินในการเปิดตลาดใหม่ในประเทศที่ถูกคว่ำบาตรหรือมีปัญหาทางการเมืองนั้น

    นายรุ่งศักดิ์ สาธุธรรม ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส และผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงข้อเท็จจริงเงินบาทแข็งค่าเมื่อสถิติเทียบสกุลเงินของประเทศคู่ค้านั้นพบว่า เงินบาทในระยะนี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ราว 0.89% จากช่วงต้นปี  เป็นอันดับ 4 ในภูมิภาครองจากเงินรูปีอินเดีย  เปโซฟิลิปปินส์ และดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ของไทยกว่า 2 หมื่นล้านบาท (22 ม.ค.-12 ก.พ. 58) หลังประเทศแกนหลักทั้งยุโรปและญี่ปุ่นทยอยอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน โดยสวีเดนเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศจะทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอี ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินบางส่วนไหลเข้ามาหาผลตอบแทนในเอเชียและไทย ค่าเงินเอเชียหลายสกุลจึงแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้เงินบาทยังแข็งค่าจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง

    สำหรับมุมมองค่าเงินบาทในปี 2558 จะมีความผันผวนค่อนข้างสูงตามตลาดการเงินโลก เป็นผลจากการที่ประเทศแกนหลักใช้นโยบายการเงินต่างกัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดี และอยู่ในห้วงเวลาเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นในจังหวะเวลาที่เริ่มมีกระแสคาดการณ์ที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจทำให้เงินทุนบางส่วนไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ เกือบทั่วโลก โดยประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจมีปัญหา เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง จะมีความเสี่ยงด้านเงินทุนไหลออกมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย นอกจากนี้ ปัญหาของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ปัญหาในกรีซ ความเสี่ยงที่รัสเซียอาจผิดนัดชำระหนี้ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจปะทุขึ้นเป็นระยะ ปัญหาเหล่านี้หากรุนแรงขึ้นจะทำให้กระแสเงินทุนไหลกลับอย่างรวดเร็วเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เยนญี่ปุ่น และฟรังก์สวิส

    อย่างไรก็ตาม แม้เงินบาทจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ก็ต้องระวังเงินบาทที่อาจแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง หากประเทศต่างๆ จุดกระแสสงครามค่าเงินในหลายรูปแบบอย่างรุนแรงเพื่อปกป้องภาคเศรษฐกิจจริงในประเทศ เช่น การพิมพ์เงิน การลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับกรอบอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้การเร่งโครงการลงทุนภาครัฐและการขยายการลงทุนของภาคเอกชนที่ต้องมีการนำเข้าสินค้า เช่น เครื่องจักร วัตถุดิบต่างๆ ก็อาจช่วยบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทุนเคลื่อนย้ายเรื่องปกติ ธปท.ยันค่าบาทมีเสถียรภาพ/ย้ำไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

ธปท.แจงตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นปกติ ขณะที่ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ชี้เงินเฟ้อที่ติดลบนโยบายการเงินช่วยอะไรไม่ได้ โฆษกยัน "เวลานี้ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด" พร้อมชี้กรณีเก็งกำไรส่วนต่างดอกเบี้ยยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนขาออกสูงกว่า

 จิรเทพ  เสนีวงศ์  ณ อยุธยาจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา   นายจิรเทพ  เสนีวงศ์  ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงประเด็นเงินทุนเคลื่อนย้ายว่า เวลานี้ยังไม่เห็นอะไรที่ผิดปกติในเชิงของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยรวมแล้วเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไหลออกสุทธิตามการไหลออกของเงินทุนจากตลาดพันธบัตร (ม.ค.-5 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 418 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แม้จะมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในตลาดหุ้นไทย (ม.ค.-13 ก.พ. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเป็นการปรับตัวไปสู่ตลาดของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น  แม้ว่าจะมีเงินทุนไหลออกสุทธิจากหลักทรัพย์แต่ยังมีเงินลงทุนโดยตรงหรือเอฟดีไอ และโดยรวมเงินบาทเคลื่อนไหวโดยมีเสถียรภาพ

     สำหรับเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบนั้น เป็นการลดลงของเงินเฟ้อที่สืบเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงไม่ใช่ระดับราคาของประเทศลดลงกระจายทั่วไปทุกสินค้า ดังนั้นตราบใดติดลบจากราคาพลังงานไม่เป็นประเด็นที่นโยบายการเงินจะเข้าไปทำอะไร แต่ธปท.ยังมองในภาพรวมทั้งปีเงินเฟ้อมีทิศทางเป็นบวก จึงอยากให้ใจเย็นๆ และมองภาพระยะยาวมากกว่าตัวเลขรายเดือน

    อย่างไรก็ดี หากถามว่าเวลานี้ระหว่างนโยบายการคลังกับนโยบายการเงิน ด้านใดมีความสำคัญต่อการดูแลเศรษฐกิจนั้น คงต้องเรียนว่าในความเป็นจริงนั้นต้องผสมผสานกัน  แต่ในเวลานี้นโยบายการคลังจะมีน้ำหนักมากกว่าในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ  เพราะหากมีมาตรการออกมาจะกระตุ้นได้ค่อนข้างเร็ว ขณะที่นโยบายการเงินนั้นทางธปท.เองประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ อีกทั้งในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยแล้ว  ดอกเบี้ยคงไม่ใช่สิ่งที่กระตุ้น ส่วนการที่ประชาชนใช้จ่ายตามความสามารถที่หารายได้นั้นไม่น่าจะเป็นประเด็นเรื่องของเงินฝืด    หรือในประเด็นเรื่องของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำในหลายประเทศนั้น  นอกจากระดับของอัตราดอกเบี้ยแล้วจะต้องมองระดับผลตอบแทนที่ปรับลดด้วย จึงยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนขาออก หากคิดจะนำเงินเข้ามาในประเทศเพียงแค่มาฝากเพื่อเอาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (เก็งกำไร)     นายจิรเทพ กล่าวเพิ่มเติมในส่วนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  หรือจีดีพีไตรมาส 4/2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ประกาศว่าการขยายตัว 0.7% นั้น ใกล้เคียงกับที่ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.8% โดยปัจจัยที่ทำให้ผลต่างกันคือตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวมากกว่าที่ธปท.คาดการณ์  ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่าในส่วนของรายได้เกษตรกรมีอัตราการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และในปี 2558 ยังคงมีแนวโน้มที่ยังต่ำ

    "รายได้เกษตรกรนั้นคิดเป็น 11% ของรายได้ทั้งประเทศ  ดังนั้นจึงมีผลต่อความสามารถในการซื้อ โดยที่ประชากรภาคการเกษตรมีประมาณ 1 ใน 3 หรือ 35% ของจำนวนประชากรทั้งหมด  ซึ่งหากมองภาพว่าตัวเลขที่ออกมาจริงสอดคล้องกับภาพที่ธปท.เห็นมาก่อนหน้า  พบว่าตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4/2557 ที่เป็นดัชนีความเชื่อมั่นที่สำรวจโดยกระทรวงพาณิชย์ก็ลดลงจากไตรมาสที่ 3/2557 ภาพจึงออกมาสอดคล้องกัน แต่ภาพที่ธปท.ติดตามในเดือนมกราคมตัวเลขความเชื่อมั่นยังทรงตัวอยู่  และเป็นประเด็นที่สื่อให้ความสำคัญคือตัวเลขของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงคือ 84.7% ของจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 3/2557"

    สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ยังชะลอตัว  โดยในเดือนธันวาคม 2557 ขยายตัวที่ 3.8%  อีกทั้งปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลให้เงินในกระเป๋าประชาชนมีมากขึ้น  แต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อีสท์วอเตอร์ทำMOUกรมชลฯ-กปภ. เพิ่มเสถียรภาพแหล่งน้ำภาคตอ.

อีสท์วอเตอร์ กรมชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาค ลงนาม MOU การสูบผันน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่  แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และเพิ่มเสถียรภาพแหล่งน้ำของ จ.ระยอง  มั่นใจจะทำให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ยืนยันไม่กระทบภาคการเกษตร พร้อมเตรียมเพิ่มความจุอ่างฯ ประแสร์เป็น 295 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทานได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การดำเนินการสูบผันน้ำท่อส่งน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด  (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ โดยโครงการดังกล่าวถือเป็น 1 ใน 13 โครงการที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างเร่งด่วน และยังทำให้พื้นที่จังหวัดระยองมีเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำมากยิ่งขึ้น  ทั้งนี้ต้องมีการบริหารจัดการปริมาณน้ำที่สูบผันจากโครงการดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับการผันน้ำจากอ่างฯประแสร์ มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จ.ระยอง นั้น จะใช้ทั้งระบบท่อส่งน้ำและลำน้ำธรรมชาติ จากการก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,677 ล้านบาท  และกรมชลประทานได้รับมอบโครงการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นจากการผันน้ำได้  จนนำมาสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในที่สุด

"การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ดังกล่าว จะไม่กระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานจากอ่างฯประแสร์  เนื่องจากเป็นการผันน้ำส่วนเกินความต้องการซึ่งปกติในแต่ละปีภาคการเกษตรจะใช้น้ำประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร อุปโภคและรักษาระบบนิเวศอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่จะผันมาอ่างฯคลองใหญ่ประมาณปีละ 80 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว ก็ยังน้อยกว่าปริมาณความจุของอ่างฯประแสร์ที่สามารถจุได้ถึง 248 ล้านลูกบาศก์เมตร  และยังมีโครงการที่จะเพิ่มปริมาณความจุในระดับกักเก็บสูงสุดเป็น 295 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2558 นี้อีกด้วย"  อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ กำหนดให้การประปาส่วนภูมิภาคและบริษัทอีสวอเตอร์ จัดทำแผนการใช้น้ำที่สูบผันด้วยระบบท่อส่งน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่  และมอบหมายให้อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ดำเนินการสูบผันน้ำทั้งระบบ  โดยในปีที่ 1 สามารถนำน้ำไปใช้ได้หน่วยงานละไม่เกินปีละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และปีที่ 2 ถึงปีที่ 5 หน่วยงานละไม่เกินปีละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานจะจัดทำแผนการสูบผันน้ำให้ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการสูบน้ำตามแผน พร้อมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการระบบท่อส่งน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าจัดหาบุคคลเข้าทำการบริหารงาน   ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำ  และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมระบบท่อส่งน้ำที่ชำรุดเสียหายอันเกิดจากการใช้งานตามปกติ

นอกจากนี้ การประปาส่วนภูมิภาคและบริษัทอีสวอเตอร์ จะต้องรับผิดชอบค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ที่โรงสูบน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ ตามสัดส่วนปริมาณน้ำที่วางแผนการใช้รายเดือน   ตลอดจนจะต้องชำระค่าชลประทาน ตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485  และที่สำคัญจะต้องร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมหรืองบประมาณด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) อีกด้วย            

นอกจากนี้ทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณสถานีสูบผันน้ำ ดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพและอยู่ในสถานะพร้อมใช้งานตลอดเวลา  พร้อมจัดทำระบบป้องกันน้ำรั่วไหลไปทำความเสียหายเดือดร้อนแก่บุคคลภายนอกซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสูบผันน้ำทั้งทรัพย์สินของทางราชการ ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอีกด้วย  โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นายกฯประชุมกรอ.มอบคลังตั้งคณะทำงานฯช่วยเอสเอ็มอีให้เสร็จใน1เดือน

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กรอ. ครั้งที่ 1/58 มอบกระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชนหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งระบบให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอมาตรการทางวีซ่าของภาคเอกชนไปพิจารณาเร่งรัดออกกฎกระทรวงเพื่ออำนวยความสะดวกการตรวจลงตราแบบเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง- ยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียหรือกลุ่มประเทศยุโรป

วันนี้ (19 ก.พ.58) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 1/2558 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังการประชุม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เลขา สศช.) ร่วมกับผู้แทนจากภาคเอกชน ได้แถลงข่าวผลการประชุมว่าที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชน 6 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย รวม 8 เรื่อง สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมได้ดังนี้

1. มาตรการขับเคลื่อน SMEs ระยะเร่งด่วน ให้กระทรวงการคลังรับไปจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และภาคเอกชน (กกร.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ SMEs ทั้งระบบ ซึ่งรวมถึง

การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

2. แนวทางการปฏิรูประบบรางของประเทศ ให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงระบบการบริหารจัดการระบบรางและกลไกนโยบายการบริหารจัดการที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับระเบียบและกฎหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ และความต้องการของธุรกิจ และให้นำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ในการประชุมครั้งต่อไป

3. การพิจารณาจัดสรรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ให้กระทรวงพลังงานรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม

4. การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาออกประกาศกระทรวงการคลังใน

การยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง ที่ได้รับฉลากประหยัดไฟฟ้าระดับเบอร์ 5 และเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

5. มาตรการทางวีซ่าเพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวไทยในปี 2558 ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ รับข้อเสนอมาตรการทางวีซ่าของภาคเอกชนไปพิจารณาดำเนินการ ได้แก่ (1) เร่งรัดการออกกฎกระทรวงเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราแบบเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง (Multiple-Entry Visa) และ (2) ยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือกลุ่มประเทศยุโรป โดยคำนึงถึงความสมดุลในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

6. ห้องปฏิบัติการ (Laboratory) และการตรวจสอบสินค้าเพื่อการส่งออก ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน รับไปบูรณาการการใช้ประโยชน์จากห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่าย และประเภทของการให้บริการ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจด้วย

7. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ/กฎหมายควบคุมการปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม รับไปจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการปล่อยมลพิษจากแหล่งโรงงานในทางปฏิบัติก่อน ทั้งนี้ หากจำเป็นจึงให้มีการแก้กฎหมายหรือออกระเบียบรองรับ

8. ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้มุ่งเน้นที่การรวมกลุ่มของเกษตรกรและการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นเป็นสำคัญ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พาณิชย์เกาะติดค่าเงินในภูมิภาค

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมกำลังติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าหรืออ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งส่งออกของไทยในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการดูแลภาพรวมการส่งออกของไทยให้ยังสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งส่งออกของไทยได้

“เรื่องค่าเงินต้องดูประเทศอื่นๆ ด้วยว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับไทยหรือไม่ เพราะถ้าค่าเงินอ่อนก็เป็นสิ่งที่ดี ทำงานง่ายขึ้น แต่หากค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าไม่เท่ากับเงินที่ประเทศคู่แข่งอ่อนค่า ทำให้ที่คิดว่าไทยจะได้ประโยชน์ก็อาจได้ไม่มากอย่างที่คิด เรื่องนี้ต้องไปถามธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะจัดการอย่างไร แต่ในเบื้องต้นมองว่าค่าเงินไม่ควรผันผวนมาก” นางนันทวัลย์ กล่าว

สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยปี 2558 คงต้องรอประเมินสถานการณ์หลังจากผ่านพ้นไตรมาส 1 ไปก่อน ซึ่งขณะนี้กรมยังคงตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกให้ได้ 4% โดยมีมาตรการผลักดันในการส่งออกตลาดใหม่ที่มีทิศทางเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น และจะเน้นสินค้าไทยที่มีจุดเด่นด้านนวัตกรรมและงานดีไซน์ เป็นต้น

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 11-15 มี.ค. กรมได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย จัดงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (TIFF 2015) ที่ชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการส่งออก โดยปีนี้มีกว่า 200 บริษัทนำสินค้ามาจัดแสดงโดยมีผู้ซื้อจากต่างประเทศแจ้งความจำนงมางาน 7,000 ราย ประเมินว่าตลอดการจัดงาน 5 วันจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 4 หมื่นราย และเงินสะพัดกว่า 350 ล้านบาท

นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวว่า ในปี 2558 คาดว่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยจะขยายตัว 5% หรือมีมูลค่า 1,260 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากได้รับอานิสงส์สัญญาณการฟื้นตัวธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ดีขึ้นในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โรงแรม รีสอร์ท สำนักงาน อาคาร และการจัดงานแฟร์ต่างๆ ที่ต้องมีการใช้เฟอร์นิเจอร์จำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้า

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รัฐผ่านงบยุทธศาสตร์น้ำ1แสนล.

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2558-2569) ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในแผนงานประมาณปี 2558 วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณปกติ 6 หมื่นล้านบาท และเงินอื่นๆ 5 หมื่นล้านบาท โดยใน 5 หมื่นล้านบาท จะเป็นเงินกู้วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท และงบกลางจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในงบประมาณปกติคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พล.อ.ฉัตรชัย รายงานว่า จะใช้ 1,712 โครงการ วงเงิน 7,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลด งบประมาณลงได้ 1,000 ล้านบาท แต่เพิ่มโครงการเป็น 1,700 โครงการ จากเดิมจะใช้ 8,700 ล้านบาท 1,633 โครงการ ทั้งนี้ในส่วนงบประมาณที่เหลือคณะกรรมการจะทำรายละเอียดเสนอต่อ ครม.ในครั้งถัดไป

"ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ฉัตรชัย ได้ย้ำว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าว จะทำแบบบูรณาการ ลดการซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณลงได้อีก" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

สำหรับงบประมาณ 2558 จะใช้งบประมาณใน 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 2.การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค 3.การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรม 4.โครงการการป้องกันอุทกภัย 5.โครงการจัดการคุณภาพน้ำ และ 6.การบริหารจัดการ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ใน ฐานะประธานกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยหลังประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบกลางกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินตามแผนงานและโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2558 กว่า 1,700 โครงการ ในเวลา 1 ปี

 ขณะที่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยที่ประชุม ครม.อนุมัติให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 6,000 ล้านบาท ใช้ในโครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางพาราในการซื้อยางเพิ่มเติมโดยแยกเป็นการรับซื้อยางแผ่นรมควันจำนวน 4,000 ล้านบาท และน้ำยางสดอีก 2,000 ล้านบาท ซึ่งวันที่ 19 ก.พ. จะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) พิจารณาในรายละเอียดต่อไป

รายงานข่าวจากธนาคารออมสิน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารออมสิน ล่าสุด พิจารณาเรื่องแนวทางเร่งปล่อยสินเชื่อสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมว่ารายงานข่าวจากธนาคารออมสิน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารออมสิน ล่าสุด พิจารณาเรื่องแนวทางเร่งปล่อยสินเชื่อสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินเตรียมเสนอรัฐบาล เพื่อแยกบัญชีปล่อยกู้ยาง 1.5 หมื่นล้านบาท หากเป็นหนี้เน่ารัฐต้องตั้งงบชดเชย

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 

ปัญหาเกษตร : ปุ๋ยอินทรีย์ กับการเพิ่มผลผลิตอ้อย

คำถาม ดินที่จะใช้ปลูกอ้อยต้องเป็นดินประเภทใด และจะปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวจะทำได้อย่างไรครับ

คำตอบ ลักษณะดิน และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อย ควรเป็นที่ดอน หรือที่ลุ่มไม่มีน้ำท่วมขัง ลักษณะดินเป็นดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำและอากาศดี มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินอยู่ในช่วง 5.5-7.0 ค่าความเค็มไม่เกิน 4.0 เดซิซิเมนต่อเมตร อุณหภูมิ 30-35 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,000-1,500 มิลลิเมตรต่อปี

พันธุ์อ้อย คัดเลือกพันธุ์อ้อยที่มีความสมบูรณ์จากแปลงที่ไม่มีการระบาดของโรค และมีอายุเก็บเกี่ยว 10-14 เดือน

การเตรียมดิน นักวิชาการเกษตรของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แนะวิธีการจัดการโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย ดังนี้ ก่อนปลูก ทำการไถกลบด้วยผานสาม 1-2 ครั้ง ลึก 30-50 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน ถ้าเป็นต้นฤดูฝนให้พรวน 1 ครั้ง ถ้าปลายฤดูฝน ต้องพรวนเพิ่มอีก 2-3 ครั้ง จนดินร่วนซุย เพื่อกลบเศษซากพืชจากฤดูก่อน และทำลายวัชพืชต่างๆ ให้ลดจำนวนลง ถ้ามีชั้นดินดาน ต้องไถระเบิดดินดานให้ลึก 50-75 เซนติเมตร และทำการปลูกพืชปุ๋ยสด พืชปุ๋ยสดที่นิยมปลูกในไร่อ้อย ได้แก่ ถั่วมะแฮะ อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ หรืออาจใช้ปอเทือง อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วพร้า อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านหรือโรยเป็นแถวก่อนปลูกอ้อย แล้วทำการไถกลบ เมื่อพืชปุ๋ยสดออกดอก หรือเมื่ออายุ 50 วัน แล้วปล่อยให้ย่อยสลาย 15 วัน จึงเตรียมแปลงปลูกอ้อย

ในขณะเตรียมดินก่อนปลูกอ้อย ให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 (ที่เจือจาง 1:500) อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ และก่อนการปลูกอ้อยให้ใส่เชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช ที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ระหว่างแถวที่จะปลูกอ้อย อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน และลำต้นเน่าของอ้อย

ทำการปลูกอ้อย โดยทำการยกร่องปลูก ให้มีระยะระหว่างร่อง 1.0-1.5 เมตร อ้อยที่มีการแตกกอมากหรือปานกลางให้ปลูกเป็นแถวเดียว ส่วนอ้อยที่แตกกอน้อยให้ปลูกเป็นแถวคู่ระยะ 30-50 เซนติเมตร

ในพื้นที่ที่มีความลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝก ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ ภายหลังจากที่ไถเตรียมดินแล้ว โดยการขุดหลุมในร่องที่ไถไว้สำหรับเป็นแนวระดับยาวตามพื้นที่ ให้แต่ละต้นห่างกัน 5 เซนติเมตร หญ้าแฝกแนวต่อไป ก็จะปลูกขนานกับแนวแรก โดยมีระยะห่างขึ้นกับสภาพความลาดชันของพื้นที่เช่น ถ้าระยะตามแนวดิ่ง คือ 2 เมตร แนวรั้วหญ้าแฝก ที่ความลาดเอียง 5% 10% และ 15% จะอยู่ห่างกัน 40 เมตร 15 เมตร และ 10 เมตร ตามลำดับ

การปลูกพืชแซม ในพื้นที่ที่ไม่มีความลาดชัน หลังจากปลูกอ้อยได้ 15 วัน ให้ทำการปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ถั่วพุ่ม หรือถั่วพร้า โรยเป็นแถวแทรกระหว่างแถวอ้อย เพื่อป้องกันวัชพืช เมื่อพืชปุ๋ยสดมีอายุ 50 วัน ให้ทำการตัด แล้วนำมาคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นในดินและเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน

การดูแลรักษา แหล่งชลประทาน ให้น้ำทันทีหลังปลูก ต้องไม่ให้อ้อยขาดน้ำติดต่อกันนานกว่า 20 วัน และฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ให้กับพืชปุ๋ยสดทุก 7 วัน อัตรา 2 ลิตรต่อไร่ (ที่เจือจาง 1:1,000) หลังปลูกอ้อยแล้ว 15 วัน ให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพทางใบและลำต้น หรือรดลงดินให้กับอ้อยทุก 1 เดือน จนถึงระยะเก็บเกี่ยว

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง ถ้าอ้อยเป็นโรคใบขาว แส้ดำ กอตะไคร้ หนอนกอจุดใหญ่ นอนเจาะลำต้น เพลี้ย จั๊กจั่นสีน้ำตาล และแมลงศัตรูธรรมชาติ ให้ใช้สารสกัดธรรมชาติ หรือสารป้องกันกำจัดศัตรูอ้อย

การจัดการดินหลังเก็บเกี่ยว หลังจากตัดอ้อยส่งโรงงานแล้ว สามารถเก็บตอไว้ได้ 2 ปี ให้นำเศษเหลือจากการเก็บเกี่ยว เช่น ใบอ้อย และยอดอ้อยคลุมดินเป็นการรักษาความชื้น และเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน และบำรุงดินโดยการใช้น้ำหมักชีวภาพ ปลูกพืชปุ๋ยสดแซมระหว่างแถวอ้อย และใช้เชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชซุปเปอร์ พด.3 ในอ้อยตอปีที่ 1 และอ้อยตอปีที่ 2

การปลูกอ้อย โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้ จะสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อย และลดต้นทุนการผลิต เมื่อเทียบกับวิธีการปฏิบัติเดิมของเกษตรกรได้ ประมาณ 20%…นะครับ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดิน กับแนวทางหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ (1)

“....ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม...”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรมในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงถูกหยิบยกมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงบำรุงดินอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ ทำการศึกษาวิจัยถึงคุณประโยชน์ของหญ้าแฝก

กรมพัฒนาที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สำรวจเก็บตัวอย่างหญ้าแฝกที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ 112 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ หญ้าแฝกลุ่มและหญ้าแฝกดอน จากนั้นจึงคัดเลือกในเบื้องต้นได้จำนวน 28 พันธุ์ แล้วนำมาปลูกทดสอบคัดเลือกได้พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นทางการอนุรักษ์ดินและน้ำ คือ มีการแตกหน่อ และขยายกออย่างรวดเร็ว 10 พันธุ์ แบ่งจำแนกเป็น หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์ศรีลังกา พันธุ์กำแพงเพชร 2 พันธุ์สุราษฎร์ธานี และพันธุ์สงขลา 3 หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์เลย พันธุ์นครสวรรค์ พันธุ์กำแพงเพชร 1 พันธุ์ร้อยเอ็ด พันธุ์ราชบุรี และพันธุ์ประจวบคีรีขันธ์

ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝกที่ถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ มีหลายประการ คือ มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้ มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ได้ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ ปรับตัวกับสภาพต่างๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่างๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ไถกลบตอซังลดหมอกควัน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

อินทรียวัตถุเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคืนอินทรียวัตถุให้กับดิน โดยการไถกลบฟางข้าว

การเผาตอซังนอกจากจะทำให้ดินเสื่อมโทรมโครงสร้างดินจับกันแน่นแข็ง ส่งผลให้สูญเสียอินทรียวัตถุ และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชถูกทำลายแล้วยังทำให้เกิดควัน ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่แพร่กระจายออกไปโดยเฉพาะ 6 จังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี

ซึ่งอินทรียวัตถุเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคืนอินทรียวัตถุให้กับดิน โดยการไถกลบฟางข้าว ตอซังต่าง ๆ ให้ลงไปสู่พื้นดิน เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้จากการลดปริมาณการใช้ปุ๋ย

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า  ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของดินในประเทศไทยทั้งหมด ต่ำกว่า 1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยปกติแล้วดินควรจะมีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 5% เนื่องจากอินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์มากมายมหาศาล เช่น ทำให้ดินมีโครงสร้างทางกายภาพที่ดี ดินไม่แน่นทึบ เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตในดินทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นแมลง ตัวห้ำ ตัวเบียน ก็จะมาออกไข่ในดินและขยายพันธุ์ทำให้ดินมีชีวิตได้ อีกทั้งยังดูดความชื้นในดิน ทำให้ดินมีความชื้นมากกว่าดินที่ขาดอินทรียวัตถุ นี่คือประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เพราะฉะนั้นในภาพรวมเมื่อดินมีอินทรียวัตถุ ก็หมายความว่าดินต่าง ๆ เหล่านั้นมีธาตุอาหาร และมีความอุดมสมบูรณ์

ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้มีการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาตอซัง ฟางข้าวมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี พร้อมกับแนะนำวิธีการไถกลบตอซัง เช่น เมื่อดินยังมีความชื้นอยู่ ควรไถกลบ พรวนผสมคลุกเคล้ากับดิน หลังจากนั้นก็จะใช้น้ำสกัดชีวภาพ พด.2 ซึ่งจะช่วยในการย่อยสลาย เมื่ออินทรียวัตถุมีการย่อยสลายก็จะกลายเป็นฮิวมัส ปุ๋ย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในดิน

อย่างไรก็ตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือกระบวนการของการปรับปรุงบำรุงดินให้มีสภาพที่ดีขึ้นทั้งคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี เมื่อมีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว เกษตรกรที่ปลูกพืชในพื้นที่ดินเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเป็นจำนวนมาก อาจจะใช้ในส่วนที่จะเติมส่วนที่ขาด และเมื่อสภาพอากาศในดินถ่ายเทดี การระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุในการช่วยผลิตปุ๋ยจากธรรมชาติเอง การปลดปล่อยธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในดินให้กลับมาเป็นประโยชน์กับพืชได้ นั่นคือ ประโยชน์มหาศาล เกษตรกรเองสามารถที่จะลดต้นทุน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยในเรื่องของการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้ทางหนึ่ง

“จากที่กรมฯ รณรงค์ไถกลบตอซัง ฟางข้าวมาเป็นเวลานาน จะเห็นได้ว่าปัญหาทางพื้นที่การเกษตรลดน้อยลง การเผาในพื้นที่โล่งแจ้งน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรตระหนักคิดมากขึ้น โดยมองว่าคนที่เผาตอซังก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่สูบบุหรี่ สร้างมลพิษ ทำลายสุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม คนในสังคมส่วนใหญ่จะมองไม่ดี  ดังนั้นวันนี้ปัญหาในเรื่องของควันไฟในภาคเหนือลดลงค่อนข้างมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้วเกือบจะครอบคลุมไปทั้ง 6 จังหวัด แต่ปัจจุบันอาจมีบ้างในบางพื้นที่เท่านั้น” นายอภิชาต กล่าว

ต้องยอมรับว่าประโยชน์ของการงดเผาตอซังนั้นมีมากมายมหาศาล เป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรเอง ทั้งในแง่สุขภาพ ลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดควัน และแก้ปัญหาโลกร้อนไปพร้อม ๆ กันด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรมฯ การค้าต่างระหว่างประเทศเกาะติดค่าเงินบาทดูแลกลุ่มส่งออก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งเกาะติดสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค หวังตั้งรับ-ส่งออกได้ทัน เตรียมสรุปภาพรวมส่งออกปี 58 ใหม่ หลังผ่านพ้นไตรมาสแรก โดยยังคงตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกปีนี้ให้ขยายตัวได้ 4% จากปีก่อน...

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 58 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางกรมฯ กำลังติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางค่าเงินบาท ของไทยมีแนวโน้มแข็งค่า หรืออ่อนค่า เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการดูแลภาพรวมการส่งออกของไทย ให้ยังสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งส่งออกของไทยได้

ทั้งนี้ เรื่องค่าเงินต้องดูประเทศอื่นๆ ด้วยว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับไทยหรือไม่ เพราะถ้าค่าเงินอ่อนก็เป็นสิ่งที่ดี ทำงานง่ายขึ้น แต่ถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่าไม่เท่ากับ ค่าเงินประเทศคู่แข่งอ่อนค่า ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์มากอย่างที่คิด เรื่องนี้ต้องไปถามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะจัดการอย่างไร แต่ในเบื้องต้นมองว่า ค่าเงินไม่ควรผันผวนมาก

นางนันทวัลย์ กล่าวสำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยปี 58 คงต้องรอประเมินสถานการณ์ หลังจากผ่านพ้นไตรมาส 1 ไปก่อน ซึ่งขณะนี้ กรมฯ ยังคงตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกปีนี้ให้ขยายตัวได้ 4% จากปีก่อน โดยมีมาตรการผลักดันการส่งออกไปตลาดใหม่ ที่มีทิศทางเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น และเน้นสินค้าไทยที่มีจุดเด่นด้านนวัตกรรมและงานดีไซน์ เป็นต้น

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พาณิชย์เกาะติดค่าเงินในภูมิภาค

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมกำลังติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าหรืออ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งส่งออกของไทยในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการดูแลภาพรวมการส่งออกของไทยให้ยังสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งส่งออกของไทยได้

“เรื่องค่าเงินต้องดูประเทศอื่นๆ ด้วยว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับไทยหรือไม่ เพราะถ้าค่าเงินอ่อนก็เป็นสิ่งที่ดี ทำงานง่ายขึ้น แต่หากค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าไม่เท่ากับเงินที่ประเทศคู่แข่งอ่อนค่า ทำให้ที่คิดว่าไทยจะได้ประโยชน์ก็อาจได้ไม่มากอย่างที่คิด เรื่องนี้ต้องไปถามธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะจัดการอย่างไร แต่ในเบื้องต้นมองว่าค่าเงินไม่ควรผันผวนมาก” นางนันทวัลย์ กล่าว

สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยปี 2558 คงต้องรอประเมินสถานการณ์หลังจากผ่านพ้นไตรมาส 1 ไปก่อน ซึ่งขณะนี้กรมยังคงตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกให้ได้ 4% โดยมีมาตรการผลักดันในการส่งออกตลาดใหม่ที่มีทิศทางเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น และจะเน้นสินค้าไทยที่มีจุดเด่นด้านนวัตกรรมและงานดีไซน์ เป็นต้น

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 11-15 มี.ค. กรมได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย จัดงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (TIFF 2015) ที่ชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการส่งออก โดยปีนี้มีกว่า 200 บริษัทนำสินค้ามาจัดแสดงโดยมีผู้ซื้อจากต่างประเทศแจ้งความจำนงมางาน 7,000 ราย ประเมินว่าตลอดการจัดงาน 5 วันจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 4 หมื่นราย และเงินสะพัดกว่า 350 ล้านบาท

นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กล่าวว่า ในปี 2558 คาดว่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยจะขยายตัว 5% หรือมีมูลค่า 1,260 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากได้รับอานิสงส์สัญญาณการฟื้นตัวธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ดีขึ้นในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โรงแรม รีสอร์ท สำนักงาน อาคาร และการจัดงานแฟร์ต่างๆ ที่ต้องมีการใช้เฟอร์นิเจอร์จำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้า

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เกษตรกรลุ้นรัฐบาลยกหนี้ 4.5 พันล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่าในวันที่ 18 ก.พ.นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นศูนย์ โดยเป็นหนี้จากในส่วนของกองทุนหรือเงินทุนในส่วนของกระทรวงเกษตรฯให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีเกษตรกรที่เข้าข่ายจะได้รับการยกเว้นหนี้รวม 26,742 ราย และองค์กรเกษตรกรจำนวน 1,082 แห่ง รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 4,556 ล้านบาท โดยโครงการนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว โดย ครม.จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบและรายงานความคืบหน้าต่อ ครม.ทุกไตรมาสด้วย

สำหรับเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญให้กับลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้รับการพิจารณาได้แก่ 1.กรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ 2.กรณีประสบภัยพิบัติธรรมชาติ 3.กรณีเผชิญปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4.หนี้ขาดอายุความ 5.หนี้ค้างชำระระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป 6.หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินเพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ 7.เกษตรกรผู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งที่อยู่ 8.เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง 9.ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อยไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และ 10.หนี้ที่มีการกู้ยืมเงินต่ำกว่า 10,000 บาท

นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จะรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง 2557/58 ให้ ครม.รับทราบ เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีสำหรับใช้การในหน้าแล้งปีนี้ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานขณะนี้มีประมาณ 4.72 ล้านไร่ ทะลุแผนแล้ว 2.91 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ประมาณ 291,000 ไร่ คาดว่าจะเสียหายโดยสิ้นเชิง ซึ่งเกษตรกรเองรู้ตัวว่าในปีนี้จะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เพราะกระทรวงเกษตรฯได้แจ้งเตือนล่วงหน้าให้เกษตรกรงดทำนาปรังไปแล้ว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

รัฐเคาะเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. เป็น 25 ล้านกระสอบ ป้องตึงตัว 

         น้ำตาลค้างกระดานเริ่มลดวูบ! บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นคนไทยบริโภคเพิ่ม “กน.” ผวาน้ำตาลตึงตัวเคาะเพิ่มน้ำตาลบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) อีก 1 ล้านกระสอบ จาก 24 ล้านกระสอบเป็น 25 ล้านกระสอบ

               แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ได้เห็นชอบเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) อีก 1 ล้านกระสอบ (1 แสนตัน) จากเดิมที่จัดสรรไว้ระดับ 24 ล้านกระสอบ (2.4 ล้านตัน) รวมเป็น 25 ล้านกระสอบ (2.5 ล้านตัน) ทั้งนี้เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นมากจึงเกรงว่าระดับดังกล่าวอาจตึงตัวได้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ต่อไป

               “เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดานจากเดิมที่เคยอยู่ในระดับ 3 ล้านกระสอบได้ไต่ระดับลงมาเหลือ 1.3 ล้านกระสอบ เมื่อรวมกับปริมาณน้ำตาลที่ขึ้นงวดแต่ละสัปดาห์จากการเปิดหีบอ้อยขณะนี้รวมเป็น 1.7 ล้านกระสอบเนื่องจากมีการขยายตัวของการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ที่ประชุมจึงจัดสรรเพิ่มเพื่อความมั่นใจว่าน้ำตาลจะเพียงพอ” แหล่งข่าวกล่าว

               สำหรับการเปิดหีบอ้อย 2557/2558 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 57 จนถึงล่าสุด 17 ก.พ. 58 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 67.5 ล้านตัน โดยเฉลี่ยมีอ้อยเข้าหีบในขณะนี้วันละ 1 ล้านตันเนื่องจากมีโรงงานหีบ 51 แห่งซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่าปริมาณอ้อยเมื่อสิ้นสุดฤดูหีบช่วงปลาย เม.ย. 58 มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับ 101-102 ล้านตันอ้อยหรือต่ำกว่าฤดูการผลิตปี 56/57 เล็กน้อยที่มีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 103 ล้านตัน เนื่องจากส่วนหนึ่งเจอปัญหาภัยแล้งแม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

จาก http://manager.co.th   วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

ชี้ไม่ประมูล 7 ปี “วิกฤติพลังงาน”

 “กรมเชื้อเพลิง”เลื่อนยื่นซองสัมปทานปิโตรเลียม

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและสอดคล้องกับการปฏิรูปด้านพลังงาน และการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20 ก.พ.นี้ กระทรวงพลังงานจึงประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงบนบกและในทะเลอ่าวไทยรวม 29 แปลง จากภายในวันที่ 18 ก.พ. เป็นสิ้นสุด 16 มี.ค. โดยเงื่อนไขการยื่นประมูลสัมปทานที่เชิญชวนเอกชนไปก่อนหน้านี้ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ได้เอารายละเอียดลงเว็บไซต์แล้ว การประกาศเงื่อนไขต่างๆยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจะขอสิทธิ์เจรจาในพื้นที่ 3 แปลงในทะเลจาก 29 แปลง คือแปลง G3/57 G5/57 และ G6/57 ที่จะเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC เป็นต้น ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่านักลงทุนอาจเกิดความสับสน ได้ชี้แจงว่าเป็นเพียงการเลื่อนเวลาการยื่นซองประมูลเท่านั้น ล่าสุดก็มีนักลงทุนมายื่นแล้ว 1 ราย ทั้งนี้ หากเวทีการชี้แจงในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก็ต้องรอให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา ก็มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วและที่สำคัญข้อมูลที่เป็นคำถามที่คาใจของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทาน กระทรวงพลังงานและ ชธ.มีตอบคำถามทั้งด้วยวาจาและหนังสือไปยังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำให้มั่นใจว่าตอบคำถามวันที่ 20 ก.พ.ได้ทั้งหมด

นางพวงทิพย์กล่าวต่อว่า หากไม่มีข้อสรุปและอาจต้องยุติการดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมรอบนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงพลังงานของประเทศไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserve) หรือพี 1 ที่ ชธ.มีความมั่นใจ 90% ว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ได้ประมาณ 8.42 ล้านลูกบาศก์ฟุต หากไม่มีการลงทุนและสำรวจเพิ่มเติม เมื่อหารด้วยอัตราการผลิตปัจจุบันที่ระดับ 1.31 ล้าน ลบ.ฟุต จะทำให้ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติใช้ได้อีกประมาณ 7 ปี หลังจากนั้นวิกฤตการณ์การขาดแคลนพลังงานก็จะเริ่มเกิดขึ้นทันที เพราะประเทศไทยพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติมากที่สุด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 'ไซยะบุรี' ไทยรุกคืบเพิ่มแหล่งสำรองไฟฟ้า

                             การแสวงหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าของไทยเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคตถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะปัจจุบันแหล่งพลังงานในประเทศค่อนข้างมีจำกัด และมักมีกระแสต่อต้านในการสร้างโรงไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรืออื่นๆ ทำให้ต้องมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาส่วนหนึ่ง ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากลุ่มแม่น้ำโขงฝั่ง ประเทศลาว เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการรุกคืบเข้าไปลงทุนของบริษัทเอกชนไทย

                             แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำนานาชาติสายหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีการพัฒนาบริการจัดการน้ำแล้วหลายโครงการ โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขงตอนบน ที่ประเทศจีนมีการสร้างเขื่อนไปแล้วถึง 5 เขื่อน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1.4 เมกะวัตต์จากเป้าหมายที่วางไว้ 8 เขื่อน และกำลังจะลงมือสร้างเพิ่มเติมอีกในเร็วๆ นี้ ขณะที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีเป้าหมายจะสร้างเขื่อน  11 แห่ง แต่เพิ่งดำเนินการสร้างไปเพียงแห่งเดียวที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ส่วนอีก 10 แห่งนั้นกว่าจะดำเนินการได้ก็คงต้องรอดูโครงการแรกนี้ก่อนว่ามีปัญหาหรือไม่

                             โครงการไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว เป็นการลงทุนของบริษัทคนไทย คือ กลุ่ม ช.การช่าง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลลาว โดยได้เข้าไปสำรวจโครงการตั้งแต่ปี 2550 และกว่าจะออกแบบ ทำสัญญาสัมปทาน สัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญาเงินกู้ สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง สัญญาจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมใช้เวลาประมาณ 5 ปี จนถึงปี 2555 หลังจากนั้นจึงเริ่มเดินหน้าก่อสร้างโครงการทั้งฝายทดน้ำ และอาคารประกอบ การติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าและทดสอบการเดินเครื่อง มีระยะเวลารวม 8 ปีจนถึงปี 2562

                             ขณะนี้ระยะเวลาผ่านมา 3 ปี ก็เพิ่งดำเนินการก่อสร้างได้เพียงบางส่วน โดยการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจะทำภายหลังและน่าจะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำได้ในปี 2562 ที่สำคัญกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนี้ 95% จะเป็นการขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบ่งไว้ใช้ในประเทศลาวเพียง 5% เท่านั้น จึงถือว่าไทยได้ใช้ประโยชน์เกือบเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากโครงการผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี เพื่อลงทุนหาพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาป้อนความต้องการใช้ในประเทศ

                             นายสมควร วัฒกีกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท ซีเค พาวเเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในครือของกลุ่ม ช.การช่าง และเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กล่าวว่า ไฟฟ้าพลังน้ำถือเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง ปิดและเปิดง่าย ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการที่ไซยะบุรีเป็นฝายทดน้ำที่มีความสูงไม่มาก โดยจะปล่อยน้ำไหลผ่านเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแต่ละวัน มีการออกแบบมาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

                             "เราให้ความสำคัญกับเรื่องของปลาตามที่รัฐบาลลาวร้องขอ เพราะปลาในแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวลาว ซึ่งก่อนจะลงมือก่อสร้างก็ต้องมีการปรับแบบกันใหม่ โดย 6 เดือนก่อนยังกังวลว่าจะก่อสร้างโครงการได้แล้วเสร็จตามกำหนดหรือไม่ แต่ขณะนี้มีความโล่งใจที่ทุกอย่างเดินหน้าตามแผน แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างพุ่งสูงกว่าที่กำหนดมูลค่าโครงการไว้เดิม 1.15 แสนล้านบาทก็ตาม

                             สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทซีเคกับรัฐบาลลาว โดยฝ่ายลาวถือหุ้นเพียง 20-25% ซึ่งเป็นการนำค่าสัมปทานมาจ่ายเป็นหุ้น โดยปีแรกๆ อาจจะจ่ายได้ไม่มากนักและหลังจากครบอายุสัมปทาน 29 ปี โครงการนี้จะตกเป็นของรัฐบาลลาวต่อไป ทำให้รัฐบาลลาวค่อนข้างสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่ เพราะในลาวเองยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่วนเงินที่นำมาใช้เป็นเงินทุนของบริษัทประมาณ 3 หมื่นล้านบาทที่เหลือเป็นการกู้จากธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจากเห็นความสำเร็จของโครงการโรงไฟฟ้าที่น้ำงึม 2 ประสบความสำเร็จ บริษัทจึงต้องเร่งเดินหน้าโครงการให้เสร็จตามกำหนด เพราะหากช้าไป 1 ปีภาระจะเพิ่มขึ้นทันที 3 หมื่นล้านบาท ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่วิ่งไม่หยุดและค่าปรับจากกฟผ.ในอัตราหน่วยละ 2 บาท

                             นายสมควรกล่าวด้วยว่า โครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรีแห่งนี้เรียกว่าใหญ่ที่สุดและใช้เงินลงทุนมากที่สุดในลาว ก่อนหน้านี้เป็นเพียงโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกระจายตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเท่านั้น รวมทั้งน้ำงึม 2 ด้วย โดยไซยะบุรีจะสามารถผลิตกระแสไฟได้ถึง 7 พันล้านหน่วยต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะขายให้กฟผ. แบ่งใช้ในลาวเพียง 5% เนื่องจากเป็นการใช้ตามอาคารบ้านเรือนเท่านั้น เพราะในลาวยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ไฟจำนวนมาก และการมีไซยะบุรีน่าจะทำให้ระบบไฟฟ้าในลาวไม่มีปัญหาไฟตกไฟดับอีกต่อไป

                             "การที่เราสามารถสร้างโรงไฟฟ้าในลาวได้ง่ายกว่าการสร้างที่ไทยที่มักมีการต่อต้าน เพราะลาวเผชิญความลำบากเรื่องไม่มีไฟฟ้าใช้มานาน บางครั้งต้องสลับกันปิดเปิดไฟในแต่ละหมู่บ้าน ทำให้ไม่มีการต่อต้านจากชาวบ้าน ที่สำคัญทางโครงการมีการเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพราะพื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างกินความกว้างถึง 10 กิโลเมตร ต้องมีการย้ายบ้านเรือนจำนวน 458 ครอบครัวจาก 19 หมู่บ้าน ไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ซึ่งชาวบ้านยินยอม เพราะเป็นบ้านที่ปลูกใหม่ดีกว่ามีน้ำและไฟพร้อม ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานหมื่นคนที่ใช้ในโครงการนี้เป็นคนลาวถึง 60%" นายสมควรกล่าว

                             นายสมควรกล่าวทิ้งท้ายว่า ไฟฟ้ามีความสำคัญและจำเป็น ซึ่งระบบไฟฟ้าของประเทศไทยถือว่าดีมาก แต่ในอนาคตน่าเป็นห่วงว่าการผลิตไฟฟ้าในประเทศอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และมีราคาแพงขึ้น จนอาจเกิดวิกฤติพลังงานได้ จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีการบริหารจัดการที่ดีและต้องเร่งแสวงหาพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืน  ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในไทย ไม่ใช่ดูแต่เรื่องน้ำแล้งหรือน้ำท่วม ควรนำพลังของน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และไฟฟ้าพลังน้ำก็ได้รับการพิสูจน์มาทั่วโลกแล้วว่าดีและถูกมาก แต่ในไทยไม่มีแหล่งน้ำที่จะนำมาพัฒนาพลังงานไฟฟ้าได้จึงต้องแสวงหาในประเทศเพื่อนบ้าน โดยยึดหลักได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งในอนาคตก็มองไปที่แม่น้ำสาละวินของพม่าที่น่าจะมีความเป็นไปได้สูง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

ชง ครม.ล้างหนี้เกษตรกร

ทั้งเกษตรกรกองทุนฯ – เงินทุนหมุนเวียน ของกระทรวงเกษตรฯ กว่า 4,500 ล้านบาท ด้านก.คลังแนะรัฐบาลวางแผนแก้ปัญหาเงินทุนหมุนเวียน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมครม. วันที่18ก.พ. นี้ จะพิจารณาโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ ซึ่งเป็นหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภายใต้กองทุนหรือเงินทุน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล รวมทั้งหนี้สินในโครงการส่งเสริม หรือสงเคราะห์ของรัฐ โดยจากการสำรวจเบื้อต้น พบว่า มีผู้ที่เข้าข่ายที่จะได้รับการยกเว้นหนี้26,742ราย และองค์กรเกษตรกรอีก1,082แห่ง เป็นวงเงิน 4,556ล้านบาท ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ เมื่อเร็วๆ นี้ แล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า โครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร มีเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญให้ลูกหนี้ที่เข้าข่ายพิจารณาข้อใดข้อหนี้ จาก10ข้อ คือกรณีโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ,กรณีประสบภัยพิบัติธรรมชาติ,กรณีเผชิญปัญหาความไม่สงบในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้,หนี้ขาดอายุความ,หนี้ค้างชำระเกินกว่า10ปีขึ้นไป,หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินเพื่อดำเนินการบังคับคดีได้,เกษตรกรผู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งที่อยู่,เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง,ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และหนี้ที่มีการกู้ยืมเงินต่ำกว่า10,000บาท

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินนโยบายสำเร็จตามแผนการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบ เสนอให้ครม.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดและแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบ และให้รายงานความคืบหน้าต่อ ครม.ทุก ๆ ไตรมาสด้วย

โดยกระทรวงการคลัง มีความเห็นว่า นอกจากการแก้ปัญหาหนี้สินของกองทุนฯเกษตรกรแล้ว ควรปรับปรุงประสิทธิภาพกองทุน และกองทุนหมุนเวียนต่าง ๆ ซึ่งมีทรัพย์สินหมุนเวียนกว่า3ล้านล้านบาท ให้เป็นกลไก เครื่องมือช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่าการดำเนินการตามโครงการนี้ โดยตัดหนี้สูญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การลดหนี้ให้เกษตรกรและลดปัญหาหนี้สูญของกองทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนต่างๆ

ด้านกระทรวงเกษตรฯ ยังขอขยายเวลาการดำเนินการตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูอาชีพเกษตรตามมติ ครม.7เม.ย.53ออกไปอีก18 เดือน โดยใช้จ่ายเงินจากโครงการที่คงเหลือทางบัญชี945.39 ล้านบาท และเมื่อสิ้นสุดการขยายเวลาแล้ว หากมีเงินเหลือให้นำไปดำเนินการในด้านอื่น ๆ ตามกฎหมายต่อไป ส่วนวงเงินที่ได้รับการจัดสรร

ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรตามมติ ครม.ตั้งแต่ปี53และมีวงเงินเหลืออยู่2,387ล้านบาท สตง.ได้ตรวจสอบแล้วว่า จะต้องนำส่งคืนคลัง และหากรัฐบาลมีโครงการที่จะต้องขอเบิกจ่ายงบประมาณในจำนวนดังกล่าว เช่น โครงการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรให้ดำเนินการขอใช้จากงบกลางฯ ตามขั้นตอนต่อไป

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

จ.สุพรรณบุรีเร่งศึกษาผลกระทบโรงไฟฟ้าชีวมวลก่อนขออนุญาตโครงการ

นายพิภพ บุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยใช้พื้นที่และเชื้อเพลิงจากชานอ้อยของโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยมีบริษัทไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและจัดทำรายงานเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งตามแผนฯ โครงการจะผลิตกระแสไฟฟ้า 6.34 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และโรงงงานน้ำตาลทรายสุพรรณบุรี เนื่องจากปัจจุบันความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ

ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการดูแลตรวจสอบให้เกิดความปลอดภัย แม้โครงการโรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักร่วมกันในความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยเฉพาะบริษัทที่ปรึกษาฯ ควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งทางบวกและทางลบอย่างรอบด้าน โดยเชื่อว่าหากโครงการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ประชาชนในพื้นที่ก็น่าจะยอมรับได้ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม และเกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวจังหวัดสุพรรณบุรีต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

กรมโรงงาน ชง 4 ยุทธศาสตร์เข้า ครม. ผุดมาตรการกำจัดกากอุตสาหกรรม ดู 6 พื้นที่ตั้งโรงงาน

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมโรงงานฯได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมขึ้นมา ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การควบคุมดูแล 2.สร้างความร่วมมือกับองค์กรในโครงการจากประเทศญี่ปุ่น 3.ตั้งเครือข่ายสนับสนุน 4.แก้ไขกฎหมายขยะอุตสาหกรรม ซึ่งได้ยื่นเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะนำเข้าสู่ ครม. เพื่อทราบ

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กรอบ 5 ปี ซึ่งในระยะเวลา 5 ปีนั้นจะเห็นโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้นใน 6 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะอยู่ในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น ภาคกลาง ภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมไม่มากอาจตั้งโรงกำจัดขยะอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพียง 1 แห่ง เป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ เพื่อต้องการให้ขยะอุตสาหกรรมที่อยู่นอกระบบเข้ามากำจัดอย่างถูกวิธีในระบบมาตรฐาน ปัจจุบันขยะอุตสาหกรรมมีทั้งสิ้นประมาณ 54 ล้านตัน ภายใน 5 ปี ขยะอุตสาหกรรมจะต้องเข้าระบบให้ได้ 90-100%

"ขยะประมาณ 54 ล้านตันที่มี เป็นขยะประเภทอันตราย 3.35 ล้านตัน เข้าระบบกำจัดแล้ว 4.7 แสนตัน ขยะประเภทไม่อันตรายประมาณ 50.3 ล้านตัน เข้าระบบกำจัดแล้ว 12 ล้านตัน จะทยอยเข้าสู่ระบบอีกปีละกว่า 8 ล้านตัน 5 ปีจะเข้าระบบจนครบทั้งหมด

เดิมโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมมีจำนวน 3 แห่ง ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และด้วยการเซ็น MOU กับทางองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการช่วยเหลือแบบให้เปล่าโดยมอบเตาเผาขยะมูลค่ากว่าพันล้านบาทให้กับไทย เพื่อต่อยอดในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเตาที่มีกำลังการเผาขยะ 500 ตันต่อวัน ดังนั้น 4 ยุทธศาสตร์ที่ได้เสนอต่อ ครม. จะต้องเดินหน้าให้เห็นรูปธรรมในเร็ว ๆ นี้

ล่าสุด กรมโรงงานฯ เปิด "โครงการความปลอดภัย 2558" น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะ ปีแห่งการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบ 60 พรรษา เนื่องจากจากสถิติย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา (2549 -2557) พบว่าการเกิดอุบัติเหตุของโรงงานที่ใช้ก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) และใช้หม้อต้มน้ำมันร้อน (Hot Oil) ที่มีจำนวนประมาณ 1,200 โรงงาน มีอุบัติภัยจากการผลิต การใช้ก๊าซชีวภาพและหม้อต้มน้ำมันร้อน ใน 3 ประเภท คือ การระเบิด การเกิดไฟไหม้ และการเสียชีวิตเนื่องจากพื้นที่อับอากาศ เกิดขึ้นรวม 16 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บรวม 33 คน มีคนเสียชีวิต 44 คน และทรัพย์สินเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

"โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซชีวภาพและหม้อต้มน้ำมันร้อนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรและอาหาร ที่กระบวนเหล่านี้จะมีปริมาณกากของเสียจำนวนมาก ก่อให้เกิดก๊าซไข่เน่า ดังนั้นการควบคุมปริมาณกากของเสีย เช่น ต้องไม่เกิน 10-20% ซึ่งหากมีมากจนเกินไปจะทำให้เกิดอันตราย"

คาดว่าจะมีโรงงานร่วมกิจกรรมทั้งหมด 160 โรงงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องถึง 1,060 คน และความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวจะนำมาซึ่ง "มาตรฐานหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย" ที่เป็นต้นแบบให้โรงงานอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ใช้ก๊าซชีวภาพ 336 โรงงาน และโรงงานที่ใช้หม้อต้มน้ำมันร้อน 856 โรงงาน มีหม้อต้มน้ำมันร้อนทั้งหมด 1,000 เครื่อง

 โครงการดังกล่าวดำเนินการภายใต้สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย (สปภ.) สังกัด กรอ. ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรชำนาญการ และมีเครือข่ายให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคลากรในโรงงาน วิศวกรตรวจทดสอบ หน่วยงานวิชาชีพ เข้าร่วมรณรงค์ให้เกิดกิจกรรมความปลอดภัย โดยรายละเอียดการดำเนินงานตลอดปี ประกอบด้วย กิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การจัดนิทรรศการ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านความปลอดภัยของการใช้ก๊าซชีวภาพและหม้อต้มน้ำมันร้อน แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เจ้าหน้าที่และประชาชนที่สนใจทั่วไป ได้ร่วมชมบอร์ดเฉลิมพระเกียรติ ภาพวิดิทัศน์ด้านความปลอดภัย คลินิกองค์ความรู้ก๊าซชีวภาพ ลุ้นกิจกรรมชิงรางวัล

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

กรอ.ชงแผนจำกัดขยะอุตสาหกรรมระยะ5ปี

กรอ. ชงแผนจำกัดขยะอุตสาหกรรม ระยะ 5 ปี งบประมาณ 429 ล้านบาท คาดเข้า ครม. ต้นมีนาคม นี้ ช่วยกำจัดขยะกว่า 90%

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรอ. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์กำจัดขยะอุตสาหกรรม มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี เสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ และรับทราบภายในต้นเดือนมีนาคม นี้ ซึ่งหาก ครม.อนุมัติ ก็จะเริ่มดำเนินงานได้ทันที โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประกอบด้วย การควบคุมกำกับดูแล การสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการสร้างเครือข่ายสนับสนุน และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้งบประมาณ 429 ล้านบาท โดยตั้งเป้านำขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย และขยะอุตสาหกรรมทั่วไปเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 แบ่งเป็นการกำจัดขยะอุตสาหกรรมอันตรายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3.35 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่มีขยะอุตสาหกรรม มีพิษเข้าสู่ระบบประมาณ 1.1 ล้านตัน/ปี หรือเพิ่มปีละ 4.7 แสนตัน และกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั่วไปให้ได้ 50 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีเข้าระบบประมาณ 12 ล้านตัน หรือเพิ่มปีละ 8 ล้านตัน

ขณะที่ แผนการตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร ได้กำหนดพื้นที่ที่จะตั้งนิคมฯ คร่าวๆ 6 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคละ 1 แห่ง ส่วนพื้นที่ใดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น ก็จะมีมากกว่า 1 แห่ง แต่จะอยู่ในพื้นที่ใดบ้างนั้น จะต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจนก่อน ซึ่งหากสามารถตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมได้ตามเป้าหมาย ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว ลดการนำเข้าวัตถุดิบอุตสาหกรรม เนื่องจากจะมีการรีไซเคิลนำขยะกลับมาเป็นวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

นิวซีแลนด์-ออสเตรเลียเปิดรับผลไม้ฉายรังสีของไทยเข้าประเทศ

“ดร.พิเชฐ” เผยผลสำเร็จ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เปิดรับผลไม้ฉายรังสีของไทยเข้าประเทศเป็นครั้งแรก สทน.แจงใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฯฝ่าด่านกีดกันนำเข้าผลไม้ส่งออก การันตีปลอดภัยไร้แมลงรบกวน

คาดมูลค่าส่งออกพุ่งเป็น  2,300 ล้านบาท ขณะที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ออกโรงยัน มาตรการเฝ้าระวังรังสีเพื่อความมั่นคงตลอด 24 ชั่วโมงได้มาตรฐานสากล เตรียมขยายความร่วมมือประเทศเอเซียแปซิฟิค ตอบสนองเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เชิงพาณิชย์ เป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้ประโยชน์ของการศึกษาวิจัยและพัฒนา และ วทน. มาช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทย ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ดำเนินการแก้ปัญหาการกีดกันนำเข้าอาหาร สมุนไพร และผลไม้ส่งออกของไทยหลายชนิดในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ทางนิวเคลียร์ด้วยการฉายรังสี  อีกทั้งยังเร่งดำเนินการขยายตลาดสู่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คาดว่ามูลค่าการส่งออกปีนี้จะเพิ่มเป็น 2,300 ล้านบาท นอกจากนี้ สทน. ยังตรวจวัดและออกใบรับรองกำกับปริมาณรังสีในสินค้าประเภทข้าว น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์นม เครื่องเทศ ปลากระป๋อง อาหารสัตว์ ฯลฯ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA ) คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี และยังสามารถใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าอัญมณีเนื้ออ่อนประเภท โทแพซ เบริล อความารีน ทัวมารีน ควอตซ์ ได้มากถึง 5-30 เท่า ในปี 2557 สร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกให้กับอัญมณีฉายรังสีได้อีกราว 2,000 ล้านบาท

 ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดผลไม้ส่งออกในหลายประเทศสร้างมาตรการกีดกันการนำเข้าผลไม้บางชนิดเนื่องจากปัญหาแมลงศัตรูพืชที่มักปะปนอยู่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ข้อกำหนดของ APHIS  และ USDA3 บังคับให้สินค้าไทย 7 ชนิด คือ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มังคุด สับปะรด เงาะ และแก้วมังกร ต้องผ่านการฉายรังสี เพื่อควบคุม กำจัด และหยุดการแพร่พันธุ์ของแมลงศัตรูพืช เช่น แมลงวันทอง และยังสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังจะขยายตลาดการส่งออก ลำไยและลิ้นจี่ฉายรังสี ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2558 โดยมีเจ้าหน้าที่กักกันพืชจากประเทศนิวซีแลนด์เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์ฉายรังสี ภายใต้ สทน. และรับรองสุขอนามัยพืชทั้งสองชนิดแล้วเมื่อปลายปี 2557

ด้าน ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า รังสีที่นำมาใช้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคล้ายกับแสงแดดที่จ้ามากๆ ถ้านำอาหารไปตากแดดฆ่าเชื้อ แล้วเอามาเข้าในที่ร่ม เราก็สามารถกินได้อย่างปกติ ถูกหลักอนามัย การฉายรังสีผลไม้ก็ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ IAEA ได้สรุปผลการทดสอบความปลอดภัยของอาหารฉายรังสีว่า อาหารใดๆ ก็ตามที่ผ่านการฉายรังสีในปริมาณไม่เกิน 10,000 เกรย์ ไม่ก่อให้เกิดโทษอันตราย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาพิเศษทางโภชนาการและจุลชีววิทยา และไม่จำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัยอีกต่อไป  ซึ่งหากเทียบกับปริมาณรังสีที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้ฉายรังสีเพื่อนำเข้าผลไม้ที่ 400 เกรย์นั้น คิดเป็นปริมาณที่น้อยกว่ากันถึง 25 เท่าตัว

นอกจากนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยังกล่าวถึงข้อกังวล ที่ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีกิจกรรมด้านนิวเคลียร์และรังสี ทั้งการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ การเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงเหตุฉุกเฉินทางรังสีและนิวเคลียร์ในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มีมาตรการเฝ้าระวังรังสีเพื่อความปลอดภัยทางรังสีของประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง ระดับของการเตือนภัยเป็นไปตามตามมาตรฐานของ IAEA โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันและพร้อมดำเนินการได้ตลอดเวลา

     “ปส.สามารถส่งต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีภายใต้เครือข่ายเฝ้าระวังภัยทางรังสีแห่งชาติที่กระจายอยู่ทั่วประเทศตาม 20 สถานี โดยมีสถานีตรวจวัดรังสีในอากาศ 17 สถานี  ในน้ำ 3 สถานี กับ หน่วยปฏิบัติการตรวจวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมเคลื่อนที่ ศูนย์ข้อมูลทางรังสีแห่งชาติ กลุ่มประสานงานเหตุฉุกเฉินทางรังสี ภายใต้ ปส. และบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังรังสีของประเทศไทย โดยในอนาคตจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดเพิ่มเติมบริเวณชายแดน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคภายใต้ IAEA ให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ในสภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที” ดร.พิเชฐ กล่าว

     ทั้งนี้ รมว.วท. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบทางด้านรังสีและนิวเคลียร์ ได้นำรังสีและนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเพื่อชี้แจงให้สังคมได้เห็นและรับทราบถึงประโยชน์จากการใช้รังสีและนิวเคลียร์ในทางสันติ เช่น การส่งเสริมให้มีการส่งออกสินค้าไทยได้ดียิ่งขึ้นไม่ถูกกีดกันในการจำหน่ายสินค้าออกต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการตรวจตาเฝ้าระวัง ในกรณีที่มีการรั่วไหลของรังสี ทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ยังเปิดให้บริการเกี่ยวกับดินสอพองปลอดเชื้อ โดยการนำดินสอพองมาฉายรังสีแกมมาเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ดินสอพองที่จำหน่ายตามท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นอาจจะยังไม่ได้รับการฉายรังสี อาจทำให้เกิดอาการแพ้เป็นผื่นคัน แสบตา ตาแดง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ดินสอพองที่ไม่สะอาดไม่ได้รับการฉายรังสี ทางสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จึงนำเทคโนโลยีการฉายรังสีแกมมามาใช้บริการฉายรังสี ดินสอพองเพื่อฆ่าเชื้อก่อนจะนำไปจำหน่ายสู่มือผู้บริโภค โดยฉายรังสีลงบนเนื้อดินสอพองใช้เวลา1- 3 ชั่วโมงเพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ ถึงระดับสเตอริไรซ์เซชั่น ที่สามารถทำลายจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์ และราได้

     รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า มาตราฐานของผลไม้ที่ผ่านการอาบรังสีของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้รับมาตราฐานในระดับโลก รวมถึงผลไม้ทั้ง 7 ชนิด ที่ได้กล่าวในข้างต้น ซึ่งได้รับการตรวจเป็นอย่างดี และการเลือกบริโภคผลไม้ที่อาบรังสีนั้นสามารถเลือกดูได้จากผลไม้ที่ติดสัญลักษณ์ว่าผลไม้ชนิดนี้ได้รับผ่านการอาบรังสีแล้ว ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคผลไม้ที่ผ่านการอาบรังสีหรือไม่ก็ขึ้นนั้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภคเอง  และในประเทศไทยยังมีประชาชนส่วนใหญ่ที่ยัง เข้าใจอยู่ว่าผลไม้ที่ผ่านการอาบรังสีนั้นเป็นอันตราย แต่ซึ่งจริงๆแล้วผลไม้ที่ผ่านการอาบรังสีมนั้นสามารถรับประทานได้และไม่ก่อเกิดอันตราย

      ดร.สมพร จองคำ ได้กล่าวว่าประโยชน์จากรังสียังสามารถนำใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในการเพิ่มมูลค่าอัญมณี อัญมณีที่ประเทศไทยนำมาฉายรังสีได้เยอะที่สุด ก็คือประเภทโทแฟซ ซึ่งมีลักกษณะเป็นสีใสเมื่อฉายรังสีจะมีลักษณะเป็นสีฟ้า และประเทศที่ให้ความสนใจมากที่สุด คือ อเมริกาและยุโรป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับแนวทางการอนุรักษ์ดิน-น้ำเพื่อการเกษตร (2)

กรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ริเริ่มนํามาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำมาใช้เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยโดยเป็นการถ่ายทอดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำให้ถึงมือเกษตรกร เบื้องต้นทางกรมพัฒนาที่ดินได้แนะแนวทางในการอนุรักษ์ดินและน้ำไว้ 2 วิธี คือ มาตรการทางวิธีกล และมาตรการทางวิธีพืช

โดยมาตรการทางวิธีกล คือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นการควบคุมน้ำไหลบ่าหน้าดิน โดยการสร้างสิ่งกีดขวางความลาดเทของพื้นที่และทิศทางการไหลของน้ำ ช่วยลดและชะลอความเร็วของกระแสน้ำ เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ค่อนข้างถาวร และมีประสิทธิภาพ แต่การลงทุนค่อนข้างสูง และต้องใช้ความชำนาญในการก่อสร้าง อาทิ การไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับเป็นการไถพรวน หว่าน ปลูก และเก็บเกี่ยวพืชไปตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ เพื่อเพิ่มการซึมซับน้ำของดินและรักษาความชุ่มชื้นในดิน รวมถึงควบคุมการไหลบ่าของน้ำและการชะล้างพังทลายของดิน ซึ่งควรปฏิบัติบนพื้นที่ที่มีความลาดเทไม่เกิน 8% และความยาวของความลาดเทไม่เกิน 100 เมตร ในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งการทำขั้นบันไดดิน เป็นการปรับพื้นที่เป็นขั้นๆต่อเนื่องกันเพื่อปลูกพืช ลดความยาวและระดับความลาดเท การทำคันดินโดยพื้นที่จะถูกแบ่งออกเป็นช่วงๆ เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลบ่าในแต่ละช่วงออกจากพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงการทำคันชะลอความเร็วของน้ำหรือฝายน้ำล้น การทำคูรับน้ำขอบเขา บ่อดักตะกอน และบ่อน้ำในไร่นา

ในส่วนมาตรการทางวิธีพืช เป็นวิธีการจัดระบบพืชโดยการผสมผสานกันระหว่างมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำและการจัดการระบบพืชปลูกเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของพืช ซึ่งการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีนี้ มีการลงทุนที่ต่ำเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เอง โดยใช้พืชตระกูลถั่ว หญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือ หญ้าธรรมชาติ ปลูกเป็นแถบขวางความลาดเทของพื้นที่ ทั้งนี้เกษตรกรจะต้อง ไม่เผาทำลายเศษซากพืช ไม่ทำไร่เลื่อนลอย มีการไถพรวนให้ถูกวิธี ไม่ไถพรวนขึ้นลงตามความลาดเทของพื้นที่ แต่ไถพรวนขวางความลาดเทของพื้นที่ได้ และไม่ทำการไถพรวนบ่อยครั้ง และควรปลูกพืชให้ถูกวิธี อย่างการปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดินคลุมดิน และปลูกตามแนวระดับ ปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินและน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สศก.เปิดมุมมองบทวิเคราะห์ภาคเกษตรต่อราคาน้ำมัน 

  ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โลกได้เผชิญวิกฤติราคาน้ำมันลดลงอย่างมหาศาล จากราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล เมื่อเดือนมิถุนายน เหลือเพียง 62.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคม 2557 ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี

โดยในเรื่องนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มลดลง ประกอบด้วย 3 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ ความเฟื่องฟูของการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ ของโลก อุปสงค์หรือความต้องการซื้อน้ำมันที่ลดลงในหลายประเทศ และความก้าวหน้าของประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ ซึ่งระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จะมีผลทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรหลายประเภทลดลง ในเบื้องต้นคาดว่าต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรปรับตัวลดลงซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่เหลือนั้น ไปลงทุนเพิ่มเพื่อการผลิตสินค้าและบริการต่อไป

ขณะที่รายงานจากมอร์แกน สแตนเลย์ มีการระบุว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาในระยะสั้นๆ แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดและไม่ยั่งยืน เนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันมิใช่จุดต่ำสุดของตลาด ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันจะเป็นความเคลื่อนไหวเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากมีปัจจัยหลักหลายอย่าง เช่น การปิดแท่นขุดเจาะน้ำมันหลายร้อยแห่งทั่วสหรัฐ ผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลกอย่างกลุ่มโอเปกยังคงกำลังการผลิตเท่าเดิม และปัจจัยอื่นๆ เป็นต้น ที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงไปได้อีก

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการวิเคราะห์ของสศก. ในครั้งนี้ว่า ได้มีการตั้งสมมุติฐาน ให้แนวโน้มระดับราคาน้ำมันลดลงจากระดับราคาน้ำมัน 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (เฉลี่ยเมื่อเดือนตุลาคม 2557) มาจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณีคือ

1.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ยร้อยละ 1.505 โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึงร้อยละ 3.586 และต่ำสุดเพียงร้อยละ 0.146

2.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 40 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ยร้อยละ 2.257 โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึงร้อยละ 5.378 และต่ำสุดเพียงร้อยละ 0.219

3.กรณีที่ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่โดยเฉลี่ย 30 เหรียญสหรัฐต่อ บาร์เรล พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.010 โดยมีสาขาประมงลดต้นทุนได้สูงสุดได้ถึงร้อยละ 7.171 และต่ำสุดเพียงร้อยละ 0.292

จะเห็นได้ว่าหากระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จะมีผลทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรลดลงเช่นเดียวกัน (คำนวณจากต้นทุนเฉลี่ยสินค้าเกษตร 10 สาขาการผลิตสำคัญ) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่เหลือนั้นนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและ/หรือนำไปลงทุนเพิ่มเพื่อการผลิตสินค้าและบริการให้มากขึ้นต่อไป

สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สำคัญ 6 รายการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และผลไม้ จะพบว่า เมื่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรลดลง จึงส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของการเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรในตลาดโลกมากขึ้น และเมื่อการผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดการปรับปรุงสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการจ้างแรงงานภาคเกษตรมากขึ้น ดังนี้ โดยเมื่อพิจารณาแต่ละสินค้า พบว่า

ข้าว เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้ปริมาณการผลิตข้าวนาปี จากจำนวนการผลิตข้าว 27.1 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 28.2 ล้านตัน

มันสำปะหลัง เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้ปริมาณการผลิตข้าวนาปี จากจำนวนการผลิตมันสำปะหลัง 30.0 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 30.1 ล้านตัน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้ปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากจำนวนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.8 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 ล้านตัน

ยางพารา เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้ปริมาณการผลิตยางพารา จากจำนวนการผลิตข้าว 4.41 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.43 ล้านตัน

ปาล์มน้ำมัน เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้ปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมัน จากจำนวนการผลิตข้าว 12.5 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.2 ล้านตัน

ผลไม้(เงาะ) เมื่อระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณ

 การผลิตเงาะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 แต่ถ้าหากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ ระดับ ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตเงาะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้ปริมาณการผลิตเงาะ จากจำนวนการผลิตข้าว 0.32 ล้านตันและการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.33 ล้านตัน

ทั้งนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันลดลง จะส่งผลทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรลดลง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่เหลือนั้น นำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและ/หรือนำไปลงทุนเพิ่มเพื่อการผลิตสินค้าและบริการให้มากขึ้น จะทำให้ผลผลิตรวมทางการเกษตรในระดับเศรษฐกิจมหภาคทางการเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.018 เมื่อระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 1 หากแนวโน้มระดับราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงลดลง จะทำให้ผลผลิตเศรษฐกิจมหภาคทางการเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นนั่นเอง สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรรายสาขา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สำคัญ 6 รายการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและผลไม้ จะพบว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรลดลง จึงส่งผลทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของการเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรในตลาดโลกมากขึ้นตามไปด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เตรียมความพร้อมแก้ปัญหาการเผาพื้นที่การเกษตร

เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร และเร่งรัดจัดการปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีนายไพรัช หวังดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธาน ณ ห้อง Operation Room  กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันก่อน  เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร และเร่งรัดจัดการปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งเกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่การเกษตรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องและจริงจัง

นายไพรัช รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ในช่วงหน้าแล้งเกษตรกรมักจะเผาตอซังข้าวและเศษพืชที่เหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเผาจะทำให้เกิดปัญหามลพิษและหมอกควัน ส่งผลเสียหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพอนามัย รวมทั้งด้านการเกษตร จากการประมวลผลข้อมูลคุณภาพอากาศ จุดที่คาดว่าจะเกิดความร้อน  ซึ่งเกิดจากการเผาในที่โล่ง พบว่า 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก และอุตรดิตถ์ จะประสบปัญหามลพิษและหมอกควันรุนแรง

“กรมฯ จึงส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างเร่งด่วน พร้อมจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้เพื่อการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร และส่งเสริมให้มีการรวมตัวเป็นเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา นอกจากนั้นยังมุ่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นสมาร์ท ฟาร์เมอร์ เน้นให้ทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงและได้ใช้เครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่ด้วยตนเองต่อไป”รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สงครามค่าเงินสะเทือนไทย ถึงเวลาลดดอกสู้หรือยัง

วันนี้ “สงครามค่าเงิน” กำลังแผ่กระจายไปทั่วโลก ยุโรป จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งเพื่อนบ้านไทย ต่างลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ค่าเงินอ่อนลง สร้างความได้เปรียบในการส่งออกสินค้า จนนักวิเคราะห์วิตกกันว่าจะเกิด “ภาวะเงินฝืด” ไปทั่วโลก แต่ กนง. คณะกรรมการนโยบายการเงิน แบงก์ชาติ ก็ยังยืนยันไม่ลดดอกเบี้ย แต่ในการประชุมเมื่อปลายเดือนมกราคม เสียงเริ่มแตกออกเป็น 5 ต่อ 2

วันนี้ผมมีจดหมายจาก คุณโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ลเอ (1991) ผู้ส่งออกกระดาษรายใหญ่ยี่ห้อเอเอไปขายทั่วโลกจนโด่งดัง และมีการลงทุนในหลายประเทศ ได้เขียนจดหมายมาแสดงความคิดเห็นเรื่อง “สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของไทย” ผมจึงขอนำมาลงให้อ่านกันตรงนี้

“เนื่องจากในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ เช่น สกุลเงินยูโร ดอลลาร์ออสเตรเลีย ริงกิตมาเลเซีย ซึ่งเมื่อเทียบกับ เงินยูโร แล้ว เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากถึง 20% ทำให้เป็นปัญหาว่า นักลงทุน หรือ นักท่องเที่ยวในแถบยุโรป เวลาเข้ามาลงทุน หรือมาท่องเที่ยวในเมืองไทย จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 20% มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยลดลง

ส่วนทางด้าน ญี่ปุ่น ไทยมีการนำเข้าและส่งออกสินค้ากับญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนกว่าค่าเงินบาทไทยไปเยอะมาก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ากว่าเงินเยนญี่ปุ่นถึง 20–30% ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย อาจจะชะลอตัวลง สินค้าที่ผลิตในเมืองไทย จากเดิมที่มีต้นทุนที่สามารถแข่งขัน ได้กลับกลายเป็นต้นทุนที่แพงขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทมีค่ามากขึ้น

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย มีเงื่อนไขในการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพราะมีความกังวลในเรื่อง อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งกรณีนี้ ราคาน้ำมันได้ลดต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมมีแนวโน้มต่ำลง ราคาอาหาร ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มลดลง ผลจากราคาน้ำมันที่ต่ำลง เพราะฉะนั้น ถ้า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเลย

ด้าน รัฐบาล ก็ควรจะมีการส่งสัญญาณให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็จะทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนลงมาใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย หรือสะท้อนกับประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัว และมีความสามารถในการแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น จากช่วงที่ตกต่ำที่สุดในปีที่แล้วได้”

นี่คือความเห็นเรื่อง “ค่าเงินบาท” ของนักธุรกิจไทย ซึ่งมีการ ค้าขายระหว่างประเทศ และรับรู้ถึงผลกระทบจากสงครามค่าเงินที่กำลังระบาดไปทั่ว

สัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางสวีเดน ก็เพิ่งประกาศ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไป “ติดลบ 0.1%” และมีมาตรการ QE จะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ในตลาดเป็นครั้งแรก เพื่อทำให้ค่าเงินโครนของสวีเดนอ่อนค่าลง

วันนี้ อัตราดอกเบี้ยยุโรป ซึ่งเป็นตลาดเงินสำคัญ “ติดลบหมด” เช่น ยูโร ติดลบ 0.2% สวิส ติดลบ 0.75% เดนมาร์ก ติดลบ 0.75% และ สวีเดน ติดลบ 0.1% จนหวั่นว่าจะเกิด “ภาวะเงินฝืด”

วันก่อน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็แถลงถึง เงินเฟ้อไทยในปีนี้ ว่า อาจต่ำกว่า 1% เล็กน้อย แต่ เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ที่ 1% ในภาพรวมจึงยังไม่นับว่าเป็นภาวะเงินฝืด แต่ เงินเฟ้อที่ลดลงมาขนาดนี้ ผมคิดว่า น่าจะเริ่มน่าเป็นห่วงได้แล้ว

ก็ต้องรอดูผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 11 มีนาคม ว่าจะออกมาอย่างไร การประชุม กนง.ครั้งที่แล้วมี 2 เสียง ที่ให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ถ้าครั้งนี้ กนง.จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงบ้าง ก็ไม่มีผลต่อเงินเฟ้อ แต่จะช่วยให้การส่งออกไทยดีขึ้น

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชาวไร่-โรงงานผนึกกำลังค้านลอยตัวราคาน้ำตาล

นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายว่า ทางชาวไร่และโรงงานได้มาแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยฯ คณะทำงานจะได้นำความเห็นทั้งหมดสรุปร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสรุปแนวทางเพื่อเสนอนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้

สิ่งที่ชาวไร่ฯและโรงงานมีความเป็นห่วงคือ อาทิ ราคาน้ำตาลตลาดโลกจะเป็นอย่างไรต้องมั่นใจว่าน้ำตาลในประเทศต้องเพียงพอ ราคาอ้อยจะต้องไม่ผันผวนจนกระทบรายได้เกษตรกร และกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องมีเสถียรภาพและมีความมั่นคง

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยมีความกังวลต่อนโยบายการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้าดำเนินการในฤดูหีบหน้า (2558/2559) หรือช่วงพฤศจิกายน 2558 โดยเห็นว่ายังเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ควรใช้ระบบเดิมไปก่อน เนื่องจากกรอบดำเนินการต่าง ๆ ยังไม่มีความชัดเจน

นายธีระชัยกล่าวว่า การที่กระทรวงอุตสากรรมส่งสัญญาณการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปอาจทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ไม่พิจารณาการปล่อยกู้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยเพิ่มเติมฤดูการผลิตปี 2557/2558 ที่ชาวไร่กำลังเรียกร้อง เพราะการลอยตัวราคาน้ำตาลอาจนำมาซึ่งการยกเลิกเก็บเงินจากราคาขายน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ซึ่งเป็นรายได้หลักในการชำระหนี้

"อยากให้แก้เร่งไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นที่ตกต่ำหลังจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน.ประกาศไว้ที่900บาทต่อตัน ซึ่งชาวไร่เสนอขอกู้เพิ่มอีก 160 บาทต่อตันด้วยการกู้ ธ.ก.ส.เหมือนที่ผ่านมาก่อน โดยที่ประชุมรับว่าจะหารือกันในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้"

นางชนิดา อัษฎาธร รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า โครงสร้างปัจจุบันดีอยู่แล้วไม่ต้องทำอะไรในช่วงจังหวะราคาโลกต่ำการลอยตัวจะกระทบชาวไร่อ้อยจะทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องทั้งระบบ

 นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคเอสแอล กล่าวว่า ในระยะสั้นนี้ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะลอยตัวน้ำตาล เพราะหากจะลอยตัวต้องให้แนวทางมีความชัดเจนก่อนเพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้มีความสลับซับซ้อนมาก

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

รายงานพิเศษ : สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เร่งหยุดยั้งปัญหาดินเค็ม

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม หนองคาย กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ซึ่งปัญหาดินส่วนใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชผลของเกษตรกรจะเป็นเรื่องของดินเค็ม

นายภิญโญ สุวรรณชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณดินเค็มค่อนข้างมาก ประมาณ 17.8 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 29% ของพื้นที่เพาะปลูกของภาค ดังนั้นปัญหาดินเค็ม จึงถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำการเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการแบ่งสภาพปัญหาดินเค็มออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ดินเค็มน้อยคือวัดระดับคราบเกลือบนผิวดินต่ำกว่า 10% ส่วนดินเค็มปานกลาง จะมีระดับคราบเกลืออยู่ระหว่าง 10-50% และถ้าเกิน 50% ขึ้นไปจะอยู่ในระดับดินเค็มจัด ซึ่งถ้าไม่มีการหยุดยั้งดินเค็มจะทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังแหล่งอื่นอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้พื้นที่ดินเค็มน้อยกลายเป็นดินเค็มปานกลาง โดยเฉพาะพื้นที่ดินเค็มปานกลางที่อยู่ในระดับ 30-45% ถ้าไม่รีบหยุดยั้งก็จะพัฒนากลายไปสู่ดินเค็มจัดต่อไปในอนาคต การแก้ปัญหาก็ยุ่งยากและมีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรก็จะลดน้อยลงไป เนื่องจากข้อจำกัด พืชเจริญเติบโตช้าลงหรืออาจไม่เจริญเติบโตเลยในบางพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นมากมาย ที่สำคัญคือการละทิ้งที่ดินทำกินออกไปใช้แรงงานต่างถิ่นมากขึ้น

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้พยายามดำเนินการหยุดยั้งปัญหาดินเค็มไม่ให้แพร่กระจายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยใช้กระบวนการและเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบเข้าไปจัดการพื้นที่ดินเค็ม เริ่มตั้งแต่การควบคุมการแพร่กระจายของดินเค็มให้อยู่ในวงจำกัดไม่ให้แพร่กระจายไปที่อื่น ด้วยการควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็ม โดยปลูกไม้ยืนต้นเพื่อลดระดับน้ำใต้ดินไม่ให้น้ำที่เค็มขึ้นสู่ชั้นผิวดิน อีกอย่างคือการปลูกพืชปรับปรุงดิน โดยเฉพาะพืชปุ๋ยสดอย่างปอเทืองและโสนอัฟริกัน แล้วไถกลบเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างเม็ดดินให้มากขึ้น ความเค็มที่ผิวดินจะได้ลงสู่ชั้นใต้ดินได้ดีขึ้น ควบคู่กับการจัดรูปแปลงนา ส่งเสริมการใช้พันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ดินเค็มได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ผลการดำเนินการปรับปรุงและแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในหลายจังหวัด ทั้งขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ทุ่งเมืองเพีย ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหายับยั้งดินเค็ม และสามารถพลิกฟื้นพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าวพันธุ์ดีได้อีกครั้ง จนต้องยกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการแก้ปัญหาดินเค็มที่สามารถนำไปต่อยอดขยายผลสู่พื้นที่ดินเค็มที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายภิญโญกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาดินเค็มต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขจึงจะเห็นผลสัมฤทธิ์ และจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการหลายอย่างเข้ามามีส่วนร่วม ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ก็ได้ระดมองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบเข้าไปจัดการในพื้นที่ปัญหาดินเค็มเหล่านั้น โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนคือศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินของหมอดินอาสาประจำตำบล หมอดินอาสาประจำอำเภอ เพื่อให้เป็นจุดเรียนรู้ของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และต่อมาก็มีการขยายผลสร้างเครือข่าย บูรณการความร่วมมือในระดับที่ใหญ่ขึ้นคือ ร่วมมือกับภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาเป็นองค์รวมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนในที่สุด

ดังนั้น อยากฝากถึงเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบปัญหาดินเค็ม ขอให้เชื่อมั่นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินที่ได้เข้าไปส่งเสริมในพื้นที่ของท่าน เพราะกรมพัฒนาที่ดินมีจุดประสงค์ที่จะช่วยเหลือท่านให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญท่านจะได้ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อออกไปหารายได้ต่างถิ่นอีกต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

น้ำเค็มรุกเกษตรกลางตอนล่าง วัดค่าได้30.59กรัมต่อลิตร

นายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 16 ฉะเชิงเทรา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าช่วงฤดูแล้งของทุกปี พื้นที่การเกษตรลุ่มภาคกลางตอนกลาง เช่น จ.ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก กำลังประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้การรุกตัวของน้ำเค็มขึ้นสูง ในพื้นที่ชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งในการรุกตัวของน้ำเค็มได้ไลผ่าน จ.ฉะเชิงเทราใน อ.บางปะกง บ้านโพธิ์ เมืองฉะเชิงเทรา คลองเขื่อน บางน้ำเปรี้ยว รวมระยะทางมากกว่า 140 กม.  และกำลังจะเข้าสู่เขต จ.ปราจีนบุรีที่ อ.บ้านสร้าง

ช่วงเดือน ก.พ.นี้ได้ตรวจพบค่าความเค็มในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรามีค่าความเค็มสูงสุดอยู่ที่ ประตูระบายน้ำปากตะคลอง ความเค็มประมาณ 30.59 กรัมเกลือต่อลิตร ซึ่งสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์เลี้ยงทุกชนิด  โดยค่าความเค็มมาตรฐานที่จะต้องมีความเค็มไม่เกินประมาณ 2.00 กรัมเกลือต่อลิตร จึงจะเหมาะสมกับการเกษตร

“ปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มใกล้เคียงกับปี 44 และปี 55 ที่เคยมีค่าความเค็มสูงมากขณะนี้ได้สั่งการให้ปิดประตูระบายน้ำในคลองต่างๆ  เพื่อป้องกันการรุกคืบของน้ำเค็มเข้าไปในพื้นที่การเกษตรมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรของทั้ง 2 จ. ได้ติดตามและเฝ้าระวังพร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรให้เตรียมตัวรองรับผลกระทบต่อพืช  เลี้ยงสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยได้เตรียมวางแผนเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อรองรับกับสถานการณ์การรุกคืบของน้ำเค็มในปัจจุบัน”นายบุญลาภ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

สศก. แจงดัชนีราคาสินค้าเกษตรม.ค.58เพิ่มขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2558 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย           โดยยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา เผย มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน หอมแดง หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง และกาแฟ ออกตลาดช่วงกุมภาพันธ์นี้

นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจาก ดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนมกราคม 2558 พบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.10 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2557 โดยสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยยางพารา ราคาสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง  สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และสุกร โดยมันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น สุกร ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว (ปี 2557) พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง ร้อยละ 11.12              สินค้าเกษตรที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ โดยยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมา สินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยมันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการของโลกเพิ่มมากขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา

สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2557 พบว่า ลดลงร้อยละ 3.57  สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และสุกร 

หากเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว (ปี 2557) พบว่า ภาพรวมผลผลิตสูงขึ้น ร้อยละ 1.19 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่  สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน  ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะต่ำกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และจะลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2558 สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมากในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน หอมแดง หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง และกาแฟ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

สภาพัฒน์ คาดส่งออกปี 58 ฟื้น ดันจีดีพีโต 3.5-4.5%

จากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคส่งออก ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และลงทุนภาคเอกชน-ท่องเที่ยว ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ส่งผลดีให้อำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ...

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 57 โดยที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมัน การเร่งรัดการใช้จ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ และการเริ่มกลับมาขยายตัวของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และแนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศสำคัญๆ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่การปรับตัวของสถานการณ์ด้านราคาในช่วงครึ่งปีหลังยังเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ประเมินแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 58 ราว 3.5-4.5% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 3.5% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.9% และ 6.0% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.0-1.0% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.9% ของ GDP ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ราว 50-60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

ด้านเศรษฐกิจโลกในปี 58 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3.5% เร่งขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัว 3.2% ในปี 57 สนับสนุนโดยการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวช้าๆ ท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเงินฝืด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปี 57 และเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมใหม่และภูมิภาคอาเซียนปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาและแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อลดลง

ส่วนประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของไทยในปี 58 ต้องให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตรเพิ่มเติมจากมาตรการการให้เงินช่วยเหลือการผลิตและสินเชื่อต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว (2) การดูแลธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศ ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ (3) การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเสริมและการยกระดับทักษะสำหรับผู้มีรายได้น้อย (4) การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 4.0%

(5) การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงค้างอยู่และโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ในช่วงปลายปี 57 รวมทั้งเร่งรัดติดตามโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วให้ดำเนินการลงทุนโดยเร็ว (6) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (7) การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2558 และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/58 จะมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีแรงหนุนสำคัญจากการเริ่มลงทุนก่อสร้างในโครงการสำคัญต่างๆ ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับการอนุญาตการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

"หากแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้น บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเริ่มต้นก่อสร้าง ก็จะทำให้ GDP ของเราเติบโต และสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้เราหีบอ้อยช้า เพราะฉะนั้นผลผลิตอ้อยและน้ำตาลจะออกในไตรมาสที่ 1 ก็เชื่อว่า GDP ในไตรมาสที่ 1 จะเป็นบวกแน่นอน" นายอาคม ระบุ

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

รายงานพิเศษ : สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เร่งหยุดยั้งปัญหาดินเค็ม

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม หนองคาย กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ซึ่งปัญหาดินส่วนใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชผลของเกษตรกรจะเป็นเรื่องของดินเค็ม

นายภิญโญ สุวรรณชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณดินเค็มค่อนข้างมาก ประมาณ 17.8 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 29% ของพื้นที่เพาะปลูกของภาค ดังนั้นปัญหาดินเค็ม จึงถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำการเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการแบ่งสภาพปัญหาดินเค็มออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ดินเค็มน้อยคือวัดระดับคราบเกลือบนผิวดินต่ำกว่า 10% ส่วนดินเค็มปานกลาง จะมีระดับคราบเกลืออยู่ระหว่าง 10-50% และถ้าเกิน 50% ขึ้นไปจะอยู่ในระดับดินเค็มจัด ซึ่งถ้าไม่มีการหยุดยั้งดินเค็มจะทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังแหล่งอื่นอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้พื้นที่ดินเค็มน้อยกลายเป็นดินเค็มปานกลาง โดยเฉพาะพื้นที่ดินเค็มปานกลางที่อยู่ในระดับ 30-45% ถ้าไม่รีบหยุดยั้งก็จะพัฒนากลายไปสู่ดินเค็มจัดต่อไปในอนาคต การแก้ปัญหาก็ยุ่งยากและมีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรก็จะลดน้อยลงไป เนื่องจากข้อจำกัด พืชเจริญเติบโตช้าลงหรืออาจไม่เจริญเติบโตเลยในบางพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นมากมาย ที่สำคัญคือการละทิ้งที่ดินทำกินออกไปใช้แรงงานต่างถิ่นมากขึ้น

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้พยายามดำเนินการหยุดยั้งปัญหาดินเค็มไม่ให้แพร่กระจายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยใช้กระบวนการและเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบเข้าไปจัดการพื้นที่ดินเค็ม เริ่มตั้งแต่การควบคุมการแพร่กระจายของดินเค็มให้อยู่ในวงจำกัดไม่ให้แพร่กระจายไปที่อื่น ด้วยการควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็ม โดยปลูกไม้ยืนต้นเพื่อลดระดับน้ำใต้ดินไม่ให้น้ำที่เค็มขึ้นสู่ชั้นผิวดิน อีกอย่างคือการปลูกพืชปรับปรุงดิน โดยเฉพาะพืชปุ๋ยสดอย่างปอเทืองและโสนอัฟริกัน แล้วไถกลบเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างเม็ดดินให้มากขึ้น ความเค็มที่ผิวดินจะได้ลงสู่ชั้นใต้ดินได้ดีขึ้น ควบคู่กับการจัดรูปแปลงนา ส่งเสริมการใช้พันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ดินเค็มได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ผลการดำเนินการปรับปรุงและแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มในหลายจังหวัด ทั้งขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ทุ่งเมืองเพีย ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหายับยั้งดินเค็ม และสามารถพลิกฟื้นพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าวพันธุ์ดีได้อีกครั้ง จนต้องยกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการแก้ปัญหาดินเค็มที่สามารถนำไปต่อยอดขยายผลสู่พื้นที่ดินเค็มที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายภิญโญกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาดินเค็มต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขจึงจะเห็นผลสัมฤทธิ์ และจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการหลายอย่างเข้ามามีส่วนร่วม ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ก็ได้ระดมองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบเข้าไปจัดการในพื้นที่ปัญหาดินเค็มเหล่านั้น โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนคือศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินของหมอดินอาสาประจำตำบล หมอดินอาสาประจำอำเภอ เพื่อให้เป็นจุดเรียนรู้ของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และต่อมาก็มีการขยายผลสร้างเครือข่าย บูรณการความร่วมมือในระดับที่ใหญ่ขึ้นคือ ร่วมมือกับภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาเป็นองค์รวมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนในที่สุด

ดังนั้น อยากฝากถึงเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบปัญหาดินเค็ม ขอให้เชื่อมั่นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินที่ได้เข้าไปส่งเสริมในพื้นที่ของท่าน เพราะกรมพัฒนาที่ดินมีจุดประสงค์ที่จะช่วยเหลือท่านให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญท่านจะได้ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อออกไปหารายได้ต่างถิ่นอีกต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดิน กับแนวทางการอนุรักษ์ดิน-น้ำเพื่อการเกษตร (1)

ดินและน้ำ เป็นทรัพยากรพื้นฐานสําคัญ ที่อํานวยประโยชน์ในการดํารงชีวิตแก่มนุษย์ เป็นปัจจัยหลักในการผลิตพืชผลทางการเกษตร จึงจําเป็นต้องมีการอนุรักษ์ดินและน้ำควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการผลิตทางการเกษตร เพราะถ้ามีดินแต่ขาดน้ำหรือความชื้น พืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติ สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเท ถ้านำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรอย่างไม่ถูกต้อง ก็อาจเกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินได้ มีการสูญเสียหน้าดิน และทำให้ดินมีความเสื่อมโทรม การบริหารและจัดการทรัพยากรดินและน้ำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำได้อย่างยั่งยืน

กรมพัฒนาที่ดิน มีนโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องในพื้นที่เขตพัฒนาที่ดิน โดยพิจารณาจากพื้นที่เกษตรกรรมที่มีปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินตามภูมิภาคต่างๆ ด้วยการสํารวจและจัดทําฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน กําหนดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุง บํารุงดิน เพื่อไปในทิศทางเดียวกันและเกิดผลดีกับพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เขตพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ดําเนินการและปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ ได้มีการบูรณาการเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน โดยใช้เป็นจุดเรียนรู้แปลงสาธิตและทดสอบ ด้านการบริหารและจัดการทรัพยากรดินและน้ำขนาดใหญ่ในลักษณะการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบมากที่สุด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กล่าวคือ ในพื้นที่ต้นน้ำ ต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้สําหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่วนพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ ให้นําระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งมีทั้งมาตรการทางวิธีกลและมาตรการวิธีพืชเข้าไปช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ถ้าเกิดน้ำไหลบ่าก็ควรวางแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ตลอดจนออกแบบระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อควบคุมน้ำและระบายน้ำ ส่วนพื้นที่การเกษตรที่มีปัญหาดินนั้น ให้นําเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดิน เข้าไปพัฒนาฟื้นฟูปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

จับตาวิกฤติภัยแล้ง'ลุ่มเจ้าพระยา-แม่กลอง'ระทมทุกข์ในรอบ20ปี

: พัฐอร พิจารณ์โสภณ เรื่อง/วัชรชัย คล้ายพงษ์

              ปัญหา "ภัยแล้ง" มาเร็วกว่าที่คิด ทำให้หลายจังหวัดประสบภาวะขาดแคลนน้ำอย่างหนัก โดยเฉพาะบ่อน้ำตามธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งเขื่อนขนาดใหญ่ กำลังมีปริมาณน้ำเหลือเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ในบางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำประปาไม่พอใช้ ทำให้กรมชลประทานต้องออกประกาศให้เกษตรกรงดทำนาปรัง เพื่อรักษาน้ำไว้ใช้ตลอดหน้าแล้งของปีนี้

              สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้เริ่มลุกลามอย่างเห็นได้ชัด หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาน้ำไม่พอใช้ โดยเฉาะพื้นที่ ต.ท่าจะหลุง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ชาวบ้านประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก แหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้งขอด ส่วนน้ำประปาก็ไม่มีใช้ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านต้องแก้ปัญหาด้วยการจ้างช่างมาขุดเจาะบ่อบาดาล

              "อำนวย รื่นอายุ" ครูโรงเรียนบ้านหนองกก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา บอกว่า ตอนนี้โรงเรียนแทบจะไม่มีน้ำใช้ เพราะน้ำประปาจะไหลเฉพาะเวลากลางคืน จึงต้องจ้างช่างมาเจาะน้ำบาดาลเพื่อเก็บให้นักเรียนใช้ โดยที่ผ่านมาทางโรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการให้ครูเวร หรือภารโรงรองน้ำประปาในเวลากลางคืน แต่ยังไม่เพียงพอ ส่วนน้ำดื่มต้องไปขอจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อมาเติมให้นักเรียนดื่ม

              "โรงเรียนประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก น้ำฝนที่เคยรองไว้ระยะหลังไม่สามารถดื่มได้ เราต้องผชิญกับปัญหาดังกล่าวทุกปี แต่ในปีนี้คาดว่าจะหนักมากที่สุด จึงต้องจ้างช่างมาขุดบ่อบาดาลเพื่อรองรับสถานการณ์"

               ความเดือดร้อนจากภัยแล้ง นอกจากจะกระทบต่อครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองกก แต่ปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับชาวบ้านแทบทุกอำเภอของ จ.นครราชสีมา เช่นกัน ซึ่งทางแก้หนทางเดียวที่จะช่วยบรรเทาไปได้ คือ การขุดบ่อบาดาลให้ได้มากที่สุด

              "มานะ เจ๊กแตงพะเนา" ช่างขุดเจาะบ่อบาดาล บอกว่า ปีนี้แล้งมาก บางที่แล้งถึงขนาดผืนดินแตกระแหง น้ำประปาไหลบ้างไม่ไหลบ้าง ทำให้ชาวบ้านจ้างชุดบ่อบาดาลกันมากมาย โดยคนที่มาจ้างมีทั้งเกษตรกร ชาวบ้าน และหน่วยงานต่างๆ ตอนนี้คิวเยอะมาก จึงกำหนดไม่ได้ว่า ชาวบ้านจะได้คิวในวันไหน

              แม้ปีนี้จะเพิ่งย่างเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ภัยแล้งกลับสร้างผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเขื่อนสำคัญในพื้นที่ต่างๆ อาทิ เขื่อนลำคอง ขณะนี้มีน้ำเหลือเพียงร้อยละ 37 ซึ่งน้ำที่เหลือในตอนนี้ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และทำน้ำประปาเป็นหลักเท่านั้น

              ไม่ต่างจากพื้นที่ในลุ่มเจ้าพระยา ใน จ.ลพบุรี ที่ปีนี้มีข้อมูลระบุว่า แล้งหนักในรอบ 20 ปี

              จากการสำรวจพบว่า "แม่น้ำบางขาม" แหล่งน้ำสายหลักกลับแห้งขอด เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก ถึงขนาดต้องรวมตัวว่าจ้างผู้รับเหมาสร้างคันดินกั้นน้ำให้เป็นแอ่ง ก่อนจะนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้ง เพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร ขณะที่เกษตรกรหลายรายต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อย่างเช่น มันสำปะหลัง เผือก หรือแตงกวา ทดแทน

              ทั้งนี้ ตามปกติในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี จะเป็นช่วงการทำนาปรังของชาวนา แต่ปีนี้ชาวนาหลายรายต้องหยุดทำนา เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

              "สุเทพ น้อยไพโรจน์" รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนกรมชลฯ จะประเมินว่า น้ำในปีนี้มีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคหรือไม่เป็นอันดับแรก จากนั้นจะประเมินถึงสถานการณ์น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ก่อนจะมาประเมินถึงการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ยืนยันว่า น้ำเพียงพอที่จะเริ่มเพาะปลูกได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ส่วนพื้นที่อื่นๆ กรมชลฯ ประเมินว่า จะมีน้ำส่งไปเช่นเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ตลอดฤดูแล้ง

              "เป็นภัยแล้งที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี ครั้งก่อนเกิดขึ้นระหว่างรอยต่อปี 2537-2538 สำหรับฤดูแล้งปีนี้กรมชลฯ งดส่งน้ำในการทำนาปรังตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เพราะการจัดสรรน้ำต้องคำนึงถึงเรื่องอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ จากนั้นจึงมาพิจารณาน้ำเพื่อการเกษตร"

               สุเทพ บอกว่า ตามวงรอบของระบบนิเวศจะมีภัยแล้งต่อเนื่องกัน 3 ปี และน้ำดี 2 ปี ซึ่งกรมชลฯ ได้วิเคราะห์ถึงวงรอบที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกรมชลฯ อาศัยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า หากฝนมาช้าเล็กน้อยก็จะเก็บน้ำเผื่อไว้ ดังนั้นยืนยันว่า หากสถานการณ์ฝนมาช้าไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ประชาชนจะมีใช้เพียงพอไปถึงเดือนกรกฎาคม ขอให้มั่นใจในสิ่งที่กรมชลฯ วางแผนไว้

              อย่างไรก็ตาม วิกฤติภัยแล้งในปีนี้ทำให้น้ำในเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้อย กรมชลประทานต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรังในหลายจังหวัด เพื่อต้องการเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคและบริโภค รวมถึงใช้ผลักดันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อการผลิตน้ำประปาแล้ว ยังส่งผลต่อระบบนิเวศของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

              "ในปีนี้จะไม่นำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยผลักดันน้ำเค็ม เพราะน้ำจากแม่กลองน้อยมาก เราจะใช้น้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาควบคุม ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 เมื่อรวมกันแล้วต้องได้ปริมาณประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป เรานำบทเรียนจากปีที่แล้วมาแก้ไข เพราะปีที่แล้วเราวางแผนการใช้น้ำไหลมาที่บางไทรให้ได้ในปริมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหมือนกัน แต่ปรากฏว่า เกษตรกรนำน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก ทำให้แผนที่วางไว้ผิดพลาด ส่งผลให้น้ำที่ไหลมาจากบางไทรมีน้อยมาก ดังนั้นในปีนี้เราต้องปรับใหม่เลย"

               จากบทเรียนปัญหา "น้ำเค็ม" เข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปาเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ในปีนี้การประปานครหลวงต้องประสานกรมชลประทาน โดยเพิ่มความเข้มในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน เพื่อผลักดันน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

              ขณะเดียวกันในส่วนของเจ้าหน้าที่การประปาต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปา

              "ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ" ผู้ว่าการการประปานครหลวง ให้ข้อมูลว่า ทุกหน้าแล้งน้ำจะมีความเค็มขึ้นมา โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้แก้ปัญหาด้วยการไม่สูบน้ำดิบเข้าคลองประปา หรือไม่สูบน้ำดิบบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ทำให้น้ำเข้าไม่ได้ แต่ในต้นปีน้ำเค็มขึ้นมามาก การประปานครหลวงได้ประสานงานกับกรมชลฯ เพื่อนำน้ำมาผลักดันไล่น้ำเค็มไปได้

              "ปีนี้เราได้บทเรียนแล้วจึงเอาน้ำมายันไว้แต่ต้น ทั้งนี้หากค่าความเค็มในสถานีสูบน้ำดิบสำแลสูงเกินกว่า 0.25 กรัมต่อลิตร จะส่งผลให้น้ำประปามีรสกร่อย แต่จะรู้สึกได้ก็ต่อเมื่อความเค็มมีค่าสูงถึง 0.5 กรัมต่อลิตร ปัจจุบันน้ำประปามีค่าความเค็มไม่เกิน 0.19 กรัมต่อลิตร"

               จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ อาจเป็นแค่ช่วงของการเผาหลอก ซึ่งจากนี้ไปยังไม่รู้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะรุนแรงเพิ่มทวีคูณขึ้นมากแค่ไหน ดังนั้นการวางแผนใช้น้ำในแต่ละปีจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดประชาชนและเกษตรกรต้องให้ความร่วมมือในการร่วมกันจัดสรรน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะมิฉะนั้นแล้วปัญหาภัยแล้งจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอย่างนี้ตลอดไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวดีด้านเศรษฐกิจไทย

โอฬาร สุขเกษม ความสนใจของคนไทยโดยทั่วไปเวลานี้จับจ้องอยู่ที่เศรษฐกิจบ้านเราดีจริงหรือเปล่า ทำไมการซื้อขายโดยทั่วไปแผ่วลง ขณะที่ฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ออกมาบอกว่า ปีนี้เศรษฐกิจดีแน่ เพราะหลายอย่างดีขึ้น เริ่มต้นจากราคาน้ำมันลดลงเยอะมากทำให้เงินเหลือใช้จ่ายในกระเป๋ามีเพิ่มมากขึ้น จากราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อเดือนมิถุนายน 2557  เหลือเพียง 62.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งลดลงต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี

    กรณีดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มลดลงต่อไปอีก  ประกอบด้วย 3 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ ความเฟื่องฟูของการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ ของโลก อุปสงค์หรือความต้องการซื้อน้ำมันที่ลดลงในหลายประเทศ และความก้าวหน้าของประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ ซึ่งระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

    การลดลงนี้จะมีผลทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าทางการเกษตรหลายประเภทลดลง ในเบื้องต้นคาดว่าต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรปรับตัวลดลงซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่เหลือนั้นไปลงทุนเพิ่มเพื่อการผลิตสินค้าและบริการต่อไป

    ทั้งนี้กรณีราคาน้ำมันลดลงร้อยละ 1 จะดึงผลผลิตรวมเศรษฐกิจมหภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.018 สู่โอกาสของการเพิ่มระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรในตลาดโลกมากขึ้นตามไปด้วย

    อีกข่าวหนึ่งคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ นัดแรกของปี 2558 โดยพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนแก่กิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน

    ตั้งแต่ช่วงปี 2557 รวม  23 โครงการ เงินลงทุนกว่า 77,228  ล้านบาท  พร้อมเห็นชอบให้นักลงทุนรายเดิมที่เคยได้รับส่งเสริม สามารถขอรับส่งเสริมเพิ่มเติมได้หากลงทุนเพิ่มในด้านพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน อาทิ วิจัยพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฝึกอบรมขั้นสูง

    กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและน่าสนใจก็มี กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิตรวม 448.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,265.9 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 โครงการ จังหวัดสงขลา 1 โครงการ และตั้งในจังหวัดชัยภูมิ 5 โครงการ กิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,251 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร)  เงินลงทุนทั้งสิ้น 960 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์  กำลังการผลิตไอน้ำ 195 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดสุโขทัย กิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย)  เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,440 ล้านบาท  กำลังการผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์  กำลังการผลิตไอน้ำ 510 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดลพบุรี

    การลงทุนที่น่าสนใจเป็นพิเศษและสะท้อนถึงการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวก็คือ การส่งเสริมการลงทุนกิจการขนส่งทางอากาศจำนวน 8 โครงการ มูลค่ารวม 34,876.8  ล้านบาท อาทิ บริษัท ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด  ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ อาทิ ขนส่งผู้โดยสาร ส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,007 ล้านบาท  บริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ รวม 4 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 17,034 ล้านบาท เป็นการเช่าเครื่องบินใหม่แบบ Boeing B-737-900 ER รวมจำนวน 14 ลำ และบริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอย์ท สต๊อค จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าเครื่องบินโดยสาร จำนวน 5 ลำ แบบ Airbus A 320 ความจุผู้โดยสารลำละ 180 ที่นั่ง แบ่งเป็นเครื่องบินเก่า จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินใหม่ จำนวน 3 ลำ  มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,325.8 ล้านบาท เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558

“ทีเส็บ” เปิดแผนดันงานแสดงสินค้า 5 อุตสาหกรรมหลักรับ “เออีซี”  

“ศุภวรรณ ตีระรัตน์” รองผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” 

          เปิดโครงการ ASEAN Rising Trade Show” สู่การเป็นฮับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน เน้นส่งเสริมการจัดงาน “อุตสาหกรรมยานยนต์ - พลังงาน - อาหารและสินค้าเกษตร - สินค้าสุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐาน”

               นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า “ทีเส็บ” ได้เปิดตัวโครงการ “ASEAN Rising Trade Show” (ART) กับแนวคิด “Think Big, Go Beyond” ซึ่งเป็นแคมเปญส่งเสริมความแข็งแกร่งของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้มีการยกระดับคุณภาพของงานแสดงสินค้าของไทยและผลักดันให้ธุรกิจการแสดงสินค้าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยโครงการได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) และยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก หรือ UFI ในการร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินคัดเลือกงานแสดงสินค้านานาชาติในแต่ละอุตสาหกรรมอีกด้วย”

               สำหรับ 2558 “ทีเส็บ” เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์สู่การเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย การยกระดับงานแสดงสินค้านานาชาติ การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการดำเนินงานด้านการตลาด และการขยายขอบเขตความร่วมมือเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตหลายด้าน อาทิ การเป็นฐานการผลิตและส่งออกสำคัญของภูมิภาค การสนับสนุนจากรัฐบาล สาธารณูปโภครองรับการแสดงสินค้ามาตรฐานระดับโลก และโอกาสทางธุรกิจที่พร้อมเป็นประตูสู่ใจกลางอาเซียน

               โครงการ “ASEAN Rising Trade Show” เป็นการส่งเสริมงานแสดงสินค้านานาชาติของไทยตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 3 ปีการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติแห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยชู 5 อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยซึ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมพื้นฐานตามแนวโน้วการเติบโตของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมสุขภาพ และอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน

               โครงการ ASEAN Rising Trade Show ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์การให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อกระตุ้นงานด้านตลาดต่างประเทศ ผลักดันให้ผู้ประกอบการ ผู้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติเร่งพัฒนาคุณภาพและกิจกรรมการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้สามารถดึงดูดผู้เข้าชมงานและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จำนวนมากขึ้น

               “โครงการ ASEAN Rising Trade Show มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปีตั้งแต่ปี 2558-2560 โดยงานแสดงสินค้านานาชาติที่ผ่านการคัดเลือกต้องเป็นงานแสดงสินค้าซึ่งมีแนวคิดด้านการตลาดในเชิงสร้างสรรค์ พร้อมส่งเสริมธุรกิจอย่างยั่งยืน มีศักยภาพในการดึงดูดผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิกอาเซียน มาร่วมแสดงสินค้าและสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจการแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย” นางศุภวรรณ กล่าวเพิ่มเติม

               “ภายใต้กลยุทธ์การขยายความร่วมมือหน่วยงานภาคีเพื่อรองรับ AEC นั้น “ทีเส็บ” ยังสานต่อโครงการ ASEAN MICE Collaboration ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานระดับสมาคมและภาครัฐอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความแข่งแกร่งให้กับภาคเอกชนในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในอาเซียน”

              นางศุภวรรณ กล่าวด้วยว่า “ทีเส็บ” ได้ขยายความร่วมมือไปยัง SACEOS ประเทศสิงคโปร์ และ China Council for the Promotion of International Trade (Yunnan Sub Council) มณฑลยูนนาน ซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อมต่อกับประเทศจีน เน้นการสร้างความร่วมมือเข้าถึงสมาชิกของหน่วยงานซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติของไทย พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมผู้จัดงานแสดงสินค้านานาชาติภายใต้โครงการ ASEAN Rising Trade Show ในการเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมงานที่มีคุณภาพ

               ทั้งนี้ งานแสดงสินค้านานาชาติที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ASEAN Rising Trade Show ประกอบด้วยงาน Horti Asia 2015, งาน Food Ingredients Asia 2015, งาน Food & Hotel Thailand 2015, งาน TFBO & TRAFS 2015 ภายใต้อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร, งาน Automotive Manufacturing 2015, งาน Assembly and Automation Technology 2015 ภายใต้อุตสาหกรรมยานยนตร์, งาน Renewable Energy 2015, งาน 3W Expo 2015, งาน PEA Presents EcolightTech Asia 2015 ภายใต้อุตสาหกรรมพลังงาน, งาน Thailand Lab 2015 ภายใต้อุตสาหกรรมสุขภาพ, และงาน Smart Rail 2015 งาน ASEAN Ceramics 2015 ภายใต้อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน

จาก http://manager.co.th  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558

รายงานพิเศษ : กรมวิชาการเกษตรจับมือกรมส่งเสริมการเกษตรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผักปลอดภัยแปลงใหญ่

ปัญหาของภาคเกษตรไทย ที่อาจเกิดผลกระทบเมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี คือ การมีเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก ที่อาจไม่มีความเข้มแข็งหรืออำนาจต่อรองทางการค้า หรือแม้แต่ประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างความปลอดภัยต่อสินค้า นำมาซึ่งสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้มากขึ้น

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ต่างคนต่างผลิต กระบวนการผลิตจึงมีความแตกต่างกัน โดยที่ผ่านมาการพัฒนาการเกษตรกรรายย่อยก็จะทำในรูปของการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้มีความเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองทางการค้ามากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการแยกกันผลิตซึ่งอาจไม่เห็นผลชัดเจนหรือควบคุมคุณภาพได้ยาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายให้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ขึ้น เพื่อรวมพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อยหลายๆ รายที่มีการผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน เข้ามาอยู่รวมกันเป็นแปลงใหญ่ จะได้มีระบบการผลิตและการบริหารจัดการในการผลิตและการตลาดเหมือนกัน ส่งผลให้สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนด และไม่มีปัญหาด้านการตลาด

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความปลอดภัยของสินค้าพืชในรูปของแปลงใหญ่ดังกล่าว เป็นการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดในพื้นที่เป้าหมายที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนด ควบคู่กับการเข้าไปควบคุมดูแลร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี สารเคมีว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ที่กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลอยู่ รวมถึงการเข้าไปรับรองแหล่งผลิตพืชในระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP พร้อมกันนี้ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ทั้งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และจากส่วนกลางที่เป็นนักวิจัยเข้าไปร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และ เกษตรกรด้วย

สำหรับการผลิตพืชแปลงใหญ่ที่กำหนดร่วมกันในเบื้องต้น มีพืช 13 ชนิด โดยจะเริ่มดำเนินการที่ พืชผักก่อน โดยเฉพาะกะหล่ำปลี ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และพิษณุโลก

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร มีการร่วมมือกันทำงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำไปถ่ายทอดขับเคลื่อนสู่พื้นที่เกษตรกรต่อไป แต่ในปีนี้จะมีความร่วมมือที่พัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่ ก็ต้องมีการร่วมมืออย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำแผนกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 77 จังหวัด จุดนำร่องที่จะดำเนินการผลิตพืชปลอดภัยแปลงใหญ่รวม 215 จุด ครอบคลุม 13 ชนิดพืช ตัวอย่าง 4 จุด ได้แก่ ภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์, อ.พบพระ จ.ตาก, อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร, และ ต.บึงพระ จ.พิษณุโลก ซึ่งทั้ง 4 จุดนี้เป็นแหล่งผลิตผักขนาดใหญ่ ซึ่งมีการใช้สารเคมีปริมาณมากและทุกรูปแบบ มีความไม่ปลอดภัยต่อสินค้าพืช เมื่อวิเคราะห์สภาพพื้นที่ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรบางส่วนแล้ว จึงกำหนดเป้าหมายพื้นที่แปลงใหญ่ แบ่งเป็นที่ภูทับเบิก พบพระ และพรานกระต่าย จะดำเนินการในพื้นที่แปลงขนาด 1,000 ไร่ ส่วนที่บึงพระจะดำเนินการ 300 ไร่

ดังนั้น แต่ละแปลงจะมีพื้นที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับพื้นที่ และชนิดพืช ที่สำคัญความพร้อมของเกษตรกรด้วย เมื่อสามารถชี้เป้าพื้นที่ได้ก็จะต้องพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อทราบถึงปัญหา แล้วหารูปแบบการส่งเสริม รวมถึงต้องนำเทคโนโลยีจากกรมวิชาการเกษตรมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมีอย่างเต็มที่จนเคยชิน เป็นวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก และเมื่อต้องมาทำการส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยเป็นแปลงใหญ่ มีเกษตรกรหลายราย กรมส่งเสริมการเกษตรคงไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยลำพัง จึงต้องระดมกำลังเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรก็จัดทีมเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางทั้งสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรและที่เกี่ยวข้องลงไปดูแลพื้นที่ กรมวิชาการเกษตรก็จัดทีมมาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การจัดการศัตรูพืช รวมถึงควบคุมดูแลร้านค้าจำหน่ายปุ๋ย สารเคมี

ความร่วมมือพัฒนาพื้นที่แปลงใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ทั้งกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ต้องร่วมกันทำงานเดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้รูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่แปลงใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทุ่มงบเดินหน้า พัฒนาแหล่งน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง

 จากการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเป้าหมายหนึ่งใน 31 จังหวัดพบว่า มีการจัดการโครงการฯ ณ บ้านหนองปากชัฏ

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่นำทรัพยากรน้ำบาดาล เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง” ซึ่งจะขยายผลการดำเนินงานต่อเนื่องในปี 2558 เพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการจัดหาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ

นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเป้าหมายหนึ่งใน 31 จังหวัดพบว่า มีการจัดการโครงการฯ ณ บ้านหนองปากชัฏ ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง จ.ราชบุรี พบว่าได้รับผลสำเร็จในการดำเนินการเป็นอย่างดี โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 592 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 122 คน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญในการร่วมจัดตั้งกลุ่ม กำหนดกติกา เงื่อนไข ในการบริหารจัดการ มีการจัดตั้งกองทุน การวางแผนการใช้น้ำบาดาล

ซึ่งการใช้ประโยชน์จากน้ำส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ที่เกษตรกรปลูก อาทิ มะม่วง กระท้อน มันสำปะหลัง อ้อย และพืชผักสวนครัวทางด้านนายชวน ชาว นาฟาง หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ตามโครงการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” ในพื้นที่บ้านหนองปากชัฏ ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ นั้นตนเคยทำการเกษตรปลูกพืชทนแล้งจำพวก มันสำปะหลัง และปลูกมะม่วงบ้างเล็กน้อยเนื่องจากพื้นที่ดินไม่สมบูรณ์ แต่ได้ผลผลิตน้อยแต่หลังจากเข้าร่วมโครงการโดยมีการจัดสรรน้ำบาดาลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลทำให้สามารถปลูกพืชให้ผลเช่น มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และสามารถเพิ่มผลผลิตจากเดิมต่อไร่เฉลี่ยประมาณ 1,500 เป็น 2,000 กก.ต่อไร่ ส่งจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ครอบครัวปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่ร่องสวนปลูกพืชสมุนไพร โดยใช้ระบบน้ำหยด พืชที่ปลูกประกอบด้วย ดีปลี ไพล ว่านชักมดลูก ซึ่งเจริญเติบโตดีเพราะมีน้ำเพียงพอ คาดว่าผล ผลิตจะออกมาสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้

ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของโครงการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” ที่ช่วยสร้างรายได้และสร้างอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งได้เป็นอย่างดี และในปีงบประมาณ 2558 นี้ ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณกว่า 523 ล้านบาท เพื่อสานต่อโครงการในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในพื้นที่ 31 จังหวัดทั่วประเทศต่อ

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ไทย-อาเซียน เจรจาการค้าเสรีฉลุย

ไทยและอาเซียน ประสบความสำเร็จในการผลักดันการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน รอบที่ 2

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะประธานฝ่ายอาเซียนในการเจรจากับจีน เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยอาเซียนและจีนหารือกันอย่างกว้างขวางในประเด็นการทบทวนการเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-จีน การปรับปรุงข้อบทด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียน-จีน การหารือแนวทางการเปิดเสรีข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 3 และการหารือรูปแบบการเปิดเสรีด้านการลงทุน นอกจากนี้ อาเซียนและจีนสามารถสรุปผลข้อบทด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน-จีน ได้แล้วในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่การเจรจาได้ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี

นายธวัชชัย กล่าวว่า ไทยได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาทางการค้าอาเซียน-จีน 2 เรื่องใหญ่ คือ ปัญหาการขนถ่ายลำสำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนโดยแวะเปลี่ยนถ่ายลำ ณ เกาะฮ่องกง ที่ประสบกับปัญหาการออกเอกสารล่าช้า ปัญหาเหล็กจากจีนทะลักเข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียน สาเหตุจากการใช้มาตรการการคืนภาษีส่งออกของจีนและพิกัดศุลกากรที่มีช่องโหว่ให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ โดยครั้งนี้จีนแจ้งว่าได้ยกเลิกมาตรการคืนภาษีส่งออกเหล็กบางรายการแล้ว

อาเซียนและจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นระหว่างกันมาโดยตลอด ในปี 2557 การค้ารวมสองฝ่ายมีมูลค่า 479,784 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 7.73 ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 1 ของอาเซียน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชาวไร่อ้อยสระแก้วยื่นนายกฯ ถอนเกณฑ์ ก.อุตฯ ตั้งโรงงานไกลกว่าจุดเดิม 80 กม.

เกษตรกรไร่อ้อย สระแก้ว ยื่นหนังสือถึงนายกฯ โวยหลักเกณฑ์กระทรวงอุตฯ ให้ตั้งโรงงานไกลกว่าจุดเดิมไม่น้อยกว่า 80 กม. ด้าน “สุวพันธุ์” รับเรื่อง

               วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ศูนย์บริการประชาชน (ชั่วคราว) สำนักงาน ก.พ. เมื่อเวลา 09.20 น. กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว จำนวน 70 คน นำโดยนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรชายแดนบูรพาได้มารวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากการบังคับใช้หลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลที่กำหนดว่า สถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่จะต้องอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมไม่น้อยกว่า 80 กม. โดยมีข้อเรียกร้อง คือ 1. ให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น และ 2. ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการเสนอเรื่องต่อ ครม.เพื่อให้พิจารณาเรื่องการขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลจาก อ.ตาพระยา ไปตั้งที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด

               ทั้งนี้ นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน ได้ให้กลุ่มจัดตั้งตัวแทนจำนวน 10 คน เพื่อที่จะนำตัวแทนเข้ายื่นหนังสือภายในทำเนียบรัฐบาล ส่วนมวลชนที่เหลือให้เข้าไปรอภายในสำนักงาน ก.พ. โดยตัวแทนกลุ่มได้เข้ายื่นหนังสือผ่านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ โดยนายสุวพันธุ์ได้รับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มออกมาชี้แจงให้มวลชนทราบถึงการเข้ายื่นหนังสือ โดยระบุว่าหากยังไม่มีความคืบหน้ากลุ่มจะเดินทางมาติดตามเรื่องอีกครั้งหนึ่ง

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

“พิษณุโลก” ปรับเปลี่ยน “ผืนนาเป็นไร่อ้อย” ตามโครงการสู้ภัยแล้ง

พิษณุโลก - เปิดโผภัยแล้ง 16 ตำบล เกษตรกรมีสิทธิ์ยื่นขอทำโครงการ 1 ล้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก้ภัยแล้ง ใช้แรงงานชาวบ้านกว่า 50% ขณะที่งบจังหวัดผุดโครงการ “ปรับเปลี่ยนผืนนาเป็นไร่อ้อย” แจกท่อนพันธุ์อ้อยฟรีปี 59

                นายสุรัตน์ สงวนทรัพย์ เกษตรจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยถึงปัญหาภัยแล้งปีนี้ว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากทั่วประเทศ 3,052 ตำบล 58 จังหวัด ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชได้ จึงเกิดการว่างงานและขาดรายได้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งด่วนสนับสนุนให้ชุมชนเกษตรในพื้นที่ภัยแล้งนำเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มผลผลิต โครงการละ 1 ล้านบาท เช่น ทำฝาย ทำอ่างเก็บน้ำ ทำระบบชลประทานในหมู่บ้าน

               ส่วนพิษณุโลกมี 16 พื้นที่เข้าเกณฑ์ขอรับการสนับสนุนโครงการละ 1 ล้านบาท คือ ต.นครป่าหมาก ต.เนินกุ่ม ต.วัดตายา อ.บางกระทุ่ม ต.คุยม่วง อ.บางระกำ ต.ดงประคำ ต.ทับยายเชียง อ.พรหมพิราม ต.ดอนทอง ต.บ้านป่า ต.สมอแข อ.เมือง ต.พันชาลี ต.หนองพระ อ.วังทอง ต.คันโช้ง ต.ท่างาม ต.บ้านยาง ต.วัดโบสถ์ ต.หินลาด อ.วัดโบสถ์

               ลักษณะโครงการคือ จัดการแหล่งน้ำเพื่อเกษตรของชุมชน การผลิตการเกษตรและแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน ปรับปรุงพื้นฐานเพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นการจ้างงานแรงงานในชุมชนเป็นหลักไม่น้อยกว่า 50% หากใช้แรงงานต่ำกว่า 30% ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ โดยยื่นขอสนับสนุนในรูปกลุ่มผ่านศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำหมู่บ้าน เป็นต้น เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงสิ้นเดือนมีนาคมเท่านั้น

               นอกจากนี้ จังหวัดยังได้บูรณาการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือทำโครงการ “ปรับเปลี่ยนผืนนาเป็นไร่อ้อย” ซึ่งผ่านการอนุมัติจากสำนักงบประมาณแล้ว มูลค่าโครงการ 20 ล้านบาท ที่นา 10,000 ไร่ โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าท่อนพันธุ์อ้อยและปุ๋ยฟรีแก่เกษตรกรที่มีที่ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวทุกอำเภอ คนละไม่เกิน 10 ไร่ ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่เป้าหมายประมาณ 80,000 ไร่ เริ่มในปีงบประมาณ2559 หรือปลายปีนี้

จาก http://manager.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หอการค้าไทยวอน ธปท.ดูแลภาคส่งออก ปรับโครงสร้างรับอนาคต

หอการค้าเข้าพบ ธปท.นำข้อมูลไปวิเคราะห์ความสามารถ การแข่งขัน และปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาวก่อนกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยรวมในอนาคต ด้าน ธปท.ระบุเห็นใจเอกชนและจะทำทุกทางเพื่อไม่ให้ค่าบาทเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกมากเกินไป แต่ยอมรับทำอะไรไม่ได้มาก เพราะค่าเงินที่ผันผวนเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่คณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย เข้าหารือกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงเรื่องสถานการณ์ค่าเงินบาท โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย กล่าวภายหลังการประชุมว่า ต้องการมานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่ผู้ประกอบการได้รับจากค่าเงินบาท ปัญหาของการส่งออกที่มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ รวมถึง อุปสรรคในด้านการเงิน และระบบการเงินเพื่อสนับสนุนการค้าขายและการเจาะตลาดใหม่ของผู้ประกอบการภาคเอกชน

ทั้งนี้ ในภาพรวมนั้นในระยะสั้นนั้นภาคเอกชนมองว่า ธปท.สามารถที่จะดูแลค่าเงินบาทได้มีเสถียรภาพ แต่ยอมรับว่าค่าเงินในบางประเทศที่ผู้ส่งออกไทยส่งออกสินค้าไปมีความผันผวนมาก ทำให้ในการส่งออกบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตรในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบค่าเงินที่มีความผันผวนดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก 10-20 ล้านคน

“ข้อมูลเหล่านี้ภาคเอกชนอยากให้ ธปท.นำไปวิเคราะห์และมองหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก เพราะในขณะที่เศรษฐกิจหลายประเทศ ในโลกยังอ่อนแอ และมีปัญหาเศรษฐกิจภายในที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อค่าเงินที่ผันผวน และผลกระทบในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ ธปท.สนับสนุนในเรื่องเครื่องมือทางการเงินเพื่อสร้างความสะดวกในการค้าขายและการหาตลาดใหม่ของภาคการส่งออกที่เร่งหาประเทศใหม่”

นายอิสระ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการค้าขายและการลงทุนกับประเทศในภูมิภาค ได้เสนอให้ ธปท.เปิดเสรีด้านการแลกเปลี่ยนเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ มีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกรรมการเงินตามชายแดนให้มีความสะดวก ส่งเสริมการใช้สกุลเงินของทั้ง 2 ประเทศ ในการทำการค้าระหว่างกัน เป็นต้น

ด้านนางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า มีข้อสรุปจากการหารือที่ขอให้ ธปท.ช่วยดูแลใน 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสภาหอฯมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศคู่แข่ง ซึ่ง ธปท.ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจในมุมมองอัตราแลกเปลี่ยนว่า สาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน แต่ยอมรับว่าภาคการส่งออกได้รับผลกระทบและค่าเงินอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้น ธปท.ยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางภายใต้เครื่องมือ ที่มีอยู่เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจมากเกินไป แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องประสิทธิภาพ ของเครื่องมือในระยะปานกลาง ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน และภาคเอกชนต้องเตรียมพร้อม ปรับตัวเพื่อช่วยเหลือตัวเองด้วย

สำหรับเรื่องที่ 2.ที่มีการหารือคือ ขอให้ ธปท. สนับสนุนให้ใช้เงินของประเทศคู่ค้าแทนการใช้สกุลเงินของประเทศที่ 3 ซึ่งจะเร่งอำนวยความสะดวก เรื่องนี้ให้มากขึ้น และเรื่องที่ 3.คือ ต้องการให้ ธปท. ช่วยสร้างโอกาสด้วยการสนับสนุนเครื่องมือทางการเงินในการเปิดตลาดใหม่ ในประเทศที่ถูกคว่ำบาตร หรือมีปัญหาการเมือง ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องระดับประเทศ ที่ต้องติดตามท่าทีของประเทศไทยเองมองเรื่องนี้อย่างไร แต่พร้อมร่วมมือกันเตรียมความพร้อมไว้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชาวไร่อ้อยบุกยื่นร้อง'ประยุทธ์' หารือหลักเกณฑ์ย้ายรง.น้ำตาล

เมื่อเวลา 09.20 ที่ศูนย์บริการประชาชน (ชั่วคราว) สำนักงาน ก.พ. กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว จำนวน 70 คน นำโดยนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรชายแดนบูรพาได้มารวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กรณีได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากการบังคับใช้หลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลที่กำหนดว่า สถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ จะต้องอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมไม่น้อยกว่า 80 กม. โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1. ให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น และ 2.ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการเสนอเรื่องต่อ ครม.เพื่อให้พิจารณาเรื่องการขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลจาก อ.ตาพระยา ไปตั้งที่ อ.วัฒนานคร จว.สระแก้ว ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครอง มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด

ทั้งนี้ นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน ได้ให้กลุ่มจัดตั้งตัวแทนจำนวน 10 คน เพื่อที่จะนำตัวแทนเข้ายื่นหนังสือ ภายในทำเนียบรัฐบาล ส่วนมวลชนที่เหลือให้เข้าไปรอภายในสำนักงาน ก.พ.โดยตัวแทนกลุ่มได้เข้ายื่นหนังสือผ่านนายสุวพัธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ห้องรับรอง 1ตึกบัญชาการ โดยนายสุวพันธุ์ ได้รับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มออกมาชี้แจงให้มวลชนทราบถึงการเข้ายื่นหนังสือ โดยระบุว่า หากยังไม่มีความคืบหน้า กลุ่มจะเดินทางมาติดตามเรื่องอีกครั้งหนึ่ง

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ห่วงค่าเงินบาทแข็งเกินประเทศคู่แข่ง หอการค้าจับเข่าคุยเเบงก์ชาติ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวแทนหอการค้าไทยเดินทางเข้าหารือกับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. และผู้บริหาร แสดงความกังวลต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่มีความผันผวนและแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือว่า ในช่วง 2-3 เดือน ค่าเงินบาทมีความผันผวนจากเศรษฐกิจยุโรป ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย

"เมื่อเทียบเงินบาทกับค่าเงินของมาเลเซีย พบว่าแข็งค่าถึง 8% ขณะที่เทียบค่าเงินกับยุโรปและญี่ปุ่นแข็งค่าไป 10% หลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือคิวอี ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าจะต้องปรับลดราคาลง" นายอิสระกล่าว

นายอิสระกล่าวว่า นอกจากนี้ หอการค้าได้เสนอแนะให้ ธปท.และรัฐบาลเข้าไปดูแลในเรื่องของการค้าขายตามแนวชายแดนและอาเซียนเพื่อเพิ่มการส่งออกในเรื่องการชำระเงินให้มีความสะดวกเนื่องจากบางจังหวัดยังไม่มีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบธนาคาร

นายวิชัยอัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ธปท.สามารถดูแลค่าเงินบาทได้อย่างเหมาะสม แต่ในระยะต่อไปหากค่าเงินยุโรปและญี่ปุ่นอ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้น จะส่งผลกระทบไปถึงเรื่องราคาสินค้าและโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมองว่า ธปท.ควรมองผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในระยะต่อไป รวมถึงมีการติดตามและหามาตรการดูแลในระยะยาว

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ประเด็นที่หอการค้านำมาหารือประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ 1.ค่าเงินที่ผันผวน 2.การใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายแทนสกุลดอลลาร์สหรัฐ และ 3.การค้าขายไปยังประเทศที่ถูกคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น) ที่ถือเป็นตลาดใหญ่ยังมีโอกาสทางการค้า เพื่อเป็นการขยายตลาดและสร้างทางเลือกให้กับภาคส่งออก ซึ่ง ธปท.พร้อมจะแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเองต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอย่างเสถียรภาพ การไหลเข้าของเงินไม่ได้เกิดความผิดปกติ แม้มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จึงยังไม่มีมาตรการใดออกมาเพิ่มเติม

นางผ่องเพ็ญกล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายแทนสกุลดอลลาร์สหรัฐนั้น ธปท.ให้การสนับสนุน เนื่องจากเป็นเรื่องดีที่จะมีการกระจายการใช้ไปยังสกุลเงินอื่นๆ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ในส่วนการออกไปค้าขายกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศที่ถูกคว่ำบาตร ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้ประเทศเหล่านั้นในการขยายตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะทำธุรกรรม

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บอร์ดBOIนัดแรกปี58ไฟเขียวโครงการลงทุนรวมกว่า 7.7หมื่นลบ.

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ นัดแรกของปี 2558 โดยพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนแก่กิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ช่วงปี 2557 รวม  23 โครงการ เงินลงทุนกว่า 77,228  ล้านบาท  พร้อมเห็นชอบให้นักลงทุนรายเดิมที่เคยได้รับส่งเสริม สามารถขอรับส่งเสริมเพิ่มเติมได้หากลงทุนเพิ่มในด้านพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน อาทิ วิจัยพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฝึกอบรมขั้นสูง 

นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ จำนวน 23 โครงการ         เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 77,228 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.บริษัท ลา ครูเซ แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ประเภท STONEWARE โดยใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในประเทศแถบทวีปยุโรป กำลังผลิตปีละประมาณ 12,000,000 ชิ้น เงินลงทุน 2,386 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดลำพูน

 2.บริษัท สปาร์คเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ เช่น METAL SHELL กำลังผลิตปีละประมาณ 129,276,000 ชิ้น และชิ้นส่วนพาหนะ เช่น SPARK PLUG  กำลังผลิตปีละประมาณ 118,800,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,700 ล้านบาท  ตั้งอยู่ที่ จังหวัดชลบุรี

3.Mr.FUSASHI OBORA ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติ (AUTOMATIC TRANSMISSION) กำลังผลิตปีละ 235,000 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,248.4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี

4.บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตสิ่งพิมพ์ เช่น บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน และถุงพิมพ์ลวดลาย เป็นต้น  กำลังผลิตปีละประมาณ 7,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,100  ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดสมุทรสาคร

กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม-ขยะ-ชีวมวล  เงินลงทุนรวม 30,916.9  ล้านบาท  ได้แก่

โครงการที่ 5 ถึง 12 เป็นของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิตรวม 448.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,265.9 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 โครงการ จังหวัดสงขลา 1 โครงการ และตั้งในจังหวัดชัยภูมิ 5 โครงการ 

 13.บริษัท กลุ่ม 15 จำกัด  ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,251 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม

14. บริษัท เคทิส  ชีวพลังงาน จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร)  เงินลงทุนทั้งสิ้น 960 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์  กำลังการผลิตไอน้ำ 195 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดสุโขทัย

15. บริษัท ลพบุรี ไบโอเพาเวอร์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย)  เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,440 ล้านบาท  กำลังการผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์  กำลังการผลิตไอน้ำ 510 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดลพบุรีกิจการขนส่งทางอากาศ   มูลค่ารวม 34,876.8 ล้านบาท ประกอบด้วย

16. บริษัท ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด  ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ อาทิ ขนส่งผู้โดยสาร ส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,007 ล้านบาท โดยการเช่าเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส

โครงการที่ 17 ถึง 20 เป็นของบริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ รวม 4 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 17,034 ล้านบาท เป็นการเช่าเครื่องบินใหม่แบบ Boeing        B-737-900 ER รวมจำนวน 14 ลำ   

 21. บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอย์ท สต๊อค จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่า เครื่องบินโดยสาร จำนวน 5 ลำ แบบ Airbus A 320 ความจุผู้โดยสารลำละ 180 ที่นั่ง แบ่งเป็นเครื่องบินเก่า จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินใหม่ จำนวน 3 ลำ  มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,325.8 ล้านบาท

22.บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าเครื่องบิน Boeing 777-200 จำนวน 2 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 415 ที่นั่ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,338.7 ล้านบาท

23.บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่า         เครื่องบิน Boeing 777-200 จำนวน 1 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 415 ที่นั่ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,171.3 ล้านบาท

นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่บีโอไอได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ส่งผลให้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) สิ้นสุดลงด้วย ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอพิจารณาเห็นว่าเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเห็นชอบให้ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริม หรือยื่นขอรับส่งเสริมก่อนมาตรการใหม่มีผลบังคับใช้ สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายใหม่เพิ่มเติมได้ หากมีการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรมขั้นสูงแก่บุคลกากร เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com    วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

'สนช'จี้รบ.แก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อย

ให้เป็นไปตามนโยบาย 'คสช.' หลังพบผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลบางรายส่อเค้าทุจริต เรียกรับผลประโยชน์จากเกษตรกร

เมื่อวันที่ 12ก.พ.ที่รัฐสภา นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว ที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เพียงโรงเดียวในจังหวัด และมีการผูกขาดโดยไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นสามารถมาตั้งโรงงานเพื่อทำการแข่งขันได้ จึงได้รวมตัวกันมาชุมนุมประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและยื่นเรื่องถึง สนช.เพื่อให้หามาตรการในการแก้ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ และการดำเนินกิจการอย่างไม่เป็นธรรมของโรงงานน้ำตาลดังนั้นในที่ประชุม สนช.วันนี้ (12 ก.พ.)ตนจะได้ตั้งกระทู้ถามรมว.อุตสาหกรรมเพื่อขอทราบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการตั้งโรงงานน้ำตาลและขอให้ผ่อนผันเรื่องของหลักเกณฑ์ในบางข้อที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร

“นอกจากนี้ยังพบว่า ในแวดวงของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมีการเรียกรับผลประโยชน์ในการขอใบอนุญาต และขออนุมัติตั้งโรงงานโดยมีข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าไม่ตรงกับนโยบายของ คสช.”นายมหรรณพ กล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บมจ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก ยื่นไฟล์ลิ่งต่อก.ล.ต. เตรียมขายIPO 600 ล้านหุ้น

 ‘บมจ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก’ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและธุรกิจพลังงาน ยื่นแบบคำขอและไฟล์ลิ่งต่อสำนักงานก.ล.ต.เพื่อขอเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น ก่อนเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

นายสุทธิพัฒน์ เสรีรัตน์ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส  สายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า บมจ. น้ำตาลและอ้อยตะวันออก ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟล์ลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.)  เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็นร้อยละ 26.09 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน)มีทุนจดทะเบียนจำนวน 2,300 ล้านบาท โดยทุนที่ออกและชำระแล้วมีจำนวน 1,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1,700 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ทั้งนี้ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงาน เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจก๊าซชีวภาพและธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์เคมี เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงยังมีบริษัทวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตให้แก่ชาวไร่อ้อย

ด้านนายกิตติศักด์วัธนเวคิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลมายาวมากกว่า 56 ปี ที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักแนวคิด Fully Integrated System ด้วยการนำผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายทุกส่วนกลับมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เอทานอล ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี และให้มีส่วนเหลือทิ้งเป็นศูนย์ หรือ Zero-waste Discharge Systems โดยนำชานอ้อยที่ผ่านกระบวนการหีบอ้อยและก๊าซชีวภาพที่เกิดจากการผลิตเอทานอลมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้นำกากน้ำตาลที่เกิดจากกระบวนการหีบอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงอีกทั้งนำน้ำกากส่าที่มาจากการขั้นตอนการผลิตเอทานอลมาปรับสภาพเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง รวมทั้งนำน้ำที่ออกจากการผลิตก๊าซชีวภาพและกากหม้อกรองที่มาจากการผลิตน้ำตาลมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมี และวัสดุปรับปรุงดิน เพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวไร่อ้อยที่อยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมของบริษัทฯ ทำให้ บมจ.อ้อยและน้ำตาลตะวันออก สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากการกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย

สำหรับธุรกิจผลิตน้ำตาลทรายนั้น บริษัทฯ ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก โดยฤดูการหีบอ้อยปี 56/57 โรงงานสามารถรองรับปริมาณอ้อยเข้าหีบได้ 32,000 ตันต่อวัน เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายดิบไฮโพล น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และส่งจำหน่ายให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 59.8 เมกะวัตต์แบ่งเป็นผลิตจากชานอ้อย 55 เมกะวัตต์และผลิตจากก๊าซชีวภาพอีก 4.8 เมกะวัตต์ โดยทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แก่ กฟภ. และกฟผ. รวม 31 เมกะวัตต์

ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ปัจจุบันมีกำลังการผลิต150,000 ลิตรต่อวัน และมีกำลังการผลิตก๊าซซีวภาพเพื่อนำมาใช้แทนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอีก 123,000 ลบ.ม.ต่อวัน  นอกจากนี้ แต่ละปียังสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีได้ 20,000 ตันอีกด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หอการค้าเสนอตัวเชิญทุกภาคส่วนแสดงความเห็นเปิดสัมปทานปิโตรเลียมฯ

หอการค้าไทยกดดันรัฐบาลเร่งตัดสินใจสรุปความชัดเจนทิศทาง นโยบายพลังงานของประเทศ หากช้ากระทบการทำธุรกิจ บริหารต้นทุนยาก และ จะมีผลประสิทธิภาพการผลิต และขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการพลังงาน หอการค้าไทย กล่าวภายหลังการเสวนาโต๊ะกลม “ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนจากราคาพลังงานที่ผันผวน” ว่าหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้พลังงาน ต้องการแสดงจุดยืนให้รัฐบาลทราบว่า ควรเร่งสรุปความชัดเจนด้านนโยบายในการจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่งคงทางพลังงานให้กับประเทศ ( energy security ) เพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณสำรองด้านพลังงานที่ลดลง ระหว่างการตัดสินใจว่าจะเลือกระบบการให้สัมปทาน หรือ ระบบแบ่งปันผลผลิต ( PSC )และการเปิดสัมปทานพลังงานรอบใหม่จะต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อม 5-7 ปี ทั้งก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมันดิบสำรอง ทั้งในทะเล และบนบก ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งตัดสินใจจะกระทบต่อการบริหารต้นทุนของภาคธุรกิจในอนาคต โดยหอการค้าพร้อมเป็นเจ้าภาพในการเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็นในการตัดสินใจต่อประเด็นการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 โดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้หอการค้า ยังเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลปรับโครงสร้างพลังงาน โดยปล่อยราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ตามกลไกตลาด แม้ภาคเอกชนจะเป็นภาคการผลิตที่มีการใช้พลังงานมาก แต่การปล่อยให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จะทำให้ภาคเอกชนสามารถบริหารจัดการต้นทุนที่แท้จริงได้ โดยไม่ต้องบิดเบือนราคาพลังงาน

ส่วนผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนจากราคาพลังงานที่ผันผวน นายสนั่น กล่าวว่า ในระยะสั้น ทำให้ภาคประชาชนเกิดความลังเลการใช้จ่าย เนื่องจาก เมื่อราคาน้ำมันลดลง ประชาชนก็คาดหวังราคาสินค้า จะลดลงอีกทำให้เกิดการชะลอการใช้จ่าย และ ผู้ประกอบการยังมีสต็อกสินค้าเก่า และราคาน้ำมันเก่าที่ซื้อมาในราคาสูงทำให้ราคาสินค้ายังไม่สามารถปรับลดลงได้ทันที แต่หากราคาน้ำมันนิ่งไม่ผันผวน เชื่อว่าประชาชนจะกลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ

“หอการค้าได้จัดทำยุทธศาสตร์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรให้มีรายได้สูงขึ้น และลดการนำเข้าพลังงานและความผันผวนด้านราคาสินค้าเกษตร ซึ่งได้เสนอยุทธศาสตร์แก่รัฐบาลไปแล้วและได้ เสนอเร่งจัดทำโซนนิ่ง สินค้าเกษตร ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว รวมไปถึง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพือ่ลดภาวะโลกร้อน ( climate change ) โดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง มากกว่า 30 ตันต่อปี ในปี 2563 ตามพันธะสัญญาในการเจรจาการค้าโลก เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าในอนาคต”

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดประทรวงพลังงาน ระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเร่งเปิดสัมปทานรอบที่ 21 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการให้สัมปทาน 3 แปลงในอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 4 ปี เพราะ นโยบายด้านพลังงานของประเทศ จะต้องจัดหาให้เพียงพอ และ ใช้อย่างประหยัด รวมทั้ง ต้องขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทน เนื่องจากพลังงานถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ และก่อให้เกืดระบบศก.ใหม่ หรือที่เรียกว่า agro –energy

ขณะนี้ไทยต้องต้องนำเข้าพลลังงานปีละ 1.4 ล้านล้านบาท โดยพลังงานส่วนใหญ่ ใช้ภาคขนส่งและภาคการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ประมาณร้อยละ 70 ของการใช้พลังงานรวม โดย มีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและทางเลือก ให้บรรลุเป้าหมายตามแผน 10ปี ระหว่างปี 2555 -2564 ที่สามารถลดการนำเข้าพลังงานของประเทศไปแล้ว กว่า 2 แสนล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 14 ล้านตัน ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มขึ้นให้ได้อีกเท่าตัว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ส.อ.ท.อยากให้ค่าเงินบาท ไปในทิศทางเดียวกับคู่แข่ง

   แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ. ท.) ในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 92.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนีความเชื่อมั่นมีค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 จากปัจจัยยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาล ปีใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร

  ยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการพบว่าปี 2558 ยังมีความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่หดตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคที่ยังไม่ชัดเจนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาคจนบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน ล่าสุดเกิดคำถามว่า"ทำไมเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า"

 สุพันธุ์ มงคลสุธีสุพันธุ์ มงคลสุธี   "ฐานเศรษฐกิจ"  สัมภาษณ์พิเศษตัวแทนภาคเอกชน  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3สถาบัน(กกร.)ถึงมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศในเวลานี้

-เหตุผลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

    ประธานส.อ.ท.ตั้งข้อสังเกตสาเหตุที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ามาจาก ประการแรก รายได้ของประชากรลดลง  ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  ซึ่งมีประชากรอยู่ในวงการเกษตรกรมากกว่า 10 ล้านคน  ไม่ว่าจะราคาข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ล้วนมีราคาตกต่ำลง จึงส่งผลให้รายได้ของคนที่อยู่ในภาคเกษตรหายไป  ขณะที่การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไขได้เร็ว เพราะยังมีสินค้าเกษตรที่โอเวอร์ซัพพลายอยู่จำนวนมากทั้งข้าว ยาง ที่อยู่ในสต๊อก   และยังมองไปในทางบวกว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลงได้  รวมถึงการลดต้นทุน ที่เวลานี้บางเรื่องยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรม และอยู่ในช่วงที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่

    ปัจจัยที่ 2 งบประมาณภาครัฐที่เคยผลักดันมาแบบคล่องตัวเหมือนก่อนก็ไม่คล่องตัว โดยเฉพาะงบการลงทุนขนาดกลาง ขนาดเล็กทั้งหลาย ก็ยังไม่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง  โดยงบประมาณที่ใช้ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสต่อไตรมาสก็ยังไม่สามารถผลักดันได้ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

    ปัจจัยที่ 3 เศรษฐกิจโลกผันผวนทำให้การส่งออกของไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร ค่าเงิน ราคาน้ำมัน ความไม่มั่นคงของเงินยูโร ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวดี ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนเศรษฐกิจก็ซบเซาลง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในโลกยังไม่ดีพอ  สอดคล้องกับที่ไอเอ็มเอฟลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในโลกลดลงเหลือ3.5%  จากที่คาดการณ์เดิมที่3.8% หลังจากที่เศรษฐกิจจีน รัสเซีย ยูโรโซนและญี่ปุ่น แย่ลง ทั้งหมดนี้โยงมาถึงเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก

-กระทบภาคผลิต-แข่งขันยาก

    หากถามว่าการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กระทบถึงภาคการผลิตหรือไม่  เขาอธิบายว่า  ระยะสั้นอาจมีกระทบบ้าง  เพราะการฟื้นตัวช้าส่วนหนึ่งมาจากขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงด้วย เนื่องจากเวลานี้หลายประเทศทยอยลดดอกเบี้ยลงก็จะทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น และวันนี้ค่าเงินบาทเสียเปรียบคู่แข่งอยู่พอสมควร ก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแล การที่ประเทศต่างๆลดดอกเบี้ยลงเงินก็จะไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าในรูปของการลงทุน การซื้อพันธบัตร ดังนั้นค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่ามากกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ก็ทำให้การส่งออกแข่งขันลำบาก

    "เวลานี้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่ามาเลเซีย 7-8% และแข็งค่ากว่าอินโดนีเซียราว 4%    อย่างไรก็ตามถ้าค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง สิ่งที่สมาชิกในส.อ.ท.จะต้องช่วยตัวเองให้ได้คือผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และเจาะตลาดอื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น ตลาดอินเดีย"

     ส่วนค่าเงินบาท จะแข็งค่าต่อไปอีกนานแค่ไหนขึ้นอยู่ที่นโยบายแบงก์ชาติและภาครัฐ เพราะเป็นเรื่องของการใช้เครื่องมือด้านการเงินของรัฐบาล อย่างญี่ปุ่น ยุโรปก็แก้โดยการนำเอามาตรการคิวอี ออกมาใช้ บางประเทศก็ลดดอกเบี้ยลงมา   หรือมีการปรับสกุลเงินบ้าง เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังใช้เครื่องมืออื่นในการรับความเสี่ยงของค่าเงินที่ผันผวนเช่น การทำสัญญาซื้อ / ขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract),การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือซื้อสิทธิ์ที่จะขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต (Options),เปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ(Foreign Currency Deposit: FCD), การใช้เงินตราต่างประเทศหลายสกุล (CurrencyDiversification)

    รวมถึงการเน้นการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ การจัดหาปัจจัยการผลิตเข้าสู่กระบวนการผลิต ต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต และให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานและพัฒนาคุณภาพสินค้าไทย(เน้นสินค้านวัตกรรม สินค้าที่มีดีไซน์เป็นต้น) เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

    ส่วนค่าเงินบาท จะแข็งค่าต่อไปอีกนานแค่ไหนขึ้นอยู่ที่นโยบายแบงก์ชาติและภาครัฐ เพราะเป็นเรื่องของการใช้เครื่องมือด้านการเงินของรัฐบาลอย่างญี่ปุ่น ยุโรปก็แก้โดยการนำเอามาตรการคิวอี ออกมาใช้ บางประเทศก็ลดดอกเบี้ยลงมา หรือมีการปรับสกุลเงินบ้าง เป็นต้น

     ตอนนี้สมาชิกในส.อ.ท. อยากให้ค่าเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกับคู่แข่ง ถ้าค่าเงินของคู่แข่งอ่อนค่าลงมาเราก็ควรจะอ่อนค่าด้วย หรือถ้าคู่แข่งมีค่าเงินแข็งค่าเราก็ต้องแข็งค่าตามกันไปจึงจะแข่งขันได้   แต่ตอนนี้ค่าเงินบาทเราแข็งค่า แต่คู่แข่งอ่อนค่า  ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่รัฐบาลไทยจะปล่อยให้กลไกค่าเงินเป็นไปตามธรรมชาติทำให้ค่าเงินเราไม่อ่อนค่ามากนัก

    นายสุพันธุ์ประเมินอีกว่า  ถ้ามองอีกด้านแนวโน้มข้างหน้าภาคการผลิตยังมีความได้เปรียบจากที่ต้นทุนการผลิตรวมลดลง ทั้งราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า  ส่วนการส่งออกที่ไปได้ดีคือส่งออกไปยังกลุ่มCLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) และอาเซียนที่ยังเติบโตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าชายแดนทั้งหลาย  เช่นเดียวกับที่ตลาดสหรัฐอเมริกาก็เริ่มฟื้นตัวแล้ว  ปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นตัวช่วยให้การผลิตเดินต่อได้

-ยังมีการบริโภค-เชื่อทั้งปีโตบวก

    หากถามถึงการบริโภคขณะนี้ยังดีอยู่หรือไม่ ประธานส.อ.ท.เลี่ยงที่จะตอบคำถามตรงๆโดยระบุยังมีการบริโภคภายในประเทศอยู่    พร้อมกับคาดหวังว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันอยู่จะได้เห็นความชัดเจนในเดือนมีนาคม คือเรื่องการปรับเงินเดือนข้าราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ ที่จะทยอยปรับ ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอย มีการบริโภคเกิดขึ้น   ผสมโรงกับการเร่งผลักดันงบประมาณลงระบบ ซึ่งเชื่อว่าในปลายไตรมาส1ปีนี้ ต่อเนื่องถึงต้นไตรมาส2 งบประมาณที่ค้างอยู่จะออกมาได้พอสมควร

    อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการท่องเที่ยวที่ปีนี้เริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายปี2557 ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2558 การท่องเที่ยวเราโตกว่า20% เมื่อเทียบกับปี2557ในช่วงเดียวกัน โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากถึง70%ในช่วงดังกล่าว " แม้จะเกิดเหตุระเบิดที่ประตูทางเข้าสยามพารากอนเมื่อเร็วๆนี้ แต่ก็ยังไม่มีการเตือนจากประเทศต่างๆออกมาให้ยกเลิกการเดินทางมาไทย ทำให้แนวโน้มยอดจองโรงแรมดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้น นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ยุโรป ที่ลดลงมา"  เขากล่าวและว่า

    เมื่อมองภาพโดยรวมสรุปว่า ครึ่งปีแรกปีนี้เศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนโดยมั่นใจว่าจะมี 4 เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ และจะเป็น"ยาแรง"ในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในไล่ตั้งแต่การขยับตัวของภาคท่องเที่ยว  การเร่งรัดงบประมาณรัฐลงระบบ  การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร  และการปรับเงินเดือนข้าราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ  โดยภาคเอกชนมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน  ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะถ้าเศรษฐกิจภายในแย่ลงไปอีกรัฐบาลก็จะเหนื่อย! 

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

'มหรรณพ'ตั้งกระทู้ถาม'รมว.อุตฯ' ปัญหาไร่อ้อยจี้ศึกษาปิโตรเลียม21

12 ก.พ. 58 ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ครั้งที่ 10/2558 โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  เป็นประธานดำเนินการในการประชุม โดยเป็นการตั้งกระทู้ถามทั่วไป ของนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ เรื่องปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย จังหวัดสระแก้ว โดยถาม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายมหรรณพ ตั้งคำถามว่า ตนทราบมาว่า เกษตรชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จากโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เพียงโรงงานเดียวในจังหวัด ซึ่งมีการกำหนดราคาและกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ในลักษณะที่เอาเปรียบเกษตรกร ประกอบกับผู้ประกอบการรายอื่นที่จะขอย้ายหรือตั้งโรงงานใหม่ภายในจังหวัด ก็ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้อ้างหลักเกณฑ์ว่า โรงงานน้ำตาลที่จะตั้งขึ้นใหม่ จะต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ซึ่งถึงแม้ว่า ทางเกษตรกร จะได้รวมตัวกันเพื่อฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ยกเลิกเพิกถอนหลักเกณฑ์ดังกล่าว และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหลักเกณฑ์นี้ แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว ดังนั้น ตนจึงขอเรียนถามว่า เมื่อรัฐมนตรีฯ ทราบแน่ชัดว่า หลักเกณฑ์การตั้งโรงงานน้ำตาลจะมีระยะห่างเส้นทางที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ได้ใช้บังคับอย่างเสมอภาค และเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้ง ศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จะมีการยกเลิกเพิกถอนก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้หรือไม่ ต่อมา เหตุใดการพิจารณาคำร้องขอย้ายโรงงานน้ำตาลบางแห่งเป็นไปด้วยความล่าช้า จะแก้ปัญหาอย่างไร และจะมีมาตรการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาที่จะไม่ให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ในขออนุญาต  ขออนุมัติตามระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรม และตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

 ทางด้านนายจักรมณฑ์  ได้ตอบคำถามว่า ตนได้รับการแนะนำจากฝ่ายกฎหมายว่า เมื่อมีคำพิพากษาให้แพ้คดี โดยหลักถ้าเป็นบรรทัดฐานในการทำงานของกระทรวง ก็ต้องยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลปกครองสูงสุดเสมอ เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองในแต่ละจังหวัด จะไม่เหมือนทั้งที่มีเรื่องที่คล้ายกัน โดยเมื่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว ก็ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยตอนที่ตนเป็นปลัดกระทรวงและประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)   ได้ศึกษาว่า หลักเหมาะสมคือแต่ละโรงงานจะต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งผลผลิตอ้อย  ส่วนเรื่องปัญหาความเดือดร้อนตามที่ผู้ตั้งกระทู้ถามมานั้น  ตนก็จะเตรียมเสนอหลักเกณฑ์ใหม่ต่อ ครม. ภายใน 30 วันเพื่อให้ ครม. มีมติเห็นชอบ เพื่อจะประกาศในกฎกระทรวง เ แต่พื้นที่กรณีพิเศษอย่าง จ.สระแก้ว ก็ต้องดูให้ชัด ซึ่งตนมั่นใจว่าหากมีกฎใหม่ ก็น่าจะไม่มีการวิ่งเต้นเหมือนกับในอดีต  อีกทั้งรัฐบาล ก็ยังมีนโยบายการขยายปลูกอ้อย เพื่อนำผลผลิตอ้อยมาใช้เป็นพลังงานได้  

จากนั้น นายพีระศักดิ์ ได้แจ้งว่า เนื่องจากนายวิษณุ เครืองาม ติดภาระกิจไม่สามารถเดินทางมาตอบกระทู้ของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  เรื่อง  นโยบายเกี่ยวกับลูกจ้างชั่วคราวในหน่วยงานภาครัฐ ได้ ดังนั้น จึงขอเลื่อนกระทู้ดังกล่าวไปในการประชุม สนช. ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558         

หลังจากนั้น  พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ได้ขอเสนอ ญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยพล.อ.สกนธ์ ระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการประกาศให้มีการขอรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของการใช้ปิโตรเลียมของประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น  เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตลอดจนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จนส่งผลให้เกิดการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่างๆอย่างกว้างขวาง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกระบบสัมปทาน และเอาระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ในการบริหารจัดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว อย่างรอบด้าน ดังนั้น ตนและคณะจึงเสนอญัตติตามนัยของข้อบังคับฯ ข้อ 38 เพื่อให้ที่ประชุม สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยมีกำหนดเวลาทำงาน 90 วัน ซึ่งทางที่ประชุม สนช. ได้ลงมติเห็นด้วยที่จะตั้งคณะ กมธ. ดังกล่าว โดยมีจำนวนทั้งหมด 21 คน        

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

‘รณรงค์ไถกลบตอซัง’ลดปัญหาหมอกควันภาคเหนือ-เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

การเผาตอซังนอกจากจะทำให้ดินเสื่อมโทรม โครงสร้างดินจับกันแน่นแข็ง ส่งผลให้สูญเสียอินทรียวัตถุ และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชถูกทำลายแล้ว การเผาตอซังยังทำให้เกิดควัน ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่แพร่กระจายออกไปโดยเฉพาะ 6 จังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การเผาตอซังเป็นการทำให้สูญเสียอินทรียวัตถุไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งอินทรียวัตถุเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคืนอินทรียวัตถุให้กับดิน โดยการไถกลบฟางข้าว ตอซังต่างๆให้ลงไปสู่พื้นดิน เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้จากการลดปริมาณการใช้ปุ๋ย

ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของดินในประเทศไทยทั้งหมด ต่ำกว่า 1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยปกติแล้วดินควรจะมีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 5% เนื่องจากอินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์มากมายมหาศาล อาทิ ทำให้ดินมีโครงสร้างทางกายภาพที่ดี ดินไม่แน่นทึบ เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตในดินทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแมลง ตัวห้ำ ตัวเบียน ก็จะมาออกไข่ในดินและขยายพันธุ์ทำให้ดินมีชีวิตได้ อีกทั้งยังดูดความชื้นในดิน ทำให้ดินมีความชื้นมากกว่าดินที่ขาดอินทรียวัตถุ นี่คือประโยชน์ในหลายๆด้าน เพราะฉะนั้นในภาพรวมเมื่อดินมีอินทรียวัตถุ ก็หมายความว่าดินต่างๆเหล่านั้นมีธาตุอาหาร และมีความอุดมสมบูรณ์

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้มีการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาตอซัง ฟางข้าวมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี พร้อมกับแนะนำวิธีการไถกลบตอซัง เช่น เมื่อดินยังมีความชื้นอยู่ ควรไถกลบ พรวนผสมคลุกเคล้ากับดิน หลังจากนั้นก็จะใช้น้ำสกัดชีวภาพ พด.2 ซึ่งจะช่วยในการย่อยสลาย เมื่ออินทรียวัตถุมีการย่อยสลายก็จะกลายเป็นฮิวมัส ปุ๋ย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในดิน อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือกระบวนการของการปรับปรุงบำรุงดินให้มีสภาพที่ดีขึ้นทั้งคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี เมื่อมีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว เกษตรกรที่ปลูกพืชในพื้นที่ดินเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเป็นจำนวนมาก อาจจะใช้ในส่วนที่จะเติมส่วนที่ขาด และเมื่อสภาพอากาศในดินถ่ายเทดี การระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุในการช่วยผลิตปุ๋ยจากธรรมชาติเอง การปลดปล่อยธาตุต่างๆที่มีอยู่ในดินให้กลับมาเป็นประโยชน์กับพืชได้ นั่นคือ ประโยชน์มหาศาล เกษตรกรเองสามารถที่จะลดต้นทุน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยในเรื่องของการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้ทางหนึ่ง

“จากการที่กรม รณรงค์ไถกลบตอซัง ฟางข้าวมาเป็นเวลานาน จะเห็นได้ว่าปัญหาทางพื้นที่การเกษตรลดน้อยลง การเผาในพื้นที่โล่งแจ้งน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรตระหนักคิดมากขึ้น โดยมองว่าคนที่เผาตอซังก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่สูบบุหรี่ สร้างมลพิษ ทำลายสุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม คนในสังคมส่วนใหญ่จะมองไม่ดี ดังนั้นวันนี้ปัญหาในเรื่องของควันไฟในภาคเหนือลดลงค่อนข้างมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้วเกือบจะครอบคลุมไปทั้ง 6 จังหวัด แต่ปัจจุบันอาจมีบ้างในบางพื้นที่เท่านั้น” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

ต้องยอมรับว่าประโยชน์ของการงดเผาตอซังนั้นมีมากมายมหาศาล เป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรเอง ทั้งในแง่สุขภาพ ลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดควัน และแก้ปัญหาโลกร้อนไปพร้อมๆกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาปึ้ก กฟผ.ยัน “เอาอยู่” แม้ระดับน้ำต่ำเกณฑ์

นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเขื่อนสำรองน้ำสำคัญของ กฟผ.ในการป้อนน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในภาพรวมล่าสุดจะมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้เหลือน้อย แต่ยังสามารถดูแลปริมาณน้ำการบริโภคได้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งปีนี้ หรือในเดือน มิ.ย.นี้ และหากฝนทิ้งช่วงก็สามารถรับมือได้ เนื่องจากเกษตรกรให้ความร่วมมืองดทำนาปรังและพืชฤดูแล้ง ทำให้การใช้น้ำลดลงตามเป้าหมาย “กรณีน้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผ่านมา มีความน่ากังวลอยู่ แต่ก็มีการดูแลอย่างใกล้ชิดและตามแผนนี้ ปัญหาน้ำเค็มทะลักเข้ามาก็จะดีขึ้น”

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้งานได้จริง ล่าสุด ณ วันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา มีปริมาณ 2,131 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ถือเป็นระดับน้ำที่ใช้ได้จริงเหลือน้อย เป็นลำดับที่ 5 ตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ขณะที่ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้งานได้จริง ล่าสุด อยู่ที่ 2,809 ล้าน ลบ.ม. ถือเป็นปริมาณน้ำใช้งานได้จริงเหลือน้อยสุด เป็นอันดับที่ 12 นับตั้งแต่ก่อตั้งเขื่อนมา ด้านนายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้แจ้งเตือนไปยังสมาชิกของ ส.อ.ท.ที่เป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมให้ช่วยร่วมมือกันประหยัดน้ำในกระบวนการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าวิกฤติขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมในปีนี้จะยังไม่มีความรุนแรง เพราะเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกชุกไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในเขื่อนเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก ที่จังหวัดระยองและชลบุรี

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ธปท.ยืนยันยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษดูแลค่าบาท

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เข้ามาหรือกับ ธปท. มีข้อสรุปที่ขอให้ธปท.ช่วยดูแลใน 3 เรื่อง  

คือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสภาหอฯ มองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้ ธปท.ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจในมุมมองอัตราแลกเปลี่ยนว่าสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

ธปท.ยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจมากเกินไป แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องมือในระยะปานกลาง ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน และภาคเอกชนต้องเตรียมพร้อม ปรับตัว เพื่อช่วยเหลือตัวเองด้วย    

นางผ่องเพ็ญ    กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่สิ่งที่พอจะทำได้คือ เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ก็พร้อมจะเข้าไปดูแลตามที่เคยใช้เครื่องมือเดิมในการเข้าดูแล

"ธปท.ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษดูแลค่าเงินบาท เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความผิดปกติของกระแสเงินทุนไหลเข้าออก แต่มาจากการเปลี่ยนแปลงของเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่และเป็นคู่ค้าของไทย เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งทุกประเทศเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน"

เรื่องที่สองสภาหอฯขอให้ ธปท.สนับสนุนให้ใช้เงินของประเทศคู่ค้าแทนการใช้สกุลเงินของประเทศที่ 3 ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.มีความเห็นที่สอดคล้องกันกับภาคเอกชน และเห็นว่าจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการใช้สกุลเงินระหว่างประเทศคู่ค้า เพื่อมาแทนการอ้างอิงสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น    สามการมองโอกาสในการเปิดตลาดประเทศที่ถูกคว่ำบาตรเพื่อให้เป็นเป้าหมายใหม่ในการส่งออก เพราะปัจจุบันเรื่องนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งต้องเป็นท่าทีของประเทศไทยเองด้วยว่าจะมองเรื่องนี้อย่างไร แต่ทั้งนี้ ธปท.อยากให้ภาคเอกชนจัดระบบต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ เพราะหากการคว่ำบาตรเริ่มลดน้อยลง จะทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับเข้าไปทำธุรกิจหรือการค้าขายกับประเทศนั้นๆ ได้ทันที

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินหวั่นภัยแล้งมาเร็ว สร้างแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานเพิ่ม50,000บ่อ

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ได้เริ่มส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของประเทศไทยแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมาและคาดการณ์ว่าจะรุนแรง นโยบายจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดการปลูกข้าวในรอบที่ 2 เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตชลประทาน แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน การทำการเกษตร อย่างการปลูกข้าวที่ทำครั้งเดียวอยู่แล้ว ก็เป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรจะหันมาดูแลในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การหันมาปลูกปุ๋ยพืชสด เพราะว่าที่ผ่านมาทาง กรมพัฒนาที่ดินได้ขับเคลื่อนให้มีการพักดิน การใช้ปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน จะส่งผลดีต่อการตัดวงจรโรคระบาดและแมลงต่างๆ ในส่วนวิธีการทำปุ๋ยพืชสดนั้น ทางสถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศก็จะมีปุ๋ยพืชสดสนับสนุนในการดำเนินงานให้พี่น้องเกษตรกรอยู่แล้ว ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่ว่าถ้าจะมองในเรื่องของรายได้ก็อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดรายได้โดยตรงต่อตัวพี่น้องเกษตรกร แต่ว่าจะมีผลทางอ้อมที่ดีในการปลูกข้าวรอบต่อไป ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการปลูกครั้งต่อไปอีกด้วย สำหรับการดำเนินงานในโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานที่กรมพัฒนาที่ดินได้สนับสนุนอยู่ มีเป้าหมาย คือ ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยปีนี้คาดการณ์ว่าฝนจะทิ้งช่วงในระยะยาว น้ำในบ่อขนาดเล็กก็อาจจะหมดได้ โดยเกษตรกรต้องใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งจะไม่เหมือนทุกปีที่ผ่านมาที่จะมีน้ำฝนมาเติมในช่วงเวลาเดียวกัน

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า ในปี 2558 ทางกรมพัฒนาที่ดินได้รับงบประมาณมาทั้งหมด 50,000 บ่อ ซึ่งได้มีการกระจายออกไปทั่วทุกจังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง และการลงพื้นที่สำรวจ โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางกรมพัฒนาที่ดินได้มีการประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรไปแล้ว ทั้งนี้จากการประเมินของกรมพัฒนาที่ดินและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า สระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานเป็นที่พึงพอใจของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งถือเป็นตัวช่วยชะลอให้มีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งสำหรับในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558

กรมชลเดินหน้าปูพรมจัดรูปที่ดิน ตั้งเป้าอีก1.5ล้านไร่-สร้างความเป็นธรรมจัดการน้ำ

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบชลประทานระดับไร่นา ด้วยการจัดรูปที่ดินและงานก่อสร้างคันคูน้ำ เพราะจะสามารถกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม ลดการสูญเสียน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถพัฒนาระบบชลประทานระดับไร่นาทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นงานจัดรูปที่ดินประมาณ 2 ล้านไร่ และงานก่อสร้างคันคูน้ำอีกประมาณ 10 ล้านไร่ ซึ่งประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ เหมาะกับการพัฒนาระบบชลประทานระดับไร่นาอีกประมาณ 1.5 ล้านไร่ แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้สามารถดำเนินการการจัดรูปที่ดินได้ปีละไม่เกิน 50,000 ไร่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้พัฒนาระบบชลประทานในระดับไร่นาประสบผลสำเร็จหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้มีการสร้างคันคูน้ำและปรับพื้นที่นาให้เกษตรกรจำนวน 1,220 ไร่ เพื่อชักน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนเข้าสู่ทุกแปลงนาอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรได้รับน้ำต้นทุนอย่างทั่วถึงและผลผลิตทางการเกษตรกรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดค่าไฟฟ้าที่จะต้องสูบน้ำเข้านาตนเอง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นายจำลอง อ่องอ้น ผู้อำนวยการโครงการปฏิบัติการคันคูน้ำที่ 7 กรมชลประทาน กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ ต.โพธิ์ จะใช้น้ำต้นทุน จากห้วยสำราญ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำมูล ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยได้มีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำห้วยสำราญเพื่อสูบน้ำเข้าไร่นา แต่ที่ผ่านมาจะมีปัญหาเกษตรกรได้รับน้ำไม่ทั่วถึง ต้องใช้เวลาในการสูบน้ำหลายชั่วโมงจนเกิดการขัดแย้ง แย่งน้ำ ค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำก็สูง เมื่อกรมชลประทานได้เข้ามาปรับพื้นที่นาให้เสมอกันจำนวนทั้งหมด 235 แปลง พร้อมสร้างคลองคู่ขนานต่อจากระบบส่งน้ำหลัก และคูระบายน้ำ ปัญหาดังกล่าวข้างต้นก็หมดไป รวมทั้งยังได้มีการสร้างถนนเพิ่มเติมอีกด้วย

นายบุญทัน เขตสกุล เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ต.โพธิ์ และหัวหน้าคลองส่งน้ำสาย 1 กล่าวว่า ตนมีที่นาจำนวน 5 ไร่ ได้เข้าสู่ระบบการจัดรูปที่ดินซึ่งจะต้องเสียสละที่ดินเกือบ 1 ไร่ เพื่อก่อสร้างคันคูส่งน้ำ ปกติทำนาปีละ 1 ครั้ง ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 800 กิโลกรัม คาดว่าทำนาครั้งหน้าผลผลิตจะเพิ่มเป็นไร่ละ 1,000 กิโลกรัม และอาจจะทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง เพราะเห็นแล้วว่ามีน้ำเข้าแปลงนาทุกแปลงจึงอยากจะให้กรมชลประทานจัดรูปที่ดินเพิ่มเติมให้อีก เช่นเดียวกับ นายกุน โคขาว อายุ 70 ปี เกษตรกรจากบ้านโนนหุ่ง ต.โพธิ์ กล่าวว่า อยากให้มีการจัดรูปที่ดินในเขตพื้นที่ของตนเช่นกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558

ส่อง..เกษตรกร : ปฏิรูปเกษตร..ปฏิรูปกระทรวง

ผมเคยปรารภในคอลัมน์นี้ แสดงความผิดหวังเล็กๆที่“การปฏิรูปภาคเกษตร” ไม่ถูกตั้งเป็นประเด็นหลักเรื่องหนึ่งในการปฏิรูปประเทศที่คสช.มอบให้สปช.-สภาปฏิรูปแห่งชาติดำเนินการ ทั้งที่เกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นภาคที่มีความสำคัญยิ่ง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังคงเป็นภาคการผลิตที่ยากจน มีปัญหาหนักหน่วง หนี้สินหมักหมม ยากจนซ้ำซาก ฯลฯ

การปฏิรูปประเทศที่ดำเนินการอยู่นี้ เรื่อง“การเกษตร”ถูกนำไปเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการดูแลของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่รวมไว้หมดทั้งปฏิรูปภาคเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับแนวทางที่จะปฏิรูปภาคเกษตรมีออกมาให้รับทราบไม่มากนัก จนเกิดความรู้สึกว่า คงจะคาดหวังอะไรสูงมากไม่ได้แน่

ไม่กี่วันมานี้ เห็นข่าวที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจกับทีวีดีจีทัล NOW 26 จัดเวทีพลเมืองปฏิรูป เพื่อสรุปข้อเสนอแนะจากการเสวนา 10 จังหวัดช่วงที่ผ่านมา จึงพอจะรับทราบความเคลื่อนไหว สปช.ในการรับฟังความคิดเห็นเรื่องปฏิรูปภาคเกษตรบ้าง เลยขอนำมารายงานและคอมเมนท์สักหน่อย

ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าว มีการนำเสนอหัวข้อ “ปฏิรูปชาวนายั่งยืน ประเทศไทยยั่งยืน” โดยมี คุณเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปภาคเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ มาร่วมรับฟังและร่วมแสดงความเห็นด้วย พร้อมกับสปช.อีกหลายท่าน

จากข่าวที่มีรายงานมา ผู้ทรงคุณวุฒิได้แสดงความคิดเห็นกัน อาทิ คุณปราโมทย์ วานิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ที่ปรึกษากรมการข้าว เสนอว่า การแก้ปัญหาข้าวและชาวนาให้ยั่งยืนนั้น ต้องปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการบริหารนโยบายข้าว (Rice Board) คณะกรรมการระดับชาติผู้กำหนดนโยบายบริหารจัดการข้าวของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีแต่กรรมการที่เป็นข้าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ ไม่มีตัวแทนผู้ผลิตข้าว ทำให้นโยบายที่ออกมา ไม่ได้สร้างอนาคตที่ดีของชาวนา ทั้งให้ข้อมูลว่า รัฐบาลทุกชุดใช้เงินไปมหาศาล แค่ 8 ปีตั้งแต่ 2549-2558 ใช้เงินภาษีกว่า 8.48 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวเท่านั้น ไม่มีการใช้งบฯวางแผนและพัฒนาการปลูกข้าวหรือพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยให้ก้าวหน้าขึ้นเลย จึงเสนอว่าควรส่งเสริมการรวมตัวของชาวนาและเกษตรกรให้เข้มแข็งในการนำเสนอความคิดต่างๆให้ Rice Board นำไปปรับปรุงนโยบายให้มีผลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตชาวนา และกำหนดโรดแมปพัฒนาการปลูกข้าว เป็นต้น

คุณเกริกไกร จีระแพทย์ ก็เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้าง Rice Board ให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งอุตสาหกรรมข้าว ตั้งแต่ชาวนาผู้ปลูกจนถึงผู้ส่งออกข้าวมาเป็นกรรมการชุดนี้และกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่า มี 2 หน้าที่หลักคือ 1.แก้ปัญหาชาวนาที่ยากจนและ 2.แก้ปัญหาระบบข้าวและทิศทางตลาดข้าว

“สปช.จะเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาลต่อไป พร้อมกับข้อเสนออื่นๆในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่อนุกรรมาธิการเรื่องสินค้าเกษตรของสปช.กำลังดำเนินการอยู่”คุณเกริกไกรบอก

เอาแค่นี้ก่อนพอหอมปากหอมคอว่า สปช.กับเรื่องของการปฏิรูปการเกษตร กำลังรวบรวมแนวความคิดที่จะทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของ“ข้าวกับชาวนา”ที่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ใหญ่ที่สุด

พอดีก็นึกขึ้นได้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง ปลายปีที่ผ่านมา ก็มีข่าวว่า ตัวรมว.ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา จะเสนอแผนปรับโครงสร้างภาคเกษตรทั้งระบบเป็นเวลา 5 ปี เข้าครม.ถ้าได้รับความเห็นชอบ ก็จะเสนอร่างกฎหมายพัฒนาภาคเกษตรเข้าสนช.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกฎหมายที่ทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติตามโดยจะใช้งบประมาณปีละ 2 แสนล้านบาทปรับโครงสร้างการเกษตร,การประกันภัยพืชผล, การช่วยเหลือค่าครองชีพรูปแบบสวัสดิการต่างๆ และงบต่อเนื่องในงานวิจัยต่อยอดผลผลิต

ตอนข่าวนี้ออกมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่เสนอใช้ถึงปีละ 2 แสนล้านบาท เพราะข้อเท็จของงบประมาณประเทศทั้งหมด ปัจจุบันแม้ตกปีละกว่า 2.5 ล้านล้านบาท แต่งบฯส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายประจำ ทั้งเงินเดือนข้าราชการและอื่นๆ เหลืองบฯลงทุนไม่ถึง 20% ของงบฯทั้งหมดหรือแค่ระดับ 4 แสนล้าน ถ้าเอาไปใช้เฉพาะด้านนี้ถึง 2 แสนล้าน แล้วภาคส่วนอื่นจะเป็นไง

นี่แหละความคิดวางแผนแบบข้าราชการ...ทำให้ยิ่งเห็นความจำเป็นที่จะต้องเอาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมในคณะกรรมการระดับชาติด้านการเกษตรอย่างกรณี“ข้าว”ที่เสนอสปช.กันอยู่

ทิ้งท้ายสักนิด จะปฏิรูปการเกษตรอย่างไร ก็อย่าลืมต้องปฏิรูปข้าราชการกระทรวงเกษตรฯเป็นสำคัญด้วย ไม่งั้นวางแผนปฏิรูปให้ดีแค่ไหน ก็คงตายน้ำตื้นหมด ถ้ากลไกขับเคลื่อนยังเป็นแบบนี้

สาโรช บุญแสง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558

ชาวไร่อ้อยวังสะพุงรับมอบโครงการส่งน้ำระบบท่อ ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต

เลย - กลุ่มมิตรผลส่งมอบโครงการระบบท่อส่งน้ำเพื่อการปลูกอ้อยบ้านขอนยาง ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้ใช้น้ำบำรุงอ้อยในหน้าแล้ง เผยช่วยลดต้นทุนชาวไร่ ซ้ำได้ผลผลิตเพิ่มจากเดิมถึง 6.23 ตัน/ไร่ คิดเป็น 70% สร้างรายได้ครอบครัวชาวไร่อ้อยเพิ่ม

               นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผลและประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงโครงการระบบท่อส่งน้ำเพื่อการปลูกอ้อยบ้านขอนยาง ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง จ.เลย ภายหลังร่วมในพิธีส่งมอบโครงการฯ ว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์การส่วนท้องถิ่น ชาวไร่อ้อย และกลุ่มมิตรผล ที่ตระหนักถึงภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และอาชีพเกษตรกรรม

               โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพการทำไร่อ้อย ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนในตำบลโคกขมิ้น และพื้นที่ใกล้เคียงในตำบลวังสะพุง โดยโครงการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการปลูกอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเท่านั้น ยังจะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมให้เกิดชุมชนคนปลูกอ้อยโดยใช้แรงงานในครัวเรือน ไม่จำเป็นต้องออกไปหางานทำต่างถิ่น ช่วยชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง

               นายอิสระระบุอีกว่า โครงการระบบท่อส่งน้ำเพื่อการปลูกอ้อยบ้านขอนยางมีการวางระยะท่อแนวทางท่อยาว 6.2 กม.จากโรงงานน้ำตาลมิตรผลภูหลวง ถึงบริเวณป่าภูคำน้อย บ้านขอนยาง ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง ครอบคลุมพื้นที่ใช้ประโยชน์กว่า 1,200 ไร่ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2557 ในโครงการมีจำนวนสมาชิก 57 ราย      

        ทั้งนี้ จากการทดลองใช้งานได้ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรที่ปลูกอ้อยได้มาก จากเดิมเกษตรกรเคยปลูก 1 ไร่ ได้ผลผลิต 8.9 ตัน แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 1 ไร่ได้ผลผลิต 15.13 ตัน ผลต่างก่อนและหลัง 6.23 ตัน/ไร่ คิดเป็น 70% ช่วยสร้างรายได้มาสู่ครอบครัวชาวไร่อ้อยมากขึ้น

จาก  http://manager.co.th  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558

ครม. เร่ง มหาดไทย-เกษตร คุยกับปชช.ในพื้นที่แล้ง เร่งใช้งบจ้างงาน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ฝากให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดูแลเกษตรกรกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย จะต้องไปเร่งรัดโครงการที่ ครม. เคยมีมติอนุมัติไปแล้ว ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้งซ้ำซากตำบลละ 1 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งคุยกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดโครงการ โดยมีกติกา คือ 1.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคิด 2. งบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ใช้ในโครงการจะต้องใช้เป็นค่าจ้างแรงงาน และ 3.หากมีผลผลิตเหลืออยู่สามารถต่อยอดโครงการต่างๆ ต่อไปได้ก็ถือเป็นเรื่องดี อาทิ โครงการการทำบ่อเก็บกักน้ำชุมชน จัดทำเครื่องมืออุปกรณ์ ปุ๋ย อินทรีย์ หากสำเร็จก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

จาก  http://www.prachachat.net วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558

น้ำตาลบุรีรัมย์เปิดโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2

เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 2 รับอานิสงค์ระบบ FiTหนุนสัดส่วนกำไรจากธุรกิจพลังงานทดแทนในปี 58 เพิ่มเป็นกว่า 30%

บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์หรือ BRR ตอกย้ำความแข็งแกร่งธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากกากอ้อยแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ พร้อมทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับอานิสงส์ภาครัฐเปลี่ยนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากระบบ adder เป็น Feed-in-Tariff หรือ FiT ทำให้มีรายรับต่อหน่วยเพิ่มจาก 3.60 บาท เป็น 4.53 บาท ดันยอดรายได้เพิ่มปีละกว่า 250 ล้านบาท คาดช่วยหนุนกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 450 ล้านบาท หลังรวมรายได้โรงไฟฟ้าแห่งแรกอีก 200 ล้านบาทแล้วและทำสัดส่วนกำไรเพิ่มเป็นกว่า 30%

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายต่อยอดทางธุรกิจสู่พลังงานทดแทน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 2 หรือ โรงไฟฟ้าบุรีรัมย์พาวเวอร์ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9.9 เมกะวัตต์ โดยเลือกใช้ชานอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เมื่อรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแห่งแรก หรือ บุรีรัมย์พลังงาน ทำให้มีกำลังการผลิตรวมเกือบ 20 เมกะวัตต์

สำหรับการเปิดโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 2 ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่มุ่งนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาต่อยอดสร้างมูลค่าสูงสุดให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทนเพื่อผลักดันรายได้และกำไรสูงสุด ที่สำคัญโรงไฟฟ้าของ BRR ยังได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากนโยบายภาครัฐ ที่มีการปรับเปลี่ยนระบบการซื้อไฟฟ้าจาก adder เป็น Feed-in-Tariff หรือ FiT ที่มีผลให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมหน่วยละ 3.60 บาท เป็น 4.53 บาทต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ นโยบายระบบการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว จึงส่งผลบวกที่ดีของ BRR ต่อขีดความสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนในปี 2558 เพิ่มเป็น 450 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ประมาณ 250 ล้านบาทและโรงไฟฟ้าแห่งแรกอีก 200 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 10% จากเดิมที่มี 5% ของผลการดำเนินงานรวมของบริษัทฯ และยังทำให้สัดส่วนกำไรเพิ่มเป็นกว่า 30% จากเดิมที่มีสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 20% อีกด้วย

“การเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 2 โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนที่มาจากการต่อยอดจากธุรกิจผลิตน้ำตาลทราย เพื่อสร้างผลการดำเนินงานในส่วนของรายได้และกำไรในปี 2558 ที่ดีได้” นายอนันต์ กล่าว

ล่าสุด บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์พลัส จำกัด ซึ่งได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งต่อกระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนงานขยายธุรกิจพลังงานทดแทนของ BRR ที่มีแนวทางขยายธุรกิจเพิ่มเติมต่อไป

จาก  http://www.thanonline.com  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลระหว่างประเทศ เยี่ยมชม KTIS Complex 

          ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทิส” ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับคณะกรรมการจากสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISSCT : International Society of Sugar Cane Technologists) เนื่องในโอกาสเยี่ยมชม KTIS Complex จ.นครสวรรค์ ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลโรงเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีกำลังการผลิต 55,000 ตันอ้อย/วัน โรงงานผลิตเอทานอล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย โรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพ และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อเตรียมรับการประชุมวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาลที่มีความสำคัญระดับโลก

จาก  http://news.thaiquest.com   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผกก.สภ.หนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์เตือนเผาอ้อยจะกลายเป็นผู้ต้องหาทำลายทรัพย์

พ.ต.อ.นพดล ศรีชะตา ผกก.สภ.หนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เผยว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงที่โรงงานเปิดหีบอ้อยและในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีเกษตรปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเวลาขับรถไปมาจะเห็นการเผาไร่อ้อยเป็นประจำ ทั้งที่ทางราชการได้รณรงค์ลดการเผาอ้อย เพราะจะทำให้นำหนักลด แต่ก็มักได้ยินอ้างว่าเวลาตัดอ้อยไม่สะดวก และการเผาอ้อยก็มักจะลักลอบเผาตอนกลางคืน ซึ่งหลายครั้งทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

พ.ต.อ.นพดล ศรีชะตา ได้กล่าวอีกว่า การเผาอ้อยในไร่ตนเองต้องทำแนวกันไฟให้ดี และให้เฝ้าระวังจนกว่าไฟจะดับ เพราะหน้านี้อากาศแห้งบางทีขณะเผาก็เกิดลมพัดแรงอาจทำให้ไฟลุกลามไปไหม้ไร่คนอื่นได้หรืออาจึงขั้นเอาไม่อยู่ไหม้บ้านเรือนหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ ท่านจะกลายเป็นผู้ต้องหาในข้อหาทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นและหากลุกลามไหม้ป่าสงวนหรือป่าสาธารณะ ก็จะได้รับข้อหาการทำลายทัพยากรธรรมชาติได้

จาก  http://thainews.prd.go.th    วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร เร่งเชื่อมโยงงานวิจัยกับการส่งเสริมด้านการเกษตร สร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรของไทย

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับกรมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 1/2558 ว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพสินค้าเกษตร และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านการเกษตรของประเทศที่สำคัญๆ มาโดยตลอด และในปี 2558 ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันยกระดับการทำวิจัยและพัฒนาแบบมุ่งเป้าหมายและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเป็นหลัก ภายใต้การทำงานแบบบูรณาการของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อความเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ

ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ทั้งสองหน่วยงานยังได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาของกระบวนการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ความร่วมมือในการควบคุมการระบาดของศัตรูพืชมันสำปะหลัง หรือ เพลี้ยมันสำปะหลัง ตั้งแต่ปี 2552 สามารถควบคุมการระบาดได้ ทำให้มีพื้นที่การระบาดลดลง ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากจำนวน 21.9 ล้านตัน ในปี 2554 เป็น 30 ล้านตัน ในปี 2557

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินโครงการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยสะอาดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรนำไปผลิตขยายในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งการเตรียมเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ อาทิ ข้าวโพด และพืชตระกูลถั่วต่างๆ ร่วมกันอีกด้วย

จาก  http://thainews.prd.go.th  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อธิบดีกรมชลฯยังหวังสร้างเขื่อนแม่วงก์

อธิบดีกรมชลฯยังหวังสร้างเขื่อนแม่วงก์ ย้ำเสียป่า1.2หมื่นไร่แต่ปลูกชดเชยคืน3หมื่นไร่ ระบุแผนยุทธศาสตร์น้ำทั้งระบบเสร็จในเดือนนี้

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า มีการพูดถึงตัวเลขในการใช้สร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหมดทั่วประเทศจะใช้พื้นที่ป่า 5 แสนไร่ แต่ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าเสียหายไปแล้วประมาณ 150 ล้านไร่ ซึ่งการเสียพื้นที่ป่าเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำจะสร้างประโยชน์มากมาย แต่พื้นที่ป่าที่เสียไปด้วยวิธีอื่นไม่มีประโยชน์อะไรเลย และความจำเป็นในการสร้างอ่างก็ยังมีอยู่ไม่เช่นนั้นเราก็ต้องคุยกันเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วมไปตลอด เป็นสิ่งที่พยายามพูดมาตลอด บางครั้งเราก็ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อแก้ไขผลกระทบ ขณะเดียวกันมีกระบวนการตัดไม้ทำลายป่าไม่ได้ให้อะไรคืนเรามาเลย แต่การสร้างอ่างถึงเสียไปก็ยังมีการปลูกป่าชดเชย ทำโน้น ทำนี้เยอะแยะเลย แต่มีกระบวนการต่อต้านเขื่อน แต่กระบวนการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่ากลับไม่มีใรเป็นโต้โผเลย ทั้งที่เขื่อนได้ประโยชน์กลับมาเยอะซึ่งในข้อเท็จจริงใช้พื้นที่น้อยมาก

 อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า อย่างเขื่อนแม่วงก์ ตนทำงานกรมชลประทานถ้าบอกว่าไม่อยากให้สร้างก็ทำร้ายจิตใจคนเป็นแสนคน วันนี้จะสร้างหรือไม่สร้างไม่ใช่ประเด็น แต่อยากรู้ว่าการสร้างอ่างมีผลกระทบอะไรและเราไม่แก้ปัญหาคุ้มค่าไหมกับที่เราเสีย และมีคณะกรรมการที่ดูอยู่ ถ้าเทียบกันระหว่างสิ่งที่ได้กับสิ่งที่เสียต้องเกินหนึ่งอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะสร้างทำไม่ แต่ป่าก็ต้องได้รับผลกระทบบ้าง อย่างเขื่อนแม่วงก์เราเสียป่า 12,000 ไร่ จะมีการปลูกเพิ่มให้อีก 3 หมื่นไร่ และถ้าสร้างเขื่อน ไม่ได้เสีย 12,000 ไร่ แต่เพื่อปกป้องป่าอีกเป็นแสนไร่ ซึ่งตนก็พยายามพูดตรงนี้มาตลอด

 อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ส่วนการสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นส่วนรายละเอียดรายโครงการที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการที่จะต้องขออนุญาตสำนักงานสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่คุ้มค่าก็เลิกไป ไม่ใช่คิดอยากจะสร้างก็สร้าง แต่สร้างเพราะว่าต้องเข้าไปแก้ไข ซึ่งจะต้องดูว่าคุ้มค่าหรือไม่

 ส่วนกรณีที่วิศวกรรมสถาน ในพระบรมราชูปถัมป์(วสท.) ระบุว่า การกำหนดแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำไม่มีการนำเอาผลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ว่า ได้มีการชี้แจงกับ วสท.แล้ว ว่ามีการใส่ความเห็นไปแล้ว แต่อาจมีบางอย่างตกไปหรือแทรกอยู่ในบทความในบางเรื่อง ซึ่งได้มีการชี้แจงให้เข้าใจเรียบร้อยแล้ว

 ส่วนแผนยุทธศาสตร์จะสามารถประกาศใช้ได้เมื่อไหร่นั้น นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า ยังไม่แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ แต่จริงๆ ยุทธศาสตร์สามารถเดินหน้าได้แล้ว เพียงแต่ว่าความสมบูรณ์ของเล่มจะต้องมีอนุกรรมการหลายคณะ ซึ่งจะต้องรอการประชุมชุดใหญ่ก่อน จึงยังระบุไม่ได้ว่าแผนยุทธศาสตร์จะสามารถออกได้เมื่อไหร่ เพราะตนเป็นเพียงอนุกรรมการชุดหนึ่งเท่านั้น

"จริงๆ เรื่องของยุทธศาสตร์ไม่ได้ติดขัดอะไรแล้ว และมาใช้เป็นคู่มือในการจัดทำงบประมาณปี 59 ด้วย แต่การรวบรวมเป็นรูปเล่มนั้นมีเรื่องของกฎหมายและองค์กรมาร่วมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าอยู่ๆ มาเย็บใส่เดี๋ยวก็โดนกระทืบจม แต่เรื่องแผนงานแก้ไขปัญหาหนีไม่พ้นเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งก็มีเท่านี้ สร้างเขื่อน สร้างฝาย สร้างอ่าง สร้างคลอง" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

จาก  http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ศูนย์เรียนรู้ฯ รวมใจ สอนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

โดยศูนย์ฯ จัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยี ที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต และเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ

ปัจจุบันการผลิตสินค้าเกษตรมักประสบกับปัญหา ต้นทุนการผลิตสูง การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช และพื้นที่เพาะปลูกขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตที่ได้รับ มีปริมาณน้อยและคุณภาพต่ำ เกษตรกรจึงประสบกับปัญหาการขาดทุน เกิดภาวะหนี้สิน ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญ และหาวิธีให้การช่วยเหลือ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มผลผลิตการเกษตรหรือแปลงสาธิต เพื่อให้เป็นจุดดูงานของเกษตรกรขึ้น

โดยศูนย์ฯ จัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยี ที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต และเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้วางเป้าหมายไว้ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ศูนย์ทั่วประเทศ รวม 882 แห่ง เป็นต้นแบบและมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเกษตรกรจำนวน 176,400 คน หรือ 200 คนต่อศูนย์ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และมีระบบการผลิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2558 นี้ กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ในหัวข้อ “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี เน้นกิจกรรมตามภารกิจของหน่วยงานหลักและกิจกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และมีหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมจัดนิทรรศการในหัวข้อ“การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า” กับหน่วยงานเจ้าภาพหลักทุกครั้ง

ซึ่งในเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้ความร่วมมือและความตระหนักของเกษตรกรในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในไร่นาของตนเอง และสามารถใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า โดยเปิดตัวโครงการฯ ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1–9 ในระหว่างวันที่ 15 มกราคม–15 กุมภาพันธ์ 2558 และจะมีจุดหลักที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.ดอนเกาะคา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการและการเสวนาให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้น้ำในการปลูกข้าวแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการหมุนเวียนน้ำไปใช้ประโยชน์ การกักน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเค็ม ปริมาตรน้ำที่จำเป็นและเหมาะสมกับการผลิตข้าว เป็นต้น และต่อยอดจากการดำเนินการทั้ง 9 เขต กระจายสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ในพื้นที่ 77 จังหวัด เกษตรกรเป้าหมาย 88,200 คน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์–กันยายน 2558

จาก  http://www.dailynews.co.th วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

งัด5มาตรการรับมือวิกฤติแล้ง เกษตรฯเปิดศูนย์ติดตามแก้ไขปัญหาระดับปท.

นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2557/58 โดยมีการวิเคราะห์และรายงานสถานการณ์ เพื่อประเมินความรุนแรงของผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งในระดับพื้นที่จังหวัด ลุ่มน้ำ และชุมชน นำมาจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและการเกษตรกรรม ติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และรายงานสถานการณ์ โดยมีการเตรียมรับสถานการณ์ ดังนี้

1.การชี้แจงเพื่อสร้างความรู้วิธีการปรับตัวและการลดผลกระทบให้แก่ชุมชนเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มน้ำและพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งในส่วนกลางมีศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงานระดับกระทรวง และในส่วนภูมิภาค มีศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด ในการรายงานและการให้ความช่วยเหลือ 2.การวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ควบคู่กับมาตรการการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยการบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดการน้ำช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 3.การพัฒนาปรับปรุงขุดลอกแหล่งน้ำนอกพื้นที่เขตชลประทาน ให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 2.3 ล้าน ลบ.ม. 4.แผนเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,900 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 295 คัน ทั้งนี้ได้ดำเนินการสนับสนุนช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 56 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 49 คัน และ 5.เตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงโดยจะเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 27 กุมภาพันธ์

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรขณะเกิดภัย โดยจะเร่งรัดการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/58 โดยการจ้างแรงงาน 32,562 คน คิดเป็นร้อยละ 74 การส่งเสริมอาชีพโดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา เมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ฝึกอบรมอาชีพภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซาก ให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน จำนวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด และการสนับสนุนเงินทุนให้สหกรณ์กู้ยืมให้แก่สมาชิกที่ประสบภัยแล้ง เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาอาชีพที่ได้ผลตอบแทนระยะสั้น โดยไม่คิดดอกเบี้ย วงเงิน 65 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประชุมบริหารจัดการน้ำนานาชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่แน่นอนในอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำและโครงการชลประทานแบบมีส่วนร่วม เทคโนโลยีใหม่ ๆ

ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คอง คอร์ด กรุงเทพ สมาคมนักอุทกวิทยาไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และนำเสนอผลงานทางวิศวกรรมศาสตร์ การชลประทาน และการจัดการน้ำ

โดยมี นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานการประชุม การประชุมในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอหัวข้อที่สำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความไม่แน่นอนในอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำและโครงการชลประทานแบบมีส่วนร่วม เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ และความยั่งยืน ซึ่งผู้นำเสนอผลงานและผู้เข้าร่วมประชุมได้ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดงานวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมต่อไป.

จาก  http://www.dailynews.co.th วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรมชลฯเดินหน้าจัดรูปที่ดิน1.5ล้านไร่

ทั้งนี้ที่ผ่านมา มีการพัฒนาระบบชลประทานระดับไร่นาทั่วประเทศ เป็นงานจัดรูปที่ดินประมาณ 2 ล้านไร่ งานก่อสร้างคัน/คูน้ำประมาณ 10 ล้านไร่ และยังมีพื้นที่ที่เหมาะกับการพัฒนาระบบชลประทานระดับไร่นาได้อีกประมาณ 1.5 ล้านไร่

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปี 2558 กรมชลประทานมีแผนที่จะจัดรูปที่ดินให้ได้อีกประมาณ 20,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม สกลนคร สุพรรณบุรี และอ่างทอง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา มีการพัฒนาระบบชลประทานระดับไร่นาทั่วประเทศ เป็นงานจัดรูปที่ดินประมาณ 2 ล้านไร่ งานก่อสร้างคัน/คูน้ำประมาณ 10 ล้านไร่ และยังมีพื้นที่ที่เหมาะกับการพัฒนาระบบชลประทานระดับไร่นาได้อีกประมาณ 1.5 ล้านไร่ แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้สามารถดำเนินการการจัดรูปที่ดินได้ปีละไม่เกิน 50,000 ไร่เท่านั้น

อย่างไรก็ตามในปี 2557 ที่ผ่านมาได้พัฒนาระบบชลประทานในระดับไร่นาประสบผลสำเร็จหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้มีการสร้างคันคูน้ำและปรับพื้นที่นาให้เกษตรกรจำนวน 1,220 ไร่ เพื่อชักน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนเข้าสู่ทุกแปลงนาอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรได้รับน้ำต้นทุนอย่างทั่วถึงและผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดค่าไฟฟ้าที่จะต้องสูบน้ำเข้านาตนเอง ส่งผลให้เกษตรกรลดรายจ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย.

จาก  http://www.dailynews.co.th วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรมชลฯผุดโครงการจัดรูปที่ดินเปิดประตูสู่พื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าภาคอีสาน

เมื่อเอ่ยถึง ภาคอีสาน เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง ผืนนาที่มีสภาพแห้งแล้งกลายสภาพเป็นก้อนแข็งและแตกระแหง ท่ามกลางไอร้อนที่ระอุ ยามแสงแดดแผดจ้าดูจะเป็นแวบแรกของความคิดที่ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อเอ่ยถึง ภาคอีสาน แต่คงใช้ไม่ได้ ณ หมู่บ้านแห่งนี้ นั่นคือ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ. ศรีสะเกษ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประสบปัญหาซ้ำซากของเกษตรกรในพื้นที่ คือน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ทั้งจากแม่น้ำมูล โดยตรง และห้วยสำราญ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำมูลส่งผลกระทบทำให้น้ำไหลท่วมพื้นที่ทำกิน ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มข้าวนาปีที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายเป็นประจำ เกษตรกรต้องยังชีพด้วยการจับปลาเป็นการประทัง

      ช่วงฤดูแล้งที่ผ่านๆมา น้ำจากแม่น้ำมูลที่เคยเอ่อหลากล้นมาท่วมขังพื้นที่ในฤดูฝนกลับแห้งผากไม่สามารถทำการเกษตรได้ ส่วนลำห้วยสำราญแม้จะมีน้ำท่าสมบูรณ์ แต่กลับไม่มีเครื่องมือสูบน้ำ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้เช่นกัน ส่วนใหญ่ต้องอพยพเข้าไปขายแรงงานในเมืองกรุง

      อย่างไรก็ดี ในระยะหลังๆ มีความพยายามหาทางออกโดยจัดหาเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยและระดมเงินทุนจากเกษตรกรเพื่อสูบน้ำเข้าพื่นที่เกษตร ทำให้เกษตรกร ต.โพธิ์ สามารถเข้าถึงน้ำได้ดีขึ้นแม้ยังไม่ทั่วถึงนัก เพราะยังขาดระบบชลประทานในไร่นาสนับสนุน

 นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน

     นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เผยว่า “การเข้ามาดำเนินการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง และกรมชลประทาน ที่เข้ามาดำเนินการจัดรูปที่ดิน โดยการก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียงในพื้นที่ โดยสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ได้ดำเนินการก่อสร้างจัดรูปที่ดินแปลงตัวอย่าง ประเภทสมบูรณ์แบบ (Intensive) ขึ้น ในพื้นที่ 1,220 ไร่ แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2557 โดยที่ผ่านมา การพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมแล้ว 1,961,151 ไร่ งานก่อสร้างคันและคูน้ำ 10,772,286 ไร่”

 เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า

ห้วยสำราญ แหล่งน้ำต้นทุนสำคัญ

     การจัดรูปที่ดินเป็นการพัฒนาระบบชลประทานในระดับไร่นา เพื่อส่งน้ำเข้าที่แปลงนาอย่างทั่วถึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่ลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รองรับเชื่อมโยงจากระบบชลประทานใหญ่ ได้แก่คลองชลประทานใหญ่ ได้แก่ คลองส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่สูบฉีดเลือดปริมาณมาก ความพิเศษอีกประการหนึ่งของการจัดรูปที่ดินนอกเหนือจากมีคูส่งน้ำถึงแปลงไร่นาอย่างทั่วถึงแล้ว ยังมีคูระบายน้ำ และเส้นทางลำเลียงเข้าถึงอย่างทั่วถึงอีกด้วย

คลองส่งน้ำเข้าแปลงนา

 น้ำเข้าถึงนาทุกแปลง

     ทั้งส่งน้ำ คูระบายน้ำ และถนน ล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรในการเข้าถึงน้ำ เข้าถึงการระบายน้ำ และเข้าถึงถนนลำเลียงปัจจัยการผลิตและผลผลิตความสะดวกทั้งปวง ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

     นายณัฐกิตติ์ กองรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำก่อนการจัดรูปที่ดิน แม้จะไม่ทั่วถึงดีนักแต่ก็ยังทำให้เกษตรกรทำกินได้ และมีรายได้จากการทำนาในฤดูแล้ง ผลผลิตข้าวนาปรังพันธ์ชัยนาท 1 เฉลี่ย 700-800 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนฤดูฝนยังคงนอกเหนือการควบคุมเนื่องจากผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังคงมีสูง และหลากท่วมพื้นที่แทบทุกปี

     การจัดรูปที่ดิน ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านน้ำอย่างชัดเจน โดยห้วยสำราญจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำเพาะปลูกในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นฤดูเดียวที่สร้างความหวังให้เกษตรกรมากที่สุด เพราะฤดูฝนหวังไม่ได้เลย

 นายณัฐกิตติ์ กองรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์

     นายณัฐกิตติ์กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูกเป็นครั้งแรกหลังจัดรูปที่ดินแล้วเสร็จกลุ่มเกษตรกรในโครงการจัดรูปที่ดิน ต.โพธิ์ เริ่มเขม้นมองอนาคต ด้วยการวางแผนปลูกข้าวนาปรัง 2 ครั้ง จากการประเมินน้ำต้นทุนห้วยสำราญว่ามีปริมาณเพียงพอที่จะสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกโดยยกเลิกการปลูกข้าวนาปี ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากน้ำท่วม

     นอกจากนั้น ยังวางแผนที่จะผลิตข้าวอินทรีย์จากข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวไรซ์เบอรี่ เพื่อส่งให้เครือข่ายผลิตข้าวอินทรีย์ส่งออก รวมทั้งการผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวให้กับศูนย์ผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวศรีสะเกษ ซึ่งล้วนให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรที่เข้ามาร่วมโครงการสูงกว่าการปลูกข้าวธรรมดา

    พื้นที่จัดรูปที่ดินศรีสะเกษ จึงเป็นการประเดิมเริ่มต้นที่สวยงามสำหรับประตูสู่พื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าของภาคอีสาน และยังจะมีการพัฒนาต่อเนื่องด้วยการสร้างฝายกั้นน้ำเพิ่อทำการกับเก็บน้ำให้มีปริมาณสูงขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ ของการขยายโครงการไปยังพื้นที่ไกล้เคียง อีกทั้งยังสามารถลดกำลังเครื่องสูบน้ำให้มีการใช้ไฟฟ้าที่มีปริมาณลดลงด้วย

 โครงการสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำในบริเวณ ห้วยสำราญ

พื้นที่จัดรูปที่ดินศรีษะเกษ ประเดิมได้อย่างสวยงาม ด้วยภาครัฐ-ผู้นำชุมชน และ พี่น้องเกษตรกร ที่มีความเข้มเข็ง

      อีกโครงการจัดรูปที่ดิน ที่จะกล่าวถึงก็คือ โครงการจัดรูปที่ดิน จังหวัด อุบลราชธานี ที่เริ่มโครงการเมื่อปี พ.ศ.2545 มีพื้นที่โครงการจำนวน 2,000 ไร่ เป็นการจัดรูปที่ดินกึ่งสมบูรณ์แบบ (Extensive)  ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเพิ่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ ในพื้นที่จัดรูปที่ดิน บ้านป่ากุง หมู่ 7 ต.คันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยมีศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าว จ.อุบลราชธานี ของกรมการข้าว เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่จัดรูปที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตสูง เพราะมีแหล่งน้ำต้นทุนและการแพร่กระจายน้ำให้ทั่วถึงแปลงนา

     โครงการผลิตเมล็ดพันธ์ข้าว เพื่อขายให้ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธ์ข้าว จ.อุบลราชธานี ของกรมการข้าวเริ่มต้นผลิตเมื่อ พ.ศ.2553 มีสมาชิกเข้าร่วม 16 ราย ในพื้นที่ 85 ไร่ และขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงปัจจุบัน ปี 2557 มีจำนวน 52 รายในพื้นที่ 400 ไร่

 นายบรรยง สืบบุญ ประธานกลุ่มผู้ลิตเมล็ดพันธ์ข้าว และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7

     นายบรรยง สืบบุญ ประธานกลุ่มผู้ลิตเมล็ดพันธ์ข้าว และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านป่ากุง กล่าวว่า “ในชั้นต้นยังมีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการยังไม่มากนัก แต่เมื่อเห็นผลดีจากเพื่อนสมาชิกจึงมั่นใจและเข้าร่วมโครงการมากขึ้น โดยเฉพาะนาปี 2557 ที่ผ่านมา ที่ราคาขายเมล็ดพันธุ์สูงกว่าราคาขายให้โรงสี ถึงตันละ 6,800 บาท โดยตั้งเป้าในปี 2558 จะขยายพื้นที่ การผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 400 ไร่ เป็น 500 ไร่ และเปลี่ยนแผนการผลิต จากเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มาเป็นข้าว กข.15 แทน

      ในส่วนของเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรที่ผลิตแล้วเกินจำนวนที่รับซื้อก็จะนำมาแปลรูปเป็นข้าวกล้องเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วยกลุ่มผลิตข้าวกล้องงอกหอมมะลิ

   ที่สำหรับเปิดน้ำเข้าแปลงนา ที่นาได้รับน้ำอย่างทั่วถึง

(กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ)

      จากโครงการจัดรูปที่ดิน ประเภทสมบูรณ์แบบ (Intensive) และ การจัดรูปที่ดินกึ่งสมบูรณ์แบบ (Extensive) ที่กล่าวมา และทิศทางของงานจัดรูปที่ดินในอนาคตนอกเหนือจากดำเนินการในพื้นที่ชลประทานที่พัฒนาเสร็จแล้ว พื้นที่ชลประทานของโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง หรืออยู่ในแผนงานก่อสร้างในอนาคตแล้ว ยังกำหนดให้มีพื้นที่การเกษตรของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจากทางน้ำอื่นด้วย

     นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้จากการทำนาเพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองกรุง อีกทั้งยังเป็นการ รวมกลุ่มกันสร้างความสามัคคีในหมู่สมาชิกที่เข้ามามีบทบาทในการบริหารและจัดการน้ำร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

จาก http://www.siamrath.co.th    วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชาวไร่-โรงงานตบเท้าหารือ ก.อุตฯ ค้าน “ลอยตัวราคาน้ำตาล” 

         กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมรวบรวมความเห็นประกอบทำแนวทางปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคา ชง “จักรมณฑ์” ภายใน พ.ค.นี้ หลังชาวไร่-โรงงานค้านหนัก เหตุยังไม่มีกรอบที่ชัดเจนแถมช่วงราคาโลกตกต่ำ ย้ำระบบปัจจุบันดีสุดแล้ว

               นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ว่า ทางชาวไร่และโรงงานได้มาแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยฯ ซึ่งจะได้นำความเห็นทั้งหมดสรุปร่วมกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสรุปแนวทางเพื่อเสนอนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาภายในต้นเดือน พ.ค.นี้

              ทั้งนี้ สิ่งที่ชาวไร่ฯ และโรงงานมีความเป็นห่วง ที่สำคัญคือ 1. ราคาน้ำตาลตลาดโลกจะเป็นอย่างไรต้องมั่นใจว่าน้ำตาลในประเทศต้องเพียงพอ 2. ราคาอ้อยจะต้องไม่ผันผวนจนกระทบรายได้เกษตรกร และ 3. กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องมีเสถียรภาพและมีความมั่นคง เป็นต้น

               นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยมีความกังวลต่อนโยบายการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้าดำเนินการในฤดูหีบหน้า (2558/59) หรือช่วง พ.ย.นี้ โดยเห็นว่ายังเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมควรใช้ระบบเดิมไปก่อนเนื่องจากกรอบดำเนินการต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน

               การที่กระทรวงอุตสาหกรรมส่งสัญญาณการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่พิจารณาการปล่อยกู้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยเพิ่มเติมฤดูการผลิตปี 2557/58 ที่ชาวไร่กำลังเรียกร้องอยู่ได้ เพราะการลอยตัวราคาน้ำตาลอาจนำมาซึ่งการยกเลิกเก็บเงินจากราคาขายน้ำตาลทราย 5บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ซึ่งเป็นรายได้หลักในการชำระหนี้

               “แทนที่รัฐจะแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นที่ตกต่ำหลังจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ประกาศไว้ที่ 900 บาทต่อตัน ซึ่งชาวไร่เสนอขอกู้เพิ่มอีก 160 บาทต่อตันด้วยการกู้ ธ.ก.ส.เหมือนที่ผ่านมา ระยะสั้นนี้ควรทำเรื่องนี้ก่อนจะดีกว่าไหม ซึ่งที่ประชุมก็รับว่าจะหารือกันในวันที่ 17 ก.พ.นี้อีกรอบ” นายธีระชัยกล่าว      

        นางชนิดา อัษฎาธร รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า โครงสร้างปัจจุบันดีอยู่แล้วไม่ต้องทำอะไรในช่วงจังหวะราคาโลกตกต่ำ การลอยตัวจะกระทบชาวไร่อ้อยจะทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องทั้งระบบ

               นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL กล่าวว่า ระยะสั้นนี้ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะลอยตัวน้ำตาล เพราะหากจะลอยตัวต้องให้แนวทางมีความชัดเจนก่อนเพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้มีความสลับซับซ้อนมาก

 จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ส.อ.ท.อยากให้ค่าเงินบาท ไปในทิศทางเดียวกับคู่แข่ง

 แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 92.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนีความเชื่อมั่นมีค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 จากปัจจัยยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลปีใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร   ยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการพบว่าปี 2558 ยังมีความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่หดตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคที่ยังไม่ชัดเจนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้ รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาคจนบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน ล่าสุดเกิดคำถามว่า"ทำไมเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า"

 สุพันธุ์ มงคลสุธีสุพันธุ์ มงคลสุธี   "ฐานเศรษฐกิจ"  สัมภาษณ์พิเศษตัวแทนภาคเอกชน  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3สถาบัน(กกร.)ถึงมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศในเวลานี้

-เหตุผลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

    ประธานส.อ.ท.ตั้งข้อสังเกตสาเหตุที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ามาจาก ประการแรก รายได้ของประชากรลดลง  ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  ซึ่งมีประชากรอยู่ในวงการเกษตรกรมากกว่า 10 ล้านคน  ไม่ว่าจะราคาข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ล้วนมีราคาตกต่ำลง จึงส่งผลให้รายได้ของคนที่อยู่ในภาคเกษตรหายไป  ขณะที่การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไขได้เร็ว เพราะยังมีสินค้าเกษตรที่โอเวอร์ซัพพลายอยู่จำนวนมากทั้งข้าว ยาง ที่อยู่ในสต๊อก   และยังมองไปในทางบวกว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลงได้  รวมถึงการลดต้นทุน ที่เวลานี้บางเรื่องยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรม และอยู่ในช่วงที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่

    ปัจจัยที่ 2 งบประมาณภาครัฐที่เคยผลักดันมาแบบคล่องตัวเหมือนก่อนก็ไม่คล่องตัว โดยเฉพาะงบการลงทุนขนาดกลาง ขนาดเล็กทั้งหลาย ก็ยังไม่ได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง  โดยงบประมาณที่ใช้ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสต่อไตรมาสก็ยังไม่สามารถผลักดันได้ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

    ปัจจัยที่ 3 เศรษฐกิจโลกผันผวนทำให้การส่งออกของไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร ค่าเงิน ราคาน้ำมัน ความไม่มั่นคงของเงินยูโร ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวดี ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนเศรษฐกิจก็ซบเซาลง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในโลกยังไม่ดีพอ  สอดคล้องกับที่ไอเอ็มเอฟลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในโลกลดลงเหลือ3.5%  จากที่คาดการณ์เดิมที่3.8% หลังจากที่เศรษฐกิจจีน รัสเซีย ยูโรโซนและญี่ปุ่น แย่ลง ทั้งหมดนี้โยงมาถึงเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก

-กระทบภาคผลิต-แข่งขันยาก

    หากถามว่าการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า กระทบถึงภาคการผลิตหรือไม่  เขาอธิบายว่า  ระยะสั้นอาจมีกระทบบ้าง  เพราะการฟื้นตัวช้าส่วนหนึ่งมาจากขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงด้วย เนื่องจากเวลานี้หลายประเทศทยอยลดดอกเบี้ยลงก็จะทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น และวันนี้ค่าเงินบาทเสียเปรียบคู่แข่งอยู่พอสมควร ก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแล การที่ประเทศต่างๆลดดอกเบี้ยลงเงินก็จะไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าในรูปของการลงทุน การซื้อพันธบัตร ดังนั้นค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่ามากกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ก็ทำให้การส่งออกแข่งขันลำบาก

    "เวลานี้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่ามาเลเซีย 7-8% และแข็งค่ากว่าอินโดนีเซียราว 4%    อย่างไรก็ตามถ้าค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง สิ่งที่สมาชิกในส.อ.ท.จะต้องช่วยตัวเองให้ได้คือผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และเจาะตลาดอื่นๆเพิ่มขึ้น เช่น ตลาดอินเดีย"

     ส่วนค่าเงินบาท จะแข็งค่าต่อไปอีกนานแค่ไหนขึ้นอยู่ที่นโยบายแบงก์ชาติและภาครัฐ เพราะเป็นเรื่องของการใช้เครื่องมือด้านการเงินของรัฐบาล อย่างญี่ปุ่น ยุโรปก็แก้โดยการนำเอามาตรการคิวอี ออกมาใช้ บางประเทศก็ลดดอกเบี้ยลงมา   หรือมีการปรับสกุลเงินบ้าง เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังใช้เครื่องมืออื่นในการรับความเสี่ยงของค่าเงินที่ผันผวนเช่น การทำสัญญาซื้อ / ขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract),การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือซื้อสิทธิ์ที่จะขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต (Options),เปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ(Foreign Currency Deposit: FCD), การใช้เงินตราต่างประเทศหลายสกุล (CurrencyDiversification)

    รวมถึงการเน้นการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ การจัดหาปัจจัยการผลิตเข้าสู่กระบวนการผลิต ต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต และให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานและพัฒนาคุณภาพสินค้าไทย(เน้นสินค้านวัตกรรม สินค้าที่มีดีไซน์เป็นต้น) เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

    ส่วนค่าเงินบาท จะแข็งค่าต่อไปอีกนานแค่ไหนขึ้นอยู่ที่นโยบายแบงก์ชาติและภาครัฐ เพราะเป็นเรื่องของการใช้เครื่องมือด้านการเงินของรัฐบาลอย่างญี่ปุ่น ยุโรปก็แก้โดยการนำเอามาตรการคิวอี ออกมาใช้ บางประเทศก็ลดดอกเบี้ยลงมา หรือมีการปรับสกุลเงินบ้าง เป็นต้น

     ตอนนี้สมาชิกในส.อ.ท. อยากให้ค่าเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกับคู่แข่ง ถ้าค่าเงินของคู่แข่งอ่อนค่าลงมาเราก็ควรจะอ่อนค่าด้วย หรือถ้าคู่แข่งมีค่าเงินแข็งค่าเราก็ต้องแข็งค่าตามกันไปจึงจะแข่งขันได้   แต่ตอนนี้ค่าเงินบาทเราแข็งค่า แต่คู่แข่งอ่อนค่า  ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่รัฐบาลไทยจะปล่อยให้กลไกค่าเงินเป็นไปตามธรรมชาติทำให้ค่าเงินเราไม่อ่อนค่ามากนัก

    นายสุพันธุ์ประเมินอีกว่า  ถ้ามองอีกด้านแนวโน้มข้างหน้าภาคการผลิตยังมีความได้เปรียบจากที่ต้นทุนการผลิตรวมลดลง ทั้งราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า  ส่วนการส่งออกที่ไปได้ดีคือส่งออกไปยังกลุ่มCLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) และอาเซียนที่ยังเติบโตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าชายแดนทั้งหลาย  เช่นเดียวกับที่ตลาดสหรัฐอเมริกาก็เริ่มฟื้นตัวแล้ว  ปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นตัวช่วยให้การผลิตเดินต่อได้

-ยังมีการบริโภค-เชื่อทั้งปีโตบวก

    หากถามถึงการบริโภคขณะนี้ยังดีอยู่หรือไม่ ประธานส.อ.ท.เลี่ยงที่จะตอบคำถามตรงๆโดยระบุยังมีการบริโภคภายในประเทศอยู่    พร้อมกับคาดหวังว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันอยู่จะได้เห็นความชัดเจนในเดือนมีนาคม คือเรื่องการปรับเงินเดือนข้าราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ ที่จะทยอยปรับ ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอย มีการบริโภคเกิดขึ้น   ผสมโรงกับการเร่งผลักดันงบประมาณลงระบบ ซึ่งเชื่อว่าในปลายไตรมาส1ปีนี้ ต่อเนื่องถึงต้นไตรมาส2 งบประมาณที่ค้างอยู่จะออกมาได้พอสมควร

    อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการท่องเที่ยวที่ปีนี้เริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายปี2557 ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม 2558 การท่องเที่ยวเราโตกว่า20% เมื่อเทียบกับปี2557ในช่วงเดียวกัน โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากถึง70%ในช่วงดังกล่าว " แม้จะเกิดเหตุระเบิดที่ประตูทางเข้าสยามพารากอนเมื่อเร็วๆนี้ แต่ก็ยังไม่มีการเตือนจากประเทศต่างๆออกมาให้ยกเลิกการเดินทางมาไทย ทำให้แนวโน้มยอดจองโรงแรมดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้น นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ยุโรป ที่ลดลงมา"  เขากล่าวและว่า

    เมื่อมองภาพโดยรวมสรุปว่า ครึ่งปีแรกปีนี้เศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนโดยมั่นใจว่าจะมี 4 เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ และจะเป็น"ยาแรง"ในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในไล่ตั้งแต่การขยับตัวของภาคท่องเที่ยว  การเร่งรัดงบประมาณรัฐลงระบบ  การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร  และการปรับเงินเดือนข้าราชการ ภาครัฐวิสาหกิจ  โดยภาคเอกชนมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน  ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะถ้าเศรษฐกิจภายในแย่ลงไปอีกรัฐบาลก็จะเหนื่อย!

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สนช. นัดประชุม 12 ก.พ. ชงญัตติตั้งกรรมาธิการดูปัญหา พรบ.ปิโตรเลียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  จะมีการประชุมโดยมีวาระด่วน 2 เรื่อง คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. .... คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และ 2.ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน (ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2557 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่ง แทนตำแหน่งที่ว่าง พร้อมนี้ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินมาด้วยแล้ว)

นอกจากนี้ จะมีการตั้งกระทู้ถามทั่วไป 2 เรื่อง ได้แก่ 1.กระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย จังหวัดสระแก้ว นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ เป็นผู้ตั้งถาม ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ 2.กระทู้ถาม เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับลูกจ้างชั่วคราวในหน่วยงานภาครัฐ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นผู้ตั้งถาม ถามนายกรัฐมนตรี

 พร้อมทั้งมีเรื่องที่เสนอใหม่ คือ ญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นผู้เสนอ

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คลังไม่กังวลบาทแข็งมั่นใจธปท.ดูแลได้ 

"สมหมาย" รมว.คลัง ยืนยันไม่กังวลค่าเงินบาทแข็ง มั่นใจ "แบงก์ชาติ" ทำหน้าที่ได้อย่างดี

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ยืนยันว่าไม่น่าห่วง เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ได้ทำหน้าที่อย่างดีและดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

"สำหรับภาพรวมการส่งออกอย่ากังวลใจ เนื่องจากเพิ่งผ่านมาไม่กี่เดือนเท่านั้น และเชื่อว่ารัฐบาลจะสนับสนับและผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ 4%" รมว.คลังกล่าว

นายสมหมาย กล่าวว่า ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมในกิจการของรัฐ หรือ PPP ที่มี ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะมีการหารือถึงข้อจำกัดของกฎหมาย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่เป็นกฎหมายหลักในการกำหนดการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน

เบื้องต้นกำหนดให้กิจการและโครงการทุกประเภทซึ่งมีขนาดการลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ต้องเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ PPP ก็จะทำให้การพิจารณาอนุมัติการเข้ามาร่วมลงทุนของภาคเอกชนมีความล่าช้าดังนั้นจึงจะกำหนดให้โครงการที่มีขนาดต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทเป็นอำนาจในการอนุมัติของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้แต่ละกระทรวงไปดำเนินการ

สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะมีขนาดโครงการตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ PPP เต็มรูปแบบเนื่องจากเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก

ส่วนโครงการที่มีขนาดโครงการที่ตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะ เช่น การให้เช่าที่ดิน โครงการเชิงพาณิชย์อื่นๆ อาจให้อยู่ในการพิจารณาอนุมัติของแต่ละกระทรวงได้

โครงการที่มีขนาดเกินกว่า 5,000 ล้านบาทและโครงการขนาดใหญ่จะต้องเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ PPP โดยการแบ่งระดับของการพิจารณาแบบนี้ทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ศึกษาดูงานการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย

คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ นำโดยพลเอก ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการฯ ศึกษาดูงานการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เยี่ยมชมโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และโรงงานเอทานอล และรับข้อร้องเรียนจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็กในพื้นที่ ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว โดยมีนายกฤษดา มณเฑียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้การต้อนรับ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูลที่ไดไปหารือร่วมกับทุกภาคสวนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชงครม.อนุมัติกรอบ4ยุทธศาสตร์บริหารจัดการที่ดินทั่วประเทศ

รัฐบาลเดินหน้ายกระดับแผนบริหารจัดการที่ดินเป็นนโยบายระดับประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพใช้ที่ดิน สผ.คาดชงร่างนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดิน กำหนด 4 ยุทธศาสตร์หลักเสนอ ครม.พิจารณาได้ภายใน ก.พ.นี้ ด้านสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเสนอ ควรเปิดโอกาสให้เอกชนพัฒนาที่อยู่อาศัย-อุตสาหกรรมได้มากขึ้น

นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 14 ตุลาคมปีที่ผ่านมา กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 หรือ คทช. มีอำนาจจัดทำร่างนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ การจัดทำร่างนโยบายและแผนฯจะแล้วเสร็จนำเสนอ ครม.ได้ใน ก.พ.นี้ วัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินให้เป็นแนวทางเดียวกัน

สำหรับการจัดร่างนโยบายและแผนฯ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินที่ไม่เกิดประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยวางกรอบยุทธศาสตร์แก้ปัญหา 4 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน 2.ยุทธศาสตร์ด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรม 3.ยุทธศาสตร์ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน

ทั้งนี้ คทช.มีมติเห็นชอบในหลักการให้นำร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เป็นกรอบการจัดทำร่างนโยบายและแผนฯ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนโยบายที่ดินแห่งชาติทบทวนร่างยุทธศาสตร์ ให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีงบประมาณกว่า 4 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 70% เป็นการพัฒนาระบบราง สร้างรถไฟฟ้า รถไฟเชื่อมต่อระหว่างเมืองและเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต นับเป็นรอยต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่

จากนโยบายการลงทุนรถไฟฟ้าทำให้ราคาที่ดินแพงขึ้นเร็ว ย่านเพลินจิตราคาที่ดินเสนอขายตารางวาละ 2 ล้านบาท ที่ดินย่านสาทรและบางรักเสนอขายตารางวาละ 1.5 ล้านบาท ที่ดินใกล้รถไฟฟ้าถนนสุขุมวิทช่วงต้นไม่เกินซอยสุขุมวิท 55 เสนอขายตารางวาละกว่า 1 ล้านบาท ส่วนที่ดินในเมืองทั่วไปปัจจุบันราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 1 แสนบาท ส่งผลให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยมีต้นทุนสูงขึ้น เช่น ราคาทาวน์เฮาส์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อ 5-6 ปีก่อนราคายูนิตละ 1-2 ล้านบาท ปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ส่วนราคาคอนโดมิเนียมย่านชานเมืองที่อยู่ห่างจากการพัฒนาระบบราง มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 20 ตารางเมตร ปัจจุบันราคายูนิตละเกือบ 1 ล้านบาท

"มีความเห็นว่าการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือประชาชนจะต้องมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เมื่อที่ดินมีสาธารณูปโภคครบครันแล้ว ควรเปิดโอกาสให้พัฒนาได้ทั้งที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมได้มากขึ้น เพราะเมื่อเอกชนเข้ามาพัฒนาแล้วก็จะลดภาระรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเข้ามาพัฒนาเพิ่ม" นายอิสระกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รบ.เดินหน้าแจกตำบลละล้าน ดันโครงการสร้างรายได้541อำเภอทั่วปท.

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มกราคม อนุมัติโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการ โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมเกษตรตำบล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การดำเนินการโครงการฯ เช่น ต้องเป็นโครงการที่มุ่งให้เกิดการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ด้านระเบียบวิธีการบริหารจัดการเงิน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายประเมินผลโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีกด้วย

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินที่ได้รับมาแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งโครงการที่เสนอมาจะต้องเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชนในด้านการเกษตร 4 ลักษณะ คือ 1.การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2.การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 3.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4.การจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร ซึ่งต้องสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่

“เนื่องจากวางกรอบโครงการค่อนข้างกว้าง มีความหลากหลาย และให้ชุมชนเกษตรกรเป็นผู้บริหารจัดการโครงการด้วยตัวเอง จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร ส่วนการอนุมัติโครงการ มีกรอบการพิจารณาอนุมัติ ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะทยอยพิจารณาโครงการฯ ที่ยื่นเสนอก่อนตามลำดับ ระยะเวลาดำเนินการพิจารณาอนุมัติต่อโครงการประมาณ 2 สัปดาห์-1 เดือน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโครงการ เมื่อผ่านการอนุมัติแล้ว จะมีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบว่าเงินถึงมือเกษตรกรจริงๆไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จะเป็นเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างแรงงานในพื้นที่ทันที ซึ่งครอบคลุมเกษตรกรกว่า 3ล้านราย ใน 30,000 ครัวเรือน และไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อน หรือได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว” นายโอฬาร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรมโรงงานร่นเวลาออกใบ‘รง. นำร่อง‘วัน สต็อป เซอร์วิส’ สางอุปสรรคการขอลงทุน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ตั้งเป้าเป็นหน่วยงานแรกในกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะใช้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ภายใน 60 วัน โดยขณะนี้กรอ.อยู่ระหว่างการร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอ เป็นต้น

สำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้สืบเนื่องจาก ปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตจำนวนมาก การประกอบกิจการของประชาชนจะต้องขออนุญาตจากส่วนราชการหลายแห่ง ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตบางฉบับไม่ได้กำหนดระยะเวลา ทั้งนี้เพื่อให้มีกฎหมายกลางที่จะกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต จึงให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคำร้องและศูนย์รับคำขออนุญาต เป็นวันสต็อป เซอร์วิสจุดเดียว เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขออนุญาตซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงมีการตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้น

“โดยปกติพ.ร.บ.นี้จะต้องบังคับใช้ 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศ แต่กรอ.เราตั้งเป้าเป็นหน่วยงานแรกที่จะใช้ พ.ร.บ.นี้ โดยขณะนี้เรากำลังจัดทำคู่มือประชาชนร่วมกับ ก.พ.ร. และคาดว่าจะพร้อมใช้ไม่เกินเดือน ก.พ.นี้แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้การออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 ทำได้สะดวกรวดเร็วและมีเสถียรภาพมากขึ้น และส่งผลดีในระยะยาวคือจะช่วยลดความยุ่งยากและซับซ้อนในการติดต่อหน่วยงานราชการ” นายพสุกล่าว

สำหรับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 16 ม.ค. 2558 โดยในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำใดจะต้องได้รับอนุญาต หน่วยงานราชการผู้ให้การอนุมัติจะต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอ ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต และรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นมาพร้อมกับคำขอ และจะกำหนดให้ยื่นคำขอผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการมายื่นคำขอด้วยตนเองก็ได้

อย่างไรก็ตาม กรอ.คาดว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก่อนกำหนดถึง 4 เดือนจะทำให้การออกใบอนุญาตต่างๆ สะดวกรวดเร็วขึ้น ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ และจะก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้นด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : กาญจนบุรี นำร่องเปิดตัวธนาคารปุ๋ยหมักตั้งเป้าระยะยาวลดใช้ปุ๋ยเคมี20%

กรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลาย รวมถึงให้เกษตรกรลด ละ เลิกการเผาเศษฟาง เศษซากพืช โดยให้นำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ ยังเป็นการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

นายสากล ณ ฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตามที่กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานสูตรปุ๋ยให้กับกรมพัฒนาที่ดิน นำมาเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปผลิตไว้ใช้เองทดแทนปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อกรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ จึงได้นำปุ๋ยสูตรพระราชทานเข้ามาดำเนินการเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในโครงการดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ในปี 2558

ขณะนี้สถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี ได้เริ่มต้นดำเนินการนำร่องจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ซึ่งรายละเอียดของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์นั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ธนาคารปุ๋ยหมัก ธนาคารน้ำหมักชีวภาพ และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด โดยเบื้องต้นได้วางเป้าหมายดำเนินการส่วนของธนาคารปุ๋ยหมักก่อน กำหนดไว้ 3 ระยะ คือ ปี 2558 ที่ดำเนินการเป็นปีแรกตั้งเป้าว่าหมอดินอาสาที่เป็นเครือข่ายของสถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรีทุกคนจะต้องมีปุ๋ยหมักไว้ใช้เองทุกคน ระยะที่สองคือ 5 ปีต่อจากนี้ พี่น้องกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี ที่มีความประสงค์ในการใช้ปุ๋ยหมักในแปลงไร่นาของตนเองจะต้องมีปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานไว้ใช้ ระยะที่สามคือภายใน 10 ปี พี่น้องเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี จะต้องสามารถลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง 20% ที่สามารถตั้งเป้าหมายนี้ได้เนื่องจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างมาก โดยได้ทำโครงการรณรงค์ให้หมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ทำปุ๋ยหมัก 1 กอง (1 ตัน) ต่อ 1 หมู่บ้าน

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมพัฒนาที่ดินและทางจังหวัดกาญจนบุรีได้ร่วมมือกัน รณรงค์พร้อมกันที่จะให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักทดแทนปุ๋ยเคมี ดังนั้นในปีนี้จะมีการทำปุ๋ยหมักจากโครงการของจังหวัด 995 หมู่บ้าน ก็จะมีปุ๋ยหมักไม่ต่ำกว่า 900 ตัน และในส่วนของการธนาคารปุ๋ยหมักของสถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรีอีกไม่ต่ำกว่า 365 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน การบริหารธนาคารปุ๋ยหมัก จะให้หมอดินอาสาร่วมกับพี่น้องเกษตรกรเป็นคณะกรรมการบริหารธนาคารเอง เจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดินเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ซึ่งรูปแบบการบริหารธนาคารปุ๋ยหมักที่ไม่ได้ทำเพื่อขาย หรือเพื่อแจกจ่าย แต่จะใช้วิธีเหมือนธนาคารมีการแลกเปลี่ยน หยิบยืม และมีดอกเบี้ยหรือกำไร เช่น เกษตรกรต้องการปุ๋ยหมักจากธนาคาร 1 ตัน ก็ต้องนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น กากอ้อย มันสำปะหลัง มาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมัก อาจจะประมาณ 1.5-1.8 ตัน หรือมูลสัตว์ก็ประมาณ 300-400 กก. เอามาแลก เพื่อให้ธนาคารมีต้นทุนในการทำปุ๋ยหมักอย่างต่อเนื่องเกิดความยั่งยืนในที่สุด

นายสากลกล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีความเหมาะสมที่จะทำปุ๋ยหมักอย่างยิ่ง เพราะมีวัสดุที่จะทำปุ๋ยหมักจำนวนมาก เกษตรกรมีการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ที่ล้วนแต่มีสิ่งเหลือใช้มากมาย ซึ่งต่อจากนี้ก็จะช่วยลดปริมาณการเผาเศษซากพืชหันมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ที่สำคัญเชื่อว่าเกษตรกรจะหันมาให้ความสนใจในธนาคารปุ๋ยหมักมากขึ้น เนื่องจากถ้าเกษตรกรทำปุ๋ยหมักเองอาจจะต้องมีรายจ่ายเรื่องค่าแรงงานและขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่เมื่อมีธนาคารมาช่วยลดขั้นตอนเหล่านี้ เพียงแค่เกษตรกรนำวัตถุดิบมาแลกก็จะได้ปุ๋ยหมักที่บรรจุในกระสอบเรียบร้อยสามารถนำไปใช้ในไร่นาได้ทันที อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นก็มีเกษตรกรที่ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารปุ๋ยหมักแล้วกว่า 500 ราย ก็คาดว่าถ้าเปิดตัวอย่างเป็นทางการจะมีเกษตรกรเข้าร่วมมากขึ้น และเป้าหมายที่ตั้งไว้น่าจะเป็นจริงได้อย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รบ.เดินหน้าแจกตำบลละล้าน ดันโครงการสร้างรายได้541อำเภอทั่วปท.

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มกราคม อนุมัติโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการ โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมเกษตรตำบล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การดำเนินการโครงการฯ เช่น ต้องเป็นโครงการที่มุ่งให้เกิดการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) ด้านระเบียบวิธีการบริหารจัดการเงิน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายประเมินผลโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีกด้วย

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินที่ได้รับมาแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งโครงการที่เสนอมาจะต้องเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชนในด้านการเกษตร 4 ลักษณะ คือ 1.การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2.การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 3.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4.การจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร ซึ่งต้องสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่

“เนื่องจากวางกรอบโครงการค่อนข้างกว้าง มีความหลากหลาย และให้ชุมชนเกษตรกรเป็นผู้บริหารจัดการโครงการด้วยตัวเอง จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร ส่วนการอนุมัติโครงการ มีกรอบการพิจารณาอนุมัติ ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะทยอยพิจารณาโครงการฯ ที่ยื่นเสนอก่อนตามลำดับ ระยะเวลาดำเนินการพิจารณาอนุมัติต่อโครงการประมาณ 2 สัปดาห์-1 เดือน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโครงการ เมื่อผ่านการอนุมัติแล้ว จะมีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบว่าเงินถึงมือเกษตรกรจริงๆไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จะเป็นเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างแรงงานในพื้นที่ทันที ซึ่งครอบคลุมเกษตรกรกว่า 3ล้านราย ใน 30,000 ครัวเรือน และไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อน หรือได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว” นายโอฬาร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เดินหน้าแก้ปัญหาดินเค็มแบบบูรณาการ

ดินเค็มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช ทั้งด้านการเจริญเติบโตและผลผลิต

ดินเค็มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช ทั้งด้านการเจริญเติบโตและผลผลิต

โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ทางการเกษตรสูงถึง 60 ล้านไร่ แต่เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวของผลผลิตด้านการเกษตรต่ำสุด ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาดินเค็ม ซึ่งมีพื้นที่ดินเค็มถึง 17.8 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 29% ของพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะกลายเป็นดินเค็มได้อีกกว่า 19.4 ล้านไร่อีกด้วย

“กรมพัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ที่รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม หนองคาย กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ดำเนินการแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมกรมพัฒนาที่ดินจะดำเนินการหน่วยงานเดียว มาระยะหลังได้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ โดยการร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

การแก้ปัญหาดินเค็มรูปแบบที่ง่ายที่สุดคือการใช้น้ำล้างเกลือออกไป แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำก็เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้ปัญหาดินเค็ม ดังนั้นการล้างเกลือจึงต้องรอช่วงฤดูฝนใช้น้ำฝนล้างโดยวิธีธรรมชาติ แต่พอถึงช่วงฤดูแล้งปัญหาก็วนกลับมาอีก กรมฯ จึงมีแนวทางการแก้ปัญหาดินเค็มอย่างเป็นระบบ

โดยพื้นที่ดินเค็มจัดไม่สามารถทำการเกษตรได้จะเร่งฟื้นฟูด้วยการปลูกไม้ยืนต้นทนเค็มบนคันนา อย่าง กระถินออสเตรเลีย เพื่อดึงน้ำใต้ดินให้ลดต่ำลงเกลือจะได้ไม่ขึ้นมาบนชั้นผิวดิน ทำคูคลองระบายน้ำเพื่อชะลอเกลือออกจากผิวดินและควบคุมระดับน้ำใต้ดินไม่ให้อยู่ใกล้ผิวดิน ส่วนพื้นที่ดินเค็มน้อยและปานกลางส่วนใหญ่เป็นนาข้าวจะใช้วิธีล้างดินเค็มด้วยน้ำฝน คือ

ขังน้ำฝนไว้ในนาให้ซึมลงใต้ดินจนอิ่มตัวแล้วระบายน้ำทิ้งประมาณ 2-3 ครั้ง แล้วจึงไถพรวนและเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดิน เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ หรือปุ๋ยพืชสดอย่าง โสนแอฟริกันและปอเทือง เพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายดินเค็มนั้นจะจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและปลูกไม้ยืนต้น เพื่อป้องกันการเพิ่มเติมระดับน้ำใต้ดินเค็มบนพื้นที่รับน้ำ

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า การทำงานแบบบูรณาการทำให้เกิดประสิทธิภาพและผลสำเร็จชัดเจนยิ่งขึ้น คือเมื่อกรมพัฒนา ที่ดินเข้าไปแนะนำเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาดินเค็มไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน ปรับรูปแปลงนาทำคันดิน ทางหน่วยงานราชการอย่างกรมการข้าวก็เข้ามาแนะนำพันธุ์ข้าวที่สามารถขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินเค็ม อบต.ก็เข้ามาสนับสนุน การรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งขึ้น ผลปรากฏว่านอกจากเกษตรกรจะสามารถทำการปลูกข้าวได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 30 ถัง/ไร่ เป็น 50 ถัง/ไร่ แม้ผลผลิตไม่ได้มากมายแต่เพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือน

การแก้ปัญหาดินเค็มถือเป็นความท้าทายอีกภารกิจหนึ่งของภาครัฐที่จะต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ให้แก่เกษตรกร แต่ที่สำคัญตัวเกษตรกรเองก็ไม่ควรปล่อยพื้นที่ทิ้งร้าง เพราะอาจจะทำให้ปัญหาดินเค็มแพร่กระจายมากขึ้นไปจากเดิม.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ การใช้น้ำ

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มผลผลิตการเกษตรหรือแปลงสาธิต เพื่อให้เป็นจุดดูงานของเกษตรกร

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มผลผลิตการเกษตรหรือแปลงสาธิต เพื่อให้เป็นจุดดูงานของเกษตรกร

โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตแก่เกษตรกรให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต มีเป้าหมายอำเภอ ละ 1 ศูนย์ รวม 882 แห่ง โดยมีเกษตรกรจำนวน 176,400 คน หรือ 200 คนต่อศูนย์ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้

ด้าน นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว ว่า ในปี 2558 นี้ กระทรวง เกษตรฯ มีกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ในหัวข้อ “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ซึ่งในเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรได้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน โดยจัด ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1–9 ในระหว่างวันที่ 15 มกราคม–15 กุมภาพันธ์ 2558

ในงานมีการเสวนาเกี่ยวกับการใช้น้ำในการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ การหมุนเวียนน้ำไปใช้ประโยชน์ การกักน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเค็ม ปริมาตรน้ำที่จำเป็นและเหมาะสมกับการผลิตข้าว เป็นต้น และต่อยอดจากการดำเนินการทั้ง 9 เขต กระจายสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ในพื้นที่ 77 จังหวัด เกษตรกรเป้าหมาย 88,200 คนอย่างต่อเนื่องต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558

จับตาตัวเลขเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ การแก้ปัญหาหนี้กรีซ ส่งผลตลาดหุ้น-ค่าเงินในประเทศ

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า  แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า วันที่ 9-13 ก.พ. 57 ประเมินว่าดัชนีจะมีแนวต้านที่ 1,624 -1,650 จุด และแนวรับอย่ที่ 1,592-1,571 จุด โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ข้อมูลการจ้างงานที่หลายฝ่ายคาดว่าจะออกมาเป็นทิศทางเชิงบวกดี ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการปรับตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศต้นสัปดาห์หน้า , รายงานยอดค้าปลีก, ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก และความคืบหน้าในการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นหนี้ของประเทศกรีซ

ขณะที่ภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในกรอบ32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยต้องจับตาการตอบรับของตลาดการเงินในช่วงต้นสัปดาห์ต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ รวมถึงการจัดการประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปในวันที่ 11 ก.พ. เพื่อหารือการดำเนินการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กรีซ ประกอบกับติดต่อข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯด้านยอดค้าปลีกเดือนม.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558

ขุดลอกแม่น้ำยมให้เกษตรกรช่วงหน้าแล้ง

ผู้รับเหมาเร่งขุดลอกแม่น้ำยมให้เกษตรกรได้ใช้น้ำทำนาในช่วงหน้าแล้ง

              บริษัทผู้รับจ้างในพื้นที่จังหวัดพิจิตร นำรถแบ็คโฮ 2 คัน ขุดลอกแม่น้ำยม โดยได้ดำเนินการขุดลอกภายในแม่น้ำยม ที่บริเวณบ้านไผ่ท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นบริเวณตอนกลางของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งรถแบ็คโฮ ได้ทำการขุดลอก เนินทราย ที่ตื้นเขิน จนไม่สามารถ กักเก็บน้ำ ไว้ให้เกษตรกรชาวนาได้ใช้น้ำ ที่ทำการสูบจากแม่น้ำยม ที่ยังพอเหลือในลำน้ำขึ้นมา มาทำการเกษตรได้

              สำหรับการขุดลอกแม่น้ำยมเป็นอีกมาตรการหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และใช้ในการกักเก็บน้ำ ในยามหน้าแล้ง เนื่องจากแม่น้ำยมประสบปัญหาตื้นเขิน จากการทับถมของทรายและดินตะกอนแม่น้ำ จนทำให้เกิดสันดอนภายในแม่น้ำจำนวนมาก การขุดลอกโดยการตกแต่งลำน้ำ ทำให้น้ำสามารถไหลสะดวกมากขึ้น โดยขุดลอกบริเวณจุดที่ขวางทางน้ำ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558

รมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดประกวดแผนธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาด รับ AEC

ก้าวเข้าสู่ปีแห่งประชาคมอาเซียน ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ประสานหลักของประเทศเรื่องการรวมตัวสู่ประชาคมอาเซียน ได้ให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดความรู้เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีการเตรียมความพร้อมใช้ประโยชน์และปรับตัวรองรับการเกิดขึ้นของ AEC โดยในวันนี้ ( 6 กุมภาพันธ์ 2558 ) ที่กระทรวงพาณิขย์ นายฉัตรชัย เลื่อมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความพร้อมทางการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เป็นประธานแถลงข่าวโครงการประกวดแผนธุรกิจในระดับอุดมศึกษาขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการDTN Business Plan Award 2015 สร้าง LANDMARK ตลาดอาเซียน เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมแข่งขันและนำเสนอแผนและกลยุทธ์ทางธุรกิจรองรับการเปิดตลาดการค้าเสรี ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพนิสิต นักศึกษาไทยให้มีความพร้อมต่อการเข้าสู่AEC อีกทั้งยังสามารถนำแผนธุรกิจที่ได้จากการแข่งขันมาปรับปรุง เพื่อเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจและสร้างความพร้อมให้กับธุรกิจ SMEs ด้วย สำหรับโครงการ DTN Business Plan Award 2015 สร้าง LANDMARK ตลาดอาเซียน เบื้องต้นได้กำหนดจัดประกวดธุรกิจ จำนวน 4 ภาค ได้แก่ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น ภาคกลางรวมภาคตะวันออกและภาคตะวันตกที่ กรุงเทพฯ และภาคใต้ ที่ จ.สงขลา เพื่อค้นหา10 ทีมสุดยอดแผนธุรกิจมาแข่งขันความเป็นเลิศด้านกลยุทธ์ทางการตลาด โดยทีมชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล30,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร สำหรับรางวัลชมเชย จำนวน7 ทีม จะได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร ทั้งนี้ นิสิต นักศึกษา ที่สนใจสมัครเข้าร่วมการประกวด ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อ.เมือง จ.นนทบุรี เบอร์โทรศัพท์ 02 507-7555 หรือที่ www.dtn.go.th

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เกษตรชูโครงการสร้างรายได้-พัฒนาเกษตรกร 3 พันตำบล

กระทรวงเกษตรฯ ชู “โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง”   หวังช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่แล้ง 541 อำเภอ ใน 3,051 ตำบลๆ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท

 นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริการโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ได้อนุมัติ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการพิจารณากรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ พื้นที่เป้าหมายของโครงการ แนวทางในการบริหารโครงการและการประเมินผล แนวทางปฏิบัติการรับและเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปของโครงการ คู่มือการดำเนินงานโครงการฯ และปฏิทินการปฏิบัติงานของโครงการฯ แผนการขับเคลื่อนโครงการจะเริ่มดำเนินการพิจารณาโครงการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมเกษตรตำบล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับคู่มือการดำเนินการโครงการฯ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการฯ ต้องเป็นโครงการที่มุ่งให้เกิดการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ยกเว้นกรณีที่จำเป็นและมีเหตุสมควร แต่จะต้องมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอแล้ว รวมทั้งให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล(ศบกต.) ในด้านระเบียบวิธีการบริหารจัดการเงิน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายประเมินผลโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีกด้วย

 นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งไปแล้ว เช่น การงดปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มเจ้าพระยา-แม่กลอง ส่วนพื้นที่ 541 อำเภอ จำนวน 3,051 ตำบล ที่ได้ผ่านการสำรวจจากกรมพัฒนาที่ดินแล้วว่าเป็นพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก และขาดโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือ สำหรับโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินที่ได้รับมาแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งโครงการที่เสนอมาจะต้องเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ชุมชนในด้านการเกษตร 4 ลักษณะ คือ 1.การจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 2.การผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อสร้างรายได้ในฤดูแล้ง 3.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4.การจัดการเพื่อลดความสูญเสียผลผลิตเกษตร ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ และเนื่องจากโครงการที่นำเสนอมีหลากหลายจึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน นอกจากคณะกรรมการฯ จะต้องพิจารณาเนื้อหาของโครงการแล้ว ยังจะต้องพิจารณาระเบียบวิธีการดำเนินการอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และรวดเร็ว”

 ส่วนแนวทางการดำเนินงาน นั้น ให้กลุ่ม/องค์กรเกษตรกรสามารถเสนอกิจกรรมความต้องการของชุมชนผ่านเวทีชุมชน ไปยัง ศบกต.ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนด้านการเกษตรระดับตำบลจะทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวแทนของชุมชนในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และเป็นผู้เสนอโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน จากนั้นจะพิจารณาความเห็นเสนอ ต่อคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เมื่อพิจารณาอนุมัติโครงการแล้ว และเสนอกรอบวงเงินให้คณะกรรมการฯ ระดับกระทรวง เพื่ออนุมัติวงเงิน โอนจัดสรรให้จังหวัดเข้าบัญชี ศบกต. และ ศบกต.จะจัดสรรงบประมาณดำเนินงานเข้าบัญชีเงินฝากกลุ่ม/องค์กรตามแผน  ส่วนงบประมาณสำหรับการจ้างงานให้โอนเข้าบัญชีเกษตรกรตามข้อตกลงการจ้างแรงงาน

  “เนื่องจากวางกรอบโครงการค่อนข้างกว้าง มีความหลากหลาย และต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร เนื่องจากมีการสนับสนุนให้ชุมชนเกษตรเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ และเป็นผู้บริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มส่งโครงการได้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม สิ้นสุดการพิจารณาโครงการเดือนมิถุนายน สำหรับการอนุมัติโครงการฯ มีกรอบการพิจารณาอนุมัติ ตำบลละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจะทยอยพิจารณาโครงการฯ ที่ยื่นเสนอก่อนตามลำดับ ระยะเวลาดำเนินการพิจารณาอนุมัติต่อโครงการประมาณ 2 สัปดาห์-1 เดือน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโครงการ เมื่อผ่านการอนุมัติแล้ว จะมีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบว่าเงินถึงมือเกษตรกรจริงๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จะเป็นเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจ้างแรงงานในพื้นที่ทันที ซึ่งครอบคลุมเกษตรกรกว่า 3 ล้านราย ใน 30,000 ครัวเรือน และไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อน หรือได้รับการสนับสนุนอยู่แล้ว” นายโอฬาร กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินแนะเกษตรกรเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน-ลดการใช้ปุ๋ยเคมี

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของการทำการเกษตรส่วนหนึ่งก็คือ ดิน ถ้าดินดีมีความอุดมสมบูรณ์ การที่จะทำให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก ถ้าจะให้อธิบายอย่างง่ายๆ คือ ตัวอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในดิน จะช่วยในเรื่องให้ธาตุอาหารพืช ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม กลับคืนลงสู่ดินช่วยให้ดินสามารถดูดยึดธาตุอาหารได้สูงทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น ร่วนซุย มีการถ่ายเทอากาศ การระบายน้ำได้ดี ดินอุ้มน้ำไว้ให้พืชได้ใช้สูงและเป็นเวลานานมีจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นในดิน และทำงานได้ดีขึ้นช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม ในส่วนองค์ประกอบดินในทางการเกษตรถ้าจะให้เป็นองค์ประกอบที่เหมาะสม ควรจะมีเนื้อดินอยู่ที่ 45% มีอินทรียวัตถุ 5% มีน้ำ 25% มีช่องว่างเป็นอากาศอีก 25% ถ้ามีสัดส่วนอยู่เท่านี้ก็ถือว่าเป็นดินที่มีความเหมาะสมในการทำการเกษตรอย่างมาก แต่ทุกวันนี้ค่าเฉลี่ยอินทรียวัตถุในดินลดลงอย่างมากต่ำกว่า 1% จาก 5% ที่ควรจะเป็นแน่นอนเมื่อขาดอินทรียวัตถุ ดินก็จะมีการอัดแน่นขึ้น ช่องว่างในดินลดลงน้ำในดินก็จะลดลงตามไปด้วย“อินทรียวัตถุจะเป็นตัวช่วยดูดน้ำเก็บไว้ในดิน เพราะฉะนั้นถ้าอินทรียวัตถุน้อยลงก็จะเกิดปัญหาเกิดขึ้นมากมายอย่างไรก็ดีการเพิ่มอินทรียวัตถุมีประโยชน์ใน 3 ด้านที่ควบคู่กัน คือ เรื่องของกายภาพ เคมี และชีววิทยาในดิน ซึ่งการที่จะเพิ่มอินทรียวัตถุในทางธรรมชาติเองของเศษใบไม้คงจะไม่ทัน และยิ่งในปัจจุบันเกษตรกรมีการใช้สารเคมีมาก ทำให้จุลินทรีย์ในดินลดน้อยลง อีกทั้งเกษตรกรละเลยการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินเพราะเห็นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากแต่จริงๆแล้วสำคัญมาก”

ทางกรมพัฒนาที่ดินได้เน้นย้ำมาโดยตลอด ถึงวิธีการที่ง่ายที่สุด คือ การไถกลบตอซังพืชหลังการเก็บเกี่ยว การใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักการใช้ปุ๋ยพืชสด อย่างพืชตระกูลถั่ว ซึ่งพืชตระกูลถั่วจะมีปมที่รากสามารถที่ตรึงไนโตรเจนในอากาศ เมื่อเราไถกลบไปก็คือปุ๋ยไนโตรเจนที่เพิ่มเข้ามาในดิน ซึ่งพืชปุ๋ยสดจะเป็นพืชที่สลายตัวได้เร็วควบคู่กับการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมถึงเกษตรกรควรใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อรักษาจุลินทรีย์ในดิน

ทั้งนี้ อินทรียวัตถุมีประโยชน์มากมายมหาศาล เป็นเรื่องที่พี่น้องเกษตรกรต้องเข้าใจและตระหนักถึงการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้มากกว่าที่เคยเป็นเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพดินอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน

โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินได้จัดทำโครงการแผนที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงในพื้นที่โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินขึ้น เพื่อให้ทราบถึงการใช้พื้นที่ทำกินเพื่อการเกษตร การใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างข้อมูลเพื่อการวางแผนในการตัดสินใจสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยมุ่งเน้นหมู่บ้านต้นแบบด้วยการให้ราษฎรในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ในการให้ข้อมูลและวางขอบเขตพื้นที่เขตกรรมของตนเอง และร่วมเสนอข้อคิดเห็นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์และสร้างอาชีพด้านเกษตรกรรมที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ เน้นพืชที่จะสร้างรายได้ในระยะยาวให้กับราษฎรในพื้นที่อันจะนำไปสู่การลดการบุกรุกทำลายป่า เช่น การใช้พื้นที่ทำเกษตรแบบวนเกษตร การลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในการสร้างรายได้ และฟื้นฟูดำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ต่อไป

ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้เข้าไปปรับกระบวนการคิด วิธีการคิดและวิธีการทำงานของเกษตรกรในพื้นที่โครงการรักษ์น้ำฯ ลุ่มน้ำภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เพื่อให้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม (พืชเชิงเดี่ยว) ให้มาเป็นกระบวนการเกษตร โดยใช้ฐานข้อมูลรายแปลงที่ได้จัดทำเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนา

และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินได้จัดกิจกรรม “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน” ขึ้น ในพื้นที่โครงการรักษ์น้ำฯ ลุ่มน้ำภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก โดยได้รับเกียรติจากพลเอกนิพนธ์ ภารัญนิตย์ เป็นประธานในพิธีเปิด และมีนายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นผู้กล่าวรายงาน

โดยหลังจากพิธีเปิดแล้วคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการ การแสดงผลงานของแต่ละหน่วยงานและได้เยี่ยมชมแปลงของเกษตรกรตัวอย่าง ของ นายจ้อย อ่อนปัสสา และนางสมบัติ มีเพรช โดยมี ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นายสาคร ประไพพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการรักษ์น้ำฯ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนา เป็นผู้นำเยี่ยมชมพร้อมบรรยายผลการส่งเสริมอาชีพที่เน้นพืชทางเลือก ได้แก่ องุ่น สตรอเบอรี่ และผักในโรงเรือน ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจรายอื่น ๆ ต่อไปได้

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด กองพลพัฒนาที่ 3 สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดพิษณุโลก ปศุสัตว์จังหวัด สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์พิษณุโลก ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอชาติตระการ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด กอ.รมน.ภาค 3 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รัฐตั้งหลักรับมือปัญหาภัยแล้ง กรมชลยันแหล่งเศรษฐกิจไม่ขาดแคลนน้ำ

ปัญหาภัยแล้งปีนี้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำอยู่ในระดับต่ำเลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี แต่ยังเพียงพอสนับสนุนทำนาตามฤดูกาล และสนับสนุนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก กระทรวงเกษตรฯปลื้มลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังได้ถึง 50% ด้านกระทรวงมหาดไทยจัดงบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ส่วนกระทรวงทรัพยากรฯพร้อมจ่ายน้ำสะอาดช่วยเหลือและพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า วานนี้ (5 ก.พ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันแถลงข่าวการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าปกติมากในเกือบทุกภาคของประเทศทำให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆมีน้อย อยู่ในระดับต่ำเลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี ซึ่งในภาพรวมมีปริมาณน้ำใช้การในปัจจุบันอยู่ที่ 19,470 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีการใช้น้ำวันละ 66 ล้าน ลบ.ม. รวมใช้น้ำถึงสิ้นฤดูแล้งวันที่ 30 เม.ย.2558 ปริมาณ 5,819 ล้าน ลบ.ม. จะเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้ง 13,651 ล้าน ลบ.ม.เป็นปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาตามฤดูกาลปกติ

ส่วนปริมาณน้ำในภาคตะวันออก ที่ถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจของประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวนั้น ที่ จ.ชลบุรีใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองค้อ เขื่อนมาบประชัน เขื่อนซากนอก เขื่อนหนองกลางดง เขื่อนห้วยละหาน และเขื่อนห้วยขุนจิต รวมปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 74 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำวันละ 390,000 ลบ.ม. จะมีน้ำเหลือเมื่อสิ้นฤดูแล้ง 40.46 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการใช้น้ำในพื้นที่โดยไม่ขาดแคลน ขณะที่ จ.ระยอง มีการใช้น้ำจาก 3 อ่างเก็บน้ำหลักได้แก่ เขื่อนดอกกราย เขื่อนหนอง-ปลาไหล และเขื่อนคลองใหญ่ รวมทั้งการสูบน้ำจากเขื่อนประแสร์มาเพิ่ม รวมมีปริมาณน้ำใช้การในปัจจุบัน 197 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. จะมีน้ำคงเหลือเมื่อสิ้นฤดูแล้ง 111 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเพียงพอต่อการใช้โดยไม่ขาดแคลนเช่นกัน

ชาวนา ไถนาเตรียมพร้อมปลูกข้าว

ขณะที่นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือชาวนาให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลงได้ 50% จากปีที่ผ่านมาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 12.16 ล้านไร่ เหลือ 6.51 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ต.ค.2557- ปัจจุบัน มีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งใน 9 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ชัยนาท และลพบุรี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 1.46 ล้านไร่ และสำรวจพบความเสียหายแล้วเป็นเกษตรกร 113,358 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,062,331 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,011,365 ไร่ พืชไร่ 50,966 ไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 1,184.16 ล้านบาท

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ได้ดำเนินการการจ้างแรงงาน 32,562 คน การส่งเสริมอาชีพโดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา เมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ฝึกอบรมอาชีพภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.พ.2558 การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซากให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน จำนวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด และการสนับสนุนเงินทุนให้สหกรณ์กู้ยืมให้แก่สมาชิกที่ประสบภัยแล้ง เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาอาชีพที่ได้ผลตอบแทนระยะสั้น โดยไม่คิดดอกเบี้ย วงเงิน 65 ล้านบาท

นาข้าวไร้ซึ่งน้ำหล่อเลี้ยง

ด้านนายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้สำรวจและประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วใน 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี มหาสารคาม นครสวรรค์ สุโขทัย สกลนคร และบุรีรัมย์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในปีงบประมาณ 2557 และ 2558 วงเงิน 7,000 ล้านบาท ทั้งการทำบ่อบาดาล ซ่อมบ่อบาดาล และทำแก้มลิง และจัดสรรงบประมาณขุดลอกคูคลองอีก 1,400 ล้านบาท

นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ได้เตรียมพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้ง โดยระดมกำลังทั้งด้านบุคลากร เครื่องจักร และอุปกรณ์ ในการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และมีความพร้อมในการจ่ายน้ำสะอาดช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดพิบัติภัย 2,631 แห่ง พร้อมทั้งได้ทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 305 แห่ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเชื่อมต่อระบบน้ำประปาเดิมที่แต่ละหมู่บ้านมีอยู่แล้ว เพื่อช่วยให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง

ด้านนายบุญจง จรัสดำรงนิตย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำในปี 2557-2558 จำนวน 1,283 โครงการ ปริมาณน้ำที่คาดจะได้รับเพิ่ม 366.18 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 1.282 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 151,000 ไร่.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คลังเผยผลประชุมความคืบหน้ายุทธศาสตร์ด้านการเงินการคลังรองรับเออีซี

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ หน่วยงานระดับกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมอาเซียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ที่ประชุมได้พิจารณาความคืบหน้าของการดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2557-2560  ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 13 กลยุทธ์ 34 มาตรการ โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน

กลยุทธ์ที่ 1.1 การอำนวยความสะดวกด้านการค้า

1. การพัฒนาระบบขนส่งผ่านแดนภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประเทศสมาชิกอนุญาตให้รถยนต์ขนส่งที่จดทะเบียนในประเทศสมาชิกอื่นสามารถขนสินค้าผ่านประเทศตนได้ ผ่านจุดผ่านแดนและเส้นทางที่กำหนด โดยได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีและค่าบริการอื่น ซึ่งภายใต้กรอบความตกลงนี้ มีพิธีสารที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง 3 ฉบับ คือ (1) พิธีสารฉบับที่ 2 ว่าด้วยการกำหนดที่ทำการพรมแดน เป็นการตกลงกำหนดที่ทำการ ณ จุดชายแดนโดยให้มีบริเวณควบคุมและมาตรการตรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รถขนส่งสินค้าผ่านแดน ในการนี้ ประเทศไทยได้กำหนดจุดที่ทำการพรมแดนแล้ว 7 จุด ประกอบด้วย แม่สาย แม่สอด อรัญประเทศ หนองคาย สะเดา มุกดาหาร และเชียงของ สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับประเทศสมาชิกเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการกำหนดจุดผ่านแดน คาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถลงนามได้ภายในปี 2558 (2) พิธีสารฉบับที่ 5 ว่าด้วยระบบการประกันภัยทางรถยนต์ภาคบังคับอาเซียน ซึ่งรัฐมนตรีคลังอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2544 โดยเป็นการจัดทำระบบประกันภัยทางรถยนต์ภาคบังคับ ซึ่งครอบคลุมถึงความคุ้มครองทางกฎหมาย และกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เพื่อลดปัญหารถยนต์ข้ามแดนระหว่างกัน โดยในส่วนของไทยได้มอบหมายให้บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ทำหน้าที่เป็นสำนักงานประกันภัยรถผ่านแดนแห่งชาติ (National Bureau) ภายใต้พิธีสารดังกล่าว (3) พิธีสารฉบับที่ 7 ว่าด้วยระบบศุลกากรผ่านแดน เป็นการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการส่งข้อมูลและสื่อสารกับผู้ค้า รวมทั้งการใช้แบบฟอร์มและหลักประกันเดียวกันทั้งภูมิภาคอาเซียนสำหรับสินค้าส่งผ่านประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการส่งออก ในส่วนของไทยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากรเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าผ่านแดน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกประเทศ รวมทั้งวิธีการนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อลงนามในร่างพิธีสารฉบับนี้

2. การจัดตั้งการให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านศุลกากรของประเทศในการอำนวยความสะดวก ทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งในส่วนของไทย ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ National Single Window (NSW) ของไทยแล้วจำนวน 26 หน่วยงาน จากทั้งหมด 36 หน่วยงาน ส่วนการดำเนินการ ASW นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการนำร่องเชื่อมโยงข้อมูลกับประเทศที่มีความพร้อมก่อนแล้วเมื่อปี ๒๕๕๕ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน โดยได้เริ่มทดสอบการรับส่งข้อมูลใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ATIGA Form D) และใบขนสินค้าอาเซียน (ASEAN Customs Declaration Document: ACDD) แล้ว

3. ร่างพิธีสารว่าด้วยกรอบกฎหมายเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (Protocol on the Legal Framework to Implement the ASEAN Single Window) เป็นการกำหนดกรอบกฎหมายสำหรับการดำเนินการ การติดต่อสื่อสาร และการประมวลผลทางอิเล็กทรอนิกส์ของธุรกรรมระหว่างระบบ NSW ของประเทศสมาชิกกับระบบ ASW ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้สามารถลงนามในพิธีสารได้ภายในเดือนมีนาคม 2558

กลยุทธ์ที่ 1.2 การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

1. มาตรการภาษีด้านตลาดทุนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุน กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดทุนในอาเซียน (ASEAN Linkage) โดยยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ให้กับนักลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน และให้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศที่มีหุ้นจดทะเบียนใน 2 ตลาดหลักทรัพย์ สามารถเลือกหักภาษีร้อยละ 10 ณ ที่จ่ายได้โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

2. ปรับเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ระหว่างกันในอาเซียน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุญาตให้กองทุนรวมต่างประเทศสามารถเสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ได้ และให้บริษัทที่ต้องการเสนอขายหลักทรัพย์ในประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไป สามารถใช้แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ เอกสารการเปิดเผยข้อมูล และหนังสือชี้ชวนชุดเดียวกันได้

กลยุทธ์ที่ 1.3 การอำนวยความสะดวกด้านการเงิน

1. การพัฒนาระบบชำระเงิน ได้มีการเชื่อมโยงระบบ ATM ของไทยกับของประเทศมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อให้บริการเบิกถอนเงินสดระหว่างประเทศแล้ว การดำเนินการต่อไปจะพิจารณาแนวทางการโอนเงินกลับของแรงงานต่างด้าวผ่านช่องทางที่ได้รับอนุญาตระหว่างไทย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมาร์ รวมทั้งหาแนวทางการใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระค่าสินค้าและบริการ โดยเริ่มจากศึกษาการชำระสินค้า กรณีสกุลเงินบาท – มาเลเซียริงกิต และบาท-อินโดนีเซียรูเปียห์

2. ส่งเสริมการลงทุนไทยในอาเซียน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับเงินทุนขาออกเพิ่มขึ้นตามแผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ โดยลดข้อจำกัดเงินทุนขาออก ได้แก่ อนุญาตให้นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้โดยตรง ให้กู้เงินได้ไม่จำกัดวงเงิน แต่ยังคงมีมาตรการรองรับยามฉุกเฉิน และเพิ่มจำนวนนักลงทุนสถาบันโดยอนุญาตให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านตัวแทน รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทสามารถออกตราสารหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศทั้งในและนอกประเทศได้

3. พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน รอบที่ 6 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน เพื่อลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์การการค้าโลก ซึ่งในการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินในรอบนี้ ประเทศไทยจะผูกพันเพิ่มเติมในด้านธนาคารพาณิชย์และบริษัทนายหน้าและตัวแทนประกันภัยตามกฎหมายปัจจุบันขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบและเพื่อให้สามารถลงนามพิธีสารฯ ฉบับที่ 6 ได้โดยเร็ว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

กลยุทธ์ที่ 2.1 ปรับปรุงโครงสร้างและประสานข้อมูลทางภาษี

1. การปรับปรุงขั้นและอัตราภาษีเงินได้ โดยปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการทั่วไปจาก 5 ขั้นเป็น 7 ขั้น และปรับลดอัตราสูงสุดจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 35 ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลปรับลดจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20

2. การจัดทำอนุสัญญา/ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศกัมพูชา ปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำอนุสัญญาเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว 8 ประเทศ ยกเว้นกัมพูชาที่ยังไม่มีการจัดทำอนุสัญญาฯ ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 กรมสรรพากรของไทยและกัมพูชา ได้มีการหารือทวิภาคี โดยฝ่ายกัมพูชามีความพร้อมที่จะเริ่มกระบวนการเจรจากับฝ่ายไทยได้ โดยในขั้นต้นผู้แทนกรมสรรพากรของไทยจะเริ่มให้ความรู้ทางวิชาการราวเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และจะเริ่มกระบวนการเจรจาตามลำดับต่อไป

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

'ปีติพงศ์'ลุยพื้นที่จ.อุทัยธานี หนุนสหกรณ์แปรรูปการเกษตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ณ สหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตหนองยายดา จำกัดจังหวัดอุทัยธานี และ สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด จังหวัดอุทัยธานี ว่า ​รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญที่จะช่วยเหลือให้เกษตรกรให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีความอยู่ดีกินดี โดย การมุ่งเน้นที่จะสนับสนุนให้สหกรณ์เข้ามามีบทบาท ในการพัฒนาประเทศในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้สหกรณ์เข้ามาทำหน้าที่รวบรวมผลิตผลเกษตร และแปรรูปผลิตผลเกษตร เพื่อให้สหกรณ์ เป็นผู้ซื้อผู้ขายรายใหญ่อีกรายหนึ่ง ก็เพื่อให้สหกรณ์ต่างๆ เป็นที่พึ่งในการขายผลผลิตเกษตรสมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรให้เกิดขึ้นได้จริง

ด้วยนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกรระดับจังหวัด และโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกร ตามแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ  ซึ่งในส่วนของจังหวัดอุทัยธานี โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี ได้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เข้าร่วมโครงการ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1. สหกรณ์การเกษตรสว่างอารมณ์ จำกัด มีแผนรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย จำนวน 3,000 ตัน รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อแปรรูป จำนวน 2,000 ตัน 2. สหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตหนองยายดา จำกัด มีแผนรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย จำนวน 19,000 ตัน รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อแปรรูป จำนวน 1,000 ตัน3. สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. อุทัยธานี จำกัด มีแผนรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย จำนวน 10,000 ตัน 4. สหกรณ์การเกษตรเมืองอุทัยธานี จำกัด มีแผนรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย จำนวน 10,000 ตัน 5. สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด มีแผนรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย จำนวน 5,000 ตัน 6. สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินน้ำดี จำกัด มีแผนรวบรวมยางพาราเพื่อจำหน่าย จำนวน 100 ตัน เพื่อให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการฯ ตลอดจนขบวนการสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร อื่นๆ ในจังหวัดอุทัยธานี มีศักยภาพในการดำเนินงานตามโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรทั่วไป ได้รับประโยชน์ สามารถจำหน่ายผลผลิตการเกษตรได้ในราคาที่เป็นธรรม เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร

ทั้งนี้ในส่วน สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายให้ขบวนการสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

ซื้อหนี้เกษตรกรปี58ส่อวุ่น

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรส่อเค้าวุ่นหนัก  แบไต๋อีก 2 เดือนเงินหมดหน้าตัก  ไม่อาจซื้อหนี้เกษตรกรได้อีกแล้ว  โอดรัฐจัดสรรงบปี58แค่ 317 ล้านบาท อ้างยังมีเงินเหลือ 2.3 พันล้านบาทจากโครงการเก่า ต้องชงเรื่องเข้าครม.ใหม่ ล่าสุดเลขาธิการครม.ตีกลับให้มาปรับแก้ไขใหม่  จับตาสมาชิก 6.2 ล้านรายทั่วประเทศนัดกดดัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา    แหล่งจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากกรณีที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร เมื่อวันที่  11 มิถุนายน 2557  โดยมีนายสุภาพ คชนูด  เป็นประธาน ได้มีมติผ่านการเห็นชอบและรับรองเกษตรกร กรณีมูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 52 คน มูลค่าหนี้ร่วม 300 ล้านบาทนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีฐานะเทียบเท่านายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีคำสั่งยกเลิกมติดังกล่าว ไม่ให้มีการซื้อหนี้เกษตรกรเกิน 2.5ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าเกษตรกรรายใหญ่น่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ

    "วัตถุประสงค์ของกองทุนฯ จริงแล้วต้องการซื้อหนี้ให้เกษตรกรรายย่อยไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งผลการดำเนินงาน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 -31 มกราคม 2558 มีเกษตรกรที่ได้รับการชำระหนี้แทนและซื้อทรัพย์คืนทั้งหมด จำนวน 2.8 หมื่นราย  ปัจจุบันมีมูลหนี้ที่กองทุนซื้อทั้งสิ้น 5.5-6  พันล้านบาท จากจำนวนสมาชิกที่มาขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับกองทุนมีจำนวน 6.2 ล้านรายทั่วประเทศ"แหล่งจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวและว่าอย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นั้นก็คือ ในปีงบประมาณ 2558 นี้ ทางรัฐบาลได้จัดสรรงบให้ซื้อหนี้เกษตรกร และฟื้นฟูอาชีพเพียงแค่ 317 ล้านบาท จากงบประมาณที่ขอไป 8 พันล้านบาท โดยทางสำนักงบประมาณอ้างว่ายังมีเงินเหลือจากโครงการเก่า 2.3 พันล้านบาท แต่เงินดังกล่าวยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ จะต้องผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบก่อน

    อย่างไรก็ดีทาง กฟก. ก็มิได้นิ่งนอนใจพยายามขอเงินก้อนนี้มาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ยังไม่สำเร็จจนเป็นที่มาของม็อบเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วมาเรียกร้อง ล่าสุดได้นำเรื่องเข้าครม.แล้ว แต่ถูกเลขาธิการครม.ตีกลับให้มาปรับแก้ไขใหม่ ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข จากนั้นจะส่งเรื่องให้นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเรื่องส่งเข้าครม.อีกครั้งหนึ่ง

    แหล่งข่าวกล่าวย้ำว่า ผลจากการจัดสรรงบประมาณน้อย และหากยังไม่มีเงิน 2.3 พันล้านบาทออกมาภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้ จะส่งผลให้ กฟก. ไม่มีเงินซื้อหนี้เกษตรกรได้อีก เพราะเงินหมดแล้วหากเป็นเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ปัจจุบันมีสมาชิก 6.3 ล้านรายเดือดร้อนแน่นอน เพราะสำนักงานก็จะต้องออกมาชี้แจงว่าเงินไม่มีแล้ว ต้องรอเงินจากครม.เพียงอย่างเดียว

    สำหรับขั้นตอนเมื่อกองทุนฟื้นฟูฯ  รับชำระหนี้ของเกษตรกรตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ทรัพย์สินของเกษตรกรที่ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ตกเป็นของกองทุนฟื้นฟูฯและเกษตรกรจะได้รับทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน คืนไปจากกองทุนฟื้นฟูฯ โดยการเช่าซื้อหรือซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจผ่อนผันการชำระหนี้ ลดหนี้ ปลดหนี้ให้แก่เกษตรกรโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแล้วรัฐพึงจัดสรรงบประมาณอุดหนุนในส่วนที่กองทุนฟื้นฟูฯ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และให้เกษตรกรผู้นั้นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

    ทั้งนี้การจัดการหนี้ให้เกษตรกร ซึ่งเป็นหนี้ในระบบที่เกิดจากการกู้ยืมสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายซึ่งด้วยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นิติบุคคลตามที่คณะกรรมการกำหนด และสถาบันเกษตรกร โดยหนี้ดังกล่าวต้องเป็นหนี้ที่เกิดก่อนวันที่คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรได้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทะเบียนหนี้)

    "เพื่อให้การจัดการหนี้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรจัดกลุ่มหนี้ให้แก่เกษตรกรดังนี้คือ 1. หนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท 2.หนี้เกินกว่า 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท 3.หนี้เกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และหนี้ที่เกินกว่า 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้หมายความรวมถึงเงินต้น ดอกเบี้ย ภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริงของเกษตรกร"

    ในกรณีที่มีเกษตรกรเป็นจำนวนมาก และไม่อาจดำเนินการได้ในคราวเดียวกัน คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรจะพิจารณาจัดลำดับหนี้ของเกษตรกรก่อนการรับชำระหนี้ได้ตามความเหมาะสม และเร่งด่วนเป็นสำคัญ

    ส่วนกรณีหนี้ที่เกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ให้องค์กรเกษตรกรรับรองหนี้ตามคำขอของเกษตรกร และให้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ของเกษตรกรทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรพิจารณามูลเหตุและความจำเป็นอื่นประกอบด้วย

    อนึ่ง การซื้อทรัพย์สินที่ได้มีการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้วจากสถาบันการเงิน สถาบันเกษตรกร หรือจากบุคคลอื่นที่ซื้อทรัพย์ไว้ ให้ใช้หลักเกณฑ์เงื่อนไขตามประกาศคณะกรรมการกองทุนฯ ได้แก่ 1.ซื้อไม่เกินราคาที่เจ้าหนี้เดิมซื้อจากสำนักงานบังคับคดีการสิ้นสุดหรือ 2.ซื้อไม่เกินราคาประเมินของทางราชการ และ 3.กรณีไม่สามารถซื้อตามราคา 1) หรือ 2) ได้ให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ และให้ถือมติคณะกรรมาการเป็นที่สุด

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

ก.วิทย์ เตรียมประสานมหาดไทย นำวิทย์และเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมประสานกระทรวงมหาดไทย นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม และขาดแคลนน้ำ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า อยู่ระหว่างประสานกระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำด้านต่าง ๆ ไปใช้แก้ปัญหาอย่างตรงจุดและได้ผล รวมถึงอาจจะใช้แนวทางให้แต่ละจังหวัดมีที่ปรึกษาด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ซึ่งล่าสุด กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ได้นำแผนที่ภาพดาวเทียมและเทคโนโลยีจีพีเอส ใช้ศึกษาทิศทางการไหลของน้ำ ขุดสร้างบ่อพักน้ำดักตะกอน ทำให้เกษตรกรรับมือสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้งได้ทัน จนสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ และมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคตลอดปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวด้วยว่า การเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อนำผู้ประกอบการไทย 13 ราย ไปร่วมนำเสนอผลงานในงาน Nanotech 2015 อาทิ ผลงานเครื่องวัดรสชาติอาหารด้วยการจำลองการรับรู้รสอร่อยของมนุษย์ด้วยนาโนเซ็นเซอร์ ตัวเร่งปฏิกิริยาการผลิตไบโอดีเซลด้วยนาโน และเครื่องสำอางค์ที่ผลิตจากไขอ้อย ซึ่งได้รับความสนใจจากต่างชาติจำนวนมาก และเตรียมเจรจาต่อยอดธุรกิจ 28 ราย

จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

5ตัวแปรดันราคาน้ำตาลพลิก

ลุ้นตัวช่วย 5 ปัจจัยหลัก ดีดราคาสูงขึ้นเหนือระดับ 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ ไล่ตั้งแต่ดีมานด์และซัพพลายใกล้เคียงกัน  และปัญหาภัยแล้ง ขณะที่บราซิลประกาศขึ้นภาษีขายน้ำมันเชื้อเพลิง และกำลังพิจารณาปรับสัดส่วนการใช้เอทานอลในแก๊สโซฮอลเพิ่มขึ้นเป็น27% ภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์รวมถึงจีนหนาวจัด ส่วนราคาที่ผันผวนช่วงนี้ TSTC ห่วงหลังน้ำตาลโควต้า ข. และ ค. เพิ่งกำหนดราคาขายน้ำตาลล่วงหน้าไปได้แค่ 20% เศษ เกรงระยะสั้นชาวไร่หันมาปลูกอ้อยน้อยลงจะเกิดความไม่สมดุลในตลาดโลก

    นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด หรือ TSTC เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ให้จับตาสถานการณ์ราคาน้ำตาลในช่วงปลายปี 2558 อาจมีแนวโน้มกลับมาดีดตัวสูงเหนือระดับ 16 เซ็นต์ต่อปอนด์  โดยมี 5 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1.ในช่วงปลายปี 2558 ไปแล้ว จะเป็นครั้งแรกที่เกิดความสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลายน้ำตาลในรอบ 5 ปี เปรียบเทียบจากทุกปีที่ผ่านมาที่ผลผลิตน้ำตาลจะมากกว่าการบริโภค  จึงทำให้ราคาน้ำตาลถูกลงมาต่อเนื่อง ดังนั้นหากปริมาณผลิตน้ำตาลกับการบริโภคมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ก็จะมีความเสี่ยงที่ไม่มีปริมาณน้ำตาลสำรองอยู่ในสต๊อก อาจเกิดการขาดแคลนในตลาดโลกได้ในเวลาต่อมา  2.สภาพอากาศแห้งแล้งในพื้นที่ภาคกลาง-ใต้ของบราซิล ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยขนาดใหญ่ที่สุดของโลกโดยในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามีฝนตกน้อยทำให้ปริมาณอ้อยลดลง

    3.รัฐบาลบราซิลประกาศขึ้นภาษีขายน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น คนก็หันไปใช้เอทานอลในการผลิตแก๊สโซฮอลส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลน้อยลง จึงไปหนุนให้ราคาน้ำตาลดีขึ้น 4.รัฐบาลบราซิลกำลังพิจารณาปรับสัดส่วนการใช้เอทานอลในแก๊สโซฮอลจาก 25% มาเป็น 27%  จะเกิดแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันไปผลิตเอทานอลมากขึ้น โดยคาดว่าจะปรับขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป 5.ปี 2557/2558 ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลในจีนลดลง เพราะเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวจัด ทำให้ล่าสุดราคาน้ำตาลในจีนปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจให้มีการนำเข้าน้ำตาลได้มากขึ้น โดยในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2557 ถึงเดือนมกราคม ปี 2558 ราคาน้ำตาลในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้นแล้ว 9% เมื่อเทียบกับราคาน้ำตาลในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา

    "อย่างไรก็ตามทั้ง 5 ปัจจัยดังกล่าวนี้ ยังต้องลุ้นต่อไป  เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อราคาน้ำตาลแล้ว  มองอีกด้าน ยังมีข่าวกรณีที่รัฐบาลอินเดียพิจารณาอนุมัติให้โรงงานน้ำตาลสามารถส่งออกได้โดยที่รัฐบาลให้การอุดหนุนตันละ 4,000 รูปี หรือตันละประมาณ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมมีการอุดหนุนอยู่แล้วที่ 3,300 รูปีต่อตัน ยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกมีจำนวนมากขึ้น อาจทำให้ราคาน้ำตาลยังปรับตัวสูงขึ้นไม่มาก ซึ่งในช่วงที่รัฐบาลอินเดียให้การอุดหนุนส่งออกน้ำตาลนั้น อินเดียมีกำลังผลิตน้ำตาลปี 2557จำนวน 25.5 ล้านตัน คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 26.5 ล้านตันต่อปี บริโภคภายในประเทศ 23 ล้านตันต่อปี ดังนั้นถ้ารัฐบาลอุดหนุนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้อินเดียมีน้ำตาลส่งออกมากขึ้นด้วย"

    ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวอีกว่า บริษัทเป็นผู้ดำเนินการส่งออกน้ำตาลให้กับ 22 โรงงานน้ำตาล (ดูตาราง) รวมจำนวนประมาณปีละ 3 ล้านตัน มีทั้งโควตา ข. ซึ่งมีโควตาทำราคาอยู่ที่ 8 แสนตัน แต่ส่งออกจริงเพียง 4 แสนตันต่อปี และสัดส่วนที่เหลือเป็นโควตา ค.   ซึ่งขณะนี้ทั้งโควตา ข. และ ค. ได้กำหนดราคาขายล่วงหน้าไปแล้วโควตาละราว 20% โดยผู้ประกอบการกังวลว่าถ้าราคาน้ำตาลยังผันผวนอยู่แบบนี้จะทำให้ชาวไร่หันมาปลูกอ้อยน้อยลง

    อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลขยับตัวดีมาก โรงงานน้ำตาลมีผลกำไรดี  มีรายได้จากโมลาส(กากน้ำตาล) ที่นำไปผลิตเอทานอล ขณะที่โรงงานน้ำตาลก็มีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าขายใช้เชื้อเพลิงจากชานอ้อยด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

คลังอาเซียนร่วมกำหนดแผนรองรับAEC

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2558 ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินการคลัง ครั้งที่ 1/2558 ร่วมกับผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในที่ประชุมได้พิจารณาความคืบหน้าของการดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคม

อาเซียน(AEC)พ.ศ. 2557-2560 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 13 กลยุทธ์ 34 มาตรการ โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน เช่น การอำนวยความสะดวกด้านการค้า เช่น การพัฒนาระบบขนส่งผ่านแดนภายใต้ พิธีสารฉบับที่ 5 ว่าด้วยระบบการประกันภัยทางรถยนต์ภาคบังคับอาเซียน พิธีสารฉบับที่ 7 ว่า ด้วยระบบศุลกากรผ่านแดนในขณะเดียวกันยังจัดตั้งการให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านศุลกากรของประเทศในการอำนวยความสะดวก ทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งในส่วนของไทย ปัจจุบันมีหน่วยงานที่

ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ National Single Window (NSW) ของไทยแล้วจำนวน 26 หน่วยงาน จากทั้งหมด 36 หน่วยงาน รวมถึงร่างพิธีสารว่าด้วยกรอบกฎหมายเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนนอกจากนั้นยังพูดถึง การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เช่น มาตรการภาษีด้านตลาดทุนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุน กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดทุนในอาเซียน (ASEANLinkage) โดยยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ให้กับนักลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน และให้บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศที่มีหุ้นจดทะเบียนใน 2 ตลาดหลักทรัพย์ สามารถเลือกหักภาษี 10% ณ ที่จ่ายได้โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

ส่วนเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการเงิน นั้นจะประกอบด้วย การพัฒนาระบบชำระเงิน ได้มีการเชื่อมโยงระบบ ATM ของไทยกับของประเทศมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อให้บริการเบิกถอนเงินสดระหว่างประเทศแล้ว การดำเนินการต่อไปจะพิจารณาแนวทางการโอนเงินกลับของแรงงานต่างด้าวผ่านช่องทางที่ได้รับอนุญาตระหว่างไทย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมาร์ รวมทั้งหาแนวทางการใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระค่าสินค้าและบริการ โดยเริ่มจากศึกษาการชำระสินค้า กรณีสกุลเงินบาท-มาเลเซียริงกิตและบาท-อินโดนีเซียรูเปียห์ 

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

ตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายในการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายในการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลาย

รวมถึงให้เกษตรกรลด ละ เลิกการเผาเศษฟาง เศษซากพืช โดยให้นำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ ยังเป็นการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

ในปี 2558 ซึ่งพระองค์พระราชทานสูตรปุ๋ยให้กรมพัฒนาที่ดินนำมาเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปผลิตไว้ใช้เองทดแทนปุ๋ยเคมี

สำหรับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ขณะนี้ก็ได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ โดยมอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ สถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ สถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสงคราม และสถานีพัฒนาที่ดินสมุทร สาคร เข้าไปส่งเสริมผ่านเครือข่ายหมอดินอาสาให้รวมตัวกับเกษตรกรเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินการเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป ซึ่งรายละเอียดของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์นั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ธนาคารปุ๋ยหมัก ธนาคารน้ำหมักชีวภาพ และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด

ในระยะเริ่มต้นทางสถานีจะสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น สารเร่ง พด. น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ให้กับธนาคาร เพื่อให้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ให้กับสมาชิกกลุ่ม ส่วนรูปแบบการบริหารธนาคารจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของแต่ละกลุ่มว่า จะมีรูปแบบให้ยืมและการส่งคืน หรือที่เรียกตามศัพท์ของธนาคารก็คือการฝาก ถอน ในลักษณะใดบ้าง มีการปันผลอย่างไร

ตัวอย่าง สมาชิกที่มีการผลิตปุ๋ยหมักได้ปริมาณมากเหลือใช้ก็จะนำมาฝากไว้กับธนาคาร ส่วนสมาชิกที่ไม่สามารถผลิตปุ๋ยได้ก็มากู้ยืมจากธนาคารนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเองก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็นำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาทำเป็นปุ๋ยคืนให้กับธนาคาร อย่างยืมไป 1 ตัน อาจจะต้องคืนกลับมา 1.2 ตัน เป็นต้น

ทั้งนี้ผลจากการดำเนินการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ นำร่องในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้ระยะหนึ่ง พบว่าเกษตรกรมีการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะธนาคารปุ๋ยหมัก และธนาคารน้ำหมักชีวภาพ เนื่องจากมีการร่วมมือกันทำ ร่วมกันนำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ที่มีจำนวนมากมาเป็นวัตถุดิบ ทำให้ได้ปุ๋ยไปใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้ว่าระยะเริ่มต้นจะยังอยู่ในเกษตรกรกลุ่มเล็ก ๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกษตรกรได้เห็นผลจากการดำเนินงานของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ที่ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินทำกิน ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกษตรกรมีความสนใจและเข้ามาสู่ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นในอนาคต.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

ดันส่งออกสู่วาระชาติ พาณิชย์ชง “บิ๊กตู่” พร้อมประกาศยันเป้าปีนี้โต 4%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามผลการดำเนินงานกระทรวงพาณิชย์ ว่า กระทรวงพาณิชย์จะทำเรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาการส่งออกสินค้าไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ และผลักดันให้มูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้บรรลุตามเป้าหมายการขยายตัวที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ 4% จากปี 57 คาดว่า นายกรัฐมนตรี จะเห็นชอบและจัดตั้งได้ในเร็วๆ นี้

สำหรับหรับคณะกรรมการชุดนี้ จะประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ส่วนภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าเเห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งระเทศไทย สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ฯลฯ มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริม และผลักดันการส่งออกไทย รวมถึงแก้ปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เพราะปัจจุบันการส่งออกไทยมีปัญหามาก ซึ่งปัญหาบางอย่างเป็นปัญหาของหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ จำเป็นต้องให้ฝ่ายนโยบายสั่งการในการแก้ปัญหา แต่หากเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ก็สามารถสั่งการให้แก้ไขได้ทันที ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนมีปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ก็สามารถนำเสนอได้เช่นกัน

“ต้องยอมรับว่าการส่งออกไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้ายังชะลอตัว และยังมีปัญหาจากภายในอีก เช่น ไทยผลิตสินค้าไม่ตรงตามความต้องการตลาด ผลิตสินค้าล้าสมัย ศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกลดลง จึงต้องทำเรื่องส่งออกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะกระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาคนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องให้หลายหน่วยงานช่วยกัน ซึ่งคณะกรรมการจะช่วยกันกำหนดรูปแบบการส่งออก ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ตลาด การแสวงหาวัตถุดิบ การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้การส่งออกไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกปีนี้ขยายตัวที่ 4% จากปี 57 ตามเดิม ยังไม่ปรับลดเป้าหมายลงแน่นอน เพราะถือว่าเป็นเป้าหมายในการทำงาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เป็นเป้าหมายที่ต้องพุ่งชนให้ได้ แม้หลายหน่วยงาน รวมถึงภาคเอกชนได้ปรับลดการคาดการณ์ลงเหลือขยายตัวต่ำกว่า 4% อีกทั้งในปี 58 เพิ่งผ่านไปเพียง 1 เดือนเท่านั้น จึงยังมีเวลาเหลืออีกมากที่จะผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย

  นางอภิรดี กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านควบคู่ไปกับการผลักดันการส่งออกในภาพรวม โดยปีนี้ ได้ตั้งเป้าหมายการค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% หรือมีมูลค่าการค้าไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 57 มีมูลค่า 1.15 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ไทยได้มีโอกาสหารือกับรมว.พาณิชย์เมียนมาร์ โดยไทยได้เสนอให้ 2 ประเทศเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาทภายใน 1-2 ปีนี้ นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 5-9 มี.ค.นี้ จะมีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ลาว ซึ่งจะเสนอให้มีการขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนระหว่างวันที่ 11-12 ก.พ.นี้ ตนจะนำคณะเดินทางไปอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามปัญหา อุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะของภาคเอกชนใน 5 จังหวัดทางภาคใต้ เพื่อผลักดันเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์หน้า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ จะเชิญผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ มาขอบคุณที่ให้ความร่วมมือจัดกิจกรรมของขวัญปีใหม่ โดยขายสินค้าราคาถูกในช่วงปลายปี 57 นอกจากนี้ ยังจะสอบถามถึงการลดต้นทุนด้านต่างๆ ให้กับผู้ขายอาหารปรุงสำเร็จภายในศูนย์อาหารของห้างฯ ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ทั้งค่าเช่า ค่าส่วนแบ่งการขาย ค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น เพราะขณะนี้ต้นทุนค่ากระแสไฟฟ้าลดลงมาก จากการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เพื่อให้ผู้ค้าอาหารปรุงสำเร็จสามารถขายอาหารได้ในราคาไม่แพงเกินไป และยังช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนด้วย

ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ราคาอาหารในศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าหลายแห่งแพงเกินจริง เช่น ข้าวขาหมู เริ่มต้นจานละ 50 บาท ขาหมูเปล่า เริ่มต้นจานละ 80 บาท ก๋วยเตี๋ยว จานละ 45 บาท ข้าวราดแกง 2 อย่าง จานละ 40 บาท เป็นต้น ทั้งที่ราคาภายนอกห้างฯ เริ่มต้นที่ 30 บาทเท่านั้น จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลให้ผู้ค้าขายในราคาที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม การขอความร่วมมือจากห้างฯ คงจะออกมาในลักษณะการดำเนินการเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น คงไม่ได้ดำเนินการเป็นการถาวร เพราะประเทศไทยมีกลไกการค้าเสรี รัฐบาลไม่สามารแทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการได้ เพราะจะทำให้กลไกตลาดบิดเบือน และเกิดความเสียหายได้

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

แนะผู้ประกอบการผันเครื่องจักรเป็นทุน เสริมสภาพคล่องให้กับโรงงาน

กรอ.ตั้งเป้าปี’58ร่วมโครงการ15%

กรอ. เผยยอดเปิดกิจการ-ขยายกิจการปี’58 โต 20% รวมมูลค่ากว่า 7.2 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรเปลี่ยนเป็นทุน ตั้งเป้าปี’58 ดึงร่วมโครงการ 15% วงเงิน 3.75 แสนล้านบาท

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)เปิดเผยว่ายอดการอนุญาตจัดตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการในเดือนมกราคม 2558 มีจำนวน 396 แห่ง เงินลงทุนรวม 3.26 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 128% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลับมามีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้จากยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2557 ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาทที่จะทำให้มีการลงทุนจริงในปีนี้ รวมทั้งหากปัจจัยต่างๆยังคงอยู่ในภาวะปกติจะส่งผลให้ปี 2558 มียอดการตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการกว่า 7.22 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2557 ที่อยู่ที่ 6.02 แสนล้านบาท แต่หากมีปัจจัยลบอื่นเข้ามาทางกรมโรงงานจะประเมินสถานการณ์และคาดการณ์ใหม่อีกครั้ง

กลุ่มอุตสาหกรรมมีการประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการในเดือนมกราคมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร 4,773 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 3,601 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล 2,996 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรของกรมโรงงานที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และนำไปจดทำนอง เพื่อเป็นหลักทรัพย์ ค้ำประกัน จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้ในกิจการอุตสาหกรรมที่นำมาจดทะเบียนได้มีถึง 107 ประเภท อาทิ เครื่องจักรทำความเย็น ปรับอากาศ เครื่องจักรหล่อหลอม หรือแปรรูปโลหะ กิจการโรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น

จากสถิติตั้งแต่ปี 2515 ถึงมกราคม 2558 มีโรงงานจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 56,106 ราย จำนวน 792,228เครื่อง และจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร 36,839 ราย จำนวน 869,711เครื่อง โดยมูลค่าวงเงินจำนองกว่า 4.4 ล้านล้านบาท

“ที่ผ่านมาเครื่องจักรที่นำมาจดทะเบียนคิดเป็นเพียง 8% ของเครื่องจักรที่มีอยู่ในโรงงานในประเทศไทยที่มีอยู่ 10 ล้านเครื่อง ดังนั้นปีนี้กรมจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้นำเครื่องจักรที่มีอยู่ในโรงงานมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง เพื่อนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มมาก”

โดยในปีนี้จะจัดคาราวานเข้าไปถึงชุมชนเพื่อให้ความรู้ด้านการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรคาดว่าเป้าหมายการจดจำนองภายในสิ้นปี 2558 จะโตขึ้นจากปี 2557 กว่า 15 % ประมาณ 8,000 เครื่อง วงเงินจำนองประมาณ 375,000 ล้านบาท อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป ดังนั้นหากโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศนำเครื่องจักรไปจดทะเบียนครบทั้งหมดน่าจะมีมูลค่าที่สามารถนำไปจำนองกับสถาบันการเงินได้สูงถึง 50 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ปี 2557 มีเครื่องจักรที่มาจดทะเบียนและจดจำนอง วงเงินสูงถึง 338,127.87 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีการจดจำนองมากที่สุดในเดือน มกราคม 2558 เรียง 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์จากพืช 2.อุตสาหกรรมอาหาร 3 .พลาสติก

นอกจากนี้ในปี 2558 กรอ. มีนโยบายและการดำเนินการภายใต้แนวคิด “DIW Work for best โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สู่อุตสาหกรรมสีเขียว คืนความสุขประชาชน” ภายใต้ภารกิจปกติ ที่มุ่งเน้นการกำกับโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม พัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียว การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย การแก้ไขปัญหามลพิษ การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการให้บริการ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

พด.เร่งเครื่องพัฒนา ‘แหล่งน้ำ’ในไร่-นา นอกเขตชลประทาน

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการเทิดพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2558

ทั้งนี้ในส่วน กรมพัฒนาที่ดิน นอกจากมีภารกิจด้านการปรับปรุงบำรุงดินแล้ว ยังดำเนินการด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน รวมถึงแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลบ.ม. เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร ตลอดจนเพื่อการอุปโภค บริโภค ซึ่งสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ที่กำกับดูแลสถานีพัฒนาที่ดิน 6 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จะมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ควบคู่กับการรณรงค์ให้เกษตรกร และประชาชนทั่วไปได้ใช้ทรัพยากรดินและทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น เพื่อสนองนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน อีกทั้งได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรณรงค์การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าไปพร้อมๆ กันด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

ชงกม.รายได้-สวัสดิการเกษตรกรสร้างความมั่นคงในอาชีพ-เกษตรฯจ่อชงรบ.ไฟเขียว พด.เร่งเครื่องพัฒนา ‘แหล่งน้ำ’ในไร่-นา นอกเขตชลประทาน

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รายได้และสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ. ... เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อนำมาประมวลยกร่างเนื้อหากฎหมาย เพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป

นายปีติพงศ์ กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีหลักการสำคัญ คือ 1.การช่วยเรื่องรายได้และสวัสดิการให้แก่เกษตรกรในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.การจัดตั้งคณะกรรมการ 1 คณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรในด้านรายได้และสวัสดิการ มีหน้าที่วางแผนระยะยาวและกำหนดงบประมาณที่จะใช้แต่ละปีตามความเหมาะสม โดยคิดคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคเกษตร หรือ GDP ภาคเกษตร ในเบื้องต้นคาดการณ์ 10% ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะสามารถกำหนดงบประมาณที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในระยะยาวกับฐานะทางการเงินของประเทศ 3.การจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค เพื่อกำหนดรายได้และการช่วยเหลือแก่เกษตรกร และ 4.ภาระของเกษตรกร เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องจ่ายเงินบำรุงเพื่อนำมาใช้จ่ายเฉพาะในการบริหารงาน เพื่อให้หน่วยงานสามารถขับเคลื่อนการทำงานไปได้

“กฎหมายว่าด้วยการเกษตรที่บังคับใช้ในปัจจุบันทั้งหมด เป็นกฎหมายที่มุ่งให้ความช่วยเหลือหรือคุ้มครองเกษตรกรเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกิน การจัดหาแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ การจัดตั้งองค์กรเกษตรกร การควบคุมหรือการช่วยเหลือเกี่ยวกับปัจจัยการผลิต แต่ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ช่วยเหลือให้ความคุ้มครองในเรื่องรายได้และสวัสดิการแก่เกษตรกร ทำให้คนในภาคเกษตรกรรมขาดความมั่นคงในอาชีพ นอกจากนั้นเมื่อประสบปัญหาจากราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวน ทำให้รายได้ของเกษตรกรต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานรายได้ของประเทศ เป็นเหตุให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่รัฐต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีกฎหมายขึ้นมาเพื่อดูแลด้านรายได้และสวัสดิการเกษตรกรเป็นการเฉพาะ” นายปีติพงศ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

คลังจับตา'เงินเฟ้อ'ติดลบ ขีดเส้น3เดือนงัดแผนสู้ ชูกองทุนพยุงเศรษฐกิจ

คลังขีดเส้นเฟ้อติดลบเกิน 3 เดือนไม่ปกติ พร้อมเร่งหามาตรการดูแลใกล้ชิด เล็งทบทวนแนวคิดดึงงบกลาง 1 แสนล้านบาทแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ด้านกุนซือ TDRI ย้ำไทยไม่เกิดภาวะเงินฝืด

    นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. ที่ติดลบ 0.41% จะไม่ทำให้เกิดภาวะเงินฝืด โดยสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงนั้น มาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังติดตามดูแลสถานการณ์ดังกล่าวได้ดี ยังไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม หากอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน ก็ถือว่ามีเหตุผิดปกติที่จะต้องเข้าไปติดตามดูแลมากขึ้น

    สำหรับมาตรการของกระทรวงการคลัง ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ไปพิจารณาแนวทางมาช่วยเหลือประชาชนมาเสนอภายใน 3 สัปดาห์นั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมาตรการที่จะออกมานั้น จะไม่ใช่มาตรการทางภาษี ไม่ได้เป็นไปในลักษณะการจัดตั้งกองทุน และจะไม่ใช้เงินงบประมาณดำเนินการอย่างแน่นอน

    นายสมหมายกล่าวอีกว่า ได้ทบทวนแนวคิดเสนอให้ตั้งงบกลางของปีงบประมาณ 2559 เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของชาวบ้านที่มีรายได้น้อย โดยคาดว่าอาจจะยังไม่มีความจำเป็นหรืออาจจะตั้งวงเงินต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อให้การจัดทำงบประมาณมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ในหลักการจะต้องเป็นการใช้งบประมาณเพื่อกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีการหารือกับนายกรัฐมนตรี

    นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ก.พ.2558 จะมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณอีกครั้ง โดยคาดว่าในส่วนนี้กระทรวงการคลังจะมีการเสนอแนวทางการกันงบกลาง กรณีฉุกเฉิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย ส่วนรูปแบบการดำเนินการขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะเสนอแนวทางอย่างไรบ้าง

    “เรื่องงบประมาณยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอยู่อีก โดยการประชุมครั้งนี้ก็จะมีการหารือเรื่องการจัดสรรงบประมาณต่างๆ ให้มีความชัดเจนขึ้น ส่วนงบลงทุนในปีงบประมาณ 2559 ที่เบื้องต้นสรุปแล้วว่าจะอยู่ที่ 20% ของงบประมาณรายจ่ายนั้น ก็อาจต้องมาดูกันใหม่ด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่” นายสมศักดิ์กล่าว

    ด้านนายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนา “ปี 2558 หัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจโลก" โดยระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เผชิญกับภาวะเงินฝืด แม้ว่าในเดือน ม.ค.58 อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ 0.41% เพราะมองว่าการเกิดภาวะเงินฝืดมักมาจากด้านอุปสงค์ที่ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แต่การที่อัตราเงินเฟ้อติดลบครั้งนี้เกิดจากอุปทานบางตัว โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น

    ขณะที่การปรับตัวลดลงมามากของราคาน้ำมัน โดยส่วนตัวมองว่าประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าถูกลง อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการที่ราคาน้ำมันตกต่ำก็เกิดผลกระทบต่อกลุ่มลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในระยะนี้

        สำหรับปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องจับตาปีนี้คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกัน ขณะที่ปัจจัยในประเทศนั้นคาดว่าจะยังขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนเป็นหลัก รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำส่งผลให้การจับจ่ายภาคเกษตรลดลง สะท้อนไปยังกลุ่มภาคเกษตรชะลอตัว

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

ชาวไร่อ้อย หวั่นจัดโซนนิ่งทำราคาอ้อยดิ่ง

         แม่โจ้โพลล์ เผยผลสำรวจชาวไร่อ้อยบอกต้นทุนพุ่ง หวั่นจัดโซนนิ่งทำราคาอ้อยดิ่ง เปิด AEC ยังไม่แน่ใจช่วยสร้างโอกาสหรือเป็นอุปสรรคในการผลิตอ้อยในไทย

       ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย จากภาคเหนือ ร้อยละ 55.49 ภาคกลาง ร้อยละ 27.02 และภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 17.49 จำนวนทั้งสิ้น 892 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 15 มกราคม 2557 ในหัวข้อ “อ้อย กับทิศทางในอนาคต” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ 1.ปัญหาและความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 2. แนวโน้มของราคาผลผลิตตามความคิดเห็นของเกษตรกร 3. ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียนต่ออาชีพการปลูกอ้อย และ 4. ผลกระทบของอ้อยจากนโยบายการจัดโซนนิ่ง ดังนี้

       จากการสอบถามปริมาณผลผลิตอ้อยของเกษตรกร พบว่า ร้อยละ 44.42 บอกว่ามีผลผลิตลดลง ร้อยละ 32.24 บอกว่ามีผลผลิตเท่าเดิม และร้อยละ 23.34 บอกว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อราคาอ้อยพบว่า ร้อยละ 59.34 ยังไม่พอใจกับราคาที่ได้รับ (900 บาท/ตัน) ในขณะที่ร้อยละ 40.66 นั้น พอใจกับราคานี้แล้ว

       เมื่อสอบถามถึงปัญหาในการผลิตอ้อย พบว่า อันดับที่ 1 ร้อยละ 80.27 พบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง อันดับ ที่ 2 พบปัญหา ร้อยละ 42.60 ผลผลิตอ้อยตกต่ำ อันดับที่ 3 ร้อยละ 35.87 มีปัญหาศัตรูพืชทำลายผลผลิต อันดับที่ 4 ร้อยละ 23.21 มีปัญหาผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามต้องการและอันดับที่ 5 ร้อยละ 14.35 ตลาด/โรงงานที่รองรับผลผลิตมีน้อย

       เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ร้อยละ 38.79 ยังไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 36.55 เห็นว่าเป็นโอกาส เนื่องจาก เป็นการเปิดตลาดของผลผลิตอ้อยให้กว้างมากขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 24.66 เห็นว่าเป็นอุปสรรคของผลผลิตอ้อยในไทย เนื่องจาก กังวลว่าราคาอ้อยจะถูกลง

       ด้านการสอบถามถึงผลราคาอ้อยจากนโยบายการจัดโซนนิ่ง พบว่า ร้อยละ 76.79 เห็นว่า กระทบกับราคาอ้อย เนื่องจากหากส่งเสริมให้เกษตรกรนอกโซนนิ่งมาปลูกอ้อยจะทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อราคาอย่างแน่นอน อีกร้อยละ 23.21 เห็นว่าไม่กระทบกับราคาอ้อย เนื่องจาก ผลผลิตอ้อยในตลาดยังต้องการอีกมาก การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาจช่วยทำให้การตลาดอ้อยกว้างมากขึ้นและการปลูกอ้อยก็ไม่ได้เหมาะสมกับทุกพื้นที่

       เมื่อสอบถามความสำคัญของสมาคมชาวไร่อ้อย พบว่า ร้อยละ 83.18 เห็นว่าสมาคมมีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆให้แก่สมาชิกได้ อีกร้อยละ 16.82 เห็นว่า ยังมีบทบาทน้อยและแก้ไขปัญหาได้ล่าช้า และจากการสอบถามความต้องการการส่งเสริม/ช่วยเหลือ พบว่า ร้อยละ 55.11 ต้องการให้ราคาอ้อยปรับเพิ่มสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 35.22 ต้องการให้ช่วยเหลือด้านการลดต้นทุนและราคาปัจจัยการผลิต ร้อยละ 9.67 มีความต้องการอื่นๆ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พันธุ์อ้อย น้ำในการทำการเกษตร โรงงานรับซื้ออ้อย

                อ้อยเป็นพืชไร่ที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกไปต่างประเทศประมาณ ร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลก รองจากประเทศบราซิล สร้างมูลค่าการส่งออกได้ถึง 1.2 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในตลาดโลกไม่สามารถผลิตน้ำตาลได้ ในขณะที่บางประเทศผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา โดย มีความต้องการน้ำตาลมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย, เมษายน 2557) ทั้งนี้จากรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) เผยว่าในปี 2556/57 ประมาณการผลผลิตน้ำตาลทรายดิบของโลกมีปริมาณ 174.83 ล้านตัน ลดลงจาก 176.03 ล้านตัน ของปี 2555/56 เล็กน้อย เพียงร้อยละ 0.68 ซึ่งมีปริมาณการผลิตใกล้เคียงกัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตที่สำคัญหลายประเทศยังคงมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความต้องการบริโภคน้ำตาลของโลกปี 2556/2557 คาดว่ามีปริมาณ168.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 167.63 ล้านตันของปี 2555/56 ร้อยละ 2.34 คาดว่าความต้องการน้ำตาลของประเทศ อินเดีย จีน บราซิล สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และอียิปต์ จะยังคงมีแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยรัฐบาลมีนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ (Zoning) ภาคการเกษตร โดยเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของประเทศ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากที่ดินของประเทศให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

       นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศเขตเหมาะสมต่อการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง จำนวน 20 ชนิดสินค้า ได้แก่ พืช 13 ชนิด ปศุสัตว์ 5 ชนิด ประมง 2 ชนิด โดยหลักการของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมเป้าหมายที่สำคัญ คือ ปศุสัตว์ ต้องปรับสมดุลของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของสินค้าเกษตรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการประกาศเขตเหมาะสมในการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมงจะอาศัยข้อมูลทางวิชาการ ศักยภาพ กายภาพในพื้นที่ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภูมิอากาศ ดิน น้ำ ความชื้น แสงแดด สภาพแวดล้อมต่างๆ นำมาประกอบกับข้อมูลพืช สัตว์ ประมง ในแต่ละชนิด รวมทั้งวิเคราะห์ร่วมกับความต้องการของตลาด เพื่อหาความเหมาะสมของการทำการเกษตรในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสูง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีผลกำไรสูงกว่าการทำเกษตรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม

       โดยรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุน จูงใจ ให้ข้อมูลและคำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นความสมัครใจและความพึงพอใจของเกษตรกรเป็นหลัก (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2557) โดยหากเป็นพื้นที่นอกโซนนิ่งนั้นจะมีการส่งเสริมให้มีการปลูกปลูกอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ราคาสินค้าและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่เกษตรกร โดยสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มองว่าอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะต่อการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปรับเปลี่ยนไร่นาเป็นไร่อ้อย เนื่องจากอ้อยสามารถนำใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องได้ นอกจากจะผลิตเป็นน้ำตาลทรายแล้ว ยังนำผลพลอยได้จากการผลิตไปเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนและยังนำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าหรือนำไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย“นโยบายโซนนิ่งพืชเกษตรจะประสบความสำเร็จได้ ภาครัฐต้องคำนึงถึงศักยภาพของพืชเกษตรที่ส่งเสริมให้เพาะปลูกนั้นต้องสามารถนำผลผลิตที่ได้ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มไปสู่การสร้างนวัตกรรมให้แก่สินค้าเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดจากการใช้ประโยชน์ของพืชเกษตรอ้อยถือเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่นำไปสู่การผลิตน้ำตาลทรายและนำผลพลอยได้ไปผลิตสินค้าอื่นๆได้อีกด้วย” (มติชนออนไลน์, กันยายน 2557)

 จาก  http://manager.co.th  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

ญี่ปุ่นหนุนไทยเตรียมความพร้อมสู่เออีซีพร้อมยื่นข้อเสนอปรับเกณฑ์ ส่งเสริมการลงทุนบีโอไอใหม่

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2558 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ต้อนรับนายอิเอะโซะ โคบายาชิ ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการค้าญี่ปุ่น-ไทยและคณะ โดยการเดินทางมาครั้งนี้ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้า การลงทุนและสิ่งแวดล้อมระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศไทย และยังขอรับทราบนโยบายของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมภาคธุรกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า การเดินทางมาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการค้าญี่ปุ่น-ไทยครั้งนี้ ตนได้แจ้งถึงการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ปรับใหม่และเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้มีการปรับเปลี่ยน โดยจะเสนอข้อสรุปมาให้รัฐบาลไทยภายเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนญี่ปุ่นยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย และขณะนี้ไทยร่วมเออีซีแล้ว ทำให้ขนาดตลาดเพิ่มจาก 60 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานและจำนวนประชากรยังเป็นที่ถูกใจของนักลงทุนญี่ปุ่น

ดังนั้น ปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมคาดหวังว่าจะมีเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยประมาณ 500 ราย จากที่ญี่ปุ่นต้องการผลักดันให้ออกมาลงทุนนอกประเทศ 10,000 ราย หากเข้ามาลงทุนรายละ 500 ล้านบาท ก็จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนปีนี้ถึง 25,000 ล้านบาท จากที่ปีที่ผ่านมานักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งเดือนมกราคมที่ผ่านมาเดินทางเยือนญี่ปุ่น เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทยและญี่ปุ่น ประกอบกับที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้นในความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมกับหลายจังหวัดของญี่ปุ่นมาแล้ว

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

เดินหน้าตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ พด.หนุนใช้ปุ๋ยสูตรพระราชทานใช้เอง

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเท่านั้น ยังส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม ซึ่งก็ย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้เกษตรกร เมื่อดินเสื่อมโทรมผลผลิตก็ตกต่ำ เกษตรกรจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตก็มักต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น ต้นทุนสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว กรมพัฒนาที่ดิน จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยให้หันมาใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เอง

การจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี เป็นหนึ่งในนโยบายของกรมพัฒนาที่ดินที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อีกทั้งแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม เนื่องจากปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยปรับโครงสร้างดิน เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูกก็จะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือสร้างความปลอดภัยทั้งผลผลิต และสุขภาพของเกษตรกร รวมถึงผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม จากการส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และกระจายไปทุกตำบล ก็สามารถแก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้ปุ๋ยเคมีค่อนข้างสูง แต่หลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินได้นำสูตรปุ๋ยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปเผยแพร่ขยายผลสู่เกษตรกรทั่วไป ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในพื้นที่รอบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี เกษตรกรในพื้นที่โครงการและหมู่บ้านรอบศูนย์ตอบรับ มีการทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานไว้ใช้เองเกือบทุกครัวเรือน ซึ่งทำให้การดำเนินงานส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสูตรพระราชทาน รวมถึงปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลในวงกว้างมากขึ้น

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

เร่งสางหนี้จำนำเกษตร2หมื่นล.

ประธานบอร์ด อคส. เผยปี 58 เน้นสางสารพัดปัญหาเก่า ทั้งการจ่ายหนี้เก่า ค่าเช่าคลังโรงสี -บริษัทเซอร์เวเยอร์กว่า 2 หมื่นล้าน  ขณะเร่งเอกชนส่งคืนข้าวที่เหลือในโครงการข้าวถุง ขู่หากยังอิดออดเจอไม้แข็ง  ด้านการสรรหาผอ.อคส. คนใหม่ ยังไม่เร่งให้โชว์วิสัยทัศน์ ระบุอยากได้คนเก่งด้านการตลาด และบริหารคนให้ตรงกับเนื้องาน เพื่อความอยู่รอดขององค์กรระยะยาว

     จินตนา  ชัยยวรรณาการจินตนา ชัยยวรรณาการนางจินตนา  ชัยยวรรณาการ ประธานกรรมการ(ประธานบอร์ด)องค์การคลังสินค้า (อคส.)  เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึง ความคืบหน้าการคืนเอกสารค้ำประกันหรือแอล/ซีที่ผู้ประกอบการโรงสีเปิดไว้กับธนาคารเพื่อเป็นหลักประกันว่าโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในรัฐบาลที่ผ่านมา หากมีความเสียหายต่อสินค้าจะมีเงินมาจ่ายคืนให้กับคู่สัญญาคือ อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ว่า ขณะนี้ อคส.ได้มีการคืนแอล/ซีให้กับโรงสีไปเกือบหมดแล้ว จะเหลือเพียงบางส่วนที่ยังมีปัญหาเรื่องค่าปรับ ซึ่งอคส.ได้ส่งให้ทางกฤษฎีกาตอบกลับว่าทางบอร์ดสามารถมีอำนาจแก้ไขได้หรือไม่

    ส่วนความคืบหน้ากรณีเจ้าของคลังที่รัฐบาลเช่าเก็บข้าว บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ไม่ต่ำกว่า 1.5 พันรายได้ทวงหนี้รัฐบาลมายัง อคส. วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากหลายรายยังไม่ได้รับเงิน ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554/2555 รวมถึงโครงการแทรกแซงมันสำปะหลัง และ ข้าวโพดนั้นในเดือนมกราคม 2558 อคส.ได้จ่ายเงินไปให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินไปแล้ว 620 ล้านบาท รวมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงมกราคม 2558 อคส.จ่ายไปแล้วประมาณ 4.2 พันล้านบาท

    "ขณะที่กรณีการคืนข้าวในโครงการข้าวถุงที่เอกชนเบิกข้าวไปปรับปรุงหลังโครงการได้ยุติลงเนื่องจากบางส่วนมีความไม่ชอบมาพากล ทางอคส.จึงได้เรียกคืนข้าว ล่าสุดยังมีเอกชนรายใหญ่อีก2-3 รายที่ยังไม่คืนข้าวซึ่งตรงนี้คงต้องว่ากันไปกฎหมาย"

    นางจินตนา กล่าวถึงแผนธุรกิจของ อคส.ในปี 2558 ว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก คงต้องมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยเฉพาะเรื่องของคน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดขององค์กร เพราะถ้าคนไม่มีประสิทธิภาพ องค์กรก็ไม่พัฒนา ดังนั้นในปีนี้อคส.คงเน้นสะสางปัญหาเก่าที่ค้างคาสะสมมานานก่อน ส่วนเรื่องการหารายได้เข้าองค์กรก็ต้องทำ แม้ว่าจะอคส.จะยังมีรายได้จากโครงการต่อเนื่องของรัฐบาลก็ตาม แต่ปี2559 อคส.คงต้องเจอศึกหนัก เพราะต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง จากไม่มีโครงการของรัฐบาลมาสนับสนุนรายได้ของ อคส.

     "สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ของอคส.คือการพัฒนาคน ให้สอดคล้องกับเนื้องาน เพราะถ้าทุกคนไม่ปรับตัวองค์กรก็จะไม่เดินและไม่มีรายได้เข้าองค์กร เพราะจะรอแต่โครงการของรัฐบาลอย่างเดียวคงจะไม่ได้ อย่างการขายข้าว ก็ต้องพยายามหาตลาดเพราะว่าอย่าลืมว่าข้าวของอคส.มีคุณภาพก็ควรต้องดิ้นรนหาลูกค้า ซึ่งรายได้ของอคส.ปีนี้ยังไม่น่าห่วง เพราะยังมีโครงการรัฐช่วยประคองอยู่แต่ถ้าปีหน้ายังไม่หารายได้เข้าองค์กรเองก็น่าเป็นห่วง"

    ขณะที่ความคืบหน้าการสรรหาผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่ ไม่ได้ให้นโยบายอะไรเป็นพิเศษกับประธานสรรหาคือนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน แต่ทั้งนี้คนที่จะเข้ามาเป็นผอ.อคส.จะต้องเป็นคนที่เก่งด้านการตลาด อย่างที่เคยบอกไปแล้วและต้องบริหารจัดการพัฒนาคนให้เหมาะสมกับงาน  เพราะเป็นที่ทราบดีว่าอคส.มีปัญหาที่สะสมมานาน  ยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ตัวผอ.อคส.เมื่อใดเพราะในจำนวน 5 คนที่เข้ามาสมัครอาจจะไม่ผ่านคุณสมบัติก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนั้นก็อาจจะมีการเปิดรับสมัครใหม่เพื่อสรรหาคนที่เหมาะสมต่อไป

    ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ประธานสรรหา ผอ.อคส.คนใหม่  เผยว่า ขณะที่ขั้นตอนอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าสมัคร หลังจากนั้นถึงจะพิจารณาว่าผ่านคุณสมบัติหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้เรียกผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์  เพราะว่ายังอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารและบางรายก็เตรียมเอกสารมาไม่ครบก็ต้องขยายเวลาให้ในการเตรียมเอกสารมาใหม่ แต่หากเตรียมเอกสารมาไม่ทันก็อาจจะถูกตัดสิทธิ์ ส่วนจำนวนผู้มาสมัครมองว่าอยากเห็นจำนวนผู้สมัครมากกว่านี้ เพื่อที่จะได้มีตัวเลือกมากขึ้น

จาก  http://www.thanonline.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

เกษตรฯ เน้นใช้ปุ๋ยลดต้นทุนการผลิต

กระทรวงฯ ได้อนุมัติให้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตปี 2557-2558 ซึ่งเกษตรกรจะสามารถลดต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมี

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้อนุมัติให้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตปี 2557-2558 ซึ่งเกษตรกรจะสามารถลดต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมี เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 23 อันสอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และพัฒนาผลผลิตให้เพิ่มขึ้นจากเดิมและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ทั้งนี้จะจัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ในรูปของวิสาหกิจชุมชนที่บริหารจัดการโดยกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต โดยลดการใช้ปุ๋ยเคมี

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้นำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการนำค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารหลัก N P K ในดิน ที่เป็นปัจจุบันมากำหนดคำแนะนำปุ๋ยที่สอดคล้องกับความต้องการธาตุอาหารของพืช และพบว่า สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริง โดยมีข้อมูลยืนยันจากหลายแหล่ง และจะนำองค์ความรู้ดังกล่าวถ่ายทอดผ่านกระบวนการเรียนรู้ของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ทั้ง 882 แห่งทั่วประเทศ ต่อไป.

จาก  http://www.dailynews.co.th   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

เกาะติดเขตเศรษฐกิจพิเศษ..ทำการค้าชายแดนให้รุ่งเรือง

เล่าสู่กันฟัง : เกาะติดเขตเศรษฐกิจพิเศษ..ทำการค้าชายแดนให้รุ่งเรือง : โดย...บัญญัติ คำนูญวัฒน์

                            เล่าสู่กันฟังในวันนี้...ไม่อยากตกขบวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะสำคัญมากๆ เป็นวาระแห่งชาติเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อแวดวงธุรกิจ ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษที่เอื้อต่อการลงทุนมากมาย เช่น สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดหย่อนกำไรสุทธิของการลงทุน การอำนวยความสะดวกในด้านธุรกรรมและขนส่งข้ามประเทศให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น เงื่อนไขดีๆ แบบนี้ทยอยจัดสรรมาเพื่อเชื้อเชิญนักธุรกิจ ยิ่งมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ไวเท่าไร การค้าชายแดนก็น่าจะยิ่งคึกคักเร็วมากขึ้นเท่านั้น

                            ตามแผนประเทศไทยปักหมุดเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ครอบคลุมชายแดนระหว่างรอยต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น 12 พื้นที่ แต่การลงทุนคงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเลือกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องตอนนี้ทั้งหมด 6 พื้นที่ ได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก ติดกับพม่า เกิดเงินหมุนเวียนกว่าปีละ 5 หมื่นล้านบาท ถัดมาที่ด่านศุลกากร จ.มุกดาหาร ติดกับลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนราวๆ 4 หมื่นล้านบาท ขยับไปที่ด่านศุลกากรบ้านหาดเล็ก จ. ตราด และด่านศุลกากรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ทั้ง 2 จังหวัดนี้มีเขตติดต่อกับกัมพูชา มีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 5 พันล้านบาท 

                            ส่วนภาคใต้ด่านศุลกากรสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ อีกหนึ่งเขตใน จ.สงขลา มีท่าเรือปีนังกับท่าเรือกลางของมาเลเซีย เป็นระบบขนส่งเชื่อมโยงการค้ามาเลเซียและสิงคโปร์ สร้างเงินไหลเวียนกว่า 5 หมื่นล้านบาท และล่าสุดไม่กี่วันที่ผ่านมา ภาครัฐมีมติให้ จ.หนองคายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องเขตที่ 6 เพราะด้วยความพร้อมด้านแรงงาน ปัจจัยการผลิต และการขนส่งที่เอื้อให้ภาคธุรกิจทำการค้าได้ง่ายขึ้น

                            แผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นรูปธรรมใน 6 พื้นที่ (7 ด่าน) นี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้ประชุมและมีมติเร่งรัดให้สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป แต่ในหลักการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งสาธารณูปโภคและการขนส่ง ภาครัฐกำลังคลอดแผนโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรเพื่อความสะดวกปี 2557-2565

                            อย่างไรก็ตาม หากมองเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นภาพเชื่อมโยงการค้าชายแดนระหว่างไทยกับอีก 4 ประเทศสำคัญ ทั้งกัมพูชา, เวียดนาม, พม่า, มาเลเซีย ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของสินค้ามากกว่า 1  ล้านล้านบาทต่อปี ถือเป็นสัดส่วนการค้าไทยต่อประเทศอื่นๆ ในอาเซียน คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 43.4% เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้การค้าระหว่างต่างประเทศทั้งหมด ด้วยเหตุนี้การค้าชายแดนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงมีความสำคัญ ละเอียดอ่อนและมีความท้าทายมาก

                            นอกเหนือจากนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยจะได้ประโยชน์ จากสิทธิพิเศษต่างๆ แล้ว สำหรับผู้ประกอบการหรือประชาชนในพื้นที่ ให้ลองมองหาโอกาสจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของภาครัฐ เช่น การขนส่ง การก่อสร้างและที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่

                            เคล็ด (ไม่) ลับ สุดท้ายวิธีทำการค้าให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ที่ใช้กันมานานนม คือต้องมีความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อลูกค้า ถึงจะทำการค้ารุ่งเรือง มีลูกค้าขาประจำเข้า -ออกร้านสม่ำเสมอ มีกระเป๋าตุง มีเงินในบัญชีงอกเงย

จาก  http://www.komchadluek.net    วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558

เอกชนห่วงเงินบาทแข็ง หวั่นส่งออกพลาดเป้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ที่ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย ว่า เศรษฐกิจในเดือน ธ.ค.มีการฟื้นตัวเป็นไปอย่างๆช้า ด้วยปัจจัยการบวกจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่กลับมาขยายตัวตามการฟื้นฟูตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่การเบิกจ่ายงบลงทุนยังคงต่ำกว่าเป้ามาก ขณะที่ผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงยังส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ หากสถานการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลให้การส่งออกของไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.5–4

"ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่สยามพารากอนนั้น ภาคเอกชนไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก หรือเหตุการณ์รุนแรงขึ้นอีก อยากให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎกติกา เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจกำลังฟื้น หากเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้งจะทำให้เศรษฐกิจทรุดได้" นายสุพันธ์กล่าว

 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเตรียมนำเสนอ 5 ประเด็นสำคัญ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ได้แก่ มาตรการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีระยะเร่งด่วน ที่จะเสนอให้ลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้เอสเอ็มอีที่จัดตั้งโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง อาทิ เอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 5% เอสเอ็มอีรายได้มากกว่า 50 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 10 เอสเอ็มอีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 15 เป็นต้น อีกทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราง  การส่งเสริมการใช้สินค้าของประเทศไทย การพิจารณาจัดสรรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ และการยกเลิกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศทุกประเภท

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

"จักรมนฑ์" พบกมธ.เศรษฐกิจ-การค้าญี่ปุ่น ยันลงทุนไทยต่อเนื่อง

"จักรมณฑ์" ยอมผ่อนผันบางเกณฑ์ให้กลุ่มทุนญี่ปุ่น หวังดึงความสนใจเพิ่มจากสิทธิประโยชน์ BOI

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังการเข้าพบของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการค้าญี่ปุ่น-ไทย สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะดำเนินการตามแผนโรดแม็ปการเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นับตั้งแต่ปี 2557-2559 ซึ่งจะเอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ด้านนั้นส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐาน และระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตฟื้นตัวในทิศทางที่ดีกว่าเดิม

"ไทยจึงจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในทุกมิติ ทั้งการปรับยุทธศาสตร์ นโยบาย รวมถึงระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆให้เท่าทันต่อพลวัตของการเปลี่ยนแปลง และเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปีนี้"

ภายใต้การหารือร่วมกันครั้งนี้ ญี่ปุ่นยังคงแสดงความจำนงที่จะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง และยังไม่มีความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์หรือความผันผวนใดๆ ในประเทศไทย เพราะยังคงเห็นว่าไทยมีจุดแข็งมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน เพราะในบางประเทศยังไม่มีฐานการผลิตที่จะป้อนในนักลงทุนญี่ปุ่นหากไปตั้งบริษัทที่นั่น แม้ว่าในกลุ่มอาเซียนอินโดนีเซียจะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดีกว่าไทย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ขณะที่ไทยทีอัตราการเติบโตด้านเศรษฐกิจเป็นอัน 2

ขณะที่ภาครัฐไทยหวังให้ทุนญี่ปุ่นเข้ามาต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยถึงมูลค่าการขอเข้ามาส่งเสริมการลงทุนปี 2557 รวม 672 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 293,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานแรงงานไทยเพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อยกว่า 41,000 คน และหลังการไปเยือนญี่ปุ่นของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงความร่วมมือลงทุนด้านคมนาคม อย่าง รถไฟเส้นทางเชื่อมทวาย-กรุงเทพฯ ก็จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นก็พยายามผลักดันให้นักลงทุน SMEs เข้ามาในไทย ซึ่งไทยก็หวังว่ากลุ่ม SMEs ดังกล่าวในปีนี้จะเข้ามาถึง 500 ราย ตามที่ได้ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่ง SMEs ญี่ปุ่น 500 รายมูลค่าแต่ละแห่งประมาณ 400-500 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท

สำหรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ของ BOI เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนที่ประกาศขึ้นเริ่มใช้เมื่อ 1 มกราคม 2558 นั้น ยังคงทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาเช่นเดิม แต่อาจต้องกลับมาดูเงื่อนไขกรอบในบางอย่างใหม่ เช่นสิทธิที่ดิน สิทธิประโยชน์บางอย่างหากนักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้ผ่อนผันเกณฑ์บางอย่างก็สามารถปรับได้ แต่จะต้องยืนกฎหมายที่ประกาศเอาไว้ เพราะไทยเองจำเป็นต้องมีจุดยืนด้านเศรษฐกิจของตนเอง

ในส่วนของนายอิเอะโซะ โคบายาชิ (Mr. Eizo KOBAYASHI) ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและการค้าญี่ปุ่น-ไทย สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ยังหารือเรื่องแรงงานกับกระทรวงแรงงาน และหารือกับ BOI ถึงสิทธิประโยชน์จะได้จากไทย

สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมภาคธุรกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ความร่วมมือกันจากนี้ มั่นใจว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์จาก AEC เช่นเดียวกับไทย เนื่องจาก AEC คือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตมาก มากกว่าไทยถึง 4 เท่า คือ ประชากรกว่า 600 ล้านคน ทั้งหมดจะเป็นประโยชน์การญี่ปุ่นเช่นกัน อย่างน้อยก็หวังให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามามากขึ้นกว่าเดิมจากนั้นค่อยต่อยอดไปยังประเทศอื่นในอาเซียน

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

พาณิชย์เผยต้นทุนผลิตอ้อย ข้าว มันฯ ยางพารา ปาล์ม ลดลง 10%ตามราคาน้ำมัน

นางดวงกมล  เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายแลยุทธศาสตร์การค้า ได้วิเคราะห์ผลจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องให้ทราบว่าการที่ในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลงมาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือประมาณ 60% จากช่วงสูงสุดเดือนเมื่อมิถุนายน 2557 ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

การลดลงของราคาน้ำมันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2558 จะอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้

การบริโภคที่แท้จริงภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 การส่งออกที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0

และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง(Real GDP)เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96 โดยธุรกิจที่จะมีผลผลิตและยอดขายเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือธุรกิจบริการขนส่งและสินค้าเกษตร คือ อ้อย ข้าว มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ตามลำดับ

ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงปลายปี 2558 เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลออกจากไทยกลับไปยังสหรัฐอเมริกาและค่าเงินบาทจะอ่อนค่า อันจะส่งผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก เช่น เครื่องนุ่งห่ม ยาง และอาหาร

ผลกระทบของการลดลงของราคาน้ำมัน ภายใต้ข้อสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจไทยจะได้รับทั้งผลบวกและผลลบ  ดังนี้

ผลบวก

1.ราคาสินค้าในประเทศลดลง อันเนื่องมาจากสินค้าที่มีสัดส่วนต้นทุนของน้ำมันโดยตรงลดลง

2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96

3. การบริโภคครัวเรือนที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2

4. การส่งออกที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 (ภายใต้ข้อสมมุติฐานที่เศรษฐกิจต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง)    

5. ภาคการผลิตที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการขนส่ง ซึ่งมีต้นทุนน้ำมันในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ การขนส่งทางบก การขนส่งทางเรือ และการขนส่งทางอากาศ ตามลำดับ โดยการขนส่งทางบกมีต้นทุนน้ำมันประมาณ 40-50% ของต้นทุนรวม การขนส่งทางอากาศ มีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนประมาณ 30-40% ของต้นทุนรวม และการขนส่งทางเรือมีต้นทุนน้ำมันประมาณ 20-25% ของต้นทุนรวม

6. ภาคการผลิตที่ได้รับประโยชน์รองลงมาคือภาคการเกษตร ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรลดลง ส่งผลให้มีผลผลิตการเกษตรและส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง  ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ตามลำดับ โดยสินค้าเหล่านี้มีต้นทุนน้ำมันประมาณ 8-10 % ของต้นทุนรวม

7. ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลบวกจากการลดลงของราคาน้ำมันค่อนข้างน้อย เนื่องจากพลังงานที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ส่วนใหญ่จะเป็นพลังงานจากไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 70 % ของการใช้พลังงานรวม โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมัน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะที่มิใช่เหล็ก ซึ่งมีต้นทุนน้ำมันประมาณ 1.5-2.0 % ของต้นทุนรวม

นางดวงกมล โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลลบต่อไทยนั้นการส่งออกไปยังตลาดผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ เช่น ตะวันออกกลางและรัสเซีย อาจจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แต่ผลกระทบอาจไม่มาก เนื่องจากตลาดเหล่านี้มีสัดส่วนในการส่งออกรวมของไทยเพียงร้อยละ 6

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

ไทยตั้งเวทีหารือ‘สปป.ลาว’ หวังเพิ่มมูลค่าการค้า-ลงทุน

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะเป็นประธานร่วมกับนางเข็มมะนี พลเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งที่ 6 โดยมีผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมประชุม

พลเอกฉัตรชัยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องการตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าให้เพิ่มขึ้น ในปี 2560 โดยจะหารือแนวทางการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงแนวทางในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น การอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร ณ จุดเดียว การจัดงานแสดงสินค้า การเปิดด่านเพิ่มเติมการขยายเวลาและเพิ่มวันของการเปิด-ปิดด่านชายแดน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกับแผนกอุตสาหกรรมและการค้าแขวงตามแนวชายแดน การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองฝ่าย ความร่วมมือของภาคเอกชน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าและการลงทุน

นอกจากนี้ คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน ไทย-สปป.ลาว ปี 2558-2560 ตามที่ฝ่ายไทยเสนอ เพื่อนำผลการประชุมไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ปี 2557 การค้าระหว่างไทย-ลาว มีมูลค่ารวม 5,443.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 6.34 โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของลาว การส่งออกของไทยไปลาว มูลค่า 4,032.55 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 1,410.56 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เชื้อเพลิงอื่นๆ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งจากผักและผลไม้ เป็นต้น ในช่วง 2 ปีหลัง (2556-2557) การลงทุนของไทยในลาว อยู่ในลำดับที่ 2 รองจากจีน มีมูลค่าการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี 2531-2557 มูลค่า 4,456 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

รายงานพิเศษ : กรมพัฒนาที่ดิน เดินหน้านโยบายแก้ปัญหาดินเค็ม

ดินเค็มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากดินเค็มส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชผลทางการเกษตร ทั้งด้านการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชค่อนข้างต่ำ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ทางการเกษตรสูงสุดในประเทศ คือมีเนื้อที่เพาะปลูกสูงถึง 60 ล้านไร่ แต่เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวของผลผลิตด้านการเกษตรต่ำสุด ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาดินเค็ม ซึ่งมีพื้นที่ดินเค็มถึง 17.8 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 29% ของพื้นที่เพาะปลูกของภาค นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะกลายเป็นดินเค็มได้อีกกว่า 19.4 ล้านไร่

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัญหาดินเค็มหากไม่มีการควบคุมที่ดี ก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตร รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงได้ ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ดินเค็มมากที่สุดของประเทศ กว่า 17 ล้านไร่ กระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติแต่เดิมภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงเป็นพื้นที่ทะเลเก่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศเกิดการยกตัวของพื้นที่ขึ้นมาเป็นที่ราบสูง ก็ทำให้เกลือจมอยู่ชั้นใต้ดินกลายโดยเกลือมหาศาลอยู่ข้างใต้ดิน ซึ่งปกติถ้าพื้นที่ข้างบนมีสภาพเป็นป่าเกลือเหล่านั้นก็ไม่ค่อยขึ้นมาส่งผลกระทบมากนัก แต่พอเปลี่ยนสภาพจากป่าเป็นพื้นที่โล่ง น้ำใต้ดินก็จะละลายเอาเกลือขึ้นมาทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม ที่กล่าวมาเป็นการเกิดดินเค็มตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ดินเค็มยังเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่มีการสูบน้ำขึ้นมาทำเกลือสินเธาว์ แล้วปล่อยให้น้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำลำธาร รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่า ก็เป็นตัวเร่งการแพร่กระจายของปัญหาดินเค็มอีกทางหนึ่ง

โดยดินเค็มสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ดินเค็มน้อย ดินเค็มปานกลาง และดินเค็มจัด ซึ่งดินเค็มจัดนี้เองที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะพื้นที่เหล่านี้จะปรากฏเห็นคราบเกลือบนผิวดินชัดเจน จะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะแพร่กระจายดินเค็มได้อีกเกือบ 20 ล้านไร่ จึงถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องดำเนินการแก้ไขไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบตามมาอีกมากมาย

กรมพัฒนาที่ดิน ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ที่รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม หนองคาย กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ดำเนินการแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่เดิมการดำเนินการกรมพัฒนาที่ดินจะดำเนินการหน่วยงานเดียว ก็จะดำเนินการได้ไม่มากนัก แต่มาระยะหลังจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาดินเค็มแบบบูรณาการ โดยการร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และที่ขาดไม่ได้เพราะมีความสำคัญที่สุดคือเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพยั่งยืนมากขึ้น

การแก้ปัญหาดินเค็มรูปแบบที่ง่ายที่สุดคือการใช้น้ำล้างเกลือออกไป แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำก็เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้ปัญหาดินเค็ม ดังนั้นการล้างเกลือจึงต้องรอช่วงฤดูฝนใช้น้ำฝนล้างโดยวิธีธรรมชาติ แต่พอถึงช่วงฤดูแล้งปัญหาก็วนกลับมาอีก ฉะนั้นกรมพัฒนาที่ดินจึงมีแนวทางการแก้ปัญหาดินเค็มอย่างเป็นระบบ สำหรับพื้นที่ดินเค็มจัดที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้จะเร่งฟื้นฟูด้วยการปลูกไม้ยืนต้นทนเค็มบนคันนา อย่าง กระถินออสเตรเลีย เพื่อดึงน้ำใต้ดินให้ลดต่ำลงเกลือจะได้ไม่ขึ้นมาบนชั้นผิวดิน ทำคูคลองระบายน้ำเพื่อชะลอเกลือออกจากผิวดินและควบคุมระดับน้ำใต้ดินไม่ให้อยู่ใกล้ผิวดิน ส่วนพื้นที่ดินเค็มน้อยและปานกลางนั้นส่วนใหญ่เป็นนาข้าวจะใช้วิธีล้างดินเค็มด้วยน้ำฝน คือขังน้ำฝนไว้ในนาให้ซึมลงใต้ดินจนอิ่มตัวแล้วระบายน้ำทิ้งประมาณ 2-3 ครั้ง แล้วจึงไถพรวนและเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดิน เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ หรือพืชปุ๋ยสดอย่างโสนอัฟริกันและปอเทือง เพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายดินเค็มนั้นจะจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและปลูกไม้ยืนต้น เพื่อป้องกันการเพิ่มเติมระดับน้ำใต้ดินเค็มบนพื้นที่รับน้ำ

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานแบบบูรณาการทำให้เกิดประสิทธิภาพและผลสำเร็จชัดเจนยิ่งขึ้น คือเมื่อกรมพัฒนาที่ดินเข้าไปแนะนำเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาดินเค็มไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน ปรับรูปแปลงนาทำคันดิน ทางหน่วยงานราชการอย่างกรมการข้าวก็เข้ามาแนะนำพันธุ์ข้าวที่สามารถขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินเค็ม อบต.ก็เข้ามาสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งขึ้น ภาคเอกชน อย่าง บริษัท SCG ก็มาส่งเสริมการปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา แล้วรับซื้อคืนไม้ยูคาลิปตัสเพื่อนำไปทำเยื่อกระดาษ ผลปรากฏว่านอกจากเกษตรกรจะสามารถทำการปลูกข้าวได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 30 ถัง/ไร่ เป็น 50 ถัง/ไร่ แม้ผลผลิตไม่ได้มากมายแต่เพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือน เกษตรกรยังมีรายได้เสริมจากการขายไม้ยูคาลิปตัส ที่สำคัญพื้นที่ไม่ถูกปล่อยทิ้งร้างซึ่งอาจจะทำให้ปัญหาดินเค็มแพร่กระจายมากขึ้นไปจากเดิม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

ก.เกษตรฯยื่น3ปมสางปัญหา ขอความร่วมมือข้ามกระทรวง               

 นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกันของปลัดกระทรวงทุกกระทรวง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพจัด จะรายงานความคืบหน้าการทำงานและประสานขอความร่วมมือการทำงานจากกระทรวงอื่นๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการดูแลเกษตรกร การจัดการทรัพยากรการเกษตร และการบริหารสินค้าเกษตร เพื่อบูรณาการความร่วมมือให้เกิดความต่อเนื่อง

โดยปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน เช่น การจ่ายเงินยางไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ตรวจสอบเอกสารแล้วกว่า 890,000 ราย จ่ายแล้ว 700,000 กว่าราย ยังคงเหลืออีกประมาณ 80,000 ราย และส่วนที่ยังตกค้างประมาณ 200,000 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรขึ้นทะเบียนรายใหม่ ก็จะเร่งรัดดำเนินการจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้

ขณะที่การบริหารจัดการข้อมูลด้านการเกษตร จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ ทำงานเพื่อให้ข้อมูลเป็นเอกภาพ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้มีกลไกขับเคลื่อนระดับกระทรวง โดยแต่ละกระทรวงมีผู้แทนเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันหรือเป็นประเด็นสำคัญ เช่น ปัญหาที่ดิน การบริหารจัดการที่ดิน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ต้องร่วมกันดำเนินการ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังได้เสนอขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาภัยแล้ง การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร รวมถึงการกระตุ้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวิถีเศรษฐกิจพอเพียง และการใช้ประโยชน์จากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

เปิดโรดแม็พแก้ขยะอุตสาหกรรม ยึด'ญี่ปุ่นโมเดล' กำจัดทั้งระบบ

"ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในระยะยาว ขยะจากอุตสาหกรรมจะมากเพิ่มขึ้น

"ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในระยะยาว ขยะจากอุตสาหกรรมจะมากเพิ่มขึ้น หากไม่ทำแผนระยะยาว เชื่อว่า ในอนาคตจะมีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน”

สถานการณ์ข้างต้น เป็นสิ่งที่ “จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” รมว.อุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญในการกำจัดขยะอุตสาหกรรม ที่นับวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันนี้ปริมาณขยะ หรือกากของเสียอุตสาหกรรมของไทยแต่ละปีมีสูงถึง 30 ล้านตัน ซึ่งมีกระบวนการกำจัดทั้งการเผา การฝัง และรีไซเคิล ในจำนวนนี้มีขยะอุตสาหกรรมมีพิษ ปริมาณ 3 ล้านตัน แต่จากข้อมูลล่าสุดในปี 57 มีการดึงเข้าระบบได้เพียง 1 ล้านตัน ในส่วนนี้มีการกำจัดที่ถูกต้องตามขั้นตอนเพียงแค่ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งยังกำจัดไม่ถูกต้อง

ด้วยเหตุผลที่ว่า... การกำจัดขยะมีพิษมีค่าใช้จ่ายตันละ 10,000 กว่าบาท สูงกว่ากำจัดขยะอุตฯทั่วไปที่ 3,000–4,000 บาท จึงทำให้เอกชนบางรายแอบนำขยะมีพิษไปกำจัดในขยะอุตฯทั่วไป

ที่สำคัญ! โรงกำจัดขยะอุตสาหกรรม ในขณะนี้มีเพียงไม่กี่แห่ง เนื่องจากยังไม่คุ้มค่าในการลงทุน เพราะต้องใช้งบลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ขยะที่เข้าสู่ระบบกลับมีปริมาณไม่มาก และการตั้งโรงงานกำจัดขยะอุตฯ อย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ที่เกรงว่าจะได้รับมลพิษจากการกำจัดขยะ

ญี่ปุ่นต้นแบบกำจัดขยะสมบูรณ์

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งหาแนวทางในการหาวิธีกำจัดขยะอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย “จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” รมว.อุตสาหกรรม ได้พาคณะที่เกี่ยวข้องทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาการกำจัดขยะอุตฯ จากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกอย่าง “ญี่ปุ่น” ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีกระบวนการกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่มีปริมาณมากอย่างถูกวิธี และมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

การกำจัดขยะของประเทศญี่ปุ่น จะแบ่งความรับผิดชอบแต่ละเมือง ห้ามนำขยะข้ามเขตกัน เช่น ที่ เมืองคามิสุ จะมีการใช้ถุงแยกขยะแต่ละประเภท และกำหนดสถานที่ทิ้งของขยะแต่ละประเภทอย่างชัดเจนว่า ขยะประเภทไหน ทิ้งตรงจุดไหน เพื่อกำจัดอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ขยะรีไซเคิล ขยะมีพิษ ขยะอันตราย ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ ขยะขนาดใหญ่

รัฐร่วมลงทุนสร้าง 1 ใน 3

ทั้งนี้ในเมืองคามิสุซึ่งมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก ได้รวมขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรมกำจัดในสถานที่เดียวกัน ใช้เงินทุนประมาณ 960 ล้านบาท สามารถเผาขยะได้ 200 ตันต่อวัน โดยรัฐบาลกลางลงทุนให้ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 440 ล้านบาท ที่เหลือเป็นภาคเอกชน ลงทุนประมาณ 520 ล้านบาท ซึ่งเตาเผาขยะดังกล่าวใช้เทคโนโลยีขั้นสูงใช้มาเกือบ 14 ปี ยังไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำขยะที่เผาไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ 3,300 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงได้อีกด้วย

ส่วน เมืองโจะนิจิมะโอตะ มีการสร้าง “โตเกียว ซูเปอร์ อีโค ทาวน์” เป็นพื้นที่กำจัดขยะอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งพื้นที่ฝังกลบ และเตาเผากากอุตฯ ขนาดใหญ่ สามารถกำจัดขยะอุตสาหกรรมได้ถึงวันละ 550 ล้านตันต่อวัน เฉพาะค่าเครื่องจักรใช้งบประมาณลงทุน 6,000 ล้านบาท ซึ่งมีรูปแบบกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั่วไป และกากอุตสาหกรรมมีพิษอย่างชัดเชน เช่น กากมีพิษต้องเผาทั้งกล่อง ส่วนกากอุตสาหกรรมทั่วไป จะรีไซเคิล และกำจัดกากให้เป็นรูปแบบแท่งเล็ก ๆ ก่อนการเผา เพื่อป้องกันปัญหามลพิษ ซึ่งราคาค่ากำจัดอยู่ใกล้เคียงกับไทย คือ ขยะมีพิษประมาณ 10,000 บาทต่อตัน ขยะอุตฯ ทั่วไป ประมาณ 3,000–4,000 บาทต่อตัน มีการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด ยังสามารถนำขยะที่เผาแล้วมาผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และตั้งเป้าหมายผลิตให้ได้ 23,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

จี้สร้างโรงกำจัดทุกจังหวัด

หลังจากศึกษาการกำจัดขยะของประเทศญี่ปุ่นแล้ว “จักรมณฑ์” มองว่า ไทยควรทำโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมและชุมชนไว้ด้วยกัน โดยใช้การกำจัดขยะจากเตาเผาขนาดใหญ่ขนาด 200 ตันต่อวันขึ้นไป และพื้นที่ฝังกลบในทุกจังหวัดใหญ่ ๆ ส่วนพื้นที่ที่มี เขตอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดในภาคตะวันออก ควรมีโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งจากการหารือร่วมกับรมว.สิ่งแวดล้อม ของประเทศญี่ปุ่น มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ รัฐบาลกลางจะให้เงินสนับสนุนในการสร้างพื้นที่กำจัดขยะ 1 ใน 3 ของงบประมาณลงทุน และมีกฎหมายที่ชัดเจน ห้ามนำขยะข้ามเมือง แต่ละเมืองต้องรับผิดชอบในการกำจัดขยะตัวเอง ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเมืองข้าง ๆ ทำให้การกำจัดขยะของญี่ปุ่นเป็นไปตามระบบ ไม่ใช่ว่า ขยะของเมืองนี้ แล้วจะแอบไปทิ้งอีกเมืองหนึ่ง จะมีบทลงโทษทันที

ส่วนการกำจัดขยะอุตฯ ของไทย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงอุตฯ โดยตรง ตนได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำแผนสั้น กลาง ยาว อย่างยั่งยืน เพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม. รับทราบ และจัดทำเป็นแผนที่ชัดเจน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการกำจัดทั้งขยะชุมชน และขยะอุตฯ

ซึ่งปัญหาตอนนี้ในการกำจัดขยะอุตฯ ของไทย ไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย เพราะกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนแล้ว แต่อยู่ที่การดำเนินการให้เข้มงวด ที่ผ่านมาหลังจากกำชับกรมฯ โรงงาน ก็มีการดึงขยะอุตฯ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะขยะพิษ และปัญหาใหญ่ที่ต้องดำเนินการ คือ ทำให้คนในพื้นที่ยอมรับ ไม่ให้เกิดการต่อต้าน

เสนอ ครม.แก้ขยะยั่งยืน

ด้าน “พสุ โลหารชุน” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระบุว่า ตอนนี้กรมฯกำลังทำแผนกำจัดขยะอุตฯ อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งเตรียมนำเสนอให้ ครม. ในเดือนก.พ.นี้ แบ่งเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 5-10 ปี โดยระยะสั้น เป็นแผนต่อเนื่องจากปี 57 จะผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการกำจัดเพิ่มขึ้น โดยจะตรวจสอบโรงงานเป้าหมายเพิ่มเป็น 10,000 แห่ง เพื่อนำตัวอย่างการกำจัดขยะ เปรียบเทียบกับโรงงานทั่วประเทศที่มีกว่า 80,000 แห่ง และตั้งเป้าหมายดึงขยะอุตฯมีพิษให้ได้ 1.5 ล้านตัน จากปี 57 ได้ 1 ล้านตัน โดยจะเข้มงวดการต่อใบอนุญาตประกอบการกิจการ (รง.4) ต้องแสดงข้อมูลในการนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดในรอบปีที่ผ่านมา

ส่วนการดำเนินงานระยะกลาง จะไปสำรวจพื้นที่เหมืองแร่เก่าที่หยุดการผลิตไปแล้ว นำมาปรับปรุงให้เป็นบ่อกำจัดขยะอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่เป้าหมายเป็นเหมืองแร่เก่าในภาคเหนือ เนื่องจากมีเหมืองที่เป็นหลุมขนาดใหญ่อยู่มาก และอยู่ห่างไกลชุมชน รวมทั้งจะร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาเผาขยะให้กับไทย โดยองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ของญี่ปุ่น ได้มอบเตาเผาขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชนให้ไทย มูลค่าหลายพันล้านบาท มีกำลังการเผาขยะ 500 ตันต่อวัน ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย จากปัจจุบันไทยมีโรงงานเผาขยะอุตสาหกรรมของบริษัทอัคคีปราการที่มีกำลังเผาเพียง 50 ตันต่อวัน

ด้านแผนระยะยาว เตรียมผลักดันให้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมกำจัดขยะอุตสาหกรรม และการรีไซเคิลแบบครบวงจรในภูมิภาคเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และชุมชนในอนาคต

ทั้งหลายทั้งปวง... หากทำได้จริง จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาวอย่างแน่นอน แต่เรื่องขยะ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องไร้ค่า... แต่ความจริงกลับเต็มไปด้วยผลประโยชน์!! ต้องติดตามกันต่อไป ทุกอย่างจะเดินหน้าหรือสะดุด.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558

ดัน “ปลดล็อก” โซนห้ามลงทุน เปิดทางผุดโรงงาน-โครงการอสังหาฯง่ายขึ้น

อุตสาหกรรมเดินหน้าจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรม 14 จังหวัดนำร่องเล็งขยายเพิ่ม 20 พื้นที่พร้อมดันปลดล็อกยกเลิก “คัลเลอร์โซน” ข้อห้าม ลงทุนเปิดช่องหน่วยงานรัฐปรับพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมขยายตัว

นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดพื้นที่อุตสาหกรรม (โซนนิ่งแพลน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2555-2558 ในพื้นที่ 14 จังหวัด ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยเมื่อดำเนินการจัดโซนนิ่ง 14 จังหวัดแรกแล้วเสร็จ ก็จะเร่งดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่ที่อุตสาหกรรมขยายตัวอีก 20 จังหวัด โดยใช้แม่แบบเดียวกัน อาทิ กรุงเทพฯ ปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ฯลฯ และจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ทำให้จะมีพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรมแล้วเสร็จรวม 34 จังหวัด

ขณะเดียวกัน ก็จะทำการยกเลิกการกำหนดพื้นที่แสดงสีต่างๆ หรือคัลเลอร์โซนที่ปัจจุบันจะใช้สัญลักษณ์สีกำหนดว่าพื้นที่ใดไม่สามารถก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ พื้นที่ใดสามารถก่อสร้างได้หรือก่อสร้างโรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลางในเขตอุตสาหกรรมด้วย เพื่อทำให้สามารถจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้สะดวกขึ้น ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของการลงทุน ซึ่งจะทำให้นักลงทุน ทั้งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม โรงงานอุตสาหกรรม ทราบว่าพื้นที่ใดสามารถตั้งกิจการใดหรือไม่สามารถตั้งกิจการใดได้บ้าง เป็นต้น

ทั้งนี้ การจัดโซนนิ่งใหม่ดังกล่าวก็เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ เพื่อให้อุตสาหกรรมกระจายตัวอย่างเหมาะสม ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วน การยกเลิกคัลเลอร์โซนหรือการจัดสีในเขตอุตสาหกรรมก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ อย่างเช่นที่จังหวัดน่าน ที่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร อาทิ ปลูกผลไม้ ปลูกลำไย แต่เป็นโซนสีเขียว เมื่อมีการขอตั้งโรงงานแปรรูปพืชเกษตรดังกล่าว ก็ไม่สามารถจัดตั้งได้ แต่หากยกเลิกคัลเลอร์โซนแล้วมาจัดทำโซนนิ่งแพลน ก็สามารถตั้งโรงงานแปรรูปพืชเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตรแทนการจำหน่ายสด ที่อาจล้นตลาดหรือเน่าเสียได้ง่าย และเป็นการรองรับการลงทุนขนาดเล็กและขนาดกลางในต่างจังหวัด เกิดการจ้างงานในพื้นที่ลดการเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นต้น

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรอ.ได้ศึกษาพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม 14 จังหวัด โดยแบ่งเป็นพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ชลบุรี และระยอง และจังหวัดที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมสูง 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น สระบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมให้มีความเหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บาทแข็งค่า รับตัวเลขจีดีพีสหรัฐน่าผิดหวัง

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.68/70 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/1) ที่ระดับ 32.75/77 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักในคืนวันศุกร์ (30/1) หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งแรกสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว โดยระบุว่ามีการขยายตัวเพียง 2.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการเติบโต 4.6% และ 5% ในไตรมาส 2 และ 3 ตามลำดับ และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจีดีพีจะสามารถขยายตัวได้ 3.2% โดยสาเหตุของตัวเลขจีดีพีที่จะชะลอตัวลงนั้นทางกระทรวงพาณิชย์ได้ให้เหตุผลว่าเกิดจากการนำเข้าเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายของรัฐบาลกลางลดลง และการลงทุนนอกกลุ่มสินทรัพย์ถาวรที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นสุดท้ายของเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ 98.1 ซึ่งสูงกว่าระดับ 93.6 ของเดือนธันวาคม นอกจากนี้นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวในวันศุกร์ (30/1) ว่า เศราฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ 0% จึงไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับสหรัฐ ถึงแม้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่ก็ยังต่ำไม่พอที่จะสนับสนุนนโยบายอัตราดอกเบี้ย 0% นอกจากนี้ นายบูลลาร์ดยังระบุว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตต่ำกว่าคาด แต่เขามองว่าระดับดังกล่าวถือว่าใช้ได้ โดยเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีปัจจัยที่สดใสมากกว่าและเขาหวังว่าอัตราการว่างงานจะร่วงลงต่ำกว่าระดับ 5% ในไตรมาส 3 ปีนี้ จาก 5.6%

สำหรับความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจในประเทศล่าสุด นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาคธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2557 จะขยายตัวได้ 2% กว่า ๆ ซึ่งเป็นไปตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีโต 0.8% ส่วนปี 2558 คาดการณ์ทั้งปีจะกลับมาขยายตัวได้ 4% แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจในเดือนธันวาคมยังคงฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงมาก แต่ยังมีข้อจำกัดด้านรายได้ในภาคเกษตรและหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยจะเห็นได้ชัดจากหมวดสินค้าคงทนที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์และที่อยู่อาศัย โดยวันนี้เงินบาททิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันอยู่ที่ 32.54-32.68 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.58/59 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1308/10 ดอลลาร์ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/1) ที่ 1.1310/12 ดอลลาร์/ยูโร ในวันนี้ (2/2) ค่าเงินยูโรได้แรงสนับสนุนจากผลสำรวจที่พบว่าดัชนีคอมโพสิตผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นปลายของมาร์กิตในเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ 51.0 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมและถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของประเทศกรีซ ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดในการหารือกันในเรื่องให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกรีซระหว่างนายยานิส วารูเฟกิส รมว.คลังกรีซ และนายเจโรน ดิเซลบลูม หัวหน้ากลุ่มยูโรกรุ๊ปนั้นไม่ประสบความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยนายวารูเฟกิสได้ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับกลุ่มทรอยก้าหรือกลุ่มเจ้าหนี้ของกรีซที่ประกอบด้วยสหภาพยุดรป (EU) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมทั้งไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอที่ให้มีการขยายโครงการดังกล่าวออกไป สำหรับนายดิเซลบลูมยืนยันให้กรีซปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงให้เงินช่วยเหลือ 2.40 แสนล้านยูโร และปฏิเสธข้อเสนอของนายวารูเฟกิสที่ต้องการให้มีการจัดประชุมพิเศษว่าด้วยเรื่องหนี้ของกรีซเป็นการเฉพาะ โดยนายวารูเฟกิสจะเดินทางไปพบปะกับ รมว.คลังของอังกฤษ, อิตาลี และฝรั่งเศสในสัปดาห์หน้าเพื่อขอการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวต่อไป ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.1291-1.1344 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1337/39 ดอลลาร์/ยูโร

ส่วนของค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 117.30/32 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/1) ที่ 117.60/62 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยจากตัวเลขจีดีพีสหรัฐที่ออกมาน้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้ นอกจากนี้ในวันนี้ (2/2) บริษัทมาร์กิตรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นอยู่ที่ 52.2 ในเดือนมกราคมขยับขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 52.0 ในเดือนธันวาคม โดยดัชนีที่อยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะขยายตัว โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้ประเมินเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่าจะสามารถเติบโตได้ 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาส 4 ปี 2557 และเติบโต 2.1% ในไตรมาสนี้ซึ่งตัวเลขหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวต่อไปในปีนี้จากตลาดแรงงานที่ตึงตัวมากขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 117.2-117.86 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 117.63/65 เยน/ดอลลาร์

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศมติอัตราดอกเบี้ย ดัชนีราคาผู้ผลิตของยูโรโซน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐ (3/2) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของญี่ปุ่น เยอรมนี ยูโรโซนและสหรัฐ ยอดค้าปลีกของยูโรโซน ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ (4/2) ธนาคารกลางอังกฤษประกาศอัตราดอกเบี้ย ภาวะเศรษฐกิจของยูโรโซน (5/2) ดัชนีภาวะธุรกิจของญี่ปุ่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี ข้อมูลจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราการว่างงานของสหรัฐ (6/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.8/5.0 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.5/6.5 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชี้ช่องเกษตรใช้เครื่องจักรแทนคน ทางรอดแก้ขาดแรงงานขั้นวิกฤต รับมือลงทุนบีโอไอพุ่ง 2.2 ล้านล.

สภาอุตสาหกรรมเตือนภัยยอดขอบีโอไอปี′57 ทะลุ 2.2 ล้านล. กระทบแรงงานขาดแคลนกว่า 5 แสนคน เสนอ 3 ด้านแก้ไข ได้แก่ ผ่อนคลายนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพิ่มทักษะ และใช้เครื่องจักรในภาคการเกษตร ชี้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไม่ตอบโจทย์

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้านแรงงาน เปิดเผยว่า จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปี 2557 มูลค่าลงทุนสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มกว่า 1 แสนคน ส.อ.ท.มีความกังวลว่าจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เมื่อรวมกับตัวเลขการขาดแคลนแรงงานที่มีอยู่ รัฐบาลจะต้องหาแรงงานมาเพิ่มให้กับภาคการผลิตไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน เพื่อลดปัญหา ส.อ.ท.อยากเสนอ 3 แนวทางการแก้ไขปัญหากับรัฐบาล คือ 1.การผ่อนคลายนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยขยายไปถึงประเทศที่อยู่ไกลขึ้น อาทิ บังกลาเทศ เวียดนาม อินโดนีเซีย จากพึ่งพาแรงงานพม่าเป็นหลัก ที่แนวโน้มกลับไปทำงานประเทศตนเอง จึงควรหาแหล่งแรงงานใหม่มารองรับ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน หากแรงงานทั้งประเทศ 38 ล้านคน และแรงงานต่างด้าว 3 ล้านคน เพิ่มประสิทธิภาพให้มีกำลังการผลิตเพิ่ม 3% ต่อคน จะสามารถทดแทนแรงงานได้ถึง 1 ล้านคน บรรเทาภาวะขาดแคลนแรงงานไปได้มาก วิธีการคือปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ ฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสุชาติกล่าวว่า 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร โดยนำเครื่องจักรเข้ามาใช้มากขึ้น ปัจจุบันภาคการเกษตรมีสัดส่วนของจีดีพีเพียง 8.3% ของจีดีพีรวม แต่ใช้แรงงานสูง 39% ของแรงงานรวม ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนจีดีพี 38% แต่ใช้แรงงานเพียง 13.8% ดังนั้นหากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร โดยใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน จะทำให้มีแรงงานจำนวนมากมาป้อนให้กับภาคการผลิตได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจรวมทั้งประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก

"หากภาครัฐเดินหน้าโครงการก่อสร้างต่างๆ อัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายปีนี้ จะทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้มีการลงทุนจากบีโอไอเพิ่ม หากหาเพิ่มจากประเทศเพื่อนบ้านคงไม่ง่าย เพราะในแต่ละประเทศมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งแก้ไขทั้งระบบในการหาแรงงานมาป้อนให้กับภาคการผลิต เพื่อป้องกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย" นายสุชาติกล่าว และว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ควรวางยุทธศาสตร์ปฏิรูปด้านแรงงาน โดยเฉพาะประสิทธิภาพแรงงานไทยยังอยู่ต่ำอยู่อันดับที่ 57 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ส่วนนโยบายการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ดึงภาคอุตสาหกรรมเข้าไปตั้งโรงงานเพื่อใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น มองว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ก.เกษตรฯ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกร หวังลดเหลื่อมล้ำ

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงร่าง พ.ร.บ.รายได้และสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ. ...ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จากผู้ที่มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน

โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ  คือ 1.การช่วยเรื่องรายได้และสวัสดิการให้แก่เกษตรกรในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.การจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ 1 คณะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านรายได้และสวัสดิการ มีหน้าที่วางแผนระยะยาว และกำหนดงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละปีตามความเหมาะสม โดยจะคิดคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคเกษตร หรือ GDP ภาคเกษตร ในเบื้องต้นคาดการณ์ 10% ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะสามารถกำหนดงบประมาณที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในระยะยาวกับฐานะทางการเงินของประเทศ

3. การจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค เพื่อกำหนดรายได้และการช่วยเหลือแก่เกษตรกร ต้องเป็นผู้ที่ประชาชนเชื่อถือและมีความเป็นกลาง และ 4. เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องจ่ายเงินบำรุงเพื่อนำมาใช้จ่ายเฉพาะในการบริหารงาน เพื่อให้หน่วยงานสามารถขับเคลื่อนการทำงานไปได้ เช่น เงินเดือน หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นต้น

"เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการเกษตรที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันนี้ทั้งหมด เป็นกฎหมายที่มุ่งให้ความช่วยเหลือหรือคุ้มครองแก่เกษตรกรในเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกิน การจัดหาแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับ การจัดตั้งองค์กรเกษตรกร การควบคุมหรือการช่วยเหลือเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตหรือผลผลิตทางการเกษตร แต่ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่มุ่งให้ความช่วยเหลือให้ความคุ้มครองในเรื่องรายได้และสวัสดิการแก่เกษตรกร จึงทำให้คนไทยในภาคเกษตรกรรมขาดความมั่นคงในอาชีพ" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว

 นอกจากนี้ เมื่อใดที่การประกอบอาชีพเกษตรกรรมประสบภัยจากราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวน ทำให้รายได้ของเกษตรกรต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานรายได้ของประเทศ เป็นเหตุให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่รัฐต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดให้มีกฎหมายเพื่อดูแลด้านรายได้และสวัสดิการเกษตรกรเป็นการเฉพาะ และเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติมีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรของประเทศ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นายกฯพบตัวแทนเกษตรกรที่โคราช7กลุ่มย้ำจริงใจแก้ปัญหา

นายกรัฐมนตรี พบปะตัวแทน เกษตรกรจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 7 กลุ่ม พร้อมกล่าวชื่นชมสหกรณ์การเกษตรพิมายที่มีความเข้มแข็ง ขอให้เป็นต้นแบบสร้างการเรียนรู้ขยายเป็นเครือข่ายของสหกรณ์ที่เข้มแข็งต่อไป

วันนี้ (2 ก.พ. 58) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบปะตัวแทน เกษตรกรจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ กลุ่มมันสำปะหลัง กลุ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มยางพารา กลุ่มอ้อย กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน และกลุ่มสหกรณ์การเกษตรพิมาย โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปจากกลุ่มเกษตรกร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาเกษตรกรในระยะยาว พร้อมรับฟังปัญหาเพื่อนำไปแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น และการที่เกษตรกรจะเข้มแข็งได้นั้นต้องอาศัยสหกรณ์การเกษตรคอยดูแลและให้คำปรึกษา รวมถึงดูแลราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตร และสร้างความเป็นธรรมต่อเกษตรกร พร้อมกล่าวชื่นชมสหกรณ์การเกษตรพิมายที่มีความเข้มแข็ง ขอให้เป็นต้นแบบสร้างการเรียนรู้ขยายเป็นเครือข่ายของสหกรณ์ที่เข้มแข็งต่อไป

สำหรับปัญหาของเกษตรกรนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรวบรวมปัญหา เพื่อนำมากลั่นกรองและแยกประเภทของปัญหาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปก่อนนำเสนอรัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้าวล้นเกิน! เกษตรฯ เสนอ "นายกฯ" ให้ชาวนาหันมาปลูก"อ้อย"- ปลูก"ถั่ว"

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีนายกฯเป็นประธาน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ทางกระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอแผนปรับโครงสร้างการผลิตข้าว โดยร่วมมือระหว่างกรมการข้าวและกระทรวงพาณิชย์ เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2562 ได้แก่ โครงการลดรอบการปลูกข้าวเป้าหมาย 4 ล้านไร่ โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นเกษตรกรรมทางเลือก (เกษตรผสมผสาน) 1.20 ล้านไร่

"โครงการปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าวเป็นการปลูกอ้อย 4.5 ล้านไร่ โครงการนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนถึงพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 2 ปี แรก (2558-2559) จะปรับเปลี่ยนข้าวไปปลูกอ้อยประมาณ 7 แสนไร่ เนื่องจากมีโรงงานน้ำตาลรองรับผลผลิตแน่นอน นอกจากนี้ จะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังฤดูกาลผลิต 2558 ด้วย" นายชวลิตกล่าว

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงฤดูแล้งด้วยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ คือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลอง รวม 150,000 ไร่ โดยจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือถั่วลิสง แก่เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกพืชตระกูลถั่ว ซึ่งเกษตรกรสามารถมาขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด

นายโอฬารกล่าวว่า เนื่องจากพืชถั่วใช้น้ำน้อยในพื้นที่ที่เคยทำนาปรัง เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการเพาะปลูกและต้นทุนการผลิตแล้ว ทำให้เกษตรกรมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับการทำนาปรัง แต่มีการใช้น้ำในปริมาณที่น้อยกว่า โดยการทำนาปรังจะใช้ระยะเวลา 120 วัน เกษตรกรมีรายได้ 4,600 บาทต่อไร่ ใช้น้ำในการเพาะปลูกถึง 1,000-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่การปลูกถั่วเขียวใช้เวลา 60-90 วัน สร้างรายได้ 3,840 บาทต่อไร่ แต่ใช้น้ำเพียง 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ หรือเกษตรกรเลือกที่จะปลูกพืชชนิดอื่นซึ่งจะสร้างรายได้ต่อไร่ให้กับเกษตรกรดังนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6,300 บาท ถั่วลิสง 7,500 บาท ถั่วเหลือง 4,700 บาท แต่เกษตรกรจะใช้น้ำในการเพาะปลูกเพียง 400-700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่เท่านั้น นอกจากเมล็ดพันธุ์แล้ว กระทรวงเกษตรฯจะจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ 13,389 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงเป็ด 4,407 ราย ให้รายละ 4,000 บาท และไก่ 8,982 ราย ให้รายละ 4,000 บาทอีกด้วย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ก.เกษตรฯรณรงค์‘ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า’ ทางแก้วิกฤติ‘น้ำแล้ง’

สุรัตน์ อัตตะรายงาน

               ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายเทิดพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ในหัวข้อ “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า   ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ หมุนเวียนเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมพระเกียรติในแต่ละเดือน ซึ่งเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงแนวทางการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

                 โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร  ต.ดอนเกาะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ว่าเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ภายใต้แนวคิด “การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มุ่งสร้างความร่วมมือและความตระหนักรู้ให้เกษตรกรทั่วประเทศเห็นถึงแนวทางการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริม เผยแพร่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำในการปลูกพืชชนิดต่างๆ แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปปรับใช้ในไร่นาของตนเองและสามารถใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่าด้วย

               "กรมส่งเสริมมีกำหนดจัดงานวันรณรงค์ (Field Day) การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าระหว่างวันที่ 15 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นตัวแทนของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-9 เขตละ 1 จุด รวม 9 จุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา นครสวรรค์ ตรัง นครพนม ราชบุรี สุราษฎร์ธานี ปทุมธานี และลำพูน  เน้นประเด็นเกี่ยวกับเทคนิคการให้น้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าวหรือ “แกล้งข้าว”

               อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยอีกว่า การจัดงานเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ มีหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมบูรณาการจัดแสดงนิทรรศการการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าด้วย เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการปลูกข้าวและพืชผักโดยระบบการใช้น้ำแบบประหยัด กรมชลประทานจัดแสดงนิทรรศการการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ศูนย์วิจัยข้าวจัดแสดงนิทรรศการข้าวกับการใช้น้ำ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จัดนิทรรศการต้นทุนประกอบอาชีพทำนา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรแสดงนิทรรศการเศรษฐกิจการเกษตรกับการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า (Water footprint) กรมวิชาการเกษตรจะจัดแสดงนิทรรศการ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการผลิตไม้ผล กรมส่งเสริมสหกรณ์การจัดการน้ำด้วยวิธีการสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดินจัดแสดงจุดเรียนรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมัก กรมปศุสัตว์จัดแสดงจุดเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ด/เลี้ยงไก่ กรมประมงจัดแสดงจุดเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงกบ/เลี้ยงปลาในกระชัง เป็นต้น

                  อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้เร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรทั่วประเทศให้เข้ามาเรียนรู้การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในระบบปลูกพืชภายในศูนย์เรียนรู้ จำนวน 882 ศูนย์ ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557-กันยายน 2558 เกษตรกรเป้าหมายกว่า 88,200 คน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำเอกสารวิชาการในรูปแบบคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในการปลูกพืช หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 เรื่องสำหรับใช้ฝึกอบรมและแจกจ่ายให้เกษตรกร ซึ่งพิจารณาจากชนิดสินค้าที่ผลิตในศูนย์ มีทั้งข้าว, พืชไร่, ไม้ผล-ไม้ยืนต้น,พืชผัก-สมุนไพร ไร่นาสวนผสมและอื่นๆ

                   จีระศักดิ์ ประทุมศรี เจ้าของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร บ้านดอนวัว ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา หนึ่งในศูนย์เรียนรู้จำนวน 882 ศูนย์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เผยถึงผลสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำในระบบปลูกมันสำปะหลัง โดยระบุว่ากว่า 10 ปีที่ครอบครัวยึดอาชีพปลูกมันสำปะหลังต้องพึ่งพาน้ำฝนหล่อเลี้ยงแปลงปลูกมาตลอด เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ใกล้แปลงมีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งมักไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำแทบทุกปี และเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบน้ำหยดในการผลิตมันสำปะหลังที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา จึงนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในแปลงของตนเอง

               "หลังได้ทดลองทำระบบน้ำหยดในแปลงปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 80 จำนวน 4 ไร่ โดยลงทุนค่าระบบท่อไร่ละ 4,000 บาท และค่าปั๊มน้ำอีกประมาณ 10,000 บาท ผลปรากฏว่า ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้ผลผลิต 3-4 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 6-7 ตันต่อไร่"

                จีระศักดิ์ ระบุอีกว่า จากนั้นจึงนำรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตมันสำปะหลังมาลงทุนจัดทำระบบน้ำหยดในแปลงปลูกเพิ่มเติม โดยใช้รูปแบบแปลงพี่เลี้ยงน้อง ปัจจุบันได้จัดทำระบบน้ำหยดครอบคลุมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแล้วกว่า 50 ไร่ มีเป้าหมายขยายผลเพิ่มเป็น 70 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 170 ไร่

               ขณะเดียวกันก็ได้สูบน้ำจากฝายน้ำล้นมากักเก็บไว้ในบ่อเนื้อที่ 2 ไร่ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในแปลงช่วงหน้าแล้งด้วยระบบน้ำหยด โดยเน้นใช้น้ำอย่างประหยัดเพราะน้ำต้นทุนมีค่อนข้างจำกัด

               "สำหรับมันสำปะหลังปลูกใหม่จะให้น้ำผ่านระบบน้ำหยดจากเดิมให้เดือนละ 4 ครั้ง ลดเหลือ 2-3 ครั้งต่อเดือน ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มันสำปะหลังที่ปลูกใหม่แตกรากดีและตั้งตัวได้เร็ว เมื่อมันสำปะหลังอายุได้ 5 เดือน ลดการให้น้ำลงเหลือเดือนละ 1 ครั้ง และเมื่ออายุได้ 9 เดือนขึ้นไปก็งดให้น้ำจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นแนวทางใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าในช่วงขาดแคลนน้ำและฝนทิ้งช่วง"

                โครงการ “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน" นับเป็นอีกนโยบายของรัฐบาลภายใต้การดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงแนวทางการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับภารกิจ การรณรงค์ไถกลบตอซังเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน (3)

การดำเนินงานในนโยบายสำคัญในเรื่องของการรณรงค์ไถกลบตอซังเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ของทางกรมพัฒนาที่ดินนั้นได้ดำเนินงานมาอย่างเข้มข้น โดยได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตทั้ง 12 เขต และสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ของกรมพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ทั่วประเทศ ให้เข้าไปส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ให้ทราบถึงผลกระทบของการเผาวัสดุตอซังหลังการเก็บเกี่ยว โดยโครงสร้างของดินจะมีการจับกันแน่นแข็ง มีความกระด้าง และการแพร่กระจายของรากพืชลดลง เกิดการสูญเสียอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร และน้ำในดิน จำนวนมากและรวดเร็ว แมลง สัตว์เล็กๆ และจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินถูกทำลาย รวมถึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม มลภาวะเป็นพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทางกรมพัฒนาที่ดินได้แนะนำวิธีการไถกลบตอซังไว้ดังนี้ คือ 1.การไถกลบตอซังในพื้นที่ปลูกข้าวกรณีการปลูกข้าวเป็นพืชหลักชนิดเดียว หากยังไม่รีบทำนาอาจทิ้งฟางข้าวและตอซังข้าวไว้ในแปลงนาเพื่อรักษาผิวหน้าดินเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตร พด.2 อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ แล้วไถกลบตอซังและฟางข้าวทิ้งไว้ 7-15 วัน เพื่อให้ตอซังย่อยสลาย จากนั้นจึงไถพรวนเพื่อเตรียมปลูกข้าวต่อไป ในส่วนการปลูกพืชไร่หลังนาหรือปลูกพืชหมุนเวียน ให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตร พด.2 อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ ไถกลบตอซังและฟางข้าว ทิ้งไว้ 7-15 วัน เพื่อให้ตอซังย่อยสลาย จึงไถพรวนแล้วปลูกพืชไร่ตามปกติ และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชไร่แล้วให้ทิ้งตอซังไว้ เมื่อถึงฤดูทำนาจึงไถกลบวัสดุเหล่านี้ ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน ก่อนจะทำการปลูกข้าวต่อไป การฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ จะช่วยให้ตอซังย่อยสลายตัวเร็วขึ้น ลดปัญหาข้าวเมาหัวซัง และแก๊สไข่เน่า ที่เป็นอันตรายต่อการปลูกข้าวได้ 2.การไถกลบตอซังในพื้นที่ปลูกพืชไร่และพืชผัก ในสภาพพื้นที่ดอน ซึ่งมีการปลูกพืชไร่และพืชผักหลายชนิดให้เกษตรกรฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตร พด.2 อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ ก่อนไถกลบตอซังทิ้งไว้ 7-15 วัน เพื่อให้ตอซังย่อยสลาย แล้วจึงไถพรวนและปลูกพืชตามปกติ

อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรต้องการคำปรึกษาหรือการบริการเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือหมอดินอาสาที่อยู่ใกล้บ้านท่าน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คุมเข้มบริหารน้ำภาคเหนือ กรมชลลั่นเดินหน้าตามแผน-หวั่นกระทบประปา

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำไว้เพื่อการเพาะปลูกในเขตชลประทานไว้ทั้งสิ้น 294,926 ไร่ ขณะนี้มีเกษตรกรปลูกพืชแล้วประมาณ 154,690 ไร่ ในเขตชลประทานเชียงใหม่กำหนดไว้ 64,006 ไร่ ปลูกไปแล้ว 50,952 ไร่ โครงการชลประทานลำพูน กำหนดไว้ 66,024 ไร่ ยังไม่มีการปลูกพืชฤดูแล้ง โครงการชลประทานแม่ฮ่องสอนกำหนดไว้ 11,496 ไร่ ปลูกไปแล้ว 11,310 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัด กำหนดไว้ 74,000 ไร่ ปลูกไปแล้ว 36,634 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา กำหนดไว้ 33,400 ไร่ ยังไม่มีการปลูกพืชฤดูแล้ง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงนั้น เกษตรกรปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผน ซึ่งกำหนดให้ปลูก 46,000 ไร่ ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 55,794 ไร่ โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่กำหนดให้ปลูก 9,000 ไร่ แต่กลับปลูกถึง 24,138 ไร่ ซึ่งอาจจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงปลายฤดูนาปรังได้ เนื่องจากมีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เพราะไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ ลักษณะโครงการ แม่แตงเป็นเพียงฝายทดน้ำเท่านั้น รวมทั้งยังจะต้องส่งน้ำสนับสนุนการผลิตน้ำประปาของตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และการประปาหางดอีกด้วย

ส่วนการทำนาปรังในพื้นที่ชลประทานอื่นๆ ในเขต 3 จังหวัดภาคเหนือดังกล่าว ยังต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ บางพื้นที่ยังไม่มีการทำนาปรังเลย เช่น พื้นที่ของโครงการชลประทานลำพูนกำหนดให้ทำนาปรัง 1,100 ไร่ ขณะนี้ยังไม่มีการทำนาปรัง และในบางพื้นที่ที่ให้งดทำนาปรัง เช่น พื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เกษตรกรให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีการทำนาปรังแต่อย่างใด

นายสุพรรณ เปราะนาค ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในฤดูฝนที่ผ่านมาอ่างแม่โก๋นสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มความจุ คือ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำเพียงพอที่จะจัดสรรในการปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกับโครงการชลประทานเชียงใหม่ ที่จะจัดสรรน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้ง ทั้งสิ้น 7,970 ไร่ เต็มพื้นที่ชลประทาน คาดว่าจะใช้น้ำประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือจะสำรองไว้สำหรับการทำนาปี การอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

 สมาชิกWTOเดินหน้าเคลื่อน ผลเจรจาการค้ารอบ‘โดฮา’ตกค้าง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ช่วงปลายปีที่ผ่านมาเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) ได้เป็นประธานการประชุมอย่างไม่เป็นทางการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อม ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของประเทศสมาชิก WTO ถึงแนวทางการขับเคลื่อนการเจรจาในอนาคต พร้อมย้ำว่าปี 2558 เป็นปีสำคัญสำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะมีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Climate Change Conference) ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ณ กรุงปารีส

นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งจำเป็นที่องค์การการค้าโลกจะต้องมีท่าทีในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ประธานเสนอให้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเจรจาความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมในระดับพหุภาคีและองค์การการค้าโลก รวมทั้งขยายขอบเขตของข้อมูลให้ครอบคลุมถึงการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะมนตรีใหญ่ (General Council) ประเทศสมาชิกหลายประเทศเรียกร้องให้มีแนวทางการดำเนินการที่มีความเหมาะสม เป็นเหตุเป็นผล และการเจรจาต่อรองที่มุ่งเน้นสิ่งที่เป็นไปได้เพื่อให้การเจรจาสามารถบรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากผลการเจรจา WTO รอบโดฮานั้น ได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ 13 ปีแล้ว ซึ่งการเจรจาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ใน WTO จะใช้ระบบฉันทามติ (consensus) ทำให้ประเด็นการเจรจาสินค้าสิ่งแวดล้อมยังเกิดความล่าช้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการเร่งรัดให้เป็นผลสำเร็จ โดยสมาชิก WTO ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะกำหนดแผนงานการเจรจาการค้ารอบโดฮาต่อในเดือนกรกฎาคม 2558 นี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สำรองน้ำไว้เพาะปลูกต้นฤดูฝนปี 58

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ณ วันที่ 13 ม.ค. 58 ที่ผ่านมา

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ณ วันที่ 13 ม.ค. 58 ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 44,307 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 20,804 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 33 แห่ง มีอ่างเก็บน้ำที่บริหารจัดการน้ำเป็นระบบลุ่มน้ำ 2 ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ที่ใช้น้ำจากเขื่อน 6 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 27 แห่ง จะบริหารจัดการน้ำในลักษณะเชิงเดี่ยว

สำหรับในฤดูแล้งปี 2557/58 มีอ่างฯเชิงเดี่ยวที่มีปริมาณน้ำน้อยไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้รวม 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่, เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี, เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี, เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอน แก่น, เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา

ซึ่งบริหารจัดการน้ำโดยคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) ของแต่ละโครงการฯ ที่มีเกษตรกรร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมกันวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศตลอดช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำจะไม่เกิดขึ้น หากเกษตรกรงดทำนาปรังตามมติของคณะกรรมการ JMC

ส่วนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยเช่นกันนั้น กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำ โดยงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง คงเหลือการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันนี้มีเพียงลุ่มน้ำเจ้า พระยาที่เกษตรกรยังคงทำนาปีต่อเนื่องและนาปรัง รวมกันไปแล้วกว่า 3.50 ล้านไร่ ส่งผลให้ต้องเพิ่มปริมาณน้ำจากแผนเดิมที่ได้วางไว้ สำหรับการอุปโภค–บริโภค และการผลักดันน้ำเค็ม จึงขอให้เกษตรกรร่วมมือกันงดเพิ่มพื้นที่ทำนาปรัง

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนถึงสิ้นฤดูแล้งปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การได้เมื่อสิ้นฤดูแล้งประมาณ 3,800-4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จะเริ่มทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป

สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน เกษตรกรจะทราบเป็นอย่างดี และไม่ทำการเพาะปลูกอยู่แล้ว ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และมีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำได้อย่างทันท่วงที หากได้รับการร้อง ขอจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ไทยเตรียมมาตรการลดอุปสรรคการค้า

'ธวัชชัย' เผย ไทยเตรียมหารือมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หวังลดอุปสรรคทางการค้า ในการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 7

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP-TNC ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 4-13 กุมภาพันธ์นี้ ที่กรุงเทพฯ โดยประเทศสมาชิก RCEP 16 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะมีการหารือเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และกฎหมาย ต่อจากการประชุมทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา โดยยังมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ในสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าวสาร ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลที่ต้องหารือให้ได้ข้อสรุปเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558

หวั่นปี58ขาดแคลนแรงงาน

ส.อ.ท. ห่วงปี 58 ขาดแคลนแรงงานพุ่ง 5 แสนคน หลังยอดขอลงทุนบีโอไอ ปี 57 แตะ 2.2 ล้านล้าน แนะรัฐผ่อนคลายนำเข้าแรงงานต่างด้าว

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้านแรงงาน เปิดเผยถึงแนวโน้มแรงงานไทยในอนาคตว่า ภาครัฐต้องหาแรงงานเพิ่มให้กับภาคผลิตไม่ต่ำกว่า 500,000 คน เนื่องจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 57ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการของบีโอไอ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท คาดว่า ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มกว่า 100,00 คน ทำให้ ส.อ.ท.มีความกังวลว่าจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุนแรงมากขึ้น จากตัวเลขปัจจุบันคาดว่า จะขาดแคลนแรงงานกว่า 400,000 คน

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานกับรัฐบาล 3 ด้าน ได้แก่ การผ่อนคลายนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยขยายรวมไปถึงประเทศที่อยู่ไกลขึ้น เช่น บังกลาเทศ เวียดนาม อินโดนีเซีย เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่พึ่งพาแรงงานจากเมียนมาร์เป็นหลัก เนื่องจากการที่อาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นทำให้แต่ละประเทศเริ่มไม่อยากให้แรงงานออกนอกประเทศ และบางประเทศอาจจะดึงแรงงานกลับ ดังนั้นไทยจะต้องหาแหล่งแรงงานใหม่ขึ้นมารองรับ

นอกจากนี้ให้เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่ง ส.อ.ท.มีเป้าหมายหากแรงงานทั้งประเทศ 38 ล้านคน บวกกับแรงงานต่างด้าว 3 ล้านคน เพิ่มประสิทธิภาพให้มีกำลังการเพิ่ม 3% ต่อคน จะสามารถทดแทนแรงงานได้ถึง 1 ล้านคน ซึ่งจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนแรงงานไปได้มาก ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานนี้ จะต้องปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ ฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานและปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในกระบวนการเกษตรมากขึ้น เพราะในปัจจุบันภาคการเกษตรมีสัดส่วนของจีดีพีเพียง 8.3% ของจีดีพีรวมทั้งหมด แต่ใช้แรงงานสูงถึง 39% ของแรงงานทั้งประเทศ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนจีดีพี 38% แต่ใช้แรงงานเพียง 13.8% ดังนั้นหากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร โดยใช้เครื่องจักรมาแทนแรงงานคน ก็จะทำให้มีแรงงานจำนวนมากมาป้อนให้กับภาคการผลิตได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจรวมทั้งประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558

ปฏิรูปเกษตร...ง่ายนิดเดียว

ประเทศไทยควรปฏิรูปเกษตรในประเด็นไหนก่อน? ดูเหมือนว่าจะหาคำตอบยากเพราะปัญหาเกี่ยวโยงกันเป็นลูกโซ่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาใหม่จากการแก้ปัญหาเก่าผมจึงเสนอให้เริ่มที่ประเด็นเชิงโครงสร้างซึ่งจะรวมถึงการจัดพื้นที่หรือที่เรียกว่าโซนนิ่ง การลดพื้นที่ของพืชบางชนิด การพัฒนาเกษตรกร การใช้เทคโนโลยี การรวมพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นแปลงใหญ่ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมหรือ Good Agricultural Practices(GAP) ระบบการอุดหนุน เป็นต้น ผมขอเลือก 2 ประเด็นที่มีผลกระทบมากที่สุดและสามารถดำเนินการได้เร็วคือ 1) GAP และ 2) ระบบการอุดหนุน

    ในขณะนี้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติได้กำหนดตัวสินค้าและการจัดการในระบบ GAP จำนวน 200 ชนิดโดยประมาณ เช่น ทุเรียน มะเขือเทศ ผักคะน้า หอมหัวใหญ่ แต่ยังเป็นระบบที่ยังไม่เป็นมาตรฐานบังคับ เราจึงพบว่าการพัฒนาในเรื่องนี้เป็นไปด้วยความล่าช้าและอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยซึ่งจะกระทบกับศักยภาพการแข่งขันโดยรวมเช่นความปลอดภัยของผลิตผล ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย อุปสรรคสำคัญคือ 1. ความรู้ของเกษตรกรในการเข้าสู่ระบบ 2. เงินทุนที่จะต้องใช้เพิ่มขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการปลูก 3. สิ่งจูงใจในเรื่องรายได้ที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากการขายต่อหน่วยหรือจากการลดต้นทุนต่อหน่วยหรือทั้ง 2 อย่าง เพื่อให้มีการปฏิรูปภาคการเกษตรอย่างรวดเร็วผมจึงเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ทุกมาตรฐานนั้นเป็นมาตรฐานบังคับโดยมีเงื่อนไขต่อไปนี้

    1. จัดกลุ่มสินค้าตามระดับผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญเช่นกลุ่มแรกคือมะเขือเทศและผักคะน้า ส้ม เพราะเป็นที่นิยมและผู้บริโภคมาก เป็นต้น 2. จัดการให้ความรู้แก่เกษตรกรโดยจ้างบุคคลภายนอกทั้งหมดหรือบางส่วน 3. จัดงบประมาณอุดหนุนในกรณีต้องลงทุนเพิ่ม และ 4. จัดหาตลาดเป็นการเฉพาะ 5. กำหนดเป้าเวลาให้เสร็จภายใน 5 ปี (หมายเหตุ : ขณะนี้มีมาตรฐานบังคับอยู่บางรายการเช่นถั่วลิสง หรือ ระบบรวบรวมน้ำนมดิบ เป็นต้น) ส่วนระบบการอุดหนุนนั้นยังเป็นหัวใจของการปฏิรูปแต่การจะดำเนินการให้ได้ผลลัพธ์สูงสุดนั้นจะต้องออกข้อกำหนดให้ชัดเจนเช่น 1. จำนวนเงินสูงสุดที่จะอุดหนุนในแต่ละพืชเพื่อรักษาระดับราคา 2. เพื่อการย้ายอาชีพการผลิตเช่นจากยางพาราเป็นอ้อย 3. เพื่อให้ระงับการผลิตในบางฤดูเช่นการปลูกข้าวนาปรัง เป็นต้น

    ผมจึงเสนอให้ออกพระราชบัญญัติการอุดหนุนสินค้าเกษตรเพราะจะช่วยให้ได้เป้าหมายต่อไปนี้คือ 1. การ Zoning 2. รายได้เกษตรกรที่สม่ำเสมอ 3. การป้องกันระบบประชานิยมของรัฐบาลที่ไร้เหตุผล และเป็นกลไกที่จะใช้ในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรวมตลอดจนหัวข้ออื่นๆดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ผมหวังว่าการปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญนี้จะดำเนินการได้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558