http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกุมภาพันธ์ 2560)

KTISรับอานิงน์ตลาดโลก ดันราคาน้ำตาลทรายพุ่ง!!

กลุ่ม KTIS เผยพนักงานร่วมใจหีบอ้อยได้ตามเป้าหมาย คาดปิดหีบปีนี้มีอ้อยเข้าหีบถึง 8.5 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนถึง 1 ล้านตัน หรือกว่า 13% ส่งผลดีต่อเนื่องไปยังทุกสายธุรกิจ ทั้งโรงไฟฟ้า เอทานอล เยื่อกระดาษ โดยเฉพาะในสายธุรกิจน้ำตาล ทั้งนี้ จากคุณภาพอ้อยที่ดี ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้นอย่างมาก จึงคาดว่าหลังปิดหีบแล้วจะได้น้ำตาลมากกว่าปีก่อนเกินกว่า 20% ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปีนี้ที่อยู่ในระดับโดยเฉลี่ยสูงกว่า 20 เซนต์ต่อปอนด์ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ จึงส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2560 นี้ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลหีบอ้อยของปีการผลิต 2559/60 ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 โรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง สามารถหีบอ้อยได้รวม 5.52 ล้านตัน ซึ่งสามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้เฉลี่ย 101 กิโลกรัมต่อตันอ้อย  เป็นผลผลิตน้ำตาลรวมประมาณ 5.57 ล้านกระสอบ หรือ 557 ล้านกิโลกรัม เมื่อเทียบกับการผลิตปีก่อน ที่จำนวนอ้อยเข้าหีบ 5.52 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำตาลได้เพียง 4.82 ล้านกระสอบ หรือประมาณ 90 กก.ต่อตันอ้อยเท่านั้น เท่ากับว่าจากปริมาณอ้อยเข้าหีบเท่าๆ กันของปีที่แล้วกับปีนี้ สามารถผลิตน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นถึง 0.75 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มขึ้น 15.6% ซึ่งคิดเป็นรายได้สูงขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท ในขณะที่คาดไว้ว่าเมื่อสิ้นสุดการหีบอ้อยทั้งหมด กลุ่ม KTIS จะมีอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ถึง 8.5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งได้อ้อยประมาณ 7.5 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน ดังนั้น ปริมาณน้ำตาลที่จะผลิตได้ก็จะเพิ่มมากขึ้นในอัตราที่สูงด้วย

"ที่สำคัญคือคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้น ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยปีนี้ดีขึ้นอย่างมาก ล่าสุดทำได้เฉลี่ยประมาณ 101 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และแนวโน้มจะดีขึ้นอีกในช่วงระยะเวลาหีบที่เหลือ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ตลอดฤดูการผลิตได้น้ำตาลเพียง 96 กก.ต่อตันอ้อย ดังนั้น หากปีนี้ได้อ้อยตามเป้าหมาย 8.5 ล้านตัน ด้วยผลผลิตน้ำตาลไม่น้อยกว่า 101 กก.ต่อตันอ้อย ก็จะได้น้ำตาลไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านกระสอบ ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วมากกว่า 20% (ปีที่แล้วผลิตน้ำตาลได้ 7.2 ล้านกระสอบ)" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

นายณัฎฐปัญญ์  กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า อ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสินค้าของกลุ่ม KTIS ดีขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากขึ้นแล้ว ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งเยื่อกระดาษ เอทานอล และไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก็จะได้ปริมาณมากขึ้นด้วย ในขณะที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้น จากช่วงต้นปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ มาที่ 20-21 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2560 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

สำหรับเหตุปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตอ้อยปีนี้สูงกว่าปีก่อน นอกจากเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปีก่อนแล้ว ยังเป็นเพราะความร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดีของพนักงานทุกฝ่ายในกลุ่ม KTIS เพื่อแก้ไขปัญหาในปีที่ผ่านมาด้วย โดยฝ่ายไร่ซึ่งเกาะติดอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย จะลงไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องพันธุ์อ้อย มาจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ก็พยายามจะให้ได้อ้อยที่สะอาดและมีคุณภาพดีที่สุด ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยจึงสูงขึ้นมาก ในขณะที่ฝ่ายโรงจักรก็ดูแลเครื่องจักรต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้เครื่องจักรทำงานได้เต็มศักยภาพ

"ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาในปีที่ผ่านมาของพนักงานทุกคน ทำให้การหีบอ้อยในฤดูการผลิตนี้สามารถทำได้ดีเกินคาด เช่นโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 55,000 ตันอ้อยต่อวัน และเราตั้งเป้าว่าจะต้องหีบอย่างราบรื่นให้ได้เต็มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เราก็สามารถทำได้" นายณัฎฐปัญญ์กล่าว          

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการดำเนินงานของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 15,086.59 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 512.53 ล้านบาท นั้น เป็นผลกระทบจากปริมาณและคุณภาพอ้อยในฤดูการผลิต 2558/59 ต่ำกว่าปีก่อนหน้านั้นมาก อันเนื่องมาจากภาวะภัยแล้งในพื้นที่ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะทำให้สายธุรกิจน้ำตาลมีรายได้และกำไรลดลงแล้ว ยังส่งผลไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย เพราะมีปริมาณวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กลุ่ม KTIS ก็ได้กำหนดแผนงานต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดต่อไปในอนาคต เช่น การร่วมกับภาครัฐและชาวไร่อ้อยจัดทำโครงการประชารัฐในการขุดเจาะบ่อบาดาลมาตรฐาน ซึ่งจะแก้ปัญหาภัยแล้งได้ทุกๆ ระดับ เกือบ 300 บ่อในพื้นที่ เป็นต้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สรท.หนุนรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าเชิงรุก ยกระดับการอำนวยความสะดวกการค้า

สรท.หนุนรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าเชิงรุก และยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งระบบให้ได้มาตรฐานสากล

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกเดือนมกราคม 2560 มีมูลค่า 17,099 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 609.543.2 ล้านบาท ขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ การปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำ และการเร่งส่งสินค้าก่อนช่วงหยุดตรุษจีน ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม ทำให้ผู้ซื้อสินค้าในหลายตลาดเร่งสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีแต่ต้องติดตามใกล้ชิด

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกเห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลในการกำหนดตัวเลขการเติบโต 5% ไว้เป็นเป้าหมายการทำงาน แต่ควรเร่งรัดดำเนินการยุทธศาสตร์เชิงรุกที่นำเสนอไว้โดยเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับประเทศคู่ค้าหลักที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่าการเจรจาการค้าเสรี การตั้งผู้แทนการค้าในตลาดสำคัญ การยกระดับภาพลักษณ์ประเทศและตรายี่ห้อของสินค้าไทย การผลักดันช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน e-Commerce และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในประเทศเป้าหมายแทนการส่งออกโดยตรงเพียงทางเดียว เป็นต้น

นอกจากนี้ สภาผู้ส่งออก พบว่าคู่ค้าในตลาดสำคัญโดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของคำสั่งซื้อจากการสั่งซื้อล่วงหน้าระยะยาว เป็นการสั่งซื้อระยะสั้นมากขึ้น ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ demand chain ในตลาดเป้าหมาย อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และตลาดสำคัญอื่นๆ เพื่อให้ทราบความต้องการของคู่ค้าผู้บริโภคและนำมาเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยใช้ประโยชน์ในการทำตลาดและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการ ตลอดจนเลือกใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในแต่ละตลาด ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสของสินค้าไทยในตลาดโลกให้มากขึ้น

อีกประการหนึ่ง สภาผู้ส่งออก เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามข้อบทในความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO’s Trade Facilitation Agreement: WTO’s TFA) ซึ่งมีชาติสมาชิกให้สัตยาบันครบ 2 ใน 3 หรือ 110 ประเทศ ทำให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา และประเทศไทยได้แจ้งว่าพร้อมปฏิบัติตามข้อบทต่างๆ ในทันที จำนวน 131 ข้อบท และขอเวลาในการปรับตัว 1 ปี จำนวน 12 ข้อบท อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิจารณารายละเอียดของความตกลงฯ และเอกสาร SMEs and the WTO Trade Facilitation Agreement: A Training Manual ซึ่งจัดทาโดย International Trade Center (ITC) พบว่าประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก อนึ่ง หากประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของ WTO’s TFA และยอมรับสถานะที่แท้จริงของประเทศไทย จะส่งผลให้ 1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทราบข้อบทภายใต้ความตกลงฯ ที่ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติได้จริง 2) ส่งผลให้ประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ทราบแนวทางในการแก้ไขและพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับความตกลง 3) ทำให้กระบวนการและระบบที่เกี่ยวข้องทางการค้า การออกใบอนุญาตของหน่วยงานภาครัฐ และพิธีการศุลกากรของประเทศไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการเชื่อมต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับประเทศคู่ค้า 4) นอกจากต้นทุนการค้าระหว่างประเทศของไทยจะสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ยังอาจเป็นเหตุให้ประเทศคู่ค้าปฏิเสธการนำเข้าสินค้าไทยได้ และ 5) ประเทศไทยไม่สามารถค้าขายกับนานาประเทศ ส่งผลให้ไม่มีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต จึงเป็นสิ่งที่สาคัญอย่างเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประเมินตนเองตามข้อเท็จจริงและเร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับความตกลงฯ โดยเร็วที่สุด

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กรมชลฯนำร่องแก้ปัญหาน้ำประชารัฐในพื้นที่ 8 จังหวัด

 กรมชลประทานเดินหน้ารุกการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเดิมนำร่องโครงการแก้ปัญหาน้ำประชารัฐ โดยให้สำนักงานชลประทานที่ 9 ประเดิมในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก โดยผ่านคณะกรรมการชลประทานท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านจัดทำยุทธศาสตร์น้ำในระดับลุ่มน้ำด้วยตัวเอง แล้วนำเสนอให้กรมชลประทานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อน

นายเกิดชัย ธัญวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 9 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 8 จังหวัด ได้ร่วมกับกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำในระดับลุ่มน้ำ โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก

 นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ที่จะให้สำนักงานชลประทานที่ 9 เป็นหน่วยงานนำร่องในการจัดทำยุทธศาสตร์น้ำ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ กำหนดดำเนินการทั้ง 8 จังหวัด จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว และ นครนายก “พื้นที่ที่จัดทำยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำนำร่อง อาจเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน

 เราต้องการทำเป็นโครงการนำร่อง โดยผ่านคณะกรรมการชลประทานท้องถิ่น ซึ่งมีตัวแทนจากภาค

 ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว รักษาระบบนิเวศ เท่ากับการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการหยิบยกปัญหาน้ำในพื้นที่ และทางออกของปัญหา เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์น้ำตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จนถึงลุ่มน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะนำแผนยุทธศาสตร์นี้ไปศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างต่อไป”

นายเกิดชัยกล่าวว่า ยุทธศาสตร์น้ำในระดับลุ่มน้ำ นอกจากประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนแล้ว ยังเป็นการตอบโจทย์ปัญหาน้ำโดยผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่เอง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจของประชาชน อีกทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางร่าง พ.ร.บ.น้ำ พ.ศ..... ที่กำหนดให้พื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการต่างๆ ด้วย“เราอาจเริ่มช้าไปบ้าง แต่เป็นทิศทางที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต เชื่อว่าจะทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำเหมาะสมยิ่งขึ้น และลดอุปสรรคความไม่เข้าใจลงได้มาก”

กรมชลประทานใช้เครื่องมือแก้ไขปัญหาน้ำในระดับพื้นที่ 2 กรณี ในกรณีที่เป็นพื้นที่ชลประทานเดิม 30 ล้านไร่ จะให้เครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของชาวบ้าน

 ในพื้นที่และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่ได้รับการฝึกอบรม ลงไปจัดเวทีเสวนาในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำที่ประสบอยู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ดีขึ้น ส่วนพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 30 ล้านไร่ ให้คณะกรรมการชลประทานท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาคส่วนของประชาชน เข้าไปจัดทำยุทธศาสตร์น้ำในระดับลุ่มน้ำ เพื่อเสนอกรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมต่อไป

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีลงทุนEEC

ครม. เห็นชอบคิดภาษีบุคคลธรรมดาที่ร้อยละ 17 กลุ่ม S - Curve ลงทุน EEC พร้อมทุ่มงบ 1.7 แสนล้าน ต่ออายุ 30 บาทรักษาทุกโรค

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ว่า ที่ประชุมอนุมัติมาตรการทางภาษีให้กับบริษัทเอกชนต่างประเทศในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S - curve ที่สนใจมาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC โดยบริษัทดังกล่าวจะได้รับสิทธิการเสียอัตราภาษีบุคคลธรรมดาแบบคงที่ร้อยละ 17 สำหรับลูกจ้างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ไม่เคยทำงานในไทย โดยไม่สามารถหักลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมได้ จากปัจจจุบันเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 - 35 ทั้งนี้ การปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้มีบริษัทสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น

สำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวนั้น จะต้องมีการจัดตั้งสำนักงานอยู่ในพื้นที่ EEC และได้รับการยกเว้นภาษีในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ด้วย ที่ประชุมอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณประกันสุขภาพให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 172,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวงเงินงบประมาณปีก่อน 7,088 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ภายใต้กรอบค่ารักษาพยาบาลวงเงินต่อคนเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ผ่านมา และยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีการยกเลิกโครงการนี้

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จับตาแล้ง105อำเภอ34จังหวัด เกษตรฯสั่งเกาะติดเฝ้าระวัง-ยันภาพรวมน้ำพอใช้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำใน 34 เขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พบว่า มีน้ำใช้การได้ 21,781 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มากกว่าปีที่แล้ว 8,356 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้ 7,211 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 4,110 ล้าน ลบ.ม.ขณะที่จากการประเมินสถานการณ์น้ำช่วงฤดูแล้งในพื้นที่สุ่มเสี่ยงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน พบว่า ในภาพรวมยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่คาดว่าจะมีอำเภอที่อาจขาดน้ำเพื่อการเกษตร 105 อำเภอ 34 จังหวัด จาก 887 อำเภอทั่วประเทศ โดยอยู่นอกเขตชลประทานซึ่งมีพื้นที่ที่ใกล้วิกฤติและเฝ้าระวัง ดังนั้นจึงได้กำชับให้กรมชลประทานวางแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมชลประทาน ได้วางแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะที่ผ่านมาเกิดปัญหาภัยพิบัติเพิ่มเติมในภาคใต้ และฝนตกหนักทุกภาค ขณะนี้จึงวางแนวทางเอาไว้โดยกำลังพิจารณาใหม่ว่า ในแผนระยะ 5 ปี คือ 2560 - 2564 อาจต้องมีการปรับเลื่อนแผนงาน คือ อาจต้องเลื่อนแผนงานในปี 2562 - 2563 มาดำเนินการตั้งแต่ปี 2560-2561 ด้วย และให้กรมชลประทานทบทวนแผนเดิมเพื่อแก้ปัญหาต่อไป” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การดำเนินการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันจะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 5 และ 20 ปี แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558 - 2569 และแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 5 ปีระหว่างปี 2560-2564 โดยมุ่งบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 6 ประเด็น คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภค 2.สร้างความมั่นคงน้ำภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ น้ำเสีย/น้ำเค็ม 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป้องกันการพังทลายดิน และ 6.การบริหารจัดการ ซึ่งจากแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับ 13 กิจกรรม คือ 1.การสร้างอ่างเก็บน้ำ 2.ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ, แหล่งน้ำเดิม 3.ขุดลอกลำน้ำ 4.ฝาย 5.แก้มลิง 6.ระบบส่งน้ำชลประทาน 7.ระบบระบายน้ำ 8.ประตูระบายน้ำ 9.สถานีสูบน้ำ 10.โครงการปรับปรุง 11.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ 12.โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ และ 13.ระบบผันน้ำ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรไทย-อาเซียน ปี 59 กว่า 2 แสนล้านบาท

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยสินค้าเกษตรไทย – อาเซียน ปี 2559 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 215,169 ล้านบาท โดยมีการค้าสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมไปยังอาเซียน 9 ประเทศ มูลค่าการค้ารวม 415,343  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 12.86

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลการนำเข้า – ส่งออก สินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน ในปี 2559  ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า โดยคิดเป็นมูลค่า  215,169 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน 194,746 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10)

โดยการค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01 – 24 และยางพาราธรรมชาติ พิกัด 4001) ปี 2559 ประเทศไทย มีการค้าสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมไปยังอาเซียน 9 ประเทศ มีมูลค่าการค้ารวม 415,343 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2558    ร้อยละ 12.86)  มูลค่าการส่งออกคิดเป็น 315,256 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 12.04) และมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน คิดเป็น 100,087 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 15.53)

สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปตลาดอาเซียน ปี 2559 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มูลค่าส่งออก 63,329 ล้านบาท  2) กลุ่มเครื่องดื่ม มูลค่าส่งออก 46,192 ล้านบาท 3) กลุ่มข้าวและธัญพืช มูลค่าส่งออก 28,983 ล้านบาท  4) กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่าส่งออก 25,899 ล้านบาท และ 5) กลุ่มยางพาราขั้นปฐม มูลค่าส่งออก  23,717 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง ได้แก่ น้ำตาลทรายขาว เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ข้าวเจ้าขาวอื่น 5%  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครีมเทียม และน้ำยางข้น

ด้านกลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไทยนำเข้าจากอาเซียน ปี 2559 ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ มูลค่านำเข้า  16,443 ล้านบาท 2) กลุ่มพืชผักที่บริโภคได้ มูลค่านำเข้า 13,751 ล้านบาท  3) กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่านำเข้า 11,682 ล้านบาท  4) กลุ่มของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง นม  มูลค่านำเข้า  10,722 ล้านบาท และ 5) กลุ่มไขมัน น้ำมันจากพืช/สัตว์  มูลค่านำเข้า 7,243 ล้านบาท  โดยสินค้าที่มีมูลค่านำเข้าสูง ได้แก่ เนื้อปลาซูริมิ เนื้อปลาแคชฟิชแบบฟิลเลสดหรือแช่เย็น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ถั่วเขียวผิวดำ  กะหล่ำปลีชนิดกลม  พรีมิกซ์ กาแฟสำเร็จรูป กะทิสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก โอเลอินหรือสเตียรินของเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม และน้ำมันปาล์มและเศษของน้ำมันปาล์ม

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ก.พลังงานเร่งเครื่องพลังงานทดแทนหวังเป็นพลังงานกระแสหลักในอนาคต  

         กระทรวงพลังงาน เร่งเคลียร์โครงการพลังงานทดแทนเดิมเรียบร้อยได้ใน เม.ย.นี้ เพื่อเร่งเครื่องโครงการใหม่ที่คาดว่าจะมี 850-1,000 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 4-5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะ SPP Hybrid Firm ที่หวังนำร่องเพื่อผลักดันให้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานกระแสหลักในอนาคต      

        นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานคาดว่าภายในเมษายนนี้จะสามารถดำเนินงานตามแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโครงการเดิมได้ทั้งหมด และหลังจากนั้นจะสามารถเริ่มต้นรับซื้อโครงการใหม่ที่ได้รับอนุมัติในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมกำลังการผลิตประมาณ 850-1,000 เมกะวัตต์ หรือก่อให้เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 42,500-50,000 ล้านบาท      

        สำหรับโครงการพลังงานทดแทนดังกล่าว ได้แก่ 1. SPP-Hybrid Firm ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะให้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานกระแสหลักของไทยในอนาคตได้ ซึ่งก็คือทำให้เป็นการรับซื้อแบบFirm โดยมีเงื่อนไขรับซื้อ ได้แก่ ราคาจะใช้กลไกบิดดิ้งที่ราคาเดิม FiT ไม่เกิน 3.66 บาทต่อหน่วย ปริมาณรับซื้อ 300 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ ต่อโครงการติดตั้งได้ระหว่าง 10-50 เมกะวัตต์ และใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 หรือเทียบเท่า 1 ประเภท โดยไม่กำหนดสัดส่วน และให้สิทธิที่จะใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมได้แต่ต้องเป็นสัญญาประเภท Firm กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2563       

        2. โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภารใต้อย่างยั่งยืนซึ่งกำหนดไว้ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส, อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขนาด 18 เมกะวัตต์ แต่จะจ่ายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 12 เมกะวัตต์โดยเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งถือเป็นการนำร่องระยะแรกก่อน ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นก๊าซชีวภาพและพืชพลังงาน รวมกำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ 3. โครงการ VSPP+Semi-Firm ซึ่งจะเปิดรับซื้อจากเอกชนไม่เกินรายละ 10 เมกะวัตต์ รูปแบบประมูล (บิดดิ้ง) โดยเน้นเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พืชพลังงาน ยกเว้น 3 จังหวัดใต้รวม 289 เมกะวัตตต์

               “การรับซื้อจะเป็น SPP-Hybrid Firmdjvo จากนั้นจะเป็นโรงไฟฟ้าประชารัฐ ระยะที่ 1 และ VSPP Semi Firm และโรงไฟฟ้าประชารัฐ ระยะ 2 ตามลำดับ ซึ่งรายละเอียดได้มอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังานกำหนดการซื้อตามศักยภาพของสายส่งและพื้นที่” นายทวารัฐกล่าว

               สำหรับความคืบหน้าเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems : ESS) ภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2559 คณะทำงานกำกับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ได้พิจารณาอนุมัติโครงการวิจัยทั้งสิ้น จำนวน 27 โครงการ มูลค่างบประมาณรวม 201.551 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มประยุกต์ใช้ ได้แก่ ESS-ความมั่นคงและภัยพิบัติ จำนวน 4 โครงการ, ESS-อุตสาหกรรม/พื้นที่ห่างไกล 3 โครงการ, ESS-ยานยนต์ไฟฟ้า 2 โครงการ รวมมูลค่างบประมาณสำหรับกลุ่ม 1 เท่ากับ 126.091 ล้านบาท      

        และกลุ่มที่ 2 กลุ่มวิจัยพัฒนา ได้แก่ ด้านวัสดุ ระบบกักเก็บ ESS จำนวน 12 โครงการ, ระบบควบคุม/เชื่อมโยงการนำ ESS ไปใช้งาน จำนวน 4 โครงการ และการจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี จำนวน 2 โครงการ รวมมูลค่างบประมาณสำหรับกลุ่มที่ 2 เท่ากับ 75.46 ล้านบาท นโยบายดังกล่าวก็เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้งานจริงของระบบกักเก็บพลังงาน

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พาณิชย์คงน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม

กระทรวงพาณิชย์ คง น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมเลิกราคาเพดานหลังลอยตัวตุลาคมนี้

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากแนวคิดที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ช่วงเดือนตุลาคม เพื่อให้ราคาปรับเปลี่ยนไปตามกลไกตลาดโลกนั้น กระทรวงพาณิชย์จะดูแลให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด และไม่ให้จำหน่ายเกินราคา ตลอดจนดูแลปริมาณให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ที่มีการใช้ประมาณ 2.26 ล้านตันต่อปี โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้ที่ประกาศราคาอ้างอิงตามราคาตลาดโลกให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบ และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องถอดน้ำตาลทรายออกจากบัญชีสินค้าควบคุม หลังจากลอยตัวราคาแล้ว เนื่องจากน้ำตาลทรายเป็นสินค้าจำเป็น แต่อาจยกเลิกการกำหนดราคาเพดานเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดราคาเพดาน ห้ามจำหน่ายเกิน กิโลกรัมละ 23 บาท 50 สตางค์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า แม้จะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้ว ก็ไม่มีผลต่อราคาสินค้าเกี่ยวเนื่องที่ใช้น้ำตาลทราย เพราะการลอยตัวไม่ได้ทำให้ราคาน้ำตาลทรายเปลี่ยนแปลงมากนัก

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ลอยตัวน้ำตาล!ไม่ถอดบัญชีคุม

พาณิชย์ยันลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ไม่จำเป็นต้องถอดออกจากบัญชีสินค้าควบคุม เพราะต้องติดตามสถานการณ์ขายและราคาใกล้ชิด แค่ยกเลิกเพดานขายปลีกสูงสุด

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายของไทยว่า ปัจจุบันน้ำตาลทรายเป็นสินค้าอยู่ในบัญชีควบคุม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยกำหนดราคาเพดานสูงสุดสำหรับขายปลีกไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท แต่หากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามกำหนดตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลของไทยจะขึ้น หรือลงตามราคาตลาดโลก ไม่มีการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุดอีกต่อไป

"ในราคาขายปลีก กก.ละ 23.50 บาทในปัจจุบัน จะนำเงินเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท เพื่อให้รัฐนำไปช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 160 บาท/ตันอ้อย ซึ่งเมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้ว จะไม่ต้องนำเงินส่งกองทุนอีกต่อไป” นายสมศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลอยตัวราคาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ อาจไม่จำเป็นต้องถอดออกจากการเป็นสินค้าควบคุมก็ได้ เพียงแต่อาจเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พิจารณายกเลิกการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุด เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การขาย และราคาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีการใช้ในปริมาณมากทั้งในประเทศ และเพื่อส่งออก

ทั้งนี้ หากลอยตัวราคาแล้ว ผู้ประกอบการไม่ยอมปรับราคาขายให้ขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก กรมจะเชิญมาหารือให้ปรับราคาให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เกษตรฯ เดินหน้าเคลียร์ทุกปัญหาวัตถุอันตรายทางการเกษตร 

          กรมวิชาการเกษตร ตอบชัดทุกข้อกังขาวัตถุอันตราย  ชี้โยกย้ายเพื่อปรับปรุงระบบงาน ย้ำหลักเกณฑ์ หลักฐานประกอบการ  ขึ้นทะเบียน โต้ไม่เคยรับค่าตอบแทนแลกคำขอขึ้นทะเบียน พร้อมสนองนโยบายเกษตรอินทรีย์หนุนเกษตรกรผลิตสินค้า GAP และเกษตรอินทรีย์

          นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีการโยกย้ายนายธรรมนูญ แก้วคงคา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวัตถุอันตราย สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการวัตถุอันตรายทาง การเกษตร ได้แก่ การยื่นคำขอขึ้นทะเบียน การจัดลำดับคิวในการพิจารณา การพิจารณาปริมาณการนำเข้าหลังได้รับทะเบียนแล้ว  การรายงานสต๊อกคงเหลือ การพิจารณามาตรฐานโรงงานผลิตและการต่ออายุ โดยมอบหมายให้ นายศรัณย์ วัธนธาดา  ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร  (นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ) ซึ่งมีตำแหน่งทางวิชาการสูงกว่า และเคยปฏิบัติหน้าที่ในกลุ่มดังกล่าวมาก่อน ทำหน้าที่แทนอีกหน้าที่หนึ่ง มุ่งหวังให้เกิดความสำเร็จในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการในภาพรวม

          กรณีการอนุมัติให้คำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายไปแล้วจำนวนกว่า 50 คำขอ และการจัดประชุมปล่อยสารเคมีที่มีพิษ ทุกอาทิตย์นั้น คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร มีหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยลำดับแรกให้ความสำคัญกับการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่ม วัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ  สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชและกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในพืชอาหาร มีข้อมูลความเป็นพิษน้อยตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ลำดับที่ 2 เป็นสารเคมีที่มีความจำเป็นต้องใช้แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในกลุ่มแรก ซึ่งนอกจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วผู้ที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนจะต้องมีหลักฐานเอกสารทางวิชาการ 3 ข้อ คือ ข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้การประชุมคณะอนุกรรมการฯ กำหนดให้มีการประชุมเป็นวาระปกติเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนจำนวน ครั้งละ 50-90 คำขอ

          สำหรับการเปิดเผยตัวเลขต่างตอบแทนแลกกับการที่ได้รับการอนุมัติคำขอขึ้นทะเบียนตามที่ปรากฏในข่าวนั้น ขอยืนยันว่าเป็นเท็จและไม่มีมูลความจริง เนื่องจากการพิจารณามีหลักเกณฑ์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะต้องให้คณะอนุกรรมการเพื่อ

          พิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน มีนักวิชาการของ กรมวิชาการเกษตร และมีบุคคลภายนอกเป็นคณะอนุกรรมการฯ รวมอยู่ด้วยพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ ซึ่งการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ตามคำขอต้องเป็นมติของคณะอนุกรรมการชุดนี้เท่านั้น

          อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้สนองนโยบายรัฐบาลโดยอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและ มีความปลอดภัยผ่านระบบการผลิต GAP ซึ่งหากมีความจำเป็นก็แนะนำให้เกษตรกรใช้สารชนิดที่ไม่อยู่ในบัญชีห้ามใช้ และใช้ในอัตราและความถี่ตามคำแนะนำทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม   หากเกษตรกรมีความพร้อมในด้านการปรับเปลี่ยนก็จะส่งเสริมและยกระดับจากเกษตรปลอดภัยไปสู่เกษตรอินทรีย์ ตามความต้องการของตลาด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผน ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์เป็นขั้นตอนและระยะเวลา  ที่ชัดเจนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564

          ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วการที่มีการพิจารณาให้ ผู้ประกอบการรายอื่นๆ มีสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดเดียวกันจะทำให้การผูกขาดทางด้านการตลาดของรายเดิมลดลง อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีทางการเกษตรจะต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมโรงงานผลิต ร้านค้าจำหน่าย และให้คำแนะนำการใช้ที่ถูกวิธีต่อเกษตรกรด้วย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สอน.รับมือบราซิลฟ้องWTOมั่นใจได้ข้อยุติแก้ 4 ปมร้อนยกเลิกอุดหนุน 

          สอน.เตรียมเจรจาปมร้อน บราซิลฟ้องไทย 6-8 มี.ค.นี้ มั่นใจได้ข้อยุติ หลังแก้ข้อกังวล 4 เรื่องหลัก ชัดเจน ทั้งการปล่อยลอยตัวน้ำตาล ตามแผนต.ค.นี้ ไม่มีเงินช่วยเหลือชาวไร่ 160 บาทต่อตัน ปล่อยการนำเข้าส่งออกได้เสรี

          มีความคืบหน้าเป็นลำดับ หลังฝ่ายไทยได้ไปรับปากกับทางบราซิล ว่าจะเร่งแก้ปัญหาการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนที่จะมีการตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) เพื่อนำไปสู่การไต่สวน ขององค์การการค้าโลกหรือ WTO

          โดยระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคมนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สนอ.) และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเดินทางไปกรุงเจนิวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ตั้งของสำนักงาน WTO เพื่อจะรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบใหม่ไปแล้ว

          ล่าสุดทางคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีปลัดกระทรวง อุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้มีมติให้ยกเลิกการอุดหนุนราคาภายในประเทศปล่อยให้มีการลอยตัวตามตลาดโลก พร้อมกับยกเลิกระบบกำหนดโควตาน้ำตาลที่บริโภคในประเทศและส่งออก อีกทั้งไม่มีเงินอุดหนุนต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยให้ชาวไร่ 160 บาทต่อตัน และการกำหนดราคาอ้อยให้เป็นหน้าที่ของชาวไร่และโรงงาน เป็นต้น

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การเดินทางไปเจรจาครั้งนี้ มีความเชื่อมั่นว่าทางบราซิล จะไม่มีการตั้งคณะผู้พิจารณา เพื่อนำไปสู่การไต่สวน เนื่องจากมีการแก้ไขข้อกังวลต่างๆ เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลให้เป็นไปตามตลาดโลก ที่ตามแผนจะดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม 2560 นี้ เป็นต้นไป เพื่อรองรับการหีบอ้อยในฤดูกาล 2560/2561 แต่หากมีความล่าช้า อาจจะมีบทเฉพาะกาล ออกมาว่าจะให้เริ่มใช้ได้เมื่อใด

          ทั้งนี้ การปล่อยลอยตัวน้ำตาลทรายดังกล่าวจะขึ้นลงตามตลาดโลก ที่จะมีการกำหนราคาออกมาเป็นรายเดือนขึ้นลงครั้งละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมหรือ 1 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งอาจจะมีกลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เข้ามาพยุงราคาไม่ให้ราคาน้ำตาลในประเทศตกต่ำด้วย ซึ่งการปล่อยลอยตัวนี้ จะนำไปสู่การยกเลิกระบบโควตา ที่ปกติโควตา ก.ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายใช้บริโภคในประเทศจะอยู่ที่ราว 2.5 ล้านตัน จะเปลี่ยนเป็นให้โรงงานเก็บสต๊อกไว้ 8 เดือน เพื่อป้องกันการขาดแคลนในภาวะฉุกเฉิน

          นอกจากนี้ จะไม่มีการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้กับชาวไร่ ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาอ้อยค่อนข้างดี อีกทั้ง ชาวไร่และโรงงานยังมีการส่งเงินเข้ากอง ทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอีก 1,092 ล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้นที่มีการกำหนดกัน

          ขณะที่ข้อกังวลในเรื่องของการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งทางบราซิลเห็นว่า เป็นการเข้ามาแทรกแซงของภาครัฐ ในส่วนนี้ก็อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะให้ชาวไร่และโรงงานเป็นผู้กำหนด เพียงแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม เป็นผู้ลงนามเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่สอนดำเนินการอยู่ในเวลานี้ จะเป็นสิ่งยืนยันให้ทางบราซิลทราบ เพื่อที่จะไม่ฟ้อง WTO ต่อไป

          นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ทางผู้ประกอบการเห็นด้วยกับการยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. และ ค. เพื่อเปิดเสรีน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับหลัก WTO โดยเห็นชอบตรงกันให้ปรับมาใช้วิธีการสต๊ อกน้ำตาลทราย เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงป้องกันภาวะน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน ขณะที่การปล่อยลอยตัวนั้น ได้เห็นพ้องกันในกรอบการหาราคา อ้างอิง เพื่อนำมาใช้คำนวณราคาต้นทุนอ้อย โดยใช้ราคา Export parity คือ อิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดล่วงหน้า ลอนดอน บวกพรีเมี่ยม โดยจะหารือในรายละเอียดต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พาณิชย์ยันไม่ถอด’น้ำตาลทราย’จากบัญชีควบคุม แม้ใช้นโยบายลอยตัว เพียงยกเลิกเพดานขายปลีก

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า หากมีการลอยตัวราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในเดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นไปแล้ว น้ำตาลทรายก็ยังอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เพียงแต่ยกเลิกประกาศกำหนดเพดานสูงสุดขายปลีก ซึ่งปัจจุบันกำหนดที่กิโลกรัมละ 23.50 บาท ส่วนที่ต้องลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในเดือนตุลาคมนี้ เพราะยังติดภาระผูกพันของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งกำหนดหักเงิน 5 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 160 บาท/ตันอ้อย

“ การขึ้นอยู่ในบัญชีควบคุมไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำหนดราคาขายปลีก ซึ่งราคาขายน้ำตาลทรายจะถูกกำหนดจากหน่วยงานต้นทางอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม เหมือนราคาจำหน่ายน้ำมันขายปลีกก็กำหนดโดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์จะดูว่าขายไม่เกินราคาที่เหมาะสมและไม่ให้เกิดการขาดแคลน ส่วนที่กังวลเรื่องกักตุนและขายเกินราคาควรเป็น ก็ยังต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งสามารถออกมาตรการเอาผิดตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้อยู่ แต่เบื้องต้นคาดว่าราคาขายปลีกน้ำตาลทรายยังไม่แตกต่างจากปัจจุบัน และมีผลกระทบต่อต้นทุนผลิตสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายปรับสูงขึ้น ซึ่งแต่ละรายการสินค้าก็ยังมีการดูแลในเรื่องโครงสร้างราคาสินค้าที่เหมาะสมและมีมาตรการตามกฎหมายดูแลเช่นกัน จึงไม่อยากให้ประชาชนวิตกในเรื่องนี้ “

นายสมศักดิ์  กล่าวอีกว่า แม้ไทยจะยกเลิกกำหนดระบบโควตาน้ำตาล ที่ปัจจุบัน กำหนดเป็น 3 โควตาคือ โควตา ก.สำหรับการบริโภคในประเทศ โดยปีก่อนกำหนดที่ประมาณ 2.26 ล้านตัน หรือประมาณ 22.6 ล้านกระสอบ โควตา ข. สำหรับการส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) และโควตา ค. สำหรับการส่งออกโดยบริษัทเอกชน แต่จะกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศให้เพียงพอต่อการบริโภค ไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ลุยลอยตัวราคาน้ำตาลทราย

                    พาณิชย์ยันลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ไม่จำเป็นต้องถอดออกจากบัญชีสินค้าควบคุม แค่ยกเลิกราคาเพดานขายปลีกสูงสุด เหตุเก็บไว้ติดตามสถานการณ์ขาย-ราคาใกล้ชิด

                    นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายของไทยว่า ปัจจุบัน น้ำตาลทราย เป็นสินค้าอยู่ในบัญชีควบคุม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยกำหนดราคาเพดานสูงสุดสำหรับขายปลีกไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท แต่หากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ตามกำหนดตั้งแต่เดือนต.ค.ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลของไทยจะขึ้น หรือลงตามราคาตลาดโลก ไม่มีการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุดอีกต่อไป

 “ราคาขายปลีกน้ำตาลทราย กก.ละ 23.50 บาทในปัจจุบันนั้น จะแบ่งนำเงินเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท เพื่อให้รัฐนำไปช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 160 บาทต่อตันอ้อย ดังนั้นเมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้ว ก็จะไม่ต้องนำเงินส่งกองทุนอีกต่อไป”

 อย่างไรก็ตาม เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลแล้ว กระทรวงพาณิชย์ อาจไม่จำเป็นต้องถอดออกจากการเป็นสินค้าควบคุมก็ได้ เพียงแต่อาจเสนอให้คณะกรรมการกลางฯ พิจารณายกเลิกการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุด เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การขาย และราคาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีการใช้ในปริมาณมาก ทั้งในประเทศ และเพื่อส่งออก แต่หากลอยตัวราคาแล้ว ผู้ประกอบการไม่ยอมปรับราคาขายให้ขึ้น หรือลงตามราคาตลาดโลก กรมฯจะเชิญมาหารือให้ปรับราคาให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เอาไว้ติดตามราคา! “พาณิชย์” ยันไม่ถอดน้ำตาลทรายจากบัญชีควบคุม หลังลอยตัวตั้งแต่ ต.ค.นี้   

         “พาณิชย์” ยันลอยตัวราคาน้ำตาลทรายไม่จำเป็นต้องถอดออกจากบัญชีสินค้าควบคุม เหตุจำเป็นต้องคงไว้เพื่อติดตามสถานการณ์ขายและราคาอย่างใกล้ชิด เผยจะทำเพียงแค่ยกเลิกราคาเพดานขายปลีกสูงสุด

                นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายของไทยว่า ปัจจุบันน้ำตาลทรายเป็นสินค้าอยู่ในบัญชีควบคุมตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยกำหนดราคาเพดานสูงสุดสำหรับขายปลีกไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท แต่หากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามที่กำหนดตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลของไทยจะขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก ไม่มีการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุดอีกต่อไป

               ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในราคาขายปลีก กก.ละ 23.50 บาทในปัจจุบันจะนำเงินเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท เพื่อให้รัฐนำไปช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 160 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งเมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้วก็จะไม่ต้องนำเงินส่งกองทุนอีกต่อไป

               อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลอยตัวราคาแล้ว กระทรวงพาณิชย์อาจไม่จำเป็นต้องถอดออกจากการเป็นสินค้าควบคุมก็ได้ เพียงแต่อาจเสนอให้คณะกรรมการกลางฯ พิจารณายกเลิกการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุดเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ยังคงสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์การขายและราคาอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีการใช้ในปริมาณมากทั้งในประเทศและเพื่อส่งออก และหากลอยตัวราคาแล้วผู้ประกอบการไม่ยอมปรับราคาขายให้ขึ้นหรือลงตามราคาตลาดโลก กรมฯ จะเชิญมาหารือให้ปรับราคาให้สอดคล้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

               ขณะเดียวกัน ไทยจะยกเลิกกำหนดระบบโควตาน้ำตาลด้วย โดยปัจจุบันกำหนดเป็น 3 โควตา คือ โควตา ก. สำหรับการบริโภคในประเทศ โดยปีก่อนกำหนดที่ประมาณ 2.26 ล้านตัน หรือประมาณ 22.6 ล้านกระสอบ โควตา ข. สำหรับการส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) และโควตา ค. สำหรับการส่งออกโดยบริษัทเอกชน แต่จะกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศให้เพียงพอต่อการบริโภค ไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"มิตรผล" เปิดตลาดยีสต์เบต้ากลูแคน ขยายกำลังผลิต 3 เท่าตัวป้อนโรงงานอาหารสัตว์

"น้ำตาลมิตรผล" เล็งลอนช์ผลิตภัณฑ์ใหม่ "เบต้ากลูแคน" เดือนมีนาคมนี้ หลังเปิดขาย Fodder Yeast รุกตลาดโปรตีนอาหารสัตว์มาระยะหนึ่ง เผยหากตลาด Yeast Specialty ได้รับการตอบรับดี เตรียมขยายการผลิตเอทานอล ของโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ เพิ่มจาก 2.4 แสนตันเป็น 5 แสนตันไว้รองรับแล้ว

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มน้ำตาลมิตรผล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กลุ่มมิตรผลได้เริ่มผลิต Fodder Yeast ขายเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ทดแทนโปรตีนจากปลาป่น และกากถั่วเหลืองได้แล้วที่โปรตีนประมาณ 35% ในราคาขายตามเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่ประมาณ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปริมาณผลผลิตยังได้ค่อนข้างน้อยเพียง 3,000 ตันต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้มาก ดังนั้นในปี 2560 วางเป้าหมายจะผลิตให้ได้ 9,000 ตันต่อปี ตามที่ตั้งไว้เมื่อปีที่ผ่านมา

ต่อยอด - ปัจจุบันกลุ่มน้ำตาลมิตรผลได้พยายามทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยล่าสุดได้นำร่องโดยใช้วัตถุดิบเอทานอลที่นำมาผลิตยีสต์จากโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่มีกำลังผลิตเอทานอล 5 แสนลิตรต่อวัน

ขณะเดียวกันสามารถผลิตอาหารเสริมสำหรับสัตว์ คือ เบต้ากลูแคน (Beta-glucan) ซึ่งเป็นตัวต่อต้านอนุมูลอิสระ และสามารถป้องกันของเสียที่เป็นพิษต่อสัตว์ได้ เตรียมผลิตขายเชิงพาณิชย์ แต่ยังมีปริมาณน้อยมากเพียง 100 ตัน และมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยถือเป็นยีสต์ชนิดพิเศษ (Yeast Specialty) ที่ขายได้ในราคาค่อนข้างสูงประมาณ 2,000 บาทต่อตัน

"ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีความพยายามในการต่อยอดทำผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากยีสต์ให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น คาดว่าน่าจะเสร็จเดือนมีนาคม เรียก Yeast Specialty เซลล์ของยีสต์เหมือนเปลือกของไข่ไก่ สามารถทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ เพราะเปลือกไข่ไก่เทียบเท่ากับเบต้ากลูแคน แต่มีปริมาณน้อยมาก เช่นเดียวกันหากเราทำแค่ Fodder Yeast เป็นเซลล์ล้วน ๆ จะเป็นโปรตีนอย่างเดียว แต่พอเราแยกยีสต์ข้างในออกมาได้ เราเรียกว่า Yeast Extract จะมีมูลค่ามากขึ้น"

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ซัพพลายให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ก่อน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ 2 รายใหญ่ เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร และรับซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมิตรผล ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ และเครือเบทาโกร

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า "เดิมกลุ่มมิตรผลตั้งเป้าปี 2560 จะผลิต Fodder Yeast ให้ได้ 20,000 ตันต่อปี แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ผลิตได้น้อยไม่เป็นไปตาม

เป้าหมายที่วางไว้ เพราะมีปัญหาเรื่องเครื่องจักรที่ติดตั้งต้องปรับปรุงแก้ไขค่อนข้างมาก ตอนนี้เริ่มเดินเครื่องผลิตได้แล้ว ดังนั้นปีนี้คาดว่าจะสามารถผลิตได้ประมาณ 9,000 ตันต่อปีก่อน แต่หากเทคโนโลยีการผลิตนิ่ง ตลาดพอใจ ลูกค้าพอใจ บริษัทมีแผนขยายไปที่โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ต่อ ซึ่งตอนนี้กำลังขยายการผลิตเอทานอล จาก 2.4 แสนตัน เป็น 5 แสนตันต่อวัน จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 และอนาคตต่อไปทุกโรงงานที่มีการผลิตเอทานอลสามารถทำโรงแยกยีสต์ได้ รวมถึงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลตามใบอนุญาตใหม่แล้วเสร็จ ก่อนถึงจะมีวัตถุดิบโมลาสมาผลิตยีสต์เพิ่มได้ ทั้งนี้ปัจจุบันวัตถุดิบเอทานอลที่นำมาผลิตยีสต์มาจากโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่มีกำลังผลิตเอทานอล 5 แสนลิตรต่อวัน"

ส่วนโครงการที่กลุ่มมิตรผลไปร่วมเป็นพันธมิตรลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนประมาณ 40 แห่งนั้น เพราะโครงการต่าง ๆ ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก หากแต่ละบริษัทจะดำเนินการวิจัยและพัฒนากันเอง การร่วมมือกันผลสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้เร็วกว่า

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ดัน ศกอ.ขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ เร่งยกระดับเกษตรกรไทยสู่ 4.0

สศก.ร่วมขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร 882 แห่งทั่วประเทศ รุกขยายองค์ความรู้เกษตรอาสา นำแอปพลิเคชั่น "กระดานเศรษฐี เกษตรกรมีโอกาส" ช่วยชาวไร่ชาวนาเข้าสู่ภาคเกษตร 4.0

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้แต่งตั้งเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จำนวน 882 ราย ใน 882 อำเภอ เพื่อร่วมปฏิบัติงานสนับสนุนการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สศก.จึงจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญให้แก่ ศกอ.ในปี 2559 เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดและให้บริการใน ศพก.และเกษตรกรในชุมชน

สำหรับปี 2560 สศก.ได้สานต่อโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของ ศกอ. ยกระดับการปฏิบัติงานของ ศกอ.ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลความรู้ด้านเศรษฐกิจการเกษตรมาใช้ในการปฏิบัติงาน จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ ศกอ. และเจ้าหน้าที่ของ สศก. เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ การสร้างเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งการอบรมครั้งนี้ ได้เน้นการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการข้อมูลข่าวสารใน ศพก. โดยเฉพาะการนำแอปพลิเคชั่น OAE RCMO หรือ "กระดานเศรษฐี เกษตรกรมีโอกาส" ซึ่งชนะประกวดโครงการ Thailand ICT Awards (TICTA) 2016 ในประเภท e-Government & Services ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้เพื่อคำนวณต้นทุนการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง และยังสามารถทราบได้ว่า พื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืชชนิดนั้นหรือไม่ และถ้าไม่เหมาะสมจะสามารถปลูกพืชชนิดใดแทน รวมถึงทราบแหล่งรับซื้อ ราคาที่รับซื้อผลผลิตด้วย

สำหรับการจัดฝึกอบรม ได้กำหนด 5 ครั้งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ จังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2560 ณ จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2560 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดอุดรธานี และครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ ศกอ.ทั้ง 882 คน และเจ้าหน้าที่ของ สศก.ที่ผ่านการอบรม จะมีความรู้ความเข้าใจ สามารถใช้แอปพลิเคชั่น รวมถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการให้บริการข้อมูลข่าวสารใน ศพก. เพื่อร่วมกันเดินหน้าภาคเกษตรไทย สู่เกษตร 4.0 ให้เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 เต็มประสิทธิภาพ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ก.อุตฯเปิดศูนย์ITCมี.ค.เชื่อมR&D

กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดศูนย์ ITC มี.ค. เชื่อม R&D ชูโมเดลเยอรมนีต้นแบบ ปั้นผู้ประกอบาร 4.0 เตรียมตั้ง คณะกรรมการพัฒนา SMEs ประชารัฐทั้ง 77 จังหวัดขับเคลื่อน

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความสำเร็จในการประสานความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต หรือ Industry Transformation Center : ITC ในประเทศไทย ว่า กระทรวงฯ เตรียมเปิดศูนย์ ITC ในเดือนมีนาคม 2560 เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัย หน่วยงานการศึกษา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และนักนวัตกรรม หรือผู้ประกอบการที่เป็น Start Up โดยทำงานในลักษณะประชารัฐ คือ นำผู้ประกอบการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัย เพื่อสนับสนุนตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยเน้นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายรัฐบาลก่อน

ทั้งนี้ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรม 4.0 โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนการทำวิจัยแก่ภาคเอกชน ถ้าสำเร็จ ผู้ประกอบการจะคืนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยให้กับรัฐบาล หรืออาจให้ภาครัฐเข้าไปถือหุ้นในบริษัท สำหรับรูปแบบการพัฒนา ITC เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ช่วยสร้างสินค้านวัตกรรมออกมาสู่ตลาด โดยมีพื้นฐานจากงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งความต้องการของภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งศูนย์ ITC ที่กระทรวงฯ จะเปิดตัวนั้น จะมีการออกแบบเครื่องมือ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการไทย

ก.อุตฯเล็งตั้งคกก.พัฒนาSMEsประชารัฐ

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตฯ ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ 20,000 ล้านบาท เบื้องต้นเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนา SMEs ตามแนวทางประชารัฐประจำจังหวัด ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สมาคมธนาคารไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไท กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงสถาบันการศึกษา โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธาน และอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นฝ่ายเลขาธิการ ส่วนธนาคาร SMEs Bank จะเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ซึ่งทั้งหมดจะมีการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาช่วยเหลือ SMEs เพื่อเชื่อมโยงทั่วประเทศ

ซึ่งในวันที่ 6 มีนาคมนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย พร้อมชี้แจงการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนา SMEs ทั้ง 77 จังหวัด ให้กับผู้ว่าาราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวทางประชารัฐ ร้อยละ 90 จะส่งเสริมพัฒนา SMEs โดยตรง ผ่านเงินกู้ช่วยเหลือ และส่วนที่เหลือจะเป็นการใช้พัฒนาสนับสนุนศักยภาพ และการฝึกอบรม โดยคาดว่าการปล่อยเงินกู้จะเริ่มดำเนินการช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ใน 1 - 2 เดือนข้างหน้า

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ผู้ส่งออกผวาบาทแข็งค่า เกาะติดใกล้ชิดหวั่นฉุดเติบโตการส่งออก  

         ผู้ส่งออกเกาะติดค่าเงินบาทหลังเริ่มผันผวนไปในทิศทางแข็งค่ามากขึ้น ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ย มี.ค.ช่วยฉุดบาทอ่อนลง หวัง ธปท.จะดูแลไม่ให้ผันผวนและแข็งค่าใกล้เคียงกับคู่แข่งทางการค้าเพื่อผลักดันการเติบโตของการส่งออกไทยที่พาณิชย์ตั้งเป้าปีนี้โต 5%

                นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคส่งออกกำลังติดตามภาวะค่าเงินบาทใกล้ชิดเนื่องจากเริ่มมีทิศทางของการแข็งค่าขึ้นมากในช่วงเดือน ก.พ.ต่อเนื่อง โดยเคลื่อนไหวระดับ 34.80-34.99 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็เฝ้าติดตามเพื่อที่จะไม่ให้เกิดความผันผวน อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน มี.ค.นี้อีกหรือไม่

               “คงจะต้องติดตามปัจจัยจากเฟดว่าจะมีการทยอยขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ หากขึ้นก็จะทำให้บาทกลับมาอ่อนค่าได้ ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าค่าเงินบาทค่อนข้างมีความผันผวน ขณะเดียวกันนโยบายต่างๆ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะสามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใด ภาพรวมเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะมีผลต่อการส่งออกโดยรวม”

               ทั้งนี้ ยอมรับว่าสิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลขณะนี้คือค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเพราะจะมีผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออกของสินค้าไทย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ธปท.ดูแลไม่ให้ผันผวนและให้การแข็งค่านั้นสอดรับกับคู่แข่งในการส่งออกของไทยก็จะทำให้ผู้ส่งออกไม่ต้องลำบากมาก เพราะหากแข็งค่ากว่าคู่แข่งอำนาจต่อรองราคาสินค้าก็จะลำบาก อย่างไรก็ตาม กรณีที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกปี 2560 ให้เติบโตระดับ 5% จากปีที่แล้วนั้นเป็นเรื่องของเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อท้าทายการทำงานร่วมกันทั้งรัฐและเอกชน

               เป้าหมายการส่งออกดังกล่าวยอมรับว่าหากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอาจจะทำให้มีข้อจำกัดต่อการเติบโตการส่งออกได้แต่ก็หวังว่าจะเป็นระยะสั้นๆ เนื่องจากภาพรวมการส่งออกปี 2560 คาดว่าน่าจะดีกว่าปีที่แล้วแต่จะโตถึง 5% หรือไม่คงจะต้องเร่งผลักดันกันถ้าไม่ได้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไทยจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการคือการผลักดันสินค้าส่งออกตามแนวชายแดนซึ่งปีที่ผ่านมายอมรับว่าการเติบโตมีเพียง 2.8% เท่านั้นขณะที่ตั้งเป้าไว้จะโตถึง 7% เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกภาพรวมชะลอตัวโดยเฉพาะจากจีน แต่ในปีนี้คาดหวังว่าการค้าชายแดนของไทยน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกปีหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก

จาก http://manager.co.th   วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชงตั้งสำรองน้ำตาลรับลอยตัว

กอน.ให้ตั้งสำรองน้ำตาลทรายเดือนละ 2.5 แสนตัน จนถึงฤดูหีบใหม่ รับลอยตัวราคาน้ำตาลทราย นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

ทั้งนี้ เห็นชอบตรงกันให้ปรับมาใช้วิธีการสต๊อกน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) อย่างน้อย 2.5 แสนตัน/เดือน จนกว่าจะถึงฤดูการผลิตใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงป้องกันภาวะน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลนซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศได้ ซึ่งโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมจะปฏิบัติเพื่อดูแลผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดบางประเด็นที่โรงงานน้ำตาลทรายต้องหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีกครั้งในแนวทางปฏิบัติ และมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลบริโภคในประเทศ หลังการยกเลิกโควตา และปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศ หลังการยกเลิกโควตา และปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ลอยตัวตามกลไกตลาด เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายถึง 3 ใน 4 ของปริมาณผลผลิต

"เนื่องจากการจัดสรรโควตาจำหน่ายที่มีการขึ้นงวดเป็นรายสัปดาห์ตามระบบเดิมในปัจจุบัน มีน้ำตาลที่ขึ้นงวดแล้วยังค้างจำหน่ายในแต่ละเดือนประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขสต๊อก ที่กอน.กำหนดที่เดือนละ 2.5 แสนตัน เพื่อ การันตีความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะมีน้ำตาลทรายเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน"

สำหรับแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกนั้น โรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่ต่างเห็นพ้องกันที่จะให้ปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศลอยตัวตามตลาดโลก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค โดยเห็นพ้องกันในกรอบการหาราคาอ้างอิงเพื่อนำมาใช้คำนวณราคาต้นทุนอ้อย โดยใช้ราคาที่อิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดล่วงหน้าลอนดอน บวกพรีเมียม โดยจะหารือในรายละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะได้รายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ พร้อมกับการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายให้ฝ่ายบราซิลทราบ ในการเจรจาสองฝ่ายอีกครั้งในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ สำหรับการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ คาดว่า จะประมาณเดือน ต.ค. 2560 เป็นการลอยตัวแบบมีการจัดการ โดยมีการ ตั้งกองทุนดูแลช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สำหรับที่มาของเงินนั้นอาจจัดเก็บในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกสูง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กรมชลประทานขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรOหวังลดความเสี่ยงภาคการเกษตรช่วงฤดูแล้ง

กรมชลประทาน สนองนโยบายกระทรวงเกษตรฯ หลัง ครม. อนุมัติแผนลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 พร้อมขับเคลื่อน 6 มาตรการ ทันทีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

  นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/2559 ว่า ปีนี้ถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศจะมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทนจากการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานได้ขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ผ่านมาและได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการและโครงการที่รับผิดชอบโดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมาตรการลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร มีทั้งหมด 6 มาตรการ  ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง2.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 3.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน4.มาตรการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย 5.มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 6.มาตรการจัดทำแผนความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง

ในส่วนของกรมชลประทานได้ดำเนินการจัดประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำทั่วประเทศเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงแนวทางการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำตามแผนที่กำหนดให้กับการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่แล้วและยังได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศดำเนินการตามแผนมาตรการดังกล่าว ได้แก่ การส่งเสริมให้เกษตรกรทำการปลูกข้าวนาปรังโดยวิธีเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว เพื่อเป็นการประหยัดน้ำโดยมีเป้าหมาย 27 จังหวัด ๆ ละ 5 แปลง รวม 135 แปลง ๆ ละ 5 ไร่ รวม 675 ไร่ ส่วนเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่นอกแผนการจัดส่งน้ำและไม่ได้ทำการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งปีนี้ กรมชลประทานมีงบประมาณ 3,497.19 ล้านบาท เพื่อเป็นรายได้ทดแทนให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้ และได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศดำเนินการจ้างแรงงานเข้ามาทำงานปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารชลประทาน รวมทั้งการขุดลอกคูคลองการกำจัดวัชพืช จนถึงปัจจุบัน (20 กุมภาพันธ์ 2560)กรมชลประทานมีการจ้างแรงงานไปแล้วจำนวน 39,668 คน ทั่วประเทศ

นอกจากนั้นการดำเนินงานในมาตรการอื่น ๆ กรมชลประทานยังสร้างความมั่นคงด้านน้ำด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเกษตรให้ทั่วถึงและเพียงพอ โดยได้จัดสรรงบประมาณ 2,736.94 ล้านบาท เพื่อสร้างแหล่งเก็บน้ำให้แล้วภายในปี 2560 ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำ จำนวน 10 แห่ง และแก้มลิง จำนวน 24 แห่ง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เดินหน้าตามแผนดังกล่าวแล้วเพื่อป้องกันผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและผู้ใช้น้ำรวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ในการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งในพื้นที่ โดยเร่งประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือให้ชาวนางดทำนาปรังเพิ่มและให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าว เนื่องจากปัจจุบันมีการทำนาปรังเกินกว่าแผนไปแล้ว โดยแผนการปลูกข้าวนาปรังกำหนดไว้ที่ 4 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันมีการปลูกไปแล้วถึง 7.28 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผนอยู่ 3.28 ล้านกว่าไร่ และอาจส่งกระทบต่อแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้อย่างไม่ขาดแคลน ขอให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อทุกภาคส่วนจะได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดฤดูแล้ง

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กรมชลจัดกระบวนกลยุทธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเกษตรแปลงใหญ่

กรมชลประทานกำหนดให้การมีส่วนร่วมของประชาชน  เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกรมฯ เพื่อพัฒนาบุคลากรของกรมฯ เรียนรู้กระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ครบทั้ง 17 สำนักงานชลประทานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ  คาดหวังให้ประชาชนร่วมแก้ไขปัญหาน้ำในระดับพื้นที่ได้ โดยมอบหมายให้สถาบันการศึกษาจัดกระบวนการยกร่างแผนกลยุทธ์การมีส่วนร่วมกรมชลประทานในรูปRoad Map

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ประกาศยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการทำงานของกรมฯ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เป็นครั้งแรก

 ด้วยนั้น ในชั้นต้นจะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และระดมความเห็นจากข้าราชการกรมทุกระดับ และทุกภาค  เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของกรมฯ

ขณะเดียวกัน ได้วางแผนสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.)ให้ครอบคลุมภายในสำนักงานชลประทานทั้ง 17 สำนักทั่วประเทศ จากที่มีอยู่แล้วในระดับสำนักและกอง 13 แห่ง"เป็นการพัฒนาคนของกรมชลประทานเอง ให้มีความรู้ความเข้าใจระดับเข้มข้น เพื่อเข้าไปส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ พูดง่ายๆ เป็นโค้ช เพื่อขับเคลื่อนงานบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตัวของประชาชนเอง"นายสุจินต์กล่าวอีกว่า  กรมชลประทานวางเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้ของชุมชน จนถึงขั้นวางแผนยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำ เพราะเชื่อมั่นว่า โดยกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจะค่อยๆ พัฒนาประชาชนเข้มแข็ง จนถึงขั้นร่วมวางแผนยุทธศาสตร์น้ำในพื้นที่ได้

"ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะวางแผนเองได้ในทันที  แต่ต้องมีกระบวนการขั้นตอนการเรียนรู้ โดยดำเนินการในรูปทีมชลประทานท้องถิ่น ซึ่งมีภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินการตามนโยบายประชารัฐ เช่น ภาคอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และ ระบบนิเวศ เป็นต้น แล้วร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา หาความต้องการน้ำในปัจจุบันและอนาคต เพื่อนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำ  โดยใช้ศาสตร์พระราชาเป็นตัวกำกับในการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ  และมีประชาชนด้วยกันตรวจสอบข้อมูลกันเอง" นายสุจินต์กล่าว

นายสุจินต์ยอมรับว่า การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บางแห่ง ประสบปัญหาความไม่เข้าใจจากประชาชนในพื้นที่  แต่เมื่อใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะคลี่คลายปัญหาได้ค่อนข้างดี เพราะมีส่วนรับรู้ ร่วมคิด ในทุกขั้นตอนปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบ"เป็นทิศทางการดำเนินงานของกรมชลประทานมาหลายปีแล้ว แต่ยังทำกันในวงแคบเฉพาะบางพื้นที่  ถึงจะใช้เวลานาน 1-3 ปี แต่ประสบผลสำเร็จดีทีเดียว เช่นโครงการฝายท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช และ โครงการพัฒนาลุ่มแม่ตาช้างแบบมีส่วนร่วม จ.เชียงราย เป็นต้น"

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

BRR แจกหุ้นปันผล 5:1 ราคาอ้อยพุ่งส่งผลดีปี 60 

          BRR ประกาศแจกหุ้นปันผล 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ พร้อมปันผลเงินสดอีก 0.02 บาท เตรียมรับผลประกอบการโดดเด่นปี 2560 หลังสำรองจ่ายค่าอ้อยขั้นต้นให้เกษตรกรตามราคาอ้อยที่พุ่งขึ้นสูงแล้วในปลายปีก่อน ชี้เกษตรกรหันปลูกอ้อยดันผลผลิตบริษัทเพิ่ม พร้อมเดินเครื่องตั้งกองทุนโรงไฟฟ้าระดมทุน เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2559 บริษัทมีรายได้รวม 4,685.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.07% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีรายได้ 4,295.86 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 113.32 ล้านบาท ลดลง 58.39% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 272.35 ล้านบาท

          อันเป็นผลมาจากการจ่ายค่าอ้อยขั้นต้นให้เกษตรกรในฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ที่บริษัทเริ่มเปิดรับหีบอ้อยตั้งแต่เดือนธันวาคม เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก โดยมีการบันทึกต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 84 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากการขายน้ำตาลที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2560

          นอกจากนี้บริษัทยังได้ตั้งสำรองสินทรัพย์ที่มีการด้อยค่าจากกรณีถังเก็บกากน้ำตาล (โมลาส) เสียหายประมาณ 44 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาชดเชยค่าสินไหมจากบริษัทประกัน และมีการตั้งสำรองค่าเครื่องจักรจากการขยายกำลังการผลิต

          ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติจ่ายเงินปันผล จากผลการดำเนินงานปี 2559 โดยจ่ายเป็นหุ้นปันผล 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ และจ่ายปันผลเป็นเงินสดหุ้นละ 0.02 บาท จากนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทที่ตั้งไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิในงบการเงินรวม โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 และขึ้นเครื่องหมายวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล 3 พฤษภาคม 2560

          สำหรับฤดูการผลิตปี 2559/60 บริษัทตั้งเป้าอ้อยเข้าหีบกว่า 2.2 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตก่อนหน้าที่มีปริมาณอ้อย 2.06 ล้านตัน และคาดว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลประมาณ 250,000 ตัน พร้อมกันนี้ บริษัทยังมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านผลผลิตและการส่งเสริมเกษตรกรรายใหม่ให้เปลี่ยนจากพืชชนิดอื่นมาปลูกอ้อยทำให้ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแตะ 3 ล้านตันในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า

          ขณะที่ ทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงกว่าระดับ 20 เซนต์ต่อปอนด์ จากภาวการณ์ผลผลิตน้ำตาลทรายของประเทศผู้ผลิตสำคัญลดลงทั้ง อินเดียและจีน อันเนื่องมาจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและการเข้ามาแย่งพื้นที่ของพืชชนิดอื่นๆ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกน่าจะทรงตัวในระดับนี้ จนถึง ปี 2561

          นายอนันต์ ระบุด้วยว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อขอจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)แล้ว โดยขายโรงไฟฟ้า 2 แห่งกำลังผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ เข้ากองทุน และบริษัทจะเข้าถือในสัดส่วน 33.33% เพื่อระดมทุนนำเม็ดเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจเพิ่มเติม

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"Trading Firm" ฟันเฟืองสำคัญสร้างชาติการค้า

บทความจากเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ความสำคัญเรื่องการค้า ประเทศไทยจะต้องเป็นชาติการค้าในปี 2579 คือหนึ่งในเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และโดยความหมาย ชาติการค้า คือ ชาติที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ที่พัฒนาชาติการค้าจากการตั้งต้นสร้าง บริษัทที่ทำธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้า โดยไม่ได้มีฐานการผลิตสินค้าในประเทศตนเอง หรือ เรียกสั้นๆ ว่า trading firm ให้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการค้า

รวมถึงเกาหลีใต้ ที่มีบริษัทขนาดใหญ่เช่น Samsung หรือ Daewoo ก่อนที่จะมาเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือรถยนต์ก็เป็น trading firm มาก่อน เช่น Samsung ช่วงก่อตั้ง เป็นบริษัทส่งออกปลาแห้ง และผักผลไม้ไปแมนจูเรียและปักกิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นประมาณหนึ่งทศวรรษจึงเริ่มมี โรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรทัศน์ ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของโลก

ประเทศไทยยังขาดบริษัท trading ที่สามารถทำหน้าที่ในการเสาะหาตลาดในต่างประเทศ และสินค้าในประเทศเนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนมากโตมาจากการเป็นผู้ผลิตสินค้ามากกว่าผู้ค้าสินค้า  อย่างไรก็ดี  ผู้ผลิตสินค้าส่งออกรายใหญ่ของประเทศไทยที่มีแบรนด์ของตนเอง เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย หรือ  AIIZ ก็เริ่มที่จะผันตัวมาเป็น trader มากขึ้น เริ่มจากการค้าขายสินค้าของตนเองก่อน  แต่เมื่อมีความคุ้นเคยกับผู้นำเข้าในต่างประเทศแล้ว  ก็สามารถขยายกรอบธุรกิจให้ครอบคลุมถึงการทำการตลาดและการจัดจำหน่ายเองด้วย  โดยมีการสรรหาสินค้าจากแหล่งอื่นๆ มาเสริมกับสินค้าของตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ในอดีต ประเทศไทยเคยมีมาตรการในการส่งเสริม Trading Firm ในช่วงปี พ.ศ. 2521-2524 โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือBOI และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตั้งสาขาในต่างประเทศเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการตลาด และการส่งออกสินค้าได้ตามมูลค่าขั้นต่ำที่กำหนดเป็นเงื่อนไขในการได้รับการส่งเสริม

แต่บริษัท Trading Firm ที่ได้รับการส่งเสริมส่วนใหญ่ขาดทุน เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของ BOI ได้ เช่น ไม่มีบริษัทใดสามารถเปิดสำนักงานสาขาในต่างประเทศได้ ไม่สามารถทำเป้าส่งออกได้ตามกำหนด  การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้า มีการเปลี่ยนแปลงระบบ Packing Credit (P/C) จากธนาคารแห่งประเทศไทยมายังธนาคารเพื่อการส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ส่งผลให้วงเงินที่ได้รับตามเอกสารลดลงและต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงขึ้น  ปัจจุบันบริษัท Trading Firm ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนข้างต้น ส่วนใหญ่เลิกกิจการไปแล้ว มีเพียง 3 บริษัทที่ยังเปิดดำเนินการ คือ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด  บริษัท ค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด และ บริษัท สหยูเนียน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสินค้าเป็นของตนเองเป็นส่วนใหญ่

ปัญหาที่ทำให้ Trading Firm ไทยที่ไม่ได้ขายสินค้าของตนเองไม่สามารถอยู่รอดได้ในอดีต ก็เพราะบริษัทเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางที่ซื้อมา ขายไปเท่านั้น  ทำให้บทบาทหมดไปเมื่อผู้ผลิตสินค้าสามารถติดต่อโดยตรงกับผู้ซื้อสินค้าได้เอง  ต่างจาก Trading Firm ขนาดใหญ่ในต่างประเทศในปัจจุบัน เช่น Li & Fung จากฮ่องกง ซึ่งมิได้ทำหน้าที่เป็นเพียงพ่อค้าคนกลางให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการจะส่งออกสินค้าเท่านั้น  หากแต่เป็นผู้ที่สามารถให้ข้อมูลด้านการตลาดเช่นแนวโน้มเกี่ยวกับรสนิยมหรือพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าในแต่ละประเทศ รูปแบบลักษณะสินค้าที่เป็นที่ต้องการ วิธีการในการปรับปรุงสินค้าหรือการหีบห่อให้เป็นที่ต้องการของตลาด  ตลอดจนการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าที่รับมาจำหน่ายต่อให้แก่ผู้สั่งสินค้าในแต่ละประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทุกวันนี้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น Walmart มีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง บริษัท Trading Firm จำเป็นต้องเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่เป็นผู้ผลิตสินค้าด้วย  เพื่อที่จะสามารถกำกับควบคุมให้มีการผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการ ในกรณีที่ไม่สามารถหาสินค้าหรือผู้ผลิตรายใดในตลาดที่พร้อมที่จะผลิตสินค้าดังกล่าวได้   

มาตรการส่งเสริม Trading Firm ในประเทศไทยได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ ล่าสุด กรมสรรพากรได้ดำเนินมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) บริษัทการค้าระหว่างประเทศในที่นี้ หมายถึงบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อประกอบกิจการจัดซื้อและขายสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน หรือให้บริการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องเป็นสัญชาติไทย ไม่จำเป็นต้องส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศ สามารถส่งออกสินค้าที่จัดหามาจากต่างประเทศเพื่อส่งออกก็ได้ และครอบคลุมการจัดซื้อชิ้นส่วนเพื่อการผลิตในประเทศ (ไม่รวมการจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงซึ่งจะเป็นธุรกิจค้าปลีก)  ซึ่งนับได้ว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่รัดตัวเท่าใดนักต่างจากในอดีต แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า บริษัทใดได้รับการส่งเสริมบ้างและบริษัทเหล่านั้นได้ช่วยส่งเสริมการส่งออกให้แก่ SME ไทยหรือไม่ หรือเป็นเพียงบริษัทขนาดใหญ่ที่ค้าขายสินค้าของตนเองเป็นหลักเท่านั้น  จึงควรที่จะมีการติดตามและประเมินผล การส่งเสริม ITC ของ BOI

ทั้งนี้ การศึกษาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติการค้า ยกระดับการส่งออกไทย พบว่า ในต่างประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า อินเดีย เสปน เดนมาร์ค ชิลี บราซิล อิตาลี จอร์แดน มอรอคโค เปรู ตูนิเซีย ตุรกี และ อุรุกวัย มีมาตรการในการส่งเสริมการส่งออกที่น่าสนใจ คือการส่งเสริมการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในประเทศในการส่งออกสินค้าหรือที่เรียกว่า“Consortium” โดยการให้เงินสนับสนุนในการทำการศึกษาตลาด ในการทำกิจกรรมส่งเสริมสินค้าและในการสร้างแบรนด์ ตลอดจนการให้การสนับสนุนในเชิงเทคนิค เช่น การให้การฝึกอบรมและข้อมูลเกี่ยวกับการตลาด การโฆษณาและการสร้างแบรนด์ การให้คำปรึกษาด้านภาษี ด้านมาตรฐานสินค้า ฯลฯ

การส่งเสริมการส่งออกแบบกลุ่มดังกล่าวนอกจากจะช่วยประหยัดทรัพยากรของภาครัฐในการให้การส่งเสริมแล้วยังช่วยประหยัดทรัพยากรของผู้ประกอบการอีกด้วยจากการแบ่งภาระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตลาดหรือในการส่งสินค้าระหว่างกัน  ประเทศไทยจึงอาจพิจารณาศึกษาถึงความเหมาะสมในการนำมาตรการส่งเสริมแบบกลุ่มมาใช้ และเพื่อขับเคลื่อนให้มาตรการที่ควรส่งเสริมนี้เกิดผลบวกต่อภาคส่งออกไทย ทางทีดีอาร์ไอจึงได้จัดทำเป็นหนึ่งในข้อเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติการค้าในด้านพัฒนาตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการไทย ให้กับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลต่อไป

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เตือนเกษตรกรเสี่ยงเจอแล้งหนัก หลังพบทำนานอกแผนกว่าล้านไร่

ผู้อำนวยการชลประทานที่12 ชัยนาท ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกร ที่พบว่า มีการทำนานอกแผนไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ เพราะในหน้าแล้งที่จะมาถึงน้ำอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องหาแหล่งน้ำสำรองเตรียมไว้

24 ก.พ.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาวะความแห้งแล้งที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันเริ่มกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำนาต่อเนื่อง หรือนาปรัง ทำให้นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่12 ชัยนาท ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคกลางฝั่งตะวันตก แหล่งการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ออกมาแสดงความห่วงใยถึงเกษตรกรหลังจากที่สำรวจพบว่า มีการทำนาปรังนอกแผนมากถึงกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงจากภาวะน้ำน้อย

โดยจากแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ภาคกลางมีพื้นที่เกษตรในแผนที่สามารถเพาะปลูกในหน้าแล้งได้ 2.6 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันพบว่า มีการเพาะปลูกไปแล้วถึงกว่า 3.7 ล้านไร่ ซึ่งในส่วนที่เกินมาถือว่ามีความเสี่ยง ที่จะได้รับความเสียหายจากสภาวะน้ำน้อยในช่วงหน้าแล้ง เดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งในส่วนนี้เกษตรควรหาแหล่งน้ำสำรองทั้งหนองบึงและน้ำบาดาลไว้เพื่อป้องกันความเสียหาย และขอความร่วมมือเกษตรกรที่เตรียมลงมือเพาะปลูกรอบใหม่ขอให้ชะลอออกไป เพื่อเริ่มเพาะปลูกตามแผน 1 พ.ค.60 ที่กรมชลประทานจะเริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตร ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยแล้งได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ไทยก้าวสู่ผู้นำการผลิต ส่งออกอ้อยระดับโลก

     นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2559 ที่ จ.เชียงใหม่ โดยประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 2,000 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก

     นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2559 ที่ จ.เชียงใหม่ โดยประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 2,000 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก

     ทุกประเทศชื่นชมและสนใจต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย โดยเฉพาะการทำไร่อ้อยแบบพอเพียง ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้ปวงชนชาวไทยยึดเป็นแนวทางในการดำรงชีพและใช้ชีวิต ซึ่งการทำไร่อ้อยแบบพอเพียงจะทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถอยู่รอด และก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกระดับโลกได้

      เพียงเกษตรกรรวมกลุ่มกันจากแปลงเล็กหลาย ๆ แปลงเป็นแปลงขยายใหญ่ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล จากนั้นร่วมกันพัฒนานำเครื่องจักรกลที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนและมีต้นทุนสูง จะทำให้ต้นทุนการผลิตอ้อยของไทยลดลง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

       นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการในอุตสาห กรรมอ้อยและน้ำตาลจากทั่วโลกให้ความสนใจมาร่วมจัดนิทรรศการจำนวนมาก การเจรจาธุรกิจก็ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ให้บริการและผู้ผลิตอุปกรณ์ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้พื้นที่จัดแสดงสินค้าได้ถูกจำหน่ายหมดแล้วในเวลานี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม อันจะนำไปสู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอนาคตได้

       ในด้านวิชาการ มีผู้ส่งผลงานทางวิชาการมากถึง 267 เรื่อง ทำให้นักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็น สร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายกับนักวิจัยระดับโลกที่เข้ามาเพื่อต่อยอดในการสร้างงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อไปในอนาคต และที่สำคัญตัวแทนผู้ส่งผลงานจากประเทศไทยถึง 10 คนได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล Best Papers และ Best Posters Award จาก 4 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาขาชีววิทยา โรงงาน และผลิตภัณฑ์พลอยได้ โดยสาขาชีววิทยาเป็นสาขาที่มีการนำเสนอผลงานทั้งแบบปากเปล่าและจัดแสดงโปสเตอร์มากที่สุด โดยเฉพาะหัวข้อเรื่องชีววิทยา และการปรับ ปรุงพันธุ์อ้อย

        ด้าน นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสำคัญในการจัดงานประชุมครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการเป็นผู้นำในเรื่องอ้อยและน้ำตาลของไทย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อ้อยประเภทต่าง ๆ การจัดการดินและน้ำภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ไปจนถึงใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก

       สำหรับเกษตรกรรายย่อย และโรงงานน้ำตาลในยุคใหม่ ที่นำนวัตกรรมและเทคโน โลยีในการนำผลผลิตอ้อยทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ โดยไม่มีส่วนใดเหลือทิ้ง ตลอดจนการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน และการควบคุมการผลิตด้วยระบบจีพีเอส

        นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลของไทย ได้มีโอกาสนำเสนอสินค้าออกสู่สากลมากขึ้นอีกด้วย

        “ที่สำคัญการประชุมครั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรของไทยได้เข้าชมงาน ทำให้ได้รับรู้และรับทราบเทคโนโลยีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรับปรุง พัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งในเรื่องของพันธุ์อ้อย เครื่อง จักร การจัดการน้ำ ดิน ปัจจัยการผลิต การเก็บเกี่ยว การขนส่ง เป็นต้น” นายกิตติ กล่าว

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : ‘เกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐ’ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน-เพิ่มมูลค่าสินค้า-บริหารจัดการเอง

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการร่วมกัน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต มีการบริหารจัดการที่ดีภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน ซึ่งเป็นการสนับสนุนในด้านความรู้โดยการใช้งานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ เข้าไปช่วยพัฒนา สนับสนุนการทำการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในด้านต่างๆ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย สำหรับเงินทุนรัฐบาลได้สนับสนุนโครงการสินเชื่อระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่นำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาการผลิตของกลุ่ม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการที่ทำไมต้องมีภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องว่า ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสนับสนุนการดำเนินงานแปลงใหญ่ เป็นการใช้จุดแข็งของภาคเอกชนในเรื่อง การบริหารจัดการ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการตลาด มาช่วยให้เกษตรกรมีความสามารถพัฒนาการผลิต และเข้าถึงตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความยั่งยืน และมั่งคงในอาชีพเกษตร ซึ่งความร่วมมือ กับเอกชนในการดำเนินงานแปลงใหญ่แต่ละแปลง เกษตรกรไม่ได้มีข้อผูกมัดในการใช้ปัจจัยการผลิตจากภาคเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตัดสินใจเลือกใช้ได้ด้วยตนเอง รวมถึงด้านการตลาดเกษตรกรก็มีอิสระในการที่จะจำหน่ายให้กับเอกชนที่มีเงื่อนไขที่ดีสำหรับเกษตรกร ทั้งนี้ แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ เป็นการดำเนินการร่วมกันของคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ มีจำนวน 58 แปลง จากแปลงใหญ่ของประเทศทั้งหมด 600 แปลง (ปี 2559) ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ดำเนินการตามแนวทางที่กล่าวมาแล้วเช่นกัน

 “คำว่าผูกขาดจะไม่เกิดขึ้นในระบบแปลงใหญ่ เพราะความร่วมมือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ไม่ได้ร่วมมือในเรื่องตลาดเพียงอย่างเดียว และในเรื่องตลาดสำหรับการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ไม่ได้เป็นตลาดผูกขาดสำหรับเอกชนรายใดรายหนึ่ง ในการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในแปลงใหญ่ทุกแปลง ได้เปิดโอกาสให้เอกชนทุกรายสามารถเข้าร่วมดำเนินงานได้ในทุกด้าน รวมทั้งการรับซื้อผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถตัดสินใจจำหน่ายกับรายที่ให้ราคา และมีเงื่อนไขที่เกษตรกรพอใจ ทั้งนี้อาจจะเป็นผู้ส่งออก พ่อค้าท้องถิ่น หรือเอกชนขาดใหญ่ เช่น มะม่วง ทุเรียน มังคุด ได้มีบริษัทส่งออกเข้ามารับซื้อ และส่งออกไปต่างประเทศ ผัก และสับปะรด ได้มีการเชื่อมโยงกับ Modern trade ในการเข้ามารับซื้อเพื่อจำหน่ายในประเทศ การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรสามารถทำธุรกิจได้ด้วยตนเอง ตัวอย่าง เช่น แปลงใหญ่ข้าว อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เกษตรกรสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ขายตลาดต่างประเทศได้โดยตรง ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรในการเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรม” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แบงก์ชาติจับตาเงินนอกทะลัก ห่วงบาทแข็ง

"แบงก์ชาติ" เผยทุนนอกไหลเข้าไทย หลังมองเป็นประเทศปลอดภัยในการลงทุน กดเงินบาทแข็ง ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โตกระจายมากขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย ยุคดิจิทัล” จัดโดย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ว่า ด้วยฐานะต่างประเทศของไทยที่มีความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก หนี้ต่างประเทศต่ำ และมียอดการเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมองไทยเป็นประเทศเป็น “เซฟเฮเว่น” หรือประเทศที่มีความปลอดภัยในการลงทุนสูง

“ด้วยภาวะแบบนี้ ทำให้มีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาพักในไทยค่อนข้างมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องคอยประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด”

ย้ำธปท.มีเครื่องมือดูแลทุนไหลเข้า

นายวิรไท กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางสมัยใหม่ทั่วโลก จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่หลากหลายในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกำกับดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน(แม็คโครพรูเด็นเชียล) หรือมาตรการกำกับเงินทุนเคลื่อนย้าย หากเห็นว่าบางช่วงมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าประเทศมาก จนไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางเหล่านี้ก็สามารถนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ดูแลได้

นอกจากนี้ นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ดังนั้นค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวได้ในทั้ง 2 ทิศทาง ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบมาได้ทั้งจากปัจจัยในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ

“จะเห็นว่าปลายปีที่แล้วหลัง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่พอทรัมป์ ทวิตข้อความว่าไม่ต้องการเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่ามากเกินไป เงินดอลลาร์ก็กลับมาอ่อนค่า จึงเห็นได้ว่าค่าเงินมีโอกาสที่จะแกว่งตัวได้ในทั้งสองทิศทาง ดังนั้นเราไม่ควรประมาท ควรปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ และการปิดความเสี่ยงดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกคน เพราะแบงก์ชาติทำได้เพียงช่วยชะลอความผันผวนได้ในบางช่วงเวลาเท่านั้น”

ส่วนความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์วานนี้ (23 ก.พ.) นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลาร์ ใกล้เคียงกับปิดตลาดวานนี้

เศรษฐกิจฟื้นกระจายตัวมากขึ้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นายวิรไท กล่าวว่า เริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กระจายตัวมากขึ้น ซึ่งปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง แต่ปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ เริ่มดีขึ้น และราคาสินค้าเกษตรหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นด้วย ช่วยให้เศรษฐกิจในภาคชนบทได้อานิสงส์ดังกล่าว

“ปลายปีที่แล้วเราได้รับผลกระทบจากบรรยากาศที่คนไม่พร้อมจับจ่ายใช้สอย และผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์จีนผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไตรมาส 4 บ้าง แต่ตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีกว่าคาด และยังพบการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทย ก็ถือว่าฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้น ทั้งในเชิงสินค้าและประเทศคู่ค้า อาจมีเพียงตลาดในตะวันออกกลางที่ยังไม่สู้ดีนักจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำ ขณะเดียวกันถ้าดูการส่งออกของประเทศอื่นในภูมิภาคก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีเช่นกัน

ส่วนการลงทุนของภาครัฐ ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยถือว่าโชคดีที่ฐานะการคลังมีความเข้มแข็งเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถใช้นโยบายการคลังดูแลเศรษฐกิจได้ การที่ภาครัฐทำนโยบายขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มเติม ก็เป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการประมูล หลังจากนี้เชื่อว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนได้ ความชัดเจนก็น่าจะมากขึ้น”

ทั้งนี้ ธปท. ยังเตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 ในเดือน มี.ค.นี้ จากที่คาดการณ์ไว้ขยายตัว 3.2% มาจากการขับเคลื่อนของภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งโดยปกติจะมีการทบทวนปีละ 4 ครั้ง

ธปท.ชี้ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ในส่วนของดอกเบี้ยตลาดเงินนั้น หลังจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ดอกเบี้ยในตลาดการเงินก็มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวขึ้นด้วย จึงมองว่าดอกเบี้ยตลาดเงินน่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่การปรับเพิ่มขึ้นคงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนเรื่องเงินคงคลังที่หลายคนมีความกังวลนั้น ต้องบอกว่าเงินคงคลังเปรียบเหมือนบัญชีกระแสรายวัน เมื่อต้องการใช้เงินก็กู้เงินมาไว้ในบัญชีดังกล่าว ซึ่งระยะหลังกระทรวงการคลังเปลี่ยนนโยบายไม่ต้องการกู้เงินมากองไว้ เพราะมีต้นทุนจึงทำให้ในบางช่วงระดับเงินคงคลังปรับลดลง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวล และที่บอกว่ารัฐบาลถังแตก แต่ถ้าดูเงินสำรองระหว่างประเทศจะเห็นว่า ปัจจุบันของไทยมีสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก

สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนนั้น ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ระดับต่ำ และไม่ได้เป็นแค่เฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ทำให้ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก อีกทั้งธุรกิจใหม่ที่เข้ามา ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่ใช้เงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม

2ปี แบงก์พาณิชย์ไม่เปิดสาขาใหม่

นายวิรไท กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้ต้นทุนในด้านบริการต่างๆ ลดลงมาก ในภาคการธนาคาร ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยช่วง 5 ปีก่อนหน้า ธนาคารมียอดเปิดสาขาปีละ 300 สาขา แต่ 3 ปีที่ผ่านมา ยอดการเปิดสาขาใหม่ลดเหลือ 30 สาขา ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์แทบไม่ได้เปิดสาขาใหม่เลย จนในปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการแจ้งขอปิดสาขาเพิ่มเติมด้วย

ส่วนกรณี บริษัท Payall ที่ให้บริการ E-Money ผิดกฎหมาย จะได้ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จึงขอเตือนประชาชนที่จะใช้บริการ ให้เลือกผู้ที่ให้บริการอย่างถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการผ่านทาง โทร 1213 และ เว็บไซต์ของธปท.ได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่ถูกต้องมากกว่า 20 แห่ง

"ตอนนี้ยังมีประชาชนเข้ามาร้องเรียนให้ตรวจสอบอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะบางแห่งขอใบอนุญาตอีกแบบ แต่เปิดดำเนินธุรกิจอีกแบบ เราถือว่าผิดกฎหมาย หากอนาคต Payall จะเข้ามาขออนุญาตใหม่ ทางเราก็จะพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้บริหาร เพราะธปท.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ" นายวิรไท กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และภาครัฐ ได้ข้อสรุปตัวเลขปริมาณสต๊อกน้ำตาลทราย 2.5 แสนตัน เชื่อเพียงพอต่อการบริหารความเสี่ยงน้ำตาลขาดแคลน หลังลอยตัวราคาในประเทศ

          คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ข้อสรุปแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามตลาดโลกและเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย ก. ข. และ ค. ตามที่ ครม. ได้มีมติไว้ ซึ่งทั้งชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลและภาครัฐ เห็นพ้องตั้งสำรองน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เดือนละ 2.5 แสนตันจนถึงฤดูหีบใหม่ เชื่อเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการบริโภค โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องกำหนดกรอบการหาราคาอ้างอิง เพื่อนำมาใช้คำนวณราคาอ้อย และจะได้หารือแนวทางปฏิบัติร่วมกันต่อไป

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กอน. ได้ข้อสรุปแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก และการยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. และ ค. ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. และ ค. เพื่อเปิดเสรีน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับหลัก WTO โดยเห็นชอบตรงกันให้ปรับมาใช้วิธีการสต๊อกน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงป้องกันภาวะน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศได้

          อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดบางประเด็นที่โรงงานน้ำตาลทรายต้องหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีกครั้งในแนวทางปฏิบัติ และมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลบริโภคในประเทศหลังการยกเลิกโควตา และปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศลอยตัวตามกลไกตลาด เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายถึง 3 ใน 4 ของปริมาณผลผลิตและมีการตั้งปริมาณสต็อกที่โรงงานต้องจัดเก็บสำรองไว้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 2.5 แสนตันจนถึงฤดูการผลิตใหม่ ซึ่งโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมจะปฏิบัติเพื่อดูแลผู้บริโภค

          "เนื่องจากการจัดสรรโควต้าจำหน่ายที่มีการขึ้นงวดเป็นรายสัปดาห์ตามระบบเดิมในปัจจุบัน มีน้ำตาลที่ขึ้นงวดแล้วยังค้างจำหน่ายในแต่ละเดือนประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขสต๊อกที่ กอน. กำหนดที่เดือนละ 2.5 แสนตัน เพื่อการันตีความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะมีน้ำตาลทรายเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          ส่วนแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกนั้น โรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่ต่างเห็นพ้องกันที่จะให้ปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศลอยตัวตามตลาดโลก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค โดยเห็นพ้องกันในกรอบการหาราคาอ้างอิงเพื่อนำมาใช้คำนวณราคาต้นทุนอ้อย โดยใช้ราคา Export parity คือ อิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดล่วงหน้า ลอนดอน บวกพรีเมี่ยม โดยจะหารือในรายละเอียดต่อไป ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทราย (สอน.) จะได้รายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ พร้อมกับการเสนอ ครม. แก้ไข พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย ให้ฝ่ายบราซิลทราบ ในการเจรจาสองฝ่ายอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ไร่อ้อยสระแก้วขอขยายเวลาให้ชาวเขมรอยู่ตัดต่อ เหตุยังเหลืออีกเพียบ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์  เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมบูรพา ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว นายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานการประชุมพิจารณาการขอขยายเวลาอนุโลมให้แรงงานชาวกัมพูชาที่เข้ามารับจ้างตัดอ้อยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน อยู่ทำงานตัดอ้อยต่อไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม จากเดิมที่จะหมดอายุการอนุโลมในวันที่ 31 มีนาคมที่จะถึงนี้ ตามคำร้องขอของสมาคมเกษตรกร ชายแดนกัมพูชา เนื่องจากคาดว่าภายหลังวันที่ 31 มีนาคม จะยังคงมีอ้อยเหลืออยู่อีกจำนวนมากถึงกว่า 2.2 แสนตัน จากปริมาณการผลิต 3.6 ล้านตัน ในฤดูการผลิตปีนี้ ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติตามคำร้องขอ

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนกัมพูชา กล่าวว่า สาเหตุที่ยังคงมีอ้อยเหลืออยู่ปริมาณมากดังกล่าวเนื่องจากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ชาวไร่ต้องหยุดตัดอ้อยนานถึง 7 วัน เพื่อไม่ให้มีรถบรรทุกอ้อยวิ่งบนถนน  ตามมาตรการความปลอดภัยของจังหวัด ประกอบกับทางเจ้าหน้าที่เข้มงวดไม่ให้รถบรรทุกอ้อยบรรทุกได้สูง 4 เมตร ตามที่เคยปฏิบัติมา ทำให้ปริมาณอ้อยเหลือสะสมอยู่เป็นจำนวนมากดังกล่าว หากไม่มีการอนุโลม จะเกิดความเสียทั้งชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล

นายกล้าณรงค์กล่าวว่า การอนุมัติตามคำขอของชาวไร่อ้อยทางจังหวัดถือว่าเป็นการดูแลประชาชนในพื้นที่ทางหนึ่ง  เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของพื้นที่ขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งนี้ ก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมด้วย ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการพัฒนาและแก้ไข การผ่อนปรนแรงงานดังกล่าวให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎที่กฎหมายบังคับใช้ในอนาคตต่อไป

ขณะที่ยังมีรายงานอีกว่า นอกจากจะขอให้มีการขยายเวลาให้แรงงานเขมรอยู่ต่อแล้ว ทางสมาคมยังเสนอให้แรงงานเขมร ที่เดินทางกลับออกไปก่อนหน้านี้ กลับเข้ามาอีก  โดยทางสมาคมจะมีการควบคุมจำนวนอย่างเข้มงวด จากนั้นทางสมาคมจะดำเนินการทำเรื่องให้การเข้าประเทศของแรงงานเหล่านั้นถูกต้องตามกฎหมายการเข้าเมืองต่อไปในภายหลัง แต่ที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาดังกล่าว และจะมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งเป็นผู้พิจารณา

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กลุ่มค้านโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล จ่อยื่น’บิ๊กตู่’ที่ราศีไศลพรุ่งนี้ จนท.เร่งเจรจาแกนนำ ยังไม่ได้ข้อสรุป

คืบหน้ากรณีกลุ่มรักบ้านเกิดตำบลน้ำปลีกและกลุ่มลุ่มน้ำลำเซบาย นำโดย นายอิสรา แก้วดี ราษฎรบ้านน้ำปลีก ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ  ซึ่งได้เคยไปยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ที่ศูนย์บริการประชาชนสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2559 และมีกำหนดจะเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว ต่อนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ทั้งนี้ สืบเนื่องจากจะมีการจัดประชุมจัดทำ EIA รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล ในวันที่ 10 มีนาคม 2560 ที่จะถึงนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์  เวลา 14.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้นายพิจิตร บุญทัน ปลัดจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยผู้แทน ผบ.กกล.รส.จ.อจ. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ไปขอความร่วมมือ พร้อมทั้งชี้แจง ทำเข้าใจกับแกนนำกลุ่มคัดค้านโรงงานผลิตน้ำตาลฯ ที่ ต.น้ำปลีก ซึ่งนายอิสราให้มาพบและยื่นหนังสือคัดค้านฯ ดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์  เวลา 10.30 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วย ผบ.กกล.รส.จ.อจ. ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เชิญนายอิสรา แก้วดี แกนนำพร้อมด้วยกลุ่มคัดค้านฯ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ในข้อกังวลต่างๆ พร้อมให้ยื่นหนังสือคัดค้านฯ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญโดยตรง และได้ทำความเข้าใจให้กลุ่มคัดค้านฯ ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งมีกำหนดประชุมจัดทำ EIA ในวันที่ 10 มีนาคม 2560 นี้ โดยผลการเจรจาปรากฏว่า กลุ่มผู้คัดค้านฯ ยังไม่ตัดสินใจที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือฯ ต่อนายกรัฐมนตรี ที่ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 หรือไม่ โดยระบุว่าจะมีการหารือกันอีกครั้ง

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาททรงตัว หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 34.99/35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (22/2) ที่ระดับ 35.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ (22/2) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยใจความหลักนั้นระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนเห็นพ้องในการที่คณะกรรมการจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ โดยในรายงานนั้นระบุเลยว่ามีเจ้าหน้าที่เฟด 2-3 คนต้องการให้คณะกรรมการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อมีความสอดคล้อง หรือแข็งแกร่งกว่าการคาดการณ์ของเฟดในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากนโยบายทางการคลังของประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเป็นสิ่งที่คณะกรรมการยังคงกังวลอยู่ เมื่อวานนี้ (22/2) สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี

สำหรับความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจไทย เมื่อวานนี้ (22/2) นักวิเคราะห์ได้ออกมาคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยได้มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นน่าจะทำได้ระดับ 3.2% ถึงแม้การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ผ่านมา (4/2559) จะขยายตัวได้ค่อนข้างน้อย โดยนักลงทุนควรจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเปิดเผยในสัปดาห์หน้า และสำหรับค่าเงินบาทนั้นคาดว่า น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางปีนี้ และมีสิทธิ์ที่จะอ่อนค่าไปถึงระดึบ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี เนื่องจากเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ และอาจจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนในการประชุมเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 34.985-35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 34.99/35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (23/2) เปิดตลาดที่ระดับ 1.0553/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (22/2) ที่ระดับ 1.0513/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการที่คะแนนนิยมในตัวนางมารีน เลอ แปน ผูัสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ที่ต่อต้านการเข้าร่วมกับอียูนั้นลดลงประกอบทั้งสถาบัน IFO ได้ออกมาเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี ได้เพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 111 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 109.7 แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่สหภาพยุโรปได้ประกาศขีดเส้นตายต่อรัฐบาลอิตาลีในการควบคุมหนี้ในประเทศให้ต่ำลง โดยมีการคาดการณ์กันว่า หนี้สาธารณะของอิตาลีมีสิทธิ์ที่จะขึ้นไปแตะระดับ 133.3% ของจีดีพี จากที่ระดับ 132.8% โดยอิตาลีมีเวลาถึงเดือนเมษายนที่จะออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.0538-1.0573 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.0555/556 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (23/2) เปิดตลาดที่ระดับ 113.17/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับราคาปิดตลาดในวันพุธ (22/2) ที่ระดับ 113.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้ (23/2) ได้มีการเปิดเผยตัวเลข ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคบริการ โดยออกมาเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และสูงกว่าเดือนที่แล้วที่ระดับ 0.4% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 113.08-113.34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 113.20/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัยที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐรายสัปดาห์ (23/2) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประจำเดือนมีนาคม (24/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +1.00/+1.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.75/+1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"สมคิด" เกาะขบวนค้าเสรี ดูดนักลงทุนปักหมุด EEC

เศรษฐกิจไทยปี 2560 ภายใต้แรงเหวี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่-เป็นเจ้ามือตลอด 70 ปี หลังเปลี่ยนระเบียบการค้า-การเมืองโลกที่สร้างมากับมือ กลับมายึดนโยบายสร้างแรงสั่นสะเทือนเขย่ากระดานการค้าโลกด้วยใจระทึก

ถึงแม้คลื่นลมเศรษฐกิจลัทธิการค้าเสรีนิยมแห่งโลกยุคโลกาภิวัตน์จะเปลี่ยนทิศทางลมเศรษฐกิจโลก ถ่ายเทโอนย้ายไปยังฝั่งตะวันออก-เอเชีย ที่มีประเทศมหาอำนาจอย่างจีน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง

ทว่า "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี แม่ทัพเศรษฐกิจไทย เชื่อว่านโยบายการค้าเสรี จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเอเชีย เป็นเศรษฐกิจ "ยุคใหม่" เกิดการถักทอทางเศรษฐกิจ-ผูกพันเป็นพันธสัญญาแห่งทางการค้า

ภายใต้สัดส่วนการลงทุนเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างพันธมิตร-แนวร่วมระดับภูมิภาค ด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ อย่างระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นตัวชูโรง เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุน-การท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

หลังจากนี้จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะพันธมิตร CLMV+T แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยการเดินสายของทีมเศรษฐกิจในทำเนียบรัฐบาล คู่ขนานกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทย

"กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ทีมงานเศรษฐกิจในทำเนียบ เชื่อมั่นว่า "จุดยืน" ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลตามแนวนโยบายเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งสวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ เป็นตัวจุดชนวนเศรษฐกิจ "อเมริกา เฟิรสต์" หลังจากผันตัวเองจาก "ผู้สร้าง" ระเบียบการค้าโลก กลายเป็น "ผู้ทำลาย" ระเบียบด้วยน้ำมือตัวเอง

"อเมริกามีมุมมองเกี่ยวกับการค้าแตกต่างจากในอดีต เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เป็นนักธุรกิจ ซึ่งมีมุมมองว่าบั้นปลายการค้าเสรี อเมริกาจะไม่ได้รับประโยชน์-จะเสียเปรียบประเทศอื่น อเมริกาจึงต้องการเจรจาทางการค้าใหม่เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ"

"กอบศักดิ์" มองช่องทางธุรกิจในมุมมอง-หลักคิดของภาคเอกชนว่า สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ตลาดโลกจึงเป็นตลาดที่ใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นลู่ทางที่ไทยจะต้องเข้าสู่ตลาดโลกและอาศัยกลไกตลาดโลกเป็นพื้นที่ขาย-ระบายสินค้าของประเทศไทยซึ่งเป็นโอกาสที่จะเปิดตลาดการค้าให้กับประเทศไทยและหลายประเทศที่เป็นคู่เจรจา อาทิ จีน หรือประเทศอื่น ๆ ที่ตั้งใจจะเจรจา ซึ่งเป็นประเทศที่มีต้นทุนสูงแทบทั้งสิ้น

"ประเทศไทยจึงได้เปรียบกับคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับอังกฤษ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น โดยการใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ประเทศไทยจึงได้เปรียบจากการค้าเสรี เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจึงเดินหน้านโยบายการค้าเสรี ขณะที่อเมริกาทบทวนนโยบาย เนื่องจากไม่ได้เปรียบกับการค้าเสรี"

ปัจจัยที่ทำให้ทีมเศรษฐกิจมั่นใจว่า การยืนตามนโยบายการค้าเสรีจะประสบความสำเร็จภายใต้กระแสเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การนำของสหรัฐในยุคของ "โดนัลด์ ทรัมป์" เพราะไทยต้นทุนการผลิตต่ำ แตกต่างจากประเทศคู่เจรจา การค้าเสรีเมื่อเปิดขึ้นมาแล้ว ประเทศที่ต้นทุนน้อยกว่าจะได้เปรียบ ทำให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่เป็นคู่ค้า ทำให้เกิดการจ้างงาน การสร้างผลผลิตในประเทศไทย ไทยจึงอยู่ในสถานะที่ได้ประโยชน์จากการค้าการลงทุนมากกว่าคู่เจรจา

อีกกลไกหนึ่งที่จะสร้างอำนาจการต่อรองให้กับไทยในอนาคตคือ การได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ เอื้ออำนวยต่อการสร้างพันธมิตร-แนวร่วมกับกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยนับจากนี้

"ยุโรปกับอังกฤษอยากมาเจรจาการค้าเสรีกับประเทศไทยทุกประเทศอยากมาเจรจากับเรา ประเทศไทยได้เปรียบตรงที่การเป็นประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และไทยก็เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทำให้พื้นที่ประเทศแถบอาเซียนเป็นตลาดเดียวกันและมีประชากรประเทศ CLMV รวมกันทั้งสิ้น 230 ล้านคน คนก็อยากมาลงทุนที่เรา เขาสามารถดึงเอาแรงงานราคาถูก รวมถึงฐานการผลิตในภูมิภาคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างการผลิตของเราได้ โดยมี EEC เป็นหัวใจ"

เมื่อความระหองระแหงทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในยุครัฐบาล คสช.ผ่อนคลายกว่าในอดีต การประกาศขันอาสาเป็นพี่ใหญ่เปิดประตูสู่การค้า-การลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงบังเกิดขึ้น

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

GGCลุ้นรัฐแก้พ.ร.บ.อ้อยฯ เปิดทางวัตถุดิบเกษตรผลิตกรดแลกติก

โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ของ บ.โกลบอลกรีนฯ สะดุด พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ลุ้นรัฐแก้เงื่อนไขให้ใช้น้ำอ้อยไปผลิตอย่างอื่นที่นอกเหนือจากน้ำตาลทรายให้เสร็จในปีนี้ หวังเดินหน้าสร้างโปรเจ็กต์ผลิตกรดแลกติก ต่อยอดจนถึงทำโรงไฟฟ้า และโรงงานไบโอพลาสติก ตามนโยบายบริษัทแม่ที่ให้เป็นแกนนำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่บริษัทมีแผนลงทุนในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยในเฟสแรกคาดว่าจะต่อยอดจากโรงงานหีบอ้อยที่มีอยู่เดิม ทำโรงงานผลิตกรดแลกติกก่อน หลังจากนั้นในเฟสที่ 2 จะใช้ประโยชน์จากแรงดันไอน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในโรงงานเอง หากมีปริมาณเหลืออาจจะขายไฟฟ้าเข้าระบบด้วย แต่ขณะนี้ติดเงื่อนไขของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ที่กำหนดไว้ว่าในช่วงฤดูกาลหีบอ้อย ถูกกำหนดให้นำน้ำอ้อยให้ผลิตเป็นน้ำตาลทรายเท่านั้น ฉะนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1) แก้ไขกฎหมายให้สามารถนำน้ำอ้อยไปทำประโยชน์อย่างอื่นที่นอกเหนือจากน้ำตาล และ 2) ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรจะเป็นอย่างไร ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐแก้ไขในประเด็นดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อที่จะได้วางแผนการลงทุนที่ชัดเจนต่อไป

สำหรับความคืบหน้าโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ที่จังหวัดนครสวรรค์อยู่ในระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรม และจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ไปพร้อมกันด้วย หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ดในช่วงปลายปีนี้เพื่อขออนุมัติการลงทุนต่อไป ส่วนในระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากในเฟสแรกได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งคาดว่าโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ทั้งหมดนี้จะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4-5 ปีต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่จะลงทุนขยายในแต่ละเฟสนั้นยังต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เหมาะสมด้วย คือ 1) สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เหมาะสม คือที่ระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ธุรกิจไบโอชีวภาพสามารถแข่งขันได้ 2) ความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาล เช่นอาจจะกำหนดให้ใช้ไบโอพลาสติกที่ร้อยละ 10-15 และ 3) ความต้องการใช้ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ

"การลงทุนครั้งนี้ใช้เงินลงทุนสูง ประเด็นทางกฎหมายมองว่าเป็นความเสี่ยง ฉะนั้นภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นโดยการแก้ไขกฎหมายใหม่ ซึ่งเบื้องต้นคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้วว่า พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันควรแก้ไขให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่วนในกรณีที่การแก้ไข กม.ล่าช้านั้นก็มีแผนรองรับ โดยอาจจะร่นขั้นตอนการเตรียมการในส่วนอื่น ๆ ของบริษัทคู่ขนานกันไปได้"

นายจิรวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ และมูลค่าการลงทุนยังอยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสม ในเบื้องต้นอาจจะอยู่ที่ 50 : 50 และอาจจะเปิดให้เอกชนที่มีความสนใจในธุรกิจไบโอเข้ามาร่วมลงทุนด้วยในอนาคต ทั้งนี้การนำบริษัทโกลบอลกรีนฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังคงแผนเดิมคือจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงปีนี้ ซึ่งในช่วง 1-2 ปีแรกของโกลบอลกรีนฯ จะยังไม่มีการลงทุนในโครงการใหญ่ และจะมาลงทุนใหญ่ในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ภายในปี 2562

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) นั้น อยู่ในเครือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่จะเป็นแกนนำในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Flagship Company) โดยได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นออกใหม่ แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีกำหนดเข้าซื้อขายในเร็ว ๆ นี้

สำหรับบริษัท GGC เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตเมทิลเอสเตอร์รายใหญ่ของประเทศ และผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ (Fatty Alcohol -FA) เพียงรายเดียวของประเทศ และยังมีแผนงานในอนาคตที่จะขยายโรงงานผลิตเมทิลเอสเตอร์แห่งที่ 2 (Methyl Ester Plant 2) และโครงการ Palm Kernel Oil Extraction เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ และลดการนำเข้าด้านเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศด้วย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

‘ไทยรุ่งเรือง’เดินเครื่องอุตสาหกรรมน้ำตาลสร้างรายได้เกษตรกร

นายสุพัฒน์ ลิ้มศิริ ผู้จัดการฝ่ายโรงงานบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัดเปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองได้ดำเนินธุรกิจผลิตจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบน้ำตาลทรายขาว มากว่า 70 ปี ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ลิน” โดยขณะนี้บริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ มีความพร้อมผลิตน้ำตาลทราย ในฤดูการผลิตปี 2559/60 ได้เริ่มเปิดหีบ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ จำนวน4.2 ล้านตันอ้อย หรือเฉลี่ยวันละ 42,000 ตันเมื่อเทียบกับฤดูการหีบอ้อยปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 4.4 ล้านตันอ้อย ซึ่งปริมาณผลผลิตอ้อยที่เข้าหีบ ในรอบการผลิตปี 2559/60 ลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชเกษตรอย่างอื่นทดแทน

นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า เราได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยพัฒนาพันธุ์อ้อย และพื้นที่เพาะปลูก โดยทำงานร่วมกับนักวิชาการ และเกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และค่าความหวาน รวมทั้งส่งเสริมและดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิดเน้นความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

โดยในปีนี้จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่ จ.สกลนคร คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 12,500 ตันต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ซึ่ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดีโดยผู้บริหารได้มีโอกาสชี้แจงข้อมูล และตอบข้อซักถาม ของประชาชนในพื้นที่รอบบริเวณโรงงาน ทั้งในส่วนของข้อมูล เทคนิค กำลังการผลิต เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนั้นบริษัทยังได้นำระบบ GPS มาใช้ เพื่อบริหารจัดการอ้อยจากไร่สู่โรงงาน โดยจะตรวจสอบแหล่งปลูกอ้อย รวมทั้งเอกสารสิทธิการถือครองที่ดินของเกษตรกร ซึ่งบริษัทไม่มีนโยบายรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรที่บุกรุกป่า

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : เกษตรฯเดินหน้าขับเคลื่อน พัฒนาราชบุรีตามแผนที่‘AGRI–MAP’

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงให้ความสำคัญอันดับแรกกับนโยบายลดต้นทุนการผลิต สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน และเกษตรกรต้องสามารถต่อยอดเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการการทำงานในทุกมิติ เพื่อให้เกษตรกรทุกภาคส่วนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และภาคเกษตรต้องมีความมั่นคง ยั่งยืน โดยใช้ระบบการสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri - Map) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งต้องมีการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

โดยล่าสุด กระทรวงเกษตรฯ ได้ประชุมทุกหน่วยงานในสังกัดถึงแผนการขับเคลื่อนการเกษตร โครงการ Zoning by Agri-Map ของจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรมประมาณ1,686,000 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าว บางส่วนยกร่องปลูกผักทำสวนผลไม้ และพื้นที่ดอนส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น อ้อย สับปะรด ข้าวโพด ข้าวฟ่างถั่วต่างๆ บางพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา และหอย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่ยังมีเกษตรกรที่ปลูกข้าวอยู่ในพื้นที่ที่ทำการเกษตรที่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) ซึ่งสภาพพื้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินตื้นขาดความอุดมสมบูรณ์ และขาดแคลนน้ำ โดยเป็นนาข้าว 31,000 ไร่ สับปะรด 4,400 ไร่ มันสำปะหลัง 1,000 ไร่ ซึ่งในปี 2560 นี้ เกษตรกรบางส่วนที่ปลูกข้าวมีความประสงค์และพร้อมจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ตามแผนที่ Agri-Map ที่สร้างรายได้ที่ดีกว่า เช่น ปลูกอ้อย 1,450 ไร่ สับปะรด 300 ไร่ ทำการเกษตรผสมผสาน 500 ไร่ เลี้ยงสัตว์ 585 ไร่ และทำประมง 7.5 ไร่รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 2,642.50 ไร่

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้วางแผนงานเข้าไปพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรของจังหวัดราชบุรี ที่มีปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและเกษตรกร ส่วนใหญ่ต้องยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินงานและยกเป็นตัวอย่างเป็นจังหวัดนำร่อง โดยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้อง กำหนดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำไปพร้อมกับการทำเกษตรกรรมและด้านอื่นๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ให้การฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลดีของการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ตามแผนที่ Agri-Map เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตจากนาข้าวเป็นพืชชนิดอื่นๆ ทำปศุสัตว์ ทำประมง เกษตรทฤษฎีใหม่ การเกษตรผสมผสาน ที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรดิน การจัดการเพาะปลูกพืช การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมต่างๆ เช่น สารเร่งซุปเปอร์พด.1 ผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ทำน้ำหมักชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ช่วยกันโรครากเน่าโคนเน่า สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสีย ขจัดกลิ่นเหม็นในคอกสัตว์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ทำสารขับไล่แมลงศัตรูพืช แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) ปลูกเพื่อปรับปรุงบำรุงดินดิน ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายดังกล่าวของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) ให้แก่เกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร โดยการดำเนินการจะสำเร็จได้จะต้องเกิดจากตัวเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่ต้องมีกำลังใจที่ดี มีความมุ่งมั่น เข้มแข็ง และเปิดใจยอมรับคำแนะนำในการที่จะเปลี่ยนแปลงจากการผลิตแบบเดิมๆ ไปเป็นการทำการเกษตรสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น มีการใช้นวัตกรรมองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ต้องหาโอกาสเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยวิชาการจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั่วประเทศ (ศพก. 882 ศูนย์) ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่การเกษตรของตนเองและชุมชน ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ท้าทายของเกษตรกรไทย ในการก้าวข้ามสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้มีผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ทุกหน่วยงานช่วยกันสานต่อทำให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขยายผลปฏิบัติสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงและเกิดความยั่งยืนมั่นคงอย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

5พืชเกษตรชี้ทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค

คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันคุย โดย...ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

            พืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก คือ ข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน พบว่า ปี 2560 มีมูลค่ารวมกว่า 7.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.5 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นมาจากราคายางพาราและอ้อยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการและราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

            ด้านข้าว ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คาดว่าราคาจะอ่อนตัวจากลงอีกเล็กน้อย เนื่องจากปี 2560 ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังจะเพิ่มขึ้น ขณะที่สต็อกของรัฐบาลยังคงกดดันราคาข้าวในปีนี้ ส่วนมันสำปะหลังราคาชะลอต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่าราคามันสดเฉลี่ยทั้งปีจะชะลอตัวลงร้อยละ 18 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญลดลง ทำให้มูลค่าผลผลิตมันสดที่เกษตรกรชาวไร่มัน ขายได้ลดลง 1.2 หมื่นล้านบาท

             เม็ดเงินจากมูลค่าผลผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตและบริโภคกลุ่มสำคัญของเศรษฐกิจภูมิภาค มีกำลังซื้อสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราที่สำคัญของประเทศ (ผลผลิตยางพารากว่าร้อยละ 70 มาจากภาคใต้) จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงยังได้ผลบวกจากปาล์มน้ำมันที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วยด้วย

            ดังนั้น เศรษฐกิจภาคใต้ปีนี้น่าจะฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมรวดเร็วและดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก ด้านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง แม้ว่ามูลค่าผลผลิตอ้อยจะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น แต่ข้าวและมันสำปะหลัง ราคายังคงฉุดรายได้เกษตรกรในปีนี้ ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรในภาพรวมทั้ง 3 ภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เศรษฐกิจของจังหวัดที่คาดว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่สำคัญ ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุดรธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี

            กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในพื้นที่ข้างต้นจะส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต อีกด้านหนึ่งเกษตรกรจะมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยหากทิศทางของราคาและปริมาณผลผลิตยังดีต่อเนื่องในระยะยาว จะทำให้แนวโน้มการซื้อสินค้าคงทน หรือสินค้าราคาสูง เช่น จักรยานยนต์ รถยนต์ มีแนวโน้มดีขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากเกษตรกรมีความมั่นใจในรายได้สูงขึ้น

            ภาครัฐควรมีนโยบายดูแลราคาข้าวและมันสำปะหลังระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนยางพารา อ้อยและปาล์ม ซึ่งราคาอยู่ในระดับค่อนข้างดีในปีนี้ ควรส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนอย่างจริงจัง เช่น นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ และช่วยหนุนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตได้ในระยะยาว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พาณิชย์"หนุน เกษตรอินทรีย์ สู่ศึกตลาดโลก

“พาณิชย์” จับมือ WEF ระดมสมองทำแผนพัฒนาและผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าเกษตรนวัตกรรมของไทยออกสู่ตลาดโลก หลังพบมีโอกาสสูงจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น นำร่องสินค้าข้าว

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมนานาชาติร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum-Grow Asia ว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับภาคธุรกิจชั้นนำ เอ็นจีโอ และนักวิชาการด้านต่างๆ ในการหาแนวทางส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศให้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจากแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าเกษตรที่มีนวัตกรรม

ทั้งนี้หากไทยสามารถผลิตรองรับความต้องการได้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยผลิตสินค้าเกษตรได้แบบยั่งยืน และมีรายได้ที่มั่งคง แต่ยังช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรใหม่ๆ ให้กับไทยด้วย โดยในปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีมูลค่าในตลาดโลกปีละ 2.3 ล้านล้านบาท ขณะที่ไทยส่งออกในปี 2559 ที่ผ่านมา มีมูลค่าเพียงแค่ 4 พันล้านบาท ไทยจึงมีโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงมีแผนที่จะผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดสำคัญๆ เช่น ยุโรป สหรัฐ และอาเซียน ให้ได้เพิ่มขึ้นแล้ว ในส่วนสินค้าเกษตรที่มีนวัตกรรม ได้ดำเนินการในส่วนของสินค้าข้าวไปแล้ว.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กว่า 3 พันหนุน รง.นํ้าตาล-ไฟฟ้าชีวมวล

ตอนสายวันที่ 22 ก.พ. ที่บริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดอำนาจเจริญ มีชาวบ้านกว่า 3,000 คน ได้ เดินทางมายื่นหนังสือสนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลต่อ ผวจ.อำนาจเจริญ โดยมีการชูป้าย ระบุข้อความ “เราชาวตำบลน้ำปลีกสนับสนุนการสร้างโรงงานน้ำตาล’’ พร้อมกับยื่นรายชื่อชาวบ้านที่ให้การสนับสนุน นายจิตราภรณ์ พรพรมทา อายุ 64 ปี แกนนำชาวบ้านเปิดเผยว่า ได้รวบรวมรายชื่อ ชาวบ้านที่จะปลูกอ้อยกว่า 6,000 คน มายื่นต่อ ผวจ. อำนาจเจริญ เพราะต้องการให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล จากการศึกษาดูงานที่โรงงานน้ำตาลมิตรผล กาฬสินธุ์ พบว่า โรงงานน้ำตาลไม่ได้ส่งผลเสียต่อชุมชน โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมีระบบ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและทันสมัย ทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการน้ำ และกระบวนการ บำบัดน้ำเสีย มีวิศวกรชำนาญงานมาควบคุมดูแลการผลิต ในทุกขั้นตอน ทั้งยังส่งผลดีด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ทำให้มีเงินหมุนเวียน ผู้คนในชุมชนมีงานทำเพิ่มขึ้น

นางแปลง บุญราช อายุ 73 ปี หนึ่งในชาวบ้าน ที่ร่วมสนับสนุน เปิดเผยว่า อาศัยอยู่ที่บ้านนาดอกไม้ ต.นายม อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณ ที่จะมีการตั้งโรงงานน้ำตาลเพียง 3 กิโลเมตร และมีที่ดิน 17 ไร่ ต้องการที่จะปลูกอ้อย เพราะที่ผ่านมา ทำนามาเกือบครึ่งชีวิต แต่ก็ยังยากจนอยู่และมีหนี้สิน จำนวนมาก หากได้ปลูกอ้อยจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น คิดว่าโรงงานน้ำตาลไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน แต่กลับกันจะทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และลูกหลานจะได้ไม่ต้องออกไปทำงาน ต่างจังหวัดอีกต่อไป

ทางด้านนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผวจ.อำนาจเจริญ หลังจากรับหนังสือจากชาวบ้าน ได้กล่าวว่า หนังสือที่พี่น้องประชาชนได้มายื่นในวันนี้ ทางจังหวัดจะรวบรวมและส่งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักนโยบายและแผน เพื่อประกอบการพิจารณาในการทำเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป ขอเรียนว่า ทางจังหวัดจะรวบรวมข้อมูลทุกฝ่ายทั้งสนับสนุนและต่อต้าน โดยจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชาวบ้าน ที่เดินทางมาแสดงพลังในวันนี้ ทำให้เห็นว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ส่วนจะสร้างได้หรือไม่ได้นั้นต้องรอดูผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและผลการทำประชาพิจารณ์ของพี่น้องประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ฟังคำชี้แจงจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กลุ่มชาวบ้านทั้งหมดจึงได้แยกย้ายกลับไปในที่สุด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ธปท.จับตาค่าเงินบาทผันผวน หวั่นเศรษฐกิจโลกกดดันไทย!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ก.พ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จากการประชุมวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยประเมินภาวะเศรษฐกิจว่า ยังมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของเศรษฐกิจโลกการฟื้นตัวยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนอยู่มากโดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าการลงทุนและท่าทีต่อข้อตกลงทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งการตอบโต้ทางการค้า และการเงินที่อาจเกิดขึ้นจาก ประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีนัยต่อทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากปัญหาภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน และความไม่แน่นอนทางการเมือง และปัญหาภาคธนาคารในยุโรปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นนโยบายเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนของสหรัฐฯ ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะต่อไป

สำหรับภาวะตลาดการเงิน กนง.มองว่าความผันผวนในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้นตั้งแต่การประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยนักลงทุนได้ลดการถือครองสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโน้มสูงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้น และแข็งค่าในนอัตราที่มากกว่าสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นในเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย แต่การแข็งค่าของเงินบาทมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดย ธปท.จะดูแลค่าเงินให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

รัฐดันสุดลิ่มแจ้งเกิดพื้นที่ "อีอีซี" ชง ครม.เคาะมาตรการภาษีบุคคลคงที่ 17% 

          "สมคิด"เผยคลังเตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า เคาะ มาตรการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคงที่ 17% ให้กับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในอีอีซีหวังดึงคนเก่งเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ส่วนอุตสาหกรรม  จ่อชงมาตรการส่งเสริมลงทุนรถอีวี และหุ่นยนต์ ย้ำอีอีซีเนื้อหอม นักลงทุนญี่ปุ่น-จีน แห่สนใจเพียบ

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Push Forward ส่องเศรษฐกิจ 4.0 ปีไก่ทอง” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ก.พ.นี้ พิจารณามาตรการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยให้เลือกได้ว่า จะเสียภาษีตามโครงสร้างปกติ หรือเลือกเสียภาษีแบบคงที่ในอัตรา 17% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการลงทุนในพื้นที่อีอีซี นอกจากนี้อีก 1-2 สัปดาห์ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม จะเสนอให้ ครม.พิจารณาแผนการการลงทุนและแนวทางส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 กลุ่มสำคัญ คือ รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ในพื้นที่อีอีซีด้วย

          “ที่ผ่านมาประเทศไทยเติบโตได้ด้วยอีสเทิร์นซีบอร์ดแต่ตอนนี้ก็ถือว่าเล็กไปแล้ว ถ้าต่อไปนิคมอุตสาหกรรมโฮจิมินห์ ของเวียดนาม นิคมอุตสาหกรรมติละวา ของเมียนมาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไทยจะถูกกดดันมากขึ้นให้การลงทุนจะต้องไปที่นั่น รัฐบาลไทยจึงต้องเร่งผลักดันอีอีซีให้เกิดขึ้นเป็นแอ่งรับการลงทุนที่จะเข้ามาทั้งกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) สิ่งที่เร่งการลงทุนให้เกิดขึ้นคือ เปิดสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือจุกเสม็ด รถไฟความเร็วสูง เพื่อดึงดูดและที่จะตามมาอีกคือ มาตรการดึงสถาบันการศึกษาและการวิจัยต่างชาติให้เข้ามาตั้งในอีอีซีด้วย”

          รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายนักลงทุนต่างชาติหลายรายตัดสินใจมาลงทุนในไทย เช่นกลุ่มคอนติเนนตัล  ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในไทยครบทุกราย และหลังจากที่รัฐบาลได้จัดงานสัมมนา Opportunity Thailand  ขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน นักลงทุนต่างประเทศสนใจจะเข้ามาลงทุนในอีอีซีหลายรายเช่นกัน ที่น่าสนใจที่สุดคือ ฟูจิฟิล์มคอร์ปอเรชั่น ที่จะร่วมกับเครือซีพี ลงทุนในธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ มั่นใจว่ารายนี้เข้ามาแน่นอน

          ขณะเดียวกันผู้บริหารของธนาคารซีไอบีซีซึ่งมีลูกค้าเป็นบริษัทจีนจำนวนมาก ได้เข้าพบ และจะนำลูกค้าไปสำรวจการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ตลอดจนผู้บริหารบริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น หรือซีไอซี ไชน่าอินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่นหรือซีไอซี  ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน มีหน้าที่แสวงลู่ทางการลงทุนในประเทศต่างๆได้เข้าพบพร้อมแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนโดยตรงในโครงสร้างพื้นฐาน  รวมถึงร่างลงทุนในบริษัทอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีเช่นกัน

          นายสมคิดกล่าวต่อว่า ในภาพรวมมองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นช่วงทรุดตัวไปแล้วและมีแต่จะดีขึ้น ปีไก่นี้จะฟักไข่ออกมาเป็นไข่ทองแน่นอน ถ้าคนไทยไม่รุมเชือดไก่หรือรุมถอนขนกันเอง โดยรัฐบาลจะมุ่งรักษาโมเมนตัมของเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับที่ดี โดยการส่งออกจะดีขึ้นตามเศรษฐกิจและการค้าโลกที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4% และ 3.6% ตามลำดับ ซึ่งการส่งออกปีนี้จะต้องดีขึ้นแน่นอน มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้อยู่แล้ว 3-4% แต่ให้กระทรวงพาณิชย์ดูว่ามีแนวทางใดที่จะสามารถทำให้สูงกว่านี้ได้ไหม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์บอกเองว่าน่าจะได้ 5%

          นอกจากนี้ในปีนี้การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจะยังได้รับการผลักดันต่อเนื่องโดยตนจะติดตามการเบิกจ่าย และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทุกเดือนและกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินการด้วย โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรียังเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการเหมือนเป็นซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาดูการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะซึ่งต่อไปนี้โครงการลงทุน ที่หน่วยงานที่เป็นเจ้าของใส่ข้อมูลเพิ่มเติมลงในหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์)ในภายหลัง จะต้องเจอดีแน่ ที่ผ่านมา มีการดำเนินการเข้มงวดในส่วนของการกำหนดราคากลาง ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณได้กว่า 60,000 ล้านบาท

          "เวลาของรัฐบาลค่อนข้างจำกัด ทุกอย่างที่เราทำ ทำด้วยสติ ทำด้วยความพอเพียง เราไม่เคยลืมคำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนไว้ และการช่วยคนจน จะมีการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ การท่องเที่ยวจะต้องเข้าไปให้มีการค้าการขาย ต้องฝึกให้คนในท้องถิ่นขายของผ่านอี-คอมเมิร์ซ ฉะนั้นใครที่บอกว่ารัฐบาลนี้ทิ้งคนจน ควรรูดซิปปาก แล้วเมื่อถึงเวลาก็เอาสิ่งที่พูดไว้มาทำ ประเทศนี้จะได้เจริญ"

          ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงเหลืออัตราคงที่ 17% จะใช้กับคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศเกิน 180 วัน และคนต่างชาติที่เดินทางมาทำงานที่ประเทศไทย เพื่อจูงใจให้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเดินทางเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากรก็ไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากคนกลุ่มนี้ได้อยู่แล้ว แต่การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล มากกว่าเสียผลประโยชน์.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชาวไร่อ้อยอำนาจเจริญ-ยโสธรหนุนตั้งโรงงานน้ำตาล กลุ่มค้านห่วงสิ่งแวดล้อม

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่บริเวณหน้าศาลากลาง จ.อำนาจเจริญ นายจิตราภรณ์ พรมทรา พร้อมด้วยชาวบ้านจากจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดยโสธร ประกอบด้วย ชาวบ้านในตำบลน้ำปลีก ตำบลนาหมอม้า ตำบลนายม ตำบลคำพระ ตำบลเชียงเพ็ง ตำบลโพธิ์ไทร และตำบลโคนาโก จำนวนกว่า 2,000 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กรณีสนับสนุนการสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผล จ.อำนาจเจริญ พร้อมด้วยรายชื่อผู้สนับสนุนอีกจำนวน 6,000 คน

นายจิตราภรณ์ พรมทรา กล่าว่า ตนและชาวบ้านกลุ่มสนับสนุนการสร้างโรงงาน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผล จ.อำนาจเจริญ ได้ไปดูงานที่โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตร จ.กาฬสินธิ์ และจังหวัดเลย ซึ่งจากการศึกษาดูงานทำให้พวกเราเข้าและมั่นใจในเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย และได้รับมาตรฐานระดับโลกของโรงงาน ทั้งยังเป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความผาสุข และทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้นแบบยั่งยืน ตลอดจนลูกหลานจะได้มีงานทำ และได้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวอย่างอบอุ่นในภูมิลำเนาของตนเอง

ด้านคุณยายแปลง บุญราช วัย 73 ปี ชาวบ้านนายม หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสนับสนุนโรงงานน้ำตาล – ชีวมวล ที่ได้เดินทางมาร่วมยืนหนังสือในครั้งนี้เปิดเผยกับผู้สือข่าวว่า ตนเองมีที่นาจำนวนกว่า 17 ไร่ แต่เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ทวีคูณหนักขึ้นทุกวัน ทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรัง หรือทำการเกษตรอย่างอื่นได้เลย เนื่องจากต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้ลูกหลานต้องพากันออกไปทำงานที่ต่างจังหวัดกันหมด แต่ถ้าหากมีโรงงานน้ำเข้ามา ตนและลูกหลานก็จะพากันมาปลูกอ้อยเพื่อส่งขาย เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องกังวลกับปัญหาจากภัยแล้ง ทำให้ลูกหลานได้กลับมาอยู่บ้าน อยู่กับแบบพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว

ขณะที่ นายสิริรัฐ กล่าวว่า จากที่ชาวบ้านได้มายืนหนังสือชี้แจ้งสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผล จ.อำนาจเจริญ นั้น ทางตนจะได้นำเอกสารที่ชาวบ้านมายื่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่คัดค้านและได้ยื่นหนังสือไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่ยังคงวิตกกังวลในกระบวนการเผาชานอ้อน จะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งทางวิศกรโรงงานก็ได้ออกมาอธิบายให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าว เข้าใจถึงกระบวนการกำจัดควันที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยใช้สเปรย์น้ำฉีดพ้นในปล่องไฟ เพื่อดักจับฝุ่นละอ่องและควันให้ตกสู่พื้น และฝุ่นละอองที่ตกลงสู่ดินนั้นสามารถนำไปเป็นส่วนผสมของปุ๋ยชีวภาพได้ ซึ่งตนเองก็จะได้นำเอกสารไปยืนและปล่อยให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กลุ่มผู้สนับสนุนโรงงานน้ำตาล-ชีวมวล ได้พร้อมใจกันนัดหมายเพื่อมาร่วมสนับสนุนให้มีการก่อตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกด้วย ในวันที่ 10 มีนาคม 2560 ที่จะถึงนี้ เพื่อที่จะได้สร้างความเจริญของเศรษฐกิจและอนาคตที่ยั่งยืนของลูกหลานชาวอำนาจเจริญต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พณ.ดันเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ตลาดโลก

พาณิชย์ เดินหน้าดันเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ตลาดโลก หลังพบเติบโตต่อเนื่องปีละ 10%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ปราศจากสารเคมี และจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้มูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์โลกมีมูลค่าสูงถึง 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 20 ต่อปี

และจากความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลกดังกล่าว ส่งผลให้ในปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยมีมูลค่า ประมาณ 2,300 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 10 ต่อปี โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมและสนับสนุนช่องทางการตลาด ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ

ตลอดจนรณรงค์เรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับตรารับรองมาตรฐานสินค้าเป็นอย่างมาก

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เอกชนหวังรัฐลดค่าบาทผันผวน

ผู้ประกอบการ หวัง รัฐลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ผ่อนปรนเงื่อนไขให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2560 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อน

พร้อมกันนี้ ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมขยายเส้นทางคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน รวมถึงผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม (Niche market)

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ป้องกันเกษตรกรเสียรู้คู่สัญญา สภาเกษตรฯจับมือยธ.ให้ความรู้กม.-ตั้งคลินิกยุติธรรม

ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ความพยายามของภาครัฐที่จะกระจายเรื่องข้อกฎหมาย สิทธิต่างๆ ให้เกษตรกรฐานรากได้รับรู้นั้น เท่าที่ผ่านมาการดำเนินงานเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เกษตรกรยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบจากปัญหาการไม่รู้ในเรื่องกฎหมายและสิทธิต่างๆอยู่ สภาเกษตรกรแห่งชาติในฐานะเป็นองค์กรหลักของเกษตรกร ต้องดำเนินการคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับรู้ข้อกฎหมายที่ควรรู้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชีพของตน เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง

จากปัญหาดังกล่าว ได้นำไปสู่การเข้าหารือกับ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างสภาเกษตรกรฯ กับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อบูรณาการร่วมกันใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรผ่านสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงตัวเกษตรกร เช่น การทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ทั้งสัญญาขายฝาก สัญญาเงินกู้ สัญญาจำนอง หรืออื่นๆ ซึ่งเกษตรกรอาจรู้ไม่เท่าทันนายทุนหรือคู่สัญญา อาจนำไปสู่การเสียสิทธิ์ในที่ดินทำกินได้ เป็นต้น 2.การจัดตั้งคลินิกยุติธรรมในจังหวัดที่มีความพร้อมเป็นอีกเรื่องที่กรมคุ้มครองสิทธิฯและสภาเกษตรกรฯตั้งใจทำให้เกิดในสังคมเกษตรกร โดยกรมจะมีนักกฎหมายที่จะเข้าไปให้ความรู้ รวมทั้งการปรึกษา แนะนำว่าควรทำอย่างไรกรณีที่เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และ 3.การถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายในชุมชน ให้แก่ตัวแทนเกษตรกรที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของชุมชน เบื้องต้นจะนำร่องใน จ.ลำพูน ซึ่งเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยจะเปิดตัวในวันที่ 2 มีนาคมนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

'สมคิด'เผย28ก.พ.ชงภาษีดันลงทุนEEC

"สมคิด" เผย สัปดาห์หน้า ก.คลัง เสนอมาตรการภาษีหนุนเอกชนลงทุนในอีอีซี เข้า ครม. อังคารหน้า หวังไทยศูนย์กลางลงทุน - พอใจตัวเลขGDP59โต3.2%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดภายหลังปาฐกถาพิเศษ "Push Forward ส่องเศรษฐกิจ 4.0 ปีไก่ทอง" ในงาน ก้าวที่ 40 มติชนก้าวคู่ประเทศไทย 4.0 ว่า ในวันอังคารหน้า กระทรวงการคลังเตรียมที่จะเสนอมาตรการภาษีการลงทุนในโครงการ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อหวังที่จะให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น และต้องการอยากจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการขนส่งของภูมิภาค โดยการลงทุนใน EEC เอกชนสามารถเลือกการเสียภาษีแบบคงที่ร้อยละ 17 หรือ เสียภาษีบุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย

ขณะเดียวกัน อีก 2 สัปดาห์ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจะเสนอมาตรการจูงใจสำหรับอุตสาหกรรมโรโบติก และรถไฟฟ้าเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ลงทุน นอกจากนี้จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในพื้นที่ EEC เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่ตรงความต้องการของเอกชน ทั้ง วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้จัดตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามานั่งในคณะกรรมการทำหน้าที่คอยตรวจสอบร่าง TOR ของโครงการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการปรับเงื่อนไขหรือแก้ไขเพื่อของบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะมีอำนาจตรวจสอบการเสนอราคาต่างๆ ได้ทุกขั้นตอน ช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปิดช่องโหว่การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุน

จากการที่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจีดีพีปี 2559 ที่เติบโตร้อยละ 3.2 นั้น จากตัวเลขที่ออกมานั้นรู้สึกพอใจ เนื่องจากไทยยังเติบโตส่วนทางกับ GDP โลก โดยใน 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา ปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ คือ ความมั่นใจทั้งของประชาชนและภาคเอกชน รวมถึงความมั่นคงของชาติ

ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนและนักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณขับเคลื่อนไปในทางที่ดี ด้านนักเศรษฐศาสตร์ประเมินการเติบโตของ GDP โลกในปี 2560 ที่ร้อยละ 3.2 การค้าโลกเติบโตที่ร้อยละ 3.6 ขณะที่โยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะส่งผลดีต่อไทยในระยะสั้น ส่วนระยะยาวอาจจะต้องปรับตัว ส่วนประเทศจีนนั้นเชื่อว่าจะสามารถรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ และเชื่อว่าตลาดอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV จะมีการขยายตัวที่ดีโดยมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีสัดส่วนการส่งออกจากไทยร้อยละ 25 ทั้งนี้ ในปี 2560 เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจขับในทุกภาคส่วนจะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเจริญเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนการจะเข้าสู่เศรษฐกิจยุค 4.0 ทุกหน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ผลักดันต่อยอดเศรษฐกิจฐานรากของประเทศยกระดับให้เกิดเป็นเครื่องจักรใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

“เกษตร”หวั่นภัยแล้งปีนี้หนักมาก-เล็งขอเฉียดงบกลุ่มจังหวัด1.3หมื่นล.สร้างระบบบริหารจัดการน้ำ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รู้สึกกังวลสถานการณ์ภัยแล้งปี 2560 ว่าจะมีความรุนแรง ซึ่งล่าสุด 3 อำเภอ คือ อ.วัฒนานคร อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง ในจ.สระแก้วกำลังเผชิญภัยแล้ง โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายสิ้นเชิง 100,476.50 ไร่ ครอบคลุมเกษตรกร 6,106 ราย กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย จึงเตรียมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างไม่เป็นทางการ ก่อนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อของบประมาณ 13,000 ล้านบาท จากงบกลุ่มจังหวัดเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ ที่คาดว่าจะรุนแรงหากไม่เตรียมรับมืออาจสร้างความเสียหายให้ภาคเกษตรได้

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการภายใต้แผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ด้านการเกษตร มีทั้งหมด 6 มาตรการ 29 โครงการ และเพิ่มเติม 1 โครงการ วงเงิน 17,324.82 ล้านบาท จำแนกเป็น 1.มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง อาทิ โครงการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำช่วงฤดูแล้ง 2. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร อาทิ โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้ง 3. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำแก้มลิง อาทิ โครงการก่อสร้างขุดลอก/ปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน 4. มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย อาทิ การช่วยเหลือตามระเบียบ กระทรวงการคลังก การจ้างแรงงานเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน 5. มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ อาทิ การประชาสัมพันธ์ป้องกันภัยแล้ง ด้านการเกษตร โครงการสร้างการรับรู้เพื่อลดความเสี่ยง 6. มาตรการจัดทำแผนความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้งโครงการเพิ่มเติม คือ โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาฯ

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบภัยแล้งปีนี้ คือ จังหวัดพะเยา กว๊านพะเยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 47.44 ล้าน (ลบ.ม.) ส่งน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภค-บริโภค ใช้น้ำวันละ 17,400 ลบ.ม. สิ้นสุดถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม จะใช้น้ำทั้งสิ้น 3.20 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำมีเพียงพอ กรณีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสามารถผันน้ำจากอ่างฯ แม่ต๋ำ ซึ่งปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 36.74 ล้าน ลบ.ม. มาเสริมที่กว๊านพะเยา ได้ จ.สุโขทัย มีน้ำใช้การ 11.66 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เพาะปลูกข้าว 105,286 ไร่ เก็บเกี่ยวเสร็จเดือนมีนาคม2560 มีน้ำเพียงพอ ถึงสิ้นเมษายน 2560 อ่างฯ ขนาดกลาง 6 แห่ง มีน้ำใช้การ 109.33 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และปลูกพืชฤดูแล้ง วันละ 0.75 ล้าน ลบ.ม. ใช้ถึง 30 เม.ย. 2560 รวม 67.5 ล้านลบ.ม. คาดการณ์ 1 พฤษภาคม 2560จะมีน้ำ 54.13 ล้าน ลบ.ม. โครงการทุ่งทะเลหลวง เป็นน้ำใช้การ 13.23 ล้าน ลบ.ม. ปลูกข้าวรวม 7,086 ไร่ คาดว่า 1 พฤษภาคม 2560 คงเหลือน้ำใช้การ 5 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนการอุปโภค-บริโภคได้ถึงฤดูฝน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า อ.อู่ทอง คลองมะขามเฒ่าจัดทำแผนการจัดรอบเวรการใช้น้ำ.ในอัตรา 10 – 15 ลบ.ม./วินาที และประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ จ.นครปฐม คลองจินดาซึ่งเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้รับน้ำจากแม่กลอง ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ปตร. คลองท่านา 2 เครื่อง ประตูระบายน้ำคลองบางช้าง 2 เครื่อง และ ประตูระบายน้ำบางกระสัน 1 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีน เมื่อความเค็มมีค่าที่กำหนด และใช้เครื่องมือวัดความเค็มแบบเรียวไทม์ 8 แห่ง ในแม่น้ำท่าจีน พร้อมกับเตรียมรถบรรทุกน้ำไปช่วยเหลือสวนกล้วยไม้ที่ขาดแคลนน้ำจืด ตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง จ.นครราชสีมา เนื่องจากได้มีการ เพิ่มความจุเก็บกักจาก 2 ล้าน ลบ.ม. เป็น 4 ล้าน ลบ.ม. อัตราการใช้น้ำ 25,000 ลบ.ม. /วัน สามารถใช้น้ำได้อีกอย่างน้อยประมาณ 5 เดือนหรือถึงเดือนมิถุนายน 2560 จ.จันทบุรี สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ ช่วยเหลือสวนผลไม้ ตั้งแต่ 6 มกราคม 2560 รถยนต์บรรทุกน้ำ อ.ขลุง 2 คัน อ.แก่งหางแมว 1 คัน เครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว อ.มะขาม 1 เครื่อง สำรองเครื่องจักร ช่วยเหลือสวนผลไม้ รถยนต์บรรทุกน้ำ 14 คัน เครื่องสูบน้ำ 17 เครื่อง

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า จ. พิษณุโลก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 15.95 ล้าน ลบ.ม.รวม 3 บึง (ตะเคร็ง ระมาณ ขี้แร้ง) พื้นที่เพาะปลูก ประมาณ 3,700 ไร่ ปริมาณน้ำเพียงพอสนับสนุนการเพาะปลูก จ.พิจิตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่เก็บกักหน้าฝายทั้งหมด รวม 8.42 ล้าน ลบ.ม.เพาะปลูกข้าวจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 33 สถานี รวม 45,000 ไร่ ใช้น้ำวันละประมาณ 0.28 ล้าน ลบ.ม จะใช้น้ำจากแม่น้ำยมได้ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นเกษตรกรจะใช้น้ำจากบ่อตอก บ่อน้ำตื้น และแหล่งน้ำใกล้เคียง จนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จโดยไม่เกิดความเสียหาย บึงสีไฟ ต้องการเติมน้ำ 2 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำไปแล้ว 2 รอบ รวม 1.3 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลือจะดำเนินการในรอบเวรการส่งน้ำระยะต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เร่งลอยตัวราคาน้ำตาลก่อนบราซิลตั้งPanel  

          รัฐบาลบราซิลเล็งตั้ง "คณะผู้พิจารณา" ต่อ WTO อีกครั้ง 10 มี.ค.นี้ ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งบินพบรัฐบาลบราซิลเคลียร์ปมร้อน แจ้งไทยปรับโครงสร้างระบบอ้อยและน้ำตาลแล้ว หลัง "กอน." ลงมติ "ลอยตัว" ราคาน้ำตาลยกเลิกโควตา ก. ข. ค. มาใช้หลักการสำรองน้ำตาลภายในประเทศแทน

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานที่ประชุม คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า ในวันที่ 10 มี.ค. 2560 ทางประเทศบราซิล โดยรัฐบาลและภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อองค์การ การค้าโลก (WTO) กล่าวหาไทยถึงการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อาจมีการหยิบยกประเด็นการตั้งคณะ ผู้พิจารณา (Panel) ขึ้นมาหารืออีกครั้ง ดังนั้น ในวันที่ 6-8 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ฝ่ายกฎหมายและตัวแทนคณะทำงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเดินทางไปยังประเทศบราซิลเพื่อยืนยันว่าไทยได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่ได้ตกลงไว้

          "ในการประชุม กอน. เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่วมกันที่จะทำการยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย ก. (บริโภคในประเทศ) โควตา ข.(ส่งออกผ่าน บ.อ้อยและน้ำตาลทรายไทย) และโควตา ค. (ส่งออกที่เหลือ) โดยระบบใหม่จะเป็นการกำหนดปริมาณสำรองน้ำตาลทรายที่ใช้ในประเทศ (Buffer Security) หลังการปิดหีบไปจนถึงก่อนเปิดหีบในฤดูกาลใหม่ ทั้งที่เป็นส่วนของน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายดิบ โดยระบบ หรือโรงงานน้ำตาลจะเป็นผู้สำรองใน ส่วนนี้ไว้

          โดย Buffer Security นี้จะมีไว้ดูแล ผู้บริโภค เพื่อให้เกิดมั่นคงว่าประเทศจะไม่มีทางขาดแคลนน้ำตาล คาดว่าจะนำไปสู่การนำร่องปฏิบัติได้ภายใน ต.ค. 2560 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะที่ราคาในประเทศจะเคลื่อนไหวอิงตามราคาตลาดโลก หรือลักษณะลอยตัว

          "ในหลักการจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับฝ่ายกฎหมายก่อนถึงความเป็นไปได้ตามหลักการข้างต้น" นายสมชายกล่าว

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สำหรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายโดยเป็นราคาอ้างอิงตลาดโลกนั้น จะนำราคาตลาดโลกเฉลี่ยของเดือนที่ผ่านมาเพื่อคำนวณราคาหน้าโรงงานและกำหนดรายได้เข้าระบบ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่กำหนดราคาขายปลีกที่อิงราคาตลาดโลกดังกล่าวที่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยทางกระทรวงพาณิชย์จะมีกลไกและกฎหมายดูแลเรื่องราคาอยู่แล้ว เช่น การเปิดเสรีนำเข้าหากพบว่ามีการกักตุน หรือสมรู้ร่วมคิดกันขึ้นราคาจนทำให้ราคาน้ำตาลทรายที่ขายสูงจนเกินไป

          "การลอยตัวน้ำตาลตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีที่สุด เพราะราคาตลาดโลกขณะนี้กับราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวใกล้เคียงกับราคาปัจจุบันมากซึ่งจะไม่มีใครเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบ และยังมีแนวโน้มจะเปิดให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายแบบเสรี เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาในประเทศสูงเกินไป ถ้าสูงจะมีการนำเข้ามาถ่วงดุลได้ ซึ่งนั้นทางกระทรวงพาณิชย์อาจมีแนวโน้มที่จะยกเลิกให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมเช่นกัน"

          แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐยืนยันว่าไม่มีการควบคุมราคา และจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลใหม่แน่นอน และหากในอนาคตเปิดเสรีนำเข้าน้ำตาลมาเพื่อคานอำนาจด้านการแข่งขัน แต่จะมีสินค้าประเภทใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทั้งน้ำตาลเพื่อสุขภาพ น้ำตาลคาราเมล เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้คุมสินค้าประเภทนี้ ดังนั้นการใช้กลไกเปิดเสรีมาคานอำนาจนั้นจะไม่เกิดขึ้นถ้าในประเทศไม่ฮั้วกันขึ้นราคาขาย

          แหล่งข่าวด้านเอกชน กล่าวว่า มติที่ประชุม กอน. วันนี้ส่วนใหญ่ชาวไร่เห็นด้วย ขณะที่ฝั่งโรงงานน้ำตาลแม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยแต่ยังมองว่าในทางปฏิบัติอาจต้องใช้เวลาถึงจะทำได้จริง เพราะยังคงมีเรื่องระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ยังต้อง หารือข้อสรุปอีก

จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

นอภ.แม่สอดใช้ยาแรง พบเผาป่าอ้อยตรงไหน จับดำเนินคดีตรงนั้น

นายอำเภอแม่สอด จ.ตาก ใช้ยาแรงจับตาใครเผาป่าอ้อยตรงไหน จับดำเนินคดีตรงนั้น หวั่นชาวบ้านได้รับผลกระทบจากหมอกควัน รบกวนการขึ้นลงของเครื่องบิน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดตากแม้ว่าค่าฝุ่นละอองที่วัดได้ขึ้นๆ ลงๆ แต่ส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะพื้นที่อ.พบพระ อ.แม่ระมาด และ อ.แม่สอด มีการปลูกอ้อยมากมีการเผาเศษวัสดุอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีขี้เถ้าฟุ้งกระจาย รวมทั้งยังมีไฟไหม้ป่าไหม้หญ้าเกิดขึ้นทุกวัน ทำให้มลพิษทางอากาศเริ่มรุนแรงส่งผลกระทบ

นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอด ในฐานะหัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า อ.แม่สอด กล่าวว่า หลังบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ช่วงวันที่ 14 ก.พ.– 14 เม.ย. พบว่ามีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และสามารถจับกุมได้แล้ว 1 คดี โดยทางศูนย์จะขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างต่อเนื่อง และบังคับใช้มาตรการทั้งทางกฎหมายและทางสังคม อย่างเฉียบขาดสำหรับผู้ที่กระทำผิด

ทั้งนี้ เนื่องจากจะกระทบต่อสุขภาพประชาชนแล้ว ยังส่งผลรบกวนการขึ้นลงของอากาศยานด้วย แม่สอดเป็นเมืองท่องเที่ยวจึงต้องเข้มงวดกับการเผาในช่วง 60 วัน ห้ามเผาเราจะจับกุมไม่ไว้หน้า ทั้งการเผาไร่ เผาป่า จับได้ส่งดำเนินคดีอย่างหนักทุกรายตอนนี้เราต้องใช้ยาแรงเพราะยังมีการเผาอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ตรวจเข้มรถบรรทุกอ้อย เกินมาตรฐานที่ขอนแก่น

คกก.ระดับจังหวัดขอนแก่น ออกตรวจการบรรทุกอ้อยของรถ หวั่นบรรทุกเกินกว่ากำหนด พบส่วนใหญ่ปฏิบัติตามข้อกำหนด แต่สั่งปรับลดคานวัดระดับความสูง

ที่ลานจอดอ้อย เอ บี บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง ผู้แทน นายชัยธวัช เนียมศิริ รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พ.อ.ไมตรี บุตรชา รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ตัวแทนจากขอนแก่นส่งจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด แขวงการทางจังหวัด ขอนแก่น เข้ารับฟังการดำเนินการขนส่ง และผลิตอ้อย โดยมีนายเลิศลักษณ์ เจนใจวิทย์ ผู้จัดการโรงงาน น้ำตาลขอนแก่น พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ให้การต้อนรับ พร้อมออกไปตรวจยังลานรับอ้อยทั้ง 2 แห่ง

นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง เผยว่า จากการที่จังหวัดขอนแก่น มีโรงงานน้ำตาลอยู่ 2 แห่ง ประกอบด้วยที่อำเภอหนองเรือ และอำเภอน้ำพอง การขนส่งอ้อยเข้าโรงงานของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ที่ผ่านมามีปัญหาในด้านการบรรทุกสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด คือ มติในการขนส่งการบรรทุกอ้อยให้มีความสูงจากพื้นถนน ไม่เกิน 4 เมตร มีความยาวที่ยื่นจากตัวถังด้านหลัง ไม่เกิน 2.30 เมตร ท้ายไม่บาน มีสายรัดผูกมัดให้แน่น ความยาวด้านหน้าไม่เกินกันชนหน้ารถ

รถบรรทุกอ้อยทุกคันให้มีการติดธงแดงขนาดใหญ่ท้ายรถ อย่างน้อย 2 ผืน เพื่อให้เห็นได้ชัดในเวลากลางวัน และติดสัญญาณไฟแดงไว้บริเวณด้านข้างซ้าย ขวา ของตัวรถอย่างน้อยด้านละ 1 ดวง และด้านท้ายของรถที่ยื่นออกมาอย่างน้อย 3 ดวง พร้อมกับทำป้ายสะท้อนแสงสีขาว ขนาด 90x120 เซนติเมตร มีตัวอักษรสีแดงข้อความ“รถช้า บรรทุกอ้อย” สำหรับรถปกติ และ หรือ “รถพ่วง บรรทุกอ้อย” สำหรับรถพ่วง

จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าของรถบรรทุกอ้อย และบริษัทน้ำตาลฯ ได้ดำเนินตามที่มีการทำข้อตกลงกันไว้กับทางกรมการขนส่ง ทั้งนี้ทางที่ลานจอดอ้อย จะต้องมีคานเหล็กเพื่อตรวจสอบระดับอ้อย 3.80 เมตร จากที่ตรวจสอบพบว่าระดับความสูงของคานอ้อยยังสูงกว่าที่กำหนดไว้ คือ 4.00 เมตร จึงได้สั่งการให้ผู้จัดการจัดทำให้อยู่ระดับที่กำหนดไว้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พืชเกษตร ชี้ทิศทางเศรษฐกิจภูมิภาค

          ผลผลิตและราคาพืชผลปี 2560 ดันเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรเพิ่ม 5.5 หมื่นล้าน ภาคใต้ได้อานิสงค์ราคายาง ปาล์มน้ำมันพุ่ง หนุนธุรกิจในพื้นที่แนวโน้มสดใสตามกำลังซื้อเกษตรกร

          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินมูลค่าพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก คือ ข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน พบว่า ปี 2560 มีมูลค่ารวมกว่า 7.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.5 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นมาจากราคายางพาราและอ้อยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการและราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดว่าราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบเฉลี่ย ปี 2560 จะอยู่ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยปีที่ผ่านมาร้อยละ 24 ทำให้มูลค่าผลผลิตยางปีนี้เพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าปริมาณผลผลิตจะลดลงร้อยละ 6 เนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่ปลูกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ราคาอ้อยได้รับผลบวกจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่ตึงตัว ผลักดันราคารับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เทียบกับราคารับซื้อปีก่อน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

          ด้านข้าว ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คาดว่าราคาจะอ่อนตัวจากลงอีกเล็กน้อย เนื่องจากปี 2560 อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวนาไม่ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตของแหล่งผลิตข้าวสำคัญทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จึงทำให้ราคาและปริมาณส่งออกข้าวของไทยชะลอตัว ขณะที่สต็อกของรัฐบาลยังคงกดดันราคาข้าวในปีนี้ ทำให้มูลค่าผลผลิตข้าวที่ชาวนาได้รับเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับมูลค่าผลผลิตปี 2559 ส่วนมันสำปะหลังราคาชะลอต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่าราคามันสดเฉลี่ยทั้งปีจะชะลอตัวลงร้อยละ 18 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันฯ ของประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญลดลง ทำให้มูลค่าผลผลิตมันสดที่เกษตรกรชาวไร่มันฯ ขายได้ลดลง 1.2 หมื่นล้านบาท

          เม็ดเงินจากมูลค่าผลผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตและบริโภคกลุ่มสำคัญของเศรษฐกิจภูมิภาค มีกำลังซื้อสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราที่สำคัญของประเทศ (ผลผลิตยางพารากว่าร้อยละ 70 มาจากภาคใต้) จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงยังได้ผลบวกจากปาล์มน้ำมันที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วยด้วย ดังนั้น เศรษฐกิจภาคใต้ปีนี้น่าจะฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมรวดเร็วและดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก ด้านภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง แม้ว่ามูลค่าผลผลิตอ้อยจะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น แต่ข้าวและมันสำปะหลัง ราคายังคงฉุดรายได้เกษตรกรในปีนี้ ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรในภาพรวมทั้ง 3 ภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เศรษฐกิจของจังหวัดที่คาดว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่สำคัญได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุดรธานี นครราขสีมา กาญจนบุรี

กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในพี้นที่ข้างต้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต อีกด้านหนึ่งเกษตรกรจะมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยหากทิศทางของราคาและปริมาณผลผลิตยังดีต่อเนื่องในระยะยาว จะทำให้แนวโน้มการซื้อสิ้นค้าคงทน หรือ สินค้าราคาสูง เช่น จักรยานยนต์ รถยนต์ มีแนวโน้มดีขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากเกษตรกรมีความมั่นใจในรายได้สูงขึ้น

          ดังนั้นภาครัฐฯ ควรมีนโยบายดูแลราคาข้าวและมันสำปะหลังระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนยางพารา อ้อยและปาล์ม ซึ่งราคาอยู่ในระดับค่อนข้างดีในปีนี้ ควรส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนอย่างจริงจัง เช่น นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ และช่วยหนุนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตได้ในระยะยาว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"สมคิด" จุดพลุ "4.0" มอง "เลือดใหม่" ไทยแลนด์ ตอบรับ "สตาร์ตอัพ"

หมายเหตุ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวคิดการผลักดันประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ผ่านผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (สตาร์ตอัพ) จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในอนาคตต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

สตาร์ตอัพจะเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างไร

สมัยก่อนผู้มีบทบาทสำคัญจะเป็นรายใหญ่จากนักลงทุนของต่างชาติ การเริ่มต้นทุกอย่างจึงมาจากบริษัทขนาดใหญ่ มีการจ้างแรงงาน ระบบการศึกษาผลิตเพื่อป้อนองค์กรเหล่านั้น ที่เหลือก็เป็นเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีในอดีตเป็นเอสเอ็มอีผูกกับบริษัทใหญ่ แต่พอผ่านไปจริงๆ แล้ว หัวใจพัฒนาประเทศต้องสร้างอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี (Enterpreneur Economy) คือระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการ เปรียบเทียบเหมือนปลูกต้นไม้ต้องปลูกเป็นป่า เศรษฐกิจจะแข็งแรงไม่ใช่ปลูกต้นไม้ไม่กี่ต้น ที่เหลือเป็นหญ้าแพรก เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก จอดป้ายกันทั้งประเทศ

เราเคยมีบทเรียนแล้วเมื่อปี 2540 ตอนนั้นบริษัทขนาดใหญ่เดี้ยงหมด แต่ประเทศอิตาลี จีน ไต้หวัน หรือฮ่องกง มีบริษัทขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ ผลกระทบจะไม่มาก

ระบบเศรษฐกิจแท้จริงต้องผลักดันให้เกิดบริษัทใหม่มากที่สุด ถ้าบริษัทเกิดใหม่จะเป็นแองเจิลออฟโกลด์แห่งอนาคต แต่ละบริษัทที่เกิดขึ้นเป็นตัวของตัวเอง คิดทำอะไรเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ โดยไม่ผูกอยู่กับรายใหญ่ เมื่อสมัย 15 ปีก่อน ผมเรียกกลุ่มนี้ว่าสแตนด์อโลน (stand alone) ยืนด้วยตนเอง ตอนนั้นผมทำแคมเปญ โลกของคนตัวเล็กŽ คือสร้างกลุ่มเอสเอ็มอีขึ้นมา

แต่ผ่านมา 10 ปีทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม เอสเอ็มอีก็ยังอ่อนแอ มันก็ไม่เกิด

ขณะเดียวกันโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น แม้อยู่ในจุดทุรกันดารก็สามารถค้าขายผ่านเว็บไซต์ได้ ฉะนั้น การสร้างอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี จึงทำได้ เกิดได้ ยุคนี้การแข่งขันได้ไม่ใช่ดูแค่ต้นทุน แต่ต้องมีอินโนเวชั่น (innovation) ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ อินโนเวชั่นจากวิเคราะห์วิจัยรีเสิร์ซ (research) จากเทคโนโลยีและโนว์ฮาว

ดังนั้น จึงตั้งธงว่าอนาคตของประเทศไทย ต้องเน้นการมีอินโนเวชั่น ผลักดันให้คนทำให้อินโนเวชั่นเกิดขึ้น และเกิดการค้าจากอองเทอเพรอนัวร์ อีโคโนมี ในวันข้างหน้า 2 ตัวนี้ต้องมาคู่กัน

ยกตัวอย่างของสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ

การเข้ามาบริหารประเทศตอนนี้ก็เพื่อต้องการสร้างอินโนเวชั่นและอองเทอเพรอนัวร์ ในส่วนอินโนเวชั่นจะเกิดได้ต้องมีคลัสเตอร์ ได้ให้นโยบายกับบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ว่าต่อจากนี้การลงทุนจากต่างประเทศ ไม่ต้องการแค่มาตั้งโรงงาน มาใช้แรงงานถูกๆ ในการประกอบ เมื่อเห็นว่าประเทศใดแรงงานถูกกว่าก็ย้ายไป

ผมต้องการให้เข้ามาลงทุนเป็นแพคเกจคลัสเตอร์ คือต้องมีรีเสิร์ซ มีโรงเรียนวิจัย แล้วจ้างผลิตนวัตกรรม และทุกคลัสเตอร์ต้องมี 3 เสาหลักในนั้น ส่วนที่หนึ่งภาครัฐให้การสนับสนุน ส่วนที่สองเอกชน และส่วนที่สามมหาวิทยาลัยด้านวิจัย ไม่ว่าเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอาหาร คลัสเตอร์กลุ่มอีโคโนมี กลุ่มยานยนต์หุ่นยนต์ เป็นต้น

ผมไปเกาหลีใต้ เขาบอกเองว่า จีดีพีประเทศประมาณ 20% มาจากธุรกิจของบริษัทซัมซุง ในอนาคตมีสิทธิน็อกได้ง่าย แนวคิดจึงเริ่มเปลี่ยนเขาไม่ยึดบริษัทใหญ่ พยายามสร้างอีโคโนมิกเซ็นเตอร์ให้บริษัทใหญ่เป็นเสาหลัก เพื่อให้คนหนุ่มสาวเข้าไปใช้ได้คิดค้น ต่อมาก็สนับสนุนการเงิน หรือร่วมทุนจนเกิดธุรกิจสตาร์ตอัพ

นโยบายต่อจากนี้ต้องการสร้างสตาร์ตอัพทั่วประเทศ แต่สตาร์ตอัพไทยจะแตกต่างจากประเทศอื่น ของไทยไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เราต้องรวมศิลปวัฒนธรรมและบริการ ไทยเราแข็งมากในด้านนี้ ที่ประเทศอื่นไม่มี ดังนั้น สตาร์ตอัพไทยไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเบสสตาร์ต อัพอย่างเดียว เรารวมเป็นครีเอทีฟสตาร์ตอัพ

ตอนนี้ทุกวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เมื่อมีโอกาสผมจะไปต่างจังหวัด เพราะได้มีการกระจายงบประมาณไปยังกลุ่มจังหวัดต่างๆ จะไปดูเรื่องการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญช่วยการเกิดของสตาร์ตอัพได้มาก ล่าสุดไป อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน คนนำทางพาเข้าทางลัดเส้นบ้านสะลวงนอก เส้นทางนี้ผมได้เห็นอาร์ติสต์ฝังตัวอยู่มาก ได้เข้าไปร้านกาแฟรายหนึ่ง เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่ถึง 40 ปี จบวิศวเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เบื่องานในเมืองก็กลับมาบ้าน ก่อนเปิดร้านกาแฟ ก็เริ่มจากบ่มชา มีหลากหลายรสชาติทั้งกล้วย ทุเรียน รับซื้อจากกลุ่มชาวบ้านใกล้เคียงเพื่อส่งออก แล้วต่อยอดด้วยการเปิดร้านกาแฟและขายชา

ผมว่าเป็นชาที่อร่อยที่สุดในโลก ร้านก็มีการตกแต่งได้น่ารัก ดึงลูกค้าซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเข้ามา

อีกตัวอย่าง ร้านอาหารที่มี 4 หนุ่มรุ่นใหม่ช่วยกันดูแล ร้านนี้จะรับลูกค้าแค่ 2 กลุ่มเท่านั้น ไม่มีเมนูให้เลือกแต่ทางร้านจะจัดเตรียมเมนูแต่ละวันไว้ให้บริการ ต่อคน 6 เมนู มีการตกแต่งเป็นอาหารตาได้อย่างสวยงาม ในเส้นทางนี้ยังได้เห็นคนรุ่นใหม่มาทำปศุสัตว์เลี้ยงแกะ แปรรูปเพื่อส่งออก เหมือนฟาร์มที่ฮอกไกโด ด้านที่พักก็มีหลายแห่งที่โรแมนติก ทำให้เห็นว่าสตาร์ตอัพทำให้คนกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด แต่ที่แย่คือขากลับต้องนั่งรถกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อมาขึ้นเครื่องบิน ก็คุยกับการบินไทย มีสายการบินตั้ง 2 สาย จะทำอะไรให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวได้มากขึ้น ตามนโยบายผลักดันเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัด

มีแนวทางจะกระตุ้นคนรุ่นใหม่คิดเป็นสตาร์ตอัพอย่างไร

ปีก่อนผมได้สั่งรัฐมนตรีอุตตม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) ทำไทยแลนด์สตาร์ตอัพ เพื่อปลุกให้คนรู้ว่าคุณทำธุรกิจได้ รัฐพร้อมช่วยคุณแต่ต้องมีไอเดีย ต่อมาให้ธนาคารออมสินจัดประกวดผลงานสร้างสรรค์ ล้วนเป็นหนุ่มสาวอายุไม่ถึง 30 ปีทั้งนั้น ตอนนี้ก็จะเห็นธนาคารต่างๆ ออกแนวคิดส่งเสริมสตาร์ตอัพออกมาต่อเนื่อง

แต่ต้องดึงการท่องเที่ยวมาช่วยเพื่อให้เกิดการรับรู้ไปทั่วโลก เรื่องเรายังขาด ทำให้ต้องมีเน็ตหมู่บ้าน เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับ ดังนั้น จึงต้องลงทุนอินเตอร์เน็ต นั่นคือทุกหมู่บ้านต้องมีอินเตอร์เน็ต วางเป้าหมายเป็นฮับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) งบประมาณเตรียมให้แล้วแต่ดำเนินงานยังไม่คืบ

ผมสั่งต้องเสร็จภายในปีนี้ รัฐมนตรีดีอี (พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เดือนมีนาคมนี้ ต้องประมูลเรื่องวางเครือข่ายให้เสร็จ และกลางปีต้องจัดงานใหญ่ของดิจิทัลไทย จะท้าทายประเทศคู่แข่งให้สะเทือน ได้เชิญซีแอลเอ็มวีมาร่วมงานด้วย

ตอนนี้มี 2 เจ้าใหญ่มาร่วมแล้ว คือ อาลีบาบาŽ เว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ หัวเว่ยŽ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมและอุปกรณ์เครือข่ายชั้นนำของจีน ยังมีค่าย อื่นๆ อีกที่จะร่วมงาน

อีกทั้งให้ตั้งสถาบันใหม่ที่กระทรวงพาณิชย์ คือสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (นิว อีโคโนมี อคาเดมี) จะเป็นจุดเริ่มต้นฝึกธุรกิจให้รู้เรื่องดิจิทัลและทำอีคอมเมิร์ซเป็น เป้าหมายผมไม่ใช่คนอยู่ในเมืองใหญ่ แต่มุ่งเป็นกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรให้สามารถใช้อีคอมเมิร์ซในการค้าขาย อาลีบาบาเข้ามาช่วยเรื่องอบรมและขึ้นเว็บไซต์ เขาได้ช่วยจีนอยู่ 2 หมื่นหมู่บ้าน ทำให้เกษตรกรจีนมีเงินใช้ร่ำรวย ตอนนี้อาแปะจีนยังทำอีคอมเมิร์ซเป็นเลย

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อม สตาร์ตอัพคนรุ่นใหม่แยะขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม มีงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะส่งเสริมสตาร์ตอัพเอสเอ็มอีที่กำลังเกิดให้มีทักษะมีเงินทุนต่อยอดทำธุรกิจ

สมัยก่อนสตาร์ตอัพเกิดน้อย เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ ตอนนี้ช่วยทุน เติบโตก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ อีกทางเอกชนรายใหญ่ก็มีพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ไม่มีออฟฟิศของตนเอง ได้เข้าไปใช้ เชื่อว่าบ้านเมืองไทยนิ่งสัก 2-3 ปี จะเกิดกลุ่มครีเอทีฟคนไทยอย่างรวดเร็ว

อย่างร้านกาแฟทุกวันนี้ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารหรือติดต่อค้าขายได้หมดแล้ว

ตอนนี้สังคมรับรู้และตื่นตัวเรื่องสตาร์ตอัพ แต่ยังต้องขับเคลื่อนผ่านราชการทางปฏิบัติระบบจะช้ากว่าเอกชน เชื่อว่า 3-5 ปีข้างหน้า ที่ทำวันนี้จะไปตามเป้าหมาย การแข่งขันจะช่วยกระตุ้นให้สตาร์ตอัพได้เกิดเร็วขึ้น จึงมีหลายเรื่องที่จะมีการปฏิรูป รวมทั้งเรื่องการศึกษาด้วย

เมื่อไหร่ก็ตาม สตาร์ตอัพลงไปสู่การศึกษาระดับอาชีวะ พวกนี้มีฝีมือ จบออกมาจะทำงานที่ตนชอบ เช่น ผลิตนาฬิกาเก๋ๆ ทำเครื่องหนังดีๆ มีดีไซน์ของตนเอง การศึกษาจึงต้องตามตลาดให้ทัน ตอนนี้อเมริกาไม่ใช่เน้นด้านหลักสูตรบริหารแล้ว แต่เน้นสายอาชีพจะเห็นการเกิดของคนค้าขายเต็มไปหมด

ประเด็นน่าเป็นห่วงในปี 2560

ไม่มีอะไรน่าห่วง ถ้าไม่มีข่าวหรือสถานการณ์อะไรที่จะมากดดันความน่าเชื่อถือของประเทศ ขอให้ประเทศนิ่ง การบริหารงานมีความต่อเนื่อง ชัดเจน จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างชาติเอง

บทสัมภาษณ์นี้เป็นเพียงบางส่วนที่รัฐบาลจะกระตุ้นการเกิดสตาร์ตอัพอย่างไร ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ในงานเสวนา มติชนก้าวที่ 40 ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0Ž ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมพูลแมน รางน้ำ เวลา 08.30-12.30 น. ที่นั่งมีจำกัด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ค่าเงินอ่อนค่าเล็กน้อย หลังดอลล์กลับมาแข็งค่าขึ้นหากเทียบหลายสกุล

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทวันที่ 21 ก.พ. ค่าเงินเปิดตลาดที่ 35.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เท่าราคาปิดตลาดวานนี้ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยจากวานนี้ หลังค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเล็กน้อย จากการออกมาให้ความเห็นของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าสหรัฐสามารถขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และในระยะนี้ถือเป็นช่วงขาขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐ ทำให้นักลงทุนมองความเป็นไปได้ของการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในรอบ มี.ค.นี้ แม้ตลาดเงินจะคาดการณ์โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือน มี.ค.แค่ 30% ก็ตาม ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในสกุลเงินดอลลาร์ จนค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหากเทียบกับหลายสกุล

โดยปัจจัยที่ต้องคิดตาม ยังคงเป็นการออกมาแถลงการณ์ฉบับย่อของเฟด เกี่ยวกับผลการพิจารณาดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มการพิจารณาดอกเบี้ยในระยะต่อไปด้วย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ดันโมเดล‘ไร่อ้อยพอเพียง’ขึ้นเวทีโลก 40ชาติปลื้มผลการประชุม‘อ้อย-น้ำตาล’นานาชาติ

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2559 ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก โดยที่ประชุมได้ให้ความสนใจประเด็นการทำไร่อ้อยแบบพอเพียง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย เพราะทำให้เกษตรกรรายเล็กสามารถอยู่รอด และสามารถเป็นผู้ส่งออกระดับโลกได้

นอกจากนี้ในการประชุม ทุกประเทศที่เข้าร่วมยังได้ชื่นชมการจัดงานที่ทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบในทุกๆด้าน ทั้งการจัดนิทรรศการ การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบเจรจาธุรกิจ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากกลุ่มผู้ให้บริการและผู้ผลิตอุปกรณ์ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ด้านวิชาการที่มีผู้ส่งผลงานมาร่วมงาน 267 เรื่อง ทำให้นักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่มีโอกาสนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น สร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายกับนักวิจัยระดับโลกที่เข้ามาเพื่อต่อยอดในการสร้างงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อไปในอนาคต และที่สำคัญตัวแทนผู้ส่งผลงานจากประเทศไทย 10 คนได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล Best Papers และ Best PostersAward จาก 4 สาขาได้แก่ สาขาการเกษตรสาขาชีววิทยา โรงงาน และผลิตภัณฑ์พลอยได้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของไทยได้เรียกร้องผ่านทางเวทีประชุมดังกล่าว ให้ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยมากขึ้น เพื่อให้งานวิจัยเกิดประโยชน์กับการพัฒนา สามารถขยายผลนำมาปฏิบัติได้จริงดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่การพัฒนาอยู่บนฐานข้อมูลที่ได้มาจากงานวิจัย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน

ด้าน นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสำคัญในการจัดงานประชุมครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการเป็นผู้นำในเรื่องอ้อยและน้ำตาลของไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อ้อยประเภทต่างๆ การจัดการดินและน้ำภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดไปจนถึงใช้เครื่องจักรขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรรายย่อย และโรงงานน้ำตาลในยุคใหม่ ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำผลผลิตอ้อยทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ โดยไม่มีส่วนใดเหลือทิ้ง ตลอดจนการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน และการควบคุมการผลิตด้วยระบบจีพีเอส นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดตลาดให้

 ผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลของไทยมีโอกาสนำเสนอสินค้าออกสู่สากลมากขึ้นอีกด้วย

การประชุมครั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรของไทยได้เข้าชมงาน ทำให้ได้รับรู้และรับทราบเทคโนโลยีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรับปรุง พัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการสร้าง Economic Impact และแสดงให้เห็นว่า จ.เชียงใหม่ สามารถเป็น MICE City ได้ อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับให้เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ถูกเลือกให้จัดงานในระดับ InternationalCONVEX ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้าน International Congress และ Trade Exhibition ได้อีกจุดหมายหนึ่งนอกเหนือจาก กรุงเทพมหานคร การประชุมดังกล่าวยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านนักท่องเที่ยว เพราะจะทำให้ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ก็จะนำเรื่องราวของประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ไปเชิญชวนให้ประชาชนในประเทศของเขาเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น” นายกิตติกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บอร์ดกอน.ไฟเขียวลอยตัวราคาน้ำตาล  

          คาดเริ่มใช้เร็วสุด ต.ค.นี้ พร้อมเตรียมเปิดเสรีนำเข้า หวังใช้เป็นกลไกลถ่วงดุล ราคาดูแลผู้บริโภค เตรียมนำข้อมูลเจรจาบราซิล 6-8 มี.ค.นี้ หวังเปลี่ยนใจ ไม่ยื่นฟ้อง WTO

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า บอร์ด กอน. ได้หารือถึงแผนการ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและ น้ำตาลทรายของไทย เพื่อไปหารือกับบราซิล ช่วงวันที่ 6-8 มี.ค.นี้ ก่อนบราซิลจะประชุมระหว่างรัฐและเอกชนของบราซิลในวันที่ 10 มี.ค.นี้ เพื่อกำหนดท่าทีต่อไทย โดยหวังว่าจะบราซิล จะไม่ตัดสินใจยื่นฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)กรณีกล่าวหา ไทยอุดหนุนการปลูกอ้อยและการส่งออกน้ำตาลทราย

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย  (กอน.) กล่าวว่า บอร์ด กอน.เห็นชอบในหลักการร่วมกันให้ยกเลิกการโควตาน้ำตาล เป็นโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกผ่านบ.อ้อยและน้ำตาลทรายไทย (อนท.) และโควตา ค. (ส่งออกที่เหลือ) แต่ควรจะต้องกำหนดปริมาณสำรองน้ำตาลในประเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

          ส่วนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้น บอร์ด กอน. เห็นชอบหลักการให้นำไปสู่ การลอยตัวราคาน้ำตาลทราย โดย เป็นการอ้างอิงราคาน้ำตาลในตลาดโลก ซึ่งจะนำราคาตลาดโลกเฉลี่ยของเดือนที่ผ่านมานำมาคำนวณราคาหน้าโรงงาน

          "หลังจากบอร์ด กอน.มีมติแล้ว  คณะกรรมการจะต้องไปออกระเบียบต่างๆเพื่อรองรับการปฏิบัติ ซึ่งคาดว่า จะต้องใช้เวลา 6 เดือน โดยคาดว่าการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ จะเริ่มได้เร็วสุด คือ ภายในเดือน ต.ค.นี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างอ้อยฯไว้ แต่ทั้งนี้  ต้องพิจารณาความเหมาะสมตาม สถานการณ์ในช่วงนั้นด้วย" แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์นั้นจะไม่กำหนดเพดานราคา แต่จะยังมีหลักการการดูแลราคาสินค้าโดยคณะกรรมการเช่นเดิม เพื่อไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาน้ำตาลสูงในอนาคต โดยการควบคุมราคาสินค้านั้นจะเป็นการประเมินตามทิศทางของราคาน้ำตาลในตลาดโลกด้วยพร้อมกำหนดให้ผู้ผลิตแจ้งการจัดเก็บสต็อกน้ำตาลที่มีอยู่เพื่อให้น้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ

          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดี กรมการค้าภายใน  กล่าวว่า วันนี้ (21 ก.พ.)  จะมีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงประเด็นมติบอร์ด กอน.ที่เห็นชอบหลักการลอยตัวราคาน้ำตาล พร้อมเตรียมเปิดเสรีนำเข้าเพื่อประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ลอยตัวราคาน้ำตาลเดือน ต.ค.นี้ กอน.ปล่อยขึ้นลงตามตลาดโลก 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า กอน.ได้เห็นชอบหลักการการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทราย เพื่อนำไปสู่การลอยตัวราคาขายปลีกในประเทศ โดยจะอ้างอิงราคาตลาดโลก และให้มีการยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย ที่เดิมกำหนดโควตา ก. (จำหน่ายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ อนท.) โควตา ค. (ส่งออกโดยชาวไร่และ อนท.) โดยจะเป็นการกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศ ไว้ดูแลผู้บริโภค (Food Security) ให้เพียงพอในแต่ละปีเท่านั้น คาดว่าจะนำไปสู่การนำร่องปฏิบัติได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้

          “หลักการดังกล่าว จะนำไปรายงานต่อประเทศบราซิล เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตามที่ได้ตกลงไว้ จากก่อนหน้าที่บราซิลได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลกกล่าวหาประเทศไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งตัวแทนของไทย จะเดินทางไปบราซิลวันที่ 6-8 มี.ค.นี้ เพื่อให้ข้อมูล”

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า การลอยตัวราคาน้ำตาลทราย เป็นราคาอ้างอิงตลาดโลก ที่จะนำเอาราคาตลาดโลกเฉลี่ยของเดือนที่ผ่านมา นำมาคำนวณราคาหน้าโรงงาน เพื่อกำหนดเป็นรายได้เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่กำหนดราคาขายปลีก ที่อิงราคาตลาดโลกดังกล่าว เพราะต้องดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค ขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีที่สุดแล้วที่จะลอยตัวราคา และยังจะมีการเปิดให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายแบบเสรีเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาในประเทศสูงเกินไป ถ้าราคาขายปลีกในประเทศสูงผิดปกติ เพื่อถ่วงดุลราคาขายปลีกในประเทศ.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เดินหน้าลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเลิกระบบโควตาเตรียมนำร่องตุลาคมนี้  

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยหลังการเป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า กอน.ได้เห็นชอบหลักการ การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาอิงตลาดโลก และยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่เดิมกำหนดโควตา ก.ข.และค. แต่จะกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศไว้ดูแล ผู้บริโภคหรือ Food Security เท่านั้นซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การนำร่องปฏิบัติได้ ภายในเดือนตุลาคมนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

          "หลักการดังกล่าวจะนำไปรายงานต่อบราซิลเพื่อยืนยันว่าไทยได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่ได้ตกลงไว้ จากก่อนหน้าที่บราซิลได้ยื่นคำร้องต่อองค์การ การค้าโลก(WTO) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งตัวแทนและทีมกฎหมายของไทยจะมีการ เดินทางไปยังบราซิล 6-8 มีนาคมนี้ เพื่อให้ข้อมูลกับบราซิลเนื่องจากวันที่ 10 มีนาคมนี้บราซิลอาจหยิบยกประเด็น ดังกล่าวมาพูดคุยได้" นายสมชายกล่าว

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า กอน. มีมติเห็นชอบในหลักการร่วมกันที่จะนำไปสู่ การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายโดยเป็นราคาอ้างอิงตลาดโลกที่จะนำเอาราคาตลาดโลกเฉลี่ยของเดือนที่ผ่านมานำมาคำนวณราคาหน้าโรงงานเพื่อกำหนดรายได้ เข้าระบบ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่กำหนดราคาขายปลีกที่อิงราคาตลาดโลกดังกล่าวที่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

          "คงเป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ที่จะใช้กฎหมายในการดูแลไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภครวมถึงการยกเลิกให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมเพื่อนำไปสู่การลอยตัว หากพิจารณาจากราคาตลาดโลกขณะนี้แล้วราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวจะใกล้เคียงกับปัจจุบันยกเว้นว่าน้ำตาลตลาดโลกพุ่งพรวดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีสุดแล้ว ที่จะลอยตัวราคาน้ำตาลเพราะราคา

จาก แนวหน้า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กอน.เคาะลอยตัวราคาน้ำตาลทราย หวังเริ่มใช้ต.ค.นี้พร้อมเปิดเสรีนำเข้า

          "กอน." เคาะเดินหน้าลอยตัวราคาน้ำตาลทราย อิงตลาดโลกหวังเริ่มใช้ได้ในช่วง ต.ค.นี้ เพราะช่วงจังหวะดีราคา ใกล้เคียงตลาดโลก พร้อมยกเลิกระบบโควตา แต่กำหนดสำรองเพื่อความมั่นคงหรือ Food Security และเตรียมเปิดนำเข้าเสรีป้องกัน การฮั้วราคาของผู้ผลิตในประเทศ

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า กอน.ได้เห็นชอบหลักการการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาอิงตลาดโลก และยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่เดิมกำหนดโควตา ก.ข. และ ค.ไว้แต่จะกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศไว้ดูแลผู้บริโภคหรือ Food Security เท่านั้นซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การนำร่องปฏิบัติได้ภายใน ต.ค.นี้ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)

          "หลักการดังกล่าวจะนำไปรายงานต่อบราซิลเพื่อยืนยันว่าไทย ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่ได้ตกลงไว้ จากก่อนหน้าที่บราซิลได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรม อ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งตัวแทนและ ทีมกฎหมายของไทยจะมีการเดินทางไปยังบราซิล 6-8 มี.ค.เพื่อให้ข้อมูล กับบราซิลเนื่องจาก 10 มี.ค.บราซิลอาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูด คุยได้" นายสมชายกล่าว

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ อ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า กอน.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่วมกันที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายโดยเป็นราคาอ้างอิงตลาดโลกที่จะนำเอาราคาตลาดโลกเฉลี่ยของเดือนที่ผ่านมานำมาคำนวณราคาหน้าโรงงานเพื่อกำหนดรายได้เข้าระบบ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่กำหนดราคาขายปลีกที่อิงราคาตลาดโลกดังกล่าวที่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

          "คงเป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่จะใช้กฎหมายในการดูแลไม่ให้ เอาเปรียบผู้บริโภครวมถึงการยกเลิกให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมเพื่อนำไปสู่การลอยตัว ซึ่งหากพิจารณาจากราคาตลาดโลกขณะนี้แล้วราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวจะใกล้เคียงกับปัจจุบันยกเว้นว่าน้ำตาลตลาดโลกพุ่งพรวดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีสุดแล้ว ที่จะลอยตัวราคาน้ำตาลเพราะราคาใกล้เคียงกับปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยัง จะมีการเปิดให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายแบบเสรีเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาในประเทศสูงเกินไปถ้าสูงก็จะมีการนำเข้ามาถ่วงดุลได้" นายสมศักดิ์กล่าว

          นอกจากนี้ ได้เห็นชอบที่ยกเลิกระบบจัดสรรปริมาณน้ำตาลที่กำหนดเป็นโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกผ่าน บ.อ้อย และน้ำตาลทรายไทย (อนท.) และโควตา ค. (ส่งออกที่เหลือ) แต่จะกำหนด Food Security ไว้เพื่อไม่ให้ขาดแคลนในประเทศที่จะกำหนดไว้ช่วงตั้งแต่ปิดหีบจนนำไปสู่การเปิดหีบใหม่โดยเน้นแต่ละเดือนจะต้องมีน้ำตาลทราย.

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กอน.ลอยตัวน้ำตาลทราย อิงราคาตลาดโลกพร้อมเลิกโควตา เริ่มใช้เดือนต.ค.ตามมติครม. 

          ลอยตัวน้ำตาลทรายต.ค.นี้

- คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบหลักการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่ออิงราคาตลาดโลก เดือน ต.ค.นี้

          - กอน.ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามตลาดโลก เริ่มเดือน ต.ค.นี้ พร้อมยกเลิกระบบโควตาหันกำหนดสำรองเพื่อความมั่นคงเพียงพอบริโภค

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า กอน.เห็นชอบหลักการการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่ออิงราคาตลาดโลกพร้อมยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย จากเดิมกำหนดโควตา ก. จำหน่ายในประเทศ โควตา ข. ส่งออกผ่านบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) และโควตา ค. ส่งออกโดยบริษัทเอกชน แต่จะกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศไว้ดูแลผู้บริโภค (ฟู้ด ซีเคียวริตี้) เท่านั้น คาดว่าจะนำร่องปฏิบัติได้ในฤดูการผลิตหน้า หรือเดือน ต.ค.นี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

          ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวไทยจะนำไปรายงานต่อบราซิลด้วย เพื่อยืนยันว่าไทยได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่ได้ตกลงไว้ จากก่อนหน้าที่บราซิลได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งตัวแทนและทีมกฎหมายของไทยจะเดินทางไปยังบราซิลวันที่ 6-8 มี.ค.นี้ เพื่อให้ข้อมูลกับบราซิล

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า กอน.มีมติเห็นชอบในการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย โดยเป็นราคาอ้างอิง ตลาดโลกที่จะนำเอาราคาตลาดโลกเฉลี่ย ของเดือนที่ผ่านมา โดยนำมาคำนวณ ราคาหน้าโรงงานเพื่อกำหนดรายได้เข้าระบบต่อไป

          สำหรับการกำหนดราคาขายปลีกเป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ที่จะใช้กฎหมายในการดูแลไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงการยกเลิกให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมเพื่อนำไปสู่การลอยตัว ซึ่งหากพิจารณาจากราคาตลาดโลกขณะนี้ ราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวจะใกล้เคียงกับปัจจุบัน ยกเว้นว่าน้ำตาลตลาดโลกพุ่งพรวดถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีสุดแล้วที่จะลอยตัวราคาน้ำตาล เพราะราคาใกล้เคียงกับปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังจะมีการเปิดให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายแบบเสรีเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาในประเทศสูงเกินไป ถ้าสูงก็จะมีการนำเข้ามาถ่วงดุลได้

          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบยกเลิกระบบการจัดสรรปริมาณน้ำตาลที่กำหนดโควตา ก. โควตา ข. และโควตา ค. แต่จะกำหนดฟู้ด ซีเคียวริตี้ไว้เพื่อไม่ให้ขาดแคลน ในประเทศที่จะกำหนดไว้ช่วงตั้งแต่ปิดหีบจนนำไปสู่การเปิดหีบใหม่ โดยเน้นว่าแต่ละเดือนจะต้องมีน้ำตาลทราย

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ลดขั้นตอนรับรอง‘เกษตรแปลงใหญ่’ ‘บิ๊กฉัตร’ย้ำเปิดกว้างให้เกษตรกร-ง่ายต่อการเข้าถึง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานโครงการเกษตรแปลงใหญ่ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 600 แปลง พื้นที่ 1.538 ล้านไร่เกษตรกร 96,554 ราย สำหรับในปี 2560 ได้กำหนดเป้าหมายอีกไม่น้อยกว่า 900 แปลงคือ มกราคม 400 แปลง และ พฤษภาคม 512 แปลง รวมทั้งสิ้น 1,512 แปลง ซึ่งในปี 2560 นี้ ต้องมีการปรับลดหลักการที่มีอยู่มาก ซึ่งพบว่าเป็นปัญหา เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจง่ายขึ้น ทั้งนี้ รายงานความสำเร็จที่สามารถตรวจวัดผลผลิตและประเมินผลได้นั้นมี 480 แปลง จาก 600 แปลง คิดเป็น 80% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างประเมินผลผลิต เนื่องจากยังไม่เก็บเกี่ยว

“การปรับปรุงขั้นตอนการรับรองการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่นั้น ได้ลดขั้นตอนโดยแต่งตั้งคณะทำงานรับรองแปลง Single Command ซึ่งจากเดิมที่ต้องผ่านอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด โดยให้คณะทำงานรับรองแปลงได้รับรองและนำเสนออนุกรรมการฯ เพื่อรับทราบ อีกทั้ง ต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนทุกราย เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานแปลงใหญ่ ที่ผ่านมามีหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ เนื่องจากมีเกษตรกรต้องการเข้าร่วมแปลงใหญ่จำนวนมาก จึงได้มีการหารือร่วมกัน และสรุปหลักการของแปลงใหญ่ดังนี้ 1.ง่ายต่อการเข้าถึง รวมตัวกันได้ จับเป็นกลุ่มผลผลิตเกษตรชนิดเดียวกัน ดำเนินการได้ทันที 2.ขนาดพื้นที่เหมาะสม ไม่จำกัดขนาดและจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วม 3.พัฒนาให้ถึงเป้าหมาย คือลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ขยายโอกาส 4.พื้นที่ไม่เหมาะสมตามAgri Map สามารถรวมเป็นแปลงใหญ่ได้ และใช้เทคโนโลยีเข้าไปปรับพื้นที่ให้เหมาะสม5.ยกระดับมาตรฐานผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น 6.แหล่งน้ำ ตามความจำเป็นหรือความเหมาะสม 7.กระบวนการกลุ่มคือ กลุ่มเดิม (สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน) กลุ่มย่อยทำแปลงใหญ่ได้ กรณีไม่มีกลุ่ม จะต้องมีการพัฒนาให้เกิดกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง 8.Economy of scale ตัดสินด้วยเกณฑ์ของแหล่งทุน ขึ้นกับกิจกรรมที่กลุ่มขอรับการสนับสนุน และ 9.ความสมัครใจเป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ และดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเป้าหมายของแปลงใหญ่ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยยื่นใบสมัครที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง ใกล้บ้านท่าน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชงเขตเศรษฐกิจชีวภาพ 2 จังหวัด นำร่องเทียบ EEC 

คณะทำงาน Bioeconomy ประชารัฐ เตรียมชง ครม.เสนอตั้ง "เขตเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร" มูลค่า 400,000 ล้านบาท นำร่อง 2 จังหวัด ขอนแก่น-นครสวรรค์ คลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง-อีสานตอนกลาง นำร่องวัตถุดิบอ้อย-มันสำปะหลัง ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เทียบเท่าระเบียงเศรษฐกิจ EEC หวังแก้ปัญหาโรงงานตั้งอยู่นอกเขตระเบียงเศรษฐกิจ

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ หัวหน้าคณะทำงานย่อย Bioeconomy ภายใต้คณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ขณะนี้คณะทำงานได้หารือถึงการดำเนินงาน โครงการสร้างความร่วมมือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งจะมีการลงทุนมากกว่า 400,000 ล้านบาท ล่าสุดคณะทำงานได้จัดทำข้อเสนอต่อ คณะทำงานการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) หรือ D5 ซึ่งมี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน

โดยคณะทำงานย่อย Bioeconomy ได้เสนอให้มีการประกาศ "เขตเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร" นำร่องในพื้นที่ 2 จังหวัดที่ใช้อ้อยเป็นแหล่งวัตถุดิบ ได้แก่ ขอนแก่น กับนครสวรรค์ พร้อมกับให้โครงการในพื้นที่นำร่องได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เท่ากับที่ BOI ให้กับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายตามที่รัฐบาลวางไว้ เนื่องจากอุตสาหกรรมชีวภาพ ถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve)

ทั้งนี้ การประกาศเขตเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร อาจจะใช้วิธีประกาศครอบคลุมพื้นที่เป็นลักษณะรายภาค โดยการแบ่งยึดตาม 18 กลุ่มจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร-กำแพงเพชร-นครสวรรค์-อุทัยธานี กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์ เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยครอบคลุมบริเวณกว้างมาก และโรงงานที่จะต่อยอดเข้ามาทำโครงการ Bioeconomy จะตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันอีกหลายแห่ง และหากข้อเสนอนี้ผ่านการเห็นชอบของ ครม.ก็จะมีการตั้งคณะทำงานเข้าไปศึกษารูปแบบการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 เดือนจะเห็นภาพชัดเจนกว่านี้

อย่างไรก็ตาม โครงการ Bioeconomy จะครอบคลุมพื้นที่ทั้งที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์สูงสุด (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 15 ปี) จาก BOI อยู่แล้ว กับโครงการ Bioeconomy ที่อยู่นอกพื้นที่ EEC

โดยในพื้นที่ EEC จะประกอบด้วย โครงการลงทุน Biopharma เงินลงทุน 2,240 ล้านบาท, โครงการ Bioplastic เงินลงทุน 3,500 ล้านบาท ผลิตพลาสติกชีวภาพ 75,000 ตัน/ปี, โครงการ Palm Biocomplex เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าชีวมวลเชื้อเพลิงชีวภาพ และโครงการพัฒนาเมืองใหม่ (Biopolis) กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนารูปแบบให้เหมาะกับประเทศไทย

ส่วนโครงการที่อยู่นอกพื้นที่ EEC ได้แก่ โครงการในกลุ่มพลังงานชีวภาพ (Bioenergy)-กลุ่มชีวเคมีภัณฑ์ (Biochemicals)-กลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Food Ingredients)-กลุ่มอาหารสัตว์แห่งอนาคต (Feed Ingredients และโครงการในกลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals)

"เราคิดเรื่องนี้กันมา 2 ปีแล้วในสภาปฏิรูป คณะด้านวิทยาศาสตร์ เทรนด์ของ Bio เป็นเทรนด์ของโลก เรื่องอาหารหรือเรื่องพลังงานจะเป็นปัญหาของโลกในอนาคตอีก 40-50 ปี มีการคิดค้นกันว่า จะทำอย่างไรให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืน ไม่เบียดบังกัน มีการค้นคว้าวิจัยผลิตพลังงานจากภาคเกษตร ในสหรัฐและยุโรปมองเรื่องนี้เป็นโจทย์หลัก หันกลับมามองประเทศไทยเราพบว่า มีความได้เปรียบในเรื่องภาคการเกษตร เป็นแหล่งวัตถุดิบใหญ่ที่มีความหลากหลาย แต่ปัญหาก็คือ คนอยู่ในภาคเกษตรได้รับประโยชน์ไม่สมน้ำสมเนื้อ แรงงานใช้คนเกือบครึ่งประเทศ แต่มูลค่าต่ำมาก เพียง 12% ของ GDP ถ้าเกษตรไม่ได้รับการต่อยอด สร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ก็ยากที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มหรือปฏิรูปภาคเกษตร ดังนั้นพืชเกษตรหลักของเราที่จะมาพัฒนาเป็น Bioeconomy จึงเป็นอ้อย กับมันสำปะหลัง จากปัจจุบันที่ไทยส่งออกมาก แต่การสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย มีการส่งออกแปรรูปเพียงขั้นต้น ยังไม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นความตั้งใจก็คือ ต้องนำงานวิจัยนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้งานภาคเกษตร" นายอนนต์กล่าว

สำหรับการพัฒนาโครงการ Bioeconomy จะสร้างจากฐานล่างสุดก่อนคือ พลังงาน มาสู่ฐานที่ 2 ชีวเคมี ฐานที่ 3 พัฒนาไปสู่อาหารคน-อาหารสัตว์ และฐานที่ 4 ยา อย่างแรกรัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตพลังงานทดแทนอยู่แล้ว โดยกระทรวงพลังงานประกาศจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลด CO2 ในอีก 20 ปีข้างหน้าชัดเจนมาก ตรงนี้มีความพร้อมต่อยอดจากฐานที่ 1 ได้

ส่วนฐานที่ 2 เรื่องชีวเคมี หรือ Biochemicals-Bioplastic ผู้บริโภคยังไม่นิยมใช้ในราคาขายที่เป็น "พรีเมี่ยม" แต่ทุกคนเริ่มมองปัญหาสิ่งแวดล้อม พลาสติกย่อยสลายสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ฐานต่อไปเรื่องอาหาร Food/Feed Ingredients นั้นเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่ภาคอกชนมีแนวคิดที่จะลงทุนต่อยอดจากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้แก่ บริษัทน้ำตาลมิตรผล-บริษัทคริสตอลลา-บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (กลุ่มไทยเอกลักษณ์) ส่วนกลุ่มผู้ผลิตมันสำปะหลัง ได้แก่ บริษัทไทยวา

ต่อจากนั้นจึงก้าวเข้าสู่ฐานสุดท้าย คือ ยา ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง สามารถดึงกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อีกมาก ด้วยการ "ปลดล็อก" หรือผ่อนคลายแก้ไขปัญหาเรื่องกฎระเบียบสาธารณสุข, โควตาจัดซื้อยาภาครัฐ, ระเบียบการขึ้นบัญชียาใหม่, กระบวนการตรวจสอบของ อย. เพื่อให้มีการทำตลาดได้เพิ่มขึ้น โดยบริษัทที่สนใจในเรื่องยา ได้แก่ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจพลังงาน บริษัทน้ำตาลมิตรผล กล่าวในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงานย่อย Bioeconomy ว่า การประกาศให้จังหวัดขอนแก่น-นครสวรรค์เป็นเขตนำร่องเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร ได้มีการประสานงานกับชุดประชารัฐในการเพิ่มผลผลิตแปลงใหญ่ ไว้พร้อมแล้ว โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น มีความพร้อมทั้งเรื่องพื้นที่ปลูกอ้อย และด้านการวิจัย ซึ่งจะใช้ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีงบฯวิจัย 450 ล้านบาทมาใช้ในโครงการ Food Innopolis ซึ่งเป็น 1 ใน Super Custers ของรัฐบาลอยู่แล้ว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อาเซียนหารือฟื้นฟูศก.-สังคมพรุ่งนี้

อาเซียน ครบรอบ 50 ปี ฟิลิปปินส์    อาเซียนหารือฟื้นฟูศก.-สังคมพรุ่งนี้ในโอกาสครบรอบ 50 ปี

รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะจัดการประชุมที่เกาะโบราเคย์ของฟิลิปปินส์ในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมของอาเซียน ซึ่งมีอายุครบรอบ 50 ปีในปีนี้

การประชุมดังกล่าว จะเป็นการประชุมครั้งแรกของอาเซียนภายใต้การเป็นประธานของฟิลิปปินส์ในปีนี้

นายชาร์ลส์ โฮเซ่ รมช.ต่างประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอาเซียน และประเทศคู่ค้า รวมทั้งมุมมองระหว่างประเทศด้านผลประโยชน์ และความกังวลร่วมกัน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีอาเซียนจะหารือเกี่ยวกับการก่อการร้าย, การค้ามนุษย์ และยาเสพติด

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กอน.เคาะหลักการลอยตัวราคาน้ำตาลหวังเริ่ม ต.ค.  

         “กอน.” เคาะเดินหน้าลอยตัวราคาน้ำตาลทรายอิงตลาดโลก หวังเริ่มใช้ได้ในช่วง ต.ค.นี้ พร้อมยกเลิกระบบโควตา แต่กำหนดสำรองเพื่อความมั่นคงหรือ Food Security และเตรียมเปิดนำเข้าเสรีป้องกันการฮั้วราคาของผู้ผลิตในประเทศ

               นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า กอน.ได้เห็นชอบหลักการการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาอิงตลาดโลก และยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่เดิมกำหนดโควตา ก., ข. และ ค.ไว้ แต่จะกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศไว้ดูแลผู้บริโภค หรือ Food Security เท่านั้น คาดว่าจะนำไปสู่การนำร่องปฏิบัติได้ภายใน ต.ค.นี้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

                “หลักการดังกล่าวจะนำไปรายงานต่อบราซิลเพื่อยืนยันว่าไทยได้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่ได้ตกลงไว้ จากก่อนหน้าที่บราซิลได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหาไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งตัวแทนและทีมกฎหมายของไทยจะเดินทางไปยังบราซิล 6-8 มี.ค.เพื่อให้ข้อมูลต่อบราซิล เนื่องจาก 10 มี.ค.บราซิลอาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยได้” นายสมชายกล่าว

               นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า กอน.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่วมกันที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายโดยเป็นราคาอ้างอิงตลาดโลกที่จะนำเอาราคาตลาดโลกเฉลี่ยของเดือนที่ผ่านมา นำมาคำนวณราคาหน้าโรงงานเพื่อกำหนดรายได้เข้าระบบ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่กำหนดราคาขายปลีกที่อิงราคาตลาดโลกดังกล่าวที่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

               “คงเป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่จะใช้กฎหมายในการดูแลไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงการยกเลิกให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมเพื่อนำไปสู่การลอยตัว หากพิจารณาจากราคาตลาดโลกขณะนี้แล้วราคาน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัวจะใกล้เคียงกับปัจจุบัน ยกเว้นว่าน้ำตาลตลาดโลกพุ่งพรวดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีสุดแล้วที่จะลอยตัวราคาน้ำตาลเพราะราคาใกล้เคียงกับปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังจะมีการเปิดให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายแบบเสรีเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาในประเทศสูงเกินไปถ้าสูงก็จะมีการนำเข้ามาถ่วงดุลได้” นายสมศักดิ์กล่าว

               นอกจากนี้ได้เห็นชอบที่ยกเลิกระบบจัดสรรปริมาณน้ำตาลที่กำหนดเป็นโควตา ก.(บริโภคในประเทศ) โควตา ข.(ส่งออกผ่าน บ.อ้อยและน้ำตาลทรายไทย (อนท.) และโควตา ค.(ส่งออกที่เหลือ) แต่จะกำหนด Food Security ไว้เพื่อไม่ให้ขาดแคลนในประเทศที่จะกำหนดไว้ช่วงตั้งแต่ปิดหีบจนนำไปสู่การเปิดหีบใหม่โดยเน้นแต่ละเดือนจะต้องมีน้ำตาลทราย

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จ.ตาก ค่าฝุ่นพุ่ง! ไร่อ้อยลอบเผาก่อนเก็บเกี่ยว ผวจ.สั่งต้องจับให้ได้

ค่าฝุ่นละออง ต.แม่ปะ อ.แม่สอด วันนี้วัดได้ 125 ไมโครกรัม เกินมาตรฐานแล้ว หลังเจ้าของไร่อ้อยลอบเผาก่อนเก็บเกี่ยว ผู้ว่าฯ ตาก ลั่น ต้องจับคนเผาให้ได้ พร้อมสั่งดำเนินคดีโทษสูงสุด

วันที่ 20 ก.พ. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อเวลา 15.00 น.ที่ผ่านนมา ใน จ.ตาก เกินค่ามาตรฐานแลจังหวัดเดียววัดได้ 125 ไมโครกรัม ที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด ส่วนที่ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูเก็บอ้อยส่งโรงงาน จึงมีเจ้าของไร่มักง่ายเผาอ้อยเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บ แม้ว่าอ้อยที่โดยเผาทางโรงงานมีมาตรการว่า หากใครเผาจะหักตันละ 50 บาท แต่เจ้าของไร่ก็คิดว่ายังคุ้มกว่า จึงมีการลักลอบเผากันทุกวัน แม้ว่าจะเป็นช่วง 60 วันห้ามเผาก็ตาม ส่งผลให้อากาศในพื้นที่ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ มีความขมุกขมัว เถ้าฝุ่นละอองกระจายไปทั่ว

ขณะที่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ใช้มาตรการทางกฎหมายเอาผิดกับพวกมักง่าย โดยสั่งให้ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ล่อแหลมจัดกำลังพลออกตรวจตราในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่มีการลักลอบเผากันแทบทุกคืน รวมทั้ง หากจับกุมตัวได้จะให้รางวัลคนละ 5,000 บาททันที ส่วนคนเผาจะถูกดำเนินคดีในอัตราโทษสูงสุด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

KSL น้ำตาลดูแพง

โดย...จิตรา อมรธรรมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) มองราคาน้ำตาลปี 2560 อยู่ในทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง โดยมองกรอบไว้ที่ 21-23 เซนต์/ปอนด์ สูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 2559 ที่ 18.27 เซนต์/ปอนด์ จากคาดการณ์ปริมาณผลผลิตน้ำตาลโลกจะอยู่ในภาวะขาดดุลเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สำหรับแนวโน้มกำไรปกติปี 2560 จะได้รับผลบวกจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2559 โดยคาดว่า บริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ได้ล็อกราคาขายส่งออกน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้วกว่า 75% คาดล็อกที่ระดับราคาขายเฉลี่ยสูงกว่าปี2559 กว่า 30%

จาก http://www.posttoday   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กรมฝนหลวงฯเตรียมเปิดฤดูการทำฝนปี 60

กรมฝนหลวงฯเปืดปฏิบัติการทำฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ มี.ค.นี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงฯ ได้เตรียมเปิดแผนปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2560 ในวันที่ 2 มี.ค. 2560 ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการสนับสนุนการปฏิบัติการจากกองทัพอากาศเพื่อร่วมภาระกิจในการทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ หรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยการลดปัญหาหมอกควัน การเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและยับยั้งการเกิดลูกเห็บเพื่อลดความเสียหายของราษฎร์ ซึ่งภารกิจสำคัญในปี 2560 คือการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนลำตะคอง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของน้ำใช้การได้

สำหรับเครื่องบินปฏิบัติการฝนหลวงได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศประกอบด้วย เครื่อง Alfajet 2ลำ BT-67 1 ลำและเครื่องของกรมฝนหลวงฯมีเครื่อง Caravan 9 ลำ Casa 8 ลำ CN 1ลำ Super kingair 1 ลำ

โดยสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 20 ก.พ. 60 กรมชลประทานรายงานว่า น้ำต้นทุนที่เก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 24,655 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)หรือคิดเป็น 48% เท่านั้น ในขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้จาก 4 เขื่อนหลัก คือคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวม 7,257 ล้านลบ.ม. หรือ 40%โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การได้เพียง 29% หากพิจารณาเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ที่น้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ น้อยกว่า 30% มีอยู่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล 29% และ เขื่อนลำตะคอง 27%

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

‘พีทีทีจีซี’ผนึกKTISลุย ไบโอคอมเพล็กซ์หมื่นล.

 “พีทีทีจีซี”จับมือKTIS ผุดไบโอคอมเพล็กซ์ หนุนไบโออีโคโนมีของรัฐบาล คาดได้ความชัดเจนปีนี้ เล็งลงทุนเบื้องต้น 1 หมื่นล้าน

นายสุพัฒนพงษ์พันธืมีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี ตามนโยบายสานพลังประชารัฐว่า ขณะนี้พีทีทีจีซีอยู่ระกว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาไบโอคอมเพล็กซ์ ร่วมกับบริษัท บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS บนพื้นที่กว่า 1,000ไร่ ในอ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

โดยคอมเพล็กซ์ดังกล่าว จะเป็นการออกแบบโรงงานผลิตในลักษณะที่มีการเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบและระบบสาธารณูปการกับโรงงานหีบอ้อยเข้าด้วยกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างผู้ผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอ้อย ซึ่งจะช่วยการประหยัดต้นทุนการผลิตจากการใช้วัตถุดิบ การขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต

สำหรับแผนการลงทุนในระยะแรกนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท จะมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำอ้อยและน้ำเชื่อมจากอ้อย ซึ่งมีกำลังการหีบอ้อยที่ 2.4 ล้านตันต่อปี การตั้งโรงงานผลิตเอทานอล มีกำลังการผลิตประมาณ 186 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้น้ำอ้อยหรือน้ำเชื่อมที่ผ่านกระบวนการจากโรงหีบอ้อยมาเป็นวัตถุดิบ การตั้งโรงไฟฟ้าจากชีวมวลและผลิตไอน้ำความดันสูง เพื่อใช้ในโครงการ รวมทั้งสามารถจำหน่ายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับการไฟฟ้าได้ รวมถึงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับไบโอคอมเพล็กซ์และโครงการธุรกิจเคมีชีวภาพในอนาคต

ทั้งนี้ ไบโอคอมเพล็กซ์ดังกล่าว จะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาโครงดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ตามพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่มีเม็ดเงินสนับสนุน 1 หมื่นล้านบาท มาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง ซึ่งการศึกษาดังกล่าวคาดว่าจะมีความชัดเจนด้านการลงทุนภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และอาจจะเริ่มลงทุนในปีหน้า

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการลงทุนในระยะที่ 2 จะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและเคมีชีวภาพ โดยใช้น้ำอ้อย เอทานอล ผลิตภัณฑ์อื่นๆ และผลิตภัณฑ์พลอยได้จากโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 1 เป็นวัตถุดิบดิบ ประกอบด้วย ชีวเคมีภัณฑ์ เช่น การผลิตกรดแลคติก กรดซัคซินิค เป็นต้น เพื่อต่อยอดสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น

สำหรับแผนการลงทุนดังกล่าว จะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการร่วมทุนกับทางบริษัท เนเจอร์เวิร์ค ของสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตไบโอพลาสติกชนิด Polylactic Acid หรือพีแอลเอ รายใหญ่ของโลก ซึ่งมีพีทีทีจีซีถือหุ้นอยู่ด้วย 50 % กำลังตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุน หลังจากที่ได้ชะลอโครงการไปร่วม 2 ปี จากความไม่ชัดเจนด้านนโยบายในการส่งเสริมและภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มองว่าเมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้ออกมาตรการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ในกิจการไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีการผลิตวัสดุขั้นสูง จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามกฎหมายใหม่ของบีโอไอ และเงินสนับสนุนตามพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

ประกอบกับตลาดไบโอพลาสติกเริ่มปรับตัวสูง บวกกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เชื่อว่าจะทำให้เนเจอร์เวิร์คตัดสินใจมาลงทุนในไทยได้

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ก.อุตฯคุมเข้มงวดโรงงานริมน้ำ 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ตรวจสอบโรงงานที่ถูกร้องเรียนซ้ำซาก และโรงงานที่อยู่ริมน้ำ เพื่อรักษาคุณภาพแหล่งน้ำ ในปี 2560 มีแผนการตรวจสอบ 1,400 โรง และประมวลผลจัดทำข้อมูลโรงงานร้องเรียนซ้ำซาก

          "กระทรวงได้กำหนดมาตรการเชิงรุกในการป้องกันปัญหาการร้องเรียนโรงงานตั้งแต่ต้นทาง คือตัวโรงงานเอง โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ในการเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ โดยจัดทำโครงการเสริมสร้างโรงงานที่ดีเพื่อลดปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการประกอบกิจการโรงงานเอสเอ็มอีในภูมิภาค" นายสมชายกล่าว

          สำหรับโครงการดังกล่าวมีแผนจัดขึ้นทั้งสิ้น 6 ครั้งกระจายในทุกภูมิภาค ครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งดำเนินการไปแล้ว ตามด้วยขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา และเชียงใหม่ ตามลำดับ

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อุตฯเคาะโครงสร้าง ใหม่6กรม23ก.พ.นี้ โยนงานตรวจThirdParty 

          กระทรวงอุตฯเตรียมเคาะโมเดลโครงสร้างกระทรวงใหม่ 23 ก.พ.นี้ เน้นช่วยเหลือ SMEs ทุกระดับ พร้อมกระจายงานด้านตรวจสอบไปสู่ Third Party

          นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะโฆษกกระทรวง เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะจัดประชุม เพื่อพิจารณาความก้าวหน้าเรื่องการปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายหลังพนักงานข้าราชการ และระดับเจ้าหน้าที่จาก 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้จัดประชุมแผนปฏิบัติงานไปเมื่อวันที่ 15-16 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้รับทราบถึงบทบาท รวมถึงโครงสร้างใหม่ที่แต่ละกรมจะต้องเริ่มปรับและดำเนินการหลังมีประกาศเป็นกฎกระทรวง อย่างเป็นทางการแล้ว ก่อนจะประกาศใช้ภายในเดือน เม.ย. จากนั้นจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีรับทราบ ต่อไป

          "รูปแบบโครงสร้างรวมทั้งหมดหรือตัวพิมพ์เขียวเสร็จแล้ว หากประเมินความคืบหน้าถือว่าทำมาได้ถึง 90% เมื่อปลัดพิจารณาตามกรอบในครั้งสุดท้ายจะเซ็นและประกาศใช้เป็นการภายในของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้นบทบาททุกกรมก็ปรับและดำเนินควบคู่ไประหว่างที่รอการแก้กฎหมายภายใต้ ระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)"

          สำหรับโครงสร้างใหม่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ในระยะเร่งด่วนกำหนดเป็นภารกิจช่วง 6 เดือนแรก เริ่มปี 2560 ด้วยการปรับบทบาทระดับกรม โดยจัดออกเป็น 3 กลุ่มงานหลัก คือ 1.กลุ่มงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและพัฒนาผู้ประกอบการ หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ทำหน้าที่เป็น ผู้วางยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมของกระทรวงและประเทศ และกรมส่งเสริม อุตสาหกรรม (กสอ.) ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยต้องส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทุกระดับ รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจทั่วไป และสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

          2.กลุ่มงานสนับสนุนการประกอบการ หน่วยงานหลัก คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนให้แต่ละโรงงานดำเนินการตามกฎหมายกำหนด มีมาตรการป้องกันเรื่องมลพิษสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Industry) การลงพื้นที่ตรวจโรงงาน รวมถึงแนะนำผู้ประกอบการ/โรงงาน และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนงานด้านกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) รวมถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุมชน (มผช.) รวมถึงกระจายงานด้านตรวจสอบไปยัง Third Party หรือ หน่วยตรวจรับรอง (IB)

          3.กลุ่มงานขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบขั้นต้น หน่วยงานหลัก คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาวัตถุดิบแร่ กำหนดและควบคุมการทำเหมืองแร่ในประเทศ สามารถนำแร่มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าไปเสริมกับการพัฒนาประเทศอย่างโครงสร้างพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ทำหน้าที่เป็นผู้วางนโยบาย บริหารจัดการ การพิจารณาอนุญาตเขตพื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาล ทำงานวิจัยเพื่อประโยชน์เสริมให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (กลุ่ม S-Curve) ทั้งการแปรรูปการเกษตรโดยพัฒนาพืชไร่อย่างอ้อย มันสำปะหลัง ไปใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ

          สำหรับโครงสร้างในระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นในปี 2562 คือการร่าง พ.ร.บ. ที่จำเป็นขึ้นมา รวมถึงตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และไปสู่การเปลี่ยนชื่อกรม หรือสำนักงาน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อุตฯตรวจ1,400โรงงานโดนร้องซ้ำ  

นายสมชาย หาญ หิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มีการตรวจสอบโรงงานที่มีการร้อง เรียนซ้ำซาก เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน และโรงงานที่อยู่ริมน้ำนั้น ในปี 2560 กระทรวงฯ มีแผนการตรวจสอบ 1,400 โรง และประมวลผลจัดทำข้อมูลโรงงานร้องเรียนซ้ำซาก

          โดยนิยามเบื้องต้นคือ โรง งานที่พบการกระทำผิดกฎหมายตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีการสั่งการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

          ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้กำหนด มาตรการเชิงรุกในการป้องกันปัญหาการร้องเรียนโรงงานตั้งแต่ต้นทาง คือ ตัวโรงงานเอง โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ในการเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ โดยจัดทำโครงการเสริมสร้างโรงงานที่ดีเพื่อลดปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการประกอบกิจการโรงงานในภูมิภาค ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจแล้ว ยังช่วยพัฒนาสถานประกอบการระดับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้อง

          โครงการดังกล่าวมีทั้งสิ้น 6 ครั้ง กระจายในทุกภูมิภาค ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2560 ณ จ.ชลบุรีที่ผ่านมา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ปทุมธานี ตามด้วยขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา และเชียงใหม่.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ประเคนสิทธิประโยชน์'อีอีซี' ดึงลงทุนดันหวังศก.โตยั่งยืน  

          พยายามหามุกใหม่ ๆ มาคอยประคองเศรษฐกิจอยู่เสมอ หลังทีมเศรษฐกิจ "รัฐบาลท็อปบู๊ต" นำโดย "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ปิ๊งไอเดีย! ปลุกเศรษฐกิจ หวังดึงเม็ดเงินจากทั่วโลกมากระตุกการลงทุน ด้วยการปั้นโครงการ "อีอีซี" หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มาต่อยอดอุตสาหกรรมในขุมสมบัติเก่าบนพื้นที่โครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ดเดิม ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งอุตสาหกรรมทันสมัยของโลกอนาคต เพื่อเติมเต็มความหวังพาประเทศไทยกลับไปสู่ยุค "โชติช่วงชัชวาล" อีกครั้ง ดังที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

          ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ก่อนจะเกิดโครงการข้างต้น รัฐบาลได้พยายามสรรหามาตรการออกมาล่อใจเอกชนให้เริ่มลงทุนกันแบบสุดลิ่ม ด้วยการออกโปรโมชั่นส่งเสริมการลงทุนมาหลายฉบับ เพื่อให้เกิดการลงทุนในท้องถิ่น แม้กระทั่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แต่ก็ดูเหมือนว่า...ตัวเลขที่หวังยังคงไม่กระเตื้อง

          จนในที่สุดเลยต้องควานหาของใหม่กันจ้าละหวั่น ก่อนไปสะดุดบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศมาแต่ดั้งแต่เดิม และเชื่อว่า ถ้าแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ก็สามารถปั้นให้อุตสาหกรรมตรงนั้นเติบโตได้อีกมาก เมื่อพบ หนทางสดใส...ทีมเศรษฐกิจเลยไม่รอช้า จึงได้จัดทำโครงการเป็นเรื่องเป็นราว ก่อนชงให้ 'บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบ และเมื่อนายกฯ พยักหน้าเท่านั้น ทีมงานก็ใส่เกียร์ห้าเดินหน้าโครงการทันที

          ล่าสุดการผลักดันโครงการได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาทุกขณะ หลังจากรัฐบาลได้ตั้งทีมขับเคลื่อนโครงการอย่างจริงจัง โดยใช้ยาวิเศษ "มาตรา  44" ตามอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาอีอีซี มีนายกฯ นั่งเป็นประธาน และมีคณะกรรมการชุดรองลงมาเป็นคณะกรรมการบริหารการพัฒนาอีอีซี มีรมว.อุตสาหกรรม นั่งหัวโต๊ะ คอยทำงานในระดับล่าง พร้อมกับตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาอีอีซีขึ้น อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้มาทำงานในช่วงที่รอกฎหมายตัวจริงมีผลบังคับใช้

          ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเห็นว่า ด้วยโครงการนี้จะช่วยพลิก โฉมประเทศสู่ความศิวิไลซ์ เลยได้บรรจุโครงการเข้าไปในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อดันให้โครงการเกิดสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจประเทศ

          ยึดต้นแบบเขตพิเศษคันไซ

          การพัฒนาพื้นที่อีอีซีนั้น แน่นอนว่า ไม่ใช่การจิ้มแล้วสร้าง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษารูปแบบโครงการ โดยหยิบยกเอาเขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ ประเทศญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบ เพราะเห็นว่ามีลักษณะการพัฒนาใกล้เคียงกัน ซึ่ง ครอบคลุม 3 จังหวัดคือเฮียวโกะ เกียวโต และโอซากา คล้ายกับโครงการอีอีซีของไทยที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และที่สำคัญตามต้นแบบนี้ยังกำหนดเป้าหมายที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างที่ทันสมัย และการ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งมีกลไกการบริหารจัดการระดับชาติและในระดับท้องถิ่นเหมือนกันอีกด้วย ซึ่งจากนี้ไป  นายกฯ ได้ขอให้ทุกหน่วยงานที่คอยเคลื่อนงานอีอีซี รับข้อมูลไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้ากับโครงการต่าง ๆ

          เสนอโครงการดึงนักลงทุน  สำหรับรายละเอียดของโครงการ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำรายละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อสัปดาห์ก่อน "อุตตม สาวนายน" รมว.อุตสาหกรรม ก็ได้นำเสนอโครงการนี้ ผ่านสายตาของนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก และสื่อมวลชนกว่า 3,000 คน บนเวทีงานสัมมนาใหญ่ของ บีโอไอ โดยยอมรับว่า โครงการอีอีซี นับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด และจะเป็นจุดศูนย์กลางการลงทุนเชื่อมต่อไปยังพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ รอบทวีปเอเชีย

          ส่วนอุตสาหกรรมในพื้นที่ แน่นอนว่า จะเน้นต่อยอด อุตสาหกรรมบนฐานเดิมทั้ง อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต ทั้ง ยานยนต์ อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการบินหุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ปิโตรเคมีขั้นสูง อุตสาหกรรมชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร และศูนย์กลางนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา พร้อมกับการพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งจะรวมถึงการมีเขตเศรษฐกิจการค้าเสรี การพัฒนาเมือง และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทุกมิติ

          กรอบลงทุน 1.5 ล้านล้าน

          ขณะที่งบลงทุนโดยรวม โครงการนี้จะมีวงเงินสูงสุดแห่งหนึ่งของอาเซียน ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยลงไปในช่วง 5 ปีแรก ตั้งแต่ปี 60-64 โดยหลัก ๆ เป็นการลงทุนของรัฐและเอกชน เน้นทำโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน คือ 1. การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา มีมูลค่าการลงทุน 200,000 ล้านบาท 2. การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 10,150 ล้านบาท 3. การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 88,000 ล้านบาท 4. โครงการรถไฟความเร็วสูง มูลค่าการก่อสร้าง 158,000 ล้านบาท  5. โครงการรถไฟทางคู่ มูลค่าการก่อสร้าง 64,300 ล้านบาท 6. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ มูลค่าการก่อสร้าง 35,300 ล้านบาท 7. การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย มูลค่าการลงทุน 500,000 ล้านบาท 8. พัฒนาการท่องเที่ยว มูลค่าการลงทุน 200,000 ล้านบาท

          9. การพัฒนาเมืองใหม่ มูลค่าการลงทุน 400,000 ล้านบาท

          เว้นภาษีให้สุดพลัง

          ด้านสิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุน ได้กำหนดผู้ที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนดีที่สุดของประเทศไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในระดับสากล โดยเป้าหมายของการให้สิทธิประโยชน์เน้นส่งเสริมกิจการใน 4 กลุ่มหลัก คือ 1. อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 2. กิจการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโลจิสติกส์ 3. กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และ 4. กิจการวิจัยและพัฒนา และบริการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี

          กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดูแลคือเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 50% อีก 5 ปีสำหรับกิจการในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไป แล้วตามกิจการที่บีโอไอกำหนดไว้ ส่วนกรณีที่เป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ ที่ตั้งในเขตส่งเสริมพิเศษของอีอีซี จะใช้เครื่องมือตาม พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุด 15 ปี

          ส่วนอีกกรณีเป็นของกระทรวงการคลัง ที่จะเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงถึง 17% สำหรับการบริการจัดการ นักลงทุน บริษัทของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมายกับการเป็นสำนักงานภูมิภาค และสำนักที่ช่วยประสานงานในพื้นที่

          ให้สิทธิประโยชน์อื่นเพิ่ม

          นอกเหนือไปจากนั้นยังมีสิทธิประโยชน์ที่นอกเหนือจากภาษีที่จัดให้เพิ่มเติม เช่น การให้สิทธิพิเศษด้านเอกสารแสดง การอนุญาตเข้าประเทศ และใบอนุญาตทำงาน ที่จะเน้นเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และบรรดานักวิจัยระดับโลก ที่ประเทศไทยต้องการ

          เช่นเดียวกับการจัดทำสิทธิประโยชน์ทางด้านการเงิน ด้วยการจัดทำเป็นพื้นที่การถือครองเงินตราต่างประเทศแบบเสรี แทนการต้องนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาแล้วต้องแลกเป็นสกุลเงินบาท เพื่อทำธุรกรรมในพื้นที่ได้รับความสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีศูนย์อำนวยความสะดวก หรือวันสต๊อป เซอร์วิส คอยไว้บริการให้กับนักลงทุนอีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม ความหวังของการสร้างคลื่นแห่งการลงทุนระลอกใหม่ บางครั้ง...การจัดสิทธิประโยชน์พิเศษมาประเคนมากเพียงใด ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการจะดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ เพราะถ้าหากบรรยากาศในประเทศไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองที่ยังคุกรุ่น คลุมเครือ คงเป็นเรื่องยากที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนให้เข้ามาในพื้นที่ได้ แต่ตอนนี้...สถานการณ์บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงที่สงบ จึงเป็นจังหวะเหมาะที่รัฐบาลควรดันให้สุด และดึงให้อยู่ เพื่อจะได้พาประเทศพุ่งทะยานสู่ความมั่งคั่งเสียที...

          โปร่งใส-เป็นธรรมหนุนลงทุน

          "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  บอกว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะเป็นตัวดึงดูดให้เกิดการลงทุนและเป็นเครื่องมือที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้พร้อมผลักดันให้ "อีอีซี" กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในอาเซียนทีเดียว ซึ่งรัฐบาลได้เร่งพัฒนาความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ "วันสต๊อปเซอร์วิส" เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้สะดวกรวดเร็วที่สุด

          ดังนั้นจึงขอให้ภาคเอกชนและทุกฝ่าย เกิดความมั่นใจได้เลยว่า จากนี้ไปอีก 20 ปี โครงการอีอีซี ยังต้องเดินหน้าต่อไปแน่นอน ไม่ว่า จะเป็นรัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศก็ตาม เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้ได้จัดทำกฎหมายสำหรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี อย่างชัดเจน และได้นำมาบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (60-79) ซึ่งครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผนพัฒนาชาติตั้งแต่ฉบับที่ 12-15 โดยเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร และสำนักงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เดินหน้าทำงานและกำหนดมาตรการพัฒนาโครงการ ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.อีอีซี ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

          "อีอีซี เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่อง จากยุคโชติช่วงชัชวาล ตอนที่ มีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน รัฐบาลขอเชิญชวนให้เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เร่งเข้า มาลงทุน หากติดขัดอะไร รัฐบาลพร้อมช่วยแก้ไขทันที ที่สำคัญขอ

          ให้มั่นใจว่า รัฐบาลชุดนี้จะสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม จะไม่มีเรื่องคอร์รัปชั่น หากมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด รัฐบาลขอเดินหน้าแผนต่อไป 20 ปีข้างหน้า และต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย"

          นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ภายในปี 60 นี้ รัฐบาลตั้งใจเริ่มการทำงานในระยะแรกให้ได้ และเชื่อมโยงไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดชายแดนด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งไทยและเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าเวลานี้สถานการณ์โลกมีความผันผวน มีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นมากมาย ทำให้แต่ละประเทศต้องคิดกลยุทธ์เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศมั่นคง  เติบโตอย่างยั่งยืน โดยไทยได้เร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไปจนถึงการวางแผนพัฒนาอนาคตประเทศ ซึ่ง "อีอีซี" ถือเป็นอนาคตของประเทศที่สำคัญ

          ทั้งนี้รัฐบาลได้พยายามผลักดันให้ไทยเป็น "ศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาค" ด้วยการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรม เป้าหมายแห่งอนาคต เพื่อสร้างเครื่องยนต์สำหรับขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพเป็นต้น โดยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนวัตกรรมและความ

          คิดสร้างสรรค์มาเป็นตัวขับเคลื่อน และยกระดับเศรษฐกิจ

          เดิมที่มีพื้นฐานดี และมีจุดแข็งอยู่แล้ว ทั้งด้านเกษตร การท่องเที่ยวและการบริการให้ดี รวมไปถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อกระจายความเจริญให้ทั่วถึงผ่าน 18 กลุ่มจังหวัดและ 76 จังหวัด

          นายกฯ ย้ำว่า การลงทุนของ เอกชนถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในเวลานี้ ซึ่งรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกับการงทุนใน 5 ด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน

          ด้านเอ็นเตอร์ไพรส์และในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้นในช่วงเวลานี้ถือเป็นจังหวะที่ดีอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนจะเห็นถึงโอกาสและเข้ามาลงทุนในไทย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พณ.เผย'สมคิด'มอบโยบายทูตพาณิชย์ดันส่งออก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย รองนายกฯ "สมคิด" มอบนโยบายทูตพาณิชย์ ผลักดันส่งออกโตตามเป้า 2.5-3.5%  หลังเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น  สินค้าเกษตรราคาดีขึ้น

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ในวันนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุม และมอบนโยบายการปฏิบัติงาน ให้กับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ ทูตพณ. จากทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยมีผู้บริหาร และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการผลักดันการส่งออกของประเทศในปีนี้ให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ ร้อยละ 2.5-3.5 หลังจากเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรเริ่มมีการขยับราคาสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของสินค้าไทย ที่จะสามารถสร้างมูลค่าได้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงต้องมีการจับตาการฟื้นตัวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนโยบายการค้าของสหรัฐ ยังคงมีความไม่ชัดเจนสูง และอาจมีผลต่อการค้าในภาพรวมของโลกได้

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ก.พลังงานทบทวนแผนแก๊สโซฮอล์91ยังลังเลเลิก-ไม่เลิกจำหน่ายม.ค.61  

         ก.พลังงานแทงกั๊กยังไม่แน่ใจเลิกโซฮอล์91 มกราคม 2561 หรือไม่ขอเวลาให้แน่ใจว่าเอทานอลมีพอชัวร์ก่อน โดยเฉพาะโรงงานมันสำปะหลังที่จะมีเพิ่มขึ้นในปีนี้จะทำให้เอทานอลมีมากพอไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซ้ำรอยช่วงปลายปี 2559

                  นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการติดตามปริมาณเอทานอลว่าจะมีปัญหาขาดแคลนหรือไม่ก่อนตัดสินใจนโยบายการยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งตามแผนเดิมกำหนดที่จะยกเลิกจำหน่ายม.ค.2561 เพื่อนำไปส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20เพื่อเพิ่มการใช้เอทานอลตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP2015)ที่จะช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่ม      

        "เรากำลังทบทวนอยู่เพราะหากยกเลิกแล้วต้องมั่นใจว่าเอทานอลจะมีเพียงพอไม่ใช่ขาดแคลนเหมือนสิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ต้องติดตามโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังที่จะเข้ามาเพิ่มในปีนี้อีก 2-3 แห่งว่าจะมีการผลิตได้มากน้อยเพียงใดโดยช่วงสิ้นปีจะต้องมั่นใจว่าไม่ตึงตัวเช่นที่ผ่านมาตอนนี้จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน"ปลัดพลังงานกล่าว

                นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)  กล่าวว่า ขณะนี้แม้ปริมาณเอทานอลจะเริ่มคลี่คลายแล้วและมีเพียงพอแต่ยังจำเป็นจะต้องมั่นใจว่าเมื่อยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E20 การใช้เทานอลที่เพิ่มขึ้นนั้นจะมีเพียงพอดังนั้นหลักการคือต้องให้กำลังการผลิตนั้นมีมากกว่าความต้องการพอสมควร

               แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณเอทานอลมีเพียงพอกับความต้องการใช้ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใดและปีนี้จะมีผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังเพิ่มเข้าระบบอีก 2-3 รายกำลังผลิตรวมประมาณ 5แสนลิตรต่อวันเมื่อรวมกับกำลังผลิตเดิมจะสูงกว่า 9.5 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตามการใช้เอทานอลปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่กว่า 3.9 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น

               " ปัญหานี้อยู่ที่ว่าไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกันผู้ผลิตถ้าไม่มีความต้องการเขาก็ไม่กล้าขยายการลงทุนเพิ่มกำลังผลิต ขณะเดียวกันถ้าราคาขายไม่คุ้มทุนกับการผลิตเขาก็เลือกที่จะไม่ผลิตที่ผ่านมาจึงทำให้การเดินเครื่องไม่เต็ม 100% แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็ไม่ได้ขาดแคลนอะไรเพราะซัพพลายโอเว่อร์อยู่แล้ว แต่ที่ขาดแคลนเมื่อสิ้นปี 59 เพราะโรงผลิตขนาดใหญ่ต้องหยุดผลิตพร้อมกันจากอุบัติเหตุหม้อน้ำรั่ว และระบบน้ำเสียมีปัญหาทำให้เกิดหยุด 2 แห่งพร้อมกันจึงทำให้ตึงตัว หากรัฐจะเลื่อนแผนออกไปจากม.ค. 61 ผู้ผลิตเองก็คงไม่มีปัญหาเพราะต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐอยู่แล้วหากแต่ก็เสียดายที่นโยบายขณะนี้กำลังเดินหน้าอยู่ "แหล่งข่าวกล่าว

จาก http://manager.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุน (2)

โดย - รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

           เมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปจากแปลงปลูก ดินย่อมสูญเสียธาตุอาหารพืชไปโดยติดไปกับผลิตผลที่เก็บเกี่ยวออกไป และถ้าไม่มีการปรับปรุง บำรุงดินอย่างเหมาะสม ดินเคยโปร่งร่วนซุยก็จะกลายเป็นแน่นทึบ เนื่องจากอินทรียวัตถุในดินลดลง ทำให้คุณสมบัติต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการเติบโตของพืชลดลงจนไม่สามารถให้ผลผลิตสูงได้อีกต่อไป

           ดังนั้น ในคำแนะนำการใช้ปุ๋ยโดยทั่วไป จะบอกให้เพิ่มอินทรียวัตถุเพื่อทำให้ดินโปร่งร่วนซุยร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีเอเมธาตุอาหารพืช นั่นการหมายความว่า ในการใช้ปุ๋ยเพื่อให้ต้นไม้ได้ประโยชน์เต็มที่ ต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับการใส่อินทรียวัตถุ หรือที่เราคุ้นเคยกันกับคำว่าปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมด้วยเสมอ

           หลายคนยังไม่เข้าใจเองปุ๋ยเคมีดีพอ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นฐานความรู้ในการทำการเกษตร ปุ๋ยเคมีนั้นเป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นมาในทางอุตสาหกรรม เมื่อใส่ลงไปในดินที่มีความชื้นเหมาะสม ปุ๋ยเคมีจะละลายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืชดูดไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่ต้องทำความเข้าใจคือ ปุ๋ยเคมีไม่ใช่สารพิษ และถ้าใช้ได้อย่างถูกต้องแล้ว จะทำให้ประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยดีขึ้น และคุ้มค่าต่อการลงทุน การที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีแล้วขาดทุนหรือมีหนี้สินเมมากน ก็เพราะว่าใช้ยเคมีไม่ถูกต้อง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง

          ชาวนาส่วนใหญ่มีความเชื่อผิดๆ ว่า “ถ้าใส่ปุ๋ยมาก จะได้ผลผลิตมาก” การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ต้นข้าวจะอวบเขียวเข้ม แมลงเข้าทำลายได้ง่าย เพราะว่าต้นข้าวจะฉ่ำน้ำ แมลงชอบ แต่ถ้าใช้ปุ๋ยถูกชนิดและปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งให้ปุ๋ยเหมาะกับช่วงที่ต้นไม้ต้องการ ก็จะช่วยให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ เหมือนคนกินอาหารที่ถูกสัดส่วน ได้สารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ร่างกายก็จะแข็งแรง ไม่ล้มป่วยง่าย

          ตัวอย่างการใช้ปุ๋ยเคมีที่ไม่ถูกต้อง เช่น ชาวนาใช้ปุ๋ยสูตร 16–20–0 ต่อเนื่องกันมา แต่ไม่เคยรู้เลยว่าดินของตนเองขาดธาตุโพแทสเซียมหรือเปล่า เพราะว่าดินในหลายพื้นที่ของประเทศไทยขาดธาตุโพแทสเซียม ดังนั้นข้าวที่ปลูกในดินที่ขาดโพแทสเซียม แล้วไม่ได้มีการให้ปุ๋ยโพแทสเซียมชดเชยอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้ข้าวเมล็ดลีบ ต้นข้าวอ่อนแอ ทำให้โรคและแมลงระบาดง่าย ผลที่ตามมาคือต้องฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นว่าต้นทุนการผลิตก็ต้องสูงั้นด้วย รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของชาวนาและผู้บริโภคอีกด้วย จุดนี้เองคือที่มาของเรื่อง “ปุ๋ยสั่งตัด”

          เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั้งตัด” เป็นคำที่ ดร. ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ่งเป็นทีมงานของ ดร.​ทัศนีย์ ได้ตั้งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจได้ง่ายว่า การจะให้ปุ๋ยแก่ต้นไม้นั้น ก็เหมือนการไปร้านตัดเสื้อ แล้ววัดตัวก่อนที่จะตัดให้ได้ทรงและขนาดตามต้องการ การใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดก็เช่นกัน เป็นเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ ซี่งจะได้คำแนะนำที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืช ชุดดิน

          ที่สำคัญคือปริมาณธาตุอาหารเอ็นพีเค ซึ่งมีอยู่บ้างแล้วในดิน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อจะตอบให้ได้ว่าพืชที่เราปลูกอยู่นั้น ในดินชนิดนั้น ควรให้ปุ๋ยอะไร ในปริมาณเท่าใด เพื่อที่จะให้ผลตอบแทนสูงสุด และคุ้มค่าที่สุด สิ่งที่เคยทำได้ยากในอดีตเช่นการวัดปริมาณธาตุอาหารเอ็นพีเคในดิน เพราะว่าต้องส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการ

         ทว่า นักวิจัยคือ ดร.​ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ได้สร้างเครื่องมือวัดปริมาณธาตุอาหารอย่างง่ายออกมาใช้ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรสามารถวัดปริมาณธาตุอาหารในดินของตนเองได้ งานเรื่องปุ๋ยสั่งตัดจึงขยายผลออกไปเรื่อยๆ

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จี้รัฐ-เอกชนไทยรับมือ วาระเร่งด่วน WTO’s TFA

ในขณะที่ภาครัฐและเอกชนไทยยังกังวลใจว่าปีนี้การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ที่อัตราเท่าใด นายโดนัลด์ทรัมป์ ผู้นำใหม่สหรัฐฯจะก่อสงครามการค้ากับจีนหรือไม่ หรือสัญญาณกีดกันการค้าของเขา จะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไร

เรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องเล็กทันทีหากนำไปเปรียบเทียบกับความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขององค์การการค้าโลก(WTO’s Trade Facilitation Agreement : WTO’s TFA) ที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้เต็มที

“นพพร เทพสิทธา” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า WTO’s TFA เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาของพิธีการทางศุลกากรของประเทศสมาชิกให้เกิดความคล่องตัว สร้างความชัดเจนในด้านระเบียบ พิธีการให้มีความโปร่งและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในการเชื่อมโยงธุรกรรมทางการค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางจะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-trading ทั้งหมด และจะเป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างประเทศสมาชิก WTO ทั่วโลก

 TFA วาระเร่งด่วน

ทั้งนี้จากที่ WTO ได้บรรลุความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ล่าสุดมีประเทศสมาชิกที่ได้ให้การยอมรับพิธีสารความตกลงแล้ว 108 ประเทศ(จากสมาชิกทั้งหมด 164) ซึ่งหากสมาชิก 2 ใน 3 หรือ 110 ประเทศยอมรับ (เหลืออีกเพียง 2 ประเทศ)ความตกลงก็จะมีผลบังคับใช้ทันที และทุกประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกันมิฉะนั้นอาจถูกใช้เป็นเหตุในการกีดกันทางการค้าได้ โดยสมาชิกที่ยอมรับความตกลงแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีนและอาเซียน

 ไทยรับข้อตกลงแล้ว

ในส่วนของไทยได้ยื่นเอกสารยอมรับความตกลงแล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 โดยจากความตกลงของ TFA มี 24 ข้อบัญญัติหลัก รวม 143 ข้อย่อย ซึ่งเวลานี้ไทยได้ขอสงวนไว้ 12 ข้อย่อยเพื่อการปรับตัวภายใน 1 ปี ตัวอย่างเช่น เรื่องกระบวนการตรวจปล่อยสินค้าล่วงหน้า การเปิดเผยข้อมูลการวินิจฉัยตีกลับสินค้า เป็นต้น

“ข้อตกลงเรื่อง TFA หากประเทศไหนไม่ทำตามจะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าของโลก เพราะอีกประเทศหนึ่งสามารถปฏิเสธที่จะไม่ให้สินค้าของประเทศนั้นเข้าประเทศ ขณะที่ประเทศไหนที่ทำถูกต้องตามมาตรฐานของดับบลิวทีโอ ประเทศที่นำเข้าไม่มีสิทธิปฏิเสธ หากปฏิเสธจะถูกฟ้องร้องได้”

 ไส้ในไทยไม่พร้อม

อย่างไรก็ดีในส่วนของไทยในเรื่องนี้ยังมีความน่าเป็นห่วง เพราะยังขาดความตื่นตัวในการเตรียมพร้อมในทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับความตกลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายเรื่อง เช่น ด้านกระบวนการในเรื่องการแปลหรือการจัดทำข้อมูลด้านต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษที่ต้องแนบไปให้คู่ค้า อาทิ ใบอนุญาตตั้งโรงงาน(รง.4) การรายงานเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) รวมถึงรายงานผลตรวจสอบสินค้าจากห้องปฏิบัติการที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ WTO เป็นต้น

นอกจากนี้การปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ของหน่วยงานรัฐในระยะที่ผ่านมาเป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ เอกชนมีส่วนร่วมน้อยและยังมิได้อ้างอิงแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะส่งผลให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นไปได้ยาก เป็นอุปสรรคในการต่อยอดไปยังการพัฒนาอื่นๆ เช่นการตรวจปล่อยอัตโนมัติที่ประเทศปลายทาง หรือการตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงยังขาดการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรที่เข้าใจในกฎกติกาของความตกลงรองรับ

“จากที่เจ้าหน้าที่ของสภาผู้ส่งออกได้อ่านคู่มือที่ถือเป็นไกด์ไลน์แนวทางปฏิบัติเรื่อง TFA ที่ออกโดย International Trade Center พบมีหลายเรื่องในเชิงเทคนิคที่ไทยยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง”

 เร่งเป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตามทางสภาผู้ส่งออกขอแนะนำให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามแผนโรดแมป และเป็นข้อบัญญัติหนึ่งของ WTO’s TFA ที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามคือการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าแห่งชาติ(NTFC) อย่างเร่งด่วน ซึ่งโครงสร้างคณะกรรมการฯควรมาจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่มีสัดส่วนความสมดุลกัน มีระดับนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน การกำหนดโรดแมปเรื่อง TFA ของประเทศ อ้างอิงตามมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นศูนย์รวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้า และเป็นหน่วยงานหลักในการประสานระดับประเทศกับระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ต้องมีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการของคณะกรรมการใหญ่ซึ่งอาจมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เป็นเลขาฯ เพื่อเชื่อมโยงกับทุกกระทรวงขับเคลื่อนและลงลึกในรายละเอียด

“TFA เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน และเป็นผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีคงต้องลงมาสั่งการด้วยตัวเอง โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ทางสภาพัฒน์จะเป็นแม่งานจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(กพข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งวาระเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ความตกลงของดับบลิวทีโอจะเป็นวาระหลักสำหรับการพิจารณา และขับเคลื่อนในที่ประชุม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องตื่นตัวรับมือ”

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

น้ำตาลขอนแก่น 2 ปีนี้สดใส

ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ว่า ใน 2 ปีนี้ธุรกิจของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าปี 2559 จากรายได้ธุรกิจน้ำตาลรวมปี 2560 จะเพิ่มขึ้น 10-20% จากปี 2559จากรายได้ธุรกิจน้ำตาลรวมปี 2560 จะเพิ่มขึ้น 10-20% จากปี 2559 และปี 2561 ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 10% ในราคาขายที่ทรงตัวจากปี 2560 เพราะจะได้รับผลดีจากราคาน้ำตาลที่เป็นขาขึ้น โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20 เซนต์/ปอนด์ เทียบปี 2559 ที่ 16-17 เซนต์/ปอนด์ ธุรกิจเอทานอลและโรงไฟฟ้าที่ฟื้นตัวและการทยอยนำบริษัทที่ถือหุ้นอยู่เข้าตลาดหุ้น

“ราคาน้ำตาลส่งออกได้ตกต่ำมาถึง 3 ปีแล้ว และขณะนี้ราคากำลังดีขึ้นและน่าจะดีไปถึงปีหน้าโดยปริมาณน้ำตาลขาดแคลนตั้งแต่ปี 2559 จนถึงขณะนี้อยู่ที่ 20-21 เซนต์/ปอนด์ และน่าจะอยู่เหนือ 20 เซนต์/ปอนด์ไปถึงปี 2561 ขณะนี้สต๊อกน้ำตาลเก่ากำลังหมดเหลือเพียง 30% ค่าเฉลี่ยทั้งโลกเพียงพอบริโภคไปแค่ 4 เดือน และต้องมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาให้บริโภคภายในปีนี้และปีหน้า”

ทั้งนี้ KSL ส่งออกน้ำตาลไปขายต่างประเทศ 75% เท่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมน้ำตาลทั่วประเทศ สำหรับธุรกิจเอทานอลราคาขายในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยดีกว่าปีก่อน และโรงไฟฟ้าเอทานอลเดินเครื่องเต็มปีจากปีก่อนเดินไม่เต็มที่ในครึ่งปีแรกส่งผลให้กำไรจากดีขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากธุรกิจน้ำตาล 70-80% ธุรกิจโรงไฟฟ้าเอทานอล 20-30% ปี 2560 บริษัทมีกำลังการผลิต 1.1 แสนตันอ้อย/วัน เท่าปี 2559 แต่ช่วงครึ่งปีแรก 2559 ฝนแล้ง ผลผลิตได้ตามเป้าเฉพาะปลายฤดูกาลแต่ปีนี้คาดว่าจะได้เต็มปี จากการที่ชาวไร่หันมาปลูกอ้อยมากขึ้นเนื่องมาจากราคาข้าวตกต่ำ ขณะที่เอทานอลมีกำลังการผลิต 4-5 แสนลิตร/วัน

ชลัช กล่าวว่า แผนนำบริษัทลูก บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปีนี้คาดว่าจะต้องเลื่อนออกไปเป็นต้นปีหน้า เพราะผลของการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น ทำให้เกิดปัญหาทางเทคนิคที่ต้องมีเอกสารที่เปลี่ยนแปลงใหม่มาก อย่างไรก็ตาม มูลค่าเพิ่มที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นในส่วนนี้ถูกชดเชยด้วยการที่บริษัทมัดแมน (MM) ที่ KSL ถือหุ้น 9% จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ไตรมาส 2 ปีนี้เข้ามาชดเชย

ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น บริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น มีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท มีกำไรปีละ 300 ล้านบาท หากเข้า SET คาดว่าจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป 5,000 ล้านบาท) KSL ถืออยู่ 100% หากระดมทุนเข้า SET จะลดการถือหุ้นเหลือ 75%

“ที่ KSL เข้าไปถือหุ้น MM เพราะบริษัท ทรัพย์ศรีไทย (SST) เป็นบริษัทเครือญาติกับชินธรรมมิตร์ เข้าไปลงทุนทั้งบริษัทและส่วนตัวตระกูลชินธรรมมิตร์รวมกัน 15% และส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการ 2 คนเพราะ KSL เป็นธุรกิจดั้งเดิมหรือเป็นบริษัทที่แก่แล้ว สินทรัพย์เยอะ ที่ต้องประเมินราคาใหม่ การเข้าไปใน MM เป็นการเข้าไปเรียนรู้ผู้บริโภค เพราะ MM เข้าไปซื้อกิจการเกรฮาวด์ คาเฟ่ และเกรฮาวด์ แบรนด์ร้านอาหารและแฟชั่นไทยที่เป็นที่รู้จักกันดี มีธุรกิจร้านอาหารในมืออย่าง ครัวเอ็ม โกลเด้น โดนัท (ประเทศไทย) แฟรนไชส์ ดังกิ้น โดนัท เอบีพี คาเฟ่ (ประเทศไทย) แฟรนไชส์โอปองแปง และโกลเด้น สกู๊ป แฟรนไชส์ บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์

” ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะยื่นแบบแสดงรายการ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นบริษัทเคเอสแอลกรีน อินโนเวชั่น ต่อประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประมาณไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2560/2561 (เดือน พ.ย.-ธ.ค. 2560-ม.ค. 2561) หรือฤดูกาลหีบอ้อยปลายพ.ย. แต่คาดว่ากว่าจะเข้าซื้อขายน่าจะเป็นต้นปี 2561 ไม่ทันปี 2560

สำหรับธุรกิจโรงงานน้ำตาลที่ต่างประเทศในปี 2560 คาดว่าจะมีกำไรจากที่ลาวและกัมพูชาจากปี 2559 ที่ลาวมีกำไรเล็กน้อย และที่กัมพูชาขาดทุน 100-200 ล้านบาท

“น้ำตาลที่ลาวบริษัทสามารถส่งออกไปขายสหภาพยุโรป (อียู) ตามโควตาในราคาสูง ที่กัมพูชาเราปลูกอ้อยเอง ทำเอง ต้นทุนคงที่และเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นทำให้พ้นจุดคุ้มทุนได้โดยมีกำลังการผลิตใน 2ประเทศนี้4 หมื่นตัน โดยสามารถเลี้ยงตัวได้และคาดว่า 3-5 ปีผลผลิตจะเพิ่มเป็น 1 แสนตันโดยทั้งสองที่มีกำไรน้อยเพราะต้องจ่ายค่าสัมปทานเยอะ”

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น KSL ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาถึงเกือบ 70% ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 2559 ร้อนแรงที่สุดในรอบ 7 ปี และคิดเป็นราคาต่อมูลค่าบัญชีปี 2560 เกือบ 2 เท่า สูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

“นักลงทุนให้ราคาหุ้นอย่างไร กลุ่มสื่อสัดส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) 70 เท่า อาหารคิดจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา (อีบิตดา) อุตสาหกรรมพี/อี 10 กว่าเท่า อย่างไร 2 ปีนี้ธุรกิจเราก็โตต้องมองไปข้างหน้า โดยเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ จะเห็นภาพของบริษัทชัด”

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

คาดผลผลิต 5 พืช ศก.ไทยทำเงินเข้ากระเป๋าเกษตรเพิ่มอีก 5.5 หมื่นล.ช่วยดัน ศก.ภูธร-ใต้อู้ฟู้สุดหลังยางราคาพุ่ง

ทีเอ็มบี5พืชศก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้ประเมินมูลค่าพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรกของไทย คือ ข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน พบว่า ในปี 2560 จะมีมูลค่ารวมกว่า 7.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.5 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นมาจากราคายางพาราและอ้อยที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการและราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดว่าราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบเฉลี่ย ปี 2560 จะอยู่ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 24% ทำให้มูลค่าผลผลิตยางปีนี้เพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าปริมาณผลผลิตจะลดลง 6% เนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่ปลูกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ราคาอ้อยได้รับผลบวกจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่ตึงตัว ผลักดันราคารับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในประเทศเพิ่มขึ้น 30% เทียบกับราคารับซื้อปีก่อน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

รายงานระบุอีกว่า ในส่วนของข้าว ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญนั้น คาดว่าราคาจะอ่อนตัวจากลงอีกเล็กน้อย เนื่องจากปี 2560 ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวนาไม่ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตของแหล่งผลิตข้าวสำคัญทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จึงทำให้ราคาและปริมาณส่งออกข้าวของไทยชะลอตัว ขณะที่สต็อกของรัฐบาลยังคงกดดันราคาข้าวในปีนี้ ทำให้มูลค่าผลผลิตข้าวที่ชาวนาได้รับเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับมูลค่าผลผลิตปี 2559 ส่วนมันสำปะหลังราคาชะลอต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่าราคามันสดเฉลี่ยทั้งปีจะชะลอตัวลง 18% เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันฯ ของประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญลดลง ทำให้มูลค่าผลผลิตมันสดที่เกษตรกรชาวไร่มันฯ ขายได้ลดลง 1.2 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวระบุอีกว่า จำนวนเม็ดเงินจากมูลค่าผลผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตและบริโภคกลุ่มสำคัญของเศรษฐกิจภูมิภาค มีกำลังซื้อสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราที่สำคัญของประเทศ (ผลผลิตยางพารากว่า 70% มาจากภาคใต้) จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงยังได้ผลบวกจากปาล์มน้ำมันที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วยด้วย ดังนั้น เศรษฐกิจภาคใต้ปีนี้น่าจะฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมรวดเร็วและดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก

 ส่วนภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง แม้ว่ามูลค่าผลผลิตอ้อยจะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น แต่ข้าวและมันสำปะหลัง ราคายังคงฉุดรายได้เกษตรกรในปีนี้ ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรในภาพรวมทั้ง 3 ภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เศรษฐกิจของจังหวัดที่คาดว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่สำคัญได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุดรธานี นครราขสีมา กาญจนบุรี

“กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในพี้นที่ข้างต้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต อีกด้านหนึ่งเกษตรกรจะมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยหากทิศทางของราคาและปริมาณผลผลิตยังดีต่อเนื่องในระยะยาว จะทำให้แนวโน้มการซื้อสิ้นค้าคงทน หรือ สินค้าราคาสูง เช่น จักรยานยนต์ รถยนต์ มีแนวโน้มดีขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากเกษตรกรมีความมั่นใจในรายได้สูงขึ้น” รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวระบุอีกว่า ดังนั้นภาครัฐฯ ควรมีนโยบายดูแลราคาข้าวและมันสำปะหลังระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนยางพารา อ้อยและปาล์ม ซึ่งราคาอยู่ในระดับค่อนข้างดีในปีนี้ ควรส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนอย่างจริงจัง เช่น นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ และช่วยหนุนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตได้ในระยะยาว

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

เงินบาททรงตัวใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาททรงตัวใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยทยอยฟื้นตัวขึ้น หลังต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นปลายสัปดาห์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททรงตัวในกรอบแคบๆ ใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าตามสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ และความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อนึ่ง สัญญาณเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากประธานเฟดในช่วงกลางสัปดาห์ ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ให้ฟื้นตัวขึ้นได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น

สำหรับในวันศุกร์ (17 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ 34.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.90-35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการขั้นต้นสำหรับเดือนก.พ. ตลอดจนยอดขายบ้านใหม่ และยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามบันทึกการประชุมเฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/59 ของไทย และดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการขั้นต้นสำหรับเดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรปด้วยเช่นกัน

ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงในช่วงแรก แต่ฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์จากแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,577.84 จุด ลดลง 0.47% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลง 2.17% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 53,781.33 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 634.37 จุด ลดลง 0.36% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันอังคารท่ามกลางแรงขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติ ก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส จากนั้น ตลาดหุ้นไทยทยอยขยับฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มขนส่ง ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติก็กลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,560 และ 1,545 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานข้อมูลจีดีพี ไตรมาส 4/59 ของไทย รวมทั้งการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ รวมทั้ง การเปิดเผยบันทึกการประชุมเฟด ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ของญี่ปุ่น และยูโรโซน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

AEC Go On

วันพุธที่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษ “โอกาสกับประเทศไทย 4.0” ในงานสัมมนาและนิทรรศการ “Opportunity Thailand” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า รัฐบาลกำลังปรับเปลี่ยนประเทศให้ก้าวสู่ “ประเทศไทย 4.0” ที่เน้นคุณค่า (Value Based Economy) และเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Economy) โดยได้ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน แสดงให้เห็นอีกครั้งว่ารัฐบาลกำลังบอกคนไทย คนใน AEC และคนทั้งโลกว่า ไทยให้ความสำคัญกับนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”

เพื่อให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) ใน พ.ศ. 2579 ตามวิสัยทัศน์ของ “แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)” โดยใช้ “แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12” ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ “ประเทศไทย 4.0” เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงนี้

แนวคิดประเทศไทย 4.0 เป็น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันเน้นการผลิตสินค้าและบริการ โดยได้กำไรต่อหน่วยต่ำ (Low Value Added) หรือผลิตมากแต่ได้กำไรน้อย (More for Less) ไปสู่การผลิตที่มีกำไรต่อหน่วยสูง (High Value Added) หรือผลิตน้อยและได้กำไรมาก (Less for More) ผ่านการนำ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจมากขึ้น

นายกรัฐมนตรียังบอกอีกว่า นอกจากมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยีแล้ว รัฐบาลยังพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ ได้แก่ พัฒนาพื้นที่ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านในรูปของ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ทั้ง 10 จังหวัด และพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยตั้งเป้าหมายให้ EEC เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การขนส่งของภูมิภาค และเป็นประตูสู่เอเชีย รวมทั้ง AEC

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

เศรษฐกิจฐานชีวภาพ "มิตรผล" ปั้นเยาวชน 4.0

เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนสู่การเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0

กลุ่มมิตรผลจึงจัดเวิร์กช็อปปั้นไอเดียด้วยการนำเยาวชน 60 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก จากการประกวด "Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016 นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต" เข้าค่ายเรียนรู้ และพัฒนาไอเดียอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนานวัตกรรม และการสร้างแผนธุรกิจ

"ประวิทย์ ประกฤตศรี" ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลริเริ่มแนวคิดเศรษฐกิจฐานชีวภาพมากว่า 20 ปี ด้วยความใส่ใจในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงต่อยอดวัตถุดิบต้นน้ำอย่างอ้อยสู่ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งช่วยสร้างคุณค่าให้แก่พืชเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน

"ด้วยศักยภาพของไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก จึงมีความได้เปรียบในการพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจฐานชีวภาพ"

"รวมถึงเรายังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศด้วยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยี ดำเนินตามนโยบาย Thailand 4.0"

สำหรับการประกวด "Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016 นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต" เป็นครั้งแรกที่กลุ่มมิตรผล จัดการประกวดประชันไอเดียที่นำแนวคิดหลักด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) มานำเสนอ

ซึ่งมีเยาวชนผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมมากกว่า 100 ไอเดียจากทั่วประเทศ โดย 60 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจะได้โอกาสเข้าร่วมเวิร์กช็อปปั้นไอเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชน

นอกจากนั้น "ประวิตร" ยังกล่าวอีกว่า การประกวด "Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016 นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต" ยังมุ่งเน้นการบ่มเพาะความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดงานครั้งนี้ กลุ่มมิตรผลได้นำประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในฐานะผู้ประกอบการด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ มาถ่ายทอดให้แก่เยาวชนทั้ง 60 ทีม

"พร้อมกันนี้ยังบูรณาการองค์ความรู้ในหลายสาขาวิชา เพื่อผลักดันความสามารถของเยาวชนอย่างรอบด้าน จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ โดยเริ่มจากด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งมี คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มาช่วยปลุกพลังแห่งความสร้างสรรค์ ด้วยกระบวนการคิดนวัตกรรมแบบ Design Thinking ผ่านการออกแบบที่สามารถต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มได้ พร้อมด้วยความรู้ด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบวัสดุและผลิตภัณฑ์จากพืชเศรษฐกิจ โดยคุณภัทรพล จันทร์คำ ที่ปรึกษาจาก TCDC Material Connection อีกด้วย"

"ส่วนด้านนวัตกรรม (Innovation) จะมี คุณวิเชียร สุขสร้อย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มาช่วยพัฒนาแนวคิดด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีของผู้เข้าแข่งขันสู่การสร้างผลงานให้มีความเป็นไปได้ด้วยความรู้ด้านกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรม"

"ตามมาด้วยความรู้ด้านการทำธุรกิจ(Business) จะมี รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กับการอบรมด้านการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) มาช่วยต่อยอดแนวคิดของผู้เข้าแข่งขันสู่แนวทางการทำธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน พร้อมด้วยความรู้ด้านกลยุทธ์การทำธุรกิจอย่างรอบด้าน จากคุณวีระ เจียรนัยพานิชย์ Head of KBank Digital Partnership และทีมนักธุรกิจรุ่นใหม่ มาร่วมให้คำแนะนำถึงเทคนิคในการนำเสนอไอเดียธุรกิจ (Pitching Idea) ให้แก่เยาวชนทั้ง 60 ทีมอย่างใกล้ชิด"

โดยหลังจากกิจกรรมเวิร์กช็อป เยาวชนทั้ง 60 ทีม จะต้องนำเอาความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดสู่แผนการทำธุรกิจ เพื่อคัดเหลือ 12 ทีมสุดท้ายที่จะได้นำเสนอไอเดียต่อคณะกรรมการ และมีสิทธิ์ชิงเงินรางวัล ประกอบด้วย รางวัลที่ 1 เงินสด 200,000 บาท, รางวัลที่ 2 เงินสด 150,000 บาท และรางวัลที่ 3 เงินสด 100,000 บาท นอกจากนี้ ผู้เข้าประกวดที่ถูกคัดเลือกเข้าในรอบ 12 ทีมสุดท้าย ที่มีความสามารถที่โดดเด่นสามารถนำเสนอผลงานได้เข้าตาคณะกรรมการ มีโอกาสถูกคัดเลือกในการรับทุนการศึกษาต่อทั้งในและนอกประเทศจากกลุ่มมิตรผล เพื่อศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ รวมมูลค่ารางวัลทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านบาท เพื่อต่อยอดศักยภาพและผลักดันความสามารถให้เยาวชนไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทัดเทียมในระดับโลกต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กรมชลประสานฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อน

กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด พร้อมประสานฝนหลวง ปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนลำตะคอ

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำ โดยข้อมูลล่าสุดวันนี้ (วันที่ 17 ก.พ.) น้ำต้นทุนที่เก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,016 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 เท่านั้น ในขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้จาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวม 7,412 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การได้เพียง ร้อยละ 29 และหากพิจารณาเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ที่น้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ น้อยกว่า ร้อยละ 30 มีอยู่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล ร้อยละ 29 และ เขื่อนลำตะคอง ร้อยละ 27 กรมชลประทาน จึงได้ประสานไปยังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อร่วมกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำต้นทุนใน 2 เขื่อน ดังกล่าวแล้ว ซึ่ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เตรียมพร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมปฏิบัติการทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย นอกจากนั้น แล้วจากการคาดการณ์สภาพอากาศ จะสามารถปฏิบัติการฝนหลวงเต็มกำลังครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศในต้นเดือนมีนาคม 2560 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำ โดยแจ้งสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของท่านได้ทาง facebook เรารักชลประทาน และ สายด่วน 1460 ชลประทานบริการประชาชน

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

'บิ๊กตู่'สั่งลุยอีอีซีเต็มสูบ บรรจุในก.ม.ยุทธศาสตร์ชาติ มั่นใจโครงการเดินต่อรุ่นลูก

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาและนิทรรศการ "ออพพอทูนิตี้ไทยแลนด์" สร้างโอกาสแห่งอนาคตของไทยและภูมิภาค เรื่องโอกาสกับประเทศไทย 4.0 ซึ่งมีนักลงทุนและนักธุรกิจชั้นนำของโลกเข้ารับฟังกว่า 3,000 คน ว่า รัฐบาลพร้อมผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียง

          เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในอาเซียน และขอให้ภาคเอกชนมั่นใจว่า ต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้าโครงการนี้ก็ยังเดินหน้าต่อ เพราะถือว่าเป็นกฎหมาย หลังถูกบรรจุไว้ในแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (60-79) ซึ่งจะครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 12-15

          "โครงการนี้เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องจากยุคโชติช่วงชัชวาล ตอนที่มีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เกิดขึ้นมาเมื่อ 30 ปีก่อน โดยรัฐบาลขอเชิญชวน เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ และรัฐตอบแทนความต้องการของนักลงทุนให้ได้ และถ้าภาคธุรกิจติดปัญหาให้แจ้งมายังผมหรือรองนายกรัฐมนตรีเพื่อรีบแก้ไขให้ และรัฐบาลขอยืนยันว่า จะสร้างความโปร่งใสเป็นธรรมจะไม่มีเรื่องคอร์รัปชั่น หากมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด โดยเราจะเดินหน้าแผนต่อไป 20 ปี ข้างหน้าและอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย ซึ่งภายในปี 60 จะเริ่มการทำงานในระยะแรกให้ได้ และเชื่อมโยงไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดชายแดน เพื่อประเทศเพื่อนบ้านได้ประโยชน์ร่วมกัน"

          สำหรับโครงการดังกล่าว รัฐบาลได้กำหนดไว้เป็นนโยบาย และได้เร่งพัฒนาความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบวันสต๊อปเซอร์วิส เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วที่สุด โดยเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร และสำนักงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถเดินหน้าทำงานและกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงการในระหว่างที่รอพ.ร.บ.อีอีซี ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงหลายปีมานี้เศรษฐกิจของหลายประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวีได้ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น จาก 0.8% ในปี 57 มาเป็น 2.8% ในปี 58 และในช่วง 3 ไตรมาสของปี 59 ได้ 3.3% และในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5-4% ส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 45% และถ้าต้อง กู้เงินเพื่อโครงการในอนาคตก็สามารถทำได้ แต่จะทำอย่างมีสติรอบคอบและระมัดระวัง เช่นเดียวกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีอยู่เกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

          "ต่อไปนี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ และภายใต้การนำของนายกฯ บ้านเมืองกลับสู่สภาพปกติ สงบ การเมืองมีเสถียรภาพ ประชาชนวันนี้มีขวัญ และกำลังใจดีมาก มีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมีพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ พระสังฆราชพระองค์ใหม่ เรียกว่าสปิริตของไทยตอนนี้อยู่ในระดับสูง

          และสปิริตของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเป็นตัวชี้อนาคตประเทศว่าเป็นอย่างไร จึงไม่น่าแปลกใจที่นับวันความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจดีขึ้น ดังเช่นผลสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร ที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น ฉะนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาโอกาสแท้จริงสำหรับประเทศไทยมีนายกฯที่เทคแอ๊คชั่นปฏิรูปจริงจัง จึงไม่มีโอกาสครั้งไหนดีเท่าขณะนี้และโอกาสของอนาคตกำลังมา"

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.อีอีซี ผ่านการเห็นชอบจากสนช. คาดว่าจะผลบังคับใช้ไม่เกินช่วงกลางปีนี้จะช่วยขับเคลื่อนการลงทุนพื้นที่ดังกล่าว โดยในปีนี้จะเริ่มต้น 5 โครงการแรกคือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาเมืองใหม่.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชงดีเอสไอ-ปปง.ฟันแก๊ง‘ตั๋วปุ๋ย’ ‘สหกรณ์’บัญชีดำฟันอาญาผู้เกี่ยวข้อง1.5พันคน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายยกระดับมาตรฐานของขบวนการสหกรณ์ไทยให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้านี้ ได้เกิดปัญหาธุรกิจตั๋วปุ๋ยขึ้นมาในสหกรณ์หลายแห่งทั่วประเทศ ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งแก้ไขปัญหาธุรกิจตั๋วปุ๋ยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ และหาตัวผู้รับผิดชอบทุกระดับที่ทำให้เกิดปัญหาตั๋วปุ๋ยในสหกรณ์มาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการตามนโยบายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลวันที่ 2 ธันวาคม 2559 มีปัญหายอดค้างตั๋วปุ๋ยทั้งหมด 22 จังหวัด จำนวน 35 สหกรณ์ ปริมาณ 60,254 ตัน มูลค่า 665.69 ล้านบาท พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอรับปุ๋ยให้เสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 หากไม่ได้รับมอบให้บอกเลิกสัญญา และขอเงินคืนภายในวันที่ 15 มกราคม และถ้าหากไม่ได้เงินคืนให้สหกรณ์ฟ้องบริษัทภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์ตกลงรับปุ๋ยจากบริษัท จำนวน 34 แห่ง ทำให้ปริมาณตั๋วปุ๋ยลดลง 14,819.58 ตัน มูลค่า 125.12 ล้านบาท มีสหกรณ์ได้รับปุ๋ยครบและจำหน่ายหมดแล้ว จำนวน 3 แห่ง ปริมาณ 1,202.70 ตัน มูลค่า 8.67 ล้านบาท และมีบริษัทที่ส่งมอบปุ๋ยให้สหกรณ์แล้ว จำนวน 31 แห่ง ปริมาณ 13,619.43 ตัน มูลค่า 116.45 ล้านบาท แบ่งออกเป็น สหกรณ์ที่ได้รับมอบปุ๋ยทั้งหมดแล้ว จำนวน 17 แห่ง ปริมาณ 7,126.06 ตัน มูลค่า 80.05 ล้านบาท สหกรณ์ที่ได้รับมอบปุ๋ยเป็นบางส่วน จำนวน 14 แห่ง ปริมาณ 6,493.37 ตัน มูลค่า 36.40 ล้านบาท

กรณีที่บริษัทไม่สามารถส่งมอบปุ๋ยได้ จำนวน 45,434.94 ตัน มูลค่า 435.43 ล้านบาท แบ่งออกเป็น บริษัทที่ไม่ได้ส่งมอบปุ๋ยตามกำหนด สหกรณ์ได้ฟ้องแล้ว จำนวน 10 แห่ง ปริมาณ 40,531.44 ตัน มูลค่า 375.04 ล้านบาท สหกรณ์ที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งถอดถอนแล้ว จำนวน 1 แห่ง คือ สหกรณ์การเกษตรบางกรวย จำกัด มูลค่าความเสียหาย 36.84 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีปุ๋ยที่อยู่ระหว่างการส่งมอบ จำนวน 4 แห่ง ปริมาณ 1,520.59 ตัน มูลค่า 23.55 ล้านบาท คาดว่าจะส่งมอบได้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2560

สำหรับผลการตรวจสอบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตั๋วปุ๋ย เบื้องต้นพบว่า มีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และฝ่ายจัดการสหกรณ์มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 1,549 ราย และมีผู้บริหารบริษัทปุ๋ย 28 บริษัท จำนวน 70 คน ซึ่งเมื่อวันที่ 28 มกราคม กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปหารือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อส่งข้อมูลให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินและหารือแนวทางเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ได้มีแนวทางการดำเนินการกรณีที่ได้รับมอบปุ๋ยทั้งหมดแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 1.ให้สหกรณ์ตรวจสอบจำนวนและคุณภาพปุ๋ยคงเหลือ หากพบว่าจำนวนปุ๋ยขาดบัญชีหรือเสื่อมคุณภาพให้สหกรณ์หาผู้รับผิดชอบ 2.ให้สหกรณ์จำหน่ายปุ๋ยตามแผนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดภายใน 60-90 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง หากไม่สามารถจำหน่ายได้ทั้งหมดหรือจำหน่ายได้แต่ทำให้สหกรณ์ต้องขาดทุนหรือเกิดความเสียหายให้สหกรณ์หาตัวผู้รับผิดชอบ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เตรียมผุดโรงงานกำจัดกากอุตฯ พร้อมนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ที่ ต.บ่อวิน  

        ศูนย์ข่าวศรีราชา - โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ในพื้นที่ ต.บ่อวิน ย้ำขอให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง พร้อมเฝ้าดูแลสุขภาพตลอดระยะเวลาหากโรงงานเกิดขึ้นจริง ด้านผู้บริหารสอดรับพร้อมจัดตั้งไตรภาคี เพื่อหวังให้ทั้ง 2 ฝ่าย อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

               วันนี้ (16 ก.พ.) นายสุพงษ์ พันธ์เฉลิมชัย รองนายกเทศมนตรีนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ รักษาการนายกเทศมนตรีนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เป็นประธานประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายโดยแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ของบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ณ ห้องประชุมเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มี นายสมชัย กลิ่นสุวรรณมาลี ผู้บริหารบริษัทชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ โดยมีประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาคันทรง และเขตเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ กว่า 300 คน เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้     

        นายสมชัย กลิ่นสุวรรณมาลี ผู้บริหารบริษัทชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการจัดการขยะของประเทศไทยในปัจจุบัน พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อแนวทางแก้ไขปัญหาตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 ดังนั้น ทางบริษัทฯ จึงมีแผนจะพัฒนา “โครงการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายโดยแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า” ซึ่งจะต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในพื้นที่ 15.23 ไร่

               สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโรงงานผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก งบประมาณก่อสร้าง 1,500 ล้านบาท โดยใช้เชื้อเพลิงจากกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายมาผลิตไฟฟ้า และส่งเข้าโครงข่ายสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีกำลังการผลิต 8.63 เมกะวัตต์ และกำลังไฟฟ้าส่วนหนึ่งใช้ในกิจกรรมภายในบริษัท และส่งเข้าสู่โครงข่ายของไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 6.90 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องใช้กากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ 396 ตันต่อวัน หรือ 144,540 ตันต่อปี

               นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นจะต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 2 ครั้ง และได้ดำเนินการแล้วในครั้งนี้ และครั้งต่อไปในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูล และข้อวิตกกังวลของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ จะนำประเด็นข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะมาปรับปรุงมาตรการในแต่ละด้านให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

               สำหรับข้อคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้โดยหวั่นว่ากากอุตสาหกรรมที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นกากอุตสาหกรรมไม่เป็นอันตรายนั้น โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจ เพราะกลัวมีการลักลอบ หรือปะปนเขาไปด้วย และจะเป็นอันตรายต่อประชาชน และได้มีการเสนอให้ตรวจร่างกายของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน และเมื่อสร้างแล้วก็ต้องติดตามตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

               นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนั้นประชาชนในพื้นที่ต้องการรับทราบความเคลื่อนไหวของโรงงานตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง และขั้นตอนการผลิต ซึ่งเรื่องนี้ทางบริษัทฯ พร้อมให้จัดตั้งไตรภาคี เพื่อติดตามในการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในทุกขั้นตอน เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย และมีความสุข

 จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คุมเข้มสารเคมี 11 ชนิด

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการ การนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยเฉพาะสารที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังที่มีอยู่ 11 ชนิด ซึ่งส่วนมากเป็นสารที่ใช้กำจัดแมลง อาทิ อัลดิคาร์บ (Aldicarb) ออกซามิล (Oxamyl) เป็นต้น โดยจำกัดปริมาณการนำเข้า จากเดิมเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุอันตรายได้โดยไม่มีการกำหนดปริมาณการนำเข้า “ถ้าวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนแล้วพบข้อมูลความเป็นพิษสูงและพบสารพิษตกค้างในผลิตผลทางการเกษตรสูงเกินค่ามาตรฐาน (MRLs) 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะพิจารณาจำกัดการใช้ทันที และหากไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะเสนอเข้าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า และมีไว้ในครอบครองต่อไป

” นายสุวิทย์กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 54 ถึงปัจจุบัน ได้พิจารณาออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรแล้ว 9,534 ทะเบียน แต่ยังคงมีคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่รอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่คงค้างการพิจารณาอีกกว่า 4,300 รายการ ซึ่งการพิจารณารับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายแต่ละชนิดต้องไม่เกิดผลกระทบต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องรอบคอบ สำหรับข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 54-59 มีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรแล้วกว่า 789,382 ตัน รวมมูลค่ากว่า 128,619 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าสารเคมี 3 ประเภท คือ 1.สารกำจัดวัชพืช 2.สารกำจัดแมลง และ 3.สารป้องกันและกำจัดโรคพืช.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชาวไร่อ้อยยโสธรยื่นหนังสือหนุนโรงงานน้ำตาลอำนาจเจริญ-ปชช.อีกกลุ่มยังวิตก กระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่หน้าที่ว่าการอำเภอป่าติ้ว จ.ยโสธร นายบุญกอง เขื่อนคำ อายุ 56 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว พร้อมชาวบ้านกว่า 200 คน เดินทางมายื่นหนึงสื่อถึงนายอำเภอป่าติ้ว กรณีสนับสนุนการสร้างโครงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผล จ.อำนาจเจริญ พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุน 112 ราย

นายบุญกอง กล่าวว่าตนและกลุ่มสนับสนุนการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผล จ.อำนาจเจริญ ได้ไปดูงานที่โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผล ที่จ.กาฬสินธ์ ซึ่งจากการศึกษาดูงานทำให้พวกเราเข้าใจกระบวนการผลิตอาทิ การผลิตน้ำตาลพวกตนได้รับรู้จากการฟังบรรยายและได้เห็นกลไลการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย และได้ไปดูงานโรงไฟฟ้าชีวมวล ว่าการผลิตไฟฟ้าโดยการใช้ชานอ้อยเป็นโรงงานวัสดุเชื้อเพลิง ในการต้มน้ำให้เดือนจนสามารถนำไปเป็นแรงดันเคลื่อนกลไกต่างๆจนเกิดเป็นโรงงานไฟฟ้าได้

อย่างไรก็ตามมีประชาชนบ้างกลุ่มที่วิตกกังวลในกระบวนการเผาชานอ้อย จะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งวิศวกรโรงงานได้อธิบายถึงกระบวนการกำจัดควันที่เกิดจากการเผาไหม้ โดยใช้สเปรย์น้ำฉีดพ้นในปล่องไฟ เพื่อดักจับฝุ่นละอ่องและควันให้ตกสู่พื้นดิน และฝุ่นละลองที่ตกลงสู่ดินนั้นสามารถนำไปเป็นส่วนผสมของปุ๋ยชีวภาพ ที่ใช้บำรุงดินและเป็นอาหารของพืช ส่วนการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่นำมาใช้ในการผลิตโดยโรงงานได้จัดซื้อที่ดิน เพื่อใช้เป็นบ่อแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำ ทำให้การบริหารจัดการน้ำไปใช้ในการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยังสามารถนำน้ำมาหมุนเวียนใช้ในโรงงานโดยไม่มีผลกระทบต่อการเกษตรของชุมชน ซึ่งทางโรงงานจะสูบเอาน้ำจากลำเซบายเฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น

ส่วนการบำบัดน้ำเสียของทางโรงงานคณะได้รับฟังจากการบรรยายและดูงานสภาพจริงของระบบการบำบัดน้ำเสียของทางโรงงาน ปรากฎว่าบ่อน้ำเสียมีการปูพื้นด้วยวัสดุที่ทันสมัยเพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำเสีย และยังใช้กังหันน้ำเพื่อเติมออกซิเจนในน้ำและใช้ธรรมชาติบำบัดโดยการปลูกต้นไม้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ผวากำแพงภาษีสหรัฐฯ ฉุดส่งออก

นโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและสะเทือนถึงไทยอย่างไรเพื่อประเมินผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)สะท้อนมุมมองและประเมินผลต่อเศรษฐกิจไทยก่อนที่สศช.จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจปี 2559 และคาดการณ์แนวโน้มในปี 2560 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้

นายปรเมธี กล่าวว่า สหรัฐฯช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลง 2 ด้านที่มาด้วยกัน แต่แตกต่างจากเดิมอย่างสุดขั้ว คือเรื่องของพื้นฐานวัฏจักรเศรษฐกิจและเรื่องการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีของสหรัฐฯในเรื่องเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯที่เคยค่อนข้างตกต่ำจนทำให้เศรษฐกิจโลกขยายได้น้อย หลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ปี 2551 จนต้องอัดฉีดคิวอี ทำให้อัตราดอกเบี้ยตกต่ำกันทั่วโลกได้เริ่มมาสู่จุดเปลี่ยนเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐ ฯแข็งแรงขึ้นธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่ม

วัฏจักรพื้นฐานเศรษฐกิจที่เปลี่ยนมาพร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์”ที่มีนโยบายบริหารแตกต่างอย่างสุดขั้วในการยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นหลัก โดยเตรียมพร้อมที่เปลี่ยนแปลงนโยบายหลายๆอย่างที่จะแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครแน่ใจได้ 100% มาตรการที่ออกมาอะไรจะเกิดขึ้น เกิดเต็มรูปแบบหรือผลกระทบมากมายแค่ไหน

ทั้งนี้นโยบายทรัมป์ ในเรื่องของความไม่แน่นอน มีทั้งด้านที่เป็นบวกและเป็นลบ มาตรการที่เป็นบวกก็คือนโยบายและมาตรการช่วยส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ เช่นการลดภาษีการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน

นโยบายที่เป็นลบ คือนโยบายการค้าจากการที่สหรัฐฯหันมาเน้นเรื่องการปกป้องการค้า นโยบายการค้าเสรี ในกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ที่ยกเลิกไปแล้วเมื่อสหรัฐฯถอนตัวก็คือจบประเทศที่คาดหวัง TPP จะช่วยให้เกิดการค้าของโลกมากขึ้น เศรษฐกิจจะโตขึ้นมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้นก็ไม่ได้รับประโยชน์

มาตรการตั้งกำแพงภาษี( Border Adjustment Tax : BAT )ที่จะเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมาสหรัฐฯ เพื่อจะดึงดูดให้เกิดการผลิตหรือย้ายฐานการผลิตมาประเทศสหรัฐฯ นโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกรวมถึงประเทศซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นความเสี่ยงที่คนรอดูอยู่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือใช้เข้มงวดขนาดไหนเพราะนโยบายส่วนนี้อาจไปผิดระเบียบองค์การการค้าโลก ( WTO)ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯเอง

“ผลกระทบต่อการค้าไทยจะมากน้อยแค่ไหนไทยส่งออกไปสหรัฐฯเป็นสัดส่วนกว่า 11%และเปอร์เซ็นต์การส่งออกของไทยไปประเทศอื่นๆที่ส่งต่อไปสหรัฐฯอย่างไทยส่งชิ้นส่วนไปจีนและส่งต่อไปสหรัฐฯเชื่อมโยงกับการค้าหลายภาคส่วนของโลก ยังประเมินยากอยู่แต่หากสหรัฐฯดำเนินนโยบายกีดกันการค้า ไทยจะกระทบเหมือนกัน”

ส่วนความเสี่ยงสถานการณ์การเมืองโลกที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบของนโยบายทรัมป์ เลขาฯสศช.กล่าวว่า สหรัฐฯยังเป็นประเทศมหาอำนาจมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เป็นผู้ซื้อรายใหญ่และมีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆทางด้านความมั่นคงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆดังนั้นประเทศส่วนใหญ่พยายามจะลดผลกระทบหรือด้วยการหาทางออกที่เป็นบวกกับสหรัฐฯไม่ว่าจีน ญี่ปุ่นหรือใครพยายามเริ่มคุยเริ่มเจรจากับสหรัฐฯเพื่อลดผลกระทบ

นายปรเมธี กล่าวถึงการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจริงปี 2559และแนวโน้มในปี 2560 ที่จะแถลงในต้นสัปดาห์หน้าว่ารอบนี้ปัจจัยที่นำมาคำนวณยังเป็นความเสี่ยงบนสมมติฐานคือเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ขยายตัวดีขึ้นและสมมติฐานบนปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายทรัมป์ที่มากขึ้นแต่ยังประเมินได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเร็วช้าขึ้นอยู่กับว่าจะทำจริงได้เมื่อไร และจะบังคับใช้กับทุกประเทศหรือบางประเทศ

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เกษตรฯเปิดแผนรับมือภัยแล้ง ทุ่ม1.7หมื่นล.ดัน29โปรเจ็กต์

ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะในปี 2558-2559 วิกฤติค่อนข้างหนัก ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรง

 ขณะที่เวลานี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งอีกครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หน่วยงานหลัก มีแผนเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรในปี 2559/2560 อย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ดังรายละเอียด

 ปี 60 น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี

“ธีรภัทร” กล่าวว่า สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปีนี้ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ในช่วงเริ่มต้นฤดูแล้ง (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 55,064 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 31,245 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 10,813 ล้านลูกบาศก์เมตร (เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับปี 2558) จึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559/2560 จะไม่เกิดวิกฤตที่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีพื้นบางส่วนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง

“ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตรทางกระทรวง โดยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการในเชิงรุกให้ทุกหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงดำเนินงานป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรของส่วนราชการ ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่มีรัฐมนตรีว่าการเป็นประธาน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการป้องกัน ลดผลกระทบ และเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์”

 เฝ้าระวัง 48 จ.พื้นที่เสี่ยง

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯโดยกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำแผนที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่ทำการเกษตร คาดจะประสบความแห้งแล้งรวม 48 จังหวัด ใน 345 อำเภอ 2,061 ตำบล เนื้อที่รวม 7.65 ล้านไร่ แยกเป็น พื้นที่ในเขตชลประทาน 0.43 ล้านไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 7.22 ล้านไร่ เมื่อทำการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงภัยแล้งจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ความล่อแหลม (Exposure) และความเปราะบางของพื้นที่ (Vulnerability) พบว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทานจะรับทราบสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมในการปรับลดการผลิตหรือพักการผลิตทางการเกษตร

ส่วนเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีจะรับทราบสถานการณ์แล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและจะพักการผลิตไม่ให้ทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง โดยสรุป จึงมีพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดความแห้งแล้งด้านการเกษตรต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อยู่ในบริเวณพื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น 0.45 ล้านไร่ และพืชไร่อายุยาว 0.47 ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 0.92 ล้านไร่

 อนุมัติ 1.7 หมื่นล.รับมือ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะรัฐมนตี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรตามที่กระทรวงเกษตรฯได้นำเสนอ รวม 6 มาตรการใน 29 โครงการ ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 17,324.82 ล้านบาท แบ่งเป็นงบปกติ 14,832.85 ล้านบาท งบกลาง 2,197.62 ล้านบาท และงบขอเพิ่มเติม 294.35 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1. มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง จำนวน 7 โครงการ 2. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 5 โครงการ 3.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนจำนวน 8 โครงการ 4.มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย จำนวน 7 โครงการ 5. มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ จำนวน 2 โครงการ และ 6.มาตรการจัดทำแผนชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งกรอบแนวทางเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่ต้องการทำงานในเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรเป็นไปอย่างเป็นระบบ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 มีจังหวัดที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ พิจิตร บุรีรัมย์ อ่างทอง และเพชรบุรี และกำลังจับตา 17 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ตาก อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ จันทบุรี เพชรบุรี และสงขลา

“ทางกระทรวงได้ประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อลดความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ โดยบูรณาการงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในจังหวัด”

 เฝ้าระวังไฟป่า 40 จังหวัด

ขณะปัญหาที่ตามมากับความแห้งแล้งของอากาศคือ ไฟป่า ทางคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ให้ความสนใจ และเฝ้าระวัง มี 40 จังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี และนครพนม เป็นต้น

อย่างไรก็ดีปัญหาภัยพิบัติต่างๆ เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือรวมทั้งแผนการฟื้นฟูอาชีพและพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยเพื่อให้กลับคืนสภาพและดีกว่าเดิมรวมถึงการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รอบอ่างเก็บนํ้าที่มีปริมาณนํ้าต้นทุนน้อยและไม่ได้สนับสนุนนํ้าเพื่อการเกษตรด้วย

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ส่องโอกาสไทยในยุค4.0

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

โลกของอุตสาหกรรมกำลังก้าวสู่การปฏิวัติครั้งใหม่ที่เรียกว่า อุตสาหกรรม 4.0 (Industries 4.0) ทุกประเทศในอาเซียนกำลังเร่งพัฒนาตัวเองให้ ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเองในการแข่งขัน สภาธุรกิจไทย-จีนได้จัดเสวนา "อนาคตของภูมิภาค" เชิญกูรูจากภาคธุรกิจมาให้คำแนะนำการสร้างไทยให้เป็นผู้นำตลาดอาเซียน

เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยถือว่าเป็นผู้นำตลาดอาเซียนในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์อยู่แล้ว แต่มีแนวโน้มว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียจะก้าวมาเป็นผู้นำตลาดแทน ด้วยกำลังผลิตในปัจจุบันมากกว่า 1 ล้านคัน/ปี เนื่องจากจำนวนประชากร 250 ล้านคน และการเติบโตจากสภาพเศรษฐกิจขยายตัว

 ทั้งนี้ การตอกย้ำผู้นำด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ไทยต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนทางด้านฝีมือของการผลิตมีความได้เปรียบในด้านความประณีตที่เหนือชั้นกว่าอินโดนีเซีย จึงเป็นที่ยอมรับของคน ทั่วโลก ส่วนในด้านรถยนต์ไร้คนขับ โตโยต้ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่เชื่อว่าไม่ได้เป็นตลาดที่ใหญ่หรือแจ้งเกิดได้ง่าย

"กุญแจที่จะนำพาให้ไทยก้าวเข้าสู่ 4.0 คือ รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาสินค้าและบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถทางด้านไอที คนไทยต้องเรียนรู้หาประสบการณ์ทำงานจากต่างประเทศมากกว่าจะทำงานแต่ภายในประเทศอย่างเดียว รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนสิทธิพิเศษทางด้านภาษีในอุตสาหกรรมรถยนต์เอื้อให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น" ทานาดะ กล่าว

ด้าน วิลเลียม ไฮเนค ประธานกรรมการและประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ไทยกำลังก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในเร็วๆ นี้ได้อย่างแน่นอน จากการที่รัฐบาลพยายามผลักดันวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่รัฐบาลต้อง เร่งบูรณาการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับกับเทคโนโลยี ขจัดคอร์ รัปชั่นที่เริ่มมีน้อยลง จุดแข็งของไทยที่มีและเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านคือ ธุรกิจด้านบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สปา ทำให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถเป็นผู้นำตลาดอาเซียนได้อย่างแน่นอน

ขณะที่ ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบี.กริม กล่าวว่า การก้าวสู่ยุค 4.0 ต้องยกเครื่องระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมดเนื่องจากปัจจุบันยังล่าช้าเปรียบได้กับแค่ยุค 1.8 เท่านั้น โดยพบว่า คนที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาไม่สามารถตัดสินใจสิ่งที่สำคัญในชีวิตได้ กระทรวงการศึกษาต้องบูรณาระบบ โดยนำอาจารย์ที่เก่งทางด้านวิชาการและอาจารย์หรือผู้ประกอบการธุรกิจชั้นนำมาสอนงานวิชาชีพ

"มองว่าชนชั้นกลางในไทยเกิดยาก ดังนั้นต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนตลอด ที่เยอรมนีมีการสอนให้คนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระดับอุดมศึกษา อยากให้เกิดความร่วมมือแบบทวิภาคีในไทย ซึ่งทางหอการค้าเยอรมัน-ไทยพร้อมจะนำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมทำงาน"

วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะคอร์ปอเรชัน กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาไทยเดินได้ช้า ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี เติบโต 3% หรืออยู่ในอันดับท้ายๆ ของอาเซียน ซึ่งในแต่ละประเทศจีดีพีเติบโต 6-7% แม้ว่าการก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ไทยจะเดินช้า แต่เป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ การแพทย์ ท่องเที่ยว ผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองแค่การทำธุรกิจในประเทศ แต่ต้องเร่งขยายไปสู่ตลาดอาเซียนให้มากขึ้น

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ธปท.เข้าดูแลสกัดค่าเงินบาทแข็ง

ธปท.แทรกแซงค่าเงินบาทดันทุนสำรองพุ่ง 7 หมื่นล้านใน 1 สัปดาห์ นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เห็นสัญญาณธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าดูแลค่าเงินบาทในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7 หมื่นล้านบาท หลังจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หาก ธปท.ไม่ดูแลค่าเงินบาทอาจแข็งค่ามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและจะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกและนำเข้า

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เผือกร้อนน้ำตาลทราย ระทึกปรับโครงสร้าง-หนีคู่แข่งกะซวก  

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายขณะนี้ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำทราย (สอน.) ไปศึกษาแนวทางดำเนินงานโดยเฉพาะการนำไปสู่การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดไว้ในช่วงฤดูหีบอ้อย ปี 2560/61 หรือช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งระหว่างนี้จะต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สอน.จะหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในวันที่ 16 ก.พ.นี้ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวทางหลักๆ ไว้ 2 แนวทางคือ การกำหนดเพดานขั้นสูงและขั้นต่ำ และการลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก โดยคณะทำงานจะต้องศึกษาด้านกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่

          ล่าสุด ได้มีการมอบให้ฝ่ายทีมกฎหมายศึกษาว่าการเปิดเสรีลอยตัวราคาน้ำตาลจะดำเนินการภายใต้กรอบใดบ้างที่ไม่ขัดองค์การการค้าโลก (WTO) โดยเฉพาะกรณีหากมีการกำหนดราคาเพดานต่ำสุด-สูงสุดจะทำได้หรือไม่เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคและชาวไร่อ้อย รวมทั้งต้องหาข้อสรุปการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยนัยจากนี้ไปว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกบราซิลที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลกฟ้องร้องไทยต่อองค์กรการการค้าโลกว่า ประเทศไทยทำผิดกฎองค์การการค้าโลกในเรื่องการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย รวมทั้งประเด็นที่บราซิลต้องกรให้ไทยยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทรายที่กำหนดอยู่ในปัจจุบันซึ่งหากต้องมีการยกเลิกระบบโควตา ประเทศไทยก็ต้องหาแนวทางบริหารสต๊อกน้ำตาลทั้งการส่งออกและบริโภคในประเทศใหม่ เพื่อป้องกันการขาดแคลนในประเทศ

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

40 ประเทศปลื้มผลงานประชุมอ้อยและน้ำตาลทรายนานาชาติ มั่นใจกระตุ้นไทยก้าวขึ้นสู่ผู้นำการผลิต-ส่งออกระดับโลก

พอใจผลงานเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ผู้เข้าร่วมประชุมจาก 40 ประเทศ เกือบ 1,000 คน ชื่นชมมั้นใจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผลักดันประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกของโลกในอนาคตได้อย่างแน่นอน ด้านนักวิชาการวอนภาครัฐ เอกชนให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพราะจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลพร้อมชูการทำไร่อ้อยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 จะช่วยเกษตรกรรายย่อยเป็นผู้ส่งออกระดับโลกได้

นายเชิดพงษ์  สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ เปิดเผยว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 (XXIX International Society of Sugar Cane Techonlogists Congress) ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาอย่างน่าพอใจ มีผู้ร่วมเข้าประชุมมากกว่า 950 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งความสำคัญในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการเป็นผู้นำในเรื่องอ้อยและน้ำตาลของไทย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อ้อยประเภทต่างๆ การจัดการดินและน้ำ ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ไปจนถึงใช้เครื่องจักรขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนโรงงานน้ำตาลในยุคใหม่ ที่นำนวัตกรรมการและเทคโนโลยีในการนำผลผลิตอ้อยทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ โดยไม่มีส่วนใดเหลือทิ้ง รวมทั้งการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน และการควบคุมการผลิตด้วยระบบจีพีเอส นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลของไทยได้มีโอกาสนำเสนอสินค้าออกสู่สากลมากขึ้นอีกด้วย

ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ กล่าวต่อว่าการประชุมครั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรของไทยได้เข้าชมงาน ทำให้ได้รับรู้และรับทราบเทคโนโลยีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรับปรุง พัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งในเรื่องของพันธุ์อ้อย เครื่องจักร การจัดการน้ำ ดิน ปัจจัยการผลิต การเก็บเกี่ยว การขนส่ง เป็นต้น

ส่วนด้านวิชาการก็ประสบผลสำเร็จ มีผู้ส่งผลงานทางวิชาการร่วมงานรวมทั้งสิ้น 267 เรื่อง ทำให้นักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น สร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายกับนักวิจัยที่มีประโยชน์ต่อไปในอนาคต และที่สำคัญตัวแทนส่งผลงานจากประเทศไทยถึง 10 คน ได้รับเลือกให้รับรางวัล Best Papers และ Best Posters Award จาก 4 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาขาชีววิทยา โรงงาน และผลิตภัณฑ์พลอย โดยสาขาชีววิทยาเป็นสาขาที่มีการนำเสนอผลงานทั้งแบบปากเปล่าและจัดแสดงโปสเตอร์มากที่สุด โดยเฉพาะหัวข้อเรื่องเชื้อพันธุ์พืช การเพาะพันธุ์ กีฎวิทยา พยาธิวิทยา  และโมเลกุลวิทยา

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของไทยได้เรียกร้องผ่านทางเวทีประชุมดังกล่าวให้ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยมากขึ้น เพื่อให้งานวิจัยเกิดประโยชน์กับการพัฒนา สามารถขยายผลนำมาปฏิบัติใด้จริงดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่การพัฒนาอยู่บนฐานข้อมูลที่ได้มาจากงานวิจัย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน

ด้านกิตติ ชุณหวงศ์  นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ในส่วนของการจัดนิทรรศการนั้นก็ประสบผลสำเร็จ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจากทั่วโลกให้ความสนใจมาร่วมออกงานนิทรรศการจำนวนมากเช่นกัน รวมทั้งการจัดแสดงสินค้าในรูปแบบเจรจาธุรกิจก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในกลุ่มผู้ให้บริการและผู้ผลิตอุปกรณ์ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้พื้นที่จัดแสดงสินค้าได้ถูกจำหน่ายหมดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนการจัดประชุมจะเริ่มขึ้น และทำให้ต้องปฏิเสธผู้จัดแสดงสินค้าไปหลายราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ซึ่งกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะนำไปสู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอนาคตได้อย่างแน่นอน

นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ในการประชุมดังกล่าว เรื่องที่มีการกล่าวถึงและมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยคือ การทำไร่อ้อยแบบพอเพียง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 ซึ่งจะทำให้เกษตรกรรายเล็กสามารถอยู่รอด และสามารถเป็นผู้ส่งออกระดับโลกได้ เพียงแต่เกษตรกรจำเป็นจะต้องรวมกลุ่มกันจากแปลงเล็กหลายๆ แปลงรวมกันก็จะเป็นแปลงขนาดใหญ่ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล จากนั้นก็ร่วมกันในการพัฒนาและนำเครื่องจักรกลที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนและลดต้นทุนสูงสุด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตอ้อยของไทยลดลง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ทั้งนี้ตามยุทธศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น กำหนดยุทธศาสตร์ที่เห็นจริง พื้นที่ปลูกอ้อยอีกประมาณ 6 ล้านไร่ ภายในปี 2565 จากปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 8 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าให้มีรายได้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ไม่น้อยกว่าปี 500,000 ล้านบาท เพื่อก้าวขึ้นเป็นประเทศศูนย์กลางการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลของโลก

“การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือของ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์  แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับทางสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย โดยสามารถดำเนินการจัดงานให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ซี่งการจัดงานในครั้งนี้เป็นการสร้าง Economic Impact และแสดงให้เห็นจังหวัดเชียงใหม่สามารถเป็น MICE City ได้ รวมถึงประเทศไทยมีศักยภาพ และได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ถูกเลือกให้จัดงานในระดับ Internation Trade Exhibition  การประชุมดังกล่าวยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านนักท่องเที่ยว เพราะจะทำให้ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจาก 40 ประเทศทั่วโลก ก็จะนำเรื่องราวของประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาน ไปเชิญชวนให้ประชาชนในประเทศของเขาเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น นายกิตติกล่าวในตอนท้าย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560

ก.อุตฯลั่นลอยตัวราคาน้ำตาลสิ้นปี ระดมทุกส่วนถก16ก.พ.นี้เคาะแผน  

 กระทรวงอุตสาหกรรมลั่นแผนปรับโครงสร้างอุตฯ อ้อยและน้ำตาล ยังเดินหน้าปกติโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลที่จะต้องเร่งยุติเพื่อเดินหน้าฤดูหีบ 60/61 เตรียมระดมหารือทั้งส่วนวันที่ 16 ก.พ.

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  การปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ศึกษาแนวทางดำเนินงานโดยเฉพาะการนำไปสู่การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่กำหนดไว้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/61 หรือช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งระหว่างนี้จะต้องหา ข้อสรุปให้ชัดเจนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า วันที่ 16 ก.พ.นี้จะมีการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเพื่อตกผลึกเกี่ยวกับแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวทางหลักๆ ไว้ 2 แนวทาง คือ การกำหนดเพดานขั้นสูงและขั้นต่ำ และแนวทางที่ 2. ลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก

          อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจำเป็นจะต้องศึกษาทางด้านกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ซึ่งล่าสุดได้มีการมอบฝ่ายทีมกฎหมายศึกษาว่าการเปิดเสรีนั้นจะดำเนินการภายใต้กรอบใดบ้างที่ไม่ขัดหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยเฉพาะ กรณีหากมีเพดานต่ำสุด สูงสุดจะทำได้หรือไม่ และกลไกตลาด จะอิงแบบใดที่จะต้องหาแนวทางไม่กระทบต่อผู้บริโภคและชาวไร่อ้อยด้วย

          "เราจะต้องเร่งสรุปแนวทางการปรับโครงสร้างให้ชัดเจนและต่อเนื่องจากให้กับบราซิลภายใน ก.พ.นี้ด้วย เพราะก่อนหน้าบราซิลได้กล่าวหาไทยต่อ WTO ว่าอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทราย จนเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ กระทบต่ออุตสาหกรรม อ้อยและน้ำตาลทรายของบราซิลทำให้มีการเจรจาซึ่งบราซิลต้องการให้ไทยมีการปรับโครงสร้างฯ ซึ่งจะรวมถึงการยกเลิกโควต้าน้ำตาลด้วยว่าที่สุดเมื่อยกเลิกเราจะกำหนดวิธีใดที่จะไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศให้ขาดแคลน" แหล่งข่าวกล่าว

          สำหรับแนวโน้มการหีบอ้อยฤดูผลิตปี 59/60 ที่เริ่มตั้งแต่ 6 ธ.ค. 59 ที่ผ่านมายอมรับว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบภาพรวมมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 91.05 ล้านตันเล็กน้อย ขณะที่แนวโน้มปริมาณอ้อยในฤดูผลิต 60/61 คาดว่าจะสูงขึ้นมากจากปริมาณพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ปลูกมันสำปะหลังหันมาปลูกอ้อยจำนวนมากหลังราคามันฯ ตกต่ำ.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

“อุตตม”ยันปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลเริ่มปีนี้แน่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ศึกษาแนวทางดำเนินงานโดยเฉพาะการนำไปสู่การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่กำหนดไว้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/61 หรือช่วงสิ้นปีนี้ โดยจะต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า วันที่ 16 กุมภาพันธ์ จะมีการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล เพื่อตกผลึกเกี่ยวกับแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวทางหลัก 2 แนวทางคือการกำหนดเพดานขั้นสูงและขั้นต่ำ และแนวทางที่ 2.ลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวจำเป็นจะต้องศึกษาทางด้านกฏหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพื่อชี้แจงบราซิลภายในกุมภาพันธ์นี้ เพราะก่อนหน้าบราซิลได้กล่าวหาไทยต่อดับเบิลยูทีโอว่าอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทราย จนเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ กระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของบราซิล ผลการฟ้องร้องดังกล่าวทำให้ไทยมีการปรับโครงสร้าง ซึ่งจะรวมถึงการยกเลิกโควต้าน้ำตาลด้วย แต่ไทยเองก็ต้องกำหนดวิธีการที่ไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ ไม่เกิดภาวะขาดแคลน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คนไทยรับมือน้ำตาลแพง  

          นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายขณะนี้ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปศึกษาแนวทางดำเนินงานโดยเฉพาะการนำไปสู่การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/61 หรือช่วงสิ้นปีนี้ ดังนั้นระหว่างนี้ต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ สอน.จะหารือร่วมกันของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวไร่อ้อย และ โรงงานน้ำตาลเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวทางหลักๆไว้ 2 แนวทางคือ การกำหนดเพดานขั้นสูงและขั้นต่ำ และแนวทางที่ 2 ลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งทั้ง 2 แนวทางดังกล่าว คณะทำงานจะต้องศึกษาด้านกฎหมายว่า ดำเนินการได้หรือไม่ ล่าสุดได้ให้ฝ่ายทีมกฎหมายศึกษาว่าการเปิดเสรีลอยตัวราคาน้ำตาล จะดำเนินการภายใต้กรอบใดบ้างที่ไม่ขัดหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยเฉพาะกรณีมีการกำหนดราคาเพดานต่ำสุดและสูงสุดจะทำได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคและชาวไร่อ้อยด้วย รวมทั้งต้องหาข้อสรุปการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศบราซิลที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายอันดับ 1 ของโลก มาฟ้องร้องว่าไทยทำผิดกฎองค์การการค้าโลกเรื่องการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แจงสี่เบี้ย : ‘กรมพัฒนาที่ดิน’พร้อมขับเคลื่อนแผนบูรณาการ พัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตรปี’60

การพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร ภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดเตรียมแผนที่สอดคล้องกับเป้าหมายแผนบูรณาการเป้าหมายที่ 2 ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรผ่านศูนย์เรียนรู้ในชุมชน จึงมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละ1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อน เพื่อเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรของชุมชน รวมถึงเป็นกลไกในการบูรณาการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่

สำหรับพื้นที่ดำเนินงาน กรมส่งเสริมการเกษตร จะเป็นผู้คัดเลือกอำเภอละ1 ศูนย์ จำนวนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 882 ศูนย์ โดยมีวิธีและขั้นตอนการดำเนินงาน คือ 1.จัดทำจุดเรียนรู้การพัฒนาที่ดิน แปลงสาธิตจุดเรียนรู้ด้านต่างๆ เช่น ปุ๋ยน้ำหมัก น้ำหมักสมุนไพร ปุ๋ยหมัก เพื่อให้เกษตรกรศึกษาเรียนรู้ 2.ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดิน ที่เหมาะสมในการฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ การใช้ประโยชน์ที่ดินทำการผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ผลผลิตที่ดีตามความเหมาะสม 3.ปรับปรุงฐานข้อมูลความรู้ ภายในศูนย์ที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ แผนที่ ชุดข้อมูลความรู้และจุดเรียนรู้ต่างๆ

โครงการดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์เก่เกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง เพราะการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่มีการบูรณาการองค์ความรู้และการจัดการจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ นอกจากเป็นที่ถ่ายทอดความรู้ ให้บริการทางการเกษตรและข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ให้เกษตรกร รวมทั้งเกษตรกรสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินและใช้นวัตกรรมต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดินได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรตามความพร้อมของเกษตรกรและศักยภาพของพื้นที่

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ก.อุตฯถก16ก.พ.เดินหน้าหาแผนลอยตัวราคาน้ำตาลสิ้นปี  

         กระทรวงอุตสาหกรรมลั่นแผนปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลยังเดินหน้าปกติโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลที่จะต้องเร่งยุติเพื่อเดินหน้าฤดูหีบ60/61 เตรียมระดมหารือทั้งส่วนวันที่ 16 ก.พ.

                นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ศึกษาแนวทางดำเนินงานโดยเฉพาะการนำไปสู่การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่กำหนดไว้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/61 หรือช่วงสิ้นปีนี้ซึ่งระหว่างนี้จะต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

               แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า วันที่ 16 ก.พ.นี้จะมีการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเพื่อตกผลึกเกี่ยวกับแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวทางหลักๆ ไว้ 2 แนวทางคือการกำหนดเพดานขั้นสูงและขั้นต่ำ และแนวทางที่ 2. ลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก

               อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวจำเป็นจะต้องศึกษาทางด้านกฏหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ซึ่งล่าสุดได้มีการมอบฝ่ายทีมกฏหมายศึกษาว่าการเปิดเสรีนั้นจะดำเนินการภายใต้กรอบใดบ้างที่ไม่ขัดหลักการขององค์การการค้าโลก(WTO) โดยเฉพาะกรณีหากมีเพดานต่ำสุด สูงสุดจะทำได้หรือไม่ และกลไกตลาดจะอิงแบบใดที่จะต้องหาแนวทางไม่กระทบต่อผู้บริโภคและชาวไร่อ้อยด้วย

               " เราจะต้องเร่งสรุปแนวทางการปรับโครงสร้างให้ชัดเจนและต่อเนื่องจากให้กับบราซิลภายในก.พ.นี้ด้วยเพราะก่อนหน้าบราซิลได้กล่าวหาไทยต่อWTO ว่าอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทราย จนเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ กระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของบราซิลทำให้มีการเจรจาซึ่งบราซิลต้องการให้ไทยมีการปรับโครงสร้างฯ ซึ่งจะรวมถึงการยกเลิกโควต้าน้ำตาลด้วยว่าที่สุดเมื่อยกเลิกเราจะกำหนดวิธีใดที่จะไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศให้ขาดแคลน"แหล่งข่าวกล่าว

               สำหรับแนวโน้มการหีบอ้อยฤดูผลิตปี 59/60 ที่เริ่มตั้งแต่ 6 ธ.ค. 59 ที่ผ่านมายอมรับว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบภาพรวมมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 91.05 ล้านตันเล็กน้อย ขณะที่แนวโน้มปริมาณอ้อยในฤดูผลิต 60/61 คาดว่าจะสูงขึ้นมากจากปริมาณพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ปลูกมันสำปะหลังหันมาปลูกอ้อยจำนวนมากหลังราคามันฯตกต่ำ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

ก.อุตฯ ลั่นเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างอุตฯ อ้อยและน้ำตาล

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย ว่า ขณะนี้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปศึกษาแนวทางดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดไว้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2560/61 หรือช่วงสิ้นปีนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันที่ 16 ก.พ.นี้ จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเพื่อหาบทสรุปแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวทางหลักไว้ 2 แนวทาง คือ 1.การกำหนดเพดานขั้นสูงและขั้นต่ำ และแนวทางที่ 2.ลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจำเป็นจะต้องศึกษาทางด้านกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีหากมีเพดานต่ำสุด/สูงสุดจะทำได้หรือไม่ และกลไกตลาดจะอิงแบบใดที่ต้องหาแนวทางไม่กระทบต่อผู้บริโภคและชาวไร่อ้อย

“เราจะต้องเร่งสรุปแนวทางการปรับโครงสร้างให้ชัดเจนให้กับบราซิลภายในก.พ.นี้ เพราะก่อนหน้าบราซิลได้กล่าวหาไทยต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ว่าอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทราย จนเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ กระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของบราซิล ทำให้มีการเจรจา ซึ่งบราซิลต้องการให้ไทยปรับโครงสร้าง ซึ่งจะรวมถึงการยกเลิกโควตาน้ำตาลด้วยว่าที่สุดเมื่อยกเลิก เราจะกำหนดวิธีใดที่จะไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศให้ขาดแคลน”แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ บราซิลต้องการให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย มีการยกเลิกโควตาน้ำตาลที่แยกเป็นการบริโภคในประเทศ หรือโควตา ก. การส่งออกซึ่งบริหารโดย บ.อ้อยและน้ำตาลทรายไทย (อนท.) หรือโควตา ข. 8 แสนกระสอบ และน้ำตาลเพื่อการส่งออกในส่วนที่เหลือจาก 2 ส่วน หรือโควตา ค. ซึ่งบราซิลต้องการให้ไทยยกเลิกระบบโควตา ดังนั้นไทยจำเป็นต้องหาแนวทางบริหารสต๊อกใหม่เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลน

สำหรับแนวโน้มการหีบอ้อยฤดูผลิตปี 2559/60 ที่เริ่มตั้งแต่ 6 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมายอมรับว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบภาพรวมมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 91.05 ล้านตันเล็กน้อย ขณะที่แนวโน้มปริมาณอ้อยในฤดูผลิต 2560/61 คาดจะสูงขึ้นมากจากปริมาณพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ปลูกมันสำปะหลังหันมาปลูกอ้อยจำนวนมากหลังราคามันสำปะหลังตกต่ำ

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

ชาวไร่อ้อยน้ำพองทุกข์หนักเจอขโมยย่องตัดยอด คาดคนร้ายหวังนำไปขายเป็นท่อนพันธุ์  

         ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ชาวไร่อ้อยน้ำพองทุกข์หนักหลังถูกขโมยย่องตัดปลายอ้อยรวมแล้วกว่า 4 ตัน เชื่อคนร้ายหวังนำอ้อยไปขายเป็นท่อนพันธุ์ เหตุราคาอ้อยส่งโรงงานปีนี้พุ่งกว่า 1,300 บาท/ตัน แนะชาวไร่จัดเวรยามออกตรวจไร่อ้อย

               ภายหลังจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อกลไกราคารับอ้อยเข้าโรงงาน ณ ปัจจุบันสูงกว่า 1,300 บาท/ตัน ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลืมตาอ้าปาก ขายอ้อยได้ราคาสูงขึ้นกันถ้วนหน้า

               อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่บ้านหนองบัวบาน ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กลับประสบปัญหาอ้อยที่ถูกปลูกไว้ในไร่ถูกขโมยตัดปลายอ้อย คาดว่าคนร้ายน่าจะนำอ้อยไปเป็นท่อนพันธุ์ปลูกอ้อยในกาลถัดไป

               ล่าสุดวันนี้ (14 ก.พ. 60) นายนาวา ดวงโนแสน ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองบัวบาน ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ได้เข้าตรวจสอบบริเวณไร่อ้อยท้ายหมู่บ้าน หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าอ้อยถูกตัดกลางลำต้นจำนวนมาก

               พร้อมเปิดเผยว่ามีขโมยเข้าไปลักตัดอ้อยได้รับความเสียหายมากกว่า 4 ตัน และจากการตรวจสอบพบว่าการขโมยจะมาในรูปแบบแปลกๆ คือจะตัดเฉพาะยอดอ้อย หรือค่อนครึ่งปลายอ้อย ลักษณะนี้จะไม่ใช่การขโมยอ้อยส่งโรงงาน เพราะคนร้ายจงใจเลือกเฉพาะลำที่สามารถเป็นพันธุ์ได้

               ทั้งนี้ ปีนี้ราคาอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลราคาสูงถึงตันละ 1,300 บาท ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องการพันธุ์อ้อยหวังนำไปปลูกส่งขายโรงงาน ประกอบกับที่ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวให้หันมาปลูกอ้อยในนาข้าว ทำให้ความต้องการพันธุ์อ้อยมีมากขึ้น คาดว่าคนร้ายต้องการจะนำพันธุ์อ้อยไปขายเพราะราคาหน่อพันธุ์ขอนแก่น 3 ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวไร่อ้อย โดยทั่วไปจะมีราคาประมาณ 20-30 บาท จึงแจ้งให้ลูกบ้านทราบเพื่อหาทางป้องกันมิจฉาชีพไม่ให้เข้าไปขโมยอ้อยได้อีกต่อไป

จาก http://manager.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

ค่าเงินบาทแข็งค่า รอดูถ้อยแถลงเยลเลน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/2) ที่ระดับ 35.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ระดับเดียวกันกับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/2) โดยระหว่างวันค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก จากเงินทุนที่ไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรในประเทศ และข่าวการเตรียมประกาศการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนี้การเจรจาหารือกันในช่วงสุดสัปดาห์ระวังนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนายชินโซะ อาเบะ นั้นยังเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยหลังการประชุมนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาแถลงว่า "สหรัฐต้องการความสัมพันธ์ทางการค้าเสรี เป็นธรรม และต่างตอบแทนกันร่วมกับญี่ปุ่น" ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่คลายความกังวลและลดการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐลง หลังจากก่อนหน้านี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวถึงการลดค่าเงินของหลาย ๆ ประเทศรวมทั้งญี่ปุ่นนั้น กระทบถึงศักยภาพทางการค้าของสหรัฐ โดยคืนนี้ตลาดยังคงรอดูการแถลงการณ์ต่อคณะกรรมาธิการในสภาคองเกรสของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะมีการกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของสหรัฐ โดยประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจยังคงเป็นเรื่องนโยบายดอกเบี้ยและเวลาในการปรับขึ้นของเฟด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.69-35.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 34.98/35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (14/2) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0596/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/2) ค่าเงินยูโรยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องปัญหาการเมืองและการเลือกตั้งในหลายประเทศของสหภาพยุโรป ทั้งอิตาลี และฝรั่งเศส ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยออกมาในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ภาพรวมยังสะท้อนถึงทิศทางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเยอรมนีในไตรมาสที่ 4 ออกมาว่าจะขยายตัว 0.4% ต่ำกว่าประมาณการที่ 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนหน้า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีประจำเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ -0.6% ทั้งวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0589-1.0603 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0628/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (14/2) เปิดตลาดที่ระดับ 113.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/2) ที่ระดับ 113.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงจากการที่นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ เปรยกับตลาดว่าจะมีการเปิดเผยนโยบายปฏิรูปภาษีในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และการหารือที่ราบรื่นระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับนายอาเบะ ทั้งนี้การพูดคุยเรื่องทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นนายอาเบะกล่าวว่า จะให้ผู้ที่มีหน้าที่ดังกล่าวโดยตรงของทั้งสองประเทศเจรจาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดีการอ่อนค่าเป็นในทิศทางค่อนข้างจำกัด หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังออกมาน่าผิดหวัง โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 นั้นขยายตัวต่ำกว่าระดับคาดการณ์ โดยขยายตัวเพียง 0.2% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.3% ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.23-113.81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงคืนนี้ได้แก่ ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ, ตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหภาพยุโรป, ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป, ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจของเยอรมนีโดยสถาบัน ZEW,

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +1.0/+1.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

กกพ.หวังประกาศกระทรวงเกษตรฯปี53ช่วยพลังงานลมในพื้นที่ส.ป.ก.เดินหน้าต่อได้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหารือกันเกี่ยวกับโครงการเช่าที่ดินสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า ส.ป.ก.จะตัดสินใจอย่างไร เพราะเคยระบุว่าจะดูเป็นรายโครงการ ทั้งนี้ หากดูตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯในปี 2553 แล้วจะพบว่ามีประกาศเพิ่มเติมว่าที่ดินของ ส.ป.ก.สามารถใช้ในกิจการอื่นที่สนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน โดยสามารถเป็นกิจการบริการที่ช่วยเหลือความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้านเศรษฐกิจและสังคมได้

“ปี 2553 กระทรวงพลังงานและกระทรวงเกษตรฯเคยหารือและลงนามร่วมกันเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน หนึ่งในนั้นคือ ส.ป.ก.ให้เช่าที่เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ข้อตกลงสำคัญคือ เอกชนผู้พัฒนาต้องจ่ายเข้ากองทุน 35,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่งส่วนใหญ่ผู้พัฒนานอกจากจ่ายเข้ากองทุนแล้วยังมีโครงการเพื่อสังคมช่วยเหลือเกษตรกร ดังนั้นต้องรอความชัดเจนจาก ส.ป.ก.ก่อน” นายวีระพลกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

เงื่อนโรงงานน้ำตาล ชุมชนได้ใครเสีย?

รายงานข้อเท็จจริง การก่อตั้ง “โรงงานน้ำตาล” ที่บ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร...กรณีการเข้ามาในพื้นที่เพื่อก่อสร้างโรงงานน้ำตาลของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ตามมติ ครม.เมื่อปี 2554

ปัญหามีว่าเมื่อทางเจ้าหน้าที่โรงงานเข้ามาซื้อที่ดินจากชาวบ้าน และปรับแต่งพื้นที่เพื่อก่อสร้าง แต่มีการคัดค้านจากกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้งโรงงาน สุ้มเสียงสะท้อนที่ดังแว่วๆมาแต่ไกลๆเล่าลือกันว่า.คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้มีอันจะกินในตัวจังหวัด ไม่เห็นด้วยโดยอ้างว่าจะกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งๆที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ใหญ่มา 2 ครั้ง

ประชาพิจารณ์ย่อยมา 10 กว่าครั้ง กระทั่งทางโรงงานต้องระงับการก่อสร้างไว้ก่อนโดยไม่อยากให้เป็นข้อพิพาทที่กว้างขึ้น อันจะเกิดการสูญเสียการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ผู้คัดค้านได้ร้องเรียนไปทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จน นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พร้อมพวก ลงไปตรวจสอบพื้นที่ โดยในวันนั้นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ได้ออกมายื่นหนังสือสนับสนุนการก่อตั้งโรงงาน แต่หนังสือสนับสนุนดังกล่าว ไม่มีผลต่อกรรมการสิทธิฯแต่อย่างใด

น้ำหนักในเรื่องนี้...ให้ความสำคัญกับฝ่ายผู้ร้องด้านเดียว สื่อมวลชนจากกรุงเทพฯเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ แต่ก็ไม่มีเสียงสะท้อนจากผู้นำท้องที่ ...ชาวบ้านที่มีความต้องการให้ก่อสร้างสร้างโรงงานเลย

ผู้คัดค้านยังกล่าวหาด้วยว่า โรงงานทำการบุกรุกป่าชุมชน บุกรุก แหล่งน้ำสาธารณะ บุกรุกลำห้วยสาธารณประโยชน์ และการก่อสร้างโรงงาน จะทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบนิเวศ สร้างมลภาวะปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำอูน ทำลายป่าไม้ ถนนหนทางจะพังเสียหายจากรถบรรทุกอ้อย ฯลฯ

ความจริงสำคัญที่ต้องรับรู้กันในเรื่องนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาฝ่ายโรงงานได้พาเจ้าหน้าที่อำเภอกุสุมาลย์ อบต.อุ่มจาน ฝ่ายความมั่นคง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน เข้าตรวจสอบสอบพื้นที่ก่อสร้างโรงงานแล้ว

พบว่า...ไม่มีการบุกรุกใดๆ เพราะที่ดินที่ถูกกล่าวหาเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิทุกแปลง ไม่มีการกระทำผิดใดๆ ทุกฝ่ายร่วมลงนามในบันทึกการตรวจสอบ

การกล่าวหาข้อนี้ สะท้อนว่า...ผู้ร้องไม่ได้เข้ามาสอบถามความจริงจากชาวบ้าน ที่เป็นเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งต่อมาได้ขายให้กับโรงงาน เพื่อก่อสร้างโรงงาน รวมทั้งหมดกว่า 100 แปลง...เนื้อที่กว่า 1,200 ไร่ เพื่อใช้เป็นโรงผลิตน้ำตาล บ่อบำบัดน้ำเสีย ไม่ให้น้ำเสียไหลทิ้งออกจากโรงงานน้ำตาลได้ รวมมูลค่าลงทุนเกือบ 5,000 ล้าน

การตั้งโรงงาน คนในพื้นที่กว่าร้อยละ 90 เห็นด้วย มีการปลูก อ้อยรองรับแล้วหลายหมื่นไร่ นอกจากเศรษฐกิจจะสะพัดแล้ว คนในพื้นที่จะได้รับ

ประโยชน์อย่างมาก จากการสร้างงานสร้างอาชีพ

กฤต กรเดชากุล ผู้จัดการฝ่ายจัดการประสานงานกฎหมาย บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมฯ บอกว่า ประเด็นสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ ที่ดินมีเอกสารสิทธิทุกแปลง...ไม่มีทางที่จะบุกรุกพื้นที่ป่าสาธารณะ เราไม่มีการบังคับใครชาวบ้านพึงพอใจที่จะขายให้โรงงานเพราะรู้ว่าประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์

“โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งผลผลิตซึ่งเกษตรกรในพื้นที่และข้างเคียงต่างรอให้เกิดโรงงานน้ำตาลขึ้นในพื้นที่ เพราะจังหวัดสกลนครไม่มีโรงงานน้ำตาล เกษตรกรต้องขนอ้อยไปขายในจังหวัดข้างเคียง ส่งผลต่อต้นทุน...กำไรที่ได้รับ”

บุญชู อุ่มจันทร์สา กำนันตำบลอุ่มจาน ย้ำว่า การทำการประชาพิจารณ์ที่ผ่านๆมา เสียงส่วนมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยในการก่อตั้งโรงงานน้ำตาล ซึ่งข้อดีมีมหาศาลต่อเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกอ้อยป้อนโรงงาน ซึ่งมีราคาที่ไม่ผันผวน และเป็นพืชที่รัฐบาลประกันราคา

“สำหรับผู้คัดค้านนั้น...ส่วนมากมาจากกลุ่มบุคคลที่มีฐานะดีจากภายนอกพื้นที่ ซึ่งไม่มองถึงความต้องการของคนในพื้นที่ และที่มีข่าวว่าโร

รงงานรุกพื้นที่ป่านั้นก็ไม่เป็นข้อเท็จจริง”

นิตยา แก่นจำปา ชาวบ้านบ้านหนองลาด ต.หนองลาด อ.เมือง จ.สกลนคร เจ้าของที่ดินที่ขายให้กับโรงงาน เจ้าของที่ดินที่ขายให้กับโรงงาน เล่าให้ฟังว่า ที่ดินผืนนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ มีเอกสารสิทธิและทำการขายให้กับโรงงานแล้ว ในส่วนของห้วยเตยเตยที่มีการกล่าวอ้างว่าโรงงานบุกรุกพื้นที่ห้วยนั้น ยิ่งไม่เป็นความจริง

 “...ที่จริงแล้ว ขอยืนยันว่าไม่ใช่หนองน้ำสาธารณะแต่อย่างใด ในขณะที่ลำห้วยเตยที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน กลุ่มผู้ร้องเรียนก็ระบุว่าโรงงานได้รุกล้ำนั้น เจ้าของที่ดินที่ขายให้กับโรงงานไป 15 ไร่ และยังเหลืออีก 33 ไร่ ได้ขุดลอกห้วยเตยตั้งแต่ก่อนที่จะขายที่ให้กับโรงงาน โดยใช้งบประมาณส่วนตัว เพื่อขุดลอกลำห้วยให้ลึกขึ้น รองรับมวลน้ำในฤดูน้ำหลาก เพราะปัจจุบันน้ำจะเอ่อท่วมไร่นาบริเวณนั้นเป็นวงกว้าง...”

ชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร มองว่า ทุกวันนี้...ประเทศเรามีพื้นที่ปลูกข้าวค่อนประเทศ แต่ก็ประสบปัญหาจิปาถะ เช่น ราคาข้าวที่ตกต่ำ ปัญหาภัยแล้ง แน่นวนอนว่าวันนี้เราใช้พื้นที่ในการเกษตร จำนวนมาก แต่ได้ผลผลิตจำนวนน้อย เมื่อจะมีการลงทุนทำโรงงาน น้ำตาลในพื้นที่ ซึ่งต้องการปริมาณอ้อยปีละสี่แสนตัน

ชัดเจน ...จะเป็นตัวแปรสำคัญที่พี่น้องประชาชนจะได้เปลี่ยนจากชีวิต “ชาวนา” มาเป็น “ชาวไร่”...แบ่งพื้นที่ทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย “พี่น้องประชาชนในสกลนคร ย่ำอยู่กับความยากจนมาตลอด ทางเลือกใหม่ชาวไร่อ้อย จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีของพี่น้องประชาชน นอกจากจะปลูกอ้อยแล้ว ยังส่งเสริมเรื่องการส่งออกน้ำตาลอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมต่างๆ...ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของพี่น้องประชาชนไปในทางที่ดีขึ้น”

พี่น้องชาวสกลนครจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าหากว่าโรงงานน้ำตาลมาจริง...ด้วยเม็ดเงินลงทุนเกือบๆห้าพันล้านบาท น่าจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนของสกลนครดีขึ้น มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ แล้วรายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น ถือว่า..เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ “ผมเชื่อว่าโรงงานสมัยใหม่สามารถจัดการกับเรื่องมลภาวะเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบ ผมเชื่อ...ในความเป็นข้าราชการไทยเพราะในการตั้งโรงงาน ข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องได้กำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดเภทภัยกับประชาชน เชื่อมั่นต่อไปว่าโดยแผ่นดินที่แห้งแล้งที่กุสุมาลย์ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น” ในส่วนของ อบจ.เรา ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน วันนี้...ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยน วันนี้...สิบประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวไร้พรมแดนการค้าขายเสรีการไปมาหาสู่สะดวกรวดเร็วฉับไว เราจำเป็นต้องปรับตัว “น้ำตาล”...เป็นสินค้าส่งออกที่ดี ถ้าทำสกลนครให้เป็นจุดศูนย์รวม ในการขนส่งการค้ากับ 10 ประเทศ โดยเริ่มจากโรงงานน้ำตาลก็ดี โรงงานยางก็ดี อนาคตจังหวัดสกลนครจะเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจ “แม้ว่าเราจะไม่เป็นพื้นที่ติดชายแดน ไม่มีสะพานเชื่อมไปยังต่างประเทศ แต่ก็ยังสร้างประโยชน์จากสะพานไปสู่อาเซียนสิบประเทศได้...ถ้าเราทำดีๆสักวันหนึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้”

เงื่อนปัญหายืดเยื้อที่เกิดขึ้นนี้มองอีกมุมหนึ่งอาจมีมือที่มองไม่เห็นพยายามที่จะล้มประมูลนี้ให้ได้ เพื่อเป้าหมายสำคัญจะได้เข้ามาเสียบแทนที่? ใต้เงาธุรกิจก็เป็นเช่นนี้...มีได้ มีเสีย อยากได้... อยากมี หรือถ้ากูไม่ได้...มึงก็ต้องไม่ได้ ถ้ามึงได้...มึงก็ไปลำบาก ประเทศชาติต้องพัฒนา...จะฝากความหวังไว้กับใครดี

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560

KSL-STA ดาวเด่นโภคภัณฑ์เกษตร

โดย...พูลศรี เจริญ

ปี 2560 ถือเป็นช่วงขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ทุกประเภท เมื่อสแกนหาหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร 2 บริษัทที่น่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มโภคภัณฑ์เกษตร ประเภทอ้อยและน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ยางพาราคือ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) และบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA)

KSL บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บัวหลวง คงมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นนี้ เนื่องจากเป็นช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมธุรกิจน้ำตาลปี 2560 โดยภาวะการขาดดุลน้ำตาลที่ต่อเนื่อง และความเป็นไปได้ของสต๊อกน้ำตาลปลายงวดของประเทศอินเดียที่มีโอกาสปรับลดลงอีกในอนาคต

คาดว่า KSL จะได้รับผลบวกอย่างมากในปี 2560 จากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ดีดตัวขึ้นก้าวกระโดด สําหรับทั้งธุรกิจน้ำตาลในประเทศและตลาดต่างประเทศ รวมถึงการกลับมาฟื้นตัวของธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าในปีนี้ คาดว่าธุรกิจน้ำตาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ (ลาวและกัมพูชา) มีแนวโน้มพลิกกลับจากขาดทุนสุทธิมาเป็นกําไรสุทธิในปี 2560 เนื่องจากไม่มีระบบแบ่งปันผลประโยชน์น้ำตาล 70 : 30 เหมือนในประเทศไทย

“ราคาหุ้น KSL ปัจจุบันซื้อขายที่อัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี เรโช) ที่ 19.9 เท่าในปี 2560 ถือว่าไม่แพงเกินไป เนื่องจากหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มักจะซื้อขายกันที่พี/อีเรโช) ที่ 19.9 เท่าในปี 2560 ถือว่าไม่แพงเกินไป เนื่องจากหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มักจะซื้อขายกันที่พี/อี ที่เกิน 20 เท่า ภายใต้ภาวะขาขึ้นของหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์”

บล.บัวหลวง มั่นใจว่าอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ธุรกิจน้ำตาลมากขึ้นแน่นอนในปี 2560 ณ วันที่ 10 ม.ค. 2560 บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ล็อกสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้ากับลูกค้าไปแล้วคิดเป็น 78% สําหรับราคาส่งออกโควตา ข ที่ 21 เซนต์/ปอนด์ (บวกพรีเมียมแล้ว) หรือ 19.5 เซนต์/ปอนด์ (ที่ไม่รวมพรีเมียม) เชื่อว่าราคาส่งออกโควตา ค ของ KSL จะสามารถชนะราคาส่งออกโควตา ข ของ อนท. คิดเป็น 1 เซนต์ (หรือที่ 22 เซนต์/ปอนด์ ที่บวกพรีเมียมแล้ว) ซึ่ง KSL ล็อกสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้วคิดเป็น 70% สําหรับในปี 2559/2560 ดังนั้น KSL จะได้รับผลบวกจากมาร์จิ้นน้ำตาลที่กว้างขึ้นสําหรับทั้งสองส่วน ได้แก่ ส่วนของค่าอ้อย 70% ที่จ่ายให้กับชาวไร่อ้อย และส่วนของรายได้ 30% ที่ KSL เก็บไว้เอง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าธุรกิจน้ำตาลที่ลาวและกัมพูชามีแนวโน้มพลิกกลับมาเป็นกําไรสุทธิ 100 ล้านบาทในปี 2560 (จากขาดทุนสุทธิ 186 ล้านบาท ในปี 2559) เนื่องจากปริมาณยอดขายน้ำตาลและราคาขายน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นยังคงสมมติฐานสําหรับปริมาณยอดขายน้ำตาลโดยรวมในปี 2560 ซึ่งลดลง 6% จากปีก่อน (เทียบกับเป้าของ KSL ซึ่งคาดว่าจะเติบโต5%) ปริมาณยอดขายเอทานอลและไฟฟ้าในปี 2560 ของฝ่ายวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ถือว่ายังคงอนุรักษนิยม การบริโภคเอทานอลในประเทศไทยยังคงเติบโตแข็งแกร่ง (เพิ่มขึ้น 5.2% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 7.63 ล้านลิตร ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2559) โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการใช้แก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง

หุ้น STA บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม แต่แนะนำให้ “เก็งกำไร” เนื่องจากราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวตามราคายางพารา ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ จึงมีความไม่แน่นอนของขาขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตามอยู่ระหว่างทบทวนปรับเพิ่มราคาหุ้นพื้นฐานจากปัจจุบัน 17.80 บาท เพราะต้องปรับเพิ่มสมมติฐานราคายางพาราจากเดิมให้ไว้ที่ 55 บาท/กิโลกรัม แต่ปัจจุบันได้ปรับเพิ่มสมมติฐานราคายางพาราจากเดิมให้ไว้ที่ 55 บาท/กิโลกรัม แต่ปัจจุบันได้ขึ้นมาอยู่เหนือ 80 บาท/กิโลกรัมแล้ว

นอกจากนี้ หุ้น STA ยังมีปัจจัยหนุนจากการเข้าถือหุ้นในบริษัท สยามเซมเพอร์เมด บริษัทย่อยของ STA เพิ่มเป็น 90.2% โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตถุงมือยาง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่ STA ในด้านของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

บล.เอเซีย พลัส ที่มองบวกราคาหุ้น STA ให้ราคาพื้นฐาน 25 บาท โดยบริษัทนี้ไม่มีปัญหาการจัดหาวัตถุดิบยางพารามาแปรรูป เนื่องจากเป็นบริษัทแปรรูปยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีศูนย์รับซื้อยางพาราจำนวนมาก ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งเพาะปลูกสวนยาง

“ทุก 5% ที่ราคายางแท่งสูงกว่าสมมติฐานที่กำหนดไว้ 2,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน จะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิของ STA เพิ่มขึ้น 4.2% จากการคาดการณ์ปัจจุบัน และราคาหุ้นเหมาะสมปี 2560 เพิ่มจาก 0.16% จากปัจจุบัน”

บล.เอเซีย พลัส คาดว่าปี 2559 กำไรสุทธิของ STA จะอ่อนตัวลง 5.1% แต่จะพลิกกลับมาเติบโตถึง 44.8% ในปี 2562 จากการคาดการณ์ปริมาณขายยางพารายังเติบโตต่อเนื่อง 17.2% เป็น 1.7 ล้านตัน ตามความต้องการใช้ยางพาราทั่วโลกที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง และช่วยหนุนแนวโน้มราคายางแท่งเฉลี่ยปี 2560 เพิ่มขึ้น 47.1% สู่ระดับ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ตัน

บล.ทรีนีตี้ มีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้น STA ประเมินรายได้ปี 2560 ที่ 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.4% และมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ราว 6%

และกำไรสุทธิที่ 1,600 ล้านบาทพร้อมให้ราคาเป้าหมายหุ้นที่ 33.30 บาท/หุ้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

น้ำตาลขอนแก่น 2ปีนี้สดใส

โดย...เจียรนัย อุตะมะ/ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงศ์ชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ว่า ใน 2 ปีนี้ธุรกิจของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าปี 2559 จากรายได้ธุรกิจน้ำตาลรวมปี 2560 จะเพิ่มขึ้น 10-20% จากปี 2559 และปี 2561 ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 10% ในราคาขายที่ทรงตัวจากปี 2560 เพราะจะได้รับผลดีจากราคาน้ำตาลที่เป็นขาขึ้น โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20 เซนต์/ปอนด์ เทียบปี 2559 ที่ 16-17 เซนต์/ปอนด์ ธุรกิจเอทานอลและโรงไฟฟ้าที่ฟื้นตัวและการทยอยนำบริษัทที่ถือหุ้นอยู่เข้าตลาดหุ้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กนง.สั่งวิเคราะห์สถานการณ์ "ทรัมป์" หวั่น "บาทแข็ง" สะเทือนแผนฟื้นเศรษฐกิจ

เพิ่งผ่านเข้าปีไก่มาเพียง 40 กว่าวัน ภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีก็ยังไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่ากับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะนโยบายของเขากำลังสร้างทั้ง "ความเสี่ยง" ที่มีความไม่แน่นอนสูง พร้อมกับ "โอกาส" ที่เขาจะสามารถปลุกเศรษฐกิจพญาอินทรีให้กลับมาผงาดอีกครั้ง

แต่สำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและพึ่งพาการส่งออกอย่างประเทศไทย นโยบายของทรัมป์เป็นสิ่งที่มิอาจเมินเฉย ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1 ปี 2560 ที่นอกจากจะมีมติเอกฉันท์ "คง" อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อปี ซึ่งตรึงอยู่ที่ระดับนี้มานานเกือบ 21 เดือนแล้ว (ปรับลดครั้งล่าสุดเมื่อการประชุม 29 เม.ย. 2558) คณะกรรมการยังสั่งการบ้านให้ทีมงานแบงก์ชาติวิเคราะห์สถานการณ์ (senario analysis) เพื่อประเมินผลกระทบนโยบายทรัมป์ในระดับต่าง ๆ ด้วย

"จาตุรงค์ จันทรังษ์" ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า ในเรื่องปัจจัยต่างประเทศ ขณะนี้ก็มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น กล่าวคือ ในด้านอัพไซด์ สหรัฐกำลังจะมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แผนการลดภาษีนิติบุคคล รวมกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่การคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่วนด้านดาวน์ไซด์มาจากนโยบายการกีดกันการค้า ซึ่งอาจจะมีผลตามมาในระยะต่อไป

"ดังนั้นคณะกรรมการจึงขอให้ทำ senario analysis โดยให้ทำเป็นการบ้าน เพื่อนำมารายงานอีกครั้งในการประชุม กนง.รอบหน้า(วันที่ 29 มี.ค.) ซึ่งคราวหน้าก็จะมีการให้ประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปี 2560 และปี 2561 ด้วย" จาตุรงค์กล่าว

ความไม่แน่นอนอีกเรื่องที่คณะกรรมการหยิบยกมาเอ่ยถึงคือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยคำแถลงผลการประชุม กนง. ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนในบางช่วงที่ผ่านมา มีความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ในต่างประเทศ ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการมองว่า อาจไม่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร

"เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมาก โดยมาจากปัจจัยภาวะการเงินจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะตามทิศทางของดอลลาร์สหรัฐ เพราะจากปลายปี 2559 เราอาจใช้คำว่า ดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นได้ แต่พอมาเดือน ม.ค. 2560 ดอลลาร์สหรัฐก็ปรับตัวกลับมา ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้น มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก และก็น่าจะส่งผลให้มีความผันผวนในระยะข้างหน้าด้วย" จาตุรงค์กล่าว

ส่วนความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่คณะกรรมการระบุถึง ปัญหาเสถียรภาพการเงินจีน พัฒนาการทางการเมืองและปัญหาภาคการเงินในยุโรป ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจที่ด้อยลง ซึ่งมาจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังอยู่ในระดับสูงรวมถึงความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท(nonratedbond) และพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดต่ำกว่าที่ควร

สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ จากการประชุมรอบแรกของปี กนง.ประเมินว่า มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น จากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวชัดเจนมากกว่า รวมถึงการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด โดยมีการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็ยังฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป แต่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตาม จากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ยังมีสูง

ดังนั้น คณะกรรมการจึงเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่การรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุน

โดย - รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

         งานวิจัยการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดินและชนิดของดินในแต่ละที่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยลงได้ เพราะว่าจะใช้ปุ๋ยน้อยลงในขณะที่ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการวิจัยของ ศ.ดร.​ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ทำงานวิจัยเร่ื่องนี้มาเกือบยี่สิบปีแล้ว แต่คำถามก็คือทำไมยังต้องนำเรื่องนี้เล่าสู่กันฟังอีก คำตอบก็คือถึงแม้จะมีการเผยแพร่ผลงานออกไปในวงกว้างหลายที่ แต่เกษตรกรอีกมากยังไม่เข้าใจหลักการและยังไม่ได้ลองนำไปใช้จริง ในขณะที่นักวิชาการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็ยังไม่ค่อยเข้าใจและยังยึดมั่นกับความคิดเดิมๆ หรือไปไกลจนถึงขั้นที่ว่าปุ๋ยสั่งตัดใช้ไม่ได้ผล และไม่ใช่ของใหม่ เพราะที่หน่วยงานของตนก็ทำมาแล้ว เลยปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ

          ความจริงแล้วหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความรู้หรือทำวิจัยเกี่ยวกับดินและปุ๋ย ก็มีการวิจัยเรื่องดินและปุ๋ยมาบ้าง แต่ยังเป็นภาพกว้างๆ เราก็คงจะเห็นว่าคำแนะนำการใช้ปุ๋ยข้าวส่วนใหญ่ก็ยังเป็น 16-20-0 ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ยาวนานมากว่า 60 แล้ว แต่งานวิจัยการให้ปุ๋ยเฉพาะพื้นที่ ซึ่ง ดร.ทัศนีย์ ทำอยู่นั้น ลงในรายละเอียดมากกว่า เพราะดินแต่ละชนิดแต่ละแห่งในประเทศไทยย่อมมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่เดิมในดิน ปริมาณอินทรียวัตถุ ความสามารถในการเก็บความชื้นและอื่นๆ อีกมาก เมื่อปลูกพืชชนิดต่างๆ ลงไป ก็ย่อมจะส่งผลต่อการเติบโตที่ไม่เหมือนกัน การให้ปุ๋ยจากภายนอกก็เป็นเพียงด้านหนึ่งที่มุ่งเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินให้เพียงพอและเหมาะสมต่อความต้องการของพืชแต่ละชนิด ดังนั้นหากไม่มีการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินก่อน แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเราควรให้ปุ๋ยอะไร ในปริมาณเท่าใด จึงจะพอเหมาะพอสมต่อความต้องการของพืชแต่ละชนิด นั่นคือที่มาของ “ปุ๋ยสั่งตัด”

          เหตุที่เราต้องให้ความสำคัญกับปริมาณปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินก็เพราะว่าปริมาณการใช้ปุ๋ยของประเทศเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โดยการปลูกข้าวมีการใช้ปุ๋ยมากที่สุด คือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณปุ๋ยทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ แต่ว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินและปุ๋ยน้อยที่สุดในบรรดาปัจจัยการผลิตทั้งหมด ผลก็คือการใช้ปุ๋ยไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผลผลิตต่ำ แต่กลับทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วยความไม่รู้ และข้อสำคัญที่หลายคนยังไม่ทราบก็คือ การใช้ปุ๋ยที่ขาดประสิทธิภาพเช่นนี้หลายครั้งมีผลทำให้พืชอ่อนแอ และเป็นช่องทางให้โรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรต้องเสียเงินลงทุนค่าสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

         สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนก็คือ ทำไมจึงต้องใส่ปุ๋ย คำตอบก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้วว่า เมื่อเราเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปจากแปลง ก็มีการนำธาตุอาหารติดออกไปกับผลิตผลด้วย ซึ่งการสูญเสียธาตุอาหารแบบนี้เป็นการสูญเสียอย่างถาวร หากจะให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นก็ต้องมีการเติมธาตุอาหารที่สูญเสียออกไปกลับคืนลงดินด้วย นอกจากนี้ดินก็สูญเสียอินทรียวัตถุไปด้วยพร้อมๆ กับการสูญเสียธาตุอาหาร ดินจึงเกิดสภาพแน่นแข็ง รากพืชเจริญได้ไม่ดี จึงไม่สามารถหาอาหารได้ไกล ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ดังนั้นคำแนะนำขั้นแรกในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การให้อินทรียวัตถุลงไปในดินพร้อมๆ กับการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมครับ คำถามคือการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมนั้นเป็นอย่างไร ไว้คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โอกาสทองลงทุนน้ำตาลในบราซิล ผู้ผลิต-ส่งออกอันดับ1ของโลก

บราซิล ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้บวกกับจำนวนประชากรอันดับ 5 และขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก มูลค่า GDP กว่า 3.26ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 115.7 ล้านล้านบาท ด้วยความโดดเด่นทางด้านพื้นที่ทำให้บราซิลเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และครองตำแหน่งผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ได้แก่ น้ำตาล ถั่วเหลือง เนื้อวัว อ้อย และกาแฟ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากบราซิลโดยเฉพาะพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช รวมทั้งสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม โดยในปี 2559ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้า 2 ประเภทนี้จากบราซิลกว่า 54,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับบราซิล ในปี 2558 ต่อเนื่องปี 2559 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 129,200 ล้านบาท

“น้ำตาล” สินค้าเกษตรที่โดดเด่นของบราซิล ประเทศที่มีวัฒนธรรมและความเชี่ยวชาญในการปลูกอ้อยเพื่อการเกษตรมาเป็นเวลาช้านาน ปัจจุบัน บราซิลผลิตน้ำตาลและส่งออกน้ำตาลได้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยเคยผลิตได้สูงสุดถึง 37 ล้านตันต่อปี และตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลให้ได้ถึง 48 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของประเทศนับว่ามีศักยภาพในการผลิตสูงสุด ซึ่งผลผลิตน้ำตาลราว 50% ของประเทศนั้นมาจากรัฐเซาเปาลู

อย่างไรก็ดี ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมน้ำตาลของบราซิลประสบปัญหาราคาตกต่ำเพราะผลผลิตล้นตลาด ทำให้โรงงานผลิตน้ำตาลในบราซิลต้องปิดกิจการไปแล้วกว่า 47 แห่ง ทั้งยังประสบปัญหาในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร แต่ในปี 2558-2559 เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาภาวะภัยแล้งและฝนตกหนักสลับกัน รวมถึงพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของบราซิลซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกอ้อยก็ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกหนัก เกษตรกรจึงนำผลผลิตบางส่วนไปแปรรูปผลิตเป็น เอทานอลซึ่งมีราคาขายที่ดีกว่า ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงเหลือ 30.7 ล้านตันในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 32 ล้านตัน กระทบต่อปริมาณน้ำตาลที่ถูกป้อนเข้าสู่ตลาดโลกไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรมน้ำตาลของบราซิลกำลังมีปัญหา ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลและเอทานอลเริ่มเสนอขายกิจการให้กับผู้ที่สนใจโดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่ตลาดโลกยังมีความต้องการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูงขึ้นเฉลี่ย 5-6 ล้านตัน ทำให้กิจการน้ำตาลในบราซิลกำลังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ในปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติหลายบริษัทให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการโรงงานน้ำตาลในบราซิล ทั้งบริษัทลงทุนและบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลและแปรรูปน้ำตาล อาทิ บริษัท Cevitalบริษัทเอกชนใหญ่ที่สุดของแอลจีเรียและมีโรงงานแปรรูปน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งบริษัท Fatima หนึ่งในกลุ่มบริษัทผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในปากีสถาน เพราะเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการที่อุตสาหกรรมน้ำตาลโลกจะมีกำลังการผลิตลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกสูงขึ้น เป็นแนวโน้มการแสวงหากำไรในระยะสั้นเป็นหลัก

สำหรับภาคเอกชนไทย ด้วยศักยภาพและจุดแข็งในสาขาธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาลซึ่งผู้ประกอบการภาคเอกชนของไทยถือว่ามีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในการผลิต ทั้งน้ำตาลดิบ น้ำตาลทราย และน้ำตาลทรายขาว โดยในปี 2558 และปี 2559 ผู้ประกอบการไทยส่งออกน้ำตาลติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกรองจากบราซิลและอินเดียเท่านั้น และยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในอาเซียนด้วยปริมาณการผลิตกว่า 10-11 ล้านตันต่อปี โดยส่งออกถึง 85% ของการผลิต หรือกว่า 8 ล้านตัน จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการคว้าโอกาสการลงทุนหรือการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลท้องถิ่นของบราซิล และการเข้าซื้อกิจการโรงงานน้ำตาลในบราซิล เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการผลิตต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชงตั้งเขตส่งเสริมพิเศษ สิทธิประโยชน์มากกว่าอีอีซี-นำร่องอู่ตะเภา  

          "อุตตม" เปิดทางผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี ขอจัดตั้งนิคมเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ชง "ประยุทธ์" ต้นมี.ค.นี้ หวังดูดนักลงทุน ประเดิมพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ก่อนกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นนิคมที่รองรับประเภทกิจการใน 10 กลุ่มเป้าหมาย

          การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อมาเร่งรัดการดำเนินงานและการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ระหว่างรอพ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก มีผลใช้บังคับ

          ล่าสุดในการประชุมนัดแรกของกรศ.ที่จะมีขึ้นต้นเดือนมีนาคมนี้ ทางคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการเสนอให้พื้นที่อยู่ในอีอีซีมีการจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษขึ้นมา โดยจะนำร่องที่บริเวณรอบสนามบินอู่ตะเภาขึ้นมาก่อน และหลังจากนั้น จะเปิดให้เอกชนที่มีความพร้อมยื่นขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ด้วย

          ทั้งนี้ เขตส่งเสริมพิเศษดังกล่าว จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ที่จะมีการพิจารณาเป็นรายโครงการที่เข้าไปลงทุน นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ตามพ.ร.บ.อีอีซี และตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ที่ให้สิทธิประโยชน์กับประเภทกิจการที่กำหนดและอยู่ในข่าย 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 13 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราไม่เกิน 50% เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงเริ่มต้น เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี เป็นต้น

          นายคณิศ แสงสุพรรณ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในต้นเดือนมีนาคมนี้ จะมีการเสนอให้พื้นที่อู่ตะเภาในระยะแรก ซึ่งมีพื้นที่ราว 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษก่อน เพื่อที่จะให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้รวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน และกิจการพาณิชย์ปลอดอากร เป็นต้น โดยเริ่มแรกจะรองรับการลงทุนของทางบริษัท การบินไทยฯ และแอร์บัส จะร่วมลงทุนก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น

          ส่วนพื้นที่เขตส่งเสริมอื่นๆ นั้น จะมีการเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ยื่นเข้ามาขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ว่าทางกรศ.จะพิจารณาให้หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละนิคมว่าจะต้องการส่งเสริมการลงทุนในประเภทกิจการตามที่มีการกำหนดไว้ด้วย โดยปัจจุบันมีพื้นที่นิคมพัฒนาแล้ว 1.5 หมื่นไร่ และรอการพัฒนาอีก 1.5 หมื่นไร่ โดยเขตส่งเสริมนี้จะครอบคลุมถึงการพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา โรงเรียนนานาชาติ และที่อยู่อาศัยด้วย

          นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในการประกาศประเภทกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะได้สิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ตามอีอีซีที่ได้รับอยู่แล้ว แต่จะต้องอยู่ในเขตส่งเสริมที่กรศ.จะประกาศออกมานั้น หากมีความชัดเจนแล้วทางบริษัทก็พร้อมที่จะยื่นขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เพราะในอีอีซีบริษัทมีพื้นที่ราว 1 หมื่นไร่ ที่จะดำเนินการเป็นเขตส่งเสริม พิเศษได้ และพร้อมที่จะรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อิเล็กทรอนิกส์ ไบโอเคมิคัล เป็นต้น ส่วนจะมีกี่แห่งนั้นจะต้องรอความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน หากจัดตั้งได้จะช่วยในการดึงดูดโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้มาก

          คลอด10อุตสาหกรรมเป้าหมาย

          คลอดออกมาแล้วสำหรับประเภทกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ โดยบอร์ดบีโอไอ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้บีโอไอออกมาตรการพัฒนาขีด ความสามารถด้านเทคโนโลยี ที่ครอบคลุมใน 10 อุตสาห- กรรมเป้าหมาย ที่ประกอบไปด้วย 1. การส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนา เทคโนโลยีเป้าหมายที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ได้แก่ กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายใน 4 กลุ่ม เช่น ไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีการผลิต วัสดุขั้นสูง และดิจิตอลเทคโนโลยี

          กลุ่มบริการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ซึ่งเป็นกิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ที่จะมาช่วยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น การวิจัยพัฒนา สถานฝึกฝนวิชาชีพ (เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ บริการออกแบบทางวิศวกรรม บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และบริการสอบเทียบมาตรฐาน เป็นต้น

          โดยกิจการใน 2 กลุ่มข้างต้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปี และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการได้อีก 1-3 ปี รวมแล้วสูงสุดไม่เกิน 13 ปี

          2. การยกเว้นอากรนำเข้าเพื่อนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา เช่น วัสดุต้นแบบ สารเคมี พืชหรือสัตว์ เป็นต้น และ 3. ปรับเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ตามคุณค่าของโครงการ สำหรับกิจการผลิตทั่วไปที่ได้สิทธิตามหลักเกณฑ์ปกติ ถ้าลงทุนเพิ่มด้านพัฒนาเทคโนโลยีหรือพัฒนาบุคลากร จะให้เพิ่มค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพื่อนำมารวมเป็นมูลค่าภาษีที่ได้ยกเว้น จากเดิม 100% เป็น 200% และหากเป็นค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนาให้เพิ่มเป็น 300%

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า หากโครงการใดมีการลงทุนตามมาตรการที่บีโอไอกำหนดดังกล่าว สามารถที่จะรับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามที่กำหนดได้ แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นรายโครงการว่าเข้าตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งหากเลือกใช้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอแล้ว ก็ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี และมีเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านได้

          ปัจจุบันมีพื้นที่นิคมพัฒนาแล้ว1.5 หมื่นไร่

          พื้นที่นิคมรอการพัฒนา1.5 หมื่นไร่

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เตือน 48 จังหวัดเสี่ยงภัยแล้ง คาดปีนี้กว่า 7.6 ล้านไร่-2 เดือนเสียหายกว่า 233 ล.

กระทรวงเกษตรฯเปิดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 59/60 รวม 48 จังหวัดกว่า 7.65 ล้านไร่ อีสานนำโด่ง 3.7 ล้านไร่ เผยภัยแล้งกว่า 2 เดือนมีพื้นที่เกษตรเสียหาย 1 แสนไร่ ค่าความเสียหาย 233 ล้านบาท กรมชลฯเผยชาวนาปลูกข้าวนาปรังเกินแผน 2.5 ล้านไร่เสี่ยงเสียหาย

จากที่ประเทศไทยได้ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี ส่งผลภาคเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรงจากขาดรายได้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเป็นหนี้สินเพิ่ม ดังนั้นเพื่อเป็นข้อมูล และเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรในปีนี้ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งได้อย่างรวดเร็วขึ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ คาดการณ์ว่าพื้นที่เกษตรจะประสบปัญหาความแห้งแล้งในปี 2559/2560 (พ.ย.59- เม.ย.60)รวมทั้งสิ้น 48 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่รวม 7.65 ล้านไร่ ได้แก่ 1. ภาคเหนือ พื้นที่เกษตรจะประสบความแห้งแล้งใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย

พิษณุโลก เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ตาก แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พะเยา เชียงราย สุโขทัย ลำปาง พิจิตร และอุทัยธานี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.46 ล้านไร่ 2. ภาคกลาง พื้นที่เกษตรจะประสบความแห้งแล้งใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 0.85 ล้านไร่

3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เกษตรจะประสบความแห้งแล้งใน 17 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 3.72 ล้านไร่ 4. ภาคตะวันออก พื้นที่เกษตร ที่จะประสบความแห้งแล้งใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.14 ล้านไร่ และภาคใต้ พื้นที่เกษตรที่จะประสบความแห้งแล้งใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย ปัตตานี สงขลา ยะลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช สตูล สุราษฎร์ธานี พัทลุง และชุมพร คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.48 ล้านไร่

“อย่างไรก็ดีสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559/2560 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก หากเทียบกับปีที่แล้วมีพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้งใน 63 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 101.75 ล้านไร่ แต่ในปีนี้ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 5.50 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ จำนวน 3.12 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรมากกว่าปีที่ผ่านมาอยู่จำนวน 10,813 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา”

ขณะที่ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เผยผลกระทบภัยแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559-ปัจจุบัน มีพื้นที่เกษตรเสียหายทั่วประเทศ 100,470.25 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 233 ล้านบาท

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เผยแผนการจัดสรรนํ้า (อ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2559 ถึงปัจจุบัน ใช้นํ้าไปแล้ว 9,398 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 53% ของแผนจัดสรรนํ้า ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พบว่าชาวนาปลูกข้าวนาปรัง 6.57 ล้านไร่จากแผนที่กำหนดไว้ 4 ล้านไร่ เกินมา2.57 ล้านไร่ คิดเป็น 164.12% จะการันตีข้าวในเขตชลประทานเท่านั้นที่จะไม่เสียหาย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สยามคูโบต้าฯ-รง.ผลิตรถตัดอ้อย ระดมออกสินค้าดันยอดขายแสนล้าน5ปีข้างหน้า

สยามคูโบต้าฯตั้งเป้ายอดขาย 5 ปีข้างหน้าเพิ่มเท่าตัวเป็นแสนล้านบาท มุ่งขยายตลาดเพื่อนบ้าน ละตินอเมริกาและแอฟริกาเต็มสูบ ทุ่ม 820 ล้านเพิ่มกำลังผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวใช้ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดมผลิตสินค้าออก สู่ตลาดมากมายในปีนี้ พร้อมผลิตรถตัดอ้อยออกจำหน่ายปลายปี

นายฮิโรโตะ คิมุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2559 ที่ผ่านมาว่า บริษัทมียอดขายรวมที่ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 27,000 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 23,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2558 จากยอดขายต่างประเทศมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง แต่ตลาดในประเทศลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อจากภาวะภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตร ตกต่ำประมาณ 11% ทำให้ยอดขายในส่วนภายในประเทศไม่ค่อยดี ส่วนในปีนี้บริษัทคาดว่าจะเติบโตขึ้น 10%

สำหรับตลาดต่างประเทศ บริษัทได้เข้าไปดำเนินธุรกิจและส่งออกไปยังตลาดกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา พบว่า เมียนมามีตลาดที่เติบโตมากที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก จึงเป็นตลาดที่ใหญ่และเกษตรกรยังมีความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบกับมีจำนวนครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมอยู่มาก รองลงมาคือ กัมพูชา และ สปป.ลาว ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศได้แก่ รถไถนาเดินตาม เครื่องยนต์ดีเซล แทรกเตอร์และรถเกี่ยวนวดข้าวตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทได้มีการพัฒนาเครือข่าย ทั้งการขายและบริการต่อเนื่อง รวมทั้งการหาพันธมิตรทางการเงิน เพื่อเพิ่มความสามารถในการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งนำเสนอเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด เพื่อเพิ่มความเหมาะสมกับพืชที่ปลูกและสร้างโอกาสในการเป็นเจ้าของ เครื่องจักรกลการเกษตรได้ง่ายขึ้น

"จากความมุ่งมั่นในการขยายตลาด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของคูโบต้ากระจายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ในปีนี้บริษัทจึงได้มีการร่วมทุนกับคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) จัดตั้งบริษัทขึ้นในประเทศเมียนมา ลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐโดยคูโบต้าถือหุ้น 80% และสยามคูโบต้าถือหุ้น 20% มีทุนจดทะเบียน 23.8 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ได้ขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวในไทยอีก 27,500 ตารางเมตร ลงทุน 820 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวในไทยจาก 1.3-1.4 หมื่นคันเป็น 2 หมื่นคัน/ปี คาดว่าจะผลิตออกสู่ตลาดได้ในเดือน ต.ค.นี้"

ส่วนเป้าหมายธุรกิจของบริษัทใน 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มยอดขายเป็น 1 เท่าตัว จาก 5 หมื่นล้านบาทเป็น 1 แสนล้านบาท แยกเป็นตลาดในประเทศ 40% จากตลาดต่างประเทศ 60% ซึ่งรวมถึงตลาดละตินอเมริกาและแอฟริกา ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมาย บริษัทต้องมีศักยภาพสูงจากพื้นฐานต่าง ๆ สินค้ามีความทนทานสูง สินค้าที่พัฒนาออกมาต้องสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าจากศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ ตั้งขึ้น การมีเครือข่ายการขาย สุดท้ายคือ การผลิต การขาย การบริการ ต้องสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วย

ทางด้าน นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการอาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าฯเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันการแข่งขันการผลิตภาคเกษตรในระดับโลกสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องทำเกษตรแบบลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ซึ่งจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมด้านการเพาะปลูกสมัยใหม่ เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ร่วมกับภาครัฐและเอกชน และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและขับเคลื่อนเกษตรกรรมไทยให้เป็น เกษตรกรรม 4.0 ตามนโยบายรัฐ บริษัทจึงได้พัฒนาระบบการจัดการเกษตรแบบครบวงจรขึ้น ภายใต้ชื่อ "KUBOTA (Agri) Solutions" ทุกคำตอบเรื่องเกษตร ซึ่งจะช่วยยกระดับเกษตรกรรมไทย และบริษัททำอยู่ เช่น การลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ปลูก ควรปลูกช่วงไหน การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิต การร่นเวลาแต่ละขั้นตอนการผลิต โดยปีนี้บริษัทจะมีสินค้าออกสู่ตลาดมากมาย โดยเฉพาะปลายปีนี้จะมีรถตัดอ้อยที่พัฒนาร่วมกับโรงงานน้ำตาลหลายแห่งออกสู่ ตลาดรองรับปัญหาแรงงานที่ขาดแคลนด้วย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

1แสนไร่!! แจกให้เกษตรกรในปี60

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           กระทรวงเกษตรฯ เผยคืบหน้าเตรียมพร้อมจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร แจงเพิกถอนกรณีกังหันลมผลิตไฟฟ้าในเขตปฏิรูปไม่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ยึดหลักเกณฑ์ถูกต้องตามกฎหมาย

           พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส.ป.ก.ว่า หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เรื่องมาตรการการแก้ปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส.ป.ก.เป้าหมายจำนวน 438 แปลง เนื้อที่ 443,501 ไร่ ใน 28 จังหวัดนั้น

           ขณะนี้มีพื้นที่ยึดคืนมาได้ จำนวน 310,167 ไร่ คืนให้ผู้ครอบครองเดิมเนื่องจากมีหลักฐานการครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน เนื้อที่ 126,919 ไร่ และส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาให้ความชัดเจนสถานะของที่ดินว่าอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือเขตป่าไม้ 6,415 ไร่ โดยปี 2560 นี้ มีแผนดำเนินการพัฒนาที่ดินที่ยึดคืนมาได้ พัฒนาปรับปรุงให้มีความพร้อมเพื่อส่งมอบให้ตณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป้าหมาย 1 แสนไร่ โดยระยะที่ 1 จำนวน 33 แปลง เนื้อที่ 3 หมื่นไร่ ส่วนระยะที่ 2 จำนวน 7 หมื่นไร่ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560

          ทั้งนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินงานปรับปรุงพัฒนาที่ดินก่อนส่งมอบพื้นที่ให้แก่ คทช.โดยบูรณาการกับกรมชลประทาน สำรวจออกแบบวางผังแม่บทการพัฒนาแล้ว 17 แปลง คือ จ.นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ กาญจนบุรี ชลบุรี และสระแก้ว ด้านงานปรับพื้นที่และปรับปรุงถนน ส.ป.ก. ร่วมกับหน่วยงานทหารช่าง เริ่มดำเนินการแล้ว 5 แปลง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี ด้านงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ได้รับความร่วมมือดำเนินการหาและสร้างแหล่งน้ำโดยกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เริ่มดำเนินการแล้ว 6 แปลง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และกาญจนบุรี

          ด้าน นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนการอนุญาตให้ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 39 ไร่ ว่า ส.ป.ก. ต้องใช้ที่ดินเพื่อให้เกษตรกรใช้ทำการเกษตรเป็นสำคัญมากกว่าการใช้ที่ดินเพื่อการอื่น โดยการใช้ที่ดินเพื่อการอื่นเกษตรกรจะต้องได้รับประโยชน์จากกิจการนั้นโดยตรง

          ทว่า ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาล (เฉพาะคดีนี้) กิจการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมมิได้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก 18 บริษัท อยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด จ.นครราชสีมา 7 บริษัท เนื้อที่ 280 ไร่ จ.ชัยภูมิ จำนวน 11 บริษัท เนื้อที่ 341 ไร่ โดยยกเลิก 1 บริษัท คือบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งกระบวนการยกเลิกกำหนดไว้ภายใน 15 วัน หลังจากมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแล้ว ซึ่งครบกำหนดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารสัญญาทั้งหมดของ 18 บริษัท ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เทียบกับบริษัท เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม จำกัด โดยทีมกฎหมายของ ส.ป.ก.และทีมกฎหมายของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและทำงานทันต่อเวลา ดังนั้น ภายใน 7 วัน จะทราบผลว่าใน 18 บริษัทนั้น แต่ละบริษัทจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และมีวิธีแก้ปัญหาตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างไร

          อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนร่วมด้วยเช่น บริษัทใดที่ผลิตให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้ว จ่ายไฟให้ประชาชนได้ใช้แล้ว หากหยุดกิจการ จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเกี่ยวกับการใช้ไฟ ยึดหลักเกณฑ์ทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย

         โดย ส.ป.ก.ต้องตรวจสอบเอกสารสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งหลักเกณฑ์ตามสัญญาที่ทาง ส.ป.ก. ต้องตรวจสอบ คือ (1) จ่ายไฟให้กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น (2)จ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่ ส.ป.ก.(3) จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลเกษตรกร เช่น ส่งเสริมการจ้างงาน (4) ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว3 บริษัท บริษัท เทพพนา วินด์ฟาร์ม จำกัด บริษัท ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม จำกัด และบริษัท วะตะแบก วินด์ จำกัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ”

         ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงมีขึ้นตอน ดังนี้ คือ 1.ตรวจสอบข้อมูลเอกสาร เช่น คำขออนุญาต เอกสารประกอบคำขออนุญาต มติ คปจ. และสัญญาเช่า 2.ตรวจลักษณะพื้นที่ที่ตั้งโครงการ 3.การดำเนินการ หรือความคืบหน้า ของผู้ประกอบการหลังจาก คปจ. มีมติอนุญาต 4.ลงพื้นที่ตรวจสอบผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ และ 5.วิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข

        สำหรับแนวทางแก้ไขหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว คือ 1) ยกเลิกเพิกถอน ในส่วนที่พบว่าการอนุญาตไม่เป็นตามกฎหมาย และ 2) ภายหลังหากมีข้อเท็จจริงหรือเหตุที่ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง คู่กรณีมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้ เพราะถือว่ามีข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ตามมาตรา 54 วิ.ปกครอง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สมชายชูแผน'อุตฯ4.0ระยะ20ปี' ดันปี60มี10อุตฯแห่งอนาคต/เร่งลงทุน'S-curve'วงเงิน1.5แสนล.

          ก.อุตสาหกรรม ฝันทำแผนยุทธศาสตร์ "อุตฯ 4.0 ระยะ 20 ปี" หวังเพิ่มอัตราการเติบโตต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องดันปี 60 มี 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตพร้อมเร่งรัดลงทุนอุตสาหกรรม "Scurve" วงเงินลงทุน 1.5 แสนล้าน พร้อมเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่เศรษฐกิจพิเศษ EEC

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ก.อุตสาหกรรม ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจ

          และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการเติบโตต่อปีของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย การขยายตัวของ GDP การลงทุน การส่งออก การเพิ่มผลิตภาพ และการสร้างนักอุตสาหกรรมใหม่ ที่เป็นการวาง รากฐานการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม และรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอนาคต

          ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานสำคัญได้แก่ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve โดยต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและผลักดันให้เกิดการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ เป็น10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย เช่นยานยนต์สมัยใหม่ จะพัฒนาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สู่การเป็นศูนย์กลางการออกแบบฯ การแปรรูปอาหาร สู่ท็อปเท็นการส่งออก ซึ่งปี 2559 กระทรวงได้เร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็น S-curve จำนวน 1,219 ราย มูลค่าลงทุน 135,000 ล้านบาท และในปี 2560 คาดว่าจะมีการลงทุน ประมาณ 150,000 ล้านบาทรวมทั้งได้เตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ(Eastern Economic Corridor : EEC)ในจังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา รวมกว่า 180,000 ไร่ตลอดจนได้ทยอยพัฒนาระบบการอนุญาตที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น

          สำหรับการพัฒนา SMEs ได้มีโครงการที่เหมาะสมกับช่วงวงจรชีวิตของธุรกิจแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ มุ่งสร้างเอสเอ็มอีที่มีไอเดียสู่ผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ที่มี นวัตกรรมกลุ่มเอสเอ็มอีรายเดิม จะส่งเสริมดิจิทัลเพื่อปรับธุรกิจสู่ SMEs ยุค 4.0 และกลุ่มเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ได้เปิดศูนย์ SME Rescue Center เพื่อเข้า กระบวนการพลิกฟื้น ช่วยเหลือแล้วกว่า 2,600 ราย

          "เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไปสู่ประเทศไทย 4.0 ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน กระทรวงฯ เองได้ปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และพัฒนา SMEs เข้าสู่ยุค 4.0 โดยจะดูแลส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกระดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งการปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงฯ จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ระยะที่ 1 จะเรียบร้อยภายใน 6 เดือนแรกของปี 2560 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนระยะที่ 2 จะเสร็จสิ้นภายในปี 2562" นายสมชาย กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กรมชลฯคลอดแผนแม่บทหนุนยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งองค์กรอัจฉริยะ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน40ล้านไร่

กรมชลประทานวางแผนแม่บท 5 ปี หนุนยุทธศาสตร์ชาติ  ขยายพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศให้ได้ 4.35 ล้านไร่ และไม่น้อยกว่า 40 ล้านไร่  ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมตั้งเป้าเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ

นายสัญชัย เกตุวรชัย  อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  กรมชลประทานดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเพิ่มเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ 40 ล้านไร่ โดยได้กำหนดแผนแม่บทพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในระยะ 5 ปี (2560-2564) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล โดยภายในปี 2564 ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่ชลประทานให้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4.35 ล้านไร่  เพิ่มปริมาณน้ำในการเก็บกักอีก 4,245 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)   ดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำครอบคลุมพื้นที่รวมประมาณ 6.92 ล้านไร่ และดำเนินการจัดรูปที่ดินและระบบน้ำเพื่อการเกษตรกรรม ให้ได้อีก 921,351 ไร่  คาดว่าจะมีประชาชนได้รับประโยชน์จากแผนแม่บทดังกล่าวประมาณ 2.20 ล้านครัวเรือน 

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 นี้ กรมชลประทานจะดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการกระจายน้ำทั้งสิ้น 211 โครงการ หากแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 437.73 ล้าน ลบ.ม.  มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 477,965 ไร่  และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 96,884 ครัวเรือน   ใช้งบประมาณลงทุนทั้งสิ้น 6,360.11 ล้านบาท           สำหรับผลการพัฒนาแหล่งน้ำจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่ โดยเป็นผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้จำนวน 309,475 ไร่  เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก จำนวน 135.65 ล้าน ลบ.ม. จากการสร้างโครงการชลประทานขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และยังได้เพิ่มจำนวนแหล่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ แก้มลิง ระบบระบายน้ำ และอาคารควบคุมบังคับน้ำเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยได้อีกจำนวน 420,000 ไร่  และยังได้ดำเนินการป้องกันและฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำตามพระราชดำริ การพัฒนาการเกษตรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป  สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  และโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน

         “กรมชลประทานได้ตั้งเป้าในปี 2564 มุ่งสู่การเป็นองค์การเสริมพลังใหม่สู่การเปลี่ยนแปลง   ปี 2569 สร้างภาคีเครือข่ายและความร่วมมือ  ปี 2674 ปฏิรูปแบบกระบวนการงาน  และในปี 2579  กรมชลประทานจะต้องเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ทีพีพีล่มผลดีค้า-ลงทุนไทย จับตาเจรจาทวิภาคีตัวแปร

พาณิชย์คาดจีดีพีประเทศคู่ค้าโดยรวมปีนี้ทรงตัวทั้งกลุ่มยูโรโซน-ญี่ปุ่น-จีน-อังกฤษ ผลพวงนโยบายกีดกันการค้าของผู้นำใหม่สหรัฐ ขณะเศรษฐกิจไทยคาดโต 3-4% ขณะทีพีพีล่มส่งผลดีค้า-ลงทุนไทย จับตาคู่ค้าหันเจรจาทวิภาคีมากขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศคู่ค้าสำคัญๆของไทยในปี 2560 ว่า ภาพรวมยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก รวมถึงสัญญาณแนวโน้มการกีดกันการค้าของนายโดนัลด์ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและการค้าการลงทุนโลกให้ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวน

“คาดการณ์นโยบายของทรัมป์จะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้เป็น 2.2% ดีกว่าในปี 2559 ที่คาดการณ์ไว้จะขยายตัวที่ 1.7% ปัจจัยที่สนับสนุนคือการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดแรงงานและค่าจ้าง การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย และนโยบายการคลังแบบขาดดุลรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของสหรัฐฯ”

ทั้งนี้จะต่างกับเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอลง โดยคาดปีนี้เศรษฐกิจของยูโรโซนจะขยายตัว 1.6% ต่ำกว่าปี2559 ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.7% ผลจากมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังมีความไม่แน่นอนของการเจรจาเพื่อถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)ของอังกฤษ (เบร็กซิท) ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวใกล้เคียงกับปี2559ที่ 0.9%

ส่วนเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มชะลอเล็กน้อย โดยอัตราขยายตัวน่าจะอยู่ในกรอบที่รัฐบาลตั้งไว้ 6.5% ซึ่งจะต่ำกว่าคาดการณ์ปี2559ที่น่าจะขยายตัว 6.7% สาเหตุจากเศรษฐกิจจีนยังคงได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากการลงทุนที่มุ่งสู่การบริโภคภายใน ผลกระทบจากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งการถูกกดดันให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจอังกฤษ ที่จะได้รับผลกระทบจากการเจรจาออกจากอียู ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอโดยจะขยายตัวได้ที่ 1.5% ลดลงจากการขยายตัว 2%ในปี 2559

“จากความเสี่ยงข้างต้น จะทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีการกระจายการลงทุนและการค้า ดังนั้นจะมีแนวโน้มการทบทวนหรือการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้น”

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ สนค.มองว่าน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3-4% ถือว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 จากการผลักดันการลงทุนภาครัฐและการส่งออก ในขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวดีที่6.5-7.5%ตามการฟื้นตัวของการส่งออก อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงของการค้าและการลงทุนของไทยหลังจากนี้ โอกาสที่ส่งผลดีต่อไทยกรณีหากมีหารยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) จะช่วยรักษาความสามารถการส่งออกไทยและดึงดูดการลงทุนกลับมาในไทยมากขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาน้ำมันที่อาจทรงตัวในระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในอนาคต ดังนั้นเอกชนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พลังงานหารือเกษตร 14 ก.พ.โรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ส.ป.ก.

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)กล่าวว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการพิจารณาผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม(วินด์ฟาร์ม)ที่อยู่ในพื้นที่เช่าของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ในการที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่อไปโดยระหว่างนี้พพ.จะหารือกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวน 15 ราย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐมาหารือถึงภาพรวมในการหาทางออกก่อน เพราะเบื้องต้นพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายถูกพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดเดียวกับบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม และต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ ส่วนบางรายสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางประการ เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักเกณฑ์การเช่าใช้พื้นที่ของ ส.ป.ก.

“หากพิจารณาแล้วพบว่าต้องย้ายที่ตั้งก็จะดูศักยภาพพลังงานลมและสายส่งว่าพร้อมหรือไม่ และจะต้องให้สิทธิกลุ่มนี้ลงทุนก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบ”นายประพนธ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

“บิ๊กตู่”สั่งก.อุตประชาสัมพันธ์ผลงานปิดโรงงานผิดซ้ำซาก

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2560 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ความคืบหน้าเรื่องที่นายกรัฐมนตรี กำชับให้ตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศ 2 กลุ่ม คือ โรงงานที่มีการร้องเรียนซ้ำซาก 39 โรงงาน ปัจจุบันสั่งปิดกิจการแล้ว 4 แห่ง ปิดปรับปรุง 10 แห่ง โรงงานที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำสายหลักตรวจสอบแล้ว 1,800 โรงงาน สั่งปิดปรับปรุง 150 แห่ง และปีนี้จะตรวจสอบเพิ่มอีก 1,400 โรงงาน มีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมตรวจสอบด้วย

“จากผลงานทั้งหมด นายกรัฐมนตรีพอใจ และได้เน้นย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรม มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบผลงาน มาตรการช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงาน เพื่อไม่ให้ประชาชนมีความกังวล”นายสมชายกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คอลัมน์ เศรษฐกิจ: รบ.ตู่เดินหน้าปลุกเสก 'อีอีซี' ทางเลือกสุดท้ายดัน ศก.ไทย ขึ้นแท่นประเทศชั้นนำของภูมิภาค 

           กระพือข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับโครงการพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระยอง จันทบุรี และฉะเชิงเทรา เชื่อมต่อความเจริญกับเมืองหลวงกรุงเทพฯ โดยกำหนดเป้าหมายให้เดินหน้าโครงการภายในปีนี้...ปีที่รัฐบาลให้นิยามว่า "ปี 2560 ต้องเป็นปีลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม" หลังจากพยายามผลักดันให้ปีที่ผ่านมาเป็นปีทองแห่งการลงทุน แต่ไม่สำเร็จ

          เพราะเผชิญกับปัจจัยลบทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะความผันผวนเศรษฐกิจโลกทำให้ต่างชาติละเมียดละไม ชั่งใจในการลงทุนอย่างหนัก เพราะถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี ผลิตสินค้าออกมาก็ไม่รู้จะขายใคร

          ขณะที่นักลงทุนในประเทศ แรกๆ ก็พยายามสร้างความเชื่อว่า ที่ยังไม่ลงทุนเพราะกังวลเศรษฐกิจโลก

          แต่ช่วงต้นปีนี้ ผลสำรวจความเห็นผู้บริหารทั่วประเทศ จัดทำโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ ส.อ.ท. ระบุชัดว่า ผู้บริหาร (ซีอีโอ) ถึง 64.58% ขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้การลงทุนไทยไม่ขยายตัว

          รองลงมา 45.83% ขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลก

          และ 39.58% เกิดจากภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ซึ่งการไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศ

          อาจหมายถึงผลงานบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังไม่เข้าตาด้วย!!!

          ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยจึงมีเพียงการลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยว แต่เม็ดเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังน้อยนิด การลงทุนจากเอกชนคือเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจอยู่ดี

          ข้อมูลบ่งชี้การลงทุนที่ซบเซา ยืนยันได้จากสถิติการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง 12 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2559 พบว่า การประกอบและขยายกิจการโรงงาน (ร.ง.4) มีจำนวนทั้งสิ้น 5,215 โรงงาน ลดลง 4.66 % เงินลงทุน 4.78 แสนล้านบาท ลดลง 21.12% เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 5,470 โรงงาน มูลค่าลงทุนรวม 6.06 แสนล้านบาท

          ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า ปี 2559 มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยื่นลงทุนจริง 490,000-500,000 ล้านบาท ใกล้เคียงเป้าหมายทั้งปี 500,000 ล้านบาท

          ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่มีโครงการ หรือร่วมลงทุนในไทยอยู่แล้ว

          ส่วนนักลงทุนหน้าใหม่พบว่ายังมีน้อย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน ทำให้เอกชนมีการลงทุนอย่างรอบคอบ

          ขณะที่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปีที่ผ่านมาสูงกว่าเป้าหมาย มียอดรวมอยู่ที่ 584,350 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 550,000 ล้านบาท จำนวน 1,546 โครงการ

          โดยมูลค่าขอรับส่งเสริมลงทุนสูงกว่าปี 2558 คิดเป็น 196% ที่มีมูลค่า 197,740 ล้านบาท

          ขณะที่จำนวนโครงการสูงกว่าปีที่ผ่านมา 56% ที่มีจำนวน 988 โครงการ

          ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ก็ระบุว่าอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลง อยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ รถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ เครื่องดื่มต่างๆ

          ทำให้ภาพรวมทั้งปีเอ็มพีไอขยายได้แค่ 0.5%

          ด้วยภาวะการลงทุนที่ซบเซานี่เอง รัฐบาลจึงพยายามหาเครื่องมือกระตุ้น ไปจนถึงผ่าตัดประเทศครั้งใหญ่ให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น และยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จากปัจจุบันเติบโต 3% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยต่างเติบโตระดับ 6-7% เพราะหากประเทศไทยไม่เร่งพัฒนาพื้นที่หรือโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาจรั้งท้ายอาเซียนที่เติบโตแบบก้าวกระโดดก็ได้

          เพราะปัจจุบันหลายประเทศในเอเชียมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ จีนใช้เวลา 25 ปี ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่สำคัญที่สุดของโลก

          มาเลเซีย กำหนด 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตสมัยใหม่และอุตสาหกรรมหลัก จนสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจถึง 6% ในปี 2557

          เวียดนาม เปิดนิคมอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ เน้นอุตสาหกรรมแรงงานและปิโตรเคมี ส่งออกเติบโต

          และอินเดีย เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 382 แห่งทั่วประเทศ

          ขณะที่อีอีซี รัฐบาลได้กำหนดโครงการลงทุนสำคัญ ประกอบด้วย สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ท่องเที่ยว และเมืองใหม่/โรงพยาบาล รวม 15 โครงการ วงเงินลงทุนจากรัฐและเอกชน 1.5 ล้านล้านบาทบนพื้นที่ 200,000 ไร่

          ขณะเดียวกันได้ออกกฎหมาย คือ ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ควบคู่ไปด้วย

          เดิมทีคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2559 หรือภายในไตรมาสแรกของปีนี้

          แต่ด้วยรายละเอียดทางกฎหมายที่มีความเกี่ยวพันแทบทุกกระทรวง จึงต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ

          ล่าสุดคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศใช้ช่วงเดือนเมษายนนี้

          แต่เพื่อกันเหนียวกรณีกฎหมายเกิดปัญหาล่าช้าเช่นเดียวกับกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน นายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขับเคลื่อนนโยบายอีอีซี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการเออีซีระหว่างรอการพิจารณา พ.ร.บ.อีอีซี

          ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารอีอีซีได้ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ ก่อนรายงานต่อที่ประชุมอีอีซีชุดใหญ่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เดือนมีนาคมนี้

          โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างทบทวนวงเงินลงทุนโครงการอีอีซีช่วง 5 ปี (2560-2564) จะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท จากเดิมประเมินไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท เนื่องจากพบว่าวงเงินที่คาดไว้เดิมอาจไม่เพียงพอ เพราะจะมีการลงทุนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนรวมอุตสาหกรรมอื่นแห่งอนาคตที่พร้อมลงทุนเป็นรายแรกๆ เช่นกัน

          นอกจากคณะกรรมการบริหารอีอีซี ยังโชว์ผลงานแรกด้วยการเสนอนายกรัฐมนตรี จัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษอู่ตะเภาขึ้นเป็นที่แรกในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์ขั้นสูงสุดให้กับนักลงทุนที่ภาครัฐจะชวน ให้มาลงทุน อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี 15 ปี โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการลงทุน คือ ศูนย์ซ่อมอากาศยานเพิ่มเติม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานเริ่มลงทุนกลางปีนี้ รวมทั้งวางแผนให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกสามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา พร้อมเปิดให้เอกชนร่วมทุนปลายปีนี้

          ขณะที่ความคืบหน้าการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รัฐบาลอยู่ระหว่างจะประกาศแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อให้เอกชนมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปีนี้ ขณะที่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ ในส่วนของเอกชนที่พร้อมลงทุน นำโดยกลุ่ม ปตท. ได้กำหนดกรอบลงทุนระยะเวลา 10 ปี 4 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับไทยสู่ฮับภูมิภาคด้านไบโอชีวภาพ

          จากภาพความก้าวหน้าของอีอีซี ได้สร้างความหวังว่าไทยจะเติบโตทัดเทียมประเทศชั้นนำ จนเอกชนหลายฝ่ายออกมาสนับสนุน และขอให้เกิดขึ้นจริงและเร็วที่สุด

          เพราะหากช้าไปกว่านี้ คงไม่ใช่แค่ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ลดลง แต่ความเชื่อมั่นต่อฝีมือรัฐบาลอาจลดลงด้วย...

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

'ส่งออก-เศรษฐกิจ'ฟื้นดันดัชนีอุตฯโต3เดือน  

          "อุตตม" ระบุ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมม.ค. 60 โต 1.5% และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ระบุ อุตฯอิเล็กทรอนิกส์โตสุด 28% สะท้อนทิศทางส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนอุตฯสิ่งทอ วัสดุก่อสร้างขยายตัว สัญญาณกำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวโน้มการขยายตัวของ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ในเดือน ม.ค. 2560 ว่า จากการประเมินเบื้องต้น ดัชนีเอ็มพีไอ ขยายตัวถึง 1.5% สูงกว่าเดือนธ.ค.2559 ที่ขยายตัว 0.5% และถือได้ว่าเป็นดัชนีเอ็มพีไอ ที่ขยายตัวอย่าง ต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อภายในประเทศขยายตัว และ มีการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่น้ำมันการส่งออกจะมีมากกว่า กำลังซื้อภายในประเทศ เล็กน้อย

          โดยอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เดือนม.ค. ขยายตัว 1%เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สิ่งทอขยายตัว 4.85% เหล็กและเหล็กกล้าขยายตัว 9.4% อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ ขยายตัว 8.8% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 16% และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 28% ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ ยังคงทรงตัว

          "อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เหล็ก และปูนซิเมนต์ที่ขยายตัว สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่ เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากมาตรการ ผลักดันการลงทุนภาครัฐ และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่วนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นมาก สะท้อน ให้เห็นว่า"

          ส่วนการส่งเสริมเอสเอ็มอีนั้น จะผลักดันให้เอสเอ็มอีของไทยไปเชื่อมโยงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไปสู่ผู้ผลิตเอสเอ็มอี รวมทั้งให้ธุรกิจเ อสเอ็มอีที่อยู่ทั่วประเทศมีความผูกพันกับท้องถิ่น โดยจะนำกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท มาฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพการผลิต มีความรู้มีเงินทุนพัฒนาธุรกิจ

          "ในวันที่ 10-12 มี.ค.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดงานเปิดตัวโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นการเปิดตัวแผนงานช่วยเหลือเอสเอ็มอีในปีนี้ที่เน้นตั้งแต่รากฐาน และมีกลไกต่างๆ เข้ามารองรับ รวมทั้งการเปิดตัวกองทุนเพื่อ พัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ

          นอกจากนี้จะตั้งหน่วยงานใหม่ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ จัดทำข้อมูลเอสเอ็มอีทั้งหมดอย่าง ละเอียด เพื่อจัดทำบิ๊กดาต้า รวมทั้ง จ้างทีมเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีฐานข้อมูล เอสเอ็มอีอย่างชัดเจน เพื่อนำมาวางแผนส่งเสริมเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุด

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แจงสี่เบี้ย : พด.ชูระบบรับรองแบบมีส่วนร่วมPGS กลไกขับเคลื่อนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

 ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee Systems, PGS เป็นระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์โดยชุมชน การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง และต่อเนื่องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน ภายใต้หลักการพื้นฐาน “ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเป็นเครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้”

พี จี เอส ส่งเสริมให้เกิดตลาดท้องถิ่นและภายในประเทศ โดยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการผลิตด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค มีผลทำให้เกิดการวางแผนการผลิตตามที่ตลาดต้องการ เมื่อเกษตรกรรายย่อยได้รับการรับรองโดย พี จี เอส ทำให้ขยายช่องทางตลาดได้ ผลสุดท้ายทำให้มีการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น เกิดความยั่งยืนทั้งต่อรายได้ของเกษตรกร ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค และเกิดสังคมเข้มแข็งในที่สุด

ทั้งนี้ กลุ่ม พี จี เอส ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและสากล ต้องจัดการกระบวนการกลุ่มภายใต้หลักการ พี จี เอส IFOAM (IFOAM PGS Guidelines, 2008) และใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในการรับรองเป็นที่ยอมรับของประเทศนั้นๆ โดยมีหลักการสำคัญ คือ 1.การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของกระบวนการ 2.การมีส่วนร่วม บนพื้นฐานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สนับสนุนเป็นเจ้าของโครงการร่วมกัน 3.ความโปร่งใส กลุ่มจะต้องจัดทำระบบรับประกันการผลิต ซึ่งจะต้องวางแผนร่วมกัน 4.ความไว้วางใจ เป็นกระบวนการที่ทำตั้งแต่ ข้อ 1-3 เพื่อเป็นกระบวนการที่มั่นใจว่า ผู้ผลิตแต่ละคนปกป้องธรรมชาติและสุขภาพของผู้บริโภค ด้วยการผลิตตามหลักการเกษตรอินทรีย์ 5.ความสัมพันธ์แบบแนวราบ ผู้มีส่วนได้เสียมีความเสมอภาค ใช้ระบบประชาธิปไตยโดยแลกเปลี่ยนหมุนเวียนความรับผิดชอบ ยินยอมให้คณะตรวจสอบตรวจฟาร์มและยอมรับการตัดสินของคณะกรรมการกลุ่ม 6.กระบวนการเรียนรู้ รูปแบบขั้นตอนการรับรอง และการตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อน เป็นการประเมินในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นการตรวจสอบความเข้าใจในมาตรฐาน ทวนสอบวิธีปฏิบัติในฟาร์ม และให้คำแนะนำ เสนอแนะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันถึงแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐาน 7.การดำเนินงานในรูปเครือข่าย การขับเคลื่อนระบบนี้จะอยู่ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายที่หลากหลาย การทำให้ระบบมีความโปร่งใส และเข้าถึงได้ทั้งจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคนั้น องค์กรจัดทำระบบต้องพัฒนากลุ่ม และเชื่อมโยงเครือข่ายให้มีกิจกรรมร่วมกันและสามารถทำฐานข้อมูลสมาชิกทั้งหมด รวมทั้งกระบวนการผลิตขึ้นเว็บไซต์ของระบบ พี จี เอส

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ทีพีพีล่มผลดีค้า-ลงทุนไทย จับตาเจรจาทวิภาคีตัวแปร

พาณิชย์คาดจีดีพีประเทศคู่ค้าโดยรวมปีนี้ทรงตัวทั้งกลุ่มยูโรโซน-ญี่ปุ่น-จีน-อังกฤษ ผลพวงนโยบายกีดกันการค้าของผู้นำใหม่สหรัฐ ขณะเศรษฐกิจไทยคาดโต 3-4% ขณะทีพีพีล่มส่งผลดีค้า-ลงทุนไทย จับตาคู่ค้าหันเจรจาทวิภาคีมากขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศคู่ค้าสำคัญๆของไทยในปี 2560 ว่า ภาพรวมยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก รวมถึงสัญญาณแนวโน้มการกีดกันการค้าของนายโดนัลด์ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและการค้าการลงทุนโลกให้ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวน

“คาดการณ์นโยบายของทรัมป์จะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้เป็น 2.2% ดีกว่าในปี 2559 ที่คาดการณ์ไว้จะขยายตัวที่ 1.7% ปัจจัยที่สนับสนุนคือการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดแรงงานและค่าจ้าง การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย และนโยบายการคลังแบบขาดดุลรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของสหรัฐฯ”

ทั้งนี้จะต่างกับเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอลง โดยคาดปีนี้เศรษฐกิจของยูโรโซนจะขยายตัว 1.6% ต่ำกว่าปี2559 ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.7% ผลจากมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังมีความไม่แน่นอนของการเจรจาเพื่อถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)ของอังกฤษ (เบร็กซิท) ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวใกล้เคียงกับปี2559ที่ 0.9%

ส่วนเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มชะลอเล็กน้อย โดยอัตราขยายตัวน่าจะอยู่ในกรอบที่รัฐบาลตั้งไว้ 6.5% ซึ่งจะต่ำกว่าคาดการณ์ปี2559ที่น่าจะขยายตัว 6.7% สาเหตุจากเศรษฐกิจจีนยังคงได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากการลงทุนที่มุ่งสู่การบริโภคภายใน ผลกระทบจากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งการถูกกดดันให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจอังกฤษ ที่จะได้รับผลกระทบจากการเจรจาออกจากอียู ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอโดยจะขยายตัวได้ที่ 1.5% ลดลงจากการขยายตัว 2%ในปี 2559

“จากความเสี่ยงข้างต้น จะทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีการกระจายการลงทุนและการค้า ดังนั้นจะมีแนวโน้มการทบทวนหรือการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีมากขึ้น”

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ สนค.มองว่าน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3-4% ถือว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 จากการผลักดันการลงทุนภาครัฐและการส่งออก ในขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวดีที่6.5-7.5%ตามการฟื้นตัวของการส่งออก อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงของการค้าและการลงทุนของไทยหลังจากนี้ โอกาสที่ส่งผลดีต่อไทยกรณีหากมีหารยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) จะช่วยรักษาความสามารถการส่งออกไทยและดึงดูดการลงทุนกลับมาในไทยมากขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาน้ำมันที่อาจทรงตัวในระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในอนาคต ดังนั้นเอกชนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชาวบึงสามพันยื่นสนช.สอบโรงงานน้ำตาลรุกที่

ชาวบ้านบึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ยื่นหนังสือ สนช. ให้ตรวจสอบโรงงานน้ำตาลรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ

พล.ท.ชัยยุทธ พร้อมสุข ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหนังสือจาก ดร.ณัฐวุฒิ บุ้งจันทร์ นักวิชาการอิสระ ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน ต.หนองแจง อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงงานไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลฯ ดังกล่าว รุกล้ำพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาก่อน อีกทั้งไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแจง รวมถึงไม่มีการทำประชาวิจารณ์ให้ประชาชนรับทราบว่ามีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลฯ บริเวณดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของ อบต. ว่าด้วยการขออนุญาตสิ่งปลูกสร้างอาคาร

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คุมเข้มรถอ้อย...ทหารเมืองเลยลั่นแหกกฎเกิดอุบัติเหตุสมาคมชาวไร่อ้อยต้องรับผิดชอบ  

         เลย - กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เลย เอาจริงปัญหาอุบัติเหตุจากการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล เรียกสมาคมชาวไร่อ้อย เจ้าของโรงงาน และหน่วยงานรัฐหาข้อตกลงหลังเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ชี้ต้องปฏิบัติตามกฎ 19 ข้อ ย้ำหากเกิดอุบัติเหตุสมาคมชาวไร่อ้อยต้องรับผิดชอบทั้งหมดทุกกรณี

               เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม มณฑลทหารบกที่ 28 พลตรี ชาญชัย เอมอ่อน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 28 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบประจำจังหวัดเลย เป็นประธานประชุมแนวทางจัดระเบียบการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาล โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย, รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย, หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง, โรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูหลวง, สมาคมชาวไร่อ้อยที่ราบสูงจังหวัดเลย, โรงงานน้ำตาลขอนแก่น (สาขาวังสะพุง) และผู้แทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดเลยเข้าร่วมประชุม

               การประชุมครั้งนี้ได้วางกรอบการขนส่งอ้อยสู่โรงงานน้ำตาลให้ดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาล คสช. และผู้บัญชาการทหารบก เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนโดยรวม หลังจากเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากรถบรรทุกอ้อย สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วหลายครั้งในพื้นที่ จ.เลย โดยยึดแนวทางปฏิบัติการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงผลิตน้ำตาล 19 ข้อ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับกองทัพภาคที่ 2 ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว

               สำหรับแนวทางทั้ง 19 ข้อที่สำคัญ เช่น การบรรทุกอ้อยต้องสูงไม่เกิน 4 เมตร, ความยาวพ้นจากตัวรถไม่เกิน 2.30 เมตร, มีเข็มขัดรัดลำอ้อยอย่างแน่นหนา, ต้องติดตั้งไฟและสัญลักษณ์ ป้ายผ้าสะท้อนแสงท้ายรถ, ให้คนขับรถบรรทุกอ้อยระมัดระวังในการขับเข้าไปในเขตหมู่บ้านและเขตชุมชนเมือง ต้องขับด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

               ขณะเดียวกัน กรณีที่อ้อยตกหล่นบนถนน ให้สมาคมชาวไร่อ้อยจัดรถและเจ้าหน้าที่ออกเก็บอ้อยทันที, หากรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุต้องจอดรถชิดขอบทางด้านซ้ายของถนน และให้มีกรวยสีขาวแดงวางแสดงเป็นเครื่องหมายปิดหัวท้ายเพื่อเป็นสัญญาณว่ารถหยุดจอด, หากเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากรถบรรทุกอ้อยทุกกรณี ให้สมาคมชาวไร่อ้อยแต่ละแห่งรับผิดชอบค่าเสียหายและรับผิดชอบทางคดีทั้งหมด, และให้โรงงานน้ำตาลทำคานสูง 4.20 เมตร เพื่อกันปริมาณอ้อยที่บรรทุกอ้อยสูงเกินไป

               ภายหลังการประชุม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และสมาคมชาวไร่อ้อยได้รับปากว่าจะให้ความร่วมมือกับภาคราชการอย่างเต็มที่ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด พร้อมได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับทางราชการด้วย 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พณ.เตือนผู้ส่งออกรับมืออียูกำหนดการใช้สารเคมี

กรมการค้าต่างประเทศ เตือนผู้ส่งออกเตรียมรับมือ หลังอียูกำหนดการใช้สารเคมี ในอุตสาหกรรมใหม่

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่าคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศให้สารเคมี สำหรับเคลือบกระดาษบางชนิด ที่มีความเข้มข้นเท่ากับ หรือ มากกว่าร้อยละ 0.02 ของน้ำหนัก ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้จำนวนรายชื่อสารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้ในบัญชี ณ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 66 รายการ ผู้ส่งออกของไทยที่มีการผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าว จะต้องเร่งศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกในอนาคต

โดยระเบียบของ EU ที่ใช้เป็นมาตรการจัดการสารเคมี มีบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้นำเข้าสารเคมี และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีมายัง EU จะต้องร่วมกันรับผิดชอบเพื่อใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาททรงตัว ตลาดยังคงรอปัจจัยเศรษฐกิจใหม่

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (8/2) ที่ระดับ 35.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ (8/2) นายบิล ชัสเตอร์ สมาชิกผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ นั้นต้องการที่จะใช้กำไรที่ได้จากการลงทุนนอกประเทศของภาคเอกชนเป็นทุนในการสนับสนุนโครงการการก่อสร้าง และปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งตามกฎหมายภาษีของสหรัฐนั้น นิติบุคคลสหรัฐที่มีกำไรจากการขายหรือลงทุนนอกประเทศ ไม่ต้องเสียภาษีจนกว่าจะนำกำไรส่วนนั้นกลับเข้ามาในประเทศ โดยนายทรัมป์มีแผนที่จะลงทุนในวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสิบปีข้างหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยว่ายอดสินเชื่อบุคคล ประจำเดือน ธันวาคม ได้ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยออกมาที่ระดับ 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์ จากที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจไทย เมื่อวานนี้ (8/2) นักวิเคราะห์ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% นั้นค่อนข้างจะเป็นกลาง และสะท้อนถึงความระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งถึงแม้จะสดใสขึ้นแต่ก็ยังแสดงความเป็นกังวลต่อเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ รวมทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรป โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับนี้ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 35.00-35.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (9/2) เปิดตลาดที่ระดับ 1.0685/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (8/2) ที่ระดับ 1.0650/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรนั้นได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ธนาคารกลางฝรั่งเศส เมื่อวานนี้ (8/2) ได้ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจในประเทศช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ว่าจะสามารถเติบโตได้ในระดับ 0.3% หลังจากที่ขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังได้ออกมาเสริมว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศนั้นน่าจะเริ่มขยายตัวได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำหรับทางด้านประเทศอังกฤษนั้น สำนักข่าวต่างประเทศได้ออกมารายงานว่า นางเทเรซ่า เมย์ นายกฯอังกฤษมีหมายกำหนดการที่จะเยือนประเทศจีนในปีนี้ เพื่อเป็นการหารือเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้าให้ใกล้ชิดมากขึ้น ภายหลังจากการที่อังกฤษได้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.0670-0.0707 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.0699/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (9/2) เปิดตลาดที่ระดับ 112.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับราคาปิดตลาดในวันพุธ (8/2) ที่ระดับ 112.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้ (8/2) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมกราคม โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินได้แสดงความกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ และสถานการณ์การเมืองในยุโรป แต่ยังคงมั่นใจว่าเศรษฐกิจในประเทศนั้นกำลังฟื้นตัวในระดับปานกลาง และในการประชุมครั้งล่าสุดนั้นบีโอเจได้ออกมาปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของปีนี้จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.3% เป็น 1.5% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.06-112.44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (9/2) ดัชนีราคาผู้ผลิต ประเทศญี่ปุ่น ประจำเดือนมกราคม (10/2) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประจำเดือนกุมภาพันธ์ (10/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +1.00/+1.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ก.เกษตรทุ่มงบทำแผนจัดการสารเคมีปี60-61

ก.เกษตรทุ่ม 533 ล้านบาททำแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีปี2560-2561

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีทางการเกษตรปี 2560-2561 ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน ภายใต้แผนงาน จำนวน 94 แผนงาน งบประมาณ 533 ล้านบาท เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีและการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง ซึ่งจะบูรณาการการทำงานร่วมกัน 8 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เป้าหมายคือการลดการใช้สารเคมีลดลงไม่น้อยกว่า 5 % ต่อปี และจะมีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการสารเคมีทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 20,000 ราย ในปีแรก และเพิ่มขึ้นในอัตรา 10% ต่อปี รวมถึงจำนวนพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี และตรวจเฝ้าระวังพบสารเคมีตกค้างที่เกินค่ามาตรฐานในสินค้าเกษตรไม่เกิน 20% ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจ

ทั้งนี้ ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการสารเคมีทางการเกษตรทำให้มีการลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ทำการเกษตร รวมทั้งพื้นที่ทำการเกษตรในที่สูง และพื้นที่รอบเขตอนุรักษ์ และทำให้เกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของการใช้สารเคมีเกินความจำเป็นและไม่ถูกต้อง รวมถึงรับรู้วิธีการอื่นๆที่สามารถใช้ในการควบคุมศัตรูพืชได้ด้วย

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

7กลุ่มกังหันลมบนที่ส.ป.ก.วุ่นหนัก เอ็กโก้ติดร่างแหเงินกู้ADBสะดุด-กกพ.วืดไฟพันMW

พลังงานลมกว่า 1,000 เมกะวัตต์พื้นที่โคราช-ชัยภูมิ มีสิทธิ์ถูกสั่งยกเลิกโครงการซ้ำรอย "เทพสถิตย์ วินด์ฟาร์ม" โดย 1 ใน 7 กลุ่มวินด์ฟาร์มมี "เอ็กโก้" ติดร่างแหด้วย พร้อมแจงมี 3 โครงการที่ถูกตรวจสอบ แต่เชื่อมั่นทำทุกขั้นตอนตามกฎหมาย ชี้กรณีเลวร้ายถูกสั่งยกเลิก คาดกระทบการผลิตไฟฟ้า-ความเชื่อมั่นจากแบงก์ หวั่น กกพ.เลื่อนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมถาวร

ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกเลิกโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมของบริษัท เทพสถิตย์ วินด์ฟาร์ม จำกัด ในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงนั้น ล่าสุดสำนักกฎหมายของกรมป่าไม้ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทเอกชนที่เช่าที่ดินเพื่อทำกังหันลมทั้งในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ พบเอกชนอีกกว่า 19 ราย อาทิ บริษัทเทพสถิตย์ วินด์ฟาร์ม, บริษัทเฟิร์ส โคราช วินด์, บริษัทเทพารักษ์ วินด์ บริษัทเทพพนา วินด์ฟาร์ม และบริษัทนายางกลักพัฒนา อาจจะเข้าข่ายใช้ที่ดินของ ส.ป.ก.ผิดวัตถุประสงค์ เหมือนกับกรณีของบริษัทเทพสถิตย์ วินด์ฟาร์ม

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม บริษัทได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน 3 บริษัทหลักคือ บริษัทเทพพนา วินด์ฟาร์ม (อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ) บริษัทซับใหญ่ วินด์ฟาร์ม 1 (อ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิ) และบริษัทชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม (อ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิ) โดยโครงการเทพพนา วินด์ฟาร์ม กับโครงการชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม นั้นได้เริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้วรวม 87.5 เมกะวัตต์ (MW) ในเงินลงทุน 7,200 ล้านบาท

ในขณะที่โครงการซับใหญ่ วินด์ฟาร์ม 1 ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ แต่ EGCO ยอมรับว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมดของบริษัทอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จริง แต่บริษัทได้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนที่ ส.ป.ก.กำหนด ตั้งแต่การขอรับสิทธิ์ใช้ที่ดินจากผู้ได้รับสิทธิ์รายเดิม รวมถึงมีการชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งหมด เนื่องจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมในขณะนั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอย่างจริงจัง มีการระบุกำลังผลิตไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP อย่างชัดเจน และยังได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอีกด้วย

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม 3 โครงการที่อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า อาจจะเข้าข่ายการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ผิดวัตถุประสงค์นั้น มีกำลังผลิตรวมมากกว่า 1,000 MW ดังนั้นหากมีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการจะเกิดผลกระทบในวงกว้างคือ กำลังผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะหายไปจากระบบและมีผลกระทบทางด้านการเงินด้วย โดยเฉพาะโครงการของ EGCO มีการลงทุนถึง 7,200 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้ของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ซึ่งเป็นธนาคารระหว่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นสำหรับการปล่อยเงินกู้โครงการในอนาคตได้

"การผลิตไฟฟ้าจากโครงการลมค่อนข้างยากเนื่องจากศักยภาพของลมส่วนใหญ่จะอยู่บนเขาและอยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้เป็นหลักไม่เหมือนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะวางแผงโซลาร์ตรงไหนก็ได้และมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่น ๆ ในส่วนของ EGCO ทุกพื้นที่ที่เข้าไปพัฒนาโครงการ เราได้ดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างดี ฉะนั้นไม่ว่าภาครัฐจะตัดสินใจอย่างไร ต้องขอความเป็นธรรมให้กับ EGCO ด้วย"

นายชนินทร์กล่าวต่อไปว่า ภาคเอกชนมีความกังวลจากกรณีการตรวจสอบโครงการกังหันลมทั้งหมด อาจส่งผลให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชะลอการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากกังหันลมออกไปอีก และอาจต้องใช้เวลาในการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับซื้อเพื่อป้องกันปัญหาการใช้ที่ดินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนอกจากนี้อาจกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกหรือAEDP(Alternative Ener-gy Development Plan)

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัท 19 รายที่อยู่ระหว่างตรวจสอบการใช้ที่ดินจากกรมป่าไม้เข้าข่ายการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.อย่างผิดวัตถุประสงค์หรือไม่นั้น แบ่งกลุ่มนักลงทุนออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ถือหุ้นใหญ่โดย บริษัทอีโอลัส พาวเวอร์-บริษัทจูบุ อิเล็คทริค พาวเวอร์ โคราช บี.วี.-บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กลุ่มที่ 2 ถือหุ้นใหญ่โดย บริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ซึ่งถือหุ้นโดยเคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่-นายธันว์ เหรียญสุวรรณ-น.ส.มาลินา กรกาญจน์ กลุ่มที่ 3 เทพสถตย์ วินด์ฟาร์ม

กลุ่มที่ 4 ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) EGCO-บริษัทโปรเกรส เอเซีย-บริษัทเจ.อาร์. แมนเนจเม้นท์-โปร เวนตั้ม อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช กลุ่มที่ 5 ถือหุ้นโดย บริษัทสวัสดี เอ็นเนอร์ยี่-นายประสิทธิ์ ฤกษ์ประทุมรัตน์-นายสุนทร ลีซีทวน กลุ่มที่ 6 ถือหุ้นโดยโซวีเทค เนเธอร์แลนด์ บี.วี.โซวีเทค โปรเจคท์ จีเอ็มบีเอช-นายแฟรงค์ เจอเก้น ฮูมเมล และกลุ่มที่ 7 ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มีนายสมโภช อาหุนัย ถือหุ้นใหญ่-ยูบีเอส เอจี สิงค์โปร์

"ฉัตรชัย" ชี้ผิดคำสั่งศาลทุกโครงการ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ยกเลิกสัญญาการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด นั้นส่งผลให้การติดตั้งกังหันลมของบริษัทอื่น ๆ ที่มีสัญญาคล้ายกันต้องยกเลิกตามไปด้วย ซึ่งตามคำสั่งศาล ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะต้องพิจารณาช่องทางออกให้กับสัญญาที่เหลืออยู่ภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 26 เม.ย.นี้

"ผมในฐานะประธานคณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปพิจารณากับเรื่องนี้ เพราะการพิจารณาทั้งหมดได้โอนอำนาจให้กับคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัด (คปจ.) ไปแล้ว คปก.มีหน้าที่เพื่อทราบเท่านั้น แต่โดยหลักการแล้ว โครงการนี้ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ถือว่าทำผิดกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งหมด"

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นของกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้มีพลังงานสะอาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ อีกทั้งการติดตั้งในเขตปฏิรูปที่ดินฯ เกษตรกรยังสามารถใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรควบคู่กันไป การจ่ายเงินในสัญญาปีละ 35,000 บาทต่อไร่ต่อปี

แม้ว่า ส.ป.ก.จะเป็นผู้ได้รับ แต่เงินดังกล่าวก็จะเข้าสู่กองทุนพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ใช้สนับสนุนเกษตรกรในเขตปฏิรูปฯ ทำให้ คปจ.เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรจึงอนุมัติไป แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้ยกเลิก เทพสถิต วินด์ฟาร์มไปแล้ว หากมีการยื่นฟ้องในสัญญาอื่นก็เป็นไปได้ที่ศาลจะตัดสินในบรรทัดฐานเดียวกัน ดังนั้น ส.ป.ก.จะนิ่งเฉยต่อคำสั่งศาลไม่ได้ ต้องหาทางออกให้ดีที่สุด ในขณะที่การออกคำสั่งยกเลิกทันที ส.ป.ก.อาจโดนฟ้องโดยเอกชนได้เช่นกัน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แจงสี่เบีย : กรมพัฒนาที่ดินตั้งเป้าปรับเปลี่ยนพื้นที่3แสนไร่ ด้วยนโยบาย‘Zoning by Agri-Map’ปี2560

กรมพัฒนาที่ดินได้เร่งดำเนินงานโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี 2560 ตั้งเป้าปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ได้ 300,000 ไร่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อจากปี 2559 ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวตามความต้องการเกษตรกร 49 จังหวัด 150,000 ไร่ และปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ 32,617 ไร่ หรือรวมทั้งสิ้น 182,617 ไร่

โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีแผนขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2560-2579) มีเป้าหมายการปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพาะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) 6 ล้านไร่ จากการทำนาข้าวไปเป็นทำการเกษตรอื่นๆที่เหมาะสมกับพื้นที่ อาทิ ปศุสัตว์ ประมง หรือ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ โดยมีพื้นที่เป้าหมายตามแผนการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของเกษตรกรในปีงบประมาณ 2560 ดังนี้

1.แผนการปรับเปลี่ยนข้าว (N) เป้าหมาย 240,000 ไร่ ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ ปลูกไม้ผล พืชเศรษฐกิจ เลี้ยงตัวหม่อนไหม ทำปศุสัตว์ และประมง

2.แผนการปรับเปลี่ยนพืชอื่น (N) ประกอบด้วย พื้นที่ปลูกข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และเกษตรผสมผสาน เป้าหมาย 60,000 ไร่

ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ จะใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือบริหารจัดการ โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ผ่านระบบสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ของแต่ละจังหวัด ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม Road Map การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) มีเป้าหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม 1.5 ล้านไร่ ระยะเวลา 5 ปี มีตัวชีวัดต่อความสำเร็จในเชิงปริมาณ คือ จำนวนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมได้รับการพัฒนาให้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในเชิงคุณภาพ เกษตรกรที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพการผลิตทางการเกษตรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยกรมจะให้การสนับสนุนด้านวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ ให้คำแนะนำพันธุ์พืชที่จะปลูกและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และแจกจ่ายปัจจัยการผลิต สารเร่ง พด. ชนิดต่างๆ ที่จำเป็นให้เกษตรกรทำการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อช่วยลดต้นทุน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปรับโครงสร้างใหม่ตามตลาดโลก เคาะยกเลิกระบบโควตา ลอยตัวราคานํ้าตาลก.พ.

ปี2560 ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต่างพยากรณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า จะเป็นอีกปีที่ราคาน้ำตาลทรายไปสู่จังหวะขาขึ้น และทำให้ราคาอ้อยได้อานิสงส์ไปด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นปีที่กฎกติกา ของอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทย กำลังเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โลก

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ในฐานะภาครัฐมีความเห็นต่อทิศทางและความคืบหน้าในการเตรียมพร้อมอย่างไรต่อเรื่องเหล่านี้

 อ้อยและน้ำตาลยังดี

เลขาธิการสอน.มองภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลว่า ปีนี้(2560)จะเป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลรุ่งเรือง โดยวัดได้จาก 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก มาจากที่อ้อยมีราคาดีขึ้นเห็นได้จากมติครม.ที่ก่อนหน้านี้อนุมัติค่าอ้อยขั้นต้น 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่คำนวณจากปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้น เช่น ราคาการขายน้ำตาลล่วงหน้าโควตาข. (ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทยฯ หรืออนท.)ได้ราคาดี จึงนำมาคำนวณทำให้ค่าอ้อยขั้นต้นออกมาดีกว่าปีที่ผ่านมา ตรงนี้จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีความมั่นใจมากขึ้น โดยในปีฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาล2560/2561ที่จะเริ่มต้นฤดูการใหม่ในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไปนั้น จะมีปริมาณอ้อยมากขึ้นกว่าปี 2559/2560 ที่มีปริมาณอ้อยราว 91 ล้านตันอ้อย รอปิดหีบต้นเดือนเมษายนนี้ เพราะราคาอ้อยเป็นที่จูงใจ

ปัจจัยที่ 2 ราคาน้ำตาลในตลาดโลกดีขึ้นกรณีที่อนท.ขายน้ำตาลโควตาข.ในปี2560/2561 ออกไปแล้ว14% หรือราว 1.10 แสนตันน้ำตาล ทำให้มั่นใจว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลจะดีต่อเนื่องต่อไปอีก และปัจจัยที่ 3 รัฐบาลให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของชาวไร่อ้อยในการพัฒนาเกษตรกร มีการเพิ่มผลผลิตต่อไร เพิ่มค่าความหวาน และมีการพัฒนาพันธุ์อ้อย โดยโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยมีการพัฒนาเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ ทำให้อ้อยมีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถเพิ่มผลผลิตได้อีกมาก

 ปรับโครงสร้างใหม่ตามโลก

แม้ช่วง2 ปีมานี้ ราคาอ้อยและน้ำตาลยืนอยู่ในแดนบวก แต่อีกด้านภารกิจหลักที่กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อคือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยให้ความสำคัญกับ5 เรื่อง ไล่ตั้งแต่การปรับแก้กฎหมายให้เหมาะสมและเติบโตได้อย่างมั่นใจในตลาดโลก กติกาต่างๆจะมีการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามกลไกกติกาโลกมากขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มประสิทธิภาพอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งการหาวิธีในการเพิ่มมูลค่าอ้อย โดยการผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมชีวภาพตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่จะใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ

“ยกตัวอย่างให้สามารถนำน้ำอ้อยไปทำอุตสาหกรรมชีวภาพได้ จากเดิมที่นำไปทำโดยตรงไม่ได้ สามารถนำอ้อยไปทำน้ำตาลได้อย่างเดียว ยกเว้นว่านำน้ำตาลหรือกากอ้อยไปทำได้”

นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรฐานต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของแต่ละฝั่งเพื่อมาจัดสรรผลประโยชน์ให้เป็นธรรมมากขึ้น และกำหนดมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายให้สามารถผลิตของที่มีประสิทธิภาพ ที่ปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานฐานด้วยการวัดค่าความหวาน และกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลที่มาตรฐาน 90 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

อีกทั้งการปรับเสถียรภาพของกองทุนอ้อยและน้ำตาลให้มีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อเอาไปใช้ในการกำกับดูแลการผลิตน้ำตาลให้เป็นไปในหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) คือจะต้องมีเงินจากการเรียกเก็บจากรายได้สุทธิของระบบอ้อยและน้ำตาลทรายประมาณ 600 ล้านบาทต่อปีเพื่อมาบริหารกองทุน และต่อไปพอราคาน้ำตาลลอยตัวกองทุนก็ต้องมาบริหารโดยนำเงินดังกล่าวอกมาชดเชยให้ผู้บริโภคถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงเกินไป และสุดท้ายมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาพันธุ์อ้อย เป็นต้น

  ลอยตัวสรุปได้กลางก.พ.

นายสมศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่บราซิลยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทรายว่า เรื่องนี้ถึงแม้จะฟ้องต่อ WTO ไปแล้ว แต่การฟ้องยังอยู่ในขั้นเจรจา เพราะเราเองกำลังแก้ไขปรับปรุงแก้กฎหมายอ้อยและน้ำตาลอยู่แล้ว โดยนำกฎกติกาโลกมาดูให้สอดคล้องกัน ซึ่งการที่บราซิลฟ้องมาก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ เรากำลังจะแก้ไข ปรับปรุง กฎหมายอ้อยและน้ำตาลพอดี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาทางบราซิลขอทราบความคืบหน้าผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference)ก็เข้าใจว่าทางบราซิลยังไม่แฮปปี้ เนื่องจากทางเรายังไม่สามารถตอบได้ เพราะการปรับแก้ไขยังไม่เสร็จทั้งหมด โดยตามแผนจะเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วนงานที่ยังพิจารณาไม่เสร็จ เช่นเรื่อง การยกเลิกน้ำตาลโควตา ก.(บริโภคในประเทศ โควตา ข.(ส่งออกโดยอนท.)และโควตา ค.(ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) และเรื่องการลอยตัวของน้ำตาลในประเทศที่ยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างภาครัฐ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการลอยตัวนั้น ซีกโรงงานน้ำตาลอยากให้ลอยตัวเลย แต่ภาครัฐมองว่าถ้าลอยตัวตอนนี้จะกระทบต่อผู้บริโภคเนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกกำลังสูง ส่วนชาวไร่อ้อยก็มองว่าถ้าราคาน้ำตาลตกต่ำลง ชาวไร่จะอยู่อย่างไร เพราะจะดึงให้ราคาอ้อยร่วงไปด้วย เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนี้จะต้องเร่งสรุปให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะต้องนำไปทำประชาพิจารณ์ แล้วส่งผลเข้าบอร์ดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พอบอร์ดฯอนุมัติก็ออกเป็นกฎระเบียบบังคับใช้ต่อไป

“ถ้าเร่งสรุปได้ทันกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็จะเป็นการฉลองเดือนแห่งความรักไปเลย ขณะนี้บราซิลยังรอดูการแก้ไขจากฝ่ายไทย ซึ่งล่าสุดบราซิลยังไม่มีการตั้งองค์คณะตัดสินเรื่องนี้ และถ้าฝ่ายไทยมั่นใจว่าไม่ผิดและพร้อมแก้ไขก็ไม่ต้องกังวลอะไรเหล่านี้คือความคืบหน้าทั้งหมด

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อุตสาหกรรมชีวภาพ ตัวเลือกที่น่าเป็นห่วง

โดย...พรายพล คุ้มทรัพย์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้นำให้เราเห็นว่าประเทศไทยกำลังเดินไปสู่การเป็น Thailand 4.0 ใน 20 ปีข้างหน้า ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยและหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยจะมีรายได้ต่อหัวต่อปีไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นเหรียญสหรัฐ โดยมียุทธศาสตร์หนึ่ง คือ การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 10 กลุ่ม ที่ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งต้องพัฒนาทรัพยากรให้สามารถรองรับได้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"ทรัมป์"ส่งทีมไล่บี้ส่งออกไทย จี้รับมือเจรจาเอฟทีเอ"ไทย-สหรัฐ"

จับตาไทยถกผู้แทนการค้าสหรัฐ USTR นัดแรก หลัง "ทรัมป์" รับตำแหน่ง ประเดิมเวทีความตกลงการค้า-ลงทุน TIFA หารือปมร้อนมาตรา 301 PWL หวั่นสหรัฐงัดประเด็นคุ้มครองแรงงานกดดันให้สิทธิพิเศษ GSP ด้านอัครราชทูตพาณิชย์ไทยประจำวอชิงตัน ฟันธงระยะแรกส่งออกไทยได้ประโยชน์ แต่ระยะกลางคู่ค้าไทยในตะวันออกกลางถูกสหรัฐทุบราคาน้ำมันจนกำลังซื้อหด สุดท้ายการเมืองภายในบี้เงินดอลลาร์ เร่งรัฐบาลรับมือเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ

ทพ.ประโยชน์ เพ็ญสุต อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการคาดการณ์ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า จะเกิดผลกระทบกับประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะเร่งด่วนช่วง 1-2 ปีแรก ปีที่ 3 และช่วงปีที่ 4 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ-การเมืองแตกต่างไปจากสมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามาเป็นอย่างมาก

ด่านแรกม.301-GSPแรงงาน

สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ก็คือการประชุมกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐ(TIFA)ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดในเดือนเมษายน 2560 เบื้องต้นคาดว่าสหรัฐจะสอบถามและประเมินการดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของฝ่ายไทย ว่าเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่วางเอาไว้หรือไม่ โดยสหรัฐจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าสหรัฐตามกฎหมายการค้าพิเศษมาตรา 301 (Special 301) ก่อนที่จะประกาศผลการตัดสินในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกสหรัฐจัดลำดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือ Priority Watch List (PWL) ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 9 และจะขึ้นเป็นปีที่ 10 ในปีนี้ โดยกฎหมายการค้าฉบับนี้ได้ให้อำนาจสหรัฐประกาศตอบโต้ทางการค้าได้กรณีที่ประเทศนั้น ๆ ถูกจัดลำดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่พร้อมจะถูกตอบโต้เป็นอันดับแรก หรือ Priority Foreign Countries (PFC) ซึ่งประเทศไทยเคยถูกจัดลำดับอยู่ในกลุ่ม PFC ในปี 2535 กรณีการไม่คุ้มครองสิทธิบัตรยา-การละเมิดลิขสิทธิ์อย่างกว้างขวาง แต่ได้มีการเจรจาและแก้ไขกฎหมายจนกระทั่งถูกลดชั้นมาอยู่ในกลุ่ม WL ถึง PWL ตามลำดับ

สำหรับแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ล่าสุดสหรัฐเห็นว่าไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการละเมิดทั้งซอฟต์แวร์-อินเทอร์เน็ต-การปลอมเครื่องหมายการค้า-การขโมยสัญญาณเคเบิล/ดาวเทียมส่วนการแก้ไขกฎหมายในส่วนพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ภาคเอกชนสหรัฐยังเห็นว่ามีข้อบกพร่องอยู่รวมไปถึงการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย

"ประเทศไทยมีโอกาสการปรับลดสถานะ PWL ลง จากการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งยังมีคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ชุดรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง แต่หากเรายังติดอยู่ในสถานะ PWL ต่อไปเป็นปีที่ 10 ก็มีโอกาสที่สหรัฐอาจจะใช้มาตรการทางการค้าได้ แม้ว่าที่ผ่านมาในอดีตสหรัฐไม่เคยหยิบยกมาตรการตอบโต้ทางการค้ามาใช้จริง แต่หลักการนี้ก็ยังมีอยู่ในกฎหมาย" ทพ.ประโยชน์กล่าว

นอกจากนี้สหรัฐอาจจะมีการติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาความคุ้มครองและสวัสดิภาพแรงงานต่างด้าวตามข้อร้องเรียนของสหภาพแรงงานสหรัฐด้วยการขอให้ฝ่ายไทยแก้กฎหมายแรงงานซึ่งสำนักงานได้มีการหารือในข้อกังวลนี้กับปลัดกระทรวงแรงงานแล้วและทางกระทรวงแรงงานรับที่จะนำไปพิจารณาในคณะกรรมการไตรภาคีต่อไป

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาสหภาพแรงงานสหรัฐเคยเรียกร้องให้ตัดสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร(GSP)ที่สหรัฐให้กับไทยในปัญหาการคุ้มครองแรงงานมาแล้ว โดยในปีนี้ฝ่ายไทยเตรียมเสนอให้สหรัฐพิจารณาให้สิทธิพิเศษ GSP สินค้าเครื่องเดินทาง เนื่องจากสหรัฐมีการนำเข้าสินค้ารายการนี้คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญ โดย 60% เป็นการนำเข้าจากจีน 10% จากเวียดนาม และ ไทยเพียง 1% ในมูลค่าประมาณ 90 ล้านบาท/ปี ดังนั้นหากไทยได้รับ GSP ในรายการนี้ (เสียภาษี 0%) ก็จะช่วยขยายตลาดส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น

"มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐจะหารือถึงประเด็นที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนตามที่ระบุไว้ในรายงาน National Trade Estimate (NTE) เมื่อปี 2559 อาทิ การใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสุกร และการขึ้นภาษีสินค้าบางรายการด้วย

เลิก TPP ส่งออกไทยได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ ณ วอชิงตัน ดี.ซี. ได้วิเคราะห์ผลกระทบการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อประเทศไทยไว้ 3 ระยะ ในช่วงเวลา 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง คือระยะสั้นช่วง 1-2 ปีแรก ระยะกลางในปีที่ 3 และระยะยาวในปีที่ 4

โดยระยะสั้นประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์จากโยบายทรัมป์ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การยกเลิกการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และหวนกลับมาเจรจาความตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีแทน จะส่งผลดีกับการส่งออกสินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าของ 12 ประเทศสมาชิก TPP ได้ 2) การดำเนินนโยบายกดดันจีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐอาจยกประเด็นที่เคยเป็นข้อพิพาทกับจีน เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การแกะรอยทางการค้า, การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนอ่อนค่าจนทำให้สินค้าจีนได้ประโยชน์ และข้อพิพาททะเลจีนใต้ มาเป็นเหตุผลในการใช้มาตรการทางการค้ากับจีน และ 3) นโยบายการดึงเงินลงทุนกลับสหรัฐ จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและกำลังซื้อฟื้นขึ้น

"ในประเด็นค่าเงินต้องติดตามต่อไปว่า สหรัฐจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดำเนินการผ่านกลไกขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขอให้พิจารณามาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างไร ในประเด็นนี้มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐจะปรับขึ้นภาษีได้สูงเพราะจีนจัดเป็นประเทศ Non-Market Economy คือ มักจะไม่ใช้กลไกตลาดในการกำหนดราคา ซึ่งตามหลักแล้วจะมีโทษสูงกว่า หรือภาครัฐ/เอกชนสหรัฐอาจร้องให้รัฐบาลสหรัฐพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping หรือ AD) สินค้าจีนก็เป็นได้" ทพ.ประโยชน์ อัครราชทูตพาณิชย์ไทยประจำวอชิงตัน ดี.ซี.กล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายแรกของรัฐบาลทรัมป์ก็คือ การฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ขยายตัวได้ 4% จากปัจจุบัน 2% ในประเด็นนี้จะเห็นว่า ประธานาธิบดีเดินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ทันที เริ่มจากการยกเลิกข้อตกลง TPP ซึ่งเป็นคุณูปการกับไทย ทำให้เวียดนามไม่ได้มีแต้มต่อในการแข่งขันกับสินค้าไทยภายใต้ TPP ต่อไป ตามด้วยการดำเนินการกับประเทศที่สหรัฐเสียเปรียบทางการค้า ตามรายการสินค้าที่สหรัฐมีมูลค่าการนำเข้าสูงจาก 4 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน สหรัฐนำเข้าสินค้าในสัดส่วน 20% หรือปีละ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่สหรัฐส่งออกไปจีนได้เพียง 500,000 เหรียญสหรัฐ "เท่ากับขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมาก" รวมไปถึงการรื้อฟื้นขอเจรจาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ใหม่ ซึ่งจะมีผลกับประเทศเม็กซิโก ในฐานะแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 2 ของสหรัฐในสัดส่วน 13% และแคนาดาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 มีสัดส่วน 13%

"ประเทศไทยไม่อยู่ในเป้าหมายการใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ เพราะไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 18 มีสัดส่วนเพียง 1.3% รองจาก เวียดนามที่มีสัดส่วน 1.8% ดังนั้นหากสหรัฐใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าจีน จะทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น มีผลทำให้ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่ถือว่ากำลังซื้อของสหรัฐจะฟื้นและมีผลดีกับการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 1-2 ปีแรก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น กุ้ง ข้าว อาหารสำเร็จรูป และสินค้ากึ่งวัตถุดิบที่ไทยผลิตป้อนให้กับโรงงานในสหรัฐ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ส่งให้กับโรงงานญี่ปุ่นในสหรัฐ" ทพ.ประโยชน์กล่าว

กดดันราคาน้ำมัน เสถียรภาพเงินดอลลาร์

ระยะที่ 2 ช่วงปีที่ 3 อาจจะเกิดผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการค้ามากเกินไป ส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกซบเซาลง เศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับผลจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานและการฟื้นฟูแหล่งผลิตน้ำมันเชลล์ออยล์ จะทำให้ปริมาณซัพพลายน้ำมันในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจจะปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบทางอ้อมกับประเทศผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น ประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซีย กลุ่มตะวันออกกลาง เป็นต้น

ส่วนระยะ 3 ในปีที่ 4 นั้น ทพ.ประโยชน์ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์มีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ อาจจะทำให้บทบาทความเป็นตำรวจโลกของสหรัฐลดลง มีผลเชื่อมโยงไปถึงความเชื่อมั่นต่อสหรัฐและกระทบกับเสถียรภาพเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐว่า "จะเป็นอย่างไรต่อไป" อีกทั้งต้องจับตามองปฏิกิริยาการตอบโต้จากรัฐบาลจีนว่า "จะดำเนินการอย่างไร" หากสหรัฐใช้มาตรการทางการค้า (Protectionism) กับสินค้าจีนมากขึ้น อาจจะทำให้เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ประชาชนตกงาน นำไปสู่ปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศได้

FTA ไทย-สหรัฐเกิดแน่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมการรับมือกับนโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์ก็คือ 1) ไทยต้องเตรียมท่าที "จุดยืน" ที่ชัดเจนว่า หากมีการฟื้นการเจรจาทวิภาคีเปิดการค้าเสรี FTA ไทย-สหรัฐแล้ว "ฝ่ายไทยจะรับได้หรือไม่" หากจะต้องเปิดการเจรจากับสหรัฐเพียงประเทศเดียว แต่ต้องยกระดับมาตรฐานการเจรจาให้เทียบเท่ากับความตกลง TPP และ 2) ไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานใหม่ ๆ ของสหรัฐที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านแรงงาน-สิ่งแวดล้อม รวมถึงการออกกฎหมายใหม่ ๆ หากไทยสามารถผลิตได้ตามมาตรฐานเหล่านี้ก็จะส่งออกไปยังตลาดสหรัฐได้ แต่หากปรับตัวไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยอย่างมาก

"ขณะนี้มีคำกล่าวของนายปีเตอร์ นาวาร์โร ผู้อำนวยการสภาการค้าแห่งทำเนียบขาว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ระบุว่า การยกเลิก TPP อาจทำให้จีนมีบทบาทในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น ดังนั้นสหรัฐควรหันมาเจรจาความตกลง FTA กับประเทศญี่ปุ่น-สิงคโปร์-มาเลเซีย และไทย ซึ่งหากเป็นดังที่กล่าวจริงเท่ากับว่า ประเทศไทยอยู่ใน List ที่สหรัฐต้องการเจรจา FTA ด้วยแล้วไทยจะรับได้หรือไม่ หากต้องเจรจากับสหรัฐในมาตรฐานเดียวกับการเจรจา TPP" อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ตั้งข้อสังเกตไว้

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โมเดลใหม่ส.ป.ก.‘ทำกินจริง’ ก่อนแจกนำร่อง1.1แสนไร่หลังยึดคืนจากนายทุน

เปิดโมเดลพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก. หลังใช้ ม.44 ยึดที่คืนจากนายทุน นำร่อง 1.11 แสนไร่ ใช้งบกว่า 960 ล้านปรับพื้นที่-สร้างถนน ขุดบ่อนํ้าเพื่อเกษตร อุปโภคบริโภควงในเผย “ฉัตรชัย” หวังแก้ปัญหาเกษตรกรขายที่ในอนาคต-ลั่นต้องทำกินได้จริง ก่อนแจก

สืบเนื่องจากผลการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 36/2559 ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ถึง วันที่ 11 มกราคม 2560 ทาง ส.ป.ก.ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายการยึดคืนที่ดินคืนจากนายทุนที่ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายใน 28 จังหวัด รวม 438 แปลง เนื้อที่ 4.43 แสนไร่ ผลการดำเนินงานตามขั้นตอนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.พื้นที่ยึดคืนได้ 3.10 แสนไร่ 2.พื้นที่ต้องคืนให้ผู้ครอบครองเดิม เนื้อที่ 1.26 แสนไร่ และ 3.พื้นที่รอคณะกรรมการกฎษฎีกาตีความ เนื้อที่ 6,415 ไร่

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลการประชุม (19 ม.ค.60) ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการและประธานในที่ประชุมได้แสดงความเป็นห่วง หลังจากที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ได้ยึดคืนพื้นที่มาแล้วจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้นายทุนกลับมาบุกรุกอีก ทั้งนี้หากย้อนกลับไปพิจารณาสาเหตุที่จัดสรรให้แล้วทำไมเกษตรกรจึงนำที่ดินไปขายหรือไม่เข้าทำกินด้วยตนเอง จนกระทั่งนายทุนรายใหญ่เข้ามากว้านซื้อ เป็นเพราะเกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดินแล้วไม่สามารถทำกินได้ จึงมีความคิดว่าน่าจะมีการพัฒนาที่ดินก่อน แล้วจึงจัดที่ดินตามความเหมาะสมโดยเนื้อที่ไม่ต้องมากแต่เกษตรกรสามารถอยู่ได้ ดังนั้นควรเร่งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และส่งมอบให้ คณะกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติ (คทช.)ดำเนินการจัดสรรให้เกษตรกรต่อไป

“การพัฒนาพื้นที่ที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ จะนำร่องแปลงพื้นที่ตั้งแต่ขนาด 300 ไร่ขึ้นไป รวมเนื้อที่ประมาณ 1.11แสนไร่ ประมาณราคางาน 8,600 บาทต่อไร่ งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ราคางานละ 1 หมื่นบาทต่อไร่ งานสำรวจ รังวัดวงรอบแปลงที่ดิน ราคางานละ 100 บาทต่อไร่ งานปรับพื้นที่ เช่น ถางป่า ขุดตอ ปรับเกลี่ยพื้นที่ ราคางานละ 2,500 บาท และงานพัฒนาระบบโครงข่ายถนน เช่นงานก่อสร้างถนนลูกรังสายหลักและถนนซอย ราคางานละ 4,000 บาทต่อไร่ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 960 ล้านบาท”

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า พล.อ.ฉัตรชัย ยังกล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อดำเนินการปรับสภาพื้นที่แล้วจะสั่งการให้หน่วยงานต่างๆภายในกระทรวงเกษตรฯ เช่นกรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน เข้าไปตรวจสอบว่าพื้นที่นั้นเหมาะสมต่อการเกษตรประเภทใดปลูกพืชหรือสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำกินได้จริง

อย่างไรก็ตามกรอบระยะเวลาพื้นที่ที่ยึดคืนได้ ตาม ม.44 นั้น เนื้อที่ 3.10 แสนไร่ จากทั้งหมด 4.43 แสนไร่ (ตามตาราง) จะนำมาดำเนินการจัดที่ดินตามนโยบาย คทช.ดังนี้ 1. พื้นที่ จำนวน 1 แสนไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ 3 หมื่นไร่ จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560 ส่วนพื้นที่ 7 หมื่นไร่ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 2.พื้นที่ 1.50 แสนไร่ จะดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินเดิม โดยจะจัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 และ 3.ในพื้นที่ส่วนที่เหลือ จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2561

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บาทเปิด35.05บาทต่อดอลล่าร์อ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 35.05 บาทต่อ ดอลล่าร์ กลับมาอ่อนค่าหลังดอลล์แข็งจากวิตกการเมืองฝรั่งเศส

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.05 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่า จากช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.03/08 บาท/ดอลลาร์ โดยดอลลาร์กลับมาแข็งค่าหลังมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดเนื่องจากความกังวลเรื่องการเมืองของฝรั่งเศส

"ตลาดให้ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งการหาเสียงของตัวเต็งมีนโยบายจะนำฝรั่งเศสออกจากอียู ทำให้เกิดความกังวลว่าอียูอาจล่มสลาย จึงมีแรงซื้อดอลลาร์กลับมา"

นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.00-35.10 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560

กรมชลฯเตือนอย่าตื่นภัยแล้งให้ใช้น้ำตามแผนบริหารจัดการ

ชัยนาท-ผอ.สำนักชลประทานภาคกลางฝั่งตะวันตกขออย่าตื่นข่าวลือภัยแล้งให้ประชาชนร่วมมือใช้น้ำตามแผนบริการจัดการ

เมื่อวันที่8ก.พ.60 นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่12 ชัยนาท รับผิชอบดูแลการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำภาคกลางฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันตัวเลขปริมาณน้ำใน4เขื่อนหลักของประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 3,005ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติต์4,808ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน903ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 988ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง4เขื่อน มีปริมาณน้ำ 9,704ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะนำมาจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภค1,100ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระบบนิเวศก์1,450ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อพืชสวนพืชต่อเนื่อง400ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการเพาะปลูกพืชทดแทน 3,000ล้านลูกบาศก์เมตรและน้ำสำรองในฤดูแล้งเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม2560 อีก3,754ล้านลูกบาศก์เมตร

ดังนั้น เกษตรกรที่จะทำการเพาะปลูกในระยะนี้ควรเป็นพืชใช้น้ำน้อย ส่วนการทำนาต่อเนื่องควรพิจารณาเรื่องแหล่งน้ำสำรอง เพราะพื้นที่ภาคกลางมีพื้นที่การเกษตรหน้าแล้งตามแผน2.6ล้านไร่ แต่มีการปลูกข้าวแล้ว3.9ล้านไร่ ซึ่งในส่วนที่เกินแผนจะต้องรับความเสี่ยงที่จะเสียหายเอง แต่หากประชาชนร่วมมือกับทางราชการ ใช้น้ำตามแผนอย่างจริงจังก็มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ จึงต้องขอความร่วมมืออย่างเข้มข้นเป็นการรีเซ็ตระบบการใช้น้ำให้เข้าที่เข้าทาง

ส่วนของนาลุ่มขอให้ทำนาตามระบบเดิมคือเริ่มเพาะปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเพื่อให้ทันต่อการเก็บเกี่ยวก่อนน้ำหลากที่พื้นที่นาลุ่มจำเป็นต้องใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงเก็บน้ำ ส่วนนาดอนควรเหลื่อมเวลาเพาะปลูกไปหลังพื้นที่นาลุ่มเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งน้ำต้นฤดูกับพื้นที่นาลุ่ม

เพราะนาดอนไม่ต้องกังวลกับน้ำหลากเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง และสามารถทำนาปรังต่อเนื่องได้ในช่วงน้ำหลากได้ "หากทุกคนร่วมมือกันเคารพกติกาตามแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในอนาคตจะลดปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งลงได้อย่างแน่นอน"นายสุชาติกล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560

คอลัมน์ อุตสาหกรรม: เร่งเครื่องอุตสาหกรรม 4.0 หนุนปัจจัยเศรษฐกิจไทย 

          อุตสาหกรรม 4.0 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทั้งรัฐบาลและเอกชนรายใหญ่ต่างนำมาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 คือการสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตภาคอุตสาหกรรม การกำหนดพื้นที่และนำระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมเข้าไปยังแหล่งที่ต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุน ตลอดจนการสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงสิ่งที่รัฐต้องการดำเนินการ หากทุกอย่างที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้นี้เป็นไปตามแผนในระยะเวลาที่กำหนดคงเห็นประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาอุตสาหกรรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยนโยบายที่สำคัญ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ ส่งเสริมเอสเอ็มอี และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เฟิสต์เอสเคิร์ฟ และนิวเอสเคิร์ฟ

          สำหรับกลุ่มเฟิสต์เอสเคิร์ฟ ได้แก่ กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร ขณะที่กลุ่มนิวเอสเคิร์ฟ ได้แก่ กลุ่มหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร รวมไปถึงการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้บังคับใช้ได้ในไตรมาสแรกของปี 2560 เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้านผ่านกลไกต่างๆ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในระยะ 20 ปี (2560-2579) โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายว่า ในระยะ 20 ปีจากนี้ แนวทางการยกระดับอุตสาหกรรมต้องเพิ่มผลิตภาพ (โปรดักต์ทิวิตี้) เพื่อลดจำนวนการผลิตปริมาณมากไปสู่การผลิตน้อยลง แต่ขายสินค้าได้มูลค่าที่สูงขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันยังต้องเน้นการส่งเสริมภาคบริการเพิ่มขึ้นด้วย

          ทั้งนี้ โมเดลที่ประเทศไทยกำลังดำเนินอยู่นั้นถือว่าเหมาะสม ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยต้องขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วย ภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และ 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการ

          จากแนวคิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1.เปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี โดยเกษตรกรต้องมีรายได้มากขึ้นและเป็นเกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการในเวลาเดียวกันด้วย 2.เปลี่ยนจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแบบเดิม ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็นสมาร์ทอองเทอร์เพรอเนอร์ หรือ สตาร์ทอัพ คือการเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนและมีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจากการให้บริการแบบเดิมซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่การบริการที่สร้างมูลค่าสูง 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง

          "สุวิทย์ เมษินทรีย์" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ได้มีการปรับทิศทางการส่งเสริมการลงทุน โดยเน้นสร้างสมดุล คือดูแลการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในสมาร์ทฟาร์ม เอสเอ็มอีเกษตร พลังงานทดแทน โดยในปีนี้บีโอไอจะขับเคลื่อนใน 5 มิติใหม่ เพื่อส่งเสริม การก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 และไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่  1.การพัฒนาบุคลากร โดยการพัฒนานักวิจัยและพัฒนาจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และสถาบันการศึกษา

          2.พัฒนาวิสาหกิจ โดยส่งเสริมตั้งแต่ระดับสตาร์ทอัพไปจนถึงระดับที่ใช้นวัตกรรม ขณะเดียวกันก็จะต้องให้ความสำคัญกับวิสาหกิจชุมชนที่ส่งเสริมกับการใช้วัตถุดิบทางการเกษตร (โลคัล อีโคโนมิก) 3.สนับสนุนอุตสาหกรรมเป็นรายเซ็กเตอร์ เช่น การส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 4.ด้านเทคโนโลยี โดยจะเน้นดึงดูดการลงทุนที่มาจากต่างประเทศและสถาบันวิจัยและพัฒนาชั้นนำ และ 5.การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาจากนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลให้การส่งเสริม เช่น ระบบราง ศูนย์ประชุม ระบบดิจิทัล และซอฟต์แวร์ เป็นต้น

          "คาดว่าการลงทุนในปีหน้าจะได้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับใหม่ที่จะช่วยให้เกิดความสะดวกในการลงทุนมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 2560 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความ เชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ ได้แก่ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้ผ่านความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พ.ศ. ...  พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พ.ศ. ... ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา" สุวิทย์ กล่าว

          "อุตตม สาวนายน" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปทบทวนเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในแต่ละหน่วยงานที่จะขับเคลื่อนในปี 2560 เพื่อนำมาหารือในที่ประชุมผู้บริหารทุกวันพุธ เพื่อสรุปผลและนำรายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายในไม่

          เกินไตรมาสแรก เพื่อที่รัฐบาลจะได้ติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์รัฐบาล โดยการดำเนินงานปี 2560 กระทรวงจะต้องดำเนินงานให้สอดรับกับอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะต้องเปลี่ยนบทบาทการกำกับมาเป็นผู้สนับสนุนให้มากขึ้น

          นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้หารือถึงการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกชุดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป็นสำนักงานชั่วคราวโดยจะดึงพนักงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ส่วนหนึ่งมาเป็นทีมปฏิบัติงาน โดยมีผู้ว่าการ กอน. เป็นผู้อำนวยการ

          สำหรับแผนดำเนินงานที่จะเร่งขับเคลื่อนในปี 2560 เพื่อสนับสนุนการลงทุนให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 มี 5 เรื่อง ได้แก่ 1.สนามบินอู่ตะเภา 2.ท่าเรือแหลมฉบังเฟสสาม 3.รถไฟความเร็วสูงภาคตะวันออก 4.อุตสาหกรรมไฮเทค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ 5.การพัฒนาเมืองใหม่ คือ ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง

          ทั้งนี้ คาดหวังว่าอุตสาหกรรม 4.0 จะมีส่วนสำคัญในการเป็นเครื่องจักรช่วย ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโต และสิ่งสำคัญบรรดาฟันเฟีองภาคเอกชนก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรักษาฐานธุรกิจให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในระยะยาว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560

ยาง-ปาล์ม-อ้อย ราคาดี อย่าพึ่งตีปีก..รอดูมีนาฯ

ในขณะที่หลายหน่วยงานพยากรณ์ปี 2560 ราคาสินค้าเกษตรยังคงไม่ดีขึ้นมากไม่ต่างจากปีที่แล้วเท่าไรนัก เพราะภาวะเศรษฐกิจของโลกยังไม่กระเตื้องเท่าไหร่ แต่จู่ๆยางพารา ปาล์มน้ำมันและ อ้อยกลับมามีราคาพุ่งกระฉูด เหนือความคาดหมาย

ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายระบบเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อธิบายสาเหตุที่ทำให้พืชเศษฐกิจ 3 ชนิด มีราคาสูงขึ้นว่า เกิดจากผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันลดลงไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากน้ำท่วมภาคใต้ เพราะพื้นที่ปลูกยางและปาล์มน้ำมัน 70-80% ของบ้านเราอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับจีนมีกำลังผลิตรถยนต์และล้อรถเพิ่มขึ้น เลยส่งผลให้ยางแผ่นแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ที่มีราคาแค่เพียง กก.ละ 60 บาท เมื่อสิ้นปี 59 พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ กก.ละ 92.59 บาทต่อ กก. (ราคา ณ 4 ก.พ.60)

ปาล์มน้ำมันก็เช่นกัน เมื่อปลายปีที่แล้วราคาไม่ถึง กก.ละ 5 บาท ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 6.18 บาทต่อ กก. เนื่องจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น จึงมีการนำปาล์มน้ำมันไปผสมทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซล B10 กับ B15 เพิ่มมากขึ้น

ส่วนอ้อยโรงงานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ดร.ภูมิศักดิ์ บอกว่า เป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก ไม่ใช่มีเฉพาะในบ้านเราเท่านั้น หลายประเทศทั่วโลกที่เป็นแหล่งปลูกอ้อยเจอภาวะภัยแล้งเหมือนกัน เลยทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กขึ้นไปอยู่ที่ 20.33-21.00 เซนต์ต่อปอนด์ ราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนอยู่ที่ 537.50 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เป็นราคาค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่สูงมากนัก

กระนั้น ดร.ภูมิศักดิ์ เตือนเกษตรกรว่า อย่าเพิ่งดีใจกับราคาที่พุ่งขึ้นมาในขณะนี้จะเป็นราคาที่ยืนอยู่ได้นาน ให้รอดูราคาหลังจากเดือน มี.ค. อีกที จะมีผลผลิตที่ฟื้นตัวจากน้ำท่วมจะออกมาสู่ตลาดมากขึ้นแค่ไหน และต้องใช้เวลานานเท่าไรผลผลิตที่จะกลับมาเท่าเดิม เพราะสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิด ผลผลิตส่วนใหญ่ที่ออกมาจะถูกนำไปขายเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานเป็นหลัก ฉะนั้นราคาจึงขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศเป็นหลัก.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ถึงคิวรีดภาษีน้ำหวาน คลังให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว2ปี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตน้ำหวาน เพื่อทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ประชาชนลดน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุแก่โรคภัยไข้เจ็บหลายโรค โดยการจัดเก็บภาษีน้ำหวานต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ปลูกอ้อย โรงงานผลิตน้ำตาล รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลทั้งหมด ว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งนี้อย่างไร ซึ่งต้องมีการคุยให้ได้ข้อยุติ และให้เกิดความสมดุล

ล่าสุดได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตน้ำตาล ซึ่งสมาคมเห็นด้วยกับการเก็บภาษีน้ำหวานครั้งนี้ แต่เสนอขอเวลาปรับตัว 5 ปี โดยกระทรวงการคลังมองว่านานไป จึงได้สรุปว่าให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี แต่กระทรวงการคลังจะต้องพิจารณารูปแบบในการจัดเก็บและสรุปรายละเอียดอัตราการจัดเก็บเท่าไรและเก็บอย่างไร

สำหรับหลักการเบื้องต้นจะหาแนวทางการจูงใจให้มีการลดน้ำตาลในเครื่องดื่มน้ำหวาน ซึ่งหากผู้ประกอบการลดได้ จะมีการลดภาษีให้ โดยรายละเอียดจะสรุปและเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป

“การเก็บภาษีน้ำหวานจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไม่ได้มุ่งเรื่องรายได้เป็นสำคัญ แต่จะเน้นเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังศึกษามานานแล้ว”

นายอภิศักดิ์กล่าวถึงกรณีการเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินว่าไม่ได้เกิดจากปัญหากระทรวงการคลังถังแตก แต่เป็นการเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะภาษีน้ำมันเครื่องบินเก็บอัตรา 20 สตางค์ต่อลิตร มานานกว่า 20 ปี โดยในปัจจุบันภาษีน้ำมันเบนซินเสียลิตรละ 5-6 บาท ดีเซลลิตรละ 5 บาท และภาษีน้ำมันก๊าซซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้เป็นวัตถุดิบในเครื่องบินเสียลิตรละ 3 บาท ดังนั้นการเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน 4 บาท จะมีความเป็นธรรมกับประชาชนที่โดยสารพาหนะที่ใช้น้ำมันประเภทอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่อง โดยเงินคงคลังสิ้นเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ 7.49 หมื่นล้านบาท ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะได้ให้นโยบายไม่ให้กู้เงินมาไว้ในคงคลังจำนวนมากเพราะเป็นภาระดอกเบี้ย โดยเงินคงคลังที่มีอยู่ ได้มาจากหลายส่วน เช่น การเก็บภาษี ซึ่งที่ผ่านมาเก็บได้เกินเป้าหมาย และมาจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล โดยในปีงบประมาณ 2560 ตั้งงบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลเพิ่งกู้ใช้ไป 1 แสนล้านบาท ทำให้เหลืออีก 3 แสนล้านบาท และมีวงเงินกู้ชั่วคราว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ามีสภาพคล่องเงินสดอีกมากและไม่มีปัญหา

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีเงินคงคลังลดลงมาอยู่ในระดับต่ำว่า เป็นแผนบริหารจัดการของกระทรวงการคลัง เพราะขณะนี้รัฐบาลต้องการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินออกสู่ระบบโดยเร็ว ขณะที่ความต้องการใช้เงินสามารถทำได้ภายใน 2 วัน ดังนั้น ปริมาณเงินคงคลังจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการบริหารเงินของรัฐบาลแต่สถานการณ์แต่ละช่วง เพราะบางปีเงินคงคลังเหลือ 15,000-20,000 ล้านบาท ยังไม่เคยมีปัญหา เพราะสามารถบริหารจัดการได้และแนวโน้มเงินภาษีหลายด้านยังเริ่มไหลเข้าคลังเพิ่ม จึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด การที่หลายฝ่ายตกใจ เพราะเป็นประเด็นทางการเมือง จึงทำให้เกิดความหวั่นวิตกกังวลดังกล่าว

“การที่มีผู้ออกมาให้ข่าวเรื่องสถานะการเงินของรัฐบาล จนมีการโยงไปถึงการขึ้นภาษีหรือเตรียมขึ้นภาษีต่างๆ ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมีการโยงให้ไปเป็นเรื่องเดียวกันได้ เพราะการขึ้นภาษีได้จะต้องมีการศึกษาและดำเนินการขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเหมาะสม ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งการไปพูดโยงเรื่องเงินคงคลัง กับเรื่องภาษี ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน” นายสมคิดกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คลังชะลอรีดภาษีน้ำหวาน2ปี

คลังให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี ก่อนเก็บภาษีน้ำหวาน "อภิศักดิ์" ยันรัฐไม่ได้ถังแตก

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตน้ำหวาน เพื่อทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น  แต่ต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ปลูกอ้อย โรงงานผลิตน้ำตาล รวมไปถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลทั้งหมด ซึ่งต้องมีการคุยให้ได้ข้อยุติและให้เกิดความสมดุล นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุดได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตน้ำตาล

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุดได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตน้ำตาล ซึ่งเห็นด้วยกับการเก็บภาษีน้ำหวาน แต่ขอเวลาปรับตัว 5 ปี แต่คลังมองว่านานไป และได้สรุปขอเวลาปรับตัว 2 ปี โดยคลังจะสรุปรายละเอียดว่าจะเก็บอัตราเท่าไหร่และอย่างไร หลักการเบื้องต้นจะเก็บภาษีจูงใจให้มีการลดน้ำตาลในเครื่องดื่ม หากลดได้จะมีการลดภาษีให้ โดยจะสรุปรายละเอียดและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

"การเก็บภาษีน้ำตาลไม่ได้มุ่งรายได้เป็นสำคัญ แต่จะเน้นการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนซึ่งคลังศึกษามานานแล้ว" นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินไม่ได้เกิดจากรัฐบาลมีปัญหาสภาพคล่อง หรือถังแตก แต่เป็นการเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรม เพราะภาษี น้ำมันเครื่องบินเก็บ 20 สตางค์/ลิตร มานานกว่า 20 ปี โดยปัจจุบันภาษีน้ำมันเบนซินเสีย 5-6 บาท ดีเซลลิตรละ 5 บาท ส่วนน้ำมันที่ใช้ในเครื่องบินเสียลิตรละ 3 บาท การเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน 4 บาท จึงเป็นธรรมกับประชาชนที่โดยสารพาหนะที่ใช้น้ำมันประเภทอื่นๆ

 นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่อง โดยเงินคงคลังสิ้นเดือน ธ.ค.จำนวน 7.49 หมื่นล้านบาท ถือว่าเหมาะสม เพราะได้ให้นโยบายไม่ให้มีการกู้เงินมาไว้ในเงินคงคลังจำนวนมาก เพราะมีรายจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งระดับเงินคงคลังที่เหมาะสมคือ 5 หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เงินคงคลังเป็นเงินสดที่รัฐบาลได้มาจากหลายส่วน เช่น การเก็บภาษี ซึ่งที่ผ่านมาได้เกินเป้าหมาย อีกส่วนมาจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล โดยปีงบประมาณ 2560 ตั้งงบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลกู้ 1 แสนล้านบาท เหลืออีก 3 แสนล้านบาท และมีวงเงินกู้ชั่วคราว 8 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าสภาพคล่องเงินสดมีอีกมาก

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คลังยันเดินหน้าเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

"รมว.คลัง" ยืนยันเดินหน้าเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มน้ำตาลสูง พร้อมให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวอีก 2 ปี ก่อนหาข้อยุติที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ยังคงเดินหน้าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ (ภาษีน้ำหวาน) โดยยังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการ ที่ขอเวลาในการปรับตัว 5 ปี แต่ในที่สุดกระทรวงการคลังต่อรองให้เหลือ 2 ปี อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการหารืออีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อยุติ และ เป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้มากที่สุด

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560

จับตา”ทรัมป์”ขึ้นภาษีรายสินค้า กระทบแน่!!ส่งออกไทยระยะยาว เร่งสรุปเจรจาเอฟทีเอชดเชย

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงายนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามและศึกษาแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า มีหลายนโยบายอาจกระทบทางอ้อมกับไทย ได้แก่ นโยบายกีดกันทางการค้าโดยสหรัฐฯขึ้นภาษีรายสินค้าและใช้กับทุกประเทศ จะส่งผลต่อการสินค้าไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องจักรสำหรับการพิมพ์ กล้องถ่ายโทรทัศน์ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางรถยนต์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ผลไม้กระป๋อง และกุ้งสดแช่แข็ง

อีกนโยบายคือนโยบายการคลังแบบขยายตัว เพิ่มการขาดดุลการคลัง เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการจ้างงานในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ย และเสี่ยงต่อค่าเงินและตลาดทุนผันผวน รวมทั้งนโยบายสหรัฐฯเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน จะดึงราคาน้ำมันโลกลดลงอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จะจะกระทบส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทย ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรมีการประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)แก่ไทย และการทบทวนสถานะประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) ด้านละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อว่าจะยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เคยใช้เป็นปกติ ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ ไทยจะใช้เวทีการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (ทิฟฟา) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กระชับความร่วมมือการค้าและการลงทุน พร้อมๆกับเร่งเจรจาเอฟทีเอกับนานาประเทศให้บรรลุตามเป้าหมาย

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2560 ขยายตัว 2.5-3.5% ในส่วนนี้เป็นการส่งออกไปสหรัฐฯ 11.4% หรือมูลค่า 2.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งผลกระทบนโยบายของสหรัฐฯไตรมาส1/2560 ต่อการค้าของไทย จะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนัก เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูง โดยไทยได้ดุลการค้ามาตลอดเฉลี่ยปีละ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และโอกาสส่งออกจะมากขึ้น หากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและเม็กซิโก รวมทั้งถอนตัวจากความตกลงหุ้นเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ส่วนการกีดกันแรงงานและผู้อพยพจากต่างประเทศเข้าสหรัฐฯอาจกระทบต่อแรงงานไทยแต่น่าจะใช้โอกาสนี้ยกระดับมาตรฐานแรงงาน และเป็นโอกาสให้นักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศมุสลิม เดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560

มิตรผลจับมือสกว.ปั้นนักวิจัยป.โท-เอกต่อยอดอ้อยน้ำตาลสู่ชีวภาพ

กลุ่มมิตรผลจับมือ สกว.ปั้นบุคลากรวิจัยทั้ง ป.โท-เอก สร้างนวัตกรรมต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลไทยสู่เศรษฐกิจชีวภาพ

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวภายหลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอกกับกลุ่มมิตรผลว่า เป็นโอกาสอันดีที่ สกว.ได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลในการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยด้วยงานวิจัย โดยทั้งสองหน่วยงานมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาบุคลากรวิจัยระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และผลงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพให้แก่กลุ่มมิตรผล ภายใต้ทุน พวอ. และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของทุกฝ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะร่วมกันจัดสรรงบประมาณฝ่ายละ 50% ไม่จำกัดจำนวนทุน ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559-30 กันยายน 2564 (ปีงบประมาณ 2560-2564)

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า วิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่มมิตรผลกำลังมุ่งสู่การขับเคลื่อนธุรกิจฐานชีวภาพ (Bio-Based)

ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สอดรับนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยกลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรด้านการวิจัย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการต่อยอดธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือกับ สกว.ในครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดพืชเศรษฐกิจ รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในเข้าถึงการศึกษาของบุคลากร กลุ่มมิตรผลยังได้ร่วมมือกับภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำหลักสูตรการเรียนแบบ Non-CourseWork เป็นรายแรกในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเอื้ออำนวยให้นักวิจัยสามารถทำงานวิจัยไปพร้อมกับมีการเรียนการสอนในองค์กร เสมือนเป็นการยกหลักสูตรในมหาวิทยาลัยมาอยู่ภายในสถานที่ทำงาน

ทั้งนี้ โครงการวิจัยของนักวิจัยจากกลุ่มมิตรผลในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ได้รับการสนับสนุนตามขอบเขตงานวิจัยของ พวอ. มี 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์อ้อยการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อ้อยและน้ำตาล การพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งด้วยกระบวนการ Bio-Refineryการสร้างเสริมระบบการจัดส่งและจัดเก็บวัตถุดิบ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560

คลังยันเดินหน้าเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง

"รมว.คลัง" ยืนยันเดินหน้าเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มน้ำตาลสูง พร้อมให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวอีก 2 ปี ก่อนหาข้อยุติที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ยังคงเดินหน้าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ (ภาษีน้ำหวาน) โดยยังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการ ที่ขอเวลาในการปรับตัว 5 ปี แต่ในที่สุดกระทรวงการคลังต่อรองให้เหลือ 2 ปี อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการหารืออีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อยุติ และ เป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้มากที่สุด

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560

จับตา”ทรัมป์”ขึ้นภาษีรายสินค้า กระทบแน่!!ส่งออกไทยระยะยาว เร่งสรุปเจรจาเอฟทีเอชดเชย

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงายนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามและศึกษาแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของสหรัฐฯหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า มีหลายนโยบายอาจกระทบทางอ้อมกับไทย ได้แก่ นโยบายกีดกันทางการค้าโดยสหรัฐฯขึ้นภาษีรายสินค้าและใช้กับทุกประเทศ จะส่งผลต่อการสินค้าไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องจักรสำหรับการพิมพ์ กล้องถ่ายโทรทัศน์ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางรถยนต์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ผลไม้กระป๋อง และกุ้งสดแช่แข็ง

อีกนโยบายคือนโยบายการคลังแบบขยายตัว เพิ่มการขาดดุลการคลัง เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการจ้างงานในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ย และเสี่ยงต่อค่าเงินและตลาดทุนผันผวน รวมทั้งนโยบายสหรัฐฯเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน จะดึงราคาน้ำมันโลกลดลงอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จะจะกระทบส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทย ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรมีการประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)แก่ไทย และการทบทวนสถานะประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) ด้านละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อว่าจะยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เคยใช้เป็นปกติ ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ ไทยจะใช้เวทีการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (ทิฟฟา) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กระชับความร่วมมือการค้าและการลงทุน พร้อมๆกับเร่งเจรจาเอฟทีเอกับนานาประเทศให้บรรลุตามเป้าหมาย

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2560 ขยายตัว 2.5-3.5% ในส่วนนี้เป็นการส่งออกไปสหรัฐฯ 11.4% หรือมูลค่า 2.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งผลกระทบนโยบายของสหรัฐฯไตรมาส1/2560 ต่อการค้าของไทย จะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนัก เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูง โดยไทยได้ดุลการค้ามาตลอดเฉลี่ยปีละ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และโอกาสส่งออกจะมากขึ้น หากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและเม็กซิโก รวมทั้งถอนตัวจากความตกลงหุ้นเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ส่วนการกีดกันแรงงานและผู้อพยพจากต่างประเทศเข้าสหรัฐฯอาจกระทบต่อแรงงานไทยแต่น่าจะใช้โอกาสนี้ยกระดับมาตรฐานแรงงาน และเป็นโอกาสให้นักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศมุสลิม เดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560

3ปัจจัยดันราคาน้ำตาลพุ่งต่อ ตลาดโลก-อินเดียต้องการสูง-ขายล่วงหน้าแล้ว14%

บริโภคนํ้าตาลโลกพุ่งเหนือผลผลิต 2 ปีซ้อน หนุนราคานํ้าตาลขาขึ้น ได้อานิสงส์ถ้วนหน้าทั้งโรงงานนํ้าตาลและชาวไร่อ้อย ค้าผลผลิตนํ้าตาลดิ่งปี 61 สถานการณ์อาจเปลี่ยน คนแห่ปลูกอ้อย ผลผลิตพุ่งอาจทุบราคาร่วงอนท.ตีปีกไร้ความเสี่ยงส่งออกโควตาข. เกือบหมดแล้ว

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นว่ามาจาก3ตัวแปรใหญ่คือ 1. ผลผลิตน้ำตาลโลกมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีผลผลิตน้อยกว่าการบริโภค(ดูตาราง) จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปี2559 ต่อเนื่องถึงปี2560 ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยืนอยู่ในจังหวะขาขึ้น 2.เริ่มเห็นสัญญาณบวกของราคาชัดเจนขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน2559 ที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกไต่ขึ้นไปถึง 24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก่อนที่ช่วงกลางเดือนธันวาคมราคาจะปรับตัวลดลงมาที่18 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากกองทุนเก็งกำไรเข้ามาซื้อตั๋วน้ำตาลเพื่อเก็งกำไร พอราคาดีก็เทขายเอากำไร ล่าสุดเริ่มกลับมาเก็งกำไรต่ออีกครั้งในช่วงปีปีนี้

3.ประเทศอินเดียผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้นๆในโลกมีการคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในประเทศคลาดเคลื่อน โดยประเมินว่าปีนี้จะอยู่ที่ 23 ล้านตันน้ำตาลต่อปี เทียบกับปีที่2559 อยู่ที่ 25 ล้านตันน้ำตาล แต่ล่าสุดมีการประเมินใหม่ว่า ผลผลิตน้ำตาลน่าจะลงไปอยู่ 19-20 ล้านตันน้ำตาลต่อปี ในขณะที่การบริโภคน้ำตาลในอินเดียสูงถึง 25 ล้านตัน ทำให้อินเดียต้องกลับไปนำเข้า

นอกจากนี้ยังต้องจับตาการบริโภคน้ำตาลจากจีนด้วย เพราะเป็นผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่อีกรายว่ามีผลผลิตน้ำตาลในประเทศมากน้อยแค่ไหน มากขึ้นหรือลดลงจากปีที่ผ่านมาหรือไม่(ปีที่ผ่านมาผลิตน้ำตาลได้ 9-10 ล้านตันน้ำตาลต่อปี แต่มีการบริโภคอยู่ที่ 15 ล้านตันต่อปี จีนยังต้องนำเข้าอีก 5-6 ล้านตันต่อปี

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวอีกว่า ให้ระวังปี 2561 สถานการณ์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอาจเปลี่ยนไปอีก เนื่องจากการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7, และ 9 ที่มติคณะรัฐบาล(ครม.) อนุมัติเมื่อเร็วๆนี้ในอัตรา 1,050 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความ หวานที่ 10 ซี.ซี.เอส โดยราคาอ้อยสูงขึ้นตามราคาน้ำตาลโควตาข.ที่ บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.)ส่งออกได้ในราคาเฉลี่ย 21เซ็นต์ต่อปอนด์

“การที่ราคาอ้อยขั้นต้นสูงขึ้น ทำให้เป็นที่จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยกันมากขึ้น รวมถึงผลผลิตอ้อยในตลาดโลกถ้ามีปริมาณสูงขึ้นก็จะทำให้ราคาอ้อยและน้ำตาลร่วงลงมาได้ เพราะมีผลผลิตจำนวนมากอยู่ในตลาด ก็น่าจะเป็นปีที่ต้องมาลุ้นกันว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นอีกหรือไม่”

ด้านนายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรืออนท. กล่าวว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2559/2560 (เริ่มตุลาคม2559-กันยายน2560) อนท.ทำราคาน้ำตาลดิบล่วงหน้าไปแล้ว 83.77% จากที่มีปริมาณน้ำตาลโควตาข. (น้ำตาลที่ส่งออกโดยอนท.)จำนวน 8 แสนตันต่อปี โดยราคาอยู่ที่ 21 เซ็นต์ต่อปอนด์ รวมค่าพรีเมียมแล้ว ถือว่าขณะนี้ไม่มีความเสี่ยงต่อการส่งออก

นอกจากนี้ล่าสุดอนท.ได้ขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าฤดูการผลิตปี2560/5261 ไปแล้วประมาณ 14% หรือราว 1.10 แสนตัน เมื่อเทียบกับโควตาข. ที่อนท.ส่งออกต่อปีอยู่ที่ 8 แสนตัน โดยขายในราคาล่วงหน้า ที่ประมาณ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์

ทั้งนี้ราคาล่วงหน้าฤดูการผลิตปี 2560/2561 ตามราคาณ.วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปี2560 ราคาเดือนมีนาคมอยู่ที่ 20.13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ราคาเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 19.46 เซ็นต์ต่อปอนด์ และราคาเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 18.78 เซ็นต์ต่อปอนด์

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560

‘ฝนหลวง’พร้อมรับมือภัยแล้ง ดีเดย์เริ่มต้นปฏิบัติการทุกภารกิจทั่วประเทศมีนาคมนี้

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและรับมือภัยแล้ง โดยเฉพาะการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ ได้แก่ 1.การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ 2.การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้งหรือคาดว่าจะประสบภัยแล้ง และ 3.การเตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือไฟป่า เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นในพื้นที่ป่า ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือ

 “ปฏิบัติการฝนหลวง มีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ภาคอีสาน 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำนำลอง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนพระเพลิง เขื่อนมูลบล และเขื่อนลำแซะ ภาคกลาง เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และภาคใต้ มีการเฝ้าระวังที่เขื่อนบางลาง ซึ่งขณะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร อยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมของเครื่องบิน รวมทั้งทบทวนและฝึกซ้อมนักบิน โดยเวลานี้มีเครื่องบินที่พร้อมปฏิบัติการ 4 ลำ และหลังจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป จะเพิ่มเติมเครื่องบินเข้าไปอีก เพื่อให้มีความพร้อมอย่างเต็มประสิทธิภาพ สำหรับปฏิบัติการทุกภารกิจตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว โดยขณะนี้มี 2 หน่วย ได้แก่ จ.นครสวรรค์ และ จ.นครราชสีมา โดยได้มีการติดตามสภาพอากาศเป็นรายสัปดาห์และขึ้นปฏิบัติการโดยใช้การรายงานสภาพอากาศรายวันด้วย หลังจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จะเพิ่มหน่วยปฏิบัติการเป็น 3 หน่วยปฏิบัติการ และตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เราก็จะพร้อมทั้งหมด 7 หน่วยปฏิบัติการ และจะเปิดปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เดือนมีนาคม ทั้งนี้ ยังได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศอีก 3 หน่วยปฏิบัติการ รวมเป็นทั้งสิ้น 10 หน่วยปฏิบัติประจำปีที่จะพร้อมดำเนินการต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560

ถึงเวลาเกษตรกรไทย ก้าวสู่ยุค Smart Farmer

สวัสดีครับ ปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเองยังไม่ฟื้นตัว แต่ผมก็ยังเชื่อว่าจากแผนและนโยบายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ จะทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านไปได้ นโยบายหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรรม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น สตาร์ตอัพ ที่สนใจการทำธุรกิจด้านการเกษตร

สืบเนื่องจากการคาดการณ์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization-FAO) พบว่าภายในปี พ.ศ. 2593 หรืออีก 33 ปีจากนี้ ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ล้านคน จากประมาณ 7,400 ล้านคนในปัจจุบัน ทำให้โลกมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 70 และอีกปัญหาใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งภาคเกษตรกรรมต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าว ส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรลดลง และอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกในอนาคต

ดังนั้นหากกลุ่มนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ สตาร์ตอัพ สามารถคิดพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาช่วยยกระดับความสามารถของเกษตรกรไทยให้เพิ่มผลผลิตรองรับความต้องการของตลาด สร้างฐานตลาดใหม่ ส่งออกสู่ต่างประเทศ สร้างความแข็งแกร่งเพื่อพร้อมก้าวไปสู่การเป็น Smart Farmer

การขยับไปสู่ Smart Farmer คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลสารสนเทศ การเข้าถึงแหล่งความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต การนำอุปกรณ์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเลต มาใช้เพื่อควบคุมระบบการทำงานภายในฟาร์ม หรือแม้แต่การนำหุ่นยนต์มาช่วยงานเพื่อช่วยประหยัดต้นทุนแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันในอนาคต

นอกจากนั้น เกษตรกรอาจต้องรู้จักการใช้ฐานข้อมูล เช่น ข้อมูลดิน น้ำ อากาศ บวกกับการนำข้อมูลด้านการตลาด มาวิเคราะห์ในเชิงลึกเพื่อศึกษาดูพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของตลาด รวมถึงการนำระบบเซ็นเซอร์มาช่วยงานในฟาร์มให้เป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยประหยัดเวลา เป็นต้น

ตัวอย่างในต่างประเทศ ได้แก่ ในออสเตรเลีย มีการใช้หุ่นยนต์เพื่อรีดนมวัว ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีแผนที่จะนำหุ่นยนต์มาช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตในฟาร์มผลไม้และพืชสวน รวมทั้งการนำระบบไอทีมาใช้ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แหล่งกำเนิดแสง เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับพันธุ์พืช ตลอดจนการนำโดรนมาใช้เพื่อดูแลสภาพของแปลงปลูกข้าวที่อยู่ห่างไกล

ประเทศมาเลเซีย มีแผนจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบบเซ็นเซอร์และข้อมูลภายในฟาร์ม มาประมวลผลวิเคราะห์เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรในอนาคต โดยจะพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับ Internet of Things หรือ IoT (สภาพแวดล้อมที่สิ่งของต่าง ๆ มีการเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ สามารถรับรู้ภาวะรอบตัวได้ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและทำงานร่วมกันได้) เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถผสมพันธุ์พืชได้ตรงเวลาและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) มาใช้เพื่อการทำนา การเลี้ยงกุ้ง การทำประมง และการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อยและยางพารา รวมถึงการปรับปรุงพันธุกรรมสำหรับการทำปศุสัตว์ ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดให้มีการลงทะเบียนเกษตรกร ภายใต้โครงการ Smart Farmer & Smart Officer (เกษตรกรปราดเปรื่องกับเจ้าหน้าที่ต้นแบบ) เพื่อให้บริการออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ขอรับสารปรับสภาพดิน เมล็ดพันธุ์พืชบำรุงดิน บริการฝนหลวง ขอวิเคราะห์ตัวอย่างดิน และค้นหาข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยเกษตรกรสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการผ่าน www.thaismartfarmer.net หรือที่จุดให้บริการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรประจำจังหวัดทั่วประเทศ

 เมื่อภาครัฐขยับตัวกันขนาดนี้แล้ว ผมคิดว่าเกษตรกรไทยควรใช้โอกาสนี้ช่วยกันพัฒนาภาคการเกษตรของเราให้เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลกให้ได้อันที่จริงประเทศไทยก็มีเกษตรกรหัวก้าวหน้าอยู่ไม่น้อยหลายรายเข้าร่วม"โครงการเกษตรก้าวหน้า" ที่ธนาคารกรุงเทพริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 โดยช่วยเชื่อมโยงประสานให้เกษตรกรได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคุมต้นทุน ช่วยพัฒนาเครือข่ายซัพพลายเชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อการลงทุนแก่เกษตรกรด้วยครับ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560

ดันตั้งเขตศก.พิเศษ6จังหวัด ขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีให้เกิดนำร่องขอนแก่น

สานพลังประชารัฐ ดัน 6 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหมือนอีอีซี ไล่ตั้งแต่ ขอนแก่น นครสวรรค์ อุดรธานี กำแพงเพชร สมุทรสาครและนนทบุรี ปูทางให้ไบโออีโคโนมีได้เกิดลงทุน 3.6 แสนล้านบาท ด้านมิตรผล ยันมีพื้นที่พร้อมให้เป็นพื้นที่นำร่อง

ภายหลังการลงนามความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวม 23 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา โดยการผลักดันของคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้สานพลังประชารัฐ มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี

โดยตั้งกรอบการลงทุนในระยะ 10 ปี(2560-2569) ไว้ 3.65 แสนล้านบาท จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 7.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนตำแหน่ง

ทั้งนี้ การดำเนินงานจากนี้ไปทางคณะทำงาฯดังกล่าว จะมีการเร่งผลักดันให้คณะรัฐมนตรี ประกาศพื้นที่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุดรธานี สมุทรสาคร และนนทบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานฯอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดในแผนศึกษาการลงทุนของจังหวัดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นมาแล้ว ที่จะให้มีการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คล้ายกับกรณีของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่เห็นว่ายังมีพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในการรองรับหรือขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น จะมีการจัดทำเป็นแพ็กเกจของแต่ละจังหวัด เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีพร้อมๆกัน

นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานฯได้มีการเสนอพื้นที่กว่า 1,000ไร่ อ.บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ไปยังนายสมคิด จาจุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร เป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีก่อน เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่ปลูกอ้อย มีแหล่งน้ำรองรับการพัฒนา มีระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน มีแรงงาน และมีความพร้อมของเครือข่ายของสถาบันการศึกษาในพื้นที่

ทั้งนี้ หากประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว การลงทุนก็จะได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับอีอีซี โดยระยะแรกจะเป็นการดึงนักวิจัย เข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อน เพื่อทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และนำผลการวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป และหลังจากนั้นถึงจะเตรียมความพร้อมสร้างไบโอรีไฟเนอรี่ คอมเพล็กซ์หรือโรงกลั่นชีวภาพขึ้นมา เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง 13 โครงการ เป็นต้น

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS หนึ่งในภาคเอกชนที่จะรวมขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งคอมเพล็กซ์ไบโอชีวภาพ ในพื้นที่อ.ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ บนเนื้อที่ราว 1 พันไร่ ที่ติดกับโรงงานน้ำตาล ร่วมกับบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการลงทุนในส่วนของการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลก่อน ขนาดกำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน ส่วนการต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นกำลังศึกษาว่าจะมีประเภทใดบ้าง ซึ่งเงินลงทุนคราวๆ ที่วางไว้จะไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทจะถือหุ้นในโครงการนี้ประมาณ 50%

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560

กรมวิชาการเกษตร ส่งสารวัตรเกษตร ล่าแก๊งค์ค้าปุ๋ยปลอม

 กรมวิชาการเกษตร ส่งสารวัตรเกษตรทั่วประเทศตระเวนจับแก๊งค์ค้าปุ๋ยปลอม-วัตถุทางการเกษตรไม่ได้มาตรฐานทั่วประเทศ ล่าสุดโชว์ผลงานจับพ่อค้าเร่ขายปุ๋ยอินทรีย์ปลอมในจ.นครราชสีมา 32 ตันมูลค่ากว่า 3 แสนกว่าบาท

เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร นำโดย นายจักรพรรดิ์ วุ้นสีแซง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา นายประสิทธิ์ ไชยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนากาเกษตรโนนสูง นายสุพจน์ สัตยากุล ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมตามพระราชบัญญัติ.สวพ.4 เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จว.นครราชสีมา พร้อมพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าดำเนินการตรวจรถบรรทุกพ่วง ที่จอดในพื้นที่ บ้านเลขที่ 386 หมู่ 11. โคกสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 60 สารวัตรเกษตรอาสาในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้แจ้งเบาะแส โดยส่งคลิป VDO ว่ามีพ่อค้าเร่มาโฆษณาขายปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ โดยโฆษณาแอบอ้างว่ากรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับรองสูตรพิเศษเกรด เอ และกรมวิชาการเกษตรได้นำไปทดสอบและรับรองว่าปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวสามารถคุมการเกิดของหญ้าได้ 70-80% และสินค้าดังกล่าวมีจำหน่ายที่ร้านเจเคการเกษตร เจ้าหน้าที่ได้สืบเสาะหาข้อมูลพบว่า ร้านดังกล่าวได้มาเปิด และเช่าบ้านพัก ในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้ประสานงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และพบรถบรรทุกสินค้าดังกล่าว

จากการตรวจสอบพบปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 32 ตัน ฉลากระบุชื่อการค้า ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเม็ดเครื่องหมายการค้ากำไรเงินกำไลทอง ผลิตโดย บ.นิวปุ๋ยไทยอินเตอร์ เลขที่ 4ม.12 ถ.แสงชูโต ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี จัดจำหน่ายโดย บ.เซฟไบโอเทคจำกัด 57 ม.1 ต.ราษฎร์นิยม ถ.ไทรน้อย-ลาดบัวหลวง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์เลขที่ 183/2554 ไม่ได้ระบุปริมาณอินทรีย์วัตถุ_มีนางสาวสาลิกา พิทักษ์โยธา รับเป็นเจ้าของปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวหมดอายุเมื่อ เดือนสิงหาคม 2559 และนางสาวสาลิกา พิทักษ์โยธา ไม่มีใบอนุญาตขายปุ๋ย จนท.จึงได้ทำการเก็บตัวอย่าง และอายัดปุ๋ยดังกล่าวไว้ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบและประกอบการดำเนินคดี ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวมีมูลค่า 310,000 บาท

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร...บูรณาการความร่วมมือ บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ตามที่ทราบโดยทั่วกัน ถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” ปราชญ์แห่งการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนปราชญ์แห่งการอนุรักษ์ดินและป่าต้นน้ำ ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมฝนหลวงและการบินเกษตร (Royal Rainmaking and Agricultural Aviation) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน (Royal Irrigation) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป่าไม้ (Royal Forest) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำ “โครงการสร้างความร่วมมือ เพื่อการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ พื้นที่โครงการเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี” ซึ่งเป็นพื้นที่เสด็จทรงงานที่สำคัญในหลายเหตุการณ์

ทั้งนี้ เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภค-บริโภคและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เขื่อนแก่งกระจาน เนื่องจากเป็นสถานที่ ที่ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก ด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2551

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า โครงการสร้างความร่วมมือ เพื่อการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ พื้นที่โครงการเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จะทำให้ทราบสถานการณ์ในพื้นที่ ทั้งสถานการณ์น้ำ พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน พื้นที่โครงการเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และวางแผนการดำเนินงานในการปฏิบัติการฝนหลวง และแผนการบริหารจัดการน้ำ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ป่าต้นน้ำ และการบริหารจัดการน้ำพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ ตลอดจนเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ ภายใต้โครงการโปรยเมล็ดพันธ์พืชในพื้นที่ป่าต้นน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โครงการโปรยเมล็ดพันธ์พืชในพื้นที่ป่าต้นน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ให้สามารถประเมินน้ำฝนและผลสัมฤทธิ์ โดยสามารถเติมน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน และเสริมน้ำฝนเพื่อเพิ่มพื้นที่ความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่เกษตรกรรม อันรวมถึงการวางแผนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ และการประเมินผล สำหรับระยะเวลาการดำเนินงานระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 2560

“สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จะทำให้ 3 หน่วยงานเกิดการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และป่าต้นน้ำน้ำ อย่างบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม บุคลากรมีการพัฒนาด้านแนวคิดและการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในอนาคต ที่สำคัญคือได้ระบบการวางแผน ติดตามประเมินผล และการปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำของประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป”

นอกจากนี้ ยังเป็นการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำร่วมกันระหว่าง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน และกรมป่าไม้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และกรมฝนหลวงจะได้นำข้อมูลไปปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำของประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไปทั้งปัจจุบันและอนาคต ซึ่งภายใต้ในโครงการดังกล่าวจะมีกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพิ่มผืนป่าต้นน้ำบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน ในพื้นที่รับน้ำเป้าหมาย 2,142.69 ตารางกิโลเมตร พื้นที่โปรยเมล็ดพันธุ์ 13,000 ไร่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และใช้เมล็ดพันธุ์ในการเป็นจำนวน 890,000 เมล็ด ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์ไม้ประดู่ มะค่าโมง มะข้ามป้อม มะกอกป่าและยางนา โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 2560 ด้วย

ด้าน นายไพบูลย์ แดงประดับ อาสาสมัครฝนหลวงอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า จากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงส่งเสริมเรื่องการทำฝนหลวงในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน ก็พร้อมสมัครใจที่จะเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครฝนหลวง เพื่อสนองงานตามพระราชดำรัส ซึ่งมองเห็นปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำใช้ จึงมีพระราชดำริในการทำฝนหลวงขึ้น เพื่อให้พสกนิกร และเกษตรกรได้รับประโยชน์จากน้ำในการทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งพระองค์ ยังได้ส่งเสริมปลูกป่าต้นน้ำ โดยทรงเน้นแหล่งน้ำเป็นหลัก และปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์น้ำ ส่งเสริมปลูกหญ้าแฝก เพื่อบำรุงดิน ได้ตอบสนอง และร่วมช่วยเหลือ โดยการเป็นอาสาสมัครฝนหลวง

“รู้สึกมีความปิติยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้สนองงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจาก พระองค์ทรงให้ความช่วยเหลือพสกนิกรในทุกรูปแบบ ไม่เคยเลือกชั้นวรรณะ ให้ความดูแลอย่างทั่วถึง และเสมอภาคกัน โดยเป็นแกนนำในการส่งเสริมปลูกป่า พร้อมจัดตั้งธนาคารต้นไม้ของอำเภอแก่งกระจาน ตามแนวคิดปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ต้นน้ำ ฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่ เพราะน้ำทุกหยดมีคุณค่า ทั้งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำในเขื่อน และน้ำจากฝนหลวง”

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560

ดันตั้งเขตศก.พิเศษ6จังหวัดขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีให้เกิดนำร่องขอนแก่น 

          สานพลังประชารัฐ ดัน 6 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหมือนอีอีซี ไล่ตั้งแต่ ขอนแก่น นครสวรรค์ อุดรธานี กาแพงเพชร สมุทรสาครและนนทบุรี ปูทางให้ไบโออีโคโนมีได้เกิดลงทุน 3.6 แสนล้านบาท ด้านมิตรผล ยันมีพื้นที่พร้อมให้เป็นพื้นที่นาร่อง

          ภายหลังการลงนามความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวม 23 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา โดยการผลักดันของคณะทางานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้สานพลังประชารัฐ มีนายอุตตมสาวนายน รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จากัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี

          โดยตั้งกรอบการลงทุนในระยะ 10 ปี (2560-2569) ไว้ 3.65 แสนล้านบาท จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสาปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 7.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ากว่า 2 แสนตาแหน่ง

          ทั้งนี้ การดาเนินงานจากนี้ไปทางคณะทางานดังกล่าว จะมีการเร่งผลักดันให้คณะรัฐมนตรี ประกาศพื้นที่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครสวรรค์ กาแพงเพชร อุดรธานี สมุทรสาคร และนนทบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ทางคณะทางานอยู่ระหว่างการจัดทารายละเอียดในแผนศึกษาการลงทุนของจังหวัดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนาเสนอพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นมาแล้ว ที่จะให้มีการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คล้ายกับกรณีของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อดึงดูดนักลงทุนแต่เห็นว่ายังมีพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น จะมีการจัดทาเป็นแพ็กเกจของแต่ละจังหวัด เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี พร้อมๆกัน

          นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคณะทางานฯได้มีการเสนอพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ อาเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนาเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร  เป็นพื้นที่นาร่องในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีก่อน เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่ปลูกอ้อย และสถาบันการศึกษาในพื้นที่

          ทั้งนี้ หากประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว การลงทุนก็จะได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับอีอีซี โดยระยะแรกจะเป็นการดึงนักวิจัย เข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อน เพื่อทางานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และนาผลการวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป และหลังจากนั้นถึงจะเตรียมความพร้อมสร้างไบโอรีไฟเนอรี่ คอมเพล็กซ์หรือโรงกลั่นชีวภาพขึ้นมา เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง 13 โครงการ เป็นต้น

          นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จากัด (มหาชน) หรือ KTIS หนึ่งในภาคเอกชนที่จะร่วมขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งคอมเพล็กซ์ ไบโอชีวภาพ ในพื้นที่ อาเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ บนเนื้อที่ราว 1,000 ไร่ ที่ติดกับโรงงานน้าตาล ร่วมกับบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จากัด (มหาชน) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการลงทุนในส่วนของการผลิตเอทานอลจากกากน้าตาลก่อน ขนาดกาลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน ส่วนการต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นกาลังศึกษาว่าจะมีประเภทใดบ้าง ซึ่งเงินลงทุนคราวๆ ที่วางไว้จะไม่ต่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทจะถือหุ้นในโครงการนี้ประมาณ 50%

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ส่งออกสินค้าเกษตรไทยฉลุย 1 ปี รวมเออีซี ฟันยอด 3.2 แสนล.

ส่งออกสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมไทยหลังรวมเออีซีโตพุ่ง 10% ทะลุ 3.2 แสนล้านบาท

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการประเมิน 1 ปี การส่งออกสินค้าเกษตรไทยหลังเข้าสู่ AEC ปี 2559 ว่า ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่ 59.2% เห็นว่าการเข้าสู่ AEC ครบ 1 ปีประเทศไทยยังได้ประโยชน์ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมก่อนเข้า AEC เท่ากับ 261,457 ล้านบาท แต่หลังเข้า AEC เพิ่มขึ้นเป็น 321,549 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.4% คิดเป็นส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น 60,092 ล้านบาท

"การรวม AEC ช่วยอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคการค้าลง ประกอบกับตลาดอาเซียนมีขนาดใหญ่ทำให้การส่งออกไทยขยายตัวมากขึ้น การลดภาษีเป็นประโยชน์ต่อการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียน แต่ยังมีเงื่อนไข มาตรการ และรายละเอียดข้อตกลงการค้าอื่น ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่บ้างที่จะต้องแก้ไข"

สำหรับสินค้าเกษตรที่ได้ทำการศึกษา 11 รายการ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของการส่งออก พบว่าสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่ม AEC ทำให้มีมูลค่าการส่งออกและส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวสาร ยางพารา ข้าวโพด ถั่วเหลือง และเนื้อสัตว์แปรรูป เพิ่มขึ้นมูลค่า 8,987 ล้านบาท ขณะที่สินค้าที่ไทยเสียประโยชน์ ได้แก่ กาแฟ มันสำปะหลัง มะพร้าว มะม่วงสดและแห้ง กล้วยสดและแห้ง อาหารทะเลแปรรูป รวมมูลค่าลดลง 2,621 ล้านบาท โดยเมื่อหักล้างกันแล้วไทยยังได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่ม AEC รวม 6,366 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 49.5% ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกไปในตลาดอาเซียนในปี 2560 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 15% หรือประมาณ 369,781 ล้านบาทเมื่อเทียบการส่งออกปี 2559 ที่ผ่านมา แต่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสินค้าและศักยภาพของผู้ส่งออก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน จัดกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าตลาด AEC รวมถึงปรับปรุงขั้นตอน/เอกสารส่งออก เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เงินเฟ้อเดือน ม.ค. สูงสุดรอบ8เดือน

เงินเฟ้อเดือน ม.ค.เพิ่ม 1.55% สูงสุดในรอบ 28 เดือน เหตุราคาน้ำมัน-สินค้าเกษตรพุ่ง ชี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ประเมินทั้งปีอยู่ในกรอบ 1.5-2.0%

กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศในเดือน ม.ค.2560 อยู่ที่ 100.75 เพิ่มขึ้น 1.55% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2559 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับจากเดือนก.ย.ปี 2557 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 1.75%

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนม.ค.2560 เพิ่มขึ้น 0.75%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น โดยเห็นสัญญาณของเงินเฟ้อตลอดทั้งปีนี้จะยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และคาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 1 ปีนี้ อยู่ที่ 1.77%

"เงินเฟ้อขยับขึ้นนั้นเป็นตัวแปรสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจประเทศอยู่ในช่วงฟื้นตัวและอัตราที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้สูงจนน่ากังวล”

นางสาวพิมพ์ชนก ยังกล่าวอีกว่า แม้เงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังอยู่ในระดับเป้าหมาย โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้ เงินเฟ้อจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.5-2.0% ภายใต้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.25% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 45-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในส่วนของราคาน้ำมันดิบได้ครอบคลุมไปถึงในกรณีที่น้ำมันดิบตลาดโลกปรับขึ้นถึง 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว

“การที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาขึ้นก็ไม่อยากให้คนตื่นตกใจ เพราะยังอยู่ในระดับตามเป้าหมาย แต่ก็ยอมรับว่าการที่น้ำมันดิบขยับราคาทำให้เงินเฟ้อเพิ่มนั้น จะมีเรื่องของราคาสินค้าปรับขึ้นตามมา ซึ่งจะรายงานนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ติดตามราคาสินค้าอย่างเข้มงวด แต่คงไม่ได้มุ่งหมายที่จะไม่ให้ขึ้นเลย แต่ต้องดูแลไม่ให้สินค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม”

ปรับรายงานคำนวณสินค้าใหม่

นอกจากนี้ ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.2560 ยังมีการเปลี่ยนปีฐานคำนวณเงินเฟ้อใหม่ โดยใช้ฐานปี 2558 จากเดิมที่ใช้ฐานปี 2554 และมีการปรับปรุงรายการสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อลดลงเหลือ 422 รายการ จากเดิม 450 รายการ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

รายการสินค้าที่มีการเพิ่มขึ้นใหม่มีจำนวน 23 รายการ เช่น ส้มตำ เนื่องจากปัจจุบันมีการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนต่อเดือนอยู่ที่ 61.74 บาท หรือคิดเป็นน้ำหนักเงินเฟ้อ 0.31%น้ำปั่นผลไม้/ผัก มีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนต่อเดือนอยู่ที่ 15 บาท หรือคิดเป็นน้ำหนักเงินเฟ้อ 0.08%

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มน้ำหนักการคำนวณสินค้าที่มีอยู่แล้ว เช่น ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะผู้บริโภคมีการใช้จ่ายในส่วนนี้สูงขึ้น อย่างค่าอินเทอร์เน็ต รายจ่ายเพิ่มขึ้นมาเป็น 205.18 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน จากปี 2554 ที่มีค่าใช้จ่าย 92.20 บาท ส่วนรายการสินค้าที่ลดลงหรือตัดออก มีจำนวน 51 รายการ เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้จ่ายของประชาชนไม่ถึง 0.01%และราคาไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย เช่น แป้งสาลี โซดา ถุงยางอนามัย แฟลชไดรฟ์ ค่าบริการนวดสปา/นวดน้ำมัน มุ้ง เก้าอี้ เป็นต้น

ชี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าเงินเฟ้อเดือน ม.ค.2560 มีการขยายตัวสูงสุดรอบ28เดือน อีกทั้งยังคาดว่าแนวโน้มของเงินเฟ้อตลอดทั้งปีนี้จะอยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งสัญญาณดีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่อีกขาหนึ่งคือราคาสินค้าก็อาจจะขยับตาม

“กระทรวงฯจะให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สินค้าสะท้อนกับต้นทุนที่เป็นจริง โดยปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการแจ้งขอปรับขึ้นราคาสินค้า”

นักวิเคราะห์ชี้สูงกว่าคาด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือนม.ค.ที่ออกมาถือว่าค่อนข้างเซอร์ไพร์ส เพราะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลทางฤดูกาลเนื่องจากปีนี้เทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือนม.ค. ขณะที่ปี 2559 เทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือนก.พ. ประกอบกับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ก็มีส่วนทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงน่าจะเป็นผลระยะสั้นเท่านั้น และการปรับขึ้นก็เป็นเรื่องของอุปทานหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น(Supply push) ไม่ได้เกิดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น(Demand pull) จึงไม่น่ามีผลต่อการทำนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

“ดูแล้วน่าจะเร่งตัวขึ้นแค่ช่วงสั้น ไม่น่าจะขึ้นได้แรงต่อเนื่อง เรายังคงมองกรอบเงินเฟ้อในปีนี้อยู่ที่ 1.5-2%”

ราคาพลังงานดันเงินเฟ้อพุ่ง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเมินไว้อยู่แล้วว่าเงินเฟ้อในปีนี้จะเป็นทิศทางขาขึ้น และเฉลี่ยทั้งปีน่าจะสูงกว่าระดับ 1.5% ซึ่งการปรับขึ้นของเงินเฟ้อมาจากราคาพลังงานเป็นหลัก ขณะที่อุปสงค์ไม่ได้เพิ่มมากนัก เพราะถ้าดูเงินเฟ้อพื้นฐานแล้วยังคงตัวในระดับต่ำ

“แม้เงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าดูเงินเฟ้อพื้นฐานแล้ว ไม่ได้เพิ่มมากนัก สะท้อนว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มมาจากฝั่งของราคา ไม่ได้มาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น”

ส่วนความกังวลว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ(Stagflation) หรือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอแต่เงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น นายเชาว์ กล่าวว่า ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ในปีนี้ขยายตัวที่ 3.3% เท่ากับปีที่ผ่านมา

ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มว่าจะดีกว่าที่คาดไว้ น่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ดีขึ้นด้วย จึงคิดว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะอยู่ในภาวะ Stagflation

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

“RCEP” จุดเปลี่ยนการค้าโลก 16 ประเทศลุยต่อรับมือ “TPP” หยุดชะงัก

ดันเจรจา RCEP ให้เสร็จเร็วที่สุด หลัง “ทรัมป์” ถอนตัวจาก TPP ส่งผลให้การบังคับใช้หุ้นส่วนเศรษฐกิจ 12 ชาติหยุดชะงัก ยันความตกลงเปิดจุดการค้าอาเซียน+6 ทันสมัย และมาตรฐานสูงไม่น้อยกว่า TPP ได้ประโยชน์กับ ประเทศไทยในทุกภาคส่วน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยสำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรืออาร์เซพ) เปิดเผยว่า หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (TPP หรือทีพีพี) จนทำให้การบังคับใช้หยุดชะงักนั้น ทั่วโลกจับตาดูการเจรจา RCEP ของสมาชิก 16 ประเทศคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ จะเดินหน้าต่อ อย่างไร และจะมีผลบังคับใช้เมื่อไร

โดยเดือน ก.พ.นี้ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสมาชิก TPP และ RCEP จะจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาด้านการค้า RCEP โดยญี่ปุ่นต้องการ ผลักดันการเจรจาให้ได้ข้อสรุป และมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะ RCE เป็นความตกลงขนาดใหญ่ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงถึง 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 29% ของ GDP โลก รวมถึงเป็นเขตการค้าเสรีที่สร้างจุดเปลี่ยนทางการค้า และจุดเริ่มต้นขยายการค้า และการลงทุนที่สำคัญมากของเอเชียแปซิฟิกแถบฝั่งเอเชีย ซึ่งหลังการประชุมที่ญี่ปุ่น การเจรจาจะมีความชัดเจนขึ้น แม้ขณะนี้หลายประเด็นยังหาข้อสรุปไม่ได้

นายรณรงค์กล่าวว่า RCEP ครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้าบริการ และการลงทุน โดยการเปิดตลาดสินค้า การเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือน ม.ค.60 สมาชิกตกลงจะเปิดเสรีสินค้าแล้วในสัดส่วน 80% ของสินค้าที่ค้าขายกัน ส่วนอีก 20% การประชุมที่ญี่ปุ่นจะกำหนดรูปแบบ หรือเกณฑ์การลดภาษี แต่ประเด็นที่ต่อรองกันมาก และยากต่อการสรุป คือ การกำหนดเป้าหมายลดภาษีสินค้ากับทุกประเทศสมาชิกในระดับที่สูงและเท่ากัน ซึ่งเป็นเป้าหมายของอาเซียน เพราะอาเซียนเปิดเสรีสินค้าระหว่างกันหมดแล้ว จึงต้องการให้อีก 6 ประเทศเปิดตลาดในระดับสูงเช่นกัน

 “สินค้า 80% ที่ตกลงจะลดภาษีนำเข้านั้น ในจำนวนนี้สัดส่วน 65% จะลดภาษีเป็น 0% ทันที ส่วนอีก 15% จะลดเป็น 0% ใน 10-15 ปี ขณะที่อีก 20% ซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง ในการประชุมที่ญี่ปุ่นต้องคุยรูปแบบการลดภาษีกันจะเป็นอย่างไร จะลดเป็น 0% หรือไม่ หรือจะทยอยลดให้เหลือน้อยที่สุดในกี่ สำหรับไทย ก่อนการประชุมที่ญี่ปุ่นจะหารือกับภาคเอกชน เพื่อจัดทำรายการสินค้าที่จะเรียกร้องให้คู่เจรจาเปิดตลาด และเลือกรายการสินค้าที่ไทยพร้อมจะยื่นข้อเสนอเปิดตลาดให้คู่เจรจา”

ขณะที่การค้าบริการและการลงทุน การประชุมที่ญี่ปุ่นจะหารือถึงการเปิดเสรีเพิ่มเติม ทั้งการเพิ่มจำนวนสาขาของธุรกิจบริการที่จะเปิดเสรี และการกำหนดมาตรฐานเพื่อความโปร่งใสของการใช้กฎระเบียบ หรือมาตรการของสมาชิก เพื่อลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย หรืออุปสรรคต่อการเปิดเสรี ซึ่งอาเซียนและคู่เจรจามีท่าทีแตกต่างกัน โดยเฉพาะการผูกพันการเปิดเสรี ภายใต้หลักการ Ratchet ที่กำหนดให้สมาชิกผูกพันเปิดเสรีเท่ากัน หรือไม่น้อยกว่าที่กฎหมายแต่ละประเทศอนุญาต และต้องเปิดเสรีให้เพิ่มขึ้นเมื่อแต่ละประเทศแก้ไขกฎหมายให้มีความเป็นเสรีมากขึ้น

 “ไทยต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การค้าและการลงทุนทุกฉบับ รวมถึงความตกลงระหว่างประเทศอื่นที่ไทยเป็นภาคี เพราะการดูแลธุรกิจ และการลงทุนของต่างชาติในไทยเชื่อมโยงกับกฎหมาย และพันธกรณีในความตกลงอื่นด้วย”

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีลงทุนนั้น นักลงทุนในประเทศสมาชิกสามารถฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศที่เข้าไปลงทุนได้ หากปฏิบัติไม่เป็นธรรม สำหรับไทยมีมาตรการคุ้มครองการลงทุนระดับสูงอยู่แล้ว เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่น โดยสาขาที่ไทยจะเปิดเสรี เป็นสาขาที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต และที่เกี่ยวเนื่องกับบริการ รวมถึงกิจการ E-Commerce ที่เน้นการคุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต

นายรณรงค์กล่าวว่า RCEP เป็นความตกลงที่เปิดเสรีสูง และมีมาตรฐานไม่น้อยกว่า TPP แต่มีความยืดหยุ่นในเวลาการเปิดเสรี อีกทั้งยัง เป็นการเจรจาที่อาเซียนต้องมีฉันทามติร่วมกันก่อนกำหนดเป็นท่าที เสนอ 6 ประเทศ จากนั้น 16 ประเทศ จึงจะเจรจาให้ได้ฉันทามติ ไม่มีประเทศใดชี้นำได้ ต่างจาก TPP ที่สหรัฐฯมีบทบาทมาก

สำหรับท่าทีของไทยคือมีความเป็นกลาง ไม่ขัดแย้งกับประเทศอื่น โดยรัฐและเอกชนไทยได้หารือกันต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายว่าสมาชิกต้องตอบสนองข้อเรียกร้องของไทยไทยด้วย หาไม่ก็ยากที่ไทยจะยอมให้สรุปผลการเจรจา แต่ทุกหน่วยงานต้องเสริมสร้างในส่วนที่ไทยยังอ่อนแอ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ความโปร่งใสในการใช้กฎหมายโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ การลงทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก ฯลฯ หากจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ การใช้ประโยชน์จาก RCEP จะคุ้มค่ามาก

“การให้มีผลบังคับใช้ จะต่างจาก TPP โดย RCEP จะกำหนดจำนวนประเทศที่ให้สัตยาบรรณ เช่น อาเซียนให้สัตยาบรรณกี่ประเทศ คู่เจรจากี่ประเทศ จึงจะถือว่ามีผลบังคับใช้ จะไม่ดูที่มูลค่า GDP เหมือน TPP ที่กำหนดถึง 85% ของมูลค่าจีดีพีรวมของสมาชิก” นายรณรงค์กล่าวในที่สุด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

“เกษตร”เตรียมพร้อมปฏิบัติภารกิจเติมน้ำด้วยฝนหลวง-คาดพร้อมบินได้ทันทีหลัง10ก.พ.

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมมาตรการในการช่วยเหลือภัยแล้ง โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้วางแผนดำเนินงานออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1.การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ประกอบด้วย เขื่อนลำนำลอง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนพระเพลิง เขื่อนมูลบน และเขื่อนลำแซะ ภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ ภาคใต้ จะมีการเฝ้าระวังที่เขื่อนบางลาง 2.การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้งหรือคาดว่าจะประสบภัยแล้ง และ 3. การเตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือไฟป่า เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นในพื้นที่ป่า ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือ

“ขณะนี้ กรมฝนหลวงฯ อยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมของเครื่องบิน รวมทั้งการทบทวนและฝึกซ้อมนักบิน อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ มีเครื่องบินที่พร้อมปฏิบัติการทันที จำนวน 4 ลำ และหลังจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะเพิ่มเติมเครื่องบินเข้าไปอีก เพื่อให้มีความพร้อมอย่างเต็มประสิทธิภาพ สำหรับปฏิบัติการทุกภารกิจทั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯได้มีหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว โดยขณะนี้มี 2 หน่วย ได้แก่ จ.นครสวรรค์ และ จ.นครราชสีมา รวมทั้งได้ติดตามสภาพอากาศเป็นรายสัปดาห์และจะขึ้นปฏิบัติการทันทีเมื่อได้รับรายงานถึงสภาพอากาศที่เหมาะสม หลังจากนั้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จะเพิ่มหน่วยปฏิบัติการเป็น 3 หน่วยปฏิบัติการ และตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ กรมฝนหลวงฯจะพร้อมทั้งหมด 7 หน่วยปฏิบัติการ และจะเปิดปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เดือนมีนาคม ทั้งนี้ ยังได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศอีก 3 หน่วยปฏิบัติการ รวมเป็นทั้งสิ้น 10 หน่วยปฏิบัติ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

กรมชลฯมั่นใจน้ำใน 10 เขื่อนใหญ่ พอใช้อุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้

กรมชลประทาน มั่นใจเขื่อนใหญ่ 10 แห่ง แม้จะมีน้ำน้อย แต่เพียงพอใช้อุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้  ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมแรงร่วมใจกันประหยัดน้ำ ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในวันหน้า

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง  ทั้งประเทศว่า ปัจจุบัน(31 ม.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 50,692 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 67ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 26,872 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 17,661 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 8,387 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า ณ 25 ม.ค. 60 มีการทำการเพาะปลูกไปแล้ว 6.02 ล้านไร่(แผนที่วางไว้ทั้งประเทศ 4 ล้านไร่)มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.02 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) รวมกันทั้งสิ้น 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 3,754  ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ณ 25 ม.ค. 60 มีการปลูกไปแล้ว 4.62 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 1.95 ล้านไร่ (แผนที่วางไว้ 2.67 ล้านไร่) ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 2,809 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ ซึ่งต่ำกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน 146 ล้านลูกบาศก์เมตร และกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำปริมาณน้ำคงเหลือ ณ 1 พ.ค. 60 ไม่น้อยกว่าแผนที่วางไว้เช่นกัน

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ จำเป็นต้องวางแผนการจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เฉพาะการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ คงเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และพืชใช้น้ำน้อย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา

กรมชลประทาน ได้ร่วมกับคณะกรรมการจัดการชลประทาน(JMC) ของแต่ละเขื่อน ประชุมหารือและวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน สำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ซึ่งจะทำให้ทุกเขื่อนมีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ตามแผนที่วางไว้ ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำในวันข้างหน้าอีกด้วย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

เคาะราคาอ้อย1,050บาท/ตัน

ครม. ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นต้น ปีการผลิต 2559/60 สูงลิ่วที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย หลังประเมินความต้องการกระฉูด ครม. เคาะลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสินค้าเกษตรประเภทข้าว เหลือ 0.5%

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเกี่ยวกับการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2559/60 โดยเห็นชอบให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต 2559/60 เป็น 2 ราคา ได้แก่ กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/60 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7, และ 9 ในอัตรา 1,050 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 63 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอสต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต 2559/60 เท่ากับ 450 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 5 คิดราคาในอัตรา 980 บาทต่อตันอ้อย

“การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในครั้งนี้ เพิ่มขึ้นจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีการประเมินว่าความต้องการในตลาดจะมีสูงถึง 8 ล้านตัน ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิต พร้อมทั้งหลายประเทศ อาทิ จีน และอินเดีย ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นในเขตคำนวณราคาที่ 5 ที่ต่ำกว่าเขตอื่น เนื่องจากกำลังการผลิตต่ำกว่าเขตอื่น” นายณัฐพรกล่าว

ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ...) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ (การแก้ไขเพิ่มเติมการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีสินค้าเกษตรประเภทข้าว) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพและระบบของการค้าข้าวในปัจจุบันที่มีกระบวนการและมีผู้เกี่ยวข้องหลายขั้นตอน และสอดคล้องกับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้ที่มีการปรับลดอัตราลง โดยให้มีการกำหนดการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับค่าซื้อข้าว เหลือ 0.5% จากเดิม 0.75%และการจ่ายค่าซื้อพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ อยู่ที่ 0.75%.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

ราคาอ้อย1,050บาท/ตัน

ครม.เคาะราคาอ้อยขั้นต้นโรงงานรับซื้อฤดูการผลิต 2559/2560 ที่ 1,050 บาท แนวโน้มตลาดโลกต้องการพุ่ง

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2560 ได้เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต 2559/2560 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยแบ่งการกำหนดราคาออกเป็น 2 ราคา คือ 1.ราคาขั้นต้นในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ในอัตรา 1,050 บาท/ตันอ้อย สูงกว่าปีการผลิตที่แล้วที่อยู่ที่ 808 บาท/ตันอ้อย และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นที่ 450 บาท/ตันอ้อย

สำหรับราคาที่ 2.ราคาอ้อยขั้นต้นสำหรับเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 5 ในอัตรา 980 บาท/ตันอ้อย ที่ระดับความหวานที่ 10 ซีซีเอส สูงกว่าปีที่แล้วอยู่ที่ 773 บาท/ตันอ้อย และกำหนดราคาขึ้นลงของราคาอ้อยที่ 58.80 บาท/1 หน่วยซีซีเอส/ตัน และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นที่ 420 บาท ซึ่งราคาขั้นต้นของเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 5 ต่ำนั้นจากมีประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ

ขณะที่การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในปีนี้ ได้นำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากำหนดราคาอ้อยขั้นต้น

เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่ได้รับเงินค่าอ้อยที่เป็นธรรมและสูงสุดในทุกเขตคำนวณราคาอ้อย ส่วนราคาอ้อยน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและคาดว่าปีนี้จะยังอยู่ในระดับสูงนั้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตอ้อยหลายประเทศประสบปัญหาภัยแล้งคาดจะทำให้ผลผลิตลดลง เช่น จีน อินเดีย และจะมีความต้องการน้ำตาลทั่วโลกสูงกว่าการผลิตประมาณ 8 ล้านตัน

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

เงินบาทเช้านี้เปิด35.14แข็งค่าตามภูมิภาค

ตลาดเงินบาทเช้านี้เปิด 35.14 บาท แข็งค่าตามภูมิภาค หลังดอลล์อ่อน จับตาผลประชุมเฟด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.14 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าจากความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และต้องจับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ในคืนวันนี้

อย่างไรก็ตาม ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.10 - 35.20 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

จับตา7ปัจจัยลบฉุดส่งออก สงครามการค้าถล่มตลาดจีน-ค่าเงินผันผวนหนัก

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากการส่งออกในเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัว 6.23% และทำให้การส่งออกทั้งปี 2559 ขยายตัวเป็นบวกได้ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ 0.45% จึงคาดการณ์ว่า การส่งออกในปี 2560 จะสามารถขยายตัวได้ 2.4% หรืออยู่ในกรอบ 2-3% โดยในปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันจะขยับขึ้นอย่างช้าๆ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยคาดว่าค่าเงินบาททั้งปี’60 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.50-37.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการส่งออกให้ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 1.อัตราการเติบโตที่แท้จริงของโลกและประเทศคู่ค้าหลัก ว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ 2.สถานการณ์ความขัดแย้งและการเมืองระหว่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด 3.สงครามการค้าและข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายของสหรัฐ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าหลัก 4.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่แข่ง

5.สถานการณ์ราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก จะมีความยั่งยืนและได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านพลังงานของสหรัฐ อย่างไร 6.การลงทุนทางตรงของจีนภายนอกประเทศ จะส่งผลในทางบวกและทางลบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยอย่างไร 7.สถานการณ์การค้าชายแดนกับประเทศ CLMV ซึ่งอาจทรงตัว เพราะความล่าช้าในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ 8.ภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น

“สถานการณ์การเมืองโลกที่จะรุนแรงขึ้น หลังการเข้ารับตำแหน่งของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีหลายมาตรการที่จะออกมากีดกันการค้ากับหลายประเทศ ทั้ง จีน เม็กซิโก และสหภาพยุโรปที่เชื่อว่าจะไม่ขยายตัว นอกจากนี้มองว่า เศรษฐกิจที่แท้จริงของโลก และประเทศคู่ค้าหลักเป็นไปตามที่คาดการณ์ ไว้หรือไม่ จากสงครามการกีดกันการค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลก การลงทุนทางตรงของจีนในหลายประเทศชะลอตัว การค้าชายแดนที่ไม่ได้ช่วยการส่งออกในภาพรวมมากนัก และภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงขึ้น “นายนพพร กล่าว

ทางด้านนายรติดนัย หุ่นสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าปีนี้ประเทศไทยจะได้รับผลบวกหลักๆ มาจากนโยบายกีดกันทางการค้าประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และมีการเพิ่มผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยส่งออกสินค้าที่เป็นสินค้าต้นน้ำและกลางน้ำที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต จึงทำให้ประเทศไทยยังสามารถส่งสินค้าเข้าไปในสหรัฐได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกไปยังสหรัฐจะเติบโตได้ 3% และเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกหลักของประเทศไทย

ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตัวเลขการส่งออกมีการชะลอตัวไปราว 2 ปี และปัจจุบันมองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จะส่งผลให้ปีนี้สามารถขยายตัวได้ราว 3% ส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้น คาดว่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศในสหภาพยุโรปนั้น คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก จากที่จะมีการเลือกตั้งของประเทศใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้ยังมีความกังวลว่าสหภาพยุโรปอาจจะล่มลงก็เป็นได้

ทั้งนี้ประเทศที่คาดว่าจะเป็นตัวกดดันตัวเลขการส่งออกไทย คือ ประเทศจีน ซึ่งคาดว่าการส่งออกจะติดลบราว 3-5% ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากนโยบายการดำเนินเศรษฐกิจที่จะเป็นผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศจีน

“โดยรวมแล้ว เรายังเชื่อว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยจะได้รับปัจจัยบวกหลักจากประเทศสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 3% ซึ่งในปีก่อนสหรัฐ เป็นประเทศหลักที่ไทยส่งออกไปเป็นสัดส่วน 11.38% ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่น และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการส่งออกไปยังประเทศจีนว่าจะติดลบมากกว่าที่คาดหรือไม่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อตัวเลขการส่งออกรวมได้”นายรติดนัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

เงินเฟ้อม.ค.เพิ่ม1.55%

                    พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเพิ่มตามน้ำมัน พร้อมปรับน้ำหนักและเปลี่ยนปีฐานดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นปีฐาน 58 จากปี 54 ลดรายการสินค้าเหลือ 422 รายการ จากเดิม 450 รายการ  คาดทั้งปีนี้ยังอยู่ในกรอบ 1.5-2%            

                    นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เดือนม.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 100.75 เพิ่มขึ้น 1.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.16% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. 59 ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เดือน ม.ค.อยู่ที่ 101.05 เพิ่มขึ้น 0.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.07% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ขณะเดียวกัน สินค้าอาหารราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ ผัก ผลไม้ รวมถึงสัตว์น้ำบางประเภท เนื่องจากเป็นช่วงมรสุมในภาคใต้ แต่อย่างไรก็ดี ถือว่าขยายตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในปีก่อนหน้า รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน พร้อมกันนี้ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปปี 60 นี้ น่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.5-2% ตามเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้ คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.77% ซึ่งยอมรับว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น จากกราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะสูงขึ้นวันละ 1.2 ล้านบาร์เรล ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ดี ประเมินเบื้องต้นว่า เงินเฟ้อที่อยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ยังไม่น่ากังวล ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างเข้มงวดและใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งสอดส่องดูแลไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม และแม้ราคาน้ำมันดิบจะปรับสูงขึ้น แต่สนค.จะยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 60

นอกจากนั้น ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป สนค. ปี 2560 เป็นต้นไป ได้ปรับน้ำหนักและเปลี่ยนปีฐานดัชนีราคาผู้บริโภคจากปีฐาน 54 เป็นปีฐาน 58 ซึ่งเป็นการปรับเป็นครั้งที่ 10 คำนวณรายการที่สำรวจทั้งสิ้น 422 รายการ ลดลงจากปี 54 ที่มี 450 รายการ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตของประชาชน และรูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือน รวมถึงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้คิดเป็นรายการเพิ่มใหม่ 23 รายการ และเป็นรายการที่ตัดออก 51 รายการ สรุปรายการที่ลดลงทั้งสิ้น 28 รายการ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศปีฐาน 58 จะมีสินค้าที่ใช้คำนวณทั้งสิ้น 293 รายการ จากปีฐาน 54 ที่ 312 รายการ ลดลง 19 รายการ

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

พพ.ควักเงินกองทุน6,000ล.ลุยอนุรักษ์พลังงาน

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีทองแห่งการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมพลังงานทดแทน จึงได้จัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐตามเป้าหมายแผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี 2015)และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี2015)

สำหรับเงินกองทุนฯจะแบ่งการสนับสนุนออกเป็น 2 โครงการฯ ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหน่วยงานของภาครัฐ วงเงินรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท 2.โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ วงเงินรวมประมาณ2,000 ล้านบาท โดยผู้ที่ขอรับเงินสนับสนุนจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือเป็นหน่วยงานรัฐที่ตั้งในไทยและมีฐานะเป็นนิติบุคคล หน่วยงานราชการได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ ส่วนหลักเกณฑ์การสนับสนุน พพ.จะสนับสนุนแบบให้เปล่า100% ซึ่งจะให้การสนับสนุนวงเงินรวมกันไม่เกิน 52.5 ล้านบาทต่อโครงการต่อพื้นที่ของหน่วยงาน

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560