http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกุมภาพันธ์ 2563)

ครม.แก้​คุณสมบัติ ผู้จดทะเบียนชาวไร่อ้อย​

ดร.รัชดา​ ธนาดิเรก​ รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี​ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.​เห็นชอบร่างระเบียบฯ ยกเว้นคุณสมบัติผู้จดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย​

 ทั้งนี้​ สืบเนื่องจากระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ได้กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอจดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อย ข้อ 8 (3) มีสมาชิกเป็นชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน และ (4) มีปริมาณอ้อยของสมาชิกส่งให้แก่โรงงานรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของปริมาณอ้อยที่โรงงานนั้นหีบทั้งหมดในแต่ละฤดูการผลิต ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าว ได้รับการร้องเรียนว่า เป็นการกีดกันกลุ่มเกษตรชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อย สมาคมชาวไร่อ้อยที่มีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยได้ การที่ไม่สามารถจัดตั้งเป็นสถาบันชาวไร่อ้อย ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยขนาดเล็กเสียโอกาสในหลายเรื่อง เช่น ขาดตัวกลางประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิก ระหว่างโรงงานน้ำตาลกับสมาชิก ส่วนราชการกับสมาชิก และระหว่างสมาชิกด้วยกัน ขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เนื่องจากไม่มีตัวแทน (ในนามสถาบัน)ไปร่วมในฐานะกรรมการบอร์ดต่างๆ เพื่อร่วมกำหนดราคาและนโยบาย และไม่ได้รับค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยที่ได้รับจากโรงงานเพื่อนำมาจัดสรรให้กับสมาชิก  

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจดทะเบียนเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยและสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ ครม.จึงเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย โดยยกเว้นคุณสมบัติ 2 ข้อ คือ 1.มีสมาชิกเป็นชาวไร่อ้อยไม่น้อยกว่า 600 คน 2.มีปริมาณอ้อยของสมาชิกส่งให้แก่โรงงานรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของปริมาณอ้อยที่โรงงานนั้นหีบทั้งหมดในแต่ละฤดูการผลิต และเลื่อนการพิจารณาคุณสมบัติสำหรับสหกรณ์ที่มีฐานะเป็นสถาบันชาวไร่อ้อยเดิมออกไป 2 ฤดูการผลิต คือ ปี 2562/2563 และ ปี 2563/2564

จาก  https://www.thansettakij.com  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563

ราคาน้ำตาลโลกขยับ แต่ผลผลิตอ้อยร่วงกราวรูด

เริ่มกลับมาเห็นปรากฏการณ์การผันผวนของราคานํ้าตาลในตลาดโลกอีกครั้ง แต่คราวนี้แนวโน้มดี ส่งสัญญาณราคานํ้าตาลไต่ระดับขาขึ้น โดยราคากลับมาขยับไปทิศทางบวกในรอบ 3-4 ปี แรงส่งแรกที่ทำให้ราคานํ้าตาลกลับมาดีดบวก เริ่มตั้งแต่ทั่วโลกมีผลผลิตอ้อยและนํ้าตาลน้อยกว่าความต้องการใช้หรือเข้าใจง่ายๆ คือ ในโลกขาดนํ้าตาลอยู่ราว 6-7 ล้านตันนํ้าตาลที่อยู่ในสต๊อกโลกและปริมาณสต๊อกจะลดลงต่อเนื่องถึงปี 2563/2564

แรงส่งประการที่ 2 ประเทศผู้ผลิตอ้อยและนํ้าตาลรายสำคัญมีผลผลิตลดลง เช่น อเมริกา ฟิลิปปินส์ และโดยเฉพาะอินเดีย ผลผลิตน้ำตาลลดลงจาก 33 ล้านตันน้ำตาล ลงมาเหลือ 26-27 ล้านตันน้ำตาล เช่นเดียวกับประเทศไทยจากปีที่ผ่านมามีผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 130.97 ล้านตัน มีปริมาณนํ้าตาล 14.5 ล้านตัน ปี 2562/2563 ที่กำลังหีบอยู่ในขณะนี้ มีตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ เพิ่งได้ปริมาณอ้อยที่ 64.3ล้านตัน ปีนี้จะปิดหีบไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเร็วกว่าทุกปี เพราะมีผลผลิตอ้อยน้อยลงจนน่าใจหาย ขณะที่ปีที่ผ่านๆ มาจะปิดหีบอ้อยได้ลากยาวไปถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณอ้อยเพียง 80 ล้านตันอ้อย เพราะถ้าปริมาณอ้อยไม่ถึง 80 ล้านตันอ้อย แปลว่าจะได้นํ้าตาลไม่ถึง 8.5 ล้านตัน นํ้าตาล เปรียบเทียบกับเมื่อปี 2561/2562 มีนํ้าตาลสูงถึง 14.5 ล้านตันนํ้าตาลปริมาณนํ้าตาลหายไป 6 ล้านตัน

จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะประเทศไทยเคยส่งออกนํ้าตาลได้ถึงปีละ 11-12 ล้านตัน ขึ้นชื่อว่าเป็นเบอร์ 2 ผู้ส่งออกนํ้าตาลรายใหญ่ของโลกรองจากบราซิล ปัจจุบันเหลือส่งออกเพียง 5-6 ล้านตัน เพราะความแห้งแล้ง ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นแทน แต่ก็ยังมีข้อดีผลผลิตน้อย ทำให้ราคานํ้าตาลพุ่งสูงขึ้นเป็นธรรมดาของตลาด

แรงส่งประการที่ 3 นักเก็งกำไรกลับมาซื้อตั๋วนํ้าตาล จากเดิมขายออกตั๋วนํ้าตาล ตอนนี้กลับมาซื้อตั๋วนํ้าตาลมากขึ้น และซื้อมากกว่าตอนขายตั๋วนํ้าตาลอยู่ 129,984 ล็อต (ณ 4 ก.พ. 63) หรือเทียบเท่ากับ 6.6 ล้านตันนํ้าตาล เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันวันที่ 10 กันยายน 2562 ถือตั๋ว

นํ้าตาลเป็นตั๋วขายมากกว่าตั๋วซื้ออยู่ 225,812 ล็อต หรือเทียบเท่ากับ 11.47 ล้านตันนํ้าตาล เท่ากับซื้อนํ้าตาลไป-กลับ จากขายกลายเป็นซื้อ หรือเท่ากับซื้อนํ้าตาลเพิ่มเข้ามาประมาณ 18 ล้านตันนํ้าตาล

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ราคาอ้อยจากตันละ 1,000 บาท ขยับลงมาที่ราคา 880 บาทต่อตัน ก่อนที่อ้อยราคาจะร่วงลงมาที่ 700 บาทต่อตันและล่าสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อตัน เช่นเดียวกับราคานํ้าตาลโลก เมื่อ 3-4 ปีก่อนอยู่ที่ 20-24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ต่อมาอ่อนตัวลงมาที่ 15-16เซ็นต์ต่อปอนด์ ก่อนที่จะร่วงลงมาที่ 13.42 เซ็นต์ต่อปอนด์ ล่าสุดราคาขยับมาที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ และแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นอีก น่าจะไต่ระดับไปถึง 17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์

สอดคล้องกับที่นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท นํ้าตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายนํ้าตาลทรายอย่างครบวงจรเผยว่า ขณะนี้ถ้าดูปริมาณนํ้าตาลทั่วโลกติดลบ สต๊อกนํ้าตาลที่เคยมีก็ลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ยังสูง และหากมองในแง่ราคาก็มีการเก็งกำไรมากขึ้น โดยรวมราคานํ้าตาลทรายดิบส่งออกเริ่มผงกหัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จาก 11-12 เซ็นต์ ต่อปอนด์ ล่าสุดขยับขึ้นมาที่ 14.9-15 เซ็นต์ต่อปอนด์ และคาดการณ์ว่าราคาจะทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือพอราคาดี ผลผลิตกลับน้อยลง และผลผลิตสุดท้ายเมื่อปิดหีบในเร็ววันนี้ น่าจะมีปริมาณอ้อย ไม่เกิน 80 ล้านตันอ้อย ซึ่งน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าราคานํ้าตาลโลกขยับไปในจังหวะขาขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ผลผลิตร่วง เพราะรอฟ้าประทาน “ฝน” ปีนี้ชาวไร่อ้อยบ่นหนักว่า นอกจากการปลูกอ้อยไม่เป็นไปตามภาวะปกติแล้ว แม้แต่ตออ้อยที่จะต่อยอดในฤดูถัดไปก็ยังต้องรอความหวังจากฟ้า!

จาก  https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563

“เฉลิมชัย” เดินเครื่อง 8 นโยบาย อุ้มภาคเกษตรทุกมิติ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในวาระ 2 และ 3 ใน 13 ก.พ. 2563 มีความมั่นใจว่า จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยขณะนี้ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมพร้อมในการบริหารงบประมาณด้วยความรวดเร็วโปร่งใสเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน ทันทีที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้เป็นกฎหมาย กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อน 8 นโยบายหลักของปี 2563

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับ 8 นโยบายที่จะขับเคลื่อนนั้น ประกอบด้วย หนึ่ง นโยบายบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ สอง นโยบายส่งเสริมเกษตรปลอดภัย (เกษตรอินทรีย์) สาม นโยบายการตลาดนำการผลิต สี่ นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต ห้า นโยบายบริหารจัดการการประมงอย่างยั่งยืน. ขณะที่นโยบายที่หก คือ นโยบายเทคโนโลยีเกษตรจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม 77 จังหวัด และจัดทำศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ เจ็ด นโยบายจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ (กส.กช.) จำนวน 7 ศูนย์ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และ แปด นโยบายบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ โดยสนับสนุนส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพิ่มมากขึ้น โดยจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ในการนำยางพาราไปใช้ในภารกิจต่าง ๆ ได้

“กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อนทันทีที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้เป็นกฎหมายตามที่ได้แถลง เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรของไทยในทุกมิติ ซึ่งได้สั่งการเร่งรัดทุกหน่วยงานในสังกัดให้พร้อมทำงานทันทีโดยเฉพาะความพร้อมในการบริหารงบประมาณตามแนวทางที่สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังกำหนด” นายเฉลิมชัย กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563

กางแผนกู้แล้งอีอีซี ระดมผันนํ้า-ซื้อบ่อดินเพิ่ม

กางแผนสู้ภัยแล้งอีอีซี ขอปันนํ้าจากลุ่มนํ้าวังโตนด โยนอีสท์วอเตอร์ ชงบอร์ด จ่ายค่าปันนํ้าลุ่มนํ้า5 ล้านบาท ได้นํ้าเพิ่มอีก 10 ล้านลบ.ม. พร้อมซื้อนํ้าบ่อดินจากภาคเอกชน 2 ราย อีก 20 ล้านลบ.ม.เสริมให้มีปริมาณนํ้าใช้ผ่านพ้นมิถุนายน

สถานการณ์ภัยแล้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ปริมาณนํ้าใน 3 อ่างใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บนํ้าดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ กรมชลประทาน ประเมินแล้วขณะนี้จะมีนํ้าเหลือใช้ไม่ถึง 58 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับผันนํ้าจากอ่างประแสร์มาช่วยอีก 79 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าไม่มีนํ้าไหลเข้าอ่าวเลยจะทำให้เหลือนํ้าใช้ได้ถึง 30 พฤษภาคมนี้เท่านั้น เช่นเดียวกับอ่างเก็บนํ้าบางพระ และหนองค้อ ที่มีนํ้าใช้การได้ไม่ถึง 37 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต่างๆ ออกมาระดมแนวทางแก้ปัญหา โดยจะใช้วิธีการผันนํ้าจากลุ่มนํ้าต่างๆ เข้ามาเสริม เพื่อรองรับความต้องการใช้ถึงเดือนมิถุนายน 2563ที่มีอยู่ราว 207 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะการแบ่งปันนํ้าจากอ่างเก็บนํ้าคลองประแกด(ลุ่มนํ้าวังโตนด) จังหวัดจันทบุรี ให้แก่อ่างเก็บนํ้าประแสร์ (เฉพาะกิจ ปี 2563) ราว 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่คณะกรรมการลุ่มนํ้าสาขาแม่นํ้าวังโตนด ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) กับกรมชลประทานไปแล้วเมื่อ

ผศ.ดร.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มนํ้าคลองวังโตนด เปิดเผยว่า แผนการปฏิบัติการแบ่งปันนํ้าดังกล่าวจะดำเนินงานช่วงวันที่ 1-25 มีนาคม 2563 ระหว่างนี้ ทางบริษัทเอกชนหรือบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) พิจารณาในการเข้ามารับภาระค่านํ้าที่มีการแบ่งปันมาให้ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์หรือราว 5 ล้านบาท ให้กับคณะกรรมการลุ่มนํ้าสาขาแม่นํ้าวังโตนดในรูปแบบโครงการ เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ลุ่มนํ้าคลองวังโตนด ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ.2561 ซึ่ง ถือเป็นวงเงินไม่มากเมื่อเทียบกับ ปริมาณนํ้าที่แบ่งปันมาให้อีอีซีที่กำลังวิกฤติอยู่ในเวลานี้

นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาคผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการนํ้าและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวว่า แม้จะมีการผันนํ้าจากลุ่มนํ้าและอ่าวเก็บนํ้ามาช่วยเสริมแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ ที่จะฝ่าฤดูแล้งไปได้ จึงได้เตรียมความพร้อมให้อีสท์วอเตอร์ไปจัดหาบ่อนํ้าของเอกชนเข้า

มาเสริมอีก ซึ่งเป็นของบริษัท ชลกิจสากล จำกัด และบริษัท เทพพิธา จำกัด ที่จะต้องเข้าไปซื้อต่อเนื่องรวมปริมาณนํ้าที่ได้ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรับวิกฤติภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 40 ปี ก็ว่าได้

นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการสายงานนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวยอมรับว่า ปีนี้นํ้าน้อยมากจึงจำเป็นที่ต้องขอปันนํ้าจากพื้นที่คลองวังโตนด เพราะถ้านํ้าไม่มีจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนจะหายไป ยิ่งขณะนี้ต้องเผชิญทั้งไวรัสโคโรนาและสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจประเทศได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานดังกล่าวเชื่อว่า สกพอ. จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติแล้งไปได้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563

“สมคิด”จี้พาณิชย์เร่งมือ ดันไทยร่วมวง CPTPP

กรมเจรจาการค้าฯ รับลูก “สมคิด” เร่งรวบรวมผลศึกษา CPTPP เสนอเข้า ครม.ภายใน เม.ย.นี้ ก่อนแสดงเจตจำนงไทยขอเข้าร่วมวงต่อที่ประชุมรัฐมนตรี CPTPP สิงหาคม ชี้ผลศึกษาได้มากกว่าเสีย แต่ต้องตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563  ว่า  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.)กระทรวงพาณิชย์รวบรวมผลการศึกษา และผลการรับฟังความคิดเห็น ข้อดี ข้อเสีย สำหรับการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 11ประเทศ รวมไปถึงการพิจารณาเยียวยาผู้ที่จะได้รับผลกระทบหากเข้าร่วมความตกลง เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป เบื้องต้นคาดจะเร่งเสนอเข้า ครม. ให้ได้ภายในเดือนเมษายน 2563  นี้

สำหรับสมาชิก  11 ประเทศ CPTPP ได้แก่  ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ที่มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) รวมกันกว่า 11  ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือสัดส่วน  13% ของจีดีพีโลก และยังมีอีกหลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้าร่วม CPTPP  เช่น  เกาหลีใต้  อังกฤษ  อินโดนีเซีย ไต้หวัน  และโคลัมเบีย  ล่าสุดมีสมาชิก 7 ประเทศได้ให้สัตยาบันข้อตกลงดังกล่าวแล้ว  ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น  สิงคโปร์ นิวซีแลนด์  ออสเตรเลีย  และเวียดนาม  โดยมีกำหนดการประชุมระดับรัฐมนตรี CPTPP ที่เม็กซิโกในเดือนสิงหาคม 2563  นี้

ดังนั้น กรมฯจึงจะเร่งพิจารณาผลศึกษาทั้งหมดเพื่อให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบก่อนที่รัฐมนตรีความตกลง CPTPP จะมีการประชุม หาก ครม. เห็นชอบจะได้แสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมต่อไป จากนั้นจะได้เข้าสู่ขั้นตอนของการจัดตั้งคณะทำงานเจรจา เพื่อเดินหน้าในการเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิก สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นที่กรมฯได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นและเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กนศ. พิจารณา หากประเทศไทยเข้าร่วมจะทำให้จีดีพี  ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.12% มูลค่า 13,323  ล้านบาท  หากไม่เข้าร่วม จีดีพี ไทยลดลง  0.25% มูลค่า 26,629  ล้านบาท  เมื่อเทียบการขยายตัวจีดีพีไทยปี 2561

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563

กรมชลฯ ร่วมถก กอนช. ผนึกทุกหน่วยงานแก้แล้งทั่วประเทศ เหลือน้ำใช้การได้ 37 %

 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ครั้งที่ 3/2563 ว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(13 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 43,251 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 19,457 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 37 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 10,223 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,527 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำใช้การได้ สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด(12 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 9,278 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,646 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ

กรมชลประทานดำเนินการจัดการคุณภาพน้ำ ด้วยมาตรการตรวจสอบประสิทธิภาพการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยวิธีการหา Water Footprint Water Footprint โดยการเก็บตัวอย่างน้ำในช่วงเวลาน้ำทะเลหนุนสูงสุด (เดือนละ 2 ครั้ง) จากนั้นส่งตัวอย่างน้ำเข้า Lab เพื่อวิเคราะห์ไอโซโทป นำผลมาวิเคราะห์ Water Footprint Water ปัจจุบัน (13 ก.พ. 63) แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี และท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเค็ม โดยทำการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแม่น้ำบางปะกง สถานีปราจีนบุรี แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา และแม่น้ำแม่กลอง สถานีปากคลองดำเนินสะดวก คุณภาพน้ำอยู่ในค่าปกติเช่นกัน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันจังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 จํานวน 21 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และชัยภูมิ รวมทั้งสิ้น 127 อำเภอ 674 ตำบล 3 เทศบาล 5,809 หมู่บ้าน/ชุมชน (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ วันที่ 12 ก.พ.63)

โดยกรมชลประทานได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ พร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ไว้พร้อมสำหรับเข้าช่วยเหลือทุกพื้นที่ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ และเคร่งครัดในการปฏิบัติตามแผนของการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 62/63 ของกรมชลประทาน ตลอดจนทำงานบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้งให้ได้มากที่สุด

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563

สตาร์ตอัพญี่ปุ่นผนึกมิตรผลทุ่ม 1,900 ล.ตั้งรง.ผลิตผงโปรตีนชีวภาพ


สตาร์ตอัพญี่ปุ่น รับคำเชิญสมคิดเทงบฯ1,900 ล้านบาท ปักธงลงทุน “โรงงานไบโอเทค” นิคมอีสเทิร์นซีบอร์ดตั้งไทยฐานการผลิตผงโปรตีนใหญ่ที่สุดในโลก จ่อผนึก “มิตรผล” ป้อนวัตถุดิบน้ำตาล ผลิตวัตถุดิบขายสู่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม –อุปกรณ์การแพทย์-ชิ้นส่วนยานยนต์

นายยาซูฮิโกะ ยูคิโยชิ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สไปเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สตาร์ตอัพจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ได้พบกับรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานไบโอเทค เพื่อผลิตโปรตีนชีวภาพ หรือผงโปรตีนจากการหมักโดยใช้กากน้ำตาล (โมลาส) ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นบอร์ด จ.ระยอง ด้วยงบประมาณการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1,900 ล้านบาท ซึ่งจะถือเป็นโรงงานผลิตผงโปรตีนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากในปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ผลิตอยู่เพียง 3 ประเทศเท่านั้น คือ บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น สหรัฐ  เยอรมนี โดยบริษัทสไปเบอร์มีกำลังการผลิตมากกว่า 2 รายดังกล่าว และยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสินค้าด้านนี้อีก 200 สิทธิบัตร ได้ขยายการจดคุ้มครองไปทั่วโลก

“เหตุผลที่ตัดสินใจมาลงทุนเพราะอุตสาหกรรมนี้จะเป็นการผลิตโปรตีนด้วยจุลินทรีย์ที่มาย่อยน้ำตาล ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตน้ำตาลเป็นอันดับต้นของโลก ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิต ขณะเดียวกัน ไทยมีความพร้อมซัพพลายเซนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อผลิตมาแล้วจะมีตลาดรองรับ และมั่นใจในมาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยตามที่ได้พบกับรองนายกรัฐมนตรีของเมืองไทยเมื่อปีก่อน”

นายยูคิโยชิ กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้บริษัทได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อปลายปีก่อน โดยได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลเป็นระยะเวลา 10 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรในการผลิต ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วมีความคืบหน้าประมาณ 20-30%  คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและทดลองเดินเครื่องได้ในช่วงกลางปี 2563 และเริ่มปฏิบัติการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564 ซึ่งเฟสแรกคาดว่าจะสามารถผลิตได้ผงโปรตีนประมาณหลายร้อยตัน จากนั้นจะส่งให้กับบริษัทแม่ในญี่ปุ่นเพื่อนำไปทำการตลาด

ส่วนการจัดหาวัตถุดิบโมลาสในการผลิตนั้น คาดว่าจะใช้ปริมาณไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลมิตรผลซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย

“ผงโปรตีนนี้จะสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นใยแทนกลุ่มโพลิเอสเตอร์ ซึ่งทำจากปิโตรเคมี เส้นใยนี้สามารถนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าสำหรับใช้ในการปฏิบัติงานของนักบินอวกาศ ซี่งปัจจุบันบริษัทขายให้กับองค์กรด้านอวกาศของญี่ปุ่น หรือ JAXA และสามารถใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยางรถยนต์เพื่อเพิ่มคุณภาพความยืดหยุ่นและยึดเกาะถนน โดยปัจจุบันมีจำหน่ายให้กับบริษัทบริดจสโตน และใช้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ”

นายยูคิโยชิกล่าวเพิ่มเติมว่าอุตสาหกรรมของเราจะช่วยต่อยอดให้วัตถุดิบทางการเกษตรของไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จำนวนมาก เพราะราคาผงโปรตีนปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อตัน อีกทั้งจะช่วยให้มีการจ้างงานคนไทยในประเทศ เพราะตอนนี้กำลังรับสมัครพนักงานในตำแหน่งต่างๆ เช่น วิศวกรโรงงาน  ทรัพยากรบุคคล ธุรการ บัญชีและการเงิน เป็นต้น

อนึ่ง บริษัทสไบเบอร์เป็นสตาร์ตอัพจากญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 27 กันยายน 2550 เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นจนสามารถระดมทุนได้มากกว่า 30,000 ล้านเยน หรือ 10,000 ล้านบาท

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563

กทท.กังวลส่งออกหดตัว ลุ้นบาทแข็ง/ศึกการค้าคลี่คลาย

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ไตรมาสแรก ประจำปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – ธันวาคม 2562) โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สรุปดังนี้

1.ท่าเรือกรุงเทพ มีเรือเทียบท่า 999 เที่ยว เพิ่มขึ้น 8.82% สินค้าผ่านท่า 5.471 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.65% ตู้สินค้าผ่านท่า 3.787 แสน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 3.50%

2.ท่าเรือแหลมฉบัง มีเรือเทียบท่า 2,457 เที่ยว ลดลง 2.73% สินค้าผ่านท่า 43.763 ล้านตัน ลดลง 5.99% ตู้สินค้าผ่านท่า 1.999 ล้านที.อี.ยู. ลดลง 4.01%

3.ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน มีเรือเทียบท่า1,183 เที่ยว เพิ่มขึ้น 36.77% สินค้าผ่านท่า 84,683 ตัน เพิ่มขึ้น 33.00% ตู้สินค้าผ่านท่า 1,860 ตู้ เพิ่มขึ้น 55.48%

4.ท่าเรือเชียงของ มีเรือเทียบท่า 102 เที่ยว ลดลง 329.41% สินค้าผ่านท่า 726 ตัน ลดลง 2,153.32%

5.ท่าเรือระนอง มีเรือเทียบท่า 70 เที่ยว ลดลง 18.57% สินค้าผ่านท่า 31,736 ตัน ลดลง 2.22% ตู้สินค้าผ่านท่า 781 ตู้ เพิ่มขึ้น 26.76%

เรือโทกมลศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนผลการดำเนินงานของกทท. มีตู้สินค้าผ่านท่าทั้งที่ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง รวม 2.337 ล้านที.อี.ยู. มีอัตราเติบโตลดลงร้อยละ 2.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมรายได้ไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2563 เป็นจำนวน 3,624ล้านบาท

ทั้งนี้ สถานการณ์นำเข้า-ส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากการปรับตัวของการส่งออกสินค้าบางรายการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่

15 มกราคม 2563 เป็นสัญญาณที่ดี คาดว่าจะช่วยลดความตึงเครียดทางการค้าลง และส่งผลดีสำหรับสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563

กลุ่มน้ำตาลครบุรี วางแผนตั้งกองทุน ระดมเงินต่อยอดธุรกิจ

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัทน้ำตาลครบุรี หรือ KBS เปิดเผยว่าปีนี้แผนดำเนินงานธุรกิจน้ำตาลของ KBS จะใช้จุดเด่นความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาล พร้อมนำเทคโนโลยีการผลิตมาช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต หลังลงทุน คอนดิชันนิ่ง ไซโลน้ำตาล ช่วยลดการจับตัวเป็นก้อน ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายสีรำ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลทรายขาวผสมซูคราโลส (Sucralose) เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตรายย่อยและผู้บริโภคทั่วไป ทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศในทวีปเอเชีย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนของธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลผลิต โดยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก การจัดเก็บผลผลิตให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา เพื่อนำส่งอ้อยมีคุณภาพให้แก่โรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิต 35,000 ตันต่อวัน โดยปีที่ผ่านมามีอ้อยเข้าหีบ 3,298,841.44 ตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทุกประเภทรวม 3,726,503.85 กระสอบ คิดเป็นน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 112.96 กิโลกรัม และรอบการผลิตปี2562/63 หลังเปิดหีบมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน มีอ้อยเข้าหีบแล้ว 1.4 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 1.484 ล้านกระสอบคิดเป็นน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 105.96 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

นายอิสสระกล่าวว่า บริษัทยังมีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ กำลังการผลิต 12,000 ตันต่อวัน และขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มเติม ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งดำเนินการโดย KPP หรือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี ที่ KBS ถือหุ้นอยู่ 99.99% โดยอยู่ระหว่างดำเนินการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิตไฟฟ้า 18 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีแล้วจำนวน 1 โรง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 16 เมกะวัตต์

ปัจจุบันบริษัทมีแผนจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี จำนวนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อระดมเงินไปลงทุนในโรงงานน้ำตาล และ โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ชาวไร่อ้อย-รง.น้ำตาลผวา แล้งนี้สูญรายได้กว่า 1 แสนล.

ภัยแล้งพ่นพิษ สูญแน่กว่า 1 แสนล้านในระบบอ้อยและน้ำตาล   ห่วงผลกระทบลากยาวถึงปี 2563/2564  ที่ผลผลิตอ้อยเหลือไม่ถึง70 ล้านตันอ้อย

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปีฤดูการผลิต2562/2563 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2563 นี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะสูญรายเด้เข้าระบบไปกว่า 1 แสนล้านบาท จากที่ปกติอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะมีรายได้ต่อปีรวมราว 220,000 ล้านบาท   รายได้ดังกล่าวแยก เฉพาะซีกชาวไร่อ้อยที่อยู่ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ชาวไร่อ้อยสัดส่วน 70% และโรงงานน้ำตาลสัดส่วน 30%  จะมีรายได้หายไปจากระบบกว่า 50,000 ล้านบาท  หลังจากที่ปริมาณอ้อยหายไปราว 50 ล้านตันอ้อย  อันเนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ปีนี้วิกฤตหนัก ทำให้ฤดูการผลิตปี 2562/2563 จะมีผลผลิตอ้อยเพียง  75-78 ล้านตันอ้อย  เปรียบเทียบกับฤดูการผลิตปี2561/2562 มีปริมาณอ้อย 130 ล้านตันอ้อย   โดยปริมาณอ้อยจะหายไปจากระบบมากถึง 50 ล้านตันอ้อย  ผลกระทบดังกล่าวยังไม่นับรวมถึงผลกระทบที่เกิดจากซีกโรงงานน้ำตาล

ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกล่าวอีกว่า ในแง่โรงงานน้ำตาลที่มีสัดส่วนแบ่งปันผลประโยชน์ที่ 30%  จะได้รับผลกระทบในแง่รายได้ที่เข้ามาลดลง  รวมถึงรายได้ที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทานจากโรงงานลดลงไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า หรือรายได้จากกากน้ำตาล  ซึ่งในปีนี้มีการปิดหีบอ้อยเร็วกว่าทุกปีด้วย เนื่องจากผลผลิตลดลงไปมาก โดยคาดว่าโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่จะปิดหีบได้ก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้  แต่จะมีน้อยรายที่ปิดหีบได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563

อย่างไรก็ตามปัญหาภัยแล้งจะส่งผลต่อเนื่องถึงปี 2563/2564 ที่จะทำให้เหลือปริมาณอ้อยที่ 60-65 ล้านตันอ้อย หรือเหลือไม่ถึง 70 ล้านตันอ้อย เนื่องจากอ้อยข้ามแล้งต้องปลูกตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2562  แต่ไม่สามารถปลูกได้เพราะภัยแล้ง  อีกทั้งปัญหาอ้อยต้อก็ไม่สามารถบำรุงได้  ซึ่งขณะนี้รอความหวังอ้อยต้นฝนในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ว่าจะมีฝนตกหรือไม่ในพื้นที่ภาคกลาง

“เวลานี้มองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาราคาน้ำตาลลอยตัวที่เริ่มตั้งแต่ 15 มกราคม2561 ทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องมา  ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจมากขึ้น ควรมีการทบทวนบางมาตรการที่ทำไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น การกำหนดปริมาณน้ำตาลขายในประเทศ เป็นต้น”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 ก.พ. 2563

ตั้งคกก.กองทุนอ้อยฯชุดใหม่

11 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้ง ผู้แทนฝ่ายต่างๆ เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 แทนชุดเดิมที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ดังนี้

1.นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ผู้แทนกระทรวงการคลัง 3.นายสุพพัต อ่องแสงคุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ 4.นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม 5.นางสาวเพ็ญแข จันทร์สว่าง ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 1 ผู้แทนสำนักงบประมาณ

 6.นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ สายนโยบายการเงิน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย 7.นายเกียรติภูมิ ศรีจันทร์รัตน์ 8.นายปารเมศ โพธารากุล  9.นายสุวิทย์ พันธุ์วิทยากูล ผู้แทนชาวไร่อ้อย 10.นายศรายุธ แสงจันทร์ 11.นายวิณณ์ ผาณิตวงศ์ และ12.นายฉัตรชัย ธรรมสวยดี ผู้แทนโรงงาน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 ก.พ. 2563

บาทเปิด 31.20 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 31.20 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวันศุกร์ ตลาดยังจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.20 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 31.23 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

"บาทแข็งค่าจากเย็นวันศุกร์ โดยปัจจัยที่ตลาดจับตาเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินคาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 31.15 - 31.25 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 11 ก.พ. 2563

ผลผลิตอ้อยไทยปีนี้ส่อเค้าไม่ถึง 80 ล้านตัน ภัยแล้ง! ลากยาวฤดูถัดไปเข้าขั้นวิกฤต

จับตาภัยแล้ง! หากลากยาวส่อเค้าฉุดผลผลิตอ้อยฤดูผลิตปี 63/64 วิกฤติหนักแน่ เหตุฤดูหีบปี 62/63 ที่กำลังจะทยอยปิดหีบล่าสุดมีแนวโน้มอ้อยจะหลุดต่ำกว่า 80 ล้านตันรายได้เกษตรกรส่อเค้าหาย 5,000 ล้านบาท ด้านโรงงานน้ำตาลมึนตึบทำสัญญาขายล่วงหน้าต้องชะลอแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังติดตามปริมาณการผลิตอ้อยฤดูผลิตปี 2562/63 ใกล้ชิดเนื่องจากมีแนวโน้มว่าปริมาณผลผลิตอ้อยที่โรงงานเปิดหีบตั้งแต่ ธ.ค. 62 เริ่มทะยอยปิดหีบบ้างแล้วนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะไม่ถึงระดับ 80 ล้านตันเมื่อเทียบกับฤดูผลิตปี 61/62 ที่ผลผลิตอยู่ในระดับ 130.90 ล้านตัน แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าคือภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นหากฤดูฝนมาล่าช้าอาจส่งผลให้การผลิตอ้อยในฤดูผลิตใหม่ (ปี 63/64) ที่กำลังจะมาถึงอาจเกิดภาวะวิกฤติมากสุดได้เพราะขณะนี้อ้อยตอเริ่มตายในบางพื้นที่

“ทุกฝ่ายมีความกังวลเพราะผลผลิตฤดูหีบปีนี้หน้าเจอภัยแล้ง ประกอบกับราคาอ้อยที่ตกต่ำต่อเนื่องทำให้ชาวไร่อ้อยบางส่วนได้หันไปปลูกพืชอื่นแทน เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งก่อนหน้านี้ประเมินว่าผลผลิตอ้อยฤดูผลิตปี 62/63 จะอยู่ที่ 110 ล้านตันแต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วจะเหลือมากสุด คือ 80 ล้านตันบวกลบ แต่หลายฝ่ายประเมินล่าสุดมีโอกาสสูงที่จะเป็น 80 ล้านตันลบมากกว่าซึ่งเท่ากับอ้อยจะหายไปประมาณ 50 ล้านตัน และหากฤดูฝนไม่เริ่มมาช่วงปลาย เม.ย.-พ.ค.ก็จะยิ่งทำให้ฤดูถัดไปผลผลิตอ้อยจะวิกฤติที่สุดเพราะขณะนี้อ้อยตอเริ่มตายบ้างแล้วและการเพาะปลูกใหม่ถ้าแล้งก็จะทำไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ จากผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปี 62/63 ที่หายไปประมาณ 50 ล้านตันจะมีผลให้รายได้ของเกษตรกรหายไปกว่า 5,000 ล้านบาท ถือเป็นวงเงินที่จะไปช่วยหมุนระบบเศรษฐกิจได้มาก ขณะเดียวกัน ทางด้านโรงงานน้ำตาลทรายเองก็ประสบกับภาวะเดือดร้อนเพราะไม่คาดคิดว่าผลผลิตจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้มากส่งผลให้การทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในฤดูกาลผลิตปี 63/64 ต้องทบทวนและชะลอไว้ก่อนเพราะในฤดูหีบปีนี้ก็เริ่มประสบปัญหาว่าปริมาณน้ำตาลที่ลดลงจากการผลิตอ้อยที่ตกต่ำอาจมีไม่เพียงพอต่อการส่งมอบหรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากผลผลิตอ้อยภาพรวมของโลกที่ตกต่ำทำให้ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่องโดยล่าสุดเคลื่อนไหวในระดับ 13.27 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้ทำการขายน้ำตาลล่วงหน้าเฉลี่ยกว่า 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ ดังนั้น แนวโน้มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูหีบปี 62/61 จึงมีทิศทางที่จะสูงกว่าขั้นต้นค่อนข้างพอสมควร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกจะสูงแต่ผลผลิตของไทยที่ตกต่ำทำให้ไทยนั้นเสียโอกาสในส่วนนี้ไปด้วย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

วิกฤติมลพิษจากการเผาไร่อ้อย

นอกจากปัญหาการลักลอบเผาป่าทางภาคเหนือจะก่อให้เกิดมลพิษแล้ว การเผาไร่อ้อยในหลายพื้นที่ ก็ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นด้วย เช่น ที่ จ.ตาก หลายสัปดาห์มานี้ต้องเผชิญฝุ่นพิษจากการเผาไร่อ้อย ติดตามจากรายงาน

ไร่อ้อยหลายตำบลของ อ.แม่สอด ถึง อ.พบพระ จ.ตาก มีร่องรอยจากการถูกเผาเป็นบริเวณกว้าง เป็นสภาพที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูแล้ง ก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อย ทำให้หลายสัปดาห์มานี้ ฝั่งทิศตะวันตกบริเวณแนวชายแดนของ จ.ตาก มีสภาพมืดครึ้ม ท้องฟ้าถูกปกคลุมไปด้วยควันหนาทึบจากการเผาไร่อ้อย ส่งผลกระทบต่อผู้คน ดัชนีคุณภาพอากาศลดลง ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินมาตรฐานในระดับอันตรายต่อสุขภาพเกือบ 3 สัปดาห์

สำนักงานเกษตรจังหวัดตากรายงานว่า ในพื้นที่มีไร่อ้อยกว่า 86,000 ไร่ ส่วนใหญ่ใช้วิธีเผาไร่ก่อนตัด ซึ่งสะดวกต่อการเข้าโรงงานน้ำตาล เพราะแรงงานหายาก และปฏิเสธการตัดอ้อยสด ผลที่ตามมาคือ มลพิษทางอากาศ ตั้งแต่ต้นปีพบจุดความร้อนจากการเผาพื้นที่เกษตรกว่า 70 จุด กระจายใน 8 อำเภอ นำไปสู่การจับมือเผา ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว 6 คน ลักลอบเผาไร่อ้อยในเขต อ.แม่สอด มาดำเนินคดีตามกฎหมาย

เข้าสู่ห้วงของการประกาศใช้มาตรการห้ามเผาอย่างเด็ดขาดในปีนี้ จ.ตาก จัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำหมู่บ้านลงพื้นที่เข้าดับไฟทั้งในเขตป่าและพื้นที่การเกษตร พร้อมขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ใช้มาตรการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ในราคาต่ำกว่าอ้อยสด เพื่อลดการเผา พร้อมสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้ปลูกอ้อย หันมาปรับเปลี่ยนวิธีเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยใช้รถตัดอ้อยราคาย่อมเยาว์ ซึ่งผลิตโดยฝีมือคนไทย แต่ประสิทธิภาพสูงทดแทนการเผา

จ.ตาก ยังตั้งเป้าลดจุดความร้อนจากการเผาลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมากกว่า 12,000 จุด นอกจากการเผาพื้นที่เกษตร ยังใช้มาตรการเข้มกับพื้นที่ป่าธรรมชาติ ซึ่งมีมากกว่า 70% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยควบคุมการบริหารจัดการเชื้อเพลิง รวมถึงเฝ้าระวังการลักลอบจุดไฟเผาป่า เพื่อหวังประโยชน์ในการเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ด้วย.-สำนักข่าวไทย

จาก https://www.mcot.net   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

ทุ่มซื้อ”ใบอ้อย”ตันละพัน มิตรผลนำร่องลดฝุ่น PM 2.5

ชาวไร่เฮ โรงงานน้ำตาลประกาศรับซื้อ “ใบอ้อย” ตันละ 1,000 บาท เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล เริ่มนำร่องแล้วโดย “กลุ่มมิตรผล” หวังแก้ปัญหาการเผาอ้อยที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ตามแผนโรดแมปของรัฐบาลจะไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลภายในปี 2565

ฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้ภาครัฐต้องออกมารณรงค์แก้ปัญหา โดยหนึ่งในมาตรการที่กำหนดออกมาบังคับใช้ก็คือ ลดการเผาในที่โล่ง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลต้องออกมาตรการจูงใจโดยให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้ออ้อยที่ตัดสดไปจนกระทั่งถึงการประกาศรับซื้อใบอ้อยตัดสด ในราคาสูงถึงตันละ 1,000 บาท

นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย 57 โรง ซึ่งบางส่วนมีโรงไฟฟ้าชีวมวลได้เริ่มมาตรการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นและซังข้าวโพด ด้วยการรับซื้อมาอัดเป็นก้อนเพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้าชีวมวล โดยโรงงานน้ำตาลรายใหญ่ที่นำร่องไปแล้ว ได้แก่ “มิตรผล” เช่นกันกับทางไทยชูการ์ฯก็มีการดำเนินมาตรการนี้ด้วยการเป็นตัวแทนของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายในการรับซื้อ ให้เป็นไปตามแผนลดการเผาอ้อย เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการไม่ให้มีการเผาอ้อยภายในปี 2565

“มิตรผลออกประกาศรับซื้อกากอ้อย-ใบอ้อยในพื้นที่แล้ว ทำให้เราคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีทั้งกากใบ กากอ้อย รวม 25-27% ของปริมาณผลผลิตอ้อยโดยรวมที่คาดว่าจะมี 90 ล้านตันอ้อย หรือลดลงจากปีก่อนที่มี 130 ล้านตัน” นายรังสิตกล่าว

ทั้งนี้ ราคารับซื้อใบอ้อยถูกกำหนดไว้ที่ตันละ 1,000 บาท “บวก/ลบ” ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่และต้นทุนค่าบริหารการจัดเก็บ ซึ่งการเก็บใบอ้อยมีต้นทุนจัดเก็บพอสมควร โดยจะต้องใช้เครื่องตัดใบเพื่อป้องกันไม่ให้โดนบาด เฉลี่ยแล้วจะเก็บได้ 2 ตันต่อไร่ แบ่งคลุมดินไว้ 1 ตัน เหลือขายได้ประมาณ 1 ตัน หากขายได้ในราคาตันละ 1,000 บาท เกษตรกรจะได้กำไรตันละประมาณ 500 บาท โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลก็จะมีกระบวนการในการปรับสภาพหลังรับซื้อใบอ้อยไปแล้วก่อนนำไปผสมกับกากอ้อยทุบเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง

ปัจจุบันการรณรงค์เลิกซื้ออ้อยไฟไหม้สามารถดำเนินการได้ประมาณ 50% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ หลังจากที่เริ่มเปิดหีบอ้อยมาเป็นเวลา 50 วัน นับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 มีอ้อยเข้าหีบไปแล้วประมาณ 40-50 ล้านตัน

ส่วนแนวทางในการมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายการลดการเผาอ้อยให้เหลือ 0% นอกเหนือไปจากการรับซื้อใบอ้อยแล้ว ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรใช้เครื่องจักรตัดอ้อยเพื่อลดการเผา ซึ่งทั่วประเทศมีปริมาณรถตัดอ้อยอยู่ 2,000 คัน รองรับอ้อยได้ประมาณ 30 ล้านตัน หากจะให้ครอบคลุม 100 ล้านตันอ้อยก็ต้องลงทุนเพิ่ม ถ้าซื้อเครื่องจักรใหม่อีก 4,000 กว่าคัน ราคาคันละ 10-15 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้เงิน 60,000 ล้านบาท แต่หากนำรถตัดอ้อยเก่ามาปรับปรุง ต้นทุนจะลดลงเหลือ 5-6 ล้านบาท รวมถึงส่งเสริมแรงงานในการตัดอ้อยสด โดยมีเครื่องสางใบให้แรงงานเพื่อตัดง่ายขึ้น

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการรับซื้อใบอ้อยและฟางแห้งจากเกษตรกรในราคาตันละ 1,000 บาท เพื่อนำไปส่งให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งแต่ละปีใช้วัตถุดิบใบอ้อย 400,000-500,000 ตัน โดยทางบริษัทกำหนดราคารับซื้อไว้ที่ตันละ 1,000 บาท ก็เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบอ้อยเพิ่มขึ้นและลดการเผาอ้อย

“เฉลี่ยจะเก็บใบอ้อยได้ไร่ละ 2 ตัน เกษตรกรจะแบ่งครึ่งหนึ่งคลุมดินเป็นวัสดุชีวภาพ อีกครึ่งมาใช้ผลิตไฟฟ้า หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการบริหารจัดการจะเหลือกำไรตันละ 500 บาท มาตรการนี้เป็นผลจากที่หลายคนมองว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลทำให้เกิดมลพิษ PM 2.5 แต่ผมมองว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้จะทำให้เกิดการดูแลอย่างยั่งยืน ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลของมิตรผลทำสัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ที่หน่วยละ 3.00 บาท บวก adder อีก 30 สตางค์ รวม 3.30 บาท เหลืออายุสัญญาอีก 3-4 ปี มีผลทำให้เราสามารถรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ที่ราคาตันละ 1,000 บาทได้” นายอิสระกล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563

สั่งปรับทัพหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ตั้งชุดปฏิบัติการลุยป้องปรามเฝ้าระวัง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์หมอกควันและปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจำนวนมาก กรมจึงปรับแผนจัดงานรณรงค์ลดการเผาเร่งสร้างการรับรู้ให้เร็วขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยสั่งการให้เกษตรจังหวัดบูรณาการแผนงานโครงการป้องกันแก้ปัญหาการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตร ในพื้นที่เกษตรในความดูแลของหน่วยงานทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งเกษตรกรุงเทพมหานครด้วย โดยประสานการปฏิบัติงานร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และให้เกษตรอำเภอร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ จัดชุดปฏิบัติการออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุการณ์เผา โดยมีเครือข่ายเกษตรกรของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) ตำบล เป็นหน่วยงานเฝ้าระวังป้องกันและปลุกจิตสำนึกไม่เผาเศษวัสดุการเกษตร ทั้งนี้ กรมอำนวยการกำกับ ติดตามผลดำเนินงานในระดับจังหวัดต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะประเมินจากจุดความร้อน (Hot spot) และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10)โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตร

สำหรับแนวทางป้องกันเฝ้าระวังการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เมื่อตั้งชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่แล้ว จะตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาจุดความร้อน (Hot spot) จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หากพบจุดความร้อนในพื้นที่จะติดต่อเครือข่ายเกษตรกร ผู้นำ ประธาน ศพก.เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนหากพบการเผาเศษวัสดุในพื้นที่การเกษตรให้แจ้งเหตุไปยังสายด่วนฉุกเฉินกรมบรรเทาสาธารณภัย 1784 (ตลอด 24 ชั่วโมง) สำหรับทุกพื้นที่ หรือสายด่วนฉุกเฉินกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ป่า

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

น้ำ : ชี้เป็นชี้ตาย 'อีอีซี'

น้ำ หนึ่งในประเด็นที่ถูกนำมาหยิบยกถกเถียงกันสำหรับในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น จากความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม และปริมาณคนที่เพิ่มเข้ามา ดังนั้นภาครัฐจึงต้องวางแผนให้รัดกุม

ทุกครั้งที่มีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เรื่องที่เป็นความกังวลของผู้คนในพื้นที่เกี่ยวกับน้ำ มักถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันทุกครั้ง

เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้มีปัญหาขาดแคลนทุกครั้งที่มีภาวะแล้ง และเมื่อโครงการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกที่วาดภาพให้เห็นว่า จะนำผู้คน นักลงทุน และกิจกรรมเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมากในพื้นที่ และแน่นอนกิจกรรมเหล่านี้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก ยิ่งทำให้ผู้คนในพื้นที่ EEC กังวลเป็นอย่างยิ่ง

ในปัจจุบันความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC มีประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เพื่ออุปโภคบริโภค 10% และใช้ในภาคอุตสาหกรรม 25% และ 65% ใช้ใน ภาคเกษตรกรรม

ส่วนความต้องการใช้น้ำในอนาคตในพื้นที่ EEC อีก 20 ปีข้างหน้า บนข้อสมมติฐานว่าจะมีการลงทุนใหม่ๆ และประชากรที่อพยพเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น จะทำให้ความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น

จนเป็นที่กังวลของทุกฝ่ายจะเกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นนี้แน่ๆ หากไม่ทำอะไร ทั้งนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ก็ประมาณความต้องการใช้ ในปี 2580 อยู่ที่ 3,089 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 650 ล้าน ลบ.ม.

ดังนั้น แผนงานที่จะสร้างเพิ่มปริมาณน้ำที่มาปิดช่องว่างของอุปสงค์และอุปทานน้ำในพื้นที่ EEC จึงถูกวาดขึ้นมา พร้อมโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินงานในอนาคต แนวทางสำคัญๆ ที่กำหนดไว้ที่เห็นๆ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง

การสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียงขึ้นใหม่และขยายความสามารถในความจุน้ำอีก 14 แห่ง ทำให้สามารถเก็บน้ำได้อีกประมาณ 770 ล้าน ลบ.ม. และดูเหมือนจะเพียงพอกับความต้องการที่ประมาณไว้ และอาจมีเผื่อเหลือเผื่อขาดบางเล็กน้อยสำหรับเหตุการณ์เหนือคาดหมาย

แม้ว่าแผนงานที่หน่วยงานต่างๆ วางแผนไว้แล้ว ก็ดูไม่น่าจะมีข้อกังวลในเรื่องปริมาณน้ำที่เตรียมไว้สำหรับการเติบโตของพื้นที่ EEC ในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าก็คือ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่เช่นนั้น หามาเท่าไรก็ไม่พอใช้ ซึ่งต้องการความร่วมมือของทุกฝ่ายในพื้นที่

นอกจากนี้ สร้างความมั่นใจในเรื่องน้ำให้กับทุกฝ่ายในพื้นที่นั้น ยังต้องรวมไปถึงการจัดสรรที่เป็นธรรม และคุณภาพของน้ำที่ดีพอสำหรับการใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ มีความสะอาด ได้มาตรฐาน ในทุกฤดูกาลไม่ว่าในช่วงปกติ น้ำหลาก และช่วงฤดูแล้ง ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการวางแผนและเข้าใจระบบการจัดสรร รวมทั้งการบริหารที่มีประสิทธิภาพ

เรื่องการจัดการน้ำของ EEC นั้น ดูเหมือนว่าจะมีความพร้อมในด้านการจัดการจัดหาได้ดี แต่การยอมรับของชุมชนในเรื่องนี้นั้น ยังต้องคำนึงความเข้าใจ ความมั่นใจ ว่าทุกส่วนจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

บาทเปิด 31.19บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่า

บาทเปิด 31.19บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าเงินบาทเปิดตลาด 31.19บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดรอลุ้นคำวินิจฉัยพ.ร.บ.งบประมาณฯ ของศาลรธน.วันนี้

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.19 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.08 บาท/ดอลลาร์

"เมื่อวานสิ่งที่ ธปท.ออกมาพูดมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นมา ส่วนวันนี้หลักๆ ให้จับตาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 รวมถึงรายละเอียดเนื้อหาขอคำตัดสินว่าจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าออกไปแค่ไหน" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้จะอยู่ระหว่าง 31.10 - 31.30 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

กาฬสินธุ์เดินหน้าผลิตอ้อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่แปลงปลูกอ้อยของบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายชัยธวัช เนียมศิริ  ผวจ.กาฬสินธุ์  เป็นประธาน เปิดงาน Kick off  Burning เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  พร้อมชมการสาธิตการใช้เครื่องสางใบอ้อย การตัดอ้อยสด และสาธิตการเก็บใบอ้อยแห้ง

 ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562  ที่เห็นชอบแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 โดยมีเป้าหมาย  "สร้างอากาศดี  เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน"  ซึ่ง จ.กาฬสินธุ์ก็ได้จัดทำยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พ. ศ. 2562-2565 โดยมีวิสัยทัศน์เป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์หรือ Zero Burning ในปีการผลิต 2564 /2565

 นายคำสี  แสนสี ผู้อำนวยการด้านอ้อย  โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในฤดูกาลผลิต 2564/2565 ทางโรงงานมีเป้าหมาย รายการเพิ่มอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ให้ได้ถึงร้อยละ 95 โดยเกษตรกรที่นำอ้อยสดมาขายจะได้ราคาที่สูงกว่า อ้อยไฟไหม้ถึงร้อยละ 30 และโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ก็ได้มีการรับซื้อใบอ้อยแห้งและฟางข้าว ในราคาตันละ 1,000 บาท  ทั้งนี้เพื่อลดการเผาไร่อ้อยและฟางข้าว  ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่  และเป็นการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ลดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 และโรงงานได้มีมาตรการตรวจฝุ่นและควันดำ รถบรรทุกอ้อยทุกคัน

 นายทูน ไชยดำ   นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ในการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้ฝากถึงสมาชิกในสมาคมชาวไร่อ้อย ด้วยกัน คืออย่าได้เผาอ้อย เพราะนอกจากจะทำความหวานลดลง  น้ำหนักลดลงแล้ว ราคายังต่ำกว่าอ้อยสด และเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563

'เครื่องตัดอ้อยสด' ลดฝุ่น PM 2.5 สิ่งประดิษฐ์จาก สจล.

 สจล.โชว์สุดยอดนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เปิดตัว 'เครื่องตัดอ้อยสดชุมชนพร้อมสางใบ แบบพ่วงด้วยแทรคเตอร์' เพิ่มความสะดวกแก่เกษตรกรในการตัดอ้อยสด หมดปัญหาการเผาใบอ้อยลด PM2.5 พร้อมกระบวนการทำงานครบวงจรเสร็จงานตัดในขั้นตอนเดียว

ผศ.ณัฐวุฒิ เดไปวา  ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า การตัดอ้อยส่วนใหญ่มักจะใช้แรงงานคนมากถึง 60% และปัญหาที่พบ คือ แรงงานจะใช้วิธีการเผาอ้อยก่อนตัดเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำให้น้ำตาลในอ้อยลดลง ซึ่งบางพื้นที่ยังขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยอีกด้วย อีกทั้งทางรัฐบาลได้ออกมาตรการในการเข้มงวด กวดขัน ตรวจสอบและเฝ้าระวังการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาลมีผลบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประสบปัญหาในกระบวนการจัดการผลผลิต

ดังนั้นทาง สจล.จึงเล็งเห็นความสำคัญและได้มีแนวคิดในการพัฒนาโครงการเครื่องตัดอ้อยสดแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์แบบไม่ต้องเผา จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับงานไร่อ้อยโดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยวอ้อยสด เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานและประหยัดเวลา ซึ่งตอบโจทย์การทำไร่อ้อยในปัจจุบัน

โดยผศ.ณัฐวุฒิ เดไปวา หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวต่อไปว่า นวัตกรรมเครื่องตัดอ้อยสดชุมชนแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยลดต้นตอส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 ด้วยฝีมือวิศวกรเครื่องกลไทย ซึ่งนวัตกรรมเครื่องตัดอ้อยสดชุมชนแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ ฝีมือวิศวกรเครื่องกลไทยและทีมงาน ออกแบบมาเฉพาะแบบไม่ต้องเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวอีกต่อไป สามารถทำงานได้ 4 ขั้นตอนในเครื่องเดียวคือ สางใบ ตัดโคน ตัดยอด วางรวมกอง ตัดได้ 100 ตันต่อวัน หรือประมาณ 10 ไร่ต่อวัน โดยใช้คนขับรถแทรกเตอร์เพียงคนเดียว ประหยัดเวลา แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐในการลดการเผาอ้อย ตอบโจทย์โรงงานน้ำตาล และเกษตรกรไร่อ้อยอย่างแท้จริง ทั้งยังส่งผลให้ชาวไร่อ้อยมีทักษะเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งได้อ้อยสด ส่งตรงสู่โรงงานน้ำตาลในราคาที่สูงขึ้นอีกด้วย

ที่สำคัญผู้ประดิษฐ์ ในฐานะหนึ่งในกรรมการสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย (TSME) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล พระจอมเกล้าลาดกระบัง ยืนยันว่าหากมีการปรับเปลี่ยนนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและสามารถช่วยลดการก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศมาใช้งานมากยิ่งขึ้น คาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะสามารถลดการเกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างแน่นอน

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563

คลังลดบาทแข็ง ลดนำเงินเข้าประเทศ

ผ่อนเกณฑ์ให้ผู้ส่งออกไม่ต้องนำเงินรายได้กลับเข้าประเทศ โดยขยายวงเงินจากที่มีมูลค่าต่ำกว่า 2 แสน ดอลลาร์สหรัฐเป็น 1 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หวังลดแรงกดดันค่าบาท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบและลงนามในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 9) เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 โดยมีสาระสำคัญ คือ การอนุญาตให้มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ผู้ส่งออกไม่ต้องนำเงินรายได้ค่าของส่งออกสินค้ากลับเข้าประเทศ โดยการขยายวงเงินค่าของส่งออกจากปัจจุบันที่มีมูลค่าต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับประโยชน์คิดเป็น50%) เป็น 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเป็น 80%)

การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนของผู้ส่งออกในการนำเงินกลับเข้าประเทศและโอนเงินออกไปเพื่อชำระภาระในต่างประเทศ เพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการรายได้จากต่างประเทศ ตลอดจนการสร้างความสมดุลของเงินไหลเข้าออกนอกประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะได้ดำเนินการส่งประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว เพื่อนำลงประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้ดำเนินการออกประกาศเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563

รุมจวกรง.น้ำตาล กลางที่ประชุมกรอ. สร้างมลพิษ ‘หิมะดำ’ ทำอุทยานฯศรีเทพวืดมรดกโลก

คณะกรอ.เพชรบูรณ์รุมจวกรง.น้ำตาลต้นตอก่อมลภาวะ-อุบัติเหตุ “วิศัลย์” ซัดหิมะดำจะทำให้อุทยานฯศรีเทพวืดเป็นมรดกโลก เผยจังหวัดทุ่มงบฯ 100 กว่าล้าน เพื่อตัดถนนใหม่ไม่ให้ผ่านโรงงาน ผู้ว่าฯลั่นหากปีหน้าไร้มาตรการป้องเผาอ้อยไม่ต้องเปิดประชุมให้หีบอ้อย

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ เป็นประธานฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องผลกระทบจากโรงงานน้ำตาล ซึ่งคณะ กรอ.ภาคเอกชนโดยเฉพาะนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ต่างพากันรุมกล่าวถึงโรงงานน้ำตาล ซึ่งกล่าวหาเป็นต้นตอทำให้เกิดมลภาวะทั้งปัญหาฝุ่น,ควัน,เสียง,น้ำเสีย,สารเคมีตกค้าง,การแย่งน้ำเกษตรกร รวมทั้งประกอบกิจการไร้ความรับผิดชอบและผลักภาระให้เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกรรายย่อย โดยถูกเปรียบเทียบเกษตรกรเสมือนทาสของโรงงานน้ำตาล จะเลิกก็เลิกไม่ได้เพราะไปกู้เงินทางโรงงานมา ทั้งนี้นายวิศัลย์ได้กล่าวกลางที่ประชุมในตอนหนึ่งถึงโรงงานน้ำตาลซึ่งตั้งใกล้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และมีหิมะดำจากการเผาอ้อยปลิวตกเข้าไปในอุทยานฯ จนมีเสียงบ่นมา 3 ครั้งแล้วเรื่องหิมะดำซึ่งหากตกแบบนี้จะได้เป็นมรดกโลกได้อย่างไร จ.เพชรบูรณ์เสียเงินไป 100 กว่าล้านบาท เพื่อหาทางเข้าอุทยานฯศรีเทพเส้นทางใหม่โดยไม่ผ่านโรงงานน้ำตาล จนเสียเงินเป็นร้อยล้านเพื่อจะตัดถนน จนต้องกล้ำกลืนฝืนทนในการที่จะหลบโรงงานฯ แต่ทำไมทางโรงงานไม่คิดว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ให้หิมะดำตกลงไปในอุทยานฯ “ในรัศมี 2-3 กิโลเมตรคุมได้ไหมอย่าให้มีการเผารอบๆ อุทยานศรีเทพ ซึ่งกำลังจะเป็นมรดกโลก ไม่งั้นมรดกโลกที่จะเป็นอานิสงส์กับประเทศชาติและเพชรบูรณ์ไม่ผ่านแน่นอน ถ้าหิมะดำยังตกอยู่แบบนี้ สิ่งเหล่านี้โรงงานเคยคิดแก้ไขบ้างหรือไม่” นายวิศัลย์กล่าว และว่า ส่วนโรงงานที่บึงสามพันใจร้ายมาก มาตั้งบริเวณริมถนนใหญ่สาย 21 และฤดูหีบอ้อยก็ตรงกับฤดูท่องเที่ยวของจังหวัดทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย นายวิศัลย์ยังกล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องของตนสำหรับ 2 โรงน้ำตาลโดยเฉพาะที่ศรีเทพ อย่าให้มีหิมะดำตกในอุทยานๆ และอ้อยที่จะมาจากโซนเหนือที่จะกันเป็นพื้นที่อนุรักษ์ไว้อย่าได้มาส่งเสริมโดยเด็ดขาด ส่วนโรงงานที่บึงสามพันลองดูซิว่าจะแก้ไขอย่างไรไม่ให้มีอุบัติเหตุ ไม่ให้มีอ้อยร่วง,รถน้ำหนักเกิน ฯลฯ ส่วนข้อสุดท้ายถ้ากิจการโรงงานน้ำตาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้และไม่มีมาตรการอะไร ขอให้ กรอ.เพชรบูรณ์มีมติอย่าให้เกิดโรงน้ำตาลแห่งที่ 3 หรือ 4 ทั้งนี้กิจการน้ำตาลอยู่กับประเทศไทยมาหลายสิบปีปัญหายังเกิดซ้ำซากและยังไม่เคยแก้ได้เลย

อย่างไรก็ตามในที่ประชุม กรอ.เพชรบูรณ์มีมติเรื่องอุทยานศรีเทพ โดยให้มีแนวกันชนเพื่อไม่ให้มีการเผาอ้อย ทั้งนี้นายสืบศักดิ์ยังกำชับให้อำเภอศรีเทพและทางอุทยานฯรวมทั้งทางท้องถิ่นให้ออกประกาศห้ามเผาเด็ดขาด พร้อมให้ท้องถิ่นไปออกระเบียบเพิ่มเติมโดยให้เพิ่มโทษ และทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นให้มารายงานในที่ประชุม กรอ.ในคราวหน้า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติห้ามให้มีโรงงานน้ำตาลตั้งแต่พื้นที่เขตอำเภอเมืองขึ้นไป โดยให้แจ้งไปที่คณะกรรมการผังเมือง เพื่อให้กำหนดว่าห้ามมีโรงงานน้ำตาลเพราะมีแหล่งท่องเที่ยว ส่วนโรงงานน้ำตาลที่อำเภอบึงสามพันให้หามาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากท้องถนน นอกจากนี้ยังมีมติด้วยว่าหากปีหน้าทางโรงงานยังไม่มีมาตรการป้องการเผา และไปส่งเสริมโดยรถตัดมีไม่เพียงพอ ฯลฯ คณะกรรมการระดับเขตซึ่งผู้ว่าเป็นประธานจะไม่เปิดประชุมกำหนดให้เปิดหีบอ้อย โดยนายสืบศักดิ์กล่าวย้ำว่า “ปีนี้เกิดปัญหาขึ้นแม้จะเป็นนโยบายอ้อยตัดร้อยละ 50 อ้อยเผาร้อยละ 50 แต่มีบางโรงงานอ้อยตัดร้อยละ 30 อ้อยเผาร้อยละ 70 ก็แสดงว่าไม่ได้ทำตามนโยบายของรัฐบาล ฉะนั้นหากไม่มีมาตรการอะไรก็ไม่ต้องประชุม จากนั้นผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ยังแจ้งให้ทางสำนักงานจังหวัด แจ้งมติที่ประชุมไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งโรงงานน้ำตาลที่จะเปิดใหม่ให้รับทราบด้วย นอกจากนี้ยังให้รายงานไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมถึงมติ กรอ.เพชรบูรณ์ โดยนายสืบศักดิ์กล่าวย้ำว่า “หากกระทรวงจะมาเปิดก็ให้มารับผิดชอบเอง เพราะถ้าไม่ฟังคนในจังหวัดก็ช่วยอะไรไม่ได้”

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563

เพิ่มศักยภาพระบบชลประทานรองรับอีอีซี

กรมชลประทานกำหนดแผนรองรับการใช้น้ำอีอีซี 20 ปีข้างหน้า ย้ำต้องพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ จัดทำโครงการผันน้ำจากจันทบุรีเสริม อยู่ระหว่างพิจารณา EHIA พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เตรียมมาตรการรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)  และบริษัท East Water ประเมินว่าปี 2569  หรือ 7 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจาก 350 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 750 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานได้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้แล้ว 781 ล้าน ลบ.ม. และอีก 10 ปี คือ พ.ศ. 2579 คาดว่าความต้องการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมและการประปา 1,000 ล้าน ลบ.ม. จึงกำหนดแผนพัฒนาแหล่งน้ำ 754 โครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำได้อีก 1,621 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 1,507,813 ไร่ ดังนั้น ปี 2579 จะมีพื้นที่ชลประทานภาคตะวันออกเพิ่มเป็น 3.7 ล้านไร่ สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าทั้ง 8 จังหวัดจะมีน้ำใช้เพียงพอและไม่เกิดปัญหาแย่งน้ำระหว่างพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมแน่นอน

ล่าสุดกรมชลประทานได้ลงนามข้อตกลง (MOU) กับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด เพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแบ่งปันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรีไปยังพื้นที่อีอีซี ซึ่งจัดทำเป็นโครงการเชื่อมโยงระบบอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรีไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ผ่านระบบผันน้ำผ่านท่อยาว 45.69 กิโลเมตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง รวมอัตราสูบ 5 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละประมาณ 432,000 ลบ.ม. ขณะที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนดมีปริมาณน้ำท่ารายปีประมาณ 1,237 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย ลำน้ำสำคัญ 4 สาขา ได้แก่ คลองหางแมว คลองวังโตนด คลองประแกด และคลองพวาใหญ่ ปัจจุบันกรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ ความจุ 68 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว  ความจุ 80.7 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ด้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร  โดยจะเริ่มโครงการก่อสร้างปีงบประมาณ 2564 หากเสร็จจะทำให้มีน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง รวมกัน 308.5 ล้าน ลบ.ม.

นายทองเปลว กล่าวถึงระบบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำในเขตอีอีซี ว่า ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบางพระ และกลุ่มอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่งในเมืองพัทยา ความจุรวมประมาณ 894 ล้าน ลบ.ม. โดยมีระบบท่อผันน้ำเป็นตัวเชื่อมโยงถึงกันเพื่อเชื่อมโยงน้ำจากระยองไปยังชลบุรี เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้แก่พื้นที่สำคัญของประเทศทั้งด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม

สำหรับฤดูแล้งปีนี้มีน้ำต้นทุนน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วน ได้แก่ กปภ. และ East Water สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบปริมาณกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 ส่วนกรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ โดยขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563

“มิตรผล” ย้ำรับซื้อใบอ้อยสด-ตอฟาง ช่วยสร้างงานเกิดรายได้หมุนเวียนถึง 4 ต่อ

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มิตรผลชี้ปัญหาภาคเกษตรกรรมไทยเจอทั้งแรงงานขาดแคลน และภาวะอากาศแปรปรวน จึงมุ่งส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยหันมาทำเกษตรแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม พึ่งเครื่องจักรและการจัดการสมัยใหม่มากขึ้น โอ่เปิดรับซื้อใบอ้อยสดช่วยให้มีกลุ่มคนในสังคมได้ประโยชน์ถึง 4 ต่อ

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทมิตรผล เปิดเผยถึงปัญหาสำคัญของภาคเกษตรกรรมไทยในปัจจุบันว่า นอกจากประสบกับการขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังต้องเผชิญต่อภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาวะอากาศแปรปรวน ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งกลุ่มมิตรผลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืน เห็นได้จากการส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยเปลี่ยนมาทำเกษตรสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม”

โดยการทำเกษตรสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนั้นจะมุ่งเน้นการนำเครื่องจักรกลการเกษตร และการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาใช้ เป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเผาอ้อยได้อย่างยั่งยืน

การรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้แก่สังคมในครั้งนี้ เพราะเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในภาคอุตสาหกรรมเกษตรของไทยที่จะสามารถแข่งขันและก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเพียงแค่กระแสและจบลงในระยะเวลาอันสั้น จึงอยากเห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะมาช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคม

สำหรับสถานการณ์การรับซื้อใบอ้อยตั้งแต่เริ่มเปิดหีบในเดือนธันวาคม 2562 โรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล ในจังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย และอำนาจเจริญ รับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่อ้อยไปแล้วกว่า 100,000 ตัน โดยมีเป้าหมายจะรับซื้อ 200,000 ตันในฤดูกาลผลิตประจำปี 2562/2563

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กลุ่มมิตรผลประกาศรับซื้อใบอ้อย และฟางข้าว สนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด งดการเผาแล้ว ก็ยังคงเดินหน้ารณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจต่อสังคมอย่างต่อเนื่องว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์กับใครบ้าง โดยได้ที่หนึ่งคือ ได้งาน ได้อาชีพ ผู้รับเหมาหรือผู้รับจ้างในท้องถิ่นเกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากค่าอัดใบอ้อย ค่าคีบใบอ้อย ค่าขนส่งใบอ้อย รวมประมาณ 500 บาทต่อตัน

ได้ที่สองคือ ได้เงินเพิ่ม ชาวไร่อ้อยได้เงินเพิ่มจากการขายใบอ้อย 1,000 บาทต่อตัน (ราคารับซื้อหน้าโรงงาน) ได้ที่สามคือ ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ กำไรที่เหลือจากการขายใบอ้อยประมาณ 500 บาทต่อตัน เมื่อชาวไร่อ้อยนำมาจับจ่ายใช้สอย ก็จะเกิดเป็นรายได้หมุนเวียน 5 เท่า ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งและชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และได้ที่สี่คือ ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ น้ำสะอาด ดินดี อากาศดี

จาก https://mgronline.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินกลับมาสดใสหลังตลาดหุ้นปรับตัวลงรับไวรัสระบาดแล้ว ตบาดหุ้นสหรัฐและยุโรปรีบาวด์ตาม ขณะที่ฝั่งเงินบาทผันผวนหนักจับตาประชุมกนง.ในวันพรุ่งนี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยตลาดการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.08 บาทต่อดอลลาร์

โดยในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินกลับมามีทิศทางสดใส เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าหุ้นปรับตัวลงรับผลของไวรัสระบาดไปแล้ว ทำให้ตลาดสหรัฐและยุโรปรีบาวด์ตามผลประกอบการบริษัทที่ยังแข็งแกร่ง S&P500 ปรับตัวขึ้น 0.7% Euro Stoxx 50 ฟื้นตัว 0.56% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ทรงตัวที่ระดับ 1.52% อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสยังคงปรับตัวลงต่อ 3%แตะระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมกับดอลลาร์ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับทอง 0.8%

ในระยะต่อไป เชื่อว่านักลงทุนจะกลับมาให้ความสนใจกับการเลือกตั้งในสหรัฐ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่กำลังจะมีการรายงานในช่วงสัปดาห์นี้

โดยในฝั่งดอกเบี้ยนโยบายไทย แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่ก็มีบางส่วน ที่คาดว่าอาจลดดอกเบี้ยทันที ปัจจัยดังกล่าวหนุนให้ตลาดถือพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นต่อ ขณะเดียวกันความผันผวนที่ปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ก็จะส่งผลให้นักลงทุนต้องลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลงอีกในอนาคต

ในฝั่งของเงินบาท ถือว่าผันผวนหนักในช่วงวันที่ผ่านมา โดยขึ้นไปอ่อนค่าที่สุดที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์ แต่กลับปรับตัวลงมาปิดสิ้นวันต่ำที่สุดที่ระดับ 31.08 บาทต่อดอลลาร์

โดยรวมเชื่อว่าน่าจะเกิดจากสภาพคล่องที่ต่ำ แต่ขณะเดียวกันก็น่าสนใจว่ามีนักลงทุนบางกลุ่มโยกเงินกลับมาเตรียมลงทุนในหุ้นไอพีโอใหม่ รวมถึงตลาดตราสารหนี้ในระยะสั้นก็ค่อนข้างปลอดภัย นักลงทุนจึงเลือกพักสภาพคล่องที่เงินบาท

เชื่อว่าวันนี้เงินบาทมีโอกาสที่จะแกว่งตัวในกรอบที่แคบลง และยะระถัดไปแนะนำจับตาตัวเลขนักท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกของไทย โดยถ้าผลกระทบของไวรัสระบาดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว มีท่าทีว่าจะจบลงเร็ว ก็อาจเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่ากลับลงบ้างในช่วงเดือนนี้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ 31.00-31.15 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

ชป. นำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมน้ำต้นทุนลุ่มเจ้าพระยา ลดใช้น้ำ4 เขื่อนหลัก

กรมชลประทาน ขานรับนโยบายรัฐบาล จัดหาน้ำกินน้ำใช้คุณภาพดีให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง พร้อมวางมาตรการประหยัด โดยนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมปริมาณน้ำต้นทุนให้ลุ่มเจ้าพระยา หวังลดการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้จัดสรรน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะมีน้ำเพื่อกิจกรรมอุปโภคบริโภคตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ตามนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงน้ำเพื่อการดูแลผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกต่อเนื่อง สวนผลไม้-กล้วยไม้เศรษฐกิจ และควบคุมคุณภาพของน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพื่อผลิตน้ำประปา รวมถึงการรักษาระบบนิเวศน์

“ความต้องการใช้น้ำดังกล่าวมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง กรมชลประทาน จึงทำการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยประหยัดการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากปริมาณน้ำของทั้ง 4 เขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยจะผันมา 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.)ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 และจะผันน้ำต่อเนื่องไปจนสิ้นเดือนเมษายน 2563 อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พบว่าปริมาณน้ำที่ผันมาเกิดการสูญหายไปในระบบกว่าครึ่ง ซึ่งในสภาวการณ์น้ำน้อยเช่นนี้ต้องมีการแก้ไขโดยเร่งด่วน” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ดร.ทองเปลว อธิบายว่า น้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่จะมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำการผันมาลงแม่น้ำท่าจีนโดยผ่านทางคลองจระเข้สามพัน และคลองท่าสาร-บางปลาก่อน ซึ่งในช่วงนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จากแม่น้ำท่าจีนสูบน้ำผ่านสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือ ไปออกที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 ก่อนจะลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยคลองพระยาบรรลือมีความยาว 42.5 กิโลเมตร มีน้ำบางส่วนเริ่มหายไปจากระบบบริเวณนี้ จากการตรวจสอบพบว่าก้นคลองเริ่มเป็นสันดอน เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ จึงได้ดำเนินการขุดลอกสันดอนออก จากการสำรวจตลอดคลองมี 10 จุดที่ต้องทำการขุดลอก ระยะทางยาวประมาณ 15 กม. โดยได้เริ่มทำการขุดลอกแล้ว อีกมาตรการที่ดำเนินการคือ ขอความร่วมมือให้ปิดประตูน้ำสองริมฝั่งคลองพระยาบรรลือ เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาได้รับน้ำเต็มจำนวน ไม่ไหลออกข้างทาง ทำให้ขณะนี้น้ำสามารถเดินทางและไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพาะยาได้สะดวกมากขึ้น

“เพื่อให้การลำเลียงน้ำไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วขึ้น กรมชลประทาน จึงได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 14 จุด รวมทั้งสิ้น 84 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำอีก 12 เครื่อง นอกจากการผันน้ำทางคลองพระยาบรรลือแล้ว ยังทำการผันน้ำมาทางคลองพระพิมล และคลองประปาทำให้สามารถนำน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ถึง 57 ลบ.ม.ต่อวินาที จากที่เคยได้ประมาณ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยลดการระบายน้ำจากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ที่ตอนนี้ระบายน้ำผ่านเขื่อนวันละ 70 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ช่วยประหยัดน้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้เป็นอย่างดี”

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อไปว่า มวลน้ำที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับการใช้เพื่อการเกษตรต่อเนื่อง สวนผักผลไม้ สวนกล้วยไม้ โดยเฉพาะน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ใช้คลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ควบคุมปริมาณน้ำเค็มที่จะรุกล้ำเข้ามาด้วยอีกทาง ทำให้ค่าความเค็มและคุณภาพน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และเมื่อน้ำทะเลหนุนอีกครั้งในช่วงกลางและปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะได้ใช้มาตรการดังที่กล่าวเป็นหลักในการบริหารจัดการน้ำ และเมื่อสิ้นเมษายน กรมชลประทานจะได้นำน้ำจากลุ่มแม่กลองปริมาณ 350 ล้านลบ.ม. เพื่อเสริมน้ำต้นทุนให้ลุ่มเจ้าพระยาในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563

“อยากเรียนให้ผู้ใช้น้ำทราบว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมุ่งเน้นกิจกรรมการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญยิ่ง เพราะน้ำต้นทุนมีจำกัด เกษตรกรควรลดการทำนาปรัง และขอยืนยันว่าประชาชนจะมีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอไปตลอดจนถึงเดือนกรกฎาคม” ดร.ทองเปลว กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563

กรมชลฯเปิดแผนผันน้ำสู้ภัยแล้ง

ขณะนี้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน  ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก  เกิดอาการหวั่นวิตกถึงปัญหาภัยแล้งปี 2563 ที่รุนแรงกว่าปีที่เคยประสบปัญหาภัยแล้งมาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกยกระดับให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ครอบคลุม 3 จังหวัด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ต่างประเมินวิกฤติภัยแล้งถึงระดับมีความเสี่ยงสูง ว่าปริมาณน้ำจะมีใช้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการใช้น้ำในภาคการผลิต ในพื้นที่อีอีซีถือเป็นศูนย์รวมของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นเส้นเลือดใหญ่ด้านเศรษฐกิจ

“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษนายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9  ถึงการบริหารน้ำให้ทุกภาคส่วนได้ใช้อย่างเพียงพอ ตลอดวิกฤติภัยแล้งปีนี้  หลังจากที่ไทยเคยเผชิญภัยแล้งหนักเมื่อปี 2522 และปี 2548 มาแล้ว

-ปีนี้ชัดเจนว่าภัยแล้งรุนแรงสุดตั้งแต่เคยเผชิญมา

ถ้ามองจากปริมาณน้ำฝน  ปี 2563 กรมอุตุฯเปรียบเทียบให้แล้วว่า ปีนี้เป็นปีที่วิกฤตใกล้เคียงกับปี 2522  ย้อนหลังไปประมาณ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปี 2548  ดังนั้นปีนี้ปริมาณฝนในภาคตะวันออกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30-50% โดยเฉพาะเกือบทุกอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อีอีซี

 “ปัญหานี้รับรู้มาตั้งแต่แรกแล้วที่เห็นว่าสถานการณ์ผิดปกติ  จึงมีการติดตามน้ำฝนมาตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2562  รวมถึงเรื่องการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ซึ่งที่ผ่านมาเราผันน้ำมาแล้ว 100 ล้านลบ.ม. ตั้งแต่ฤดูฝนปี 2562  และตอนนี้ก็ยังผันมาอย่างต่อเนื่อง  แต่ลดปริมาณการผันลงเนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำประแสร์ก็ลดลงไปแล้วประมาณ 50% ”

นอกจากนี้มีการประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ กันน้ำเพื่อการเกษตรของพื้นที่แหล่งน้ำประแสร์ไว้ ส่วนที่เหลือก็ผันมาที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลต่อเนื่องโดยมีแผนจะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์อีก 60 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วในปัจจุบัน ที่ขณะนี้ได้ผันมาแล้วประมาณ 10 ล้านลบ.ม.  ตอนนี้ยังเหลือปริมาณน้ำที่จะผันมาอีกจำนวน 50 ล้านลบ.ม.ที่จะผันมาช่วยในช่วงฤดูแล้งนี้

-ถือว่าอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว

ต้องบอกว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ แต่เรายังสามารถบริหารจัดการได้โดยการผันน้ำมาจากอ่างประแสร์ โดยเราจะสามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  หลังจากนั้นถ้าฝนไม่ตกเราจะผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์อีกแต่จะเป็นการสูบกลับน้ำมาจากท้ายอ่างประแสร์ซึ่งจะมีคลองสะพานอยู่ 1 แห่ง ซึ่งคลองแห่งนี้น้ำจะไม่ไหลลงอ่างประแสร์แต่จะมีปริมาณน้ำที่ไกล้เคียงกับน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ เราก็จะสูบกลับไปเติมในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  โดยมีแผนจะสูบกลับได้เดือนละ 6 ล้านลบ.ม.เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงฝนไม่ตก

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลจะมีความจุอ่าง 163.7 ล้านลบ.ม.  แต่เราเพิ่มความจุอ่างไปอีก 24 ล้านลบ.ม.รวมเป็น 187 ล้านลบ.ม. ตอนนี้ ณ วันที่ 30 มกราคม 2563 เหลือปริมาณน้ำอยู่ราว 38.29 ล้านลบ.ม. หรือสัดส่วน 23.39%

ปัจจุบันการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดระยองจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม  เกษตรกรรม บริโภคอุปโภค รวมทั้งสิ้น  1.12 ล้านลบ.ม.ต่อวัน  โดยมาจากอ่างเก็บน้ำหลัก 5 อ่างประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ,อ่างเก็บน้ำดอกกราย  , อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ,อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองระโอก  โดยการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมจะผ่านบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรืออีสต์วอเตอร์ และอีกส่วนใช้ตรง ส่วนประปาก็ใช้ตรงและผ่านอีสท์วอเตอร์ด้วย

-ภาคอุตสาหกรรมบอกว่าปีนี้น้ำไม่พอใช้แน่นอน

ตอนนี้เรามีน้ำเหลืออยู่  3 อ่างเก็บน้ำ ซึ่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย  อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  รวมปริมาณน้ำ  65 ล้านลบ.ม.  ถ้าคิดว่าจังหวัดระยองใช้น้ำวันละ 1 ล้านลบม. ก็ใช้ได้ถึง 65 วัน   แต่เราจะนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาเสริมอีก 60 ล้านลบ.ม.  ที่ขณะนี้ดึงมาใช้แล้ว 10 ล้านลบ.ม. เหลืออีก 50 ล้านลบ.ม. ก็ได้เพิ่มอีก 50 วัน รวมเป็น 115 วัน  แต่ก็ยังไม่พอดีกับฤดูฝน  เราจึงต้องผันน้ำมาอีก 20 ล้านลบ.ม. โดยจะมาจากการสูบกลับท้ายอ่างคลองสะพาน และจากน้ำที่ไหลลงอ่างประแสร์

นอกจากนี้อีกส่วนจะมาจากคลองวังโตนด จันทบุรี  ที่เพิ่งหารือกับกลุ่มเกษตรกรจากลุ่มน้ำคลองวังโตนดไป เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา   ตรงนี้ล่าสุดชาววังโตนดมีน้ำใจแบ่งปันน้ำให้ชาวระยอง โดยขอผันน้ำมาประมาณ 10 ล้านลบ.ม. (ที่ขอแบ่งปันน้ำมาจากภาคเกษตรในลุ่มน้ำคลองวังโตนด  ) จะเริ่มผันน้ำส่วนนี้ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยจะใช้เวลาผันน้ำได้วันละ 5 แสนลบ.ม. เป็นเวลา 20 วันจนครบ 10 ล้านลบ.ม. ผันจากคลองวังโตนดมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์และผันต่อมายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล

ปัจจุบันลุ่มน้ำคลองวังโตนด  จะมีอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 4  แห่ง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำประแกด ( สร้างเสร็จแล้ว) ความจุอ่างเก็บน้ำ 60.26 ล้านลบ.ม.   แต่มีน้ำอยู่  47 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่  อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ทั้ง 4 อ่างนี้มีความจุอ่างรวมกัน  308.5 ล้านลบ.ม.

ทั้งหมดนี้เราต้องการบริหารให้การใช้น้ำทั้ง 3 อ่าง(หนองปลาไหล  ดอกกราย  คลองใหญ่)  อยู่ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และมีน้ำเติมเข้ามาเพื่อให้ชนกับฤดูฝน  ถ้าฝนตกเราก็ยังสูบน้ำใช้ได้อีก  และยังมีส่วนที่สูบกลับได้อีก โดยการบริหารจัดการเรื่องน้ำกรมชลประทานก็ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอีสต์วอเตอร์ดูแลทั้งการประปาและภาคอุตสาหกรรม

 ส่วนกรมชลก็ต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอแต่ละลุ่มน้ำแต่ละอ่างเก็บน้ำ  พอวิกฤติก็ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหา เช่น ตัวที่สูบกลับ ที่คลองสะพาน  ใช้งบประมาณค่าท่อก็ประมาณ 50 ล้านบาท อีสท์วอเตอร์เป็นคนดำเนินการทั้งหมด  ตรงนี้อยู่ในขั้นตอนการซื้อท่ออยู่   ส่วนที่เราวางท่อสูบกลับน้ำที่ทำไว้เมื่อปี2548  ไม่สามารถใช้ได้กับปีนี้ เนื่องจากไม่มีน้ำที่เราจะสูบมาได้  เพราะเป็นปีที่วิกฤติหนักกว่าปี 2548  ส่วนอ่างเก็บน้ำประแสร์จะเป็นจุดหลักในการผันน้ำในขณะนี้

-โครงข่ายการผันน้ำเชื่อมโยงถึงกันสะดวกขึ้น

เป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันได้หมดแล้ว  เราส่งน้ำจากระยองไปยังชลบุรีด้วย  ที่ชลบุรีได้เตรียมการมาตั้งแต่ฤดูฝนที่เราสูบน้ำมาจากคลองพระองค์ไชยานุชิตมาได้ 49 ล้านลบ.ม. ในฤดูฝนปี 2562 และอีสท์วอเตอร์สูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง  2 จุด  ได้น้ำเข้ามา 8 ล้านลบ.ม.  เอามากักไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ

“ถ้ามาดูพื้นที่ภาคตะวันออกฝนจะมากที่สุดในจังหวัดตราด  รองลงมาที่จันทบุรีและที่ระยองตามลำดับ ฉะนั้นที่จังหวัดชลบุรีจะมีฝนน้อยที่สุด  และไม่มีคลองและแม่น้ำ ต้องอาศัยแหล่งน้ำจากพื้นที่รอบๆด้วย  และจำเป็นต้องอาศัยฝนที่จังหวัดจันทบุรี ระยองมาช่วยกัน  และในอนาคตเราอาจต้องดึงน้ำจากตราดมาช่วยด้วยก็ได้”

-ในแง่กรมชลประทานมั่นใจแค่ไหนจะรับมือได้

ล่าสุดกรมชลประทานฯ  มีความมั่นใจ 100% ในแง่ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่างๆที่เราบริหารอยู่  แต่ยังไม่มั่นใจในแง่การสูบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำที่อาจจะไม่ทันเพราะเรามีการสูบเต็มศักยภาพแล้ว  การผันน้ำแต่ละที่ก็ไม่ได้มายังอ่างเก็บน้ำปลายทางทันที  การจะขอใช้น้ำจากแหล่งน้ำอื่นก็ต้องใช้เวลาเจรจา

“ที่ผ่านมาขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขอลดการใช้น้ำลง 10%  ยอมรับว่าบางส่วนยังให้ความร่วมมือไม่เต็มที่   สมมติน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมี 25 ล้านลบ.ม.  ถ้าใช้วันละ 2.5 แสนลบ.ม. เท่ากับว่าเราจะใช้น้ำได้อีกประมาณ 100 วัน  จากปกติใช้น้ำวันละ 8 แสนลบ.ม.  ก็ต้องลดการใช้น้ำลงให้เท่ากับปริมาณน้ำที่มี  ฉะนั้นถ้าทุกฝ่ายรีบลดการใช้น้ำลงในตอนนี้ก็จะยืดเวลาการใช้น้ำได้  ซึ่งตรงนี้ยังกังวลว่าปริมาณน้ำมีเพียงพอแต่จะผันมาใช้ไม่ทัน”

คอลัมน์   พื้นที่นี้....Exclusive

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563

“เฉลิมชัย” ลุยปฏิรูปเกษตรทั้งระบบ มั่นใจปี 63 สร้างรายได้หลักให้ประเทศ

“เฉลิมชัย” เดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ ชี้ เตรียมขับเคลื่อนนโยบายทุกด้าน รวมถึงส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็น “ครัวของโลก”

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของกระทรวงเกษตรฯ ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้รับการจัดสรร 109,113.2650 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายบุคลากรภาครัฐ 25,535.4692 ล้านบาท งานพื้นฐาน 11,549.1760 ล้านบาท งานยุทธศาสตร์ 21,118.1321 ล้านบาท งานบูรณาการ (Agenda) 42,995.7680 ล้านบาท และงานพัฒนาพื้นที่ระดับภาค (Area) 7,914.7197 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณา วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 8-9 ม.ค.นี้

ดังนั้น จึงได้กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายทันทีที่ได้รับอนุมัติงบประมาณซึ่งทุกหน่วยวางแผนปฏิบัติการไว้พร้อมแล้ว โดยเริ่มที่การกำหนดเขตการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรจากแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือในการแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, สับปะรด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนศึกษาสินค้าหรือกิจกรรมทางเลือกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ สนับสนุนมาตรการจูงใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเดิมไปปลูกพืชที่มีศักยภาพในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม พื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่

นอกจากนี้ ยังน้อมนำศาสตร์พระราชามาส่งเสริมเกษตรกรทำทฤษฎีใหม่ 354,614 ราย ที่เกษตรกรรมทางเลือก/เกษตรผสมผสาน 16,110 ราย ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร 44,780 ราย รวมทั้งการผลิตพืชในระบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายสนับสนุน 3 ระดับคือ การรวมกลุ่ม ปัจจัยการปรับปรุงดิน และกระบวนการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (PGS) 1,575 ราย พื้นที่ 15,750 ไร่ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2560-2565 เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย ภายในปี 2565 ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area base) เช่น พื้นที่ใกล้โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล เพื่อเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิต

ที่สำคัญคือ มาตรการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี โดยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรตามความจำเป็น และการใช้วิธีการกำจัดวัชพืชและป้องกันกำจัดโรคพืชโดยวิธีอื่น เช่น เครื่องจักรกลเกษตรและสารชีวภัณฑ์ การให้ความรู้กับเกษตรกรผ่านเวทีโครงการคลินิคเกษตรเคลื่อนที่ สนับสนุนปัจจัยการผลิตเกี่ยวกับสารอินทรีย์ต่างๆ ได้แก่ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก พด. ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และมาตรการพัฒนาระบบปลูกพืชและเขตกรรม ดำเนินมาตรการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรแทนแรงงานเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร 4,700 ราย

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้วต้องส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการตลาด ระบบการขนส่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญ จะแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร กำหนดกรอบการจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2563-2565 เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ลดการสูญเสียและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มมาก การขยายช่องทางตลาดและจัดหาตลาดใหม่เพิ่มเป็นอีกประการที่จำเป็น จะใช้กลไกสหกรณ์ส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าที่ดี มีคุณภาพ นำผลิตภัณฑ์สินค้าจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ชื่อ “Co-op click” รวมถึงนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร สู่ไทยแลนด์ 4.0 ในการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญตามแนวทางนโยบายตลาดนำการเกษตรเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ DGTFarm หรือ ดิจิทัลฟาร์ม ผ่านทาง www.dgtfarm.com และ อ.ต.ก. เดลิเวอรี่ ผ่านทาง www.ortorkor.com เปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า เพื่อนำสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากจะช่วยในเรื่องการเพิ่มช่องทางการตลาดให้เกษตรกรได้กระจายผลผลิตในช่วงผลผลิตออกตลาดมากแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรขยายฐานกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัดจะเปิดตลาดการค้าสัตว์ปีกในสาธารณรัฐประชาชนจีน ภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่ม

 ส่วนสหภาพยุโรป คาดว่า ปริมาณการส่งออกสัตว์ปีกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 โดยสามารถส่งออกเนื้อไก่ได้รวม 970,770 ตัน มูลค่า 116,589 ล้านบาท ซึ่งแผนปฏิบัติการที่ดี ต้องมาจากฐานข้อมูลที่แม่นยำจึงจะจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data) และศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-technology and innovation center: AIC) เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลภาคการเกษตรอย่างครบวงจร ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งระบบฐานข้อมูลการเกษตรแห่งชาตินี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) และ Big Data ด้านสินค้าเกษตรมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประกอบในงานเชิงนโยบายและการกำหนดยุทธศาสตร์ของผู้บริหารภาครัฐในการการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ13 สินค้าประกอบด้วย ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, สับปะรดโรงงาน, มันสำปะหลังโรงงาน, อ้อยโรงงาน, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ลำไย, เงาะ, มังคุด, ทุเรียน, มะพร้าว และกาแฟ สามารถเข้าใช้งานได้ที่ bigdata.oae.go.th โดยกำหนดให้สามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2563

นายเฉลิมชัย ยังระบุต่อไปว่า สำหรับแนวทางทำให้กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมให้แล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งศูนย์ Agritechในระดับภูมิภาค ร่วมกัน 6 ภาคี คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงอุตสาหกรรม, ภาคเกษตรกร, ภาควิชาการ และภาคเอกชน ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างเป็นแบบ 1 จังหวัด 1 ศูนย์ รวม 77 จังหวัด จะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีรูปแบบเป็น Center Excellent เน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน รวบรวมช่างเกษตรและปราชญ์เกษตรซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึง Smart Farmer และ Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมความรู้ e-commerce รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบการรับรองต่างๆ เพื่อให้ก้าวสู่ศูนย์เกษตร 4.0 ในระดับภูมิภาคให้ได้ภายในปี 2563 นี้ และพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์หลักทุกอำเภอทั่วประเทศ เป็นหน่วยขับเคลื่อนนโยบายการเกษตร องค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด แก่เกษตรกร ร่วมกับศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน

“แผนปฏิบัติการทั้งหมดนี้ได้กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าจะทำให้ภาคการเกษตรของไทยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้อีกอย่างน้อยร้อยละ 10 แม้ว่าต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาเงินบาทแข็งค่า มั่นใจว่าปี 2563 เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้น และภาคเกษตรจะเป็นหลักสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ”.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563

แก้ฝุ่น PM2.5แบบ "หิ้งสู่ห้าง" "ใบอ้อย" ผลิตน้ำมันดีเซล

           พ้นจากเรื่องประวัติศาสตร์การประมูลรถไฟความเร็วสูง 2.24 แสนล้านบาท ที่ผมนำเสนอร่างสัญญาที่เขาเซ็นลงนามกันมายาวเหยียด 53-54 ตอน ขออนุญาตพาทุกท่านมาเติมปัญญาเป็นอาวุธ ว่าด้วยเรื่อง “งานวิจัยระดับชาติ:จากหิ้งสู่ห้าง”

          เรื่องแบบนี้คนไทยไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยพิสมัยนัก เพราะไม่โดนกระแทก ผิดกับข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีต้องโฆษณา แต่ผมว่าเรื่องดีๆ ต้องมีเพื่อเติมปัญญา

          ระยะนี้ประเทศเรามีเรื่องใหญ่ระดับชาติ 2-3 เรื่อง ไล่จาก ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองในหมอก ซึ่งตอนนี้ถูกกลบมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จากเมืองอู่ฮั่นของจีนที่หวาดผวากันไปทั้งโลก และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศที่เจอตอจากความไม่รับผิดชอบของส.ส.ผู้ไร้เกียรติ

          ผมพาทุกท่านมาคุยกันเรื่อง PM2.5 ฝุ่นที่มีขนาดเล็กและมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของเราถึง 20 เท่า ไม่สามารถที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ และเมื่อฝุ่นเหล่านี้มารวมตัวกันเยอะๆ จะมีลักษณะที่คล้ายกับหมอกทึบเหมือนควันหนาบนท้องฟ้าที่เราประสบกัน

          มหันตภัยฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อระบบหายใจของคนทำให้เกิดอาการ ไอ จาม หรือเป็นภูมิแพ้ได้ กระตุ้นคนที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่น ให้เกิดอาการโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง และเสี่ยงที่จะเป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือมะเร็งปอดได้

          สถาบันวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศต่างวิเคราะห์ วิจัยสาเหตุของการเกิด PM2.5 ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่างๆ และการเผาวัสดุต่างๆ

          ข้อมูลจากกรมมลพิษ และกระทรวงพลังงานพบว่า สาเหตุของ PM2.5 ในประเทศไทยมาจาก “การเผาในที่โล่ง” มากที่สุด ตามด้วยอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง ขณะที่การผลิตไฟฟ้าเป็นต้นกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในอันดับที่ 4

          แสดงว่า ในประเทศไทยนั้นการเผาในที่โล่งคือปัญหาใหญ่

          คำถามคือเราจะทำอย่างไรกันดี! มาดูนี่ครับ....

          ปี 2557 รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร อาจารย์วิศวกรรมเครื่องกล กับ นายวศกร ตรีเดช นักศึกษาระดับปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU) สร้างผลงานการวิจัยชิ้นหนึ่งไปคว้ารางวัลเหรียญเงิน (Silver Prize) ในการประกวดและแสดงผลงาน Seoul International Invention 2014 ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมระดับชาติที่ กรุงโซล เกาหลีใต้

          งานวิจัยชิ้นนั้นคือ... “เตาปฏิกรณ์ฟลูอิดไดซ์เบด ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากใบอ้อย ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส” อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง แต่มันคือ การผลิตน้ำมันดีเซลชีวมวลจากใบอ้อย!

          เป็นใบอ้อยที่เกษตรกรเผาทิ้งเพื่อนำอ้อยไปหีบเป็นน้ำตาลนั่นแหละครับ!

          ผลงานวิจัยของ KKU อันสะท้านโลกแต่คนไทยไม่เคยรู้กันคือ “ใบอ้อย 4 กิโลกรัม สามารถสกัดผ่านการเผาไหม้ที่มีความร้อนสูงจะได้น้ำมันดิบ 1 ลิตร ใช้ระยะเวลา 30-40 นาที”

          รวยเละกันละทีนี้ เพราะถ้า “รัฐบาลลุงตู่” ตาสว่าง ออกมาตรการมาสนับสนุนกันอย่างดี แค่ใน 1 ปีนำใบอ้อย 10 ล้านตัน มาผลิตจะทำให้ได้น้ำมันดิบปีละ 2.5 พันล้านลิตร มาเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกมูลค่ามหาศาลที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและเศรษฐกิจให้ประเทศไทย

          ใบอ้อย วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรของไทยกลายเป็น “ทองคำ” แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้!

          หลายคนสงสัยว่าเขาทำอย่างไร ทำได้จริงหรือไม่ ศ.ดร.รัชพล เล่าว่า กระบวนการวิจัยนั้นมีการสร้างเตาปฏิกรณ์ฟลูอิดไดซ์เบด เป็นหอสูง 154 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร เพื่อเผาใบอ้อยที่ถูกบดละเอียด ภายในบรรจุเม็ดทรายซึ่งใช้เป็นตัวนำความร้อนจากก๊าซไนโตรเจนที่ผ่านฮีตเตอร์ควบคุมให้ได้อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส เป่าขึ้นจากด้านล่างของหอเตาปฏิกรณ์ ทำให้เม็ดทรายร้อนและเคลื่อนไหวลักษณะแขวนลอยอยู่ภายในหอเตาปฏิกรณ์

          ผงใบอ้อย จะถูกป้อนเข้าไปในอัตราการป้อนที่ 10 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ผงใบอ้อยจึงถูกเผาไหม้กลายสภาพเป็นไอ เมื่อไอจากการเผาไหม้ผ่านเข้าสู่ระบบควบแน่นที่อุณหภูมิ -4 องศาเซลเซียส จะกลายเป็น “น้ำมันดิบ” ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส ในการใช้ความร้อนสกัดน้ำมันจากชีวมวล

          ปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำมันดิบที่ได้จากใบอ้อยจะมากจะน้อย ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของหอเตาปฏิกรณ์ และอัตราการไหลของก๊าซไนโตรเจน หากสัดส่วนไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดปริมาณไอที่ไม่กลั่นตัวเป็นน้ำมันดิบสูงขึ้น และปริมาณถ่านชาร์หรือผงใบอ้อยที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์มากขึ้น น้ำมันดิบที่ได้ จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่

          เนื่องจากความชื้นของใบอ้อยและธาตุไฮโดรเจนที่ทำปฏิกิริยาความร้อนกลั่นตัวออกมาเป็นน้ำ จึงต้องทำการต้มที่จุดเดือดของน้ำอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อขับน้ำที่เป็นส่วนประกอบในน้ำมันดิบออกมา

          เมื่อทาง KKU นำน้ำมันดิบที่ได้มาวิเคราะห์คุณสมบัติเบื้องต้นพบว่า ค่าความร้อนเชื้อเพลิง ค่าความหนืด ความหนาแน่น และความเป็นกรดด่าง เมื่อผ่านการกลั่นกลายเป็น “น้ำมันดีเซล” จะมีค่าใกล้เคียงกับ “น้ำมันดีเซล” ที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบัน

          ถ้าหากรัฐบาลสนับสนุนการวิจัยงานที่เคยอยู่บนหิ้ง จะหวนกลับมาสร้างราคาในห้างทันที เพราะถ้ามีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพชุดนี้ จะสามารถนำไปใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้

          แม้ว่างานวิจัยชุดนี้จะต้องพัฒนาในเรื่องปมปัญหาว่า เศษผงใบอ้อยที่เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์มีน้ำผสม

          แต่งานวิจัยชุดนี้พบแล้วว่า สามารถนำใบอ้อยมาผลิตเป็นน้ำมันดีเซลได้ น้ำมันบนดินสามารถแก้ไขปัญหาสภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงของโลกได้ ขอแค่ลงมือทำจริงๆ จังๆ เท่านั้นเราแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ทั้งฝุ่น ทั้งควัน ทั้งน้ำมัน ทั้งรายได้เกษตรกร...มหาศาล

          ประเทศไทยนั้น มีพื้นที่การปลูกอ้อยอยู่ 47-48 จังหวัด พื้นที่รวม 10,988,489 ไร่ ปริมาณอ้อยทั้งหมด 103,533,437 ตัน พื้นที่ปลูกอ้อยส่งโรงงาน 9,864,668 ไร่ ปริมาณอ้อยส่งเข้าหีบ 92,989,092 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 9.43 ตัน/ไร่ ในแต่ละปีมีการเผาใบอ้อยกันกว่า 15-20 ล้านตันเชียวขอรับนายท่าน

          ภาคเหนือ ปลูกอ้อย 9 จังหวัด คือ แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และ เพชรบูรณ์ พื้นที่ปลูกอ้อย 2,571,431ไร่

          ภาคอีสานพื้นที่ปลูกอ้อย 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี พื้นที่ปลูกอ้อย 4,750,671ไร่

          ภาคตะวันออก ปลูกอ้อย 6 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี พื้นที่ปลูกอ้อย 605,286 ไร่ ปริมาณอ้อยทั้งหมด 5,509,259 ตัน

          ภาคกลาง ปลูกอ้อย 12 จังหวัด อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกอ้อย 3,061,101ไร่ ปริมาณอ้อยทั้งหมด 29,114,647 ตัน

          อ้อยจะเข้าปากช้าง แต่ดันทำกันไม่เป็น ทำได้แค่อ้อยอิ่ง....ประเทศจึงไม่ไปไหน เกษตรกรยิ่งทำยิ่งจน เพราะทำแบบเดิมๆ คือ ขายต้นอ้อย ขายชานอ้อย...น่าสงสารประเทศไทย!

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563

ธปท.เร่งแจงค่าเงินบาทอ่อนแล้ว

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (2 ม.ค.2563) เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงจากที่ได้แข็งค่าเร็วในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี มาที่ระดับ 30.18 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าอัตราอ้างอิงเฉลี่ยของวันที่ 30 ธันวาคม 2562 โดยสภาพคล่องในตลาดเริ่มกลับมาเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูงในสภาวะที่ตลาดกำลังมีการปรับสมดุลระหว่างแรงซื้อและแรงขายดอลลาร์ ทั้งนี้ ธปท. จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยผู้ร่วมตลาดอาจรอดูสถานการณ์การปรับตัวของตลาดสู่ภาวะปกติก่อนเร่งทำธุรกรรม

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ธปท. ได้ออกมาชี้แจงว่า อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอ้างอิง (THBREF) ของวันที่ 30 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์ แต่ในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว ค่าเงินบาทผันผวนกว่าปกติโดยแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนปิดตลาด ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน เพราะเป็นผลจากการเร่งทำธุรกรรมก่อนสิ้นปีของผู้ประกอบการบางรายในสภาวะที่ตลาดมีสภาพคล่องต่ำ ความต้องการซื้อและขายเงินตราต่างประเทศไม่สมดุลในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ เทียบกับสกุลเงินภูมิภาคในช่วงปลายปีด้วย

หลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาวไปแล้ว สภาพคล่องของตลาดจะกลับสูงขึ้นเป็นปกติ ธุรกรรมจะสมดุลมากขึ้นระหว่างฝั่งซื้อและขายเงินตราต่างประเทศ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะลดลง ทั้งนี้ ธปท. จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ขออย่าได้ตกใจกับความผันผวนระยะสั้นของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลาก่อนสิ้นปีที่ปริมาณธุรกรรมเบาบาง

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563

ปูทาง FTA ไทย-อังกฤษ หลัง ‘Brexit’ “พาณิชย์” สัมมนาให้ความรู้กฎระเบียบการค้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เร่งจัดทำรายงานนโยบายการค้าร่วมกับอังกฤษหลัง ออกจากการเป็นสมาชิกอียู อย่างเป็นทางการ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ย้ำ ไม่กระทบผู้ประกอบการไทย แนะคว้าโอกาสปูทางสู่การจัดทำเอฟทีเอไทย-อังกฤษ จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านกฎระเบียบการทำการค้าหลังเบร็กซิท มี.ค.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 23.00 น  ของวันที่ 31 มกราคม 2563 (หรือเวลา 6.00 น ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เวลาประเทศไทย) ซึ่งยูเคใช้เวลาดำเนินการกว่า 3 ปี นับจากวันที่ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 จนสามารถบรรลุผลการเจรจาข้อตกลงการถอนตัว และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของทั้งสองฝ่ายได้เป็นผลสำเร็จนั้น

นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 จะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 11 เดือน ที่อังกฤษจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของอียูแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องเร่งเจรจาจัดทำความตกลงทั้งด้านการค้าไปจนถึงความมั่นคงเพื่อให้การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่สะดุดเมื่อยูเคออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2564

“ผลกระทบต่อไทยจากกรณีที่ยูเคออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิท) ในชั้นนี้ ประเมินว่า ไม่น่ามีผลกระทบมาก อาจมีเพียงความผันผวนอ่อนค่าลงของเงินปอนด์เล็กน้อย โดยการค้าระหว่างอังกฤษกับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยจะยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ ภายใต้กฎระเบียบการค้าเดิมเสมือนว่ายังอยู่กับอียูไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้”

อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างนี้ อังกฤษจะหารือกับอียูเพื่อเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งกรมฯ จะติดตามผลการหารือนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร และจะมีผลกระทบหรือสร้างโอกาสทางการค้ากับไทยมากน้อยเพียงใด เพื่อประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมการปรับตัวได้ทัน

นางอรมน เสริมว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิด และเตรียมการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเจรจากับทั้งอียูเเละอังกฤษเรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับโควตาสินค้าจำนวน 31 รายการ อาทิ มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น ที่ไทยเคยได้รับโควตาจากอียู เเละจะต้องมีการจัดสรรเเบ่งโควตาใหม่ภายหลังออกจากอียู (เบร็กซิท)

มีเป้าหมายเบื้องต้นในการรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวม (ที่ทั้งอียูและอังกฤษจะต้องจัดสรรโควตาให้ไทยใหม่) ไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับเมื่อตอนที่ยูเคยังเป็นสมาชิกอียู รวมทั้งสะท้อนปริมาณการค้าจริงระหว่างไทยกับอียู 27 ประเทศ และอังกฤษให้มากที่สุด

เนื่องจากอังกฤษเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 21 ของไทย (อันดับที่ 2 ในอียู รองจากเยอรมนี) มีมูลค่าการค้ากับไทยปี 2562 อยู่ที่ 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 1,426 ล้านเหรียญสหรัฐ การกระชับความสัมพันธ์กับอังกฤษภายหลังเบร็กซิทจึงเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญ ซึ่งขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างศึกษานโยบายและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอังกฤษ และมีกำหนดจัดประชุมเพื่อระดมความเห็นกับภาครัฐและภาคเอกชน ในวันที่ 7 และ 13 กุมภาพันธ์ 2563

“เมื่อไทยและอังกฤษจัดทำรายงานการศึกษานโยบายการค้าของกันและกันเสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อจัดทำรายงานนโยบายการค้าร่วมกันต่อไป ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่การจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคต”

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ มีแผนจะจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และผู้สนใจในเรื่องการประกอบธุรกิจและกฎระเบียบการทำการค้ากับยูเคภายหลังเบร็กซิทในเดือนมีนาคมนี้ โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือเบร็กซิท รวมถึงแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนระหว่างไทยและอังกฤษต่อไปในอนาคต

ขณะเดียวกัน กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเรื่องประโยชน์และผลกระทบต่อไทยในการทำเอฟทีเอกับอังกฤษ รวมทั้งเตรียมจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคมในเรื่องดังกล่าว เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการทำเอฟทีเอระหว่างสองประเทศต่อไป

ทั้งนี้ การค้าไทยกับอังกฤษในปี 2562 มีมูลค่ารวม 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11.04 โดยไทยส่งออก 3,843 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวรจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกล เป็นต้นและไทยนำเข้า 2,417 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวรจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563