http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกุมภาพันธ์ 2564]

อาเซียนเร่งขับเคลื่อนอาร์เซ็ป ผลักดันการค้าฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 39 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียนครั้งแรกของปีนี้ เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินการด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาและวางทิศทางการทำงานในอนาคต รวมถึงการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025

ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการรับมือของอาเซียนต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมอบหมายให้คณะทำงานสาขาต่างๆ เร่งดำเนินงานตามแผนการฟื้นฟูอาเซียน และเห็นควรขยายบัญชีสินค้าจำเป็น (essentialgoods) ที่อาเซียนจะไม่กำหนดมาตรการกีดขวางการไหลเวียนของสินค้าในช่วงโควิดเพิ่มเติมจากยา และเวชภัณฑ์ รวมทั้งเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกรีบดำเนินการภายในให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังได้หารือกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต โดยได้ร่วมกันประเมินผลการทำงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) เพื่อนำไปประกอบการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับต่อไป รวมทั้งหารือในประเด็นเศรษฐกิจสำคัญที่บรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียนจะเสนอให้ดำเนินการภายในปี 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นใหม่ๆ เช่น การจัดทำกรอบการทำงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน ซึ่งไทยได้เสนอ “โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG)” ให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและภูมิภาค รวมทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญ เป็นต้น

นายบุณยฤทธิ์เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาคที่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินของอาเซียน โดยเห็นว่ากลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ หรือ GCC มีศักยภาพที่จะเป็นคู่เจรจา FTA กับอาเซียนในอนาคต โดยอาจเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบความร่วมมือไปก่อน โดยทั้งหมดจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดสำคัญ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เกษตรผุดโครงการ 5 อาชีพเสริมช่วยเกษตรกรช่วงภัยแล้ง

กระทรวงเกษตรฯเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และภัยแล้ง พร้อมผุด 5 อาชีพเสริม นำรองแจกพริก 100,000 กล้าที่จังหวัดนครสวรรค์ 

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักและมีความเป็นห่วงเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ในช่วงที่ผ่านมา

จึงมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ โดยได้ส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้ช่วงภัยแล้ง 5 อาชีพ ได้แก่ 1.ปลูกพริกแดง 2.เลี้ยงปลาดุก 3.เลี้ยงจิ้งหรีด 4. เลี้ยงเป็ดไข่และ 5.ไก่ไข่ ล่าสุดในวันนี้ ได้นำร่อง “โครงการปลูกพริกซุปเปอร์ฮอท สร้างรายได้สู้โควิด-19” ในพื้นที่ ต.หนองกรด และ ต.กลางแดด จ.นครสวรรค์ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ได้ทําการผลิตกล้าพริกเพื่อมอบให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจํานวน 200 ราย กล้าพริกจํานวน 100,000 กล้า ในพื้นที่นําร่อง 50 ไร่ พร้อมทั้งแนะนําและให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อปลูกในช่วงฤดูแล้ง

 นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง สลับปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกหรือกิจรรมทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูงเพื่อเป็นการเสริมรายได้ รวมทั้งสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้การเพาะปลูกพืชชนิดอื่นในพื้นที่นา เป็นเกษตรกรรมทางเลือกให้ชาวนาในระยะยาว ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร และจะผลักดันให้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สัญญาณอันตราย “วิกฤตน้ำ” ปี 2564 ไทยเผชิญ "ภัยแล้งหนัก-น้ำเค็มรุก"

“สสน.”เตือนสัญญาณอันตราย “วิกฤตน้ำ” ปี 2564 ไทยเผชิญภัยแล้งหนัก-น้ำเค็มรุก กระทบการ ใช้ชีวิตความเป็นอยู่ -เศรษฐกิจ พืชผลเสียหายตัดโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรที่กำลังเติบโตสร้างรายได้เข้าประเทศ

ประเทศไทยเผชิญกับ “วิกฤตน้ำ” ทั้งสถานการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ในขณะที่ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากยังมีการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยและขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจะต้องประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งการดำรงชีวิต สุขอนามัย และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศปี 2564 แล้งหนัก-น้ำเค็มรุก พืชผลเสียหายตัดโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรทั้งนี้ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตภัยแล้งหนัก เนื่องจากปริมาณฝนสะสมประเทศไทยในปี 2563 มีค่าน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (ปี 2562-2563) ทำให้ฤดูแล้งนี้จะมีน้ำไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และขณะนี้พื้นที่ในกรุงเทพมหานครเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว โดยความเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากขึ้น แต่ระบบชลประทานไม่มีน้ำปริมาณมากเพียงพอในการผลักดันน้ำเค็มได้เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้สัมผัสได้ถึงความเค็มที่สูงกว่าปกติของน้ำประปา จนต้องมีการเตือนถึงผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงที่ต้องระวังการนำน้ำประปาไปใช้ในการอุปโภค-บริโภคนอกจากนี้ พื้นที่ผลผลิตทางการเกษตรก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะสวนทุเรียน จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการ ทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับความเสียหายจำนวนมาก 

“ขณะนี้เกิดวิกฤตน้ำแล้ว สะท้อนจากน้ำเค็มรุกที่คุ้งบางกระเจ้าค่าความเค็มสูงถึง 7-20 กรัมเกลือต่อลิตร ใกล้จุดอันตราย หากพืชสวนตายลงการปลูกใหม่ต้องใช้เวลา 5 ปี ต่างจากการทำนาข้าวที่หยุดการปลูกไว้ก่อนได้ เพื่อรอฝนในเดือนพฤษภาคม ที่สำคัญรายได้ภาคกลางอิงกับสวนไม่ใช่อิงกับนา อีกทั้ง ยังพบว่า สถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรสูงขึ้นจากเดิม 30% เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้ประเทศช่วงวิกฤต แต่โอกาสจะหายไปหากเราบริหารจัดการน้ำไม่สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำเปลี่ยนไป เป็นผลจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ผลจากการที่เราไปมองเรื่องกำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุด แทนที่จะมองเรื่องบริหารความเสี่ยง จึงทำให้ความมั่นคงหายไป” ดร.รอยลกล่าวสำหรับการบริหารน้ำให้เพียงพอความท้าทายของภาครัฐและประชาชนปัญหาการบริหารน้ำของประเทศไทยคือ มุ่งที่โครงสร้างขนาดใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบนั่นคือ ป่าต้นน้ำ และโครงสร้างขนาดเล็กที่กระจายเชื่อมต่อกันเพื่อระบายน้ำ เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่ไทยมีข้อมูลมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยส่วนใหญ่มาจากกว่าภาคเกษตร ทั้งโดยตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร สำหรับคนในเมืองใช้น้ำ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน และคนชนบทใช้น้ำ 80 ลิตรต่อคนต่อวันอีกทั้ง ยังไม่มีการวางแผนเตรียมรองรับกับการท่องเที่ยว ที่มีการใช้น้ำสูงถึง 1,000 ลิตรต่อคนต่อวัน และหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมักจะใช้น้ำสูงกว่าแผน ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการน้ำทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้น 25% ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและประชาชนในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ“สถานการณ์ฝนในปี 2564 จะคล้ายคลึงกับปี 2539 ที่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 4 ลูก พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ลูก และภาคใต้อีก 2 ลูก แต่ไม่ได้หนักเหมือนมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งปีนี้ปริมาณฝนของไทยแนวโน้มมีมากขึ้น แต่มีความแปรปรวนสูงขึ้น การเปลี่ยนจากฝนมากเป็นน้อยใช้เวลาสั้นลง รูปแบบเปลี่ยนไปจะตกหนักในช่วงสั้น ๆ แล้วหายไปนานจึงกลับมาตกหนักอีก ทั้งยังเปลี่ยนพื้นที่ไปตกท้ายเขื่อนแทนเหนือเขื่อน โดยการบริหารน้ำระบบเดิมเรามองแค่น้ำต้นทุน ไม่ได้มองความต้องการใช้น้ำ เพิ่งทำข้อมูลใช้น้ำในปี 2558 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับปริมาณน้ำในเขื่อน รวมทั้งความแปรปรวนของฝนที่สูงขึ้น ทำให้ยากต่อการบริหารไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้ง”  

4 เขื่อนหลักน้ำน้อยไม่พอทำนาปรัง ห่วงเกิดศึกแย่งน้ำ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) อธิบายเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดฝนตกน้อยกว่าปกติติดต่อกัน 2-3 ปีต่อเนื่อง รวมถึงฝนตกพื้นที่ที่เปลี่ยนไป โดยตกในพื้นที่ท้ายเขื่อนมากกว่าพื้นที่เหนือเขื่อน โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีฝนตกอยู่ในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนเพียง 36% แต่กลับตกนอกพื้นที่รับน้ำของเขื่อนมากถึง 64% ส่งผลให้น้ำไหลลงเขื่อนมีน้อยลง ซึ่งในภาพรวมทั้งประเทศไทย มีน้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางเพียง 42,620 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี น้อยกว่าความจุของน้ำใช้การที่มีความจุรวม 52,165 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ประเทศไทยกลับมีความต้องการน้ำมากขึ้นถึง 153,578 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 25% ในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น การจะพึ่งพาน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียวคงจะทำให้รอดพ้นภัยแล้งและน้ำท่วมได้ยาก   ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ในวันเริ่มต้นฤดูแล้งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 5,771 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนที่จะต้องเตรียมไว้ประมาณ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องงดการส่งน้ำทำนาปรังในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม.และต้องดึงน้ำมาจากลุ่มน้ำแม่กลองประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. มาเพื่อผลักดันน้ำเค็มอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมมีเพียง 3,884 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งแม้ว่าภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง แต่เกษตรกรกลับทำนาปรังไปแล้วมากกว่า 2.8 ล้านไร่ เกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและตามคลองชลประทาน ทำให้มีน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาหลายแห่งไม่เพียงพอ และเริ่มมีการแย่งน้ำกันแล้ว ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2564 นี้ อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ใช้น้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา รวมทั้งต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบให้ผ่านเดือนมีนาคมนี้ไปให้ได้”ประเทศไทยจะยังคงมีปริมาณน้ำใช้เพียงพอสำหรับทุกคน หากสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้น้ำอย่างพอดี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ไม่ให้เกิด “วิกฤตน้ำ” ซึ่งหมายถึงวิกฤตชีวิตและเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด"อ่อนค่า"ที่ 30.05 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงซื้อขายในกรอบแคบไม่ได้มีสภาพคล่องในตลาดมาก ผู้ส่งออกและนำเข้ากลับมาในตลาดบนปริมาณการซื้อขายที่ใกล้เคียงกัน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงซื้อขายในกรอบแคบไม่ได้มีสภาพคล่องในตลาดมาก ผู้ส่งออกและนำเข้ากลับมาในตลาดบนปริมาณการซื้อขายที่ใกล้เคียงกัน โดยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.05 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.03 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.95-30.15 บาทต่อดอลลาร์ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์  หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวในช่วงคืนที่ผ่านมา นำโดยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการกลับมาเปิดทำการใหม่ของภาคธุรกิจ (Reopening) และความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ให้ความมั่นใจว่าจะไม่ผ่อนการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้เงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวขึ้นสูงเร็วในอนาคต แรงบวกเหล่านี้หนุนให้ ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐและดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปรับตัวบวกขึ้น 1.14% และ 0.46% ตามลำดับ

ส่วนในฝั่งสินทรัพย์ปลอดภัย บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีขยับขึ้น 4bps มาที่ระดับ 1.38% โดยมีทั้งบริษัทเอกชนและกองทุนต่าง ๆ เข้ามาทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากมองว่าวัคซีนจะทำให้ไม่ต้องกลับไปล็อกดาวน์อีกต่อไป ส่วนเงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนญี่ปุ่น (JPY) 0.7% แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) 0.4 ถึง 0.9% เพราะแรงหนุนหลักจากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขาขึ้น และราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ทรงตัวได้ในระดับสูง 63.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเงินบาทยังคงซื้อขายในกรอบแคบโดยไม่ได้มีสภาพคล่องในตลาดมาก ผู้ส่งออกและนำเข้ากลับมาในตลาดบนปริมาณการซื้อขายที่ใกล้เคียงกัน ด้านนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้มั่นใจว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าต่อเนื่องมากเหมือนช่วงต้นปี ขณะที่ตลาดทุนในฝั่งเอเชียก็ผันผวนด้วยข่าวลบของแต่ละประเทศ วันนี้จึงต้องจับตาทิศทางของหุ้นเอเชียประกอบด้วย มองว่าถ้าการปรับฐานยังไม่จบก็จะกดดันอารมณ์การลงทุนในสกุลเงินเอเชียรวมถึงเงินบาทไปพร้อมกัน

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (25 ก.พ.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 30.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ “ แข็งค่า ”เล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 30.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายตามสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของประธานเฟด ซึ่งกล่าวต่อสภาคองเกรสว่า แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และใช้เวลาอีกนานกว่าเงินเฟ้อและการจ้างงานจะกลับสู่ระดับเป้าหมายของเฟด  ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกนาน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“น้ำตาลไทย” เจอภาษีสองเด้ง เวียดนามจ่อเก็บ AD-CVD เฉียด 50%

เวียดนาม อ้างรัฐบาลไทยอุดหนุนส่งออก รีดภาษี AD พ่วง CVD น้ำตาลไทยเฉียด 50% เบื้องต้น 120 วัน มีผล 17 ก.พ.64 ด้านพาณิชย์ผนึกบีโอไอ สอน. เร่งอุทธรณ์ หวั่นกระทบค่า premium ระยะยาวลดลง ด้านโรงงานน้ำตาล “KSL-ไทยชูการ์” โอดอาเซียนไร้กติกา ชี้ภาษีกระทบชาวเวียดนามต้องซื้อน้ำตาลแพง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามมีประกาศเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 กำหนดอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) น้ำตาลจากไทยประกอบด้วย น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ และน้ำตาลที่ได้จากอ้อย (พิกัด 1701.99.10, 1701.99,90,1701.91.00,1702.90.91) จะถูกเก็บอากรการทุ่มตลาด (AD) ชั่วคราวอัตรา 44.23% ของราคา CIF และอัตราอากรการอุดหนุน (CVD) ชั่วคราวอีก 4.65% ของราคา CIF จากเดิมที่น้ำตาลทั้ง 2 ชนิดถูกเก็บภาษี 0%  โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 120 วัน จนกว่าการไต่สวนจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ เวียดนามได้เปิดไต่สวนไทยนับตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 ที่ผ่านมาโดยอ้างว่าพิจารณาจากราคาขายในประเทศหน้าโรงงานชี้ว่าไทยมีการใช้มาตรการอุดหนุน (CVD) และทุ่มตลาดจนทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของเวียดนามเสียหาย

“ทางกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) ได้เข้าร่วมในกระบวนการไต่สวนการอุดหนุนโดยตอบแบบสอบถามหลังจากนี้ทาง คต. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) จะช่วยกันเต็มที่เพื่อทักท้วงกลับไป เนื่องจากเห็นว่าอัตราจริงๆ น่าจะไม่ถึง 2% ไม่ควรจะถึง 4.65% เพราะไทยไม่ได้อุดหนุนส่งออกและมีบางโปรแกรมที่เวียดนามจับมาใส่ว่าไทยอุดหนุน เช่น มีโครงการของบีโอไอ BXIM Bank โครงการช่วยเหลือของสอน.”

นายวิฤทธิ์ วิเศษสิทธุ์  รองเลขาธการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนขั้นสุดท้ายว่าทำให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ โดยเวียดนามให้หน่วยงานรัฐตอบแบบสอบถามเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการไต่สวน โดยให้เวียดนามยกเลิกมาตรการดังกล่าวหลังจากครบกำหนด 120 วันแล้ว

“โดยในส่วนของ สอน.ได้ตอบคำถามครบแล้ว อย่างสิ่งที่เวียดนามกล่าวหาว่ารัฐเข้าไปอุดหนุน เขาส่งโครงการหรือมาตรการต่างๆ ที่คิดวาเข้าข่ายมาให้เราตอบ 14 เรื่อง ซึ่งเกี่ยวกับหลายหน่วยทั้งที่บีโอไอ สรรพากร ใครเกี่ยวเรื่องไหนก็ทำข้อมูลตอบไปรัฐได้ตอบชี้แจงไปแล้ว ส่วนเรื่องการทุ่มตลาดจะเป็นเรื่องของภาคเอกชนที่จะต้องชี้แจง และเป็นเหมือนการล้วงความลับทางการค้ามากไปเลยยังไม่ได้ตอบ ขณะนี้ก็รอการไต่สวนจากทางเวียดนาม”

ถ้ามีความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญเวียดนามก็จะสามารถใช้มาตรการภาษีดังกล่าวย้อนหลังกลับไปอีก 90 วัน เรียกเก็บจากผู้นำเข้าย้อนหลังตั้งแต่เดือน พ.ย.2563 เป็นต้นมา การขึ้นภาษีจะมีส่งผลกระทบในระยะยาว 2 ส่วน คือ 1.ตลาดเวียดนามนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลง และ 2.เมื่อผู้ซื้อเห็นว่าน้ำตาลของไทยขายยากขึ้นก็จะให้ premium น้อยลง ซึ่ง premium เป็นราคาผู้ซื้อจ่ายให้เพิ่มจากราคาน้ำตาลตลาดโลก หากเห็นว่าน้ำตาลของไทยมีคนต้องการมากก็จะทำให้ผู้ซื้อแย่งซื้อน้ำตาลของไทยโดยการให้ค่า premium เพิ่ม โดยในปีที่แล้วไทยส่งน้ำตาลเข้าเวียดนามประมาณ 1 ล้านตัน ถ้าตลาดเวียดนามหายไปก็อาจทำให้ผู้ซื้อให้ค่า premium น้อยลง

นายชลัช  ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่าเคสนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย เนื่องจากน้ำตาลลอตปี 2563/2564 บางส่วนได้ขายล่วงหน้าให้กับเทรดเดอร์ไปแล้วตามราคาตลาดโลก ดังนั้น การขายน้ำตาลยังเหมือนเดิม แต่ในเวียดนามเองอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลจนต้องมีการลักลอบขาย

อย่างไรก็ตาม กรณีจะเป็นเคสตัวอย่างเป็นกรณีศึกษาในการตอบโต้กับประเทศที่เข้ามาดัมพ์แข่งขันกับไทยยกตัวอย่างเช่น ข้าวเวียดนามส่งเข้ามาขายตีตลาด รัฐบาลไทยอาจใช้มาตรการขึ้นภาษีได้เช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นการรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน(AEC) ไม่ควรแข่งขันกันรุนแรง

นายสิรวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่าราคาน้ำตาลไทยอ้างอิงราคาตลาดโลกจึงถือว่าไทยไม่ได้ดัมพ์ราคาขายในเวียดนาม การขึ้นภาษีนี้จะทำให้ราคาน้ำตาลไทยที่ขายในเวียดนามขยับสูงขึ้นเท่ากับบราซิล ออสเตรเลีย ส่งผลทางลบกับประชาชนเวียดนามต้องกินน้ำตาลราคาแพงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำตาลในเวียดนามไม่พอ และยังต้องอาศัยการนำเข้าจากไทยเพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่าประเทศอื่น

อีกทั้งการขึ้นภาษีครั้งนี้อาจทำให้จีนหันกลับมาซื้อน้ำตาลจากไทยแทนจากที่ปัจจุบันเวียดนามนำเข้าน้ำตาลจากไทยไปบริโภคและส่งออก ทั้งนี้ต้องจับตาดูผลการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายหากยังคงขึ้นภาษีอยู่ เทรดเดอร์มีการย้ายขายประเทศอื่น จะมีน้ำตาลคงค้างในโกดังเหลืออยู่จนกว่าเทรดเดอร์จะส่งสินค้าขายใหม่ได้ และระยะยาวอาจกระทบราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2564/2565 และอาจเสียตลาดเวียดนามไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“เกษตรฯ” เคลื่อนปฏิรูป ดัน 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบาย

“อลงกรณ์” เผย ก.เกษตรฯ  จับมือ “สคช.” ยกระดับ เกษตรกร มืออาชีพ เตรียมลงนามความร่วมมือเดือนหน้า มอบ AIC ขับเคลื่อน  5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบาย พร้อกันทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (24 ก.พ.) ว่า ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายหลัก ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2564 ภายใต้วิกฤติโควิด-19 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงผนึกความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.-Thailand Professional Qualification Institute) เพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีพด้านการเกษตรด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังนี้ 1. พัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร 2. สนับสนุนบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรในเครือข่ายของ กษ. ให้เข้ารับการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร 3. ร่วมมือศึกษาวิจัย และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร รวมถึงขับเคลื่อนการฝึกอบรมผ่านระบบการเรียนรู้สมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพหรือสาขาอาชีพด้านการเกษตร 5. ร่วมกันสร้างการรับรู้ และยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ตลอดจนเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่ทำร่วมกันให้เป็นที่แพร่หลายในทุกภาคส่วน

โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ศพก. วิสาหกิจชุมชน ผู้นำสหกรณ์ ปราชญ์เกษตรและเกษตรกรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและผู้ประกอบการด้านการเกษตรเป็นต้น ทั้งนี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรของประเทศสู่ความเป็นมืออาชีพด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ภายในเดือนมีนาคมนี้ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคเกษตรถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปภาคเกษตรในการพัฒนาอาชีพเกษตรสู่มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AIC)ทั้ง77จังหวัด จะมีบทบาทสำคัญในความร่วมมือกับสคช.ในโครงการนี้ในฐานะศูนย์อบรมบ่มเพาะในภูมิภาคและใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของสคช.เป็นหลักซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีเช่นมาตรฐานวิชาชีพอีคอมเมิร์ซเกษตรซึ่งมีคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ”

ด้าน นายนพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พร้อมให้การสนับสนุนทุกช่องทางในการพัฒนาทักษะให้กับเกษตรกรและผู้ที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมพัฒนาสมรรถนะการทำงานอย่างมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ทั้งการจัดอบรมแบบเข้าถึงพื้นที่ และการจัดอบรมออนไลน์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ สามารถนำระบบการฝึกอบรมออนไลน์ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI E-Training) ไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการฝึกอบรมให้เกษตรกรทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศได้อีกช่องทางด้วย นอกจากนี้ สคช. พร้อมสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อรับการการันตีเป็นมืออาชีพโดยหน่วยงานภาครัฐ เบื้องต้น สคช. ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และคนในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพด้านการเกษตรแล้วกว่า 90 อาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเพาะปลูก การแปรรูป เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรปราดเปรื่อง รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ สคช. ยังพร้อมสนับสนุนช่องทางการตลาด และโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ สคช. มีความร่วมมือกับธนาคารออมสิน SME D Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่พร้อมพิจารณาสินเชื่อเพื่อมืออาชีพ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาส และศักยภาพในการทำงานที่สอดรับนโยบายปฏิรูปเกษตรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและการตลาดสมัยใหม่ บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจ 4.0 และการยกระดับภาคเกษตรให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญเพื่อการบริโภคของคนไทยและก้าวสู่การเป็นครัวโลก ซึ่งจะเป็นการพัฒนาด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ชาวไร่อ้อยเตรียมลุ้น!ราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งสูง”อนท.”เร่งทำราคาขาย

ราคาน้ำตาลตลาดโลกแตะ 17 เซนต์ต่อปอนด์(ไม่รวมพรีเมียม) "อนท."รีบฉวยโอกาสดีเร่งระบายขายน้ำตาลล่วงหน้าปี 2564/65 ยิ้มออกปี 2563/64 รอดไปอีกปีหลังมั่นใจทำราคาเฉลี่ยสูงส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 63/64 สูงกว่าขั้นต้นแน่นอนแล้ว ชาวไร่อ้อยยิ้มรับราคาแต่ผลผลิตอ้อยปี 63/64 แนวโน้มได้แค่ 64 ล้านตันคาดไม่เกินกลางมี.ค.ปิดหีบ

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด(อนท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อนท.อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอเปิดประมูลซื้อขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าฤดูหีบปี 2564/65 ในต้นเดือนมีนาคมนี้หลังจากที่ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกซื้อขายส่งมอบเดือนก.ค.64 ได้ปรับขึ้นมาสู่ระดับ 17 เซนต์ต่อปอนด์(ไม่รวมพรีเมียม) โดยปัจจุบันอนท.ที่บริหารน้ำตาลทรายดิบ 8 แสนตันได้มีการเสนอขายผลผลิตในฤดูผลิตปี 63/64 ที่อยู่ระหว่างการเปิดหีบไปแล้ว 76% และจะทยอยขายที่เหลือได้หมดในเร็วๆนี้ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ทำราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 16.9 เซนต์ต่อปอนด์

" ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกหากรวมพรีเมียมจะอยู่ราว 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้ราคาน้ำตาลทรายดิบ 16 เซนต์ต่อปอนด์ในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 63/64 จะเห็นว่าราคาที่อนท.ทำได้ก็จะทำให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 63/64 จะสูงกว่าขั้นต้นแน่นอนและเมื่อเราทำราคาไว้ล่วงหน้าของฤดูผลิตใหม่ก็จะช่วยการันตีราคาไว้ล่วงหน้าได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว"นายบุญถิ่นกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูหีบปี 2564/65 ให้อย่างน้อยมีโอกาสที่จะไม่ตกต่ำโดยมีโอกาสจะมากกว่าปี 63/64 ที่ราคาอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 920 บาทต่อตันสูงหากราคาน้ำตาลตลาดโลกยังอยู่ในระดับดังกล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเผชิญพายุหิมะส่งผลกระทบต่อหลุมผลิตน้ำมันลดลง ระดับราคาน้ำมันที่สูงทำให้บราซิลผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกหันนำน้ำตาลไปเอทานอลเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องติดตามว่าจะสูงต่อเนื่องหรือไม่ ประกอบกับผลผลิตน้ำตาลหลายประเทศทั่วโลกลดต่ำซึ่งหนึ่งในนั้นคือไทยที่ขณะนี้การเปิดหีบฤดูหีบปี 63/64 ได้ดำเนินงานมาถึง70-80% และเริ่มมีโรงงานบางแห่งปิดหีบแล้วคาดว่าภาคอีสานจะปิดหีบทั้งหมดในสิ้นเดือนนี้และไม่เกิน 15 มีนาคมน่าจะปิดหีบได้เกือบทั้งหมดทั่วประเทศโดยกำลังผลิตอ้อยคาดว่าจะอยู่ไม่เกิน 64 ล้านตัน

" โรงงานน้ำตาล 57 แห่งหีบอ้อยมาถึงกว่า 70% แล้วผลผลิตอ้อยที่ได้อยู่ที่ราว 59 ล้านตันอีสานซึ่งถือเป็นภาคที่มีสัดส่วนอ้อยกว่า 40% สูงสุดกำลังทยอยปิดหีบในสิ้นเดือนนี้จึงประเมินว่าอ้อยฤดูหีบปี 63/64 คงอยู่ที่ไม่เกิน 64 ล้านตันซึ่งถือว่าลดลงต่อเนื่องจากปี 62/63 ที่มีผลผลิต 74.89 ล้านตันซึ่งปัจจัยหลักๆ มาจากปัญหาภัยแล้งและราคาอ้อยที่ตกต่ำก่อนหน้านี้ต่อเนื่อง"นายนราธิปกล่าว

อย่างไรก็ตามชาวไร่อ้อยยังคงคาดหวังว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องของการสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ที่เบื้องต้นทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ได้ทำเรื่องเสนอไปยังสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังให้พิจารณางบสนับสนุนวงเงิน 6,720 ล้านบาทโดยช่วยเหลือเฉพาะอ้อยสดคิดเป็นตันละ 120 บาทซึ่งหากเป็นไปได้ชาวไร่อ้อยต้องการให้ช่วยเหลืออ้อยทุกตันหากแต่เน้นอ้อยสดมากกว่า

จาก https://mgronline.com   วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ผู้ว่าฯโคราชขีดเส้นปิดรง.น้ำตาล “เร่งแก้ปัญหามลพิษ”หยุดทิ้งน้ำเสีย-จัดการฝุ่นละออง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายอรรถพล  เจริญชันษา  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ  (คพ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเสียและฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการผลิตน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลพิมาย ต.หนองระเวียง  อ.พิมาย  จ.นครราชสีมาหลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากมลพิษเสียงดัง ควันดำ และฝุ่นจากกากอ้อยทั้งกลางวันและกลางคืน

ล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมกับนายชรินทร์  ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตสาหกรรมจังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาค 11 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาและเอาผิดกับบริษัทอุตสาหกรรมโคราช จำกัด (โรงงานน้ำตาลพิมาย) ซึ่งปล่อยมลพิษสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ใช้เวลาประชุมนานกว่า 1 ชั่วโมง

นายวิเชียรกล่าวว่า จากการหารือปัญหาที่เกิดขึ้น ประเด็นปัญหาที่ชัดเจนคือเรื่องการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งโรงงานไม่ได้ปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับใบอนุญาตการจัดตั้งโรงงานว่าด้วยเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA  ทั้งนี้ ได้สั่งให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดและและ อบต.หนองระเวียง ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับโรงงานน้ำตาลพิมาย  และสั่งให้ทางโรงงานยุติการปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงานทันที

“เรื่องฝุ่นละอองจากการดำเนินกิจการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาค 11 ได้ตรวจพบการวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศบริเวณดังกล่าวมีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด แต่ต้องรอผลการวัดที่ชัดเจนอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หากผลชัดเจนก็ให้แจ้งความดำเนินคดีเช่นกัน สำหรับปัญหากากอ้อยนั้น ที่ผ่านมามีการให้ระยะเวลาดำเนินแก้ไขปัญหาไม่ได้จะต้องดำเนินคดีตามกฏหมายทันที อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ โรงงานจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด หากไม่ทันที่กำหนดหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องปิดกิจการเพื่อแก้ไขทันที” นายวิเชียรกล่าว

จาก มติชน  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ค่าเงินบาทช้านี้ เปิดตลาด 30.01 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาด 30.01 บาทต่อดอลลาร์หลังเฟดส่งสัญญาณคงมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ ตามคาด กรอบวันนี้ 29.95-30.05บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 30.01 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเย็นวันที่ 23 กพ. ที่ระดับ 30.02 บาท/ดอลลาร์ โดยดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับเยนและยูโร แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น หลังถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณที่จะคงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐไว้เช่นเดิม ทั้งมาตรการดอกเบี้ยและมาตรการ QE ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 29.95-30.05 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ครม.เคาะแล้วกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 920 บาท/ตัน ปีการผลิต 63/64

ครม.มีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ในอัตรา 920บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

วันนี้ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ในอัตรา 920บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 98.17 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 937.19 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 55.20 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เท่ากับ 394.29 บาท/ตันอ้อย

 ทั้งนี้ การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2563/2564 เป็นไปตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563  ที่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานแล้ว เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยที่คุ้มกับต้นทุนการผลิต รักษาประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันอย่างพอเพียงและเหมาะสมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยด้วย ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีผ่านกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเป็นการประมาณการราคาอ้อยขั้นต้นเพื่อให้โรงงานน้ำตาลชำระเงินค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยไปก่อน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยนำไปใช้หมุนเวียนในการประกอบธุรกิจและสร้างรายได้ ซึ่งยังไม่ใช่ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายฤดูกาลผลิต ปี 63/64 ที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานจะได้รับจริง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ช่วยลด PM2.5 !! ซีแพค ผนึก สอน.เปิดจุดรับซื้อใบอ้อย ผลิตพลังงนทดแทน

บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม (สอน.) ลงนามความร่วมมือโครงการการใช้ประโยชน์ใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ก่อให้เกิด PM 2.5 ด้วยการรับซื้อยอดและใบอ้อย เสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย และนำไปเป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งคาดว่าจะสามารถรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้จากไร่อ้อยได้ประมาณ 210,000 ตันต่อปี พร้อมขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคทั่วประเทศ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เช่น ยอดและใบอ้อย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการสนับสนุนและผลักดันเชิงนโยบายเพื่อลดการเผายอดและใบอ้อยในพื้นที่เพาะปลูก จังหวัดสระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และลพบุรี อีกทั้งยังเป็นการเสริมรายได้ให้เกษตรกรโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวในไร่อ้อย เพื่อนำไปเป็นพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต และสร้างความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างยั่งยืน”

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า “คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมศักยภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากมลพิษการเผาอ้อย ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ภาครัฐให้ความสำคัญและเป็นความหวังในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2564 ให้เหลือร้อยละ 20 และมีปริมาณอ้อยสดร้อยละ 80 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้นโดยจัดหาเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการตัดอ้อยสด เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการนำวัสดุเหลือใช้จากไร่อ้อยมาเป็นพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม”

ด้านนายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “ CPAC ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างคุณค่าร่วมทางธุรกิจและสังคม “Creating Share Value” (CSV) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยบรรเทาปัญหาของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมจากการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบไม่ถูกวิธี ผ่านการใช้ประโยชน์จากหม้อเผาปูนซีเมนต์ที่สามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในการผลิตปูนซิเมนต์โดยไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดำเนินการภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC ในการเปิดจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร"

"ทั้งนี้ มีการรับซื้อเศษยอดและใบอ้อยผ่านโครงการนี้ 4 จุด ที่หน้าโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดอยุธยา สระบุรี และหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคในพื้นที่ปลูกอ้อยเป้าหมาย ในราคาที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อ เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร พร้อมใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยให้เป็นเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling Management) ของการขนส่งปูนซีเมนต์ เพื่อนำเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) ไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และมีแผนขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพค ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน”

ซีแพค และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC จะช่วยเชื่อมต่อทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย อีกทั้งยังช่วยลด PM 2.5 จากการเผาอ้อย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ศุมิตรา ศรีพิเศษ หมายเลขโทรศัพท์ 093-542-4594

จาก https://mgronline.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สอท.หวั่นส่งออกวืดเป้า เหตุค่าบาทแข็ง-ตู้คอนเทนเนอร์ขาด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เปิดเผยว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2564 คาดว่าจะยังคงเติบโตได้เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่จะโตได้ในระดับ 3-4% ได้หรือไม่ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นใกล้ชิดคือ 1.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งหากลากยาวจนถึงสิ้นปีจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตที่ลดลง 2.ภาวะค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่ามากขึ้นจะมีส่วนบั่นทอนขีดความสามารถการส่งออกของไทยและมูลค่าการส่งออกรูปเงินบาทที่อาจลดลง

ทั้งนี้ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนเดิมคาดว่าจะคลี่คลายในไตรมาสแรกของปี 2564แต่ล่าสุดมีการประเมินว่าอาจจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ขณะเดียวกันค่าระวางเรือได้มีการปรับเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 3-5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะค่าระวางเรือ 40 ฟุต เฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 8,530เหรียญสหรัฐ จากปี 2563 ที่ 2,483 เหรียญสหรัฐหรือมีส่วนต่างเพิ่มขึ้น 6,096 เหรียญสหรัฐ เป็นต้นซึ่งปัญหานี้จะทำให้การส่งออกไทยจะลดลงไม่น้อยกว่า 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือส่งออกหดตัวลง 2-2.2%

“แม้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มแล้วซึ่งจะมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่กรณีปัญหาการขาดตู้คอนเทนเนอร์ที่บางส่วนมองว่าจะข้ามปีไปจนถึงต้นปี 2565 จะเป็นแรงกดดันให้การส่งออกไทยชะลอตัวลงจากที่คาดหมายไว้เช่นกันจึงเป็นประเด็นที่ขณะนี้รัฐและเอกชนกำลังทำงานใกล้ชิดโดยเฉพาะกับกระทรวงพาณิชย์ในการแก้ไขปัญหานี้อยู่ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ปัญหายังคงรุนแรง ซึ่งคู่แข่งเองก็เดือดร้อนเช่นกันไม่ต่างจากเรา”นายเกรียงไกรกล่าว

ส่วนปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาเฉลี่ย 29.98-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่าแนวโน้มเงินเหรียญสหรัฐจะอ่อนค่าลงอีกซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทของไทยให้แข็งค่าต่อเนื่องโดยเรื่องนี้สอท.ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขอให้ดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่าประเทศคู่แข่งเพราะจะยิ่งส่งผลกระทบให้การส่งออกไทยชะลอตัวได้อีก โดยค่าเงินบาทที่เอกชนอยากเห็นคือ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจเป็นโอกาสของการไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการผลิตที่เน้นใช้แรงงานเข้มข้นและค่าแรงถูกเพราะปัจจุบันศักยภาพดังกล่าวไทยไม่ตอบโจทย์แล้วซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองก็มุ่งส่งเสริมการไปลงทุนต่างประเทศโดยให้บริษัทใหญ่ๆชักจูงบริษัทในห่วงโซ่การผลิตไปด้วย โดยประเทศที่นักลงทุนไทยสนใจมีทั้งเวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย ฯลฯ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

CPAC รับซื้อใบอ้อยให้ตันละ 200-1,500 บาท เริ่ม 3 จังหวัด สระบุรี อยุธยา กาญฯ

สำนักงานอ้อยฯ จับมือ CPAC ลงนามโครงการการใช้ประโยชน์ใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละออง PM 2.5 เริ่มรับซื้อใบและยอดอ้อยจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย ตันละ 200-1,500 บาท

เริ่ม 4 พื้นที่ใน 3 จังหวัด สระบุรี อยุธยา กาญจนบุรี สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ จากไร่อ้อยได้ประมาณ 210,000 ตัน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีนโยบายส่งเสริมศักยภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จากมลพิษจากการเผาอ้อยมา ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และควันที่เกิดจากการเผาอ้อย และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย

โดย บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี (SCG) จะเข้ามารับซื้อเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากการทำไร่อ้อย เช่น ยอดและใบอ้อย เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะร่วมกันดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี โดย สอน. จะส่งเสริมและสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อให้มีใบและยอดอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงการประสานเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือผู้ประกอบการที่รวบรวมใบอ้อยในพื้นที่เป้าหมาย 4 แหล่ง

ได้แก่ อำเภอท่าหลวง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี, อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา และอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รวมกว่า 17,000 ราย ในการจัดเตรียมพื้นที่กองเก็บก้อนม้วนเพื่อให้สามารถส่งโรงงานแปรรูป คาดว่าจะสามารถลดพื้นที่การเผาอ้อยได้กว่า 1,713,208 ไร่

โดย CPAC จะดำเนินการรับซื้อใบอ้อยจากพื้นที่เป้าหมาย ในราคา 200 – 1,500 บาทต่อตันอ้อย ตามปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อที่กำหนด สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งโรงงานแปรรูปใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน และดำเนินการขนส่งใบอ้อยที่แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนแล้วและนำไปใช้งาน

นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) กล่าวว่า เชื่อมั่นความร่วมมือครั้งนี้ภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC จะช่วยเชื่อมต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาอ้อย

ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และมีแผนจะขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

‘VIVE Programme’ หนุนบริษัทยักษ์ใหญ่ ‘KTIS’ และ ‘FrieslandCampina’

จับมือค้าน้ำตาลที่ผลิตอย่างยั่งยืนภายในประเทศเป็นรายแรกในประเทศไทย

VIVE Sustainable Supply Programme ผู้ให้บริการอำนวยความสะดวกด้านการค้าน้ำตาลอย่างยั่งยืนแบบครบวงจรรายแรกของโลก ก้าวสู่อีกขั้นของความสำเร็จ ด้วยการปิดการเจรจาตกลงซื้อขายน้ำตาลภายในประเทศครั้งแรกกับสองลูกค้ารายใหญ่ในประเทศไทย อย่าง เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ (KTIS) และ ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (FrieslandCampina) โดยก้าวแห่งความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ VIVE ในการสานต่อความยั่งยืนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ด้านการเกษตร ไปจนถึงด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ ไทยสามารถร่วมงานกันได้สะดวกขึ้น พร้อมส่งเสริมเกษตรกรในท้องถิ่น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย

เนื่องจากหลายพื้นที่ในประเทศไทยถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา VIVE จึงเล็งเห็นถึงหนึ่งในต้นเหตุของมลพิษทางอากาศ อย่าง การเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวมาทำน้ำตาล ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เกษตรกรไทยจำนวนมากยังขาดแคลนเครื่องจักรสำหรับการเก็บเกี่ยวอ้อย ทำให้ต้องอาศัยวิธีการเก็บเกี่ยวแบบดั้งเดิมด้วยการเผาไร่อ้อย เพื่อลดภาระ และการจัดการของแรงงานที่ตัดอ้อย รวมถึงทำให้สามารถเก็บอ้อยด้วยมือได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

โปรแกรม VIVE ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยเหลือผู้เข้าร่วมโปรแกรมอย่าง KTIS ให้พัฒนาต่อยอด และดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยแบบลดการสร้างมลภาวะระหว่างการเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ VIVE ยังช่วยผู้เข้าร่วมโปรแกรมในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดมลพิษในชั้นบรรยากาศ อันเนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวพืชผล เพื่อให้ฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการสามารถบริหารจัดการ ควบคุม และลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

KTIS เป็นโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้จัดหาน้ำตาลจากแหล่งเพาะปลูกที่ยั่งยืนถึง 11,500 เมตริกตันให้โดยตรงกับ FrieslandCampina และยังได้เข้าร่วมโปรแกรมผ่าน Buyers Supporting VIVE ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้ซื้อปลายทางที่มุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

FrieslandCampina หนึ่งในบริษัทผลิตภัณฑ์นมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นอีกหนึ่งสมาชิกของ Buyers Supporting VIVE เพื่อการสานต่อนโยบาย รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ของแบรนด์ที่ก้าวหน้าและยั่งยืน พร้อมมุ่งมั่นจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมีความรับผิดชอบและโปร่งใส

คุณณัฏฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล, รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ กล่าวว่า เราเชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนในห่วงโซ่ธุรกิจอ้อย รวมไปถึงกิจกรรมเชิงเกษตรอื่น ๆ ในประเทศไทย และเรายังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจกับ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ภายใต้โปรแกรม VIVE ทั้งนี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงในระดับโลกด้วย

คุณอีแวน โซมู, หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก และการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ, ฟรีสแลนด์คัมพิน่า กล่าวว่า “การร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกความสำเร็จครั้งสำคัญระหว่างเส้นทางการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบของเรา เราต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมผ่านการดำเนินการสนับสนุนเกษตรกร และอุตสาหกรรมในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำเกษตรกรถึงความจำเป็นในการผลิตวัตถุดิบที่ยั่งยืนมากขึ้น เพราะในอนาคต โลกของเราจะต้องการการผลิตที่มากขึ้นแต่ใช้เงินน้อยลง และการเดินทางของฟรีสแลนด์แคมปิน่าจะไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ขณะที่ประชากรบนโลกเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน เราก็ยังคงต้องการที่จะส่งมอบสารอาหารในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งผลิตมาอย่างสมดุลกับธรรมชาติต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น”

นอกจากนี้ Czarnikow Group หรือ กลุ่มบริษัท ซีซาร์นิโคว ผู้บริการซัพพลายเชนระดับโลก และเจ้าของร่วมของ VIVE Programme และ Intellync ยังได้เป็นตัวกลางในการนำ KTIS และ ฟรีสแลนด์คัมพิน่า มารวมกัน เพื่อเปิดทางให้การค้าน้ำตาลอิสระเกิดขึ้นได้ สำนักงานในกรุงเทพของซีซาร์นิโคว ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีจุดประสงค์ที่จะขยายการเติบโตขององค์กรในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์กลางสำหรับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งโรงงานน้ำตาลในประเทศไทยที่เข้าร่วม VIVE Programme ถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอย่างยั่งยืนกว่า 1 ล้านเมตริกตันให้กับภูมิภาคนี้

คุณโทมัส บัลลาร์ด, ผู้จัดการทั่วไป, ซีซาร์นิโคว (ประเทศไทย) กล่าวว่า “อีกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับการพัฒนาโปรแกรม VIVE ในประเทศไทย นับตั้งแต่ที่เราเปิดสำนักงานที่กรุงเทพฯเมื่อปี 2018 คือการที่เราสามารถทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมนี้ เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนและสร้างความได้เปรียบทางการค้าให้กับผู้เข้าร่วมโปรแกรมเป็นอย่างดี เรามองว่าการซื้อขายครั้งแรกของ KTIS และ ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนกระแสทางธุรกิจ มากไปกว่านั้น เรายังมองว่าความยั่งยืนของอุตสาหกรรมน้ำตาลจะเป็นกระแสที่กำลังจะเติบโตขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้อีกด้วย”

คุณเบนจามิน เฟรนช์, เทรดเดอร์ระดับอาวุโส, ซีซาร์นิโคว และหนึ่งในผู้พัฒนาโปรแกรม VIVE ในทวีปเอเชีย กล่าวว่า “เราได้เห็นการเติบโตอย่างมากของวัตถุดิบน้ำตาลจาก VIVE ทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ดังนั้นเราจึงรู้สึกยินดีที่ได้สร้างความแตกต่างในประเทศไทย มีบริษัทอาหาร และเครื่องดื่มหลายสัญชาติที่มีสถานะแข็งแกร่งในสามตลาดนี้ เช่นเดียวกับ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พวกเขาสามารถรวมแนวทางสู่ความยั่งยืน รวมถึงจัดหาน้ำตาลที่ผ่านการตรวจสอบด้านความยั่งยืนสำหรับธุรกิจทั้งหมดของพวกเขาในภูมิภาคผ่าน VIVE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 “ส.อ.ท.” หวั่นขาดตู้คอนเทนเนอร์-บาทแข็งฉุดส่งออกปีนี้พลาดเป้า

 “ส.อ.ท.” หวั่นส่งออกปี 2564 อาจโตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 3-4% ได้หากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ลากยาวถึงสิ้นปี ลุ้นรัฐเร่งหาทางออกร่วมกัน ขณะที่ค่าเงินบาทอาจซ้ำเติมหลังเริ่มหลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หวั่นแข็งค่าต่อเนื่อง ลุ้น ธปท.ดูแลใกล้ชิด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2564 คาดว่าจะยังคงสามารถเติบโตได้เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่จะโตได้ในระดับ 3-4% ได้หรือไม่ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นใกล้ชิด คือ 1. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งหากลากยาวจนถึงสิ้นปีจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตที่ลดลง 2. ภาวะค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่ามากขึ้น จะมีส่วนบั่นทอนขีดความสามารถการส่งออกของไทยและมูลค่าการส่งออกรูปเงินบาทที่อาจลดลง

ทั้งนี้ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนเดิมคาดว่าจะคลี่คลายในไตรมาแรกของปี 2564 แต่ล่าสุดมีการประเมินว่าอาจจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ค่าระวางเรือได้มีการปรับเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 3-5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะค่าระวางเรือ 40 ฟุตเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 8,530 เหรียญสหรัฐจากปี 2563 ที่ 2,483 ล้านเหรียญ หรือมีส่วนต่างเพิ่มขึ้น 6,096 เหรียญ เป็นต้น ซึ่งปัญหานี้จะทำให้การส่งออกไทยจะลดลงไม่น้อยกว่า 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือส่งออกหดตัวลง 2-2.2%

“แม้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มแล้วซึ่งจะมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่กรณีปัญหาการขาดตู้คอนเทนเนอร์ที่บางส่วนมองว่าจะข้ามปีไปจนถึงต้นปี 2565 จะเป็นแรงกดดันให้การส่งออกไทยชะลอตัวลงจากที่คาดหมายไว้เช่นกัน จึงเป็นประเด็นที่ขณะนี้รัฐและเอกชนกำลังทำงานใกล้ชิดโดยเฉพาะกับกระทรวงพาณิชย์ในการแก้ไขปัญหานี้อยู่ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ปัญหายังคงรุนแรง ซึ่งคู่แข่งเองก็เดือดร้อนเช่นกันไม่ต่างจากเรา” นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่ยังคงกังวลคือปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาเฉลี่ย 29.98-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หลายฝ่ายประเมินว่าแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงอีกซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทของไทยให้แข็งค่าต่อเนื่อง โดยเรื่องนี้ ส.อ.ท.ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอให้ดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่าประเทศคู่แข่งเพราะจะยิ่งส่งผลกระทบให้การส่งออกไทยชะลอตัวได้อีก

“ค่าเงินบาทที่เอกชนอยากเห็นคือ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่เข้าใจว่าเป็นไปได้ยากจึงคาดหวังว่าจะไม่หลุดไปแตะ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเวลาอันรวดเร็วเกินไป หากแข็งค่าเร็วจะกระทบส่งออกมากยิ่งขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เงินบาทปิด 30.04 อ่อนค่าจากช่วงเช้าตามทิศทางตลาดโลก หลังดอลล์แข็งค่า 

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 30.04 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 29.97 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนปิดรับความเสี่ยง ชะลอการลงทุน หันไปถือครองดอลลาร์ ส่งผลให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 29.96-30.04 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 30.00-30.10 บาท/ดอลลาร์

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สอน.จับมือซีแพครับซื้อใบ-ยอดอ้อย สร้างรายได้เกษตรกรชาวไร่กว่า1.7หมื่นราย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม(สอน.) ร่วมกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์ และวัตถุก่อสร้าง (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี (SCG) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการการใช้ประโยชน์ใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5)

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หรือ PM2.5 และควันที่เกิดจากการเผาอ้อย อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดย ซีแพค ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง SCG จะเข้ามารับซื้อเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากการทำไร่อ้อย เช่น ยอดและใบอ้อย เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย และอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย ให้มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะร่วมกันดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะส่งเสริมและสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อให้มีใบและยอดอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงการประสานเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือผู้ประกอบการที่รวบรวมใบอ้อยในพื้นที่เป้าหมาย 4 แหล่ง ได้แก่ อำเภอท่าหลวงอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รวมกว่า 17,000 ราย ในการจัดเตรียมพื้นที่กองเก็บก้อนม้วนเพื่อให้สามารถส่งโรงงานแปรรูป คาดว่าจะสามารถลดพื้นที่การเผาอ้อยได้กว่า 1,713,208 ไร่

ทั้งนี้ ซีแพค ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง SCG จะดำเนินการรับซื้อใบอ้อยจากพื้นที่เป้าหมาย ในราคา 200-1,500 บาทต่อตันอ้อย ตามปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อที่กำหนด สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งโรงงานแปรรูปใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน และดำเนินการขนส่งใบอ้อยที่แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนแล้วและนำไปใช้งาน

นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี (SCG) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC จะช่วยเชื่อมต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย

นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาอ้อย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และมีแผนจะขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ไทยพร้อมให้สัตยาบัน RCEP แล้วยังไงต่อ?

ไทยแถวหน้า RCEP พร้อมให้สัตยาบันประเทศแรก หลังรัฐสภาไฟเขียว แล้วยังไงต่อ ระบุ 3 หน่วยงานภาคปฏิบัติเร่งเตรียมความพร้อมปรับกฎระเบียบรองรับก่อนยื่นให้สัตยาบัน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตเห็นชอบ ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (  RCEP / อาร์เซ็ป) ที่มีสมาชิก 16 ประเทศ(ยกเว้นอินเดียที่ยังไม่พร้อมเข้าร่วมความตกลง) ด้วยคะแนนเสียง 526 เสียง ถือเป็นความหวังกรอบการค้าเสรีฉบับใหม่ที่จะช่วยพลิกสถานการณ์การส่งออกไทยปี 2564 ให้กลับมาขยายตัวเป็นบวก จากปี 2563 ติดลบ 6% แล้วจากนี้ไทยต้องทำอะไร ยังไงต่อ

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อม หลังจากที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง RCEP หน่วยงานของไทยที่ต้องปรับกฎระเบียบภายในเพื่อให้เสร็จก่อนไทยยื่นหนังสือสัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียน ได้แก่ 1.กรมศุลกากร 1.1 ต้องไปปรับพิกัดอัตราศุลกากรจาก HS 2012 ให้เป็น HS 2017 และออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP 1.2 กำหนดหลักเกณฑ์และพิธีการศุลกากรให้สอดคล้องกับความตกลง และออกประกาศกรมศุลกากรและคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้อง2.​กรมการค้าต่างประเทศ หารือกับสมาชิก RCEP ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO)  และปรับระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และแบบพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกัน3.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ออกประกาศกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ (Original Equipment Manufacturing: OEM) ที่จะนำเข้าภายใต้ความตกลง RCEPไทยพร้อมให้สัตยาบัน RCEP แล้วยังไงต่อ?

นอกจากนี้ ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีเวลา 3-5 ปี ในการปรับแก้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ เพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) และสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WPPT)“คาดว่าความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับภายในปี 2564 และเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว อีก 60 วันหลังจากนั้น ซึ่งขณะนี้ในเรื่องการให้สัตยาบัน ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ยังไม่มีใครยื่นให้สัตยาบัน แต่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนภายในเพื่อขออนุมัติการให้สัตยาบัน”อย่างไรก็ดีประโยชน์ของความตกลง  RCEP จะช่วยขยายโอกาสและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยจากการที่ 90-92% ของสินค้าส่งออกไทยจะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากตลาด RCEP โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้เปิดตลาดเพิ่มเติมให้กับสินค้าไทยใน RCEP เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย และกระดาษ เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจาก15 ประเทศ RCEP มาผลิตและส่งออกไปตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการRCEP ยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิก เนื่องจากมีกฎระเบียบมาตรการทางการค้า และพิธีการทางศุลกากรที่สอดคล้องกัน รวมทั้งลดความยุ่งยากและซับซ้อน เช่นการกำหนดเวลาตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร สำหรับสินค้าเร่งด่วนและเน่าเสียง่ายต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไป ภายใน 48 ชั่วโมง เป็นต้นไทยพร้อมให้สัตยาบัน RCEP แล้วยังไงต่อ?

นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าบริการและการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง แอนิเมชั่น ตัดต่อภาพและเสียง และการค้าปลีก เป็นต้น รวมทั้งดึงดูดการลงทุนในสาขาที่ไทยมีความต้องการและเป็นเทคโนโลยีใหม่ อีกทั้งยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าไร้กระดาษ คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ RCEP ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในการเข้าถึงข้อมูลกฎระเบียบทางการค้า การมีส่วนร่วมของ SMEs ในห่วงโซ่การผลิตโลกและการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อธิบดีควบคุมมลพิษฟันโรงงานน้ำตาลปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ

นครราชสีมา-ชาวบ้านก้มกราบ อธิบดีกรมควบคุมลพิษสอบโรงงงานน้ำตาลพิมายปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ยันดำเนินคดีถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 19ก.พ.64 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจสอบภายใน บริษัทอุตสาหกรรมโคราช จำกัด ( โรงงานน้ำตาลพิมาย ) ตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หลังชาวบ้านร้องเรียนปัญหาฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศและการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงงานลงแหล่งน้ำ มายาวนานกว่า 20 ปี

สำหรับปัญหาที่ชาวบ้านเรียกร้องมี 3 เรื่อง คือปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดจากกากอ้อย , ปัญหารถอ้อยวิ่งเข้าโรงงาน ทำให้เกิดฝุ่นละอองกระทบกับหมู่บ้าน และปัญหาเรื่องเสียงที่เกิดจากเครื่องจักรในโรงงาน

ก่อนหน้านี้ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ทำหนังสือสั่งการให้ทางโรงงานเร่งปรับปรุงระบบควบคุมฝุ่นละอองให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ทัน ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

ทั้งนี้ จากการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 แบบอ่านค่าทันที พบว่า มีค่า 238 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่กำหนดให้มีค่าไม่เกิน 120 ไมโครกรัม จึงได้สั่งให้ทางโรงงานหยุดเดินเครื่องจักรทุกชนิด เพื่อปรับปรุงให้ถูกต้องตามระเบียบของโรงงานอุตสาหกรรม

หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบและมีการประชุมร่วมกันกับทุกฝ่ายแล้ว ก่อนที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จะเดินทางกลับ ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามาก้มกราบนายอรรถพลพร้อมวอนให้เอาผิดโรงงานและขอให้ช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งนายอรรถพล รับปากว่าจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับโรงงานน้ำตาลพิมายต่อไป

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

วังขนาย เปิดตัวน้ำตาลดีเมอเรร่า ใหม่

 กลุ่มวังขนายฯ เปิดตัวน้ำตาลดีเมอเรร่า เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วเป็นน้ำตาลธรรมชาติ ระบุน้ำตาลเข้มกับรูปชาวไร่อ้อยของวังขนาย มาในราคากิโลกรัมละ 24 บาท

 กลุ่มวังขนาย เปิดตัวน้ำตาลดีเมอเรร่า เปลี่ยนชื่อเป็นน้ำตาลธรรมชาติ แต่คุณภาพเหมือนเดิม 100%  และไม่ได้มาแค่ชื่อใหม่ แต่ครั้งนี้วังขนายเค้าเปลี่ยนแพคเกจใหม่ให้น่าใช้ยิ่งขึ้น ด้วยสีน้ำตาลเข้มกับรูปชาวไร่อ้อยของวังขนาย มาในราคากิโลกรัมละ 24 บาท

ถ้าคิดจะซื้อน้ำตาลดีเมอเรร่า ให้นึกถึงน้ำตาลธรรมชาติถุงสีน้ำตาล หน้าชาวไร่อ้อยยิ้มชัดๆแบบนี้นะคะ รับประกันคุณภาพเหมือนเดิม เปลี่นแค่ชื่อให้จำง่ายๆ และถุงที่สวยขึ้น

น้ำตาลธรรมชาติ เหมาะกับหลากหลายเมนู เมนูที่ต้องการเพิ่มความหวาน หอมกลมกล่อมเป็นแบบพิเศษ สามารถใช้ได้ทั้งเมนูของคาว เมนูของหวาน และเมนูเครื่องดื่ม อาทิเช่น  ไข่ลูกเชย ขาหมูพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ปลาทูต้มเค็ม หมูหวาน เนื้อแดดเดียว สังขยา พาย บราวนี่ ท๊อฟฟี่เค้ก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ข้าวเหนียวแดง ชานมไข่มุก กาแฟ น้ำผึ้งมะนาว และเมนูพิเศษทุกเมนูตามที่คุณต้องการ

สามารถหาซื้อได้แล้วที่ซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไป หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษํท ครีเดนซ์ จำกัด (ในกลุ่มวังขนาย) เบอร์ 026758327-30 ต่อฝ่ายสื่อสารการตลาด

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ติดดาบศดปช.จัดการดิน-ปุ๋ยเพื่อชุมชน มุ่งลดต้นทุนผลิตสร้างรายได้ยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร สัมมนาเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ด้านดินปุ๋ยระดับพื้นที่ 2564 เพื่อวางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านดินปุ๋ยสู่เกษตรกร เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิตและใช้ปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานอย่างยั่งยืน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า งานส่งเสริมการใช้ดินปุ๋ยอย่างถูกต้อง นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของกรม ซึ่งมีหน่วยงานย่อยอย่างศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นผู้ดูแลหน่วยงานดังกล่าวตั้งขึ้นมาโดยกรมส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากเห็นความจำเป็นในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องดินและปุ๋ยอย่างถูกต้อง ประกอบกับปัจจุบันจากนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล รวมทั้งนโยบายเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรฯที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการใช้งานในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีเกษตรที่จะช่วยสร้างความแม่นยำและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการผลิตพืชของเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้จริง

ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อำเภอละ 1 ศูนย์รวม 882 ศูนย์ ซึ่งในปี 2560 เป็นต้นมาได้เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านดินและปุ๋ยในพื้นที่ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน จะมีบทบาทสำคัญเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรในชุมชน ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ และแปลงเรียนรู้ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินอย่างรวดเร็ว แปลผลและให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยเบื้องต้นตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้เกษตรกรที่มารับบริการทราบถึงปริมาณธาตุอาหารหลักของดินในพื้นที่ตนเอง ควรต้องใส่ปุ๋ยอย่างไรให้เหมาะสม เพื่อให้ดินเกิดความอุดมสมบูรณ์และตรงกับความต้องการของพืช ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้เป็นอย่างมาก และช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตไปพร้อมๆ กันด้วย

นายเข้มแข็งกล่าวว่า ปี 2564 กรมวางแนวทางส่งเสริมให้ศดปช. ที่เข้มแข็งสามารถพัฒนาต่อยอด ดำเนินธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One stop Service) ให้เกิดรายได้ยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนขยายผล ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สอดคล้องกับบทบาทภารกิจของหน่วยงานที่จะช่วยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีความรู้และมีทักษะเป็นนักส่งเสริมด้านการจัดการดินและใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรได้ รวมถึงขับเคลื่อนขยายผลดำเนินงานจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไปด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“ค่า ICUMSA” เผยความลับอะไรในน้ำตาล และทำไมต้องรู้จัก “ค่า ICUMSA” ให้มากขึ้น

เราไม่อาจปฏิเสธว่าความหวานและน้ำตาลเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน อาหารคาว-หวาน และเครื่องดื่มแทบทุกชนิด ปรุงรสด้วยน้ำตาลแทบทั้งสิ้น เรารับประทานน้ำตาลกันเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีหลายเรื่องของน้ำตาลที่เราอาจไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งเรื่องเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับคุณภาพของสิ่งที่เรารับเข้าสู่ร่างกาย อย่างเรื่อง “ความบริสุทธิ์ของน้ำตาล” ที่มีตัวเลขระบุเป็น “ค่า ICUMSA” ก็เป็นสิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่า นี่คือหนึ่งตัวชี้วัดคุณสมบัติและคุณภาพของน้ำตาล ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการนำน้ำตาลไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด “ค่า ICUMSA” เป็นสิ่งที่นักปรุงและเชฟยุคใหม่ให้ความสำคัญอย่างมากในวันนี้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ควรรู้จักคุณค่าของน้ำตาลและ “ค่า ICUMSA” มากกว่าที่เคย

น้ำตาลเกี่ยวข้องอะไรกับ “ค่า ICUMSA”?

ICUMSA ย่อมาจาก International Commission for Uniform Methods of Sugar Analysis เป็นหน่วยที่ใช้วัด “ค่าสีของน้ำตาล” ตามมาตรฐานสากล ที่ใช้เพื่อจัดแบ่งชนิด และคุณสมบัติของน้ำตาล น้ำตาลที่มี “ค่า ICUMSA ต่ำ” คือ “น้ำตาลที่มีค่าสีบริสุทธิ์สูง” ไล่ไปตามลำดับ ยกตัวอย่างน้ำตาลที่มีค่า “ICUMSA 9” หรือน้ำตาลที่มีค่าสีบริสุทธิ์ระดับ 9 ก็นับเป็นน้ำตาลที่มีค่าสีบริสุทธิ์ที่สูงกว่า ICUMSA 20 เป็นต้น

ในภาคอุตสาหกรรม “ICUMSA” ยังเป็นหน่วยวัดคุณสมบัติน้ำตาล ซึ่งใช้เป็นข้อกำหนดในการซื้อขายน้ำตาลในอุตสาหกรรมน้ำตาลด้วย เนื่องจากในท้องตลาดมีน้ำตาลหลากหลายชนิด และนำไปใช้ประโยชน์ต่อในรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย ไม่เพียงแต่ใช้บริโภคในครัวเรือน และเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนประกอบหนึ่งในอุตสาหกรรมยาด้วย ดังนั้นการมีตัวชี้วัดคุณสมบัติน้ำตาลจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อการนำน้ำตาลไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้บริโภคทั่วไปอย่างเราๆ อาจไม่เคยทราบว่า การใช้ประโยชน์จากน้ำตาลต่อเนื่องไปในรูปแบบต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับทั้งการเลือก ตั้งแต่ “ชนิดของน้ำตาล” และ “สีของน้ำตาล” ไปจนถึง “คุณภาพของน้ำตาล” ในธุรกิจอาหาร สีของน้ำตาลสัมพันธ์โดยตรงต่อทั้งรสชาติและรูปลักษณ์ของอาหารและเครื่องดื่ม หากเลือกสีของน้ำตาลได้ถูกกับประเภทการปรุง ก็จะช่วยทำให้การประกอบอาหารคาว-หวานได้รสชาติและกลิ่นที่ดีขึ้น ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ของน้ำตาลเกี่ยวข้องกับ “ค่า ICUMSA” นั่นเอง

น้ำตาล กับ “ค่า ICUMSA” ซ่อนความลับอะไรไว้อีกบ้าง?

หนึ่งในความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่บอกได้ว่าคุณยังไม่รู้จักน้ำตาลดีพอ คือความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า “น้ำตาลทรายสีขาวคือน้ำตาลที่ผ่านการฟอกให้ขาว” และควรหลีกเลี่ยง แต่ความจริงแล้วมีข้อเท็จจริงจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลได้ยกเลิกวิธีการฟอกขาวไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แล้ว และปัจจุบันก็มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตใหม่ๆ ถูกนำมาใช้แทน ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า อย่างวิธีการกลั่นกรองน้ำอ้อยเพื่อให้ได้น้ำตาลทรายแต่ละชนิด แต่ละประเภท ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ต่อ

จริงๆ แล้วทุกวันนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลผลิตน้ำตาลอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ นั่นคือ “น้ำตาลทรายสีธรรมชาติ” และ “น้ำตาลทรายขาว” ซึ่งมีตัวเลขของ “ค่า ICUMSA” กำกับ สำหรับบอกคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ อย่างน้ำตาลทรายสีธรรมชาติ จะเป็นน้ำตาลที่มี “ค่า ICUMSA 1,000+ ขึ้นไป” ซึ่งยังมีสีและกลิ่นของน้ำตาลอยู่ นิยมนำไปใช้ทำขนมไทย หรือขนมอบบางชนิด ในขณะที่น้ำตาลทรายขาว อาทิ น้ำตาลทรายขาวที่มี “ค่า ICUMSA 0-20” ซึ่งเป็นน้ำตาลเกล็ดละเอียด ขาวใสและมีค่าสีบริสุทธิ์สูง ถือว่าเป็นน้ำตาลที่มีคุณค่า มีคุณภาพสูงสุด แต่หากเป็นน้ำตาลทรายขาวที่ใช้ทั่วไปในครัวเรือน ส่วนใหญ่จะมี “ค่า ICUMSA 21-200” อันเป็นระดับค่า ICUMSA ที่ไม่ได้ทำให้สี หรือกลิ่นของอาหารและเครื่องดื่มผิดเพี้ยนไปเมื่อปรุง แต่ในปัจจุบันด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ก้าวหน้าขึ้น ยังทำให้มีการผลิตน้ำตาลทรายขาวที่มีค่าสีบริสุทธิ์สูง จนสามารถนำมาใช้ปรุงทั่วไปในครัวเรือนได้ โดยเป็นน้ำตาลทรายขาวที่มีค่า ICUMSA ที่ “ICUMSA 9” ซึ่งนอกจากจะเป็นระดับที่มีค่าสีบริสุทธิ์สูงแล้ว ยังมีความโดดเด่นตรงที่เกล็ดน้ำตาลละเอียดดุจคริสตัล ละลายน้ำง่าย ด้วยเหตุนี้เองนักปรุงและเชฟรุ่นใหม่ทั้งหลายจึงเริ่มเจาะจงเลือกน้ำตาลที่มีค่าสีบริสุทธิ์ที่มี “ค่า ICUMSA 9” มากขึ้น

Crystal Clear Super Refined Sugar น้ำตาลทรายชนิดพิเศษ ขาวบริสุทธิ์พิเศษ มีค่า ICUMSA 9

ในบรรดาน้ำตาลที่กระจายตัวกันอยู่มากมายในท้องตลาด ก็มีน้ำตาลที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในตอนนี้ โดยเฉพาะในแง่ของความขาวบริสุทธิ์พิเศษ ในชื่อ “น้ำตาลพราว” (PROUD Sugar) ซึ่งผลิตขึ้นภายใต้การบริหารของ KI Sugar Group ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์น้ำตาลรูปแบบใหม่ โดยเริ่มต้นจากความต้องการผลิตน้ำตาลคุณภาพสูงผ่านกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกอ้อยให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐาน เก็บเกี่ยวอ้อยต้นฤดูโดยใช้วิธีการตัดอ้อยสดไม่ผ่านการเผาอ้อย ก่อนจะนำเข้ามาสู่กรรมวิธีการผลิตของโรงงานที่ทันสมัย มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย นำไปสู่ “น้ำตาลทรายชนิดพิเศษ ขาวบริสุทธิ์พิเศษ และมี “ค่า ICUMSA 9” ซึ่งเรียกได้เลยว่าเป็นน้ำตาลที่มีค่าสีบริสุทธิ์สูงสุด มีคุณภาพดีอย่างมากในท้องตลาดในปัจจุบัน ความโดดเด่นที่สังเกตได้จากภายนอกคือ เกล็ดบริสุทธิ์ดุจคริสตัลแวววับ ละเอียด ละลายน้ำง่าย นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยกับนวัตกรรมน้ำตาลคุณภาพสูงเช่นนี้

แต่นอกเหนือจากความโดดเด่นของ “น้ำตาล PROUD” ที่มี “ค่า ICUMSA 9” ซึ่งน่าสนใจทั้งลักษณะภายนอก และคุณภาพภายในจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงแล้ว ปัจจุบัน “น้ำตาล PROUD” ยังเป็นน้ำตาลที่ได้รับการการันตีคุณภาพระดับโลก โดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายแรกในเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากระบบ ProTerra ประเทศเนเธอร์แลนด์ และมาตรฐาน Bonsucro ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง สมกับปณิธานของ “น้ำตาล PROUD” ที่ภูมิใจในการมอบคุณค่าในมุมใหม่ๆ ของน้ำตาลให้กับผู้บริโภคชาวไทย

วันนี้เราได้รู้จักน้ำตาลมากขึ้นในแง่มุมต่างๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็มีอีกเรื่องเกี่ยวกับน้ำตาลที่เราต้องใส่ใจด้วยนั่นคือ การเลือกรับประทานน้ำตาลที่ดี ในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน แม้น้ำตาลจะเป็นหนึ่งในสารอาหารจำเป็นที่ให้พลังงานกับร่างกายได้ แต่คนไทยในปัจจุบันจากการสำรวจของกรมอนามัย ก็บริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าปริมาณแนะนำถึง 3 เท่า แพทย์และนักโภชนาการจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นเตือนให้เราใส่ใจเรื่องน้ำตาลด้วย เพื่อสุขภาพและความสุขในการได้อิ่มเอมกับความหวานไปยาวนานด้วยเช่นกัน

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

นัดอาเซียนถกทางไกล  ทบทวน AEC Blueprint 2025

ปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจของอาเซียน นัดประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ครั้งที่ 39 ผ่านระบบทางไกล  22 กุมภาพันธ์นี้ ทบทวนแผนงาน AEC Blueprint 2025 หารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตรปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 39 ร่วมกับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน ผ่านระบบทางไกล ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้

โดยการประชุมครั้งนี้ จะหารือการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนต่อไปในอนาคต ซึ่งขณะนี้ อาเซียนมีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) มาได้ครึ่งทางแล้ว นับตั้งแต่การเข้าสู่ AEC ในปี 2558 จึงต้องทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาถึงความคืบหน้าและประสบความสำเร็จตามแผนงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลจากการประเมินจะนำไปสู่การวางแผนและกำหนดกลยุทธ์มาใช้ประกอบการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 และ Blueprint ฉบับต่อไป นอกจากนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาเซียนจะต้องเร่งดำเนินการตามแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measure)

นอกจากนั้น ที่ประชุมจะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่บรูไนฯ จะเสนอให้อาเซียนดำเนินการสำเร็จภายในปี 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน การจัดทำยุทธศาสตร์ของอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR ที่ครอบคลุมการดำเนินงานของทั้งสามเสาอาเซียน และการประเมินคู่ค้าที่มีศักยภาพที่อาจเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนในอนาคต ก่อนที่จะนำเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 2 มีนาคมนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก มูลค่า 55,469.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า มูลค่า 39,368.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีตลาดสำคัญ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

ส่องผลประโยชน์ RCEP  โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก

พาณิชย์ เผย ประโยชน์ความตกลง RCEP ความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในโลก สินค้าไทยมากกว่า 90% จะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาดสำคัญอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้อีกมาก ภาค SMEs และภาคเกษตรได้รับอนิสงฆ์ด้วย คาดมีผลใช้บังคับภายในปี 2564

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงประโยชน์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ว่าความตกลง RCEP จะช่วยขยายโอกาสและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยจากการที่ 90-92% ของสินค้าส่งออกไทยจะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากตลาด RCEP โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้เปิดตลาดเพิ่มเติมให้กับสินค้าไทยใน RCEP เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย และกระดาษ เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจาก15 ประเทศ RCEP มาผลิตและส่งออกไปตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ

นอกจากนี้  RCEP ยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิก เนื่องจากมีกฎระเบียบมาตรการทางการค้า และพิธีการทางศุลกากรที่สอดคล้องกัน รวมทั้งลดความยุ่งยากและซับซ้อน เช่นการกำหนดเวลาตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร สำหรับสินค้าเร่งด่วนและเน่าเสียง่ายต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไป ภายใน 48 ชั่วโมง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าบริการและการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง แอนิเมชั่น ตัดต่อภาพและเสียง และการค้าปลีก เป็นต้น รวมทั้งดึงดูดการลงทุนในสาขาที่ไทยมีความต้องการและเป็นเทคโนโลยีใหม่ อีกทั้งยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าไร้กระดาษ คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ RCEP ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของ SME ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในการเข้าถึงข้อมูลกฎระเบียบทางการค้า การมีส่วนร่วมของ SME ในห่วงโซ่การผลิตโลกและการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบให้ไทยให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว หน่วยงานที่จะต้องปรับแนวปฏิบัติให้เสร็จก่อนที่ไทยจะยื่นหนังสือสัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียน ได้แก่ กรมศุลกากร ปรับพิกัดอัตราศุลกากรจาก HS 2012 เป็น HS 2017 ตามหลักเกณฑ์ขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organizations: WCO) รวมทั้งออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP และกำหนดหลักเกณฑ์และ  พิธีการศุลกากรให้สอดคล้องกับความตกลง กรมการค้าต่างประเทศออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) และปรับระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และแบบพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกับที่สมาชิก RCEP กำหนด และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ออกประกาศกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ (OriginalEquipment Manufacturing:OEM) ซึ่งคาดว่าความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับภายในปี 2564 และเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว อีก 60 วันหลังจากนั้น สำหรับในระยะยาวที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จใน 3-5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย และเป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการอยู่ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์  ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล คือ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา ว่าด้วยลิขสิทธิ์ (WCT) และสนธิสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง และผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนเช่นกัน

“RCEP ถือเป็นความตกลงที่ทุกภาคส่วนของไทยจะได้รับประโยชน์โดยเฉพาะผู้ประกอบการ เกษตรกร SME แรงงาน และผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร ที่ต้องการแสวงหาตลาดใหม่ ขอให้เตรียมความพร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP โดยสามารถสืบค้นข้อมูลสรุปสาระสำคัญของความตกลงและรายละเอียดอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศสมาชิก RCEP จะเก็บกับสินค้าส่งออกของไทย ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th” นางอรมนเสริม สำหรับความตกลง RCEP เป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และจะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากประกอบด้วย สมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวม 326 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของการค้าโลก ในปี 2563 การค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มีมูลค่า 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท (57.5% ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท (53.3% ของการส่งออกไทย) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564

ฝนหลวงฯ เดินหน้าทดลองสารทางเลือกทำฝน

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการทดลอง “สารทางเลือก” ฝนหลวง ในการทำฝนเพื่อคนไทย ให้ได้ในทุกสภาพอากาศ ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง

จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลกทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำลง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ วันนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) วิจัยสารทางเลือกฝนหลวง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  เผยถึง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารฝนหลวงทางเลือกทั้ง 5 สูตรที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการต้นแบบการพัฒนาสารฝนหลวงทางเลือกเพิ่มเติมในสภาวะความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สารฝนหลวงทางเลือกสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนของการก่อกวนในสภาวะความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสารทางเลือกฝนหลวงนั้นมีคุณสมบัติสามารถดูดความชื้นที่ RH ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อละลายน้ำอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส และมีค่าความตึงผิวของสารละลายใกล้เคียงหรือสูงกว่าสารฝนหลวงสูตรปัจจุบัน  วันนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อทดลองสารทางเลือกฝนหลวงในขั้นตอนที่ 1 (ก่อกวนเมฆ) เป็นขั้นตอนการทำให้เมฆมีปริมาณมากขึ้น โดยใช้สารฝนหลวงทางเลือกสูตร AR 38 จำนวน 700 กิโลกรัม ในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่มอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่เป้าหมายในการทดลองปฏิบัติการ เพื่อบรรเทาปัญหาไฟป่า หมอกควัน และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และหลังจากการทดลองครั้งนี้พบว่า ปริมาณเมฆในพื้นที่ที่ทำการทดลองเพิ่มมากขึ้น

"นับว่าผลการทดลองในครั้งนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก มีแผนการปฏิบัติการในขั้นตอนที่ 2 (เลี้ยงให้อ้วน) และขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) ในลำดับต่อไป" อนึ่ง การทดลองครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เหล่านักวิจัยได้มีโอกาสเก็บข้อมูล เก็บสถิติต่างๆ เพื่อประกอบการวิจัย พัฒนาสารทางเลือกฝนหลวงในโอกาสต่อไป และย้ำว่าสารฝนหลวงทางเลือกนี้มีโอกาสสำเร็จในเร็วๆนี้มาก เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบิดาแห่งฝนหลวง ที่ต้องการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนสารฝนทางเลือก

อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงฯ ต่างๆ ยังคงติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ เกษตรกรและพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง และติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook, Line official account, Instagram, Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564

ปี65 เปิดช่องการค้า-ลงทุน ผ่านช่องทาง“อาร์เซ็ป” ด้าน สศช.จี้รัฐฯตัดสิน ร่วม “ซีพีทีพีพี”

พาณิชย์ ดัน ธุรกิจเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและบริการ ใช้ประโยชน์ อาร์เซ็ป หลังรัฐสภา ไฟเขียวเข้าร่วม คาดผลหารือเสร็จสิ้นปีนี้และมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2565

ภายหลังที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ การให้สัตยาบัน การเข้าเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement : RCEP) หรืออาร์เซ็ป แล้ว ควบคู่กันไปคือการทำสรุปสาระสำคัญของอาร์เซ็ปและนำความตกลงอาร์เซ็ป ฉบับสมบูรณ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.dtn.go.th ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย ว่าจะตั้งรับหรือรุกต่อโอกาสทางการค้าใหม่นี้อย่างไร

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อไปกระทรวงการต่างประเทศจะต้องออกหนังสือการให้สัตยาบัน ทั้งนี้ ก่อนการออกหนังสือฯ มี 3 หน่วยงานที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับความตกลงอาร์เซ็ป ประกอบด้วย 1.กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากรต้องปรับอัตราพิกัดศุลกากรจาก HS 2012เป็น 2017 ให้ทันสมัยสอดคล้องกับองค์การศุลกากรโลก พร้อมออกประกาศกฎกระทรวงในการลดเลิกอัตราภาษีศุลกากร

2.กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ต้องออกแบบฟอร์มเรื่องกฎระเบียบเรื่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า 3.กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะต้องออกประกาศกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากไทยต้องเปิดตลาดชิ้นส่วนยานยนต์บางรายการ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าต้องเป็นผู้ผลิตยานยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เท่านั้น

 “เมื่อทั้ง 3 หน่วยงานดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2-6 เดือน จากนั้นก็แจ้งให้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศขอให้ออกหนังสือการให้สัตยาบัน ในการนำไปยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียน”

ส่วนประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปก็ต้องดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงอาร์เซ็ปรวมถึงจัดทำแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ปซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนความตกลงมีผลใช้บังคับ ซึ่งประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป จะต้องดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง และเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และประเทศสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว อีก 60 วันหลัง จากนั้นความตกลงอาร์เซ็ปจะมีผลใช้บังคับ ซึ่งจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการคาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นในปีนี้และมีผลบังคับใช้ 1ม.ค.2565

เบื้องต้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอาร์เซ็ป คือ 1. กลุ่มเกษตร ผู้ประกอบการ ที่ได้รับประโยชน์จากการลด ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าจากไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จากจีน อาทิ พริกไทย สับปะรดกระป๋อง น้ำสัปปะรด น้ำมะพร้าว จากญี่ปุ่น อาทิ ผักแปรรูป มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง แป้งสาคู ผลไม้สดแห้ง แช่แข็ง ส้ม สับปะรด น้ำมันถั่วเหลือง สินค้าประมง น้ำส้ม น้ำผลไม้ผสม และเกาหลีใต้ อาทิ ผลไม้สดหรือแห้ง ข้าวโพดหวานแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันรำข้าว สับปะรดแปรรูป น้ำสับปะรด และสินค้าประมง

2.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เป็นต้น

3.กลุ่มภาคบริการ นักลงทุน โดยในส่วนของนักลงทุนก็จะเป็นโอกาสให้กับนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในตลาดอาร์เซ็ป โดยเฉพาะภาคบริการที่เรามีศักยภาพ เช่น การให้บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยว การก่อสร้าง เกมออนไลน์ ซึ่งเดิมการลงทุนในต่างประเทศอาจเป็นเพียงการถือหุ้น แต่อาร์เซ็ปสามารถไปลงทุนและถือหุ้นได้ 100 % ขณะเดียวกันในภาคบริการที่ต้องการเทคโนโลยีชั้นสูงจะได้ใช้โอกาสนี้เปิดตลาดให้สมาชิกอาร์เซ็ปมาลงทุนในไทยได้ เช่น ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การกำจัดของเสีย การซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน เป็นต้น

“ พันธกิจอาร์เซ็ปลุล่วงไปแล้ว 80 % โดยเฉพาะข้อตกลงอาร์เซ็ปซึ่งใช้เวลาการเจรจา 8 ปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จที่เหลือก็คือการใช้ประโยชน์จากอาร์เซ็ป โดยปีนี้กรมจะเน้นการทำงานในเรื่องนี้ เพราะข้อตกลงอาร์เซ็ปมีกว่า 14,000 หน้า บวกภาคผนวกอีก 13,000 หน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาในรูปที่นำไปใช้ได้โดยประสานความร่วมมือกับพันธมิตร นอกจากนี้เราจะมีระบบจับตามองทางการค้า เพราะเจรจาเอฟทีเอมีทั้งคนเข้าใจและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางกระทรวงพร้อมที่จะดูแล”

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าแม้ว่าเศรษฐกิจในปี 2564 ของประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามในปีนี้เศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกในประเทศจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ทั้งนี้ การส่งออกถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ต้องรักษาโมเมนตัมในการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือที่สำคัญๆในลักษณะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หรือพหุภาคีเพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมแนวทางการเจรจาที่ชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)

แม้ในเรื่องของซีพีทีพีพีต้องใช้เวลาในการเจรจาค่อนข้างนาน แต่พอเริ่มเจรจาก็จะเกิดผลเชิงบวกทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุนเพราะการตัดสินใจที่ชัดเจนจะทำให้นักลงทุนเห็นทิศทางว่าไทยจะเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงนี้ในอนาคต

"ในเรื่องของซีพีทีพีพีหากเราสามารถเริ่มต้นการเจรจาได้ ก็จะสามารถสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทย รวมทั้งการลงทุนในอนาคต โดยการเจรจาในลักษณะนี้ไม่ใช่เราต้องไปรับเงื่อนไขจากทุกประเทศสมาชิกมาทั้งหมด ในหลายๆข้อประเทศเพื่อนบ้านเราที่ได้เป็นสมาชิกแล้วก็มีการทำข้อสงวนเอาไว้ บางเรื่องใช้เวลา 10ปี – 15 ปี ซึ่งของไทยเองก็กำหนดเงื่อนไขในรูปแบบนี้ได้”

นอกจานี้ สศช.ยังมีข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าในปี 2564 ในประเด็นต่างๆได้แก่ 1.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด -19 2.การสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยของสินค้าไทย3.การใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ป 4.เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีต่างๆ  เช่น สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และสหราชอาณาจักรภายหลัง Brexit 

5.การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ที่อาจถูกหยิบยกเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า 6.การเร่งรัดพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประทศผู้นำเข้า 7.การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ ๆ เพื่อลดแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้านและแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า และ 8.การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เงินบาทอ่อนค่า แกว่งตามสกุลเงินเอเชีย สวิงใกล้ 30 บาท หลังเงินไหลเข้าช้อนหุ้น

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้17 กุมภาพันธ์อยู่ที่ 29.96 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 29.86 บาทต่อดอลลาร์

ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.85-30.05 บาทต่อดอลลาร์

ช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดหุ้นกลับถูกขายทำกำไร หลังจากปรับตัวขึ้นทดสอบระดับสูงสุดใหม่ ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐและดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ต่างปรับตัวลง 0.06% ด้วยแรงขายหลักในหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี ภาพตลาดโดยรวมยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) สังเกตได้จากบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องอีก 9bps มาที่ระดับ 1.29% สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020

ขณะที่ราคาทองคำย่อตัวลง 1.3% มาที่ระดับ 1790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมกันกับในตลาดเงินที่สกุลเงินปลอดภัยอย่างเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าขึ้นมายืนเหนือระดับ 106 เยนต่อดอลลาร์ ชี้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะขายสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง ด้วยความเชื่อมั่นว่าวัคซีนจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

ด้านเงินบาท เช้านี้กลับอ่อนค่าลงตามทิศทางดอลลาร์ที่ฟื้นตัวจากบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเร็ว แม้ช่วงวันทำการก่อนจะมีนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยตามราคาน้ำมันดิบที่ทำจุดสูงสุดใหม่ แต่ก็ไม่ได้สร้างแรงหนุนให้กับเงินบาทได้มาก

ในระยะถัดไปต้องจับตาไปที่ความเสี่ยงบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น แนวโน้มดังกล่าว จะกดดันสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก

“เงินบาทและสกุลเงินเอเชียในช่วงนี้จึงมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้าง ก่อนที่จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้นหลังวัคซีนเริ่มแพร่หลาย “

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“น้ำโขง” แห้ง ไทย ร้อง "จีน" ปรับเพิ่มระบายน้ำ ด่วน

​​​​​​​“สทนช.” ชงกระทรวงต่างประเทศ ประสานไปยังประเทศจีน เรียกร้องให้ปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงเพิ่มขึ้นเพื่อให้ระดับน้ำ หลังน้ำโขงลดลงฮวบ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) เปิดเผยถึงกรณีน้ำแม่น้ำโขงในปัจจุบันที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับที่น่าเป็นกังวล ว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ชี้ว่าการลดลงของระดับน้ำดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน สืบเนื่องจากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาลของจีนได้แจ้งเตือนว่าจะมีการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ จนถึงวันที่ 24 ม.ค. 64 ก่อนระดับน้ำจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

แต่ภายหลังจากที่ สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด พบว่า หลังจากวันที่ 25 ม.ค. 64 เป็นต้นมา อัตราการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงยังไม่กลับคืนสู่อัตราเดิม โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาในช่วงวันที่ 9-15 ก.พ. 64 ปริมาณน้ำที่สถานีจิ่งหง วัดได้ที่ 1,010 - 1,064 ลบ.ม./วิ ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำที่สถานีเชียงแสน 1,028-1,058 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 1.88 -1.92 ม.) ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสถานีเชียงแสนที่ 1,540 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 2.26-2.82 ม.) หรือต่ำกว่าประมาณ 500 ลบ.ม./วิ (ระดับน้ำ 0.38 ม.) ทั้งนี้ แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ชี้แจงว่า ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนจิ่งหง ณ ปัจจุบัน ที่ 1,000 ลบ.ม./วิ มีค่าเป็น 2 เท่า ของการไหลตามธรรมชาติ (Natural flow) แต่อัตราการไหลที่สถานีจิ่งหง ควรเพิ่มเป็นประมาณ 1,600 - 1,700  ลบ.ม./วิ จึงจะสามารถทำให้ปริมาณน้ำและระดับน้ำที่สถานเชียงแสน กลับเข้าสู่สภาวะน้ำเฉลี่ย ในช่วงเดือน มี.ค. เป็นต้นไปได้ จากกรณีดังกล่าว สทนช.หารือกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประสานแจ้งไปยังกระทรวงน้ำจีนทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ตามกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) สาขาทรัพยากรน้ำ เพื่อขอความร่วมมือในการกลับมาปล่อยน้ำในระดับปกติ และแบ่งปันแผนรายไตรมาสที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำไปยังประเทศสมาชิก MLC รวมถึงประสานกระทรวงการต่างประเทศของจีนรับทราบถึงปัญหาสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น

พร้อมเร่งรัดให้ฝ่ายจีนพิจารณาดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ตามที่ สทนช. เสนอในฐานะฝ่ายสนับสนุนและวิเคราะห์สถานการณ์ จำนวน 3 ประเด็น ไปเจรจากับฝ่ายจีน ประกอบด้วย 1) การแจ้งเตือนข้อมูล ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการระบายน้ำที่ 400 ลบ.ม./วิ เพื่อเป็นการแจ้งหน่วยงานในพื้นที่และประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อวางแผนต่อการเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงระดับน้ำ 2) การขอให้เขื่อนจิ่งหง มีอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนในเดือน ก.พ. 1,600 ลบ.ม./วิ และ มี.ค. 1,900 ลบ.ม./วิ และ 3) การปล่อยน้ำจากตัวเขื่อนจิ่งหงในแต่ละวัน ไม่ควรเปลี่ยนอัตราการระบายมากกว่า 400 ลบ.ม./วิ ภายใน 1 วัน เนื่องจากความเร็วดังกล่าวจะมีผลต่อระดับน้ำผลต่อท้ายน้ำ โดยเฉพาะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทำให้ระดับน้ำขึ้นลงภายใน 1 วัน ซึ่งเป็นความผันผวนของระดับน้ำที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตริมฝั่ง เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การพังของตลิ่ง หรือกิจกรรมทางด้านประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ค่าอัตราการระบายดังกล่าว ยังไม่รวมกับปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาที่จะผนวกทำให้ยิ่งเกิดความผันผวนของระดับน้ำมากขึ้น “แม้สาเหตุของการลดระดับของแม่น้ำโขงอาจประกอบไปด้วยหลายปัจจัย แต่การปล่อยน้ำจากเขื่อนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญ โดยปัจจุบันระดับน้ำลดต่ำมากจนไม่มีการไหลเวียน เกิดการตกตะกอน กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น้ำในแม่น้ำเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ซึ่งถือเป็นความผิดปกติที่สร้างผลเสียต่อระบบนิเวศ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตรวมทั้งการประกอบอาชีพของประชาชนริมฝั่งโขง

สทนช. จึงได้เสนอประเด็นที่สำคัญต่อกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเร่งประสานไปยังประเทศจีนพิจารณาแก้ไขปัญหาในทันที โดยขอให้มีการปล่อยน้ำเพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงของอัตราการระบายต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผันผวนของน้ำ และต้องมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างรอการตอบกลับจากทางจีน รวมทั้งได้แจ้งขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาผ่านกรอบความร่วมมือ MLC ด้วย โดย สทนช. จะติดตามความคืบหน้าใน เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ ยังได้ประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRCS เพื่อขอรับการสนับสนุนการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พร้อมวิเคราะห์เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบอย่างใกล้ชิด โดยในทุกการดำเนินการเป็นไปเพื่อปกป้องประชาชนริมแม่น้ำโขงให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”ดร.สมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

‘พาณิชย์’ ยินดี WTO ได้ผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่

 WTO แต่งตั้งนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศไนจีเรีย เป็นผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ และเป็นผู้หญิงคนแรกของ WTO พร้อม ประกาศเดินหน้าผลักดันประเด็นสำคัญหลายเรื่องให้คืบหน้า กรมเจรจาฯ เชื่อ! จะฟื้นความเชื่อมั่นกลับสู่ WTO และจะเป็นผลดีต่อไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมคณะมนตรีใหญ่องค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) มีฉันทามติในการแต่งตั้งนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา (Mrs. Ngozi Okonjo-Iweala) จากไนจีเรีย เป็นผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนใหม่ ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกและเป็นตัวแทนจากภูมิภาคแอฟริกาคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยจะดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2568

ทั้งนี้ นางเอ็นโกซี มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการพัฒนา มีประสบการณ์ทำงานในระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย ซึ่งนางเอ็นโกซีต้องการที่จะเข้ามาผลักดันประเด็นสำคัญหลายเรื่องใน WTO ให้มีความคืบหน้าท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและวิกฤติโควิด-19 อาทิ การหาทางออกให้กลไกระงับข้อพิพาท WTO ที่ชะงักงัน โดยเฉพาะการตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทนตำแหน่งที่ว่างลง การปฏิรูปการทำงานของ WTO ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ การให้ WTO มีส่วนช่วยสมาชิกเข้าถึงวัคซีนและสินค้าจำเป็นในช่วงโควิด การหาข้อสรุปให้การเจรจาที่สมาชิกต้องการเห็นผลลัพธ์ในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในปีนี้ เช่น การจัดทำกฎระเบียบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎระเบียบด้านการอุดหนุนประมง และการจัดทำกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร การให้ความสำคัญกับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม (MSME) และการส่งเสริมบทบาทของ MSME หญิง เป็นต้น

ผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนใหม่ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกลับสู่ WTO และขับเคลื่อนการเจรจา WTO ที่หยุดชะงักมานานให้มีความคืบหน้าต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทยที่ให้ความสำคัญและต้องการเห็นการทำงานของ WTO สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง” นางอรมน เสริม

 นอกจากนี้นางเอ็นโกซี มีประสบการณ์ทำงานที่ธนาคารโลกกว่า 25 ปี เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไนจีเรีย และเป็นผู้บริหารในหลายองค์กร อาทิ Global Alliance for Vaccines and Immunization (Gavi) ธนาคาร Standard Chartered บริษัท Twitter และเป็นผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของสหภาพแอฟริกันและองค์การอนามัยโลกในการรับมือกับโควิด-19ทั้งนี้ WTO เป็นเวทีการเจรจาจัดทำกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศและลดอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญของโลก ปัจจุบันมีสมาชิก 164 ประเทศ โดยนางเอ็นโกซีได้รับเลือกจากผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ WTO จาก 8 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ไนจีเรีย อียิปต์ มอลโดวา เกาหลีใต้ เคนยา ซาอุดีอาระเบีย และสหราชอาณาจักร

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ชาวไร่อ้อยเฮ ครม.เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายตันละ 833.22 บาท

ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายตันละ 833.22 บาท ส่วนผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลอ้อยขั้น กำหนดไว้ที่ตันละ 357.09 บาทยันไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นสุดท้าย ฤดูกาลผลิตปี 2562/63 เป็นรายเขต รวม 9 เขต โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศคือ ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส อัตราตันละ 833.22 บาท กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส เท่ากับ 49.99 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอสส่วนผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลอ้อยขั้นสุดท้าย กำหนดไว้ที่ 357.09 บาทต่อตัน

ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 นี้ อยู่ในระดับสูงกว่าราคาขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตามมาตรา 56 พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527อย่างที่เคยเกิดขึ้นในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ส่วนประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)ระหว่างไทยกับบราซิลนั้น เรื่องนี้ไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

สำหรับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอในครั้งนี้อยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจึงไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายเงินชดชยส่วนต่างตามมาตรา56แห่งพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527อย่างที่เคยเกิดขึ้นในฤดูการผลิตที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลกระหว่างประเทศไทยกับบราซิล นั้นกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า เรื่องนี้ไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใดและโดยที่เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรา55แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527ที่บัญญัติให้ภายหลังจากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้ความเห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอแหนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายแล้ว ให้เสนอที่ประชุมครม. พิจารณา เมื่อครม.เห็นชอบแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ยอมรับว่า ฤดูการผลิตอ้อยปี63/64รัฐบาลมีนโยบายลดอ้อยไฟไหม้และต้องการให้เผาอ้อยหมดไปจากประเทศ โดยเตรียมมาตรการในการส่งเสริมตัดอ้อยสดเพื่อลดอ้อยไฟไหม้ คือลดอ้อยไฟไหม้เหลือ20% ด้วยมาตรการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ พร้อมสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดหาเครื่องสางใบอ้อย ให้กับชาวไร่อ้อยสมาชิกกลุ่มเรียนรู้พัฒนาด้านอ้อยยืม จำนวน112เครื่อง โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่1 – 4

กรณีมีนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีมติให้ความเห็นชอบหักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ30บาท จ่ายคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีทุกรายเต็มจำนวนโดยคิดแยกเป็นรายโรงงาน และมีนโยบายที่จะผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด ลดฝุ่น พีเอ็ม2.5เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดมีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ เป็นการจูงใจให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ครม.ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูกาลผลิตปี 62/63 อัตรา 833 บาทต่อตัน

ครม.ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ทั้ง 9 เขต ราคาเฉลี่ย 833 บาทต่อตันอ้อย

15 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นสุดท้าย ฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 เป็นรายเขต รวม 9 เขต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

1.ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส อัตราตันอ้อยละ 833.22 บาท2.กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส เท่ากับ 49.99 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส3.ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลอ้อยขั้นสุดท้าย  357.09 บาทต่อตันอ้อย

ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 นี้ อยู่ในระดับสูงกว่าราคาขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น

ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตามมาตรา 56 พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527อย่างที่เคยเกิดขึ้นในฤดูการผลิตที่ผ่านมาส่วนประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างไทยกับบราซิลนั้น เรื่องนี้ไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สทนช. ห่วงแล้งอีสาน จี้เดินหน้าแก้ปัญหาเร่งด่วน-ยั่งยืน

สทนช. เร่งแผนแก้แล้งอีสานยั่งยืนตามแผนหลักพัฒนากลุ่มลุ่มน้ำภาคอีสาน เน้นเพิ่มการกักเก็บน้ำลุ่มน้ำชีตอนบนให้เต็มศักยภาพ พร้อมอุดช่องขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน เล็งขยายผลจุดจ่ายน้ำบาดาลตามถนนสายหลักทั่วประเทศ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในการ ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว   ว่า  โครงการศึกษาจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนตามถนนสายหลักทั่วประเทศ เพื่อประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ สำนักงานเทศบาลตำบลโคกสูงสัมพันธ์ ตำบลโนนอุดม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ก่อนเดินทางต่อไปยังสำนักงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน จังหวัดชัยภูมิ เพื่อความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน 

ทั้งนี้ตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สั่งการให้ สทนช.กำกับ ติดตาม ความก้าวหน้าแผนงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนในทุกพื้นที่ รวมถึงเร่งรัดแผนงานโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สร้างความมั่นคงน้ำอย่างยั่งยืนควบคู่ด้วย โดยเฉพาะบริเวณตอนบนของประเทศที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย

ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าฝนปกติ แต่จากมาตรการบริหารจัดการน้ำและเร่งเก็บกักน้ำบริหารจัดการน้ำ รวมถึงอิทธิพลของพายุทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 3,145 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้น้ำต้นทุนฤดูแล้ง 63/64 ( 1 พ.ย.63 ) เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3,978 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2558 (ปีน้ำน้อย) จำนวน 1,601 ล้าน ลบ. ม. และมากกว่าปี 2562 และปี 2561 จำนวน 695 ล้าน ลบ.ม. และ 770 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งแต่อย่างใด ซึ่งยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ประสบภัยแล้ง 430 ตำบล 75 อำเภอ 11 จังหวัด โดยอยู่ในลุ่มน้ำชี 3 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ มหาสารคาม และกาฬสินธุ์  โดยเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ในเขตพื้นที่บริการการประปาส่วนภูมิภาค ( กปภ.) และนอกเขตพื้นที่บริการ กปภ. รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในเขตและนอกเขตชลประทานโดย กอนช.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตาม ประเมินผล และสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนรับทราบ เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดตาม 9 มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 63/64

สำหรับโครงการศึกษาสำรวจจุดจ่ายน้ำบาดาลเพื่อประชาชนตามถนนสายหลักทั่วประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะรองรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงแหล่งน้ำของประชาชน ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการแล้ว 25 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำรวม 981,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ปี  และยังมีพื้นที่ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน

ซึ่งเป็นโครงการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนอีก 279 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริม ช่วยลดค่าครองชีพ และเพิ่มจุดให้บริการน้ำบาดาลแก่ประชาชน ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ 189,210 ครัวเรือน ปริมาณน้ำรวม 12 ล้าน ลบ.ม./ปี  ขณะที่การพัฒนาบ่อบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ภาคอีสานในปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 1,305 แห่ง แล้วเสร็จ 937แห่ง ปริมาณน้ำบาดาลประมาณ 14 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น 1.งบปกติ 308 แห่ง แล้วเสร็จแล้วทั้งหมด อยู่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น 22 แห่ง จ.ชัยภูมิ 20 แห่ง 2. งบกลาง 997 แห่ง ปัจจุบันแล้วเสร็จ 629 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน เม.ย.นี้ แบ่งเป็น จ.ขอนแก่น 97 แห่ง แล้วเสร็จ 80 แห่ง จ.ชัยภูมิ 92 แห่ง แล้วเสร็จ 91 แห่ง ส่วนงบประมาณในปี’64 มีแผนสร้างบ่อบาดาลเพิ่มขึ้นอีก 185 แห่ง อยู่ใน จ.ขอนแก่น 10 แห่ง จ.ชัยภูมิ 9 แห่ง 

ขณะที่แผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่ยั่งยืนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น  สทนช.ได้ดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใกล้จะแล้วเสร็จ เพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติพัฒนาแหล่งน้ำตามกลุ่มลุ่มน้ำเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะลุ่มน้ำชีแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่แล้วหลายแห่ง เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำน้ำพุง และเขื่อนลำปาว เป็นต้น

แต่พื้นที่ที่พัฒนาดังกล่าวจะอยู่ในตอนกลางของลุ่มน้ำเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมีการพัฒนาน้อยมาก ทำให้การใช้ประโยชน์จากน้ำในลุ่มน้ำชีไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร ยังประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยเป็นประจำดังนั้น แผนการพัฒนาลุ่มน้ำชีต้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ตอนบนของลำน้ำชี และลำน้ำสาขาที่สำคัญ อาทิ ก่อสร้างระบบส่งน้ำและสูบน้ำ เพื่อกระจายน้ำใหัพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำ และกักเก็บน้ำในลำน้ำสายหลัก ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตตัวเมืองป้องกันการบุกรุกล้ำแนวลำน้ำสาธารณะ อนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ เป็นต้น

“สภาพลำน้ำชีตั้งแต่ต้นน้ำ จ.ชัยภูมิ ลงมามีความลาดชันสูง น้ำไหลแรงจนมาเข้าเขต จ.ขอนแก่น ไหลต่อลงไปที่

จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ไปจนถึงยโสธร และบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ความยาวถึง 1,047 กิโลเมตร ตลอดลำน้ำมีแหล่งเก็บน้ำช่วยชะลอน้ำอยู่บ้างแต่ไม่มากพอและหลายแห่งตื้นเขิน จึงต้องวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาลุ่มน้ำชีมีการพัฒนาปรับปรุงแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบเพื่อเพิ่มปริมาณเก็บน้ำไปแล้ว 138 แห่ง เก็บน้ำได้ 136 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ถึง 113,236 ไร่

ขณะเดียวกัน ยังมีหนองน้ำสาธารณะและแก้มลิงกระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำชี โดยภายในปี 2565 กรมชลประทานมีแผนพัฒนาแก้มลิงพร้อมอาคารประกอบอีก 129 แห่ง เก็บน้ำได้เต็มศักยภาพรวม 258 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 171,583 ไร่ ขณะที่การพัฒนาอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำชีตอนบน จ.ชัยภูมิ มีทั้งสิ้น 8 แห่งแล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ โปร่งขุนเพชร และอ่างฯลำปะทาวบน-อ่างฯลำปะทาวล่าง  ปริมาณน้ำเก็บกักรวม 104 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์รวม 55,000 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แห่ง ได้แก่ อ่างฯลำน้ำชี  อ่างฯ ลำสะพุง อ่างฯ พระอาจารย์จื่อ อ่างฯ ลำเจียง และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ  (ระยะที่ 1) เมื่อแล้วเสร็จทั้งหมดเก็บกักน้ำได้ 197.73 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 178,160 ไร่ และมีแผนจะดำเนินการในปี 2566 จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ ลำชีบน ปริมาณน้ำ 325 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 35,000 ไร่

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ประดิษฐ์รถสับใบอ้อยลดการเผา

การเผาอ้อยของกลุ่มเกษตรก่อนการเก็บเกี่ยว และการเผาใบอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว สร้างมลภาวะทางอากาศ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เสี่ยงเป็นโรคทางเดินหายใจ

เมื่อไม่นานมานี้มีเกษตรกรหัวใสคิดแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการประดิษฐ์ “รถเก็บและสับใบอ้อย” คันแรกของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยนำใบอ้อยที่ตัดแล้วส่งจำหน่ายโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล

นายวัยวุฒธ์ เทียมเจริญ อายุ 51 ปี ชาว ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรีผู้คิดค้นและประดิษฐ์รถเก็บและสับใบอ้อย เปิดเผยว่า ครอบครัวเป็นชาวนาแต่ชื่นชอบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทดลองผลิตสร้างเครื่องมือต่างๆเพื่อลดต้นทุนกระทั่งกลางปี 2563 อบต.เขาขลุงขอให้ช่วยผลิตรถเก็บและสับใบอ้อยเพื่อแก้ปัญหาเผาไร่อ้อย

เริ่มศึกษารูปแบบการทำงานของรถจัดเก็บใบอ้อยของต่างประเทศนำมาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการทำแปลงเกษตรของคนไทย

หลักการทำงานเริ่มจากการใช้รถกวาด เพื่อรวมกองใบอ้อยให้เป็นแนว จากนั้นใช้รถสับใบอ้อยเข้าเก็บตามร่อง ด้านหน้ารถจะมีหนวดกุ้งคอยเกี่ยวใบอ้อยเข้าสู่เครื่องสับด้านใน ใบมีดสามารถปรับขนาดความยาวของใบอ้อยที่ต้องการได้ ก่อนที่จะพ่นใบอ้อยสับลงท้ายรถบรรทุก

สำหรับ รถต้นแบบนี้ใช้งบประมาณ รวม 1.8 ล้านบาท ต่างจากรถของต่างประเทศที่มีราคาสูงถึงคันละ 10 ล้านบาท รถสามารถเก็บและสับใบอ้อยได้ประมาณ 3 ตันต่อชั่วโมง หลังจากหมดฤดูตัดอ้อย นำไปเก็บสับต้นข้าวโพด ฟางข้าง และหญ้าเนเปีย ส่งขายโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้เช่นกัน

นายวัยวุฒธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันตนนำรถเก็บและสับใบอ้อยออกให้บริการแก่เกษตรกรที่สนใจ และยังรับซื้อใบอ้อยในราคาไร่ละ 50 บาทเพื่อลดปัญหาการเผาไร่อ้อย มีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลรับซื้อเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงผู้ใดสนใจสอบถามเพิ่มเติมโทร.08-1880-0621

นับเป็นนวัตกรรมใหม่คิดค้นและผลิตโดยฝีมือคนไทย ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการเผาเป็นอย่างดี.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เริ่มแล้วปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งปี’64

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 8 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หมอกควันไฟป่า ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐาน และเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำรองรับการใช้การอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตร

นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการเปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2564 อย่างเป็นการทางการเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งในปีนี้เปิดหน่วยปฏิบัติการฯ เร็วขึ้น จากเดิมปกติทุกวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เนื่องด้วยสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 มีแนวโน้มอาจจะรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมีปริมาณต่ำกว่า 30% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบให้พื้นที่การเกษตรและพี่น้องประชาชนการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคน้ำ

โดยในปี 2564 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ป้องกันการเกิดไฟป่า บรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามบินกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ณ สนามบินท่าอากาศยานตาก อำเภอเมือง จังหวัดตากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ณ กองบิน 46 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลางตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ณ สนามบินนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ณ สนามบินกาญจนบุรี ค่ายสุรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ณ สนามบินกองบิน 23 อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และตั้งฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น ณ สนามบินท่าอากาศยานขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ ณ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง ณ สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ กองบังคับการกองบิน 7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และ ตั้งหน่วยปฏิบัติการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ ท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะมีการติดตามสภาพอากาศ และข้อมูลความต้องการน้ำที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกวันเพื่อวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เกษตรกรและประชาชน ติดตามข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติการฝนหลวงและขอรับบริการฝนหลวงได้ทางช่องทางต่างๆ ได้แก่ เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Instagram, Line OfficialAccount, Twitter (@drraa_pr) หรือโทรศัพท์ 0-2109-5100

จาก https://www.naewna.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาดอ่อนที่ 29.90 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.90 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 29.88 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.80-30.00 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า สัปดาห์นี้แนะนำติดตามการประกาศตัวเลขจีดีพีของไทยและญี่ปุ่น ส่วนฝั่งสหรัฐมีการประกาศตัวเลขการค้าปลีกเริ่มต้นเช้าวันจันทร์จะมีการรายงานตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่สี่ของญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัว2.4% จากไตรมาสก่อน โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นช้าลงในช่วงปลายปีจากการกลับมาระบาดใหม่ของไวรัสโควิด-19 ส่วนฝั่งประเทศไทยตลาดคาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 0.8% จากไตรมาสก่อน ถือเป็นการหดตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ต่อมาในวันพุธ จะมีการรายงานตัวเลขค้าปลีกในสหรัฐ (Retail Sales) ที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น 0.7% เทียบกับช่วงปลายปีที่แล้วจากเงินช่วยเหลือของภาครัฐ พร้อมกับยอดขายรถยนต์ที่ฟื้นตัวขึ้นช่วงต้นปีใหม่

ส่วนฝั่งตลาดเงิน ระยะสั้นกลับมาเห็นภาพดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอีกครั้ง โดยในสัปดาห์นี้เชื่อว่าตลาดจะกลับมาจับตาที่การผ่านนโยบายการคลัง รายงานการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดที่จะประกาศในวันพุธ รวมไปถึงความเคลื่อนไหวในตลาดทุน มองว่าสัปดาห์นี้อาจยังไม่สามารถสรุปเรื่องแผนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่ถ้า FOMC มีการหารือเรื่องเงื่อนไขเวลาในการลดนโยบาย QE ในอนาคตก็อาจกดดันให้ตลาดพักฐานและดอลลาร์แข็งค่ากลับได้กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.00-91.00 จุด ระดับปัจจุบัน 90.45 จุดด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทช่วงนี้เคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้จะมีผู้ส่งออกกลับเข้ามาในตลาดมากขึ้นแต่นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นและบอนด์ไทยอยู่ ในสัปดาห์นี้ต้องจับตารายงานตัวเลขจีดีพีก่อน เชื่อว่าถ้าไม่แย่กว่าคาดจะหนุนให้เงินบาทสามารถทรงตัวตามสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ดี การจะเห็นเงินบาทแข็งค่า หรือมีเงินทุนต่างชาติกลับเข้า อาจต้องรอหลังจากที่เริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนและเห็นการฟื้นตัวของภาคการผลิตพร้อมกันทั้งเอเชียก่อน กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.65-30.15 บาทต่อดอลลาร์

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (15 ก.พ.)  ทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 29.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น ขณะที่กรอบการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มจำกัดลงท่ามกลางบรรยากาศสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งยังคงได้รับแรงหนุนจากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนต้านโควิด 19 ทั่วโลกสำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 29.80-30.00 โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ตัวเลขจีดีพี 4Q-63 ของไทยในวันนี้ และบันทึกการประชุมเฟดในช่วงกลางสัปดาห์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สุริยะ สั่ง กรอ.ลุยดึงโรงงานร่วมโครงการ CSR-DIW 

สุริยะ สั่ง กรอ.ลุยดึงโรงงานร่วมโครงการ CSR-DIW สร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งเป้า 65 โรงงาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ(Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Work : CSR-DIW) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความปลอดภัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

“สั่งการให้ กรอ. เร่งผลักดันโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 13 และจะดำเนินต่อไป ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เช่นกัน”              นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า กรอ.เร่งดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการเปิดรับสมัครโรงงานฯในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 20 จังหวัด 23 พื้นที่ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยตั้งเป้าว่าปี 2564 จะต้องมีโรงงานเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 65 โรงงาน เพื่อนำมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ (CSR-DIW) ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนได้อย่างยั่งยืนสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

“โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ CSR-DIW จะมีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจ (CSR in process) และความรับผิดชอบต่อสังคมกับชุมชนโดยรอบ (CSR after process) ขณะเดียวกันในขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรฐาน CSR-DIW นั้น โรงงานต้องจัดทำแผนงานหรือกิจกรรมที่อาศัยศักยภาพของโรงงานทั้งทางด้านองค์ความรู้ บุคลากร ทรัพยากร และแบ่งปันผลประโยชน์คืนให้แก่ชุมชน โดยแผนงานหรือกิจกรรมดังกล่าวต้องผ่านการกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างโรงงานและชุมชน”

ทั้งนี้ กรอ.ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่สนับสนุนการดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การนำวัตถุดิบหรือวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยเป็นการสร้างสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมได้รับการยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ จากชุมชนและสังคม สามารถดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติอย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีโรงงานเข้าร่วมโครงการแล้ว 1,066 โรงงาน และปีนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัคร ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้ามาได้จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ก.พลังงานลั่น! ชะลอ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานฯ ไร้กำหนดจนกว่าเอทานอลจะถูกลง

ก.พลังงานชะลอกำหนด E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซินไม่มีกำหนดจนกว่าระดับราคาเอทานอลจะอยู่ในระดับเหมาะสม ชี้ราคา 27-30 บาทต่อลิตรแพงไปเป็นภาระกองทุนน้ำมันฯ ต้องอุดหนุนเพิ่ม เล็งเคลียร์ให้ชัดผู้ผลิตเอทานอล ขณะที่ B20 ยกเลิกเพื่อลดภาระกองทุนฯ หรือไม่ต้องรอดูราคา B100 เช่นกัน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมนัดหารือกับผู้ผลิตเอทานอลถึงแนวนโยบายการสร้างสมดุลราคาก่อนที่จะกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 (เบนซินผสมเอทานอล 20%) เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานกลุ่มเบนซิน ทั้งนี้เนื่องจากราคาเอทานอลระดับ 27-30 บาทต่อลิตรในปัจจุบันเป็นภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอุดหนุนเพิ่มขึ้นภายใต้วงเงินที่มีอย่างจำกัด ดังนั้นหากราคาเอทานอลยังอยู่ระดับดังกล่าวนโยบายกำหนดให้ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานฯ ก็ต้องชะลอออกไปแบบไม่มีกำหนด

“ก่อนหน้านี้เราได้หารือกับทางบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ไปบ้างแล้วและกำลังจะหารือกับผู้ประกอบการเอกชนโดยเฉพาะผู้ผลิตเอทานอลซึ่งก็คงต้องยืนยันว่าราคาเอทานอลสูงเกินไปเราก็คงรับไม่ได้ คงต้องสอบถามว่าจะมีราคาแพงไปถึงช่วงใด หากยังแพงแบบนี้เราสนับสนุนไม่ได้เพราะเงินกองทุนมีจำกัด จึงต้องสร้างสมดุลราคาก่อน หากถามว่าปีนี้จะเห็น E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานฯ ไหมก็ตอบเลยว่าราคานี้คงไม่เห็น แต่จะเป็นปี 2565 หรือไม่ก็ยังตอบไม่ได้เช่นกันเพราะขึ้นอยู่กับราคาจึงต้องหารือเพื่อสอบถามถึงแนวโน้ม” นายกุลิศกล่าว

สำหรับแก๊สโซฮอล์ E85 (เบนซินผสมเอทานอล 85%) หากมองทิศทางในขณะนี้ต้องยอมรับว่าการอุดหนุนค่อนข้างมากและผู้ใช้ยังมีต่ำจึงมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่นโยบายรัฐจะไม่ประกาศยกเลิกหากแต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งหากไม่มีผู้ใช้ในที่สุดผู้ค้าน้ำมันก็จะยกเลิกไปเอง ส่วนข้อเสนอสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่จะให้มีการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 (ดีเซลผสม B100 จำนวน 20%) เนื่องจากมีผู้ใช้น้อยและอุดหนุนราคาค่อนข้างมากก็ยังจำเป็นต้องติดตามราคา B100 เช่นกันเพราะยอมรับว่าขณะนี้มีระดับราคาที่ค่อนข้างสูง

ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 35,589 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีแอลพีจีติดลบ 10,069 ล้านบาทและบัญชีน้ำมัน 25,520 ล้านบาท โดยกองทุนฯ อุดหนุนราคา E20 อยู่ที่ลิตรละ 2.28 บาท, E85 อุดหนุนลิตรละ 7.13 บาท ดีเซล (B10) อุดหนุนลิตรละ 2.50 บาท และ B20 อุดหนุนลิตรละ 4.16 บาท ขณะที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนฯ ยกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี โดยสามารถขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี รวม 7 ปี ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 2 ปีแล้ว

จาก https://mgronline.com วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ศกพ. ลงพื้นที่ อุทัยธานี  ลุยแก้ปัญหา อ้อยไฟไหม้ ลดฝุ่น PM2.5

ศกพ. ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากโรงงานผลิตน้ำตาล และปัญหาอ้อยไฟไหม้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พร้อมด้วย นายมงคลชัย สมอุดร ผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดี คพ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ของพื้นที่เกษตร ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด และเยี่ยมชมกระบวนการผลิต ศกพ. ลงพื้นที่ อุทัยธานี  ลุยแก้ปัญหา อ้อยไฟไหม้ ลดฝุ่น PM2.5

โดยมี นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นางไพรินทร์ กันทะวงษ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุทัยธานี ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด และกลุ่มผู้แทนชาวไร่ ให้การต้อนรับ โดยบริษัทฯ ได้มีโครงการรับซื้อใบอ้อยสดในราคา ตันละ 1,000 บาท มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ส่งผลให้ในปี 2563 มีปริมาณอ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 30% (ปี 2562 70%) และในปี 2566 มีเป้าหมายรับซื้ออ้อยสด 100% ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สำคัญของการบริหารจัดการด้านการลดฝุ่นละออง PM2.5 และการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายธีรภัทร กล่าวว่า การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ดี หากมีการขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรอื่นๆ ก็จะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ลดการเผาวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ และนำเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทดแทนการเผาศกพ. ลงพื้นที่ อุทัยธานี  ลุยแก้ปัญหา อ้อยไฟไหม้ ลดฝุ่น PM2.5

นายอรรถพล กล่าวว่า จากการดำเนินงานของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ พบว่า ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละออง PM2.5 ในภาพรวมของประเทศดีขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสรรค์ มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองแบบบูรณาการของทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน และประชาชน และได้เน้นย้ำเกษตรกรที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด และข้าวให้ช่วยกันลดการเผาในที่โล่ง เมื่อฝุ่นละออง PM2.5 น้อยลงสุขภาพของประชาชนก็จะดีขึ้นด้วย

นายณรงค์ กล่าว่า จังหวัดอุทัยธานีได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเผาวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น พื้นที่นา พื้นที่ไร่อ้อย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 โดยมีการติดตามข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) พบว่า จุดความร้อนของปี 2563 ลดลงร้อยละ 85 จากปีที่แล้วทั้งนี้ จังหวัดอุทัยธานีได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ประกอบด้วย มาตรการทางกฎหมาย มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร และการขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการ และโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 นอกจากนี้มีโครงการเพิ่มมูลค่าหรือใช้ประโยชน์จากใบอ้อยที่เหลือจากการตัดอ้อยสด เพื่อเป็นการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวและเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกทางหนึ่ง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อธิบดีคพ. สั่งแจ้งกล่าวโทษโรงงานน้ำตาล อ.พิมาย ปล่อยมลพิษกระทบชาวบ้าน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กรณีชาวบ้านร้องเรียนความเดือดร้อนจากกิจการโรงงานน้ำตาล บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ก่อมลพิษปล่อยฝุ่นควันและฝุ่นจากกากอ้อยทั้งกลางวันและ กลางคืน ซึ่งหน่วย พิทักษ์สิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ( สสภ.11/นครราชสีมา) ร่วมกับ กอ.รมน.และหน่วยงานภายในจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าตรวจสอบ และร่วมประชุมกับผู้ประกอบการ และได้ออกคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น อธิบดีคพ. สั่งแจ้งกล่าวโทษโรงงานน้ำตาล อ.พิมาย ปล่อยมลพิษกระทบชาวบ้าน

นายอรรถพล กล่าวว่า  จากการติดตามตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และการรายงานของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว พบว่า  บริษัทยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขและยังปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอธิบดีคพ. สั่งแจ้งกล่าวโทษโรงงานน้ำตาล อ.พิมาย ปล่อยมลพิษกระทบชาวบ้าน

ตนเองในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เห็นว่าบริษัทดังกล่าว ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขตามที่ตกลงในการประชุมร่วมกัน และยังปล่อยฝุ่นควัน โดยเฉพาะฝุ่นPM2.5 เป็นการไม่ให้ความมือกับรัฐบาล ละเลยไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ในวันนี้ (12 กุมภาพันธ์ )ได้สั่งการให้ สสภ.11 เข้ากล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับโรงงานน้ำตาลดังกล่าว โดยมีชาวบ้านเป็นพยาน ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส. ได้มอบหมายให้ตนเองกำกับติดตามให้ การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด นายอรรถพล กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ชาวไร่อ้อยสระแก้ว บุกศาลากลางร้องแก้ปัญหาขนย้ายแรงงานต่างด้าวตัดอ้อย

ที่ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ตัวแทนชาวไร่อ้อยในพื้นที่ จ.สระแก้ว เดินทางเข้าพบนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อเรียกร้องขอให้แก้ปัญหาการขนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้ามาตัดอ้อยในแปลงพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัด โดยมีนายวัลลภ ประวัติวงค์ ปลัดจังหวัดสระแก้ว นำนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เป็นแกนนำ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนสมาชิกชาวไร่อ้อย จำนวน 17 คน ได้เดินทางมาศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ต.ท่าเกษม อ.เมือง จ.สระแก้ว ท่ามกลางเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงและอื่น ๆ จำนวนมากที่มารอเตรียมรับมือ เนื่องจากก่อนหน้ามีรายงานแจ้งว่า ชาวไร่อ้อยจะเดินทางมากว่า 100 คน

 สำหรับการขอเข้าพบและยื่นหนังสือให้กับนายวัลลภ ประวัติวงค์ ปลัดจังหวัดสระแก้ว เพื่อผ่านไปยังนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ครั้งนี้ ทางชาวไร่อ้อยต้องการขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว แก้ไขปัญหาในกรณีการขนย้ายแรงงานต่างด้าวที่มารับจ้างตัดอ้อยที่ไม่สามารถเดินทางข้ามพื้นที่แปลงต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.สระแก้ว เพราะมีเจ้าหน้าที่ใช้คำสั่ง จว.สระแก้ว ที่ 310/2564 ลง 1 ก.พ.64 เกี่ยวกับการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ จ.สระแก้ว เข้าไปกดดันชาวไร่ จนทำให้กลุ่มผู้ประกอบการไม่สามารถจัดหาแรงงานต่างด้าวนอกพื้นที่เข้ามาตัดอ้อยในพื้นที่ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม หลังมีการพูดคุยและชี้แจงปัญหาดังกล่าว ผลจากการพูดคุยและทำความเข้าใจ ในการหาแนวทางการเคลื่อนย้ายแรงงานใน จ.สระแก้ว นั้น หากผู้ประกอบการรับตัดอ้อยและชาวไร่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวไปยังแปลงต่าง ๆ ขอให้ประสานแจ้งผ่านศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดสระแก้ว ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเท่านั้น ผ่านเบอร์โทร 037-425199 เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบก่อน ก็สามารถดำเนินการได้ตามมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไป

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า เนื่องด้วยสมาคมเกษตรกร ชาแดนบูรพา ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกชาวไร่อ้อยใน พื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดสระแก้ว เรื่องการคลื่อนย้ายแรงานต่างด้าวไปตัดอ้อยในพื้นที่ต่างหมู่บ้าน ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่ของอำเภอมืองสระแก้วได้อ้างคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วในการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวไปตัดอ้อยในพื้นที่หมู่บ้านอื่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ทำอ้อย ไม่ได้มีพื้นที่ใน การปลูกอ้อยอยู่เพียงในหมู่บ้านตนเองเท่านั้น ยังได้มีการทำไร่อ้อยในพื้นที่อื่นๆของหมู่บ้าน ซึ่งมีความ จำเป็นที่จะต้องตัดอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในทันในฤดูการอ้อยในปีนี้ หากเกตรกรชาวไร่อ้อยไม่สามารถ เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวไปตัดอ้อยในพื้นที่หมู่บ้านอื่นได้ ก็จะทำให้ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลผลิตที่ปลูกมาทั้งปีไม่สามารถตัดส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาลได้ทันเวลาดังนั้นสมาคมฯ จึงมีหนังสือมายังท่านเพื่อขอให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่อำภอเมืองจังหวัดสระแก้ว ให้ได้ตัดอ้อยเข้าหีบให้ทันฤดูการหีบอ้อยที่โรงงาน ตาลจะหยุดรับผลผลิตภายในเดือนมีนาคม 2564 นี้ด้วย

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : EEC มั่นคงเรื่องน้ำตลอดกาล?

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เขียนถึงการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในฤดูแล้งปีที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ ทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำต้นทุนมีจำนวนจำกัด แต่ก็ผ่านพ้นวิกฤติมาได้ ด้วยการทำงานแบบบูรณาการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)

มาถึงฤดูแล้งปีนี้สถานการณ์น้ำในพื้นที่ EEC เป็นอย่างไร?

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) บอกว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในภาคตะวันออกปีนี้มีปริมาณน้ำรวม 1,928 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 62%มีปริมาณน้ำมากกว่า 303 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นผลมาจากฝนที่ตกลงมากกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับหลากหลายมาตรการที่ทุกหน่วยงานได้ดำเนินการร่วมกัน รวมทั้งรัฐบาลยังได้อนุมัติงบกลางเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 1,451 แห่ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ในอนาคตนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถในการวางแผนแก้ปัญหา ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำรวม 2,419 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 58 ของความต้องการใช้น้ำภาคตะวันอออก ในปี 2570 ความต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,888 ล้านลบ.ม. และในปี 2580 ความต้องการจะพุ่งขึ้นถึง 3,089 ล้านลบ.ม.

ในขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ EEC ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 2,540 ล้านลบ.ม.ต่อปี โดยเป็นปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลาง 1,368 ล้านลบ.ม. จากลุ่มเจ้าพระยา 597 ล้านลบ.ม. จากแม่น้ำปราจีนบุรี-นครนายก 395 ล้านลบ.ม. จากน้ำบาดาล 79 ล้านลบ.ม. ผันจากคลองพระองค์ไชยานุชิต 70 ล้านลบ.ม. และจากลุ่มน้ำบางปะกง 30 ล้านลบ.ม.

ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่มากกว่าความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันประมาณ 100 กว่าล้านลบ.ม.เท่านั้น หากไม่หาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น อีกไม่กี่ปีน้ำในพื้นที่ EEC จะขาดแน่นอน

“สทนช. ได้วางแผนในเชิงป้องกัน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงน้ำในเขต EEC ระยะยาวไว้แล้ว” เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหา

ระหว่างปี 2563-2580 จะดำเนินการทั้งหมด 38 โครงการ เน้นการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในพื้นที่แหล่งน้ำนอกลุ่มน้ำ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล รวมถึงพัฒนาน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยคำนึงถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศมาใช้ในการพัฒนาโครงการด้วย โดยขณะนี้ได้แล้วเสร็จ 4 โครงการ ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 46.47 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ 13 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ได้ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 216.32 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลิือจะดำเนินในระยะต่อๆ ไปจนครบตามแผน

นอกจากนี้ สทนช. ยังได้เร่งจัดทำผังน้ำของลุ่มน้ำบางปะกงขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อย่างเป็นระบบและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำต้นทุนให้พื้นที่ EEC อีกทางหนึ่ง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กาฬสินธุ์บูรณาการเผาอ้อยเป็นศูนย์ ลดเกิดฝุ่นละออง PM 2.5

ที่แปลงอ้อยเกษตรกร บ้านคำโพนทอง ต.สามขา อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต (Kalasin Green Market) ภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปี 2564 ของ จ.กาฬสินธุ์ โดยมี พ.อ.เรืองพงษ์ วงษ์ศรีสุข รองผอ.กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค ปภ.จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายคมสันต์ เหล่าจูม ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยร่วมจัดนิทรรศการ และร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นกิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อย ยกระดับสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของ จ.กาฬสินธุ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนและพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการเผาใบอ้อยที่เป็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก  หรือ PM 2.5 การนำเทคโนโลยีเข้าใช้ในการเก็บใบอ้อยขายให้กับโรงงาน สำหรับเป็นเชื้อเพลิงโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โดยรับซื้อถึงตันละ 1 พันบาท เป็นต้น

ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ได้กำหนดยุทธศาสตร์การผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีวิสัยทัศน์ว่า เป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์ (Zero Burning) ในปีการผลิต 2564/2565 ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมเทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสมในการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยน การผลิตอ้อยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ได้ดำเนินการ จำนวน 7 นิทรรศการ ได้แก่  นิทรรศการเครื่องสางใบอ้อย  นิทรรศการรถตัดอ้อย นิทรรศการเก็บใบอ้อย  นิทรรศการริปเปอร์ฝังปุ๋ย นิทรรศการใช้น้ำวีแนส  นิทรรศการระบบน้ำและโดรน  รวมทั้งนิทรรศการแปรรูปผลผลิตอ้อย

อย่างไรก็ตาม อ้อยโรงงานเป็นพืชเศรษฐกิจหลักลำดับที่ 2 ของจังหวัด โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3.85 แสนไร่ รองลงมาจากข้าว ซึ่งในกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยบางพื้นที่จะเผาทำลายใบอ้อยเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการเก็บเกี่ยว ซึ่งวิธีการดังกล่าวส่งผลให้ดินสูญเสียอินทรียวัตถุ ความชื้น ความมีชีวิตของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ทำให้ธาตุอาหารพืชสูญเสีย และสร้างฝุ่นละอองที่เป็นพิษทางอากาศ เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพการผลิตอ้อย ยกระดับสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์ลดการเผาอ้อยเป็นศูนย์ (Zero Burning) ในปีการผลิต 2564/2565 ดังกล่าว

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เส้นตาย 3 เดือน   ‘เกษตรกร-เอกชน’งัดข้อเกาะขบวน CPTPP

ปลุกกระแส CPTPP รอบใหม่ กนศ.ขีดเส้นรู้ผลไทยร่วมวงหรือไม่ใน 3 เดือน หลังคู่แข่ง-คู่ค้า 7 ประเทศดาหน้าเตรียมสมัครร่วมวง กระตุ้นไทยต้องเร่งสปีด “ประพัฒน์” จี้เตรียมความพร้อม ผวาเสี่ยงเกษตรกรรายย่อยล่มสลาย สภาหอฯลั่นห้ามพลาดเกาะขบวน “วีระกร” ชี้ถ้าไม่พร้อมอย่าร่วม

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ  ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) นัดแรกของปี 2564 หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ได้รับทราบผลการศึกษาข้อดี-ข้อเสีย และข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร

เรื่องนี้เดิมที ครม.ได้มอบหมายให้นายดอน รับข้อสังเกตของกมธ.ไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ส่งผลการพิจารณา ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน ล่าสุดในการประชุม กนศ.ครั้งที่ 1/2564 (5 ก.พ.64) กนศ.ได้ขอเวลาอีก 3 เดือนเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาตามกรอบที่ทาง กมธ.เสนอมา ก่อนจัดทำข้อสรุปประกอบการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าสมัครเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ ซึ่งหากไทยจะสมัครเข้าร่วมตามขั้นตอนต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.เพื่อนำสู่ขั้นตอนยื่นสมัครต่อสมาชิก CPTPP ภายในเดือนสิงหาคมนี้ 

แหล่งข่าวจาก กนศ. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมได้สรุปสถานะล่าสุดของกลุ่ม CPTPP มีภาคีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ แบ่งเป็น 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันรับรองแล้ว ได้แก่ เม็กซิโก, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, นิวซีแลนด์, แคนาดา, ออสเตรเลีย และเวียดนาม และ 4 ประเทศ ที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน  ได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, ชิลี และ เปรู ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคมนี้ญี่ปุ่น  จะเป็นประธานคณะกรรมาธิการ CPTPP (CPTPP Commission) เพื่อพิจารณาประเทศสมาชิกใหม่ที่สนใจจะเข้าร่วมเจรจาความตกลง รายงานล่าสุดมี 7 ประเทศที่แสดงความสนใจ อาทิ สหราชอาณาจักร(อังกฤษ), จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และโคลัมเบีย ขณะที่นายดอน ระบุว่า ที่ผ่านมาจีน และสหรัฐฯ ก็สนใจจะเข้าร่วม อังกฤษก็สมัครแล้ว เกาหลีใต้ก็สนใจจะเข้า เวลานี้ไทยยังช้ากว่าอังกฤษหลายช่วงตัว เพราะฉะนั้นต้องเอาข้อมูลผลการศึกษาของ กมธ. CPTPP มาย่อยดูให้ละเอียดขึ้น ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า การเข้าร่วมเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมิก CPTPP เป็นเรื่องใหญ่มาก วันนี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยังไม่เห็นรัฐบาลจะเตรียมพร้อมอะไรเลย ทั้งในส่วนของผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้ปลูกพืชไร่ อาหารสัตว์  เรื่องสิทธิบัตรยา และอื่น ๆ  เส้นตาย 3 เดือน   ‘เกษตรกร-เอกชน’งัดข้อเกาะขบวน CPTPP

“ขอเตือนรัฐบาล หากยังไม่มีอะไรเตรียมพร้อม จะมีผลกระทบในระยะยาวต่อเกษตรกรในเชิงลึกมาก เฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยหลายสาขาการผลิตอาจจะล่มสลาย นี่คือข้อกังวลและห่วงใย” ขณะที่นายชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า ข้อตกลง CPTPP ที่มีข้อกำหนดให้ประเทสมาชิกต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 (การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) ที่หลายฝ่ายเกรงจะส่งผลกระทบกับเกษตรกร และก่อนหน้านี้หลายฝ่ายได้ออกมาโจมตีในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดีในเรื่อง UPOV 1991 อยากให้มองว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่ ในที่สุดสถานการณ์โลกก็ต้องพาเข้า แต่ถ้าไม่อยากเสียเวลาปีนี้ก็ไปเข้าไปเลย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างน้อยรัฐบาลมีแนวคิดที่จะเข้าร่วมเจรจา CPTPP  หากจุดไหนคิดว่าเสียเปรียบ หรือเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทย ก็สามารถเจรจาขอผ่อนปรนออกไปก่อน โดยยึดโมเดล “เวียดนาม” ที่ขอผ่อนปรนในบางสินค้าในการขอยกเลิกภาษีออกไป 20 ปี แต่ข้อไหนที่ไม่เสียเปรียบให้เริ่มทำทันที เป็นเรื่องที่ทางภาคเอกชนผลักดัน และบอกกับรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นเราจะสู้เวียดนามไม่ได้ ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึง การเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร ทั้งการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อรองรับผลกระทบขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ นายวีระกร  คำประกอบ ประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP สภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า  จุดยืนของคณะกรรมาธิการฯเห็นว่าไม่ช้าก็เร็วไทยต้องเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อลดความเสียเปรียบและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ก่อนเข้าร่วมเจรจาไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ในประเด็นที่อ่อนไหวของไทย ซึ่งทางกมธ.ได้ให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลไปแล้วในหลายเรื่อง ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วมเจรจา การเตรียม ความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ก็สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ระหว่างที่มีการเจรจาที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี “จุดยืนของคณะกรรมาธิการฯคือถ้าเราไม่พร้อมอย่าเข้า ต้องพร้อมก่อนถึงจะเข้าร่วม อย่าไปผลีผลาม ดังนั้นข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ทาง กมธ. ได้ให้ข้อเสนอแนะไปต้องทำให้แล้วเสร็จ หรือไม่ก็ต้องเริ่มต้นได้แล้ว ความจริงไม่ได้ยากเย็นอะไร ขอให้รัฐบาลมีความตั้งใจจริงกับเกษตรกรตามที่เราแนะนำไป โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร หรืออะไรที่จะมีผลกระทบกับเกษตรกรต้องทำเสียให้เสร็จทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องพันธุ์ข้าว การวิจัยพันธุ์ข้าว การวิจัยพันธุ์พืชที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรต้องทำให้ประชาชนไม่เดือนร้อนจาก UPOV1991 เรื่องอื่นก็พอทำเนา อย่าง CL ยาเราก็เชื่อว่าไม่มีผลกระทบ เพราะยังคงทำได้เหมือนเดิม เรื่องอื่นก็แค่แก้ไขกฎกระทรวงไม่ได้ยาก แต่เรื่องที่ต้องเร่งทำคือการแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลกระทบกับชาวนา ทำเสียให้เสร็จ ไม่เช่นนั้นประชาชน ชาวนาชาวไร่เขาไม่ยอมหรอก"

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เวียดนามจ่อขึ้นภาษีตอบโต้ทุ่มตลาด 34% กับน้ำตาลทรายดิบนำเข้าจากไทย

รอยเตอร์ - เวียดนามวางแผนที่จะเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกับน้ำตาลทรายดิบที่มีแหล่งกำเนิดในไทย โดยอ้างถึงปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มสูง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามกล่าวว่า จะดำเนินการเรียกเก็บภาษี 33.88% กับน้ำตาลของไทย แต่เวลานี้ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องกรอบเวลาบังคับใช้

ทั้งนี้ เวียดนามได้ยกเลิกอัตราภาษีนำเข้ากับน้ำตาลที่นำเข้าจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2563 ตามข้อผูกพันในข้อตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA)

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงอนุญาตให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนกำหนดภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมในประเทศของตัวเองจากพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน

การตัดสินใจของเวียดนามที่จะฟื้นอัตราภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้ำตาลทรายดิบ มีขึ้นหลังกระทรวงได้ดำเนินการสอบสวนต่อต้านการทุ่มตลาด ที่เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 หลังได้รับคำร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมน้ำตาลเวียดนาม

ผลการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า การอุดหนุนและการทุ่มตลาดน้ำตาลจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านตันในปี 2563 ทะยานขึ้นถึง 330.4% จากปี 2562 กระทรวงระบุในคำแถลง

“โรงงานน้ำตาลในประเทศจำนวนหนึ่งปิดตัวลง ทำให้พนักงาน 3,300 คน ตกงาน และส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตกร 93,225 ครัวเรือน ทั้งนี้ จะมีการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด 33.88% กับน้ำตาลทรายดิบจากไทย และจะมีการทบทวนมาตรการอยู่เสมอ” คำแถลงระบุ

การสอบสวนของกระทรวงยังคงดำเนินอยู่ และจะสรุปผลในไตรมาสที่ 2 โดยฝ่ายเวียดนามจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตัดสินใจในขั้นสุดท้ายว่าจะเริ่มเรียกเก็บภาษีเมื่อใด กระทรวงระบุ.

จาก https://mgronline.com  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อาเซียน– ฮ่องกงบังคับใช้12 ก.พ. นี้  แนะเอกชนไทยเร่งใช้ประโยชน์

พาณิชย์ เผยเอฟทีเออาเซียน – ฮ่องกง จะมีผลบังคับใช้ครบทั้ง 11 ประเทศภาคี 12 ก.พ.นี้ หลังกัมพูชาประกาศเริ่มใช้เป็นประเทศสุดท้าย แนะผู้ประกอบการไทยเร่งใช้ประโยชน์ช่วยขยายการค้า และการค้าบริการ ชี้ ฮ่องกงเล็งไทยเป็นฐานการทำธุรกิจ การค้าและการลงทุนในภูมิภาค ตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงที่ไทยแห่งที่ 3 ในอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง (ASEAN – Hong Kong Free Trade Agreement : AHKFTA) มีผลบังคับใช้ระหว่างฮ่องกงและประเทศสมาชิกอาเซียนบางส่วน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยกัมพูชา เป็นประเทศเดียวในปัจจุบันที่ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ จึงได้แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนว่า พร้อมที่จะเริ่มใช้ความตกลง AHKFTA แล้ว ซึ่งการดำเนินการของกัมพูชาจะส่งผลให้ความตกลง AHKFTA มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์กับทุกประเทศสมาชิก ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้

สำหรับไทยจะได้รับประโยชน์จากความตกลง AHKFTA ในหลายเรื่อง อาทิ การค้าสินค้า โดยฮ่องกงได้ยกเว้นภาษีศุลกากรให้กับสินค้าส่งออกจากไทยทุกรายการแล้ว ทำให้ในปี 2563 มีสินค้าส่งออกจากไทยไปฮ่องกงเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนความตกลงมีผลบังคับใช้ อาทิ สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 104.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+3,596%) อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ มูลค่า 436.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+1,530%) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว มูลค่า 168.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+119%) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 40.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+93%) และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 412.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+66%) ในส่วนของการค้าบริการ ฮ่องกงเปิดตลาดภาคบริการให้ไทยและอาเซียนมากกว่าสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) โดยเฉพาะการเปิดตลาดเพิ่มเติมตามข้อเรียกร้องของไทยในบริการการผลิตเนื้อหารายการแก่ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทำให้ผู้ประกอบการไทยถือหุ้นได้ 100% แบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจรในฮ่องกง

นอกจากนี้ ฮ่องกงยังได้เห็นความสำคัญที่จะให้ไทยเป็นฐานการทำธุรกิจ การค้าและการลงทุนในภูมิภาค จึงได้ตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย (Hong Kong Economic and Trade Office: HKETO) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นสำนักงานแห่งที่ 3 ในอาเซียน (2 แห่งแรก คือ สิงคโปร์และอินโดนีเซีย) ปัจจุบันฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับฮ่องกง มีมูลค่า 13,298 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก มูลค่า 11,292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า มูลค่า 2,006 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และข้าว สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย เงินแท่งและทองคำ ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

จ่อฟ้องตุลาการเอาผิด คกก.วัตถุอันตราย ผลวิจัยสารตกค้างพาราควอตเชื่อถือไม่ได้

แบนพาราควอตเกือบครบปี เสียหาย 2 แสนล้าน “เครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เกษตรกร” จ่อฟ้องตุลาการ ศาลปกครอง เอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกชุด เหตุรัฐกระทำผิดขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 พร้อมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์สารตกค้างใหม่ทั้งในดิน-น้ำ และทำให้เนื้อเน่าจริงหรือไม่ หลังผลวิจัยชุดเก่าเชื่อถือไม่ได้

นายชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แห่งประเทศไทย (NSCU) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2561 ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรอย่างมาก ทั้งทางรายได้ สังคม อาชีพ แรงงาน ส่งออก คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท

และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. 2564 นี้จะครบกำหนดการครอบครองสารเคมีอันตรายดังกล่าวทั้งหมดแล้ว โดยผู้ใช้ ผู้จำหน่ายที่ครอบครองจะต้องส่งคืนเพื่อกำจัด แต่ขณะนี้มาตรการส่งคืน วิธีกำจัดทำลายยังไม่ชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการร้านจำหน่าย ผู้นำเข้า จะต้องเสียค่ากำจัดทำลาย 100,000 บาท/ตัน โดยที่รัฐไม่ได้มีมาตรการอื่นใดเข้ามาช่วยเหลือ เป็นกันผลักดันภาระให้กับผู้ประกอบการ และถูกกดดันด้วยกฎหมายที่ผู้ใดครอบครองจะมีโทษหนัก

ดังนั้น จึงเตรียมรวบรวมข้อมูลทางวิชาการและผลกระทบต่อภาคเกษตรกรจากการแบน 3 สารเคมี เพื่อที่จะยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตุลาการ ต่อศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่ารัฐดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และการพิจารณาการแบนไม่สอดรับกับหลักสากล

ทั้งนี้การแบน 3 สารดังกล่าว โดยเฉพาะพาราควอตมีผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยผลผลิตลดลงเนื่องจากพืชประธานถูกแย่งสารอาหารและน้ำโดยวัชพืช ประมาณการพบว่าผลผลิตจะหายไปจากพืชเศรษฐกิจหลักจำนวน 97 ล้านตัน คิดเป็นรายได้เกษตรกรที่จะหายไปกว่า 200,000 ล้านบาท และจะทำให้มูลค่าการส่งออกของสินค้าสูญเสียไปอีก 41.46 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 250,000 ล้านบาท

ซึ่งยังไม่รวมกับการที่รัฐต้องเสียเงินอุดหนุนราคาพืชผลอีกนับไม่ถ้วน และการเสียโอกาสอื่น ๆ ของไทย และที่สุดเกษตรกรอาจต้องเลิกประกอบอาชีพ

ปัจจุบันการยกเลิกพาราควอตและจำกัดการใช้ไกลโฟเซต กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้กลูโฟซิเนต แต่พบว่าต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า และราคาสูงกว่าส่งผลให้ต้นทุนเกษตกรเพิ่มขึ้นและยังเป็นสารตกค้างในดิน ขณะเดียวกันไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะส่งผลให้มีการนำเข้าพืช ผัก ผลไม้ เข้ามา

ซึ่งก็พบว่าไทยนำเข้าพืชผักเหล่านี้ ทั้งที่ยังใช้พาราควอตอยู่ทั้ง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จึงไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรไทย และไม่สอดรับกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ว่าด้วยสิทธิแห่งความเสมอภาค โดยปัจจุบันมีการแบนพาราควอต 56 ประเทศ และยังใช้อยู่ถึง 81 ประเทศ และหลักสากลขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่ได้ห้ามใช้แต่ยึดหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)

นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมฯ เตรียมระดมทุน ดึงเติร์ดปาตี้ที่น่าเชื่อถือ เช่น มหาวิทยาลัย นักวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาทำการวิเคราะห์ผลตกค้างของพาราควอตในดิน น้ำ ให้ชัดเจนกว่านี้ โดยเน้นวิจัยที่เป็นประเด็นทั้งสารตกค้าง โรคหนังเน่า ฯลฯ

เนื่องจากผลวิเคราะห์จากการวิจัยของคณะกรรมการชุดเก่าไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงในหลักวิทยาศาสตร์ตามหลักการทำเกษตรได้ จึงจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ใหม่เพื่อนำไปแย้งผลเดิม ซึ่งจะใช้เวลาวิเคราะห์ประมาณ 1-2 สัปดาห์

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ชาวไร่เฮ!! รัฐดึงใบอ้อยผลิตไฟ ตั้งเป้ารับซื้อกว่า 1 ล้านตัน/ปี

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ว่า สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้หารือในเบื้องต้นกับผู้ประกอบการโรงน้ำตาล เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจในโครงการ (เอ็มโอยู) การใช้ประโยชน์ใบอ้อยและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะมีการรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ประมาณปีละกว่า 1 ล้านตัน เพื่อนำไปใช้แปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการระหว่างปี 2564-2566

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานทั้ง 57 โรง หลังเปิดรับผลิตมาแล้ว 57 วัน ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ดี ทั้งชาวไร่และโรงงามต่างพยายามที่จะลดอ้อยไฟไหม้ให้ได้ตามนโยบายภาครัฐ ทำให้การหีบอ้อยหลังผ่านมาครึ่งทาง ทำผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.78 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 104.22 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’ที่29.99บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงด้าน เงินบาทและสกุลเงินเอเชียระยะสั้นไม่คึกคักเท่าฝั่งสหรัฐ แม้ช่วงนี้จะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยขายตราสารหนี้ และกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้าง หากสามารถยกเลิกล็อคดาวน์ได้ก่อนจะหนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อไปได้ แต่ต้องระวังแรงเทขายทำกำไรปิดรับความเสี่ยง หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐถูกคัดค้าน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.99 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.03 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง (Risk On) ในคืนที่ผ่านมา นำโดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่บวกขึ้นได้0.74% จากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นขนาดเล็ก ตามมาด้วยดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปรับตัวขึ้น0.32% โดยนักลงทุนเชื่อมั่นกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและกลับเข้าสู่กลุ่ม Cyclical

ส่วนในตลาดเงิน ดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาที่ระดับ 1.16% สะท้อนความเชื่อมั่นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันระดับสภาพคล่องที่สูงก็หนุนให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาทองคำยังคงยืนเหนือระดับ 1830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนในระยะสั้น นักลงทุนก็เน้นเก็งกำไรโดยราคาบิทคอยน์ขยับตัวขึ้นสู่ระดับ 44,000 ดอลลาร์ หลังเข้าบริษัท Tesla ซื้อเพื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของงบบริษัท

ด้านเงินบาทและสกุลเงินเอเชียระยะสั้นดูจะไม่คึกคักเท่าในฝั่งสหรัฐ และโดยรวมยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้ช่วงสั้นจะเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยขายตราสารหนี้ และกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้าง แต่เชื่อว่าระยะถัดไป ต้องสามารถยกเลิกล็อคดาวน์ได้ก่อน ถึงจะเป็นประเด็นที่หนุนให้เงินบาทสามารถแข็งค่าต่อไปได้

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05 บาทต่อดอลลาร์โดยแนวโน้มเงินบาทก็มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ +/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะฝั่งผู้ส่งออกเองก็ไม่รีบขายเงินดอลลาร์และสามารถรอได้ จนกว่าเงินบาทจะอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.10-30.15บาทต่อดอลลาร์  ขณะที่ฝั่งผู้นำเข้า ก็ไม่รีบเข้าซื้อเงินดอลลาร์เช่นกัน เนื่องจากยังเชื่อว่า เทรนด์เงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่ จึงเลือกที่จะรอจนกว่า เงินบาทจะแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฝั่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตลาดคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ในระยะสั้นนี้ ขณะเดียวกันแนวโน้มสถานการณ์ การระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ ก็ดีขึ้น โดย ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง สวนทางกับอัตราการแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น

ภาพดังกล่าวส่งผลให้ ตลาดกลับมาเชื่อมั่นต่อ Reflation trades อีกครั้ง หนุนให้ ตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนปรับตัวขึ้น  โดยหุ้นขนาดเล็กในสหรัฐฯ ได้รับอานิสงส์มากสุดจากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สะท้อนผ่าน การพุ่งขึ้นราว 2.5% ของดัชนี Russell 2000 ในขณะที่ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเพียง 0.74% ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดบวก 0.27% ส่วนดัชนี FTSE MIB ของอิตาลี พุ่งขึ้นราว 1.5% จากความหวังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของอิตาลี โดยอดีตประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB)

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นบางส่วนก็ยังไม่วางใจต่อภาพการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้ยังคงมีแรงซื้อเข้ามาในฝั่งสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง พันธบัตรรัฐบาล กดดันให้ บอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.17%-1.18% ส่วนเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงราว 0.3% สู่ระดับ90.95จุด

นอกจากนี้ ความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้ช่วยหนุนให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น โดย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้นแตะระดับกว่า 60ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในรอบกว่า 1ปี ส่วนในฝั่งทองคำราคาก็ปรับตัวขึ้นราว 1% สู่ระดับ 1,832 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ที่น่าสนใจก็คือ สินทรัพย์ทางเลือก สกุลเงินดิจิตอล อย่าง บิทคอยน์ ก็พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงถึง 17% แตะระดับ 45,571 ดอลลาร์ สะท้อนถึงภาวะการเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดอย่างชัดเจนในช่วงนี้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะยังคงติดตามความคืบหน้าการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯควบคู่ไปกับ การติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการแจกจ่ายวัคซีน

โดยในระยะสั้น ต้องระวัง แรงเทขายทำกำไรและการปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเผชิญแรงคัดค้านที่มากขึ้นในวุฒิสภา จนอาจจะทำให้เกิดความล่าช้า รวมถึง ขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่ได้มากอย่างที่คาดหวังไว้ หรือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีทิศทางที่แย่ลง (ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่วัคซีนยังแจกจ่ายได้ช้าอยู่)

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

โรงงานน้ำตาล ผนึกชาวไร่แก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เพิ่มรายได้-ลด PM 2.5

โรงงานน้ำตาล เร่งร่วมมือชาวไร่แก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เพิ่มรายได้-ลด PM 2.5 เน้นรับอ้อยสด สะอาดเข้าหีบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้หารือในเบื้องต้นกับผู้ประกอบการโรงน้ำตาล เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจในโครงการ (เอ็มโอยู) การใช้ประโยชน์ใบอ้อยและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบเอ็มโอยูโครงการความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการนำใบอ้อยที่เป็นเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ โดยคาดว่าจะมีการรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ได้ประมาณปีละกว่า 1 ล้านตัน เพื่อนำไปใช้แปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการระหว่างปี 2564-2566ขณะที่ชาวไร่จะได้รับรายได้จากการขายใบอ้อยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากรายได้ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาอยู่ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ จึงเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดส่งเข้าหีบเพิ่มขึ้นสิริวุทธิ์ เสียมภักดี

สำหรับภาพรวมการดำเนินการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานทั้ง 57 โรง หลังเปิดรับผลิตมาแล้ว 57 วัน ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ดี ทั้งชาวไร่และโรงงามต่างพยายามที่จะลดอ้อยไฟไหม้ให้ได้ตามนโยบายภาครัฐ ทำให้การหีบอ้อยหลังผ่านมาครึ่งทาง สามารถทำผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.78 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 104.22 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

อย่างไรก็ดี จากปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 43.86 ล้านตันอ้อย พบว่า มีอ้อยสดเข้าหีบรวม 33.10 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 75.46% และสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 24.54% คิดเป็น 10.76 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันของปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยสดเพียง 50.47% และอ้อยไฟไหม้ 49.53% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 49.99 ล้านตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานของอ้อย (ซี.ซี.เอส.) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ 12.58 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มีค่าความหวาน 12.33 ซี.ซี.เอส. เป็นผลให้ผลผลิตน้ำตาลได้ 47.27 ล้านกระสอบ              “โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์และสนับสนุนให้ชาวไร่จัดเก็บผลผลิตอ้อยสด สะอาด และไม่มีสิ่งปนเปื้อน ส่งเข้าหีบ โดยเข้าไปให้องค์ความรู้และเทคนิคการจัดเก็บ ตลอดจนจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ชาวไร่ที่มีรายได้จากการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

KTIS ผ่านมาตรฐาน GMP/HACCP รุกต่อยอดธุรกิจอาหารและยา

โรงงานเอทานอลกลุ่ม KTIS ผ่านมาตรฐาน GMP/HACCP เตรียมต่อยอดธุรกิจในกลุ่มอาหารและยา

นายอภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม KTIS ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐาน GMP/HACCP โดยบริษัท SGS (Thailand) Limited ซึ่งเป็นบริษัทตรวจรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก

“การตรวจรับรองครั้งนี้เพื่อยืนยันว่ากระบวนการผลิตเอทานอลของ KTBE ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องจักร บุคลากร อาคาร สถานที่ตั้ง รวมถึงกระบวนการผลิตทั้งหมด ได้มาตรฐานสำหรับที่จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารและยา ถูกสุขลักษณะอนามัยตามมาตรฐาน GMP และไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ตามมาตรฐาน HACCP เตรียมรองรับการต่อยอดธุรกิจในกลุ่มอาหารและยาในอนาคต เพิ่มเติมจากธุรกิจหลักปัจจุบันที่ผลิตเอทานอลจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมรายใหญ่ของประเทศ เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแก๊สโซฮอล์” นายอภิชาตกล่าว

สำหรับผลิตภัณฑ์ KNAS ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ 70% คุณภาพสูง สำหรับทำความสะอาดมือ ทั้งแบบแอลกอฮอล์เจล และแบบแอลกอฮอล์น้ำ ที่ผ่านกระบวนการแยกสิ่งเจือปนด้วยหอกลั่นพิเศษ 7 หอกลั่น จึงมีความบริสุทธิ์สูง ปัจจุบันยังมีการผลิตและจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่าย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ktisgroup.com

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

โรงงานน้ำตาลเปิดหีบ 57 วันอ้อยได้แค่ 43.86 ล้านตัน แต่อ้อยสดพุ่ง 75.46%

โรงงานน้ำตาลเร่งรณรงค์และร่วมมือกับชาวไร่ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ และตัดอ้อยสด พบเปิดหีบ 57 วันหรือครึ่งทางมีอ้อยเข้าหีบรวมแล้ว 43.86 ล้านตันซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่อ้อยสดเพิ่มขึ้นโดยคิดเป็น 75.46% ส่งผลให้ค่าความหวานและยิลด์อยู่ในเกณฑ์

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC)

เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานทั้ง 57 โรง หลังเปิดรับผลิตมาแล้ว 57 วันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 43.86 ล้านตันอ้อยซึ่งต่ำกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 49.99 ล้านตัน โดยอ้อยเข้าหีบดังกล่าวเป็นอ้อยสดเข้าหีบ 33.10 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 75.46% และสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 24.54% คิดเป็น 10.76 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันของปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยสดเพียง 50.47% และอ้อยไฟไหม้ 49.53% “แม้ว่าผลผลิตอ้อยจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่ชาวไร่และโรงงามต่างพยายามที่จะลดอ้อยไฟไหม้ให้ได้ตามนโยบายภาครัฐ ทำให้การหีบอ้อยหลังผ่านมาครึ่งทางสามารถทำผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.78 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 104.22 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานของอ้อย (ซีซีเอส) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ 12.58 ซีซีเอส จากปีก่อนที่มีค่าความหวาน 12.33 ซีซีเอส เป็นผลให้ผลผลิตน้ำตาลได้ 47.27 ล้านกระสอบ” นายสิริวุทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้หารือในเบื้องต้นกับผู้ประกอบการโรงน้ำตาลเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจในโครงการ (เอ็มโอยู) การใช้ประโยชน์ใบอ้อยและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบเอ็มโอยูโครงการความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการนำใบอ้อยที่เป็นเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ โดยคาดว่าจะมีการรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ได้ประมาณปีละกว่า 1 ล้านตันเพื่อนำไปใช้แปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อปีตลอดระยะเวลาโครงการระหว่างปี 2564-2566 ขณะที่ชาวไร่จะได้รับรายได้จากการขายใบอ้อยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากรายได้ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาอยู่ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ จึงเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดส่งเข้าหีบเพิ่มขึ้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“กรมชลฯ” คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำใกล้ชิด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,635 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 19,705 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,544 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,806 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,110 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% ของแผนฯ ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับ สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น นั้น ปัจจุบัน เมื่อเวลา 07.00 น. ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแลของการประปานครหลวง (กปน.) จ.ปทุมธานี วัดค่าความเค็มได้ 0.33 กรัม/ลิตร จากเกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร ส่วนแม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา วัดค่าความเค็มได้ 4.01 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำปากคลองจินดา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้าไปในคลอง และเมื่อค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีนลดลง จะสูบน้ำเข้าคลองให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ต่อไป

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา นั้น ได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาความเค็ม ด้วยการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน ขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้างดสูบน้ำเข้าพื้นที่ในระหว่างการลำเลียงน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่าง ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ ในช่วงวันที่ 11-14กุมภาพันธ์ 2564 นี้ จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทาน ประตูระบายน้ำ รวมถึงอาคารชลประทาน ที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยางดรับน้ำเข้าพื้นที่เพื่อเป็นการป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่พื้นที่การเกษตร

นอกจากนี้ กรมชลฯ ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด สำรวจความต้องการใช้น้ำ รวมทั้งความสมดุลของแหล่งน้ำในแต่ละพื้นที่ ตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำมาวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่ และการกำหนดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ด้วยการสำรวจพื้นที่เก็บกักน้ำตามธรรมชาติ อาทิ แก้มลิง หรือ บ่อยืม โดยทำการปรับปรุง ขุดลอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปริมาณน้ำในฤดูน้ำหลากต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

โรงงานน้ำตาล เร่งร่วมมือแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ เน้นรับอ้อยสด สะอาดเข้าหีบ – ให้ชาวไร่ขายใบอ้อย

โรงงานน้ำตาลแก้เผาอ้อย – นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานทั้ง 57 โรง หลังเปิดรับผลิตมาแล้ว 57 วัน ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่สามารถทำผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 107.78 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 104.22 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เนื่องจากชาวไร่และโรงงานต่างพยายามที่จะลดอ้อยไฟไหม้ให้ได้ตามนโยบายภาครัฐ

โดยจากปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 43.86 ล้านตันอ้อย พบว่ามีอ้อยสดเข้าหีบรวม 33.10 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 75.46% และสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 24.54% คิดเป็น 10.76 ล้านตันอ้อย จากการหีบอ้อยในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณอ้อยสดเพียง 50.47% และอ้อยไฟไหม้ 49.53% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 49.99 ล้านตันอ้อย

ขณะที่ค่าความหวานของอ้อย (ซี.ซี.เอส.) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ 12.58 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มีค่าความหวาน 12.33 ซี.ซี.เอส. เป็นผลให้ผลผลิตน้ำตาลได้ 47.27 ล้านกระสอบ

“โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์และสนับสนุนให้ชาวไร่จัดเก็บผลผลิตอ้อยสด สะอาด และไม่มีสิ่งปนเปื้อน ส่งเข้าหีบ โดยเข้าไปให้องค์ความรู้และเทคนิคการจัดเก็บ ตลอดจนจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ชาวไร่ที่มีรายได้จากการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ล่าสุด สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้หารือในเบื้องต้นกับผู้ประกอบการโรงน้ำตาล เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจในโครงการ (เอ็มโอยู) การใช้ประโยชน์ใบอ้อยและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พี2.5)

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบเอ็มโอยูโครงการความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการนำใบอ้อยที่เป็นเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ โดยคาดว่าจะมีการรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ได้ประมาณปีละกว่า 1 ล้านตัน เพื่อนำไปใช้แปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการระหว่างปี 2564-2566 ขณะที่ชาวไร่จะได้รับรายได้จากการขายใบอ้อยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากรายได้ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาอยู่ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ จึงเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดส่งเข้าหีบเพิ่มขึ้น

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พาณิชย์หวังการค้าโลกดีขึ้น หลังสหรัฐเข้าร่วมวงเจรจาWTO

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ (Informal WTO Ministerial Gathering : IMG) ผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมรัฐมนตรีการค้า 29 ประเทศ เช่น ไทย สหภาพยุโรป จีน รัสเซีย อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ได้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกัน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติโควิด-19 โดยเรียกร้องให้สมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เร่งลดอุปสรรคทางการค้าและสร้างความโปร่งใสในการออกกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการรับมือโควิด-19 ตลอดจนอำนวยความสะดวกทางการค้าให้สมาชิกสามารถเข้าถึงวัคซีน เวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ยังเห็นพ้องร่วมกันที่จะเร่งผลักดันให้สมาชิก 164 ประเทศ มีฉันทามติในการแต่งตั้งผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนใหม่โดยเร็วที่สุด แทนนายโรแบร์โต อาเซเวโด จากบราซิล ที่ลาออกตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาก่อนครบวาระ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของ WTO และให้เร่งผลักดันประเด็นสำคัญอื่นๆ ให้มีความคืบหน้า เช่น การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทน 7 ตำแหน่งที่ว่างลงมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทที่หยุดชะงักมานานเดินหน้าต่อไปได้

ขณะเดียวกัน ได้หารือขับเคลื่อนประเด็นการเจรจาคงค้างใน WTO ให้มีความคืบหน้า และหาข้อสรุปให้ได้ทันการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นประมาณเดือนกันยายน 2564 เช่น การลด เลิกการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร การจัดทำกฎระเบียบเรื่องการอุดหนุนประมง และการจัดทำกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยท่าทีของไทยใน WTO สอดคล้องกับทุกประเด็นที่ได้หารือกันในที่ประชุมครั้งนี้

นายสรรเสริญกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนของสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก ภายหลังจากรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ามาบริหารประเทศ พบว่า ท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อ WTOเปลี่ยนไปมาก โดยตัวแทนของสหรัฐฯย้ำว่า จะหันกลับเข้าสู่การเจรจาแบบพหุภาคีภายใต้ WTO มากขึ้น จากในยุคของนายโดนัลด์ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แทบไม่ให้ความสำคัญกับ WTO ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการค้าโลกมากขึ้น

“การที่สหรัฐฯ กลับเข้าสู่การเจรจาแบบพหุภาคีมากขึ้น น่าจะทำให้การใช้มาตรการกีดกันทางการค้า หรือใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ กับประเทศคู่ค้าลดลง หรือใช้มาตรการสอดคล้องกับกฎกติกาของ WTO มากขึ้นซึ่งจะทำให้บรรยากาศการค้าโลกผ่อนคลายมากขึ้น การค้าขายคล่องตัวมากขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัวได้มากขึ้น ซึ่งไทยจะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย จากที่ผ่านมาสหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีน ก็จะใช้มาตรการต่างๆ กับจีน หรือกับคู่ค้าอื่นๆที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ จนเกิดผลกระทบต่อการค้าโลก”นายสรรเสริญกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ทส.ดันโครงการแหล่งน้ำบาดาลเทคโนโลยีขั้นสูง 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ให้กับเกษตรกรที่บ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

โดยเป็น 1 ใน 30 พื้นที่โครงการทั่วประเทศ ที่มีระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ดึงน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ในช่วงหน้าแล้ง และแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ โดยมีนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และหน่วยง่านที่เกี่ยวข้องต้อนรับ

นายวราวุธกล่าวว่า สำหรับโครงการน้ำบาดาลแห่งนี้ เป็นโครงการที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจาก 30 แห่ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นถึงความสำคัญ และได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำกินน้ำใช้ หรือน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน เบื้องต้นกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลระบบให้ก่อนที่จะส่งมอบให้ท้องถิ่นดูแลต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ลอบเผาหรือตั้งใจ!? ไฟไหม้ไร่อ้อย หิมะดำเต็มบ้าน ไม่สนคำสั่งห้าม!

7 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากมากลุ่มคนไม่ทราบจำนวน ซุ่มอยู่แถวไร่อ้อย และจุดเผาไร่อ้อยจนเปลวไฟเริ่มลุกไหม้ นับร้อยไร่ในพื้นที่บ้านห้วยโจด ต.หนองหิน อ.หนองหิน จ.เลย ซึ่งจะมีการลอบเผาในช่วงกลางคืน เวลาประมาณ 19.00-02.00 เป็นต้นไป (ทุกวัน)

จากการสอบถามไปยัง นายอภินันต์ สุวรรณโค นายอำเภอหนองหิน ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า ในช่วงเวลาค่ำจนถึงดึกๆ จะมีคนกลุ่มนี้มาเผาไร่อ้อย จุดธูปและไม้ขีดไฟทิ้งไว้ จากนั้นจะหนีไป ไม่นานก็จะมีไฟไหม้ไร้อ้อยเป็นกลุ่มๆ ซึ่งหาตัวยากมาก แต่พยายามหาตัวอยู่ จากนั้นอีกไม่กี่วัน ก็จะมีกลุ่มคนเข้าไปตัดอ้อย ซึ่งยังไม่สามารถจับตัวใครได้ ชาวบ้านเดือดร้อนมาก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

รื้อ‘ส่งออก’ใหม่ ลดพึ่งบริษัทข้ามชาติ

เปิดความจริงส่งออกไทย 40 ปี ยืมมือต่างชาติปั้นตัวเลข ปี 63 ล่าสุดกลุ่มส่งออก 100 อันดับแรกกุมชะตาประเทศ ชี้ 3 บริษัทค้าทองไทยติดโผ 10 อันดับแรก ไม่น่าดีใจ จากไม่ได้ช่วยเพิ่มจ้างงาน บิ๊กสภาอุต-สภาหอฯ จี้เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ลดพึ่งบริษัทข้ามชาติ

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรปี 2563 ไทยส่งออกรูปเงินบาท มูลค่ากว่า 7.17 ล้านบาท มีผู้ส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ส่งออกระดับแสนล้านเพียง 5 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 6.3 แสนล้านบาท ระดับหมื่นล้านบาทมี 108 ราย มูลค่าการส่งออกรวม 2.83 ล้านล้านบาท ขณะผู้ส่งออกที่มีจำนวนมากที่สุดมีมูลค่าการส่งออกระดับน้อยกว่าร้อยล้านบาท มีจำนวน 31,671 ราย มูลค่าการส่งออกรวมเพียง 2.96 แสนล้านบาทจะเห็นได้ว่าต่างกันลิบลับ

ค้าทองติดโผ 3 บริษัทหากเจาะลึกลงไปอีกในกลุ่มผู้ส่งออก 100 อันดับแรก มีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นผลิตส่งออกอยู่ถึง 72 บริษัท มีบริษัทไทย 28 บริษัท แสดงให้เห็นถึงปัจจุบันตัวเลขการส่งออกของไทยในแต่ละปี มีบริษัทข้ามชาติเป็นหัวเรือสำคัญ โดยบริษัทข้ามชาติที่อยู่ใน 10 อันดับแรกได้แก่ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด(บจก.), บจก.เอชจีเอสที(ประเทศไทย), บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, บจก.โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง, บจก.ซิเลซติกา (ประเทศไทย), บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) และบจก.เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย)ขณะที่มี 3 บริษัทไทยติดอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มผู้ค้าทองคำได้แก่ บจก.วายแอลจี บลูเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล(อันดับ 2) บจก.เอ็มทีเอสโกลด์(หรือแม่ทองสุก) (อันดับ 5) และบจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช ที่ได้รับอานิสงส์จากราคาทองคำในตลาดโลกและในประเทศพุ่งสูงในปีที่ผ่านมา

ส่งออกทองพุ่งนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2563 ไทยส่งออกทองคำแท่งได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ปริมาณ 2.43 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% มูลค่า 4.16 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 77%) ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีจากผลกระทบโควิด และผลจากสหรัฐฯ และหลายประเทศอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า คนหันมาถือครองทองคำเป็นสินทรัพย์เพื่อความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ทำให้รอบปีที่ผ่านมาราคาทองยืนในระดับสูง ขณะที่มีเหตุการณ์คลังเก็บเคมีที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอนระเบิดส่งผลให้ราคาทองคำโลกยืนเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ และ ส่งผลราคาทองในประเทศไทยขยับสูงสุดที่บาทละ 30,400 บาท (7 ส.ค.63) ทำให้คนแห่มาขายทอง ผู้ค้าต้องระบายสต๊อกออกไปต่างประเทศ“ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศจะอัดฉีดเม็ดเงินอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า คาดปีนี้ราคาทองมีโอกาสขยับขึ้นอีก (จากปัจจุบันอยูที่บาทละ 2.5-2.6 หมื่นบาท) ทำให้โอกาสส่งออกทองปีนี้ก็จะยังขยายตัวได้อีก”รถลุ้นคืนฟอร์มสวนทางกับอุตสาหกรรมรถยนต์ปีที่ผ่านมาค่ายโตโยต้า(ผู้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยในปี 2562 ได้หล่นไปอยู่อันดับ 4) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจ กำลังซื้อทั่วโลกลดลงส่งผลปีที่ผ่านมาไทยส่งออกรถยนต์ได้ 735,842 คัน ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.05 ล้านคัน หรือหายไป 318,261 คัน หรือลดลง 30% มูลค่าส่งออก 6.80 แสนล้านบาท ลดลงถึง 21% จากปี 2562 มีมูลค่าส่งออก 8.59 แสนล้านบาท ในปี 2564 ตั้งเป้าส่งออกไว้ที่ 7.5 แสนคัน ซึ่งยังต้องลุ้น

จี้ปรับโครงสร้างใหม่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่มีบริษัทค้าทอง 3 บริษัทของไทยติด 10 อันดับแรกของบริษัทส่งออก โดนที่ซื้อหรือนำเข้าทองคำเข้ามา และส่งออกไปโดยอาศัยส่วนต่างราคาในการสร้างผลกำไร ไม่ได้เกิดการจ้างงาน และไม่ได้เกิดภาคการผลิตที่แท้จริง ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทย ณ ปัจจุบันประเมินว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ผลที่ตกกับประเทศส่วนใหญ่เป็นเรื่องการค่าแรงและการจ้างงานที่ถือว่าไม่มาก เพราะรายได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ“ผ่านมา 40 ปีไทยยังพึ่งพาภาคการส่งออกสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพี ถือมีความเสี่ยงส่งออกไทยอาจลดลงหากบริษัทต่างชาติลดการลงทุนหรือย้ายฐานไปประเทศอื่น ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยต้องหันพึ่งพาตัวเองจากตลาดหรือการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ต้องตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปีข้างหน้าจะลดการพึ่งพาการส่งออกลงเหลือเท่าไหร่ ซึ่งสัดส่วนที่ดีที่สุดคือการพึ่งพาการส่งออกกับการบริโภคภายใน 50:50 จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงแข็งแรง และจะสามารถลดแรงเสียดทานปัญหาการค้าระหว่างประเทศได้ ทั้งเรื่องการกีดกันการค้า ถูกตัดจีเอสพี เรื่องค่าเงินบาท”หอการค้าฯชี้ทางออกด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่มูลค่าการส่งออกส่วนใหญ่ของไทยมาจากบริษัทข้ามชาติ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลโปรโมตให้ต่างชาติมาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก ซึ่งนอกจากไทยได้เรื่องการจ้างงานแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการต้นทุน เรื่องการตลาด การออกแบบดีไซน์ การได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก แต่ที่ผ่านมาไทยยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทที่มาลงทุนน้อย จากนี้เงื่อนไขลงทุนอาจต้องบังคับให้เขาถ่านทอดเทคโนโลยีด้วย“เวลานี้ก็มีบริษัทไทยเก่งๆ เช่น ซีพี ไทยยูเนี่ยน เบทาโกร เอสซีจี ปตท.ต่างก็เป็นบริษัทระดับโลก แต่สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างแบรนด์ให้กับสินค้า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ราคาพืชพลังงานผันผวน เพิ่มภาระอุดหนุน ส่อเลิกขาย B20-เลื่อนดัน E20 น้ำมันพื้นฐาน

แผนส่งเสริมให้แก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของกระทรวงพลังงาน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนตั้งแต่ปลายปี2563 และล่าสุด จะเลื่อนออกไปเป็นปี 2565 ขณะที่ ดีเซล บี20 กำลังจะถูกพิจารณายกเลิกจำหน่าย หลังคนสนใจใช้น้อยลง

แผนส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี20 สำหรับกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถกระบะ ของกระทรวงพลังงาน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันล้นตลาดนั้น ปัจจุบัน ยอดการใช้ดีเซล บี20 ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังแบกรับภาระการชดเชยราคาดีเซล บี20 อยู่ที่ 4.16 บาทต่อลิตร

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า เบื้องต้นได้รับการรายงานข้อมูลจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ว่า ยอดจำหน่ายดีเซล ล่าสุดในช่วงเดือนม.ค. 2564 รวมเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ล้านลิตรต่อวัน แบ่ง เป็น ดีเซล(บี20) อยู่ที่ 1.08 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น ดีเซล(บี10)อยู่ที่ 20 ล้านลิตรต่อวัน และดีเซล(บี7) อยู่ที่ 43 ล้านลิตรต่อวัน

ขณะที่ กองทุนน้ำมันฯ ยังชดเชยดีเซล(บี20) อยู่ที่ประมาณ 4.16 บาทต่อลิตร ซึ่งหากไม่ชดเชยเลยราคาจำหน่ายอาจขยับขึ้นถึง 26 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซล (บี10) ชดเชยอยู่ 2.50 บาทต่อลิตร และดีเซล (บี7) เป็นการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่า ดีเซล (บี7) เป็นน้ำมันหลักที่ทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนฯ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ บี 100 ยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุด ข้อมูลอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ณ วันที่ 4 ก.พ.2564 อยู่ที่ 41.62 บาทต่อลิตร จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 30 บาทต่อลิตร ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาน้ำมันกลุ่มดีเซล ที่ต้องต้องนำเงินจากกองทุนฯไปชดเชยราคามากขึ้น เพื่อรักษาส่วนต่างระหว่างดีเซล(บี 20) ให้ถูกกว่าดีเซล(บี7) อยู่ที่ประมาณ 3.25 บาทต่อลิตร และดีเซล(บี10) ยังถูกกว่า ดีเซล(บี7) อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร ทำให้กองทุนฯ ยังเกิดปัญหาเงินไหลออก

ขณะเดียวกันส่วนต่างราคาระหว่างดีเซล(บี20) กับดีเซล(บี10) ที่แคบลง หรือ ถูกกว่าแค่ 0.25 บาทต่อลิตร ไม่จูงใจให้เกิดการใช้ดีเซล (บี20) ขณะราคาน้ำมันในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่แพงนัก ทำให้ผู้ใช้น้ำมันส่วนใหญ่ยังเลือกเติมดีเซล (บี7) ในปริมาณที่สูงอยู่

ดังนั้น สกนช. จึงเตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือนก.พ. นี้ พิจารณาแผนปรับลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้ดำเนินการยกเลิกชดเชยภายในปี 2565 ซึ่ง สกนช.จะเสนอให้ทยอยยกเลิกการชดเชยน้ำมันแต่ละชนิดลง โดยในส่วนของดีเซล จะเสนอให้ยกเลิกจำหน่ายดีเซล(บี20) เป็นอันดับแรก เพราะปัจจุบันยอดจำหน่ายน้อยที่สุด และยังช่วยลดภาระการนำเงินกองทุนฯเข้าไปอุดหนุนราคาด้วย อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อผู้ค้าน้ำมันที่จะช่วยลดต้นทุนหัวจ่ายน้ำมันในสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน ที่มีจำนวนหัวจ่ายมากเกินไป

เมื่อเร็วๆนี้นายสุพัฒนพงษ์ ได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมทบทวนแนวทางการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ ให้มีความเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดรับกับสถานการณ์การผลิต และความต้องการใช้เอทานอลในตลาดให้มีความสมดุล ป้องกันปัญหาความไม่สมดุลของ Demand และ Supply ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาเอทานอลในอนาคต ก่อนที่จะประกาศให้มีการยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และผลักดันน้ำมันแก๊สโซซอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดชนิดของน้ำมันในตลาดให้มีความเหมาะสม

แหล่งข่าว กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องมีการทบทวนโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ เนื่องจากขณะที่ราคาน้ำมันดิบ อยู่ที่ระดับประมาณ 54-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนเป็นต้นทุนเนื้อน้ำมันในประเทศ อยู่ที่ประมาณ 12-13 บาทต่อลิตร(ยังไม่รวมภาษีและกองทุนต่างๆ) ขณะที่ราคาเอทานอล ข้อมูลของ สนพ. ณ วันที่ 4 ก.พ.2564 อยู่ที่ประมาณ 24.83 บาทต่อลิตร เมื่อนำมาผสมในแก๊สโซฮอล์ อี20 ก็จะทำให้ราคาต้นทุนที่แท้จริงเกือบทะลุ 40 บาทต่อลิตร แต่การจะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ก็จะต้องทำให้ราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ดังนั้น จะเป็นภาระต่อการนำเข้าจากกองทุนฯไปอุดหนุนจำนวนมาก

ฉะนั้น มีแนวโน้มสูงที่กระทรวงพลังงาน จะต้องเลื่อนแผนการประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศออกไปก่อน จากเดิมจะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ค.2564 ไปเป็นช่วงปี 2565 แทน เพราะหากดูจากไทม์ไลน์การทำงานของกรมธุรกิจพลังงานแล้ว การจะให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศจะเริ่มจากประกาศหลักเกณฑ์กำหนดลักษณะคุณภาพนํ้ามันเบนซินพื้นฐาน (Gasoline BaseหรือG-Base) ซึ่งจะเป็นการกำหนดสเปก G-Baseใหม่ เบื้องต้นทางกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้ง 6 แห่ง ให้การยอมรับแล้ว แต่ยังต้องเสนอกระทรวงพลังงานอนุมัติ

จากนั้นกรมฯ ต้องใช้เวล่เตรียมการประมาณ 3 เดือน เพื่อออกประกาศร่างกำหนดลักษณะคุณภาพน้ำมันG-Baseใหม่ ให้โรงกลั่นเตรียมพร้อมปรับG-Baseภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนประกาศส่งเสริมให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ ทางกรมธุริกจฯ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะจะต้องรอให้ทาง สนพ.ศึกษาโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อน คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้น กระบวนการผลักดันสู่การส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี20 ตามไทม์ไลน์ของกรมธุรกิจฯ ที่ต้องดำเนินการภายใน 3-9 เดือนนั้น ก็น่าจะทำให้การประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ จะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2565 แทน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาราคาเอทานอลปรับสูงขึ้นมาก โดยราคาอ้างอิงในเดือน ม.ค.2564 ปรับสูงทะลุระดับ 26 บาทต่อลิตร จากปี 2563 ราคาเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 21-23 บาทต่อลิตร และมีช่วงเวลาสั้นๆที่ราคาขยับไปแตะ 29 บาทต่อลิตร แต่ทางผู้ผลิตเอทานอลยืนยันว่าระดับราคาดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุดิบหลักในการผลิตทั้งมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล(โมลาส)ปีนี้มีราคาสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ กำลังการผลิตเอทานอล ปัจจุบันอยู่ที่ 6 ล้านลิตรต่อวัน แต่ผลิตตามความต้องการใช้จริง อยู่ที่กว่า 4 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งผู้ผลิตเอทานอล ยืนยันว่า ปริมาณเอทานอลมีเพียงพอสำหรับส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานตามนโยบายรัฐ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

‘พาณิชย์’ ร่วมถกรัฐมนตรีการค้า WTO   เร่งรัดแต่งตั้งผู้อำนวยการใหญ่

รัฐมนตรีพาณิชย์และผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก 29 ประเทศ ร่วมประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ (IMG) ผ่านระบบประชุมทางไกล หารือแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 อำนวยความสะดวกทางการค้าให้สมาชิกเข้าถึงวัคซีน-เวชภัณฑ์-อุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมเร่งรัดแต่งตั้งผู้อำนวยการใหญ่ และฟื้นบทบาท WTO ในเวทีการค้าโลก

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ (Informal WTO Ministerial Gathering : IMG) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 โดยที่ประชุมรัฐมนตรีการค้า 29 ประเทศ เช่น ไทย สหภาพยุโรป จีน รัสเซีย อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น เห็นพ้องเร่งรัดผลักดันให้สมาชิก WTO ทั้ง 164 ประเทศ มีมติในการแต่งตั้งผู้อำนวยการใหญ่ WTO แทนนายโรแบร์โต อาเซเวโด จากบราซิล ที่ลาออกก่อนครบวาระ โดยเร็ว เพื่อฟื้นบทบาท WTO และสร้างความเชื่อมั่นขององค์กรกลับคืนมา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า WTO ควรเร่งผลักดันประเด็นสำคัญให้มีความคืบหน้า เช่น การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทนตำแหน่งที่ว่างลงทั้ง 7 ตำแหน่ง เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ที่หยุดชะงักมานาน เดินหน้าต่อไปได้ การขับเคลื่อนประเด็นการเจรจาใน WTO ให้คืบหน้า สามารถหาข้อสรุปได้ทันการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ที่กำหนดจัดขึ้นในปีนี้ เช่น การลดเลิกการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร การจัดทำกฎระเบียบเรื่องการอุดหนุนประมง และการจัดทำกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นความสำคัญของความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตโควิดโดยเรียกร้องให้สมาชิก WTO เร่งลดอุปสรรคทางการค้า และสร้างความโปร่งใสในการออกกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการรับมือโควิด-19 รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ประเทศสมาชิก WTO สามารถเข้าถึงวัคซีน เวชภัณฑ์ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง “ไทยได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวสนับสนุนการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคี และการปรับปรุงกลไกการทำงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนให้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ของ WTO โดยเร็ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อเร่งเตรียมการสำหรับการประชุม MC12 ที่จะจัดขึ้นต่อไป”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ขอเวลา3เดือนไทย เข้า-ไม่เข้า CPTPP

กนศ.ขอเวลา3เดือน สรุปไทย เข้า-ไม่เข้าร่วมCPTPP คาดได้ข้อสรุปก่อนสิงหาคมนี้ ต้องพิจารณาอย่างละเอียด

หลังจากที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ นั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่5กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้นหผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.) ที่พิจารณาผลการศึกษษในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร มาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ภายหลังใช้เวลาศึกษาประมาณ 5 เดือน ซึ่งหลังจากนี้ทุกหน่วยงานจะช่วยกันพิจารณา ตามกรอบเวลา 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม CPTPP รอบแรกที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือน ส.ค.2564  เพื่อความรอบบคอบ และคิดถึงผลประโยชน์ของไทยในหลายๆด้าน และต้องใช้เวลาในการพิจารณาในรายละเอียด

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนไม่ใช่รีบร้อนกระโดดเข้าร่วม เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าใจผิดกับเรื่องดังกล่าว  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ได้ทำการศึกษาและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย เพื่อเตรียมความพร้อม

ทั้งนี้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าที่ผ่านมามีหลายประเทศที่เตรียมเข้าCPTPP ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐฯ อังกฤษ เกาหลีใต้  และถึงแม้ว่าไทยจะยังช้ากว่าสหราชอาณาจักรหลายช่วงตัว เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ต้องดูว่าจะไปหารือเมื่อไร โดยเอาข้อมูลผลการศึกษาของ กมธ.มาพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น ส่วน เรื่องที่เราค้างคากันอยู่ โดยเฉพาะสิ่งที่ กมธ. ได้ทำการบ้านมา ก็จะเอามาดูในกรอบของ กนศ. ดูในเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งหมด จะเห็นได้ว่า มีหลายเรื่องที่สามารถจะดูให้กระชับขึ้น และให้เห็นมุมต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะนำไปเติมเต็มให้เกิดความสมบูรณ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อรัฐบาลจะได้นำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา 

ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะทบทวนนโยบายการค้าแบบพหุภาคีอีกครั้งและสนใจที่จะกลับมาเข้าร่วม CPTPP  ดังนั้นความกังวลในเรื่องสิทธิบัตรยาจะกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องเก่า หลายปีที่ผ่านมามีพัฒนาการมากมาย เพราะฉะนั้นเรื่องของการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing) ไม่เป็นปัญหาใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขมองไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

โรงงานแห่ซื้อ “ไฟเบอร์อ้อย” ให้ราคาตันละ 1,000 บ. ต่อยอดนวัตกรรม

ไฟเบอร์อ้อยบูม “โรงงานสิ่งทอ กระดาษ พลังงานทดแทน” แห่ซื้อทั้งชานอ้อย แกลบ กาบใบ ดันราคาแตะตันละ 1,000 บาท หวังวิจัยต่อยอดเป็นเส้นใยผลิตเสื้อผ้า กระดาษ และเชื้อเพลิง พร้อมผลักดันขายเชิงพาณิชย์ ด้านสำนักงานอ้อยฯชี้ไฟเบอร์ยังไม่ใช่ผลพลอยได้อ้อยตามกฎหมาย ลุ้นกรรมาธิการแก้ พ.ร.บ.อ้อยฯ จะตีความให้ได้หรือไม่ แต่พร้อมหนุนในแผน BCG ขณะที่บีโอไอเพิ่มประเภทกิจการและยกเว้นภาษีให้ 5 ปี

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พบมีหลายโรงงานและในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน มีการไล่ซื้อชานอ้อย แกลบ ใบแห้ง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เส้นใยอ้อยไปทำเสื้อผ้า เยื่อกระดาษ และใช้เป็นวัสดุทดแทนพลาสติก

รวมถึงพลังงานเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความต้องการที่จะสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และต้องการนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติกลับมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดเพื่อการแข่งขัน และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค

สอดคล้องกับในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ของปริมาณอ้อยที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่โรงงานน้ำตาลทรายยังคงมีกำลังการผลิตเท่าเดิม โดยเฉพาะฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบไม่เกิน 70 ล้านตันเท่านั้น หลายโรงงานไม่เพียงจะนำชานอ้อย หรือไฟเบอร์เหล่านี้ให้เป็นพลังงาน แต่ยังมีการขายไฟเบอร์เหล่านี้ให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยเช่นกันเพื่อเพิ่มรายได้

“โดยหลักแล้วอ้อยจะมีส่วนที่เป็นไฟเบอร์เหลือจากโรงงานน้ำตาล ตอนนี้ก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมอื่นเข้ามาไล่ซื้อเพราะเขาจะเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างเยื่อกระดาษมีการศึกษาวิจัยมานาน เดิมก็ใช้ต้นยูคาลิปตัส ตอนนี้ไฟเบอร์จากอ้อยต่าง ๆ ก็มาเป็นทางเลือกพวกกลุ่มอุตสาหกรรมซื้อจากโรงงานน้ำตาลก็ได้ ซื้อจากชาวไร่อ้อยก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อไฟเบอร์คือสิ่งที่มีมูลค่าต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก รัฐควรที่จะเข้ามาสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟเบอร์จริงจัง เพื่อที่ผู้ปลูกอ้อยจะได้มีรายได้ไม่เพียงจากการส่งอ้อยเข้าหีบ แต่จะยังมีรายได้จากการขายใบอ้อย ส่วนที่เหลืออื่น ๆ ให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้ใช้ประโยชน์ พัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มได้อีก

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ไฟเบอร์จากอ้อยก็คือ ยอด กาบ ใบ และชานอ้อย ปัจจุบันมีการรับซื้อหน้าโรงงาน 800-1,000 บาท/ตัน ซึ่งในบางครั้งก็จะมีโรงงานหรือคนไปรับซื้อที่ไร่ ราคาประมาณ 300-500 บาท/ตัน และขณะนี้มีหลายหน่วยงานได้เริ่มทำการวิจัยใยจากชานอ้อยเอาไปทำเส้นใยเพื่อไปทอผ้า ซึ่งเบื้องต้นนั้นลักษณะเส้นใยของชานอ้อยจะมีลักษณะที่สั้นเกินไป ปัจจุบันจึงยังไม่เห็นการผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาในเชิงอุตสาหกรรม

สำหรับมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐนั้น อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายจะเข้ากับนโยบายเศรษฐกิจ BCG อย่างมาก ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) การนำผลผลิตทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การเปลี่ยนของเสียจากการผลิตกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เศรษฐกิจสีเขียว (green economy)

การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อการฟอกกระดาษ โดยขณะนี้มีหลายมาตรการจะเริ่มทยอยออกมา เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เพิ่มประเภทกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้ หรือเศษวัสดุทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มาจากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุหรือของเสียจากการเกษตร ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งก็ถือว่ารัฐเริ่มมีการสนับสนุนในทิศทางเดียวกับที่อุตสาหกรรมและชาวไร่ต้องการ

“ปกติชานอ้อยจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทำไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต และที่เหลือก็จะไปทำไฟฟ้าชีวมวล ในระบบจะไม่มีเหลือทิ้ง จึงเป็นที่มาว่าชาวไร่อยากจะเอากากอ้อยนี้คิดเป็นผลพลอยได้ของระบบ จะได้เงินค่าอ้อยเพิ่ม”

“ซึ่งประเด็นนี้ก็กำลังอยู่ในการหารือกันในกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายในสภาขณะนี้ ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์ ชานอ้อย กากอ้อย ยังไม่นับเป็นผลพลอยได้ในระบบอ้อยน้ำตาล จนกว่า พ.ร.บ.อ้อยฯจะแล้วเสร็จ และออกมาเป็นอย่างไร ตอนนี้ผลพลอยได้ในระบบจะมีตัวเดียวคือ กากน้ำตาลเท่านั้น”

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มมีการรับซื้อเยื่ออ้อย เพื่อมาวิจัยสำหรับใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้ามานานแล้ว แต่ด้วยต้นทุนวัตถุดิบจากเยื่ออ้อยยังมีต้นทุนสูงยังไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนในเชิงพาณิชย์

ประกอบกับในส่วนของใยที่จะสามารถดึงมาใช้ในการผลิตได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับฝ้ายที่เส้นใยสามารถใช้ถึง 100% ทำให้การผลิตใยจากเยื่ออ้อย จึงยังคงเป็นเพียงการรับซื้อเพื่อวิจัยในการผลิตเท่านั้น และไม่เพียงแค่เยื่ออ้อยที่นำมาทดลองผลิตเสื้อผ้า นอกจากเยื่อจากอ้อยแล้วยังมีการศึกษาวิจัยการผลิตเส้นใยจากพืชชนิดอื่นด้วย เช่น เยื่อจากกล้วย ไผ่ หมาก ใบกัญชง สับปะรด เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : ผลงานแก้ปัญหาน้ำEEC

ในฤดูแล้งปีที่แล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในขณะนั้นมีไม่เพียงพอกับความต้องการ

แต่ก็สามารถบริหารจัดการน้ำผ่านพ้นวิกฤติขาดน้ำมาได้วิกฤติภัยแล้งที่รุนแรงทำให้รัฐบาลจัดตั้ง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ขึ้นมาโดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมวิกฤติน้ำที่อยู่ในวงจำกัด รวมทั้งรวบรวม ติดตาม ประเมินสถานการณ์ อำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สร้างการรับรู้ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

พื้นที่ EEC ขณะนั้นเข้าข่ายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ!!

EEC มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 540 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) แต่ปริมาณต้นทุนขณะนี้มีเพียง 390 ล้านลบ.ม.เท่านั้น

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นกอนช.ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันวางแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะการใช้สูบผันน้ำคลองวังโตนด มาเติมอ่างฯประแสร์ และผันน้ำจากจากอ่างฯประแสร์มาช่วยพื้นที่ EEC รวมทั้งการแบ่งปันน้ำจากอ่างฯประแกตการเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินของเอกชน มาเสริมเข้าระบบน้ำการประปาส่วนภูมิภาค และของบริษัท East Water พร้อมทั้งจะดำเนินการขุดลอกคลองหลวง จากท้ายอ่างฯคลองหลวงถึงคลองพานทองเพื่อระบายน้ำมาที่สถานีสูบพานทอง และสูบผันมาเติมในอ่างฯบางพระ นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะทำการสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง มาเติมอ่างฯ บางพระ พร้อมๆ กับทำการรณรงค์ให้ผู้ใช้น้ำ ลดการใช้น้ำ 10% เจรจาให้โรงไฟฟ้าเอกชนหยุดเดินระบบอยู่ในโหมด Stand Bye เพื่อลดการใช้น้ำเพื่อหล่อเย็น เป็นต้น

ในที่สุด EEC ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ก็ผ่านพ้นวิกฤติขาดแคลนน้ำได้

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลยังได้เคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ในพื้นที่ EEC ปี 2563-2580 อีกจำนวน 38โครงการ วงเงิน 52,191 ล้านบาท ได้ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 872 ล้าน ลบ.ม. โดยในจำนวนนี้ สทนช.ได้กำกับขับเคลื่อนโครงการ ไปแล้ว 16 โครงการ จะดำเนินการแล้วเสร็จ ในปี 2565 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 253.60 ล้าน ลบ.ม.

เรื่องดีๆ ผลงานชิ้นโบแดงของ กอนช. อย่างนี้ก็ต้องชมกันบ้างครับ จะได้เป็นกำลังใจในการทำงานและยังสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปต่อยอด ขยายผล แก้ปัญหาน้ำในพื้นที่อื่นๆ ในปีนี้และปีต่อๆไปได้อีกด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ส่งออกขานรับ  ‘ไบเดน’  มั่นใจโตกว่ายุค‘ทรัมป์’

สรท.ชี้นโยบายด้านเศรษฐกิจของไบเดน ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยมากกว่ายุค “ทรัมป์” แนะเอกชนศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน หวั่นถูกกีดกันการค้า

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เอกชนได้ทำการประเมินนโยบายเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ  ในด้านเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อการค้าไทย โดยธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564 จะขยายตัวที่ 3.5%  ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของชาวอเมริกัน รวมถึงเศรษฐกิจโลกและการซื้อสินค้าจากไทยด้วย  เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในโลกและเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปี 2563 ล่าสุด มีมูลค่ารวม 49,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 34,435 ล้านดอลลาร์ นำเข้า 14,853 ล้านดอลลาร์ 

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การขับเคลื่อนของนายโจ ไบเดน ที่สำคัญและมีนัยต่อเศรษฐกิจ และการส่งออกของไทย เช่น การเร่งแก้วิกฤติโควิด-19 ซึ่งสินค้าที่เกี่ยว ข้องกับเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือยาง หน้ากากอนามัย สินค้าที่เกี่ยวกับ work from home และของตกแต่งบ้านของไทยจะได้รับอานิสงส์ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ทางกลับกันสินค้าดังกล่าวสหรัฐฯอาจนำเข้าจากจีนที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหรัฐฯ การค้าไทยขสหรัฐ

การค้าไทยขสหรัฐ

ส่วนนโยบาย Buy American ที่เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้าง สินค้าและบริการภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงเสนอแผนอัดฉีดเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจเป็นโอกาสสินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าที่ส่งเข้าไปประกอบในสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น แต่ข้อเสียคือ สหรัฐฯอาจลดการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากไทยมากขึ้น “นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของไบเดน จะส่งผลดีทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเอเชีย รวมถึงไทยในการเพิ่มโอกาสให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯได้ดีกว่าช่วงอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศที่ทำการค้ากับสหรัฐฯ ดังนั้นเอกชนไทยต้องเร่งศึกษากฎหมายที่สหรัฐฯจะออกมาโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจส่งผลกีดกันการค้า”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ชาวไร่รอลุ้นคลังเร่งเคาะเพิ่มค่าอ้อยหลังก.อุตฯชงของบจ่ายตัดอ้อยสด120บ./ตัน

กระทรวงอุตฯรอหนังสือตอบกลับจากคลังก่อนนำเสนอครม.เพื่ออนุมัติขอวงเงินงบประมาณสนับสนุนการส่งเสริมตัดอ้อยสดลด PM 2.5 โดยยื่นการช่วยเหลือในอัตรา 120 บาทต่อตันคิดที่ปริมาณอ้อย 56 ล้านตันหรือคิดเป็นวงเงิน 6,720 ล้านบาท ขณะที่ชาวไร่อ้อยหวังจะได้ข้อสรุปไม่เกินก.พ.นี้รับเสนอไปให้ช่วยทั้งอ้อยไฟไหม้และอ้อยสดแต่ให้อ้อยสดมากกว่า

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือไปสำนักงานประมาณ กระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาอัตราเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการตัดอ้อยสดตามมาตรการภาครัฐเพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5 ) โดยได้เสนอไว้ที่ตันละ 120 บาทซึ่งประเมินอ้อยเข้าหีบปี 2563/64 ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 70 ล้านตันคิดเป็นอ้อยสด 80% ที่ราว 56 ล้านตันคิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 6,720 ล้านบาท ซึ่งหากคลังทำหนังสือตอบกลับจึงจะรวบรวมความเห็นเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่ออนุมัติวงเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่อไปโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

“ ฤดูหีบที่ผ่านมาเราทำเรื่องเสนอครม.ไปเพื่อช่วยปัจจัยการผลิตโดยเป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาทและช่วยเหลือทุกตันอ้อยแต่เน้นอ้อยสดสูงกว่าซึ่งทางคลังได้ท้วงติงถึงปริมาณอ้อยว่าไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงครั้งนี้เราเลยทำเรื่องให้ทางคลังพิจารณาไปเลยแล้วค่อยนำเสนอครม.เห็นชอบ ดังนั้นจึงต้องรอหนังสือตอบกลับจากคลังเป็นสำคัญว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร”นายเอกภัทรกล่าว

สำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูหีบปี 63/64 เริ่มตั้งแต่15 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไปโดยได้มอบหมายให้ดำเนินการตามมาตรการภาครัฐที่กำหนดให้ส่งเสริมการตัดอ้อยสดให้ได้ 80% ต่อวัน และลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงเหลือ 20% ต่อวันในฤดูหีบปีนี้ ก่อนจะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้ใน 3 ปี หรือให้เหลือ 0-5% ต่อวัน ภายในฤดูหีบ 2564/65

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศยังคงติดตามนโยบายจากภาครัฐในการช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2563/64 เพิ่มเติมจากที่ประกาศไว้ 920 บาทต่อตัน(10ซีซีเอส) โดยเบื้องต้นรับทราบว่าทางสอน.กำลังเร่งดำเนินการอยู่คาดหวังว่าไม่เกินปลายก.พ.ชาวไร่อ้อยน่าจะได้รับข่าวดี

“ ยอมรับว่าชาวไร่อ้อยยังเห็นแย้งกับภาครัฐที่มุ่งเน้นช่วยเฉพาะอ้อยสดเท่านั้น แต่ชาวไร่อ้อยอยากให้ช่วยทุกตันอ้อยแต่อ้อยสดจะได้มากกว่าส่วนจะเท่าใดก็อยู่ที่รัฐเพราะเห็นว่าอ้อยไฟไหม้บางครั้งเกษตรกรก็ไม่ได้เป็นผู้กระทำแต่ทั้งนี้ก็คงจะต้องดูนโยบายรัฐเป็นสำคัญ”นายนราธิปกล่าว

สำหรับปริมาณอ้อยปี63/64 ที่กำลังหีบอยู่คาดว่าจะอยู่ 65-67 ล้านตันเนื่องจากอ้อยบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งต่อเนื่องซึ่งปริมาณอ้อยที่ยังคงลดต่ำทำให้คาดว่าโรงงานจะมีการทยอยปิดหีบกลางเดือนมี.ค.นี้ อย่างไรก็ตามจากผลผลิตอ้อยที่น้อยส่งผลให้โรงงานต่างๆมีการแย่งชิงอ้อยข้ามเขตสูงขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมาโดยเสนอราคาให้ระดับ 1,300-1,400 บาทต่อตันซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประกาศรับซื้อจากหัวหน้าโควต้ารายใหญ่ๆที่ต้องมีทุนเพราะต้องรวมค่าขนส่งที่ไกลขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการซื้อใบอ้อยเพิ่มขึ้นเพราะต้องการนำไปทำเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพราะชานอ้อยลดต่ำลง

จาก  https://mgronline.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ทส.เร่งตรวจสอบโรงงานน้ำตาลพิมาย ชาวบ้านร้องก่อมลพิษทางเสียง-ฝุ่นควันดำ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงกรณีประชาชนร้องเรียนความเดือดร้อนจากกิจการโรงงานน้ำตาล บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ก่อมลพิษเสียงดัง ควันดำ และฝุ่นจากกากอ้อยทั้งกลางวันและกลางคืนว่านายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำชับให้เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) ลงพื้นที่ประสานประชาชนตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นแล้วหารือแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบกับจ.นครราชสีมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา รายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามที่กำหนดในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพิมาย ตรวจคัดกรองสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและประสานรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่มาให้บริการตรวจสุขภาพของประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยง ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัดให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ออกคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงการจัดเก็บและขนส่งกากอ้อย แล้วให้กรมโรงงานตรวจวัดคุณภาพอากาศหลังปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน

สำหรับหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมใกล้ชิด ควบคู่กับดูแนวทางเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มจุดตรวจวัดทั้งอากาศ เสียง และกลิ่นที่ไม่กระทบชุมชน และแนวทางเทกองกากชานอ้อย ให้คำปรึกษาการทำแผน CSR และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อป้องกัน แก้ปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ได้รับผลกระทบ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : ผลงานแก้ปัญหาน้ำEEC

ในฤดูแล้งปีที่แล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในขณะนั้นมีไม่เพียงพอกับความต้องการ

แต่ก็สามารถบริหารจัดการน้ำผ่านพ้นวิกฤติขาดน้ำมาได้วิกฤติภัยแล้งที่รุนแรงทำให้รัฐบาลจัดตั้ง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ขึ้นมาโดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมวิกฤติน้ำที่อยู่ในวงจำกัด รวมทั้งรวบรวม ติดตาม ประเมินสถานการณ์ อำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สร้างการรับรู้ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

พื้นที่ EEC ขณะนั้นเข้าข่ายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำ!!

EEC มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 540 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) แต่ปริมาณต้นทุนขณะนี้มีเพียง 390 ล้านลบ.ม.เท่านั้น

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นกอนช.ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันวางแผนจัดหาน้ำให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะการใช้สูบผันน้ำคลองวังโตนด มาเติมอ่างฯประแสร์ และผันน้ำจากจากอ่างฯประแสร์มาช่วยพื้นที่ EEC รวมทั้งการแบ่งปันน้ำจากอ่างฯประแกตการเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินของเอกชน มาเสริมเข้าระบบน้ำการประปาส่วนภูมิภาค และของบริษัท East Water พร้อมทั้งจะดำเนินการขุดลอกคลองหลวง จากท้ายอ่างฯคลองหลวงถึงคลองพานทองเพื่อระบายน้ำมาที่สถานีสูบพานทอง และสูบผันมาเติมในอ่างฯบางพระ นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะทำการสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง มาเติมอ่างฯ บางพระ พร้อมๆ กับทำการรณรงค์ให้ผู้ใช้น้ำ ลดการใช้น้ำ 10% เจรจาให้โรงไฟฟ้าเอกชนหยุดเดินระบบอยู่ในโหมด Stand Bye เพื่อลดการใช้น้ำเพื่อหล่อเย็น เป็นต้น

ในที่สุด EEC ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ก็ผ่านพ้นวิกฤติขาดแคลนน้ำได้

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลยังได้เคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ในพื้นที่ EEC ปี 2563-2580 อีกจำนวน 38โครงการ วงเงิน 52,191 ล้านบาท ได้ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 872 ล้าน ลบ.ม. โดยในจำนวนนี้ สทนช.ได้กำกับขับเคลื่อนโครงการ ไปแล้ว 16 โครงการ จะดำเนินการแล้วเสร็จ ในปี 2565 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 253.60 ล้าน ลบ.ม.

เรื่องดีๆ ผลงานชิ้นโบแดงของ กอนช. อย่างนี้ก็ต้องชมกันบ้างครับ จะได้เป็นกำลังใจในการทำงานและยังสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปต่อยอด ขยายผล แก้ปัญหาน้ำในพื้นที่อื่นๆ ในปีนี้และปีต่อๆไปได้อีกด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ชาวบ้านผวา!! ท้องฟ้าแดงฉาน วอนรัฐเอาจริงกับพวกลอบเผาอ้อย

กาญจนบุรี - ชาวบ้านผวา!! ท้องฟ้าแดงฉานเหนือไร่อ้อย วอนภาครัฐเอาจริงกับพวกลอบเผาอ้อย ไม่สนร่วมลดปริมาณฝุ่นละอองที่จะเกิดขึ้น

เวลา 20.30 น.วันนี้ (4 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกลุ่มที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ที่ลักลอบเผาไร่อ้อย ทำให้เกิดไฟลุกไหม้อย่างกับทะเลเพลิง ผงสีดำปลิวว่อนเข้าบ้านเรือนประชาชน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก

สำหรับจุดเกิดเหตุไฟไหม้ไร่อ้อย อยู่พื้นที่หมู่ 7 ต.บ้านหนองมะสัง ต.วังไผ่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เป็นจุดเดียวกับที่เจ้าของไร่ตั้งใจเผา เพื่อความสะดวกในการตัดอ้อยส่งเข้าโรงงาน โดยไม่แยแสเสียงของรัฐที่พยายามรณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยลดการเผา เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่จะเกิดขึ้นและวันนี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจังกับผู้กระทำผิดที่เห็นแก่ตัวประเภทนี้อย่างถึงที่สุด

จาก https://mgronline.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ : ปภ.ประสานทุกภาคส่วนบูรณาการแก้ภัยแล้ง ลดผลกระทบภาวะขาดแคลนน้ำช่วยประชาชน

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งผ่านกลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์เชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งวางระบบบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ และวางแผนจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน พร้อมดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า แม้ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ แต่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำสายหลักมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากในช่วงปีพ.ศ. 2562-2563 มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบ ภายใต้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มุ่งบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดผ่านกลไกหลักแก้ไขปัญหาภัยแล้งใน 3 กลุ่มภารกิจ ดังนี้

1.กลุ่มพยากรณ์ ทำหน้าที่ตรวจสอบสภาพอากาศ ปริมาณน้ำท่า และสถานการณ์น้ำในแหล่งเก็บน้ำต่างๆ เพื่อวิเคราะห์และประเมินปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำ

2.กลุ่มบริหารจัดการน้ำ ทำหน้าที่วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและครอบคลุมการใช้น้ำทุกประเภท ทั้งการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมถึงกำหนดแนวทางการระบายน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ 3.กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ บูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชนจัดเตรียมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน ควบคู่กับการจัดหน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง

นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 3 กลุ่มภารกิจหลักแก้ไขปัญหาภัยแล้งจะได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงพื้นที่อย่างรอบด้านใน 5 แนวทาง ได้แก่

1)การทบทวนแผนเผชิญเหตุภัยแล้งระดับจังหวัด เพื่อวางแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานฝ่ายปกครองและหน่วยทหารในพื้นที่สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำ 2) การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคให้เพียงพอ โดยสำรวจและจัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำครอบคลุมถึงระดับหมู่บ้านและชุมชน พร้อมประสานโครงการชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางรับมือให้สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยและสภาพพื้นที่ ทั้งการจัดทำแหล่งสำรองน้ำดิบ แผนการวางท่อน้ำประปา แผนการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง แผนการจัดสรรน้ำดิบ

3) การบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร โดยดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี พ.ศ.2563/64 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกำหนดมาตรการลดผลกระทบกรณีไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร อีกทั้งประสานการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อเติมน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด 4) การกำหนดแนวทางการใช้น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ เฝ้าระวังและคุมเข้มไม่ให้มีการปล่อยน้ำเน่าเสียลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย ควบคู่กับการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดการน้ำเสียตามหลัก 3 R (Reduce : Reuse : Recycle) รวมถึงสำรวจเส้นทางคมนาคมเลียบคลอง ลำน้ำ หรือแม่น้ำเพื่อวางมาตรการป้องกันการพังทลายของตลิ่ง 5) การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง ทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำและมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ควบคู่กับการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนจิตอาสาในพื้นที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างและซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

“จุรินทร์” คลายปมตู้ขาดแคลน   ดันเรือใหญ่เทียบท่ารับสินค้า

 “จุรินทร์”ลุยแก้ปมขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ดันเรือใหญ่ 400 เมตร เข้ามาเทียบที่ท่าเรือแหลมฉบังได้แล้ว ช่วยลดต้นทุนผู้ส่งออกส่งสินค้าไปปลายทางได้ทันที พร้อมเร่งเปิดด่านเพิ่ม เล็งนำเข้าหารือใน ครม. ขอนายกฯ ช่วยดันอีก 3 ด่านสัปดาห์หน้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นปัญหากระทบไปทั่วโลก สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว โดยเรื่องที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้เปิดโอกาสเรือขนาด 400 เมตร ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ และมีสายการเดินเรืออยู่ประมาณ 6 สายการเดินเรือ เข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือไม่ต้องอนุญาตโดยใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน ได้หารือร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะอนุญาตให้เรือที่มีขนาดใหญ่ 400 เมตร สามารถเข้ามาเทียบท่าและรับสินค้าไทยเพื่อการส่งออกได้ โดยการขออนุญาตใช้เวลาแค่ 1 วัน และใบอนุญาตจะมีอายุ 2 ปี จะช่วยให้การส่งออกสินค้าสามารถขึ้นเรือใหญ่และไปสู่ประเทศปลายทางได้เลย จากที่จะต้องไปถ่ายลงเรือใหญ่ที่สิงคโปร์หรือท่าอื่นๆ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่จากนี้จะเป็นการลดต้นทุนไปในตัวนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนการแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องส่งออกโดยการใช้ตู้ จะหลีกเลี่ยงการใช้ตู้ โดยจะใช้เรือที่ขนสินค้าส่งออกแทน เช่น ผลไม้ มะพร้าว พืชเกษตรชนิดอื่น และไม้ยางพารา เป็นต้น โดยมีการเตรียมเรือไว้จำนวนหนึ่ง จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.พ.2564 เพื่อลดการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ และจะส่งเสริมให้มีการนำให้เรือบรรทุกสินค้านำตู้เปล่าเข้ามา โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น ลดค่าธรรมเนียมนำเข้าตู้เปล่า ซึ่งการท่าเรือฯ จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยจะเป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ คาดว่าจากเร็วที่สุดอาจเป็นวันที่ 9 ก.พ.2564

สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังจีน จะเน้นการขนส่งทางรถหรือทางบกให้มากขึ้น โดยเร่งเจรจาการขนส่งผ่านด่านของไทยไปสปป.ลาว เวียดนาม และจีน ให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ลงได้นอกจากนี้ จะเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีด่านชายแดนทั้งหมด 97 ด่าน เปิดแล้ว 39 ด่าน ล่าสุดจากการเจรจาของกระทรวงพาณิชย์สามารถเปิดได้อีก 1 ด่าน คือ ด่านถาวรที่บึงกาฬ รวมเป็น 40 ด่าน และตั้งเป้าจะเร่งรัดเปิดอีก 3 ด่าน คือ 1.ด่านป่าแซง จ.อุบลราชธานี 2.ด่านเชียงคาน จ.เลย 3.ด่านท่าเรือหายโศก จ.หนองคาย โดยจะนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบาย เพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้นต่อไป“จุรินทร์” คลายปมตู้ขาดแคลน   ดันเรือใหญ่เทียบท่ารับสินค้า        

ส่วนปัญหาการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม ซึ่งเดิมเคยติดขัดในเรื่องกฎระเบียบในการนำรถตัวอย่างไปตรวจสอบแทบทุกล็อต ต่อไปนี้ปัญหายุติแล้ว หลังจากที่อาเซียนได้ลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ (MRA) โดยได้ลงนามครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว เหลือขั้นตอนการให้สัตยาบัน โดยไทยจะเร่งนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรให้เร็วที่สุด คาดว่าจะทันในสมัยประชุมนี้ หากบังคับใช้ จะส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามได้ง่ายขึ้น และปัญหาการขนส่งรถยนต์จากโรงงานไปท่าเรือเพื่อส่งออก ที่เดิมติดปัญหารถไม่มีป้ายทะเบียน ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ล่าสุดหลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อยุติว่าจะไม่มีการจับกุม เพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายที่สามารถทำได้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กรอ.พาณิชย์ถกตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน

สรท.ถก กรอ.พาณิชย์ ดูความคืบหน้าแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ผลักดันส่งออกพยุงจีดีพี วอน รัฐบาลดูแลค่าเงิน หลังบาทแข็งมากไป

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ในวันพฤหัสบดี ที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ทางสรท.จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยจะมีการติดตามความคืบหน้า เรื่องของการแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศขาดแคลน ที่ในเวลานี้ ทางภาคเอกชนมีความลำบากและได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงการปรับค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมองว่ามีการกำหนดอัตราค่าจัดเก็บอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลดูแลในเรื่องของค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากค่าเงินบาทของประเทศไทยแข็งค่ามากจนเกินไป หากภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจะทำให้ GDP ของประเทศฟื้นตัวได้ช้าลงเนื่องจากการส่งออกยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลักดันทำให้ GDP ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

กรมชลฯรับ 4 เขื่อนใหญ่น้ำน้อย เร่งปรับระบายน้ำอีก ลดความเค็มน้ำดิบ กทม.

กรมชลประทาน ปรับแผนระบายน้ำหลังค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา เดินหน้าวางมาตราการรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ หวังลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันนี้ (2 ก.พ. 64) ที่กรมชลประทาน นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับ นายรักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการการประปานครหลวง(กปน.) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯด่วน เพื่อร่วมกับหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปา

โดยนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(2ก.พ.64) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,992 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,296 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณน้ำใช้การรวมกัน

จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ที่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ปัจจุบัน(2 ก.พ. 64) เวลา 07.00น. วัดค่าความเค็มได้ 0.25 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ทั้งนี้ เนื่องจากในปีนี้ปริมาณต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผล ไม้ยืนต้นเป็นหลัก ไม่เพียงพอที่จะนำไปผลักดันความเค็มได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน ขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้างดสูบน้ำเข้าพื้นที่ในระหว่างการลำเลียงน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่าง

ส่วนโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้จัดทำรายงานการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไปจนถึงสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำและควบคุมค่าความเค็มต่อไป ส่วนพื้นที่ด้านท้ายน้ำจะควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้น-ลงของน้ำทะเลอย่างเคร่งครัด

รวมไปถึงการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ในการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาน้ำลง พร้อมวางแผนร่วมกับการประปานครหลวง ปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการทำ water hammer operation เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหากเกิดกรณีวิกฤติ จะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองส่วนหนึ่งลงมาควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยไม่กระทบต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานควบคุมการรับน้ำ เพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

กฟผ.ขอความร่วมมือชาวไร่อ้อยงดเผาอ้อยจุดใกล้และใต้แนวสายส่งสายไฟฟ้าแรงสูง

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชุมพล สุขนิรันดร์ หัวหน้ากองบำรุงรักษาสายส่ง (กสอ-ส.) กฟผ. นายคมกฤษ ศรีสุดา วิศวกรระดับ 10 กสอ-ส.กฟผ. เข้าพบนางวาสนา สนทอง รองผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง นายสมหวัง เดชวีระพาณิชย์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตไฟฟ้า โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเวียง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น และนายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้า โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

เพื่อขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลเครือมิตรผลทั้ง 2 แห่ง ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าของไร่อ้อยและผู้ที่เกี่ยวข้องให้งดเผาไร่อ้อย พร้อมชี้แจงถึงผลกระทบจากการเผาไร่อ้อยในจุดใกล้หรือใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เนื่องจากจะส่งผลทำให้เกิดไฟฟ้าดับ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ส่งผลต่อความมั่นคงของระบบส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าของ กฟผ. ที่สำคัญคนเผาต้องรับผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้แทนของโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่งเป็นอย่างดี

จาก https://mgronline.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

เอกชนห่วงบาทแข็งค่ากระทบส่งออก ลุ้นปี'64 ยังโตได้4 % ตามเป้า

สรท.ประเมินส่งออกปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้ 3-4% ชงรัฐปลดล็อคอุปสรรคภาคเอกชน รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง ขณะที่รัฐประหารในพม่ายังไม่มีผลกระทบ

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือการกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่

นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร (ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงค์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ การระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง และการจ้างงานของประชาชน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง  ณวันที่ 31 ม.ค. อยู่ที่  29.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า  4.18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ซึ่งระดับการแข็งค่าของค่าเงินบาทค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการแข่งขันด้านราคาในการส่งออก

ส่วนปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และระวางเรือไม่เพียงพอ จากการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในหลายประเทศ ทำให้มีปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางโดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ตลอดจนค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น

ซัพพลายเชนส่งออกประมงปี64 กระทบช่วงสั้นก็จริงแต่อาจหดตัว 5%

ไทยเตรียมยื่นหนังสือคัดค้านฟิลิปปินส์ ตัดสิทธิภาษีตอบโต้คดีบุหรี่

อย่างไรก็ตามภาพรวมการส่งออกเดือนม.ค.- ธ.ค. ปี 2563 มีมูลค่า 231,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 6.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 206,991 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 12.39% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 24,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 682,547 ล้านบาท

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า การส่งออกของไทยปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้ ซึ่งสรท.ตั้งเป้าไว้ 3-4% หากทำได้จะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามไปด้วย รวมถึงช่วยในเรื่องการจ้างงาน เพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ขณะเดียวกันยังต้องมีมาตรการกระตุุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐให้มีความต่อเนื่องด้วย

ทางสรท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจไปยังรัฐบาล ได้แก่ 1.มาตรการเร่งด่วน ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน 2.มาตรการระยะยาว รัฐบาลต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการลดกำลังการผลิตและยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ การเร่งรัดเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี อาทิ เร่งบังคับใช้ความตกลง RCEP ภายในปี 2564 รวมถึงเร่งเจรจาความตกลงที่อยู่ใน Pipeline อาทิ Thai-UK / Thai-EU / EFTA / Pakistan / Turkey เป็นต้น

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมายังไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าของไทย เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่คุ้นเคย ตราบใดที่ด่านชายแดนยังสามารถเข้าออกได้ตามปกติ แต่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นของการเมืองระหว่างท่าทีของนานาชาติ จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจพม่าอย่างไรเนื่องจากมีความเชื่อมโยงการลงทุนและการค้า

ปัจจุบันเมียนมานำเข้าสินค้าไทยที่สำคัญ เช่น เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหล็กกล้า โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอางค์

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

ตรึงราคาปุ๋ยป่วน วงการค้าโอด แบกต้นทุนอ่วม

“ตรึงราคาปุ๋ย” ทำป่วน สมาชิกสมาคมค้าปุ๋ยฯ ร้อง สะเทือนธุรกิจเจ๊ง โอดวัตถุดิบ-ค่าระวางเรือ-นํ้ามันราคาปรับขึ้นยกแผงทำต้นทุนพุ่ง “เปล่งศักดิ์” ให้สมาชิกโหวตใครทำได้ ทำไม่ได้ แจงเป็นรายกรณี ห่วงบีบบังคับ ลามสารเคมีในประเทศขาดแคลนยิ่งวิกฤติกว่า

เป็นประจำทุกปี กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  จะเรียกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เข้าไปหารือเพื่อให้ช่วยลดราคา หรือตรึงราคาปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนในฤดูกาลผลิตใหม่ ล่าสุดได้มีการหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2564 มีเสียงสะท้อนตามมาของผู้ค้าปุ๋ยเคมีถึงผล

กระทบธุรกิจ นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ปีนี้ปรับลดราคาปุ๋ยเคมีไม่ได้ เพราะวัตถุดิบราคาปรับขึ้น ค่าระวางเรือก็ปรับตัวสูงขึ้น ราคานํ้ามันก็ปรับตัวสูงขึ้น ตู้สินค้าก็ขาดแคลน ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการและผู้ค้าปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้น  หากจะให้ตรึงหรือลดราคาก็จะกระทบธุรกิจ และอาจกระทบปุ๋ยเคมีเคมีขาดแคลนและไม่เพียงพอใช้ได้ หลายบริษัทในสมาคมขณะนี้ก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะตรึงราคา แต่ตนก็ได้แจ้งกับสมาชิกว่าควรจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไปสักระยะหนึ่งก่อน ถ้าแบกภาระไม่ไหวจริง ๆ จะต้องเข้าไปหารือใหม่กับกรมการค้าภายในใหม่ แต่หลายบริษัทก็ไม่ยอม เพราะบางรายเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ไม่มีสต๊อก ก็เข้าใจได้ ดังนั้นจึงตัดสินใจให้โหวตเสียง หรือถ้าใครไม่พร้อมจริงก็ให้ทำหนังสือชี้แจงเป็นรายกรณีไป

การนำเข้าปุ๋ยเคมี

“ในภาพรวมของสมาคมก็พยายามช่วยดันนโยบายรัฐบาล แต่จะช่วยได้ระยะเวลานานเท่าไร ตอบไม่ได้ เพราะในฤดูกาลที่จะมาถึงนี้ ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ก็มีการลดเพดานการผลิตนํ้ามันดิบ เพื่อดึงราคาไม่ให้ตํ่ากว่า 56 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะเดียวกันเรือสินค้าจากประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป(อียู) ใช้เวลานานกว่าจะวิ่งกลับมา หรือไม่ก็ติดค้างอยู่ที่ปลายทาง ส่วนจีนอยากได้เรือ ได้ตู้คอนเทนเนอร์ก็พร้อมที่จ่ายแพงขึ้นก็ดึงเรือดึงตู้ไปหมด นี่คือปัญหาอุปสรรคประเทศไทยและเป็นอนาคตที่น่าห่วงของสินค้าเกษตรด้วย” นายเปล่งศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในแต่ละปีการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยเฉลี่ยจะอยู่ 5 ล้านตันเศษ เพราะ 1.นโยบายรัฐไม่ได้เอื้ออำนวย 2.รัฐไม่ค่อยส่งเสริม จะไปเน้นเรื่องนโยบายเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงปุ๋ยเคมีเป็นธาตุอาหารพืช ไม่ใช่สารพิษ ตอนนี้ผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว ซึ่งโดยข้อเท็จริงในภาพรวมของเศรษฐกิจรัฐบาลต้องไปเน้นความปลอดภัยของอาหารพืชต่าง ๆ ควรจะเป็นเกษตรปลอดภัย (Good Agriculture Practices : GAP)  อาทิ ผลไม้, ข้าวโพด,ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น ดังนั้นประเมินคาดการณ์การใช้ปุ๋ยเคมี ในปี 2564 จะใกล้เคียงกับปี 2563 ส่วนนโยบายประกันรายได้เกษตรกร  เป็นการช่วยเกษตรกรถือว่ามีประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่ไม่ได้มีส่วนส่งเสริมทำให้ปุ๋ยเคมีมีการซื้อขายมากขึ้น ขณะเดียวกันนโยบายรัฐเองไม่ได้มีเรื่องการส่งเสริมในการใช้ปุ๋ยเคมี

 ด้านนายพงษ์เทพ อันตะริกานนท์ นายกสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย กล่าวว่า ภาพรวมของปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านมาโตขึ้นแต่ไม่มาก เพราะมีกฎหมายมาควบคุมคุณภาพสูตรปุ๋ยที่ตั้งไว้สูงเกินไปทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้จริง  ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพ แต่มีจุดอ่อนไม่มีงบประมาณโฆษณาเพียงพอที่จะจูงใจเกษตรกรต่างจากสารเคมี มีงบประมาณตรงนี้โดยเฉพาะ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

รัฐบาลดันลงทุนอีอีซี ตั้งเป้าปี’64แตะระดับ3แสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจและรมว.พลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.)ครั้งที่ 1/2564 ว่าที่ประชุมรับทราบภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในรอบปี 2563 มีทั้งสิ้น 453 โครงการมูลค่าลงทุน 2.08 แสนล้านบาทคิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมทั้งหมดในอีอีซีโดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นลงทุนสูงสุดถึง 50,455 ล้านบาท คิดเป็น 44% และอันดับสองเป็นนักลงทุนจากจีน 21,831 ล้านบาท

ด้านความคืบหน้าโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ในปี 2563 จาก 453 โครงการได้อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ คิดเป็น 64% ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 172 โครงการ คิดเป็น 59% และได้เริ่มโครงการแล้ว 79 โครงการ คิดเป็น 46% โดยในปี 2564 รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีวงเงินรวม 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2563

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งมาตรการเยียวยาภาครัฐที่ดำเนินการไปแล้ว ครอบคลุมกว่า 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 55% ของวัยทำงานในอีอีซี อย่างไรก็ตามมาตรการเยียวยาภาครัฐเพิ่มเติมในระยะต่อไปมีความสำคัญและจำเป็นเช่นโครงการเราชนะและการปรับเงื่อนไขใน พ.ร.ก. soft loan จะเพิ่มความครอบคลุมการช่วยเหลือส่งผลดีต่อประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่อีอีซี

นอกจากจะเร่งการลงทุนยังต้องเน้นมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากขึ้นซึ่งจะช่วยเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐในการฟื้นฟูและเพิ่มศักยภาพของประชากรในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โดยพัฒนาทักษะบุคลากรแบบ Demand driven (EEC model) เพื่อสนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยังคงการจ้างงาน ซึ่งได้ดำเนินการเพิ่มเติม 3 โครงการ อีกกว่า 12,220 คน โดยจะทำให้ในปี 2564 มีการพัฒนาบุคลากรเพิ่มเป็น 43,185 คน โดยมีเป้าหมายภายในปี 2565 จะจัดการพัฒนาทักษะบุคลากรรวมทั้งสิ้น 91,846 คน ในระยะต่อไปจะดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบ “คนละครึ่ง” (Co-Payment) โดยรัฐบาลจ่าย 50% และเอกชนร่วมจ่าย 50%เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นหรืออุตสาหกรรมดั้งเดิมซึ่งเป็นเป้าหมายของอีอีซี จำนวน 25,000 คน

ส่วนความคืบหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ช่วยเกษตรกรรายได้มั่นคง ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก โดยเป็นการร่วมมือของสำนักงานผสานกับภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่นในการแปรรูป ประมูลสินค้า ส่งออกต่างๆ เพื่อรายได้สูงสุด ตรงสู่เกษตรกร โดยมีบริษัท ปตท. เป็นแกนสำคัญ ซึ่งระบบห้องเย็น จะนำร่องด้วย ทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ต่อยอดไปยังอาหารทะเล ที่จะช่วยรักษาความสดใหม่ ให้เกษตรกรขายได้ตลอดปี มีรายได้มั่นคงผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก พร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก

พร้อมกันนี้รับทราบการลงนาม MOU ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)กับบมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ที่ร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง กำหนดแผนงานที่เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบก ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้า เปิดประตูการค้าให้สปป.ลาวและสนับสนุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงขนส่งสินค้าจากประเทศจีนสปป.ลาว และประเทศไทย ขับเคลื่อนท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่ศูนย์กลางการค้า การบริการและการลงทุนโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับนานาชาติ โดยความร่วมมือศึกษาการพัฒนาท่าเรือบกจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564

ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินโดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้างพร้อมส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ในเดือนมีนาคม 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดย รฟท. จะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าในเดือนกันยายน 2564

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564

เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 64

3 รมช.กระทรวงเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2564 พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไข

วันที่  1 กุมภาพันธ์ 2564   ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2564 พร้อมด้วย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ในการนี้ได้มีการตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง 10 ชุด และคล้องพวงมาลัยให้กับนักบินที่ไปประจำการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภูมิภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 7 ชุด ชุดปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ 1 ชุด ชุดปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพบก 1 ชุด และชุดอากาศยานปีกหมุน 1 ชุด เพื่อแสดงถึงความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวง และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดต่างๆ พร้อมร่วมกันปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติการทั่วประเทศร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำ ในการอุปโภค - บริโภค และการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆที่มีปริมาณน้ำน้อย ในขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วมากขึ้น จากปกติที่มีการเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในวันนี้ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหาร จัดการน้ำของประเทศด้วย

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2564 มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วย 1) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามบินกองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 2) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ณ กองบิน 46 อ.เมือง จ.พิษณุโลก 3) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ณ สนามบินนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 4) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ณ สนามบินกองบิน 23 อ.เมือง จ.อุดรธานี 5) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ ณ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ 6) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง ณ สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และ7) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ กองบังคับการกองบิน 7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ภายในงานได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด - 19 โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดลงทะเบียน และตรวจวัดอุณภูมิผู้เข้าร่วมงาน มีบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำจุดต่าง ๆ มีการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรค และกำหนดให้ผู้ร่วมงานสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดทั้งงานด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด"แข็งค่า"ที่ 29.89 บาท

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 29.89 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 29.97 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.80-30.00 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าในสัปดาห์นี้ แนะนำติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในวันพุธ คาดว่าจะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแรงกดดันของเงินเฟ้อยู่ในระดับต่ำ แต่เชื่อว่าประโยชน์ของการลดดอกเบี้ยจากนี้มีไม่มาก ขณะที่ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินอยู่ในระดับสูง จึงคาดว่ากนง.จะรอดูสถานการณ์ไปก่อน

ด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจที่สุดในสัปดาห์นี้คือการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ (U.S. Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ ซึ่งตลาดมองว่าจะเพิ่มขึ้นราว 50,000 ตำแหน่งในเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ต้องระวังการเลิกจ้างในภาคบริการโดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งคาดว่าสัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า จะหนุนให้การเจรจาเรื่องงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในสหรัฐเกิดขึ้นได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์

ฝั่งตลาดเงิน สัปดาห์นี้คาดว่าตลาดจะติดตามตัวเลขเศรษฐกิจมากขึ้น โดยอาจเริ่มมองตั้งแต่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งในและนอกภาคการผลิตในสหรัฐ ไปจนถึงตัวเลขตลาดแรงงานในวันศุกร์ ขณะเดียวกันก็เชื่อว่ายังมีความผันผวนในตลาดทุนที่สูงจากแรงเก็งกำไรของรายย่อยเข้ามาผสม ทำให้ตลาดมีโอกาสปิดรับความเสี่ยงได้ในระยะสั้น โดยรวมจึงมีความเป็นไปได้มากที่เงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบกว้าง กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.00-91.00 จุด ระดับปัจจุบัน 90.64 จุด ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เชื่อว่าต้องติดตามผลการประชุมกนง.ในสัปดาห์นี้ให้ผ่านพ้นไปก่อน ส่วนประเด็นหลักช่วงนี้ ด้านบวกยังคงเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สวนทางกับด้านลบอย่างภาพตลาดทุนทั่วโลกที่ปรับฐาน และการระบาดของไวรัสในไทย อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าเงินบาทไม่ได้อยู่ในกระแสของนักลงทุนมากนัก จึงน่าจะเคลื่อนไหวตามภาพเศรษฐกิจจริงมากกว่า เพียงแต่ต้องระวังว่าถ้าตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานแรง ก็อาจกดดันให้นักลงทุนต้องขายสินทรัพย์อื่นๆ รวมถึงเงินบาทไปพร้อมกันด้วย  กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.75-30.25 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564