http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกุมภาพันธ์ 2566]

เกษตรฯถก คกก.อ้อย-น้ำตาล ร่วมหารือใน6ประเด็นสำคัญ

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 2/2566 ในฐานะกรรมการ(ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ) ที่ห้องประชุม อก. 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมฯ โดยที่ประชุมได้หารือและพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.เห็นชอบการต่ออายุหนังสืออนุญาตให้เป็นบริษัทส่งออกน้ำตาลทราย 2.เห็นชอบสถาบันชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิได้รับเงินค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยฤดูกาลผลิตปี 2565/2566

3.เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าบำรุงสถาบันชาวไร่อ้อยฤดูกาลผลิตปี 2565/2566, 4.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการดำเนินงานของฝ่ายไทย กรณีบราซิลยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องไทยให้การอุดหนุนการส่งออก 5.เห็นชอบการแต่งตั้งลูกจ้างประจำให้ดำรงตำแหน่งในระดับ 8 และ 6.เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูกาลผลิตปี 2565/2566

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

 

โรงงานน้ำตาล ร่วมแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ หนุนรถตัดอ้อย-รับซื้อใบอ้อย ลด PM2.5

โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ เดินหน้าแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เต็มที่ หวังลดปัญหาฝุ่น PM2.5 เร่งขับเคลื่อนนโยบายตัดอ้อยสดส่งมอบโรงงาน พร้อมสนับสนุนรถตัดอ้อยและรับซื้อใบอ้อยสดเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย ร่วมกำหนดแผนแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้หวังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานระดับจังหวัดและหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างเต็มที่ โดยเร่งสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาตัดอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงาน ผ่านโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อจัดหารถตัดอ้อยแก่ชาวไร่อ้อย เพื่อทดแทนการจัดเก็บผลผลิตด้วยแรงงานคนที่มีต้นทุนสูง

รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจชาวไร่ตัดอ้อยสดด้วยการรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 800 บาท นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และมีการหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน เพื่อนำไปเพิ่มให้กับอ้อยสด สนับสนุนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด ลด/เลิกการเผาอ้อย ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยเป็นน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานได้ประโยชน์สูงสุดร่วมกัน

ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลเห็นว่า กฎระเบียบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ระบุว่า โรงงานไม่สามารถปฏิเสธการรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยได้ ยกเว้นกรณีที่ค่าความหวานอ้อยมีคุณภาพต่ำกว่า 6 ซี.ซี.เอส.และอ้อยไฟไหม้มีความบริสุทธิ์ไม่ได้มาตรฐานนั้น หากโรงงานปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ก็จะผิดกฎระเบียบและถูกลงโทษปรับถึง 500,000 บาท จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงานและไม่เอื้อต่อแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การแก้ปัญหาในระยะยาว โรงงานน้ำตาลจะเร่งให้ความรู้แก่ชาวไร่อ้อยเพื่อสร้างความตระหนักถึงการทำการเพาะปลูกอ้อยอย่างยั่งยืน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและความสมดุลของระบบนิเวศไปพร้อมกัน โดยมุ่งส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนการใช้แรงงานคน ตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนการปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกกอ้อยแบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบการเพาะปลูกรูปแบบใหม่

 “การแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้มีความยั่งยืนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เพื่อกำหนดแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการจัดวางกรอบแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด และเกิดการร่วมมือกันแก้ปัญหานี้แบบบูรณาการ”

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งตัวแทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลประชุมหารือมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเกิดฝุ่น PM2.5 ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ข้อมูลของ GISTDA ได้รายงานสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) จากพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่มาจากการเผาป่า และเผาเศษวัสดุทางการเกษตรมากที่สุด ส่วนการเผาอ้อยเป็นเพียงส่วนน้อย สอดคล้องข้อมูจากสำนักข่าวอิศรา ที่พบว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา การเผาไหม้ในพื้นที่ป่าและภาคการเกษตร รวมประมาณ 35 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าวประมาณ 20 ล้านไร่ คิดเป็น 57% รองลงมาได้แก่ ป่าไม้ 9.7 ล้านไร่ คิดเป็น 28% โดยมีเพียงส่วนน้อยเกิดจากการเผาอ้อย 2.7 ล้านไร่ คิดเป็น 8% อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล พร้อมเร่งดำเนินการแก้ปัญหานี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com/ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

อำนาจเจริญ รณรงค์ ชาวไร่อ้อย ไม่เผาอ้อย ก่อนตัดส่งโรงงาน เพิ่มคุณภาพ ลด PM2.5

นายเสนีย์ ส้มเขียวหวาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันรณรงค์ตัดอ้อยสด สะอาด ได้คุณภาพ ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ปีการผลิต 2565/66 ณ แปลงสาธิตเกษตรกรชาวไร่อ้อย บ้านทับเมย ต.โนนหนามแท่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ พร้อมทั้ง เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมีการสาธิตการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี จากโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ

นายจรัส คำป้อง ผู้จัดการอาวุโสด้านอ้อยน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ กล่าวถึงการจัดกิจกรรม ว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 144,879 ไร่ จำนวนชาวไร่ 3,718 ราย ในส่วนของจังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 34,242 ไร่ ชาวไร่อ้อย จำนวน 1,187 ไร่ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน 

ในปีการผลิต 2566 นี้ โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ ได้เริ่มหีบอ้อย ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 823,119 ตัน มีปริมาณอ้อยสดคิดเป็นร้อยละ 64.16 จังหวัดอำนาจเจริญมีปริมาณอ้อย 170,770 ตันมีปริมาณอ้อยสด คิดเป็นร้อยละ 60.44 โดยบริษัท น้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ ส่งเสริมและสนับสนุนการเก็บเกี่ยวอ้อยสดเข้าสู่โรงงาน ดังนี้ 

ส่งเสริมและพัฒนาชาวไร่ตั้งแต่กระบวนการเตรียมแปลงรองรับเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อทดแทนแรงงานคน

ส่งเสริมชาวไร่รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ใช้รถตัดอ้อย ตัดอ้อยสด (ปัจจุบันมีรถตัดช่วยในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด จำนวน 26 คัน คาดการณ์ปริมาณอ้อย 453,125 ตัน) 

ส่งเสริมชาวไร่ใช้เครื่อง สางใบอ้อย ก่อนตัดอ้อย ตัดอ้อยสด (ส่งเสริมเครื่องสางใบอ้อย จำนวน 50 ชุด และชาวไร่อ้อยได้รับการสนับสนุนจาก สอน.)

ส่งเสริมชาวไร่รายเล็กตัดอ้อยสด ส่งสถานีขนถ่ายใกล้บ้าน จำนวน 11 สถานี

ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อลดการเผาใบอ้อย หลังจากเก็บเกี่ยว จำนวน 9,800 ตัน

สำหรับการจัดงานวันรณรงค์ ตัดอ้อยสด สะอาด ได้คุณภาพ  ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพอ้อย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยชาวไร่อ้อยต้องร่วมใจกันตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อยก่อนตัดเข้าสู่โรงงาน เนื่องจากจะทำให้น้ำตาลไม่ได้คุณภาพ และยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดปัญหา PM2.5 ตลอดจนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ ของดินลดลงอย่างรวดเร็ว การตัดอ้อยสดจะส่งผลให้อ้อยส่งเข้าหีบนั้น มีค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรชาวไร่อ้อย จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย 

จึงขอความร่วมมือ พี่ น้อง เกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ตัดอ้อยสด โดยการตัดอ้อยชิดดิน ตัดยอดสั้นจะได้อ้อยที่มีคุณภาพ และช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

 

เปิดศึกชิงกากอ้อย 3 หมื่นล้าน ชาวไร่-โรงงานขัดแย้งแบ่งประโยชน์ไม่ลงตัว

อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลขัดแย้งหนัก ปมผลประโยชน์จาก “กากอ้อย” 30,000 ล้านบาท หลังชาวไร่อ้อยดันเข้านิยามผลพลอยได้ ประกาศบังคับเป็นกฎหมายต้องนำ กากอ้อย มาแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ทันที ด้านโรงงานน้ำตาลแก้เกม ยกขบวนลาออกจากกรรมการอ้อยและน้ำตาล แต่ไม่เป็นผล เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง เหตุ รมต.ใช้อำนาจตั้งกรรมการชั่วคราว หวังผ่านการพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้น ชี้มีสิทธิเป็นโมฆะ

แหล่งข่าวจากวงการอ้อยและน้ำตาลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความขัดแย้งในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ล่าสุดในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระหว่าง ชาวไร่อ้อย กับโรงงานน้ำตาล กรณี “กากอ้อย” หรือ “ชานอ้อย” โดยฝ่ายแรกต้องการให้ “กากอ้อย” เข้าไปอยู่ในนิยามของ “ผลพลอยได้” เพื่อนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527

ในขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลเห็นว่า กากอ้อย ไม่ได้อยู่ในนิยามของผลพลอยได้มาตั้งแต่ต้น และการเพิ่ม กากอ้อย เข้าไปในนิยาม ยังเป็นการขัดกับหลักของการแบ่งปันรายได้ถือเป็นการ “เอาประโยชน์จากฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ฝ่ายเสียผลประโยชน์ (คือโรงงานน้ำตาล) ไม่มีสิทธิที่จะปกป้องประโยชน์ที่ตนเคยได้รับมาก่อน”

ทั้งนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เมื่อฝ่ายชาวไร่อ้อยใน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยเพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยามผลพลอยได้ เพื่อฝ่ายชาวไร่จะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่ม โดยมีการพูดกันว่า ผลประโยชน์กากอ้อย จะมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท แต่ 57 โรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วย

เพราะได้นำกากอ้อยมาทำเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาล ซึ่งชาวไร่มีส่วนได้รับผลประโยชน์อยู่แล้ว พร้อมกับคัดค้านและขอให้มีการทบทวนเรื่องกากอ้อยมาโดยตลอด โดย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง “คัดค้านร่างแก้ไขกรณีกากอ้อย” แต่ก็ไม่เป็นผลและนำมาซึ่ง “มติของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล” ให้ตัวแทน “ลาออก” จากกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลในที่สุด

“การลาออกของตัวแทนฝ่ายโรงงานน้ำตาลไม่มีผลในการพิจารณาเพิ่มกากอ้อยเข้าไปในนิยามของผลพลอยได้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ยังคงผลักดันจนร่างแก้ไขผ่านขั้นตอนออกประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับไปตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2565” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลของความขัดแย้งในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ “กากอ้อย” ได้นำไปสู่ความชะงักงันในการพิจารณาราคาอ้อยของปี 2566 อันเนื่องมาจากผู้แทนโรงงานน้ำตาลจำนวน 7 คน “ลาออก” ทำให้องค์ประชุม 3 ฝ่าย ในคณะกรรมการไม่ครบ

จนรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 อาศัยอำนาจใน มาตรา 14 วรรค แต่งตั้งคณะกรรมการแทนกรรมการผู้แทนโรงงานน้ำตาลที่ว่างลงโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเสนอชื่อจากสมาคมโรงงานน้ำตาลตามมาตรา 11 วรรคสาม เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งกรรมการแทนเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ขณะที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเห็นว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.อ้อยดังกล่าวใช้อำนาจตามมาตรา 14 วรรคสอง “โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เนื่องจากมาตรา 11 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า ผู้แทนโรงงานต้องเป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของโรงงาน ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากสมาคมโรงงานและต้องคำนึงถึงสัดส่วนตามกำลังผลิตของสมาชิกของสมาคมโรงงานน้ำตาลด้วย

ประกอบกับกรรมการผู้แทนโรงงานที่ว่างลงเป็นเหตุมาจากกรรมการผู้แทนโรงงาน “ลาออก” และ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเองก็ได้ทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย แล้วว่า “ไม่ประสงค์จะเสนอชื่อผู้แทนเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการด้วย”

“เมื่อรัฐมนตรีผู้รักษาการใช้อำนาจแต่งตั้งกรรมการโรงงานน้ำตาลที่ว่างลงไปแล้ว โดยอ้างเหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วนต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้น ทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลจึงตัดสินใจยื่นเรื่องดังกล่าวฟ้องต่อศาลปกครองโดยมอบอำนาจให้ บริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ เป็นผู้ฟ้อง รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,080 บาท/ตัน อาจจะเป็นโมฆะด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลเปิดเผยถึง สาเหตุที่โรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วยที่ชาวไร่อ้อยจะมาขอแบ่งปันผลประโยชน์จาก “กากอ้อย” เป็นเพราะกากอ้อยถือเป็นต้นทุนของโรงงาน ซึ่งใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาล และหากวันหนึ่งชาวไร่อ้อยหยิบยกเรื่อง “กากอ้อย” ขึ้นมาเป็นประเด็นในการกำหนดราคาอ้อยด้วยก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์และเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เมื่อสูตรการคำนวณราคาอ้อยเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนการนำกากอ้อยไปผลิตไฟฟ้านั้น แหล่งข่าวจากฝ่ายชาวไร่อ้อยมองว่า มีผลประโยชน์มหาศาล โดยคำนวณจากสมมุติฐานผลผลิตอ้อยเข้าหีบรวมทั้งประเทศประมาณ 100 ล้านตัน จะเป็นกากอ้อย 30% หรือเท่ากับ 30 ล้านตัน สมมุติราคากากอ้อยตันละ 1,000 บาท คิดเป็นมูลค่ากากอ้อย 30,000 ล้านบาท

ทุกวันนี้โรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตอ้อย 30,000 ตันขึ้นไป ถึงมีศักยภาพตั้ง “โรงไฟฟ้าชีวมวล” และมีไฟเหลือขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่โรงงานน้ำตาลขนาดเล็กที่ไม่มีกากอ้อยเพียงพอไปในการเผาทำเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาล หากจะนำรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนนี้มาแบ่ง “จะแบ่งกันอย่างไร”

“ถ้าชาวไร่อ้อยจะตีรายได้จากกากอ้อยออกมา 30,000 ล้านบาท โรงงานบอกต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายอีก 30,000 ล้านบาทเช่นกัน เพราะโรงงานเอากากอ้อยมาทำเชื้อเพลิงผลิตน้ำตาล โรงงานต้องไปซื้อกากอ้อยกลับมาเป็นต้นทุนอีก ดังนั้นสัดส่วนระบบแบ่งปันรายได้ 30% ของโรงงานจะทำอย่างไร หากหักเป็นค่าใช้จ่ายราคาค่าอ้อยก็ลดลงอีก ซึ่งต่างกับ “โมลาส” โรงงานน้ำตาลไม่ได้เอามาใช้ในกระบวนการผลิต เก็บไว้ขายอย่างเดียว ได้เท่าไหร่มาแบ่งกับชาวไร่” แหล่งข่าวกล่าว

https://www.prachachat.net วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566

เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี’65/66 ตันละ 1,080 บาท พบลอบเผาอ้อยกว่า 15 ล้านตัน

คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 2565/2566 ที่ 1,080 บาท/ตัน ดันรายได้ชาวไร่ กังวลเปิดหีบไปแล้ว 64 วัน พบลอบเผาอ้อยกว่า 15 ล้านตัน

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลชาวไร่ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมทั้งเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย

เปิด 10 อันดับ เมืองที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

โดยในที่ประชุมได้มีมติรับรองการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2565/66 ที่ราคา 1,080 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. อัตราขึ้นลงอยู่ที่ 64.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่ราคา 462.86 บาทต่อตัน

ทั้งนี้ ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์จากเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เรียบร้อยแล้ว โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเร็ว ๆ นี้ ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กอน.ยังได้มีการเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศ

ที่เกิดจากการเผาอ้อย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทยค่อนข้างวิกฤต และสาเหตุหนึ่งมาจากการลักลอบเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงาน

ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงกำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% พร้อมเน้นย้ำให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาลร่วมมือกับภาครัฐเพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนไทยในช่วงที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 และยังเป็นการหนุนภาคเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว

ข้อมูลล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565-2 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 52 ล้านตัน และในจำนวนนี้เป็นอ้อยที่ถูกลักลอบเผากว่า 15 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 29.93%

พบว่ามี 5 จังหวัดที่เผาอ้อยสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 2.03 ล้านตัน อุดรธานี 1.25 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 1.21 ล้านตัน เพชรบูรณ์ 1.09 ล้านตัน และสุพรรณบุรี 1.03 ล้านตัน

ในขณะที่มี 5 กลุ่มบริษัทที่รับอ้อยเผามากสุด ได้แก่ กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง (10 โรง) 3.06 ล้านตัน กลุ่มบริษัทมิตรผล (7 โรง) 2.87 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (5 โรง) 1.57 ล้านตัน กลุ่มบริษัทวังขนาย (4 โรง) 1.33 ล้านตัน และกลุ่มบริษัทเกษตรไทย (3 โรง) 0.90 ล้านตัน

“จากสัดส่วนการลักลอบเผาอ้อยที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต ทั้งสถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่ได้รับผลกระทบจากการเผาไหม้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งยังสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่ามีชาวไร่และโรงงานน้ำตาลจำนวนหนึ่งที่ไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการลดปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผา กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการกับเกษตรกรชาวไร่ที่ลักลอบเผา และโรงงานน้ำตาลที่สนับสนุนการเผา”

https://www.prachachat.net วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

แลตตาซอยอั้นไม่ไหวขอขึ้น 6 บาท หลังรัดเข็มขัดเต็มที่มาตั้งแต่ปี’61

   น.ส.มัลลิกา จิรพัฒนกุล ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายขาย บริษัท แลคตาซอย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองแลคตาซอย เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจแลคตาซอยในปี 2565 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า 3.12% หรือมียอดขาย 10,614 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% ในขณะที่มูลค่าตลาดนมถั่วเหลืองในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าตลาดราว 14,000 ล้านบาท

ซึ่งนอกจากการบริโภคนมถั่วเหลืองยังคงเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค ด้วยคุณค่าทางอาหารของนมถั่วเหลืองที่อุดมด้วยโปรตีนซึ่งมีความจำเป็นต่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายแล้ว ยังสอดรับกับกระแสของการบริโภคแพลนต์เบส โปรตีนจากพืช ทำให้มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดนมถั่วเหลืองกันมากขึ้น รวมถึงยังมีแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดด้วย ทำให้ตลาดมีการเติบโต ขณะที่ แลตตาซอยยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งที่ 56% ได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

แม้ว่าล่าสุดแลตตาซอยได้ปรับราคาขนาดบรรจุ 125 มล. จาก 5 บาท เป็น 6 บาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ปรับราคา จากทั้งหมด 7 รสชาติ 7 ขนาด ที่ได้ทยอยปรับราคาไปตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นการปรับราคาครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดตัวขนาด 5 บาท มาเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งตามแผนบริษัทเตรียมจะปรับราคาตั้งแต่ปี 2561 จากผลกระทบของภาษีสรรพสามิตจากปริมาณน้ำตาล และจำเป็นต้องชะลอการปรับขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ในปีที่ผ่านมาต้นทุนทั้งค่าขนส่งที่ปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ส่งผลต่อราคาสินค้า รวมถึงถั่วเหลือง นมผงต้น ปรับขึ้น 40% ค่าบรรจุภัณฑ์ก็ปรับขึ้นครั้งละ 20% รวม 3 รอบ ตลอดจนไขมันพืชก็ปรับขึ้นเท่าตัว

“ที่ผ่านมาเรารัดเข็มขัดเต็มที่แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องตัดสินใจขอปรับราคาในแบบทยอยปรับขึ้น และเป็นเจ้าสุดท้ายที่ปรับขึ้นราคา”

ทำให้ในปีบริษัทได้เพิ่มงบการตลาด 20% จาก 300 ล้านบาท เป็น 400 ล้านบาท นอกจากจะให้ความสำคัญในการจัดแคมเปญและกิจกรรมส่งเสริมการขายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายค่อนข้างสูงแล้ว ล่าสุดยังได้เปิดตัวพรีเซนเตอร์ใหม่ เปเปอร์ เพลนส์ ศิลปินนักร้องที่กำลังโด่งดังในเพลง ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย มาทำเพลงประกอบหนังโฆษณา “แลคตาซอย 125 มิลลิลิตร” เพื่อมุ่งสร้างความจดจำแบรนด์แลคตาซอย นอกจากนี้ จะมีการทำตลาดในลาว กัมพูชา และเมียนมา มากขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้ยอดขายปี 2566 เติบโตขึ้นได้ 5-8%

ขณะที่ยังมีแผนลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 300 ล้านกล่องต่อปี จากเดิม 1,100 ล้านกล่องต่อปี พร้อมกับมีแผนสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มอีก 2 แห่งในภาคอีสาน ตลอดจนงบลงทุนติดตั้งโซล่าเซลล์ ในโครงการกว่า 150 ล้านบาท

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566

 

เกษตรฯเข้าร่วมการประชุม คกก.น้ำตาลทรายครั้งที่1/66

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย ครั้งที่ 1/2566 ในฐานะกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ชั้น 1 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ดำเนินการพิจารณาเลือกประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการน้ำตาลทราย เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย และร่วมกันหารือและพิจารณาในประเด็น 1.ขอรับสิทธิซื้อน้ำตาลทรายผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกปี 2566, 2.บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ขอปรับปรุงบัญชีน้ำตาลทรายดิบชนิดเทกองฤดูการผลิตปี 2563/2564 และปี 2564/2565 (ขาดบัญชี) และ 3.การมอบอำนาจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566

 

GML ในเครือ ปตท. คว้าดิลเครือมิตรผล เปิดเส้นทางขนส่งน้ำตาลทรายทางระบบรางจากขอนแก่นไปแหลมฉบัง 7,000 ตู้ เสริมรายได้พอร์ต Non-Oil

หลังจาก ปตท. ออกมาประกาศวิสัยทัศน์และโครงสร้างธุรกิจใหม่ “Powering life with future energy and beyond” เน้นการขยายธุรกิจนอกเหนือจากธุรกิจด้านพลังงาน  หนึ่งในนั้นคือสายงานโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ปตท.ปั้นขึ้นมาเพื่อล้อไปกับยุทธศาสตร์และนโยบายที่ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน Logistics ของภูมิภาคอาเซียนของภาครัฐ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยลดต้นทุนการส่งสินค้าของผู้ประกอบการ

นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค. 2565 ปตท. จัดตั้งบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด หรือ GML เพื่อให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบมัลติโมดัล (ครบวงจร) งานหลักคือการขนส่งสินค้าทางระบบราง โดยเชื่อมต่อระบบการขนส่งกับพันธมิตรในประเทศลาว จีน กัมพูชา มาเลเซียและสิงคโปร์ ในปี 2565 มีการขนส่งเม็ดพลาสติกไปยังมหานครฉงฉิ่งและขนส่งทุเรียนไปยังเมืองคุณหมิง

ส่วนในประเทศ ปตท. ได้รับพื้นที่สัมปทานจากการรถไฟแห่งประเทศไทยสถานีท่าพระ จ. ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการส่งสินค้าออกโดยตรงไปประเทศจีนหรือผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปตท. และ GML ได้เริ่มขนส่งทางระบบรางโดยใช้สถานีรถไฟท่าพระ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 โดยมีการขนส่งปูนซีเมนต์บรรจุถุงจาก จ.สระบุรี และขนส่งแผ่นยางดิบไปแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

และในช่วงเดือน ธ.ค. 2565 ปตท. และ GML ได้ปิดดิลขนส่งน้ำตาลทรายทางระบบราง กับบริษัท แฟร์ แอนด์ ฟาสต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมิตรผล จากโรงงาน จ. ชัยภูมิ และ จ.กาฬสินธุ์ ไปแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จำนวน 7,000 ตู้ ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการขนส่งทางระบบราง จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจกับผู้ประกอบการใน จ.ขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนา และการขยายผลให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงช่วยลดมลภาวะและสร้างโมเดลในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566