http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมกราคม 2556)

เกาะติดเศรษฐกิจ-การเงิน: ภาคอุตฯขยายตัวดีขึ้นแต่ต้องรับมือต้นทุน-ค่าเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ จะเริ่มเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่มั่นคงมากขึ้นโดยมีความเป็นไปได้ว่า สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งการฟื้นตัวจากน้ำท่วมปี 2554 และทิศทางเศรษฐกิจโลก ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น อาจช่วยหนุนให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น 4.5% ในปี 2556 ซึ่งเพิ่มจาก 2.5% ในปี 2555 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไทยเติบโตในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2555 ต่ำกว่าคาดที่ 23.4% (YOY) แต่ยังช่วยประคองให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งปี 2555 พลิกกลับมาขยายตัว 2.5% จากที่หดตัว 9.1% ในปี 2554

โดยอุตสาหกรรมพึ่งพาแรงงาน อาทิ สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม แก้ว/เซรามิก ยังเสี่ยงสูง ทั้งจากต้นทุนการผลิตขาขึ้นและทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. ปี 2555 เพิ่มขึ้น 23.4% (YOY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแม้จะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่ก็ต่ำกว่าที่ นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 32.0% และชะลอลงจากที่เร่งตัวสูงถึง 82.3% (YOY) ในเดือนพ.ย.

นอกจากนี้ ระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย. ยังกลับมาหดตัวลง 6.3% (MOM) จากเดือนก่อนหน้า นำโดย การชะลอการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยาสูบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคอุตสาหกรรมไทย อย่างไรก็ตาม การทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลัก น่าจะเป็นแรงหนุน ให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการฟื้นตัวของประเทศแกนหลัก ที่เริ่มปรากฏ ชัดขึ้น น่าจะค่อยๆ ส่งผ่านผลบวกมาที่ความต้องการสินค้าจากไทย ซึ่งจะหนุนให้ภาค การผลิตในปี 2556 ขยายตัวดีขึ้นมาที่ 4.5% แม้บางธุรกิจอาจต้องระมัดระวังแรงกดดัน จากต้นทุนการผลิตมากขึ้นก็ตาม

โดยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในระยะข้างหน้า ยังอาจเผชิญปัจจัยท้าทายหลายด้าน ทั้งการจัดการกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความผันผวนของทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อสถานะการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ไม่ว่าจะค่าแรง ค่าไฟฟ้า และเชื้อเพลิง และวัตถุดิบ ล้วนเป็นตัวการผลักดันต้นทุนผู้ผลิต
ต้นทุนการผลิตหลายประเภทที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 ได้ส่งผลกระทบ ต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างถ้วนหน้า อย่างไรก็ดี ระดับความรุนแรงของผลกระทบนั้น จะมากน้อยเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยแวดล้อม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ดู ผลกระทบของการปรับขึ้นราคาต้นทุนการผลิตที่อาจมีต่อภาคอุตสาหกรรม

โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ อาหารและเครื่องดื่ม (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการพึ่งพาแรงงานอย่างเข้มข้น เป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากการปรับขึ้นค่าจ้าง เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนทั้งหมดในสัดส่วน ที่ค่อนข้างสูง คือเกินกว่า 12% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด นอกจากนี้ หากธุรกิจดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างก้าวกระโดด เช่นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัดแล้ว ก็จะยิ่งเผชิญกับผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ แก้ว เซรามิกและปูนซีเมนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และอาหารและเครื่องดื่ม (โดยเฉพาะกลุ่มการผลิตน้ำแข็งและอาหารแช่เย็นแช่แข็ง) ซึ่งมีค่าใช้จ่าย การใช้พลังงานสูงถึงกว่า 10% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด อาจต้องรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น หากมีการปรับค่าไฟฟ้า Ft ในรอบระหว่างปี (จากระดับ 52.04 สตางค์/หน่วยในปัจจุบัน)

ขณะที่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ที่ต้องมีการขนส่งทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย (ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสูงกว่า 0.5% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด) น่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น หากรัฐทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศตามแผนที่วางไว้

แม้ทิศทางราคาวัตถุดิบทางการเกษตร (มีผลต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมอาหารและ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล รวมทั้งด้ายและสิ่งทอ) และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์การแพทย์) จะเป็นส่วนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี ผลกระทบสุทธิจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบในส่วนนี้ อาจสามารถบริหารจัดการได้บางส่วน ด้วยการใช้ประโยชน์จากจังหวะการแข็งค่าของเงินบาท และการปรับระดับสต็อกสินค้าคงคลังให้มีความเหมาะสมกับความผันผวนของราคาในแต่ละช่วงเวลา

อย่างไรก็ดี ทิศทางการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรมหลายประเภท ตั้งแต่ต้นปี 2556 นี้ อาจเป็นข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งอาจฉุดรั้งให้การฟื้นตัวไม่ราบรื่น เท่าที่ควร นอกจากนี้ ในระยะต่อไป ยังมีโอกาสที่ต้นทุนการผลิตประเภทอื่นๆ จะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตร ทั้งเมล็ดพันธุ์และอาหารสัตว์ เนื่องมาจากภาวะภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งนโยบายการทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง และเชื้อเพลิงของภาคอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าของตลาดทั้งในและต่างประเทศก็ยังคงมีตัวแปรที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และทิศทางค่าเงินบาท ที่อาจส่งผลความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

ดังนั้น ผู้ประกอบการก็คงต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถประคองธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมการผลิต การเปลี่ยนสถานะจากผู้รับจ้างผลิตมาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง มองหาช่องว่างทางการตลาด เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ส่วนเพิ่มได้ทัน ต่อภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่อาจเข้ามากระทบการดำเนินกิจการได้ทุกขณะ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรอาศัยช่วงจังหวะและประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อแสวงหาต้นทุนธุรกิจราคาถูกในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสำรวจและเปิดตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีเพื่อเป็นตลาดใหม่ และทดแทนตลาดหลักเก่า ที่อาจตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

จีนยังแก้ปัญหาน้ำตาลเถื่อนไม่ได้

ปักกิ่ง 31 ม.ค.- จีนยังไม่สามารถแก้ปัญหานักค้าน้ำตาลเถื่อนลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทยผ่านประเทศที่สาม เนื่องจากจีนยังคงราคาน้ำตาลในประเทศให้สูงกว่าราคาตลาดโลกเพื่ออุดหนุนการผลิตในประเทศ

นายหลิว ฮั่นเต๋อ รองประธานสมาคมน้ำตาลจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐกล่าวว่า ตราบใดที่ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างราคาในประเทศกับราคาตลาดโลก ปัญหาการลอบนำเข้าน้ำตาลเถื่อนจะยังไม่ยุติ นโยบายของรัฐบาลที่สะสมปริมาณน้ำตาลคงคลังเพื่อพยุงราคาในประเทศและจูงใจให้เกษตรกรปลูกอ้อยเปิดโอกาสให้นักค้าน้ำตาลเถื่อนฉวยทำกำไร ประมาณกันว่า ปี 2554-2555 มีน้ำตาลถูกลอบนำเข้าจีน 5 แสนถึง 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากไทย ผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่อันดับสองของโลก แต่เป็นการลอบนำเข้าผ่านประเทศที่สาม ขณะที่ตัวเลขนำเข้าน้ำตาลของทางการจีนในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 4.26 ล้านตัน จีนถือเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก

สมาคมน้ำตาลจีนเผยว่า ราคาน้ำตาลในประเทศกำหนดไว้ที่ตันละ 5,500 หยวน (ราว 27,500 บาท) ที่เขตปกครองตนเองกว่างซี แหล่งปลูกอ้อยของประเทศ แต่น้ำตาลเถื่อนซื้อขายกันที่ตันละ 4,000 หยวน (ราว 20,000 บาท) ปีที่แล้วสมาคมได้เสนอรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสการลอบนำเข้าน้ำตาลถึง 500,000 หยวน (ราว 2.5 ล้านบาท) แต่เนื่องจากชายแดนกว้างใหญ่จึงติดตามได้ลำบาก นอกจากนี้นักลอบนำเข้ายังมีวิธีหลบเลี่ยงมากมาย และทยอยนำเข้าทีละไม่มาก ทำให้สกัดได้แต่รายย่อย คาดว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีการลอบนำเข้าน้ำตาลแล้วกว่า 100,000 ตัน

นักลอบนำเข้าน้ำตาลเผยว่า ได้กำไรตันละ 600-800 หยวน (ราว 3,000-4,000 บาท) น้ำตาลเถื่อนจะถูกบรรจุใหม่ ติดตราในประเทศปลอม แล้วจำหน่ายถูกกว่าน้ำตาลตราในประเทศจริง สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยว่า น้ำตาลไทยถูกส่งออกไปกัมพูชาแล้วลอบนำเข้าจีนผ่านเวียดนาม กัมพูชานำเข้าน้ำตาลจากไทยประมาณ 400,000 ตัน แต่การบริโภคจริงน่าจะต่ำกว่านั้น น้ำตาลที่เหลือจึงน่าจะถูกส่งออกไปเวียดนามแล้วลอบนำเข้าจีนตามลำดับ

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 31 มกราคม 2556

เศรษฐกิจไต้หวันไตรมาส 4/2555 ขยายตัวร้อยละ 3.42 (YoY) สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาสอย่างเหนือความคาดหมาย

จากร้อยละ 0.98 (YoY) ในไตรมาส 3/2555 โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและบริการที่เร่งตัวขึ้นร้อยละ 4.0 (YoY) และการบริโภคภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้นร้อยละ 1.6 (YoY)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไต้หวันปี 2556 น่าจะยังประคองการเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยภาคส่งออกอันเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากอานิสงส์การเติบโตด้านการส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต อันเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกหลักของไต้หวันในฐานะผู้นำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตของโลก ประกอบกับยังได้แรงหนุนจากการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนที่แน่นเฟ้นยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดยุโรป (อันตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไต้หวัน) โดยไต้หวันได้ต่อยอดโอกาสการค้าการลงทุนกับจีนจากความตกลงเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไต้หวัน (ECFA) ที่ได้บังคับใช้เมื่อปี 2553 ทั้งยังมีการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านกำกับดูแลภาคการเงินของทั้ง 2 ประเทศ (CSRC และ FSC) ได้เตรียมเปิดให้ Broker สัญชาติไต้หวันที่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าไปถือหุ้นร่วมในลักษณะ Joint Venture เพื่อลงทุนธุรกิจหลักทรัพย์ได้ถึงร้อยละ 51 ในบางเมืองในเซี่ยงไฮ้ ฝูเจี้ยน และเซินเจิ้น และร้อยละ 49 ในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งมีแผนจะขยายโควต้าการลงทุนในโครงการ QDII เพื่อให้นักลงทุนสัญชาติจีนสามารถลงทุนในไต้หวันได้เพิ่มขึ้น จากโควต้ารวมเดิม 0.5 พันล้านดอลลาร์ฯ เป็น 1 พันล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ นักลงทุนไต้หวันยังสามารถลงทุนเป็นสกุลเงินหยวนในตลาดจีน (ในโครงการ RQFII) และจะอนุญาตให้บริษัทจีนสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันได้อีกด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนธ.ค. 2555 ชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับในเดือนธ.ค. มีวันทำการน้อย ทำให้ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกเติบโตในอัตราที่ชะลอลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงเช่นกัน แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมในไตรมาส 4/2555 ก็พบว่ายังขยายตัวได้ดี โดยภาคการใช้จ่ายในประเทศยังคงมีแรงส่งจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตามราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ยังดี การว่างงานต่ำ การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจยังดีทั้งในปัจจุบันและแนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้า ด้านสินเชื่อก็ยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้สถานการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่สะท้อนจากเครื่องชี้ล่าสุดในเดือนธ.ค. 2555 จะยังคงภาพว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จะเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังต้องรอสัญญาณการฟื้นตัวที่เข้มแข็งจากภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี หากมองภาพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยทั้งไตรมาสที่ 4/2555 (โดยเฉพาะในเดือนพ.ย. 2555) ที่แข็งแกร่งค่อนข้างมากจากอานิสงส์ของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงอุทกภัยปี 2554 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับการสะสมสต็อกในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 4/2555 มีโอกาสเติบโตในอัตราที่สูงกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อย มาที่ร้อยละ 14.0 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 13.0 (YoY) ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2555 อาจขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 สูงขึ้นจากประมาณการเดิมร้อยละ 5.0 เล็กน้อย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เตรียมเสนอรัฐมนตรี ลงนามประกาศโซนนิ่งพื้นที่เหมาะสมปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดทั่วประเทศ ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง โดยจัดทำรายละเอียดลงลึกในระดับตำบล เพื่อให้แต่ละจังหวัดใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ทั้งนี้ ในอนาคตอาจจะประกาศให้เป็นเขตเกษตรเศรษฐกิจตาม พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2522 เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีสิทธิพิเศษในการทำการเกษตรต่างจากพื้นที่อื่น และสะดวกต่อการเข้าไปส่งเสริมของภาครัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทย นับว่าเป็นโจทย์สำคัญที่จะช่วยเสริมให้อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยให้มีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้ การที่ภาครัฐกำหนดพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสม (โซนนิ่ง) พร้อมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมากำหนดเป็นแผนพัฒนาเกษตรรายจังหวัด นอกจากจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นครัวของโลกแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการที่สามารถเพาะปลูกได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ระยะแรกการผลักดันให้เกษตรกรปลูกพืชให้เหมาะสมตามพื้นที่ที่กำหนด จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร ควบคู่กับการให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูก และช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดในการจำหน่ายสินค้า รวมถึงควรเน้นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผลผลิตเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในอนาคต

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 31 มกราคม 2556

ขยายระบบชลประทานอ่างเก็บน้ำแม่ถาง

นายสุรพล อจละนันท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบของ

โครงการชลประทานชุมชนแม่ถาง จังหวัดแพร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่เดิมจำนวน 3,950 ไร่ รวมทั้งขยายพื้นที่ชลประทานใหม่ได้อีก 16,050 ไร่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2556

โครงการชลประทานชุมชนแม่ถาง จะรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ถาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุ 30.62 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ก่อสร้างเสร็จมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 แต่ยังขาดระบบส่งน้ำที่จะส่งไปยังพื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอร้องกวาง และอำเภอเมือง จังหวัดแพร่

สำหรับระบบส่งน้ำจะเป็นคลองดาดคอนกรีต ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เริ่มจากฝายหนองดู่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำแม่ถาง เป็นการก่อสร้างทดแทนของเดิมที่ชำรุดเสียหาย คลองฝั่งซ้ายมีความยาว 20.36 กิโลเมตร และมีคลองซอยอีก จำนวน 9 สาย มีความยาวรวมกันประมาณ 17 กิโลเมตร ส่วนคลองฝั่งขวามีความยาว 2.17 กิโลเมตร และมีคลองซอย 1 สาย ยาว 1 กิโลเมตร พร้อมสร้างคลองส่งน้ำขึ้นมาใหม่จากฝั่งซ้ายของฝายอ้อย มีความยาวประมาณ 9.5 กิโลเมตร

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ต.น้ำเลา ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง และ ต.ห้วยม้า ต.น้ำชำ ต.บ้านถิ่น ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่ ได้รับน้ำอย่างเพียงพอสำหรับการทำการเกษตร อ่างเก็บน้ำแม่ถางนอกจากจะเป็นแหล่งดิบน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้วยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงปลาในกระชัง อาทิ ปลานิล ปลากดคัง ของราษฎรในพื้นที่.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 31 มกราคม 2556

เกษตรจ่อประกาศโซนนิ่งพืชศก.

เกษตรฯเตรียมเสนอรมว.ลงนามประกาศโซนนิ่งพื้นที่เหมาะสมปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดทั่วประเทศ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำร่างบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนดเขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยเรียบร้อยแล้วและเสนอให้นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรฯเตรียมลงนามทั้งนี้พืชทั้ง 6 ชนิดประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงานและมันสำปะหลัง

ทั้งนี้พื้นที่เพาะปลูกในเขตที่มีความเหมาะสมหรือในเขตโซนนิ่ง กระทรวงเกษตรฯจะมีมาตรการสนับสนุนประกอบด้วย การให้องค์ความเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การช่วยเหลือด้านการเงินที่จะประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) หาเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่นการจัดหาแหล่งน้ำ ระบบชลประทาน การจัดรูปที่ดินและระบบโลจิสติกส์

ด้านการตลาด จัดระบบตลาดกลาง ตลาดซื้อชายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ด้านราคาจะหามาตรการช่วยเหลือด้านราคาให้ผลผลิตในเขตส่งเสริมได้ราคาดีกว่านอกเขตส่งเสริม

สำหรับเขตที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวมีด้วยกันทั้งสิ้น75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล แยกเป็นภาคเหนือ 17 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคใต้ 13 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด

พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยโรงงาน 51 จังหวัด 432 อำเภอ 2,369 ตำบล แยกเป็นภาคเหนือ 14 ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด

พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพด 42 จังหวัด 269 อำเภอ 1,250 ตำบล แยกเป็นภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด

พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกมันสำปะหลัง 49 จังหวัด 478 อำเภอ 2,312 ตำบล แยกเป็นภาคเหนือ14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด

พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกยางพารา 68 จังหวัด 499 อำเภอ 2,251 ตำบล แยกเป็นภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคใต้ 14 จังหวัด

พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมัน 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แยกเป็นภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคใต้14 จังหวัด

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 30 มกราคม 2556

สั่งปั๊มบัตรเครดิตเกษตรกร5ล.ใบ

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและร่วมประชุมกับคณะกรรมการธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าได้มอบนโยบายไปยังผู้บริหารและคณะกรรมการธ.ก.ส. ให้เร่งออกบัตรเครดิตเกษตรกรให้ครบ 4 ล้านใบในปี 2556 พร้อมทั้งให้พิจารณาดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกบัตรให้ครอบคลุมลูกค้าธ.ก.ส. ที่มีทั้งหมด 5 ล้านราย

"ธ.ก.ส.เสนอมาว่าสามารถออกบัตรครบ 4 ล้านใบได้ภายในปี 2557 แต่ผมเห็นว่าสามารถออกบัตรได้ภายในปีนี้ได้เลย และไม่ต้องห่วงเรื่องงบประมาณ ผมเตรียมพร้อมไว้แล้ว จึงมอบหมายให้ธ.ก.ส.กลับไปจัดทำแผนมาเสนอใหม่ อย่างช้าต้องเสร็จและนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการธ.ก.ส.ครั้งหน้าในเดือนก.พ." นายทนุศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.เสนอให้ขยายขอบข่ายการรูดซื้อสินค้าไปยังสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น อาทิ สบู่ ผงซักฟอก แต่ตนเห็นว่ายังไม่จำเป็น ควรจะเน้นแค่การรูดซื้อปัจจัยทางการผลิต อาทิ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์พืช และน้ำมันจะดีกว่า

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 30 มกราคม 2556

ตั้งคณะกรรมการช่วยเอสเอ็มอี หลังโดนพิษค่าแรง-ศก.โลก 'นิวัฒน์ธำรง'บัญชาการ6ด.

นายทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยคณะกรรมการ มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นที่ปรึกษา มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีภายในช่วงเวลา 6 เดือนจากนี้เท่านั้น

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงกำหนดสาขาของเอสเอ็มอีที่จะได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจนด้วย ให้กำหนดกรอบการใช้เงินตามโครงการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี จากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในลักษณะงบฉุกเฉินเร่งด่วน หรือเป็นเงินอุดหนุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จนสามารถขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ของรัฐหรือเอกชนได้ เช่น การปรับโครงสร้างกิจการ การลดต้นทุนการผลิต และการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาห กรรม กล่าวว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แบ่งเป็น 5 มาตรการเร่งด่วน และ 2 มาตรการระยะยาว เช่น โครงการอัดฉีดเงินทุนหมุนเวียนในการเสริมสภาพคล่องของเอสเอ็มอี โดยกระทรวงจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้อัตรา 3% ในปีแรก เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรักษาการจ้างงาน

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สัปดาห์นี้ภาคเอกชนจะเสนอมาตรการลดผลกระทบค่าเงินบาท 7 มาตรการต่อภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป, ไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่ง, ควรผ่อนคลายกฎเกณฑ์การถือครองเงินตราต่างประเทศ, การลดวงเงินทำธุรกรรมในการป้องกันความเสี่ยงเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงมาตรการป้องกันความเสี่ยงเพิ่ม, ควรแยกบัญชีต่างประเทศระหว่างบัญชีที่เข้ามาลงทุนและบัญชีเก็งกำไร, ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนต่างประเทศ โดยเร่งแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และให้ภาครัฐเร่งลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยประเมินว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้เงินผู้ส่งออกหายไป 216,000 ล้านบาทต่อปี

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาชิกว่า ธปท.พร้อมดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้เปรียบเทียบเงินสกุลบาทกับอาเซียนและอีก 4 ประเทศ คือ จีน ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ เนื่องจากมีความใกล้ชิดมากกว่า ขณะที่ด้านผู้ส่งออกรวมถึงผู้ประกอบการจะต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น นอกจากนี้ทุกหน่วยงานจะต้องช่วยกันสนับสนุนในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขายสินค้า เพื่อรองรับกับความผันผวนของค่าเงิน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 มกราคม 2556

‘ประสาร’จับตาทุนนอกทะลักเก็งกำไรเสี่ยงเกิด‘ฟองสบู่’รอบใหม่

ธปท.เฝ้าระวังเงินร้อนเข้าเก็งกำไร ย้ำจะไม่แทรกแซงค่าเงินให้อ่อนลงตามที่ผู้ส่งออกร้องมา แนะเอกชนระวังความเสี่ยงด้วยเพราะทางการเองคงไม่สามารถเข้าไปดูแลเอกชนได้ในทุกเรื่อง สอท.ห่วงแข็งแตะ 28 บาท

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้เริ่มกลับมามีผันผวนน้อยลง แต่ธปท.ก็ยังจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยในการดูแลค่าเงินบาทนั้น ธปท.พร้อมดูแลในกรณีที่ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าหรือผันผวนเร็วเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ผู้ประกอบการใช้ความระมัดระวังเตรียมความพร้อมในการรับมือด้วย เพราะทางการเองคงไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ในทุกเรื่อง ดังนั้นภาคธุรกิจเองก็ควรต้องระมัดระวังในเรื่องความเสี่ยงเอาไว้ด้วย

“เรื่องฟองสบู่คงไม่สามารถบอกได้ชัดๆ เพราะมันไม่ใช่ 1 กับ 100 แต่ก็เป็นสัญญาณที่ต้องระวัง บางสัญญาณเราก็คงพอเห็นอยู่ เช่น ระยะหลังใน ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ค่อนข้างคึกคัก หรืออสังหาริมทรัพย์ในบางเขต บางพื้นที่ ก็มีความคึกคักพอประมาณ แต่จะบอกว่ามันเกิดภาวะที่น่ากลัวแล้วใช่หรือไม่ มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเพียงแต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง”นายประสารกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)ได้เรียกร้องให้ธปท.ช่วยดูแลผลกระทบคาเงินบาทแข็ง 7 มาตรการ คือ 1.ให้ธปท.ดูแลไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างผันผวน โดยต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ 2. อย่าให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งหากแข็งค่าขึ้นมากกว่า 3% ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนา เพราะในมุมมองผู้ประกอบการถือว่าค่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแล้ว

3.ให้ปลดล็อกการถือครองเงินตราต่างประเทศ 4.ต้องการให้กลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีเข้าถึงกลไกและมาตรการต่างๆมากขึ้น เช่น ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐลดวงเงินค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดการป้องกันความเสี่ยงให้มีขนาดเล็กลง กำหนดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมให้เหมาะสม 5.แยกเงินที่ไหลเข้ามาเป็นเงินต่างประเทศที่แปลงเป็นเงินบาท เพื่อมาหาประโยชน์ แล้วสร้างภูมิคุ้มกันให้ชัดเจน 6.สนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนในต่างประเทศ และ 7.สนับสนุนการลงทุนภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

ขณะที่ นายประสารกล่าวว่า จากการรับฟังข้อเสนอของสอท.ในเบื้องต้นตามแนวคิดที่คุณเจนนำชัยศิริ รองประธานสอท.ชี้แจงผ่านสื่อก่อนหน้านี้ 7 ข้อ จริงๆ ในขณะนี้ธปท.ก็ทำครบทุกข้อแล้ว ยกเว้นข้อที่อยากให้มีการแยกเงินที่ไหลเข้ามาว่าเป็นเงินลงทุนโดยตรง หรือเงินที่เข้ามาเก็งกำไรนั้นคงทำได้ยาก เพราะในทางปฏิบัติคงลำบาก ส่วนข้อเสนอที่ให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยต้องลงทะเบียนและแจ้งวัตถุประสงค์การใช้นั้น ในการปฏิบัติคงทำได้ยาก และอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ รวมถึงอาจจะยุ่งยากในการปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์

“ในอดีตเคยมีการกู้เงินเข้ามาโดยไม่ทำอะไรรวมถึงที่ไหลมาลงทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรนั้น ยอมรับว่าเคยมี เรารู้ว่าเป็นใคร รายไหน ในตลาดในวงการเขาก็รู้ ซึ่งเราก็เคยมีการลงโทษสั่งปรับหรือพยายามไม่ติดต่อ และบางครั้งถึงขั้นยึดในอนุญาตก็มี แต่ในปัจจุบันหรือในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาถึงจะเงินทุนระยะสั้นเข้ามามากขึ้น แต่ก็ยังไม่พบการเก็งกำไรจนผิดปกติจนต้องลงโทษแต่อย่างใด” นายประสารกล่าว

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น โดยอาจจะถึง 28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเอสเอ็มอีที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักได้รับผลกระทบมาก เพราะเมื่อเอกชนนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาแลกเป็นเงินบาท มูลค่าเงินบาทจะลดน้อยลง ดังนั้น ภาคเอกชน จึงอยากให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทในระยะ 1-2 เดือนนี้ให้เคลื่อนไหวเกาะกลุ่มไปกับเงินสกุลภูมิภาคไม่อยากให้ผันผวน เพื่อให้สอดคล้องกับการรับออเดอร์และการประกันความเสี่ยง

นอกจากนี้ เอกชนเชื่อว่า ธปท.กำลังดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทอยู่ และอยากรู้ว่า ธปท.ได้ศึกษาวิธีการดูแลค่าเงินของต่างประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันว่ามีมาตรการดูแลค่าเงินอย่างไร เพราะเอกชนอยากเห็นค่าเงินบาทในระดับประมาณ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันที่ 29 มกราคม 2556 กลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเคลื่อนไหวประมาณ 29.86-29.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 มกราคม 2556

ภัยแล้งรุนแรง

ปัญหาภัยแล้งปีนี้มีแนวโน้มจะมีความรุนแรง เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อย เป็นผลมาจากการที่ได้มีการพร่องน้ำเพื่อเตรียมรองรับปัญหาอุทกภัยในปี 2555 ที่ผ่านมา

ประกอบมีปรากฏการณ์เอลนิโญ่ต่อเนื่องทำให้ช่วงปลายฤดูฝนมีฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าปี 2554 มาก

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพื่อการ เกษตรในช่วงฤดูแล้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จึงคาดว่าปีนี้จะประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซาก และพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน

เบื้องต้นมีพื้นที่เกษตรเสี่ยงที่จะประสบความแห้งแล้งสูงในปี 2556 จำนวน 45 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 9.52 ล้านไร่

นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่ควรเฝ้าระวังพิเศษ เนื่องจากคาดว่าจะประสบความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้างส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง และปลูกพืชไร่ กระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลงจำนวน 23 จังหวัด อาทิ กาญจนบุรี สระแก้ว และเพชรบูรณ์ เป็นต้น

ที่สำคัญภัยแล้งที่รุนแรงมาก อาจกระทบถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่ไม่สนับสนุนให้เพาะปลูก หากมีการปลูกพืชถือว่าเอาเปรียบชาวบ้าน เพราะน้ำที่ส่งให้จากเขื่อนเป็นน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อทำการเกษตร

แต่ข้อเท็จจริงเวลานี้ยังมีคนเสี่ยงปลูกข้าวจากราคารับจำนำที่จูงใจ   เพราะฉะนั้นอาจทำให้ทั้งผู้บริโภคกับเกษตรกรขาดแคลนน้ำกันอย่างแสนสาหัส

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 30 มกราคม 2556

จัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ก.เกษตรฯจับมือมก.ดีเดย์31มค.-9กพ.ชูแนวคิด

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ แถลงว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดจัดงานวันเกษตรแห่งชาติประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใต้ชื่อ “นวัตกรรมงานวิจัย นำเกษตรไทยไปสากล”เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของงานวิจัยทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นฐานนำพาการเกษตรไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากล ในการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน ที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในวันที่ 31 มกราคม เวลา 16.00 น.

นายชวลิตกล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะจัดแสดงงานภายใต้แนวคิด “การเกษตร นวัตกรรมจากธรรมชาติ” โดยหน่วยงานในสังกัดจะนำผลงานซึ่งประสบความสำเร็จในเชิงวิจัย การสร้างองค์ความรู้ มาจัดแสดง 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1

การจำลองรูปแบบการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากธรรมชาติ ที่จะทำให้เราเข้าใจถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่แหล่งน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งการพลิกแพลงดัดแปลงธรรมชาติให้เกิดเป็นนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจร ส่วนที่ 2 การจัดแสดงนวัตกรรมต้นแบบในเชิงสาธิตโดยรวม เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพสินค้าเกษตรของประเทศไทยที่สามารถยืนหยัดอยู่บนเวทีของตลาดโลก และฝ่าฟันเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยจะจัดแสดงในรูปแบบเชิงการสาธิตเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมของการส่งเสริมองค์ความรู้อย่างครบวงจร การค้นคว้าวิจัย การใช้ประโยชน์จากการเกษตรทุกๆ ด้าน เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน

“นอกจากนี้ ในการจัดงานยังได้รับพระกรุณาธิคุณให้จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร้านภูฟ้าร้านศิลปาชีพ 904 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย โครงการ TO BE NUMBER ONE ศูนย์ศิลปาชีพ และมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้ประชาชนได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพสำหรับเป็นของฝากของที่ระลึกอีกด้วย” นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 มกราคม 2556

‘กรมพัฒนาที่ดิน’เข็น3มาตรการ แก้ปัญหาหมอกควันพิษภาคเหนือ

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินระบุ 3 มาตรการแก้ปัญหามลพิษหมอกควัน ทั้งการไถกลบตอซังหว่านพืชปุ๋ยสด การแจกสารเร่งเพื่อให้เกษตรกรนำไปทำเห็ดฟางก่อนทำปุ๋ยและการนำเศษวัชพืชหมักทำแก๊สเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้า เป็นมาตรการใหม่ของปีนี้ในการแก้ปัญหามลพิษหมอกควัน

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยถึงมาตรการในการแก้ปัญหามลพิษหมอกควัน ซึ่งเกิดขึ้นหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือกรมพัฒนาที่ดินได้รณรงค์งดเผาตอซังโดยพบว่าปัจจุบันเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ มีถึง 540,000 ตันต่อปี จากพื้นที่เกษตร1.8 ล้านไร่ หากปล่อยให้เผาก็จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษหมอกควัน อีกทั้งอินทรียวัตถุในดินสูญเสียไป ซึ่งการไถกลบจะช่วยทำให้อินทรียวัตถุในดินคงอยู่ ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืช เพิ่มความชุ่มชื้นในดิน โดยได้มีการรณรงค์ในทุกจังหวัด จังหวัดละ 200-300 ไร่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้เห็นของจริงเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ มีการสาธิตทำความเข้าใจกับเกษตรกร โดยปีนี้มีความแตกต่างจากทุกปีคือนอกจากการไถกลบตอซังแล้วยังแจกสารเร่งเพื่อให้เกษตรกรนำไปทำเห็ดฟาง ก่อนที่จะนำฟางไปทำปุ๋ย ส่วนพื้นที่ไถกลบตอซังก็จะฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพย่อยสลายตอซังข้าวและหว่านพืชปุ๋ยสด ทั้งปอเทืองและถั่วพร้าเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดิน อีกทั้งร่วมมือกับกรมพลังงานให้ความรู้เกษตรกรเพื่อนำเศษวัชพืชไปหมักทำแก๊สชีวภาพและนำไปปั่นไฟฟ้าใช้ได้อีกด้วย

อธิบดีกรมการพัฒนาที่ดิน ยังกล่าวด้วยว่า หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เชื่อว่าปัญหามลพิษหมอกควันจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนทั้งนี้การรณรงค์ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ได้รณรงค์ไปทุกจังหวัด รวมทั้งภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นที่เกษตรจำนวนมากด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 มกราคม 2556

“ส่งออก” กระอักบาทแข็ง-ศก.โลกทรุด ครองขวัญ รอดหมวน

เป็นประเด็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างร้อนแรงและได้รับการพูดถึงมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ นั่นคือเรื่อง “เงินบาทแข็งค่า” ที่สาเหตุหลักๆ ของกรณีนี้ เกิดจากประเทศเศรษฐกิจมหาอำนาจ อย่างสหรัฐและญี่ปุ่น อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ จนเป็นผลทำให้เกิดกรณีสภาพคล่องล้นจนไหลทะลักเข้าสู่ประเทศหรือภูมิภาคในโลกที่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ซึ่งนั่นเองก็รวมไปถึง “ไทย” ด้วย

สำหรับเรื่องนี้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เคยออกมาระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในส่วนของไทยเอง อยากจะมองว่ามีข้อดีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่ในประเทศไทยเองยังไม่มี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการทั้งหลาย ขณะที่ภาครัฐเองก็พร้อมที่จะเร่งนำเข้าเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อรองรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้

แต่ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง และต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็คือ “ผู้ประกอบการในกลุ่มส่งออก” ที่อาจได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อยู่บ้าง โดยเรื่องนี้ “กิตติรัตน์” ยืนยันว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับกลุ่มผู้ส่งออก เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท

ขณะที่การดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีมาตรการรับมือในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเชื่อว่าจะไม่ใช่วิธีการลดอัตราดอกเบี้ยหรือแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยวิธีการซื้อขายเงินตราสวนทิศทางกับประเทศอื่นอย่างแน่นอน เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและไม่มีประโยชน์

“ผมยืนยันว่าไม่ชอบให้เงินบาทแข็งค่า พูดมาตั้งแต่ตอนค่าบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์แล้ว และยังคงยืนยันอีกว่า รัฐบาลจะไม่เป็นกลไกที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งอย่างแน่นอน ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไปกดดันค่าเงินบาทนั้น ยืนยันอีกว่าจะเป็นการกู้ในประเทศ เป็นการกู้เงินบาท ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน” กิตติรัตน์กล่าว

ขณะที่ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยตรง ได้ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้มีการสั่งการอะไรมาเป็นพิเศษ โดยตนเพียงแค่เข้าไปรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเท่านั้น

พร้อมทั้งยืนยันว่าการไหลเข้าไทยของเงินทุนต่างชาติในช่วงนี้นั้น ไม่ได้เป็นการไหลเข้าในลักษณะโจมตีค่าเงินบาท แต่เป็นเพียงการเข้ามาซื้อเพราะเห็นว่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีระดับการแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเท่านั้น รวมถึงพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อยู่ในทิศทางที่ดี จึงยังไม่น่าวิตกกังวลมากนัก

“ความจริง ธปท.มีการใช้เครื่องมือในการดูแลค่าเงินบาทบางอย่างอยู่แล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบนั้น ตนอยากให้มองในมุมกว้างมากขึ้น และเรื่องนี้คงต้องรอแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนจากรัฐบาลด้วย โดยในช่วงเร็วๆ นี้ ธปท.จะมีการหารือร่วมกันกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย” ประสารกล่าว

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการเปิดเผยการสำรวจผลกระทบของค่าเงินบาทต่อภาคธุรกิจ โดยได้ทำการสอบถามผู้ประกอบการทั่วประเทศประมาณ 400 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก โดยระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการนั้น เห็นว่าควรจะอยู่ที่ 30.2 บาทต่อดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่าที่สุดและสามารถยอมรับได้ นั่นคือ 29.40 บาทต่อดอลลาร์ และจะสามารถรับแรงกดดันได้ประมาณ 45 วัน พร้อมถึงเสนอแนะว่า ธปท.ควรดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วจนเกินไป และควรมีมาตรการรักษาระดับค่าเงินให้ปรับไปในทิศทางใกล้เคียงกับคู่แข่งหรือประเทศในภูมิภาค

ต้องยอมรับจริงๆ ว่าเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ต้องหันมาให้ความสนใจมากขึ้นในทันที เพราะทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์อย่างมาก ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ถูกจับตามองมากที่สุดกับกรณีนี้คือ “กลุ่มส่งออก” ที่ก่อนหน้านี้เริ่มมีวี่แววการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากความสามารถในการบริโภคที่ลดลงของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น กลับต้องมาเจอมรสุมอีกระลอก กับการแข็งค่าของเงินบาท

และต้องยอมรับอีกว่ารัฐบาลได้ให้ความสนใจกับการให้ความช่วยเหลือ และการแก้ปัญหานี้ค่อนข้างดี เพราะมีการประสารข้อมูล หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่จะได้รับผลกระทบ ถือว่าดีกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจถดถอยมาก ที่การทำงานค่อนข้างล่าช้า จนเป็นผลให้กลุ่มผู้ส่งออกในหลายๆ ส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนักไปตามๆ กัน

นั่นเพราะเรื่อง “ค่าเงิน” ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการค้าขาย แต่ในภาพรวมของปัญหาที่มีแรงกดดันต่อการค้าขายของผู้ประกอบการไทยนั้น ก็ยังคงลืมความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจไม่ได้ เพราะหลายฝ่าย ซึ่งรวมไปถึง “ธนาคารโลก” ก็ยังคงให้น้ำหนักกับปัญหานี้อยู่ว่าจะยังมีแรงกดดันกับภาคส่งออกของไทยอยู่มาก และอาจจะมากกว่าการแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้ด้วย โดยหลังจากนี้ “หวัง” ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้มากขึ้น แม้ว่าปัญหาค่าเงินอาจจะส่งผลกระทบแค่ระยะสั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “การบาดเจ็บ” ในช่วงสั้นจะไม่ “สาหัส”.

จาก http://www.thaipost.net  วันที 29 มกราคม 2556

ค้านมาตรการคุมเงินไหลเข้า ผวาไล่นักลงทุนกระเจิง โต้งวางใจธปท.เอาอยู่

สมาคมตราสารหนี้ไม่เห็นด้วยผู้ส่งออกเรียกร้อง ธปท.ออกมาตรการควบคุมเงินไหลเข้า หวั่นกระทบการลงทุน แนะเลียนแบบมาเลเซีย อินโดนีเซีย "กิตติรัตน์" มั่นใจแบงก์ชาติ "เอาอยู่" หุ้นไต่ระดับขาขึ้น ปิดบวกอีก 10 จุด

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ประกอบการส่งออกเตรียมเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน (Capital Control) เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทนั้น หาก ธปท.ออกมาตรการดังกล่าวจริง จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะยาว เพราะการออกมาตรการชั่วคราวเพื่อสกัดกั้นการไหลเข้าของเงินต่างชาติจะทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุน เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการมาควบคุมเมื่อใด

“การออกมาตรการชั่วคราว จะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลัว การจะออกมาตรการอะไรต้องมีความชัดเจนและมีการประกาศที่แน่ชัด ไม่ใช่การออกมาตรการเป็นครั้งคราว เพราะจะทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามา” นายนิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่า ธปท.ควรออกนโยบายป้องกันเงินไหลเข้าแบบเดียวกับประเทศมาเลเซียที่ดำเนินการอยู่ คือการให้นักลงทุนต่างชาติลงทะเบียนก่อนเข้ามาลงทุน และหากพบว่านักลงทุนรายใดมีแนวโน้มที่จะลงทุนเพื่อโจมตีค่าเงินหรือลงทุนผิดปกติ ก็ให้ระงับการลงทุนในประเทศไป

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ถึง 1 แสนล้านบาท โดย 90% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น และมีแนวโน้มที่จะไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดูแลไม่ให้มีการสร้างความผันผวนให้กับค่าเงิน อย่างเช่นมาตรการเดียวกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียจะมีการกำหนดอายุการซื้อพันธบัตร กล่าวคือ หากนักลงทุนซื้อพันธบัตรอายุ 3 เดือน ก็ต้องถือให้ครบอายุ 3 เดือน ห้ามซื้อขายก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ เพื่อลดความผันผวนของกระแสเงินทุน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ถือเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการควรออกหุ้นกู้สกุลดอลลาร์เสนอขายในประเทศ ภายหลังจากที่ ธปท.ได้อนุมัติให้สามารถออกหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ได้ในช่วงปลายปีก่อน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวว่า ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนตัวเชื่อว่า ธปท.จะสามารถดูแลเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่รัฐบาลเองยังยืนยันว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงทิศทางค่าเงินจนทำให้เกิดความหวาดระแวงและบิดเบือนกลไกตลาด

โดยหลังจากนี้รัฐบาลจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์จากต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินบาทได้เป็นอย่างดี รวมถึงจะทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลลดลงด้วย

“ถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในการดูแลทั้งในแง่ของตลาดทุนและตลาดเงิน ที่ต้องดูแลนโยบายเพื่อควบคุมสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ของดอกเบี้ยนโยบาย สภาพคล่องในตลาดตราสารการเงิน เพื่อป้องกันการเก็งกำไร” นายกิตติรัตน์กล่าว

ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 25 ม.ค. ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยปิดที่ 1,472.05 จุด เพิ่มขึ้น 10.64 จุด มูลค่าการซื้อขาย 59,042.36 ล้านบาท ดัชนีสูงสุด 1,473.67 จุด และต่ำสุด 1,464.40 จุด สถาบันซื้อสุทธิ 274.54 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 229.60 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 777.47 ล้านบาท รายย่อยซื้อสุทธิ 273.33 ล้านบาท.

จาก http://www.thaipost.net วันที 29 มกราคม 2556

เอกชนโอดค่าเงินบาทแข็งค้าขายลำบาก ส่งออกสูญรายได้1.97แสนล.

สศอ. เผยบาทแข็งทำให้มูลค่าส่งออกหายไปกว่า 1.97 แสนล้านบาท เตือนรัฐอย่าให้เงินบาทผันผวน บริหารลำบาก บั่นถอนศักยภาพการแข่งขัน แบงก์ชาติชี้ลดดอกเบี้ยสกัดเงินไหลเข้าชะลอบาทแข็งต้องคิดให้รอบคอบ ยันจับตาใกล้ชิด พร้อมช่วยเหลือผู้ส่งออก

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมบ้าง แต่ยังคาดการณ์ว่าในปีนี้ จีดีพีภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัว 4-5% บนพื้นฐานค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 5.5-6.5% และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะขยายตัวคิดเป็นมูลค่า 6.2 ล้านล้านบาท

ภาคอุตสาหกรรมได้รับปัจจัยบวกจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ อาทินโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่แรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและประเทศเศรษฐกิจใหม่ ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียนเติบโตดี

แต่ก็ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมถึงเงินบาทแข็ง ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไม่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งปีลดลง 197,618 ล้านบาท การส่งออกลดลง 2.8% ส่งผลให้จีดีพีอุตสาหกรรม 2556 ลดลงประมาณ 1%

อุตสาหกรรมที่กระทบมากที่สุด คือ ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นภาครัฐจะต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เกิดความผันผวน รวมทั้งต้องวิเคราะห์ค่าเงินของประเทศคู่แข่งตามรายสินค้ารวมทั้งสนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนยังต่างประเทศและรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการลดการพึ่งพิงการส่งออกในระยะยาว เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

“หากดูรายละเอียดจะพบว่าแม้บาทจะแข็งค่าแต่ก็ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการขยายตัวการส่งออกมากนักแต่ความผันผวนจะทำให้การบริหารยากและลดขีดความสามารถทางการแข็งขันหากไทยแข็งกว่าเพื่อนบ้านและสำคัญจะกระทบตรงต่อมูลค่าส่งออกเป็นสำคัญซึ่งเฉลี่ย 2-22 มกราคม 2556 เงินบาทแข็งค่าแล้ว 2.53% ส่วนผลกระทบค่าแรงนั้นวันที่ 29 มกราคมนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะแถลง 5 มาตรการเร่งด่วนและ 2 มาตรการระยะกลางช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)” นายณัฐพลกล่าว

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 56.75 เพิ่มขึ้น 11.57 จุด และเป็นระดับที่สูงกว่า 50 เป็นครั้งแรกนับจากการสำรวจในเดือนมกราคม ปี 2555 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะแข็งแกร่งโดยได้รับผลดีจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การส่งออกสินค้าเป็นปัจจัยเดียวที่ยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ

ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนี อยู่ในระดับ 59.94 และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ในระดับ 63.82 หมายความว่ามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่สดใส

ประเด็นเศรษฐกิจใน 3-6 เดือนข้างหน้าที่นักเศรษฐศาสตร์เป็นห่วงมากที่สุด และอยากให้รัฐบาลดูแลเป็นพิเศษมีดังนี้ 1.ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่จะส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการเพิ่มสูงขึ้น และกระทบกับธุรกิจ SMEs ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานในอนาคตได้ (33.9%) 2.การใช้จ่ายเงินในโครงการประชานิยมต่างๆ (โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว) อาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะในอนาคต (19.6%)

3.ปัญหาค่าเงินบาทผันผวนจนอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก (10.7%) 4.ปัญหาราคาสินค้าค่าครองชีพหรืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น (10.7%) 5.ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ของครัวเรือน(10.%) 6.ปัญหาอื่นๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเบิกจ่ายงบประมาณ เศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมือง เป็นต้น

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีมาตรการติดตามกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างใกล้ชิด และขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการชี้นำตลาด หรือเก็งกำไร อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงินควรมีความระมัดระวังให้มากขึ้น ผู้ส่งออกอาจเจรจากับคู่ค้าโดยอาจเปลี่ยนไปค้าขายด้วยสกุลเงินอื่น และมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนส่วนกรณีที่ สอท.ต้องการให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อป้องกันการไหลเข้า เพื่อลดแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่านั้นจะต้องพิจารณาในหลายด้านประกอบกัน โดยเฉพาะเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะพิจารณาอย่างรอบคอบ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 มกราคม 2556

ธปท.ถกสอท.ยันไม่อุ้มค่าเงินบาท

ธปท.ชี้หารือสอท.ทำความเข้าใจ ยันไม่ยอมอุ้มค่าเงินบาท และในการดูแลค่าเงินจะไม่ใช้แนวทางรุนแรงที่อาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้เริ่มกลับมามีผันผวนน้อยลง แต่ก็ยังจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนการหารือเรื่องการบรรเทาผลกระทบค่าเงินบาทแข็งร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ในวันนี้เวลา 15.30 น. นั้นคงต้องรับฟังข้อเสนอแนะกันอยู่ เพราะนอกจากการดูแลสถานการณ์ในแต่ช่วงแล้ว จะได้หารือถึงแนวทางที่ควรช่วยกันดูแลในอนาคตด้วย เพราะค่าเงินบาทยังไม่ชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางใด

“การหารือกับสอท.คงต้องพูดคุยกัน แต่จะคาดหวังให้ธปท.มาอุ้มค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งคงได้ เพราะการผันผวนของค่าเงินบาทมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ ที่หลายประเทศไม่ปฎิบัติตามกฎ ซึ่งเราก็เห็นใจภาคเอกชน แต่เอกชนก็ต้องระมัดระวังในส่วนของเขาด้วย ส่วนเราทางการก็จะระวังในส่วนต่างๆและพยามสร้างสมดุลทำให้เงินทุนไหลเข้าและไหลออกสมดุลเป็นธรรมชาติ เพื่อให้สามารถบริการจัดการคาเงินได้ สรุปทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกัน” นายประสารกล่าว

นายประสาร กล่าวว่า จากการรับฟังข้อเสนอของ สอท.ในเบื้องต้นตามแนวคิดที่คุณเจน นำชัยศิริ รองประธานส.อ.ท.ชี้แจงผ่านสื่อก่อนหน้านี้ 7 ข้อ จริงๆในขณะนี้ธปท.ก็ทำครบทุกข้อแล้ว ยกเว้นข้อที่อยากให้มีการแยกเงินที่ไหลเข้ามาว่าเป็นเงินลงทุนโดยตรง หรือเงินที่เข้ามาเก็งกำไรนั้นคงทำได้ยาก เพราะในทางปฏิบัติคงลำบาก ส่วนข้อเสนอที่ให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยต้องลงทะเบียนและแจ้งวัตถุประสงค์การใช้นั้น ในการปฏิบัติคงทำได้ยาก และอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ รวมถึงอาจจะยุ่งยากในการปฎิบัติของธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตามแม้แนวทางนี้จะถือเป็นมาตรการหนึ่งในการสกัดเงินทุนไหลเข้า แต่คงยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับไทย ซึ่งเท่าที่ทราบประจีนได้นำมาใช้ แต่จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจปิด ระบบการเงินปิด การจะทยอยเปิดโดยให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาได้ แต่ให้ลงทะเบียนแจ้งวัตถุประสงค์การมาก็อาจจะได้ แต่สำหรับไทยคงไม่เหมาะ เพราะตลาดการเงินไทยไม่ได้พบการเก็งกำไรที่รุนแรง อย่างไรก็ตามธปท.ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

“ในอดีตเคยมีการกู้เงินเข้ามาโดยไม่ทำอะไร รวมถึงที่ไหลมาลงทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรนั้น ยอมรับว่าเคยมี เรารู้ว่าเป็นใคร รายไหน ในตลาดในวงการเขาก็รู้ ซึ่งเราก็เคยมีการลงโทษสั่งปรับ หรือพยามไม่ติดต่อ และบางครั้งถึงขั้นยึดในอนุญาตก็มี แต่ในปัจจุบันหรือในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาถึงจะเงินทุนระยะสั้นเข้ามามากขึ้น แต่ก็ยังไม่พบการเก็งกำไรจนผิดปกติจนต้องลงโทษแต่อย่างใด” นายประสารกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเจน นำชัยศิริ รองประธานส.อ.ท.ได้เรียกร้องให้ธปท.ช่วยดูแลผลกระทบคาเงินบาทแข็ง 7 มาตรการ คือ 1.ให้ธปท.ดูแลไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างผันผวน โดยต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ 2. อย่าให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งหากแข็งค่าขึ้นมากกว่า 3% ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนา เพราะในมุมมองผู้ประกอบการถือว่าค่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแล้ว

3.ให้ปลดล็อคการถือครองเงินตราต่างประเทศ 4.ต้องการให้กลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี เข้าถึงกลไกและมาตรการต่างๆมากขึ้น เช่น ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐลดวงเงินค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดการป้องกันความเสี่ยงให้มีขนาดเล็กลง กำหนดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมให้เหมาะสม 5.แยกเงินที่ไหลเข้ามาเป็นเงินต่างประเทศที่แปลงเป็นเงินบาท เพื่อมาหาประโยชน์ แล้วสร้างภูมิคุ้มกันให้ชัดเจน 6.สนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนในต่างประเทศ และ7. สนับสนุนการลงทุนภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 29 มกราคม 2556

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรรายจังหวัด เพื่อผลักดันรายได้เกษตรกรสู่ 1.8 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการบรรยายพิเศษในการสัมมนา เรื่อง "การชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด" ให้แก่เกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ว่า แนวทางหลักที่ได้มอบนโยบายการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของจังหวัดนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะเน้นใน 5 เรื่องหลักด้วยกัน คือ 1.แต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการเรื่องการจัดเขตเศรษฐกิจหรือโซนนิ่งให้ได้ 2. การเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยอาหาร 3.การมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช 4.การเป็นศูนย์กลางเครื่องจักรกลในอาเซียน และ 5.การจัดระบบการผลิตที่เป็นเกษตรสีเขียว(Green Economy)ซึ่งการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของจังหวัดที่จะเกิดขึ้นนั้น เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจะต้องเป็นแกนกลางสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ จากข้อมูลฐานด้านการเกษตรที่แต่ละจังหวัดได้เสนอมายังกระทรวงเกษตรฯแล้ว ทั้งในด้านแหล่งผลิต ผู้รับซื้อสินค้า แหล่งกระจายสินค้า โครงการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ลงไปพัฒนาการเกษตรในพื้นที่มาพิจารณา เพื่อพัฒนาการผลิตด้านการเกษตรของเกษตรกรทั้งกลุ่มที่มีรายได้อยู่ที่ 180,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และต่ำกว่า 180,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ให้มีการทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเกี่ยวกับความเหมาะสมของการเพาะปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย และข้าวโพด โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ระดับ คือ เหมาะสมมาก และเหมาะสมปานกลาง ดังนั้นในส่วนของพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูก แต่ละจังหวัดต้องพิจาราณา และวิเคราะห์แผนการผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรทั้งในด้านพืช ประมงและปศุสัตว์ หรือการสร้างรายได้นอกภาคเกษตร เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยเกษตรกรต้องมีรายได้ 300 บาทต่อครัวเรือนต่อวัน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 29 มกราคม 2556

ธปท.กระทุ้งผู้ส่งออกรับมือบาทผันผวน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าอย่างใกล้ชิด โดยช่วงที่ผ่านมานักลงทุนยังเข้ามาลงทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น แต่ยืนยันว่ายังไม่เห็นสัญญาณการเก็งกำไรค่าเงินบาทหรือมีลักษณะชี้นำตลาด โดยล่าสุดเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ 29.95-29.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควรประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงผู้ส่งออกอาจเจรจากับคู่ค้าเพื่อซื้อขายสินค้าสกุลอื่น

สำหรับข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ต้องการให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% เพื่อป้องกันเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไร และลดแรงกดดันเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นเร็วเกินไปนั้น โดยยืนยันว่าดอกเบี้ยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการค่าเงินเท่านั้น แต่การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องพิจารณารอบด้าน โดยเฉพาะเสถียรภาพระบบการเงิน เศรษฐกิจภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา ส่วนข้อเสนอที่ผู้ส่งออกต้องการขยายเวลาถือครองเงินสกุลต่างประเทศออกไปจากปัจจุบันกำหนดไว้ 1 ปีนั้น ธปท.พร้อมรับฟัง แต่ขณะนี้ความคืบหน้าในการหารือกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท.ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน คาดว่ายังอยู่ระหว่างขั้นตอนการนัดเวลาหารือกันอย่างเป็นทางการ

"ขณะนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในตลาดการเงินมาก โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจหลักที่ทำให้ค่าเงินผันผวน ซึ่งธปท.ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหากเป็นการลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียวจะมีข้อจำกัดไว้ ส่วนเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงในช่วงนี้ถือว่าปกติ เพราะเมื่อตลาดไปในทิศทางใดทางหนึ่งมากเกินไปและเร็วเกินไปก็จะเริ่มปรับตัวได้ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลขการส่งออกที่ต่ำกว่าคาดการณ์มาก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง"นายประสารกล่าว

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 29 มกราคม 2556

เตือนประกันเสี่ยงรับบาทแข็ง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าอย่างใกล้ชิดหลังจากนักลงทุนยังเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น แต่ยืนยันว่ายังไม่เห็นสัญญาณการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน หรือในลักษณะชี้นำตลาด ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลง โดยล่าสุดอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 29.95 -29.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงินควรระมัดระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรองรับความผันผวน ขณะที่ผู้ส่งออกอาจเจรจากับคู่ค้าเพื่อซื้อขายในสกุลอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ ส่วนข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ต้องการให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันการไหลเข้าของเงินทุน และลดแรงกดดันค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปนั้น ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการค่าเงินเท่านั้น แต่การดำเนินนโยบายการเงินต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยเฉพาะเสถียรภาพระบบการเงินเศรษฐกิจภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเป็นผู้พิจารณา

ขณะนี้ยังไม่ได้หารือกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. อย่างเป็นทางการ ธปท.พร้อมพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกอย่างเต็มที่และผู้ส่งออกเองสามารถถือครองเงินสกุลต่างประเทศที่ได้จากการค้าขายได้ 1 ปี แต่หากต้องการขอยืดระยะเวลาการถือครองเงินให้มากขึ้นก็พร้อมที่จะรับฟัง

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)กล่าวว่า ปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจมีผลกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และการแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 56 โดยเฉพาะเรื่องของค่าเงินบาทหากแข็งค่าขึ้น 1 บาทหรือ 3.26% ตลอดทั้งปีจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งปีเมื่อแลกจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินบาทแล้วจะลดลง 197,618 ล้านบาท

ทั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบริหารค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และให้สะท้อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกับประเทศคู่แข่งทางการค้า รวมถึงควรหามาตรการส่งเสริมการลงทุนไปยังต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าแต่ก็ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการขยายตัวการส่งออกมากนักโดยการส่งออกยังมีทิศทางที่โตขึ้นแต่ความผันผวนจะทำให้การบริหารยากและลดขีดความสามารถทางการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม 3 กลุ่ม คือกลุ่มแรกการส่งออกมาก และการนำเข้าน้อยและกลุ่มที่สามเป็น การส่งออกน้อย และการนำเข้ามาก.

จากhttp://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 มกราคม 2556

ระเบิดศึก...ชิงงบลงทุนน้ำ

ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว และอีกไม่นานก็จะรู้ผลว่ากลุ่มบริษัทใดบ้างใน 8 กลุ่มบริษัท ที่จะผ่านการคัดเลือก “รอบแรก” ในการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) ลงทุนน้ำ 3 แสนล้านบาท

ตอนแรกมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า จะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 29 ม.ค. และเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

แต่ข่าวล่าสุด ปลอดประสพ สุรัสวดีรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)“ควบตำแหน่ง” ประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ปัญหาอุทกภัย ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ กบอ. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา

หัวข้อหลักการประชุมครั้งนี้ คือ สรุปผลการให้คะแนนกรอบแนวคิดการลงทุนน้ำ และ “เคาะ” ว่า กลุ่มบริษัทใดบ้างที่เข้ารอบในบัญชีรายชื่อ 3 กลุ่มบริษัทที่ได้สิทธิเข้าร่วมประมูลลงทุนระบบน้ำ “รอบสุดท้าย” ในแต่ละแผนงานหรือโมดูล จากแผนลงทุนน้ำทั้ง 10โมดูลให้ ครม.พิจารณา

แผนลงทุนน้ำ 10 โมดูล ประกอบด้วย 1.แผนงานลุ่มนน้ำเจ้า พระยา 6 โมดูล งบประมาณรวม 2.9 แสนล้านบาท

ภารกิจของงานจะมีตั้งแต่ สร้างอ่างเก็บน้ำ 5 หมื่นล้านบาท การจัดผังการใช้พื้นที่ 5 หมื่นล้านบาท การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานหรือแก้มลิง 6 หมื่นล้านบาท ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก 7,000 ล้านบาท สร้างฟลัดเวย์ 1.2 แสนล้านบาท ระบบพยากรณ์และระบบเตือนภัยอีก 3,000 ล้านบาท

2.แผนงานลุ่มน้ำอื่นๆ 17 ลุ่มน้ำ 4 โมดูล ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านบาท

ภารกิจหลักคือสร้างอ่างเก็บน้ำ 1.2 หมื่นล้านบาท จัดผังการใช้พื้นที่ 1 หมื่นล้านบาท ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก 1 หมื่นล้านบาท ระบบพยากรณ์และเตือนภัย 2,000 ล้านบาท

นี่คือชิ้นงานที่ชี้เป็นชี้ตายในการคัดเลือกบริษัททั้งหลาย

หลักเกณฑ์การให้คะแนนนั้น กรอบแนวคิดที่เสนอต้องสอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และหากกลุ่มบริษัทใดเสนอแนวคิดลงทุนใหม่ๆ เช่น ระบบป้องกันน้ำทะเลหนุนท่วมพื้นที่ กทม. จะได้รับคะแนนพิเศษเพิ่มอีกต่างหาก

ขณะเดียวกัน ปลอดประสพกำหนดสเปกการให้คะแนนว่า หากกลุ่มบริษัทใดเสนอกรอบแนวคิดลงทุนน้ำทั้ง 10 โมดูล จะได้คะแนนมาก เพราะ กบอ.ต้องการให้การบริหารจัดการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำและแต่ละแผนงานมีความเชื่อมโยงกัน แต่หากกลุ่มบริษัทใดเสนอกรอบแนวคิดมาน้อย เช่น เสนอมา 1 แผนงานก็จะได้คะแนนน้อย

“แพ็กเกจลงทุนระบบน้ำทั้ง 10 โมดูลต้องเชื่อมโยงกัน เอาง่ายๆ เช่น ถ้าขุดทางน้ำแล้วไม่เชื่อมอ่างเก็บน้ำก็ไม่มีประโยชน์ เพราะอ่างเก็บน้ำเชื่อมมาลงแม่น้ำ กรณีน้ำท่วมก็เช่นกัน น้ำที่ล้นจากแม่น้ำสายต่างๆ ก็ต้องเชื่อมกับเขื่อนที่กั้นน้ำท่วม” ปลอดประสพ แย้มไต๋

นอกจากนี้ กรอบการให้คะแนนยังรวมถึงความเป็นไปได้ทางเทคนิค ปลอดประสพ ได้ตั้ง อภิชาติ อนุกูลอำไพ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ซึ่ง อภิชาติ เองก็ไม่ใช่ใครอื่น เขาเป็นอดีตข้าราชการที่สนิทสนมกับปลอดประสพมานาน และเป็นทีมงานที่ช่วยปลอดประสพมาตั้งแต่ครั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) คราวน้ำท่วมใหญ่

เมื่อนำเกณฑ์การให้คะแนนเหล่านี้มาประกอบกับรายชื่อกลุ่มบริษัทที่เสนอตัวเข้าชิงชัยโครงการน้ำในแต่ละโมดูล จะพบว่ามี 5 กลุ่มบริษัท จาก 8 กลุ่มบริษัทที่เป็น “ตัวเต็ง”เข้ารอบสุดท้ายประมูลโครงการน้ำ

สาเหตุหลักมาจากการเสนอตัวในการบริหารจัดการครบทั้ง 10 โมดูล ซึ่งจะได้คะแนนมากตามเกณฑ์ที่ปลอดประสพกำหนดไว้

กลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายเป็นตัวเต็ง ได้แก่ 1.บริษัท วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (KWater) จากเกาหลีใต้

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า ทีมไทยแลนด์

3.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยญี่ปุ่น

4.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยเกาหลี Consortium TKC Global

5.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไทยจีน ITDPOWERCHINA JV

ขณะที่บริษัท China CAMC Engineering Co, Ltd. จากจีน ที่เสนอเพียง 1 โมดูล คือฟลัดเวย์

กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ เสนอ 2 โมดูล คือ ระบบพยากรณ์ฯ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำอื่นๆ

กลุ่มกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที เสนอ 7 โมดูล เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดผังการใช้พื้นที่ ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก เป็นต้น

กลุ่มเหล่านี้มีสิทธิตกรอบการคัดเลือกสูงยิ่ง

ทว่ามีกระแสข่าววงในเล็ดลอดออกมาว่าทั้ง 8 กลุ่มบริษัทต่างผ่านเข้ารอบสุดท้ายกันถ้วนหน้า

เพราะหลังปลอดประสพได้มีการนำผลการคัดเลือกรายงานนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงบ่ายวันที่ 28 ม.ค.แล้ว ปรากฏว่าได้เสนอให้ “ตัดชื่อ” กลุ่มบริษัทจากจีนที่เสนอตัวลงทุนฟลัดเวย์เพียง 1 โมดูล ออกไป แต่นายกฯ ต้องการให้นำกลับไปทบทวนอีกครั้ง เพราะวิตกกังวลในเรื่องสายสัมพันธ์

นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเสนอรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเข้า ครม. ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ ต้องเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์

“วันที่ 1 ก.พ.นี้ ปลอดประสพจะเรียกประชุม กบอ. เพื่อสรุปรายชื่ออีกครั้ง และนำรายชื่อบริษัทเสนอ ครม. วันที่ 5 ก.พ. ก่อนประกาศผลวันที่ 7 ก.พ.นี้ ส่วนสาเหตุยังไม่สามารถนำเข้า ครม.ได้ เพราะต้องตรวจสอบข้อกฎหมายการจัดตั้งกลุ่มบริษัทว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้า ครม.อนุมัติแล้ว บริษัทมีปัญหา ครม.จะมีปัญหาได้” แหล่งข่าววงใน ระบุ

แต่นั่นก็ทำให้อดตั้งข้อสังเกตว่า การสรุปรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเสนอ ครม.ต้องเลื่อนไป 1 สัปดาห์ มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ทั้งในเรื่องความ “เกรงอกเกรงใจ” ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้รับปากผู้นำประเทศต่างๆ ไว้

หากจำกันได้ในห้วงเวลาก่อนและระหว่างการคัดเลือกบริษัทลงทุนน้ำมูลค่ามหาศาล จะพบข่าวสารหน้าสื่อว่า ผู้นำหลายประเทศที่มาเยือนไทย หรือกรณีที่ผู้นำไทยไปเยือนต่างประเทศ ผู้นำแต่ละประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างก็“ฝากฝัง” ให้รัฐบาลไทยพิจารณาบริษัทของประเทศตัวเองให้มีส่วนร่วมลงทุนระบบน้ำแทบทุกครั้งไป

นี่ยังไม่นับการวิ่งเต้นของบรรดาผู้รับเหมาในแต่ละกลุ่มบริษัทที่มีผู้รับเหมาไทยร่วมกลุ่มด้วย

เพราะหากลองจับสัญญาณดัชนีตลาดหลักทรัพย์วันวาน พบว่ากลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างไทยที่มีชื่อเข้าร่วมประมูลโครงการน้ำ เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บริษัท ช.การช่าง บริษัท ล็อกซเล่ย์ ราคาหุ้นพาเหรดกัน “เขียวยกแผง” จึงน่าจะมีข้อมูล “วงใน” หลุดรอดออกมา

แต่สิ่งที่ปรากฏสะท้อนได้จากราคาหุ้น คือ หุ้นรับเหมาที่เข้าข่ายราคาปรับเพิ่มขึ้น 56% เท่านั้น

นั่นเพราะการคัดเลือกกลุ่มบริษัทรับเหมาโครงการน้ำรอบนี้เป็นการคัดเลือกรอบแรกเท่านั้น ยังจะต้องมีการพิจารณาคัดเลือกกันรอบสุดท้าย คือ คัดเลือกให้เหลือ 1 กลุ่มบริษัทต่อ 1โมดูล ก่อนจะคว้างานไปดำเนินการ

ซึ่งตามตารางเวลาของ กบอ. ระบุชัดเจนว่าจะเสนอรายชื่อบริษัทที่ชนะการประมูลให้ ครม. วันที่ 16 เม.ย.นี้

ส่วนขั้นตอนต่อไป กบอ.จะจัดร่างทีโออาร์โครงการน้ำ 10 โมดูล และให้สิทธิ 3 กลุ่มบริษัทในบัญชีแต่ละโมดูลเสนอรูปแบบก่อสร้าง เทคนิคการก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง และราคาค่าก่อสร้างที่เหมาะสม โดยการก่อสร้างหรือการลงทุนจะทำให้รูปแบบ “ดีไซน์-บิวด์” ภายใต้เงินลงทุนไม่เกินเงินกู้ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

แค่ยกแรกการคัดเลือกผู้รับเหมาลงทุนน้ำก็พบ “ร่องรอย” ที่ไม่ชอบมาพากลบางอย่างแล้ว

เช่นเดียวกับสัญญาณที่ส่งตรงจากปลอดประสพชัดเจนว่า จะลาออกจากการเป็นประธานคัดเลือกบริษัทลงทุนน้ำ หลังจากที่คัดเลือกเหลือ 3 กลุ่มบริษัทต่อ 1 โมดูลแล้ว

เหตุผลที่ปลอดประสพบอกว่าไม่ต้องการเป็นประธานคัดเลือก เพราะไม่ต้องการ “ถูกด่า” อีก และจะตั้งปลัดกระทรวงคนใดคนหนึ่งมาเป็นประธานแทนตนเอง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดประสพจะ “หลุดวงโคจร” ในการตัดสินใจคัดเลือกผู้ชนะแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน การทำงานลงทุนระบบน้ำในมือปลอดประสพยังมี “กลุ่มเจ๊ ด.” กลุ่มก๊วนในพรรค กลุ่มผู้รับเหมาเส้นใหญ่ เข้ามาล็อบบี้และแทรกแซงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะมีการส่ง “คนของเจ๊” เข้ามา “คุม” ที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.)

กรรมการ กบอ.หลายคนบ่นอุบถึงความ“ไม่อิสระ” เพราะอยู่ใต้อาณัติผู้ทรงอิทธิพลหลากกลุ่ม ที่ทนไม่ได้ก็ขอถอนตัวไปแล้วหลายราย

ขณะที่ชั้นเชิงของปลอดประสพก็นับว่าพอตัว เนื่องจากการประชุม ครม. 2 สัปดาห์ก่อน ครม.อนุมัติให้ สบอช.ไปขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งเท่ากับให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามามีอำนาจทับซ้อนกับเลขาฯ สบอช. หากเรียกตามขั้นราชการแบบเก่าก็อยู่ในชั้น “ซี 11” เท่ากัน

ศึกชิงชัยโครงการลงทุนน้ำที่มีงบประมาณก้อนโตรออยู่เบื้องหน้า ยังคงเป็นหนังม้วนยาวให้ต้องติดตามกันต่อไป

ท่ามกลางการจัดสรรผลประโยชน์บนงบประมาณก้อนโตผ่านการวิ่งเต้นและดึงดันของบรรดากลุ่มก๊วนผู้ทรงอิทธิพลในรัฐบาล

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 29 มกราคม 2556

น่านเปิดโครงการ รณรงค์ประชาชน เลิกเผาในพื้นที่โล่ง สกัดพิษหมอกควัน

นายชุมพร แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธาน เปิดโครงการรณรงค์ ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ ที่ข่วงเมืองน่าน เพื่อเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ในพื้นที่ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหมอกควัน และร่วมมือกันในการป้องกันการเผาในที่โล่ง ไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ของภาคเหนือตอนบน ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดพระเยา จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ และจังหวัดตาก ประสบปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงโดยแหล่งกำเนิด มลพิษทางอากาศที่สำคัญมาจากการเผาในที่โล่ง (Open Burning) การเกิดไฟป่าการเผาในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม มลพิษจากโรงงาน และมลพิษจากการใช้ยานพาหนะ เป็นต้น หมอกควันดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นอุปสรรคในการคมนาคมและขนส่งและทางอากาศ รวมทั้งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการซึ่งความรุนแรงของปัญหาโดยทั่วไปปรากฏชัดเจนในช่วงหน้าแล้งตั้งแต่เดือน ธันวาคม–เมษายน ของทุกๆ ปี สภาพอากาศในพื้นที่ทาง

ภาคเหนือ มีหมอกควันหนาและเป็นมลพิษทางอากาศ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์หมอกควันในประเทศไทย ปี พ.ศ.2555 เป็นปีที่เกิดวิกฤติหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ในระดับเกินเกณฑ์มาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่ากับ 471 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐานมากกว่า 3 เท่า ดังนั้น จึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้ปัญหามลพิษหมอกควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 มกราคม 2556

สศอ.แนะผู้ประกอบการรับมือค่าบาท

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คาดการณ์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในปี56 คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 4.0% – 5.0% ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index – MPI) จะขยายตัว 3.5% – 4.5% โดยมีปัจจัยบวก คือ การขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัว จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ นโยบายรถยนต์คันแรก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และการเติบโตประเทศเศรษฐกิจใหม่ ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน

โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ที่ผู้ประกอบการจะต้อง เฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจากวิกฤตเศรษฐกิจ การแข็งค่าของเงินบาท และค่าแรง 300 บาท ที่มีผลใช้ทั่วประเทศในต้นปีที่ผ่านมา โดยผลจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท หรือแข็งค่าขึ้น 3.26 %(จากต้นปี เทียบกับวันที่ 2 ม.ค. 2556) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งปี 2556 ลดลง 197,618 ล้านบาท ทำให้การส่งออกรวมลดลง 2.8% และส่งผลให้ GDP อุตสาหกรรม 2556 ลดลงประมาณ 1%

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 28 มกราคม 2556

ชง7มาตรการสกัดเงินไหลเข้า

ส.อ.ท.ตบเท้าพบผู้ว่าการแบงก์ชาติหาทางออกค่าเงินบาทแข็งสัปดาห์นี้ ชง 7 มาตรการรับมือ สกัดเงินไหลเข้า ให้ผู้ส่งออกถือดอลลาร์ได้นานขึ้น หลังสำรวจพบ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมอ่วมหนัก เงินบาทแข็งเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย

แข่งขันได้ลำบาก ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์แนะคลายกฎลงทุนนอกบ้าน ส่วน บมจ.ซีไอเอ็มบีให้ซื้อประกันความเสี่ยง ขณะที่ทีดีอาร์ไอบอกอย่าเพิ่งใช้ยาแรงหากผันผวนไม่เกิน 5%

จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอยู่ในระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯขณะนี้ กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการส่งออกทั้งประเทศ แม้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะออกมาตรการเข้ามาดูแล แต่ไม่สามารถทัดทานแนวโน้มของค่าเงินบาทที่จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกได้ ทำให้ภาคเอกชนทนไม่ไหว ต้องออกมาเรียกร้องให้ธปท.ดำเนินมาตรการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการส่งออกในขณะนี้

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อหารือมาตรการรับมือว่า ในต้นสัปดาห์นี้ส.อ.ท.จะเข้าหารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าอยู่เวลานี้ เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยจะเสนอมาตรการรับมือรวม 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.พยายามดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีการผันผวน ถึงแม้ว่า ธปท.จะดูแลในเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็อยากให้มีการทยอยปรับค่าเงินบาท

2. อย่าให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เนื่องจากอุตสาหกรรมหลายๆ สาขาทั้ง 2 ประเทศถือเป็นคู่แข่งทางการตลาดโลก 3. ปลดล็อกการถือครองเงินตราต่างประเทศ ให้ผู้ส่งออกไทย ถือครองดอลลาร์สหรัฐฯได้นานขึ้น 4. ลดวงเงินค่าธรรมเนียมการทำประกันความเสี่ยงการส่งออกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และอย่านำไปรวมกับวงเงินสินเชื่อที่จะปล่อยให้กับเอสเอ็มอี

5. ขอให้ธปท.แยกบัญชีเงินตราต่างประเทศ ที่เข้ามาเก็งกำไร โดยให้กำหนดแยกรายการบัญชีที่เข้ามาลงทุน มีวัตถุประสงค์ว่าจะลงทุนในรายการใดบ้างให้ชัดเจน ส่วนเงินทุนที่เข้ามาเพื่อทำกำไรจากค่าบาท ก็ให้กำหนดมาตรการออกมาควบคุม เช่น มาตรการสำรอง 30% ในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปี อย่างที่เคยทำมาก่อนในอดีต หรือการเก็บภาษีจากกำไรจากการขายหุ้น เป็นต้น 6. เร่งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่อยากจะให้เร่งดำเนินการมากกว่านี้ และ 7. ให้ภาครัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะภาครัฐมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ควรจะต้องรีบลงทุนในขณะนี้

นายเจน กล่าวอีกว่า การที่ต้องเร่งให้ธปท.มีมาตรการรับมือกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้ เนื่องจากพบว่าในจำนวน 25 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมีถึง 40% ใน 10 กลุ่มได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า กลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์หนัง กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล

นอกจากนี้ ยังมีอีก 28% ที่มีผลกระทบปานกลางใน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เครื่องจักรกลการเกษตร ชิ้นส่วนรถยนต์ สมาคมเอสเอ็มอี และ 32% ไม่มีผลกระทบ รวม 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมก๊าซ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมยา กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก

ขณะที่ข้อมูลของสำนักวิชาการ ส.อ.ท.ที่รวบรวมการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนของไทย และของประเทศภูมิภาคเอเชีย เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯพบว่า ค่าเงินบาทของไทย ตั้งแต่ช่วงวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2556 มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยแข็งค่าเพิ่มขึ้น 3.13% อินเดีย 2.4% เกาหลีใต้ 2.3% มาเลเซีย 2.2% ฟิลิปปินส์ 1.62% เวียดนาม 0.6% ไต้หวัน 0.45% จีน 0.4% และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คืออินโดนีเซีย แข็งค่าขึ้นเพียง 0.05% แข็งค่าน้อยกว่าไทยถึง 3% ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันการส่งออกเป็นอย่างมาก

"กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มที่มีการผลิตในประเทศไทยแล้วส่งออกต่างประเทศ เพราะมีต้นทุนการส่งออกที่สูง ในขณะที่ผู้ประกอบการที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจะได้เปรียบกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งจากที่ดูข้อมูลค่าเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยนที่ธปท.กำหนดไม่ได้เปรียบเทียบค่าเงินบาทที่ไทยเสียเปรียบโดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนด้วยกัน แต่ไปดูในภาพกว้างแทน"

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในการพบกับผู้ว่าการธปท.สัปดาห์นี้ นอกจากเสนอ 7 มาตรการดังกล่าวแล้ว จะมีการหารือถึงนโยบายอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ระดับ 2.75% นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยภูมิภาคอื่น เช่น ญี่ปุ่น ที่มีดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.1% โดยเอกชนมองว่าเงินทุนไหลเข้าไทยในขณะนี้ เป็นการไหลเข้าของเงินทั้ง 3 สกุล คือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร และเงินเยน และมีแนวโน้มจะไหลเข้าต่อเนื่อง ดังนั้น ค่าเงินบาทหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นไปอีก ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

"ค่าเงินอาจจะอ่อนหรือแข็ง ในช่วง 2 เดือนนี้ แต่เชื่อว่าทิศทางแนวโน้มเงินบาทจะแข็งกว่านี้แน่นอน ธปท.ควรจะลบแนวคิดเก่าๆ คือ การเปรียบเทียบอัตราค่าเงินบาทที่แข็งเป็นไปตามภูมิภาค ซึ่งไม่ควรพูดตรงนี้แล้ว แต่ควรจะพูดและเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นคู่แข่งกับเรา อีกอย่างไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ดังนั้น ผู้ว่าการ ธปท.ไม่ควรยึดแนวทางเดิม ควรแก้ปัญหาให้ตรงจุด"

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจบมจ.ไทยพาณิชย์รายงานว่า แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าเพราะระหว่างนี้ยังมีปริมาณเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาต่อเนื่อง โดยมีโอกาสที่ปลายไตรมาสแรกของปีนี้จะเกิดความผันผวนในตลาดเงิน ซึ่งมีโอกาสที่ธปท.จะใช้มาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.50% ในครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่สิ้นปีศูนย์ยังคาดการณ์เงินบาทจะแข็งค่าที่ระดับ 29.50บาทต่อดอลลาร์

"ส่วนมาตรการดูแลค่าเงินนั้นน่าจะเป็นแนวทางการผ่อนคลายกติกาเปิดโอกาสให้นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่จะเลือกใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือ Capital Control รวมถึงมาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้าที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้หรือTobin Tax "

สอดคล้องกับนายเผด็จ วิรุฬห์สิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ภาษี Tobin Tax นั้นขึ้นอยู่กับทางการจะเลือกใช้มาตรการดังกล่าวหรือไม่ เพราะภาษีที่จัดเก็บจากธุรกรรมที่เงินเข้ามาลงทุนไม่ครบ 1 ปี อาจมีผลแค่ระยะสั้น ส่วนตัวมองว่าทางการยังไม่เลือกใช้มาตรการหรือประกาศมาตรการที่ฝืนตลาดทำให้ทางการต้องใช้เวลาพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาในภายหลังด้วย ดังนั้นเงินบาทระหว่างนี้ยังคงแข็งค่าอีกระยะ เพราะเหตุยังไม่มีทางเลือกหรือเครื่องมือที่จะสกัดเงินทุนต่างประเทศที่ยังไหลเข้ามาทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น อีกทั้งนอกจากภาพรวมพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีแล้ว เงินที่ไหลเข้ามายังทำกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน โดยส่วนของผู้ส่งออกจึงอยากแนะนำให้ป้องกันตัวเองด้วยการซื้อประกันความเสี่ยงหรือHedgeไว้ก่อน ที่สำคัญต้องกำหนดราคาขายที่จะได้รับในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงที่จะได้รับเงินจริงๆ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ มองว่า ภาวะเงินบาทแข็งจะมีโอกาสขยายวงกว้างนานตลอดทั้งปีและมีความผันผวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวะที่มีปริมาณเงินไหลเข้ามา ทั้งจากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯและการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน โดยมองว่าธปท. จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเพื่อลดความผันผวนหรือกำหนดทิศทางค่าเงินระยะปานกลางเท่านั้น และกรณีค่าเงินผันผวนรุนแรงเกิน 5% จึงใช้มาตรการดังกล่าวแต่ไม่ควรใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่ารุนแรงหรือมาตรการเพื่อกำหนดทิศทางค่าเงินชัดเจนเช่นในอดีตอีก ไม่เช่นนั้นตลาดจะช็อก หรือหุ้นตกรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาความผันผวนค่าเงินบาทยังไม่รุนแรงมาก และเห็นทิศทางนโยบายของผู้ว่าการธปท.ได้ปรับให้เป็นไปในทิศทางเช่นเดียวกันนี้ ว่าเป็นสิ่งที่ดี" ภาวะเงินบาทขณะนี้ อยากให้ปล่อยไปตามกลไกตลาดมากกว่า บาทอ่อนหรือแข็งตามธรรมชาติ ไม่แทรกแซงจนกำหนดทิศทางไปทางใดทางหนึ่ง"

ดังนั้น ภาวะเงินบาทแข็ง เป็นโอกาสที่ดีในระยะยาว ส่วนตัว ไม่อยากให้มองเป็นภาวะที่น่ากังวลจะกระทบภาคส่งออกและเศรษฐกิจแย่ลงอีกแล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในช่วงปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาการส่งออกหันพึ่งการบริโภคในประเทศ

จึงควรใช้จังหวะที่ค่าเงินบาทแข็ง ให้โอกาสที่ช่วยส่งเสริมการลงทุน นำเข้าเครื่องจักรด้วยต้นทุนที่ถูกลงได้ และหากรัฐบาลเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน ในช่วงค่าเงินบาทแข็งจะถือว่าจะได้ประโยชน์2เด้ง

ณ วันศุกร์(25ม.ค.) เงินบาดอยู่ที่ระดับ 29.89 บาทต่อดอลล์จากก่อนหน้า(18ม.ค.)อยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลล์เงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค หลังจาก ที่กระแสเงินทุนไหลเข้าเริ่มชะลอตัว โดยนักลงทุนซื้อคืนดอลล์และจับสัญญาณการเข้าดูแลค่าเงินของทางการศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแนวโน้มสัปดาห์นี้ (28ม.ค.-1ก.พ.)เงินบาทอาจเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.70-30.00 บาทต่อดอลล์

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 28 มกราคม 2556

อะไรคือน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์?

ระยะนี้มีผู้พูดถึงน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์กันมากโดยบอกว่าประเทศไทยควรจัดตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเราควรมีน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์เก็บไว้ไม่น้อยกว่าปริมาณการใช้เป็นเวลาเก้าสิบวัน เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency-IEA) เผื่อว่าเราจะได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การแห่งนี้ได้ในอนาคต

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับความหมายของ “น้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์” กันก่อนว่าหมายถึงอะไร และในประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาที่เขามีคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น เขามีวิธีบริหารน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์กันอย่างไร

น้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์หรือ Strategic Petroleum Reserve-SPR คือ น้ำมันดิบหรือน้ำมันสำเร็จรูปที่รัฐบาลเป็นผู้เก็บสำรองไว้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ (energy security) โดยจะไม่นำมาใช้ถ้าไม่มี ความจำเป็น นั่นหมายความว่าจะนำมาใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉิน เท่านั้น เช่น เกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนจากภัยสงครามหรือภัยธรรมชาติร้ายแรงทำให้การผลิต การกลั่น และการขนส่งน้ำมัน มีปัญหา ผลิตได้น้อยลงหรือการขนส่งจากต่างประเทศทำไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

น้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์จะแตกต่างจากน้ำมันสำรองทางการค้า (Commercial Stock) ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ประกอบการธุรกิจจะดำเนินการเก็บเอง มากน้อยแล้วแต่ขนาด และความจำเป็นทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ

ในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ IEA จะประเมินว่าสหรัฐฯจะกลายมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก นำหน้าประเทศซาอุดิอาระเบียในปี ค.ศ. 2020 แต่ปีที่แล้วสหรัฐฯ ก็ยังต้องนำ เข้าน้ำมันจากต่างประเทศสูงถึง 45% ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมด

ดังนั้น สหรัฐฯ จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีน้ำมันสำรอง ทางยุทธศาสตร์ในปริมาณสูงเพื่อประกันความมั่นคงด้านพลัง งานของสหรัฐฯ

คลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516) หลังจากเกิดวิกฤติพลัง งานครั้งแรก (first oil shock) เมื่อประเทศในกลุ่มอาหรับรวม หัวกันไม่ส่งน้ำมันให้กับประเทศตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอลทำสงครามกับประเทศอาหรับในขณะนั้น หรือที่เรียกกันว่า Oil Embargo ซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันและน้ำมันมีราคา แพงขึ้นเท่าตัว เดือดร้อนกันไปทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด

น้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯเก็บอยู่ในถ้ำหินเกลือ 4 แห่งซึ่งถูกสร้างขึ้นใต้ดินในแถบรัฐ Texas และ Louisiana สามารถเก็บน้ำมันได้มากถึง 727 ล้านบาร์เรล (1 บาร์เรล = 159 ลิตร) แต่ปัจจุบันเก็บน้ำมันอยู่เพียง 695 ล้านบาร์เรล ซึ่งเท่ากับปริมาณนำเข้าน้ำมันของสหรัฐฯประมาณ 80 วัน และถือว่าเป็นปริมาณน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ที่สูงที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าสูงถึง 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว

คนที่สามารถสั่งให้นำเอาน้ำมันนี้ออกมาใช้มีอยู่คนเดียว เท่านั้นคือประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และต้องเป็นการใช้ในสถานการณ์ที่มีการขาดหายของการจัดหาพลังงานอย่างรุนแรงเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ผ่านมาก็มีการสั่งให้นำเอาน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้เพียงสามครั้งเท่านั้น

โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ สั่งให้นำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้เมื่อเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียร์ในปี ค.ศ. 1991 (The First Gulf War) เมื่ออิรักบุก คูเวตทำให้ปริมาณน้ำมันหายไปจากตลาด และราคาพุ่งขึ้นสูงสุด

ครั้งที่สองในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก สั่งให้นำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์จำนวน 11 ล้านบาร์เรล ออกมาใช้บรรเทาการขาดแคลนเชื้อเพลิง เนื่องจากพายุเฮอริเคนแคทรินาพัดเข้าทำลายการผลิตและการกลั่นน้ำมันในประเทศเสียหายไปถึง 25% ในปี ค.ศ.2005

และครั้งที่สามเมื่อปีที่แล้วนี่เองที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา สั่งให้ปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์จำนวน 30 ล้าน บาร์เรล เพื่อช่วยลดการขาดหายของปริมาณน้ำมันจากประเทศ ลิเบีย เนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง

ในการนำน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้ทุกครั้ง กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ จะใช้วิธีเปิดประมูลให้บริษัทที่ต้องการน้ำมันเสนอเงื่อนไขแข่งขันกันเข้ามา โดยจะไม่ใช่เป็น การซื้อขาย แต่จะเป็นการขอยืมไปใช้ก่อน แล้วนำมาคืนในภายหลังในปริมาณที่มากกว่าที่ขอยืมไป แล้วแต่ข้อเสนอของใครจะดีกว่ากัน

ล่าสุด ในสมัยของประธานาธิบดี บารัค โอบามา มีถึง 15 บริษัทที่เข้าร่วมประมูลน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์จำนวน 30.6 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีที่ประธานาธิบดี โอบามา นำเอาน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้ครั้งล่าสุดนี้ ไม่ค่อยตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ซักเท่าไร เพราะการสู้รบในลิเบีย ถึงแม้จะทำให้ปริมาณน้ำมันขาดหายไปถึง 1 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้โลกและสหรัฐฯ เกิดการขาดแคลนน้ำมันแต่อย่างใด เพียง แต่น้ำมันมีราคาสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การนำเอาน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้จึงมีความมุ่งหวังที่จะลดราคาน้ำมันเสียมากกว่า และคงหวังผลทางการเมืองด้วย เพราะใกล้จะเลือกตั้งแล้ว

ดังนั้น กูรูทางด้านพลังงานหลายท่านจึงออกมาโจมตี โอบามาว่า เป็นผู้ที่สร้างกรณีตัวอย่างในการนำเอาน้ำมันสำรอง ทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ และข้อสำคัญใช้แล้วก็ลดราคาน้ำมันไม่ได้ด้วย เพราะปีหนึ่งๆ คนอเมริกันใช้น้ำมันถึง 7,000 ล้านบาร์เรล หรือ 19 ล้านบาร์เรล/วัน เท่ากับ 22% ของการบริโภคน้ำมันทั้งโลก

แล้วโอบามาเอาน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้แค่ 30 ล้านบาร์เรลจะไปพอยาไส้คนอเมริกันได้ยังไง ผลก็คือราคาขายปลีกน้ำมันที่หน้าปั๊มในสหรัฐฯ ลดลงแค่ 2% เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ แล้วก็กลับขึ้นไปใหม่

สำหรับประเทศไทย ถ้าเราจะตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์กันจริงๆ ก็พิจารณากันให้ดีๆ นะครับว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ เพราะต้องใช้เงินเยอะเป็น แสนๆ ล้านบาท ตั้งขึ้นมาแล้วโอกาสที่จะได้ใช้มีมากน้อยแค่ไหน ของสหรัฐฯ 40 ปีเพิ่งใช้ไปสามครั้งเท่านั้นเอง แต่ไม่เป็นไรเขาเป็นประเทศมหาอำนาจพิมพ์เงินได้เอง แต่ของเรามีเงินจำกัด ควรเอาเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปทำประโยชน์หรือลงทุนอย่างอื่นดีกว่าซื้อน้ำมันมาเก็บหรือเปล่า ก็ลองคิดกันดูครับ

ผมเห็นนักการเมืองไทยอยากตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์กันนัก ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ เผื่อจะมีประโยชน์บ้าง!!!

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 28 มกราคม 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : วิกฤติน้ำโลก

1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงที่สุดของโลก ที่ระบุในรายงานความเสี่ยงโลกปี 2556 ซึ่งจัดทำสำหรับการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23-27 มกราคมที่ผ่านมาคือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ว่าไปแล้ว การขาดแคลนน้ำไม่ใช่ปัญหาใหม่ตรงข้ามเป็นปัญหาใหญ่ที่สหประชาชาติเฝ้าส่งสัญญาณเตือนมาโดยตลอด ทั้งจากสภาพที่วิกฤติขาดแคลนน้ำอยู่แล้วในบางภูมิภาคของโลก เช่น แอฟริกา และเอเชีย และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนพุ่งแตะระดับ 7,000 ล้านคนไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ และจะขยับเป็น 9,000 ล้านคน ในปี 2593 หรืออีก 38 ปี ข้างหน้า

ใครที่เคยดูสารคดีเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกจะรู้สึกตื่นตระหนกได้ถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในแต่ละช่วง 200 ปี ซึ่งแต่ละช่วงในอดีตการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หรือแทบจะไม่โงหัว (กราฟ)ด้วยซ้ำ อาจจะเนื่องจากภาวะสงคราม และการแพทย์ยังไม่พัฒนาเท่าทุกวันนี้ แต่ 200 ปีหลังสุด กราฟพุ่งโด่งเหมือนพลุทะลุฟ้า

จำลองภาพง่ายๆ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 กรุงเทพฯมีประชากรเพียง 80,000 คน ปัจจุบันหรือ 200 ปีต่อมา กรุงเทพฯมีประชากรในทะเบียนและประชากรแฝงรวมแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าตัว

จำนวนประชากรที่มากขึ้นนี้ ทำให้ต้องพะวงถึงอาหาร และน้ำ

ข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตร แห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ ระบุว่า ปริมาณอาหารสำรองของโลกลดลงจากระดับ 107 วัน เหลือเพียง 74 วัน หรือลดลง 33 วัน คิดเป็น 30%

แสดงให้เห็นถึงปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการปรับขีดความสามารถในการผลิตอาหารที่กระทำได้น้อยกว่าความต้องการอันเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก

นอกเหนือจากพื้นที่การเกษตรถูกคุกคามแทนที่ด้วยชุมชนเมืองที่ขยายตัวมากขึ้น เกษตรกรทิ้งผืนนาไว้เบื้องหลัง แล้วอพยพหลั่งไหลไปอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ก็ยังคงเป็นปัญหาหลักสำหรับการผลิตอาหาร

ราคาอาหารในทศวรรษ หรือศตวรรษต่อไปจะแพงขึ้นมากจนคนยากจนจำนวนมากยากจะเข้าถึง ดังที่เคยเกิดเมื่อปี 2550-2551 แค่ใช้พืชอาหารแปลงไปเป็นพืชพลังงาน เท่านั้นเองโลกก็ปั่นป่วน เกิดวิกฤติจลาจลระดับหนึ่ง

กิจกรรมการใช้น้ำ หลักใหญ่ยังคงใช้เพื่อการเกษตรกรรมมากถึง 70% การขาดแคลนน้ำจึงกระทบต่อผลผลิตอาหารอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ข้อมูลของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2572 ประเทศไทย จะขาดแคลนน้ำ 20,000กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เป็นโจทย์ให้เตรียมการรับมือล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2552

นั่นหมายความว่า ประเทศไทยต้องเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลางซึ่งมีความจุมาก สามารถค้ำยันปัญหาการขาดแคลนน้ำ บรรเทาน้ำท่วม ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ

ต้องถามว่า จากปี 2552 ที่สภาพัฒน์ระบุสภาพปัญหาขาดแคลนน้ำ ประเทศไทยได้เริ่มลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง โดยเฉพาะการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน

ถ้ามัวปล่อยให้เอ็นจีโอต่อต้านชนิดไม่กล้าเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่ม หรือมัวแต่เพิ่มเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมมากำกับจนกระดิกกระเดี้ยเดินหน้าโครงการไม่ได้

ถึงปี 2572 ประเทศไทยก็บรรลัยพอดี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 มกราคม 2556

KBSลุยโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้ยืมระยะยาวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา วงเงินรวมประมาณ 1,150 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า จากพลังงานชีวมวลกำลังการผลิตขนาด 35 เมกะวัตต์ ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด หรือ KPP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% โดยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้มีการลงทุนทั้งสิ้น 1,638 ล้านบาทคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จ พร้อมจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประมาณเดือนมกราคม 2557 และจะทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 250-300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของฝ่ายบริหารที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการทำกำไร (Value added) จากการผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลได้ให้มากที่สุด

พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยว่า กรมมีภารกิจในการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมผลักดันธุรกิจของคนไทยก้าวไปยืนอยู่บนเวทีการค้าโลกได้อย่างมั่นคง กรมจึงกำหนดจัดอบรมสัมมนาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบธุรกิจก่อนเข้าสู่การแข่งขันในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการจัดอบรม “พัฒนาความรู้มุ่งสู่ธรรมาภิบาล” ตลอดปี 2556 ตั้งเป้าธุรกิจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,500 ราย เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการเป็นAEC วิธีการบริหารจัดการธุรกิจ ทิศทางวิชาชีพบัญชีไทยภายใต้กรอบ AEC การจัดทำบัญชีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการบริหารธุรกิจของตนเองได้อย่างมีทิศทางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ฮาวายไทยทุ่ม10ล้านลุยจัดกิจกรรม

นายวิวัฒน์ วิภวพาณิชย์ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทฮาวายไทยผู้ดำเนินธุรกิจเฟอร์นิเจอร์สานและถักทอ ภายใต้แบรนด์ “HAWAII THAI” เปิดเผยว่า ในปี 2556 บริษัทยังคงเน้นการทำการตลาดเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ให้รู้จักและเข้าถึงผลิตภัณฑ์สานของฮาวายไทยได้ง่ายขึ้น และยังคงรักษาฐานลูกค้าปัจจุบันไว้ โดยจะมีกิจกรรมทางการตลาด และการจัดนิทรรศการศิลปะต่างๆ ณ โชว์รูมฮาวายไทย เฟอร์นิเจอร์แกลเลอรี่ ถนนเพชรพระราม เป็นงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติและกิจกรรมการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์คาดว่าจะใช้งบประมาณการตลาดประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งระหว่างวันที่ 24 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ ได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะ “โครงการสานสรรค์งานศิลป์กับ Hawaii Thai” ครั้งแรกในวงการศิลป์ที่งานสานและงานศิลป์มารวมเป็นหนึ่ง ผ่านผลงานศิลปะจากเส้นใยสังเคราะห์ดูราวีร่า(DURAWERA) ของฮาวายไทย ในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ จำนวน 16 ผลงาน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 มกราคม 2556

'วิกฤติ-โอกาส'จากบาทแข็ง!!

'วิกฤติ-โอกาส' จากบาทแข็ง ชี้จังหวะทองการลงทุน - ส่งออกผวาแข่งยาก

การแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างต่อเนื่อง แม้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลเศรษฐกิจ จะยืนยันว่า ยังไม่มีการโจมตีค่าเงินบาท ซึ่งเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาเป็นเพียงการเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วทิศทางของค่าเงินบาทในปีนี้ถูกมองว่าจะแข็งค่าขึ้นแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยเพียงใดเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา

"อยากให้มองค่าเงินในระยะยาวมากกว่าระยะสั้นที่มีความผันผวนสูง ที่มีการมองว่าจะแข็งค่าไปที่ 28 บาท หรือ 29 บาทต้นๆ ก็คิดว่ามีความเป็นไปได้ ซึ่งระยะยาวค่าเงินเอเชียจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาคอื่น" นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวและว่า ขณะนี้มองว่าเร็วเกินไปที่จะใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้น 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น จากสมัยก่อนที่มีการใช้มาตรการต้องแข็งค่า 3-4 บาท ซึ่งมาตรการปกติยังสามารถจัดการได้

แม้การที่เงินบาทแข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็ตาม แต่หากมองอีกมุม การที่เงินบาทแข็งค่าก็ถือเป็นการสร้างโอกาสทองในการลงทุนด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น หมายถึง การที่จำนวนเงินบาทเท่าเดิม แลกเป็นเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้น โดยภาคการนำเข้าจะได้เปรียบหรือได้รับผลดี เพราะสามารถสั่งซื้อสินค้าในจำนวนเท่าเดิมแต่จ่ายเงินที่เป็นเงินบาทจำนวนน้อยลง ในทางตรงกันข้ามภาคการส่งออกจะเสียเปรียบ หรือได้รับผลกระทบในแง่ลบ เนื่องจากต้องขายสินค้าให้มากขึ้น เพื่อให้ได้เงินเท่าเดิม นั่นก็คือ รายได้เป็นเงินบาทลดลงจากการขายสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้ซื้อจากต่างประเทศก็จะมองว่าราคาสินค้าของไทยแพงขึ้น

มองต่างมุมฉวยจังหวะลงทุน

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่าจะไปกังวลกับตัวเลขการส่งออก เนื่องจากในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.27 ล้านล้านบาท จึงถือเป็นโอกาสดีที่ภาครัฐต้องเร่งลงทุน และเป็นจังหวะเหมาะในการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศมาใช้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะนำเข้าได้ในราคาที่ต่ำลง ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนที่มีหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ สามารถเร่งรัดนำเงินไปชำระหนี้เพื่อลดเงินต้นและภาระดอกเบี้ยได้อีกด้วย

“ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทั้งแง่บวกและลบ อยู่ที่จะมองมุมไหน และบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในช่วงที่ประเทศจำเป็นต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การที่เงินบาทแข็งค่าก็ถือเป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะเราสามารถนำเข้าสินค้าทุนในราคาที่ถูกลง เช่น นำเข้ารถไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูก หรือสินค้าที่เราจำเป็นต้องนำเข้าจำนวนมากอย่างเช่นน้ำมัน ที่เมื่อบาทแข็งค่า ต้นทุนพลังงานก็ไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกดตัวเลขเงินเฟ้อไม่ให้สูงอีกด้วย” นายมนตรี กล่าว

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA นิด้า กล่าวด้วยว่า ส่วนภาคเอกชนที่มีความจำเป็นต้องลงทุนนั้น ช่วงนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านการผลิต โดยสั่งซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยจากต่างประเทศเข้ามาใช้เพื่อลดใช้แรงงานคนเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการด้านการผลิตให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำที่สุด หรือจะเลือกใช้ลงทุนขยายกิจการด้วยรูปแบบการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน รองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

สอดคล้องกับความเห็นของนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่แนะนำว่า รัฐบาลควรอาศัยช่วงที่เงินบาทแข็งค่าในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพของผลิตภาพในการผลิต เนื่องจากการลงทุนในส่วนนี้ จำเป็นต้องอาศัยเครื่องจักรหรือสินค้าทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น การที่เงินบาทแข็งค่าจึงเป็นโอกาสดี

“เงินบาทที่แข็งค่าถือเป็นสัญญาณดี รัฐบาลหรือภาคธุรกิจ ควรฉวยโอกาสนี้ในการดูว่าจะปรับตัวเองได้อย่างไรบ้าง เพราะเงินบาทที่แข็งไม่ได้กระทบทุกเรื่อง อย่างคนที่ต้องการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้า ก็สามารถทำได้โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง” นายสมชัยกล่าว

นายมนตรียังกล่าวถึงผลกระทบต่อการส่งออกด้วยว่า ที่มีความกังวลว่า หากเงินบาทแข็งค่า สินค้าไทยจะส่งออกไม่ได้นั้น ไม่เป็นความจริงทั้งหมด เพราะสินค้าส่งออกของไทยมีหลายประเภท จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เป็นรายอุตสาหกรรม หากเป็นสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตภายในประเทศ เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบกว่า 50-70% เพื่อใช้ผลิตและส่งออก ก็ถือเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารอาจจะได้รับกระทบมากหน่อย แต่เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แม้ราคาสินค้าจะแพงขึ้น แต่ก็เชื่อว่าจะด้วยคุณภาพของสินค้าไทยยังทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน

ผู้ส่งออกจี้ดูแลด่วนห่วงแข่งขันยาก

ขณะที่ฟากเอกชนในภาคส่งออกได้เริ่มออกมาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้การส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐจับตาดูประเทศที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเริ่มมีนโยบายอ่อนค่าลงเพื่อสนับสนุนการส่งออก และนโยบายนี้จะกระทบค่าเงินบาท ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

ส.อ.ท.ระบุด้วยว่า จากการสำรวจกลุ่มอุตสาหกรรม 25 กลุ่ม เกี่ยวกับผลกระทบค่าเงินบาท พบว่ามีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่ามากมี 10 กลุ่ม คิดเป็น 40% ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งกลุ่มที่กระทบมากมีกลุ่มเครื่องสำอาง เซรามิก รองเท้า โรงเลื่อย และโรงอบไม้ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์ และ น้ำตาล ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง มี 7 กลุ่ม คิดเป็น 28% เช่น เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มที่ไม่มีผลกระทบมี 8 กลุ่ม คิดเป็น 32% เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก

ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ ส.อ.ท.เตรียมข้อเสนอ 7 ข้อเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาท เพื่อเสนอให้ผู้ว่าการ ธปท. ได้แก่ 1.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน 2.ไม่ควรให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย 3.ภาครัฐควรประชาสัมพันธ์ให้เอสเอ็มอีมีบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ (เอฟซีดี) เพื่อให้ เอสเอ็มอี ที่มีรายได้จากการส่งออกเก็บเงินสกุลต่างประเทศไว้ชำระค่าสินค้าหรือวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนและช่วยบริหารความเสี่ยง

4.ให้ภาครัฐหาแนวทางให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการประกันความเสี่ยงค่าเงินได้มากขึ้น 5.ต้องการให้ภาครัฐแยกดูแลบัญชีเงินต่างประเทศระหว่างบัญชีเงินต่างประเทศที่ได้จากการส่งออกและบริการ กับบัญชีเงินต่างประเทศที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นหรือเงินร้อน 6.ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้มีเครื่องมือในการกำหนดสิทธิประโยชน์จูงใจผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ 7.ให้ภาครัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า

ชี้ช่องรับมือเงินบาทแข็ง

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ แนะนำแนวทางในการปรับตัวรับมือกับการแข็งค่าของเงินบาท ว่า การปรับตัวนั้นสามารถทำได้ 2-3 มาตรการ คือ 1.ปัจจุบันคนไทยซื้อขายกับคนในเอเชียมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ทำไมต้องไปทำเป็นเงิน สกุลดอลลาร์ ก็สามารถทำเป็นโลคอลอินวอยซิ่ง ก็คือว่า เป็นเงินริงกิตบ้าง เงินอินโดฯ บ้าง เป็นเงินในภูมิภาคบ้าง เป็นเงินจีนบ้าง ทุกคนแข็งเท่าๆ กัน ถ้าเกิดแข็งเท่ากัน ปัญหาค่าเงินแข็งในรูปของรีจินอลก็ไม่มากนัก

2.พอเห็นจังหวะที่เหมาะสม คือ เห็นค่าเงินบาทกลับมาอ่อนลงบ้าง ที่คิดว่ารับได้อาจจะ 29 .80 หรือ 29.90 บาท ก็ทำการเฮดจิ้งไปบางส่วน ปกป้องตัวเอง โดยดูช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเร่งทำวันนี้ เพราะอาจเกิดการเหยียบกันตายเอง หากไปแย่งทำพร้อมๆ กัน ค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นไปอีก และ 3.ช่วงทำการค้าก็ขอเพิ่มราคา หรือ ไพรซ์อิน เข้าไป อาจเป็น 5% ในอดีตก็มีการทำไพรซ์อินถึง 10% แต่ว่าในช่วงที่มันแข่งขันเยอะขนาดนี้ อาจจะทำได้ไม่ถึงขนาดนั้น

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 มกราคม 2556

มุมมองญี่ปุ่นกับอนาคตอุตสาหกรรมไทย

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น จัดเสวนาภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น "เจาะลึกประเทศไทย...บนเส้นทางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" เพื่อสร้างศักยภาพบุคลากรรับการเปิดตลาดการค้าเสรีในปี 2558 ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในอนาคต โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และอยากให้ไทยเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในอาเซียน ส่วนแนวโน้มการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในช่วง1-2 ปีข้างหน้า นักลงทุนญี่ปุ่นยังสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทย กังวลเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรง 300 บาท รองลงมา คือ การแข่งขันในตลาด การขาดแคลนแรงงานฝีมือ และขาดแคลนบุคลากรที่จะมาเป็นผู้บริหาร

อย่างไรก็ดี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาการปรับขึ้นค่าแรงว่า ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด เร่งสำรวจโรงงานที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ ให้การผลิตมีคุณภาพมากขึ้น

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

ส.ป.ก.รื้อหลักเกณฑ์ปฏิรูปที่ดิน สั่งทบทวนระเบียบ-กฎหมายลูก

นายสมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวถึงผลกระทบจากการที่ไทยรวมกลุ่มเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ว่า เออีซี นอกจากส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยแล้ว ยังกระทบไปถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงานปฏิรูปที่ดินด้วย เพราะหลักการของ เออีซี มีปัจจัยสำคัญอยู่ 5 เรื่อง คือ สินค้า บริการ การลงทุน การเงินและแรงงาน ซึ่งจะสามารถเคลื่อนย้ายสินค้ากันได้อย่างเสรี ขณะเดียวกันปริมาณของผลผลิตในแต่ละประเทศสมาชิกจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อเคลื่อนย้ายสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างเลี่ยงไม่ได้ตัวอย่างเช่น การสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโครงข่ายระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ตัดผ่านเข้ามาในเขตปฏิรูปที่ดิน เพราะพื้นที่อยู่ในบริเวณที่ถนนตัดผ่าน อาจจะกลายเป็นที่ตั้งของระบบขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ หรือจุดแลกเปลี่ยนสินค้า จึงมีความจำเป็นในการพิจารณาระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงานปฏิรูปที่ดินว่า ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ส.ป.ก.จะสามารถอนุญาตให้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงไร ในส่วนของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น คิดว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข เพราะกฎหมายเปิดกว้างให้สามารถนำที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้ แต่ในข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่เรียกว่า กฎหมายลูก อาจพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมของเออีซีได้

“ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ หมายความว่า เมื่อเปิดเออีซีแล้ว ใครจะมาขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก.เพื่อใช้ทำประโยชน์อะไรก็ได้ เพราะหลักเกณฑ์ของ ส.ป.ก. ยังเน้นเรื่องของการเกษตรกรรม หรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร หรือเรื่องของสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้ประสงค์ขออนุญาตเป็นสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร สำหรับข้อบังคับระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนปรับปรุงว่า มีประเด็นใดที่ไม่สอดคล้องเมื่อเปิดเออีซี หรือมีประเด็นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ส.ป.ก. และเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ตรงนี้ต้องไตร่ตรอง ศึกษาทบทวนอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลดี/ผลกระทบที่ได้รับ เพื่อเตรียมพร้อมกับการรองรับเออีซีที่เกิดขึ้นในอนาคต” นายสมปอง กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

กษ. เร่งผลักดันตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ พร้อมเร่งเดิน 7 แผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวง หลังทรงมีพระบรมราชโองการฯ และออกประกาศกฎกระทรวงฯ ตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานภาพปัจจุบันของขั้นตอนการตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ได้รับเอกสารที่เป็นทางการ เนื่องจากเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนงานที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จัดตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระทรวงเกษตรฯ จะได้รับเอกสารแจ้งอย่างเป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า โดยขั้นต่อไป คือ ทาง กพร. จะต้องส่งร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจร่าง และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะส่งเรื่องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงต่อไป แต่ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ก็จะต้องเตรียมการตั้งอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรหรือผู้รักษาการ เพื่อเริ่มขับเคลื่อนกระบวนงานตามภาระหน้าที่ของกรมฝนหลวงฯ ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฯ ได้ทันที

นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อตั้งเป็นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่จะมีฐานะเป็นนิติบุคคล ขึ้นตรงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต ซึ่งประกอบด้วยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มภารกิจเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในบรรยากาศของประเทศโดยตรงแล้ว ยังเพิ่มบทบาทในการบูรณาการทั้งด้านการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และการดำเนินงาน ในด้านการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร การบริจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงและการดัดแปรสภาพอากาศต่างๆ และการให้บริการด้านการบินและการสื่อสารในการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยภารกิจสำคัญๆที่จะเร่งรัดดำเนินการเมื่อเป็นกรมฝนหลวงแล้ว ประกอบด้วย 7 ส่วนหลักด้วยกัน คือ 1) การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาองค์กรกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระยะเร่งด่วน และระยะ 5 ปี 2) การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคที่สมบูรณ์ให้ครบ 5 ศูนย์ (5 ภาค) เพื่อกระจายอำนาจการตัดสินใจ และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานระดับกลุ่มจังหวัด จังหวัด และระดับท้องถิ่น ในการให้บริการฝนหลวงที่แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ 3) การเพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคให้เพียงพอและเหมาะสมกับจำนวนจังหวัดและพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค 4) การเข้าร่วมกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน เชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการบริการจัดการทรัพยากรน้ำชองประเทศ การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการให้บริการด้านการบินในภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

5) การลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาองค์กร บุคลากร และเทคโนโลยีกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 6) การเร่งรัดพัฒนาผลงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีฝนหลวง การดัดแปรสภาพอากาศ และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศของประเทศไทย 7) การแสดงบทบาทผู้นำทางด้านเทคโนโลยีฝนหลวงของประเทศไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศแห่งอาเซี่ยน และการเป็นประเทศสมาชิกด้านการดัดแปรสภาพอากาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ซึ่งภารกิจต่างๆที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ จะมีผลสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำฝนหลวงให้บริการประชาชน และการร่วมขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการของรัฐบาล

"การตั้งเป็นกรม ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีเอกภาพในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาองค์กร การประสานงาน บูรณาการ และลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความรวดเร็วและคล่องตัวในการบริหารจัดการทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ นโยบายรัฐบาล นโยบายของกระทรวง สภาพแวดล้อม และความต้องการของผู้รับบริการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของภารกิจในการให้บริการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนและอื่นๆตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ" นายยุคล กล่าว

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

สมอ.แนะใช้เทคโนโลยีรับมาตรฐานอุตฯ

สมอ.จี้ผู้ประกอบการ พัฒนาเทคโนโลยีรองรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับมาตรฐานระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป พร้อมคุมเข้มตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ก่อนแจกไลเซนส์แก่ผู้ประกอบการ จนถึงตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในตลาด และเร็วๆนี้จะคลอดมอก.9999 ว่าด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

นายวิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. เปิดเผยถึงทิศทางมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในงานสัมมนา "Factories of the future for Thailand 2013" จัดโดยกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมมีการเติบโตและก้าวไกลอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยต่างๆ เป็นตัวกำหนดทิศทางในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาเขตการค้าเสรี โลกาภิวัตน์ การพัฒนาระบบและห่วงโซ่การผลิต ที่ก่อให้เกิดการพึ่งพากันมากขึ้น ความรวดเร็วของการพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาการตรวจสอบและรองรับมาตรฐาน

"การรองรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากนี้ไป การพัฒนาเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวในการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย ในการเพิ่มศักยภาพการแข่นขัน และจะช่วยให้การขอรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วขึ้นตามไปด้วย"

นอกจากนี้ ทิศทางมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในอนาคต จะถูกกำหนดโดยบทบาทมาตรฐานระหว่างประเทศ เห็นได้จากเวลานี้ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลกได้ อย่างเช่น ปลั๊กเสียบไฟที่ประเทศไทยยังผลิตเป็นแบบกลม ที่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเต้ารับไฟให้ใช้งานได้ทุกประเทศและเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้ตามภาวะของกระแสโลกที่เปลี่ยนไป และจะต้องมีแผนรองรับที่ดีหากเกิดภาวะวิกฤติ

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญยังมีส่วนอื่นๆที่เป็นตัวกำหนดทิศทางมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในอนาคตอีก ไม่ว่าจะเป็น หัวเรื่องและเนื้อหาของมาตรฐาน ความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีเขียนมาตรฐานร่วมกันและให้เป็นที่ยอมรับของกันและกัน ทั้งนี้ อนาคตทิศทางการตรวจสอบและรองรับจะมีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผู้ประกอบการจะได้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) ก่อนการผลิตผลิตภัณฑ์ แต่ต่อไปจะพยายามพัฒนาในแง่ของกฎหมาย ที่จะบังคับให้กลุ่มผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน โดย มอก.จะเปรียบเสมือนมอนิเตอร์คอยตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการข้างต้นในระดับโรงงาน กระบวนการผลิต จนถึงขั้นตอนได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานถึงจะให้ไลเซนส์ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้ และ มอก.ก็จะตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในตลาดอีกครั้งว่าได้มาตรฐานหรือไม่

นอกจากนี้ สมอ.จะประกาศมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมทั่วไป (มอก.) ว่าด้วยมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการผลิตอุตสาหกรรม หรือ มอก. 9999 ซึ่งจะเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าวจะต้องมีกระบวนการผลิตสินค้าที่พอเพียง ตั้งแต่การใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างรู้ค่าและพอเพียง การใช้พลังงานที่ไม่ฟุ่มเฟือย ซึ่งผลที่จะได้คือ ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ทุกสภาวะ เพราะในประเทศไทยต้นทุนการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังรวมไปถึงการขยายการลงทุนที่ไม่ควรเกินความสามารถของผู้ประกอบการอีกด้วย

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

ไทย - สหรัฐฯ หารือ TIFA JC เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ตามที่ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประธานาธิบดีบารัคโอบามา ได้มีแถลงการณ์ร่วมให้รื้อฟื้น การประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement: TIFA JC) เพื่อเป็นช่องทางการหารือทวิภาคีในการขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน หลังจากที่ประเทศไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2546

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ได้นำคณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนกรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมหารือ TIFA JC ไทย-สหรัฐฯ ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 2 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยมีนาง Babara Weisel ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ

ในการประชุมทวิภาคีกับสหรัฐฯ ครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้หยิบยกประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการค้าของไทย เช่น รายงานของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในไทย สืบเนื่องจากการที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จัดทำ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) และกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานและบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับเอกสารรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งสินค้าไทยที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวมีจำนวน 5 รายการ ได้แก่ สิ่งทอ กุ้ง สื่อลามก อ้อย และปลา ฝ่ายไทยได้ชี้แจงให้ผู้แทนหน่วยงานของสหรัฐฯ ได้ทราบถึงการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2555-2556 ของประเทศไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหา และส่งเสริมสภาพการทำงานที่ดีในอุตสาหกรรมประมง โดยขอให้สหรัฐฯ ใช้ข้อมูลจากภาครัฐของไปประกอบการจัดทำรายงานด้วย ซึ่งผู้แทนกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเข้าใจต่อการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ของประเทศไทย โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาต่อไป

ประเด็นสำคัญอื่นที่ไทยหยิบยกขึ้นหารือ ได้แก่ การประกาศใช้กฎหมายป้องกันการแข่งขันธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition Act: UCA) ในระดับมลรัฐของสหรัฐฯ การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ของสหรัฐฯ กับสินค้าไทย และการใช้มาตรการห้ามนำเข้าหนังจระเข้และผลิตภัณฑ์จากไทย พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงประเด็นที่สหรัฐฯ มีข้อกังวล ได้แก่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย การกำหนดให้การส่งผ่านข้อมูลธุรกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เกิดขึ้นในประเทศ ต้องผ่านศูนย์กลางรับส่งข้อมูลรายการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดตั้งและดำเนินการภายในประเทศ มาตรการห้ามนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบสาร Ractopamine นโยบายการค้าข้าว การขยายขอบเขตความตกลง ITA และการกำหนดข้อห้ามการครอบงำกิจการโทรคมนาคมโดยคนต่างด้าว (Foreign Dominance Regulations) ของไทย เป็นต้น

โดยที่ สินค้าประมง และสิ่งทอ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในตลาดสหรัฐฯ คณะผู้แทนไทยได้ใช้โอกาสนี้ ชี้แจงข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้แรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมทั้งการดำเนินงานในการยกระดับมาตรฐานแรงงานของไทย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้แทนสถาบันประมงแห่งชาติสหรัฐฯ (National Fisheries Institute: NFI) บริษัทที่ปรึกษาเรื่องสิ่งทอสหรัฐฯ (International Development System Inc: IDS) และผู้บริหารของบริษัทนำเข้ารายสำคัญในสหรัฐฯ เช่น Chicken of the Sea Frozen Foods, H & N Group, C.P. Food Products, Inc. , ACE Group, King & Prince Seafood Corporation, Eastern Fish Company , Dacon Trading และ Costco เป็นต้น

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 ของไทย โดยการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ย.) ของปี 2555 มีมูลค่า 32,914 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 21,019 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่นำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 11,895 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มูลค่า 9,124 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากสหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

วันเกษตรแห่งชาติปี56

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานวันเกษตรแห่งชาติประจำปี 2556 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “การเกษตร นวัตกรรมจากธรรมชาติ” เนื่องจากการเกษตรเป็นชีวิตของชาติ งานเกษตรกรรมทุกชิ้นเป็นสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ เป็นผู้สร้างสรรค์อย่างมหัศจรรย์ของธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด และมนุษย์เราก็นำมาต่อยอดด้วยปัญญาให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตทั้งโลก

การจัดงานเกษตรแห่งชาติปีนี้ จึงเน้นให้ทุกคนได้พบเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของการเกษตรซึ่งเป็นนวัตกรรมจากธรรมชาติ โดยจะได้พบกับความอลังการของพื้นที่การจัดแสดงการเกษตรที่มีชีวิตชุด “เกษตรสร้างสรรค์ รักษ์พลังงาน ลดโลกร้อน” “บ้านสีเขียว โลกยิ้มสวยด้วยมือเรา” และ “กล้วยไม้ในผืนป่า นวัตกรรมจากธรรมชาติ” ซึ่งทุกชุดจะงดงามไปด้วยพรรณไม้ดอก ผักสวนครัว และกล้วยไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้หวาย ไม้เอื้อง กล้วยไม้ดิน ในรูปแบบของสวนป่า สวนหย่อม สวนครัว

ในการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติปี 2556 นี้ หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งหมดจะนำผลงานที่ประสบความสำเร็จในเชิงวิจัย การสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน มาจัดแสดง รวมทั้งการจำลองรูปแบบนวัตกรรมและการสาธิตเพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่หนึ่ง นิทรรศการที่แสดงถึงการเกษตรที่เป็นนวัตกรรมจากธรรมชาติ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ในชุด ผลงาน “น้ำ...สร้างชีวิต” จากกรมชลประทาน “นวัตกรรมก้าวไกล พืชพันธุ์ใหม่ เฉลิมพระเกียรติ” จากกรมวิชาการ “ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์สู่ตลาดสากล” กรมส่งเสริมสหกรณ์ “พลับพลึงธาร พรรณไม้น้ำหนึ่งเดียวในโลก และภูมิปัญญาพื้นบ้านในการจัดการทรัพยากรประมงกับความมั่นคงทางอาหาร” จากกรมประมง “เลี้ยงวัวอย่างสร้างสรรค์ให้ก้าวทัน AEC ด้วยวิถีแห่งพอเพียง” จากกรมปศุสัตว์ “มาตรฐานไทย มาตรฐานอาเซียน” จากสำนักงานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ รวมทั้งนิทรรศการองค์ความรู้จากกรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมหม่อนไหม และกรมการข้าวซึ่งจะได้นำเสนอพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมาจัดแสดง

ส่วนที่สอง เป็นการจัดนิทรรศการในเชิงสาธิตโดยรวมจากกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งจะนำการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองครบวงจรความก้าวหน้าในการพัฒนาเกษตรกรจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา รวมทั้งการสร้างคุณค่าประมงไทยขององค์การสะพาน และ อ.ส.ค. น้อมนำอาชีพพระราชทานสู่อาเซียน รวมถึงตลาดสด

ต้นแบบและระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะของตลาดสด อ.ต.ก.
นอกจากนี้ ในส่วนพื้นที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับพระกรุณาธิคุณให้จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร้านภูฟ้า ร้านศิลปาชีพ 904 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากสภากาชาดไทย โครงการ ทูบี นัมเบอร์วัน ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และโครงการหลวง

“การจัดงานเกษตรแห่งชาติประจำปีนี้ จึงเป็นการนำเสนอผลงานองค์ความรู้ของหน่วยงานทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยรูปแบบของเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมและสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้เข้าชม ให้ผู้ชมงานได้พบความมหัศจรรย์ของธรรมชาติซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเกษตรที่ยิ่งใหญ่ ทั้งเรื่องของดิน น้ำ การประมง ปศุสัตว์ พืชพรรณ พันธุ์ข้าว ไม้ผล ตลอดจนผลงานวิจัยและภูมิปัญญาจากการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอีกนานัปการโดยงานจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 นี้” นายยุคล กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 มกราคม 2556

เขตเศรษฐกิจพิเศษ

เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งเป็นรูปธรรมที่สุด นับตั้งแต่มีการพูดเรื่องทำนองนี้กันมานาน หลังจากประเทศจีนเดินหน้าไปไหนต่อไหนแล้ว

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษครับคณะรัฐมนตรีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ....

จึงต้องนำมารายงานให้ทราบโดยละเอียดกันอีกครั้ง สาระสำคัญเป็นเช่นไร

นิยามคำว่า "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" หมายถึง พื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งหรือหลายแห่งที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการค้าสินค้าหรือบริการ หรือการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการค้าบริเวณพรมแดนและการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่สอดคล้องกับระบบ ASEAN Single Window และบทนิยามอื่นๆ ได้แก่ "การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ" "การค้าบริเวณพรมแดน" "แผนแม่บท" "การพัฒนาพื้นที่" "หน่วยงาน" และ "หน่วยงานรับผิดชอบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ"

ให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนการค้าไทย ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสิบคน เป็นกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอแผนแม่บทต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการที่สำนักงานเสนอ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานตามที่สำนักงานร้องขอ กำหนดแนวทางเพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาการค้าบริเวณพรมแดนและการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บท

ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ร่างแผนแม่บทเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ตรวจสอบและวิเคราะห์แผนงานหรือโครงการและแผนปฏิบัติของหน่วยงาน อำนวยการ ติดตามผล และประสานงานการบริหาร และการปฏิบัติตามแผนแม่บท รวมทั้งสนับสนุนและให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ให้หน่วยงานที่ประสงค์จะรับผิดชอบเขตพัฒนาเศรษฐกิจจัดทำร่างแผนแม่บทเสนอคณะกรรมการนโยบาย เพื่อพิจารณา โดยผ่านความเห็นชอบของกระทรวงเจ้าสังกัด

ให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามแผนแม่บท จัดทำแผนงานหรือโครงการ และส่งให้หน่วยงานรับผิดชอบเขตพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อรวบรวมตรวจสอบและวิเคราะห์แล้วจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ และนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อไป โดยรับฟังความคิดเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่นั้น ประกอบด้วย ภาครัฐโดยสภาพัฒน์มีบทบาทเป็นหลัก อปท. ประชาคมในพื้นที่เป็นส่วนประกอบ เช่นเดิม

จากhttp://www.matichon.co.th  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

ผวาบาทแข็งทำพิษนายกฯเรียกคลัง-แบงก์ชาติถกด่วน ประคองผู้ส่งออกฝ่าวิกฤติ

ผวาบาทแข็งทำป่วน นายกฯเปิดทำเนียบหารือคลัง แบงก์ชาติสั่งหามาตรการรับมือด่วน เตรียมคุยกลุ่มผู้ส่งออกเร็วๆนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบ ด้านพาณิชย์ยอมรับกังวลบาทแข็งทำส่งออกแย่ ธุรกิจลำบาก เตรียมประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกประเมินสถานการณ์ แต่ยังยืนเป้าปี’56 ที่ 8-9% ส่วนปี’55 อาการหนักโตแค่ 3.12%

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายประสารไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าหารือกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ระหว่าง 29.70-29.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีความเป็นห่วงผลกระทบจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปบูรณาการแผนการต่างๆ

“ความจริงไม่อยากให้ตื่นตระหนกเพราะเรามีทางออกหลายทาง และการลงทุนในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนก็ยังมีช่องว่างที่เราต้องทำเพิ่ม การหารือครั้งนี้เป็นการติดตามสถานการณ์ตามปกติ แต่เราอยากให้เตรียมทางเลือกไว้หลายๆทางให้กับภาคเอกชนกลุ่มผู้ส่งออก ธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างน้อยจะได้คล่องตัวและช่วยลดความเสี่ยง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ธปท.มีการรายงานสถานการณ์ค่าบาทหรือไม่ ว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ไม่มาก แต่อนาคตคงไม่มีใครตอบได้ ณ ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอันตราย แต่เราก็ควรจะมีทางเลือกไว้ ทั้งเรื่องการลงทุนหรือการวางแผนต่างๆ สำหรับภาคเอกชนแต่ขอร้องว่าอย่าตกใจเพราะรัฐบาลจะมีวิธีการและนำเสนอให้ทราบอีกครั้ง

ส่วนผลกระทบทางด้านส่งออกนั้น นายกรัฐมนตรียอมรับว่า มีแต่คงไม่มากแต่เราเองก็ต้องไปศึกษาผลกระทบเพราะไม่ต้องการให้ไปซ้ำเติมการส่งออก แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ส่งออก อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้จะนัดหารือกับกลุ่มผู้ส่งออกเพื่อพูดคุยและเตรียมปรับตัวรับมือปัญหาที่เกิดขึ้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า จากการติดตามอัตราแลกเปลี่ยนพบว่าแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นทั้งผลดีและผลเสีย จึงถือเป็นความท้าท้ายที่ผู้บริหารเศรษฐกิจต้องบริหารให้มีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ลงทุนเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการไหลเข้าและไหลออก ขณะที่ภาคเอกชนต้องปรับตัวโดยนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร เทคโนโลยี เข้ามาเพิ่มศักยภาพในการผลิต ขอย้ำว่ารัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงนโยบายเพราะเชื่อว่าธปท. จะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพได้

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งมีกลุ่มนักเก็งกำไรจากต่างประเทศเข้ามาซื้อขายและทำกำไรระยะสั้น หากเงินบาทผันผวนรวดเร็วกว่านี้อาจกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรม ภาครัฐจะต้องใช้มาตรการป้องปรามอย่างจริงจังไม่เช่นนั้นผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งขณะนี้หลายกิจการประสบปัญหาหลายด้านประกอบกับความไม่มั่นใจเศรษฐกิโลกดังนั้นภาครัฐจะนิ่งนอนใจไม่ได้

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าของไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2555 มีมูลค่า 18,108 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.45% ส่วนการนำเข้าเดือนธันวาคม 2555 มีมูลค่า 20,466 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.67% ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 2,365 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกของไทยทั้งปี 2555 มีมูลค่า 229,518 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.12% การนำเข้าสินค้าไทยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 247,590 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.22%ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 18,071 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2555 จะขยายตัว 5% นั้น เป็นผลจากภาวะเศษฐกิจที่ชะลอตัววิกฤตเศษฐกิจโลก

สำหรับในปี 2556 นี้ยอมรับว่า กังวลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจจะกระทบต่อการส่งออกภาพรวมโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งอยากให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ และไม่แข็งค่านานจนเกินไป เพราะวางแผนธุรกิจลำบาก อีกทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยทั้งต้นทุนค่าแรง วัตถุดิบดอกเบี้ย โดยกระทรวงพาณิชย์ติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และในเดือนพฤษภาคม จะประชุมทูตพาณิชย์จากทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์ และเป้าหมายการส่งออกใหม่ แต่ขณะนี้เรายังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 8-9% บนสมมุติฐานที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้แต่จากเสียงสะท้อนของภาคเอกชน โดยหอการค้าไทยระบุว่าหากเงินบาทแข็งค่าโดยต่ำลงมากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกแน่นอน จึงต้องรอดูอีกสักระยะ แต่หากวูบวาบเล็กน้อยก็ไม่น่าจะมีปัญหา

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ธ.โลกห่วงไทยสารพัดปัจจัยลบ

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้ขยายตัว 5% ซึ่งมากกว่าปี 55 ที่ขยายตัว 4.7% โดยมาจากการฟื้นตัวในภาคการผลิตอย่างเต็มที่หลังวิกฤติอุทกภัย ปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดต่ำลง ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 มากกว่าปีก่อนที่ขยายตัว 3.6% และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลหนุนการลงทุนภาครัฐขยายตัว 15% จะเป็นแรงส่งต่อการขยายตัวของจีดีพีปีนี้

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้าน คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ โดยโตเพียง 2.4% อาจจะกระทบต่อภาคการค้า ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร โดยราคายางพาราคาดว่าอยู่ที่ 330 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลงจาก 338 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ราคาข้าวอยู่ที่ 540 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปีนี้ และ 520 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 57 หรือลดลงปีละ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ 60,000 ล้านบาท อาจช้ากว่าที่กำหนด และผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ซึ่งรัฐควรทยอยปรับขึ้นค่าแรง และปัจจัยเสี่ยงสุดท้าย คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งคาดว่าบรรยากาศการเมืองจะไม่แตกต่างจากปีก่อน

สำหรับปัญหาหนี้สาธารณะของไทยที่อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของจีดีพี เชื่อว่าไม่กระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ หากเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4-4.5% แต่ห่วงหนี้ผูกพันของรัฐที่แฝงในธนาคารรัฐ ดังนั้นรัฐบาลควรลดการกระตุ้นระยะสั้นและเก็บเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

นายแอนดรู เบิร์นส์ ( Andrew Burns) ผู้จัดการกลุ่มแนวโน้มการพัฒนา แผนกพัฒนาทางเศรษฐกิจ ธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ยังอ่อนแอ เปราะบาง แม้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะดูดีขึ้น โดยประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโต 5.5% แม้อัตราการเติบโตจะไม่สูงถึง 7-8% แต่ยังสามารถรักษาระดับได้ให้การเติบโตมั่นคง แต่ไม่ร้อนแรงเหมือนปี 2543 โดยธนาคารโลกเสนอแนะให้ประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากร และสร้างความสามารถทางการคลังสะสมไว้ เพื่อรองรับหากเกิดวิกฤติ ซึ่งสามารถรองรับปัญหาได้ถึง 33% จะเป็นผลดีมากกว่าการกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกที่จะสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ การลงทุนต้องมีผลิตผลกลับมาสร้างมูลค่าเศรษฐกิจด้วย ควรมีองค์ประกอบอื่นๆ คือ การแก้ปัญหาการคอรัปชั่น การจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน และการปรับโครงสร้างแรงงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จึงจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ดันแผนพัฒนา5จังหวัดเหนือล่าง กษ.หนุนสร้างแก้มลิงบึงช่อระยะ2 พ่วงจำแนกศึกษาผลิตพืชเศรษฐกิจ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการแก้มลิงบึงช่อ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และโครงการจำแนกความเหมาะสมของพื้นที่ในการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองมะพลับ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นโครงการที่จังหวัดสุโขทัย เตรียมทำแผนขอสนับสนุนงบกลางเพื่อพัฒนากลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือให้กับรัฐบาล โดยทั้ง 2 โครงการ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่มาก โดยเฉพาะโครงการแก้มลิงบึงช่อ ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลในอนุมัติงบประมาณเพื่อทำการขุดลอกพื้นที่บึงช่อซึ่งมีเนื้อที่รวม 2,055 ไร่ ระยะแรกจำนวน 35 ล้านบาท โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกพื้นที่ได้ประมาณ 300 ไร่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่ทำนาในฤดูฝนได้ 1,000 ไร่

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการแก้มลิงบึงช่อระยะสอง ภายใต้งบประมาณ 105 ล้านบาท เพื่อดำเนินการขุดลอกบึงในพื้นที่ที่ต้องขุดลอกอีก 700 ไร่เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 4 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝนได้ 3,000 ไร่ โดยเมื่อการขุดลอกแล้วเสร็จทั้ง 1,000 ไร่ จะสามารถเก็บกักน้ำได้รวม 5.2 ล้าน ลบ.ม. ช่วยพื้นที่การเกษตรในฤดูฝนได้ 4,000 ไร่ และฤดูแล้ง 2,000 ไร่

นายยุคลกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับแผนงานโครงการศึกษาเพื่อจำแนกความเหมาะสมของพื้นที่ในการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจในกลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ใช้งบประมาณในการศึกษาและทำแปลงสาธิตจำนวนประมาณ 20 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้จังหวัดรวบรวมข้อมูลการทำการเกษตรว่าแต่ละพื้นที่ปลูกพืชชนิดใดบ้าง ดังนั้น ทั้ง 5 จังหวัดก็สามารถนำข้อมูลไปเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจหรือโซนนิ่งของจังหวัดตนเองตามนโยบายรัฐบาล เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับพื้นที่ ซึ่งจะสร้างจุดแข็งให้กับผลิตและสามารถแข่งขันได้เมื่อเข้าสู่เออีซี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยเซ็ง

นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ เผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ได้เริ่มเปิดหีบอ้อยประจำปีการผลิต 2555/56 ซึ่งแนวโน้มพบว่า ในปีการผลิตดังกล่าว ประเทศไทยจะมีผลผลิตอ้อยลดลง เนื่องจากเกือบทั่วประเทศเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง คาดว่าจะทำให้มีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบใน 48 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ เพียง 90 ล้านตันเท่านั้น จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบรวม 94 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตอ้อยเมื่อปี 2554/55 ประเทศไทยมีผลผลิตอ้อยทั่วประเทศรวม 98 ล้านตัน "เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฯได้ยื่นหนังสือถึงนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรมเพื่อขอให้ช่วยผลักดันให้ราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2555/56 ให้ได้ราคาเฉลี่ยเท่ากับต้นทุนการผลิต คือ 1,200 บาทต่อตัน

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

พาณิชย์ห่วงบาทแข็งปัจจัยเสี่ยงฉุดส่งออกปี 56

ส่งออกปี 55 ขยายตัวแค่ 3.12% ขาดดุลการค้าติดต่อเป็นปีที่สอง อ้างเหตุน้ำท่วมแห่นำเข้าเครื่องจักรทดแทนที่เสียหาย
พาณิชย์รับหนักใจปี 56 ค่าเงินบาทปัจจัยเสี่ยงสุด หวั่นกระทบภาพรวม จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างเสถียรภาพ เตรียมเรียกทูตพาณิชย์ทั่วโลกประชุมประเมินสถานการณ์เดือนพฤษภาฯ แย้มอาจมีการปรับลดเป้าส่งออกใหม่

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง มูลค่าการส่งออกของเดือนธันวาคม 2555 ว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13% โดยมีมูลค่าการส่งออก 18,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ภาพรวมมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ในอัตรา 3.12% (จากเป้าหมายขยายตัวที่ 15%) หรือมีมูลค่า 229,518 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรปและการลุกลามของปัญหา นอกจากนี้เป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา ที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รวมถึงผลกระทบจากมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี2554 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกของไทย

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในปี 2555 ไปยังตลาดหลักภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5 % เช่น ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 3.1% ตลาดสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น2.9 %และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 4.6 % ส่วนตลาดศักยภาพสูง อย่างตลาดอาเซียน ส่งออกเพิ่มขึ้น 13.1% ตลาดศักยภาพรอง ภาพรวมยังเพิ่มขึ้น 27.8 % โดยเฉพาะทวีปออสเตรีย เพิ่มขึ้น71.7%และทวีปแอฟริกา เพิ่มขึ้น18% เป็นต้น

สำหรับการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม ภาพรวมลดลง 9.2 % โดย สินค้าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ลดลง 12.4% ยางพาราลดลง 20.1% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลง15.2 % กุ้งแช่แข็งและแปรรูปลดลง 22.6 % น้ำตาลลดลง 37.7 % ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) เพิ่มขึ้น 3.5% ผักและผลไม้เพิ่มขึ้น11% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้น 1.5 % หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญภาพรวมเพิ่มขึ้น 28.4 %

โดยสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 34.4% เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 22.6 % ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้น 90.3 % เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น1% วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น73.5 % เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 2.2 % สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ สิ่งทอลดลง3.5% อัญมณีและเครื่องประดับลดลง 19.5 % ผลิตภัณฑ์ยางลดลง 8.3% สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์ลดลง 22.5 % เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้าลดลง11.6 %
ขณะที่การนำเข้าเดือนธันวาคม 2555 มีมูลค่า 20,466.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้แก่ หมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้น 26.5% (เครื่องจักรกลเพิ่มขึ้น 4.6 % เครื่องจักรไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 18.1 %) หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เพิ่มขึ้น 67% ส่วนหมวดสินค้าที่นำเข้าลดลงได้แก่ หมวดเชื้อเพลิงลดลง 7.7 % (ประเภทน้ำมันดิบลดลง 6.0% น้ำมันสำเร็จรูปลดลง 17.6 % ก๊าซธรรมชาติลดลง 18.9 % ส่วนการนำเข้าในช่วง 12 เดือนของปี 2555 (ม.ค.- ธ.ค.) มีมูลค่าทั้งสิ้น 247,590.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.22 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ไทยยังขาดดุลการค้าที่ติดลบต่อเนื่องถึง 2 ปี โดยในปี 2555 ขาดดุล 18,071 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่ายังเล็กน้อยอยู่ไม่ได้เข้าสู่ขีดอันตราย เพราะประเทศไทยในสภาวะนี้ โครสร้างเศรษฐกิจไทยเองยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อส่งออกและไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของโลก ฉะนั้นก็มีทั้งลงทุนในประเทศไทยและมีการนำเข้าเพื่อผลิต แล้วส่งออกซึ่งถือว่าเป็นวัฎจักรของซัพพลายเชน และไทยเป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนในเอเชีย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่กังวลเพราะดุลการค้ายังคงเป็นไปตามวัฎจักรของการลงทุน การผลิต การค้าส่งออก
ส่วนแนวโน้มของดุลการค้าปีนี้ หลังจากที่กรมได้เปลี่ยนชื่อจากกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีภารกิจเพิ่มในการไปหาแหล่งวัตถุดิบแหล่งใหม่ เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งตรงนี้ก็เหมือนเป็นการสนับสนุนการนำเข้า จากปัจจุบันเอกชนก็มีการนำเข้าอยู่แล้วเพียงแต่กรมทำให้เอกชนได้ของดีมาผลิตที่แข่งขันได้ ส่วนการขาดดุลการค้าต่อเนื่องมา 2 ปีจะส่งผลต่อการส่งออกหรือไม่นั้น ต้องบอกว่ากรมได้เข้ามาดูแลเรื่องการส่งออกมากขึ้น ช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น ทั้งการกระจายแหล่งนำเข้า แทนที่จะไปกระจุกตัวซึ่งจะช่วยให้สามารถต่อรองได้มากขึ้น และถ้าต่อรองได้มากขึ้นราคาก็จะดีขึ้น สามารถเลือกสินค้าที่มีคุณภาพที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้ภาคการผลิตของไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น แต่จริงๆเรื่องการส่งออกกรมก็ตั้งหลักจะส่งเสริมสนับสนุนสินค้าระดับกลางขึ้นไป คือการสร้างมูลค่าให้กับสินค้านั้นเอง

“ปัจจัยที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้ามา 2 ปีติด ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในปี2554 ที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องนำเข้าเครื่องจักรเข้ามากะทันหัน รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะซบเซา ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น”

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังกล่าวถึงกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ว่า ต้องยอมรับว่าในปี 2556 กังวลถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเพราะอาจจะกระทบต่อการส่งออกในภาพรวม โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งอยากให้หน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรงเร่งสร้างเสถียรภาพของค่าเงิน และไม่แข็งค่านานจนเกินไป เพราะทำให้ผู้ส่งออกวางแผนธุรกิจลำบาก และยังมีปัจจัยหลายเรื่อง ทั้งต้นทุนค่าแรง วัตถุดิบดอกเบี้ย ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งศูนย์ติดตามเศรษฐกิจและผลกระทบต่อการส่งออกที่มีทีมงานวิเคราะห์สถานการณ์และเตือนเอกชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงิน การกีดกันทางการค้า เป็นต้นเพื่อให้เอกชนสามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์และในเดือนพฤษภาคมจะมีการเชิญประชุมทูตพาณิชย์จากทั่วโลก มาร่วมกันประเมินสถานการณ์ และเป้าหมายการส่งออกใหม่ แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2556 ไว้ที่ 8-9 % บนสมมติฐานที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าว่า หากจะให้ประเมินถึงผลกระทบต่อการส่งออกทั้งปีนี้คงยังไม่สามารถประเมินได้ แต่จากการสอบถามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่ากำลังติดตามและมีแนวทางการดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนโดยหอการค้าไทย ระบุว่าหากเงินบาทแข็งค่าโดยต่ำลงมากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกแน่นอน จึงต้องรอดูแต่หากวูบวาบเล็กน้อยก็ไม่น่าจะมีปัญหา

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

ประสารโชว์วิสัยทัศน์ปี 56เน้นรักษาเสถียรภาพ ศก.และการเงินประเทศ

ผู้ว่าการ ธปท. เปิดวิสัยทัศน์ปี 56 ย้ำจุดยืนตลอด 70 ปี สร้างสมดุลระหว่างเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินไทย พร้อมจับตาความท้าทาย 3 ด้าน อัตราแลกเปลี่ยน-สถาบันการเงิน-ระบบชำระเงิน รับมือความเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจโลก รองรับการเติบโตจีดีพีพื้นที่ต่างจังหวัด

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงนโยบายเรื่อง "ทิศทางการดําเนินนโยบายของ ธปท. ในปี 2556" โดยระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556 โดยภาพรวมมีความเสี่ยงลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่มีผลต่อเนื่อง การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะบังคับใช้ในปีภาษี 2556 การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี การซ่อมสร้างในบางอุตสาหกรรมที่ยังไม่เสร็จสิ้น รวมทั้งการลงทุนที่สืบเนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ขณะที่ภาคการส่งออกจะเริ่มทยอยฟื้นตัวจนกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับความท้าทายกับการดําเนินนโยบายในปีนี้ ธปท.แบ่งความท้าทายออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยความท้าทายแรกคือการรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง ทั้งนี้ การกําหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นต้นทุนในการกู้ยืมไว้ในระดับต่ำนานเกินไปอาจจูงใจให้ภาคเอกชนก่อหนี้เกินควร หรือกระตุ้นให้ผู้ฝากหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามากขึ้น และอาจนําไปสู่การสะสมความไม่สมดุลในระบบการเงินหรือภาวะฟองสบู่ได้ในอนาคต ธปท.จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ

ส่วนความท้าทายที่สองคือการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนมากขึ้น ซึ่ง ธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบของค่าเงินบาทต่อภาคเศรษฐกิจจริง ที่สําคัญคือการวางโครงสร้างและเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคเอกชน เช่น มาตรการรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยจะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนขาออกตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังทยอยปรับปรุงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา พร้อมสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นชําระค่าสินค้า โดยเริ่มจากการใช้เงินหยวนเป็นการนําร่อง รวมทั้งลดอุปสรรคในส่วนของระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (AEC)

2.ด้านนโยบายสถาบันการเงิน แม้ระบบสถาบันการเงินไทยจะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างดีมาโดยตลอด แต่ยังมีหลายจุดที่ต้องผลักดันต่อเนื่อง โดยธปท.จะหารือและร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการขยายบทบาทให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ให้บริการสินเชื่อเพื่อกลุ่มคนรากหญ้า (ไมโครไฟแนนซ์) โดยใช้รูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับลักษณะของความเสี่ยงและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 1/56 จะกําหนดกรอบการให้ใบอนุญาตแก่สาขาธนาคารต่างประเทศที่จะเข้ามาดําเนินการในประเทศไทย ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 อีกทั้งจะมีการกําหนดกรอบเจรจาเพื่อเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถขยายธุรกิจตามการเปิดเสรี Qualified ASEAN Bank (QAB) ภายใต้เออีซี โดยคาดว่ากระทรวงการคลังจะสามารถพิจารณาได้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/56 และเริ่มดำเนินการได้ภายในครึ่งหลังของปี 2556 หรือต้นปี 2557

และ3. ด้านนโยบายระบบการชําระเงิน ซึ่งปีนี้ ธปท. ตั้งเป้าขยายระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพ ( ICAS) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียกเก็บเช็คข้ามจังหวัด จากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลา 3-5 วันทําการ จะเหลือเพียง 1 วันทําการ เพื่อสนับสนุนให้เงินหมุนเวียนในระบบเร็วขึ้น ต้นทุนลดลง และส่งเสริมให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ รวมทั้งส่งเสริมการใช้บริการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนการใช้เงินสด โดย ธปท.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนบริการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ และการยกระดับระบบการชําระเงินไทยให้เอื้อต่อการทําธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

"ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคเอเชีย ทำให้มีทั้งความท้าทายที่ต้องเผชิญ และโอกาสที่ต้องเอื้อมคว้าไว้จำเป็นที่ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือและการประสานงานกันเชิงนโยบายอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ไม่ถือ "ฉัน" ถือ "เธอ" แต่ถือ "เรา" เป็นที่ตั้ง เพื่อนํามาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนไทย"

นายประสาร กล่าวต่อไปอีกว่า พันธกิจหลักที่ ธปท.ยึดมั่นมาตลอด 70 กว่าปี คือการดํารงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยกําลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเชื่อมโยง ทั้งการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการเงินกับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน หรือกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ที่ขณะนี้เริ่มเห็นการค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นชัดเจน หรือการเชื่อมโยงภายในประเทศสะท้อนจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ขยายไปในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความเชื่อมโยงดังกล่าวจะมีความซับซ้อนขึ้น และอาจนําไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบ หากขาดความสมดุล โดยแม้จะเป็นการก่อตัวจากจุดเล็กๆ แต่ความเชื่อมโยงที่สลับซับซ้อนก็อาจนําไปสู่ความไร้เสถียรภาพของระบบได้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

จี้รัฐสร้างเกษตรรุ่นใหม่

นายนนท์ นุชหมอน นักวิชาการเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet) และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนา “ข้าวปลา อาหาร : เมนูความเหลื่อมล้ำเกษตรกรไทย” โดยร่วมกับสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันมุ่งสะท้อนข้อเท็จจริงของเกษตรกร ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีคนยากจนประมาณ 5,278,800 คน ซึ่งกว่าครึ่งของจำนวนดังกล่าวประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม โดยความเหลื่อมล้ำทางรายได้ดังกล่าวอาจเป็นเหตุและผล ของความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างประเภทอื่นๆ ในสังคมไทยซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ความเหลื่อมล้ำในด้านของสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี

ทั้งนี้ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ ได้แก่ สิทธิเหนือทรัพยากร เช่น ที่ดิน แม้เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยจะมีสัดส่วนการถือครองที่ดินเป็นของตนเองในสัดส่วนที่สูง (ประมาณ 85%) แต่จำนวนเกษตรกรที่ยังประสบปัญหาขาดที่ทำกิน สูญเสียที่ดิน หรือมีข้อพิพาทกับที่ดินของรัฐ ก็มีจำนวนไม่น้อย

ขณะที่สิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านการเกษตร ที่ผ่านมานโยบายการเกษตรถูกกำหนดโดยกลุ่มการเมืองเป็นหลัก และไม่สามารถหลุดไปจากนโยบายประชานิยมหรือนโยบายที่มีค่าเช่าทางเศรษฐกิจสูง ไปสู่นโยบายการพัฒนาเชิงคุณภาพได้ หลายนโยบายไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของเกษตรกรหรือความแตกต่างเชิงพื้นที่ หรือความสอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ ทั้งนี้ควรให้การส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เกิดความรู้สึกถึงความมั่นคง และความเป็นผู้ประกอบการในอาชีพ มีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

เปิดใจ 'ลักษณ์ วจนานวัช' กับ...ภารกิจดูแลเกษตรกร

ต้องยอมรับว่าบทบาทของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในปัจจุบันได้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญยังเป็นการรักษาฐานคะแนนเสียงของรัฐบาลกว่า 15.7 ล้านเสียงทั่วประเทศไว้ด้วย แม้ว่าในแต่ละนโยบายต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากและยังเสี่ยงต่อฐานะของ ธ.ก.ส. ก็ตาม

แต่ในมุมมองของผู้จัดการ ธ.ก.ส. อย่าง “ลักษณ์ วจนานวัช” แล้ว ได้บอกกับ “ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์” ว่า แม้ ธ.ก.ส. ต้องดำเนินการตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาทก็ตาม แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. แน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพคล่องซึ่งในปีนี้ได้จัดสรรเตรียมไว้ให้สูงถึง 90,000 ล้านบาท แต่ถ้าต้องใช้มากกว่านี้ก็ต้องให้กระทรวงการคลังเข้ามาสนับสนุน

ลุยสนองนโยบายประชานิยม

ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศกว่า 6 ล้านครัวเรือนหรือคิดเป็น 90% ของครัวเรือนเกษตรกรแล้ว และยังมีสาขาครอบคลุมทุกจังหวัดกว่า 1,092 แห่ง และยังคงมุ่งมั่นที่จะดูแลสภาพคล่องของธนาคารเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรอย่างเพียงพอ ซึ่งจุดนี้…ถือเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน โดยในปีบัญชี 55 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน เม.ย. 56 เชื่อว่าสินเชื่อใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือ 80,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปล่อยสินเชื่อตามโครงการประชานิยมของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบาย ต่อรัฐสภาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลกลุ่มคนเกษตรกรที่เป็นผู้ด้อยโอกาสในการเข้า ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่ง ธ.ก.ส. มีโครงการที่เกี่ยวข้อง ทั้งโครงการให้กู้ยืมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 40,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทำกินของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมรุนแรงเมื่อปี 54 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ภาคเกษตรกรหรือโครงการพักหนี้ ที่รัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยช่วงพักชำระหนี้ ถือเป็น อีกหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแบ่งเบาลดภาระทางด้านการเงิน รวมทั้งยังมีโครงการพักชำระหนี้ดี ปี 55 ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เป็นจำนวนมากกว่า 2 ล้านราย

มั่นใจไม่กระเทือนฐานะแน่

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกด้วยว่า ธ.ก.ส.ยังเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสินค้าเกษตรในโครงการการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ตั้งแต่กลางปี 54 ถึงปัจจุบันมีกว่า 3 ล้านครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรต่างได้ราคาเป็นที่น่าพอใจและเชื่อว่าสินค้าเกษตรที่รัฐบาลรับจำนำมาจะสามารถระบายขายออกได้หมด เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นที่ต้องการของตลาดแต่การค้าอาจมีคู่แข่งขันที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกันโดยเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์จะสามารถดำเนินการอย่างเต็มที่ในการระบายสินค้าที่รับจำนำมาเพื่อให้มีเงินไหลกลับเข้าสู่โครงการรับจำนำ

แต่ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าโครงการรับจำนำ อาจมีผลขาดทุนบ้างแต่เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการดูแลเกษตรกรให้ขายสินค้าเกษตรให้ได้ราคาที่ดีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและเกษตรกรที่ขายสินค้าได้ราคาดีก็จะนำเงินส่วนหนึ่งออกมาใช้จ่ายเพี่อให้เกิดความหมุน เวียนทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว รวมถึงเกษตรกรก็สามารถนำเงินไปลดภาระหนี้และเก็บออมเงินกับ ธ.ก.ส. อีกด้วย ซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินการทั้งหมดจะไม่กระเทือนต่อฐานะของ ธ.ก.ส. แน่นอน

ออกสลากออมทรัพย์อีก3.5หมื่นล.

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อตามแผนงานของธนาคารอยู่ที่ 800,000 ล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อทางการเกษตรที่ผ่านการอนุมัติแต่ละสาขาทั่วประเทศผ่านสหกรณ์การเกษตร, สินเชื่อเพื่อการสร้างงานในชนบทสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและสินเชื่อนอกภาคการเกษตร หรือเรียกว่าสินเชื่อเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเพียงพอเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้มีเงินทุนใช้จ่ายในการประกอบอาชีพได้

ส่วนการระดมทุนนั้น ธ.ก.ส. ได้ออกผลิตภัณฑ์เหมือนกับภาคสถาบันอื่น ๆ ทั้งด้านเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชคซึ่งเป็นที่นิยมของเกษตรกรและภาคชนบท เงินฝากออมทรัพย์ทวีสินเป็นสลากออมทรัพย์และสามารถลุ้นรางวัลได้ถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของธนาคาร โดยมีประชาชนสนใจนำเงินเข้ามาฝากกว่า 930,000 ล้านบาท เป็นเงินฝากของเกษตรกร 240,000 ล้านบาท และในต้นเดือนเม.ย.นี้ ธ.ก.ส. เตรียมระดมทุนด้วยการออกสลากทวีสินชุดใหม่วงเงิน 35,000 ล้านบาท ราคาหน่วยละ 500 บาท โดยได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติมาวาดรูปเพื่อพิมพ์ในสลากด้วย

ขยายสิทธิบัตรรูดปื๊ดเกษตรกร

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกด้วยว่า ขณะที่บัตรสินเชื่อเกษตรกรได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดมาโดยมีเกษตรกรได้รับการอนุมัติบัตรไปแล้วทั้งสิ้น 1.3 ล้านใบ และธนาคารได้ส่งมอบบัตรแล้วกว่า 600,000 ราย สามารถใช้ซื้อสินค้าได้ 4 อย่าง ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และน้ำมันจากร้านค้าที่ขึ้นทะเบียน 3,000 แห่ง ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จพร้อมกันนี้ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ยังได้สั่งการให้ ธ.ก.ส. เพิ่มเป้าหมายบัตรเครดิตเกษตรกรจาก 2 ล้านราย เป็น 4 ล้านรายไปยังกลุ่มภาคเกษตรอื่น ๆ เช่น ชาวสวน ชาวไร่ และอาจเพิ่มเติมการใช้บัตรที่สามารถใช้เกี่ยวกับการเกษตร เช่น จ้างรถไถพื้นที่ หรือซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นและขยายร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนให้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ 3,000 แห่ง ให้เป็น 10,000 แห่งอีกด้วย คาดว่าจะสามารถเสนอ ครม. ได้ประมาณช่วงกลางปีนี้แน่นอน

เร่งพัฒนาระบบรับเออีซี

นอกจากนี้อีกราว 2 ปีเศษ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปจากการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ทาง ธ.ก.ส. มีแผนเพื่อรับมืออยู่ 2 ส่วนโดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ธ.ก.ส. คือปรับตัวในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศถือเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถแข่งขันได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินต่าง ๆ ด้วยการนำเอาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่มาพัฒนาซึ่งปัจจุบันธนาคารได้ปรับระบบคอลแบงค์กิ้งซิสเต็ม ให้มีความเป็นสากลทั้งเงินฝาก สินเชื่อ การธนาคาร รวมทั้งปรับภาพลักษณ์สาขาเป็นกันเองกับลูกค้า โดยใช้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์และเพิ่มการบริการด้วยเครื่องรับฝากและถอนอัตโนมัติ เครื่องปรับสมุดอัตโนมัติ รองรับการเจริญเติบโตของธนาคาร ขณะที่ส่วนที่สองจะต้องปรับทัศนคติของเกษตรกรไทยเพื่อให้เข้าใจว่าการเปิดเออีซีจะมีตลาดเพิ่มขึ้น มีประชากรกว่า 600 ล้านคน และตลาดใหญ่ขึ้นกว่า 10 เท่า ซึ่งเกษตรกรไทยต้องหันมาพัฒนาสินค้าเกษตรซึ่งไทยไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันแต่ควรทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และพยายามลดต้นทุนการผลิตโดยนำภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วมาใช้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ธ.ก.ส. จะเป็นสถาบันหลักในการเชิญสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมาหารือเพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกันดูแลลูกค้าส่งเสริมการขายระหว่างกันคาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงกลางปีนี้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง…กับภารกิจในการดูแลเกษตรกรที่ “ลักษณ์ วจนา นวัช” ได้เปิดใจไว้กับทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปคงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือของผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนนี้ต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

ค่าเงินขย่มแบงก์ชาติ

เป็นไปตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักเศรษฐศาสตร์ทุกค่าย ที่ทำนายว่า ในปีนี้จะเกิดเงินทุนไหลเข้าล้นทะลักในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะใช้นโยบายค่าเงินอ่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

หลังปีใหม่เพียงไม่กี่วัน ค่าเงินบาทก็แข็งค่าทำลายสถิติ หลุดกรอบ 30 บาทลงมา วิ่งขึ้นลงอยู่ระหว่าง 29.70-29.95 บาท/เหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นการแข็งค่าที่เร็วเกินคาด ทุบสถิติค่าเงินแข็งค่าในรอบ 17 เดือน อันเป็นผลจากเงินร้อนต่างชาติที่แห่เข้ามาซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นของไทย รวมทั้งซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่โดนเงินทุนต่างชาติถล่ม แต่หลายประเทศในเอเชียโดนกันทั่วหน้า อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ จนต้องออกมาตรการสกัดเงินร้อนเหล่านี้

แน่นอนว่า ไทยจะเดือดร้อนจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยการส่งออกไม่ต่ำกว่า 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ฉะนั้น

ในภาคผู้ประกอบการเอกชนเองก็กดดันที่จะให้ ธปท.ตรึงดอกเบี้ยระดับต่ำ และเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเพื่อพยุงผู้ประกอบการส่งออก

ธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาเรียกร้องให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% ลงอีกเล็กน้อย เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ส่งออก จากเงินบาทที่แข็งค่ามาก ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.30-29.50 บาท/เหรียญสหรัฐ

ทางเอกชนมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องต่อไปอีก 23 เดือน โดยอาจจะไปแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 28 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่จะโดนกดดันให้ลดราคาสินค้าจากผู้ส่งออก เพื่อชดเชยรายได้ส่งออกที่สูญเสียไป

"ค่าเงินบาทไทยยังเป็นแนวโน้มที่ปรับตัวตามภูมิภาค แต่ของเราจะค่อนข้างแข็งค่ากว่าเพื่อน จึงอยากให้ ธปท.เข้ามาดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ควรจะปรับขึ้น หรือปรับลงอีกเล็กน้อย อย่าเพิ่งไปกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้เงินทุนต่างชาติที่มีผลตอบแทนต่ำไหลเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงนี้" นายธนิตกล่าว

ผู้ประกอบการได้เรียกร้องให้รัฐบาลเห็นใจที่ได้รับผลกระทบ 3 เด้ง คือ 1.ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 2.ตลาดประเทศคู่ค้ายังมีแนวโน้มชะลอตัว เช่น ตลาดยุโรป จีน โดยคาดว่าการขยายตัวการส่งออกในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 9-12% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่อยู่ที่ 4% ซึ่งความต้องการซื้อที่ลดลงแต่ปริมาณการผลิตยังเท่าเดิมจะทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และแข่งกันลดราคาสินค้า และ 3.ผลจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ขณะที่กำไรอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้มีผลประกอบการขาดทุน

ในขณะที่ ธปท.เองก็ต้องทำหน้าที่ประคับประคองทั้งเศรษฐกิจ ที่เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยส่งผ่านนโยบายการเงิน ทั้งการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย ค่าเงิน และอัตราเงินเฟ้อให้สมดุลและเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากที่สุด

การจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะสกัดเงินไหลเข้า และรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูง หรือทางเลือกที่จะลดดอกเบี้ย ก็ต้องรับมือกับภาวะเงินไหลเข้า และความเสี่ยงเงินเฟ้อที่จะขยับตัวสูงขึ้น

แต่การที่จะสกัดเงินไหลเข้าไม่ให้เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท ก็เป็นโจทย์ท้าทายของ ธปท. ครั้นที่จะประกาศแทรกแซงค่าเงินบาท ก็อยู่ในภาวะที่เสี่ยงเกินไปที่จะพลาดท่าให้กับนักเก็งค่าเงินระดับโลกที่จ้องตาเป็นมัน เพราะรู้ฐานะของกระเป๋าเงิน ธปท.เป็นอย่างดี ที่กำลังเผชิญปัญหาการขาดทุนสะสม 3.3 แสนล้านบาท ที่ยังแกะปมแก้ปัญหาตัวแดงไม่ได้

หาก ธปท.ประกาศจะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างทุ่มหมดหน้าตัก ก็มีโอกาสที่เกิดปัญหากระเป๋าฉีก ก็จะยิ่งเข้าทางของนักเก็งกำไรมืออาชีพระดับโลก การที่จะสู้ศึกสงครามค่าเงินครั้งนี้ยากเกิน และต้องรอบคอบต้องอาศัยบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การต่อสู้ค่าเงินบาทยิ่งมีโอกาสที่ทำให้ ธปท.ขาดทุนมากขึ้น

เมื่อดูงบดุลของ ธปท.ล่าสุดในเดือน ธ.ค. 2555 ก็ตอกย้ำว่า บัญชีฝ่ายกิจการธนาคาร ยังมีโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาท และรายจ่ายดอกเบี้ยของ ธปท.ที่ยังคงสูงกว่ารายรับดอกเบี้ยจากการนำทุนสำรองไปลงทุนเนื่องจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยโลกยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศ

แต่ทว่า ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ที่ออกมาย้ำว่า ธปท.ยังไม่มีแผนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นพิเศษ เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ธปท.พยายามส่งสัญญาณปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมาตลอด ซึ่งผู้ประกอบการก็ควรมีการดูแลความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน

นับจากนี้ไป ธปท.ก็กำลังเผชิญโจทย์ที่ท้าทายนโยบายการเงิน ทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดทุน 3 แสนล้านบาท การรักษาเสถียรภาพค่าเงินที่จะการสร้างความสมดุลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินในภูมิภาค และการสกัดนักเก็งกำไรค่าเงิน รวมถึงการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท ให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย โดยที่ประเทศชาติไม่เสียหาย หรือสูญเสียความสามารถการแข่งขัน และที่สำคัญต้องผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามความต้องการของรัฐบาล

นี่คือ ความยากในการวัดฝีมือการบริหารนโยบายการเงินของ ธปท. หากทำไม่ได้เรื่องนี้จะกลายเป็นเผือกร้อนที่รัฐบาลโยนให้ ธปท.ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

เกษตรฯชูแผนพัฒนาลุ่มน้ำชี วางระบบบริหารจัดการ4จังหวัด

เกษตรฯชูแผนพัฒนาลุ่มน้ำชีวางระบบบริหารจัดการ4จังหวัดช่วยเกษตรกรรับประโยชน์สูงสุด

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ถือเป็นโครงการที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำมาดำเนินการ ซึ่งในส่วนของ จ.ร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการตามแผนงานของโครงการฯ ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง (ฝายร้อยเอ็ด) พื้นที่ 2,200 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 226 ราย โดยเกษตรกรจะได้รับประโยชน์เรื่องการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสำหรับทำการเกษตร เกษตรกรได้รับการพัฒนาและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการได้

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ชลประทาน 121,973 ไร่ ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เป็นเขื่อนระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 (เขื่อนระบายน้ำชนบท) จ.ขอนแก่น ฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 (เขื่อนระบายน้ำมหาสารคาม) จ.มหาสารคาม ฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 (เขื่อนระบายน้ำวังยาง) จ.กาฬสินธุ์ และฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 (เขื่อนระบายน้ำร้อยเอ็ด) จ.ร้อยเอ็ด

ด้านศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวประมาณ 95% ของพื้นที่ พันธุ์ข้าวที่ปลูก ได้แก่ ข้าวเจ้าหอมมะลิ ข้าวพันธุ์ชัยนาท ข้าวพันธุ์พิษณุโลก ผลผลิตเฉลี่ย 550 กก./ไร่ ในฤดูฝน และ 800-900 กก./ไร่ ในฤดูนาปรัง นอกจากนี้ยังมีสถาบันเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน ระบบตลาด โรงสีชุมชน ได้รับแหล่งทุนจาก ธ.ก.ส. สหกรณ์ และกองทุนหมู่บ้าน ส่วนภาคีความร่วมมือ ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งดำเนินการผลิตและจำหน่ายข้าวหอมมะลิอินทรีย์มาตรฐานยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผลผลิตปีละประมาณ 4,200 ตัน มูลค่า 10,500,000 บาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรมีงานทำอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้เพิ่มขึ้น 36,000 บาทต่อปี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

แล้งจัด!ผลผลิตอ้อยไม่สดใส ก.อุตฯกู้ธ.ก.ส.2หมื่นล.ดันราคา

ชาวไร่อ้อยยอมรับแนวโน้มผลผลิตอ้อยปี 55/56 ที่อยู่ระหว่างการหีบคงไปไม่ถึงฝัน คาดผลผลิตไม่ถึง 90 ล้านตันหลังเจอแล้งหนักส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลปีนี้จะลดต่ำไปด้วย ชาวไร่ยื่น ก.อุตฯขอกู้ ธ.ก.ส. 2 หมื่นลบ.เพิ่มราคาอ้อยขั้นต้น "กอน." ถกสรุป 31 ม.ค.นี้

นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลได้เริ่มเปิดหีบอ้อยเฉลี่ย 1 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มผลผลิตอ้อยค่อนข้างต่ำเนื่องจากเจอภาวะภัยแล้งในหลายพื้นที่และส่งผลให้บางพื้นที่เกิดไฟไหม้จากภาวะแห้งแล้งจนได้รับความเสียหาย ดังนั้นภาพรวมผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ที่วางเป้าหมายที่จะอยู่ระดับ 94 ล้านตันน่าจะไม่ถึงเป้าหมายโดยคาดว่าผลผลิตอาจจะไม่ถึง 90 ล้านตัน

"ผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 54/55 เราทำสถิติสูงสุดไว้ประมาณ 97.98 ล้านตันอ้อยผลิตน้ำตาลได้ 10.2 ล้านตัน ปีนี้เรามองว่าอย่างเก่งอ้อยได้ 90 ล้านตันก็ดีแล้วเพราะเจอแล้งมาก ซึ่ง ที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็หวังว่าเราจะสร้างหน้าประวัติศาสตร์อ้อยทะลุ 100 ล้านตันก็คงไม่ได้อีก ซึ่งผลจากที่อ้อยต่ำปีนี้ก็จะทำให้ผลผลิต น้ำตาลปีนี้ต่ำกว่าด้วย แต่จะเท่าใดยังยากที่จะคำนวณคงต้องรอให้ใกล้ปิดหีบก่อน"นายธีระชัยกล่าว

นายธีระชัยกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เดินทางไปอวยพรปีใหม่นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรมและยื่นหนังสือขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนราคาอ้อยขั้นต้น 55/56 ให้ได้ราคาเฉลี่ยเท่ากับต้นทุนชาวไร่คือ 1,200 บาทต่อตันเนื่องจากการคำนวณต้นทุนภาครัฐจะอยู่เฉลี่ยที่ 950 บาทต่อตันเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มทุนจริงจึงต้องการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณาให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ปล่อยเงินกู้อุดหนุนส่วนต่างประมาณ 250 บาทต่อตันหรือคิดเป็นเงินกู้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า กอน.จะสรุปแนวทางการช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยวันที่ 31 ม.ค.นี้โดยก่อนหน้านี้คณะทำงานพิจารณาเรื่องนี้ที่ กอน.ตั้งขึ้นได้คำนวณออกมาแล้วว่าการช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยจะอยู่ที่ 145 บาทต่อตันหรือคิด เป็นเงินกู้ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งแนวโน้มคงจะต้องหารือกันเนื่องจากการกู้เงินก็จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงของราคาอ้อยที่แท้จริงด้วยเพราะหากสูงเกินไปเมื่อราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าก็จะเป็นภาระกองทุนอ้อยและน้ำตาลจ่ายคืนเงินอีก

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

“มิตรผล”ตั้งทนายทักษิณฟ้องก.อุตไม่ออกใบอนุญาตรง.4

“รง.น้ำตาลมิตรผล” ตั้ง “ธนา เบญจาธิกุล” ทนายความส่วนตัว “ทักษิณ ชินวัตร” ลุยยื่นศาลปกครองกลางฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม-ปลัดกระทรวงอุตฯ ดองใบอนุญาต รง.4 สัปดาห์นี้ หลังศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราว ”รง.น้ำตาลขอนแก่น ” ด้าน “ทนายธนา” ลั่นคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เถื่อนชัดเจน ด้านสภาอุตสาหกรรมฯ เตรียมเรียกหารือโรงงานกว่า 2,000 แห่งที่เดือดร้อนยังไม่ได้ใบ รง.4 เช่นกัน

หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้โรงงานน้ำตาลขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2556 ให้สามารถเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากทางผู้บริหารโรงงานน้ำตาลขอนแก่นได้ทำเรื่องยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความคนดัง อดีตเลขาธิการสภาทนายความ และทนายความส่วนตัวของ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้มารับเป็นทนายความ เพื่อทำคดีให้กับนายกฤาฏา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารเตรียมยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม และปลักกระทรวงอุตสาหกรรมต่อศาลปกครองกลางภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือรง.4 และชาวไร่อ้อย ทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การที่คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม อ้างเหตุผลที่ไม่ให้ใบรง.4 ว่า โรงงานน้ำตาลมิตรผล มีระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลเดิมไม่ถึง 80 กม.นั้น เรื่องระยะห่าง 80 กม.ถือว่าไม่ใช่ระเบียบ ไม่มีกฎหมายรองรับไม่ใช่กฎกระทรวง

2. “คณะกรรมการกลั่นกรองฯ” ที่ตั้งขึ้นมานั้น ตามกฎหมายของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ไม่มีระบุไว้ ไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับอาจเรียกได้ว่าเป็น”คณะกรรมการเถื่อน”
3. ตามระเบียบการตั้งโรงงานน้ำตาลบริเวณใดนั้น ให้พิจารณาเรื่องความหนาแน่นของชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยในบริเวณดังกล่าว เพื่อไม่ให้แต่ละโรงงานเกิดการแย่งอ้อยกัน ซึ่งทั้งโรงงานน้ำตาลมิตรผลและโรงงานน้ำตาลขอนแก่นต่างก็มีคู่สัญญาของอีกโรงงานนำอ้อยไปส่งอีกโรงงานถือเป็นการทำผิดสัญญา
“การตั้งโรงงานถือเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ สามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการมาเป็นเงินหมุนเวียนการที่โรงงานก่อสร้างเสร็จแล้วไม่ให้เปิดก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า” นายธนากล่าว

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความเดือดร้อนจากขั้นตอนการพิจารณาใบ รง.4 ที่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ นั้นยังคงไม่ได้รับการพิจารณา ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจล่าช้า คือ
1. กลุ่มโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและ 2. กลุ่มโรงงานกำจัดกากของเสียจากอุตสาหกรรมซึ่งภายในเดือนนี้จะมีการประชุมทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อติดตามว่าเป็นอย่างไร
สำหรับก่อนหน้านี้ที่ ส.อ.ท. ได้ร้องเรียนถึงปัญหาความล่าช้าจากขั้นตอนการพิจารณาดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม วุฒิสภานั้น ล่าสุดทางกระทรวงได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวแล้วว่า จะพยายามพิจารณาแต่ละโครงการให้เสร็จภายในกรอบ 90 วัน

“ส.อ.ท. ต้องการให้ ก.อุตฯ ชัดเจนใน 2 เรื่อง คือ กรอบ 90 วันที่กำหนด หากมีการตีกลับให้แก้ไขเอกสารใหม่ ไม่ควรเริ่มนับหนึ่งใหม่ และต้องการให้ชี้แจงว่าคำว่าดำเนินการถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า เร็ว ๆ นี้หากยังไม่มีความคืบหน้า และสมาชิกทั้ง 2 กลุ่ม อาจจะต้องทำหนังสือร้องเรียนไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อให้รับทราบปัญหาและมีการช่วยเหลือ

ส่วนจะมีการฟ้องร้องไปยังศาลปกครองกลาง ตามที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลได้ดำเนินการก่อนหน้านี้นั้น คงไม่สามารถทำได้ เนื่องเพราะกลุ่มพลังงานทดแทนและโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่มีความพร้อมของมวลชนที่จะมาร่วมขับเคลื่อน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กับโรงงานทั้ง 2 โรงแล้ว จากนี้ สอน.จะดำเนินการจัดสรรโควตาน้ำตาลให้เท่านั้น ส่วนที่จะมีการพิจารณาประเด็นยกเลิกเงื่อนไขพื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลต้องมีระยะห่าง 80 กิโลเมตรนั้น ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลอยู่ และในวันที่ 31 มกราคมนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล(กอน.) จะมีวาระเพื่อพิจารณาการจัดสรรโควตาน้ำตาลเป็นหลักเท่านั้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 มกราคม 2556

สศก.แนะภาคเกษตรไทยอย่านอนใจ แม้ร่างกม.“Fiscal Cliff”ผ่านเห็นชอบ

แม้ร่างกม.“Fiscal Cliff”ผ่านเห็นชอบ-ส่งสัญญาณเชิงบวกต่อศก.โลก

สศก. วิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ภายหลังการบรรลุข้อตกลงร่วมกันของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน เห็นชอบผ่านร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหน้าผาทางการคลัง หรือ Fiscal Cliff ในการยืดระยะเวลามาตรการลดภาษี และชะลอมาตรการตัดลดรายจ่ายภาครัฐ แนะ ภาคเกษตรไทยอย่านอนใจ เพราะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องเกาะติดสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในอนาคต

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงร่างกฎหมาย Fiscal Cliff ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา (ตามเวลาของสหรัฐฯ) อันนับเป็นการบรรลุข้อตกลงร่วมกันของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ในการยืดระยะเวลาที่มาตรการลดภาษีจะหมดอายุลงในสิ้นปี 2555 ควบคู่ไปกับการชะลอมาตรการตัดลดรายจ่ายภาครัฐที่จะดำเนินการในปี 2556 เนื่องจากที่ผ่านมา สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีความเปราะบางจากปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศหลายประการ เช่น การลงทุนและการจ้างงานที่ชะลอตัว สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ผู้บริโภคไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย รวมถึง ความไม่มีเสถียรภาพของสถานะทางการคลัง จากปัญหาการขาดดุลการคลังและปัญหาหนี้สาธารณะที่สูง นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 4 (Quantitative Easing 4 : QE 4) ทำให้เป็นที่กล่าวกันว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ในปี 2556 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากการบังคับใช้นโยบายการคลังแบบเข้มงวด

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร จึงได้ศึกษาและติดตามสถานการณ์การผ่านร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงเสนอแนะนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องจากแหล่งต่างๆ ซึ่งพบว่า มาตรการที่สำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น แบ่งได้เป็น 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการทางภาษี ได้แก่ การต่ออายุมาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่หมดอายุลงในสิ้นปี 2555 ให้เป็นมาตรการถาวร เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราภาษีมรดกและอัตราภาษีลงทุนสำหรับธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐ มาตรการตัดลดงบประมาณรายจ่ายหรือลดการขาดดุลงบประมาณ โดยสภาคองเกรสเห็นชอบให้เลื่อนเวลาการตัดงบรายจ่ายของรัฐโดยอัตโนมัติออกไปเป็นเวลา 2 เดือน สำหรับประเด็นเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 2 เดือนข้างหน้า และ มาตรการด้านอื่นๆ ประกอบด้วย มาตรการทางสังคม เช่น การขยายเวลาสิทธิประโยชน์ด้านการประกันการว่างงาน การอุดหนุนโครงการสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงมาตรการต่ออายุ พรบ.เกษตรกรรม (Farm Bill) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หลายฝ่ายมีความเห็นว่า ระดับราคาสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารของโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า การผ่านร่างกฎหมาย Fiscal Cliff นั้น มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย โดย ผลกระทบทางตรง ได้แก่ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังสหรัฐฯ มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นในอำนาจซื้อของพลเมืองกลุ่มใหญ่ที่เป็นอุปสงค์หลักของสินค้าเกษตรไทย รวมถึงราคาสินค้าเกษตรไทยที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นตามระดับราคาสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ภายหลังการต่ออายุ พ.ร.บ. เกษตรกรรม (Farm Bill) และ ผลกระทบทางอ้อม ซึ่งเป็นผลกระทบที่ถูกส่งผ่านมาจากการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพขึ้นโดยลำดับของค่าเงินดอลลาร์ และจะส่งผลต่อไปยังการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่และออกจากภูมิภาคเอเซีย ที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการผันผวนของค่าเงินบาท

ทั้งนี้ แม้ว่าการผ่านร่างกฎหมาย Fiscal Cliff จะส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลก แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น เนื่องจากภาระหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงและความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติตามแผนลดยอดการขาดดุลงบประมาณ จึงอาจทำให้การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้น ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงมีความจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด สำหรับภาคเกษตรของไทย ก็เช่นเดียวกัน ควรติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เพื่อเป็นการบรรเทาความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

รับมือเปิดเสรีอาเซียน! ครม.ดัน"แม่สอด"นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ครม.สัญจรอุตรดิตถ์ ไฟเขียวร่างระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นำร่องใช้พื้นที่แม่สอด จ.ตาก เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ่อดันอีกกว่า10จังหวัดชายแดน นอกจากนี้ยังเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบปี57มีหน่วยงานแห่ส่งแผนของบฯลงทุนทะลุ 1 ล้านล้าน สำนักงบฯหั่นเหลือ 5.64 แสนล้านพร้อมหว่านงบลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 5.2 หมื่นล้าน

นายทศพร เสรีรักษ์ โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า (กรอ.) ภูมิภาคที่จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 55 มีการเสนอที่ประชุม ครม.สัญจร จ.อุตรดิตถ์ มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ..... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) เสนอ โดยมีการนำร่องใช้ในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ตามที่นายกรัฐมนตรี และครม.ได้ลงตรวจพื้นที่โดยได้พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่อื่นตามที่มีจังหวัดต่างๆ ขอความเห็นชอบในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมากกว่า 10 จังหวัด โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นกลไกสำคัญรองรับการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนปี58

ทั้งนี้สศช.รายงานว่าจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ภูมิภาค ที่จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 55 มีการเสนอให้เร่งพิจารณาการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ สศช.เป็นหน่วยงานกลางพิจารณาความเหมาะสมรวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่ง สศช.ได้ดำเนินการแล้ว ได้นำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษฯที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่างขึ้นไปตรวจพิจารณาและมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าควรกำหนดให้หน่วยงานที่ประสงค์จะรับผิดชอบกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่งเป็นผู้จัดทำร่างแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแทนคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการมีความรวดเร็วและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ

สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษประกอบด้วย 1. นิยามว่าด้วย "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" หมายถึงพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งหรือหลายแห่งที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการค้าสินค้าบริการหรือการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการค้าพรมแดนและการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จสอดคล้องกับระบบ ASEAN N Single Window 2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานและมีรมว.กลาโหม รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.คมนาคม รมว.พาณิชย์ รมว.มหาดไทย รมว.อุตสาหกรรม รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนการค้าไทย ประธานหอการค้าประะานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 10 คน เป็นกรรมการและเลขาธิการสศช.เป็นกรรมการและเลขานุการ

สำหรับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีหน้าที่พิจารณาและเสนอแผนแม่บทต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติงานที่สำนักงานเสนอให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนงานหรือโครงการต่างๆ ตามที่สำนักงานร้องขอ กำหนดแนวทางการส่งเสริมการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนและยังกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นหน่วยงานภายใน สศช.มีอำนาจในการศึกษา วิเคราะห์ร่างแผนแม่บทเพื่อเสนอคณะกรรมการให้ความเห็นชอบหรือติดตามผลและประสานงานเพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายทศพรยังเผยว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2557 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอโดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับการบูรณาการยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) และยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) เบื้องต้นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจได้นำเสนอคำขอแผนความต้องการงบลงทุนมา 27 หน่วยงาน รวมวงเงิน 1.053 ล้านล้านบาท แต่มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาเป็นกรอบงบลงทุนเบื้องต้น 564,251ล้านบาท โดยกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซี 2. ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ 3. ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเขตเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน 4.ยุทธศาสตร์การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม 5. ยุทธศาตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6.ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม 7.ยุทธศาสตร์ต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ 8.ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ด้านนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบผลการปฏิบัติราชการ ในพื้นที่ของครม. และข้อเสนอแผนงาน / โครงการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด เป็นโครงการที่ดำเนินการได้ทันที 35 โครงการ วงเงน 672.71 ล้านบาท และเห็นชอบในหลักการรวม 76 โครงการ วงเงิน 51,330 ล้านบาท รวมเป็น 111 โครงการ วงเงิน 52,003 ล้านบาท

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

ขยายชลประทาน“แม่ถาง” กรมชลเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

ขยายชลประทาน“แม่ถาง” กรมชลเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ-สนองความต้องการชาวบ้าน

นายสุรพล อจละนันท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ โครงการชลประทานชุมชนแม่ถาง จังหวัดแพร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่เดิมจำนวน 3,950 ไร่ รวมทั้งขยายพื้นที่ชลประทานใหม่ได้อีก 16,050 ไร่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2556

ทั้งนี้โครงการชลประทานชุมชนแม่ถาง จะรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ถาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุ 30.62 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ก่อสร้างเสร็จมาตั้งแต่ปี 2538 แต่ยังขาดระบบส่งน้ำ ที่จะส่งไปยังพื้นที่การเกษตรในเขต อำเภอร้องกวาง และ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

สำหรับระบบส่งน้ำดังกล่าว จะเป็นคลองดาดคอนกรีต ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา โดยเริ่มต้นจากฝายหนองดู่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำแม่ถาง เป็นการก่อสร้างทดแทนของเดิมที่ชำรุดเสียหาย คลองฝั่งซ้ายมีความยาว 20.36 กิโลเมตร และมีคลองซอยอีก จำนวน 9 สาย มีความยาวรวมกันประมาณ 17 กิโลเมตร ส่วนคลองฝั่งขวามีความยาว 2.17 กิโลเมตร และมีคลองซอยจำนวน 1 สาย ยาว 1 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังจะทำการสร้างคลองส่งน้ำขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นคลองดาดคอนกรีตเช่นกัน โดยจะเริ่มจากฝั่งซ้ายของฝายอ้อย มีความยาวประมาณ 9.5 ก.ม.

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่กล่าวต่อว่า เมื่อการก่อสร้างระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ จะทำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ต.น้ำเลา ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง และ ต.ห้วยม้า ต.น้ำชำ ต.บ้านถิ่น ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่ ได้รับน้ำอย่างเพียงพอสำหรับการทำการเกษตร ซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เป็นการยกฐานะความเป็นอยู่ราษฎรที่อยู่ในเขตโครงการชลประทายและใกล้เคียงให้ดีขึ้น

นายสุรพล กล่าวด้วยว่า อ่างเก็บน้ำแม่ถางนอกจากจะเป็นแหล่งดิบน้ำเพื่อการเกษตร ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้วก็ตาม ยังเป็นแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงปลาในกระชัง อาทิ ปลานิล ปลากดคัง เป็นต้น ของราษฎรใน พื้นที่ตำบลบ้านเวียงสามารถพัฒนาเป็นจากแหล่งท่องเที่ยวระดับท้องถิ่นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ ซึ่งมีผลทำให้ราษฎรมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงมากขึ้นด้วย

จาก http://www.naewna.com  ฉบับวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

สศก.เขต 5 เผย ภาวการณ์ปลูกพืชเศรษฐกิจ อยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ราคายังทรงตัว

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เขต 5 เผย ภาวการณ์ปลูกพืชเศรษฐกิจ อยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ราคายังทรงตัวต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 เปิดเผยถึงภาวะการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง โดยมันสำปะหลังโรงงาน ภาวะการผลิตในสัปดาห์นี้ ยังคงเป็นช่วงที่เกษตรกรบางส่วนทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ และในหลายพื้นที่เกษตรกรได้ทำการปลูกมันสำปะหลังรุ่นใหม่แล้ว ด้านการระบาดของโรคในระยะนี้ เริ่มมีเพลี้ยแป้งระบาดเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง ส่วนราคาหัวมันสด เกษตรกรขายได้เฉลี่ยก.ก.ละ 2.21 บาท ส่วนมันเส้นคละ ขายได้เฉลี่ย กก.ละ 3.95 บาท ราคายังทรงตัวในระดับเดิม

สำหรับภาวะการผลิตยางพาราในสัปดาห์นี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำการกรีดยางได้ตามปกติ แต่ผลผลิตที่ได้ไม่ดีนักเนื่องจากประสบปัญหาฝนแล้ง ผลผลิตของยางแผ่นดิบ และเศษยางทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 78 บาท ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.65 และเศษยางอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 36 บาท ส่วนอ้อยโรงงาน ภาวะการผลิตอ้อย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งโรงงานน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง และราคาอ้อยเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ราคา 975 บาทต่อตัน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 21 มกราคม 2556

โรงงานน้ำตาลแห่ฟ้องศาลปกครองตามรอยรง.ขอนแก่นหวังให้อุตฯคายใบอนุญาตรง.4

รง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าหลายแห่งที่ยังไม่ได้ใบ รง.4 เตรียมเดินตามเส้นทางน้ำตาลขอนแก่น ฟ้องศาลปกครองบ้าง เหตุถูกดึงเรื่องอย่างไม่มีเหตุอันควร ด้าน สอน.ตั้งคณะทำงานเตรียมยกเลิก-ไม่ยกเลิกระยะห่าง 80 กม. รง.น้ำตาลใหม่-เก่า เผยรง.น้ำตาลรอลุ้นรับอานิสงส์เพียบ

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้โรงงานน้ำตาลขอนแก่น และโรงไฟฟ้าเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ผลการพิเคราะห์ของศาลที่ออกมาถือเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้โรงงานน้ำตาล และ โรงไฟฟ้าอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงาน หรือใบ รง.4 ต่างเตรียมจะเดินตามเส้นทางฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง

กรณีของโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ที่ประชุม มีมติว่า ยังไม่อนุญาตให้ใบ รง.4 กับโรงงานน้ำตาลขอนแก่น เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องระยะห่าง80กม.จึงเห็นควรส่งเรื่องให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่ผ่านมา ทาง สอน.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การย้ายสถานที่ตั้ง และขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย โดยมีนายอุทัย ปิยวนิชพงษ์ รองเลขาธิการ สอน.เป็นประธาน คณะทำงานได้มีการประชุม 2 ครั้ง คือ เมื่อ 3 ม.ค. 56 และ 10 ม.ค. 56 ได้ ข้อสรุป 3 กรณี ไคือ 1.ให้คงนโยบายเรื่องระยะห่าง 80 กิโลเมตร ระหว่างโรงงานน้ำตาลใหม่และโรงงานน้ำตาลเดิมไว้ แต่อาจจะเปลี่ยนตัวเลขระยะห่างให้แคบลง 2.ให้ยกเลิกระยะห่าง 80 กิโลเมตรไปเลย 3.โรงงานต้องมีพื้นที่ในการปลูกอ้อยที่ เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอ้อย เมื่อได้ข้อสรุปคณะทำงานจะเสนอกลับไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองฯโดยเร็ว

"หากมีการยกเลิกเรื่องระยะห่าง 80 กม. โรงงานน้ำตาลที่มีปัญหาค้างคาอยู่จะได้รับอานิสงส์กันไปหมด เช่น โรงงานน้ำตาลมิตรผล โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ที่สำคัญหลายโรงงานน้ำตาลมีแผนจะขอย้ายโรงงาน แต่ติดปัญหาเรื่องระยะห่างทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้" แหล่งข่าวกล่าว

นายพรศิลป์ แต้มศิริชัย กรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้ค่อนข้างโล่งใจไประดับหนึ่ง หลังจากที่ศาลคุ้มครองชั่วคราวให้เปิดหีบอ้อยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งมีหลายรายตัดอ้อยนำรถมาจอดรอที่หน้าโรงงานแล้วประมาณ 2,000-3,000 ตัน การตัดอ้อยมารอไว้หลายวันทำให้ น้ำหนักสูญเสียไปมาก ขณะที่การเปิด หีบอ้อยของโรงงานช่วงแรกไม่สามารถหีบอ้อยได้ปริมาณมาก ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้รับความสนใจจากทางราชการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองต่อไป

นายประพัทธ์ เจนลาภวัฒนกุล กรรมการบริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด จ.อุทัยธานี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โรงงานน้ำตาลมิตรเกษตรได้ใบรง.4 แล้ว แต่ติดปัญหาโรงไฟฟ้าไม่ได้ใบรง.4 ทำให้เหมือนกับใช้โรงไฟฟ้าอย่างไม่ถูกต้อง นกจากนี้ อ้อยที่หีบออกมาได้เป็นน้ำตาลยังไม่ได้รับการจัดสรรโควตาจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ทำให้ศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่าย และการขนย้ายน้ำตาลไม่ออกเอกสารการขนย้ายให้ สร้างความเดือดร้อน ให้ทางโรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น ขณะนี้ทางโรงงานน้ำตาลได้ทำเรื่องหารือไปยัง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เพื่อให้ช่วยเร่งรัดเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ต้องการเอกสารหรืออะไรเพิ่มเติมหรือ ไม่ ทำให้โรงงานไม่ทราบว่าติดขัดปัญหาที่ส่วนตรงไหน อย่างไร

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 ว่า จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2556 มีโรงงานที่อยู่ในกระบวนการกลั่นกรองทั้งสิ้น 76 ราย ในจำนวนนี้ได้ส่งคืนกลับไป 16 ราย เนื่องจากเอกสารต่าง ๆ ยังไม่ครบถ้วน จึงเหลืออยู่ 60 ราย ซึ่งในจำนวนนี้พิจารณาไปแล้ว 25 ราย อนุญาตไปแล้ว 15 ราย ส่งคืนกรมโรงงานไป 10 ราย ดังนั้นจึงเหลือโรงงานอีกเพียง 35 ราย ที่จะรีบทำการตรวจสอบและกลั่นกรองให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

"เรื่องที่เข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองนั้นโปร่งใส ไม่มีการคอร์รัปชั่น ไม่ต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องตามคิว ไม่ต้องวิ่งเต้น ดูตามเอกสารหากครบถ้วนก็รวดเร็ว ซึ่งอยากให้ได้ รง.4 ก่อนที่จะก่อสร้างโรงงาน เพราะตอนนี้ลำบากมาก ถ้าไม่ให้ตั้งโรงงาน โรงงานก็ฟ้อง ถ้าให้ตั้งโรงงาน เอ็นจีโอก็ฟ้อง ดังนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองจะเข้ามาทำให้เป็นเอกภาพมากขึ้น ซึ่งหากสามารถสร้างความเป็นเอกภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้วก็พร้อมที่จะยกเลิกคณะกรรมการ กลั่นกรองนี้" นายวิฑูรย์กล่าว

ด้านนายอุทัย ปิยวนิชพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า หากเอกสารในการยื่นขออนุญาตก่อตั้งโรงงานครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะทำให้การพิจารณาอนุญาตนั้นรวดเร็ว แต่มีโรงงานบางแห่งเอกสารไม่ครบถ้วน เราจึงต้องส่งกลับไปเตรียมให้ครบถ้วนก่อนที่จะเข้ากระบวนการพิจารณาภายใน 90 วัน โดยหลักฐานส่วนมากก็จะเกี่ยวกับด้าน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ

ศาลคุ้มครองชั่วคราว โรงงานน้ำตาลขอนแก่น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลปกครองกลางว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2556 สำนักงานศาลปกครองกลางได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลคดีหมายเลขดำที่ 3211/2555 ระหว่างผู้ฟ้องคดี ประกอบด้วยนายแสงจันทร์ ศรีพลเมือง ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก ชาวไร่อ้อย บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดีที่ 5 บริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 6 กับผู้ถูกฟ้องคดี คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

ศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้โรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 5 ดำเนินการเปิดหีบอ้อยเป็นการชั่วคราวให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาตั้งแต่บัดนี้จนถึง วันที่ 15 เมษายน 2556 โดยใช้โควตาที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้จัดสรรปริมาณอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 เพิ่มเติมให้กับโรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 5 ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น จำนวนไม่เกิน 1.50 ล้านตัน และให้โรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 6 ทำการผลิตไฟฟ้าเฉพาะส่งให้โรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 5 ในช่วงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมการ เปิดหีบอ้อยให้เป็นไปตามกฎหมายโดยถือเสมือนว่าผู้ฟ้องคดีที่ 5 และที่ 6 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานไปพลางก่อนในช่วงเวลาดังกล่าว

สาระสำคัญจากการพิเคราะห์ของศาลสรุปได้ว่า หากศาลเห็นว่าคำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวตามที่ขอมาใช้ได้ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีตั้งใจกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งเป็นการผิดสัญญา หรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่าง ร้ายแรงจนยากแก่การเยียวยา แก้ไขในภายหลัง ศาลสามารถมีคำสั่งดังกล่าวได้

คดีนี้ข้อเท็จจริงมูลเหตุพิพาทเกิดขึ้น จาก ครม.ได้มีมติเมื่อ11 พ.ค. 53 เห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ขยายกำลังการผลิตและย้ายสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลไป จ.เลย ผู้ฟ้องคดีที่ 5 แจ้งเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่า พื้นที่ อ.วังสะพุงมีความเหมาะสม ที่จะตั้งโรงงาน หากขัดข้องให้แจ้งให้ทราบ

ต่อมาผู้ฟ้องคดีที่ 5 และที่ 6 ได้ก่อสร้างโรงงานและยื่นขอรับใบอนุญาตต่ออุตสาหกรรม จ.เลย เมื่อ1 มิ.ย. 55 แต่จนถึงวันฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการตรวจสอบ พิจารณา และแจ้งผลการพิจารณารวมแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน แต่จนถึงวันนี้ ได้ล่วงเลยเวลาแต่ยังมิได้มีการแจ้ง ผลการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ

โดยรองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีบันทึกลงวันที่ 3 ธันวาคม 2545 ถึงประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นควรอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 5 ประกอบกิจการโรงงานได้ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)พิจารณาแล้วเป็นไปตามมติ ครม.อนุมัติเห็นควรอนุญาตได้ แต่ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯเมื่อ11 ธ.ค.55 ที่ประชุมมีมติว่ายังมีประเด็นเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่กับโรงงานน้ำตาลเดิม จึงไม่อาจพิจารณาอนุญาตให้ได้ เห็นควรส่งเรื่องให้สอน.พิจารณาดำเนินการต่อไป สอน.ได้ตั้งคณะทำงานทบทวน และจะส่งเรื่องกลับให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาอีกครั้ง ส่วนโรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 6 เห็นว่าขาดรายละเอียด 11 รายการ แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 6 ไม่ได้รับหนังสือแจ้งให้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมแต่อย่างใด

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ศาลมี การไต่สวน เห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยังไม่ดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 5 และที่ 6 จะเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาแห่งคดี ซึ่งศาลจะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 มกราคม 2556

สปก.เดินหน้าแก้ปัญหาที่ทำกิน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับ ส.ป.ก.เดินหน้า 9 โครงการพระราชดำริ ควบคู่การแก้ปัญหาผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน เพื่อให้งานพัฒนาในท้องถิ่นดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนไทยก้าวสู่เออีซี

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่า ต้องการให้ ส.ป.ก. ตระหนักถึงความสำคัญในโครงการตามแนวพระราชดำริ ที่ ส.ป.ก. รับผิดชอบ 9 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำพูน โครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดน บ้านทุ่งสมเด็จ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โครงการธนาคารอาหารชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ในพระราชานุเคราะห์ พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน 70 จังหวัด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบพื้นที่ที่มีปัญหากับสิ่งแวดล้อม ปัญหาผู้ยากไร้ซึ่งเป็นราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน การเปลี่ยนสิทธิในการถือครอง ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง มีมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อให้งานพัฒนาในท้องถิ่นดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่ครบวงจร และเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งยังเชื่อมโยงสนองนโยบายเร่งด่วน ที่ได้วางแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มกราคม 2556

กรมพัฒน์ฯ เดินหน้ายกระดับธุรกิจโลจิสติกส์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้ายกระดับธุรกิจโลจิสติกส์ สู่เกณฑ์มาตรฐานสากล สร้างความพร้อมก้าวสู่การแข่งขัน ใน AEC

นายอิทธิพล ช้างหลำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดตัวโครงการ "ยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพปี 2556 เพื่อสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย ก้าวสู่การแข่งขันใน AEC ได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการประกอบธุรกิจอยู่ประมาณ 16,000 ราย มีทุนจดทะเบียนกว่า 234,000 ล้านบาท สร้างรายได้กว่า 820,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงต้องสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ทั้งเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ยกระดับคุณภาพสู่มาตรฐานสากล และสร้างโอกาสทางการตลาดเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเร่งดำเนินให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนา เกี่ยวกับประสบการณ์และมุมมองจากการพัฒนาระบบบริหารจัดการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์สู่การพัฒนาและแข่งขันในเวทีการค้าเสรีสู่สากลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 21 มกราคม 2556

ผลิตปุ๋ยคุณภาพปลูก'อ้อย-มันสำปะหลัง'

มิตรผลผนึก 'ศักดิ์สยาม' ผลิตปุ๋ยคุณภาพ ป้อนเกษตรกรผู้ปลูก 'อ้อย-มันสำปะหลัง'

ไม่ปฏิเสธว่าการร่วมมือทางการค้าด้วยการสร้างเครือข่ายตามความถนัดในแต่ละธุรกิจในภาคการเกษตร ไม่เพียงเป็นทางออกในเรื่องการลดต้นทุนในเชิงการบริหารจัดการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยเฉพาะปุ๋ย ต้นทุนการผลิตที่สำคัญสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ

ประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจพลังงาน มิตรผล ไบโอฟูเอล กล่าวถึงความร่วมมือทางการค้าระหว่าง บจก.เพิ่มผลผลิตในเครือของมิตรผลกรุ๊ป กับ บจก.ศักดิ์สยาม อินเตอร์ ซัพพลาย ว่า เนื่องจากกลุ่มมิตรผลมีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี และแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 1 แสนตัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มฐานการผลิตปุ๋ยเพิ่ม โดยมาร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทศักดิ์สยาม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการผสมปุ๋ยบาวเบนเพื่อใช้ในกลุ่มของมิตรผล ที่กำลังขยายธุรกิจทางการเกษตรไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า

"เราควรจะมีธุรกิจบางส่วนเพื่อจะได้รู้ความเป็นไปความเคลื่อนไหวของวัตถุดิบ การผลิตและการตลาดเพื่อทำให้ชาวไร่ของกลุ่มมิตรผลได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม เราใช้เวลาเตรียมการค่อนข้างนานพอสมควร ศึกษาต้นทุน ราคาตลาด ผู้ประกอบการ แต่หลังได้ศึกษาอย่างละเอียดทั้งหมดแล้วพบว่าเราไม่สามารถทำทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้ผลิตปุ๋ยที่มีความชำนาญอยู่แล้วเป็นวิธีที่ดีที่สุดแทนที่เราจะผลิตเอง"

ประวิทย์กล่าวระหว่างลงนามในพิธีความร่วมมือทางการค้ากับศักดิ์สยาม อินเตอร์ ซัพพลาย ผู้นำเข้าแม่ปุ๋ยและผลิตปุ๋ยรายใหญ่ ภายใต้สัญลักษณ์ทางการค้าตรา "ซอยส์เมต" เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ชาวไร่อ้อยและเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการป้อนโรงงานผลิตน้ำตาลของมิตรผล ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลาง

"เรามีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านไร่ ปีหนึ่งๆ ต้องใช้ปุ๋ยไม่ต่ำกว่า 1 แสนตัน ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการประมูล เพราะราคาปุ๋ยมันขึ้นลงตามราคาตลาดโลก ที่ต้องระวังอย่าไปซื้อตอนมันแพง บางครั้งช่วงมันถูกไม่สามารถซื้อเก็บได้ ด้วยเม็ดเงินที่ลงทุนจำนวนมหาศาลและดอกเบี้ยที่ไหลตลอดเวลา สุดท้ายเราไม่สามารถผลิตเองได้ก็ต้องพึ่งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ จากการทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่งพบว่า ศักดิ์สยามมีวิวัฒนาการและมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย มีกำลังการผลิตที่ดีคือให้ทางศักดิ์สยามนำเข้าวัตถุดิบและผลิตแล้วเราจัดจำหน่ายแก่ชาวไร่"

บอสใหญ่กลุ่มธุรกิจพลังงานมิตรผล ไบโอฟูเอล ยอมรับว่า แม้มิตรผลจะมีโรงงานผลิตปุ๋ยอยู่ถึง 2 โรงอยู่ที่โรงงานน้ำตาลภูเขียว 1 โรง มีกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อปี และที่แขวงสุวรรณเขต ส.ป.ป.ลาวอีก 1 โรง มีกำลังการผลิต 5 หมื่นตันต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ เมื่อเทียบกับศักดิ์สยามที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 800-1,000 ตันต่อวัน

"คิดว่าหลังจากนี้เราน่าจะลดต้นทุนได้ไม่ต่ำกว่า 5% ไม่เหมือนกับธุรกิจอื่นนะที่เขาต้องทำกำไร แต่ธุรกิจปุ๋ยทำอย่างไรจึงจะลดต้นทุนได้ เราก็พยายามจัดหาปุ๋ยโดยภาพรวมให้ต่ำราคาตลาด ทำให้ชาวไร่ได้ใช้ปุ๋ยที่ดี มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม สำหรับสูตรที่ผลิตมีอยู่ 3 ตัว สูตร 16-16-8 เป็นตัวรองพื้นกรณีปลูกใหม่ สูตร 21-7-8 ช่วงนี้ต้องการความหวาน อีกตัวยอดฮิตสูตร 46-0-0 เร่งต้นเร่งใบ" ประวิทย์กล่าว

ขณะที่ ทวีศักดิ์ สุทิน ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ปุ๋ย ศักดิ์สยามและนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยกล่าวเสริมว่า เบื้องต้นจะทำการผลิตปุ๋ยส่งให้กับ บจก.เพิ่มผลผลิต กลุ่มธุรกิจพลังงานมิตรผล ไบโอฟูเอล จำนวน 1 หมื่นตัน โดยผลิตใน 3 สูตรด้วยกัน ได้แก่สูตร 16-16-8 เป็นปุ๋ยใส่รองพื้นกรณีปลูกใหม่ สูตร 21-7-8 ใส่เพื่อต้องการความหวานและอีกตัวยอดฮิตคือสูตร 46-0-0 ช่วงที่ต้องการเร่งต้นเร่งใบ

"ปริมาณการผลิตของบริษัททั้งหมดประมาณ 2 แสนต่อปี เบื้องต้นเขาขอแค่ 1 หมื่นตันก่อน แต่สิ่งที่เราร่วมมือกันในวันนี้คือ ต้องการพัฒนาคุณภาพของปุ๋ย ซึ่งเรามีความถนัดในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิต การนำเข้าแม่ปุ๋ยจากทั่วโลก เรามีบริษัทวิจัย ดินตรงไหนขาดธาตุตัวไหน ทำยังไงให้อ้อยของเมืองไทยของมิตรผลลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราร่วมมือกันวันนี้ ถ้าสามารถเพิ่มผลผลิตก็เท่ากับลดต้นทุน ปกติบริษัทปุ๋ยทำร่วมกันแบบนี้น้อยมาก"

บอสใหญ่ศักดิ์สยามเผยต่อว่า สำหรับเครื่องเบ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่บริษัทได้พัฒนามาจากเครื่องเดิมและเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ขณะนี้มีอยู่ 2 ชุด มีกำลังผลิตชั่วโมงละ 60 ตัน โดยนำเข้าแม่ปุ๋ยมาจากทางยุโรป โดยเฉพาะเบลารุสและรัสเซีย เนื่องจากไม่มีปัญหาในเรื่องเปอร์เซ็นต์ไม่แน่นอน ซึ่งถ้าเราพัฒนาเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย หากแต่ใช้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพและได้มาตรฐานก็จะไม่มีประโยชน์อันใด เพราะสุดท้ายก็ได้ปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพ

"ของเราเองก็มี 2 แบรนด์ตราสิงโตสยามกับพลอยเกษตร ตอนนี้เราได้ขยายฐานการตลาดมุ่งเข้าไปส่งเสริม ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ ส.ป.ป.ลาวและกัมพูชา เพื่อปูทางสู่เออีซีในอีก 2 ปีข้างหน้า ของเรามีทุกตัวใช้ได้กับทุกพืช ทั้งนาข้าง พืชไร่ ยางพารา ส่วนการจัดจำหน่ายในระบบฟรีมาร์เก็ตทั่วๆ ไป กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ เอเย่นต์ สหกรณ์ สหกรณ์จะซื้อในแบรนด์ของเรา แล้วก็จำหน่ายแม่ปุ๋ยด้วย คือตอนนี้เกษตรกรนิยมใช้ในรูปของปุ๋ยสั่งตัดมากขึ้น ซื้อแม่ปุ๋ยไปผสมเองตามความเหมาะสมจะเพิ่มจะลดตัวไหนขึ้นอยู่กับพื้นที่ สภาพภูมิอากาศและพืชที่ปลูก" ทวีศักดิ์กล่าวย้ำ พร้อมการันตีทิ้งท้ายในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยว่า

คุณภาพปุ๋ยเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าคุณภาพได้ เมื่อนั้นมันจะขายตัวมันเองได้ เพราะเขามีกำไร ได้ผลผลิตเพิ่ม ถ้าเราไปหลอกเขาขาย ถึงโฆษณายังไงก็ไม่ได้ เชื่อมั่นว่าเรื่องคุณภาพเป็นหัวใจสำคัญที่สุด

นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือของสองบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเกษตรไทยเพื่อการผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดที่ไม่เพียงมุ่งเป้าหมายเพื่อเกษตรกรไทยเท่านั้น แต่ยังขยายฐานการตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านรับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 21 มกราคม 2556

แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ท่าน YB ดาโต๊ะฮายีเจ๊ะ อับดุลเลาะห์ เบนมะนาวี รัฐมนตรีว่าการเกษตรรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความรู้
ด้านการพัฒนาการเกษตรของทั้งสองประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปีอีก 2 ปีข้างหน้า

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วท. กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยและมาเลเซีย ได้มีโอกาสร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมองว่า ในอนาคตหากเปิดระบบเศรษฐกิจ AEC จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น เกษตรกรจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐานคุณภาพและราคาที่ถูกกว่า นั้นหมายถึงเกษตรกรไทยจะมุ่งผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ ดังนั้นการที่จะแข่งขันในภาคการเกษตรของไทยได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางภาคการเกษตร เพื่อที่จะสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างไทยและมาเลเซีย จะเป็นในด้านของงานวิจัยที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและมีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้าไปมีส่วนช่วยบูรณาการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้แก่ภาคการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค/สวทช.) ได้ดำเนินงานนำงานวิจัยไปช่วยภาคการเกษตรมากมาย อาทิ งานวิจัยจีโนม การหาลำดับเบสของ ดีเอ็นเอที่มีลักษณะสำคัญ เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ในพืชและสัตว์เศรษฐกิจ เช่น กุ้ง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวจะนำไปสู่ธุรกิจทางด้าน ชุดตรวจวินิจฉัย ยา วัคซีน เทคโนโลยีจีโนมมีส่วนสำคัญในการประยุกต์ใช้กับการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ เช่น การค้นหาลำดับเบสจีโนมและทราบสคริปโคมเพื่อค้นหายีน ศึกษาการควบคุมการแสดงออกขอยีน พัฒนาเครื่องหมายโมเลกุล การทำจีโนไทป์เพื่อสร้างแผนที่พันธุกรรม ศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เพื่อช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และยูคาลิปตัส เป็นต้น ส่วนงานวิจัยด้านยางพาราซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศและเป็นผู้นำด้านการส่งออก ทาง ไบโอเทค/สวทช. ได้ร่วมพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อปรับปรุงยางพาราทนแล้ง ภายใต้ทุนสนับสนุนงานวิจัยจากไบโอเทค และสถาบันยางอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการศึกษาวิจัยจุลินทรีย์ โดยมีการจัดตั้งเป็นคลังเก็บรักษาจุลินทรีย์เพื่อเป็นแหล่งเก็บรักษาและให้บริการจุลินทรีย์กับนักวิจัยทั้งภายในและภายนอก ปัจจุบันมีจุลินทรีย์ที่เก็บรวบรวมไว้กว่า 50,000 สายพันธุ์ โดยเป็นจุลินทรีย์ ที่มีความจำเพาะสูง เช่น ราแมลง ราน้ำ รวมทั้ง Rare Actinomycetes โดยราแมลงถือว่าเป็น Collection ที่มีความหลากหลายมากที่สุดของโลก ซึ่งนักวิจัยไทยได้นำความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาสารออกฤทธิ์จากราแมลงหลายชนิด รวมทั้งยังมีการนำไปใช้ประโยชน์โดยภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น อาหารสัตว์ สารชีวบำบัดภัณฑ์(ใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำมันที่เกิดจากการปนเปื้อน) สารควบคมศัตรูพืช เป็นต้น

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 20 มกราคม 2556

กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งกองทุน FTA

นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลจากการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ แม้ว่าจะทำให้การค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่มีสินค้าบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงพาณิชย์จึงดำเนินโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าหรือ กองทุน FTA ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยมีกรมการค้าต่างประเทศทำหน้าที่ดูแลและบริหารกองทุน

สำหรับกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์จะให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี โดยให้ความช่วยเหลือแต่ละโครงการเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ในรูปของการสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนา ช่วยเหลือในการปรับปรุงธุรกิจ การฝึกอบรมอาชีพใหม่ให้กับคนงาน และการจัดอบรมเสริมสร้างให้มีความรู้เพื่อการปรับตัว ผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถขอคำแนะนำได้ที่กรมการค้าต่างประเทศ สายด่วน 1385

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มกราคม 2556

โอนฐานข้อมูลเกษตรกรให้มท.

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯจะถ่ายโอนฐานข้อมูลเกษตรกร 7.2 ล้านครัวเรื่อนของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง ให้กับกระทรวงมหาดไทยเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเทียบเคียงอีกครั้ง ทั้งนี้จะช่วยลดขั้นตอนของเกษตรกรในการรับบริการภาครัฐ ลดความซ้ำซ้อนในการเข้าโครงการของภาครัฐ และสามารถตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรได้รวดเร็วขึ้น

“กระทรวงเกษตรฯ นำร่องโครงการนี้ในจังหวัดนครนายก จากนั้นจะประกาศใช้ทั่วประเทศอีกครั้ง การรวบรวมข้อมูลนี้จะทำให้หน่วยงานของรัฐทราบว่า เกษตรกรมีพื้นที่เพาะปลูกเท่าใด มีอาชีพเกษตรกรอะไรบ้าง เมื่อเกิดภัยธรรมชาติก็สามารถช่วยเหลือได้เร็วขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอการยืนยันจากการทำประชาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนเพื่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลในการทำโซนนิ่งเกษตร ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลได้ จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น” นายยุคลกล่าว และว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ต้องการนำบัตรประชาชนที่บรรจุข้อมูลเกษตรกรไปใช้กับโครงการจำนำข้าว แต่ต้องรอข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมายืนยันอีกครั้ง จึ่งไม่ทันโครงการจำนำข้าวรอบ 2 ในปีการผลผลิต 2555/2556

นายคมสัน จำรูญพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวถึงประโยชน์การใช้งานบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรว่า เกษตรกรจะสามารถใช้บัตรยืนยังสิทธิความเป็นเกษตรกรได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ใครรับรองสิทธิ โดยเกษตรกรผู้ถือบัตรจะมีรหัส 4 หลัก ซึ่งตัวเกษตรกรเท่านั้นที่รู้ หรือใช้ลายนิ้วมือในการเจ้าถึงข้อมูลของตน ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในแต่ละพื้นที่ โดยข้อมูลในบัตรจะประกอบด้วยข้อมูลชนิดการปลูกพืช พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งเกษตรกรสามารถพิมพ์ใบรับรองการขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อนำไปใช้ในการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐบาลได้ทันทีจะช่วยลดขั้นตอนได้มาก

จากhttp://www.matichon.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2556

มกอช. จี้ผู้ประกอบการ ใช้เครื่องหมาย Q ที่ถูกต้อง

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “นับแต่พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 ได้ประกาศใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานมีคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร สามารถแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร หรือเครื่องหมาย Q ไว้บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ได้ ต่อมากฎหมายดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องหมาย จากตัว Q ที่มีหางเป็นธงชาติ มาเป็นตัว Q ที่เขียวทั้งหมด และได้ประกาศใช้โดยให้ผู้ประกอบการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายให้ถูกต้องตั้งแต่ปี 2553 แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายยังคงใช้เครื่องหมาย Q หางธงชาติอยู่ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น มกอช. จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเร่งเปลี่ยนเครื่องหมายที่ติดอยู่บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้อง เพื่อให้การใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภคและเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับสินค้าของผู้ประกอบการอีกด้วย”

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2556

Green Industry: ว่าด้วย 'โรงงานแห่งอนาคต'

วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
เมื่อ 2-3 วันก่อน ผมได้รับเชิญไปปาฐกถาพิเศษเปิดงานสัมมนา"Factories of the Future" ของกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำให้ได้ข้อคิดมากมาย

"โรงงานแห่งอนาคต" หรือ "Factories of the Future" เกิดขึ้นจากการศึกษาและวิจัยในกลุ่มประเทศยุโรป โดย EUROPEAN COMMISSION ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในเรื่องของระบบการผลิตในโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปี ซึ่งในภูมิภาคเอเชียเอง เช่น จีนเกาหลี หรือญี่ปุ่น ฯลฯ ก็มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านระบบและกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

การศึกษาวิจัยพบว่า การที่ระบบการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศหนึ่งๆ จะสามารถพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศและภูมิภาคอื่นๆได้นั้น ควรจะมีทิศทางในการพัฒนาอันประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก อันได้แก่ (1) Sustainable Manufacturing (2) ICT-enable intelligent manufacturing (3) High performance manufacturing (4) Exploiting new materials through manufacturing

องค์ประกอบหลักทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้น สามารถขยายความได้ดังนี้
(1) Sustainable Manufacturing เป็นการผลิตอย่างยั่งยืนที่เน้นการประกอบกิจการและใช้พลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และสามารถประกันความปลอดภัยให้กับทุกคนได้ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างความเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการใช้เทคโนโลยีหรือกระบวนการในการหมุนเวียนหรือนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย "หลักการ 3R" (Reuse Reduce Recycle)
(2) ICT-enable intelligent manufacturing เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสินค้าหรือให้บริการ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ สรุปผลต่างๆเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพในทุกๆด้านของกระบวนการผลิต ทั้งด้านความรวดเร็ว ปริมาณ คุณภาพ ความถูกต้อง การควบคุมดูแล การตอบสนองความต้องการของลูกค้า เป็นต้น
(3) High performance manufacturing เป็นกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพสูงในกระบวนการผลิตรวมตลอดถึงความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายโดยผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย
(4) Exploiting new materials through manufacturing เป็นการบริหารจัดการด้านวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นการหาวัสดุชนิดใหม่ที่ตอบสนองต่อการผลิตได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่เบากว่า ลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า ใช้พลังงานได้คุ้มค่ากว่า หรืออาจเป็นการใช้วัสดุอื่นแทนหรือเป็นการผสมผสานระหว่างวัสดุหลากหลายชนิด รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และทำให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตสูงสุด โดยคำนึงถึงการใช้ทดแทนกันได้อย่างดีแทนที่วัสดุเดิมที่ใช้อยู่หรือมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ต้องให้ความระมัดระวังอย่างมากในปัจจุบันก็คือ สภาพการแข่งขันอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกวันในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดหรือเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งทำให้มีคู่แข่งรายใหม่จากต่างประเทศเข้ามาสู่ตลาดในประเทศ หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่ในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ

การปรับตัวของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อรับมือกับการแข่งขันอย่างรุนแรงในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ทุกวันนี้ภาคอุตสาหกรรมของเรายังมีโรงงานอุตสาหกรรมอีกจำนวนมากที่ยังคงไม่มีระบบหรือกระบวนการผลิตที่เป็นมาตรฐานเท่าที่ควร จึงไม่สามารถตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และปรับตามความต้องการด้านกำลังการผลิตไม่ทัน รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองลูกค้าอย่างทันการณ์ได้

ในขณะที่ภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีความจำเป็นต้องนำความรู้และเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานเข้ามาสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อที่จะทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมตลอดไปถึงการปรับปรุงมาตรฐานแรงงานในภาคการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ทุกวันนี้ คำถามที่สำคัญยิ่งก็คือ "อุตสาหกรรมของเราอยู่มาแล้วกี่ปี และเรายังจะเปิดกิจการต่อไปอีกกี่ปี"
ขณะนี้ "เราได้เตรียมพร้อมด้านคนและเครื่องจักรของเราเพื่ออนาคตมากน้อยอย่างไรบ้างแล้ว"
คำตอบจึงอยู่ที่การต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ"โรงงานแห่งอนาคต" หรือ "Factories of the Future" ใน 4 องค์ประกอบหลักเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ(Productivity Improvement)ที่เป็นหลักประกันของความอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยเฮ ศาลฯ สั่ง รง.น้ำตาลขอนแก่นเปิดหีบแล้ว

ชาวไร่อ้อย จ.เลยมีเฮ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย เปิดหีบอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 255/56 ได้ทันทีหลังก่อนหน้านี้ไม่สามารถเปิดหีบได้เพราะยังไม่ได้รับใบ รง.4 ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก

นายเจริญ แก้วยอดหล้า ทนายความฝ่ายเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดเลยจำนวน 1,310 ราย เปิดเผยว่า วันนี้ (17 ม.ค.) ศาลปกครองกลางได้ทำการไต่สวนฉุกเฉินหรือมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวน 1,310 รายจากปริมาณอ้อยรวม 1.5 ล้านตัน สามารถนำไปเข้าสู่กระบวนการตัดอ้อยเพื่อส่งป้อนให้บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน) ในการหีบเป็นน้ำตาลทรายในฤดูกาลผลิตปี 2555/56 ได้ทันทีนับจากวันนี้เป็นต้นไป

“เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมาทางผมได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ศาลฯ ทำการไต่สวนฉุกเฉินหรือคุ้มครองชั่วคราวในการเปิดหีบอ้อยปี 2555/2556 เนื่องจากเกษตรกรจำนวน 1,310 รายเดือดร้อนหนักซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรพื้นที่ อ.วังสะพุง เนื่องจากโรงงานน้ำตาลขอนแก่นไม่สามารถเปิดหีบอ้อยได้แม้ว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จะกำหนดวันเปิดหีบอ้อยตั้งแต่ 15 พ.ย. 55 ที่ผ่านมา เนื่องจากโรงงานน้ำตาลขอนแก่นยังไม่ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 จึงไม่สามารถเปิดหีบได้เพราะถือว่าผิดกฎหมาย” นายเจริญกล่าว

ทั้งนี้ เกษตรกรฯ ทั้งหมดขอขอบคุณศาลฯ ที่ได้เร่งพิจารณาเรื่องนี้อย่างรวดเร็วเนื่องจากเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกอ้อยแล้วกลับไม่สามารถตัดอ้อยได้เพราะเพราะโรงงานที่ใกล้พื้นที่ จ.เลยมีเพียงโรงงานแห่งนี้ หากจะขนไปยังจังหวัดอื่นเกษตรกรก็จะมีภาระและการไปเข้าคิวก็ไม่ง่ายเนื่องจากเกษตรกรแต่ละรายก็มีคู่สัญญาส่งอ้อยให้โรงงานไปแล้ว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

เมืองกาญจน์สานต่อโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ ชูพื้นที่ ต.หนองหญ้า

กาญจนบุรี เดินเครื่องต่อโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรเป็นปีที่ 3 หลังซิวรางวัลที่ 2 ประเภทโครงการชลประทานขนาดเล็ก พร้อมจัดสรรเงินรางวัลสู่พื้นที่โครงการเพื่อต่อยอดแล้ว

ด้าน สศข.10 เผยผลสำรวจข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ ปี 55 ระบุ เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรกรรวม 391,555 บาท/ครัวเรือน/ปี พร้อมชูพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองหญ้า 3 ต.หนองหญ้า อ.เมืองฯ เป็นเพื่อที่โครงการฯในปี 56

นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ราชบุรี (สศข.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในส่วนของพื้นที่จังหวัดรับผิดชอบจังหวัดกาญจนบุรี หลังจากที่ทางจังหวัดได้รับรางวัลที่ 2 ประเภทโครงการชลประทานขนาดเล็ก ในปีงบประมาณ 2555 ของโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท่าแจง ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าบ้านวังสิงห์พร้อมระบบท่อส่งน้ำ ที่ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค โดยได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ซึ่งขณะนี้ ได้จัดสรรเงินรางวัลสู่พื้นที่โครงการเก่าและโครงการใหม่ที่จะดำเนินงานในปี 2556 แล้ว โดยเงินรางวัลดังกล่าว ได้จัดสรรลงในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง และพัฒนาต่อยอดในพื้นที่เดิม 2554 - 55 ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวปลอดภัยเพื่อการบริโภคในครัวเรือน สนับสนุนเครื่องสีข้าวขนาดเล็กจำนวน 2 เครื่อง พร้อมปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว และจัดหาไก่ไข่จำนวน 100 ตัว

ในการนี้ สศข.10 ได้สำรวจข้อมูลของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายของโครงการปี 2555 พื้นที่ ม.2 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค พบว่า มีครัวเรือนเกษตรที่ใช้ประโยชน์จากในเขตพื้นที่โครงการ จำนวน 43 ครัวเรือนในปีเพาะปลูก 2554/55 (1 พฤษภาคม 2554 – 30 เมษายน 2555) โดยส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม จำนวนสมาชิกในครัวเรือน 5 คน แยกเป็นใช้แรงงานในการเกษตร เฉลี่ย 2 คนและไม่ได้ใช้แรงงานในการเกษตร เฉลี่ย 3 คน มีการถือครองที่ดินพื้นที่การเกษตรเฉลี่ย 47.07 ไร่ต่อครัวเรือน และกิจกรรมด้านการเกษตรที่ดำเนินการในพื้นที่โครงการฯ พบว่า มีการทำไร่ มากที่สุด โดยมีรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรกร 391,555 บาท/ครัวเรือน/ปี อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคาดหวังของเกษตรกรเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรของโครงการฯ พบว่า เกษตรกรคาดหวังว่า จะสามารถมีน้ำทำการเกษตรเพิ่มขึ้นในฤดูแล้ง มากที่สุด โดยเกษตรกร ต้องการให้ขยายพื้นที่รับน้ำและจำนวนวันปล่อยน้ำให้มากขึ้น และให้มีการซ่อมบำรุงแนวคลองส่งน้ำเพิ่มเติม

นายสมมาตร กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2556 เพื่อพัฒนาในพื้นที่ใหม่นั้น ทางจังหวัดกำหนดแผนดำเนินงานแล้วในพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองหญ้า 3 ต.หนองหญ้า อ.เมืองฯ โดยจะมีการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ดังนี้ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด ดำเนินการกิจกรรมการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปูนโดโลไมด์ ปุ๋ยพืชสด และไถกลบตอซัง พร้อมทั้งตั้งกลุ่มผลิตสารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี สำนักงานประมงจังหวัด ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงปลา สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินกิจกรรมจัดอบรมการทำบัญชีครัวเรือน สำนักงานสหกรณ์จังหวัด ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ดำเนินกิจกรรมจัดอบรมส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ดำเนินกิจกรรมอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสายพันธุ์ดี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี ดำเนินกิจกรรมตรวจรับรองการผลิตพืชผัก สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ดำเนินกิจกรรมพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อ และสำนักงานเกษตรจังหวัด ดำเนินกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวฯ นับเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุดในพื้นที่แห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ของ จ.กาญจนุบรี ได้ให้ความสำคัญและร่วมผลักดันการดำเนินงานและบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานรวมถึงตัวเกษตรกร จนก่อให้โครงการที่ประสบความสำเร็จตามมาในที่สุด

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ศาลปกครองสั่งรง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่นเปิดเดินเครื่องชั่วคราวถึง15เม.ย.56

วันนี้ (17 มกราคม 2556) ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ในคดีที่นายแสงจันทร์ ศรีพลเมือง เกษตรกรชาวไร่อ้อยในจังหวัดเลย กับพวกรวม 6 ราย (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม

และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดี รวมทั้งสมาชิกทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถขายหรือจำหน่ายผลผลิตอ้อยให้แก่ บรฺิษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดีที่ 5) และ บริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (ผู้ฟ้องคดีที่ 6) เพื่อจะได้นำผลผลิตอ้อยไปผลิตน้ำตาลทรายได้โดยถูกต้องตามกฎหมายทันที รายละเอียดคำขอของผู้ฟ้องคดี อ่านเพิ่มเติมจากคำสั่งศาลฯที่แนบ

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้โรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 5 ดำเนินการเปิดหีบอ้อยเป็นการชั่วคราวให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญา จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2556 และให้โรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 6 ทำการผลิตไฟฟ้าเฉพาะส่งให้โรงงานของผู้ฟ้องคดีที่ 5 ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมการเปิดหีบอ้อยดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจชาติกำลังพัฒนา

ประเทศกำลังพัฒนาต้องพุ่งเป้าในเรื่องนโยบายยกระดับผลผลิตท้องถิ่น เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว
วิกฤติการเงินโลกครั้งล่าสุด ผ่านมาร่วม 4 ปีแล้ว และในปัจจุบันดูเหมือนว่า ปัญหาการเงินอย่างรุนแรงในครั้งนั้นกำลังหายไปจนเกือบหมด

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในสถานะบอบบางอย่างมาก โดยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก ที่เปิดเผยออกมาเมื่อวานนี้ (16 ม.ค.) ชี้ว่า เป็นเพราะประเทศที่มีรายได้สูงยังคงตกอยู่ท่ามกลางความผันผวน และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้า

สถานการณ์ต่างๆ ยังไม่เลวร้ายมากนัก เพราะรายงานระบุว่า แม้เศรษฐกิจประเทศรายได้สูงจะโตอย่างเชื่องช้า แต่โอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนายังคงแข็งแกร่งอยู่ แม้จะมีอัตราการเติบโตช้ากว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติราว 1-2% ก็ตาม

ในการที่จะทำให้การขยายตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องพุ่งเป้าความสนใจไปในเรื่องนโยบายสำหรับการยกระดับผลผลิตในประเทศ เพื่อรับประกันถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว

ธนาคารโลกประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โลกในปี 2555 น่าจะขยายตัวราว 2.3% โดยยังคงตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2556 ไว้ที่ 2.4% ก่อนที่จะปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.1% ในปี 2557 และ 3.3% ในปี 2558

เมื่อปีที่แล้ว บรรดาประเทศกำลังพัฒนา มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวมากสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยจีดีพีขยายตัวราว 5.1% โดยในปีนี้คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้ จะขยายตัว 5.5% จากนั้นก็จะแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.7% และ 5.8% ในปี 2557 และ 2558

การเติบโตของประเทศรายได้สูงยังคงอ่อนแออยู่ ด้วยอัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อปีที่แล้วแค่ 1.3% และคาดว่าจะยังชะลอตัวต่อไปมีระดับการเติบโตที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 1.3% ในปีนี้ ก่อนที่จะขยับขึ้นเล็กน้อยที่ 2% ในปี 2557 และ 2.3% ในปี 2558

สำหรับภาคพื้นยุโรปนั้น ธนาคารโลกคาดว่า กว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งก็ต้องรอไปจนถึงปี 2557 โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัว 0.1% ก่อนขยายตัว 0.9% ในปีหน้า และ 1.4% ในปีถัดไป

ส่วนการค้าโลกในเรื่องสินค้า และบริการ ที่มีการขยายตัวเพียง 3.5% ในปี 2555 คาดว่าจะโตเร็วขึ้น มีระดับการขยายตัว 6% ในปีนี้ และสูงถึง 7% ภายในปี 2558

อย่างไรก็ดี รายงานเตือนว่า เศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงขาลงอยู่ รวมถึง ภาวะชะงักงันในกระบวนการแก้ไขวิกฤติของกลุ่มประเทศยุโรป ปัญหาหนี้และงบประมาณของสหรัฐ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรงของการลงทุนในจีน และอุปสรรคต่างๆ ที่ขวางการจัดหาน้ำมันโลกไม่ให้ราบรื่น

ในช่วงเวลาที่สภาพแวดล้อมภายนอกอ่อนแอเช่นนี้ ประเทศกำลังพัฒนาที่อยากเห็นเศรษฐกิจขยายตัว จำเป็นต้องปรับรูปแบบเศรษฐกิจให้แข็งแรงมาจากภายในประเทศ ด้วยการเสริมความแข็งแกร่งในด้านธรรมาภิบาล พร้อมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และสาธารณสุข

รายงานเศรษฐกิจฉบับนี้ ยังเน้นให้เห็นถึงรายละเอียดสำคัญเป็นรายภูมิภาคไว้ด้วย
เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก การขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ราว 7.5% ในปีที่แล้ว จากระดับ 8.3% ในปี 2554 ส่วนใหญ่เป็นเพราะความต้องการภายนอกที่ซบเซา และการดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อของจีน โดยการขยายตัวในภูมิภาคนี้ ไม่รวมจีนลดลงไม่มากนัก เพราะมีความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่งมาชดเชย

ธนาคารโลกคาดว่าจีดีพีของทั้งภูมิภาคจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7.9% ในปีนี้ ก่อนที่จะทรงตัวในระดับประมาณ 7.5% ในปี 2558 โดยที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 8.4% ในปี 2556 ก่อนลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7.9% ภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยในช่วงระหว่างปี 2556-2558 คาดว่าเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ไม่รวมจีนจะมีอัตราโตโดยเฉลี่ย 5.9% ผลจากความต้องการที่แข็งแกร่งภายในภูมิภาค และกระแสการค้าโลกที่หนาแน่น
อาเซียน สำหรับประเทศเศรษฐกิจสำคัญในอาเซียนนั้น คาดว่าในปี 2556 จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.8% เพราะประเทศในกลุ่มนี้ ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการค้าโลก และเศรษฐกิจจะโตขึ้นไปอยู่ที่ 5.9% ในปี 2558 จากการที่เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ยังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ที่ราว 6.6% ส่วนเศรษฐกิจมาเลเซียก็ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ที่ 5.0% เช่นเดียวกับไทยและฟิลิปปินส์ ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวราว 4.5% และ 6.0% ขณะที่เวียดนาม ซึ่งขยับฐานะมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น หนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว 6.0%

ส่วนประเทศรายได้น้อยในภูมิภาคนี้ ธนาคารโลกคาดว่า ลาวจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ที่ 7.5% โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนอย่างแข็งแกร่งในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และเหมืองแร่ ทั้งการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ยังเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ จากการมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สำหรับกัมพูชา คาดว่าจะโตราว 7.0% จากความสำเร็จในการผลิตข้าวได้มากขึ้น เม็ดเงินเอฟดีไอที่ไหลบ่าเข้ามาในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่พม่านั้น ธนาคารโลกชี้ว่า มีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพราะการเปลี่ยนถ่ายทางการเมืองอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ให้ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีแต่อย่างใด

ยุโรปและเอเชียกลาง ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ขยายตัวแค่เพียง 3% ในปี 2555 จาก 5.5% เมื่อปี 2554 เพราะเจอปัญหาหนักหน่วงในหลายด้าน รวมถึง ความต้องการภายนอกที่ยังอ่อนแอ ความอ่อนแอของภาคธนาคารยุโรป ภัยแล้ง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

ธนาคารโลกมองว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.6% ในปีนี้ และขยายตัวถึง 4.3% ภายในปี 2558 โดยโอกาสในระยะกลางของภูมิภาคยังอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วง ขึ้นอยู่กับการแก้ไขความไม่สมดุลระหว่างปัจจัยภายนอก อาทิเช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาล กับปัจจัยภายใน อย่าง การดุลงบประมาณ การว่างงาน และเงินเฟ้อ รวมถึง การแก้ปัญหาในเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการตึงตัวในเรื่องโครงสร้าง

ละตินอเมริกาและแคริบเบียน ในปี 2555 การขยายตัวของจีดีพีในภูมิภาคนี้ลดลงมาอยู่ที่ 3% จากระดับ 4.3% ในปีก่อนหน้านั้น เพราะความต้องการภายในของบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในภูมิภาคชะลอตัวลง ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่อ่อนแอภายนอกประเทศ

การขยายตัวของบราซิล ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของละตินอเมริกา และแคริบเบียน ขยายตัวแค่ 0.9% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งธนาคารโลกชี้ว่า จะเป็นต้องมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับกระแสเงินทุนที่ไหลเข้า โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อันแข็งแกร่ง และความต้องการภายนอกที่ทะยานขึ้นอย่างมาก จึงจะช่วยยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ในช่วงระหว่างปี 2556-2558 ให้มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 3.8% ได้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ผู้ส่งออกเตือนรัฐจับตาบาทผันผวนแล้ว2%

ผู้ส่งออกเตือนรัฐจับตาค่าบาท ห่วงผันผวนหนักหลัง 10 วันแข็งค่าแล้ว 2% ขณะที่เพื่อนบ้านแข็งค่าแค่ 1% ชี้กลุ่มอาหาร-สินค้าเกษตรอ่วม!

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าไปแล้วกว่า 2% โดยเฉลี่ย ขณะที่เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม พม่า มีอัตราแข็งค่าเพียง 1% ซึ่งน่าเป็นห่วงมากรัฐบาลควรเข้าไปจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหากค่าเงินบาทมีอัตาแข็งค่าต่อเนื่องซึ่งอาจถึง 3% แต่เพื่อนบ้านยังแข็งค่าขึ้นในอัตราเพียง 1% เช่นนี้ ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยจะได้รับผลกระทบทันที

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกำลังเป็นห่วงว่าการแข็งค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นอย่างผันผวนและรวดเร็วจะมีผลต่อการโค้ดราคาสินค้า หากโคดผิดจะกระทบต่อผลกำไรทันที และหากโคดราคาสูงเกินไป ตลาดจะไม่ตอบรับสินค้าไทยเรื่องนี้ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและดำเนินการมาตรการบางอย่างเพื่อให้เงินบาทมีเสถียรภาพและไม่แข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งที่ส่งออกสินค้าใกล้เคียงกับไทย

"ถือว่าเงินบาทแข็งค่าเร็วไป มันยากกับการตั้งราคาสินค้า ผ่านไปวันเดียวค่าเงินเปลี่ยนก็จะขาดทุนทันที อยากให้รัฐเข้าไปดูแล เพราะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง ได้แก่ สินค้าเกษตร และกลุ่มอาหาร จะได้รับผลกระทบทันที่ คือหากปรับราคาสูงตลาดจะรับไม่ได้ หากโคดราคาต่ำผู้ส่งออกก็จะขาดทุน"นายพรศิลป์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

จ.มหาสารคามประกวดผลผลิตเกษตรงานบุญเบิกฟ้า

ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคาม กำหนดจัดงานบุญเบิกฟ้าและกาชาดปี 2556 ระหว่างวันที่ 8-17 กุมภาพันธ์ 2556 ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม นอกจากจะมีการออกร้านนิทรรศการในร้านนิทรรศการศาลากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรและผลงานด้านการส่งเสริมการเกษตรแล้ว ยังจัดให้มีการประกวดพืชเศรษฐกิจและผลิตผลการเกษตร เพื่อคัดพันธุ์และให้ทราบแหล่งพันธุ์ดีที่ปลูก

โดยจัดให้มีการประกวดข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 กล้วยน้ำว้า มะพร้าวน้ำหอม อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง มะละกอสุก แตงโม และการจัดสวนหย่อมพืชผักสมุนไพร

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า การประกวดข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 มีเมล็ดข้าวเปลือกติดรวงอยู่ มัดรวมเป็นฟ่อน รายละไม่น้อยกว่า 7 กิโลกรัม การประกวดกล้วยน้ำว้า จำนวนที่ส่ง 1 เครือต่อราย ต้องเป็นกล้วยสุกขนาดรับประทานได้ดีในวันตัดสิน การประกวดมะพร้าวน้ำหอม จำนวนที่ส่ง 1 ทะลายต่อราย โดยมีจำนวนผลทะลายไม่น้อยกว่า 8 ผล และต้องไม่ปลิดผลในทะลายออก การประกวดมะละกอสุกจำนวน 2 ผลต่อราย และสุกรับประทานได้ดีในวันตัดสินมีขั้วติด การประกวดอ้อยโรงงาน จำนวนที่ส่ง 3 ลำต่อราย และการประกวดมันสำปะหลัง จำนวนที่ส่งอย่างน้อย 2 ต้นต่อราย การประกวดแตงโมสุกเนื้อสีแดง สุกขนาดรับประทานได้ดีในวันตัดสิน จำนวน 2 ผล ไม่ควรมีการตกแต่ง

ส่วนการประกวดจัดสวนหย่อมพืชผักสมุนไพร ขนาดพื้นที่ 2×3 เมตร มีชนิดพืชผักและสมุนไพร ไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด มีปริมาณพืชผักและสมุนไพร ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่สวนหย่อม และต้องจัดแสดงไว้ตลอดงาน กำหนดการส่งพืชเศรษฐกิจและผลิตผลการเกษตรเข้าประกวด ที่บริเวณร้านนิทรรศการศาลากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 09.00 น. สำหรับรางวัลการประกวดเป็นเงินสด แต่ละประเภทจะมีรางวัลที่ 1, 2, 3 และรางวัลชมเชย อีก 2-4 รางวัล รวมเงินรางวัลการประกวดทุกประเภทเป็นเงิน 75,000 บาท ทั้งนี้การประกวดกล้วยน้ำว้า มะพร้าวน้ำหอม อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง มะละกอสุก และแตงโม จะเปิดรับสมัครจากเกษตรกรทั่วไป โดยติดต่อขอใบสมัครและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม หรือสอบถามโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

"โอฬาร" ชี้ บาทแข็งยังไม่กระทบส่งออก นายแบงก์ยันทุนไหลเข้าไม่เกิดฟองสบู่

"โอฬาร" ชี้ ค่าเงินบาทแข็งหลุดกรอบ 30 บาทต่อดอลลาร์ ยังไม่กระทบส่งออก ธปท. ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการสกัด ขณะที่นายแบงก์ มองเงินทุนไหลเข้า ยังไม่ก่อฟองสบู่ ศก.ไทย มั่นใจ ธปท. ดูแลได้

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นหลุดกรอบ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมองว่า เป็นปัจจัยการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศที่มีมากขึ้นในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่ายังไม่กระทบภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ เพราะค่าเงินบาทยังไม่แข็งค่ามากเกินไป

ขณะเดียวกับผู้ส่งออกยังไม่มีปฎิกิริยาในเรื่องนี้ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง จะต้องพิจารณาความเหมาะสมของกรอบค่าเงินบาทที่กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ เพราะหากไม่ต้องการเห็นการแข็งค่าของค่าบาทไปมากกว่าก็อาจจะต้องพิจารณาปรับกรอบค่าเงินบาทใหม่

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในขณะนี้ โดยมองว่า อาจทำให้มีสภาพคล่องในระบบมากขึ้นและส่งผลต่อการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้นจริง แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้นเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังดูแลได้ดีอยู่

นอกจากนี้ นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในขณะนี้เป็นนักลงทุนที่มีความรู้มากขึ้น ในส่วนของการให้สินเชื่อของธนาคารในปีนี้จะเติบโตในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ขยายตัว 9-11% โดยเป็นการขยายตัวของสินเชื่อรายใหญ่ประมาณ 4-6% และสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 10-12% ขณะที่สินเชื่อรายย่อย คาดว่าจะโต 10-13% ส่วนการขยายสินเชื่อในปีที่ผ่านมายังเป็นไปตามวิสัยที่ธนาคารวางไว้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารมีการประเมินความเสี่ยงอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตมากเกินไปหรืออยู่ในภาวะเสี่ยง ซึ่งในขณะนี้ที่เห็นชัดเจนคืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เพราะมีปัญหาทั้งการขาดแคลนแรงงานและแรงงานไร้ฝีมือ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กำลังเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรม

ขณะที่ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทนั้นผู้ประกอบการสามารถซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ได้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยธนาคารตั้งเป้าควบคุมเอ็นพีแอลไว้ที่ระดับ 2.4%

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

พด.เปิดหลักสูตรบำรุงดิน

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ เปิดเผยว่า การใช้ที่ดินไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรม สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน จึงได้จัดโครงการฝึกอบรม “การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ปีงบประมาณ 2556 ดังนี้

รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2555 รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2556 รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม 2556 รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ 2556 และรุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์–1 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องทรัพยากรดิน เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน และการทำเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรดิน เทคโนโลยีการจัดการดิน การใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่ง พด. ชนิดต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ดิน และเรียนรู้การทำเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อย่างเหมาะสม และสามารถนำไปสร้างเครือข่ายขยายผลสู่ชุมชน โรงเรียน สถานศึกษา กลุ่มเกษตรกร และองค์กรเอกชนต่อไป ผู้สนใจสมัครฝึกอบรมติดต่อสอบถามได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน โทรสายด่วน 1760 ต่อ 2249, 2251 หรือที่กลุ่มเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร 02-579-8515

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

เร่งออกใบอนุญาตรง.ย้ำทุกขั้นตอนโปร่งใส

กระทรวงอุตฯ ยันออกใบ รง.4 โปร่งใส เร่งพิจารณาโครงการที่เหลือให้เสร็จสิ้น ม.ค.นี้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ว่า ขณะนี้ยังเหลือโครงการที่ยื่นเข้ามาแต่ยังไม่ได้พิจารณาอีก35 ราย จากจำนวนผู้ยื่นขอใบรง.4 จำนวน 76 ราย โดยคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตที่ตั้งขึ้นมาเมื่อต้นเดือนธ.ค. 2555 ได้พิจารณาอนุมัติใบ รง.4 ไปแล้ว 15 ราย และมีการส่งเรื่องกลับคืนไปบางส่วน ซึ่งปัญหาที่ทำให้การออกใบอนุญาตล่าช้าคือผู้ยื่นขอใบอนุญาตยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน

"ขอยืนยันว่าการพิจารณาออกใบรง.4 เป็นไปตามขั้นตอน และมีความรอบคอบ โดยเอกชนไม่ต้องวิ่งเต้นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ความล่าช้าอยู่ที่เอกสารของเอกชนที่ส่งมาไม่ครบ"นายวิฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณาออกใบ รง.4 ให้แก่โครงการที่ค้างอยู่ แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ม.ค. 2556นายวิฑูรย์กล่าวถึงการติดตามการปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศจากผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ว่า ผลสำรวจเบื้องต้นของอุตสาหกรรมจังหวัด 62 แห่ง พบว่าสถิติการปิดโรงงานที่เกิดขึ้นเป็นไปตามภาวะปกติ ยังไม่สามารถระบุชัดว่ามีสาเหตุมาจากค่าแรงที่ปรับขึ้น คงต้องผ่านไตรมาสแรกของปีไปแล้วจึงจะสามารถประเมินได้ สำหรับในปี 2555 มีจำนวนโรงงานที่ปิดกิจการประมาณ1,000 แห่ง ซึ่งตามสถิติย้อนหลัง 3 ปี ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

สมอ.เล็งออกมาตรฐานมอก.9999 ยึดใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ฟุ้งช่วยเอกชนลดต้นทุนผลิต

สมอ.เตรียมออกมาตรฐานอุตสาหกรรมใหม่ "มอก.9999" เน้นยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จูงใจเอกชนปรับใช้ในภาคการผลิต

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมออกประกาศมาตรฐานทั่วไป ว่าด้วยมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคการผลิตอุตสาหกรรมหรือ มอก. 9999 (ISO : 9999) เล่ม1 ปี 2556

มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมหันมาให้ความสำคัญกับขั้นตอนการผลิตสินค้าที่ยึดหลักแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยลดการสูญเสียจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคเอกชน ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ มอก. 9999 ได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ สมอ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการเพื่อร่างมาตรฐานแนวทางปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญนายสุเมธ ตันติเวชกุล มาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการฯ ด้วยซึ่งเชื่อว่าการออกมอก.ประเภทดังกล่าวจะช่วยสร้างจิตสำนึกให้กับนักอุตสาหกรรม ให้เห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น

พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแนวคิดจัดตั้งสถาบันวิทยาการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนชั้นสูง เพื่อจัดอบรมหลักสูตรให้กับข้าราชการ ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาคเอกชน ตลอดจนกลุ่มองค์กรเอกชน โดยกำหนดเนื้อหาการอบรมไว้ 4 ด้านหลักได้แก่ 1.การบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมในอนาคต 2.การบริหารอย่างยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ว่าองค์กรจะเติบโตต่อเนื่องไปอีก10 ปีได้อย่างไร

3.นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุน ซึ่งจะเน้นเรื่องการพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบเพื่ออนาคตและการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและอุบัติภัยและ 4.ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการออก มอก.9999 ของ สมอ.ด้วย

"การจัดตั้งสถาบันวิทยาการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุนชั้นสูงดังกล่าว เพื่อต้องการให้ความรู้สร้างความเข้าใจของการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต ที่ต้องมองเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยโดยจะนำกรณีศึกษาที่กำหนดขึ้นมาใช้เป็นหลักสูตรในการวิเคราะห์และแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งรุ่นแรกที่จะจัดอบรมมีทั้งหมด 80 คน โดยแยกเป็นข้าราชการ 50 คน ส่วนอีก30 คน จะเป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน เช่น ปตท. โตโยต้า รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดหลักสูตรอบรมได้ในเดือนพ.ค. 2556 นี้" นายวิฑูรย์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ศูนย์เครื่องจักรกลทางการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งและพัฒนาศูนย์เครื่องจักรกลทางการเกษตรขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการในการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร และแก้ไขปัญหาแรงงานภาคการเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนดำเนินการประกอบด้วย 3 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ

1. แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยให้มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เช่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า และสถาบันการศึกษา เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน กำกับ ดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางที่เหมาะสม และบูรณาการการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมและพัฒนา การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบและมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ต่อไป
3. สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เช่น หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้วางกรอบแนวทางการพัฒนาศูนย์เครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยจะต้องดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรใหม่ ๆ หรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและการให้บริการแก่เกษตรกร ซึ่งหน่วยงานที่จะเข้ามารองรับกิจกรรมด้านงานวิจัยพัฒนาและการส่งเสริมจะยังไม่มีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด จะเป็นหน่วยงานเดิมที่ดำเนินงานในแต่ละด้านอยู่แล้ว โดยงานด้านการวิจัยและพัฒนาได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดำเนินการ ขณะที่งานด้านส่งเสริมและการให้บริการมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีภารกิจดูแลรับผิดชอบอยู่แล้วดำเนินการต่อไป เช่น กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นต้น แต่จะมีการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบ และระบบการดำเนินงานในแต่ละด้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งโครงการในการสนับสนุนและขับเคลื่อนเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ไฟไหม้สายพานลำเลียงน้ำตาล บ.อ่าวไทย ท่าเรือ A4 แหลมฉบังวอด

ไฟไหม้สายพานลำเลียงน้ำตาล บ.อ่าวไทย ท่าเรือ A4 แหลมฉบังวอด ค่าเสียหายประมาณ 7 ล้านบาท เบื้องต้นเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร

เมื่อเวลา 17.00 น.วันนี้ (16 ม.ค.) พ.ต.อ.อรรถสิทธิ์ กิจจาหาญ ผกก.สืบสวน สภ.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งมีเหตุเพลิงไหม้ที่บริษัทอ่าวไทยคลังสินค้า จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าเรือ A 4 ท่าเรือแหลมฉบัง โดยเพลิงเกิดขึ้นที่บริเวณสายพานลำเลียงน้ำตาล ซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 30 เมตร จึงประสานขอรถดับเพลิงจากเทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ และจากการท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อมาฉีดน้ำสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้

เมื่อรถดับเพลิงจากพื้นที่ต่างๆ มาถึงจึงระดมฉีดน้ำควบคุมเพลิงที่กำลังลุกไหม้ แต่เมื่อจากจุดที่เกิดเพลิงไหม้อยู่สูงจากพื้นดินมาก ทำให้แรงดันน้ำไม่สามารถฉีดได้ถึง จึงต้องขอรถกระเช้าดับเพลิงจากเทศบาลเมืองศรีราชามาช่วย ทำให้เพลิงขยายวงกว้างเป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร

เจ้าหน้าที่จากบริษัทต้องเร่งขนย้ายอุปกรณ์ที่อยู่ด้านล่างให้ออกห่างจากจุดเกิดเหตุ นอกจากนั้น ทางการท่าเรือต้องเร่งเคลื่อนย้ายเรือที่จอดเทียบท่าบริเวณจุดเกิดเหตุ เพราะหวั่นจะได้รับผลกระทบจากเพลิงไหม้ครั้งนี้ เนื่องจากเวลาผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมงยังไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เนื่องจากสายพานดังกล่าวเป็นยางพารา ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เวลาผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ไม่ให้ลุกลามเพิ่มขึ้น

จากการสอบถามนายลีไวร์ ชุมกลม ผู้จัดการบริษัทอ่าวไทยคลังสินค้า จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้คาดว่าเป็นไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากจุดที่เกิดเพลิงไหม้นั้นทางบริษัทไม่ได้เปิดใช้งานแล้ว และวันนี้ก็ไม่มีการทำงาน หรือลำเลียงสินค้าแต่อย่างใด ส่วนสายพานลำเลียงชุดใหม่นั้นอยู่บริเวณด้านล่างสายพานชุดเก่า ซึ่งไม่ได้รับความเสียหายมาก และหลังจากตรวจสอบ และดำเนินการซ่อมแซมก็จะใช้งานได้ตามปกติ

สำหรับค่าความเสียหายเบื้องต้นนั้น คาดว่าประมาณ 7 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องตรวจสอบความเสียหายเพิ่มเติมอีกครั้งหลังจากเพลิงสงบลง เพราะความเสียหายส่วนใหญ่เป็นสายพานชุดเก่า ส่วนสายพานลำเลียงชุดใหม่ทางเจ้าหน้าที่สามารถฉีดน้ำป้องกันไว้ไม่ให้เสียหายมาก

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 มกราคม 2556

จี้ รบ.เตรียมพร้อมรับเออีซีเต็มรูปแบบ

จี้ รบ.เตรียมพร้อมรับเออีซีเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่มีมูลค่าการค้าขายเพิ่มขึ้นทุกปี ย้ำต้องมีความรู้มากขึ้นกว่านี้ จะทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง

วันนี้ (16 มค.) ดร.อิสิวุฒิ ตั้งเกียรติ นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2555 การค้าชายแดนด้าน จ.จันทบุรี ที่มีด่านแดนถาวร 2 ด่าน คือ ด่านถาวรบ้านแหลม และด่านถาวรบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จุดปรนทางการค้า 3 แห่ง คือ จุดผ่อนปรนบ้านซับตารี บ้านสวนส้ม และบ้านบึงชนัง อ.สอยดาว เติบโตขึ้นมากก็จริง แต่ประเทศเพื่อนบ้านเติบโตมากกว่า เนื่องจากประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนามเริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) แล้ว เพราะได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน อีกทั้งกัมพูชา และเวียดนามศึกษาเรื่องเออีซีอย่างลึกซึ้ง ไม่ต้องรอให้ถึงปี 2558 ส่งผลให้การค้าขยายตัวเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเครื่องอุปโภค วัสดุก่อสร้าง

“วัสดุก่อสร้างถือเป็นสินค้าสำคัญ เพราะกัมพูชา และเวียดนามมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน ต่างชาติเข้ามาลงทุนตามเเนวชายเเดนกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะโรงงานแป้งมันสำปะหลังเพื่อส่งไปยุโรป และจีน”

ดร.อิสิวุฒิ กล่าวว่า ในส่วนของ จ.จันทบุรี การค้าชายแดนยังคงคึกคัก พ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชา และเวียดนามเข้ามาซื้อขายมากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงควรมีความรู้เรื่องเออีซีให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะผลงานวิจัยทั้งภูมิภาคประเทศไทยอยู่อันดับ 9 ปีที่เเล้วอยู่อันดับที่ 8 ชนะเพียงประเทศพม่าเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดให้เรื่องเออีซีเป็นวาระแห่งชาติ ไม่เช่นนั้นจะสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ และควรที่จะต้องทำตั้งเเต่วันนี้ ไม่ควรรอให้ถึงปี 2558 จึงจะลงมือทำ จะทำให้ประเทศไทยสู้ประเทศอื่นไม่ได้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 มกราคม 2556

เกษตรฯตั้งทีมลดต้นทุนผลิตสินค้า 6 กลุ่ม

กระทรวงเกษตรฯ จัดทัพยกเครื่องโครงการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ตั้งคณะทำงาน 6 ชุด ศึกษามาตรการลดต้นทุนสินค้าเกษตร 6 กลุ่ม ตั้งเป้าแล้วเสร็จ 20 ก.พ.นี้เพื่อให้ทันการของบลงทุนปี 57

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการปรับเปลี่ยนการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยจัดตั้งคณะทำงาน 6 ชุด เพื่อศึกษามาตรการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรใน 6 กลุ่มประกอบด้วย ข้าว พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ ประมง และเครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยตั้งเป้าให้จัดทำมาตรการทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ก.พ.นี้ เพื่อบรรจุเป็นแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงประจำปี 2557 และจะได้ทันกาลกับการเสนอของบลงทุน ในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินปี 2557

“ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำมาตรการลดต้นทุนสินค้าเกษตรแล้ว ตั้งแต่ปี 2552 – 2554 โดยมุ่งเป้าศึกษาลดต้นทุนสินค้าเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ ผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด แต่การทำงานไม่ต่อเนื่อง จึงไม่บรรลุผลตามเป้าหมายกลายเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ต่างคนต่างทำงาน เช่น เรื่องการลดต้นทุนข้าว เป็นงานของกรมการข้าว แต่ไม่มีงบประจำปีให้ดำเนินการต้องใช้งบสนับสนุนจากกองทุนอื่น หรือมันสำปะหลังและข้าวโพด อยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร ดังนั้นจึงต้องปรับปรุงการทำงานใหม่ทั้งหมดเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ นายชวลิต กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานผลการจัดทำโครงกานลดต้นทุน ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่ดำเนินการไปเมื่อปี 2552- 2554 โดยสามารถลดต้นทุนการผลิตเฉลี่ยได้ประมาณ 30 % แต่การรายงานผลของโครงการไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่ได้ระบุว่า ต้นทุนที่ลด 30% นั้นมาจากปัจจัยใด มาจากลดการใช้ปุ๋ยละสารเคมีทางการเกษตร ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ หรือการเปลี่ยนวิธีการผลิต จึงได้สั่งให้กลับไปจัดทำรายละเอียดมาให้แล้วเสร็จ และนำกลับมารายงานอีกครั้งในวันที่ 30 ม.ค.นี้ เพื่อจะได้ให้คณะทำงานลดต้นทุนสินค้าเกษตรที่ตั้งใหม่ทั้ง 6 ชุด ใช้เป็นต้นแบบการดำเนินงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากมีการวางแผนที่ชัดเจนและช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในการาทำการเกษตรและสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ทุกขั้นตอน ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้

จากhttp://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 16 มกราคม 2556

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้าโครงการเกษตรกรปราดเปรื่อง ค้นหาเกษตรกรต้นแบบทั่วประเทศ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าโครงการเกษตรกรปราดเปรื่อง ค้นหาเกษตรกรต้นแบบทั่วประเทศ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลในแต่ละจังหวัด

นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer Smart Officer ว่า คณะกรรมการได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดเร่งจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกร เพื่อค้นหาเกษตรกรต้นแบบ หรือ เกษตรกรปราดเปรื่องในพื้นที่ ร่วมทั้งเกษตรกรที่จะต้องพัฒนาสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต่อไป โดยการจัดการฐานข้อมูลดังกล่าวจะต้องเป็นข้อมูลที่มีความละเอียด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต้องมีทีมปฏิบัติงานร่วมแบบบูรณาการ ตั้งแต่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อความเป็นเอกภาพของข้อมูล โดยจะนำข้อมูลในพื้นที่ที่ได้มาบูรณาการกับข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคู่ไปกับการจัดพื้นที่เศรษฐกิจเกษตร หรือการโซนนิ่งกลุ่มสินค้าเกษตร เพื่อให้การพัฒนาเกษตรกรตามโครงการดำเนินไปได้ทั้งระบบอย่างสอดคล้องกัน

ทั้งนี้ ได้มีการจัดการฐานข้อมูลเกษตรกรใน จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดนครนายก เพื่อเป็นแบบอย่างแก่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ทุกจังหวัดจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อมูลของเกษตรกรที่สมบูรณ์ให้แล้วเสร็จก่อนปลายเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเปิดตัวโครงการสมาร์ทฟาร์เมอร์อย่างเป็นทางการ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 15 มกราคม 2556

รับมือบาทแข็งหลังปท.ยักษ์ใช้ค่าเงินอ่อน

ความพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทั้งหมดชูนโยบายค่าเงินอ่อน ล่าสุด นายชินโสะอาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขยายเพดานเงินเฟ้อจาก 1% ไปเป็น 2% ขณะเดียวกันยังมีรายงานว่าญี่ปุ่นมีแผนจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอีกล็อตใหญ่ เพื่อกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลงอีกอย่างต่อเนื่องด้วย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ทำให้เกิดเงินทุนไหลบ่ามาในเอเชีย ซึ่งในปลายปีที่แล้ว ฮ่องกงต้องออกมาตรการสกัดเงินไหลเข้า ขณะนี้เงินไหลบ่ากำลังเป็นปัญหาต่อสิงคโปร์ จนรัฐบาลต้องประกาศมาตรการใหม่เพื่อควบคุมความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังจากที่ราคาอสังหาริมทรัพย์หลังจากที่ราคาพุ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจขาลง โดยจะขึ้นภาษีชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อบ้านในสิงคโปร์ และขยายเงินดาวน์ขั้นต่ำจาก 10% เป็น 25% สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป

สำหรับประเทศไทย ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทขณะนี้แข็งค่าที่สุดในรอบ 15 เดือน ธปท.จับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่ยังถือว่าไม่แข็งค่าเร็วเกินไป เมื่อเทียบกับพื้นฐานเศรษฐกิจ เป็นผลมาจากเงินไหลเข้าซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาค ไม่ได้ไหลเข้ามาที่ไทยแห่งเดียว เห็นได้จากตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามทิศทางของพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้นด้วย

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และจีน ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจที่จะนำเงินออกมาลงทุนในเอเชีย ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น จึงคาดว่าในระยะยาวค่าเงินบาทมีโอกาสจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปถึง 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้ผู้ส่งออกจะเผชิญกับรายได้ที่ลดลง เพราะเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นบวกกับการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินก็ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่ม อีกทั้งการท่องเที่ยวอาจจะได้รับผลกระทบ เพราะทัวร์‌ไทยมีราคาแพงขึ้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 15 มกราคม 2556

ชงตั้งกรรมการคุมปุ๋ย

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้หารือกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวคิดการจัดการปุ๋ยของประเทศไทย เพราะปัจจุบันมีการนำเข้าปุ๋ยสูตรรวมที่ไม่เหมาะสมกับคุณภาพดิน ทำให้ดินแข็งไม่สามารถทำการเกษตรได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อผลิตปุ๋ยภายในประเทศ โดยนายปลอดประสพเป็นประธาน โดยจะนำเสนอ ครม.อนุมัติเร็วที่สุด เชื่อว่าจะไม่ซ้ำซ้อน บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ ที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันมีการนำเข้าปุ๋ยกว่า 1 แสนตัน ส่วนมากเป็นปุ๋ยสูตรรวม ดังนั้นจึงต้องผลิตเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแนวคิดเรื่องใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถทำได้เพราะปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยปรับสภาพดินแต่ก็ไม่มีแร่ธาตุมากพอที่พืชจะดูดซึมต้องใช้สารเคมีเข้าไปเสริม “นายยุคลกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 15 มกราคม 2556

คุมเข้มสินค้าจีเอ็มโอหลุดตลาดเออีซี

นายยุทะพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเปิดตลาดภายใต้กรอบความตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (เออีซี) ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธค. 58 เป็นต้นไป คาดว่า จะมีสินค้าเกษตรจากสมาชิกอาเซียนทะลักเข้ามาตีตลาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นทั้งผักและผลไม้ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้ราคาสินค้าในประเทศตกต่ำลง ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะมีสินค้าพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMO) หลุดลอดเข้ามาปนเปื้อนพืชปลูกของไทยด้วย อาจกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าเกษตรไทยโดยรวมได้

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรทั้งส่งออกและนำเข้าอย่างเข็มงวด โดยพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ (Lab) ตรวจวิเคราะห์สินค้าพืช GMO และพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อปกป้องพืชปลูกของไทยเนื่องจากอาจมีการลักลอบนำเข้าสินค้าพืช GMO เข้ามาจำหน่ายในประเทศหลังเปิดตลาดเออีซี

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 15 มกราคม 2556

รง.น้ำตาลเชียร์รัฐเปิดเจรจาTPPเพิ่มศักยภาพส่งออกกลุ่มสมาชิก

นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย สนับสนุนภาครัฐร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP เนื่องจากสาระสำคัญของข้อตกลงดังกล่าว จะครอบคลุมการเจรจาการส่งเสริมการค้าในระดับภูมิภาค การยกเลิกภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีทั้งสินค้าและบริการในประเทศสมาชิก TPP ได้แก่ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ชิลี บรูไน ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย

ทั้งนี้ หากไทยสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ จะทำให้สินค้าของไทยมีโอกาสเปิดตลาดการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม สินค้าเกษตรของไทย ที่ได้รับประโยชน์ด้านภาษีเช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจาก ไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่น้ำตาลทรายเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่สามารถขยายตลาดส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศสมาชิก TPP ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมเจรจา TPP ครั้งนี้ ภาครัฐต้องดำเนินการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมและประเทศชาติเป็นหลัก มุ่งสร้างขีดความสามารถทางการค้าการลงทุนที่ให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 14 มกราคม 2556

"พิชัย ถิ่นสันติสุข" ชี้อนาคต-ข้อจำกัดพลังงานทดแทนไทย

ปัจจุบันนักธุรกิจหลายคนให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจ "พลังงานทดแทน" แต่อุปสรรคการลงทุนหลักคือ นโยบายด้านพลังงานของหน่วยงานภาครัฐ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ "พิชัย ถิ่นสันติสุข" ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงทิศทาง และข้อเสนอแนะที่จะให้ภาครัฐส่งเสริม ผลักดัน เพื่อให้ธุรกิจด้านนี้เติบโตทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกพลังงานในอนาคต

- ภาพรวมพลังงานทดแทน

ธุรกิจพลังงานทดแทนจะถูกแรงดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ นักลงทุนพุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย เมื่อประเมินการลงทุนด้านพลังงานทดแทนคร่าว ๆ มีพื้นที่สร้างมูลค่า (Value) เพื่อพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ได้เต็มที่เพียง 500,000 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านพลังงานกลับพยากรณ์ว่า ยังสามารถลงทุนได้สูงถึง 1 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาหารือเรื่องการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศไทย 2 ราย และต้องการลงทุนในระดับประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อโครงการ และสนใจในพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด และขณะนี้ต้นทุนการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 1 เมกะวัตต์ ลงทุนที่ประมาณ 100 ล้านบาท

- ทำไมนักธุรกิจสนใจลงทุนพลังงานจากแสงอาทิตย์

เพราะโซลาร์เซลล์มีจุดแข็งในเชิงธุรกิจหลายข้อประการ 1) นักลงทุนเชื่อมั่นใน 3 กิจการไฟฟ้าของประเทศไทย คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพราะหากใครมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทั้ง 3 หน่วยงานนี้เท่ากับได้ทำสัญญากับรัฐบาล 2) เป็นธุรกิจที่ซื้อง่ายขายคล่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการขายใบอนุญาตในตลาดค่อนข้างมาก แถมสู้ราคาด้วย

มีนักลงทุนบางคนใช้วิธีการคุยผ่านสถานทูตไทยเลยว่า ต้องการซื้อใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดย 1 เมกะวัตต์ ยอมจ่ายสูงถึง 115 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้แบ่งออกมา 15 ล้านบาทเป็นค่านายหน้าอย่างเดียว หากนำมาคำนวณที่ 2 เมกะวัตต์จะใช้เงินประมาณ 250 ล้านบาท จะมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 15-18 ล้านบาท และจะคืนทุนได้ภายใน 10 ปี ตอนนี้มีการไล่ซื้อโครงการโซลาร์เซลล์ในประเทศกันซี้ซั้วมาก หากต่างชาติเข้ามาในแบบนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ก็ดีไป แต่ผมกังวลตรงที่ว่า หากมีการนำแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตค้างเอาไว้หลายปี แผงมักจะเสื่อมเร็ว จะกลายเป็นว่านำแผงโซลาร์เซลล์เหล่านั้นมาเป็นขยะในประเทศไทย

- พลังงานทดแทนอื่น ๆ

พลังงานลมต้องใช้เวลาในการทดสอบรวม 2 ปี ซึ่งท้ายสุดอาจไม่ได้ลงทุน เพราะไม่คุ้ม ส่วนพลังงานจากน้ำ พื้นที่เหมาะสมส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานไม่สามารถทำได้ เพราะแรงต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ มองในกลุ่มไบโอแมสอย่างพลังงานจากขยะ ประเภทนี้นักลงทุนค่อนข้างกลัวที่จะลงทุน เพราะขั้นตอนมาก ต้องเกี่ยวข้องกับชุมชน

ส่วนไบโอแมสประเภทใช้เศษไม้ต่าง ๆ มาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า ก่อนหน้านี้เคยมีโครงการของหน่วยงานรัฐพยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นในชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วม แต่ต้องเข้าใจว่า นักพัฒนาโรงไฟฟ้าไม่ใช่ชาวไร่ ความชำนาญต่างกัน แต่ที่ค่อนข้างดีคือกลุ่มโรงงานน้ำตาล ที่สามารถนำต้นอ้อยที่แห้งมาเผาเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในกระบวนการผลิต และส่วนที่เหลือยังสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับ กฟภ.ได้ด้วย

แต่หากจะขยายเพิ่มเติมอีกในส่วนนี้คง "ไม่ได้" เพราะปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลประมาณ 90% แล้ว ส่วนที่เหลืออีก 10% จะยากขึ้น เพราะเท่ากับว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก แต่ล่าสุดเห็นว่า นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยใช้หญ้ายักษ์ หรือที่เรียกว่าหญ้าเนเปียร์ ให้มากขึ้น

- ทำไมต้องเป็นหญ้าเนเปียร์

หญ้าเนเปียร์เป็นพืชตระกูลเดียวกับอ้อย เพียงแต่ไม่มีความหวาน และเมื่อนำมาเผาให้ค่าความร้อน แต่อาจจะไม่เทียบเท่าเชื้อเพลิงจากแกลบ เพราะว่าหญ้าเนเปียร์เวลาเผาจะมีน้ำมันออกมาด้วย ภาคเอกชนเข้าใจว่าภาครัฐสนับสนุน แต่สิ่งที่ "ห่วง" คือ ชาวไร่ไม่ใช่นักธุรกิจที่ผลิตพลังงานทดแทน ฉะนั้นถ้าจะให้ประสบความสำเร็จมันคงลำบาก ท่านอาจจะไม่เข้าใจในพลังงานทดแทนมากพอ เพราะจริง ๆ แล้วภาพของพลังงานทดแทนของประเทศอย่างที่บอกว่ามันไม่ใหญ่มาก ต้องค่อยเป็นค่อยไป วางแผนให้ดี

เคยลองคำนวณคร่าว ๆ ที่กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้า 300 ไร่ มีพื้นที่พอหรือไม่ หากต้องลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท หากจะส่งเสริมต้องดูรายละเอียดว่าราคาหญ้าเนเปียร์จะเป็นอย่างไร หากเริ่มต้นที่ราคา 500 บาท/ตัน ถือว่าราคาใกล้เคียงกับแกลบ ซึ่งทำโรงไฟฟ้าแกลบน่าจะคุ้มกว่า

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 มกราคม 2556

บีโอไอถกยุทธศาสตร์ใหม่ส่งเสริมการลงทุนเน้น10กลุ่มอุตฯ

บีโอไอจัดสัมมนาใหญ่เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศในไทย เรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1,500 คน โดยร่างยุทธศาสตร์ใหม่ จะส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน เน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ

เล็งเลิกส่งเสริมกิจการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ใช้แรงงานเข้มข้น มีปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก คาดรวบรวมความเห็นภาคเอกชนทั่วประเทศเสร็จก่อนสิ้นกุมภาพันธ์นี้ เสนอบอร์ดใหญ่พิจารณาประกาศใช้ในเดือนมีนาคม และมีผลบังคับใช้เดือนมิถุนายน 2556

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังกล่าวเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่: เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอมีความตั้งใจที่จะรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ ทั้งจากการจัดสัมมนาในวันนี้ และจากงาสัมมนา ที่จะจัดขึ้นอีก 4 ครั้งในทุกภูมิภาคมาประกอบการพิจารณาจัดทำยุ ทธศาสตร์ใหม่ของการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งคาดว่าในเดือนมีนาคมจะสามารถนำเสนอต่อคณะกรรมากรส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระรทรวงการคลังเป็นประธาน และคาดว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นไป

“ ที่ผ่านมา การปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ก็รับฟังความเห็นและข้อเสนอจากภาคเอกชน เพราะนโยบายที่จะส่งเสริมการลงทุนต้องตอบสนองความต้องการของนักลงทุน ครั้งนี้เราก็ต้องฟังเสียงจากนักลงทุนเช่นเดียวกัน แต่สถานการณ์ในปัจจุบันและในอนาคตทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การยกระดับห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรม การลดภาระทางการคลังด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในแต่ละภูมิภาคหรือพื้นที่ชายแดนเพื่อกระจายความเจริญ และการเพิ่มบทบาทใหม่ของบีโอไอเพื่อสามารถให้บริการและการอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้นทั้งก่อนและหลังการลงทุน ทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ” นายประเสริฐกล่าว

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่าภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน เน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและ โลจิสติกส์ (เช่น เขตอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ น้ำประปาหรือน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า สนามบินพาณ ิชย์ ศูนย์บริการโลจิสติกส์) 2. กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน (เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี เยื่อกระดาษหรือกระดาษ เครื่องจักร) 3. กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ (เช่น เครื่องมือแพทย์ ยา อาหารทางการแพทย์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์)4. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กิจการ Recycle การบริการบำบัดน้ำเสียและกำจัดกากอุตสาหกรรม การบริการด้านจัดการพลังงาน (ESCO)) 5. กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม (เช่น R&D, HRD, Engineering Design, Software, บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ บริการสอบเทียบมาตรฐ าน กิจการ ROH กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน) 6. กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูง (เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง)

7. อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร (เช่น อาหารแปรรูป วัตถุเจือปนอาหาร สารสกัดจากสมุนไพร การปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล) 8. อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness (เช่น กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยวและกีฬา การสร้างภาพยนตร์ไทยและบริการที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ฟื ้นฟูสุขภาพ ศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ)9. อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้า อากาศยาน ต่อเรือหรือซ่อมเรือ) 10. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น Electronic Design, Organics & Printed Electronics, HDD & SDD และชิ้นส่วน, เซลล์แสงอาทิตย์, White Goods )

ทั้งนี้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่บีโอไอจะมุ่งเน้นให้การส่งเสริมจะครอบคลุมกิจการประมาณ 130 ประเภท โดยแบ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 100 กิจการ ซึ่งเป็นกิจการที่มีความสำคัญสูงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและมีความจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ส่วนอีกประมาณ 30 กิจการ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจัก วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน การนำเข้าช่างฝีมือและผู้ชำนาญการชาวต่างชาติ ขณะที่กิจการที่เคยให้ส่งเสริมและอยู่ในข่ายที่จะเลิกให้การส่งเสริม มีปัจจัยในการพิจารณาเลิกส่งเสริม คือ เป็นกิจการที่มีมูลค่าเพิ่มตํ่า การใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับตํ่า กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ มีน้อย ใช้แรงงานเข้มข้น และสามารถดำเนินกิจการได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม

นอกจากนี้ ยังมีกิจการที่บีโอไออาจเลิกส่งเสริมเพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก หรือใช้พลังงานสูง รวมถึงกิจการที่เป็นกิจการสัมปทาน หรือกิจการผูกขาดที่รัฐคุ้มครองอยู่แล้ว และกิจการที่ขัดกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

นายอุดมกล่าวต่อไปด้วย ว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ จะให้ความสำคัญเพิ่มเติมด้านวิจัยพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะเพิ่มระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-3 ปี   รวมทั้งเปลี่ยนการส่งเสริมตามเขตพื้นที่เป็นการส่งเสริมให้เกิด คลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค อาทิ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยางพารา คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่น คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยาน คลัสเตอร์วิทยาศาส ตร์และเทคโนโลยี และคลัสเตอร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 มกราคม 2556

ทวาย : ผลดี-ผลเสียต่อระบบโลจิสติกส์ไทย - เออีซี กับ ม.หอการค้าไทย

นับเป็นอภิมหาโปรเจกท์ความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่า “โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย” ซึ่งคาดการณ์กันว่าหากโครงการนี้สำเร็จเสร็จสิ้น จะเป็นประตูเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งใหม่ของโลกตะวันตกและตะวันออก เพราะนับเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์

และการค้าขนาดใหญ่ของภูมิภาค เชื่อมโยงการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในแถบทะเลจีนใต้ ผ่านทะเลอันดามันสู่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ส่งสินค้าทั้งไปและกลับทางน้ำ ผ่านไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการขนส่งได้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วยพัฒนาการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เจริญเติบโตในระยะยาวต่อไป

สำหรับไทยท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูเศรษฐกิจบานใหม่ ที่เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายกับท่าเรือแหลมฉบัง ตามยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านของรัฐบาล ดังนั้นสินค้าต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะมาจากยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ย่อมจะผ่านท่าเรือน้ำลึกทวายออกสู่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น และสามารถส่งผ่านไปยังประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบแปซิฟิกได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

“ดร.พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา” อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ให้แง่มุมรวมไปถึงการปรับตัว เพื่อเข้าไปฉกฉวยโอกาสและใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการเปิดท่าเรือน้ำลึกทวายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายคือโอกาสของการค้าการลงทุน และการส่งออกของภูมิภาค เพราะในอดีตที่ผ่านมาการขนส่งกระจายสินค้าจะต้องผ่านท่าเรือสิงคโปร์ อ้อมแหลมมะละกา ซึ่งใช้เวลา 16-18 วัน หากท่าเรือน้ำลึกทวายแล้วเสร็จจะช่วยร่นการขนส่งได้อย่างดีเยี่ยม

สิ่งที่สำคัญคือ ท่าเรือน้ำลึกทวายยังอยู่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ (อิโคมิค คอร์ริดอร์) และยังมีจุดเชื่อมโยงต่าง ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นแนวตะวันออก-ตะวันตก (อีท-เวสท์ อิโคโนมิค คอร์ริดอร์ ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม-เมืองเมาะละแหม่ง พม่า) และทางตอนใต้ (เซาท์ อิโคโนมิค คอร์ริดอร์ ระหว่างนครโฮจิมินห์ เวียดนาม-เมืองทวาย พม่า) รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางตอนเหนือ-ใต้ (นอร์ท-เซาท์ อิโคโนมิค คอร์ริดอร์ ระหว่างนครคุนหมิง จีนตอนใต้-กรุงเทพฯ) ด้วย

ส่วนเส้นทางต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะยิ่งเป็นตัวผลักดันให้ไทยยิ่งโดดเด่น โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิต และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการกระจายสินค้าในภูมิภาค เพราะสินค้าจะเกิดการเปลี่ยนถ่ายในไทย รวมทั้งการค้า การลงทุนและการผลิตตามแนวตะเข็บชายแดนจะเป็นยุทธศาสตร์หลักที่จะเกิดขึ้นหลังเออีซี ประกอบกับจุดแข็งที่สำคัญของไทยที่น่าสนใจ คือ ความรู้ความสามารถของคนไทยได้เปรียบทั้งลาวและกัมพูชา พม่า แล้วจริงๆความรู้เราก็ไม่เป็นรองสิงค์โปร์เช่นเดียวกัน แต่ไทยจะต้องพัฒนาให้ถูกทางเท่านั้นเอง

สำหรับไทยต้องเร่งพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะการเปลี่ยนความคิดเลิกใช้คำว่า “เป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ” เราจะต้องผันตัวเองเร่งพัฒนาสินค้าขายสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ขณะที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเน้นการแข่งขันในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม เน้นสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า เพราะถ้าเราเล่นในเรื่องของต้นทุนต่ำ ไทยคงสู้ลาว กัมพูชา รวมถึงพม่าไม่ได้อย่างแน่นอน

“สิ่งสำคัญคือการเปิดเออีซีอย่ามองที่ผลเสีย ต้องมองว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร ผลเสียมันคือจุดอ่อนมากกว่า นักลงทุนต่าง ๆ รวมถึงภาครัฐควรร่วมมือกันปิดช่องโหว่ของจุดอ่อนต่าง ๆ และมาร่วมกันสร้างจุดแข็ง ช่วยกันฉกฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดกลางที่พร้อม แต่ขาดเงินทุนภาครัฐจะต้องเร่งเข้าไปสนับสนุนให้ได้มากที่สุด ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องสร้างความพร้อม การปรับตัวต้องมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจุดขายคืออะไร การดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีภาคธุรกิจรายเล็กจำนวนมาก ที่หาทิศทางไม่เจอทำให้เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก”

สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นโอกาสดีที่รอการพิสูจน์ เพราะขณะนี้โครงการเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ต้องอาศัยระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะแล้วเสร็จ และมองเห็นภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับอุปสรรค และความไม่ชัดเจนของผู้ประกอบการ นักลงทุนต่าง ๆ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไทยอาจไม่ได้เป็นศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์แบบ ประกอบกับพม่าที่เพิ่งเริ่มเปิดประเทศ ยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญกว่าและต้องเร่งพัฒนา ทำให้โครงการนี้กว่าจะสำเร็จได้คงต้องตามลุ้นกันอีกหลายอึดใจ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 มกราคม 2556

กรมชลฯปรับแผนใช้น้ำหลังพื้นที่ตอนล่างลุ่มเจ้าพระยาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มกราคมว่า ล่าสุดศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน แจ้งว่า ช่วงเดือนมกราคม 2556 การใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลลงสู่ตอนล่างต่ำกว่าแผนที่ได้วางไว้ ทำให้พื้นที่ทางตอนล่างทั้งสองฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำแล้วหลายพื้นที่

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทานและกฟผ. จึงปรับแผนการใช้น้ำจากเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มมากขึ้น จนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำไม่ให้เกิดขึ้นอีก กรมชลประทานจึงกำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ ในช่วงระหว่างวันที่ 14 – 20 มกราคม ดังนี้ เขื่อนภูมิพลส่งน้ำในอัตราวันละ 25.30 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ส่งน้ำในอัตราวันละ 27.40 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ส่งน้ำในอัตราวันละ 1.38 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่งน้ำในอัตราวันละ 4.32 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับการปรับแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองในช่วงระหว่างวันที่ 14 – 20 ม.ค. 56 ด้วยการส่งน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนา ในอัตราวันละ 11.40 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ในอัตราวันละ 10.60 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้น้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2555/2556 และเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างเพียงพอในทุกภาคส่วน โดยไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำขึ้นมาอีก จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรังครั้งที่ 2 และขอให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 มกราคม 2556

ก.อุตฯ ระดมชาวโคราช พลิกฟื้นลำตะคองสืบสานพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากมีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาพื้นที่ชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อสร้างสรรค์ สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมให้มีการเป็นอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ล่าสุด ได้สานต่อโครงการ "รักแม่ รักษ์แม่น้ำ" ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 เพื่อสนอง พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักประเทศไทยที่เริ่มเสื่อมโทรมลง ให้ฟื้นคืนสภาพดีดังเดิม ด้วยการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม ชุมชน เยาวชน และหน่วยงาน ราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกันดูแลรักษาคุณภาพแม่น้ำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นประธานนำถวายปฏิญญาในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำ และมอบรางวัลการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำให้กับผู้ร่วมโครงการฯ พร้อมด้วย นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ดร.อาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงษ์เทพ จารุอำพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด

นครราชสีมา นายวัชพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครราชสีมา นายชลิต กิติญาณทรัพย์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโฆษณา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ตัวแทนชุมชน และนักเรียนกว่า 1,500 คน เข้าร่วมงานกันณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้ในปี 2555 กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายดำเนินงานพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำพอง ชี มูล และโขง โดยจัดกิจกรรมเชิงรุก ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องทรัพยากรแหล่งน้ำให้แก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงพื้นที่ชุมชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ พร้อมกันนี้ยังได้คัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมดีเด่นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม รวมทั้งจัดกิจกรรมประกวดภาพวาดและเรียงความ ภายใต้หัวข้อ "ชุมชนโรงงาน ประสานใจ คืนน้ำใสสู่ธรรมชาติ" นับว่าได้รับผลการตอบรับจากทุกหน่วยงานเป็นอย่างดี มีนักเรียนส่งผลงานเข้าร่วมมากกว่า 500 ผลงาน และได้เครือข่ายด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นกว่า 70 ชุมชน

โอกาสนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เปิดกิจกรรม "โคราชรวมใจภักดิ์ รักษ์ลำตะคอง"ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ โดยได้ทำปฎิญญาข้อตกลงกันระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในการร่วมมือกันพลิกฟื้นแม่น้ำลำตะคอง ให้มีคุณภาพน้ำที่ดียิ่งขึ้นเนื่องจากลำตะคองเป็นแม่น้ำสายหลักในการอุปโภคบริโภคของจังหวัดนครราชสีมา มีเส้นทางยาวกว่า 220 กิโลเมตร ผ่าน 6 อำเภอ ได้แก่ ปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เฉลิมพระเกียรติ และอ.เมืองนครราชสีมา นับเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครราชสีมา

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวว่า สภาพลำตะคองในปัจจุบันนั้นถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเขตชุมชนใหญ่ๆ มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก มีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน สาเหตุเกิดจากชุมชนทิ้งของเสียลงลำตะคอง และมีโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งปล่อยน้ำเสียลงลำตะคอง ดังนั้น ทางจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ทำปฏิญญาข้อตกลงกับโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงลำตะคองอีก นอกจากนี้ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้เรื่องการรักษาคุณภาพน้ำกับชุมชนที่อยู่รอบบริเวณลำตะคองอีกด้วย

สำหรับกิจกรรมภายในงาน กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดพื้นที่ให้ประชาชนลงนามถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมกับจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดและเรียงความผลงานของนักเรียนที่ได้รับรางวัลในการประกวด ภายใต้หัวข้อ "ชุมชน โรงงาน ประสานใจ คืนน้ำใสสู่ธรรมชาติ" และยังมีการประชาสัมพันธ์สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในโครงการครั้งนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมกันในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองต่อไป

นอกจากการจัดกิจกรรม "โครงการรวมใจภักดิ์ รักลำตะคอง" แล้ว ในอนาคตกระทรวงอุตสาหกรรมยังมีเป้าหมายที่จะจัดกิจกรรมในลุ่มน้ำอื่นๆ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และทะเลสาบสงขลา ซึ่งล้วนเป็นแม่น้ำสายสำคัญต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการดำรงชีวิตของราษฎรไทยทั้งสิ้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 มกราคม 2556

วิฑูรย์ สิมะโชคดี เข้มจัดระเบียบโรงงาน

ออกมาจัดระเบียบการจัดตั้งโรงงานใหม่ ประเภทลักลอบตั้งก่อนแล้วกดดัน เรียกร้องให้ออกใบอนุญาตภายหลัง อ้างว่าลงทุนไปด้วยเม็ดเงินจำนวนมากแล้ว หรือผิดเงื่อนไขอื่นๆ มีผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จะไม่ออกใบอนุญาตทั้งสิ้น

เล่นบทเข้มแบบนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ไม่ตรงไปตรงมาไม่พอใจ โจมตีหาว่าเตะถ่วงออกใบอนุญาต
เกิดเมื่อ 22 กรกฎาคม 2497 การศึกษา วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) 2520, พาณิชยศาสตร มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 2525 และปรัชญาดุษฎีบัณทิต 2551 มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผ่านอบรมหลักสูตร ปรอ.รุ่นที่ 16 หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 11 สถาบันพระปกเกล้า ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่น 13

นั่งเก้าอี้บริหารมาแล้วหลายตำแหน่ง อาทิ ผอ.สำนักงานโครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

บอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บอร์ดบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบอร์ดบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด ฯลฯ

ขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2551 มีรางวัลการันตี อาทิ นิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ดีเด่น มก. ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ มธ. และ "เกษตรศาสตร์ ปราดเปรื่อง" นิสิตเก่าที่นำชื่อเสียงเกียรติคุณสู่มหาวิทยาลัย

ยืนยันการออกใบอนุญาตโปร่งใส มีมาตรฐาน ไม่อืดอาดล่าช้าหากดำเนิน การถูกต้องตามกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ

จาก http://www.matichon.co.th  ฉบับวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

'บีโอไอ'ยกเครื่องอุตฯเล็งเลิกสิทธิ 80 กิจการ

บีโอไอ เตรียมยกเครื่องอุตสาหกรรมไทย จ่อเลิกให้สิทธิประโยชน์ 80 กิจการ ใช้เทคโนโลยีต่ำ-แรงงานมาก เปิดระดมความเห็นนักธุรกิจไทย-ต่างชาติ คาดประกาศใช้กลางปีนี้ ด้านส.อ.ท. ค้านยกเลิกแบ่งโซนหวั่นกระจุกตัว

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เตรียมปรับอุตสาหกรรมไทยครั้งใหญ่ ด้วยการยกเลิกสิทธิประโยชน์กิจการใช้เทคโนโลยีต่ำและแรงงานเข้มข้น หลังจากประเด็นดังกล่าวถกเถียงมานานนับสิบปี ซึ่งการยกเลิกบีโอไอในครั้งนี้ สอดคล้องกับการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เตรียมประกาศยุทธศาสตร์ใหม่กลางปีนี้ โดยจะยกเลิกส่งเสริมการลงทุนในบางกิจการที่ใช้เทคโนโลยีต่ำหรือใช้แรงงานมาก เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทย

"การปรับปรุงนโยบายบีโอไอ จะรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการ ก่อนประกาศใช้ กิจการที่ยกเลิกก็จะสนับสนุนให้ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน เพื่อให้ยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ได้"

นายประเสริฐ กล่าวว่า การปรับปรุงนโยบายบีโอไอนี้ เปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการ โดยบีโอไอจะจัดสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 5 ครั้ง ในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. 2556 และเปิดให้ผู้ประกอบการแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์บีโอไอ

โดยเมื่อรับฟังความเห็นเสร็จก็จะนำปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์เพื่อเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในกลางปี 2556

สัมมนาใหญ่ยุทธศาสตร์ 5 ปีวันนี้
กระทรวงอุตสาหกรรม จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นหัวข้อ "ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันนี้ (14 ม.ค.) โดย นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะชี้แจงร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 5 ปี (2556-2560) ให้นักธุรกิจไทย และต่างชาติทราบ

นอกจากนี้ จะมีการอภิปรายวิพากษ์ทิศทางยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่โดย นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายนันเดอร์ จี ฟอน เดอ ลู ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย
"ร่างยุทธศาสตร์ใหม่จะปรับปรุงจากเดิมที่ส่งเสริมแบบครอบคลุมเกือบทุกกิจการเป็นการส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน" นายประเสริฐ กล่าว

10 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับบีโอไอ
แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท. กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วบีโอไอได้ส่งร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้กับนักธุรกิจที่จะเข้าร่วมสัมมนา ซึ่งกิจการที่จะส่งเสริมในอนาคตเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่ยกระดับอุตสาหกรรมไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีขีดความสามารถเป็นฐานการผลิตหลักของโลกและอุตสาหกรรมที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ

อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมในอนาคตแบ่งเป็น
10 กลุ่ม คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เช่น เขตอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ น้ำประปาหรือน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า สนามบินพาณิชย์ ศูนย์บริการโลจิสติกส์

2.อุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี เยื่อกระดาษหรือกระดาษ เครื่องจักร 3.อุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องมือแพทย์ ยา อาหารทาง การแพทย์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 4.พลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน หมุนเวียน เชื้อเพลิงชีวภาพ กิจการรีไซเคิล บำบัดน้ำเสียและกำจัดกากอุตสาหกรรม การบริการด้านจัดการพลังงาน 5.ธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม เช่น การวิจัยและพัฒนา การออกแบบวิศวกรรม ซอฟต์แวร์ บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ บริการสอบเทียบมาตรฐาน การตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย

6.ธุรกิจเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง 7.อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น อาหารแปรรูป สารสกัดสมุนไพร การปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 8.กิจการ Hospitality & Wellness เช่น กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยวและกีฬา การสร้างภาพยนตร์ไทย และบริการที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ

9.ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้า อากาศยาน ต่อเรือหรือซ่อมเรือ 10.อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ Electronic Design, Organics & Printed Electronics, HDD & SDD และ ชิ้นส่วน

ยกเว้นภาษีเงินได้ 100 กิจการ
แหล่งข่าวกล่าวว่า สิทธิประโยชน์ใหม่จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีประมาณ 100 กิจการ เป็นกิจการที่มีความสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและมีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 3-8 ปี และมีกิจการที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี ประมาณ 30 กิจการ เช่น การผลิตอาหารทางการแพทย์ เชื้อเพลิงชีวภาพจากเซลลูโลส เหล็กขั้นต้น การผลิตเส้นใยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตรถไฟ รถไฟฟ้าและชิ้นส่วน ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตแม่ปุ๋ยเคมี กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ บริการจัดการพลังงาน

2.การได้รับอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบและการอำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่ภาษีมีประมาณ 30 กิจการ เช่น ศูนย์บริการโลจิสติกส์ โรงแรม ผลิตสิ่งพิมพ์ โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซ การผลิตอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การผลิตรถยนต์ทั่วไป การผลิตเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยประดิษฐ์ การผลิตเหล็กในอุตสาหกรรมก่อสร้าง แปรรูปยางขั้นต้น

ยกเลิก 80 กิจการ-รวมกิจการสัมปทาน
นอกจากนี้ กิจการที่จะยกเลิกมีประมาณ 80 กิจการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กิจการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ใช้เทคโนโลยีต่ำ กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นน้อย ใช้แรงงานเข้มข้นและดำเนินกิจการได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม เช่น การเพาะปลูกด้วยระบบ Hydroponics การฆ่าและชำแหละสัตว์ ยางขั้นต้น บรรจุภัณฑ์แก้ว ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ในครัวเรือน สิ่งของจากกระดาษ กระดาษทราย สิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย เครื่องดื่มชา-กาแฟ ขนมขบเคี้ยว ลูกอม ช็อกโกแลต หมากฝรั่ง แห-อวน กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง

2.มีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากหรือใช้พลังงานสูง เช่น การถลุงแร่ เหมืองหินอ่อนหรือหินแกรนิต การผลิตวัสดุทนไฟหรือฉนวนกันความร้อน การผลิตเฟอร์โรอัลลอย การฟอกหนังสัตว์ 3.กิจการสัมปทานหรือกิจการผูกขาดที่รัฐคุ้มครองอยู่แล้ว เช่น ทางสัมปทาน โทรคมนาคม ดาวเทียม บริการโทรศัพท์ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 4.กิจการขัดกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กิจการโรงพยาบาลที่ขัดกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ

ส.อ.ท. ค้านยกเลิกแบ่งโซนหวั่นกระจุกตัว
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับนโยบายใหม่ครั้งนี้จะให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทอุตสาหกรรมที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนให้เกิด โดยจะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ตามพื้นที่ จากเดิมที่มีการกำหนดเขตการส่งเสริมการลงทุน 1-3 ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าการให้สิทธิประโยชน์ ตามโซนยังมีความจำเป็นเพื่อให้เกิดการกระจาย อุตสาหกรรมไปในภูมิภาค และถ้าไม่มีโซนอาจทำให้การลงทุนกระจุกในบางพื้นที่ที่ได้เปรียบโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับกิจการบางประเภทที่ปรับใหม่แล้วได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ควรพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือกำหนดเป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในไทย เช่น พลาสติกชีวภาพ เพราะถ้าปล่อยให้ไปลงทุนในประเทศอื่นจะลำบาก แทนที่จะมองการลงทุนในไทย ซึ่งเห็นว่ากิจการกลุ่มนี้ควรให้สิทธิประโยชน์มาก เนื่องจากถ้าการลงทุนในประเทศอื่นมีขนาดใหญ่จนได้เปรียบแล้วผู้ผลิตในไทยจะแข่งขันลำบาก รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เกิดการลงทุนแบบคลัสเตอร์ และให้สิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรมระหว่างต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผู้ประกอบการสนใจลงทุนเฉพาะต้นน้ำ กลางน้ำ หรือ ปลายน้ำ

ทั้งนี้ สำหรับกิจการที่จะยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะไทยไม่เน้นการลงทุนแปรรูปขั้นต้นหรือใช้เทคโนโลยีต่ำอีกแล้ว โดยควรยกระดับการอุตสาหกรรมให้ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งระยะที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยมีการพัฒนาต่อเนื่อง ตั้งแต่ผลิตเพื่อทดแทนนำเข้าและผลิตเพื่อการส่งออก และในปัจจุบันก็ควรยกระดับขึ้นไปอีก ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากหรือแปรรูปขั้นต้นควรสนับสนุนให้ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
กิจการที่ยกเลิกจะสนับสนุนให้ไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านแทน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 มกราคม 2556

สศก.วิเคราะห์พืชเศรษฐกิจรับผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศก.ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ที่มีต่อภาคเกษตร โดยเบื้องต้นพบว่าค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรที่จำเป็นต้องใช้แรงงานในการผลิตทุกชนิด เฉลี่ยอยู่ที่ 6-15% สำหรับพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ถั่วเหลือง มีต้นทุนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 15.62% รองลงมาได้แก่ ยางพารา 14.46% อ้อย 12.22% มันสำปะหลัง 10.70% ข้าวนาปี 9.86% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9.70% ปาล์มน้ำมัน 6.79% และไม้ผล มีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 13% ส่วนด้านปศุสัตว์และประมงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ยกเว้นประมงทะเลที่จำเป็นต้องใช้แรงงานอาจจะมีผลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง

ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กหรือ SMEs เช่น โรงงานสับปะรดกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง จะได้รับผลกระทบพอสมควรเนื่องจากใช้อัตราค่าจ้างเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการปรับค่าแรงงานจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมแผนการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อคนมากขึ้น ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ภาระต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น และอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศอื่น ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว โดยการลดต้นทุนการผลิต ใช้พันธุ์ที่ดี ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรโดยใช้ปุ๋ยให้เหมาะกับพืชและดิน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทั้งตลาดในและต่างประเทศ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 มกราคม 2556

“SCBEIC”ชี้เศรษฐกิจโลกยังเสี่ยง หนุนลดดอกเบี้ยกระตุ้นการจับจ่าย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 9 มกราคม 2013 แต่ยังโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะลดลงในปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่หมดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายไตรมาส 1 ที่จะมีการเจรจากันในเรื่องหน้าผาการคลังหรือ Fiscal cliff อีกครั้ง รวมไปถึงการขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ

SCB EIC ระบุว่า ให้จับตาดูความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณานโยบายการเงิน ทั้งนี้เริ่มมีสัญญาณของเงินทุนไหลเข้า โดยตั้งแต่วันที่ 2-8 มกราคม 2556 ปริมาณการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ที่ 8.3 พันล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ตลาดพันธบัตรมีการซื้อสุทธิจากต่างชาติราว 3.4 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น

ประกอบกับเศรษฐกิจยุโรปยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น ทำให้คาดว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะยังไม่ขยายตัวได้มากนัก และการใช้จ่ายในประเทศน่าจะชะลอลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเร่งใช้จ่ายฟื้นฟูหลังน้ำท่วมได้หมดไป ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศให้ยังขยายตัวต่อเนื่อง และลดความเสี่ยงจากเงินทุนไหลเข้าขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลนัก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มกราคม 2556

Green Industry: การเพิ่มผลผลิตเพื่อความอยู่รอดในปีใหม่

วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ปีใหม่นี้การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดภายใต้ภาวะต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

นอกจากมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ SMEs และ OTOP อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของSMEs ก็คือ "การเพิ่มผลผลิต" (Productivity Improvement)

การเพิ่มผลผลิตที่เหมาะสมกับ SMEs ในยุคนี้ก็คือ การเพิ่มผลผลิตหรือการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำ ไม่ใช่การเพิ่มผลผลิตประเภทที่ต้องลงทุนสูงด้วยการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือใช้เทคนิควิทยาการที่ซับซ้อนยุ่งยากและมีราคาแพง (ทั้งๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน)

วิธีที่จะเพิ่มผลผลิตอย่างมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยต้นทุนที่ต่ำนั้น เราสามารถทำได้ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรอย่างคุ้มค่าหรือมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะ "การเพิ่มผลผลิตจากพนักงานและการปรับปรุงวิธีคิดวิธีทำงาน" ให้สูงขึ้น ด้วยการตอบคำถาม 2 ข้อต่อไปนี้

คำถามที่ 1 คือ "เราจะลดต้นทุนการผลิต (ค่าใช้จ่าย) และปรับปรุงกระบวนการผลิตได้อย่างไรบ้าง?"
คำตอบ คือ แนวทางลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต ได้แก่
- ลดการสูญเปล่าของวัตถุดิบ (ทำให้เศษวัตถุดิบเหลือทิ้งน้อยที่สุด)
- ลดความเสียหายของชิ้นงานให้น้อยลง- เพิ่มคุณภาพของงานหรือผลิตภัณฑ์-ปรับปรุงการบำรุงรักษาและลดการซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ
- ปรับปรุงพื้นที่ทำงานหรือวางผังการทำงานหรือผังโรงงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
-ตัดทอนเวลาเดินเครื่องจักรเปล่าๆให้น้อยลง
- ลดการสูญเวลาของพนักงานลง (ลดเวลาคอยงาน)
- ลดจำนวนของสต๊อกคงคลัง- ลดเวลาปรับตั้งเครื่องหรือเวลาปรับเปลี่ยนงานผลิต
-ลดอุบัติเหตุด้วยการป้องกันอุบัติเหตุและทำงานด้วยวิธีการที่ปลอดภัย
-ปรับปรุงวิธีการทำงานใหม่หรือนำวิธีการทำงานที่ดีกว่าเดิมมาใช้
-ปรับองค์กรด้วยการจัดองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คำถามที่ 2 คือ "พนักงานจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้อย่างไรบ้าง?"
คำตอบ คือ พนักงานสามารถเพิ่มผลผลิตด้วยการปรับปรุงตนเองได้ในหลายๆ ด้าน ได้แก่
- เรียนรู้วิธีการทำงานให้ชำนาญขึ้น-ให้ความสนใจในการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มคุณภาพมากขึ้น
-เอาใจใส่ดูแลซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์มากขึ้น
- ขาดงานและมาสายให้น้อยลง-คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและบริษัทมากขึ้น
- ทำงานด้วยวิธีการที่เหมาะสม- ทำงานหนักขึ้นและรับผิดชอบมากขึ้น- ปรับตั้งเครื่องจักรให้รวดเร็วขึ้น- ปฏิบัติตามคู่มือการทำงานและกฎระเบียบ- ทำงานให้ได้ตามเป้าหมายและมาตรฐาน-ทำตามระเบียบวินัยและให้ความร่วมมือมากขึ้น
- ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ- ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์

ณ วันนี้ "การเพิ่มผลผลิต" (Productivity Improvement) จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งเพื่อความอยู่รอดในวันนี้ และเพื่อเติบโตขยายตัวอย่างยั่งยืนในวันหน้า

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

อุตฯตั้งเป้าปี56ยอดขอ'บีโอไอ'7แสนล.

รับฟังความเห็นเอกชน 14 ม.ค. ก่อนกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่
"ประเสริฐ"ตั้งเป้าปี 56 ยอดคำขอรับส่งเสริมลงทุน 7 แสนล้านบาท ชะลอตัวจากปีก่อนที่ทำสถิติ 1.46 ล้านล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ เน้นการลงทุนที่เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจ แทนมูลค่าเงินลงทุน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากระทรวงฯประเมินว่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2556 จะอยู่ที่ 6 - 7 แสนล้านบาท หรือชะลอตัวจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 1.46 ล้านบาท แม้ยอดคำขอฯจะชะลอตัว แต่ยังมีการลงทุนอีกมากซึ่งต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งในปีนี้กระทรวงฯไม่เน้นมูลค่าเงินลงทุน แต่จะเน้นให้เกิดการลงทุนที่เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจ และมูลค่าคำขอฯที่ตั้งไว้ในปีนี้อยู่ในระดับปกติที่มีเข้ามาในแต่ละปี "การที่นักธุรกิจต่างประเทศจะออกไปลงทุน จะมองปัจจัยด้านการเมืองด้วย ซึ่งสถานการณ์การเมืองของไทยดีขึ้น เมื่อทุกคนร่วมรักษาความสงบในประเทศจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน คาดว่านักธุรกิจที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเดือนธ.ค.2555 มองทิศทางการเมืองไทยดีขึ้นและมั่นใจลงทุนในไทย โดยนักธุรกิจญี่ปุ่นยังเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับ 1"

สำหรับคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2555 มี 2,582 โครงการ เพิ่มขึ้น 29.7% จากปี 2554 มูลค่าการลงทุน 1.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 131% หรือสูงสุดในประวัติศาสตร์ และเมื่อเกิดการลงทุนจริงจะทำให้เกิดการจ้างงาน 348,866 ล้านคน เพิ่มขึ้น 61.6% สาเหตุที่นักธุรกิจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากในปี 2555 เพราะเห็นว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เตรียมประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยในปีนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู)ยังมีปัญหา และสหรัฐยังชะลอแนวทางการแก้ปัญหาหน้าผาการคลัง 2 เดือน

ทั้งนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2555 มีกิจการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท ยื่นขอรับการส่งเสริม 274 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.04 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพลังงานทดแทน ยานยนต์ บริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ ปิโตรเคมี การผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม อุปกรณ์ทางการแพทย์

นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ว่า กระทรวงฯจะจัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้ประกอบการในวันที่ 14 ม.ค.นี้ และจัดในต่างจังหวัด คือ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา จ.ชลบุรีและจ.นครศรีธรรมราช โดยนโยบายใหม่มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาคและบริเวณพื้นที่ชายแดน เพื่อกระจายความเจริญ และลดภาระทางการคลังของประเทศ โดยใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้บีโอไอให้บริการนักธุรกิจทั้งก่อนและหลังการลงทุนได้ดีขึ้น

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ใหม่จะเน้นส่งเสริมการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสูง ประหยัดพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและการบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การส่งเสริมตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย โดยการส่งเสริมการลงทุนใหม่จะไม่มีการให้สิทธิประโยชน์ตามโซนพื้นที่ แต่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเป็นคลัสเตอร์ในแต่ละพื้นที่ เช่น คลัสเตอร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อากาศยาน คลัสเตอร์อาหารแปรรูป อาหารฮาลาล ยางพารา อุตสาหกรรมแฟชั่น สำหรับกิจการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งใช้แรงงานมาก แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีสูงถือว่าอยู่ในข่ายที่ได้รับการส่งเสริมลงทุน ส่วนกิจการที่เน้นการออกแบบยังได้รับส่งเสริมการลงทุนเช่นกัน แต่ถ้าเป็นกิจการที่ใช้แรงงานมากและใช้เทคโนโลยีเดิม จะส่งเสริมให้ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน โดยบีโอไอจะสรุปความเห็นของผู้ประกอบการเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ในช่วงเดือนมี.ค.เดือนเม.ย.นี้ ก่อนจะประกาศใช้ในช่วงกลางปี 2556

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 มกราคม 2556

ตั้งกรรมการบริหารการผลิตสินค้า

คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตรายกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีมูลค่าการส่งออกสูง จำนวน 11 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าข้าว กลุ่มสินค้าอ้อย สับปะรด และพืชไร่อื่น ๆ กลุ่มสินค้ามันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน กลุ่มสินค้าประมง กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ กลุ่มสินค้ายางพารา กลุ่มสินค้าผลไม้ กลุ่มสินค้าลำไย กลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชต้นทุนสูง กลุ่มสินค้าพืชหัว กลุ่มสินค้าพืชผัก โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หัวหน้ากลุ่มภารกิจทั้ง 4 ด้าน

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ แต่ละคณะ ประกอบด้วย 1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม แนวโน้ม ดุลยภาพสินค้าเกษตรทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อกำหนดเป็นกลยุทธ์ดำเนินการรองรับ หรือแก้ไขปัญหาวัตถุดิบทางการเกษตรกรณีสินค้าล้นตลาด 2. กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการเชิงรุกเพื่อลดต้นทุนการประกอบการในเชิงพื้นที่ โดยมีการรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ เช่น จำนวนพื้นที่การผลิต จำนวนเกษตรกร พื้นที่ที่มีการผลิตมาก มูลค่า การเพิ่มหรือลดปริมาณการผลิต การเพิ่มการใช้ในประเทศ โดยพิจารณาตลอดห่วงโซ่อุปทานครอบคลุมระบบโลจิสติกส์ และดำเนินงานเขตเกษตรเศรษฐกิจของสินค้าเกษตรนั้น ๆ และ 3. จัดทำรายละเอียดโครงการ มาตรการดำเนินงานขับเคลื่อนเขตเกษตรเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรของกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาปรับปรุงคณะอนุกรรมการเขตเกษตรเศรษฐกิจที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานอนุกรรมการ โดยให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หัวหน้ากลุ่มภารกิจ 4 ด้าน ที่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตรายกลุ่มสินค้า 11 คณะ เป็นรองประธานอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้การเสนอแนะนโยบาย มาตรการ ขั้นตอน และแนวทางการดำเนินงานจัดทำเขตเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่ง สามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานภายใต้การบริหารจัดการของคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตรายกลุ่มสินค้า 11 คณะ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 มกราคม 2556

เดินเครื่องพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ส.ป.ก.จับมือสถาบันการศึกษา

เดินเครื่องพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ส.ป.ก.จับมือสถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรผลิต-ตั้งเป้า6พันคน

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร และสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย สนับสนุนโครงการ “สร้างและพัฒนาเกษตรกรุ่นใหม่” เพื่อพัฒนาบุคลากรในภาคการเกษตร และผู้สนใจประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยสนับสนุน ส่งเสริม ให้ความรู้ และพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพทางการเกษตร ทั้งนี้ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร และเสริมสร้างความรู้การประกอบอาชีพ โดย ส.ป.ก. ได้จัดสรรที่ดินให้ทดลองเข้าทำประโยชน์ และประกอบอาชีพหากสำเร็จการศึกษา ให้กับนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมในโครงการ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งจะดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติที่เข้มข้น สร้างความเชื่อมั่นในการคิด วิเคราะห์การตลาด รวมถึงกระบวนการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของตลาด ในปีนี้ ส.ป.ก. มีเป้าหมายที่จะผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวน 6,000 คน

“อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ผมเชื่อมั่นว่าเกษตรกรสามารถก้าวข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดตลาดเสรีการค้าอาเซียน (เออีซี) เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนมุ่งเน้นในเรื่องของไม่ใช้สารเคมี การปรับปรุงบำรุงดินด้วยวัสดุที่มีในท้องถิ่น/เหลือใช้จากธรรมชาติ การป้องกันแมลงศัตรูพืชจากน้ำหมักชีวภาพ ช่วยลดต้นทุนการผลิต สำหรับเงื่อนไขของการเปิดตลาดเสรีการค้าอาเซียน มีมาตรการที่ประเทศต่างๆจะนำมาใช้คือการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และเรื่องมาตรการสุขอนามัย ตลอดถึงได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ที่สำคัญ การสอนให้เขารู้จักคิด วิเคราะห์ มีการเรียนรู้ตลอดเวลา มีหลักคิดและวิธีการจัดการที่ดี จะทำให้เขารู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด สามารถคัดสรรเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมด้วยต้นทุนที่ต่ำ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีอาชีพที่มั่นคงต่อไป” ดร.วีระชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 มกราคม 2556

น้ำตาลขอนแก่นมั่นใจได้ใบรง.4 ย้ำโรงงาน-ไร่อ้อยเดือดร้อน/เสียโอกาสปีละ1.5พันล.

"น้ำตาลขอนแก่น" มั่นใจรับความชัดเจนจากศาลปกครอง ในการออกใบ รง.4 ภายในสัปดาห์นี้ เผยขณะนี้โรงงานและชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลังจากไม่สามารถเปิดหีบอ้อยได้ตามแผนตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ชี้หากไม่สามารถเปิดหีบอ้อยได้จะทำให้เสียโอกาสทำรายได้กว่า 1.5 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่ชาวไร่อ้อยต้องเสียค่าขนส่งเพื่อขนอ้อยไปยังโรงงานอื่นเพิ่มขึ้นอีก 250 บาทต่อตัน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้แก่โรงงานน้ำตาลขอนแก่น ที่จังหวัดเลย โดยไม่มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจน แม้ว่าทางบริษัทจะทวงถามไปแล้ว และเข้าสู่ฤดูการหีบอ้อยแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้รับคำตอบและไม่สามารถเปิดหีบอ้อยได้ ทางบริษัทจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555 เพื่อขอให้โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จังหวัดเลย เปิดหีบอ้อยได้ โดยคาดว่าน่าจะได้รับความชัดเจนจากศาลปกครองกลางภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าสุดภายในวันที่ 14 มกราคมนี้ ที่จะเปิดให้มีการไต่สวน

ทั้งนี้ เนื่องจากเชื่อว่าศาลปก ครองกลางมีความเข้าใจผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงานและชาวไร่อ้อย เพราะหากโรงงานไม่สามารถเปิดหีบอ้อยได้ตามแผนจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เพราะบริษัทลงทุนไปแล้ว 4 พันล้านบาท หากไม่สามารถเดินเครื่องได้ก็ต้องแบกรับดอกเบี้ยประมาณ 5-6% หรือคิดเป็นประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันยังสูญเสียโอกาสในการทำรายได้จากการขายน้ำตาลทรายอีกกว่า 1.5 พันล้านบาทต่อปีด้วย โดยคำนวณจากกำลังการผลิตที่ 1 ล้านตันอ้อยต่อปี หรือประมาณ 1 แสนตันน้ำตาลต่อปี ซึ่งยังไม่รวมรายได้จากการขายกาก น้ำตาล (โมลาส) และไฟฟ้าด้วย

นายชลัช กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมอ้างว่าโรงงานน้ำตาลขอนแก่นในจังหวัดเลย มีระยะห่างจากโรงงานเดิมไม่ถึง 80 กิโลเมตร ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานใหม่ทั้งคู่ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุญาตให้ตั้งโรงงานอีกแห่งหนึ่งใน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ตั้งแต่ปี 2553 และต่อมาปี 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมนำเรื่องขออนุมัติเปิดโรงงานอีก 1 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียงกันเข้า ครม. ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าโรงงานน้ำตาลขอนแก่นไม่มีปัญหาเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากจะอ้างว่าการที่โรงงานน้ำตาลขอนแก่นไม่ได้รับใบ รง.4 มาจากสาเหตุนี้ จึงไม่น่าจะสมเหตุสมผล เพราะหากจะผิดก็คงจะผิดตั้งแต่ผู้อนุญาตแล้ว

"ที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยไม่พอใจโรง งาน จากการเข้าไปส่งเสริมให้ปลูกอ้อย เนื้อที่ 1 ล้านไร่ แต่ไม่สามารถรับเข้าหีบได้ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งก็มีชาวไร่อ้อยมาร้องเรียนกับโรงงาน แต่โรงงานประนีประนอมด้วยการพึ่งพาศาลปกครอง เพื่อใช้กฎหมายช่วยเหลือ เนื่องจากขณะนี้ล่วงเลยการเก็บเกี่ยวมามากแล้ว ทำให้ความหวานอ้อยลดลง หากชาวไร่อ้อยจะตัดไปขายที่โรงงานอื่นก็มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้นอีก 200-250 บาทต่อตัน จากราคารับซื้ออ้อยที่ 950 บาทต่อตัน ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งโรงงานและชาวไร่อ้อย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีโรงงานน้ำตาลที่ จ.สระบุรี ห่างกันเพียง 40 กิโลเมตร ก็สามารถเปิดดำเนินการได้ แต่อยากถามว่ามีเหตุผลใดที่ไม่ให้ใบ รง.4 กับโรงงานน้ำตาลขอนแก่น"

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้เดินทางไปพบปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอความชัดเจนกรณีไม่ออกใบอนุญาต รง.4 ดังกล่าว ซึ่งอ้างว่าต้องเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงาน เพราะมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับด้านสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และชุมชน ซึ่งบริษัทยืนยันว่าก่อนที่จะก่อสร้างโรงงาน ได้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว

สำหรับโรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย เฟสแรกมีกำลังการผลิต 1.6 หมื่นตันอ้อยต่อวัน และเมื่อรวมกับเฟส 2 จะมีกำลังการผลิตรวม 3 หมื่นตันอ้อยต่อวัน ซึ่งตามแผนเดิมต้องเปิดเดินเครื่องภายในเดือนธันวาคม 2555

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 10 มกราคม 2556

ศาลปกครองเปิดไต่สวนรง.4ลุ้นคุ้มครองเปิดหีบสัปดาห์นี้

ศาลปกครองกลางเปิดไต่สวนคดี ใบอนุญาต รง. 4 "โรงงานน้ำตาลขอนแก่นฟ้องปลัดกระทรวงอุตฯ" คาดศาลชี้ขาด "คุ้มครองชั่วคราว" สัปดาห์นี้

สืบเนื่องจากกรณีที่โรงงานน้ำตาลขอนแก่นได้จับมือกับกลุ่มชาวไร่อ้อยประมาณ 1,310 ราย ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้ศาลทำการไต่สวนฉุกเฉินและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในกรณีการ เปิดหีบอ้อยปี 2555/2556 เนื่องจากโรงงานยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือใบ รง.4 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555 และศาลได้รับฟ้อง และนัดไต่สวนเมื่อ วันที่ 7 มกราคม 2556 นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลปกครองกลางว่า ในวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. ทางตัวแทนฝ่ายชาวไร่อ้อย และผู้บริหาร บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) นำโดยนายพรศิลป์ แต้มศิริชัย กรรมการบริษัท และกรรมการบริหาร นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริษัทและกรรมการบริหารในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้เดินทางมาชี้แจงด้วยตัวเอง พร้อมนายเจริญ แก้วยอดหล้า ทนายความ ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี คือ ทางปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมาย 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มาเป็น ผู้ชี้แจง

ทางฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลขอนแก่นยืนยันว่า คณะกรรมการ กลั่นกรองการพิจารณาโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมตามคำสั่งรัฐมนตรีที่ 328/2555 ไม่มีการกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 พ.ศ. 2549 และเห็นว่า การพิจารณาคำขอใบอนุญาต รง.4 มีความล่าช้ามาก เพราะโรงงานได้สร้างเสร็จและพร้อมที่จะดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 ทำให้เสียโอกาสที่จะ หีบอ้อย 1.5 ล้านตัน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาหีบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา การหีบอ้อยมีช่วงระยะเวลา 4 เดือน ถ้าโรงงานไม่เปิด เกษตรกร ชาวไร่อ้อย 1,310 คน จะได้รับ ความเสียหาย

ขณะที่ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่า ไม่สามารถเปิดโรงงานน้ำตาลขอนแก่นได้ เพราะขัดต่อมาตรา 12 และ 13 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยโรงงานทุกโรงงานจะ ดำเนินการได้ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในส่วนของการขออนุญาต รง.4 เป็นหลักเกณฑ์ปฏิบัติทั่วไปของโรงงาน ทั่วประเทศที่เสร็จสิ้นจากการตั้งโรงงานแล้วจึงมาขอใบอนุญาต รง.4 ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาว่าผู้อนุญาตจะยกประเด็นนี้ ขึ้นมาพิจารณาว่า จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต โดยเห็นชัดเจนจากโรงงานน้ำตาล ซึ่ง ได้รับอนุญาตพร้อมกัน 4 โรงงาน

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ให้โควตา 1.5 ล้านตันอ้อยกับโรงงานในเครือที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ทางฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานชี้แจงว่า ไม่สามารถนำอ้อยส่งไปหีบได้ เพราะโรงงานที่ อ.น้ำพอง มีโควตาของตัวเองอยู่แล้ว และมีชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาของโรงงาน อยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถรับอ้อย 1.5 ล้านตัน มาหีบได้ทันในฤดูกาลผลิตนี้ และหากนำอ้อยไปหีบที่โรงงาน อ.น้ำพอง ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างรถขนส่ง 250 บาทต่อตัน แต่ถ้าส่งเข้าโรงงานที่ใกล้ที่สุดคือที่ อ.วังสะพุง ระยะทางไม่เกิน 20 กม. ค่าขนส่งประมาณ 80 บาทต่อตัน และชาวไร่เองมีสัญญากับโรงงานขอนแก่นที่ อ.วังสะพุง ถ้านำอ้อยขนส่งไปหีบที่ อ.น้ำพอง เฉพาะค่าขนส่งอ้อย 1.5 ล้านตัน เป็นค่าใช้จ่ายในการขนส่งประมาณ 400 ล้านบาท

ขณะนี้เหลือเวลาแค่เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ขณะที่โรงงานเปิดใหม่หีบอ้อยได้ประมาณ 2,000-3,000 ตันต่อวัน และในกรณีที่ศาลปกครองได้กำหนดมาตรการให้โรงงานสามารถหีบอ้อยได้ จะไม่กระทบต่อการปกครองและต่อรัฐ เพราะรัฐมีแต่ได้ประโยชน์

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกสบายใจหลังจากได้มาชี้แจงแล้ว แนวโน้มทุกอย่างน่าจะมีการคลี่คลายไปในทางที่ดี คาดว่าจะสามารถจบได้ภายในสัปดาห์นี้

นายเจริญ แก้วยอดหล้า ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนโรงงานน้ำตาลขอนแก่น และชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ขณะนี้ทางฝ่าย ผู้ฟ้องคดีคือ โรงงานน้ำตาลขอนแก่น และตัวแทนชาวไร่อ้อย ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดไปแล้ว ขาดเพียงเอกสารบางอย่างที่ต้องเร่งนำส่งมาให้ประกอบการพิจารณา ผลจะเป็นอย่างไรแล้วแต่ดุลพินิจ ของศาล

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ก.อุตฯ สานต่อ "รักแม่...รักษ์แม่น้ำ" คืนน้ำใสให้ลำตะคอง

"...แม่น้ำนี้ไม่ใช่ของหลวงไม่ใช่ของใครแม่น้ำเป็นของเราทิ้งของอะไรลงไปมากๆของเน่าปลาตายสัตว์น้ำตายหมดเพราะไม่มีออกซิเจนแล้วใครเป็นทุกข์ก็คนไทยเป็นทุกข์..."

จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่ทรงห่วงใยปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำต่างๆที่อยู่ในภาวะเสื่อมโทรมลงจนเข้าขั้นวิกฤตและทรงขอให้หน่วยงานต่างๆและคนไทยทุกภาคส่วน "รักษาแหล่งน้ำรักษาความสะอาดรักษาสิ่งแวดล้อม" ร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักกระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมรับพระราชกระแสมาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ "รวมใจภักดิ์รักษ์เจ้าพระยา" ในปีพ.ศ.2550 ต่อมาในปีพ.ศ.2551-2554 ยังได้ขยายโครงการไปในพื้นที่ลุ่มน้ำหลักลุ่มน้ำหลักคือเจ้าพระยาแม่กลองท่าจีนท่าจีนบางปะกงพองชีและมูลภายใต้ชื่อโครงการ "รักแม่...รักษ์แม่น้ำ"มาในปีพ.ศ.2555 ซึ่งเป็นปีมหามงคลแห่งการเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและการเสด็จพระราชสมภพครบ 60 พรรษาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงสานต่อเพื่อขยายผลโครงการ "รักแม่...รักษ์แม่น้ำ" สืบเนื่องมาเป็นปีที่ 6 โดยมุ่งเป้าหมายไปที่พื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือแม่น้ำพองชีมูลและโขงโดยตั้งเป้าหมายติดตามและเฝ้าระวังการปล่อยสารมลพิษจำนวน836 โรงงานในพื้นที่ลุ่มน้ำสายหลักตรวจกำกับดูแลโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดพร้อมทั้งส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนโรงงานอุตสาหกรรมสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำ

ล่าสุดเมื่อปลายปี 2555 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับชาวโคราชและหน่วยงานต่างๆในหลายภาคส่วนจัดกิจกรรม"รวมใจภักดิ์รักษ์ลำตะคอง" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ "อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์รักษ์แม่น้ำ" โดยพิธีเปิดงานได้รับเกียรติจากนายสุวัจน์ลิปตพัลลภอดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯเป็นประธานนำถวายปฏิญญาในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำพร้อมทั้งมอบรางวัลการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำแก่ผู้ร่วมโครงการณห้องแกรนด์บอลรูมโรงแรมสีมาธานีอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมาโดยมีนายแพทย์วรรณรัตน์ชาญนุกูลอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนายประเสริฐบุญชัยสุขรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมดร.วิฑูรย์สิมะโชคดีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนายวินัยบัวประดิษฐ์ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมานายชลิตกิติญาณทรัพย์ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโฆษณาบมจ.มติชนพร้อมผู้ประกอบการพร้อมผู้ประกอบการโรงงานชุมชนและนักเรียนเข้าร่วมงานและนักเรียนเข้าร่วมงาน

นายสุวัจน์ลิปตพัลลภประธานในพิธีกล่าวว่าน่ายินดีที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินกิจกรรมสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำมาอย่างต่อเนื่องการจัดกิจกรรมเชิงรุกโดยส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้และคำแนะนำในพื้นที่รวมทั้งสร้างเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเน้นที่การมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนโรงงานอุตสาหกรรมสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐรวมทั้งการคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำสนับสนุนชุมชนให้ดำเนินงานเชิงอนุรักษ์และจัดกิจกรรมต่างๆอย่างเช่นกิจกรรมประกวดภาพวาดและเรียงความเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำให้แก่เยาวชนจะช่วยสร้างความตระหนักในการป้องกันและแก้ปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ชี้ถึงเวลาพัฒนา'คุณภาพ'สร้างความแข็งแกร่งศก.ไทย

"กรุงเทพธุรกิจทีวี" สำรวจมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ นอกจากจะมองตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่น่าไว้วางใจ ปัจจัยในประเทศที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงคือ การเมือง แต่การบริโภคยังเป็นจุดแข็งในปี 2556 แนะรัฐบาลหันมาเน้น "คุณภาพ" หลังจากกว่า 1 ปี ที่ผ่านมา มุ่งเน้นด้านราคาและปริมาณ

นายวิรไท สันติประภพ รองกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 คงไม่ต่างไปจากปี 2555 มากนัก ถ้ามองในภาคเศรษฐกิจจริง โดยเชื่อว่าไทยมีศักยภาพ มีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก

"การลงทุนทั้งของภาครัฐและของภาคเอกชนจะเป็นกลไกสำคัญ การบริโภคก็จะเป็นกลไกสำคัญ อาจจะแผ่วลงกว่าปี 2555 บ้าง เพราะว่าปีที่แล้ว มีมาตรการหลายอย่างที่จะกระตุ้นการบริโภคเป็นพิเศษ"

นายวิรไท กล่าวอีกว่าเศรษฐกิจไทยต้องยอมรับว่าเราโชคดี เพราะมีกันชนจากนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของการลงทุนการ บริโภคภายในประเทศ รวมทั้งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจน มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า การเปิดประเทศของพม่า เป็นโอกาสใหม่ๆ ที่นำไปสู่เรื่องของการลงทุนในภูมิภาค เพราะฉะนั้น จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

"ไทยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทั้งภาคการเงินและภาคธุรกิจจริงด้วย ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น และเรามีความแข็งแกร่ง ความเข้มแข็งในขณะที่โลกอ่อนแอในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองย้อนกลับไป 3-4 ปีที่ผ่านมา เราเห็นบริษัทไทยกลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ออกไปชนได้ ออกไปซื้อกิจการ ไปเทคโอเวอร์ อย่างกรณีออกไปชนกับบริษัทข้ามชาติระดับโลก แล้วบริษัทไทยชนะ ก็สะท้อนหลายอย่าง สะท้อนความเข้มแข็งด้านงบดุลไทย สะท้อนความเข้าใจทางด้านธุรกิจความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ สะท้อนศักยภาพของสถาบันการเงินไทยที่สามารถที่จะช่วยสนับสนุนธุรกรรมใหญ่ๆ เหล่านั้นได้"

แต่ปัญหาสำคัญของไทยตรงที่การบริหารจัดการในเชิงนโยบาย ส่วนหนึ่งเพราะมีการเลือกตั้งทุก 4 ปีและในช่วงแรกของการเลือกตั้ง นโยบายเศรษฐกิจจะถูกกำหนดโดยสิ่งที่เป็นข้อเสนอ เพื่อให้นำไปสู่การชนะการเลือกตั้งเป็นเรื่องระยะสั้นๆ ที่ทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเห็นแล้วตื่นตาตื่นใจกับนโยบายเหล่านั้น และนโยบายระยะสั้นเป็นนโยบายที่เน้นเรื่องราคาค่อนข้างมาก

ทั้งนี้นโยบายจะแยกเป็น 3 ระดับ เรื่องแรกเป็นเรื่องของระดับที่ใช้ราคาเป็นตัวนำ อันที่สองเป็นเรื่องของการใช้ปริมาณเป็นตัวนำ และอันที่สามเป็นเรื่องของการใช้คุณภาพเป็นตัวนำ ในช่วงแรกจะเห็นในเรื่องของราคา ผ่านนโยบายจำนำสินค้าเกษตรที่ตั้งราคาที่สูงเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกร นโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่จบปริญญาตรี 15,000 บาท โดยไม่ต้องไปพูดเรื่องคุณภาพ เรื่องการปรับตัว หรือแม้กระทั่งนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นนโยบายที่เน้นราคา ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่าช่วงของการเลือกตั้ง

"หากทำราคาอย่างเดียวไม่ยั่งยืน ราคาสินค้าเกษตรก็ไม่มีทางสู่ราคาโลก"
ส่วนที่สองเป็นนโยบายกลุ่มปริมาณ เช่น รถคันแรก จะเห็นเป็นเรื่องของการทำให้ปริมาณรถมากขึ้น เพราะหวังว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวโต การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น นโยบายเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การขยายสินเชื่อ มีสินเชื่อโครงการออกมา อันนั้นเป็นนโยบายในเรื่องของปริมาณเหมือนกัน แต่หวังผลจีดีพีปีนี้ หรือจีดีพีปีหน้า แต่ถือว่ายังติดกับดักจีดีพี เพราะคิดว่ายิ่งโต ยิ่งดี ที่บอกว่าต้องไม่ต่ำกว่า 5% คือ คนไทยติดกับดัก ทำให้นักการเมืองติดกับดักไปด้วย

"นโยบายช่วงที่ผ่านมาเป็นนโยบายเน้นเรื่องราคาและปริมาณ แต่เมื่อรัฐบาลที่มีฐานเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภา ต้องหันมาเน้นเรื่องของคุณภาพ ที่จะให้ เศรษฐกิจโตอย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้นต้องคิดเรื่องของระยะยาว เพราะว่าถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะสร้างความอ่อนแอในบางภาคเศรษฐกิจ บางภาคธุรกิจ เป็นพิเศษ ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้น และมีความเปราะบางมากขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน"

นายวิรไท กล่าวว่าในเรื่องของคุณภาพ จะมีความสำคัญมากขึ้น แต่ต้องโยงกับ 2 เรื่องหลัก อย่างแรกในเรื่องของการปฏิรูป และ สองคือ เรื่องของวินัย ทำอย่างไรที่จะได้เห็น การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยกล่าวถึงระบบราชการการปฏิรูปการศึกษาปฏิรูปกลไกสำคัญของประเทศและปฏิรูปในเรื่องระบบคมนาคม

:ชี้การเมืองปัจจัยเสี่ยงปีนี้
นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เห็นว่าปัจจัยที่น่าเป็นห่วงปีนี้ อยู่ที่เรื่องของการเมือง จริงๆ แล้ว จะเห็นว่าประเทศไทยถ้าพูดถึงตัวเลขเศรษฐกิจ มีฐานะแกร่ง และทุนสำรองอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ในเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือยังต่ำ มาจากเรื่องของรายได้กับจีดีพีต่อหัว ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงพอ อีกตัวหนึ่งคือเรื่องของการเมืองเป็นตัวแปรใหญ่ ดังนั้น อันดับความน่าเชื่อถือต้องดูหลายๆ มุมมอง ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว

นอกจากนั้นคงยังเป็นปัญหาเดิมจากปีที่แล้ว คือปัจจัยเศรษฐกิจโลก ฝั่งสหรัฐจีดีพีลดลงแน่นอน ดังนั้นผลกระทบจากการส่งออกของไทยไปอเมริกาต้องลดลง ส่วนฝั่งยุโรปจะเห็นการทยอยแก้ไขและเป็นการ "แก้ที่วนอยู่ในป่า" ทางออกที่จะแก้ได้ก็คือทำอย่างไรให้ประเทศที่มีปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าจะอิตาลีและกรีซ ต้องมีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็น โดยเฉพาะในกลุ่มยูโรโซน ความแตกต่างเรื่องผลิตภัณฑ์ ระหว่างเยอรมนีกับประเทศเหล่านี้ยังมีอยู่

"ตอนนี้การส่งออกของเราติดลบ ผมคิดว่าเศรษฐกิจข้างนอกไม่แข็งแรง การส่งออกของเรายังไม่สามารถไปแข่งอะไรได้ ทั้งๆ ค่าเงินเราอ่อนลงมาบ้างในช่วงที่ผ่านมา ไม่กี่เดือนมานี้มีการอ่อนตัวลงมาบ้าง แต่ก็ทำให้การส่งออกเราในช่วงเดือนสองเดือนหลังดีขึ้นมาบ้าง แต่ผมคิดว่าการส่งออกไม่ใช่พระเอกจีดีพี แต่คือการบริโภค ซึ่งเป็นตัวหลักในปี 2556 ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร เพราะอยู่ในระดับที่ต่ำ ถ้าดูจากตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ประมาณ 2% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ประมาณกว่า 3% จึงไม่น่าจะเป็นปัจจัย"

:อุตฯโตต่อเนื่องจากนโยบายรัฐ
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรก ปี 2556 ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของปี 2555 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวอย่างมากเพราะไทยเป็น ฐานการผลิตอันดับหนึ่งของอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.25 ล้านคัน ในด้านส่งออกขณะที่การผลิตรถยนต์ได้ 2.5 ล้านคัน ทำให้ ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโต ประมาณ 5%

หากจัดลำดับอุตสาหกรรมที่จะหัวเรือใหญ่ในการผลักดันให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ นอกจากกลุ่มยานยนต์แล้ว ต่อมาเป็นกลุ่มไฟฟ้า ที่ต้องเน้นการออกแบบมากขึ้น ทั้งรูปลักษณ์และ การทำงาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

"ไทยมีจุดแข็งเรื่องฝีมือแรงงาน และการส่งเสริมการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่อาจมีบางโรงงานที่ยังมีผลพวงมาจากปัญหาอุทกภัย ทำให้ยังกลับมาไม่เต็มที่"

อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวในภาคการผลิตอุตสาหกรรมปี 2556 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 4-5% โดยมีสองแรงบวก คือ 1.ความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากปี 2555 และ 2.การขับเคลื่อนตัวเองก้าวไปสู่การเปิดเออีซี ซึ่งผู้ประกอบการหลายคน เริ่มขยายตัวออกไปสู่ต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน

สำหรับปัจจัยลบ คือ การส่งออก มีเศรษฐกิจโลกเป็นตัวกดดัน ทั้งสหรัฐอเมริกาและ สหภาพยุโรป รวมถึงการเปลี่ยนผู้นำประเทศของจีน

"ต้องหันมาเน้นเรื่องคุณภาพ ที่จะให้เศรษฐกิจโตอย่างมีคุณภาพ"
วิรไท สันติประภพ
"การส่งออกไม่ใช่พระเอก จีดีพี แต่คือการบริโภคเป็นตัวหลักในปี 2556"
นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์
"ครึ่งปีแรก ภาคอุตฯ ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้น"

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยรอฟังผลฟ้องอุตฯ

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคดีที่นายแสงจันทร์ ศรีพลเมือง เกษตรกรปลูกไร่อ้อยใน อ.วังสะพุง จ.เลย กับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 กรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสองไม่ออกใบอนุญาตภาษีให้โรงงานอ้อยและน้ำตาล ทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายอ้อยให้โรงงานทำน้ำตาลได้ จึงขอให้มีคำสั่งให้ออกใบอนุญาตภาษีให้โรงงานอ้อยและน้ำตาล และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวน 1,310 คน ที่ปลูกไร่อ้อยรวมกันประมาณ 1 แสนไร่ มีผลผลิตกว่า 1,500,000 ตัน มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท สามารถขายอ้อยให้กับโรงงานได้

ทั้งนี้ นายเจริญ แก้วยอดหล้า ทนายความผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า การไต่สวนวันนี้ฝ่ายปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีได้มอบหมายให้ผู้แทนเข้าเบิกความ โดยศาลได้ไต่สวนทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว และรอคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

"ทฤษฏีใหม่"แนวทางจัดการดินและน้ำ....เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน - เกษตรทั่วไทย

เกษตรกรไทย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มักจะประสบปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในเขตที่มีฝนค่อนข้างน้อย และส่วนมากเป็นนาข้าวและพืชไร่ ทำให้มีความเสี่ยงกับความเสียหายอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของดิน ฟ้า อากาศ และฝนทิ้งช่วง ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนและยากลำบากในการทำการเกษตรอีกต่อไป พระราชดำรินี้ ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กรมพัฒนาที่ดินยึด หลักเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี รวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน เพื่อให้เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2555 คือนายสุเทพ เพ็งแจ้ง อยู่ที่ 92/1 หมู่ 2 ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เล่าให้ฟังถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากที่หันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ว่าตนเองเป็นลูกชาวนาแต่ได้หันไปเอาดีเป็นช่างตัดผมในเมืองกรุงจนกระทั่งเก็บหอมรอมริบได้พอสมควร จึงหันกลับมายึดอาชีพเกษตรตามบรรพบุรุษของตนเอง ตั้งแต่ปี 2539 โดยได้ยึดแนวพระราชดำริ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกแฝกสร้างดิน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ผลิตปุ๋ยใช้เอง พัฒนาพื้นที่เกษตรตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำให้เจริญก้าวหน้า มีความมั่นคงตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบของสร้างรายได้มากกว่ารายจ่าย ทำให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อน

“ผมเป็นเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่ที่ดินทำกินมีปัญหา จึงได้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่กับเกษตรจังหวัดพิจิตร และผมได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ มาพัฒนาพื้นที่ทำกิน โดยเริ่มแรกก็ขุดสระกักเก็บน้ำและปรับพื้นที่สวนผสมผสาน แต่ด้วยดินที่นำมาปรับพื้นที่เป็นดินใต้สระน้ำ ซึ่งมีอินทรียวัตถุต่ำ เมื่อปลูกผักและไม้ผลต่าง ๆ ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ผู้ใหญ่บ้านก็แนะนำให้เป็นตัวแทนของหมู่บ้านในการอบรมเป็นหมอดินอาสากับสถานีพัฒนาที่ดินพิจิตร เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในหมู่บ้าน ผมก็ได้รับความรู้ในการปรับปรุงดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แล้วสามารถนำความรู้เหล่านี้มาปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตได้และช่วยลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมีและสารเคมีปราบศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ผมก็เผยแพร่ความรู้เหล่านี้ให้กับเพื่อน ๆเกษตรกรใกล้เคียงที่สนใจด้วย ทุกคนนำไปทำตามก็ได้ผลดีไปตาม ๆ กันครับ” นายสุเทพบอก

นายสุเทพ บอกอีกว่า ตนเองเข้ามาสมัครเป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2547 และตอนนั้นก็ได้รู้จักหญ้าแฝก และเริ่มลงมือปลูกในปี 2548 เนื่องจากได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวง ท่านตรัสว่า “อยากให้ทุกคนปลูกหญ้าแฝกโดยไม่หวังผล แต่วันข้างหน้าจะดี” ตนจึงปลูกหญ้าแฝกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ด้วยการปลูกข้าว ปลูกไม้ผล ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำแปลงผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ทุกอย่างเอื้อประโยชน์แก่กัน ซึ่งผลสำเร็จจากเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินและการปลูกหญ้าแฝกคือนำชีวิตใหม่มาให้ เพราะเมื่อก่อนถ้าเป็นฤดูแล้ง น้ำในบ่อที่ขุดไว้จะแห้ง ดินก็แตก เก็บน้ำไม่อยู่ ต้นไม้ในสวนจะตายเกือบหมด แต่พอนำหญ้าแฝกมาปลูกบริเวณขอบบ่อรากจะช่วยยึดดินบริเวณคันบ่อน้ำ ทำให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดจนผ่านฤดูแล้ง ผลผลิตก็ไม่เสียหาย

ทั้งนี้ในพื้นที่ 20 ไร่เศษนั้น นายสุเทพจะแบ่งเป็นปลูกข้าวหอมมะลิ 10 ไร่ (รวมแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก) ทำสวนผสมผสาน 10 ไร่ ปลูกมะขามเทศ มะม่วงพันธุ์ต่าง ๆ กระท้อน ชมพู่ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ คอกสัตว์ครึ่งไร่ เลี้ยงทั้งโคเนื้อ ไก่พื้นเมืองและเป็ดเนื้อ บ่อน้ำอีกครึ่งไร่ มีพื้นที่อยู่อาศัยและปลูก ผักสวนครัวไว้บริโภคประมาณ 1 งาน ปลูกหญ้าแฝกยาวตลอดแนวคันดินที่ยกร่อง ขอบบ่อและตามร่องสวนเลี้ยงปลา ทำบัญชีครัวเรือนและมีรายได้เสริมจากการขายหมวกที่ถักจากใบหญ้าแฝก การตัดเย็บเสื้อผ้าและการตัดผมกิจกรรมเหล่านี้ทำให้สุเทพมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ปีละประมาณ 200,000 บาท เลี้ยงครอบครัวให้มีความสุขได้อย่างไม่เดือดร้อน

การบริหารจัดการพื้นที่ตามสภาพความเหมาะสมและเข้าใจประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ แรงงาน และรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นทำให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามแบบทฤษฎีใหม่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง นำไปสู่การผลิตที่เกิดรายได้ และสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 8 มกราคม 2556

ทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรช่วยวางแผนการผลิตล่วงหน้า

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ เตรียมที่จะเสนอเรื่อง ปฏิทินสินค้าเกษตรล่วงหน้ารายปีประจำปี 2556 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รวบรวมผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญตั้งแต่ช่วงเริ่มการผลิตและออกสู่ตลาด เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงอุตสาหกรรมทราบว่าผลผลิตเกษตรแต่ละชนิดจะออกสู่ตลาด ที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่อเตรียมแผนการรองรับไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน ในภาคปฏิบัติในระดับพื้นที่ซึ่งจะเป็นผู้ส่งเสริมการผลิตนั้น เจ้าหน้าที่ของ

กระทรวงเกษตรฯ ต้องรู้ด้วยว่าในพื้นที่รับผิดชอบมีสินค้าอะไรและจะออกเมื่อไหร่ รูปแบบของการส่งเสริมการเกษตรต้องปรับใหม่ โดยต้องดูเรื่องการตลาดนำเรื่องการผลิตในพื้นที่ด้วยไม่ใช่รอจนสินค้าออกสู่ตลาด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรเช่นที่ผ่านมา จึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ เป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุนไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตจะออก ช่วงไหน เท่าไหร่ ที่ไหน มีปัญหาอย่างไร

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนัก งานเศรษฐกิจการเกษตรปรับช่วงเวลาการรายงานดัชนีสินค้าเกษตรรายเดือน โดยให้มีการวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์แรกของเดือน เช่นเดียวกับสภาพัฒน์ TDRI และกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ข้อมูล 3 สัปดาห์แรกของเดือนนั้นบวกกับข้อมูลสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก่อนหน้า หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ ใช้ข้อมูล 3 สัปดาห์แรกบวกกับข้อมูลคาดคะเนของสัปดาห์ต่อไป ซึ่งอาจจะให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น ที่จะสามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรเองได้ทราบข้อมูลราคาและการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายเดือนอย่างทันต่อสถานการณ์.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 มกราคม 2556

สหรัฐเลี่ยงหน้าผาการคลัง..จับตาเศรษฐกิจไทยไม่พ้นเสี่ยง

โล่งอก”...กันเสียทีกับกรณีที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา สามารถเดินเลี่ยง“หน้าผาการคลัง”ออกไปได้ในนาทีสุดท้ายของวันขึ้นปีใหม่ หลังจากที่ทั่วโลกต่างรอลุ้นกันมาตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสว่า ประธานาธิบดี “บารัค โอบามา” จะสามารถผลักดันความเสี่ยงที่ว่าออกไปจากอกได้หรือไม่...

แต่สุดท้ายแล้วประธานาธิบดีโอบามา ก็สามารถพิสูจน์ฝีมือที่จะผลักภาระการขึ้นภาษีต่าง ๆ ไปให้เศรษฐีอเมริกันประมาณ 2% แทนให้คนอเมริกันทั้ง 98% ต้องเข้ามารับผิดชอบ โดยตั้งเป้าหมายว่ามีรายได้เพิ่มจากคนรวยอีกราว 620,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้า

โดยสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐมีมติให้ผ่านร่างกฎหมายหลีกเลี่ยงวิกฤติหน้าผาการคลัง ด้วยคะแนนโหวต 257 ต่อ 167 ซึ่งกำหนดให้มีการขึ้นภาษีกับเฉพาะคนรวยในสหรัฐ และงดเว้นให้กับชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ซึ่งสหรัฐเพิ่มภาษีกับบุคคลทั่วไปที่มีรายได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี หรือราว ๆ 12 ล้านบาท รวมถึงครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 450,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี หรือราว 13.6 ล้านบาท จากเดิมที่เคยเสียภาษี 35% เพิ่มเป็น 39.6%ต้องยอมรับว่าจำนวนที่ตกลงกันได้เป็นจำนวนมากกว่าที่พรรคเดโมแครตและประธานาธิบดีโอบามา เคยเรียกร้องไว้ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังน้อยกว่าที่พรรครีพับลิกันเรียกร้องไว้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่พรรครีพับลิกันสนับสนุนการขึ้นภาษี รวมทั้งยังมีการขึ้นภาษีมรดกไปเป็น 40% สำหรับกองมรดกที่มูลค่ามากกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 152 ล้านบาท

แม้ว่าสหรัฐจะเดินเลี่ยงหน้าผาการคลังไปได้แล้วก็ตาม แต่เป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” เท่านั้น เพราะภายในเดือน ก.พ.นี้ สภาสหรัฐต้องถกเถียงมีการต่อรองกันในเรื่องของการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ จากปัจจุบัน 16.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐกับการตัดลดงบประมาณรายจ่ายโดยอัตโนมัติวงเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 10 ปีข้างหน้า ที่ประธานาธิบดีโอบามา ประกาศไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าหน้าผาการคลังเสียอีกโดยเฉพาะการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะหากทำไม่ได้จะยิ่งเกิดความเลวร้ายมากยิ่งกว่า เพราะเท่ากับว่า “มหาอำนาจ” จากซีกโลกตะวันตกต้องผิดนัดชำระหนี้ซึ่งเท่ากับว่าทำให้ประเทศต้องสูญเสียเครดิต

นั่นเท่ากับว่าเรื่อง “ระทึก” ที่บีบหัวใจชาวสหรัฐและชาวโลกยังคงไม่หมดไปง่าย ๆ โดยต้องรอลุ้นผลการเจรจาต่อรองของ 2 พรรคใหญ่อีกครั้งในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ ที่เป็นเกมการเมืองที่ยืนอยู่บนเส้นด้ายอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามการเดินเลี่ยงหน้าผาการคลังของสหรัฐในครั้งนี้ ได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวเพิ่มขึ้นจนทำลายสถิติกันในหลายประเทศไม่เว้นแต่ประเทศไทยที่ตลาดหุ้นดีดรับข่าวดีชิ้นนี้ทันทีถึง 15.52 จุด ในรอบ 16 ปี 11 เดือน เช่นเดียวกับตลาดทองที่ดีดตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดี 150 บาทต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท ขณะที่ค่าเงินบาทเองก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกันที่ 30.37 บาท

ขณะที่บรรดาสำนักวิจัยต่างคาดการณ์กันว่า การเลี่ยงหน้าผาการคลังน่าจะเกิดผลดีกับประเทศไทยอย่างแรง ทั้ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่มองว่าการส่งออกของไทยจะได้รับอานิสงส์จากการนี้โดยอาจพุ่งสูงไปถึง 10-15% จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดีเพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนแล้ว จะยิ่งส่งสัญญาณเชิงบวกต่อการส่งออกไทยให้กลับมาเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปที่คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ราวที่ 5% ขณะที่ผลทางอ้อมก็จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีเสถียรภาพมากขึ้น และทำให้ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนน้อยลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงเรื่องของค่าเงินให้กับผู้ประกอบการไทย

ด้านสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กลับมองว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะบรรเทาปัญหาในสหรัฐเท่านั้น ซึ่งต้องจับจ้องในเรื่องของการลดงบประมาณรายจ่ายของสหรัฐ โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ และค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข และการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ โดยผลกระทบต่อไทยมีไม่มากนัก และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตที่ 4.5% ส่วนเรื่องของการส่งออกที่มองกันว่าน่าจะไปได้ดีนั้นอย่าลืมว่า ยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะกรีซ นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอตัวอยู่ โดยที่ผ่านมารัฐบาลจีนทุ่มเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงมากแล้ว จึงน่าจะทยอยลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงต่อ ๆ ไป ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะไม่สูงเท่าเดิม

เช่นเดียวกับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) อย่าง “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ที่มองว่าเป็นเพียงข้อตกลงชั่วคราวเท่านั้นและเป็นผลในระยะสั้น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอีกใน 2 เดือนข้างหน้าว่าสหรัฐจะบรรลุข้อตกลงได้อย่างไรเพราะมีอุปสรรคหลายอย่างที่ต้องแก้ไขที่ต้องพยายามให้ได้ข้อยุติให้ได้ซึ่งแบงก์ชาติเองก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ส่วนซีกของรัฐบาลโดยเฉพาะ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯและรมว.คลัง มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก แต่ยังเห็นว่ามีความเสี่ยงที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยมีแนวโน้มว่าสหรัฐจะเข้มงวดในทางวินัยการคลังมากขึ้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว แต่ในระยะสั้นสหรัฐคงต้องออกมาตรการคิวอีเพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

และมีการจ้างงานมากขึ้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจากนี้ไปคงไม่สามารถพึ่งพาให้สหรัฐเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจโลกได้อีกต่อไป แต่ทุกประเทศต้องกลับมาดูแลเศรษฐกิจของตัวเองให้ดี และรัฐบาลเองจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพเกิดความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตให้ได้สูงกว่า 5% จากการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศเป็นโจทย์หลัก ตามด้วยการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามในเวลานี้คงไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าผลการเจรจาของสองพรรคการมืองใหญ่ของสหรัฐจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่าอาจสำเร็จได้ยาก เมื่อถึงเวลานั้นชนวนเศรษฐกิจของสหรัฐอาจส่งผลกระทบมายังอาเซียนและประเทศไทยอย่างมากได้ โดยเฉพาะในเรื่องของเงินไหลเข้าที่จะหลั่งไหลเข้ามาในธุรกิจของไทยโดยเฉพาะในตลาดหุ้น

ในเวลานี้ต้องยอมรับว่ามีนักวิชาการหลายคนเช่น ’สมภพ มานะรังสรรค์“ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ที่ได้ออกมาเตือนไว้อย่างน่าสนใจว่า ผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้อาจเป็นแรงระเบิดเหมือนกับในสมัยที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งก็ได้ โดยเฉพาะหากฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ ในเรื่องของรถยนต์จากนโยบายรถยนต์คันแรก รวมถึงตลาดหุ้น....แตก เพราะหากดูสถานการณ์ในเวลานี้ช่างไม่แตกต่างอะไรจากช่วงปี 2540

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยเวลานี้สูงถึง 25% ด้วยมูลค่ากว่า 6-7 แสนล้านบาท ที่ผู้บริโภคต้องกู้เงินจากแบงก์มาผ่อนซึ่งต้องใช้เวลาถึง 30 ปี หรือในเรื่องของรถยนต์ที่เติบโตเป็นพัน ๆ เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าน่ากลัวอย่างมาก หากเศรษฐกิจไปไม่ได้หรือคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระ นั่นก็หมายถึงลูกระเบิดที่น่ากลัว และยิ่งจะน่ากลัวไปกว่านั้นหากรัฐบาลไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็งได้!.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 มกราคม 2556

แฉเบื้องลึกใบอนุญาต รง.4 ฉาว รง.น้ำตาลดับเครื่องชนงัด ม.157 ฟ้องปลัด ก.อุตฯ

การประทับรับฟ้องของศาลปกครองกลางต่อกรณีบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ได้ร้องขอให้ศาลปกครองทำการไต่สวนฉุกเฉินหรือคุ้มครองชั่วคราวในการเปิดหีบอ้อย ปี 2555/2556 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555 นับเป็นหนึ่งในคดีตัวอย่างที่สร้างความ ฮือฮาและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในวงการอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมทั่วไป

เนื่องเพราะการผนึกกำลังร่วมกัน ฟ้องร้องขอความเป็นธรรม ระหว่างชาวไร่อ้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 1,310 คน และกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่นใน ครั้งนี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนหนาว ๆ ร้อน ๆ ให้กับข้าราชการประจำและ นักการเมืองไม่น้อย เนื่องจากผู้ฟ้องร้อง ว่ามีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนถึงการ "ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่" ของข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตฯสะดุด "ขาตัวเอง"

เกษตรกรชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 200 คนที่เป็นตัวแทนมา ยื่นเอกสารขอความเป็นธรรมต่อ ศาลปกครองระบุว่ามีหลักฐานที่ชัดเจนถึงการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิเสธการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือใบ รง.4 ให้กับบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

โดยเหตุผลที่อ้างว่า สถานที่ตั้งโรงงาน มีระยะห่างจากโรงงานเดิมไม่เกิน 80 กิโลเมตร ขัดกับหลักการของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นถือเป็นความผิดพลาดของกระทรวงอุตสาหกรรมเอง ที่นำเสนอโรงงานน้ำตาลขึ้นใหม่ (คือโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกร หรือมิตรภูหลวงของกลุ่มโรงงานน้ำตาลมิตรผล) ใน อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นอำเภอและจังหวัดเดียวกัน ตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ทำให้เกิด "ทับซ้อน" กับโรงงาน ของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น ซึ่งได้ย้ายและตั้งใหม่ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553
หลักฐานมัด จ.ม.สำนักนายกฯ

ประเด็นสำคัญคือ บริษัทน้ำตาล ขอนแก่นได้ทำหนังสือคัดค้านถึง "นายกรัฐมนตรี" และ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม" ในสมัยนั้น ลงนาม โดย นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 เพื่อขอความเป็นธรรมในการประกอบกิจการโรงงาน โดยขอให้ทบทวนใน การเห็นชอบให้บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด นำกำลังการผลิต 8,000 ตันอ้อยต่อวัน ไปตั้งที่ อ.วังสะพุง จ.เลย และขยายกำลังการผลิตเป็น 25,000 ตันอ้อยต่อวัน เนื่องจากที่ตั้งโรงงาน ทับซ้อนกัน จะทำให้เกิดปัญหาการแย่งวัตถุดิบกันในภายหน้า ซึ่งบริษัทน้ำตาลขอนแก่นได้ดำเนินการจัดซื้อที่และส่งเสริมชาวไร่อ้อยไปจำนวนมาก คิดเป็นเงินลงทุนเบื้องต้นแล้วกว่า 100 ล้านบาท

หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ นายพันธุ์ชัย วัฒนชัย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือ แจ้งกลับมายังบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า ทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาดังกล่าวและส่งเรื่องให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา โดยขอให้แจ้งผลให้ทางบริษัททราบโดยตรงด้วย

งัด ม.157 มีสิทธิ์ "เดี้ยง" แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้ของบริษัทน้ำตาลขอนแก่นถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการที่บริษัทเอกชนไม่ยอมให้ ข้าราชการประจำและนักการเมืองใช้อำนาจในการเลือกปฏิบัติ ที่สำคัญหลักฐาน ชัดเจนขนาดนี้บริษัท น้ำตาลขอนแก่นและชาวไร่อ้อยสามารถนำมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งสามารถเอาผิดเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ติดคุกได้

"ความล่าช้าในการพิจารณาออก ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 ของคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาใบอนุญาตโรงงานไม่ได้ล่าช้าเฉพาะ ใบอนุญาของธุรกิจโรงงานน้ำตาลเท่านั้น แต่ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบ ธุรกิจต่าง ๆ อีกกว่า 2,000 โรงที่ถูก ดึงเรื่องโดยไม่มีเหตุผลชัดเจน และส่ง ผลกระทบภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างใหญ่หลวง ขัดต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ภาคเอกชน ช่วยกันลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดการจ้างงานให้กับแรงงาน" แหล่งข่าวกล่าว
ศาลปกครองนัดไต่สวน 7 ม.ค.

นายเจริญ แก้วยอดหล้า ซึ่งเป็นทนายความตัวแทนของกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่นและตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ นายวุฒิชัย แสงสำราญ ผู้พิพากษาศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนได้ทำหนังสือแจ้งมายังทนายความว่า ทางศาลได้ รับฟ้องและได้แจ้งนัดไต่สวนคู่กรณีทั้ง สองฝ่ายในวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2556 ซึ่งทางชาวไร่อ้อยและกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่นพร้อมที่จะนำหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งหมดไปชี้แจง

"อยากตะโกนถามกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า หากกระทรวงอุตสาหกรรมออก ใบ รง.4ให้กับบริษัทน้ำตาลขอนแก่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่ง ดำเนินการถูกขั้นตอนตามกฎหมาย ทุกขั้นตอนในการอนุญาตขอจัดตั้งโรงงาน และใช้เงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานไปแล้ว มีใครเสียหายบ้าง และกระทรวงอุตสาหกรรม เสียหายอย่างไร

แต่หากกระทรวงอุตสาหกรรม และนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ออก ใบอนุญาต รง.4ให้กับบริษัทน้ำตาล ขอนแก่นฯ มีแต่จะส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อย กว่า 2,000 ราย ส่งผลดีให้เกิดการจ้างงานนับพันคน นำรายได้เข้าประเทศจากการขายน้ำตาล สรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีจากโรงงานน้ำตาลและโรงงานผลิตไฟฟ้าและผลพลอยได้อื่น ๆ อีกมากมาย ที่สำคัญส่งผลดีต่อภาพลักษณ์การลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ สมควรอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่มากลั่นแกล้งแบบนี้" นายเจริญกล่าวและว่า

แม้แต่หน่วยงานของรัฐ เช่นนายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ก็ทำหนังสือลงวันที่ 11 ธันวาคม 2555 แจ้งมายังปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ช่วยออกใบอนุญาต รง.4 ให้กับโรงงานน้ำตาลด้วย เพราะเห็นความเดือดร้อนของประชาชนรวมถึง นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือลงวันที่ 12 ธันวาคม 2555 ขอให้ผ่อนผันให้โรงงานที่ตั้งใหม่ใน จ.เลยเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2555/2556 เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้หีบอ้อย ไปก่อนเป็นกรณีพิเศษ

แต่ที่ผ่านมาทางโรงงานขอนแก่นนำหนังสือดังกล่าวมาตีความแล้วไม่กล้า เปิดหีบ เพราะหนังสือดังกล่าวได้ระบุข้อความต่อท้ายว่า ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีหนังสือแจ้งประธานคณะกรรมการอ้อยเพื่อพิจารณาดำเนินการ ต่อไปแล้ว ดังนั้นหากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่อนุมัติอาจจะผิดได้ จึงต้องขออำนาจศาลคุ้มครองในการเปิดหีบ

เผย "เลือกปฏิบัติ" ห่าง 80 กม.

แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมน้ำตาล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นอกจากกรณีตัวอย่างของโรงงานน้ำตาลของกลุ่มขอนแก่น และโรงงานน้ำตาลมิตรผลในครั้งนี้ที่มีปัญหาระยะห่างไม่ถึง 80 กม.แล้ว ก่อนหน้านี้ในรัฐบาลชุดก่อน ๆ กระทรวงอุตสาหกรรมก็รับทราบเรื่องดี ได้มีการอนุมัติให้มีการย้าย ขยาย และ จัดตั้งโรงงานใหม่ ซึ่งโรงงานทั้งหมด ที่ได้รับอนุมัติมีประมาณ 11-12 โรง ซึ่งแต่ละโรงมีระยะห่างไม่ถึง 80 กม. แต่ได้รับความเห็นชอบเช่นเดียวกัน ดังนั้น หลายคนจึงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การดำเนินการของทางกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผ่านมาเหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือไม่

"ความจริงมติ ครม.ที่ให้โรงงานน้ำตาลต้องตั้งห่างกัน 80 กม.เกิดขึ้นจากความเห็นชอบของโรงงานน้ำตาลเองที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยกัน โดยโรงงานที่จะตั้งใหม่ควรจะไปส่งเสริมชาวไร่อ้อยให้ปลูกอ้อยด้วย ไม่ใช่ตั้งใหม่แล้วไปแย่งอ้อยของโรงงานเดิมที่ไปส่งเสริมชาวไร่อ้อยไว้ และที่ผ่านมามีตัวอย่างของปัญหาเกิดขึ้น มาโดยตลอด" แหล่งข่าวกล่าวและว่า  กรณีการฟ้องร้องศาลปกครองเรื่องระยะห่าง 80 กม.ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับกรณีของโรงงานน้ำตาลขอนแก่น และโรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล แต่เคยเกิดขึ้นและมีการฟ้องร้องกันมาแล้ว

โดยกลุ่มโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ได้ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมต่อศาลปกครองกลาง กรณีของโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ได้ขอย้ายจาก จ.อุตรดิตถ์ ไปตั้งที่ จ.สุโขทัย ทั้งที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2553 เช่นเดียวกัน แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ให้ใบ รง.4 โดยอ้างว่า หากไปตั้งจะอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย ไม่ถึง 80 กม.เช่นเดียวกัน และเรื่องฟ้องร้องผ่านมาประมาณปีกว่ายังยืดเยื้อไม่จบ    หรือแม้แต่ล่าสุดในการอนุมัติของ ครม.วันที่ 1 มีนาคม 2554 ได้มีการอนุมัติโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่ง ซึ่งคนในวงการอุตสาหกรรมน้ำตาลวิเคราะห์ระยะทางกันแล้วว่า ไม่ถึง 80 กม. แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังชงเรื่องให้ ครม.อนุมัติวันเดียวกันกับที่อนุมัติให้โรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลด้วย

ดังนั้น จึงเป็นที่จับตาว่า นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะดูแลสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) และในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตโรงงาน ซึ่งเป็นผู้ที่รับทราบ และรับผิดชอบ เรื่องราวทุกอย่างจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรกับกรณีปัญหาโรงงานน้ำตาล ทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ที่สำคัญมีคำถามเกิดขึ้นว่า เรื่อง ทุกเรื่องก่อนจะผ่านเข้าสู่ ครม. ต้องผ่าน การกลั่นกรอง เห็นชอบจากข้าราชการภายในกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องชงขึ้นไปทั้งสิ้น แล้วเหตุใดเรื่องถึง ขัดแย้งกันเองกลายเป็นปัญหาวัวพันหลัก ที่คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่า นายวิฑูรย์จะหาทางคลายปมเรื่องนี้อย่างไร

'ปลัดวิฑูรย์'เรียก สอน.พลิกกฎหมายสู้ยิบตา

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เตรียมที่จะหารือรายละเอียดทางกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ถึงกรณีดังกล่าวว่าต้นเหตุของปัญหาคืออะไร โดยจะยึดความถูกต้อง ตามกฎหมายเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมาลำดับการดำเนินการของโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 โรง (ขอนแก่น- มิตรผล) ว่าเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ เช่น การแจ้งขอเพิ่มกำลังการผลิต หรือตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้แจ้งสถานที่ตั้งที่ชัดเจนหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะไม่ระบุสถานที่ชัดเจนเข้ามา

"หากว่าดูข้อกฎหมายแล้ว ดำเนินการถูกต้อง ก.อุตฯจะพิจารณาออกใบอนุญาต รง.4 ให้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกระทรวงอุตฯจะเน้นการแก้ปัญหา เพื่อชาวไร่อ้อยที่ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับ ผลกระทบมาก และเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการ (ประเสริฐ บุญชัยสุข) เน้นย้ำว่าจะต้องช่วยเหลือชาวไร่อ้อย"

2 ปีเสียหายกว่า 5 พัน ล.

ความล่าช้าในการดึง รง.4 ชาวไร่อ้อยและโรงงานได้สรุปความเสียหายมากมายหลายประการ ได้แก่

1.ชาวไร่อ้อยซึ่งเป็นเกษตรกรมีฐานะยากจนจำนวน 1,310 ราย ปลูกอ้อยจำนวนประมาณ 1 แสนกว่าไร่ มีปริมาณอ้อยจำนวนกว่า 1,500,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท
2.ขณะนี้อยู่ในฤดูกาลหีบอ้อยซึ่งล่วงเลยมาแล้ว 2 เดือน ทำให้อ้อยของเกษตรกรแห้งเกิดไฟไหม้เสียหาย หากปล่อยให้เนิ่นนานอ้อยทั้งหมดก็จะเสียหายทั้งหมด เกษตรกรจะหมดเนื้อหมดตัว
3.ทำให้คนงานว่างงานจำนวน นับพันราย เพราะโรงงานไม่มีใบ รง.4 ไม่สามาถเปิดดำเนินกิจการได้
4.เมื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยและคนงานที่ยากจนไม่มีทางออก อาจมีความจำเป็นต้องปิดถนนประท้วง เอาอ้อยมาเทราดหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม
5.ทำให้บริษัทที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ต้องหยุดชะงัก เสียหาย ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจที่จะลงทุนเกี่ยวกับการสร้างโรงงาน ไม่เฉพาะโรงงานของผู้ฟ้องคดี เพราะข้อเท็จจริงในขณะนี้มีโรงงานจำนวนมากไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความรับผิดชอบของผู้บริหาร กระทรวงอุตสาหกรรมอย่างชัดแจ้ง
6.บริษัทนี้เป็น "บริษัทมหาชน" อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อบริษัท ไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่สามารถดำเนินตามแผนงานทางธุรกิจที่ให้ไว้ กับนักลงทุนและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความเสียหาย อย่างมากทั้งต่อบริษัทและนักลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งเป็นบุคคล ภายนอกที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานอันบกพร่องและขาด ความรับผิดชอบของกระทรวง อุตสาหกรรม

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 7 มกราคม 2556

รายงานพิเศษ : สศก.เผยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี’56 ทิศทางสดใส ขยายตัวทุกสาขา

เปิดศักราชใหม่ ปี 2556 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจการเกษตรตลอดปีไว้เรียบร้อยแล้ว โดยสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มสดใส
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สศก. ได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยสาขาพืช มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 4–5 หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย สำหรับพืชสำคัญหลายชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรและการควบคุมการแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่ดี ยางพารา คาดว่ามีเนื้อที่กรีดยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในช่วงปี 2551-2553 เริ่มให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ไม้ผล เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และส้มเขียวหวานมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ราคาผลผลิตพืชมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนการส่งออกขึ้นอยู่กับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่แปรปรวน อาจกระทบต่อแหล่งเพาะปลูกธัญพืชที่สำคัญ ทำให้ราคาธัญพืชและอาหารของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้

สำหรับสาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8-2.8 เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการผลิต มีการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม กระบวนการควบคุม และเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน โรคระบาด และต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยในปี 2556 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ สุกร ขณะที่ราคาไข่ไก่และน้ำนมดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยยังมีความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และคุณภาพของน้ำนมดิบ

สาขาประมง มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.2)-0.8 เนื่องจากการผลิตประมงน้ำจืดและประมงทะเล ยังอยู่ในภาวะทรงตัว โดยปริมาณผลผลิตประมงน้ำจืดขึ้นอยู่กับการวางแผนการผลิตและสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของประมงทะเลขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคระบาดที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนก็จะทำให้ผลผลิตลดลง สำหรับสถานการณ์ด้านราคาและการค้า คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิต มีคุณภาพที่ดีตรงตามความต้องการของตลาด

ส่วนสาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจทางด้านราคา เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ทำให้มีการใช้เครื่องจักรทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมการให้บริการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น  และในสาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-1.5 จากนโยบายการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าอายุ 30 ปี จำนวน 500,000 ไร่ ระหว่างปี 2555-2556 ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ยังคงเหลือพื้นที่เป้าหมายอีกประมาณ 260,000 ไร่ รวมถึงมูลค่าผลผลิตและส่งออก น้ำผึ้ง ครั่ง และยางไม้ธรรมชาติ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ส่วนการผลิตถ่านไม้และไม้ฟืนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ที่ลดลง

“สรุปภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรของไทยในปี 2556 น่าจะออกมาค่อนข้างดี เนื่องจากปัจจัยทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกก็น่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ราคาน้ำมันไม่มีผลกระทบมากนักเพราะกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังคงผลิตน้ำมันต่อเนื่องไม่ลดลง ราคาจึงไม่เปลี่ยนแปลงรุนแรง แต่สิ่งที่น่ากังวลคืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ถ้าเงินบาทแข็งค่าจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรได้ อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นไปตามคาดการณ์ก็ยังมองว่าภาคเกษตรในปีนี้ยังคงมีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4-5” นายอภิชาต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มกราคม 2556

ไอซีทีเร่งพัฒนาบุคลากรรับเออีซี

กระทรวงไอซีทีจับมือหัวเว่ย พัฒนาบุคลากรรองรับเออีซี มั่นใจเสริมศักยภาพการแข่งขันอย่างเสรี
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ปี 2555 ที่ผ่านมารัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ระบุให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อให้พัฒนาประเทศไปสู่สังคมความรู้ นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทรัพยากรบุคคลในประเทศให้มีมาตรฐานเท่าเทียมพร้อมรับเข้าสู่การแข่งขันในเสรีประชาคมอาเซียน หรือ เออีซีในปี 2558

ดังนั้นเมื่อปลายปี 2555 ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ทางด้านการศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยระยะแรกต้องคัดเลือกบุคลากรภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงไอซีที เพื่อเข้ารับการพัฒนาจากหัวเว่ย ซึ่งมีหลักสูตรเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และหลังจากนั้นจึงขยายไปยังนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ไอซีที
ชุมชนของกระทรวงกว่า 1,100 แห่งทั่วประเทศ ทำให้บุคลากรมีขีดความสามารถเพียงพอ การหมุนเวียนบุคลากรด้านไอซีทีในภูมิภาคอาเซียนก็จะเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับ การเอ็มโอยูมีระยะเวลา 4 ปี โดยมีการจัดบรรยายทางวิชาการ ฝึกทดลองงาน ฝึกอบรม สัมมนาเชิงปฏิบัติ กิจกรรมทางวิชาการ ผ่านสถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากหัวเว่ยในการทำกิจกรรมพัฒนาทางสังคม หรือซีเอสอาร์ จำนวน 10% ของรายได้บริษัท

“การดำเนินงานครั้งนี้ ถือเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งหัวเว่ยมีความน่าเชื่อถือในระดับโลกไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรมีอยู่แล้ว ไม่ต้องหาหลักสูตรใหม่เพิ่มเติม”น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 มกราคม 2556

กลุ่มวังขนายชวนชาวไทย บริจาคโลหิตถวายในหลวง

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลโลว์เคมิคอล ได้ร่วมกับทางภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จัดทำโครงการวังขนายชวนชาวไทย บริจาคโลหิตถวายในหลวง ซึ่งเป็นกิจกรรมรับบริจาคโลหิตเพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณโลหิตที่ได้เก็บสะสมไว้เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ หรือผู้ประสบอุบัติเหตุต่างๆ เหลือน้อยลดลงไปมาก ที่สำคัญคือเป็นช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ 2556 ซึ่งอาจมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับประชาชนที่เดินทางไปท่องเที่ยว หรือต้องกลับบ้านในต่างจังหวัดได้ ฯลฯ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ผศ.พญ.ปาริชาติ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน ณ สำนักงานกลุ่มวังขนาย กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 27 ตึกไทยซีซี ทาวเวอร์ ถนนสาทรใต้ เขตสาทร

ผศ.พญ.ปาริชาติ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด ได้ร่วมกับกลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาล โลว์เคมิคอล ได้จัดกิจกรรมชื่อ โครงการวังขนายชวนชาวไทย บริจาคโลหิตถวายในหลวง ซึ่งเป็นโครงการรับบริจาคโลหิตเพื่อนำมามอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งในปัจจุบันได้มีปริมาณโลหิตที่ลดน้อยลงไปมาก อีกทั้งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มต้นการบริจาคโลหิตโดยพนักงานของกลุ่มวังขนาย สำนักงานกรุงเทพ พร้อมยังได้เชิญชวนพนักงานจากบริษัทฯ เอกชนต่างๆ และประชาชนทั่วไป ที่ทำงานอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาร่วมบริจาคโลหิต ซึ่งรวมแล้วเป็นจำนวนถึง 101 คน ได้ปริมาณโลหิตที่บริจาคในครั้งนี้ถึง 45,450 ซีซี. ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะมาขอการรักษาอาการบาดเจ็บ หรือโรคภัยต่างๆ จากโรงพยาบาล ทำให้ธนาคารเลือดของโรงพยาบาลศิริราชได้เหลือลดน้อยลง จนอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนของผู้ป่วยในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ก็อาจมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับประชาชนที่ต้องเดินทางไปท่องเที่ยว หรือกลับบ้านในต่างจังหวัดได้ จึงขอให้ทุกท่านเดินทางโดยใช้ความระมัดระวัง ไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาต่างๆ ขณะขับรถ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกิดการบาดเจ็บ หรือสูญเสียชีวิตได้

ด้าน นางจิตต์สุภา สุขเจตนี ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กรและกิจกรรมสังคม กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า กลุ่มวังขนายได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 37 ปี โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษากับเยาวชนไทย ซึ่งได้จัดทำทั้งในเรื่องการมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่อยู่บริเวณรอบโรงงาน, โครงการสร้างห้องสมุดประชาชน รวมถึงโครงการบริหารและจัดการน้ำในภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่โครงการของวังขนายจะไม่ค่อยใหญ่โตหรือมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ แต่จะเน้นเรื่องความยั่งยืน และเป็นการช่วยเหลือประชาชน หรือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป็นสำคัญ นอกจากนี้ทางกลุ่มวังขนายยังได้มีการจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับบุคคลภายนอกด้วย ดังเช่น โครงการวังขนายชวนชาวไทย บริจาคโลหิตถวายในหลวง ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งได้จัดโครงการขอรับบริจาคโลหิตจากพนักงานของกลุ่มวังขนาย รวมถึงพนักงานในบริษัทต่างๆ และประชาชนทั่วไปที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อถวายให้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้นำพนักงานจากสำนักงานกลุ่มวังขนาย กรุงเทพมหานคร มาเป็นผู้บริจาคโลหิตนำร่อง และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะจัดทำให้เป็นโครงการที่ต่อเนื่อง สร้างจิตสำนึกที่ดีตอบแทนคืนสู่สังคมให้เกิดขึ้นกับพนักงานของกลุ่มวังขนายและประชาชนทั่วไป ถือว่าเป็นการสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เป็นการถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บที่กำลังนอนรอความหวังอยู่ภายในโรงพยาบาล เขาจะได้มีชีวิตยืนยาวเป็นพลังสร้างสรรค์ประเทศไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไปในอนาคต

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 6 มกราคม 2556

อุตสาหกรรมเกษตรฯ ภาคเหนือเตรียมรับมือเออีซี

ทีมข่าวเกษตรสยามธุรกิจได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปแอ่วเหนือลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการในภาคเหนือ ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI กับกระทรวงอุตสาหกรรม ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในครั้งนี้ได้เดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สนามบิน จังหวัดพิษณุโลก จากนั้นเดินทางต่อด้วย รถตู้มุ่งสู่ บริษัท จุลอินเตอร์ซิลค์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ ประกอบกิจการทำไหม เส้นไหม รังไหม เศษไหม ก่อนจะต่อไปยัง บริษัท สารัช มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ประกอบ กิจการมะขามคลุกและจบลงที่โรงงานกล้วยตากนิตยา

ทั้งนี้ในการร่วมเดินทางในครั้งนี้ทาง ทีมข่าวฯ มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหาร ของทั้งสามแห่งเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน (AEC) ปี 2558
เริ่มต้นด้วย “นายพสุ โลหารชุน” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวง การปรับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นวัตกรรม และอุตสาหกรรมฐานราก เพื่อการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูป การเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว มากกว่า 600 แห่ง มีผลตอบแทนที่สามารถ วัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้กว่า 2,600 ล้านบาท โดยในปี 2555 นี้ มีสถานประกอบการเข้า ร่วมโครงการมากถึง 158 แห่งจาก 75 จังหวัดทั่วประเทศ

“นายพสุ” กล่าวต่อไปอีกว่า “เป้าหมายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม คือการทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมีความเข้มแข็ง สามารถ แข่งขันกับประเทศในแถบอาเซียนได้ รวมถึงพัฒนาการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้มีความหลากหลาย สร้างความพอใจให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านราคา สามารถเพิ่มรายได้และยอดขายให้กับองค์กรและตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทให้กับลูกจ้าง กล่าว คือ เมื่อผู้ประกอบการอยู่ได้ในธุรกิจของตนเองอย่างมั่นคงแล้ว การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายก็สามารถทำได้

ทั้งนี้ จากการประเมินผลการพัฒนา ใน 6 แผน งานหลัก ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการ ลอจิสติกส์ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4.การลดต้นทุนพลังงาน 5.การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐาน สากล และ 6.กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด สถานประกอบการสามารถสร้างเสริมศักยภาพ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้เข้มแข็งทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ พร้อมสู้กับประเทศอื่นๆ รวมทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการ เกษตรไทย มีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 ทั้งนี้ ในปี 2555 มีสถานประกอบการที่มีผลสัมฤทธิ์ดีเด่นจากการเข้าร่วมโครงการฯ หลายแห่ง โดย เฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก”

ส่วนทางด้าน “คุณจงสฤษดิ์ คุ้นวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จุลอินเตอร์ซิลค์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ ประกอบกิจการทำไหม เส้นไหม รังไหม เศษไหม นำมาผลิตเป็นเส้นไหมดิบ จำหน่ายแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการ OPOAI โดยเลือกใน 2 แผนงาน คือ แผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพ และพัฒนางาน และแผนงานที่ 5 การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล ซึ่งสภาพปัญหาของบริษัทก่อนหน้านี้ บริษัทจะมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง ทำให้มีกำไรน้อย เพียง 0.35 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เฉลี่ยทั้งปี จึงได้มีการแก้ไขทางด้านกระบวนการผลิต และนำมาดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อน 3 เรื่อง คือ 1.การผลิตไหมเกรด 3 A ได้น้อย ปัจจุบันผลิตได้ 10% จากค่ามาตรฐาน ที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ 2.การปฏิบัติงานของพนักงาน สายเครื่อง สาว และสายเครื่องแห้ง มีประสิทธิภาพต่ำ และ 3.กระบวนการผลิต มีเศษไหมมาก (จากข้อมูลผลิตเส้นไหม 100 กิโลกรัม มีเศษไหม 18 กิโลกรัม)

นายจงสฤษดิ์ กล่าวต่อว่า จากการพัฒนาคุณภาพตามแผนงาน ทำให้กิจกรรม เพิ่มคุณภาพเส้นไหมเกรด 3 A เกินเป้าหมาย 1 เปอร์เซ็นต์จากเดิม 25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 26 เปอร์เซ็นต์และเพิ่มขึ้นจากก่อนปรับปรุง 16 เปอร์เซ็นต์ ผลทางอ้อม คือสามารถเพิ่มรายได้ของบริษัทให้มากขึ้น เทียบเท่ากับกิโลกรัมละ 680 บาท คำนวณ ทั้งปี จะได้ไหมเกรด 3 A เพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 924,800 บาท ส่วนทีมกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพจำนวนการผลิตไหม จาก เดิมพนักงานได้เส้นไหม 1.3 กิโลต่อแรง ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กิจการกำหนด คือ 1.6 กิโลต่อแรง ภายใต้กระบวนการ P-D-C-A และใช้เครื่องมือเทคนิคทางสถิติที่ได้อบรมไป ส่งผลทำให้เพิ่มประสิทธิภาพได้เกินเป้าหมาย คือได้ 1.61 กิโลต่อแรง เกิน เป้าหมาย 0.01 กิโล หรือเท่ากับ 0.6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 682,000 บาท และในส่วนกิจกรรมการปรับปรุงการ ผลิตเส้นไหม 100 กิโลกรัม มีเศษไหม 18 กิโลกรัม เป็นค่าที่สูงเกินมาตรฐานที่กำหนด ไว้ (ค่าที่กำหนดเศษไหมไม่เกิน 17 กิโลกรัม) กิจการจึงเกิดรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,645,600 บาท/ปี และเมื่อนำรวมสรุปรายได้เพิ่มจากการปรับปรุงงานของทั้ง 3 กลุ่ม รวมเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นถึง 3,252,400 บาท

“ส่วนแผนงานที่ 5 เป็นการยกระดับ มาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมบริษัทเคยได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9000 แต่เป็นเวอร์ชั่นเก่าและไม่ได้ต่ออายุ จึงทำให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต จึงดำเนินการแก้ไขด้วย การนำระบบมาตรฐาน ISO 9000 : 2008 เข้ามาประยุกต์ใช้ในระบบการผลิตเส้นไหม โดยทีมที่ปรึกษาและทีมงานของบริษัทได้ร่วมกันจัดทำแผนงาน อาทิ หลักสูตร Quality Awareness & Intro ISO 9000 : 2008 การจัดทำเอกสาร ISO 9001 : 2008 การตรวจประเมินระบบคุณภาพภายในองค์กร คาดว่าจะดำเนินการ ขอการรับรองได้สำเร็จในช่วงต้นปี 2556”

เนื้อหาการสัมภาษณ์ยังไม่จบยังคงเหลือผู้บริหารอีก 2 แห่ง ที่จะมาเล่าให้ ฟังถึงการเตรียมความพร้อมการแข่งขัน ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 2558 แต่เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด อย่างไรติดตามอ่านต่อฉบับหน้า รับรอง ว่าสาระยังคงเข้มข้นเหมือนเดิมแน่นอน

จาก สยามธุรกิจ วันที่ 5 มกราคม 2556

กฟผ.ยันเขื่อนส่งน้ำพอใช้หน้าแล้งนี้

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ว่ามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.ทั้งหมด 43,545 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 19 หรือ 9,982 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ 20,501 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มต้นการระบายน้ำฤดูแล้ง 3,324 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยอ่างเก็บน้ำทุกแห่งที่มีพื้นที่ชลประทานท้ายน้ำ มีการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ลดลงตามลำดับ และมีช่องว่างในอ่างฯ สำหรับรับน้ำในช่วงฤดูฝนต่อไป สำหรับโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำ กฟผ. 2 โครงการ คือ โครงการชลประทานเจ้าพระยา รับน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555-30 เมษายน 2556 และโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2556 นอกจากนี้ ยังมีโครงการชลประทานอื่นๆ ที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2555-31 พฤษภาคม 2556 และภาคใต้ ซึ่งยังอยู่ในช่วงฤดูฝนจะเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือนมีนาคม 2556

สำหรับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีแผนการระบายน้ำเพื่อโครงการชลประทานเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2555/2556 จำนวน 6,800 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 – 2 มกราคม 2556 ระบายน้ำไปแล้ว 2,709 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 40 ของแผนทั้งหมด ยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 4,091 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนทั้ง 2 แห่ง ยังมีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 6,776 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอที่จะระบายตลอดฤดูแล้งนี้

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 4 มกราคม 2556

กระตุ้น‘บริโภค-การลงทุน’-รัฐเร่งเทเงินกระตุ้นจีดีพีปี’56 ส่งสัญญาณคุมดบ.-ค่าเงิน

นายกรัฐมนตรี เรียก 8 รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหารือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่เกิดจากการ แก้ปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐ หนี้ยุโรป และค่าแรง 300 บาท “กิตติรัตน์” ส่งซิกคุมดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน กระตุ้นลงทุนเอกชน ใช้จ่ายในประเทศชี้เงินลงทุนภาครัฐช่วยปลุกจีดีพี ปี’56 โตได้อีกปี โดยไม่ต้องพึ่งส่งออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อติดตามวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปนัดแรกของปี 2556 โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีเศรษฐกิจอีก 8 กระทรวง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุม ประเด็นหลักคือติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาวิกฤติยูโรโซน และประเด็นของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่มีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลัง ว่าจะมีผลอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกในปี 2556 ที่อาจจะได้รับผลดีจากมาตรการหน้าผาทางการคลังของสหรัฐ ทำให้ตัวเลขการส่งออกปี 2556 ของไทยดีขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือถึงผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่ได้ปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 หลังจากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยข้อมูลว่าภาคธุรกิจประมาณ 5-10% จะปิดกิจการภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพราะทนแบกรับค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองด้านเศรษฐกิจว่า ได้มีการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐ (Fiscal cliff) ซึ่งแนวโน้มเชื่อว่าสหรัฐ
จะมีการดำเนินการที่เข้มงวดในทางวินัยการคลังมากขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว แต่ในระยะสั้นสหรัฐคงต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการ QE เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและมีการจ้างงานมากขึ้น

“การแก้ปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐที่มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งวินัยทางการคลัง มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาวและระยะสั้น ซึ่งสหรัฐน่าจะดำเนินการควบคู่ไปกับเรื่องมาตรการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ (คิวอี) ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐค่อยๆ ฟื้นตัว และเพิ่มการจ้างงาน แต่ระยะสั้นคงหวังให้สหรัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเหมือนเคยไม่ได้แล้ว ดังนั้นประเทศต่างๆคงต้องมีหน้าที่ดูแลความพร้อมของตัวเองไปด้วย”

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจไทย ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประเมินว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เกินกว่า 5% สอดคล้องกับประมาณการของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.5% ส่วนการว่างงานอยู่ในอัตราต่ำ 0.6% ภาวะดุลการค้าดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองต่างประเทศมีเสถียรภาพที่ดี ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งภาพรวมยังมีเสถียรภาพ ดังนั้นน่าจะสรุปว่าปี 2555 ก็มีความเข้มแข็ง

“การส่งออกปี 2555 ยืนยันว่า จะไม่ติดลบ โดย 11 เดือนแรกการส่งออกขยายตัวประมาณ 2.5% แต่ปัจจุบันจะพึ่งพาการส่งออกในอัตราที่สูงๆ เพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่ได้ และเห็นว่าไม่จำเป็นเพราะขณะนี้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยกำลังซื้อในประเทศรวมทั้งการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้”

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2556 มองว่ายังมีเสถียรภาพ และยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง หรืออาจเติบโตได้ดีกว่าปี 2555 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเติบโตราว 5.5% และยอมรับว่า มีเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิดความผันผวนมาก รวมทั้งนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะถือว่าเป็นปีที่มีศักยภาพอีกปี และรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ เกิดความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยยังเชื่อว่าเศรษฐกิจปีนี้ควรจะดีเท่ากันหรือดีกว่าในปี 2555 ซึ่งคาดว่าจะโตได้เกิน 5% โดยในปีนี้จะเน้นการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศเป็นโจทย์หลัก ตามด้วยการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนจากภาครัฐซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีความพร้อมที่จะเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามแผน และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มที่ดีเกินกว่าเป้าหมาย หลังจากปี 2555 มียอดนักท่องเที่ยวสูงกว่า 21 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลจึงเตรียมปรับเพิ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวปี 2556 เพิ่มขึ้นจากเดิมตั้งไว้ที่ 22.5 ล้านคน

“อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ควรมีความราบเรียบและราบรื่น ถือว่าการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี” นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันว่าไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ เนื่องจากรัฐบาลได้มีการหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าแล้ว และการเพิ่มขึ้นของค่าแรงค่าจ้างทั่วประเทศไม่ใช่เป็นประเด็นใหม่เพราะว่า เป็นมติของคณะกรรมการไตรภาคีในเรื่องของค่าจ้างมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว ดังนั้นภาคเอกชนคงมีการเตรียมการกันแล้ว

ทั้งนี้การปรับค่าจ้าง ใน 7 จังหวัดนำร่องที่ขึ้น 300 บาทได้เกิดขึ้นในช่วงเม.ย.ปีที่แล้วและเห็นได้ชัด ว่า การดำเนินการตรงนั้นเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อยและไม่ได้เกิดปัญหาการตกงานหรือปิดกิจการ แต่ขณะเดียวกันหลายบริษัทมียอดขายที่ดีขึ้นเพราะกำลังซื้อที่ดีขึ้น รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องนี้ก็มีมาตรการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและสถาบันการเงินมาร่วมด้วย ทั้งในส่วนของการลดต้นทุนรายจ่ายของผู้ประกอบการ หรือในส่วนของการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และการเพิ่มศักยภาพประสิทธิภาพการผลิตให้ผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ม.ค. จะมีการนำมาตรการที่ภาคเอกชนเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณาซึ่งจะมีมากกว่า 10 มาตรการและเชื่อว่าข้อเสนอส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อเสนอที่จะได้รับความเห็นชอบจากครม.และจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวในช่วงนี้ได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 มกราคม 2556

น้ำตาลขอนแก่นพึ่งศาลขอเปิดหีบอ้อยชั่วคราว

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและสายงานผลิต และเทคนิค บริษัท น้ำตาลขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ให้โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลยเปิดหีบอ้อยได้ หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ให้แก่โรงงาน โดยที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เคยชี้แจงเลยว่าเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งหากได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทราบเพียงแต่ว่าโรงงานมีระยะห่างจากโรงงานเดิมไม่ถึง 80 กิโลเมตร

ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ตั้งโรงงานใน อ.วังสะพุง จ.เลยตั้งแต่ปี 2553 และต่อมาปี 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมนำเรื่องขออนุมัติเปิดโรงงานอีก 1 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียงกันเข้า ครม.ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่าโรงงานน้ำตาลขอนแก่นไม่มีปัญหาเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้โรงงานแห่งนี้มีกำลังการหีบอ้อยประมาณ 2.4 หมื่นตันต่อวัน เฟสแรกสามารถหีบได้ 1.5-1.6 หมื่นตันอ้อยต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาร 4,000 ล้านบาท

“กระทรวงอุตสาหกรรมควรพิจารณาจาก 2 โรงงานที่ตั้งใน จ. เลย โรงใดถูกโรงใดผิด ส่วนประเด็นการก่อสร้างโรงงานก่อนได้รับอนุญาต คือ รง.4 นั้นยอมรับว่าผิดจริง” นายชลัชกล่าว และว่าศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดไต่สวน
นายสมศักด์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่ายังไม่เห็นเรื่องที่มีโรงงาน้ำตาลเข้าร้องเรียนต่อศาล ยืนยันว่าที่ผ่านมาพยายามช่วยเต็มที่ เพราะโรงงานมีปัญหาเรื่องระยะห่างการตั้งโรงงานไม่ถึง 80 กิโลเมตร หลังจากนี้กระทรวงจะรอฟังคำสั่งศาลและปฏิบัติตามคำสั่งศาลต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 4 มกราคม 2556

แก้แรงงานเกษตรขาดแคลน

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2551-2555) เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร พบว่าจากการดำเนินโครงการ ได้รับความสนใจและการตอบรับของเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากกว่าแผน โดยมีทั้งสิ้น 31,045 ราย จากแผนงานจำนวน 26,760 ราย ได้แก่

1) หลักสูตรการพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 4,185 ราย 2) หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1,677 ราย 3) หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่ (ปวช./ปวส.) เกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 25,183 ราย พร้อมกันนี้นักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถได้รับสิทธิเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดิน ของ ส.ป.ก. ตามโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ได้ โดยที่เข้าเรียนในสาขาวิชา และสถานศึกษาที่โครงการกำหนดโดยมีระยะเวลาการฝึกอบรม หลักสูตรปวช./ปวส. (3-5ปี) ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เข้าร่วมโครงการ

จากผลการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนภาคีเครือข่ายได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมาเสนอให้ขยายความร่วมมือต่อไปอีก โดยให้เชิญหน่วยงานภาคีเข้าร่วมดำเนินงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิจัยทางการเกษตร (สวก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระ
บัง เพื่อเพิ่มบุคลากรภาคการเกษตรที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศในอนาคต และบทเรียนนี้จะได้นำมาพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 มกราคม 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : เกษตรพันธะสัญญา

เกษตรพันธะสัญญา เดิมทีเรียกทับศัพท์ฝรั่งว่า คอนแทรกต์ ฟาร์มมิ่ง โดยหลักการเป็นเรื่องดีที่เกษตรกรผู้ผลิตกับบริษัทเอกชนผู้รับซื้อเป็นคู่สัญญากัน

เป็นการกำหนดมาตรฐานการผลิต และคุณภาพผลผลิต ตลอดจนราคารับซื้อ ระหว่างคู่สัญญา
ชาวนาไทยกับกรมการข้าว ก็เป็นคู่สัญญาในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ในราคาที่ตกลงกัน อันนี้ทำมาไม่มีปัญหา เช่นเดียวกับบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาทำสัญญากับเกษตรกรไทยในการรับซื้อผลผลิตผลไม้ ซึ่งก็ไม่ค่อยมีปัญหา ยกเว้นเกษตรกรเป็นฝ่ายเบี้ยว เพราะราคาที่รับซื้อค่อนข้างสูง แต่ก็ด้วยมาตรฐานการผลิตและคุณภาพผลผลิตตามที่กำหนด

เกษตรพันธะสัญญาที่ค่อนข้างมีปัญหาดูเหมือนจะตกหนักไปที่การเลี้ยงปศุสัตว์ และประมง เป็นหลัก ใครเป็นใครในยุทธจักรนี้เดาชื่อกันไม่ยาก มีกันหลายบริษัท ทั้งใหญ่ยักษ์ระดับข้ามชาติกระทั่งระดับชาติ  เพราะเป็นพันธะสัญญาผูกมัดเกษตรกรเพียงฝ่ายเดียว เริ่มต้นด้วยพันธุ์ ไม่ว่าลูกเจี๊ยบ ลูกหมู ลูกปลา โรงเรือนอุปกรณ์ในโรงเรือน ไปจนถึงอาหารแต่ละช่วง ยาสัตว์ และฯลฯ เกษตรกรต้องซื้อจากบริษัทคู่สัญญาทุกอย่าง และราคาก็มักไม่นิ่ง มีแต่ขึ้น ไม่มีลง  ตรงข้าม เกษตรกรจะถูกตีกรอบการทำงานไปทุกอย่าง ผิดไปจากนั้นจะถูกบริษัทคู่สัญญาเล่นงานทุกเม็ด
บริษัทเอกชนอยู่ในฐานะผู้ว่าจ้างที่ไม่ต้องพบกับความเสี่ยง เพราะการลงทุนทุกอย่างเกษตรกรเป็นฝ่ายลงทุนเอง แถมยังซื้อปัจจัยการผลิตทุกอย่างจากบริษัท มิหนำซ้ำ ราคาที่ตกลงกันก็ต้องว่ากันไปตามนั้น

เกษตรกรไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ลงทุนตรงข้ามอยู่ในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยงที่แบกรับความเสี่ยงไว้ที่ตัวเองทั้ง 100% กลายเป็นทาสในรูปแบบใหม่พันธะสัญญาแบบนี้ จึงเป็นพันธะที่เกษตรกรต้องแบกรับเพียงฝ่ายเดียว ในขณะบริษัทมีความสุขกับการไม่ต้องเสี่ยงแถมยังได้ขายของให้คู่สัญญาชนิดปฏิเสธไม่ได้ ปฏิเสธการใช้ การซื้อ เมื่อไร เมื่อนั้นเป็นอันสิ้นสุดสัญญา

บริษัทได้ไปแล้ว ในขณะเกษตรกรยังไม่ทันได้ก็สูญเสียอิสรภาพ และเงินทองไปเรียบร้อยก่อนหน้านั้นแล้ว  นี่คือสัญญาทาส ไม่ใช่สัญญาแห่งความเท่าเทียมกัน

ดูกันง่ายๆ บริษัทจำพวกนี้มีแต่โตกับโต กำไรทุกรอบปี ตรงข้าม เกษตรกรส่วนใหญ่ล้มละลาย ต้องถูกสถาบันการเงินยึดทรัพย์ เพราะขาดทุน ไม่มีปัญญาจ่าย หนี้คืน

หากใครได้ดูหนังเรื่องฟู้ด อิงค์ ที่แฉโพยกระบวนการเอาเปรียบเกษตรกรของบรรษัทข้ามชาติ แม้กระทั่งการเปิดให้นักข่าวเข้าไปดูฟาร์ม หรือสัมภาษณ์ปัญหาก็ยังเป็นข้อห้าม ใครฝ่าฝืนก็เป็นยกเลิกสัญญา

การที่บอกว่า เกษตรกรต้องอ่านสัญญาก่อนลงนาม เป็นการปัดความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐอย่างยิ่ง เพราะสัญญาที่กลุ่มทุนทำนั้น เกษตรกรไม่มีทางปฏิเสธได้ ไม่ต้องอื่นไกลสัญญาบัตรเครดิต สัญญาประกันชีวิต ประกันภัย มีกี่คนอ่าน มีกี่คนขอให้แก้ไขก่อนลงนาม

เรื่องอย่างนี้ รัฐบาลต้องเข้ามาคุ้มครองเกษตรกรและผู้บริโภค ด้วยการทำสัญญามาตรฐาน แต่เคยมีรัฐบาลไหนคิดจะทำบ้าง ในเมื่ออีกมือหนึ่ง ถ้าไม่แบขอก็ขยุ้มคอนายทุนบีบถ้าไม่คายประโยชน์เข้าพรรคเข้าห่อตัวเอง
นายทุนที่ไหนจะกลัวรัฐบาล?

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 มกราคม 2556

สศก.ปลื้มโครงการนิคมการเกษตรผลตอบรับดี

สศก. เผย โครงการนิคมการเกษตร ผลตอบรับดี พร้อมเดินหน้า นำงบดำเนินการบำรุงน้ำ-ดิน
นางอารีย์ โสมวดี รองเลขาธิการ และรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสนับสนุนการดำเนินโครงการนิคมการเกษตร ครั้งที่ 2/2555 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลการดำเนินงานนิคมการเกษตรปี 2555 ที่ได้รับงบประมาณ รวม 165.14 ล้านบาท จำนวน 17 นิคม รวมทั้งการติดตามการดำเนินงานโดยศูนย์ประเมินผลในนิคมการเกษตร จำนวน 9 นิคม ซึ่งพบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจมาก และสำหรับการดำเนินงาน ในโครงการนิคมการเกษตรปี 56 ซึ่งได้รับงบประมาณ 80.60 ล้านบาทนั้น จะมีการนำงบประมาณไปดำเนินการทั้งในส่วนของการสูบน้ำช่วยเหลือชาวบ้านการบำรุงรักษาคลองส่งน้ำ การบริการวิเคราะห์ดิน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีมติขยายระยะการดำเนินงานโครงการนิคมการเกษตรระยะที่ 1 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2557 เป็น ปี 2559 เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ในระยะปานกลาง และกำหนดให้นิคมการเกษตร จัดทำงบประมาณแบบบูรณาการ รวมทั้ง การสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อการดำเนินการโครงการระยะที่ 2

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 3 มกราคม 2556

ผ่าน'โอกาส-วิกฤติ'6อุตฯในเออีซี

การก้าวสู่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 มีทั้งโอกาสและวิกฤติในคราวเดียวกัน และเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ รวมทั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ทำการศึกษาถึงผลกระทบของเออีซีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย 6 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ประกอบด้วย

กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล พบว่า การเข้าสู่เออีซีจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำคือ เหล็ก อุตสาหกรรมกลางน้ำ คือ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และอุตสาหกรรมปลายน้ำคือ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล ดังนี้

ผลกระทบในด้านบวก ประเทศไทยได้เปรียบด้านแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องมือกล โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากการลอกเลียนของเดิม สามารถส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ ไปยังกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ได้มากขึ้น และสามารถใช้ประเทศกลุ่ม CLMV เป็นฐานการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ขณะที่ความต้องการเครื่องจักรกลในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น

ผลกระทบด้านลบ ผู้ประกอบการในกลุ่มอาเซียนสามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่มีราคาถูกลง เนื่องจากการยกเลิกภาษีน้ำเข้า ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูง เพราะการเข้าสู่เออีซีไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กของไทย เนื่องจากรัฐบาลยังมีนโยบายคุ้มครองอุตสาหกรรมต้นน้ำ นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีศักยภาพสูงในการผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม จะมีราคาต่ำลงและบุกตลาดไทยมากขึ้น นอกจากนี้อาจมีการย้ายฐานการผลิตเครื่องจักรในไทย

กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทย มีผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญและมีศักยภาพทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมอาหารมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในอาเซียนและในภูมิภาคอื่นๆ แต่ก็ยังทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบเช่นกัน
ผลกระทบด้านบวก จะเป็นการเร่งให้เกิดโอกาสขนาดใหญ่ต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย เห็นได้จากการเปิดเสรีสินค้าประเภทอาหารที่มีการลดภาษีเป็นศูนย์นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สินค้าอาหารของไทย มีดัชนีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการสามารถแสวงหาวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ๆ รวมถึงสามารถขยายฐานการลงทุนและฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ แรงงานและการขนส่งได้

ผลกระทบด้านลบ ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานเนื่องจากโอกาสทางการค้าและการลงทุนของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานกลับไปทำงานในประเทศของตน และผลจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี อาจทำให้ผู้ประกอบการถูกครอบงำจากนักลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้รับจ้างผลิตมากกว่าเป็นเจ้าของกิจการ

กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมยาง และมีศักยภาพในการผลิตยางแปรรูปอย่างครบวงจร ซึ่งการเข้าสู่เออีซีจะส่งผล ดังนี้

ผลกระทบด้านบวก หากเออีซีมีการขยายกรอบความร่วมมือครอบคลุมแรงงานกรีดยาง จะช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยางและส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานกรีดยาง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้น สามารถส่งออกไปยังตลาดอาเซียนได้ในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศไทย มีศักภาพเพิ่มมากขึ้นในการขยายตลาดไปในประเทศอาเซียนผลจากสิทธิพิเศษทางภาษี

ผลกระทบด้านลบ ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้นจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานร่วมกันในการยอมรับ (MRA) ของอาเซียน ขณะที่ผู้ประกอบการบางกลุ่มอาจเผชิญการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มถุงมือยาง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจเสียเปรียบผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่มีทักษะความรู้ด้านการใช้สิทธิพิเศษทางภาษี

กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูก บริการด้านการวิจัยและพัฒนา แรงงานที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เพื่อใช้เป็นฐานขยายการผลิต และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ฯลฯ

ผลกระทบด้านลบ ไทยจะขาดแคลนแรงงานฝีมือและบุคลากร เช่น วิศวกรเคมี และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากย้ายไปทำงานในประเทศที่มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สูงกว่า เสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้สินค้าราคาถูกและสินค้าด้อยคุณภาพ นอกจากนี้สินค้าในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากประเทศอื่นๆ จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด

กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 50 ปี และผู้ประกอบการมีการรวมกลุ่ม ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เป็นสมาคมอย่างเข้มแข็ง และเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทต่อการจ้างงานของประเทศ

ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการผลิตลดลง ผลจากการนำเข้าเส้นใยจากอินโดนีเซียซึ่งมีราคาถูก สามารถส่งออกผ้าผืน รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น สามารถย้ายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศที่มีแรงงานมากและค่าแรงต่ำได้ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ต่อเนื่องจากการเปิดเสรีทางด้านบริการ

ผลกระทบด้านลบ เกิดจากความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะส่งผลต่อการปรับตัวด้านต้นทุนการผลิต

กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศในลำดับต้นๆ เนื่องจากคุณภาพของสินค้าได้รับการยอมรับในระดับโลก

ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูก บริการด้านการวิจัยและพัฒนา แรงงานที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงบริการด้านการตลาดและเงินทุน นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปลงทุนในอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ได้มากขึ้น และใช้เป็นทางผ่านในการนำเข้าวัตถุดิบจากนอกประเทศอาเซียน รวมทั้งเป็นช่องทางในการส่งออกไปในกลุ่มอาเซียนและนอกกลุ่มมากขึ้น ฯลฯ

ผลกระทบด้านลบ ไทยจะขาดแคลนแรงงานฝีมือและบุคลากร เช่น นักออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ ช่างเจียรไนอัญมณี ช่างเผา/หุงพลอย ฯลฯ เนื่องจากย้ายไปทำงานในประเทศที่ให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า และอาจเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับสินค้าราคาถูกจากประเทศในกลุ่ม CLMV นอกจากนี้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากประเทศต่างๆ จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 3 ธันวาคม 25556

ชี้แผน 5 ปีปั้นเกษตรรุ่นใหม่เกินเป้า-จับมือหน่วยเกี่ยวข้องสานต่อโครงการฯ

กระทรวงเกษตรฯ ชี้แผน 5 ปี ปั้นเกษตรรุ่นใหม่เกินเป้า เตรียมจับมือหน่วยเกี่ยวข้องสานต่อโครงการขยายเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาบุคลากรภาคเกษตรของประเทศ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ในการจัดทำโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2551-2555) เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรที่ปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมมีจำนวนลดน้อยลง และคาดการณ์ว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตอันใกล้จะเหลือเพียงร้อยละ 30 และอายุโดยเฉลี่ยของเกษตรกรจะสูงขึ้น คือมากกว่า 55 ปี ขณะเดียวกันข้อมูลจากสถาบันการศึกษาพบว่า มีผู้สนใจเรียนทางด้านการเกษตรและวิชาที่เกี่ยวข้องน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดการสูญเปล่าของทรัพยากรบุคคล และการลงทุนทางการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวทั้ง 3 หลักสูตรตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจและการตอบรับของเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากกว่าแผน โดยมีทั้งสิ้น 31,045 ราย จากแผนงานจำนวน 26,760 ราย ได้แก่

1) หลักสูตรการพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 4,185 ราย ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดใหม่ของภาคเกษตรที่เริ่มปรับใช้ในหลายประเทศ คือ การพึ่งพิงฐานความรู้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการผลิตและแข่งขัน พร้อมกับการแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ มากกว่าที่จะพึ่งพาฐานทรัพยากรเป็นหลักเช่นในอดีต ขณะเดียวกันผู้บริโภคสินค้าเกษตรเริ่มให้ความใส่ใจคุณภาพของผลผลิตที่สูงขึ้น ที่เน้นให้ผู้ถูกเลิกจ้างหรือผู้ว่างงาน/นักศึกษาที่จบการศึกษาเกษตรกรรม/บุคคลผู้สนใจทั่วไป และคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการมีอายุระหว่าง 20-45 ปี วุฒิการศึกษา ม.6 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า

2) หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1,677 ราย ซึ่งจะเป็นหลักสูตรระยะสั้นประมาณ 4-6 เดือน โดยเน้นให้เกษตรกรที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นชนบทที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว ได้มีการพัฒนาทักษะการใช้ที่ดินตามชนิดพืชที่ปลูกของตนเอง และยกระดับการผลิตได้ตามความเหมาะสม เช่น การผลิตข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ ผัก และการเลี้ยงสัตว์ และเพิ่มเติมทักษะการวางแผนและจัดการครัวเรือนเกษตรของตนเอง ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การทำบัญชีครัวเรือน การทำบัญชีฟาร์มระดับไร่นา การวางแผนเบื้องต้นจากข้อมูลบัญชีครัวเรือนของตนเอง

3) หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่ (ปวช./ปวส) เกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 25,183 ราย ซึ่งหลักสูตรนี้จะเป็นการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่มีอยู่เดิมในประเภทวิชาเกษตรกรรม และประเภทวิชาประมงของสถานศึกษาที่เป็นสถานศึกษานำร่องในโครงการ เช่น สาขาวิชาพืชศาสตร์ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขาวิชาประมง เป็นต้น ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอนใหม่เพื่อให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดี เกิดความเชื่อมั่นและมีศักยภาพเพียงพอในการเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม โดยนักศึกษาที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถได้รับสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการจัดที่ดิน ของ ส.ป.ก. ตามโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ จะต้องเข้าเรียนในสาขาวิชา และสถานศึกษาที่โครงการกำหนดโดยมีระยะเวลาการฝึกอบรม หลักสูตร ปวช./ปวส.(3-5ปี) ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนภาคีเครือข่ายได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 เสนอให้ขยายความร่วมมือต่อไปอีก โดยให้เชิญหน่วยงานภาคีเข้าร่วมดำเนินงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิจัยทางการเกษตร (สวก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าลาดกระบัง เพื่อเพิ่มบุคลากรภาคการเกษตรที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศในอนาคต และบทเรียนนี้จะได้นำมาพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 3 ธันวาคม 25556

ชาวไร่อ้อยเดือดร้อน

เกษตรกรชาวไร่อ้อยจาก อ.วังสะพุง จ.เลย ราว 200 คน เป็นตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสมาชิกร่วม 2,000 คน เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้โรงงานของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)
รับซื้ออ้อยที่ตัดไปแล้วและพร้อมที่จะตัด เหตุที่โรงงานปฏิเสธไม่รับซื้ออ้อยเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการหรือ รง.4 ให้ จึงเปิดดำเนินการไม่ได้

กระทรวงอุตสาหกรรมให้เหตุผลที่ไม่ยอมออกใบอนุญาตประกอบกิจการว่า ขัดกับหลักการของกระทรวงอุตสาหกรรมที่โรงงานจะต้องมีระยะห่างจากโรงงานเดิมไม่น้อยกว่า 80 กม.

การที่โรงงานไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มเกษตรกรสมาชิกปลูกอ้อยมาก็เพื่อส่งเข้าไปหีบในโรงงานแห่งนี้ มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับความเดือดร้อนเกือบ 2,000 ราย คิดเป็นเนื้อที่กว่า 100,000 ไร่ ผลผลิตอ้อยกว่า 1,500 ตัน มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท

ปัญหาที่เกิดขึ้นมีต้นเหตุมาจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่นำเสนอการตั้งโรงงานซ้ำซ้อนกัน โรงงานน้ำตาลของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ยื่นขอจัดตั้ง และกระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอให้ ครม.อนุมัติเมื่อต้นปี 2553

ต่อมาต้นปี 2554 มีโรงงานน้ำตาลอีกแห่ง เสนอขอตั้งเช่นเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมก็นำเรื่องเสนอให้ ครม.อนุมัติเช่นเดียวกัน กลายเป็นทั้งสองโรงงานได้รับอนุมัติเหมือนกัน ต่างคนต่างสร้างจนแล้วเสร็จ แต่ประกอบกิจการไม่ได้ เนื่องจากอยู่ห่างกันไม่ถึง 80 กม.

เมื่อเปิดดำเนินการไม่ได้ก็ไม่สามารถหีบอ้อยได้ ไม่สามารถรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรได้ ขณะนี้เป็นฤดูกาลหีบอ้อย ปีหนึ่งจะมีระยะเวลาเพียง 5 เดือน จากเดือน พ.ย. จนถึงต้น มี.ค. เท่านั้น หลังจากนั้นอ้อยก็จะเสื่อมสภาพ

ผวจ.เลยรู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรฯให้ช่วยออกใบ รง.4 หรือใบอนุญาตเปิดดำเนินการให้กับโรงงาน
คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายก็ยังมีหนังสือผ่อนผันให้โรงงานที่ตั้งใหม่ใน จ.เลย เปิดหีบอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 เพื่อแก้ปัญหาให้ชาวไร่ กระทรวงอุตสาหกรรมกลับเพิกเฉย ไม่รีบแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความผิดพลาดของกระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงต้องไปพึ่งศาล.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ ธ.ค. ทะลุ 3.6% สูงสุดในรอบปี ดันทั้งปี 55 โต 3.02%

ตามเป้าหมาย ส่วนปี 56 ตั้งเป้าโต 2.8-3.4% ยันไม่ห่วงค่าแรง 300 บาททั่วประเทศดันราคาสินค้าพุ่ง คาดกระทบเงินเฟ้อแค่ 0.1%

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (เงินเฟ้อ) เดือน ธ.ค.55 ว่า เท่ากับ 116.86 สูงขึ้น 3.63% เทียบกับเดือน ธ.ค.54 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดรอบปีนี้
และสูงขึ้น 0.39% เทียบกับเดือน พ.ย.55 ส่วนอัตราเฉลี่ยทั้งปี สูงขึ้น 3.02% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวตามกรอบเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่เกิน 3%

โดยสาเหตุทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.ขยายตัวสูงสุดรอบปีนี้ เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 4.00% และหมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 3.39%

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 56 ขยายตัวเพิ่มขึ้นคือ ราคาอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผักสดและผลไม้ และกลุ่มเนื้อสัตว์ หมู ไข่ไก่ ที่ราคาจะผันผวนตามฤดูกาล ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ของใช้ส่วนบุคคล คาดว่าราคาปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะตลาดมีการแข่งขันรุนแรง หากปรับราคาขึ้นอาจกระทบกับยอดขายสินค้าได้ จึงเชื่อว่าผู้ประกอบการจะยังคงตรึงราคาเพื่อเพิ่มยอดขาย

นางวัชรี กล่าวต่อถึงการปรับขึ้นค่าแรงงานเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศที่มีผลในวันที่ 1 ม.ค.นี้ว่า จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 56 เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น เพราะผลกระทบได้เกิดขึ้นไปแล้วตั้งแต่การปรับขึ้นค่าแรงครั้งแรกนำร่องใน 7 จังหวัดเขตอุตสาหกรรมเมื่อเดือน เม.ย.55 ซึ่งขณะนั้นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้ปรับขึ้นราคาสินค้าไปแล้ว

ส่วนการขึ้นค่าแรงทั่วประเทศปีนี้จะมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แต่ก็กระทบเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานมาก เช่น เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะช่วยในการหาตลาดใหม่ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ จะเพิ่มรายการสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปีนี้ใหม่ โดยอาจเพิ่มเป็น 450 รายการ จากเดิมที่ใช้ 417 รายการ เพื่อให้ครอบคลุมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสินค้าที่จะนำมาบรรจุในการคำนวณเงินเฟ้อ เช่น ก๊าซเอ็นจีวี แก๊สโซฮอล์ ค่าดูแลรักษาความปลอดภัย ค่าดูแลสุขภาพ ค่ารถรับส่งนักเรียน  ค่าโดยสารรถตู้ระหว่างจังหวัด ค่าเช่ารถ ค่าล้างแอร์ เป็นต้น.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

รับรางวัลโรงงานน้ำตาลทรายชั้นดี ปี 2555

อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ตัวแทนของบริษัทฯเข้ารับรางวัล และถ้วยเกียรติยศโรงงานน้ำตาลทรายดีเด่นประเภท "รง.งานน้ำตาลทรายชั้นดี" จาก ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครบรอบ 28 ปี ประจำปี 2555

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ปุ๋ยปลอมระบาดในอีสาน

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าช่วงนี้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องระมัดระวังในการซื้อ ปุ๋ยเคมีไปใช้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงควรระวังให้มาก เนื่องจากอาจมีปุ๋ยเคมีปลอมหรือปุ๋ยผิดมาตรฐานหลุดลอด เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดสกัดจับรถบรรทุกปุ๋ยเคมีปลอมสูตร 15-5-30 เครื่องหมายการค้าตราช้างทอง ผลิตโดย บจก.แปซิฟิค เฟอร์ติไรเซอร์จำนวน 320 กระสอบ น้ำหนัก 16 ตัน มูลค่ากว่า 300,000 บาท จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าปุ๋ยปลอมดังกล่าวมาจากจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลย ทั้งยังพบว่าหมายเลขทะเบียนที่ระบุข้างกระสอบเป็นหมายเลขทะเบียนปลอม และสถานที่ผลิตไม่ตรงตามที่ระบุไว้บนกระสอบ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมายตามพ.ร.บ.ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยปลอมที่จับได้นี้ เป็นปุ๋ยผสมที่มีปัญหาปริมาณธาตุอาหารสำคัญในเม็ดปุ๋ยต่ำ

"ในปี 2555 จากการตรวจสอบร้านจำหน่ายปุ๋ย 19,425 แห่ง จากทั้งหมด 28,026 แห่ง พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ยมาตรวจวิเคราะห์คุณภาพจำนวน 782 ตัวอย่าง พบว่ามีปุ๋ยไม่ได้มาตรฐานประมาณ 12% ลดลงจากปี 2554 ที่สุ่มตรวจ 19,839 แห่ง จำนวน 1,372 ตัวอย่าง พบปุ๋ย ไม่ได้มาตรฐาน 13%" นายดำรงค์กล่าว

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 2 มกราคม 2556

ชงมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยเป็นแม่แบบเออีซี

รัฐมนตรีเกษตรฯ เร่งใช้จุดแข็งความเป็นผู้นำด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เตรียมนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยเป็นแม่แบบมาตรฐานอาเซียน พร้อมเตรียมงบปรับปรุงด่านตรวจสอบนำเข้าสินค้าเกษตรคุมคุณภาพสินค้าป้องราคาผลผลิตในประเทศ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากในปัจจุบันที่ไทยมีมาตรฐานสินค้าเกษตรกว่า 200 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำและมีความพร้อมอย่างมากในด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรในกลุ่มสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเออีซีขึ้น กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะผลักดันให้เกิดมาตรฐานอาเซียนขึ้นมา โดยจะนำมาตรฐานของไทยเป็นตัวนำในการเจรจา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไทยจะได้เปรียบในกลุ่มสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แม้ว่าจะมีการปรับฐานการผลิตที่มีมาตรฐานเดียวกันแล้ว คือ ในเรื่องของต้นทุนการผลิตซึ่งของไทยจะถูกกว่า และที่สำคัญคือเกษตรกรบางส่วนมีความพร้อมและปรับปรุงมาตรฐานการผลิตของตัวเองเข้าสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรที่ได้ประกาศใช้แม้ว่าที่ผ่านมาจะเป็นมาตรฐานสมัครใจ ซึ่งในเร็วๆ นี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแผนในการปรับปรุงมาตรฐานสินค้าเกษตรบางชนิดที่เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญไปสู่มาตรฐานบังคับเพื่อสร้างโอกาสและจุดแข็งให้กับสินค้าเกษตรไทยเมื่อก้าวเข้าสู่เออีซีอีกด้วย

ส่วนอีกปัจจัยที่สำคัญในการเข้ามาควบคุมสินค้าเกษตรที่จะส่งออกและนำเข้าให้ได้มาตรฐาน คือ ด่านตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตร ที่จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบให้รองรับการก้าวเข้าสู่เออีซีมากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเตรียมจัดของบประมาณในการบูรณาการเรื่องด่าน อาทิ ด่านศุลกากร ด่านสินค้าเกษตรทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และด่านของอย. เพื่อเตรียมการกำกับ ควบคุม และดูแลเรื่องสินค้าเกษตรที่จะเข้ามาและผ่านออกไปด้วยเช่นกัน” นายยุคล กล่าว

“ขณะนี้เกษตรกรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยได้เริ่มเข้าสู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เช่น ด้านพืช เข้าสู่มาตรฐานแล้วประมาณ 20% ด้านปศุสัตว์ บางชนิดอย่างไก่ เข้าสู่ระบบ 100% สุกร 30% ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าระบบมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเออีซีเปิดมาตรฐานที่จะใช้ของ มกอช. ในปัจจุบันที่เป็นมาตรฐานสมัครใจ ก็จะมีการพูดคุยเรื่องการทำมาตรฐานบังคับให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการวางระบบการดูแลสินค้าเข้าประเทศ ถ้าประเทศไทยผลิตได้ในระดับมาตรฐานตามที่กำหนด ก็จะสามารถคุยกับเพื่อนบ้านได้ สินค้าเข้ามาในประเทศไทยต้องมีมาตรฐานเดียวกับเรา แต่ถ้าเราไม่มีมาตรฐานของเราเอง คือ ผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ประเทศอื่นก็มีโอกาสเข้ามาได้ และแข่งขันกันเรื่องราคา ซึ่งคือความเสี่ยงของเกษตรกรไทย” นายยุคล กล่าว

นายยุคล กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า สำหรับนโยบายการพัฒนาสินค้าเกษตรเมื่อก้าวเข้าสู่เออีซีนั้น กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการในเชิงรุก เนื่องจากสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเราอยู่ในสถานะผู้นำการผลิตและการตลาด ส่วนสินค้าชนิดใดที่มีการผลิตใกล้เคียงกันหรือไทยยังเป็นรองในด้านการผลิต จะเน้นในด้านการสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตรายสำคัญ ๆ เช่น สินค้าข้าว ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันระหว่าง 5 ประเทศที่มีการผลิตข้าว เพื่อร่วมมือกันผลิตข้าวให้เกิดความมั่นคงอาหารของโลก และส่งออกไปจำหน่ายนอกกลุ่มอาเซียน หรือบางสินค้าที่มีการคุยลักษณะการแข่งขัน เช่น กาแฟ ประเทศไทยยังผลิตกาแฟในมาตรฐานที่สู้เวียดนามไม่ได้ ก็จะต้องหารือผู้เกี่ยวข้องร่วมกันว่าจะร่วมมือในด้านการผลิต ทำการตลาดร่วมกัน โดยมาพิจารณาศักยภาพการผลิตของประเทศในด้านแหล่งผลิตที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการหารือกันโดยเร่งด่วนต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 มกราคม 2556

เศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ว่ากลุ่มที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ จีนและสหรัฐ และกลุ่มที่ ยังคงอ่อนแอ คือ ยุโรปและญี่ปุ่น ดังนั้น อนาคตจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดโลกมากขึ้น อีกทั้งกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ยังเติบโต แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศอุตสาหกรรมหลัก หากเศรษฐกิจของประเทศหลักยังมีแนวโน้มซบเซาต่อไปจึงยากที่จะเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตรที่เกิดขึ้นประกอบด้วย

ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ที่จะยังคงมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศผู้นำ มีแนวโน้มขยายตัวและการปรับตัวที่ดีขึ้น ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการ “การจัดระเบียบโลกใหม่” คือ การแข่งขันที่รุนแรงจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ การสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ในการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ และแสวงหาประโยชน์จากประเทศอื่น ๆ

สำหรับประเทศไทยมีจุดแข็งในการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพราะประเทศไทยจะมีผลผลิตสินค้าเกษตรมากกว่าการบริโภคในประเทศ โดยเป็นผู้ส่งออกข้าว มัน ยางเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ในปัจจุบันมีประเทศอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรและส่งออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม พม่า และกัมพูชา แต่ปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจของโลก ดังนั้นจะทำให้มีปริมาณสินค้าเกษตรขายในตลาดโลกมาก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลงได้ ซึ่งจะกระทบต่อระดับราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ

สินค้าเกษตรนับเป็นสินค้าหลักที่มีศักยภาพสูงในการส่งออก ดังนั้นการส่งออกสินค้าเกษตรจำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลและตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าของไทยมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเริ่มตั้งแต่การควบคุมกระบวนการ การเพาะปลูก การผลิต ผลิตภัณฑ์สุดท้าย จนถึงมือผู้บริโภค ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า และทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

แต่ทั้งนี้ก็จะต้องไม่ลืมปัญหาภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วม ที่จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร การบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นนัยสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ทางการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนได้มีการวิจัยและพัฒนา ในทางที่ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่ดี มีคุณภาพ ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แรงงานภาคการเกษตรมีแนวโน้มอายุสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ไม่นานนักเกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีภูมิปัญญาภาคการเกษตร อันจะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาสู่วงการนี้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรและระบบอาหารโลกที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่จุดใหม่ในปัจจุบัน โดยโลกของเกษตรและอาหารนี้จะมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เข้ามารุมเร้าจนก่อให้เกิดการถีบตัวสูงขึ้นของราคาอาหารและความผันผวนของอุปทานอาหารโลก และอาจเกิดความผันผวนในด้านอุปสงค์ด้วย ปัจจัยสำคัญ ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ การเติบโตขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา และ ปัจจัยจากเงินทุนเคลื่อนย้าย เหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาและการไหลเวียนของอุปทานอาหารในวงจรเกษตรและอาหารโลกในอนาคต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามนโยบาย

สำคัญ ๆ ของรัฐบาลที่สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทั้งเรื่องเร่งด่วน และนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร เพื่อพัฒนาภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรองค์กรเกษตร การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อสามารถแข่งขันและเป็นพื้นฐานความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของประเทศ อาทิ ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำ อย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขต พื้นที่ชลประทาน จัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555–2557 สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกัน โดยเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรกรรมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2558 การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเยียวยาความเสียหายของพืชผลจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร

ขณะเดียวกัน จากการประมาณการขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ ยังคาดการณ์ว่าข้าวจะยังคงเป็นอาหารหลักที่จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรโลกทั้งหมดจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 7 พันล้าน เป็น 9 พันล้านคน ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการการพัฒนาข้าวที่มีคุณภาพเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของกิจกรรม ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้าว โดยเฉพาะเรื่องของสายพันธุ์ข้าวที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มความต้านทานโรคแมลง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก กระบวนการเก็บเกี่ยวแปรรูป การเก็บรักษา การเพิ่มมูลค่า รวมทั้งคุณลักษณะพิเศษของข้าวแต่ละชนิดเพื่อเพิ่มมูลค่า

และที่สำคัญคือ การพัฒนาเครื่องจักรกลทดแทนแรงงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มจะลดลงและเป็นชาวนาที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี ฉะนั้นจะต้องสร้างบุคลากรด้านนี้ขึ้นมารองรับอย่างรวดเร็วควบคู่กับการสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก และอนุรักษ์พื้นที่ทำการเกษตรของไทยไว้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดนอกจากนี้ ประเทศไทยจะต้องสร้างความร่วมมือในระดับประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ในการร่วมกันวางระบบการผลิตข้าวและการค้าข้าวร่วมกันเพื่อผลิตข้าวป้อนประชากรในกลุ่มอาเซียน 620 ล้านคน และป้อนชาวโลกกว่า 3 พันกว่าล้านคนอีกด้วย.

จาก www.dailynews.co.th  วันที่ 1 มกราคม 2556