http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมกราคม 2558)

ก.อุตฯตั้งเป้าปี’58ผุด‘โซนนิ่งแพลน’14จังหวัด

นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดพื้นที่อุตสาหกรรม (โซนนิ่งแพลน) อย่างเหมาะสมภายใต้ยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2555-2558 ในพื้นที่ 14 จังหวัด ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2558 ตามแผนอย่างแน่นอน ทั้งนี้เมื่อดำเนินการจัดโซนนิ่ง 14 จังหวัดแรกแล้วเสร็จ จะเร่งดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่ที่อุตสาหกรรมขยายตัวอีก 20 จังหวัด โดยใช้แม่แบบเดียวกับ 14 จังหวัดแรก และจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ คือภายในเดือนกันยายน 2558 ทำให้คาดว่าทั้งปีจะมีพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรมแล้วเสร็จรวม 34 จังหวัด นอกจากนี้จะยกเลิกการกำหนดพื้นที่สีต่างๆในเขตอุตสาหกรรมด้วย แต่จะใช้วิธีการวางผังเมืองอุตสาหกรรมจากการโซนนิ่งพื้นที่เหมาะสมแทน

“การจัดโซนนิ่งก็เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ เพื่อให้อุตสาหกรรมกระจายตัวอย่างเหมาะสม ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนการยกเลิกคัลเลอร์โซน หรือการจัดสีในเขตอุตสาหกรรมก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ อย่างเช่นที่ จ.น่าน เขาปลูกผลไม้ ปลูกลำไย แต่เป็นโซนสีเขียว พอจะตั้งโรงงานแปรรูปเขาก็ทำไม่ได้ ดังนั้นการยกเลิกโซนสีแต่เปลี่ยนมาเป็นโซนนิ่งพื้นที่เหมาะสมจะรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้กว้างมากขึ้น” นายสมชายกล่าว

ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรอ.ได้ศึกษาพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม 14 จังหวัด โดยแบ่งเป็นพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น 6 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม จ.ชลบุรี และจ.ระยอง และจังหวัดที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมสูง 8 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.สระบุรี จ.กาญจนบุรี จ.เพชรบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.ปราจีนบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมให้มีความเหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยขณะนี้ กรอ.อยู่ในระหว่างดำเนินการ โดยจะระดมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และจัดทำเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในแต่ละจังหวัดเป้าหมาย เช่น แผนกำหนดการใช้พื้นที่อุตสาหกรรม แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม แผนการพัฒนาด้านสังคม และแผนงานกำกับดูแล เป็นต้น เพื่อให้เสร็จตามแผนปีนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558 

ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ลดต้นทุนการผลิต

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา จะมีการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปี 2558 โดยการยกระดับความรู้เรื่องดิน และปุ๋ยให้เกษตรกรผ่านกลไกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน

นายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) เปิดเผยว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และบึงกาฬ ประกอบอาชีพทำนา ซึ่งการผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2557/58 มีพื้นที่ปลูก 3,801,900 ไร่ ผลผลิตมีปริมาณ 1,280,576 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 1 ทั้งพื้นที่และผลผลิต เนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐ ราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นและวิธีการใช้ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา จะมีการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปี 2558 โดยการยกระดับความรู้เรื่องดิน และปุ๋ยให้เกษตรกรผ่านกลไกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ให้เกษตรกรสามารถจัดการดินและใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับคุณภาพของดินและสอดคล้องกับความต้องการธาตุอาหารของพืช ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยมีเป้าหมายให้มีการลดการใช้ปุ๋ยเคมีร้อยละ 20 ของต้นทุนปุ๋ยทั้งหมด.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

อุตฯ อ้อยและน้ำตาลทรายไทยจัดประชุม ถกสถานการณ์น้ำตาลตลาดโลก-เร่งขจัดอุปสรรคการค้าน้ำตาลในตลาดโลก

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุม Thailand-Australia Sugar Dialogue ครั้งที่ 8 เชิญผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของออสเตรเลียที่เป็นผู้ส่งออกอันดับสามของโลก ร่วมถกสถานการณ์การค้าน้ำตาลในตลาดโลกและเร่งขจัดอุปสรรคด้านการค้า พร้อมร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Thailand-Australia Sugar Dialogue ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2558 ณ จังหวัดอุดรธานี โดยการประชุมครั้งนี้ จะมีตัวแทนจากฝ่ายไทยนำโดยนายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารของ TSMC และนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน โดยมีผู้แทนโรงงานน้ำตาล และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมหารือถึงสถานการณ์การค้าน้ำตาลโลก และการผลักดันการเปิดตลาดสินค้าน้ำตาลทราย เนื่องจากหลายประเทศยังมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) การอุดหนุนผู้ผลิตภายในและอุดหนุนส่งออก ซึ่งเป็นอุปสรรคทางการค้า อาทิเช่น อินเดีย กลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

          สำหรับการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยและออสเตรเลีย ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของโลกที่จะมาร่วมมือกันในการด้านการผลิต ตลาด และขจัดอุปสรรคทางการค้าน้ำตาลทราย ส่วนการค้าน้ำตาลระหว่างกันภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย นั้น ฝ่ายไทยจะทยอยลดกำแพงภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายดิบเหลือ 0% ภายในปี 2563 ขณะที่ออสเตรเลียได้ลดภาษีเหลือ 0% ให้แก่ไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว

          นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยและออสเตรเลียจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากประเทศออสเตรเลียมีความแข็งแกร่งในด้านนี้ ซึ่งเชื่อว่า ความร่วมมือกันจะนำไปสู่การพัฒนาความแข็งแกร่งให้แก่ทั้งสองฝ่าย

          “การประชุม Thailand-Australia Sugar Dialogue ในครั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยจะได้ประโยชน์ เนื่องจากออสเตรเลียมีองค์ความรู้ด้านการวิจัยทั้งด้านอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเราสามารถเรียนรู้นำมาใช้ประยุกติ์ใช้ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวไร่และโรงงาน ในด้านการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มผลผลิตอ้อย การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

  จาก http://news.thaiquest.com วันที่ 30 มกราคม 2558

ท่าเรือไทยฟิต พร้อมลุยเออีซี

บทบาทของท่าเรือ นอกจากเป็นจุดเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศเข้ากับตลาดต่างประเทศ ยังเป็นแหล่งรวมทางการค้าที่สำคัญของแต่ละประเทศ

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รายงานผลดำเนินงานให้บริการเรือสินค้า และตู้สินค้า ผ่านท่าเรือสำคัญของประเทศ คือ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และ ท่าเรือระนอง ในรอบปีงบประมาณ 2557 ไว้ว่า

ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้นจำนวน 3,185 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่าคิดเป็นน้ำหนัก 21.422 ล้านตัน มีตู้สินค้าผ่านท่า (รวมตู้เปล่า) จำนวน 1.519 ล้านทีอียู

ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี มีเรือเข้าเทียบท่าทั้งสิ้น 6,600 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่าคิดเป็นน้ำหนัก 72.264 ล้านตัน มีตู้สินค้าผ่านท่า 6.459 ล้านทีอียู

ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จ.เชียงราย มีเรือเทียบท่า 8,144 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่า 370,726 ตัน

ท่าเรือเชียงของ จ.เชียงราย (ตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้น 241 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่า 40,629 ตัน

และ ท่าเรือระนอง มีเรือเทียบท่า 356 เที่ยว มีสินค้าผ่านท่า 244,000 ตัน ตามลำดับ

เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บอกว่า ในภาพรวม กทท.มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้น ทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง

โดยปีงบประมาณ 2557 มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือทั้งสองแห่งรวมถึง 7.978 ล้านทีอียู หรือคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 6.79% และมีการขยายตัวของสินค้าผ่านท่าเรือทั้งสองแห่ง เพิ่มขึ้นในอัตรา 6.31%

ตัวเลขดังกล่าว สอดคล้องในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจไทย แม้ว่าช่วงแรกของปีงบประมาณ 57 มีการชะลอตัวจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ แต่ในช่วงปลายปีการส่งออกและนำเข้าของประเทศเริ่มฟื้นตัว

เรือตรี ทรงธรรมบอกว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่า จีดีพีน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2557 โดยกลับมาขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 ซึ่งเทียบกับเมื่อปี 2557 ขยายตัวได้แค่ร้อยละ 1.5

เขามองว่าปีนี้ไม่เพียงจีดีพีของไทยมีแนวโน้มอัตราขยายตัวดีขึ้น ช่วงปลายปียังมีการรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จึงคาดว่า ปีงบประมาณ 2558 ท่าเรือกรุงเทพและแหลมฉบัง ซึ่งเป็นสองท่าเรือหลักของประเทศ น่าจะมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า ไม่ต่ำกว่า 1.579 ล้านทีอียู และ 6.911 ล้านทีอียู ขยายตัวที่อัตราร้อยละ 4 และร้อยละ 7 ตามลำดับ

ในแง่การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเออีซี ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบังได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “ASEAN Port Symposium 2014” ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของผู้นำท่าเรือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันหาแนวทางบูรณาการด้านการขนส่งทางทะเล และสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าระดับโลก พัฒนาสัมพันธภาพ ความร่วมมือระหว่างท่าเรือต่างๆในกลุ่ม

สมาชิกอาเซียนด้วยกัน

การประชุมดังกล่าว ซึ่งมีผู้บริหารท่าเทียบเรือทั้งสิ้น 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ เมียนมาร์ พร้อมทั้งผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ร่วมประชุมกันไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ จ.ชลบุรี

การประชุมได้ข้อสรุปว่า แม้กลุ่มประเทศอาเซียนมีระบบเครือข่ายการขนส่งทางเรือที่มีรูปแบบหลากหลาย แต่เมื่อทั้ง 10 ประเทศก้าวเข้าสู่เออีซีในปลายปีนี้ ต้องมองภาพรวมการบริหารที่ใหญ่ขึ้นจากการรวมตัวกันของสมาชิก เช่น พึ่งพาทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกัน เสริมสร้างความแข็งแกร่งนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการค้าร่วมกัน

ในแง่ของผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ต้องเร่งปรับตัว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบ “โลจิสติกส์” ซึ่งปัจจุบันต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทย ยังสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เป็นการบ้านที่ผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งหาทางแก้

กลุ่มอาเซียนมีระบบเครือข่ายการขนส่งทางเรือที่พึ่งพากัน ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกอยู่แล้ว ความเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางทะเลภายในกลุ่มอาเซียนเป็นไปด้วยดี จึงน่าจะพร้อมรองรับการขนส่งสินค้าปริมาณมหาศาล ทั้งภายในอาเซียนด้วยกัน และประเทศอื่นนอกกลุ่มได้ดี

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังได้เปิด เส้นทางเดินเรือระบบตู้สินค้า ที่ ท่าเรือระนอง จ.ระนอง สู่ประเทศเมียนมาร์ และกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมาร์ ศรีลังกา ภูฏาน เนปาล และไทย

โดย กทท. มุ่งให้ท่าเรือระนองเป็นท่าเรือหลักในการรองรับการขนส่งตู้สินค้าไปยังกลุ่มประเทศทางฝั่งทะเลอันดามันและเอเชียใต้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อเปิดประตูการค้า และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจโลก

การเปิดเส้นทางเดินเรือดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มที่ดี และเป็นก้าวสำคัญของท่าเรือระนอง ในการสร้างความร่วมมือกับสายการเดินเรือ S.A.K เพื่อขนส่งตู้สินค้าผ่านเข้า-ออกเป็นประจำ ณ ท่าเรือแห่งนี้

นอกจากนี้ กทท. ยังอยู่ระหว่างเจรจาประสานความร่วมมือในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับทางการท่าเรือของเมียนมาร์ (Myanmar Port Authority) ซึ่งกำกับดูแลท่าเรือต่างๆ ในกรุงย่างกุ้ง

เนื่องจากท่าเรือระนอง ตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ ช่วยร่นระยะทางในการเดินเรือสินค้าไปยังเมียนมาร์ และประเทศทางฝั่งทะเลอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่า ให้เหลือเพียง 4-7 วัน เมื่อเทียบกับเส้นทางเดินเรืออ้อมผ่านแหลมมะละกา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน

ขณะที่ท่าเรือเชียงแสน ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ รงศิริกุล รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยพร้อมคณะ ได้เดินทางไปหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายจีน เพื่อเจรจาเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าในลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมโยงการค้า ระบบขนส่ง และโลจิสติกส์ระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียน ผ่านท่าเรือเชียงแสน

รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจขนส่งตู้สินค้าระหว่างท่าเรือเชียงแสน กับท่าเรือตามลำน้ำโขงของจีน เช่น ท่าเรือกวน-เหล่ย ท่าเรือก๋านหล่านป้า เป็นต้น

โดยได้เจรจากับบริษัท Chonqing New Jinhang Group Co.Ltd. เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ เชื่อมไทยสู่อาเซียน และเตรียมความพร้อมในการนำเรือตู้สินค้า มาเปิดให้บริการเดินเรือเที่ยวแรกระหว่างท่าเรือเชียงแสนกับท่าเรือก๋านหล่านป้า

ทั้งนี้ทางกรมเจ้าท่าของจีนยืนยันจะปล่อยน้ำลงมาเพื่อยกระดับน้ำในเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำโขง ระหว่างท่าเรือเชียงแสนกับท่าเรือของจีนให้สามารถเดินเรือได้สะดวก ปลอดภัยตลอดทั้งปีที่ระดับน้ำลึกเฉลี่ย 3.5-4 เมตร รองรับเรือขนาด 500 ตัน เพื่อส่งสินค้าออกไปทางแอฟริกา และยุโรปผ่านท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือระนองในรูปแบบของการขนส่งต่อเนื่อง

เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนสินค้าเกษตรแปรรูป ช่วยประหยัดเวลาการขนส่งจากตะวันตกของจีนไปยังประเทศดังกล่าว

ทั้งหมดคือตัวอย่างเกมรุกที่ท่าเรือไทย เตรียมปูความพร้อม ก่อนเปิดประตูสู่เออีซีอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 30 มกราคม 2558

"ไทย-เมียนมาร์"เร่งดันเขตศก.พิเศษทวาย-ถนน3เส้นทาง เชื่อมชายแดน

ไทย-เมียนมาร์ เร่งผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-พัฒนาถนน และโครงสร้างพื้นฐาน 3 เส้นทาง เชื่อมโยงพื้นที่ชายแดน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 58 เวลา 14.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ทำเนียบรัฐบาล นายญาน ทุน รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงไทย-เมียนมาร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง(JHC) ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2558

โดยการประชุมครั้งนี้ นับเป็นการประชุม JHC และการประชุมร่วม 3 ฝ่ายกับญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของโครงการทวาย และแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ ร้อยเอกยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับรองประธานาธิบดีเมียนมาร์ โดยได้ฝากความปรารถนาดีถึงนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์ ซึ่งประธานาธิบดีเมียนมาร์ ได้ฝากความระลึกถึงนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่า ในช่วงเวลานี้ ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาร์ มีความแน่นแฟ้นและใกล้ชิดกันมากที่สุด พร้อมยืนยันที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาความเชื่อมโยงและพื้นที่ชายแดน โดยไทยย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาในอาเซียนที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งระหว่างประเทศสมาชิก

"สำหรับการพัฒนาความเชื่อมโยงและพื้นที่ชายแดนไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงและการพัฒนาของไทยและเมียนมาร์ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า มี 3 เส้นทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ 1) แม่สอด – เมียวดี 2) สิงขร – มอต่อง 3) พระเจดีย์สามองค์ – พญาตองซู  โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การเปิดเส้นทางเหล่านี้ ไม่ใช่การกำหนดเส้นเขตแดน ไม่อยากให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย ซึ่งทางเมียนมาเห็นด้วยและรับที่จะไปพิจารณาบางจุดตามที่ไทยเสนอเพิ่มเติม"

ในโอกาสนี้ เมียนมาร์ได้แสดงความขอบคุณที่ไทยช่วยซ่อมสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 และจะสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 2 ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่า เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ

"สำหรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเมียนมาร์กล่าวว่า โครงการนี้ มีความสำคัญกับเมียนมาร์และประเทศในภูมิภาคนี้ เนื่องจากจะเป็นประตูทางทิศตะวันตกจากเมียนมาร์-ไทย ไปสู่โฮจิมินห์และพนมเปญได้ในอนาคต ซึ่งไทยได้ยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะร่วมมือกับเมียนมาร์อย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้คืบหน้าโดยเร็ว โดยเฉพาะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนเชื่อมโยงระหว่างบ้านน้ำพุร้อน-ทวาย โดยนายกรัฐมนตรีจะหยิบยกเรื่องนี้หารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนก.พ.นี้ ด้วย"

ด้านการประมง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ไทยและเมียนมาร์มีความร่วมมือกันในเรื่องนี้มากขึ้น โดยอาจร่วมทุนกันจัดตั้งกองเรือประมงเพื่อร่วมหาปลาในเขตสัมปทาน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องแหล่งประมง ซึ่งฝ่ายเมียนมาเห็นด้วยว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศ โดยอาจต้องมีการกำหนดเรื่องการจับปลา รวมทั้งการกำหนดราคาร่วมกัน

ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่สองประเทศเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ไทยเห็นว่ายังสามารถขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันได้อีก โดยในปีนี้ ไทยเน้นการท่องเที่ยววิถีไทย ซึ่งไทยจะส่งรายละเอียดให้กับเมียนมาร์ เพื่อให้เมียนมาร์สามารถมาเชื่อมโยงกับไทยได้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาผลผลิตทางการเกษตรและยางพารา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงกังวลและอยากให้มีความร่วมมือระหว่างกันเพื่อช่วยกันวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในอนาคต

สำหรับความร่วมมือด้านแรงงานไทยขอให้เมียนมาร์ช่วยเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงาน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีแรงงานเมียนมาร์มาลงทะเบียนไว้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่การพิสูจน์สัญชาติยังไม่คืบหน้ามากนัก ซึ่งฝ่ายเมียนมาจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการออกใบรับรองชั่วคราวให้ก่อน

ในตอนท้าย รองประธานาธิบดีเมียนมาได้กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและเห็นว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศมีความก้าวหน้ามากขึ้นตั้งแต่ครั้งที่นายกรัฐมนตรีได้ไปเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 30 มกราคม 2558

สศก. ระบุ ไทยยังได้ดุลการค้าเกาหลีโดยตลอด แจงสินค้านำเข้า-ส่งออกสำคัญ

นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ ได้รับแจ้งจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า เมื่อวันที่ 27-29 มกราคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ASEAN-Korea FTA Implementing Committee: AKFTA-IC ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยภาษีศุลกากรและกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (ASEAN-Korea Sub-Committee on Tariffs and Rule of Origin) และการประชุมคณะทำงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Working Group on Economic Cooperation) โดยการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้น ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์แอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับการประชุมอาเซียนและเกาหลีดังกล่าว ได้พิจารณาเปิดตลาดการค้าสินค้าเพิ่มเติม ตามที่ได้เคยระบุไว้ในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ตั้งแต่ปี 2555 และตามมติที่ประชุม AKFTA-IC ครั้งที่ 10 ที่ประเทศสมาชิกจะต้องเปิดตลาดเพิ่มเติมร้อยละ 2 ของรายการสินค้าทั้งหมดจากระดับการเปิดเสรีปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2557 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากอ้อยตามพิกัด 1701.13.00 และ 1701.14.00 ในกรอบการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี โดยย้ายสินค้าอ่อนไหว มาลดภาษีซึ่งจะทำให้ไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษตามหลักการต่างตอบแทน (Reciprocal Arrangement) ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกน้ำตาลทรายซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพไปยังเกาหลีได้ในอัตราภาษี ร้อยละ 0 ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ในปีช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไทยและเกาหลีมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 29,536 ล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2.18 ต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลีมาโดยตลอดเฉลี่ย 13,638 ล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 พบว่าไทยมีมูลค่าส่งออก 11,749 ล้านบาท (ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12,780 ล้านบาท) และไทยมีมูลค่านำเข้า 2,658 ล้านบาท (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,156 ล้านบาท) ซึ่งไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลี 9,091 ล้านบาท ส่วนสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญคือ น้ำตาล ข้าว กากจากมันสำปะหลัง ไก่ปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง ไขมันและน้ำมันจากพืช สตาร์ชจากมันสำปะหลัง ในขณะที่สินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญคือ ปลาสคิปแจ็ก ปลาทูน่าครีบเหลือง สาหร่าย เป็นต้น

จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 30 มกราคม 2558

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินกับภารกิจ การรณรงค์ไถกลบตอซังเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน (2)

การรณรงค์ไถกลบตอซัง ถือเป็นภารกิจที่กรมพัฒนาที่ดินได้ให้ความสำคัญและมีแนวทางในการรณรงค์ เน้นย้ำให้เกษตรกรงดเผาทำลายตอซังฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวมาโดยตลอด ซึ่งการไถกลบตอซังนั้น คือ การไถกลบวัสดุเศษซากพืชที่มีอยู่ในไร่นาหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยทำการไถกลบวัสดุเศษพืชในระหว่างการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกแล้วทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายในดินก่อนที่จะทำการปลูกพืชต่อไป เบื้องต้นทางกรมพัฒนาที่ดินได้แนะนำให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตร พด.2 อัตรา 5 ลิตรต่อไร่ เพื่อช่วยสลายตอซังหรือเศษพืช โดยจะเป็นการเพิ่มชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดใช้ธาตุอาหารพืช และช่วยรักษาระบบนิเวศวิทยาที่ดีในดิน

จากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดิน ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทย มีระดับปริมาณอินทรียวัตถุในดินค่อนข้างต่ำมาก คือ ดินที่มีอินทรียวัตถุประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า มีพื้นที่มากถึง 191 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากธาตุอาหารในดินจะสูญเสียไปในรูปของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวออกไปจำหน่ายหรือบริโภค ซึ่งสูญเสียไปอย่างถาวร โดยจะสูญเสียไปในรูปของตอซังหรือเศษพืชที่เกษตรกรเผ่าทิ้งหลังเก็บเกี่ยว ซึ่งจากการสำรวจวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของประเทศไทย พบว่า ในแต่ละปีมีปริมาณมากกว่า 39.1 ล้านตัน แบ่งเป็นตอซังฟางข้าว 26.9 ล้านตัน ซังข้าวโพด 7.8 ล้านตัน เศษใบอ้อย 2 ล้านตัน วัสดุพืชไร่ชนิดอื่นๆ อีกประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้การนำส่วนของพืชออกไปจากพื้นที่การเกษตรแต่ละครั้ง จึงเท่ากับเป็นการสูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดินเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นการไถกลบตอซัง ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติอีกวิธีหนึ่งเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินโดยตรง ที่สะดวกและง่ายที่สุดซึ่งเกษตรกรสามารถทำได้ เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูป ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องขนส่งหรือเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น โดยเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาระบบการเกษตรแบบยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มกราคม 2558

เกษตรกรสุโขทัยวอนทหารช่วย น้ำท่วมพื้นที่ปลูกอ้อยเกือบ200ไร่

เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่หมู่ 3 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ได้ร้องเรียนกับ พล.ต.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผบ.กองกำลังรักษาความสงบ จทบ.พิษณุโลก ว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วมขังพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวนเกือบ 200 ไร่ ขอให้ทหารเร่งช่วยเหลือด้วย

นายภาณุพงศ์ มีสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ในเมือง กล่าวว่า พื้นที่ปลูกอ้อยที่ถูกน้ำท่วมขังสูง 1 เมตร มีทั้งหมดเกือบ 200 ไร่ ถูกน้ำท่วมมานาน 5 เดือนแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝน สาเหตุมาจากการถมที่ดินสร้างบ้านเรือนขวางเส้นทางน้ำ ทำให้น้ำไม่มีทางระบาย จึงท่วมขังอยู่ในพื้นที่ทำการเกษตร สร้างความเดือดร้อน ทำกินอะไรไม่ได้เลย

ล่าสุด พล.ต.ผดุง จึงประสานความช่วยเหลือจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 พิษณุโลก นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ทำการเกษตร คาดว่าภายใน 2 - 3 วัน จะสามารถทำการสูบน้ำที่ท่วมขังออกได้หมด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มกราคม 2558

สศข.3เร่งส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิตเกษตรกร

นายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดย สศข.3 ได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการของจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ คือ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และบึงกาฬ ในการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปี 2558 เพื่อยกระดับความรู้เรื่องดิน และปุ๋ยให้เกษตรกร โดยผ่านกลไกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ให้เกษตรกรสามารถจัดการดินและใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับคุณภาพของดินและสอดคล้องกับความต้องการธาตุอาหารของพืช ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

ทั้งนี้ ในปี 2558 มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนต้นแบบ 94 ศูนย์ใน 77 จังหวัด และจะขยายผล ในปี 2558 เป็น 882 ศูนย์ ใน 77 อำเภอ โดยให้พิจารณานำไปบูรณาการในพื้นที่โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) และเกษตรกรสมาชิกของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) 17,640 ราย ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องดินและการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งผลที่คาดว่า เกษตรกรที่ได้รับความรู้เรื่องดิน และการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต จะสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ร้อยละ 20 ของต้นทุนปุ๋ยทั้งหมด และเกษตรกรได้รับความรู้เรื่องดิน และการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต สามารถนำไปปฏิบัติได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มกราคม 2558

'บิ๊กตู่'เร่งแผนเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ขีดเส้นจ่ายเกษตรกรจบเดือนนี้

นายชวลิตร ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรี ได้กำชับในเรื่องงบประมาณ 28,650 ล้านบาท ที่จะสร้างพื้นที่ชลประทานเพิ่มกว่า 2 ล้านไร่ ตามแผนบูรณาการทรัพยากรน้ำระยะ 10 ปี เนื่องจากประเทศไทยสามารถมีพื้นที่ชลประทานได้มากถึง 60 ล้านไร่ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษาทำแผนมาเสนออีกครั้ง ขณะเดียวกันมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันทำงานรวมทั้งกระทรวงการคลัง เพื่อใช้งบประมาณให้เกิดประโยนช์สูงสุดต่อประเทศ

ส่วนมาตรการเร่งด่วน ที่นายกรัฐมนตรีกำชับ มีทั้งจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา และชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท โดยจ่ายเงินให้ชาวนาไปทั้งหมดร้อยละ 99 เหลืออีกเพียง 80,000 ราย ส่วนการจ่ายชาวสวนยางพารา เหลือเพียง 2 แสนราย กระทรวงเกษตรฯ จะขอความร่วมมือไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อเร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรครบทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ช่วยทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่า การช่วยเหลือรัฐไม่ได้ช่วยแบบสร้างปัญหา เช่น จ่ายเงินตามที่เกษตรกรต้องการเพียงอย่างเดียว ต่อไปกลายเป็นหนี้สะสมของรัฐ จึงให้เน้นมาตรการระยะยาว เช่น การปลูกยางพารา โดยเสนอแผนลดพื้นที่ปลูก 7 แสนไร่ ภายใน 7 ปี เพื่อสอดคล้องกับมาตรการเขตเศรษฐกิจเกษตรหรือโซนนิ่ง ในระยะยาว ลงทะเบียนเกษตรกรทุกกลุ่ม เพื่อให้มาตรการของรัฐเข้าถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง

"นายกฯ ยังได้มอบนโยบายว่า กลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปอาศัยในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ให้ชะลอการเข้าไปขับไล่ไว้ก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้สร้างผลกระทบมาก อย่างไรก็ตามหน่วยงานราชการก็ยังต้องเข้าไปทำความเข้าใจว่า คนเหล่านี้จะต้องย้ายออกมาจากป่า ไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐเตรียมการไว้ให้ ส่วนที่เร่งด่วน คือ กลุ่มประชาชนที่เข้าไปอาศัยในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ หรือ ป่าต้นน้ำ ต้องเชิญออก แต่ไม่ได้เชิญแบบทอดทิ้ง ต้องให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่รัฐจัดสรรให้ และสร้างความเข้าใจกับคนด้วย" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

จาก http://www.naewna.com    วันที่ 29 มกราคม 2558

ราคาน้ำตาลโลกเริ่มโงหัว

ราคาน้ำตาลโลกเริ่มขยับ ไล่แตะที่ระดับ 16 เซนต์/ปอนด์ ผลจากวิกฤตแล้งของบราซิลเริ่มส่งสัญญาณแล้ว แต่ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าราคาจะวิ่งขึ้นระดับไหน เหตุมีตัวแปรราคาน้ำมันที่ดิ่งลง ยังไม่จูงใจให้บราซิลหันไปใช้อ้อยผลิตเอทานอลส่งออก ขณะที่ฤดูหีบอ้อย 57/58 คาดปริมาณอ้อยของไทยเข้าหีบใกล้เคียงปีก่อนที่ 103 ล้านตัน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลจี้รัฐเอาไงเปิดเสรีราคาน้ำตาลทราย

   สิริวุทธิ์ เสียมภักดีสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเริ่มที่จะปรับตัวขึ้นบ้างแล้ว โดยขยับมาอยู่ที่ระดับเกือบ 16 เซนต์/ปอนต์ เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 2557 ที่ราคาเคยตกไปอยู่ที่ระดับ 14 เซนต์/ปอนด์ โดยราคาที่ขยับขึ้นนี้เป็นผลจากมีการรายงานว่าทางประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ที่จะมีผลต่อพื้นที่การปลูกอ้อยในปีนี้ลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาน้ำตาลทรายที่ส่งออกไป ที่จะนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจ่ายให้กับเกษตรกรก่อนในราคาที่ดีขึ้น หลังจากที่ราคาน้ำตาลทรายที่ส่งออกไปได้กำหนดราคาเบื้องต้นในอัตราที่ต่ำ หรือคำนวณราคาอ้อยที่ระดับ 850-875 บาท/ตันเท่านั้น จนส่งผลให้เกษตรกรออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือ 160 บาท/ตัน ในช่วงที่ผ่านมา

    ส่วนราคาน้ำตาลทรายจะมีแนวโน้มปรับขึ้นไปอยู่ในระดับใดนั้น คงยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับบราซิลจะรุนแรงขนาดไหน ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกจะดีดตัวเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะหากราคาน้ำมันปรับราคาเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ทางบราซิลน้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้นเพื่อส่งออก เนื่องจากได้ราคาดี จากปัจจุบันที่จะใช้ในประเทศเกือบจะทั้งหมด ก็จะไปดึงปริมาณอ้อยใช้ผลิตน้ำตาลทรายลดลง แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาน้ำตาลทรายโลกน่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา

    "ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินราคาน้ำตาลทรายโลกที่แน่ชัดออกมาได้ เพราะยังไม่มีตัวแปรหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งต้องดูว่าปริมาณความต้องการน้ำตาลทรายจะมีมากน้อยเพียงใด ประกอบกับสต็อกที่มีอยู่ลดลงด้วยหรือไม่ อีกทั้งราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะอันใกล้นี้หรือไม่ด้วย ซึ่งในส่วนของน้ำตาลทรายไทยที่ส่งออกไป ก็ได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและมีการกำหนดราคาเบื้องต้นไปแล้ว หากราคาน้ำตาลทรายปรับตัวดีขึ้น ก็ต้องมาดูว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังอ่อนตัวอยู่หรือไม่ เพราะยังอ่อนตัวที่ระดับ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาน้ำตาลที่ปรับขึ้นไปก็อาจจะไม่มีผลต่อรายได้ที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นมากนัก"

    สำหรับการประเมินปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในฤดู 2557/2558 ของไทย น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (2556-2557) ที่ 103 ล้านตัน และคาดว่าจะผลิตน้ำตาลทรายที่ระดับ 11 ล้านตัน บริโภคในประเทศประมาณ 3 ล้านตัน และที่เหลือส่งออก 8 ล้านตัน แต่ทั้งนี้ ต้องรอดูในการปิดหีบอ้อยอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนเมษายนนี้ ว่าสุดท้ายแล้วอ้อยจะเข้าหีบที่ปริมาณใดกันแน่

    นายสิริวุทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการเปิดเสรีน้ำตาลและการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปีหน้าหน้า ขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าในการดำเนินงานของภาครัฐ จากที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เคยเสนอเรื่องไปแล้ว ซึ่งหากยังเพิกเฉยอยู่เกรงว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเออีซี ที่น้ำตาลทรายจะมีการทะลักออกไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก เพราะได้ราคาสูงกว่าจากการลักลอบส่งออกไป ซึ่งจะมีผลต่อการขาดแคลนน้ำตาลบริโภคในประเทศได้

    ขณะที่สถานการณ์การผลิตเอทานอล แม้ว่าราคาน้ำมันปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ราคาเอทานอลที่ส่งจำหน่ายให้กับผู้ค้าน้ำมัน ก็ปรับตัวลดลงมาด้วย โดยราคาที่ตกลงซื้อขายกันจะอยู่ที่ประมาณ 26 บาท/ลิตร เมื่อเทียบกับราคาอ้างอิงอยู่ที่ 29 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นราคาที่ประคองตัวไปได้ เนื่องจากปัจจุบันการใช้เอทานอลเพิ่มมากขึ้นในระดับ 3.5 ล้านลิตร/วันแล้ว 

    นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลก พบว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดนิวยอร์ก ช่วงเดือนมีนาคม 2015 ปรับตัวสูงขึ้นที่จากระดับราคา 14.87 เซนต์/ปอนด์ ขึ้นมาอยู่ที่ 16.15 เซนต์/ปอนด์ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณฝนที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของบราซิลและการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันของบราซิล ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการใช้เอทานอลมากขึ้น และมีการดึงอ้อยไปผลิตเอทานอลมากยิ่งขึ้น

    นอกจากนี้ ค่าเงินเรียลของบราซิลที่แข็งค่าขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 11.75% เป็น 12.25% จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจของน้ำตาลบุรีรัมย์และอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยโดยรวมที่สามารถสร้างเม็ดเงินรายได้จากการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังประเทศคู่ค้าได้มากขึ้น โดยฤดูหีบ 2557/2558 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบได้ประมาณ 2 ล้านตัน หรือผลิตน้ำตลาดทรายได้กว่า 2 ล้านตัน

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 29 มกราคม 2558

สศก. ระบุ ไทยยังได้ดุลเกาหลี มูลค่าการค้าโต 2% ต่อปี

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย มูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ในปีช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไทย-เกาหลี มีมูลค่าการค้าอัตราการเติบโตเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี ระบุ ที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลีมาโดยตลอด โดยสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญคือ น้ำตาล ข้าว กากจากมันสำปะหลัง ไก่ปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27-29 มกราคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ASEAN-Korea FTA Implementing Committee: AKFTA-IC ครั้งที่ 11 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยภาษีศุลกากรและกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (ASEAN-Korea Sub-Committee on Tariffs and Rule of Origin) และการประชุมคณะทำงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Working Group on Economic Cooperation) โดยการประชุมครั้งนี้     จัดขึ้น ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์แอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี

 สำหรับการประชุมอาเซียนและเกาหลีดังกล่าว ได้พิจารณาเปิดตลาดการค้าสินค้าเพิ่มเติมตามที่ได้เคยระบุไว้ในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ตั้งแต่ปี 2555 และตามมติที่ประชุม  AKFTA-IC ครั้งที่ 10              ที่ประเทศสมาชิกจะต้องเปิดตลาดเพิ่มเติมร้อยละ 2 ของรายการสินค้าทั้งหมดจากระดับการเปิดเสรีปัจจุบัน           อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2557 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากอ้อยตามพิกัด 1701.13.00 และ 1701.14.00 ในกรอบการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี โดยย้ายสินค้าอ่อนไหว มาลดภาษีซึ่งจะทำให้ไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษตามหลักการต่างตอบแทน (Reciprocal Arrangement)  ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกน้ำตาลทรายซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพไปยังเกาหลีได้ในอัตราภาษี     ร้อยละ 0 ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

 ทั้งนี้ มูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ในปีช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไทยและเกาหลีมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 29,536 ล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2.18 ต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลีมาโดยตลอดเฉลี่ย 13,638 ล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 พบว่าไทยมีมูลค่าส่งออก 11,749 ล้านบาท (ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12,780 ล้านบาท) และไทยมีมูลค่านำเข้า 2,658 ล้านบาท     (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,156 ล้านบาท) ซึ่งไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลี 9,091        ล้านบาท ส่วนสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญคือ น้ำตาล ข้าว กากจากมันสำปะหลัง ไก่ปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง ไขมันและน้ำมันจากพืช สตาร์ชจากมันสำปะหลัง ในขณะที่สินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญคือ ปลาสคิปแจ็ก ปลาทูน่าครีบเหลือง สาหร่าย เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 29 มกราคม 2558

เออีซี! เกิดขึ้นแล้วหรือยัง?

ใครที่สงสัยว่าจริงๆแล้ว เมื่อไหร่? จะพูดได้เต็มปากว่า “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (เออีซี) และหรือ “ประชาคมอาเซียน” (เอซี) ที่มวลหมู่อาเซียน 10 ประเทศจะเลิกตั้งกำแพงภาษี (ศุลกากร) หรืออากรขาเข้าสินค้าระหว่างกันและเปิดเสรีแรงงานฝีมือ 7 สาขาวิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ท่องเที่ยว วิศวกร สถาปนิก และช่างสำรวจนั้น ได้บังเกิดขึ้นแล้ว หรือเริ่มได้ช่วงไหนของปี 2558 กันแน่!

คราวนี้น่าจะคือคำตอบได้! (บ้าง) เพราะคนที่พูดเรื่องนี้เป็นคนในรัฐบาลที่เป็นประธานอาเซียนปีนี้

ผู้บอกกล่าวเรื่องนี้ที่ว่า คือ นาย มุสตาปา โมฮัมเหม็ด รมว.การค้าของมาเลเซีย พูดนอกรอบการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก “เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม” ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แดนนาฬิกา บอกว่า ภายในสิ้นปี 2558 อาเซียนจะเรียกตัวเองอย่างเป็นทางการได้ว่า “ตลาดเดียว” (หมายถึงเออีซีนั่นเอง)

แต่ช้าก่อนท่านจอมยุทธ์! ใช่ว่าทุกอย่างจะผ่านฉลุย

ท่าน รมต.มุสตาปาบอกเพิ่มเติมว่า ปี 2558 ไม่ถือว่าเป็นการรวมเป็นตลาดเดียวโดยสมบูรณ์ของอาเซียน เป็นแค่การตั้งเวทีตั้งฉากรอรับหลายต่อหลายสิ่งที่สำคัญที่จะตามมา อย่างเช่นการเดินทางไปมาหาสู่กันในอาเซียนอย่างเสรี เป็นต้น จะเกิดขึ้นในปี 2563 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

“ปี 2563! ถึงจะเห็นความก้าวหน้าชัดขึ้นของเออีซีในรูปของการตัดกำแพงภาษีการค้า (อากรขาเข้า) และเปิดเสรีแรงงานฝีมือ 7 สาขาวิชาชีพ ดังนั้น สิ้นปีนี้ การเคลื่อนไหวหรือโยกย้ายสินค้าและภาคบริการในอาเซียนจะเป็นแค่เสรีมากยิ่งขึ้น (คล่องตัวขึ้นกว่าเดิม) แต่ไม่ใช่เสรีจริงๆ” มุสตาปาเสริมและย้ำว่า สิ่งสำคัญคือ

พวกเรา (อาเซียน) ได้ประกาศเป็นคำมั่นสัญญาไว้แล้ว ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าพวกเรา (อาเซียน) จะกลับคำพูด (เรื่องเออีซี)

ท่าน รมต.การค้าของมาเลเซียยังพูดถึงอุปสรรคของการรวมเป็นเออีซีว่า แม้ภาคเอกชนจะผลักดันให้เป็นเออีซีเร็วขึ้น แต่โมเดลของอาเซียนซึ่งขอย้ำว่าไม่ได้ลอกจากสหภาพยุโรป (อียู) จะ “ค่อยเป็นค่อยไป” เพราะยังมีปัญหาอย่างเรื่องของ เขตแดน ศุลกากร การอพยพย้ายถิ่นฐานและระเบียบ อื่นๆที่แตกต่างกัน

ถ้าจะสรุปหรือตีความตามคำบอกของท่าน รมต.มุสตาปาก็คือ จะขอไปเนิบๆแบบอาเซียน! ใครจะว่าไม่พร้อมหรือไม่ชัดเจนก็ว่ากันไป เพราะนี่น่าจะคือ “อาเซียน เวย์” ของเราๆท่านๆน่ะเอง!

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 29 มกราคม 2558

เน้นใช้ปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

เกษตรเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดและปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนมุ่งลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุมัติให้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตปี 2557-2558 ซึ่งเกษตรกรจะสามารถลดต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมี เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 23 ซึ่งสอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และพัฒนาผลผลิตให้เพิ่มขึ้นจากเดิมและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดแนวทางการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ในรูปของวิสาหกิจชุมชนที่บริหารจัดการโดยกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตโดยลดการใช้ปุ๋ยเคมี และเกิดความยั่งยืน

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้นำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการนำค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารหลัก N P K ในดิน ที่เป็นปัจจุบันมากำหนดคำแนะนำปุ๋ยที่สอดคล้องกับความต้องการธาตุอาหารของพืช และพบว่า สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริง โดยมีข้อมูลยืนยันจากหลายแหล่ง เช่น จากการส่งเสริมเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยสั่งตัดสำหรับข้าวของสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ปี 2556 เก็บข้อมูลจากเกษตรกร 26 แปลง พบว่าต้นทุนค่าปุ๋ยลดลง ร้อยละ 37-61 และข้อมูลจากวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี การใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดในนาข้าว ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยได้ร้อยละ 52 คิดเป็นเงินที่ลดลง 506 บาท/ไร่

เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด และปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินอย่างถูกต้องและทั่วถึง กรมฯ ได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวถ่ายทอดผ่านกระบวนการเรียนรู้ของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ทั้ง 882 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการมีเป้าหมายแรกเป็นเกษตรกร 17,640 ราย ที่เป็นสมาชิกของศูนย์ฯ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรที่เข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดและปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 นำความรู้ที่ได้รับไปใช้แล้วสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ได้ร้อยละ 20 ของต้นทุนปุ๋ยทั้งหมด จากนั้นจะเป็นการถ่ายทอดสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป อธิบดีฯ กล่าวในที่สุด

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 มกราคม 2558

รมต.เกษตรฯรับลูก ชาวไร่อ้อยยื่น4ข้อ แก้ปัญหาทั้งระบบ ชงรบ.อุ้ม60บ./ตัน

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตัวแทน 3 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นข้อเรียกร้อง 4 ประเด็น คือ 1.ปัญหาการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AEC) โดยให้คงระบบแบ่งปันผลประโยชน์และการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศตามวิธีปัจจุบัน ที่กำหนดทั้งปริมาณและราคา 2.การขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยการกำหนดรายได้เพิ่มให้ชัดเจน และส่งเสริมการผลิตพื้นฐานให้เพียงพอเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการลดต้นทุน 3.การปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้อ้อยมีราคาสูงขึ้น และ 4.ขอสนับสนุนเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2557/58 ตันละ 1,222.05 บาท ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นกำหนดไว้ตันละ 900 บาท ที่ 10 ซี.ซี.เอส.

ทั้งนี้ในเชิงบริหารจัดการสินค้าอ้อย มีกระทรวงที่รับผิดชอบด้วยกัน 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งข้อเสนอในเรื่องของราคา โดยให้สนับสนุนการขอกู้ยืมเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไปเพิ่มรายได้ในอัตราร้อยละ 60 บาท/ตัน จะมีการนำเข้าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อนำเข้าเสนอ ครม. พิจารณา ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะได้นำข้อเสนอของชาวไร่อ้อยไว้เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มกราคม 2558

แบงก์ชาติติดตามค่าเงินบาทหลัง ECB ประกาศใช้ QE 

        นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวนวงเงิน 1.1 ล้านล้านยูโร มากกว่าคาดการณ์ 1 เท่าตัว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงภาวะเงินฝืดในกลุ่มประเทศยุโรป ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ผ่านมาตรการการป้องกันตลาดทุนของไทย หากเกิดภาวะความผันผวน ก็อาจใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 167,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ 2.7 เท่า เข้าไปดูแล โดยสิ่งที่ต้องดูแลคือ การไม่ให้ค่าเงินบาทถูกเก็งกำไร เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินกว่าภูมิภาคมากเกินไป

        ส่วนสถานการณ์ตลาดเงินทุนโลกที่จะเกิดต่อจากนี้ไป คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากปฏิกิริยาที่จะเกิดขึ้น ผลกระทบอาจจะมีต่อขีดความสามารถของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง คือกลุ่มผู้ส่งออก ผู้นำเข้าไทย ที่จะพลิกสถานการณ์ให้เป็นโอกาส หรือไหลเข้าสู่แอ่งวังวนของกระแสตลาดทุนโลก

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

เอาแน่ลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ปลายปี 58 ไม่เกิน กก.ละ 23 บาท

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลัง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล และชาวไร่ เข้าพบที่กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ได้หารือเกี่ยวกับนโยบายการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558 เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในเบื้องต้นแล้วและมีความเห็นร่วมกันว่าจะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในสิ้นปี 2558 โดยอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายภายในเดือนมีนาคม 2558 ที่มีนายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อกำหนดวันลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่ชัดเจนอีกครั้ง

นายจักรมณฑ์กล่าวว่า หลังจากลอยตัวราคาน้ำตาลทรายมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อประชาชนภายในประเทศ เพราะปัจจุบันราคาควบคุมอยู่ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่บวกราคาเพิ่มเพื่อดูแลกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) อีก 5 บาทต่อ กก.ซึ่งเกิดตั้งแต่สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ราคาขายรวมจะอยู่ที่ประมาณ 23 บาทต่อ กก. เมื่อลอยตัวจะเลิกการเก็บเงิน 5 บาทต่อ กก. ทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศ เมื่อเปิดเออีซีจะลดลงแน่นอน แม้ราคาซื้อขายในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่เกิน 23 บาทต่อ กก.แน่นอน

นายจักรมณฑ์กล่าวว่า ขณะเดียวกับผลจากการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะเกิดประโยชน์กับไทย เพราะปัจจุบันในอาเซียน ไทยคือผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเพียงรายเดียว ดังนั้น จากปัจจุบันที่ตลาดน้ำตาลทรายในประเทศไทย 60 ล้านคน ในอาเซียนจะเพิ่มเป็น 600 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10 เท่า และประชากรในอาเซียนพร้อมบริโภคน้ำตาลทรายจากไทย เพราะราคาถูกกว่าประเทศอื่นในอาเซียนที่ระดับ 30-40 บาทต่อ กก.

"ตอนแรกชาวไร่อ้อยกังวลว่าหากลอยตัวอาจทำให้น้ำตาลไทยถูกส่งออกจนบริโภคในประเทศไม่เพียงพอ แต่ทางกระทรวงยืนยันจะมีมาตรการดูแลอาจกำหนดโควต้า ก. หรือโควต้าบริโภคในประเทศ ซึ่งจะกำหนดปริมาณอีกครั้ง ส่วนกรณีสาเหตุที่เก็บเงิน 5 บาทต่อ กก.เพื่อใช้หนี้กองทุนฯที่กู้เงินมาจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยหลักหมื่นล้านบาท ของชาวไร่ในแต่ละปีนั้น ก็จะใช้เงินจากการลอยตัวมาดูแลกองทุนฯแทน ส่วนจะวิธีใดต้องรอดูผลการศึกษาอีกครั้ง" นายจักรมณฑ์ กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

เชียงใหม่เปิดบ้านต้อนรับประชุม "อ้อยโลกปี′59" ชี้ความต้องการน้ำตาลพุ่ง ไทยส่งออกเฉียดแสนล้าน

สมาคมอ้อยและน้ำตาลโลก ฟันธงเลือกเชียงใหม่เป็นสถานที่จัดประชุมอ้อยโลก 5-8 ธ.ค. 59 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ นักวิชาการ-ผู้ประกอบการจาก 50 ชาติทั่วโลกแห่ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้อ้อย

นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาครัฐและเอกชน ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ได้เตรียมจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอ้อยและน้ำตาลจากนานาประเทศทั่วโลก หรือการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 โดยจะมีนักวิชาการและผู้ประกอบการราว 50 ชาติทั่วโลก หรือจำนวนกว่า 2,000 คน ที่จะเข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่

งานดังกล่าวเป็นการจัดครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในศักยภาพการจัดงาน และบทบาทของประเทศไทยในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลในตลาดโลก ซึ่งมีปริมาณการผลิตอยู่ในอันดับ 4 ของโลก และมีการส่งออกอยู่ในอันดับ 2 ของโลก

ปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตอ้อยอยู่ราว 100 ล้านตันอ้อย/ปี และมีผลผลิตน้ำตาลกว่า 10 ล้านตัน/ปี โดยผลผลิตน้ำตาลมีมูลค่ารวมต่อปีราว 200,000 ล้านบาท มีมูลค่าการส่งออกเกือบ 100,000 ล้านบาท/ปี  ซึ่งมีแนวโน้มว่าความต้องการน้ำตลาดในตลาดโลกยังจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศบราซิลยังคงครองอันดับหนึ่งในการส่งออก ด้วยพื้นที่ปลูกจำนวนมากและสามารถผลิตอ้อยได้มากถึง 400-500 ล้านตันอ้อย/ปี ขณะที่ไทยมีพื้นที่ปลูกทั้งประเทศเพียง 8-9 ล้านไร่

"ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยจะนำเสนอศักยภาพในการผลิตอ้ออยและน้ำตาล เป็นความก้าวหน้าในการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และโรงงานน้ำตาลในประเทศไทยซึ่งมีกว่า 50 โรง และหลายแห่งมีการผลิตที่ครบวงจรได้มาตรฐาน ซึ่งภายในโรงงานไม่ได้ผลิตเพียงน้ำตาล แต่ยังมีโรงงานที่พัฒนาต่อยอดการผลิตด้วยวัตถุดิบอ้อย เช่นโรงงานไฟฟ้า โรงงานปุ๋ย โรงงานเอทานอล และโรงงานผลิตกระดาษ"

ด้านนายทิมโมธี จอห์น เมอรี่ นายกสมาคมอ้อยและน้ำตาลโลก กล่าวว่า การจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29  มีหลายประเทศที่นำเสนอสถานที่จัดประชุม โดยเฉพาะประเทศจีนกับประเทศไทย  ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกประชุมที่ประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเหตุผลคือ ศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการคมนาคมและการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยว  และที่สำคัญมากคือความพร้อมของสถานที่จัดการประชุมที่สามารถรองรับได้ในระดับนานาชาติ

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ด้วยศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (Hub of MICE City) ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และเอเชียใต้ (BIMSTEC) จึงมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรองรับการประชุมระดับนานาชาติ

ขณะที่นายศราวุฒิ ศรีสกุน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ในฐานะผู้บริหารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์ประชุมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 326 ไร่ มีความพร้อมในการรองรับการประชุมสัมมนา การจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ด้วยพื้นที่ใช้สอยกว่า 60,000 ตารางเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบและทันสมัย จึงมีความพร้อมสูงที่จะสามารถรองรับการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ที่จะจัดขึ้นในปี 2559

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ก.อุตฯ เตรียมดันมาตรฐาน มอก.5 กลุ่มผลิตภัณฑ์รองรับ AEC

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ความ  ตกลงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจการค้า การลงทุนของอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประเทศสมาชิก 10 ประเทศของอาเซียนจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องร่วมกันปรับมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ประเทศสมาชิกมีศักยภาพ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานหลักด้านมาตรฐานของไทยและมีผู้แทนไทยเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน

“การเตรียมตัวรับเออีซี ประเทศสมาชิกได้มีการกำหนดเป้าหมายใน 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สมอ. ซึ่งต้องปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน โดยอ้างอิงมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ (ISO IEC) จำนวน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่        

1.ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศสมาชิกตกลงว่ามี 120 มาตรฐาน เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับของไทย 31 รายการ โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 22 มาตรฐาน อยู่ระหว่างการปรับมาตรฐานอีก 9 มาตรฐาน ส่วนที่เหลืออีก 90 มาตรฐานเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่ง สมอ. ได้ใช้มาตรฐานตาม IEC อยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมหน่วยตรวจสอบรับรอง และปรับระบบการรับรองให้สอดคล้องกับความตกลงดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในอาเซียน การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลดีในการลดอุปสรรคทางการค้า ไม่ต้องทดสอบซ้ำ เพราะมีการยอมรับร่วมในผลการทดสอบรับรอง และยังจะช่วยปกป้องสินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกที่ไม่มีการรับรองมาตรฐานได้

  2.ยานยนต์และชิ้นส่วน มีผลิตภัณฑ์นำร่อง จำนวน 19 มาตรฐาน ดำเนินการปรับมาตรฐานแล้ว 16 มาตรฐาน  โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือลดความซ้ำซ้อนในการตรวจสอบรับรอง มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันใช้ทดแทนกันได้      ซึ่งเป็นการส่งเสริมอาเซียนให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์เดียวกัน

 3.ผลิตภัณฑ์ยาง  มีความตกลงร่วมกัน 46 มาตรฐาน ซึ่ง สมอ. อยู่ระหว่างการดำเนินการ น่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ นอกจากสนับสนุนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางของไทยแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ในอนาคตด้วย

4.ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง อยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงร่วมกัน จำนวน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ กระจกโฟลต และเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ซึ่ง สมอ. ได้เข้าร่วมเพื่อยอมรับผลการตรวจสอบรับรองซึ่งกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ที่มีความเข้มแข็ง ทั้งด้านตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่รับเหมาโครงการก่อสร้าง ที่สำคัญคือการช่วยลดต้นทุน และง่ายต่อการออกแบบและก่อสร้าง หากสินค้าได้รับการรับรองแล้ว สามารถลดอุปสรรคที่แต่ละประเทศมีความแตกต่างของกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง

5.ผลิตภัณฑ์ไม้ มีการปรับทั้งหมด 34 มาตรฐานตาม ISO ซึ่งเพิ่งได้ข้อสรุปเมื่อไม่นานมานี้ สมอ.จึงอยู่ระหว่าง ดำเนินการ ซึ่งผลที่ได้รับคือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ โดยเฉพาะขนาดแผ่นไม้และเฟอร์นิเจอร์ ทำให้สามารถใช้วัตถุดิบทดแทนกันได้ โดยครอบคลุมการใช้ไม้จากป่าปลูกมาแปรรูป รวมทั้ง ไม้ยางพารา ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าไม้ยางพาราที่หมดอายุ หรือถูกโค่นลง ซึ่งไทยและมาเลเซียจะได้ประโยชน์เพราะเป็นฐานการผลิตไม้ยางพารา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยความคืบหน้าของผลศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาง ภายใต้งบฯ โดยประมาณ 1,600 ล้านบาท มุ่งหวังที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบยางล้อฯ ของอาเซียน  ในเฟสแรกจะดำเนินการในส่วนของศูนย์ทดสอบยางล้อทุกประเภท ตามมาตรฐาน UNECE R117 ภายใต้งบประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอ ครม. พิจารณา  สำหรับสถานที่ตั้ง สมอ.กำลังประสานหาพื้นที่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  

ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการทดสอบยางล้อโดยไม่ต้องส่งไปทดสอบยังต่างประเทศ ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท  นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการส่งออกยางล้อของผู้ประกอบการ รวมทั้งการออกแบบวิจัย พัฒนา นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อ และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ ทำให้อุตสาหกรรมยางทั้งระบบมีความมั่นคงและยั่งยืน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2559 โดยมีระยะเวลาผลตอบแทนการลงทุน 12 ปีหากเก็บค่าบริการทดสอบจากภาคเอกชน”

ขณะที่นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจปัญหาคอรัปชั่น ประกอบกับข้อมูลจากธนาคารโลกที่ประเมินว่ามีการจ่ายเงินเพื่อการติดสินบนสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญฯ ในแต่ละปี หรือคิดเป็น 3% ของ GDP โลก และประมาณการว่ามีองค์กรธุรกิจจำนวน 50% มีการจ่ายเงินติดสินบน     ซึ่งเป็นปัญหาที่ลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมให้แก่สังคม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ  ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) อยู่ระหว่างการจัดทำ ISO 37001 Anti-bribery management systems (ฉบับร่าง) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการต่อต้านการติดสินบน ที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ดีเพื่อต่อต้านคอรัปชั่นซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ในปี 2559

โดยตัวอย่างสาระสำคัญของมาตรฐานฉบับนี้ อาทิ องค์กรต้องมีนโยบายการต่อต้านการติดสินบนอย่างจริงจัง    มีการสื่อสารให้แก่บุคลากรและสาธารณะรับทราบ มีการให้ความรู้ การฝึกอบรม และให้การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ    ที่จะต่อต้านการติดสินบนอย่างจริงจัง รวมถึงมีการวางแผนการประเมินความเสี่ยง การตรวจสอบประเมินภายใน      และปรับปรุงเพื่อพัฒนา เป็นต้น

“ในฐานะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมี สมอ.เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกของ ISO หรือองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เห็นว่า ISO37001 เป็นมาตรฐานที่จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรและประเทศไทย โดย สมอ.จะมีการเสนอข้อคิดเห็นในฐานะสมาชิก และติดตามนำเสนอความคืบหน้าเพื่อให้สังคมได้รับทราบ เพราะเป็นมาตรฐานที่ช่วยสนับสนุนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและภาคเอกชน ที่รณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ” นางอรรชกา กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

สระแก้วถกผุด โรงงานน้ำตาล

ที่มหาวิทยาลัยบูรพา นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานการประชุมทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ของบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด โครงการโรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น และโครงการโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อนำเสนอร่างรายงานในการป้องกันและแก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยคณะสิ่งแวดล้อมของบริษัทยืนยันว่ากระบวนการผลิตของโรงงานไม่มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการประชุมวันนี้ มีชาวบ้านในพื้นที่ซักถามข้อข้องใจจำนวนมาก และเสนอแนะให้บริษัทนำกลับไปทบทวนเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบภายหลัง

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

พืช GMOs...ไทยเสียโอกาสหรือไม่

พืชดัดแปรพันธุกรรม....หรือที่ชาวบ้านเรียกกันง่ายแบบเข้าใจว่า GMOs ยังเป็นปรัศนีในภาคกสิกรรมของ บ้านเราว่าสามารถ

ดำเนินการได้หรือไม่ และถ้าหากดำเนินการได้...จะสามารถ ทำได้ถึงขั้นตอนไหน

คุณสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นำเรื่องมาปัดฝุ่นถึงปูมหลังว่า....พืช GMOs เดิมๆนั้น มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด (Roadmap) ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และ อ้อย

......เพื่อ เพิ่มขีดความสามารถสร้างเสถียรภาพในการแข่งขันอย่างมั่นคง และยั่งยืน แต่ก็ต้องมองถึงประเทศในกลุ่ม AEC ด้วยว่า จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรและจะต้องปรับปรุงในด้านใดบ้าง..!!

นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ของพืช 4 ชนิดนี้แล้ว คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ได้มีการหยิบยก ประเด็นของความเป็นไปได้ในการนำพืช GMOs ไปทดสอบในภาคสนามที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย (ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้า) และได้แต่งตั้งคณะทำงานฯ ชื่อว่า “คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย” เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม

โดย...กรมวิชาการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะทำงานฯ ซึ่งก็ได้ ดำเนินการประชุมหารือพิจารณาในมุมมองของแต่ละหน่วยงานเกี่ยวกับพืช GMOs ว่าเป็นอย่างไร ประเด็นในภาพรวมแต่ละด้าน อันประกอบด้วย เชิงวิชาการ ความปลอดภัยของผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบในเชิงการค้า

แล้ว...ก็ได้ นำข้อมูลสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี แต่ ครม.มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของสมัชชาคนจนให้ยุติการทดสอบภาคสนามของพืชตัดแต่งพันธุกรรมในระดับไร่นา ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันยังไม่มีการนำเอาพืช GMOs ไปทดสอบในภาคสนามหรือในสภาพไร่นาแม้แต่รายเดียว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแจ้งยืนยันความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีและ นำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาต่อไป

ซึ่ง ในยามนี้ประเทศเพื่อนบ้านได้มีการนำพืช GMOs มาใช้ไม่ว่าจะเป็นทดสอบในภาคสนามหรือเพื่อการค้าแล้ว ประเทศไทยจะเสียโอกาสหรือไม่ อย่างไร...

....จึงเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบ...!!

ดอกสะแบง

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

มาแล้ว! จ่อพักหนี้เกษตรกร 4 พัน ล.

 “หม่อมอุ๋ย” โวรับมือทุนไหลเข้าได้-บาทไม่แข็ง

“นายกรัฐมนตรี” ระบุ ธปท.เตรียมพร้อมรับมือเงินทุนไหลเข้า ยังไม่จำเป็นต้องแทรกแซงเงินบาท เล็งหาแนวทางพักหนี้เกษตรกร หวังเกษตรกรมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น “หม่อมอุ๋ย” ยันดูแลได้ บาทยังไม่แข็งจนน่าห่วง แจงมาตรการที่ผ่านมาช่วย “แก้จน” ได้ในระดับหนึ่ง นายกฯเข้าใจรัฐมีเงินใช้จ่ายจำกัด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ธนาคารกลางยุโรปออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) โดยการ อัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจเดือนละ 60,000 ล้านยูโร ว่า ได้รับการยืนยันจาก ธปท.ว่ายังไม่มีผลกระทบต่อไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องแทรกแซงค่าเงินบาท โดยเงินที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นยังไม่มีผลกระทบ แต่ในระยะยาวอาจจะมีผลกระทบบ้าง ซึ่งได้มีการเตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว ขอให้มั่นใจว่า ธปท.ยังสามารถดูแลได้ และไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเปลี่ยนแปลงภาษีในขณะนี้

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระหว่างการประชุม ครม.นายกรัฐมนตรีได้เป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และจะมีเม็ดเงิน จากสหภาพยุโรป (อียู) ไหลเข้ามาประเทศไทย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาดูทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการเก็งกำไรค่าเงินด้วย

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีมีความเป็น ห่วงผู้มีรายได้น้อย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า จึงให้ทุกกระทรวงฯที่เกี่ยวข้องหา มาตรการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เช่น การลดภาษีปัจจัยการผลิต หางานสร้างรายได้เสริมให้ เกษตรกร โดยอยากให้เป็นมาตรการที่ช่วยเกษตรกรเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนพ่อค้าแม่ค้าให้แต่ละจังหวัดจัดหาสถานที่ที่มีผู้คนสัญจรผ่านไปมา และจัดระเบียบพื้นที่เหล่านั้นและเปิดเป็นพื้นที่ค้าขายสินค้าหมุนเวียน

นอกจากนั้น ให้กระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ ให้ทุกกระทรวงเร่งรัดการเบิกจ่าย ทั้งงบลงทุนและงบกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยมอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้กองกำลังทหารเพื่อแก้ปัญหาให้แต่ละกระทรวงทั้งการตรวจสอบการทุจริต และการเร่งรัดการเบิกจ่าย

นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งให้นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางพักหนี้เกษตรกรซึ่งมีอยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยให้ไปศึกษาแนวทางการพักหนี้ ข้อดีและข้อเสียของการพักหนี้ โดยให้นำกลับมาเสนอโดยเร็ว เนื่องจากมองว่าหนี้สินที่เกษตรกรมีอยู่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะรายได้ที่เกษตรกรเพิ่มขึ้น จากการช่วยเหลือของรัฐบาล เกษตรกรต้องนำไปใช้หนี้ที่มีอยู่ หากมีการพักหนี้ในส่วนนี้เกษตรกรจะมีกำลังซื้อมากขึ้น

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการการตั้งรับการทำคิวอีของสหภาพยุโรปว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยซึ่ง ธปท.ได้ดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้าได้ดีมาก เห็นได้จากค่าเงินบาทที่ไม่ได้ผันผวน แม้ตลาดหุ้นไทยจะขึ้นไปสูงถึง 1,600 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธปท.ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีแล้ว จึงไม่ต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเติมอีก

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีถูกตั้งคำถามจาก คสช.และ ครม.ว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรยังไม่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นว่า การทำอะไรต้องมีหลักการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมก็ออกมาตรการเพิ่มรายได้ให้ชาวนา 39,000 ล้านบาท จ่ายเงินให้ชาวนา 1,000 บาท ที่มีไร่นาไม่เกิน 15 ไร่ คิดเป็นการเพิ่มเงินให้ชาวนาได้ราคาข้าวเพิ่มประมาณ 1,500 บาทต่อตัน หรือทำให้ได้รับเงินเฉลี่ย 9,500 บาทต่อตัน จะให้มากกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะงบประมาณจำกัด ส่วน ยางพาราก็ดึงราคายางจนถึง 62 บาทต่อ กก.แล้ว แถมมีเงินเพิ่มอีก 1,000 ต่อไร่ ที่ขณะนี้ได้จ่ายเงินชาวสวนยางไปกว่า 700,000 ครอบครัวแล้ว จากเป้าหมาย 850,000 ครัวเรือน ซึ่งทำให้ชาวสวนยางได้เงินเพิ่มขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท คิดว่าเป็นการทำให้ได้กำไรจากการขายเพิ่มอีก 65-66 บาทต่อ กก.

“ตอนนี้ ครม.เข้าใจมากขึ้นแล้ว และที่ทำ อยู่เป็นชุดๆ ผมอธิบายนายกรัฐมนตรีแล้ว ว่า ใครได้เงินไปแล้วเท่าไร นายกฯก็เริ่มเห็นผลแล้ว ขณะนี้เราจะต้องแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากก่อน อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ตอนนี้ก็กระตุ้นงบลงทุน เน้นการสร้างโรงเรียน เนื่องจากเป็นจังหวะที่ชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จไม่มีงานทำ จะได้มาซ่อมและสร้างโรงเรียนเพื่อสร้างรายได้”.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

ในเดือนมกราคม 2558 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ภายใต้ความร่วมมือของเกษตรกรในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดปี 2558 ในหัวข้อ “การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เป็นเจ้าภาพในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2558 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ภายใต้ความร่วมมือของเกษตรกรในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการส่งเสริมเผยแพร่และกำหนดเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำในการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในไร่นาของตนเองและสามารถใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า โดยจะเปิดตัวโครงการฯ ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1–9

ทั้งนี้ ในวันที่ 29 มกราคม 2558 จะมีการจัดงานที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.ดอนเกาะคา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

อุตฯ ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษรับเออีซี

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างเดินหน้าลงพื้นที่เป้าหมายที่จะใช้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปลายปี 2558 ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย รับฟังบรรยายสรุปเรื่องแนวทางเตรียมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และ นายพละวัต ตันศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ซึ่งแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดดังกล่าว ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.การสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมและเชื่อมโยงการผลิตอย่างยั่งยืน 2.การสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.การส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.การส่งเสริมการลงทุน เพื่อรองรับเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดชายแดนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้

“จังหวัดเชียงรายมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion:GMS) ซึ่งประกอบด้วย ไทย กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑล ยูนนาน และกวางสี) ดังนั้นมองว่าประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบที่สำคัญโดยเฉพาะด้านคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ นับเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความสะดวก จะส่งผลให้การเติบโตทางการค้าการลงทุนในแถบชายแดนเติบโตเพิ่มขึ้น” นายจักรมณฑ์ กล่าว

นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยได้ ดังนั้นจึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงาน อาทิ การปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวก ได้แก่ ถนน ไฟฟ้า น้ำ และระบบราง และในเร็วๆ นี้จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านพื้นที่เพื่อกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีศักยภาพ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) เป็นประธานฯ

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กนอ.อยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชียงของพัฒนา โดยบริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีพื้นที่ ประมาณ 462 ไร่ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเน้นให้บริการด้านโลจิสติกส์ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2560 และหากแล้วเสร็จก็จะทำให้มูลค่าการค้าการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังกลายเป็นจุดที่สอดรับต่อระบบขนส่ง ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนเติบโตขึ้น เพราะมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียนและจีนตอนใต้อีกด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

กรมพัฒนาที่ดินกับภารกิจรณรงค์ไถกลบตอซังปรับปรุงดินเฉลิมพระเกียรติพระเทพฯ60พรรษา

การรณรงค์ไถกลบตอซัง เป็นนโยบายสำคัญที่กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกร ตระหนักถึงการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกวิธี และลดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ล่าสุดสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี ร่วมกับ ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหญ้าไซ และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จ.สุพรรณบุรี จัด “โครงการรณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืช (ไถกลบตอซัง เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และบรรเทาภาวะโลกร้อน) เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 60 พรรษา” ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 รวมถึงเพื่อสร้างจิตสำนึกและถ่ายทอดความความรู้ความเข้าใจในการจัดการวัสดุเหลือใช้ในไร่นา อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้รณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผาทำลายตอซังฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยว มาใช้วิธีการไถกลบตอซังฟางข้าวร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.2 หมักตอซังฟางข้าว 7-15 วัน แล้วไถกลบ เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน คืนความอุดมสมบูรณ์และความเหมาะสมในการปลูกพืชให้กับดิน สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี ทำให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง

ซึ่งควบคู่กับแนวทางที่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์และ นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ที่ต้องการให้ข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯ และกรมพัฒนาที่ดิน จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกร และถือเป็นการสนองพระราชดำริในการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทางเลือกในการผลิตระบบทางการเกษตร เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงสนับสนุนให้มีการผลิตปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรมีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

สศข.7เกาะติดนาปรังเจ้าพระยา รับผลกระทบแล้ง-พื้นที่ปลูกลด

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 ในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยจังหวัดชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ซึ่งเป็น 4 ใน 26 จังหวัดของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้กรมชลประทานงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง อันเนื่องมาจากปัญหาปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อยและไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันประกาศแจ้งให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งช่วงเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 เกษตรกรจะลงมือเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2557 และจะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ในเรื่องดังกล่าว สศข.7 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวนาปรัง ปี 2558 ปลูกระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 - 30 เมษายน 2558 พบว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 ใน 4 จังหวัด มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 347,581 ไร่ ลดลงจากปี 2557 ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 1,450,285 ไร่ ลดลง 1,102,704 ไร่ หรือร้อยละ 76 โดยเกษตรกรบางส่วนรีบทำนาปีรอบที่ 2 ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมแทน และบางส่วนหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ถั่วเขียว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะปล่อยนาทิ้งให้ว่าง เพราะไม่ต้องการเสี่ยงกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ในช่วงการเจริญเติบโตของต้นข้าว ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

ส่งฝนหลวงรับมือแล้ง-หมอกควัน ตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ2ชุดเตรียมพร้อมขึ้นบิน

นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งและภัยธรรมชาติในปี 2558 ว่า คาดการณ์ว่าสถานการณ์น่าจะมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์เอลนิโญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ สถาบันด้านอุตุนิยมวิทยา ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้คาดหมายว่าปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ประกอบกับพฤติกรรมการเผาป่าและเศษซากพืชในไร่นาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในระยะจากนี้ไป จะทำให้เกิดการสะสมของหมอกควันซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กจำนวนมากที่มีปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือ และยังมีผลทำให้โอกาสการเกิดฝนในธรรมชาติลดลงด้วย ซึ่งจะซ้ำเติมให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาคราชการและเอกชน จึงจำเป็นต้องช่วยกันรณรงค์และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการเพื่อลดการเผาป่าและเศษซากพืชในไร่นาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายวราวุธกล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการสู้กับสถานการณ์ภัยแล้งและปัญหาหมอกควันในช่วงฤดูแล้งนี้ กรมฝนหลวงฯ จึงได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น ระยอง และสุราษฎร์ธานี เตรียมความพร้อมและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดแล้ว ถึงแม้ว่าตามสถิติข้อมูลความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในระดับที่เมฆก่อตัวจะเข้าสู่เกณฑ์ 60% ที่สามารถทำฝนได้จะต้องเป็นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป แต่ก็มีบางวันและบางพื้นที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีลมสอบเข้าหากันทำให้ความชื้นสูงขึ้นก็จะสามารถขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในบริเวณดังกล่าวได้ โดยขณะนี้ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้แล้ว 2 ชุดที่สนามบินนครสวรรค์เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจนี้แล้ว

สำหรับแผนปกติตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 จะเริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจนครบ 10 หน่วย ตามอัตรากำลังที่กรมมีอยู่และรวมทั้งหน่วยบินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ โดยในภาคเหนือจัดตั้งหน่วยที่เชียงใหม่ และพิษณุโลกหรือตาก ภาคกลางจัดตั้งหน่วยที่นครสวรรค์ และลพบุรี หรือกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งหน่วยที่ขอนแก่น และนครราชสีมาหรืออุบลราชธานี ภาคตะวันออกจัดตั้งหน่วยที่ระยอง และจันทบุรี หรือสระแก้ว ภาคใต้จัดตั้งหน่วยที่ หัวหิน และสุราษฎร์ธานี หรือนครศรีธรรมราช

“ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มโครงการจัดตั้งอาสาสมัครฝนหลวงในทุกภาคของประเทศ โดยมีตัวแทนเกษตรกรในระดับอำเภอเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครฝนหลวงและผ่านการฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานข้อมูลทั้งในด้านการรายงานสภาพการเพาะปลูกและบริเวณพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ตลอดจนรายงานผลการตกของฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน รวมไปถึงความสามารถในการสังเกตเมฆที่เหมาะสม ในการทำฝนหลวงและแจ้งตำแหน่งเป้าหมายให้หน่วยที่อยู่ใกล้ที่สุดขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันเวลา ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญและพร้อมดำเนินการเต็มรูปแบบในปีนี้” อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

คลังกู้อีก4หมื่นล.ทำถนน ช่วยเกษตรกรมีงานทำช่วงหน้าแล้ง

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ภายในประเทศจำนวน 4 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคม เพื่อให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ไปดำเนินการซ่อมและสร้างถนนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากมาตรการที่ทำไปก่อนหน้านี้

สำหรับการกู้เงิน 4 หมื่นล้านบาท เป็นการกู้ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ (สบน.) ที่ให้คลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมได้ปีละไม่เกิน 10% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งรัฐบาลเห็นว่ายังมีช่องที่จะกู้ได้โดยไม่เกินกรอบกฎหมาย และควรเร่งดำเนินการในช่วงนี้ เพื่อให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของโครงการซ่อมและสร้างถนนต่างๆ ทั่วประเทศ ทางกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้เสนอรายละเอียดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเร็วๆ นี้

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า เงินกู้ก่อสร้างซ่อม สร้างถนน 4 หมื่นล้านบาท เป็นคนละกรณีกับเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีงานทำในช่วงหน้าแล้ง เพาะปลูกไม่ได้ โดยการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เสนอ ครม. ให้เห็นชอบใช้งบประมาณ 3,052 ล้านบาท ไปดำเนินโครงการในพื้นที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซาก เพื่อให้เกิดการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และบรรเทาความเดือดร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยหลักการสำคัญ คือ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนเกษตรสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน

ทั้งนี้ ชุมชนเป็นผู้กำหนดกิจกรรมการดำเนินงานที่สอดคล้องกับความต้องการ และเป็นผู้บริหารจัดการโครงการให้เกิดผลสำเร็จ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น การขุด ลอก คูคลอง โดยมีเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ คือ พื้นที่เกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2557/2558 จำนวน 3,052 ตำบล 58 จังหวัด จากบัญชีรายชื่อพื้นที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตร ปี 2558 ตามแผนเตรียมการรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2558

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

บาทนิ่งรอแบงก์ชาติ ยูโรฟื้น

ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศประจำวันอังคารที่ 20 มกราคม 2558 เช้าวันนี้ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 32.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ 32.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้อยู่ในกรอบแคบๆ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาดมากนัก นอกจากนี้ตลาดเองยังคงจับตามองการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันพรุ่งนี้เวลา 14.30 น. ว่าจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอย่างไร รวมไปถึงมุมมองของคณะกรรมการเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย ด้านโพลล์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า เสียงส่วนใหญ่ของนักเศรษฐศาสตร์ (16 จาก 20 ราย) ลงความเห็นว่า กนง.จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อไปในการประชุมครั้งนี้ โดยให้ความเห็นว่าที่ระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีความเหมาะสมที่จะรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อยเป็นค่อยไปในปัจจุบัน และส่วนของนักเศรษฐศาสตร์อีก 4 รายที่เหลือ ให้ความเห็นว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างอิงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าขึ้นสูงสุดที่ระดับ 32.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ 32.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น วันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1230/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ 1.1250/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในวันนี้ยูโรยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่สอง ภายหลังจากที่ปรับตัวอ่อนค่าไปถึงจุดต่ำสุดในรอบ 11 ปี ที่ระดับ 1.1098 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในเช้าวันจันทร์หลังการเลือกตั้งของกรีซที่ผ่านมา ทั้งนี้แม้ว่าพรรคฝ่ายค้าน (syriza) จะชนะการเลือกรั้งตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในตอนแรกและยืนยันจะยกเลิกนโยบายการรัดเข็มขัด (Anti-Austerity program) ตามสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียง แต่ก็ไม่ได้สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนมากนัก เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะยังคงเป็นรูปแบบรัฐบาลผสม และท่าทีเรื่องการนำประเทศกรีซออกจากกลุ่มยูโรโซนมองว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ไม่ได้แข็งกร้าวและให้คำมั่นสัญญาว่าประเทศกรีซจะยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ต่อไป นอกจากนี้ รายงานด้านสภาวการณ์ดำเนินธุรกิจในเยอรมนี (IFO Business Climate) ล่าสุดก็ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 111.7 ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 110.7 ด้วยสถานการณ์ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นทำให้กลยุทธ์การเทขายยูโรชะลอลงชั่วคราว โดยการเคลื่อนไหวระหว่างวันของเงินสกุลยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1220-1.1340 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนที่จะปิดตลาดที่ 1.1327/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 118.50/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ 118.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเพิ่มเติมในวันนี้ โดยกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนระหว่างวันอยู่ที่ 117.95-118.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ 118.00/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขประมาณการจีดีพีของอังกฤษ, ดัชนีราคาบ้าน, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ, ดัชนีความชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (27/1) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก GfK ของเยอรมนี (28/1), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐแถลงมติอัตราดอกเบี้ย, อัตราว่างงานของเยอรมนี, ผลสำรวจภาวะธุรกิจของยูโรโซน (29/1), ดัชนีราคาผู้บริโภค, การผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ข้อมูลเงินเฟ้อเบื้องต้นของยูโรโซน, ประมาณการจีดีพีไตรมาส 4 ของสหรัฐ (30/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.5/4.8 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.5/6.0 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 มกราคม 2558

เกษตรจังหวัดส่งเสริมอาชีพช่วงหยุดทำนาปรัง ปลูกมัน-อ้อยแทน

กาญจนบุรี/ราชบุรี - เกษตรจังหวัดส่งเสริมอาชีพช่วงหยุดทำนาปรัง ปลูกมัน-อ้อยแทน หรือรับจ้างทำงานกับกรมชลประทาน      

        น.ส.ชนิดาภา โชคทรัพย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังจากประเมินแล้วว่าปี 2558 จะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทุกฝ่ายเป็นห่วงว่าชาวนาจะได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่จากการสำรวจแล้วพบว่า ภาพรวมทั้งจังหวัดมีชาวนาได้รับผลกระทบ 1,148 ราย พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งถือว่าน้อยมาก

               โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ท่าม่วง อ.ท่ามะกา อ.พนมทวน และ อ.ห้วยกระเจา แต่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรปรับที่นาไปปลูกมันสำปะหลังแทน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เกษตรกรบางรายมีพื้นที่อยู่ริมคลองชลประทานก็หันมาปลูกถั่วเขียวแทน ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัด ให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ 10 ตัน แต่เกษตรกรบางรายต้องการพักฟื้นที่นาของตนเองเพื่อรอทำนาช่วงนาปี

               “”ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเกษตรกรกาญจนบุรีตื่นตัวเป็นอย่างมาก รู้วิธีการแก้ปัญหาให้แก่ตัวเอง ด้วยการนำที่นาไปปลูกมัน หรืออ้อยในฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูทำนาก็กลับมาทำนาเหมือนเดิม จึงอยากให้เกษตรกรทั่วทุกภาคนำไปเป็นแบบอย่าง เชื่อว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนได้เป็นอย่างดี”

               ด้าน นายรังสรรค์ กองเงิน เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนา จึงประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่ว่างงานสมัครงานทำงานกับกรมชลประทาน และจะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมอาชีพเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่เป็นอาชีพเสริม ส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเขียว โดยแจกเมล็ดพันธ์ให้เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว 

จาก http://manager.co.th    วันที่ 27 มกราคม 2558

จักรมณฑ์ ลั่นมี.ค.สรุปแนวทางลอยตัวน้ำตาลจ่อเดินหน้าสิ้นปีนี้ 

          "จักรมณฑ์"เอาแน่ ลอยตัวราคาน้ำตาลภายในสิ้นปีนี้รับเปิดเออีซี รอผลการศึกษาแนวทางที่ชัดเจนอีกครั้งภายในมีนาคมนี้ มั่นใจราคาน้ำตาลทรายจะไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทบประชาชน พร้อมคงกองทุนอ้อยเอาไว้โดยจะนำเงินส่วนต่างจากการลอยตัวเข้ากองทุนฯไว้ดูแลช่วงราคาตก

               นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลัง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย เข้าพบที่กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ได้หารือเกี่ยวกับนโยบายการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ปลายปี 2558 ซึ่งคงจะต้องรอผลการศึกษาการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายภายในเดือนมีนาคม 2558 ที่มีนายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานศึกษาก่อน โดยหากดูทิศทางตลาดโลกและราคาปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนอ้อยแล้วเชื่อว่าจะไม่มีผลให้ราคาขายปลีกในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

       “ ที่ผ่านมากระทรวงฯได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในเบื้องต้นแล้วและมีความเห็นร่วมกันว่าจะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในสิ้นปีนี้หรือให้ทันในช่วงฤดูการผลิตปีนี้แน่นอน โดยราคาควบคุมอยู่ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) แต่บวกราคาเพิ่มเพื่อนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) 5 บาทกก. เมื่อลอยตัวจะเลิกการเก็บเงิน 5 บาทต่อกก. ทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศเมื่อเปิดAECจะลดลงแน่นอน แม้ราคาซื้อขายในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นแต่เชื่อว่าจะไม่เกิน 23 บาทต่อกก.”นายจักรมณฑ์กล่าว

              อย่างไรก็ตามชาวไร่อ้อยกังวลว่าหากลอยตัวน้ำตาลทรายไทยเมื่อราคาตลาดโลกสูงอาจมีผลให้น้ำตาลทรายไหลออกไม่เพียงพอกับการบริโภคแต่ทางกระทรวงยืนยันว่าจะมีมาตรการดูแลด้วยการอาจกำหนดโควต้าก.(น้ำตาลบริโภคในประเทศ) ส่วนเงินกองทุนอ้อยฯก็จะใช้เงินจากการลอยตัวมาดูแลแทนโดยกรณีตลาดโลกสูงมากกว่าระดับที่กำหนดไว้ก็จะเก็บเงินส่วนเกินเข้ากองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือช่วงราคาน้ำตาลตกต่ำเหมือนกองทุนน้ำมันฯ แต่คงจะต้องรอวิธีการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง

               “ในอาเซียนมีเพียงประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาล ดังนั้นหากเปิดเสรีภายใต้กรอบเออีซี ก็จะทำให้ตลาดน้ำตาลทรายของไทยขยายอย่างเสรีใน 10 ประเทศ ประชากรกว่า 600 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10 เท่า จึงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยมาก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านก็บริโภคน้ำตาลทรายสูงถึงกิโลกรัมละ 30-40 บาท”นายจักรมณฑ์กล่าว

จาก http://manager.co.th    วันที่ 27 มกราคม 2558

สภาอุตฯจับมือภาครัฐ หนุนลดใช้พลังงาน เพิ่มศักยภาพแข่งขัน

นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการจัดสัมมนาเผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม หัวข้อ "ลดแล้วรู้ ลองแล้วรวย" ภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์การเผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม วันนี้ (27 ม.ค.2558) ว่า ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน เนื่องจากต้นทุนพลังงานถือเป็นต้นทุนหลักที่ราคามีความผันผวนในทิศทางเพิ่มมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการประหยัดพลังงานมากนัก

โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ขาดบุคลากรที่จะมาดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงาน ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจหรือแหล่งเงินทุนที่จะใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน ขาดความรู้ที่จะดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน แต่ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวสามารถบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความพร้อมของผู้ประกอบการได้ การอนุรักษ์พลังงานไม่จำเป็นต้องอาศัยบุคคลใดบุคคลหนึ่งในการดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนสูง ๆ เครื่องจักรใหม่ ๆ ถึงจะประหยัดพลังงานได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานประสบความสำเร็จคือความรู้ และความร่วมมือจากบุคลากรในองค์กร

"จากผลสำเร็จจากการดำเนิน "โครงการจัดตั้งศูนย์การเผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม" ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามการส่งเสริมความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กับบุคลากรของภาคอุตสาหกรรม ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์พลังงาน และร่วมมือกันอนุรักษ์พลังงาน จนสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ต่อไป" นายวีรศักดิ์กล่าว

ด้าน นายณรงค์ บัณฑิตกมล ประธานคณะทำงานโครงการจัดตั้งศูนย์การเผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมถือเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานสูงถึงร้อยละ 36 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ ด้วยสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการจำนวนมาก ในการแบกรับภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น หากไม่วางแผนปรับตัว เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า

 ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างทั่วถึงแก่บุคลากรของภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ เพื่อรณรงค์ให้ผู้ประกอบการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ลดต้นทุนด้านพลังงานของตนเองได้ จึงสนับสนุนให้ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนิน "โครงการจัดตั้งศูนย์การเผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม" เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้คำแนะนำด้านการอนุรักษ์พลังงานแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ผ่านการให้บริการของศูนย์การเผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงาน ที่กรุงเทพฯ และภูมิภาคต่าง ๆ อีก 18 แห่งทั่วประเทศ

การดำเนินโครงการที่ผ่านมา สามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถลดการใช้พลังงานได้ด้วยตนเองอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ จัดให้มีวิศวกรประจำศูนย์การเผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม, จัดให้มีการอบรมเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กับบุคลากรของภาคอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ 18  ครั้ง โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมรวมกว่า 2,359 คน, พัฒนาสื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานที่ใช้สำหรับปรับปรุง และควบคุมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมได้ด้วยตนเอง

ประชาสัมพันธ์เผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานผ่านสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรของภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน และรู้ถึงแนวทางที่จะประยุกต์ใช้เพื่อลดการใช้พลังงานด้วยตนเองได้, จัดกิจกรรมส่งเสริม "ประกวดภาพถ่าย OK Saver" เพื่อรณรงค์การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานจากบุคลากรของภาคอุตสาหกรรม

จากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าว ได้รับผลตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี สถาบันพลังงานฯ จึงจัดให้มีการสัมมนาในวันนี้ เพื่อเผยแพร่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเชิงธุรกิจให้กับองค์กรได้ต่อไป

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 27 มกราคม 2558

ทุ่ม3.1พันล้านอุ้มเกษตรภัยแล้ง หวังเพิ่มรายได้-ประสิทธิการผลิต

 ที่ทำเนียบรับบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานว่า ก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติหลักการ โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ไปเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.57 และในวันนี้ได้ให้ความเห็นชอบงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจำนวน 3,173 ล้านบาท โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดรายละเอียดของโครงการให้ชัดเจน และไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งจะมีการดำเนินการในพื้นที่แล้งซ้ำซากจำนวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด และให้จ้างเกษตรกรที่มีรายได้น้อยเป็นลำดับแรก

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งให้มีรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะให้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) เป็นตัวแทนชุมชนในการขอรับการสนับสนุน และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเพื่อกลั่นกรอง อนุมัติ ติดตาม และตรวจสอบโครงการ

"สำหรับงบประมาณ 3,173 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนตำบลละ 1 ล้านบาท จำนวน 3,052 ตำบล เป็นเงิน 3,052 ล้านบาท และค่าบริหารโครงการเป็นเงิน 121 ล้านบาท ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ จะเกิดการจ้างแรงงาน 2,014,320 คนต่อวัน และเกิดกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของชุมชนรวม 2,441 ล้านบาท" ร.อ.นพ.ยงยุทธ ระบุ

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ครม.เห็นชอบการดำเนินการของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องทำหนังสือสัญญาที่หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ต้องเสนอ ครม. โดยต้องเป็นความตกลงที่เข้าเงื่อนไขทั้ง 7 ประการ ได้แก่ 1.ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญ 2.ทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการระดับกรม 3.ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับนโยบาย 4.ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันธ์งบประมาณ นอกจากงบประมาณที่ตั้งไว้ 5.สามารถดำเนินการภายใต้กฎหมาย หรือกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ 6.ส่วนราชการเจ้าของเรื่องต้องส่งร่างให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณา และ 7.ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 มกราคม 2558

“อำนวย”คุย3องค์กรชาวไร่อ้อยนำเสนอข้อเรียกร้อง4ประเด็น

นายอำนวย  ปะติเส  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังอนุญาตให้  3  องค์กรชาวไร่อ้อย  ประกอบด้วย  ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน  สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  และสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ  เข้าพบเพื่อหารือและนำเสนอข้อเรียกร้องด้วยกัน  4  ประเด็น  คือ  1) ปัญหาการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AEC)  โดยให้คงระบบแบ่งปันผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย  พ.ศ. 2557  และการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ  ให้คงการจำหน่ายแบบวิธีที่ใช้ในปัจจุบัน  ซึ่งกำหนดปริมาณและราคาการจำหน่าย  เพื่อประโยชน์ทั้งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรวมทั้งผู้บริโภค  ในการสร้างความมั่นคงและการมีเสถียรภาพแก่ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย  ซึ่งการกำหนดราคาภายในอาจมีการยืดหยุ่นตามภาวการณ์ที่เหมาะสม 

2) นโยบายการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต  โดยการกำหนดรายได้เพิ่มให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง  และการสนับสนุนโครงสร้างการส่งเสริมการผลิตพื้นฐานให้เพียงพอ  เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการลดต้นทุนการปลูก  และการบริหารจัดการในไร่อ้อย  เช่น  แหล่งน้ำ  ปุ๋ย  สารเคมีกำจัดวัชพืช  และโรคแมลง  เป็นต้น  3) การปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้อ้อยมีราคาสูงขึ้น  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยที่เป็นน้ำตาลทรายหรืออาหารให้เป็นพลังงาน  เช่น  เอทานอล ไฟฟ้า  เป็นต้น  และ 4) ขอสนับสนุนเพิ่มราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี  2557/58  ตันละ  1,222.05  บาท  ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นกำหนดไว้ตันละ  900  บาท  ที่ 10  ซี.ซี.เอส.

นายอำนวย  กล่าวต่อไปว่า  ในเชิงบริหารจัดการสินค้าอ้อย  มีกระทรวงที่รับผิดชอบด้วยกัน  กระทรวงคือ  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงอุตสาหกรรม  และกระทรวงพาณิชย์  ซึ่งข้อเสนอในเรื่องของราคา  โดยให้สนับสนุนการขอกู้ยืมเงินจากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไปเพิ่มรายได้ในอัตราร้อยละ 60 บาท/ตัน  จะมีการนำเข้าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)  เพื่อนำเข้าเสนอ ครม. พิจารณา   ทั้งนี้  กระทรวงเกษตรฯ  จะได้นำข้อเสนอของชาวไร่อ้อยไว้เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่อไป

 จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 27 มกราคม 2558

“นายกฯ”ถก “ญี่ปุ่น”พัฒนาระบบราง-เขตศก.พิเศษ มั่นใจไทยเข้มแข็ง

“นายกฯ”ถก “ญี่ปุ่น”พัฒนาความร่วมมือระบบราง-เขตศก.พิเศษ ให้ความมั่นใจไทยเข้มแข็ง พร้อมเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน จ่อเยือนญี่ปุ่น 8-10 กพ.กระชับความสัมพันธ์ –ทดลองนั่งรถไฟชินคังเซน

     เมื่อวันที่ 27 ม.ค. เวลา 15.00 น. นายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการหารือ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายฮิโรโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ โดยเน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ที่ใกล้ชิด ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติ และนายกรัฐมนตรีได้ตอบรับคำเชิญที่จะเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์นี้ โดยนายกรัฐมนตรีจะทดลองนั่งรถไฟชินคังเซน ไปยังโอซาก้าด้วย

     ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำความร่วมมือโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ที่จะมีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง หรือ MOI ในการพัฒนาระบบราง เส้นทาง กรุงเทพฯ -กาญจนบุรี กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยอง สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในทุกระดับ รวมถึงโครงการทวาย เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การส่งเสริมมูลค่า การค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะในกรอบความตกลงเพื่อความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งทั้งหมดจะหารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในระหว่างการเยือนญี่ปุ่น และหวังว่าจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม

     ด้านที่ปรึกษาพิเศษฯญี่ปุ่น กล่าวถึงความร่วมมือด้านการศึกษากับไทยว่า ญี่ปุ่นได้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และเชิญนักศึกษาไทยจำนวน 340 คน ไปศึกษาดูงานร่วมกับนักศึกษาญี่ปุ่น โดยโครงการนี้จะเชิญเยาวชนในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาให้กับประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยในด้านเทคโนโลยี

     นอกจากนี้ ที่ปรึกษาพิเศษฯญี่ปุ่น ได้แสดงความชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาภายในประเทศ และนำประเทศไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวให้ความมั่นใจว่า ไทยเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามโรดแมป เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และให้เกิดประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และดำเนินนโยบาย ที่เปิดกว้างและโปร่งใส

     อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเข้าพบ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำ นายฮิโรโตะ อิซุมิ ชมตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพ บริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ก่อนเดินทางกลับด้วย

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 27 มกราคม 2558

เล็งลอยตัวน้ำตาลหลังเปิดเออีซี

อุตสาหกรรม ยืนยันปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาล หลังเปิดเออีซี เร่งสั่งศึกษาเวลาวิธีการให้เสร็จ 3 เดือน มั่นใจยกระดับราคาสูงขึ้น ชาวไร่หวั่นน้ำตาลในประเทศขาดแคลน

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือกับสมาคมชาวไร่อ้อย และ 3 สมาคมน้ำตาลทรายว่า ได้แจ้งกลุ่มชาวไร่อ้อยว่า จากการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ มีความเห็นตรงกันว่า จะต้องปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายหลังการเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ภายในสิ้นปีนี้ โดยราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศคงจะใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ 23 บาทต่อกก. เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในขณะนี้ได้บวกเงินเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกก. จากราคาน้ำตาลที่แท้จริง 18 บาทต่อกก.

ทั้งนี้ชาวไร่อ้อยหลายราย ได้แสดงความเป็นห่วงว่า หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก จะทำให้พ่อค้าส่งออกน้ำตาลภายในประเทศจนหมด ทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นได้ ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงอุตฯ ยืนยันว่า ยังคงโควตา ก. หรือโควตาน้ำตาลทรายที่จำหน่ายภายในประเทศเหมือนเดิม แต่จะประเมินอีกครั้งว่า ควรจะมีปริมาณเท่าไรที่เหมาะสม ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงไปศึกษา และวางแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้เสร็จภายในเดือนมี.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดเสรีลอยตัวราคาน้ำตาลนี้ จะต้องยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาท ซึ่งชาวไร่อ้อยมีความเป็นห่วงว่า หากไม่เก็บเงินตรงนี้ หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงจนต่ำกว่าต้นทุน จะไม่มีเงินเข้ามาช่วยเหลือเกษตร โดยเรื่องนี้ขอยืนยันว่า จะยังคงมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเหมือนเดิม แต่เงินที่เก็บเข้ากองทุนจะมาจากส่วนต่างของราคาส่งออก ถ้าในช่วงที่ราคาในตลาดโลกสูงบมากกว่าระดับที่กำหนดไว้ ก็จะเก็บส่วนเกินเข้ากองทุน เพื่อนำมาช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคาตำต่ำ และจากการประเมินราคาน้ำตาลทรายที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะสูงกว่าราคาภายในประเทศ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร

“ในอาเซียนมีเพียงประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาล ดังนั้นหากเปิดเสรีภายใต้กรอบเออีซี ก็จะทำให้ตลาดน้ำตาลทรายของไทยขยายอย่างเสรีใน 10 ประเทศ ประชากรกว่า 600 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10 เท่า จึงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยมาก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านต่างบริโภคน้ำตาลแพงกว่าประเทศไทยเฉลี่ย 30-40 บาทต่อกก. ดังนั้นจึงทำให้ไทยจะมีรายได้จากน้ำตาลทรายเข้าประเทศมากขึ้น”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 มกราคม 2558

ชงครม.แจกตำบลละ1ล้านช่วยแล้งซ้ำซาก

กระทรวงเกษตรฯเสนอครม. ของบกลางช่วยเหลือพื้นที่แล้งซ้ำซาก 3.5 พันล้านบาท แจกตำบลละ 1 ล้านบาท

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ว่า ได้ทำหลักเกณฑ์การเข้าโครงการเสนอให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เดือนพ.ย.2557 - 30 เม.ย. 2558 วงเงิน 3,565 ล้านบาท โดยขอจากงบกลางของรัฐบาล เพื่อขัดให้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้ง ปี 2557/2558 ในพื้นที่ 3,052ตำบล 58 จังหวัด ตำบลละ 1ล้านบาทเป็นเงินให้เปล่าและให้ท้องถิ่นบริหารกันเอง

แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ระยะที่ 2 โดยจะจัดเงินให้กับชุมชนโดยตรงตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรท้องถิ่นบริหารกันเองตามความต้องการจริง เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้หลักการสำคัญของโครงการ มีประมาณ 10 ข้อ อาทิ โครงการก่อสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และสัดส่วนการจ้างงานในชุมชนเป็นหลักไม่น้อยกว่า30% ของงบประมาณที่ได้ โครงการเพิ่มสร้างแหล่งน้ำต้นทุน โครงการพัฒนาแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ใช้เงินจากก้อนอื่นหรือที่ได้จากหน่วยงานอื่น และที่สำคัญต้องใช้แรงงานในทิ้งถิ่นไม่น้อยกว่า 30%

"ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าปีนี้แล้งรุนแรงและราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ น้ำท่าไม่ค่อยมีใช้ปลูกข้าวก็ไม่ได้ พืชผัก เสียหาย จึงเห็นว่ารัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือออกมา ซึ่งเงินดังกล่าวจะถูกหมุนกันเองในชุมชน ไม่ต้องคืนรัฐโดยเบิกจ่ายผ่านธนาคารของรัฐในท้องถิ่น"แหล่งข่าวระบุ

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 27 มกราคม 2558

เกษตรฯคาดสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้รุนแรง เร่งเตรียมความพร้อมทำฝนหลวง

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเปิด งานวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่2 เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสียสละทุ่มเทประดิษฐ์คิดค้นวิธีการทำฝนหลวงจนประสบผลสำเร็จและทรงมีพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมนำกรรมวิธีการทำฝนหลวงภายใต้สิทธิบัตรของพระองค์ไปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนป้องกันและบรรเทาภัยแล้งให้กับเกษตรกร เพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรม เติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆอีกทั้งบรรเทาปัญหาความรุนแรงของภัยธรรมชาติเช่นไฟป่า หมอกควันและพายุลูกเห็บ

"ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ฝนหลวงมีความทุ่มเทและตื่นตัวในการทำงานให้มากขึ้นและน้อมนำเทคนิคพิเศษที่พระองค์ทรงพระราชทาน ในการปฏิบัติฝนหลวง ทรงพระราชทานตลอดมาต่อเนื่องในการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศ โดยน้อมนำมาปรับใช้ใน"ยุทธศาสตร์และมาตรการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 27 มกราคม 2558

ข้อชวนคิด ป่าไม้กับการบริหารจัดการน้ำ

สำหรับสาเหตุที่มีการคัดค้านการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้น มีเหตุผลหลัก ๆ ก็คือ เขื่อนทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติ ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันมีการตื่นตัวของการอนุรักษ์ป่าไม้ค่อนข้างมาก จนบางครั้งทำให้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ สะดุด โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ต่างเข้ามาส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางหลายโครงการ ขณะที่ความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าอีกไม่นานจุดวิกฤติในเรื่องน้ำของประเทศจะมาเยือนแน่นอน

สำหรับสาเหตุที่มีการคัดค้านการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้น มีเหตุผลหลัก ๆ ก็คือ เขื่อนทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติ ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลสนับสนุนอื่น ๆ อีก เช่น เขื่อนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง หรือน้ำท่วม มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ตั้งอยู่ในแนวเลื่อนของเปลือกโลก เป็นต้น พร้อมกับให้คำแนะนำว่า การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่า และการปลูกป่า เป็นแนวทางแก้ปัญหาเรื่องน้ำดีที่สุด

อย่างไรก็ตามจากเอกสารในงานสัมมนาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตด้านทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ระบุว่า สถานการณ์ป่าไม้เมื่อปี 2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าประมาณ 171 ล้านไร่ หรือร้อยละ 53 ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ในปี 2549 ประเทศไทยพื้นที่ป่าลดลงเหลือเพียง 99 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31 ของพื้นที่ทั้งประเทศ จะเห็นได้ว่า ในช่วงเพียง 45 ปี ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 72 ล้านไร่ หรือประมาณปีละ 1.6 ล้านไร่

สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี 2543 โดยอ้างข้อมูลจากกรมป่าไม้ ระบุว่า มีพื้นที่ป่าที่ขอใช้เพื่อการชลประทาน ซึ่งรวมถึงการสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ ระบบคลองส่งน้ำ อาคารชลประทานต่าง ๆ เป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 535,620 ไร่

เมื่อประเมินแล้วประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 72 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นการสูญเสียเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำเพียงประมาณ 1 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นสูญเสียไปเพราะเรื่องอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น ได้ระบุว่า ได้มีการขอใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมกันทั้งหมดประมาณ 2.8 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย ขอใช้ในการปลูกสร้างสวนป่า การเกษตร ที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ ระเบิดหิน ทำเหมืองแร่ ก่อสร้างทาง ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง การชลประทาน การศึกษา ศาสนา เป็นต้น

ดังนั้นพื้นที่ป่าเกือบ 70 ล้านไร่ที่สูญเสียไปส่วนใหญ่ จึงน่าจะมาจากการบุกรุกที่ผิดกฎหมายมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญการสูญเสียป่าเนื่องจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นมีจำนวนน้อยมาก

จึงไม่น่าจะเป็นตัวการใหญ่ และสาเหตุสำคัญในการทำลายป่า ที่สำคัญปัจจุบัน มีการยอมรับกันเป็นสากลแล้วว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นสร้างประโยชน์อย่างเหลือคณานับ เพราะน้ำคือชีวิต ฉะนั้นจึงน่าจะมีการกำหนดมาตรฐานใหม่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องของป่าไม้เมื่อพื้นฐานปัญหาไม่ได้มาจากการบริหารจัดการน้ำ ดังที่กล่าวมาข้างต้น.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 27 มกราคม 2558

สระแก้วเร่งจ้างแรงงานเขมรตัดอ้อยกลางคืน หวั่นไม่ทันฤดูปิดหีบ

        สระแก้ว-ปัญหาแรงงานตัดอ้อยสระแก้วยังมีปัญหา ชาวไร่อ้อยที่ตำบลคลองทับจันทร์ต้องเร่งจุดไฟไร่อ้อยของตนเอง และเร่งให้แรงงานเขมรตัดกันกลางคืนหวั่นไม่ทันฤดูปิดหีบอ้อย

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชาสัมพันธ์เพื่อขอร้องชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วไม่ให้มีการเผาอ้อยแล้วตัด ปรากฏว่าไม่ได้ผล เนื่องจากปัญหาแรงงานที่เข้ามารับจ้างตัดอ้อยนับวันจะหายาก และมีราคาแพง ชาวไร่อ้อยจึงต้องทำการจุดไฟในไร่อ้อยและเหมาแรงงานชาวกัมพูชามาเร่งตัด บางรายต้องยอมเหมาให้แรงงานชาวกัมพูชา เร่งตัดกันกลางคืน เพื่อให้ทันฤดูกาลก่อนที่โรงงานอ้อยจะปิดหีบอ้อย

               ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจดูการเผาไร่อ้อยในเขตตำบลคลองทับจันทร์ปรากฏว่า มีหลายจุดด้วยกัน หลังจุดไฟเผาอ้อยแล้วบางแห่งถึงกับเหมาแรงงานชาวกัมพูชาเข้ามาตัดกันในเวลากลางคืนกันเลยทีเดียว เนื่องจากปริมาณอ้อยในจังหวัดสระแก้วมีจำนวนมาก ทำให้การขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลต้องเป็นไปตามคิว และปัจจุบันปัญหาเรื่องแรงงานชาวกัมพูชา เข้ามารับจ้างตัดอ้อยมีน้อยมาก หากไม่ทำการจุดไฟให้ก็ไม่มีใครมาตัดให้ เจ้าของไร่อ้อยจึงจำเป็นต้องจุดไฟเผาอ้อย ถึงแม้ว่าความหวานจะลดต่ำลง แต่ก็ต้องยอม

               เจ้าของไร่อ้อยรายหนึ่งบอกว่า ต้องยอมเหมาให้แรงงานชาวกัมพูชาเหมาตัดทเนื่องจากถ้าจ้างเป็นรายวัน ส่วนใหญ่ชาวกัมพูชาจะไม่เอา ถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าตัดเป็นรายวัน เราก็ต้องยอมเนื่องจากต้องเร่งตัดให้ทันก่อนที่โรงงานน้ำตาลจะปิดหีบ

 จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มกราคม 2558

สภาอุตสาหกรรมฯ ผนึกกำลัง นิด้า ทำโพลสำรวจเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กับศูนย์สำรวจความคิดเห็น (นิด้าโพล) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อจัดทำดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชน และเป็นศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรมไทย มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และมุ่งมั่นพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่ง อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นกลไกพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยภายใต้หน้าที่หลักที่กล่าวมาแล้วนั้น สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มุ่งเน้นทำการศึกษา วิจัยเพื่อพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนยังมีหน้าที่ประสานงานกับภาครัฐและองค์กรต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เกิดความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

"การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น (นิด้าโพล) สถาบันบัณฑิต ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่จะสะท้อนให้นักลงทุน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นถึงทิศทางของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศอย่างชัดเจนและใกล้ชิด โดยความร่วมมือครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ มีหน้าที่ในการให้ข้อมูล เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และจัดแถลงข่าวดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกเดือน ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ และนิด้าโพล เชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดการศึกษา วิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างรอบด้านยิ่งขึ้นอันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างความเข็มแข็งของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป"นายสุพันธุ์กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็น หรือ นิด้าโพล เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ และนำเสนอผลการสำรวจต่อสาธารณะ รวมทั้งบริการวิชาการแก่หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยในความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมฯนี้ นิด้าโพลมีหน้าที่ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อด้านเศรษฐกิจของประเทศ จัดทำดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนการสุ่มตัวอย่าง ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมสรุปผลเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการสำรวจแก่สาธารณชนต่อไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มกราคม 2558

ยูโรอ่อนค่า บาทผันผวน จับตาประชุม กนง. กลางสัปดาห์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.56/58 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (23/1) ที่ระดับ 32.61/63 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรับแรงสนับสนุนจากการประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปีที่ 95.5 จุด อย่างไรก็ตามในช่วงคืนวันศุกร์ (23/1) ดัชนีดอลลาร์ได้ลดช่วงบวกลงหลังนักลงทุนได้มีการขายทำกำไรหลังตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาค่อนข้างไร้ทิศทาง โดยยอดขายบ้านมือสองในเดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% สู่ระดับ 5.04 ล้านยูนิตต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ที่ 5.08 ล้านยูนิต ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐแทบไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนมกราคมโดยอยู่ที่ระดับ 53.7 จาก 53.9 ในเดือนธันวาคม ดัชนี PMI ที่ยังอยู่ในเหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจสหรัฐว่ายังอยู่ในภาวะขยายตัวโดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตและราคาน้ำมันที่ลดลง สำหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าโดยนักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลอันเนื่องจากการประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมจากอีซีบี และความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชียและตลาดเกิดใหม่ โดยนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศจะอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 7.2 แสนล้านยูโร และการอัดฉีดจากธนาคารกลางญี่ปุ่นเฉลี่ยปีละ 6 แสนล้านยูโร ถือเป็นปริมาณเงินที่ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนอ่อนค่าลงในระยะต่อไป และจะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ในภูมิภาคอื่นมากขึ้นรวมถึงภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยซึ่งผลกระทบที่เกิดคือ ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น และส่งผลเสียต่อการขยายตัวของภาคส่งออก โดยตามทฤษฎีการดูแลไม่ให้เงินทุนไหลเข้ามากเกินไปนั้นจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงส่วนจะลดลงเท่าใดอยู่ที่การตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันพุธ (28/1) ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการติดตามและประเมินผลถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการ QE รวมไปถึงผลข้างเคียงต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด โดยกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันอยู่ที่ 32.56-32.59 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.57/58

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1178/80 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (23/1) ที่ 1.1234/36 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากระดับ 1.15 ดอลลาร์/ยูโร ลงมาซื้อขายอยู่ในระดับ 1.11-1.13 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพิ่มเติม (QE) ในวันพฤหัสบดี (22/1) ล่าสุดนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ได้กล่าวเตือนว่าการดำเนินการของ ECB ไม่ควรจะกระทบต่อความพยายามในการกระตุ้นการขยายตัวในยูโรโซน โดยเตือนว่าสภาพคล่องในระดับสูง และสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ได้สร้างสิ่งที่อาจบดบังความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงของประเทศต่าง ๆ ดังนั้นประกาศสมาชิกควรจะดำเนินการปฏิรูปประเทศของตัวเองตามแผนที่ตั้งไว้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซนได้ นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากผลการเลือกตั้งของประเทศกรีซที่พรรคไซริซาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (25/1) ที่ผ่านมา โดยนายอเล็กซิส ไซปราส ผู้นำพรรคได้ยืนยันที่จะยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดที่ดำเนินมา 5ปี  และจะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จในวันพุธที่จะถึงนี้ (28/1) โดยนักลงทุนมีความวิตกว่าชัยชนะของพรรคไซริซาจะทำให้กรีซผิดชำระหนี้และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนในท้ายที่สุด ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.1150-1.1258 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1246/48 ดอลลาร์/ยูโร

ส่วนของค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 117.60/62 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (23/1) ที่ 118.20/22 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยหลังนักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งในประเทศกรีซ นอกจากนี้เงินเยนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การส่งออกของประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 12.9% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกิดจากการที่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าและอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยตัวเลขนี้เป็นสัญญาณที่สดใสสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับภาวะถดถอย โดยระหว่างวันค่าเงินเยนยังผันผวนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 117.48-118.39 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 118.11/13 เยน/ดอลลาร์

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขประมาณการจีดีพีของอังกฤษ ดัชนีราคาบ้าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (27/1) ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก GFK ของเยอรมัน (28/1) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐแถลงมติอัตราดอกเบี้ย อัตราว่างงานของเยอรมนี ผลสำรวจภาวะธุรกิจของยูโรโซน (29/1) ดัชนีราคาผู้บริโภค การผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ข้อมูลเงินเฟ้อเบื้องต้นของยูโรโซน ประมาณการจีดีพีไตรมาส 4 ของสหรัฐ (30/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.6/4.8 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.5/7.5 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มกราคม 2558

น้ำตาลบุรีรัมย์’ระบุราคาน้ำตาลในตลาดโลกแนวโน้มสูงขึ้น

นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)  หรือ BRR เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลก พบว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดนิวยอร์ค No. 11 ช่วงเดือนมีนาคม 2015 ปรับตัวสูงขึ้นที่จากระดับราคา 14.87 เซนต์/ปอนด์ ขึ้นมาอยู่ที่ 16.15 เซนต์/ปอนด์ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2015 ก่อนจะปิดตลาดที่ราคาเกือบ 16 เซนต์/ปอนด์ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับตัวขึ้นของราคาดังกล่าว มาจากปริมาณฝนที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของบราซิลและการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันของบราซิล ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการใช้เอทานอลมากขึ้น และมีการดึงอ้อยไปผลิตเอทานอลมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ค่าเงินเรียลของบราซิลที่แข็งค่าขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 11.75% เป็น 12.25% จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจของน้ำตาลบุรีรัมย์และอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยโดยรวมที่สามารถสร้างเม็ดเงินรายได้จากการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังประเทศคู่ค้าได้มากขึ้น

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 26 มกราคม 2558

หุ้นกลุ่มน้ำตาลปี′58 คืนชีพกำไรโต โบรกชี้พ้นจุดต่ำสุด-แรงส่งรายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้า

โบรกฯชี้หุ้นกลุ่มน้ำตาลพลิกฟื้นกลับมา คาดปี′58 โชว์กำไรโต 13% หลังอุตสาหกรรมนี้ผ่านจุดต่ำสุด เหตุซัพพลายน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มทรงตัว แต่ดีมานด์เพิ่ม ด้านผู้บริหารธุรกิจฟันธงปีนี้ "รายได้-กำไร" กระเตื้อง แถมมีแรงหนุนกำไรดีจากธุรกิจโรงไฟฟ้า

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลในปี 2558 เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำตาลจะออกสู่ตลาดโลกประมาณ 172.5 ล้านตัน ซึ่งลดลง 1.5% จากปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศในบางประเทศที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกอ้อย นำโดยบราซิล (ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุดของโลกและส่งออกน้ำตาลมากกว่า 40% ของปริมาณส่งออกน้ำตาลทั่วโลก) อาจมีผลผลิตน้ำตาลลดลง 5.3% จากปีก่อน จากภาวะความแห้งแล้ง ทําให้ผลผลิต (Yield) ของอ้อยลดลง

ผลผลิตอ้อยสด - ภาวะแห้งแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยเพื่อนำไปผลิตน้ำตาลในโลกลดลง ขณะที่ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกทรงตัว เป็นผลบวกต่อราคาน้ำตาลอีกครั้ง

สําหรับประเทศไทย (ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก และส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก) คาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้เพียง 10.2 ล้านตันในปี 2557/2558 (1 พ.ย. 2557-31 ต.ค. 2558) ลดลง 10% จากปีก่อน เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน โดยปีนี้คาด Yield อ้อยจะกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ผลผลิตน้ำตาลโลกที่ลดลงจะทําให้ธุรกิจน้ำตาลกลับสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกให้ฟื้นตัวดีขึ้น โดยฝ่ายวิจัยคาดกําไรสุทธิของกลุ่ม (KSL KBS และ KTIS) ในปีนี้จะเติบโตถึง 13.3% จากปีก่อนสู่ระดับ 5,700 ล้านบาท

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายพัฒนาธุรกิจ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลดำเนินงานของบริษัทในปีนี้น่าจะเติบโตจากปี 2557 เนื่องจากคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านตัน จากปีก่อนที่ทำได้เพียง 8.4 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลเพิ่มเป็นกว่า 9 แสนตัน และผลิตเอทานอลเพิ่มเป็น 103-104 ล้านลิตร จากเดิมที่ 90 ล้านลิตรในปีที่แล้ว หลังจากแนวโน้มของวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้านราคาน้ำตาลเฉลี่ยในตลาดโลกปีนี้ ยังคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยจากระดับ 19-20 เซนต์ต่อปอนด์ในปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอ่อนแอจากปริมาณผลผลิตที่ยังล้นตลาด แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ทิิศทางของราคาน้ำตาลน่าจะเริ่มทยอยปรับขึ้น หากปริมาณผลผลิตน้ำตาลของโลกเริ่มลดลง ขณะที่ความต้องการน้ำตาลเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2% ต่อปี

"จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ หลังบราซิลเริ่มเดินเครื่องผลิต จะรู้ทิศทางปริมาณน้ำตาลที่จะออกมาสู่ตลาดในปีนี้ แต่เชื่อว่าปีนี้ราคาน้ำตาลคงยังไม่สามารถทะลุระดับ 20 เซนต์ต่อปอนด์ได้"

นายชลัชได้คาดการณ์รายได้ของบริษัทว่า ในปีนี้น่าจะเติบโตประมาณ 5% จากผลดำเนินงานงวดปี 2556/2557 (1 พ.ย. 2556-31 ต.ค. 2557) ที่มีรายได้รวม 1.9 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้เกินกว่า 60% จะมาจากธุรกิจน้ำตาล ส่วนธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอล มีรายได้รวมกันประมาณ 30% ส่วนที่เหลือเป็นอื่น ๆ ส่วนกำไรคาดว่าจะเติบโตจากปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 1,630 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจไฟฟ้ากำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ มีสัดส่วนสูงประมาณ 60% เอทานอล 25% และน้ำตาล 15%

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บมจ.น้ำตาลครบุรี (KBS) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปีนี้จะเติบโต 5% เช่นกัน โดยคาดว่ายอดขายน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศจะอยู่ที่ระดับ 5,000-6,000 ล้านบาท (บริษัทส่งออกน้ำตาล 75% และขายในประเทศ 25%) ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 2.5 ล้านตัน ประกอบกับปีนี้บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ ซึ่งจะขายไฟให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะทำรายได้ปีละ 500-600 ล้านบาท ทำให้กำไรในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน

นอกจากนี้ บริษัทตั้งงบฯ ลงทุนปีนี้ 3,500 ล้านบาท โดยจะแบ่งใช้งบฯลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท สำหรับขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล จาก 2.3 หมื่นตันอ้อยต่อวัน เป็น 3.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน และที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาท จะใช้ก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล โดยมีกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในช่วงเร็ว ๆ นี้ และจะเริ่มก่อสร้างในทันที โดยคาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีนี้และจะสามารถรับรู้รายได้ในปี 2559

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มกราคม 2558

โรงไฟฟ้า 35เมกะวัตต์ของ KBS เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว

นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์โรงใหม่ของกลุ่มบริษัท เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟผ.ได้แล้ว ตั้งแต่ 2 มกราคม 2558 คาดปีนี้ จะสามารถรับรู้กำไรเพิ่มเติมจากธุรกิจไฟฟ้าประมาณ 150 ล้านบาท และจะขยับเป็น 220 ล้านบาทในปี 2559

“COD ของธุรกิจไฟฟ้า ถือเป็นไมล์สโตนที่สำคัญของแผนธุรกิจระยะยาวของกลุ่ม KBS คือการพัฒนา Sugar Energy Complex ซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปี 2559” นายทัศน์กล่าว

กลุ่ม KBS มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจ อ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน โดยมีหนึ่งในกลยุทธ์หลักคือการพัฒนาตามโมเดล Sugar Energy Complex คือมีกำลังการผลิตน้ำตาล 35,000 ตันอ้อยต่อวัน โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์ และ โรงงานผลิตเอทานอลขนาด 200,000 ลิตรต่อวัน เพื่อรองรับการผลิตอ้อย 4 ล้านตันต่อปี โมเดลนี้จะทำให้ Economies of scale ทีเหมาะสม มีประสิทธิภาพการผลิตสูง และมีข้อได้เปรียบในเชิงการบริหารต้นทุน และศักยภาพการทำกำไร

“KBS มองภาพนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ขนาด 35 เมกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยี High-pressure boiler ซึ่งมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงกว่าเทคโนโลยีเดิมมาก” นายทัศน์กล่าวเพิ่มเติม

กลุ่ม KBS ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2555 โดยให้ บจ. ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) ซึ่งเป็นบริษัทลูก 99.9% ของ KBS เป็นผู้บริหารงาน มีงบประมาณก่อสร้าง 1,650 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2555 – 2557 และได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมดเป็นเวลา 8 ปี และลดลงกึ่งหนึ่งต่อจากนั้นอีก 5 ปี  KPP ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นสัญญา Firm 22 เมกะวัตต์ และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก (COD) แล้วเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558

โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 35 เมกะวัตต์ จะตอบโจทย์ด้านกลยุทธ์ของกลุ่ม KBS 4 ประการ ประการที่หนึ่ง เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำแก่โรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ประการที่สอง เพิ่มศักยภาพในการทำกำไรให้กลุ่มบริษัท โดยคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 19% และจะสร้างกำไรเพิ่มเติมให้กลุ่มบริษัทในปีแรกที่เริ่มดำเนินการ (2558) ประมาณ 150 ล้านบาท และปีที่สอง (2559) ประมาณ 220 ล้านบาท  ประการที่สาม รายได้และกำไรจากโรงไฟฟ้าค่อนข้างจะมีความมั่นคงไม่ผันผวนตามภาวะเศษรฐกิจ จึงจะช่วยกระจายความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทซึ่งเดิม รายได้และกำไรค่อนข้างผันผวนตามภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นหลัก ประการสุดท้าย โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นฟันเฟื่องสำคัญของ Sugar Energy Complex ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของกลุ่ม KBS ที่ต้องการบริหารจัดการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลและการประหยัดพลังงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย ผลิตภัณฑ์น้ำตาล และผลพลอยได้ ให้สูง

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 26 มกราคม 2558

พาณิชย์ชู 3 ยุทธศาสตร์ สู้ศึกส่งออก 58

จากที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งออกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวง และภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับสถานการณ์โลก เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนแนวโน้มสำคัญของโลกไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเติบโตของสังคมเมือง ซึ่งปัจจุบันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น รวมถึงประเทศคู่ค้ายังออกกฎระเบียบข้อบังคับทางการค้าใหม่ๆที่มีเข้มงวดขึ้นกลายเป็นมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) มากมาย

ชู 3 ยุทธศาสตร์สู้ศึก

    ทั้งนี้พล.อ.ฉัตรชัย ระบุว่าในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งพัฒนาและตอบโจทย์การยกระดับขีดความสามารถของไทย โดยเป้าหมายการส่งออกปี 2558 ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวไว้ที่ 4% ดังนั้นยุทธศาสตร์การส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา จะเป็นมาตรการที่จะช่วยผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.การเร่งรัดการทำตลาดเชิงกลยุทธ์ ที่มุ่งเน้นการเจาะตลาดเมืองใหม่ๆเจาะภาคธุรกิจต่างที่สำคัญๆและการขยายช่องทางการตลาดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งกลุ่มตลาดส่งออกเชิงรุกเป็น 4 กลุ่มตลาด ประกอบด้วย ตลาดอาเซียน รวมถึงการค้าชายแดนและผ่านแดน เน้นกลุ่มสินค้าบริโภคอุปโภค ธุรกิจบริการ ก่อสร้าง และการลงทุน  การค้าชายแดนและผ่านแดน เน้นเร่งการเปิด และยกระดับด่าน การพัฒนาและอำนวยความสะดวกทางการค้าบริเวณชายแดน

    รวมถึงเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการไทยกับเพื่อนบ้าน ตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจปานกลางแต่มีศักยภาพสูง เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และรัสเซีย โดยจะเน้นเจาะตลาดเมืองรองที่มีศักยภาพและเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้นำเข้า และผู้บริโภคอย่างแท้จริง และประหยัดค่าใช้จ่าย เช่นการค้าปลีกรวมถึงเจาะกลุ่มผู้บริโภคระดับบนโดยเฉพาะในจีนและอินเดีย

    ตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูง เช่นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น เช่นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มฮิสแปนิกส์ กลุ่มสถาบัน  กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มคนรักสัตว์ และตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่ำ เช่น แอฟริกา และเอเชียใต้ โดยเน้นกลุ่มสินค้าด้านการเกษตร ก่อสร้าง และเป็นแหล่งแสวงหาวัตถุดิบและขยายการลงทุน

    2.ยุทธศาสตร์การเร่งเปิดเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดตลาด และแก้ไขรวมถึงป้องกันปัญหาที่จะกระทบกับการค้าระหว่างประเทศ  เช่น การเร่งดำเนินการเชิงรุกเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เช่นการเร่งจัดเจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับประเทศคู่ค้า เช่น ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน โดยเฉพาะตุรกีซึ่งเป็นประเทศเมืองหน้าด่านไปสู่ตลาดตะวันออกกลาง  เน้นลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนในตลาดสำคัญ และแก้ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อการค้า เช่นปัญหา Tier3 (ถูกกล่าวหามีการค้ามนุษย์ระดับรุนแรง) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี โดยต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด

    และยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการปฏิรูปโครงสร้างการส่งออกเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะส่งเสริมให้ไทยเข้าสู่สังคมที่มีโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าที่มูลค่าสูง รวมถึงการมีนวัตกรรมใหม่ๆสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และภาคบริการ และการเป็นชาติการค้า (เทรดดิ้ง เนชัน)

-สารพัดปัจจัยเสี่ยงรุม

    ด้านนางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกในปีนี้มีหลายปัจจัย เช่น ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องกระทบกับกำลังซื้อของประเทศที่ค้าน้ำมันที่มีกำลังซื้อลดลงและรายได้เข้าประเทศน้อยลงก็อาจจะส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้าจากไทยได้ เช่น จีน ตะวันออกกลาง รวมถึงในเรื่องของค่าเงินบาทที่มีทิศทางผันผวนยังเป็นข้อกังวลของผู้ประกอบการ ดังนั้นในปีนี้จึงเป็นอีก 1 ปีที่เหนื่อยสำหรับภาคการส่งออก แต่กระทรวงพาณิชย์เองได้มีมาตรการในการรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยจากนี้จะเน้นไปยังตลาดที่มีความต้องการสินค้ามากขึ้น เช่น ตลาดจีน ก็อาจจะดูว่าหลังจากที่จีนได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน เขาลดการนำเข้าสินค้าอะไรและมีสินค้าอะไรที่จีนเองยังมีความต้องการอยู่ เราก็เน้นขายสินค้านั้นมากขึ้น ซึ่งทูตพาณิชย์แต่ละประเทศต้องทำงานหนักขึ้น

-ค่าเงินปัจจัยเสี่ยงสุด

    ขณะที่นายอิสระ  ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า สิ่งที่เอกชนกังวลในขณะนี้ คือ อัตราแลกเปลี่ยน เพราะกระทบกับตลาดคู่ค้าของไทยเป็นอย่างมาก  และหลายประเทศเองก็มีค่าเงินที่อ่อนค่ามากกว่าไทย ทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยมีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้จากภาพรวมอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทของไทย ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 32.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ ณ สิ้นปี 2556  อยู่ที่ 32.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการอ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อยแค่ 0.49% ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศอื่นในอาเซียนได้อ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินบาทของไทยในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย อ่อนค่าลง 6.28% และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ของสิงคโปร์ได้อ่อนค่าลง 4.41% โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่าที่สุดในเอเชียถึง 11.86% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอของญี่ปุ่น   ส่วนค่าเงินยูโรของสหภาพยุโรปยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยได้ลดค่าเงินไปถึง 13.07% และได้อ่อนค่าลงไปอีก เมื่อรวมกับกรณีที่สินค้าไทยถูกสหภาพยุโรปยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังยุโรปลำบากมากขึ้น

    "ค่าเงินของประเทศคู่ค้าที่อ่อนค่าลงมากจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูให้มีเสถียรภาพไม่ผันผวนมาก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงได้"

-ลุ้นยาวๆ เป้าโต 4%

    อย่างไรก็ดีจากการประเมินการขยายตัวของการส่งออกปี 2558 ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขาลง โดยองค์การการค้าโลก(WTO) ประเมินว่าอัตราการขยายตัวการส่งออกในปี 2558 สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว จะอยู่ที่ 1.5% ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาไม่น่าเกิน 3.3% ขณะการคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวการส่งออกของไทยในปี 2558 ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์จะขยายตัวได้ที่ 3.24% แต่จากการประชุมของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ประเมินการส่งออกไทยปี 2558 จะขยายตัวได้ที่ 3.5% ส่วนสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)ประเมินจะขยายตัวได้ที่ 2.5%  ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกที่เป็นเป้าหมายการทำงานไว้ขยายตัวที่ 4% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงมากมาย ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท ค่าเงินของประเทศคู่ค้า สงคราม ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย การแข่งขันที่รุนแรง และอื่นๆ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2558  จะเป็นอีกหนึ่งปีที่การส่งออกไทยรายเดือน รายไตรมาสต้องลุ้นกันเหนื่อยทีเดียว

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 26 มกราคม 2558

กลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจะไม่ประกาศใช้สกุลเงินร่วมกันตามแบบสหภาพยุโรปหรืออียู แต่อย่างใด

นายมุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาเลเซีย เข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจโลกเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์วานนี้พร้อมชี้แจงความคืบหน้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในฐานะที่มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2558 โดยนายมุสตาปากล่าวย้ำว่าประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ชาติจะต้องบรรลุเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปีนี้ เป้าหมายสำคัญของเออีซี ได้แก่ การรวมตัวเป็นตลาดเดี่ยวที่มีฐานการผลิตร่วมกัน ความพยายามที่จะลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเคลื่อนย้ายฐานผลิตสินค้าและบริการในกลุ่มอาเซียนเป็นไปอย่างอิสระมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นเคลื่อนย้ายโดยเสรี รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจแบบบูรณาการ ขณะที่อาเซียนจะไม่ประกาศใช้สกุลเงินร่วมกันตามแบบสหภาพยุโรปหรืออียูแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นายมุสตาปายอมรับว่าการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายเออีซีอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคอยู่บ้างเนื่องจากประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันอยู่มาก ทั้งระบบการปกครอง การจัดการแนวพรมแดน รวมถึงกฎหมายและนโยบายด้านศุลกากร-ด่านตรวจคนเข้าเมือง กลไกการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะพม่าซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ อาจเกิดการเคลื่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในพม่าและภูมิภาคได้

จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 26 มกราคม 2558

กรมฝนหลวงชี้ภัยแล้งรุนแรง

ไล่บี้ 5 ศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งและภัยธรรมชาติในปี 2558 คาดการณ์ว่าน่าจะมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์เอลนิโญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งระหว่างต้นเดือน ก.พ.-พ.ค.นี้ สถาบันด้านอุตุนิยมวิทยาทั้งในประเทศและต่างประเทศได้คาดหมายว่าปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ประกอบกับพฤติกรรมการเผาป่าและเศษซากพืชในไร่นาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในระยะจากนี้ไป จะทำให้เกิดการสะสมของหมอกควันซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กจำนวนมากที่มีปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือ และยังมีผลทำให้โอกาสการเกิดฝนในธรรมชาติลดลงด้วย ซึ่งจะซ้ำเติมให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ส่วนการเตรียมความพร้อมของกรมฝนหลวงฯ ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น ระยอง และสุราษฎร์ธานี เตรียมความพร้อมและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดแล้ว ถึงแม้ว่าตามสถิติข้อมูลความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในระดับที่เมฆก่อตัวจะเข้าสู่เกณฑ์ 60% ที่สามารถทำฝนได้จะต้องเป็นเดือน มี.ค.เป็นต้นไป แต่อาจมีบางวันและบางพื้นที่ในช่วงเดือน ก.พ. ที่มีลมสอบเข้าหากันทำให้ความชื้นสูงขึ้นก็จะสามารถขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในบริเวณดังกล่าวได้ โดยขณะนี้ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้แล้ว 2 ชุด ที่สนามบินนครสวรรค์เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจนี้แล้ว

สำหรับแผนปฏิบัติงานปกติตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ จะเริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจนครบ 10 หน่วย ตามอัตรากำลังที่กรมมีอยู่และรวมทั้งหน่วยบินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ โดยในภาคเหนือจัดตั้งหน่วยที่เชียงใหม่ และพิษณุโลกหรือตาก ภาคกลางจัดตั้งหน่วยที่นครสวรรค์ และลพบุรีหรือกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งหน่วยที่ขอนแก่น และนครราชสีมาหรืออุบลราชธานี ภาคตะวันออกจัดตั้งหน่วยที่ระยอง และจันทบุรีหรือสระแก้ว ภาคใต้จัดตั้งหน่วยที่หัวหิน และสุราษฎร์ธานี หรือนครศรีธรรมราช.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 26 มกราคม 2558

พาณิชย์ประกาศราคาแนะนำปุ๋ย-ก๊าซหุงต้ม

“ฉัตรชัย” สั่งพาณิชย์จังหวัดติดตามราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมประกาศราคาแนะนำสินค้าอีก 2 รายการตามราคาดีเซลที่ลดลงต่อเนื่อง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้พาณิชย์จังหวัดออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้า ป้องกันไม่ได้เกิดการกักตุนและขายแพงเกินจริงโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคควบคุมราคา 41 รายการของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งล่าสุดตนได้เห็นชอบประกาศราคาแนะนำปุ๋ยเคมี และแก๊สหุงต้มรวมกับค่าบริการขนส่งซึ่งเป็นราคาที่ปรับลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการค้าภายในติดตามว่ามีสินค้าควบคุมรายการใดต้องปรับลดราคาลงอีกและประกาศเป็นราคาแนะนำ

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ติดตามและเตรียมพร้อมรับมือสินค้าเกษตรในแต่ละช่วงเพื่อไม่เกิดปัญหาล้นตลาดและราคาตกต่ำ หรือขาดแคลนโดยขณะนี้ให้พาณิชย์จังหวัดประสานผู้เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังทำการประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้เกษตรกรชะลอการขุดหัวมันสดและใช้สิทธิการชดเชยจากรัฐบาลโดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือน ก.พ. 58จะเป็นการหยุดยาวของเรือขนส่งและประเทศผู้ซื้อสำคัญคือจีน ทำให้การส่งออกชะลอลงหากมีการขุดมันออกมาอาจเป็นปัญหาปริมาณเกินความต้องการและราคาตกต่ำได้ซึ่งก่อนหน้านี้ได้หารือกับสมาคมด้านมันสำปะหลังเพื่อประเมินสถานการณ์แล้วจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมและยังไม่ต้องมีมาตราแทรกแซงเหมือนน้ำมันปาล์ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลงคาดว่าปุ๋ยเคมี จะลดจากราคาขายในช่วงปกติถุง (50 กก.) ละ 10-30 บาทโดยเป็นการคิดราคาก่อนหน้าที่จะมีมาตรการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการลดราคาปุ๋ยตามมาตรการลดต้นทุนเกษตรกร ส่วนประกาศราคาจำหน่ายปลีกแนะนำแก๊สหุงต้มบรรจุถัง15 กก. จะไม่เกินถังละ 395 บาท รวมค่าขนส่งไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งไม่รวมค่าแรงยกขึ้นที่สูง

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 25 มกราคม 2558

ไทยเจ้าภาพประชุมเอฟทีเอ อาเซียน-เกาหลี

ไทยเปิดประตูอีสานโชว์ศักยภาพเลือกอุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี เพื่อดันเป้าหมายการค้า 2 ฝ่าย 1.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 58

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 27–29 ม.ค. 58 ที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อติดตามผลการดำเนินงานจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 – 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่นครปูซานสาธารณรัฐเกาหลี

“การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีในการหารือเพื่อปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการค้าของอาเซียน-เกาหลีที่จะเปิดตลาดเพิ่มเติมของสินค้าอ่อนไหวของอาเซียนและเกาหลี รวมทั้งปรับปรุง/แก้ไขกฎระเบียบการค้าทั้งสองฝ่ายให้สะดวกมากขึ้นและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี มากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าสองฝ่ายที่ผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ ตั้งเป้าไว้ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 58 และเพิ่มเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 63”

สำหรับการเลือกจังหวัดอุบลราชธานีเป็นสถานที่จัดประชุมระหว่างประเทศในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ต้องการประชาสัมพันธ์จังหวัดที่มีศักยภาพของไทยให้เป็นที่รู้จักของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอื่นๆโดยจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในภาคอีสานมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางและการจัดประชุมครบถ้วน และยังเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านคือ ลาว อีกด้วย”

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 25 มกราคม 2558

รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สุโขทัย ตรวจเยี่ยมโครงการขุดลอกคลองน้ำโจน พร้อมแนะให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น แทนการปลูกข้าว

สุโขทัย-รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สุโขทัย ตรวจเยี่ยมโครงการขุดลอกคลองน้ำโจน พร้อมแนะให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น แทนการปลูกข้าว.docx  Download 

วันนี้ (25 ม.ค.58) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ตรวจเยี่ยมโครงการขุดลอกคลองน้ำโจน ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นโครงการที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในวงเงินโครงการ 1,908,000 บาท ซึ่งแต่เดิมคลองน้ำโจนมีขนาดเล็กและแคบ ราษฎรใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หากมีการขุดลอกจะทำให้น้ำไหลผ่านได้ดี รวมทั้งสามารถเก็บกักน้ำได้ พื้นที่การเกษตรของราษฎรตำบลปากน้ำ หมู่ที่ 1 และ 9 ในเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการตรวจสภาพพื้นที่โครงการ นับเป็นการต้องการเร่งด่วนของราษฎรในพื้นที่ตำบลปากน้ำ อำเภอสวรรคโลก ซึ่งจะได้เสนอไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ในการตรวจเยี่ยมโครงการในครั้งนี้ ได้พบสภาพปัญหาด้านเกษตรของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยจะปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ต้องประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ในขณะที่ปัจจัยการผลิตค่อนข้างสูง จึงแนะให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทน เช่น ในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก เกษตรกรหันมาปลูกผักบุ้ง และไร่อ้อยแทนการปลูกข้าว ซึ่งต้นทุนการผลิตไม่สูงมาก และสามารถจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ในการดำรงชีพได้

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 25 มกราคม 2558

หนุนกทท.เน้นยุทธศาสตร์ขนส่งสินค้า    

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการบริหารงานกับผู้บริหาร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ว่า จะต้องมีการเน้นยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งสินค้าเพื่อให้บริการด้านขนส่ง โดยให้เน้นการขนส่งทางทะเล เพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับการขนส่งทางน้ำของจีน และสิงคโปร์ ที่มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่อยู่แล้ว รวมถึงในอนาคตจะขยายต่อไปยัง เมียร์มาร์ รวมถึงจะต้องมีการปรับปรุงท่าเทียบเรือแหลงฉบัง ให้เกิดความสอดคล้องกัน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการให้มันความทันสมัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขนส่ง เพื่อลดขั้นตอนและความสะดวกมากขึ้น สำหรับการพัฒนาการท่าเทียบเรือแหลงฉบังนั้น เบื้องต้นมีมูลค่า 180 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม จะมีการพัฒนาปรับโครงสร้างรถไฟขนส่งท่าเรือให้มากขึ้น ซึ่งการพัฒนามีมูลค่า 2,000 ล้านบาท โดยจะต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เพื่อพิจารณาต่อไป  เบื้องต้นคาดภายในปี 2558 นี้ จะได้รับอนุมัติแผนจากครม. เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จภายในปี 2560 ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพด้านการให้บริการ

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 25 มกราคม 2558

ทิศทางเศรษฐกิจการค้าการส่งออก ปี 2558

สำนักงานส่งเสริมการค้า ระหว่างประเทศภาคเหนือ สรุป"ทิศทางเศรษฐกิจการค้า การส่งออก ปี2558 และโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการภาคเหนือในตลาด AEC"หลังตลาดการค้าอาเซียนสร้างตลาดการส่งออกให้กับไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จัดการพูดคุย "ทิศทางเศรษฐกิจการค้า การส่งออก ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการภาคเหนือในตลาด AEC" โดยนางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภาคเหนือ เชียงใหม่ คาดว่าการเปิดอาเซียนอย่างเต็มที่ในปลายปีนี้ทิศทางเศรษฐกิจการส่งออก นโยบายรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเน้นการส่งเสริมมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะการส่งออกในรูปแบบ SMEs ตลาดอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้น และตลาดในสหรัฐยังคงเป็นที่น่าจับตามองโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตร์มีความโดดเด่นจะขยายตัวจากเดิม4 % สิ่งที่น่ากังวลคือค่าเงิน และนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ ควรมีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและต่อยอดธุรกิจสินค้าทางภาคเหนือ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการภาคเหนือรับมือกับเศรษฐกิจในปี2558 

 จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 24 มกราคม 2558 

ยอดโรงงานใหม่ปี’57กระฉูด เงินทุนแตะ602,236ล้านบาท อุตฯมั่นใจปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวเลขยอดออกใบอนุญาตตั้งโรงงานปี’57 พบดีเกินคาด โดยลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี’56

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถิติการประกอบกิจการโรงงานที่ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.-31 ธ.ค. 2557 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 ทั้งเปิดโรงงานใหม่และขยายกิจการ รวมทั้งสิ้น 3,815 ราย มูลค่าเงินทุน 456,963 ล้านบาท มีการจ้างคนงาน 149,883 คน แบ่งเป็น การประกอบกิจการใหม่ 3,245 ราย และขยายโรงงาน 570 ราย

นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจข้อมูลของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในปี 2557 ได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 5,619 ราย คิดเป็นเงินทุน 602,236 ล้านบาท จ้างคนงาน 204,394 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2556 ได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 5,472 ราย คิดเป็นเงินทุน 517,271 ล้านบาท จ้างคนงาน 178,105 คน ตัวเลขจึงดีขึ้นทุกตัวคิดเป็นเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เบื้องต้นกระทรวงอุตสาหกรรมประเมินว่า ตัวเลขการตั้งและขยายโรงงานของภาคเอกชนในปี 2558 มีแนวโน้ม ที่ดีกว่าปีที่ผ่านมาตามแผนการลงทุนของหน่วยงานรัฐ

“จะเห็นได้ว่าโรงงานเปิดทำการผลิตในปัจจุบัน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนสูง และมีการจ้างคนงานเป็นจำนวนมาก สามารถช่วยขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดี และมั่นใจว่าภายใน 1-2 เดือน จะมีโรงงานเปิดสายการผลิตใหม่และขยายกิจการโดยกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทุกจังหวัด อีกจำนวน 2,154 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุน 242,603 ล้านบาท และจะมีการจ้างงานใหม่อีก 59,793 คน ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการสร้างและขยายกิจการในประเทศไทย”

ดังนั้นจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2558 มีแนวโน้มสดใส มีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา” นายจักรมณฑ์ กล่าว

สำหรับจังหวัดที่มีโรงงานเปิดใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) จ.ปทุมธานี 309 โรงงาน 2) จ.สมุทรปราการ 287 โรงงาน 3) กรุงเทพฯ 222 โรงงาน 4) จ.ชลบุรี 190 โรงงาน และ 5) จ.สมุทรสาคร 167 โรงงาน ส่วนประเภทกิจการที่เปิดโรงงาน

 มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) อุตสาหกรรมอาหาร 281 โรงงาน 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 255 โรงงาน 3) กลุ่มผลิตยานพาหนะ 251 โรงงาน 4) กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช 248 โรงงาน และ 5) กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 242 โรงงาน

นายจักรมณฑ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการประกอบกิจการและขยายกิจการ เพราะภาคการผลิต (Real Sector)

มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง มีเงินหมุนในระบบ ทั้งการลงทุน การจ้างงาน และใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อสร้างมูลค่า โดยเฉพาะการออกใบอนุญาต รง.4 ของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีนโยบายให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำข้อมูลการแจ้งเริ่มประกอบการ และขยายโรงงานจริงว่า หลังได้รับใบอนุญาตจากกระทรวง ไปแล้วมีคงเหลือที่ยังไม่ประกอบกิจการจำนวนกี่ราย เพื่อช่วยประสานอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน และพบว่าโรงงานที่เปิดดำเนินกิจการในตอนนี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมและการเตรียมตัวที่ดี

 ส่วนที่ยังไม่เปิดดำเนินกิจการ ส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอี เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการหาแรงงาน แหล่งเงินทุน หรือการก่อสร้างที่อาจล่าช้า และปัจจัยอื่นๆ หากผู้ประกอบการรายใดมีอุปสรรคที่ภาครัฐจะสามารถช่วยได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นตัวกลางในการประสานความช่วยเหลือดังกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 มกราคม 2558 

ภาคอุตฯ คึกคัก โรงงานใหม่จ่อเปิด 2,154 แห่ง "จักรมณฑ์" เร่งใบ รง.4 กระตุ้นลงทุน

รายงานข่าวแจ้งว่า นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถิติการประกอบกิจการโรงงานที่ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ พ.ค.-31 ธ.ค.57 มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ทั้งเปิดโรงงานใหม่และขยายกิจการ รวมทั้งสิ้น 3,815 ราย มูลค่าลงทุน 456,963 ล้านบาท มีการจ้างงาน 149,883 คน แบ่งเป็นการประกอบกิจการใหม่ 3,245 ราย และขยายโรงงาน 570 ราย

การสำรวจข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ในจำนวน 3,815 รายที่ได้ออกใบอนุญาตไปแล้วนั้น ทางภาคเอกชนได้แจ้งเริ่มประกอบกิจการจริง จำนวน 1,661 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 214,360 ล้านบาท เกิดการจ้างคนงาน 90,090 คน

"โรงงานที่ผลิตในปัจจุบัน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนสูง และมีการจ้างงานมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ และมั่นใจว่าภายใน 1-2 เดือน จะมีโรงงานเปิดสายการผลิตใหม่และขยายกิจการโดยกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทุกจังหวัด อีกจำนวน 2,154 โรงงาน เงินลงทุน 242,603 ล้านบาท และจะมีการจ้างงาน 59,793 คน แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการสร้างและขยายกิจการ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2558 มีแนวโน้มสดใสและจนถึงปัจจุบัน กระทรวงฯได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอย่างต่อเนื่อง อีก 180 ราย"

สำหรับจังหวัดที่มีโรงงานเปิดใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) จ.ปทุมธานี 309 โรงงาน 2) จ.สมุทรปราการ 287 โรงงาน 3) กรุงเทพฯ 222 โรงงาน 4) จ.ชลบุรี 190 โรงงาน และ 5) จ.สมุทรสาคร 167 โรงงาน ส่วนประเภทกิจการที่เปิดโรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) อุตสาหกรรมอาหาร 281 โรงงาน 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 255 โรงงาน 3) กลุ่มผลิตยานพาหนะ 251 โรงงาน 4) กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช 248 โรงงาน และ 5) กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 242 โรงงาน

นายจักรมณฑ์กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการประกอบกิจการและขยายกิจการ เพราะภาคการผลิต (Real Sector) มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดย มีเงินหมุนในระบบ ทั้งการลงทุน การจ้างงาน และใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อสร้างมูลค่า โดยเฉพาะการออกใบอนุญาต รง.4 ของกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำข้อมูลการแจ้งเริ่มประกอบการ และขยายโรงงานจริงว่า หลังได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงฯ ไปแล้วมีคงเหลือที่ยังไม่ประกอบกิจการจำนวนกี่ราย เพื่อช่วยประสานอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน นอกจากนี้ยังพบว่าโรงงานที่เปิดดำเนินกิจการในขณะนี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ส่วนที่ยังไม่เปิดดำเนินกิจการ ส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอี เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการหาแรงงาน แหล่งเงินทุน หรือการก่อสร้างที่อาจล่าช้า

ตามการรายงานของกรมโรงงานฯ ในปี 2557 ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 5,619 ราย คิดเป็นเงินทุน 602,236 ล้านบาท จ้างคนงาน 204,394 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2556 ได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 5,472 ราย คิดเป็นเงินทุน 517,271 ล้านบาท จ้างคนงาน 178,105 คน คิดเป็นเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 พร้อมกับประเมินว่า การตั้งและขยายโรงงานของภาคเอกชนในปี 2558 มีแนวโน้มที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

ส่องนโยบายเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ดันไทยสู่ประเทศการค้า

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะทำให้เกิดการเปิดเสรีในด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาค คำถามสำคัญที่ตามมาคือเราจะปรับตัวอย่างไรเพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง และใช้โอกาสจากสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด

งานเสวนาทาง วิชาการเรื่อง "เจาะลึกรัฐบาลในอาเซียนกับโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย" ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายทรงฤทธิ์ โพนเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยต้องฉวยโอกาสจากโครงการความเชื่อมโยงทั้งทางบก และทางน้ำในส่วนของสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์

นักธุรกิจไทยควรลงทุนในด้านพลังงานทางเลือกและถ่านหิน เนื่องจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถือว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศและกำหนดว่าจะต้องทำการลงทุนแบบร่วมทุน เท่านั้น ซึ่งภาคธุรกิจจากจีนได้เข้ามาลงทุนแล้วในเขตเศรษฐกิจจ๊อกผิวพร้อมทำโครงการท่อก๊าซเชื่อมเข้าสู่จีน

นอกจากนี้ การลงทุนในเมียนมาร์นั้น ยังต้องรอดูสถานการณ์การเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้อีกครั้ง ว่าฝ่ายของนางอองซาน ซูจี และรัฐบาลเมียนมาร์จะสามารถประนีประนอมกันได้หรือไม่ ถ้าสถานการณ์การเมืองนิ่งย่อมมีโอกาสลงทุนได้ในระยะยาว ขณะที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวามีญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่และกำลังอยู่ในขั้น ตอนหารือกับรัฐบาลเมียนมาร์ ที่จะลงทุนเพิ่มที่เขตเศรษฐกิจทวาย หลังจากเมียนมาร์ยกเลิกสัญญากับฝ่ายไทย

ในส่วนของประเทศลาว รัฐบาลลาวตั้งเป้าว่าจะเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" อาศัยการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำกว่า 30,000 เมกะวัตต์ โดยได้วางโครงการการลงทุนไว้ถึง 180 โครงการ โดยในปี 2563

ลาวเตรียมจะลงทุนเพิ่มอีก 25 โครงการ เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนตลาดใหญ่คือประเทศไทย พร้อมกันนี้ยังได้วางตัวเองเป็น "Landlink" พัฒนาระบบถนนและการขนส่งในประเทศเพื่อเชื่อมโยงในภูมิภาค และส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวแม่น้ำโขงซึ่งจะช่วยเปิดโอกาส ให้กับการค้าชายแดนร่วมกับฝั่งไทยอีกมาก

ด้านนายทรงฤทธิ์ กล่าวถึงกัมพูชา โดยระบุว่า ด้วยสถานการณ์การเมืองที่เริ่มเข้าที่แล้ว ภาคธุรกิจไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเจรจาทางการค้ากับรัฐบาลกัมพูชา โดยตอนนี้จีนเป็นประเทศที่มีการเข้าไปลงทุนในกัมพูชาสูงมาก ซึ่งหลายโครงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับไทยทั้งสิ้น เช่น รถไฟรางคู่สู่เกาะกง โรงกลั่นน้ำมันใน จ.กัมพตของกัมพูชา และเหมืองแร่บริเวณเขาพระวิหาร แต่จีนยังคงชะลอโครงการอยู่เพื่อประเมินสถานการณ์ในเรื่องความสัมพันธ์ของ ไทย-กัมพูชา ทั้งในเรื่องข้อพิพาทของดินแดนทางบก และทางทะเล

ด้านเวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพด้านอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลาว จึงให้ความสำคัญกับการเจรจาในกรอบคณะกรรมการอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) อย่างมาก

นอกจากนี้ภายในปี 2563 เวียดนามดำเนินนโยบายสู่ความทันสมัย จัดตั้งเขตเศรษฐกิจเพื่อแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก และจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน เช่น การเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน การให้สัมปทานเช่าที่ดิน 70 ปี และสินเชื่อนักลงทุน โดยล่าสุดมีนักลงทุนดูไบเข้ามาลงทุนสร้างเมืองใหม่เหนือแม่น้ำแดง และมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 8 แห่ง ภายในปี 2568 โดยเวียดนามถือว่ามีจุดเด่นสำคัญคือมีกำลังซื้อแฝงจากชาวเวียดนามโพ้นทะเล ที่ส่งเงินกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ในปี 2557 มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์

ด้าน น.ส.ปานจิตต์ พิศวง รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ปรับสถานะตัวเองในห่วงโซ่การผลิตให้เป็นผู้ผลิตสินค้าในระดับที่ใช้แรงงานน้อยลง และใช้ความได้เปรียบจากความก้าวหน้าของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น การแพทย์ ความงาม และร้านอาหาร ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่เพื่อนบ้านรอบด้านของไทย ทั้ง กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ได้ก้าวเข้ามาแทนที่ในฐานะประเทศผู้ผลิต เนื่องจากมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งยังมีสิทธิพิเศษทางด้านภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศพัฒนาแล้ว

"ไทยต้องมองตัวเองว่าเป็น Trading Nation คือเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในประเทศที่ด้อยพัฒนา เพื่อเปิดตลาดสินค้าในประเทศที่เข้าไปลงทุน พร้อมทั้งยังจับกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยและประเทศที่ 3 เพื่อใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ในการผลิต ขณะเดียวก็ลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น จีน และอินโดนีเซีย ในสินค้ากลุ่มที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่น อาหารแปรรูป เป็นต้น" น.ส.ปานจิตต์ระบุ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

พลังงานแจงไม่เลิกโควตาเอทานอล "มัน-โมลาส"

"ทวารัฐ สูตะบุตร" แจงไม่ได้ล้มสูตรโควตาผู้ค้าน้ำมันซื้อเอทานอลโมลาส-มันฯที่ 62 : 38 แต่เป็นนโยบายขอความร่วมมือ บังคับไม่ได้ ยันจะพยายามรักษาตลาดแก๊สโซฮอล์ทั้งระบบ เล็งโปรโมตการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 และให้ราคาจำหน่ายเอทานอลจากโมลาสและมันฯเป็นราคาเดียวกัน

ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อให้รักษาระดับส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ให้อยู่ในระดับเหมาะสมและจูงใจให้ผู้บริโภคยังคงเลือกใช้ ภายหลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และมีแนวโน้มว่าความต้องการใช้เอทานอลจะลดลงและหันไปใช้น้ำมันเบนซินแทน รวมถึงเสนอให้กลับมาใช้การกำหนดโควตาให้ผู้ค้าน้ำมันซื้อเอทานอลจากโมลาสและมันสำปะหลังที่ 62 : 38 ตามเดิม หลังจากที่ยกเลิกไป

นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับการกำหนดโควตาให้ผู้ค้าน้ำมันต้องซื้อเอทานอลจากมันฯและกากน้ำตาล (โมลาส) นั้น กระทรวงพลังงาน "ไม่ได้ยกเลิก" แนวทางดังกล่าว เนื่องจากเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน จากสถิติในช่วงปี"57 ที่ผ่านมาสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30 : 70 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ค่อนข้างดี จากนี้กระทรวงพลังงานจะเดินนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น โดยเฉพาะประเภท E20 และ E85 เพื่อให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลขยายตัวได้ เพราะตลาดมีความพร้อมหลายประเด็น คือ 1) จำนวนรถที่ใช้น้ำมัน E20 จนถึง E85 มีมากขึ้น และ 2) สถานีบริการน้ำมันทั้งผู้ค้าน้ำมันไทย-ต่างชาติ ขยายหัวจ่ายครอบคลุมทั่วประเทศ

ในส่วนของผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังที่ต้องการให้รักษาความต่างของราคาน้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์E10และ E20 รวมถึงน้ำมันเบนซินนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างราคาให้เหมาะสม รวมถึงส่วนต่างราคาน้ำมันแต่ละประเภทด้วย สำหรับต้นทุนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังที่สูงกว่าโมลาสนั้น จากนี้จะเน้นให้กลไกของตลาดทำงานมากกว่า เมื่อต้นทุนการผลิตจากมันสำปะหลังสูงกว่า ผู้ผลิตควรปรับตัวพัฒนาคือ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันกับโมลาสได้ เพราะสุดท้ายแล้ว กระทรวงพลังงานต้องการให้ราคาเอทานอลทั้ง 2 ประเภท มีราคาจำหน่ายเดียวกัน

"ขณะนี้ กระทรวงพลังงานมีความชัดเจนในระดับนโยบายที่จะมาโฟกัสน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เพราะตลาดมีความพร้อมในหลายประเด็น ฉะนั้น กลุ่มผู้ผลิตเอทานอลมั่นใจได้เลยว่าระดับนโยบายยังเดินหน้าที่จะส่งเสริมต่อเนื่อง ในอนาคตตลาดแก๊สโซฮอล์จะต้องใหญ่ขึ้น ที่สำคัญ กระทรวงพลังงานยังคงเดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือในปี"64 ความต้องการใช้เอทานอลจะต้องเพิ่มเป็น 9 ล้านลิตร/วัน"

รายงานข่าวเพิ่มเติมถึงปริมาณการใช้น้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ที่ผ่านมา ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 22.7 ล้านลิตร/วัน และในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 23 ล้านลิตร/วัน โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะให้มีการใช้เอทานอลในปี"64 อยู่ที่ 9 ล้านลิตร/วัน หรือมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้น 500,000 ลิตร/ปี

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

ก.เกษตรฯจัดกิจกรรม'ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า'เทิดพระเกียรติในหลวง

กระทรวงเกษตรฯ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ในหัวข้อ“การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน”ตลอดปี 2558 เดือน ม.ค. เน้นส่งเสริมเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำปลูกพืชชนิดต่างๆ แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและปรับใช้ในไร่นาอย่างเหมาะสม        

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ในหัวข้อ“การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน”เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี เน้นกิจกรรมตามภารกิจของหน่วยงานหลักและกิจกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และมีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมจัดกิจกรรมและนิทรรศการในหัวข้อ“ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า”กับหน่วยงานเจ้าภาพหลักทุกครั้ง

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2558 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้ความร่วมมือและความตระหนักของเกษตรกรในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการส่งเสริมเผยแพร่และกำหนดเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำในการปลูกพืชชนิดต่างๆแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในไร่นาของตนเองและสามารถใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า โดยจะจัดงานเปิดตัวโครงการฯ ณ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 – 9 ทั้งนี้ ในวันที่ 29 มกราคม 2558 จะมีจุดหลักที่สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3  ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.ดอนเกาะคา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน             

โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการและการเสวนาให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้น้ำในการปลูกข้าวแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการหมุนเวียนน้ำไปใช้ประโยชน์ การกักน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเค็ม ปริมาตรน้ำที่จำเป็นและเหมาะสมกับการผลิตข้าว เป็นต้น ซึ่งจะมีการต่อยอดจากการดำเนินการทั้ง 9 เขต กระจายสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ ในพื้นที่ 77 จังหวัด เกษตรกรเป้าหมาย 88,200 คน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2558  โดยเน้นการให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมและอยู่ในความต้องการของแต่ละชุมชน พร้อมทั้งจัดทำเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าสำหรับใช้อบรมและแจกจ่ายให้เกษตรกร สามารถนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมของแต่ละศูนย์ฯ เช่น การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในไม้ผล พืชไร่ พืชผักข้าว เป็นต้น

กระทรวงเกษตรฯ จึงขอเชิญพี่น้องเกษตรกร และประชาชนร่วมถวายความจงรักภักดี เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 เข้าอบรม ในหัวข้อ“การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ ในพื้นที่ 77 จังหวัด

 สำหรับการจัดโครงการเทิดพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน”ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่จัดขึ้นในเดือนมกราคม 2558 นั้น ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในการปลูกพืชชนิดต่างๆ        ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.ดอนเกาะคา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา, กรมชลประทาน จัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่โก๋น อ.พร้าว              จ.เชียงใหม่ จำนวน 2 ไร่ และพื้นที่หมู่ที่ 2 ต.ศาลายา จ.นครปฐม จำนวน 40 ไร่, กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รณรงค์ให้เกษตรกร เยาวชน และประชาชนทั่วไปทำบัญชี เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในครัวเรือน,กรมประมง จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำในเขื่อนน้อยและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรโครงการศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง, กรมปศุสัตว์ อบรมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านการปศุสัตว์ เรื่อง การใช้น้ำเพื่อการปศุสัตว์ อย่างประหยัดและรู้คุณค่า และอบรมอาสาพัฒนาปศุสัตว์ เพื่อสร้างแกนนำรณรงค์ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและถ่ายทอดสู่เกษตรกรรายย่อย, กรมพัฒนาที่ดิน จัดเสวนาเรื่อง“วิกฤตของดินคือวิกฤตของชาติ”การประกวดหมอดินดีเด่นด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ โครงการป้องกันการเพิ่มเติมระดับน้ำใต้ดินเค็มบนพื้นที่รับน้ำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม, กรมวิชาการเกษตร จัดกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการผลิต มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มังคุด มะม่วง ทุเรียน และลำไย, กรมส่งเสริมสหกรณ์ รณรงค์ให้สหกรณ์ภาคการเกษตรใช้น้ำตามศักยภาพของพื้นที่ การใช้น้ำในครัวเรือนเดือนละ 9 บาท เพื่อสร้างคุณค่าน้ำและสิ่งแวดล้อมสีเขียวรณรงค์สถาบันเกษตรกรไทย และกรมหม่อนไหม ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระบบการผลิตหม่อนไหม เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

กรมบาดาลเร่งเครื่อง เร่งพัฒนาแหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรโคราช

นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 6 ตรัง เปิดเผยภายหลังการติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบ ภัยแล้ง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 รูปแบบที่ 2 ณ พื้นที่ ม.13 บ้านแสงวิมาน อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 รูปแบบที่ 2 จะประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล 1 บ่อ โดยมีศักยภาพน้ำบาดาล ไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เข้าไปดำเนินการสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาล พัฒนาบ่อน้ำบาดาล และติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ สามารถสูบนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยอาศัยเครื่องยนต์ต้นกำลังหรือรถไถเดินตาม เหมาะกับพื้นที่ที่ระบบไฟฟ้าเข้าไม่ถึง

ด้านนายสมศักดิ์ ภู่ทับทิม ประธานกลุ่มย่อยน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร รูปแบบ 2 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแสงวิมาน กล่าวว่า ในอดีตพื้นที่ ม.13 บ้านแสงวิมาน อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรเนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างจากเขตชลประทาน แหล่งน้ำผิวดินไม่เพียงพอ และมีความกร่อยเค็มเมื่อน้ำทะเลเพิ่มระดับ หลังจากได้รับการสนับสนุนโครงการฯ จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้มาก สามารถเพาะปลูกผลผลิตการเกษตรได้ตลอดปี ปัจจุบันมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และสามารถรวมกลุ่มเกษตรกรได้มากกว่า 200 ไร่ ผลผลิตสำคัญ คือ ส้มโอทับทิมสยาม และพืชผักสวนครัว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

วางโรดแมปแก้กากอุตสาหกรรม

"จักรมณฑ์"สั่งกรมโรงงานฯเร่งจัดทำแผนแก้ปัญหากากอุตสาหกรรม เสนอครม.ภายในก.พ.นี้ โดยปีนี้เข้มงวดตรวจสอบโรงงานเป้าหมายอีก 1 หมื่นแห่ง ต้องส่งกากเข้าระบบตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 ล้านตัน โรงงานใดไม่มีข้อมูลกำจัดกากย้อนหลัง ไม่ต่อใบอนุญาตรง.4 ให้ ด้านญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือตั้งโรงงานเตาเผาขยะมูลค่า 1 พันล้านบาทนำร่อง กรอ.เร่งเจรจากระทรวงพลังงานขออุดหนุนค่าไฟฟ้าเพิ่ม

    นายพสุ โลหารชุณ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรอ.ไปจัดทำแผนการกำจัดกากอุตสาหกรรม ที่ยังเป็นปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่สามารถนำมากำจัดได้อย่างถูกต้องวิธี และยังมีการลักลอบทิ้งตามที่สาธารณะ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาขยะที่มีปริมาณมาก เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

    โดยแผนดังกล่าวจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 5-10 ปี  ซึ่งในระยะสั้นจะเป็นแผนต่อเนื่องจากการดำเนินงานเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ที่พยายามผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการกำจัดเพิ่มมากขึ้น โดยการเข้าตรวจสอบโรงงานเป้าหมายกว่า 5 พันแห่ง ซึ่งสามารถนำกากเข้าระบบได้แล้วประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี ขณะที่ปี 2558 นายจักรมณฑ์ ต้องการให้กรอ.ดำเนินการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมเข้มข้นขึ้น โดยให้ตรวจสอบโรงงานเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นแห่ง จากโรงงานที่มีอยู่กว่า 8 หมื่นแห่ง ซึ่งจะช่วยให้มีกากอุตสาหกรรมเข้าสู่การกำจัดได้ถึง 1.5 ล้านตันต่อปี

    รวมถึงจะมีการเข้มงวดในการต่อใบอนุญาตประกอบการกิจการหรือรง.4 ที่โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องแสดงข้อมูลในการนำกากอุตสาหกรรมไปกำจัดในรอบปีที่ผ่านมา นำมาประกอบการพิจารณาต่อใบอนุญาตให้ หากโรงงานใดไม่มีข้อมูล ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาต่อใบอนุญาตให้ โดยในส่วนนี้ได้มีการหารือร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ไปแล้ว

    ส่วนระยะกลางนั้น หลังจากที่ได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมชมวิธีการกำจัดกากอุตสาหกรรมและขยะชุมชน ของประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู) กับทางกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยจะส่งทีมงานมาร่วมศึกษาต้นแบบโรงงานเตาเผาขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน และจัดหาสถานที่ก่อสร้าง พร้อมทั้งส่งอุปกรณ์เครื่องจักรให้แก่ไทย ซึ่งขนาดของโรงงานน่าจะเป็นขนาดใหญ่เผาขยะได้ไม่ต่ำกว่า 400 ตันต่อวัน หรือใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งหากลงทุนอาจจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนร่วมลงทุนได้โดยตรง   และมีแผนเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2559 หากดำเนินการสำเร็จก็จะขยายในพื้นที่อื่นต่อไป ซึ่งมองว่าพื้นที่แรกน่าจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งกากอุตสาหกรรม และมีขยะชุมชนรวมอยู่ด้วย

    นายพสุ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนระยะยาวนั้น มองเป็นเรื่องของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากขึ้นมา ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงกลาโหม ในการจัดหาที่ราชพัสดุมาใช้ตั้งเป็นนิคมกำจัดกากครบวงจร รวมทั้ง การจัดหาพื้นที่เหมืองแร่ที่ใกล้หมดอายุใช้เป็นที่ฝังกลบกากอุตสาหกรรมอันตราย โดยจะเริ่มสำรวจการใช้พื้นที่เหมืองแร่ในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว

    อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งเสริมให้มีโรงงานเตาเผาขยะ ซึ่งจะมีผลพลอยได้ในการผลิตไฟฟ้าขึ้นมานั้น ทางกรอ.อยู่ระหว่างประสานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อจะหารือในการอุดหนุนผู้ลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มอัตราการสนับสนุนค่าไฟฟ้าจากรูปแบบฟีดอินทาริฟ ที่ปัจจุบันให้อยู่ประมาณ 2.39-3.13 บาทต่อหน่วย เนื่องจากเป็นโรงงานที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงเพื่อดูแลปัญหาไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

    ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสีย ในปีนี้ กรอ.ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 26 ล้านบาท เพื่อมาใช้ดำเนินโครงการสำรวจและจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจำนวน 50 แห่ง จากกลุ่มโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เอทานอล ปาล์มน้ำมัน แปรรูปอาหาร และยางพารา เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 มกราคม 2558

เร่งดันเออีซีรับเขตศก.พิเศษ

เนด้าเพิ่มบทบาทขับเคลื่อนเออีซีระหว่างประเทศ เร่งหารือเอดีบีสานต่อยอดโครงการเฟส 2 เชื่อมเมียนมาร์-สปป.ลาว-กัมพูชาให้สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงประตูการค้าชายแดน เล็งผนึกบีโอไอรุกขยายโอกาสการลงทุนกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ดัน 3 ผลงานชิ้นโบแดงจุดผ่านแดนสตึงบท-โครงการไฟฟ้าหวังดึงงบประมาณเพิ่มปี 2558-59

  นายเนวิน สินสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน): สพพ.หรือเนด้า เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานของเนด้าในปี 2558-2559 ว่าเน้นการเพิ่มบทบาทขับเคลื่อนเออีซีระหว่างประเทศภายหลังจากที่ได้สนับสนุนโครงการต่างๆทั้งด้านวิชาการและงบประมาณในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยมาแล้วประมาณ 100 โครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเยือนหลายประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย

alt    นอกจากนี้ยังเร่งหารือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย(เออีบี)เพื่อให้การสนับสนุนโครงการต่างๆให้สามารถเชื่อมโยงในระยะที่ 2 ต่อเนื่องกันไปโดยเฉพาะโครงการในสหภาพเมียนมาร์ ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อต่อยอดโครงการต่างๆที่เนด้าให้การสนับสนุน ประกอบกับหลายโครงการยังเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 แห่งที่รัฐบาลไทยและกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันระบบโครงข่ายคมนาคมให้เกิดการเชื่อมโยงประตูการค้าชายแดนควบคู่กันไป

    ปัจจุบันเนด้าให้ความช่วยเหลือการศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบรายละเอียด สำหรับโครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทและถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 ของกัมพูชาให้สอดรับกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอรัญประเทศเชื่อมโยงกับปอยเปตที่สามารถเดินทางควบคู่ไปกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟ โดยเส้นทางนี้จะส่งเสริมการลงทุนระหว่างอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของไทย-อุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต/โอเนียง และนิคมอุตสาหกรรมโฮจิมินห์ หลังจากนั้นจะเร่งนำเสนอผลการศึกษาฯ แก่ คพพ. เพื่ออนุมัติประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2558

    "สำหรับสปป.ลาวนอกเหนือจากโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน  (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) ที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 อนุมัติให้ สพพ. ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน 1,977 ล้านบาทไปแล้วยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ที่บึงกาฬและแห่งที่ 6 ที่อุบลราชธานีซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังเวียดนามและจีนได้อีกด้วยโดยจะเกิดประโยชน์ด้านการขนส่งและท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา ในส่วนเวียดนามนั้นยังมีโครงการศึกษาในการก่อสร้างประตูกั้นน้ำ Tan Thuan ในเมืองโฮจิมินห์ที่อยู่ระหว่างการอนุมัติผลการศึกษาและอนุมัติด้านการเงินเพื่อนำไปก่อสร้างต่อไป"

    นายเนวินกล่าวอีกว่าสำหรับการเชื่อมโยงกับเมียนมาร์ที่เห็นได้ชัดมี 3-4 พื้นที่คือ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่พบว่าปริมาณรายได้การค้าผ่านแดนเพิ่มขึ้นจาก 3 หมื่นล้านบาทเป็น 5 หมื่นล้านบาทในระยะไม่กี่ปี ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการก่อสร้างถนนช่วงแม่สอด เมียวดี-กอกาเรก ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยยังมีแผนที่จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ให้เกิดการเชื่อมโยงอีกด้วย

    นอกจากนี้ยังมีที่ด่านเจดีย์ 3 องค์ที่เชื่อมโยงกับเมืองพญาตองชูของเมียนมาร์ ตลอดจนด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรีที่เชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกทวาย และด่านสิงขร จ.กาญจนบุรี ที่เชื่อมโยงกับเมืองมะริด อีกหนึ่งแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของเมียนมาร์ โดยภาคเอกชนได้มีการเสนอในการหารือร่วมกระทรวงการคลังเนื่องจากมีต้นทุนแฝงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก พร้อมกับแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงาน การตั้งที่ตั้งด้านฐานการผลิตในประเทศ

    "มองว่าเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นตัวเชื่อมโยงการพัฒนา  ดังนั้นปี 2558 จึงจะเน้น 3 โครงการหลักคือการก่อสร้างช่วงพื้นที่เชื่อมโยงกับด่านสตึงบทของกัมพูชาและการรุกโครงการด้านไฟฟ้าที่เมียนมาร์และสปป.ลาวให้เห็นความชัดเจนเพื่อจะสร้างโอกาสในการขอขยายวงเงินเพิ่มให้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยปี 2557 ได้รับเพียง 675 ล้านบาทจากที่เสนอขอไปจำนวน 1,800 ล้านบาท ดังนั้นปี 2558-2559 จึงน่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก พร้อมกันนี้ยังจะเน้นสนับสนุนการสร้างเครือข่ายสายการผลิตของภาคเอกชนให้เกิดการเชื่อมโยงมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งหารือกับบีโอไอเพื่อสร้างโอกาสการลงทุน  การเพิ่มบริการและการให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์แก่ภาคเอกชนไทย"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 มกราคม 2558

ดีมานด์/ซัพพลายทุบน้ำตาล-อ้อยราคาร่วง

ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2553/2554ในช่วงเดือนมีนาคม ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกเคยทะลุถึง 35 เซ็นต์/ปอนด์มาแล้ว ก่อนที่จะค่อยๆอ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี2556 จนถึงเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี2558 altที่ราคาน้ำตาลดิบสวิงตัวอยู่ระดับ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ จนล่าสุด ณ 19 มกราคม 2558 ราคาลงมาอยู่ที่ 15-16 เซ็นต์ต่อปอนด์

    จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่ผันผวนในช่วงนี้ มีสาเหตุหลักมาจากเรื่องดีมานด์และซัพพลาย  หลังจากที่ประเทศผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลดิบรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิล ไทย  ออสเตรเลีย อินเดีย ต่างมีผลผลิตออกสู่ตลาดโลกจำนวนมาก  ในขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคหดตัวลง บวกกับแรงส่งของปริมาณสต๊อกน้ำตาลดิบที่สะสมอยู่ในตลาดมีจำนวนมากติดต่อกันมา3-4ปีที่ผ่านมา

    เมื่อดูตามข้อมูลองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ(ISO) สต๊อกโลกยังมีน้ำตาลอยู่ในระดับสูง โดยสต๊อกน้ำตาลปี2557/2558 อยู่ที่ 76.341 ล้านตันน้ำตาล  หรือคิดเป็นสัดส่วน 41.85%ของการบริโภค ยังไม่รวมถึงค่าเงินสกุลต่างๆจากประเทศผู้ผลิตและค้าน้ำตาลเกิดการผันผวนหนัก จนทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลถดถอยลง   นอกจากนี้ยังรายงานถึงผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกปี2557/2558ว่า มีจำนวน 182.897 ล้านตันน้ำตาล เปรียบเทียบปี2556/2557 อยู่ที่ 182.557 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.19%  และมีการบริโภคน้ำตาลทั่วโลก 182.424 ล้านตัน เทียบปีก่อน 178.931 ล้านตันเท่ากับบริโภคเพิ่มขึ้น 3.493 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.95% โดยผลผลิตยังมากกว่าการบริโภคถึง 3.621 ล้านตัน

   alt นอกจากนี้ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมัน  ทำให้บราซิลในฐานะผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก เล็งเห็นว่าราคาน้ำมันอ่อนตัวลงฮวบฮาบจึงไม่ใช่จังหวะที่จะนำอ้อยไปผลิตเอทานอลสำหรับใช้ในการผลิตแก๊สโซฮอล์  จึงหันไปโฟกัสอ้อยเพื่อไปผลิตน้ำตาลขายมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับ2ของโลก มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยมากขึ้นจนปริมาณอ้อยทะลุ 100 ล้านตันอ้อย จึงเป็นเหตุให้มีผลผลิตน้ำตาลอยู่ในตลาดโลกจำนวนมาก

-ชาวไร่กังวลราคาอ้อยร่วงตาม

    ต่อสถานการณ์ดังกล่าวกำลังสร้างความกังวลให้กับกลุ่มชาวไร่อ้อย  ที่ต่างออกมายอมรับว่า ถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกยืนอยู่ในระดับ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์  จะทำให้ราคาอ้อยเบื้องสุดท้ายที่จะประกาศในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ ไปไม่ถึง 900 บาทต่อตันอ้อย ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี และตกอยู่ในสภาพที่ไม่คุ้มต่อต้นทุนผลิตที่ลงทุนไปก่อนแล้ว  สุดท้ายก็ตกเป็นภาระของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ที่กองทุนจะต้องหาเงินอีกอย่างน้อย 160 บาทต่อตัน โดยหาแหล่งเงินกู้จาก  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เพื่อจ่ายชาวไร่  หลังจากนั้นพอคำนวณอ้อยเบื้องสุดท้ายออกมาต่ำกว่า 900 บาทต่อตัน กองทุน ก็ต้องหาเงินมาคืนโรงงาน เพราะโรงงานน้ำตาลเป็นผู้จ่ายค่าอ้อยเบื้องต้นให้ชาวไร่ไปแล้วที่ตันละ900 บาท ก่อนหน้านี้

    สอดคล้องกับที่นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่าสถานการณ์ราคาอ้อยในวันนี้เป็นความกังวลที่ชาวไร่อ้อยนอนไม่หลับ เริ่มจากที่ราคาอ้อยเบื้องต้นที่คำนวณโดยอิงราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกที่ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์  ได้ราคาอ้อยที่ประกาศออกมาที่ 900 บาทต่อตันอ้อย  แต่ความจริงที่เกิดขึ้นหลังประกาศราคาอ้อยเบื้องต้นคือ ล่าสุดราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำกว่า 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ไปแล้ว ดังนั้นสิ่งที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)จะต้องทำคือเร่งดำเนินการหาตัวเลขไปให้ถึงจุดคุ้มทุน เพื่อให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ไปกู้เงินจากธ.ก.ส.เพื่อมาชดเชยราคาอ้อยที่ต่ำกว่าต้นทุนในขณะนี้   นอกจากนี้หากราคาน้ำตาลยังต่ำต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน2558 สิ่งที่กังวลคือจะทำให้ราคาอ้อยเบื้องสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยเบื้องต้นซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องรีบหามาตรการช่วยเหลือ

    ส่วนกรณีเอทานอล เวลานี้มองว่าการผลิตเอทานอลควรเข้าไปอยู่ในระบบอ้อยและน้ำตาลด้วย โดยใช้กลไกของระบบดูแลเรื่องการผลิตเอทานอลที่เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยตามสัดส่วน30/70  จากปัจจุบันที่ใช้โมลาส(กากน้ำตาล)ผลิตเอทานอลซึ่งโมลาสไม่ได้อยู่ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์

-ส่งเสริมปลูกอ้อยนาดอนยิ่งกดราคาร่วง  

    ด้านนายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น สะท้อนมุมมองว่า การที่รัฐบาลพยายามรณรงค์ให้เอาพื้นที่นาดอนมาปลูกอ้อยมากขึ้นจะยิ่งไปกดให้ราคาอ้อยต่ำลง ซึ่งหลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายนำพื้นที่นาไปปลูกอ้อยจำนวนมาก ทำให้พื้นที่แถบอีสานคึกคัก มีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นราว 10-20% จากที่มีการส่งเสริมปลูกอ้อยในภาคอีสานแล้วกว่า4ล้านไร่ ผลิตอ้อยได้เฉลี่ยประมาณ 40 ล้านตันอ้อย เวลานี้เพิ่มขึ้น 10%  หรือจำนวน 5แสนไร่ต่อปี

-ลามเอทานอลราคาลดฮวบ

    ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี  นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย มองว่า โดยธรรมชาติราคาอะไรที่ลดลงมาต่อเนื่อง สักพักก็กลับไปปรับราคาสูงขึ้นอีก  เช่นเดียวกับราคาน้ำมันในขณะนี้ที่ลดลงต่อเนื่อง เพียงแต่เราไม่รู้ล่วงหน้าว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับใด  จึงวางแผนไม่ได้  ขณะเดียวกันต่อไปถ้าราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้นประชาชนต้องรับให้ได้ เพราะเราเป็นผู้นำเข้า และรัฐจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ ดังนั้นเวลานี้รัฐต้องมีมาตรการรับมือ เช่น 1.จะต้องสต๊อกน้ำมัน

    2.ดูความพอใจของประชาชนอยู่ที่ไหน เวลานี้ราคาหน้าโรงกลั่นกว่า 12 บาทต่อลิตร แต่ขายปลีกกว่า 34 บาทต่อลิตร ห่างกัน 22 บาท  ซึ่ง22บาทไปเป็นภาษี เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  ฉะนั้นราคาเนื้อน้ำมันจริงๆแค่12บาทต่อลิตร  ตรงนี้รัฐต้องไปคุยกับประชาชนว่าต้องเก็บส่วนต่างไว้ในกองทุน  ถ้าไม่มีกองทุน รัฐก็ต้องบอกประชาชนว่า ถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น ประชาชนต้องรับได้ พ่อค้าจะมีต้นทุนสูงขึ้น  เวลานี้ราคาน้ำมันถูกลงก็ไปจูงใจให้ประชาชนใช้น้ำมันแบบไม่ประหยัด  3.รัฐต้องคิดต่อว่าจะยังผลักดันพลังงานงานทดแทนหมุนเวียนต่อไปหรือไม่ เพราะจะไปโยงกับพืชไร่  4.รัฐต้องประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์การใช้พลังงานอย่างประหยัด

    "อนาคตของเอทานอลจะขึ้นอยู่กับ4ข้อนี้  ล่าสุดราคาเอทานอลในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ได้มีการประมูลราคาไปแล้ว ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงในช่วงนี้ยังไม่เกิดผลกระทบต่อราคาเอทานอล  แต่ไตรมาส2 จะได้รับผลกระทบโดยราคาเอทานอลจะต่ำลงจากเดิม ตามราคาน้ำมัน ดังนั้นในช่วงไตรมาส2และ3 ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอีกหรือราคาลงไปที่30-20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ก็จะทำให้ราคาเอทานอลลดลงตามไปด้วย"

    เวลานี้รัฐจะลดพื้นที่ปลูกข้าว เพราะมีราคาต่ำ  และที่ผ่านมารายได้จากอ้อยดีที่สุด เทียบกับพืชชนิดอื่นทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา  แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าไปผลักดันให้มีอ้อยมากขึ้น ก็ต้องดูว่าจะผลักดันอ้อยไปทำอะไรบ้าง เพราะทุกวันนี้พืชเกษตรทั้งหมดผลิตออกมาเกินความต้องการใช้ในประเทศ จนต้องหาทางส่งออก แต่อ้อยมีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นพืชพลังงานและพืชอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ได้ 2 ทางทั้งด้านอุตสาหกรรมและพลังงาน ซึ่งไทยควรจะศึกษาโมเดลของบราซิลกรณีถ้าราคาพลังงานไม่ดีก็นำอ้อยไปผลิตเอทานอล แต่ถ้าราคาน้ำตาลดีก็นำอ้อยไปผลิตน้ำตาล

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 22 มกราคม 2558

กรมน้ำบาดาลฯ ชี้โครงการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร”

กรมน้ำบาดาลฯ ชี้โครงการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” ที่ จ.ราชบุรี ช่วยเติมความสุขให้ทุกชีวิต

จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตร เพื่อให้ประชากรกว่า 24 ล้านคนของภาคการเกษตรมีความอยู่ดีกินดี สามารถเลี้ยงตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น โดยการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เพิ่มการลงทุน และเทคโนโลยีภาคการเกษตร เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และช่วยบรรเทาความเสี่ยงของผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ ขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำในทุกภูมิภาคของประเทศ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชน การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ความต้องการใช้น้ำเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ หลายพื้นที่ในภาคการเกษตรที่มีชลประทานแล้ว แต่ไม่สามารถกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึง ต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อทำการ

เกษตร ซึ่งไม่เพียงพอรองรับความต้องการ ใช้น้ำของภาคเกษตรกรรม

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการวางแผนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำบาดาลในภาคการเกษตรให้เหมาะสม มีสมดุลและเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด เพื่อให้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จึงขยายผลการดำเนินงานโครงการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง” เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการ

บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ

โดยค่าใช้จ่าย 1 พื้นที่ (500 ไร่) ใช้จำนวนเงินประมาณ 15.6 ล้านบาท วงเงินงบประมาณรวมทั้งหมด สำหรับดำเนินการใน 31 พื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 484 ล้านบาท ทั้งนี้ วางเป้าหมายให้เกษตรกรกว่า 2,000 ครัวเรือน บนพื้นที่ 15,500 ไร่ มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกตลอดทั้งปี สามารถเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวและชุมชน แม้จะเป็นช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง สำหรับรูปแบบการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่เหมาะสมเพื่อการเกษตรตามหลักวิชาการ จะคำนึงถึงศักยภาพของแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ การออกแบบทางวิศวกรรม ความเหมาะสมกับชนิดของพืชที่เพาะปลูกและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สามารถเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดจะดำเนินการใน 31 พื้นที่ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน แพร่ และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เลย มหาสารคาม หนองบัวลำภู ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร สุพรรณบุรี ลพบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร และพัทลุง ทั้งนี้ ในพื้นที่แต่ละแห่งจะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 ไร่ และมีศักยภาพของน้ำบาดาล ไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยได้คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากนั้นจึงดำเนินการสำรวจข้อมูลทั่วไปของพื้นที่โครงการ ประเมินศักยภาพน้ำบาดาลออกแบบและสร้างระบบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งใน 1 พื้นที่ของโครงการฯ ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล จำนวน 10 บ่อ หอถังเหล็กพักน้ำ ขนาดความจุ 30 ลูกบาศก์เมตร ความสูง 20 เมตร จำนวน 5 หอถัง ระบบไฟฟ้า ระบบกระจายน้ำ พร้อมจุดจ่ายน้ำให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 50 จุด และมีบ่อสังเกตการณ์เพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล จำนวน 2 บ่อ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการและบำรุงระบบแก่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการวางแผนรูปแบบการตลาดของสินค้าการเกษตรเพื่อให้โครงการเกิด

ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 132 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในเขตชลประทานเพียง 37 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานหรือเกษตรน้ำฝนประมาณ 95 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตทางเกษตรเสียหาย เกษตรกรสูญเสียรายได้ จากสภาพปัญหาดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สำรวจพื้นที่นอกเขตชลประทาน พบว่า มีพื้นที่ทางการเกษตรที่มีศักยภาพน้ำบาดาลสูงประมาณ 28 ล้านไร่ และได้ดำเนินโครงการนำร่องการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรจำนวน 12 พื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อศึกษาและกำหนดรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้เหมาะสม โดยมีบ้านหนองปากชัฎ หมู่ 6 ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2556

  โดยจากการติดตามความคืบหน้าโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ณ บ้านหนองปากชัฎ ตำบลแก้มอ้น อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 592 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 122 คน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญในการร่วมจัดตั้งกลุ่ม กำหนดกติกา เงื่อนไข ในการบริหารจัดการ การจัดตั้งกองทุน การวางแผนการใช้น้ำบาดาล ทั้งนี้ ผลผลิตในพื้นที่ส่วนใหญ่คือมะม่วง กระท้อน มันสำปะหลัง อ้อย และผักสวนครัว ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอย่างให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 22 มกราคม 2558

ก.ส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ทะลุเป้า

กรมส่งเสริมการเกษตรสนองนโยบาย คสช. ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต

ผล ได้ปุ๋ยอินทรีย์ กว่า 273,000 ตัน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ กรมฯ สั่งเดินหน้าส่งเสริมต่อเพื่อใช้แทนปุ๋ยเคมี หวังช่วยเกษตรกรลดต้นทุนอย่างยั่งยืน

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน จัดทำโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิต สนองนโยบาย คสช. ที่ต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาผลผลิตให้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยให้เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายการผลิตรวมทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 250,000 ตัน

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 เป็นต้นมา ปรากฏว่า ปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้จนถึงเดือนมกราคม 2558 มีปริมาณมากกว่า 273,000 ตัน โดยแบ่งเป็น ปุ๋ยหมัก 108,400 ตัน ไถกลบตอซังข้าว 70,200 ตัน ไถกลบตอซังข้าวโพด 17,300 ตัน ไถกลบตอซังสับปะรด 1,300 ตัน ไถกลบตอซังอ้อย 470 ตัน น้ำหมักชีวภาพ 30,700 ตัน และปุ๋ยพืชสด 45,000 ตัน ผลผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้เกินจากเป้าหมาย แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรให้ความสนใจการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการลดต้นทุนการผลิต กรมฯจะติดตามและให้คำแนะนำเกษตรกรในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้การผลิตจะเกินเป้าหมายที่กำหนดไปแล้ว ก็จะยังมีการส่งเสริมให้มีการผลิตต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพิ่มผลิตผล และลดต้นทุนการผลิตแบบยั่งยืน นายโอฬาร กล่าวในที่สุด

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 22 มกราคม 2558

สระบุรีจัดมหกรรมตรวจดิน -เปิดตัวเทคโนโลยี "ปุ๋ยสั่งตัด" 23 ม.ค.นี้

นายประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน กล่าวว่า วันที่ 23 ม.ค. เครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสักจะจัดงานมหกรรมตรวจดิน ที่สนามกีฬา อ.หนองแค จ.สระบุรี โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คาดว่าจะมีเกษตรกรนำดินมาตรวจ 500 ตัวอย่าง ถือเป็นมหกรรมตรวจดินที่มีเกษตรกรเข้าร่วมมากที่สุด การจัดมหกรรมตรวจดินเป็นขั้นตอนสำคัญในการเผยแพร่เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สู่เกษตรกร ที่กำลังมีความพยายามผลักดันผ่าน www.progressTH.org

 นายประทีป กล่าวว่า เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เริ่มจากจากเกษตรกรศึกษาข้อมูลชุดดิน นำดินมาตรวจ เพื่อให้รู้ว่าดินในขณะนั้นมี N-P-K อยู่เท่าไร เพื่อให้การใช้ปุ๋ยตรงกับชนิดดินและความต้องการของพืช ไม่ใช่ใส่ปุ๋ยแบบกว้างๆ อย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ในงานมหกรรมจะมีเสวนาเรื่อง “วันนี้มีคำตอบ... ทำไมต้อง “ปุ๋ยสั่งตัด และปลูกข้าวด้วยต้นทุน 2,500 บาท/ไร่ ได้อย่างไร” อีกทั้งมีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่คือ เครื่องปลูกข้าวน้ำตม ที่สร้างโดยเกษตรผู้นำเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสักด้วย 

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 22 มกราคม 2558

สศก. ระบุ มันสำปะหลัง-อ้อย-หอมแดง ออกตลาด ช่วงม.ค.นี้

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงภาพรวมดัชนีราคาและผลผลิตสินค้าเกษตร ประจำเดือนธันวาคม 2557 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงได้แก่ ยางพารา ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน ส่วนมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และหอมแดง ออกตลาดช่วงมกราคมนี้

นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (ปี 2556) ภาพรวมพบว่า ลดลง ร้อยละ 12.53  โดยสินค้าเกษตรที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ไก่เนื้อ และไข่ไก่ โดยยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน และสุกร โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลกมีมากขึ้น สับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสุกร ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

หากเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2557 ลดลง ร้อยละ 1.36  สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ไก่เนื้อ และไข่ไก่ โดยยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาตลาดล่วงหน้า TOCOM ปรับตัวลดลง ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน โดยมันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นแม้ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงแป้งและลานมัน  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย  ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2558 คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (ปี 2556) พบว่า ภาพรวมผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.85 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรดโรงงาน หอมแดง และสุกร สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ 

เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเดือนธันวาคม 2557 ลดลง ร้อยละ 50.05  มีสินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน สินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา หอมแดง และไข่ไก่ ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2558 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะสูงกว่าเดือนมกราคม 2557 เล็กน้อย แต่จะลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2557 สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมากในเดือนมกราคม 2558 ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และหอมแดง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 มกราคม 2558

"สมคิด"แนะรัฐบาลจับตาศก.โลก ผวาบาทแข็ง-เงินทุนไหลเข้ากระทบการส่งออก

สมคิดแนะรัฐบาลรับมือสัญญาณบาทแข็ง-เงินทุนไหลเข้า กระทบส่งออก พร้อมจับตาการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหากรายได้ไม่ลดลงแสดงว่ากำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับปกติ แนะเร่งเครื่องช่วยกลุ่มเกษตรกรเร็วขึ้น

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ในที่ประชุมหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ โดยทั้งครม.และคสช.มีความเห็นตรงกันว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ มีทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่อยู่ในที่ประชุมหลายคนแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกรรมการ คสช. กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเนื่องจากในสหภาพยุโรป (EU) กำลังจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ซึ่งอาจจะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

ประกอบกับค่าเงินบาทไทยในขณะนี้แข็งค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ เช่นเงินยูโร และเงินเยน ซึ่งอาจจะกระทบกับการส่งออกได้ รัฐบาลจึงควรหามาตรการดูแล ซึ่งม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มองว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานเศรษฐกิจต้องเตรียมพร้อมอยู่แล้ว

ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นายสมคิดระบุว่าให้ดูจากการจัดเก็บรายได้โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยหากรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ลดลงก็แสดงว่ากำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตามอยากให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือเกษตรกร เพราะมองว่ามาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรยังล่าช้า ทำให้คนกลุ่มนี้เดือดร้อนจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำลง

พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. กล่าวในที่ประชุมว่า การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผู้ที่จะได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปถึงระดับสูง โดยประชากรวัยแรงงานที่มีอยู่กว่า 40 ล้านคน มีผู้ที่จะได้ประโยชน์ประมาณ 25 ล้านคน ขณะที่อีก 15 ล้านคนที่เป็นเกษตรกรยังไม่ได้ประโยชน์ชัดเจน

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 21 มกราคม 2558

ที่ประชุมโครงการบริหารจัดการน้ำ มีมติจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี

ที่ประชุมโครงการบริหารจัดการน้ำ มีมติจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ เพื่อประสิทธภาพในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการบริหารจัดการน้ำ กรณีความคืบหน้าการดำเนินงานจัดการน้ำ ปี 2557 และ 2558 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ โดยมีขอบเขตการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งมีคณะทำงานต่าง ๆ ได้แก่ คณะทำงานที่มีหน้าที่ในการวางแผนเกี่ยวกับเรื่องน้ำโดยเฉพาะ จำนวน 2 คณะ คณะทำงานเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ คณะทำงานเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างชัดเจนและมีกฏหมายรองรับ และคณะทำงานเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า การวางแผนยุทธศาสตร์ในกรอบระยะเวลา 10 ปี แบ่งเป็น ระยะสั้น (ระยะเร่งด่วน) ในช่วงปี 2558 - 2559 ระยะกลาง ช่วงปี 2560 - 2564 และระยะยาว ช่วงปี 2565 เป็นต้นไป

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการโครงการตามภารกิจในการจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 73 ส่วนในปี 2558 มีโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วคิดเป็นร้อยละ 98

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 21 มกราคม 2558

อุตฯเดินหน้ากำจัดกากของเสียรง. เสนอให้ครม.ทราบเดือนหน้า‘ญี่ปุ่น’ส่งเตาเผา1พันล.ให้ฟรี

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เตรียมเสนอแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรม ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานเรื่องการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม

ก่อนหน้านี้ ครม.เคยมอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการ ขณะที่ปัจจุบันกระทรวงได้มอบหมายให้ กรอ.เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่ง กรอ.ได้แบ่งงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 1-2 ปี ระยะกลาง 2-5 ปี และระยะยาว 5-10 ปี โดยคาดว่าจะเร่งสรุปแผน และเตรียมเสนอต่อ ครม.ภายในเดือนก.พ.นี้

สำหรับการดำเนินงานในระยะสั้นนั้น กรอ.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหาร เช่น การเร่งต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ การเพิ่มความเข้มข้นในการขอใบอนุญาตรง.4 การแสดงข้อมูลของเสียของแต่ละโรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ กรอ.ได้มีการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อชี้แจงเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรมต่อภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง

นายพสุ กล่าวว่า ปี 2558 นี้ กรอ.จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการติดตามกากอุตสาหกรรมที่ออกจากโรงงานอย่างเข้มข้นขึ้น โดยจะใช้งบกว่า 14 ล้านบาท ติดตั้งอุปกรณ์จีพีเอสกับรถขนส่งกากอุตสาหกรรมที่ออกจากโรงงาน ซึ่งจะสามารถติดตามขยะที่ออกจากโรงงานไปจนถึงแหล่งกำจัดได้แบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ยังเตรียมส่งหนังสือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศอีก 10,000 แห่ง ให้ดำเนินการนำกากเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง โดยปัจจุบันมีโรงงานในความควบคุมของ กรอ.ที่นำกากเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง 10,000 แห่ง เหลืออีก 20,000 แห่งที่ยังไม่เข้าระบบ แต่ในปีที่ผ่านมาได้ส่งหนังสือไปยังโรงงานต่างๆ แล้ว 5,000 ราย ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้จะสามารถนำกากเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น และจะสามารถกำจัดกากอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนที่ 1.1 ล้านตัน เป็น 1.2-1.5 ล้านตันในปีนี้

ส่วนการดำเนินงานระยะกลาง คือ การหารือกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อประสานงานในการจัดตั้งนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรม และการวางแผนเพิ่มเตาเผาขยะ โดยทางองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ได้มีโครงการช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยจะมอบเตาเผาขยะมูลค่ากว่าพันล้านบาท ที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับไทย ทั้งนี้เพื่อต่อยอดในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเตาที่มีกำลังการเผาขยะ 500 ตันต่อวัน ซึ่งกรอ.จะรวมเป็นการดำเนินงานในระยะกลางของกระทรวงด้วย

“ทางเนโดะได้เจรจากับไทยเพื่อเพิ่มเตาเผาขยะให้เรา จากเดิมที่เรามีเตาของ บริษัทอัคคีปราการที่มีกำลังเผา 50 ตันต่อวัน ต่อไปเราก็จะมีกำลังการเผาขยะมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เขาเสนอมาให้แค่เตา ส่วนเรื่องรูปแบบการลงทุน หรือพื้นที่นั้นยังอยู่ในส่วนที่รัฐอาจจะต้องหารือกันว่าจะลงทุนเองหรือร่วมกับเอกชนที่สนใจ”นายพสุกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มกราคม 2558

หอการค้ากดดันแบงก์ชาติ ดูแลค่าเงินให้ทันต่อการผันผวน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนกังวลว่าความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและอัตราแลกเปลี่ยน จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าของไทย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจภาพรวมและการส่งออกของไทยขณะนี้ ประกอบด้วย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และการที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษี(จีเอสพี) โดยในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนทางผู้บริหารของหอการค้าไทย ก็เตรียมจะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เพื่อหามาตรการ หรือเครื่องมือในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป รวมถึงหารือให้ปรับอัตราค่าเงินอ่อนลงมาใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระหนี้สินต่างประเทศ การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ จะหารือเกี่ยวกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามชายแดน เพราะหากสามารถใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่งได้ก็จะทำให้การค้าตามชายแดนคล่องตัวขึ้น เนื่องจากระบบธนาคารของประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สะดวกนัก

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่หอการค้าฯ จะหารือกับแบงก์ชาติ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่า ว่าต้องการให้แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาท ให้ทันสถานการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินของประเทศคู่แข่ง และต้องให้เกิดการสมดุล ไม่ให้มีความผันผวน เพราะตอนนี้สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในโลกมีความผันผวนเร็วมาก และไทยจำเป็นต้องมีมาตรการที่ทันสถานการณ์ ประกอบกับการที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงอยากให้ผู้ประกอบการ ควรเตรียมความพร้อมต่อปัจจัยเสี่ยงด้านการส่งออกที่ควรต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดด้วย ทั้งการใช้เวลาช่วงนี้พัฒนามาตรฐานสินค้าให้เป็นมาตรฐานสากล ให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต้องพัฒนาด้านศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรที่ต่ำกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และต้องพัฒนาแบรนด์สินค้าไทยด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2557 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.86 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลง 0.49% จากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 32.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินคู่แข่งก็อ่อนค่าลงมากเช่นกัน โดยมาเลเซียอ่อนค่าลง 6.28% อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 2.22% สิงคโปร์อ่อนค่าลง 4.41% เมียนมาร์อ่อนค่าลง 6.28% เกาหลีใต้อ่อนค่าลง 4.23% ญี่ปุ่นอ่อนค่าลง 11.86% สหภาพยุโรป (อียู) อ่อนค่าลง 13.07% รัสเซียอ่อนค่าลง 43.33% และบราซิลอ่อนค่าลง 11.19% ส่วนในปี 2558 ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง 0.83%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มกราคม 2558

ส่งเสริมโรงงานเพิ่มประสิทธิภาพก๊าซชีวภาพ

กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดสัมมนาเปิดตัวโครงการสำรวจและจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ ปีงบประมาณ 2557

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพ การจัดเก็บและการใช้ที่ถูกต้องในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ ตลอดจนการวางแนวทางเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานหม้อน้ำ เนื่องจากปัจจุบันมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับหม้อน้ำบ่อยครั้ง

สำหรับโครงการเกี่ยวกับก๊าซชีวภาพนี้มีโรงงาน 50 แห่ง จากทั้งหมด 336 โรงงานเข้าร่วม คาดว่าจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานโรงงานละ 3 ล้านบาทต่อปี หรือไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาทต่อโครงการต่อปี และ มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ 12 โรงงาน จาก 110 โรงงานเข้าร่วมโครงการ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการลดต้นทุนระบบไอน้ำโรงงานละประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี หรือไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาทต่อโครงการต่อปี หากในอนาคตมีการขยายผลไปยังโรงงานทั้งหมดกว่า 446 โรงงาน คาดว่าจะประหยัดพลังงานได้กว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ โครงการนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานผ่านการอบรมแก่บุคลากรกว่า 800 คน เช่น เจ้าของกิจการ วิศวกร ของโรงงาน ให้มีความรู้ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้โรงงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน คาดจะมีการขยายผลช่วยให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้มากขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพ .- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.tnamcot.com   วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

กรมบาดาลฯชี้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรเติมเต็มความสุข

 สำราญ สมพงษ์รายงาน

               กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการวางแผนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำบาดาลในภาคการเกษตรให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสม มีสมดุลและเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ต่อเกษตรกร เพื่อให้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จึงขยายผลการดำเนินงานโครงการ“น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” ปี2556ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบ ภัยแล้ง” เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการโดยค่าใช้จ่าย 1 พื้นที่ (500 ไร่) ใช้จำนวนเงินประมาณ 15.6 ล้านบาท วงเงินงบประมาณรวมทั้งหมด สำหรับดำเนินการใน 31 พื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 484 ล้านบาท ทั้งนี้ วางเป้าหมายให้เกษตรกรกว่า 2,000ครัวเรือน บนพื้นที่ 15,500 ไร่ มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกตลอดทั้งปี สามารถเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวและชุมชน แม้จะเป็นช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง                                                                                              

                นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า สำหรับรูปแบบการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่เหมาะสมเพื่อการเกษตรตามหลักวิชาการ จะคำนึงถึงศักยภาพของแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ การออกแบบทางวิศวกรรม ความเหมาะสมกับชนิดของพืชที่เพาะ ปลูกและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สามารถเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดจะดำเนินการใน 31 พื้นที่ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน แพร่ และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่นเลย มหาสารคาม หนองบัวลำภู ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร สุพรรณบุรี ลพบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร และพัทลุง                                                                                                                                  

               ทั้งนี้ ในพื้นที่แต่ละแห่งจะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 ไร่ และมีศักยภาพของน้ำบาดาล ไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยได้คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากนั้นจึงดำเนินการสำรวจข้อมูลทั่วไปของพื้นที่โครงการ ประเมินศักยภาพน้ำบาดาลออกแบบและสร้างระบบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งใน 1 พื้นที่ของโครงการฯ ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล จำนวน 10บ่อ หอถังเหล็กพักน้ำ ขนาดความจุ 30 ลูกบาศก์เมตร ความสูง 20 เมตร จำนวน 5 หอถัง ระบบไฟฟ้า ระบบกระจายน้ำ พร้อมจุดจ่ายน้ำให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 50 จุด และมีบ่อสังเกตการณ์เพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล จำนวน 2 บ่อ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการและบำรุงระบบแก่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการวางแผนรูปแบบการตลาดของสินค้าการเกษตรเพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม    

               อย่างไรก็ตามสำหรับผลการติดตามความคืบหน้าโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการนำร่องเป้าหมายหนึ่งใน 31 จังหวัดพบว่า มีการจัดการโครงการฯ ณ บ้านหนองปากชัฏ        ตำบลแก้มอ้น  อำเภอจอมบึง  จังหวัดราชบุรีได้รับผลสำเร็จในการดำเนินการเป็นอย่างดี  โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 592 ไร่ พบมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 122 คน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญในการร่วมจัดตั้งกลุ่ม กำหนดกติกา เงื่อนไข ในการบริหารจัดการ การจัดตั้งกองทุน การวางแผนการใช้น้ำบาดาล ทั้งนี้ ผลผลิตในพื้นที่ส่วนใหญ่คือมะม่วง กระท้อน มันสำปะหลัง อ้อย และผักสวนครัว

               นายชวน ชาวนาฟาง เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ตามโครงการ“น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร”ในพื้นที่บ้านหนองปากชัฏ        ตำบลแก้มอ้น  อำเภอจอมบึง  จังหวัดราชบุรี  กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการฯนั้นตนเคยทำการเกษตรปลูกพืชทนแล้ง จำพวก มันสำปะหลัง และปลูกมะม่วงบ้างเล็กน้อยเนื่องจากพื้นที่ดินไม่สมบูรณ์  ซึ่งแต่ละปีผลผลิตน้อยไม่สามารถจุนเจือรอบครัวได้มากมาย แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการโดยมีการจัดสรรน้ำบาดาลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลทำให้สามารถผลิตพืชผลไม้สำคัญอาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและสามารถเพิ่มผลผลิตจากเดิมผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยประมาณ 1,500 ต่อไร่เป็น 2,000 กก.ต่อไร่ สามารถส่งจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ครอบครัวปีละไม่ต่ำกว่า1ล้านบาท นอกจากนี้ตนยังสามารถแบ่งสรรพื้นที่ร่องสวนปลูกพืชสมุนไพร โดยใช้ระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตร โดยทำการปลูกพืชสมุนไพร อาทิ  ดีปลี ไพล ว่านชักมดลูกเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะออกมาสู้ตลาดเร็วๆนี้ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัวได้อีกช่องทางหนึ่ง

               นับเป็นความสำเร็จของโครงการ“น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” ที่ช่วยสร้างรายได้และสร้างอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในปีงบประมาณ 2558นี้ ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณกว่า 523ล้านบาท เพื่อสานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในพื้นที่ 31 จังหวัดเพื่อเร่งแก้ปัญหาการขาดแลนน้ำในพื้นที่การเกษตรโดยจะมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จะดำเนินการควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการและบำรุงระบบแก่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการวางแผนรูปแบบการตลาดของสินค้าการเกษตรเพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และในอนาคตกรมฯพร้อมที่จะเดินหน้าขยายผลการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

น้ำมันลดช่วยกระตุ้นส่งออก/บริโภค ‘จักรมณฑ์’ชี้4กลุ่มอุต รับอานิสงส์ต้นทุนลด

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึง สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบว่าตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง หลังราคาน้ำมันดิบดูไบ ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนก.ย.2557 จนกระทั่งลดลงเหลือ 43.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในวันที่ 15 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักเกิดจากภาวะปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมาจากกลุ่มโอเปก มากเกินความต้องการ และยังคงกำลังการผลิตเดิม ซึ่งมีปริมาณการผลิต 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตทั้งโลก

ในเบื้องต้นหากพิจารณาราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีแรกปี 2558 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยอยู่ที่ระดับราคา 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และครึ่งหลังปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้นมา แต่ยังคงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยอยู่ที่ระดับราคา 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลกระทบในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2558 อยู่ในระดับกลาง คือ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอุตสาหกรรมมีค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 จากกรณีฐาน ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10

ขณะที่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตปรับลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้นและส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ประกอบกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.20 นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าปรับลดลง

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลทางบวกจากการที่ราคาน้ำมันลดลงและส่งผลต่อไปยังราคาวัตถุดิบหลายประเภทลดลงตามไปด้วย ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน และเคมีภัณฑ์อื่นๆ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานและเคมีภัณฑ์อื่นๆ และอุตสาหกรรมพลาสติก มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมค่อนข้างสูง

ส่วนอุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นผลที่เชื่อมโยงจากราคาสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์ เนื่องจากโครงสร้างการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษนั้นมีสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ในสาขาเคมีภัณฑ์ เป็นวัตถุดิบค่อนข้างสูง และอุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลจากการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการบริโภคสูงที่สุด เมื่อประชาชนในประเทศมีรายจ่ายในส่วนของราคาเชื้อเพลิงที่ลด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

ครม.ไฟเขียวกำหนดสินค้า-บริการที่ต้องควบคุม 41 รายการ

ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันนี้ว่า    ที่ประชุมครม.เห็นชอบกำหนดสินค้า หรือบริการควบคุมปี 58 แยกเป็นสินค้า 38 รายการ และบริการ 3 รายการ ที่จำเป็นใช้ในชีวิตประจำวันประชาชน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.นี้

โดยยกเลิกสินค้าควบคุมเดิม 3 รายการ คือ เครื่องวัดความชื้นข้าว ,เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าว และเครื่องชั่งวัดอัตราส่วนร้อยละของแป้งในหัวมัน เพราะไม่มีความจำเป็นแล้ว ส่วนที่เหลือให้คงรายการเดิมไว้ พร้อมกับเพิ่มรายการสินค้าควบคุมใหม่ คือ ท่อพีวีซี เพราะเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างและเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในพื้นที่การเกษตรทั้งนี้สินค้าและบริการควบคุมทั้ง 41 รายการ คือ หมวดอาหาร ได้แก่ กระเทียม ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ไข่ไก่ สุกรและเนื้อสุกร น้ำตาลทราย น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ ครีมเทียมนมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน นมผล นมสด แป้งสารี อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก และผลปาล์มน้ำมันหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคในประจำวัน คือ ผงซักฟอก ผ้าอนามัย กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า ,หมวดปัจจัยทางการเกษตร คือ ปุ๋ย ยาป้องกัน หรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ เครื่องสูบน้ำ รถไถนา รถเกี่ยวข้าว ,หมวดวัสดุก่อสร้าง คือ ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น สายไฟฟ้า ท่อพีวีซี ,หมวดขนส่ง คือ แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก ,หมวดปิโตรเลียม คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง เม็ดพลาสติก ,หมวดยารักษาโรค คือ ยารักษาโรค และอื่นๆ คือ เครื่องแบบนักเรียน

ส่วนบริการ มี 3 รายการ คือ การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า บริการรับฝากสินค้าหรือบริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า บริการทางการเกษตร

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

ก.พ.ชงครม.ผลจัดการกากอุตฯ3ระยะ จ่อตั้งเป้าดึงรง.หมื่นแห่งเข้าร่วม

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรม ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานเรื่องการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ที่ ครม.เคยมอบหมายให้กระทรวงเร่งดำเนินการ โดยปัจจุบันกระทรวงได้มอบหมายให้ กรอ.เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่ง กรอ.ได้แบ่งงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 1-2 ปี ระยะกลาง 2-5 ปี และระยะยาว 5-10 ปี โดยคาดว่า จะเร่งสรุปแผน และเตรียมเสนอต่อ ครม. ภายในเดือนก.พ.นี้

สำหรับการดำเนินงานในระยะสั้นนั้น กรอ.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหาร เช่น การเร่งต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ  การเพิ่มความเข้มข้นในการขอใบอนุญาตรง.4 การแสดงข้อมูลของเสียของแต่ละโรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ กรอ.ได้มีการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อชี้แจงเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรมต่อภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง

นายพสุ กล่าวว่า ปี 2558 นี้ กรอ.จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในติดตามกากอุตสาหกรรมที่ออกจากโรงงานอย่างเข้มข้นขึ้น โดยจะใช้งบกว่า 14 ล้านบาท ติดตั้งอุปกรณ์จีพีเอสกับรถขนส่งกากอุตสาหกรรมที่ออกจากโรงงาน ซึ่งจะสามารถติดตามขยะที่ออกจากโรงงานไปจนถึงแหล่งกำจัดได้แบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ ยังเตรียมส่งหนังสือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศอีก 10,000 แห่ง ให้ดำเนินการนำกากเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง โดยปัจจุบันมีโรงงานในความควบคุมของ กรอ.ที่นำกากเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง 10,000 แห่ง เหลืออีก 20,000 แห่งที่ยังไม่เข้าระบบ แต่ในปีที่ผ่านมาได้ส่งหนังสือไปยังโรงงานต่างๆ แล้ว 5,000 ราย ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้จะสามารถนำกากเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น และจะสามารถกำจัดกากอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนที่ 1.1 ล้านตัน เป็น 1.2-1.5 ล้านตันในปีนี้

ส่วนการดำเนินงานระยะกลาง คือ การหารือกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อประสานงานในการจัดตั้งนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรม และการวางแผนเพิ่มเตาเผาขยะ โดยทางองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ได้มีโครงการช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยจะมอบเตาเผาขยะมูลค่ากว่าพันล้านบาท ที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับไทย ทั้งนี้เพื่อต่อยอดในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเตาที่มีกำลังการเผาขยะ 500 ตันต่อวัน ซึ่งกรอ.จะรวมเป็นการดำเนินงานในระยะกลางของกระทรวงด้วย

"ทางเนโดะได้เจรจากับไทยเพื่อเพิ่มเตาเผาขยะให้เรา จากเดิมที่เรามีเตาของบริษัทอัคคีปราการที่มีกำลังเผา 50 ตันต่อวัน ต่อไปเราก็จะมีกำลังการเผาขยะมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เขาเสนอมาให้แค่เตา ส่วนเรื่องรูปแบบการลงทุน หรือพื้นที่นั้นยังอยู่ในส่วนที่รัฐอาจจะต้องหารือกันว่าจะลงทุนเองหรือร่วมกับเอกชนที่สนใจ"นายพสุกล่าว

 และสำหรับแผนการดำเนินงานในระยะยาวนั้น ยังอยู่ในส่วนของการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นแผนที่มีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : กรมหมอดินจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ รวมกลุ่มเกษตรกรผลิตปุ๋ยใช้เอง

การทำเกษตรกรรมจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรดินที่อุดมสมบูรณ์ มีปริมาณธาตุอาหารในดินสูงเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่ทรัพยากรดินที่มีอยู่ในประเทศไทยทุกวันนี้ ถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่สำคัญคือขาดการดูแลรักษาที่ดี ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมและเกิดข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์มากขึ้น

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การจะใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดินให้ฟื้นฟูกลับมามีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมต่อการปลูกพืชแต่ละชนิด ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายหลักในการสนับสนุนให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตร โดยให้หันมาพึ่งพาปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่เพียงแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกษตรกรยังสามารถผลิตได้ด้วยตนเองจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง

โดยขณะนี้ กรมพัฒนาที่ดินมีนโยบายในการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สามารถนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลาย รวมถึงให้เกษตรกรลด ละ เลิกการเผาเศษฟาง เศษซากพืช โดยให้นำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ ยังเป็นการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ในปี 2558 ซึ่งพระองค์พระราชทานสูตรปุ๋ยให้กรมพัฒนาที่ดินนำมาเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปผลิตไว้ใช้เองทดแทนปุ๋ยเคมี

สำหรับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ขณะนี้ก็ได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ โดยมอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่สถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ สถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสงครามและสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาครเข้าไปส่งเสริมผ่านเครือข่ายหมอดินอาสาให้รวมตัวกับเกษตรกรเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินการเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป ซึ่งรายละเอียดของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์นั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ธนาคารปุ๋ยหมัก ธนาคารน้ำหมักชีวภาพ และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด

ในระยะเริ่มต้นทางสถานีพัฒนาที่ดินจะสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น สารเร่ง พด. น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้กับธนาคาร เพื่อให้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ พร้อมกันนี้ก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตปุ๋ยสูตรต่างๆ ให้กับสมาชิกกลุ่ม ส่วนรูปแบบการบริหารธนาคารจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของแต่ละกลุ่มว่าจะมีรูปแบบให้ยืมและการส่งคืน หรือที่เรียกตามศัพท์ของธนาคารก็คือการฝาก ถอน ในลักษณะใดบ้าง มีการปันผลอย่างไรตัวอย่าง สมาชิกที่มีการผลิตปุ๋ยหมักได้ปริมาณมากเหลือใช้ก็จะนำมาฝากไว้กับธนาคาร ส่วนสมาชิกที่ไม่สามารถผลิตปุ๋ยได้ก็มากู้ยืมจากธนาคารนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรของตนเองก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็ต้องนำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาทำเป็นปุ๋ยคืนให้กับธนาคาร อย่างยืมไป 1 ตัน อาจจะต้องคืนกลับมา 1.2 ตัน เป็นต้น

นายประเสริฐกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการดำเนินการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ นำร่องในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มาได้ระยะหนึ่ง พบว่าเกษตรกรมีการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะธนาคารปุ๋ยหมัก และธนาคารน้ำหมักชีวภาพ เนื่องจากมีการร่วมมือกันทำ ร่วมกันนำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ที่มีจำนวนมากมาเป็นวัตถุดิบ ทำให้ได้ปุ๋ยไปใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้ว่าระยะเริ่มต้นจะยังอยู่ในเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อเกษตรกรโดยรอบที่ได้เห็นการดำเนินงานของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินทำกินที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกษตรกรเหล่านี้มีความสนใจและเข้ามาสู่ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

กลุ่มผู้ใช้น้ำอีสานใต้ผวาฝนช้า งดทำนาปรังช่วยรัฐสำรองน้ำ

นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานตอนใต้ ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างมูลบน อ่างลำแชะ อ่างลำพระเพลิง อ่างลำปลายมาศ จ.นครราชสีมา และอ่างลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ รวมกันประมาณ 556 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 52 ของปริมาณการกักเก็บ ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ มีมติร่วมกันว่า หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีภายในเดือนธันวาคม 2557 - มกราคม 2558 แล้ว จะต้องงดการปลูกพืชฤดูแล้งทุกชนิด โดยเฉพาะการทำนาปรัง เพื่อที่จะมีน้ำสำรองไว้ใช้ทำนาปี ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2558 ที่คาดว่าอาจจะมาล่าช้า หากเพราะนำน้ำที่สำรองไว้มาใช้อาจจะเกิดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำในการทำนาปี

สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ในพื้นที่อีสานตอนใต้ ซึ่งมีทั้งหมด จำนวน 71 แห่งนั้น ปีนี้มีปริมาณน้ำเฉลี่ยประมาณร้อยละ 78 ของปริมาณการกักเก็บ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานของอ่างฯ ขนาดกลางดังกล่าว สามารถทำนาปรังและปลูกพืชฤดูแล้งอื่นๆ ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงนี้ กรมชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ไว้ 107 เครื่อง รถยนต์บรรทุกน้ำจำนวน 35 คัน กระจายไปทั้ง 4 จังหวัดเพื่อช่วยประชาชนทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทาน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

ทำคลอดแผนภาษีหนุนการค้า ส่งเสริมตั้งศูนย์การค้าภูมิภาคเร่งแผน ศก.ดิจิตอล

รองนายกรัฐมนตรีมองเศรษฐกิจไทยระยะยาวโตร้อยละ 5-6 เน้นพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ส่งสัญญาณ เตรียมทำแผนภาษีส่งเสริมไทยตั้งศูนย์การค้าในภูมิภาค ขณะที่ IOD มั่นใจธนาคารกลางยุโรปใช้มาตรการ อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแน่ พร้อมติดตามกระแสการไหลของเงินทุนต่างชาติ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงาน ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD สัมมนาเรื่อง “Thai Economic 2015 : The Way Forward” ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 4 เพราะการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย การลงทุนภาครัฐเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น เห็นได้จากการขอรับส่งเสริมการลงทุนมีสูง ส่วนในอนาคตสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ร้อยละ 5-6 หากมีการทำตามแผนระยะยาวด้วยการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยมุ่งเน้นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และมุ่งผลิตสินค้าเพื่อป้อนสังคมสมัยใหม่ พร้อมกันนี้ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มาจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะยางพาราให้สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้นต่างๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ ไทยจะต้องส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ Digital Economy โดยการตั้งกองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture capital เข้ามาสนับสนุนธุรกิจดิจิตอล เพราะดิจิตอลเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะรองรับภาคเศรษฐกิจอื่น ทั้งธุรกิจบริการ การจองโรงแรม และการโอนเงินต่างๆ

โดยขณะนี้กำลังทำแพ็กเกจภาษี เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าขายในภูมิภาค หรือ International trading Center ที่จะยกเว้นภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุนในบริษัทลูกที่อยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งภาษีจากการขายสินค้าของบริษัทลูกในต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อไม่ให้บริษัทไทยต้องออกไปตั้งบริษัทเทรดดิ้งในสิงคโปร์เพื่อเลี่ยงภาษี

ส่วนกรณีที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะเข้าพบรัฐบาล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ หลังจากรัฐเร่งระบายข้าวออกจากสต๊อกของรัฐนั้น ยืนยันพร้อมหารือกับเกษตรกรอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าเรื่องราคาข้าวไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด

ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป วันที่ 22 ม.ค.นี้ จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ที่ยุโรปจะยังคงต้องมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพราะเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัวตามคาด ดังนั้น จะมีผลต่อเงินทุนไหลเข้ามายังเอเชียมากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องติดตามการไหลออกของเงินทุนกลับไปยังสหรัฐด้วย เนื่องจากสหรัฐมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้

ส่วนแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะเติบโตร้อยละ 4 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจะช่วยส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนในประเทศด้วย สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาปีนี้ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงประเทศไทยจะสามารถหาประโยชน์จากปัจจัยบวกดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งราคาน้ำมันในประเทศควรปรับลดลงอีก เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศและการลงทุนภาครัฐที่จะเดินหน้าในระยะต่อไปที่จะเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะขยายตัว ร้อยละ 3.5-4 เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงมากมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 0.2-0.5 แต่ต้องติดตามว่าราคาน้ำมันที่ลดลงมากจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงช่วงที่ผ่านมาถึงร้อยละ 40-50 แต่ค่าขนส่งปรับลดลงเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนมากนัก ทั้งสหรัฐ จีน และยุโรป จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่ภาคธุรกิจหาแนวทางรับมือความผันผวนของอัตราตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ภาคธุรกิจควรจะบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสถาบันการเงินจะคอยให้คำปรึกษากับภาคธุรกิจและรัฐบาลจะต้องหาแนวทางเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจยกระดับการค้าชายแดนให้ขยายตัวสูงขึ้น เพื่อทดแทนการส่งในต่างประเทศที่ลดลง

ส่วนนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ส่วนการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3 แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประเมินการส่งออกเติบโตได้ต่ำร้อยละ 1 เท่านั้น เพราะมีปัจจัยจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังล่าช้า โดยไตรมาส 4 ปี 2557 มีการลงทุน 41,000 ล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมด 450,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้การลงทุนภาครัฐจะต้องขยายตัวร้อยละ 7 จึงต้องติดตามว่าการลงทุนภาครัฐจะสามารถเร่งการลงทุนได้ตามแผนหรือไม่

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

เตรียมจัดใหญ่ ประชุมวิชาการด้านดิน - ดินดำน้ำดี

จากการที่สหประชาชาติได้ประกาศ ให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล เนื่องจากดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต

จากการที่สหประชาชาติได้ประกาศ ให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล เนื่องจากดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ซึ่งนับวันจะเสื่อมโทรมลงทุกที ประกอบกับมีความต้องการในการใช้ทรัพยากรดินที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด อาจทำให้เป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต หากขาดการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา การจัดการที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ถือเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องดิน จึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองปีดินสากลขึ้น โดยจะมีหลายกิจกรรมด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ การประชุมวิชาการในเรื่องดิน ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–30 เม.ย.58 ณ โรงแรมพูลแมนขอนแก่น ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น ซึ่งจะเชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการนำเสนอผลงานวิชาการ ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงอื่น ๆ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำใน 6 สาขา ได้แก่ สาขาการอนุรักษ์ดินและน้ำ สาขาปรับปรุงบำรุงดิน สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาสำรวจวิเคราะห์วางแผนการใช้ที่ดินและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และสาขาเศรษฐสังคมและประเมินผล นอกจากนี้จะมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานดีเด่น ชนะเลิศ รองชนะเลิศ และชมเชยแต่ละสาขาอีกด้วย

การจัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ นอกจากให้นักวิชาการและนักวิจัย ได้นำผลงานที่ได้ดำเนินการมานำเสนอ เผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักวิชาการท่านอื่น ๆทราบถึงความก้าวหน้าแล้ว ยังมีการเสวนาทางด้านวิชาการในเรื่องดินและน้ำ และมีการศึกษาดูงานในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปัญหาเรื่องดินเค็ม ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้มีการศึกษาวิจัยและฟื้นฟูให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้ และโครงการนี้ทางกรมพัฒนาที่ดินก็ได้รับรางวัลในการส่งเข้าประกวดการบริการภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมในครั้งนี้จะมีการกล่าวถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ

ปีนี้ถือว่าพิเศษเนื่องจากกระทรวงฯ กำหนดให้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ซึ่งสอดรับกับโครงการที่กรมฯ ได้ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ คือ โครงการสร้างเครือข่ายชุมชนผู้ใช้น้ำบาดาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของดินเค็ม ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 10 ชุมชน และ จ.ขอนแก่น จำนวน 5 ชุมชน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน จนประสบความสำเร็จ และการประชุมครั้งนี้จะมีการประกวดและมอบรางวัล เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปัญหาดินเค็มเป็นแนวทางในการแก้ไขต่อไป และเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายใต้ชื่อโครงการ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” นายสมโสถติ์ กล่าว

ทั้งนี้นักวิชาการด้านดินทึ่มีผลงานสามารถส่งผลงานเข้านำเสนอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิชาการและการวิจัยของประเทศ ไทย ในการนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด ในงานของตนเอง ตลอดจนนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

ไอเอ็มซีจี้รัฐเร่งนำบิ๊กดาต้ามาสร้างความได้เปรียบแข่งเออีซี 

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี

         สถาบันไอเอ็มซีจี้รัฐต้องวางกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์เพราะเป็นเทรนด์ที่กำลังมา ชี้ต้องเร่งวางกลยุทธ์ที่ดี ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และที่สำคัญต้องเร่งสร้างบุคลากรด้านนี้ที่ไทยยังขาดอยู่มาก เผยข้อดีของบิ๊กดาต้าจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่ประเทศ และเพิ่มการแข่งขันในกลุ่มเออีซี แนะให้หน่วยงานรัฐวางโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้เพื่อให้บริการแบบ As a Service เพราะช่วยประหยัดงบประมาณและเร่งให้การใช้งานบิ๊กดาต้าเติบโตเร็วขึ้น

               ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีแผนงานในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้าให้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากจะมีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญต่อการบริหารงานเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ที่ดี มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม และสุดท้ายคือการสร้างบุคลากรให้เพียงพอ เพราะในปัจจุบันบุคลากรด้านนี้ยังถือเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย

               การจัดการด้านบิ๊กดาต้าที่ดีจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติ และยังสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งการเทรนบุคลากรทางด้านบิ๊กดาต้านั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การจัดการกับบิ๊กดาต้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และถือเป็นการตอบสนองเทรนด์ที่กำลังจะเติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้ประเทศอื่นๆ กำลังรุกหนักทางด้านนี้ในหลายเรื่อง โดยคาดว่าในปีนี้ทั่วโลกจะมีบุคลากรทางด้านบิ๊กดาต้ามากกว่า 4 ล้านคน

               'บิ๊กดาต้ากลายเป็นเทรนด์ที่สำคัญเนื่องจากสามารถทำให้องค์กรธุรกิจสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดประโยชน์และทำให้สามารถเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าในอดีต ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมอย่างธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจโทรคมนาคม ได้นำบิ๊กดาต้ามาใช้เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการลูกค้า รวมไปถึงยังสามารถคาดการณ์และวิเคราะห์ยอดขายให้กับองค์กร'

ไอเอ็มซีจี้รัฐเร่งนำบิ๊กดาต้ามาสร้างความได้เปรียบแข่งเออีซี 

          ดร.ธนชาติกล่าวว่า ภาครัฐต้องมีกลยุทธ์ว่าจะจัดการอย่างไรกับบิ๊กดาต้า และต้องสร้างแพลตฟอร์ม As a Service เพื่อให้บริการ โดยการลงทุนบิ๊กดาต้านั้นอาจจะให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนี้ แล้วเปิดให้บริการแบบ As a Service ให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาใช้งาน ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนให้หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และจะทำให้การใช้งานแพร่หลายยิ่งขึ้น และช่วยให้บิ๊กดาต้าขยายตัวไปได้เร็วขึ้น

               ทั้งนี้ สถาบันไอเอ็มซีได้จัดโครงการ Big Data Certification ซึ่งได้ทำการรวบรวมวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายด้านบิ๊กดาต้ามาอบรมหลักสูตรพิเศษ โดยตั้งใจที่จะผลิตบุคลากรด้านนี้ให้ได้ 100 คนต่อปี นอกจากนี้ยังจะมีการนำคนจากต่างประเทศเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องบิ๊กดาต้า และจะนำทีมงานทางด้านการพัฒนาบิ๊กดาต้ามาทำงานร่วมกับสถาบันไอเอ็มซี ในการช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจและใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

จาก http://manager.co.th   วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

'จักรมณฑ์'เผยน้ำมันโลกลดส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม

รัฐมนตรีฯ อุตสาหกรรม เผย น้ำมันโลกลด ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลาสติก กระดาษ อาหาร ช่วยการบริโภค ส่งออกขยายตัว

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อบางอุตสาหกรรมที่ราคาวัตถุดิบหลายประเภทลดลงตาม อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน/ เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้นและส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้ประเมินว่า การบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10 และการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 ขณะที่การนำเข้าสินค้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าปรับลดลง

 อย่างไรก็ตาม นายจักรมณฑ์ ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ระดับราคา 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และในครึ่งปีหลังจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยอยู่ที่ระดับราคา 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลกระทบในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในระดับกลาง คือ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอุตสาหกรรม (จีดีพีภาคอุตสาหกรรม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

'สุโขทัย' เข้ม! จับรถบรรทุกอ้อย น้ำหนักเกินกำหนด

จังหวัดสุโขทัย กวดเข้ม ตั้งจุดตรวจสกัด รถบรรทุกอ้อย น้ำหนักเกินมาตรฐาน ป้องกันอุบัติเหตุ ขณะชาวบ้านร้องเรียน ได้รับความเดือดร้อนจากรถบรรทุกอ้อยที่มีน้ำหนักเกิน ทำอ้อยตกเกลื่อนถนน

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 19 ม.ค. พล.ต.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผบก.จทบ.พิษณุโลก พร้อมด้วย จนท.ตำรวจ สภ.สวรรคโลก จนท.ขนส่งสุโขทัย จนท.แขวงการทางสุโขทัย จนท.อุตสาหกรรมสุโขทัย จนท.ตำรวจทางหลวงสุโขทัย และกองกำลังทหารจากจังหวัดทหารบกพิษณุโลก ทำการตั้งจุดตรวจสกัด บริเวณสี่แยกซอยเก้า หน้าที่พักสายตรวจ ต.นาทุ่ง จ.สุโขทัย เพื่อกวดขันและป้องปรามรถบรรทุกอ้อย ที่น้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ทางจนท.ทหาร ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ได้รับความเดือดร้อนจากรถบรรทุกอ้อยที่มีน้ำหนักเกิน และทำอ้อยตกหล่นบนถนนจนเกิดอุบัติเหตุมาแล้ว 7 ครั้ง แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ตรวจเข้มรถบรรทุกอ้อย!!

จากปัญหาที่เกิดขึ้น พล.ต.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผบก.จทบ.พิษณุโลก เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประจำและกำหนดมาตรการในการกวดขันรถบรรทุกอ้อย โดยกำหนดความสูงวัดจากพื้นถนนไม่เกิน 3.80 เมตร ส่วนท้ายอ้อยยืนออกนอกตัวรถ ไม่เกิน 2.30 เมตร และส่วนด้านหน้าความยาวไม่เกินกันชนหน้ารถ หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องมีโทษปรับตั้งแต่ 200-5,000 บาท

กำหนดความสูงวัดจากพื้นถนนไม่เกิน 3.80 เมตร

ในการกวดขันครั้งนี้ พบผู้ที่กระทำความผิดบรรทุกอ้อยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 1 ราย คือนายเสน่ห์ จ่าทองคำ อายุ 64 ปี ซึ่งขับรถบรรทุกอ้อยกำลังจะไปส่งที่โรงงานน้ำตาลในจังหวัดอุตรดิตถ์ จนท.จึงได้กล่าวตักเตือนพร้อมเปรียบเทียบปรับ 200 บาท

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

มอบเอกสารสิทธิในที่ดินของนิคมสหกรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์มีภารกิจและหน้าที่ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การดำเนินตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ในการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรในรูปแบบของนิคมสหกรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์มีภารกิจและหน้าที่ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การดำเนินตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ในการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรในรูปแบบของนิคมสหกรณ์

ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดให้มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นในการอยู่อาศัย เช่น ถนน แหล่งน้ำ และสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยสนับสนุนให้มีโครงการพัฒนาอาชีพให้แก่สมาชิกตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีรายได้เสริมส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์นิคมมีความเป็นอยู่ที่ดีและให้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์นิคม ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ทุกนิคม เป็นการสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ได้มีแหล่งเงินทุนเป็นของตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ราษฎรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพของตนเองและเลี้ยงครอบครัว

การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีน้อยไม่เพียงพอต่อการครองชีพนั้นจะต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งมีนายอำเภอท้องที่เป็นประธาน หลังจากการคัดเลือกแล้วสหกรณ์ และสมาชิกจะต้องทำประโยชน์ทางการเกษตรในพื้นที่เต็มพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) และสามารถนำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ไปขอออกโฉนดที่ดินตามขั้นตอนต่อไปได้

ทั้งนี้เมื่อสมาชิกได้รับโฉนดที่ดินแล้วในระยะเวลา 5 ปีนั้น ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์นั้นสมาชิกต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการที่กำหนด ภายใต้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มอบที่ดินมาดำเนินการทั้งหมด 36 นิคมสหกรณ์ พื้นที่รวมประมาณ 3,063,537 ไร่ จัดสรรให้กับราษฎรไปแล้วประมาณ 1,700,000 ไร่ รวมราษฎรที่ได้รับการจัดสรรแล้วกว่า 140,000 รายและล่าสุดกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มอบเอกสารสิทธิให้กับสมาชิกนิคมสหกรณ์วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว โดยมี พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งสริมสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมทำพิธีมอบแก่ราษฎร ณ นิคมสหกรณ์วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันก่อน

พื้นที่โครงการทั้งหมด 103,707 ไร่ จัดสรรได้ประมาณ 92,000 ไร่ มีราษฎรจำนวน 7,065 รายได้รับ ซึ่งในครั้งนี้จะมีสมาชิกได้รับเอกสารสิทธิจำนวน 240 ราย พื้นที่ประมาณ 1,512 ไร่ และนิคมสหกรณ์โป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี พื้นที่โครงการทั้งหมด 104,281 ไร่ จัดสรรได้ประมาณ 93,800 ไร่ จัดสรรที่ดินแล้ว (กสน. 5) รวม 82,204 ไร่ มีสมาชิกจำนวน 4,460 ราย และได้รับพร้อมกับนิคมสหกรณ์วังน้ำเย็น จำนวน 60 ราย พื้นที่ประมาณ 1,097 ไร่

ซึ่งที่ดินเหล่านี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพของราษฎรต่อไป โดยไม่ต้องไปเช่าที่เพื่อการทำกินเช่นแต่ก่อนหรือในหลาย ๆ พื้นที่ที่ยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

รัฐเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

รัฐประเคนป่าทรุดโทรม-ที่ราชพัสุดให้เอกชนเช่า ลดภาษีสารพัด เพิ่ม 3 กิจการเป้าหมาย หวังเดินหน้าเขตศก.พิเศษเต็มสูบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือกนพ.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรรมการเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยมีรมว.มหาดไทย เป็นประธาน เพื่อให้จัดหาที่ดินของรัฐ ทั้งป่าเสื่อมโทรมป่าสงวนที่ไม่ใช้ประโยชน์ป่าตามมติครม. ที่ราชพัสดุ ที่ดูแลโดยกรมธนารักษ์ที่เหมาะสม จัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เอกชนเช่าลงทุนทำธุรกิจเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้นโยบายเขตเศรษฐกิจเดินหน้าได้รวดเร็วที่สำคัญยังช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินราคาแพง ที่เวลานี้พบว่าที่ดินในพื้นที่เป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษแพงขึ้น 5-10 เท่าตัวทำให้เอกชนไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจได้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้นำรายละเอียดการขอเพิ่มพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดต่างๆนำเสนอไปพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะจังหวัดน่าน และจังหวัดบึงกาฬส่วนจังหวัดหนองคาย อยู่ในพื้นที่เป้าหมายในระยะที่ 2 อยู่แล้วแต่เพื่อให้เหมาะสมเพราะเป็นจังหวัดสำคัญของการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟขนาดความเร็วปานกลางจากกรุงเทพฯไปหนองคาย,หนองคายไปเวียงจันทร์และเวียงจันทร์ไปจีนจึงปรับให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เป้าหมายระยะแรก

ส่วนเอกชนที่มีพื้นที่อยู่แล้วหรือสามารถจัดหาที่ดินที่อื่นได้และเหมาะสมกนพ.จะนำไปพิจารณาเพื่อประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมให้ต่อไปเพื่อสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นให้ได้แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะประกาศทั่วประเทศใด ๆ โดยเวลานี้มีบริษัทขนาดใหญ่หลายรายได้แสดงความพร้อมแล้วเช่นเครือซีพีสนใจลงทุนเรื่องการค้าดลจิสติกส์ อาหารแปรรูปกลุ่มสหพัฒน์ สนใจลงทุนวัพพลายเชนเพื่อผลิตสินค้าแบรนด์เนม กลุ่มไทยเบฟฯสนใจศูนย์กระจายสินค้า และกลุ่มอมตะฯ เป็นต้นซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์เพราะบริษัทขนาดใหญ่ต่างมีเครือข่ายมีบริษัทลูกจำนวนมากที่จะตามเข้ามาลงทุนในพื้นที่ฯ

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ไทยยกเลิกภาษี-โควตา นำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากเกาหลี

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ที่ไทยได้ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2522 มีข้อผูกพันให้สินค้าน้ำตาลทรายดิบ ขาว และขาวบริสุทธิ์ เป็นสินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List) โดยไทยจะทยอยลดภาษีเฉพาะในโควตา (WTO) ที่มีปริมาณ 13,670 ตันต่อปี จาก 65% เหลือ 0% ภายในปี 2559 ซึ่งปัจจุบันไทยจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 7.22% ขณะที่เกาหลียังจัดเก็บภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากไทยในอัตรา 3%

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แจ้งต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขอให้เร่งดำเนินการยกเลิกภาษีและโควตานำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากเกาหลี เพื่อขอรับสิทธิ์ภาษี 0% จากเกาหลี ตามหลักการผลตอบแทนภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว เนื่องจากเกาหลีได้อ้างหลักการผลตอบแทนภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว โดยจะลดภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากไทย ก็ต่อเมื่อที่ไทยยกเลิกภาษีและโควตานำเข้าน้ำตาลทรายดิบให้กับเกาหลีก่อนเท่านั้น

โดยล่าสุดกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ด้วยการออกประกาศยกเลิกภาษีและโควตานำเข้าน้ำตาลดิบจากอ้อยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว ซึ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ทุกประเทศ ภายใต้กรอบการค้าเสรีนี้ ยกเว้นฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว และเมียนมาร์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าน้ำตาลทรายดิบจากไทย

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ถึงการยกเลิกภาษีและโควตานำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากเกาหลีแล้ว เพื่อขอให้เกาหลีประกาศยกเลิกภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากไทยเป็นการตอบแทนโดยเร็ว ซึ่งตามหลักการเกาหลีจะต้องดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ความสำเร็จจากการยกเลิกภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายดิบต่างตอบแทนในครั้งนี้ ทำให้ไทยสามารถขยายโอกาสการส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปยังเกาหลีได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีการส่งออกน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนตัน เนื่องจากเกาหลีไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทรายดิบในประเทศและเป็นตลาดที่สำคัญของไทย

นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาสถานภาพทางการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทย ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก กับประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญของเกาหลี โดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ที่กำลังจะได้รับสิทธิภาษี 0% ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีสาธารณรัฐเกาหลี-ออสเตรเลีย ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2558 หากไทยไม่เร่งดำเนินการ อาจทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยสูญเสียโอกาสการแข่งขันในการทำตลาดได้

“โรงงานน้ำตาลทรายเห็นด้วยกับการลดภาษีน้ำตาลทรายดิบจากเกาหลีให้เหลือ 0% ทั้งในและนอกโควตา เนื่องจากทั้งอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยและผู้นำเข้าน้ำตาลทรายดิบของเกาหลี จะได้รับประโยชน์ต่อการลดภาษีในครั้งนี้ อีกทั้งช่วยให้ไทยสามารถป้องกันคู่แข่งที่เข้าจะเข้ามาแย่งตลาดส่งออกน้ำตาลทรายของไทย”นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

กรมพัฒนาที่ดินเตรียมจัดงานประชุมวิชาการเรื่องดินเฉลิมฉลองปีดินสากล

จากการที่สหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล เนื่องจากดิน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ซึ่งนับวันจะเสื่อมโทรมลงทุกที ประกอบกับมีความต้องการในการใช้ทรัพยากรดินที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด อาจทำให้เป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ หากขาดการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ถือเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องดิน จึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองปีดินสากล โดยจะมีหลายกิจกรรมด้วยกัน กิจกรรมหนึ่งที่ทางกรมกำลังจะดำเนินการก็คือ การประชุมวิชาการในเรื่องดิน ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2558 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีการเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมในการนำเสนอผลงานวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงกระทรวงอื่นๆที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยจะมีการจัดการประชุมวิชาการใน 6 สาขา ได้แก่ สาขาการอนุรักษ์ดินและน้ำ สาขาปรับปรุงบำรุงดิน สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาสำรวจวิเคราะห์วางแผนการใช้ที่ดินและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และสาขาเศรษฐสังคมและประเมินผล นอกจากนี้ ยังจะมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานดีเด่น ชนะเลิศ รองชนะเลิศ รางวัลชมเชยแต่ละสาขาอีกด้วย

การจัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ นอกจากต้องการให้นักวิชาการและนักวิจัย ได้นำผลงานที่ได้ดำเนินการมานำเสนอ เผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักวิชาการท่านอื่นๆ ทราบถึงความก้าวหน้าแล้ว ยังมีการเสวนาทางด้านวิชาการในเรื่องดินและน้ำ และมีการศึกษาดูงานในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัญหาหลักๆคือเรื่องดินเค็ม ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้มีการศึกษาวิจัยและฟื้นฟูดินเค็มให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้ และโครงการนี้ทางกรมพัฒนาที่ดินก็ได้รับรางวัลในการส่งเข้าประกวดการบริการภาครัฐ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้จะได้เห็นถึงความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ อันเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกร รวมถึงองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ผู้ร่วมประชุมจะได้ศึกษาและได้รับทราบในแนวทางการดำเนินงานของกรมพัฒนาที่ดิน

ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่พิเศษกว่าแต่ละปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการกำหนดให้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ซึ่งสอดรับกับโครงการที่กรมพัฒนาที่ดินได้ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ โครงการการสร้างเครือข่ายชุมชนผู้ใช้น้ำบาดาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของดินเค็มให้เป็นรูปธรรม โดยอยู่ที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 10 ชุมชน และที่ จ.ขอนแก่น จำนวน 5 ชุมชน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554- ปัจจุบัน จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดให้มีการประกวดและให้รางวัล เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปัญหาดินเค็มเช่นเดียวกัน อีกทั้งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ทางกรม จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายใต้ชื่อโครงการ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” นายสมโสถติ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อยากจะเชิญชวนนักวิชาการให้ส่งผลงานเข้ามานำเสนอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิชาการและการวิจัยของประเทศไทย เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในงานของตนเอง ตลอดจนสามารถนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรได้ในที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

สศก.ระดมสมองฟังความเห็น เดินหน้า‘เมืองเกษตรสีเขียว’

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการร่วมเมืองเกษตรสีเขียวจังหวัด ณ โรงแรมศรีลำดวน จ.ศรีสะเกษ ตามโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ริเริ่มและกำหนดให้เป็นโครงการสำคัญ โดยได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกับ AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง มีจังหวัดเป้าหมายในภูมิภาคต่างๆ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ หนองคาย จันทบุรี ราชบุรี และพัทลุง โดยดำเนินการให้มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ให้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรทั้งพื้นที่ การผลิตและแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่มีการใช้เทคโนโลยีสะอาดในการผลิตสู่เศรษฐกิจการเกษตรสีเขียว (Green and Cool Agricultural Economy)

สำหรับจังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่โดดเด่นในเรื่องการเกษตรผสมผสาน โดยมีพื้นที่การเกษตร 4.07 ล้านไร่ มีสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด และลองกอง ซึ่งสามารถพัฒนาในด้านอาหารปลอดภัย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการเมืองเกษตรสีเขียว นอกจากนี้ ยังต่อยอดในเรื่องร้านค้าสินค้าเกษตรปลอดภัย Q shop และการนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัย มาเป็นส่วนประกอบอาหารใน Q restaurant เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงเกษตรเชื่อมโยงกับจังหวัดใกล้เคียงต่างๆ ได้

ทั้งนี้ การจัดสัมมนาทุกจังหวัดเป้าหมาย ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ ที่มีต่อแผนปฏิบัติการร่วมเมืองเกษตรสีเขียวจังหวัดดังกล่าว ซึ่งจะทำให้การกำหนดทิศทางในการพัฒนาโครงการเมืองเกษตรสีเขียวเป็นไปอย่างมีส่วนร่วม และเกิดความยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

เร่งจัดสรรที่ดินนิคมสหกรณ์ แจกอีก300รายช่วยเกษตรกรมีที่ทำกิน

พล.ต.อินทรัตย์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ดินนับเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการประกอบอาชีพทางการเกษตร มีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ต้องเช่าที่ดินจากนายทุน ทำให้เกษตรกรมีภาระหนี้สินและยากจน นำมาซึ่งปัญหาการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์และป่าสงวนแห่งชาติ รัฐจึงช่วยเหลือโดยจัดสรรที่ดินทำกินในขนาดที่เหมาะสม เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งล่าสุดมีการมอบเอกสารสิทธิ ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์วังน้ำเย็น 240 ราย และสมาชิกนิคมสหกรณ์โป่งน้ำร้อน 60 ราย รวม 300 ราย

พล.ต.อินทรัตย์กล่าวต่อว่า การจัดสรรที่ดินในรูปแบบของนิคมสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีน้อย ไม่เพียงพอแก่การครองชีพได้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยได้รับมอบที่ดินมาดำเนินการจัดสรรในรูปนิคมสหกรณ์ รวม 36 นิคมสหกรณ์ พื้นที่รวม 3,063,537 ไร่ ได้จัดสรรให้กับราษฎรไปแล้ว 1,700,000 ไร่ ราษฎรที่ได้รับการจัดสรรแล้ว 140,000 ราย

โดยขั้นตอนการจัดสรรที่ดินและการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์นั้น เริ่มจากคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งมีนายอำเภอท้องที่เป็นประธาน จะคัดเลือกราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีน้อยไม่เพียงพอต่อการครองชีพ หลังจากคัดเลือกแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์จะดำเนินการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ (กสน.3) ในฐานะของสมาชิก ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทสหกรณ์นิคม จำกัด ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยประโยชน์แก่สมาชิกในการจัดหาเงินทุนกู้ยืมสำหรับประกอบอาชีพ จัดหาปัจจัยการผลิต และสิ่งของจำเป็นมาจำหน่าย การบริการสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งดำเนินการด้านการตลาดและการส่งเสริมด้านวิชาการ เพื่อช่วยเหลือการประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว และเมื่อสมาชิกได้ทำประโยชน์ทางการเกษตรในพื้นที่เกินกว่า 5 ปี จึงจะได้รับ กสน.5 ซึ่งเป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ และสามารถนำไปขอออกโฉนดที่ดินต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมาชิกจะได้รับโฉนดที่ดินไปแล้ว ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนได้ ในระยะเวลา 5 ปี จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์นั้น สมาชิกจะต้องผ่านขั้นตอน กระบวนการ และเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กำหนด ภายใต้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ปตท.สผ.จี้ภาครัฐเร่งผลักดัน สำรวจพัฒนา-ใช้พลังงานทดแทน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปี 2557 ที่ผ่านมาเติบโตไม่ถึง 1% และคาดว่าจะเติบโตได้ 2-3% ในไตรมาสแรกปี 2558 นี้ โดยปัญหาทางด้านพลังงานของประเทศไทยเกิดจากภาวะความต้องการใช้พลังงานมากกว่าที่ผลิตได้ และมีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการนำเข้าพลังงานถึง 1.4 ล้านล้านบาท และมีการใช้พลังงานน้ำมันกว่า 90 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นภาครัฐควรต้องมีการผลักดันการสำรวจพัฒนาและการใช้พลังงานทดแทนที่มีอยู่ในประเทศ พร้อมเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการในด้านต่างๆ การดำเนินงานของทางภาครัฐจะต้องมีการปรับโครงสร้างพลังงานให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง และปรับโครงสร้างราคาน้ำมันในช่วงราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง

ทั้งนี้ภาครัฐต้องมีการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การลงทุนผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการกระจายเชื้อเพลิงของการผลิตไฟฟ้า การเตรียมงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน อีกทั้งต้องเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 21 โดยเร็ว ซึ่งการผันผวนของราคาน้ำมันในตอนนี้ มองว่าราคาน้ำมันในปี 2558 น่าจะอยู่ที่ 50-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สาเหตุที่ราคาน้ำมันลด เพราะสหรัฐอเมริกาได้ลดการนำเข้าทรัพยากรน้ำมัน เพราะมีการผลิตน้ำมันในประเทศได้มากขึ้น (shale oil) ทำให้มีการผลิตน้ำมันของตลาดโลกมากกว่าความต้องการ ดังนั้นอุตสาหกรรมน้ำมันจึงประสบภาวะต้นทุนสูงขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนลดลง ทำให้หลายๆ บริษัทต้องปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.มีแผนการดำเนินงานในปี 2558 นี้คือ จะไม่มีการลดกำลังผลิตพลังงานในอ่าวไทย สาเหตุเพราะต้องการให้พลังงานในประเทศมีมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ตั้งเป้าหมายการผลิตน้ำมันในประเทศ 600,000 บาร์เรล และเก็บพลังงานสำรองให้อยู่ได้ในระยะเวลา 10 ปี จากเดิม 7 ปี ปตท.สผ.คาดการณ์ผลิตน้ำมันในประเทศจะเติบโตขึ้นถึง 6% และถ้าปี 2558 มีการลดลงของราคาน้ำมันอีก จะส่งผลกระทบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่อาจลดลงในเดือนเมษายน 2558 นี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ค่าเงินบาทแข็งค่า 32.52 บาท/ดอลลาร์ ลุ้น ECB อัด QE หนุนเงินไหลเข้าเอเชียเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ค่าเงินบาทวันที่ 19 ม.ค. นักวิเคราะห์ค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินเปิดตลาดที่ 32.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เท่าราคาปิดตลาดวานนี้ โดยค่าเงินเคลื่อนไหวล่าสุดที่ 32.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากท้ายสัปดาห์ก่อน หลังยังคงมีเงินไหลเข้าในเอเชีย โดยสัปดาห์นี้คาดว่าค่าเงินมีทิศทางแข็งค่า โดยอยู่ในกรอบ 32.50-32.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสัปดาห์นี้จะมีการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อพิจารณาเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากลด QE ตามที่ตลาดคาด เชื่อว่าลงทุนจะมีการย้ายสินทรัพย์มาลงทุนในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

รัฐดันปลูกอ้อยแทนข้าว 7 แสนไร่ คาดการณ์ปี 58 ได้ราคางามที่สุด

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปริมาณข้าวในสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำที่เหลืออยู่ 17 ล้านตัน คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปีกว่าจะระบายหมด ขณะที่ราคาข้าวเปลือกคงอยู่ที่ตันละ 8,000-9,000 บาท สำหรับแนวทางการดูแลชาวนาระยะต่อไปจะไม่ทำมาตรการเพื่อแก้ไขราคาข้าว แต่จะแก้ไขปัญหาให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปี 58 จะจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าวให้มากขึ้น เพราะปีนี้จะมีแค่อ้อยอย่างเดียวที่ขายได้ราคาดีที่สุด ซึ่งตามแผนได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูกอ้อยที่กาญจนบุรี 700,000 ไร่ เนื่องจากมีโรงงานจำนวนมากที่รองรับผลผลิตอ้อยได้ ทั้งหมด โดยจะเริ่มแผนปลูกอ้อยทดแทนข้าวในช่วงนาปี 58 นี้ หรือช่วง ส.ค.นี้ “มี.ค.นี้จะนัดกลุ่มชาวนาหารือแนวทางเพิ่มรายได้ ทั้งสนับสนุนให้เปลี่ยนไปปลูกพันธุ์ข้าวคุณภาพดีแทนข้าวขาวและจูงใจให้ปลูกอ้อยแทนข้าวในพื้นที่ภาคกลาง เพราะคาดการณ์ราคาผลผลิตการเกษตรปี 58 มีเพียงพืชชนิดเดียวคือ อ้อย ที่ราคาดีที่สุด”

สำหรับแนวทางส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวคุณภาพดีทดแทนข้าวคุณภาพต่ำนั้น จะเน้นไปที่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเสาไห้ ซึ่งรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว คาดว่างบประมาณที่ใช้ไม่มาก หากเทียบกับการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวและเป็นแนวทางช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนาและก้าวข้ามปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

มโนโยบาย (4)

โดย ชมชื่น ชูช่อ

กลับมาว่าเรื่องมโนโยบาย...นโยบายจากการนิมิตฝันแบบไร้ข้อมูลในการวางแผนจัดการงานภาคเกษตรกรรมของไทย

กรณีคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด กระทรวงพาณิชย์เห็นชอบตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อย-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทดแทนการปลูกข้าว 10 ล้านไร่ ที่กำลังมีปัญหาผลผลิตล้นตลาด ข้าวราคาตก

คราวนี้ถึงคิว...อ้อยโรงงาน

1 ใน 4 พืชเศรษฐกิจอยู่ในเป้าหมายจะเอาพื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสมจำนวน 6 ล้านไร่ มาปลูกอ้อยเพิ่ม จาก 10 ล้านไร่ ให้เป็น 16 ล้านไร่

แค่จำนวนพื้นที่ปลูกอ้อยปัจจุบันมี 10 ล้านไร่...ก็มโนซะแล้ว ไปนิมิตคิดฝันได้อย่างไร ไม่ได้กางข้อมูลดูกันเลยรึว่าวันนี้เรามีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่แค่ 8 ล้านไร่เท่านั้นเอง

จะเพิ่มให้เป็น 16 ล้านไร่ เท่ากับต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกเท่าตัว...เพิ่มมาแล้ว เกษตรกรจะได้ประโยชน์จริงหรือ จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มเหมือนที่มโนโฆษณาชวนเชื่อแค่ไหน

คำตอบแทบไม่ต้องใช้สมองคิดอธิบายให้มากความ เพราะกลไกตลาดบอกให้เรารู้เห็นกันอยู่ทุกวัน...ของมีมากล้นตลาด ราคาถูก เกษตรกรเจ๊ง ของมีน้อยขาดตลาด ราคาแพง เกษตรกรรายได้เพิ่ม

วันนี้ประเทศไทยปลูกอ้อย 8 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 100 ล้านตัน นำมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ 10.6 ล้านตัน...มากล้นเกินความต้องการของตลาดหรือไม่

ในประเทศใช้น้ำตาล 2.5 ล้านตัน...ที่เหลือต้องส่งออก

8 ล้านไร่ ยังล้นขนาดนี้ ปลูกเพิ่มอีกเท่าตัวจะล้นทะลักขนาดไหน... เพราะคนไทยคงไม่กินน้ำตาลเพิ่มแน่ มีแต่จะลดละเลิกตามที่คุณหมอ รณรงค์ชักชวนให้ระวังกัน

ฉะนั้นจึงเหลือโรงงานผลิตน้ำตาลกับโรงงานผลิตเครื่องดื่มเพื่อการส่งออกที่จ้องจะให้มีอ้อยมากๆ เพื่อจะได้ช้อนซื้อของล้นในราคาถูก...แล้วเกษตรกรจะได้อะไร ยังนึกมโนไม่ได้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

อีก 50 สัปดาห์ เออีซีผงาดทั่วไทย

โดย บัญชา ชุมชัยเวทย์

ก่อนจะเข้าสู่แม่เหล็กเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ของโลกนั้น ศักยภาพของเออีซี โดยเฉพาะในแต่ละชาติสมาชิกนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในภาพรวมของเออีซี หลายท่านคงเคยได้ยินว่า อาเซียนมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจวัดโดยจีดีพีในปี พ.ศ. 2554 ประมาณ 2.07 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 63 ล้านล้านบาท มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 3,416 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือเฉลี่ยคนละประมาณ 104,200 บาท ในแง่การค้าขาย มีมูลค่าการค้าในปี พ.ศ. 2553 ประมาณ 2.12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 64.58 ล้านล้านบาท

ในจำนวนดังกล่าว แต่ละชาติค้าขายกันเองในกลุ่มเออีซีราว 25.6% และค้าขายกับประเทศนอกกลุ่มเออีซีอีก 74% ความน่าสนใจต่อไป คือ การค้าระหว่างกันของประเทศในเออีซี แทบไม่น่าเชื่อว่า สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีการค้ากับอาเซียนเป็นสัดส่วนสูงที่สุดถึง 62% ขณะที่ เวียดนามมีสัดส่วนการค้ากับประเทศในกลุ่มดังกล่าวต่ำที่สุด คือ 18% ของการค้าต่างประเทศ คำถาม คือ ประเทศไทยมีการค้ากับเออีซีเท่าไหร่? คำตอบ คือ ในสัดส่วนต่ำเป็นที่ 2 รองจากเวียดนาม คือ 19.7% ดังนั้น การจะมองในแง่ศักยภาพของแต่ละชาติสมาชิก จึงเป็นการจัดมุมมองที่น่าสนใจในเชิงการเปรียบเทียบ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว มี 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ และต้นทุนแรงงานต่ำ ซึ่งก็หมายถึงกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากร ประเทศในกลุ่มนี้ยังขาดการบริหารจัดการทรัพยากรและระบบโครงสร้างพื้นฐาน แม้แต่ระบบโลจิสติกส์ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เมื่อมองด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประชากรกลุ่มนี้ยังมีอำนาจซื้อต่ำ สถาบันการเงินมีจำนวนไม่เพียงพอ ขณะที่ระบบบัญชีเป็นระบบเฉพาะของประเทศนั้นๆ มีระบบการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน และมีข้อจำกัดในการดำเนินการทางธุรกรรม ที่ชัดเจนที่สุด คือ บรูไนดารุสซาลาม ทุกอย่างอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ทั้งหมด พรรคการเมืองไม่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นประเทศที่ขาดแคลนช่างฝีมือ ไม่มีแรงงานในประเทศมากพอ เนื่องจากจำนวนประชากรน้อยที่สุดในเออีซี ต้องดึงแรงงานต่างชาติ

กลุ่มต่อมาเป็นกลุ่มที่เป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ แน่นอนว่ามี ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประเทศกลุ่มนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่น มาเลเซีย มีการจัดการทางด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ในขณะที่ไทยมีความได้เปรียบในด้านยุทธศาสตร์การคมนาคมอยู่มาก เป็นที่รู้กันมานานว่า ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งได้เปรียบการคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ จากแหล่งทำเลที่ตั้งในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงแหล่งทำเลที่ตั้งในโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

หันมาดูโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้เป็นแบบตลาดเสรีภายใต้ความดูแลของรัฐบาล ตลาดในประเทศเติบโตสูงมาก หากมองเฉพาะไทย และฟิลิปปินส์จะคล้ายคลึงกัน คือ เปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ที่มีสัดส่วนถึง 70% – 80% ส่วนภาคเกษตรมีราว 20% – 30% ของจีดีพีประเทศ ในขณะที่อินโดนีเซียมีตลาดขนาดใหญ่ อย่าลืมว่าประชากรอินโดนีเซียมีมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และมากที่สุดในอาเซียนประมาณ 250 ล้านคน เพราะฉะนั้น แรงงานมีจำนวนมาก และค่าแรงถูก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน แม้แต่ระบบธนาคารค่อนข้างแข็งแกร่ง ส่วนมาเลเซียเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่ แต่ประชากรมีกำลังในการซื้อสูง อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและไบโอดีเซลเป็นอุตสาหกรรมที่มีระดับการผลิตเพื่อการส่งออกที่สูง และยังมีการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่มีความหลากหลาย ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์มีการเปิดการเจรจากับบริษัทต่างชาติเพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างของรถยนต์ และกลุ่มสุดท้าย แต่มีเพียงประเทศเดียวในกลุ่มนี้ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและเน้นภาคบริการ คือ สิงคโปร์ เท่านั้น

เป็นไงบ้างครับ สำหรับศักยภาพของแต่ละชาติในเออีซี อย่าได้ละสายตา อย่าได้พลาดโอกาส ในเมื่อมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกที่อยู่คนละซีกโลกยังพุ่งเป้ามาหาเออีซี แล้วทำไม คนไทยแท้ๆ ถึงจะไม่คว้าและใช้ประโยชน์ให้เต็มที่กันล่ะครับ

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

เล็งถกชาวนาปลูกอ้อยแทนข้าว

“ปรีดิยาธร” เตรียมหารือชาวนามี.ค.นี้ จูงใจปลูกพืชอื่นแทนข้าว ทั้งให้ปลูกอ้อย เพราะเป็นพืชตัวเดียวที่ราคาไม่ตกในปีนี้ ตั้งเป้าปลูกอ้อย 7 แสนไร่ที่เมืองกาญฯ พร้อมให้จูงใจชาวนาอีสานเลือกปลูกพืชอื่น รัฐออกค่าพันธุ์ให้ทั้งดาวเรือง ถั่ว ข้าวพันธุ์ดี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ช่วงเดือนมี.ค.นี้จะนัดกลุ่มชาวนาหารือถึงแนวทางเพิ่มรายได้ทั้งการสนับสนุนให้เปลี่ยนไปปลูกพันธุ์ข้าวคุณภาพดีแทนข้าวขาวและจูงใจให้ชาวนาปลูกอ้อยแทนข้าวในพื้นที่ภาคกลางเพราะจากการคาดการณ์ราคาผลผลิตทางการเกษตรในปี 58มีเพียงพืชชนิดเดียวคืออ้อยเท่านั้น ที่สามารถขายได้ราคาดีที่สุดโดยตามแผนได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูกบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ700,000 ไร่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังมีโรงงานจำนวนมากที่สามารถรองรับผลผลิตอ้อยได้ทั้งหมด

“ปริมาณข้าว 17 ล้านตัน ที่มีอยู่ในสต๊อกรัฐคงใช้เวลาอีก 3-4 ปีกว่าจะระบายหมด และราคาข้าวก็คงอยู่เท่านี้แค่ตันละ 8,000– 9,000 บาท ดังนั้นแนวทางการดูแลเกษตรกรกลุ่มนี้ต่อไปจะไม่หาทางทำเพื่อแก้ไขราคาข้าว แต่จะแก้ไขปัญหาให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเห็นว่าในปี 58 มีแค่อ้อยอย่างเดียวที่ขายออกแน่ และพอไปดูอ้อย ก็พบว่าที่กาญจนบุรี โรงงานมีมากกว่าพื้นที่ปลูก จึงรองรับได้ทั้งหมดและที่ผ่านมาก็ได้ขีดเส้นตำบล อำเภอไว้แล้ว มีพื้นที่ประมาณ 700,000 ไร่ที่สามารถเปลี่ยนจากข้าวมาปลูกอ้อยได้ โดยยืนยันว่า มีคนซื้อแน่นอน ขณะที่รัฐเองจะสนับสนุนพันธุ์ที่มีคุณภาพให้ด้วยซึ่งแผนนี้จะเริ่มในนาปี 58 นี้เลย”

ขณะเดียวกันในส่วนของชาวนารายย่อยที่อยู่นอกเขตชลประทานและประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ ซึ่งกลุ่มนี้พบว่า มีอยู่ประมาณ 2 ล้านไร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่มีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่รัฐบาลจะหมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ไปชี้แจงทางเลือกให้กับชาวนาหากใครต้องการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น ปลูกดอกดาวเรืองที่เป็นที่นิยมในพื้นที่หรือปลูกพืชตระกูลถั่ว ก็สามารถเปลี่ยนใจมาปลูกได้ตามความสมัครใจโดยรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนพันธุ์พืชที่เหมาะสมให้

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 18 มกราคม 2558

ข่าวดี!สินค้าเตรียมทยอยลดราคา ทั้งปุ๋ย-เหล็ก-วัสดุก่อสร้าง

“พาณิชย์” ยันสินค้ายังทรงตัวในระดับที่เหมาะสม ขณะที่น้ำมันหล่อลื่น ได้ประกาศปรับลดราคาลงแล้ว ส่วนสินค้าอื่นๆ น่าจะทยอยปรับลดลงตามมาเร็วๆนี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้า และเครื่องชั่ง ตวง วัด ตามตลาดสดให้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ ตลาดท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กรมการค้าภายใน คงไม่สามารถประกาศราคาแนะนำสินค้าเกษตร อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และค่าบริการจัดส่งแก๊สหุงต้ม ได้ทันตามกำหนดเดิมที่วางไว้ ในวันที่ 16 ม.ค. 2558 เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ได้เผยแพร่ออกไปว่าจะมีการประกาศสินค้าราคาแนะนำสินค้าดังกล่าว มีการปรับราคาให้มาอยู่ในระดับที่เหมาะสมบ้างแล้ว แต่ทั้งนี้ทางกรม ก็อยู่ระหว่างการติดตามต้นทุนราคาสินค้าต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยในเร็วๆ นี้อาจได้ข้อสรุปว่าควรจะมีการประกาศราคาแนะนำสินค้าตัวใดบ้าง ที่พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ผิดปกติ และอาจจะสามารถประกาศราคาแนะนำได้ในสัปดาห์หน้า หรือช่วงปลายเดือน ม.ค. นี้

“จากการสำรวจสินค้าอย่างต่อเนื่อง และการตรวจสินค้าในตลาดพบว่า สินค้าราคายังคงทรงอยู่ในระดับราคาปกติที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่น เนื้อหมูเฉลี่ยอยู่ที่ 130-150 บาทต่อกก. ไก่ 60-65 บาทต่อกก. ผักคะน้า 30 บาทต่อกก. ผักบุ้ง 20 บาทต่อกก. ถั่วงอก 16 บาทต่อกก. ถั่วฝักยาว 10-15 บาทต่อกก. ไข่ไก่เบอร์ 2 เฉลี่ยฟองละ 2.80 บาท ส่วนอาหารทะเลก็ถือว่าไม่สูงจนเกินไป ซึ่งทางกรม ก็จะมีราคาสินค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

ขณะเดียวกันจากการตรวจเครื่องชั่ง ก็พบเครื่องชั่งเสื่อมสภาพ ชำรุด จำนวน 3 เครื่อง โดยทางกรม ก็ได้ตักเตือนไป พร้อมทั้งได้ยึดตาชั่ง และให้มีการเปลี่ยนตัวเครื่องชั่งใหม่แล้ว อีกทั้งได้ทำความเข้าใจกับราคาต่างๆ ในการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าด้วย

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในส่วนของแก๊สหุงต้ม ก็มีการติดตามกรณีมีการร้องเรียน และตรวจพบร้านค้าแก๊สบางแห่งมีการปรับราคาค่าบริการจัดส่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเดิม ที่ได้กำหนดให้ค่าบริการจัดส่งแก๊สขนาดไม่เกิน 15 กก. คิดค่าบริการไม่เกิน 20 บาท ในระยะทาง 5 กม. ซึ่งก็มีการพบว่ามีผู้บริการบางรายคิดค่าบริการในระยะทางดังกล่าวที่ 30-40 บาท โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากค่าขนส่ง ถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน ทางกรม จึงมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และอาจจำเป็นต้องประกาศ ให้ค่าบริการจัดส่งแก๊สหุงต้ม เข้ามาอยู่ในรายการแนะนำของกรม ก่อนสินค้าและบริการอื่นที่อยู่ระหว่างการทบทวน ติดตาม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีสินค้า อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ที่บริษัทค้าน้ำมันได้ประกาศปรับราคาลงบ้างแล้ว ขณะที่ปุ๋ยเคมี เม็ดพลาสติก เหล็ก กลุ่มวัสดุก่อสร้าง คาดว่าจะปรับราคาลงภายในปลายเดือน ม.ค. นี้ ทั้งนี้จึงต้องการทำความเข้าใจ และอยากให้ประชาชนสบายใจว่าราคาสินค้าอุปโภค และบริโภค หลายรายการจะปรับตัวลดลงแน่ และหากประชาชนพบเห็นการกระทำที่เอาเปรียบก็สามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วน 1569 ได้

นอกจากนี้ในส่วนของอาหาสำเร็จรูปประเภทข้าวราดแกง ทางกรม ยังคงเดินหน้าโครงการ หนูณิชย์พาชิม อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือ ดูแล ค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ แล้ว กว่า 2,000 รายทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 1,500 ร้าน และส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และในปี 2558 นี้ทางกรม ก็หวังว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ เพิ่มมากขึ้นอีก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 มกราคม 2558

ตรวจเข้มโรงงานป้องกันไฟไหม้-ปล่อยมลพิษ เล็งแก้กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิด

นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีเหตุเพลิงไหม้โรงงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้น กรมจึงได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัด ออกไปเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงาน โดยเฉพาะระบบป้องกันเพลิงไหม้ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อาจไม่ได้เข้มงวดในเรื่องนี้ แต่หลังจากนี้ทุกโรงงานที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัย จะต้องทำตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจะต้องมีเครื่องดับเพลิงแบบมือถือทุนทุกๆ ระยะห่างไม่เกิน 20 เมตร ให้อยู่สูงจากพื้นไม่เกินกว่า 1.50 เมตร และให้โรงงานจัดเตรียมน้ำสำหรับดับเพลิงให้กับอุปกรณ์ฉีดน้ำดับเพลิงได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที

นอกจากนี้โรงงานที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ และมีพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติให้ครอบคลุมพื้นที่นั้น รวมทั้งในส่วนของพื้นที่อาคารโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงและปานกลาง ที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ ต้องแยกพื้นที่จากส่วนอื่นของอาคารด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ขณะที่อาคารโรงงานเดี่ยวที่เป็นโครงเหล็ก จะต้องหุ้มด้วยวัสดุทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ถ้าหลายชั้นต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ส่วนเครื่องจักร อุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุไวไฟ ต้องต่อสายดิน และต้องมีเส้นทางหนีไฟที่ให้คนงานออกจากอาคารได้ภายใน 5 นาที

สำหรับการตรวจจับโรงงานที่ปล่อยมลพิษนั้น ในปี 2557 กรมได้ตรวจพบโรงงงานที่ปล่อยมลพิษได้ทั้งสิ้น 150 โรงงงาน และได้ใช้พ.ร.บ.โรงงาน มาตรา 37 สั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งในจำนวนนี้มี 7 โรงงาน ที่ได้สั่งให้หยุดประกอบกิจการ เนื่องจากไม่ปรับปรุงตามที่กำหนด หรือเกิดเหตุเพลิงไหม้จนอาจก่อให้เกิดอันตราย โดยสถิติการตรวจจับโรงงานที่ปล่อยมลพิษในปี 2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ได้สั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขตามมาตรตรา 37 จำนวน 164 ราย และถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการ 13 ราย

ทั้งนี้ มั่นใจว่าปัญหาโรงงานปล่อยมลพิษจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงเป็นตัวกดดันให้โรงงานต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย และปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ ทำให้มีการปล่อยมลพิษ และขยะอุตสาหกรรมลดลง จนถึงขั้นไม่ปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเลย เพื่อลดต้นทุน และปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานขั้นสูงที่ประเทศคู่ค้ากำหนด รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ให้ความสำคัญ เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการปัญหาเหล่านี้และอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษกับโรงงานที่ทำผิด

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้กนอ.ได้กำชับไปยังผู้ประกอบการแต่ละนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ เตรียมพร้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีหากเกิดภาวะฉุกเฉินในด้านต่างๆ โดยเฉพาะแผนการป้องกันด้านอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เนื่องจากขณะนี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้อากาศแห้ง ลมแรง อาจเกิดอัคคีภัยได้ง่าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 มกราคม 2558

5ปัจจัยเสี่ยงสุดส่งออก58 ขอธปท.ดูแลค่าบาทใกล้ชิด

สภาผู้ส่งออกชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงสุดต่อการส่งออกไทยปี 58 ระบุเศรษฐกิจคู่ค้าหลักมาอันดับ 1 ระบุ 4 ตลาดหลักอียู ญี่ปุ่น จีน ยกเว้นสหรัฐฯ ยังน่าห่วง ขณะรัสเซียถูกโจมตีค่ารูเบิล-ตะวันออกกลาง แอฟริกาส่งออกน้ำมันราคาวูบกระทบกำลังซื้อคาดลดนำเข้า สินค้าเกษตรราคาตกทำยอดไม่กระเตื้อง ขอแบงก์ชาติดูแลค่าบาทใกล้ชิดกระทบขีดแข่งขัน

    นายวัลลภ  วิตนากรวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"กรณีที่สภาผู้ส่งออกได้คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2558 ในเบื้องต้นคาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 2.5%  แต่ทั้งนี้ได้มองปัจจัยเสี่ยงมากสุด 5 อันดับแรกที่อาจส่งผลกระทบได้แก่ 1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น และจีน ทั้งนี้ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯถือว่าไม่น่ากังวล คาดในปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้นแต่การดีขึ้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ไม่ก้าวกระโดด เห็นได้จากอัตราการว่างงาน และยอดขายภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจของอียูน่าจะยังชะลอตัวไม่ดีขึ้น ประกอบกับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมาสินค้าไทยได้ถูกอียูยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีแล้วจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบ ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดจะยังชะลอตัว และเศรษฐกิจจีนในปีนี้คาดจะปรับลดลงเหลือ 7.1%  และจากการที่รัฐบาลจีนมีนโยบายพึ่งพาเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจะมีผลให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง

    2.กรณีที่รัสเซียถูกโจมตีค่าเงิน ทำให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียลดลงไปถึง 40% มองว่ารัสเซียจะสามารถฟื้นฟูได้ไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะเข้าสู่สภาวะปกติ และผลพวงครั้งนี้คงต้องจับมองว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียมาก น้อยเพียงใด 3.ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน เช่น ตะวันออกกลาง รัสเซีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ ซึ่งไทยหวังจะช่วยชดเชยตลาดหลักที่กำลังซื้อลดลงการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ มีแนวโน้มชะลอตัวลง

    4.สินค้าเกษตรส่งออกของไทยในภาพรวมราคาลดลงทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ขณะที่สินค้าเกษตรที่ใช้ผลิตพลังงานทดแทน ทั้งมันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอล และปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซล เวลานี้จากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมสินค้าเกษตร ราคาลดลงและกระทบต่อการส่งออกตามไปด้วย และ 5.ค่าเงินบาท มีทิศทางผันผวน จากที่สหรัฐอเมริกายกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)หรือการอัดฉีด เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีทิศทางที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผู้นำเข้ามีต้นทุนทางการเงินเพิ่ม และจะมีผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง และหากมีผลให้ค่าเงินหยวนของจีน หรือค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงไปอีกจะกระทบต่อการนำเข้าของทั้งสองประเทศ นี้ เพราะราคาสินค้าจะสูงขึ้น

    "หากค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยที่สุดในภูมิภาค จะทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันในเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องกำกับดูทิศ ทางค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันส่ง ออก"

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 17 มกราคม 2558

ตากเตรียมสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์รับเออีซี

ตาก เตรียมสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์รับเออีซี โดยผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจถนนอ้อมเมือง "ซอโอ-วาเลย์" เชื่อ ปชช.-การค้า-ท่องเที่ยวได้ประโยชน์หลังสร้างเสร็จ

วันที่ 17 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงาน นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วย นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอพบพระ นายสมบรูณ์ ตันกรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลพบพระ ร.ท.เฉลิม บุญพรวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วาเลย์ นายสมพงษ์ ศรีบัว นายกอบต.ช่องแคบ นายบุญธรรม กิ๊กสันเทียะ นายก อบต.พบพระ ตัวแทนสำนักงานเขตการทางตาก วิศวกร ช่างทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนอาเซียน เดินทางไปร่วมสำรวจเส้นทางอ้อมเมือง จาก บ้านซอโอ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ ไปยังบ้านวาเลย์ ต.วาเลย์ อ.พบพระ โดยการศึกษาแนวเส้นทางทำถนนอ้อมเมืองรูปแบบคล้ายมอเตอร์เวย์ เพื่อให้เป็นเส้นทางการสัญจรเดินทางของประชาชน ถนน เพื่อการท่องเที่ยว ถนนเพื่อการขนส่งสินค้าการเกษตรจากแหล่งการทำเกษตรที่ได้ชื่อว่า ครัวไทย ครัวโลก ที่ อ.พบพระ

นอกจากนี้ ยังเป็นถนนเพื่อการค้า ที่จะเชื่อมจากพื้นที่ อ.พบพระ ในการเชื่อมต่อไปยังเส้นทางนครแม่สอด-ตาก บนถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East-WestEconomic Corridor: Ewec และยังเชื่อมต่อไปยังบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 และสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำเมย ที่กำลังจะเริ่มตอกเสาดำเนินการก่อสร้างในเร็วๆ นี้ ในเขตนครแม่สอด ผ่านเส้นทาง ถนนสายแม่สอด-พบพระ ไปถึงบ้านซอโอ และอ้อมเมืองแบบมอเตอร์เวย์ ไปยังบ้านวาย์ ชายแดนไทย-พม่า ที่ได้เปิดเป็นจุดผ่อนปรนชั่วคราวทางการค้าชายแดน

จากระดับคนท้องถิ่นค้าขายกัน สู่การค้าชายแดนระดับสากล ที่ อ.พบพระ มีแนวโน้มจะยกระดับเป็นด่านถาวร ตามที่ฝ่ายปกครองอำเภอพบพระ และทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.พบพระ ได้นำเสนอ นับเป็นโครงการที่ฝ่ายปกครองจังหวัดตากและอำเภอพบพระ นำเสนอโครงการเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AseanEconomics Communit –AEC ซึ่งทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจแม่สอดและพบพระ จะเป็นประตูอาเซียนในยุค AEC

 นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้สำรวจออกแบบถนนอ้อมเมืองจากบ้านซอโอ ต.ช่องแคบ ไปยัง ต.วาเลย์ อ.พบพระ พร้อมงบประมาณในการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และเตรียมลงมือก่อสร้าง ซึ่งทางนายอำเภอพบพระ คือ นายประสงค์ หล้าอ่อน และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพิ้นที่ ได้ร่วมมือร่วมใจ พัฒนาพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิม และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ทางธรรมชาติ จำนวนหลายแห่ง พื้นที่เพื่อการค้าพืชไร่และตลาดพืชผลทางการเกษตร ในการซื้อ-ขาย สินค้าการเกษตร-พื้นที่ด้านการค้าชายแดนกับพม่าฯลฯ ซึ่งถนนอ้อมเมือง ซอโอ-วาเลย์ ลักษณะรูปแบบมอเตอร์เวย์ นับว่าจะเป็นเส้นทางสำคัญที่ประชาชนชาว อ.พบพระ นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว จะได้รับประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งขณะนี้ฝั่งพม่าก็ได้มีการสร้างทางเพื่อรองรับโครงการนี้ด้วย

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 17 มกราคม 2558

ก.อุตฯยังไม่เคาะมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สั่งเร่งหาข้อมูล6ด้าน

นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2557/2558 เปิดเผยว่า เบื้องต้นคณะทำงานฯ ยังไม่มีข้อสรุปมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ปัจจุบันภาครัฐกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นไว้ 900 บาทต่อตันอ้อยที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ขณะที่ต้นทุนชาวไร่แจ้งต่อรัฐคือ 1,222 บาทต่อตันอ้อย ทำให้ชาวไร่ได้รับผลกระทบขายอ้อยไม่คุ้มทุน และขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับลดลงมาก

แต่คณะทำงานได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) บริษัท อ้อยและน้ำตาลทราย จำกัด และกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เร่งศึกษาข้อมูล 6 ด้าน คือ คาดการณ์ปริมาณอ้อยแท้จริงที่สามารถผลิตได้ ค่าความหวานของอ้อย อัตราแลกเปลี่ยนในการซื้อขายน้ำตาลทราย ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก และสถานะล่าสุดของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายว่ายังสามารถกู้เงินได้อีกเท่าไร และหนี้้เก่าที่มีอยู่จะใช้หนี้จนถึงเมื่อใด โดยแนวทางการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย มั่นใจว่ามาตรการจะมีความชัดเจนก่อนการปิดหีบอ้อยในเดือนเมษายนนี้

"นอกจากวิธีการปัจจุบันคือ การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ซึ่งฤดูการผลิตที่ผ่านมา คือ 2556/2557 กองทุนอ้อยฯ ได้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เพื่ดเชยส่วนต่างราคาอ้อยในอัตรา 160 บาทต่อตันอ้อย วงเงินกู้รวม 16,000 ล้านบาทแล้ว คณะทำงานยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่ายังสามารถใช้วิธีการอื่น อาทิ นโยบายการช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรอย่างยางพาราที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ดังนั้นขณะนี้ขอยืนยันว่ารัฐยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะช่วยเหลือชาวไร่รูปแบบใด"

สำหรับการผลิตอ้อยล่าสุด นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 มีอ้อยเข้าหีบแล้วจำนวน 32 ล้านตัน เป็นระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 102 ล้านตัน จึงต้องจับตาดูอีกครั้งว่าจะได้ปริมาณอ้อยตามที่คาดการณ์หรือไม่

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 16 มกราคม 2558

ประชุมวิชาการนานาชาติ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นสูง

การประชุมประกอบด้วยการปาฐกถาพิเศษ การนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายจำนวนกว่า 90 เรื่องในกลุ่มหัวข้อด้านความหลากหลายชีวภาพการใช้ที่ดิน ทรัพยากรน้ำ ความมั่นคงด้านอาหารบนพื้นที่สูง

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเยอรมนี ร่วมจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นสูงในภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 1 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันก่อน โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากภูมิภาคเอเชียและยุโรปจำนวน 130 คน

การประชุมประกอบด้วยการปาฐกถาพิเศษ การนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายจำนวนกว่า 90 เรื่องในกลุ่มหัวข้อด้านความหลากหลายชีวภาพการใช้ที่ดิน ทรัพยากรน้ำ ความมั่นคงด้านอาหารบนพื้นที่สูง การเพาะปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออก การเพาะปลูกพืชไร่ การเลี้ยงสัตว์ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การรวมกลุ่มของเกษตรกร การตลาดสินค้า การพัฒนาชุมชน และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และมีนักวิชาการของสำนักวิจัยจำนวน 4 คนได้นำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายเกี่ยวกับความหลากหลายชีวภาพบนพื้นที่สูง การวิจัยและพัฒนาข้าวบนพื้นที่สูง การปลูกข้าวโพดเหลื่อมถั่ว เป็นต้น.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 16 มกราคม 2558

กรมการค้าภายในเร่งผลักดันเกณฑ์ควบรวมธุรกิจ-ฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

นายสันติชัย  สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจการค้าได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ซึ่งการควบรวมธุรกิจเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาด รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาที่ธุรกิจหลายราย ได้ควบรวมกิจการทั้งที่เป็นกิจการในประเภทเดียวกันและต่างประเภทกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ทางการค้าและความอยู่รอดของธุรกิจเอง แต่อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการส่วนหนึ่งทำให้ธุรกิจมีศักยภาพเพิ่มขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งหากไม่มีการกำกับดูแลอาจส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวและผูกขาดตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดและประโยชน์ของผู้บริโภค

ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542  มีหน้าที่ต้องติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลการควบรวมของภาคเอกชนให้อยู่ในระดับและขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้ธุรกิจเกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ในมาตรา 26 กำหนดให้ต้องมีการกำหนดเกณฑ์การรวมธุรกิจ เพื่อเป็นกรอบกติกาในการควบรวมธุรกิจของภาคเอกชน และในวันนี้ จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ  รัฐวิสาหกิจ และองค์กรกำกับดูแลธุรกิจรายสาขา จำนวน 50 คน เพื่อรับทราบและพิจารณาเกณฑ์การรวมธุรกิจให้มีความเหมาะสมและสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ให้เป็นภาระกับภาคธุรกิจ และภายหลังจากการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว จะได้มีการระดมความคิดเห็นจากภาคเอกชนทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมเสนอคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กำหนดเกณฑ์การรวมธุรกิจให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขอให้ความมั่นใจแก่ภาคเอกชนว่าการดำเนินงานของกรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้ามีนโยบายมุ่งเน้นการเสริมสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ดี เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล ราคม 2558

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 มกราคม 2558

เร่งหามาตรการเยียวยาชาวไร่อ้อย คณะทำงานฯขอเวลาเช็คข้อมูลสรุปก่อนปิดหีบเดือนเมษายน

คณะทำงานอ้อยน้ำตาล เร่งหาข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยภายในสัปดาห์หน้า หลังราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกร่วง พร้อมคาดปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิต 57/58 ที่ 102 ล้านตัน

นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2557/2558 เปิดเผยว่า เบื้องต้นคณะทำงานยังไม่มีข้อสรุปมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย แต่ได้สั่งการให้เร่งศึกษาข้อมูล 6 ด้านภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเยียวยาชาวไร่อ้อยได้อย่างเหมาะสม หลังจากต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงได้แก่ ปริมาณอ้อยแท้จริงที่สามารถผลิตได้ ค่าความหวานของอ้อย อัตราแลกเปลี่ยนในการซื้อขายน้ำตาลทราย ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก สถานะล่าสุดของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และแนวทางการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อย เพื่อให้การกำหนดราคาอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศสอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก โดยมั่นใจว่ามาตรการช่วยเหลือจะมีความชัดเจนก่อนการปิดหีบอ้อยในเดือนเมษายนนี้

พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้หามาตรการเยียวยารูปแบบอื่น นอกเหนือจากที่ให้กองทุนอ้อยฯ กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่ดชดเชยส่วนต่างราคาอ้อย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจ่ายชดเชยอยู่ที่ 160 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ปัจจุบันราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิต 2557-2558 อยู่ที่ 900 บาทต่อตันอ้อย โดยกำหนดค่าความหวานของอ้อยที่จะได้รับการจ่ายชดเชยไว้ที่ 10 ซีซีเอส จากต้นทุนที่ชาวไร่อ้อยแจ้งต่อภาครัฐที่ 1,222 บาทต่อตันอ้อย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่ารัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ด้วยวิธีการจ่ายเงินชดเชย หรือหาวิธีการใหม่ โดยอ้างอิงจากการช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นที่ดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 มีอ้อยเข้าหีบแล้วจำนวน 32 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 102 ล้านตัน จึงต้องจับตาดูอีกครั้งว่าจะได้ปริมาณอ้อยตามที่คาดการณ์หรือไม่

ด้านนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นที่ 900 บาทต่อตัน ชาวไร่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าอ้อย เช่นที่เคยดำเนินการมา โดยให้ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) 

“เราต้องการให้รัฐช่วยเหลือเงินค่าอ้อยให้คุ้มกับต้นทุน 900 บาทต่อตัน ต่ำไป ตอนนี้ต้นทุนอยู่ที่1,222 บาทต่อตัน หากพิจารณาตามศักยภาพการใช้หนี้ของกองทุนอ้อยฯขั้นต่ำที่เคยกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อยก็จะได้ 160 บาทต่อตัน” นายธีระชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสถานการณ์ ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 15 เซนต์ต่อปอนด์ มีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2557/58 จะต่ำกว่า 900 บาทต่อตัน จะเป็นปัญหาต่อกองทุนฯต้องหาเงินมาจ่ายคืนในส่วนนี้ จึงเป็นหน้าที่รัฐต้องพิจารณา

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ควรประกาศราคาอ้อยขั้นต้น และเงินช่วยเหลือให้เร็วที่สุด มีความชัดเจนก่อนเปิดหีบอ้อย ยิ่งล่าช้าเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รายย่อยไม่ได้รับเงินส่วนเพิ่ม เนื่องจากหัวหน้าโควตาที่ไปรับซื้ออ้อยให้กับโรงงานจะปั่นราคาอ้อยให้ต่ำ

นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐไม่ควรจะไปกำหนดระยะห่างที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแต่อย่างใด ควรปล่อยให้เป็นกลไกเสรีแล้วรัฐใช้วิธีกำกับดูแลใบอนุญาต ที่จะดูเครื่องจักรว่าเหมาะสมหรือไม่จะดีกว่าเนื่องจากเอกชน เมื่อทำธุรกิจจึงไม่ควรจะไปห่วงว่าจะไปแย่งอ้อยกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มกราคม 2558

เดินหน้าปรับโครงสร้างผลิตข้าว มุ่งลดพื้นที่ปลูก5ล้านไร่ปรับสมดุลตลาด

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯและผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาข้อสรุปแผนปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการใน 4 โครงการหลัก โดยจะดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2562 ได้แก่ 1.การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต พื้นที่เป้าหมายรวม 2.6 ล้านไร่ 2.โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) พื้นที่ 2.5 แสนไร่ 3.โครงการลดรอบการปลูกข้าวเป้าหมาย 4 ล้านไร่ 4.โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นเกษตรกรรมทางเลือก (เกษตรผสมผสาน) 1.20 ล้านไร่ และ 5.โครงการปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกอ้อย 4.5 ล้านไร่ ซึ่งโครงการนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนถึงพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 2 ปี แรก (2558 -2559) จะปรับเปลี่ยนข้าวไปปลูกอ้อยประมาณ 7 แสนไร่ เนื่องจากมีโรงงานน้ำตาลรองรับผลผลิตแน่นอน

ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งหาข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะนำข้อมูลผลิต แผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มพันธุ์ข้าวขาว กลุ่มพันธุ์ข้าวหอมปทุม กลุ่มพันธุ์ข้าวหอมมะลิ และกลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียว พื้นที่เป้าหมายดำเนินการ ข้อมูลเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ซึ่งมีการสำรวจความต้องการไว้เบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว มาพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ซึ่งจะมีข้อมูลสต๊อกข้าว ข้อมูลการส่งออกที่ผ่านมาและแผนการส่งออกของภาคเอกชน การใช้บริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลด้านการตลาดของข้าวตลาดเฉพาะ เพื่อให้ได้ข้อมูลความต้องการบริโภคที่แท้จริง โดยจากแผนการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวอุปสงค์และอุปทานจะมีความสอดคล้องตรงกันภายในปี 2562 ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดต้องมีความชัดเจนภายในวันที่ 23 มกราคม 2558 เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

“ปัจจุบันผลผลิตข้าวยังคงเกินกว่าความต้องการประมาณ 4.43 ล้านตัน หรือคิดเป็น 2.92 ล้านตันข้าวสารต่อปี ซึ่งนอกจากแผนการลดพื้นที่การปลูกข้าวจากโครงการปรับเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่นหรือการปลูกอ้อย รวมพื้นที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่แล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการโดยลดปริมาณข้าวคุณภาพต่ำ เพิ่มข้าวคุณภาพดีเข้าสู่ตลาด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้การผลิตข้าวสอดคล้องกับความต้องการของตลาดให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ชาวนามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง” นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มกราคม 2558

น้ำต้นทุนเขื่อนใหญ่ยังน้อย เตือนเจ้าพระยางด‘นาปรัง’

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ณ วันที่ 13 มกราคม มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,307 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 20,804 ล้าน ลบ.ม. โดยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำ โดยงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง คงเหลือการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันนี้ มีเพียงลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เกษตรกรยังคงทำนาปีต่อเนื่องและนาปรัง รวมกันไปแล้วกว่า 3.50 ล้านไร่ ส่งผลให้ต้องเพิ่มปริมาณน้ำจากแผนเดิมที่ได้วางไว้ สำหรับการอุปโภค – บริโภค และการผลักดันน้ำเค็ม จึงขอให้เกษตรกรร่วมมือกันงดเพิ่มพื้นที่ทำนาปรังด้วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาจนถึงสิ้นฤดูแล้งปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การได้เมื่อสิ้นฤดูแล้งประมาณ 3,800 - 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอที่สนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จะเริ่มทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป

สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน เกษตรกรจะทราบเป็นอย่างดี และไม่ทำการเพาะปลูกอยู่แล้ว ส่วนในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และมีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำได้อย่างทันท่วงที หากได้รับการร้องขอจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มกราคม 2558

ตรวจสอบสินค้าเกษตร ณ ด่านชายแดน

โดยบูรณาการระบบตรวจสอบสินค้าผ่านระบบเชื่อมโยงการตรวจสอบสินค้าเกษตรกับกรมศุลกากร และจัดทำระบบงานภายใน เพื่อการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าสำหรับด่านนำร่อง 8 ด่าน และด่านย่อย 24 ด่าน

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การเตรียมความพร้อมการนำระบบเชื่อมโยงการยื่นคำขอรับใบอนุญาต และการแจ้งนำเข้าส่งออก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรว่า หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการตรวจสอบสินค้า ณ ด่านตรวจสอบกักกันสินค้าเกษตร ตามมาตรฐานบังคับที่จะประกาศใช้ในอนาคต

โดยบูรณาการระบบตรวจสอบสินค้าผ่านระบบเชื่อมโยงการตรวจสอบสินค้าเกษตรกับกรมศุลกากร และจัดทำระบบงานภายใน เพื่อการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าสำหรับด่านนำร่อง 8 ด่าน และด่านย่อย 24 ด่าน ในส่วนของกรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ด่านท่าเรือกรุงเทพฯ, ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว, ด่านแม่สอด จ.ตาก, ด่านอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด, ด่านสะเดา จ.สงขลา, ด่านมุกดาหาร จ.มุกดาหาร, ด่านช่องแม็ก จ.อุบลราชธานี และด่านเชียงแสน จ.เชียงราย

นอกจากนี้ จะมีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง กากมันสำปะหลัง พร้อมทั้งพิจารณาร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 2 ประเภท คือ มาตรฐานทั่วไป และมาตรฐานบังคับ และเห็นชอบร่างมาตรฐานบังคับ 2 เรื่อง คือ การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะลูกกุ้งขาวแวนนาไมระยะนอเพลียสปลอดโรค และการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ

และเห็นชอบร่างมาตรฐานทั่วไป จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ ปลากะพงขาว เห็ดฟาง เส้นไหมดิบ เล่ม 3 วิธีชักตัวอย่างและทดสอบเส้นไหมสาวด้วยเครื่องจักร กากถั่วเหลือง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับขิง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับถั่วเมล็ดแห้ง และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มห่าน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 มกราคม 2558

น้ำมันร่วงพ่นพิษใส่"เอทานอล" โรงงานมันดิ้นขอโควตาผลิต32%

ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังร้องกระทรวงพลังงาน ดูแลส่วนต่างน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ หลังราคาน้ำมันลดฮวบ หวั่นคนแห่ใช้เบนซิน จ่อเสนอกระทรวงพลังงานดูแลส่วนต่าง กลับมากำหนดโควตาให้ผู้ค้าน้ำมันซื้อเอทานอลจากโมลาส 62% จากมัน 38% ยกเลิกน้ำมันเบนซิน 95

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ทำให้ส่วนต่างราคาระหว่างราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ "แคบลง" (ประมาณ 7 บาท/ลิตร) ทำให้มีความกังวลว่าผู้ใช้น้ำมันจะหันไปเติมน้ำมันเบนซินจนกระทบต่อการส่งเสริมพลังงานทดแทนได้ จึงเตรียมเสนอต่อกระทรวงพลังงานว่า 1) อย่าทำให้ราคาพลังงานถูกลงอย่างเดียว ควรดูแลพลังงานทดแทนทั้งระบบด้วย รักษาส่วนต่างให้เหมาะสมเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ 2) ควรกลับมากำหนดสัดส่วนให้ผู้ค้าน้ำมันซื้อเอทานอลจากโมลาสที่ร้อยละ 68 และจากมันสำปะหลังที่ร้อยละ 32 ตามเดิม

ปัจจุบันราคาเอทานอลจากโมลาสปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 23-24 บาท/ลิตร ในขณะที่ราคาเอทานอลจากมันสำปะหลังอยู่ที่ประมาณ 25-26 บาท/ลิตร ทั้ง 2 ตลาดนี้ภาครัฐไม่ควรเดินนโยบายให้แข่งขันกันใน 2 กลุ่มนี้ เนื่องจากมีต้นทุนวัตถุดิบที่แตกต่างกัน โมลาสเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลที่เหลือจากกระบวนการผลิตจึงมีราคาถูก ในขณะที่มันสำปะหลังอยู่ที่ 2.40 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการช่วยให้ราคาพืชผลการเกษตรดีขึ้นด้วย

"เริ่มเห็นสัญญาณว่าความต้องการใช้เอทานอลลดลง ฉะนั้น ต้องการให้ส่งเสริมพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานมีความต่อเนื่องด้วย ภาพรวมการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังอยู่ที่ 1.4 ล้านลิตร/วัน แต่เดินเครื่องผลิตจริงเพียง 60-70% เท่านั้น หากนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนยังวางเป้าหมายการใช้เอทานอลเพิ่มเป็น 9 ล้านลิตร/วันให้ได้ในปี"65 ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแล"

นายเดชพนต์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะที่กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการจัดระเบียบประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ จึงต้องการเสนอให้พิจารณายกเลิกน้ำมันเบนซิน และให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ไว้เป็นพื้นฐาน ในขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ให้เป็นทางเลือก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ สำหรับราคาน้ำมันล่าสุดเบนซิน 95 อยู่ที่34.96 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 27.90 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 26.58 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่25.18 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่22.08 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 26.09 บาท/ลิตร

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 15 มกราคม 2558

เปิดแผนพัฒนาพลังงานทดแทน

 ความต้องการใช้พลังงานที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่เชื้อเพลิงต่างๆ ที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติยังคงสัดส่วนที่มากเกินไป จนต้องนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทยกว่า 2 เท่าตัว แม้ว่าปัจจุบันราคาพลังงานในตลาดโลกจะอ่อนตัวลงอย่างมาก แต่เชื่อว่าแนวโน้มราคาพลังงานจะไม่หยุดนิ่งในระดับต่ำ เพราะสุดท้ายแล้วก็มีโอกาสสูงขึ้นในที่สุด

    สิ่งสำคัญคือการลดใช้พลังงาน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือพพ. กระทรวงพลังงาน จึงจัดทำแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือเออีดีพี และแผนอนุรักษ์พลังงาน หรืออีอีดีพี เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สามารถสรรหาได้จากในประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายพลังงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

-การใช้พลังงานสูงต่อเนื่อง

    โดยปัจจุบันพบว่า ความต้องการใช้พลังงานเติบโตเพิ่มขึ้น ตามตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี เฉลี่ย 3.8% ต่อปี และการเติบโตของประชากรเฉลี่ย 0.03% ต่อปี แบ่งเป็นความต้องการใช้พลังงานรายสาขา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม 37% รองลงมาคือภาคคมนาคม ขนส่ง 36% ขณะที่บ้านอยู่อาศัย 15% ภาคธุรกิจ 7% และเกษตรกรรม 5% แต่ละรายสาขามีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมากตามจีดีพี

altแนวทางแรกที่จะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานลงแบบต้นทุนต่ำสุด และทำได้ง่ายคือการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่ง พพ.ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน แต่จะเน้นหนักไปที่ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นภาคที่ใช้พลังงานสูงสุด พบว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากถึง 45% นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.อนุรักษ์พลังงาน หรืออีอีดีพี  จะมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม อาหาร ที่อยู่อาศัย และภาครัฐ โดยมีกรอบทำงานที่จะส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พลังงานให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก หรือทบทวนการอุดหนุนราคาพลังงาน เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคตระหนักเรื่องราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก  ซึ่งจะมีมาตรการทางภาษี มาใช้สนับสนุนอุปกรณ์ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งรัดการสนับสนุนมาตรการด้านการเงิน เพื่อให้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ และเกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการใช้พลังงานในอาคาร (Building Code) และโรงงาน โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและมหาดไทย เพื่อผลักดันมาตรการบังคับ และรณรงค์ด้านพฤติกรรมการใช้พลังงานและการปลุกจิตสำนึก โดยพพ.ตั้งเป้าลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายในปี 2579 ให้ได้ ประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยปีละ 500 เมกะวัตต์

-บรรจุพลังงานทดแทนเพิ่ม

    ขณะที่แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือเออีดีพี หลักการของแผนดังกล่าว จะมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ให้ได้เต็มตามศักยภาพเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกับเกษตรกรและชุมชน กำหนดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามรายภูมิภาคหรือโซนนิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพลังงานหมุนเวียน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมในสัดส่วนที่มากขึ้น เมื่อเทียบกับต้นทุนสามารถแข่งขันได้กับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้า และมาตรการส่งเสริม โดยใช้วิธีแข่งขันด้านราคา เป็นต้น

    ทั้งนี้ พพ.ได้ปรับเป้าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในส่วนของการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2579 สูงถึง 20 % ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 1.67 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2579 เทียบกับปี 2557 อยู่ที่ 4.48 พันเมกะวัตต์ ซึ่งพบว่าไทยมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าคงเหลือจากพลังงานทดแทนมากถึง 6.65 หมื่นเมกะวัตต์

    โดยตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะในปี 2579ไว้ที่ 501 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันจ่ายเข้าระบบแล้วที่ 66 เมกะวัตต์ พลังงานชีวมวล 2.45 พันเมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 5.57 พันเมกะวัตต์จากก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) 313 เมกะวัตต์ เป็น 600 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) จากเดิมไม่มีการตั้งเป้าตัวเลขไว้จะเพิ่มเป็น 680 เมกะวัตต์ พลังน้ำ จาก 142 เมกะวัตต์ เป็น 376 เมกะวัตต์ พลังงานลม จาก 224 เมกะวัตต์ เป็น 3 พันเมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ จาก 1.28 พันเมกะวัตต์ เป็น 6 พันเมกะวัตต์ในปี 2579

    อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนในแต่ละภูมิภาค ส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มากถึง 4.97 พันเมกะวัตต์ รองลงมาคือภาคเหนือ 2.65 พันเมกะวัตต์ ,ภาคใต้ 2.6 พันเมกะวัตต์ ,ภาคตะวันตก 2.3 พันเมกะวัตต์ ,กรุงเทพฯและปริมาณมณฑล 1.59 พันเมกะวัตต์ และภาคกลาง 1.3 พันเมกะวัตต์

 -ดันฟีดอินฯโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม

    ทั้งนี้ การจะให้การผลิตไฟฟ้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือกพช.ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงได้เห็นชอบแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการกำหนดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง หรือฟีดอินทารีฟ โดยยังคงเน้นความสำคัญไปที่การผลิตไฟฟ้าจากขยะเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถผลิตไฟฟ้าแล้วยังช่วยกำขัดขยะชุมชนอีกด้วย โดยกำหนดฟีดอินทารีฟสำหรับโรงไฟฟ้าขยะที่มีการจัดการขยะแบบผสมผสานจะอยู่ที่ 2.39-3.13 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะแบบหลุมฝังกลบจะได้ 5.60 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี

    ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลกำหนดฟีดอินทารีฟ ไว้ที่ 2.39 - 3.13 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี ,ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ของเสียอยู่ที่ 3.76 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี ,ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 2.79 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี ,พลังงานน้ำกำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 200 กิโลกรัม อยู่ที่ 4.90 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี และพลังงานลม 6.60 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย

-ลงดาบผู้ขายใบอนุญาต

    ขณะเดียวกันการจะดำเนินงานให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินหรือโซลาร์ฟาร์ม บรรลุเป้าหมายและจ่ายไฟฟ้าได้ตามที่กำหนด นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานเล็งเห็นว่า ปัญหาที่ทำให้โซลาร์ฟาร์มไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามระยะเวลาที่กำหนดนั้น เกิดจากการขอใบอนุญาตแล้วไม่ดำเนินการตามแผน รวมทั้งยังมีการซื้อขายใบอนุญาตเพิ่มขึ้น จะต้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วนหากพบเอกชนรายใดที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าไปแล้ว แต่ยังไม่ยอมก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามสัญญา ยืนยันว่าจะใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อจัดระเบียบภาคเอกชน ที่มีพฤติกรรมเป็นกาฝาก อาศัยช่องว่างของระเบียบข้อบังคับเพื่อหาผลประโยชน์ ซึ่งขอเตือนไปยังผู้ประกอบการที่จะขายต่อใบอนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้า หากพบและตรวจสอบได้จริงจะยกเลิกใบอนุญาตทันที ล่าสุดมีการบอกยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วเกือบ 150 ราย

    นอกจากนี้นี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ให้เข้มงวดและตรวจสอบคู่สัญญากับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่อยู่ในข่ายได้รับใบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยจะขอให้ สกพ. ส่งรายชื่อผู้ประกอบการที่มีสัญญาแล้ว แต่ยังไม่สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้า หรือซีโอดีดังกล่าว และขอให้เช็กสถานะไปยัง 3 การไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทำตามสัญญาอย่างเคร่งครัด หากพบพื้นที่ใดที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ดำเนินการ ขอให้แจ้งกลับส่วนกลางโดยด่วน เพื่อจะได้มีมาตรการและบทลงโทษต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 มกราคม 2558

เอกชนตะวันออกรับมือภัยแล้ง

ส.อ.ท.วอนขอผู้ใช้น้ำภาคตะวันออก ลดการใช้เพื่อภาคอุตสาหกรรม หลังประเมินตัวเลขการใช้น้ำไม่นิ่ง หากพุ่งขึ้น 1.5 ล้านลบ.ม. มีหวังเผชิญปัญหาขาดแคลนแน่ จี้"อีสต์วอเตอร์"เร่งก่อสร้างท่อส่งน้ำจากประแสร์มาหนองปลาไหลให้เสร็จโดยเร็ว หวังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้น้ำ ชี้ที่มาบตาพุดมีจำกัด อาจฉุดการขยายตัวของภาคการลงทุนได้

    นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะขยายวงกว้างขึ้นเป็นลำดับในปี 2558 โดยเฉพาะในส่วนของภาคตะวันออก ซึ่งมีกลุ่มอุตสาหกรรมลงทุนอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเริ่มเตรียมที่จะรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีหนังสือออกไปจาส.อ.ท.เพื่อขอความร่วมมือกับสมาชิกให้ประหยัดการใช้น้ำ แม้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ หนองปลาไหล ดอกกราย และคลองใหญ่ รวมกันจะมีปริมาณรวมกันกว่า 215 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเพียงพอใช้ตลอดทั้งปีหรือไม่

    เนื่องจากขณะนี้ทางส.อ.ท.อยู่ระหว่างติดตามการใช้น้ำของผู้ประกอบการต่างๆว่า จะอยู่ในระดับใด เพราะหากอยู่ในระดับ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปริมาณน้ำที่มีอยู่จะมีเพียงพอใช้ แต่หากขึ้นไประดับ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำ  ดังนั้น จะต้องเก็บตัวเลขปริมาณการใช้น้ำของผู้ประกอบให้แน่นอน เพื่อใช้ในการวางแผนแก้ปัญหาต่อไป

    ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้น ล่าสุดได้ขอให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน)หรืออีสต์วอเตอร์ เร่งก่อสร้างท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากเป็นท่อส่งน้ำอีกเส้นหนึ่งที่จะช่วยผันน้ำมาช่วยได้มากขึ้น จากเดิมที่มีท่ออยู่แล้วแต่ยังไม่สามารถผันน้ำมาได้เต็มศักยภาพ เพราะขณะนี้ผันน้ำเข้าอ่างหนองปลาไหลสะสมอยู่ที่ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น  หากท่อส่งน้ำเส้นนี้เสร็จโดยเร็วก็จะช่วยการผันน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกราว 70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จะช่วยให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลได้

    นายมนต์ชัย รัตนะ ผู้อำนวยการสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำหรือวอร์รูม ที่ได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเฝ้าติดตามปริมาณน้ำในภาคตะวันออกอย่างใกล้ชิด แม้ว่าปริมาณน้ำของทั้ง 3 อ่างเก็บน้ำ จะมีน้ำอยู่ในระดับเกือบ 80% ของความจุก็ตาม แต่ขณะนี้ปริมาณน้ำก็ลดลงทุกวัน ประกอบกับท่อส่งน้ำที่ผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังคลองใหญ่ ยังสูบน้ำได้ในปริมาณต่ำ มีน้ำสะสมเข้ามาได้เพียง 20 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์ใช้น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อความไม่ประมาท

    อย่างไรก็ตาม ในอนาคตปัจจัยเรื่องน้ำจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการขยายการลงทุนในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดระยองและชลบุรี เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมที่มีอยู่เท่านั้น หากอุตสาหกรรมใดที่ใช้น้ำมากอย่างปิโตรเคมี ไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน จะขยายกำลังการผลิต คงต้องมองหาแหล่งที่ตั้งใหม่ ในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาน้ำหรือสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการก็มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นต่อการตัดสินใจด้านการลงทุนแล้ว

 เจริญสุข วรพรรณโสภาค เจริญสุข วรพรรณโสภาค    ขณะที่นายเจริญสุข วรพรรณโสภาค รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน)หรืออีสต์วอเตอร์ เปิดเผยว่า สำหรับปริมาณน้ำทั้ง 3 อ่างที่มีอยู่เมื่อรวมกับน้ำที่ผันมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ทำให้มีปริมาณน้ำเกือบ 240 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงทำให้สถานการณ์การขาดแคลนน้ำของภาคตะวันออกไม่น่าเป็นห่วง

    อีกทั้ง บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างท่อส่งน้ำจากประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลอีกเส้น เงินลงทุนกว่า 2.8 พันล้านบาท  คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งมีกำลังการผันน้ำได้ถึง 70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือผันได้วันละ 2.5 แสนลูกบาศก์เมตร ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง

    ที่ผ่านมาการใช้น้ำจากทั้ง 3 อ่างจะมีประมาณ 8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน แบ่งเป็นป้อนให้กับมาบตาพุด จังหวัดระยอง 6 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวันและจังหวัดชลบุรีอีก 2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งมีอัตราลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้ประกอบการยังใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็มที่ แต่ในปี 2558 นี้ คาดว่าอัตราการใช้น้ำน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% จากปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณการใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ 290-300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

    อย่างไรก็ตาม ผลจากที่บริษัทลงทุนก่อสร้างท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลแล้ว ประกอบกับทางกรมชลประทานจะดำเนินการก่อสร้างคันอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ สูงขึ้นมาอีก 1 เมตร จะช่วยให้สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกหลาย 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีการขุดสระทับมาซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้  มีความจุอีก 12 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงการป้อนน้ำในจังหวัดชลบุรี บริษัทได้มีการจัดหาซื้อน้ำจากบ่อดินของภาคเอกชนปีละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และทางกรมชลประทานยังมีโครงการวางท่อส่งน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตมาอ่างเก็บน้ำบางพระอีกปีละ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร  เมื่อรวมปริมาณน้ำทั้งหมดนี้จะสามารถรองรับการใช้น้ำของมาบตาพุดและจังหวัดชลบุรีได้ไปถึง 10 ปี ดังนั้น การจัดหาน้ำให้กับภาคตะวันออกทางผู้ประกอบการควรคลายความกังวลได้

    นายณรงค์ บัณฑิตกมล รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท. และในฐานะรองกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอะโรเมติกส์ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล เปิดเผย ว่า ปริมาณน้ำมันในปีนี้อยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าฤดูฝนที่ล่าช้า แต่ก็ยังสามารถทำให้มีปริมาณน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำในระดับที่เพียงพอได้

    ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ได้เร่งโครงการท่อส่งน้ำประแสร์-หนองปลาไหล ให้แล้วเสร็จไม่เกินกลางปี 2558 นี้ ซึ่งภายหลังจากโครงการท่อส่งน้ำแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้มาก ซึ่งปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ซึ่งพบว่ามีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นสูงทุกปี จึงทำให้ผู้ประกอบการเป็นห่วงว่าจะเกิดการขาดแคลนน้ำ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 มกราคม 2558

‘แกล้งดิน’หนึ่งในโครงการพระราชดำริช่วยเหลือราษฎรให้ใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินได้อีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว จังหวัดนราธิวาสใต้สุดของประเทศไทย เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องการทำมาหากินอย่างมาก เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำขังตลอดปี หรือที่เรียกว่า พื้นที่พรุ เมื่อระบายน้ำออกจะแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เพราะสารไฟไรท์ที่มีอยู่ในดินทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศและปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมามากจนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก หรือทำให้ผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงจำเป็นต้องละทิ้งที่ดินให้รกร้างเปล่าประโยชน์ กระทบต่อความเป็นอยู่

จนกระทั่งเมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคใต้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร ทรงได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2524 เพื่อเป็นศูนย์รวมกำลังของเจ้าหน้าที่ด้านเกษตรและที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการศึกษา ปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นที่พรุให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ตลอดจนด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป

นางสายหยุด เพ็ชรสุข ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง กล่าวว่า ภารกิจหลักของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง คือ การศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อหารูปแบบในการพัฒนาพื้นที่พรุเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยงานวิจัยหลักๆ คือการปรับปรุงดิน เนื่องจากดินในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจะเป็นพื้นที่ดินพรุและดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ซึ่งทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ได้ทำการศึกษา วิจัยและปรับปรุงดิน “แกล้งดิน” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริในวันที่ 16 กันยายน 2527 เกี่ยวกับเรื่องแกล้งดิน ความว่า “...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แก้ง และศึกษาวิธีการแกล้งดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว...”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองได้ดำเนินงานศึกษาทดลองอย่างต่อเนื่องในโครงการแกล้งดิน แบ่งเป็นช่วงต่างๆ ตามพระราชดำริ คือ ช่วงที่ 1 เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดิน เปรียบเทียบระหว่างดินที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติกับดินที่ทำให้แห้งและเปียกสลับกัน โดยวิธีการสูบน้ำเข้า-ออก การทำดินให้แห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งให้เกิดปฏิกิริยา ดินจะเป็นกรดรุนแรง และมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช พบว่าข้าวสามารถเจริญเติบโตได้แต่ให้ผลผลิตต่ำ ช่วงที่ 2 เป็นการศึกษาช่วงระยะเวลาระหว่างการทำให้ดินแห้งและเปียกแตกต่างกัน ช่วงระยะเวลาใดที่ทำให้เกิดความเป็นกรดมากกว่า ซึ่งพบว่าการปล่อยให้ดินแห้งนานมากขึ้น ความเป็นกรดจะรุนแรงมากกว่าการให้น้ำแช่ขังดินนานๆ และการให้น้ำหมุนเวียนโดยไม่มีการระบายออกทำให้ความเป็นกรดและสารพิษสะสมในดินมากขึ้น ในการปลูกข้าวทดสอบความรุนรงของกรดพบว่าข้าวตายหลังจากปักดำได้ 1 เดือน

สำหรับช่วงที่ 3 เป็นการศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงดิน โดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ใช้น้ำชะล้างควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่น ใช้หินปูนฝุ่นอัตราต่ำ เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของดินหลังจากที่ปรับปรุงแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์ และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดินเปรี้ยวจัดเมื่ออยู่ในสภาพธรรมชาติ ทั้งนี้ พบว่าวิธีการใช้น้ำชะล้างดิน โดยขังน้ำไว้นาน 4 สัปดาห์ แล้วระบายออกควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่นปริมาณน้อย สามารถปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดได้เป็นอย่างดี ส่วนดินที่มีการปรับปรุงแล้วหากปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ดินกลับมาเป็นกรดจัดรุนแรงขึ้นอีก ส่วนพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดตามธรรมชาติที่ไม่มีการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดน้อยมาก โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงที่ 4 คือการศึกษาการใช้จุลินทรีย์เขามาร่วมในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัด

นางสายหยุด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาโครงการแกล้งดินตามพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง จนได้แนวทางการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดในพื้นที่นาข้าว สามารถนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรให้กลับมาทำนาได้อีกครั้ง แถมผลผลิตก็เพิ่มขึ้นหรืออาจจะเทียบเท่ากับพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาดิน ดังนั้น ต่อมาจึงได้ขยายผลไปยังพืชผัก พืชไร่ ไม้ผลชนิดต่างๆ ทำให้ปัจจุบันสภาพพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสที่เคยประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัดก็เปลี่ยนแปลงไป สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี แม้เราจะมีทฤษฎีการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดได้อย่างถาวร เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปร แต่เราสามารถปรับปรุงดินให้ดีขึ้นและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่ประสบปัญหาสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง หรือศูนย์สาขาได้ เพื่อจะได้มีที่ดินทำกินสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 มกราคม 2558

สภาผู้ส่งออกชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงสุดต่อการส่งออกไทยปี 58

ระบุเศรษฐกิจคู่ค้าหลักมาอันดับ 1 ระบุ 4 ตลาดหลักอียู ญี่ปุ่น จีน ยกเว้นสหรัฐฯ ยังน่าห่วง ขณะรัสเซียถูกโจมตีค่ารูเบิล-ตะวันออกกลาง แอฟริกาส่งออกน้ำมันราคาวูบกระทบกำลังซื้อคาดลดนำเข้า สินค้าเกษตรราคาตกทำยอดไม่กระเตื้อง ขอแบงก์ชาติดูแลค่าบาทใกล้ชิดกระทบขีดแข่งขัน

    นายวัลลภ  วิตนากรวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"กรณีที่สภาผู้ส่งออกได้คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2558 ในเบื้องต้นคาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 2.5%  แต่ทั้งนี้ได้มองปัจจัยเสี่ยงมากสุด 5 อันดับแรกที่อาจส่งผลกระทบได้แก่ 1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น และจีน ทั้งนี้ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯถือว่าไม่น่ากังวล คาดในปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้นแต่การดีขึ้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ไม่ก้าวกระโดด เห็นได้จากอัตราการว่างงาน และยอดขายภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจของอียูน่าจะยังชะลอตัวไม่ดีขึ้น ประกอบกับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมาสินค้าไทยได้ถูกอียูยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีแล้วจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบ ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดจะยังชะลอตัว และเศรษฐกิจจีนในปีนี้คาดจะปรับลดลงเหลือ 7.1%  และจากการที่รัฐบาลจีนมีนโยบายพึ่งพาเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจะมีผลให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง

    2.กรณีที่รัสเซียถูกโจมตีค่าเงิน ทำให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียลดลงไปถึง 40% มองว่ารัสเซียจะสามารถฟื้นฟูได้ไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะเข้าสู่สภาวะปกติ และผลพวงครั้งนี้คงต้องจับมองว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียมาก น้อยเพียงใด 3.ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน เช่น ตะวันออกกลาง รัสเซีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ ซึ่งไทยหวังจะช่วยชดเชยตลาดหลักที่กำลังซื้อลดลงการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ มีแนวโน้มชะลอตัวลง

    4.สินค้าเกษตรส่งออกของไทยในภาพรวมราคาลดลงทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ขณะที่สินค้าเกษตรที่ใช้ผลิตพลังงานทดแทน ทั้งมันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอล และปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซล เวลานี้จากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมสินค้าเกษตร ราคาลดลงและกระทบต่อการส่งออกตามไปด้วย และ 5.ค่าเงินบาท มีทิศทางผันผวน จากที่สหรัฐอเมริกายกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)หรือการอัดฉีด เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีทิศทางที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผู้นำเข้ามีต้นทุนทางการเงินเพิ่ม และจะมีผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง และหากมีผลให้ค่าเงินหยวนของจีน หรือค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงไปอีกจะกระทบต่อการนำเข้าของทั้งสองประเทศ นี้ เพราะราคาสินค้าจะสูงขึ้น

    "หากค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยที่สุดในภูมิภาค จะทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันในเรื่องธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องกำกับดูทิศ ทางค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันส่ง ออก"

จาก http://www.thanonline.com   วันที่ 14 มกราคม 2558

ชาวไร่อ้อยบีบรัฐขอเพิ่ม160 บาทอ้างราคาขั้นต้นไม่คุ้มต้นทุนปลูก

ชาวไร่อ้อยเรียกร้องรัฐขอเพิ่ม 160 บาท ต่อตัน อ้างประกาศราคาอ้อยขั้นต่ำเพียง 900 บาทต่อตัน ต่ำกว่าต้นทุนมาก ห่างราคาน้ำตาลโลกลดลง ฉุดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้น

นายธีระชัย  แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2557/58 ว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นที่ 900 บาทต่อตัน ชาวไร่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าอ้อย เช่นที่เคยดำเนินการมา โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)

“เราต้องการให้รัฐช่วยเหลือเงินค่าอ้อยให้คุ้มกับต้นทุน 900 บาทต่อตันต่ำไป ตอนนี้ต้นทุนอยู่ที่ 1,222 บาทต่อตัน หากพิจารณาตามศักยภาพการใช้หนี้ของกองทุนอ้อยฯขั้นต่ำที่เคยกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อยก็จะได้ 160 บาทต่อตัน”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 15 เซนต์ต่อปอนด์ มีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 2557/58 จะต่ำกว่า 900 บาทต่อตันจะเป็นปัญหาต่อกองทุนฯต้องหาเงินมาจ่ายคืนในส่วนนี้ จึงเป็นหน้าที่รัฐต้องพิจารณา

ส่วนการเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557 พบว่าปริมาณอ้อยหีบประมาณ 31 ล้านตันแล้ว หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถือว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจากรายย่อยเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่าควรประกาศราคาอ้อยขั้นต้น และเงินช่วยเหลือให้เร็วที่สุด มีความชัดเจนก่อนเปิดหีบอ้อย ยิ่งล่าช้าเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รายย่อยไม่ได้รับเงินส่วนเพิ่ม เนื่องจากหัวหน้าโควตาที่ไปรับซื้ออ้อยให้กับโรงงานจะปั่นราคาอ้อยให้ต่ำ

นอกจากนี้ยังเห็นว่ารัฐไม่ควรจะไปกำหนดระยะห่างที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแต่อย่างใด ควรปล่อยให้เป็นกลไกเสรีแล้วรัฐใช้วิธีกำกับดูแลใบอนุญาต ที่จะดูเครื่องจักรว่าเหมาะสมหรือไม่จะดีกว่าเนื่องจากเอกชนเมื่อทำธุรกิจจึงไม่ควรจะไปห่วงว่าจะไปแย่งอ้อยกัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 มกราคม 2558

โมเดิร์นฟาร์ม “มิตรผล” ยกระดับอุตสาหกรรมอ้อย

กลุ่มมิตรผล ถือเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการน้ำตาลไทย ด้วยการนำนวัตกรรมองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้นั่นคือ”โมเดิร์นฟาร์ม” หลักการจัดการไร่อ้อยจากออสเตรเลีย ที่มิตรผลนำมาประยุกต์ใช้ในไทยแล้วกว่า 3 ปี เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนและค่าแรงสูงขึ้น อีกทั้งยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยให้มีความยั่งยืน

“กิมเพชร สุขแสง” ผู้ช่วยผู้จักการ 3 บริษัท ไร่ด่านช้าง จำกัด อธิบายถึง 4 เสาหลักสำคัญในการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม คือ 1. ต้องมีพื้นที่ให้พักบำรุงดิน โดยการปลูกพืชตระกุลถั่ว เช่นถัวเหลือง ถั่วเขียว ในช่วงเว้นวรรคการปลูกอ้อย 1 ปี ได้ผลผลิต 200 กิโลกรัม ต่อไร่ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุและไนโตรเจนในดินตัดวงจรของโรคและแมลงในไร่อ้อย และเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่ในช่วงพักบำรุงดินอีกด้วย

2.ลดการไถพรวนและบดอัดหน้าดินหลังเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองแล้วจะเตรียมดินปลูกอ้อยโดยการพรวนเฉพาะพื้นที่ปลูกอ้อยเพียงขั้นตอนเดียว และยังมีการนำจีพีเอสมาติดกับรถไถและล้อรถ เพื่อควบคุมการทำงานไม่ให้ล้อรถเหยียบในแปลง

3.การจัดรูปแบบแปลงปลูกจากขนาด 1.50 เมตร เป็น 1.85 เมตร และปรับแปลงให้มีความยาว 400-500 เมตร ทำให้เครื่องจักรทำงานได้โดยไม่รบกวนแปลงดินช่วยลดเวลาการกลับหัวรถตัดอ้อย จากปกติใช้เวลาตัดอ้อยวันละ 12 ชั่วโมง แต่ตัดจริงเพียง 9 ชั่วโมง เพราะต้องเสียเวลาในการกลับรถถึง 2 ชั่วโมง

4.การใช้ใบอ้อยคลุมดินหลังจากรถตัดอ้อยสดเข้าโรงงานไปแล้ว

หลังจากเปลี่ยนมาใช้ระบบโมเดิร์นฟาร์ม ช่วยประหยัดเวลาทำงานและลดต้นทุน เครื่องจักรที่ทำเต็มประสิทธิภาพจะทำงานได้ถึงวันละ 100 ไร่  เทียบกับแรงงานคนที่ทำได้วันละ 15 ไร่

“ทิตติ กมลปิตุพงศ์” ผู้จัดการด้านไร่และเครื่องมือเกษตรภาคกลาง บอกว่าโมเดิร์นฟาร์มช่วยลดการให้น้ำลง ปัจจุบันให้น้ำอ้อย 6 ครั้งต่อปีก็จะลดลงเหลือ 2-3 ครั้งต่อปี และอีก 2-3 ครอป ก็อาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำอีก

โมเดิร์นฟาร์มเป็นนวัตกรรมใหม่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชาวไร่อ้อยเป็นสิ่งสำคัญ มิตรผลจึงได้เตรียมทีม “ไอรอนแมน” ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ชาวไร่ปัจจุบันไอรอนแมนราว 30 คน

“สมชาย  ทองพุฒิ” ไอรอนแมนมิตรผล กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในระยะแรกอาจประสบปัญหาเครื่องมือแบบดั้งเดิมที่ไม่พร้อม จึงแนะนำให้ดัดแปลงจากของเก่าที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับระบบโมเดิร์นฟาร์ม ปัจจุบันมีไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการ 2-3 พันไร่ โดยในจังหวัดสุพรรณบุรี 1,000 ไร่เป็นโมเดิร์นฟาร์มแล้ว 80% คาดว่าปี 2559 จะเป็นโมเดิร์นฟาร์มได้เต็ม 100%

สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับมิตรผลในปี 2557 จำนวน 11 ราย พื้นที่ 1,002.96ไร่ ปี 2558 มีเกษตรกรลงชื่อเข้าโครงการอีก 28 ราย คาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีไร่อ้อยโมเดิร์นฟาร์มเพิ่มขึ้น 10% จากไร่อ้อยมิตรผล 2 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันดำเนินการได้ 2-3 %

“วิชรัตน์  บุปผาพันธุ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า นอกจากดูแลกระบวนการปลูกอ้อยแล้ว มิตรผลยังให้ความช่วยเหลือชาวไร่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพราะโมเดิร์นฟาร์มเป็นระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งที่ช่วยชาวไร่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“หากเกินปัญหาก็จะเข้าไปช่วยเหลือ เช่นกรณีเกิดภาวะภัยแล้ง ชาวไร่ไม่สามารถชำระอ้อยได้ตามสัญญา เราจะพิจารณาความสามารถในการชำระอ้อยของชาวไร่และแบ่งการชำระอ้อยออกไปตามความเหมาะสม เพื่อให้ชาวไร่และครอบครัวมีเงินเพียงพอสามารถดำรงชีพได้ รวมทั้งมีการมอบทุนให้แก่ชาวไร่เพื่อส่งเสริมการปลูกในระยะต่อไป เราจะไม่ทิ้งเขา” วิชรัตน์กล่าวย้ำถึงหลักการที่มิตรผลดูแลชาวบ้านแบบร่วมอยู่ ร่วมเจริญ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 มกราคม 2558

รณรงค์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี

โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์นี้หมายรวมถึง ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 250,000 ตัน โดยให้เกษตรตำบล 1 คน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 50 ตัน

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จะส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาผลผลิตให้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยให้เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น และลดการใช้ปุ๋ยเคมี

โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์นี้หมายรวมถึง ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 250,000 ตัน โดยให้เกษตรตำบล 1 คน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 50 ตัน

ทั้งนี้ได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใน 77 จังหวัด รวม 239,607 ตัน คิดเป็น 95.84 ประกอบด้วย ปุ๋ยหมัก 97,705 ตัน ไถกลบตอซังข้าว 55,420 ตัน (110,840 ไร่) ไถกลบตอซังข้าวโพด 15,824 ตัน (19,779 ไร่) ไถกลบตอซังสับปะรด 1,302 ตัน (1,627 ไร่) ไถกลบตอซังอ้อย 429 ตัน (214 ไร่) น้ำหมักชีวภาพ 28,803 ตัน และปุ๋ยพืชสด 40,124 ตัน (22,291 ไร่)

และสำนักงานเกษตรอำเภอ ใน 77 จังหวัด จะดำเนินการจัดทำปุ๋ยหมักไว้ด้านหน้าสำนักงานฯ เพื่อเป็นการสื่อสารและเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรทราบว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองในไร่นาด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 มกราคม 2558

ชาวไร่ลุ้นเพิ่มค่าอ้อย ชี้900บาท/ตันต่ำเกิน

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 มกราคม 2558 จะมีการประชุมคณะทำงานพิจารณาเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2557/2558 ที่ประกาศ 900 บาทต่อตัน ซึ่งชาวไร่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าอ้อยเช่นที่เคยดำเนินการมา คือ การให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.)

“เราต้องการให้รัฐช่วยเหลือเงินค่าอ้อยให้คุ้มกับต้นทุนการผลิต ซึ่ง 900 บาทต่อตันนั้นต่ำไป เพราะต้นทุนอยู่ที่ 1,222 บาทต่อตัน แต่จะได้เท่าไหร่ก็อยู่ที่รัฐจะพิจารณา เบื้องต้นหากพิจารณาตามศักยภาพการใช้หนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายขั้นต่ำที่เคยกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อยก็จะได้ประมาณ 160 บาทต่อตัน” นายธีระชัย กล่าว

ทั้งนี้ยอมรับว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2557/2558 จะต่ำกว่า 900 บาทต่อตัน ก็จะเป็นปัญหาต่อกองทุนฯจะต้องหาเงินมาจ่ายคืนในส่วนนี้ด้วย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่รัฐจะต้องพิจาณาภาพรวมออกมา

สำหรับการเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 พบว่ามีปริมาณอ้อยหีบประมาณ 31 ล้านตันแล้ว และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ถือว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านตัน จากปริมาณพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจากรายย่อยเพิ่มขึ้น ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยล่าสุดต่ำกว่าเล็กน้อย

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมควรจะประกาศราคาอ้อยขั้นต้นและเงินช่วยเหลือให้เร็วที่สุด โดยหากเป็นไปได้ควรจะชัดเจนก่อนเปิดหีบอ้อย เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้รายย่อยได้รับราคาอ้อยส่วนเพิ่มดังกล่าว เนื่องจากการประกาศภายหลัง โดยยิ่งล่าช้าเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้รายย่อยจะไม่ได้รับเงินส่วนเพิ่มนี้ เนื่องจากหัวหน้าโควตาที่ไปรับซื้ออ้อยให้กับโรงงานจะปั่นราคาอ้อยให้ต่ำแล้วที่เหลือจะไปสร้างกำไรให้เกิดขึ้น

“ปีที่ผ่านมาๆ มาหัวหน้าโควตาอ้อยที่มีการไปรับซื้ออ้อยจากรายย่อยมาปล่อยต่อ มีการทำกำไรจากส่วนต่างนับ 100 ล้านบาท เพราะมีการประกาศเงินช่วยเหลือล่าช้า ทำให้รายย่อยไม่แน่ใจจึงต้องการปล่อยอ้อยให้ได้เงินมาก่อน” แหล่งข่าว กล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 14 มกราคม 2558

รายงานพิเศษ : ‘แกล้งดิน’หนึ่งในโครงการพระราชดำริ

‘แกล้งดิน’หนึ่งในโครงการพระราชดำริช่วยเหลือราษฎรให้ใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินได้อีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว จังหวัดนราธิวาสใต้สุดของประเทศไทย เกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องการทำมาหากินอย่างมาก เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำขังตลอดปี หรือที่เรียกว่า พื้นที่พรุ เมื่อระบายน้ำออกจะแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เพราะสารไฟไรท์ที่มีอยู่ในดินทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศและปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมามากจนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก หรือทำให้ผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงจำเป็นต้องละทิ้งที่ดินให้รกร้างเปล่าประโยชน์ กระทบต่อความเป็นอยู่

จนกระทั่งเมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคใต้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร ทรงได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2524 เพื่อเป็นศูนย์รวมกำลังของเจ้าหน้าที่ด้านเกษตรและที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการศึกษา ปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นที่พรุให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ตลอดจนด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป

นางสายหยุด เพ็ชรสุข ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง กล่าวว่า ภารกิจหลักของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง คือ การศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อหารูปแบบในการพัฒนาพื้นที่พรุเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยงานวิจัยหลักๆ คือการปรับปรุงดิน เนื่องจากดินในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจะเป็นพื้นที่ดินพรุและดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ซึ่งทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ได้ทำการศึกษา วิจัยและปรับปรุงดิน “แกล้งดิน” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริในวันที่ 16 กันยายน 2527 เกี่ยวกับเรื่องแกล้งดิน ความว่า “...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แก้ง และศึกษาวิธีการแกล้งดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว...”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองได้ดำเนินงานศึกษาทดลองอย่างต่อเนื่องในโครงการแกล้งดิน แบ่งเป็นช่วงต่างๆ ตามพระราชดำริ คือ ช่วงที่ 1 เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของดิน เปรียบเทียบระหว่างดินที่ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติกับดินที่ทำให้แห้งและเปียกสลับกัน โดยวิธีการสูบน้ำเข้า-ออก การทำดินให้แห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งให้เกิดปฏิกิริยา ดินจะเป็นกรดรุนแรง และมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช พบว่าข้าวสามารถเจริญเติบโตได้แต่ให้ผลผลิตต่ำ ช่วงที่ 2 เป็นการศึกษาช่วงระยะเวลาระหว่างการทำให้ดินแห้งและเปียกแตกต่างกัน ช่วงระยะเวลาใดที่ทำให้เกิดความเป็นกรดมากกว่า ซึ่งพบว่าการปล่อยให้ดินแห้งนานมากขึ้น ความเป็นกรดจะรุนแรงมากกว่าการให้น้ำแช่ขังดินนานๆ และการให้น้ำหมุนเวียนโดยไม่มีการระบายออกทำให้ความเป็นกรดและสารพิษสะสมในดินมากขึ้น ในการปลูกข้าวทดสอบความรุนรงของกรดพบว่าข้าวตายหลังจากปักดำได้ 1 เดือน

สำหรับช่วงที่ 3 เป็นการศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงดิน โดยใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ใช้น้ำชะล้างควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่น ใช้หินปูนฝุ่นอัตราต่ำ เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของดินหลังจากที่ปรับปรุงแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์ และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดินเปรี้ยวจัดเมื่ออยู่ในสภาพธรรมชาติ ทั้งนี้ พบว่าวิธีการใช้น้ำชะล้างดิน โดยขังน้ำไว้นาน 4 สัปดาห์ แล้วระบายออกควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่นปริมาณน้อย สามารถปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดได้เป็นอย่างดี ส่วนดินที่มีการปรับปรุงแล้วหากปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ดินกลับมาเป็นกรดจัดรุนแรงขึ้นอีก ส่วนพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดตามธรรมชาติที่ไม่มีการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดน้อยมาก โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงที่ 4 คือการศึกษาการใช้จุลินทรีย์เขามาร่วมในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัด

นางสายหยุด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาโครงการแกล้งดินตามพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง จนได้แนวทางการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดในพื้นที่นาข้าว สามารถนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรให้กลับมาทำนาได้อีกครั้ง แถมผลผลิตก็เพิ่มขึ้นหรืออาจจะเทียบเท่ากับพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาดิน ดังนั้น ต่อมาจึงได้ขยายผลไปยังพืชผัก พืชไร่ ไม้ผลชนิดต่างๆ ทำให้ปัจจุบันสภาพพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสที่เคยประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัดก็เปลี่ยนแปลงไป สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี แม้เราจะมีทฤษฎีการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดได้อย่างถาวร เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปร แต่เราสามารถปรับปรุงดินให้ดีขึ้นและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่ประสบปัญหาสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง หรือศูนย์สาขาได้ เพื่อจะได้มีที่ดินทำกินสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 14 มกราคม 2558

ชาวไร่ลุ้นเพิ่มค่าอ้อยพรุ่งนี้อีก160บาท/ตัน รับสถานการณ์โลกยังวิกฤต

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้(14 ม.ค.58) จะมีการประชุมคณะทำงานพิจารณาเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 57/58 ที่ประกาศ 900 บาทต่อตัน ซึ่งชาวไร่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าอ้อยเช่นที่เคยดำเนินการมาคือการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)

"เราต้องการให้รัฐช่วยเหลือเงินค่าอ้อยให้คุ้มกับต้นทุนการผลิต ซึ่ง 900 บาทต่อตันนั้นต่ำไป เพราะต้นทุนอยู่ที่1,222 บาทต่อตัน แต่จะได้เท่าใดก็อยู่ที่รัฐพิจารณาซึ่งเบื้องต้นหากพิจารณาตามศักยภาพการใช้หนี้ของกองทุนอ้อยฯขั้นต่ำที่เคยกู้เพื่อเพิ่มค่าอ้อยก็จะได้ประมาณ 160 บาทต่อตัน"นายธีระชัยกล่าว            

ทั้งนี้ ยอมรับว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 15 เซนต์ต่อปอนด์ซึ่งมีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 57/58 จะต่ำกว่า 900 บาทต่อตันซึ่งก็จะเป็นปัญหาต่อกองทุนฯจะต้องหาเงินมาจ่ายคืนในส่วนนี้ด้วย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่รัฐจะต้องพิจาณาภาพรวมออกมา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

อินเดียเวียดนามตีตลาดไทยในอียู

ประเทศเพื่อนบ้านสบช่องไทยถูกตัดจีเอสพี นำสินค้าตีสินค้าไทยในตลาดอียู กว่า 3 หมื่นล้านบาท กระทบจีดีพีทั้งปี 0.38% สับปะรดหนักสุด

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากการที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรป (อียู)15ประเทศ ในสินค้าไทยทุกชนิดกว่า6,200รายการว่า ตั้งแต่ปี 58 ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกไปกลุ่มประเทศยุโรปต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,375 ล้านบาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้ความสามารถการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดยุโรปลดลง และคาดว่ามูลค่าส่งออกไทยไปยุโรปในปี 58 มีมูลค่า 21,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากปีก่อน 0.3% ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี

“ผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพี ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังอียูหายไป848 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 28,400 ล้านบาท และกระทบต่อจีดีพี0.36% ซึ่งหากรวมการถูกตัดสิทธิจีเอสพีในแคนาดา และตุรกี เข้าไปด้วยจะทำให้มูลค่าส่งออกลดลงรวม943ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 31,500 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี0.40%โดยมูลค่าการส่งออกที่ลดลงนั้น พบว่าผู้ค้าจากอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้ามาแย่งตลาดแทนและอาจแย่งส่วนแบ่งมากขึ้น หากสินค้าไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้”

สำหรับสินค้าที่อียูหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้เปรียบราคาแทน หลังจากไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี เช่น สับปะรด ได้รับผลกระทบ 60 ล้านดอลลาร์, ของปรุงแต่งจากกุ้ง 33.4 ล้านดอลลาร์, ยานยนต์ 20.8 ล้านดอลลาร์, กุ้งสดและแช่แข็ง, 20.2 ล้านดอลลาร์, ปลาหมึกแช่แข็ง, 17.7 ล้านดอลลาร์, ยางนอกรถยนต์ 12.2 ล้านดอลลาร์, ถุงมือยาง 11 ล้านดอลลาร์, เลนส์แว่นตา 9.3 ล้านดอลลาร์, เครื่องปรับอากาศ 9.3 ล้านดอลลาร์, รองเท้า 6.6 ล้านดอลลาร์ และ อื่น ๆ อีก 49 ล้านดอลลาร์

ด้านการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปนอกจากจะประสบปัญหาเรื่องของการถูกตัดสิทธิจีเอส พีแล้วก็ได้รับผลกระทบจากตลาดยุโรปประสบปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจและค่าเงิน บาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรสูงสุดในรอบ19เดือนด้วย

ส่วนแนวทางการปรับตัว และเตรียมรับมือกับการตัดสิทธิจีเอสพีนั้น ไทยควรเร่งใช้สิทธิจากข้อตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) ต่าง ๆ ในอาเซียนให้มากขึ้น และควรย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ นอกจากนี้ ควรต้องเร่งหาแนวทางกลยุทธ์ปรับตัวเช่น การหานวัตกรรมใหม่ และพยายามลดต้นทุน เพื่อเพิ่มมูลค่า และคุณภาพให้แก่สินค้า และควรเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ทดแทนตลาดอียู เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเร่งหาโอกาสเจรจากับอียู เพื่อผลักดันเอฟทีเอ หรือเจรจาให้อียูคงสิทธิจีเอสพีให้ในบางสินค้า

นายอัทธ์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าไทยภาพรวมในปี 58 สดใสกว่าปี 57 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.0-4.9% มูลค่า 229,866-238,923 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโอกาสที่น่าจะเป็นมากที่สุดคือ ขยายตัวได้ 3.1% มูลค่า 234,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 57 ที่คาดว่าจะติดลบ 0.4%

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายตลาดจะพบว่า ตลาดสหรัฐคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 57 เป็น 4.2% ในปี 58 หรือมีมูลค่า 24,802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ปีนี้เป็น 3.1% ส่วนตลาดอียู ส่งออกติดลบ 0.3% มี ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นคาดว่าจะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยติดลบ 0.5% มูลค่า 21,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2/57 จากการปรับเพิ่มภาษี ขณะที่ตลาดอาเซียนเดิม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% มูลค่า 40,591 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากหดตัว 2.9% ในปี 57 เนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ขยายตัวดีขึ้น

“ในภาพรวมแม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว ไทยไม่ได้เปรียบมากนัก เนื่องจากยังอ่อนค่าน้อยกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น ทั้งนี้ มองว่า เงินบาทที่ระดับเฉลี่ย 35-36 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

ปุ๋ยนาโนโม้หรือจริง

มีคนถามมาทุกๆวันเรื่องปุ๋ยนาโนทั้งหลาย และชวนขายอีกต่างหาก บอกว่าเป็นนวัตกรรมที่สุดยอด ผมบอกเลยครับว่า...ขี้โม้!! ไม่มีปุ๋ยใดๆในโลกเป็นตามสรรพคุณที่ว่าเพิ่มผลผลิต8-10เท่า ใส่แค่1แคบซูลต่อไร่ ปุ๋ยคือธาตุอาหารของพืชที่ใช้ในการเจริญเติบโต

ปุ๋ย1แคปซุลมันทดแทนไม่ได้ต่อให้พระอินทร์เป็นผู้ผลิต และที่สำคัญโฆษณาเสียด้วยว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในเมื่อคุณมีกระบวนการทางเคมีในการสกัดมันจะเรียกว่าอินทรีย์อย่างไร

ขี้ไส้เดือนเสียอีกที่เรียกว่าปุ๋ยอินทรีย์เป็นการปั่นราคาในระบบขายตรง เพื่อหาสมาชิก แน่จริงคนขายมาทดลองกับสวนผมไหมเอาแบบงานวิจัยจดสถิติกันพวกนี้มันหลอกเกษตรกรครับผมไม่เชื่อเด็ดขาด

มีเกษตรกรหลายคนถูกหลอกเพราะคำโฆษณาเกินจริงแบบนี้

ถ้า ปุ๋ยที่มีคุณขนาดนั้น ถ้ามีจริงบริษัทใหญ่ ๆ ที่ขายปุ๋ยคงเจ๊งหมดเป็นการหลอกลวงเกษตรกรที่โจ๋งครึ่มมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา1 เม็ดแคปซูลเท่ากับ ปุ๋ยเกรด เอ 2 กระสอบ(100 กก.)

.... เขาบอกว่าไม่เปลืองแรงงานแบกกระสอบปุ๋ย แค่เอาใส่กระเป๋าเสื้อก็ได้แล้ว ขาย ปุ๋ย แคปซูลละ 100 บาท สรรพคุณแบบว่าครอบจักรวาลเลย ทั้งกันทั้งฆ่าหญ้าและแมลง เดี๋ยวนี้มันหากินกันง่ายจริง สงสารพวกชาวนาที่หลงเชื่อ

เคย มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายตรงบริษัทหนึ่ง ขายจุลินทรีย์บรรจุขวดพลาสติกด้วยครับ ขวดขนาดครึ่งลิตร ขายขวดละ 4,200 บาท ระบุที่ข้างขวดว่าให้ใช้จุลินทรีย์เพียงครั้งละ 5 กรัมในการผลิตปุ๋ยหมัก 1 ตัน วิธีการคือให้เอาเศษพืชมา เอามูลสัตว์ใส่เข้าไป เอาจุลินทรีย์ใส่เข้าไป 5 กรัม รดน้ำ แล้วพลิกกลับกองบ่อย ๆ ก็จะได้ปุ๋ยหมัก จริงแล้วเราทำปุ๋ยหมักธรรมดาหมั่นกลับกองปุ๋ยก็ได้ปุ๋ยเหมือนกันไม่เห็นต้อง ซื้อจุลินทรีย์บ้าบอคอแตกอะไรเลย

…กรรมของไทยที่ใช้ทีวีดาวเทียมโฆษณาหากินกับเยื่อที่เป็นเกษตรกรหาเช้ากินค่ำ..

ข้อมูล: เรียนเกษตรง่ายๆกับครูชาตรี

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

บาทแข็งค่าเล็กน้อย หลังสหรัฐเริ่มไม่แน่ใจเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันจันทร์ที่ 12 มกราคม 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.84/32.86 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (9/1) ที่ระดับ 32.87/89 บาท/ดอลลาร์ ในคืนวันศุกร์ (9/1) กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 252,000 รายในเดือนธันวาคม ปี 2557 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง 0.2% สู่ระดับ 5.6% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง โดยตัวเลขทั้งสองดังกล่าวถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 240,000 ราย และการจ้างงานจะร่วงลงสู่แค่ระดับ 5.7% อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์กลับถูกขายทำกำไรและอ่อนค่าลงเล็กน้อยเนื่องจากนักลงทุนกังวลถึงตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของแรงงานที่ลดลง 0.2% ในเดือนธันวาคม โดยเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากตัวเลขราคาน้ำมันที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณว่ากลุ่มประเทศโอเปกจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมัน เพื่อแก้ปัญหาการลดลงของราคาน้ำมันดิบแต่อย่างใด โดยล่าสุดทางประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยืนว่าจะยังคงสามารถรับสภาพกับราคาน้ำมันดิบในตลาดปัจจุบันได้อีกนานมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันทำให้นักวิเคราะห์ต่างมองว่าอาจส่งผลกระบต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงสหรัฐ ซึ่งนายนารายานา โคเซอร์ลาโคตา ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินเนอาโพลิส และนายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกได้ออกมาแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ถึงแม้ตัวเลขตลาดแรงงานจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแต่ในขณะนี้แนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐยังน่าเป็นกังวลและสหรัฐอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้จนกว่าจะถึงปี 2561 ดังนั้นสหรัฐยังไม่ควรที่จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้สำหรับค่าเงินบาท วันนี้ (12/1) เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค โดยกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันอยู่ที่ 32.83-32.88 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.86/88 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1866/68 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (9/1) ที่ 1.1815/17 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาในช่วงคืนวันศุกร์ (9/1) จากแรงเทขายทำกำไรเงินดอลลาร์เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังอัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวลดลง โดยค่าเงินยูโรสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นมา และแข็งค่าที่สุดในวันนี้ (12/1) ที่ 1.1870 ดอลลาร์/ยูโร โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 9 ปี ในวันพฤหัสบดี (9/1) ที่ 1.1755 ดอลลาร์/ยูโร อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรได้ทยอยอ่อนค่าในช่วงบ่ายวันนี้ (12/1) หลังถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายของอีซีบีพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 22 มกราคมที่จะถึงนี้ เพื่อยุติภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานและล่าสุดประสบภาวะเงินฝืดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซนยังอยู่ในภาวะชะงักงัน ล่าสุดในวันศุกร์ (9/1) สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของยูโรโซนปรับตัวลดลง 0.3% ในเดือนพฤศจิกายน และยอดการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายนของเยอรมนีได้ปรับตัวลดลง 0.1% จากสถิติเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสามเดือน โดยตัวเลขทั้งสองล้วนต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้และถือเป็นการสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ตกต่ำของยุโรป ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.1804-1.1870 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1822/25 ดอลลาร์/ยูโร

ส่วนของค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดทที่ระดับ 118.30/35 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (9/1) ที่ 119.30/32 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากแรงขายเงินดอลลาร์ในช่วงคืนวันศุกร์ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อเงินสกุลปลอดภัยหลังจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการลดลงของราคาน้ำมันและข่าวความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในกรีซ ซึ่งอาจทำให้ประเทศต้องถอนตัวออกจากกลุ่มยูโรโซน นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเติบโต 1.5% ในปีงบประมาณ 2558 โดยตัวเลขนี้ปรับขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 1.4% หลังจากรัฐบาลปรับเลื่อนเวลาในการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปจากกำหนดการเดิม และสำหรับปีงบประมาณ 2557 คาดว่าเศรษฐกิจอาจจะหดตัว 0.5% ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 1.2% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 118.08-118.90 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 118.75/76 เยน/ดอลลาร์

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตของอังกฤษ (13/1) ดัชนีราคาผู้บริโภคของฝรั่งเศส อิตาลี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรป ยอดค้าปลีกของสหรัฐ (14/1) ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้ผลิตและผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของสหรัฐ (15/1) ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนียูโรโซนและสหรัฐ (16/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.9/6.1 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +9/12 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 12 มกราคม 2558

พาณิชย์เล็งออกตรารับรองบรรจุเต็มน้ำหนัก สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อสินค้า

นายจรินทร สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมมีแผนงานที่จะจัดทำใบตราสัญลักษณ์รับรองปริมาณบรรจุสินค้าหีบห่อ แก่ผู้ผลิตสินค้าหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานของหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ทั้งด้านปริมาณสินค้าและน้ำหนักที่ครบถ้วน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าสินค้าบางชนิดที่อยู่ในหีบห่อมีปริมาณจำนวนไม่ครบหรือน้ำหนักไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ จนสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ซื้อสินค้า โดยได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมการค้าภายในแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายปี 2558

นายจรินทรกล่าวว่า โดยตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานหีบห่อจะนำไปติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์เหมือนกับเครื่องหมาย อ.ย., รายละเอียดส่วนประกอบสินค้า, เครื่องหมายฮาลาล เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ได้รับฉลากจะผ่านการตรวจสอบปริมาณการชั่ง ตวง วัดที่มีมาตรฐานจากกรม เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำหนักและปริมาณสินค้าจะไม่ขาดตามที่โฆษณาไว้ ในส่วนของการตรวจสอบเครื่องชั่งสปริงตามตลาดสด พบว่ามีการร้องเรียนปริมาณน้ำหนักไม่ครบลดลง เนื่องจากกรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและให้ความรู้ทั้งผู้บริโภคและแม่ค้าถึงความเป็นธรรมในการซื้อขายสินค้า โดยเมื่อได้รับร้องเรียน กรมจะยึดเครื่องชั่งเก่าและให้พ่อค้าซื้อเครื่องใหม่ทันที

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 12 มกราคม 2558

กสร.เร่งทำแผนแก้ปัญหาใช้แรงงานเด็ก-บังคับ กลุ่มสินค้า 4 รายการ 

นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการติดตามและรวบรวมข้อมูลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ว่า ที่ประชุมได้แบ่งคณะทำงานออกเป็น 3 ชุดติดตามรายการสินค้าที่ถูกกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา กล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ คือ อ้อย เครื่องนุ่งห่ม กุ้งและปลา โดยเน้นเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลแรงงานเด็กและเด็กทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่สหรัฐฯย้ำให้จัดทำ เพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังให้แต่ละคณะไปจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาในแต่ละสินค้าเพื่อมาเป็นแนวทางในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นการสำรวจข้อมูล การบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดี และการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานตามแผน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่สำคัญภาคเอกชนต้องให้ความร่วมมือด้วยการตรวจสอบสายห่วงโซ่การผลิตของตัวเองเพื่อขจัดเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ       

         นายพีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงสถานการณ์การแก้ปัญหาแรงงานเด็ก ซึ่งในปี 2556 ไทยถูกสหรัฐฯปรับลดลงมาจากปี 2555 ที่อยู่ในระดับดี เป็นระดับปานกลาง เนื่องจากมีการดำเนินโครงการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาน้อยลง แต่ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบด้านการส่งออกสินค้า ส่วนในปี 2557 ที่ผ่านมานั้น คาดว่า สถานการณ์น่าจะอยู่ในระดับดีขึ้น เนื่องจากมีการออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อคุ้มครองแรงงานประมงทะเลที่มีผลบังใช้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 และกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองแรงงานด้านเกษตรที่มีบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 12 มกราคม 2558

นํ้ามันขาลงไม่ได้มีแต่บวก พลังงานทดแทนอุตฯเกี่ยวเนื่องสะเทือน

ลุ้นกันรายวัน! สำหรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ล่าสุด 5 มกราคม ที่ผ่านมา เพิ่งทุบสถิติใหม่อีกครั้ง เมื่อราคาน้ำมันดิบดูไบลงไปอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 5-6 ปี  และในแวดวงพลังงานยังคาดการณ์ต่อไปอีกว่า จะมีโอกาสร่วงแตะถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลภายใน 5-6 เดือนนับจากนี้ ก่อนที่ราคาจะค่อยๆกระดกหัวขึ้นมาได้ในครึ่งปีหลังพร้อมกับการข้ามผ่านราคาน้ำมันที่ไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว 

    ปรากฏการณ์ราคาน้ำมันร่วงกราวรูด เริ่มต้นจากที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกไม่ขยายตัวเท่าที่ควร  ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไม่เติบโตตาม ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบน้ำมันในชั้นหินดินดานหรือเชลล์ออยล์ ออกมาได้มากที่สุดในรอบ 30 ปี หรือในปริมาณ 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้อเมริกาในฐานะผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น และลดปริมาณนำเข้าลง  ทำเอาประเทศผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกต้องตั้งโต๊ะประชุมด่วนเพื่อหาทางออก ก่อนที่จะมีฉันทามติเป็นเอกฉันท์ว่า จะไม่ลดกำลังผลิตน้ำมันดิบ เพื่อรักษาสัดส่วนตลาด  ไม่ให้ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกฉวยโอกาสชิงส่วนแบ่งตลาดไปได้ในภาวะคับขัน

    altนอกจากนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจในยุโรปไม่กระเตื้อง  จึงส่งผลกระทบลามไปถึงรัสเซียในฐานะผู้ซัพพอร์ตน้ำมันดิบรายใหญ่ให้กับประเทศในกลุ่มยุโรป ฉุดเศรษฐกิจในรัสเซียทรุดตัวลงตามไปด้วย  ดูจากที่ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงไปแล้วราว 50%   เนื่องจากเศรษฐกิจรัสเซีย 70% ยังต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันดิบ ขณะที่เศรษฐกิจในจีนและญี่ปุ่นก็มีอัตราเติบโตที่ลดลง   ทำให้ปริมาณผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลกมีกำลังผลิตมากกว่าความต้องการใช้  สะท้อนถึงราคาน้ำมันดิบขาลงนับแต่กลางปี 2557 จนมาถึงทุกวันนี้

-กระทบแผนพลังงานทดแทน

    จากผลที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศถูกลงแล้ว  ยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในแง่ต้นทุนภาคการผลิตและต้นทุนภาคโลจิสติกส์ถูกลง  สะท้อนถึงราคาสินค้าเมื่อถึงมือผู้บริโภคปลายทาง

    แต่ถ้ามองอีกมุมก็เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมบางสาขาเช่นกัน รวมถึงกระทบต่อแผนอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทน ที่กำลังลามไปถึงพืชเกษตรอีกหลายกลุ่มที่มีบทบาทในตลาดโลกโดยเฉพาะยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง 

    สอดคล้องกับที่ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า ภาพรวมราคาน้ำมันตลาดโลกในปี 2558 ยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของปี เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีนัก ซึ่งราคาที่ต่ำจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของไทย แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ จะมีผลกระทบต่อแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการใช้เอทานอลและไบโอดีเซล ให้ลดต่ำลงได้เช่นกัน

    เช่นเดียวกับที่นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือสนพ. กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ส่งผลลบต่อธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเอทานอลและไบโอดีเซลที่ใช้ผสมในเนื้อน้ำมัน เพราะปัจจุบันมีต้นทุนสูงกว่าน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น ดังนั้นการส่งเสริมจากทางภาครัฐอาจต้องลงมาช่วยมากขึ้น ซึ่งแนวทางของกระทรวงพลังงานต้องการส่งเสริมให้ต้นทุนพลังงานทดแทนลดลง สามารถแข่งขันกับน้ำมันได้

-ชาวไร่-รง.น้ำตาลทำใจราคาร่วงตาม

    ไม่ต่างกับที่กลุ่มโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยออกมาแสดงความเห็นตรงกันว่า ราคาน้ำมันผันผวนแรงในขณะนี้ยิ่งหนุนให้บราซิลในฐานะผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลรายใหญ่ และเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 1 ของโลก  หันไปนำอ้อยผลิตน้ำตาลมากขึ้น เนื่องจากราคาเอทานอลที่นำไปผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ไม่จูงใจ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกมากขึ้น ยิ่งกดให้ราคาน้ำตาลในตลาดต่ำลงหลายเดือนติดต่อกันมาและแนวโน้มราคาขาลงไปตลอดไตรมาสแรกปีนี้   สุดท้ายกระทบถึงต้นทางคือ ราคามันสำปะหลังและโดยเฉพาะราคาอ้อยที่คาดว่า ราคาขั้นปลายที่จะประกาศในเดือนตุลาคม นี้ไต่ไม่ถึง 900 บาทต่อตันแน่นอน ถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล  รองนายกรัฐมนตรียังแสดงข้อกังวลในประเด็นการปรับลดของราคาน้ำมันโลกก่อนหน้านี้ว่า  แม้จะส่งผลดีทำให้การบริโภคภายในประเทศปรับสูงขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงที่ถูกลงแต่ก็เป็นดาบสองคมที่อาจกระทบต่อราคาสินค้าบางกลุ่มในตลาดโลกเช่น โลหะเหล็ก ถั่วเหลือง หรือกรณีของยางเทียม(ยางสังเคราะห์)ที่จะฉุดให้ราคายางพาราไปไม่สูงขึ้นมาก รวมถึงข้าวสาลีเพราะหากราคาปรับลงราคาข้าวก็จะปรับลงด้วยเช่นกัน

-นักวิชาการมองบวกมากกว่าลบ

    ขณะที่ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงานสะท้อนภาพไปในทิศทางบวกว่า   การที่ราคาน้ำมันร่วงลงมาต่อเนื่อง จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเริ่มตั้งแต่ 1.ไม่ต้องสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศเพื่อนำเข้าน้ำมันและก๊าซ เป็นเงินนับแสนล้านบาทต่อปี  2.ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด(ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรมองว่าราคาพลังงานยังมีทิศทางผ่อนคลายจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างพลังงานในประเทศต่อระดับเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2558 ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำด้วยกรอบคาดการณ์ประมาณ 1.0-2.2% หรือมีค่าเฉลี่ยที่1.5%)  3.ต้นทุนในภาคการผลิตและโลจิสติกส์ลดลง  สุดท้ายสะท้อนถึงเงินในกระเป๋าประชาชนมีเหลือมากขึ้น

    นอกจากนี้ยังฉายภาพอีกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันผันผวนครั้งนี้ จะเกิดกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากกว่า  เพราะหากราคาน้ำมันแตะลงถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วง 5-6 เดือนจากนี้ไป ราคาดังกล่าวถือเป็นต้นทุนที่ต่ำสุดของราคาน้ำมันในตลาดโลก อาจทำให้แหล่งผลิตน้ำมันหลายหลุมทั้งในและนอกประเทศกลุ่มโอเปก ต้องปิดหรือหยุดไปเพราะมีต้นทุนสูง ขณะที่ประเทศรัสเซีย อิหร่าน ไนจีเรียและเวเนซุเอลา น่าจะได้รับผลกระทบมาก เพราะพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก  ขณะที่บางประเทศในกลุ่มโอเปก เศรษฐกิจไม่ได้พึ่งพาการส่งออกน้ำมันมาก ก็ไม่กระทบ หรือบางประเทศแม้ได้รับผลกระทบ แต่ยังสามารถใช้เงินสำรองที่มีอยู่สูงนำมาใช้จ่ายได้  เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย

-โรงกลั่น /ผู้ค้าขาดทุนจากสต๊อก

    ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มองว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงต่อเนื่องย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทยเพราะเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงาน ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือโอเปก ย่อมเสียผลประโยชน์เพราะมีรายได้จากการขายลดลง  และกลุ่มธุรกิจขุดเจาะสำรวจได้รับผลกระทบมากสุด ส่วนกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าน้ำมันก็ได้รับผลกระทบจากภาวะขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันเช่นกัน แต่กลุ่มโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันจะกระทบในช่วงแรกหรือประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น เพราะซื้อน้ำมันราคาแพงแต่มาขายในราคาที่ต่ำลง แต่เมื่อราคาน้ำมันเริ่มนิ่ง ก็จะไม่ขาดทุน

    ประมวลภาพโดยรวมแล้ว การที่ราคาน้ำมันผันผวนแรงในขณะนี้ ประชาชนผู้บริโภคน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด จากค่าครองชีพที่ลดลง เริ่มจากที่มีการปรับลดค่าโดยสารปรับอากาศกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดกิโลเมตรละ 50 สต.  , บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบปรับลดระยะละ 1 บาท   และปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เดือนมกราคม-เมษายน 2558 10.04 สต./หน่วย ก่อนหน้านี้  ยังไม่รวมถึงการลดราคาสินค้าบางรายการที่อาจเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายใน ไปวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการผลิตสินค้าใหม่ทั้งหมด  จากที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับลดลงไปแล้วเกือบ 4 บาทต่อลิตร

    ขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศอาจจะตกหลุมอากาศไปชั่วขณะ  ส่วนพืชเกษตรสำคัญเช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง  ซึ่งเป็นพืชพลังงานสำคัญ  ยังถูกกำหนดโดยราคาน้ำมันเป็นตัววัด สุดท้ายแล้วราคาจะไต่ระดับลงไปแตะถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่านี้ตามที่มีการพยากรณ์กันไว้ล่วงหน้าหรือไม่! ถือเป็นดาบสองคมที่ยังต้องจับตาดูต่อไปแบบไม่กะพริบตา!

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 มกราคม 2558

เพิ่มราคาสินค้าเกษตร...ความท้าทายรัฐบาลเร่งแก้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง ภาคเกษตรของไทย ในปี 2558 อาจมีทิศทางขยายตัวในกรอบจำกัดที่ราว 2.5-3.0% เทียบกับที่คาดว่าอาจขยายตัว 2.5% ในปี 2557 แรงหนุนสำคัญมาจากสาขาพืช ปศุสัตว์ และประมงที่อาจฟื้นตัวขึ้น ในส่วนของแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรไทยคาดว่า อาจยังคงเผชิญแรงกดดันด้านราคาต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าว และยางพารา ซึ่งผันแปรตามทิศทางของภาวะตลาดโลกที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และผลของอุปทานโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเร่งยกระดับภาคเกษตรทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเน้นไปที่ส่วนของต้นน้ำให้แข็งแรง โดยเฉพาะในส่วนนโยบายของภาครัฐ ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการด้านอุปทานอย่างมีระบบ และด้านการตลาด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้    

ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลงในช่วงปี 2556-2557 ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาพรวมการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญหลายรายการของไทย ให้มีทิศทางที่ไม่สดใสนัก จากปัจจัยกดดันสำคัญด้านราคา จึงนับเป็นความท้าทายของไทย ที่อาจต้องเร่งปรับตัวด้านการบริหารจัดการอุปทานที่จะออกสู่ตลาด ตลอดจนด้านการทำตลาด อันจะเป็นการผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรไทย บนย่างก้าวที่สินค้าเกษตรไทยยังคงมีศักยภาพ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2558 คาดการณ์ว่าอาจมีความเสี่ยงในหลายภูมิภาคที่ยังคงต้องจับตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่มีต่อสินค้าเกษตรของไทยได้

จีดีพีภาคเกษตรขยายตัว

จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 ที่เผชิญความท้าทายหลายด้าน ล้วนส่งผลกระทบต่อหลายภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่แม้จะมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคเกษตรเพียงร้อยละ 8.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2556 แต่ภาคเกษตรสามารถสร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศคิดเป็นหลักหลายแสนล้านบาทต่อปี จึงนับว่าภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อีกทั้งเกษตรกรรมยังเป็นอาชีพพื้นฐานของคนไทยส่วนใหญ่ โดยแรงงานในภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมดของไทย และยังสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลาย จึงเห็นได้ว่าภาคเกษตรจะยังคงมีบทบาทสำคัญ ทั้งในส่วนที่ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ รวมทั้งการส่งออกผลิตภัณฑ์ และสินค้าอันเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร   

  ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีอัตราการขยายตัว 2.4% (YoY) โดยแรงหนุนสำคัญมาจากสาขาพืช ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา และสาขาปศุสัตว์ ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ส่วนสาขาประมงยังคงหดตัว จากกุ้งที่เผชิญสถานการณ์โรคตายด่วน (EMS) ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งภาพในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทยในปี 2557 อาจขยายตัวราว 2.5% (YoY)

หากพิจารณาเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญของไทย ในรายสาขาพืช พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 116.0 หรือเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 143.6 หรือลดลง 15.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 2557 มีทิศทางการปรับตัวลง ซึ่งแรงฉุดสำคัญมาจากกลุ่มสินค้าเกษตรหลักของไทยอย่างข้าว และยางพารา ที่มีการปรับตัวของราคาลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 จากปัจจัยท้าทายด้านอุปทานในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนอุปสงค์โลกที่ยังคงซบเซา ล้วนส่งผลกดดันราคาข้าว และยางพารา ให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2557

ยังคงเผชิญแรงกดดันด้านราคา

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทย ในปี 2558 อาจมีทิศทางขยายตัวในกรอบจำกัดที่ราว 2.5-3.0% แรงหนุนสำคัญมาจากสาขาพืช ปศุสัตว์ และประมงที่คาดว่าอาจฟื้นตัวดีขึ้นจากปัญหาโรคระบาด EMS ในกุ้งที่น่าจะทยอยคลี่คลาย ซึ่งหากพิจารณาในรายสาขาพืช คาดว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว ทั้งตลาดภายในประเทศ จากความต้องการที่มีรองรับ รวมถึงในส่วนของภาคการส่งออก จากความต้องการสินค้าเกษตรไทยในตลาดต่างประเทศที่ยังมีอยู่ แม้จะมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาคที่ยังคงต้องจับตา อีกทั้ง ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญของโลก

    ทั้งนี้ หากพิจารณาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่นับว่ามีบทบาททางเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญที่ยังคงต้องจับตา คือ ปัจจัยด้านราคา ที่อาจส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มราคาส่งออกอาจให้ภาพของแรงกดดันที่ต่อเนื่องจนถึงปี 2558 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงกดดันด้านราคาคงมาจากผลทั้งด้านอุปทานโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ประเทศผู้ส่งออกสำคัญของโลกทั้งรายเก่าและรายใหม่เร่งทำการผลิต ตลอดจนขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง) และผลด้านอุปสงค์โลกที่ซบเซา (คาดว่าเศรษฐกิจโลกอาจยังให้ภาพการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจนนัก ส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าหลักของไทย) ล้วนส่งผลให้ภาพรวมของราคาส่งออกสินค้าเกษตรไทยมีทิศทางที่ไม่สดใสนัก

ข้าว ยางพารา ปัญหาท้าทายต้องแก้

     สินค้าที่ยังปรับตัวในกรอบจำกัด จากปัจจัยท้าทายด้านอุปทานเป็นหลัก คือ ข้าว ยางพารา คงต้องยอมรับว่า แม้สินค้าเกษตรไทยจะมีบทบาทในการสร้างรายได้จากการส่งออกได้จำนวนมากแต่หากหันกลับมามองชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยก็ยังคงมีรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำ และเมื่อผนวกกับแนวโน้มแรงกดดันด้านราคา ก็อาจยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไทย

    ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเร่งยกระดับภาคเกษตรทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในส่วนของต้นน้ำให้แข็งแรง ซึ่งในส่วนของภาครัฐได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรไว้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาครัฐก็ได้อยู่ระหว่างดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับภาคเกษตรบ้างแล้ว

 ด้านการบริหารจัดการอุปทาน อาทิ การจัดโซนนิ่งพืชเกษตรสำคัญ การให้เงินชดเชยเกษตรกรในการโค่นต้นยางเพื่อไปปลูกพืชอื่น การสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ตลอดจนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่ชุมชน/องค์กรภาคเกษตร ในการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน เป็นต้น

   ด้านการตลาด ทั้งในส่วนของการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G-to-G) และการเร่งขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่องในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ท่ามกลางภาวะที่แนวโน้มความต้องการซื้อมากขึ้น ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรมีจำกัด หากไทยสามารถบริหารจัดการพื้นที่ที่มีจำกัดได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการบริหารจัดการแบบมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับสินค้าเกษตร ก็จะทำให้เกษตรไทยก้าวหน้า และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ต้องยอมรับว่า “ภาคเกษตร” ก็เป็นหนึ่งในภาคการผลิตของไทยที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงภาคเกษตรจะขยายตัว แต่หากพิจารณาดัชนีราคาสินค้าเกษตร พบว่า มีทิศทางการปรับตัวที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 ซึ่งแรงฉุดราคาดังกล่าว มาจากสินค้าเกษตรส่งออกหลักของไทยอย่างข้าว และยางพารา ที่เผชิญความท้าทายด้านราคาตามภาวะตลาดโลก

 หรับในปี 2558 ภาพรวมสินค้าเกษตรหลักของไทย อาจมีทิศทางการขยายตัวในกรอบจำกัด ตามภาวะตลาดโลกที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และผลทางด้านอุปทานโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งทิศทางการอ่อนตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ล้วนส่งผลกดดันราคา ซึ่งคาดว่าสินค้าเกษตรที่อาจปรับตัวได้ในกรอบจำกัด คือ ข้าว และยางพารา ขณะที่สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีคือ มันสำปะหลัง โดยมีแนวโน้มการขยายตัว จากความต้องการของจีนที่ยังมีรองรับ เพื่อนำไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพลังงานทดแทนอย่างเอทานอล    

     ท้ายสุด หากหันกลับมามองชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยที่ยังคงมีรายได้อยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและบริการ อาทิ ยอดขายรถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับภาคเกษตรทั้งระบบ ตลอดจนด้านการตลาด อันจะเป็นการผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรไทย บนย่างก้าวที่สินค้าเกษตรไทยยังคงมีศักยภาพ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังคงบทบาทในฐานะอาชีพพื้นฐานของไทยต่อไป

                              ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 12 มกราคม 2558

สศก.มองโลกสวย เกษตรไทยเบอร์หนึ่งเออีซี

เกษตรไทยสู้ได้แค่ไหน

“สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ศึกษาภาพรวมรายประเทศของสมาชิกอาเซียน ไทยยังคงอยู่อันดับต้นๆ การผลิตสินค้าเกษตร แต่ต้องสูญเสียตำแหน่งหลักในการส่งออกข้าว เพราะรัฐบาลเพื่อนบ้านให้ความสำคัญทุ่มงบประมาณลงไปไม่อั้นจึงประสบความสำเร็จ” นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สศก. บอกว่า เวียดนาม เป็นประเทศที่ต้องจับตา เพราะพื้นที่ปลูกข้าว 70% อยู่ในเขตชลประทาน ที่เหลืออีก 30% เป็นพื้นที่มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี จึงทำให้เวียดนามเปลี่ยนฐานะจากประเทศผู้นำเข้าข้าวเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

แต่ข้าวพันธุ์ดีอย่างหอมมะลิยังสู้เราไม่ได้...ส่วนสินค้าเกษตรส่งออกอื่นๆ พริกไทย กาแฟ ยาง พารา ชา สัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากทะเล เวียดนามยังขาดการใช้เทคโนโลยีที่ดีและเหมาะสม

อินโดนีเซีย มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อการปลูกข้าว ผลผลิตมีมากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน แต่ประชากรมีมากจึงไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ยังต้องนำเข้า

มาเลเซีย ไม่น่าห่วงเพราะพื้นที่การเกษตรน้อย แต่ชนะไทยได้ในเรื่องเป็นผู้นำการผลิตและกำหนดมาตรฐานสินค้าฮาลาล ปาล์มน้ำมันและการแปรรูปยางพาราเป็นถุงมือยาง

ฟิลิปปินส์ มีพื้นที่ทำการเกษตร 20% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ประสบภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ผลผลิตไม่พอต่อการบริโภคต้องนำเข้าสินค้าอาหารจากไทย

สปป.ลาว การผลิต เป็นแบบเพื่อเลี้ยงชีพผลผลิตต่อไร่ต่ำ แต่รัฐบาล ให้สัมปทานต่างชาติลงทุนด้านการเกษตรปลูกพืช เศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด ยางพารา และกาแฟ ที่อาจจะมาเป็นคู่แข่งเราได้ในอนาคต

เมียนมาร์ การผลิตสินค้าบริโภคภายในส่งออกได้เฉพาะส่วนเกิน เช่น ข้าว ถั่วต่างๆ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สินค้าประมง และปศุสัตว์ แต่การผลิตใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ยังขาดเทคโนโลยีการผลิตจึงไม่ใช่คู่แข่งของไทย

กัมพูชา ใช้แรงคนและสัตว์ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าไทย ผลผลิตยังมีไม่มาก จะมีบ้างก็เป็นพวกมะม่วงแก้วขมิ้นที่เข้ามาตีตลาดไทย...ส่วน สิงคโปร์ และ บรูไน คงไม่ต้องมอง เพราะมีพื้นที่นิดเดียว และไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ผลิตด้านการเกษตรเหมือนอย่างไทย

สรุปสุดท้ายเมื่อเข้าสู่เออีซี เลขาธิการ สศก.มั่นใจว่าไทยยังครองความเป็นเจ้าใหญ่ของภาคเกษตร แต่ต้องระวังในเรื่องการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้าให้ดี ไม่เช่นนั้น ประเทศผู้บริโภคอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา อาจจะหันหน้าไปหนุนเพื่อนบ้านให้ทำลายไทยลงได้.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 12 มกราคม 2558

กรมโรงงานฯปฏิรูปการใช้ประโยชน์จากกากของเสีย

กรมโรงงานฯ จับมือผู้ประกอบการหันมาใช้ประโยชน์กากของเสียเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

นายชัยอนันต์ อรุณฤกษ์ดีกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีการกำจัดและการจัดการกากอุตสาหกรรม สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมกรมโรงงานอุตสาหกรรม (คนกลาง) พร้อมผู้ประกอบการกว่า 60 ราย ร่วมลงนามในพิธีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กากของเสีย ประจำปีงบประมาณ 2558 กิจกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากของเสียสู่การพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างบูรณาการ

ผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักเลขานุการ กรมโรงงานอุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ 02-202-4014 หรือ www.diw.go.th

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 10 มกราคม 2558

นายกรัฐมนตรีระบุการแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรให้ยั่งยืน ต้องสร้างความรู้ให้กับเกษตรกร

นายกรัฐมนตรีระบุการแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตรให้ยั่งยืน ต้องสร้างความรู้ให้กับเกษตรกร เน้นพัฒนาตลาดกลางเกษตรทุกจังหวัด

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่าการแก้ไขราคาพืชผลทางการเกษตรให้ยั่งยืนนั้น จะต้องสร้างความเข้มแข้งให้เกษตรกร โดยมีตลาดกลางของเกษตรกรให้พบกับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาพ่อค้าคนกลาง โดยจะต้องมีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในด้านการตลาดให้กับเกษตรกรและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคเกษตรสมัยใหม่ ที่มีความปลอดภัยและปลอดสารเคมี ทั้งนี้ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชนให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันมีการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดให้เป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการอยู่ในทุกจังหวัดแล้ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเก็บภาษีมรดกที่ดินขอให้ประชาชนมองถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน โดยรัฐบาลได้พิจารณาระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างรอบด้าน รัฐบาลดูอยู่ทุกขั้นตอน ซึ่งกฏหมายดังกล่าวจะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน

จาก http://thainews.prd.go.th   วันที่ 9 มกราคม 2558 

รัสเซียเล็งไทยเป็นฐานลงทุนบุกอาเซียน

นายกรัฐมนตรีรัสเซีย เตรียมเยือนไทย มี.ค.-เม.ย. นี้ แนะไทยใช้เงินรูเบิล-หยวน ซื้อขายแทนดอลลาร์สหรัฐ

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เปิดเผยว่า ได้หารือระหว่างภาคเอกชน กับรมว.อุตสาหกรรมและการค้า สหพันธรัฐรัสเซียว่า เตรียมใช้ไทยเป็นฐานการขยายการค้า และการลงทุนไปสู่อาเซียน เนื่องจากรัสเซียมีนโยบายเด่นชัดที่จะขยายความสัมพันธ์มาทางด้านเอเชียมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐ ฯ ชะลอตัว และไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการขยายการค้า และประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. นายกรัฐมนตรีรัสเซีย เตรียมมาเยือนประเทศไทย เพื่อหารือการขยายการค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซียต่อไป

ทั้งนี้ฝ่ายรัสเซีย ได้เสนอให้มีการใช้เงินรูเบิล หรือเงินหยวน ในการค้าขายระหว่างกัน ซึ่งฝ่ายรัสเซียเห็นว่า ควรใช้เงินรูเบิลค้าขายกับไทยโดยตรง จากปัจจุบันใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ในการทำค้าขาย แต่อาจใช้เงินหยวนเป็นตัวกลางอ้างอินแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินหยวนเข้ามามีบทบาทในการค้าโลกมากขึ้น และก้าวขึ้นมาเป็นค่าเงินหลักทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ และยูโร

นอกจากนี้ รัสเซียได้เชิญชวนให้ไทยเข้ามาซื้อเทคโนโลยีชั้นสูง เครื่องจักรชนิดต่างๆ และอากาศยาน ส่วนรัสเซีย มีแผนที่จะเข้ามาขยายการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องประดับอัญมณี และสินค้าเกษตรอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยยังมีข้อจำกัดในเรื่องการชำระเงิน เพราะว่าไทยไม่มีสาขาธนาคารเข้าไปตั้งในรัสเซียเลย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกันทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหานี้

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 มกราคม 2558 

สศอ.ชี้ช่องเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ของอุตสาหกรรมไทยกระตุ้นใช้สิทธิเต็ม 100%

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ช่องเก็บเกี่ยวการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ของอุตสาหกรรมไทย โดยกระตุ้นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการใช้สิทธิไม่ถึง 50% ทั้งภาคนำเข้าและส่งออกให้สูงขึ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์ในระดับที่สูงอยู่แล้วให้เต็มที่ 100% ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนสินค้าให้มากยิ่งขึ้น

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.ได้ติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วของไทย จำนวน 11 ฉบับ กับ 15 ประเทศ คือ 1) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน 2) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย 3) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น 4) ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ในกลุ่มสินค้าเร่งลดภาษี (Early Harvest) 5) ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-เปรู 6) ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่าง ไทย-นิวซีแลนด์ และ 7) ความตกลงการค้าเสรีระหว่าง ASEAN กับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อีก 5 ฉบับ ได้แก่ 1.จีน 2.อินเดีย 3.ญี่ปุ่น 4.เกาหลีใต้ และ 5.ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ครอบคลุมสาขาอุตสาหกรรม จำนวน 17 สาขา (ยานยนต์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เซรามิค เยื่อกระดาษ/กระดาษ/สิ่งพิมพ์ ปูนซีเมนต์ ยา และปิโตรเคมี)

 ซึ่งจากผลการติดตามในปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2556 ประเทศที่ไทยส่งออกสินค้า โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ในภาพรวมต่ำมาก ได้แก่ เมียนมาร์ (ร้อยละ 7.4) กัมพูชา (ร้อยละ 5.7) และ สปป.ลาว (ร้อยละ 3.8) ผู้ส่งออกจึงมีโอกาสอีกมากในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการส่งออกสินค้า

โดยหากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ในปี 2556 อยู่ในระดับต่ำและไม่ถึง 50% ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 19.3) เหล็ก/เหล็กกล้า (ร้อยละ 22.5) เครื่องหนัง (ร้อยละ 31) ยา (ร้อยละ 35.9) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 37.2) ปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 41.1) กระดาษ (ร้อยละ 41.9) สิ่งทอ (ร้อยละ 43.1) และอาหาร (ร้อยละ 45.3)

 สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงแต่ไม่เต็ม 100% ได้แก่ พลาสติก (ร้อยละ73.3) ไม้และเฟอร์นิเจอร์ไม้ (ร้อยละ 71.3) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 68.7) เครื่องนุ่มห่ม (ร้อยละ 64.9) และชิ้นส่วนยานยนต์ (ร้อยละ 52.4)

 นอกจากนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิฯ สูงข้างต้น ยังมีสินค้าในกลุ่มอีกหลายชนิดที่สามารถใช้โอกาสเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ในการส่งออกไปประเทศต่างๆ ได้อีก ซึ่งหากผู้ประกอบการ มีการใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ 100% จะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้ามีต้นทุนลดลง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน คือ

 1. สินค้าที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ กล้องถ่ายโทรทัศน์, กล้องถ่ายภาพดิจิตอล, กล้องถ่ายบันทึกวีดิโอ, ข้าวขัดสี, ยางคอมพาวด์, มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังไม่เกิน 37.5 วัตต์

2. สินค้าที่ส่งออกไปมาเลเซีย ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์และอื่นๆ

3. สินค้าที่ส่งออกไปลาว เช่น น้ำมันเบาและสิ่งปรุงแต่ง, น้ำมันปิโตรเลียมอื่นๆ เป็นต้น

สำหรับประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้า โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2556 ภายใต้ FTA ในภาพรวมอยู่ในระดับไม่สูงนัก ได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 45.2) สิงคโปร์ (ร้อยละ 42.8) และอินเดีย (ร้อยละ 39.1) โดยในส่วนของประเทศอาเซียนนั้น การนำเข้าจากเมียนมาร์มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับต่ำมาก     เพียงร้อยละ 2.1 โดยหากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม จะพบว่าอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA    ในปี 2556 ของผู้นำเข้าในกลุ่มอัญมณี (ร้อยละ 13) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 36) เครื่องจักรกล (ร้อยละ 40.8) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 42) ไม้/เฟอร์นิเจอร์ไม้ (ร้อยละ 44.4) และพลาสติก (ร้อยละ 46.2) ซึ่งเห็นว่ายังมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในระดับไม่สูงนัก และไม่ถึง 50%

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงแต่ไม่เต็ม 100% ได้แก่ เหล็ก/เหล็กกล้า (ร้อยละ 72.6) ยานยนต์ (ร้อยละ 71)  เซรามิก (ร้อยละ 69.9) เครื่องนุ่มห่ม (ร้อยละ 68.5) อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 66.2) ยาง (ร้ยอละ 65.7) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 65.1) ยา (ร้อยละ 65.4) กระดาษ (ร้อยละ 63.4) และเครื่องหนัง (ร้อยละ61.7) 

นอกจากนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิฯ สูงข้างต้น ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ในการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ได้อีก ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ 100% จะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้ามีต้นทุนลดลง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน คือ

1. สินค้าที่นำเข้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักรกลและเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ,ของอื่นๆ ที่ทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้า

2. สินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์, เครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า

3. สินค้าที่นำเข้าจากเกาหลี ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของตัวถังสำหรับรถกระบะ รถยนต์

โดยหากดูการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้กรอบอาเซียน (AFTA) พบว่าปี 2556 ภาคส่งออก ไทยมีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 41 ขณะที่ภาคนำเข้า ไทยมีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 52.6 ซึ่งอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA ของภาคส่งออกในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยังมีสินค้าสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ต่ำ  เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรกล ยาง เซรามิก อัญมณี อาหาร สิ่งทอ กระดาษ ซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยา เครื่องหนัง เหล็กและเหล็กกล้า และอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ภาคนำเข้า สินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่ม ไม้/เฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล  อัญมณี ยังมีอัตราการใช้สิทธิต่ำ ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่ยังมีการใช้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ในระดับที่ต่ำอยู่หรือไม่สูงนัก ให้มาใช้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้ประโยชน์ ในระดับสูงอยู่แล้ว ให้มาใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ 100% ซึ่งก็จะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นและลดต้นทุนสินค้าได้อีกเป็นจำนวนมาก

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 8 มกราคม 2558

โลกป่วน ตลาดเงินผันผวน ธปท.เตือนธุรกิจปิดความเสี่ยง

เปิดศักราชปี 2558 ทั่วโลกก็ต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน จากปัจจัยต่าง ๆ ที่รุมเร้าทั้งราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งแตะระดับ 50 เหรียญต่อบาร์เรล รวมทั้งกรณีความเสี่ยงที่ "กรีซ" จะออกจากยูโรโซน ส่งผลให้เปิดทำการวันแรกตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนัก ขณะที่ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ก็ปรับตัวตามกันไป โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินเยน และค่าเงินยูโร ที่กระทบต่อค่าเงินสกุลอื่น ๆ เป็นลูกโซ่ตามกัน

ขณะที่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ในโหมดชะลอตัว หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ยุโรปและญี่ปุ่นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ส่วนสหรัฐยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เมื่อเดือน ต.ค.หลังจากอัดฉีด "มอร์ฟีน" ขนานนี้มาอย่างต่อเนื่อง 6 ปี ทำให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้าย

ในปี 2558 จึงเป็นอีกปีที่ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่ยังเป็นปัจจัยตัวเป้งที่จะเขย่าตลาดเงินในโลกนี้ต่อไป

ชี้ 4 ปัจจัยป่วนตลาดเงิน

"ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ" รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉายภาพทิศทางตลาดเงินในปี 2558 ว่า อย่าได้ชะล่าใจความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และขอให้มีวินัยในการดูแลความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนที่สร้างความเสี่ยงอยู่ถึง 4 ด้าน ที่จะเข้ามากระทบตลาดเงินตลาดทุนไทย คือ 1) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร เงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นเร็วแค่ไหน ล้วนแต่มีผลต่อการคาดหวังของนักลงทุน ถ้าเฟดเปลี่ยนใจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดก็อาจทำให้เกิดเงินทุนไหลออกมากขึ้น 2) ญี่ปุ่นและยูโรจะทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ และจะมีผลอย่างไร

3) ปัญหาเศรษฐกิจในรัสเซียจะมีพัฒนาการไปในทิศทางไหน และ 4) การที่จีนดึงเศรษฐกิจให้ชะลอลงอย่างช้า ๆ มีผลต่อราคาน้ำมันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก ถ้าจีนชะลอการซื้อ สต๊อกของโลกก็เพิ่ม ราคาก็ลดลง

สิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเวลาเกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจจะเกิดที่อัตราดอกเบี้ยก่อน แล้วกระทบมาที่อัตราแลกเปลี่ยน

 "แม้ปี 2557 ที่ผ่านมา ความผันผวนของค่าเงินบาทค่อนข้างชิล ค่าความผันผวน 4% แต่ปี 2558 จะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้ชะล่าใจเพราะมีโอกาสเกิดความไม่แน่นอน 4 ด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพอรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มีการติดตามสถานการณ์ได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องที่เรายังไม่รู้ เหมือนน้ำลดตอผุด ในช่วงสภาพคล่องท่วมโลก เราก็ไม่เห็นตออยู่ตรงไหน แต่ถ้าวันใดเศรษฐกิจตกลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างตก ตอมันก็จะโผล่ และมันก็มักจะเป็นเรื่องไม่ดี"

เกาะติดปฏิทินรัสเซียชำระหนี้

รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า ในภาวะนี้ ธปท.จึงต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้าง รับรู้และวิเคราะห์ให้ดี เช่น กรณีรัสเซียยอมรับว่า ในด้านการค้าผลกระทบไม่มาก แต่ที่ไทยอาจได้รับผลกระทบคือความผันผวนในตลาดการเงิน หากรัสเซียเลือกที่จะไม่ชำระหนี้เมื่อถึงกำหนด ซึ่งตอนนี้ก็เห็นสัญญาณจากซีดีเอส (ค่าความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้) ของแบงก์ยุโรปบางแห่งเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะแบงก์ที่มีธุรกรรมกับรัสเซีย พร้อมกับแนะให้ผู้ประกอบธุรกิจควรทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) ไว้

"เพราะตลาดเงินโลกเชื่อมโยงถึงกันหมด ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ แม้เราจะมีข้อมูลว่ารัสเซียมีกำหนดชำระหนี้เมื่อไร แต่ก็อาจมีบางสิ่งที่เรายังไม่รู้ ก็ต้องระวัง เตรียมความพร้อม ติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน เตรียมสภาพคล่องเงินบาท ดูแลให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาดที่มีขึ้น-ลงตามดีมานด์ซัพพลาย และถ้าค่าเงินผันผวนรุนแรงก็เข้าไปประคับประคองบ้าง"

ค่าบาทเด้งขึ้นตามแรงกด "เยน-ยูโร" อ่อน

สำหรับความเคลื่อนไหวของเงินบาทในปี 2557 ที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยจุดที่ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดของปีที่ระดับ 31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐคือ วันที่ 23 ก.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนจุดที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดคือ 33.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คือวันที่มีกรุงเทพฯชัตดาวน์ ซึ่งทั้ง 2 จุดเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศ แต่ถ้าเทียบความเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงปลายปีจะพบว่า ไม่ได้แข็งค่าหรืออ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่น ๆ ด้านการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างชาติปี 2557 เป็นทิศทางไหลออก คล้ายกับหลายประเทศในภูมิภาค หลังจากตลาดเห็นทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น โดยช่วงปลายปีเงินบาทและสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคอ่อนค่า เพราะได้รับอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์ในภูมิภาคนี้ด้วย

ส่วนในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มที่ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) จะปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้วจากปีก่อน แสดงว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งนั้นแข็งค่าขึ้น โดยสาเหตุที่ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทวิ่งขึ้นมา 2-3% ต่างจากตะกร้าเงินสกุลอื่น ๆ ตั้งแต่กลางปี 2557 เนื่องจากเงินเยนญี่ปุ่นและค่าเงินยูโรอ่อนค่ารวดเร็ว จากมาตรการอัดฉีดนโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และทั้ง 2 แห่งก็เป็นคู่ค้าคู่แข่งที่มีสัดส่วนการค้ากับไทยรวมกันมากกว่าน้ำหนักการค้าไทย-สหรัฐ

"ในระยะข้างหน้าก็ยังมีแนวโน้มที่ดัชนีค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นด้วยเหตุผลจากเยนและยูโรอ่อนค่าและสกุลเงินอื่น ๆ ก็จะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น เพราะเงินเยนและยูโรมีน้ำหนักค่อนข้างมากในตะกร้าเงินของทุกประเทศในภูมิภาคนี้"

ลุ้นเงินบาทอ่อนทะลุ34.50บาท

"ปารีณา พ่วงศิริ" ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ทิศทางเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าในไตรมาส 1/58 จะอ่อนค่าแตะระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปลายปีจะแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยหลักจากการคาดการณ์สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยกลางปี ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ต โยกย้ายการลงทุนออกจากเอเชีย

ขณะที่สถานการณ์ส่งออกของไทยคาดว่าจะไม่ดีนัก ทำให้ความจำเป็นซื้อเงินบาทเพื่อใช้สำหรับการส่งออกมีค่อนข้างน้อย

โดยค่าความผันผวนคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 1-2 บาท จากปี 2557 ที่ค่าความผันผวนอยู่ที่ 1.32 บาท และปี 2556 อยู่ที่ 4.17 บาท อย่างไรก็ตาม ค่าความผันผวนของปี 2558 ไม่น่าจะมากเท่าปี 2556 เนื่องจากภาวะตลาดโลกชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการทำนโยบายการเงินของเฟด

สำหรับปี 2557 เงินบาทมีค่าความผันผวนต่ำเพียง 1% เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยมีความผันผวนต่ำเป็นอันดับ 2 รองจากเงินหยวนของจีน ซึ่งอยู่ที่ 0.5% และเงินสกุลที่ผันผวนสูง ได้แก่ รูเปียห์อินโดนีเซียที่ 3.8%

ขณะที่ "เกษม โสวัฒนสกุล" นักค้าเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่าครึ่งแรกปี 2558 เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตอย่างช้า ๆ ส่งออกได้น้อย และปัจจัยภายนอกที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องรัสเซีย และการทำนโยบายของเฟด ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินผันผวนสูงได้ และคาดว่าช่วงปลายปีเงินบาทจะอยู่ที่ 33.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น ในกลุ่มผู้ประกอบกิจการ นักลงทุน จึงอย่าชะล่าใจกับความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะกลับมาผันผวนรุนแรง คาดทิศเดาทางยากได้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 มกราคม 2558

สศอ. ชี้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งการค้า หลัง EU ตัดสิทธิ์ GSP ต้องเร่งเจรจานอกรอบเตรียมพร้อม

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงกรณีทางสหภาพยุโรป (อียู) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับสินค้าไทยประมาณ 6,200 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ว่า หากพิจารณาผลกระทบ ในส่วนของอียูเอง ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและผู้บริโภค อาจทำให้การบริโภคสินค้าในกลุ่มสินค้าจากประเทศไทยมีราคาที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกจะส่งออกสินค้าในราคาและปริมาณที่เท่าเดิม แต่จะเสียเปรียบด้านการแข่งขันและอุปสรรค กับประเทศคู่แข่งที่มีสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งจากนี้ต้องพิจารณาศึกษาถึงรายกรณีสินค้าที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ทั้งนี้พบว่าสินค้าส่งออกของไทยที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดคือในส่วนของรถกระบะ โดยจากนี้ไทยต้องเร่งเดินหน้าเจรจาด้านการค้า แม้จะเป็นการเจรจานอกรอบกับทางอียู เพื่อเตรียมความพร้อมเจรจาด้านการค้า การส่งออก เนื่องจากในขณะนี้ประเทศคู่แข่งเองได้มีการทำความตกลงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สศอ. ประเมินว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ในปี 2558 จะเติบโตที่ร้อยละ 4 ขณะที่การส่งออกอุตสาหกรรมจะเติบโตใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 3-4 เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตกว่าปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 8 มกราคม 2558

สถานการณ์โลกคาดการค้าโลกเข้าสู่ช่วงขาลง

 ธนาคารโลก คาดการณ์ การค้าทั่วโลกในช่วง 10 ปีข้างหน้า อาจขยายตัวช้าลงกว่าช่วง 30 ปีก่อนวิกฤติการเงิน

ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ คาดการณ์ การค้าทั่วโลกในช่วง 10 ปีข้างหน้า อาจขยายตัวช้าลงกว่าช่วง 30 ปีก่อนเกิดวิกฤติการเงิน เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และรูปแบบการค้ามีการเปลี่ยนแปลงระยะยาว

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ 4 คนของธนาคารโลก ระบุในรายงานว่า ก่อนหน้านี้ การเติบโตของปริมาณการค้าทั่วโลกขยายตัวในระดับคงที่ประมาณ 7% ต่อปีเป็นเวลา 30 ปี ก่อนเกิดวิกฤติการเงินโลกระหว่างปี 2550-2552 ขณะที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ระดับการเติบโตลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง และอาจจะเพิ่มขึ้นเพียงราว 5% ในระยะกลาง

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศช่วยให้เศรษฐกิจโลกผ่านจุดที่ยากลำบากมาได้ในช่วง 20 ปีก่อนวิกฤติการเงินโลก หลังจากที่เติบโตเกือบ 2 เท่า เช่นเดียวกับผลผลิตทางเศรษฐกิจ

แต่ข้อมูลล่าสุด แสดงให้เห็นว่า กลไกขับเคลื่อนการค้ากำลังเข้าสู่ช่วงขาลง และคาดว่า การฟื้นตัวอย่างไม่สดใสจากวิกฤติการเงินจะยังคงมีอยู่ ประกอบกับข้อมูลของธนาคารโลกบ่งชี้ว่า ระดับความต้องการการนำเข้าอาจจะลดลง 1 ใน 5 จากช่วง 5 ปีหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

รายงานของธนาคารโลก ระบุว่า การค้าโลกจะเติบโตช้าลง ไม่ใช่เพราะการเติบโตทั่วโลกชะลอตัวลงเท่านั้น แต่เพราะการค้าที่มีผลต่อการเติบโตด้านรายปรับตัวลงด้วย แต่ธนาคารโลกก็เชื่อว่า ข้อตกลงทางการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลก อาจจะช่วยให้การเติบโตของการค้าทั่วโลกฟื้นตัวบางส่วน เช่นเดียวกับการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคเอเชียใต้ ซับซาฮารา และอเมริกาใต้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 มกราคม 2558

ช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558 ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 เห็นชอบแนวทางดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการในมาตรการเสริมกรอบวงเงิน 65.90 ล้านบาท

แบ่งเป็น 1. งบกลาง จำนวน 49.868 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกร 2. เงินงบประมาณกรม (งบปกติ) จำนวน 15.9 ล้านบาท สำหรับอบรมเกษตรกรพร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต ซึ่งสำนักงบประมาณได้อนุมัติเงินประจำงวด งบกลาง 49.868 ล้านบาท ให้แล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาได้โอนงบประมาณให้กับจังหวัดเพื่อดำเนินการในมาตรการเสริม คือ กิจกรรมฝึกอาชีพด้านการเกษตร จำนวน 26 จังหวัด กิจกรรมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว (ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว) พื้นที่ 150,000 ไร่ ใน 20 จังหวัด ทั้งในและนอกเขตชลประทาน

ซึ่งความก้าวหน้าตามมาตรการนั้น แบ่งออกเป็น 1. มาตรการหลัก ได้มีการจ้างแรงงาน จำนวน 21,688 ราย คิดเป็นร้อยละ 61.35 จากแผน 35,354 ราย ทั้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง 2. มาตรการเสริม ได้มีการส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ เป้าหมาย 13,389 ราย อาชีพประมง เป้าหมาย 3,574 ราย ฝึกอาชีพด้านเกษตร เป้าหมาย 17,804 ราย และฝึกอาชีพ (กศน.) เป้าหมาย 1,385 จำนวน 6,675 ราย จากแผน 36,152 ราย

โดยมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2558 รวมถึงการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว จำนวน 150,000 ไร่ และเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด จำนวน 150,000 ไร่.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 8 มกราคม 2558

ธ.ก.ส.สำรวจชาวไร่อ้อยมีความสุขมากสุดหลังราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

ธ.ก.ส.เผยผลสำรวจระดับความสุขของเกษตรกรไทย พบความสุขมวลรวมอยู่ในระดับมาก ขณะที่ผลสำรวจรายอาชีพพบชาวไร่อ้อยมีระดับความสุขมากที่สุด เหตุทิศทางราคา น้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ส่วนผลสำรวจรายภาคพบเกษตรกรภาคอีสานมีความสุขมากที่สุด

นางอภิรดี ยิ้มละมัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรจากทุกภาคทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” จำนวนกลุ่มตัวอย่างรวม 2,044 ราย เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2557 ในหัวข้อความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย พบว่า ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทยในภาพรวมอยู่ใน  ระดับมาก (คะแนนเฉลี่ย 3.11 จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน) โดยเกษตรกรมีความสุขในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 80.26

สำหรับความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย จำแนกตามอาชีพการเกษตรหลัก พบว่า เกษตรกรทุกอาชีพมีความสุขมวลรวมอยู่ในระดับมาก โดยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 3.22) เป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลทรายในตลาดโลกเดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.6 และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รองลงมา คือ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และเลี้ยงไก่เนื้อ มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมเท่ากับ 3.19 และ 3.17 ตามลำดับ เนื่องจากราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้มีทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรม รวมทั้งผลิตน้ำมันไบโอดีเซล สำหรับราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อออกสู่ท้องตลาดไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อไก่มีมากขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลเฉลิมฉลอง สำหรับเกษตรกรที่รับจ้างทำการเกษตรมีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมต่ำที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 3.01) เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น

ขณะที่ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย จำแนกเป็นรายภาค พบว่า เกษตรกรทุกภาคมีความสุขมวลรวมอยู่ในระดับมาก โดยเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 3.19) เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มีความสุขมวลรวมสูงที่สุด ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกหลักอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเกษตรกรในภาคกลางและภาคใต้ มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมต่ำที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 3.04) เมื่อเทียบกับเกษตรกรในภาคอื่น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในภาคกลางส่วนใหญ่ปลูกข้าว และกลุ่มตัวอย่างในภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 8 มกราคม 2558

เกษตรเทคโน" เป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง

          เกษตรกรไทยในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย ยังขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างมาก เพราะทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวิถีการเกษตรแบบเก่าที่เน้นกระหน่ำหว่านปุ๋ยเคมี ย่าฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เพื่อหวังที่จะให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก โดยที่ไม่รู้ว่าปุ๋ย และ ยาฆ่าแมลง เหล่านั้น มีส่วนช่วยให้พืชเติบโตและได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน หรือยังมีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรมักใส่ปุ๋ยแบบเดียวกันหมดทุกพื้นที่ เหมือนกับการใส่เสื้อโหลที่เหมือนกันหมดทุกตัว ไม่ใช่เสื้อสั่งตัดที่มีขนาดพอดีตัวกับผู้สวมใส่

เทคโนโลยี“ปุ๋ยสั่งตัด" จุดเริ่มต้นของเกษตรแบบแม่นยำ

          ดร.ประทีป วีรพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินและปุ๋ยที่งานช่วยเหลือเกษตรกรมาอย่างยาวนาน เปิดเผยกับ ProgressTH ว่า นวัตกรรม “ปุ๋ยสั่งตัด” คือ การตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อให้ทราบว่าในดินมีแร่ธาตุอะไรที่เหลือค้างอยู่บ้าง และแร่ธาตุอะไรที่ต้องเติม ซึ่ง "ดิน" รากฐานสำคัญของชีวิตเกษตรกร แต่ "ดิน"กลับเป็นสิ่งที่เกษตรกรู้จักน้อยที่สุด รวมถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยด้วย ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ชาวนาจะไม่รู้เรื่องดินและปุ๋ยเลย บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า N-P-K ที่เขียนอยู่ข้างกระสอบ คืออะไร นี่คือปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย

          ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการทำวิจัย "เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด" เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มากเกินความจำเป็นผ่านการคำนวณธาตุอาหารที่ดินต้องการ เพื่อการปลูกพืชเศรษฐกิจ ข้าว อ้อย และ ข้าวโพด ประกอบด้วย 3 นวัตกรรม คือ

          1) คำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดที่พัฒนาจากแบบจำลองการปลูกพืชก็นำปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชมาพิจารณาร่วมกัน และพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อวิเคราะห์คำแนะนำปุ๋ยที่เหมาะสมกับธาตุอาหารของดินลักษณะของการผลิตที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด

          2) ชุดตรวจสอบ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม (N-P-K) ในดิน เป็นผลงานประดิษฐ์ของทีมวิจัยที่ได้เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2541 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศ มีความแม่นยำ สะดวก ทำให้เกษตรกรวิเคราะห์ดินได้ด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ให้เครื่องมือดังกล่าวสามารถถึงมือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งหากเป็นแต่ก่อนต้องส่งไปห้องแล็ปใช้เวลานานหลายเดือนและเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่วันนี้อุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ดินได้ถูกนำมาบรรจุอยู่ในกล่องที่สามารถนำไปใช้ได้ทุกที่ โดยใช้เวลาวิเคราะห์ดินแค่ 30 นาทีเท่านั้น

          3) กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมที่เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการพึ่งพาตัวเอง ทีมวิจัยฝึกเกษตรกรให้เป็นนักวิจัย ใช้ไร่นาเป็นห้องทดลอง ฝึกให้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เกษตรกรตื่นตัวและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการผลิต เกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน

ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ผู้ที่เป็นกำลังหลักในการผลักดัน

          "ปุ๋ยสั่งตัด" สู่เกษตรกร เพื่อหวังจะเกษตรไทยสามารถลดต้นทุนในผลิตด้วยการลดใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ ดังนั้น จึงมีการจัดตั้ง คลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” ให้บริการตรวจดินฟรี โดยใช้ชุดตรวจสอบ N-P-K ในดินแบบรวดเร็ว ให้คำแนะนำปุ๋ย และจำหน่ายปุ๋ยดี ราคาถูก รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกร “รู้จักการผสมปุ๋ยใช้เอง” ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาปลอม หรือปุ๋ยด้อยมาตรฐานแล้ว ยังได้ปุ๋ยสูตรที่ตรงกับความต้องการของพืช และได้ปุ๋ยราคาถูกกว่าปุ๋ยสูตรที่จำหน่ายในท้องตลาดอีกด้วย

          เกษตรกรสามารถนำดินมาตรวจได้อย่างง่ายๆโดยต้องมีการเก็บดินจากพื้นที่ จากนั้นนำดินนี้ไปตรวจที่ “คลินิกดิน” เพื่อให้รู้ว่า ธาตุอาหารในดินมีอยู่เท่าไร ต้องใส่ปุ๋ยชนิดใด ในปริมาณเท่าไร ซึ่งนี่คือก้าวแรกที่ทำให้ชาวไร่ชาวนารู้จัก “การเกษตรแบบแม่นยำ” (Precision Agriculture)ซึ่งเป็นการเกษตรที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยการนำเทคโนโลยีผสมผสานต่างๆ มาใช้ เพราะการทำเกษตรให้มีประสิทธิภาพต้องใส่ปุ๋ยให้ตรงกับชนิดดินนั้นๆ จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้

ช่องว่างทางเทคโนโลยี อุปสรรรคใหญ่พัฒนาเกษตรกรไทย

          สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในขณะนี้ คือ การที่เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและจำนวนมากยังขาดการตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะแม้แต่ “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีง่ายๆ ที่เพียงใช้เสียมหรือจอบขุดดินและผสมดินด้วยมือและนำมาตรวจวิเคราะห์ที่คลินิกดินเพื่อที่จะลดการใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง แต่ปรากฎว่ามีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่รู้เรื่องนี้เลย และยังไม่มีโอกาสใช้เทคโนโลยีง่ายๆแบบนี้ด้วยตัวเองสักครั้ง

          “Agricultural drones” หรือ เครื่องบินไร้คนขับเพื่อการเกษตร เป็นอีกเทคโนโลยีที่เสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรทั่วโลก เพราะสามารถช่วยเกษตรกรบินตรวจตรา วิเคราะห์การเติบโตของพืชได้อย่างทันท่วงที โดยที่ชาวนาไม่ต้องทำเองเพียงแค่นั่งดูผลผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ทว่าหาก “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีง่ายๆ แต่ชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ชนบทกลับไม่สามารถเข้าถึงได้ แล้วเทคโนโลยีเครื่องบินไร้คนขับ, การใช้เซ็นเชอร์อัตโนมัติต่างๆซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยซับซ้อนจะเข้าถึงชาวนาได้อย่างไร

เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงตัวเกษตรกรต้องร่วมกันคิดเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ "เกษตรเทคโน" ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆมาช่วย ไม่ต้องยากลำบากแบบแต่ก่อนอีกต่อไป

          ทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือแทนที่แจกเทคโนโลยีให้เกษตรกรแบบฟรีๆ เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งบางครั้งเกษตรกรก็ไม่ได้สนใจนำไปใช้อย่างจริงจัง เพราะเป็นของฟรีเลยไม่รู้สึกถึงคุณค่า ดังนั้น ควรมีการบูรณาการเทคโนโลยีการเกษตรเหล่านี้ ให้เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ ซึ่งเกษตรกรจะยอมจ่ายถ้าเห็นว่าสามารถลดต้นทุนได้จริง

          ยกตัวอย่างเช่น รถเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นเทคโนโลยี ที่ชาวไร่ชาวนาไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะเห็นชัดว่าช่วยลดทั้งแรงงานและเวลา ทำให้พวกเขายอมจ่าย และสิ่งที่ตามมาคือธุรกิจบริการรถเกี่ยวข้าว ดังนั้น

เรื่อง คลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” ก็เช่นกัน ควรมีการเก็บค่าวิเคราะห์ดิน เพราะหากเกษตรกรยอมจ่าย ก็แปลว่าเขายอมลงทุนและจะตั้งใจทำทุกอย่างให้เกิดความคุ้มค่า

          โดยขั้นตอนต่อไปที่น่าจะทำได้ คือการผลักดัน คลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” ให้เป็นวิสาหกิจชุมชนบริการให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร และควรเกษตรกรให้รู้จักโลกออนไลน์ด้วย เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงความรู้ใหม่ๆทั้งไทยและทั่วโลก แนวทางนี้น่าจะทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

โดยในปี 2558 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายจัดตั้ง “ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” รวมทั้งหมด 882 แห่งในทุกอำเภอทั่วประเทศ (1 อำเภอ 1 ศูนย์) เนื่องจากเห็นว่านับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาที่กรมส่งเสริมฯได้นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด”มาใช้ในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง 20 จังหวัด พบว่า ชาวนาสามารถลดปุ๋ยเคมีได้ 47% และผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 7% ซึ่งทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวลดลงเฉลี่ยไร่ละ 400-500 บาท ที่สำคัญคือเป็นการแก้ปัญหาการใช้ “ปุ๋ยผิด ปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพง” อย่างเป็นรูปธรรม

          ทั้งนี้ปี 2558 การแข่งขันทางการค้าในภูมิภาคอาเซียนจะรุนแรงขึ้น ทั้งด้านคุณภาพและราคาของผลผลิตการเกษตร ข้าวไทยเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญที่ยังต้นทุนสูง หากชาวนาไทยยังใช้วิถีการผลิตแบบเดิมย่อมไม่เกิดความยั่งยืนในการทำนา เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดอำนาจต่อรอง ไม่สามารถพึ่งพาการปรับราคาขายเพียงด้านเดียว เพราะราคาขายต้องเป็นไปตามกลไกทางการตลาด ยากต่อการควบคุม แต่สิ่งที่เกษตรกรสามารถควบคุมได้และทำได้ทันที คือ "ต้นทุน" ด้วยการการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น

          ทีมProgressTH เอง ได้เก็บตัวอย่างดิน โดยจะนำส่งดินไปตรวจที่ “คลินิกดิน”ในเร็วนี้ๆ เพื่อที่ได้ลองใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อบอกต่อกับเกษตรกรคนอื่นๆต่อไป โดยทางทีม ProgressTH จะร่วมสนับสนุนการทำงานของ ดร.ประทีป ซึ่งล่าสุดได้มีการจัดตั้งเครือข่าย “ลุ่มน้ำเจ้าพระยาป่าสัก” ซึ่งเป็นการรวมตัวของเหล่าเกษตรกรผู้นำที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ดินเพื่อปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งทางเครือข่ายฯตั้งเป้าว่าปีนี้ จะปลูกข้าวด้วยต้นทุน2,500 บาท โดยลดเมล็ดพันธุ์ ลดปุ๋ย ไม่ฉีดยา และลดค่าแรง (โดยใช้เครื่องปลูกข้าว) นอกจากน้ีทางเครือข่ายฯยังได้เดินสายเปิดคลินิคดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” เพื่อบริการตรวจดินฟรี และให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยให้เกษตรกร ในจังหวัดเชียงราย สระบุรี และ อยุธยา รายละเอียดที่นี่

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 8 มกราคม 2558

เร่งพัฒนาข้อมูลเชิงนวัตกรรม แก้ไขปัญหารวดเร็ว-เข้าถึงเกษตรกร

                กระทรวงเกษตรฯเปิดผลการพยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรปีเพาะปลูก 2557/58 และปี 2558 พร้อมเร่งต่อยอดพัฒนาข้อมูลเชิงนวัตกรรมให้เป็นแนวทางใหม่ในการบริการจัดการข้อมูล ให้หน่วยงานระดับจังหวัดมีการจัดทำข้อมูลของแต่ละพื้นที่ สามารถแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและตรงความต้องการ

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ได้ประชุมพิจารณาผลการพยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรประจำปีเพาะปลูก 2557/58 และปี2558 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า พืชเศรษฐกิจที่สำคัญในปีเพาะปลูก 2557/58 ได้แก่ ข้าวนาปี มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 61.740 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 340,404 ไร่ หรือร้อยละ 0.55 มีผลผลิตรวมทั้งประเทศ 27.106 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 16,261 ตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 0.06 เนื่องจากคาดว่า เกษตรกรต้องการลดพื้นที่ดังกล่าวเพราะการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐ รวมทั้งราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน และเกษตรกรในภาคใต้เปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน

ข้าวนาปรัง มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศ 10.709 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 4.479 ล้านไร่ หรือร้อยละ 29.49 มีผลผลิตรวมทั้งประเทศ 6.702 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่แล้ว 3.046 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 31.25 เนื่องจากการที่กระทรวงเกษตรฯได้ประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลงโดยปล่อยพื้นที่ว่าง และบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่า

นอกจากนี้ พืชเศรษฐกิจที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง มีผลผลิตรวมทั้งประเทศ 30.910 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.888 ล้านตัน หรือร้อยละ 2.96 และพืชเศรษฐกิจที่มีปริมาณผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และกาแฟ

นายชวลิต กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลการพยากรณ์การผลิตพืชไร่และไม้ยืนต้นที่สำคัญปี 2558 ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงานและปาล์มน้ำมัน สำหรับผลการพยากรณ์การผลิตไม้ผลและพืชผักที่สำคัญปี 2558 ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด กระเทียม หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง และผลผลิตที่มีปริมาณลดลง ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง และหอมแดง

ด้านปศุสัตว์ ผลพยากรณ์ปริมาณการผลิตปศุสัตว์ ปี 2558 ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร โคนม และผลผลิตที่มีปริมาณลดลง ได้แก่ โคเนื้อ และด้านประมง ผลพยากรณ์ปริมาณการผลิตประมง ปี 2558 ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งกุลาดำ และมีปริมาณผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ปลานิล และปลาดุก

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งพัฒนาข้อมูลในเชิงนวัตกรรม ให้เป็นแนวทางใหม่ในการบริการจัดการข้อมูล ให้หน่วยงานระดับจังหวัดมีการจัดทำข้อมูลของแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะได้ทราบข้อมูลปริมาณการปลูกที่แท้จริง และสามารถแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและตรงความต้องการ” นายชวลิต กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 มกราคม 2558

เกษตรฯแจงผลช่วยเหลือ‘ภัยแล้ง’ จ้างงานเกษตรกรแล้ว2.1หมื่นราย

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งว่า แบ่งออกเป็น 1.มาตรการหลัก มีการจ้างแรงงาน จำนวน 21,688 ราย คิดเป็นร้อยละ 61.35 จากแผน 35,354 ราย ทั้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง 2.มาตรการเสริม มีการส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ เป้าหมาย 13,389 ราย อาชีพประมง เป้าหมาย 3,574 ราย ฝึกอาชีพด้านเกษตร เป้าหมาย 17,804 ราย และฝึกอาชีพ (กศน.) เป้าหมาย 1,385 จำนวน 6,675 ราย จากแผน 36,152 ราย โดยมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2558 รวมถึงการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว จำนวน 150,000 ไร่ และเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด จำนวน 150,000 ไร่

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่-พืชผักทดแทนพืชหลักในฤดูแล้ง โดยมีผลการดำเนินงานในปี 2557/58 ทั้งประเทศ 77 จังหวัด ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ได้แก่ นาปรัง 3.818 ล้านไร่ จากแผน 6.006 ล้านไร่ พืชไร่พืชผัก 0.403 ล้านไร่ จากแผน 3.110 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด และพื้นที่นอกลุ่มน้ำเจ้าพระยาและนอกลุ่มน้ำแม่กลอง

สำหรับงบประมาณจำนวน 65.90 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสำหรับสนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่วนั้น สำนักงบประมาณได้อนุมัติเงินประจำงวด 49.868 ล้านบาทให้แล้ว และกรมส่งเสริมการเกษตรได้โอนงบประมาณให้จังหวัดนำไปดำเนินการฝึกอาชีพด้านการเกษตร 26 จังหวัด กิจกรรมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วพื้นที่ 150,000 ไร่ 20 จังหวัด ทั้งในและนอกเขตชลประทาน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 มกราคม 2558

น้ำตาลโลกดิ่งลามไร่อ้อยเตรียมทำใจราคาพลิกผันแรง มีสิทธิ์ร่วงตํ่าสุดรอบ 5 ปี/ผู้ส่งออกรับศึกหนัก

ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงต่อเนื่อง  โหนกระแสปัจจัยลบจากสถานการณ์โลก ไล่ตั้งแต่ราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายสำคัญผันผวนหนัก  ทำราคาน้ำตาลส่งออกต่ำกว่าขายในประเทศ ชี้ส่งออกฤดูผลิต 2557/58 จากไทยไปตลาดโลกลดลง   หวั่นปัญหาลามถึงราคาพืชเกษตรอย่าง อ้อยและมันสำปะหลังรวมถึงราคาแก๊สโซฮอล์

    altในช่วง3-5ปีที่ผ่านมาปริมาณผลิตน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในภาวะไม่สมดุลกับความต้องการใช้ที่มากขึ้น  จนทำให้ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกทำสถิติสูงกว่า 30 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ดูกราฟ)  เมื่อราคาเป็นที่จูงใจในตลาดมากขึ้น  จึงเป็นเหตุให้ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ทั้งบราซิล ไทย ออสเตรเลีย และอินเดีย แห่ขยายกำลังผลิตอ้อยและน้ำตาลจำนวนมาก  ทำให้ปริมาณน้ำตาลกลับมาล้นตลาดโลก จนเกินความต้องการใช้   ส่งผลให้ราคาน้ำตาลร่วงลงอย่างต่อเนื่อง  และเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปี2557  ที่มีแนวโน้มต่อเนื่องไปตลอดไตรมาสแรกปี2558 นี้  หลังจากที่มีปัจจัยภายนอกเพิ่มเข้ามาอีกหลายปัจจัยแวดล้อม

    นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล  ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี2558 ว่า ในช่วงระยะสั้นหรือไตรมาสแรกปี2558 คาดว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะต่ำลง หรือทรงตัว โดยล่าสุดราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลก ณ วันที่5 มกราคม 2558 อยู่ที่ 14.26 เซ็นต์ต่อปอนด์  ส่วนราคาน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 380.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

alt-3ปัจจัยหลักทำราคาร่วงกราวรูด

    ทั้งนี้สาเหตุที่ราคาน้ำตาลร่วงลงต่อเนื่องนอกจากเหตุผลเรื่องดีมานด์และซัพพลายแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยภายนอก 3 ปัจจัยหลัก ที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญเริ่มจาก  1. ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนหนัก ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเอทานอลต่ำลง โดยมีราคาขายลดลง ทำให้ผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่อย่างบราซิลหันไปนำเอาอ้อยไปผลิตน้ำตาลมากขึ้น ยิ่งไปกดให้ราคาน้ำตาลในอนาคตถูกลง เพราะมีน้ำตาลในปริมาณที่มากขึ้นในตลาดโลก

    2.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ยุติมาตรการคิวอี ทำให้มีแนวโน้มที่สหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลและไทย มีค่าเงินที่อ่อนค่าลง ส่งผลกระทบถึงความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่  

    "ปัจจุบันบราซิลจะมีปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศจำนวน 34-35 ล้านตัน  ในจำนวนนี้จะส่งออกน้ำตาลไปตลาดโลกประมาณ 24-25 ล้านตันน้ำตาล หรือประมาณ 50% ของปริมาณน้ำตาลที่มีการซื้อขายทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีการผลิตน้ำตาลภายในประเทศจำนวน10 ล้านตันน้ำตาล มีการส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิลหรือจำนวน 7.5 ล้านตันน้ำตาล ที่เหลือ2.4-2.5 ล้านตันใช้ในประเทศ"

    3. จากข้อมูลองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ(ISO)    สต๊อกโลกยังมี    น้ำตาลอยู่ในระดับสูงแม้ว่าตัวเลขสต๊อกน้ำตาลปี2557/2558 คาดว่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมาก็ตาม โดยสต๊อกน้ำตาลปี2557/2558 จะอยู่ที่ 76.341 ล้านตันน้ำ  หรือคิดเป็นสัดส่วน 41.85% ของการบริโภค ขณะที่ปี2556/2557 สต๊อกน้ำตาลในโลกอยู่ที่ 76.548 ล้านตันน้ำตาล หรือคิดเป็น 42.80% เท่ากับว่าสต๊อกโลกมีน้อยลง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูง จึงสะท้อนให้ราคาน้ำตาลเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

-ราคาในประเทศสูงกว่าส่งออก

    ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด กล่าวอีกว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาน้ำตาลที่ขายในประเทศไทย   ยกตัวอย่างเช่น ราคาหน้าโรงงานในประเทศอยู่ที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 22.50-23.50 บาทต่อกิโลกรัมใน ขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ประมาณ 410-420 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  หรือ ราคา 14-15 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ฤดูการผลิตน้ำตาลปี2557/2558 เริ่มหีบอ้อยมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2557 เป็นต้นไป  โดยตัวเลขบัญชีจัดสรรของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณอ้อยทั้งปีเบื้องต้นอยู่ที่ 102 ล้านตันอ้อย    ขณะที่วงการอ้อยคาดการณ์ว่าไม่น่าจะทำได้ถึง 100 ล้านตันอ้อย และน่าจะมีผลผลิตเพียง 95-97 ล้านตันอ้อย  จากที่ปี2556/2557 มีปริมาณอ้อยสูงถึง103.67 ล้านตันอ้อย เนื่องจากฤดูการผลิตปี2557/2558 จะมีปัญหาภัยแล้ง มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีก่อนนี้ ส่งผลกระทบถึงผลผลิตอ้อยต่อไร่ลดลง  แม้ว่าจะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากพื้นที่ข้าวนาดอนมาเป็นปลูกอ้อยก็ตาม และจะทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายภายในประเทศอยู่ที่ 10 ล้านตันน้ำตาล จากที่ปี2556/2557 อยู่ที่ 11.3 ล้านตันน้ำตาล โดยในประเทศมีการบริโภคน้ำตาล 2.4 ล้านตัน หรือ 24-25 ล้านกระสอบ(กระสอบละ100 กิโลกรัม) ส่วนการส่งออกคาดการณ์ว่าปี2557/2558 จะลดลงตามปริมาณน้ำตาล โดยจะมีการส่งออกน้ำตาล 7.5 ล้านตันน้ำตาล เทียบกับปี2556/2557 มีการส่งออก 8.8 ล้านตันน้ำตาล

    ด้านองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ(ISO) ระบุว่าผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกปี2557/2558จะมีจำนวน 182.897 ล้านตันน้ำตาล เปรียบเทียบปี2556/2557 อยู่ที่ 182.557 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.19%  และมีการบริโภคน้ำตาลทั่วโลก 182.424 ล้านตัน เทียบปีก่อน 178.931 เท่ากับบริโภคเพิ่มขึ้น 3.493 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.95% โดยผลผลิตยังมากกว่าการบริโภคถึง 3.621 ล้านตัน

-ยัน3เดือนราคายังไม่กระเตื้อง   

    นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC กล่าวว่า ในช่วงระยะสั้นจากนี้ไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคม2558ราคาน้ำตาลจะยังไม่กระเตื้องขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากกำลังผลิตน้ำตาลในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น บราซิล ไทย ออสเตรเลีย อินเดีย มีจำนวนเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาพยากรณ์ว่าผลผลิตอ้อยและน้ำตาลจากประเทศเหล่านี้จะไม่ดีเพราะเผชิญปัญหาภัยแล้งแต่สถานการณ์กลับพลิกผันตรงกันข้าม  ในขณะที่บรรดาเทรดเดอร์มองว่าน้ำตาลในสต๊อกโลกจะขาดแต่ก็ไม่ขาด  บวกกับเกิดปัญหาเศรษฐกิจโลก การบริโภคสินค้าลดลง ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่กระเตื้องในไตรมาส1 ปี2558  และมีแนวโน้มกระทบต่อเนื่องมาถึงพืชเกษตรอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง รวมไปถึงราคาเอทานอลและพลังงานทดแทนอย่างแก๊สโซฮอล์ที่ตกต่ำลงมาก ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่ที่รัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลขึ้นได้ในปี2558นี้

-ชาวไร่ห่วงราคาอ้อยต่ำสุดในรอบ5ปี  

    ด้านนายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า นับจากนี้ไปถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงต่อเนื่องแบบนี้ ก็จะไปกระทบต่อราคาอ้อยเบื้องสุดท้ายที่จะประกาศในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน2558 ซึ่งเป็นช่วงปิดหีบอ้อยไปแล้ว โดยอาจจะต่ำกว่าราคาอ้อยเบื้องต้นปี2557/2558ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ที่ 900 บาทต่อตันซึ่งต่ำกว่าราคาอ้อยเบื้องต้นปี2556/2557 ที่ราคาอยู่ที่950 บาทต่อตัน

    "หากราคาน้ำตาลร่วงลงอีกก็จะเป็นภาระให้กับสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ที่จะต้องไปกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เข้ามาจ่ายค่าอ้อย ทำให้ฐานะกท. มีภาระหนี้สูงขึ้นอีก จากปัจจุบันแบกหนี้อยู่ราว 5,000 ล้านบาท  โดยราคาอ้อยในขณะนี้ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี"

    อย่างไรก็ตามราคาน้ำตาลที่ร่วงลงเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่กลางปี2557  แต่ในขณะนั้นชาวไร่อ้อยก็มองโลกในแง่ดีเพราะคิดว่าราคาน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่เหตุการณ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น และหวั่นว่าราคาอ้อยที่ได้จะไม่คุ้มกับที่ลงทุนไป เพราะเวลานี้ในส่วนของน้ำตาลโควตาข. ซึ่งเป็นส่วนที่ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด(อนท.) ที่ขายล่วงหน้าปี2557/2558ยังขายได้ไม่ถึง20%  จากปริมาณ 8 แสนตันซึ่งน้ำตาล  ซึ่งน้ำตาลโควตาข. จะเป็นส่วนที่นำไปคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นให้ชาวไร่

    "เกรงว่าจะเป็นปัญหาในการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในเดือนตุลาคม2558นี้ เนื่องจากจะทำให้อ้อยขั้นสุดท้ายมีราคาต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น  หรือมีราคาต่ำกว่า900 บาทต่อตันอ้อย"

-โรงงานน้ำตาลต้องปรับตัวสู้      

    นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด ผู้ผลิตน้ำตาล"KBS"กล่าวว่าน่าเป็นห่วงปีฤดูการผลิต2557/2558 เนื่องจากผลผลิตอ้อยที่กำลังหีบเป็นอ้อยที่ปลูกในปี2556/2557 เจอปัญหาภัยแล้ง ตั้งเป้าว่าในประเทศจะมีปริมาณอ้อยรวมที่ 108ล้านตันอ้อยก็น่าจะได้เพียง95 ล้านตันอ้อย และมีคุณภาพอ้อยแย่กว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงราคาตลาดโลกไม่ดี บวกกับที่บราซิลได้ประธานาธิบดีคนเดิม ทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลง

    "เวลาที่ค่าเงินเรียวอ่อนค่ามากหมายถึงความสามารถในการส่งออกของบราซิลสูงขึ้น ดังนั้นอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยต้องปรับตัว  ซึ่งสิ่งที่บริษัททำอยู่คือปรับปรุงคุณภาพน้ำตาล และเมื่อเร็วๆนี้เพิ่งเปิดตัวน้ำตาลแบรนด์"RBS" สำหรับขายปลีก และมีน้ำตาลเปิดตัวใหม่เป็นน้ำตาลหวาน2เท่า หรือ "2X"วางเป้าขายปีแรกประมาณ5 พันตันขายห้างสรรพสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)โดยขายในราคาประมาณกว่า 30 บาท จากที่ราคาน้ำตาลทรายปกติควบคุมราคาขายปลีกอยู่ที่23บาทเศษต่อกิโลกรัม"

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 7 มกราคม 2558

เปิดศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลิตอำเภอละ1แห่ง882จุดทั่วประเทศถ่ายทอดความรู้เกษตรกร

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ ต้นทุนการผลิตสูง พื้นที่เพาะปลูกขาดความอุดมสมบูรณ์ การแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตที่ได้รับมีปริมาณน้อย คุณภาพต่ำ จึงประสบกับภาวะขาดทุน มีปัญหาหนี้สินและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องเร่งหาทางช่วยเหลือ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มปริมาณและพัฒนาคุณภาพของผลผลิตการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

นายปีติพงศ์กล่าวต่อว่า จุดประสงค์หลักของการดำเนินการโครงการนี้ คือ เพื่อให้มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตและเทคโนโลยีการเกษตรให้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยวางเป้าหมายต้องเกิดศูนย์เรียนรู้ทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 แห่ง เป็นต้นแบบและมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเกษตรกรจำนวน 176,400 คน หรือ 200 คนต่อศูนย์ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สำหรับพื้นที่ที่จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ได้คัดเลือกจากพื้นที่นำร่องที่มีการส่งเสริมการเกษตรตามรูปแบบ MRCF คือ เป็นพื้นที่ที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ คน สินค้า และข้อมูลศักยภาพการผลิต (Zoning) และกำหนดประเด็นส่งเสริมเน้นหนักหรือประเด็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ จากนั้นจึงคัดเลือกศูนย์เรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่ ส่วนองค์ประกอบของศูนย์จะประกอบด้วย 1) เกษตรกรต้นแบบ 2) แปลงเรียนรู้ของเกษตรกรต้นแบบ 3) หลักสูตรการเรียนรู้ และ 4) ฐานการเรียนรู้

อนึ่ง ผลการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2557 ได้แก่ 1) สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ได้ดำเนินการทบทวนจุดที่ดำเนินการศูนย์เรียนรู้ในปี 2557 ให้เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูล จัดทำแผนการถ่ายทอดความรู้ 882 ศูนย์ จัดกระบวนการเรียนรู้แล้ว 882 ศูนย์ เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ 165,885 ราย 2) การสำรวจสถานภาพการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรใน 882 อำเภอ 77 จังหวัด 3) การจัดทำแนวทางการขยายผลศูนย์เรียนรู้ฯ สู่การจัดทำแปลงใหญ่ตามแนวทางการพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรด้านพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ดำเนินงาน 200 จุดพร้อมเก็บข้อมูลเกี่ยวกับจุดดำเนินการ ประกอบด้วย ข้าว 134 จุด มันสำปะหลัง 21 จุด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 จุด และผลไม้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มกราคม 2558

พลังงานทดแทน รู้จักก๊าซเหลว LNG

จับทิศพลังงาน กับแผนดันE85ปี54

 กาซธรรมชาติที่มีมีเทนอยู่ร้อยละ87 นั้น ถ้าจะนำมาทำเป็น LNG จะได้ความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ95

      ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซเหลวหรือ LNG เข้ามาใช้งานในบ้านเรา หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า LNG เป็นก๊าซตัวใหม่หรือ และเมื่อนำเข้ามาแล้วถ้าจะนำไปใช้กับรถยนต์จะได้หรือไม่หรือจะมีปัญหาอะไรบ้างไหมก็ต้องย้อนกล่าวไปถึงเรื่องก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการขุดเจาะทั้งใต้ทะเลและบนบก ถ้าเอาแกลลอนสักหนึ่งลิตรตักเอาก๊าซธรรมชาติที่ได้ขึ้นมาตรวจดู จะเห็นว่าก๊าซหนึ่งลิตรนั้นจะเป็นก๊าซมีเทน (Methane CH4) ไปประมาณร้อยละ87 ส่วนที่เหลือที่ผสมอยู่จนเต็มลิตรนั้นก็จะมีก๊าซอีกหลายตัว ที่โรงแยกก๊าซสามารถจะแยกเอาไปใช้งาน    ทั้งในเชิงพาณิชย์และการอุตสาหกรรมได้มากมายเช่น Propane, Butane, CO2, Ethane etc  ก๊าซธรรมชาติที่แยกออกมานี้ถ้าส่งออกไปขายโดยส่งไปตามท่อจะเรียกว่า Sales gas หรือ PNG Pipe Natural Gas

            หรือถ้าจับเอาโพรเพนกับบิวเทนมาผสมกันในอัตราส่วนที่พอเหมาะเช่น 60:40 หรือ70:30 แล้วบรรจุลงในถัง ก็จะกลายเป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซ LPG (Liquefied Natural Gas)ที่เรารู้จักกันดี ก๊าซมีเทนที่เหลือ เมื่อนำมาอัดด้วยแรงดันสูงบรรจุเข้าไว้ในถังที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษที่ทนแรงดันได้มากกว่า200บาร์(200เท่าของแรงดันบรรยากาศรอบตัวเรา)ก็จะถูกเรียกว่าก๊าซ CNG (Compressed Natural Gas) ที่เอามาเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ทุกชนิดในบ้านเราที่ถูกเรียกกันว่า NGV (Natural Gas for Vehicle) ก๊าซมีเทนที่ถูกนำมาอัดเข้าถังแม้จะสะดวกในการใช้งานและการขนส่ง แต่ก็ยังถือว่าไม่สะดวกมากนักกับการขนส่งเพราะได้ปริมาณครั้งละไม่มากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ต้องการในการนำไปใช้ทำเชื้อเพลิง

                การนำมีเทนหรือก๊าซธรรมชาติมาทำให้เป็นของเหลวโดยการใช้ความเย็นที่ ลบ162องศาเซลเชียส หรือที่ลบ260องศาฟาเรนท์ไฮต์ นั้นจะทำให้ได้ปริมาตรที่มากขึ้นถึง600เท่า(มีเทนก๊าซ 600ลิตรเมื่อทำเป็นของเหลวที่อุณหภูมิดังกล่าวจะเหลือเพียง1ลิตร) ก็จะได้เป็นก๊าซเหลวที่เรียกว่า LNG Liquefied Natural Gas ทำให้สะดวกในการขนส่งไปยังแหล่งที่ต้องการใช้งาน ถ้ามองกันแค่นี้ก็ไม่น่ายากที่จะทำให้เกิดขึ้น และปตท.ควรจะทำมาตั้งนานแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้นกระบวนการที่จะทำให้ก๊าซธรรมชาติเป็นก๊าซเหลวนั้นไม่ยาก ความยากอยู่ตรงที่ว่า กาซธรรมชาติที่มีมีเทนอยู่ร้อยละ87 นั้น ถ้าจะนำมาทำเป็น LNG ที่มีคุณสมบัติตามที่ผู้ใช้ต้องการนั้นจะต้องแยกเอาเพียงแต่ก๊าซมีเทนให้ได้ความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ95  ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ที่จะนำLNG มาใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นจะใช้ก๊าซที่ได้(มี)ค่าความร้อนที่ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับประเภทของงานหรืออุตสาหกรรมที่ใช้ แต่มีเทนที่บริสุทธิ์นี้จะมีค่าความร้อนที่คงที่ ผู้สั่งหรือผู้ซื้อจะต้องแจ้งไปยังผู้ขายว่าต้องการ LNG ที่มีค่าความร้อนเท่าใด

ตัวอย่างเช่นโรงแยกก๊าซหรือผู้ผลิต LNG (รายใหญ่สุดคือประเทศการ์ต้า ผู้ซื้อรายใหญ่สุดคือญี่ปุ่น)  ผลิต LNG ได้ค่าความร้อนออกมาเป็น100บีทยู แต่อุตสาหกรรมในญี่ปุ่นต้องการ LNG ที่มีค่าความร้อน 110 บีทียู ผู้ผลิตก็จะเติมก๊าซโพรเพนเข้าไปตามอัตราส่วนที่เหมาะสมจึงจะได้ค่าความร้อนที่ญี่ปุ่นต้องการ หรือในทางกลับกัน ปตท.ของเราต้องการ LNG ที่มีค่าความร้อนเพียงแค่90บีทียู ผู้ผลิตก็จะเติมบิวเทนลงไปตามอัตราส่วนเพื่อให้ได้ค่าความร้อนที่ ปตท ต้องการ  LNG ที่ได้ค่าความร้อนตามที่ต้องการแล้วจึงเข้ากระบวนการทำให้เป็นของเหลว ก็จะทำการขนส่งด้วยเรือหรือยานพาหนะอื่นๆที่ควบคุมความเย็นให้คงที่ที่ลบ162องศา เข้าสู่สถานีรับก๊าซที่ต้องถูกสร้างให้สามารถกักเก็บก๊าซเหลวที่อุณหภูมิติดลบได้ตลอดเวลา เมื่อจะนำไปใช้งานก็จะผ่านกระบวนการทำให้เป็นก๊าซเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการใช้งานต่อไป

                อย่างไรก็ตาม LNG ก็คือ NGV ที่อยู่กันคนละสถานะเท่านั้น เมื่อใดที่มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้งานในภาคขนส่งหรือในรถยนต์ ก็สามารถที่จะนำมาใช้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเสริมแต่อุปกรณ์ชิ้นส่วนใดๆในรถยนต์เพราะ เมื่อจะนำมาใช้ในรถยนต์สถานีเติมก๊าซจะต้องเปลี่ยนสถานะของLNG ให้เป็น NGV เสียก่อนจึงจะเติมเข้าไปในถังบรรจุก๊าซในรถยนต์ได้ ผู้ใช้รถน่าจะได้รับผลดีจากการใช้LNG มากขึ้น เพราะ LNG เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีความบริสุทธิ์ของมีเทนมากกว่าที่มีอยู่ในNGV บ้านเราในปัจจุบัน ทำให้สบายใจหายห่วงได้ในเรื่องสำหรับคุณภาพ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

ก่อนวิกฤติประปาเค็มซ้ำรอย จัดระเบียบใช้น้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง

 “กรมชล” คาดปัญหาน้ำประปาเค็มในปีนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยกับปีที่ผ่านมา แม้เป็นปีที่น้ำในเขื่อนมีน้อย เหตุพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นตัวแย่งน้ำจืดในปีนี้มีประมาณ 2.3 ล้านไร่ น้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งมีมากถึง 9.5 ล้านไร่ ชี้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) งดจ่ายเงินชดเชยชาวนาที่ฝ่าฝืน ประกาศห้ามปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาและ ลุ่มแม่กลอง เป็นกุญแจสำคัญ คุมพื้นที่นาปรังอยู่หมัด

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า ในเดือน ก.พ.2557 เกิดเหตุการณ์น้ำประปาในเขตกรุงเทพฯเค็ม เพราะน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อยเกินไป ทำให้น้ำทะเลรุกล้ำจากปลายแม่น้ำเข้ามาถึงปากคลองสำแล ซึ่งเป็นจุดสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบประปา นั่นเป็นที่มาของการเกิดปัญหาน้ำประปาเค็ม

ข้อเท็จจริงทางสภาพภูมิศาสตร์ของระบบแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งง่ายๆ ได้แก่ ตอนบน ประกอบด้วย แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน มีเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เป็นแหล่งเก็บน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุด

ตอนกลางของแม่น้ำ เริ่มตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ที่แม่น้ำ 4 สายไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ทอดยาวลงมีระบบชลประทาน ฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบชลประทานนี้เองเป็นตัวดักน้ำจืดออกไปสองข้างทาง เพื่อให้เกษตรกรใช้ทำนา บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่ทำนาที่หนาแน่นที่สุด เป็นจุดที่ดึงน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด

ถัดลงมาจากระบบชลประทานฝั่งซ้าย-ขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงจะมาถึงปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี ที่เป็นจุดสูบน้ำดิบเข้าไปผลิตเป็นน้ำประปาหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก

น้ำที่ระบายจากเขื่อนทางภาคเหนือลงมา จะเหลือมาถึงระบบน้ำประปามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่การปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง หรือข้าวนาปรัง มีมากน้อยเพียงใด ถ้าปีใดมีการทำนาในฤดูแล้ง หรือปลูกข้าวนาปรังมาก ก็ต้องมีการใช้น้ำชลประทานมาก น้ำที่เหลือมาถึงระบบสูบน้ำประปาก็จะมีน้อย

นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำประปาเค็มในช่วงเดือน ก.พ.2557 เพราะในปีนั้น รัฐยังมีนโยบายจูงใจราคาข้าว จึงมีส่วนทำให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังมากถึง 9.5 ล้านไร่ จากแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้ว่าจะทำนาได้ประมาณ 4.7 ล้านไร่

นายสุเทพกล่าวว่า สำหรับปี 2558 เป็นปีที่กรมชลฯพบว่าปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆมีไม่มาก เพราะภาพรวมของสภาพภูมิอากาศเป็น ปีแล้ง จึงได้มีการออกประกาศห้ามชาวนาในเขตลุ่มเจ้าพระยาและลุ่ม น้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด งดปลูกข้าวนาปรัง

สาเหตุที่ต้องออกประกาศงดปลูกนาปรัง มาจาก 2 ประการ สาเหตุ แรกสำคัญที่สุด คือ ต้องสำรองน้ำที่มีอยู่ในช่วงหน้าแล้ง เพื่อเก็บไว้ส่งให้ชาวนาเริ่มต้นปลูกข้าวได้พร้อมกันในช่วงเริ่มต้นฤดูฝน เพราะถ้าปลูกข้าวพร้อมกัน ก็จะเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน พอดี เมื่อถึงหน้าฝนน้ำหลาก จะได้บรรเทาปัญหาคนที่เกี่ยวข้าวหนีน้ำไม่ทัน

ส่วนสาเหตุที่สอง คือ ป้องกันปัญหาระบบนิเวศในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะปัญหาน้ำจืดไม่เพียงพอ จนถูกน้ำทะเลรุกล้ำเข้ามามาก เกิดปัญหาน้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มเกินมาตรการ ผลที่ตามมาก็อย่างที่เห็นในช่วงต้นปี 2557 คือ น้ำประปาฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯเค็ม การเลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำเสียหาย การเพาะปลูกพืชผักพืชไร่ ซึ่งโดยปกติทนความเค็มไม่ได้ก็เสียหายไปด้วยยังดีที่สถานการณ์ไม่รุนแรงไปมากจนกระทบกับภาคอุตสาหกรรม และการแพทย์

นายสุเทพกล่าวว่า ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค.2557 พบว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวในฤดูแล้ง รวมประมาณ 3.2 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปีที่ปลูกคาบเกี่ยวมาถึงช่วงหน้าแล้ง ยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยวประมาณ 880,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวเบาอายุสั้นไม่เกิน 90 วัน เก็บเกี่ยวเร็วและไม่ต้องการใช้น้ำจากเขื่อน

อีกส่วนหนึ่ง 2.35 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรังที่ชาวนาฝ่าฝืนประกาศห้ามของกรมชลฯ ส่วนนี้เองเป็นพื้นที่ที่จะแย่งน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเองหากข้าวยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติออกมาแล้ว จะไม่จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับชาวนาที่ฝ่าฝืนประกาศงดปลูกข้าวนาปรัง

“ในปีนี้กรมชลฯพยายามวางแผนการจัดสรรน้ำให้รัดกุมที่สุด โดยจะปิดระบบชลประทานฝั่งซ้าย-ขวา ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดฤดูแล้งนี้ เพื่อควบคุมน้ำจืดให้อยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา ป้องกันปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ และน้ำประปามีรสเค็ม ผมประสานงานกับการประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวงโดยตลอด มีการตั้งกลุ่มสนทนาบนแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ระหว่างผู้บริหารน้ำ ทำให้ทราบว่าการประปาได้สำรองน้ำดิบคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อผลิตน้ำประปาให้แก่ประชาชนอยู่ตลอด” 

ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้น้ำในลุ่มเจ้าพระยาล่าสุด มีปริมาณน้ำใช้การได้ตลอดฤดูแล้งปีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ใช้น้ำไปแล้วประมาณ 753 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 26% ของปริมาณน้ำใช้การได้ตลอดฤดูแล้ง ถือว่ายังใช้น้ำตามแผนที่วางไว้ เมื่อเทียบกับหน้าแล้งที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 4 เดือน หรือสิ้นสุดเดือน เม.ย.นี้ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะกลางเดือน เม.ย.เป็นช่วงที่แล้งจัด แล้งที่สุดของปี

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำว่าจะเกิดปัญหาน้ำประปาเค็มได้ง่ายๆ คือ ให้ดูตัวเลขปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำเจ้าพระยาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จะต้องมีอัตราการไหลอยู่ที่ 80-100 ลบ.ม.ต่อวินาที ถ้าอัตราการไหลต่ำกว่านี้ ก็เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำประปาเค็มซ้ำรอบปีที่ผ่านมาได้

“อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำที่เราเป็นอยู่นี้ ถ้าพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังในลุ่มเจ้าพระยาไม่ขยายตัวเพิ่มเติมมากจนเกินไป เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งน่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะโชคดีที่เราได้นโยบายในการจัดการน้ำที่สำคัญที่สุดจากรัฐบาล คือ การประกาศไม่จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาที่ฝ่าฝืนปลูกข้าวนาปรัง”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : ‘ปีติพงศ์’จัดทัพคลื่อนโรดแมปภาคเกษตรปี’58

หลังจากตกเป็นเป้าจับตามองการทำงานนับจากวันที่ได้รับตำแหน่งกระทรวงพญานาค “ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูเหมือนจะรับศึกหนัก ในการขับเคลื่อนปัญหาภาคเกษตรซึ่งหมักหมมมาอย่างยาวนาน   ตั้งแต่ปัญหาที่ดิน ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำไม่ว่าเป็นมันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว ไล่มาจนถึงยางพารา ซึ่งแต่ละปัญหากำหลังได้รับการคลี่คลายเป็นลำดับ

ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกรและประชาชนโดยสองรัฐมนตรีได้เรียกระดมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายทั่วประเทศกว่า 1,000 คนเข้ารับฟังแผนปฏิบัติการหรือ “โรดแมป” ของกระทรวงเกษตรฯที่จะดำเนินงานในปี’58 เพื่อขันนอตข้าราชการให้เร่งเดินเครื่องและเดินหน้ากันไปในทิศทางเดียวกัน

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2558 ได้กำหนด 4 แผนงาน ในการดำเนินงานตามนโยบาย คือ 1.แผนปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิตคือ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การแบ่งเขตเพื่อปลูกพืชผลแต่ละชนิด และการสนับสนุนให้สหกรณ์ของกลุ่มเกษตรที่ผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มบทบาทในฐานะผู้ซื้อพืชผลจนถึงการแปรรูปและการส่งออก เพื่อให้สหกรณ์เป็นผู้ค้าขายสินค้าเกษตรรายใหญ่อีกรายหนึ่งซึ่งจะช่วยคานอำนาจของกลุ่มพ่อค้าเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความสมดุลมากขึ้น 2.แผนเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ 3.แผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ดิน และที่ดิน และ 4.แผนแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกแผนงานจะมีการบูรณาการงานเข้าด้วยกัน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตน้ำ ดิน การพัฒนาการผลิต การเพิ่มศักยภาพการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าการลดต้นทุนการผลิต และยังรวมถึงการเชื่อมโยงตลาดการหาแหล่งเงินทุน

ทั้งนี้ ในส่วนของสหกรณ์จะมีบทบาทสำคัญ 2 ที่จะต้องดำเนินการคือ 1.การค้าชายแดน ขณะนี้วางแผนงานไปแล้ว 2 จุด คือ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่จะเป็นช่องทางนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็นช่องทางนำเข้ามันสำปะหลัง แต่หลังจากนี้จะพัฒนาไปสู่ชายแดนอื่นๆ เพื่อตอบรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2.การพัฒนาสินค้าเกษตรในพื้นที่ สหกรณ์จะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น ทั้งการปรับโครงสร้างพืชและยกระดับสินค้าลักษณะ Niche Market ของพื้นที่ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ด้านการจัดการที่ดิน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องประสานกันระหว่างกรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดินเพื่อพัฒนาดินและน้ำ

ในขณะที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้เร่งรัด 2 ประการ คือ 1.ตรวจสอบว่าเกษตรกรนำที่ดินส.ป.ก.ไปใช้ผิดประเภทหรือไม่2.ผู้ครอบครองที่ดินส.ป.ก.เป็นเกษตรกรจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้เร่งทำแผนเข้าสู่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนด้านประมงได้เร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย (IUU Fishing) เพื่อให้ทันก่อนการประเมินของสหภาพยุโรปในอีก 90 วัน โดยมี 3 ประการหลักที่ต้องเร่งดูแล ได้แก่ 1.การจดทะเบียนเรือและอาชญาบัตร 2.ระบบติดตามเรือ 3.เข้มงวดในการตรวจสอบย้อนหลัง

“การปรับโครงสร้างทางการเกษตรในปีนี้ เราได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นเรื่องยางพารา ในปีหน้าจะเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ส่วนพืชอื่นๆ ดำเนินการในปีหน้าเช่นกัน” นายปีติพงศ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

สมอ.ดึงบริษัทข้ามชาติ ร่วมออกใบรับรองมาตรฐาน หวังเพิ่มประสิทธิภาพดำเนินการ

นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ใน 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.-ธ.ค.2557) สมอ.ได้ออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไปแล้ว 1,912 ฉบับ และคาดว่าในปีงบประมาณ 2558 จะออกใบรับรองมาตรฐานให้ได้ 7 พันฉบับ โดยในจำนวนนี้จะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมบังคับ 70% และมาตรฐานทั่วไป 30%

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ สมอ. มั่นใจว่าจะออกใบรับรองฯได้ตามเป้าหมาย มาจากการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เช่น สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันวิชาการต่างๆ และบริษัทข้ามชาติที่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกใบรับรองฯมากขึ้น นอกจากนี้ สมอ. ยังได้รับงบประมาณในการปรับปรุงห้องแล็ปทดสอบมาตรฐาน154 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบให้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่เข้ามาขอใบรับรองมาตรฐานมากที่สุดส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอดไฟแอลอีดี และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มีสัดส่วนกว่า 50% รองลงมาจะเป็นกลุ่มวัสดุก่อสร้างและเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์

“สมอ. ตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นที่ 1 ของอาเซียนในเรื่องของมาตรฐานอุตสาหกรรมภายในไม่เกิน 2 ปี จากปัจจุบันที่เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับแก้ระบบการดำเนินงานให้อำนวยความสะดวกกับภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ โดยจะเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานจากเดิมที่จะเข้มงวดในการออกใบอนุญาตมาตรฐาน ไปเป็นการมุ่งตรวจสอบมาตรฐานให้เป็นไปตามที่กำหนด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ”

ส่วนการจัดทำมาตรฐานอาเซียนในกลุ่มสินค้านำร่อง 2 กลุ่ม ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ในส่วนของกลุ่มรถยนต์จะต้องปรับปรุงมาตรฐานทั้งหมด 19 รายการ ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงไปแล้ว 17 รายการ เหลือเพียงมาตรฐานยางล้อรถยนต์นั่ง และยางล้อรถบรรทุก ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในปี 2558 ส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องปรับปรุงมาตรฐานทั้งหมด 30 รายการ สมอ. ได้ปรับปรุงไปแล้ว 24 รายการ เหลือ 6 รายการ ซึ่งจะเสร็จภายในช่วงกลางปี 2558 เช่นเดียวกัน

สำหรับขั้นตอนการขอใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จะมี 2 เครื่องหมาย คือ เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป และเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ โดยมีกระบวนการใน 2 รูปแบบ คือ 1. ในระยะเวลา 43 วัน กรณีผู้ยื่นยังไม่มีผลตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพ และผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และ 2. ในระยะเวลา 26 วัน กรณีมีผลการตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพตามข้อบังคับของ สมอ.และมีการใช้ใบรับรองการบริหารงานคุณภาพตาม มอก.9001 หรือ ISO 9001 จากหน่วยงานที่ สมอ.ยอมรับ ซึ่งกรอบเวลาดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ประกอบการกำหนดระยะเวลาการรับใบอนุญาตได้ชัดเจน ป้องกันการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาที่จะทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียเวลารอคอยยาวนานเกิดการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 มกราคม 2558

ศักยภาพการผลิตเจ๋งบิ๊กตู่เสนอจีนซื้อเอทานอลไทย

วันที่ 5 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังนายไบ๊ ซุ่นหลี่ ประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่า เป็นหารือข้อตกลงก่อนลงนามทำความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ ระหว่างสถาบันกับสำนักงานกองทุยสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (เอ็มโอยู)ในวันที่ 6 มกราคม

โดยกิจกรรมดังกล่าวมีทั้งการแลกเปลี่ยนนักวิจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว การจัดสัมนา และการจัดพัฒนางานวิจัยร่วมกัน  พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญหลักๆ คือ 1.ความร่วมมือด้านดาวเทียมสื่อสาร การพัฒนารถไฟ พลังงาน และด้านชีวภาพรวมกัน

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้พูดถึงข้อหารือที่ได้หารือกับนายสี่ จิ้นผิง นายกรัฐมนตรีจีนในช่วงที่ได้มีการพบกันก่อนหน้าเรื่องความร่วมมือเรื่องรถไฟ พลังงานทางเลือก โรงงานขยะ ผลิตภัณฑ์ยาง การทดสอบรถยนต์ เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ยังได้พูดถึงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ที่ได้มีการหารือกับทางการจีนเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อยากให้ไทยกับจีนร่วมมือกัน รวมไปถึงเรื่องการจัดทำแผนที่ 3 มิติที่อยากร่วมมือกันเพื่อจัดทำผังเมืองต่อไป ซึ่งนายไป๊ก็พร้อมร่วมมือกับไทนในเรื่องดังกล่าว

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากเพิ่มเติมเรื่องหนึ่งคือการซื้อไฟฟ้าจากทางการจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุย ว่าไทยสนใจที่จะซื้อไฟฟ้าจากจีนประมาณ 3,000 เม็กวัต และนายกฯได้เสนอให้จีนซื้อเอทานอล ของไทยเพราะว่าไทยมีศักยภาพในการผลิต 1.4 ล้านลิตรต่อวัน เพียงพอที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศได้ฝ่ายจีนก็รับไปพิจารณา

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 5 มกราคม 2558

บทวิจัยกรุงศรี :เศรษฐกิจโลกปี 2557 และแนวโน้มปี 2558 

          ปี 2557: เศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราต่ำและอ่อนแรงเกินคาด

          การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักยังคงเปราะบางและไม่ถ้วนทั่ว

          กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EMs) อยู่ในช่วงชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่ม BRICS ชะลอตัวแรงเกินคาด

          ประเด็นสำคัญปี 2557 ที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้า อาทิ ความต่างของระดับการฟื้นตัวและนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแกนหลัก การดิ่งลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และความขัดแย้งทางสังคม-การเมืองที่รุนแรงขึ้น

          ปี 2558: เผชิญความผันผวนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลก

          ทิศทางการฟื้นตัวที่ต่างกันในหลายระดับนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่อาจต่างกันมากขึ้น

          กลุ่มประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงปีก่อนหน้า เนื่องจากยังมีช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

          ราคาน้ำมันดิบโลก...ปัจจัยที่อาจหนุนการเติบโตและเพิ่มความคล่องตัวในการใช้นโยบายเศรษฐกิจ

          ประเด็นหลักที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกปี 2558... ผลจากระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน และการใช้นโยบายการเงินที่ไม่สอดคล้องกันของประเทศมหาอำนาจ ย่อมก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย

          เศรษฐกิจไทยปี 2557 และแนวโน้มปี 2558

          ปี 2557: สู่ความหวังในการฟื้นตัว หลังเผชิญภาวะโกลาหลทางการเมือง

          ช่วงครึ่งปีแรก ภาวะตีบตันทางการเมือง ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ไร้พลังขับเคลื่อน

          การผ่อนคลายนโยบายการเงิน และความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ช่วยพยุงการเติบโตในยามที่ปัจจัยลบรุมเร้า

          ช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัว

          เหตุการณ์ผิดคาดช่วงท้ายปี 2557 ทั้งการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรุด และการใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าเป้า อาจส่งผลต่อเนื่องสู่ปีถัดไป

          ปี 2558: ยังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวที่ไม่ราบเรียบ

          พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโต

          ความต่างของนโยบายการเงินของประเทศแกนหลัก และการร่วงลงของราคาน้ำมันโลก ส่งผลต่อตลาดการเงินและทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย

          ประเด็นหลักที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 ได้แก่ 1) ความต่างของภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศแกนหลักของโลก 2) ผลเชิงบวกจากการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก และ 3) ทิศทางการเมืองในประเทศ

          เศรษฐกิจโลกปี 2557 และแนวโน้มปี 2558

          ปี 2557: เศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราต่ำและอ่อนแรงเกินคาด

          เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าและเผชิญกับความเสี่ยงสูงขึ้น ส่งผลให้สถาบันชั้นนำของโลกหลายแห่งทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ต่างปรับลดมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกลงมาอย่างพร้อมเพรียงกัน จุดสนใจของปีนี้อยู่ที่ระดับการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศแกนหลักที่มีความแตกต่างกันมากขึ้นและนโยบายการเงินที่ไม่สอดคล้องกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

          การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักยังคงเปราะบางและไม่ถ้วนทั่ว

          เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวที่ชัดเจน จนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยุติการพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องในเดือนตุลาคม และกำลังหาจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตรงข้ามกับยูโรโซนและญี่ปุ่นที่การฟื้นตัวสะดุดลง โดยยูโรโซนเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเงินฝืด ขณะที่บางประเทศเช่น อิตาลี กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องเร่งออกมาตรการทั้งปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับใกล้ศูนย์ และอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงซื้อหลักทรัพย์ภาคเอกชน แต่สิ่งที่ทำไปดูเหมือนจะได้แค่ประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ด้านญี่ปุ่น เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 7 ปี หลังมีการปรับขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องเพิ่มขนาดการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ขณะที่รัฐบาลเลื่อนการขึ้นภาษีการขายรอบสองออกไปและประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคมเพื่อหาเสียงสนับสนุนนโยบายที่จะดำเนินการต่อไป ส่วนเป้าหมายที่จะไปให้ถึงเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ดูห่างไกลออกไปจากแผนที่วางไว้

          กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EMs) อยู่ในช่วงชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่ม BRICS ชะลอตัวแรงเกินคาด

          ประเทศ EMs ส่วนใหญ่หันมาเน้นดูแลเสถียรภาพและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยจีนเดินหน้าตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนชะลอตัวลงโดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงมาก ประกอบกับภาคส่งออกได้รับผลกระทบจาก อุปสงค์โลกซบเซา เศรษฐกิจจีนปีนี้จึงชะลอตัวเกินคาดโดยเติบโตในอัตราต่ำสุดในรอบ 24 ปี แม้ว่าทางการจะออกมาตรการกระตุ้นแบบเจาะจงเป้าหมายเป็นระยะๆ โดยหลีกเลี่ยงการกระตุ้นในวงกว้างที่อาจสร้างปัญหาฟองสบู่เช่นในอดีต แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะ

          ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ล่าสุด ทางการเริ่มเสริมด้วยมาตรการกระตุ้นในวงกว้าง โดยปรับลดดอกเบี้ยอ้างอิงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ซึ่งน่าติดตามว่ามาตรการล่าสุดนี้จะมีผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

          ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม BRICS ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ รัสเซีย เศรษฐกิจจมสู่ภาวะถดถอย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก และยังถูกซ้ำเติมด้วยการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบโลกขณะที่การอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินรูเบิลกดดันให้ทางการลอยตัวเงินรูเบิลในช่วงปลายปี ล่าสุด ทางการยังปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 17% จากระดับ 10.5% เพื่อบรรเทาการอ่อนค่าของเงินรูเบิล ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มย่ำแย่ลงอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนบราซิล เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงันแม้จะก้าวพ้นจากภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรกแล้วก็ตาม สาเหตุหลักจากการร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่กระทบต่อรายได้หลักของประเทศ

          สำหรับกลุ่ม EMs อื่นๆ มีภาพรวมการเติบโตชะลอลงกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังการชะลอตัวของประเทศสำคัญ ซึ่งรวมถึงจีนเริ่มส่งผลกระทบลุกลามมายังเศรษฐกิจ EMs ผ่านภาคการค้าและการลงทุน บางประเทศจึงจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน นอกจากนี้ บางประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ยังถูกซ้ำเติมจากการทรุดตัวรุนแรงของราคาในตลาดโลก เช่น บราซิล รัสเซีย และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น หลายๆ ประเทศมีปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นข้อจำกัดทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง

          ประเด็นสำคัญปี 2557 ที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจ โลกปีหน้า

          สำหรับประเด็นสำคัญจากปี 2557 ที่จะเชื่อมต่อไปสู่ปี 2558 จะมีทั้งความต่างของระดับการฟื้นตัวและนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแกนหลัก ซึ่งรวมถึงจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ท่ามกลางการใช้มาตรการพิมพ์เงินของยูโรโซนและญี่ปุ่น ประการต่อมา คือ ผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ดิ่งลงอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกผ่านต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน แต่ปัจจัยนี้อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะเห็นผล และท้ายสุด คือความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาสังคม-การเมืองในหลายประเทศ ประเด็นสำคัญเหล่านี้อาจสร้างความผันผวนต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งส่งผลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินในปีหน้า

          ปี 2558...เผชิญความผันผวนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลก

          เศรษฐกิจโลกปี 2558 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปี 2557 แต่ไม่มากนัก จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอในประเทศสำคัญ เช่น ยูโรโซน ญี่ปุ่น และประเทศตลาดเกิดใหม่ (EMs) รายใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะจีน แต่อาจได้อานิสงส์จากราคาพลังงานที่ปรับลดลงแรงช่วยเกื้อหนุนการเติบโต โดย IMF คาดว่าการเติบโตจะอยู่ที่ระดับ 3.8% จาก 3.3% ในปี 2557

          ทิศทางการฟื้นตัวที่ต่างกันในหลายระดับนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่อาจต่างกันมากขึ้น

          เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตได้สูงสุดในกลุ่มประเทศแกนหลักจากตลาดแรงงานที่มีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง จุดสนใจในปีนี้จะอยู่ที่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับผ่อนคลายช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้ Fed สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านยูโรโซน ยังต้องดิ้นรนให้หลุดพ้นจากภาวะชะงักงันและเงินฝืด แรงกดดันจึงอยู่ที่ว่า ECB จะออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจได้ทันท่วงทีและเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเช่นเดียวกับสหรัฐฯ เนื่องจากปัญหาของยูโรโซนคือการขาดเอกภาพด้านนโยบาย ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังแก้ไขได้ช้ามาก ทั้งอัตราการว่างงานสูง ขาดการลงทุนใหม่ๆ และหนี้ภาครัฐก้อนโตที่ยังแฝงอยู่ สำหรับญี่ปุ่น อยู่ในภาวะคล้ายคลึงกับยูโรโซนที่อาจต้องออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตได้สูงกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นในการออกมาตรการกระตุ้นทั้งด้านการเงินและการคลังมากกว่า บวกกับแรงหนุนจากเงินเยนอ่อนค่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคส่งออก อีกทั้งการปรับโครงสร้างการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น (GPIF) จะช่วยหนุนตลาดหุ้นและความมั่งคั่งของประชาชน

          กลุ่มประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงปีก่อนหน้า เนื่องจากยังมีช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

          เศรษฐกิจของประเทศ EMs รายใหญ่ เช่นจีน คาดว่าจะยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว อันเป็นผลจากการควบคุมการเติบโตในภาคเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงและมีปัญหาเรื้อรังสะสม อาทิ อุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงมาก ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ภาคการเงินที่มีหนี้เสียมากขึ้น และรัฐบาลท้องถิ่นที่มีหนี้ก้อนโต อีกประการคือ นโยบายปรับสมดุลย์ที่มุ่งหวังให้การเติบโตมีเสถียรภาพในระยะยาว อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นที่ได้ทำมาแล้วในปีก่อนหน้า

          จะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจประคองการเติบโตต่อไปได้แม้จะชะลอลงบ้าง ส่วนประเทศ EMs อื่นๆ ก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องใกล้เคียงกับปีก่อน โดยได้อานิสงส์จากภาคส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่หลายประเทศยังมีช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การเติบโตอาจถูกจำกัดจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาเชิงโครงสร้างในแต่ละประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายประเทศหลังต้นทุนโดยเฉพาะค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นมาก

ราคาน้ำมันดิบโลก...ปัจจัยที่อาจหนุนการเติบโตและเพิ่มความคล่องตัวในการใช้นโยบายเศรษฐกิจ

          วัฏจักรขาลงของราคาน้ำมันดิบโลก ซึ่งมีสาเหตุหลักจากอุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปสงค์ โดยได้แรงหนุนจากภาวะเฟื่องฟูในการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานในสหรัฐฯ นั้น แม้จะส่งผลเชิงลบต่อรายได้ของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลเชิงบวกของราคาน้ำมันที่ถูกลงอาจเริ่มปรากฏชัดขึ้นในปี 2558 โดยคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ผ่อนคลายแรงกดดันเงินเฟ้อ ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือช่วยชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไป รวมทั้งลดภาระการอุดหนุนราคาพลังงานซึ่งจะเพิ่มช่องทางการใช้นโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ปัจจัยเหล่านี้จึงอาจหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวม ผ่านประเทศผู้บริโภคและนำเข้าพลังงาน อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป และหลายประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่

          ประเด็นหลักที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลกปี 2558

          ผลจากระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน และการใช้นโยบายการเงินที่ไม่สอดคล้องกันของประเทศมหาอำนาจ ย่อมก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งอาจไหลสู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจดี นอกจากนี้ ค่าเงินยังอาจผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวะของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ขณะที่การพิมพ์เงินของยูโรโซนและญี่ปุ่นอาจจุดชนวนให้เกิดสงครามค่าเงินในประเทศที่พึ่งพาการส่งออก สำหรับประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่อาจทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนเกินคาด ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของจังหวะและขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed 2) สภาพคล่องโลกที่ยังมีอยู่จำนวนมาก จากนโยบายการเงินผ่อนคลายของประเทศแกนหลัก อาจหนุนการเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง 3) ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวแรงเกินคาด ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ดิ่งลงรุนแรงอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด และความขัดแย้งทางสังคม-การเมืองในหลายพื้นที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ประเด็นเหล่านี้อาจทำให้ทิศทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และกระแสเงินทุนโลกพลิกผันไปจากที่ประเมินไว้

          เศรษฐกิจไทยปี 2557 และแนวโน้มปี 2558

          ปี 2557: สู่ความหวังในการฟื้นตัว หลังเผชิญภาวะโกลาหลทางการเมือง

          เศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราต่ำสุดในอาเซียนที่เพียง 0.8% ผลจากสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยทั้งความอ่อนแอของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจพลิกผันจากที่ไร้การเติบโตในช่วงครึ่งปีแรก มาสู่การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงกลางปี

          ช่วงครึ่งปีแรก ภาวะตีบตันทางการเมือง ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ไร้พลังขับเคลื่อน

          เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2557 ไร้การเติบโต จากปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ โดยความโกลาหลทางการเมืองในประเทศที่ก่อตัวตั้งแต่ปลายปี 2556 ทั้งการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ การยุบสภา การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐชะงักงัน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสะดุด ความเชื่อมั่นภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศถูกบั่นทอน ภาคท่องเที่ยวทรุดแรง ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน รวมทั้งการบริโภคอ่อนแอลงภายหลังซบเซาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากผลของนโยบายประชานิยมแผ่วลงและภาระหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น

          นอกจากนี้ ภาคส่งออกที่เคยหวังว่าจะช่วยชดเชยความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศกลับหดตัวลง เนื่องจากอุปสงค์ของตลาดโลกโดยรวมอ่อนแอกว่าคาด ผนวกกับอุปสรรคภายในประเทศโดยเฉพาะปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในสินค้าส่งออกหลายรายการ

          การผ่อนคลายนโยบายการเงิน และความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ช่วยพยุงการเติบโตในยามที่ปัจจัยลบรุมเร้า

          ท่ามกลางเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกด้านที่อ่อนแรงลงเช่นนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2% ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2557 เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ขาดแรงหนุนจากนโยบายการคลัง

นอกจากนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในแง่ของทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะ การคลัง สุขภาพของภาคธนาคารและภาคเอกชน ขณะที่อันดับ ความน่าเชื่อถือของไทยยังคงเดิมแม้จะเผชิญกับวิกฤตการเมือง ทั้งนี้ สะท้อนว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

          ช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัว

          เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดจากการปลดล็อกภาวะสุญญากาศทางการเมืองภายหลังรัฐประหารในช่วงกลางปี แม้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆยังปกคลุมอยู่ แต่กระแสตอบรับจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกลับออกมาดีผิดคาด เงินทุนจากต่างประเทศเริ่มไหลเข้า ขณะที่การใช้จ่ายและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐคล่องตัวขึ้นและกลับมามีบทบาทหลักในการหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี การทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น เมื่อผนวกกับภาคท่องเที่ยวและภาคส่งออกที่กระเตื้องขึ้นช่วงท้ายปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวดีขึ้นโดยคาดว่าจะโต 1.5-2.0% จากหดตัว 0.02% ในครึ่งปีแรก

          เหตุการณ์ผิดคาดช่วงท้ายปี 2557 ทั้งการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทรุด และการใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าเป้า อาจส่งผลต่อเนื่องสู่ปีถัดไป

          แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เริ่มกระเตื้องขึ้น แต่การฟื้นตัวดำเนินไปอย่างล่าช้าและอ่อนแอกว่าคาด ผลจากปัจจัยแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศหลายประการ อันได้แก่ 1) หลายภาคส่วนของเศรษฐกิจโลกซบเซากว่าคาด โดยเฉพาะยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน สอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของสถาบันชั้นนำ ภาคส่งออกของไทยจึงยังซบเซาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แม้จะฟื้นตัวได้บ้างในช่วงท้ายปี 2) การร่วงลงของราคาสินค้าเกษตร ไม่เพียงกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย แต่ที่สำคัญยังลดทอนกำลังซื้อของครัวเรือนในภาคชนบท 3) การใช้จ่ายภาครัฐล่าช้ากว่าคาด และ 4) การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังอ่อนแอ ภายหลังรัฐบาลคงกฎอัยการศึกยาวนานกว่าคาด ขณะที่ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น ยุโรปและรัสเซีย ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

          ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้หน่วยงานวิจัยหลายแห่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแรงส่งที่มีต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี ประเด็นการร่วงลงแรงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกโดยเฉพาะน้ำมันยังเป็นที่น่าติดตามต่อไปหากพิจารณาถึงผลที่มีต่อต้นทุนการผลิต เงินเฟ้อ และนโยบายการเงิน-การคลัง ตลอดจนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2558

ปี 2558: ยังอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวที่ไม่ราบเรียบ

          ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 4.3% ผลจากการใช้จ่ายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนที่กลับสู่สภาวะปกติมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งผลเชิงบวกจากการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ทั้งนี้ ยังต้องระวังความผันผวนความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตการเมืองไทย

          พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโต

          แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากทั้งภายในและภายนอกประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่อ่อนแรงลงทุกด้านในปี 2557 โดยสาระสำคัญของแรงขับเคลื่อนในแต่ละด้านสำหรับปี 2558 มีดังนี้

          ภาครัฐเร่งเครื่องใช้จ่ายและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะเริ่มทยอยปรากฎผลชัดขึ้น โดยเฉพาะงบลงทุนที่คาดว่าจะคับคั่งขึ้นในปี 2558 หลังจากที่เบิกจ่ายล่าช้าในปีก่อน ประกอบกับการเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐอาจต่ำกว่าเป้าได้เนื่องจากยังมีการตรวจสอบที่เข้มงวดเพื่อป้องกันปัญหาทุจริตในบางโครงการ

          การลงทุนของภาคธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะเติบโตโดดเด่นราว 6-8% หลังซบเซามานาน แรงหนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยเหนี่ยวนำการลงทุนภาคเอกชนและอาจช่วยหนุนการขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) ท่ามกลางการเคลื่อนเข้าสู่ AEC ช่วงสิ้นปี 2558 นอกจากนี้ การเร่งอนุมัติโครงการลงทุนผ่าน BOI ในช่วงที่ผ่านมา บวกกับมาตรการกระตุ้นการลงทุน เช่น การช่วยเหลือ SMEs อาจทำให้การลงทุนจริงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนชัดเจน

          การใช้จ่ายของครัวเรือนอาจกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นหลังอยู่ในสภาวะผิดปกติกว่า 2 ปี โดยคาดว่าจะเติบโต 2.7-3.7% เนื่องจากการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายโดยเฉพาะในชนบทจะถูกจำกัดจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำและหนี้ครัวเรือนที่สูง

          การส่งออกและการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น ด้านการส่งออกอาจฟื้นตัวช้าๆ โดยคาดว่าจะขยายตัว 2-4% ในปี 2558 จากที่ไม่เติบโตในปี 2557 แรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผนวกกับพลวัตการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยอาจยังอ่อนแอกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเนื่องจากปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน สำหรับภาคท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวดีขึ้นแม้จะไม่เติบโตสูงเหมือนหลายปีที่ผ่านมา

          ความต่างของนโยบายการเงินของประเทศแกนหลัก และการร่วงลงของราคาน้ำมันโลก ส่งผลต่อตลาดการเงินและทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย

          นโยบายการเงินของไทยที่ยังผ่อนคลายน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าในปี 2558 จะมีแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ แต่ทางการไทยอาจไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตาม เนื่องจากการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก จะทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แม้ไทยจะมีการปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงาน และต้นทุนนำเข้าบางส่วนได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทก็ตาม ดังนั้น กนง.จึงมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ 2.0% อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกและไทยอ่อนแอกว่าคาด เงินเฟ้อที่ต่ำก็จะเปิดทางให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลงได้

          สำหรับค่าเงินบาทในปี 2558 อาจผันผวนในทิศทางอ่อนค่า สอดคล้องกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจเติบโตโดดเด่นจนสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น เช่น การปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย แตกต่างจากประเทศแกนหลักอื่นๆ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี อาจช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาท ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนต่างๆ โดยเฉพาะจังหวะและขนาดของการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศแกนหลัก รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศ อาจส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างฉับพลันเป็นระยะได้

          ประเด็นหลักที่มีนัยยะต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558

          ประเด็นสำคัญในปี 2558 ที่จะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน รวมทั้งทิศทางนโยบายการเงินของไทย ได้แก่ 1) ความต่างของภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศแกนหลักของโลก (Divergence of economic conditions and monetary policy) ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อทิศทางนโยบายการเงินในแต่ละประเทศ ตลอดจนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะมีส่วนกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์ต่างๆทั่วโลก 2) ผลจากการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก นับเป็นปัจจัยด้านบวกที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผ่านประเทศผู้บริโภคและนำเข้าน้ำมันเช่นไทย และ 3) ทิศทางการเมืองในประเทศ ซึ่งรวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม แม้การเปลี่ยนแปลงกฎกติกา (Regulatory changes) ที่รออยู่เบื้องหน้าอาจสร้างความกังวลต่อบางภาคธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในปี 2558 นับเป็นความหวังที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

จาก http://news.thaiquest.com วันที่ 5 มกราคม 2558

ภาคเกษตรปี 57 ขยาย 1.2 เตือนภัยแล้งส่งสัญญาณกระทบปีหน้า เกษตรฯ พร้อมประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด

          ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 57 ขยาย 1.2 เกษตรฯ แจง อากาศเอื้ออำนวยดึงผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญเพิ่ม บวกกับการวางแผนการผลิตปศุสัตว์ที่ดี ในขณะที่ภัยแล้งและกุ้งตายด่วนยังเป็นปัจจัยฉุดภาคเกษตร คาด ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.0 - 3.0 เตือนภัยแล้งส่งผลกระทบตั้งแต่ช่วงปลายปี 57 ด้านกระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและประเมินสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดแล้ว

          นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประมาณการอัตราการเติบโตภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยสาขาการผลิตที่เป็นแรงหนุนให้ภาคเกษตรขยายตัวได้ในปีนี้ คือ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ส่วนสาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง โดยปัจจัยสนับสนุน ที่ทำให้ภาคเกษตรขยายตัว คือ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ต่างๆ ทำให้ผลผลิตพืชดังกล่าวเพิ่มขึ้น ในส่วนของการผลิตสินค้าปศุสัตว์ มีการวางแผนการผลิตที่ดี มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน และการเฝ้าระวังและควบคุม โรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญเพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตสินค้าเกษตร มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากมาตรการและนโยบายของภาครัฐ เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ

          ส่วนปัจจัยลบ ที่ทำให้ภาคเกษตรหดตัว ได้แก่ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2557 ซึ่งขยายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ทำให้การผลิตข้าวนาปรังได้รับผลกระทบอย่างมาก นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และในช่วงเดือนกันยายน 2557 บางพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชที่สำคัญหลายชนิดประสบภัยน้ำท่วม เช่น จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ และอยุธยา ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย อีกทั้งปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ที่มีความรุนแรงอย่างมากในปี 2556 ยังคงส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในช่วงปี 2557 ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มั่นใจและทำการผลิตไม่เต็มที่

          ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า หากพิจารณาเป็นรายสาขาจะพบว่า สาขาพืช ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) โดยข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร ประกอบกับปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีลดลงจากปีที่ผ่านมา เพราะความไม่มั่นใจในเรื่องผลตอบแทนจากการขายข้าว รวมทั้งราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานทดแทน ส่วนผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง และสับปะรดโรงงาน ด้านราคา สินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และมังคุด และสินค้าพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยางพารา ลำไย ทุเรียน และเงาะ

สาขาปศุสัตว์ ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจากการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีการปรับระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด รวมถึงการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยปริมาณการผลิตปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขณะที่การผลิตสุกรลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปัญหาโรคระบาด ส่วนจำนวนแม่โครีดนมลดลง ทำให้ปริมาณน้ำนมดิบลดลงด้วย ส่วนด้านราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

          สาขาประมง ปี 2557 หดตัวร้อยละ 1.8 เนื่องจากผลผลิตประมงทะเลลดลง โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงยังคงออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาโรคตายด่วนที่ยังพบในแหล่งผลิตสำคัญของไทย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในสถานการณ์โรค จึงชะลอการผลิตกุ้งออกไป ส่วนด้านราคา พบว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2557 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 192 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2

          สาขาบริการทางการเกษตร ปี 2557 หดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีลดลง ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวนาปรังบางส่วนได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีการจ้างบริการรถไถและรถแทรกเตอร์ในการเตรียมดินและไถพรวนดิน รวมถึงรถเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการปลูกอ้อยของรัฐบาลและโรงงานน้ำตาล ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถเตรียมดิน และรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้น

          สาขาป่าไม้ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยผลผลิตไม้ยางพารา น้ำผึ้ง และถ่านไม้ เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคายางพาราในประเทศตกต่ำ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเข้าร่วมโครงการสงเคราะห์และส่งเสริมการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น ปาล์มน้ำมันและไม้ผล ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยมีพื้นที่ตัดโค่นเกินกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ 300,000 ไร่ สำหรับผลผลิตและมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งขยายตัวเนื่องจากน้ำผึ้งของไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศทั้งเยอรมนี ไต้หวัน และประเทศแถบตะวันออกกลาง

          ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 โดยสาขาการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 – 3.2 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 สำหรับสาขาประมง คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมา 2 ปี โดยขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 ส่วนสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.0) – (-2.0)

          สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ อาทิ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และโคนม ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนสถานการณ์การระบาดของโรคตายด่วนในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 และคาดว่าการผลิตกุ้งจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในปี 2558 นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป รวมทั้งตลาดอาเซียน และตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงปี 2558 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้งซึ่งเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 โดยปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อยและไม่เพียงพอต่อการปลูก ข้าวนาปรัง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการติดตามและประเมินสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

จาก http://news.thaiquest.com วันที่ 5 มกราคม 2558

ไทยอะโกรฯเล็งตั้งรง.หีบอ้อย

ไทยอะโกร ปรับแผนรับมือน้ำมันโลกอ่อนตัว เจรจาพันธมิตรตั้งโรงงานหีบอ้อย หวังนำกากน้ำตาลป้อนเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล ช่วยลดต้นทุนจากมันสำปะหลัง คาดได้ข้อสรุปไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้ พร้อมทุ่มอีก 1 พันล้านบาท ขยายกำลังการผลิตเอทานอลอีก 2 แสนลิตรต่อวัน จี้กระทรวงพลังงานถามหาความชัดเจนแผนพลังงานทดแทน หวั่นกระทบต่อธุรกิจ

    นายสมชาย โล่ห์วิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือทีเออี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2558 นี้ ราคาเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการกระจายความเสี่ยงด้านวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันราคาเอทานอลมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นอยู่ในระดับ 25.50-26 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่นอยู่ในระดับประมาณ 20 บาทต่อลิตรเท่านั้น

    ดังนั้น ในปี 2558 บริษัทมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจต้นน้ำมากขึ้น โดยจะร่วมกับพันธมิตรตั้งโรงงานหีบอ้อยเพื่อนำกากน้ำตาลหรือโมลาสมาใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้โรงงานผลิตเอทานอล เพราะประเมินแล้วว่าราคากากน้ำตาลยังมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการใช้มันสัมปะหลัง ซึ่งจะ สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ จากปัจจุบันทำสัญญาระยะยาวซื้อโมลาสจากโรงงานน้ำตาลมิตรผล รวมทั้งต่อยอดการใช้เอทานอลไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีที่มีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยคาดว่าจะสามารถสรุปความชัดเจนได้ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า เบื้องต้นโรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตวัตถุดิบ 4 แสนตันต่อปี ซึ่งเพียงพอกับความต้องการใช้ในโรงงานเอทานอลของบริษัท

    นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 2 ราย เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานเอทานอล กำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน เบื้องต้นอาจเป็นการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2558 สาเหตุที่ขยายเนื่องจากต้องการรองรับความต้องการเอทานอลทที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 3.65 แสนลิตรต่อวัน

    นายสมชาย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนจากทางกระทรวงพลังงาน ที่กำลังจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมเอทานอลอาจที่แผนเดิมตั้งเป้าหมายไว้ที่ 9 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2564 เอกชนมีความกังวลว่าอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3-3.5 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น  แต่หากกระทรวงพลังงานสามารถผลักดันแก๊สโซฮอล์อี20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ก็อาจมีความเป็นไปได้สูงที่จะถึงเป้าที่ตั้งไว้

    ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงอย่างมาก ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าภาครัฐจะยังคงส่งเสริมพลังงานทดแทนต่อไปหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องมีความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อที่ภาคเอกชนจะได้ปรับตัวและวางแผนดำเนินการล่วงหน้าต่อไป

    โดยในส่วนของบริษัทได้เตรียมปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อสามารถรองรับวัตถุดิบได้ทั้ง 2 ชนิด ทั้งมันสำปะหลังและโมลาส หากต้นทุนวัตถุดิบชนิดใดราคาถูกก็จะสามารถสลับมาผลิตเอทานอลได้

    นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจเอทานอลของบมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่  ซึ่งบริษัทถือหุ้น 51% โดยในปี 2558ไทยอะโกร มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลอีก 10% ไปเป็น 105-106 ล้านลิตร จากปีนี้ที่มีปริมาณการผลิต 95-96 ล้านลิตร ขณะเดียวกันบริษัทก็จะแก้ไขปัญหาโมลาสมีราคาสูงขึ้นมาก โดยปี 2557 ที่ผ่านมา มีราคาที่ 4.6 พันบาทต่อตัน สูงกว่าปี 56 ที่มีราคาเฉลี่ย 4.3 พันบาทต่อตัน ดังนั้นมองว่าต้นปี 2558 ราคาอาจพุ่งไปแตะ 5 พันบาทต่อตัน

    ดังนั้นไทยอะโกร จึงต้องปรับกลยุทธ์การผลิตเอทานอล ด้วยการนำมันสำปะหลังมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย เพื่อทดแทนโมลาสช่วงที่มีราคาแพงหรือเกิดปัญหาขาดแคลน คาดว่าจะเห็นการผลิตในช่วงครึ่งหลังปี 2558 หลังจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบได้ ประกอบกับบริษัทต้องเตรียมซื้อมันสำปะหลังสต๊อกไว้ด้วย

จาก http://www.thanonline.com วันที่ 5 มกราคม 2558

โรงงานน้ำตาลโชว์ตัวเลขหลังเปิดหีบอ้อย 23 วัน ผลิตน้ำตาลได้แล้ว 12.01 ล้านกระสอบ เร่งให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก และพัฒนาคุณภาพอ้อยเข้าหีบ

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รายงานการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 57/58 หลังเปิดหีบแล้ว 23 วัน พบว่า ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ดีขึ้น แต่ค่าความหวานต่ำกว่าปีก่อนหน้า โรงงานน้ำตาลได้เร่งให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเพาะปลูกอ้อยที่ดีแก่ชาวไร่ ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ หวังหนุนประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูงขึ้น แม้ว่าปริมาณและคุณภาพอ้อยจะต่ำกว่าฤดูการผลิตปีก่อนหน้า จากผลกระทบภัยแล้ง

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2557/2558 ว่า หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 23 วัน นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยวันแรก 1 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา มีโรงงานน้ำตาลเปิดรับผลผลิตอ้อยแล้ว 41 โรงจากจำนวนทั้งหมด 51 โรงซึ่งพบว่า มีปริมาณผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว 14.29 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายได้ 1.201 ล้านตัน หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 84.04 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ผลิตน้ำตาลได้เพียง 81.74 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลได้เพียง 0.734 ล้านตัน

          ส่วนค่าความหวานของฤดูการหีบปีนี้อยู่ที่ 10.55 ซี.ซี.เอส ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบระยะเวลาหีบอ้อยเท่ากันของปีที่ผ่านมาที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 10.72 ซี.ซี.เอส. อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นในขณะนี้เชื่อว่าจะช่วยให้อ้อยที่อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวสามารถสร้างค่าความหวานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้ค่าความหวานโดยรวมดีขึ้นได้

          ทั้งนี้ หากพิจารณาในแง่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทรายจะพบว่า โรงงานใช้กำลังหีบอ้อยสูงขึ้น โดยสามารถรองรับผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อวัน 899,237.85 ตันอ้อยต่อวัน สูงกว่าปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 704,007.01 ตันอ้อยต่อวันจากช่วงเวลาที่โรงงานมีการเปิดรับผลผลิตอ้อย 41 โรงเท่ากันซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความประสิทธิภาพของโรงงานน้ำตาลที่มีความสามารถในการหีบอ้อย และพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรให้สามารถรองรับอ้อยเข้าหีบในปริมาณที่มากขึ้นได้

          “ช่วงแรกของการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิต 57/58 นี้ โดยรวมถือว่าคุณภาพผลผลิตอ้อยในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจมาก เนื่องจากตัวเลขผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งโรงงานน้ำตาลได้ให้ความสำคัญกับการแนะนำและช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูกและส่งเสริมการตัดอ้อยสด สะอาด ทำให้อ้อยมีคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตน้ำตาลที่ดีขึ้น แม้ว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยความหวานจะลดลงเล็กน้อย แต่เราเชื่อว่าด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นในขณะนี้ จะส่งผลดีต่อการสร้างความหวานในต้นอ้อย ซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยซี.ซี.เอส. โดยรวมสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ปริมาณและคุณภาพอ้อยโดยรวมในปีนี้คาดว่า จะต่ำกว่าปี 56/57 อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://news.thaiquest.com วันที่ 5 มกราคม 2558

สมอ.ตั้งเป้าออกใบรับรองฯปีนี้7พันฉบับ หลังปรับปรุงกระบวนการทำงาน

นายหทัย อู่ไทย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนแรก ของปี

 งบประมาณ 2558 (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) สมอ.ได้ออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไปแล้ว 1,912 ฉบับ และคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557-กันยายน 2558) จะออกใบรับรองฯให้ได้ 7,000 ฉบับ ในจำนวนนี้จะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมบังคับ 70% และมาตรฐานทั่วไป 30%

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้มั่นใจว่าจะออกใบรับรองฯได้ตามเป้าหมาย มาจากการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และการให้ภาคเอกชน เช่น สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันวิชาการต่างๆ และบริษัทข้ามชาติที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกใบรับรองฯมากขึ้น นอกจากนี้ สมอ.ยังได้รับงบประมาณในการปรับปรุงห้องแล็บทดสอบมาตรฐาน 154 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบให้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่เข้ามาขอใบรับรองฯมากที่สุด จะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลอดไฟแอลอีดี และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มีสัดส่วนกว่า 50% รองลงมาเป็นกลุ่มวัสดุก่อสร้างและเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์

“สมอ.ตั้งเป้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นที่ 1 ของอาเซียน ในเรื่องของมาตรฐานอุตสาหกรรมภายในไม่เกิน 2 ปี จากปัจจุบันที่เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับแก้ระบบการดำเนินงานให้อำนวยความสะดวกกับภาคเอกชนให้มากที่สุด เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ โดยจะเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานจากเดิมที่จะเน้นเข้มงวดในการออกใบอนุญาตมาตรฐาน ไปเป็นการมุ่งตรวจสอบมาตรฐานให้เป็นไปตามที่กำหนด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ” นายหทัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ปรับโครงสร้างการทำงานของ สมอ. โดยยุบกองอนุมัติเหลือเพียง 1 กอง และไปเพิ่มกองตรวจการเป็น 3 กอง เพื่อเพิ่มกำลังบุคลากร มุ่งเน้นในการตรวจสอบสินค้าในท้องตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งยังได้ฝึกอบรมอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสินค้าอุตสาหกรรม และได้ลงทุนซื้อเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อระบบไอทีกับส่วนกลาง ประสานงานกับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมในท้องตลาดมีความรวดเร็ว 

ส่วนการจัดทำมาตรฐานอาเซียนในกลุ่มสินค้านำร่อง 2 กลุ่ม ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า นั้น กลุ่มรถยนต์จะต้องปรับปรุงมาตรฐาน 19 รายการ ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงไปแล้ว 17 รายการ เหลือเพียงมาตรฐานยางล้อรถยนต์นั่ง และยางล้อรถบรรทุก คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2558 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องปรับปรุงมาตรฐาน 30 รายการ ได้ปรับปรุงไปแล้ว 24 รายการ เหลือ 6 รายการ จะเสร็จภายในกลางปี 2558

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 มกราคม 2558

KTIS: โตสวนทางน้ำตาลโลก

KTIS ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรม - ด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาดราว 10% มีกำลังการผลิตรวม 88,000 ตันอ้อย/วัน

จุดเด่นคือมีโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยกำลังผลิต 55,000 ตันอ้อย/วัน ทำให้ได้รับการประหยัดจากขนาดอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผลประกอบการปี 2558-2559 คาดจะมีกำไรสุทธิเติบโต 35% CAGR

แม้ราคาน้ำตาลทรงตัวในระดับต่ำแต่โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 166% จากเดิม 60 MW เป็น 160 MW สูงที่สุดในกลุ่มน้ำตาล จะผลักดันสัดส่วนยอดขายธุรกิจผลพลอยได้สู่ระดับ 28% อัตรากำไรขั้นต้นก้าวกระโดดเป็น 32% สูงสุดในกลุ่มและมีการกระจายฐานรายได้ที่หลากหลายที่สุด

ผลประกอบการผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วใน 3Q57 - กำไรสุทธิใน 3Q57 ถือเป็นจุดต่ำสุดของปี คาด 4Q57 จะสามารถส่งมอบน้ำตาลได้ราว 4.2 แสนตัน จาก 3Q57 ที่ส่งมอบได้เพียง 2.7 แสนตัน และการกลับมาของโรงไฟฟ้าหลังจากหยุดซ่อมบำรุงเสร็จสิ้น จะสามารถรับรู้รายได้ได้ราว 1 เดือน ส่วนธุรกิจผลพลอยได้เติบโตทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น เอทานอล เยื่อกระดาษ และไฟฟ้า ที่ต่างได้รับปัจจัยสนับสนุนจากทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ปริมาณผลิตที่มากกว่าการบริโภคมายาวนานต่อเนื่องกว่า 4 ปี กดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลกให้ลดลงกว่า 50% ตลอดช่วงที่ผ่านมา สำนักวิจัยทิสโก้มองว่าภาวะดังกล่าวกำลังดีขึ้นจากการที่อุปสงค์และอุปทานของน้ำตาลมีแนวโน้มจะขาดดุลในปี 2558-2559 เป็นปีแรกในรอบ 4 ปี จะช่วยให้ราคาน้ำตาลฟื้นตัวได้บ้าง หลังจากที่ซบเซามายาวนาน สำนักวิจัยทิสโก้คาดจะได้เห็นการฟื้นตัวของน้ำตาลในช่วง 2H15

AEC โอกาสเติบโตของน้ำตาลไทยรออยู่แค่เอื้อม - ว่าที่จริงแล้วประเทศไทยนั้นจะได้รับผลประโยชน์อย่างแน่นอนสำหรับการเปิด AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 เนื่องจากหากพิจารณาแล้วปริมาณบริโภคน้ำตาลในกลุ่มอาเซียน (ไม่รวมไทย) มีอยู่ราว 11.1 ล้านตัน/ปี ขณะที่ปริมาณผลิตมีอยู่เพียง 6.5 ล้านตัน/ปี จึงมีโอกาสให้ไทยได้ส่งออกให้แก่ประเทศเหล่านี้เพิ่มเติมหากอุปสรรคทางการค้าและภาษีต่างๆ หมดไป และหากมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำตาลในประเทศสำนักวิจัยทิสโก้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียน

เริ่มต้นแนะนำ “ซื้อ” ด้วยมูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 12.50 บาท - อิงวิธี SOTP (ธุรกิจน้ำตาล PE 12X ธุรกิจผลพลอยได้ DCF) คิดเป็น PE ปี 2015-16 ที่ 17X และ 15X ตามลำดับ ด้วยปัจจัยบวกทั้งหลายข้างต้นจะส่งผลดีต่อธุรกิจ แต่ระยะสั้นได้รับแรงกดดันจากสภาวะตลาดและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาก จำกัดการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลเอาไว้ ทำให้ราคาปรับลดลงจนเปิด Upside ราว 10% พร้อม Yield ราว 3% ต่อปี เป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน โอกาส : เข้าสู่ AEC, ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อุปสรรค : ราคาน้ำตาลตกต่ำต่อเนื่อง,ปริมาณอ้อยลดลงจากสภาพอากาศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 มกราคม 2558

รายงาน : ‘ค้าชายแดน’ช่องทางอนาคตเศรษฐกิจไทยในอาเซียน

วันที่ 1 มกราคม 2559 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือที่มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Asean Economics Community : AEC อย่างเป็นทางการ ดังนั้นในปี 2558 หลายๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทย จึงได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรอวันเปิด AEC อย่างเต็มที่

โดยมีทั้งการวางแผน เตรียมยุทธศาสตร์ พัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ เพื่อให้ตนเองและประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และ เรื่องที่ดูจะมีความโดดเด่น ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์การค้าชายแดนและค้าผ่านแดน ซึ่งหลายฝ่ายตั้งให้เป็นความหวังในอนาคตของการส่งออก กระจายสินค้าทางหนึ่งของไทย

ทั้งนี้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า AEC คือการรวมกลุ่มประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน มีอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้ามากขึ้น รวมถึงใช้ประโยชน์เรื่องการนำเข้า ส่งออกสินค้าในกลุ่มอาเซียนให้เป็นไปอย่างเสรี แต่ทั้งนี้ก็ยังมีสินค้าบางประเภท หรือสินค้าอ่อนไหว ที่ยังต้องละเว้นภาษีนำเข้าไว้

อีกทั้งกลุ่ม AEC ยังตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ในการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง เป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน และเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ซึ่ง AEC นั้น ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกรวม 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และบรูไน 

ในการเปิด AEC แน่นอนว่าย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เชื่อว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องย่อมไม่ยินดีที่จะเห็นประเทศของตนเสียเปรียบแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องจะมีการเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา ที่เป็นตัวกลางหลักในการสื่อสารระหว่างกัน

แต่หากหันกลับมามองในเรื่องความได้เปรียบของประเทศไทยในตอนนี้ สิ่งแรกก็คือ ความได้เปรียบของประเทศไทยในด้านภูมิประเทศ เพราะประเทศไทยถือว่ามีทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ มีพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยทางด้านทิศเหนือ และตะวันตก ติดต่อกับเมียนมาร์ ตะวันออกติดกับ สปป.ลาว และกัมพูชา ทิศใต้ ติดกับมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่ดีสำหรับด้านโลจิสติกส์ ที่นอกจากจะเชื่อมต่อไปประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ยังเชื่อมไปยังประเทศที่ 3 อย่าง จีน อินเดีย เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย

ในขณะเดียวกันสินค้าหลายชนิดของประเทศไทย ก็เป็นที่ยอมรับจากทั้งในอาเซียนและทั่วโลก เพราะคุณภาพ มาตรฐาน ของสินค้าที่มีภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้ได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมากจึงไม่แปลก หากได้เดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะเห็นสินค้าไทยหลายชนิดวางจำหน่ายอยู่ในชั้นวางของตามร้านค้าต่างๆ โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับความนิยมมาก

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากในปี 2558 เราจะเห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พยายามจับโอกาสทองนี้เอาไว้ โดยการวางแผนเร่งผลักดันการค้าชายแดน ให้ขยายตัวมากขึ้นจากปีก่อนหน้า เห็นได้จากที่กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จับมือกันเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าชายแดนในปี 2558 ให้มีมูลค่าสูงถึง 1,500,000 ล้านบาท จากตัวเลขการค้าชายแดนในช่วง 11 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-พ.ย. 2557) ที่มีมูลค่าการค้ารวม 901,475.2 ล้านบาท หรือที่คาดไว้ทั้งปี 2557 ประมาณ 1,100,000 ล้านบาท ซึ่งจะขยายตัว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้รับนโยบายจากรัฐบาลชุดปัจจุบันโดยตรง ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไว้เป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก โดยการส่งเสริมการค้าชายแดน และการพัฒนาเมืองหน้าด่านเมืองคู่แฝด และเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลัก ส่วนอีก 2 สิ่ง กระทรวงพาณิชย์วางแผนจะทำควบคู่ไปด้วย คือ การเร่งสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และการทำให้ไทยเป็นเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในอาเซียน

ขณะเดียวกันเป้าหมายยุทธศาสตร์สำคัญของ หอการค้าไทย ก็ตั้งเป้าที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และบริการต่อเนื่องของภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งการค้าชายแดนก็ตั้งเป้าหมายให้ขยายตัวขั้นต่ำเฉลี่ยปีละประมาณ 8% นอกจากนี้ยังวางโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าชายแดนไว้ ทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ปากบารา จ.สตูล, โครงการก่อสร้างทางรถไฟจากเด่นชัย จ.แพร่ ไปถึง ริมน้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย, โครงการก่อสร้างด่านถาวรใหม่แทนด่านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, โครงการก่อสร้างถนนชายแดน บ้านน้ำพุร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ไปยังท่าเรือ จ.ทวาย และโครงการโครงการขยายด่านสะเดา จ.สงขลา

การค้าชายแดน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศ ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวหลักในขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะจากการวิเคราะห์ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ต่างระบุว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกถึง 70% ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของประเทศไทยอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น เกิดสถานการณ์แย่ขึ้นมาเหมือนในปี 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย

การค้าชายแดนตามวัตถุประสงค์ของภาครัฐนั้น ก็เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะไม่น้อย ที่กลุ่มประเทศอาเซียนได้มีการรวมตัวกัน อีกทั้งทั่วโลกยังให้ความสนใจกับอาเซียน ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีในอนาคต และจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund (IMF) ได้มองว่าปี 2558 นี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product :GDP) ของอาเซียน จะเติบโตได้ที่ประมาณ 5.7% ดังนั้นเมื่อโอกาสดีอยู่ใกล้ประเทศไทยแบบเอื้อมถึง เชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคงไม่ปล่อยโอกาสทองการวางรากฐานที่ดีในอนาคตไปแน่นอน

สำหรับการค้าชายแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย-เมียนมาร์-สปป.ลาว-กัมพูชา) ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้ารวม 924,237.06 ล้านบาท และในปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,100,000 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันเบนซิน เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และผ้าผืน เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์น้ำ ไม้ซุง พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

อีกทั้งจะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลยังได้เลือกพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก ช่วงปี 2558-2559 โดยเลือกประตูการค้าหลักที่มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนสูงสุดของประเทศไทย และอาจเรียกว่าเป็นเมืองหน้าด่านรองรับการเข้าสู่ AEC 5 พื้นที่การค้า จาก 12 พื้นที่ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สอด อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งติดกับประเทศเมียนมาร์, ด่านศุลกากรอรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ และ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ติดกับประเทศกัมพูชา, ด่านศุลกากรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ติดกับประเทศกัมพูชา, ด่านศุลกากรมุกดาหาร อ.เมือง อ.หว้านใหญ่ และ อ.ดอนตาล ติดกับ สปป.ลาว และด่านศุลกากรสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งติดกับประเทศมาเลเซีย 

โดยล่าสุดรัฐบาลและหอการค้าไทย เริ่มผลักดันด่านแม่สอด-เมียวดี เป็นจุดนำร่องไปบ้างแล้ว และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ก็เป็นการเริ่มต้นที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนด้านการปฏิบัติของเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ยังคาดว่าภายในปี 2558 ภูมิภาคอาเซียนจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมทั้งสิ้น 60 แห่ง โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษประมาณ 54 แห่ง จะตั้งอยู่ในประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาด่านการค้าให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะช่วยสร้างมูลค่าการค้าของประเทศไทยได้ไม่น้อย ดังนั้นในอนาคตเราอาจจะได้เห็นประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน ก่อนวันเข้าสู่ AEC อย่างเป็นทางการ หากในปี 2558 การทำงานของภาครัฐและเอกชน ประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดี และก็หวังว่าการค้าชายแดนจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจในประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม ลดการพึ่งพาประเทศใหญ่ที่เหมือนตัวชี้นำทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้บ้าง เพื่ออนาคตประเทศไทยต่อๆ ไป จะได้ไม่ต้องคอยมากังวล เมื่อเวลาประเทศคู่ค้าสำคัญๆ อย่าง EU สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ในเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้แย่อีกต่อไป…

รายงานโดย : อัมพิกา ศรีโพธา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 มกราคม 2558

รายงานพิเศษ : กระทรวงพาณิชย์ : กำลังปฏิรูปโครงสร้างการผลิตการเกษตร (ตอนที่ 8) จบ

กระทรวงพาณิชย์ : กำลังปฏิรูปโครงสร้างการผลิตการเกษตร เป็นหัวข้อของบทความผมที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 ชนิด คือ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ถือได้ว่าเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรไทย ซึ่งบทบาทและหน้าที่นี้ควรจะเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ กรอ. ที่ได้มาจากข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งได้พยายามสร้างสถานการณ์ให้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้หรือผลตอบแทนของการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ว่า การปลูกพืชเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าว ซึ่งเป็นข้อมูลที่บิดเบือน และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะราคาของพืชผลเหล่านี้ ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) มีการผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจของโลก และขึ้นอยู่กับอุปทาน อุปสงค์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่า กรอ. ไม่สามารถที่จะให้หลักประกันใดๆ ได้เลย ว่าผลประโยชน์จากการปลูกพืช 4 ชนิด ทดแทนการปลูกข้าว จะก่อให้เกิดรายได้ที่ดีกว่าอย่างยั่งยืนตลอดไป แต่ผู้มีผลประโยชน์อย่างแน่นอนก็คือ พ่อค้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพืชผล 4 ชนิดนี้

การปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายในภูมิภาคนี้ จะมีพื้นที่ถือครองรายละประมาณ 20 ไร่ การปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ผลตอบแทนจากพืชเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของเกษตรกร ส่วนใหญ่จะต้องไปหารายได้นอกภาคการเกษตร (OFF FARM INCOME) มาเสริมรายได้ของครอบครัว ต้องละทิ้งครอบครัวไปหางานทำในเมืองใหญ่ หรือในโรงงานอุตสาหกรรม หรือในภาคบริการ ซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด ดังนั้นการที่จะให้เกษตรกรชาวนาเลิกการทำนามาปลูกพืช 3 อย่างนี้ สุดท้ายชาวนาเหล่านี้ก็จะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับชาวไร่ที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น การปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเกือบทั้งสิ้น เกษตรกรเป็นเพียงเจ้าของที่ดิน (Land Lord) ที่ต้องจ้างรถไถ จ้างปลูก จ้างฉีดยา จ้างใส่ปุ๋ย จ้างเก็บเกี่ยว ซึ่งนับวันต้นทุนเหล่านี้ก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในแง่ของการเกษตร การปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกิดปัญหาต่อทรัพยากรดิน ต่อสภาพแวดล้อม การบุกรุกทำลายป่ามากกว่าการปลูกพืชอื่นใด พื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชเหล่านี้จะเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ยากต่อการฟื้นฟู นอกจากนั้น ยังต้องมีการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่กระทบต่อต้นทุน และต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชุมชน และต่อเกษตรกรผู้ปลูกเอง

ดังนั้น หากคณะกรรมการ กรอ. ต้องการที่จะได้ผลผลิตของพืชเหล่านี้เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีการขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่ควรเสนอรัฐบาลให้กำหนดยุทธศาสตร์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง คุณภาพได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด ซึ่งสามารถทำได้โดย

1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน การพัฒนาระบบชลประทานเพื่อให้มีน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงฝนทิ้งช่วง

2.พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชที่ดี เช่น พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช ทนทานต่อความแห้งแล้ง โดยการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี กระจายพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร

3.ควบคุมไม่ให้โรงสี ลานมัน โรงงานน้ำตาล ลานเท หรือพ่อค้าที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไม่ให้โกงตาชั่ง ไม่ให้โกงน้ำหนัก ไม่หักเปอร์เซ็นต์สิ่งเจือปนเกินความจริง ไม่โกงเปอร์เซ็นต์แป้ง ไม่โกงเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มในผลปาล์มสด เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมในการขายผลผลิต

4.ควบคุมการนำเข้าหรือการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง จากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรขายได้ภายในประเทศ หากเกษตรกรได้ราคาจากการจำหน่ายผลผลิตที่เป็นธรรม มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เกษตรกรที่ปลูกพืชเหล่านี้ ก็จะมีกำลังใจที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ดูแลคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด

ผมได้รับหนังสือจากท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและความเป็นมาของการตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นคณะอนุกรรมการและเลขานุการ กระทรวงพาณิชย์เป็นเพียงหนึ่งในคณะอนุกรรมการ ดังนั้นยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ จึงเป็นข้อเสนอที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้พิจารณานำเสนอ ผมจึงขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ คือ คุณชุติมา บุณยประภัศร สำหรับคำชี้แจงดังกล่าวด้วย ทำให้ผมต้องกลับมาเป็นห่วงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ที่มอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ส่วนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธานคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบไปเต็มๆ หากการลดพื้นที่การปลูกข้าว ไปปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ผมได้นำเรื่องยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า ไปหารือกับท่านปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรด้วยวาจา รวมทั้งก่อนหน้านี้ ก็ได้ส่งบทความที่ผมได้เขียนไปให้ท่านด้วยแล้ว หวังว่าท่านคงได้นำข้อคิดเห็นของผมไปพิจารณา เพื่อเป็นประโยชน์ในการเดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์นี้ต่อไป

ผมขอจบบทความเรื่อง กระทรวงพาณิชย์ : กำลังปฏิรูปโครงสร้างการผลิตการเกษตรไว้เพียงแค่นี้ การวิพากษ์วิจารณ์ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 ชนิด คือ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เป็นเพียงข้อคิดเห็นของอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และปัจจุบันเป็นผู้บริหารงานด้านการเกษตรของภาคเอกชน และเป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกผักอินทรีย์ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกไม้ผล เช่น องุ่น พุทรา ลำไย ลิ้นจี่ มะพร้าวน้ำหอม ปลูกกุหลาบ ปลูกกาแฟ ยางพารา อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีความเข้าใจและรู้ซึ้งถึงความยากลำบากในการทำการเกษตร ได้พบเห็นการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เห็นความไม่ยุติธรรมจากการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าโดยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ผมจึงไม่อยากเห็นเกษตรกรรายใหม่ๆ ก้าวไปอยู่ในแวดวงของสินค้าเกษตรเหล่านี้ และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากเกษตรกรเหล่านี้ต้องถูกชักนำให้เข้าไปอยู่ในวังวนนโยบายของรัฐจากการผลักดันของนายทุน ผ่านทางกระบวนการที่ผมได้นำเสนอมาแล้ว

“นี่คือเจตนารมณ์ของผม ในการเขียนบทความนี้”

อนันต์ ดาโลดม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 มกราคม 2558

ปลูกอ้อย แบบ Modern Farm จัดการง่าย ผลผลิตดี ที่สำคัญต้นทุนการผลิตต่ำ

Modern Farm เป็นระบบการปลูกอ้อยแบบใหม่ที่ทันสมัย ที่กลุ่มมิตรผลได้พัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยให้มากขึ้น สร้างผลผลิตอ้อยได้เต็มพื้นที่ โดยใช้ปริมาณการปลูกอ้อยเท่าเดิม แต่ให้ผลผลิตอ้อยที่มากกว่า รวมถึงสามารถรักษาตออ้อยให้มีคุณภาพเหมือนดั่งตอนปลูกอ้อยใหม่ในครั้งแรก นอกจากนั้น ยังลดปริมาณความสิ้นเปลืองน้ำมันด้วยการปรับสภาพพื้นที่ไร่ตัดให้มีสภาพเหมาะสมกับรถตัดอ้อยขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปทำงานในไร่/มนัส ช่วยบำรุง

ระบบการปลูกอ้อยดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ไร่อ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรผล อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแห่งแรก

คุณวิชรัตน์ บุปผาพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรผล ร่วมนำคณะสื่อมวลชนในเครือ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เข้าชมการจัดการแปลงปลูกอ้อยด้วยระบบใหม่ Modern Farm ของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล ที่ไร่ด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณ ทั้งนี้ได้ร่วมกับคณะสื่อมวลชนในการชมสาธิตวิธีการปลูกอ้อยด้วยท่อนพันธุ์อ้อยสดในไร่ด่านช้าง รวมถึงวิธีการบำรุงต้นอ้อย ขณะอายุ 3 เดือน ด้วย

คุณกิมเพชร สุขแสง ผู้ช่วยผู้จัดการ 3 ไร่อ้อยด่านช้าง บริษัท น้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า ไร่ด่านช้างมีเนื้อที่มากกว่า 18,000 ไร่ โดยได้นำการจัดรูปแบบฟาร์มมาใช้กับการผลิตอ้อยแนวใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตอ้อยแบบใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดรูปแบบแปลงปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่วนสายพันธุ์อ้อยที่ปลูก เน้นใช้อ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นสายพันธุ์หลัก

“ด้วยการจัดรูปแบบแปลงปลูกอ้อยนั้นมีความสำคัญต่อปริมาณผลผลิต รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายภายในไร่อ้อยเป็นอย่างมาก กลุ่มมิตรผลได้นำวิธีการจัดการแปลงปลูกอ้อยจากออสเตรเลีย เข้ามาปรับใช้ ภายใต้หลักคิดที่เน้นการต่อยอดว่า ทำอย่างไรให้ตออ้อยที่ปลูกลงไปนั้น สามารถไว้ตอได้นาน แล้วผลผลิตไม่ลดลง”

ระบบ Modern Farm เริ่มต้นมาอย่างไร

คุณกิมเพชร กล่าวว่า การจัดรูปแบบแปลงปลูกแบบโมเดิร์นฟาร์มนั้น เริ่มต้นมาจากกลุ่มมิตรผลได้ศึกษาผลงานวิจัยการปลูกอ้อยของประเทศออสเตรเลียที่พบปัญหาว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้วนั้น ออสเตรเลียมีการใช้ระยะร่องปลูกอ้อย ขนาด 1.60 เมตร แล้วใช้วิธีเดิมในการปลูกอ้อย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นร่องปลูก ขนาด 1.80 เมตร ซึ่งช่วยลดความเสียหายของตออ้อยได้ดีมาก ยิ่งเสริมด้วยการลดการไถพรวนดินด้วยแล้ว ยิ่งทำให้สามารถประหยัดเวลาในการทำกิจกรรมภายในไร่ได้มากขึ้น

ระบบโมเดิร์นฟาร์มที่มิตรผลนำมาปรับใช้นั้นคือการทำแปลงปลูกอ้อยให้มีความยาว 400-500 เมตร เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการกลับหัวรถตัด ที่ไร่ด่านช้างจึงได้มีการรื้อแปลงปลูกอ้อยแล้วจัดรูปแบบแปลงใหม่ทั้งหมด หากเป็นรูปแบบเดิมเมื่อรถตัดวิ่งออกไปได้ ประมาณ 20-30 เมตร ก็จะชนกับหัวแปลงปลูก แล้วต้องกลับรถใหม่อีก แต่ในปัจจุบันที่แปลงปลูกมีความยาว 400-500 เมตร ย่อมทำให้รถตัดอ้อยสามารถตัดได้ยาวขึ้น ไม่ต้องเสียเวลากลับหัวรถ ซึ่งก่อนเริ่มทำโมเดิร์นฟาร์มนั้น ที่ไร่ด่านช้างต้องใช้เวลาตัดอ้อยถึง 12 ชั่วโมง แต่ตัดจริงแค่ 9 ชั่วโมง ส่วนอีก 2 ชั่วโมงนั้น ใช้ในการกลับหัวรถตัด

หากต้องการใช้รถตัดอ้อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องมีร่องแปลงปลูกที่ยาว ซึ่งสามารถที่จะประหยัดระยะเวลาการตัดลงได้หากมีร่องที่สั้นก็เปลืองระยะเวลาการทำงาน อีกทั้งยังสิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุอีกด้วย

อีกส่วนหนึ่งคือ ผลผลิตอ้อยที่ได้ต่อไร่ต้องสูง เมื่อรถอ้อยตัดไปแล้วใช้น้ำมันเท่ากัน แต่หากมีปริมาณอ้อยที่มากเมื่อนำมารวมต้นทุนกันแล้ว ก็จะได้ปริมาณอ้อยที่คุ้มทุนและคุ้มค่าน้ำมัน

ในส่วนของหัวงานที่ใช้กลับรถจะต้องมี เนื่องจาก Headland (พื้นที่ใช้กลับรถ) เป็นส่วนสำคัญต่อรถตัดอ้อยเป็นอย่างมาก มิฉะนั้น หากรถตัดอ้อยจะกลับหัวรถ รถตัดอ้อยก็จะไปตัดซอยอ้อยในแปลง ทำให้เสียเวลาแล้วยังสิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ แต่ถ้ามีหัวงานก็สามารถกลับรถได้ทันที

ระยะร่องปลูกนี้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน หากใช้ระยะร่อง 1.45 เมตร ที่เกษตรกรนิยมใช้อยู่ในปัจจุบันจะทำให้รถไปเหยียบตออ้อยแล้วยังทำให้ตออ้อยเก็บไว้ได้น้อยปี ผลผลิตที่เป็นอ้อยตอลดลงเร็วมาก แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น 1.85 อ้อยใหม่ก็ได้ปริมาณเท่ากัน เมื่อเปลี่ยนมาเป็นอ้อยตอแล้วผลผลิตที่ได้ก็จะมีปริมาณที่สูงกว่า เพราะล้อรถจะไม่มาเหยียบตรงนั้น

คุณกิมเพชร กล่าวต่อไปว่า การเตรียมแปลงปลูกนั้นก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี ที่ไร่ด่านช้าง ได้มีการใช้ระบบ GPS เข้ามาควบคุมการทำร่องเพื่อกำหนดขนาดของร่องได้ทันที ที่ไร่ด่านช้างแห่งนี้มีการกำหนดขนาดร่องปลูกเอาไว้ที่ 1.85 เมตร โดยที่ร่องปลูกนั้นจะมีการทำรอยเส้นไว้ ซึ่งสามารถทำให้คนปลูกสามารถดูแนวระยะปลูกได้ง่าย

ส่วนเครื่องมือที่ใช้ไถหน้าดินเตรียมแปลงปลูกนั้นมีความพิเศษเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนของใบมีดจะมีลักษณะกึ่งตัวแอล ทำมุม 90 องศา ซึ่งจะช่วยให้สามารถฟันดินได้ป่นกว่าใบมีดรูปแบบอื่น เมื่อไถพรวนดินแล้วสามารถปลูกได้ทันที ไวกว่าวิธีที่ต้องมาไถแล้วเริ่มทำหน้าดินใหม่ แต่วิธีนี้สามารถเริ่มปลูกได้ทันที

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้ Ripper (คราดดินติดรถไถ) เข้าไปเสริมในการช่วยทำให้ดินร่วนซุยขึ้น ถ้าในช่วงที่มีความชื้น Ripper จะดึงความชื้นขึ้นมาจากดิน ทำให้ในเวลาปลูกอ้อยไม่ต้องใช้น้ำในการรดแปลงปลูก ส่วนลูกกลิ้งที่ไถมาพร้อมกับรถไถพรวนนั้นจะทำให้ร่องแปลงปลูกเรียบ แล้วยังช่วยเก็บความชื้นให้อยู่ในดินที่ไถพรวนได้นาน

Modern Farm   มีหลักปฎิบัติอย่างไร

คุณกิมเพชร กล่าวว่า สำหรับโมเดิร์นฟาร์มนั้น มีหลักใหญ่อยู่ 4 ประการ ด้วยกันคือ

หนึ่ง ต้องมีการเว้นพื้นที่พักบำรุงดินด้วยการไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้ใบอ้อยคลุมดินหรือเมื่อรถตัดมาตัดอ้อยสดเข้าโรงงานแล้วเอาใบอ้อยคลุมดินไว้ ก็จะช่วยจัดเก็บความชื้นเอาไว้ได้นาน ซึ่งจะลดการใช้สารปุ๋ยเคมีลงได้ด้วยการใช้ใบอ้อยคลุมดินแทน

สอง ลดการไถพรวนบดอัดหน้าดิน หรือ Control Traffic ไม่ให้ล้อรถขึ้นไปเหยียบบนพื้นที่ที่จะใช้ปลูกอ้อย เพราะฉะนั้น การจะใช้ control traffic ให้ได้ผลนั้น มิตรผลใช้ระบบ GPS (อุปกรณ์ระบุตำแหน่ง) ติดกับรถไถและรถตัดอ้อยเพื่อคอนโทรลไม่ให้ล้อรถขึ้นไปเหยียบบนแปลงปลูกอ้อย

สาม การจัดรูปแบบแปลงปลูกที่ไร่ด่านช้าง มีการวางขนาดร่องปลูกไว้ที่ 1.85 เมตร โดยเว้นระยะให้รถจักรกลหนักที่จะเข้าไปทำงานภายในไร่สามารถผ่านไปได้โดยไม่ทำความเสียหายให้กับตออ้อยที่ปลูกไว้

สี่ ปลูกพืชบำรุงดิน ไม่ปลูกอ้อยซ้ำกันทุกปี แต่ปลูกพืชตระกูลถั่วปีเว้นปี เช่น ถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว เพื่อหยุดพักหน้าดินและให้อาหารเสริมแก่ดินในบริเวณไร่อ้อยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุภายในดินอีก ทั้งยังเป็นการตัดวงจรแมลงศัตรูพืชที่อยู่ในบริเวณไร่อ้อย

คุณกิมเพชร กล่าวต่อไปว่า ส่วนระยะร่องคันดินที่ใช้ในการปลูกอ้อยควรมีระยะการยกหน้าดินให้มีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะปลูกที่เหมาะสม ต้นอ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี หากทำครบ 4 เสาหลักนี้แล้ว โอกาสความยั่งยืนของการปลูกอ้อยและผลผลิตอ้อยต่อไร่นั้นจะมีมากขึ้น เนื่องจากมีการบำรุงดินพร้อมกับลดการไถพรวนดินทำให้จุลินทรีย์ในดินไม่ตายไป

ปลูกอ้อยด้วย  ระบบ Modern Farm

คุณกิมเพชร กล่าวว่า รถปลูกอ้อยที่ใช้สำหรับปลูกอ้อยในรูปแบบโมเดิร์นฟาร์มนั้น มีอุปกรณ์การปลูกที่ประกอบไปด้วยเครื่องปลูกแบบแนวนอน จานปลูกมีลักษณะเป็นดิสก์ฝังลงไปในหน้าดิน ซึ่งในสมัยก่อนนั้นมีการใช้เครื่องปลูกแบบหัวหมู ทำให้ความชื้นภายในดินลดลง จานดิสก์ที่ใช้นี้ก็เป็นรูปแบบ 2 ร่องคู่ ห่างกัน 50 เซนติเมตร โดยภายใน 1 เมตร นั้น จะได้ท่อนพันธุ์อ้อย 6 ท่อนพันธุ์ เฉลี่ยท่อนพันธุ์ละสองข้อตาก็จะได้อ้อยจำนวน 12 ข้อตา ต่อการงอก

องค์ประกอบที่สองเป็นส่วนของท่อนพันธุ์อ้อยที่อยู่บนรถสาลี่ลาก ซึ่งจะประกอบไปด้วยแผงกันและที่ยืนซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกันคนงานที่เสียบต้นพันธุ์อ้อยไม่ให้หล่นลงไป

วิธีการปลูกอ้อยที่ฝังลงไปในดินแบบจานดิสก์จะทำให้ดินเกิดแผลเล็กๆทำให้ความชื้นในดินที่อยู่ด้านล่างจากการเตรียมดินด้วยริปเปอร์ (Ripper) ลากไปนั้นจะขึ้นมาหาท่อนพันธุ์ที่ปลูก จากนั้นใช้ลูกกลิ้งที่ติดกับรถปลูกอ้อยกลบหน้าดินเพื่อกันไม่ไห้ความชื้นขึ้นไปกับอากาศ ซึ่งขั้นตอนการปลูกนี้ก็มีการใช้ GPS ชี้กำหนดแนวร่องปลูก เพื่อ Control traffic ลดการบดอัดหน้าดินลง

สำหรับการปลูกอ้อยด้วยรถปลูกนั้น จะทำงานด้วยระบบไฮดรอลิกทั้งหมด ดังนั้น การทำงานก็จะใช้วิธีเปิดระบบไฮดรอลิกเพื่อให้ท่อนพันธุ์ที่ปลูกลงไปในดินมีความสม่ำเสมอเท่ากันทุกท่อน ซึ่งท่อนพันธุ์ที่ปลูกลงไปจะมีขนาดความยาวอยู่ที่ 37 เซนติเมตร

โดยเฉลี่ยท่อนพันธุ์ที่คำนวณแล้วจาก 12 หน่อ ต่อ 1 ไร่ จะได้อ้อย ประมาณ 20,000 ลำ ปุ๋ยที่ใส่รองพื้นระหว่างปลูกอ้อยนี้เพื่อช่วยให้อ้อยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ประมาณ 3 เดือน โดยใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสเพื่อบำรุงรากของต้นอ้อยไปพร้อมกันด้วย

คุณกิมเพชร กล่าวเสริมอีกว่า ปัญหาหลักที่พบระหว่างปลูกอ้อยลงแปลงนั้นคือ การโหลดอ้อยเข้ามาในสาลี่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ทำโมเดิร์นฟาร์ม ต้องใช้เวลาโหลดอ้อย ประมาณ 35 นาที แต่ขณะนี้ได้มีการเสริมชุดโหลดท่อนพันธุ์อ้อยมาให้ในสาลี่สำรอง เมื่อหมดสาลี่หลักก็สามารถเปลี่ยนสาลี่แล้วปลูกต่อได้ทันที   

ข้อดีของการทำแปลงปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มคือ การลดแรงงานคน อีกทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่ขาดแคลนลงได้ โดยหากใช้ระบบโมเดิร์นฟาร์มเข้ามาจัดการกับแปลงปลูกอ้อยสามารถใช้คนงานปลูกอ้อยแค่ 2 ถึง 4 คน เท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้คนงานปลูกอ้อย 6 ถึง 8 คน แล้วยังต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่เพื่อลากท่อนพันธุ์ ทำให้สิ้นเปลืองปริมาณน้ำมันไปอีกด้วย

บำรุงอ้อยใหม่ เมื่ออายุครบ 3 เดือน

คุณฐิติ กมลปิตุพงค์  ผู้จัดการด้านไร่และเครื่องมือเกษตรภาคกลาง กล่าวว่า การใส่ปุ๋ยอ้อยจะใส่หลังจากการปลูกอ้อยใหม่ได้ประมาณ 3 เดือน โดยใส่ระหว่างร่อง แต่ถ้าเป็นอ้อยตอจะใส่หลังจากตัดอ้อย หรือเมื่ออ้อยมีอายุประมาณ 1 เดือน ไปแล้ว

สำหรับรถที่ใช้ใส่ปุ๋ยนั้น จะใช้ความเร็วอยู่ที่ 5 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถใส่ปุ๋ยอ้อยได้ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ต่อ 1 วัน แต่ถ้าเป็นรถใส่ปุ๋ยแบบเดิม จะอยู่ที่ 20 ไร่ ต่อ 1 วัน ซึ่งรถใส่ปุ๋ยที่ไร่ด่านช้างใช้อยู่นี้ สามารถใส่ปุ๋ยอ้อยได้ถึง 3 แถว ต่อ 1 ครั้ง 

ระหว่างล้อรถมีช่องสำหรับขับปุ๋ยให้ลงไปในร่องดิน แล้วใช้ตัวแพ็กความชื้นคอยบดอัดหน้าดินอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ปุ๋ยสามารถละลายในดินได้เร็ว รวมถึงรักษาความชื้นภายในดินด้วย ถังขนาดใหญ่จะใส่เป็นสูตรปุ๋ยหลัก N-P-K ส่วนถังขนาดเล็กด้านล่างก็จะเป็นธาตุอาหารเสริมสังกะสี โบรอน นอกจากธาตุอาหารหลักแล้ว ยังรวมถึงยาฆ่าแมลงที่รบกวนอ้อย

ด้วยเครื่องใส่ปุ๋ยขนาดใหญ่จะเหมาะสำหรับแปลงปลูกอ้อยขนาดใหญ่ที่มีร่องยาว ถือเป็นการลดต้นทุนการใช้น้ำมันแล้วทำให้คนขับมีชั่วโมงการทำงานต่อวันมากขึ้น ส่วนวิธีการโหลดปุ๋ยจะใช้รถเฮี้ยบยกปุ๋ยมาใส่บนรถหว่านปุ๋ย เมื่อปุ๋ยหมดก็ไม่ต้องเสียเวลายกปุ๋ยโดยคนงาน เปรียบเทียบการโหลดปุ๋ยปัจจุบัน ใช้เวลาแค่ 25 นาที ในการโหลดปุ๋ย 50 กิโลกรัม ทำให้ประหยัดเวลาไปอีก 10 นาที

คุณฐิติ กล่าวต่ออีกว่า การตัดอ้อยและการขนส่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำไร่อ้อยให้เกิดกำไรและความยั่งยืนในการทำอาชีพนี้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงในปีหน้านี้จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้ยิ่งขาดแคลนคนงานมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยในปัจจุบันชาวไร่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนทำงานซึ่งที่มีอยู่คุณภาพไม่ค่อยสูงเท่าไหร่จ่ายเงินมาก แต่อ้อยที่ได้ขาดแคลนคุณภาพ หากเกษตรกรนำวิธีการจัดการแปลงปลูกเป็นรูปแบบโมเดิร์นฟาร์ม ย่อมทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยให้มากขึ้นได้ รวมถึงช่วยลดปัญหาการขาดแคลนคนงานตัดอ้อยลงได้

ตัดอ้อยด้วยวิธีใหม่ ลดการบดอัดหน้าดิน

คุณฐิติ กล่าวว่า ที่ไร่ด่านช้าง ใช้รถตัดอ้อยแบบท่อนที่มีแรงม้า ประมาณ 325 แรงม้า ตัดอ้อยสดวิ่งไปพร้อมกับรถกระเช้าบรรทุกอ้อยที่ลากโดยรถแทรกเตอร์ ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยลงได้

เกษตรกรส่วนใหญ่ในอำเภอด่านช้างที่กลุ่มมิตรผลเข้าไปส่งเสริมแนะนำวิธีการตัดอ้อยพบว่า นิยมเผาอ้อยก่อนแล้วจึงตัด เพื่อลดระยะเวลาในการตัดอ้อยลง โดยใช้แรงงานจากภาคอีสานเข้ามาตัดอ้อยอีก ทั้งเถ้าแก่ที่เหมาตัดอ้อยจะใช้รถสิบล้อเข้าไปรอรับอ้อย ทำให้เกิดการเหยียบย่ำหน้าดินขึ้น

แต่ด้วยการจัดรูปแบบแปลงปลูกแบบโมเดิร์นฟาร์มที่ยึดการคอนโทรลรถด้วยGPS ทำให้รถตัดมีการเหยียบย่ำตรงรอยรถเท่านั้น ที่ไร่ด่านช้างใช้รถกระเช้าบรรทุกอ้อยลากโดยรถแทรกเตอร์คู่ไปกับรถตัดอ้อย ขนาด 6-8 ตัน ซึ่งมีกึ่งกลางศูนย์ล้ออยู่ที่ 1.85 เมตร เช่นเดียวกันกับขนาดร่องปลูกอ้อย ล้อรถจึงเหยียบดินเฉพาะบริเวณรอยที่เหยียบประจำเท่านั้น ไม่มาเหยียบบนร่องปลูกอ้อยที่มีรากอ้อยอยู่

การจัดรูปแบบแปลงปลูกเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การตัดอ้อยสามารถทำได้ง่ายด้วยการทำร่องปลูกให้มีขนาดยาวตามแปลงปลูก ประมาณ 400-500 เมตร ทำให้รถตัดหรือรถเทรลเลอร์บรรทุกอ้อยไม่ต้องเสียเวลารวมถึงน้ำมันในการกลับรถมาก นอกจากนั้น การจัดรูปแบบการขนส่งจะช่วยแก้ปัญหาการเกิดดินดานจากการเหยียบย่ำด้วยรถชนิดต่างๆ ที่เข้าไปทำกิจกรรมภายในไร่อ้อยที่จะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงไป 30-40% ได้

คุณฐิติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับระบบการขนส่งอ้อยสดไปยังโรงงานหีบอ้อยใช้รถ Semi Trailer ที่ได้จัดให้รถจอดไว้บริเวณส่วนหัวของแปลงปลูก ซึ่ง Semi Trailer 1 คัน สามารถบรรทุกอ้อยได้ถึง 35 ตัน ทำให้ไม่สิ้นเปลืองต้นทุนในการเตรียมรถขนส่งอ้อยสดไปยังโรงหีบอ้อย

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่จัดรูปแปลงใหม่เพื่อให้รถตัดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดมีระบบการขนส่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการทำลายผลผลิตในแปลงอ้อยตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน บำรุงรักษาอ้อยรวมถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยสดและการขนส่งอ้อยสดไปยังโรงงานหีบอ้อยของมิตรผลเองซึ่งช่วยลดต้นทุนการจัดการไร่อ้อยได้ดีมากอีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับผู้ผลิตอ้อยรายเล็กและรายกลางได้เข้ามาศึกษาต่อไป

คุณฐิติ กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ MitrPhol Modern Farm To Farmer กับมิตรผล ในปี พ.ศ. 2557 แล้วกว่า 1002.96 ไร่ โดยเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยในจังหวัดสุพรรณบุรีและในเขตอำเภอด่านช้างเอง ซึ่งมิตรผลได้ใช้ทีมงานเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงในไร่ของเกษตรกรเกี่ยวกับการจัดรูปแบบแปลงปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มและสนับสนุนอุปกรณ์จักรกลหนักที่ใช้สำหรับการปลูกอ้อยเป็นต้น

โดยมิตรผลหวังส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีแปลงปลูกอ้อยอยู่ในบริเวณเดียวกันรวมกลุ่มกัน เพื่อเชื่อมแปลงให้มีขนาดใหญ่ก่อนจะใช้ระบบโมเดิร์นฟาร์มเข้าไปจัดการกับรูปแบบแปลงปลูก ซึ่งมิตรผลพร้อมที่จะสนับสนุนรถตัดอ้อยหรืออุปกรณ์หนักภายในไร่ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการปลูกอ้อยด้วยรูปแบบโมเดิร์นฟาร์มต่อไป

สำหรับผู้สนใจ สอบถามความรู้ในการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม ติดต่อได้ที่ คุณฐิติ กมลปิตุพงศ์ ผู้จัดการด้านไร่และเครื่องมือเกษตรภาคกลาง บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด โทร. (091) 578-7949

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

น้ำจากการบำบัด....ใช้ทำเกษตรได้จริงหรือไม่ ชาวบ้านมอดินแดง มีคำตอบ!!

ชาวบ้านมอดินแดง ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ นำน้ำเสียที่โรงงานนำไปบำบัดจนเป็นน้ำสะอาดสามารถเลี้ยงปลานิลได้ ต่อท่อเข้าพื้นที่ 5 ไร่ ปลูกกล้วยและทำการเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้เข้าครัวเรือน วันละ 200-700 บาท ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แก้จนและแก้ปัญหาภัยแล้ง ประสบความสำเร็จในช่วงหน้าแล้งนี้ คุณภุชงค์ โพธิกุฏสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ติดตามไปดูการใช้น้ำเสียที่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ที่โรงงานนำมาบำบัดน้ำเสีย สามารถเลี้ยงปลาได้ นำมาปลูกกล้วยและทำการเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้เข้าครัวเรือน วันละ 200-700 บาท แก้ปัญหาความยากจน ประสบความสำเร็จน่าเอาเป็นตัวอย่าง แถมยังรักษาสิ่งแวดล้อมให้โรงานแป้งมันสำปะหลังด้วย

เราตามไปดูเกษตรกรหัวไวใจสู้ คือ คุณหนูสิน โยธาศรี อายุ 47 ปี ภรรยาชื่อ คุณปราณี โยธาศรี อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 8 ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ อาชีพหลักคือ การทำนา ทำไร่ รอบๆ พื้นที่พี่น้องเกษตรกรชาวบ้านมอดินแดง 200 กว่าไร่ พากันปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยอาศัยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง สะอาด ไม่มีสารพิษ มีพื้นที่ 5 ไร่ ได้ปลูกกล้วยและการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือนเป็นรายวัน โดยอาศัยน้ำเสียจากโรงงาน ที่โรงงานบำบัดให้สะอาดและปลอดสารพิษแล้ว 

คุณหนูสิน และ คุณปราณี ให้ข้อมูลว่า อาชีพหลักของตนคือ การทำนา ทำไร่ รอบๆ พื้นที่พี่น้อง โดยปลูกกล้วยรวม 300 กอ ประกอบไปด้วย กล้วยน้ำว้า ขายส่งหวีละ 15 บาท กล้วยหอมทอง ขายส่งหวีละ 30 บาท กล้วยไข่ ขายส่งหวีละ 20 บาท กล้วยเล็บมือนาง ขายส่งหวีละ 10 บาท  และกล้วยหอมพื้นบ้าน กล้วยจำหน่ายได้ทั้งผล ใบ และส่วนต่างๆ ของกล้วย โดยจะขายส่งในแปลง มีพ่อค้า แม่ค้ามาสั่งจองถึงสวน ระหว่างแปลงกล้วยก็ปลูกแซมด้วยมะละกอ 100 ต้น มะม่วงแก้ว 250 ต้น และพืชผักต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งๆ จะมีรายได้ในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร โดยเกษตรกรมารับที่สวนเอง วันละ 200-700 บาท

คุณสมบูรณ์ ซารัมย์ เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “กล้วยน้ำว้า” เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่งที่พัฒนามาจากลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี คนไทยกินกล้วยน้ำว้า ทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร

คุณถิรพร ดาวกระจาย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ประจำสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กล้วยมีคุณค่าทางอาหารและยา กล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าจะให้พลังงานมากที่สุด

กล้วยน้ำว้าห่ามและสุกมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซี ช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอะซิน และใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้อง และรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย

 โดยกิน วันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้งก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์ กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคติน มีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย

ผู้สนใจซื้อผลผลิต หรือทราบข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ โทร. (094) 371-6935

ข้อมูล : นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน www.technologychaoban.com

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯมั่นใจน้ำพอใช้ถึงต้นฤดูเพาะปลูก

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้ภาวะแล้งในปี 2557/58 จะรุนแรง แต่จากสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรมชลประทานมีความมั่นใจว่าปริมาณจะเพียงพอต่อความต้องการอุปโภคบริโภค และระบบนิเวศสำหรับฤดูแล้งที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2557- 30 เม.ย.2558 อีกทั้งยังคาดว่าจะเพียงพอไปถึงต้นฤดูการเพาะปลูกที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2558 เป็นต้นไป โดยในช่วงนี้อาจเกิดภาวะฝนตกทิ้งช่วงได้

"ตามหลักวิชาการปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่จะใช้ในช่วงแล้งจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มากสุดควรอยู่ที่ 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจะเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก การอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้ทั้งหมด แต่ในปีนี้มีปริมาณน้ำรวม 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงมั่นใจว่าปริมาณน้ำดังกล่าวจะเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูการเพาะปลูกอย่างแน่นอน" นายสุเทพกล่าว

ทั้งนี้ การป้องกันค่าความเค็มที่จะเกิดขึ้นในลุ่มเจ้าพระยา เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ปรับเปลี่ยนแผนการบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนใหม่เพื่อควบคุมน้ำที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณบางไทร ทำให้น้ำผ่านเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ 80 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที สูงกว่าปี 2556 ที่มีน้ำผ่าน 55 ลบ.ม./วินาที หากจะป้องกันได้ดีที่สุดจะต้องมีน้ำไหลผ่านที่ 100 ลบ.ม./วินาที

"ในปีนี้กรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำเพื่อควบคุมความเค็มให้ได้ในระดับนี้ ดังนั้นจึงต้องมีระบบการเฝ้าระวังค่าความเค็ม โดยจะขอความร่วมมือไปยังการประปานครหลวง ที่มีการรายงานปริมาณการใช้น้ำทุกวันมาอ้างอิงกับการรายงานของกรม" นายสุเทพกล่าว

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความกังวลเรื่องภัยแล้งสูงที่สุดนั้น พบว่าสภาพน้ำทั่วไปในปีนี้ ถือว่า

ดีกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะฝนตกดีกว่าโดยปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (1,400 มิลลิเมตร) เพียง 2% เท่านั้น โดยมีปริมาณน้ำฝนที่ 1,372 มิลลิเมตร สูงกว่าปี 2555/56 ที่มีปริมาณน้ำฝน 1,251 มิลลิเมตร ซึ่งแม้สภาพน้ำทั่วไปจะอยู่ในขั้นดี แต่บางอ่างเก็บน้ำยังไม่เพียงพอที่จะส่ง เพื่อการทำนาปรัง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบนลำแซะ โดยทุกเขื่อนมีปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น

"กรมชลประทานสามารถจะส่งน้ำให้การประปา ส่วนภูมิภาคได้ ไม่มีปัญหา เนื่องจากกรมชลประทานได้กันน้ำที่ใช้ในกิจกรรมอื่นเอาไว้แล้ว เช่น การประกาศ งดทำนาปรัง ซึ่งได้วางแผนไปจนถึงวันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. หรือจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน ที่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดภาวะฝนตกทิ้งช่วงหรือตกหนักในช่วงกลางเดือนมิ.ย. ดังนั้นภาวะที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะไม่ส่งผลกระทบกับการทำนาปี 2558 อย่างแน่นอน" นายสุเทพ กล่าว

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 3 มกราคม 2558

ระบบน้ำหยด ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ข้อดีของน้ำหยดมีหลายประการ ประหยัดน้ำมากกว่าทุก ๆ วิธี ไม่ว่ารดด้วยมือหรือใช้สปริงเกลอร์ หรือวิธีอื่นใดก็ตามและแก้ปัญหาภาวะวิกฤติการขาดแคลนน้ำในบางฤดูซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในปัจจุบันประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการ

ระบบน้ำหยด ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ - ต้นไม้ชายคา

ระบบน้ำหยด เป็นเทคโนโลยีการชลประทานวิธีหนึ่งในหลายวิธี เป็นการให้น้ำแก่พืช โดยการส่งน้ำผ่านระบบท่อและปล่อยน้ำออกทางหัวน้ำหยด ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณโคนต้นพืช น้ำจะหยดซึมลงมาบริเวณรากช้า ๆ สม่ำเสมอในอัตรา 4-20 ลิตรต่อชั่วโมง ที่แรงดัน 5-25 PSI ขึ้นอยู่กับระบบ ชนิดพืช ขนาดพื้นที่ และชนิดของดิน ทำให้ดินมีความชื้นคงที่ในระดับที่พืชต้องการและเหมาะสมตลอดเวลา ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อดีของน้ำหยดมีหลายประการ ประหยัดน้ำมากกว่าทุก ๆ วิธี ไม่ว่ารดด้วยมือหรือใช้สปริงเกลอร์ หรือวิธีอื่นใดก็ตามและแก้ปัญหาภาวะวิกฤติการขาดแคลนน้ำในบางฤดูซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในปัจจุบันประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการ คือ ลงทุนครั้งเดียวแต่ให้ผลคุ้มค่าในระยะยาว การติดตั้งอุปกรณ์ไม่ยุ่งยาก ติดตั้งครั้งเดียวและใช้งานได้ตลอดอายุ สามารถควบ คุมการเปิด-ปิดน้ำได้ โดยเฉพาะระบบตั้งเวลาและตรวจจับความชื้นทำให้ประหยัดค่าแรง

ใช้ได้กับพื้นที่ทุกประเภทไม่ว่าดินร่วน ดินทราย หรือดินเหนียว รวมทั้งดินเค็มและดินด่าง สามารถใช้กับพืชประเภทต่าง ๆ ได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นพืชที่ต้องการน้ำขัง เหมาะสำหรับพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ต้องการใช้น้ำอย่างประหยัด ให้ประสิทธิภาพในการใช้น้ำสูงที่สุด 75-95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้มีการสูญเสียน้ำน้อยที่สุด

ประหยัดเวลาทำงาน ไม่ต้องคอยเฝ้า ใช้เวลาไปทำงานอย่างอื่นได้เต็มที่ไปพร้อม ๆ กับการให้น้ำลดการระบาดของศัตรูพืชบางชนิดได้ดี เช่น โรคพืช และวัชพืช ได้ผลผลิตสูงกว่าการใช้ระบบชลประทานแบบอื่น ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็ประหยัดต้นทุนน้ำ ทำให้มีกำไรสูงกว่า

และปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวล้ำมากยิ่งขึ้น โดยการใช้แผงโซลาร์เซลล์มาผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้กับเครื่องปั๊มน้ำพลังงานไฟฟ้าประเภทดีซี ยิ่งเป็นการประหยัดพลังงานและแรงงานมากขึ้น

ดังที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร แผนกงานการปลูกพืชแบบประหยัดพลังงาน ได้จัดทำแปลงสาธิตมะนาวในกระถางระบบน้ำหยดด้วยพลัง งานแสงอาทิตย์ ที่ได้นำมาจัดแสดงเพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรโดยทั่วไปที่สนใจได้ชมและศึกษาเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเองในระหว่างการจัดงาน “3 ทศวรรษ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ กับงานของพ่อ” โดยมี นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน มี หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการ กปร. ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ผู้อำนวยการศูนย์และเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและนำชมกิจกรรมภายในงาน

การนี้องคมนตรีได้แนะนำให้นำการปลูกมะนาวในกระถางด้วยระบบน้ำหยดพลังงานแสงอาทิตย์ขยายสู่การใช้ประโยชน์ของประชาชนอย่างกว้างขวางต่อไป ด้วยมีประโยชน์หลายประการ อาทิ ผู้ที่มีเนื้อที่น้อยก็ปลูกพืชในปริมาณมากได้ ประหยัดพลังงาน แรงงาน และน้ำ และเหมาะสมต่อพื้นที่ห่างไกลและมีน้ำน้อย

ผู้สนใจต้องการเรียนรู้เข้าไปศึกษาดูงานและศึกษาแม่แบบได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 มกราคม 2558

เปิดแผนพัฒนาเขต ศก.พิเศษ คมนาคมเร่งผลักดันเตรียมรับเออีซี

ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อเชื่อมต่อการค้ากับประเทศเพื่อบ้าน โดยจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2558 กระทรวงคมนาคมถือเป็นอีกกระทรวงหลักที่ดูแลเรื่องของด่านการค้าชายแดน ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพัฒนาเพื่อรองรับ วันนี้ “บ้านเมือง” มีคำตอบ

เร่งเครื่องเศรษฐกิจพิเศษ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม เรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ว่าตามที่คณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้กำหนดให้ 5 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ 1.อ.แม่สอด จ.ตาก 2.อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 3.พื้นที่ชายแดน จ.ตราด 4.พื้นที่ชายแดน จ.มุกดาหาร และ 5.อ.สะเดา จ.สงขลา (ด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์) เป็นตัวแทนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะพัฒนาในระยะแรก ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจำนวน 2 ครั้ง ที่ผ่านมาได้ประชุมเพื่อติดตามผลและแก้ไขปัญหาการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีรายละเอียดดังนี้

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ด่านศุลกากร การบริหารจัดการด่านชายแดน นิคมอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภค (ชลประทาน ประปา ไฟฟ้า) เพื่อให้มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายหลักของประเทศ รวมถึงบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้า และการเดินทางข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เชื่อมโยงโครงข่ายหลักของประเทศ ประกอบด้วยปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด ตอน 4 สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 การออกแบบขยายทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจร ในเส้นทางอรัญประเทศ-ชายแดนไทย/กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สตึงบท) ทางหลวงหมายเลข 3 ตราด-หาดเล็ก ตอน 2 พิจารณาแนวเส้นทางใหม่ของทางหลวงหมายเลข 12 กาฬสินธุ์-นาไคร้-อ.คำชะอี ตอน 1 การดำเนินงาน ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 เส้นทางถนนและรถไฟจากปากบารา-ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 รวมทั้งมอบให้กรมทางหลวงเร่งศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการมอเตอร์เวย์สายสะเดา-หาดใหญ่

 ยกระดับขนส่งชายแดน

ขณะที่นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ระบุว่า ที่ประชุมฯ ได้สรุปแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 ด่านชายแดนระยะเร่งด่วนแล้ว โดยเบื้องต้นมีกรอบงบประมาณใช้สร้างถนน สนามบิน ทางรถไฟ ในส่วนกระทรวงคมนาคมประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าตามด่านชายแดน รวมถึงได้เห็นชอบแผนพัฒนาด่านศุลกากรและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของกรมศุลกากร และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศอีกหลายโครงการ

“ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้นำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ และกรอบการใช้งบประมาณ เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้ว หากผ่านการเห็นชอบจะเสนอให้ที่ประชุมประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติโครงการต่อไป”

สำหรับแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก จะเสนอให้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ช่วงปี 59-61 วงเงิน 3,600 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางไทย-เมียนมาร์ ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เร่งรัดปรับปรุงทางช่วงคลองสิบเก้า-ฉะเชิงเทรา-คลองลึก ระยะทาง 200 กม.อยู่แล้ว คาดจะเสร็จในปี 59 และยังมีแผนเชื่อมต่อการเดินรถไฟไปถึงกัมพูชาผ่านเส้นทางปอยเปต-ศรีโสภณ-พนมเปญ ขณะที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด จะของบประมาณ 900 ล้านบาท การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร จะของบปี 59 วงเงิน 5,400 ล้านบาท เพื่อขยายทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจร ตามเส้นทางทางหลวงระหว่างประเทศจากตะวันออกไปตะวันตก และทางหลวง 12 บ.นาไคร้-คำชะอี ขณะเดียวกันจะของบ 59 ล้านบาท ด้านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา จ.สงขลา บริเวณด่านศุลกากรสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ จะของบประมาณปี 60 วงเงิน 23,900 ล้านบาท

ตั้งแม่สอดนำร่อง

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังมีความคืบหน้าในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่าเสนอให้เทศบาลตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่นำร่องการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ภายใต้ชื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนครแม่สอด โดยนครแม่สอดแห่งนี้จะมีการจัดระเบียบบริหารแบบใหม่ รวมทั้งจะมีการให้อำนาจในการอนุมัติออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตั้งธุรกิจและโรงงาน

“เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดนี้จะกำหนดการบริหารจัดการหรือโซนนิ่งพื้นที่อย่างชัดเจน ไม่ใช่การประกาศครอบคลุมทั้งอำเภอ แต่เลือกเฉพาะตำบลที่มีการใช้พื้นที่ โดยหลังจากนี้กระทรวงมหาดไทยจะนำร่างกฎหมายตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนส่งกลับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อส่งกลับมาที่ ครม. และส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยอดรวมการขายหรือเช่าที่ดินนิคมฯ ในสังกัด กนอ.ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายรวม 3,900 ไร่ มูลค่ารวม 4,950 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้เพียง 3,500 ไร่ และในปี 2558 ได้ตั้งเป้ายอดขาย 4,000 ไร่ คาดว่าจะมีรายได้รวมกว่า 5,200 ล้านบาท และ กนอ.จะมีการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ๆ ให้ได้ 10 นิคมฯ รวมทั้งจะมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมยางพารา ที่ จ.สงขลา 2.นิคมฯ อากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน จ.นครราชสีมา 3.นิคมฯ บริการเพิ่มรองรับอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงครบวงจร โดยจะประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอพื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ และปทุมธานี 4.นิคมฯ บริการการขนส่ง 5.นิคมฯ บริการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ 6.นิคมฯ ด้านสิ่งแวดล้อมหรือพลังงาน และ 7.นิคมฯ ป้องกันประเทศ

สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่มและบริษัทคู่ค้า 25 ราย มีเงินลงทุน 1,672 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้กู้ยืมเงินบริการด้านการตลาด บริการจัดหาและติดตั้งเครื่องจักร และบริการรับจ้างผลิต เป็นต้น ส่วนประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ จีน ไอร์แลนด์ ไต้หวัน สวีเดน และเยอรมนี ส่วนในเดือน ต.ค.57 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 21% และเงินลงทุนลดลง 41,793 ล้านบาท เพราะในเดือน ก.ย.57 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจบริการทางการเงินอื่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปีนี้ คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้ว 354 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 60,142 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 7% และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,543 ล้านบาท

    นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย 1.เขตพิเศษ คือพื้นที่เฉพาะที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุน อำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ ภายในเขตพื้นที่ เช่น การอุตสาหกรรม การเกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว การบริหาร หรือการอื่นใด และยังเป็นการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการที่ดี 2.ให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายเขตพิเศษและการตั้งเขตพิเศษแต่ละแห่งต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินการของเขตพิเศษให้เป็นไปตามนโยบาย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษ ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่ศึกษาถึงรายละเอียดที่จะตั้งเขตพิเศษ รวมทั้งเป็นฝ่ายวิชาการและธุรการให้คณะกรรมการนโยบายฯ 3.กำหนดให้มีกระบวนการจัดตั้งเขตพิเศษ การบริหารจัดการเขตพิเศษแต่ละเขตรายได้และ

อำนาจหน้าที่ของเขตพิเศษ

4.เขตพิเศษอาจได้มาซึ่งที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการดำเนินงานโดยจัดหาเอง เช่น ซื้อ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เช่าระยะยาว เวนคืน ให้เอกชนนำที่ดินมาร่วมลงทุน เป็นต้น หรือได้มาโดยผลของกฎหมาย เช่น ให้ พ.ร.ฎ.จัดตั้งเขตพิเศษมีผลเป็นการถอนสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตที่กำหนดเป็นเขตพิเศษ และให้ตกเป็นของเขตพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่ดิน 5.กรณีที่กฎหมายกำหนดให้การดำเนินการในเรื่องใดเป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมาย ให้เขตพิเศษมีอำนาจดำเนินการได้เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐนั้น และให้ถือว่าผู้ว่าการเขตพิเศษเป็นและมีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามกฎหมายนั้น 6.การดำเนินการเรื่องใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ เขตพิเศษมีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขออนุญาตตามกฎหมายนั้น 7.ถ้าเขตพิเศษเห็นว่าหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขออนุญาตตามกฎหมายใดเป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการ/ผู้อยู่อาศัย ให้รายงานคณะกรรมการนโยบายเพื่อนำเสนอ ครม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ยกเว้นกิจการที่อยู่ในอำนาจของ กทช. และ กสช 8.ถ้าพื้นที่ของเขตพิเศษครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ และเขตพิเศษนั้นมีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนและแนวทางการดำเนินงานของเขตพิเศษ 9.เขตพิเศษมีอำนาจให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจ/อยู่อาศัย เช่น อนุมัติ ออกใบอนุญาต แทนหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายภายในพื้นที่เขตพิเศษ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งค่าธรรมเนียมหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ให้ส่งเป็นรายได้ของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายนั้นกำหนด และเมื่อดำเนินการแล้วต้องแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายทราบ 10.ให้เขตพิเศษมีอำนาจเช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในพื้นที่เขตพิเศษ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เมื่อดำเนินการแล้วต้องแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ ค่าธรรมเนียมหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ให้ส่งเป็นรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11.กรณีหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่าการดำเนินการของเขตพิเศษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้แจ้งเขตพิเศษเพื่อแก้ไข ถ้าเขตพิเศษไม่ดำเนินการให้เสนอคณะกรรมการนโยบายเพื่อวินิจฉัย 12.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกรรมการ โดยตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารเขตพิเศษ 13.ผู้ประกอบการ/ผู้อยู่อาศัยในเขตพิเศษมีสิทธิ์

เล็งตั้งนิคมฯ อากาศยาน

ส่วนความคืบหน้าการขับเคลื่อนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยาน ภายหลังที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายเร่งรัดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือถึงแนวทางโดยประกอบด้วย 2 ส่วนต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ โรงซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ (Hangar) และส่วนของโรงซ่อมขนาดเล็ก หรือการซ่อมชิ้นส่วนเล็กน้อย นอกจากนี้ จะต้องจัดหาพื้นที่เพื่อดำเนินการ โดยมี 3 ทางเลือกประกอบด้วย 1.พื้นที่ที่จังหวัดนครราชสีมา 2.พื้นที่ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี และ 3.พื้นที่ท่าอากาศยานที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หรือการขึ้น-ลงของเครื่องบินปริมาณน้อย ในส่วนของพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมานั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียว คือเป็นเขตที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม จะต้องมีการยื่นขอเพื่อปรับเปลี่ยนโซนพื้นที่ให้เป็นเขตพื้นที่สีม่วง คือ เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรม กับกรมกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน และในส่วนของพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรีนั้น เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ทหารเรือ ซึ่งจะต้องหารือกันเพื่อขอเข้าไปดำเนินการ ซึ่งวิธีก็ต้องมีการตรวจถึงมาตรการความปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ การจัดหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานนั้นถือเป็นอีกการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ให้มีการประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 2 มกราคม 2558

เกษตรฯตั้งเป้า2.5แสนตัน หนุนร่วมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทั่วประเทศ

กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าให้เกษตรกรทั่วประเทศผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองไม่น้อยกว่า 250,000 ตัน หลังปี 2557 ทำได้เกือบ 240,000 ตัน ชี้ลดต้นทุนได้ถึง 20% ประสานทุกองค์กรท้องถิ่นสนับสนุน จัดทำปุ๋ยหมักไว้ด้านหน้าสำนักงานเกษตรฯ ทั่วประเทศ

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่ากระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น และลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์นี้หมายรวมถึง ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด มีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 250,000 ตัน โดยให้เกษตรตำบล 1 คน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 50 ตัน

การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต ให้จัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวน 882 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด รวมศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนในปี 2557 จำนวน 94 ศูนย์ ในพืชหลัก 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล มันสำปะหลัง และผัก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับความรู้เรื่องดินและการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างน้อย 20%

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงปี 2557 กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใน 77 จังหวัด รวม 239,607 ตัน คิดเป็น 95.84% ประกอบด้วย ปุ๋ยหมัก 97,705 ตัน ไถกลบตอซังข้าว 55,420 ตัน จำนวน 110,840 ไร่

ไถกลบตอซังข้าวโพด 15,824 ตัน จำนวน 19,779 ไร่ ไถกลบ ตอซังสับปะรด 1,302 ตัน จำนวน 1,627 ไร่ ไถกลบตอซังอ้อย 429 ตัน จำนวน 214 ไร่ น้ำหมักชีวภาพ 28,803 ตัน และปุ๋ยพืชสด 40,124 ตัน จำนวน 22,291 ไร่

ขณะเดียวกันสำนักงานเกษตรอำเภอใน 77 จังหวัด จัดทำปุ๋ยหมักไว้ด้านหน้าสำนักงานฯ เพื่อสื่อสารและเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรทราบว่า กระทรวงเกษตรฯ กำลังรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองในไร่นา

นอกจากนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดได้บูรณาการร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด กรมพัฒนาที่ดิน องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แก่เกษตรกรอีกด้วย

จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 1 มกราคม 2558

รัฐชูยุทธศาสตร์บีโอไอใหม่ มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน

คงต้องจับตาสถานการณ์ปี 2558 รัฐบาลจะเดินหน้าการลงทุนภาคอุตสาหกรรม เพื่อสู้ศึกการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ล่าสุดนายกรัฐมนตรีชูยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่สอดรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล

  ขณะที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ระบุมั่นใจไทยสามารถพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่มีธุรกิจที่ใช้ทักษะ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมผลักดันประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการในภูมิภาค ขณะที่คงต้องจับตาสถานการณ์ปี 2558

รัฐเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” และยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564) ว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมอย่างเร่งด่วน รวมทั้งดำเนินการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เท่าเทียมกัน และยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ก็มีความคืบหน้าของการดำเนินงานในหลายด้าน และยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564)” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในระยะยาว

  ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีนโยบายและมาตรการที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมกิจการหรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา Digital Economy และการให้ส่งเสริมกิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานจากวัสดุเหลือใช้และขยะ

ส่งเสริมการลงทุนแข่ง ตปท.

  โดยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนมีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้มากขึ้น

  ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะ เทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงกิจการที่เกี่ยวข้องหรือรองรับกับเศรษฐกิจดิจิตอล

  นอกจากนี้ประเทศไทยควรจะเพิ่มช่องทางและกิจกรรมทางการค้า ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนและให้ความสำคัญในการดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter : IHQ) บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers : ITC) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและบริการในภูมิภาค

  ทั้งนี้จะต้องมีมาตรการในการดึงดูดให้นักธุรกิจเข้ามาตั้งกิจการดังกล่าวในไทย โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงระบบราชการ กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการแก้ไขประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมกราคม 2558

ยุทธศาสตร์ใหม่ 4 ภาคทั่วประเทศ

  นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่จะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้ง เหลือเฉพาะพื้นที่ทีมีรายได้ต่อหัวต่ำใน 20 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มอีก 3 ปี จากสิทธิพื้นฐานตามประเภทอุตสาหกรรม

  สำหรับประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมยังมีจำนวนใกล้เคียงกับประเภทกิจการที่ให้ส่งเสริมในปัจจุบัน ประมาณ 200 กว่าประเภทกิจการ แต่จะแบ่งออกเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 180 กิจการ อีกประมาณ 50 กิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอากรนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี โดยมีการประกาศรายชื่อประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมในเว็บไซต์บีโอไอแล้ว สำหรับการมีผลบังคับใช้สำหรับนโยบายใหม่นี้ จะเริ่มใช้สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

  ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ 2558 บีโอไอจะเดินสายจัดสัมมนาทำความเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์ใหม่ 4 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศในพื้นที่ได้รับทราบรายละเอียด ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดกิจกรรมสัมมนาชี้แจงนักลงทุนต่างชาติในต่างประเทศด้วย

อุตฯ ลั่น ศก.ปีหน้าฟื้นตัว

  นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวทางขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยปี 2558 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปให้มีการเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นผ่านโครงการฟู้ดวัลเล่ย์ โดยดำเนินการทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามแหล่งมีวัตถุดิบที่เอื้ออำนวยในการแปรรูป

  นอกจากนี้ ยังเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราในการผลิต เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ติดอันดับโลก ซึ่งจีนสนใจจะเข้ามาลงทุน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) จะได้รับการช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผ่านโครงการต่างๆ โดยจะนำวัตถุดิบผลิตต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น แร่ควร์ต รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องจากน้ำตาล ข้าว

  นายจักรมณฑ์ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีหน้า เชื่อว่าจากการที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมทั้งปีจะขยายตัวประมาณ 1% แต่ปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 3-4% ส่วนจีดีพีภาคอุตสาหกรรมเชื่อว่าจะขยายตัวเป็นบวกในอัตราที่สูงกว่าจีดีพีประเทศ

ลุ้นไทยรับอานิสงส์ ศก.โลก

  นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2558 ว่า จะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่สหรัฐจะฟื้นตัวดีขึ้น ยกเว้นสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจจะยังไม่ดี อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนของประเทศไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนจากโครงการลงทุนภาครัฐที่น่าจะเดินหน้าไปได้ ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้

  นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยประเมินว่าจะมียอดการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีนี้ที่ติดลบประมาณ 20% ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะมูลค่าการผลิตมีผลต่อจีดีพีของประเทศค่อนข้างมาก อุตสาหกรรมที่จะดีต่อเนื่อง คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากที่ภาพรวมตลอดปีนี้ขยายตัวประมาณ 2% ปี2558 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3-4% ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กคาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องไปจะไม่ต่างจากปี 2557

 ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใยติดลบ ปีหน้าจะขยายตัวเป็นบวก 3-4% อุตสาหกรรมอาหารปีนี้ประมาณบวก 3% ปีหน้าจะเพิ่มเป็นขยายตัวประมาณ 5% หากพิจารณาจากเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันลด อุตสาหกรรมอาหารน่าจะได้ผลดี ทำให้ส่งออกได้มากขึ้นและช่วยให้การผลิตอาหารดีขึ้นกว่าปีนี้ และคาดว่าภาพรวมจีดีพีอุตสาหกรรมจะบวกได้แน่

เครือข่ายความร่วมมือ SMEs กับญี่ปุ่นต่อ

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เสนอกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตดีปี 58 ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ผู้ซื้อมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น พร้อมเดินหน้าสร้างความมั่นใจในการลงทุนกับประเทศญี่ปุ่น โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือกับจังหวัดชั้นนำด้านอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

  ซึ่งครั้งนี้เป็นการลงนามระหว่างนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ นายทาคาคาซึ อิชิอิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทยามา ประเทศญี่ปุ่น เป็นจังหวัดที่ 9 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของทั้ง 2 ประเทศ โดยมีบริษัทตัวแทนจากทั้ง 2 ประเทศร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย คือ บริษัท ซีดีไอพี จำกัด และบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี จำกัด ของประเทศไทย ลงนามกับ บริษัท โคเคนโด จำกัด ของจังหวัดโทยามา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันทำการวิจัยและพัฒนาสูตรยาจากประเทศญี่ปุ่นด้วยเทคโนโลยีโนฮาว (Knowhow) ผ่าน 3 กรอบความร่วมมือ ได้แก่ 1.เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ 2.ร่วมมือเพื่อการสนับสนุน SMEs ของทั้งสองประเทศในการขยายธุรกิจในระดับสากล และ 3.แลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เช่น การจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการประชุมทางธุรกิจ

  โดยคาดว่าความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นจะขยายฐานการผลิตในประเทศไทย และเกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ มีบริษัทในจังหวัดโทยามาเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยแล้ว 58 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 31 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นประเภทอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีโต๊ะญี่ปุ่น ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้มีศักยภาพมากขึ้น

สลักจิตร ผิวพรรณ์...รายงาน

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 1 มกราคม 2558

“จักรมณฑ์” เตรียมเยือนญี่ปุ่น ประสานความร่วมมือตั้งนิคมฯกำจัดขยะอุตฯครบวงจร

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแผนการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือน มกราคม 2558 ว่าเรื่องสำคัญของการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ คือการขยายความร่วมมือในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร ซึ่งล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นโดยองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (เนโดะ) ได้มีโครงการช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยจะมอบเตาผาขยะที่มีประสิทธิภาพสูง มีมาตรฐานการปล่อยมลพิษเทียบเท่ากับของญี่ปุ่น  เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามีกำลังการเผาขยะ 500 ตัน/วัน ให้กับประเทศไทย   โดย กทม.จะเป็นผู้สร้างอาคารและระบบรองรับต่างๆ และการบริหารจัดการ ซึ่งคาดว่าจะตั้งบ่อฝังกลบขยะอ่อนนุช เนื่องจากเป็นแหล่งรองรับขยะขนาดใหญ่ของ กทม. ทำให้มีเชื้อเพลิงมหาศาลในการป้อนเตาเผาขยะนี้

ด้านความคืบหน้าโครงการตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจรของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ในช่วงต้นเดือนมกราคมอ2558 จะมีการลงนามกับกระทรวงกลาโหม และกรมการอุตสาหกรรมทหาร โดยจะร่วมกันศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งนิคมฯกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร   เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในฝั่งตะวันตกพื้นที่ จ.ราชบุรี หรือกาญจนบุรี เพราะมีพื้นที่ทหารขนาดใหญ่สามารถที่จะตั้งนิคมฯขนาด 1 หมื่นไร่ได้   และมั่นใจว่าจะลงนามก่อสร้างนิคมฯแห่งนี้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะถ้าเป็นรัฐบาลอื่นคงจะดำเนินโครงการนี้ได้ยาก

นอกจากนี้ จะมีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมในอีก 2 โครงการ ได้แก่ ความร่วมมือในการพัฒนาเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ของทหาร และความร่วมมือในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยในโครงการสำรวจและพัฒนาเหมืองแร่ในพื้นที่ของทหารนั้น จะเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการอุตสาหกรรมทหาร และกรมพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ เนื่องจากพื้นที่ของทหารมีขนาดใหญ่ และบางแห่งก็อุดมไปด้วยสินแร่ที่สำคัญ เช่น แหล่งแร่โปแตช ที่ใช้ในการผลิตปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ที่สำคัญ และแหล่งแร่ควอตซ์ ในการผลิตแผงโซลาร์เซล ซึ่งกรมการอุตสาหกรรมทหารสามารถเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการเหมืองแร่ต่างๆนี้ได้ เพื่อนำรายได้ไปพัฒนากองทัพต่อไป

ส่วนความร่วมมือในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้น จะเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการอุตสาหกรรมทหาร และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดย กนอ. จะเข้าไปร่วมวางแผนพัฒนาพื้นที่นิคมฯ ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบควบคุมมลพิศต่างๆ ส่วนกรมการอุตสาหกรรมทหารจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโรงงานต่างๆ รวมทั้งอาจจะมีการดึงภาคเอกชนบางส่วนเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตอาวุธ และยุทธปัจจัยต่างๆพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น และบางส่วนยังสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศได้.

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 1 มกราคม 2558