http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมกราคม 2560)

ครม.กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นปี 59/60 ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย

        นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (31 ม.ค.) เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูกาลผลิตปี 59/60 กำหนดในเขตพื้นที่คำนวณราคาอ้อยเขต 1,2,3,4,6,7 และ 9 ในราคา 1,050 บาทต่อตันอ้อย ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส ปรับขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 63 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2559/2560 ที่ 450 บาทต่อตันอ้อย

        สำหรับเขตพื้นที่ 5 กำหนดราคา 980 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 58.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ที่ 420 บาทต่อตันอ้อย เนื่องจากอ้อยคุณภาพลดลง ราคาอ้อยปีนี้ปรับสูงขึ้นจากปีก่อนกำหนดราคา 808 บาทต่อตันอ้อย เนื่องจากตลาดโลกปรับสูงขึ้น ต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย ประสบปัญหาภัยแล้ง จึงมีอ้อยออกสู่ตลาดน้อยลง

               สำหรับการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนนั้น ได้นำนโยบายเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากำหนดราคาอ้อยขั้นต้นด้วย เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อยที่เป็นธรรม และสูงสุดทุกเขตคำนวณราคาอ้อยและไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการส่งอ้อยเข้าหีบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินหมุนเวียนไปสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งราคาอ้อยที่ประกาศนี้จะช่วยลดความเสี่ยง ไม่ให้เป็นภาระต่อกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคต

จาก http://manager.co.th    วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ครม.ไฟเขียว เพดานราคาอ้อยปี 59/60 อัตรา 1,050 บาทต่อตัน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1,2,3,4,6,7 และ 9 ในอัตรา 1,050 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 63.00 บาทต่อ 1 หน่วย  ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2559/2560 เท่ากับ 450 บาทต่อตันอ้อย

และกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 5 ในอัตรา 980 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 58.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2559/2560 เท่ากับ 420 บาทต่อตันอ้อย

ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกาศราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นในราชกิจจานุเบกษาต่อไปด้วย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ครม.ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นต้น

                    ตันละ 10,050 บาทครอบคลุม 7 เขต ส่วนที่สุพรรณ ได้เพียงตันละ 980 บาท หลังพบคุณภาพการผลิตต่ำ          

                   นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต 59/60 แบ่งเป็น  2 ราคา คือ ราคาขั้นต้นในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1,2,3,4,6,7 และ 9 ในอัตรา 1,050 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหมายที่ 10 ซี.ซี.เอส. สูงกว่าปีการผลิตที่แล้วที่อยู่ที่ 808 บาทต่อตันอ้อย พร้อมกับกำหนดราคาขึ้นลงของราคาเท่ากับ 63 บาทต่อ 1 หน่วยซี.ซี.เอส.ต่อตัน และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ที่  450 บาทต่อตันอ้อย

ส่วนอีกราคา คือ ราคาอ้อยขั้นต้นสำหรับเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 5 คือ สุพรรณบุรี ในอัตรา 980 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. สูงกว่าปีที่แล้วที่อยู่ที่ 773 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดราคาขึ้นลงของราคาอ้อยที่ 58.80 บาทต่อ 1 หน่วยซี.ซี.เอส.ต่อตัน และกำหนดผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นที่ 420 บาท ซึ่งที่ราคาขั้นต้นของเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 5 ต่ำนั้น เนื่องจากมีประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ขณะที่เขตคำนวณราค้าอ้อยที่ 8 ไม่มีการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น หลังจากผู้ประกอบการหยุดกิจการ

สำหรับการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าวคณะกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้กำหนดราคากจากปัจจัยทั้งหมด 17 รายการ  เช่น ปริมาณอ้อยเข้าหีบทั่วประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 91.05 ล้านตัน ค่าความหวานทั่วประเทศที่ 12.41 ซี.ซี.เอส. ผลผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ยทั่วประเทศ 106.54 กก.ต่อตันอ้อย และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในปีนี้ ได้นำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากำหนดราคาอ้อยขั้นต้น เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่ได้รับเงินค่าอ้อยที่เป็นธรรมและสูงสุดในทุกเขตคำนวณราคาอ้อยและไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการส่งอ้อยเข้าหีบ เพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งราคาอ้อยที่ประกาศนี้จะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เป็นภาระต่อกองทุนอ้อยและน้ำตาลในอนาคต 

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ไทยเข้าAECหนุนมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น6หมื่นล้าน

หอการค้า เผย ไทยเข้า AEC หนุนมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท มองปี 60 การแข่งขันสูงขึ้น

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หลังการเปิดเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ตลาดการค้าระหว่างกันใน AEC มีมูลค่าปี 60 ประมาณ 4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนการเข้ารวมเป็นประชาคมที่ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท โดยมี เวียดนาม มีขนาดสัดส่วนตลาดเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็น มาเลเซีย อินโดนิเซีย และไทย อยู่ในอันดับที่ 4 ซึ่งการค้าตลอดระยะเวลา 1 ปี ในปี 2559 การรวมตัว AEC ทำให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 321,549 ล้านบาท จากเดิมก่อนเข้าร่วม AEC ที่ 261,457 ล้านบาท ถือว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 60,092 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตลาดอาเซียน และกลุ่ม CLMV ถือว่ายังมีความสำคัญ ซึ่งในปี 2559 ไทยมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดจากการส่งออกไปทั้ง 2 ตลาดรวมกว่า 7,416 ล้านบาท ถือว่าไทยได้ผลประโยชน์สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ในปี 2560 นี้ คาดว่า การแข่งขันใน 2 ตลาดนี้จะสูงขึ้น และอาจมีผลกระทบทำให้มูลค่าส่วนแบ่งตลาดในปีนี้ลดลง แต่ไม่เกินร้อยละ 10

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อ นักลงทุนกังวลหลังทรัมป์ประกาศนโยบายกีดกันมุสลิม

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง หลังดอลลาร์อ่อนค่า จากนักลงทุนที่มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ที่กีดกันมุสลิมเข้าประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทวันที่ 31 มกราคม ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงราคาปิดตลาดวานนี้ โดยล่าสุดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องตามค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย หลังนักลงทุนมีแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐออกมาต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่กีดกันมุสลิมเข้าประเทศ

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือการติดตามตัวเลขรายงานเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนธันวาคม 2559 ในวันนี้ และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ส่งออก‘สินค้าเกษตร-อาหาร’สัญญาณดี

สภาผู้ส่งออกมองปีนี้สินค้าเกษตร-อาหารส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ทองคำร่วงแน่สวนทางจากปีก่อน มองภาพรวมคาดโต 2-3% ยังห่วงปัจจัยเสี่ยงโลก แนะวางแผนบริหารรับมือ 2 ด้าน

          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลของผู้ประกอบการส่งออกสินค้าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าในปีนี้มีแนวโน้มส่งออกในภาพรวมดีขึ้น ทั้งสินค้าเกษตร เกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรม โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปโดยรวมคาดว่าจะขยายตัว 8% จากปีก่อน ได้แก่ ข้าว คาดส่งออกโต 2% ยางพารา 8% ส่วนมันสำปะหลังมีฐานที่ต่ำมากในปีก่อน ตามมูลค่าน่าจะขยายตัวขึ้นได้ 3%

          ส่วนน้ำตาล พบว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น แม้ว่าการส่งออกในปีนี้ปริมาณจะทรงตัว แต่มูลค่าที่สูงขึ้นน่าจะทำให้การส่งออกในแง่ของมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 20% ขณะที่กลุ่มอาหารดีต่อเนื่องจากปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นไก่สด พืช ผัก ผลไม้ อาหารกระป๋อง ทูน่า และกุ้งสดและแช่แข็ง การส่งออกจะเป็นบวกขึ้นมา คาดว่าปีนี้การส่งออกน่าจะขยายตัวได้ 8%

           ด้านสินค้าอุตสาหกรรมโดยรวม คาดการณ์ว่า ปี 2560 น่าจะขยายตัวได้ 2% ซึ่งมาจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการส่งออกจะโต 3% ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 5% โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ที่น่าจะเติบโตมากกว่ายานยนต์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ปีนี้น่าจะดีขึ้น 3% จากกลุ่มเครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก คาดว่ายอดส่งออกจะเติบโตขึ้นจากโรงงานเดิมที่ปิดซ่อมเมื่อปีก่อน และโรงงานใหม่ จะเป็นกลุ่มหนึ่งที่ผลักดันให้ยอดส่งออกของไทยในปีนี้เติบโตขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัว 8%

          สำหรับยอดส่งออกในกลุ่มอัญมณีและทองคำ จากปีก่อนมีส่วนผลักดันให้การส่งออกเป็นบวกได้ แต่ปีนี้คาดว่าการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปคาดว่าจะลดลง 30% ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มอัญมณีและทองคำน่าจะลดลง 15% ด้านการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป คาดส่งออกโต 3% กลุ่มวัสดุก่อสร้าง โต 2% เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ผลิตภัณฑ์ยางคาดว่าขยายตัวด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น 5% เครื่องจักรกล คาดว่าจะทรงตัว ขณะที่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ติดลบ 2% เคมีภัณฑ์ ส่งออกขยายตัว 2% ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมัน และสินค้าอื่นๆ น่าจะทรงตัว

          “จากตัวเลขของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ ทำให้สภาผู้ส่งออกคาดว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ที่ 2.4% หรือระหว่าง 2-3% อย่างไรก็ตาม ต่างจากตัวเลขของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า การส่งออกในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 1.5% โดยแบ่งออกตามตลาดส่งออกของไทย คือ สหรัฐ คาดโต 3% จีน ติดลบ 3% ซึ่งน่าจะถัวเฉลี่ยได้ ส่วนอาเซียนคาดว่าจะขยายตัว 3% ญี่ปุ่น 2% ยุโรปไม่เติบโต หรือ 0% และอื่นๆ รวม 1.6%” นายวัลลภ กล่าว

          ด้าน นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า แม้ทิศทางการส่งออกปีนี้จะขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน แต่มองว่าปีนี้น่าจะเป็นปีแห่งการขัดแย้งด้วยปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการกีดกันทางการค้าแบบสุดโต่งตามนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ ที่ยังไม่แน่ว่าจะมาเมื่อไร และการก่อการร้ายที่คาดว่าจะฉุดบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลก ดังนั้นการบริหารในยุคนี้จะเป็นการบริหารภายใต้ปัจจัยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน จึงต้องกลับมาดูว่าเราจะเตรียมความพร้อมอย่างไร ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมทั้งสองด้านไว้ให้ดี

          ทั้งนี้ ข้อสรุปจากที่ประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่ผ่านมาระบุชัดว่าปัจจัยความเสี่ยงต่อการค้าการลงทุนของโลก คือ นโยบายการกีดกันทางการค้า กรณีการออกจากสหภาพยุโรป การลี้ภัย การก่อการร้าย และปัญหาหนี้สินของจีน เช่นเดียวกับโกลแมน แซค มองปัจจัยเสี่ยง 3 เรื่อง ซึ่งตรงกัน คือ การกีดกันทางการค้า ปัญหาในอียู และปัญหาในจีน

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

กรมโรงงานอุตสาหกรรม หนุนอุตสาหกรรมไทยใช้พลังงานสะอาดลดต้นทุนการผลิต  

        กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จับมือ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แนะผู้ประกอบการใช้พลังงานทดแทน มุ่งสู่อุตสาหกรรมสะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำร่องเซ็นสัญญา บริษัท ฟ้าชัย วิศวกรรม จำกัด ดันพลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนการผลิต

               ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “อุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลด้วยพัลงงานสะอาด” ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมควรหันมาใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนกาารใช้พลังงานไฟฟ้าแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งหากโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยลดผลกระทบของสภาวะเรือนกระจก ลดการพึ่งพาน้ำมันและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า โดย กรอ.จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้พลังงานทางเลือก พร้อมเร่งพิจารณาใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ให้ผู้ประกอบการ

               นายพัลลภ ภิญโญวิวัฒน์ รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า การจัดงาน ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้รับความรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทน สามารถนำประโยชน์ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คุ้มค่า และเต็มประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ราย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทั้งภาครัฐ และวิสาหกิจ คาดว่าจะมีผู้สนใจติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ในโรงงานไม่ต่ำกว่า 50%

                “ปีที่ผ่านมา บริษัท พีพีเอได้ เซ็น MOU ร่วมกับ ฟ้าชัย วิศวกรรม ผลักดันการใช้พลังงานสะอาดจากแสงแดด ในโรงงานอุตสาหกรรม มีโรงงานมากกว่า 10 แห่ง เริ่มทยอยติดแผงโซลลาเซลล์แล้ว รวม 50 เมกกะวัตต์ คาดว่าปลายปีจะมีการใช้ราว 20 เมกกะวัตต์ และภายใน 5 ปีจะมีการใช้มากถึง 200 เมกกะวัตต์” นายพัลลภ กล่าว

               ด้าน ผศ.ดร.เชิดพงษ์ ดีเลิศไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือวัดและ อิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบโซล่าเซลล์ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของแผง หรือการเพิ่มความสามารถให้กับอินเวอร์เตอร์รวมทั้งความสามารถในการเข้ากันได้กับระบบของการไฟฟ้าทั้งสองแห่งในประเทศไทย ระบบการป้องกันที่ดีขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้สามารถใช้งานได้ยาวนานเป็น 10-20 ปีขึ้นไป

               “เมืองไทยเหมาะสมที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในระบบอุตสาหกรรม เพราะเป็นประเทศที่อยู่บริเวณซีกโลกเหนือใกล้เส้นศูนย์สูตร มีค่าเฉลี่ยชั่วโมงแดดประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวัน จึงเหมาะสมที่จะติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ และเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านพลังงาน ที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติประมาณ 70% ของพลังงานทั้งประเทศ เราควรหาพลังงานจากแหล่งอื่นมาทดแทน ถ้ามองดูที่ตัวเลือก ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ หรือแม้แต่พลังงานลม ต่างก็มีข้อด้อย ในระบบอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันพลังงานที่ใช้ในโรงงานส่วนใหญ่คือช่วงกลางวัน พลังงานจากแสงอาทิตย์จึงเป็นตัวเลือกที่มีความเหมาะสม” ผศ.ดร.เชิดพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://manager.co.th วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : กรมหมอดินสานต่อโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นส่งเสริมเกษตรกรปรับปรุงบำรุงดิน-ลดต้นทุนการผลิต

“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานไว้ให้แก่คนไทยทุกคน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้อยู่ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ทรงคิดค้น วิจัย และทดลองการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาการทำเกษตรกรรมที่ไม่ได้ผลในเขตแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยเฉพาะการทำการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดแคลนน้ำ กรณีฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอในการเพาะปลูก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรน้อมนำแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอทั่วประเทศ จำนวน 70,000 ราย โดยให้นำหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกรตามภูมิสังคม เน้นการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การจัดการเพาะปลูกพืช และการบริหารจัดการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ มุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ร่วมดำเนินงานโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรในส่วนความรับผิดชอบของกรมฯ จำนวน 6,292 ราย โดยพร้อมให้การสนับสนุนในด้านการฟื้นฟูและพัฒนาโครงสร้างของดิน ด้านการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และต้องการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านการพัฒนาที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน ชนิดต่างๆ ให้เกษตรกรเพื่อใช้ลดต้นทุนในการผลิตและช่วยเพิ่มผลผิต โดยเกษตรกรต้องมีความตั้งใจจริงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความซื่อสัตย์ มีความขยัน มีความอดทน ดังนี้

1.สนับสนุนสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากไร่นาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่มีต้นทุนต่ำ และเกษตรกรสามารถผลิตเองและใช้เองในพื้นที่การเกษตร เพื่อใช้ปรับปรุงโครงสร้างของดิน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดินให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช

2.สนับสนุนสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สำหรับทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืช และ พด.7สำหรับทำสารขับไล่แมลงศัตรูพืช พร้อมอุปกรณ์ในการผลิต ได้แก่ ถังหมัก กากน้ำตาล และให้การฝึกอบรมวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพโดยใช้เศษวัสดุต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งสารเร่งแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพในการใช้แตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์

3.ส่งเสริมการปรับปรุงพื้นที่ดินกรด ดินเปรี้ยว โดยการจัดหาวัสดุปูนเพื่อการเกษตร (โดโลไมท์) ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ นำไปหว่านในพื้นที่เพื่อช่วยปรับสภาพความเป็นกรดของดิน และให้เกิดความสมดุลของธาตุอาหารต่างๆ ในดิน

“ขอให้ความเชื่อมั่นว่า ในพื้นที่การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกมากขึ้น สามารปลูกพืชที่มีความหลากหลาย ได้คุณภาพที่ดี จำหน่ายได้ราคาดี มีรายได้หมุนเวียนสม่ำเสมอ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

เศรษฐกิจชีวภาพ ไทยทำใช้ไทยเจริญ

“เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” เศรษฐกิจคลื่น ลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ วาดฝันสู่การพัฒนา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ... อุตสาหกรรม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

เศรษฐกิจชีวภาพ...หัวใจสำคัญคือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ใช้สินค้าเกษตรจากมันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นตัวนำร่อง ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมในลักษณะห่วงโซ่ที่เพิ่มมูลค่าได้หลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่มั่นคง แข่งขันได้...อุตสาหกรรมชีวเคมี พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาเป็นส่วนผสมในอาหารแทนการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับโปรตีนจากธรรมชาติที่ดีมีความสมบูรณ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมทางชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่...มีอนาคต

ทว่าการที่จะก้าวไปสู่จุดหมาย...แน่นอนว่าจะต้องมีการลงทุนทางด้านวิจัยพัฒนาเป็นอย่างมาก

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ตั้งเป้าหมายเดินหน้า “เศรษฐกิจชีวภาพ” จะส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ทั้งเรื่องอาหาร อาหารเสริม สุขภาพ พลังงาน โดยจะต้องผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพให้ได้

ทำงานเป็นทีม ครบวงจร...กระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปดูแนวทางว่าจะทำอย่างไรในการสร้างเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจรได้เหนือกว่าที่สิงคโปร์ทำอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศไทยมีพร้อมทุกอย่าง โดยเฉพาะการเป็นอุตสาหกรรมภาคเกษตร

“การเจริญเติบโตโดยรวมที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการนั้น ไม่ได้ทำเพื่อเอกชน แต่ทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ ภาคเกษตรได้ประโยชน์อะไรบ้าง ดำเนินการแล้วไม่ไปทำลายระบบนิเวศ ทุกสิ่งต้องเกื้อกูลกัน...ทำอย่างไรให้ไทยยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ภาคชนบท เกษตรมีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขัน”

กระทรวงพลังงาน เร่งเดินเครื่องพัฒนาต่อยอดพลังงานชีวภาพ แผนพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ.2558-2579 มีเป้าจะลดพึ่งพานำเข้าพลังงาน การกำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทน 30% ของการใช้พลังงานประเทศ และลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70 ล้านตัน

เหลียวไปมองกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เดินหน้าสนับสนุนในทุกๆด้าน ทั้งการร่วมวิจัยพัฒนาและการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ พร้อมๆไปกับเพิ่มพลังประชารัฐให้สมบูรณ์เต็มสูบด้วยความร่วมมือจากภาคเอกชน...ศักยภาพ “เศรษฐกิจชีวภาพ” เริ่มได้ทันทีที่จังหวัดระยอง

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บอกว่า 30 ปีที่ผ่านมาโครงการอีสเทอรน์ ซีบอร์ด สร้างให้เกิดการยอมรับ ให้เป็นต้นแบบของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ สามารถสร้างคน สร้างรายได้ เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจของภาคตะวันออกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจนถึงปัจจุบัน

ก่อให้เกิดการลงทุนตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น อุตสาหกรรมโรงกลั่นและปิโตรเคมี จนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ยา อุตสาหกรรมเสื้อผ้า สิ่งทอ

“เราพร้อมให้การสนับสนุนนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ถือว่าเราเป็นองค์กรผู้นำในด้านนี้ที่ยกระดับจากการผลิตเคมีภัณฑ์พื้นฐานไปสู่เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ซึ่งเป็นวัตถุดิบ...สนับสนุนโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ปัจจุบันได้เริ่มดึงนักลงทุนต่างชาติ เช่น ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งจะนำเม็ดเงิน นวัตกรรม เทคโนโลยีมาที่ประเทศไทย”

“โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ “EEC” เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล ที่หวังสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ได้รับอนุมัติอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี...เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 รัฐบาลมีมติเห็นชอบอนุมัติแผนงานโครงการแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 2560-64 เพื่อเตรียมรับนักลงทุนซึ่งถือเป็นความหวังใหม่ของการลงทุนไทย

อุตสาหกรรมที่จะได้รับการสนับสนุนให้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นกลุ่ม...อุตสาหกรรมขั้นสูง ซุปเปอร์คลัสเตอร์ และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอนาคตดี ประเมินกันว่า ใน 5 ปีจากนี้...จะมีเงินลงทุนลงสู่พื้นที่กว่า 2 ล้านล้านบาทผ่าน 5 โครงการหลัก ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมไฮเทคสำหรับอนาคต และ 3 เมืองใหม่จากการลงทุนด้านการพัฒนาในพื้นที่

...เป็นการลงทุนเพื่อสร้างความสมดุลของเมืองสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี สร้างพลังงานให้กับประเทศในอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำโดยการกระจายการลงทุนออกนอกพื้นที่ กทม.

วาดหวังกันว่า...ประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

สุพัฒนพงษ์ เปิดมุมมองให้ฟังต่อไปว่า PTTGC เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทย มีโรงกลั่นน้ำมัน โรงโอเลฟินส์...ที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในอาเซียน โรงอะโรเมติกส์...โรงแรกของประเทศไทย และมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีรวมสูงสุดในอาเซียน และยังสามารถต่อยอดไปยังภูมิภาคต่างๆทั้งอาเซียน สร้างความได้เปรียบ ดึงดูดนักลงทุน ปัจจุบันสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ประเทศไทย

“เรามีความพร้อมที่จะตอบรับนโยบาย อีกทั้งยังมีการลงทุนเพิ่มในหลายโครงการที่มาบตาพุด ด้วยมูลค่าการลงทุนราวแสนล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต”

อาทิ โครงการ Map Ta Phut Retrofit เพื่อสร้างโรงงานแนฟทาแครกเกอร์ ผลิตเอทิลีน 5 แสนตันต่อปี และโพรพิลีน 2.61 แสนตันต่อปี  รวมถึงบิวทาไดอีน 1.63 แสนตันต่อปี เพื่อเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ ในอุตสาหกรรมขั้นกลางและขั้นปลายให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมการบินและชิ้นส่วน

โครงการลงทุนกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำ...โครงการ PO/Polyol โพลียูรีเทนครบวงจรที่มีการลงทุนสูงด้านนวัตกรรม ทำให้เกิดการพัฒนาการผลิตให้ได้เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอยู่ที่จังหวัดระยอง เพื่อสนับสนุนการวิจัย...พัฒนาเทคโนโลยี...ผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่สอดคล้องกับเป้าหมายและการดำเนินธุรกิจและมีศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพ

มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโต...ศักยภาพการแข่งขันแก่ธุรกิจกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เคมีชีวภาพ...พลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะสอดรับทิศทางของเศรษฐกิจชีวภาพ...รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของโอลีโอเคมี ที่ใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการดูแลสุขอนามัย และสุขภาพ

“เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” กระแสโลกที่ถูกกล่าวถึง มากที่สุด...เศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ได้กี่มากน้อย...ไม่นานคงได้รู้กัน.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

เร่งทำฝนหลวงเติมเขื่อนน้ำน้อย ยันมีเพียงพอใช้อุปโภคบริโภค

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยถึงกรณีที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลายแห่งมีน้อย โดยเฉพาะเขื่อนในภาคอีสานตอนล่างว่า ได้เตรียมหน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้ 2 หน่วย ที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วงสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้ อาจมีความชื้นเพียงพอขึ้นทำฝนหลวงได้ เพื่อเพิ่มน้ำในพื้นที่เป้าหมาย เช่น เขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ และพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้ง

"ฝนหลวงตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วไว้ 2 หน่วยที่นครสวรรค์ พร้อมที่จะเคลื่อนไปปฏิบัติได้ทั่วประเทศขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความต้องการของพื้นที่ ซึ่งต้องติดตามสภาพอากาศถ้าเหมาะสมจึงจะทำได้ ช่วงที่ผ่านมาฝนหลวงได้ขึ้นปฏิบัติการเติมน้ำไปเต็มที่ประสานกับชลประทานและจังหวัด ยืนยันว่าปีนี้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคไม่มีปัญหา" นายสุรสีห์ กล่าว

ขณะที่นายณรงค์ บวชสันเทียะ รองนายก อบต.หนองกระทุ่ม อ.เมือง จ.นครราชสีมา แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำน้อย พร้อมสมาชิกสหกรณ์ผู้ใช้น้ำโพธิ์เตี้ย รวมกว่า 50 คน  ได้เข้าพูดคุยกับ นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนลำตะคอง เพื่อเร่งก่อฝายกั้นน้ำด้วยกระสอบบรรจุทราย โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 8 เครื่อง ใช้สูบน้ำดิบในลำบริบูรณ์ ลำน้ำสาขาลำตะคอง มากักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการประปาในท้องถิ่น 6 สาขา และให้พืชใช้น้ำน้อยที่ปลูกตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรฯ

นายณรงค์ กล่าวว่า เกษตรกรใน6 ตำบล หันมาปลูกพืชผักสวนครัวใช้น้ำน้อยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบใช้อุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม ต้องสูบน้ำดิบไปกักเก็บไว้ในสระพักน้ำดิบ ซึ่งก็อยู่ในสภาพแห้งขอด ขอให้ชลประทาน เพิ่มระยะเวลาการสูบน้ำจากแผนเดิมกำหนดไว้ 12 วัน ให้ขยายเป็น 15 -18 วัน เพื่อให้สามารถสูบน้ำกักเก็บไว้ใช้ช่วงแล้ง

ด้านสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาตร์ สรุปปริมาณน้ำใช้การในเขื่อนพบว่า เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำใช้การน้อยวิกฤติเพียง 18% เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การน้อย 22 % เขื่อนวชิราลงกรณ์ 27% เขื่อนลำตะคอง 28% เขื่อนน้ำพุง 31% เขื่อนสิริธร 32 % เขื่อนแม่กวง 34% เขื่อนน้ำอูน 36% เขื่อนคลองสียัด 35% เขื่อนแก่งกระจาน 43% เขื่อนปราณบุรี 46%

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

สั่งสแกนน้ำทั่วไทย รับมือแล้ง!

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งสแกนสถานการณ์น้ำทั่วประเทศใกล้ชิด เตรียมบริหารจัดการน้ำรับภัยแล้ง แม้ภาพรวมสถานการณ์น้ำใช้ลุ่มเจ้าพระยามากในรอบ 4 ปี ยันแผนจัดการน้ำเขื่อนลำตะคองไม่กระทบการอุปโภค-บริโภค

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ในภาพรวมน้ำใช้การได้ใน 34 เขื่อนหลัก ณ ปัจจุบัน (30 ม.ค.60) มีน้ำใช้การได้ 23,947 ล้าน ลบ.ม.มากกว่าปีที่แล้ว 9,269 ล้าน ลบ.ม. ปีที่แล้ว ณ วันเดียวกันมีน้ำใช้การได้ 14,678 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ณ ปัจจุบัน ( 30 ม.ค.60) มีน้ำใช้การได้ 8,252 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 4,795 ล้าน ลบ.ม.โดยปีที่แล้ว ณ วันเดียวกัน มีน้ำใช้การได้ 3,457 ล้าน ลบ.ม.และมีมากกว่า ณ วันเดียวกันของปี 2556,2557และ 2558 ซึ่งมีน้ำใช้การได้ 6,33 ,6,460 และ 6,288 ล้าน ลบ.ม.ตามลำดับ ดังนั้น ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จึงไม่น่าจะมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำ โดยประสานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเขื่อนที่มีน้ำใช้การในปริมาณน้อย

           โดยจากข้อมูลสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำหลังสิ้นสุดฤดูฝน และเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ย.59 จากข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า 10 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และ รักษาระบบนิเวศ แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ มีจำนวน 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลําตะคอง เขื่อนลําพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลําแชะ และ เขื่อนปราณบุรี ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และ พืชไรพืชผักเท่านั้น แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรังได้ จำนวน 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลํานางรอง เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนแก่งกระจาน และ เขื่อนบางลาง ซึ่งข้อมูลข้างต้นทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ จะใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนให้การช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่จะได้รับผลกระทบล่วงหน้าและทันต่อสถานการณ์

           พลเอก ฉัตรชัย ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ในเขื่อนลำตะคองอีกว่า คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ได้มีการประชุมเรื่องการจัดสรรน้ำ และการดําเนินการในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559/60 มีมติให้ระบายน้ำจากเขื่อนลําตะคองอัตราไม่เกิน 5 ลบ.ม./วินาที หรือไม่เกินวันละ 0.432 ล้าน ลบ.ม.เพื่อจัดสรรน้ำในอุปโภค-บริโภค การประปา จำนวน 81 แห่งซึ่งมีความต้องการใช้น้ำวันละ 0.213 ล้าน ลบ.ม.การรักษาระบบนิเวศ และคุณภาพน้ำในลําตะคอง/ลําบริบูรณ์ ไม่สามารถสนับสนุนภาคเกษตรได้ โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 30 ม.ค.60 เขื่อนลําตะคองมีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 87 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำในอัตรา 4 ลบ.ม./วินาที (0.345 ล้าน ลบ.ม./วัน) จะมีน้ำใช้ได้ 252 วัน หรือ 8 เดือนกว่า ดังนั้น จึงมั่นใจว่าจะมีน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.60 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปริมาณน้ำใช้การเป็นไปตามแผน ขอให้ทุกส่วนร่วมกันใช้อย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

ผนึกพลังประชารัฐ เดินหน้า"เศรษฐกิจชีวภาพ"ขับเคลื่อนการลงทุนและนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชาติ 

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวมทั้งสิ้น 23 หน่วยงานโดยคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐและ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนสานพลังประชารัฐ เข้าร่วมในการลงนามในครั้งนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย ยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : สถาปนากรมฝนหลวงฯครบ4ปี ‘ยุทธศาสตร์ 20 ปี ตามศาสตร์พระราชา นำพาฝนหลวง 4.0’

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบ ปีที่ 4 “ยุทธศาสตร์ 20 ปี ตามศาสตร์พระราชา นำพาฝนหลวง 4.0” โดยมีกิจกรรมในงานประกอบด้วยพิธีสงฆ์ พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พิธีพราหมณ์ และพิธีไหว้ศาล พิธีรับมอบแจกันดอกไม้จากแขกผู้มีเกียรติ โครงการสัมมนา เรื่องแผนยุทธศาสตร์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 20 ปีและความรู้พื้นฐานด้านภารกิจฝนหลวง และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และนายชัยรัตน์ เกื้ออรุณ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารคอยต้อนรับ

พร้อมกันนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้แถลงนโยบายการดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า การประเทศไทยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือไทยแลนด์ 4.0 ในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่จะมีการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง และสร้างแนวทางพัฒนาให้ประเทศมีความเจริญ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น ฝนหลวง 4.0 ขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่ตั้งเป้าหมาย หรือวิสัยทัศน์องค์กรไว้ว่า “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี 2579”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

ชูยุทธศาสตร์ "ฝนหลวง" 20ปี ป้องกันบรรเทาภัยแล้ง100%

กรมฝนหลวงฯ สานต่องานตามศาสตร์พระราชา มุ่งนำพาฝนหลวงสู่ 4.0 เป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เผยยุทธศาสตร์ 20 ปีข้างหน้าตั้งเป้าหมายป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ 100% รวมทั้งภัยพิบัติได้อีก 65% ของพื้นที่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หรือไทยแลนด์ 4.0 ในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่จะมีการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง และสร้างแนวทางพัฒนาให้ประเทศมีความเจริญ โดยกรมมีการ

เตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น ฝนหลวง 4.0 ในอีก 20 ปีข้างหน้า กำหนดเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์องค์กรไว้ว่า "กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี 2579" โดยน้อมนำแนวทางจากตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมายได้

เป้าหมายปี 2560 กรมมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 แห่ง ป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ 72.5% ของพื้นที่ภัยแล้งป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติได้ 35% ของพื้นที่ภัยพิบัติ ใช้งบประมาณ 2,223 ล้านบาท ในปี 2560-2564 จะมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเป็น 7 แห่ง จะสามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ 90% ของพื้นที่ภัยแล้ง ป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติได้ 50% ของพื้นที่ภัยพิบัติ มีศูนย์กลางถ่ายทอดด้านการดัดแปรสภาพอากาศ มีศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศ ประกาศใช้มาตรฐานด้านการบิน มี Smart Officer 100% และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 100% ปี 2565-2569 มีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเป็น 8 แห่ง ป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ 93% ของพื้นที่ภัยแล้ง ป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติได้ 55% ของพื้นที่ภัยพิบัติ ในปี 2570-2574 ป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ 95% ของพื้นที่ภัยแล้ง ป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติได้ 60% ของพื้นที่ภัยพิบัติ สุดท้ายในปี 2575-2579 ป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ 100% ของพื้นที่ภัยแล้ง ป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติได้ 65% ของพื้นที่ภัยพิบัติ เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชาในระดับโลกและเป็นศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์พระราชาในระดับโลก

ตัวชี้วัดความสำเร็จของการไปสู่เป้าหมายการดำเนินงานในครั้งนี้ กรมมีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านการบิน และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 29 มกราคม 2560

'ชุติมา'เล็งถก4กระทรวง ทั้ง'มท.-พณ.-อุตฯ-สธ.'ยกระดับการเกษตร ลดเงื่อนไขนาแปลงใหญ่เหตุชาวนาร่วมน้อย

          ก.เกษตรฯเตรียมหารือ 4 กระทรวง ทั้ง มท. พาณิชย์ อุตฯ และ สธ.หาแนวทางบูรณาการร่วมทำตลาด ยกผลผลิตนำไทยสู่ประเทศเกษตรยั่งยืน ชี้ห่วงภาคกลางที่ยังปลูกข้าวขาวเหมือนเดิม เล็งปรับลดเงื่อนไขนาแปลงใหญ่

          น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเตรียมหารือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ถึงแนวทางการบูรณาการเพื่อให้ไทยเดินหน้าสู่การเป็นประเทศที่การเกษตรแบบยั่งยืน ส่งเสริม การทำสินค้าเกษตรปลอดภัย รวมทั้งร่วมกันทำการตลาด ยกระดับผลผลิต และรายได้ให้เกษตรกร เพื่อช่วยให้ผลผลิตข้าวมีแหล่งกระจายอย่างมีเสถียรภาพและสม่ำเสมอ เพราะไทยปลูกข้าวจำนวนมาก สวนทางการบริโภคข้าวลดลงต่อเนื่อง  จากอดีตไทยบริโภคข้าวประมาณ 10 ล้านตัน/ปี ขณะนี้บริโภคเหลือประมาณ 6-7 ล้านตัน/ปี

          "เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เกษตรกรต้องให้ความร่วมมือในการผลิตข้าวให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งในส่วนข้าวหอมมะลิที่ปลูกได้มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ถือว่าดีและมูลค่าสูงอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วง เหลือในส่วนของข้าวขาวที่ผลิตได้ในลุ่มเจ้าพระยาที่ต้องรณรงค์จูงใจให้ชาวนาเห็นความสำคัญในการปรับเปลี่ยนแนวทางการปลูกใหม่ในการลดพื้นที่ลง เพื่อสร้างความสมดุลผลผลิตและการบริโภค ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มปรับโครงสร้างการปลูกข้าว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชาวนาบางกลุ่ม หรือ ส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯเลยว่าต้องลดพื้นที่ปลูกข้าว และเพิ่มคุณภาพข้าวให้สูงขึ้น" น.ส.ชุติมากล่าว

          น.ส.ชุติมากล่าวว่า สำหรับการปลูกข้าวตามแผนครบวงจร หากจะผลักดันให้สำเร็จ จะต้องทำเป็นแปลงใหญ่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเกษตรกรเข้าร่วมแปลงใหญ่ไม่มาก เพราะกำหนดเงื่อนไขไว้มากเกินไป เช่นการกำหนดให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 50 คน พื้นที่ปลูกข้าว  1,000 ไร่ ในขณะที่เกษตรกรของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ดังนั้น ในปีนี้จึงต้องปรับลดเงื่อนไขให้ การรวมกลุ่มเกษตรกรเหลืออย่างน้อย 30 คน พื้นที่ปลูกข้าว 300 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่ กระทรวงเกษตรฯได้ลงพื้นที่เพื่อเตรียมคัดสรรเอาไว้แล้ว จะเริ่มดำเนินการในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ทันที

          "กระทรวงเกษตรฯได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้นำแผนการลดผลผลิตข้าวคุณภาพต่ำเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวคุณภาพสูง หากทำตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรฯจะได้รับเงินที่มากกว่า อาทิ ข้าวเกรดพรีเมียมไรซ์เบอรี่ สังข์หยด ข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีความต้องการมาก ราคาที่ขายได้จะสูงกว่าข้าวปกติ 10-20% และหากทำตามแผนของรัฐ เกษตรกรจะไม่ลำบากในการหาตลาด เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาเปิดพื้นที่ในโมเดิร์นเทรดทั่ว ประเทศให้ขายฟรี  เริ่มเปิดตัวแห่งแรกเมษายนนี้ ขณะที่ตลาดส่งออกก็สดใส และยังบูรณาการหน่วยงานรัฐ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข รับซื้อข้าว หรือสินค้าเกษตรคุณภาพสูง เพื่อนำไปให้ ผู้ป่วยกิน  เพราะคนป่วยต้องการสินค้าคุณภาพดี เพื่อสุขภาพที่ดี" น.ส.ชุติมากล่าว

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 28 มกราคม 2560

หนุน รง.น้ำตาล-ฮือต้านข้ามจังหวัด

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ ประมาณ 300 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือสนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลต่อเกษตรจังหวัดที่ สนง.เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมกับถือป้ายข้อความว่า “เราชาวตำบลน้ำปลีกสนับสนุนการก่อสร้างโรงงาน และรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่จะปลูกอ้อยส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลมาแสดง นายจิตติภร พรมทา อายุ 64 ปี แกนนำชาวบ้านเปิดเผยว่า ตนเองและชาวบ้าน ต.น้ำปลีกและใกล้เคียงกว่า 300 คน ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล เพราะไม่ส่งผลเสียกับชุมชน ตรงกันข้ามเกษตรกรจ.อำนาจเจริญส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพทำนา แต่หลายสิบปีมาแล้วก็ยังยากจนเช่นเดิม ขณะที่เกษตรกรจังหวัดอื่นๆที่ปลูกอ้อยกลับมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงต้องการหันมาปลูกอ้อย เพื่อมีรายได้จุนเจือครอบครัว พร้อมกับส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบได้มีงานทำใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปทำงานใน กทม. หากเศรษฐกิจดี ทุกอย่างจะดีตามไปด้วยอย่างแน่นอน

ทางด้านนายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการขออนุญาตตั้งโรงงานอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์รอบที่ 2 หากประชาชนในพื้นที่ศึกษาข้อดีข้อเสียแล้วเห็นควรว่าให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบต่อ

สิ่งแวดล้อม ในฐานะเกษตรจังหวัดมีหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญ จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันที่ จ.ยโสธร กรณีนายสมัยคดเกี้ยว อายุ 59 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายต.เซียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร พร้อมชาวบ้านกว่า50รายยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษมผวจ.ยโสธร เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด38 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านเซียงเพ็งประมาณ 3-4กม. โดยหวั่นเกรงว่าจะสร้างมลภาวะเป็นพิษนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้นายบุญธรรม กล่าวว่าได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านบ้านเซียงเพ็ง ต.เซียงเพ็ง อ.ป่าติ้วแล้วแต่เนื่องโรงงานดังกล่าวสร้างอยู่ฝั่งตรงกับข้ามกับหมู่บ้านเซียงเพ็งประมาณ 3-4 กม ทางจังหวัดไม่มีอำนาจยับยั้งการสร้างแต่อย่างใด เนื่องจากอยู่นอกเหนือเขตอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตาม จะนำหนังสือร้องเรียนส่งมอบให้กับ ผวจ.อำนาจเจริญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 27 มกราคม 2560

ลดความรุนแรงโรคใบขาวในอ้อย

       เมื่อวันที่ 9-11 มกราคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี  ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเก็บข้อมูลผลผลิต แปลงศึกษาการจัดการธาตุอาหารเพื่อลดความรุนแรงโรคใบขาวในอ้อย ณ แปลงเกษตรกร บ้านทุ่งพัฒนา ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี

    ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี โดยนายมนตรี ปานตู นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ นายเชิดศักดิ์ เฉยกึ้น นักวิชาการเกษตร และนายพิษณุ นวมขำ นักวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเก็บข้อมูลผลผลิต แปลงศึกษาการจัดการธาตุอาหารเพื่อลดความรุนแรงโรคใบขาวในอ้อย ณ แปลงเกษตรกร บ้านทุ่งพัฒนา ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี

    ทั้งนี้เนื่องจากโรคใบขาวของอ้อยจัดเป็นโรคที่สำคัญอันดับหนึ่งของอ้อย เนื่องจากหากเกิดระบาดแล้วจะทำความเสียหายให้กับแปลงปลูกอ้อยอย่างมาก และกว้างขวาง ยากที่จะทำการป้องกันกำจัด

ซึ่งหลังจากที่พบโรคนี้ 1 ปี คือเมื่อ พ.ศ.2499  ที่จังหวัดลำปางมีโรคใบขาวระบาดทำความเสียหาย 500 ไร่ จากนั้นอีก 6-7 ปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2505-2506 ก็ระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า และทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง 50% ในปี 2517 ซึ่งนักวิชการประมาณการว่าหากโรคนี้ทำความเสียหายกับอ้อยในพื้นที่ 50,000 ไร่ จะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาทในการสูญเสีย ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีความเสียหาย เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโรคมีการระบาดค่อนข้างกว้างขวางและเป็นปัญหาของชาวไร่อ้อยในเกือบทุกแหล่งปลูกในปัจจุบัน

    โรคใบขาวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกระยะการเจริญเติบโตของอ้อย โดยอาการจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในระยะกล้า อ้อยแตกกอฝอยมีหน่อเล็ก ๆ ที่มีใบสีขาวจำนวนมาก คล้ายกอหญ้า หน่อไม่เจริญเป็นลำ หากอาการโรครุนแรงอ้อยจะแห้งตายทั้งกอในที่สุด หากหน่ออ้อยในกอเจริญเป็นลำได้ ลำอ้อยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ อาจมีใบขาวที่ปลายยอด หรือมีหน่อขาวเล็ก ๆ งอกจากตาข้างของลำ บางครั้งอาการของโรคจะมีลักษณะแฝง

    มักพบเสมอในอ้อยปลูกปีแรก โดยอ้อยเป็นโรคเจริญเติบโตเป็นลำ มีใบสีเขียวคล้ายอ้อยปกติ มีเพียงหน่อขาวเล็ก ๆ ที่โคนกอ แต่อาการโรคจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในอ้อยตอในระยะเวลาต่อมา รวมทั้งแหล่งระบาดที่สำคัญของโรค ซึ่งเมื่อนำอ้อยที่มีอาการแฝงคล้ายอ้อยปกติดังกล่าวไปปลูกต่อ ก็จะทำให้โรคระบาดต่อไปได้อย่างกว้างขวาง

อาการของโรคปรากฏทั้งบนอ้อยปลูกและอ้อยตอ  ในบางครั้งพบว่าอ้อยเป็นโรคตั้งแต่เริ่มปลูก  บางครั้งพบเมื่อเป็นอ้อยตอ ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากปริมาณของเชื้อสาเหตุของโรคว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน  พอที่จะทำให้อ้อยแสดงอาการของโรคหรือไม่

    โรคใบขาวของอ้อยแพร่ระบาดโดยมีเชื้อติดไปกับท่อนพันธุ์อ้อย นอกจากนั้นยังมีเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล เป็นแมลงพาหะ ถ่ายทอดเชื้อจากกออ้อยที่เป็นโรคไปยังกออ้อยปกติในไร่ พบจำนวนมากในช่วงฤดูฝน

    ระบาดรุนแรงในเขตพื้นที่ปลูกอ้อยที่เป็นดินทราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอน แก่น ในเขตพื้นที่ปลูกอ้อยภาคตะวันออก จ.สระแก้ว รวมทั้งพื้นที่ปลูกภาคกลางและภาคตะวันตก จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร ราชบุรี กาญจนบุรี ลงไปถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์

   และในการศึกษาครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาโรคใบขาวให้กับเกษตรกร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปและช่องทางในการแก้ไขต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนแล้วจึงขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของเกษตรกรต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 27 มกราคม 2560

ยึด'ปลอดภัย'ขึ้นทะเบียนสารเคมี เกษตร'ย้ำใช้หลักวิชาการพิจารณา-ชี้ผลล่าสุดสอบตกระนาว

          นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า วัตถุอันตรายถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กำหนดให้มีคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน เพื่อควบคุมกำกับดูแลการใช้วัตถุอันตรายให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และปลอดภัย เพื่อคุ้มครองเกษตรกรและผู้บริโภค โดยวัตถุอันตรายจำแนกเป็น 4 ชนิด คือ

          ชนิดที่ 1 ได้แก่ วัตถุอันตราย ที่การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ใน ครอบครอง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด, ชนิดที่ 2 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องขอขึ้นทะเบียน และแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน, ชนิดที่ 3 วัตถุอันตรายที่การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องขอขึ้นทะเบียนและต้องได้รับใบอนุญาต และชนิดที่ 4 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง โดยปัจจุบันมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และ 3 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียน 302 ชนิดสาร รวม 9,526 ทะเบียน และมีการออกประกาศวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้ว 98 ชนิด ซึ่งในอดีตมีคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายสะสมอยู่มากกว่า 4,000 คำขอ

          นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยลำดับแรก ให้ความสำคัญกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และกลุ่มสารเคมีที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในพืชอาหาร มีข้อมูลความเป็นพิษน้อย ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เพื่อสนองตามนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลำดับที่ 2 เป็นสารเคมีที่จำเป็นต้องใช้แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในกลุ่มแรก โดยใช้ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงอันตรายและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจภายใต้หลักวิชาการ 3 ข้อ คือ ข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์

          ทั้งนี้การประชุมคณะอนุกรรมการ กำหนดให้มีการประชุมเป็นวาระปกติเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนครั้งละ 50-90 คำขอ ซึ่งการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มกราคม เป็นการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย 50 คำขอ แต่มีคำขอผ่านการพิจารณารับขึ้นทะเบียนเพียง 9 คำขอ ไม่ผ่าน 41 คำขอ เนื่องจากผลการทดลองประสิทธิภาพไม่ได้ทำในพืชอาหาร เป็นสารที่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดการระบาดเพิ่มของศัตรูพืช และอีกจำนวนหนึ่งผ่านความเห็นในหลักวิชาการโดยให้รับขึ้นทะเบียนได้ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้สามารถใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพร่วมได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่เคยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนแล้ว แต่มีผู้ประกอบการ รายอื่นประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนสาร ดังกล่าวด้วย

          "การพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร คณะอนุกรรมการ ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในพืชอาหาร มีข้อมูลความเป็นพิษน้อย ส่วนที่เหลือพิจารณาตามลำดับการยื่นคำขอโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ข้อ คือข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งการขึ้นทะเบียนครั้งล่าสุดไม่ได้ เป็นการขึ้นทะเบียนสารใหม่แต่เป็นสารเดิมที่เคยให้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนแล้ว เพื่อเป็นการคุ้มครองเกษตรกรซึ่งยังมีความจำเป็นต้องใช้โดยต้องใช้ตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับพืชเศรษฐกิจบางชนิดในประเทศไทย" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 มกราคม 2560

กฟผ.จี้รื้อแผนผลิตไฟฟ้า ดันพลังงานทดแทน2พันเมกะวัตต์ใน20ปีลดค่า FT

กฟผ.ชงกระทรวงพลังงาน ขอปรับแผนพีดีพีใหม่ดันพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ใน 20 ปี ลงทุน 2 แสนล้านบาท มุ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นหลัก หวังช่วยลดค่าไฟฟ้าพุ่ง จากการลงทุนของภาคเอกชนฝ่ายเดียว โดยเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2559 กฟผ.ได้ส่งแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีเป้าหมายการพัฒนาไว้ 2,000.90 เมกะวัตต์ ในระยะ 20 ปี (2559-2579) เสนอไปพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้พิจารณาบรรจุกำลังการผลิตของกฟผ.ตามเป้าหมายดังกล่าว เข้าอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีเพิ่มเติม จากเป้าหมายเดิมที่มีอยู่ 513.91 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ เพื่อให้แผนการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นไปตามแผนพีดีพีที่กำหนดเป้าหมายไว้จะให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วน 20 % หรือ 1.67 หมื่นเมกะวัตต์ จากปัจจุบันดำเนินการได้ไม่ถึง 10 % หรือประมาณ 9,215 เมกะวัตต์

อีกทั้ง หากจะส่งเสริมให้เอกชนดำเนินการโดยทั้งหมดเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนจะมีเงินสนับสนุนในรูปฟีดอินทาริฟ(เอฟไอที) ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี แต่หากเป็นการลงทุนของกฟผ.มีการกำหนดให้ขายไฟฟ้าต้องต่ำกว่าเอฟไอทีที่เอกชนได้รับ เพราะกฟผ.จะดำเนินงานเพียงแค่ถึงจุดคุ้มทุนเท่านั้น ซึ่งจะช่วยชะลอค่าไฟฟ้าขึ้นได้

ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานเห็นชอบก็จะมีการปรับแผนพีดีพีใหม่เพียงเล็กน้อย และคงไม่ไปกระทบกับแผนพีดีพีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่การปรับแผนพีดีพีใหม่ทั้งหมดนั้น อาจจะยังไม่จำเป็น เนื่องจากยังมีปริมาณสำรองสูงอยู่ และความต้องการใช้ไฟฟ้าก็ไม่ได้ขยายตัวมากนัก ประกอบกับการจะผลักดันให้โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่มาบตาพุดใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในส่วนขยายอีก 1,000 เมกะวัตต์ เข้ามาอยู่ในแผนพีดีพี อาจจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปัจจุบัน การจัดหาไฟฟ้าภาคตะวันออกมีอยู่ประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ มีความต้องการใช้เพียง 4,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือป้อนให้กับกรุงเทพมหานคร หากจะมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมา เพื่อที่จะทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ จึงมองว่าไม่สมดุลในเชิงพื้นที่

ส่วนกรณีของโรงไฟฟ้าไอพีพีในเครือกัลฟ์ 5,000 เมกะวัตต์ ที่ขอเจรจาเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าออกไปอีก 3 ปี จากปี 2564 ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด หากเลื่อนออกไปแล้วขอปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มก็คงไม่พิจารณาให้

นายสหรัฐ กล่าวว่า สำหรับแผนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของกฟผ. 2,000.90 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์ม 486.25 เมกะวัตต์ พลังงานลม 307 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 125.15 เมกะวัตต์ ชีวมวล 1,032.5 เมกะวัตต์ เดิมจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท ใน 20 ปี แต่ในอนาคตคาดว่าเม็ดเงินลงทุนจะลดลง เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนถูกลง

ทั้งนี้ หากแผนดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในพีดีพีที่จะปรับใหม่ กฟผ.ก็จะประกาศเชิญชวนเอกสนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนส่วนหนึ่ง ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ภายใต้เงื่อนไขที่กฟผ.กำหนดไว้ หากรายใดรับได้หรือมีความพร้อมก็จะคัดเลือกเข้ามา ซึ่งแต่ละโครงการอาจจะมีขนาดตั้งแต่ 5-50 เมกะวัตต์

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 27 มกราคม 2560

ก.อุตสาหกรรมเผยS-Curveถูกทางเเล้ว

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เผย ไทยเดินหน้า S - Curve ถูกทางเเล้ว เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของไทยได้

จากการสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “อนาคตอุตสาหกรรมไทยยุค THAILAND 4.0” ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบประเทศไทย 4.0 ต้องมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นการมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในมิติของการพัฒนานวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเชิงธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการมาตรฐาน และการพัฒนากำลังคน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามประเด็นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S - Curve) ยกระดับมาตรฐานของเครือข่ายการประกอบการให้เชื่อมโยงกับความต้องการของโลกในเชิงรุก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 27 มกราคม 2560

ค่าเงินดีดกลับมาอ่อนค่า หลังตัวเลข ศก.สหรัฐดีต่อเนื่อง-นลท.แห่ซื้อทองเก็บ

ค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวอ่อนค่า หลังสหรัฐประกาศตัวเลขดีเกินคาด ขณะที่นักลงทุนโยกเงินลงทุนซื้อทองเก็บ หลังราคาทองโลกร่วง หนุนค่าเงินเอเชีย-บาทอ่อนค่า

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทไทยสัปดาห์ 27 มกราคม ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.32-35.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ 35.26-35.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดซื้อขายที่ 35.30-35.32 บาทต่อดอลล์

โดยนักวิเคาาะห์ค่าเงินบาทธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ค่าเงินอ่อนค่าขึ้นจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะตัวเลขคาดการณ์ของฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเดือนมกราคมที่ออกมาดีต่อเนื่อง รวมถึงราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้มีแรงซื้อในสินทรัพย์ปลอดภัยดังกล่าว ทำให้ค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินบาทอ่อนตัว

ส่วนปัจจัยที่ต้องตามคือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในเดือนธันวาคมที่จะออกในสัปดาห์หน้า  และการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FOMC ในช่วงกลางสัปดาห์ แม้ตลาดจะคาดว่าสหรัฐจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยภายในเดือนนี้ แต่น่าจะมีการส่งสัญญาณถึงการมองแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า รวมถึงนโยบายของโดนัล ทรัมป์ ที่เริ่มจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องภาษี และนโยบายการกีดกันทางการค้าต่างๆ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 มกราคม 2560

กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ลงนาม MOU กับบริษัท ST1 บริษัทพลังงานจากฟินแลนด์

กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท ST1 บริษัทพลังงานจากประเทศฟินแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการนำร่องการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง

เมื่อวันอังคารที่ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล สำนักงานกรุงเทพฯ นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท ST1 บริษัทพลังงานจากประเทศฟินแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการนำร่องการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง ในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสองบริษัทร่วมเป็นสักขีพยาน กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลประกอบด้วย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองประธานกรรมการ นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ นางสาวบุณณดา คูหากาญจน์ รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบัญชีและการเงิน และนายวุฒิพงศ์ นิลผาย ผู้จัดการโรงงานเอทานอล และบริษัท ST1 ประกอบด้วย Mr.Patrick Pitkänen Sales Director Mr.Vesa Turpeinen Sales Manager Mr.Antti Aromaki Representative Thailand และ Ms Katarina Tapio เลขานุการเอกและรองหัวหน้าคณะทูต สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 มกราคม 2560

เร่งยกชั้นอุตฯไทยปรับโครงสร้างสินค้าส่งออก

 “สมคิด” กระตุ้นยกระดับอุตสาหกรรมไทย เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ในการส่งออก

               นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดโครงการ “พาณิชย์ 4.0 สู่โลกการค้ายุคใหม่” พร้อมเปิดตัวสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy : NEA) ว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2559 ปรับตัวดีขึ้น แต่หากพิจารณา โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยแล้ว ยังเป็นสินค้าแบบเดิม ราคาสินค้าที่ปรับขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงทองคำ ขณะที่ตลาดใหญ่ๆ เริ่มสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าอุสาหกรรมบางตัวเริ่มย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ประเทศเวียดนาม

               “ดังนั้น รัฐบาลและเอกชนไทยจะดีใจไม่ได้ จำเป็นต้องร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมเดิม s-curve ที่มีอยู่เดิมให้เพิ่มมูลค่า และพยายามสร้างสินค้าใหม่คือ New S-Curve เพื่อสร้างรายได้แก่อนาคตส่งออกของไทย” นายสมคิด กล่าว

                ทั้งนี้ รัฐบาลเริ่มวางพื้นฐานไปแล้ว แต่ต้องใช้เวลา และขณะนี้ส่วนที่เริ่มเดินหน้าแล้วคือ “เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” ที่อยู่บนพื้นฐานสินค้าเกษตร ที่ใช้เทคโนโลยีความรู้ นวัตกรรรม ซึ่งมีนโยบายให้ภายในปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่ จะต้องช่วยดูแลคนตัวเล็ก ซึ่งหมายถึง ประชาชน ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นักธุรกิจรายย่อย ประชาชนที่อยากสร้างธุรกิจของตัวเองได้ เพื่อเติบโตไปด้วยกันหรือ Inclusive Growth ซึ่งประเทศจีนใช้ Alibaba ในการช่วยให้คนตัวเล็ก ทำการค้าผ่านผ่านช่องทางออนไลน์หรือ E-commerce : อีคอมเมิร์ซ

               ในส่วนของประเทศไทย หากผู้ประกอบการรู้จักปรับตัวก็สามารถทำการค้าผ่าน E-commerce ได้เช่นกัน โดยจะโฟกัสกลุ่มบุคคลอายุ 30 ปีจะต้องไม่เป็น salary man โดยอาศัยความรู้ผ่านสถาบันการศึกษา สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ จะจุดประกายให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่การค้าแบบออนไลน์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ และจะต้องปรับหลักสูตรใหม่ให้ครอบคลุมถึงประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมโยงการค้าด้วย โดยร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หนุนเกษตรกรทำสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และท่องเที่ยว โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาและให้โควต้าประเทศเพื่อนบ้านมาเรียนรู้ด้วย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยับ7.2 สศก.จับตา‘อ้อยโรงงาน-มันสำปะหลัง’ออกตลาด

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนธันวาคม 2559 พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.35 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา ราคาสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีมาตรการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ส่งผลให้มีควาต้องการใช้น้ำมันปาล์มมากขึ้น สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาลดลงเนื่องจากมีการนำเข้าข้าวสาลี มาทดแทนมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

หากเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 ภาพรวมดัชนีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.24 สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบ กุ้งขาวแวนนาไม ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทั้งนี้ เดือนมกราคม 2560 คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 เนื่องจากอ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ราคาลดลงจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2559 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ธันวาคม 2558) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไก่เนื้อ และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 32.67 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และ ไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนในเดือนมกราคม 2560 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2559 เนื่องจากผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นช่วงปลายฤดูกาล

ทั้งนี้ ในส่วนของภาพรวมรายได้ วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกร ในเดือนธันวาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 ร้อยละ 18.64 เป็นผลมาจากดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.35 และดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.49

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ไทยวัดใจ "ทรัมป์" ทบทวนมาตรา 301 มองโลกแง่ดีลดชั้น WL-"ไลท์ไฮเซอร์" นั่งเก้าอี้ USTR

จับตา "ทรัมป์" ตั้งผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) คนใหม่ "โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์" หวั่นดำเนินนโยบายการค้าสุดขั้ว Protectionist ชิมลาง มาตรา 301 เดือนเมษายนนี้ สถานะใหม่ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หลังติด PWL มาครบ 10 ปี ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญายันสถานการณ์ไทยดีขึ้น ทั้งจำนวนของกลาง คดีจับกุมผู้ละเมิด

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานหลังการสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีการเสนอแต่งตั้ง นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ (Robert Lighthizer) ให้เป็น ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า นายไลท์ไฮเซอร์มีแนวคิดแบบคุ้มครองทางการค้า (Protectionist) ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่ว่า สหรัฐอาจจะดำเนินการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าแบบที่ ทรัมป์ ได้หาเสียงไว้

ในส่วนของประเทศไทย เบื้องต้นสหรัฐจะมีการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้าพิเศษ 301 (Special 301) ประจำปี 2560 ซึ่งจะประกาศผลราวเดือนเมษายนของทุกปี โดยในปีนี้จะต้องติดตามว่า USTR จะพิจารณาทบทวนสถานะการค้าของประเทศไทยอย่างไร เพราะเท่าที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน บัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List หรือ PWL) ต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปีนับจากปี 2550 หากปีนี้สหรัฐยังคงพิจารณาสถานะเดิมก็เท่ากับไทยถูกจัดลำดับอยู่ใน PWL ติดต่อกันจนครบ 10 ปี

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กรมจะส่งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา ให้กับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้าพิเศษ (Special 301) ประจำปี 2560 โดยฝ่ายไทยหวังว่า สหรัฐจะพิจารณาปรับลดสถานะประเทศไทยให้ดีขึ้นจากที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List หรือ WL) แทน

"สถานการณ์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงที่ผ่านมาถือว่าปรับตัวดีขึ้น มีจำนวนคดีที่ละเมิดลดลง และมีจำนวนของกลางเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไทยสามารถจับกุมผู้กระทำผิดรายใหญ่ได้ และจับกุมผู้ละเมิดผ่านระบบออนไลน์ได้มากขึ้น ส่วนประเด็นที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะดำเนินนโยบายทางการค้ากับประเทศคู่ค้ามากขึ้น ยังเป็นการเดาสถานการณ์เท่านั้น ส่วนการปรับสถานะประเทศคู่ค้าตามมาตรา 301 น่าจะเป็นระบบที่มีมาตรฐานการจัดกลุ่มอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคเอกชนของสหรัฐ กลุ่มเห็นต่าง-กลุ่มผู้ผลิตยา-กลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์-ผู้ผลิตเพลง มองอย่างไร ทาง USTR จะต้องไปชั่งน้ำหนักความเห็นในแต่ละกลุ่มก่อน" นายทศพลกล่าว

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (คปท.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการปราบปรามปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน และได้มอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นเจ้าภาพประชุมติดตามสถานการณ์ทุกเดือน พร้อมทั้งทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด

โดยยอดการจับกุมล่าสุดในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) พบว่า มีการจับกุมดำเนินคดีโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 5,951 คดี หรือลดลง 17.29% ยึดของกลางได้ 2.744 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 214.40% โดยส่วนใหญ่เป็น คดีละเมิดเครื่องหมายการค้า 4,409 คดี รองลงมาคือ คดีละเมิดลิขสิทธิ์ 1,385 คดี คดีสิทธิบัตร 157 คดี ส่วนการดำเนินคดีโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ 20 คดี หรือลดลง 33.97% ของกลาง 1.01 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 136.34% และการจับกุมโดยกรมศุลกากร จำนวน 6,584 คดี หรือลดลง 17% ของกลาง 4.85 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 51.76%

นายทศพลกล่าวว่า นอกจากการลงพื้นที่ตรวจสอบและปราบปรามการละเมิดแล้ว ประเทศไทยยังได้เพิ่มความเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านระบบออนไลน์ โดยได้ทำหนังสือถึง ผู้บริหารเว็บไซต์ Facebook เพื่อขอให้สอดส่องปัญหาการใช้เฟซบุ๊กจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากพบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทางผู้ดูแลเว็บไซต์ (Admin) สามารถปิดการให้บริการบัญชีผู้ใช้รายนั้นได้ และประสานไปยังกรมสรรพากร กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือแหล่งที่มาของรายได้ของผู้ที่มีพฤติกรรมละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย "ล่าสุดรัฐบาลได้ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปแล้ว แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 3-4 ปี ในการเตรียมการบังคับใช้กฎหมาย"

ด้าน นายสัตยะพล สัจจเดชะ นายกสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในปี 2559 ว่า "มีแนวโน้มที่ดีขึ้น" เพราะรัฐบาลได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างมาก โดยมีทั้งการตั้ง คณะอนุกรรมการชุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และมีการวางแผนการดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปหลายฉบับ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ลดขั้นตอนรับรองแปลงใหญ่ "เกษตร" เน้นเปิดกว้างเข้าง่าย

กระทรวงเกษตรฯปรับลดขั้นตอนการรับรอง "เกษตรแปลงใหญ่" เน้นเปิดกว้างและง่ายต่อการเข้าถึง ลดขั้นตอนโดยแต่งตั้งคณะทำงานรับรองแปลงก่อนเสนออนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด พร้อมกำหนด 9 หลักการในการเข้าร่วม

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานโครงการเกษตรแปลงใหญ่ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 600 แปลง พื้นที่ 1.538 ล้านไร่ เกษตรกร 96,554 ราย สำหรับในปี 2560 ได้กำหนดเป้าหมายอีกไม่น้อยกว่า 900 แปลง คือ มกราคม 400 แปลงและพฤษภาคม 512 แปลง รวมทั้งสิ้น 1,512 แปลง ซึ่งในปี 2560 นี้ ต้องมีการปรับลดหลักการที่มีอยู่มาก ซึ่งพบว่าเป็นปัญหา เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจง่ายขึ้น ทั้งนี้ รายงานความสำเร็จที่สามารถตรวจวัดผลผลิตและประเมินผลได้นั้นมี 480 แปลง จาก 600 แปลง คิดเป็น 92% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างประเมินผลผลิต เนื่องจากยังไม่เก็บเกี่ยว

"การปรับปรุงขั้นตอนการรับรองการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่นั้น ได้ลดขั้นตอนโดยแต่งตั้งคณะทำงานรับรองแปลง Single Command (ประธาน/เกษตรจังหวัด/เลขานุการ) ซึ่งจากเดิมที่ต้องผ่านอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด โดยให้คณะทำงานรับรองแปลงได้รับรองและนำเสนออนุกรรมการฯเพื่อรับทราบ อีกทั้งต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนทุกราย เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานแปลงใหญ่ที่ผ่านมามีหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ เนื่องจากมีเกษตรกรต้องการเข้าร่วมแปลงใหญ่จำนวนมาก จึงได้มีการหารือร่วมกัน และสรุปหลักการของแปลงใหญ่ ดังนี้ 1.ง่ายต่อการเข้าถึงรวมตัวกันได้ จับเป็นกลุ่มผลผลิตเกษตรชนิดเดียวกัน ดำเนินการได้ทันที 2.ขนาดพื้นที่เหมาะสม ไม่จำกัดขนาดและจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วม 3.พัฒนาให้ถึงเป้าหมาย คือลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ขยายโอกาส 4.พื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri Map สามารถรวมเป็นแปลงใหญ่ได้ และใช้เทคโนโลยีเข้าไปปรับพื้นที่ให้เหมาะสม

5.ยกระดับมาตรฐานผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น 6.แหล่งน้ำ ตามความจำเป็นหรือความเหมาะสม 7.กระบวนการกลุ่ม คือ กลุ่มเดิม (สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน) กลุ่มย่อยทำแปลงใหญ่ได้ กรณีไม่มีกลุ่ม จะต้องมีการพัฒนาให้เกิดกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง

8.Economy of Scale ตัดสินด้วยเกณฑ์ของแหล่งทุน ขึ้นกับกิจกรรมที่กลุ่มขอรับการสนับสนุน และ 9.ความสมัครใจเป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ และดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเป้าหมายของแปลงใหญ่

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

กูรูชี้ "อนาคตการค้าไทย" ก้าวอย่างไรให้มั่นคงในยุค New Normal

กรมการค้าต่างประเทศจัดสัมมนา ในหัวข้อ "อนาคตการค้าไทย ก้าวอย่างไรให้มั่นคง" โดยภาคเอกชน นักวิชาการ แบงก์ชาติ ต่างมองเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสโตและขยายตัวไปได้มาก โดยต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษา พัฒนาบุคลากร ต่อยอดอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง ตามการเปลี่ยนแปลงการค้าโลก หรือ New Normal ซึ่งโอกาสเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 5-6% เป็นไปได้

โดย นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีการใช้ศักยภาพในการพัฒนาต่าง ๆ ไม่เต็มที่ กับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก หากมีความร่วมมือทุกภาคส่วน เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 5-6% โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีมาต่อยอดในทุกภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมทั้งการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐ การพัฒนางานวิจัย การต่อยอดและพัฒนาซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากขึ้น โดยเฉพาะการต่อยอดใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในอนาคตเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ 5-6% คงมีความเป็นไปได้ยาก ปัจจัยสำคัญมาจากทิศทางพลังงานหดตัว มีผลต่อสินค้าและกำลังซื้อ แรงงานมีการหดตัว เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่กลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น ประชากรเกิดใหม่ลดลง คุณภาพแรงงานลดลง อาจจะต่ำกว่าเวียดนาม ดังนั้น เพื่อพัฒนาแรงงานไทยให้มีคุณภาพ การศึกษา มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ที่หลายหน่วยงานต้องให้ความสำคัญและพัฒนาให้ดีขึ้น นอกจากนี้ สินค้า การบริการ ลูกค้า มีส่วนสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ เนื่องจากมีผลต่อการส่งออกไทย

อนาคตคุณภาพการให้บริการสินค้า จะต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้ดี มีการยกระดับให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ลูกค้ายังเลือกซื้อสินค้าไทยอยู่ และตลาด CLMV จะมีบทบาทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้มากกว่า 3% แต่อาจจะไม่ถึง 6% ทั้งนี้ ภาครัฐเองอาจจะต้องปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นความล้าหลังของกฎหมายจะกลายเป็นการบั่นทอนเศรษฐกิจได้

ขณะยุคนิวนอร์มอล ปัจจุบันมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป ตามการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การให้ความสำคัญของโลกตะวันออก หรือเอเชียเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายและโครงสร้างการค้าโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงาน การใช้น้ำมันมีอัตราลดลง และเริ่มหันมาใช้ระบบไฟฟ้าแทน และปัญหาโครงสร้างแรงงาน ในอนาคตปริมาณแรงงานจะลดลง และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี การสูญเสียความสามารถในการเข้าถึงเศรษฐกิจทำให้อัตราการเติบโตมีขีดจำกัด

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ มีความไม่แน่นอนสูง อาจจะเกิดสงครามทางการค้าโลกได้ หลายประเทศหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าน้อยลง จะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออก โดยเฉพาะไทยจำเป็นต้องยกระดับสินค้าให้มีนวัตกรรม

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ศูนย์กลางการค้าของโลกได้ปรับเปลี่ยนจากตะวันตกมาอยู่ในภูมิภาคตะวันออก ไทยต้องหันมาทำการค้ากับประเทศในเอเชียมากขึ้น

โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง หรือขยายตัว 10% ทุกปี สามารถเกื้อหนุนเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่จะต้องละทิ้งภูมิภาคตะวันตก เพราะศูนย์กลางการค้าโลก มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ขณะที่การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคนิวนอร์มอล คือ ไทยต้องมีการพัฒนาไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงด้านอื่น โดยเฉพาะการศึกษามีผลต่อโครงสร้างประชากรไทยในอนาคต เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐกำลังพัฒนาคือฮาร์ดแวร์ แต่สิ่งที่เป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจได้จริงคือซอฟต์แวร์ หรือคุณภาพของคน หากไม่มีการพัฒนาคน จะไม่สามารถสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีไปสู้กับประเทศอื่นได้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

กสร.ตั้งเป้าถอดสินค้าไทย 4 ชนิด ออกจากบัญชีดำสหรัฐฯ

กสร. ตั้งเป้าถอดสินค้าไทย 4 ชนิด ได้แก่ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ออกจากบัญชีดำสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าใช้แรงงานเด็ก พร้อมเผย อัตราโทษใหม่ใช้แรงงานเด็ก บังคับใช้แล้ว

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.60 นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ความร่วมมือแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับเพื่อมุ่งสู่การถอดสินค้าไทยออกจากบัญชีรายชื่อที่ถูกกล่าวหา ว่า การประชุมในครั้งนี้มุ่งหวังในสร้างการรับรู้ และรณรงค์ไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับที่ผิดกฎหมายในสถานประกอบการ โดยตั้งเป้าถอดสินค้าของไทยจำนวน 4 ชนิด คือ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าผลิตโดยใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน ยังได้เน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติให้ถูกต้องและเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา เพราะนานาประเทศรับไม่ได้รับกับการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ นอกจากนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศในการสำรวจแรงงานเด็กในประเทศไทย เพื่อยืนยันว่าใน 4 สินค้าไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มโทษ การใช้แรงงานเด็ก ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน โดยอัตราโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และหากการฝ่าฝืนของนายจ้างเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตาย นายจ้างจะได้รับโทษสูงขึ้นเป็นปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2 ล้านบาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือจำหรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 25 มกราคม 2560

อุตฯเดินหน้าทำแผน 5 ปีขับเคลื่อน

ก.อุตสาหกรรม สั่งคณะทำงานทำแผนปฎิบัติการขับเคลื่อนขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรม S-Curve ในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่ชัดเจน โดยจะต้องเริ่มต้นขับเคลื่อนให้ได้ภายในปีนี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ประสานคณะทำงาน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อให้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนที่ชัดเจนในช่วง 5 ปีนับจากนี้ไปอย่างเป็นรูปธรรรม โดยให้นำมาร่วมหารือกันที่กระทรวงอุตสาหกรรมในสัปดาห์หน้า เนื่องจากคณะทำงานศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว มีแนวคิดรวบยอดแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรม S-Curve เกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ ภายในแผน 5 ปีนี้ จะต้องมีกิจกรรมที่จะดำเนินการอย่างชัดเจนทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น พื้นที่ลงทุน ประมาณการลงทุน ตลอดจนผลที่จะได้รับจากการเกิดขึ้นของโครงการลงทุน โดยเฉพาะผลต่อภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ จะมุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV เป็นต้น

อน่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)ในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ดังนั้น จึงจะขอให้สสว.นำกิจกรรมต่าง ๆ มาบูรณาการทำงานร่วมกันกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)และสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อให้การทำงานเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไม่ซ้ำซ้อน ช่วยประหยัดงบประมาณ เพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาเอสเอ็มอี จากนั้นจะนำไปหารือเพื่อบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ต่อไป โดยจะมีแผนการทำงานที่ชัดเจนในสัปดาห์หน้า และจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการพัฒนาเอสเอ็มอี ในการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve รวมถึงการจัดทำเครือข่ายข้อมูลสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อประโยชน์ในการพยากรณ์ คาดการณ์ เตือน ในลักษณะของการใช้ Big Data ที่กระทรวงอุสาหกรรมจะจัดตั้งขึ้น รวมถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ด้วย โดยจะต้องจัดทำเป็นแผนปฏบัติ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธุ์นี้ที่สภาอุตสาหกรรมฯ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 มกราคม 2560

ชาวสระแก้วร้องนายกฯเบรกโรงงานน้ำตาลทราย

ที่ศูนย์บริการประชาชน ภายในสำนักงาน กพ. กลุ่มเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนจังหวัดสระแก้ว สาขาวังสมบูรณ์ ในนามพี่น้องชาวตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 35 คน นำโดยนายธนภัท กิจจาโกศล 081-4000087 และ น.ส.กนกกาญจน์ วงษ์ชัยยะ 063-2257816 เดินทางมาจาก จ.สระแก้ว เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องขอให้ชะลอการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม "โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ พื้นที่ตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก บ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด(มหาชน) และ บ.อี เอส พลังงาน ดำเนินการขยายโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแห่งใหม่ และมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ปชช.ในพื้นที่ใกล้เคียง และเห็นว่าการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ถูกต้องตามระเบียบหรือขั้นตอนการจัดทำรายงานฯหลายประการ จึงขอให้ชะลออการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการออกไปก่อน เพื่อพิจารณาตรวจสอบกระบวนการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจต่อสาธารณะชนว่าเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 มกราคม 2560

“เกษตร”เล็งตรวจย้อนหลังแหล่งผลิตสินค้าเกษตรปนเปื้อนสารเคมี-ชี้หากพบข้อมูลมีความผิดทั้งจำทั้งปรับ

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 28 มกราคม 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้บูรณาการเชิงรุก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ครอบคลุมทั้งผัก ผลไม้ สินค้าประมง และปศุสัตว์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ “สินค้าคิว” และ “ปศุสัตว์โอเค” ตามนโยบายของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มุ่งเน้นให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ความมั่นคง

“กรณีตรวจสอบพบสินค้าเกษตรและอาหารปนเปื้อนสารเคมีหรือสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิต หรือ ฟาร์ม เพื่อให้คำแนะนำแก่เกษตรกรและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาการพักใช้ หรือยกเลิกการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร และหากผลการสอบสวนการปนเปื้อนสารเคมี หรือ สารตกค้างจากฟาร์มปศุสัตว์ อาทิ สารเร่งเนื้อแดง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงจะแจ้งผลการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. อาหาร2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย” น.ส.ชุติมา กล่าว

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ยังได้จัดกิจกรรม “มั่นใจสินค้าเกษตร เทศกาลตรุษจีน 2560” ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่น โดยลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าที่จุดจำหน่ายสินค้าผักผลไม้ ประมง ปศุสัตว์ ที่มีการจำหน่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน ตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีตกค้าง และเชื้อจุลินทรีย์ในผักผลไม้ รวมถึงตรวจสอบการปนเปื้อนฟอร์มาลิน และยาปฏิชีวนะตกค้างในสินค้าประมง ตลอดจนสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะตกค้าง สารเร่งเนื้อแดง เชื้อจุลินทรีย์ และฮอร์โมน ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ยังไม่พบเชื้อโรคหรือสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติ ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า การบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนมีความปลอดภัย

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ยังได้กำหนดจัดงานโครงการผัก ผลไม้ จีเอพี ปลอดภัย รับเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2560 ณ องค์ตลาดเพื่อเกษตรกร เขตจตุจักร ภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการการให้การรับรองแหล่งผลิตจีเอพี พืช นิทรรศการการผลิตเห็ด บูธจำหน่ายผัก ผลไม้จีเอพี ของเกษตรกรรายย่อยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพจากเกษตรกรโดยตรง

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 25 มกราคม 2560

จี้แก้ก.ม.รับเมกะเทรนด์ ‘วิรไท’ แนะทางรอด4.0 เผย5อุตฯเสี่ยงดบ.ขาขึ้น

ผู้ว่าการธปท.แนะสร้างภูมิคุ้มกันและระบบเตือนภัย รับมือเศรษฐกิจยุค 4.0 ชี้จำเป็นต้องกระจายผลประโยชน์และ พัฒนาเพื่อความยั่งยืน จี้รัฐแก้กฎหมายรับเมกะเทรนด์ นักวิชาการห่ววง 5 อุตสาหกรรมเสี่ยงดอกเบี้ยขาขึ้น

นายวิรไท สันติประภาพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0” เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา โดยเสนอ 3 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุค 4.0 ประกอบด้วย แนวทางแรก การสร้างภูมิคุ้มกันหรือระบบเตือนภัยที่เท่าทันกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง และ การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

การสร้างภูมิคุ้มกันหรือระบบเตือนภัย เป็นเรื่องสำคัญในบริบทโลกใหม่ เพื่อรองรับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ๆเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจซับซ้อนขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ รับกับสภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังมีแนวโน้มจะเกิดความผันผวนที่คาดเดาได้ยาก

“แม้ที่ผ่านมาจะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคเป็นจุดแข็ง แต่ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำไปต่อเนื่องควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันหรือระบบเตือนภัยที่เท่าทัน”

ประเด็นต่อมากระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง จะต้องพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งต่างๆไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางสังคมไทย หรือแบร็กซิทในอังกฤษ แม้กระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีของในสหรัฐ สะท้อนความไม่พอใจของคนกลุ่มใหญ่กับการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ดังนั้นระบบเศรษฐกิจยุค 4.0 จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะทิศทางสำคัญ สำหรับการกระจายโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงระบบเทคโนโลยี หรือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสังคม การเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบหรือไม่สามารถปรับตัวได้ทัน การพัฒนาภาคเกษตรหรือชนบทที่คนกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ ตลอดจนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น

“ที่ผ่านมาอำนาจการตัดสินใจยังรวมศูนย์อยู่ในส่วนกลางมาก รูปแบบการพัฒนากำหนดจากบนลงล่าง และยากจะตอบโจทย์ของท้องถิ่นที่แตกต่างกัน และการพัฒนาในระยะต่อไปจำเป็นต้องเปิดให้ท้องถิ่นมีส่วนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยในการแก้ปัญหาและมีเจ้าภาพที่ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้โดยคนในท้องถิ่นเอง”

ส่วนการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนที่สำคัญคือการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้นโดยเร่งเพิ่มผลิตภาพในทุกเรื่อง และใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้บทบาทภาครัฐที่ต้องปรับเปลี่ยน คือปรับปรุงกฎหมายและกติกาให้เท่าทันปัจจุบันและอนาคตรองรับเมกะเทรนด์ของโลกปรับกลไกการทำงานของภาครัฐให้เปิดกว้างโปร่งใส่ เพื่อให้ให้การตรวจสอบจากภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องการตรวจสอบที่ดีที่สุดคือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพลดบทบาทที่ไม่จำเป็น เช่นเรื่องที่ภาคธุรกิจทำได้ดีแล้วภาครัฐไม่ควรทำแข่ง แต่ภาครัฐต้องมุ่งเป็นผู้สนับสนุนมากขึ้นและคำนึงถึงความยั่งยืนระยะยาว

ในส่วนคนไทยนั้นผู้ว่าการธปท.กล่าวว่าต้องมีความพร้อม 3 ด้าน คือ ความรู้ทักษะสำคัญของชีวิต เพื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ 2.การยอมรับความแตกต่างแต่ละบุคคล และ 3.ทัศนคติในการเป็นพลเมืองของประเทศ โดยพร้อมจะเข้าร่วมแก้ปัญหาตามศักยภาพและทุกโอกาส

นายธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว เศรษฐกิจยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านต่างประเทศ อาทิ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการเมืองในยุโรป อาจส่งผลให้ไทยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปลายปี 2560 เพื่อปรับสมดุลและรับมือกับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย

ดังนั้นอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหากดอกเบี้ยขึ้นสูงสุด คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ รวมไปถึงการก่อสร้าง โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ย 1.098% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เป็นฐานการผลิตของประเทศ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 25 มกราคม 2560

ส่งออกปี59โต0.45% บวกครั้งแรกรอบ4ปี

ส่งออกปี 59 พลิกเป็นบวก 0.45% สูงสุดรอบ 4 ปี เศรษฐกิจตลาดหลักฟื้น-ราคาน้ำมันหนุน ตั้งเป้ามีปีนี้โต 2.5-3.5% จับตาการเมืองโลกฉุดกระทบการค้า

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าการส่งออกในปี 2559 มีมูลค่ารวม 2.15 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556

ขณะที่การนำเข้าปี 2559 มีมูลค่า 1.95 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 3.94% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าปี 2559 มูลค่า 2.07 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ปัจจัยบวก ที่ทำให้ภาคส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมากลับมาเป็นบวก พบว่ามีปัจจัยเอื้อหนุนรอบด้านจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อาเซียน และจีน ทำให้มีการส่งออกและยอดการขายมีมากขึ้น ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศผลไม้แปรรูป และแผงโซล่าร์เซลล์เป็นต้น

สำหรับตัวเลขส่งออกเดือน ธ.ค. 2559 มีมูลค่า 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.23%เทียบกับเดือน ธ.ค. 2558 โดยการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 2559 ยังมีมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.34%ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาด

“การส่งออกไทยปี 2559 กลับมาเป็นบวกในรอบ 4 ปี สะท้อนให้เห็นว่าไทยสามารถปรับตัวได้ดีและสินค้ายังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว และอุปสงค์โลกยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ได้เรียนตัวเลขส่งออกและนำเข้าให้นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าพอใจพร้อมทั้งสร้างความมั่นใจว่าตัวเลขการนำเข้าที่เป็นบวกจากสินค้าทุนและวัตถุดิบเป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกในปีนี้”

คาดปีนี้ขยายตัว2.5-3.5%

นางสาวพิมพ์ชนก ยังกล่าวอีกว่าการในปีนี้ คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวในระดับ 2.5-3.5% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์ ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ราคาส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 1.0-2.0%

“แต่การคาดการณ์ยังไม่ได้รวมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และผลกระทบจากการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)”

ทั้งนี้ หากการส่งออกปี 2560 ขยายตัว 2.5%จะมีมูลค่า 2.20 แสนล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยต่อเดือนมีมูลค่า 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์ หากขยายตัวระดับ 3%จะมีมูลค่า 2.21 แสนล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยต่อเดือนมีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และหากขยายตัว 3.5% จะมีมูลค่า 2.22 แสนล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยต่อเดือนมีมูลค่า 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์

ชี้โอกาสโต5%หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่าการส่งออกในปี 2560 มีโอกาสขยายตัวได้มากถึง 5%หากสถานการณ์เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยในวันที่ 20 ก.พ.นี้จะมีการประชุมทูตพาณิชย์เพื่อประเมินตัวเลข ปัจจัยลบต่างๆ พร้อมวางเป้าหมายการทำงานอีกครั้ง

“สำหรับประเด็นที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เซ็นลงนามถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) เชื่อว่าไทยจะเสียเปรียบประเทศอื่นน้อยลงซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับไทย แต่สิ่งที่กังวลคือการที่สหรัฐฯ ค่อนข้างชัดเจนกับนโยบายปกป้องตนเองจะทำให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศจีนและเม็กซิโกดังนั้นจะต้องเร่งศึกษาในประเด็นเหล่านี้เพิ่มเติม ส่วนในกรณีที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการทางภาษีเพื่อป้องกันสินค้านำเข้าจากจีน ไทยอาจได้รับผลกระทบด้วยแต่ต้องดูว่าสินค้าจีนและไทยที่ใกล้เคียงกันส่งออกไปสหรัฐฯ มีอะไรบ้าง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เป็นต้น”

จับตาการเมืองโลกเสี่ยง

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษนอกจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นความไม่แน่นอนของตลาดหลักอย่างยุโรปที่ขณะนี้เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐฯ หากได้รับการตอบรับดีก็กรงว่าหลายประเทศในยุโรปจะนำมาเป็นประเด็นหาเสียงที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส และเยอรมัน

สนค.จึงประเมินแผนรองรับเบื้องต้นไว้ว่าทิศทางการสานสัมพันธ์การค้าในปีนี้จะต้องเน้นหลักไปที่การเจรจาการค้าในลักษณะประเทศต่อประเทศ เพราะแม้ว่าสถานการณ์การค้าอาจจะไม่เสถียรภาพ แต่หากมีการเจรจากับคู่ค้าโดยตรงได้อย่างรวดเร็วก็จะไม่มีผลกระทบ

นักเศรษฐกิจชี้ส่งออกไทยมีเสถียรภาพ

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกที่ออกมาถือว่าใกล้เคียงกับที่ ทีเอ็มบี คาดการณ์เอาไว้ โดยทีเอ็มบีคาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 0.2% ขณะที่ตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ออกมาขยายตัวประมาณ 0.45%

"การส่งออกของเราน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ถ้าดูไส้ในการปรับตัวดีขึ้นหลักๆ แม้จะเป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น แต่ปริมาณก็เริ่มกลับมา สะท้อนความมีเสถียรภาพที่มากขึ้น”

สำหรับแนวโน้มปีนี้ ทีเอ็มบี คาดการณ์การขยายตัวที่ประมาณ 1.5% ซึ่งก็เป็นผลจากในเรื่องของราคาพลังงานและสินค้าเกษตรที่ฟื้นตัวขึ้น โดยตลาดส่งออกหลักๆ ที่เป็นตัวหนุน คือ กลุ่มซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และกลุ่มอาเซียน5(อินโดนีเซีย มาเลเซียน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน)

ส่วนตลาดหลักอย่างสหรัฐ ยุโรป และจีน คาดว่าจะยังซึมๆ โดยในยุโรปเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน หรือกรณีของจีนซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 มกราคม 2560

ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะกรอบ 35.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 24 มกราคม 2560 ระบุว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าทรงตัวจากการปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ 23 มกราคม 2560 ที่ระดับ 35.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน (09.50 น.) มีการซื้อขายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 35.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้แม้ว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย แต่ยังเห็นทิศทางที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง เป็นเพราะนักลงทุนในตลาดผิดหวังนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐที่มาในทิศทางกีดกันการค้า ทำให้เกิดแรงเทขายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงทรัพย์สินที่มีความเสี่ยง ทำให้เงินไหลเข้าสกุลเงินที่มีมั่นคง เช่น สกุลเงินเยน เป็นต้น

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้ไว้ที่ 35.20-35.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้มีตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยได้แก่ตัวเลขการนำเข้าและการส่งออกจากกรมศุลกากร ส่วนสหรัฐมีตัวเลขยอดขายบ้านมือสองของเดือนธันวาคมซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐมากนัก

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

สหรัฐเลิก! “TPP” ใครได้ใครเสีย?

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใช้อำนาจพิเศษยุติการเข้าร่วมใน “ข้อตกลงความร่วมมือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค” หรือ ทีพีพีไปแล้ว เราลองมาดูกันว่า หลังจากที่สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศผู้ริเริ่มทีพีพี แต่กลับมามาเป็นประเทศที่ล้มเสียเองนั้น จะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง ประเทศไหนในเอเชีย จะได้ ประเทศไหนจะเสีย จากลายเซ็นต์ยกเลิกทีพีพีของนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้

แน่นอนว่า ชาติแรกที่จะสูญเสียโอกาสอย่างมาก ก็คือ สิงคโปร์ เพราะ เป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้งทีพีพี และเป็นผู้สนับสนุนทีพีพีประเทศสำคัญทีเดียว

สิงคโปร์ เป็นชาติที่ต้องพึ่งการค้าเพื่อผลักดันเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และสิงคโปร์ ก็เป็นท่าเรือสำคัญในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถ้าหากทีพีพี บรรลุข้อตกลงได้ ก็คาดว่าจะทำให้การค้าในเอเชียคึกคักขึ้น และสิงคโปร์ ในฐานะที่เป็นท่าเรือสำคัญก็จะได้รับผลประโยชย์มากขึ้นตามไปด้วย

—ประเทศต่อมา ที่น่าจะเสียประโยชย์อย่างมากก็คือ เวียดนาม—

โดยจากผลการศึกษาของสถาบันปีเตอร์สัน มองว่า เวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชย์มากที่สุดถ้าหากทีพีพี บรรลุไปได้ เพราะว่าเศรษฐกิจของเวียดนามในหลายภาคส่วนยังคงปิดอยู่

ซึ่งข้อตกลงการค้าอย่างทีพีพี ที่จะปูทางสู่การยกเว้นภาษีศุลกากรนั้นจะทำให้ต่างชาติเข้าถึงตลาดสินค้าของเวียดนามได้มาก และง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดข้าว อาหารทะเล สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตโดยเทคโนโลยีระดับต่ำ โดยก่อนหน้านี้ คาดว่าทีพีพี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเวียดนามได้มากถึง 10% ในปี 2025 ทีเดียว แต่ทว่าในขณะนี้ทีพีพีก็หมดหวังไปเสียแล้ว

มาเลเซีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่คาดว่า ทีพีพี จะช่วยดันให้เศรษฐกิจโตได้ราว 5.5% ทีเดียว เพราะจะทำให้การส่งออกปาล์มน้ำมันของมาเลเซียสามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐได้ง่ายขึ้น ซึ่งความล้มเหลวของทีพีพีนั้น ได้ทำให้มาเลเซียสูญเสียโอกาสไปไม่น้อยทีเดียว

และแน่นอน ประเทศที่น่าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากความล้มเหลวของทีพีพี ก็คือจีน ซึ่งจะเป็นตัวตั้งตัวตี และเป็นผู้เล่นสำคัญใน ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซป ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งของทีพีพีโดยตรง

อีกทั้งจีนยังมีโครงการขยายเส้นทางเศรษฐกิจครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย อย่าง “วันเบลท์ วันโรด” ที่จะมีการก่อสร้างทาง ท่าเรือ ทางหลวง และทางรถไฟเชื่อมพื้นที่ของเอเชียเข้าด้วยกัน

ความล้มเหลวของทีพีพีในครั้งนี้ จะทำให้จีนผงาดขึ้นเป็นผู้นำในเวทีการค้าเอเชียในภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม และดูเหมือนว่า หลายประเทศในเอเชีย ที่ไม่ได้เข้าร่วมในทีพีพีอยู่แล้ว เช่นประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ ก็จะให้ความร่วมมือกับอาร์เซป และวันเบลท์วันโรด มากขึ้นด้วย

นักวิเคราะห์นโยบายการค้าจำนวนไม่น้อยมองว่า จีนจะมีโอกาสในการเพิ่มอิทธิพลในเอเชียมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

สปท.เร่งดัน4ก.ม.ปฏิรูปเศรษฐกิจ

สปท.เปิดโรดแมปปฏิรูปเศรษฐกิจ เร่งผลักดันออกกฎหมาย 4 ฉบับ “กอบศักดิ์”มั่นใจแผนปฏิรูปสำเร็จ ยกระดับชีวิตในทุกมิติ สร้างความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนให้คนไทยทั่วทั้งประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งในส่วนผลงานที่ผ่านมา และที่เตรียมผลักดันต่อไปว่า ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมากมธ.ด้านเศรษฐกิจได้จัดทำแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจเสนอต่อที่ประชุมสปท.อย่างต่อเนื่องในประเด็นที่หลากหลายกว้างขวาง มากกว่า 25 เรื่องภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ การก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว การลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืนทางการเงินและการคลัง

ประเด็นเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตรพันธะสัญญาที่เป็นธรรม ธนาคารที่ดิน สถาบันการเงินชุมชน การประกันภัยการเกษตร การปฏิรูประบบสหกรณ์และเครดิตยูเนี่ยน การให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินแก่ประชาชน เศรษฐกิจผู้สูงวัย กฎหมายการแข่งขันทางการค้า สังคมผู้ประกอบการ ระบบโลจิสติกส์ การปฏิรูปภาคการท่องเที่ยว การพัฒนาความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ อาทิ ชีวภาพ ดิจิตอล เศรษฐกิจเงินสร้างสรรค์ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา ต่างเป็นประเด็นที่เมื่อปฏิรูปสำเร็จแล้ว จะนำไปสู่การยกระดับชีวิต สร้างความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน ให้พี่น้องคนไทยทั่วทั้งประเทศ

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนในขั้นต่อไปนั้นอยู่ที่การนำเอาแนวคิดในการปฏิรูปเหล่านี้ไปสู่การออกกฏหมายและปฏิบัติจริง โดยทำงานร่วมกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ในการผ่านร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้มีมติรับหลักการในวาระแรกแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งขับเคลื่อนให้ร่างพ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน และพ.ร.บ.สหกรณ์ (แก้ไขเพิ่มเติม)ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐบาลและนำเสนอต่อสนช.เพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไป

พร้อมกันนี้สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปอีกด้านคือการร่วมทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐในการออกนโยบาย การแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่นำไปสู่การปฏิบัติจริง เช่นกับกรณีของการประกันภัยการเกษตร ที่กระทรวงการคลังได้เร่งดำเนินการไปแล้วเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา ในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 จำนวน 30 ล้านไร่ ซึ่งหากเราสามารถขยายออกไปสู่พืชผลอื่นๆและขยายพื้นที่ให้กว้างยิ่งขึ้นต่อไป ก็จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของพี่น้องชาวเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

“ประเด็นปฏิรูปเศรษฐกิจอื่นๆ ที่กมธ.ด้านเศรษฐกิจได้นำเสนอไว้นั้นต่างจะมีส่วนช่วยยกระดับชีวิตในมิติต่างๆ ของคนไทยไม่แพ้กับเรื่องดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เพื่อพี่น้องคนไทยทุกคน”เลขานุการ กมธ.ด้านเศรษฐกิจ ระบุ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

'สมคิด'ดันเศรษฐกิจชีวภาพ บี้ก.อุตฯขับเคลื่อนให้เกิดปีนี้ชี้รายได้อ้อย-มันฯ4แสนล./ปี  

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานลงนามความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (นิว เอส-เคิร์ฟ) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ได้มอบหมาย นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และหัวหน้าทีมภาครัฐในคณะทำงานนิว เอส-เคิร์ฟ เร่งขับเคลื่อนการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ "ไบโออีโคโนมี" ให้เกิดผลภายในปี 60 หลังจากได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวม 23 หน่วยงานแล้ว เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการลงทุนด้านไบโออีโคโนมีของประเทศไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ที่จะลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

          "ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเกษตรกรรม เป็นจุดแข็งอย่างเดียวของไทยที่ประเทศอื่นไม่มี แต่ในอดีตที่ผ่านมาไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเกษตรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ต่างจากประเทศบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ไม่มีการเพาะปลูกแต่กลับมีไบโอโพริส หรือเมืองนวัตกรรมชีวภาพมานาน ซึ่งดูแล้วไม่ควรจะเป็น อย่างนั้น ดังนั้นไทยต้องหันมาให้ความจริงจัง และสร้างสิ่งที่เรามีอยู่ คือ ไบโอ อีโคโนมี เพราะจุดแข็งก็มีอยู่แล้วเพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ยกระดับเท่านั้น"

          ทั้งนี้ได้ฝากทุกหน่วยงานร่วมกันผลักดันไบโออีโคโนมีให้เกิดขึ้น โดยไม่ใช่แค่การเน้นพืชเศรษฐกิจหลักที่จะนำร่องก่อน 2 ชนิด คือ มันสำปะหลัง และอ้อย แต่อยากให้มองไปถึงการยกระดับสินค้าเกษตรทุกชนิด หาทางการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจากเกษตรธรรมดา ให้เป็นเกษตรคุณภาพ และไม่อยากให้มองแค่จุดเล็ก ๆ เพียงแค่การจัดตั้งโรงงาน แต่ต้องมองให้เห็นภาพรวมทั้งประเทศว่า สินค้าเกษตรประเภทใดบ้างที่มีอนาคต และสินค้าใดเป็นที่ต้องการของโลก เช่น อาหาร อาหารเสริมเพิ่มสุขภาพ พลังงาน และยางพารา

          นายสมคิด กล่าวว่า หากเริ่มต้นการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีไปแล้ว ประเทศไทยต้องหาทางทำให้ดีกว่า เมืองนวัตกรรมชีวภาพของต่างประเทศ เพราะเห็นว่าศักยภาพของประเทศไทยสามารถทำได้ โดยได้มอบหมายให้รมว.อุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายการดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวไม่ให้ด้อยไปกว่าสิ่งที่ต่างประเทศทำ เช่น ถ้าประเทศอื่นมีอะไร ไทยต้องมีมากกว่าให้ได้ และอย่าทำให้ประเทศไทยขายหน้า เนื่องจากไทยมีจุดเด่นและวัตถุดิบรองรับอยู่แล้ว

          "อีกเรื่องที่ขอฝาก คือ อย่าลืมว่าสิ่งที่กำลังทำทุกอย่างตอนนี้ ไม่ใช่เพื่อเอกชน แต่เราทำทั้งหมดนี้เป็นการทำเพื่อประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือเกษตรกร การทำอะไรก็ดี จะมุ่งสู่การผลิตอะไรก็ดี ต้องคิดว่า เกษตรกรได้อะไร อย่าทำลายระบบนิเวศ อย่าทำอะไรที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ต้องทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เกื้อกูลกัน เป็นหน้าที่ของรมว.อุตสาหกรรม ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ทั้งเอกชน รัฐ และประชาชน มาร่วมกัน โดยชี้เป้าว่า จะทำให้สินค้าเกษตรไหนมีมูลค่านำไปสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรม แล้วออกไปช่วยเกษตรกรด้วย นี่คือ 4.0 ของประเทศไทยที่ตั้งใจเอาไว้ และข้อสุดท้ายที่ขอฝากคือ จากนี้ไปเราจะไม่ฝอยอีกต่อไป

          ต้องชี้ให้ชัดว่า การขับเคลื่อนจะทำตรงไหนของอีอีซี มีสถาบันใดมาช่วย ลงทุนตรงไหนอย่างไร เพื่อให้เป็นไบโอโพลิสฉบับประเทศไทย"

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และหัวหน้าทีมภาคเอกชนใน คณะทำงานนิว เอส-เคิร์ฟ กล่าวว่า การขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีจะ

          เริ่มนำร่องที่มันสำปะหลัง และอ้อยก่อน เพราะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก สามารถยกระดับขึ้นได้อีกมาก โดยภายใน 10 ปีนี้ จะมีการลงทุนตลอดห่วงโซ่การผลิต คิดเป็นเงินกว่า 400,000 ล้านบาท และในปีที่ 10 คาดว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าของพืชดังกล่าว

          รวมกันได้ถึงปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นอ้อย 300,000 ล้านบาท และมันสำปะหลัง 100,000 ล้านบาท ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มปีละ 75,000บาทต่อคน เกิดการจ้างงาน 20,000ตำแหน่ง และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560  

'สมคิด' ชูศก.ชีวภาพ10ปีลงทุน4แสนล. สั่งขับเคลื่อนปีนี้ลั่นต้องดีกว่าสิงคโปร์ 

          ผู้จัดการรายวัน360 - "สมคิด" นำทัพประกาศนโยบายประชารัฐร่วมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ 10 ปีลงทุน 4 แสนล้านบาทสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคเกษตร ลั่นต้องแซง "สิงคโปร์" ให้ได้ มอบ "อุตตม" ขับเคลื่อนให้ได้ใน 1 ปี ประเดิม ใน EEC เล็ง จ.ขอนแก่นและอีสาน คิวต่อไป ปั้นไทยสู่ Bio Hub ของโลก

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ(Bioeconomy) ภายใต้โครงการสานพลังงานประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตระหว่าง 4 กระทรวง 15 องค์กรเอกชนและ 3 สถาบันการศึกษา ว่า เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมสร้าง Bioeconomy เศรษฐกิจลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ โดยมอบหมายให้นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในปี 2560

          นายสมคิดกล่าว สำหรับแนวทางดังกล่าวเป็นการ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ใช้พืช ศก.ที่พร้อมทั้งอ้อย มันสำปะหลังนำร่องเป็นการสร้างเมืองใหม่ บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร (Biopolis) คาดว่าระยะเวลา 10 ปี จะมีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท 10 ปีจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาท ต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในโรงงานผลิตและการวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญยังเป็นการ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่า Bioeconomy สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง ภายใต้พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนส่วนพื้นที่อื่นๆ การจัดตั้งนิคมฯ เฉพาะขึ้นรองรับก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งกำลังพิจารณา "Roadmap ที่วางไว้จะสามารถขยายไปยัง จ.ขอนแก่น และภาคอีสาน อื่นๆ เราก็จะต้องมาโซนนิ่งว่าพืชอะไร พื้นที่จุดไหน เหมาะสมคิดว่าภาพรวมน่าจะเห็นภาพชัดใน 6 เดือนนี้ ส่วนเงินลงทุน 10 ปี 4 แสนล้านบาทก็จะมาจากเอกชนในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศเบื้องต้นปี 60-61 น่าจะเกิดการลงทุนในไบโอชีวภาพราว 5 หมื่นล้านบาท"

          นายอุตตมกล่าว พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการ Bioeconomy ประกอบด้วยภาคเกษตรกรรม และ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) พลังงานชีวภาพ (2) ชีวเคมีภัณฑ์ (3) อาหารแห่งอนาคต (4) อาหารสัตว์แห่งอนาคต และ (5) ชีวเภสัชภัณฑ์ โดยกระทรวงพลังงานได้เข้าไปเกี่ยวข้อง กับอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อยอด ได้ก่อน เนื่องจากได้มีการดำเนินการพัฒนามาได้ใน ระดับหนึ่งแล้ว ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ. 2558-2579

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เศรษฐกิจชีวภาพเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆด้าน ทั้งในส่วนของการร่วมวิจัยพัฒนา และการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่าความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ว่า แผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา Bioeconomy ในระยะเวลา 10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด ระยะที่ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร Biopolis และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และนำไทยก้าวขึ้นเป็น Bio Hub ของโลก.

จาก http://manager.co.th วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

เอกชนกางแผนพัฒนาศก.ชีวภาพตีกรอบ10ปีลงทุน4แสนล.ต้นแบบอุตสาหกรรมอนาคต 

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานในพิธีผนึกพลังประชารัฐ เดินหน้า เศรษฐกิจชีวภาพ ขับเคลื่อนการลงทุนและนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชาติว่า ในการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ซึ่งเป็นการพัฒนาคลัสเตอร์ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 พร้อมจัดการรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ โดยจะมีเป้าหมาย 4 ข้อ

          ประกอบด้วย 1.ตั้งเป้าหมายให้สูง โดยจะยกระดับพืชเกษตรทุกชนิด 2.ต้องทำให้ดีตลอด โดยได้สั่งการให้นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ ในคณะทำงานด้านการ พัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไปดูแนวทางว่า จะทำอย่างไรในการสร้างเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรม ครบวงจร (ไบโอโพลีส) ได้เหนือสิงคโปร์ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะไทย มีพร้อมทุกอย่างโดยเฉพาะการเป็นอุตสาหกรรมภาคเกษตร ดังนั้น จะต้องไปคิดไปทำว่าอะไรที่สิงคโปร์มี ไทยจะต้องมี หรือจะต้องมีให้เหนือกว่า ห้ามด้อยกว่าเด็ดขาด

          3.การเจริญเติบโตโดยรวมที่ผ่านมาที่รัฐบาลดำเนินการไม่ได้ทำเพื่อเอกชน แต่ทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ ภาคเกษตรได้ประโยชน์อะไรบ้าง และเมื่อดำเนินการแล้วไม่ไปทำลายระบบนิเวศน์ ทุกสิ่งต้องเกื้อกูลกัน

          4.ได้สั่งการให้นายอุตตม ไปดูระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่จะต้องทำให้ชัดเจน จะลงที่ไหน นำอุตสาหกรรมอะไร ต้นแบบคือแบบไหน จะไปที่จังหวัดใดบ้าง เช่น ที่ขอนแก่น จะลงทุนอย่างไร ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนภายในปี 2560

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่า แผนการ ดำเนินงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ระยะเวลา 10 ปี มีกรอบการลงทุนมูลค่า 400,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อ ต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด

          ระยะที่ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุน 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (ไบโอรีไฟเนอรี่ คอมเพล็กซ์) ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร (ไบโอโพลีส) และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ศูนย์กลางต้นแบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ แห่งอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

สั่งอุตฯลุยโรดแมปศก.ชีวภาพใน1ปี'สมคิด'ลั่นไม่โม้ต้องแซงหน้าสิงคโปร์ เอกชนหนุนลงทุน4แสนล.ทำแผน10ปี  

          'สมคิด'ลั่นไม่ฝอย รัฐเอาจริง สั่งอุตฯทำโรดแมปเศรษฐกิจชีวภาพเสร็จใน 1 ปี แซงหน้าสิงคโปร์ เอกชนประกาศลงทุน 4 แสนล้าน แผนพัฒนา 10 ปี ยกฐานะเกษตรกรมีรายได้ 7.5 หมื่น/คน/ปี เกิดการจ้างงาน 2 หมื่นตำแหน่ง

          เมื่อวันที่ 23 มกราคม ภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงพลังงาน ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและการวิจัย ร่วมประกาศเจตนารมณ์สร้าง "เศรษฐกิจชีวภาพ" เพื่อเป็นเศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ของประเทศ ตามนโยบายประชารัฐ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ กล่าวว่า ได้ให้โจทย์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องทำโรดแมปเศรษฐกิจชีวภาพให้เสร็จภายใน 1 ปี ใช้จุดแข็งของไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแบบพุ่งทะยาน ต้องมีเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร หรือไบโอโพลิส ที่สูงกว่าสิงคโปร์ เพราะไทยมีจุดแข็งเป็นเมืองเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรมต้องแซงสิงคโปร์ให้ได้ อย่าขายหน้า "ต่อไปภาคประชาชนรายย่อยต้องมีบทบาทในการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อดันประเทศสู่ 4.0 เรื่องนี้จะไม่ใช่การฝอยอีกต่อไป แต่ยืนยันว่ารัฐจะเดินหน้าอย่างจริงจัง" นายสมคิดกล่าว

          นายอุตตมกล่าวว่า จะเร่งจัดทำโรดแมปโดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์กำหนดแผน มี 6 พืชที่จะพัฒนา คือ อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว ปาล์ม และถั่วเหลือง

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า พืชเศรษฐกิจนำร่องคือ มันสำปะหลังและอ้อย กำหนดแผนพัฒนา 10 ปี กรอบเงินลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะคือ 1.ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ โดยจะเริ่มทันทีที่จังหวัดระยอง และขยายสู่เขตอีสานตอนกลาง จ.ขอนแก่น และใกล้เคียง ระยะ 2.ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 1.82 แสนล้านบาท เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง และระยะ 3.ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุน 1.32 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับเป็นฮับของภูมิภาค ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้อ้อยมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 7.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในโรงงานผลิตและการวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นตำแหน่ง เป็นต้น

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

ทุ่ม4แสนล้านดันศก.ชีวภาพลุ้นครม.ไฟเขียวมาตรการภาษีกระตุ้นลงทุน  

"สมคิด" สั่ง "อุตตม" ทำโรดแมปส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพภายใน 1 ปี ผนึกพลังประชารัฐ ดันประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 ย้ำต้องไม่น้อยหน้าสิงคโปร์ เผยเอกชนทุ่มเงินลงทุน 400,000 ล้านบาทใน 10 ปี ด้านคลังลุ้น ครม. ไฟเขียวมาตรการภาษีกระตุ้นเอกชนลงทุน

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัว หน้าทีมคณะกรรมการสานพลัง ประชารัฐ เปิดเผยภายหลังเป็น ประธานในพิธีลงนามความร่วม มือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้โครงสร้างพลังประชารัฐ ว่าได้มอบหมายให้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เร่งจัดทำแผนดำเนินงาน (โรด แมป) เพื่อผลักดันให้ประเทศ ไทยไปสู่เศรษฐกิจ โดยกำหนดให้แล้วเสร้จภายใน 1 ปี

          "ไทยต้องสร้างการเติบโตจากภายใน จากฐานราก หน่วยงานต่างๆ จะทำเพื่อความเป็นอยู่เกษตรกร ไม่ใช่เพื่อเอกชน ภาคประชาชนรายย่อย ต้องมีบทบาทในการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อดันประเทศสู่อุตสาห กรรม 4.0 รัฐจะเดินหน้าอย่างจริงจัง และต้องสูงกว่าสิงคโปร์ ที่เดินหน้าโดยไม่มีพื้นที่เกษตร ดังนั้นต้องทำให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งภายในปีนี้จะมีความชัดเจน" นายสมคิดกล่าว

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ พีทีทีจีซี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัส เตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนา คต ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ กล่าวว่า คณะทำงานกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการรวมตัวของภาคเอกชนเห็นความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ จากพืชเศรษฐกิจนำร่อง คือ มันสำปะหลัง และอ้อย ที่มีการส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของโลก

          ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 จึงกำหนดแผนพัฒนาระยะเวลา 10 ปี กรอบเงินลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลัง งานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันความต้องการซื้อ และตลาด โดยจะ เริ่มทันทีจังหวัดระยอง และขยายสู่เขตอีสานตอนกลาง จ.ขอนแก่นและใกล้เคียง ระยะ2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง และระยะ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุน 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับเป็นฮับของภูมิภาค

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง กล่าวว่า คลังได้เสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งต้องรอว่า ครม. ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ จะมีการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่

          "ปีที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนลดหย่อนภาษี 2 เท่า ก็ได้แต่นั่งรอว่าจะมาหรือไม่มา เที่ยวนี้ รัฐบาลเลยเปลี่ยนว่า ภาคเอกชน 2-3 สมาคม บอกว่าอยากจะลงทุนและให้รัฐบาลออกมาตร การภาษีสนับสนุน เอกชนที่ อยากได้สิทธิก็ต้องมาลงทะเบียนกับกรมสรรพากรว่าอยากลงทุนเท่าไหร่ เที่ยวนี้จะได้เห็นว่าใครอยากลงทุนจริง" นายอภิศักดิ์กล่าว.

จาก http://www.thaipost.net    วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

ตั้งเป้าผู้นำแห่งอาเซียน ทุ่ม 4 แสนล้านบาทลงทุน "เศรษฐกิจชีวภาพ" 

          "ประเสริฐ บุญสัมพันธ์" แม่ทัพใหญ่ "พีทีทีจีซี" ลงนามร่วมกับ 23 หน่วยงานเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจชีวภาพ ผ่านแผนงาน 10 ปี ใช้งบ 4 แสนล้านบาท ผลิตพลังงานชีวภาพ เภสัชภัณฑ์ อาหาร ระดับสูง เกิดการจ้างงานใหม่ 2 หมื่นตำแหน่ง ส่งไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพแห่งอาเซียน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและวิจัย รวม 23 หน่วยงาน เพื่อเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curce) ว่า คณะทำงานกลุ่มไบโออีโคโนมี (Bioeconomy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชน ได้เห็นถึงความจำเป็น เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามผ่านความท้าทายของการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไปให้ได้

          ดังนั้น แผนการดำเนินงานพัฒนาไบโออีโคโนมี ระยะเวลา 10 ปี (ปี 2560-2569) จึงได้มีกรอบลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 ใช้เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยิดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร ชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งก็คือ การผลิตยารักษาโรค จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ คือน้ำตาลทรายเกรดบริสุทธิ์สูง เพื่อลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ที่จะมีการทำงานผ่าน โครงการต่างๆ อาทิ การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์และจัดหาเครื่องจักร เป็นต้น

          ระยะที่ 2 ปี ระหว่างปี 2562-2564 ใช้เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้างไบโอรีไฟเนอรี คอมเพล็กซ์ (Biorefinery Complexes) ครบวงจร หรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร ไบโอโพลิส (Biopolis) รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมครบวงจร ผ่านโครงการสนับสนุนต่างๆ อาทิ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มฐานชีวภาพความร่วมมือในเครือข่ายต่างๆ ในระยะที่ 3 ปี 2565-2569 มีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่รีจินอล ฮับ (Regional Hub) หรือการเป็นศูนย์กลางแห่งการผลิตอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ของอาเซียน, สร้างโรงงานต้นแบบและโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตภัณฑ์ชีวเภสัชภัณฑ์ การจัดตั้งสถาบันวิจัยขั้นสูง เรื่องเภสัชภัณฑ์ชั้นสูง

          "แผนงานดังกล่าวทำให้เกิดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในด้านชีวเภสัชภัณฑ์ 100,000 ล้านบาท สร้างมูลค่าการส่งออกชีวเภสัชภัณฑ์ 75,000 ล้านบาท รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงาน 20,000 ตำแหน่ง และการลงนามฯดังกล่าวเป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ภาคส่วน เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ ที่เป็นเศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ ที่ 3 ภาคส่วน จะร่วมกันทำให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจความต้องการของกันและกันให้มากขึ้น".

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

แบงก์ชี้ปัจจัยนอกฉุดค่าเงินผันผวน ชี้บาทสวิงหนักอาจอ่อนเฉียด37บาท/ดอลล์ ยันหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ-เงินเฟ้อขยับตามน้ำมัน

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า มีหลายปัจจัยจากต่างประเทศที่จะกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้เกิดความผันผวนในปีนี้ เช่นนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ การที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ในเดือนมีนาคมนี้ และผลการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งมีความกังวลว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกอียูเหมือนสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ตลาดการเงินคาดหวังต่อนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐที่จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในช่วงกลางปีและปลายปีนี้ ทำให้สิ้นสุดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าต่อเนื่องในครึ่งแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 45% ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และนโยบายอีกหลายอย่างที่อาจจะไม่เป็นตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ จะมีผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับตัวอ่อนค่า ประกอบกับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของกลุ่มอียูจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารญี่ปุ่นมีข้อจำกัด จะกดดันให้ค่าเงินยูโรและเยน แข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะที่ค่าเงินบาทระหว่างปีมีโอกาสอ่อนค่าถึงระดับ 36.80 บาท คาดว่าปลายปีนี้จะกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากเงินทุนไหลกลับจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง ที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะสามารถรองรับความผันผวนได้

“ปี 2559 เป็นปีที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงมากกว่า 5% คาดว่าความผันผวนจะยังคงอยู่แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับปีก่อน โดยขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ว่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดหรือไม่ รวมทั้งขั้นตอนการออกจากการเป็นสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร หากกระบวนการยืดเยื้อก็จะมีผลต่อความผันผวนต่อไป แต่หากเทียบกับเพื่อนบ้าน มองว่าเงินบาทไทยมีเสถียรภาพมากกว่า” นายศรัณย์ กล่าว

ส่วนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 3.3% โดยแรงส่งมาจากการลงทุนภาครัฐและรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวต่ำกว่าศักยภาพ ส่วนการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขยายตัว 1.5% ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดน้อยลง เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นของการนำเข้า โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2% จาก 0.4% ในปีก่อน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น แต่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ตลอดปี 2560 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในขณะที่สภาพคล่องของระบบการเงินมีแนวโน้มลดลง จากการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และการระดมทุนของภาครัฐผ่านการกู้ยืมและการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นจะมีผลกระทบทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงทางการเงินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีความต้องการสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นมาก อาจจะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นก่อนดอกเบี้ยนโยบาย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

เงินบาทเช้านี้แข็งค่าตามภูมิภาค

ตลาดเงินบาทเช้านี้เปิด 35.23 แข็งค่าตามภูมิภาคจากแรงขายดอลล์ หลังกังวลนโยบาย "ทรัมป์" ต่อการค้าโลก

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค หลังมีแรงเทขายดอลลาร์ออกมา หลังตลาดกังวลต่อนโยบายของทรัมป์ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไร เพราะสิ่งที่เปิดเผยออกมา ยังเน้นเรื่องการกีดกันทางการค้าที่อาจส่งผลเสียต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง

อย่างไรก็ตาม ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.20 - 35.30 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

เมินทีพีพีหันเจรจาRCEP

พาณิชย์ไม่ห่วงทรัมป์เลิกทีพีพี หันเร่งเจรจาอาร์เซ็ปจบปีนี้ เชื่อนักลงทุนสหรัฐไม่ย้ายฐานผลิตไทยและอาเซียน คงเป้าส่งออกโต3%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) เนื่องจากไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกทีพีพี สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการหลังจากนี้ คือการผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียนและประเทศ คู่เจรจา 6 ประเทศ รวมเป็น 16 ประเทศ ให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2560 ตามเป้าหมายที่ผู้นำทั้ง 16 ประเทศได้ประกาศไว้ เพราะไทยจะได้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ป เนื่องจากเป็นกรอบเจรจาที่ใหญ่สุดในโลก หากไม่มีทีพีพี

นอกจากนี้ ไทยยังสามารถเพิ่มโอกาสทางการค้ากับสหรัฐในกรอบข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนสหรัฐหรือ TIFA ซึ่งปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ดังนั้นจึงมั่นใจว่า นโยบายที่นายทรัมป์ประกาศออกมาจะยังไม่กระทบต่อการค้าระหว่างไทย

สำหรับนโยบายจะถอนการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐในประเทศต่างๆ กลับเข้ามาลงทุนในสหรัฐนั้น จากการหารือกับภาคเอกชนสหรัฐในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ประจำปี 2559 ณ กรุงดาวอส สหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 17-20 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางภาคเอกชนสหรัฐมองว่าการถอนการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากหลายสินค้าและวัตถุดิบสหรัฐไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องใช้ฐานการผลิตจากต่างประเทศ จึงเชื่อว่าการลงทุนของสหรัฐในไทย รวมถึงอาเซียน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จะยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีการย้ายฐานการลงทุน

ขณะที่ เป้าหมายการส่งออกในปี 2560 ยังคงตั้งเป้าส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 3% โดยสหรัฐมีสัดส่วนต่อการส่งออกไทยในภาพรวมประมาณ 10%

นางอภิรดี กล่าวถึง เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ได้แจ้งว่า ขีดความสามารถด้านการแข่งขันเศรษฐกิจมหภาคของไทยอยู่ในลำดับที่ 13 ของโลก ถือเป็นอันดับที่ดีมาก โดยจะเร่งปรับฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ไทยติด 1 ใน 10 ของโลก โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมสอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

เกษตรฟัดกันนัวปล่อยผีนำเข้าวัตถุเคมี

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ภายหลังจากที่กรมวิชาการเกษตรอนุมัติให้มีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายมากถึง 45 รายการ จาก 50 รายการที่นำเข้ารายการที่นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในกรมวิชาการเกษตร ระหว่างนักวิชาการ 2 แนวทางอย่างหนัก โดยแนวทางที่ว่านี้คือ เกษตรอินทรีย์และเกษตรที่ใช้สารเคมีทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้การสนับสนุนจนเป็นที่จับตามองว่า การอนุมัติขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายยมากถึง 45 รายการ ในครั้งนี้มีเบื้องหลัง เพราะกรมวิชาการเกษตรไม่ได้อนุมัติคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายมาหลายปีแล้ว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ลดการพึ่งพาการใช้สารเคมีในไร่นา ซึ่งจะกระทบไปถึงการบริโภคของผู้บริโภคโดยรวมด้วย

ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ชี้แจงว่าอนุมัติไปเพียง 9 คำขอ แต่ล่าสุดมีคำขอเพิ่มเข้ามาอีก 36 รายการ และคณะอนุกรรมการอนุมัติไปแล้ว ขณะนี้รอคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความถ้อยคำที่ใช้เท่านั้น เนื่องจากได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนกรณี 1 คำขอที่เอกชนผู้ได้รับอนุมัติสามารถนำไปผลิตสารเคมีได้หลายยี่ห้อ นั่นจะทำให้เกิดการแข่งขันกันดุเดือดขึ้นในตลาดสารเคมีการเกษตร และจะใช้กลยุทธ์การตลาดมาจูงใจให้เกษตรกรใช้เพิ่มขึ้น เมื่อปริมาณสารพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตรอีกครั้งผู้ได้รับประโยชน์ก็คือ บริษัทที่นำเข้าและจำหน่ายนั่นเอง.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

พลังงานหวังเพิ่มใช้เอทานอลเร่งดูราคาเหมาะสม

กระทรวงพลังงานหวังเพิ่มใช้เอทานอล เร่งกำหนดโครงสร้างราคาที่เหมาะสม เตรียมหารือ 3 กระทรวง

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อยู่ในระดับ 54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้เชื้อเพลิงเอทานอลกลายเป็นภาระที่กระทรวงพลังงานต้องนำเงินจากกองทุนฯ มาอุดหนุน แต่หากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นตามกลไกตลาดมาอยู่ในระดับ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับการใช้นโยบายส่งเสริมในปัจจุบัน จะช่วยให้ถึงจุดคุ้มทุนในการผลิตเอทานอล โดยขณะนี้ความต้องการใช้เอทานอลของไทยอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน แต่กระทรวงฯ ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10 ล้านลิตรต่อวัน ภายใน 20 ปี ดังนั้นต้องเร่งกำหนดโครงสร้างราคาเอทานอลที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ จึงเตรียมหารือร่วมกันระหว่าง 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้ ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

'อุตตม'เร่งทำโรดแมปเศรษฐกิจชีวภาพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งจัดทำโรดแมป เศรษฐกิจชีวภาพ รองรับการขับเคลื่อน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) จะเริ่มต้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จังหวัดระยอง เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ระบบการขนส่ง การพัฒนาการพื้นที่ในบูรณาการ โดยนำร่องยกระดับสินค้าเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว ปาล์ม ถั่วเหลือง  และอ้อย นำมาต่อยอดสู่เศรษฐกิจชีวภาพหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีที่มีฐานอยู่เดิม คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และยังรวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หุ่นยนต์ และอากาศยาน ซึ่งจะขยายการพัฒนาสู่เขตอีสานตอนกลางในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง โดยการลงนามในครั้งนี้ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและการสร้างผลประโยชน์ให้เกิดแก่ทุกภาคส่วน การสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศและจากความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว รวมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะเกื้อหนุนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์ย้ำสหรัฐฯเลิกTPPไม่กระทบไทย

รัฐมนตรีฯ พาณิชย์ ย้ำ สหรัฐฯ เลิก TPP ไม่กระทบไทย เชื่อเป็นโอกาสเดินหน้า RCEP มั่นใจ ทรัมป์ ไม่ถอนลงทุนในอาเซียน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประกาศยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ TPP ของสหรัฐฯ มั่นใจว่า ไม่มีปัญหากับประเทศไทย เพราะประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก TPP และถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้เดินหน้าในเรื่องของการเจรจาอาเซียน +6 หรือ RCEP ให้ได้ภายในปีนี้ซึ่งมีแนวโน้มการเจรจาที่ดีขึ้น มาตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่น่าจะมีการถอนการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงในอาเซียนและไทย เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่สามารถ ผลิตสินค้าบางรายการได้ หากมีการถอนการลงทุน ก็จะไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ

 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมองว่า การใช้นโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ น่าจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้นย่อมส่งผลดีกับเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่มีสัดส่วนการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 10 โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น ในขณะที่การส่งออกภาพรวมของประเทศ คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3

นอกจากนี้ นายอุตตม กล่าวว่า จะเร่งจัดทำโรดแมปตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรี โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตร และพาณิชย์กำหนดแผน ส่วนในโรดแมปจะมีการจัดตั้งพื้นที่อุตสาหกรรม อาทิ นิคมอุตสาหกรรมขึ้นมารองรับเฉพาะหรือไม่ จะพิจารณาอีกครั้ง

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

ก.วิทย์เศรษฐกิจเข้มแข็งผ่านชีวภาพ

คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน จัดมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวมทั้งสิ้น 23 หน่วยงาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทศ ภายในงานมีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมลงนาม ได้แก่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนสานพลังประชารัฐ หน่วยงานวิจัยได้แก่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้เกียรติเข้าร่วมในการลงนาม โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธี

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นจุดแข็ง แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ศักยภาพเท่าที่ควร ดังนั้น ฝากไว้ 3 ประการ คือ 1. Aim High คือ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ให้ยกระดับจากเกษตรธรรมดาให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรมให้ได้ 2. ต้องทำให้ดีกว่า Biopolis ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ แต่เราไม่ได้ทำ จึงอยากให้ รมว. อุตสาหกรรม ต้งเป้าทำอย่างจริงจัง 3. การทำทั้งหมดนี้ เพื่อภาคเกษตร ซึ่งมีการจ้างงานมากที่สุดในประเทศ ดังนั้น ก.อุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าทีมสานพลังประชารัฐจากภาครัฐ ควรคิดต่อว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้ ภาคเอกชน รัฐ การศึกษา การวิจัย ทำงานร่วมกันเดินหน้าโครงการได้อย่างราบรื่นและเกิดผลลัพธ์ที่ดี แม้วันนี้จะเริ่มโดยภาคเอกชน แต่ในอนาคต ภาครัฐต้องทำให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม( Inclusive Growth ) เพิ่มขึ้น โดยขอให้ทุกภาคส่วนลงมือทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงการขับเคลื่อน Bioeconomy ที่ยั่งยืนด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรม ในพิธีลงนามความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ว่า หลักการของเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืน เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องตามกระบวนทัศน์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือSDGs “เศรษฐกิจชีวภาพ” จึงเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มากของแต่ละประเทศ ด้วยการนำความรู้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในด้านต่างๆ เช่น การเกษตรและอาหาร พลังงาน สุขภาพการแพทย์ รวมถึงการวิจัยพัฒนา ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพได้มากเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ  ที่ชูนโยบายด้านนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และมาเลเซีย เนื่องจากมีความพร้อมด้านผลผลิตทางการเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจชีวภาพไทย ซึ่งหน่วยงานภาตใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดสู่การทำการเกษตรสมัยใหม่ เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีลักษณะดีเด่นตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ พันธุ์อ้อยต้านทานโรคแมลงที่ให้ผลผลิตน้ำตาลสูง หรือพันธุ์มันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตแป้งสูง ตลอดจนการพัฒนาใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และเอนไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบและของเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เป็นสารชีวภาพมูลค่าสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ

“จุดแข็งของประเทศไทยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับประเทศฟินแลนด์ แคนาดา ที่ต่างเห็นโอกาสและกำหนดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ ดังนั้นประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ โดยใช้จุดแข็งที่มีอยู่ ได้แก่ ความพร้อมของวัตถุดิบทางการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พร้อมต่อยอดสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืนนั้น ต้องประกอบด้วยฐานความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในลักษณะประชารัฐโดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชน” รัฐมนตรี วท. กล่าว

ดร.อรรชกา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ทั้งในส่วนของการร่วมวิจัยพัฒนา และการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ซึ่งมีเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) มีศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food Feed Innovation Center) ที่เป็น one-stop service ส่งเสริมให้ SMEs ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ศูนย์ชีววัสดุแห่งประเทศไทยที่ให้บริการจุลินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล มีจุลินทรีย์ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 70,000 สายพันธุ์ที่มีส่วนสำคัญกับการผลิตอาหาร นอกจากนั้นแล้วกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จ (MOST One Stop Service) ที่เชื่อมโยงและบูรณาการเครื่องมือและปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่มีอยู่ภายในกระทรวงฯ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสินค้าของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

"อภิรดี"ถกWEFสร้าง"อาเซียน4.0"แก้เกมนโยบายทรัมป์

พาณิชย์ ถก WEF ดึงลงทุนหนุนไทยแลนด์ 4.0 ขานรับไอเดียผุดดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต ชูอาเซียน 4.0 เสริมแกร่งภูมิภาค แก้เกมทรัมป์พลิกโลก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ผลการนำคณะเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2559 ว่า ในปีนี้ WEF เสนอให้จัดทำดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต (Future of Production Country Profiles) ซึ่งเป็นการรวบรวมและคัดเลือกข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index) ประกอบกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดัชนีภาคการค้า เป็นต้น

โดยมีตัวชี้วัด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแล และด้านทุนมนุษย์และทักษะแรงงาน

"ไทยสนับสนุนการจัดทำดัชนีนี้ เพราะจะช่วยให้รู้จุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผลจากการจัดอันดับดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมุ่งให้นักลงทุน เข้ามาร่วมลงทุนกับไทย"

พร้อมกันนี้ เมื่อวันที่ 19 มกราคม นางอภิรดีได้หารือกับนาย Grahame Dixie ผู้อำนวยการบริหาร Grow Asia ของ WEF ถึงแนวทางความร่วมมือจัดตั้งสถาบันเกษตรนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทย และได้หารือกับบริษัทเอกชนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสนใจลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และร่วมพัฒนาธุรกิจเกษตรสู่อุตสาหกรรม

นางอภิรดีกล่าวว่า ในการประชุม WEF ครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งจะครบ 50 ปีในปีนี้ โดยมีการหารือถึงทิศทางอนาคตอาเซียน 4.0 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) และการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) เพื่อให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนผลักดันให้เกิดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่าที่ใกล้ชิดกันในภูมิภาค อันจะนำไปสู่ขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความแข็งแกร่งภูมิภาค และลดปัญหาอุปสรรคการค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน

"ได้หารือระดับผู้นำและตัวแทนเอกชนในอาเซียน ถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตอาเซียน 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นการพึ่งพาอาศัยกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตโลก โดยอาศัยนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการปรับตัวของธุรกิจบริการ ภาคอุตสาหกรรม เพื่อสอดรับกับทิศทางการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ พร้อมจะส่งเสริมการอำนวยความสะดวก รวมถึงการร่วมพัฒนาคน พัฒนา SMEs ให้มากขึ้น เพื่อผลักดันให้อาเซียนสามารถแข่งขันได้ภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังจะมาถึง"

รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสนใจกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดตัวบุคคลตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาล ซึ่งอาจจะมีผลเชื่อมโยงมาถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะจีน ซึ่งทางนาย Xi Jinping ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวปาฐกถาเน้นย้ำถึงความสำคัญของกระแสโลกาภิวัตน์ ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากและจำเป็นต้องปรับตัวรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสมดุล พร้อมเสนอให้ทั่วโลกมุ่งเน้นพัฒนา นวัตกรรมเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนชนิดใหม่ การมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตยั่งยืน เพื่อหลุดพ้นจากสภาวะชะงักงันที่กำลังเผชิญ

"จีนพร้อมเปิดรับปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอื่น และแบ่งปันความสำเร็จทางเศรษฐกิจจีนกับประเทศอื่นด้วย"

นาย Anthony Scaramucci ผู้ช่วยว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump กล่าวถึงทิศทางของนโยบายการค้าของสหรัฐว่า ยังคงสนับสนุนระบบการค้าเสรีเช่นที่ผ่านมา แต่อาจปรับเปลี่ยนระบบการค้าใหม่ให้มีความเป็นธรรมแก่สหรัฐมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรปและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ใหม่ เพื่อให้ประเทศอื่น ๆ มีส่วนร่วมแบกรับภาระมากขึ้น

ส่วนการลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปและสหรัฐต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลาง เพื่อวางอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป และหากโครงสร้างใด ๆ ที่มีอยู่เดิมไม่สามารถทำงานได้ดีสหรัฐอาจปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นออกไป 

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

ผนึกพลังประชารัฐ เดินหน้า"เศรษฐกิจชีวภาพ"ขับเคลื่อนการลงทุน-นวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งศก.ชาติ

 ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาและการวิจัย ประกาศเจตนารมณ์พร้อมสร้าง “เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” เศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนา คลัสเตอร์อุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยใช้พืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อม อยู่แล้ว อาทิ มันสำปะหลังและอ้อยเป็นพืชนำร่อง พร้อมบริหารจัดการในรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) เพื่อให้เกษตรกร สามารถปลูกพืชเกษตรที่มีคุณภาพและผลผลิตสูงด้วยต้นทุนต่ำลง อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (Biorefinery) และสร้างเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร (Biopolis) ที่มีระบบคมนาคมทันสมัย ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบวงจร และสถาบันวิจัยขั้นสูง พร้อมประกาศแผนการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพในระยะเวลา 10 ปี มูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในเฟสที่ 1 ระหว่างปี 2560-2561 มีเม็ดเงินลงทุนจำนวน 51,000 ล้านบาท สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง พร้อมขยายสู่เขตอีสานตอนกลาง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน ได้จัดให้มีพิธี ลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวมทั้งสิ้น 23 หน่วยงาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธี โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนสานพลังประชารัฐ ให้เกียรติเข้าร่วมในการลงนามครั้งนี้ด้วย

Bioeconomy เป็นการนำ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรมสมัยใหม่ และ Biorefinery มาบริหารจัดการ ด้วย Technology และ Research and Development เพื่อให้เกิดคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดย Bioeconomy จะใช้สินค้าเกษตรจากมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นตัวนำร่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมในลักษณะห่วงโซ่ที่เพิ่มมูลค่า (Value Chain) ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่มั่นคงและแข่งขันได้ อุตสาหกรรมชีวเคมี ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาเป็น Ingredient ผสมในอาหารแทนการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับโปรตีนจากธรรมชาติที่ดีมีความสมบูรณ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมทางชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่และ มีอนาคต และต้องมีการลงทุนทางด้าน Research and Development สูง

 ทั้งนี้ ภายใน 10 ปีจะมีมูลค่าการลงทุนตลอด Value Chain กว่า 4 แสนล้านบาท และในปีที่ 10 จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาท ต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในโรงงานผลิตและการวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญ ยังเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อประชาคมโลกที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ณ ประเทศฝรั่งเศส

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  หัวหน้าทีมภาครัฐคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่า  ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา Bioeconomy เป็นกระแสโลกที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด เนื่องจากภาวะโลกร้อน ความต้องการอาหารและพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกลดลง หลายประเทศจึงเร่งจัดทำ Bioeconomy Blueprint ของประเทศอย่างจริงจังและนำเทคโนโลยีในด้านเกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพและสหเวชศาสตร์ (Health science) มาใช้สร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงและหลากหลายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพให้กับประเทศ นอกจากนี้  World Economic Forum ยังได้ประมาณการศักยภาพของห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจชีวภาพของโลกว่า จะมีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านยูโร หรือ 7.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2563 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ พลาสติกย่อยสลายได้ ที่ผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ อาหารแห่งอนาคตที่ผลิตพิเศษตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคล ยารักษาโรคที่ผลิตขึ้นสอดคล้องกับ DNA ของคนไข้แต่ละราย (Personalized medicines) และพลังงานไฮโดรเจน (พลังงานแห่งอนาคต) ที่ผลิตจากกลูโคส เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น มีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เรามีกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถสร้างผลิตผลการเกษตรที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง ในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานชีวภาพที่มีความพร้อมเพื่อพัฒนาไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า Bioeconomy ซึ่งกลุ่มประชารัฐกำลังจัดทำ Roadmap สำหรับ Bioeconomy ทั้งนี้ การขับเคลื่อน Bioeconomy จะเริ่มต้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ระบบการขนส่ง การพัฒนาการพื้นที่ ในบูรณาการ Bioeconomy ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ที่มีฐานอยู่เดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และยังรวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หุ่นยนต์ และอากาศยาน การเริ่มต้นของ Bioeconomy สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง และจาก Roadmap ที่วางไว้จะสามารถขยายไปยังภาคอีสาน อีกด้วย

การลงนามความร่วมมือนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งพลังใหม่ ในการขับเคลื่อนสู่การมีส่วนร่วมและการสร้างผลประโยชน์ให้เกิดแก่ทุกภาคส่วน (Inclusive Growth) การสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศและจากความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว (Productive Growth) รวมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ที่จะเกื้อหนุนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการ Bioeconomy ประกอบด้วยภาคเกษตรกรรม และ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) พลังงานชีวภาพ (2) ชีวเคมีภัณฑ์ (3) อาหารแห่งอนาคต (4) อาหารสัตว์แห่งอนาคต และ (5) ชีวเภสัชภัณฑ์ โดยกระทรวงพลังงานได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อยอด ได้ก่อน เนื่องจากได้มีการดำเนินการพัฒนามาได้ในระดับหนึ่งแล้ว ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ. 2558-2579 (Alternative Energy Development Plan 2015) ที่มีเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน การกำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนในอัตราร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานของประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ลง 70 ล้านตัน

ทั้งนี้ พลังงานชีวภาพจากโครงการประชารัฐ นับเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการใช้พลังงานทดแทนที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้จะเริ่มต้นจากพืชเกษตรเป้าหมายที่ทางคณะกรรมการประชารัฐ D5 เห็นว่ามีความเหมาะสมในการนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าได้ก่อน ได้แก่ มันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรต้นน้ำที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งพืชเกษตรทั้งสองชนิดนี้ทางกระทรวงพลังงานได้นำมาใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่แล้วคือเอทานอลที่นำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล E10 E20 และ E85 แต่ภายใต้โครงการนี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่าพืชเกษตรทั้งสองชนิดนี้ ยังสามารถพัฒนาต่อยอดขึ้นไปได้อีก อาทิ การนำเอทานอลไปผสมกับน้ำมันดีเซลหรือที่เรียกว่าดีโซฮอล โดยเป็นการผสมน้ำมันไบโอดีเซล B7 ร้อยละ 90 กับเอทานอลในอัตราส่วนร้อยละ 10 การพัฒนาก๊าซมีเทนชีวภาพอัด (Compressed Bio-Methane Gas หรือ CBG) ทั้งจากน้ำเสียและวัตถุดิบที่มาจากอุตสาหกรรมอ้อยและมันสำปะหลังเพื่อนำมาใช้แทนก๊าซ NGV ในภาคขนส่ง รวมถึงการเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าในโรงงานน้ำตาลเพี่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น

นางอรรชกาสีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลักการของเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืน เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องตามกระบวนทัศน์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs “เศรษฐกิจชีวภาพ” จึงเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มากของแต่ละประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯพร้อมให้การสนับสนุนในทุกๆด้าน ทั้งในส่วนของการร่วมวิจัยพัฒนา และการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีเมืองอุตสาหกรรมอาหาร (Food Innopolis)  มีศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food Feed Innovation Center) ที่เป็น   One-Stop Service ส่งเสริมให้ SMEs ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน  ศูนย์ชีววัสดุแห่งประเทศไทยที่ให้บริการจุลินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล มีจุลินทรีย์ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 70,000 สายพันธุ์ นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จ (MOST One Stop Service) ที่เชื่อมโยงและบูรณาการเครื่องมือและปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่มีอยู่ภายใน

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต  กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ว่า คณะทำงานกลุ่ม Bioeconomy ที่มีนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ เป็นหัวหน้าทีมทำงานของภาคเอกชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนจากหลายภาคอุตสาหกรรม ต่างเล็งเห็นถึงความจำเป็น ความเร่งด่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา และมุ่งมั่นที่จะนำประเทศไทยก้าวข้ามผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปให้ได้

แผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา Bioeconomy ในระยะเวลา 10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด ระยะที่ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร Biopolis และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและ วิจัย ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ภาคส่วน ทำหน้าที่ร่วมกันสร้าง เศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเป็น เศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ ตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วน จะร่วมมือกันทำให้เกิดความเชื่อมโยง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะเข้าใจความต้องการของกันและกันมากขึ้น ภาคการศึกษาและวิจัย จะมีโจทย์ที่ชัดเจนขึ้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนา Bioeconomy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ  ตั้งแต่ Lab-scale ไปจนถึงโรงงานต้นแบบ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน อย่างแท้จริง และส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น Bio Hub ของโลก ซึ่งหมายความว่า เมื่อนั้น ประเทศไทยจะเป็นผู้นำทั้งการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้าน Bioeconomy ของโลก รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain ได้ในที่สุด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

พณ.ชูปีทองการค้าลงทุนพร้อมเดินหน้าFTA

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชู ปี 60 เป็นปีทองการค้า ลงทุน มุ่งใช้กลยุทธ์เจรจาการค้า รูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ขยายความร่วมมือ พร้อมเดินหน้า FTA

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ได้ตั้งเป้าให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการค้าและการลงทุนของไทย กระทรวงพาณิชย์ จะนำกลยุทธ์การเจรจาการค้ารูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ หรือ strategic partnership มาใช้ในการเจรจากับประเทศคู่ค้า เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยพิจารณาถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายซึ่งจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างทำการวิเคราะห์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในเชิงลึก และในปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนเจรจาขยายการค้าการลงทุนกับหลายๆ ประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศและคาดว่าในปีนี้จะเจรจาเสร็จสิ้นอีก 2 ฉบับ คือ FTA ไทย-ปากีสถาน และ FTA อาเซียน-ฮ่องกง

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 23 มกราคม 2560

5 เขื่อนในโคราชเหลือน้ำเก็บเฉลี่ย 44% ชลประทานยันจัดการได้ แต่ขอประเมินปลาย ก.พ.นี้

วันที่ 22 มกราคม 2560 นายชิดชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนทั้ง 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ยังน่าเป็นห่วง โดยขณะนี้มีระดับน้ำเหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 44% ของความจุกักเก็บ ประกอบไปด้วย เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีระดับน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 36% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนมูลบน อ.ครบุรี มีระดับน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 48% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีระดับน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 125 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 45% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 275 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีระดับน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 79 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 45% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีระดับน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 55 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 57% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ นายชิดชนกกล่าวว่า ระดับน้ำดังกล่าว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ โดยทางสำนักชลประทานที่ 8 จะเน้นบริหารจัดการเพื่อการใช้อุปโภคบริโภคเป็นหลัก เช่น การส่งน้ำไปให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จัดเก็บไว้เพื่อสำรองใช้ทำน้ำประปา ส่งน้ำให้ประปาหมู่บ้าน และบางส่วนก็จะส่งลงคลองธรรมชาติเพื่อรักษาระบบนิเวศ ถึงอย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ทางสำนักชลประทานที่ 8 ก็จะต้องมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในช่วงเข้าสู่หน้าแล้งอย่างเต็มตัว ระหว่างช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ที่จะถึงนี้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 22 มกราคม 2560

"อภิรดี"ถกWEFสร้าง"อาเซียน4.0"แก้เกมนโยบายทรัมป์

พาณิชย์ ถก WEF ดึงลงทุนหนุนไทยแลนด์ 4.0 ขานรับไอเดียผุดดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต ชูอาเซียน 4.0 เสริมแกร่งภูมิภาค แก้เกมทรัมป์พลิกโลก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ผลการนำคณะเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2559 ว่า ในปีนี้ WEF เสนอให้จัดทำดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต (Future of Production Country Profiles) ซึ่งเป็นการรวบรวมและคัดเลือกข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index) ประกอบกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดัชนีภาคการค้า เป็นต้น

โดยมีตัวชี้วัด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแล และด้านทุนมนุษย์และทักษะแรงงาน

"ไทยสนับสนุนการจัดทำดัชนีนี้ เพราะจะช่วยให้รู้จุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผลจากการจัดอันดับดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมุ่งให้นักลงทุน เข้ามาร่วมลงทุนกับไทย"

พร้อมกันนี้ เมื่อวันที่ 19 มกราคม นางอภิรดีได้หารือกับนาย Grahame Dixie ผู้อำนวยการบริหาร Grow Asia ของ WEF ถึงแนวทางความร่วมมือจัดตั้งสถาบันเกษตรนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทย และได้หารือกับบริษัทเอกชนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสนใจลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และร่วมพัฒนาธุรกิจเกษตรสู่อุตสาหกรรม

นางอภิรดีกล่าวว่า ในการประชุม WEF ครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งจะครบ 50 ปีในปีนี้ โดยมีการหารือถึงทิศทางอนาคตอาเซียน 4.0 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) และการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) เพื่อให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนผลักดันให้เกิดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่าที่ใกล้ชิดกันในภูมิภาค อันจะนำไปสู่ขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความแข็งแกร่งภูมิภาค และลดปัญหาอุปสรรคการค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน

"ได้หารือระดับผู้นำและตัวแทนเอกชนในอาเซียน ถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตอาเซียน 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นการพึ่งพาอาศัยกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตโลก โดยอาศัยนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการปรับตัวของธุรกิจบริการ ภาคอุตสาหกรรม เพื่อสอดรับกับทิศทางการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ พร้อมจะส่งเสริมการอำนวยความสะดวก รวมถึงการร่วมพัฒนาคน พัฒนา SMEs ให้มากขึ้น เพื่อผลักดันให้อาเซียนสามารถแข่งขันได้ภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังจะมาถึง"

รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสนใจกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดตัวบุคคลตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาล ซึ่งอาจจะมีผลเชื่อมโยงมาถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะจีน ซึ่งทางนาย Xi Jinping ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวปาฐกถาเน้นย้ำถึงความสำคัญของกระแสโลกาภิวัตน์ ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากและจำเป็นต้องปรับตัวรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสมดุล พร้อมเสนอให้ทั่วโลกมุ่งเน้นพัฒนา นวัตกรรมเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนชนิดใหม่ การมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตยั่งยืน เพื่อหลุดพ้นจากสภาวะชะงักงันที่กำลังเผชิญ

"จีนพร้อมเปิดรับปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอื่น และแบ่งปันความสำเร็จทางเศรษฐกิจจีนกับประเทศอื่นด้วย"

นาย Anthony Scaramucci ผู้ช่วยว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump กล่าวถึงทิศทางของนโยบายการค้าของสหรัฐว่า ยังคงสนับสนุนระบบการค้าเสรีเช่นที่ผ่านมา แต่อาจปรับเปลี่ยนระบบการค้าใหม่ให้มีความเป็นธรรมแก่สหรัฐมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรปและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ใหม่ เพื่อให้ประเทศอื่น ๆ มีส่วนร่วมแบกรับภาระมากขึ้น

ส่วนการลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปและสหรัฐต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลาง เพื่อวางอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไป และหากโครงสร้างใด ๆ ที่มีอยู่เดิมไม่สามารถทำงานได้ดีสหรัฐอาจปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นออกไป 

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 22 มกราคม 2560

เร่งประกาศใช้กฎหมาย EEC กระตุ้นอุตสาหกรรมใหม่ลงทุน  

          นายอุตตม สาวนายน  รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยความคืบหน้าเพิ่มเติมของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC ) ว่า ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่าจะประกาศใช้ช่วงเดือนเมษายน หรืออย่างช้าภายในครึ่งปีแรก

          "EEC จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุน ระยะแรกจะมุ่งขยายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพในนิคมฯบริเวณพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดเดิม คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระยะต่อไปจะเน้นพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับกลุ่ม First S-Curve ได้แก่ กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ยานยนต์อนาคต และ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และกลุ่ม New-S-Curve ได้แก่ หุ่นยนต์ นวัตกรรม การแพทย์ครบวงจร แปรรูปอาหาร การบินและโลจิสติกส์ หากมีอุตสาหกรรมเต็มศักยภาพจะมีพื้นที่ 200,000 ไร่ ก่อให้เกิดเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท" นายอุตตม กล่าว

          แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออกปี 2560-2564 ที่ภาครัฐตั้งใจผลักดันมีวัตถุประสงค์ คือ 1.ลดต้นทุน โลจิสติกส์ 2.เพิ่มฐานภาษีของรัฐบาล 3.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 4.ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน และเป้าหมายสำคัญ คือเศรษฐกิจขยายตัว 5% ต่อปี เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1 แสนคนต่อปี เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 10 ล้านคนต่อปี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มกราคม 2560

ชงนายกฯรื้อสัญญารับซื้อไฟ

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 17 ก.พ. 2560 กระทรวงจะมีการเสนอรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เป็นแบบสัญญาแน่นอน (เฟิร์ม) ที่เป็นเกณฑ์การรับซื้อแบบผสมผสาน(ไฮบริด) โดยพลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ชีวมวล ลม ชีวภาพ ขยะ และพลังน้ำขนาดเล็ก โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 1,000 เมกะวัตต์โดยรูปแบบดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มราชการ กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์

ส่วนแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าและความต้องการสูงสุด(พีก) ในระบบ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(พีอีเอ) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)ในปี 2560 คาดว่า อยู่ที่ที่ระดับ 31,365 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1.3% เทียบกับปี 2559เป็นไปตามสมมุติฐานการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) 3-4% เชื่อว่า ทั้ง 3การไฟฟ้าสามารถรับมือได้

นายทวารัฐ กล่าวว่า ด้านความต้องการน้ำมันสำเร็จรูป คาดว่า ใช้เพิ่มขึ้น 2.4% โดยใช้น้ำมันดีเซลคาดว่า เพิ่มขึ้น 2.3% การใช้เบนซิน และแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 6.7% เพิ่มขึ้นทุกประเภท ขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ลดลง 5% ทั้งการใช้รถยนต์และอุตฯปิโตรเคมี เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มกราคม 2560

จับตาทรัมป์ทำโลกป่วน ธปท.พร้อมดูแล"ค่าเงิน"

ธปท.พร้อมดูแลค่าบาทไม่ให้ผันผวนเกินไป หลังทรัมป์ขึ้นนั่ง ปธน.สหรัฐ แนะเอกชนเกาะติด เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง สบน.ย้ำ กู้เงินนอกเท่าที่จำเป็นจริง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังปาฐกถาพิเศษเรื่อง เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0 ว่า ธปท.พร้อมติดตามดูแลไม่ให้ตลาดการเงินผันผวนเกินไป ภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนล่าสุด ได้ประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก

โดยคาดว่าในระยะสั้นจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน ตลาดทุน รวมถึงภาคเอกชนจะต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง และป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ เชื่อว่านโยบายของสหรัฐมีความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนโยบายลดภาษี เพิ่มรายได้ และมีแนวโน้มที่จะขาดดุลทางการค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้ทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รวมทั้งช่วงปลายปี 59 เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ช่วงต้นปี 60 กลับอ่อนค่าลง สะท้อนว่ายังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องนโยบาย ทำให้ ธปท.ต้องติดตาม และบริหารจัดการเพื่อควบคุมความเสี่ยง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีความผันผวนสูงและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น

ส่วนผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 60 หรือไม่ ธปท.ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ และมาตรการกีดกันทางการค้า ที่มีรายละเอียดต้องติดตามว่ามาตรการจะออกมาเป็นอย่างไร ประเภทของสินค้าจะเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ตลาดการเงินของไทยปีนี้จะมีความผันผวนมาก สบน.จะต้องดูแลการก่อหนี้ใหม่อย่างระมัดระวังและติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด และต้องมีการใช้เครื่องมือดูแลการก่อหนี้ที่หลากหลายมากขึ้น

สำหรับการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลในปีนี้ที่สำคัญ คือ การก่อหนี้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2560 ของเดิม 3.9 แสนล้านบาท และจากการตั้งงบประมาณเพิ่มกลางปีอีก 1.6 แสนล้านบาท รวมเป็น 5.5 แสนล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินกู้ที่สูง ซึ่งจะมีการกู้ตามความต้องการใช้เงินจริง เพื่อไม่ให้เป็นภาระต้นทุนในการกู้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 21 มกราคม 2560

“กรมวิชาการเกษตร”อนุมัติขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย9รายการ-ยันเป็นเป็นชนิดที่เอกชนรายอื่นขอขึ้นไว้แล้ว

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า กรมวิชาการเกษตร มีนโยบายที่สวนทางกับนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกร และผู้บริโภคจะได้บริโภคสินค้าที่มีความปลอดภัย แต่ปรากฏว่าในการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 มีการพิจารณาเพิ่มเติมแหล่งผลิตสารเคมีมีพิษทางการเกษตร ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายถึง 50 คำขอ เหมือนเป็นการเปิดทางให้มีการนำเข้าวัตถุมีพิษภาคการเกษตร ในปริมาณเพิ่มสูงขึ้นนั้นว่า การประชุมในวันดังกล่าวเป็นการประชุมตามวาระปกติ เพื่อพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนเพื่ออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย ซึ่งการพิจารณาของ คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย มีหลักเกณฑ์คือ จะให้ความสำคัญกับการขึ้นทะเบียนกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัย ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และกลุ่มสารเคมีที่ใช้ในพืชอาหาร มีข้อมูลความเป็นพิษน้อยตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ลำดับต่อมา เป็นสารเคมีที่มีความจำเป็นต้องใช้แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในกลุ่มแรก โดยใช้ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงอันตรายและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

“การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ ข้อมูลพิษวิทยา ผลการทดลองประสิทธิภาพ และผลการวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมปริมาณนำเข้าวัตถุอันตราย เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืช ป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุน และที่สำคัญต้องเป็นสารเคมีมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม”นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์กล่าวว่า ในวันดังกล่าวได้มีการพิจารณาเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายจำนวน 50 คำขอ โดยเป็นคำขอขึ้นทะเบียนในวัตถุอันตรายที่เคยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนแล้วแต่มีผู้ประกอบการรายอื่นประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนซึ่งผลการประชุมที่ประชุมมีข้อสรุปคือ 1.รับขึ้นทะเบียน จำนวน 9 รายการ 2.ชะลอการขึ้นทะเบียนจำนวน 3 รายการ เนื่องจากผลการทดลองประสิทธิภาพไม่ได้ทำในพืชอาหาร 3.ผ่านความเห็นในหลักวิชาการโดยให้รับขึ้นทะเบียนได้เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้สามารถใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพร่วมได้จำนวน 36 รายการ 4.ชะลอการขึ้นทะเบียนจำนวน 2 รายการ เนื่องจากเป็นสารที่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดการระบาดเพิ่มของศัตรูพืช

“โดยสรุปในวันนั้นมีการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเพียง 9 คำขอ เท่านั้น ส่วนอีก 41 คำขอ นั้นยังไม่ผ่าน”นายสุวิทย์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 21 มกราคม 2560

พด.กางแผน‘โซนนิ่ง’3แสนไร่ ขับเคลื่อนเชิงรุกปรับเปลี่ยนเพาะปลูกผ่าน‘Single Command’

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกร 49 จังหวัด พื้นที่ 150,000 ไร่ และปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ 32,617 ไร่ รวมพื้นที่ปรับเปลี่ยนทั้งสิ้น 182,617 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพ และสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างยั่งยืน

นายสุรเดช กล่าวอีกว่า กรมมีแผนขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) มีเป้าหมายการปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพาะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) 6 ล้านไร่ จากการปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ปศุสัตว์ ประมง หรือ การทำเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายพื้นที่สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ตามแผนการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรเอง แบ่งเป็น 1.แผนการปรับเปลี่ยนข้าว (N) เป้าหมาย 240,000 ไร่ ปรับเปลี่ยนเป็น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ ปลูกไม้ผล พืชเศรษฐกิจ เลี้ยงตัวหม่อนไหม ทำปศุสัตว์ และประมง 2.แผนการปรับเปลี่ยนพืชอื่น (N) ประกอบด้วย พื้นที่ทำการเกษตรข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และเกษตรผสมผสาน เป้าหมาย 60,000 ไร่ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 300,000 ไร่ ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขับเคลื่อนนโยบายผ่านระบบสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ จะใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการการเกษตรไทยอย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำเป็นแผนที่รายจังหวัด แบ่งข้อมูลเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม และข้อมูลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานการเกษตรจากหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่หยิบยกมาใช้ในการดำเนินงานผ่านกระบวนงานขับเคลื่อนแบบ Single Command ของทุกจังหวัด ซึ่งเป็นการนำข้อมูลจากแผนที่ไปสู่การปฏิบัติขับเคลื่อนงาน ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปสู่เป้าหมายและให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

เช่น ในกรณีที่มีการผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในเขตพื้นที่ที่เหมาะสม กรมจะทำการส่งเสริมเกษตรกรในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุนการผลิต ส่วนในกรณีมีพื้นที่การผลิตสินค้าอยู่ในเขตไม่เหมาะสม (N) ก็จะพิจารณาให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ โดยแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ตลาดมีความต้องการสูง หรือทำปศุสัตว์ (เลี้ยงโค) ทำประมง (เลี้ยงปลาน้ำจืด) แต่ถ้าเกษตรกรมีความต้องการจะทำการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ หรือทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ กรมก็จะให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานในการพัฒนาพื้นที่ ให้คำแนะนำพันธุ์พืชที่จะปลูกและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความช่วยเหลือโดยแจกจ่ายปัจจัยการผลิตสารเร่ง พด. ชนิดต่างๆ ที่จำเป็นให้เกษตรกรทำการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งวิธีการนี้เกษตรกรควรทำเองด้วยความขยัน อดทน และรู้จักศึกษาหาผลงานวิจัยวิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน นำมาต่อยอดและพัฒนาในการพัฒนาที่ดิน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะเป็นการช่วยยกระดับสภาพพื้นที่ดินจากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในระดับปานกลาง S2 หรือ S3 ได้ทันที

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มกราคม 2560

'รมช.พาณิชย์'ชี้'ทรัมป์'ยกเลิกTPP เป็นผลดีต่อไทย

"รมช.พาณิชย์" สั่งศึกษาผลกระทบรายอุตสาหกรรม หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ มั่นใจล้ม TPP เป็นผลดีต่อไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คงต้องติดตามก่อนว่าหลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีของสหรัฐขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วจะมีประกาศนโยบายเศรษฐกิจออกมาชัดเจนอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ประเมินผลกระทบเป็นรายอุตสาหกรรม เพื่อจะนำมากำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐ เพื่อเตรียมพร้อมการรับมือการค้าโลกที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะหารือประเด็นดังกล่าวสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ มองว่าแนวโน้มการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ TPP จะส่งผลดีต่อไทย ซึ่งจะไม่เสียเปรียบอีกหลายประเทศที่เข้าเป็นสมาชิก TPP แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของการค้าโลกในภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย เช่น กรณี BREXIT โดยยังต้องรอความชัดเจนจากนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 20 มกราคม 2560

ธปท.ดูแลตลาดเงินใกล้ชิดห่วงผันผวนระยะสั้น หลัง’ทรัมป์’ประกาศนโยบายฯ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกับการขับเคลื่อนสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่โรงแรมพลาซ่า แอททินี รอยัล เมอริเดียน ว่า พิธีการสาบานตนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมทั้งการประกาศนโยบายเศรษฐกิจ ในวันที่ 20 มกราคมนี้ อาจจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินในระยะสั้นๆ ได้ ที่ผ่านมาก็มีความผันผวนเกิดขึ้นในตลาดการเงินตั้งแต่ที่นายโดนัลด์ ได้รับการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งต้องติดตามนโยบายต่างๆ ที่จะออกมาก่อนที่จะประเมินผลกระทบต่อไทย อาทิ  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ถ้าเกิดขึ้นได้เร็วจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐและยังส่งผลดีต่อประเทศคู่ค้า ซึ่งรวมถึงไทยด้วย ทั้งนี้ หากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านการทำนโยบายขาดดุล สหรัฐอาจจะต้องการระดมทุนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพิ่มขึ้นได้ ส่วนนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศต่างๆ  อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน เพราะไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด

 “ตลาดการเงินยังมีความผันผวน ก่อนหน้านี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามาก แต่ช่วงนี้อ่อนค่าลง สะท้อนว่าความไม่แน่นอนและความผันผวนยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้มีแนวทางดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนมากเกินไป ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่มีการค้าขายกับต่างชาติต้องมีการบริหารจัดการและปิดความเสี่ยง” นายวิรไท กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 มกราคม 2560

กรมวิชาการเกษตรหักรมต. ไฟเขียวขึ้นทะเบียน"สารพิษ"

          แฉแผน “กรมวิชาการเกษตร” ลักไก่อนุมัติในหลักการ 50 คำขอให้ขึ้นทะเบียนในหลักการ "สารพิษภาคเกษตร" จากที่มีการยื่นมา 4,000 คำขอ โดยไม่สนเสียงคัดค้าน แถมยังสวนทางกับนโยบายเจ้ากระทรวง “พล.อ.ฉัตรชัย” ที่เน้นทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารพิษ

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร มีนโยบายที่สวนทางกับนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ที่เคยกล่าวมอบนโยบายในโอกาสเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง "ผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2559" ให้กับผู้บริหารหน่วยงานในส่วนกลาง สหกรณ์จังหวัด ณ โรงแรม ปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค ว่า “ต้องส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกร และผู้บริโภคจะได้บริโภคสินค้าที่มีความปลอดภัย” แต่ปรากฏว่า ในวันนี้ (19 ม.ค.) ในการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ครั้งที่ 76-1/2560 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร ในวาระเสนอเพื่อพิจารณา พบว่า มีการพิจารณาเพิ่มเติมแหล่งผลิตสารเคมีมีพิษทางการเกษตร ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย เพียงแค่วันเดียวมีมากถึง 50 คำขอด้วยกัน นั่นหมายความว่า เป็นการเปิดทางให้มีการนำเข้าวัตถุมีพิษภาคการเกษตร ในปริมาณเพิ่มสูงขึ้น

“การอนุมัตินำเข้าสารเคมีพิษดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติในหลักการทั้งหมด 50 คำขอ แต่มีประมาณครึ่งหนึ่ง มีเงื่อนไขให้รอผลการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับการใช้ผลทดลองในห้องปฏิบัติการร่วมเสียก่อน หากกฤษฎีกาตีความว่าทำได้ ก็ให้ถือว่านำสารเคมีพิษ เข้าประเทศไทยได้เลย”แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการส่งเรื่องตีความดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่จะเปิดกว้างให้นำเข้าสารเคมีพิษได้โดยไม่ต้องผ่านผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจากเดิมกำหนดให้แต่ละ “ตราสินค้า” ต้องส่งเข้าไปห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบทั้งหมด เพราะส่วนผสมอาจจะไม่ตรงกัน แต่กรมวิชาการเกษตรกลับมีแนวคิดว่าไม่จำเป็นต้องนำสารเคมีพิษไปตรวจสอบทุกตราสินค้า โดยเห็นว่า หากเคยมีการส่งสารเคมีพิษเข้าห้องปฏิบัติการแล้ว ก็จะสามารถนำเข้าได้ทันที ซึ่งแทนที่จะขัดขวางเพื่อลดทอนการนำเข้า แต่กลับเป็นการส่งเสริมนำเข้าสารพิษเข้ามา

แหล่งข่าวรายเดียวกันนี้ แจ้งต่อว่า การอนุมัติจากที่ประชุมดังกล่าว ถือเป็นการชิมลางและตรวจสอบกระแสการต่อต้านในเรื่องการนำเข้าสารเคมี เพราะขณะนี้มีจำนวนคำขอมากถึง 4,000 กว่าคำขอ ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้พยายามชะลอไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย เพราะพล.อ.ฉัตรชัย มีนโยบายให้ลดพื้นที่ทำเกษตรเคมี และให้เกษตรกรหันมาใช้เกษตรอินทรีย์แทน เนื่องจากที่ผ่านมา มีการสะสมสารพิษทั้งในตัวเกษตรกร ผู้บริโภค ในดิน และในแหล่งน้ำ จนเกินปริมาณที่กำหนด ส่งผลให้การขายสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ ถูกตรวจสอบและตีกลับตลอดมา

“การอนุมัติในวันนี้เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของกรมวิชาการเกษตร เพราะจากนี้ต่อไปหากไม่มีใครคัดค้าน ก็จะมีการทยอยอนุมัติตามคำขอเพิ่มเติมที่รออยู่กว่า 4,000 คำขอ โดยมีกำหนดไว้คร่าว ๆ ว่า ในช่วงสิ้นเดือนม.ค.นี้ จะพิจารณาเพิ่มเติมแหล่งผลิตสารเคมีพิษภาคการเกษตร เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าสารเคมีพิษอีก 300-400 รายการ และกำหนดเป้าหมายว่าจะอนุมัติให้ทุกเดือน ๆ ละ 2 ครั้ง ๆ ละ 200-1,000 คำขอ จนกว่าจะครบทุกคำขอ หรือ 4,000 กว่าคำขอที่มีเข้ามา โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีกระแสการต่อต้าน” แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ได้เคยออกมาเปิดเผยถึงปริมาณสารพิษภาคเกษตร ที่มีการใช้อยู่ในประเทศไทย ว่ามีการใช้มากและตกค้างอยู่ในผลผลิตทางการเกษตร จนเกินระดับอันตราย โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ “ไทยแพน” (Thai-PAN : ThailandPesticide Alert Network) ออกมาระบุว่า ในปี 2559 พบสารพิษตกค้างถึง 66 ชนิด รวมถึงที่ “อียู”หวาดผวา 2 ชนิด ได้แก่ “คาร์โบฟูราน” พบตกค้างในพริก และ “เมโทมิล” ในฝรั่ง โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค.59 ที่ผ่านมา  “ไทยแพน” จัดแถลงข่าวเปิดเผยตัวเลขหลังจากเก็บตัวอย่างผัก 10 ชนิด ผลไม้ 6 ชนิด รวม 138 ตัวอย่าง ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง และชนิดผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ แตงโม มะม่วงน้าดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้าผึ้ง สินค้าสุ่มซื้อมาจากตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง 7 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และ อุบลราชธานี ระหว่าง 16-18 มี.ค. 2559 และตัวอย่างทั้งหมดส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการใน “อังกฤษ” เนื่องจากวิเคราะห์สารพิษตกค้างได้ถึง 450 ชนิด

โดยผลการตรวจสารพิษตกค้างอันดับ 1 คือ “พริกแดง” พบทั้งหมด 100% ของตัวอย่าง อันดับ 2 กะเพราและถั่วฝักยาว พบ 66.67% อันดับ 3 คะน้า 55.56% ส่วนผลไม้นั้น อันดับ 1 คือ ส้มสายน้าผึ้ง และฝรั่ง พบ 100% รองลงมาเป็นแก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้าดอกไม้ ซึ่งพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 71.4%

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

สมอ.ลดเวลาออกใบ"มอก." ตั้งIBตรวจเข้มมาตรฐานรง.

สมอ.เตรียมลดเวลาออกใบอนุญาตมาตรฐาน มอก.เหลือ 150-180 วัน พร้อมเตรียมตั้งหน่วยงานใหม่ "กองพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน" วางกรอบให้หน่วย IB ลุยตรวจทุกโรงงานทั่วไทย

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปี 2560 สมอ.มีนโยบายและทิศทางการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญ 6 ด้าน คือ 1.ด้านการกำหนดมาตรฐาน โดยลดระยะเวลาดำเนินการมาตรฐานทั่วไป จากเดิม 315 วัน เป็น 150 วัน มาตรฐานบังคับ จากเดิม 445 วัน เป็น 180 วัน 2.ด้านการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทำระบบ e-License สำหรับการออกใบอนุญาต โดยผ่านระบบ Electronic 3.การปรับบทบาทสู่การเป็นหน่วยงานด้านกฎระเบียบ ถ่ายโอนงานการตรวจประเมินโรงงานให้หน่วยตรวจ (IB) พร้อมทั้งพัฒนาและสร้างหน่วยตรวจสอบรับรอง (CAB)

4.การเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งรัดพัฒนาวิสาหกิจชุมชนตามความเหมาะสม และดำเนินการถ่ายโอนงานการรับรองให้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) มุ่งพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) 5.สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรอง โดยสร้างเครือข่ายด้านการมาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านการศึกษา ด้านการผลิตและการจำหน่าย 6.บทบาทด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศต่าง ๆ เร่งผลักดันมาตรฐานไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการผลักดัน มอก.9999 ให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน สมอ.เตรียมตั้ง "กองพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน" จากเดิมมีสถานะเป็นกลุ่มงานให้ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการตรวจสอบโรงงานทุกประเภท รวมถึงมีอำนาจกำกับดูแลหน่วยตรวจ (IB) และหน่วยตรวจสอบรับรอง (CAB) เช่น คุณสมบัติของหน่วยตรวจ และเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี/ทำบัญชีหน่วยตรวจ เพื่อรองรับนโยบายและทิศทางการดำเนินงานใหม่ หลังการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมตามแผนงานปี 2560 โดยเฉพาะบทบาทของหน่วยงานด้านกฎระเบียบ คือ การถ่ายโอนงานการตรวจประเมินโรงงานให้ IB พร้อมทั้งพัฒนาและสร้างหน่วย CAB ให้มากขึ้น เพื่อถ่ายโอนงานตรวจสอบรับรอง โดย สมอ.ยังคงเป็นผู้กำกับดูแลและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการ

นายสุธน นิคมเขต ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กิจกรรมตามภารกิจที่สำคัญของ สมอ.ตลอดปีงบประมาณ 2559 จำนวน 14 แผนงาน อาทิ การกำหนด มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตามแผน 260 เรื่อง ผลที่ได้ 261 เรื่อง, การกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ตามแผน 900 เรื่อง ผลที่ได้ 1,446 เรื่อง, การแต่งตั้งหน่วยตรวจสอบ (LAB) ตามแผน 24 เรื่อง ผลที่ได้ 38 เรื่อง จำนวน 24 มาตรฐาน ผลที่ได้ 156 มาตรฐาน, การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบการทำ (IB) ตามแผน 6 ราย ผลที่ได้ 5 ราย เป็นจำนวน 60 มาตรฐาน ผลที่ได้ 327 มาตรฐาน

การตรวจโรงงานเพื่อการอนุญาต ตามแผน 890 ครั้ง/ราย ผลที่ได้ 1,175 ครั้ง/ราย, การตรวจโรงงานเพื่อการติดตามผล ตามแผน 3,600 ครั้ง ผลที่ได้ 4,617 ครั้ง คิดเป็นจำนวน 3,600 ราย ผลที่ได้ 3,307 ราย และการตรวจโรงงานเพื่อการติดตามผล ตามแผน 1,900 ครั้ง ผลที่ได้ 5,831 ครั้ง เป็นจำนวน 1,900 ราย ผลที่ได้ 1,603 ราย

"ตามสถิติการตรวจโรงงานทุกประเภท จากการลงพื้นที่ตรวจผลิตภัณฑ์ตามร้านค้าพบว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งมี มอก.แต่กลับมีน้ำหนักเบาไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเริ่มพบบ่อย บวกกับสถานการณ์ที่เราโดนปัญหาเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานและมีการเลี่ยงพิกัดมากขึ้น"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

ปรับลดขั้นตอนการรับรอง ‘เกษตรแปลงใหญ่’

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับลดขั้นตอนการรับรอง ‘เกษตรแปลงใหญ่’ เน้นเปิดกว้างและง่ายต่อการเข้าถึง

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานโครงการเกษตรแปลงใหญ่ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 600 แปลง พื้นที่ 1.538 ล้านไร่ เกษตรกร 96,554 ราย สำหรับในปี 2560 ได้กำหนดเป้าหมายอีกไม่น้อยกว่า 900 แปลง คือ มกราคม 400 แปลง และ พฤษภาคม 512 แปลง รวมทั้งสิ้น 1,512 แปลง ซึ่งในปี 2560 นี้ ต้องมีการปรับลดหลักการที่มีอยู่มาก ซึ่งพบว่าเป็นปัญหา เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจง่ายขึ้น ทั้งนี้ รายงานความสำเร็จที่สามารถตรวจวัดผลผลิตและประเมินผลได้นั้นมี 480 แปลง จาก 600 แปลง คิดเป็น 92% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างประเมินผลผลิต เนื่องจากยังไม่เก็บเกี่ยว

          “การปรับปรุงขั้นตอนการรับรองการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่นั้น ได้ลดขั้นตอนโดยแต่งตั้งคณะทำงานรับรองแปลง Single Command (ประธาน/เกษตรจังหวัด/เลขานุการ) ซึ่งจากเดิมที่ต้องผ่านอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด โดยให้คณะทำงานรับรองแปลงได้รับรองและนำเสนออนุกรรมการฯ เพื่อรับทราบ อีกทั้ง ต้องมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนทุกราย เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น” พลเอกฉัตรชัย กล่าว

           นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานแปลงใหญ่ที่ผ่านมามีหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ เนื่องจากมีเกษตรกรต้องการเข้าร่วมแปลงใหญ่จำนวนมาก จึงได้มีการหารือร่วมกัน และสรุปหลักการของแปลงใหญ่ ดังนี้ 1. ง่ายต่อการเข้าถึง รวมตัวกันได้ จับเป็นกลุ่มผลผลิตเกษตรชนิดเดียวกัน ดำเนินการได้ทันที 2. ขนาดพื้นที่เหมาะสม ไม่จำกัดขนาดและจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วม 3. พัฒนาให้ถึงเป้าหมาย คือลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ขยายโอกาส 4. พื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri Map สามารถรวมเป็นแปลงใหญ่ได้ และใช้เทคโนโลยีเข้าไปปรับพื้นที่ให้เหมาะสม 5. ยกระดับมาตรฐานผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น 6. แหล่งน้ำ ตามความจำเป็นหรือความเหมาะสม 7. กระบวนการกลุ่ม คือ กลุ่มเดิม (สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน) กลุ่มย่อยทำแปลงใหญ่ได้ กรณีไม่มีกลุ่ม จะต้องมีการพัฒนาให้เกิดกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง 8. Economy of scale ตัดสินด้วยเกณฑ์ของแหล่งทุน ขึ้นกับกิจกรรมที่กลุ่มขอรับการสนับสนุน และ 9. ความสมัครใจเป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ และดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเป้าหมายของแปลงใหญ่

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

ค่าเงินอ่อนค่า หลังเฟดส่งซิกเศรษฐกิจสหรัฐผงกตัวต่อ หนุนดอลลาร์แข็งค่า

ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังเฟดออกมาส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณฟื้นตัวต่อ หลังตลาดแรงงานและตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ธ.ค.ปรับตัวต่อเนื่องหนุนดอลลาร์เคลื่อนไหวแข็งค่า

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทวันที่ 19 มกราคม ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดวานนี้ที่ 35.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวและซื้อขายอยู่ที่ 35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ปรับตัวกลับมาอยู่ในทิศทางอ่อนค่า หลังเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ออกมาคอมเมนต์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งในตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นเข้าใกล้เป้าหมายที่เฟดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ธนาคารกลางมีโอกาสลดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในระยะต่อไปได้ ขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนธันวาคมออกมาอยู่ในทิศทางที่ดีต่อเนื่องอยู่ อยู่ที่ 2.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 0.7% ส่งผลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหากเทียบกับค่าเงินบาททุกสกุล

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามยังคงเป็นการแถลงนโยบายหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

‘ทรัมป์’ เปลี่ยนโลก แนะไทยผนึกอาเซียนเจรจาต่อรองอเมริกา

เอกชน-นักวิชาการ ฟันธง “ทรัมป์” จุดชนวนสงครามการค้า-การเงินโลกรอบใหม่ เล็งตอบโต้ 3 ชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก “จีนเยอรมนี ญี่ปุ่น” หลังทำขาดดุลอ่วม ไทยติดร่างแหกระทบส่งออก “พาณิชย์” สั่งทูตทำการบ้านหวั่นกระทบเป้าส่งออก

วันที่ 20 มกราคมนี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เขาจะมาพร้อมกับนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ภายใต้แนวคิด America First ที่ผู้คนมองว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้าแบบสุดขั้ว ก่อกำแพงภาษีได้ถึง 45% สำหรับสินค้าจีน และดึงการลงทุนกลับไปสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ ด้วยสิทธิประโยชน์จูงใจในรูปการลดหย่อนภาษี พร้อมกับคุกคามกลุ่มทุนที่เลือกผลิตนอกสหรัฐฯด้วยภาษีอัตราสูงเช่นกัน

วันที่ 20 มกราคมนี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา เขาจะมาพร้อมกับนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ภายใต้แนวคิด America First ที่ผู้คนมองว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้าแบบสุดขั้ว ก่อกำแพงภาษีได้ถึง 45% สำหรับสินค้าจีน และดึงการลงทุนกลับไปสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ ด้วยสิทธิประโยชน์จูงใจในรูปการลดหย่อนภาษี พร้อมกับคุกคามกลุ่มทุนที่เลือกผลิตนอกสหรัฐฯด้วยภาษีอัตราสูงเช่นกัน

อีกทั้งดึงการลงทุนกลับไปสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ ด้วยสิทธิประโยชน์จูงใจในรูปการลดหย่อน ภาษี พร้อมกับคุกคามกลุ่มทุนที่เลือกผลิตนอกสหรัฐฯด้วยภาษีอัตราสูงเช่นกัน

หลายสำนักวิจัยเชื่อว่าหากผู้นำใหม่สหรัฐฯนำนโยบายกีดกันการค้ามาใช้จริงตามที่ขู่ไว้จะนำไปสู่สงครามการค้าที่บั่นทอนจีดีพีสหรัฐฯเอง และอาจดึงเศรษฐกิจโลกสู่ภาวะถดถอยท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางการค้าโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป

นายสมภพ มานะรังสรรค์อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายของทรัมป์ตามที่ได้ประกาศแผนงานจะเร่งดำเนินการในช่วง 100 วันแรกหลังรับตำแหน่งที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงประเทศไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะนโยบายด้านการคลังและการค้า เช่นการประกาศจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐฯจาก 35% ลงเหลือ 15% ซึ่งจะเป็นแรงกดให้หลายประเทศต้องลดตาม เพื่อคงแรงจูงใจการลงทุนในประเทศของตน จะส่งผลให้หลายประเทศอาจเก็บภาษีได้ลดลง และอาจเกิดวิกฤติด้านการคลัง

ต่อมาคือการลดภาษีบุคคลธรรมดาจาก 39.6% ลงเหลือ 33%เพื่อเอาใจประชาชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคการบริโภคภายในสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 76% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้กลับมาคึกคัก เศรษฐกิจสหรัฐฯจะร้อนแรง หุ้นก็จะขึ้น รวมถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ได้ประกาศจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายรอบในปีนี้ จะส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินโลก รวมถึงมีผลให้เงินทั่วโลกไหลเข้าสหรัฐฯ จากได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดี

“ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาดอกเบี้ยต่ำติดดิน ภาครัฐ ภาคเอกชนหลายประเทศก็กู้เงินจากต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยต่ำแต่ถึงเวลาเงินไหลออกไปสหรัฐฯจากดอกเบี้ยขึ้น หลายประเทศจะเกิดวิกฤติการเงินจากเป็นหนี้ระยะสั้นเพิ่ม และต้องหาเงินมาใช้หนี้ บางประเทศไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ อาจเกิดทฤษฎีโดมิโน สถาบันการเงินล้มอีกเหล่านี้คือตัวแปรที่ต้องระวังอย่างไรก็ดีอีกมุมหนึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯที่จะปรับตัวดีขึ้น คนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อาจส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่ม แต่คำถามคือเรามีสินค้าที่ตรงกับความต้องการเขา

 รู้อนาฟต้Œากระทบไทย

ส่วนกรณีที่ทรัมป์ประกาศจะเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจีน 45%ซึ่งมีเหตุผลสำคัญจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามูลค่ามหาศาล โดยในปีที่ผ่านมาคาดจะขาดดุลกว่า 7.5แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ขาดดุลการค้าให้จีนมากสุด คิดเป็นมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าให้กับทั่วโลก รองลงมาคือ ขาดดุลให้เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่ง 3 ประเทศนี้เป็นเป้าหมายใหญ่ที่สหรัฐฯ จะตอบโต้ทางการค้า โดยอ้างความชอบจากที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ามาก ซึ่งผลกระทบหากจีนลดการส่งออกไปสหรัฐฯ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปของจีนจากไทยเพื่อไปผลิตส่งออกต่อก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มองว่าการที่สหรัฐฯจะรื้อข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) และจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกสมาชิกรายสำคัญของนาฟต้าที่35% ประเทศที่จะได้รับผลกระทบอันดับต้น ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ที่ได้เข้าไปลงทุนในเม็กซิโกเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตสินค้าส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯโดยได้รับการยกเว้นภาษีหรือเสียภาษีตํ่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยทางอ้อมเพราะส่วนหนึ่งประเทศเหล่านี้นำเข้าชิ้นส่วน/วัตถุดิบจากไทยไปผลิต

“การขึ้นภาษนเขาสินค้าของสหรัฐมีความเป็นไปได้สูง ขณะที่ในปีนี้ผลจากนโยบายทรัมป์คาดจะทำให้เงินทุนไหลเข้า-ออกแต่ละประเทศเร็วขึ้น ประเทศใดที่มีฐานการเงินไม่เข้มแข็งจะได้รับผลกระทบ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีทิศทางแข็งค่า ค่าเงินคู่ค้าสหรัฐฯจะอ่อนมีแนวโน้มจะเกิดสงครามการค้าและสงครามการเงินในปีนี้”

สรท.ชี้กระทบไทยแน่

ขณะที่นายนพพร เทพ-สิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ยังประเมินสถานการณ์ค่อนข้างยากว่าจะกระทบกับไทยอย่างไรบ้าง เดิมสรท.มองว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยแต่ขณะนี้เริ่มไม่แน่ใจจากนโยบายที่มากขึ้นของทรัมป์ที่ออกมา ทั้งด้านภาษี ด้านการกีดกันทางการค้า โดยในปีนี้สรท.ประเมิน่าการส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้ 2-3% แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้ยากมากหากเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยง

“หากรัฐบาลทรัมป์ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อปกป้องการค้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบกับการส่งออกไทยทางกลับกันหากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีการเติบโตดี กำลังซื้ออาจจะมีมากขึ้น และจะนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกที่มีศักยภาพก็จะได้โอกาสตรงนี้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า การพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีในการผลิต”

 ส‹งออกเสี่ยงพลิกบวก

นางมาลี โชคลํ้าเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ในเบื้องต้นทางกระทรวงฯยังไม่มีการปรับแผนการส่งออกไปสหรัฐฯแต่ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ไทยในสหรัฐฯเตรียมข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบ หลังทรัมป์ประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการเพื่อเตรียมรับมือต่อไป

ขณะที่นางอภิรดี ตันตรา-ภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวไว้หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งว่า ไทยคงต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่อาจจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้น รวมถึงผลกระทบด้านต่างๆเช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้นหรือไม่ ราคานํ้ามันจะขึ้นตามที่คาดไว้ หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับดอกเบี้ยขึ้นตามที่คาดหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งความผันผวนเหล่านี้ จะส่งผลต่อการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวน และราคาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ ปรับตัวสูงขึ้น โดยภาพรวมแล้วจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2560 มีความเสี่ยงและท้าทายมากขึ้นเพื่อที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี

 ผนึกอาเซียนเจรจาสหรัฐฯ

ด้านนายสแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงผู้นำไม่ได้มีเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ปีนี้ในยุโรปจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้มีผู้นำคนใหม่และนโยบายใหม่เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น ไทยจำเป็นจะต้องรู้ว่าเทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร

ประธาน JFCCT กล่าวอีกว่า นโยบายของทรัมป์ที่ต้องการดึงการลงทุนกลับสหรัฐอเมริกาซึ่งที่ผ่านมามีการขู่หลายบริษัทผู้ผลิตไม่ให้เข้าไปลงทุนในเม็กซิโกไม่เช่นนั้นสินค้าที่นำกลับเข้ามาในสหรัฐฯจะเจอภาษีสูง แต่ถ้าเลือกตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็เข้าใจได้ว่าเป็นความต้องการที่จะสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ แต่ไม่น่าจะดึงการลงทุนของสหรัฐฯในไทยกลับออกไป แต่ไทยควรจับมือกับอาเซียน หากจะเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ

“ผมอยากจะเห็นการเจรจาข้อตกลงที่เป็นระดับภูมิภาคมากกว่าระดับทวิภาคี เพราะถ้าเราจะคุยกับสหรัฐฯ ขนาดเศรษฐกิจของเราค่อนข้างจะห่างกันเยอะ แต่ถ้าเราเอาอาเซียน 10 ประเทศไปเจรจากับเขา ผมคิดว่าเรามีโอกาสมากขึ้น ต้องคุยกันในอาเซียนก่อนมีจุดยืนร่วมกันแล้วทำการบ้านไปให้ดี ถ้าสหรัฐฯสนใจตลาดอาเซียนที่มี 600 กว่าล้านคน ไทยก็สามารถเป็นประตูหรือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้เขาเข้ามา”

 หวั่นกีดกันทำโลกถดถอย

วิลเล็ม บุยเทอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารซิติแบงก์ ให้ความเห็นว่า ถ้าหากทรัมป์ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในเชิงกีดกันการค้าอย่างที่เขาเคยกล่าวเอาไว้ ก็อาจนำไปสู่ภาวะสงครามการค้า และสิ่งที่ตามมาก็จะเป็นภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับงานวิจัยของธนาคารดอยช์แบงก์ที่ว่า นโยบายการค้าของทรัมป์ก่อให้เกิดความเสี่ยงและปัจจัยลบต่อการค้าโลกสิ่งที่เป็นความเสี่ยงมากที่สุดคือมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและตอบโต้ทางการค้า ซึ่งจะมีผลฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

 หุ้นมีลุ้น 1,650-1,700 จุด

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ทาลิสฯ เปิดเผยว่า หากทรัมป์พูดแล้วดูดี มีโอกาสที่เงินทุนจะไหลกลับไปสหรัฐ แต่หากความกังวลไม่เกิด จึงโอกาสน้อยที่เงินจะไหลออกจากตลาดหุ้นไทย และพื้นฐานของไทยดูดีกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยไม่มากแล้ว และมีโอกาสที่ดัชนีแตะ 1,700จุด เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพ

“ถึงแม้ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นมาพอสมควร ในปี 2559 ดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้น 19%แต่ราคายังขึ้นน้อยกว่าการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่คาดว่าจะเติบโต 27-28% ส่วนในปี2560 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8-10% รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว สนับสนุนตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนสำหรับมุมมองของสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ”

นายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทยฯ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดยังมีทิศทางที่ดีจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลดีต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมองเป้าหมายดัชนีหุ้นปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ ลัดรั้วเขต ศก.พิเศษ: เร่งเดินหน้าอีอีซีเต็มสูบ ตั้งบอร์ดขับเคลื่อน  

          ความพยายามในการผลักดันพื้นที่ "เขตเศรษฐกิจพิเศษตอนใน" ให้เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนของนักลงทุนนานาประเทศ อย่าง "โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" หรือ อีอีซี หรืออาจเรียกว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด ระยะที่ 2 ก็ว่าได้ ซึ่งครอบคลุม จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่เวลานี้ได้เป็นรูปร่างขึ้นมาทุกขณะ...หลังรัฐบาลประกาศให้เป็นโครงการเร่งด่วน บรรจุไว้เป็นเรื่องแรกที่พิจารณา โดยคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ หรือ ปยป. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งกำกับด้วยตัวเอง

          ล่าสุด...ในการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่นัดแรก ได้ไฟเขียวการขับเคลื่อนโครงการที่ว่านี้เต็มสูบ...ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาอีอีซี ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และมี นายกฯ นั่งเป็นประธาน และยังให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีที่มีเอี่ยว รวมทั้งดึงสารพัดหน่วยงานสำคัญเข้ามาช่วยขับเคลื่อน มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. เป็นผู้ประสานงานหลัก ว่ากันว่า...คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย และทำหน้าที่ตัดสินใจในประเด็นใหญ่ ๆ ที่จำเป็นต้องมีการปลดล็อกเพื่อผลักดันโครงการให้เกิดให้ได้ภายในปี 60 นี้

          ตั้งกรรมการเดินหน้า

          "อุตตม สาวนายน" รมว.อุตสาหกรรม ขยายความถึงการขับเคลื่อนโครงการยักษ์ครั้งนี้ว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ นอกจากจะมีคณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกฯ เป็นประธานแล้ว ยังได้ตั้งคณะกรรมการชุดเล็กขึ้นมาทำงาน เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารและพัฒนาพื้นที่อีอีซี" ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม รับเป็นแม่งานหลักในการเดินหน้าทำงาน และเป็นผู้นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ให้คณะกรรมการชุดใหญ่ เป็นผู้ออกนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติ คณะกรรมการชุดนี้เป็นรูปแบบบูรณาการงานอย่างแท้จริง เพราะมีทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อพาโครงการให้บรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าประสงค์

          สำหรับหน่วยงานทั้งหมดที่เข้ามาทำงาน ประกอบด้วยหัวเรือหลัก คือ "สุวิทย์ เมษินทรีย์" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการ สศช. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดูแลพื้นที่ กองทัพเรือ ส่วนภาคเอกชน มี "กานต์ ตระกูลฮุน" ประธานคณะทำงานด้านการลงทุนในอีอีซี เป็นแม่ทัพ พร้อมทั้ง "คณิต แสงสุพรรณ" ประธานคณะทำงานส่งเสริมการ

          ลงทุนภาคเอกชน กระทรวงการคลัง "ประเสริฐ บุญสัมพันธ์" ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และให้มีผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกนอ. เป็นฝ่ายเลขานุการ

          ทำงานก่อนก.ม.คลอด

          เหตุผลสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการ แน่นอนว่า...รัฐบาลไม่อยากให้โครงการนี้อยู่ในสถานะ "เกียร์ว่าง" เพราะ!!! ปัจจุบันการจัดทำโครงการยังต้องรอให้กฎหมายหลักที่ควบคุมโครงการออกมาก่อน หรือพูดง่าย ๆ คือ การที่ พ.ร.บ.พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ล่าสุด...ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเตรียมเสนอให้ ครม.ไฟเขียว ก่อนชงไปยังสภานิติบัญญัติ หรือ สนช. พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งในช่วงนี้ อาจต้องใช้เวลาอีกสักพัก หากปล่อยเวลาให้ผ่านไปก็คงไม่เข้าที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นดูแล ทั้งชุดใหญ่และชุดเล็ก เพื่อให้งานเดินหน้าไปควบคู่กับกฎหมายอีอีซีมีผลบังคับใช้

          "ตอนนี้ทางคณะกรรมการชุดเล็กสามารถเดินหน้าจัดทำรายละเอียดที่สำคัญ อย่างเช่น การกำหนดพื้นที่ให้แต่ละประเภทของอุตสาหกรรม, การกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษนอกเหนือไปจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ มีให้กับนักลงทุน เช่นเดียวกับการจัดทำระบบขนส่งให้เชื่อมโยงข้างในอีอีซีและเชื่อมโยงไปสู่นอกประเทศ เพื่อที่สุดท้ายแล้วอย่างน้อยจะได้มีแผนผังว่าในอีอีซี มีอะไรอยู่ที่ไหนบ้างให้เห็นภาพได้โดยเร็ว เมื่อกฎหมายคลอดออกมาจะมีกลไกถาวรมาทำเรื่องพวกนี้" รมว.อุตสาหกรรม ระบุ

          เอกชนสนใจลงทุน

          มาดูกันที่ความก้าวหน้าของโครงการกันบ้าง "ปรเมธี วิมลศิริ" เลขาธิการ สศช. ยอมรับว่า ที่ผ่านมาโครงการมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ โดย สศช. เป็นผู้ดูแลโครงการทั้งด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม การจัดเตรียมพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ ส่วนการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ ก็มีความคืบหน้าตามแผนงานทุกด้าน โดยล่าสุด มีเอกชนที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการส่งเสริมการทุนในพื้นที่อีอีซีแล้ว คิดเป็นวงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท

          อีกทั้งยังมีนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาเจรจาอีกหลายด้าน เช่น ด้านอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมรถยนต์รุ่นใหม่ และในขณะเดียวกันหากกฎหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ผ่านความเห็นชอบของสนช.แล้ว จะสามารถตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯวงเงิน 10,000 ล้านบาทได้ จะถือเป็นกลไกสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้

          ลงทุน5ด้านให้เสร็จ

          เช่นเดียวกับ "กานต์ ตระกูลฮุน" ประธานคณะทำงานด้านการลงทุนในอีอีซี ระบุว่า ตอนนี้มี 5 โครงการหลักของอีอีซีที่ต้องเร่งผลักดัน คือการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมแล้ว, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงกับโลกได้มากขึ้น, การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงจากกรุงเทพฯ ถึงระยอง และเชื่อมโยงสนามบิน 3 แห่งคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่ง สศช.ได้จัดทำแผนไว้แล้ว, การส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทค บางกรณีอาจจะต้องเจรจากับนักลงทุนเป็นกรณีพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการอย่างแท้จริง และการจัดตั้งเมืองใหม่ ทั้งจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

          "กานต์" กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า โครงการนี้จะพลิกโฉมหน้า ประเทศไทยได้อย่างไม่ต้องมีข้อสงสัย ดังนั้น ช่วงเวลานี้ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำโครงการอีอีซีให้สำเร็จให้ได้ "บิ๊กตู่" จึงให้ความสำคัญกับโครงการอีอีซีมาก โดยเฉพาะในช่วงปีแรก เพราะถือเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่และประเทศชาติโดยรวมอย่างแท้จริง!!!

.จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : เตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงปี’60 ทุ่ม990ล้านซื้อเครื่องบินใหม่เสริมเขี้ยวเล็บ

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดการซ่อมบำรุงอากาศยานและฝึกบินทบทวนประจำปี เตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงปี 2560 พร้อมจัดงบ 990 ล้านบาท ซื้อเครื่องบินใหม่เสริมเขี้ยวเล็บ ตั้งเป้าภายใน 5 ปี แก้ภัยแล้งได้กว่า 90% หวังยกระดับหน่วยงานให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนานาชาติด้านการดัดแปรสภาพตามศาสตร์ของพระราชา เพื่อให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นองค์กรชั้นนำด้านการดัดแปรสภาพอากาศของโลก

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและบรรเทาสภาวะภัยแล้งของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเริ่มดำเนินการประมาณต้นเดือนมีนาคม-ตุลาคม เป็นประจำทุกปี และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจก็จะนำเอาอากาศยานทั้งหมดมาทำการซ่อมบำรุง ในปีนี้ได้มีการดำเนินการเริ่มทำการซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 จนถึง วันที่ 31 มกราคม 2560 โดยมีอากาศยานเข้าซ่อมจำนวน 34 ลำ ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 12 มกราคม 2560 ได้ทำการซ่อมบำรุงอากาศยานเสร็จสมบูรณ์พร้อมบิน จำนวน 12 ลำ เหลือจำนวน 22 ลำ ที่ยังอยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุง และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2560 เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้เมื่ออากาศยานได้รับการซ่อมบำรุงเสร็จสิ้นแล้วก็จะมีการฝึกบินทบทวน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนท่าทางการบินที่สำคัญต่างๆ ทั้งที่ได้ปฏิบัติและไม่ได้ปฏิบัติในช่วงเวลาบินปฏิบัติงานปกติ การบินเมื่ออากาศยานฉุกเฉิน การบินท่าทางสำคัญอื่นๆ และฝึกนักบินใหม่เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับอากาศยานและเตรียมความพร้อมเมื่อขึ้นทำการปฏิบัติการฝนหลวงแก้ภัยแล้งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2560 กรมฝนหลวงฯ ได้เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาภัยแล้ง ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 990 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องบินขนาดเล็กรุ่นคาซา และคาราแวน 2 ลำ เพื่อนำมาใช้ในภารกิจ ในขณะที่ในปี 2562 เตรียมจัดซื้อเครื่องบินขนาดเล็กคาราแวนอีก 2 ลำโดยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 กรมฝนหลวงฯ ได้รับมอบเครื่องบินคาราแวนลำใหม่ 1 ลำ เพื่อใช้ปฏิบัติการฝนหลวงแก้ปัญหาและบรรเทาภัยแล้งช่วยเหลือราษฎรและเกษตรกร ขณะเดียวกันยังได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และพิษณุโลกซึ่งจะส่งผลให้กรมฝนหลวงฯ มีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมด 7 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนในด้านภารกิจช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ที่ประสบอุทกภัยนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับนโยบายจากพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่มีสรรพกำลังไปช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ ซึ่งกรมฝนหลวงฯได้ส่งเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินลงไปปฏิบัติการเพื่อช่วยลำเลียงอาหารเข้าสู่พื้นที่ที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ประกอบด้วยเฮลิคอปเตอร์ 5 ลำ ไปประจำการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 1 ลำ สุราษฎร์ธานี 2 ลำ และสงขลา 2 ลำ

“ในแผนปฏิบัติการฝนหลวง 4.0 จำเป็นต้องใช้เครื่องบินทั้งหมด 36 ลำ เพื่อปฏิบัติภารกิจ กรมฝนหลวงฯ จึงได้วางแผนจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มในอนาคตเพื่อให้เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันท่วงที โดยเป้าหมายภายใน 5 ปี จะต้องแก้ปัญหาภัยแล้งได้ไม่น้อยกว่า 90% รวมถึงจะยกระดับให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนานาชาติ ด้านการดัดแปรสภาพตามศาสตร์ของพระราชาเพื่อให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำด้านการดัดแปรสภาพอากาศของโลก”อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ ชีพจรพลังงานอุตสาหกรรม: ปีทองแห่งการลงทุน

          เปิดออกมาแล้ว สำหรับกิจกรรมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงหรือบีโอไอ ที่ปี 2560 นี้ ได้ประกาศว่าจะเป็นปีทองแห่งการลงทุนของประเทศไทย สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 3 ฉบับ ที่จะมาเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการลงทุนของภาคเอกชน

          ไล่ตั้งแต่ต้นปี ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีก็ว่าได้ เป็นการจัดงานสัมมนาและนิทรรศการ "โอกาสทางการลงทุนในประเทศไทย" (Opportunity Thailand) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ และทีมงานด้านเศรษฐกิจอย่างนายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะมาให้ข้อมูลด้านการลงทุนกับนักลงทุน

          โดยงานนี้ จะมีการเชิญผู้บริหารระดับสูงจากต่างประเทศ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีการลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่า 2,500 ราย  ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มแอร์บัส ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก  ผู้บริหารจากบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศญี่ปุ่น และผู้บริหารจากบริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (จำกัด) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้นำภาคเอกชนของไทย ได้แก่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์  และนายกานต์ ตระกูลฮุน จากปูนซิเมนต์ไทย ร่วมเสวนาเรื่องการสร้างประเทศไทย 4.0 ให้เป็นจริง

          รวมถึงมีการจัดสัมมนาใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่จะมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนถึงทิศทางของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ และสร้างโอกาสการเป็นพันธมิตรร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยกับบริษัทรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอากาศยาน เช่น บริษัทโรลส์รอยซ์ฯ  ซึ่งจะเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงตลาดอุตสาหกรรมอากาศยานสำหรับบริษัทไทยอีกด้วย

          นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนหรือสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ จะนำคณะผู้สื่อข่าวของแต่ละประเทศประมาณ 70 คน เดินทางมาเข้าร่วมงานสัมมนา เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรด้วย

          จบงานใหญ่ดังกล่าวก็ต่อด้วยกิจกรรมเดินสายชักจูงการลงทุนหรือโรดโชว์  ทั้งในและต่างประเทศ เน้นไปที่บริษัทเป้าหมาย โดยในช่วง 3 เดือนแรกนี้ (ม.ค.มี.ค.) กำหนดไว้ที่ประเทศ สิงคโปร์ อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา ยุโรป (เยอรมนี สวีเดน) และญี่ปุ่น โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะไปชักชวนให้มาลงทุน เช่น  ไบโอเทคโนโลยีไอที ออโตเมชัน เครื่องมือแพทย์ และเครื่องจักร

          ส่วนในช่วงกลางปี 2560 จะเดินทางไปที่ประเทศ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลี และยุโรป (อังกฤษ นอร์เวย์ เยอรมนี) โดยเน้นอุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน เครื่องมือแพทย์ ออโตเมชัน และไอที เป็นต้น

          การดำเนินงานทั้งหมดนี้ ทางบีโอไอ หวังว่าจะสามารถชักจูงนักลงทุน ตามเป้าหมายที่วางไว้ 6 แสนล้านบาท ส่วนจะได้หรือไม่นั้น ก็คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะยังมีตัวแปรที่อยู่เหนือการควบคุมอีกเพียบ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

อ้อยระทมด้วง

สร้างปัญหามาตั้งแต่ฤดูแล้งที่แล้ว ผ่านมาปีนี้ “ด้วงหนวดยาว” ยังคงรุกทำลายไร่อ้อยในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ไม่จบสิ้นเสียที กรมวิชาการเชิญชวนเกษตรกรไร่อ้อยใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด ลดความเสียหายของผลผลิต และหยุดวงจรการระบาดได้ผลจริง

ด้วยพฤติกรรมการทำลายของของหนอนด้วง จะใช้วิธีเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ตั้งแต่เริ่มปลูกอ้อย ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอก โดยหนอนขนาดเล็กจะกัดกินเหง้าอ้อย ทำให้ระบบส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง และเมื่อหนอนเติบใหญ่ขึ้นจะเจาะไชโคนลำต้นขึ้นไปกินเนื้ออ้อย ทำให้ลำต้นเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก ลำต้นหักล้มและแห้งตายในที่สุด

วิธีในการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสาน นายสุรพล สุขพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตร แนะให้ใช้วิธีกล ไถพรวนดินแล้วเดินเก็บตัวหนอนและดักแด้ตามรอยไถในช่วงก่อนปลูกอ้อย ส่วนในช่วงค่ำให้จับหรือเดินเก็บตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวในแปลงอ้อย

ส่วนการใช้ศัตรูธรรมชาติกำจัด สำหรับอ้อยปลูกใหม่ ให้โรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมบนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก อัตราไร่ละ 10 กก. ส่วนอ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมชิดกออ้อยแล้วกลบดิน อัตราไร่ละ 10 กก.เท่านั้น ยิ่งถ้าดินมีความชื้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดมากขึ้น

แต่ถ้าเป็นกรณีมีการระบาดรุนแรง ให้ใช้ สารเคมีช่วยป้องกันกำจัด แบบชนิดน้ำ อ้อยปลูกให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน ส่วนอ้อยตก ให้เปิดร่องอ้อยแล้วพ่นชิดกออ้อยด้วยสารชนิดเดียวกัน อัตราเท่ากันแล้วให้กลบดิน สำหรับ สารเคมีชนิดเม็ด อ้อยปลูกใหม่ ให้โรยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 0.3% จี อัตราไร่ละ 6 กก. โรยบนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน ส่วนอ้อยตอให้เปิดร่องอ้อยแล้วโรยชิดกออ้อยด้วยสารตัวเดียวกัน อัตราเท่ากันแล้วกลบดิน

เกษตรกรสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตร 0-3222-8377.

จาก  http://www.thairath.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2560

พลังงานจ่อชงกพช.รับซื้อไฟพลังงานทดแทน

กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอกพช.เดินหน้ารับซื้อไฟพลังงานทดแทน  พร้อมเร่งเดินหน้านโยบาย Energy 4.0

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานที่มีเสถียรภาพ สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. พิจารณาเห็นชอบได้ในการประชุมรอบถัดไปวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะเน้นการบูรณาการผสมผสานพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ หรือ ไฮบริด ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มีประเภทใดมากหรือน้อยจนเกินไป เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน เบื้องต้นน่าจะดำเนินการได้ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ที่มีระบบสายส่งรองรับเพียงพอ ส่วนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าน่าจะใช้การรับซื้อตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ ฟีด อินทารีฟ ตามเดิม เพราะเป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดการแข่งขัน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะเร่งเดินหน้าพัฒนาพลังงานชีวภาพตามนโยบาย Energy 4.0 โดยมีแนวคิดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เพื่อผลิตไฟฟ้าจากอ้อยและมันสำปะหลังในเฟสแรก ก่อนพิจารณาขยายไปยังวัตถุดิบอื่นในเฟสที่ 2 หากดำเนินการสำเร็จเชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 75,000 บาทต่อคนต่อปี รวมถึงเตรียมเข้าร่วมงานอัสตานา เอ็กซ์โป 2017 เพื่อแสดงศักยภาพด้านพลังงานของประเทศ ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน - 10 กันยายนนี้ ณ สาธารณรัฐคาซัคสถาน คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 5 ล้านคน

จาก  http://www.innnews.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2560

ค่าเงินบาทพลิกแข็งค่า ตลาดจับทางทรัมป์ส่งซิกเบรกดอลล์แข็ง

ค่าเงินบาทวันนี้ปรับตัวแข็งค่าหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณไม่อยากเห็นค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หวั่นเป็นอุปสรรคต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาทวันที่ 18 มกราคม ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดเมื่อวานนี้ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โดยนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าไม่ต้องการให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากนักเนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การประชุมของอังกฤษเกี่ยวกับการออกจากสหภาพอียู (Brexit) ล่าสุด มีมติให้ต้องได้รับการโหวตจากรัฐสภาของอังกฤษก่อน เกี่ยวกับการตัดสินใจออกจากอียู รวมถึงนโยบายต่างๆ ด้วย ดังนั้น นักลงทุนจึงมองว่าน่าจะลดความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ที่ช็อกตลาดเงินได้ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาหาเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามยังคงเป็นการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันนี้และการประกาศรับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ในวันพรุ่งนี้ (19 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น)

จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 18 มกราคม 2560

ถกทูตพาณิชย์รับมือทรัมป์กีดกัน พร้อมปรับแผนส่งออกดันเป้าโต3%

ก.พาณิชย์เตรียมประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก ถกปรับแผนดันส่งออกปี 60 รับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในเดือนหน้า ยอมรับผวาทรัมป์กีดกันการค้า สั่งทูตเกาะติดนโยบายที่ชัดเจน และวิเคราะห์ผลกระทบ เบื้องต้นยังมั่นใจส่งออกไทยปีนี้โตได้ 3% ด้านสรท.-ม.หอการค้าประเมินโตได้ 2-3% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอื้อ

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กรมได้เตรียมจัดประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก(65สำนักงาน)ในช่วงงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ(บางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 1 ของปี 2560) ครั้งที่ 59 ระหว่างวันที่ 22 – 26 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการส่งออกและประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ว่าจะมีการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่นายโดนัลด์ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่จะประกาศนโยบายในการบริหารประเทศหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้ และหลายฝ่ายมีความกังวลต่อสัญญาณการกีดกันการค้านั้น ในส่วนของกระทรวงยังคงต้องรอดูทิศทางนโยบายที่ชัดเจนหลังการแถลงของนายทรัมป์ก่อนว่า จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่

“การส่งออกไทยของไทยไปสหรัฐฯในเวลานี้ทางกรมยังไม่มีการปรับแผนอะไร แต่ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ไทยในสหรัฐฯได้เตรียมข้อมูลและผลกระทบไว้แล้วหลังทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้ และจะได้แถลงนโยบายอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานแรกที่ออกมาประกาศว่าการส่งออกของไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ที่3% ส่วนปัจจัยเสี่ยงนอกจากต้องจับตาการประกาศนโยบายของทรัมป์แล้วยังมีเรื่องค่าเงินบาทที่จะยังมีความผันผวน และผลกระทบจากกรณีอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิท ซึ่งขณะนี้ยังมีความไม่ชัดเจน เป็นต้น”

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงการส่งออกในปีนี้ว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่สูงกว่าปีก่อนมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวแต่ก็ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆสรท.คาดการส่งออกไทยในปีนี้ภายใต้สถานการณ์ปกติน่าจะขยายตัวได้ 2-3% แต่หากมีเหตุการณ์รุนแรงหรือควบคุมไม่ได้เช่น มีสงครามระหว่างประเทศ มีการก่อการร้าย หากเป็นเช่นนี้อาจทำให้ภาวะการค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมไปถึงภัยธรรมชาติ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นมองว่าโอกาสที่ส่งออกไทยยังจะขยายตัวนั้นยังมี แต่คงไม่ขยายตัวมาก แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นเกิดขึ้นจริง การส่งออกไทยในปีนี้อาจขยายตัวเพียง 0-2% เท่านั้น

“มองว่าปริมาณสินค้าส่งออกของไทยในปีนี้คงใกล้เคียงเดิม แต่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเป็นบวก หากจะให้มองทั้ง 4 ไตรมาส ส่วนตัวประเมินไว้ไตรมาสแรกการส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 1% ไตรมาส2 ขยายตัว2% ไตรมาส3 ขยายตัว 3% และไตรมาส4 ขยายตัว2% และทั้งปีน่าจะขยายตัว 2-3% ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องมีการปรับตัว เช่นการพัฒนาสินค้า และต้องรู้จริงตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ เทคนิคการผลิต มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต การนำนวัตกรรมมาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ”

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ทางศูนย์ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกของไทย ปี 2560 ว่า มีสัญญาณฟื้นตัว คาดในปีนี้การส่งออกของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 2.21 แสนล้านบาท ขยายตัวที่ค่าเฉลี่ย 2.8% ( อยู่ในช่วง 2.18-2.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 1.3- 4.2%) ปัจจัยหลักๆให้การส่งออกในภาพรวมขยายตัวดีขึ้น คือ การอ่อนลงของค่าเงินบาทส่งผลให้ไทยได้เปรียบในด้านราคาส่งออกมากขึ้น ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย อีกทั้งการค้าชายแดนและผ่านแดนรวมในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ดี

“แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลให้ไทยส่งออกไปจีนชะลอตัวลง การกีดกันทางการค้าของทรัมป์ซึ่งจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปและการเลือกตั้งของฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี อาจมีผลให้ไทยส่งออกไปอียูชะลอตัวลง เป็นต้น”

จาก  http://www.thansettakij.com  วันที่ 18 มกราคม 2560

าทเปิด 35.30 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 35.30 บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าจากแรงเทขายดอลล์ จากการแสดงความเห็นของ"ทรัมป์"

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.30 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ

35.30/32 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวานเงินบาทแข็งค่าเยอะมาก เพราะว่ามีแรงเทขายดอลลาร์ในตลาดโลกหลังจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาให้ความเห็นว่าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเกินไป ซึ่งจริงๆแล้วความเห็นของทรัมป์มุ่งเป้าไปที่จีนแต่ตลาดก็เหมารวมไปเลยทั้งภูมิภาคส่งผลให้มีแรงเทขายดอลลาร์ออกมา ส่วนประเด็นที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษออกมายืนยันว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปแน่นอนนั้น แต่ทิ้งท้ายไว้ว่าจะพยายามหาทางเจรจาการค้ากับอียูว่าจะออกมาในรูปแบบไหน" นักบริหารเงินกล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ไว้ระหว่าง 35.25-35.35 บาท/ดอลลาร์ "เชื่อว่าที่ระดับ 35.25 แบงก์ชาติน่าจะยันไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป"

จาก  http://www.posttoday.com วันที่ 18 มกราคม 2560

เตือนเฝ้าระวัง‘ด้วงหนวดยาวอ้อย’ กรมวิชาการแนะ‘ไร่อ้อย’ใช้วิธีผสมผสานเข้าจัดการ

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่การเพาะปลูกไร่อ้อย ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เข้าตรวจสอบปัญหาด้วงหนวดยาวระบาดอยู่ภายในไร่อ้อยอย่างหนัก โดยพบการเข้าทำลายในอ้อยปลูกได้รับความเสียหายประมาณ 40% และพบการเข้าทำลายในอ้อยตอได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 50% อีกทั้งยังพบการระบาดกระจายในพื้นที่ปลูกทั่วทั้งตำบลเขาขลุงกว่าหลายพันไร่ ซึ่งในปี 2560 กรมวิชาการเกษตรมีแผนการแก้ปัญหาด้วงหนวดยาวอ้อยในเขตพื้นที่ จ.ราชบุรี ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2560 คือ การเร่งสำรวจพื้นที่ระบาดพร้อมจัดรณรงค์ป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสานให้เกษตรกรทราบในวงกว้าง การจัดทำแปลงต้นแบบการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยในพื้นที่ระบาดเดิมและพื้นที่ระบาดใหม่ การเตรียมอ้อยพันธุ์ดีช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์ดี และการศึกษาทดสอบการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยกับระบบน้ำหยดในแปลงเกษตรกร โดยที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับกลุ่มโรงน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง ในการจัดอบรมการขยายเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมเพื่อใช้กำจัดด้วงหนวดยาวอ้อย และได้ลงพื้นที่แนะให้เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยโดยเร็วเพื่อลดความเสียหายของผลผลิตอ้อย รวมถึงแนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีในการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสาน คือ การใช้วิธีกล การใช้ศัตรูธรรมชาติกำจัดศัตรูพืช และการใช้สารเคมีช่วยในการป้องกันกำจัด

นายสุรพล สุขพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าทำลายของหนอนด้วงจะเจาะไชเข้าไปกัดกินเนื้ออ้อยภายในท่อนพันธุ์ตั้งแต่เริ่มปลูกอ้อย ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอก หนอนขนาดเล็กจะกัดกินเหง้าอ้อย ทำให้ระบบส่งน้ำและอาหารจากรากไปสู่ลำต้นและใบน้อยลง เมื่อหนอนใหญ่ขึ้นจะเจาะไชโคนลำต้นขึ้นไปกินเนื้ออ้อย ทำให้ลำต้นเป็นโพรงเหลือแต่เปลือก ลำต้นหักล้มและแห้งตายในที่สุด สำหรับวิธีในการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสาน โดยการใช้วิธีกลให้เกษตรกรไถพรวนดินแล้วเดินเก็บตัวหนอนและดักแด้ตามรอยไถในช่วงก่อนปลูกอ้อย ส่วนในช่วงค่ำให้จับหรือเดินเก็บตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวในแปลงอ้อย การใช้ศัตรูธรรมชาติกำจัดศัตรูพืช อ้อยปลูก ให้โรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมบนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ อ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมชิดกออ้อยแล้วกลบดิน อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หากมีความชื้นในดินจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น กรณีระบาดรุนแรง ให้ใช้สารเคมีช่วยในการป้องกันกำจัด แบบชนิดน้ำ อ้อยปลูก ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดิน อ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วพ่นชิดกออ้อยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 320 มิลลิลิตรต่อไร่ และให้กลบดิน แบบชนิดเม็ด อ้อยปลูก ให้โรยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยบนท่อนพันธุ์อ้อยพร้อมปลูกแล้วกลบดินอ้อยตอ ให้เปิดร่องอ้อยแล้วโรยชิดกออ้อยด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 0.3% จี อัตรา 6 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วให้กลบดิน

ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่สนใจวิธีป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสาน สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-3222-8377

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

ตั้งเป้าปี 60 ปีทองขยายการค้า-ลงทุนไทย "พาณิชย์" วางยุทธศาสตร์จับเข่าคุยคู่ค้า

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ปรับแผนการเจรจาการค้าตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งเป้าหมายให้ปี 60 เป็นปีทองแห่งการค้าและการลงทุนของไทย โดยมีแผนจะเจรจาเปิดตลาดการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย โดยการใช้กลยุทธ์การเจรจาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ศาสตร์เศรษฐกิจ หลังจากที่ปี 59 ประสบความสำเร็จในการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่น อิหร่าน รัสเซีย ศรีลังกา เกาหลีใต้

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายความสัมพันธ์ ยังมีแผนขยายความสัมพันธ์กับคู่ค้าสำคัญๆ เช่น สหรัฐฯ ที่จะจัดคณะผู้แทนระดับสูง เดินทางไปเยือนและหารือกันอย่างต่อเนื่อง และจะใช้เวทีการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA JC) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน เม.ย.60 ขยายการค้า การลงทุนระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของทีมเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมาหารือกับไทย รวมถึงจะร่วมมือกับอาเซียนผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สำเร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนของไทยเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้ทุกประเทศต้องการเจรจาการค้า การลงทุนกับไทย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน และมีความพร้อม ขณะที่รัฐบาลเปิดกว้างส่งเสริมการค้าและการลงทุน ส่วนในด้านการส่งออกปีนี้ กระทรวงฯตั้งเป้าหมายมูลค่าขยายตัว 3%  จากปีก่อน แต่อาจถึง 3.5%”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

ก.ล.ต.รับ”ไฟลิ่ง”กองทุนโรงไฟฟ้าน้ำตาลบุรีรัมย์

BRR เดินหน้าตั้ง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าน้ำตาลบุรีรัมย์” รวม 19.8 เมกกะวัตต์ ล่าสุด ก.ล.ต. ตอบรับไฟลิ่งแล้ว หวังเป็นทางเลือกลงทุน เตรียมนำเงินระดมทุน สร้างโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย

นายมนตรี  ศรไพศาล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ตอบรับคำยื่นเอกสารคำขอจัดตั้งและจัดการ (ไฟลิ่ง) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ผลิตจากกากอ้อย กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ โดยมีรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนรวม ร่างหนังสือชี้ชวน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน (ไฟลิ่ง)

สำหรับ ขั้นตอนต่อจากนี้ไป ก.ล.ต. จะดำเนินการสอบทานข้อเท็จจริงตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในไฟลิ่ง รวมไปถึงการเยี่ยมชม และรับฟังระบบงานในการจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งการตอบรับของ ก.ล.ต. ครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญ ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงทุนที่มีความมั่นคง มีรายได้สม่ำเสมอ และมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยเฉพาะท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้กองทุนนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี

นายอนันต์  ตั้งตรงเวชกิจ  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. เพื่อจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ โดยบริษัทจะโอนสิทธิรายได้จากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) เข้า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 19.8 เมกกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  ปริมาณรับซื้อพลังงานไฟฟ้าสูงสุดรวม 16 เมกะวัตต์

โดยบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Freed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่หน่วยละ 4.54 บาท ขณะที่ บริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟภ.จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ FiT เช่นกัน

สำหรับจุดเด่นของโรงไฟฟ้าในกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ คือ การใช้กากอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลมาเป็นวัตถุดิบจึงมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ผลตอบแทนจากโรงไฟฟ้าที่ผ่านมาสูงในระดับที่น่าพอใจ และลดความเสี่ยงด้านปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ

หลังจากจัดตั้งกองทุนแล้ว บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) จะเข้าไปถือหน่วยลงทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ยังคงได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน

ในส่วนเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายนำไปใช้ในโครงการก่อสร้าง โรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย หรือ Refinery เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เกรดสูงที่จะช่วยเพิ่มยอดขายต่อหน่วยได้สูงกว่าน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในอนาคต

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

หุ้นเด่น : ‘อุตฯน้ำตาลอยู่ในช่วงขาขึ้น’

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวงวิเคราะห์หุ้นบมจ.น้ำตาลขอนแก่นหรือ KSL โดยยังคงยืนยันและเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกที่มีต่อหุ้น KSL เนื่องจากช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมธุรกิจน้ำตาลในปี 2560 เราเชื่อว่าราคาหุ้นของ KSL ณ ปัจจุบันซึ่งซื้อขายที่อัตราส่วน PER ที่ 19.9 เท่าในปี 2560 ถือว่าไม่แพงเกินไป เนื่องจากหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มักจะซื้อขายกันที่ระดับ PER ที่เกิน 20 เท่าภายใต้ภาวะขาขึ้นของหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

ราคาน้ำตาลดิบตลาดนิวยอร์กหมายเลข 11 ขึ้นไปอยู่ที่ 20.5เซ็นต์ต่อปอนด์ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 หรือเพิ่มขึ้น 14% จากระดับที่ลดลงไปต่ำสุดที่ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 เนื่องจากเงินดอลลาร์อ่อนตัวและเงินเรียลที่กลับมาแข็งค่า การคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียที่มีแนวโน้มลดลงหลังจากที่กองทุนเทขายในช่วงก่อนปิดปี 2559 ถ้าอ้างอิงจากข้อมูลของ F.O. Lichts เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ภาวะดุลน้ำตาลโลกมีแนวโน้มขาดดุล 4.46 ล้านตันในปี 2559/60 ถือว่าแคบลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับขาดดุล 6.29 ล้านตันในปี 2558/59 และอัตราส่วนสต๊อกน้ำตาลต่อการบริโภคของโลกมีแนวโน้มลดลงจาก 38.9% ในปี 2558/59 เหลือ 35.2% ในปี 2559/60

เราคาดว่ากระทรวงเกษตรสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับลดสต๊อกน้ำตาลปลายงวดปี 2559/60 ของอินเดียลงจากปัจจุบันที่ 6.33ล้านตัน มาอยู่ที่ 4-5 ล้านตัน สำหรับในรอบถัดไปช่วงเดือนพฤษภาคม2560 และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มผลผลิตน้ำตาลในปี 2559/60 ของไทยจาก 9.27 ล้านตัน ไปเป็น 9.7 ล้านต้น (หรือเพิ่มขึ้น 5%) ในรอบถัดไปช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 เช่นกัน เนื่องจากผลผลิตต่อพื้นที่เพาะปลูกของไทยเพิ่มขึ้น (จากอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติในภาคเหนือและภาคอีสานในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) ถึงแม้ว่าอาจจะยังคงประมาณการตัวเลขปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบที่ 94 ล้านตันสำหรับในปี 2559/60 ก็ตาม

ณ วันที่ 10 มกราคม 2560 บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนธ.)ทำการล็อกสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้ากับลูกค้าไปแล้ว 78% สำหรับราคาส่งออกโควตา ข ที่ 21 เซ็นต์ต่อปอนด์ (บวกพรีเมียมแล้ว)หรือ 19.5 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ที่ไม่รวมพรีเมียม) เราเชื่อว่าราคาส่งออกโควตา ค ของ KSL จะชนะราคาส่งออกโควตา ข ของอนธ. คิดเป็น1 เซ็นต์ (หรือที่ 22 เซ็นต์ต่อปอนด์ที่บวกพรีเมียมแล้ว) ซึ่ง KSL ทำ

การล็อกสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้ว 70% สำหรับในปี 2559/60 KSL จะได้รับผลบวกจากมาร์จิ้นน้ำตาลที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ เรายังคาดว่าธุรกิจน้ำตาลในลาวและกัมพูชามีแนวโน้มพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิ 100 ล้านบาทในปี 2560 (จากขาดทุนสุทธิ186 ล้านบาท ในปี 2559) เนื่องจากปริมาณยอดขายน้ำตาลและราคาขายน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น เรายังคงสมมุติฐานสำหรับปริมาณยอดขายน้ำตาลโดยรวมในปี 2560 ซึ่งลดลง 6% YoY(เทียบกับเป้าของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 5% YoY)

การบริโภคเอทานอลในไทยยังคงเติบโต(เพิ่มขึ้น 5.2% YoYมาอยู่ที่ 7.63 ล้านลิตร ในช่วงเดือนตุลาคมพฤศจิกายน 2559) ปัจจัยหนุนมาจากการใช้แก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น เราคาดว่าปริมาณยอดขายเอทานอลในปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5% YoY (เทียบกับเป้าของบริษัทซึ่งคาดว่าจะเติบโต 7.2% YoY) และราคาขายเอทานอลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2% YoY สำหรับธุรกิจไฟฟ้า เราคาดว่ายอดขายไฟมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5% YoY (เทียบกับเป้าของบริษัทซึ่งคาดว่าจะเติบโต 17% YoY) การเดินเครื่องจักรอย่างไม่สะดุดของโรงไฟฟ้าบ่อพลอยจะกระตุ้นปริมาณยอดขายเอทานอลและไฟฟ้าในปี 2560 (เทียบกับการหยุดเดินเครื่องจักร 3 เดือนในปี 2559)

ที่มา : บล.บัวหลวง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์หนุนไทยปีทองแห่งการค้า

                    พาณิชย์ รับลูก “สมคิด” ผลักดันปีทองแห่งการขยายการค้าและการลงทุนไทย เตรียมเดินหน้าเจรจาการค้า เพื่อเปิดตลาดให้ธุรกิจไทยอย่างเต็มที่

                    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ มีแผนที่จะขยายความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ เช่น สหรัฐฯ ที่กำลังจะจัดคณะผู้แทนระดับสูง ทั้งภาครัฐและเอกชนเดินทางไปเยือน เพื่อหารือกันอย่างต่อเนื่อง และจะใช้เวทีการประชุมที่มีอยู่ คือ การประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเดือนเม.ย.ที่จะถึงนี้ ขยายการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ และถือเป็นครั้งแรก ของทีมเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่จะมาหารือกับไทย รวมทั้งจะใช้โอกาสที่อาเซียนและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ครบรอบ 40 ปี จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

 “ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับแผนการเจรจาการค้า ตามนโยบายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ตั้งเป้าหมาย ให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการค้า และการลงทุนของไทย โดยมีแผนที่จะเจรจาเปิดตลาดการค้า และการลงทุนให้ผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์การเจรจาการค้ารูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ในการเจรจากับประเทศคู่ค้า เพื่อขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ หลังจากที่ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการขยายความร่วมมือกับคู่ค้า ทั้งญี่ปุ่น อิหร่าน รัสเซีย ศรีลังกา และเกาหลีใต้ไปแล้ว”

 ขณะเดียวกัน จะร่วมมือกับอาเซียน ในการผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซพ) สำเร็จโดยเร็ว โดยในปีนี้ มีแผนการประชุมของคณะกรรมการเจรจาอีก 4 ครั้ง คาดว่าน่าจะสรุปผลการเจรจากันได้ ซึ่งจะเป็นอีกข้อตกลงการค้าหนึ่ง ที่จะช่วยในการขยายการค้าและการลงทุนของไทยได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

ขยายเป้าเกษตรแปลงใหญ่3ล้านไร่ เกษตรฯเปิดผลสำเร็จปี’59ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต4.2พันล.

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. เตรียมเสนอแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ หลังประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้สวนยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่ 11

จังหวัดภาคใต้เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยจากการสำรวจล่าสุดมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเสียหายจำนวน 95,789 ราย มีพื้นที่เสียหายรวม 739,926 ไร่ ซึ่ง กยท. ได้ดำเนินการออกระเบียบแนวทางการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดยแบ่งความช่วยเหลือตามอายุของต้นยาง ได้แก่ กรณีต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีครึ่ง จะได้รับการจัดงวดงานใหม่ในสวนปลูกแทน

เป็นค่าแรงขุดหลุม พันธุ์ยาง ปุ๋ย ในการปลูกซ่อม โดยจะเสนอของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลมาชดเชยในส่วนที่เกษตรกรได้ดำเนินการไปแล้วแต่เกิดความเสียหาย หลังจากนั้นจะจ่ายเงินตามปกติ กรณีต้นยางมีอายุ 2 ปีครึ่ง แต่ไม่เกิน 7 ปี ให้จัดงวดงานภายในงวด และนำเงินคงเหลือในงวดที่ผ่านมารวมกับค่าเงินค่าแรงและวัสดุในงวดถัดไป อีก 1 งวดมาจ่ายให้ก่อน กรณีต้นยางมีการเปิดกรีดแล้วเสียหาย จนเสียสภาพสวน ให้ขอรับการปลูกแทนตามระเบียบ กยท. จำนวนไร่ละ 16,000 บาท ภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

ทั้งนี้ กยท. ได้ยื่นเสนอของบสนับสนุนจากรัฐบาลในเบื้องต้น จำนวน 455 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเสียหาย โดยอาศัยระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ.2558 มาตรา 49 (2) พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ในการปลูกแทนต้นยางที่มีความทรุดโทรมเสียหาย เพื่อเยียวยาพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในเบื้องต้น

นอกจากนี้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย จะพิจารณานำเงินงบประมาณจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (5) จำนวน 398 ล้าน เพื่อช่วยเหลือในส่วนเงินสวัสดิการชาวสวนยาง 3,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อเยียวยาค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียโอกาสในการกรีดยางในช่วงน้ำท่วม ซึ่งเป็นสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง กยท. ไว้แล้ว โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 1.4 ล้านราย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ไทยใส่เกียร์ 5 เจรจา "RCEP"

ในโอกาสที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2560 ต้องจับตาหนึ่งในนโยบายสำคัญ คือการยุติการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นความตกลงรวมกลุ่มประเทศที่มีขนาดใหญ่ 12 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 40% ของ จีดีพี ส่งผลให้ 16 ประเทศรวมถึงไทยต้องเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ใน ภูมิภาค (RCEP) ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร" อัครราชทูตผู้แทนไทย ประจำองค์การการค้าโลก (WTO) ที่โยกกลับมารับตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ถึงนโยบายเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในปี 2560

- ทิศทาง RCEP หลัง TPP ชะงัก

หลังจากนายทรัมป์ประกาศว่าจะขอถอนตัวจาก TPP (วิดดอร์) ทำให้ RCEP กลายเป็นความตกลงที่มีศักยภาพสูงมาก เพราะรวม 16 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

จากนี้ไทยจะทุ่มสรรพกำลัง ไปยัง RCEP โดยล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพบรัฐบาลจีน ก็ยืนยันกับจีนว่า ไทยจะร่วมมือผลักดัน RCEP ให้สำเร็จโดยเร็ว และกรมได้พบกับทูตนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ก็ได้ยืนยันว่าจะผลักดัน RCEP อย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ตกขบวน

- การเจรจาที่ค้างอยู่ในรอบต่อไป

RCEP จะเจรจารอบต่อไปในวันที่ 27 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2560 ยังมีประเด็นที่ยังติดอยู่ เช่น รายละเอียดกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากการลดภาษีภายใน กลุ่ม RCEP หรือนอกกลุ่ม RCEP การเปิดเสรีภาคบริการแบบ Negative List ไทยไม่เคยเจรจาแบบนี้ เราใช้ Prositive List มาตลอด รูปแบบนี้จะมีความเข้มงวดมาก อะไรที่ต้องการปิดให้ใส่ไว้ในตารางข้อผูกพันที่ไม่อยู่ในตารางคือ เปิดเสรีหมด กลุ่มอาเซียนยังมีความกังวลอยู่ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นทิศทางการเจรจาในอนาคต จึงได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมกฎระเบียบต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ฉะนั้น เรารับได้ โดยในกลุ่มนี้แบ่งสินค้าบริการอ่อนไหวที่ต้องการสงวนชะลอการเจรจาเปิดเสรี ไว้อีก 5 ปี ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม

- ต้องแก้กฎหมายหรือไม่

การเปิดเสรีธุรกิจบริการเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งมีข้อยกเว้นในมาตรา 10 ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้เลยไม่ต้องแก้กฎหมายแต่ต้องเสนอ ครม.และ สนช.ให้ความเห็นชอบ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

- เป้าหมายสูงสุดการเปิดเสรีค้าบริการ

ขึ้นกับแต่ละประเทศว่าจะเปิดได้แค่ไหน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วมีความสนใจจะเปิดเสรีค้าบริการในบ้านเรามาก เพื่อจะสามารถถือหุ้นข้างมากได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจา บางอย่างเปิดได้บางอย่างเปิดไม่ได้ บางอย่างที่เราไม่มีความสามารถ เราต้องการเทคโนโลยีจากประเทศอื่นต้องการให้เข้ามามาก ๆ

- การเปิดเสรีภาคการลงทุน

ส่วนใหญ่เกือบทุกประเทศ มีความตกลงทวิภาคีเรื่องนี้อยู่แล้ว หัวใจของการเจรจากรอบนี้ มี 2-3 เรื่อง คือ 1) การส่งเสริม 2) การปกป้อง 3) การเปิดเสรี สำหรับเรื่องส่งเสริมทางบีโอไอทำอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องปกป้องที่ว่านี้ไม่ใช่กีดกันแต่หมายถึงการคุ้มครองนักลงทุน ซึ่งแต่ละประเทศมีการทำทวิภาคีคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันอยู่แล้วจึงไม่ ค่อยมีปัญหา ประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ คือ ISDS (Investor State Dispute Settlement) ซึ่งนั้นอยู่ในทวิภาคีอยู่แล้ว ส่วนประเด็นการเปิดเสรีการลงทุน โดยเฉพาะบางสาขาที่ต้องการให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาช่วยพัฒนา เช่น ท่าเรือน้ำลึก ท่าเทียบเรือสำราญ ไทยยังไม่มีโนว์ฮาวจะเปิดในส่วนนี้ เป็นต้น

- ปมถอดประธานาธิบดีจะกระทบ RCEP

ยังไม่น่าจะมีผลเชื่อมโยงมาถึง RCEP ที่ผ่านมาเกาหลีแสดงเจตนารมณ์ว่าจะผลักดัน RCEP อย่างเต็มที่ ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงเหมือนทรัมป์ ส่วนที่ในอาเซียนที่ยังมีปมขัดแย้งด้านอื่นนั้นทางรองนายกฯมีนโยบายให้เรามี บทบาทนำช่วยผลักดันเต็มที่

- ปี"60 สำเร็จทั้งหมด

เป็นความหวังที่ทุกคนอยากให้จบ แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาก เพียงแต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าจะใส่เกียร์ 5 เดินหน้าเต็มที่ แต่ว่าในอาเซียนยังมีคนที่มีความพร้อมน้อยกว่าอยู่ ตรงนี้ไทยต้องเล่นเป็นบทหัวหอกไปชักจูงกลุ่มประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ยังไม่มากเท่าคนอื่นก็ต้องดึงเข้ามา

- หากเจรจาเสร็จปีนี้จะมีผลบังคับใช้

เจรจาแล้วต้องกลับมาผ่านกระบวนการเพื่อให้สัตยาบัน อาจมีผลบังคับใช้ไม่ทันปี 2560 แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะมีผลดีทางจิตวิทยา ทำให้เกิดความน่าสนใจในการลงทุนแน่นอน เพราะ TPP ไม่มี RCEP จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แค่อินเดียรวมกับจีนมีจำนวนประชากร 50% ของประชากรโลก จะดีกับอนาคตการค้าโลก เพราะอย่างที่ทราบภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ชะลอตัว จีดีพีไทยเคยขยายตัว 5% ต่อปีแต่เหลือ 3% จีดีพีจีนเคยสูง 2 หลักแต่เหลือ 6% กว่าเท่านั้น

- กรมยังต้องศึกษา TPP ต่อหรือไม่

ยังศึกษาอยู่ ขณะนี้ทางปัญญาภิวัฒน์ส่งผลศึกษาเบื้องต้นมาแล้ว แต่คิดว่าสหรัฐน่าจะมาเจรจาทวิภาคีมากกว่า

- หมายถึงจะมีฟื้นเอฟทีเอไทย-สหรัฐ

แน่นอน ตอนนีถึงยังไม่มี FTA แต่มีการเจรจากรอบ TIFA ระดับเจ้าหน้าที่เพียงแต่ไม่มีระดับผู้นำเท่านั้นเอง ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยากจะรื้อฟื้นไม่ยาก เพราะยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไม่ได้ขัดแย้ง สาเหตุที่ FTA หยุดเพราะมีบางประเด็นยังไม่ลงตัว หากจะฟื้นขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะขอฟื้นก่อน ถ้าสหรัฐขอมาไทยต้องกลับมาพิจารณาก่อน ตอนนี้ที่ได้ยินข่าวมา คือทางทรัมป์กำลังฟอร์มทีมขึ้นมา คงจะให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้ปิดกั้นหากจะมีการเจรจา แต่มีจุดอ่อน-จุดแข็ง ต้องศึกษาให้รอบด้านก่อน แต่ปัจจุบันนโยบายไทยให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Economic Stetagic Partnership) ยิ่งกว่าเอฟทีเอ ทางกระทรวงพาณิชย์รับนโยบายนี้จะเปิดใจทำกับทุกประเทศ

- สถานะการเจรจาเอฟทีเออื่นของไทย

ขณะ นี้มีความตกลงเอฟทีเอทวิภาคีกำลังเจรจา 5 ฉบับ คือ อาเซียน-ฮ่องกง เจรจาไปแล้ว 9 รอบ, ไทย-ปากีสถาน คาดว่าจะสรุปได้ในปี 2560, ไทย-EFTA หยุดไปรอบ 2 เช่นเดียวกับไทย-อียูที่หยุดในรอบ 4 หลังเลือกตั้งคงมีการเจรจากันอีกครั้ง, และกำลังจะเริ่มเจรจาคือไทย-EAEU (สหภาพยูเรเซีย) คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-1.5 ปีจึงจะเริ่มเจรจา และไทย-ตุรกีที่เดิมมีกำหนดหารือรอบที่ 1 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 แต่ต้องชะลอเพราะสถานการณ์ความไม่สงบในตุรกี ส่วนความตกลง WTO จะมีประชุมระดับรัฐมนตรี (MC) ในปี 2561

- ปมที่ทูต WTO คนใหม่ต้องสานต่อ

ตอนนี้มี 2 เรื่อง คือ บุหรี่กับฟิลิปปินส์ซึ่งยังอยู่ระหว่างการตั้งคณะพิจารณา น่าจะสรุปในเร็ว ๆ นี้ ส่วนน้ำตาลกับบราซิลยังอยู่ในกระบวนการหารือ หรือ Consaltation ทางบราซิลยังชะลอการขอตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) เพราะสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย มีแผนจะปรับเปลี่ยนมาตรการหรือกฎระเบียบหลายอย่าง บราซิลพอใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามไทยยืนยันว่า ไม่ได้ทำอะไรผิดต่อหลัก WTO เพียงแต่ว่าการปรับแก้เป็นการปรับแก้ให้เกิดความเป็นธรรมกับกลุ่มคนที่ เกี่ยวข้อง และเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ใช่ถึงเวลามีปัญหามาช่วยกันที ดังนั้น เป็นไปได้ว่าหากปรับตัวได้โดยไม่ต้องมีการสนับสนุน ทางบราซิลก็อาจจะไม่ตั้ง Panel แต่ยังต้องหารือเป็นระยะ ๆ

จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2560

ไทยเร่งเจรจาFTAปากีสถานเปิดตลาดการค้า

รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย ไทยเร่งเจรจา FTA ปากีสถาน สรุปเปิดตลาดการค้าระหว่างกัน

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปากีสถานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย - ปากีสถาน ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 17 - 18 มกราคมนี้ ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เพื่อเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งการประชุม FTA ไทย - ปากีสถาน ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันที่จะเร่งหาข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดทำรูปแบบการลดภาษี และรายการสินค้าที่ต้องการ ให้มีการเปิดตลาดระหว่างกัน รวมทั้งการหารือประเด็นคงค้างในส่วนของข้อบทด้านการค้าสินค้า และประเด็นด้านกฎหมายอื่น ๆ

โดยการจัดทำ FTA ไทย - ปากีสถาน จะช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดการค้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจได้ เนื่องจากปากีสถานเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 195 ล้านคน

จาก  http://www.innnews.co.th วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2560

กอน.คาดไม่เกิน เม.ย.ปีหน้า ไทยจะประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย

        นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) คาดว่าประเทศไทยจะประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศประมาณเดือนตุลาคม ปีนี้ หรืออย่างช้าภายในเดือนเมษายน 2561 เนื่องจากต้องรอกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายชำระหนี้เงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หมดก่อน โดยการประกาศลอยตัวจะดำเนินการพร้อมกับการยกเลิกการแบ่งโควตาน้ำตาล ก.ข.และโควตา ค.ด้วย และการลอยตัวราคาน้ำตาลในช่วงนี้เหมาะสม เพราะราคาน้ำตาลตลาดโลกอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศเปลี่ยนแปลงไป

               สำหรับราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศปัจจุบันขายปลีกกำหนดไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม

               ขณะที่การเตรียมการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศนั้น คาดว่าแผนดำเนินการที่ชัดเจนจะออกในเดือนกุมภาพันธุ์นี้ โดยขณะนี้ทางคณะทำงานพิจารณาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมอบหมายให้กรรมการไปกำหนดรูปแบบการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย และแนวทางการยกเลิกโควตาน้ำตาล พร้อมพิจารณาความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับแนวทางดังกล่าว และให้นำผลสรุปให้คณะทำงานฯ 26 มกราคมนี้

               ส่วนแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลที่พิจารณามี 2 แนวทาง ซึ่งแนวทางประกาศลอยตัวตามกลไกตลาดโลกเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนอีกแนวทาง คือ กำหนดเพดานราคาขั้นต่ำสุด-สูงสุด ซึ่งแนวทางนี้ยังดำเนินการได้ยาก

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

สอน.จ่อลอยตัวราคาน้ำตาล 26ม.ค.นัดถกชาวไร่-โรงงาน เตรียมแผนเลิกระบบโควตา

สอน.เรียกถก 26 ม.ค.ประเมินกระทบยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย เผยมี 2 ทางเลือก กำหนดราคาเพดาน หรือลอยตัวตามตลาดโลก จี้กองทุนอ้อยฯ ต้องเร่งจ่ายหนี้กว่าหมื่นล้านก่อนเปิดเสรี ยันป้องกันปัญหาในอนาคต พร้อมเผยได้ชี้แจ้งบราซิลรับทราบแล้ว

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีการประชุมเพื่อกำหนดรูปแบบการลอยตัวและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ไปประเมินความเสี่ยงผลดีและผลเสียของการลอยตัวน้ำตาลทรายและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย ซึ่งจะเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้ชาวไร่ โรงงานน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบ โดยจะมีการประชุมนัดต่อไปในวันที่ 26 ม.ค.2560

เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดแนวทางการลอยตัว 2 แนวทาง คือ การกำหนดเพดานราคาไว้เป็นขั้นสูงและขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการกำหนดไว้เป็นทางเลือกเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติอาจทำได้ยาก เนื่องจากยังอยู่ในรูปแบบที่อาจมีผลกระทบในภายหลัง และแนวทางที่สอง คือ การลอยตัวราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูการผลิต 2560/2561 คือช่วงเดือน ต.ค.2560 ขณะเดียวกันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องชำระหนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาทให้หมดในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตหากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว

"ตามกรอบการลอยตัวที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ คือ ช่วงต้นฤดูหีบอ้อยปี 2560/2561 หรือประมาณเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้แจ้งกับทางการบราซิล ว่า โครงสร้างน้ำตาลใหม่จะเริ่มในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากหนี้กองทุนอ้อยฯ ไม่สามารถชำระได้ทันก็อาจเลื่อนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปเป็นไม่เกินเดือน เม.ย.2561 เพราะหนี้กองทุนฯ จะหมดแล้ว แต่ยืนยันว่าขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีในการลอยตัว เพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 23.50 บาทต่อ กก. เนื่องจากราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 20 เซนต์ต่อปอนด์ แต่หากล่าช้าออกไปจะมีความเสี่ยงจากการปรับตัวในราคาตลาดโลก" นายสมศักดิ์กล่าว

สำหรับการยกเลิกโควตามีการหารือกับบราซิลแล้ว ซึ่งบราซิลเห็นด้วยกับการยกเลิกโควตา แต่ต้องมีการสต็อกเพื่อลดความเสี่ยง (บัฟเฟอร์ สต็อก) และยังต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสมว่า ควรอยู่ที่เท่าใด ในเบื้องต้นมองว่าควรอยู่ที่ 30 ล้านตัน ซึ่งเป็นการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลโควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ 2.6 ล้านตัน และส่วนหนึ่งของโควตา ค. ซึ่งเป็นส่วนการผลิตเพื่อส่งออก แต่กันไว้ใช้ในประเทศ 3-4 แสนตัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านตัน.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

สอน.ถกลอยตัว-เลิกโควตาน้ำตาล26ม.ค.

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีการประชุมเพื่อกำหนดรูปแบบการลอยตัวและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายโดยที่ประชุมมอบหมายให้คณะกรรมการฯ

ไปประเมินความเสี่ยงผลดีและผลเสียของการลอยตัวน้ำตาลทรายและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย ซึ่งจะเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้ชาวไร่ โรงงานน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบโดยจะประชุมนัดต่อไปในวันที่ 26 มกราคม 2560

เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดแนวทางการลอยตัว 2 แนวทางคือ 1.การกำหนดเพดานราคาไว้เป็นขั้นสูงและขั้นต่ำ ในทางปฏิบัติอาจทำได้ยากเพราะอาจมีผลกระทบในภายหลัง 2.การลอยตัวราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะต้องให้แล้วเสร็จก่อนฤดูกาลผลิต 2560/2561 คือช่วงเดือนตุลาคม 2560 ขณะเดียวกันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องชำระหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทให้หมดในช่วงเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการยกเลิกโควตามีการหารือกับบราซิลแล้ว ซึ่งเห็นด้วยกับการยกเลิกโควตาแต่ต้องมีสต๊อกเพื่อลดความเสี่ยง (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เบื้องต้นมองว่าควรอยู่ที่ 30 ล้านตัน คำนวณจากปริมาณน้ำตาลโควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ 2.6 ล้านตัน และส่วนหนึ่งของโควตา ค. ซึ่งเป็นส่วนการผลิตเพื่อส่งออกแต่กันไว้ใช้ในประเทศ 3-4 แสนตัน รวมประมาณ 3 ล้านตัน

ส่วนการเก็บเงินค่ารักษาเสถียรภาพเข้า กท.ตามมาตร 57 ของพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่คำนวณจากปริมาณอ้อยเข้าหีบ ปีการผลิต 2558/2559 อยู่ที่ 94 ล้านตัน โดยหักเงินจากชาวไร่และโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70 : 30 หรือ เรียกเก็บเงินทุกตันอ้อยอยู่ที่ 11 บาท ซึ่งจะมีเงินส่งเข้ากท.อยู่ที่ 1,030ล้านบาท และเงินจากการขายน้ำตาลที่ต้องส่งเข้ากท.เฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อเดือน หากจัดเก็บเงินส่งเข้ากท.ได้ตามเป้าหมายปีนี้จะมีเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้กท.ชำระหนี้เดิมได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

ลุยลอยตัวราคาน้ำตาลเสรี

สอน.ชง 2 แนวทางลอยตัวราคาน้ำตาล เตรียมระดมความเห็นก่อนนัดถก 26 ม.ค.นี้ เล็งใช้ ต.ค. 2560

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อกำหนดรูปแบบการลอยตัวและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย โดยเบื้องต้นกำหนดแนวทางการลอยตัว

 2 แนวทาง คือ การกำหนดเพดานราคาไว้เป็นขั้นสูงและขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการกำหนดไว้เป็นทางเลือกเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติอาจทำได้ยากเนื่องจากยังอยู่ในรูปแบบที่อาจมีผลกระทบในภายหลัง

สำหรับแนวทางที่ 2 คือ การลอยตัวราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูการผลิต 2560/2561 คือช่วงเดือน ต.ค. 2560 ขณะเดียวกันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องชำระหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ให้หมดในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตหากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ไปประเมินความเสี่ยงผลดีและผลเสียของการลอยตัวน้ำตาลทรายและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายเพื่อจะเสนอเป็นแนวทางให้ชาวไร่ โรงงานน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประเมินผลกระทบและจะนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 26 ม.ค. 2560

"ตามกรอบการลอยตัวที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ คือ ช่วงต้นฤดูหีบอ้อยปี 2560/2561 หรือประมาณเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้แจ้งกับทางการบราซิลว่าโครงสร้างน้ำตาลใหม่จะเริ่มในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากหนี้กองทุนอ้อยฯ ไม่สามารถชำระได้ทันก็อาจเลื่อนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปเป็นไม่เกินเดือน เม.ย. 2561 เพราะหนี้กองทุนฯ จะหมดแล้ว แต่ยืนยันว่าขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีของการลอยตัวเพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 23.50 บาท/กิโลกรัม เพราะราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 20 เซนต์/ปอนด์ แต่หากล่าช้าออกไปจะมีความเสี่ยงจากการปรับตัวในราคาตลาดโลก" นายสมศักดิ์ กล่าว

สำหรับการยกเลิกโควตามีการหารือกับบราซิลแล้ว ซึ่งบราซิลเห็นด้วยกับการยกเลิกโควตา แต่ต้องมีการสต๊อกเพื่อลดความเสี่ยง (บัฟเฟอร์ สต๊อก) แต่ยังต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสมว่าควรอยู่ที่เท่าใด โดยเบื้องต้นมองว่า ควรอยู่ที่ 30 ล้านตัน ซึ่งเป็นการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลโควตา

ก. เพื่อบริโภคในประเทศ 2.6 ล้านตัน และส่วนหนึ่งของโควตา ค.เป็นส่วนการผลิตเพื่อส่งออกแต่กันไว้ใช้ในประเทศ 3-4 แสนตัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านตัน

ด้านการเก็บเงินค่ารักษาเสถียรภาพเข้า กท. ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่คำนวณจากปริมาณอ้อยเข้าหีบ ปีการผลิต 2558/2559 อยู่ที่ 94 ล้านตัน โดยหักเงินจากชาวไร่และโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70:30 หรือเรียกเก็บเงินทุกตันอ้อยอยู่ที่ 11 บาท ซึ่งจะมีเงินส่งเข้า กท. อยู่ที่ 1,030 ล้านบาท และเงินจากการขายน้ำตาลที่ต้องส่งเข้า กท. เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น หากจัดเก็บเงินส่งเข้า กท.ได้ตามเป้าหมายในปีนี้จะมีเงินรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ กท.สามารถชำระหนี้เดิมได้

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างทั้งหมดจะมีความชัดเจนภายในเดือน ก.พ.นี้ ก่อนนำไปหารือกับตัวแทนจากบราซิลและองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือน มี.ค. 2560 หลังจากนั้นจะได้นำมาปรับอีกครั้งหากมีประเด็นที่ยังต้องการให้แก้ไขก่อนจะมีการบังคับใช้จริง ช่วงก่อนการหีบอ้อยฤดูการผลิต 2560/2561

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

เอาแน่!ลอยตัว-ยกเลิกโควตาน้ำตาล

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ได้กำหนดรูปแบบการลอยตัวและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย โดยมอบหมายให้คณะกรรมการฯ ไปประเมินความเสี่ยงผลดีและผลเสียของการลอยตัวน้ำตาลทรายและการยกเลิกโควตาน้ำตาล ซึ่งจะเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้ชาวไร่ โรงงานน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบ โดยจะประชุมนัดต่อไปวันที่ 26 ม.ค.2560

 ทั้งนี้ เบื้องต้นกำหนดแนวทางการลอยตัว 2 แนวทาง คือ การกำหนดเพดานราคาไว้เป็นขั้นสูงและขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการกำหนดไว้เป็นทางเลือกเท่านั้น แต่ทางปฏิบัติอาจทำได้ยาก เนื่องจากยังอยู่ในรูปแบบที่อาจมีผลกระทบในภายหลัง และแนวทางที่สอง คือ การลอยตัวราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูการผลิต 2560/2561 คือช่วงเดือน ต.ค.2560 ขณะเดียวกัน กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องชำระหนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ให้หมดในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตหากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม หากหนี้กองทุนอ้อยฯ ไม่สามารถชำระได้ทันก็อาจเลื่อนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปเป็นไม่เกินเดือน เม.ย.2561 เพราะหนี้กองทุนฯจะหมดแล้ว.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

สอน.ลุย! ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายใน ต.ค.นี้  

         สอน.เผยเตรียมหารือ 26 ม.ค.นี้ เพื่อเดินหน้าหาแนทางการลอยตัวน้ำตาลทราย หวังให้ทันเดือนตุลาคมนี้

               นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ไปประเมินความเสี่ยงผลดีและผลเสียของการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย ซึ่งจะเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้ชาวไร่โรงงานน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบ โดยจะมีการประชุมในวันที่ 26 ม.ค. 2560 อีกครั้ง

               ทั้งนี้ เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดแนวทางการลอยตัว 2 แนวทาง คือ การกำหนดเพดานราคาขั้นสูงและต่ำและแนวทางที่สองคือ การลอยตัวราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูการผลิต 2560/2561 คือช่วงเดือน ต.ค. 2560 ขณะเดียวกัน กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องชำระหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทให้หมดในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตหากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว

               “อย่างไรก็ตาม หากหนี้กองทุนอ้อยฯ ไม่สามารถชำระได้ทันก็อาจเลื่อนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปเป็นไม่เกินเดือน เม.ย. 2561 เพราะหนี้กองทุนฯ จะหมดแล้ว แต่ยืนยันว่าขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีในการลอยตัวเพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 23.50 บาทต่อ กก. เพราะราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่หากล่าช้าออกไปจะมีความเสี่ยงจากการปรับตัวในราคาตลาดโลก” นายสมศักดิ์กล่าว

               สำหรับการยกเลิกโควตามีการหารือกับบราซิลแล้ว บราซิลเห็นด้วยกับการยกเลิกโควตา แต่ต้องมีการสต็อกเพื่อลดความเสี่ยง (บัฟเฟอร์สต๊อก) แต่ยังต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสมว่าควรอยู่ที่เท่าใด แต่เบื้องต้นมองว่าควรอยู่ที่ 30 ล้านตัน ซึ่งเป็นการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลโควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ 2.6 ล้านตัน และส่วนหนึ่งของโควตา ค. ซึ่งเป็นส่วนการผลิตเพื่อส่งออก แต่กันไว้ใช้ในประเทศ 3-4 แสนตัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านตัน

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

ลุยยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เร่งสร้างการรับรู้มาตรการด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจะต้องสร้างการรับรู้และความตระหนักให้แก่ประชาชนให้ได้ทราบถึงมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยต่างๆ ว่า หน่วยงานใดเป็นผู้รับรอง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน เช่น หากเป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็จะเรียกว่าสินค้าปลอดภัย แต่ถ้าเป็นการรับรองสินค้าอินทรีย์ เรียกว่า

ออร์แกนิกไทยแลนด์ หรือแม้แต่มาตรฐานการรับรองระดับต่างๆ เช่น GAP หรือ สินค้า Q เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องสร้างสถานที่สำหรับขายสินค้าเพื่อหาตลาดให้กับสินค้าเหล่านั้น รวมทั้งมีการตรวจติดตามสินค้าเกษตร โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดจากหน่วยงานราชการด้วย

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดคำจำกัดความเกี่ยวกับสินค้าเกษตรไว้ 2 ประเภท ได้แก่ เกษตรปลอดภัย หรือ เกษตรที่ได้รับรองมาตรฐาน Good Agricultural Practice

 (GAP) คือ “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสําหรับการผลิตพืชเพื่อเก็บเกี่ยวผลิตผลสําหรับใช้เป็นอาหาร เช่น พืชผัก ไม้ผล

 พืชไร่ พืชเครื่องเทศ พืชสมุนไพร ทุกขั้นตอนของการผลิตในระดับฟาร์มและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีการบรรจุ และ/หรือรวบรวม ผลิตผลเพื่อจําหน่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการบริโภค โดยคํานึงถึงสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน”

ด้าน นายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดหาสถานที่สำหรับจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2560 โดยจะมีการเปิดตลาดที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ และภาคเอกชนจัดตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพ อ.ต.ก. ของดีเมืองเพชรบุรี การปรับปรุงพื้นที่ Mini อ.ต.ก. ขอนแก่น Mini อ.ต.ก. สงขลา ให้เป็นตลาด อ.ต.ก. แบบถาวร และจะเปิดตลาด อ.ต.ก. กทม. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบริหารสินค้าเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ยังจะจัดพื้นที่ในตลาด อ.ต.ก. ให้กับ Young Smart Farmer นำสินค้าหมุนเวียนมาจำหน่ายอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

หอค้าไทย เตรียมทบทวนยุทธศาสตร์เออีซี ก่อนชง "บิ๊กตู่"

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเร่งรัดการใช้ประโยชน์การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ว่าเดิมภาคเอกชนมียุทธศาสตร์ที่ได้ทำไว้กับภาครัฐอยู่แล้ว ก็ต้องนำมาทบทวนว่าจะมีการเพิ่มเติมประเด็นใดอีก เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชนต่อเอกชนให้มากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าบ้างเรื่องอาจไม่มีการทำแผนร่วมกัน เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำเสนอรัฐบาลต่อไป

"หอการค้าไทยเองก็กำหนดหลังจากหยุดยาวปีใหม่ จะประชุมหารือเพื่อติดตามและทบทวนเรื่องเออีซีอยู่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญยิ่งเป็นเรื่องที่ดี และเพิ่มน้ำหนักต่อการผลักดันให้มากขึ้น ในส่วนของเอกชนเราก็มีความคืบหน้ากันตลอด โดยปลายสัปดาห์นี้ภาคเอกชนไทยประมาณ 100 ราย จะเดินทางไปเยือนประเทศลาว เพื่อหารือการค้า การลงทุน และปัญหาอุปสรรคที่ควรลดระหว่างกัน ก็เป็นอีกแนวทางที่ผลักดันการใช้ประโยชน์จากเออีซี" นายอิสระกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

เร่งเปิดเวทีเจรจาเอฟทีเอไทย-ศรีลังกา หวังเพิ่มการค้า 2 เท่าตัวในปี 63

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายริชาด บาติอูดีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของศรีลังกา พร้อมคณะ ว่า ศรีลังกาขอให้ไทยเร่งเปิดเจรจาความตกลงเปิดเสรีทางการค้า(เอฟทีเอ)ไทยกับศรีลังกา ซึ่งไทยแจ้งว่าอยู่ระหว่างการศึกษาก่อนขอความเห็นชอบตามกฎหมายภายในประเทศ คาดได้ข้อสรุปกลางปีนี้  ถือไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่มีแผนจะเจรจาเอฟทีเอกับศรีลังกา

“เบื้องต้นประเมินหลังเปิดเสรีการค้าระหว่างกัน จะเพิ่มมูลค่า 2 ฝ่ายจากปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 3 ปี หรือภายใน 2563 และยังเป็นประตูการค้าของไทยเข้าสู่ประเทศอินเดียด้วย ”

พร้อมกันนี้ ศรีลังกาต้องการดึงดูดนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ โดยเบื้องต้นขอการสนับสนุนการพัฒนาแปรรูปสินค้าการเกษตรอย่างผลไม้อบแห้ง งานหัตถกรรม สินค้าโอท้อป และธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของศรีลังกาในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา ปี 2558 มีมูลค่า 490 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 380 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

นายกฯสั่งติดเครื่อง 'อีอีซี' ปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ

"นายกรัฐมนตรี" เร่งรัดโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กำชับต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมในปีนี้ พร้อมตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 2 ชุด

คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ประชุมนัดแรกวานนี้(12 ม.ค.) โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เร่งรัดโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในปีนี้

อีอีซีถือเป็นหนึ่งในนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าคณะกรรมการฯเร่งขับเคลื่อนนโยบายอีอีซีให้เป็นรูปธรรม โดยตั้งกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นคณะกรรมการชุดใหญ่มาคอยดูแลในเชิงนโยบาย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนอีกชุด คือ คณะกรรมการบริหารและพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยจะเป็นคณะกรรมการที่ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน

“คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นทั้งสองชุดเพื่อให้งานเดินหน้าไปก่อนระหว่างที่รอกฎหมายอีอีซีมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะส่งให้ ครม.พิจารณาและส่งให้ สนช.ต่อไป โดยขณะนี้สามารถเดินหน้าจัดทำรายละเอียดที่สำคัญเช่น การกำหนดพื้นที่ให้แต่ละประเภทของอุตสาหกรรม,การกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษ นอกเหนือจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) การวางระบบขนส่งให้เชื่อมโยงข้างในอีอีซีและเชื่อมโยงไปสู่นอกประเทศ เพื่อที่สุดท้ายแล้วอย่างน้อยจะได้มีแผนผังว่าในอีอีซี มีอะไรอยู่ที่ไหนบ้างให้เห็นภาพได้โดยเร็ว เมื่อกฎหมายคลอดออกมาจะมีกลไกถาวรมากำกับดูแลให้เกิดการลงทุนตามนโยบายต่อไป” นายอุตตม กล่าว

นายกฯสั่งเร่ง 5 ด้านสำคัญในปีนี้

นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะทำงานด้านการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก กล่าวว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก แต่ละประเทศมีการใช้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนพื้นที่อีอีซี โดยหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ40% และสามารถระดมการลงทุนผ่านการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐได้

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ขับเคลื่อน5เรื่องที่สำคัญเพื่อให้โครงการอีอีซีเห็นผลที่เป็นรูปธรรมภายในปีนี้ประกอบไปด้วย1.การลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งในขณะนี้ความก้าวหน้าไปมากทั้งการก่อสร้างทางขึ้นลงเครื่องบิน (รันเวย์) ที่2การสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับจำนวนผู้โดยสารจาก8แสนคนเป็น3ล้านคน โครงการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ของโลกทั้งแอร์บัส และโบอิ้ง ที่ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน

2.การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่3ซึ่งจะสร้างการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือจากไทยไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี 3.โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง ซึ่งได้มีการออกแบบให้เส้นทางมีการเชื่อมโยงสนามบินทั้ง3แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งถือเป็นหัวใจในการลงทุนของอีอีซี 4.สิทธิประโยชน์ที่จะใช้ดึงดูดนักลงทุนระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี เพื่อสร้างการต่อยอดของอุตสาหกรรมในไทยให้สามารถยกระดับการผลิตได้ รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยและการลงทุนวิจัยและพัฒนาระดับโลก

“ในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าการดึงดูดนักวิจัยระดับโลกเข้ามาทำงานในพื้นที่เพื่อสร้างการวิจัยและพัฒนาควรจะพิจารณาให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับนักวิจัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย”

สร้างเมืองใหม่ฉะเชิงเทรารองรับ

5.การผลักดันการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่3จังหวัด จ.ระยอง จ.ชลบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา จะทำให้เกิดเมืองใหม่ ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ได้เสนอว่าควรมีการวางแผนพัฒนาเมืองฉะเชิงเทราขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยทันสมัยเพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯและการเติบโตของเมืองหลังการขยายตัวของอุตสาหกรรมในชลบุรีและระยอง

“โครงการพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะเป็นโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเดียวแต่การพัฒนานี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการท่องเที่ยว และความเจริญของพื้นที่ต่างๆ จะทำให้เกิดเมืองใหม่และการกระจายรายได้ ซึ่งจะต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และโรดโชว์สร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ"

นายกานต์ กล่าวว่าหลังจากนี้จะต้องมาหารือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องหากับบีโอไอที่จะต้องไปทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้นเพราะเรามีความพร้อม ทั้งเรื่องแผนการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน กฎหมายและสิทธิประโยชน์ที่สนับสนุน“ นายกานต์ กล่าว

เร่งลงทุน4หมื่นล้านให้เกิดจริงปีนี้

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าในปีที่ผ่านมามีภาคเอกชนที่ยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ประชุมฯมอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องผลักดันการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงในปีนี้

ส่วนการผลักดันเรื่องกฎหมายและกองทุนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันวงเงิน1หมื่นล้านบาทก็จะผ่านขั้นตอนของกฎหมายในเร็วๆนี้

นายปรเมธี กล่าวว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็มีความคืบหน้าไปตามลำดับโดยโครงการรถไฟขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังที่กำหนดแล้วเสร็จในปี2561 มีความคืบหน้าแล้ว40%โครงการมอเตอร์เวย์พัทยา–มาบตาพุด กำหนดแล้วเสร็จในปี2562มีความคืบหน้าแล้ว 20% รถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย กำหนดแล้วเสร็จในปี2562มีความคืบหน้าไปแล้ว25%เป็นต้น

สำนักงบฯเพิ่มงบหนุนประชารัฐ

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบกรอบวงเงินโครงการตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ จำนวน110,433ล้านบาท โดยขยายวงเงินจากเดิมที่จะมีการอนุมัติโครงการไม่เกินวงเงิน1แสนล้านบาทจากงบประมาณกลางปี2560 วงเงิน1.9แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯเสนอ

การคัดกรองจากโครงการที่กลุ่มจังหวัดเสนอเข้ามาขอใช้งบประมาณกลางปี 2560 ประมาณ 234,000 ล้านบาท ให้เหลือเฉพาะโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการได้ทันทีในปี2560

ส่วนงบประมาณที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะมีการลงทุนให้กลุ่มจังหวัดเตรียมโครงการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการกลุ่มจังหวัด (กนจ.) พิจารณาต่อไปในปีงบประมาณ2561 โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและแผนยุทธศาสตร์ชาติ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2560 จะทำรายละเอียดเสร็จภายในวันที่17ม.ค. และจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสนช.พิจารณาเห็นชอบ 3 วาระในวันที่ 24 ม.ค. หลังจากนั้นเงินงบประมาณในส่วนนี้จะทยอยลงระบบเศรษฐกิจทันที

16 ม.ค.นี้ถกกองทุนเอสเอ็มอี

นายอุตตม กล่าวอีกว่าที่ประชุมยังได้มีการหารือในเรื่องการพัฒนาสนับสนุนเอสเอ็มอี ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยสำนักงบประมาณเสนอในหลักการอนุมัติงบเพิ่มกลางปี 2560 ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในชุมชนสร้างความเจริญจากภายในชุมชนโดยไม่ต้องรอให้มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปลงทุน

ในงบกลางปีนี้ ส่วนหนึ่งจะจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในปีนี้ มีกรอบวงเงินกองทุนไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะร่วมกันดูแลกองทุนนี้

“ในวันที่ 16 ม.ค. นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประชุมกำหนดกรอบการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งจะมีความชัดเจน”

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 13 มกราคม 2560

'กลุ่มพลังงานทดแทน'ไร้ผลกระทบ

บจ.-โบรกเกอร์มองโซลาร์ราชการเฟส2 "ชะงัก" ไม่กระทบกลุ่มพลังงานทดแทน เหตุไม่ได้รวมโครงการใหม่ "ในประมาณการ"

จากกรณีที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) พิจารณาทบทวนแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) จากส่วนราชการ ระยะที่ 2 จำนวน 519 เมกะวัตต์ ในวันที่ 17 ม.ค. นี้ หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความออกมาแล้วว่าส่วนราชการไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าได้

เบื้องต้นอาจปรับรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ส่วนราชการเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่น หรืออาจดำเนินการในรูปแบบโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชน และอาจเปลี่ยนรูปแบบมาใช้วิธีการประมูลมาเป็นการจับสลากแทน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่าส่วนตัวเชื่อว่าภาครัฐจะยังคงดำเนินนโยบายตามแผนระยะยาวในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น แต่ในระยะสั้นคงต้องติดตามผลการประชุมของหน่วยงานภาครัฐว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร

ส่วนผลกระทบต่อบริษัทเอกชนนั้น มองว่าไม่ได้มีมาก เพราะโดยปกติแล้วจะไม่ได้รวมโครงการใหม่ๆ ที่แต่ละบริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาตเข้ามาในประมาณการ ส่วนภาพรวมของทั้งกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนปี 2560 ต้องเลือกลงทุนเป็นรายบริษัท

นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)PSTC กล่าวว่า บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หากมีการยกเลิกการประมูลโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ระยะที่ 2 ที่เหลือจำนวน 519 เมกะวัตต์ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นรูปแบบจับสลาก ไม่สามารถคาดหวังผลการได้รับใบอนุญาตขายไฟฟ้าได้ ปัจจุบันมุ่งเป้าหมายไปที่การเปิดประมูลใบอนุญาตขายไฟฟ้าพลังงานชีวมวล-ชีวภาพมากกว่า ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์ รอเพียงแค่กำหนดการเปิดประมูล

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมกำลังการผลิตรวม 23 เมกะวัตต์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 13 มกราคม 2560

โชว์ผลงานหีบอ้อยโค้งแรก 19.37 ล้านตัน

  อุตสาหกรรมอ้อยฯ โชว์ข้อมูลรายงานผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ช่วงโค้งแรก 35 วัน หลังเปิดหีบอ้อยตั้งแต่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา พบประสิทธิภาพการหีบอ้อยเป็นน้ำตาลทรายได้ดีขึ้นสามารถรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น

นายรังสิต  เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาลทรายว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลา 35 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า โรงงานน้ำตาลมีประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีการใช้กำลงการผลิตเฉลี่ย 1.02 ล้านตันอ้อยต่อวัน เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 0.98ล้านตันอ้อย

 ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานผลผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย ยังพบว่า คุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงเดือนแรกยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในช่วงแรกของฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 86.82 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบในปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 81.54กิโลกรัมต่อตันอ้อยเท่านั้น ขณะที่ค่าความหวานของอ้อยก็ดีขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 10.96 ซี.ซี.เอส. สูงกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10.33ซี.ซี.เอส.

  "ในช่วงแรกของฤดูการหีบอ้อยปี 59/60 นี้ ภาพรวมการผลิตน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากโรงงานน้ำตาลเตรียมพร้อมรองรับผลผลิตอ้อยของชาวไร่ไว้เป็นอย่างดี ทำให้ประสิทธิภาพการหีบอ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลดีขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการต่างๆของโรงงานน้ำตาลที่รณรงค์ให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งให้แก่โรงงานมากขึ้น ทำให้ปริมาณอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน" นายรังสิต กล่าว

 ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายพบว่า จากปริมาณอ้อยเข้าหีบกว่า 19.37 ล้านตันนั้น แบ่งเป็นอ้อยสด 8.48ล้านตันอ้อย และมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 10.89 ล้านตันอ้อย แตกต่างจากฤดูการผลิตปีก่อนที่พบว่า ชาวไร่ส่งอ้อยไฟไหม้สูงกว่าอ้อยสด ดังนั้น จากตัวเลขรายงานผลผลิตในช่วงโค้งแรกของฤดูการหีบอ้อยปีนี้ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จากการที่ชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงานเพิ่มขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

หีบอ้อยโค้งแรกฤดูการผลิต 59/60 ยิลด์ผลิตน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ดี หลังชาวไร่ส่งมอบอ้อยสดแก่โรงงานเพิ่มขึ้น

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โชว์ข้อมูลรายงานผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ช่วงโค้งแรก 35 วัน หลังเปิดหีบอ้อยตั้งแต่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา พบประสิทธิภาพการหีบอ้อยเป็นน้ำตาลทรายได้ดีขึ้นสามารถรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น ขณะที่ยิลด์น้ำตาลทรายต่อตันและค่าความหวานของอ้อยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ระบุมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว 19.37 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายได้ 16.82 ล้านกระสอบ

          นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาลทรายว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลา 35 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า โรงงานน้ำตาลมีประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 1.02 ล้านตันอ้อยต่อวัน เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 0.98 ล้านตันอ้อย

          ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานผลผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย ยังพบว่า คุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงเดือนแรกยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในช่วงแรกของฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 86.82 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบในปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 81.54 กิโลกรัมต่อตันอ้อยเท่านั้น ขณะที่ค่าความหวานของอ้อยก็ดีขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 10.96 ซี.ซี.เอส. สูงกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10.33 ซี.ซี.เอส.

          "ในช่วงแรกของฤดูการหีบอ้อยปี 59/60 นี้ ภาพรวมการผลิตน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากโรงงานน้ำตาลเตรียมพร้อมรองรับผลผลิตอ้อยของชาวไร่ไว้เป็นอย่างดี ทำให้ประสิทธิภาพการหีบอ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลดีขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการต่างๆของโรงงานน้ำตาลที่รณรงค์ให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งให้แก่โรงงานมากขึ้น ทำให้ปริมาณอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน" นายรังสิต กล่าว

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายพบว่า จากปริมาณอ้อยเข้าหีบกว่า 19.37 ล้านตันนั้น แบ่งเป็นอ้อยสด8.48 ล้านตันอ้อย และมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 10.89 ล้านตันอ้อย แตกต่างจากฤดูการผลิตปีก่อนที่พบว่า ชาวไร่ส่งอ้อยไฟไหม้สูงกว่าอ้อยสด ดังนั้น จากตัวเลขรายงานผลผลิตในช่วงโค้งแรกของฤดูการหีบอ้อยปีนี้ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จากการที่ชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงานเพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ดี การเก็บเกี่ยวอ้อยของปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้ว โดยในช่วงนี้เกิดฝนตกกระจายในพื้นที่อ้อย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวและการใช้เครื่องจักรเข้าไร่ โดยเฉพาะการใช้รถตัดอ้อย อีกทั้งสภาพอ้อยที่เปียกชื้นจะทำให้มีเศษหิน ดิน ทราย ปะปนติดมากับอ้อยมากขึ้น ซึ่งทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต่างก็พยายามช่วยกันระมัดระวังอยู่แล้ว นอกจากนี้ จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าว จะทำให้ระยะเวลาการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2559/60 จะล่าช้าออกไปหลังเดือนเมษายน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

แห่ประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพ 11รายพร้อมผลิตเอทานอล

โรงงานเอทานอลแห่ร่วมประมูลข้าวเน่า 5 ล้านตัน รอเพียงกระบวนการจากกระทรวงพาณิชย์ชัดเจนภายในม.ค.นี้ พร้อมเสนอราคาประมูลตามเปอร์เซ็นต์แป้ง คาดอยู่ที่ 1-1.50 บาทต่อกิโลกรัม ฟากกรมธุรกิจพลังงานเตรียมเรียกผู้ผลิตเอทานอลหารือเร็วๆ นี้หลังมีผู้ประกอบการ 11 ราย ให้ความสนใจ

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดให้มีการประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพปริมาณ 5 ล้านตัน ในช่วงต้นปีนี้ ทางสมาคมฯพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการประมูล เพื่อนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเป็นเอทานอล โดยขณะนี้มีโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังประมาณ 7-8 ราย มีความพร้อมแล้ว แต่ทางสมาคม ต้องรอหารือรายละเอียดกับทางกรมธุรกิจพลังงานให้ชัดเจนก่อน โดยเฉพาะราคาเอทานอลที่ผลิตออกมา

โดยที่ผ่านมาได้หารือเบื้องต้นไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปออกมา เพราะต้องรอกระบวนการจำหน่ายจากทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสมาคมฯเคยเสนอราคาประมูลจะต้องคิดตามเปอร์เซ็นต์แป้งเทียบกับมันเส้น โดยปกติเปอร์เซ็นต์แป้งจากมันเส้นจะอยู่ที่ประมาณ 65-70% นอกจากนี้ควรให้ผู้ประกอบการเอทานอลสามารถเข้าตรวจสอบคุณภาพข้าวในโกดังเพื่อประเมินความเสี่ยง เพราะการประมูลที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบคุณภาพข้าวภายในโกดังได้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันสมาคมฯยังไม่มั่นใจว่าข้าวเสื่อมคุณภาพดังกล่าวจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งมากน้อยเพียงใด เนื่องจากข้าวผ่านการเก็บมานานแล้ว ขณะที่เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมายังพอมีเปอร์เซ็นต์แป้งบ้าง แต่รัฐปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2560 ทำให้คุณภาพข้าวเสื่อมลงมาก แต่เมื่อกระทรวงพาณิชย์ต้องการให้ผู้ประกอบการนำข้าวเสื่อมคุณภาพดังกล่าวมาผลิตเป็นเอทานอล ทางสมาคมฯก็ยินดี แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากคุณภาพข้าวในแต่ละโกดังไม่เหมือนกัน เปอร์เซ็นต์แป้งไม่เท่ากัน คาดว่าราคาประมูลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.50 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้การประมูลข่าวเสื่อมคุณภาพดังกล่าว ส่วนตัวมองว่าหากไม่คิดถึงแง่เศรษฐกิจของประเทศ ความน่าสนใจที่จะนำข้าวไปผลิตเอทานอลมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังก็มีคู่ค้าเกษตรกรอยู่แล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมก็เซ็นสัญญา(เอ็มโอยู)กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับซื้อมันสดราคาขั้นต่ำ 1.90 บาทต่อกิโลกรัม แต่เมื่อรัฐขอให้นำข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเอทานอล ทางผู้ประกอบการก็พร้อมให้ความร่วมมือ ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังที่อยู่พื้นที่โกดัง อาทิ อุบลราชธานี ขอนแก่น ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว และนครราชสีมา

“โรงงานเอทานอลยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อนำข้าวเน่ามาผลิตเอทานอล ซึ่งทางกรมธุรกิจพลังงานแจ้งว่าจะหารือรายละเอียดอีกครั้งหลังปีใหม่ ตอนนี้ยังรอกระบวนการจำหน่ายจากทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสมาคมเคยเสนอว่าให้คิดราคาตามเปอร์เซ็นต์แป้ง โดยมองว่าการเปิดประมูลน่าจะเร่งดำเนินการก่อนฤดูฝน เพราะข้าวดังกล่าวเก็บมาหลายปี ยิ่งเก็บยิ่งเน่า ค่าเช่าโกดังก็ต้องเสีย และจะได้มีพื้นที่เก็บข้าวฤดูกาลใหม่ อย่างไรก็ตามราคาประมูลจะต้องยุติธรรม คิดตามเปอร์เซ็นต์แป้ง” นายเดชพนต์ กล่าว

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอลว่า บริษัทสนใจร่วมประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพ โดยสามารถนำมาผลิตได้ที่โรงงานเอทานอล อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1.5 แสนลิตรต่อวัน แต่ราคาข้าวจะต้องไม่เกิน 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันต้องมีข้อมูลเปอร์เซ็นต์แป้งจากข้าวก่อนว่ามีปริมาณเท่าไร คุ้มหรือไม่ที่จะนำมาผลิตเอทานอล เนื่องจากโรงงานเอทานอลของบริษัทที่น้ำพอง ต้องจ้างบดข้าวเป็นแป้งก่อนเพื่อนำมาผลิตเอทานอล จึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า กรมฯเตรียมเรียกผู้ประกอบการเอทานอลจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล เข้าหารือรายละเอียดกรณีการประมูลข้าวเสื่อมคุณภาพเพื่อผลิตเอทานอลเร็วๆนี้ แต่จะต้องรอรายละเอียดจากทางกระทรวงพาณิชย์ก่อนว่าจะให้กระทรวงพลังงานช่วยนำข้าวดังกล่าวมาผลิตเอทานอลหรือไม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะทำหน้าที่ประสานไปยังผู้ประกอบการโรงงานเอทานอล เพื่อนำมาผลิตเป็นเอทานอลต่อไป

ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้นกับทางผู้ประกอบการโรงงานเอทานอลพบว่า มีเอกชนที่พร้อมให้ความร่วมมือหลายราย ในการนำข้าวเสื่อมคุณภาพในสต๊อกของรัฐบาลที่มีอยู่ประมาณ 5 ล้านตัน มาผลิตเอทานอล ซึ่งเบื้องต้นมีโรงงานที่มีศักยภาพพร้อมนำเข้ามาผลิตได้ 11 ราย ในจำนวนนี้ เป็นโรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังประมาณ 7 ราย และโรงงานเอทานอลจากกากน้ำตาล(โมลาส)ที่สามารถปรับมาใช้วัตถุดิบอื่นได้ 4 แห่ง

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์ถก WEF ประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกพร้อมดึงนักลงทุนพัฒนาสินค้าเกษตรไทย

รมว.พาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมประชุม WEF หวังดึงเนสท์เล่เข้าลงทุนพัฒนาสินค้าเกษตรนวัตกรรมในไทย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2017 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 17-20  มกราคม 2560 เพื่อหารือถึงแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต โดยตนมีกำหนดเดินทางเยือน

ทั้งนี้ หัวข้อหลักในการประชุม WEF ครั้งนี้ คือ ผู้นำยุคใหม่ที่ปรับตัวก้าวทันโลก และมีความรับผิดชอบ ทั้งยังจะให้ความสำคัญกับเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะครบรอมความสัมพันธ์ 50 ปี ในปีนี้ โดยการประชุมครั้งนี้ยังมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ (WTO Informal Ministerial Gathering : IMG 2017) ในวันที่ 20 มกราคม 2560 ด้วย คาดว่าจะผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คน จากกว่า 100 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญ ทั้งผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล อาทิ ผู้นำจีน ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำด้านต่างๆ เข้าร่วมประชุม เช่น นายแจ็ค หม่า อาลีบาบา ตัวแทนบริษัมชั่นนำของโลก อาทิ ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก โตโยต้า หัวเหว่ย  เนสท์เล่ และยูนิลีเวอร์ เป็นต้น

"กระทรวงจะอาศัยโอกาสในการประชุมครั้งนี้เข้าร่วมหารือกับตัวแทนบริษัทเนสท์เล่ เพื่อชักชวนเข้ามาลงทุน พัฒนาสินค้าเกษตรของไทยให้มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีจุดแข็งในสินค้าเกษตรที่มีความมากมาย จึงต้องการให้เข้าโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ที่ทันสมัยพัฒนาสินค้าไทยในระยะยาว รวมถึงผลักดันการลงทุนในธุรกิจกลุ่มอื่นๆ เช่น โรงแรม เป็นต้น"

สำหรับการประชุม  IMG 2017 คาดว่าจะมีสมาชิก 34 ประเทศ จากทั้งหมด 164 ประเทศเข้าร่วม โดยสาระสำคัญในการประชุมนี้ มุ่งจะผลักดันการเจรจาใน WTO และเร่งหาข้อสรุปในประเด็นเจรจารอบโดฮาที่ยังค้างอยู่ เพื่อให้การประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 11 ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2560 ณ กรุงบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะ 35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2560 จากธนาคารซีไอเอ็มบีไทยระบุว่าเปิดตลาดที่ระดับ 35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากการปิดตลาด เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2560 ที่ระดับ 35.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน (09.45 น.) มีการซื้อขายอยู่ที่ 35.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีการปรับตัวอ่อนค่าลง จากเมื่อวานนี้มีคำปราศรัยของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีของสหรัฐ แต่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในตลาดโลก ว่าสหรัฐจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี เนื่องจากไม่มีการพูดถึงนโยบายเรื่องการลดภาษีหรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด อาจจะมีจำนวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลง

อย่างไรก็ตามธนาคารซีไอเอ็มบีไทยให้กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันไว้ที่ 35.30-35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยจับตามองตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐในวันที่ 13 มกราคม 2560 ได้แก่ตัวเลขยอดค้าปลีกของเดือนมกราคมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมกราคม หากออกมาดีอย่างที่คาดการณ์ไว้จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯยันปีนี้ไม่เจอภัยแล้ง แจง”พิจิตร”น้ำแห้งเหตุสูบน้ำทำเกษตรช่วงก่อนหน้า รอผ่านอีไอเอเร่งสร้างประตูระบายน้ำแม่ยมแก้ปัญหาแล้ง

นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ฤดูแล้งปี 2559/60 ที่เริ่มเกิดขึ้นในบางพื้น กรมชลประทาน ขอยืนยันว่า เป็นเรื่องปกติของฤดูแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานจะเกิดปัญหาน้ำแล้ง แต่ส่วนในเขตชลประทานไม่ได้ประสบปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งปีนี้ประเทศไทยถือว่าไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 นอกจากนี้ กรมชลฯได้เตรียมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งไว้เรียบร้อยแล้ว

นายเลิศชัย กล่าวถึงการจัดสรรน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทั้งประเทศ ตามมาตรการจัดการน้ำแบบยั่งยืน โดยวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 28,837 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยได้วางแผนการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 17,661 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2,339 ล้านลบ.ม. การรักษาระบบนิเวศ 5,440 ล้านลบ.ม. เกษตรกรรม 9,579 ล้านลบ.ม. อุตสาหกรรม 303 ล้านลบ.ม. โดยจัดสรรในลุ่มน้ำเจ้าพระ 5,950 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ 4,600 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 650 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 700 ล้านลบ.ม. เป็นการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลบ.ม. การรักษาระบบนิเวศ 1,435 ล้านลบ.ม. เกษตรกรรม 3,400 ล้านลบ.ม. อุตสาหกรรม 15 ล้านลบ.ม.

นายเลิศชัย กล่าวว่า สำหรับผลการจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึง วันที่ 12 มกราคม 2560 มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,337 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 47% %ของแผนการจัดสรรน้ำทั้งหมด ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2559 มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วกว่า 2.99 ล้านไร่ จากแผนที่ได้วางไว้ 3.91 ล้านไร่ และมีเครื่องสูบน้ำที่ส่งเข้าไปสนับสนุนการใช้น้ำในฤดูแล้งทั่งประเทศแล้วรวม 35 เครื่อง

รายงานข่าวจากกรมชลประทาน แจ้งว่า ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวว่าพื้นที่นาข้าวในจ.พิจิตรกำลังประสบปัญหาภัยแล้งและขอให้กรมชลฯเข้ามาช่วยเหลือนั้น โครงการชลประทานพิจิตร ขอชี้แจง ดังนี้ 1.แม่น้ำยมในจ.พิจิตร มีฝางยาง 3 แห่ง เป็นเครื่องมือที่ใช้เก็บกักน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งโครงการวิกฤติได้พร่องฝายยาง ทั้ง 3 แห่งมาใช้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 แล้ว แต่เนื่องจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 25 สถานี ได้สูบน้ำจากแม่น้ำยมมาใช้เพื่อการเกษตรกรรม จึงทำให้ระดับน้ำยมลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีน้ำแห้งเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะช่วงอ.โพธิ์ประทับช้าง ซึ่งอยู่ด้านท้ายของฝายยางสามง่าม 2.แม่น้ำยมจะเริ่มแห้งเป็นช่วงๆ ในในช่วงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี ถึงจะมีการใช้น้ำมากกว่าที่สามารถเก็บกักไว้ กรมชลประทานจึงมีแผนดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำยม 4 แห่ง โดยอยู่ในจ.พิจิตร 3 แห่ง ให้สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 3.โครงการพิจิตร ไม่สามารถส่งน้ำลงแม่น้ำยม จากโครงการส่งน้ำและบำรุงดงเศรษฐีตามที่เกษตรกรร้องขอได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าว มีน้ำน้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดได้

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ ข่าวสั้นทันโลก: เคลียร์ม็อบอ้อย  

          เมื่อวันที่ 10 ม.ค.เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีชาวไร่อ้อยมีข้อพิพาทรถบรรทุกอ้อยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดว่า วันนี้ได้แก้ไขปัญหาหลังมีข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลกับสมาคมชาวไร่อ้อยให้หาทางออกร่วมกัน และตั้งคณะกรรมการ หากมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกได้แล้ว ผู้ประท้วงนับพันคนก็เดินทางกลับบ้าน โดยไปหาเส้นทางหลักเส้นทางรองให้วิ่ง ถ้าตรงไหนผ่านด่านเจอบรรทุกเกินถูกจับทันที ถามว่าถ้าจะแก้ปัญหาทั้งหมด ต้องไปว่ากันใหม่ เพราะปัญหานี้เกิดมานานแล้ว จะให้หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 อย่างเดียวมันใช้ได้ทั้งหมดหรือไม่จึงให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคมและ คสช.ไปหาวิธีการแก้ปัญหานี้ ที่สำคัญทุกคนอย่าไปสร้างปัญหาอีกเลย.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

เอกชนคาดศก.ไทยทั้งปีโต4% รัฐหนุนลงทุน-ส่งออกฟื้น

เอกชนมองเศรษฐกิจไทยปีระกาฟื้นตัว คาดโตได้ระดับ 3.5-4% จากรัฐเตรียมอัดงบ 1 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด-เร่งส่งเสริมลงทุนในประเทศ ส่วนภาคส่งออกคาดขยายตัว 0-3% ขณะเงินเฟ้อของหลายประเทศแนวโน้มพุ่ง เลือกตั้งในยุโรป สัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนยุค”ทรัมป์”เป็นปัจจัยเสี่ยง

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้ความเห็นถึงทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ว่า คาดจะสามารถขยายตัวได้ 3.5-4% จากการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้เอกชนขยายการลงทุน และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยในปีนี้มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรบางรายการซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2560 ขยายตัวได้ที่ 1-3% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประมาณการไว้จะขยายตัวได้ที่ 0-2%

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยจะยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลได้มีแนวทางในการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ภายใต้วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อนำวงเงินนี้ไปใช้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2560 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณในรูปแบบกลไกประชารัฐ

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ความกังวลใจจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มองว่าเริ่มคลี่คลายลง โดยคาดว่าการดำเนินมาตรการทางการคลังของสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่เคยคาดไว้ รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวสูงกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่คาดขยายตัวที่ 3.4%

แต่ทั้งนี้สิ่งที่จับตามองคืออัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลายปี ถือเป็นความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินซึ่งอาจจะส่งผลให้สภาพคล่องตึงตัวขึ้น ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะสร้างข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายการเงินของหลายประเทศ ขณะที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้อาจกระทบค่าเงินโลกมีความผันผวน

“นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมถึงการเลือกตั้งทั่วไปในหลายประเทศของยุโรป อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของชมรมนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ สมาคมธนาคารไทยคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.5-4% ดีกว่าปี2559 ที่ขยายตัว 3.3% ส่วนการส่งออกขยายตัว 0 ถึง 2% และอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 1-2%”

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2560 น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างช้าๆ โดยคาดว่าภาคการลงทุนจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกมีโอกาสที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปี2559 จากแรงหนุนการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ในมุมมองของชมรมนักวิเคราะห์ฯ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ขณะที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อเนื่องทั้งปี แม้ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนสินเชื่อและเงินฝากมองว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากฐานในปี2559ที่ค่อนข้างต่ำ ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)อาจจะทยอยลดลงจากการบริหารจัดการหนี้ของธนาคาร

อย่างไรก็ตามจากมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจากหลายๆหน่วยงาน ต่างมองตรงกันว่า การส่งออกในปี 2560 น่าจะเป็นบวกมากขึ้นจากปีก่อน เช่น สมาคมธนาคารไทย คาดการส่งออกจะขยายตัว0.2% สภาพัฒน์ขยายตัว 2.4% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ขยายตัวที่1.8% และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดขยายตัวที่ 0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยสมาคมธนาคารไทยคาดขยายตัวที่ 1.8% สภาพัฒน์ ขยายตัว 1-2% สศค. 2.1% และธปท.คาดขยายตัว 1.5% นอกจากนี้ในส่วนของการลงทุนของภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนน่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน แต่การท่องเที่ยวอาจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง สาเหตุจากการที่ภาครัฐปราบปราบทัวร์ศูนย์เหรียญมากขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

บาทเปิด 35.59บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าต่อเนื่อง

เงินบาทเปิดตลาด 35.59บาทต่อดอลล่าร์ แข็งค่าต่อเนื่อง ตลาดรอดูทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯของ"ทรัมป์"

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.59 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.61 บาท/ดอลลาร์ หลังมีแรงเทขายดอลลาร์ออกมา

"เงินบาทแข็งค่าจากช่วงท้ายตลาดเย็นวานนี้เล็กน้อย หลังมีแรงเทขายดอลลาร์ทำกำไร ขณะที่ค่าเงินภูมิภาคเคลื่อนไหวแบบผสม" นักบริหารเงิน

กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.55-35.65 บาท/ดอลลาร์

"วันนี้บาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ โดยตลาดรอฟังนโยบายของทรัมป์" นักบริหารเงิน กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

"สมคิด"ชี้ปี60 จุดเปลี่ยนประเทศไทย

                    “สมคิด” ประกาศปี 60 จุดเปลี่ยนประเทศไทย ยกเป็นปีแห่งการลงมือปฏิบัติ  ดัน 4 เรื่องหลักปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ                     

                    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 59 ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เรื่อง 2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย ว่า ในปี 60 จะเป็นปีแห่งการลงมือปฏิบัติและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้วางรากฐานเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีหัวใจอยู่ที่การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจใหม่ให้เกิดความสมดุลทั้งภายในและภายนอก ขณะเดียวกันปีนี้ยังมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุน ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่คลี่คลายลง การเปลี่ยนผ่านช่วงเวลาที่สำคัญของประเทศที่เป็นไปอย่างราบรื่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มฟื้น เช่นเดียวกับการส่งออก และราคาสินค้าเกษตร ทำให้มั่นใจว่า ในปีนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้มองว่า จุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 ปัจจัย ประกอบด้วย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นในปีนี้ คือ การลงทุนอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ 15,000 ล้านบาท และการลงทุนระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตของประเทศ ซึ่งเป็นต้นทางของการเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ และช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ต่อมาเป็นการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ทั้ง รถไฟทางคู่ ถนน และโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้ไทยแข่งขันกับโลกได้โดยคาดว่า ในไตรมาสแรกปีนี้ พ.ร.บ.อีอีซี จะผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ หรือสนช.ได้

ส่วนปัจจัยที่ 3 คือการพัฒนาด้านเกษตร ได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ เร่งผลักดันเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย หรือเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ การส่งเสริมให้เกษตรกรมีช่องทางการค้าขายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ ขณะที่ปัจจัยสุดท้าย คือ การบริหารงบประมาณ โดยรัฐบาลพยายามเกลี่ยจากงบประมาณตามหน้าที่ไปสู่งบตามยุทธศาสตร์ และไปสู่งบประมาณตามพื้นที่ตามจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระจายไปตามโซนพื้นที่ และในปีหน้า รัฐบาลจะพยายามหางบประมาณพิเศษเพิ่มสำหรับงบประมาณกลุ่มจังหวัดเพื่อสานต่องาน โดยในอนาคตจะพยายามลดงบประมาณของส่วนกลางลง

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

สศอ.ชี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น การใช้กำลังผลิตพุ่งเหนือ70%นักลงทุนรายใหญ่จ่อลงอีอีซี

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)

สศอ.ประเมินเศรษฐกิจปี 60 ฟื้นชัดเจน ดันอัตราการใช้กำลังการผลิตพุ่งเหนือ 70 % การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบกลับมาเป็นบวก สะท้อนให้เห็นยอดคำสั่งซื้อสินค้ามีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการลงทุนรายใหญ่ของโลก แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ใน 10 กลุ่มเป้าหมาย

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในปี 2560 น่าจะมีการฟื้นตัวให้เห็นได้อย่างชัดเจน ที่จะชี้วัดได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม มีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมองว่าจะขยายตัวไปสู่ระดับเหนือ 70 % ได้ในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ จากปีก่อนที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังไม่ดีมากนักหรือต่ำกว่าระดับ 70 % ลงมาค่อนข้างมาก เป็นการบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก

ทั้งนี้ การประเมินภาพดังกล่าว เนื่องจากมีสัญญาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีก่อน ในระดับ 1.2 % ตุลาคม ขยายตัว 5.7 % และพฤศจิกายน ระดับ 14.3 %และคาดว่าในเดือนธันวาคมน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก และจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าทุนกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนธันวาคม จาก 11 เดือน ติดลบ 2.1 % เมื่อเทียบกับปี 2558 ทั้งปี ติดลบที่ 7.6 %

“การนำเข้าสินค้าทุนและกึ่งสำเร็จรูป เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ประกอบการมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น และมีการสั่งวัตถุดิบฯ เข้ามาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องในเดือนถัดๆไป จากยอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่มีเข้ามา หากสัญญาณยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะส่งผลให้ต้นปี 2560 อัตราการใช้กำลังการผลิตจะขยายตัวเหนือระดับ 70% ได้ จากเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับ 66.71 % เท่านั้น”

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนภาวการณ์ลงทุนในปี 2560 นั้น ในส่วนของสศอ.ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกี่ยวข้องต่างๆ ให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรม 20 ปี โดยเฉพาะการชักชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งจะต้องจัดทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาให้ได้ในรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าการแก้ไขปัญหาอุปสรรค กฎระเบียบทางข้อกฎหมายต่างๆ ในการสนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนได้อย่างไร

ที่สำคัญการเดินสายสอบถามความต้องการของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการว่าจะยังต้องการสิทธิประโยชน์อะไร หรือต้องการให้แก้ไขอุปสรรคด้านการลงทุนในแง่ไหน รับฟังมาแล้วนำมาปฏิบัติให้ได้ เพื่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริงใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้ ยกตัวอย่างกรณี ของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ อยู่ระหว่างการจัดทำสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอยู่ ทางบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในช่วงแรกไม่ต้องเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่ เพื่อที่จะนำเข้ามาทำตลาดในระยะแรกก่อน และหลังจากนั้นเมื่อตลาดตอบรับหรือสามารถแข่งขันได้ ค่ายรถยนต์ก็จะเริ่มลงทุนในสายการผลิต เป็นต้น ขณะที่หลายอุสาหกรรม ก็มีข้อเสนอต่างๆ ที่แตกต่างกันไป

“เท่าที่หารือกับนักลงทุนรายใหญ่ของโลก ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นจำนวนมากและอยู่ระหว่างตัดสินใจที่จะมาลงทุนในพื้นที่อีอีซีเป็นพิเศษ และล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่เม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หุ่นยนต์ อากาศยาน การแพทย์สมัยใหม่ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ได้เข้ามาศึกษาและดูลู่ทางการลงทุนไว้แล้ว รวมทั้ง นักลงทุนไทย ก็มีความสนใจค่อนข้างมาก ที่จะลงทุนในกลุ่มปิโตรเคมี ไบโอชีวภาพ โลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์ รวมเม็ดเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น จะต้องมีแผนปฏิบัติที่ชัดเจนและเพิ่มเติมมาตรการสนับสนุนเป็นพิเศษ เพื่อที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาในปีนี้ให้ได้”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

เร่งรื้อขึ้นทะเบียนเกษตรกร ใช้ระบบวาดแปลง-ตั้งเป้าปี’61แล้วเสร็จ13ล้านแห่ง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานการวาดแปลงตามระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน มีการจัดเก็บข้อมูลพิกัดตำแหน่ง และผังแปลงของเกษตรกรให้สามารถทราบสถานภาพการใช้พื้นที่การเกษตร และพัฒนาระบบฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้สามารถนำมาใช้ในการวางแผนการพัฒนาการเกษตรได้ มีการสรุปผลการดำเนินงานในปี 2559 ดำเนินการไปแล้ว 650,000 แปลง แบ่งเป็น การดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 532,686 แปลง GISTDA จำนวน 104,858 แปลง และ NECTEC จำนวน 12,456 แปลง และมีเป้าหมายในการวาดแปลงให้แล้วเสร็จในปี 2561 จำนวน 13 ล้านแปลง ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรให้เร็วที่สุด ซึ่งฐานข้อมูลทั้งหมดจะครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกพืช ทำไร่นาสวนผสม ทำนาเกลือ และเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรจะต้องเป็นผู้มาแจ้งขึ้นทะเบียน และปรับปรุงข้อมูลของตนเอง ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลด้านพื้นที่ปลูกที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ และการประมาณการผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ เป็นต้น

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานขึ้นทะเบียนเกษตรกร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552-2556 มีการบันทึกข้อมูลทะเบียนเกษตรกร แต่ไม่มีระบบการวาดแปลง ต่อมาเมื่อปี 2557 ได้ใช้เครื่องจับ

 พิกัดภูมิศาสตร์ GPS จัดเก็บพิกัดที่ตั้งแปลง และวัดขนาดพื้นที่เข้ามาสนับสนุนในการจัดเก็บข้อมูล โดยร่วมมือกับ GISTDA ในการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมมาค้นหาพิกัดและวาดผังแปลงด้วยโปรแกรม GISagro จากนั้นได้ร่วมมือกับ NECTEC ในการออกแบบ Application การขึ้นทะเบียนเกษตรกร พร้อมกับวาดผังแปลงด้วย Tablet ตลอดจนพัฒนาการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Qgis และใช้แผนที่ Google Map ในการค้นหาพิกัดและวาดผังแปลง

ทั้งนี้ หากระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรดังกล่าวแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรได้หลายมิติ อาทิ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ การเตรียมความพร้อมในฤดูกาลผลิตใหม่ เป็นต้น โดยจะแสดงผลข้อมูลของเกษตรกร ตั้งแต่พิกัดแปลง จำนวนพื้นที่เพาะปลูก ข้อมูลการทำการเกษตร ตลอดจนการแสดงข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกที่สอดคล้องกับ Agri-map เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

ไทยถก‘BIMSTEC’ 7ชาติร่วมผลักดันความร่วมมือการเกษตร

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้เข้าร่วมการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือทางการเกษตรของ BIMSTEC ครั้งที่ 5 (BIMSTEC Expert Group on Agricultural Cooperation) ระหว่างวันที่ 28-29 ธันวาคม 2559 ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิก BIMSTEC จำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา ไทย และผู้แทนจากสำนักเลขาธิการ BIMSTEC เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการที่มีร่วมกันและหารือความร่วมมือที่สำคัญ

การประชุมได้มีการทบทวนและพิจารณาสถานะโครงการที่ร่วมดำเนินการ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิก BIMSTEC ตลอดจนหารือความร่วมมือที่สำคัญอื่นๆ เช่น ผลการประชุมผู้นำ Leaders of BIMSTEC at the Retreat เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรของภูมิภาค BIMSTEC ทั้งการกำหนดกรอบนโยบาย/ กรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหาร การเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยี การเพิ่มคุณภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์นำไปสู่ความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืน การบรรเทาความยากจน ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนนวัตกรรมในการวิจัยและพัฒนา การยอมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างความร่วมมือ การให้ผลผลิตสูง (high yielding varieties) และการแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุกรรม (germplasm exchanges)

ในการนี้ ประเทศไทยยินดีให้ความร่วมมือในทุกโครงการ ซึ่งได้ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรในส่วนของการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยล่าสุดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม BIMSTEC Workshop on Good Agricultural Practices (GAP) - Phase II “GAP for International Trade” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2559 ณ จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ ประเทศไทย พร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือทางการเกษตรของ BIMSTEC ครั้งที่ 6 มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2560 โดยจะมีการรายงานความก้าวหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

ชาวไร่ห่วงหีบอ้อยไม่ทันเม.ย. รถบรรทุกเกินน้ำหนักถูกยึดเพียบ

ชาวไร่ห่วงหีบอ้อยไม่ทัน เพิ่งเปิดหีบปี2559/2560 อ้อยยังเข้าระบบน้อยกว่าปกติ 6-7 ล้านตัน เหตุรถบรรทุกอ้อยถูกยึดโทษบรรทุกเกินน้ำหนัก หวั่นหีบอ้อยยืดเยื้อยาวถึงหน้าฝน อาจเจออีกเด้งรถบรรทุกเข้าไร่อ้อยไม่ได้ ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบกลับมาไต่ระดับสูงขึ้นสัปดาห์แรกหลังปีใหม่

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2559/2560 ที่เริ่มหีบอ้อยเข้ามาแล้วในช่วงเดือนตุลาคม2559 จนถึงปัจจุบันพบว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลมีการเข้มงวดมากขึ้น โดยภาครัฐต้องการป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายที่อาจเกิดจากการบรรทุกอ้อยเกินน้ำหนักที่กฎหมายระบุบรรทุกอ้อยห้ามเกิน25 ตันอ้อยต่อ 1รถบรรทุก โดยมีการควบคุมความสูงไม่ให้อ้อยหล่นบนผิวถนนที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

จากปัญหาดังกล่าวจะทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบช้าลง และเกรงว่าจะทำให้หีบอ้อยไม่หมดทันตามฤดูการปี

2559/2560 ซึ่งตามภาวะปกติจะหีบให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน2560 พอเดือนพฤษภาคมเข้าสู่ฤดูฝนจะตัดอ้อยไม่ได้ และรถบรรทุกก็ไม่สามารถเข้าไปลำเลียงอ้อยในไร่อ้อยได้ อีกทั้งค่าความหวานของอ้อยก็จะค่อยๆลดลงจนได้ค่าความหวานต่ำ

สอดคล้องกับที่นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)กล่าวว่านับจากที่เปิดหีบอ้อยจนถึงขณะนี้พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าระบบน้อยกว่าปกติราว 6-7 ล้านตัน โดยหีบอ้อยได้ไม่เต็มกำลังหีบ เนื่องจากมีรถบรรทุกจำนวนหนึ่งบรรทุกอ้อยเกินน้ำหนักหรือเกิน25ตันอ้อย จึงถูกยึดรถ คนขับติดคุก หรือถูกปรับตั้งแต่ 6-8 หมื่นบาท โทษหนัก เบาแล้วแต่ปริมาณอ้อย หากหีบอ้อยไม่ทันภายในเดือนเมษายนนี้ ก็ต้องเลื่อนการหีบอ้อยออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม ก็มีโอกาสเสี่ยงอีกเพราะเข้าสู่ฤดูฝนจะมีอุปสรรคในการหีบอ้อยมาก

ด้านนายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่าภาพรวมปริมาณอ้อยปี 2559/2560 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ผลผลิตน่าจะได้ใกล้เคียงปีที่ผ่านมาที่ 95-96 ล้านตันอ้อย ส่วนในปี 2560/2561 มั่นใจว่าปริมาณอ้อยจะทะลุ 100 ล้านตันอ้อย เนื่องจากเวลานี้ชาวนานำที่นาไปปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะมองว่าได้ผลตอบแทนกลับมาดีกว่าราคาข้าว โดยมีการคาดการณ์กันว่า ราคาอ้อยในช่วง 1-2 ปีนี้ไม่น่าจะได้ราคาต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันอ้อยโดยราคาอ้อยเบื้องต้นปี 2559/2560 อยู่ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย คำนวณจากค่าความหวานที่10 ซีซีเอส

นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกก่อนปีใหม่ราคาอ่อนตัวลงมาที่19 เซ็นต์ต่อปอนด์ หลังปีใหม่สัปดาห์แรกราคาไต่ระดับขึ้นไปที่ 20-21 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยมีสาเหตุมาจากที่กองทุนต่างๆและนักเก็งกำไรกลับมาซื้อตั๋วน้ำตาลอีกครั้ง หลังจากที่ประเมินว่าผลผลิตอ้อยและน้ำตาลในอินเดียจะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ปี 2559/2560 คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลจำนวน 22.52-23 ล้านตันน้ำตาล อีกทั้งค่าเงินเรียวของบราซิลแข็งค่าขึ้นมา โดยล่าสุดค่าเงินเรียวอยู่ที่ 3.2 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้รายงานผลผลิตอ้อยของบราซิลช่วงวันที่ 1-15 ธันวาคมปีที่ผ่านมามีปริมาณอ้อยที่ตัดได้น้อยกว่าที่ควรจะได้ เพราะฝนตกหนัก

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 10 มกราคม 2560

ลุ้นปี60ราคาสินค้าทรงตัว ‘นํ้ามัน-ค่าเงินบาท’ตัวแปร-ขึ้นค่าแรงต้นทุนเพิ่มเล็กน้อย

พาณิชย์ชี้ราคาสินค้าปี 60 แนวโน้มทรงตัว สัญญาณจากผู้ประกอบการแข่งลดราคา แต่ยังเฝ้าระวังเรื่องราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนตัวแปร ยันปรับขึ้นค่าจ้างกระทบต้นทุนผู้ประกอบการจิ๊บจ๊อย ไม่มีเหตุผลขอปรับขึ้นราคา ล่าสุดดึง 35 สินค้าออกจากรายการต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นติดตามเฉพาะมีการร้องเรียน

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปี 2560 ว่า ยังต้องติดตามราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าได้ แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าราคาสินค้าในภาพรวมปีนี้จะยังทรงตัว เห็นได้จากผู้ประกอบการยังไม่กล้าขึ้นราคาในช่วงนี้ ดังนั้นน่าจะเห็นการแข่งขันกันลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้ากันมากกว่าที่จะปรับราค่าสินค้าเพิ่ม ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดมาขอปรับขึ้นราคาสินค้ากับทางกรม

“ยังไม่มีผู้ผลิตรายได้ยื่นขอปรับขึ้นราคาสินค้าเข้ามา ซึ่งการใช้จ่ายของประชาชนก็เป็นไปอย่างระมัดระวัง ปีนี้น่าจะเห็นโครงการประชารัฐต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น”

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 305-310 บาทต่อวัน ใน 69จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการแล้ว พบว่ามีผลกระทบน้อยมาก ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.01-1.02% เท่านั้น ไม่น่าเป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ แต่ทั้งนี้กรมก็ได้มีการติดตามดูแลราคาสินค้าในช่วงการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ล่าสุดกรมได้ดึงสินค้าที่อยู่ในรายการติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน(Watch list : WL) จำนวน 166 รายการ ออกมา 35 รายการ(ดูตารางประกอบ) เช่น น้ำอัดลม ครีมบำรุงผิว โฟมล้างหน้า หม้อหุงข้าว โทรทัศน์ เครื่องเป่าผม กระติกน้ำ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบตเตอรี่สำรอง แว่นสายตาและคอนแทกต์เลนส์สายตา เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง จึงได้ลดระดับการติดตามดูแลจากที่ต้องติดตามเป็นประจำ เป็นการติดตามเฉพาะที่มีการร้องเรียนเท่านั้น

ทั้งนี้สินค้าที่กรมดูแลมีจำนวนทั้งสิ้น 205 สินค้า ครอบคลุมสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันโดยรายการสินค้าที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ต้องติดตามภาวะราคาเป็นประจำทุกวัน(Sensitive list : SL) มีจำนวน 27รายการ ในจำนวนนี้เป็นสินค้าควบคุมที่มีมาตรการกฎหมาย 17 รายการ คือน้ำตาลทราย, น้ำมันพืช, อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, นมผง, นมสด, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ, เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก, เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม, เหล็กเส้น, ก๊าซหุงต้ม,ก๊าซแอลพีจีรถยนต์, ปุ๋ยเคมี, ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช หรือโรคพืช, เครื่องสูบน้ำ,ยางรถยนต์, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสาลี

ส่วนสินค้าที่ติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ2ครั้ง(Priority watch list : PWL) มี12รายการ ในจำนวนนี้มีสินค้าควบคุมที่ไม่มีมาตรการตามกฎหมาย 7 รายการ ประกอบด้วย ไข่ไก่, สุกรชำแหละ, ข้าวสารบรรจุถุง, อาหารสัตว์, น้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล และเหล็กแผ่นรีดร้อน ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มราคาขยับขึ้นอยู่ในรายการที่ต้องติดตามทุกวัน มี 3 รายการ ได้แก่ อาหารปรุงสำเร็จ, เสื้อผ้าไว้ทุกข์ และทราย

“ในปีนี้กรมยังมีแผนในการดูแลค่าครองชีพของประชาชน ผ่านโครงการธงฟ้า ร้านอาหารราคาประหยัดหนูณิชย์..ชวนชิม อย่างโครงการธงฟ้า ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาต่ำกว่าตลาด 20-40% ปีนี้กรมฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 177 ล้านบาท กำหนดจัดงานใหญ่ และงานย่อยกว่า 1,000 ครั้งทั่วประเทศ โดยจะปรับรูปแบบของงานให้แตกต่างจากเดิมคือ จะกระจายไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น เช่น ธงฟ้าเพื่อผู้ใช้แรงงาน ธงฟ้าช่วยเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตร และธงฟ้าช่วยผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น รวมไปถึงจัดงานธงฟ้าร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน”

ส่วนร้านหนูณิชย์ … พาชิม จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จราคา 25-35 บาทอยู่ระหว่างผลิตอุปกรณ์ให้กับทางร้านค้าที่เข้าร่วม เช่น จาน ชาม ผ้ากันเปื้อน หมวก รวมถึงพยายามเชื่อมโยงกับซัพพลายเออร์กับร้านค้าเพื่อให้ได้ต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง การออกบัตรหนูณิชย์ให้กับร้านค้าเพื่อใช้สำหรับการซื้อของในห้างที่ร่วมโครงการในราคาต่ำกว่าตลาด ปัจจุบันมีร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมแล้ว 11,761 ร้าน ล่าสุดได้เพิ่มช่องทางจำหน่ายร้านหนูณิชย์ฯ ในรูปแบบ ฟูด ทรัก เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 10 มกราคม 2560

'บิ๊กตู่'สั่งกล่อมม็อบรถบรรทุกอ้อยสลายตัว จัดเส้นทางวิ่งเฉพาะเจอบรรทุกเกินจับ

10 ม.ค. 60 เมื่อเวลา 13.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทรถบรรทุกอ้อยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดว่า วันนี้แก้ไขปัญหาไปแล้วได้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับสมาคมอ้อยจะทำอย่างไรกับความเสียหายจากการบรรทุกน้ำหนักเกินอัตรา แต่ถามว่าแล้วแก้วันนี้เลยได้ไหม และหากสมมุติตนจะใช้มาตรา 44 จะใช้อย่างไร ไม่ต้องใช้มาตรา 44 ก็ได้ ถ้าจะจับรถทุกคันที่บรรทุกเกินอัตราจับได้ไหม รับรองได้หรือไม่ว่าจะประท้วงตน เพราะบ้านนี้เมืองนี้เป็นอย่างนี้มาตลอด

วันนี้ได้ไปหาวิธีการเอาคสช. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคมตั้งคณะกรรมการพูดคุยจนตกลงได้ทางออกมาแล้วที่ประท้วง 1,000 กว่าคน ก็เลิกเดินทางกลับบ้าน โดยไปหาเส้นทางหลักเส้นทางรองให้วิ่ง ถ้าตรงไหนผ่านด่านเจอบรรทุกเกินถูกจับทันที แต่ถามว่าจะแก้ทั้งหมดมันก็ต้องไปว่ากันใหม่ จะตัดเส้นทางรถบรรทุกอ้อยต่างหากเลยหรือเปล่า เหตุการณ์นี้มันเกิดมาเท่าไหร่กี่ปีกี่รัฐบาล แล้วจะให้ตนใช้อำนาจอย่างเดียวแล้วมันใช้ได้ทั้งหมดไหม วันนี้ได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และคสช.ไปคุยอยู่บางอย่างพูดคุยกันได้ เรื่องสำคัญทุกคนอย่าไปสร้างปัญหาอีกเลย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 10 มกราคม 2560

 “ประยุทธ์” เผยรัฐทำข้อตกลงสมาคมอ้อยดูความเสียหายบรรทุกเกิน   

         นายกรัฐมนตรี เผย แก้รถบรรทุกอ้อยเกินอัตราแล้ว ยันไม่ใช้ ม.44 ชูทำข้อตกลงรัฐกับสมาคมอ้อยจัดการความเสียหาย ให้ คสช.

         วันนี้ (10 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทรถบรรทุกอ้อยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ว่า วันนี้แก้ไขปัญหาไปแล้วได้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับสมาคมอ้อยจะทำอย่างไรกับความเสียหายจากการบรรทุกน้ำหนักเกินอัตรา แต่ถามว่าแล้วแก้วันนี้เลยได้ไหม และหากสมมติตนจะใช้มาตรา 44 จะใช้อย่างไร ไม่ต้องใช้มาตรา 44 ก็ได้ ถ้าจะจับรถทุกคันที่บรรทุกเกินอัตราจับได้ไหม รับรองได้หรือไม่ว่าจะประท้วงตน เพราะบ้านนี้เมืองนี้เป็นอย่างนี้มาตลอด วันนี้ได้ไปหาวิธีการเอา คสช. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม ตั้งคณะกรรมการพูดคุยจนตกลงได้ทางออกมาแล้วที่ประท้วง 1,000 กว่าคน ก็เลิกเดินทางกลับบ้าน โดยไปหาเส้นทางหลักเส้นทางรองให้วิ่ง ถ้าตรงไหนผ่านด่านเจอบรรทุกเกินถูกจับทันที แต่ถามว่าจะแก้ทั้งหมดมันก็ต้องไปว่ากันใหม่ จะตัดเส้นทางรถบรรทุกอ้อยต่างหากเลยหรือเปล่า เหตุการณ์นี้มันเกิดมาเท่าไหร่กี่ปีกี่รัฐบาล แล้วจะให้ตนใช้อำนาจอย่างเดียวแล้วมันใช้ได้ทั้งหมดไหม วันนี้ได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และ คสช. ไปคุยอยู่บางอย่างพูดคุยกันได้ เรื่องสำคัญทุกคนอย่าไปสร้างปัญหาอีกเลย

จาก http://manager.co.th  วันที่ 10 มกราคม 2560

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และอาเซียน ปี 2560

โดย...คงศักดิ์ บุญอาชาทอง

ปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและผันผวนอย่างต่อเนื่อง จากผลของหลายปัจจัย ทั้งนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป การปรับตัวเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา

ปี 2560 คาดว่าสหรัฐอเมริกาจะปรับเปลี่ยนมาใช้นโยบายทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนา และส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศทั่วโลก

เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงขยายตัวในอัตราที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะการลงทุนในประเทศยังไม่ฟื้นตัว และการบริโภคภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ ขณะที่แรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังจะแผ่วลง

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัว 5.7% ในปี 2560 เศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจาก 7.4% ในปี 2560 เป็น 7.8% ขณะที่เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะชะลอตัวลงจาก 6.5% ในปี 2560 เหลือ 6.3%

ในปี 2560 ความเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจจีน คือ ภาวะฟองสบู่ของหนี้ กำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจจีนและอินเดียมีกันชนรองรับผลกระทบจากความผันผวนของปัจจัยภายนอกได้ดี เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ กำลังซื้อในประเทศยังขยายตัวในระดับดี มีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ  

ปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนโดยรวมจะขยายตัว 4.6% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 4.5% ในปี 2560 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัว 6.4% ผลจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวสูง 6.3% เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและภาคการก่อสร้างขยายตัวดี เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวสูงขึ้น 4.4% ผลจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.5% เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัว 5.1%

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจอาเซียน คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องในรัสเซีย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ตกต่ำ

อาเซียนต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต ยกระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งเสริมรายได้ครัวเรือน ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน กระตุ้นความต้องการซื้อภายในประเทศ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียนร่วมกัน

ภายใต้บริบทของโลกที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ    

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 10 มกราคม 2560

ภัยแล้ง!!ฉุดจีดีพีเกษตรหดตัว0.5

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

       ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 59 หดตัว 0.5 เหตุจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยแล้ง ขณะที่รายได้เกษตรกร โดยเฉลี่ยตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 คาดปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 2.4-3.4

         นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 พบว่า หดตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับปี 2558 สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 1.8 และ 0.5 ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.8 2.5 และ 2.2 ตามลำดับ

          โดยปัจจัยลบที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัว คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 โดยปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแถบภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่วนการทำประมงทะเลยังคงประสบปัญหาเรื่องของการปรับตัวและการปฏิบัติตามกฎหมายประมงของผู้ประกอบการเรือประมง และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนยังคงชะลอตัว

         ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการปฏิรูปภาคการเกษตร เช่น โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ธนาคารสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและการบริหารจัดการทรัพยากร

         ด้านการผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มมาตรฐานที่มีการวางแผนการผลิตและดูแลอย่างเป็นระบบ แม้ปัญหาอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์บ้าง แต่ปริมาณผลผลิตปศุสัตว์โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากการจัดการปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

         ทั้งนี้ รายได้เกษตรกร เฉลี่ยเดือน มกราคม-ตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้น

          สำหรับแนวโน้ม เศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.4-3.4 โดย สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 2.6-3.6 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.1-2.1 สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2-3.2 โดยปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน (Changing Towards Smart Agriculture) ซึ่งจะดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

           นอกจากนี้ คาดว่าสภาพอากาศและปริมาณน้ำจะเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตรมากกว่าปี 2559 เนื่องจากในช่วงปี 2559 ฝนเริ่มตกตามฤดูกาล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักเพิ่มขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชที่สำคัญ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีทิศทางดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย ทั้งมีปัจจัยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังประเทศจีนลดลง

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 10 มกราคม 2560

เปิดใจเกษตรกรไร่อ้อย ลงทุนระบบท่อน้ำหยดกับผลผลิตที่ดีเกินคาด!!

“อ้อย” พืชเศรษฐกิจของไทย ที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็ยังเป็นพืชที่นิยมปลูก และปลูกกันในหลายพื้นที่ เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร เป็นต้น

ในวันนี้เราจะมาเปิดอกคุยกับเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญการทำไร่อ้อย จากประสบการณ์กว่า 20 ปี ที่ประสบความสำเร็จกับผลผลิตที่ดีเกินคาด!!  ถ้าอยากรู้ว่าพวกเค้ามีเคล็ดลับหรือวิธียังไง ที่ทำให้ไร่อ้อยของพวกเค้าได้ผลผลิตดีเกินเป้าหมาย เรามาคุยกับพวกเค้าไปพร้อมกัน…

คุณสมพร สว่างศรี หรือ “พี่แมน” เกษตรกร อำเภอหนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี

ปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3

พี่แมนทำไร่อ้อยมากี่ปีแล้ว?

ผมรู้จักกับการทำไร่อ้อยมาตั้งแต่อายุ 17 ปี แรกๆ ก็ใช้วิธีครูพักลักจำเอา แล้วสักพักก็ออกมาทำเอง ถ้าเริ่มนับตั้งแต่ตอนนั้นก็ 20 กว่าปีแล้ว ทำจนเข้าใจทุกกระบวนการตอนนี้เปิดร้านขายของเกี่ยวกับการเกษตรมาก็ 3 ปีแล้ว ขายทุกอย่างอุปกรณ์การเกษตร และคอยให้คำปรึกษา ที่ไร่สุดารัตน์ การเกษตร

ตอนนี้พี่แมนมีไร่อ้อยกี่ไร่?

มีไร่อ้อยอยู่ 1,000 ไร่ ซึ่งเกือบ 100% เราใช้เป็นระบบท่อน้ำหยด แต่ก่อนหน้านี้ก็เป็นหุ้นส่วนกับเทวดาต้องอาศัยฝนฟ้าเดี๋ยวนี้รอไม่ได้แล้ว แล้งมากฝนไม่ตกอ้อยก็ไม่โต ต้องใช้ระบบท่อน้ำหยด

คิดว่าอุปสรรคของการปลูกอ้อยคืออะไร?

ฝน ฟ้า อากาศนี่แหละ เพราะเราไม่สามารถควบคุมได้ พอฝนไม่ตกอ้อยก็ไม่โต ถ้าฝนตกเราก็ประหยัดน้ำแถมตัวปั๊มน้ำก็ไม่ต้องทำงานหนัก ตรงนี้ก็ช่วยลดค่าไฟไปได้เยอะเลยนะ

ถ้างั้นระบบท่อน้ำหยดก็ช่วยเรื่องน้ำแล้งได้?

ช่วยได้มากเลยล่ะ ถ้าใช้ระบบท่อน้ำหยดก็ประหยัดน้ำไปได้เยอะ เราควบคุมเองได้อยากให้น้ำไปเลี้ยงอ้อยเท่าไหร่ ก็สามารถเปิดปิดปั๊มน้ำเองได้

แล้วตอนนี้ที่ไร่ของพี่แมนใช้ท่อน้ำหยดยี่ห้ออะไร?

เป็นของ Netafim 95% เลยล่ะ ตัวนี้ใช้ทน ครั้งแรกที่รู้จักเพราะโรงงานเค้าแนะนำมา เอามาให้ทดลองใช้ เชื่อมั้ย 8 – 9 ปีมาแล้วยังใช้อยู่เลย ใช้แล้วเก็บดีๆ ไม่มีแตก

ทำไมถึงเลือกใช้ Netafim ใช้แล้วได้ผลดีกว่าไหม?

Netafim ทนรับแรงดันน้ำได้มากกว่า แถมอ้อยโตเสมอกัน แทบจะไม่เสี่ยงอ้อยตายเลย เพราะไม่ต้องง้อฝนฟ้า แถมใช้ทนใช้หลายฤดูกาลเลยล่ะ ยังไงก็ไม่ต่ำกว่า 8 ปี ถ้าใช้ตัวกรองนะไม่มีตัน ผมเคยลองเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น ฤดูกาลเดียวก็แตกแล้ว โดนแดดมากก็กรอบหด เสียเวลาเดินสายใหม่ไม่คุ้ม

พี่แมนเค้าคอนเฟิร์มขนาดนี้ Netafim นี่ก็ไม่ธรรมดาจริงๆ ครับ ลองมาดูเกษตรกรอีกหนึ่งท่านที่มีประสบการณ์ทำไร่อ้อยมากว่า 20 ปีแล้วเหมือนกัน ดูสิว่า ระบบท่อน้ำหยดที่เค้าใช้กันจะเป็นแบบไหน?

คุณสุพจน์ จริยสุธรรมกุล เกษตรกร อำเภอด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

ปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3

พี่สุพจน์ทำไร่อ้อยมากี่ปีแล้วมีทั้งหมดกี่ไร่?

ทำไร่อ้อยมา 20 กว่าปีแล้ว ตอนนี้มีทั้งหมด 120 ไร่ ผมใช้ระบบน้ำหยด 100% เลย เพราะมีอ้อยต้องมีน้ำ

แล้วเริ่มใช้ระบบน้ำหยดมากี่ปีแล้ว?

ประมาณ 5-6 ปีได้นะ ครั้งแรกที่รู้จักก็เพราะโรงงานเค้าแนะนำนี่แหละ ก็ลองศึกษาดูปรากฎว่ามันเวิร์ค

หลังจากเปลี่ยนมาใช้ระบบน้ำหยด ได้ผลเป็นยังไง ผลผลิตดีขึ้นไหม?

ดีกว่าแน่นอน อ้อยมันจะไม่รอโต แต่มันจะรอพุ่ง รายได้ก็เยอะขึ้นเกือบ 50% เพราะอ้อยไม่ตายเลย ตอนไม่ใช้มันก็มีตาย บางทีเป็นเวิ้งเลยก็มีนะ แต่พอทำระบบน้ำหยดก็ได้ผลผลิตที 20 ตัน

แล้วพี่สุพจน์เลือกใช้ท่อน้ำหยดยี่ห้ออะไรอยู่ตอนนี้?

ของ Netafim ยี่ห้อนี้ใช้ทนนะ ค่อนข้างคุ้มเลยแหละ ม้วนนึงก็ 20 ร่องได้

พอใช้ท่อน้ำหยด Netafim แล้วผลผลิตดีขึ้นกว่าเดิมไหม?

ดีเลย ปลูกมา 6 เดือน โต 2 เมตรแล้ว แล้วเสมอกันด้วย เนี่ยเดี๋ยวก็เก็บได้แล้ว แถมคุ้มนะใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 ปีเลย เก็บดีๆ นี่น่าจะ 10 ปีได้นะผมว่า…

ทั้งพี่แมนและพี่สุพจน์ประสบการณ์ทำไร่อ้อยไม่ต่ำกว่า 20 ปี เรียกได้ว่า คร่ำหวอดอยู่ในวงการเกษตรกรไร่อ้อย รู้ทุกกลเม็ด เคล็ดวิธี ทำให้อ้อยโตได้ผลผลิตดีคุ้มค่าเพราะท่อน้ำหยด Netafim Streamline Plus ม้วนนี้นี่เอง..อย่าลืมสิ่งสำคัญว่า “ปลูกอ้อยต้องมีน้ำ” นะเกษตรกร 

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

ขอเห็นใจ! ชาวไร่อ้อยตากกว่าร้อย วอนผ่อนปรนจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

วันที่ 9 มกราคม 2560 ชาวไร่อ้อย จากอำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด จำนวนกว่า 100 คน ได้ไปชุมนุมกันที่หน้าสถานีตรวจสอบด่านชั่งน้ำหนักแม่สอด ถนนสาย อ.แม่สอด อ.เมืองตาก เขตตำบลแม่ปะ  เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผ่อนปรน การตรวจจับน้ำหนักรถบรรทุกอ้อยของเจ้าหน้าที่ที่เข้มงวดมากจนทำให้ได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่ต้องเร่งนำอ้อยส่งโรงงานให้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้  โดยมีนายชาตรี ศรีวัง แกนนำชาวไร่อ้อย ได้ยื่นหนังสือกับ นายอนุวัฒน์ เย็นเอง นายช่างโยธาชำนาญงานสถานีตรวจสอบด่านชั่งน้ำหนักแม่สอด

จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้หารือกันจนได้ข้อสรุป ว่าทางด่านฯจะผ่อนผันให้เกษตรกรบรรทุกอ้อยได้ตามข้อตกลงแนวทางการขนส่งอ้อย ของกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 19 ข้อ  ไปจันถึงวันที่ 11 มกราคม 2560 จนเวลา 24.00 น. หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ด่านฯจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ก็ตองรอผลสรุปของการประชุมจากส่วนกลางวันนี้ด้วยหลังจากนี้อีกครั้ง

ด้านนายสมเกียรติ ทิยอด กำนันตำบลแม่กาษา เปิดเผยว่า มีสมาชิกกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยอำเภอแม่สอด ถูกเจ้าหน้าที่ด่านชั่งน้ำหนักจากส่วนกลางจับกุมดำเนินคดี ข้อหาบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยอำเภอแม่สอด ไม่สามารถหาตราชั่งน้ำหนัก เพื่อตรวจสอบน้ำหนักของอ้อยก่อนออกจากไร่ได้ แต่กลุ่มเกษตรกรก็ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงแนวทางการขนส่งอ้อย ของกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 19 ข้อ อย่างเคร่งครัด  แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จึงไปรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องขอความเห็นใจ

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

'อภิรดี' สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลก เร่งทำความเข้าใจ หลังสินค้าไทยถูกโจมตี

'อภิรดี' สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลก ชี้แจงต่างชาติ กรณีข้าวหอมมะลิและผลไม้กระป๋องไทยถูกโจมตีหนักผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมสั่งต้องเร่งให้ข้อมูลทุกช่องทางสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.60 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้โพสต์คลิปกล่าวหาข้าวหอมมะลิไทยยี่ห้อหนึ่งผสมผสมพลาสติก และผลไม้กระป๋องจากไทยถูกโจมตีว่าปนเปื้อนเชื้อเอชไอวี ทางสื่อโซเชียลมีเดียในต่างประเทศว่า ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เกิดเหตุ และเป็นตลาดหลัก เร่งชี้แจงข้อเท็จจริงกับนักธุรกิจ ผู้นำเข้า และผู้บริโภค ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ และให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประสานกับภาคเอกชน สมาคมที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับกรณีข้าวหอมมะลินั้น ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประสานงานกับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อนำข้อเท็จจริงไปประชาสัมพันธ์ผ่านทูตพาณิชย์ทั่วโลก โดยยืนยันว่า ข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวด ที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในฐานะครัวของโลก

ขณะเดียวกัน บริษัท สยามเกรนส์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิดังกล่าวไปยังภูมิภาคอเมริกา ระบุว่า ผู้นำเข้าสินค้าของบริษัทอยู่ระหว่างการหารือเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย เบื้องต้น ได้ประสานงานกับทูตพาณิชย์ ณ นครนิวยอร์ก นครลอสแอนเจลิส และนครแวนคูเวอร์ แล้ว

ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ว่าได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับ บริษัท เวสเทิร์น ไรซ์ มิลล์ ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยแล้ว เพื่อประกอบการชี้แจงกลุ่มลูกค้า สำหรับกรณีผลไม้กระป๋องที่ถูกโจมตีว่ามีเชื้อเอชไอวี กรม ได้ประสานขอความร่วมมือกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการให้ข้อมูลชี้แจงกรณีดังกล่าวว่าเป็นข่าวที่ไม่มีมูลความจริง เนื่องจากเชื้อเอชไอวี ที่สามารถถ่ายทอดถึงกันได้ ต้องเป็นเชื้อที่อยู่ในร่างกายมนุษย์เท่านั้น เชื้อเอชไอวีที่อยู่ภายนอกร่างกายไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้

นอกจากนี้เชื้อเอชไอวีไม่ทนต่อสภาพแวดล้อม และถูกทำลายได้ด้วยความร้อน 56 องศาเซลเซียส และน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ เป็นต้น โดยกรมได้ส่งข้อมูลนี้ให้ทูตพาณิชย์ นำไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ผ่านทุกช่องทาง รวมถึงประสานกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงผ่าน ทั้งสถานทูตไทยในต่างประเทศ และสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย

“ข่าวโจมตีผลไม้กระป๋องจากไทยนี้ เป็นข้อมูลที่ส่งต่อทางสื่อโซเชียลมีเดียตั้งแต่ปี 57 ซึ่งในครั้งนั้นฝ่ายไทยโดยภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว เช่น สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ได้ประสานหน่วยงานอาหารและยาของอินโดนีเซียในการออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว”

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

หีบอ้อยสะดุด!รถบรรทุกถูกจับอื้อชาวไร่จ่อพบ 'อุตตม-อาคม' เร่งแก้ไข 

           อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลป่วนทั้งระบบหลังกรมทางหลวงตั้งด่านลอยคุมเข้มรถบรรทุกอ้อยต้องตามกฎหมายไม่เกิน 25 ตัน เร่งประสานขอเข้าพบ รมว.อุตสาหกรรมและคมนาคมเร่งด่วนหวังให้ช่วยแก้ไขปัญหาเหตุที่ผ่านมาผ่อนมีการลงนาม MOU ที่ผ่อนผันแล้วเพราะเป็นพืชระยะสั้นมีช่วงเก็บเกี่ยวแค่ 3-4 เดือน

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า  ขณะนี้ชาวไร่อ้อยได้ทำการประสานไปยังนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อขอเข้าพบหารือถึงปัญหาของชาวไร่อ้อยทั่วประเทศขณะนี้ที่กำลังเดือดร้อนจากการขนอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลหีบปี 2559/60 ที่เปิดหีบช่วงปลายเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาล่าช้า เนื่องจากกรมทางหลวงมีความเข้มงวดเรื่องน้ำหนักบรรทุก

          "ชาวไร่อ้อยก็ได้ประสานที่จะขอหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนแต่ก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือชี้แจงไปบ้างแล้วในส่วนที่เกี่ยวข้องเพราะการจับกุมส่งผลกระทบให้การเก็บเกี่ยวอ้อยอย่างมากและทำให้ชาวไร่อ้อยมีค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยในอดีตที่ผ่านมาได้มีการทำข้อตกลง(MOU) กับตำรวจ ทหาร จังหวัดในแต่ละพื้นที่แล้วที่จะขอให้เน้นการควบคุมที่ความสูงของการบรรทุกตั้งแต่พื้นดินจนถึงอ้อยที่วางบนรถบรรทุกสูงสุดรวม 3.80 เมตรแต่เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวกรมทางหลวงได้ตั้งด่านลอยจับกุมโดยให้เหตุผลถึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือต้องดูน้ำหนักบรรทุกอ้อยไม่เกิน 25 ตันต่อคัน เป็นหลัก" นายนราธิปกล่าว

          ทั้งนี้ อดีตรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยที่จะมีฤดูกาลเก็บเกี่ยว ช่วง 3-4 เดือนตั้งแต่ปลายธ.ค.-มี.ค.หรือต้น เม.ย.เท่านั้นหากล่าช้าก็จะกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะ 1.ฤดูฝนที่จะเริ่มมีเป็นระยะซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อการขนส่ง 2. แรงงานเก็บเกี่ยวที่เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ก็จะต้องกลับบ้าน จากปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุดอย่างไม่เป็นทางการทำให้รถบรรทุกถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 50 คดีแล้ว

          นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสานกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลจำเป็นต้องเข้าใจถึงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยและที่ผ่านมาก็ใช้วิธีMOU ในหลักการเพื่อที่จะยุติปัญหาต่างๆ ที่เป็นทางเลือกที่ดีสุดต่อทุกฝ่ายแต่การเข้มงวดที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะยึดตาม ระเบียบกฎหมายได้ส่งผลกระทบทำให้อ้อยเข้าหีบล่าช้าออกไปซึ่งปกติเฉลี่ยอ้อยเข้าหีบทุกๆ ปี ขณะนี้จะต้องอยู่ระดับ 20 กว่าล้านตันขึ้นไปแต่ล่าสุดอ้อยเข้าหีบเพียง 15 ล้านตันเท่านั้น.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

ปล่อยผีรถอ้อยกำแพงเพชร-ขนเกิน 25 ตันถึงเที่ยงคืน 10 มกราฯ นี้

        กำแพงเพชร - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหาทางออกชาวไร่อ้อยเมืองกล้วยไข่ ลงมติยึดตามข้อตกลงกับกองทัพภาคที่ 3 ให้บรรทุกเกินได้แต่ความสูงท้ายกระบะต้องไม่เกิน 3.80 เมตรจนถึงเที่ยงคืน 10 มกราฯ นี้ หลังจากนั้นต้องรอผลประชุมใหญ่ที่นครสวรรค์อีกรอบ

               วันนี้ (8 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีชาวไร่อ้อยกว่า 500 คนรวมตัวประท้วงที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักกำแพงเพชรขาเข้าสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะกรมทางหลวงไตรตรึงษ์ ต.ไตรตรึงษ์ อ.เมืองกำแพงเพชร ช่วงก่อนเที่ยงที่ผ่านมา

               กรณีกรมทางหลวงได้มีนโยบายให้สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot check) ดำเนินการเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบจับกุมรถบรรทุกอ้อยที่ขนส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาล เนื่องจากไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตามกฎหมายกำหนด 25 ตัน

               ต่อมานายสุวิทย์ พันธ์วิทยากูล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชร พร้อมตัวแทนชาวไร่อ้อย ได้เข้าประชุมหาทางออกกับนายรัชพงศ์ ศิริมี ป้องกันจังหวัดกำแพงเพชร, นายสัมพันธ์ อศูรย์ หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักกำแพงเพชร (ขาเข้า) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

               หลังหารือกันราว 2 ชั่วโมง นายสุวิทย์ได้ออกจากห้องประชุม พร้อมประกาศผลการหารือให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวนหลายร้อยคนที่มารอฟังกันบริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชรว่า ที่ประชุมมีมติให้ชาวไร่ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ตกลงกันไว้กับกองทัพภาคที่ 3 แล้ว จำนวน 19 ข้อ และความสูงท้ายกระบะบรรทุกอ้อยต้องไม่เกินระดับ 3.80 เมตร โดยให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

               โดยให้บรรทุกผลผลิตจากไร่เข้าสู่โรงงานได้ถึงเวลา 24.00 น.ของคืนวันที่ 10 ม.ค. 60 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ระหว่างรอผลการประชุมร่วมกันหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปว่าหลังจากผ่านพ้นวันที่ 10 ม.ค.ไปแล้วจะยังคงสามารถบรรทุกอ้อยที่น้ำหนักเกิน 25 ตันเข้าสู่โรงงานได้หรือไม่

               จากนั้นชาวไร่อ้อยทั้งหมดได้สลายตัวแยกย้ายกันกลับทันที      

        สำหรับข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยกับกองทัพภาคที่ 3 ทั้ง 19 ข้อ ประกอบด้วย

       1. การบรรทุกอ้อย ให้มีความสูงจากพื้นถนน ไม่เกิน 4.00 เมตร มีความยาวที่ยื่นจากขอบตัวถังด้านหลังไม่เกิน 2.30 เมตร ท้ายไม่บานและมีสายรัดผูกมัดให้แน่น ความยาวด้านหน้าไม่เกินกันชนหน้ารถ

       2. สำหรับอ้อยตัดที่เป็นท่อน ให้มีผ้าหรือตาข่ายคลุมด้านบนของรถและผูกมัดให้แน่นป้องกันไม่ให้ท่อนอ้อยตกหล่น หรือกระเด็นออกจากรถขณะขนส่งการบรรทุกอ้อย

       3. รถบรรทุกอ้อยทุกคันให้มีการติดธงแดงขนาดใหญ่ท้ายรถอย่างน้อย 2 ผืน เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนเวลากลางวัน และติดสัญญาณไฟแดงไว้บริเวณด้านข้างซ้าย-ขวา ของตัวรถอย่างน้อยด้านละ 1 ดวง และด้านท้ายสุดของอ้อยที่ยื่นออกมานอกตัวรถอย่างน้อย 3 ดวงในเวลากลางคืน และจัดทำป้ายสะท้อนแสงสีขาว 90 ซม.×120 ซม. มีตัวอักษรสีแดงข้อความ “รถช้า บรรทุกอ้อย” สำหรับรถบรรทุกปกติ หรือ “รถพ่วง บรรทุกอ้อย” สำหรับรถพ่วง

       4. ให้ผู้รับผิดชอบในการบรรทุกขนส่งอ้อยมีความระมัดระวังและป้องกันมิให้อ้อยตกหล่นลงบนพื้นที่ถนน ถ้ามีอ้อยตกหล่นให้รีบขนย้ายออกโดยเร็ว โดยให้มีรถจัดเก็บหรือย้ายอ้อยที่ตกหล่นและทำสัญญาณให้ผู้อื่นเห็นได้ชัดเจน โดยให้สมาคมชาวไร่อ้อยจัดรถสำหรับออกตรวจเส้นทางที่รถบรรทุกอ้อยผ่านอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เมื่อพบอ้อยร่วงหล่นให้รีบดำเนินการจัดเก็บทันที พร้อมทั้งจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณถนน กรณีพบอ้อยร่วงหล่นให้ติดต่อสมาคมฯ พร้อมแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้

       5. ให้คนขับรถบรรทุกอ้อยมีความระมัดระวังบริเวณทางแยก ทางร่วม ทางโค้ง ทางขึ้นเนิน และในเขตชุมชน เป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ในช่องทางที่มีการจราจรตั้งแต่ 2 ช่องทางขึ้นไป ให้วิ่งชิดซ้ายสุดและห้ามขับแซงในที่ชุมชนหรือในที่คับขัน การขับรถบรรทุกอ้อยในเขตหมู่บ้านและเขตเมืองต้องมีความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง อีกทั้งให้ปฏิบัติตามป้ายประชาสัมพันธ์ที่สมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่ และมาตรการเพิ่มเติมของท้องถิ่นที่ได้จัดทำป้ายเตือนไว้ตามจุดอันตราย

       6. ให้คนขับรถบรรทุกอ้อยทิ้งระยะห่างของรถแต่ละคันอย่างน้อย 100 เมตร ในการวิ่งบนถนนในเขตชุมชน และเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษบนเส้นทางที่มีการจราจรติดขัด

       7. ให้รถบรรทุกอ้อยทุกคันทุกประเภทจะต้องทำประกันภัย ประเภทประกันอุบัติเหตุ

       8. หากมีเหตุจำเป็นต้องหยุดจอดรถบนถนนระหว่างการขนส่ง เช่น รถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุต้องจอดรถชิดขอบทางด้านซ้ายของถนน และให้มีกรวยสีขาวแดงวางแสดงเป็นเครื่องหมายปิดหัวท้ายเพื่อเป็นสัญญาณว่ารถหยุดจอด ให้ผู้อื่นเห็นได้อย่างชัดเจน ในระยะห่างจากตัวรถทั้งด้านหน้าและด้านหลังไม่น้อยกว่าด้านละ 150 เมตร ทั้งนี้ ถ้าเป็นเวลากลางคืนให้ใช้แผ่นสะท้อนแสง หรือวัสดุบอกเตือนให้ชัดเจนตลอดจนเวลาที่รถจอดจนกว่าจะมีการเคลื่อนย้ายรถออกไป อีกทั้งห้ามใช้พื้นที่ถนนเป็นพื้นที่บรรทุกอ้อย เพื่อมิให้เป็นการกีดขวางการจราจรและอันตรายที่จะเกิดกับผู้ที่ใช้ถนนในการสัญจร

       9. ให้มีการตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถบรรทุกอ้อย ก่อนนำมาใช้บรรทุกอ้อย

       10. ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถบรรทุกอ้อยไม่ว่ากรณีใดๆ สมาคมไร่อ้อยต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ประสานอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหาย สมาคมฯ จะโยนความผิดไปเป็นเรื่องส่วนบุคคลมิได้ แต่ค่าเสียหาย และรับผิดทางคดี เป็นเรื่องของผู้กระทำความผิด

       11. กรณีเกิดอุบัติเหตุและตรวจสอบพบว่ารถยนต์ดังกล่าวปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยไม่มีข้อยกเว้น

       12. กรณีรถบรรทุกอ้อยไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ก่อนที่จะนำอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล

       13. ให้สมาคมชาวไร่อ้อยจัดตั้งศูนย์แจ้งหรือบันทึกทะเบียนรถ ตำบลต้นทาง เส้นทาง และปลายทาง เวลาออกจากต้นทางและเวลาถึงปลายทาง

       14. ให้โรงงานน้ำตาลจัดสถานที่ของตนให้เพียงพอสำหรับรถบรรทุกอ้อยจอดรถส่งอ้อยเข้าโรงงานเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการจอดรถบรรทุกบนถนนหลวงหน้าโรงงาน ในกรณีมีความจำเป็นต้องจอดรถบนถนนหลวงหน้าโรงงาน ไม่ว่ากรณีใดๆ ห้ามให้มีการจอดซ้อนคันอย่างเด็ดขาด

       15. ให้โรงงานน้ำตาลแสดงป้ายสัญลักษณ์ที่เห็นเด่นชัด ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อแสดงให้ผู้ใช้ยวดยานพาหนะทราบระยะทางก่อนถึงโรงงาน ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร และในช่วงระยะ 1 กิโลเมตรดังกล่าวให้แสดงสัญลักษณ์บอกระยะ 500 เมตร และ 250 เมตร

       16. ให้โรงงานน้ำตาลทำคานสูง 4.20 เมตร เพื่อกันปริมาณอ้อยที่บรรทุกสูงเกินไป

       17. ให้โรงงานน้ำตาลชั่งน้ำหนัก และบันทึกข้อมูลรถบรรทุกอ้อยทุกคันที่นำอ้อยเข้าสู่โรงงาน

       18. ให้โรงงานน้ำตาลจัดทำแผนการขนย้ายอ้อยเข้าสู่โรงงาน ว่าเป็นของรายใด ขนย้ายวันที่เท่าไร ขนย้ายอ้อยมาจากที่ไหน ปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานของแต่ละวัน

       19. ผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำตาล และสมาคมฯ จะสนับสนุน ส่งเสริม นโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุในการใช้ถนนของประชาชนทั่วไป โดยหยุดรับอ้อยเข้าสู่โรงงานฯ ในห้วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ตามห้วงเวลาที่เหมาะสม

 จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2560

วุ่น! ชาวไร่อ้อยฮือประท้วงด่านชั่งไตรตรึงษ์ โวยโดนรถปาดหน้าจับบรรทุกเกิน

        กำแพงเพชร - ชาวไร่อ้อยเมืองกล้วยไข่ รวมตัวประท้วงเต็มด่านชั่งไตรตรึงษ์ โวยโดน จนท.ขับรถปาดหน้า-จับรถขนอ้อยบรรทุกเกิน เดือดร้อนกันทั่ว-ทั้งจังหวัดอ้อยตกค้างรอส่งโรงงานร่วม 6 แสนตัว ทำน้ำตาลเข้าตลาดช้า 6 หมื่นตัน จนทหารช่วยเคลียร์ นัดตัวแทนหารือด่วนบนศาลากลางแทน

               วันนี้ (8 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวไร่อ้อยประมาณ 500 คนได้รวมกันเดินทางมาที่ด่านชั่งไตรตรึงษ์ ต.ไตรตรึงษ์ อ.เมืองกำแพงเพชร เพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ โดยขับรถปาดหน้ารถบรรทุกอ้อยเพื่อให้หยุดรถ ตรวจสอบวัดน้ำหนัก รวมทั้งกวดขันเรื่องการบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน 25 ตัน

               โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก นอกจากจะไม่สามารถขนส่งอ้อยเข้าโรงงานได้ตามแนวทางปฏิบัติที่ตกลงกันไว้กับกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 19 ข้อแล้ว ยังส่งผลกระทบทำให้ชาวไร่อ้อยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น เพราะบรรทุกอ้อยแต่ละเที่ยวได้น้อยลง และต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งอ้อยเพิ่มมากขึ้นทำให้อ้อยส่งเข้าโรงงานล่าช้า ขณะนี้ทั่วทั้งกำแพงเพชร มีอ้อยที่ค้างรอการส่งเข้าสู่โรงงานประมาณ 6 แสนตัน จึงมีน้ำตาลออกสู่ตลาดช้ากว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 6 หมื่นตัน

               นายสุวิทย์ พันธ์วิทยากูล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชร เปิดเผยว่า ชาวไร่อ้อยจังหวัดกำแพงเพชร ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ได้ตกลงกับกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งที่จังหวัดฯ ได้เชิญไปหารือถึงมาตรการความปลอดภัยรถบรรทุกอ้อย ซึ่งได้ปฏิบัติตามทุกข้อ แต่ขณะเดียวกันชาวไร่อ้อยต้องมาประสบปัญหา จากเจ้าหน้าที่ออกตรวจน้ำหนักเคลื่อนที่ทำให้ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถที่จะส่งอ้อยเข้าโรงงานได้ตามปกติ จึงขอให้ทางจังหวัดหามาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย

               ต่อมา ร.ท.นิติธร มาปัน หัวหน้าฝ่ายการข่าว กองบังคับการควบคุม กองพลทหารราบที่ 4 (ร.14) พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ได้พูดคุยเจรจากับชาวไร่อ้อย เพื่อหาข้อยุติ โดยมีนายสัมพันธ์ อศูรย์ หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักกำแพงเพชรร่วมชี้แจง เบื้องต้นได้ขอให้ชาวไร่อ้อย ส่งตัวแทนเข้าประชุมร่วมกันที่ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร ในวันเดียวกันนี้

               โดยระหว่างนี้ทหารได้ขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด่านชั่งน้ำหนักหยุดการออกตรวจน้ำหนักเคลื่อนที่ก่อน พร้อมกับส่งเจ้าหน้าหน้าที่ทหาร ประจำการอยู่ที่ด่านชั่งด้วย

               ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ขับรถปาดหน้ารถบรรทุกอ้อยเพื่อเรียกให้หยุดตรวจสอบน้ำหนักนั้น ได้ทำการสอบถามเจ้าหน้าที่ด่านชั่งไตรตรึงษ์แล้ว ยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ที่นี้อออกตรวจ จึงไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากไหน ต้องส่งกำลังทหารออกตระเวนตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน พร้อมกับขอความร่วมมือชาวไร่อ้อยไม่ให้นำรถบรรทุกอ้อยออกมาปิดเส้นทางการจราจรและสถานที่สำคัญต่างๆ ด้วย

               หลังจากเจรจาได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ชาวไร่อ้อยที่มารวมตัวกันจึงได้พากันแยกย้ายเดินทางออกจากด่านชั่งไตรตรึงษ์ มุ่งหน้าไปศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อรอผลการประชุมจากตัวแทนที่จะเข้าประชุมหาทางออกกันต่อไป

 จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2560

พาณิชย์ทบทวนกฎหมายธุรกิจ5ฉบับ

พาณิชย์ ทบทวนกฎหมายธุรกิจ 5 ฉบับ สร้างระบบการค้าใหม่ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ปรับบทบาทและทิศทางการทำงานให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ในปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ พิจารณาทบทวนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บางฉบับที่มีความเข้มงวดและขาดความยืดหยุ่นในการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความทันสมัย ลดขั้นตอนต่าง ๆ ลง และมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

โดยมีกฎหมายธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยน 5 ฉบับ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลคนเดียว พ.ศ. ... ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... และการปรับปรุงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2560

ปั๊มเริ่มชะลอขาย E20 หลังราคาเอทานอลสูงแถมปริมาณไม่ชัด  

         จับตาผู้ค้าน้ำมันเริ่มไม่อยากจำหน่าย E20 หลังราคาไม่จูงใจผู้ซื้อ แถมราคาเอทานอลก็แพงและมีปริมาณไม่ชัดเจน ขณะที่กรมธุรกิจพลังงานเผยเตรียมปรับแผนน้ำมันภายในไตรมาสแรกปีนี้ โดยเตรียมทบทวนแผนการการยกเลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91 ว่าจะยกเลิกตามแผนเดิม ม.ค. 61 หรือชะลอแผนออกไปหรือไม่อย่างไร รวมถึงแผนส่งเสริม E20

                แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอมรับว่าบริษัทน้ำมันต่างๆ ได้ลดการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 โดยเฉพาะในสถานีบริการน้ำมันต่างจังหวัดที่บางปั๊มแม้จะมีหัวจ่ายแต่จะไม่มีน้ำมันจำหน่าย ขณะเดียวกัน ปั๊มที่ยังไม่มีหัวจ่าย E20 ก็ไม่มีแผนที่จะขยายเพิ่มโดยปัญหานี้ได้เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 เป็นต้นมาโดยปัจจัยหลักเพราะราคา E20 ยังไม่จูงใจผู้ใช้มากพอ ประกอบกับปริมาณเอทานอลในช่วงปลายปีตึงตัวและมีราคาสูงขึ้น

               “ผู้ค้าเริ่มไม่อยากจำหน่าย E20 เพราะราคาไม่จูงใจเดิมกระทรวงพลังงานพยายามจะถ่างราคาให้มากขึ้น แต่ปริมาณเอทานอลมีปัญหาไม่ชัดเจนแผนนี้รัฐก็ชะลอไป ทำให้ผู้ค้าเองก็ยังไม่มั่นใจต้องรอนโยบายรัฐก่อน ทั้งนี้เอทานอลจะต่างกับไบโอดีเซลที่สามารถปรับลดสัดส่วนการผสมได้เนื่องจากเอทานอลเป็นตัวกำหนดค่าออกเทนหากลดไปสเปกจะไม่ได้ทันที” แหล่งข่าวกล่าว

               นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2558-2579 (Oil Plan 2015) ตามนโยบายปลัดกระทรวงพลังงาน โดยเป้าหมายเมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2579 จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแต่จะปรับระหว่างทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยคาดว่าจะสามารถสรุปแผนทั้งหมดได้ภายในไตรมาส 1 ปีนี้โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้เอทานอลในภาคขนส่งที่ตามแผนกำหนดจะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในเดือน ม.ค. 2561 ว่าจะยกเลิกแผนนี้ต่อไปหรือชะลอออกไปหรือไม่อย่างไร

               “เดิมในเดือน ธ.ค.นี้จะต้องประกาศว่าจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 เดือน ม.ค. 61 โดยให้เวลา 1 ปีแต่จากปัญหาเอทานอลตึงตัวทำให้ไม่สามารถจะประกาศได้และอาจจะต้องมาดูว่าที่สุดแล้วนโยบายนี้จะต้องปรับหรือไม่ในระหว่างทาง ขณะเดียวกันก็ต้องมองภาพรวมในเรื่องของการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ด้วยในเรื่องของส่วนต่างราคาที่เดิมจะจูงใจการใช้มากขึ้นเมื่อยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 แล้ว” นายวิฑูรย์กล่าว

               นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันยังรอนโยบายความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์อี 10 ชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อทำให้ประชาชนหันไปใช้ E20 มากขึ้นตามแผนที่จะส่งเสริมฯ ให้มีการใช้เอทานอล 11.3 ล้านลิตรต่อวันในปลายปี 2579 โดยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเอทานอลค่อนข้างตึงตัว หากจะใช้เพิ่มขึ้นภาครัฐก็ต้องหาแนวทางบริหารเอทานอลให้สมดุลต่อแผน

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2560

ชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ ลุกฮือ! ปิดถนน ไม่ยอมให้รถบรรทุกขึ้นชั่ง

หวิดวุ่น ชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ รวมตัวกว่า 300 คน ปิดถนนสายตากฟ้า-ท่าตะโก ไม่ยอมให้รถบรรทุกอ้อยขึ้นชั่ง หลัง ก.ม.กำหนดให้บรรทุกได้ไม่เกิน 25 ตัน เจรจานาน ชม.กว่า จนเป็นที่พอใจต่างแยกย้ายกลับ ก่อนหาข้อยุติอีกครั้ง

เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 7 ม.ค.60 นายไพศาล บำรุงศรี หัวหน้าชุดพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยตาชั่งตาชั่งลอย (เคลื่อนที่) ได้นำเครื่องชั่งลอยมาดำเนินการสุ่มตรวจรถบรรทุกอ้อย บนถนนสาย 1145 สายตากฟ้า-ท่าตะโก บริเวณริมถนนหน้าโรงเรียนตากฟ้าวิชาประสิทธิ์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้รถบรรทุกอ้อยบรรทุกอ้อยได้ไม่เกิน 25 ตัน ปรากฏว่าได้มีรถอ้อยทยอยขนอ้อยออกมาจากไร่ประมาณ 30 คันหลังจากได้พบเจ้าหน้าที่ตาชั่งลอยมาตั้ง รถบรรทุกอ้อยทุกคันต่างไม่ยอมขึ้นชั่ง

จากนั้นชาวไร่อ้อยรอบๆ บริเวณที่ทราบข่าว ต่างพากันมาสมทบกว่า 300 คน ก่อนที่พ.ต.อ.อวัช มูลศิริ ผกก.สภ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย พ.ต.ท.สุทิน มูลศิริ รอง ผกก.สส. นำกำลังตำรวจจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วย นายวุฒิพงษ์ สุภัควณิช นายอำเภอตากฟ้า ได้ร่วมมาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งผลการเจรจาชาวไร่อ้อยต่างไม่ยอมให้ขึ้นชั่ง จึงมีการแจ้งเรื่องไปทางกระทรวงอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่เพื่อสั่งการหาวิธีการดำเนินการในขั้นต่อไป

ล่าสุด เมื่อ 19.30 น. นายอำเภอตากฟ้า ได้พบกับกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันอยู่ โดยมี นายรัชชาพงษ์ ด้วงสั้น อดีตกำนันตำบลหัวหวาย อ.ตาคลี ซึ่งเป็นอุปนายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ ได้มาร่วมเจรจา โดยแจ้งว่าช่วงนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ขอผ่อนผันการบรรทุกอ้อยได้ระดับความสูง 3.80 เมตร ไปก่อน และหลังจากที่ทางสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 และกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมทางหลวง จะได้ร่วมเจรจาหาข้อยุติกันอีกครั้ง หากได้ผลอย่างไรจะได้แจ้งให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ทราบต่อไป

ในเบื้องต้นขอให้ทางเกษตรกรชาวไร่อ้อยปฏิบัติตามข้อตกลง ที่ได้กระทำความตกลงกัน 19 ข้อในการปฏิบัติของเกษตรกรชาวไร่อ้อยกับทางจังหวัดนครสวรรค์ โดยนายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ลงนามในคำสั่งดังกล่าวนอกเหนือจากนี้ หากทางรัฐบาลมีคำสั่งอย่างใดออกมาจะแจ้งให้ทราบต่อไป จึงเป็นที่พอใจแก่เกษตรกรซึ่งต่างได้แยกย้ายกันกลับ.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

2 ปัจจัยดีดราคานํ้าตาลพุ่ง อนท.ขายล่วงหน้าแล้ว 70% ขาขึ้นต่อเนื่อง 2 ปี

อนท.เฮ! ทำราคาน้ำตาลดิบล่วงหน้าปี2559/2560ไปแล้วเกือบ70% ชี้ได้ราคาดีเกือบ21เซ็นต์ต่อปอนด์ เผยสาเหตุราคาน้ำตาลดิบดีขึ้นเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักมั่นใจราคาน้ำตาลขาขึ้นต่อเนื่องอีก2 ปีนับจากนี้ไป

นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรืออนท.เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2559/2560 (เริ่มตุลาคม2559-กันยายน2560) อนท.ทำราคาน้ำตาลดิบล่วงหน้าไปแล้ว 68.74% จากที่มีปริมาณน้ำตาลโควตาข. (น้ำตาลที่ส่งออกโดยอนท.)จำนวน 8 แสนตันต่อปี โดยราคาอยู่ที่20.95 เซ็นต์ต่อปอนด์ รวมค่าพรีเมียมแล้ว ถือว่าได้ราคาดี โดยที่ผ่านมาจะใช้น้ำตาลโควตาข.เป็นเกณฑ์ในการคิดราคาอ้อยขั้นต้น โดยยึดอัตราแลกเปลี่ยนที่34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ดูจากการขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้วปี2559/2560 มีความเสี่ยงน้อยลงเพราะทำราคาไปแล้วเกือบ70%ถือว่าได้ราคาดี ถ้าเทียบกับปี2558/2559 ที่ราคาน้ำตาลดิบโควตาข.อยู่ที่ 15.40 เซ็นต์ต่อปอนด์

ส่วนสาเหตุที่ราคาน้ำตาลดิบปี2559/2560ดีขึ้นเกิดจาก2ปัจจัยหลัก คือ 1. ปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมน้ำตาลในตลาดโลกดี หลังจากที่ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกมีปริมาณน้อยกว่าปริมาณการบริโภค 2 ปีติดต่อกัน โดย FO Licht บริษัทวิจัยเยอรมันระบุไว้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ว่าผลผลิตน้ำตาลโลกปี2559/2560 อยู่ที่ 178.8 ล้านตัน แต่การบริโภคอยู่ที่ 183.3 ล้านตัน สูงกว่าผลผลิตน้ำตาล เปรียบเทียบปี2558/2559 มีผลผลิตน้ำตาลโลกอยู่ที่ 174.5 ล้านตัน มีการบริโภค 180.7 ล้านตัน โดยภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตอ้อยน้อยลง โดยเฉพาะผลผลิตในอินเดีย และไทย ทำให้ปริมาณน้ำตาลโลกน้อยลง อีกทั้งก่อนหน้านี้ในช่วง5 ปีติดต่อกันในตลาดโลกมีผลผลิตน้ำตาลมากกว่าความต้องการใช้ติดต่อกัน

2.กองทุนเก็งกำไรเข้ามาซื้อตั๋วน้ำตาลเก็งกำไร พอราคาดีก็เทขาย โดยในช่วงวันที่ 27 กันยายนปี 2559 ได้มีการเข้ามาซื้อตั๋วน้ำตาลสูงถึง 17.69 ล้านตัน ทำให้ราคาน้ำตาลช่วงต้นเดือนตุลาคมขึ้นไปสูง23-24 เซ็นต์ต่อปอนด์ พอกองทุนเทขายในช่วงต้นเดือนธันวาคม2559 เหลือปริมาณตั๋วน้ำตาลเพียง7.85 ล้านตัน และราคาน้ำตาลดิบก็ลดลงมาอยู่ที่18 -19 เซ็นต์ต่อปอนด์ อยู่ในขณะนี้และเมื่อขายทำกำไรเสร็จแล้วก็หันไปซื้อตั๋วในสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนดี เช่นน้ำมัน ที่ราคากลับมาสูงขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตามสัดส่วนที่เหลืออีก 31.26% ที่อนท.ยังไม่ได้ทำราคาน้ำตาลดิบล่วงหน้านั้น ไม่น่าเป็นห่วง และยังมีโอกาสทำราคาได้ดี เมื่อแปลงเป็นเงินบาท เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า ณ วันที่ 21 ธันวาคม2559 อยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ทำให้มูลค่าราคาน้ำตาลที่เป็นเงินบาทมีมูลค่ามากขึ้น

ผู้จัดการทั่วไปอนท. มองอีกว่าปี 2560 เป็นต้นไป ราคาน้ำตาลจะดีต่อเนื่องไปอีก 2 ปี เพราะการผลิตสินค้าเกษตรมีฤดูการเกี่ยวพันกับภัยธรรมชาติ ทำให้ตั้งแต่ปี 2559-2561 อุตสาหกรรมน้ำตาลจะอยู่ในจังหวะขาขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมปี 2558 ที่ราคาน้ำตาลดิบเคยลงไปที่ 10.13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งต่ำสุดในรอบ 7-8 ปี ในขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาวก็หล่นลงมาอยู่ที่ 329 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน พอเดือนกันยายน ปี2559 ราคาขึ้นมาอยู่ที่ 619 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกปิดตลาด ณ วันที่ 20 ธันวาคม2559 อยู่ที่ 492.60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็นราคาส่งมอบเดือนมีนาคม2560 ส่วนราคาน้ำตาลดิบอยู่ที่ 18.2 เซ็นต์ต่อปอนด์

ด้านการบริโภคน้ำตาลในประเทศปี 2559/2560 โควตาก. ถูกจัดสรรไว้ที่ 2.6 ล้านตัน (26 ล้านกระสอบ กระสอบละ 100 กิโลกรัม) ราคา ณ หน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกในกทม.และปริมณฑล น้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ 22.50 บาทต่อกิโลกรัมและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเพดานราคาในประเทศ ยกเว้นพื้นที่ห่างไกลราคาจะสูงกว่านี้เพราะบวกค่าขนส่ง

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

ตีกรอบบาท35.5-36.8/ดอลล์ นักเศรษฐศาสตร์เตือนผันผวนทั้งปี-ระวังเงินไหลออก

 “กสิกรไทย-ทีเอมบี” มองเงินบาทปี 2560 เคลื่อนไหวกรอบ 35.5-36.8 บาทต่อดอลลาร์ ผันผวนตลอดปีเหตุปัจจัยความไม่แน่อนนโยบายเศรษฐกิจ”ทรัมป์” สหรัฐ-จีนตึงเครียด การเมืองยุโรปส่อวุ่น และ ธนาคารกลางทั่วโลกงัดมาตรการรับมือเงินทุนไหลออก

ส่องตลาดเงินตลาดทุนปี2560 ยังเผชิญความผันผวนสูงกว่าปีที่แล้ว สารพัดปัจจัยที่เข้ามากระทบทั้งปัจจัยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด)จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนครบ3ครั้งหรือไม่ อีกทั้งยังมีปัจจัยทางการเมือง มีการเลือกตั้งในหลายประเทศทั้งเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือปัจจัยรัฐบาลชั่วคราวของอิตาลีที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาภาคสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ประเทศอังกฤษ ก็เริ่มต้นกระบวนการออกจากสหภาพยุโรป(Brexit) และความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐที่ส่อแววตึงเครียดจากนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ล้วนส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่จะผันผวนมากขึ้น

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และธนาคารกลางทั่วโลก ต้องเตรียมเครื่องมือในการบริหารจัดการเพื่อรับมือความผันผวนระหว่างทางทั้งเงินทุนไหลออกการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐกดดันเงินบาทอ่อน

โดยเฉพาะกรณีความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ถ้าเกิดความตึงเครียดขึ้นมา นอกจากจะกดดันค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าอยู่แล้วให้ยิ่งอ่อนค่าลงไปอีก และยังจะฉุดสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคให้อ่อนค่าตามไปด้วย รวมทั้งค่าเงินบาทซึ่งกสิกรไทยมองว่าสิ้นปี 2560 เงินบาทจะเคลื่อนไหวอ่อนค่าไปแตะ36.5บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สมมติฐานเฟดขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง

“โจทย์ยากปี2560 แม้เงินบาทจะอ่อนค่าแต่ไทยไม่ได้เปรียบมากนัก เพราะสกุลเงินอื่นๆก็อ่อนค่าลงเช่นกัน ซึ่งภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ต้องระดมเงินผ่านหุ้นกู้อายุ 3-5ปีแต่การออกหุ้นกู้ที่มีอายุมากกว่านี้ยาก และยังต้องเตรียมแผนให้ดีเพราะมีผลกระทบหลายด้านทั้งค่าแรงที่ปรับเพิ่มบางส่วน อัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน”

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีกล่าวว่าเงินบาทยังอ่อนค่าถึงไตรมาสแรกของปีซึ่งสวนทางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐโดยมี 2ปัจจัยหลักคือ นายโดนัลด์ทรัมป์ประกาศนโยบายภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคา 2560

นโยบายของทรัมป์ ที่โลกจับตา 2 นโยบาย ได้แก่การลดภาษีดึงทุนสหรัฐกลับมาลงทุนในประเทศ และการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีนจะยิ่งฉุดให้เงินหยวนอ่อนค่าและดึงให้เงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคให้อ่อนค่าลงด้วยโดยกลางปีมีโอกาสเห็นเงินบาทเคลื่อนไหว 36.8บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและปลายปีจะกลับแข็งค่าที่ระดับ 35.5บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“ภาพรวมทั้งปีดอกเบี้ยนโยบายคงที่ 1.5% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย2%ส่วนกลางปีอาจจะเกิน3%แต่ยังไม่สูงมากและราคาน้ำมันยังไม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวมากนัก หรือแม้จะมีเงินไหลออกก็จะถูกปรับคืนด้วยเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ส่งออกและเศรษฐกิจไทยดี ขณะที่แบงก์ชาติจะดูแลบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วและแรง”

ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มองว่าทิศทางค่าเงินบาทจะผันผวนต่อเนื่องจากปลายปี2559 และต่อเนื่องทั้งปี 2560 โดยธปท.จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ส่วนค่าเงินบาทปีที่แล้วอ่อนค่าประมาณ 0.56% เมื่อเทียบเงินดอลลาร์ ดดยปิดตลาดในกรอบ 35.82-35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายสมประวิณ มันประเสริฐ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า แนวโน้มระยะยาวเงินบาทจะค่อยๆอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่อาจพบความผันผวนเป็นระยะตามความไม่แน่นอนของนโยบายทางการเงินของประเทศหลัก แต่ระบบเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพในมิติระหว่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงไม่น่าจะต้องกังวลมาก

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

กษ.เดินหน้า‘ประเทศไทย4.0’ นำร่องต้นแบบเชื่อมข้อมูลรัฐ

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ดำเนินการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ โดยนำร่องใน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีการนำเสนอแนวทางการบูรณาการตลอดจนศักยภาพของหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล

ผลจากการหารือดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการดำเนินการโครงการต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ 4 โครงการ ซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ประสานงานกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการซึ่งจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อกำหนดรายละเอียดโครงการในระยะต่อไป ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าการบูรณาการด้านสารสนเทศ ด้วยหลักการบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ จะสามารถขยายครบ 20 กระทรวง ในทุกหน่วยงาน อันเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารราชการระหว่างภาครัฐและประชารัฐ สู่ประเทศไทย 4.0 อย่างเต็มประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

เงินบาทแข็งค่า หลังนักวิเคราะห์คาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (4/1) ที่ระดับ 35.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวานนี้ (4/1) ได้มีการเปิดเผยรายงานประชุมประจำเดือนธันวาคม ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินประจำธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยระบุว่ากรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากนโยบายการกระตุ้นการคลังของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่รวดเร็วมากขึ้น พร้อมทั้งนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ยังได้กล่าวเสริมหลังการประชุมว่า ตลาดแรงงานสหรัฐในขณะนี้นั้นได้เติบโตใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้แล้ว พร้อมทั้งอัตราเงินเฟ้อยังใกล้บรรลุเป้าหมายที่ระดับ 2% โดยทางคณะกรรมการคาดว่าน่าจะบรรลุได้ภายในกรอบระยะเวลา 2 ปี

สำหรับความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจไทย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ออกมาคาดการณ์ทิศทางเงินเฟ้อในปี พ.ศ. 2560 นี้ โดยส่วนมากให้กรอบการขยายตัวที่ระดับ 1.8-2.3% โดยยึดสมมติฐานที่ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั่วโลกในปีนี้นั้นน่าจะอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) ที่ระดับ 41.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมคือ 1.5% ตลาดทั้งปีนี้เพื่อรอประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ภายใต้ผู้นำสหรัฐคนใหม่ อีกทั้งเมื่อวานนี้ (4/1) กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนธันวาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ CPI ทั้งปี พ.ศ. 2559 นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.19% ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวนระหว่าง 35.69-35.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (5/1) เปิดตลาดที่ระดับ 1.0522/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันพุธ (4/1) ที่ระดับ 1.0430/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเนื่องจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และยังมีปัจจัยเสริมจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาเมื่อวานนี้ (4/1) โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป ได้ออกมาเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยอัตราเงินเฟ้อนั้นได้ปรับตัวสูงขึ้น 1.1% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2556 โดยได้รับแรงหนุนจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และสถาบันมาร์กิตยังได้เปิดเผย ดัชนีรวมภาคการผลิตและบริการของกลุ่มยูโรโซนประจำเดือนธันวาคม โดยอยู่ที่ระดับ 54.4 สูงกว่าเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 53.8 ซึ่งดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงสภาวะขยายตัว โดยประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้มากที่สุดในกลุ่มยูโรโซนได้แก่ สเปน และเยอรมนี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.0525-1.0576 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.0514/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (5/1) เปิดตลาดที่ระดับ 116.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับราคาเปิดตลาดในวันพุธ (4/1) ที่ระดับ 117.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงสนับสนุนหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยฐานเงินของญี่ปุ่นในวันนี้ (5/1) โดยฐานเงินของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2559 ทำสถิติสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 10 โดยปรับตัวสูงขึ้น 22.8% จากปี พ.ศ. 2558 โดยฐานเงิน (Monetary Base) หรือปริมาณธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ที่หมุนเวียนอยู่ในมือประชาชนและธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเงินฝากที่ฝากไว้กับธนาคารกลาง และเมื่อวานนี้ (4/1) นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยถึงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายอาเบะได้ออกมาบอกกับสื่อมวลชนว่า นโยบายเศรษบกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศในขณะนี้คือการออกกฎหมายสำหรับงบประมาณปีถัดไปอย่างรวดเร็ว และยังคงเน้นย้ำในนโยบายอาเบะโนมิกส์ หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 115.58-116.51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 116.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ ประจำเดือนธันวาคม (5/1) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (5/1) ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอียู ประจำเดือนธันวาคม (6/1) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ ประจำเดือนธันวาคม (6/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.90/+0.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.0/+1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

ก.อุตสาหกรรมเดินหน้าคกก.S Curve

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าคณะกรรมการ S Curve ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องดูสิทธิประโยชน์

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S - Curve) จะทำหน้าที่พิจารณามาตรการสนับสนุนธุรกิจที่อยู่ใน S - Curve ประกอบด้วย การต่อยอด 5 อุตสาหกรรม เดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตฯ ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และพัฒนา 5 อุตสาหกรรมอนาคต ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมใหม่ ที่กระทรวงฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ อุตสาหกรรมสมุนไพร พัฒนาสู่สมุนไพรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจะได้สิทธิประโยชน์ภาษีอย่างไร การกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดทำบัญชีอุตสาหกรรม

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

“อุตตม”นั่งประธานกก.ขับเคลื่อน10อุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าลงทุนอีอีซี 2 หมื่นไร่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย(เอส-เคิร์ฟ) ซึ่งแปลงมาจากคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ที่ทำงานในปีที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน โครงสร้างกรรมการอาจจะเหมือนเดิมแต่บทบาทการทำงานจะเปลี่ยนไป เพื่อสนับสนุนเอส-เคิร์ฟให้เข้มข้นและเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่ต่างขับเคลื่อนเอส-เคิร์ฟเช่นกัน อาทิ ทำงานร่วมกับคณะทำงานประชารัฐที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นอกจากนี้คณะกรรมการฯจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) พื้นที่ลงทุนกว่า 2 หมื่นไร แบ่งเป็น พื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กว่าหมื่นไร่ และพื้นที่ของเอกชนกว่าหมื่นไร่ ซึ่งการลงทุนในอีอีซีจะเกิดคลัสเตอร์ตามมาอยู่แล้ว เพราะจะมีทั้งผู้ผลิตหลัก และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องทั้งระบบ

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

ค้านรง.น้ำตาลเพชรบูรณ์  

          เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่บริเวณหน้าโรงงานน้ำตาลเพชรบูรณ์ หมู่ 3 ต.หนองแจง อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์  กลุ่มคัดค้านโรงงานน้ำตาลจำนวนราว 100 คน นำโดยว่าที่ ร.อ.โอภาส สุทธิเกิด รวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลเพชรบูรณ์ เนื่องจากสถานที่ตั้งไม่ควรอยู่ในชุมชน ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มคัดค้านได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองส่วนแยกนครสวรรค์ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่ถูกฟ้องร้อง อาทิ อธิบดีกรมโรงงาน, อุตสาหกรรมจังหวัด, อบต.หนองแจง และโรงงานน้ำตาล ทำรายงานชี้แจงขึ้นไป ว่าที่ ร.อ.โอภาสกล่าวว่า เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากที่ผ่านมาฝ่ายคัดค้านแสวงหาข้อมูลลำบากเนื่องจากถูกกีดกันจึงต้องการให้มีคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงเกิดขึ้น และให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย หากพบว่าถูกต้องก็พร้อมยุติการเรียกร้อง

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

พลังงานเล็งเลิกส่งเสริมโซฮอล์E85 ดันE20เต็มที่รง.เอทานอลแห่ขยายรองรับดีมานด์

ก.พลังงานเล็งทบทวนการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ต่อหรือไม่ หลังนโยบายชัดเจนส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E20 แทน ด้านซัพพลายเอทานอลมีโรงงานใหม่จ่อผลิตเข้าระบบอีก 3 โรง คาดกำลังผลิตแตะ 4.5 ล้านลิตร/วัน รองรับการใช้ต่อเนื่อง แถมเตรียมแนวคิดกำหนดเพดานการผลิตเอทานอลป้องกันขาดแคลนในอนาคต

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีแนวคิดที่จะทบทวนว่าจะมีการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ต่อหรือไม่ เนื่องจาก 1) กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (E20) และเตรียมยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 (E10) ในเร็ว ๆ นี้ 2) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (E85) ได้รับการส่งเสริมราคาโดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาชดเชยสูงถึง 9.35 บาท/ลิตร เพื่อรักษาส่วนต่างราคาให้ถูกกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น โดยปัจจุบันมีราคาขายปลีกที่ 19.89 บาทลิตร หากยกเลิกการชดเชยจะช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันฯได้มาก และ 3) หากมีการส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อาจมีความเสี่ยงว่าปริมาณเอทานอลอาจไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้ โดยในช่วงท้ายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (2558-2579) จะมีการใช้เอทานอลเพียง 13-14 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่มีการใช้อยู่ที่ 3-3.5 ล้านลิตร/วัน

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานมองว่าเรื่องของเทคโนโลยีรถยนต์ในอนาคตจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น เมื่อรถยนต์เหล่านี้ออกสู่ตลาดทำให้การนำเอทานอลมาผสมกับเนื้อน้ำมันอาจจะไม่คุ้มทุน (ราคาเอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ 22-24 บาท/ลิตร) สอดคล้องกับความเห็นของค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถยนต์รองรับการใช้น้ำมัน E85 ว่ากำลังอยู่ในระหว่างทบทวน จะยุบส่วนที่ผลิตรถยนต์รองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 หรือไม่ แต่สำหรับผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E85 อยู่ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ได้

"ภาครัฐจะขอเวลาพิจารณาอีกระยะถึงภาพรวมการใช้น้ำมันแต่ละประเภทว่าเป็นอย่างไร ก่อนจะมีความชัดเจนในระดับนโยบาย แต่สำหรับน้ำมัน E85 คงจะปล่อยให้อยู่นิ่ง ๆ แบบนี้ โดยที่ไม่มีการสนับสนุนด้านราคาหรือมาตรการอื่น ๆ เหมือนที่ผ่านมา เพราะถ้าส่งเสริม E85 ได้จริง การใช้น้ำมันจะลดลง เพราะว่าถูกทดแทนด้วยเอทานอล แต่ต้องดูความพร้อมของประเทศด้วยว่าจะนำเอทานอลมาจากไหน"

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาที่จะประกาศยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 (E10) ในช่วงต้นปี′60 หรือไม่ เนื่องจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กลับต้องประสบปัญหาขาดแคลนเอทานอลเพราะมีการปิดซ่อมโรงงานเอทานอลพร้อมกันหลายโรง ทำให้ผู้ค้าน้ำมันยื่นหนังสือขอนำเอทานอลในส่วนที่มีการสต๊อกตามกฎหมายมาใช้ได้หรือไม่ แต่เมื่อกรมธุรกิจพลังงานได้ลงไปตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าปริมาณเอทานอลถือว่าปกติ จึงไม่อนุญาตให้มีการนำสต๊อกออกมาใช้ และได้พิจารณาให้ผู้ผลิตเอทานอล รวมถึงผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งปริมาณเอทานอลที่แท้จริงมายังกรมธุรกิจฯ ในทุกเดือนจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง นอกจากนี้ยังเตรียมแนวคิดที่จะกำหนดเพดานสำหรับการผลิตเอทานอล เช่น ปริมาณการผลิตต่ำสุดและสูงสุดเป็นอย่างไร เพื่อช่วยให้มอนิเตอร์การผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนในปี′60 นี้จะมีโรงงานเอทานอลใหม่รวม 3 โรง จาก 2 รายคือ บริษัท อุบล ไบโอเอทานอล จำกัด ซึ่งใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ และจากกลุ่มบริษัทมิตรผลที่จะใช้โมลาส (กากน้ำตาล) เป็นวัตถุดิบ

รายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงานระบุถึงปริมาณการใช้น้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ว่า ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (E85) อยู่ที่ 920,000 ลิตร/วัน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 4.6 ล้านลิตร/วัน ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 (E10) อยู่ที่ 10.52 ล้านลิตร/วัน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

ดันกลไก‘ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน’ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สานต่อนโยบายการลดต้นทุนการผลิตของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยส่งเสริมการให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ผ่าน “ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” (ศดปช.) จำนวน 882 ศูนย์ทั่วประเทศ บริหารจัดการโดยเกษตรกร เป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์ความรู้การจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้อง ช่วยยกระดับความรู้เรื่องดินและปุ๋ยให้แก่เกษตรกรที่มีต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของศูนย์ฯ จะทำกิจกรรมตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกพืชหรือก่อนการใส่ปุ๋ย ใช้เทคโนโลยี การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัดร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อสามารถจัดการเรื่องดินและใช้ปุ๋ยเคมีตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่และความต้องการของพืช ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตจากปุ๋ยเคมี และเพิ่มเติมอินทรียวัตถุให้ดิน นอกจากวิเคราะห์ธาตุ N P K ในดินแล้ว เกษตรกรยังมีการตรวจค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) เพื่อให้ทราบว่าดินมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชหรือไม่ โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านดินปุ๋ย จะมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลคอยเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลและให้คำแนะนำแก่เกษตรกร

นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวน 17,640 ราย เป็นสมาชิก ศดปช. 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำการวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยในภาพรวมได้กว่า 38 ล้านบาท จากพื้นที่การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 109,312 ไร่ คิดเป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลงได้ร้อยละ 26.20 และช่วยเพิ่มผลผลิตได้ ร้อยละ 10.10 จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายอื่นๆ ควรนำไปปฏิบัติใช้ในการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนทำการเพาะปลูก ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถรับบริการตรวจวิเคราะห์ดินโดยใช้ชุดตรวจสอบ N P K ในดินแบบรวดเร็วได้ ที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนใกล้บ้าน ใช้เวลาเพียง 30 นาที ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้อง ตามค่าวิเคราะห์ดิน/ปุ๋ยสั่งตัดเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตและช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

เงินเฟ้อธ.ค.ขยายตัว 1.13% สูงสุดในรอบ 25 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั้งปี′59 บวก 0.19%

เงินเฟ้อ ธ.ค.โต 1.13% สูงสุดในรอบ 25 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั้งปี 59 กลับบวก 0.19% พาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี′60 โต 1.5-2.0%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2559 เท่ากับ 106.93 เพิ่มขึ้น 1.13% เทียบเดือนธันวาคม 2558 ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 25 เดือน  และเพิ่มขึ้น 0.13% เทียบเดือนพฤศจิกายน 2559 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั้งปี 2559 ขยายตัว 0.19% กลับมาขยายตัวเป็นบวกจากปีก่อนที่ติดลบ 0.90% ซึ่งเป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่คาดการณ์ 0-1%

ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2560 จะอยู่ที่ 1.5-2.0% ตามสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35.5-37.5%

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบอาจจะมีทิศทางปรับสูงขึ้นได้อีก ตามความต้องการใช้น้ำมัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการควบคุมการผลิตน้ำมันของกลุมประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปก ซึ่งอาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเทียบปีเพิ่มขึ้น 1.13% มาจากผลจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 12.98% หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้น 3.01% หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.36% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้น 0.58% หมวดการบันเทิงการอ่านการศึกษาและการศาสนาสูงขึ้น 0.52% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ากลับสูงขึ้น 0.17% ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดเคหสถาน ลดลง 1.18%

ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาสินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อทั้งหมด 450 รายการพบว่ามีสินค้าที่ปรับสูงขึ้น 146 รายการสินค้าที่ราคาทรงตัว 200 รายการและสินค้าที่ปรับราคาลดลง 104 รายการ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

แย้มสูตรคิดภาษีใหม่ คลังรีดคอบุหรี่-เครื่องดื่มน้ำตาล

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่ ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ ผ่านสภานิติบัญญัติ (สนช.) ไปเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา คาดว่าจะลงราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค. 2560 นี้ โดยตามกฎหมายจะให้เวลาอีก 180 วัน เพื่อออกกฎหมายลูกและกฎระเบียบต่างๆ ในการเก็บภาษีตามกฎหมาย โดยมีการเปลี่ยนฐานการเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานหรือสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกหรือราคาแนะนำสุดท้าย

ทั้งนี้ การเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่จะทำให้กรมเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งทางกรมสรรพสามิตจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีในแต่ละสินค้าลง เพื่อให้มีภาระภาษีใกล้เคียงกับของเดิม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไม่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น และผลักภาระไปให้ผู้บริโภคตามมติของของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเก็บภาษีบุหรี่ ซึ่งมีการคำนวณเก็บภาษีแบบผสมทั้งด้านปริมาณ และด้านราคา ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเสียภาษีเมื่อคำนวณจากด้านราคา โดยจะมีการพิจารณาลดอัตราภาษีด้านราคาลง แต่จะมีการเพิ่มอัตราภาษีด้านปริมาณให้มากขึ้น เพื่อป้องกันบุหรี่ราคาถูกที่มีแนวโน้มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น

“การเก็บภาษีบาปของกฎหมายจะต้องทำให้การเก็บภาษีด้านปริมาณทำงานมากขึ้น เพื่อทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” นายสมชาย กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการเก็บภาษีเครื่องดื่ม เดิมมีการคำนวณเก็บภาษีด้านราคาเพียงอย่างเดียว แต่กฎหมายใหม่จะมีการคิดคำนวณเก็บภาษีด้านปริมาณเพิ่มโดยพิจารณาจากปริมาณน้ำตาล เพื่อป้องกันการบริโภคน้ำตาลจนเป็นอันตรายเป็นสุขภาพโดยจะอ้างอิงกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการกำหนดปริมาณน้ำตาลที่ไม่ดีต่อสุขภาพไว้อยู่แล้ว

นายสมชาย กล่าวว่า การเก็บภาษีเครื่องดื่มต่อไป ก็เหมือนกับเก็บภาษีบาป คือให้คำนวณการเสียภาษีทั้งปริมาณและราคา ด้านไหนมีภาระภาษีมากกว่ากันก็ให้เสียแบบนั้น สำหรับการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2560 คาดว่าจะได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าการเก็บภาษีในไตรมาสแรกของปีงบประมาณจะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป คาดว่าการเก็บภาษีจะขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

ธ.ก.ส.อนุมัติ 20,000 ล้าน เดินหน้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่

บอร์ด ธ.ก.ส.อนุมัติ 20,000 ล้านบาท เดินหน้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่  พื้นที่เป้าหมาย 2,000 กลุ่ม หวังสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรผ่านกระบวนการรวมกลุ่มและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร  กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือลงทุนในการพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่  ได้แก่ การทำพืชไร่ พืชสวน ผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น ปศุสัตว์และประมง กลุ่มเป้าหมาย 2,000 กลุ่ม วงเงินให้สินเชื่อกลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท รวม 20,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3.01 ต่อปี โดยกลุ่มรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3.0 ต่อปี ระยะเวลารวม 5 ปี เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 30 เมษายน 2570 จ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้  ปัจจุบันธนาคารจ่ายสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ปีการผลิต 2559/2560 จำนวน 53 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อ 133.55 ล้านบาท  ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร  6 กลุ่ม  27.46 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร 10 กลุ่ม  20.36 ล้านบาท กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 37 กลุ่ม 85.73 ล้านบาท การกู้เงินของกลุ่มส่วนใหญ่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิต การเก็บเกี่ยวรวบรวมรับซื้อข้าวจากสมาชิก จากการติดตามกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพบว่าแต่ละกลุ่มมีความพร้อมในการบริหารจัดการ  การให้ความร่วมมือของสมาชิกในกลุ่ม  การใช้เงินกู้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และโอกาสการชำระคืนหนี้เงินกู้ของกลุ่มส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีเยี่ยม

 “รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความรู้เรื่องการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็ง มีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอทำหน้าที่ผู้จัดการแปลงเป็นผู้นำสร้างการมีส่วนร่วม และ ธ.ก.ส.ต้องติดตาม แนะนำ กำกับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงในอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายสุพัฒน์ กล่าว

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

ปธ.อุตสาหกรรม มองเศรษฐกิจไทย ปี 60 ฟื้นตัว

 ปธ.อุตสาหกรรม มอง เศรษฐกิจไทย ปี 60 ฟื้นตัว มั่นใจรัฐบาลเดินตามโรดแมปเลือกตั้ง ทำเศรษฐกิจเคลื่อน รับ สนช.ออกกม.ปลดล๊อกเศรษฐกิจหลายเรื่อง

วันที่ 3 ม.ค. 60 นายเจน นำชัยศิริ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ว่า เชื่อว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะมีการฟื้นตัวขึ้นแต่การฟื้นตัวอาจจะไม่มีความรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ในช่วง2-3ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวค่อนข้างช้า หากดูตามภูมิภาคต่างๆจะพบว่า มีการฟื้นตัวแต่ว่ายังไม่รวดเร็วมากนัก ซึ่งประเทศที่จะมีการฟื้นตัวค่อนข้างดีคือประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเน้นไปในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา หรือสินค้าพวกนวัตกรรม โดยเฉพาะสินค้าที่บริการต่างๆอะไรที่เป็นธุรกิจใหม่ๆ อีกด้านหนึ่งคือประเทศจีนที่ก็มีการชะลอตัวลงมาหลายปี เชื่อว่าปีหน้าการชะลอตัวก็น่าจะลดลงเช่นกัน

นายเจน กล่าวว่า ส่วนเศรษฐกิจประเทศไทย ดูจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรน่าจะมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีที่แล้วมีความกังวลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ แต่ปีหน้านี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะมีภัยธรรมชาติ แต่จะปัจจัยส่งผลกระทบต่อราคาเกษตรคือ ราคาน้ำมัน ที่ช่วงปีที่แล้วราคาตกต่ำอย่างมาก แต่ช่วงท้ายปีมีอัตราแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามที่เราได้คาดการณ์ไว้คือ 50-60 เหรียญสหรัฐ หากเป็นไปตามนี้สินค้าเกษตรก็น่าจะขยับตัวถ้าเราสามารถควบคุมการผลิตของข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆที่เป็นตัวหลักๆเช่นมันสำปะหลัง ถ้ามีปริมาณที่ไม่สูงมากนั้นก็น่าจะส่งผลทำให้ราคามีเสถียรภาพมากขึ้น และจะส่งผลที่ดีต่อรายได้ของเกษตรกรซึ่งตัวชี้วัดที่ดีของภาคเกษตรคือ การซื้อรถกระบะและรถจักรยานยนต์มียอดการซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้ว

นายเจน กล่าวว่า สำหรับGDPนั้น มองว่าน่าจะอยู่ในระยะที่กนง.ได้ให้ความเห็นไว้คืออยู่ในช่วง3.5-4% สำหรับปีหน้า การส่งออกก็น่าจะฟื้นตัว เท่าที่เราดูอยู่ในตอนนี้น่าจะอยู่ที่0.1-1% จากที่ติดลบมา4ปีติดกัน ถ้าตัวเลขจากการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น ตลาดภายในประเทศเริ่มขายได้มากขึ้น ภาคเอกชนก็น่าจะเริ่มลงทุนประกอบกับงบประมาณภาครัฐที่จะลงไป ในเรื่องของสาธารณูปโภค เรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ AEC การค้าตามแนวชายแดน คิดว่า ปี 2560 จะเป็นปีที่ดีเพราะมองแล้วก็ยังเห็นอะไรที่ค่อนข้างสดใส ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นด้านอุตสาหกรรมที่ในเดือนที่ผ่านมามีดัชนีที่สูงสุดในรอบ 20 เดือน อีกทั้งดัชนีความคาดหวังการคาดการล่วงหน้า 3 เดือนที่ผ่านมานั้นโตติดต่อกันมาเกิน 6-7 เดือน แม้ว่า ในเดือนธ.ค.นี้จะลดลงแต่ไม่มาก อาจจะเป็นความกังวลเรื่องความผันผวนของค่าเงิน การค้าระหว่างประเทศที่มีความกังวลในเรื่องนโนบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคงติดตามต่อไปว่าในเดือนม.ค.จะเป็นอย่างไร

นายเจน กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายภาครัฐที่จะจะกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นมองว่า ขณะนี้รัฐบาลก็พยายามที่จะผลักดันให้ภาคเอกชน เข้ามาลงทุนมากขึ้นโดยทางภาครัฐเองก็มีโครงการที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AECงบการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มจังหวัด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะรัฐเริ่มขยับลงทุน เอกชนก็มีแนวโน้มที่ขยับ ขณะเดียวกันก็จะมีมาตรการต่างๆที่ภาครัฐยังสามารถทำได้เพิ่มเติมอีก เช่น การปรับลดขั้นตอนกฎระเบียบภาครัฐที่จะทำให้การธุรกิจทำได้ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางสภาอุตสาหกรรมได้มีการทำหนังสือไปถึงภาครัฐในเรื่องมาตราการส่งเสริมการลงทุนของรัฐจะสิ้นสุดภายในปีนี้ แต่ยังมีหลายส่วนที่ทางผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะเร่งการลงทุนภายในสิ้นปีให้เสร็จสิ้นได้ จึงขอให้ภาครัฐขยายมาตรการนี้ออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และเป็นการใช้โอกาสนี้เพื่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริง

เมื่อถามว่า ในปี256oอาจจะมีการเลือกตั้งทั่วไปจะมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าหรือไม่ นายเจน กล่าวว่า ไม่กระทบโดยตรง แต่การเลือกตั้งก็จะส่งผลกระทบทางอ้อมในเรื่องของการเจรจาการค้าที่อาจจะชะงักไป เช่น การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-อียู ที่ชะงักไปตั้งแต่เรามีการรัฐประหาร ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงผลออกมาเป็นที่เรียบร้อยการเจรจาการค้าก็สามารถเดินต่อไปได้ก็จะสร้างความเชื่อมั่นทั้งผู้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเราเข้าใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการสร้างความมั่นใจว่า ทุกอย่างจะเดินตามโรดแมพ และแผนนโยบายระยะยาว 20ปีของรัฐบาลได้

เมื่อถามต่อว่า กลไกในส่วนของสนช.ในเรื่องของการเสนอกฎหมายมองว่ากฎหมายอะไรที่รัฐบาลจะต้องเสนอเพื่อที่จะแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า กฎหมายที่ออกไปก็มีส่วนที่มีการควบคุมมากขึ้น ส่วนที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจใหม่ ๆเช่น กฎหมายศุลกากรที่มีการแก้ไขซึ่งก็ทำให้ความเป็นธรรมมากขึ้นและเอื้อต่อการทำธุรกิจ ขณะที่กฎหมายบางฉบับมองว่ายังให้อำนาจหรือเพิ่มอำนาจภาครัฐมากเกินไปก็มี ตรงนี้จึงเป็นความสมดุลที่เราจะต้องดูว่า การที่นำไปปฏิบัติแล้วจะส่งผลในเชิงปฏิบัติอย่างไร ส่วนตัวคิดว่า ที่ผ่านมาสนช.ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะทำให้ปลดล๊อกปัญหาในหลายเรื่อง และในเร็วนี้รัฐบาลจะเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการตั้งบริษัทที่ใช้คนๆเดียวหรือบริษัทนิติบุคคล ซึ่งก็จะช่วยพวกธุรกิจstart up ได้ดี อีกทั้งนโยบายดิจิตอลไทยแลนด์จะช่วยผู้ประกอบการได้ดีที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการทำธุรกิจในด้านนี้มากขึ้น

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

เปิดข่าวเด่นประเด็นร้อนปี60 "อุตสาหกรรม-พลังงาน" 

          ข่าวแวดวงอุตสาหกรรมและพลังงานในปี 2560 เป็นอีกปีหนึ่งที่จะต้องจับตาใกล้ชิดเนื่องจากมีหลายประเด็นที่เป็นความท้าทายของรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในการพิสูจน์ฝีมือที่เหลือ 1 ปีเนื่องจาก ปี 2559 มีหลายประเด็นที่เป็นนโยบายร้อนแรงและ ยังคงไม่สามารถจะหาข้อยุติได้ และบางเรื่องเป็น ความท้าทายในการปรับโครงสร้างประเทศ ฯลฯ ผู้จัดการรายวัน360 จึงขอรวบรวมประเด็นที่น่าติดตาม ดังนี้

          เอกชนรอชี้ชะตาประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช

          ตลอดปี 2559 ข่าวว่าด้วยการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ และ บงกช ในอ่าวไทยซึ่งผู้ได้รับสัมปทานคือ เชฟรอน และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิต (ปตท.สผ.) จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66  ถูกจับตาอย่างต่อเนื่อง จากทั้งนักลงทุนและองค์กรภาคเอกชนและในที่สุดมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 พ.ค.59 ก็กำหนดให้ใช้วิธีเปิดประมูลตามแนวทางที่องค์กรเอกชนเรียกร้อง ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายที่จะเปิดประมูลภายในเดือน มี.ค. 60 แต่จากการเปิดประมูลนั้น จำเป็นที่ต้องรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ... ให้เสร็จก่อน

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้ขอขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมออกไปอีก 30 วัน หรือภายในเดือน ม.ค. 2560 อีกครั้ง  จึงทำให้การเปิดประมูลจึงคาดว่าจะเลื่อนไปเป็น มิ.ย.60 ดังนั้น จึงต้องจับตาใกล้ชิดว่าที่สุดแล้วการเปิดประมูลแหล่งก๊าซฯ ทั้ง 2 แหล่งนั้นจะเดินหน้าไปได้เมื่อใด ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ให้ส่งคืนร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำไปแก้ไขหลักการให้เป็นไปตามรายงานผลการศึกษาจุดอ่อนของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ของ สนช.

          โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ชะลอไม่มีกำหนด

          ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2015 (2558-79) ได้กำหนดให้มีการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สูงเกินด้วยการหันมาเพิ่มสัดส่วนการ ใช้ถ่านหินทั้งสิ้นคิดเป็น 20-25% โดยแผนจะมีโรงไฟฟ้า ถ่านหินตลอดแผนทั้งหมดจะมี 9 แห่ง กำลังการผลิตรวม 7,365 เมกะวัตต์ดำเนินงานโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด โดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์นับเป็นถ่านหินแห่งแรกภายใต้ PDP ที่กำหนดจะเข้าระบบ ธ.ค. 2562 แต่ด้วยการคัดค้านจากองค์กรภาคชนและคนในพื้นที่บางส่วน รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นพิจารณาและขอเวลา 8 เดือน

          เมื่อครบกำหนดคณะกรรมการไตรภาคีได้ส่งประเด็นต่างๆ รวบรวมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจโดยนายกฯ ระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่จะต้องฟังเสียงจากคนในพื้นที่และมอบให้ กฟผ.ลงไปสำรวจความเห็น ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ที่เลื่อนไปจาก รอบเดิมแล้วถึง 15  เดือน ก็ยังคงต้องรอผลว่าที่สุดรัฐบาล จะใช้แนวทางใดมาตัดสินใจซึ่งหากต้องซื้อเวลาเลื่อนไปอีก.ก็คงหนีไม่พ้นให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมาเคาะนั่นก็คงยาก ที่จะเกิดได้

          เปิดเสรีนำเข้า LPG หวังว่าจะปลดล็อก ปตท.ผูกขาด

          ช่วงสิ้นปีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ได้เห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เพื่อให้เอกชนรายอื่นสามารถนำเข้าได้นอกเหนือจาก บมจ.ปตท.รายเดียว  โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เดือน ม.ค.60 เพื่อกำหนดโครงสร้างราคาใหม่ที่จะเอื้อต่อการนำเข้ามากขึ้นซึ่งถืออีกก้าวหนึ่ง ที่จะเป็นการนำไปสู่การเปิดเสรีแอลพีจีเต็มรูปแบบในอนาคต ซึ่งงานนี้ก็คงจะต้องติดตามว่าจะมีผู้มายื่นขอนำเข้ามากน้อยเพียงใด  แต่ที่แน่ๆ กระทรวงพลังงานมีความคาดหวังที่จะเห็นตลาดการค้าแอลพีจีในภาคครัวเรือนมีการแข่งขันมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันจากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 4-5 แบรนด์เท่านั้น และเมื่อการแข่งขันดีขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค. นโยบายดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

          ลุ้นเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อปหลังปี60 ใช้เองแถมขายได้

          เมื่อเดือน ก.พ. 50 คณะกรรมการกำกับนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้เห็นชอบโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) แบบเสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโควต้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แห่งละ 50 เมกะวัตต์การติดตั้งบนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย 10 เมกะวัตต์ และติดตั้งบนอาคารธุรกิจ 40 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจะต้องใช้เองเท่านั้นไม่มีขายเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ซึ่งต่อมาช่วง ส.ค. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิด รับซื้อและมีการเสนอขายมาเพียง 38.38 เมกะวัตต์เท่านั้น

          ดังนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะตั้งคณะทำงานศึกษาจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้า บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เสรีทั่วประเทศโดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตไฟฟ้าใช้เอง และสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ด้วยโดยจะมีไฟไหลย้อนไม่เกิน  15% ของหม้อแปลงโดยการซื้อไฟอาจจะให้ราคาที่ 1 บาทต่อหน่วย โดยมีแนวโน้มว่าจะเปิดได้ ครึ่งปีหลังของปี 2560 ..งานนี้ใครอยากติดตั้งอดใจรอไปก่อนแต่ที่แน่ๆ คนที่เข้าโครงการไปแล้วส่อแววได้สิทธิ์ขายไฟเข้า ระบบทันที

          "อุตตม" 1 ปีกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปรับ ครม.ระลอก 4 ส่งท้ายปี 2559 และผู้ที่ถูกตั้งให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแทนนางอรรชกา สีบุญเรือง ที่ถูกโยกไปนั่งเก้าอี้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือ "นายอุตตม สาวยานน" ซึ่งการปรับ ครม.ครั้งนี้ได้วางตำแหน่งที่จะให้เด็ก ในสังกัด "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีกระจาย อยู่ในกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญเพื่อที่จะขับเคลื่อนนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 และเป้าหมายคือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ที่งานหลักๆ จะอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องบูรณาการ กับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

          วันแรกที่รับตำแหน่ง "นายอุตตม" เองก็กล่าวยอมรับว่าเหลือเวลาแค่ 1 ปีที่ข้าราชการกระทรวงอุตฯ จะต้องพิสูจน์ฝีมือเช่นเดียวกับเขาถ้าดีก็ถือว่าดีด้วยกัน ซึ่งเป้าหมายจะต้องเร่งปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ 4.0 โดยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ฯลฯ ..บอกเลยว่างานนี้ไม่ง่ายยังไงต้องรอดูฝีมือ "อุตตม"

          ปิดเหมืองทองคำอัคราฯ รอวันฟื้นกลับมา

          คณะรัฐมนตรีเมื่อ 10 พ.ค.59 ได้ตัดสินใจไม่ต่อใบอนุญาตเหมืองแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบจึงให้ต่ออายุประกอบโลหกรรมได้จนถึงสิ้นปี 2559  แม้ว่าตลอดเวลาอัคราฯ จะพยายามดิ้นรนโดยนำพนักงานมาเรียกร้องต่างๆ แต่ก็ไม่อาจทัดทานคำสั่งครม.เมื่อสิ้นปีพนักงานกว่า 1,000 คนก็ต้องโบกมือลาต่างคนต่างไปหางานใหม่ทำ  ..ตลอดเวลานายก "ลุงตู่" ย้ำว่ารัฐบาลจะทำการปรับพื้นที่เพื่อคืนสภาพสู่ธรรมชาติ และเน้นดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง

          มติ ครม.ดังกล่าวนับเป็นการปิดประตูตายในการทำ เหมืองแร่ทั้งหมดเพื่อลดความขัดแย้งของสังคม โดยให้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.....ฉบับใหม่ที่ล่าสุด 8 ธ.ค.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา เห็นชอบแล้ว แต่กระนั้นก็ยังมีประเด็นที่บางฝ่ายมองว่า อาจนำไปสู่ปัญหาอีกหรือโดยเฉพาะมาตรา 105 วรรคสองที่กำหนดให้การประกอบโลหกรรมไม่ต้องขออนุญาตขณะที่เหมืองทองอัคราจะหมดอายุปี 2571 ดังนั้น บางฝ่ายจึงเริ่มเคลื่อนไหวต้านว่าที่สุดจะทำให้ "อัครา" กลับมาประกอบกิจการอีกครั้งหรือไม่ คงต้องติดตามใกล้ชิด

          ปรับโครงสร้างอุตฯ อ้อย-น้ำตาล สู่การลอยตัวราคา

          นโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและ น้ำตาลทรายนับเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของรัฐบาล "ประยุทธ์" ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและยังเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องวางแนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้สอดรับกับ กติกาขององค์การการค้าโลก (WTO)  เนื่องจากบราซิลได้ตั้งข้อหากับ WTO ว่าไทยอุดหนุนน้ำตาลส่งออกทำให้ได้รับ ผลกระทบ ...ตลอดปี 2559 ไทยจึงต้องเจรจากับบราซิล อย่างต่อเนื่องและต้องพิสูจน์ถึงแผนปฏิบัติให้บราซิลเห็นว่าไทยจะนำไปสู่ระบบที่เสรีโดยแท้จริง

          การลอยราคาน้ำตาลทรายฤดูหีบ 60/61 จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่าที่สุดกระทรวงอุตฯ จะประสานพาณิชย์ยกเลิกการควบคุมราคาในรูปแบบใด และชาวไร่จะเห็นสอดคล้องกับโรงงานน้ำตาลหรือไม่เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาการศึกษาลอยตัวราคาน้ำตาลก็ทำกันมานานแล้วแต่ที่สุดก็ปฏิบัติไม่ได้สักที ..ยุคนี้ไม่อยากทำก็จำเป็นต้องทำราคาน้ำตาลจะลอยตัวกันแบบไหนสิ้นปีนี้ ก.อุตฯคงต้องทำหน้าที่หนักในการเจรจาให้ทั้งชาวไร่และโรงงานที่เปรียบเสมือนพี่น้องที่ชอบทะเลาะกันเห็นตรงกันให้ได้

          มองลงทุนปี 2560 บีโอไอตั้งเป้าระดับ 6 แสนล้านบ.

          "การลงทุน" นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจไทยและในปี 2560 หลายฝ่ายต่างก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยน่าจะมีอัตราการเติบโตระดับ 3.5% โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ตั้งเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมฯ จะอยู่ระดับ 6  แสนล้านบาทจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 5.5 แสนล้านบาทโดยมีปัจจัยสำคัญๆ ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พ.ศ.... และ ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ... (อีอีซี) ฯลฯ

          กลไกการขับเคลื่อนการลงทุนที่รัฐบาลปัจจุบันได้พยายามสร้างขึ้นมาดึงดูดและเอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนไม่ว่าจะ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน  เขตพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลหวังจะเชื่อมโยงไปยังการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งเหล่านี้คงต้องติดตามกันในปี 2560 ..ซึ่งสุดท้ายก็ต้องขอให้ปี 2560 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมั่งคั่ง  มั่นคง และยั่งยืนตลอดไป.

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

ธกส.คาดราคายาง-อ้อยปีนี้ขยับดีขึ้น

ธ.ก.ส.คาดเศรษฐกิจเกษตรไทยปีหน้าโต 3% ชี้อ้อย ยาง ปาล์ม ราคาขยับ

ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดว่าเศรษฐกิจเกษตรไทยปี 2560 ขยายตัว 3% จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว ส่งผลให้มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า รวมทั้งสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้อต่อการผลิตทางการเกษตร

ทั้งนี้ ผลผลิตพืชเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในไตรมาสสุดท้ายปี 2559 ส่วนด้านปศุสัตว์ ปริมาณจะขยายตัวรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เช่น ไก่เนื้อและสุกร โดยคาดว่าสินค้าเกษตรที่จะมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเกษตรไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐที่มีแนวโน้มเน้นการปฏิรูปและไม่สนับสนุนการเปิดเสรีการค้า ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรมีความเสี่ยงมากขึ้นในสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเล และผลไม้กระป๋องแปรรูป

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

REFORM ประเทศไทย รับกระแสโลก-กติกาใหม่เศรษฐกิจ

 ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลกที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนไม่แน่นอน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากการปฏิรูปรื้อโครงสร้างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการปรับเปลี่ยนกฎกติกา รองรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อยู่ในกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ บวกกับกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนเร็วจากอิทธิพลของเทคโนโลยียุคใหม่ ปี 2560 จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ก้าวถึงจุดที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ในระดับการปฏิรูป (Reform) รองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งการดำเนินชีวิต และการทำธุรกิจ

ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยลบเศรษฐกิจโลก ขณะที่การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกยังฟื้นตัวช้า หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 ยังคงต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ศักราชใหม่ปีระกา จึงเป็นปีที่ภาคธุรกิจไทยต้องพลิกกลยุทธ์รอบด้าน การสร้างรายได้ ควบคู่กับแสวงหาโอกาสขยายฐานด้านการผลิตและการตลาด ขณะเดียวกันก็นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (Financial Technology) หรือฟินเทค มาปรับใช้ในการขายสินค้าและบริการ ต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่

ภาพปรับเปลี่ยนในธุรกิจหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก อุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ คือตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในช่วงจากนี้ไป ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

คอนซูเมอร์โปรดักต์แข่งหนัก

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ. สหพัฒนพิบูล ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมกำลังซื้อในเวลานี้ยังมีปัจจัยบวกจากการกระตุ้นจากภาครัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ ขณะที่แนวโน้มของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคต่อจากนี้ในปี 2560 จะยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง ทำให้แต่ละบริษัทต้องมีกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบเพื่อสร้างการเติบโตของยอดขายในทุกช่องทาง

สอดคล้องกับนายธิติ ธเนศวรกุล รองกรรมการผู้จัดการ บจ.ไอ.พี.เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำยาปรับผ้านุ่ม "ไฮยีน"ที่ชี้ว่า แนวโน้มปี 2560 ยังคงต้องติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์ แต่คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ท้าทายและยากลำบากของสินค้าอุปโภคบริโภค เช่นเดียวกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี จากปัญหากำลังซื้อของเกษตรกร หนี้ครัวเรือน การส่งออก ฯลฯ ทำให้หลายบริษัทต้องพยายามกระตุ้นยอดขายด้วยการทำโปรโมชั่นราคา 2 แถม 1, 1 แถม 1 มีสินค้าใหม่ออกมาต่อเนื่อง ปรับงบฯโฆษณามาทำโปรโมชั่นมากขึ้น ใช้ช่องทางออนไลน์ทำกิจกรรมการตลาดมากขึ้น

ด้านนายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ รองประธานกรรมการผู้จัดการ บจ.ตั้งงี่สุ่น ซูเปอร์สโตร์ ผู้ดำเนินธุรกิจค้าส่ง กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจในปี 2560 น่าจะยังไม่กลับมาเต็มที่แม้ภาครัฐพยายามกระตุ้น อัดฉีดเม็ดเงินเข้าในระบบ เพราะผู้บริโภคยังมีหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อไทย อาจทำให้เศรษฐกิจยังคงซึม ๆ ต่อเนื่อง การซื้อของในช่วงเทศกาลปีใหม่ทั้งในกลุ่มร้านค้ารายย่อย และผู้บริโภคทั่วไปก็ยังไม่ค่อยคึกคักนักทิศทางบริษัทในปี 2560 จึงมีแผนทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมกระตุ้นการซื้อทุกรูปแบบ

ศก.ทั่วโลกยังเสี่ยง

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ กล่าวว่า ปี 2560 เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะเป็นความเสี่ยงนอกประเทศ ตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน จะเห็นทิศทางเงินไหลออกจากประเทศไทย ดังนั้นแม้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะดี ทุนสำรองแข็งแกร่ง เศรษฐกิจยังเติบโตได้มากขึ้น จากการกระตุ้นของภาครัฐ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2560 ขยายตัว 3.5-4% ดีขึ้นจากปี 2559ที่คาดจะเติบโต 3.3%

"ทุกประเทศขณะนี้เสี่ยงหมด ทั้งสหรัฐ และจีน ยังมีปัญหาหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ไทยต้องอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ในฐานะประชาชนก็ไม่ควรรอรับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียว ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเห็นหลายฝ่ายทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะภาคธนาคารพาณิชย์ ที่จะเข้าไปมีส่วนช่วยและร่วมมือกับรัฐบาลมากขึ้นในปี"60 เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจ"

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เข้ามาติดตามและดูแลสถานการณ์ใกล้ชิดอยู่แล้ว ทั้งติดตามเงินทุนเคลื่อนย้าย และค่าเงินบาทที่อาจอ่อนค่า ดังนั้น หากสหรัฐยังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็เชื่อว่า ธปท.เองก็ยังคงไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยในปี 2560 นี้ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยถือเป็นการเพิ่มอุปสรรคโดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลกำลังลงทุน เพราะจะยิ่งเพิ่มต้นทุนให้กับรัฐบาล

Big Change การเงินปี"60

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Big Change) ของภาคการเงินไทย 3 ด้าน คือ 1) ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) จะตื่นตัวและพัฒนาการทำงานมากขึ้น เพราะมีผู้ประกอบการอื่น ๆ ให้ความสนใจในธุรกิจการเงินมากขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มธนาคารด้วยกัน ดังนั้นจะเห็นการปรับวิธีการทำงานและเป้าหมายแผนงานของธนาคารรวมถึงรูปแบบการให้บริการทางการเงินที่เปลี่ยนไป เช่น การปรับจากการตั้งสาขาธนาคารเต็มรูปแบบ เป็น "สาขาย่อย"

ด้านที่ 2) การเปลี่ยนแปลงต่อมาจะเห็นพัฒนาด้านการให้บริการผ่านโมบายแบงกิ้ง และมีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่จะมีฟังก์ชั่นในการให้บริการทางการเงินมากขึ้นทั้งการโอนเงิน เช็กยอด การให้คำปรึกษา การสอบถามข้อมูล เป็นต้น โดยจะเห็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนให้แก่ธนาคาร

ส่วนเรื่องที่ 3) แอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา ซึ่งน่าจะสร้างความตื่นเต้นในปี 2560 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวงการการเงินครั้งใหญ่ เพราะลูกค้าเหล่านี้มีจำนวนมาก และถือเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการทางการเงินได้ลำบาก ดังนั้นแอปพลิเคชั่นนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้บริการได้ทุกที่ อย่างไรก็ตาม การนำแอปพลิเคชั่นดังกล่าวมาใช้งาน จะต้องมีการหารือกับ ธปท.ก่อนจึงจะนำมาให้บริการลูกค้าได้

ปตท.เดินหน้าลุยธุรกิจใหม่

ในส่วนของกลุ่มพลังงาน ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิ่งลงจากระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างในกลุ่ม บมจ. ปตท. มองถึงโอกาสอื่น ๆ ในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง หรือที่ ปตท.เรียกว่า New S-Curve เช่น ธุรกิจราคาประหยัดในพื้นที่สถานีบริการ และให้ความสำคัญกับธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น นอกจากนี้ยังตั้งบริษัทลูกอย่าง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ ตามการพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังมุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ปตท.ให้ความเข้มข้นในการมองหาธุรกิจใหม่ค่อนข้างมาก มีการตั้งหน่วย Expresso (Express Solution) หรือหน่วยวิเคราะห์ถึงโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งที่เป็นธุรกิจพลังงานและไม่ใช่พลังงาน จากบุคลากรรุ่นใหม่ของ ปตท.

ส่วน บมจ.บางจากปิโตรเลียม นอกเหนือจากธุรกิจน้ำมันแล้ว เวลานี้มุ่งไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหาโอกาสที่จะลงทุนเพื่อผลิตแร่ลิเธียมที่ใช้สำหรับผลิตแบตเตอรี่ รองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากนี้ บางจากฯยังขยายไปสู่ธุรกิจต้นน้ำอย่างสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเข้าไปถือหุ้นในบริษัท Nido Petroleum Limited ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันมีแปลงสัมปทานในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

อสังหาฯพลิกเกมสู้รีเจ็กต์เรต

ความเคลื่อนไหวของภาคอสังหาริมทรัพย์ นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย เปิดเผยว่า เชื่อว่าปี 2560 ตลาดอสังหาฯ มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาสำคัญคือยอดปฏิเสธสินเชื่อ(รีเจ็กต์เรต) มีแนวโน้มสูงขึ้นหรือทรงตัว เทียบจากปลายปี 2559 ศุภาลัยมีลูกค้ายื่นขอกู้สินเชื่อไม่ผ่านการอนุมัติ 10% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้น 1-2% โดยยังไม่มีสัญญาณลดลง เพราะสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้น แนวทางการปรับตัวของบริษัทจะหันมาเน้นพอร์ตสินค้าเจาะกำลังซื้อระดับกลาง กลุ่มราคา 3-6 ล้านบาทเป็นหลัก

คอนโดฯมาแรงรับรถไฟฟ้า

จุดเปลี่ยนสำคัญในปีระกา มีความชัดเจนที่สุด คือ การขับเคลื่อนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ อาทิ สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี), สายสีเหลือง (สำโรง-ลาดพร้าว), สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี), สายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก) มีการประมูลและเริ่มเปิดไซต์ก่อสร้าง เป็นความหวังและจะสร้างความคึกคักให้ตลาดที่อยู่อาศัยแนวสูง หรือคอนโดมิเนียม ซึ่งหดตัวลงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ให้สามารถกลับมาโตได้ 5-10%

"คัมภีร์การพัฒนาที่ดินเรื่องทำเลมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งทำเลแนวรถไฟฟ้าจะช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับการลงทุนพัฒนาโครงการแนวสูง ส่วนโครงการแนวราบมองว่าแม้ตลาดไม่เติบโต แต่ศักยภาพของผู้ประกอบการรายใหญ่จะสามารถชิงมาร์เก็ตแชร์จากรายกลาง-เล็กได้มากขึ้น ในส่วนของศุภาลัยปีระกาบริษัทยังคงบาลานซ์สัดส่วนรายได้ของพอร์ตแนวราบ-แนวสูง 50 : 50 เหมือนเดิม"

ทาวน์เฮาส์-บ้านแฝดมาแรง

ขณะที่นายแสนผิน สุขี กรรมการผู้จัดการ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวเช่นกันว่า ปัจจัยลบที่ชัดเจนในปี 2560 มาจากปัญหารีเจ็กต์เรตอยู่ในอัตราสูง บวกกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง แม้นโยบายรถคันแรกหมดอายุไปแล้ว โดยบริษัทมีสถิติลูกค้ากู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ผ่านสูงถึง 35-40% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องกลับไปมองกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้ากลุ่มพนักงานเงินเดือนมากขึ้น

แผนลงทุนบริษัทในปี 2560 นโยบายยังเน้นสินค้าแนวราบที่มีดีมานด์เติบโตได้ 2-3% มีจุดเน้นอยู่ที่การพัฒนาสินค้าทาวน์เฮาส์กลุ่มราคา 2-5 ล้านบาทเป็นหลัก เพิ่มตัวบุกสำคัญ คือ บ้านแฝดราคา 4-5 ล้านบาท ที่มองว่าเป็นช่องว่างตลาด

ฉีกแนวพัฒนาอสังหาเช่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2560 ภาคธุรกิจอสังหาฯ จะแข่งขันอย่างต่อเนื่องทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง ควบคู่กับปรับตัวเพื่อรับกับสภาพตลาด โดยใช้กลยุทธ์หลายแนวทาง อาทิ ขยายพอร์ตอสังหาฯเพื่อเช่ามากขึ้น ให้มีรายได้ประจำ ช่วยกระจายความเสี่ยงและต่อยอดธุรกิจอสังหาฯ อาทิ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งปรับองค์กรเป็นโฮลดิ้งส์ เตรียมขยายพอร์ตพัฒนาธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล คอนโดฯให้เช่า ฯลฯบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เดิมพัฒนาคอมมิวนิตี้มอลล์ เมโทร ทาวน์ เพื่อเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกให้โครงการที่อยู่อาศัย แต่ช่วงปลายปี"59 ได้ต่อยอดธุรกิจรีเทลขึ้นไปอีกขั้น โดยร่วมทุนกับวิลล่า มาร์เก็ต เตรียมขยายร้านสะดวกซื้อ ออลล์-ดี, บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งแตกไลน์ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และสำนักงานให้เช่า

ขณะเดียวกัน หลายบริษัทวางแผนพัฒนาโครงการ และให้ความสำคัญกับโครงการแนวราบมากขึ้นและเน้นตลาดระดับกลาง 3-10 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรียลดีมานด์และมีปัญหารีเจ็กต์เรตน้อยกว่ากลุ่มผู้ซื้อระดับล่าง รวมถึงปรับแผนลดต้นทุนด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เลือกพัฒนาโครงการบนที่ดินแปลงใหญ่มากกว่า 100 ไร่ เพื่อทำให้ต้นทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง และการบริหารจัดการลดลง

CPF ซื้อกิจการขยายฐานทั่วโลก

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า ปี 2560 ธุรกิจอาหารมีความเสี่ยงไม่มาก เพราะเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ คนต้องกินอาหาร ขณะที่ราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปีหน้าไม่สูง เพราะปริมาณผลผลิตข้าวโพด ถั่วเหลืองดีมาก ส่วนเรื่องโรคที่จะเกิดจากการเลี้ยงสัตว์ ถ้าระบบควบคุมฟาร์มทำได้ดี เลี้ยงรอด จะเป็นโอกาสขายผลผลิตทดแทนส่วนของผู้เลี้ยงรายอื่นที่ได้รับผลกระทบ คาดว่ายอดรายได้ปี 2559 น่าจะจบที่ 4.5 แสนล้านบาท และตั้งเป้าหมายปี 2560 โตไม่น้อยกว่า 10% หรือ 5 แสนล้านบาท เป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตให้ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 10%

การเติบโตอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟมาจาก 2 ทาง คือ 1)การเติบโตในฐานธุรกิจเดิม จะสร้างแวลูเชนจากต้นน้ำไปถึงปลายน้ำใน 14 ประเทศ

2)การเติบโตจากการซื้อ และควบรวมกิจการ เฉพาะปี 2559 ซีพีเอฟซื้อและควบรวมธุรกิจ 11 รายการ ในจีน ศรีลังกา อังกฤษ ล่าสุดเข้าซื้อบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ผู้นำในการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในอเมริกา

แนะเอกชนหาตลาดใหม่เพิ่ม

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน หลายธุรกิจอาจชะลอตัวเติบโตได้ไม่เต็มที่ ปี 2560 ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ โดยการบริหารจัดการภายในองค์กร นำศาสตร์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ใช้เงินกู้น้อยลงหรือลดการขอสินเชื่อโดยไม่จำเป็น หาความรู้ ข้อมูลให้ชัดเจนก่อนลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ขณะเดียวกันต้องศึกษาเรื่องความร่วมมือและกลไกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และใช้โอกาสนี้ในการหาตลาดใหม่เพื่อขยายสินค้าไปขายในต่างประเทศ

นายเดช เฉิดสุวรรณรักษ์ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป จะเติบโตอย่างมากในปีหน้า มีการลงทุนเครื่องจักร พร้อมทั้งพัฒนาระบบเทคโนโลยี ในส่วนของการส่งออกเชื่อว่าจะขยายตัวมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวมากขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ภาคธุรกิจที่น่าเป็นห่วงในปีหน้าคือกลุ่มที่ไม่มีการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2560 คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4% และส่งออกขยายตัว 0-2%

ชู "เทคโนโลยี-นวัตกรรม"

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ บจ. มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร ในฐานะประธานกลุ่มผู้ผลิตผักและผลไม้ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า มีแผนปรับสายการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกในปี 2560 มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้มากขึ้น นอกจากนี้จะเพิ่มตัวสินค้าใหม่ 3-4 รายการในกลุ่มผักและผลไม้ในปีหน้า รองรับตลาดใหม่ เช่น ตลาดเอเชีย, อาเซียน จากตลาดเดิมที่มีคือ สหรัฐ และยุโรป ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจที่มีผลต่อการส่งออกในปีหน้ายังคงเป็นประเด็นราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท โดยมาตรการกีดกันทางการค้าของผู้นำเข้ายังคงเป็นปัจจัยที่ภาคเอกชนกังวล

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560