http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมกราคม 2561)

‘สมเกียรติ’เสนาธิการน้ำคนแรก เร่งโรดแมป1.3แสนล.

แผนบริหารจัดการนํ้า เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ความสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการแก้ปัญหานํ้าแล้ง นํ้าท่วมอย่างยั่งยืน เห็นได้จากได้มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “สมเกียรติ ประจำวงษ์” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) คนแรก

++เร่งจัดโครงสร้างใหม่

“สมเกียรติ” กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศใช้คำสั่ง ม.44 ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก มีการประชุมหลายหน่วยงานเพื่อให้โครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของ สทนช. จะทำหน้าที่แบบใดเพื่อให้สมเจตนารมย์และเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าได้มีการกำหนดกรอบค่อนข้างชัดเจนแล้วในเรื่องโครงสร้างและอัตรากำลังคนของสำนักงาน โดยได้รับความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โอนข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรนํ้า มาปฏิบัติราชการ มีกำหนดระยะเวลา 180 วัน

ทั้งนี้เมื่อครบกำหนดตามเวลาข้างต้นแล้ว ผู้ใดประสงค์จะทำงานต่อที่สำนักงานนี้ก็ให้แจ้งความจำนงกับเลขาธิการภายใน 30 วันก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ถ้าผู้ใดไม่ประสงค์จะทำงานในสำนักงานแห่งนี้ก็ให้กลับไปปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานในต้นสังกัดเดิม คาดว่าการจัดกรอบอัตรากำลังคนใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะเดินได้ ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... จะแล้วเสร็จ นี่คือโรดแมป ที่ 1

สมเกียรติ ประจำวงษ์อดีตอธิบดีกรมชลประทาน

++ลุยแผนงบนํ้า 1.3 แสนล.

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สถาบันนี้ทำหน้าที่กำกับ ดูแลควบคุม กำกับแผนงานและงบประมาณ เพื่อให้มีการบูรณาการแผนงาน งบประมาณ สู่เป้าหมายเพื่อไม่ให้แตกแถว และไม่ให้ซํ้าซ้อน ซึ่งจากแผนงานและโครงการที่ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก ครม. ที่มีการประชุม ครม.สัญจรแล้วที่นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และสุโขทัย จากนี้จะเห็นในโรดแมปที่ 2 คือ แผนการบูรณาการนํ้าแห่งชาติ ในปี 2562 งบประมาณ 1.33 แสนล้านบาทมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน ซึ่งจะใส่แผนงานและโครงการให้สอดคล้องกับพื้นที่ได้มากเพียงใด”

ทั้งนี้ ทาง สทนช.ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้าเข้ามาช่วยตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อไม่ให้แผนงานมีความซํ้าซ้อน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่าแผนงานนี้จะต้องเป็นรูปธรรมแล้วเสร็จภายในปี 2561 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบในหลักการตามแผนกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี

สำหรับในระยะเริ่มแรกจะให้หลายหน่วยงาน เช่น กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมทรัพยากรนํ้า กรมทรัพยากรนํ้าบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้าและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรนํ้า ให้ดำเนินการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลด้านทรัพยากรนํ้าตามที่ สทนช.กำหนด

++ก.พ.รับฟังความคิดเห็น

“สมเกียรติ” ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าว่า คาดจะพิจารณาแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยทางสำนักงานได้เตรียมความพร้อมในการนำกฎหมายลูกต่างๆ อาทิ การกำหนดพื้นที่ลุ่มนํ้า และการอนุญาตการใช้นํ้า และการเก็บค่านํ้า เป็นต้น เพื่อออกไปรับฟังความคิดเห็นในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการเก็บค่านํ้า ทาง สทนช. มีการศึกษาการเก็บค่านํ้าของชลประทาน ค่านํ้าบาดาล ตรงนี้จะทำให้มีความเป็นธรรม ไม่ให้มีการเมืองมาแทรก ดังนั้นนํ้าที่ใช้ในขั้นพื้นฐาน การดำรงชีพ ไม่เก็บค่านํ้าอยู่แล้ว ส่วนขนาดไหนจะเก็บอย่างไร ตรงนี้จะต้องไปรับฟังความคิดเห็น ส่วนค่าธรรมเนียมจากการเก็บค่านํ้านั้นจะแบ่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนหนึ่งจะต้องส่งเข้าคลังด้วย

“การบริหารจัดการลุ่มนํ้า ทางสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าภาค จะแบ่งเป็น 6 ภาคบริหารลุ่มนํ้า แล้วให้เป็นเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มนํ้า จะทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลการบริหารจัดการลุ่มนํ้า จำนวน 25 ลุ่มนํ้า เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีที่บางลุ่มนํ้ามีพื้นที่คาบเกี่ยวกันหลายจังหวัด เช่น ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา เป็นต้น”

อย่างไรก็ดีลักษณะของการทำงานเพื่อให้เกิดภาพชัดเจนการบริหารนํ้าแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะส่งผ่านนโยบายมายัง สทนช. แล้วให้สำนักงานประสานไปยัง สทนช.ภาค 1-6 ที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการลุ่มนํ้า เพื่อแก้ปัญหาเมื่อเกิดวิกฤตินํ้าท่วม นํ้าแล้ง ส่วนการจัดทำแผนแม่บท แผนยุทธศาสตร์ ลักษณะการทำงานคือ จะให้ลุ่มนํ้าต่างๆ รวมทั้งแผนปฏิบัติการ จะผ่านการกลั่นกรอง การวิเคราะห์ และการ บูรณาการจากสำนักงานภาค 1-6 ก่อนที่จะส่งข้อมูลไปยังสทนช. เพื่อให้ กนช.พิจารณาและเห็นชอบกำหนดนโยบาย เป็นแผนยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนต่อไป

“การทำงานของ สทนช.จะมีลักษณะเป็นเสนาธิการนํ้า เพื่อประมวลสถานการณ์ต่างๆ ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบการตัดสินใจ ต่อไปนี้แผนงานต่างๆ จะต้องมีบูรณาการไม่ใช่ต่างคนต่างทำ คาดว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณและทำให้การบริหารจัดการนํ้าเบ็ดเสร็จและสัมฤทธิผลโดยเร็ว”

จาก www.thansettakij.com    วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

ลุยตรวจราคาน้ำตาลแพง!

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ หลังมีประชาชนร้องเรียนราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ในตลาดสดบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม (กก.) มีราคาสูงถึง กก.ละ 24-25 บาท ทั้งๆที่รัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานตามราคาตลาดโลกไปแล้ว ซึ่งส่งผลให้ราคาหน้าโรงงานได้ ปรับลง กก.ละ 2 บาท ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาขายปลีกจะต้องปรับลดลงเช่นกัน โดยราคาขายปลีกไม่ควรเกิน กก.ละ 21-22 บาท จากก่อนที่รัฐบาลจะประกาศลอยตัวราคา กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาขายสูงสุดไม่เกิน กก.ละ 23.50 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศลอยตัวและราคาได้ลดลงตามราคาตลาดโลก แต่หากผู้ค้ายังไม่ยอมปรับลดราคาขายปลีกให้สอดคล้องกับราคาหน้าโรงงาน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า เท่าที่ได้รับรายงาน ได้ปรับลงมาอยู่ที่ กก.ละ 21.50 บาท ตั้งแต่สัปดาห์ ที่ผ่านมาแล้ว มีเฉพาะผู้ค้าในตลาดสดบางรายเท่านั้นที่ยังไม่ยอมปรับลดราคาขายปลีกลง “ที่ประชาชนร้องเรียนมาจะเป็นราคาตามตลาดสดต่างๆ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล บางพื้นที่สูงถึง กก.ละ 25 บาท หากตรวจพบ ถือว่าร้านค้าเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีการชี้แจงว่าสาเหตุที่ตลาดสดขายลดราคาไม่ได้ เพราะผู้ค้าส่งปลีกหรือยี่ปั๊วไม่ได้ลดราคาลง ทำให้ร้านปลีกรายย่อยตามตลาดสด ปรับลดราคาให้ผู้บริโภคไม่ได้”

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ในเร็วๆนี้กรมจะเชิญผู้ค้าส่งปลีก สมาคมที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสต๊อกเก่าของผู้ค้าส่งปลีกว่ายังมีจำนวนเท่าไร และขอความร่วมมือให้ปรับลดราคาส่งน้ำตาลทราย เพื่อให้ร้านค้าปลีกตามตลาดสดปรับลดลงมาตามกลไกตลาด แต่เมื่อสต๊อกเก่าหมดแล้ว ผู้ค้าส่งปลีกจะต้องปรับลดราคาส่งน้ำตาลทรายเป็นราคาใหม่ ตามการประกาศลอยตัวน้ำตาลทราย หากร้านค้าปลีก หรือผู้ค้าส่งปลีกรายใด ไม่ปรับลดให้สอดคล้องกันจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ประชาชนสามารถซื้อน้ำตาลทรายตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อที่ขายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่ กก.ละ 21.50 บาทได้.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

ร้องรัฐตรวจสอบโก่งราคาน้ำตาลพุ่ง25บาท/กก.

พาณิชย์สั่งตรวจสอบจำหน่ายน้ำตาลทราย หลังประชาชนร้องถูกโก่งราคาสูงถึง 24-25 บาท/กก.

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ หลังมีประชาชนร้องเรียนว่า มีการจำหน่ายน้ำตาลทรายบรรจุถุงในตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑลสูงถึง 24-25 บาท/กก. ทั้งๆ ที่มีการประกาศลอยตัวน้ำตาล  ซึ่งราคาควรจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 21-22  บาท/กก.

ทั้งนี้ หากพบเห็นการจำหน่ายราคาสูงเกินสมควรถือว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าแม้จะประกาศลอยตัวน้ำตาลทราย แต่น้ำตาลทรายยังอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมและมีเพดานของราคากำหนดไว้ที่ 23.50 บาท/กก. ดังนั้นเมื่อปล่อยให้น้ำตาลทรายลอยตัวตามตลาดโลก โดยเฉลี่ยควรลดลงถึง 2 บาท  เพราะขณะนี้ราคาตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง และเท่าที่ได้รับรายงานทั้งห้างสรรพสินค้ารายใหญ่หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อต่างปรับลดราคาจำหน่ายปลีกของน้ำตาลทรายมาอยู่ที่ 21.50 บาท/กก. ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

จาก https://www.posttoday.com    วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

ยุติธรรมช่วยชาวไร่อ้อย 58 รายโดนฟ้องรับหนี้ 1.3พันล้าน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้ลงพื้นที่ พบชาวไร่อ้อย ที่ถูกบริษัทรับซื้ออ้อยในอ.แม่สอด ฟ้องต่อศาลจ.แม่สอด ให้รับสภาพหนี้สิน จำนวนกว่า 1,300 ล้านบาท ทั้งหมด 58 ราย จนต้องไปพบกับสภาทนายความการช่วยเหลือด้านคดี และไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ที่สภ.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก โดยเจ้าหน้าที่ได้นัดพบตัวแทนชาวไร่อ้อย กว่า 10 คน ที่บ้านนายไพรัตน์ ไชยนอก แกนนำชาวไร่อ้อย บริเวณตำบลพบพระ เพื่อหาข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งชาวไร่อ้อย ต่างให้การตรงกัน ว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การเซ็นหนังสือในสัญญาเป็นกระดาษเปล่า ไม่ทราบว่า จะเป็นการยอมรับสภาพลูกหนี้กับทางบริษัท ซึ่งเริ่มทำสัญญากันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 เป็นต้นมา แต่ทางบริษัทเป็นผู้สนับสนุนปัจจัยการผลิต

นายสมชาย ไทยแท้ ชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ทางตัวแทนบริษัทได้ให้มาทำสัญญาซื้อขายอ้อย ระหว่างที่ตนเองกำลังอยู่ในไร่ ตั้งแต่นั้นมาก็เงียบหายไปเลย พอมาทราบอีกทีว่าถูกฟ้อง ในสัญญาระบุว่า รับสภาพหนี้ และตอนที่ลงนามเป็นกระดาษเปล่า ถือว่า ไม่เป็นธรรม

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกรมสอบสวนคดีพิเศษจะลงไปยังพื้นที่ อ.พบพระ เพื่อติดตามคดีนี้ โดยจะไปพบกับชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.พบพระในวันนี้

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

เตรียมเชิญผู้ค้าส่งถกราคาน้ำตาลหลังประกาศลอยตัว

"อธิบดีกรมการค้าภายใน" เตรียมเชิญกลุ่มผู้ค้าส่งรายใหญ่หารือปรับลดราคาน้ำตาลทราย หลังประกาศลอยตัว ย้ำ!! ยังอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียนมายังกรมการค้าภายในกรณีประกาศลอยตัวน้ำตาลทราย แต่ทำไมน้ำตาลทรายในตลาดสดยังมีการจำหน่ายขนาดถุง 1 กิโลกรัม สูงถึง 24-25 บาท ซึ่งราคาน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม ว่า กรมการค้าภายในจะส่งทีมไปตรวจสอบตามสถานที่ต่าง ๆ หากพบเห็นการจำหน่ายที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ถือว่ากระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยสินค้าและบริการ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศลอยตัวน้ำตาลทราย แต่น้ำตาลทรายยังอยู่ในบัญชีสินค้าที่ต้องควบคุมและมีเพดานของราคาเดิมอยู่ที่กิโลกรัมละ 23.50 บาท ดังนั้น เมื่อปล่อยให้น้ำตาลทรายลอยตัวตามตลาดโลก โดยเฉลี่ยควรลดลงถึง 2 บาท เพราะขณะนี้ราคาตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง และเท่าที่ได้รับรายงานทั้งห้างสรรพสินค้ารายใหญ่หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ มีการปรับลดราคาจำหน่ายปลีกของน้ำตาลทรายมาอยู่ที่ 21.50 บาทต่อกิโลกรัมแล้วตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ที่ประชาชนร้องเรียนเป็นราคามาตามตลาดสดต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังมีราคาแพงบางพื้นที่สูงถึง 25 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าร้านค้าเหล่านี้กระทำผิดต่อกฎหมาย

ทั้งนี้ มีการอ้างสาเหตุที่ขายลดราคาไม่ได้มาจากผู้ค้าส่งปลีกหรือยี่ปั้วไม่ได้ปรับลด ทำให้ร้านปลีกรายย่อยตามตลาดสดจึงปรับลดราคาให้กับผู้บริโภคไม่ได้ ดังนั้น กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างเชิญผู้ค้าส่งปลีก สมาคมที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือร่วมกันภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อที่จะขอทราบเกี่ยวกับสตอกเก่าของผู้ค้าส่งปลีกว่ายังมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และขอความร่วมมือให้ปรับลดราคาส่งน้ำตาลทราย เพื่อให้ร้านค้าปลีกตามตลาดสดปรับลดลงมาตามกลไกตลาด แต่เมื่อสตอกเก่าหมดแล้วผู้ค้าส่งปลีกจะต้องปรับลดราคาส่งน้ำตาลทรายเป็นราคาใหม่ตามการประกาศลอยตัวน้ำตาลทราย หากร้านค้าปลีกหรือผู้ค้าส่งปลีกรายใดไม่ปรับลดถือเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายทันที ดังนั้น ในช่วงนี้ประชาชนมีทางเลือกสามารถซื้อน้ำตาลทรายตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อที่ขายราคาน้ำตาลทรายขนาด 1 กิโลกรัมอยู่ที่ 21.50 บาทได้

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

ม.มหาสารคาม ทดสอบพัฒนารถตัดอ้อยลำ ลดค่าใช้จ่าย

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ มูลตรี หัวหน้าโครงการวิจัย รถตัดอ้อยลำต้นแบบ รุ่น TRF 3500   เปิดเผยว่า  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้ทุนนักวิจัยและพัฒนารถตัดอ้อยลำ  เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการตัดพันธ์อ้อย ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ใช้ในการตัดพันธุ์ การวิจัยและการพัฒนารถตัดอ้อยลำ ทางผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้คำแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพของรถตัดอ้อยลำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการปรับปรุงระบบตัดลำต้นอ้อยให้มีขนาดที่กว้างขึ้น  เพื่อตัดอ้อยที่มีขนาดร่องอ้อยที่กว้างขึ้น ระบบลำเลียง เพิ่มตัวลำเลียงอ้อยเพื่อให้อ้อยลำเลียงได้สะดวกและรวดเร็ว ระบบตัดยอดอ้อยเพิ่มตัวกันใบมีดเพื่อป้องกันใบอ้อยเข้าไปติดใบมีดตัดยอดอ้อย ระบบขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนของรถตัดลำ ในการเพิ่มกำลังในการตัดอ้อยได้มากขึ้น

การออกแบบและสร้างรถตัดอ้อยลำ โดยระบบทำงานประกอบด้วยระบบตัดโคนอ้อย ระบบตัดยอดอ้อย ระบบลำเลียงอ้อย และกระบะบรรทุกอ้อย ระบบส่วนใหญ่เป็นระบบไฮดรอลิกส์ เพื่อสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน และประสิทธิภาพการตัดอ้อยพันธุ์ได้ 60 ตัน/วัน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยพันธุ์ได้ 60 คนต่อวัน (โดยให้ 1 คนตัดได้ 1 ตันต่อวัน) เทียบเท่าคนตัด ลดค่าแรงจ้างตัดจัดอ้อยพันธุ์ได้ 3,000 บาท/ไร่ (ผลผลิตอ้อยอยู่ที่20 ตัน ค่าตัดอ้อยพันธุ์อยู่ที่ตันล่ะ 150 บาท) ทำงานตลอดฤดูเก็บเกี่ยว 150 วัน หรือ 9,000 ตัน/ฤดูกาล สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายตลอดฤดู 1,350,000 บาท/ฤดู การเพิ่มประสิทธิภาพรถตัดอ้อยลำ เป็นเทคโนโลยีการตัดอ้อยสด ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นด้วยการตัดยอดอ้อย สางใบ ตัดลำต้น และวางเป็นกองเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเก็บการเคลื่อนย้าย

ผลของการทดสอบประสิทธิภาพของรถตัดอ้อยลำในภาคสนาม พบว่ารถตัดอ้อยลำมีประสิทธิภาพในการตัดอ้อยที่ 0.35 ไร่ต่อชั่วโมง หรือ 74.80 ตันต่อวัน อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 18.68 ลิตรต่อชั่วโมง ที่ความเร็วในการตัดอ้อย 0.50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผลได้ทางเศรษฐกิจและสังคม  สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยที่ 0.35 ไร่ต่อชั่วโมง หรือ 74.80 ตันต่อวัน อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 18.68 ลิตรต่อชั่วโมง ที่ความเร็วในการตัดอ้อย 0.50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อยที่ 90 บาทต่อตัน (เปรียบเทียบกับคนตัดอ้อย 1 คนตัดได้ 1 ตันต่อวันค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อยที่ 300 บาทต่อตันต่อคน) ถ้าใช้คนตัดอยู่ที่ 22,440 บาทต่อวัน เมื่อใช้รถตัดอ้อยลำต้นแบบ รุ่น TRF 3500 อยู่ที่ 6,732 บาทต่อวัน ลดต้นทุนการตัดอ้อยได้ 15,708 บาทต่อวัน ทำงานตลอดฤดูเก็บเกี่ยว 90 วันประหยัดค่าใช้จ่ายตลอดฤดู 1,413,720 บาทต่อฤดู ลดแรงงานที่ใช้ในการตัดอ้อย 6,732 คนต่อฤดู

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

เอ็นจีโอผิดหวังครม.ไม่ยกเลิก“พาราควอต”

ภาคประชาชนผิดหวังครม.ไม่มีมติยกเลิกนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต”แต่สั่ง “สธ.-เกษตร-พาณิชย์”ศึกษาใหม่

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) กล่าวถึง มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ไม่ยกเลิกการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช พาราควอต แต่กลับให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) กระทรวงพาณิชย์(พณ.) ไปศึกษาใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นมติที่ไม่มีประโยชน์อะไร กลับไปยังจุดเดิมที่มีการพูดคุยกันมานานกว่า 1 ปีแล้ว

ขณะที่ผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขก็ชัดเจนถึงผลกระทบ ทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการใช้สาร พาราควอต หรือเกิดอุบัติเหตุ จนต้องสัมผัสสารชนิดนี้ ทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วยจากสาเหตุนี้มีอัตราการเสียชีวิต หรือมีโอกาสตายสูงถึง 20% ซึ่งถือว่ามีอันตรายมาก

นอกจากนี้ในต่างประเทศกว่า 53 ประเทศ ที่ยกเลิกการนำเข้าและห้ามใช้ในประเทศแล้ว โดยล่าสุดประเทศ บราซิล ซึ่งเคยประกาศให้ใช้ได้เฉพาะเครื่องจักรฉีดพ่นเท่านั้น ปัจจุบัน บราซิล ประกาศห้ามนำเข้าและห้ามใช้ในประเทศแล้ว รวมไปถึงประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนก็ห้ามใช้สารเคมีชนิดนี้เช่นกัน ซึ่งมติ ครม.ที่ออกมาเป็นการยืดเวลา เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เพราะท้ายที่สุดก็โยนให้ข้าราชการ 3 กระทรวงไปตกลงกันเอง

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องของการใช้พาราควอตในเชิงสุขภาพได้ข้อยุติมานานแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าสารชนิดนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ เองก็มีข้อเสนอทางออก แต่กลับโยนกลับไปให้ถกเถียงกันใหม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง ดังนั้น จึงขอเรียกร้องประชาชนให้ออกมากดดันหน่วยงานและภาคเอกชนที่จัดจำหน่ายสารเคมีชนิดนี้ เพื่อบอกว่า เราไม่ต้องการสารพาราควอต ที่ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การให้ยกเลิกการนำเข้าสารพาราควอต ได้สั่งให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ ปรึกษาหารือกัน เพราะต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย ทั้งนี้ฝ่ายเกษตรกรเองยังมีปัญหาเรื่องของทางออกในการใช้สารวัชพืชต้องหาสารอื่นทดแทน แต่เรายังไม่สามารถหาสารอื่นทดแทนได้ ขณะเดียวกันต้องหาแนวทางป้องกันสารพาราควอตในการใช้ให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างไร

“ผมห่วงพี่น้องเกษตรกร และผู้บริโภค ก็อยู่ที่ว่าจะใช้สารนี้ได้อย่างไร หากมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งผมจะหาทางลดการใช้สารเคมีเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าไม่นำเข้าจะใช้วิธีไหนได้บ้าง” นายกรัฐมนตรี ระบุ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

แบงก์ชาติ สั่งลงโทษสถาบันการเงินที่เอื้อการเก็งกำไรค่าเงินบาท

แบงก์ชาติ เข้มสั่งลงโทษและตักเตือนสถาบันการเงินที่ตรวจพบการเอื้อให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงิน พร้อมติดตามตรวจสอบธุรกิจกรรมการเงินต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการยกระดับความเข้มงวดในการติดตามการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของผู้ร่วมตลาดในช่วงที่ผ่านมา ธปท. พบว่ามีสถาบันการเงินในประเทศไทยบางแห่งเอื้อให้เกิดธุรกรรมที่เข้าข่ายขัดกับมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ธปท. จึงได้ดำเนินการตักเตือน และลงโทษสถาบันการเงินที่มีพฤติกรรมดังกล่าว

ทั้งนี้ ธปท. ขอกำชับว่า ธปท. มีนโยบายและมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท และขอให้สถาบันการเงินงดทำธุรกรรมที่อาจขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรการป้องปรามการเก็งกำไร

น.ส.วชิรา กล่าวว่า ธปท. จะยังคงติดตามและตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมถึงพร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

นายกฯ รับฟังทุกฝ่าย หลังเกษตรจี้เลิกนำเข้าสารพาราควอต ยันหาสารจำกัดวัชพืชทดแทน

 “ประยุทธ์” เผยสั่งหารือแล้ว หลังเกษตรกรร้องยกเลิกนำเข้าสารพาราควอต ยันฟังเสียงทุกฝ่าย ย้ำต้องหาสารจำกัดวัชพืชอื่นมาทดแทน

วันนี้ (30 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีกลุ่มเกษตรกรออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการนำเข้าสารพาราควอต รวมถึงมีการกดดันนักวิชาการที่เผยแพร่ผลวิจัยเรื่องนี้ให้ลาออกจากมหาวิทยาลัยว่า ตนได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือกันของกระทรวงเกษตรและสหกนณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็ต้องฟังเสียงจากทุกฝ่ายทั้งเกษตรกรที่ยังมีปัญหาในเรื่องการกำจัดวัชพืช และฟังเสียงจากทางองค์การอาหารและยา (อย.) สาธารณสุข และกระทรวงเกษตรฯ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราจำเป็นต้องหาสารอื่นในการกำจัดวัชพืชมาทดแทนซึ่งเรายังหาไม่ได้ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเพิ่มมาตรการในการป้องกันว่าการใช้สารพาราควอตจะต้องทำอย่างไรจะให้เกิดความปลอดภัยในการป้องกันตัวเอง และใช้ไม่มากเกินไปจนเกินขีดความจำเป็น สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ไปพร้อมกันด้วยระหว่างที่เรากำลังหาสารอื่นมาทดแทน

“ผมก็เป็นห่วงพี่น้องเกษตรกร และเป็นห่วงผู้บริโภคด้วย อยู่ที่ว่าการใช้สารเหล่านี้จะใช้อย่างไร หากมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ ผมก็ให้เขาหาทางว่าจะลดการใช้สารเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าไม่นำเข้าจะใช้วิธีไหน” นายกฯ กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

มูลนิธิชีววิถีย้ำต้องแบน'พาราควอด'เท่านั้น เผยผิดหวังคสช.ไม่กล้าหักนายทุน

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่ยกเลิกการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต” (Paraquat) แต่กลับโดยให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาใหม่ ว่าเป็นมติที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเป็นเพียงการกลับไปยังจุดเดิมที่มีการพูดคุยกันมานานกว่า 1 ปีแล้ว

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขก็ชัดเจนถึงผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการใช้สารพาราควอต หรือเกิดการอุบัติเหตุจนต้องสัมผัสสารชนิดนี้ ทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วยจากสาเหตุนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งถือว่าอันตรายมาก ปัจจุบันมี 53 ประเทศที่ห้ามใช้ในประเทศแล้ว โดยล่าสุดคือบราซิล ซึ่งเคยประกาศให้ใช้ได้เฉพาะเครื่องจักรฉีดพ่นเท่านั้น ปัจจุบันก็ประกาศห้ามนำเข้าและห้ามใช้แล้ว รวมไปถึงประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนก็ห้ามด้วยเช่นกัน

“มติ ครม. ที่อกมาเป็นการยืดเวลาชัดเจน เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เพราะท้ายที่สุดก็โยนให้ ข้าราชการ3 กระทรวงไปตกลงกันเอง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่กล้าหาญเพียงพอในการปกป้องชีวิตเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งบอกว่าเป็นรัฐบาล 4.0  แต่งให้ประเด็นที่สหประชาชาติ เรียกร้องให้หยุดละเมิดกลับไม่ได้รับความสนใจ” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว

นายวิฑูรย์  ยังย้ำอีกว่า ประเด็นเรื่องของการใช้พาราควอตในเชิงสุขภาพได้ข้อยุติมานานแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าสารชนิดนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพ  ขณะที่กระทรวงเกษตรเองก็มีข้อเสนอทางออก แต่กลับโยนกลับไปให้ถกเถียงกันใหม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีความกล้าหาญเพียงพอพึ่งไม่ได้ จึงขอเรียกร้องประชาชนให้ออกมากดดันหน่วยงานและภาคเอกชนที่จัดจำหน่ายสารเคมีชนิดนี้เพื่อบอกว่า เราไม่ต้องการสารพาราควอต ที่ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงถึงมติ ครม. ดังกล่าวว่า กล่าวว่า การให้ยกเลิกการนำเข้าสารพาราควอต  ได้สั่งให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรึกษาหารือกันเพราะต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย ทั้งนี้ฝ่ายเกษตรกรเองยังมีปัญหาเรื่องของทางออกในการใช้สารวัชพืชต้องหาสารอื่นทดแทน แต่เรายังไม่สามารถหาสารอื่นทดแทนได้ ขณะเดียวกันต้องหาแนวทางป้องกันสารพาราควอตในการใช้ให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างไร

“ผมห่วงพี่น้องเกษตรกร และผู้บริโภค ก็อยู่ที่ว่าจะใช้สารนี้ได้อย่างไร หากมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งผมจะหาทางลดการใช้สารเคมีเหล่านี้ได้อย่างไร  ถ้าไม่นำเข้าจะใช้วิธีไหนได้บ้าง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อนึ่ง..ก่อนหน้านี้เมื่อ 21 ธ.ค. 2560 สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เคยจัดเสวนาเรื่อง “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช...อุปสรรคหรือตัวช่วยไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีเสวนานี้ว่า ปัญหาของสารเคมีเกษตรในไทยมิได้มาจากตัวสารเคมีโดยตรง แต่เป็นเพราะผู้เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกรและร้านค้าจำหน่ายเคมีภัณฑ์เกษตรขาดความรู้หรือความตระหนัก จึงเสนอแนะว่าให้ทำอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่สารเคมีบางชนิด เช่น พาราควอด ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นักวิชาการชี้ปัญหาสารเคมีเกษตรในไทยเหตุคือใช้ไม่เป็น แนะคุมบางชนิดก่อนซื้อต้องมีใบอนุญาต

จาก www.naewna.com  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

อีสท์ วอเตอร์เร่ง เชื่อมโยงข้อมูลน้ำเป็นระบบ

อีสท์ วอเตอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำ เร่งหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้มีศักยภาพการใช้งานสูงสุด โดยเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง ตลอดจนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงระบบส่งน้ำชลประทานรองรับพื้นที่ EEC คาดทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์

 บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก  จำกัด (มหาชน) หรือ  อีสท์ วอเตอร์  เตรียมก้าวสู่การเป็น  Smart Water 4.0 พร้อมรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉพาะในส่วนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมากกว่า 200 ล้าน ลบ.ม./ปี  ในอีก 10 ปีข้างหน้า  จากนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์  ได้เปิดเผยว่า  อีสท์ วอเตอร์ ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการ  ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งน้ำทั้งหมดในภาคตะวันออกของกรมชลประทานและอีสท์ วอเตอร์อย่างบูรณาการ เพื่อให้ทราบสถานะของน้ำที่มีอยู่  การขาดแคลนน้ำที่มีหรือคาดว่าจะมี  และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในปัจจัยต่างๆ อาทิ  ปัจจัยด้านความมั่นคงของปริมาณน้ำต้นทุนที่ผันแปรตามช่วงเวลาและฤดูกาล   ปัจจัยด้านค่าพลังงาน  รวมถึงปัญหาการแย่งน้ำจากการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ  เป็นต้น  เพื่อหาแนวทางเลือกในการวางแผนการผันน้ำได้อย่างเหมาะสมตามเงื่อนไขที่กำหนด  สามารถลดพลังงานในการผันน้ำและให้บริการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชี้แจงว่า สำหรับการดำเนินงานในเฟสแรกเป็นการพัฒนาแบบจำลองการบริหารแหล่งน้ำต้นทุนและการสูบจ่ายน้ำหรือ EWMS ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปีที่ผ่านมาและเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและถูกต้องแม่นยำของข้อมูลจึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบติดตามสถานการณ์น้ำและคาดการณ์ ในเฟสที่ 2 ต่อเนื่อง  โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาทิ ค่าระดับน้ำ และกล้อง CCTV เพิ่มเติมในตำแหน่งต่างๆ ที่มีความจำเป็นและยังไม่ได้ดำเนินการในปัจจุบัน  เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์น้ำจากแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกได้อย่างแม่นยำ  และทำการเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายการตรวจวัดข้อมูลระบบท่อส่งน้ำของอีสท์ วอเตอร์  เพื่อสนับสนุนการประมวลผลของระบบ EWMS ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านการศึกษาสภาพการใช้น้ำพบว่า  การใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่มีอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยต่อพื้นที่การเกษตรอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง โดยมีปริมาณการใช้น้ำมากกว่า 2,200 ลบ.ม.ต่อไร่  ดังนั้น การดำเนินงานในเฟสที่ 2  นอกจาการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแล้วยังศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่โครงการชลประทานบ้านค่ายจังหวัดระยอง (ฝายบ้านค่าย) เป็นพื้นที่นำร่องควบคู่ไปด้วย  โดยร่วมกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สามารถใช้น้ำน้อยลงและสามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการจำหน่ายผลผลิตร่วมกัน

นายจิรายุทธ  แจ้งเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันความก้าวหน้าโครงการอยู่ที่ 39%  เป็นไปตามแผนงานโดยกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม  2561  โดยล่าสุดทีมงานโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำได้เข้าพบผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง  เพื่อรายงานผลการประเมินระบบชลประทานตลอดแนวคลองส่งน้ำและอาคารชลประทาน  ประกอบด้วยการสำรวจสภาพของคลองส่งน้ำคันคลองตะกอนและวัชพืชขวางทางน้ำและการสำรวจอาคารชลประทานสะพานและท่อลอดบริเวณถนนคันคลองทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของคลองส่งน้ำสายใหญ่ของพื้นที่โครงการฯ ฝายบ้านค่าย

โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำนี้ถือเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระหว่างอีสท์ วอเตอร์ และกรมชลประทานที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน  ช่วยให้แหล่งน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำดอกกราย  อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีปริมาณคงเหลือเพิ่มขึ้น ลดพลังงานในการผันน้ำจากแหล่งที่ห่างไกลและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร   ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนจีดีพีให้กับประเทศซึ่งเมื่อโครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

รายงานพิเศษ : ฝนหลวงฯก้าวสู่ปีที่5‘สานต่อศาสตร์พระราชา’ พัฒนางานวิจัย-การบินเพิ่มประสิทธิภาพปฏิบัติการ

รายงานพิเศษ ฝนหลวง สานต่อศาสตร์พระราชา การบิน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 5 วันที่ 25 มกราคม 2561 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และร่วมแสดงความยินดีแก่ คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พร้อมเปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อสนองงานตามโครงการพระราชดำริฝนหลวงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชดำริขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชน ที่ประสบกับความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บุคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงเสมอมา ตามตำราพระราชทานฝนหลวง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่สามารถช่วยเหลือประชาชนในประเทศ ตลอดจนเผยแผ่ แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไปยังต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในระดับโลกด้วย จึงขอให้บุคลากรของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีความมุ่งมั่นและพัฒนางานเกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวงให้ดียิ่งขึ้นต่อๆ ไป พร้อมกับภูมิใจในหน้าที่การงานอันมีเกียรติ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรนั้น ตามที่กรมฝนหลวงฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในระยะ 20 ปี ในการเป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชาภายในปี 2579 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติอื่นๆ อันเนื่องมาจากความผันแปรของภูมิอากาศ โดยบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศให้เกิดฝนมีปริมาณและการกระจายที่เหมาะสมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน ตลอดจนการให้บริการด้านการบิน เพื่อสนับสนุนภารกิจการทำฝน การวิจัย และกิจกรรมด้านการเกษตรอื่นๆ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีแนวทางการดำเนิน ความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายนอกเพิ่มเติมในปีนี้อีก จำนวน 4หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ ดัดแปรสภาพอากาศ บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ พัฒนาบุคลากร และด้านการบิน โดยมีแนวทางความร่วมมือกับแต่ละหน่วยงาน ดังนี้

1.การดำเนินความร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการดำเนินความร่วมมือด้านวิชาการ โดยจะได้ร่วมกันส่งเสริมการดำเนินการตามมาตรฐานการบิน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และข้อมูลสารสนเทศในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำ รวมทั้งดำเนินการมาตรฐานการซ่อมบำรุงอากาศยาน และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการบิน

2.การดำเนินความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยร่วมกันวางแผนกำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำใต้ดิน ทั้งในเชิงพื้นที่ ปริมาณ และคุณภาพน้ำ

3.การดำเนินความร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นการดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพแบบจำลองคาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้น โดยใช้ข้อมูลตรวจอากาศชั้นบน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง

4.การดำเนินความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยเป็นการดำเนินความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เน้นความร่วมมือด้านวิชาการ และการวางแผนการปฏิบัติการ เพื่อความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ และสามารถรองรับภาวะวิกฤติของภัยพิบัติได้อย่างเหมาะสม และด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยร่วมกันวิจัย พัฒนาด้านวิชาการและเทคโนโลยีการปฏิบัติการฝนหลวงและการดัดแปรสภาพอากาศ

“การบูรณาการความร่วมมือกับทั้ง 4 หน่วยงานดังกล่าวนี้ จะนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและครบวัฏจักรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งน้ำบนฟ้า โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร น้ำผิวดิน โดยกรมชลประทาน ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน ได้บูรณาการความร่วมมือเพื่อเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนกักเก็บน้ำ มาตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2561 จะได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อบริหารจัดการน้ำใต้ดินด้วย นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และฟื้นฟูพื้นที่ ป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งด้านการเกษตร ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช บรมนาถบพิตร ที่มุ่งหวังให้คนไทยมีคุณภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดจนเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” นายสุรสีห์ กล่าว

จาก www.naewna.com  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

ลอยตัวน้ำตาลค้างสต๊อกบาน โรงงานกุมขมับเลิกโควตาก. เหลือ3แสนตัน

โรงงานน้ำตาลกระอัก หลังลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศ น้ำตาลตกค้างอื้อ 300,000 ตัน ไม่มีความชัดเจนยกเลิกโควตา สนอ.สำรวจตลาดน้ำตาลในห้าง ราคาขายปลีกลงมาอยู่ที่ กก.ละ 21.50 บาท

น.ส.วรวรรณ  ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวหลังจากการประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงานเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานในวันที่ 16 มกราคมได้”ลดลง” จากการออกสำรวจพบโรงงานน้ำตาลทรายจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ กก.ละ 18.18-18.31 บาท และราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่กก.ละ 17.06-17.22 บาท โดยมียอดการขนย้ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายหน้าโรงงาน(16-20 มกราคม 2561) อยู่ที่ 53,000 ตัน หรือ 530,000 กระสอบและในวันที่ 23 มกราคม เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สำรวจราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในห้างโมเดิร์นเทรดส่วนใหญ่ได้ปรับลดราคาจำหน่ายลงมาแล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราคา 21.50 บาท

“สนอ.มั่นใจว่า น้ำตาลทรายที่ค้างอยู่ก่อนการปรับราคาจำนวน 30,000 ตัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 จำหน่ายหมดแล้ว แต่กระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดแน่นอน” น.ส.วรวรรณ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยืนยันว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาล “ยังไม่ปรับลงตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมบอก” เนื่องจากมีน้ำตาลสต๊อกเก่ายังค้างอยู่เป็นจำนวนมหาศาลโดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) น้ำตาลที่ทำสัญญาที่ซื้อไปแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการขนน้ำตาลออก กับ 2) ปริมาณน้ำตาลโควตา ก. ค้างสต๊อก ณ วันที่ 12 มกราคม 2561 อยู่ที่ 2,986,485 กระสอบ หรือประมาณ 300,000 ตัน ซึ่งก่อนที่จะประกาศลอยตัว โรงงานอุตสาหกรรม ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วต่างชะลอการซื้อน้ำตาลมาประมาณ 2 เดือนแล้ว ส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลค้างอยู่จำนวนมาก หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนๆ

“เมื่อรัฐบาลใช้มาตรา 44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลในวันที่ 15 มกราคม 2561 ก็เท่ากับยกเลิกระบบโควตา ก. (25-26 ล้านกระสอบ) ไป ดังนั้นน้ำตาลจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่น้ำตาลที่ต้องชายเฉพาะภายในประเทศอีกต่อไปแล้วเท่ากับน้ำตาลจำนวนนี้จะขายภายในประเทศหรือส่งออกก็ได้ แต่ที่สำคัญจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสูตรการลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศ การจำหน่ายภายในประเทศและการส่งออกได้ ทำให้ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 300,000 ตันยังค้างอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ตามปกติสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย จะรายงานปริมาณน้ำตาลค้างกระดานให้ทราบทุกวันศุกร์ หากย้อนไปดูตัวเลขปริมาณน้ำตาลค้างกระดาน ณ วันที่ 5 มกราคม 2561 จะพบว่า มีปริมาณน้ำตาลค้างกระดานและการจำหน่ายโควตา ก. ของ 3 ปีเหลืออยู่ โดยปี 2558/59  มียอดเหลือน้ำตาลค้างกระดาน 8,186,172 กระสอบ ปี 2559/60 ยังเหลืออยู่ 1,426,098,801 กระสอบ ขณะที่ยอดน้ำตาลฤดูการผลิตปี 2560/61 เหลืออยู่ 1,514,449,995 กระสอบ เท่ากับยอดรวมเหลือน้ำตาลค้างกระดาน 3 ปี รวม 2,948,734,968 กระสอบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ก่อนการลอยตัวด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 29 มกราคม 2561

“อุตตม-คณิศ” ประสานเสียงเอกชน “EEC” ไม่มีไม่ได้ ไทยตกเวทีโลกแน่

ภาครัฐและเอกชนต่างประสานเสียง EEC ไม่มีไม่ได้จริงๆ ไทยตกเวทีโลกแน่ “อุตตม” ชี้โลกเปลี่ยนเร็วมากไทยอยู่เฉยๆ ก็ถูกทิ้งห่างไม่เห็นแล้ว มั่นใจ EEC จะเป็นจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยครั้งใหม่เชื่อมอุตสาหกรรมไทย เกษตร เอสเอ็มอีสู่การค้าโลก จ่อชง ครม.พรุ่งนี้ช่วยเอสเอ็มอี เผยปีนี้ยื่นขอลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี 2.5 แสนล้านบาทแน่ ขณะที่ WHA-ปตท.ขยับรับนโยบายรัฐ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยในงานสัมมนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หัวข้อ “EEC ไม่มีไม่ได้” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการว่า การเปลี่ยนของโลกมีอัตราที่เร็วมาก หากไทยอยู่เฉยๆ ก็จะถูกทิ้งห่างให้ตกขบวนในเวทีโลก ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่ EEC เพื่อการรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ก่อนอื่นเราต้องให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยี ตอนนี้เราก็กำลังทำอินเทอร์เน็ตชุมชนและกำลังทำให้คนไทยใช้ได้ด้วยเป็นเรื่องสำคัญ และขณะเดียวกันอุตสาหกรรมก็ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยี เราจึงมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นใช้ในประเทศและปรับส่งออกให้แข่งขันได้ด้วยมูลค่าสูง การลงทุนเหล่านี้ก็จะถูกต่อยอดในพื้นที่ EEC ซึ่งจะมีกฎหมายรองรับ ที่ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.EEC อยู่ในชั้นกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คาดว่าจะจบวาระ 2 เร็วๆ นี้ ก็จะทำให้มีกฎหมายรองรับมีการดูแลที่ดีขึ้น” นายอุตตมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) กระทรวงฯ ก็พร้อมที่จะดูแลโดยเฉพาะจากต้นทุนที่สูงขึ้นในส่วนของค่าแรง โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ม.ค.นี้เพื่อที่จะเสนอมาตรการดูแลช่วยเหลือ SMEs ในการเพิ่มผลิตภาพเพื่อช่วยลดต้นทุนงบประมาณ 500-1,000 ล้านบาทในปี 2561 มีเป้าหมายช่วยเหลือ SMEs หมื่นราย และจะขยายงบประมาณช่วยเหลือ SMEs เป็น 5 หมื่นรายในปี 2563 และเป็น 2.5 แสนรายในอีก 7-8 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) กล่าวว่า EEC มีความจำเป็นในการขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ ที่ขณะนี้รัฐได้หารือกับภาคเอกชนรายใหญ่ของไทย เช่น บมจ.ปตท. เครือเอสซีจี ที่ต้องการให้เป็นผู้ชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตรงกับภาคเอกชนเองที่จะร่วมมือและร่วมลงทุนกันเอง จากเดิมที่รัฐจะเป็นตัวกลางในการโรดโชว์การลงทุนให้

“เวลานี้เอเชียเข้าใกล้กันมากขึ้น พื้นที่เราอยู่เหมือนที่ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีระบุว่าคืออินโดไชน่า ความหมายเชื่อมอินเดียเข้ากับจีน เมื่อจีนมีนโยบาย One Belt One Road ดังนั้น EEC ก็จะกลายเป็นสถานีหลักเศรษฐกิจไทยเชื่อมภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยเองมีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่ชัดเจนโดยวันที่ 1 ก.พ.จะเสนอแผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC เพิ่มอีก 3 เท่าภายใน 8 ปี และมีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC เป็น 2.5 แสนล้านบาทในปีนี้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.อีอีซีเองก็คิดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ในเดือน ก.พ.” นายคณิศกล่าว

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า EEC ไม่มีไม่ได้จริงๆ เพราะไทยอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ไทยจะหลุดจากเวทีโลกเพราะ EEC จะมีผลให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค หากไทยอยู่เฉยๆ ก็จะกลายเป็นเพียงทางผ่าน ซึ่ง EEC ที่รัฐบาลวางเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จะตอบโจทย์ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่หยุดมานาน การพัฒนาเมือง การรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology

“นักลงทุนสอบถามถึงความคืบหน้า พ.ร.บ.EEC ก็ชี้แจง จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2560 แม้อาจล่าช้าออกไป 2-3 เดือนอีกก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการลงทุน แต่รัฐควรเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่” น.ส.จรีพรกล่าว

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บมจ.ปตท.กล่าวว่า การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดระยะแรกเกิดขึ้นเพราะการค้นพบก๊าซธรรมชาติส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแบ่งการพัฒนามาเป็น 3 ระยะจนทำให้มีการผลิตรวม 30 ล้านตัน ก่อให้เกิดการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาทในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการพัฒนาขั้นต่อไป ปตท.ได้รับมอบหมายจากรัฐที่จะจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ที่จะมีพื้นที่พัฒนา 1,000 ไร่ที่จะเริ่มได้ในปีนี้

นายสเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า BMW ได้เข้ามาลงทุนในไทย 20 ปีที่แล้วในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งการที่รัฐบาลไทยผลักดันการพัฒนา EEC ทางบริษัทมีความสนใจที่จะขยายการลงทุนโดยพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยต่อเนื่อง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 29 มกราคม 2561

“สมคิด” เผยร่าง พ.ร.บ.อีอีซีใกล้คลอด

 รองนายกรัฐมนตรีเผยอีอีซีเริ่มสตาร์ทเครื่องร่าง พ.ร.บ.ใกล้คลอด ครม.สัญจรภาคตะวันออกเตรียมพิจารณาอีกหลายโครงการ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา “Move Thailand 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรม เทคโนโลยี” ว่า  ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกผ่านการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ และในการประชุม ครม.นอกสถานที่ภาคตะวันออก เตรียมพิจารณาอีกหลายโครงการ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง ท่าเรือ และการส่งเสริมเกษตรแปรรูป ไบโอชีวภาพและการท่องเที่ยว เพราะภาคตะวันออกเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แม้จะเลื่อนการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลจะเร่งรัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เมื่อดำเนินการทุกอย่างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนยังคงลงทุนอยู่กับไทย

นายสมคิด กล่าวว่า เพื่อให้ภาคตะวันออกเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน รัฐบาลจึงตั้งเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเน้นลงทุนในยุคดิจิทัล สร้างรถไฟฟ้า ระบบราง ถนน อำนวยความสะดวกการลงทุน แม้จะเหลือเวลาเพียง 1 ปี จะทำจนถึงวันสุดท้าย และในอนาคตจะรู้ว่าอีอีซีจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะหลายประเทศทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ก้าวกระโดดไปมากแล้ว รัฐบาลจึงต้องการให้สถาบันการศึกษาปรับหลักสูตรรองรับความต้องการของเอกชนทั้งอาชีวะและหลายระดับร่วมกับเอกชนในการสร้างสถาบันฝึกอบรมบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของเอกชน 

ทั้งนี้ เมื่ออาเซียนเป็นบ่อทองสำคัญความเจริญมาสู่อาเซียน หลายประเทศต้องการเข้ามาลงทุน เพราะอาเซียนร่วมกับหลายประเทศ ทั้งอาเชียน-อินเดีย, อาเซียน-จีน, อาเซียน-รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน เริ่มให้ความสนใจเข้ามาลงทุนรถไฟฟ้า นับว่ายักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจเริ่มสนใจ เมื่อโอกาสเริ่มเปิดกว้างขึ้นไทยจึงต้องเร่งคว้าโอกาส เพื่อให้เกิดความโดดเด่นในกลุ่มอาเซียน ยอมรับยังมีคู่แข่งสำคัญ ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ เมื่อไทยได้รับความสนใจจากต่างชาตินักลงทุนรายใหญ่ต้องการขยายการลงทุนในประเทศต่อเนื่อง

หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์จีดีพีโลกขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปีนี้ แสดงว่าการค้าโลกเริ่มขยายตัวได้ดีจากปีก่อนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.9 จึงคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปอีก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป จีน อินเดีย รัสเซีย ฟื้นตัว เมื่อรัฐบาลรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการลงทุน การท่องเที่ยวเติบโต การบริโภคเริ่มฟื้นตัว ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ แต่เศรษฐกิจจะดีต่อไปได้อย่างไร อยู่ในมือของประชาชนที่จะเลือกทิศทางของประเทศในอนาคต เมื่อเศรษฐกิจยุคดิจิทัลทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลก เมื่อต้องพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า จึงต้องพัฒนาผลิต พัฒนาระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ ไม่ใช่ประกอบรถยนต์เหมือนเดิม เพราะไทยมีศักยภาพทำได้ และเมื่อไทยมีศักยภาพด้านเกษตร จึงต้องปรับมาผลิตเกษตรสมัยใหม่ แปรรูป อาหารเชิงสุขภาพ อาหารเหมาะเฉพาะกลุ่มนักกีฬา ผู้สูงวัย ผู้รักษ์สุขภาพ ผ่านไบโออีโคโนมีผ่านเทคโนโลยีชั้นสูงเป็นที่ต้องการของตลาด การทำบรรจุภัณฑ์เป็นมิตต่อสิ่งแวดล้อม อีอีซีเป็นฐานใหญ่พร้อมขยายไปยังภาคอื่นของไทย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เริ่มนำไปใช้ทุกส่วนของภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาไทยนำเข้ามามูลค่านับแสนล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมช่วยเหลือลดต้นทุนในช่วง 3 ปีแรก 50,000 ราย จากนั้นเกิน 3 ปี ขยายเพิ่มเป็น 250,000 ราย ใช้งบกลางปี 1,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ผ่านกองทุนดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1-3 ไม่ต้องมีหลักประกันเพิ่ม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาพรุ่งนี้ (30 ม.ค.)

จาก www.mcot.net วันที่ 29 มกราคม 2561

ส่งออกอ่วมพิษค่าเงิน บาทแข็งยาว 6 เดือน-ต้นทุนประกันความเสี่ยงพุ่ง

ธปท.สั่งแบงก์คุมเข้มสกัดเก็งกำไรค่าเงินบาท กูรูชี้เทรนด์ครึ่งปี 61 ดอลลาร์อ่อนต่อเนื่อง แนะผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยง หลังค่าธรรมเนียมป้องกันค่าเงินเพิ่มเกือบ 1% จากเดิม 0.4%

นักวิเคราะห์ตลาดเงินทยอยปรับคาดการณ์เงินบาทจากปลายปีที่ผ่านมา หลังเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่า แม้ถ้อยแถลงของขุนคลังสหรัฐฯยํ้าว่า รัฐบาลสหรัฐฯไม่ต้องการทำสงครามการค้าแต่จะป้องกันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและสหรัฐฯต้องการให้มีการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม”แต่นักลงทุนยังหันไปลงทุนสินทรัพย์โภคภัณฑ์ และหุ้นตลาดเกิดใหม่เนื่องจากไม่มั่นใจในเสถียรภาพเงินดอลลาร์และเตรียมรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในรอบปีนี้

ขณะที่ตลาดเงินยังประเมินเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าและระหว่างทางยังมีความผันผวน โดยตลาดจับตาท่าทีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีการประชุมนัดแรกปลายเดือนมกราคมนี้ จากนั้นในรอบการประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 20-21 มีนาคม เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก แต่ตลาดจับตาว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงและพร้อมจะปรับขึ้น 3ครั้งดังที่เคยพูดเดือนธันวาคมหรือไม่

การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯยังมาจาก แนวโน้มตลาดพันธบัตรสหรัฐฯที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ผลตอบแทนไม่เพิ่ม ขณะที่การเมืองภายในของสหรัฐฯที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ตลาดคาดการณ์ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) มีแนวโน้มจะลดมาตรการคิวอี ซึ่งจะหนุนค่าเงินยูโรและเยนแข็งค่าและเป็นปัจจัยกดดอลลาร์อ่อน

นายชยนนท์ รักกาญจนนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนอินฟินิติ จำกัดเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกรับรู้ถึงแนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์และมีความต้องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ต้นทุนค่าธรรมเนียมป้องกันค่าเงิน(พรีเมียม) ปรับเพิ่มเกือบ 1% จากเดิมอยู่ที่ 0.3-0.4% ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องเลือกจะรับต้นทุนหรือรับความเสี่ยง หากผู้ส่งออกยอมรับต้นทุนควรป้องกันความเสี่ยงในสัดส่วน 70-80% พร้อมแนะนำอย่าเก็งกำไรค่าเงิน เพราะจากนี้ไปตลาดเงินยังผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นใจในเสถียรภาพดอลลาร์จะเห็นนักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์โภคภัณฑ์และหุ้นในตลาดเกิดใหม่

“ดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้ช่วงเดือนมีนาคมเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยและช่วยชะลอการอ่อนค่าแต่หลังจากนั้นทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ยังอ่อนต่อ อีกทั้งที่เห็นบิตคอยน์วิ่งนั้น สะท้อนผลจากนักลงทุนเข้าไปเก็งกำไรหลังจากหมดความเชื่อมั่นเงินดอลล์และธนาคารกลางทุกแห่งอาจต้องคิด Exit Policy โดยลดการถือสินทรัพย์ดอลลาร์ในสินทรัพย์ประเภทอื่น หรือในตะกร้าเงินสำรองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) แม้จะเห็นสกุลเงินหยวน(CNY)แซงเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่สูงมาก จึงมีโอกาสที่จะเพิ่มการถือครองในทองคำซึ่งต้องจับตาราคาทองคำถ้าแนวโน้มดอลลาร์ยังอ่อนค่า”

++ธปท.ส่งซิกฉีดยาแรง

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ธปท. กังวลว่า หากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ จึงจะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินผิดปกติ อีกทั้งปัจจุบัน ได้กำชับสถาบันการเงินต่างๆ ต้องติดตามใกล้ชิดเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่มีธุรกรรมหนาแน่นจะมีธุรกรรมการเก็งกำไรซึ่งค่าเงินจะมีความผันผวน ไม่เป็นไปตามหลักมาตรการป้องกันค่าเงิน

ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯในสัดส่วน 10-11% นั้นจะต้องปรับตัวเรื่องการตั้งราคาเป็นเงินบาท หรือใช้เงินยูโรเมื่อซื้อขายกับยุโรป หรือใช้เงินเยนเมื่อซื้อขายกับญี่ปุ่นรวมถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นประเทศนั้น เป็นจุดเริ่มต้นบริหารความเสี่ยงซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญและหันมาใช้วิธีบริหารจัดการความเสี่ยงในลักษณะนี้มากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินปัจจุบันมาจากปัจจัยภายนอกซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก

“ธปท.ก็มีวิธีการติดตามค่าเงิน ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียด แต่หากพบว่า มีการเคลื่อนไหวค่าเงินที่ผิดปกติ หรือสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป ธปท.ก็พร้อมที่จะทบทวนมาตรการป้องปรามต่างๆ ภายใต้เครื่องมือที่เรามี ค่าเงินบาทแข็งค่าไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่ค่าเงินเป็น 2 ด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยนอกประเทศ และการที่ดอลลาร์อ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญในภูมิภาค”

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบัน ถือว่าเป็นปรากฏการณ์เดียวกันทั่วโลก โดยเฉพาะสกุลเงินที่ค่อนข้างปลอดภัยก็ค่อนข้างแข็งค่า แต่ในช่วงระยะสั้น หากเคลื่อนไหวผิดปกติ ธปท.ก็มีเครื่องมือที่จัดการระดับหนึ่ง คือการเข้าไปซื้อสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่ว่าอยู่ๆเข้าไปดูแล ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีทั้งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย ก็มีปัจจัยที่อาจทำให้ดอลลาร์แข็งค่ากลับมาได้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า สหรัฐฯยังมีประเด็นการเมืองค่อนข้างมากทั้งการต่อรองเรื่องแผนงบประมาณ/การขยายเพดานหนี้ เพราะมีการต่ออายุเพียงระยะสั้นประกอบกับเดือนพฤศจิกายนจะมีเลือกตั้งกลางเทอมที่จะต้องประลองเสียง เหล่านี้ย่อมกระทบต่อไทยโดยเห็นได้จากเงินบาทแข็งค่าเร็วมากเพียง 3สัปดาห์แข็งค่าแล้ว 3.7% ซึ่งยังไม่จบเดือนมกราคมเทียบเมื่อปลายปีก่อนเงินบาทแข็งค่าเกือบ 1% ต่อสัปดาห์ หากเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า 3.1% ขณะที่ทุกสกุลเงินของประเทศภูมิภาคแข็งค่ากว่าดอลลาร์เช่นกัน

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)กล่าวถึงทิศทางดอลลาร์ว่า ยังคงอ่อนค่าตลอดปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยอยู่กับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าที่คาดด้วย เพราะยังมีความไม่แน่นอนในปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯหลายเรื่อง เช่น การกีดกันทางการค้าที่มากขึ้นจะส่งผลต่อสหรัฐฯอย่างไร ประกอบกับสถานการณ์ ชัตดาวน์ที่ยังกลับมา ขณะที่ประเทศอื่น เช่น ยูโร ญี่ปุ่นสัญญาเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมา

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 29 มกราคม 2561

“กฤษฎา” โทรด่วนสายตรง ถึง รมว.สาธารณสุข จี้ขอผลยืนยันพาราควอตเป็นพิษต่อร่างกายคน

รมว.เกษตรฯ โทรด่วนสายตรง ถึง รมว.สาธารณสุข เร่งส่งผลทางแพทย์ ยันสารเคมีพาราควอต เป็นพิษต่อร่างกายคน ลั่นพร้อมยกเลิก หากมีหลักฐานชัด พร้อมสั่ง เบรค กยท.ประมูลจ้างเอกชน เก็บเงินเซส เสียค่าวางระบบพันล้านบาท ยังจ่ายค่าบริหารอีก 5 ปี

วันนี้ (29 ม.ค.61) นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ซึ่งมีการเสนอปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาการเกษตร เรื่องนายทุน ใช้สารเคมีมาก เกษตรกรขาดความรู้ ภัยธรรมชาติท่วมแล้ง ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งหลังเสร็จการประชุม นายกฤษฎา ได้ต่อสายตรงถึง น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทันทีเพื่อให้เร่งรัดส่งผลตรวจสอบทางการแพทย์ มายังกรมวิชาการเกษตร ที่ยืนยันว่าสารเคมีพาราควอต กำจัดศัตรูพืช เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ส่งผลเกิดโรคพาร์คินสัน อัลไซเมอร์ และได้เสนอยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวในปี 2562

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หากมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าสารเคมีพาราควอต กำจัดศัตรูพืช เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์จริง ก็พร้อมยกเลิกทันที แต่ตอนนี้ต้องรอความเห็นจากหลายงานเกี่ยวข้อง ขอยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์ใดๆ โดยระหว่างนี้ต้องรอเอกสารจากกระทรวงสาธารสุข เพื่อเร่งเสนอเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา

"สารเคมี พาราควอต ผมยังไม่มีอำนาจเพิกถอนได้ตอนนี้ หากทำไปโดนฟ้อง ต้องรอข้อมูลทั้งจากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งให้กรมวิชาการได้ติดต่อไปแล้ว ขณะเดียวกันได้ผมติดต่อ รมว. สาธารณสุข ให้รีบแจ้งผล ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเร็วที่สุด ซึ่งรมว.สาธารณสุข คิดว่าเรื่องจบไปแล้ว เพิ่งรู้จากผมและจะไปติดตามเรื่องให้วันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.)"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

นายกฤษฎา ยังกล่าวถึงกรณีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะเปิดให้เอกชนมาวางระบบและจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยาง(เงินเซส)ว่า ได้รับแจ้งว่าจะให้เอกชนมาเก็บเงินเซส โดยกำลังอยู่ขั้นตอนประกาศประกวดราคาทำระบบจัดเก็บ จึงให้ผู้ว่าฯ กยท. บอกจุดอ่อนในปัจจุบันมาก่อน มีรั่วไหล ตรงไหน ทำต้องจ้างเอกชน มาทำใช้ระบบไอที คุ้มค่าไหม ใช้ลงทุนงบประมาณ 1 พันล้านบาท และเก็บด้วยระบบเดิม เป็นย่างไร ซึ่งทางกยท.ได้รายงานเบื้องต้นว่ารถทุกคันบรรทุกยางเข้าด่าน มีเครื่องตรวจพิเศษระบบใหม่ ถ่ายภาพออกมายางอะไร จำนวนเท่าไหร่ ตนได้ถามว่าหากรถไม่เข้าด่าน และไปใช้ช่องทางธรรมชาติ จะตรวจสอบได้อย่างไร จึงได้ให้กยท.ไปคิดทบทวนใหม่ ให้ชัดเจนว่าที่ผ่านมารั่วไหลไปไหนบ้าง รั่วไหลจากคนหรือจากเครื่องมือ

ทั้งนี้ รายงานข่าว แจ้งว่า กยท.ได้เปิดให้เอกชนยื่นซองประกวดราคาโครงการติดตั้งระบบไอที ตามด่านศุลกากรทั่วประเทศ เพื่อจัดเก็บเงินเซส ได้ครบถ้วน จากที่ มีส่วนต่างหายไปกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งได้กำหนดในทีโออาร์ ว่าให้เอกชนลงทุน ทำระบบ วงเงินพันล้านบาท และได้ค่าบริหาร 5 % จากจัดเก็บเงินเซส ระยะเวลา 5 ปี ทำให้นายกฤษฎา ไม่พอใจอย่างมากสั่งให้รายงานข้อเท็จริง

จาก https://www.siamrath.co.th วันที่ 29 มกราคม 2561

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง หาจุดสมดุล “ลอยตัว” น้ำตาล

ท่ามกลางความสับสนหลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจใช้ มาตรา 44 ปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาล ตลอดจนถึง ผู้บริโภค จะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

Q : ใช้ ม.44 ลอยตัวน้ำตาล

ถ้าดูประกาศ จะบอกว่าใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ไป “ยกเว้น” การบังคับใช้ มาตรา 17(18) ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งหลัก ๆ คือกระบวนการกำหนดราคาน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคภายในประเทศ ม.44 ไปยกเลิกตรงนั้น ไปหยุดกระบวนการที่เคยใช้อยู่ แต่ม.44 ไม่ได้บอกชัดเจนว่า จะใช้อะไรต่อไป เท่าที่ผมอ่านประกาศอีก 5 ฉบับที่ออกตามมาในราชกิจจาฯ ก็พบความชัดเจนเพียงแค่ 2 เรื่องคือ

1) หลังลอยตัวราคาแล้วให้โรงงานน้ำตาลสต๊อกน้ำตาลทรายเอาไว้ในปริมาณเท่ากับการบริโภคภายในประเทศ 1 เดือน กับ 2)ให้โรงงานส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลเท่ากับส่วนต่างของราคาขายส่งหน้าโรงงานกับราคาตลาดโลก ส่วนกฎเกณฑ์อื่น ๆ จะออกประกาศตามมา อะไรที่ยังไม่มีประกาศก็ใช้ตามของเก่าไปก่อน ซึ่งวิธีการแบบนี้ก็เหมือนกับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แล้วค่อยมาจัดการกับปัญหาอื่นที่ซุกไว้ใต้พรมทีหลัง

Q : แก้ปัญหาอย่างไร

ที่รัฐบาลกำลังทำตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากบราซิล ยื่นฟ้องประเทศไทยต่อ องค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ต้นปี 2559 ว่า เรามีการอุดหนุนการส่งออกและแทรกแซงตลาดน้ำตาล โดยบราซิลกล่าวหาเราว่า 1)ไทยอุดหนุนการส่งออกด้วยการขายน้ำตาลภายในประเทศแพงกว่าราคาข้างนอกแล้วเอาเงินที่ขายแพงกว่านั้นไปอุดหนุน ทำให้ไทยสามารถส่งออกน้ำตาลได้ในราคาต่ำ กับ 2) รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงและอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ทำให้เขาเสียเปรียบและยื่นฟ้องให้รัฐบาลไทยหยุดใช้อำนาจทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

ตามปกติเวลามีการยื่นฟ้อง WTO จะกำหนดให้คู่กรณีเจรจาเพื่อพยายามยุติข้อพิพาทกันก่อน ซึ่งรัฐบาลไทยก็ส่งคณะไปเจรจาและดูเหมือนว่า เป้าหมายที่ทีมเจรจาได้รับไปจากรัฐบาลก็คือ พยายามให้ทุกอย่างยุติในขั้นการเจรจาเพื่อไม่ให้ บราซิล ฟ้องเราอย่างเป็นทางการ คณะผู้แทนไทยก็เลยไปรับปากบราซิล ว่า เราจะทำตามข้อเรียกร้องของบราซิลในฤดูหีบอ้อยนี้ ซึ่งเริ่มประมาณเดือนธันวาคม 2560

Q : แทรกแซงอุดหนุนอย่างไร

การแทรกแซงและอุดหนุนราคาน้ำตาลในประเทศอาจจะเห็นไม่ชัดเท่ากับ ข้าว แต่น้ำตาลเป็นสินค้าตัวเดียวที่ใช้กฎหมายบังคับว่า ให้มีการกำหนดโควตาขายน้ำตาลทรายภายในประเทศ(โควตา ก.) พร้อมทั้งตั้งราคาขายไว้คงที่ ซึ่งปกติสูงกว่าราคาตลาดโลก ตัวอย่างเช่น ราคาในตลาดโลกช่วงนี้อยู่ที่ 13-14 บาท/กก. แต่ราคาขายส่งหน้าโรงงานกำหนดไว้ 19-20 บาท/กก. ส่วนนี้คือการแทรกแซงราคาจากรัฐที่ใช้กฎหมายไปบังคับไปตั้งราคาขายเอาไว้

นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดปริมาณจำหน่ายน้ำตาลทรายเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งวิธีการก็คือ การกำหนดโควตา ก.ให้แต่ละโรงงานว่า จะขายน้ำตาลได้กี่กระสอบใน 1 สัปดาห์หรือที่เรียกว่า “การขึ้นงวด” การจำกัดปริมาณขายแบบนี้เป็นการจำกัดการแข่งขันเพราะ ไม่มีคู่แข่งรายไหนจะสามารถขายน้ำตาลจำนวนมาก ๆ ได้ ดังนั้นราคาหน้าโรงงานที่ตั้งไว้ 19-20 บาท/กก.จึงสามารถยืนอยู่ได้ถึงราคาสูงกว่าราคาส่งออกมาก แต่โรงงานก็ไม่สามารถขายในประเทศได้ “เกินกว่า” โควตาที่ได้รับ หรือถ้าพูดกันอีกอย่าง การขึ้นงวดจำหน่ายน้ำตาลในประเทศตามโควตา ก. ก็คือ การ “ฮั้ว” เพื่อตั้งราคาขายของโรงงานน้ำตาลในประเทศ ซึ่งปกติเราจะมีกฎหมาย พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า มาห้ามพฤติกรรมแบบนี้ แต่ในกรณีนี้รัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้นำหรือโปรโมเตอร์เองโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. อ้อยนี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมรัฐบาลถึงใช้ ม.44 มาสั่งให้งดใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. อ้อย

Q : แค่ประกาศลอยตัวให้บราซิลรู้

มันก็ไม่เชิงเพราะ จะมีผลในทางปฏิบัติด้วย แม้ว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม ข้อกำหนดใหม่เพิ่มขึ้นมาข้อหนึ่งคือ ให้รัฐบาลไปสำรวจราคาน้ำตาลทรายที่ซื้อขายกันในประเทศในแต่ละเดือนว่า ขายกันเท่าไหร่ เพื่อมากำหนดเป็นราคาอ้างอิงเพื่อเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยคิดจากส่วนต่างของราคานี้กับราคาตลาดโลก โดยราคาตลาดโลกจะคิดจากราคาน้ำตาลทรายขาวเบอร์ 5 ที่ตลาดลอนดอน + ค่าไทยพรีเมียม ส่วนต่างของสองราคานี้จะถูกเก็บเข้ากองทุนฯ (แทนที่เคยเก็บกิโลละ 5 บาท) แต่วิธีการที่จะได้มาของราคาสำรวจมีกติกาอะไรบ้าง ยังไม่มีใครบอกไว้ชัดเจน

Q : ลอยตัวแล้วยังฮั้วราคาได้หรือไม่

สิ่งที่ มาตรา 44 ทำก็คือ ยกเลิกการกำหนดราคาขายภายในประเทศตามระบบเดิม (โควตา ก.) แต่ถึงคุณยกเลิกไปแล้ว ตอนแรก ๆ ตัวมันตาย แต่วิญญาณก็อาจจะยังอยู่ เช่น อาจจะมีการฮั้วราคาอย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะขึ้นกับวิธีที่รัฐบาลใช้ เช่นถ้ารัฐบาลประกาศราคาแค่เดือนละครั้ง โรงงานก็คงต้องเก็งกันว่า ราคาที่ออกมาจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้คาดกันว่า เริ่มจาก 17-18 บาท/กก. ถ้าเป็นแบบนี้ก็คงจะเหมือนยังมีการฮั้วโดยปริยาย แต่พอกติกาชัดเจนขึ้นแล้ว สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากก็ได้

Q : หลังลอยตัวจะเป็นอย่างไร

ผมเชื่อว่า ในระยะนี้ทุกโรงงานน้ำตาลยังไม่กล้าขยับอะไรมาก ราคาส่วนต่างที่เก็บเข้ากองทุนได้ก็จะอาจจะยังเกือบเท่าเดิม เช่น 3 บาท/กก. (เทียบกับเดิม 5 บาท/กก.) ผู้บริโภคก็เคยชินกับการกินน้ำตาลที่ราคา 23.50-25 บาท/กก. ถ้าราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 20-23 บาท/กก. ผู้บริโภคก็อาจจะพอใจและรับราคาได้ ในระยะแรกราคาขายส่งหน้าโรงงานคงจะลงไม่มาก แต่พอเวลาผ่านไป พ่อค้าก็จะมองเห็นลู่ทางว่า จะเล่นตลาดได้อย่างไร อย่างตอนนี้แทบทุกคนบอกว่า ส่วนต่างช่วงแรกน่าจะอยู่แถว 3 บาท/กก. แต่หลายคนคาดว่า ส่วนต่างจะลดลงมาเรื่อย ๆ ถ้าโรงงานส่วนใหญ่เห็นตรงกัน ทุกโรงก็อาจจะรีบขายน้ำตาลออกมาก่อน และมีความเสี่ยงที่ส่วนต่างจะลดลงอย่างรวดเร็ว จนเงินที่หวังเก็บเข้ากองทุนลดลงหรือหมดไป

Q : แล้วเกษตรกรจะอยู่ได้หรือ

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล การแก้ปัญหาโดยซุกขยะไว้ใต้พรมจะมีปัญหาตามมา ที่ผ่านมาอ้อยเพิ่มจาก 25-32 ล้านตันเป็น 100 ล้านตัน/ปี ในขณะเดียวกันโรงงานก็ขยายการผลิตกันมาก แต่ถ้าการแก้ปัญหาของเราทำให้ราคาอ้อยลดลงมาก ในอนาคตชาวไร่ก็จะทิ้งอ้อยไปปลูกพืชอื่น ดังนั้นผลกระทบจึงไม่ใช่มีแค่กับชาวไร่แต่กับโรงงาน การที่จะรักษาสมดุลให้อุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องตอบโจทย์ระยะยาวร่วมกัน ขณะนี้ภาครัฐกำลังแก้ปัญหาบราซิลด้วยดึงการอุดหนุนจากผู้บริโภคออกไป แต่ภาระส่วนนี้ส่วนใหญ่กำลังถูกผลักไปที่เกษตรกร ซึ่งในที่สุดเกษตรกรจำนวนหนึ่งก็จะโหวตตบเท้าเดินออกจากการปลูกอ้อยไป

โจทย์ที่สำคัญในระยะกลาง-ยาวจึงต้องหาทางปรับระบบและโครงสร้างของอุตสาหกรรมนี้ โดยหาจุดสมดุลใหม่ระหว่างชาวไร่กับโรงงาน ที่โรงงานซึ่งได้ประโยชน์มากมายจากเสถียรภาพที่ระบบได้สร้างขึ้นมาเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน คงจะต้องแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่เพื่อความอยู่รอดของโรงงานเองในระยะยาวด้วย

ในขณะ TDRI กำลังทำแนวทางการรับมือกับการฟ้องของบราซิลต่อ WTO กับการปรับโครงสร้างอุตฯอยู่

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 29 มกราคม 2561

รายงานพิเศษ | สกุลเงินดิจิตอล "บิทคอยน์" เงามืดป่วน!เงินหลักแมลงเม่าระวังติดเหยื่อ

แต่ละประเทศจะมีสกุลเงินเป็นของตนเองในการซื้อ ขายสินค้า ระหว่างกัน เช่น ประเทศไทย สกุลเงินบาท ,มาเลเซีย สกุลเงินริงกิต ,เกาหลีใต้ สกุลเงินวาน ,ญี่ปุ่น สกุลเงินเยน ,จีน สกุลเงินหยวน ,สหรัฐอเมริกา สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และสวิตเซอร์แลนด์ สกุลเงินฟรังก์สวิส เป็นต้น

แต่ปัจจุบันการซื้อขายสินค้ามีการพัฒนาขึ้นไปมาก โดยไม่จำเป็นเงินที่จะต้องใช้ "ธนบัตรหรือเหรียญ" อีกต่อไป เพราะล่าสุดได้มี "สกุลเงินในรูปแบบของดิจิทัล" ขึ้นมาในโลกอีก 1 สกุลเงิน นั้นคือ "Bitcoin" (บิทคอยน์) ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ Bitcoin ไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญเงินบาท Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกลุ่มนักพัฒนาเล็กๆกลุ่มหนึ่งตลอดจนบริษัทใหญ่ๆทั่วโลก โดยระบบของ Bitcoin ถูกรันโดยคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทั่วโลก โดยใช้ระบบซอฟต์แวร์ในการถอดสมการคณิตศาสตร์ อีกทั้ง Bitcoin ยังถือเป็นสกุลเงินแรกของโลกที่ถูกเรียกว่า cryptocurrency (คริปโตเคอเรนซี)

Bitcoin สามารถใช้แทนเงินสดซื้อสินค้าออนไลน์ อาจคล้ายกับระบบซื้อขายผ่านอินเทอร์เนตทั่วๆไปที่ใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต!!!

และอีกหนึ่งความพิเศษของ Bitcoin ที่เป็นตัวช่วยให้มันเป็นที่นิยมคือ "มันถูกควบคุมแบบกระจาย (decentralize) นั้นคือไม่มีสถาบันการเงินไหนสามารถควบคุมบิมคอยได้ ซึ่งนั่นทำให้ผู้คนที่เลือกใช้ Bitcoin ส่วนใหญ่สบายใจเนื่องจากแม้แต่ธนาคารก็ไม่สามารถควบคุม Bitcoin ได้"

ส่วนราคา Bitcoin ถูกอ้างอิงมาจากสมการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากหน่วยเงินที่เราจะถูกนำมาผูกติดกับราคาของทองหรือเงิน โดนทฤษฎีแล้ว ถ้าคุณเดินไปซื้อทองที่ร้านทองด้วยเงินบาท คุณก็จะได้ทองกลับไป อีกทั้ง ณ เวลานี้ ผู้คนทั่วโลกกำลังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการถอดสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อผลิต Bitcoin โดยสูตรทางคณิตศาสตร์เหล่านี้มีอยู่ให้หาได้แบบไม่คิดเงิน ทำให้แม้แต่คุณก็สามารถเข้าไปตรวจเช็คได้แบบฟรีๆโดยซฟอต์แวร์ที่ว่านั้นเป็นระบบ open source แปลว่า "ทุกคนสามารถที่จะตรวจสอบความโปร่งใสได้100%" อาทิ การโอนโดยสมุดบัญชีการโอนของ Bitcoin ที่เรียกว่า Blockchain (บล็อกเชน) โดยบล็อกเชนจะเปรียบเสมือนสมุดบัญชีธนาคารกลางที่สามารถบอกการเคลื่อนไหวของบัญชี Bitcoin ทั่วโลก ถ้าหากคุณมีบัญชี Bitcoin ที่เคยใช้ส่งหรือรับ Bitcoin ทุกคนสามารถที่จะเข้ามาตรวจได้ว่าแต่ละบัญชีเคยมีการเคลื่อนไหวของจำนวน Bitcoin เข้าออกมาแล้วกี่ Bitcoin แต่พวกเขาไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอันไหนเป็นของคุณ

 และที่สำคัญ "ค่าธรรมเนียม" ที่ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินกับคุณประมาณ 35-500 บาท แต่ Bitcoin ไม่คิด!

ทั้งหมด คือ สิ่งที่ Bitcoin สามารถทำได้ในระบบธุรกรรมทางเงินในโลกยุคดิจิตอล!?!

แต่นั้นก็ยังถือเป็นดาบ 2 คม ที่หากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ผสมผสานกับความรู้ด้านธุรกรรมทางการเงิน ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจตนเอง ขณะที่ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ เห็นเพียงแต่ผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับ โดยไม่ศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกินขึ้นในอนาคต ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อเสียหายขึ้นได้

และสิ่งที่ออกมากระตุกวงการการเงินประเทศ คือ การที่ "ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เดินทางไปหารือกับ "ดร.วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เรื่องการควบคุมดูแลการซื้อขาย Bitcoin ที่มีราคาแพงกว่าทองคำ ซึ่งกำลังแพร่หลายในหมู่นักลงทุนไทย โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่16,421 ดอลลาร์ต่อ 1 Bitcoin และเคยทำสถิติสูงสุดกว่า 20,000 ดอลลาร์ต่อ 1 Bitcoin เมื่อกลางเดือนธันวาคม2560 ส่วน ราคาเฉลี่ยในเมืองไทยอยู่ที่เกือบ 600,000 บาทต่อ 1 Bitcoin

 ซึ่งเรื่องนี้ "พรชัย ฐีระเวช" ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศแจ้งเตือนว่าการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ที่กำหนดว่าผู้ใดอยู่ในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมโฆษณาหรือประกาศเชิญชวนให้ลงทุนใดๆ ที่มีพฤติกรรมจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูง โดยไม่มีกิจการใดที่ถูกต้องตามกฎหมายรองรับอาจมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ใน พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กำหนดบทลงโทษ จำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลออกมาเพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับสาเหตุที่กระทรวงการคลังต้องทำการแจ้งเตือนเนื่องจาก ปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัล อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้และมีมูลค่าดังเช่นสกุลเงินสกุลหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วสกุลเงินดิจิทัล เป็นเพียงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย ซึ่งปรากฏตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉบับที่ 8/2557 เมื่อวันที่ 18 มี.ค.57

นอกจากนี้มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลเกิดจากอุปสงค์และอุปทานของตัวมันเองที่ทำให้มูลค่าของมันเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยที่ไม่มีกิจการใดที่ถูกต้องตามกฎหมายรองรับในการสร้างรายได้เพื่อการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ขณะเดียวกันมูลค่าของเงินสกุลดิจิทัลที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากเป็นแรงจูงใจทำให้ประชาชนสนใจที่จะซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เพราะคิดว่ามีผลตอบแทนสูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอาจส่งผลให้มีการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น

 เช่นเดียวกับ "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินสกุลดิจิทัล Bitcoin ไม่ใช่เงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่เป็นสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการลงทุนคล้ายกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ และน้ำมัน ดังนั้น ประชาชนที่จะลงทุนต้องระมัดระวังให้ดี เพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูง ราคามีความผันผวนอย่างมากและธนาคารกลางทั่วโลกยังไม่มีการรับรองว่าเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายรวมทั้งประเทศไทย

อีกทั้งยังพบว่าความเสี่ยงระบบศูนย์กลางซื้อขายสกุลเงิน Bitcoin ถูกแฮก หรือปิดกิจการไป ทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียได้ และที่น่ากังวลใจมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้และถูกชักชวนให้ลงทุนเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ โดยอ้างว่าเป็นการลงทุนในตราสารการเงินใหม่ๆที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งประชาชนต้องระมัดระวังและสามารถตรวจสอบได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หมายเลข 1213

นายวิรไท กล่าวต่อว่า เรื่องของการกำกับดูแลเงินสกุลดิจิทัล จะต้องมีการประสานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. โดยต้องกำกับดูแล 2 ส่วน คือ 1 .ต้องคุ้มครองผู้บริโภค และ2.ต้องป้องกันไม่ให้ใช้สกุลเงินดิจิทัล เป็นช่องทางในการฟอกเงินที่ผิดกฎหมาย

 อย่างไรก็ตามจากการติดตามของธปท.ยังไม่พบว่าสกุลเงินดิจิทัลมีการใช้อย่างแพร่หลายจนน่ากังวลในประเทศไทย เพราะธุรกรรมไม่ได้มากจนกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ "ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์" หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศในไทย กล่าวว่า Bitcoin นั้นยังเป็นสกุลเงินที่ยังมีความเสี่ยงสูงอยู่ เนื่องจากว่าปัจจุบันมีผู้คนในประเทศไทยที่ถูกหลอกโดยพวกกลุ่มมิจฉาชีพหรือแชร์ลูกโซ่ว่าจะสามารถ "รวยเร็ว" ได้ด้วย Bitcoin และยังบอกว่าทางรัฐบาลควรที่จะหันมาดูแลและป้องกันปัญหาด้านนี้ อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าควรจะใช้เงินสกุลเงินธรรมดาอย่างเช่นบาทหรือดอลลาร์ หรือบัตรเครดิตในการทำธุรกรรมมากกว่า เนื่องจากว่า Bitcoin นั้นหายาก

ส่วนด้านกลุ่มนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดย "รพี สุจริตกุล" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล (อินนิเชียล คอยน์ ออฟเฟอริง : ไอซีโอ) กับบิทคอยน์ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลประเภทหนึ่ง เป็นนโยบายที่ต้องไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้การหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่าง ก.ล.ต. กระทรวงการคลัง ,ธปท. และปปง. เห็นเป็นภาพเดียวกัน โดยขณะนี้ทาง ก.ล.ต.ได้ปิดรับฟังความเห็นเรื่องไอซีโอเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะหารือในคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. เพื่อปรับปรุงและแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม และเสนอไปทางกระทรวงการคลังเป็นลำดับต่อไป โดยคาดว่าหากแล้วเสร็จสามารถประกาศใช้เกณฑ์ไอซีโอได้ภายในไตรมาส 1 นี้

"ไอซีโอเป็นกระบวนการการระดมทุน ของสตาร์ต อัพที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ โดย เฉพาะเทคโนโลยีที่จะมา Disruption ธุรกิจแบบดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก เนื่องจากศักยภาพในการเติบโตมีมหาศาล แต่มีความเสี่ยงสูง เช่น ใน 100 บริษัท มีประมาณ 95% จะเจ๊ง สำหรับรูปแบบการ ระดมทุนไอซีโอจะไม่ใช่การออกหุ้นหรือ หุ้นกู้ แต่จะออกเป็นโปรเจ็กต์ มีไวท์เปเปอร์เพื่อให้ข้อมูลไว้ตัดสินใจ ส่วนผลตอบแทนเจ้าของโปรเจ็กต์จะออกเหรียญอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้ลงทุน ในลักษณะฟรีฟอร์ม สามารถกำหนดโครงสร้างได้ทุกรูปแบบตามที่ตกลงกัน

นายรพี กล่าวถึงการกำกับดูแลไอซีโอ แม้กระบวนการจะเปลี่ยนไปหมดเพราะเป็นการระดมทุนแบบใหม่ แต่หลักการในการกำกับดูแลไอซีโอไม่เปลี่ยนคือ 1.ต้องไม่หลอกคน 2.ต้องมีตัวตนและ 3.มีการเปิดเผยข้อมูลในระดับหนึ่งเพื่อให้ตัดสินใจได้ เบื้องต้น ก.ล.ต.จะกำหนดรูปแบบการกำกับดูแลผ่านตัวกลาง(พอร์ทอล) ทั้งการเข้าไปตรวจไวท์เปเปอร์ และการยืนยันตัวตนเจ้าของโครงการ แต่อาจจะไม่เข้มงวดเช่นเดียวกับการกำกับดูแลหุ้นเข้าใหม่ (ไอพีโอ)

เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนที่ทำการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าบิทคอยน์ ฟิวเจอร์ส อย่าง "ปรัชญา กุลวณิชพิสิฐ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเปิดให้บริการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าบิทคอยน์ ฟิวเจอร์สนั้น มีผู้ลงทุนให้ความสนใจใช้บริการกับบริษัท และยื่นขอเปิดบัญชีซื้อขายแล้ว ทั้งนี้บริษัทได้เพิ่มความเข้มงวดกับลูกค้าที่ต้องการซื้อขาย เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

"บริษัทได้เพิ่มมาตรการป้องกันความเสียหายกับลูกค้าที่ต้องการเทรดบิทคอยน์ ฟิวเจอร์ส โดยมีการตรวจสอบความพร้อมของลูกค้า ต้องแสดงฐานะทางการเงิน และทำความเข้าใจถึงความเสี่ยง ซึ่งมีเหมือนกับเปิดให้บริการฟิวเจอร์สครั้งแรก"

เกณฑ์การซื้อขายนั้น กำหนดให้ลูกค้าต้องวางหลักประกันเต็ม100% ของมูลค่าการลงทุน เพื่อป้องกันความผันผวนของราคาบิทคอยน์ และอาจทำให้เกิดปัญหาเพิ่มหลักประกัน นอกจากนี้ บิทคอยน์มีความผันผวนสูงมากจึงไม่มีความจำเป็นที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับลูกค้า บริษัทกำหนดให้ลงทุนได้ไม่เกิน 5 สัญญา ซึ่งการซื้อขายนั้น บล.จะให้บริการในตลาด chicago borad options exchange และ chicago mercantile exchange แม้ว่าจะการเปิดให้บริการมาแล้วช่วงปลายปีที่ผ่านมา และมีสภาพคล่องการซื้อขายในระดับ 1 พันสัญญาต่อวัน

อย่างไรก็ตามการซื้อขายบิทคอยน์ ฟิวเจอร์ส นั้น มองว่าเป็นช่องทางการลงทุน ซึ่งนักลงทุน ใช้ป้องกันความเสี่ยง และทำกำไรทั้งขาขึ้น และขาลง แม้ว่าหลายประเทศจะมีนโยบาย การห้ามซื้อขายบิทคอยน์ เชื่อว่าจะไม่กระทบ เพราะบริษัทดำเนินการให้ ซื้อขายบิทคอยน์ ฟิวเจอร์ส และให้ชำระราคาเป็นเงินจริง ไม่มีการแลกเปลี่ยนเป็นบิทคอยน์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สำนักงานกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ต้องย้ำเตือนกับผู้ลงทุนในด้านความเสี่ยง เพราะบิทคอยน์ไม่มีอะไรที่สามารถนำมาใช้เพื่อประเมินมูลค่า และราคาจะผันผวนตามอุปสรรคและอุปทานเท่านั้น

นายไพบูลย์ นรินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัล อย่างบิทคอยน์ราคาผันผวนปรับขึ้นและลงค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการเก็งกำไร เพราะในปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีที่นำมาประเมินคุณค่า จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อรอให้มีวิธีประเมินก่อน โดยมองว่าการทำ ICO ที่ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นวิธีการระดมทุนแบบใหม่ที่สามารถทำได้รวดเร็ว และตอบโจทย์ในธุรกิจบางประเภท ปัจจุบันหลายประเทศมีการเข้ามาควบคุม ขณะเดียวกันในประเทศไทย สำนักงานก.ล.ต. ก็อยู่ระหว่างการออกกฎเกณฑ์เพื่อกำกับดูแล แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าการระดมทุนดังกล่าวเหมาะกับธุรกรรมที่ใช้ระบบ block chain ซึ่งไม่ต้องใช้ตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง

จาก https://www.siamrath.co.th  วันที่ 29 มกราคม 2561

เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทยอยแจ้งความ หลังถูกบ.เอกชนฟ้องรับสภาพหนี้

             เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 61 ที่สภ.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอ้อยในพื้นีท่อำเภอพบพระ จ.ตาก ยังคงทยอยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสภ.พบพระ เพื่อให้ตำรวจบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

              หลังจากที่กลุ่มชาวไร่อ้อย จำนวน 53 ราย ได้รับหนังสือจากศาลจังหวัดแม่สอด คือทางบริษัทพลังงานสะอาด ผู้ผลิตเอทานอลในพื้นที่ อ.แม่สอด ได้ฟ้องร้องให้ผู้ปลูกไร่อ้อย ที่ผิดสัญญา ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อให้รับสภาพหนี้ รวมมูลค่าทั้งหมด 1,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามตามหนังสือสัญญา ระหว่างบริษัทฯ กับ เกษตรกรไร่อ้อย ซึ่งแต่ละรายแตกต่างกันไป บางรายถูกเรียกค่าเสียหาย 30 ล้านบาท บางราย 3 ล้านบาท และบางรายมากถึง 41 ล้านบาท

             ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเกิดเมื่อเดือนเมษายน 2551 เมื่อชายคนหนึ่งอ้างตัวเองว่า เป็นพนักงานบริษัท และนำเอกสารไปให้เกษตรกรเซ็น โดยไม่มีข้อความใดๆ แต่ด้านในเป็นหนังสือให้รับสภาพหนี้ล่วงหน้า ทีมีเงื่อนไขในการส่งอ้อยให้กับโรงงาน ต่อมาเกษตรกรปลูกอ้อยได้รับความเดือดร้อน ไม่มีกำไร ขาดทุน จึงยุติการส่งอ้อยให้กับบริษัทจนถูกทางบริษัทฟ้องค่าเสียหาย โดยใช้หลักฐานที่เซ็นยอมรับสภาพหนี้ตั้งแต่แรก ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นหนี้ มาเป็นหลักฐานฟ้องให้ชาวไร่อ้อยชดใช้ค่าเสียหาย ขณะที่ทางสภาทนายความเห็นว่า เกษตรกรที่ไปลงนามในกระดาษเปล่า ถือว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงขอให้ชาวไร่อ้อยทยอยไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจไว้เป็นหลักฐาน

              นางจิราภา คำแก้วอายุ60ปี อยู่บ้านเลขที่44หมู่ที่1บ้านพบพระเหนือ อำเภอพบพระเปิดใจทั้งน้ำตาว่า ตนเองปลูกอ้อยมานานหลายปีไม่เคยมีกำไร มีแต่เป็นหนี้ เกิดมายังไม่เคยเห็นเงินล้านเลย แต่มาถูกฟ้องเงินนับ10ล้านบาท อยากวิงวอนภาครัฐเข้าช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย เพราะที่จริงแล้ว บริษัทเป็นหนี้เรา เขาต้องจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยทุกรายด้วย

            อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ ทางกลุ่มชาวไร่อ้อยได้ร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม,สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรได้ส่งเรื่องไปยังสภาทนายความ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 มกราคม 2561

เอกชนแนะรัฐดึงน้ำตาลทรายหลุดบัญชีสินค้าควบคุม

เอกชนแนะรัฐดึงน้ำตาลทรายออกจากบัญชีสินค้าควบคุม ให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ล่าสุดลดราคาลงแล้ว

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า การลอยตัวราคาน้ำตาลช่วงนี้ เป็นช่วงที่เหมาะสม เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มลดต่ำลง ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับความความเดือดร้อนอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตได้ลดราคาขายปลีกลงแล้ว 2 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาอาจไม่ได้ปรับลดลงเร็วและมากตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากการผลิตน้ำตาลทรายบรรจุถุงนั้น มีต้นทุนค่าใช้จ่าย อื่นๆ เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าวางสินค้าในห้างค้าปลีก

นอกจากนี้ ยังเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ ควรพิจารณานำเอาน้ำตาลทรายออกจากบัญชีสินค้าควบคุม เนื่องจากมองว่าหากในอนาคตเมื่อราคาน้ำตาลทรายปรับเพิ่มสูงขึ้นแล้วภาครัฐยังคงคุมราคาไว้ไม่สะท้อนต้นทุนจะทำให้น้ำตาลทรายไหลออกไปต่างประเทศ เพื่อขายได้ในราคาที่สูงกว่า และอาจทำให้น้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน ดังนั้นรัฐควรพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 28 มกราคม 2561

ห้างค้าปลีกลดราคาน้ำตาลทราย2บ.ตามตลาดโลก

ห้างค้าปลีกปรับลดราคาน้ำตาลทรายลง 2 บาท เหลือ 21.50 บาท/กก. ตามตลาดโลก ขณะสินค้าอื่นจัดโปรโมชั่นตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์

หลังการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย และล่าสุดสถานการณ์ในตลาดโลกยังอยู่ในช่วงขาลง จากการสำรวจการจำหน่ายน้ำตาลทรายไปห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ย่านลาดพร้าว พบว่าผู้ประกอบการได้มีการปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายลดลงแล้วเฉลี่ยกก. ละ 2 บาท จากราคาเพดานกิโลกรัมละ 23 บาท 50 สตางค์ เหลือ 21 บาท 50 สตางค์ โดยมีปริมาณ น้ำตาลทราย เพียงพอกับความต้องการ รวมทั้งมีการนำน้ำตาลชนิดพิเศษอื่นๆ ออกมาวางจำหน่ายด้วย ซึ่งราคาจะสูงกว่าน้ำตาลทรายปกติ เล็กน้อยตามคุณภาพ

และสำหรับในส่วนของสินค้าที่มีการใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว รวมถึงน้ำหวานต่างๆ นั้น ทางห้างค้าปลีกได้มีการจัดโปรโมชั่น เพื่อลดราคา ให้กับผู้บริโภคซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ออกมาสั่งการก่อนหน้านี้ว่า สินค้าในกลุ่มเครื่องที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบหลัก ให้ปรับราคาลงตามต้นทุนลง ซึ่งหากไม่สามารถปรับลดราคาได้ ควรมีการจัดทำโปรโมชัน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 28 มกราคม 2561

ราคานํ้าตาลขึ้นลงอยู่ที่ต้นทุนแฝง วิชันเลขาฯสอน.คนใหม่

ปฏิกิริยา 1 สัปดาห์หลังจากที่ระเบียบอ้อยและนํ้าตาลทราย 4 ฉบับ คือ 1. ยกเลิกโควตานํ้าตาล 2. ปล่อยลอยตัวราคานํ้าตาล 3. การคิดราคาอ้อยโดยนำกติกาต่างๆในการคำนวณราคาอ้อยแบบใหม่มาใช้ 4. ระเบียบว่าด้วยการส่งออก นํ้าตาลไปยังต่างประเทศภายใต้กติกาใหม่ ที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ให้เป็นไปตามพันธสัญญาองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ราคานํ้าตาลลอยตัวขณะนี้มีความเคลื่อนไหวอย่างไร วรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) คนใหม่ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ตอบคำถามตรงไปตรงมาคำต่อคำ

ลอยตัวนํ้าตาลราบรื่น

 ค่อนข้างเป็นการลอยตัวที่ราบรื่นมาก และในส่วนที่สอน.สำรวจ ได้พบว่าตัวเลขราคาลดลงแล้ว โดยเฉพาะราคาหน้าโรงงาน ส่วนราคาในชั้นวางตามโมเดิร์นเทรด อาจจะมีราคาเก่าปนอยู่บ้าง เพราะยังมีนํ้าตาลในราคาเก่าที่ค้างอยู่ในตลาดราว 3 แสนตัน ซึ่งจำนวนนี้ไม่เกิน 4-5 วันก็จะหมดไป ฉะนั้นภายในอาทิตย์นี้จะได้เห็นราคาใหม่ในชั้นวางสินค้ามากขึ้น จากการสำรวจราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 17-18 บาท จากเดิม 19 บาทก็ลดลงมาเหลือ 17 บาท และจาก 20 บาทก็ลงมาเหลือ 18 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงมาราว 2 บาทต่อกิโลกรรม ซึ่งสอน.ตอบได้เฉพาะราคาหน้าโรงงาน ส่วนราคาขายปลีกต้องติดตามจากกระทรวงพาณิชย์ (ราคาขายปลีกในโมเดิร์นเทรดลดลงแล้ว จาก 23.50 บาทต่อกิโลกรัมเหลือ 21.50 บาทต่อกิโลกรัม)

เลิกพูดราคาอิงตลาดโลก

 ไม่ชอบให้พูดว่าราคานํ้าตาลอิงราคาตลาดโลก อยากจะให้มองว่าราคานํ้าตาลเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ซึ่งถามว่าจะอิงตามราคาตลาดโลกหรือไม่มันมีวิธีอิงตามได้หลาย แบบ ราคานํ้าตาลในประเทศถ้าฟิกซ์ราคาไว้ สมมติฟิกซ์ที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อราคานํ้าตาลในตลาดโลกสูง มากๆ สมมติราคานํ้าตาลทรายขึ้นไปที่ 500-600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันนํ้าตาลทราย แต่ราคานํ้าตาลในประเทศก็ยังเป็น 19-20 บาทต่อกิโล กรัมอยู่ ยังตํ่ากว่าราคาในตลาดโลก พอราคาในประเทศ ตํ่ากว่าก็จะมีนํ้าตาลลักลอบออกไปขายตามแนวชายแดน เพราะประเทศเพื่อนบ้านราคานํ้าตาลสูงกว่าประเทศไทย

 ฉะนั้นจะเอาราคานํ้าตาลในตลาดโลกมาอิงราคานํ้าตาลในประเทศมันไม่ได้ เพราะต้นทุนมันต่างกัน ราคานํ้าตาลในตลาดโลก No5 จะต้องเข้าใจก่อนว่าเป็นราคาที่เทรดเดอร์ใช้ มันคือราคานํ้าตาลที่อยู่ในตลาดล่วงหน้า ไม่ได้ซื้อขายกินกันในวันนี้ เป็นราคานํ้าตาลที่มีการเก็งกำไรซื้อตั๋ว ขายตั๋วไม่ใช่ราคาที่ขายจริง ดังนั้นราคาที่เราเห็นเดือน 3 เดือน 4 เดือน 5 มันเป็นราคาซื้อขายที่เหมือนราคาในตลาดหุ้น มีการเก็งกำไร มีอะไรหลายอย่างที่มาเกี่ยวพัน แต่ราคานํ้าตาลในตลาดในประเทศก็คือราคานํ้าตาลในตลาดการค้าเสรีปกติ แต่ถามว่าอิงราคาตลาดโลกมั้ย มันก็จะอิงตรงที่ สมมุติว่านายก. เป็นผู้ผลิต นายข.เป็นผู้ซื้อในประเทศนายก.จะเลือกระหว่างส่งออกและขายในประเทศ ถ้าราคาส่งออกดีกว่าในประเทศก็ต้องดูว่าอันไหนคุ้มค่ากว่า ต้องดูต้นทุนประกอบด้วย

วิธีคำนวณราคาอ้อยเปลี่ยน

 ตัวเลขที่นำมาคำนวณไม่เหมือนเดิม เพราะเดิมทีเป็นราคาฟิกซ์ ที่นำมาคูณ ตอนนี้ใช้ราคาสำรวจ ก็ต้องนำราคาสำรวจมาคูณกับปริมาณนํ้าตาลที่ขายในประเทศ และก็ออกมาเป็นรายได้จากการขายในประเทศ รายได้ในระบบจะมาจาก A บวก B คือส่งออกกับขายภายในประเทศ ส่งออกใช้การคำนวณเหมือนเดิมแต่ราคาจะผันแปรตามตลาดโลก เดิมทีราคานํ้าตาลดิบภายในจะฟิกซ์ที่ 19,20 บาทต่อตัน เวลาคำนวณในระบบก็นำตัวนี้มาคำนวณก็จบ ต่อไปพอไม่มีโควตาก็ต้องดูปลายปีว่า จำนวนเป็นเท่าไหร่ สมมติว่าเป็น 21 ล้านกระสอบ ราคาจากการสำรวจออกมาเป็น 18 บาท ก็นำตัวเลข 2 ตัวนี้มาคูณกัน ถามว่ากระทบมั้ยก็กระทบเพราะตัวเลขไม่ได้ฟิกซ์แล้ว ตัวเลขจะขึ้นลงตามตลาดโลกทั้ง 2 ตัว

ราคานํ้าตาลยังขาลง

 ช่วงนี้ราคาขาลง คาดการณ์ว่าจะลงไปถึงต้นปีหน้า เพราะขณะนี้มีปริมาณการผลิต นํ้าตาลในตลาดโลกเกินอยู่ 4 ล้านตัน บางสำนักก็บอกเกินอยู่ 10 ล้านตัน หรือมีปริมาณนํ้าตาลอยู่กว่า 180 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้อยู่ที่กว่า 170 ล้านตัน ยังน้อยกว่าปริมาณผลิต รวมถึงกรณีที่ราคานํ้าตาลในตลาดโลกมันมีการเก็งกำไร จะขึ้นอยู่กับตั๋วซื้อตั๋วขายของผู้ถือ ถ้าถือใบซื้อเยอะ ราคาจะลง แต่ถ้าถือตั๋วขายเยอะราคาจะขึ้น

อย่างไรก็ตามทิศทางของนํ้าตาลมีการคาดการณ์ว่า ปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ราคานํ้าตาลยังไม่สูงขึ้น ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติอะไรขึ้นมา ซึ่งเวลานี้ราคานํ้าตาลทรายขาวอยู่ที่ประมาณ 440 ดอล ลาร์สหรัฐฯต่อตัน (รวมพรีเมียมแล้ว) ส่วนราคานํ้าตาลดิบอยู่ที่ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ถือว่าราคาขาลง

ข้อกังวลต่อจากนี้ไป

 สิ่งที่กังวลน่าจะเป็นเรื่องรายได้ในระบบ ถ้าตํ่ามากๆ ชาวไร่อาจจะมีความรู้สึกว่าราคาอ้อยตํ่า ก็ต้องเปรียบเทียบดูระหว่างการปลูกอ้อยกับการปลูกพืชอื่นว่า ปลูกพืชชนิดไหนแล้วคุ้มค่ากว่ากัน ฉะนั้นโรงงานนํ้าตาลก็ต้องคุยกับชาวไร่ว่าอย่างน้อยจะต้องมีปริมาณอ้อยเท่าไหร่ถึงจะคุ้ม และจะไปหวังพึ่งนํ้าตาลอย่างเดียวคงไม่ได้เพราะในอนาคตจะนำอ้อยไปทำไบโอเคมี ทำเอทานอล ไปเพิ่มมูลค่าอย่างอื่นด้วย เพราะถ้าไปอยู่ที่ผลิตภัณฑ์เดียว เวลาที่นํ้าตาลขึ้น-ลงจะกระทบทันที ต้องหาวิธีลดต้นทุนทางอื่นด้วย

มองราคานํ้าตาลจากนี้ไป

 นํ้าตาลก็เหมือนสินค้าอื่นถ้าคุณภาพดี ราคาก็ดี หรือไม่ลดลงมาก ยกตัวอย่างเช่น ขายนํ้าตาลอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี และมีคุณภาพไม่ดี จะมาส่งที่กทม. เทียบกับอีกรายขายนํ้าตาลคุณภาพดีมากอยู่ที่ภาคอีสาน ราคาก็ไม่เท่ากันเพราะมีค่าขนส่ง และคุณภาพนํ้าตาล ดังนั้นถ้านํ้าตาลมีราคาลดลงมาก อาจจะมาจากคุณภาพนํ้าตาลไม่ดีก็ได้ ฉะนั้นมันจะขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่างที่เกิดขึ้น หรือกรณีราคานํ้าตาลในโมเดิร์นเทรด 2 ยี่ห้อ ราคาอาจจะไม่เท่ากันเพราะต้องดูโปรโมชัน บางทีอาจจะทำโปรโมชันร่วมกับโมเดิร์นเทรด

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 27 มกราคม 2561

ไทยคว้าอันดับ 1 สองปีซ้อน ประเทศที่เหมาะเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก

"พาณิชย์"เผยไทยคว้าอันดับ 1 สองปีซ้อน ประเทศที่เหมาะเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก จากการสำรวจของเว็ปไซต์ U.S. News

 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 สำนักข่าว U.S. News & World Report ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่เผยแพร่ข่าว ความเห็น และผลการจัดอันดับต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อชาวอเมริกัน ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลกด้านต่าง ๆ ประจำปี 2561 บนเว็ปไซต์ usnews.com จากผลการสำรวจความเห็นของคนทั่วโลกราว 21,000 คน โดยไทยได้รับการจัดอันดับให้ครองแชมป์อันดับ 1 จากทั้งหมด 80 ประเทศทั่วโลกในเรื่องการเป็นประเทศที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มธุรกิจ (Best Countries to start a Business) ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยเหตุผลหลักมาจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ลดขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจของไทยและลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการลง นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าลงทุน (Best Countries to Invest In) เป็นอันดับที่ 8 จาก 25 ประเทศทั่วโลก

รายงานผลการจัดอันดับของ U.S. News ดังกล่าวถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ยืนยันมุมมองของต่างชาติว่า ประเทศไทยได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งภาพลักษณ์ของไทยในเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจในไทยเป็นอย่างยิ่ง ผลการจัดอันดับนี้สอดคล้องกับผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB) ของธนาคารโลก ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ที่จัดไทยอยู่ในอันดับดีขึ้นถึง 20 อันดับจากเดิมอยู่ที่อันดับ 46 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 26 ในปี 2561 สืบเนื่องจากการปรับลดขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจของไทยจากเดิม 5 ขั้นตอน ใช้เวลา 25.5 วัน เหลือเพียง 3 ขั้นตอน ใช้เวลา 2 วัน รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการจากเดิม 6,600 บาทเหลือเพียง 5,800 บาท

ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในโลกและอันดับที่ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.–พ.ย.) การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวม 38.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า14% โดยไทยส่งออกไปสหรัฐ เป็นมูลค่า 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% และนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 13พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 28% นอกจากนี้ ในปี 2560 สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทย (FDI) เป็นอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ มีมูลค่าการลงทุน 11,774 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว11% สาขาสำคัญที่สหรัฐฯ ลงทุนในไทย อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และพลังงาน เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 26 มกราคม 2561

สมาพันธ์เกษตรฯ ยื่นข้อเสนอ สธ. ทบทวนยกเลิกการใช้สารพาราควอต

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยและเครือข่าย ยื่นหนังสือและรายชื่อเกษตรกร 30,000 ราย ร่วม “ค้าน” ยกเลิกการใช้ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ทางการเกษตร ย้ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย เหตุ ส่งผลต้นทุนการผลิตเพิ่ม ผลผลิตลดลง รายได้ประเทศสูญหาย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันไม่ก่อปัญหาด้านสุขภาพ

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมผู้ส่งออกทุเรียนและมังคุด สมาคมส่งเสริมธุรกิจ พืชและอาหารสัตว์ และผู้แทนเกษตรกรกลุ่มพืชอ้อย ปาล์ม ยางพารา มะนาว ข้าวโพด ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ เป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่เห็นด้วย นำเสนอรายชื่อคัดค้านจำนวนกว่า 30,000 ราย มอบให้ พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วยสรุปข้อคิดเห็นของเกษตรกร สมาคมเกษตรกร และนักวิชาการ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากยกเลิกใช้สารดังกล่าวตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ยกเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดส่งหนังสือทบทวนไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และได้เข้าพบ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งได้มอบหมายให้ พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้ข้อสรุปดังนี้ ขอรับเรื่องไว้และจะนำส่งไปให้หน่อยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกใช้นั้น ยังไม่มีการสรุป การดำเนินงานต่อไปจะให้ครอบคลุมเหมาะสมตามข้อเท็จจริง ในส่วนอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุฯ ซึ่งจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้

“ทั้งนี้ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้ยื่นเรื่อง ขอให้ “ยกเลิก” ข้อเสนอที่ให้ยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พารา ควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ของเกษตรกร พร้อมชี้แจงผลกระทบต่อการนำเสนอผลวิจัยที่มีข้อมูลบิดเบือน ไม่ถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความเข้าใจผิดในสังคมวงกว้าง กระทบต่อราคาสินค้า การส่งออกผักและผลไม้ของเกษตรกรเป็นอย่างมาก “ นายสุกรรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร สมาคมเกษตรกร เกษตรกร และนักวิชาการ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” กับการยกเลิกการใช้สาร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราควอต เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ 1. ต้นทุนการผลิตของเกษตรกร 2. ผลผลิตการเกษตรลดลง 3. การสูญเสียรายได้ระดับประเทศ อันเนื่องมาจากผลผลิตที่ลดลง คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับกลุ่มอ้อยและมันสำปะหลัง

 “ขณะเดียวกัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลยืนยันว่า การใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ไม่พบว่ามีหลักฐานผลกระทบทางสุขภาพตามที่กล่าวอ้าง สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของเกษตรกรที่ใช้สารดังกล่าว มานานกว่า 50 ปี ไร้ผลกระทบต่อสุขภาพ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 26 มกราคม 2561

เกษตรกรเตรียมเฮ!เตรียมปลูกพืชเศรษฐกิจได้ทุกชนิด

ประธานสภาเกษตรกร เผยเกษตรกรเตรียมรับข่าวดี ใครมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินเป็นของตนเอง มีแนวโน้มที่จะสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ทุกชนิด ทั้งไม้พยุง เทพทาโร จำปาทอง ฝาง บง สัก ชิงชัน ไม้ไผ่ ล่าสุดกระทรวงทรัพย์ฯ กำลังแก้มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกไม้ได้ทุกชนิด

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า มีข่าวดีสำหรับพี่น้องเกษตรกรไทยทั้งประเทศ ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยหารือกันถึง 2 ครั้ง กับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ทาง พล.อ.สุรศักดิ์ ยืนยันว่า กำลังแก้กฎหมายในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เพื่อจะให้เกษตรกรสามารถปลูกไม้ได้ทุกชนิดบนพื้นที่กรรมสิทธิ์ของตนเอง ทั้งโฉนด น.ส.3 , ส.ป.ก. , น.ค.และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้พื้นที่เหล่านั้นได้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าพืชเกษตร 3 - 4 ชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งล้วนแต่มีราคาถูก ทำเท่าไรก็มีแต่หนี้

ดังนั้น หากสามารถแก้กฎหมายได้ ต่อไปไม้ที่ปลูกในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของเกษตรกรทั้งหมดสามารถจะใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี พืชผล ต้นไม้บนที่ทำกินของเกษตรกรต้องเป็นของเกษตรกร กฎหมายต้องละเว้นให้สามารถตัด ฟัน แปรรูป ทำการค้า ขายได้ โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเข้ามาดูแลอำนวยความสะดวกให้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีป่าไม้เพิ่มขึ้นจำนวนมากมาย สามารถสร้างเศรษฐกิจให้ไทยโดยรวมได้มหาศาล เกษตรกรสามารถทำการผลิตในพื้นที่ของตนเองได้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ขณะนี้กำลังมีการรับฟังความคิดเห็นในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

นายประพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกไม้ยืนต้น โดยรัฐบาลจัดโครงสร้างสินเชื่อระยะยาวให้ เชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้เกษตรกรหันมาปลูกไม้ยืนต้นมากขึ้น ยังมีไม้อีกหลายชนิดให้ปลูกที่น่าสนใจ เช่น ภาคอีสาน ไม้พยุง , ภาคใต้ ไม้เทพทาโร จำปาทอง , ภาคเหนือ ไม้ฝาง ไม้บง ไม้สัก ไม้ชิงชัน ไม้ไผ่ หลากหลายชนิด ปลูกในอายุ 3 - 4 ปี ก็มีผลผลิตสร้างรายได้ให้ได้แล้ว และเกิดความหลากหลายในที่ทำกินของตนเอง ซึ่งจากนี้ไปจะเข้าพบ พล.อ.สุรศักดิ์ เพื่อร่วมทำแผนส่งเสริมเกษตรกรร่วมกัน

ทั้งนี้ ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องการปลูกไผ่กับนายกรัฐมนตรี ในครั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.พิษณุโลก ท่านเห็นด้วยในการให้เกษตรกรพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ขัดแย้ง พื้นที่ที่เกษตรกรทำกินอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์หันมาส่งเสริมการปลูกไผ่ควบคู่ไม้ยืนต้น แล้วได้เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรฯ ทำแผนร่วมกัน ซึ่งจะเข้าพบทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่ออาสาทำแผนงานอีกครั้ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

เปิดเสรีอ้อยและน้ำตาล

น้ำตาลเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญชองประเทศไทย ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลมากเป็นที่ 2 ของโลก รองลงมาจากบราซิล

น้ำตาลเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมากรองลงมาจากข้าว ยางพาราและมันสำปะหลัง ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลจากประเทศอื่น เช่น จากฮาวาย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ต่อมาอุตสาหกรรมน้ำตาลได้พัฒนามาเรื่อยๆ ภายใต้การค้าเสรีจนกลายมาเป็นผู้ผลิตมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองลงมาจากบราซิล สหรัฐอเมริกา คิวบา ฟิลิปปินส์

เนื่องจากราคาน้ำตาลมีความผันผวนเป็นอันมากและมีวัฏจักร กล่าวคือราคาจะมีขึ้นลงอย่างรุนแรงทุกๆ 4 ปี เพราะอ้อยเมื่อลงมีปลูกแล้วจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ 4 ครั้ง โดยปล่อยให้ตออ้อยเติบโตขึ้นทดแทนต้นเก่า 4 ครั้ง จึงจะทำการปลูกใหม่ ปัจจัยที่ทำให้ราคาอ้อยและน้ำตาลขึ้นลงนอกจากเป็นไปตามวัฏจักรแล้ว ราคาอ้อยและน้ำตาลยังขึ้นลงตามราคาน้ำมันและราคาพลังงานอื่น  เพราะอ้อยสามารถนำมาผลิตแอลกอฮอลล์สำหรับผสมกับน้ำมันเบนซินทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ด้วย

อ้อยเป็นพืชเกษตรที่ค่อนข้างจะหนัก ความสัมพันธ์ระหว่างโรงงานน้ำตาลกับชาวไร่อ้อยจึงต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างหนักแน่น อ้อยสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลนั้นไม่สามารถปลูกได้ทั่วไปอย่างเสรี ทั้ง 2 ฝ่ายต้องร่วมมือประสานกัน โดยโรงงานจะดำเนินการหีบอ้อยได้ก็จะต้องมีไร่อ้อยในสังกัดป้อนอ้อยให้เพียงพอ ขณะเดียวกันอ้อยที่จะส่งโรงงานก็ต้องมีการจัดคิวก่อนหลังทยอยกันเข้าโรงงาน จะตัดไว้ล่วงหน้าไม่ได้เพราะอ้อยหลังจากตัดแล้วความหวานจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจึงมีลักษณะผูกขาดทั้ง 2 ฝ่าย หรือที่ตำราเศรษฐกิจศาสตร์เรียกว่า bilateral monopoly  เพราะเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะรวมตัวกันเป็นสมาคมชาวไร่อ้อยเป็นเขตๆ ไปในแต่ละเขตก็จะมีโรงน้ำตาล 1 โรง รับซื้ออ้อยในสังกัดโดยมี “เกี๊ยว” หรือ “หัวหน้าโควตา” ซึ่งได้รับโควตาจดหาอ้อยส่งเข้าโรงงาน หัวหน้าโควตาเป็นเจ้าของรถบรรทุกและมี “ลูกไร่” ที่ปลูกอ้อยอยู่ในสังกัด ขณะเดียวกันตนก็เป็นผู้ทำการปลูกอ้อยด้วย

การตัดอ้อยเป็นงานหนักเพราะจะต้องรีบทำอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกำหนดเวลาที่ต้องส่งอ้อยเข้าโรงงาน ในสมัย  30-40 ปีก่อนจึงมักจะได้ยินว่ามีการใช้แรงงานให้ทำงานหนักเกินกว่าที่กำหนดในกฎหมายหรือที่เรียกว่า “แรงงานทาส” ขณะนี้มีการใช้เครื่องจักรบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังใช้แรงงานทำการตัดอ้อยอยู่ แต่แรงงานไทยไม่ยอมทำงานเช่นว่านี้แล้ว จึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา มาเป็นแรงงานในการตัดด้วย

ในขณะที่ยังไม่ได้มีการจัดระเบียบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ความขัดแย้งระหว่างสมาคมชาวไร่อ้อยกับโรงน้ำตาลในเขตต่างๆ จึงมักจะเกิดขึ้นเสมอ จากการที่ไม่สามารถตกลงราคากันได้ เพราะชาวไร่อ้อยต้องการขายอ้อยในราคาสูง ขณะเดียวกันโรงงานก็ต้องการซื้ออ้อยในราคาที่ต่ำ เพราะราคาน้ำตาลในอนาคตที่ตนจะขายออก ในเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้าไม่รู้ว่าจะได้ราคาสูงต่ำเท่าใด จึงต้องรับซื้ออ้อยในราคาต่ำไว้ก่อน ส่วนชาวไร่อ้อยก็เรียกร้องราคาที่สูง โดยอ้างว่าโรงงานน้ำตาลต้องรับซื้อในราคาที่คุ้มทุนในการเพาะปลูก รวมค่าตัดและค่าขนส่งอ้อยเข้าโรงงานซึ่งถกเถียงกันอยู่เสมอว่าเป็นเท่าใด ความขัดแย้งดังกล่าวมักจะขยายวงออกไปเป็นปัญหาการเมืองและสังคมอยู่เสมอ ขณะเดียวกันความขัดแย้งในเรื่องราคาซื้อขายอ้อยก็เป็นความเสี่ยงของทั้ง 2 ฝ่าย กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เมื่อไทยส่งออกน้ำตาลมาอยู่ในอันดับที่ 5 ก็สะดุดอยู่แค่นั้นขยับให้สูงขึ้นอีกไม่ได้

ในช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  เป็นนายกรัฐมนตรี ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำอย่างหนัก กล่าวคือราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีราคาเพียง 4 เซ็นต์ต่อปอนด์  จากที่เคยมีราคากว่า 10 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้ราค้าอ้อยตกต่ำลง โรงงานไม่สามารถรับซื้ออ้อยในราคาที่รัฐบาลประกันไว้จึงมีการเคลื่อนไหวปิดล้อมโรงงาน ปิดถนน ปิดศาลากลางจังหวัด วุ่นวายไปหมด นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม จึงมอบหมายให้ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้เสนอโครงการจัดระเบียบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นแทนที่จะปล่อยให้เป็นระบบเสรี ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นระบบหนึ่งที่ความขัดแย้งระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานดำรงอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด

ดร.จิรายุ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น ร่วมกับนายมนู  เลี้ยวไพโรจน์  ผู้อำนวยการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายในขณะนั้น จึงได้ร่วมกันพัฒนาระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานในสัดส่วน  70:30 กล่าวคือนำรายได้จากการขายน้ำตาลในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศมารวมกัน แล้วแบ่งให้ชาวไร่อ้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ให้โรงงา 30 เปอร์เซ็นต์

เมื่อมีการเสนอการจัดรวมโรงงานทั้งประเทศเข้าด้วยกัน รวมชาวไร่อ้อยทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถจัดการให้ทราบรายได้จากการขายในประเทศและรายได้จากการส่งออก จึงได้มีการจัดสรรโควตาออกเป็น 3 ประเภทคือ โควตา ก  โควตา ข โควตา ค   โดยโควตา ก  เป็นโควตาสำหรับการขายในประเทศ ซึ่งสามารถรู้ได้ไม่ยากว่าแต่ละปีมีการใช้น้ำตาลบริโภคและเป็นวัตถุดิบในประเทศเท่าใด คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งประกอบด้วยบุคคล 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายชาวไร่อ้อย ฝ่ายโรงงานน้ำตาลและฝ่ายรัฐบาล  ประกอบกันเป็นคณะกรรมการผู้กำหนดราคา ซึ่งระบบแรกเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์อยู่ในระดับ 20-23 บาทต่อดอลลาร์  ราคาในประเทศจะถูกกำหนดให้สูงกว่าราคาตลาดกลางในอัตราที่สูงกว่าคือประมาณ กก.ละ 20-25 บาท สำหรับโควตา ข ประมาณ 5 แสนตันมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นผู้ส่งออก โดยมีกรรมการ 3 ฝ่ายเป็นผู้อนุมัติราคาส่งออก

ส่วนโควตา ค โรงงานเป็นผู้ส่งออกเอง ตัดสินใจเอง แต่ในการคำนวณรายได้จากการส่งออกให้ใช้ราคาเฉลี่ยจากการส่งออกของจำนวน 5 แสนตันของบริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย

ระบบ 70:30 เป็นระบบที่ใช้ได้ผลเป็นอย่างมาก ฝ่ายโรงงานน้ำตาลที่เคยต่อต้านขัดขวางการจัดระบบดังกล่าว บัดนี้ก็หันมาสนับสนุนเพราะเห็นประโยชน์ สร้างความแน่นอน  อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจึงขยายตัวอย่างมั่นคงจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกมากเป็นอันดับที่ 5 ก็กลายเป็นผู้ส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 2 รองลงมาจากบราซิล  ขณะที่ฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกาผลิตลดลงจนไม่เหลือส่งออก เมื่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของเราขยายตัวอย่างสม่ำเสมอก็ทำให้บราซิลหวั่นไหว บราซิลจึงยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก กล่าวหาว่าประเทศไทยชดเชยการส่งออก ซึ่งขัดต่อระเบียบขององค์การการค้าโลก โดยการจัดระเบียบอ้อยและน้ำตาลในลักษณะดังกล่าว

สำหรับบราซิลซึ่งเป็นประเทศที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในโลก เพื่อทำการผลิตน้ำตาลและแอลกอฮอลล์  เพื่อใช้ผสมกับเบนซินเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ถ้าปีใดราคาน้ำมันแพง น้ำตาลราคาถูก ก็จะใช้อ้อยผลิตแอลกอฮอลล์ในสัดส่วนที่มากผลิตน้ำตาลในสัดส่วนที่น้อย แล้วจะทำกลับกันเมื่อราคาน้ำมันถูก ราคาน้ำตาลแพง ซึ่งก็เท่ากับมีการชดเชยราคาอ้อยในลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า “cross subsidy “ แต่บราซิลไม่ยอมรับว่าการจัดการในลักษณะดังกล่าวเป็นการชดเชยชาวไร่อ้อยของตนแต่การจัดระบบ 70:30 ของไทยนั้นเข้าลักษณะการชดเชยการส่งออก ผิดข้อตกลงขององค์การการค้าโลก บราซิลชนะคดี ทางองค์การการค้าโลกจึงกดดันให้ไทยหยุดดำเนินการตามนโยบาย 70:30 ของไทย

แม้ว่าทางองค์การการค้าโลกจะเห็นด้วยกับคำร้องของบราซิล ประเทศไทยก็ควรหารูปแบบในการจัดการในรูปอื่น โดยเป็นการตกลงกันเองระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล โดยทางการอาจจะถอยออกมาอยู่ข้างนอก เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลเข้ามาแทรกแซง  ทำการชดเชยการส่งออก ซึ่งขัดกับหลักขององค์การการค้าโลก

ถ้ารัฐบาลประกาศแก้กฎหมายก็ไม่ควรกำหนดว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เปิดเสรีโดยกฎหมาย แต่ถ้าหากผู้ปลูกอ้อยและโรงงานจะตกลงกันเองในการรับซื้ออ้อยและน้ำตาลก็เป็นเรื่องของตลาด ซึ่งโดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไม่ใช่อุตสาหกรรมที่จะมีการแข่งขันกันอย่างเสร็จอยู่แล้ว

หากมีการเปิดเสรีจริง ราคาน้ำตาลภายในประเทศก็จะต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาในตลาดโลก มิฉะนั้นก็จะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อราคาในประเทศต้องต่ำลงเพราะไม่ได้ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ราคาอ้อยก็จะต้องต่ำลงด้วย นอกจากต่ำลงแล้วก็จะมีความผันผวนขึ้นลงมากขึ้น แม้จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลไปยามที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงกว่าระดับหนึ่งและชดเชยราคาอ้อยเมื่อราคาในตลาดโลกตกต่ำกว่าระดับหนึ่ง แต่เมื่อยกเลิกระบบที่ให้ผู้ใช้น้ำตาลในประเทศชดเชยโดยราคาในประเทศสูงกว่าในต่างประเทศ กองทุนน้ำตาลก็ไม่สามารถจ่ายชดเชยจากการขายภายในประเทศในราคาที่สูงกว่าราคาในประเทศได้ ยิ่งถ้าเกษตรกรต้องปรับตัวในระยะเวลาอันสั้นก็ยิ่งมีปัญหา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอาจจะต้องลดขนาดลง ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาทางการเมืองได้ เพราะชาวไร่อ้อยจะต้องขายอ้อยในราคาที่ต่ำกว่าที่เคยขายได้ในขณะที่มีการใช้ระบบ 70:30  รัฐบาลจะจ่ายชดเชยตรงๆ เพื่อให้เกษตรกรมีเวลาปรับตัวก็คงทำไม่ได้ ทางออกคงจะไม่ง่ายเพราะไทยผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกมากกว่าใช้ภายในประเทศเป็นจำนวนมาก

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 25 มกราคม 2561

ลอยตัวดีกว่าโดนฟ้อง

     ยืดเยื้อมาพักใหญ่กับเรื่องน้ำตาลทรายในบ้านเรา ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยมีโอกาสที่จะโดนฟ้องร้องจากประเทศบราซิล ที่ถือเป็นผู้ค้าน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก โดยยื่นหนังสือต่อองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ ให้มีการไต่สวนไทย ที่ถือว่าเป็นผู้ค้าส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับที่ 2 เนื่องจากเห็นว่ามีกลไกอุดหนุนเอกชนในการส่งออก และอุดหนุนเกษตรกรให้หันมาปลูกอ้อย ทั้งระบบโควตา และมาตรการจูงใจ ที่ถือว่าไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของดับเบิลยูทีโอ ส่งผลให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำอย่างหนัก

     ทุกอย่างทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งสำนักงาน กระทรวง หรือแม้แต่สถาบันที่เกี่ยวเนื่องวิ่งเต้นมาหารือกันเพื่อกำหนดทางออก และรวบรวมข้อมูลเพื่อไปทำการเจรจากับประเทศบราซิล ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ผ่านมาเนิ่นนานหลายเดือน จนช่วงหลังไทยมั่นใจว่าบราซิลมีความพึงพอใจอย่างมากกับการปฏิบัติตามความต้องการ ปรับเปลี่ยนและชี้แจงข้อกังขาต่างๆ จนเชื่อว่าจะถอนฟ้องในไม่ช้านี้

     จนเมื่อล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศยกเว้นการใช้มาตรา 17 (15) แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ตั้งแต่ฤดูการผลิตที่ 2560/61 จนถึง 2561/62 หรือที่รู้จักกันทั่วไปคือ ประกาศให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศนั่นเอง

     แต่ก็ยังไม่จบแค่นี้ เนื่องจากการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายทำให้เกิดความสับสนขึ้น ทั้งในวิธีการคำนวณราคาอ้อยจากเกษตรกร และการคำนวณราคาหน้าโรงงาน รวมถึงการกำหนดราคาขายปลีก และการเก็บเงินเข้ากองทุน และอีกอย่างก็คือ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ยังไม่สามารถประกาศบังคับใช้ได้ ตอนนี้จึงไม่มีอะไรมากำหนดกฎเกณฑ์เลย

     ตามกฎการปล่อยลอยตัว ราคาหน้าโรงงานน้ำตาลทรายจะต้องอ้างอิงจากราคาน้ำตาลตลาดลอนดอนนัมเบอร์ไฟต์ (No.5) บวกไทยพรีเมียม ซึ่งหากโรงงานไหนที่ขายน้ำตาลแพงกว่าราคาอ้างอิง ส่วนต่างก็ต้องส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ขณะที่ในส่วนของราคาขายปลีกก็เป็นการกำหนดของเอกชนผู้ค้าว่าจะมีราคาขายเท่าไหร่ แล้วแต่เกรดหรือคุณภาพของน้ำตาล แต่ก็ยังไม่มีใครกำหนดเพดานว่าห้ามเกินเท่าไหร่หากต้องขายปลีก ซึ่งก็แล้วแต่เอกชน หากใครคิดว่าของดีมีคุณภาพและมีลูกค้าซื้อ ก็คงขายแพงได้ตามใจและไม่ผิด

     และขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลงมาที่ 12 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อนำมาบวกด้วยราคาไทยพรีเมียมประมาณ 20 เหรียญฯ ต่อตัน ตามสูตรเฉลี่ยออกมาเป็นกิโลกรัม (กก.) จะตกราคาประมาณ 12.50 บาทต่อ กก. และเมื่อนำมาหักกับราคาขายหน้าโรงงานในปัจจุบัน ก็จะมีส่วนต่างอยู่ที่เกือบ 5 บาทต่อ กก. ที่โรงงานต้องจ่ายเข้ากองทุน

     ซึ่งก็มีโรงงานหลายแห่งที่เกิดความไม่พอใจ และให้ความเห็นว่าหากเป็นฝั่งของชาวไร่อ้อยและกองทุนอาจจะพอใจ แต่หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำลงไปเรื่อยๆ โรงงานก็ยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนอยู่ และอาจจะมากกว่า 5 บาทต่อ กก.ด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ต่างจากรูปแบบเดิมที่บวกแฝง 5 บาท ให้ผู้บริโภคแบกรับภาระ ทั้งนี้ หากในอนาคตราคาน้ำตาลในตลาดโลกพลิกกลับมาราคาสูงและมีส่วนต่างน้อย ชาวไร่อ้อยควรต้องยอมรับระบบที่เกิดขึ้นด้วย

     นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปก็คือ การส่งออกน้ำตาลไปขายในประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆ ที่ยังมีการบริโภคน้ำตาลที่แพงอยู่ ถึงเกือบ 30 บาทต่อ กก. เนื่องจากเห็นถึงความคุ้มค่ามากกว่าขายในประเทศหรือส่งออกไปยังตลาดหลัก จนอาจจะส่งผลให้น้ำตาลทรายในประเทศไทยเกิดภาวะขาดแคลน ราคาพุ่งไปสูงเกินกว่าเดิมที่ยังไม่มีการลอยตัว และส่งผลกระทบตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงภาคครัวเรือนด้วย

     อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริโภคก็เห็นว่าในช่วงระยะสั้นนี้จะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ขายปลีกในตลาดเริ่มมีราคาลดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นที่พึงพอใจของประเทศบราซิลเป็นอย่างมาก เพราะหากไทยไม่ดำเนินการอะไรเลย คงทำให้การฟ้องร้องยังดำเนินต่อไป และอาจจะทำให้ไทยต้องสูญเงินเพราะแพ้คดีไปอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 25 มกราคม 2561

ลอยตัวน้ำตาลค้างสต๊อกบาน โรงงานกุมขมับเลิกโควตาก.เหลือ3แสนตัน

โรงงานน้ำตาลกระอัก หลังลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศ น้ำตาลตกค้างอื้อ 300,000 ตัน ไม่มีความชัดเจนยกเลิกโควตา สนอ.สำรวจตลาดน้ำตาลในห้าง ราคาขายปลีกลงมาอยู่ที่ กก.ละ 21.50 บาท

น.ส.วรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวหลังจากการประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงานเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานในวันที่ 16 มกราคมได้ “ลดลง” จากการออกสำรวจพบโรงงานน้ำตาลทรายจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ กก.ละ 18.18-18.31 บาท และราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ กก.ละ 17.06-17.22 บาท โดยมียอดการขนย้ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายหน้าโรงงาน (16-20 มกราคม 2561) อยู่ที่ 53,000 ตัน หรือ 530,000 กระสอบ และในวันที่ 23 มกราคม เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สำรวจราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในห้างโมเดิร์นเทรดส่วนใหญ่ได้ปรับลดราคาจำหน่าย ลงมาแล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราคา 21.50 บาท

“สนอ.มั่นใจ ว่า น้ำตาลทรายที่ค้างอยู่ก่อนการปรับราคาจำนวน 30,000 ตันเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 จำหน่ายหมดแล้ว แต่กระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดแน่นอน” น.ส.วรวรรณกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลยืนยันว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาล “ยังไม่ปรับลงตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมบอก” เนื่องจากมีน้ำตาลสต๊อกเก่ายังค้างอยู่เป็นจำนวนมหาศาล โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) น้ำตาลที่ทำสัญญาที่ซื้อไปแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการขนน้ำตาลออก กับ 2) ปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ค้างสต๊อก ณ วันที่ 12 มกราคม 2561 อยู่ที่ 2,986,485 กระสอบ หรือประมาณ 300,000 ตัน ซึ่งก่อนที่จะประกาศลอยตัว โรงงานอุตสาหกรรม ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วต่างชะลอการซื้อน้ำตาลมาประมาณ 2 เดือนแล้ว ส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลค้างอยู่จำนวนมาก หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ๆ

“เมื่อรัฐบาลใช้มาตรา 44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลในวันที่ 15 มกราคม 2561 ก็เท่ากับยกเลิกระบบโควตา ก. (25-26 ล้านกระสอบ) ไป ดังนั้นน้ำตาลจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่น้ำตาลที่ต้องขายเฉพาะภายในประเทศอีก ต่อไปแล้ว เท่ากับน้ำตาลจำนวนนี้จะขายภายในประเทศหรือส่งออกก็ได้ แต่ที่สำคัญจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสูตรการลอยตัวราคาน้ำตาล ภายในประเทศ การจำหน่ายภายในประเทศ และการส่งออกได้ ทำให้ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 300,000 ตันยังค้างอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ตามปกติสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย จะรายงานตัวเลขปริมาณการจำหน่ายและปริมาณน้ำตาลค้างกระดานให้ทราบทุกวัน ศุกร์ หากย้อนไปดูตัวเลขปริมาณน้ำตาลค้างกระดาน ณ วันที่ 5 มกราคม 2561 จะพบว่า มีปริมาณน้ำตาลค้างกระดานและการจำหน่ายโควตา ก.ของ 3 ปีเหลืออยู่ โดยปี 2558/59 มียอดเหลือน้ำตาลค้างกระดาน 8,186.172 กระสอบ ปี 2559/60 ยังเหลืออยู่ 1,426,098.801 กระสอบ ขณะที่ยอดน้ำตาลฤดูการผลิตปี 2560/61 เหลืออยู่ 1,514,449.995 กระสอบ เท่ากับยอดรวมเหลือน้ำตาลค้างกระดาน 3 ปีรวม 2,948,734.968 กระสอบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ก่อนการลอยตัวด้วย

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 24 มกราคม 2561

ห้างประกาศราคาใหม่น้ำตาล21.50บาท

ห้างค้าปลีกแจ้งกระทรวงพาณิชย์ปรับราคาน้ำตาลทรายใหม่ 21.50 บาทต่อกก.ตามนโยบายลอยตัวราคาน้ำตาล                     

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รมว. พาณิชย์  เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางห้างค้าปลีกได้แจ้งราคาใหม่ของน้ำตาลทรายด้วยการปรับลดราคาลง 2 บาทต่อกก.  หรือจากราคาเดิม  23.50 บาทต่อกก. มาอยู่ที่ 21.50 บาทต่อกก. หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายไปแล้ว  ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกทั่วประเทศ และล่าสุดเจ้าหน้าที่รายงานว่าร้านค้าปลีกทั่วไปส่วนใหญ่ก็มีการปรับลดราคาลงเช่นกัน

นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีวัตถุดิบเป็นน้ำตาลทรายในปริมาณมากๆ เช่น น้ำอัดลม, ชาเขียว ขนมหวาน เป็นต้นช่วยปรับราคาลงตามต้นทุนที่ปรับลดลง หรือให้มีการใช้โปรโมชั่นสินค้า เช่น การแถม เพื่อคืนความสุขแก่ผู้บริโภค

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 มกราคม 2561

พณ.ขอลดราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ

รมว.พาณิชย์ ขอผู้ประกอบการลดราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลักหลังราคาตลาดลดลงแล้ว กก.ละ2บาท.

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน ตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายให้ห้างค้าปลีก และร้านค้าทั่วไปแล้ว  โดยพบว่าในขณะนี้ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายลดลง กิโลกรัมละ 2 บาท ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลดีจากราคาน้ำตาลทรายที่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว รวมถึง ขนมต่างๆที่ให้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก ให้ปรับราคาลงตามต้นทุนลง ซึ่งหากไม่สามารถปรับลดราคาได้ ควรมีการจัดทำโปรโมชัน เพื่อช่วยลดภาระค่าของชีพ และคืนความสุขให้กับประชาชน แต่การปรับราคา หรือ โปรโมชันนั้น จะจัดทำในช่วงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสต๊อกของผู้ประกอบการเป็นหลัก

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 24 มกราคม 2561

'บิ๊กฉัตร'สั่งบูรณาการงบน้ำปี62 เป้าหมายโครงการลุ่มน้ำชี-ยม-เจ้าพระยา

บิ๊กฉัตร บูรณาการงบน้ำ โครงการลุ่มน้ำชี เจ้าพระยา     

ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะที่ 5.3 เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 1/2561 ว่า ปีงบประมาณ 2562 มีหน่วยงานเสนอกรอบวงเงิน เพื่อดำเนินการเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งสิ้น 1.3 แสนล้านบาท โดยได้ให้นโยบายกับทุกหน่วยงานว่าจะต้องบูรณาการการใช้งบประมาณให้ได้ ไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณซ้ำซ้อน        

ขณะเดียวกันจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการแล้วจัดงบประมาณลงไปก่อน โดยเฉพาะโครงการที่นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการลงทุนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำชี 

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกคือคือพื้นที่ลุ่มน้ำในจังหวัดที่นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร คือจ.นครราชสีมา ที่ต้องให้ความสำคัญกับโครงการในลุ่มน้ำชีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และจ.สุโขทัย  และลุ่มน้ำยม ซึ่งส่วนของลุ่มน้ำยมนั้น ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความตื้นเขินของลำน้ำ

“กรอบวงเงินที่ทุกหน่วยงานเสนอรวมกันอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายจะเหลือเท่าใดนั้นสำนักงบประมาณจะมีการพิจารณาอีกครั้ง แต่ลำดับสำคัญของโครงการจะอยู่ในจังหวัดที่นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ในช่วง ครม.สัญจร”นายสมเกียรติ กล่าว 

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มกราคม 2561

เงินบาทแข็งโป๊ก!ทุบสถิติใหม่ ในรอบ 49 เดือน

ดอลลาร์ร่วงหนักเหตุนักลงทุนเทขาย หลังตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคยุโรปดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ดันเงินสกุลยูโรแข็งค่า  รวมถึงเงินสกุลอื่นในภูมิภาค แนะผู้ประกอบการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขาย                   

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทวันนี้แข็งค่าสุดที่ระดับ 31.69 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติใหม่ในรอบ 49 เดือน นับจากพ.ย.56 เป็นผลมาจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศยุโรปปรับตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้หนุนให้ค่าเงินสกุลยูโรแข็งค่าขึ้นทันที   ซึ่งค่าเงินบบาทของไทยถือว่าแข็งค่าสอดคล้องกับภูมิภาค

ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขาย เพื่อลดความผันผวน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินสกุลในภูมิภาคพบว่า  เงินริงกิตมาเลเซีย  3.3 % บาทไทย  2.8 %  เยนญี่ปุ่น 2.5% รูเปียห์อินโดนีเซีย1.8% หยวนจีน 1.7% และดอลลาร์สิงคโปร์  1.6%

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 มกราคม 2561

“กฤษฏา” ผุด 4 กฎเหล็ก พลิกโฉมการทำงานกระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าปี 70 ล้างบัญชีเกษตรกรพ้นความยากจน

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินสายเสริมแข็งทีมงานระดับพื้นที่ เร่งขับเคลื่อนนโยบาย มุ่งเป้าล้างบัญชีเกษตรกรพ้นจากคนยากจนในปี 70 ขณะที่ “กฤษฏา” ฝาก 4 กฎเหล็กหวังพลิกโฉมการทำงานกระทรวงเกษตรฯ

วันนี้ (24 ม.ค.61) นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ร่วมประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ” เพื่อชี้แจงนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ และเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งหารือร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ในการจัดหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและอำเภอในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ภาคเอกชน ภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 670 คน ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี

นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “มุ่งมั่นพัฒนา เกษตรกรรมก้าวหน้า นำพาสู่ความยั่งยืน”ว่า วันนี้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคเกษตรและของประเทศไทย หากเราต้องการผลลัพธ์ใหม่ ทีมกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำร่วมกันทำสิ่งใหม่ ปรับวิธีคิด วิธีทำงานกันใหม่อย่างไร้รอยต่อ แบ่งเป็น 4 สิ่งที่ “ต้อง” ทำ คือ 1.ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานให้มีมุมมองกว้างไกลกว่าในอดีตที่มองเพียงส่งเสริมการผลิตเท่านั้น แต่ต้องเป็นนักวางแผนการเกษตรการผลิตให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของตลาดไม่ล้นตลาดเกินไป 2.ต้องรู้ลึก รู้จริง ทำได้จริง ลงพื้นที่จริง ให้ได้มากกว่าเกษตรกรหรืออย่างน้อยต้องรู้เท่าทันเกษตรกร 3.ทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อสู่เป้าหมายความสำเร็จเดียวกัน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย และ4.เห็นแก่ประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ต้องกล้ายืนหยัดในความถูกต้อง ต่อสู้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติ ทั้งหมดเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน 5 ประเด็นสำคัญ คือ เกษตรกรไทยจะต้องหลุดพ้นจากความยากจนโดยจะมีรายได้มากกว่าในปัจจุบันอย่างน้อย 1 เท่าตัวภายในปี 2565 และภายในปี 2570 ครอบครัวเกษตรกรไทยในบัญชีคนยากจนจะหมดไป 2.ระบบสหกรณ์และวิสาหกิจการเกษตรต้องเข้มแข็ง สามารถปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเกษตรกรไทยจะเข้าสู่ระบบสหกรณ์ทุกครัวเรือน 3.เกิดสังคมและชุมชนเกษตรกรไทยแบบพออยู่พอเพียงอย่างทั่วถึง 4.ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย 100 % ภายในปี 2565 และผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 60 % ภายในปี 2570 และ 5.ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องเป็นเพื่อนร่วมคิดเป็นที่พึ่งของเกษตรกร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นของโลก GDP ภาคเกษตร = 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 6 % ของ GDP รวม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังยากจน หรือ ประมาณ 5.1 ล้านคน จากประชากรภาคเกษตร 23.59 ล้านคน และลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 3.9 ล้านคน ซึ่งมีปัญหาหนี้สิน ขาดทุนไม่รู้ระบบการตลาด โครงสร้างตลาดสินค้าเกษตรและตลาดปัจจัยการผลิตถูกควบคุมโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ ระบบสหกรณ์ยังไม่เข็มแข็งพอ จำนวนมากขาดความเป็นมืออาชีพแต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเกษตร เอาชนะข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ดิน ฟ้า อากาศ เราควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกได้ ประกอบกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรแทนกำลังแรงงาน เทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาพันธุ์พืชที่มีลักษณะพิเศษเหนือธรรมชาติปกติ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ทีมกระทรวงเกษตรฯ ทั้งระดับอำนวยการและปฏิบัติการในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำโครงการที่ประสบผลสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรค มาดำเนินการ “ต่อ + เติม + แต่ง” ขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการให้มากขึ้น

“ปัญหาภาคเกษตรไทยที่ผ่านมา ไม่เพียงอยู่ที่นโยบายที่ผ่านมาหลายเรื่องไม่เหมาะสม แต่ยังมีปัญหาเรื่องการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผลด้วย ซึ่งตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะไม่เพียงจะช่วยทำงานในระดับนโยบายเท่านั้น แต่จะช่วยปลดล๊อคอุปสรรคทางปฏิบัติด้วย เพื่อให้การนำนโยบายไปดาเนินการได้บรรลุผล แต่ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้รับศรัทธาจากประชาชน ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ต้องไม่ถูกเอาเปรียบหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจะเปลี่ยนผ่านปัญหาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นายกฤษฏา กล่าว

สำหรับการประชุมสัมมนา“การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดจัดการประชุมจำนวน 5 ครั้ง ในระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 61 ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 24 ม.ค.61 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น ในวันที่ 29 ม.ค.61 ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ในวันที่ 9 ก.พ. 61 ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ในวันที่ 21 ก.พ.61 ภาคใต้และชายแดนใต้ จ.สงขลา ในวันที่ 23 ก.พ. 61

จาก https://www.siamrath.co.th  วันที่ 24 มกราคม 2561

สอน.การันตีน้ำตาลทรายไม่ขาดแคลน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า หลังประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา สอน.ได้ทำการสำรวจราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานน้ำตาลตั้งแต่ น้ำตาลตั้งแต่ 16 ม.ค. จนถึงขณะนี้ พบว่า ราคาขายปลีกน้ำตาลทราย หน้าโรงงานน้ำตาลเป็นดังนี้ ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 18.18-18.31 บาท และราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่กิโลกรัมละ 17.06-17.22 บาท จากเดิมอยู่ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะเดียวกัน จากปริมาณการขนย้ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายหน้าโรงงานระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค. มียอดขนย้าย 53,000 ตัน หรือเท่ากับ 530,000 กระสอบ และเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา สอน.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายที่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) พบว่า ส่วนใหญ่ปรับราคาลดลงแล้ว โดยเฉลี่ยราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 21.50 บาท ทำให้ สอน.มั่นใจว่าน้ำตาลทรายที่ค้างอยู่ก่อนการปรับราคาหน้าโรงงาน 30,000 ตัน เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ได้จำหน่ายหมดไปแล้ว

ซึ่งจากนี้ไป สอน.และกระทรวงพาณิชย์จะกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบราคาขายปลีกน้ำตาลตามร้านค้าทั่วไป ไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาปริมาณน้ำตาลบริโภคในประเทศขาดแคลน

นางวรวรรณ กล่าวว่า การประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานและยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทรายภายในประเทศ เพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทรายทั้งระบบ พ.ศ.2559-2564 ซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เป็นสากลและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบบรรลุผลสำเร็จ.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 24 มกราคม 2561

คลังรับเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบ มั่นใจคุมได้/ธปท.ยันไม่แทรกแซงบาท

มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง โดยชี้แจงว่า ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2560 อยู่ที่ 0.66% ซึ่งถือว่าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-4% เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญคือการลดลงของราคาอาหารสด ไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืด และไม่ได้ส่งผลเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ด้าน รมว.คลัง กล่าวยอมรับว่า ระดับเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.66 ซึ่งต่ำกว่าเส้นขอบล่างกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินร้อยละ 1-4 นับว่าต่ำกว่ากรอบที่ตกลงกันไว้ จึงต้องการสอบถามว่าเกิดเหตุการณ์อะไร ธปท.จึงแจ้งว่าเกิดจากราคาอาหาร พืชผลทางการเกษตรลดลง การใช้จ่ายชะลอตัว โดย ธปท.เชื่อมั่นว่าระยะกลางของปี 2561 ซึ่งกำหนดกรอบเงินเฟ้อเท่าเดิม คือ ร้อยละ 1-4 จะกลับมาอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ เงินเฟ้อระดับต่ำขณะนี้จึงไม่น่ากังวลมากนัก

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลัง ได้ใช้นโยบายการคลังขาดดุลงบประมาณและมาตรการทางการคลังหลายด้าน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและผลักดันอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2561 จะอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว ถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบันว่า เป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ถือเป็นเรื่องปกติ และยืนยันจะดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่แทรกแซง

ส่วนกรณีการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่มากขึ้นนั้น ยอมรับว่าเป็นผลจากการที่ธนาคารปรับตัวใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการให้บริการของสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อเทียบกับหลายอุตสาหกรรมที่ต้องการลดการผลิตและแรงงานคน แต่เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อต้นทุนการให้บริการ ทำให้ค่าธรรมเนียมการใช้บริการลดลง

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มกราคม 2561

ส่องเกษตร : ขับเคลื่อนศก.พอเพียง-แหล่งน้ำ

มีข่าว 2 เรื่องที่ผมเห็นว่า น่าสนใจยิ่งในการแก้ไขปัญหาให้ภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวแรกนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งมาเป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง”ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เร่งมือเรื่องนี้แล้ว โดยประชุมติดตามงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกอ.รมน. เป็นต้น

สาระที่น่าสนใจคือได้มีการแต่งตั้งผู้นำการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(นขพ.)ทุกจังหวัดจังหวัดละ 12 คน เป็นตัวแทนมหาดไทยในพื้นที่ 5 คน,กระทรวงเกษตรฯ 3 คนและ

 คัดเลือกผู้นำท้องถิ่นมาร่วม 4 คน มีรองผู้ว่าฯเป็นประธาน รวม 77 จังหวัดทั่วประเทศมี นขพ.กว่า 900 คน ซึ่งผ่านการฝึกอบรมแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องมา จะเป็นผู้นำการขับเคลื่อนของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ได้ลงพื้นที่ทำแผนกันแล้ว สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ทุกแผนมีเป้าหมายให้คนไทยน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นรากฐานของประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ให้ได้

ขณะที่แผนปฏิรูปภาคเกษตรของกระทรวงก็บรรจุหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 8 ประเด็น ทั้งเรื่องการจัดการ“น้ำ” การจัดการ“ดิน” ฯลฯ คาด 2-3 เดือนนี้แผนปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้านรวมทั้งแผนปฏิรูปภาคเกษตรฯจะเสร็จเรียบร้อย นำเข้าครม.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีกรอบงบประมาณ มีระยะเวลาปฏิบัติที่ทุกหน่วยงานจะเดินตามแผนลงสู่พื้นที่ ตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ เป็นต้นไป

นับเป็นเรื่องที่ต้องจับตาติดตามดูการปฏิบัติดังกล่าว ด้วยความหวังอย่างยิ่งว่า จะทำกันอย่างจริงจังจนเกิดผลดีอย่างยั่งยืนต่อการพัฒนาภาคการเกษตรไทยเพื่อสืบสานให้เป็นไปตามพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ตลอดไป

ส่วนอีกข่าวหนึ่ง...มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่มีม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นเลขาธิการ ได้เสนอโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำให้เกษตรกร โดยมูลนิธิจะเข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่ 8,403 แห่ง ใน 69 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นระบบชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดําริ 1,317 แห่ง และโครงการชลประทานขนาดเล็กของกรมชลประทานที่ถ่ายโอนภารกิจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว 7,086 แห่ง

ปัจจุบันแหล่งน้ำเหล่านี้ส่วนใหญ่เสียหายจากอายุการใช้งานและภัยธรรมชาติ โครงการอันเนื่องจากพระราชดําริบางแห่งก็ยังไม่มีระบบกระจายน้ำเข้าแปลงเกษตร โดยเฉพาะโครงการที่ถ่ายโอนภารกิจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อเกิดชํารุดเสียหาย หลายแห่งไม่ได้ตั้งงบฯซ่อมแซมและขาดบุคลากรด้านวิศวกรรมชลประทานที่จะเข้าไปปรับปรุงและเสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำ

คุณชายดิศนัดดาระบุว่า หากเริ่มซ่อมฝายเดือนม.ค.ตามที่เสนอ คาดส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จทันช่วงฤดูฝนเดือนพ.ค. โดยผลศึกษาคาดจะใช้งบทั้งหมดไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพราะต้นทุนที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเคยทำมาแล้ว 500 แห่ง ส่วนใหญ่ 80% ใช้งบฯราว 4 แสนบาทต่อ 1 แห่ง เท่านั้น

“แค่ซ่อมแซมแล้วต่อท่อถึงชาวบ้านเสร็จ ใช้เวลา 3-6 เดือน ก็ส่งน้ำให้ได้ทันที เกษตรกรได้ประโยชน์เต็มที่ มีน้ำทำเกษตรนอกฤดูกาลได้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาเห็นผลรวดเร็ว ที่สำคัญเป็นการนำแหล่งน้ำทุกพื้นที่ของประเทศที่มีอยู่แล้ว มาใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพเพื่อเกษตรกรไม่ต้องเสียโอกาส ถ้าทำสำเร็จจะเกิดรายได้ในท้องถิ่นเพิ่ม 30,000-48,000 ล้านบาท และเกิดเงินหมุนในระบบอีก 12 เท่า” ซึ่งคุณชายดิศนัดดายืนยันว่า ในที่ประชุมร่วมกับอาจารย์ยักษ์และกรมต่างๆ เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผ่านงบกลางปีของรัฐบาลที่จะตั้งขึ้น 1.5 แสนล้านบาท ซึ่ง 4 หมื่นล้านบาท เป็นงบฯปฏิรูปภาคเกษตรนั้น กระทรวงเกษตรฯยืนยันพร้อมสนับสนุนตามที่ปิดทองหลังพระเสนอ

ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและข้อเสนอพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กนี้ ผมเห็นว่า เป็นการเดินตามแนวทางพระราชดำริ และน่าจะถือเป็นการ “ให้เบ็ด” กับ “สอนวิธีตกปลา” ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่เกษตรกร ไม่ใช่แค่เอา “ปลา” ไปให้แก้หิวชั่วครู่ แบบโครงการ “ประชานิยมแปลงรูป”ทั้งหลาย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มกราคม 2561

รายงานพิเศษ : ม.เกษตรฯ เตรียมจัดงานวันเกษตรแห่งชาติปี2561 ชูแนวคิด‘ศาสตร์พระราชา พัฒนาเกษตรไทย4.0’

รายงานพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตร์พระราชา         

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ จัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา การพัฒนาเกษตรไทยสู่ 4.0” พร้อมระดม 22 หน่วยงานในสังกัด โชว์นวัตกรรมด้านการเกษตรมาจัดแสดง เชื่อมโยงศาสตร์พระราชาสู่แนวทางพัฒนาเกษตรกรไทย หวังยกระดับคุณภาพชีวิต

ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2561 ซึ่งปีนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดงาน ภายใต้ธีมงาน “ร่วมกันก้าวไป เกษตรไทย 4.0” ซึ่งได้ให้นโยบายหลักการในการทำงานให้น้อมนำศาสตร์พระราชา หลักการทำงาน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งโครงการพระราชดำริต่างๆ มาบูรณาการและเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ หรือนำมาเป็นต้นแบบในการทำวิจัย การเรียนการสอนที่ปัจจุบันโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน แต่ยังยึดศาสตร์พระราชาเป็นต้นแบบ เป็นตัวตั้งในการตั้งโจทย์ เพื่อศึกษา วิจัย ให้ตอบโจทย์และสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ โดยเฉพาะด้านการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการลดเวลาการทำงาน ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน ที่สำคัญนักวิจัย นักวิชาการ จะต้องลงพื้นที่จริง ไปคุยกับเกษตรกรชาวบ้าน เพื่อนำปัญหาหรือภูมิปัญญาของท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านมาศึกษาค้นคว้าวิจัย และร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ หรือร่วมกันพัฒนาต่อยอดงานวิจัย อันจะนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติให้มีความผาสุกและมีความยั่งยืนตลอดไป

โดยในงานดังกล่าวจะมีการเผยแพร่ผลงานที่ด้านการพัฒนาการเกษตร ผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัย รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมของนักวิจัย ของภาครัฐและเอกชนให้แก่เกษตรกร ประชาชน นักเรียน นิสิตและนักศึกษาได้นำไปบูรณาการและนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพหรือในการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการนำสิ่งประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาผลงานนวัตกรรมงานวิจัยในด้านต่างๆ จำนวน 100 ผลงาน ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” มานำเสนอ สำหรับไฮไลท์การจัดงานวันเกษตรแห่งชาติในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือการจัดแสดงนวัตกรรมผลงานวิจัยหรือผลงานที่พัฒนาต่อยอดใหม่ๆ ของนักวิจัย นักวิชาการ และภาครัฐและเอกชนนำมาจัดแสดงภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ภายในอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยจัดแบ่งเป็นโซนต่างๆ ประกอบด้วย

นิทรรศการ “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” จำนวน 100 ผลงาน 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและการแปรรูป 22 ผลงาน กลุ่มอาหาร 13 ผลงาน กลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือ จำนวน 5 ผลงาน กลุ่มสิ่งแวดล้อม 6 ผลงาน กลุ่มสัตว์และประมง 15 ผลงาน กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 13 ผลงาน อาทิ กลุ่มผลงานที่ได้รับรางวัลของ มก. 12 ผลงาน กลุ่มภาคเอกชนที่รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในงานวิจัย จำนวน 9 ผลงาน และกลุ่มหน่วยงาน มก. จำนวน 5 ผลงาน อาทิ UBI TM FIN FIN INNOVATION Cordybiotech

นอกจากนี้ จะมีการสาธิตผลงานนวัตกรรม การฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น การจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ ที่เป็นอาหาร และไม่ใช่อาหาร ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ชนะการประกวด Thailand Green Design Awards 2018 ผลิตภัณฑ์จาก KU Farm Ku Outlet รวมทั้งการประกวดและการแสดง อาทิ แนวคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอาหารและบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ การประกวดไม้ดอก ไม้ประดับ กล้วยไม้ ผลไม้ สัตว์เลี้ยง (แพะ แกะ) ปลากัด การจัดตู้ปลาสำหรับนักเรียนระดับต่างๆ กิจกรรมการจำหน่ายของชมรม สโมสร และร้านอาหารของนิสิตคณะต่างๆ ตลอดจนการแสดงศิลปวัฒนธรรมบนเวทีกลาง และตลาดนัด 13 โซน เพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์การเกษตร องค์กรการเกษตร มาจำหน่ายสินค้า ผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าวสาร มะขามหวาน ผลิตภัณฑ์แปรรูป หอมกระเทียม เทคโนโลยีการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ต้นไม้ อุปกรณ์ทางการเกษตร นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและของเด่นของดังจาก 8 ตลาดน้ำ ตลาดบก ตลาดโบราณ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาจำหน่ายภายในงาน

ดร.ดำรงค์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการพัฒนาระบบการจัดจำหน่ายสินค้าด้วยเทคโนโลยี เพื่อประหยัดการใช้ทรัพยากรการผลิตเงินตราและธนบัตร เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมหาวิทยาลัยโดยความร่วมมือจากธนาคารไทยพาณิชย์ ในการซื้อสินค้าในงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2561 สามารถซื้อสินค้าจากร้านค้าภายในงานผ่านการสแกน QR Code ด้วย แอพพลิเคชั่นจากธนาคารต่างๆ และมีโปรโมชั่นพิเศษ เฉพาะผู้ใช้ SCB Easy App อีกช่องทางหนึ่งด้วย ในส่วนของการประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 56 ภายใต้หัวข้อ “ศาสตร์เกษตรสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมจัด ในวันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ และอาคารศูนย์เรียนรวม 3 โดยงานวันเกษตรแห่งชาติ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2561 ณ บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ติดตามรายละเอียดงานวันเกษตรแห่งชาติได้ www.ku.ac.th/

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มกราคม 2561

พร้อมจัดวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ช่วยเกษตรกรเริ่มต้นฤดูผลิตใหม่

แปลงใหญ่กุ้งทะเล : นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ (กุ้งทะเล) จ.จันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนหลักจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิต และใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง 882 ศูนย์ เป็นแหล่งศึกษาความรู้ ซึ่งจะมีกิจกรรม อาทิ สถานีเรียนรู้ที่มีเนื้อหาและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตของสินค้าที่เลือกดำเนินการ และสอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดงาน ซุ้มนิทรรศการ การแสดงและจำหน่ายสินค้าของกลุ่ม/สถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จะแบ่งตามฤดูกาลผลผลิต โดยไม้ผลภาคตะวันออก จัดงานในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ไม้ผลภาคภาคใต้ จัดงานในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเน้นให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงการตลาด และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จะจัดในช่วงเดือนพฤษภาคม เน้นการลดต้นทุน สร้างคุณภาพสินค้า ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนและปรังปรุงคุณภาพดิน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาและการระบาดของศัตรูพืช พืชไร่ ช่วงเดือนเมษายน เน้นการลดต้นทุนด้วยการจัดการด้านปัจจัยการผลิต โดยใช้เครื่องจักรกลเข้ามาสนับสนุนการเกษตร พืชผัก ช่วงเดือนเมษายน เน้นการวางแผนการผลิตการจัดการแปลง รวมถึงการผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เป็นต้น อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มกราคม 2561

ชง"บิ๊กตู่"ทบทวนค่าจ้าง-หวั่นคนตกงาน-ค่าครองชีพพุ่ง

กกร." เผยขึ้นค่าจ้าง 5-22 บาท/วัน จะกระทบค่าครองชีพ-คนตกงานเพิ่ม เหตุผู้ผลิตจะหันไปพึ่งพิงเครื่องจักรแทน เตรียมเสนอ "บิ๊กตู่" ขอให้ทบทวนยึดตามมติอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นหลัก ก่อน SMEs เจ๊ง ระบุอนุฯ จังหวัด เสนอขึ้นเฉลี่ย 5-15 บาทและคงที่ 35 จังหวัด "บิ๊กตู่" แจงผลดีทำให้เงินหมุนเวียน ประชาชนจะได้ประโยชน์จากสภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น กำชับดูแลไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า พร้อมสั่ง ธปท. จับตาค่าเงินบาท ด้าน ผู้ว่าฯ ธปท. ยันไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน แต่จะดูแลผู้ส่งออกในระยะสั้นไม่ให้เกิดผลกระทบจากความผันผวนค่าเงิน

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และเปิดเผยว่า กกร. เตรียมจะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้างที่พิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ที่ 5-22 บาทต่อวัน (1.64-7.14%) โดยแบ่งเป็น 7 ระดับโดยขอให้การพิจารณาเป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฏหมาย (ม.87 แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541)

"จากการสอบถามสมาชิกในต่างจังหวัด ตั้งข้อสังเกตว่า การปรับค่าจ้างดังกล่าวเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอคิดเป็น 92% ของจังหวัดทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มจังหวัด 35 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอปรับขึ้นอาทิ จ.ระยอง ที่ได้เสนอคงไว้ที่ 308 บาทต่อวันแต่มติกลับปรับขึ้นเป็น 330 บาทต่อวันจึงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ จากนี้เราคงต้องดูว่ารัฐจะทบทวนหรือม่หากไม่ทบทวนก็จะสำรวจผลกระทบให้ชัดเจนอีกครั้ง" นายกลินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและบริการ และวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างและการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และเป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการจะนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทน รวมทั้งการปรับค่าจ้างที่ไม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมจะส่งผลเสียหายต่อประเทศในภาพรวมโดยเฉพาะค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตามมาจะส่งผลต่อประชาชน ดังนั้นรัฐควรจะมีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนและสนับสุนนโยบายรัฐในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อมุ่งไปสู่การลอยตัวในอนาคต

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สิ่งที่ห่วงคือเกษตร ผู้ประกอบการSMEsทั้งภาคอุตสาหกรรมและ บริการ จึงเห็นด้วยกับมติกกร.ที่เห็นว่ารัฐควรจะต้องทบทวน

กางข้อเสนออนุฯจังหวัดเสนอขึ้น5-15บ.

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดนั้นพบว่า ได้เสนอไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยคงไว้เท่าปี 2560 รวม 35 จังหวัดอาทิ จ.ระยอง คงไว้ที่ 308 บาทต่อวันแต่บอร์ดค่าจ้างเสนอขึ้นเป็น 330 บาทต่อวัน จ.สมุทรปราการคงไว้ที่ 310 บาทต่อวันแต่รัฐให้ขึ้นเป็น 325 บาทต่อวันเป็นต้น ส่วนที่เสนอให้ปรับขึ้นมี 36 จังหวัดแต่เสนอขึ้นเฉลี่ย 5-15 บาทต่อวัน แต่บอร์ดค่าจ้างปรับขึ้นสูงกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอ

แรงงานจี้รัฐปรับค่าจ้างเท่าเทียมกันทั่วปท.

ด้านสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. และน.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. พร้อมสมาชิก เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามหลักสากล และเท่ากันทั่วประเทศ รวมถึงการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากกลไกการทำงานล้มเหลว ทั้งนี้หากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานไม่ยอมทบทวนเรื่องดังกล่าวนี้ เราจะมีการเคลื่อนไหวต่อไป

นายกฯห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ที่เสนอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ส่วนหนึ่งมาจากที่รัฐบาลไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลย ตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เพราะโดยปกติแล้ว จะมีการขึ้น 1% ต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการขึ้นค่าแรงจะไม่ถือว่าสูงมากนัก แต่ก็จะเป็นผลดี ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินในระบบมากขึ้น ต่อเนื่องถึงภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง แต่ขอให้หน่วยงานแต่ละหน่วยงาน ไปกำกับดูแลเรื่องราคาสินค้า เพราะอาจจะมีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าได้

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและค่าเงินบาท ว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามอยู่ตลอดเวลา ว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด โดยต้องดูเศรษฐกิจโดยรอบประเทศและทั่วโลกประกอบกัน เพราะวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินกันทั่วโลก เกิดความผันผวนต่างๆ จึงต้องดูให้รัดกุม เพราะจะผลีผลามมากไม่ได้

ผู้ว่าฯธปท. ยันไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง กรณีที่ไทยถูกจับตามองแทรกแซงค่าเงิน ว่า ธปท.ไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน เพื่อให้ได้ประโยชน์การส่งออก หรือหวังผลทางการค้า โดยจะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทในระยะสั้นที่เห็นว่ามีเงินไหลเข้ารุนแรง หรือพบความผิดปกติ ซึ่งจะเกิดจากความไม่มั่นใจต่อข่าวจากต่างประเทศ และความไม่แน่นอนของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก

สำหรับค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้น เกิดจากค่าเงินดอลล้าร์ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเฟดได้ประกาศปรับดอกเบี้ยขึ้นถึง 3 ครั้งเมื่อปีที่ผ่านมายังไม่สามารถทำให้นักลงทุนเชื่อมั่น กดดันให้ค่าเงินสกุลดอลล่าร์ยังอ่อนค่าอยู่ อีกทั้งประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งในปี 2560 ไทยเกินดุล 49,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพี มาจากการส่งออกที่พุ่งสูงขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวมาก ขณะเดียวกันการแข็งค่าได้เกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

"เม็ดเงินที่ไหลเข้ามา ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิต โดยมีเงินที่เข้ามาในตลาดทุนประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีเข้าในตลาดพันธบัตร ซึ่งมีการดูแลเชิงลึกของการไหลเข้าออกเงินให้อยู่ในพื้นฐานเศรษฐกิจ ซึ่งแนวโน้มของประเทศไทยยังเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินในระยะต่อไป และมีแนวโน้มผันผวนสูง ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น" นายวิรไท กล่าว

คาดแนวโน้มบาทยังแข็งแตะ31.5

นายสันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เครดิต สวิส บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บล.เครดิตสวิสคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เติบโตที่ 4.1% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่เติบโตในระดับ 4.2% โดยปัจจัยบวกมาจากการส่งออกที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 5% ชะลอลงจากฐานที่สูงในปีก่อนที่ 8% โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะจากงบกลางปีที่มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มฐานรากหรือผู้มีรายได้มากขึ้น จะส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้ใช้กำลังการผลิตที่คงค้างมาระยะหนึ่งจึงต้องมีการลงทุนเพิ่ม

"โดยรวมแล้วเศรษฐกิจเติบโตได้ใกล้เคียงเดิม แต่ไส้ในดูดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการลงทุน และบริโภคที่หวังว่าจะได้รับผลดีจากมาตรการของรัฐ ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอียังคงไม่ดีนัก เนื่องจากยังไม่ได้รับอานิสงส์จากภาคส่งออก เพราะส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจค้าปลีก ขณะที่สินค้าส่งออกที่ขายดีอยู่ในกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ นอกจากนี้ กลุ่มค้าปลีกยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอีกด้วย เนื่องจาก80%ของเอสเอ็มอีไม่ได้ทำประกันความเสี่ยง ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าตัวเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอียังคงสูงกว่ามาตรการเอ็นพีแอลโดยรวม และในปีนี้ก็ยังน่าจะเป็นอยู่ ซึ่งในส่วนของกลุ่มเอสเอ็มอีกลุ่มค้าปลีกนั้น หากสามารถนำแนวทางทำธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ชเข้ามาก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง"

สำหรับทิศทางเงินบาทในปีนี้ ประเมินแข็งค่าขึ้นได้อีกที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูงอยู่ในปีนี้ รวมถึงการไหลเข้าของเงินทุนยังมีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯที่น่าจะมากกว่าปีก่อน เนื่องจากคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้จะดีกว่าปีก่อนรับผลดีจากเศรษฐกิจโลกฟื้น โดยการแข็งค่าของเงินบาทจะอยู่ในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งปีหลังจะค่อนข้างผันผวนตามแนวนโยบายของธนาคารในกลุ่มประเทศหลักที่เริ่มจะปรับลด QE ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ย คาดการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25%ในปลายปีนี้ เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

ส่วนการเลือกตั้งนั้น มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อของนักลงทุนต่างชาติมากนัก เนื่องจากตลาดยังไม่ได้คาดหวังในเรื่องดังกล่าวมากนัก แต่จะให้น้ำหนักในเรื่องของนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่จะผลักดันออกมากกว่า

จาก https://mgronline.com  วันที่ 24 มกราคม 2561

เตือนเกษตรกรคุมแผนใช้น้ำ

กรมชลฯ ออกโรงขอความร่วมมือเกษตรกรเดินตามแผนการใช้น้ำฤดูแล้ง หลัง2เดือนแห่ทำนาปรังแล้ว 4.79 ล้านไร่

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมได้วาง แผนจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืช ฤดูแล้งปี 2560/2561 (1 พ.ย. 2560-30 เม.ย. 2561) โดยใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันทั้งสิ้น 14,187 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น 1.การใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 2560-30 เม.ย. 2561) จำนวน 7,700 ล้าน ลบ.ม.

2.สนับสนุนการใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. 3.รักษา ระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. 4.การ เกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม. และ 5.ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือน พ.ค.ก.ค. 2561

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้พร้อมทั้งขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งเป็นการเตรียมแผนรองรับเพื่อไม่ให้ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม ผลการจัดสรรน้ำ ฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2560/2561 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560-23 ม.ค. 2561 ได้มีการระบายน้ำตามแผนไปแล้ว จำนวน 3,138 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของแผนจัดสรรน้ำฯ

สำหรับการระบายน้ำผ่านท้าย เขื่อนเจ้าพระยายังคงมีอยู่ในอัตรา 90 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศ ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึง ปากอ่าวไทย และควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่กำหนดไว้ 0.25 กรัม/ลิตร ปัจจุบัน (23 ม.ค. 2561) วัดค่าความเค็มได้ 0.18 กรัม/ลิตร ไม่มีผลต่อน้ำดิบที่การประปานครหลวงใช้ในการผลิตประปาได้ตามปกติด้านการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน กรมยังสามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2560/2561 ทั้งประเทศ ณ วันที่ 17 ม.ค. 2561 มีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.72 ล้านไร่ คิดเป็น 74% ของแผน (แผน 9.05 ล้านไร่) โดยเฉพาะข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.35 ล้านไร่ คิดเป็น 76% ของแผน (แผน 8.35 ล้านไร่)

ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 4.79 ล้านไร่ คิดเป็น 92% ของแผน (แผน 5.23 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกไปแล้ว 4.74 ล้านไร่ คิดเป็น 92% ของแผน (แผน 5.23 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกไปแล้ว 4.74 ล้านไร่ คิดเป็น 92% ของแผน (แผน 5.17 ล้านไร่)

นายทองเปลว กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (23 ม.ค. 2561) มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกัน 60,361 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 79% ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 36,440 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 70% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

สำหรับปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 จำนวน จำนวน 9,050 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,073 ล้าน ลบ.ม. หรือ 77% ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 12,377 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของปริมาณน้ำใช้การได้

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 24 มกราคม 2561

สอน.ลุยตรวจราคาน้ำตาลพบถูกลง1.50บาทต่อกก.

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า จากการประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานและยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทรายภายในประเทศ เพื่อใช้บริโภคในประเทศ เป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 ตามคำสั่งคณะรักษาความแห่งชาติ(คสช.) นั้น สอน.ได้สำรวจราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานลดลง จากเฉลี่ย 19-20 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 18.18 – 18.31 บาทต่อกก. และราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดา อยู่ที่ 17.06 – 17.22 บาทต่อกก.

นอกจากนี้จากยอดการขนย้ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายหน้าโรงงาน ระหว่างวันที่ 16 – 20 มกราคม 2561 มียอดขนย้ายจำนวน 53,000 ตัน (หรือ 530,000 กระสอบ) และในวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่ผ่านสอน. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายที่ห้างค้าปลีก (โมเดิร์นเทรด) พบว่าส่วนใหญ่ปรับราคาลดลงแล้ว โดยเฉลี่ยราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 21.50 บาทต่อกก. จากเดิมราคาอยู่ที่ 23 บาทต่อกก. ทำให้ สอน. มั่นใจว่าน้ำตาลทรายที่ค้างอยู่ก่อนการปรับราคาจำนวน 30,000 ตัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ได้จำหน่ายหมดไปแล้ว อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์จะกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแน่นอน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 23 มกราคม 2561

ลอยตัวราคาน้ำตาลไม่กระทบราคาขายและปริมาณน้ำตาลในประเทศ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานและยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทรายภายในประเทศ เพื่อใช้บริโภค ในราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ. 2559 – 2564 ซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เป็นสากลและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบสามารถบรรลุผลสำเร็จ สร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทราย อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หลังจากการประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ในวันที่ 16 มกราคม 2561 ได้ลดลงโดยจากการสำรวจราคาน้ำตาลทราย พบว่าราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายหน้าโรงงานราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ อยู่ที่กิโลกรัมละ 18.18 - 18.31 บาท และราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดา อยู่ที่กิโลกรัมละ 17.06 – 17.22 บาท โดยจากยอดการขนย้ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายหน้าโรงงาน ระหว่างวันที่ 16 – 20 มกราคม 2561 มียอดขนย้ายจำนวน 53,000 ตัน (หรือ 530,000 กระสอบ) และในวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายที่ห้างค้าปลีก (โมเดิร์นเทรด) พบว่าส่วนใหญ่ปรับราคาลดลงแล้ว โดยเฉลี่ยราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 21.50 บาท ทำให้ สอน. มั่นใจว่าน้ำตาลทรายที่ค้างอยู่ก่อนการปรับราคาจำนวน 30,000 ตัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ได้จำหน่ายหมดไปแล้ว อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์จะกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแน่นอน

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 23 มกราคม 2561

ตั้ง“อภิจิณ-รัตนา”เป็นบอร์ดกองทุนอ้อยและน้ำตาล

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)(23มกราคม2561) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งผู้แทนส่วนราชการเป็นกรรมการใน คณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง จำนวน 2 คน ดังนี้

 1. นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม

 2. นางสาวรัตนา เธียรวิศิษฎ์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์

 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 23 มกราคม 2561

แย้มลอยตัวน้ำตาลฉุดราคาขายลดลงเหลือ 21.50 บาท

สอน.แย้มหลังลอยตัวน้ำตาล ราคาหน้าโรงงานลดลง ส่งผลขายปลีกเหลือ 21.50 บาท/กก. มั่นใจจำหน่ายน้ำตาลที่ค้างสต็อกหมดแล้ว 3 หมื่นตัน ย้ำยังดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) รักษาราชการแทนเลขาธิการสอน. เปิดเผยผลจากการประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานและยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทรายภายในประเทศ ที่เป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ว่าเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานได้ลดลง จากการสำรวจพบว่าราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ อยู่ที่กิโลกรัม(กก.)ละ 18.18 - 18.31 บาท และราคาน้ำตาลทรายขาวธรรมดา อยู่ที่กิโลกรัมละ 17.06 – 17.22 บาท จากเดิมก่อนที่จะมีการประกาศลอยตัว อยู่ที่ 19-20 บาทต่อกก.

โดยจากยอดการขนย้ายน้ำตาลทรายที่จำหน่ายหน้าโรงงาน ระหว่างวันที่ 16 – 20 ม.ค. 2561 มียอดขนย้ายจำนวน 53,000 ตัน หรือ 530,000 กระสอบ และในวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา สอน. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายที่ห้างค้าปลีก พบว่าส่วนใหญ่ปรับราคาลดลงแล้ว โดยเฉลี่ยราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 21.50 บาท จากเดิมที่อยู่ประมาณ 23 บาทต่อกก. ทำให้ สอน. มั่นใจว่าน้ำตาลทรายที่ค้างอยู่ก่อนการปรับราคาจำนวน 30,000 ตัน เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561 ได้จำหน่ายหมดไปแล้ว อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์จะกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแน่นอน

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 23 มกราคม 2561

ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศการกําหนดสินค้าและบริการควบคุม 53 รายการ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561เรื่อง การกําหนดสินค้าและบริการควบคุม

 ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 เรื่อง การกําหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560 กําหนดสินค้าควบคุม 42 รายการและบริการควบคุม 5 รายการ ไปแล้วนั้น

 โดยที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงหนึ่งปี และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้พิจารณาทบทวนการใช้อํานาจดังกล่าวแล้ว เห็นควรปรับเพิ่มรายละเอียดรายการสินค้าและเพิ่มรายการสินค้าควบคุมบางรายการ เพื่อดูแลป้องกันการกําหนดราคาซื้อ ราคาจําหน่ายหรือการกําหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม

 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 (1) และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงออกประกาศ ดังต่อไปนี้

 ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 เรื่อง การกําหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2560

 ข้อ 3 ให้สินค้าและบริการ ดังต่อไปนี้เป็นสินค้าและบริการควบคุม

 หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์

 (1) กระดาษทําลูกฟูก กระดาษเหนียว

 (2) กระดาษพิมพ์และเขียน

 (3) เยื่อกระดาษ

 หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง

 (4) แบตเตอรี่รถยนต์

 (5) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์

 (6) รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก

 หมวดปัจจัยทางการเกษตร

 (7) เครื่องสูบน้ำ

 (8) ปุ๋ย

 (9) ยาป้องกันหรือกําจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช

 (10) รถเกี่ยวข้าว

 (11) รถไถนา

 (12) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์

 หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

 (13) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว

 (14) น้ำมันเชื้อเพลิง

 (15) เม็ดพลาสติก

 หมวดยารักษาโรค

 (16) ยารักษาโรค

 หมวดวัสดุก่อสร้าง

 (17) ท่อพีวีซี

 (18) ปูนซีเมนต์

 (19) สายไฟฟ้า

 (20) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น

 หมวดสินค้าเกษตรที่สาคัญ

 (21) ข้าวเปลือก ข้าวสาร

 (22) ข้าวสาลี

 (23) ข้าวโพด

 (24) ผลปาล์มน้ํามัน

 (25) มันสําปะหลัง และผลิตภัณฑ์

 (26) ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ

 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค

 (27) กระดาษชําระ กระดาษเช็ดหน้า

 (28) แชมพู

 (29) น้ำยาปรับผ้านุ่ม

 (30) ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก

 (31) ผลิตภัณฑ์ล้างจาน

 (32) ผ้าอนามัย

 (33) ผ้าอ้อมสําเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่

 (34) สบู่ก้อน สบู่เหลว

 หมวดอาหาร

 (35) กระเทียม

 (36) ไข่ไก่

 (37) ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน

 (38) ทุเรียน

 (39) นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว

 (40) น้ำตาลทราย

 (41) น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้

 (42) แป้งสาลี

 (43) มังคุด

 (44) ลําไย

 (45) สุกร เนื้อสุกร

 (46) อาหารกึ่งสําเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก

 (47) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

 หมวดอื่น ๆ

 (48) เครื่องแบบนักเรียน

 หมวดบริการ

 (49) การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า

 (50) บริการขนส่งสินค้าสําหรับธุรกิจออนไลน์

 (51) บริการทางการเกษตร

 (52) บริการรับชําระเงิน ณ จุดบริการ

 (53) บริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า

 ประกาศ ณ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2561

 สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 23 มกราคม 2561

กรมชลฯยันสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศยังปกติ ไม่ขาดแคลน แต่ขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(23 ม.ค. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 60,361 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 36,440 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 จำนวน 9,050 ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,073 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 12,377 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของปริมาณน้ำใช้การได้

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2560/61 โดยใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันทั้งสิ้น 14,187 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 60) จำนวน 7,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ สำหรับอุปโภคบริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม., รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2561

ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2560/61 ตั้งแต่ 1 พ.ย. 60 - 23 ม.ค. 61 ได้มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 3,138 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนจัดสรรน้ำฯ และเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ โดยปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้ถูกส่งเข้าระบบชลประทาน ทั้งฝั่งตะวันอกและฝั่งตะวันตก เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนที่วางไว้อย่างทั่วถึง

ขณะที่การระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงมีอยู่ในอัตรา 90 ลบ.ม.ต่อวินาที(ปี 2560 มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพียง 70 ลบ.ม.ต่อวินาที) เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย และควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่กำหนดไว้ 0.25 กรัมต่อลิตร ปัจจุบัน(23 ม.ค. 61)วัดค่าความเค็มได้ 0.18 กรัมต่อลิตร ไม่มีผลต่อน้ำดิบที่การประปานครหลวงใช้ในการผลิตประปาได้ตามปกติ ส่วนการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน กรมชลประทานยังสามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆทั่วประเทศ ทั้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำอื่นๆ โดยให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนการใช้น้ำ ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดให้เป็นไปตามแผนฯที่ได้วางไว้ พร้อมทั้งขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตข้างหน้าอย่างไม่ขาดแคลนด้วย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 23 มกราคม 2561

อุตสาหกรรมยุค 4.0 ปี’61 ใครรุ่ง-ร่วง

ปี 2561 หากจะถามว่าอุตสาหกรรมไหนจะ “รุ่ง” หรือจะ “ร่วง” แบบไม่ต้องให้โหรดังมาฟันธง หรือใช้สถิติมาคาดการณ์ พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ฟันทิ้งจากประสบการณ์มุมมองส่วนตัว กลุ่มที่เกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมอนาคตเอสเคิร์ฟที่ทางภาครัฐวางไว้น่าจะไปได้ดี

ด้วยเหตุผลสำคัญเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นแล้วยังได้อานิสงส์ต่างๆจากภาครัฐช่วยเสริมช่วยเติมให้เดินหน้าไปได้ด้วย...“ถ้าในเชิงภาคธุรกิจแน่นอนว่าก็จะเป็นเรื่องของท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ถ้าเป็นภาคโรงงาน การผลิตก็น่าจะเป็นกลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ ตัวเลขต่างๆในปีหน้าน่าจะดี นอกจากนี้ กกลุ่มไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะก็ดูดี ถัดมาก็เป็นกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป...อุตสาหกรรมการเกษตร”

และเติม 5 อุตสาหกรรมใหม่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

หากจะถามถึงแผนเร่งด่วน เพื่อจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ภาครัฐก็มีแผนรองรับจากนโยบาย ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว...นับรวมถึงมาตรการ โครงการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่จะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมหลายๆสาขา

ความหมายง่ายๆก็คือเอาเรื่อง “เทคโนโลยี”...“นวัตกรรม” เข้ามาใส่ เอาเรื่องของไอทีเข้ามาใส่ เอาเรื่องของไอทีเข้ามาใส่ เอาเรื่องโรโบติก ออโตเมชั่นเข้ามาใส่ สิ่งเหล่านี้ภาครัฐมีโปรแกรมต่างๆที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หน่วยงานของเครือข่ายเอสเอ็มอีแบงก์ที่มี 240 กว่าสาขาทั่วประเทศให้เป็นศูนย์ที่จะเข้าถึงการบริการต่างๆที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมรายอื่นๆเข้าสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” ได้ง่ายขึ้น

ปี 2561 ชุดแพ็กเกจช่วยเอสเอ็มอีของภาครัฐ ที่เป็นตัวเงินมี 4 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีคนตัว ) วงเงิน 8,000 ล้านบาท, โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน วงเงิน 50,000 ล้านบาท, โครงการ Transformation Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท, โครงการสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ วงเงิน 165,000 ล้านบาท

ส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงิน ได้แก่  ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนท้องถิ่น (ผ่านโครงการ CIV โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย โครงการสร้างงาน สร้างโอกาสรายได้ให้ชุมชน), ศูนย์ ICT ช่วยปรับเปลี่ยนสินค้าสู่ยุค 4.0 ตอบโจทย์ตลาด...ลูกค้า, เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์สนับสนุนและช่วยเอสเอ็มอี (SSRC)

แยกย่อยไหมว่าจะต้องติดอาวุธอะไร? ยังไง? หรือว่ายังมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างสำหรับอุตสาหกรรมในบ้านเราที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่กล่าวถึงกันอยู่ทุกขณะเวลา

พสุ ย้ำว่า อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าจุดเริ่มต้นที่พอภาคธุรกิจจะก้าวเข้าถึงการบริการจะมีกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ได้มีการเตรียมเครือข่ายให้มีความเข้มข้นที่ข้นที่จะให้บริการกับหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆได้ดีขึ้น การบริการเข้มข้นในเชิงลึกที่กระโดดไปสู่ 4.0 แล้วก็มีทีมที่ปรึกษาเป็นฐานที่จะให้บริการอีก 2,000-3,000 คน

 น่าสนใจว่า...ตอนนี้เตรียมอยู่เรียบร้อยแล้วเชื่อมโยงไปถึง “ภาคแรงงาน” ที่กำลังมีปัญหาคุกรุ่น เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ก็จะต้องลดคนลง...ใช้แรงงานน้อยลงมากขึ้นขณะเดียวกัน ค่าแรงก็จะเพิ่มมากขึ้น เท่ากับว่าต้นทุนผู้ประกอบการก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย... เหมือนสวนทางกันอยู่เนืองๆ จะมีทางออกอย่างไร

“ภาคอุตสาหกรรมหลายๆสาขามีความจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนที่จะเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม โรบอต ออโตเมชั่นเข้ามาใช้ เมื่อใช้แล้วถ้าคำสั่งซื้อต่างๆเข้ามามากเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเพิ่มหรือลดคนงานเพราะปรับได้ เพียงแต่เพิ่มผลิตภาพของสายการผลิตด้วยการเอาระบบหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติบางส่วนเข้ามาใช้ ก็จะสามารถทำให้การผลิตของตัวเองเพิ่มขึ้นเป็น 1 เท่า...2 เท่า...3 เท่าได้โดยจำนวนคนเท่าเดิม”

วันนี้...ความคืบหน้าของการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ใน 4 สาขานำร่อง มาตรการที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ สำหรับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอ ครม.

คาดกันว่าจะมีความต้องการแรงงานใหม่อยู่ราวๆปีละ 7 หมื่นคน ใน 3 สาขาที่ต้องการ คือ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมดิจิทัล

ประเด็นปัญหาที่น่ากังวล คือการขาดแคลนแรงงาน ผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุ แรงงานส่วนใหญ่มุ่งสู่อุดมศึกษามากกว่าอาชีวศึกษา ย้ายไปสู่ภาคบริการ ปัญหาเชิงคุณภาพผลิตออกมาไม่ตรงกับความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องเน้นย้ำ...แรงงานภาคอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ต้องมีความรู้และทักษะขั้นพื้นฐานสำคัญคือ...ความรู้ในงานตามงานตามตำแหน่ง ทักษะทางอ้อมที่เกี่ยวกับจิตใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาทักษะด้านไอที และการบูรณาการความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวะ คณิตศาสตร์ เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้วิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติตามสาย

การผลิตมากขึ้น อีกทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยเพิ่มเติม อาทิ หุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์, การเชื่อมโลหะ, อัดฉีดพลาสติก และหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านประโยชน์คือตรงนี้ แต่สถานประกอบการต่างๆก็ต้องมีทักษะมากขึ้น หากไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะมีความเสี่ยงในการที่จะสามารถแข่งขัน

ในธุรกิจหรือในประเภทสินค้านั้นๆได้...“ถ้าแข่งขันกันไม่ได้ทั้งประเทศก็หมายถึงว่าสินค้านั้นๆจะถูกผลิตในประเทศอื่น หากไม่ได้เฉพาะบางโรงงานก็แสดงว่าโรงงานนั้นๆอาจจะต้องเลิกกิจการไป หรือธุรกิจไม่ค่อยดี”

โรงงานที่สามารถปรับตัวได้ก็ยังอยู่ต่อ สามารถผลิตสินค้านั้นๆ

ในประเทศไทยได้ ซึ่งภาครัฐก็ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม  สภาหอการค้าให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆได้ตื่นตัว...มีความเข้าใจในเรื่องนี้ รวมทั้งมีโปรแกรมเสริมเติมเต็มต่างๆให้เปลี่ยน...ปรับปรุงตัวเองได้ในระยะเวลาอันสั้นเป็นลำดับขั้นตอนไปการเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ สามารถทำได้โดยเข้าไปที่สำนักงานต่างๆของกระทรวงอุตสาหกรรม 240 กว่าแห่งทั่วประเทศ และในหลายๆศูนย์ตามภาคต่างๆยังมีเครื่องมือให้ทดลองนำร่อง ดูว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีตัวนี้ เครื่องจักรตัวนี้แล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไรบ้างก

ยุคนี้ในปี พ.ศ.นี้ “ภาครัฐ” มี “บริการ” ต่างๆให้มากพอสมควรไม่ใช่แค่การพัฒนาอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีบริการด้านการเงินด้วยแล้วยังดึงบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ปีนี้เป็นปีที่ดีและเป็นปีที่ท้าทายอยากเชียร์และให้กำลังใจให้เข้าถึงบริการต่างๆเหล่านี้

พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ฝากทิ้งท้ายว่า จับทิศทางภาครัฐให้ดีๆเพื่อเข้าถึงเข้าสู่บริการของรัฐที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะได้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงตัวเองได้อย่างทันท่วงทีทันวิกฤติเวลา.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 23 มกราคม 2561

ดีเดย์เคาะราคาน้ำตาลทราย พาณิชย์ไล่จี้ “น้ำอัดลม-น้ำหวาน” ชดเชยผู้บริโภค

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายทั้งหมด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า มาหารือเพื่อพิจารณาต้นทุนน้ำตาลทรายที่แท้จริง และการดูแลราคาปลายทางให้เหมาะสมกับต้นทุน หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสถานการณ์จำหน่ายน้ำตาลทรายในตลาด ทั้งตลาดสด ร้านค้าส่งค้าปลีกทั่วไป และห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจสอบดูว่าราคาน้ำตาลทรายได้ลดลงตามราคาหน้าโรงงานจริงหรือไม่ หลังจากการลอยตัว เพราะขณะนี้ ราคาตลาดโลกลดลง โดยจะเริ่มทันที หลังจากได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่าสต๊อกน้ำตาลทรายเก่าหมดแล้ว เพราะต้องให้โอกาสผู้ค้าที่รับน้ำตาลทรายต้นทุนเก่าไปจำหน่ายให้หมดก่อน

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ตรวจสอบและติดตามดูต้นทุนของสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวานชนิดต่างๆ ว่ามีลดลงหรือไม่ อย่างไร เพื่อจะได้มีมาตรการดูแลราคาให้กับผู้บริโภคอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องขอให้ผู้ผลิตปรับลดราคาลงตามต้นทุนที่ลดลง เพราะบางสินค้าต้นทุนอาจลดลงไม่มาก แต่อาจจะเป็นการจัดโปรโมชั่นในช่วงที่ต้นทุนลดลงมาก เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค

“แม้มีการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานไปแล้ว แต่กระทรวงฯยังจะคงให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมต่อไป เพื่อให้ยังคงมีมาตรการบริหารจัดการได้ เพราะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และจะยังคงกำหนดเพดานราคาจำหน่ายปลีกสูงสุดไว้ที่ 23.50 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ยังไม่มีความคิดที่จะยกเลิก โดยการคงเพดานราคาสูงสุดก็เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาปรับสูงขึ้นจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 22 มกราคม 2561

พาณิชย์ พร้อมตามแผนแม่บทอาเซียน หวังดันมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น

'พาณิชย์' เผย เออีซี ดันมูลค่าการค้าในอาเซียนเพิ่มขึ้น พร้อมเปิด 4 แผนแม่บทอาเซียน 2568 ยันร่วมพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี-พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์-นวัตกรรม-วิจัยและพัฒนา รองรับการเป็นห่วงโซ่การผลิตโลก พร้อมดันมูลค่าการค้าระหว่างกัน

...เมื่อวันที่ 22 ส.ค.60 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยภายในงาน '50 ปีอาเซียน' ว่า หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง เพราะภาษีนำเข้าลดลงเป็น 0% ในเกือบทุกรายการที่ค้าขายระหว่างกัน รวมทั้งอนุญาตให้นักลงทุนจากอาเซียนถือหุ้นในธุรกิจบริการได้อย่างน้อย 70% แต่กรมต้องการให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าในอาเซียนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

สำหรับ 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าอาเซียนเติบโตมากกว่า 30 เท่าตัว มูลค่าการลงทุนก็เช่นกัน แต่สิ่งที่กรมอยากเห็น คือการตื่นตัวของคนไทย ให้เข้าใจและใช้ประโยชน์ตามข้อตกลงที่อาเซียนทำร่วมกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนำเข้าสินค้าเป็น 0% รวมถึงการเปิดเสรีการลงทุน ที่จะทำให้เคลื่อนย้ายเงินทุนสะดวก และเสรีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยยังใช้ประโยชน์

ไม่ 100%

อย่างไรก็ตาม อาเซียนได้กำหนดแผนแม่บท 2568 ร่วมกัน ในการพัฒนาตัวแปรสำคัญ 4 เรื่องหลัก คือ พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) พัฒนานวัตกรรมทางการค้า และลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้าโลกร่วมกัน

รวมทั้งการพัฒนา 4 ด้าน เพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต และห่วงโซ่มูลค่าของโลก สนับสนุนให้อาเซียนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและระบบเศรษฐกิจภายในของสมาชิก

ทั้งนี้ อาเซียน 9 ประเทศ ถือเป็นตลาดการค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 59 อาเซียนมีมูลค่าการค้ารวมกัน 270,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการค้าของไทยกับอาเซียน อยู่ที่ 91,000 ล้านเหรียญฯ แบ่งเป็น ไทยส่งออก 54,000 ล้านเหรียญฯ และไทยนำเข้า 36,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของอาเซียนให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 22 มกราคม 2561

คลังเร่งหามาตรการให้เงินบาทอ่อนค่า หวั่นกระทบส่งออก-ศก.ประเทศ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งหามาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อทำให้ค่าเงินบาทที่กำลังแข็งค่าต่อเนื่องอ่อนค่าลง เพื่อไม่ให้กระทบกับการส่งออกและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เร่งชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ซึ่งทำได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่มากนัก เพราะปัจจุบันประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศน้อย เนื่องจากกู้ภายในประเทศเป็นหลัก เพราะมีสภาพคล่องจำนวนมาก

ด้าน นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่เงินบาทแข็งค่าเพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 1.50 คิดว่ามีความเหมาะสมใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯร้อยละ 1.25 และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งน่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าลดลง และทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง

จาก https://mgronline.com วันที่ 22 มกราคม 2561

กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศดีเดย์ถ่ายทอดความรู้ Field day ตามฤดูผลิตพืชทั่วประเทศ

กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2561 “เพื่อถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง” ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) กรมส่งเสริมทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน โดยมีหน่วยงานภาคี ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมบูรณาการ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตของแต่ละชนิดสินค้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติในฤดูกาลผลิตใหม่ และใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง 882 ศูนย์ เป็นแหล่งศึกษาความรู้ ซึ่งจะมีกิจกรรมเรียนรู้ อาทิ สถานีเรียนรู้ที่มีเนื้อหาและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตของสินค้าที่เลือกดำเนินการ และสอดคล้องกับเป้าหมายของการจัดงาน ซุ้มนิทรรศการ การแสดงและจำหน่ายสินค้าของกลุ่ม/สถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) จะแบ่งตามฤดูกาลผลผลิต โดยไม้ผลภาคตะวันออก จัดงานในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ไม้ผลภาคภาคใต้ จัดงานในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเน้นให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงการตลาด และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ข้าว จะจัดในช่วงเดือนพฤษภาคม เน้นการลดต้นทุน สร้างคุณภาพสินค้า ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนและปรังปรุงคุณภาพดิน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาและการระบาดของศัตรูพืช พืชไร่ ช่วงเดือนเมษายน เน้นการลดต้นทุนด้วยการจัดการด้านปัจจัยการผลิต โดยใช้เครื่องจักรกลเข้ามาสนับสนุนการเกษตร พืชผัก ช่วงเดือนเมษายน เน้นการวางแผนการผลิตการจัดการแปลง รวมถึงการผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เป็นต้น อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม

 “หากเกษตรกรท่านใดสนใจเข้าร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2561 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรเภอใกล้บ้านท่าน” นายสมชาย กล่าว

จาก https://www.siamrath.co.th   วันที่ 22 มกราคม 2561

เปิดเบื้องลึก “ม.44 ลอยตัวน้ำตาลระส่ำ! หวั่นผันผวนซ่ำรอยน้ำมัน

พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา  44 ออกคำสั่งที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฏหมายเพื่อรองรับกรปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยยกเว้นการใช้บังคับ (18) ของมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในประเทศ มีผลช่วงกลางดึกของวันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา

มีคำถามตามมาในกลุ่มผู้บริโภคว่า นี่คือการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายอย่างเป็นทางการใช่หรือไม่ เพราะด้วยเนื้อหาคำสั่งไม่ได้ระบุชัดเจนถึงคำว่า “ลอยตัว” เมื่อวันที่ 16 มกราคม กระทรวงอุตสาหกรรมโดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเปิดแถลงข่าวด่วนถึงการใช้ ม.44 โดยระบุชัดว่านี้คือ “การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายอย่างเป็นทางการ” และรวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

มั่นใจราคาขายปลีกปรับลดลง

นายอุตตมระบุว่า ม.44 ดังกล่าวถือเป็นการปลดล็อกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัว เพื่อให้ราคาอิงตามตลาดโลกตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางไว้ในแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยราคาตามกลไกลอยตัวหลังจากนี้จะใช้สูตรการอิงราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียมทันที ทั้งนี้ ผลจากการลอยตัวราคาคาดว่าจะทำให้ราคาขายปลีกลดลงอย่างแน่นอน เพราะจะยกเลิกการเก็บเงินส่วนต่าง 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากปัจจุบันราคาขายปลีก 22-23 บาทต่อ กก. ประกอบกับปัจจุบันราคาตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม อยู่ระดับต่ำ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์  และราคาเฉลี่ยในการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยจะทราบราคาชัดเจนอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพราะต้องรอให้น้ำตาลที่โรงงานปล่อยออกไปจำหน่ายหมดก่อน

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการดูแลผู้เกี่ยวข้องกับการลอยตัวในกรณีราคาลดลงมากจนกระทบต่อชาวไร่ โดยจะมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาอุดหนุน และหากราคาแพงเกินระดับเหมาะสม กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลแน่นอน นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลจะสำรองน้ำตาลทรายไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนหรือราคาผันผวน” นายอุตตมชี้แจง

น้ำตาลทรายหน้ารง.ลง 2 บาท

ขณะที่ นางวรวรรณ  ชิตอรุณ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ข้อมูลว่า “ หลังจากจากประกาศลอยตัวน้ำตาล คาดว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะลดลงประมาณ 2 บาทต่อ กก. เฉลี่ยอยู่ที่ 17-18 บาทต่อ กก. จากเดิม 19-20 บาทต่อ กก. จากราคาน้ำตาลในตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียมเฉลี่ยอยู่ที่ 450 เหรียญต่อปอนด์ แต่ยอมรับว่าราคาน้ำตาลทรายขายปลีกในประเทศจะยังไม่ลดลงทันที เพราะมีน้ำตาลบางส่วนขอขนส่งออกจากโรงงานจำนวน 3 แสนตันทำให้ราคาขายใยประเทศอยู่ในราคาเดิมไปก่อน”

อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเปิดแถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจต่อการ “ลอยตัว” แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน มีการกำหนดโครงสร้าง ระบบแบ่งปัน การบริหารจัดการภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2527 แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการใช้ ม.44 ว่า ผลจากการลอยตัวจะไม่กระทบต่อผู้บริโภคจริงหรือ?

จำเป็นต้องใช้ม.44 เพื่อลอยตัว

ในเรื่องนี้ “มติชน” ยังได้สอบถามข้อมูล จากนายสมชาย   หาญหิรัญ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่คลุกคลีกับเรื่องนี้มานานหลายปี ก็ทราบว่า

“ที่ต้องอาศัย ม. 44 ในการลอยตัวก็เพื่อกันเหนียวไว้ก่อนเพราะหากรอตามขั้นตอนกฎหมายปกติจะใช้เวลานานอาจจะเป็นปีก็ได้ เนื่องจากจะต้องรอให้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ผ่านสภานิติปัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สนช.มีหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างพิจารณา ขณะที่เรื่องการลอยตัวไปจนถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน รองรับการเจรจากับประเทศบราซิลที่ร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ว่า ไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล จากการกำหนดราคาหน้าโรงงาน การกำหนดโควตา การให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มเงินค่าอ้อยให้ชาวไร่ และมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับ ซึ่งผลจากการลอยตัวน่าจะทำให้การเจรจาระหว่างไทยและบราซิลจบลงด้วยดี เพราะไม่มีการอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลแล้วปล่อยให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทรายร่วมบริหารจัดการ มีภาครัฐดูแลในภาพรวมเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคเท่านั้น”

ไม่มีกำหนดราคาเข้าข่ายละเว้น

นายสมชายยอมรับว่า เดิมกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) วางกรอบเวลาเรื่องนี้ว่าจะประกาศลอยตัวราคาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ จึงมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)  ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2560 ว่า การปรับแก้ระเบียบต่างๆ เป็นไปด้วยดี แค่มี 1 ข้อ คือ เรื่องการประกาศราคา กฎหมายระบุชัดว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ต้องเป็นผู้ประกาศราคา ซึ่งหาก กอน. ประกาศแล้วราคาสูงกว่าตลาดโลก บราซิลอาจมองว่าไทยกำลังดูแลราคาขายปลีกในประเทศจะเป็นอย่างไร คำตอบของคณะกรรมการกฤษฏีกา คือ หากไม่กำหนดราคาจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ยืนยันขายปลีกราคาไม่ผันผวน

แม้จะเคลียร์ประเด็น ม.44 แต่มีอีกประเด็น คือ ราคาขายปลีกที่ผู้บริโภคกังวลว่าจะต้องซื้อในราคาแพงลิ่วเหมือนราคาน้ำมันที่เคยพุ่งตามตลาดโลกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ราคาโลกพบว่า ราคาน้ำตาลทรายลดลงอยู่ระดับ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่น้ำตาลส่งออกของไทยถูกขายทำราคาแล้วประมาณ 30% ในราคาเฉลี่ย 17 เซ็นต์ต่อปอนด์

ในเรื่องนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่าจากสถานการณ์โลกจะทำให้ได้ราคาขายปลีกในไทยลดลงแน่นอน ส่วนจะลดลงเท่าไรไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก โดยประชาชนสามารถตรวจสอบราคาได้จากเว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ หรือติดต่อสอบถามเข้ามาโดยตรง ขณะเดียวกันในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดเหมือนราคาสินค้าตัวอื่น ทำให้ราคาไม่ผันผวนเหมือนราคาน้ำมันแน่นอน

อย่าห่วงน้ำตาลทรายขาดตลาด

นอกจากนี้ นายสมชายยังอธิบายกลไกภายใต้การลอยตัวครั้งนี้ว่า จะทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใหม่เริ่มใช้เช่นกันมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 ประกอบด้วย การยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลที่มี 3 ส่วนคือ บริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ที่ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 25-26 ล้านกระสอบ ส่งออกเพื่อทำราคาขาย(โควตา ข.) และส่งออกโดยโรงงาน (โควตา ค.) โดยระบบจัดการรูปแบบใหม่จะมีการกำหนดให้โรงงานจัดสรรน้ำตาลในประเทศให้เพียงพอ ขณะที่การส่งออกจะมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำราคาให้ทุกฝ่ายพอใจ เพื่อให้โรงงานใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งออก  ซึ่งการส่งออกนั้นไม่ต้องกังวลว่าหากราคาตลาดโลกพุ่งแล้ว จะทำให้โรงงานจะขายน้ำตาลจนบริโภคไม่เพียงพอ เพราะรัฐบาลได้อนุญาตให้การนำเข้าส่งออกน้ำตาลมีภาษีเป็น 0% ดังนั้น หากในประเทศเน้นส่งออก โรงงานที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบหรือผู้ค้าส่งน้ำตาลก็สามารถนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศได้ ซึ่งจุดนี้จะเป็นความเสี่ยงของผู้ผลิตในประเทศมากกว่า เพราะหากราคาโลกลดลงน้ำตาลอาจขายไม่ได้

“สำหรับสถานการณ์ราคาขายปลีก ยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์จะดูแลอย่างใกล้ชิดแน่นอน ขณะเดียวกันจะมีกองกทุนฯดูแลทั้งภาวะราคาตกต่ำเพื่อช่วยเกษตรกร และภาวะสูงเพือดูแลผู้บริโภค โดยเงินกองทุนปัจจุบันมีประมาณ 8,000 ล้านบาทรายได้ของกองทุนฯตามโครงสร้างใหม่จะใช้วิธีนำราคาเฉลี่ยขายปลีกของผู้บริโภครายหลัก อาทิ โรงงานผลิตอาหาร โมเดิร์นเทรด มาลบกับราคาตลาดโลก (ลอนดอนนับเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม)และนำส่วนต่างเข้ากองทุนเป็นรายได้หลัก แต่หากลบแล้วคิดลบก็ไม่จำเป็นต้องส่งเงินเข้ากองทุน” นายสมชายกล่าว

พณ.คงน้ำตาลบัญชีสินค้าควบคุม

ด้านสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเตรียมแนวทางการดูแลราคาน้ำตาล และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบโดยมาตรการเบื้องต้นที่จะใช้ในการบริหารจัดการ คือ จะให้คงสินค้าน้ำตาลไว้ในบัญชีรายการสินค้าควบคุมเช่นเดิม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) และไม่มีการยกเลิกเพดานราคาขายปลีกสูงสุดไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพื่อให้สามารถออกมาตรการได้ทันท่วงที กรณีมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพราคาและใช้เป็นเกณฑ์ในการดูแลสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค สำหรับดูแลเรื่องการรายงานสต๊อก การปรับขึ้นลงของราคาขาย

“เมื่อกระทรวงพาณิชย์ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วในเรื่องลอยตัวราคาน้ำตาล กระทรวงพาณิชย์จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม กกร. ก่อนว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้น้ำตาลยังเป็นสินค้าควบคุม ตามประกาศของ กกร. ที่จะต้องมีการกำหนดราคาขายสูงสุด ซึ่งราคาขายปลีกสูงสุดไม่เกิน 23.50 บาทต่อ กก. หากมีร้านค้าใดขายน้ำตาลทรายเกินราคากำหนด จะเข้าข่ายมีความผิดละเมิดประกาศ กกร.มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ นายสนธิรัตน์ระบุ

แนะเครื่องดื่มปรับลดราคา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ยังระบุว่า เมื่อลอยตัวราคาน้ำตาล ราคาขายปลีกในประเทศจะปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลก หากราคาน้ำตาลทรายปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าควรจะต้องมีการจัดโปรโมชั่นคืนกำไรให้กับลูกค้าด้วย อาทิ ผู้ประกอบการเครื่องดื่มต่างๆ ดังนั้นจากนี้จะเชิญห้างค้าปลีกสมัยใหม่(โมเดิร์นเทรด)ต่างๆ มาทำความเข้าใจว่า จะต้องลดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายลงมาให้เห็นชัดเจนเพื่อผู้บริโภค แต่อาจจะให้ระยะเวลาปรับตัวช่วงหนึ่งที่ยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่” นายสนธิรัตน์ระบุทิ้งท้าย

ทั้งนี้ แนวทางลอยตัวดังกล่าวน่าจะเป็นตัวอย่างของการปลดล็อกสินค้าเกษตรของไทยให้เคลื่อนไหวตามตลาดโลก ซึ่งหลายรัฐบาลพยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอดเกือบ 10 ปี ที่ผ่านมา เสียงบประมาณไปมหาศาลกับการศึกษาทั้งทำเอง และจ้างหน่วยงานอิสระอย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นตัวชูโรงก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะผ่าน สนช. น่าจะเป็นเพียงยกแรกในการเริ่มต้นอนาคต ” น้ำตาลเสรี”ของไทยว่าจะเดินไปอย่างราบรื่นหรือทุลักทุเล

เพราะต้นทุนในปัจจุบัน ภาครัฐมีความได้ปรียบจากสถานการณ์ราคาโลกที่ราคาซื้อขายล่วงหน้าค่อนข้างต่ำ จากการที่มีน้ำตาลจากทั่วโลกเข้าระบบ แต่หากหลังจากนี้สถานการณ์เป็นช่วงขาขึ้นเหมือนหลายปีที่ผ่านมา และราคาจะสามารถกลับไปไต่ระดับสูงกว่า 25 เซ็นต์ต่อปอนด์ หรือต้นทุนโลกสูงกว่าราคาที่ควบคุมไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) น่าจะเป็นโจทย์สำคัญว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการราคาขายปลีกไม่ซ้ำรอยน้ำมันได้หรือไม่

เนื่องจากถึงเวลานั้นเกษตรกรและโรงงานจะยังรับได้กับราคาสูง แต่ไม่สูงที่สุดหรือไม่ หรือหากตลาดนอกระบบมีการจำหน่ายเกินราคาที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมจนผู้บริโภคได้รับความเดือดร้น “รัฐบาล” จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

นี่เป็นโจทย์ยากที่ต้องวางมาตรการรับมืออย่างรอบคอบ!!

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 มกราคม 2561

“หุ้นน้ำตาล”ร่วงสวนราคาโภคภัณฑ์

โบรกมองยังมีอัพไซด์รับอานิสงส์นโยบายรัฐ

สำรวจหุ้นโภคภัณฑ์พบกลุ่มน้ำตาลปรับตัวลดลงสวนทางแนวโน้มราคาโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี ด้านโบรกยังแนะนำลงทุนมองได้รับอานิสงส์ลอยตัวราคาน้ำตาลในไทยหนุนทั้งอุตสาหกรรม

จากการสำรวจมาร์เก็ตแคปหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยน้ำมัน, น้ำตาลและยางพาราพบว่าหุ้นกลุ่มน้ำตาลมีมาร์เก็ต ณ วันที่ 18 ม.ค.ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมาโดยน้ำตาลขอนแก่น (KSL) มาร์เก็ตแคบลดลง 4.72 % ,น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) มาร์เก็ตแคปปรับเพิ่มขึ้นโดยปตท. (PTT) เพิ่มขึ้น 9.09% และปตท.สผ.(PTPEP) เพิ่มขึ้น 14% เช่นเดียวกับกลุ่มถ่านหินที่มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นโดยบ้านปูเพิ่มขึ้น 15.89% และสภานสารีซอร์สเซส (LANNA) เพิ่มขึ้น 7.22%

ด้านกลุ่มยางพารานั้น หุ่นไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) (TRUBB) มาร์เก็ตแคปชั่นเพิ่มขึ้น 0.98% และศรีตรังแอโกรดัลทรี (STA) ลดลง 9.93%

ฝ่ายวิจัย  บล.ฟิลลิประบุว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลจะได้อานิสงส์เชิงบวกจากการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศไทย โดยคสช.ใช้มาตรา 44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศให้ราคาขายอิงตามราคาตลาดโลกรวมถึงการยกเลิกโควตาน้ำตาลในประเทศไทยเพื่อไม่ให้ผิดกฎ WTO จากการฟ้องของบราซิล

การลอยตัวราคาครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับลงราว 2-3 บาทต่อกิโลกรัมหรืออยู่ที่ 17-18 บาท ต่อกิโลกรัมจากเดิมที่ขายอยู่ 20 บาท ต่อกิโลกรัม อีกทั้งยกเลิกการเก็บเงิน 5 บาท ต่อกิโลกรัมส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลประเด็นการลอยตัวน้ำตาลคาดว่าจะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมคือการได้รับผลตอบแทนมากขึ้นจากเดิม

ทางฝ่ายวิจัยแนะนำทยอยซื้อหุ้นน้ำตาลขอนแก่น (KSL) และได้ปรับประมาณการผลการดำเนินงานปี 2561 ขึ้นจากเดิมจาก 1. แนวโน้มการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการลอยตัวราคาน้ำตาล และ 2. คาดการดำเนินงานของ BBGI ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน จะดีขึ้นจากปีก่อนหน้าจากแนวโน้มธุรกิจไบโอดีเซลและเอทานอลที่ดีขึ้นปรับประมาณการยอดขายเป็น 14,094 ล้านบาทลดลง 10%  จากปีก่อน จากการไม่รวมการดำเนินงานในกลุ่มเอทานอลเข้ามา และการยกเลิกเก็บเงิน 5 บาทเข้ากองทุน

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ลดลงยังเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้น

บล.ทรีนิตี้ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี  2560 ของปตท.สผ.(PTTLP) อยู่ที่ 10,604 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นกำไรจากการดำเนินงานปกติราว 8,804 ล้านบาท และกำไรพิเศษจากผลของค่าเงินที่แข็งค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท โดยได้แรงหนุนมาจาก 1.คาดปริมาณการขายจะอยู่ราว 300 KBOED  เพิ่มขึ้น 0.6% จากไตรมาสก่อน 2. ราคาขายเฉลี่ยที่ 42.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวขึ้นมาในช่วงปลายปีที่เฉลี่ย 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 3. ประเมิน Unit Cost ที่ 31.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก G&A  ที่ปรับขึ้นซึ่งเป็นปกติของฤดูกาล

ขณะเดียวกันได้ปรับประมาณการปี 2561 สะท้อนราคาน้ำมันแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ระดับ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ฝ่ายวิจัย บส.ซีไอเอ็มบี แนะนำซื้อหุ้นปตท.สผ.(PTTEP) เพราะเริ่มต้นผลเชิงบวกจากราคาน้ำมันโดยราคาหุ้น PTTEP ยังคงโดดเด่นอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรจากต้นทุนที่ลดลง ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่สูงขึ้น และการตั้งสำรอง LNG ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ คาดการเติบโตของกำไรจะเร่งตัวสูงขึ้นในปี 2561-2562 มาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและโครงสร้างต้นทุนที่ค่อนข้างทรงตัว และมองแนวโน้มเชิงบวกต่อประมาณการมาจากการประสบความสำเร็จในการ M&A ในครั้งแรกปี 2561 และ FID สำหรับโครงการ LNG ในโมซัมบิคในปี 2562

โดยฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ในปี 2561 – 2562 ขึ้น 14.6-16.2 %

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 มกราคม 2561

ออกเกณฑ์คุมน้ำตาลคงบัญชี “สินค้าควบคุม”

ระหว่างรอประกาศจากสอน. หวั่นพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคา

“พาณิชย์” คุมเข้มน้ำตาลคงบัญชีสินค้าควบคุม กันราคาขึ้นลงขาดเสถียรภาพ กระทบผู้บริโภค-อุตสาหการม ยกเพดานราคาสูงสุดไม่เกิน 23.50 บาทต่อกก. แจงเมื่อตลาดโลกราคาลง ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ต้องจัดโปรฯคืนกำไรผู้บริโภค

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางกำกับดูแลราคาน้ำตาลให้มีเสถียรภาพไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ภายหลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศลอยตัวน้ำตาล ตามกลไกราคาในตลาดโลก อย่างไรก็ตามระหว่างที่รอประกาศราคาอย่างเป็นทางการของสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายกำกับดูแลห่วงโซน้ำตาลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะผู้นำน้ำตาลไปใช้เป็นวัตถุดิบ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงยังคงให้น้ำตาลให้อยู่ในรายการสินค้าควบคุมเพื่อสะดวกในการบริการจัดการ ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

ดังนั้น จึงไม่ยกเลิกเพดานราคาขายปลีกสูงสุดอยู่ที่ 23.50 บาทกิโลกรัม(กก.)  เพื่อป้องกันการจำหน่ายน้ำตาลสูงเกินไปจนผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องได้รบผลกระทบพร้อมกับจะเข้าตรวจสอบสต๊อกสินค้าเพื่อป้องกันการฉวยโอกาส นำสต๊อกเก่ามาจำหน่าย หากมีการขึ้นราคา

ขณะเดียวกัน เมื่อราคาน้ำตาลลอยตัวราคาขายปลีกจะปรับขึ้นตัวลดลงตามราคาตลาดโลก จนทำให้ต้องปรับราคาซื้อหน้าโรงงาน ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าก็ควรจะต้องจัดโปรโมชั่นคืนกำไรให้กับลูกค้า เช่น ผู้ประกอบการเครื่องดื่มต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มผู้ค้าปลีก จะต้องเข้าไปกระตุ้นให้ผู้จำหน่ายปลีกให้จัดทำรายการส่งเสริมการขาย ลดราคาเพื่อเป็นการช่วยคืนกำไรให้ผู้บริโภค

“มาตรการที่จะใช้ในการบริการจัดการระหว่างรอราคาจากสอน. กระทรวงพาณิชย์จะยังคงสินค้าน้ำตาลไว้ในบัญชีรายการสินค้าควบคุมเช่นเดิม เพื่อป้องกันปัญหาราคาสูงเกินไป”

นายสนธิรัตน์  ยังกล่าวต่อว่า ภายหลังมีประกาศราคาน้ำตาลจากสอน. อย่างเป็นทางการแล้ว จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) ก่อน ว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร หลังจากรับหนังสือจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ตรวจสอบการจำหน่ายราคาน้ำตาลค้าปลีกไม่ให้เกินเพดานราคา หากผ่าผืนถือว่าเข้าข่ายมีความผิดละเมิดประกาศ กกร. มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้การควบคุมราคาน้ำตาล นอกจากใช้กลไกทางด้านการกำกับดูแลเป็นบัญชีสินค้าควบคุมแล้ว ยังดูแลให้น้ำตาลเป็นไปตามกลไกตลาด ที่ให้มีการแข่งขันกัน เมื่อราคาลดผู้ขายต้องลดลงราคาแข่งขันกันในตลาด เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปบริการจัดการระบบให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการผูกขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งคสช.ที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ โดยยกเว้นการใช้บังคับ(18) ของมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคในประเทศ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา

โดยนายอุตตม สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กกหมายฉบับนี้ถือเป็นการปลดล๊อกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวราคาอิงตลาดโลกที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางไว้ในแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ

ทั้งนี้ราคาตามกลไกตลาด หลังจากนี้จะใช้สูตรการอิงราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม ผลจากการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย คาดว่าจะทำให้ราคาขายปลีกลดลง เพราะจะยกเลิกการเก็บเงินส่วนต่าง 5 บาทต่อกก. จากปัจจุบันราคาขายปลีก 22-23 บาทต่อกก. ประกอบกับปัจจุบันราคาตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 ไทยพรีเมียมอยู่ระดับต่ำ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์  และราคาเฉลี่ยในการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 17 เซ็นต์ต่อปอนด์  โดยจะทราบราคาชัดเจนอีกประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะต้องรอให้น้ำตาลที่โรงงานปล่อยออกไปจำหน่ายหมดก่อน

สำหรับสาเหตุที่ต้องอาศัยม.44 ในการลอยตัวเพราะหากรอตามขั้นตอนกฎหมายจะใช้เวลานาน ขณะที่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อรองรับการเจรจากับประเทศบราซิลที่ร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ว่าไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลซึ่งแม้ไม่เป็นความจริง แต่ก็เป็นหลักปฏิบัติที่ไทยควบดำเนินการ โดยแนวงทางลอยตัวนี้เป็นความเห็นร่วมของทั้งชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลแล้ว

จาก http://www.bangkokbiznews.comวันที่ 22 มกราคม 2561

ลอยตัว “น้ำตาล” วุ่นไม่เลิก สต๊อกเก่าอื้อ…ราคาไม่ลด !

ลอยตัวน้ำตาลวุ่นไม่เลิก เหตุขาดวิธีปฏิบัติทั้งการขายน้ำตาล การคำนวณค่าอ้อย TDRI ชี้ถ้าไม่ทำมีสิทธิ์ถูกบราซิลฟ้องใน WTO คาดอาจต้องรออีก 2 เดือนถึงจะลอยตัวได้ เหตุยังมีน้ำตาลเหลือค้างสต๊อกในห้างอีก 300,000 ตัน

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศ “ยกเว้น” การใช้มาตรา 17 (15) แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคภายในประเทศตั้งแต่ฤดูการผลิตที่ 2560/61 จนถึง 2561/62 หรือที่เรียกกันว่า การปล่อย “ลอยตัว” ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศได้ก่อให้เกิดความสับสนและไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต่อไปในวิธีปฏิบัติในการคำนวณราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย การคำนวณราคาน้ำตาล ณ หน้าโรงงาน การส่งออก-นำเข้าน้ำตาล เนื่องจากคำสั่งที่ 1/2561 ไม่ได้บอกไว้ ประกอบกับเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ยังไม่สามารถประกาศบังคับใช้ได้

ซุกปัญหาไว้ใต้พรม

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เจ้าของผลงานข้อเสนอในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การบังคับใช้มาตรา 44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศถือเป็นการ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” แล้วซุกปัญหาต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมนี้ไว้ใต้พรมเนื่องจากประกาศที่จะออกตามมาหลังการปล่อยลอยตัวยังไม่มีความชัดเจน ตอนนี้มีเพียงประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย กับ ต้องมีการสำรองน้ำตาลทรายไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

“เราเพียงทำตามความต้องการของบราซิลที่กล่าวหาประเทศไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า รัฐบาลไทยมีการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล ด้วยการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศแพงกว่าน้ำตาลนอกประเทศแล้วเงินมาอุดหนุนทำให้ไทยส่งออกน้ำตาลได้ในราคาต่ำ กับรัฐบาลอาศัยกลไกต่าง ๆ เข้ามาแทรกแซงและอุดหนุนราคาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล คนของรัฐบาลก็ตั้งธงไว้แล้วว่า ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้บราซิลฟ้อง WTO การเจรจาที่ผ่านมาก็เลยรับข้อเรียกร้องของบราซิลมาทั้งหมด” นายวิโรจน์กล่าว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การตั้งราคาขายน้ำตาลทรายในประเทศ ด้วยการให้มีการสำรวจตลาดน้ำตาล ว่ามีการซื้อขายในราคาที่เท่าใด ราคาขายน้ำตาล ณ หน้าโรงงาน แล้วมาเข้าสูตร London No.5 + ไทยพรีเมี่ยม เกิดส่วนต่างเท่าไหร่ ให้เก็บเงินส่วนต่างนั้นเข้า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไป “ปัญหาก็คือ เราจะใช้ราคาน้ำตาลภายในประเทศราคาไหนเป็นราคา Reference Price ราคา ณ หน้าโรงงาน ราคาขายในตลาด และใครเป็นผู้สำรวจราคา แต่ถ้าเบื้องต้นราคาขายออกมาไม่ต่างจากราคาในปัจจุบันมากนัก ยกตัวอย่าง เข้าสูตรคำนวณราคาออกมาหักส่วนต่างเข้ากองทุนอ้อยออกมาอยู่ที่ 20-21 บาท/กก. ผู้บริโภคก็คงจะรับได้เนื่องจากเคยชินอยู่กับการซื้อน้ำตาลปัจจุบันที่ กก.ละ 23.50 บาทอยู่” นายวิโรจน์กล่าว

โดยสิ่งที่น่ากังวลก็คือ ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายที่ถือเป็น Reference Price นั้นมันสามารถ “เล่นตลาด” ได้จากความเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลในตลาดโลกคือ ตลาด London No.5 นั่นเอง

สับสนวิธีขายภายใน

ด้านแหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปิดเผยว่า การลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศจนถึงขณะนี้ยังมีหลากหลายปัญหาที่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลยังไม่สามารถตกลงกันในวิธีปฏิบัติ รวมถึงหลายเรื่องไม่มีกฎระเบียบและกฎหมายรองรับ

“ยกตัวอย่าง ไม่มีการกำหนดโควตา ก. (ปริมาณจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ) แต่ละโรงงานจะขายน้ำตาลอย่างไร ทาง สอน.ยังไม่สามารถหาทางออกได้ จึงโยนเรื่องนี้ให้โรงงานน้ำตาลมาจัดสรรการขายกันเอง โดยทุกโรงงานทราบกันดีว่า มีปริมาณน้ำตาลที่ต้องเตรียมไว้ขายภายในประเทศจำนวน 26 ล้านกระสอบ เสมือนหนึ่งมีโควตา ก.ในอดีต และกำหนดน้ำตาลสำรองเพื่อการบริโภค 2.5 ล้านกระสอบ กำหนดปริมาณแต่ไม่กำหนดโควตา แล้วจะไปบังคับได้อย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว

เพราะหากให้โรงงานน้ำตาลไปจัดสรรกันเอง เท่ากับโรงงานน้ำตาล “ฮั้ว” กัน อาจผิด พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้ “เหมือนโรงงานที่อยู่ในเขตภาคกลางส่งขายโรงงานเครื่องดื่มใน กทม. แต่โรงงานที่อยู่ภาคอีสานก็สู้ราคาค่าขนส่งไม่ได้ ต้นทุนก็สูง” ในขณะที่การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นและราคาค่าอ้อยขั้นสุดท้ายก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ว่าจะใช้สูตรราคาลักษณะใด

เร่งหารือราคาอ้อย

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กาญจนบุรี กล่าวว่า เวลาพิจารณาต้องแยกราคาขายกับเรื่องระบบ โรงงานน้ำตาลจะขายเท่าไหร่ ไม่มีใครไปควบคุม เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ชาวไร่อ้อยต้องเฉลี่ยราคาขายของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศออกมา หากราคาขายน้ำตาลหน้าโรงงานใดสูงกว่าราคาขายน้ำตาลทรายของตลาดลอนดอน No.5 ย้อนหลังไป 1 เดือน บวกราคาน้ำตาลไทยพรีเมี่ยม ให้นำส่วนต่างของราคาตรงนั้นมาแบ่งกัน 70:30 “ซึ่งมีสูตรรายละเอียดในการคำนวณ ตอนนี้กำลังเจรจาหาตัวเลขกันอยู่”

ปัจจุบันนี้ ศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่าย และการขนย้ายน้ำตาล ได้ทำการสำรวจราคาขายน้ำตาลจริงจากทุกหน้าโรงงานน้ำตาลและนำมาเฉลี่ย เพื่อกำหนดราคากลางน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 17 บาท/กก. และราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 18 บาท/กก. เพื่อนำมาคำนวณราคาภายใน ซึ่งการลอยตัวส่งผลให้ราคาน้ำตาลลดลงมาประมาณ 2 บาท/กก.

“ต้องบอกตรง ๆ ว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ดี ไม่เหมือนสินค้าเกษตรอย่างอื่น เราต้องมาเจรจากันระหว่างชาวไร่และโรงงาน มีส่วนที่ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนรักษาเสถียรภาพราคาเท่าไหร่ ตอนนี้กำลังเจรจาดำเนินการกันอยู่ เพื่อไม่ให้ชาวไร่อ้อยถูกเอารัดเอาเปรียบ” นายกำธรกล่าว

ตลาดโลกดิ่ง 12 เซนต์/ปอนด์

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลงมา 12 เซนต์/ปอนด์ หากบวกด้วยราคาไทยพรีเมี่ยมประมาณ 20 เหรียญ/ตัน ตามสูตรเฉลี่ยออกมาเป็นกิโลกรัมจะตกราคาน้ำตาลประมาณ 12.495 บาท หรือประมาณ 12.50 บาท ดังนั้นเมื่อนำมาหักลบส่วนต่างราคาขายหน้าโรงงานเท่ากับมีส่วนต่างประมาณ 4.50-5 บาท เข้ากองทุนรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งไม่ต่างกับการที่เคยบวกราคา 5 บาทเพื่อหักเงินเข้ากองทุน

ตามระเบียบส่วนต่างของราคาน้ำตาลตลาดลอนดอน No.5 บวกไทยพรีเมี่ยมห่างกันมาก 4-5 บาท ซึ่งส่วนของชาวไร่อ้อยและกองทุนอาจจะพอใจ แต่ถ้าในอนาคตราคาน้ำตาลในตลาดโลกพลิกกลับมาราคาสูงและมีส่วนต่างน้อย ชาวไร่อ้อยควรต้องยอมรับระบบที่เกิดขึ้นด้วย

“ตอนนี้โรงงานกลัวว่า หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกลงไปเรื่อย ๆ แล้วราคากลางยังยืนอยู่สูง โรงงานต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนอาจจะมากกว่า 5 บาทต่อ กก.ที่เคยเก็บ ซึ่งไม่ต่างจากรูปแบบเดิมที่บวกแฝง 5 บาทให้ผู้บริโภคแบกรับภาระ”

นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาจจะเกิดปัญหาเรื่องการลักลอบขนน้ำตาลไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ที่บริโภคน้ำตาลในราคาสูงกว่าไทยที่เกือบ 30 บาท/กก. อาจจะทำให้น้ำตาลขาดตลาดได้ ดังนั้นเท่าที่ทราบกระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณานำพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาควบคุมด้วย

ล่าสุดยังมีน้ำตาลทรายจากการจำหน่ายตามระบบเก่าคือ โควตา ก.ที่ได้ทำใบขนย้ายออกไปเรียบร้อยประมาณ 300,000 ตัน ส่งผลให้ร้านค้าปลายทาง ห้างสรรพสินค้ายังคงยืนราคาขายคงเดิมโดยน้ำตาลลอตนี้จะจำหน่ายหมดไปในอีก 2 เดือนข้างหน้าจึงจะสามารถใช้ราคาลอยตัวใหม่ได้

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 22 มกราคม 2561

ดีเดย์เคาะราคาน้ำตาลทราย พาณิชย์ไล่จี้ “น้ำอัดลม-น้ำหวาน” ชดเชยผู้บริโภคโดย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายทั้งหมด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า มาหารือเพื่อพิจารณาต้นทุนน้ำตาลทรายที่แท้จริง และการดูแลราคาปลายทางให้เหมาะสมกับต้นทุน  หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสถานการณ์จำหน่ายน้ำตาลทรายในตลาด ทั้งตลาดสด ร้านค้าส่งค้าปลีกทั่วไป และห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจสอบดูว่าราคาน้ำตาลทรายได้ลดลงตามราคาหน้าโรงงานจริงหรือไม่ หลังจากการลอยตัว เพราะขณะนี้ ราคาตลาดโลกลดลง โดยจะเริ่มทันที หลังจากได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่าสต๊อกน้ำตาลทรายเก่าหมดแล้ว เพราะต้องให้โอกาสผู้ค้าที่รับน้ำตาลทรายต้นทุนเก่าไปจำหน่ายให้หมดก่อน

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ตรวจสอบและติดตามดูต้นทุนขอทุนของสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวานชนิดต่างๆ ว่ามีลดลงหรือไม่ อย่างไร เพื่อจะได้มีมาตรการดูแลราคาให้กับผู้บริโภคอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องขอให้ผู้ผลิตปรับลดราคาลงตามต้นทุนที่ลดลง เพราะบางสินค้าต้นทุนอาจลดลงไม่มาก แต่อาจจะเป็นการจัดโปรโมชั่นในช่วงที่ต้นทุนลดลงมาก เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค

“แม้มีการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานไปแล้ว แต่กระทรวงฯยังจะคงให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมต่อไป เพื่อให้ยังคงมีมาตรการบริหารจัดการได้ เพราะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และจะยังคงกำหนดเพดานราคาจำหน่ายปลีกสูงสุดไว้ที่ 23.50 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ยังไม่มีความคิดที่จะยกเลิก โดยการคงเพดานราคาสูงสุดก็เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาปรับสูงขึ้นจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 22 มกราคม 2561

"คลัง" เร่งหามาตรการสู้บาทแข็ง ห่วงกระทบส่งออก ฉุด ศก.ชะงัก

“คลัง” เต้นสั่งหามาตรการเพิ่มเติมคุมบาทแข็งให้อ่อนค่าลง ห่วงกระทบภาคส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แนะผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีหามาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หวังช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องให้อ่อนค่าลง เพื่อจะได้ไม่กระทบกับการส่งออกและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ได้ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เร่งชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ซึ่งทำได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่มาก เพราะปัจจุบันประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศน้อย เนื่องจากกู้ภายในประเทศเป็นหลักเพราะมีสภาพคล่องภายในประเทศจำนวนมาก

"การดูแลค่าเงินบาทเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหลายเครื่องมือที่ ธปท. ใช้ดูแลอยู่ แต่ในส่วนของ รมว.การคลัง ก็ต้องให้หามาตรการทางการคลังช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทให้ช้าลง หรือให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะได้ไม่กระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ ที่กำลังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งหามาตรการทางการคลังเพิ่มเติมว่าจะทำอย่าไรให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอ่อนค่าลง" นายสมชัยกล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการก็ต้องมีมาตรการดูแลตัวเอง ด้วยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะช่วยลดความเสี่ยงในธุรกิจได้มาก

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระสั้น เพราะได้ดอกเบี้ยสูง อย่างไรก็ตาม ธปท. ก็เข้าดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นโดยการรับซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐไว้เอง ซึ่งมีต้นทุนสูงเพราะต้องซื้อในราคาที่แพง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ที่ 1.50% คิดว่ามีความเหมาะสม ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ 1.25% และคาดว่าจะมีแนวโน้มจะปรับขึ้นในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งน่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าลดลง และทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม สศค. มองว่า ธปท. ควรมีมาตรการส่งเสริมให้เอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่ทำอยู่ปัจจุบัน เพื่อให้เงินที่ไหลเช้าและไหลออกอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพากขึ้น

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้นมาจากหลายสาเหตุ โดยหลักๆ มาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นไปทุกสกุลเงิน โดยค่าเงินบาท ค่าเงินออสเตรเลีย และค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น 1.8-1.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินสกุลอื่น เช่น ยูโร แข็งค่าขึ้น มากกว่า 2% เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐลดลง ขณะที่เศรษฐกิจเอเชีย ยุโรป ฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสูงในช่วงปลายปี 2560 มาจากผู้ส่งออกขายเงินตราต่างประเทศมาก

นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย แต่จากการติดตามของ ธปท.ยังไม่พบความผิดปกติเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และยืนยันว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่กระทบต่อการขยายตัวการส่งออก เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวได้มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเป็นหลัก ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ

จาก https://mgronline.com วันที่ 22 มกราคม 2561

คลอดแผนแม่บทพลังงานเม.ย.

คณะปฏิรูปพลังงาน โชว์แผนแม่บท เตรียมส่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ-ครม.พิจารณา มั่นใจได้ใช้ เม.ย.นี้แน่นอน

นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่าคณะกรรมการ ได้จัดทำแผนแม่บทเสร็จแล้ว และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนในภาพรวมพร้อมกับคณะกรรมการปฏิรูปในด้านต่างๆ ในวันที่ 22 ม.ค.2561 และคาดว่าที่ประชุมจะพิจารณาแล้วเสร็จในวันที่ 24 ม.ค.นี้ จากนั้นจะจัดส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำไปจัดทำข้อสรุปในขั้นตอนสุดท้ายในเดือน ก.พ. ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน มี.ค.นี้ ก่อนจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เพื่อประกาศใช้เป็นแผนปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติในช่วงเดือน เม.ย.นี้

สำหรับสาระสำคัญของแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน (โรดแมป) ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2561-2565) จะดำเนินการปฏิรูปใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ 2.พัฒนาด้านไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพ 3.ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ 4.การสนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน 5.อนุรักษ์และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 6.กำหนดทิศทางการพัฒนา การลงทุน และการใช้เทคโนโลยีใหม่

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปดังกล่าว หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างแน่นอน แผนระยะสั้นจะมีศูนย์บริการแบบครบวงจร ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจไฟฟ้าพร้อมเกิดศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ และแผนระยะกลาง ปี 63-65 จะทำให้การบริหารจัดการด้านพลังงานมีธรรมาภิบาลได้รับการยอมรับจากประชาชน ลดการผูกขาดสร้างการแข่งขันในทุกกิจการพลังงานประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 22 มกราคม 2561

สั่งหามาตรการสู้บาทแข็ง ห่วงภาคส่งออกระส่ำ ฉุดเศรษฐกิจไทยชะงัก!

“ขุนคลัง” เต้นสั่งหามาตรการเพิ่มเติมคุมบาทแข็งให้อ่อนค่าลง ห่วงกระทบภาคส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แนะผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีหามาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หวังช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน

 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องให้อ่อนค่าลง เพื่อจะได้ไม่กระทบกับการส่งออกและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ได้ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เร่งชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ซึ่งทำได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่มาก เพราะปัจจุบันประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศน้อย เนื่องจากกู้ภายในประเทศเป็นหลักเพราะมีสภาพคล่องภายในประเทศจำนวนมาก

"การดูแลค่าเงินบาทเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหลายเครื่องมือที่ ธปท. ใช้ดูแลอยู่ แต่ในส่วนของ รมว.การคลัง ก็ต้องให้หามาตรการทางการคลังช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทให้ช้าลง หรือให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะได้ไม่กระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ ที่กำลังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งหามาตรการทางการคลังเพิ่มเติมว่าจะทำอย่าไรให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอ่อนค่าลง" นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการก็ต้องมีมาตรการดูแลตัวเอง ด้วยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะช่วยลดความเสี่ยงในธุรกิจได้มาก

 นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระสั้น เพราะได้ดอกเบี้ยสูง อย่างไรก็ตาม ธปท. ก็เข้าดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นโดยการรับซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐไว้เอง ซึ่งมีต้นทุนสูงเพราะต้องซื้อในราคาที่แพง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ที่ 1.50% คิดว่ามีความเหมาะสม ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ 1.25% และคาดว่าจะมีแนวโน้มจะปรับขึ้นในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งน่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าลดลง และทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม สศค. มองว่า ธปท. ควรมีมาตรการส่งเสริมให้เอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่ทำอยู่ปัจจุบัน เพื่อให้เงินที่ไหลเช้าและไหลออกอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพากขึ้น

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้นมาจากหลายสาเหตุ โดยหลักๆ มาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นไปทุกสกุลเงิน โดยค่าเงินบาท ค่าเงินออสเตรเลีย และค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น 1.8-1.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินสกุลอื่น เช่น ยูโร แข็งค่าขึ้น มากกว่า 2% เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐลดลง ขณะที่เศรษฐกิจเอเชีย ยุโรป ฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสูงในช่วงปลายปี 2560 มาจากผู้ส่งออกขายเงินตราต่างประเทศมาก

นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย แต่จากการติดตามของ ธปท.ยังไม่พบความผิดปกติเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และยืนยันว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่กระทบต่อการขยายตัวการส่งออก เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวได้มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเป็นหลัก ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 22 มกราคม 2561

วอนสินค้าน้ำหวานจัดโปรฯให้ประชาชน

พาณิชย์ขอความร่วมมือน้ำอัดลม-สินค้าน้ำหวานจัดโปรโมชั่นคืนความสุขผู้บริโภคหลังราคาน้ำตาลลด                

นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในเข้าไปตรวจสอบและติดตามดูต้นทุนของสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวานชนิดต่างๆ ว่ามีต้นทุนลดลงอย่างไร หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายไปแล้ว  เพื่อที่จะออกมาตรการดูแลราคาให้กับผู้บริโภคอย่างเหมาะสมต่อไป  เบื้องต้นคงไม่จำเป็นต้องขอให้ผู้ผลิตปรับลดราคาลงตามต้นทุน แต่อาจขอให้ช่วยจัดโปรโมชั่นในช่วงที่ต้นทุนลดลงมากได้หรือไม่ เพื่อคืนความสุขให้กับผู้บริโภค

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายทั้งหมด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า มาหารือเพื่อพิจารณาต้นทุนน้ำตาลทรายที่แท้จริง และการดูแลราคาปลายทางให้เหมาะสมกับต้นทุน หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคโดนเอารัดเอาเปรียบ  

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 มกราคม 2561

พาณิชย์เตรียมเชิญเอกชน-ห้างใหญ่ขอความร่วมมือลดราคาน้ำตาลทราย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์รอคำประกาศจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายลอยตัวตามราคาตลาดโลกอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นจะเชิญผู้ประกอบการและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ เพื่อให้ทุกฝ่ายลงไปดูว่าจะมีการปรับลดราคาสินค้ากลุ่มที่ใช้น้ำตาลทรายได้อย่างไร เพราะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งสามารถที่จะลดราคาสินค้าลงมาได้บ้าง คาดว่าน่าจะประชุมร่วมกันได้ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศลอยตัวน้ำตาลทรายแล้ว ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะยังไม่มีการประกาศยกเลิกสินค้าน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม เพราะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาผันผวนตามตลาดโลก การอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมจะทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ และดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้ออกไปตรวจสอบสตอกเก่าราคาเดิมก่อนลอยตัวว่าแต่ละแห่งยังคงมีปริมาณน้ำตาลในสตอกมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการลดราคาสินค้าทันทีอาจทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหา ดังนั้น อาจใช้วิธีซื้อ 1 แถม 1 ของสินค้านั้น ๆ หรือรูปแบบใดที่จะคืนกำไรให้กับผู้บริโภค โดยรูปแบบต่าง ๆ ผู้ประกอบการจะต้องเสนอให้กรมการค้าภายในพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าการลอยตัวน้ำตาลทรายครั้งนี้ น่าจะส่งผลดีต่อรายการสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม น้ำผลไม้ชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่ร้านอาหารขนมหวานในตลาดสดและห้างสรรพสินค้าจะได้ใช้น้ำตาลทรายถูกลง เมื่อวัตถุดิบถูกลงเช่นนี้ก็จะส่งผลให้ราคาจำหน่ายขายปลีกในช่วงปลายทางน่าจะถูกลงตามที่จะเป็นธรรมต่อผู้บริโภคได้ ดังนั้น ราคาขายปลีกของสินค้าจะลดลงมากน้อยแค่ไหนกระทรวงพาณิชย์จะติดตามราคาสินค้าในกลุ่มเหล่านี้อย่างใกล้ชิด หากประชาชนพบเห็นขายแพงเกินจริงร้องสายด่วน 1569 ได้ทันที                    

จาก https://mgronline.com  วันที่ 21 มกราคม 2561

ห้างค้าปลีกลดราคาน้ำตาลทรายเหลือ21.50บ./กก.

ห้างค้าปลีกย่านลาดพร้าว ลดราคาขายน้ำตาลทรายเหลือ 21.50บาท / กก. ลงตามตลาดโลก

หลังคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามราคาตลาดโลก และมีแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายอยู่ในช่วงขาลง จากการสำรวจการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ย่านลาดพร้าว พบว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกได้มีการปรับลดราคาน้ำตาลทรายจำหน่ายปลีกลง เหลือกก. ละ 21 บาท 50 สตางค์ จากราคาเพดานสูงสุดที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดกิโลกรัมละ 23 บาท 50 สตางค์ โดยมีปริมาณสินค้าเพียงพอต่อความต้องการในขณะที่ประชาชนผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อสินค้าตามปกติโดยไม่ได้มีความกังวลว่าหลังจากนี้น้ำตาลทรายจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแม้จะมีการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามราคาในตลาดโลกก็ตาม           

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 21 มกราคม 2561

รมว.พณ.ชี้ไม่ถอนน้ำตาลทรายออกบัญชีควบคุม

รัฐมนตรีฯ พาณิชย์ ชี้ ลอยตัวน้ำตาลทรายตามตลาดโลก ยังไม่ถอนออกบัญชีควบคุม เล็งเชิญเอกชนขอความร่วมมือลดราคาตามตลาด

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ รอคำประกาศจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายลอยตัวตามราคาตลาดโลกอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นจะเชิญผู้ประกอบการ และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบมาหารือรวมกันเพื่อให้ทุกฝ่ายปรับราคาสินค้ากลุ่มที่ใช้น้ำตาลทรายตามราคาตลาดซึ่งอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งสามารถที่จะลดราคาสินค้าลงมาได้บ้าง โดยจะทำหนังสือเชิญมาประชุมร่วมกันในช่วงปลายเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศลอยตัวน้ำตาลทรายแล้ว ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะยังไม่มีการประกาศยกเลิกสินค้าน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม เพราะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาผันผวนตามตลาดโลก การอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม จะทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ และดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด    

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 21 มกราคม 2561

เจาะรายละเอียดงบ‘1ล้านล้าน’ ดัน‘อีอีซี’ประตูเศรษฐกิจอาเซียน

รายงานพิเศษ

การที่ไทยตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางกลุ่มประเทศในเอเชีย ทำให้ไทยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน ผลิต การค้า การส่งออกและการขนส่ง ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เอื้อให้ไทยสามารถผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ให้กระจายไปยังทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ง่าย เริ่มตั้งแต่จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา

ดังนั้น รัฐบาลจึงหันมาเร่งรัดจัดทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพื่อ เร่งขยายการส่งเสริมการลงทุน และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ผลักดันการเชื่อมโยงประตูเศรษฐกิจ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา กับโครงข่ายคมนาคมยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนถาวร

ระยะแรกมุ่งเน้นพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและ มีประสิทธิภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วยตัวเอง ตั้งเป้าหมายยกระดับการลงทุนทุกด้านไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีแรก เพื่อให้เกิดฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ และเกิดการพัฒนาคน ทำให้รายได้ประชาชาติขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี

คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) จึงมอบให้อนุกรรม กรศ. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้เห็นชอบแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จำนวน 168 โครงการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 998,948.10 ล้านบาท

โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติลงทุนรวม 3 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน ระหว่างปี 2560-2561 ซึ่งเป็นแผนงานที่ต้องดำเนินการทันทีเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายในอีอีซี จำนวนรวม 8 แผนงานย่อย วงเงินรวม 217,412.63 ล้านบาท

ประกอบด้วยโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul : MRO) ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามท่าอากาศยาน, สถานีรถไฟอู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3, ท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์ เวย์) พัทยา-มาบตาพุด, อาคารผู้โดยสาร ท่าเรือจุกเสม็ด และการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง

2.แผนปฏิบัติการระยะกลาง ระหว่างปี 2562-2564 ซึ่งเป็นแผนงานที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน เพื่อให้โครงข่ายการขนส่งสามารถรองรับกิจการทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 7 แผนงานย่อย วงเงินรวม 414,360.60 ล้านบาท

ประกอบด้วยโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงแหลมฉบัง-มาบตาพุด, ทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา, พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1, เขตปลอดอากร (Free Zone) ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา, มอเตอร์เวย์ ช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี, การปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง และการเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง

3.แผนปฏิบัติการระยะต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นแผนงานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนให้อีอีซีเป็นประตูเศรษฐกิจของ CLMV อย่างสมบูรณ์ จำนวน 7 แผนงานย่อย วงเงินรวม 357,174.87 ล้านบาท

ประกอบด้วย โครงการรถไฟ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด, รถไฟเชื่อมอีอีซี-ทวาย-กัมพูชา, สถานีบรรจุและยกสินค้ากล่อง (ICD) ฉะเชิงเทรา, อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อู่ตะเภา, พื้นที่ขนส่งสินค้าทางอากาศ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เฟส ที่ 2, มอเตอร์เวย์ ชลบุรี-อ.แกลง จ.ระยอง และการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง

หากจัดแบ่งวงเงินลงทุนตามประเภทโครงสร้างพื้นฐานสามารถแบ่งออกได้ 6 ประเภท ประเภทที่ใช้วงเงินลงทุนสูงสุดอันดับที่ 1 คือ โครงข่ายทางราง 9 โครงการ วงเงิน 398,592 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ โครงข่ายถนน 90 โครงการ วงเงิน 214,636.83 ล้านบาท, โครงข่ายขนส่งทางอากาศและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง 20 โครงการ วงเงิน 173,844 ล้านบาท

โครงข่ายทางน้ำ 19 โครงการ วงเงิน 160,609.17 ล้านบาท, แผนพัฒนาระบบไฟฟ้า 12 โครงการ วงเงิน 40,459.73 ล้านบาท และแผนพัฒนาระบบประปา 18 โครงการ วงเงิน 806.36 ล้านบาท

การจัดหาแหล่งวงเงินลงทุนทั้งหมด 988,948.10 ล้านบาท รัฐบาลจัดหามาจากวงเงินงบประมาณ 30% วงเงินลงทุนของ รัฐวิสาหกิจ 10% วงเงินจากรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 59% และ กองทุนหมุนเวียนจากกองทัพเรือ 1% โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเดินหน้าเต็มสูบเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี

คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าในพื้นที่โครงการมากขึ้น ช่วยให้ลดต้นทุนของรถบรรทุกได้ประมาณ 35.6 ล้านบาทต่อวัน หรือ 2.7% ลดต้นทุนรถไฟได้ประมาณ 2.3 แสนบาทต่อวัน หรือ 19.7% พร้อมจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางลงได้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า กรศ.เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครง สร้างพื้นฐานภายในพื้นที่อีอีซีในการพัฒนา โลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซีมุ่งสู่ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ตั้ง เป้าให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลาง และเมืองการบินของภูมิภาค และให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูเศรษฐกิจของซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และ อนุภูมิภาค

ทั้งนี้ แบ่งเป็นงบที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) 59% วงเงิน 583,500 ล้านบาท งบประมาณแผ่นดิน 30% วงเงิน 296,684 ล้านบาท งบรัฐวิสาหกิจ 10% วงเงิน 98,895 ล้านบาท และกองทุนหมุนเวียน (กองทัพเรือ) คิดเป็น 1% แบ่งแผนดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ และเมื่อรวมกับโครงข่ายภายนอกพื้นที่อีอีซีจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ถึง 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือ ปีละ 200,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้กว่า 2.1-3.0 ล้านล้านบาท และประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึง ระบบขนส่งมวลชนคุณภาพสูง” นายชัยวัฒน์กล่าว

ส่วน นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเห็น ชอบประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม 18 แห่ง ภายในเดือนก.พ.2561 เงินลงทุนประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็นจังหวัดระยอง 5 แห่ง จังหวัดชลบุรี 12 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แห่ง จากเดิมที่มีการกำหนดไปแล้ว 2 นิคม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ต ปาร์ก (Smart Park) จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 4 จังหวัดระยอง

นอกจากนี้ เห็นชอบการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ซี.พี. ระยอง เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รองรับ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่สื่อสารด้วยภาษาจีนเป็นเขต ส่งเสริมแห่งที่ 19 ทำให้พื้นที่อีอีซีมีเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 21 แห่ง รวมพื้นที่ 86,775 ไร่ รองรับการลงทุน 28,666 ไร่ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท

รายละเอียดทั้งหมดจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี (กนศ.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 1 ก.พ.นี้

ทั้งหมดเพื่อผลักดันให้อีอีซีเป็นศูนย์กลาง เป็นประตูเชื่อมเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด             

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 21 มกราคม 2561

50 ปีอาเซียน เออีซียุค 4.0

หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “อาเซียน” และ “AEC” แล้วในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่รู้กันหรือไม่ว่าในปี 2560 นี้...อาเซียนมีวาระครบรอบ 50 ปีแล้ว

นับตั้งแต่ตั้งแต่ได้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ตามปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ด้วยเหตุผลด้านเสถียรภาพของภูมิภาคในขณะนั้น และริเริ่มโดย 5 ประเทศ...จนกระทั่งมี 10 ประเทศสมาชิกในปัจจุบัน ขนาดประชากรกว่า 630 ล้านคน

กล่าวได้ว่า...อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สังคม การเมือง มีความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันแลสัมพันธ์ระหว่างกันและมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนก้าวเข้าสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ได้สำเร็จเมื่อ 31 ธันวาคม 2558

ที่สำคัญ...จะต้องไม่ลืมว่าประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 ประชาคมหลัก คือ การเมืองและความมั่นคง (APSC) เศรษฐกิจ (AEC) สังคมและวัฒนธรรม (ASCC)

ฉายภาพด้านเศรษฐกิจก่อนก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น นับย้อนไปตั้งแต่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา (AFTA) เมื่อปี 2535 เพื่อขยายเพื่อขยายการค้าโดยทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ทำให้ปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้าภายใต้อาเซียนส่วนใหญ่ลดเป็นศูนย์แล้ว

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีเป้าหมายที่หมายที่ครอบคลุม อาทิ การยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งพัฒนาเป็นความตกลงด้านการค้าสินค้า การจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการและการลงทุน ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจหรือไปให้บริการในประเทศอาเซียนอื่นได้ง่ายขึ้น

ปี 2550-2558 อาเซียนขับเคลื่อนดำเนินงานภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ “AEC Blueprint 2015”...เป้าหมายเพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง มีขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน ลดความยากจน รวมถึงความแตกต่างด้านสังคม...เศรษฐกิจ

มาตรการสำคัญที่ไทยและอาเซียนได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ การปรับประสานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ เช่น ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว...ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ...ระบบสืบค้นอัตราภาษี...ระบบ ASSIST ที่ให้นักธุรกิจสามารถร้องเรียนปัญหาการค้าการลงทุนมายังหน่วยงานภาครัฐของอาเซียนทางเว็บไซต์

รวมถึงจัดทำคลังข้อมูลทางการค้าของไทยผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.thailandntr.com น่าสนใจว่า...มาตรการเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาดการค้าสินค้า...บริการทั้งในอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค

ตอกย้ำความสัมพันธ์ “AEC”...ช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิก ส่งผลให้อาเซียนมีบทบาท ความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา...โดยในปี 2558 อาเซียนมีมูลค่าการค้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของจีดีพีโลก

ปัจจุบัน “อาเซียน” เป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของทวีปเอเชียรองจากจีน...ญี่ปุ่น และเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ของทวีปเอเชียรองจากจีน...ญี่ปุ่น และเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากจีน...อินเดีย ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าการค้าของไทยกับอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในปี 2536...ปีที่อาเซียนเริ่มลดภาษีเป็นร้อยละ 22.4 ในปี 2558

แล้วก็มาถึงด้าน “การลงทุน”...ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าจากอาเซียนที่เข้ามายังไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยมีมูลค่า 10,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 ในขณะที่ไทยออกไปลงทุนโดยตรงในอาเซียน 24,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ...คิดเป็นการขยายตัวเกือบ 30 เท่าในช่วง 3 ปีล่าสุด ปี 2556–2558 ไทยมีการลงทุนในกลุ่ม CLMV เพิ่มมากขึ้นด้วย

 บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศบอกว่า 50 ปีอาเซียน หากจะกล่าวถึงรูปธรรมที่จับต้องได้ ก็จะเป็นโครงการต่างๆที่ทำไปแล้วตามบลูปรินต์ 2015 ไม่ได้เป็นในเชิงเศรษฐกิจ แต่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก ในส่วนของความตกลง...บางเรื่องก็ยังมีที่คั่งค้างกันอยู่ ไม่ได้ให้สัตยาบันกันทุกประเทศ...แล้วบางฉบับก็อาจจะยังไม่มีผลใช้บังคับด้วยซ้ำไป...

“จริงๆนอกจากเอฟทีเอที่เปิดแล้วยังมีความร่วมมือต่างๆที่มากกว่าเอฟทีเอทั่วไป ซึ่งในแต่ละความร่วมมือเป็นรูปธรรมก็ไม่เชิง แต่ในแง่คนที่อยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องแต่ละความร่วมมือจะรู้สึกชัดเจนทราบได้ เช่น เอสเอ็มอี ทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มผู้ประกอบการ เพียงแต่ประชาชนทั้งประเทศโดยรวมอาจจะไม่เห็นเป็นรูปธรรมในส่วนนี้”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนจะเติบโตขึ้น อาเซียนตระหนักดีถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของโลกที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาเซียนจำเป็นต้องมองออกไปข้างนอกกลุ่มและเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับเศรษฐกิจโลก เพื่อให้อาเซียนมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของโลก และทำให้อาเซียนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

อาเซียนจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในภูมิภาค คู่ขนานไปกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมโยงกับภายนอกอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการจัดทำ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 5 ฉบับ กับ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ประตูอาเซียนเปิดกว้าง...คนทั่วไปเหมือนใกล้กันขึ้น การไปมาหาสู่กันเปิดมากขึ้นด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อตกลงให้คน แรงงานทั่วไปเข้ามาได้โดยอิสระ ยังเป็นกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศอยู่...เพียงเป็นกลไกปกติที่เกิดขึ้น“ยุทธศาสตร์เราค่อนข้างไปในแนวทางเดียวกับอาเซียน เน้นเรื่องการค้าบริการมากขึ้น เรื่องสินค้าทำมา

“ยุทธศาสตร์เราค่อนข้างไปในแนวทางเดียวกับอาเซียน เน้นเรื่องการค้าบริการมากขึ้น เรื่องสินค้าทำมานานแล้ว บางตัวเท่านั้นที่ยังอ่อนไหว แต่เน้นการค้าบริการมากขึ้น สาขาที่แต่ละประเทศอาจไปทบทวนเปิดมากขึ้น เป็นขั้นๆไป จริงๆกระทรวงฯก็ให้ความสำคัญกับอาเซียน ยุทธศาสตร์ประเทศก็ล้อกัน...ไทยแลนด์ 4.0”

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมียุทธศาสตร์อยู่แล้วแต่เพิ่งหมดไป ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระดมสมองกันอยู่ ยังไม่ได้ออกมาเป็นเอกสาร จุดเน้นยังคงเป็นเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า เจรจาเชิงรุก

เท่าที่ชัดเจนเลยที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการคือการเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กรมฯเร่งเป็นหลักทั้งอาเซียน และไทยไทยเองก็เน้นเฉพาะเรื่องนี้ในข้อตกลงหลายฉบับบางประเทศต้องการรีวิว...ให้ลึกซึ้งขึ้น แต่เรายังขอระงับไว้ก่อนเหมือนกับว่าในอนาคตทำแต่ละเรื่องชัดเจนมากขึ้น

ทำเรื่องที่คั่งค้างอยู่ให้สำเร็จก่อน มากกว่าจะไปเพิ่มเรื่องใหม่ๆข้อตกลงใหม่ๆเข้ามาอีก

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถาม...จะรู้ได้ยังไงว่าสัมพันธ์อาเซียนหรือเออีซีดีขึ้น มองเพียงแค่การส่งออกค้าๆขายๆแนวชายแดนดีขึ้นแค่นั้นได้ไหม บุณยฤทธิ์ บอกว่า ต้องมองมากกว่านั้นอาเซียนไม่ได้เกี่ยวพันกันแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ยังเกี่ยวโยงไปถึงเสาหลักการเมือง...ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม แต่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เชื่อมโยงกัน...แต่ไม่ชัดเจนเท่าเรื่องเสาเศรษฐกิจ “การค้าชายแดนไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจากเออีซี แต่เกิดขึ้นระหว่างทวิภาคีมากกว่า แล้วก็เป็นนโยบายประเทศทที่มุ่งไปให้สิทธิพิเศษตรงชายแดนระหว่างประเทศนั้นๆ”

อาเซียนมีความใกล้ชิดกับประเทศสำคัญๆและมหาอำนาจทุกขั้ว...คู่ขนานไปกับกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV สร้างหุ้นส่วนเศรษฐกิจทางยุทธศาสตร์ ประสานจุดแข็ง...เกื้อกูลประโยชน์กัน

คาดหวังกันว่าเศรษฐกิจการค้าไทยคงจะเข้มแข็ง เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 21 มกราคม 2561                              

แก้ปม “ยาง-น้ำตาล” อย่าสร้างปัญหาซ้ำ

นอกจากจะดูแลผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการเฟสที่สองแล้ว ในส่วนของสินค้าเกษตรปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าจะเร่งแก้ปัญหาพืชผลราคาตกต่ำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

เริ่มจากพืชเกษตรเศรษฐกิจหลักอย่างอ้อยและน้ำตาลกับยางพารา ที่รัฐกำลังปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ รื้อระบบการผลิต การค้าอ้อยและน้ำตาล ให้สอดรับกฎกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) ขณะเดียวกันก็เพิ่มมาตรการควบคุมดูแลยางพารา แก้ปัญหาชาวสวนยางถูกพ่อค้าเอารัดเอาเปรียบ รับซื้อผลผลิตในราคาที่ไม่เป็นธรรม

ในส่วนของอ้อยและน้ำตาลนั้น 15 ม.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 1/2561 แก้ไขกฎหมายรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ให้ราคาน้ำตาลลอยตัว

ขณะที่ยางพาราซึ่งราคาดิ่งลงต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 16 ม.ค. 2561 มีมติเห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการสต๊อกยาง

ทั้งสองกรณีมาจากเจตนาดีของรัฐบาลที่ต้องการจะสางปัญหาที่คั่งค้างมาตั้งแต่ปี 2560 ที่ถูกกล่าวหาจากบราซิลว่า ไทยอุดหนุนการผลิตอ้อยและน้ำตาล ส่วนการแก้ปัญหาราคายางนั้นคาดหวังว่า เมื่อยางพาราอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม จะทำให้รัฐมีข้อมูลสต๊อกยาง สามารถบริหารจัดการปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

ผลในทางปฏิบัติจะเป็นไปอย่างที่รัฐคาดหวังหรือไม่ ยังต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพฝุ่นตลบกำลังเกิดขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ธุรกิจเครื่องดื่ม อาหาร ที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ไม่ต่างไปจากกรณียางพารา ที่เวลานี้ชาวสวนยาง พ่อค้า ผู้ส่งออกยาง แม้กระทั่งนักวิชาการต่างอยู่ในสภาพมึนงง เพราะมองไม่ออก และคาดเดาไม่ถูกว่ารัฐจะนำเครื่องมือกลไกใดมาใช้หนุนให้ราคายางภายในประเทศขยับขึ้น ขณะที่ราคายางในตลาดโลกยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

ที่สำคัญ หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า ถ้าหากระเบียบ กฎหมายที่ถูกนำมาใช้บังคับไม่ได้ตอบโจทย์ หรือช่วยให้รัฐบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการปัญหาที่ต้องเร่งแก้ได้ตรงจุดจริง แต่กลับก่อให้เกิดความยุ่งยากล่าช้า แทนที่จะส่งผลดีก็อาจจะสร้างปัญหา ทำให้ภาคธุรกิจ ชาวไร่อ้อย ชาวสวนยาง รวมทั้งผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากขึ้นอีก

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 มกราคม 2561

ก.ม.นํ้าลากยาวถกต่อ 90 วัน นายกฯใช้ม.44 โยกบุคลากร-เล็งยุบ25ลุ่มน้ำแบ่งเขตใหม่

กมธ.ขยายเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้ารอบ 5 อีก 90 วัน ลั่นต้องละเอียด รอบคอบ รัดกุม ยํ้าเกษตรเพื่อยังชีพไม่ต้องจ่ายค่านํ้า ด้านเลขาธิการกนช.แย้มนายกฯจะใช้ ม.44 โยกย้ายบุคลากรสู่องค์กรใหม่ เล็งยุบ 25 ลุ่มนํ้าลดซํ้าซ้อน

 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ...ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้รับหลักการตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2560 ได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและได้มีการขยายเวลาพิจารณาร่างฯมาแล้ว 4 รอบ โดยจะครบกำหนดในวันที่ 25 มกราคม 2561 นี้นั้น

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางคณะได้พิจารณาร่างฯครบ 8 หมวด 100 มาตราแล้ว แต่ได้กลับมาพิจารณารอบ 2 กันใหม่ ล่าสุดได้พิจารณาถึงมาตรา 73 ทั้งนี้เพื่อให้มีความรอบคอบ ละเอียด และรัดกุม โดยเฉพาะมาตราเรื่องการจัดสรรนํ้าใน 3 ประเภท ได้แก่ เกษตรเพื่อยังชีพ เกษตรพาณิชย์ และเพื่ออุตสาหกรรม จะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะเกษตรเพื่อยังชีพ กับเกษตรพาณิชย์ ซึ่งในหลายมาตราได้นำความคิดเห็นของทุกกลุ่มมาจัดลำดับ และให้กมธ.ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ยังไม่ได้ข้อสรุปอีกมาก

“ล่าสุดที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบที่จะขยายระยะเวลาการพิจารณาร่างฯออกไปอีก 90 วัน (ดูกราฟิกประกอบ)ซึ่งหากครบกำหนดรอบที่ 5 ในปลายเดือนเมษายนนี้ ก็จะครบ 1 ปีของการพิจารณาร่างกฎหมาย”

 สอดคล้องกับนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองเลขานุการ คณะกรรมาธิการวิสามัญและในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่าในระหว่างการพิจารณากฎหมายนี้ ควบคู่กับการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 46/2560 จะต้องมีการจัดสรรอัตรากำลังใหม่ โดยจะดึงบุคลากรมาจากหน่วยงานต่างๆ จำเป็นที่จะต้องใช้คำสั่ง ม.44 ในการโยกย้าย โดยหลักการนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแล้ว พร้อมกับปรับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งใหม่ให้สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรนํ้าฯ กล่าวคือ จากผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) เป็นเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.)

ทั้งนี้การจัดตั้งสำนักงานจะต้องมี 6 ส่วนงานหลัก อาทิ 1. สำนักงานเลขานุการกรม ซึ่งเป็นการกำหนดตามหลักมาตรฐานของการจัดทำโครงสร้างองค์กรโดยทั่วไป 2. สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ เป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับหมวด 3 องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า ตามร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... 3. กองนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นส่วนงานที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์ 4. กองวิเคราะห์โครงการและงบประมาณ 5.กองสารสนเทศทรัพยากรนํ้า ซึ่งปรับเปลี่ยนเป็น “ศูนย์อำนวยการนํ้าแห่งชาติ” จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลเฉพาะ เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรนํ้าที่ได้จากหลายภาคส่วนมาวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์นํ้าเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ เป็นต้น

 “หลังจากที่กฎหมายแล้วเสร็จ จะมีการรับฟังความคิดเห็นของแต่ละลุ่มนํ้า โดยในแต่ละลุ่มนํ้าจะมีการจัดแบ่งใหม่ อาจจะยุบลุ่มนํ้าเพื่อลดความซํ้าซ้อน เนื่องจากที่มาของการแบ่งเขต 25 ลุ่มนํ้าในปัจจุบันเป็นการแบ่งตามหลักอุทกวิทยา ของคณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ ซึ่งหากยึดตามหลักการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของประเทศอาจจะทำให้การบริหารไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร บางลุ่มนํ้าอาจจะยุบเพื่อลดความซํ้าซ้อน”

 นอกจากนี้จะให้คณะกรรมการลุ่มนํ้าแต่ละลุ่มนํ้าเป็นผู้กำหนดปริมาณการใช้นํ้าของแต่ละอาชีพ ขึ้นอยู่กับปริมาณนํ้าต้นทุน ยกตัวอย่าง ชาวนาจังหวัดเชียงรายใช้นํ้าทำนาต่างจากชาวนาที่ชัยนาท แต่ก่อนที่จะประกาศใช้จะรับฟังความคิดเห็นก่อน ซึ่งยืนยันว่านํ้าเพื่อเกษตรยังชีพทุกคนจะได้รับสิทธิเข้าถึงและไม่มีการเก็บค่านํ้า

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 20 มกราคม 2561

เกาะติดอีอีซี ดันไบโออีโคโนมี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมีเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพให้ขยายตัวจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ไปสู่ยังจังหวัดอื่นๆ ที่มีแหล่งวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่าง จ.ขอนแก่น และภาคกลางตอนบนเช่น จ.นครสวรรค์ ซึ่งเพาะปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต

“แผนการพัฒนาไบโออีโคโนมีเป็นการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทางการเกษตรก่อนในเบื้องต้น และจะมีการต่อยอดอุตสาหกรรมการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปอื่นๆโดยนำพืชที่มีศักยภาพทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ มาพัฒนา”

ส่วนความคืบหน้าพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกนั้น ขณะนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว คาดว่าในเร็วๆ นี้ น่าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ได้ และหลังจากนั้น คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 20 มกราคม 2561

40 บิ๊กธุรกิจหมีขาว ตบเท้าลงทุนอีอีซี

40 บิ๊กธุรกิจแดนหมีขาวยันมาแน่ปลายก.พ.นี้ แย้มรายชื่อมีทั้งยักษ์ใหญ่ไฮเทคเครื่องบิน ยานยนต์ โลจิสติกส์ หวังปักฐานในอีอีซีแข่งญี่ปุ่น ขณะเป้าการค้า 2 ฝ่าย 1 หมื่นล้านดอลล์ ยอดโตวันโตคืน

จากที่นักธุรกิจคณะใหญ่สุดจากรัสเซีย มีแผนเดินทางเยือนไทย เพื่อดูลู่ทางการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)นั้น นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เดิมคณะนักธุรกิจรัสเซียวางแผนจะมากลางเดือนมกราคม แต่ล่าสุดได้แจ้งเลื่อนเป็นปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เนื่องจากล้วนเป็นผู้บริหารของบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ประมาณ 30-40 คน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของรัสเซีย และครอบครองวิทยาการชั้นสูงในหลากหลายสาขา ได้แก่ การบิน, ก่อสร้าง, ปิโตรเคมี,พลังงานทั้งนํ้ามัน ก๊าซ และนิวเคลียร์, ยา,โลจิสติกส์ ทั้งทางนํ้าและอากาศ รวมถึงดิจิตอลไอทีด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี และผู้ให้บริการระบบไฮเทคโซลูชันต่างๆ ซึ่งทั้งหมดอยู่กลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่รัฐบาลไทยจะดึงการลงทุนในอีอีซี

“ตารางเวลาที่ผู้บริหารบริษัทชั้นนำจะเดินทางมาพร้อมกันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมค่อนข้างมาก โดยครั้งนี้มาภายใต้การนำของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าของรัสเซีย ซึ่งกำหนดการที่ชัดเจน รวมถึงรายชื่อผู้บริหารของบริษัทชั้นนำที่จะมาครั้งนี้ ทางสภาธุรกิจไทย-รัสเซียอยู่ระหว่างประสานขอข้อมูลไป ได้รับแจ้งว่ายังไม่นิ่ง”

อย่างไรก็ดีรายงานจากสภาธุรกิจไทย-รัสเซียระบุผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ของรัสเซียที่จะเดินทางมาครั้งนี้ อาทิ บริษัท Sukhoi Civil Aircraft ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารที่มีชื่อเสียงในรัสเซีย, JSC Russian Helicopters ผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ ชั้นนำของโลก, Open Joint Stock Company Research and Production Corporation “Ural” ผู้ผลิตรถยนต์ รถถัง รถสำหรับก่อสร้างถนน, Rostec บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในรัสเซีย มีเครือข่ายกว่า 700 บริษัททั่วโลก ผลิตสินค้าครอบคลุมหลากหลาย และ Fesco Group กิจการโลจิสติกส์และเดินเรือชั้นนำ เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 20 มกราคม 2561

สหรัฐจ่อ “มหาอำนาจ” น้ำมัน พลิกโฉมตลาดพลังงานครั้งใหญ่

อเมริกาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก ซึ่งที่ผ่านมาหลายสิบปีต้องพึ่งพาการซื้อน้ำมันจากนอกประเทศมาก อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการขุดน้ำมันแบบใหม่ที่ช่วยให้สามารถขุดน้ำมันจากชั้นหินดินดานหรือ “เชลออยล์” มาใช้ได้ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันและก๊าซในสหรัฐอเมริกาค่อนข้างบูมเพราะมีแหล่งสำรองน้ำมันชนิดนี้อยู่มาก มีผู้ประกอบการขุดเจาะเชลออยล์เกิดขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งจุดนี้นำไปสู่แนวโน้มใหม่ในสายตาของนักวิเคราะห์ด้านน้ำมันว่า อีกไม่นานสหรัฐไม่เพียงจะเป็นมหาอำนาจด้านการทหารและเศรษฐกิจ แต่จะเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานด้วย

“มาร์ติน แฟรนเคล” ประธานเอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ เชื่อว่า ปัจจุบันสหรัฐอยู่ในสถานะที่พร้อมจะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านพลังงานโลก เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดกำลังเกิดขึ้นแล้ว เราคาดว่าภายในปลายทศวรรษ 2020 สหรัฐจะเป็น 1 ใน 10 ของผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สหรัฐจะกลายเป็นผู้ส่งออกมากกว่านำเข้า เมื่อถึงตอนนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาดพลังงาน และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย ช่วยให้สหรัฐลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตะวันออกกลางที่มีปัญหาปั่นป่วนอยู่เนือง ๆ

ก่อนหน้านี้องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ได้คาดการณ์ไว้เช่นกันว่า ภายใน 10 ปีอเมริกาจะกลายเป็นผู้ส่งออกสุทธิน้ำมัน โดยจากนี้ไปจนถึงปี 2025 ผลผลิตน้ำมันของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ โดยน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ซาอุดีอาระเบียผลิตในช่วงทศวรรษ 1960-1970 นอกจากนี้ผลผลิตก๊าซธรรมชาติของสหรัฐจะมีอัตราการเพิ่มสูงกว่าผลผลิตของรัสเซียในช่วงที่รัสเซียขุดก๊าซได้จากแหล่งไซบีเรีย

ส่วนในแง่การ “ส่งออกก๊าซธรรมชาติ” คาดว่าสหรัฐจะแซงกาตาร์ขึ้นเป็นผู้ส่งออกก๊าซแอลเอ็นจีรายใหญ่สุดในโลกภายในปี 2020 โดยคาดว่าเอเชียจะเป็นตลาดที่ต้องการบริโภคก๊าซมาก เชื่อว่า 70% ของแอลเอ็นจีที่ส่งออกทั่วโลกจะส่งขายให้กับเอเชีย

นับตั้งแต่สหรัฐสามารถขุดเจาะเชลออยล์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดต่ำลง สั่นสะเทือนเจ้าตลาดผู้ทรงอิทธิพลเดิมอย่างกลุ่มโอเปกซึ่งพยายามประคองราคาด้วยการลดกำลังการผลิต แต่เมื่อใดก็ตามที่ผลจากการลดกำลังผลิตนั้นมีผลดันราคาให้สูงขึ้น สหรัฐก็มักจะฉวยโอกาสผลิตเชลออยล์ออกมาอย่างรวดเร็ว กดดันให้ราคาต่ำลงไปอีก จึงดูเหมือนว่าศึกครั้งนี้ยังไม่เห็นทางยุติง่าย ๆ เพราะฝ่ายหนึ่งคือโอเปกต้องการทำให้อุปทานและอุปสงค์น้ำมันสมดุลกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา แต่สหรัฐกลายเป็นตัวคอยทำลายเสถียรภาพราคา

โกลด์แมน แซกส์ ได้ปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันปีนี้เป็น 62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ยสำหรับน้ำมันดิบเบรนต์ และ 57.50 ดอลลาร์สำหรับน้ำมันดิบ WTI จากเดิม 58 และ 55 ดอลลาร์ตามลำดับ เพราะเชื่อว่าการลดกำลังผลิตของโอเปกจะช่วยหนุนราคาเอาไว้ได้ตลอดปี แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนแย้งว่า การขยับขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น

จากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น นอกจากนี้ผลผลิตน้ำมันจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้นก็จะกดราคาลงไปเช่นเดิม ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะกลับลงไปแตะ 50 ดอลลาร์ภายในสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ และไม่น่าแปลกใจหากจะลงไปถึง 45 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของรัฐมนตรีน้ำมันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เชื่อว่าปีนี้ตลาดน้ำมันจะเกิดความสมดุลอย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้เห็นบรรยากาศทางบวกของตลาด ตลาดกำลังปรับสมดุล ประเด็นอยู่เพียงแค่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และใช้เวลานานเท่าใด แต่ยอมรับว่าในระหว่างทางก็อาจมีการปรับฐานบ้าง แต่ไม่ว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับใด สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนแล้วจากการถือกำเนิดของเชลออยล์ก็คือ โอเปกที่เคยผูกขาดตลาดไม่สามารถควบคุมราคาน้ำมันตลาดโลกอีกต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 มกราคม 2561

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 41 เดือน ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวนเกือบตลอดสัปดาห์

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (15-19 ม.ค. 2561) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 41 เดือนช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ ทยอยฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโรที่เผชิญแรงกดดันบางส่วนจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินยูโรในช่วงที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่ ECB

อย่างไรก็ดี เงินบาทสามารถดีดตัวกลับมาทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 41 เดือนครั้งใหม่ที่ 31.82 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ กลับมาเผชิญแรงเทขายอีกครั้งในระหว่างที่รอข้อสรุปของร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวจากสภาคองเกรส ซึ่งมีเส้นตายวันที่ 19 ม.ค. นี้ สำหรับในวันศุกร์ (19 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 31.85 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 31.93 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 ม.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.60-32.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยอาจต้องจับตาตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนธ.ค. 2560 ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญอื่นๆ ระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนธ.ค. รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2560 นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ซึ่งอาจจะมีสัญญาณเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่เตรียมจะดำเนินการในระยะต่อไป

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวนเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,821.34 จุด เพิ่มขึ้น 0.62% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 1.4% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 81,249.26 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 528.92 จุด ลดลง 1.61% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ได้รับปัจจัยบวกในหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี จากการคาดการณ์ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2560 และหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและวัสดุก่อสร้าง จากสัญญาณความคืบหน้าของพ.ร.บ. อีอีซี ที่คาดว่ายังคงประกาศใช้ภายในกำหนดเดิมไม่เกินเดือนมี.ค.นี้ อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ต้องเผชิญแรงกดดันในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองในประเทศ ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารที่ออกมาต่ำกว่าคาด ประกอบกับมีประเด็นความกังวลในเรื่องการปรับฐานของตลาด และการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,810 และ 1,800 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,835 และ 1,850 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 4/60 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานจีดีพีไตรมาส 4/2560 ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนธ.ค. ตลอดจนดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนม.ค.

ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของประเทศในแถบยุโรป และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของญี่ปุ่น

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 19 มกราคม 2561

ชาวไร่อ้อยโคราชโอดได้รับความเดือดร้อยรัฐปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลเหตุรายได้ลดค่าใช้จ่ายพุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครราชสีมาว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง ม.44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เป็นผลให้รัฐยกเลิกการอุดหนุนราคาอ้อยและน้ำตาลทรายโดยตรง ยกเลิกกำหนดโควตาน้ำตาลทราย ยกเลิกกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน โดยปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานลดลงประมาณ 2-3 บาท จากเดิมปกติ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเฉลี่ย 17-18 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ล่าสุดจากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 17 มกราคม เพื่อไปสอบถามชาวไร่อ้อย ในพื้นที่ ต.หนองระเวียง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงกำลังตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลนั้น พบว่ายหลายคนก็รู้สึกกังวัลใจเกี่ยวกับราคาอ้อย ที่จะลดลงไปตามกลไกตลาด

นางจำรัส สดโคกกรวด อายุ 50 ปี ชาวไร่อ้อย บ้านทิพย์ประชา ต.หนองระเวียง อ.พิมาย กล่าวว่า ตอนนี้ชาวไร่อ้อยก็ได้รับความเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก ซึ่งมีค่าน้ำแรง ค่าน้ำมัน และค่าปุ๋ยบำรุงดูแล ที่ราคาสูงขึ้นทุกปี ตนเองปลูกอ้อยบนเนื้อที่ 9 ไร่ ใช้เงินลงทุนไปทั้งหมดกว่า 50,000 บาท ไม่รู้ว่าจะได้กำไรกี่บาท ถ้ารัฐบาลปล่อยให้ราคาอ้อยลอยตัวก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้กับเกษตรกรอีก จึงอยากให้หามาตรการอื่นมาช่วยเหลือด้วย

นายสัมฤทธิ์ ชูพันธ์ อายุ 62 ปี ชาวไร่อ้อย ต.หนองระเวียง อ.พิมายอีกราย กล่าวว่า ตอนนี้ราคาอ้อยหน้าโรงงาน ขายเฉลี่ยอยู่ที่ราคาตันละ 850-900 บาท ซึ่งถือว่าพออยู่ได้ แต่หลังจากที่รัฐบาลปล่อยให้ราคาลอยตัวตามกลไกตลาด ก็จะทำให้ราคาลดลงอีก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะค่าครองชีพก็สูงขึ้น แต่ราคาอ้อยกลับลดลง จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในส่วนนี้ด้วย

นางลำหวล แสนสุข อายุ 63 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อย บ้านบ่อสาม หมู่9 ต.นิคม อ.พิมาย กล่าวว่า ตนเองนั้นได้ปลูกอ้อยแปลงใหญ่ กว่า 100 ไร่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะค่าแรง ซึ่งขณะนี้ก็กำลังมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเข้ามาด้วย นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตั้งแต่ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าบำรุงรักษา รวมทั้งค่าเครื่องจักร ที่กว่าจะถึงขั้นตอนการตัดอ้อย รวมแล้วค่าใช้จ่ายเกินครึ่งของเงินที่จะขายได้ เมื่อเฉลี่ยรายได้ต่อปีก็จะไม่ค่อยคุ้มทุนนัก ถ้ายิ่งมาลดราคาอ้อยหน้าโรงงานอีก ก็ยิ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 19 มกราคม 2561

ปิดทองฯ ชงรัฐบาลช่วยเกษตรกรเลิกจน พัฒนาแหล่งน้ำ 8 พันแห่งทั่วประเทศ เพิ่มรายได้ 4.8 หมื่นล้าน

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ชงรัฐบาลพลิกฟื้นเกษตรกรเลิกจน ด้วยจัดงบ 2 หมื่นล้านบาท พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 8 พันแห่งทั่วประเทศ ใช้เวลาแค่ 5-6 เดือน เพิ่มรายได้เกษตรกรกว่า 4.8 หมื่นล้าน

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล  เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ  เปิดเผยว่า ขอนำเสนอแนวทางให้รัฐบาลพิจารณาโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรที่เห็นผลเร็วภายใน 5-6 เดือน ถ้าทำสำเร็จจะทำให้เกิดรายได้ เพิ่มขึ้นราว 30,000-48,000 ล้านบาทในท้องถิ่นและส่งผลให้เกิดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจอีก 12 เท่า ผลักดันจีดีพีได้  0.2%  ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่แล้ว 8,403 แห่ง ใน 69 จังหวัด ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ

แบ่งเป็นชลประทานขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดําริ  1,317 แห่งและโครงการชลประทานขนาดเล็กของกรมชลประทาน ที่ได้ถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,086 แห่ง ซึ่งการซ่อมแซมและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่นี้ใช้งบประมาณสูงสุดไม่เกิน 20,000 ล้านบาท  เพราะต้นทุนเท่าที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เคยร่วมทำมาแล้วในหลายจังหวัด ประมาณ 500  กว่าแหล่งน้ำ ปรากฎว่า 80% ใช้งบประมาณแค่  400,000 บาทต่อแห่งเท่านั้น ถ้าขนาดใหญ่ก็จะใช้เงินมากหน่อย

“ ผมเคยเสนอแนวคิดเรื่องนี้มาหลายเวทีแต่ยังไม่เกิดขึ้นจริง  หากทำได้ตามนี้จริงปริมาณน้ำทั้งหมดจะได้กว่า 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม) เทียบเท่ากับเขื่อนรัชประภาทั้งเขื่อน มีศักยภาพในการนําน้ำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ 12 ล้านไร่ ต่างจากการทำเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาสร้างหลายปี เสียงบประมาณจำนวนมาก และยังไม่ตอบโจทย์ช่วยชาวบ้านอย่างเต็มที่ แต่ถ้าทำวิธีนี้เพียงแค่ซ่อมแซมและต่อท่อถึงชาวบ้านเสร็จก็ใช้น้ำได้เลย ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาที่เห็นผลรวดเร็ว และเป็นการนำแหล่งน้ำในทุกพื้นที่ของประเทศที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเกษตรกรจะไม่ต้องเสียโอกาสในการพัฒนาชีวิต”

ม.ร.ว.ดิศนัดดา  กล่าวว่า ปัจจุบันแหล่งน้ำขนาดเล็กดังกล่าว มีความเสียหายเกิดจากอายุการใช้งาน และภัยธรรมชาติ เช่น หน้าฝายถูกน้ำกัดเซาะ ปากฝาย ประตูน้ำ สันฝาย ท้ายฝายชํารุดตะกอนหน้าฝายกักเก็บน้ำได้น้อยลง สําหรับโครงการชลประทานขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ยังอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน บางแห่งยังไม่มีระบบกระจายน้ำเข้าแปลงเกษตร โดยเฉพาะโครงการกรมชลประทานถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เมื่อเกิดความชํารุดเสียหาย ไม่ได้จัดตั้งงบประมาณในการซ่อมแซม และ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชํานาญด้านวิศวกรรมชลประทาน

ทั้งนี้ การปรับปรุงและเสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำดังกล่าวสามารถดําเนินการได้เร็ว และใช้งบประมาณน้อย อีกทั้งสามารถดำเนิการภายใต้โครงการประชารัฐ ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และชุมชน ดังตัวอย่างความสําเร็จของโครงการซ่อมแซม ปรับปรุง และเสริมประสิทธิภาพฝายในจ.น่าน และจ.อุดรธานี รวม 1,139 โครงการ ที่ใช้เวลาเฉลี่ย 26 วัน ฝายที่ใช้ระยะเวลามากที่สุด 85 วัน โดยราษฎรสละแรงงาน หน่วยงานราชการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขียนแบบ ถอดแบบประมาณการ ตามคู่มือฝายชะลอน้ำพอเพียงตามแนวพระราชดําริ ของกรมชลประทาน ใช้งบประมาณ ระหว่าง 4,000 บาท – 3 ล้านบาท

 “หากเริ่มดําเนินการซ่อมแซมฝายฯ ในเดือนมกราคม 2561 จะแล้วเสร็จทันช่วงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม 2561 สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ทําการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง  เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิจากการปลูกพืชหลังนา 4 เดือน ในอัตราเฉลี่ยไร่ละ 4,000 บาท ทําให้เกิดรายได้รวมเฉลี่ย 48,000 ล้านบาท”  ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิ่มเติมว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานายวิวัฒน์ ศัลยกำจร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกประชุมผู้บริหารกรมต่างๆ เพื่อหารือกับผู้แทนสถาบันปิดทองหลังพระฯเพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเกษตรกรผ่านงบกลางปีของรัฐบาล ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ผู้บริหารกระทรวง ฯให้ความสนับสนุนโครงการเร่งซ่อมแซม ปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็ก 8,403 แห่งที่ชำรุด  โดยทางกรมชลประทานแสดงความพร้อมที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนแหล่งน้ำพระราชดำริ 1,317 แห่ง ส่วนแหล่งน้ำถ่ายโอนภารกิจ ไปให้ อปท.แล้ว  7,086 จะต้องประสานหาความเห็นชอบจากกรมการปกครองต่อไป จึงจะดำเนินการได้ ขณะที่นายวิวัฒน์ จะเตรียมระดมเครือข่ายต่างๆ จากภาคประชาชน ตลอดจนเครือข่ายมูลริธิปิดทองหลังพระ ฯ เข้าร่วมดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความสำเร็จสูงสุดด้วย

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 18 มกราคม  2561

เปิดแผนปฏิรูปพลังงาน 5 ปี

คณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน ชูโรดแมพ 5 ปี ปฏิรูป 6 ด้าน มั่นใจสร้างธรรมาภิบาล เสริมฐานความเข้มแข็ง หนุนแข่งขันด้านพลังงานทดแทน ควบคู่การอนุรักษ์พลังงานโดยประชาชนมีส่วนร่วม 

นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานพร้อมคณะกรรมการฯ เปิดเผยความก้าวหน้าและสาระสำคัญของแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน หรือโรดแมพการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานระยะเวลา 5 ปี  (พ.ศ.2561 – 2565) ว่า จากการศึกษาของคณะกรรมการฯ จะดำเนินการปฏิรูป 6 ด้าน ครอบคลุม 17 ประเด็นด้านนโยบายพลังงานของประเทศ เบื้องต้นมั่นใจว่าแนวทางการปฏิรูปจะสร้างผลประโยชน์ด้านพลังงานที่ประชาชนและประเทศได้รับอย่างแท้จริงและอยู่บนพื้นฐานที่ทุกภาคส่วนยอมรับ พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

สำหรับการปฏิรูปด้านพลังงาน 6 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างธรรมาภิบาลการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ ปฏิรูป 3 ประเด็น ได้แก่ ปฏิรูปองค์กรด้านพลังงานเพื่อให้มีองค์กรที่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติเพื่อให้มีฐานข้อมูลด้านพลังงานที่ทันสมัย ถูกต้อง ได้รับความเชื่อถือ และสร้างธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียมกันเพื่อนำไปสู่การลดข้อขัดแย้งในสังคมและนำไปสู่การยอมรับของประชาชนในนโยบายพลังงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ

2.พัฒนาด้านไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงพลังงานประเทศ ปฏิรูป 3 ประเด็น คือ ปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่คํานึงถึงความสมดุลรายภาค และเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าสำหรับจุดที่มีความเสี่ยงและมีความสำคัญต่อประเทศ ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า และส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองภายในชุมชน และปรับโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้าโดยบูรณาการหน่วยงานกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าและการลงทุนของประเทศ

3.ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมีมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติและสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่จากปิโตรเคมี ปฏิรูป 2 ประเด็น อาทิ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ และการพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4  4. สนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ปฏิรูป 4 ประเด็น ประกอบด้วย ปฏิรูประบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งเสริมการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี และปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งเพื่อสร้างกรอบและโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งที่เหมาะสมกับประเทศ

5.อนุรักษ์และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนพลังงานของประเทศ ปฏิรูป 3 ประเด็น คือ  ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มอุตสาหกรรม การใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน และการใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน สำหรับหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.กำหนดทิศทางการพัฒนา การลงทุน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ ปฏิรูป 2 ประเด็น เช่น การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน

นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าแนวทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศจะเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยจากโรดแมพทั้ง 6 ด้าน 17 ประเด็นเบื้องต้นคาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นปี 2561- 2562 จะมีศูนย์บริการแบบครบวงจร หรือ One Stop Service ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจไฟฟ้า พร้อมจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตพื้นที่การตั้งโรงไฟฟ้าจะเกิดจากประชาชนเสนอเองเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งเกิดการปรับแผนการจัดหาพลังงานใหม่ทั้งไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน มีการปรับโครงสร้างบริหารกิจการไฟฟ้าและส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทน มีการริเริ่มการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจากปิโตรเคมี และรัฐบาลสามารถกำหนดทิศทางลงทุนและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานที่ได้รับการยอมรับจากผู้ลงทุน

ขณะที่ระยะกลาง ปี 2563 - 2565 การบริหารจัดการด้านพลังงานมีธรรมาภิบาลได้รับการยอมรับจากประชาชน ลดการผูกขาดสร้างการแข่งขันในทุกกิจการพลังงานประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานราคาที่เป็นธรรม โดยได้รับคุณภาพและการบริการที่ดีขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปตามแผนการจัดหาที่ปรับปรุงใหม่ ทั้งโรงไฟฟ้า สายส่ง และระบบท่อ มีการลงทุนด้านพลังงานทั้งพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน อันนำไปสู่มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200,000 – 300,000 ล้านบาท และจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

นายกวิน ทังสุพานิช กรรมการและเลขานุการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเสร็จ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอต่อที่ประชุมร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมกราคมนี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างแผนปฏิรูปประเทศภายในเดือนมีนาคม 2561 และรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบและประกาศบังคับใช้ภายในต้นเดือนเมษายน 2561

จาก http://www.tnamcot.com  วันที่ 18 มกราคม  2561

“บิ๊กตู่” ผ่าตัดสินค้าเกษตร สกัดเก็งกำไรยาง-ลอยตัวน้ำตาล

โค้งสุดท้ายรัฐบาล “ตู่” ทุ่มสุดตัวพร้อมดูแลราคาสินค้าเกษตร ยางพารา-ข้าว-อ้อย เน้นเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร “พาณิชย์-เกษตรฯ” บูรณาการ ”big-data” ร่วมกัน งัด พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเป็นกลไกหลักจับยางแผ่น-ยางก้อนขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม หวังติดตามปริมาณสต๊อก-ความเคลื่อนไหว เดินหน้ารื้อใหญ่อุตสาหกรรมอ้อย ใช้ ม. 44 ปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ฟากโรงงานหวั่นสุดท้ายกลายเป็น “อั้ว” ราคาขาย

ผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ กับชาวสวนยาง พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออกยาง การประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลจะกระทบอุตสาหกกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมากน้อยแค่ไหน

นายบุญส่ง  นับทอง ที่ปรึกษาสามคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ถ้าทำให้ราคายางในประเทศดีขึ้น และช่วยแก้ปัญหาที่ชาวสวนยางถูกพ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออกเอาเปรียบก็จะดีมาก แต่ยังมองไม่ออกว่าเครื่องมือกลไกกฎหมายนี้ทำงานอย่างไร

จึงต้องรอให้ชัดว่ากระทรวงพาณิชย์จะตรวจสอบประเด็นไหนถ้าตรวจสต๊อกกรณีซื้อยางพาราจากเกษตรกรในราคาต่ำมาเก็งกำไร แล้วค่อยขายในราคาที่สูงผิด เคสนี้จะเป็นประโยชน์กับชาวสวนยาง

เพราะราคายางวันนี้ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 43-45 บาท สวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันให้ถึง 65 บาท/กก.ทั้งที่พ่อค้ารับซื้อแค่ 40 กว่าบาท/กก. ที่สำคัญกลางเดือน ก.พ.นี้ จะเข้าฤดูหยุดกรีดยางแล้ว ถึงตอนนี้ผลผลิตยางในมือเกษตรกรจะไม่มีเหลืออีก ถ้าราคายางปรับขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.ก็แทบไม่มีผลต่อชาวสวนยาง

สอดรับกับรายงานที่ระบุว่า ราคายางในช่วง 3 เดือนมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น จากที่รัฐกำหนดมาตรการจำกัดการส่งออกยาง 3 เดือน ซึ่งส่งผลให้ยอดส่งออกยางจะหายไปเดือนละ 80,000 ตัน แต่จะกลับไปส่งออกในเดือน 4-6 ซึ่งเป็นช่วงที่ยางพลัดใบ และมีทิศทางปรับสูงขึ้นแน่ ดังนั้นถ้าราคายางปรับขึ้นในช่วงนั้นจริงก็น่าจะมาจากปริมาณยางในตลาดลดน้อยลงจากฤดูปิดกรีดยางกับการจำกัดปริมาณการส่งออก

นายเชาว์  ทรงอาวุธ อดีตรองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังไม่มั่นใจว่าการกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมจะข่ายดันราคายางสูงขึ้นได้หรือไม่ เพราะต่างจากสินค้าควบคุมอื่นๆ  ซึ่งสินค้ายางจะส่งออกเป็นหลักจึงต้องจับตาดูว่าในทางปฏิบัติจะมีผลอย่างไรทำได้มากน้อยแค่ไหน การซื้อขายยางเป็นการซื้อขายล่วงหน้า 3-6 เดือน อย่างช่วงนี้ซื้อขายถึงเดือน พ.ค.- มิ.ย. แล้ว อีกทั้งมีการซื้อขายเก็งกำไรเหมือนตลาดหุ้น รัฐจึงอาจควบคุมให้ราคาขึ้นหรือลงได้ลำบาก

ท.พ.พงษ์ศักดิ์   เกิดวงศ์บัณฑิต  กรรมการผู้จัดการ บจ.วงศ์บัณฑิต  กล่าวว่า ผู้ส่งออกยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐที่กำหนดให้ยางเป็นสินค้าควบคุม แต่มองว่าการใช้มาตรการนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ที่จะทำให้ราคายางขยับขึ้น ถ้ารัฐต้องการจะตรวจสสต๊อกก็สามารถทำได้อยู่แล้วตามกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมยางฯที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำหนดให้ผู้ส่งออกรายงานสต๊อกทุกเดือน แต่ถ้าจะกำหนดราคาแนะนำรับซื้อ เหมือนปาล์มน้ำมันก็ต้องกำหนดราคาแนะนำการขายด้วย

ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มได้นัดหารือด่วน เพื่อประเมินสถานการณ์รวมทั้งผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดลอยตัว โดยนายประจวบ  ตยาคีพิสุทธิ์  รองประธานกรรมการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวกับ ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นได้รับทราบถึงคำสั่งของ คสช.เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำตาลลอยตัวแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่อไปอย่างไร เนื่องจากต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยในวันที่ (17 ม.ค.) ทางสมาคมได้นัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกัน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 มกราคม  2561

อินเดียตกลงแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ระดมนวัตกรรมหนุนไทยพัฒนาภาคการเกษตร

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดีย ด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 4 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยได้ถือโอกาสดังกล่าวหารือร่วมกับผู้แทนศูนย์สารสนเทศแห่งชาติ (NIC) ของอินเดีย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการด้านการเกษตร รวมทั้งนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตรของอินเดีย โดยเฉพาะโครงการและซอฟต์แวร์ด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพที่ NIC ได้ดำเนินการ รวมทั้งนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตรของอินเดีย

“ศูนย์สารสนเทศแห่งชาติ (NIC) เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในโครงการออกแบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารและบริการของภาครัฐ หรือ e-Governance รวมถึงการพัฒนาและใช้งานระบบ e-Governance ในหลายสาขา โดยเฉพาะด้านเกษตรและอาหาร ด้านพัฒนาพันธุ์สัตว์ ด้านประมง ด้านป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีด้านการสำรวจระยะไกล และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ระบบการรายงานและติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคสัตว์ โปรแกรมการรวบรวมข้อมูลผู้ค้าปุ๋ย เครื่องจักรกลการเกษตร เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง และมีบริการให้คำแนะนำเกษตรกรผ่านข้อความ SMS” นายกฤษฎา กล่าว

โดยเบื้องต้นทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะให้มีความร่วมมือระหว่างศูนย์สารสนเทศแห่งชาติ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบของทั้งฝ่ายหารือรายละเอียดของความร่วมมือต่อไป เช่น การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญอินเดียมาไทย การจัดส่งนักวิชาการไทยไปอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญ หรือการประชุม สัมมนา และทดลองนำซอฟต์แวร์ของอินเดียมาใช้ในพื้นที่นำร่องในไทย เป็นต้น เนื่องจากภาคเกษตรของไทยและอินเดีย มีลักษณะคล้ายกันหลายประการ เช่น เกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ปลูกพืชหลักชนิดเดียวกัน อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและยางพารา ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายจัดทำข้อมูล (big data) กลุ่มเกษตรกรให้เป็นระบบ เพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ตามกรม กอง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือให้กระทรวงอื่นๆ นำไปจัดทำโครงการประสานเชื่อมโยงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'ทรงตัว' หลังดอลลาร์เริ่มฟื้น

บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัว "31.97 บาทต่อดอลลาร์" หลังค่าเงินดอลลาร์ฟื้นตัวกลับมา

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.97บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ เริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่ตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐพลิกกลับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง พร้อมกับเงินยูโรที่อ่อนค่าหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปเริ่มมีความเห็นว่าเงินยูโรที่แข็งค่ามากในปัจจุบันอาจสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจ

นอกจากนี้บอนด์ยีลด์สหรัฐช่วงสั้น (อายุ 2ปี) ก็ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 2.04% สูงที่สุดในรอบเก้าปีชี้ว่าผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐกระทบกับตลาดบอนด์ชัดเจนโดยนักลงทุนสนใจถือบอนด์ระยะสั้นน้อยลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปียังคงซื้อขายอยู่ที่ระดับ 2.57% ชี้ว่านักลงทุนก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐและเงินเฟ้อจะสามารถปรับตัวขึ้นได้มากในปีนี้เช่นกัน จึงยังมีความเป็นไปได้สูงที่เงินจะยังคงวนเวียนอยู่ในฝั่งเอเชียและยุโรปที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดี

ในฝั่งของเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบตามที่เรามองไว้ เชื่อว่าค่าเงินเอเชียจำเป็นต้องมีปัจจัยเสริมอื่นๆถึงจะสามารถแข็งต่อไปได้ ถ้าไม่มีปัจจัยบวก ก็มีความเป็นไปได้ที่ในระยะกลางอาจทรงตัวหรืออ่อนค่ากลับจากการทำกำไรของนักลงทุนทั่วโลกมองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.90-32.05 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

จ่อฟันไทยอุ้มค่าเงินบาท หวั่นสหรัฐเล่นงานเกินดุลการค้า

ชี้ไทยค้าเกินดุลสหรัฐ ปีที่แล้วจ่อทะลุ 6.4 แสนล้าน เข้าข่ายสหรัฐขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน แบรด เซ็ทเซอร์ นักวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) องค์กรคลังสมองในสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากเข้าข่ายคุณสมบัติประเทศแทรกแซงค่าเงินทั้ง 3 ข้อ

เซ็ทเซอร์ ระบุว่า ที่ผ่านมาไทยเข้าข่ายคุณสมบัติ 2 ข้ออยู่แล้ว คือ มีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 3% ของขนาดเศรษฐกิจ

โดยอยู่ที่ 11.6% เมื่อปี 2559 และมีการเข้าซื้อเงินตราสกุลต่างประเทศเกิน 2% ของขนาดเศรษฐกิจในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้น 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.76 แสนล้านบาท) ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นถึง 4,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.4 แสนล้านบาท) ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสดังกล่าว

สำหรับข้อสุดท้ายนั้น คือ ต้องมีการค้ากับสหรัฐมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 6.4 แสนล้านบาท) แม้ไทยจะไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว โดยใน 11 เดือนแรกของปี 2560 ไทยเกินดุลสหรัฐอยู่ที่ราว 1.849 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.94 แสนล้านบาท) แต่ก็มีแนวโน้มจะมีการส่งออกมากกว่านำเข้ากับสหรัฐในเดือน ธ.ค.มากกว่า 1,520 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท) ในเดือน ธ.ค. หลังเดือน ต.ค.และเดือน พ.ย. ไทยเกินดุลกับสหรัฐมากถึงเดือนละ 1,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.7 หมื่นล้านบาท)"แต่ผมคิดว่ากระทรวงการคลังสหรัฐกำลังหวังว่าไทยจะไม่ข้ามหลักดังกล่าวอย่างเป็นทางการไปจนถึงอย่างน้อย ต้นปีหน้า เพราะในรายงานเดือน เม.ย.นี้ จะรวบรวมข้อมูลถึงแค่เดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และผมมั่นใจว่าสหรัฐจะกดดันด้วย การให้ไทยอยู่ในชื่อประเทศเฝ้าระวังไปก่อนจะประกาศเป็นผู้ปั่นค่าเงิน" เซ็ทเซอร์ กล่าว

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานในประเด็นเดียวกันว่า นักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มจับตาการขึ้นบัญชีปั่นค่าเงินในครั้งนี้อาจจะมีไทยและอินเดียอยู่ด้วย โดยธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิ เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ไทยเข้าซื้อสกุลต่างประเทศเกิน 2% ของเศรษฐกิจเข้าไปแล้ว และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในรายชื่อ 16 ชาติ ที่มีการค้าเกินดุลกับสหรัฐมาก

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

เตือนวิกฤติเศรษฐกิจลูกใหม่ “ศุภชัย” ชี้มหันตภัยเงินดิจิทัลทำโลกปั่นป่วน

“ศุภชัย พานิชภักดิ์” เตือนเงินดิจิทัล ต้นเหตุวิกฤติเศรษฐกิจ 10 ปีหน้า ค่าเงินบาทหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเงินทุนไหลเข้าแต่มั่นใจนักลงทุนไทยอยู่รอดได้เหมือนนักลงทุนญี่ปุ่น ที่ค่าเงินเยนผันผวนจาก 300 เยน มาอยู่ที่ 80-90 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านขุนคลังแนะ ธปท.-ก.ล.ต.คุมเข้มบิทคอยน์

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก หรือดับบลิวทีโอ กล่าวในงานสัมมนาแนวโน้มตลาดเกิดใหม่ในปี 2561 จัดโดยธนาคารกสิกรไทย ในหัวข้อ “ความท้าทายบนเวทีการค้าและเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า” ว่า วิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดอีกในช่วง 10 ปีข้างหน้า สาเหตุเกิดจากค่าเงินดิจิทัล ต่างจาก10 ปีก่อนหน้า ที่วิกฤติการเงินมาจากการปล่อยกู้และการรับจำนองแก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพรม์) ของสหรัฐฯ

ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเห็นค่าเงินบาทต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมีเงินต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในจีนและเอเชียรวมทั้งประเทศไทยเป็นจำนวนมากโดยปัจจุบันไทยทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินความจำเป็นต้องใช้ ดังนั้นควรปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว เนื่องจากทุนสำรองฯ เพียง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เพียงพอในการนำเข้าสินค้า 1-2 เดือน

“นับจากนี้ ค่าเงินบาทไม่มีวันทีวันที่จะอ่อนค่าลง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากไปดูตัวเลขเศรษฐกิจลึกๆแล้ว ค่าจ้างแรงงานไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาหลายปี เศรษฐกิจจะดีได้อย่างไร อัตราการว่างงานที่ลดลงเกิดจากคนว่างงานรอไม่ ไหวจึงยกเลิกการขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ส่วนยุโรปยังมีปัญหาการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปหรือเบร็กซิท ขณะที่หลายประเทศในยุโรป พวกขวาจัดได้รับเลือกตั้งขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศ ทำให้เงินลงทุนจะไหลเข้ามาจีนและเอเชียอย่างต่อเนื่อง

”อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก เห็นได้จากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น 10% แต่การส่งออกยังขยายตัวได้ดี เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นในอดีตค่าเงินเยนเคยอยู่ที่ 300 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 80-90 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้ประกอบการในญี่ปุ่นยังคงอยู่รอดได้ ดังนั้น สถานการณ์ในไทยจะเหมือนกับญี่ปุ่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าผู้ประกอบการไทยก็ยังสามารถอยู่ต่อไป

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจของโลกที่ขยายตัวขึ้น เกิดจากการอัดฉีดเงินเข้าไปเป็นจำนวนมหาศาล เงินได้ไหลเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร มีการนำไปลงทุนในสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ บริษัทขนาดใหญ่ในโลกได้นำเงินไปซื้อหุ้นตัวเองคืน หุ้นที่กระจายในตลาดเหลือน้อยลงทำให้มีความสามารถจ่ายปันผลได้มาก โดยไม่ได้นำเงินไปลงทุนเพื่อปรับประสิทธิภาพการผลิต ดังนั้น เมื่อรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะเป็นภาระให้กับบริษัททันที

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล ถือเป็นการลงทุนที่ต้องระมัดระวังซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับเงินตราไทยที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรารองรับ และมีมูลค่าเปรียบเทียบ ซึ่งเงินสกุลดิจิทัลนั้น ถือเป็นการลงทุน ธนาคารทำได้แค่เตือนลูกค้าให้ระวังการลงทุน ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบสถาบันการเงินมีการกักตุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเก็งกำไรค่าเงิน ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ประเมินว่า ธนาคารต้องดำเนินการภายใต้กฎกติกาหากพบการกระทำผิด ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยยังไม่พบลูกค้าที่กักตุนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้มากๆ จนต้องสงสัย นอกจากนี้ ภายในกลางปีนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเริ่มใช้ระบบ E-Identity ระบบยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันการสวมชื่อเพื่อเปิดบัญชี หรือทำธุรกรรมทางการเงิน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า เงินดิจิทัลเปรียบเสมือนสินค้าชนิดหนึ่งเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันเหมือนในโบราณ เช่น เปลือกหอย เงินพุดด้วง เป็นต้น แต่เงินดิจิทัลที่คิดขึ้นมาในยุคนี้เพื่อใช้ตกลงแลกเปลี่ยนกันเอง อย่างเช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นอีกสกุลหนึ่งที่ได้รับความนิยมจะให้ผลตอบแทนเมื่อขุดหามาได้จากระบบบล็อกเชน (Blockchain) และเมื่อมีคนต้องการจำนวนมากราคาจะปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เรื่องนี้ยังมีความเสี่ยง เพราะเป็นช่องในการฟอกเงินจากหลายกลุ่มได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าใครถือบัญชี จึงต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ธปท.ศึกษาว่า หากเปิดให้ซื้อขายอย่างเป็นระบบใครได้ประ โยชน์ หากมีประโยชน์ทุกฝ่ายก็ควรเปิดกว้างให้สามารถซื้อ-ขายได้ แต่หากมีความเสี่ยงไม่มีประโยชน์ต้องมีมาตรการควบคุม เพื่อลดผลกระทบจากนักลงทุนทุนรายย่อย

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

กรมค้าภายใน เปิดแถลงมาตรการดูแลราคาสินค้า-ลอยตัวน้ำตาล-ปรับค่าแรง19ม.ค.นี้

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในวันที่ 19 มกราคม นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน จะแถลงข่าวการเตรียมมาตรการดูแลราคาสินค้าประจำปี2561 รวมถึงแผนการดูแลอาหารปรุงสำเร็จ ตามที่กำลังมีความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องราคาที่สูงขึ้น หลังจากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย การปรับขึ้นค่าแรงงานรายวันมีผลต่อโครงสร้างต้นทุนและราคาสินค้าเท่าไหร่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กำลังรอการแจ้งเพดานราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศจากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลเรื่องปริมาณและการเคลื่อนไหวของราคา เพื่อที่กรมการค้าภายใน จะเข้าไปดูแลในเรื่องการขายไม่เกินราคาเป็นจริง ไม่ให้เกิดการบิดเบือนราคา หรือ มีการกักตุนเพื่อการเก็งกำไร จนกระทบต่อผู้ใช้และผู้บริโภค คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า

พร้อมกันนี้ กรมการค้าภายใน ได้ส่งทีมสายด่วน 1569 ในการออกตรวจสอบปริมาณและราคาน้ำตาลทรายหลังมีมติให้ลอยตัวราคา เพื่อมาตรวจสอบว่าราคาจำหน่ายเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้บริโภคหรือไม่ หากพบการผิดปกติ จะใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ปี 2542 หากพบว่าบิดเบือนราคาหรือกักตุนจะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้าปรับครั้งละ 1 หมื่นบาท

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 17 มกราคม 2561

ส.ชาวไร่อ้อยหนุนลอยตัวราคาน้ำตาล เชื่อระยะยาวได้ประโยชน์

นายกำธร กิติโชติทรัพย์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ชาวไร่อ้อยสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้ราคาปรับขึ้นลงตามกลไกตลาด เพราะดำเนินการตามพันธสัญญากับสมาชิกองค์การการค้าโลก และหากพิจารณาในระยะยาว เชื่อว่า ชาวไร่อ้อย โรงงานจะได้รับประโยชน์

จาก https://mgronline.com  วันที่ 17 มกราคม 2561

ธปท.ยอมรับพบสถาบันการเงินเอี่ยวเก็งกำไรค่าเงินบาท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นๆ หลายสกุลในโลก ซึ่งยังไม่พบว่ามีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในไทยอย่างผิดปกติ เพียงแต่มีการพบพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงถึงการเก็งกำไรค่าเงิน โดยมีสถาบันการเงินในประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งในเรื่องนี้ ธปท.จะเร่งเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

ผู้ว่าการ ธปท. มั่นใจว่า เงินบาทที่แข็งค่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ (2561) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 17 มกราคม 2561

“ซีพี-เบทาโกร-น้ำตาล”นำทีม แห่ขึ้นทะเบียนกม.ใหม่คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง

กลุ่มยักษ์ใหญ่ด้านปศุสัตว์ครบวงจร-โรงงานน้ำตาล-บริษัทเมล็ดพันธุ์ผัก-ข้าวโพด-มันฝรั่ง-ข้าว-กาแฟ-โกโก้ แห่ขึ้นทะเบียนตามระบบเกษตรพันธสัญญาใหม่กว่า 87 ราย ก่อนทำสัญญากับเกษตรกรรายใหม่เพิ่ม ด้านกระทรวงเกษตรฯชี้หากผู้ประกอบการรายใดไม่มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ต้องโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท

นายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญามาแจ้งขึ้นทะเบียนการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดภายในปลายปี 2560 พบว่า มีผู้ประกอบการมาแจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด 87 ราย ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดในระบบเกษตรพันธสัญญาไม่มีการแจ้งขึ้นทะเบียนการประกอบธุรกิจตามกฎหมาย จะถือว่ามีความผิดและได้รับโทษตามกฎหมาย โดยโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท

“ผู้ประกอบการ 87 ราย ที่เข้ามาเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรพันธสัญญาที่รู้จักกันดี ถือว่าเข้ามาจดแจ้งพอสมควร ส่วนที่กำลังจะประกอบธุรกิจแบบเกษตรพันธสัญญาสามารถมาจดทะเบียนได้ เพื่อจะได้เริ่มทำกรอบเวลา 30 วัน เป็นกรอบรายเดิมที่ทำธุรกิจแบบเกษตรพันธสัญญาซื้อขายสินค้าที่ระบุว่าจะซื้อ ส่งมอบปริมาณ คุณภาพ และกรอบราคา เท่าไรอย่างไรนั้น ไม่ครอบคลุมนิยาม ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษานิยามอย่างถี่ถ้วน”

นายพีรพันธ์กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนต่อไปการทำสัญญากับเกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดทำเอกสารสำหรับชี้ชวนและร่างสัญญาที่มีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด ให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าก่อนเข้าทำสัญญา เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนในอดีตที่ผ่านมา มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการทำสัญญาได้ โดยกฎหมายเกษตรพันธสัญญาจึงถือเป็นการเปิดมิติใหม่ ในการสร้างความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาแจ้งประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาแล้วจำนวน 87 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 73 ราย และบุคคลธรรมดา 14 ราย แยกเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาล 19 ราย ได้แก่ 1.บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท เคบีเอส เคน แอนด์ ชูการ์ จำกัด 3.บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด 4.บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด 5.บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด 6.บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด 7.บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด 8.บริษัท น้ำตาล เอราวัณ จำกัด 9.บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด 11.บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด12.บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด 13.บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด 14.บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด 15.บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาล ที.เอ็น. จำกัด 16.บริษัท สหเรือง จำกัด 17.บริษัท อุตสาหกรรมอ่างเวียน จำกัด 18.บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด 19.บริษัท น้ำตาลรีไฟน์ ชัยมงคล จำกัด

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ผัก ข้าวโพด มันฝรั่ง มี 16 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด 2.บริษัท แวนด้า ซีดส์ จำกัด 3.บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด 4.บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด 5.บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด 6.บริษัท เมล็ดพันธุ์ เอเชีย จำกัด 7.บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด 8.บริษัท ไพโอเนีย ไฮ-เบรด (ไทยแลนด์) จำกัด 9.บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์จำกัด10.บริษัท ซาคาตะ สยาม ซีด จำกัด 11.บริษัท โกรท 88 จำกัด 12.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด 13.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด 14.บริษัท เอสทีซี ฟาร์ม จำกัด 15.บริษัท พีซี เทค ฟาร์ม จำกัด 16.บริษัท ทีเค กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด

ขณะที่ผู้ประกอบการปศุสัตว์และอาหารสัตว์ครบวงจร แบ่งเป็นในนามบริษัท 27 ราย ได้แก่ 1.บริษัท สหฟาร์ม จำกัด 2.บริษัท พี.เอส.คอนแทคท์ ฟาร์มมิ่ง จำกัด 3.บริษัท คาร์กิลล์ มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด 4.บริษัท ไทย ฟูดส์ สไวน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 5.บริษัท ไทยฟูดส์ คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง จำกัด 6.บริษัท ประสิทธิ์ ฟาร์ม จำกัด 7.บริษัท บิ๊ก ฟู๊ดส์ กรุ๊ป จำกัด 8.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท ซันฟู้ด อินเตอร์เนชันแนล จำกัด 11.บริษัท ซันฟีด (ประเทศไทย) จำกัด 12.บริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด ในเครือสหฟาร์ม 13.บริษัท พี.เอส.คอนแทคท์ ฟาร์มมิ่ง จำกัด 14.บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 15.บริษัท ไพโรจน์โพลทรีย์ จำกัด 16.บริษัท เจริญชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด 17.บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด 18.บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด 19.บริษัท บี.ฟูดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 20.บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด 21.บริษัท ไก่สดเซนทาโก จำกัด 22.บริษัท พีพี ฟูดส์ ลพบุรี จำกัด 23.บริษัท วี ซี เอฟ กรุ๊ป จำกัด 24.บริษัท พีพี คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง จำกัด 25.บริษัท ไพโรจน์ โพลทรีย์ ฟู้ด พิษณุโลก จำกัด 26.บริษัท เกษตรชล 2559 จำกัด 27.บริษัท เอราวัณ เพียวไลฟ์ จำกัด และส่วนบุคคล 2 ราย ได้แก่ 1.นายสุเทพ หมั่นค้า 2.นายสรวีร์ ลีลากานต์

ผู้ประกอบการพืช-ข้าว-กาแฟ-โกโก้ 7 ราย ได้แก่ 1.บ.สมาชิกส่งเสริม (พืชยูคาลิปตัส) 2.บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด 3.บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด 4.บริษัท มณีโกโก้ จำกัด 5.บริษัท ไทยมณี คอฟฟี่ จำกัด 6.บริษัท เอสซีเอ็น อะโกร 7.บริษัท ข้าวพันธุ์ดี จำกัด

สำหรับผู้ประกอบด้านสัตว์น้ำ แบ่งเป็นในนามบริษัท 2 ราย คือ 1.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ซีพีเอฟ จำกัด และส่วนบุคคล 8 ราย ได้แก่ 1.นายตุลา ตรงเมธีรัตน์ 2.นายธีรเมศร์ สิริพงศ์ศรี 3.นายจีรวัฒน์ จันทร์มณี 4.นายสุพจน์ สัจจพงษ์ 5.นายกฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์ 6.นายสุนทร แตงอุดม 7.นางสุใจ พุทธมาตย์ 8.นางสาวสุภนันท์ ตีรสวัสดิชัย และยื่นจดทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา 6 ราย ได้แก่ 1.นายอภิรัฐ สุริยภิญโญพงศ์ 2.นางสาวลออ วงค์ปุ่น 3.นางสาวสุนีย์ เอี่ยวศิริ 4.นายวีรพัฒน์ บุญเล้า 5.นายวัชรพงษ์ เลขพัฒน์ 6.นายมิตรศักดิ์ ตันตชัยนันท์

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 17 มกราคม 2561

งัดม.44ลอยตัวน้ำตาล-ราคาลด1-3บาท/กก.

ผู้จัดการรายวัน360- "อุตตม"เผยข่าวดีราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานลงแน่ๆ สัปดาห์หน้า แย้มอาจเห็น 1-3 บาทต่อกก . หลังคสช.ออกคำสั่งม.44 ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่การลอยตัวราคาหน้าโรงงานอิงตลาดโลกเลิกอุดหนุนราคาป้องบราซิลฟ้อง รับเสรีการค้า "พาณิชย์"รออุตสาหกรรมแจ้งเรื่อง ก่อนชง กกร. พิจารณายกเลิกเพดาน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 15 ม.ค.เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยยกเว้นการใช้บังคับ (18 ) ของมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในประเทศที่จะยกเลิกการอุดหนุนราคาไปสู่การลอยตัวที่อิงตลาดโลกซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดรับกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะนำมาสู่ความเข้มแข็งทั้งโรงงาน ชาวไร่อ้อย และการส่งออกที่จะเป็นการรองรับระบบเสรีที่เป็นประโยชน์ประเทศ

" การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นไปตามมติครม.เมื่อธ.ค.ที่ผ่านมาโดยหนึ่งในแนวทางคือการหาข้อยุติการพิพาทระหว่างไทยกับบราซิลที่บราซิลมองว่าไทยนั้นมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศที่ขัดกับกฏขององค์การการค้าโลก(WTO)และที่ผ่านมาเราก็มีทีมเจรจามาและคิดว่าจากการปรับโครงสร้างไปสู่การลอยตัวครั้งนี้จะทำให้สามารถหาข้อยุติได้ ส่วนเหตุที่ต้องใช้ม. 44 ก็เพราะการปรับโครงสร้างฯที่วางไว้จะต้องมีการปรังปรุงร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527 ให้สอดรับแต่ขณะนี้ร่างอยู่ระหว่างการที่จะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ซึ่งจะต้องเวลาค่อนข้างนาน"นายอุตตม กล่าว

สำหรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะถูกปรับไปอิงสูตรราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอน หมายเลข 5 (No.5) บวกด้วยไทยพรีเมียม ซึ่งหากพิจารณาตัวเลขเบื้องต้นของราคาตลาดโลกมีแนวโน้มว่าราคาหน้าโรงงานที่จะสะท้อนไปยังราคาขายปลีกมีแนวโน้มจะปรับลดลงแน่นอนแต่จะเป็นตัวเลขเท่าใดนั้นคงจะเห็นผลได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์เนื่องจากยังมีปริมาณน้ำตาลทรายของเดิมที่ขึ้นงวดค้างกระดานทำให้ต้องรอการเคลียร์สต็อกดังกล่าวก่อน และการเปลี่ยนแปลง

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเดิมจะบวกด้วย เงิน 5 บาทต่อกก.จากการขายในประเทศเพื่อเรียกเก็บเข้าไว้ในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย รวมเป็น 19 บาทต่อกก. เมื่อระเบียบใหม่ก็จะทำให้ต้องยกเลิกเงิน 5 บาทต่อกก.ออก ราคาหน้าโรงงานจะเปลี่ยนไปอิงสูตรลอนดอนNo.5+ไทยพรีเมียมส่วนราคาขายปลีกจะสะท้อนจากราคาหน้าโรงงานโดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค

 นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)กล่าวว่า หลังประกาศลอยตัวราคาอ้อยและน้ำตาล จะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศเปลี่ยนแปลงไป คาดว่า ในสัปดาห์หน้าราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน จะลดลงขั้นต่ำได้ประมาณ 1-2 บาท จากเดิม 18-19 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 17-18 บาท เนื่องจากขณะนี้ยังมีน้ำตาลสต็อกอยู่ประมาณ 3 แสนตัน

 " ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานจะลดลงแน่นอนขั้นต่ำ 1-2 บาทต่อกก.แต่ก็อาจจะมีบางรายที่คุณภาพน้ำตาลไม่ดีก็จะลดลงได้ 3 บาทต่อกก. " นางวรวรรณกล่าว

 *****"พาณิชย์"รออุตสาหกรรมแจ้งเรื่อง ก่อนชง กกร.

 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การจะยกเลิกการควบคุมราคาเพดานขายปลีกสูงสุดน้ำตาลทรายที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) กระทรวงอุตสาหกรรมต้องแจ้งเรื่องเข้ามายังกรมฯ จากนั้น กรมฯ จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์เป็นประธานพิจารณา เพื่อยกเลิกเพดานราคาขายปลีก ส่วนจะนำออกจากบัญชีรายการสินค้าควบคุมหรือไม่ เห็นว่าควรจะอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมต่อไป เพราะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาผันผวนตามตลาดโลก การอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม จะทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 17 มกราคม 2561

พาณิชย์ จ่อชงลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ยังไม่เอาออกจากบัญชีควบคุม

รออุตสาหกรรมแจ้งเรื่องก่อน ถ้าแจ้งให้ยกเลิก พร้อมชง “กกร.” พิจารณา ยันไม่จำเป็นต้องเอาออกบัญชีสินค้าควบคุม...นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายอ้อยและน้ำตาล ของกระทรวงอุตสาหกรรม ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งหนังสือแจ้งมาที่กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ยกเลิกการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุด แต่ระหว่างนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องสำรวจราคาหน้าโรงงานแล้วส่งมาให้กรมฯ ได้รับทราบ เพื่อทีเพื่อที่กรมฯ จะได้ติดตามดูแลราคาขายปลีกให้สอดคล้องกับราคาหน้าโรงงาน เพราะการลอยตัวราคาครั้งนี้ เป็นการลอยตัวราคาหน้าโรงงาน คาดว่าราคาขายปลีกในประเทศจะลดลงตามราคาในตลาดโลกที่ลดลง จากปัจจุบันที่น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม และกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวสูงสุดไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท

”การจะยกเลิกการคุมราคาหรือไม่ อยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องแจ้งมา เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งให้กรมฯ ช่วยคุมราคาขายปลีก เพื่อให้อุตสาหกรรมนำไปใช้คำนวณในระบบแบ่งปันผลโยชน์ระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อย แต่ขณะนี้ ระบบนี้ไม่มีแล้ว” อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งมาให้ยกเลิกการคุมราคา กรมฯ จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณา แต่จะยกเลิกหรือไม่ อยู่ที่ดุลยพินิจของ กกร. แต่โดยหลักการแล้วเห็นว่า หากมีการยกเลิกการคุมราคาแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมต่อไป เพราะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ อีกทั้งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาผันผวนตามตลาดโลก การยังอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการโดยไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้บริโภค

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงความจำเป็นเป็นที่จะต้องกำหนดราคาแนะนำขายปลีกว่า ยังไม่จำเป็นต้องออกราคาแนะนำขายปลีก เพราะยังไม่เกิดปัญหาอะไร อีกทั้งรัฐไม่ต้องการแทรกแซงใดๆ ขณะนี้ คงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกสักระยะ โดยจะต้องดูทั้งระบบ ไม่ให้ราคาแกว่งตัวขึ้นลงเร็วเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 17 มกราคม 2561

จัด ม.44 ลอยตัวน้ำตาลทราย “อุตสาหกรรม- พาณิชย์” ลุ้นระทึกลดราคาขายปลีก

ใช้ ม. 44 ประกาศลอยตัวราคาขายปลีกน้ำตาลในประเทศ มีผลตั้งแต่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา สอน.ฟันธงราคาขายปลีกหน้าโรงงานลดลงทันที 1-3 บาทต่อกก. แต่ราคาขายปลีกจะลดลงจริงตามนี้หรือไม่ โยนเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ดูแลต่อไป โดยราคาขายปลีกจะลดลงตามไปด้วย 1-2 บาทต่อกก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่  16 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มาตรา 44 เรื่องการแก้ไขกฎหมาย เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างฯ ทั้งระบบพ.ศ.2559-2560 ที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นสากล และสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ต้องมีการยกเว้นการใช้บังคับ (18) ของมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เพื่อให้ดำเนินการปรับโครงสร้างฯได้ตามแผนที่กำหนดไว้อาทิ ยกเว้นการกำหนดราคาขายเพื่อบริโภคในประเทศ ตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2560/2561-ปีการผลิต 2561-2562

นางวรวรรณ  ชิตอรุณ รักษาการ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า หลังจากการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย จะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศเปลี่ยนแปลงไป คาดว่าราคาขายส่งน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน จะลดลง 1-3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากปัจจุบันนี้ที่อยู่ที่ 19-20 บาทต่อ กก. แต่ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกในประเทศจะยังไม่ลดลง เนื่องจากยังมีน้ำตาลค้างอยู่ในตลาดบางส่วน ซึ่งจะขายหมดในปลายสัปดาห์นี้ ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายในประเทศ จึ่งมีแน้วโน้มปรับลดลงภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ต้องออกสำรวจว่า ราคาขายปลีกน้ำตาลปรับลดลงตามราคาหน้าโรงงานหรือไม่

“เมื่อราคาขายส่งหน้าโรงงานน้ำตาลลดลง ราคาขายปลีกในประเทศจะลดลงตามไปด้วยแต่จะลดลงในอัตราส่วนเท่าใดก็อยู่ที่ต้นทุนของผู้ค้าแต่ละรายเป็นสำคัญ โดยยอมรับว่าการลอยตัวน้ำตาลที่ผ่านมาเดิมกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 ก็ถือว่าล่าช้ามาก จึงต้องเร่งรัดกระบวนการโดยขออำนาจ ม. 44

ขณะที่นายสมชาย  หาญหิรัญ  รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ยืนยันได้ว่าราคาขายปลีกใหม่จะลดลงอย่างแน่นอน ส่วนจะลดลงเท่าใดไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก โดยประชาชนสามารถตรวจสอบราคาได้จากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ผลจากการลอยตัวจะเป็นการใช้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใหม่ด้วย คือ การยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลที่มี 3 ส่วน คือ บริโภคในประเทศ (โควตา ก.) น้ำตาลส่งออกเพื่อทำราคาขาย (โควตา ข.) และส่งออกโดยโรงงาน (โควตา ค.) โดยระบบจัดการรูปแบบใหม่จะกำหนดให้โรงงานจัดสรรน้ำตาลในประเทศให้เพียงพอ ขณะที่การส่งออกจะมีตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำราคาให้ทุกฝ่ายพอใจ โดยยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์จะดูแลราคาน้ำตาลอย่างใกล้ชิดและมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เข้ามาดูแลหากภาวะราคาตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และในภาวะราคาขายปลีกสูงเพื่อดูแลผู้บริโภคไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกับกองทุนน้ำมัน

นอกจากนั้น การลอยตัวราคาน้ำตาลจะไม่มีปัญหาเรื่องโควตาน้ำตาลทราย โดยสอน.จะกำหนดให้โรงงานน้ำตาลสำรองน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์สต๊อก) 1 เดือน ป้องกันการขาดแคลน ให้มีการนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียนที่อัตราภาษีเป็น 0 % เพื่อป้องกันการผูกขาดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ที่จะถูกกำหนดให้นำเงินเก็บจากส่วนต่างของราคาหน้าโรงงานกับราคาเฉลี่ยที่ขายได้จริงนำเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อไปเก็บสะสมไว้ดูแลเสถียรภาพราคาอ้อยให้กับชาวไร่เพื่อความเข็มแข็ง

ด้านนายบุณยฤทธิ์  กับยาณมิตร  อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายอ้อยและน้ำตาลของกระทรวงอุตสาหกรรมลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งหนังสือแจ้งมาที่กระทรวงเพื่อให้ยกเลิกการกำหนดราคาเพดานขายปลีกสูงสุด แต่ระหว่างนี้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องสำรวจราคาหน้าโรงงานแล้วส่งมาให้กรมฯได้รับทราบ เพื่อที่กรมฯจะได้ติดตามดูแลราคาขายปลีกให้สอดคล้องกับราคาหน้าโรงงาน คาดว่าราคาขายปลีกเป็นสินค้าควบคุมและกระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวสูงสุดไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 23.50 บาท

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งมาให้ยกเลิกการคุมราคากรมฯจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาและบริการ(กกร.) พิจารณา แต่โดยหลักการแล้ว เห็นว่า หากมีการยกเลิกการคุมราคาแล้วแต่ยังต้องอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมต่อไป เพราะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ส่วนความจำเป็นที่ต้องกำหนดราคาแนะนำขายปลีกนั้นยังไม่จำเป็นต้องออกราคาแนะนำขายปลีก เพราะรัฐไม่ต้องการแทรกแซงใดๆ ขณะนี้คงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ขิดอีกสักระยะ ไม่ให้ราคาแกว่งตัวขึ้นลงเร็วเกินไปจนกระทบต่อผู้บริโภค

 จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 17 มกราคม 2561

น้ำตาลลดราคาหลังลอยตัว รัฐออกม.44ปลดล็อกระบบ

อุตสาหกรรมประกาศลอยตัวน้ำตาลทรายมีผล 15 ม.ค.นี้ มั่นใจมีมาตรการดูแลชาวไร่และกลไกราคาไม่ได้รับผลกระทบ.... นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 1/2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เพื่อเป็นการปลดล็อกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวราคาอิงตลาดโลกที่สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย....... โดยราคาตามกลไกลอยตัวจะใช้สูตรการอิงราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม

ทั้งนี้ ผลจากการลอยตัวราคาอาจจะทำให้ราคาขายปลีกลดลง เพราะจะยกเลิกการเก็บเงินส่วนต่าง 5 บาท/กก. ประกอบกับปัจจุบันราคาตลาดลอนดอนนัมเบอร์ 5 บวกไทยพรีเมียม อยู่ในระดับ 14-15 เซนต์/ปอนด์ และราคาเฉลี่ยในการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 17 เซนต์/ปอนด์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ขายไปแล้ว 30% ที่ราคา 17.8 เซนต์/ปอนด์ โดยจะทราบราคาชัดเจนอีกประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะต้องรอให้น้ำตาลทรายโรงงานปล่อยออกไปจำหน่ายหมดก่อน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการเจรจา กับประเทศบราซิลที่ร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมมาตรการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายใน ช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกต่ำลงจนอาจทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน โดยจะมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เป็นกลไกในการช่วยเหลือชาวไร่ และเพื่อป้องกันน้ำตาลทรายขาดแคลนจะมีการกำหนดให้มีน้ำตาลทรายสำรองเพื่อบริโภคในประเทศ (บัฟเฟอร์สต๊อก)

นายสมชาย   หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กลไกลอยตัวที่มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. จะได้ราคาที่ลดลงแน่นอน ส่วนจะลดลงเท่าไรไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก โดยประชาชนสามารถตรวจสอบราคาได้จากเว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผลจากการลอยตัวยังทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใหม่เริ่มใช้เช่นกัน คือการยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลที่มี 3 ส่วน คือ บริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ส่งออกเพื่อทำราคาขาย (โควตา ข.) และส่งออกโดยโรงงาน (โควตาค.) โดยระบบจัดการรูปแบบใหม่จะมีการกำหนดให้โรงงานจัดสรรน้ำตาลในประเทศให้เพียงพอ ขณะที่การส่งออกจะมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมหารือเพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งออก

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 17 มกราคม 2561

ขีดแข่งขันไทยถดถอย

ทีดีอาร์ไอชี้ขีดความสามารถสินค้าเกษตรไทยแข่งขันสู้อาเซียนลด เร่งรัฐปฏิรูปนโยบายการเกษตร

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนาแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตร เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยว่า แนวโน้มความสามารถการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากผลการวิเคราะห์ดัชนี NRCA ของไทย (Normalized Reveled Comparative Advantage) เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าสินค้าการเกษตรไทยที่มี NRCA มากกว่าหรือเท่ากับ 0 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีจำนวน 152 รายการ สินค้าที่มี NRCA มากกว่าหรือเท่ากับ 0 และมีแนวโน้มเท่าเดิม มีจำนวน 36 รายการ สินค้าที่มี NRCA มากกว่า หรือเท่ากับ 0 และมีแนวโน้มลดลง มีจำนวน 60 รายการ

ขณะที่สินค้ากลุ่มไม่น่าสนใจ หรือสินค้าเกษตรที่มี NRCA น้อยกว่า 0 มีจำนวน 816 รายการ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน พบว่าภาพรวมไทยมีสินค้าเสียเปรียบมากกว่าคู่แข่งเกือบทุกประเทศ ยกเว้นสิงคโปร์

"การวิเคราะห์ความสามารถแข่งขันของสินค้าไทยผ่านดัชนี NRCA หากค่าของดัชนีของสินค้ามีค่ามากกว่าศูนย์ หมายถึงไทยมีความสามารถในการแข่งขัน แต่ถ้ามีค่าติดลบแสดงถึงการไร้ความสามารถในการแข่งขัน" นายนณริฏ กล่าว

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ภาครัฐควรปฏิรูปนโยบายการเกษตรใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการเพิ่มงบวิจัยด้านการเกษตร เพราะที่ผ่านมาภาครัฐลงทุนการวิจัยด้านการเกษตรเพียง 0.25% ของจีดีพีการเกษตร ส่งผลให้ผลิตภาพโดยรวมลดลง ขณะที่การอุดหนุนราคาสินค้าด้านการเกษตรของรัฐบาลส่งผลกระทบระยะยาวแก่เกษตรกรไทย ทำให้ปรับตัวเพื่อการแข่งขันได้ลดลง

นอกจากนี้ ปัจจัยท้าทายภาคเกษตรภายในที่รัฐบาลต้องแก้ไข ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิตจากค่าแรงขั้นต่ำ การขาดแคลนแรงงาน และบุคลากรในภาคการเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคการเกษตร ปัญหาทรัพยากรลดลง และปัญหาการจัดการน้ำ ส่วนปัจจัยท้าทายภายนอกที่ภาครัฐต้องรับมือ ได้แก่ การกีดกันทางการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้ประเทศคู่แข่งเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนด้านการวิจัยยิ่งทำให้ไทยต้องเร่งปรับตัว

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 17 มกราคม 2561

กระทรวงอุตฯ ลั่นหลังลอยตัวคาดกด “ราคาน้ำตาลลง 3 บาท/กก.” มีผลสัปดาห์หน้า

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากประกาศลอยตัวราคาอ้อยและน้ำตาลในวันนี้เป็นวันแรกแล้ว จะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศเปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะลดลง ประมาณ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 17-18 บาท จากเดิม 19-20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งคาดว่าราคาน้ำตาลในตลาดลอนดอน พรีเมียน เฉลี่ยจะอยู่ที่ 450 เหรียญต่อปอนด์ แต่ยอมรับว่า ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกในประเทศจะยังไม่ลดลง เพราะขณะนี้มีน้ำตาลบางส่วนขอขนส่งออกจากโรงงาน จำนวน 3 แสนตัน จึงทำให้ราคาขายในประเทศอยู่ในราคาเดิม แต่คาดว่าปริมาณทั้งหมดจะขายหมดภายในปลายสัปดาห์นี้ หากเทียบกับการบริโภคน้ำตาลต่อสัปดาห์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 4 แสนตัน ดังนั้น ราคาน้ำตาลทรายจะปรับลดลงภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์จะต้องออกสำรวจว่าราคาขายน้ำตาลปรับลดลงหรือไม่ ตามหน้าโรงงานหรือไม่

สำหรับการขอคำสั่ง คสช.เพื่อเร่งรัดกระบวนการลอยตัวน้ำตาลให้เร็วขึ้น เนื่องจากแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย 2517 ฉบับดังกล่าวมีความล่าช้าและยังอยู่ในขั้นตอนประชาพิจารณ์ ต้องใช้ระยะเวลานาน 4-6 เดือน ซึ่งทำให้การใช้บังคับกฎหมายข้อดังกล่าว เพื่อกำหนดราคาขายหน้าโรงงานล่าช้าและจะต้องผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง แต่จนถึงขณะนี้การลอยตัวน้ำตาลล่าช้ามา 1-2 เดือนแล้ว จากกำหนดเดิม คือ วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดกระบวนการเพื่อให้สามารถลอยตัวราคาน้ำตาลเป็นไปตามหลักสากล

นางวรวรรณ กล่าวว่า แนวโน้มราคาอ้อยยังมีทิศทางลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตเกินความต้องการเฉลี่ย 4 ล้านตัน ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ได้กำหนดราคาอ้อยทั่วประเทศและอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ที่ตันอ้อยละ 830 -880 บาท ซึ่งยังไม่คุมกับต้นทุนการผลิต ดังนั้น เกษตรกรจะต้องปรับตัวลดต้นทุนการผลิตให้ได้ และหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การผลิตอ้อยมีคุณภาพมากขึ้น และลดการปลูกอ้อยลงในช่วงราคาอ้อยลดลง จะช่วยทำให้ราคาดีขึ้น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

“อุตตม” แจ้งข่าวดีสัปดาห์หน้าเห็นแน่ราคาน้ำตาลทรายลดขั้นต่ำ 1-2 บาท/กก.

“อุตตม” เผยข่าวดีราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานลงแน่ๆ สัปดาห์หน้า แย้มอาจเห็นขั้นต่ำ 1-2 บาทต่อ กก. หลัง คสช.ประเดิมรับปี 2561 ด้วยการออกคำสั่ง ม.44 ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่การลอยตัวราคาอิงตลาดโลกเลิกอุดหนุนราคาป้องบราซิลฟ้อง รับเสรีการค้า ยันชาวไร่ยังได้รับการดูแลจากการบริหารกองทุนฯ แม้จะไม่มีเงิน 5 บาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยยกเว้นการใช้บังคับ (18 ) ของมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในประเทศที่จะยกเลิกการอุดหนุนราคาไปสู่การลอยตัวที่อิงตลาดโลก ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดรับกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะนำมาสู่ความเข้มแข็งทั้งระบบเพื่อให้สอดรับกับกติกาสากลไม่ขัดหลักองค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะนำไปสู่การหาข้อยุติข้อพิพาทระหว่างไทยกับบราซิลที่กล่าวหาว่าไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศ

“เหตุที่ต้องใช้ ม.44 ก็เพราะการปรับโครงสร้างฯ ที่วางไว้จะต้องมีการปรังปรุงร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้สอดรับ แต่ขณะนี้ร่างอยู่ระหว่างการที่จะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน” นายอุตตมกล่าว

สำหรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะถูกปรับไปอิงสูตรราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอน หมายเลข 5 (No.5) บวกด้วยไทยพรีเมียม ซึ่งหากพิจารณาตัวเลขเบื้องต้นของราคาตลาดโลกมีแนวโน้มว่าราคาหน้าโรงงานที่จะสะท้อนไปยังราคาขายปลีกมีแนวโน้มจะปรับลดลงแน่นอน แต่จะเป็นตัวเลขเท่าใดนั้นคงจะเห็นผลได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์เนื่องจากยังมีปริมาณน้ำตาลทรายของเดิมที่ขึ้นงวดค้างกระดานทำให้ต้องรอการเคลียร์สต๊อกดังกล่าวก่อน และการเปลี่ยนแปลง

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเดิมจะบวกด้วยเงิน 5 บาทต่อ กก.จากการขายในประเทศเพื่อเรียกเก็บเข้าไว้ในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย รวมเป็น 19 บาทต่อ กก. เมื่อระเบียบใหม่ก็จะทำให้ต้องยกเลิกเงิน 5 บาทต่อ กก.ออก ราคาหน้าโรงงานจะเปลี่ยนไปอิงสูตรลอนดอน No.5+ไทยพรีเมียม ส่วนราคาขายปลีกจะสะท้อนจากราคาหน้าโรงงานโดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนี้ยังจะมีการดูแลผู้บริโภคโดยกำหนดให้โรงงานต้องมีการสำรองน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์สต๊อก) ไว้ประมาณ 1 เดือนเพื่อป้องกันการขาดแคลน กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ที่จะถูกกำหนดให้นำเงินเก็บจากส่วนต่างของราคาหน้าโรงงานกับราคาเฉลี่ยที่ขายได้จริงจากการสำรวจ ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวจะนำเข้าสู่กองทุนฯ เพื่อเก็บสะสมไว้ดูแลเสถียรภาพราคาอ้อยให้ชาวไร่เพื่อความเข้มแข็ง

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)กล่าวว่า หลังประกาศลอยตัวราคาอ้อยเมื่อประเมินจากราคาตลาดโลกคาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะลดลงขั้นต่ำได้ประมาณ 1-2 บาทต่อ กก. แต่บางรายอาจลดได้ 3 บาทต่อ กก.ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำตาล ส่วนราคาขายปลีกเองจะลดลงเท่าใดก็อยู่ที่ต้นทุนของผู้ค้าแต่ละรายเป็นสำคัญ จึงเป็นหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จะไปติดตาม

จาก https://mgronline.com   วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

“พาณิชย์” รออุตฯ แจ้ง ก่อนชง กกร.เลิกคุมราคาน้ำตาล ยันยังไม่คิดปลดจากบัญชีสินค้าควบคุม

 “พาณิชย์” รออุตสาหกรรมแจ้งเรื่องก่อนชง กกร.พิจารณายกเลิกเพดานขายปลีกสูงสุดน้ำตาลทราย ยันไม่จำเป็นต้องเอาออกจากบัญชีสินค้าควบคุมเพื่อให้สามารถดูแลได้ใกล้ชิดต่อไป

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การจะยกเลิกการควบคุมราคาเพดานขายปลีกสูงสุดน้ำตาลทรายที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) กระทรวงอุตสาหกรรมต้องแจ้งเรื่องเข้ามายังกรมฯ จากนั้นกรมฯ จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์เป็นประธานพิจารณาเพื่อยกเลิกเพดานราคาขายปลีก ส่วนจะนำออกจากบัญชีรายการสินค้าควบคุมหรือไม่ เห็นว่าควรจะอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมต่อไป เพราะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาผันผวนตามตลาดโลก การอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมจะทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ

ส่วนการกำหนดราคาแนะนำขายปลีก เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องออกราคาแนะนำ เพราะยังไม่เกิดปัญหาอะไร และรัฐไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซง แต่ก็ต้องจับตาเพราะการลอยตัวราคาจะทำให้ราคาขึ้นลงตามตลาดโลก โดยต้องดูไม่ให้ราคาแกว่งตัวขึ้นลงเร็วเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค

จาก https://mgronline.com   วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

เร่งปรับโครงสร้างน้ำตาล คาด 2 สัปดาห์เห็นราคาชัดเจน

“อุตตม” เผยหลัง คสช. เร่งปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาล ใช้ราคาตลาดลอนดอน No.5 บวกไทยพรีเมี่ยมอ้างอิง คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์เห็นผล ชี้น่าจะปรับตัวลดลง

 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังจากราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) การปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย โดยขอให้ยกเว้นการใช้บังคับในส่วนของการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2560 /2561 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ซึ่งต่อไปนี้จะใช้ราคาขายน้ำตาลทรายรายวันของตลาดลอนดอนนัมเบอร์ไฟท์ (No.5) บวกราคาน้ำตาลไทยพรีเมี่ยม เป็นราคาอ้างอิง

โดยปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่าราคาในประเทศจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งต้องรอให้โรงงานขายน้ำตาลในสต็อกให้หมดก่อน เนื่องจากเป็นผลผลิตที่ทำได้ในช่วงของโครงสร้างเดิม ทั้งนี้อาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถึงทราบราคาน้ำตาลในล็อตล่าสุดที่อยู่ในโครงสร้างใหม่ แต่คาดว่าการยกเลิกกำหนดโควตาน้ำตาลนั้นเป็นช่วงที่มีการผลิตน้ำตาลทรายออกสู่ตลาดโลกมากกว่าการบริโภค ซึ่งเกินดุลอยู่ที่ 4.63 ล้านตัน จึงอาจจะมีแรงกดดันราคาจากตลาดโลก ส่งผลต่อราคาให้ชะลอตัวหรือปรับตัวลดลงส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศจะปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาในฤดูการผลิตก่อน

จาก http://www.thaipost.net    วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

จับตาการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท ตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 16 มกราคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (15/1) ที่ 31.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวานนี้ นายเจค็อบ ลบิว อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคงในวงกว้าง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองบางประการ ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี นายลิวได้ออกมาแสดงความกังวลต่อมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ โดยเขามองว่าเป็นมาตรการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนรวย และจะส่งผลให้สหรัฐมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.915-31.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทางด้านเงินบาท นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่าการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ เป็นผลจากดอลลาร์อ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในดอลลาร์ และการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ตนได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลอย่างใกล้ชิดในกรณีที่เงินบาทเคลื่อนไหวผิดปกติ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (16/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2261/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/1) ที่ 1.2283/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร วานนี้ นายอาร์โด แฮนสัน กรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโฑรป (อีซีบี) เปิดเผยว่า อีซีบีอาจประกาศยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหลังจากเดือนกันยายนปีนี้ หากสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีการปรับตัวเป็นไปตามที่อีซีบีคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ทางอีซีบีได้ส่งสัญญาณเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินในรายงานการประชุมประจำเดือนธันวาคมว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของอีซีบีจะทำการทบทวนแนวทางการสื่อสารของอีซีบีในช่วงต้นปีนี้ รวมถึงการปรับการใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์ของการประชุมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาด้านการเมือง นักลงทุนยังคงจับตามองสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศสเปนที่ยังคงมีความยืดเยื้อ โดยนายมาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน ได้กล่าวว่าสเปนจะใช้อำนาจเข้าปกครองโดยตรงต่อแคว้นกาตาลุญญา หากรัฐสภาคาตาลันแต่งตั้งให้นายคาร์เลส ปุกเดมองต์ อดีตผู้นำแคว้นกาตาลุญญา กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง หลังสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนการแยกตัวจากสเปนออกมาแสดงจุดยืนว่า พวกเขาจะลงมติให้นายปุกเดมองต์กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1.2214-1.2282 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2224/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (16/1) เปิดตลาดที่ระดับ 110.80/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/1) ที่ระดับ 110.62/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวานนี้ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้เปิดเผยในที่ประชุมผู้จัดการสาขาประจำภูมิภาคของบีโอเจว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น สู่ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น จากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของบีโอเจ และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายนจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี นายคุโรดะ ยังคงมองว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นแตะระดับร้อยละ 2 โดยจะรับแรงหนุนจากการฟื้นตัวในภาคการผลิต และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นในระยะกลางจนถึงระยะยาว ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.45-110.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน (17/1) ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ (17/1) และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน (17/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.30/-1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

งัดม.44 ยกเลิกอุดหนุนราคาอ้อย-น้ำตาลทราย ปล่อยลอยตัวเสรี คาด 2 สัปดาห์ราคาลด

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2560 รัฐบาลลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เป็นผลให้รัฐยกเลิกการอุดหนุนราคาอ้อยและน้ำตาลทรายโดยตรง ยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานโดยปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด

ทั้งนี้ หลังจากการยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานหรือการลอยตัวราคาน้ำตาล และการยกเลิกการกำหนดโควตา รัฐจะไม่มีภาระสนับสนุนเงินอุดหนุน และการชดเชยราคาอ้อยอีกต่อไป แต่รัฐยังคงมีกลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคภายในประเทศ โดยการสำรองน้ำตาลทรายให้เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปีในจำนวนที่เหมาะสมตลอดเวลา

“ส่วนราคาน้ำตาลทรายขายปลีก กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลให้ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศมีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริโภค เกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างเหมาะสม แม้การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะส่งผลให้ยกเลิกการกำหนดโควตาการลอยตัวน้ำตาลทรายก็ตาม”นายอุตตม กล่าว

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า หลังจากประกาศลอยตัวราคาอ้อยและน้ำตาล คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานลดลงประมาณ 2-3 บาท จากเดิม 19-20 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 17-18 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกในตลาดลดลงตามไปด้วยภายในสัปดาห์หน้า เนื่องจากยังมีน้ำตาลบางส่วนขนส่งออกจากโรงงานประมาณ 300,000 ตัน จะขายหมดปลายสัปดาห์นี้ก่อน

นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมมาตรการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในภาวะที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดต่ำลงมาก จนเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนก็ยังคงมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นกลไกในการช่วยเหลือดูแลเกษตรชาวไร่อ้อย และเตรียมการป้องกันการขาดแคลนน้ำตาลทราย โดยกำหนดให้มีน้ำตาลทรายสำรองเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศในกรณีที่เกิดการขาดแคลนหรือราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศผันผวน หรือมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ

โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะตรวจสอบและกำกับดูแลให้โรงงานทุกโรงสำรองน้ำตาลทรายไว้ตลอดเวลา และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีอำนาจสั่งการให้โรงงานนำน้ำตาลทรายออกสู่ตลาดทันทีที่เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำตาลทรายภายในประเทศ และได้เตรียมมาตรการเพื่อการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนทางด้านราคา

“คาดการณ์ราคาน้ำตาลภายในประเทศจะปรับลดลงต่ำกว่าราคาในฤดูการผลิตก่อน ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นราคาเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ตามภาวะความต้องการของตลาดโลก โดยจะไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคในประเทศและภาคการผลิตจะมีราคาต้นทุนวัตถุดิบน้ำตาลทรายที่ลดลงด้วย แต่ราคาจะเป็นเท่าไหร่นั้นไม่สามารถระบุได้ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด”นายสมชาย กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

คสช.ใช้ ม.44 แก้กม.รับปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย- น้ำตาลทรายทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไชต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ ๑/๒๕๖๑ เรื่อง การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

โดยที่รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งระบบ พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นสากล

และสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงมีความจําเป็นต้องมีการยกเว้นการใช้บังคับ (๑๘) ของมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นการชั่วคราว เพื่อให้

การดําเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบสามารถบรรลุผลสําเร็จ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทราย อันจะเป็นประโยชน์

ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ

มาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเว้นการใช้บังคับ (๑๘) ของมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ๒๕๒๗ เฉพาะในส่วนของการกําหนดราคาขายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร ตั้งแต่ฤดูการผลิตปี ๒๕๖๐/๒๕๖๑ ถึงฤดูการผลิตปี ๒๕๖๑/๒๕๖๒

ข้อ ๒ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดําเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

ข้อ ๓ ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

ข้อ ๔ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

จับกระแสพลังงาน :

บมจ.ไทยออยล์…วิเคราะห์แนวโน้มราคาน้ามันดิบตลาดโลกรอบสัปดาห์นี้ (15-19 ม.ค. 2561) ...โดยระบุว่า ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ ที่คาดจะคงกำลังการกลั่นในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว รวมถึง การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกวางแผนที่จะปรับปริมาณการผลิตในไตรมาส 1/2561 ให้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากตลาดน้ำมันดิบยังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการกลับมาดำเนินการอีกครั้งของท่อขนส่งน้ำมันดิบในทะเลเหนือและลิเบีย...คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล...ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล…

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน...เสนอต่อภาครัฐว่าควรมี “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4”… เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างรายได้ให้กับประชาชน พร้อมกับรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต (New S-curve)…นอกจากนั้นเสนอว่าให้หาพื้นที่ใหม่เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ...โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้... เนื่องจากมีชายฝั่งทะเล 2 ด้าน เหมาะสมที่จะทำเป็นอุตสาหกรรมครบวงจร โดยควรมีการพัฒนาคอมเพล็กซ์โรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมีเข้าด้วยกัน... ให้มีกำลังการผลิตขนาดเทียบเคียงกำลังการผลิตขนาดใหญ่ในโลก...พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่องให้เป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกัน (Cluster) ตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย และผู้ประกอบการแปรรูปพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและพัฒนาอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีคอล อุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ...โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนทัดเทียม “อีอีซี”....

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน).. ตั้งวงเงินลงทุนด้านการขยายปั๊มน้ำมันในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท...โดยจะขยายเพิ่มอีก 80 ปั๊ม...ทำให้บางจากฯ มีรวม 1,200 ปั๊ม....เป็นปั๊มมาตรฐานทั่วไปและปั๊มที่ร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรอย่างละครึ่ง...ส่วนปี’60 ยอดขายของบางจากฯ เพิ่มสูงขึ้นจนมีสัดส่วนทางการตลาดเป็นอับดับ 2 ...หรือ 15.4%....เฉลี่ย 345 ล้านลิตร/เดือน...เพิ่มขึ้น 6.6%....ส่วนบริษัทในเครือของบางจาก เช่น... บีบีจีไอ...ซึ่งเป็นบริษัททางด้าน ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล....บางจากฯว่าแผนว่ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาส 3/2561….โดยจะนำเงินจากการระดมทุนไปลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะมีการร่วมทุนกับต่างชาติ.... สำหรับสินทรัพย์ของบีบีจีไอมีประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วยโรงงานไบโอดีเซลกำลังผลิต 8.1 แสนลิตร/วัน โรงงานเอทานอล จ.ฉะเชิงทรา 1.5 แสนลิตร/วัน โรงงานเอทานอลที่ร่วมมือกับบริษัทน้ำตาลขอนแก่น กำลังผลิต 3.5 แสนลิตร/วัน และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 5 แสนลิตร/วัน โรงงานอุบลเอทานอลกำลังผลิต 4 แสนลิตร/วัน...

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'ทรงตัว' ตามนโยบายการเงินใกล้เคียงกันทั่วโลก

บาทเปิดตลาดเช้านี้ทรงตัว "31.90 บาทต่อดอลลาร์" มองความเคลื่อนไหวทั้งนโยบายการเงินโลกและไทยไม่ต่างกันในปีนี้ และช่วงสั้นมีความเป็นไปได้น้อยที่ดอลลาร์จะแข็ง

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.90บาทต่อดอลลาร์

 ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมาค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงเมื่อผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่าอาจมีการลดการผ่อนคลายทางการเงินลงตั้งแต่ปลายปีนี้ และธนาคารกลางจีนนำเอาเงินอยู่วันเท่าเป็นหนึ่งในสกุลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินยูโรขยับขึ้นอยู่เหนือระดับ 1.22 ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินเยนก็แข็งค่าลงแปดระดับ 110 เยนต่อดอลล่าร์แล้วเช่นกัน ขณะที่ฝั่งตลาดทุนยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนักเนื่องจากเป็นวันหยุดมาร์ตินลูเธอร์คิงในสหรัฐ

เรามองความเคลื่อนไหวทั้งในส่วนของนโยบายการเงินโลกและไทยไม่ต่างกันในปีนี้ คือธนาคารกลางหลักส่วนใหญ่ ไม่มีท่าทีที่จะกลับไปเล่นสงครามค่าเงินหรือผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกต่อไปแล้วเนื่องจากเศรษฐกิจทุกที่ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ไม่สามารถแข็งค่าได้จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ในระยะสั้นมองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ค่าเงินดอลลาร์จะสามารถฟื้นขึ้นแรงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆทั่วโลก เเชื่อว่าความผันผวนจะอยู่ที่ค่าเงินยูโรและการเลือกตั้งในอิตาลีช่วงมีนาคมมองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 31.85-32.95 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

“อุตตม” เตรียมเสนอ “ครม.” ก.พ.นี้คลอดแพกเกจลงทุนไบโออีโคโนมี

“อุตตม” เตรียมเสนอ “ครม.” ก.พ.นี้คลอดแพกเกจส่งเสริมไบโออีโคโนมีนอกพื้นที่อีอีซีในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครสวรรค์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตร ดึงพืชผลทางการเกษตรแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเสนอแผนพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไบโออีโคโนมีเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ ซึ่งจะเป็นการขยายแผนการพัฒนานอกพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ไปยังภาคอีสาน (จ.ขอนแก่น) และภาคกลาง (จ.นครสวรรค์) เพื่อที่จะยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และใช้วัถตุดิบในพื้นที่ซึ่งเป็นการยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร

“แผนการพัฒนาไบโออีโคโนมีเป็นการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทางการเกษตรก่อนในเบื้องต้น และจะมีการต่อยอดอุตสาหกรรมการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปอื่นๆ โดยนำพืชที่มีศักยภาพทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ มาพัฒนา ซึ่งเดิมแพกเกจส่งเสริมการลงทุนมุ่งเป้าเฉพาะไบโอชีวภาพซึ่งจำกัดแค่บางผลิตภัณฑ์แต่ต้องการให้พืชไปสู่การแปรรูปด้านอื่นๆ ภาพจะใหญ่ขึ้น จึงนำแผนเก่ากลับมาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม” นายอุตตมกล่าว

นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอแนวทางการพัฒนาฐานข้อมูล หรือ Big Data ของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยเฉพาะของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี ) ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้า ครม.เช่นเดียวกันเพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 3.2 ล้านราย ซึ่งเป้าหมายในปี 2561 กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมแนวทางที่จะพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งมากขึ้น

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปีนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาเอสเอ็มอีทุกระดับ โดยจะเชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการให้มากขึ้นเพื่อที่จะให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (ธพว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม และจะร่วมกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือลงไปยังระดับล่างและทั่วถึงอย่างแท้จริง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

‘กม.อีอีซี’ช้ามาก จี้‘สมคิด-สนช.’คลอดให้ทันมีค.

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 15 มกราคม 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาประชุม คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งในปีนี้จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.อีอีซีที่มั่นใจ คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ภายในกุมภาพันธ์ 2561 จากนั้นจะประกาศใช้ได้ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการดึงดูดการลงทุนอย่างมากในปีนี้

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่ารัฐบาลกำลังเร่งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.อีอีซีให้เป็นไปตามกำหนดที่จะประกาศใช้ได้ภายในไม่เกินมีนาคม 2561 ซึ่งจะทำให้การลงทุนที่ขณะนี้รอความชัดเจนพ.ร.บ.อีอีซีจะตัดสินใจลงทุนทยอยในไตรมาส 2 เกิดขึ้น

“ขณะนี้เอกชนรอความชัดเจนพ.ร.บ.อีอีซี เพราะที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างล่าช้าไปจากแผนพอสมควรก็คิดว่าไม่ควรจะต้องล่าช้าไปกว่าไตรมาสแรกปีนี้อีก เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้” นายเจนกล่าว

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการ และผู้จัดการบริษัทอมตะซิตี้ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัทอมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหากรัฐเร่งคลอดพ.ร.บ.อีอีซี ได้เร็วก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นที่นักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติจะตัดสินใจเดินหน้าลงทุนในอีอีซีทันที แต่ยิ่งช้าก็ยิ่งเสียโอกาส ซึ่งอีอีซีจะเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 10 เป้าหมายที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยอย่างมากเนื่องจากอุตสาหกรรมเดิมๆ ที่เน้นใช้ แรงงานจะแข่งขันในเวทีได้ยาก

“อีอีซีจะเป็นพื้นที่รองรับลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปีที่รัฐบาลต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งผมคิดว่าไทยเดินมาถูกทางแล้วเพราะเทคโนโลยีโลกเปลี่ยนเร็วอุตสาหกรรมเดิมๆ เน้นใช้แรงงานราคาถูกคงไม่ใช่คำตอบ ซึ่งอมตะเองก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ก้าวทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปโดยจะมีการเปิดตัวก้าวต่อไปของอมตะ หรือ Amata Beyond เร็วๆ นี้ โดยนิคมฯไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่จะเน้น Internet of Things หรือ IoT จะมีการติดตั้งพลังงานสะอาดที่มุ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการบริหารการจราจรผ่านแอพพลิเคชั่น และพลังงานสะอาด” นายวิบูลย์กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสมคิด เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทราบว่า ในปี 2561 นี้ บีโอไอ ตั้งเป้าหมายยอดขอส่งเสริมการลงทุนที่ 7.2 แสนล้านบาท เติบโตจากเป้าหมายปีที่แล้ว 12% เนื่องจากปีนี้จะมีโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรม

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

“สมคิด” แจงแบงก์ชาติดูแลบาทไม่ให้เคลื่อนไหวผิดปกติ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทขณะนี้ เกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเป็นสาเหตุหลัก ทำให้ค่าเงินหลายประเทศแข็งค่าขึ้น ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีหากพบว่าค่าเงินมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีการดูแลอยู่แล้ว

 “นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ก็รายงานผม บอกว่าดูแลใกล้ชิด ดังนั้นแบงก์ชาติดูอยู่แล้ว เขาจะไม่ให้มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ทุกคนเจอหมด เพราะว่าดอลลาร์สหรัฐที่เป็นสกุลหลัก อ่อนค่าลง แต่ว่าประเทศไทยก็ต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีขึ้น เอกชนก็ต้องทำ ซึ่งเขาก็ไปหารือใกล้ชิดกับผู้ว่าการ ธปท.แล้ว ทุกฝ่ายดูแลร่วมกัน” นายสมคิดกล่าว

จาก https://www.prachachat.net.    วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

รายงานพิเศษ : ‘กรมชลประทาน’อีก20ปีจะเป็นองค์กรอัจฉริยะ

กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและการสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับประเทศ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็น “องค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security)” โดยสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้จำนวน 49.5 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 93.655 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 14.1 ล้านไร่ มีพื้นที่จัดรูปที่ดิน จำนวน 14.46 ล้านไร่ และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ถึง 7.431 ล้านครัวเรือน ให้ได้ภายในปี 2579 ดังนั้นในปี 2561 จึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์กรมชลประทานขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายใน 20 ปี

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของกรมชลประทานที่กำหนดขึ้นมาจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี รวมทั้งเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ตลอดจนแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรน้ำอีกด้วย

ทั้งนี้ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่กรมชลประทานจะมีอายุครบ 116 ปี ได้มีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไว้ 7 ด้าน ภายใต้กรอบแนวคิด “RID No.1” ซึ่งประกอบด้วย

ด้านแรก กรมชลประทานจะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือ การเร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ โดยเร่งรัดงานพระราชดำริที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จำนวน 159 โครงการ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 พร้อมทั้งดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ

ด้านที่สอง การปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ โดยจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค พร้อมทั้งปรับปรุงการจัดแผนงานระยะปานกลาง (MTEF) เช่น แผนศึกษา สำรวจ ออกแบบ จัดหาที่ดิน ก่อสร้าง แผนงาน

 ปรับปรุงระบบชลประทาน แผนงานซ่อมแซมระบบชลประทาน เป็นต้น เพื่อให้มีความสอดคล้องกันและสามารถปฏิบัติได้จริง สามารถจัดสรร

 งบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กรมชลประทาน และปี 2561 จะเป็นปีแรกที่ริเริ่มแนวทาง PPP (Public - Private Partnership) ซึ่งเป็นการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนมาใช้ในการทำงานชลประทาน

ด้านที่สาม กรมชลประทานจะการเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ประกอบด้วย การเร่งรัดการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กให้เป็นไปตามแผน โดยโครงการขนาดใหญ่ที่จะเริ่มดำเนินโครงการในปีนี้ที่สำคัญคือ โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาให้ระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม./วินาที) โดยจะเริ่มทำการปักหมุดกันพื้นที่ที่จะก่อสร้าง คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2562 และโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก เพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 130 ลบ.ม./วินาที เป็น 930 ลบ.ม./วินาที ระยะทางยาว 120 กม. โดยได้เริ่มทำการสำรวจและออกแบบรายละเอียดแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2561 นอกจากนี้จะดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช การพัฒนาระบบการแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุม พร้อมทั้งจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC)

ด้านที่สี่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยการต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC ให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งทำการปรับปรุงโครงการชลประทานที่มีอายุการใช้งานมานานให้สามารถใช้งานสอดคล้องกับสภาพในปัจจุบันได้ ตลอดจนสร้างทางเลือกในการดำเนินการส่งน้ำและบำรุงรักษาในงานชลประทาน ดำเนินการตรวจสอบ วิเคราะห์ ความมั่นคงของเขื่อน (dam safety) โดยจะปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรง รวมทั้งจะดำเนินการวางแผนเตรียมการรับมืออุทกภัยและภัยแล้ง การบูรณาการความร่วมมือกับ Single Command ในระดับพื้นที่

นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานทั้ง 882 แห่ง ให้เป็นศูนย์เรียนรู้และศูนย์เครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร พร้อมทั้งพัฒนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนอย่างเพียงพอ ดำเนินการตรวจสอบการใช้พื้นที่ราชพัสดุและแก้ไขปัญหาการบุกรุกของราษฎร พัฒนาปรับปรุงเพื่อใช้พื้นที่เขตคลองเป็นพื้นที่แก้มลิง และขยายผลพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤติ

ด้านที่ห้า กรมชลประทานจะเร่งทำการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน ของกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยจากน้ำ การเร่งรัดการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในรูปแบบคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทานให้เต็มพื้นที่ชลประทาน และทบทวนการดำเนินการโครงการ 1 โครงการ 1 ล้านบาท

ด้านที่หก การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาระบบการทำงานและกระบวนการที่ทันสมัยบนฐานดิจิทัล หรือ Digital Platform การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน (Big Data) รวมทั้งการเร่งรัดการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือ ที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน

และด้านที่เจ็ด กรมชลประทานจะดำเนินการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ โดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน การปรับปรุงและดูแลพิพิธภัณฑ์ให้มีความเหมาะสม การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหน่วยงาน การดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังผู้ปฏิบัติผ่านกิจกรรม KM และ Unit School การน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติ ผ่านหลักสูตรการอบรม การเตรียมการเพื่อรองรับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการเตรียมการเพื่อรองรับแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 (ด้านทรัพยากรน้ำ) และการส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว กรมชลประทานได้แบ่งการทำงานเป็น 4 ระยะดังนี้ ระยะแรก เริ่มตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมาจนถึงปี 2564 เป็นช่วงเสริมพลังใหม่สู่การเปลี่ยนแปลง โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พร้อมทั้งเชื่อมโยงระบบงานสำคัญให้เป็นระบบเดียว ระยะที่สอง ตั้งแต่ปี 2565-2569 เป็นการสร้างภาคีเครือข่ายและความร่วมมือ เป็นศูนย์กลางการควบคุมและบริหารน้ำระบบอัจฉริยะ และจะมีการก่อสร้างระบบชลประทานด้วยนวัตกรรมชั้นสูง

ระยะที่สาม ตั้งแต่ปี 2570-2574 จะเป็นการปฏิรูประบบกระบวนงาน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านชลประทานและการบริหารจัดการน้ำ

 ให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระยะที่สี่ ตั้งแต่ปี 2575-2579 เป็นการดำเนินการให้กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะ สร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับประเทศชาติสำเร็จตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของการบริหารจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ก็คือ ความมีเอกภาพในการบริหารจัดการมากขึ้น หลังจากที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 จัดตั้ง สำนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนวางแผนในการบริหารจัดการน้ำ ในส่วนของกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำหน่วยงานอื่นๆ จะเป็นหน่วยงานปฏิบัติ ความซ้ำซ้อนก็จะไม่เกิดขึ้น

“ทิศทางการทำงานของกรมชลประทานในปัจจุบันและอนาคต ถ้าหากสามารถดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนยุทธศาสตร์ของกรมชลประทานให้สัมฤทธิผล จะทำให้กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวยืนยัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

ยันสารเคมี3ชนิดพิษระดับปานกลาง n เกษตรฯขอสธ.ส่งหลักฐานอันตราย‘พาราควอต-ไกลโฟเซต’

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร เร่งดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เสนอห้ามใช้วัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอไรด์ และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 และให้จำกัดการใช้วัตถุอันตรายไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่สูง พื้นที่ต้นน้ำ บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่สาธารณะ และเขตชุมชน

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 29-7/2560 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเอกสารทางวิชาการ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยกำหนดให้พิจารณาแล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความอนุเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับข้อกังวลในด้านความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้ส่งข้อมูลดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาข้อมูลทางวิชาการ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด พบว่า ข้อมูลพิษวิทยา พิษตกค้าง และประสิทธิภาพของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีความเป็นพิษในระดับน้อยถึงปานกลาง และยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามฉลาก ซึ่งมีบางประเทศที่ห้ามใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด แต่อีกหลายประเทศมิได้ห้ามใช้ หรือห้ามใช้ในสินค้าบางชนิดเท่านั้น นอกจากนี้ผลสรุปจากการรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้ง มีทั้งเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการ และไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก หากใช้ด้วยความระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย เกษตรกรจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิต นอกจากจะมีสารที่มาใช้ทดแทนที่มีประสิทธิภาพดีและราคาถูก ก็ยินดีที่จะลด ละ เลิกใช้ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

‘กม.อีอีซี’ช้ามาก จี้‘สมคิด-สนช.’คลอดให้ทันมีค.

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 15 มกราคม 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาประชุม คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งในปีนี้จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.อีอีซีที่มั่นใจ คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ภายในกุมภาพันธ์ 2561 จากนั้นจะประกาศใช้ได้ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการดึงดูดการลงทุนอย่างมากในปีนี้

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่ารัฐบาลกำลังเร่งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.อีอีซีให้เป็นไปตามกำหนดที่จะประกาศใช้ได้ภายในไม่เกินมีนาคม 2561 ซึ่งจะทำให้การลงทุนที่ขณะนี้รอความชัดเจนพ.ร.บ.อีอีซีจะตัดสินใจลงทุนทยอยในไตรมาส 2 เกิดขึ้น

“ขณะนี้เอกชนรอความชัดเจนพ.ร.บ.อีอีซี เพราะที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างล่าช้าไปจากแผนพอสมควรก็คิดว่าไม่ควรจะต้องล่าช้าไปกว่าไตรมาสแรกปีนี้อีก เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้” นายเจนกล่าว

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการ และผู้จัดการบริษัทอมตะซิตี้ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัทอมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหากรัฐเร่งคลอดพ.ร.บ.อีอีซี ได้เร็วก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นที่นักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติจะตัดสินใจเดินหน้าลงทุนในอีอีซีทันที แต่ยิ่งช้าก็ยิ่งเสียโอกาส ซึ่งอีอีซีจะเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 10 เป้าหมายที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยอย่างมากเนื่องจากอุตสาหกรรมเดิมๆ ที่เน้นใช้ แรงงานจะแข่งขันในเวทีได้ยาก

“อีอีซีจะเป็นพื้นที่รองรับลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปีที่รัฐบาลต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งผมคิดว่าไทยเดินมาถูกทางแล้วเพราะเทคโนโลยีโลกเปลี่ยนเร็วอุตสาหกรรมเดิมๆ เน้นใช้แรงงานราคาถูกคงไม่ใช่คำตอบ ซึ่งอมตะเองก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ก้าวทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปโดยจะมีการเปิดตัวก้าวต่อไปของอมตะ หรือ Amata Beyond เร็วๆ นี้ โดยนิคมฯไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่จะเน้น Internet of Things หรือ IoT จะมีการติดตั้งพลังงานสะอาดที่มุ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการบริหารการจราจรผ่านแอพพลิเคชั่น และพลังงานสะอาด” นายวิบูลย์กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสมคิด เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทราบว่า ในปี 2561 นี้ บีโอไอ ตั้งเป้าหมายยอดขอส่งเสริมการลงทุนที่ 7.2 แสนล้านบาท เติบโตจากเป้าหมายปีที่แล้ว 12% เนื่องจากปีนี้จะมีโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'แข็งค่า' หลังสกุลเงินทั่วโลกพื้นฐานแกร่ง

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ "31.92บาทต่อดอลลาร์" ระยะสั้นมองสกุลเงินทั่วโลกกลับมาพื้นฐานส่งผลให้แข็งค่า

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.92บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นค่าเงินดอลลาร์เปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.96บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงสั้นยังมองความเสี่ยงการอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นประเด็นหลักในตลาดการเงิน โดยเชื่อว่าสกุลเงินต่างๆทั่วโลกกลับมามีประเด็นที่ส่งผลให้พื้นฐานแข็งแรงขึ้น (เช่นการจัดตั้งรัฐบาลในเยอรมัน และดุลการค้าที่ขยายตัวแกร่งทั่วเอเชีย) ในช่วงนี้ จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่เงินดอลลาร์จะสามารถฟื้นตัวได้ง่ายๆ

ในระยะสั้น กรอบเงินบาทวันนี้ 31.87- 31.97 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทในสัปดาห์นี้ 31.60- 32.10 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์นี้สิ่งที่ต้องจับตาคือ ตัวเลขเศรษฐกิจจีน และการตกลงงบประมาณประจำปี 2018 ในสหรัฐช่วงท้ายสัปดาห์

ในวันพุธตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐ (Industrial Production) เดือนธันวาคม คาดว่าจะขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนจากการขยายตัวของภาคยานยนต์และอุตสาหกรรมหนัก

ธนาคารกลางแคนาดาจะขึ้นดอกเบี้ยจากระดับ 1.00% มาที่ 1.25% หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดปรับตัวดีขึ้นตามลำดับขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและนโยบายการค้าในทวีปอเมริกาเหนือเป็นสิ่งที่แคนาดาต้องเตรียมพร้อม

ในวันพฤหัส ทางการจีนจะมีการรายงานจีดีพีไตรมาสสี่ ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6.7% หรือคิดเป็น 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ย้ำชัดว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างแข็งแรง

วันศุกร์ เป็นวันสิ้นสุดการใช้งบประมาณชั่วคราวในสหรัฐฯ ซึ่งต้องจับตาว่าปัญหาการเมืองที่ยังวุ่นวายจะนำไปสู่ ความเสี่ยงที่จะต้องปิดทำการหน่วยงานภาครัฐหรือ Goverment Shutdown ในสหรัฐหรือไม่

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561

สุดทน! ชาวบ้านร้องสื่อ รถบรรทุกทำอ้อยปลิวเกลื่อนหวิดเกิดอุบัติเหตุหลายหน วอนเข้มกฎหมาย

โวยรถบรรทุกอ้อยทำต้นอ้อยตกเรี่ยราดบนถนนหลวงสาย 21 เกือบทำให้รถที่ขับตามหรือขับแซงเกิดอุบัติเหตุ จี้กวดขันและบังคับใช้กฎหมายจริงจัง

วันที่ 14 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการร้องเรียนจากบรรดาผู้ขับขี่รถบนถนนทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) บริเวณเขตอ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ว่า ขณะนี้มีรถบรรทุกอ้อยซึ่งอยู่ระหว่างขนบรรทุกอ้อยวิ่งเข้าโรงงานน้ำตาล ที่ต.หนองแจง เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถเหล่านี้ได้ก่อปัญหาทำให้มีเศษต้นอ้อยปลิวตกตามถนนเรี่ยราด และหลายครั้งที่ต้นอ้อยเหล่านี้ปลิวตกออกจากคอกบรรทุก และหวุดหวิดเกือบจะกระเด็นไปตกใส่รถที่ขับวิ่งตามหลังหรือกำลังจะขับแซง จนผู้ขับขี่ตกใจและพยายามจะบังคับพวงมาลัยเลี้ยวหลบกระทันหัน กระทั่งเกือบทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น จึงพากันตั้งข้อสังเกตว่าทำไมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทีเกี่ยวข้องจึงไม่กวดขันและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

นอกจากนี้รถบรรทุกอ้อยส่วนใหญ่ยังมักง่ายไม่มีผ้าหรือตาข่ายคลุมป้องกันต้นอ้อยร่วงหล่นแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีการติดธงแดงไว้ที่ส่วนท้ายที่ต้นอ้อยยื่นโผล่ล้นมาจากคอกบรรทุกอคกด้วย ขณะเดียวกัน รถบรรทุกบางคันไม่มีการติดสัญญาณไฟไว้ที่ส่วนท้ายหรือข้างคอกบรรทุกอีกด้วย จนเป็นสาเหตุทำให้ก่อนหน้านี้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันยังมีผู้ขับขี่และนักท่องเที่ยวอีกหลายรายแจ้งว่า ไม่เพียงถนนหลวงในเขต อ.บึงสามพันเท่านั้น แต่ถนนทางหลวงในเขต อ.ศรีเทพก็ตกอยู่ในสถานเดียวกัน จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งกวดขันและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

“ชวน หลีกภัย” เปิดศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการปลูกอ้อย อุทัยธานี ดันคุณภาพสูง ป้องกันการขาดทุน

ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาการปลูกอ้อย ที่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิต และคุณภาพอ้อยที่สูงขึ้น แก้ปัญหาการขาดทุนซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต

วันที่ 14 มกราคม 2561 นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเป็นเกียรติเปิดป้าย”ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการปลูกอ้อย” อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี

ข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทมิตรเกษตร อุทัยธานี พบว่าชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ของโรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร อุทัยธานี ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่รายใหม่ จึงประสบปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน ผู้บริหารโรงงานฯ จะส่งเสริมการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มชาวไร่อ้อยเข้มแข็ง

ด้วยการเพิ่มทักษะ และหลักวิชาการ โดยเชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาต้นทุนการผลิตอ้อย และน้ำตาล ขณะเดียวกันจะส่งผลให้ผลผลิตอ้อยตันต่อไร่ และผลผลิตน้ำตาล กิโลกรัมต่อตันอ้อย สูงขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายระบบนิเวศ เป็นมิตรกับชุมชนโดยในการสำรวจงานในครั้งนี้ได้สำรวจตรวจสอบการบำรุงดูแลรักษาสภาพดินในโครงการด้วย

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

รมว.กษ.สั่งใช้นโยบายเชิงรุกปรับโครงสร้างภาคเกษตร

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้ใช้นโยบายเชิงรุกปรับโครงสร้างภาคเกษตร ให้ข้าราชการกระทรวงฯ ทุกพื้นที่ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชนในสังกัด และส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทุกจังหวัด นำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในเรื่องการเสริมต่อโครงการตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ด้วยการตลาดนำการผลิตทางการเกษตร และให้ปลัดกระทรวงฯ กำหนดมาตรการและวิธีการให้ ผู้ตรวจราชการระดับกระทรวงและระดับกรม เป็นคณะทำงานตรวจแนะนำและติดตามการดำเนินการของจังหวัด ประจำพื้นที่ 76 จังหวัด ว่า มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการของจังหวัดและอำเภออย่างไรหรือไม่ เพื่อรวบรวมรายงานให้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ทราบ จะได้ให้การสนับสนุน หรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ถูกต้อง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

รมต.อาเซียน-อินเดีย เห็นชอบแผนสร้างความเข้มแข็งเกษตรกร เน้นเชื่อมโยงเทคโนโลยีการเกษตร

 รัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านเกษตรและป่าไม้ เห็นชอบดันแผนระยะกลาง 5 ปี เน้นสร้างความเข้มแข็งเกษตรกร เชื่อมโยงเทคโนโลยีการเกษตรหวังขับเคลื่อนพัฒนาด้านการเกษตรและป่าไม้ระหว่างกัน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2561 ในฐานะประธานที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ หรือ อามาฟ และทำหน้าที่ประธานที่ประชุมร่วมกับนายราด้า โมฮานซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกร ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ว่า อาเซียนและอินเดียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เนื่องจากอินเดียมีขนาดจีดีพี 2.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 7 ของโลก และมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ขณะที่อาเซียนรวม 10 ประเทศมีขนาดจีดีพี 2.71 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีประชากรกว่า 644 ล้านคน ดังนั้น อาเซียนและอินเดียต้องเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก สามารถสร้างอำนาจต่อรอง และเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โดยผลการประชุมครั้งนี้ที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และอินเดียให้ความเห็นชอบ และแสดงความพอใจต่อผลการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมืออาเซียน-อินเดีย ปี 2554-2558 โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา ตามที่เห็นชอบร่วมกัน อาทิ การจัดระบบควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการส่งเสริมการเกษตรในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ การอบรมเกี่ยวกับการรับรองผักและผลไม้อินทรีย์ เป็นต้น

นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านเกษตรและป่าไม้ ยังเห็นชอบแผนการดำเนินงานระยะกลางของความร่วมมืออาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ที่มีเป้าหมายดำเนินการถึงปี 2563 สนับสนุนแผนการดำเนินงานระยะกลางของความร่วมมืออาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2563 ค.ศ. 2020 ที่ตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหาร จึงคาดหวังให้มีการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอาหารและราคาสินค้าอาหารที่ผันผวนในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของเกษตรกรระหว่างอาเซียนและอินเดีย ครั้งที่ 3 เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและยุวเกษตรกรได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำการเกษตรและและมีทักษะด้านการบริหารจัดการ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 รัฐมนตรีอาเซียน-อินเดีย คาดหวังว่าจะได้มีการดำเนินกิจกรรมด้านการเสริมสร้างศักยภาพอาเซียน-อินเดีย ในโครงการการพัฒนารูปแบบองค์ความรู้เพื่อการจัดทำการเกษตร โดยมีโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการเสริมสร้างศักยภาพสตรีอินเดีย-อาเซียนผ่านสหกรณ์ และโครงการการจัดการความมั่นคงด้านอาหารและความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น

 “ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ เร่งดำเนินกิจกรรมความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 5 ในปี 2562 ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลามต่อไป” นายกฤษฎา กล่าว

จาก https://www.siamrath.co.th   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561

ที่ประชุมรมต.เกษตรอาเซียน เห็นชอบดันแผนระยะกลาง 5 ปี

อินเดียด้านเกษตรและป่าไม้ เห็นชอบดันแผนระยะกลาง 5 ปี เน้นสร้างความเข้มแข็งเกษตรกร

                นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 11 – 12 มกราคม 2561  ในฐานะประธานที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ หรือ อามาฟ และทำหน้าที่ประธานที่ประชุมร่วมกับนายราด้า โมฮานซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกร ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ว่า อาเซียนและอินเดียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เนื่องจากอินเดียมีขนาดจีดีพี 2.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 7 ของโลก และมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ขณะที่อาเซียนรวม 10 ประเทศมีขนาดจีดีพี 2.71 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีประชากรกว่า 644  ล้านคน ดังนั้น อาเซียนและอินเดียต้องเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก สามารถสร้างอำนาจต่อรอง และเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม

              โดยผลการประชุมครั้งนี้ที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และอินเดียให้ความเห็นชอบ และแสดงความพอใจต่อผลการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมืออาเซียน-อินเดีย ปี 2554-2558 โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา ตามที่เห็นชอบร่วมกัน อาทิ การจัดระบบควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการส่งเสริมการเกษตรในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ  การอบรมเกี่ยวกับการรับรองผักและผลไม้อินทรีย์ เป็นต้น

           ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีอาเซียน – อินเดียด้านเกษตรและป่าไม้ ยังเห็นชอบแผนการดำเนินงานระยะกลางของความร่วมมืออาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ที่มีเป้าหมายดำเนินการถึงปี 2563 สนับสนุนแผนการดำเนินงานระยะกลางของความร่วมมืออาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2563 ค.ศ. 2020 ที่ตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหาร จึงคาดหวังให้มีการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอาหารและราคาสินค้าอาหารที่ผันผวนในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของเกษตรกรระหว่างอาเซียนและอินเดีย ครั้งที่ 3 เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและยุวเกษตรกรได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำการเกษตรและและมีทักษะด้านการบริหารจัดการ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียอีกด้วย

              อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 รัฐมนตรีอาเซียน-อินเดีย คาดหวังว่าจะได้มีการดำเนินกิจกรรมด้านการเสริมสร้างศักยภาพอาเซียน-อินเดีย ในโครงการการพัฒนารูปแบบองค์ความรู้เพื่อการจัดทำการเกษตร โดยมีโครงการสำคัญ ๆ เช่น โครงการเสริมสร้างศักยภาพสตรีอินเดีย - อาเซียนผ่านสหกรณ์ และโครงการการจัดการความมั่นคงด้านอาหารและความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น

           "ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ เร่งดำเนินกิจกรรมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 5 ในปี 2562  ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ต่อไป" นายกฤษฎา กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

เดินหน้าแผนจัดรูปที่ดิน กรมชลเร่ง4แผนงาน-20ปีดันรายได้ภาคเกษตร1.6 แสนล.

จัดรูปที่ดิน กรมชล ภาคเกษตร นายประพิศ จันทร์มา ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน       

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้จัดทำยุทธศาสตร์แผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน พ.ศ.2560-2579 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน และยุทธศาสตร์กองทุนจัดรูปที่ดิน ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายที่จะให้มีระบบชลประทานในแปลงเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าภายใน 20 ปี จะจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้ได้ 12.376 ล้านไร่ และจัดรูปที่ดินอีก 2.085 ล้านไร่ สามารถประหยัดน้ำได้ 20,361 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดต้นทุนการผลิตรวม 17,781 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4,124 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และเพิ่มรายได้รวม 160,139 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อปีประมาณ 37,141 บาทต่อครัวเรือน

สำหรับในปีงบประมาณ 2561 ได้วางแผนดำเนินงานไว้ 4 แผนงานหลัก คือ 1.แผนงานพื้นฐานด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จัดระบบกระจายน้ำให้ได้ 1,500 ไร่

 2.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะดำเนินการจัดรูปที่ดินในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 1,300 ไร่ 3.แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยจะดำเนินโครงการพัฒนาภาคการเกษตรภาคเหนือ และโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อจัดทำระบบกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่ 18,439 ไร่ และ 4.แผนงานโครงการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ปี พ.ศ.2561 ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะจัดรูปที่ดิน 6,400 ไร่ และจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 109,900 ไร่ โดยใช้งบประมาณดำเนินงานทั้ง 4 แผนงานดังกล่าว รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,222 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

นายกฯดันระเบียบศก.อนุภูมิภาคเชื่อมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

นายกรัฐมนตรี เสนอผลักดันระเบียบเศรษฐกิจอนุภูมิภาคเชื่อมโยงหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 2

วันนี้ (พุธ 10 มกราคม 2561) ณ สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา (Peace Palace) กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (the Second Mekong-Lancang Cooperation (MLC) Leaders’ Meeting ภายใต้หัวข้อ “แม่น้ำแห่งสันติภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเรา” (Our River of Peace and Sustainable Development)

โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอีก 5 ประเทศร่วมประชุมด้วย ได้แก่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นาย มิ้นต์ ส่วย รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นาย เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

โดยพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมกัมพูชาและจีนที่เป็นประธานร่วมในการจัดการประชุม แม้กรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง (MLC) จัดตั้งในระยะเวลาเพียงไม่นานแต่ได้พัฒนาการตามเจตนารมณ์ของผู้นำที่ตั้งใจทำให้กรอบความร่วมมือ MLC เป็นกรอบความร่วมมือที่เน้นการดำเนินการจริง (Framework of actions) ไม่ใช่กรอบแห่งการเจรจาหารือหรือ talk shop โดยไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามปฏิญญาซานย่า ที่เน้นหลักการว่าด้วยความเท่าเทียมกัน ความสมัครใจ การมีส่วนร่วม และชื่นชมจีนที่ประกาศจะให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากที่เคยประกาศไว้ในการประชุมผู้นำครั้งที่ 1 เมื่อ 13 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับภารกิจที่ท้าทาย คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ของกรอบ MLC เพื่อความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งแนวทางความร่วมมือที่มุ่งผลลัพธ์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสาขาความร่วมมือที่มีความสำคัญเร่งด่วน 5 สาขา ภายใต้การทำงานของ 6 คณะทำงาน การดำเนินโครงการระยะเริ่มแรก (Early Harvest) รวมทั้งการอนุมัติในโครงการต่าง ๆ แล้ว จำนวน 132 โครงการ จากโครงการที่เสนอทั้งหมด 250 โครงการ การจัดตั้งสำนักเลขาธิการและศูนย์ประสานงาน แม่โขง-ล้านช้างในแต่ละประเทศสมาชิก การจัดตั้งศูนย์ด้านทรัพยากรน้ำ ศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และ

การสร้างเครือข่ายทางวิชาการ Global Center for Mekong Studies เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือระหว่างสมาชิก อันจะนำไปสู่การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และการเป็นสายน้ำแห่งความเข้าใจกัน ซึ่งกรอบ MLC มีลักษณะที่พิเศษที่แตกต่างจากกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ คือ เป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่มีสมาชิกทั้งจากแม่น้ำโขงตอนบน (ล้านช้าง) และแม่น้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งหลักการที่เห็นพ้องกัน คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทุกระดับ (inclusiveness) และความสมัครใจตามหลักฉันทามติ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอทิศทางของความร่วมมือในอนาคต ดังนี้ ประการแรก กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ควรส่งเสริมให้อนุภูมิภาคนี้มีความทันสมัย ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม มีความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ และลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างกัน

ประการที่สอง เป็นกลไกหลักสนับสนุนให้อนุภูมิภาคนี้ สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งประเทศสมาชิกมีพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นภาคการเกษตร จึงต้องร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยรัฐบาลไทยกำลังเร่งพัฒนาพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลและตลาดโลกผ่านโครงการดิจิตอลชุมชนและอินเตอร์เน็ตประชารัฐโดยร่วมกับภาคเอกชน และการให้ความสำคัญกับกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยมีกองทุนสนับสนุนและให้ข้อมูล และได้มีการจัดงาน Startup Thailand ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่มีหลายประเทศหลายบริษัทให้ความสนใจเข้าร่วม

ประการที่สาม การเชื่อมโยงในภูมิภาคหรือ connectivity เป็นเครื่องมือสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล โดยไม่ละเลยกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล รวมทั้งการเข้าถึงของภาคประชาสังคมด้วย ซึ่งไทยมีบทบาทแข็งขันในการจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงทั้งในกรอบ ACMECS , ASEAN , BIMSTEC และ IORA สนับสนุนการเชื่อมโยงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบเพื่อการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีน ในการจะจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจะช่วยให้อนุภูมิภาคเชื่อมโยงเข้ากับนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน หรือ BRI และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

ประการที่สี่ ไทยสนับสนุนการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง – ล้านช้าง และผลักดันให้ระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคเชื่อมต่อเข้ากับระเบียงเศรษฐกิจของ BRI ทั้งกรอบทวิภาคีและ GMS ทั้งแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านตะวันออกของไทย (EEC) โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน ยังสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย + 1 ซึ่งสนับสนุนการลงทุนและการค้าแบบบูรณาการ การผลิตร่วมกัน และขยายการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานกับตลาดภายนอก โดยเริ่มต้นจากกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป สินค้าอุปโภค และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการลงทุนด้านการเชื่อมโยงและการคมนาคม และการท่องเที่ยวร่วมกัน ซึ่งทั้ง 6 ประเทศต้องหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความเชื่อมโยงตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งด้านความต้องการพื้นฐาน การตระหนักรู้ การเข้าถึงทรัพยากรและการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากร ให้สอดคล้องกับสังคมแห่งการเรียนรู้

ประการที่ห้า ไทยเห็นพ้องกับจีนที่เสนอให้ขยายสาขาความร่วมมือของกรอบ MLC จาก 3+5 เป็น 3+5+X โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพร้อมของประเทศสมาชิกทุกประเทศ และ “จิตวิญญาณแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” โดยสาขาที่สามารถขยายความร่วมมือร่วมกันในอนาคตได้แก่ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการศึกษา เป็นต้น

ไทยยังให้ความสำคัญความร่วมมือด้านน้ำ เพราะเชื่อว่า น้ำเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญในลำดับต้น ที่จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิด ทั้งด้านการเมือง การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำท่วมและน้ำแล้งในประเทศลุ่มน้ำ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาการที่ยั่งยืนและความสุขสงบและสันติภาพของประเทศลุ่มน้ำโขง กรอบความร่วมมือ MLC และ MRC (Mekong River Commission) ต้องมีความเชื่อมโยงมากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างครอบคลุม ครบวงจรและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ไทยยินดีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านทรัพยากรน้ำในปีนี้ (ค.ศ. 2018)และพร้อมสนับสนุนให้แม่น้ำโขง เป็นสายน้ำแห่งสันติภาพ และมีความยั่งยืนต่อการพัฒนาของประชาชนในลุ่มน้ำโขงมากที่สุด ต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อสร้าง “แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” แม่น้ำโขงจะเป็นแม่น้ำตัวอย่าง และ MLC จะเป็นกรอบความร่วมมือต้นแบบ ที่สอดรับเป้าประสงค์ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติปี ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) อย่างเป็นรูปธรรม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ไทยในฐานะประธาน ACMECS ในปีนี้ ขอขอบคุณจีนที่สนับสนุนประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งเป็นสมาชิก ACMECS และกำลังจัดทำแผนแม่บท ACMECS ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค โดยจะให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Seamless) การเชื่อมโยงประสานแนบชิด (Synchronized) และการเชื่อมโยงที่ทันสมัยและยั่งยืน (Smart and Sustainable) ทั้งนี้ แผนแม่บท ACMECS และปฏิญญากรุงเทพ จะปรากฏผลเป็นรูปธรรมในอีก 6 เดือนข้างหน้า เชื่อว่า ACMECS จะเกื้อหนุนกรอบแม่โขง-ล้านช้าง โดยจะเป็นตัวเชื่อมประเทศลุ่มน้ำโขงเข้ากับ BRI อันจะนำไปสู่โครงสร้างห่วงโซ่มูลค่าของโลกต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

เกษตรเตือนจับตาหนอนกออ้อยระบาด

กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วประเทศเฝ้าระวังหนอนกออ้อยระบาดระยะอ้อยแตกกอ แนะหมั่นสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ

            นายประสงค์  ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากข้อมูลแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูอ้อยพบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยในหลายพื้นที่ภาคกลาง อาทิ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และลพบุรี ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วประเทศหมั่นสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอ้อยในระยะแตกกอ ให้ระวังการระบาดของหนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และสีชมพู หากพบการเข้าทำลายให้รีบขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด เพื่อดำเนินการป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

             รองอธิบดีกรมส่งเสริมเกษตรกล่าวถึงลักษณะการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยว่า ให้สังเกตไข่หนอนทั้งชนิดที่คล้ายเกล็ดปลาและไข่เม็ดกลมสีขาวหรือชมพู บริเวณบนใบ ใต้ใบ และในกาบใบที่แนบอยู่บริเวณยอดใบ หากฟักตัวจะกัดกินผิวใบหรือหน่ออ้อยในระยะสั้น ๆ จากนั้นจะเจาะเข้าลำต้นที่อยู่บริเวณผิวดินเพื่ออาศัยอยู่ในกออ้อย และมีนิสัยชอบเคลื่อนย้ายไปทำลายหน่อใหม่ โดย ๑ ตัว สามารถทำลายอ้อยได้ ๓ – ๔ หน่อ ซึ่งหนอนกออ้อยทั้ง 3 ชนิด จะพบเข้าทำลายอ้อยมากตั้งแต่ระยะแทงหน่อ จนถึงระยะแตกกอ

            สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดหนอนกออ้อยคือ ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในระยะเริ่มปลูก เพราะหนอนจะชอบเข้าทำลายหน่ออ้อยอวบ หมั่นสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น ปล่อยแตนเบียนหนอนโคทีเซีย อัตรา ๑๐๐ – ๕๐๐ ตัวต่อไร่ เมื่อพบหนอนปล่อยทุก ๗ วัน จำนวน ๔ ครั้ง หรือปล่อยแตนเบียนไข่ตริโคแกรมมา อัตรา ๒๐,๐๐๐ ตัวต่อไร่ เมื่ออ้อยอายุ ๒ เดือน ปล่อยทุก ๑๕ วัน จำนวน ๒ ครั้ง หรือปล่อยแมลงหางหนีบ อัตรา ๕๐๐ ตัวต่อไร่ กรณีที่ต้องไถตออ้อยทิ้งให้ทำลายตออ้อยให้หมด เพื่อกำจัดหนอนหรือดักแด้ที่อยู่ในตออ้อย และหากจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้พ่นด้วย ปิโตเลียมออยส์ ๘๓.๙% อีซี ๑๐๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร โดยพ่นก่อนการปล่อยแตนประมาณ ๑๐ - ๑๕ วัน หรือพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลงอื่น ซึ่งสามารถสอบถามขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด ได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ แนะนำให้เกษตรกรปลูกอ้อยพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อหนอนกอ เช่น เอฟ๑๕๖ อู่ทอง๑ และ เค๘๔-๒๐๐

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

เกษตรฯ เตรียมเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจวัตถุอันตราย 3 ชนิด

เกษตรฯ เตรียมเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจวัตถุอันตราย 3 ชนิด กำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

              นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการตามที่มีข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เสนอห้ามใช้วัตถุอันตราย พาราควอตไดคลอร์ไรด์ และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 และให้จำกัดการใช้วัตถุอันตรายไกลโฟเซต อย่างเข้มงวด

              โดยห้ามใช้สาหรับเกษตรกรในพื้นที่สูง พื้นที่ต้นน้ำ บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่สาธารณะ และเขตชุมชน โดยจะมีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ มาตรการการส่งเสริม และสนับสนุนให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ก่อนที่จะออกประกาศเงื่อนไขพื้นที่ห้ามใช้ และเขตห้ามใช้

             อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตรตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้พิจารณาและเร่งดำเนินการเพื่อไขข้อกังวลของสังคม และผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้วัตถุอันตรายในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดย

           1. จัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด โดยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 2. มีหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อคิดเห็นและข้อมูลเพิ่มเติมของวัตถุอันตราย ในการประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางในการควบคุมวัตถุอันตรายดังกล่าว

           3. มอบหมายกรมวิชาการเกษตรศึกษาข้อมูลพิษวิทยา ประเมินความเป็นอันตราย และผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตราย 4.มอบหมายคณะทำงานพิจารณาสารทดแทนวัตถุอันตราย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การหาสารที่จะนำมาใช้เป็นสารทางเลือก กรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมสารทั้ง 3 ชนิด 5. จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด

           ซึ่งล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 29-7/2560เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเอกสารทางวิชาการ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยกำหนดให้พิจารณาแล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน

              โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความอนุเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข ใน   ส่วนของข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับข้อกังวลในด้านความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้ส่งข้อมูลดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจใช้ประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไป

             ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาข้อมูลทางวิชาการ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด พบว่า ข้อมูลพิษวิทยา พิษตกค้าง และประสิทธิภาพของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีความเป็นพิษในระดับน้อยถึงปานกลาง และยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามฉลากซึ่งมีบางประเทศที่ห้ามใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด แต่อีกหลายประเทศมิได้ห้ามใช้ หรือห้ามใช้ในสินค้าบางชนิดเท่านั้น

               นอกจากนี้ ผลสรุปจากการรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้ง มีทั้งเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก หากใช้ด้วยความระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย เกษตรกรจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิต นอกจากจะมีสารที่มาใช้ทดแทนที่มีประสิทธิภาพดีและราคาถูก ก็ยินดีที่จะลด ละ เลิกใช้ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561

กษ.เล็งขอเฉือนงบ 4 หมื่นล้านบาท จากพ.ร.บ.งบกลางปีแสนล้านบาท เร่งปฏิรูปภาคเกษตร

กษ.เล็งขอเฉือนงบ4หมื่นล้านบาท จากพ.ร.บ.งบกลางปีแสนล้านบาท เร่งปฏิรูปภาคเกษตร ตามคำสั่ง“สมคิด”สั่งใส่เงินลงฐานราก

นายลักษณ์ วัจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือนม.ค.2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯทั้ง 3 คน เข้าสั่งการเพื่อเตรียมโครงการปฏิรูปภาคเกษตร ยกระดับรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย โดยใช้งบประมาณจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณกลางปี 2561 ที่จะออกมาประมาณเดือนมี.ค.2561 วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานรากกระทรวงเกษตรฯ โดยกระทรวงเกษตรฯต้องคิดโครงการให้ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อนำเสนอให้ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อน เสนอคระรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

สำหรับโจทย์ที่ นายสมคิด สั่งการมาเพื่อปฏิรูปภาคเกษตร กระทรวงเกษตรฯต้องทำงานร่วมกับ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี

 แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายสมคิดจะมีการสั่งการให้เตรียมโครงการเพื่อผลักดันโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะใช้การปรับโครงสร้างภาคเกษตร โดยใช้เงินจาก พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี ซึ่งยืนยันจะไม่กระทบกับความมั่นคงทางการคลัง เพราะสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ตรวจสอบหนี้สาธารณะเรียบร้อยแล้ว สามารถก่อหนี้ได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ต้องหาแนวทางดูแลเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล โดยต้องเป็นงานที่มีคุณภาพและเห็นผลชัดเจน ตามข้อสั่งการของนายสมคิด ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปภาคเกษตร ยกระดับความเป็นอยู่ของที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ให้มีชีวิตรอดระหว่างรอผลผลิต

สำหรับ โครงการปฏิรูปภาคเกษตร ในวันที่ 11 ม.ค.นี้กระทรวงเกษตรจะหารือรูปแบบโครงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอโครงการ เพื่อขอเบิกงบประมาณจากการหารือเบื้องต้นคาดว่ากระทรวงเกษตรฯจะใช้งบประมาณ ดำเนินโครงการปฏิรูปภาคเกษตรประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ผ่าน 5 โครงการ ดังนี้คือ 1.ชดเชยเงินสำหรับชาวสวนที่สมัครใจโค่นยางเพื่อเปลี่ยนอาชีพ 10,000 บาท/ไร่ จากเดิมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ่าย 1.6 หมื่นบาท/ไร่ บวกค่าสมัครใจอีก 4,000 บาท ส่งผลให้ชาวสวนยางหากเปลี่ยนอาชีพจะได้เงินชดเชย 3 หมื่นบาท/ไร่ 2.จัดทำบิ๊กดาต้า ข้อมุลพื้นฐานเกษตรกรเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาภาคเกษตรในอนาคต3.จัดทำไซโล เพื่อชะลอผลผลิตการเกษตร ต้องทำแก้มลิงพักสินค้าไว้รอขายในช่วงผลผลิตตกต่ำ 4.โครงการน้ำขนาดเล็ก และ 5.สร้างอาชีพในฤดูแล้ง ในเรื่องนี้ต้องหารือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ก่อน ว่าโครงการจะซ้ำซ้อนกับ โครงการเดิมหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดของรูปแบบโครงการจะนำหารือกับอีกครั้ง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

กกร.หวั่นค่าเงินบาทกระทบเศรษฐกิจ ตั้งทีมวิเคราะห์เตรียมเสนอรัฐ รับมือวิกฤตสัปดาห์หน้า

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุม กกร. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2560 ที่น่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังสามารถรักษาแรงส่งการขยายตัวที่ได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปี 2560 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวโน้มเข้าสู่กรอบบนของประมาณการที่ 3.7-4.0% โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.9%

สำหรับในปี 2561 นั้น กกร.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ใกล้เคียงกับในปี 2560 โดยแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากการขยายตัวของการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยว ก็จะยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจแม้ว่าอาจจะผ่อนแรงลงจากฐานที่สูงในปีก่อน

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยคงจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่การขยายตัวอย่างทั่วถึง ยังเป็นประเด็นที่ท้าทาย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อคู่ค้าต่างๆ ในจังหวะที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน 2561, ประเด็นความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ (ทั้งในคาบสมุทรเกาหลี และภูมิภาคตะวันออกกลาง) ตลอดจนความผันผวนของทิศทางค่าเงิน ซึ่ง กกร.เป็นห่วงว่า เงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย จึงจะมีการหารือเพื่อเสนอมาตรการต่อทางการต่อไป

 “ด้วยกังวล กกร.จึงตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจดูเรื่องค่าเงินบาท เพราะเป็นเรื่องที่กังวลมากดูจากสถิติ 2 ปีที่ผ่านมาค่าเงินไทยขึ้นถึง 12% เทียบกับคู่แข่งอย่างมาเลเซียที่แข็งขึ้น 9% เวียดนามแข็งขึ้น -1% ฟิลิปปินส์แข็งขึ้น -7% ไทยถือว่าเสียเปรียบต่อสินค้าเดียวกัน และภายในสัปดาห์หน้าจะเสนอรัฐว่าแต่ละหน่วยงานทั้งแบก์ชาติ คลัง ควรทำอย่างไร เช่น ใช้หนี้เงินกู้ที่เป็นสกุลดอลลาร์ให้หมด สำหรับส่งออกปี’61 คาดจะอยู่ที่ 3.5-6% ประเมิน GDP ปี’61 จะอยู่ที่ 3.8-4.5%”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ครม.ได้มีมติอนุมัติมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง 55 จังหวัด โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดเมืองรองได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่าย และบุคคลธรรมดาลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2561 กกร.ได้เชิญชวนสมาชิกให้การสนับสนุนมาตรการดังกล่าว เพื่อจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองและชุมชน และเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ไปอบรมและสัมมนาในเมืองรองด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

กรมชลฯกางแผนรับสถานการณ์ใช้น้ำหน้าแล้ง เริ่มกักน้ำตามทุ่งแล้ว

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศในปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 61,733 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 81% ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 37,813 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 73% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 จำนวน 9,643 ล้านลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,707 ล้านลบ.ม. หรือ 79% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 13,011 ล้านลบ.ม.

โดยทางกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 30 เมษายน 2561 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ รวมกัน 25,067 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 15,952 ล้านลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,167 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 6,948 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 8,873 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ของแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางแผนการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวม 14,187 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 30 เมษายน 2560 จำนวน 7,700 ล้านลบ.ม. แยกเป็นการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,140 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้านลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้านลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้านลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2561 ทั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้ทั้งสิ้น 6.26 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 5.17 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.06 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 1.03 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,387 ล้านลบ.ม. หรือ 31% ของแผนจัดสรรน้ำฯ

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ภายหลังจากที่กรมชลประทานได้วางแผนการระบายน้ำที่เก็บกักไว้ในทุ่งในช่วงที่เกิดน้ำหลากเมื่อฤดูฝนปี 2560 เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงปัจจุบันการระบายน้ำออกจากทุ่งต่างๆ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ส่วนปริมาณน้ำที่คงเหลือไว้ในแต่ละทุ่ง จะให้เกษตรกรได้นำไปเตรียมแปลงเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ช่วยลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำได้เป็นอย่างมาก

” แม้ว่าในปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่เพื่อเป็นการสำรองปริมาณน้ำไว้ใช้ในอนาคต และสร้างความมั่นคงด้านการใช้น้ำอย่างไม่ขาดแคลน จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย” นายทวีศักดิ์ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

หวั่นบาทผันผวนกระทบส่งออก

นักเศรษฐศาสตร์เตือนค่าเงินบาทผันผวนกระทบส่งออก จับตาปัจจัยการเมืองโลกกระทบซํ้า แนะส่งออกไปยุโรป-ลาตินอเมริกาโค้ดราคาเป็นสกุลเงินท้องถิ่น ประเมินไตรมาสแรกกรอบบาทเคลื่อนไหวที่32.25 บาท

ค่าเงินบาทเปิดศักราชปี 2561 แข็งค่าต่อเนื่องมาที่ 32.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับ 32.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อสิ้นปีก่อน เปิดมา 4 วันทำการค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 1% เนื่องจากเงินทุนไหลเข้าเอเชีย รวมทั้งไทย และค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยพื้นฐานของไทยที่ยังแข็งแกร่ง และคาดว่าปีนี้ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 10% ของจีดีพี จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันต่อค่าเงินบาท

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตต่อเนื่อง เป็นโอกาสทางการค้าต่อเนื่องจากปีก่อน

อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกยังมีประเด็นที่ต้องติดตามท่าทีทางการค้ากับสหรัฐฯทั้งประเด็นสหรัฐฯจะต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) และประเด็นทางการค้า หรือนโยบายใหม่ๆ เนื่องจากปีนี้สหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งกลางเทอม ขณะเดียวกันปีนี้จีนจะยังคงซื้อสินค้ายางจากไทยอย่างไร เพราะปีก่อนจีนซื้อยางจากไทยไปจำนวนมาก

“ปีนี้ผู้ส่งออกจะเหนื่อยกับค่าเงินที่ผันผวนต่อเนื่องอีกปี แต่แนวโน้มบาทน่าจะมีแรงหนุนจนกว่าเฟดจะมีความชัดเจนเดือนมีนาคม จากนั้นเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะมีแรงหนุนกลับมา โดยเรามองเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง และประเด็นทางการเมืองจะเข้ามาแทรกเป็นระยะ”

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปีนี้ตลาดหุ้นไทยคึกคักเปลี่ยนบรรยากาศจากปีก่อนที่นักลงทุนส่วนใหญ่ขายสุทธิ ซึ่งปีนี้จะเห็นภาพเงินทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรและเป็นสัญญาณการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียต่อเช่นกัน

ดังนั้นต้องจับตาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะฟื้นกลับมาแข็งค่าขนาดไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตได้ 3% เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5%ต่อปี และนักลงทุนปิดรับความเสี่ยงโดยทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกแต่ส่วนตัวยังมองดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าต่อ

“ทั้งปีนี้เงินบาทหลุด 32 แน่ น่าจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯโดยหลังเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มมีความเสี่ยงจากนโยบายการเงินของประธานเฟดคนใหม่อาจเข้มงวดกว่าเก่า รวมถึงผลการประชุม FOMC ในวันที่ 21 มีนาคมนี้ ผู้ส่งออกสินค้าไปตลาดลาตินอเมริกาและยุโรป ควรโค้ดราคาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นหากซื้อขายเป็นดอลลาร์สหรัฐฯต้องประกันความเสี่ยงไม่เช่นนั้นผู้ส่งออกไทยจะเสียเปรียบคู่ค้าและคู่แข่ง”

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

กรมชลฯ เดินหน้าแผนจัดรูปที่ดิน 20ปี ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ภาคเกษตร 1.6 แสนล้าน

กรมชลประทานเดินหน้าแผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน 20 ปี ตั้งเป้าลดต้นทุน ลดการใช้น้ำ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ภาคเกษตรกรรมกว่า 1.6 แสนล้านบาท พร้อมทุ่มงบกว่า 1,200 ล้านบาทเร่ง 4 แผนงานหลักในปี 2561

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้จัดทำยุทธศาสตร์แผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน พ.ศ.2560-2579 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน และยุทธศาสตร์กองทุนจัดรูปที่ดิน ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายที่จะให้มีระบบชลประทานในแปลงเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตร ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าภายใน 20 ปี จะจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้ได้ 12.376 ล้านไร่ และจัดรูปที่ดินอีก 2.085 ล้านไร่ สามารถประหยัดน้ำได้ 20,361 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดต้นทุนการผลิตรวม 17,781 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4,124 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และเพิ่มรายได้รวม 160,139 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อปีประมาณ 37,141 บาทต่อครัวเรือน

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2561 สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้วางแผนดำเนินงานไว้ 4 แผนงานหลักคือ 1.แผนงานพื้นฐานด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จัดระบบกระจายน้ำให้ได้ 1,500 ไร่ 2.แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะดำเนินการจัดรูปที่ดินในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 1,300 ไร่ 3.แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยจะดำเนินโครงการพัฒนาภาคการเกษตรภาคเหนือ และโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อจัดทำระบบกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่ 18,439 ไร่ และ 4.แผนงานโครงการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ปี พ.ศ.2561 ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะจัดรูปที่ดิน 6,400 ไร่ และจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 109,900 ไร่ โดยใช้งบประมาณดำเนินงานทั้ง 4 แผนงานดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,222 ล้านบาท

นายประพิศ กล่าวอีกว่า ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการผลิตในระดับแปลงเกษตรกร จำนวน 79 โครงการ โดยจัดทำเป็นหลักสูตรมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการถึง 2,370 คน และจากการประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโนนจาน ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวจาก 721 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 759 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง จาก 4,510 บาทต่อไร่เหลือ 3,939 บาทต่อไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 566 บาทต่อไร่ เป็น 1,406 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ยังได้มีการเชื่อมโยงงานจัดรูปที่ดินและงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยได้ดำเนินการสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ทั้งหมด 1,951 แปลง เป็นพื้นที่จัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 134 แปลง และยังได้จัดรูปที่ดินเพื่อสนับสนุนพื้นที่เกษตรอินทรีย์อีก 1 แปลง

“สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง มุ่งที่จะพัฒนาระบบชลประทานในแปลงเกษตรกรรมพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ รักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการพัฒนาระบบชลประทานในแปลงกรรมให้มีความยั่งยืน บูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาเทคโนโลยีตลอดจนนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในแปลงเกษตรกรรม” นายประพิศ กล่าว

จาก https://www.siamrath.co.th วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

สกว.จับมือ 5 เอกชนรายใหญ่พัฒนานวัตกรรมจาก "ตัวเร่งปฏิกิริยา"

สกว. จับมือเอกชนรายใหญ่ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีฐานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและวิศวกรรมปฏิกิริยาเคมี สำหรับอุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเอทานอลและอุตสาหกรรมที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และห้าบริษัทเอกชนรายใหญ่ได้แก่บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)และบริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการชี้ทิศทางและสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีฐานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาและวิศวกรรมปฏิกิริยาเคมี สำหรับอุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเอทานอลและอุตสาหกรรมที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน” (CAT-REAC industrial project) เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 61 ณ ห้องเซซาน-เรอนัวร์ ชั้น 4 โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า โครงการ CAT-REAC industrial project มุ่งหวังที่จะสร้างเทคโนโลยีฐานให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (ไบโอดีเซลและไบโอเอทานอล) และอุตสาหกรรมที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

โดยจะสร้างเครื่อข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรวบรวมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการร่วมพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย รวมถึงการให้การสนับสนุนให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงการวิจัยทางด้านตัวเร่งปฏิกิริยา

โครงการนี้เป็นความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมหรือสมาชิกตั้งต้นโครงการจำนวน 5 บริษัทคือ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด และจะเปิดรับสมาชิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและผลการวิจัยได้

ศาสตราจารย์ ดร. ปิยะสาร ประเสริฐธรรม หัวหน้าโครงการวิจัย “CAT-REAC industrial project” กล่าว่า โครงการว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบจากปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มต่าง ๆ มากมาย โดยมีสถิติการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาจากต่างประเทศเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ตัวเร่งปฏิกิริยายังเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศไทย เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไบโอดีเซล และเอทานอล

เนื่องจากปัญหาที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทย ยังขาดองค์ความรู้ทางด้านตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในกระบวนการผลิต ขาดความสามารถในการพัฒนาและผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อใช้ได้เอง

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีฐานความรู้ด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อสนับสนุนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

สรท.นัดถกแบงก์ชาติหารือบาทแข็ง 12 ม.ค. ห่วงค่าเงินบาทฉุดการเติบโตส่งออก-GDP

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ทางคณะผู้บริหาร สรท.นัดหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงทิศทางค่าเงินบาทหลังมีแนวโน้มอาจจะแข็งค่าต่ำกว่า 32 บาท/ดอลลาร์ อันจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตส่งออกทั้งปี ซึ่งในอดีต (2013) เคยลงไปต่ำถึง 28 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงต้องเร่งรักษาเสถียรภาพ ไม่ให้ผันผวนมากไปกว่านี้

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินบาทผันผวนเป็นสิ่งที่เอกชนกังวล เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 61 หากไม่รักษาเสถียรภาพจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างมาก ซึ่ง สรท.ตั้งเป้าส่งออกปีนี้ว่าจะโต 4% หรือมีมูลค่าราว 15.57 ล้านล้านบาท แต่หากเงินบาทที่แข็งค่าลง 1 บาท/ดอลลาร์ จะส่งผลให้รายได้จากการส่งออกหายไป 791,200 ล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดี แต่หากเงินบาทแข็งค่ามากไปก็จะไม่เกิดผลดีเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบทั้งห่วงโซ่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ส่งออกเท่านั้น

สำหรับการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2560 มีมูลค่า 21,435 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 13.4% (ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 704,899 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้การส่งออก 11 เดือนแรก มีมูลค่า 216,953 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 10.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลา เดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่ในรูปเงินบาท การส่งออก 11 เดือนแรก มีมูลค่า 7,365,792 ล้านบาท เติบโต 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลา เดียวกันปีก่อน (YoY)

ทั้งนี้ การเติบของการส่งออกไทยในปัจจุบันได้รับอานิสงส์จาก 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของโลกและประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และ CLMV ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นและอย่างต่อเนื่อง 2.การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากตลาด ศักยภาพ เช่น ตลาดเอเชียใต้ ตลาดเครือรัฐเอกราช (CIS) และแอฟริกาใต้ 3.การปรับตัวลักษณะของสินค้าไทยไปสู่ Digitization ตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่อุตสาหกรรมมีความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีการ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มมากขึ้น 4.การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ามันในตลาดโลกส่งผลต่อทิศทางของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับราคาขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยมีปัจจัยบวกที่อาจสนับสนุนการส่งออกในระยะถัดไปคือ 5.การปรับลดภาษีนาเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วนของประเทศจีน และ 6.สหภาพยุโรปมีมติฟื้นสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเจรจาการค้าเสรี

สำหรับด้านปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการส่งออกไทยที่ต้องเร่งแก้ไข หรือต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 1.ค่าเงินบาทที่ยังผันผวนไปในทิศทางแข็งค่าค่าอาจจะกระทบส่งออก สวนทางกับการที่เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.00-1.25% เป็น 1.25- 1.50% 2.มาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าสำคัญ 3.ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐอเมริกา เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษี Tax Policy 4.สภาวะทางการเมืองในสหภาพยุโรปโดยเฉพาะในสเปน และผลการเลือกตั้งในอิตาลี 5.สถานการณ์ความไม่แน่นอนในทางการเมืองระหว่างประเทศ 6.ต้นทุนการส่งออกที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจาก 6.1) สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ามันในตะวันออกกลาง 6.2) การเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (ฉบับแก้ไข) อาจกระทบกับการขาดแคลนแรงงาน 6.3) การ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่า ส่งผลต่อต้นทุนการผลติ 6.4) โครงการสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ของประเทศสหรัฐอเมริกา จะหมดอายุลงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 นี้ และยังไม่มีกำหนดนำเรื่องการเสนอต่ออายุเข้าสภา ดังนั้น หากไม่ได้รับการต่ออายุ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 การนำสินค้า GSP เข้าประเทศจะต้องมีการชำระภาษีตามอัตราปกติ (MFN Rate) ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้แก่ผู้นำเข้าในประเทศ 7.ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน (FTA ASEAN-China) ที่จะบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2561 ส่งผลให้ สินค้าทยอยปรับลดภาษีตามข้อตกลงที่เหลือทั้งหมด ทั้งนี้มีความกังวลว่าสินค้าจากจีนจะทะลักเข้าไปยัง CLMV และทุ่มตลาดสินค้าไทย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

อาเซียนเร่งผลักดันการเจรจาการค้า RCEP ให้ได้ผลสรุปภายในสิ้นปี”61

“พาณิชย์” เตรียมร่วมถกข้อเสนอทิศทางการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) พร้อมกับรัฐมนตรีชาติอาเซียน โชว์บทบาทอาเซียนนำการเจรจาให้ได้ผลสรุปภายในสิ้นปี 2561 ตามที่ผู้นำกำหนดเป้าหมาย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับ RCEP ในวันที่ 11 มกราคม 2561 ที่สิงคโปร์ โดยที่ประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการเจรจา RCEP และประเด็นข้อเสนอใหม่ของอาเซียน รวมทั้งแนวทางขับเคลื่อนให้การเจรจาสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่ผู้นำตั้งไว้

ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 5-6 มกราคม ที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอาเซียนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยได้ปรับปรุงข้อเสนอใหม่เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้ สำหรับใช้เป็นข้อเสนอเชิงรุกของอาเซียนที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาเพิ่มความยืดหยุ่นและผ่อนปรนท่าทีให้เข้าหากันได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ทุกประเทศสามารถแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงบทบาทนำของอาเซียนที่เพิ่มความพยายามขับเคลื่อนให้การเจรจาเป็นผลสำเร็จในปี 2561 ตามเป้าหมายของผู้นำ

นายสกนธ์ กล่าวว่า ประเทศสมาชิก RCEP โดยเฉพาะจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) อย่างเข้มข้นมากขึ้นในทุกมิติ เพื่อขยายการส่งออกในระยะยาว นอกจากนี้ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 16 ประเทศ ยังเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก มีประชากรรวมกันกว่า 3.5 ล้านคน อีกทั้ง ในปี 2559 ไทยมีการค้าขายกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 59% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย จึงเป็นตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างมาก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา RCEP ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เปิดเผยว่า การเจรจาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกยังมีท่าทีแตกต่างกันทั้งในเรื่องด้านการเปิดตลาดและด้านกฎเกณฑ์ เนื่องจากมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความคาดหวังและความอ่อนไหวที่แตกต่างกัน จึงทำให้แผนการเจรจาคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับ RCEP ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก และตกลงที่จะเพิ่มความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเจรจาบรรลุข้อตกลงได้มากที่สุด ภายในปี 2561

สำหรับไทยได้พยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิก RCEP โดยเฉพาะจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าสำคัญที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ประมงแปรรูป (ปลาทูน่า กุ้ง ปลาหมึก) มันสำปะหลังอัดเม็ด น้ำตาลจากอ้อย ข้าว ปิโตรเคมี ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งไทยมีการส่งสินค้าไปยัง 3 ประเทศนี้ คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมกันกว่า 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 24.1 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปยังภูมิภาค RCEP หรือ 13.4 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

 สมาชิก RCEP 16 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนา ไปจนถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่ไทยเรียกร้องให้พิจารณาเปิดตลาดให้ดีกว่าที่เคยให้ ภายใต้ความตกลงอาเซียน+1 โดย 3 ประเทศนี้มีความสำคัญต่อการเจรจา เนื่องจากเมื่อรวมกันแล้วเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่และจำนวนประชากรกว่า 2.8 พันล้านคน ประชากรรวมประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก คิดเป็นร้อยละ 79.8 ของจำนวนประชากรของภูมิภาค RCEP ที่จะเป็นตลาดของสินค้าไทย โดยในปี 2559 และทั้ง 3 ประเทศมี GDP รวมกันกว่า 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 77.3 ของ GDP ของภูมิภาค RCEP มีการนำเข้าจากโลก 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 60.6% ของการนำเข้าของภูมิภาค RCEP ในส่วนของการส่งออกมีการส่งออกไปยังโลก 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 62.2% ของการส่งออกของภูมิภาค RCEP

ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – พฤศจิกายน 2560) ไทยส่งออกไปภูมิภาค RCEP มีมูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.44% และมูลค่านำเข้า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.54%

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

สรท.คาดส่งออกปี 61 โต 5.5% แต่ห่วงค่าเงินบาทฉุด!

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯเล็งส่งออกไทยปี 61 ยังขยายตัวได้ดี คาดโต 5.5% พร้อมห่วง"ค่าเงินบาท"ฉุดการเติบโตการส่งออกและจีดีพี

น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยถึงภาพรวมการส่งออกในปี 2561 นี้ โดย สรท.เชื่อว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้ได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 5.5% หรือมีมูลค่าการส่งออกที่ประมาณ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในส่วนของการประมาณการจีดีพีของประเทศไทย คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ประมาณ 4% เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะมีการขยายตัวได้ที่ 3.8-4%

ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ค่าเงินบาทที่ยังผันผวนไปในทิศทางที่แข็งค่า ซึ่งอาจจะกระทบการส่งออก ส่วนทางกับเฟดที่มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1-1.25% เป็น 1.25-1.5% ซึ่งจะทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง และจะส่งผลให้จีดีพีลดลง 5% นอกจากนี้ยังมีมาตรการกีดกันทางกาค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจและการค้าสหรัฐ สภาวะการเมืองในยุโรป สถานการณ์ความไม่แน่นอนในทางการเมืองระหว่างประเทศ ต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

สำหรับการส่งออกของไทยในเดือน พ.ย. ปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 21,435 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.4% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขระที่การส่งออกในรูแบบเงินบาทเท่ากับ 704,899 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออก 11 เดือนแรก มีมูลค่า 216,953 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรูปแบบเงินบาทการส่งออก 11 เดือนแรกมีมูลค่า 7,365,792 ล้านบาท เติบโต 6.6%

จาก http://www.thaipost.net    วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

สภาผู้ส่งออกฯ ค้านขึ้นค่าแรง กระทบต้นทุนภาคการผลิต – ค่าเงินบาทผันผวนซัดส่งออกปี’61

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกในเดือนพ.ย. 2560 มีมูลค่า 21,435 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.4% สูงสุดในรอบ 6 ปี เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ในปี 2560 การส่งออกขยายตัวเกิน 10% แน่นอน ซึ่งเกินคาดการณ์ที่ประเมินไว้ และในปี 2561 เชื่อว่าส่งออกจะดีต่อเนื่อง ขยายตัวที่ 5.5% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.8-4%

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกไทยที่ต้องเร่งแก้ไขและติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ค่าเงินบาทที่ยังผันผวนไปในทิศทางแข็งค่าขึ้น และจะกระทบการส่งออก โดยวันที่ 12 ม.ค.นี้ ทางสภาผู้ส่งออกฯ จะเข้าพบและหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท และสะท้อนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการส่งออก

สำหรับข้อเสนอแนะที่สภาผู้ส่งออกฯ เสนอไปยังธปท. และกระทรวงการคลัง ให้ดูแลคือ ค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและไม่แข็งค่าจนเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคและคู่แข่ง โดย ธปท. ควรดำเนินมาตรการที่มีอยู่แล้วให้เข้มข้นขึ้น ทั้งมาตรการควบคุมการออกพันธบัตรระยะสั้น มาตรการสกัดเงินไหลเข้าระยะสั้นเพื่อการเก็บกำไรค่าเงิน และสภาผู้ส่งออกฯ ขอทราบรายงานการไหลเข้าออกของเงินแบบรายวัน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือ ขณะที่กระทรวงการคลังควรพิจารณานำเงินสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูงมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อลดการกู้ยืมจากต่างประเทศลดกระแสเงินไหลเข้า

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า คาดการณ์ปี 2561 ส่งออกจะขยายตัวได้ 5.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากแปลงเป็นรายได้ในรูปเงินบาท สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะมีรายได้ประมาณ 7,590,000 ล้านบาท แต่หากเงินบาทในปีนี้ยังแข็งค่าต่อเนื่องและนานทั้งปี ที่สมมติฐาน 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คิดเป็นรายได้รูปเงินบาทประมาณ 7,360,000 ล้านบาท ดังนั้นหากการส่งออกขยายตัวระดับดังกล่าว แต่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และแข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไป 230,000 ล้านบาท (7,590,000-7,360,000) ซึ่งกระทบไปยังห่วงโซ่การผลิตหลายทอด จะทำให้เม็ดในระบบเศรษฐกิจหายไปถึง 791,200 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีลดลง 5% จึงเป็นคำตอบของเศรษฐกิจไทยที่ว่าทำไมการส่งออกดี แต่เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้ดีตาม ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ธปท. ต้องให้ความสนใจกับเรื่องของค่าเงินเป็นพิเศษ มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการประกันความเสี่ยงค่าเงินอาจยังไม่เพียงพอ ขณะที่ปี 2560 เงินบาทแข็งค่าเช่นกัน ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทหายไปประมาณ 350,000 ล้านบาท

นายคงฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และมีความผันผวน ทำให้ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรับมือไม่ทันในการจะตัดสินใจทำประกันความเสี่ยงค่าเงินว่าจะทำดีหรือไม่ ช่วงตั้งแต่ต้นปีจนวันที่ 8 ม.ค. 2561 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.204 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น 10.33% จากตั้งแต่ต้นปี และแข็งค่าขึ้น 8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แข็งค่าสุดในรอบ 39 เดือน เมื่อเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้าสำคัญของไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า นอกจากเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในปี 2561 แล้ว อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งค่าแรงคิดเป็น 10-20% ของต้นทุนการผลิต หากขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น กระทบภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งเอสเอ็มอี สภาผู้ส่งออกฯ เห็นว่าให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาชะลอขึ้นค่าแรงในปีนี้ออกไปก่อน

“ในขณะนี้ สภาผู้ส่งออกฯ เห็นว่าการพิจารณาเพิ่มขึ้นค่าแรงยังไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพราะพิจารณาข้อมูลเชิงลึกพบว่าไทยมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ประกอบกับไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ หากปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น กระทบร้ายแรงสุดคือเอสเอ็มอี ที่ปรับตัวไม่ทัน”นายชัยชาญกล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

ชงครม.ของบ5.2หมื่นล. ลุย‘เกษตรยั่งยืน9102’

รมว.เกษตรฯชงครม.ของบ 5.2 หมื่นล้านบาท ดันโครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน 9102 กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเป้าหมายหายจนปลดหนี้ให้เกษตรกรกว่า 5.78 ล้านรายทั่วประเทศ ต่อยอดโครงการ 9101 มอบนโยบายขันน๊อตเจ้าหน้าที่เกษตร ปรับตัว ทำแผนใช้งบ เป็นมือประสานสิบทิศ

เมื่อวันที่ 8 มกราคม นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรกล่าว เมื่อวันที่ 8 มกราคม ในการมอบนโยบายให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรจังหวัดทั่วประเทศตอนหนึ่งว่า ในการปฏิบัติงานนโยบายใหม่และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนในพื้นที่ ขอให้เกษตรอำเภอกับเกษตรจังหวัดเป็นหลักในการดำเนินการ โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมจะมีงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม ให้เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ทำแผนพัฒนาเกษตรระดับอำเภอ ตำบลเตรียมไว้ เน้นสิ่งที่ชาวบ้านอยากทำ เป็นความต้องการของชาวบ้าน และแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ โดยเรียงลำดับความสำคัญไว้ด้วย

รมว.เกษตรฯกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังขอให้เกษตรจังหวัดไปพบทำความรู้จักกับพ่อค้า ห้างร้าน ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ โดยร่วมกับพาณิชย์จังหวัด เพื่อช่วยประสานงานแก้ปัญหาตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ ที่สำคัญเกษตรจังหวัดต้องมีบุคลิกและคุณสมบัติของนักประสานงาน ขอให้เกษตรจังหวัดประสานงานกับพาณิชย์จังหวัดมากขึ้น ให้มีข้อมูลการตลาดมาทำงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหา

“งานใดของกระทรวงเกษตรฯไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ ขอให้เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด รับผิดชอบ และเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง การแจกปัจจัยการผลิต ขอให้เป็นของดีมีคุณภาพ ราคาเหมาะสม อย่าให้เกษตรกรว่าเราและหน่วยงานได้ ขอให้เจ้าหน้าที่เกษตรพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ให้มีความรู้มากกว่าเกษตรกร ผมขอย้ำว่างานของเกษตรเป็นงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขที่แท้จริง ขอบอกเกษตรอำเภอและเกษตรตำบล ต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ ระมัดระวังในการทำงาน เพราะใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุด ทำงานแล้วต้องได้ใจชาวบ้าน อย่าให้พูดได้ว่าไม่มีเกษตรอำเภอ เกษตรตำบลก็อยู่ได้ ที่สำคัญต้องเน้นลงพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เราได้งาน รู้จักคน ได้ใจชาวบ้านและเกษตรกร เวลามีปัญหาจะได้คุยกันง่าย”นายกฤษฎากล่าว

และว่า นอกจากนี้ ตนยังมีนโยบายให้รางวัลลูกน้องที่มีผลงานดีเด่น ซึ่งจะเป็นขวัญกำลังใจอย่างดีในการทำงาน เช่น เกษตรอำเภอขวัญใจประชาชน หรือเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลดีเด่น ส่วนแนวทางนั้น ขอหารือกับผู้บริหารกรมฯก่อน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายให้ชัดเจน มีระบบคุณธรรม คนทำงานและมีผลงานต้องได้รับการส่งเสริมทั้งตำแหน่งหน้าที่ โอกาสในการอบรมพัฒนาตนเอง

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรฯเปิดเผยว่า รมว.เกษตรฯเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของบกลางและงบกลางปีจากงบประมาณ ในโครงการ 9102 เพื่อพัฒนาการเกษตรยั่งยืน 77 จังหวัด วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ใต้ร่มพระบารมี พัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน สมัยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรมว.เกษตรฯทำได้ วงเงินงบประมาณ 2.27 หมื่นล้านบาท แต่อาจมีระยะเวลา 90 วัน ค่อนข้างสั้น ทำให้มีเรื่องร้องเรียนทุจริตจากเกษตรกรกลุ่มอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แต่ถือว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบเป้าหมายความสำเร็จกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากได้ นายกฤษฎา จึงนำมาขยายผลโครงการ 9102 ฝึกอบรมเกษตรกร 5.78 ล้านราย จากเกษตรกรในโครงการ 9101 กว่า 1.82 ล้านราย และรวมถึงกลุ่มเกษตรกรขึ้นทะเบียนคนยากจน 3.96 ล้านราย ผ่านคณะกรรมการแก้ปัญหาความยากจนระดับอำเภอ เข้าสู่แผนฟื้นฟูอาชีพเพิ่มรายได้ ในแพ็คเกจแก้หนี้ชุมชนละ 500 คน เสนอแผนธุรกิจไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อชุมชน จะแบ่งเกษตรกรออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มเกษตรกรใหม่ มาอบรมหลักสูตรพื้นฐาน กับกลุ่มเกษตรกรเก่าจากโครงการ 9101 ที่ไม่มีทุนต่อยอด และกลุ่มที่พร้อมเรื่องเงินทุน จะมีหลักสูตรต่อยอดเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ชื่อโครงการ 9102 จะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อ เป็น โครงการพัฒนาเกษตรเพื่อความยั่งยืน โดยเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ และนำเข้าครม.วันที่ 16 มกราคม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

คลังยันไม่แทรกแซงบาทแข็ง กกร.ยื่นนายกฯดูแลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

คลังยันไม่มีมาตรการแทรกแซง แม้สถานการณ์บาทไทยยังแข็งโป๊ก เชื่อมือ ธปท.คุมเกม อยู่หมัด มองเป็นโอกาสเร่งนำเข้าลงทุน กกร.ยื่นหนังสือ “บิ๊กตู่” ขึ้นค่าแรงไม่ควรเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ห่วงค่าแรง-เงินบาท ชี้ศึกษาผลกระทบต่อราคาสินค้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทไทยในขณะนี้ต้องดูเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกับไทย ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามดูแลอยู่ ซึ่งไทยไม่สามารถไปฝืนตลาดได้ ค่าเงินบาทของไทยต้องแข็งหรืออ่อนค่าตามค่าเงินดอลลาร์ แต่ต้องดูให้เป็นไปทิศทางเดียวกับประเทศข้างเคียงที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของไทย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบ

"ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรมาดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะการมีมาตรการจะเป็นการแทรกแซง ซึ่งประเทศไทยไม่นิยมการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์เพิ่มเติมอยู่แล้ว" นายอภิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่แข็งค่าตอนนี้ เพราะค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง และส่วนหนึ่งก็มาจากการเงินไหลเข้ามาในประเทศเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ นอกจากนี้การส่งออกของไทยก็ยังขยายตัวดีมาก ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐบาลเรื่องการส่งเสริมให้เอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ การเดินหน้าโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) การลงทุนของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน จะเป็นตัวช่วยทำให้เงินถูกใช้ออกไป ทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง ซึ่งช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีค่ าเงินบาทแข็งค่า เอกชนหรือภาครัฐควรเร่งลงทุน เพราะการซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะได้ราคาถูก

ด้าน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกร.ได้ยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับความเห็นในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 โดยเห็นด้วยที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ไม่ควรปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีในแง่ของเศรษฐกิจทั้งด้านค่าครองชีพและการลงทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ ต้องการให้นายกฯ ช่วยดูแลผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วยหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างที่สูงจนเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพราะปัจจุบันธุรกิจได้รับผลกระทบจากเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว ซึ่งในวันที่ 9 ม.ค.2561 กกร. ประกอบด้วย สภาหอฯ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันแถลงข้อคิดเห็นและจุดยืนต่อการพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยในปี 2561

สำหรับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ทั้งสองหน่วยงานมีความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินที่มีผลต่อธุรกิจเอสเอ็มอี หอการค้าไทยจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นกลไกที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอี ที่ต้องผลักดันให้มีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน โดยขณะนี้ในบางอุตสาหกรรมก็ได้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าส่งออก เพื่อชดเชยค่าเงินบาทที่แข็งค่า เช่น กลุ่มอาหารสัตว์ เป็นต้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

แนะกองทุนอ้อยฯ ช่วยเกษตรกรชาวไร่

เชียร์กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดดลงมาช่วยเกษตรกรจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อย คาด กอน.สรุปแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยกลางเดือนนี้

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ระบุว่า แนวทางการช่วยเหลือค่าอ้อย สำหรับฤดูการผลิตปี 2560/2561 เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้เงินค่าอ้อยเพิ่มเป็น 900 บาท/ตันอ้อย จากปัจจุบันได้รับ 880 บาท/ตันอ้อย สำหรับพื้นที่ปลูกทั่วไป และ 830 บาท สำหรับอ้อยเขต 5 นั้น

แนวทางหนึ่งที่เป็นทางเลือกในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย คือ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาทำหน้าที่จ่ายเงินเพิ่มให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายตัว โดยถือเป็นเงินกู้ของเกษตรกรรายบุคคล ไม่ใช่เป็นหนี้ของระบบ เนื่องจากกองทุนอ้อยฯ มีรายได้จากการจัดเก็บเงินรักษาเสถียรภาพ ซึ่งเป็นเงินที่เรียกเก็บจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เพื่อนำมารักษาเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ปัจจุบันคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดให้นำส่งเงินดังกล่าวเข้ากองทุนอ้อยฯ ร้อยละ 0.5 ของรายรับสุทธิของระบบในแต่ละฤดูการผลิต ล่าสุดทราบว่า กองทุนอ้อยฯ มีเงินสดประมาณ 8,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กองทุนอ้อยฯ ยังมีรายได้จากส่วนต่างจากการขายน้ำตาลทรายภายในประเทศปีนี้ ล่าสุดมีการประเมินว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ธันวาคมปีนี้ จะมียอดจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ รวมประมาณ 21.6 ล้านกระสอบ กองทุนอ้อยฯ จึงน่าจะมีศักยภาพเพียงพอให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยการดำเนินการทำได้ เพราะเป็นองค์กรอิสระ การดำเนินการไม่ต้องไปขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จึงไม่เป็นการช่วยเหลืออุดหนุนเกษตรกรที่ขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) แต่อย่างใด

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือที่จะให้โรงงานน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เรื่องนี้จะทำได้หรือไม่อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพแต่ละโรงงานที่มีความแตกต่างกัน เช่น บางแห่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำเงินมามอบให้ชาวไร่อ้อยจะตอบคำถามผู้ถือหุ้นอย่างไร ส่วนโรงงานน้ำตาลทรายที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือเป็นธุรกิจครอบครัว ก็ต้องพิจารณาสถานะทางการเงินแต่ละโรงงาน รวมถึงอยู่ในดุลพินิจของแต่ละโรงงานว่าต้องการจะกู้เงินมาจ่ายให้ชาวไร่อ้อยหรือไม่ และต้องการรับภาระดอกเบี้ยเองหรือไม่ แต่ละโรงงานล้วนมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม แนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ชัดเจน คาดว่า กอน.จะพิจารณาและน่าจะได้ข้อสรุปในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้

รายงานข่าวระบุว่า ค่าอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับ 880 บาท/ตันอ้อย สำหรับพื้นที่ปลูกทั่วไป และ 830 บาท สำหรับอ้อยเขต 5 นั้น คิดจากค่าความหวานเฉลี่ยของอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานเพื่อหีบน้ำตาลที่ 10 CCS แต่ค่าความหวานเฉลี่ยของอ้อยทั้งประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประเมินว่าอยู่ที่ระดับสูงกว่า โดยสูงถึง  12.16 CCS ซึ่งค่าความหวานที่เพิ่มขึ้นทุก 1 CCS ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินเพิ่ม  52 บาท/ตันอ้อย อยู่แล้ว ดังนั้น ในภาพรวมชาวไร่อ้อยโดยเฉลี่ยก็น่าจะได้รับค่าอ้อยขั้นต้นไปแล้วเกินกว่า 900 บาท/ตันอ้อย.

จาก http://www.tnamcot.com   วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

ค่าเงินบาทแข็งโป๊ก! ทุบสถิติใหม่ในรอบ 40 เดือน

                    เงินทุนไหลทะลักเข้าตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยดันบาทแข็งค่าสุดในรอบ 40 เดือน นับจากก.ย.57  เกาะติดทางการไทยคลอดมาตรการดูแล หลังรัฐบาลเกาหลีใต้เข้าแซงแทรกเงินวอน                  

                    น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. อยู่ที่ 32.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงเช้าแตะที่ระดับ 32.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 40 เดือน นับจาก ก.ย. 57 เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่ดีกว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น

ขณะที่สหรัฐฯแม้ว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดยืนยันที่จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้จัดการกองทุนในตลาดโลกนำเงินมาพักในตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 วันที่ผ่านมาหลังจากปีใหม่ต่างชาติซื้อพันธบัตรไทยกว่า 37,000 ล้านบาท ซึ่งขอให้ผู้ส่งออกและนำเข้าป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ขณะเดียวกันต้องติดตามดูว่าทางการไทยจะมีมาตรการเข้ามาแซงแทรกค่าเงินหรือไม่ จากที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินวอนไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป 

                  สำหรับการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่า เงินริงกิตมาเลเซีย 1.5% บาทไทย 1.3% รูเปียห์อินโดนีเซีย1.2% ดอลลาร์สิงคโปร์ 0.5% วอนเกาหลีใต้ 0.4% และหยวนจีน 0.3%

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

ชง"กอน."เพิ่มราคาอ้อย50บาท/ตัน

คณะทำงานช่วยเหลือชาวไร่อ้อยฯ จ่อชง กอน.เพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 60/61 อีกตันละ 50 บาท รวมเงินกว่า 5.5 พันล้านบาท แนะวิธีให้โรงงานสำรองจ่ายไปก่อนกู้ธนาคาร

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบเพิ่มอัตราความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2560/61 อีก 50 บาทต่อตันอ้อย รวมเป็นวงเงินประมาณ 5,500 ล้านบาท ซึ่งให้โรงงานสำรองจ่ายไปก่อน และสามารถกู้ธนาคารพาณิชย์ได้

โดยแบ่งแนวทางการช่วยเหลือเป็น 2 ระยะได้แก่ 1.ระยะสั้นเร่งด่วนสำหรับโรงงานใดที่ไม่สามารถเจรจากับธนาคารได้ ให้กู้เงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด 2.ระยะยาวสร้างระบบใหม่ให้เกิดความมั่นใจแก่สมาคมธนาคารว่าระบบมีส่วนต่างของรายได้จากการขายน้ำตาลในประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันให้สมาคมธนาคารเกิดความมั่นใจและปล่อยกู้ให้กับโรงงานได้เพื่อความมั่นคงของเกษตรกรและกองทุนต่อไป

"ที่ประชุมเห็นว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ก่อนหน้าประกาศไว้ที่ 880 บาทต่อตันสำหรับพื้นที่ทั่วประเทศและ 830 บาทต่อตันใน เขตสุพรรณบุรี ค่อนข้างจะต่ำกว่าต้นทุนมากทำให้ต้องการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยโดยให้เพิ่มค่าอ้อยอีก 50 บาทต่อตัน ซึ่งที่ประชุมคาดว่ารายได้ส่วนต่างราคาหลังจากมีการลอยตัวราคาน้ำตาล จะมีรายได้กลับคืนมา" แหล่งข่าวกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

จัดตั้งนิคมอุตฯชีวภาพในอีอีซี เพิ่มมูลค่าผลผลิตอ้อย-มันสำปะหลัง-ปาล์ม

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ถึงความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพ และอาหาร ว่า ในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งเป้าที่จะรองรับและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม ล่าสุดสรุปว่าจะตั้งนิคมอุตส าหกรรมชีวภาพ 3 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 2. จังหวัดขอนแก่น และ 3. จังหวัดนครสวรรค์

สำหรับพื้นที่อีอีซี จะเป็นของ บริษัท ปตท.ซึ่งจะ เน้นการผลิตพลาสติกชีวภาพ และการนำน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นวัตถุดิบเคมีชีวภาพ ในพื้นที่จังหวัดของแก่น จะดำเนินงานโดยกลุ่มมิตรผล ผลิตพลาสติกชีวภาพ และพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จะดำเนินงานโดยกลุ่ม ปตท. และกลุ่มเกษตรรุ่งเรือง ผลิตเอทานอลและพลาสติกชีวภาพ

ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีระยะเวลา 10 ปี คาดว่าเกษตรกรอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม จะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่เฉลี่ย 3 พันบาทต่อรายต่อเดือน เพิ่มเป็น 8.5 พันบาทต่อรายต่อเดือน ในช่วงท้ายแผน 10 ปี โดยจะเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร 3 ตัวนี้ ไปสู่ผลิตภัณฑ์ไบโอเอ็นเนอร์ยี่ ไบโอเคมิคัล และไบโอฟาร์มา

“โดยในวันที่ 9 มกราคมนี้ จะมีการหารือในกลุ่มสานพลังประชารัฐ ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (D5) จากนั้นก็จะนำข้อสรุปเสนอรมว.อุตสาหกรรม และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไปซึ่งจะมีการหารือเพิ่มเติมในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การกระตุ้นการบริโภคพลาสติกชีวภาพ เช่น การลดหย่อนภาษีได้ 300% สำหรับธุรกิจที่ใช้พลาสติกชีวภาพ และการห้ามใช้พลาสติกที่ได้จากปิโตรเคมีในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น และปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของคณะ กรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมนี้” นายศิริรุจกล่าว

ขณะที่การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ จำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรค เช่น กฎระเบียบการตั้งโรงงานน้ำตาลที่ต้องมีระยะห่างไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแย่งวัตถุดิบ ซึ่งขณะนี้ มีโรงงานน้ำตาลบางราย จะต่อยอดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่ใช้วัตถุดิบน้ำอ้อย ก็อาจจะติดปัญหาระยะห่าง 50 กิโลเมตรนี้ เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องทำการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมชีวภาพ

ส่วนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหาร จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ส่งออก และส่วนที่บริโภคภายในประเทศ โดยส่วนสินค้าส่งออก

 จะส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานแบบใหม่ๆ มีเมนูใหม่ๆ มีระยะเวลาการเก็บรักษาที่ยาวนาน และมีรสชาติที่ถูกใจชาวต่างชาติ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรภายในประเทศ ส่วนสินค้าที่บริโภคภายในประเทศ จะเน้นในเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะสตรีทฟู้ดจะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคภายในประเทศ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'แข็งค่า' สวนทางสกุลอื่นในเอเชีย

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ "32.15 บาทต่อดอลลาร์" เมื่อดอลลาร์เทียบสกุลเงินอื่นในเอเชีย ยังอ่อนค่าตามแนวโน้มการค้าดีขึ้นและผู้ส่งออกจะเริ่มมาทำประกันความเสี่ยงมากขึ้นในปีนี้ ทำให้บาทแข็งค่าต่อระยะสั้น

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.15บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นชัดเจนจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ 32.22 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดเงินในสัปดาห์นี้ แม้การจ้างงานในหสรัฐจะออกมาต่ำกว่าคาดแต่ค่าเงินดอลลาร์สามารถยืนได้เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอย่างยูโรและเยนแล้ว มองระยะสั้นดอลลาร์อาจกลับตัวได้ต่อ

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ดอลลาร์ยังถือว่าอ่อนค่าอยู่ มองว่าสัปดาห์นี้ยังอ่อนค่าได้อีกตามตามแนวโน้มการค้าที่ดีขึ้นและผู้ส่งออกจะเริ่มมาทำประกันความเสี่ยงมากขึ้นในปีนี้ กรอบเงินบาทวันนี้32.10 - 32.20 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทในสัปดาห์นี้ 32.00 - 32.40 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์นี้สิ่งที่ต้องจับตาคือ ตัวเลขการค้าปลีกและเงินเฟ้อในสหรัฐ ขณะที่ฝั่งเอเชียจะมีการรายงานตัวเลขส่งออกของจีนในวันศุกร์

เริ่มต้นด้วยฝั่งสหรัฐ คาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) เดือนธันวาคมจะสูงขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากราคารถยนต์ที่ปรับตัวขึ้นหลังพายุเฮอริเคน อย่างไรก็ตามยังพบว่าราคาสินค้าอุปโภคส่วนใหญ่ในอเมริกายังทรงตัวกดดันเงินเฟ้ออยู่

ด้านตัวเลขค้าปลีก (Retails Sales) คาดว่าจะขยายตัว 0.4% เทียบกับเดือนก่อนตามภาพรวมการค้าที่คึกคักช่วงวันหยุดซึ่งยังถือว่าดีมากแม้อาจจะน้อยกว่าเดือนก่อนที่ 0.8% เพราะความตื่นเต้นของการจอง iPhone X เริ่มชะลอตัวลง

ฝั่งเอเชียจับตาไปที่ตัวเลขการนำเข้าและส่งออกของจีนในวันศุกร์ คาดว่าการค้าจะขยายตัวดีไม่หยุด มองตัวเลขนำเข้าเดือนธันวาคมจะเติบโต 17.7% ขณะที่การส่งออกยังขยายตัว 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอกย้ำภาพเศรษฐกิจเอเชียและการค้าที่ฟื้นตัวแข็งแรง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

พัฒนา”EEC”รับแข่งขันเวทีโลกดึงต่างชาติลงทุน-เพิ่มศักยภาพผลิต

“EEC คาดหวังว่าจะเป็นโครงการหนึ่งถ้าจะดึงกำลังของประเทศ เดินไปข้างหน้าก็รีบทำEECก่อนโดยEECเป็นแค่ตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ ในที่สุดแล้วจะไปพัฒนาพื้นที่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก จากการนั่งฟังสัมมนาสำรวจข้อมูลคนนอกEECไม่ได้อิจฉาEECเต่ถามว่าเมื่อไรจะไปทำให้ อยากให้เกิดโครงการดีๆแบบนี้ในพื้นที่อื่นเช่นกัน”

หมายเหตุ-การขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจคือมิติที่มีความสำคัญต่อทั้งประชาชนและนับเป็นภารกิจอันท้าทายรัฐบาล ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี มากที่สุด ทั้งนี้ “สยามรัฐ” ได้โฟกัสภาวะเศรษฐกิจตลอดปีไก่ที่ผ่านพ้นไป พร้อมชวนให้แลไปข้างหน้ากับการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีนี้ ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.คณิต แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะมาวิเคราะห์เจาะลึก ภาพรวมของเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการพัฒนาจากภายในประเทศ เชื่อมต่อและขยายไปยังต่างประเทศผ่านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

-ความสำคัญของEECต่อเมืองไทย

EEC คือการดึง 3 จังหวัดในภาคตะวันออกได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี และระยอง มาทำโครงการเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน เรียกว่าเป็นการพัฒนาในเชิงพื้นที่ สำหรับเหตุผลที่เลือก 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ เรื่องของระยะเวลาในการดำเนินการ หากต้องการให้โครงการเกิดขึ้นและสำเร็จได้ภายในระยะอันรวดเร็ว จำเป็นต้องเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวมีความพร้อมมากกว่าที่อื่น เนื่องจากเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ดมาก่อน มีท่าเรือน้ำลึก สนามบิน รถไฟ ถนนที่เชื่อมต่อเส้นทางต่างๆได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพและความรู้จักคุ้นเคยของนักลงทุน เพราะเมื่อพูดถึงอีสเทิร์นซีบอร์ดหรือ 3 จังหวัดดังกล่าวในรูปแบบของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกชาวต่างชาติ(EEC)นักลงทุนมีความเข้าใจและมีความรู้จักเป็นอย่างดี ทำให้ง่ายต่อการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน

-เพิ่มศักยภาพแข่งขันเวทีโลก

ทั้งนี้อีกประเด็นคือ เรื่องของการส่งเสริมด้านการลงทุนและเทคโนโลยีของเมืองไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างทัดเทียม จะสังเกตได้ว่าเพื่อนบ้านของไทยคือ จีน,เวียดนาม,มาเลเซีย ที่ผ่านมามุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งสิ้น โดยเฉพาะมาเลเซียมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 5 เขต ในขณะที่เมืองไทยยังไม่มีพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาที่ยังก้าวหน้าได้ไม่เร็วเท่าที่ควร

“เคยมีการพยายามทำเรื่องนี้สมัยเมื่อ32ปีที่แล้วคือ ทำเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ด ตอนนั้นอาจารย์อาณัติ อาภาภิรม,อาจารย์เสนาะ อูนากูล เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องนี้ อาจารย์อธิบายว่าทุกประเทศต้องมีเมืองท่า จึงเลือกที่ จ.ชลบุรี คือท่าเรือแหลมฉบัง และทำเรื่องปิโตรเคมีที่นำก๊าซจากอ่าวไทยขึ้นที่ จ.ระยอง โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดจึงเกิดขึ้นตอนนั้น อาจารย์อธิบายว่า ที่จริงแล้วทุกประเทศจะเห็นว่า เมืองท่าใหญ่กว่าเมืองหลวง แต่เมืองไทยขาดการพัฒนาตรงนั้น ไม่ได้ทำให้มีความต่อเนื่อง โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง”

-พัฒนาเทคโนโลยีรับแข่งขัน

โดยEEC มี 2ฐานคือ 1.เป็นฐานสะสมการลงทุน 2.ฐานสะสมแหล่งเทคโนโลยีให้กับคนไทยให้แก่เยาวชนไทยในอนาคต ตรงนี้คือพื้นฐานของการทำงาน การลงทุนเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่อยากได้คือ เทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยั่งยืน บางครั้งความรู้ทำให้เราพัฒนาผลิตภัณใหม่ๆได้เร็ว ทำให้คิดอะไรได้เร็ว ทำให้สามารถต่อสู้กับคนอื่นได้ด้วยตัวเอง เมืองไทยยังเดินไปไม่ถึงตรงจุดนี้

“ประเด็นคือ ต้องมีพื้นฐานเทคโนโลยี โดยพื้นฐานเทคโนโลยีมาจากการพัฒนาคน ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เด็กจนโตมาเราดูหนังญี่ปุ่น ดูหนังฝรั่งเสร็จแล้วไปดูหนังเกาหลี อีกหน่อยคงไปดูหนักแขก เพราะเราไม่ได้ทำหนังของเราเอง คำถามคือว่า นอกจากละครไทยแล้วเราทำอะไรบ้าง ตรงข้ามกับดนตรี เมื่อก่อนเราฟังดนตรีสากล ดนตรีฝรั่ง ตอนนี้เราฟังเพลงไทยได้ ขบวนการมีเทคโนโลยี มีความรู้ มีการสนับสนุนความรู้ควบคู่กันไป”

ทั้งนี้เพื่อที่จะดูแลตัวเองเพื่อที่จะใช้ตัวนี้เป็นสินค้า สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการลงทุนเทคโนโลยี และการพัฒนาคนในอนาคต ตรงนี้คือหัวใจของ EEC อีกฝั่งคือตัว EEC เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่อจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งทิ้งไปนาน หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้พัฒนาในเชิงพื้นที่ไปมากแล้วเช่น จีน โดยจีดีพีของจีนประมาณ50% มาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ได้มากจากพื้นที่ปกติ ขณะที่มาเลเซีย มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ5แห่ง ,อินโดนีเซียมี 8แห่ง,เวียดนาม 10กว่าแห่ง เมืองไทยช้ากว่าคนอื่นหนึ่งคือ เราช้าเรื่องการลงทุน,เทคโนโลยี,การพัฒนาเชิงพื้นที่ ตรงนี้คือเหตุผลที่ทำให้เกิดEEC ที่ผ่านมาที่อีสเทิร์นซีบอร์ดหายไป เพราะปัญหาเมืองไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจในปี40

-ผลักดัน10อุตฯรับนักลงทุน

โดยที่ผ่านมาไม่มีคนให้ความสนใจเรื่องนี้แบบต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเริ่มEEC ใหม่ ครั้งนี้ทำแบบจริงจัง ขอทำเป็นกฎหมาย จุดเริ่มต้นของการเกิดEEC คือได้ทำนโยบายเสนอรัฐบาลชุดนี้ไป ตอนแรกทำนโยบายเรื่อง10อุตสาหกรรมประกอบด้วย การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมไก้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร กลุ่มนี้เข้าใจดีกันอยู่แล้วว่ามีฐานที่แข็งแรง แต่ต้องต่อยอดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ระดับนานาชาติ

จากนั้นได้เติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุนประกอบด้วย1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม เพราะโลกมีความต้องการสูง เชื่อว่าจะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต เรามีความต้องการใช้การเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ รวมทั้งมีฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและไฟฟ้าดีมาก นักลงทุนทั่วโลกเห็น 2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ จากจำนวนเครื่องบินที่มากขึ้นต้องการการซ่อมแซม และมีการขนส่งทางอากาศมากมากขึ้น เรามีสนามบินอู่ตะเภาและสนามบินอื่นๆที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างอุตสาหกรรมการบินได้

3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โลกกำลังต้องการความยั่งยืน และทั่วโลกกำลังกำหนดมาตรฐานด้านชีวภาพเข้ากับการค้า คือถ้าการผลิตไม่หันมาใช้เคมีชีวภาพ เช่น ไบโอพลาสติกในการหีบห่ออาจจะส่งออกไม่ได้ เรามีฐานการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถ้าไม่ลงทุนประเทศอื่นก็ลงทุน 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล ความต้องการสูงมาก และเป็นมาตรการฐานใหม่ในการดำรงชีพ โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ เอกชนไทยพร้อม ต่างชาติพร้อมจะมาลงทุนต่อยอดเทคโนโลยี 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ในด้านการรักษาพยาบาล เรามีหมอ พยาบาลที่เก่งมาก ทำได้ดีเป็นที่รู้จักทั่วโลก ต่อไปต้องเพิ่มการลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ และระบบการรักษาพยาบาลระยะไกล เพราะมีผู้สูงอายุมากขึ้นทั่วเอเชีย ต้องทำให้ครบวงจรการแพทย์

--ออกพรบ.ดึงเชื่อมั่นต่างชาติ

ทั้งนี้เมื่อเริ่มทำ10อุตสาหกรรม นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจ คำถามที่ถามตามมาคือ แล้วจะให้ไปลงทุนที่ไหน เราจึงบอกถ้าอย่างนั้นได้เตรียมพื้นที่คือ นำอีสเทิร์นซีบอร์ดมาทำเป็นEECเน้นว่า10อุตสาหกรรมหลักๆมาลงที่นี่ และเพื่อให้เกิดความมั่นใจจึงมีพระราชบัญญัติเพื่อไม่ให้หายไป มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและมีสำนักงานติดตามดูแลต่อเนื่องไป

สำหรับประเด็นดังกล่าวได้ประกาศว่าจะทำทั้งหมด4เรื่องใหญ่ 1.ทำโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น 2.สนับสนุนการลงทุนอุสสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี 3.ทำเรื่องการท่องเที่ยว 4.ทำเรื่องการพัฒนาเมืองและการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ หลังจากนั้นได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่มีนายกฯเป็นประธานบอกว่า ให้ทำอีกเรื่องคือการพัฒนาคน จึงสรุปออกมาเป็น 5 เรื่องใน 2 ประเด็นคือ 1.เรื่องกฏหมาย 2.ผลักดันการพัฒนาคือ ภายใน 1 ปีให้มีการอนุมัติให้มีผู้เข้ามาลงทุนโดยเร็ว ต้องมีการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้ทำงานคู่กับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิแน่นมาก เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาคงรองรับไม่พอ จึงดึงสนามบินอู่ตะเภาเข้ามา กึ่งเป็นสนามบินกรุงเทพแห่งที่3 เมื่อมีการพัฒนาสนามบินแห่งที่3 จำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน เพื่อดึงศักยภาพสนามบินใช้พร้อมกัน

-ใช้ระบบรางขนส่งสินค้าลดต้นทุน

ทั้งนี้เพื่อเปิดการค้าการลงทุนภายในพื้นที่ 3จังหวัดคือ จ.ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี,ระยอง เรามีท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้ว เปิดมาตลอด แต่ท่าเรือแหลมฉบังเริ่มแน่น จึงวางแผนทำระยะที่ 3ที่จะทำให้เมืองไทยจากเดิมขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้ประมาณ 8 ล้านตู้ต่อปี ขยายเป็น 15 ล้านตู้ต่อปี เตรียมตัวไว้ในอนาคต มีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ ซึ่งอยู่ติดกับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นท่าเรือเฟอร์รี่ เป็นเรือท่องเที่ยวที่จะวิ่งไปปราณบุรี ไปหัวหิน จากพัทยาไปหัวหินต้องนั่งรถอ้อมกรุงเทพฯประมาณสี่ชั่วโมงครึ่ง ถ้านั่งเรือคือชั่วโมงเดียวแล้วเป็นเรือที่จะเป็นเรือสำราญ อีกท่าเรือที่จะขยายคือ ท่าเรือมาบตาพุด จะขยายเรื่องการขนส่ง เมื่อ 3ท่าเรือได้รับการพัฒนาแล้วเราขอว่า การพัฒนา 3ท่าเรือให้นำรถไฟเข้าไปเป็นตัวเชื่อม เพราะการขนส่งโดยทางรถไฟในเมืองไทยแค่ 2% น้อยมาก มาตรฐานทั่วไปต้อง 30% ในพื้นที่ EECมีการขนส่งทางรถไฟอยู่ 7% ยังน้อยมาก เราบอกว่าต้อง 30% ขึ้นไป

เลขาธิการคณะกรรมการEEC เน้นย้ำว่า ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา เราลงไปดูพื้นที่แล้วปรากฏว่าการจะได้เทคโนโลยีต้องมีคน เมื่อลงไปดูพื้นที่แล้วหนักใจมาก เมืองไทยมีคนจบปริญญาตรีแล้วทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนประมาณ30% น่าตกใจ จากการสำรวจช่างที่ทำงานในโรงงานหรือเป็นมืออาชีพ ทำงานในพื้นที่EECขาดประมาณ 5หมื่นคน จึงชี้เป้าใหม่ ลงไปทำเรื่องการศึกษา ไปวางกระบวนการการศึกษาเพื่อที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนามืออาชีพ พัฒนาช่างขึ้นมา เรียกว่าสัตหีบโมเดล น่าสนใจมากโครงการนี้ทำอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรีย เป็นโครงการที่ดีมาก

-พัฒนาการศึกษารองรับงานEEC

 ทั้งนี้รูปแบบความร่วมมือระหว่างออสเตรียกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จะขยายไปอีก 4-5 วิทยาลัยในพื้นที่ EECเพื่อผลิตช่างเทคนิคให้ได้ 6,000 คนในปี 2561 และเพิ่มให้ได้ 1 หมื่นคนต่อปี เพื่อให้ครบ 5 หมื่นคนภายใน 5 ปี รวมทั้งจะประสานความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้เข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตร และควบคุมการผลิตนักศึกษาให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด แบ่งการเรียนครึ่งหนึ่งในห้องเรียน และอีกครึ่งหนึ่งในโรงงาน โดยโรงงานที่รับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานจะมีเบี้ยเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ทำให้เด็กที่เข้ามาเรียนมีรายได้จากการทำงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว จบมายังมีงานรองรับ 100% อีกทั้งจะหารือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อดึงเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายนี้ โดยจะเลือกเอาแห่งที่พร้อมก่อน

สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการเรียน การสอนจะร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรชั้นนำให้เข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งผู้ผลิตเครื่องจักรจะได้ช่างผู้เชี่ยวชายในการใช้ และซ่อมเครื่องจักรโดยไม่ต้องลงทุนพัฒนาบุคลากร และยังต่อยอดขายเครื่องจักรให้กับโรงงานต่างๆได้ในอนาคต โดยจะลงไปสำรวจความต้องการเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสรุปเป็นเงินที่ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะลงทุนตามความเป็นจริงโดยพึ่งพางบประมาณภาครัฐให้น้อยที่สุด รวมทั้งจะลงไปหารือกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เน้นในกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะเมื่อจบออกมามีงานรองรับ มีรายได้สูงสามารถคืนเงินกู้ยืมได้รวดเร็ว

โดยช่างเทคนิคที่มีความต้องการเร่งด่วนอยู่ในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงาน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมอากาศยาน การผลิตและบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ต้องจัดทำหลักสูตรให้เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อให้แน่ใจว่าจะออกไปแล้วมีงานทำ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

-เปิดทีโออาร์ปี61ดึงเงินลงทุน

ทั้งนี้ในส่วนของการดึงดูดการลงทุนจากยุโรปเข้ามายัง EEC รูปแบบการดำเนินงานจะแตกต่างจากประเทศเอเชียเช่น ญี่ปุ่น,จีน และเกาหลีใต้ที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะนำนักลงทุนเข้ามาเจรจา แต่ในส่วนของยุโรป และสหรัฐฯ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้เข้ามาเจรจาโดยตรง ทำให้ไม่รู้ว่าบริษัทที่เข้ามาติดต่อมีความเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจึงต้องประสานงานกับสถานทูตไทยในต่างประเทศ เพื่อคัดเลือกบริษัทที่มีศักยภาพ โดยได้เริ่มหารือกับสถานทูตไทยในเยอรมันแล้ว และจะขยายไปยังสถานทูตอื่นๆต่อไป

สำหรับงานโครงสร้างพื้นฐานคาดจะเปิดประมูลๆได้ต้นปีหน้า และหวังว่าการลงทุนอุตสาหกรรมจะตามมา เมื่อวางผังเมือง การท่องเที่ยว การศึกษาเสร็จ ในปีหน้าจะเดินหน้าไปได้มาก และอย่ากังวลว่าปีหน้าเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่จะทำให้โครงการนี้หยุด เพราะมีกฎหมายอยู่ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ทำตามกฎหมาย ถือว่าผิด อีกประเด็นเราพยายามบอกว่าการศึกษาการพัฒนาความรู้ การพัฒนาคนเป็นการทำงานให้เยาวชนในอนาคต การพัฒนาเรื่องอาชีพการท่องเที่ยวทำให้คนในปัจจุบัน เชื่อว่าจะยั่งยืนต่อเมื่อคนในพื้นที่หรือคนไทยต้องการให้อยู่ มีหลายโครงการที่อยู่ด้วยตัวเอง

“EEC คาดหวังว่าจะเป็นโครงการหนึ่งถ้าจะดึงกำลังของประเทศ เดินไปข้างหน้าก็รีบทำEECก่อนโดยEECเป็นแค่ตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ ในที่สุดแล้วจะไปพัฒนาพื้นที่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก จากการนั่งฟังสัมมนาสำรวจข้อมูลคนนอกEECไม่ได้อิจฉาEECเต่ถามว่าเมื่อไรจะไปทำให้ อยากให้เกิดโครงการดีๆแบบนี้ในพื้นที่อื่นเช่นกัน”

จาก https://www.siamrath.co.th  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

ห่วงเกษตรกรเร่งปลูก5พืชดันสินค้าล้นตลาดฉุดราคาตก

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในปีนี้ กรมฯคาดการณ์ว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังติดตามการเพาะปลูกไม่ให้สูงมากจนเกินความต้องการ หลังปริมาณน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ไม่แห้งแล้งเหมือนทุกปี อาจทำให้เกษตรกรเร่งเพาะปลูกมากขึ้น ทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม จนกระทบให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง จะควบคุมไม่ให้เกิน 11 ล้านไร่ พร้อมจะให้ความรู้เกษตรกรเพาะปลูกที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับราคาสินค้าและรายได้ให้สูงขึ้น

นายสมชายกล่าวว่า กรมฯจะต้องเข้าไปควบคุมและให้ความรู้เกษตรกรปลูกพืชอื่นแทน จะให้เกษตรจังหวัดและอำเภอ เข้าไปสำรวจข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลพื้นที่ปลูกสินค้าเกษตรชนิดต่างๆให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เป็นการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ทั้งหมด รวมถึงการลดต้นทุนการผลิต ผ่านการเกษตรแปลงใหญ่ และการปลูกพืชให้มีคุณภาพ นำไปแปรรูป ยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

ชง 3.2 หมื่นล้าน บูมเกษตรยั่งยืน ‘กฤษฎา’ลุยต่อยอดโครงการ 9102 วางเป้า 4.54 ล้านราย

“กฤษฎา” ทำเซอร์ไพรส์ ชงของบ 3.2 หมื่นล้านดันโครงการ 9102 พัฒนาเกษตรยั่งยืน ทั้งต่อยอดขยายโครงการเดิม-เพิ่มรายใหม่เข้าร่วม เป้าหมาย 4.54 ล้านราย ด้าน 2 สมาคมชาวนาเสียงแตกหนุน-ค้าน หวั่นเสพติดประชานิยม ไม่ยั่งยืนจริง

จากความสำเร็จโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ในปีที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทั้งการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้มีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของโครงการ 9102 เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อเนื่องทันที

นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการ 9101 ได้อัดเม็ดเงินสู่ชุมชนเป็นเศรษฐกิจฐานรากในกลุ่มเกษตรกรยากจนช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนได้จริง จากการรายงานของกรมส่งเสริมการเกษตรของโครงการ ภายในกรอบวงเงิน 2.27 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,101 ชุมชน รวมจำนวน 77 จังหวัด มีโครงการที่เสนอจากชุมชน จำนวน 2.47 หมื่นโครงการ วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 99.07% ของวงเงินที่ชุมชนเสนอขอ

“โครงการ 9101 ที่นำเสนอสูงสุดลำดับแรกเป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 8,504 โครงการ คิดเป็น 35.22% รองลงมา เป็นการผลิตพืชและพันธุ์พืช จำนวน 5,037 โครงการ คิดเป็น 20.86% และการปศุสัตว์ จำนวน 3,474 โครงการ คิดเป็น 14.39% และการผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จำนวน 2,898 โครงการ คิดเป็น 12.00% เป็นต้น”

จากความสำเร็จดังกล่าว นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแผนผลักดันต่อในโครงการ 9102 ทันที เพราะเห็นว่าเงินถึงมือเกษตรกร แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวเรื่องทุจริต แต่ก็มีน้อยมาก มีผลดีมากกว่า จึงให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปทำการบ้านทันที

สอดคล้องกับนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่เผยว่า โครงการนี้อยู่ระหว่างของบสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ ยังไม่แน่ใจว่าทางสำนักงบฯ จะอนุมัติให้ตามที่ร้องขอหรือไม่

นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้มีโครงการต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าในโครงการแรกยังมีจุดอ่อนอยู่มาก และที่สำคัญโครงการนี้ไม่ได้ผ่านเกษตร กรโดยตรง แต่ผ่านชุมชนหมู่บ้าน กว่า 7 หมื่นแห่ง แล้วนำมาหาร 9,101 ตัดงบประมาณไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อพื้นที่ จึงทำให้โครงการนี้ชุมชนหนึ่งจะมีหลายหมู่บ้านรวมกัน ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้รับรู้ทั้งหมด มีเพียงแค่ตัวแทนของชุมชนเท่านั้น ทำให้มีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง สูงกว่าซื้อทั่วไป

ขณะที่นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกแล้ว เนื่องจากการรวมตัวของกลุ่มไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เกรงจะทำให้ชาวนาเสพติดกับประชานิยมรูปแบบใหม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า โครงการ 9102 เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน คาดจะใช้งบ 3.24 หมื่นล้านบาท (กราฟิกประกอบ) เป้าหมายฝึกอบรมเกษตรกร 4.54 ล้านราย เสนอโครงการแผนธุรกิจไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อชุมชน ในโครงการนี้จะแบ่งเกษตรกร ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรใหม่ จะมีการอบรมหลักสูตรพื้นฐาน กับกลุ่มเกษตรกรโครงการ 9101 จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ไม่มีทุน จะใช้หลักสูตรต่อยอด และกลุ่มที่มีความพร้อมเรื่องเงินลงทุน จะมีหลักสูตรประกอบการเชิงธุรกิจ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

'ธ.ก.ส.' จ่อชงครม. ผุด 9 โครงการ แก้ปัญหาเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย-ล้างหนี้นอกระบบ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 9 ม.ค.นี้ ประกอบด้วย 3 มาตรการ 9 โครงการ วงเงินสินเชื่อรวม 9.5 หมื่นล้านบาท

3 มาตรการดังกล่าว มีดังนี้

 **มาตรการที่ 1

 การพัฒนาตนเอง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรลูกค้า ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 จำนวน 1,007,012 ราย และโครงการเงินฝากกองทุนทวีสุข รับฝากเงินจากเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย จำนวน 9 แสนราย

**มาตรการที่ 2

 พัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ 2 โครงการ วงเงินสินเชื่อรวม 6.5 หมื่นล้านบาท

**มาตรการที่ 3

 ลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 5 โครงการ แบ่งเป็นโครงการสนับสนุนสินเชื่อ 3 โครงการ วงเงินสินเชื่อ รวม 3 หมื่นล้านบาท และโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สินของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. ต้นเงินกู้ 52,605 ล้านบาท โครงการชำระดีมีคืนต้นเงินกู้ 2.2 แสนล้านบาท

"นโยบายที่รัฐบาลจะลดปัญหาความยากจน และแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์นั้น คณะกรรมการ ธ.ก.ส.ตระหนักและได้ให้ความสำคัญในการยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้และหลุดพ้นความยากจน รวมทั้งจะช่วยแก้หนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ" นายอภิรมย์ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.เป็นจุดรับลงทะเบียนโครงการในปี 2560 พบว่า มีเกษตรกรลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 3.95 ล้านราย อาชีพเกษตรกร 3.32 ล้านราย และอาชีพรับจ้างภาคเกษตร 6.36 แสนราย โดยผู้ลงทะเบียน 4.6 แสนราย มีหนี้นอกระบบมูลหนี้กว่า 27,489 ล้านบาท มูลหนี้เฉลี่ยต่อรายจำนวน 59,520 บาท

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยลุ้นฟังข่าวดี ‘กอน.’จ่อเพิ่มราคาขั้นต้น50บาท

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ เสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ให้ความเห็นชอบอัตราความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อยฤดูกาลผลิตปี 2560/61 ในอัตรา 50 บาทต่อตันอ้อยรวมเป็นวงเงินประมาณ 5,500 ล้านบาท

“ที่ประชุมเห็นว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ก่อนหน้าประกาศไว้ที่ 10 CSS 880 บาทต่อตันสำหรับพื้นที่ทั่วประเทศและ 830 บาทต่อตันใน เขตสุพรรณบุรี ค่อนข้างจะต่ำกว่าต้นทุนมากทำให้ต้องการช่วยเหลือ ชาวไร่อ้อยโดยให้เพิ่มค่าอ้อยอีก 50 บาทต่อตัน โดยให้โรงงานทดลองจ่ายไปก่อนโดยสามารถกู้ธนาคารพาณิชย์โดยยืนยันได้ถึงรายได้จากส่วนต่างราคาเมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลที่จะมีรายได้คืน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้แนวทางการช่วยเหลือจะแบ่งเป็น2 ระยะได้แก่ 1.ระยะสั้นเร่งด่วนสำหรับโรงงานใดที่ไม่สามารถเจรจากับธนาคารได้ให้กู้เงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด 2.ระยะยาวสร้างระบบใหม่ให้เกิดความมั่นใจแก่สมาคมธนาคารว่าระบบมีส่วนต่างของรายได้จากการขายน้ำตาล

 ในประเทศเพื่อเป็นหลักประกันให้สมาคมธนาคารเกิดความมั่นใจและปล่อยกู้ให้กับโรงงานได้ เพื่อความมั่นคงของเกษตรกรและกองทุนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6  มกราคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่เรียกร้องขอค่าอ้อยเพิ่ม ลั่นต้อง50บาทต่อตัน-ขายปลีกน้ำตาลยังใช้ราคาควบคุม

ชาวไร่โอด ขอค่าอ้อยเพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน ชง 2 แนวทางช่วย ให้โรงงานหรือกองทุนสำรองจ่ายไปก่อน ล่าสุดโรงงานนํ้าตาลลั่นต้องหารือสมาคมธนาคารก่อนขณะที่กองทุนยันยึดตามมติครม.ห้ามจ่ายชดเชยค่าอ้อย

หลังจากที่คณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (กอน.)สรุปราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2560/2561 โดยราคาอ้อยทั่วประเทศอยู่ที่ 880 บาทต่อตัน ซึ่งชาวไร่ไม่พอใจกับราคานี้และต้องการให้ราคาอ้อยอยู่ที่ 900-1,000 บาทต่อตันอ้อย จึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาประกอบด้วย ผู้แทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้แทนฝ่ายโรงงานและตัวแทนจากส่วนราชการ โดยมีนายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าคณะ พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลกหรือ WTO

ล่าสุดนายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและนํ้าตาลทราย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการประชุมเมื่อเร็วๆนี้ชาวไร่อ้อยมีความเห็นว่า ควรเพิ่มค่าอ้อยอีก 50 บาทต่อตันอ้อย โดยมี 2 แนวทางคือ 1. ให้โรงงานนํ้าตาลสำรองจ่ายค่าอ้อยที่ขอเพิ่มขึ้นไปก่อนหรือ 2. ให้สำนักงานกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย (กท.) ออกเงินค่าอ้อยส่วนที่เพิ่มโดยไม่ต้องกู้ และไม่ต้องเป็นมติที่มาจากครม. แต่ให้เป็นข้อตกลงกันเองระหว่างชาวไร่อ้อย โรง งานนํ้าตาล และกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย ซึ่งขณะนี้แต่ละสถาบันที่เกี่ยวกับชาวไร่อ้อย เช่น สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เห็นพ้องตรงกันที่จะต้องเพิ่มค่าอ้อยอีก 50 บาทต่อตันอ้อย และยื่นเรื่องมาถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทรายให้เป็นตัวกลางในการหาข้อยุติ

ต่อเรื่องนี้นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า คณะทำงานที่ประกอบด้วย ผู้แทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้แทนฝ่ายโรงงานและตัวแทนจากส่วนราชการขอให้โรงงานนํ้าตาลไปพิจารณาว่าราคาอ้อยเบื้องสุดท้ายปลายปีควรจะเป็นเท่าไหร่ และโรงงานนํ้าตาลสามารถสำรองจ่ายค่าอ้อยก่อนได้หรือไม่ เพราะจากราคาอ้อยเบื้องต้นที่ 880 บาทต่อตันชาวไร่ออยู่ไม่ได้ และมองว่าทั้งชาวไร่อ้อย และโรงงานนํ้าตาลจะต้องอยู่ด้วยกัน ส่วนกรณีถ้าให้กองทุนอ้อยและนํ้าตาลทรายสำรองจ่ายก่อนนั้น ถ้าเป็นเงินที่ได้จากการบริหารภายใน ก็เอามาช่วยได้ แต่จะต้องไม่ใช่เงินที่สนับสนุนโดยผ่านมติครม. ที่ผ่านมาการกู้เงินเพื่อมาช่วยชาวไร่อ้อยโดยผ่านความเห็นชอบจากครม.ถือว่าผิดหลัก WTO

ด้านโรงงานนํ้าตาล นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผลกล่าวว่า หลังจากที่ชาวไร่อ้อยต้องการยืมเงินจากโรง งานนํ้าตาลสำรองค่าอ้อยที่อยากให้เพิ่มขึ้นอีก 50 บาทต่อตันอ้อยก่อน จำเป็นต้องให้สมาคมธนาคารเป็นผู้พิจารณาก่อน เพราะเวลาที่แบงก์ให้เงินก็จะให้ตามค่าอ้อยที่ประกาศออกมาคือ 880 บาทต่อตันอ้อย บวกค่าโอเปอเรชันของโรงงานนํ้าตาล เช่น ค่าแรงงาน ค่าการผลิต ดังนั้นเมื่อชาวไร่เรียกร้องให้เพิ่มค่าอ้อยอีก 50 บาทต่อตันอ้อยถือว่าเป็นเงินส่วนที่เพิ่มเข้ามา โรงงานนํ้าตาลกับสมาคมธนาคารก็ต้องหารือร่วมกันก่อนถึงความเป็นไปได้ในการให้ยืมเงินส่วนนี้

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย (กท.) กล่าวว่า กองทุนจำเป็นต้องยึดตามมติครม.ที่ออกมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ที่ห้ามกองทุนจ่ายเงินอุดหนุนในลักษณะดังกล่าวเข้าไปช่วยเพิ่มค่าอ้อย และตามมติ ของคณะทำงานที่ประกอบ ด้วย ผู้แทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้แทนฝ่ายโรงงานและตัวแทนจากส่วนราชการ โดยมีนายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าคณะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลกหรือWTO ล่าสุดก็ได้ข้อตกลงกันว่าให้โรงงานนํ้าตาลไปหารือกัน

“เวลานี้ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อราคานํ้าตาลลอยตัวแล้วราคาขายจริงจะอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งตอนคำนวณราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม แล้วราคาขายปลีกจะอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะตรงนี้คือเงินที่จะเข้ากองทุน

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจราคาขายปลีกนํ้าตาลทรายตามห้าง ร้าน หลังรัฐบาลประกาศลอยตัวนํ้าตาลตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2560 พบว่าราคานํ้าตาลยังคงยึดราคาควบคุมที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัมเช่นเดิม จนกว่า การยกเลิกโควตานํ้าตาล การปล่อยลอยตัวราคานํ้าตาล ที่ผ่านคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย(กอน.) แล้ว จะผ่านกระบวนการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอเข้าครม. กฤษฎีกาตรวจร่างระเบียบเมื่อครม. เห็นชอบ จากนั้นก็ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะเกิดการลอยตัวราคานํ้าตาลเต็มรูปแบบภายในเดือนมกราคม 2561

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6  มกราคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยขอเพิ่มตันละ50บาทเสนอ 54 รง.ทั่วปท.กู้แบงก์

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และหัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยแนวทางการช่วยเหลือค่าอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2560/61 เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้เงินค่าอ้อยเพิ่มจาก 880 บาทต่อตันอ้อยสำหรับพื้นที่ปลูกทั่วไปและ 830 บาทสำหรับอ้อยเขต 5 เป็น 900 บาทต่อตันอ้อยทั่วประเทศ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ฤดูการผลิตปี 2560/61ที่มีนายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีตัวแทนชาวไร่อ้อย ตัวแทนโรงงาน ตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทย และตัวแทนส่วนราชการร่วมด้วย โดยในที่ประชุมมีการเสนอแนวทางช่วยเหลือหลายแนวทาง ซึ่งในส่วนของทางชาวไร่อ้อยได้เสนอให้ทางโรงงานน้ำตาลช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ด้วยการให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 54 แห่งทั่วประเทศทำเรื่องขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมเพื่อนำมาจ่ายเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่อ้อยในอัตรา 50 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งปีนี้ประเมินภาพรวมว่าจะมีผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 103 ล้านตันอ้อย วงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละโรงงานมีสถานภาพทางธุรกิจกับทางธนาคารพาณิชย์ที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ที่จะได้หรือไม่ต่างกันไปด้วย

นายนราธิปกล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการเสนอแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอีกหลายแนวทาง ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดในภาพรวมจะมีการสรุปเพื่อเสนอนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) พิจารณาในการประชุมกลางเดือนมกราคมนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้มีข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า แนวทางช่วยเหลือที่ได้รับการเห็นชอบจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากแนวทางที่ชาวไร่อ้อยเสนอได้รับการตอบสนอง ชาวไร่อ้อยคาดหวังว่า จะได้รับเงินเพิ่มค่าอ้อยในงวดวันที่ 31 มกราคม 2561 ซึ่งเม็ดเงินจะได้รับในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า แนวทางการเพิ่มราคาค่าอ้อยตามที่ชาวไร่เสนอให้โรงงานน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์นั้น เป็นแนวทางที่กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างพิจารณาอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของชาวไร่ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 900 บาทต่อตันอ้อย และไม่ผิดกฎขององค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ) ซึ่งในการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นนั้นภาครัฐต้องกำหนดราคาที่ต่ำไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะหากราคาขั้นต้นสูงแต่ราคาอ้อยขั้นปลายต่ำรัฐจะต้องหาเงินมาชดเชยชาวไร่กลายเป็นปัญหาตามมาอีก ทั้งนี้เมื่อโรงงานกู้เงินให้ชาวไร่แล้ว วิธีการชำระคืนคือ โรงงานจะหักเงินจากราคาขั้นอ้อยขั้นปลายที่สูงกว่ามาคืนธนาคาร ซึ่งจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 6  มกราคม พ.ศ. 2561

ไทยวิ่งล็อบบี้ US ต่ออายุ GSP ยกสถานะ WL สิทธิทางปัญญาปัจจัยหนุน

พาณิชย์จับมือผู้นำเข้าสหรัฐ GSP coalitions ผลักดันขอผ่านร่าง กม.ให้สิทธิจีเอสพี คาดว่าได้ข้อสรุปในไตรมาส 1

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน เร่งผลักดันการขอให้สหรัฐพิจารณากฎหมายเพื่อให้คงสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่หมดอายุโครงการสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้าส่งออกที่เคยได้รับจีเอสพี 3,400-3,500 รายการต้องเสียภาษีในอัตราปกติ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า การขอต่ออายุจีเอสพีมอยู่ในขั้นตอนกรรมาธิการของสภาสหรัฐพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายบริหารสหรัฐเห็นด้วยในการต่ออายุ โดยกลุ่มผู้นำเข้าสหรัฐ GSP coalitions ร่วมผลักดัน ซึ่งไทยในฐานะประธานกลุ่ม GSP alliance ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการผลักดันอย่างเต็มที่ คาดว่าการพิจารณากฎหมายจีเอสพีจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสที่ 1/2561 ต่อประเด็นที่ไทยได้รับการปรับลดสถานะการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) นั้น จะส่งผลดีกับภาพรวมของไทยในสายตาของนักลงทุน แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับการผ่านร่างกฎหมายจีเอสพีโดยตรง แต่จะมีผลดีหากสหรัฐจะทบทวนคุณสมบัติของประเทศที่จะได้ GSP รายประเทศ เพราะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ต้องพิจารณาให้สิทธิจีเอสพี

สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มที่อยู่ในลิสต์ GSP ไปตลาดสหรัฐในช่วงสุญญากาศระหว่างการพิจารณากฎหมายนี้ ผู้นำเข้าสหรัฐจะเป็นผู้เสียภาษีตามอัตราปกติ โดยผู้นำเข้าสามารถขอคืนภาษีได้

ภายหลังจากกฎหมายผ่านแล้วalliance 30 ประเทศ อาทิ อินเดีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา ปากีสถาน บังกลาเทศ เป็นต้น ส่วนเวียดนามไม่ได้รับสิทธิจีเอสพี

สำหรับกลุ่ม GSP alliance เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2554 ของประเทศที่ได้

รายงานข่าวระบุว่า ไทยผลักดันการต่อจีเอสพีอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม ไทยในฐานะประธานกลุ่ม GSP alliance ที่มีประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) นำคณะผู้แทนประเทศสมาชิกเข้าพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของรัฐสภาสหรัฐ เพื่อหารือและโน้มน้าวให้สหรัฐต่ออายุสิทธิ GSP ก่อนที่โครงการจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งทาง สพต.วอชิงตันได้นำกลุ่ม GSP alliance หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ US Senate Committee on Finance และ US House of Representatives Committee on Ways and Means ของทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ House Republican Majority Leader เพื่อให้ข้อเท็จจริงและโน้มน้าวให้พิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP ซึ่งกลุ่ม GSP alliance โดยยกประเด็นหลักในการขอต่ออายุสิทธิ GSP ให้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และการต่ออายุสิทธิทันทีหลังจากวันหมดอายุ แต่การพิจารณาก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 6  มกราคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเฮ! ก.อุตฯ จ่อเพิ่มราคาขั้นต้นอีก 50 บ./ตัน

คณะทำงานช่วยเหลือชาวไร่อ้อยฯ เตรียมเสนอ “กอน.” เพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 60/61 อีกตันละ 50 บาท วงเงินรวม 5,500 ล้านบาท โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ทดลองจ่ายไปก่อน แม้ว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลจะทำหนังสือคัดค้านก็ตามชี้เตรียมลอยตัวราคาน้ำตาลมั่นใจมีส่วนต่างเหลือ

 แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ให้ความเห็นชอบอัตราความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2560/61 ในอัตรา 50 บาทต่อตันอ้อย รวมเป็นวงเงินประมาณ 5,500 ล้านบาท

“ที่ประชุมเห็นว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ก่อนหน้าประกาศไว้ที่ 10 CSS 880 บาทต่อตันสำหรับพื้นที่ทั่วประเทศและ 830 บาทต่อตัน ในเขตสุพรรณบุรี ค่อนข้างจะต่ำกว่าต้นทุนมากทำให้ต้องการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยโดยให้เพิ่มค่าอ้อยอีก 50 บาทต่อตันโดยให้โรงงานทดลองจ่ายไปก่อนโดยสามารถกู้ธนาคารพาณิชย์โดยยืนยันได้ถึงรายได้จากส่วนต่างราคาเมื่อลอยตัวราคาน้ำตาลที่จะมีรายได้คืน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะสั้นเร่งด่วนสำหรับโรงงานใดที่ไม่สามารถเจรจากับธนาคารได้ให้กู้เงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด 2. ระยะยาวสร้างระบบใหม่ให้เกิดความมั่นใจแก่สมาคมธนาคารว่าระบบมีส่วนต่างของรายได้จากการขายน้ำตาลในประเทศเพื่อเป็นหลักประกันให้สมาคมธนาคารเกิดความมั่นใจและปล่อยกู้ให้กับโรงงานได้เพื่อความมั่นคงของเกษตรกรและกองทุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงคณะทำงานฯเพื่อคัดค้านแนวทางดังกล่าวที่ให้โรงงานน้ำตาลทดรองจ่ายค่าอ้อยส่วนเพิ่มไปก่อน โดยหวังว่าเมื่อปล่อยราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศลอยตัวตามกลไกตลาดจะมีเงินส่วนต่างที่จะเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ นั้นส่วนนี้ไม่มีความแน่นอนว่าจะมีเงินส่วนต่างเข้าได้มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน จากการทำราคาน้ำตาลทรายของบริษัท อ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด ล่าสุดที่ขายน้ำตาลโควตา ข.(ส่งออก) เพียง 34% เฉลี่ย 16.48 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น และแนวโน้มบาทแข็งค่าจึงเกรงว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายอาจจะต่ำกว่าขั้นต้นได้ซึ่งก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของธนาคารพาณิชย์ จึงเห็นควรพิจารณาแนวทางอื่นมากกว่า

จาก https://mgronline.com   วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2561

‘รัฐ’ จัดทีม! ลงพื้นที่แก้จน ‘เกษตรกร’

กระทรวงเกษตรฯ วางแผนแก้ปัญหาเกษตรกรรายได้น้อย 3.9 ล้านคน จัดทีมลงพื้นที่ระดับอำเภอ แก้ปัญหาสินค้าเกษตร ให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง

รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ปัญหาหนี้สินและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้ได้ลงทะเบียนบัตรผู้มีรายได้น้อย 3.9 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด 11.4 ล้านคน และในวันนี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ไปมอบนโยบายให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร

นายกฤษฎา กล่าวว่า การทำงานของกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเพิ่มรายได้เกษตรกรให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังวางแนวทางเพื่อตอบโจทย์การดูแลเกษตรกรที่ลงทะเบียนรายได้น้อย และได้แต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร 4 คณะ เพื่อทำงานในระดับกระทรวง / จังหวัด / อำเภอ / และท้องถิ่น

การทำงานในพื้นที่ จะมีเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอเป็นทัพหน้า จะเฝ้าระวังติดตามและรายงานสถานการณ์ที่จะเป็นปัญหาหรือส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการเกษตรในพื้นที่ แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ที่จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งตามแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการยกระดับการเกษตร

สำหรับ การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรเฉพาะหน้าที่มีปัญหาขณะนี้ คือ ยางพารา ได้ขอให้ชาวสวนที่ปลูกยางในพื้นที่ของรัฐไม่กรีดยางใน 3 เดือน โดยจะจ่ายชดเชยให้ไร่ละ 1,000 บาท พร้อมทั้งประสานพ่อค้าคนไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลดการส่งออกในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม เพื่อให้ราคายางกระเตื้องขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2561

ปั้นมหาอำนาจเกษตร

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ชู 5 แนวทางหนุนการแข่งขันประเทศ ดันไทยสู่มหาอำนาจเกษตรโลก

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันเสร็จแล้ว โดยจะนำแผนดังกล่าวไปรวมกับยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ รวมเป็น 6 ด้าน ก่อนนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในวันที่ 24 ม.ค. 2561 เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นเดือน ก.พ. 2561 ก่อนกำหนดเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปีต่อไป

สำหรับยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ได้แก่ 1.การเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตรของโลก ทั้งการผลิตและส่งออก สร้างความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมบริการและดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมบริการขนส่งและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศ 3.เป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก พัฒนาธุรกิจ ท่องเที่ยวให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยการใช้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย

สำหรับด้านที่ 4 คือ การเชื่อมไทย เชื่อมโลก โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อจากอาเซียน และด้านที่ 5 สร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง และเล็ก ให้เป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ พร้อมกับสร้างโอกาสให้เข้าถึงบริการทางการเงิน ตลาด และข้อมูล

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำร่างการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่มีทั้งหมด 3 ด้าน 17 ยุทธศาสตร์เสร็จแล้ว หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นครบ 4 ครั้งแล้ว โดยเรื่องไฟฟ้าได้เสนอให้

3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ควรอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน เนื่องจากตามหลักการจะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ร่างดังกล่าวคณะกรรมการได้จัดทำข้อสรุปเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว จากนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนการนำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการร่วมประธานปฏิรูป คณะกรรมการยุทธศาสตร์แล้วจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเรื่องระยะยาว 20 ปีที่ต้องค่อยๆ ปรับ

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 5 มกราคม 2561

จี้ธกส.ปฏิรูปการเกษตร สมคิดบีบหั่นดอกเบี้ยต่ำ7%หวังช่วยลดภาระ

"สมคิด" ให้การบ้าน ธ.ก.ส.-กระทรวงเกษตรฯ หาวิธีปฏิรูปการเกษตร ปรับโครงสร้างการผลิตยั่งยืน แนะลดดอกเบี้ยเกษตรกรต่ำกว่า 7% พร้อมอ้าแขนรับยินดีช่วย หนุน 3 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายได้น้อยเข้า ครม.สัปดาห์หน้า และผุดไอเดียตั้งกองทุนฯ ดันสตาร์ทอัพเอสเอ็มอีเกษตร

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่คณะผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า องค์กรจะต้องลดความเสี่ยงและปรับตัวให้ได้ การปรับโครงสร้างการผลิตของเกษตรกรเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อลดความเสี่ยงในภาคเกษตร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจากการกู้สินเชื่อเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง หากเป็นไปได้ควรมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกจากปัจจุบัน 7%

 ทั้งนี้ ในการปฏิรูปการเกษตร ธ.ก.ส.กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะต้องทำงานร่วมกันหาวิธีที่ช่วยพัฒนาปรับโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นลดภาระต้นทุนเกษตรกรเพื่อให้เกิดกำไรและแข่งขันบนตลาดสากลได้ ส่วน 3 มาตรการที่ ธ.ก.ส.เสนอเข้ามาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อยนั้น จะนำเข้าเป็นวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาโครงการและงบประมาณที่จะต้องใช้ดำเนินงาน

นอกจากนี้ ตนมองว่าในภาคการเกษตรจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนสำหรับสตาร์ทอัพเอสเอ็มอีเกษตรกรขึ้นมา เพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างมีระบบและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

ด้าน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า สำหรับ 3 มาตรการ จำนวน 9 โครงการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนในระบบของ ธ.ก.ส. ได้แก่ 1.มาตรการพัฒนาตนเอง 2.มาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และ 3.มาตรการลดภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นหนี้จำนวน 3.9 ล้านราย เป็นหนี้นอกระบบประมาณ 440,000 ราย จำนวนหนี้รวมประมาณ 26,000 ล้านบาท ส่วนที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส.จำนวน 1.01 ล้านราย มูลค่าหนี้รวมประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้กว่า 4.2 ล้านราย ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะใช้งบประมาณในการสนับสนุนสินเชื่อตลอดระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน 95,000 ล้านบาท

ส่วนเรื่องที่รองนายกฯ ได้ให้การบ้านไว้ ตนจะเร่งหารือกับกระทรวงเกษตรในการปรับแผนดำเนินงาน และวิเคราะห์ความจำเป็นในการเบิกจ่ายงบประมาณมาสนับสนุน และสำหรับกรณีที่จะให้ลดภาระต้นทุนเกษตรกรด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำกว่า 7% นั้น ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้มีหลายโครงการที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ถึง 7% แต่ทั้งนี้ก็จะไปวิเคราะห์กันอีกครั้งว่าจะสามารถคัดเลือกออกมาเป็นกลุ่มๆ ได้หรือไม่ อาจใช้วิธีเข้าร่วมโครงการโดยไม่ต้องกู้แทน เพราะปกติอัตราที่ ธ.ก.ส.มีให้เกษตรกรก็ต่ำกว่าธนาคารอื่นอยู่แล้ว

ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยินดีให้ความช่วยเหลือในกรณีของงบประมาณหากต้องนำมาใช้เร่งด่วนในการปฏิรูป โดยให้ทาง ธ.ก.ส.รวบรวมรายละเอียดแล้วแจ้งเข้ามาว่าจะต้องใช้จำนวนเท่าไร เพื่อโครงการอะไรบ้าง ซึ่งก็อยากจะให้เร่งดำเนินการขอมาเพราะจะได้ทันเวลา ส่วนจะเป็นงบประมาณประจำปี 62 หรือเป็นการขอเบิกงบกลางปีนั้นจะต้องพิจารณาอีกครั้ง.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 5 มกราคม 2561

สมคิด สั่งธ.ก.ส. ร่วมปฏิรูปภาคการเกษตร ชงตั้งกองทุนสตาร์ตอัพเกษตรกร

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ในปี 2561 ต้องการให้ ธ.ก.ส. ปฏิรูปภาคการเกษตรโดยเฉพาะการดูแลเอสเอ็มอีเกษตร และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจึงให้ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนสตาร์ตอัพเพื่อเกษตรกร ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ ที่มีลูกค้าสตาร์ตอัพเป็นของตัวเองมีหน้าที่ในการเข้าไปช่วยเงินทุนในการจัดตั้งกิจการรวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

รวมทั้งให้ ธ.ก.ส. มีหน้าที่ในการช่วยเหลือในการลดต้นทุนให้เกษตรกรโดยลดภาระให้น้อยที่สุด เช่น อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี ที่ MRRหรือ 7% มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลงหรือไม่ ฝากให้ รมว.คลัง เข้าไปดูแล

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ในฐานะประประธานกรรมการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า นายสมคิด มอบหมายนโยบาย 2 เรื่อง คือ 1. ให้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐให้มีรายได้ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้อยู่ต่ำกว่าเส้นยากจน 30,000 บาทต่อปี โดยในส่วนของเกษตรกรที่มาลงทะเบียนคนจนมีจำนวน 3.9 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.กว่า 1 ล้านราย และเกษตรกรทั่วไปกว่า 2 ล้านราย ผ่าน 3 มาตรการ 9 โครงการ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นโดยจะเสนอพร้อมกับมาตรการบัตรจนเฟส 2 เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า

เรื่องที่ 2. แก้ปัญหาโครงสร้างภาคการเกษตรทั้งระบบ โดยปัจจุบันที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากไม่เคยมีการปฏิรูปมากว่า 40-50 ปี ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามาขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่งปัญหาสำคัญเกษตรกรไม่ปลูกพืชที่ไม่สามารถขายได้ แต่ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ข้อมูลมีการเชื่อมโยงทั่วโลก ประเทศอื่นปลูกในสิ่งที่ขายได้และกลายเป็นราคาอ้างอิง ทำให้สินค้าเกษตรไทยขายไม่ได้ราคา และมีต้นทุนสูงจึงสั่งให้ ธ.ก.ส. ไปหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดแนวทางการปฏิรูปที่ชัดเจน ภายในไตรมาส 1/2561 เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเป็นการเร่งด่วน

“ถ้าปฏิรูปตอนนี้แม้จะต้องใช้งบประมาณเข้าไปอุดหนุนตามแผนอยู่เยอะ แต่ก็จะทำให้ภาคเกษตรมีการปรับตัว ปลูกสินค้าที่มีความต้องการ ส่วนสินค้าที่ไม่สามารถขายได้ ก็จะลดลง ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุดหนุนราคาอีก จึงฝาก ธ.ก.ส. และกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปทำแผนร่วม ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯ มีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว เช่น การจัดโซนนิ่ง การใช้ตลาดเป็นตัวนำ ก็เป็นแผนหนึ่ง ส่วนจะใช้งบกลางปี หรืองบปี 2562 ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของแผน”นายอภิศักดิ์ กล่าว

ส่วนเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย หากเป็นเรื่องนโยบายฝ่ายบริหารของธนาคารก็ต้องรับไปพิจารณาดำเนินการแต่ปัจจุบันดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส. ถือว่าต่ำมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการให้สินเชื่อของธนาคาร ก็ไม่เหมือนกับธนาคารอื่นเนื่องจากมีการส่งเจ้าหน้าที่ เข้าไปติดตามช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร ในส่วนนี้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากสามารถทำได้น่าจะไปลดอย่างอื่น เช่น ต้นทุนการบริหารจัดการ เป็นต้น

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า 3 มาตรการ 9 โครงการที่จะเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย 1. มาตรการพัฒนาตัวเอง มี 2 โครงการ ในการให้ความรู้ทางการเงินกับเกษตรกร เป้าหมาย 1.09 ล้านราย 2. มาตรการพัฒนาอาชีพและเสริมรายได้ จากสินเชื่อ 2 โครงการ เป้าหมาย 7.84 แสนราย และ 3. มาตรการลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ รวม 5 โครงการ 3.3 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นโครงการชำระดีมีคืน 2.3 ล้านผ่านความเห็นชอบจากครม. ไปแล้ว โดยในส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อย 4.1 ล้านราย ธ.ก.ส. จะช่วยเหลือสินเชื่อ 9.5 หมื่นล้านบาท ใน 3 ปีโดยขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 8 พันล้านบาท

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 4 มกราคม 2561

ประธานสภาเกษตรกรฯ เล็งผลักดันปี 61 ปีแห่งการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าถึงเกษตรกร

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาสู่เกษตรกร ในอดีตนับว่าทำได้ยากแต่ในปี 2560 ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ได้นำนวัตกรรมเตาชีวมวลที่ประหยัดพลังงานส่งตรงถึงมือเกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร จากการจัดโครงการพัฒนาเกษตรกรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา เห็นว่าการทำเกษตรอุตสาหกรรมสำคัญที่ต้นทุนการผลิตและตัวผลิตภัณฑ์เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาด ความร่วมมือกันระหว่าง 2 หน่วยงาน จึงได้นำไปสู่การศึกษาวิจัยเตาประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงจนทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในปี 2561 วว.จะนำนวัตกรรมพลังงานถ่านไม้ไผ่ และเรื่องอื่นๆ ที่เกษตรกรต้องการขยายผลต่อยอดส่งถึงตัวเกษตรกร

“ทั้งนี้ การที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงนักวิจัย จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากขึ้นซึ่งจะทำให้ประเทศนี้เปลี่ยนไป การพบกันของ วทน.โดยสภาเกษตรกรฯเป็นคนกลางในการประสานงานนั้นจะเป็นเสมือนแขนขาให้กับ วว.ซึ่งไม่มีหน่วยงานในพื้นที่ แขนขานี้จะพาเกษตรกรกับนักวิจัยมาพบกันและปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ วว.”ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว

ด้าน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่เป็นคนไทยส่วนใหญ่ เพราะหากเกษตรกรมีความเข้มแข็งจะทำให้ฐานรากของประเทศแข็งแรง วว.มีผลงานวิจัยและบุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พร้อมนำสู่เกษตรกรใน 3 กลุ่มเป้าหมายคือ ต้นน้ำเพื่อการพัฒนา แก้ปัญหาให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนในการผลิต ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น กลางน้ำโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และผลผลิต และปลายน้ำด้านการรวมกลุ่มทำการตลาดอย่างเลือกใช้ วทน. การนำวิทยาศาสตร์สู่เกษตรกรที่ได้ผลดีที่สุดคือการร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพราะเป็นองค์กรของเกษตรกรตัวจริง

จาก https://www.siamrath.co.th  วันที่ 4 มกราคม 2561

ชาวไร่อ้อยขอให้โรงงานคุยแบงค์เพิ่มค่าอ้อยให้ครบ 900 บาทต่อตันอ้อย

ชาวไร่อ้อยขอให้โรงงานน้ำตาลประสานธนาคารพาณิชย์เพื่อพิจารณาสำรองจ่ายค่าอ้อยขั้นต้นเพิ่มเติมให้ได้ 900 บาทต่อตันอ้อย

รายงานข่าวจาก คณะทำงานพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเผยแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องของราคาอ้อยขั้นต้นสำหรับฤดูการผลิต 2560/2561 ที่ชาวไร่อ้อยต้องการให้ได้ราคาอ้อยขั้นต้นที่ 900 บาทต่อตันอ้อย ว่า ในวันศุกร์นี้(5 ม.ค.) โรงงานน้ำตาลและตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทย จะหารือกันถึงแนวทางในการที่ทางชาวไร่อ้อยจะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลประสานไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยพิจารณาสำรองจ่ายค่าอ้อยขั้นต้นเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือให้ผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ได้รับราคาอ้อยขั้นต้นให้ครบ 900 บาทต่อตันอ้อย จากที่ปัจจุบันได้รับมาแล้วตันอ้อยละ 880 บาทสำหรับอ้อยที่ปลูกทั่วไป และตันอ้อยละ 830 บาทสำหรับอ้อยที่ปลูกในเขต 5  ทั้งนี้เนื่องจากชาวไร่อ้อยประเมินว่ารายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในปีนี้อาจจะสูงกว่าที่เคยประมาณการเป็นราคาอ้อยขั้นต้น

อย่างไรก็ตามโรงงานน้ำตาลทราย มีสถานภาพแตกต่างกันไป การที่โรงงานจะขอเงินกู้เพิ่มขึ้นจากการนำน้ำตาลทรายไปจำนำกับธนาคารพาณิชย์ไว้อาจไม่สมามารถทำได้เหมือนกันทุกโรงงาน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้ข้อมูลพิ่มเติมว่า ราคาอ้อยขั้นต้นที่ชาวไร่อ้อยได้รับในปัจจุบัน เป็นราคาอ้อยขั้นต้นที่คำนวณจากค่าความหวานเฉลี่ยที่ 10 CCS. อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่เป็นจริง อ้อยที่ชาวไร่อ้อยตัดส่งเข้าหีบที่โรงงานน้ำตาลเช่น ในภาคอีสาน อ้อยที่นำเข้าสู่โรงงานน้ำตาลมีค่าความหวานเฉลี่ยสูงกว่า 10 CCS เช่น 11 CCS ก็จะได้รับเงินเพิ่ม 52 บาทต่อตันอ้อย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ประมาณการ CCS เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ 12.16  CCS-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.tnamcot.com  วันที่ 3 มกราคม 2561

ธ.ก.ส. คาดปี 61 ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยและพัฒนาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดราคาสินค้าเกษตรขยับตัวสูงขึ้นรับปีใหม่ 2561

รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)สมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ เผยว่า ศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดการณ์สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต้อนรับปีใหม่ 2561 ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้ง ซึ่งเป็นผลจากอานิสงค์นโยบายของภาครัฐ ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มราคาลดต่ำลง ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบ

จาก http://www.nationtv.tv   วันที่ 3 มกราคม 2561

เงินเฟ้อปี’60 ขยายตัว 0.66% สูงขึ้นในรอบ 2 ปี สนค.คาดการณ์กรอบเงินเฟ้อปี’61 ขยายตัว 0.6-1.6%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนธันวาคม 2560 เท่ากับ 101.37 ลดลง 0.08% เมื่อเทียบเดือนพฤศจิกายน 2560 และสูงขึ้น 0.78% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2560 สูงขึ้น 0.66% ซึ่งเป็นการสูงขึ้นในรอบ 2 ปี จากปี 2558 ที่เงินเฟ้อลดลง 0.90% อย่างไรก็ตามยังเป็นไปตามกรอบที่ สนค.คาดการณ์ไว้ทั้งปี 0.4-1.0%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากการปรับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ขณะที่กลุ่มอาหารสด ลดลง 0.91% ซึ่งมีผลตามอัตราเงินเฟ้อทั้งปี ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั้งปีสูงขึ้นแต่รับว่าสูงไม่มาก แม้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นแต่ก็ระวังการซื้อสินค้ามาก และกรอบเงินเฟ้อทั้งปีหากเทียบกับต่างประเทศก็ยังใกล้เคียงไม่สูงเกินไป เช่น สิงคโปร์

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเทียบเดือนที่ลดลง 0.08% เนื่องจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.23% ตามการลดลงของหมวดผักสดและผลไม้ เช่น ผักสด ส่วนผลไม้ลดลง 1.33% รวมไปถึงการลดลงของไก่สด เนื้อสุกร ไข่ไก่ และข้าวสาร ขณะที่สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำหวาน น้ำผลไม้ ชาและกาแฟสำเร็จรูป จากการปรับภาษีของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.01% จากหมวดสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด ค่าของใช้ส่วนบุคคล ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ และก๊าซหุงต้มที่ปรับลดลงตามตลาดโลก รวมทั้งเสื้อผ้าบุรุษ สตรี ขณะที่สินค้าที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง

สำหรับการสำรวจราคาสินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อทั้งหมด 422 รายการ พบว่า มีสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ราคาเพิ่มขึ้น 114 รายการ เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนมหวาน ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว กาแฟ กาแฟผงสำเร็จรูป ค่าเช่าบ้าน น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าทัศนาจรต่างประเทศ เบียร์ ราคาสินค้าที่ปรับลดลง 118 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว น้ำมันพืช ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักสด ผลไม้สด น้ำพริกแกง ซีอิ๊ว ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ขณะที่ราคาสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 190 รายการ

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า การคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ทั้งปี 2561 อยู่ที่ 0.6-1.6% ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2561 อยู่ที่ 3.5-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเงินเฟ้อทั้งปีไม่เกินกรอบที่คาดการณ์ไว้และน่าจะไม่เกิน 1% โดยปัจจัยที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุน คือเรื่องของบัตรสวัสดิการ การดูแลสินค้าเกษตร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 3 มกราคม 2561

นายกฯขานรับ“หม่อมอุ๋ย”แนะหากูรูแก้ปมสินค้าเกษตร

นายกฯขานรับ“หม่อมอุ๋ย”แนะหากูรูแก้ปมสินค้าเกษตร ช่วยเฟ้นให้แล้วกัน ตอกตอนร่วมรัฐบาลยังทำไม่ได้ เร่งเดินหน้าวางโรดแม็ปแก้ปัญหายากจน แจงจับสลากแจกรางวัลบัตรคนจนแค่จูงใจให้ขึ้นทะเบียนแบบไทยๆ

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 3 ม.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เสนอให้เชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรในช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาลว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็ทราบดีเพราะเคยเป็นรัฐบาลกับตนมาก่อนสมัยที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร อยู่ก็ยังทำไม่ได้ วันนี้เสนอให้เอาผู้เชี่ยวชาญมากรุณาแนะนำมาก็แล้วกันว่าใครมาจากไหน วันนี้เราก็รวบรวมจากทุกความคิดเห็นบางครั้งผู้เชี่ยวชาญต้องเข้าใจบริบทของประเทศไทย การเกษตรของเรามาอย่างไร การเกษตร 1.0 -2.0-3.0 ระบบทุนเสรีค้าเสรีทุกคนทราบดีหมด แต่วันนี้มันกลายเป็นประเด็นการเมืองเสียหมด ก็กำลังแก้ทุกวันแก้ง่ายแก้กันไปนานแล้ว วันนี้เราพยายามทำให้ยั่งยืน เราฟังจากผู้รู้เยอะแยะไปหมด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะบอกปีนี้พวกเราจะลงไปดูเรื่องปัญหาความอยากจนจะแก้ไขได้อย่างไร ทั้งเกษตรกร อาชีพอิสระ ผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าปีละ 3 หมื่นบาท รัฐบาลต้องทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นให้ได้ ก็ต้องเอาเงินมาช่วยตรงนี้โปะไปโปะมาก็ยิ่งมากขึ้นกินตัวไปเรื่อยๆ เพราะโลกเจริญเติบโตเร็วค่าใช้จ่ายมันสูงขึ้นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นราคาสูงขึ้น แต่รายได้ไม่ขึ้นเลยจะทำอย่างไร ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวันนี้เกษตกรหลายกลุ่มเป็นสมาร์ตฟาร์เมอร์ เป็นเกษตรแปลงใหญ่ก็ดีขึ้น รายได้สูงขึ้นมากพอสมควร ปีนี้จะลงรายละเอียดทั้งหมดโดยจะทำอย่างไรกับผู้ที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมด อีกส่วนต้องไปดูมาตรการหรือโมเดลจังหวัด ขึ้นอยู่กับว่าระดับล่างจะรวมกลุ่มกันได้หรือไม่ พร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองได้หรือไม่ ถ้าเขาคิดอะไรไม่ออกเลย ก็ลำบาก เราต้องตั้งเกณฑ์ไว้ว่า จากรายได้เดือนละ 2,000บาทเป็น 5,000 บาทค่อยๆขึ้นเป็นหมื่นหรือสองหมื่นได้ไหม เราต้องทำให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งต้องวางโรดแมปการลดยากจนไม่ใช่ทำทีเดียว มันต้องไปสู่ความพอเพียงก่อน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ทำโรดแมปไว้ชัดเจนก็ต้องช้า ตนก็ไม่ได้โทษรัฐบาลที่ผ่านมาเพราะได้พยายามลดระดับความยากจนจาก 17 ล้านคนวันนี้เหลือ 15 ล้าน แต่ค่าครองชีพมันสูงขึ้นคนที่เคยจนหรือว่าจนน้อยก็เลยจนมากขึ้น ต้องมองสองด้าน ตนคิดว่าผู้เชี่ยวชาญที่ว่ามาจะคิดแบบไหนไม้รู้เหมือนกัน มันต้องคิดแบบริบทไทยๆด้วย บางทีเราไม่ค่อยยอมรับความเปลี่ยนแปลง และอะไรก็ตามที่เอกชนเข้ามาร่วมทำงานด้วยกลายเป็นว่าไปเอื้อประโยชน์หรือเปล่า ตนกำชับเรื่องนี้เสมอมาว่าไม่ให้กลไกเหล่านี้ไปเอื้อประโยชน์ แต่ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมหภาคกับฐานรากเจริญเติบโตไปด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการจับสลากให้รางวัลกับผู้ที่ไปลงทะเบียนบัตรคนจน มีการมองว่าไม่สามรถกระตุ้นให้คนจนพัฒนาตนเองได้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การจับสลากเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจเท่านั้นและคงต้องมีการแก้ไข และเรากำลังมีมาตรการขั้นที่ 2 ได้สั่งให้ทบทวนไปแล้ว บางครั้งมีความขัดแย้งสูงก็ต้องสร้างแรงจูงใจกันไปก่อน เพื่อหาวิธีการให้ความร่วมมือกับเราไปก่อน ถ้าไม่สร้างความสนใจก็ไม่มาลงทะเบียนอยู่ดี ครั้งก่อนลงทะเบียนไม่รู้ว่าจะได้อะไรก็ไม่มาลงต้องมีมาตรการจูงใจไประยะหนึ่งก่อน เพราะสังคมเราเป็นสังคมแบบนี้ ระยะที่ 2 หากมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ก็ต้องเข้ามาร่วมอบรมอะไรต่างๆ ต้องมีมาตรการถึงจะได้เงินเพิ่ม

จาก https://www.siamrath.co.th  วันที่ 3 มกราคม 2561

ฟันธง! สารกำจัดศัตรูพืชไม่ใช่ “ผู้ร้าย” ต้นตอปัญหา “เกษตรกร” ใช้ไม่ถูกวิธี

                จากมุมมองของต่างชาติที่มองว่าประเทศไทยปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกแล้วได้ผลดี แต่มีปัญหาในเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นทำให้โรคแมลงศัตรูพืชแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ช่วยหยุดยั้งปัญหาเหล่านี้ได้ไม่ให้ลุกลามแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

             ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรใช้มาอย่างยาวนาน แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็ถูกมองว่าเป็นอันตราย ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและตัวผู้ใช้ควรหันมาผลิตสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติแทน

         "เราควรแยกกลุ่มให้ชัดเจน ใครทำเกษตรอินทรีย์ก็ทำไป ใครทำเกษตรกรปลอดภัยที่ต้องใช้สารเคมีก็ทำไปเอาให้ชัด ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตร 148 ล้านไร่ มีแรงงานในภาคเกษตรประมาณ 20 ล้านคน กลุ่มที่ทำเกษตรอินทรีย์มีไม่ถึง 1% ผลผลิตส่งออกกว่า 99.9% มาจากเกษตรใช้สารเคมีทั้งสิ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแต่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย อย่างสารกำจัดศัตรูพืชเป็นอาวุธที่เกษตรกรต้องใช้ปกป้องกันผลผลิตไม่ให้เสียหายหรือถูกทำลายจากศัตรูพืช แต่กลับถูกมองเป็นจำเลยของสังคมมานานว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการปนเปื้อนอาหาร ทำลายระบบนิเวศ เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยล้มตายของเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องค้นหาความจริงเช่นกัน”

           ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยกล่าววิพากษ์ในประเด็นเสวนาหัวข้อ “สารกำจัดศัตรูพืช  ตัวช่วยหรืออุปสรรค ไทยแลนด์ 4.0” จัดโดยสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและเครือข่ายพันธมิตร ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันก่อน โดยย้ำว่าสารเคมีไม่ใช่ผู้ร้าย แต่การใช้ไม่ถูกวิธีต่างหากที่ทำร้ายเกษตรกร พร้อมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งสารกำจัดศัตรูพืชก็เหมือนยารักษาโรค ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นอันตราย เช่นเดียวกับมีด ถ้ารู้จักใช้ก็เกิดประโยชน์ ถ้าใช้ไม่เป็นก็เกิดโทษถูกคมมีดบาดมือได้ เหมือนความกังวลว่าเด็กเล็กจะได้รับอันตรายจากมีดบาด เลยไม่ให้ใช้มีด แต่หากเราสอนให้ใช้มีดด้วยความระมัดระวัง มีดอาจบาดมือบ้างในตอนแรก แต่ในที่สุดจะใช้มีดได้อย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับความห่วงใยของคนบางกลุ่มที่ไม่เคยทำการเกษตรแต่กลับกลัวว่าสารเคมีเกษตรเป็นอันตรายต่อเกษตรกร ควรหาทางยกเลิกการใช้

                ดร.จรรยา ระบุอีกว่าการเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้เรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องของผู้ใช้และเกษตรกรนั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวข้องในการดำเนินการในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอและผู้ผ่านการอบรมจะต้องได้รับการการันตีด้วยว่าได้ผ่านการฝึกอบรมเรียบร้อยแล้วสามารถนำเอกสารไปยืนยันการใช้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรกรในการซื้อหาสารเคมีดังกล่าว แต่ที่ผ่านมากฎหมายบ้านเราไม่เข้มงวดในเรื่องนี้เท่าที่ควร อีกทั้งการจัดฝึกอบรมเกษตรกรของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละครั้งก็เป็นยังเป็นคนกลุ่มหน้าเดิมๆ พืชที่ปลูกก็ไม่ตรงกับหัวข้ออบรม จึงไม่แปลกว่าเกษตรกรตัวจริงเข้าไม่ถึงองค์ความรู้เหล่านี้ ทำให้มีการใช้สารเคมีไม่ถูกต้องเหมาะสมและไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น

                “ดิฉันเชื่อว่าทุกภาคส่วนมีความหวังดีทั้งสิ้น เอ็นจีโอก็หวังดี อยากให้สังคมตื่นตัว แต่อาจจะเกินเลยจนตื่นตระหนก ผู้ประกอบการก็ต้องการให้เกษตรกรมีเครื่องมือใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ผู้ส่งออกก็หวังดีว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจการส่งออกดีขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐที่พยายามออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในตัวผู้ใช้และผู้บริโภค แต่ความหวังดีนี้จำเป็นต้องร่วมมือกัน และต้องร่วมกันผลักดันให้ภาคเกษตรก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป” นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชกล่าว

               ขณะที่ เปรม ณ สงขลา เจ้าของสวนคหเกษตร ซึ่งเป็นสวนเกษตรจีเอพี ใน ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ฐานะตัวแทนเกษตรกรกล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา โดยระบุว่าสารกำจัดศัตรูพืชยังมีความจำเป็นต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้ เห็นได้จากวิวัฒนาการของสังคมตั้งแต่ยุคเกษตร 1.0 จนถึง 3.0 และด้วยความมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นรายได้สูง การเกษตรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิตจึงต้องมีการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่การเกษตร 4.0 อย่างเต็มรูปแบบในอนาคตนั้นสารเคมีเกษตรเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการผลิตมาโดยตลอด  แต่ที่ผ่านมาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมักถูกมองในแง่ลบและถูกองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอนำข้อมูลไปขยายผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อภาคเกษตรที่มีประชากรร่วม 20 ล้านคน จนกลายเป็นการขัดแข้งขัดขาต่อสู้กันเอง โดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

              “เกษตรกรไทยเองก็มีปัญหา มุ่งแต่สังคมบันเทิง ไม่เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยแสวงหาความรู้และคำตอบใหม่ๆ ในการผลิตเพื่อคุณภาพและการแข่งขัน เมื่อเทียบกับไต้หวันที่เคยมีประชากรยานจนในภาคเกษตร 23 ล้านคน ขณะนี้เหลือเพียง 3 แสนราย และอีกประมาณ 8 แสนคน กลายเป็นสังคมเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการผลิต มีรายได้สูงและเกษตรกรทุกคนมีฐานะดี”

                  เปรมยอมรับว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (บางตัว) เกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้ เพราะหากเลิกจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน จะมีการลักลอบนำเข้าอย่างมโหฬารและควบคุมได้ยาก ตราบใดที่ยังมีดีมานด์ มีความต้องการใช้ ผู้ขายก็ต้องจัดหามาให้ได้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง  ยิ่งในอีก 3-4 ปีข้างหน้า คนงานต่างด้าวกลับประเทศกันหมด ภาคการเกษตรไทยจะเป็นง่อยทันที  การที่ประเทศไทยได้ก้าวพ้นการปฏิวัติเขียวด้วยการปรับปรุงพันธุ์ ระบบการชลประทาน และการเกษตรกรรม ทำให้วันนี้จะหวนกลับไปเป็นแบบดั้งเดิมไม่ได้อีกแล้ว ยังจะต้องพัฒนาไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลแทนระบบอะนาล็อก สามารถตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตได้ทั้งหมด 

                  “การช่วยภาคเกษตรไทยเพื่อให้ก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้ ต้องช่วยกันทุกคนทุกฝ่าย และใจต้องเป็นเอกภาพ ที่สำคัญเกษตรกรไทยทุกวันนี้อายุเฉลี่ย 56-58 ปีไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิต ยิ่งอีกไม่นานประมาณ 3-4 ปีข้างหน้าแรงงานเขมร พม่ากลับประเทศหมด เราเป็นง่อยเลยนะ ฉะนั้นการปรับภาคเกษตรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มอันนี้เป้นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ส่วนสารเคมีเกษตรยังไงเราก็ยังจำเป็นต้องใช้ ไม่มีทางที่เลิกได้ เพราะถ้าเลิกใช้เมื่อไหร่ระบบทั้งโลกจะบิดเบี้ยวทันที ไม่สามารถผลิตป้อนภาคอุตสาหกรรมได้ เหมือนย้อนอดีตไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วมีประชากรไม่กี่ล้านคนอันนี้คือความจริง” เจ้าของสวนเคหเกษตรกล่าวย้ำ 

                 ด้าน ดร.วีระวุฒิ กตัญญูกุล ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์เกษตรและอดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตรหลายสมัย มองว่าสารกำจัดศัตรูพืชเป็นเครื่องมือสำคัญของเกษตรกร ถ้าปลูกในพื้นที่เล็กๆ เป็นสวนครัวหลังบ้านสามารถจัดการกับแมลงศัตรูพืชเองได้หรือใช้พื้นที่ในการทำการเกษตรไม่มากนักก็อาจผลิตสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชเองได้  แต่หากผลิตในเชิงพาณิชย์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลายเป็นสิ่งจำเป็นทันที แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งประเทศไทยสามารถลดการใช้สารเคมีเกษตรลงทันทีไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประมาณ 90,000 ตันต่อปี มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท แต่หากหน่วยงานภาครัฐถ่ายทอดข้อมูลวิธีการใช้อย่างถูกต้องให้แก่เกษตรกรมีความรู้อย่างเพียงพอ

                   "ถ้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ดีจริง คงไม่ขายดีกันทั่วโลก การห้ามใช้  ก็พูดไม่ครบ พูดแต่มีจำนวนกี่ประเทศที่ห้าม แต่ไม่พูดถึงจำนวนประเทศที่ใช้กัน ซึ่งก็มีทั้งประเทศพัฒนาแล้วรวมอยู่ด้วย และละเลยความจริงว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี โรคและแมลงรวมทั้งวัชพืชก็เกิดได้ทั้งปีเช่นกัน ดังนั้นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงเป็นเครื่องมือของเกษตรกรในการดูแลผลผลิตไม่ให้เสียหาย เรื่องยกเลิกหรือห้ามใช้ ผู้ประกอบการค้าสารเคมีเขาไม่เดือดร้อนหรอก ไม่มีตัวนี้ก็ยังมีตัวอื่น แต่ละร้านมีเป็นสิบเป็นร้อยชนิดที่วางขาย แต่คนที่เดือดร้อนมากที่สุดคือคนทำมาหากิน ตัวเกษตรกรต่างหากที่ไม่มีอะไรมาใช้ทดแทนในการกำจัดศัตรูพืช หรือมีก็ไม่ดีเท่าที่เคยใช้มานาน” ดร.วีระวุฒิกล่าว 

                  ดร.วีระวุฒิ ย้ำด้วยว่าทุกวันนี้เกษตรกรยังแยกไม่ออกว่าอันไหนโรค อันไหนแมลง จึงใช้สารเคมีในการกำจัดไม่ถูกจุด ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทั้งสิ้น ขณะเดียวกันการอนุญาตใช้สารเคมีของภาครัฐก็ผ่านการคัดกรอง การทดลองวิจัยมาอย่างดีแล้วทั้งสิ้น ถ้าไม่ดีจริงเขาคงไม่อนุญาตให้ใช้ในหลายๆ ประเทศที่ทุกวันนี้ยังมีการใช้กันตามปกติและหากสังเกตให้ดีประเทศที่ประกาศห้ามใช้สารเคมีเกษตรส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ปัญหาโรคและแมลงในพืชมีน้อย แต่สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศร้อน การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงยังมีความจำเป็น

                 “ปัญหาอย่างหนึ่งของเกษตรกรบ้านเราจะปลูกอะไรมักปลูกตามๆ กัน จึงสร้างบรรยากาศความเหมาะสมในการระบาดของศัตรูพืช พอระบาดขึ้นมาก็ไปซื้อยามาฉีดมาพ่น ที่จริงแล้วในธรรมชาติมันก็มีกลไกควบคุมกันเอง แต่หากการปลูกพืชในพื้นที่ขนาดใหญ่ยังไงสารกำจัดศัตรูพืชยังมีความจำเป็น เพราะจะลงไปจัดการด้วยตัวเองคงลำบาก หรือถ้าหากใช้สารที่มีคุณสมบัติทำลายศัตรูพืชชนิดนั้นโดยตรงก็จะเป็นการสิ้นเปลืองและเพิ่มภาระในเรื่องต้นทุนโดยใช่เหตุ”

                เขาระบุอีกว่า ทุกวันนี้ร้านค้าจำหน่ายสารเคมีเกษตรทั่วประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 200-300 ราย ขณะนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 30,000 กว่าราย ซึ่งมีจำนวนเท่ากับจีนทั้งประเทศ จึงมองว่าการเพิ่มขึ้นของดีลเลอร์หรือร้านค้าเหล่านี้มีเกินความจำเป็น  อย่างไรก็ตามแม้การควบคุมของกฎหมายจากต้นน้ำค่อนข้างดีมาก โดยเห็นจากการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรแต่ละตัวที่นำเข้ามาต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะขึ้นทะเบียนได้ แต่เมื่อมาถึงกลางน้ำในเรื่องการจัดการร้านจำหน่าย กฎหมายกลับไม่เข้มงวดมากนัก ปล่อยให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา จึงมีผลกระทบเกิดขึ้นทางด้านปลายน้ำทั้งตัวผู้ใช้และผู้บริโภคผลผลิตจากการใช้สารเคมีนั้นๆ 

                  "ยิ่งร้านจำหน่ายมีจำนวนมากเท่าไหร่ การควบคุมยิ่งยากขึ้นเท่านั้น อย่างบางอำเภอมีร้านค้าสารเคมีเกษตรมากกว่าร้านหมอยาคนเสียอีก อย่างร้านขายยา เขามีเภสัชกรคุม ให้คำแนะนำแก่ผู้ซื้อว่ายานี้กินก่อนอาหารหรือหลังอาหารกี่โมงถึงกี่โมง แต่ร้านค้าสารเคมีเกษตร มีหรือไม่เภสัชกรสารเคมีที่รู้เรื่องสารเคมีแต่ละตัวอย่างละเอียด ให้คำนำแนะแก่ผู้ซื้อได้  พนักงานร้านค้าสารเคมีทุกวันนี้จะจ้างใครก็ได้มาขาย แค่อ่านออกเขียนได้ รู้ชื่อชนิดสารเคมีหยิบให้ลูกค้าถูกต้องแค่นี้พอแล้ว ส่วนคนซื้อเองก็ไม่เคยรู้รายละเอียดเพียงแค่รู้จักชื่อสารเคมีตัวนั้นตัวนี้แล้วก็ใช้ต่อๆ กันมาเห็นว่าใช้ดีก็เลยลองใช้ดูบ้าง นี่คือสภาพความเป็นจริงการใช้สารเคมีเกษตรของบ้านเราในทุกวันนี้” อดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตรหลายสมัยกล่าวและยืนยันว่าถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องหาทางออกร่วมกันในการร่วมกันก้าวไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 3 มกราคม 2561

เงินบาทแข็งค่า คาดสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 “เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับสูงกว่าสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าในช่วงวันทำการปลายปี ทั้งนี้ เงินบาทในสัปดาห์สุดท้ายของปีเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อยช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และเงินหยวน ท่ามกลางตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันในช่วงก่อนสิ้นปี

สำหรับในวันศุกร์ (29 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อน สำหรับภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปี 2560 เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 32.45-35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางแรงหนุนจากฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย และเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงกดดันจากสัญญาณความล่าช้าของการผลักดันมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ในระหว่างปี และความไม่แน่นอนของจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดสิ้นปี 2560 ที่ 32.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นประมาณ 10% จากระดับปิดตลาดปี 2559 ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-5 ม.ค. 2561) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.40-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของไทยในเดือนธ.ค. 2560 ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตลอดจนตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนพ.ย. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามบันทึกการประชุมเฟด และรายงานดัชนี PMI เดือนธ.ค. ของประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,753.71 เพิ่มขึ้น 0.67% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 7.08% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 50,452.92 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 540.37 จุด เพิ่มขึ้น 0.02% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ด้วยแรงซื้อกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ ประกอบกับยังมีเม็ดเงินลงทุนกองทุน LTF/RMF อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ดิ่งลงอย่างหนักในช่วงระหว่างสัปดาห์เนื่องจากมีการปิดสัญญา Single Stock Future และแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร ก่อนฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์

ภาพรวมตลาดหุ้นในปี 2560 ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 13.7% มาอยู่ที่ 1,753.71 จุด ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งนับเป็นระดับปิดรายวันที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปี ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบระหว่าง 1,528-1,600 จุด ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ และการคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ท่ามกลางความคาดหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-5 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,740 และ 1,730 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,760 และ 1,770 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคไทยเดือนธ.ค. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตของหลายประเทศในเอเชียและยุโรป และตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศกลุ่มยูโร สำหรับเดือนธ.ค.

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 3 มกราคม 2561

สกัดต่อทะเบียน'พาราควอต'

คกก.แก้ปัญหาสารเคมีฯรวบรวมข้อมูลยื่นบอร์ดวัตถุอันตรายทบทวนยกเลิก

คกก.ขับเคลื่อนแก้ปัญหาสารเคมีเตรียมหารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ "พาราควอต" รวบรวมความเห็นก่อนนำข้อมูลผลกระทบเสนอ คกก.วัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกต่อทะเบียนพาราควอต ด้าน 389 เครือข่ายจาก 50 จังหวัดรอดูท่าที หากเพิกเฉยเตรียมฟ้องร้อง

จากกรณีกรมวิชาการเกษตรเห็นชอบให้ต่อทะเบียนสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร "พาราควอต" ไปอีก 6 ปี โดยอ้างยังไม่มีผลวิเคราะห์ที่ชัดเจนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งที่พาราควอตเป็น 1 ใน 2 ชนิดของสารกำจัดศัตรูพืชที่คณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงที่ประกอบด้วย 5 กระทรวงหลัก รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายที่จะยกเลิกการขึ้นทะเบียนภายในปี พ.ศ.2562 นอกจากนี้ 5 กระทรวงหลักจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้พาราควอตในภาคเกษตรกร เพื่อยื่นต่อกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อประสานไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาการต่อทะเบียนดังกล่าวอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมี 389 เครือข่ายจาก 50 จังหวัดจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้มีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนพาราควอต

 ภกญ.อมรรัตน์ ลีนะนิธิกุล เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กล่าวว่า ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากสารดังกล่าวจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเรื่องดังกล่าว ซึ่งเดิมทีมีกำหนดไว้ว่าจะยื่นเรื่องเข้าไปยังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่มีคณะทำงานจาก 5 กระทรวง ในกลางเดือนธันวาคม แต่ปรากฏว่าการประชุมได้เลื่อนออกไป เพราะคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ต้องการหารือกับแต่ละกระทรวงก่อนเพื่อรวบรวมความคิดเห็น ซึ่งขณะนี้ได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว ต่อไปจะเข้าพบกระทรวงศึกษาธิการด้วย ซึ่งแม้จะไม่อยู่ใน 5 กระทรวงหลัก แต่โรงเรียนถือว่าเป็นพื้นที่พิเศษ มีข้อห้ามไม่ให้พื้นที่ใกล้เคียง รร.ใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดหมาย และ สธ.เองนัดหมายเรียบร้อยแล้ว โดยคิดว่าข้อมูลประกอบการพิจารณาจะเป็นประโยชน์ เพราะในการต่อทะเบียนกรมวิชาการเกษตรก็มีเงื่อนไขว่า หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายสรุปผลว่ามีอันตรายก็สามารถยกเลิกการขึ้นทะเบียนได้ และจะมีการเร่งดำเนินการเพื่อส่งไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะพิจารณาการต่อทะเบียนพาราควอตในช่วงกลางเดือน มี.ค.แน่นอน

 ภกญ.อมรรัตน์กล่าวว่า ระหว่างนี้ สธ.ดำเนินการควบคุมสารเคมีในส่วนที่สามารถทำได้ คือการส่งเสริมอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล ซึ่งก็ไม่ได้ควบคุมแค่ 3 สาร แต่ครอบคลุมทุกสารเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมีแผนจะหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลการเจ็บป่วยจากสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ สธ.มีนโยบายยกเลิกและควบคุมพิเศษโดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนนโยบาย ตรงนี้ อย.ยังไม่ได้รับการประสาน แต่คิดว่าเป็นเรื่องดีที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน หากได้รับการประสานยินดีเข้าร่วมอย่างเต็มที่

 ด้าน น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช Tiai-PAN กล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องจากเครือข่ายฯ ยังไม่เห็นข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรที่ใช้ในการพิจารณาต่อทะเบียน ซึ่งต้องรอข้อมูลในส่วนนี้ก่อน โดยการเริ่มปี พ.ศ.2561 ใน 3 เดือนแรก เครือข่ายจะติดตามการทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะพิจารณาขึ้นทะเบียนพาราควอต ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในวันที่ 17 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการฯ บอกว่ามีผลกระทบต้องแบน กรมวิชาการเกษตรก็ต้องยกเลิกการขึ้นทะเบียนไปโดยปริยาย แต่หากยังยืนยันว่าจะขึ้นทะเบียนต่อทางเครือข่ายก็จะเดินหน้าฟ้องร้องต่อไปแน่นอน.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 3 มกราคม 2561

จี้คลอดเศรษฐกิจชีวภาพ เชื่อมโยง‘อีอีซี’สู่ภูมิภาค

สานพลังประชารัฐ จี้ “อุตตม” เร่งเสนอแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพเข้าครม.ม.ค.61หวังช่วย ขับเคลื่อนอีอีซีและขยายผลเชื่อมโยงสู่นครสวรรค์และขอนแก่น ประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมสร้างเม็ดเงินลงทุน 3.8 แสนล้านในช่วง 10 ปี

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน)หรือพีทีทีจีซี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าการดำเนินงานการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมีว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดขั้นสุดท้าย

โดยในการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้มีการกำชับไปยังนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปเร่งดำเนินการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเร็วที่สุดหรือไม่เกินเดือนมกราคม 2561 เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ฯดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพราะเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีและขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ

ทั้งนี้ ในแผนดังกล่าวจะมีการเสนอขอให้จัดตั้งพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 พันไร่ และจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 2 พันไร่ เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพขึ้นมานำร่องก่อน และหลังจากนั้นตามด้วยพื้นที่ในจังหวัดกำแพงเพชรประมาณ 1พันไร่เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งเพาะปลูกอ้อยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตต่อ ยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงจากการพัฒนาอีอีซีสู่ภูมิภาคต่างๆ

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า สำหรับกรอบการลงทุนในระยะเวลา 10 ปี (2560-2569) คิดเป็นเม็ดเงินราว 3.8 แสนล้านบาท โดยระยะแรกนำร่องในช่วง 5 ปี(2561-2565) คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยเป็นการลงทุนต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่อีอีซี ในกลุ่ม ไบโอพลาสติก, Biopharma, Palm Biocomplex ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ของบบริษัท โกล บอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีจีซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของพีทีทีจีซี แบ่งเป็นการลงทุนในจังหวัดชลบุรีประมาณ 4 พันล้านบาท และจังหวัดระยองอีกประมาณ 5,740 ล้านบาท

ประกอบกับ หากแผนยุทธศาสตร์ฯได้รับการเห็นชอบจากครม.จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงสู่การพัฒนา BiorefineryComplexที่ใช้นํ้าตาลและ มันสำปะหลังเป็นพืชนำร่องในเขตจังหวัดนครสวรรค์เงินลงทุนประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท ในจังหวัดขอนแก่น ลงทุนอีกประมาณ 6 หมื่นล้านบาทรวมทั้งในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เงินลงทุนประมาณ 2.15 หมื่นล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวเสริมอีกว่า ส่วนความเป็นไปได้ด้านการลงทุน ขณะนี้การหารือมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ซึ่งมีเอกชนกว่า10ราย สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในแต่ละพื้นที่ซึ่งกำลังรอว่าแผนยุทธศาสตร์ฯการพัฒนาทางรัฐบาลจะเห็นชอบได้เมื่อใด

โดยเฉพาะการเสนอให้แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อ้อยและนํ้าตาล ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงในเรื่องการตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ สามารถดำเนินการได้ในระยะไม่เกิน 50 กิโลเมตร จากโรงงานนํ้าตาลที่ตั้งอยู่แล้วได้ รวมถึงการนำนํ้าอ้อยมาเป็นวัตถุดิบผลิตผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ อีกทั้งแนวทางและนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล ที่สำคัญการแก้ไขผังเมืองเดิมที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้สามารถตั้งโรงงานได้ เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 มกราคม 2561

เทคโนโลยียุคใหม่ไล่บี้! บีบเกษตร-การค้าไทยเร่งปรับตัว

จากโลกปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง(IoT) เปลี่ยนโลกจากยุค อนาล็อกเข้าสู่ยุคดิจิตอล แรงงานมนุษย์สุ่มเสี่ยงตกงานจำนวนมาก ถือเป็นภัยคุกคาม(Disruption) และความเสี่ยงสำหรับภาคเกษตร การค้า อุตสาหกรรม และภาคบริการของไทยที่ไม่ปรับตัว แต่อีกด้านหนึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นการสร้างโอกาสสำหรับผู้ที่ปรับตัวได้ก่อน เพื่อฉายให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ณ ปัจจุบัน 2 ภาคสำคัญคือภาคเกษตรและการค้าของไทยอยู่ในตำแหน่งใด และจะต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดได้ในอนาคต “ฐานเศรษฐกิจ” ขอนำข้อมูลและมุมมองจากกูรูมานำเสนอดังนี้

++เกษตรยุคแม่นยำสูง

นายปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉายภาพว่า ปัจจุบันในภาคเกษตรของไทยได้มีการใช้เทคโนโลยีที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีความฉลาดมากขึ้น และบางอย่างทำงานได้อัตโนมัติ เช่น โดรนสำหรับการพ่นยา พ่นปุ๋ยในไร่นาควบคุมด้วยรีโมต หรือบินแบบอัตโนมัติเพื่อลดปัญหาผู้ฉีดสัมผัสสารเคมี มีการใช้โดรนติดกล้องถ่ายภาพเพื่อวิเคราะห์คาดการณ์ผลผลิตหรือดูการเจริญเติบโตทางการเกษตรสำหรับเกษตรแปลงใหญ่

นอกจากนี้มีการใช้รถแทรกเตอร์ติด GPS สำหรับเกษตรที่ต้องการความแม่นยำสูงในการเคลื่อนที่โดยการวัดระยะการปลูก และการไถพรวนที่แม่นยำมากขึ้น

“ยังมีการใช้ Sensor วัดความชื้นในดินเพื่อควบคุมปริมาณการให้นํ้าได้แม่นยำขึ้น และสัมพันธ์กับสภาพความชื้นในดินที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช มีรถปลูกข้าวที่คนไทยทำได้เองและถูกกว่าของต่างประเทศมาก เป็นการปลูกข้าวแบบนาโยนที่ทำให้เป็นระเบียบเหมือนนาดำเรียกว่ารถหย่อนกล้า เป็นนวัตกรรมตัวแรกของโลก และปลูกข้าวให้ผลผลิตที่สูงกว่าและลดต้นทุนได้ดีกว่าทุกวิธีการปลูก”

ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ด้านการเกษตรที่กำลังมาแรงเป็นเทคโนโลยีด้านสมาร์ทฟาร์มได้แก่ Precision Farming หรือเกษตรกรรมความแม่นยำสูง ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการผลิตด้านการเกษตร และรักษาคุณภาพตามมาตรฐานได้ดีกว่าการเกษตรแบบเก่า มีการควบคุมการปลูกแบบอัตโนมัติมากขึ้น มีระบบเตือนและรายงานสภาพอากาศจากเครื่องวัดในแปลง และจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงการได้รับข้อมูลด้านการชลประทานจากกรมชลประทาน ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้ข้อมูลแบบ realtime (ณ เวลาจริง)

นอกจากนี้มีแอพพลิเคชันผ่านสมาร์ทโฟน ในการรายงานสภาพการณ์ในแปลงเกษตร และรวมถึงการบริการสืบย้อนรอยสินค้าเกษตรไปยังแปลงผู้ผลิตได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลด้านการใช้ปัจจัยการผลิตอะไรบ้าง (เช่นตารางการให้ปุ๋ย นํ้า หรือการฉีดยา เป็นต้น) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผลผลิตทางการเกษตร

“ปัญหาเกษตรกรตามไม่ทันเทคโนโลยี ปัญหาเกษตรกรมีหนี้สินมาก ไม่มีเงินลงทุนมากพอที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ปัญหาการถูกกดราคาสินค้าจากพ่อค้าคนกลาง และปัญหาอื่น ๆทางออกของเกษตรกรในยุค 4.0 ต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อจะได้ลดต้นทุน เพิ่มอำนาจต่อรองตั้งแต่การซื้อปัจจัยการผลิต หรือการขายผลผลิตให้กับพ่อค้าคนกลาง และเมื่อสร้างเครือข่ายได้แล้วก็จะเกิดการรวบรวมเงินลงทุนได้จำนวนมากพอที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการรวมแปลงให้เป็นแปลงใหญ่ ก็จะทำให้สามารถร่วมลงทุนด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตรได้แก่เครื่องจักรการเกษตรได้ และจะเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน”

++5 เทคโนฯเปลี่ยนค้าโลก

 ขณะที่ในภาคการค้า นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาเตือนว่า เวลานี้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันหลายด้าน จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทยในอนาคตอย่างแน่นอน ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นโดย World Economic Forum (WEF) พบว่า กลุ่มอาเซียนซึ่งรวมทั้งไทยจะได้รับผลกระทบจาก 5 เทคโนโลยีใหม่ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าโลกในอนาคตได้แก่ IoT (Internet of Things), Artificial Intelligence (AI หรือปัญญาประดิษฐ์), Advanced Robotics (หุ่นยนต์อุตสาหกรรม), Wearables(อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบบสวมติดตัว) และ Additive Manufacturing เช่น 3D printing (การพิมพ์ 3 มิติ) ซึ่งผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว“ทางกระทรวงอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลรูปแบบการค้ายุคใหม่ ซึ่งมีหลายตัว และจะมีผลต่อการค้าในอาเซียน และของไทยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเช่น รถยนต์ อาหาร สิ่งทอ ที่จะมีเทคโนโลยี หรือวัตถุดิบใหม่ๆ เข้ามาทดแทน ซึ่งผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาสินค้าที่มีความทันสมัย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและมีความแตกต่างจากคู่แข่ง”

++จี้ภาคอุตฯเร่งปรับตัว

 ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห- กรรม กล่าวว่า การค้าอี-คอมเมิร์ซซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทในการค้าโลกมากขึ้น โดยเวลานี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้หันมาใช้ช่องทางการส่งคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ทางออนไลน์ ใช้ดิจิตอลมากขึ้น หากผู้ประกอบการรายกลาง และรายเล็กไม่ใช้ระบบนี้ก็จะหลุดจากห่วงโซ่ได้ เรื่องนี้ผู้ประกอบการต้องตระหนักและต้องปรับตัว เพราะยุคนี้เป็นยุค IoT ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว

“ที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ 1.การเร่งสร้างความตระหนัก 2.นำทักษะให้เข้าถึง และ 3. ให้เขาเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมในเรื่องดิจิตอลแล้วนำไปสู่การผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของออโตเมชัน โรบอติก และอื่นๆ มิฉะนั้นความสามารถในการแข่งขันและต้นทุนสู้ไม่ได้แน่นอน ซึ่งในส่วนของเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงเงินทุน ตรงนี้เรามีกองทุนหรือเงินสินเชื่อที่ออกมาใหม่ในอัตราพิเศษ เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยี”

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลส่งเสริมให้เอสเอ็มอีมีช่องทางการค้าขายสินค้าของชุมชนผ่านอี-คอมเมิร์ซเพื่อให้สินค้ามีช่องทางการขายออกไปทั่วประเทศ และออกไปทั่วโลกได้ ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบร้านค้าปลีกทั่วไปที่อาจเสียเปรียบ เพราะการค้าอี-คอมเมิร์ซผู้สั่งซื้อสินค้าไม่ต้องเสียภาษี แต่ร้านค้าทั่วไปมีการลงทุนเรื่องสถานที่ และมีต้นทุนด้านต่างๆ ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรม ทางกรมสรรพากรกำลังหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรที่จะให้การเสียภาษีเกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 มกราคม 2561