http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมกราคม 2562)

ชาวบ้านต้านโรงไฟฟ้าน้ำตาลมิตรผลบุกจี้ กกพ.เขต 5 ลงพื้นที่ดูความสมบูรณ์ก่อนออกใบอนุญาต

อุบลราชธานี - ชาวบ้านกว่า 100 คน บุกจี้ กกพ.เขต 5 ชะลอออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ของ บ.มิตรผลฯ จำกัด พร้อมจี้ลงพื้นที่ดูความสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่า ที่ชาวบ้าน 5 หมู่บ้านอาศัยทำกินมานาน ไม่มีคำตอบร้องนายกฯ ถึงทำเนียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสายของวันนี้ (31 ม.ค.) ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 5 อุบลราชธานี มีกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ในพื้นที่ตำบลเชียงเพ็ง จ.ยโสธร และ ต.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ รวม 5 หมู่บ้าน กว่า 100 คน นำโดยนายสิริศักดิ์ สะดวก ยื่นหนังสือเรียกร้องจำนวน 4 ข้อ ประกอบด้วย

1. ขอให้นายปฏิภาณ แก้วรินขวา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 อุบลราชธานี ลงพื้นที่พบชาวบ้านอีกครั้ง หากไม่ได้รับคำตอบชาวบ้านจะไม่เดินทางกลับ โดยจะรอจนกว่าได้รับคำตอบอย่างเป็นธรรม 2. ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 5 ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานส่วนกลางเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ระงับการพิจารณาออกไปอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปจากคณะศึกษาข้อเท็จจริงกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดยโสธร ที่กำลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเด็นด้านทรัพยากร ด้านสุขภาพ และด้านการมีส่วนร่วม

3. ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 5 ชี้แจงข้อมูลที่ได้นำเสนอต่อส่วนกลางว่ามีประเด็นอะไรบ้าง และ 4. ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานวางตัวเป็นกลางในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากจากเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลข้อกรณีคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ในพื้นที่ ต.เชียงเพ็ง จ.ยโสธร และพื้นที่ตำบลน้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ แต่แทนที่จะลงไปดูพื้นที่จริงและพบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าที่รออยู่ในพื้นที่ กกพ. แต่กลับไปรับฟังข้อมูลจากกลุ่มสนับสนุนโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นเวลานาน ทำให้คณะกรรมการมีเวลารับฟังข้อมูลจากชาวบ้านที่เป็นกลุ่มคัดค้านน้อย พร้อมทั้งไม่มีเวลาลงดูพื้นที่จริงที่ประสบปัญหาอย่างละเอียด จึงไม่ทราบว่าการศึกษาผลกระทบที่ผ่านมาชาวบ้านกว่า 90% ไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อนซึ่งเป็นข้อมูลที่ศึกษาโดยคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วมที่จังหวัดยโสธรได้ตั้งขึ้นมา

นอกจากนี้ กลุ่มผู้คัดค้านยังมีความเป็นห่วงว่า บริษัทมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อเดือนกรกฏาคม 2561 และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ โดยใช้อีไอเอประกอบการพิจารณานั้น ได้สะท้อนถึงกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม ที่ชาวบ้านในพื้นที่รอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่ยอมรับ คือ 1. พื้นที่ตั้งตั้งโรงงานไฟฟ้าอยู่ใกล้ชุมชน 2. จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในลำเซบาย 3. ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น 4. ปัญหาด้านสภาพแวดล้อม ฝุ่นละออง เสียง กลิ่น น้ำเน่าเสีย ปัญหาการจราจร ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติลดน้อยลง ปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านสุขภาพ ประเด็นสุดท้ายก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงต่อกลุ่มที่คัดค้านและสนับสนุน โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

รวมทั้งผลการศึกษาข้อเท็จจริงที่จังหวัดยโสธรตั้งขึ้น พบว่า ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ของโรงไฟฟ้าจำนวน 5 หมู่บ้าน ของตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ได้แก่ หมู่ 1, หมู่ 2, หมู่ 3, หมู่ 4 และ หมู่ 7 จำนวน 559 ครัวเรือน จากครัวเรือนทั้งหมด 838 ครัวเรือน

กลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้การประชาสัมพันธ์โครงการฯ ไม่มีส่วนร่วมในการร่วมรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานฯ และประชาชนกลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่

ดังนั้น กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการฯจึงต้องการมาเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 5 ลงพื้นที่จริง เพื่อได้รับรู้ถึงทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ที่ชุมชนสองฝั่งลำน้ำเซบายได้พึ่งพาอาศัยมาตลอดชีวิต พร้อมให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานส่วนกลางระงับการพิจารณาออกไปอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากคณะศึกษาข้อเท็จจริงกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดยโสธรตั้งขึ้นและอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน หากไม่เป็นผลกลุ่มชาวบ้านทั้งหมดจะเดินทางไปร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลในสัปดาห์หน้า

ต่อมานายปฏิภาณ แก้วรินขวา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 อุบลราชธานี ได้มาพบกับกลุ่มชาวบ้าน พร้อมระบุว่าตนเองไม่มีอำนาจที่จะลงไปดูพื้นที่ หรือไปยับยั้งไม่ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาออกใบอนุญาตหรือไม่ การลงพื้นที่ต้องเป็นคำสั่งของคณะกรรมการส่วนกลาง สำหรับการพิจารณาใบอนุญาตตนก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 อุบลราชธานี ไม่มีอำนาจ แต่จะรีบแจ้งข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้กับคณะกรรมการทราบโดยด่วนภายในวันนี้ และรอคำสั่งจากส่วนกลางก่อน

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก แกนนำกลุ่มชาวบ้านต่อต้านโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ประกาศว่า หากไม่ได้รับคำตอบภายใน 1 สัปดาห์ พวกตนทั้งหมดจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกับได้จัดแสดงละครล้อเลียนบริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 อุบลราชธานี ก่อนพากันแยกย้ายกันเดินทางกลับช่วงบ่ายวันเดียวกัน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 31 มกราคม 2562

สศก.คาดรายได้เกษตรกรเดือน ก.พ.จะดีขึ้น-ผลผลิตเพิ่ม

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 1.45 โดยเป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.12 จากสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และกุ้งขาวแวนนาไม

สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนธันวาคม 2561 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 1.62 ซึ่งสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากด้านเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชะลอซื้อของประเทศผู้ใช้ยางพารา และมีการชะลอซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเศรษฐกิจหลัก และ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากภาวะการค้าในประเทศและการส่งออกชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการ มีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น และเป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว หัวมันสำปะหลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด และ สุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงรองรับนักท่องเที่ยวและวันหยุดต่อเนื่องท้ายปี

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 3.12 สินค้าสำคัญ ที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และ กุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรด ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมกราคม 2562 จะลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 1.88 เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.21 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และมะพร้าว ในขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.29 ซึ่งสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน สุกร และไก่เนื้อ สำหรับสินค้าสำคัญ ที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนมกราคม 2562 ได้แก่ มันสำปะหลัง และหอมแดง ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะขยายตัวเล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีราคามีแนวโน้มลดลง ส่วนดัชนีผลผลิตจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

จาก www.thansettakij.com วันที่ 31 มกราคม 2562

ตร.ทางหลวงสระแก้ว ส่งรถตรวจการวิ่งบนถนนหลวงตลอด 24 ชม.หลังพบยังมีการลอบเผานา-ไร่อ้อยในพื้นที่

ตร.ทางหลวงสระแก้ว นำรถตรวจการออกตรวจพื้นที่ถนนหลวงตลอด 24 ชม.เพื่อเฝ้าระวังการเผาทุกประเภทในพื้นที่ หลังพบเกษตรกรยังลอบเผาในพื้นที่ทุ่งนาและป่าอ้อยช่วงกลางคืน เผยเข้าทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องความผิดตามกฏหมายแล้ว

วันนี้ ( 31 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังเกิดปัญหามลพิษและฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนใน จ.สระแก้ว ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว มีคำสั่งห้ามเผาทุกชนิด ขณะที่ น.ส.นุสรา ขันเขตร์ ปลัดอำเภอวังน้ำเย็น ได้มีคำสั่งด่วนถึงกำนันทุกตำบล และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน และฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 แล้วเช่นกัน

 น.ส.นุสรา ขันเขตร์ ปลัดอำเภอวังน้ำเย็น กล่าวว่าขณะนี้ได้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่งดเว้นการเผาในที่โล่ง รวมทั้งเฝ้าระวังการลักลอบเผา และหากผู้ใดกระทำผิดโดยทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดแม้เป็นของตนเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา , ให้เฝ้าระวังและเตรียมการรับสถานการณ์หากเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ เช่น จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำและจัดกำลังเจ้าหน้าที่ให้พร้อม สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีที่ได้รับแจ้ง

รวมทั้งยังแจ้งให้ประชาชนติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศและแนวทางการปฏิบัติตัวหากคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ได้ทางแอพพลิเคชั่น ไAir4Thai"

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์การลักลอบเผาวัสดุและพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยเฉพาะการเผาไร่อ้อยเกิดขึ้นทุกวันในช่วงหัวค่ำจนถึงเวลา 22.00 น.เนื่องจากมีลมสงบกว่าช่วงเวลาอื่น และเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาพบว่า มีการร้องเรียนการเผาไร่อ้อยทางโลกสังคมออนไลน์ในหลายจุด เช่น บริเวณริมถนนสาย 317 สระแก้ว-จันทบุรี ช่วงรอยต่อระหว่าง ต.พระเพลิง และ ต.คลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว

ด้าน พ.ต.ท.สุริยา ขุนโต สารวัตรทางหลวง 5 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง เผยว่าหลังจากในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกิดปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ตำรวจทางหลวงสระแก้ว ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำรถตรวจการ ออกตรวจตราบนถนนหลวงในความรับผิดชอบตลอดเส้นทาง 24 ชั่วโมง หากพบผู้กระทำผิดตำรวจจะดำเนินคดีตามกฎหมาย แม้ว่าความผิดจากการเผาป่าบริเวณเขตทางหลวงจะเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบทในกรณีที่ไม่ใช่การเผาป่าบริเวณเขตทางหลวงไม่ว่าจะเป็นบริเวณทุ่งนาหรือไร่อ้อยก็ตาม

“ตำรวจ ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น อบต.หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการทำงานไม่ให้มีการเผาหรือแผ้วถางป่าในพื้นที่ ซึ่งการเผาในพื้นที่ จ.สระแก้วในช่วงที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ายังมีอยู่ในพื้นที่ทุ่งนาและพื้นที่ป่าอ้อยเพราะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว จึงได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดจากการกระทำดังกล่าวแล้ว” พ.ต.ท.สุริยา กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 31 มกราคม 2562

จัดพันล้านหนุนผลิตปุ๋ยขายสมาชิกเกษตรกร

กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสหกรณ์ผสมปุ๋ยคุณภาพดีราคาถูกขายสมาชิก หวังช่วยลดต้นทุนการผลิต 300 – 400 บาท/ไร่ ในเร็วๆนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเจรจากับผู้ประกอบการนำเข้าแม่ปุ๋ยโดยตรงจะซื้อราคาถูกกว่าตลาด อัดสินเชื่อ ธ.ก.ส.ดอกเบี้ยต่ำจูงใจกว่าพันล้านหนุนผลิตเป้าหมาย 1 แสนตัน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯมีโครงการสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรผลิตปุ๋ยใช้เองจำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร เนื่องจากปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และใช้ปุ๋ยไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นดิน ซึ่งส่งผลทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาตรฐาน รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต โดยให้สหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร

ส่วนกรมพัฒนาที่ดินจะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดินของแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิต กรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดเวทีให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงข้อดี ในการผลิตปุ๋ยใช้เองแทนปุ๋ยสำเร็จรูป และกรมวิชาการเกษตรจะออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงการให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ยและมอบใบรับรองปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้นว่ามีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่จะเลือกซื้อไปใช้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับผู้ประกอบการนำเข้าแม่ปุ๋ย เพื่อให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยได้ซื้อแม่ปุ๋ยจากบริษัทนำเข้าในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดและกระจายต่อให้กับสหกรณ์การเกษตรในแต่ละจังหวัดนำแม่ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K สูตรเข้มข้น เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผสมและผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือสูตรที่เกษตรกรต้องการใช้ จำหน่ายให้กับเกษตรกร สำหรับเงินทุนในการผลิตปุ๋ยจำหน่ายให้เกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 1,300 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 และธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี

“ เดือนเมษายนเมื่อเข้าฤดูทำนาเกษตรกรก็จะสามารถใช้ปุ๋ยผสมเองนี้ได้ ขณะนี้กรมฯได้เปิดรับสมัครสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 403 แห่งในพื้นที่ 66 จังหวัด และได้ประสานสหกรณ์เพื่อสำรวจปริมาณความต้องการปุ๋ยผสมใช้เองของสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งสหกรณ์จะได้มีข้อมูลในการผลิตปุ๋ยได้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร คาดว่าสหกรณ์จะเริ่มผลิตปุ๋ยและจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป้าหมายประมาณ  1 แสนตัน

อย่างไรก็ตามมั่นใจจะจำหน่ายราคาถูกกว่าปุ๋ยสำเร็จที่ขายตามท้องตลาดตันละ 3,378 บาท คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 300 – 400 บาท และสามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 337.8 ล้านบาท

จาก www.thansettakij.com วันที่ 31 มกราคม 2562

เกษตรฯ เร่งวางนโยบายโควตาเกษตรกรรม

เกษตรฯ เดินหน้าแผนปฏิรูปภาคเกษตรปี 2 ชูโควตาเกษตรกรรม ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ โดยกำชับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ที่เป็นคณะอนุกรรมการฯ รับผิดชอบผลผลิตทางการเกษตรรายชนิด ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ พืชสวนดูแล ชาและกาแฟ คณะอนุกรรมการฯ พืชหัวดูแลหอมแดง หอมใหญ่ กระเทียม มันฝรั่ง ซึ่งตามพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ดูแลพืชเหล่านี้โดยตรง ส่วนพืชอื่น ปศุสัตว์ และประมงนั้น อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม้ผล ถั่วเหลือง มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย ปศุสัตว์ และประมง ซึ่ง ครม. กำหนดให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเป็นรายชนิดรูปภาคการเกษตร

นายกฤษฎา กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาใช้นโยบาย "ตลาดนำการผลิต" สำหรับปีที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนี้ได้กำหนดนโยบายต่อเนื่อง คือ “การจัดสรรปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด” หรือ “โควตาเกษตรกรรม” ซึ่งกำลังเขียนแผนปฏิบัติการนำเสนอนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดชัดเจนว่าการทำเกษตรกรรมทั้งปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมงมีพื้นที่การผลิตเท่าไร โดยจะนำแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มาตรวจสอบว่าแต่ละพื้นที่เหมาะสมต่อการทำประเภทใด ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาที่ดิน สำรวจศักยภาพการจัดสรรน้ำ ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน รวมทั้งได้สั่งการให้ผู้ช่วยทูตเกษตรใน 11 ประเทศสำรวจความต้องการของตลาดโลกว่าต้องการผลผลิตสินค้าทางการเกษตรใด ราคาเป็นอย่างไร จากนั้นจึงจะนำมาจัดสรรปริมาณการผลิตทั้งประเทศ โดยเกษตรกรแต่ละรายจะมีโควตาการผลิตเป็นปริมาณที่ชัดเจน เช่น หากมีที่ดิน 50 ไร่ ควรปลูกพืชกี่ชนิด อะไรบ้าง และจำนวนเท่าไร กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้าไปแนะนำและขึ้นทะเบียนการผลิต เช่นเดียวกับการทำปศุสัตว์และประมงด้วย ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งล้นตลาดราคาตกต่ำส่งผลให้เกษตรกรต้องมาชุมนุมเรียกร้อง ที่ผ่านมารัฐแก้ปัญหาโดยการรับจำนำ การประกันราคา หรือการซื้อในราคานำตลาด ใช้งบประมาณมหาศาล บางปีสูงถึง 700,000 ล้านบาท แต่กลับเป็นปัญหาซ้ำซากเช่นเดิม

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมานโยบายตลาดนำการผลิตประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่น่าพอใจ ได้แก่ การลดพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งแต่ละปีไทยผลิตข้าว 33 – 34 ล้านตันข้าวเปลือก บริโภคในประเทศ 20 ล้านตัน ที่เหลือพึ่งพาการส่งออก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลกผันผวนตลอดเวลา ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าวไม่มีเสถียรภาพ อีกทั้งจากการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่า ประเทศต่าง ๆ นิยมข้าวหอมมะลิมากที่สุด รองลงมาเป็นพวกข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น กข 21 กข 59 พิษณุโลก 80 ส่วนที่กรมการข้าวรับรองพันธุ์แล้วคือ กข 43 ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นอาหารสุขภาพเหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดและผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าข้าวที่ใช้สารเคมีหลายเท่าตัว แต่ข้าวที่ตลาดโลกนิยมนั้น เกษตรกรยังปลูกน้อย ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเจ้าธรรมดาและข้าวพื้นแข็ง

ขณะเดียวกันพบว่าตลาดขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทผลิตอาหารสัตว์ต้องนำข้าวสาลีมาทดแทนในสูตรอาหารสัตว์ จึงได้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมแปลงนำร่องที่จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกพบว่าเกษตรกรที่งดทำนาปรัง แล้วปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนนั้นได้กำไรเฉลี่ย 3,500-4,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาปรังนั้น นาปรังได้กำไรเพียง 300-400 บาทเท่านั้น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้กำไรมากกว่า 10 เท่า  ซึ่งตามโครงการนั้น ข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะให้ผลผลิตประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน หากได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ กระทรวงเกษตรฯ จะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการวางแผนการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดอื่น ๆ โดยฤดูแล้งหน้าจะส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชผัก ทั้งนี้ โมเดลการวางแผนการผลิตที่จัดทำขึ้นสามารถใช้อย่างได้ผลดีต่อไป แม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า จากนี้ไปข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องปรับแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรใหม่จะเป็นแบบเดิมไม่ได้ที่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาด ทำให้ผลผลิตล้นขายไม่ได้และราคาตกต่ำมาก เช่น ยางพาราหลายปีก่อนราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท รัฐบาลสมัยนั้นส่งเสริมให้ปลูกจากเดิมปลูกเฉพาะ 14 จังหวัดภาคใต้ เกษตรกรหันมาปลูกตามกันทั่วประเทศจนโตและกรีดได้พร้อม ๆ กันใน 2-3 ปีนี้ ราคาจึงตกต่ำมาก ที่น่าเป็นห่วงต่อไป คือ ทุเรียน ซึ่งปีที่แล้วราคาดี เกษตรกรโค่นไม้ผลอื่นแล้วปลูกทุเรียนกันทั่วประเทศเช่นกัน อีกประมาณ 5 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตอาจประสบปัญหาเดียวกับยางพารา

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปภาคการเกษตรในรัฐบาลนี้ยังให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงแก่อาชีพเกษตรกรทั้งการจัดสรรงบประมาณให้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การทำประกันภัยพิบัติ หากเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง โรคหรือแมลงลง นอกจากจะได้รับการชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังแล้ว ยังจะได้ค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัยอีกด้วย ทั้งนี้ มุ่งหวังให้อาชีพเกษตรกรมีหลักประกันที่มั่นคงและมีสวัสดิการเช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังปรับแนวทางการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ใหม่ โดยบูรณาการกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการหาตลาด รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจากที่มีหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ควรเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการทำตลาดควบคู่ไปด้วย เพื่อการพัฒนาสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 31 มกราคม 2562

รณรงค์เลิกเผาซากพืชลดฝุ่นพิษ แนะไถกลบโปรยสารอีเอ็มย่อยสลาย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 6 และเป็นประธานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดกรมฝนหลวงฯว่า กรมฝนหลวงฯ ตั้งขึ้นเพื่อรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบครบวงจร โครงการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ก่อให้เกิดประโยชน์สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ ส่งผลให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงพึ่งพาตนเองได้

นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น กรมฝนหลวงฯขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการขึ้นบินฝนหลวงจะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการ 1.มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในระดับร้อยละ 60-70  และ 2.ค่าการยกตัวของเมฆ ถ้าติดลบ และความชื้นสัมพัทธ์มาก ก็ปฏิบัติการฝนหลวงได้สำเร็จ  โดยตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม มีค่าความชื้นสัมพัทธ์สูงถึงร้อยละ 70  และค่าการยกตัวของเมฆติดลบ ทำให้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จปริมาณฝนตกตามพื้นที่เป้าหมาย

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควัน โดยการจูงใจไม่ให้เกษตรกรเผาซากพืช โดยประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนกระทรวงเกษตรฯหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวโดยวิธี  “ผลาญ 3 ผลาญ 4” คือ การไถกลบด้วยจอบ หรือรถไถ ในกรณีที่เกษตรกรปลูกข้าวโพด เดิมเมื่อเก็บฝักข้าวโพดเสร็จก็จะนำไปเผา เพื่อเตรียมทำพืชฤดูใหม่ แต่ปัจจุบันพบว่าเมื่อเก็บข้าวโพดเสร็จจะไถกลบ แล้วโปรยสารอีเอ็มเพื่อย่อยสลายภายใน 15 วันหรือ 1 เดือน ทำให้ดินกลายเป็นปุ๋ย ขณะนี้ได้เผยแพร่วิธีดังกล่าวไปยังเกษตรกรซึ่งเป็นที่นิยม รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรเพื่อหันมาลดการเผาให้มากขึ้นดังนั้น ในปี 2559-2561 มีค่าความร้อนของอากาศที่เกิดจากการเผาของซากพืช วัชพืช น้อยหรือแทบไม่มีเลย

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงฯเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯปฏิบัติการทำฝนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ขาดแคลนน้ำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ละปีช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ถึง 200-300 ล้านไร่ รวมทั้งพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน รวมถึงด้านความร่วมมือกับต่างประเทศและการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาในต่างแดน สำหรับแผนดำเนินงานปีต่อไป ยังคงขับเคลื่อนโครงการวิจัย เช่น การศึกษาวิจัยการทำฝนด้วยเทคนิคเผาจากภาคพื้น (Ground Based Generator)  รวมทั้ง โครงการวิจัยพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน (UAV) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงแบบเมฆอุ่นโดยใช้UAV ยิงพลุสารเคมีซิลเวอร์ไอโอไดด์ และเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ จะปรับขยายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 ศูนย์ คือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.บุรีรัมย์ และพิจารณาย้ายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ มาประจำการ ที่ จ.ตาก เนื่องจากสนามบินเชียงใหม่ จราจรค่อนข้างแออัด รวมทั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีกแห่งที่ จ.พิษณุโลกในปี 2563 ตลอดจนเร่งจัดตั้งโรงเรียนการบินฝนหลวง ที่จ.ตาก ลดปัญหาขาดแคลนนักบิน พร้อมรองรับความร่วมมือระหว่างประเทศ และจัดสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ ที่จ.เพชรบุรี เป็นแหล่งความรู้ด้านงานวิจัย งานวิชาการ เป็นศูนย์อบรมเพิ่มพูนความรู้ให้บุคลากรฝนหลวง และต่างประเทศที่สนใจ รวมทั้งโรงเรียนการบินฯ และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี คาดว่าในปี 2563 จะเป็นรูปธรรม

จาก  https://www.naewna.com  วันที่ 30 มกราคม 2562

“กฤษฎา” แก้ผลผลิตล้นตลาด แจกโควตาเกษตรกรรม

รัฐมนตรีเกษตรฯ เตรียมชงแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศปีที่ 2 เสนอนายกรัฐมนตรี โดยจะกำหนดนโยบาย “การจัดสรรปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด” หรือกำหนดโควต้าเกษตรกรรม เพื่อไม่ให้มีผลผลิตสินค้าทางการเกษตรชนิดใดล้นเกิน จนเกิดปัญหาราคาตกต่ำซ้ำซาก

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฎิรูปภาคการเกษตร โดยใช้นโยบาย "ตลาดนำการผลิต" มาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ในปีที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนี้ได้กำหนดนโยบายต่อเนื่องคือ “การจัดสรรปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด” หรือ “โควตาเกษตรกรรม” ซึ่งกำลังเขียนแผนปฏิบัติการนำเสนอนายกรัฐมนตรี นโยบาย “โควตาเกษตรกรรม” นั้นจะมีการกำหนดชัดเจนว่า การทำเกษตรกรรมทั้งปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมงมีพื้นที่การผลิตเท่าไร

โดยจะนำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มาตรวจสอบว่า แต่ละพื้นที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมประเภทใดซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาที่ดิน สำรวจศักยภาพการจัดสรรน้ำซึ่งรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน รวมทั้งได้สั่งการให้ผู้ช่วยทูตเกษตรใน 11 ประเทศสำรวจความต้องการของตลาดโลกว่า ต้องการผลผลิตสินค้าทางการเกษตรใด ราคาเป็นอย่างไร

จากนั้นจึงจะนำมาจัดสรรปริมาณการผลิตทั้งประเทศ โดยเกษตรกรแต่ละรายจะมีโควตาการผลิตเป็นปริมาณที่ชัดเจนเช่น หากมีที่ดิน 50 ไร่ ควรปลูกพืชกี่ชนิด อะไรบ้าง และจำนวนเท่าไร กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้าไปแนะนำและขึ้นทะเบียนการผลิต เช่นเดียวกับการทำปศุสัตว์และประมงด้วย

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งล้นตลาด แล้วราคาตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรต้องมาชุมนุมเรียกร้อง ที่ผ่านมารัฐแก้ปัญหาโดยการรับจำนำ การประกันราคา หรือการซื้อในราคานำตลาด ใช้งบประมาณมหาศาล บางปีสูงถึง 700,000 ล้านบาท แต่ก็กลับเป็นปัญหาซ้ำซากเช่นเดิม

ในปีที่ผ่านมานโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่น่าพอใจได้แก่ การลดพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งแต่ละปีไทยผลิตข้าวได้ 33 – 34 ล้านตันข้าวเปลือก บริโภคในประเทศ 20 ล้านตัน ที่เหลือพึ่งพาการส่งออก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลกผันผวนตลอดเวลา ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าวไม่มีเสถียรภาพ อีกทั้งจากการสำรวจความต้องการของตลาดพบว่า ประเทศต่างๆ นิยมข้าวหอมมะลิมากที่สุด รองลงมาเป็นพวกข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์ต่างๆ เช่น กข 21 กข 59 พิษณุโลก 80

ส่วนที่กรมการข้าวรับรองพันธุ์แล้วคือ กข 43 ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นอาหารสุขภาพเหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดและผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมถึงข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าข้าวที่ใช้สารเคมีหลายเท่าตัว แต่ข้าวที่ตลาดโลกนิยมนั้น เกษตรกรยังปลูกน้อย ส่วนใหญ่ปลูกข้าวเจ้าธรรมดาและข้าวพื้นแข็งขณะเดียวกันพบว่า ตลาดขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทผลิตอาหารสัตว์ต้องนำข้าวสาลีมาทดแทนในสูตรอาหารสัตว์ จึงได้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

จากการตรวจเยี่ยมแปลงนำร่องที่จังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลกพบว่า เกษตรกรที่งดทำนาปรัง แล้วปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนนั้นได้กำไรเฉลี่ย 3,500 ถึง 4,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาปรังนั้น นาปรังได้กำไรเพียง 300 ถึง 400 บาทเท่านั้น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้กำไรมากกว่า 10 เท่า ซึ่งตามโครงการนั้น ข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะให้ผลผลิตประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน หากได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ กระทรวงเกษตรฯ จะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการวางแผนการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดอื่นๆ อีก โดยในฤดูแล้งหน้าจะส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชผัก ทั้งนี้โมเดลการวางแผนการผลิตที่จัดทำขึ้นสามารถใช้อย่างได้ผลดีต่อไป แม้จะมีรัฐบาลบางชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน

นายกฤษฎากล่าวต่อว่า จากนี้ไปข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องปรับแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรใหม่ จะเป็นแบบเดิมไม่ได้ ที่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาด ทำให้ผลผลิตล้น ขายไม่ได้ และราคาตกต่ำมากเช่น ยางพาราซึ่งหลายปีก่อนราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท รัฐบาลสมัยนั้นส่งเสริมให้ปลูก จากเดิมปลูกเฉพาะ 14 จังหวัดภาคใต้ เกษตรกรหันมาปลูกตามๆ กันทั่วประเทศ จนโตและกรีดได้พร้อมๆ กันใน 2 ถึง 3 ปีนี้ ราคาจึงตกต่ำมาก ที่น่าเป็นห่วงต่อไปคือ ทุเรียน ซึ่งปีที่แล้วราคาดี เกษตรกรโค่นไม้ผลอื่นแล้วปลูกทุเรียนกันทั่วประเทศเช่นกัน อีกราว 5 ปีจะเริ่มให้ผลผลิต อาจประสบปัญหาเดียวกับยางพารา

"การปฏิรูปภาคการเกษตรในรัฐบาลนี้ยังให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงแก่อาชีพเกษตรกรทั้งการจัดสรรงบประมาณให้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การทำประกันภัยพิบัติ โดยหากเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง โรคหรือแมลงลง นอกจากจะได้รับการชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังแล้ว ยังจะได้ค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัยอีกด้วย ทั้งนี้มุ่งหวังให้อาชีพเกษตรกรมีหลักประกันที่มั่นคงและมีสวัสดิการเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ"

นอกจากนี้ยังได้ปรับแนวทางการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ใหม่ โดยบูรณาการกับกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่หลักในการหาตลาด รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจากที่มีหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ควรเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการทำตลาดควบคู่ไปด้วยเพื่อการพัฒนาสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป

จาก  www.thansettakij.com   วันที่ 30 มกราคม 2562

คลังห่วงบาทแข็งเสียเปรียบคู่แข่ง

รมว.คลังห่วงบาทแข็งค่ามากช่วงนี้ แนะ ธปท.หามาตรการดูแลไม่ให้แข็งกว่าคู่แข่งห่วงเสียเปรียบ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ว่า เงินบาทไม่ควรแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง เพราะการแข็งค่าแบบนี้ทำให้เสียเปรียบ จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องเข้ามาดูแล โดยเห็นว่า ธปท.ควรจะดูแลไม่ให้ค่าเงินแกว่งหรือมีความผันผวนเกินไปและระดับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนี้ ธปท.ควรเข้ามาดูแล เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่ง ธปท.มีค่าเฉลี่ยอยู่แล้ว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องออกมาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ ธปท.รับทราบและหามาตรการเข้าไปดูแล

"การดูแลค่าเงินบาทเป็นหน้าที่ของ ธปท. คลังคงมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะตอบเรื่องนี้ กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูเรื่องนโยบายการคลัง และที่ผ่านมาพยายามใช้มาตรการต่าง ๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือดูแลเศรษฐกิจ เช่น สินค้าเกษตรตกต่ำ โดยรัฐบาลพยายามจะอัดเงินเข้าไปช่วย" นายอภิศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าและอ่อนค่าลงมีทั้งผลดีและเสีย โดยเงินบาทที่แข็งขึ้นส่งผลดีต่อการลงทุน เพราะช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรจากต่างประเทศถูกลง โดยในแง่การส่งออกถ้าเป็นผู้ประกอบการส่งออกรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศเป็นหลัก ก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากเงินบาทแข็งค่า คือ ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศเป็นหลักในการผลิตเพื่อส่งออก เช่น การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรได้รับผลกระทบตามไปด้วย

จาก  https://www.tnamcot.com    วันที่ 30 มกราคม 2562

ก.อุตฯ ขอความร่วมมือโรงงาน 2 พันแห่งติดตั้ง CEMS คุมมลพิษภายใน 1 เดือน

กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ผลการตรวจสอบโรงงานเสี่ยงมลพิษ เบื้องต้นยังไม่พบฝุ่นละออง PM 2.5 โดย กรอ.ปูพรมตรวจนำร่อง 350 แห่ง เจอมลพิษด้านเสียงและน้ำเสีย สั่งให้แก้ไขเร่งด่วนแล้ว 9 โรงงาน ไม่เกิน 30 วัน ขณะที่ต่างจังหวัดสั่งให้แก้ไขมลพิษทางอากาศ 14 แห่ง ขอความร่วมมือโรงงาน 2,000 แห่งที่เสี่ยงปัญหาติดตั้ง CEMS ภายใน 1 เดือน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่กระทบต่อสุขภาพประชาชน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงไปแล้ว 350 แห่ง จากที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 1,700 แห่ง (กทม.และปริมณฑล) โดยล่าสุดจากการตรวจสอบได้สั่งการให้ 9 โรงงานดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงให้เสร็จภายใน 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน อย่างเร่งด่วนซึ่งเป็นมลพิษด้านเสียงและน้ำที่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

“โรงงานขนาดใหญ่เองเราพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นปัญหา PM 2.5 แต่เป็น PM 10 ซึ่งเราก็เห็นว่าจะอย่างไรก็มีผลกระทบอยู่ดี จึงสั่งตรวจสอบและเบื้องต้นก็พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องฝุ่น แต่เป็นเรื่องอื่นมากกว่า” นายสมชาญกล่าว

สำหรับโรงงานในต่างจังหวัด นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดไปสำรวจโรงงานเร่งด่วนทั้งหมดในแผน 7,700 แห่งใน 12 จังหวัดที่เสี่ยง และได้มีการตรวจสอบในช่วงที่ผ่านมา 1,006 โรงงาน ในจำนวนนี้พบมีการปล่อยมลพิษทางอากาศ จึงสั่งการให้แก้ไข 14 โรงงาน ส่วนกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน 600 โรงงาน กรอ.สั่งการให้ติดตั้งระบบการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมแบบต่อเนื่อง (CEMS) เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ ซึ่งโรงงานต้องรายงานผลการตรวจวัดไปที่ศูนย์รับข้อมูลของ กรอ.หรือศูนย์รับข้อมูลที่ กรอ.เห็นชอบ และยังขอความร่วมมือให้โรงงานอุตสาหกรรมอีก 2,000 โรงงาน ที่อยู่ในข่ายมีความเสี่ยงปล่อยมลพิษติดตั้งเครื่อง CEM ภายใน 1 เดือน และลิงค์รายงานมายังกรมโรงงานเพื่อติดตามได้ทันทีเช่นกัน

ทั้งนี้ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายทองชัย ชวลิตพิเชษฐ อธิบดี กรอ.ได้หารือกันและได้ข้อสรุปที่จะขอความร่วมมือโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงและตั้งอยู่ในเขตที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูง ลดกำลังการผลิตในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือเริ่มต้นเผดินเครื่องผลิตหลังช่วงเวลาเร่งด่วน โดยขอให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดทำงานบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อออกตรวจโรงงานร่วมกัน

จาก  https://mgronline.com  วันที่ 30 มกราคม 2562

สั่งหามาตรการหนุนชาวไร่อ้อยราคาจ่อร่วงยาว

"บิ๊กตู่" สั่งกระทรวงอุตฯ หามาตรการช่วยชาวไร่อ้อยภายใน 2 เดือน หวังประคองสถานการณ์หลังประเมินราคาต่ำยาวนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ได้มติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ในอัตราอ้อยตันละ 700 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับ 97.29% ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 719.47 บาท/ตันอ้อย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรเช่น มาตรการช่วยเหลือปุ๋ยราคาถูก โดยให้รายงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ ครม.รับทราบภายใน 2 เดือน โดยให้เร่งดำเนินการเพื่อรองรับเนื่องจากคาดว่าราคาอ้อยจะยังต่ำต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 700 บาท/ตันอ้อย ขณะที่ราคาเฉลี่ยจะอยู่เพียง 719.47 บาทเท่านั้น

ปัจจุบันปริมาณอ้อยที่จะเข้าสู่ โรงหีบอ้อย 126.36 ล้านตัน โดยต้นทุนรวมการผลิตอ้อยในปีนี้สูงถึง 1,100 บาท/ตันอ้อย สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่เกษตรกรจะได้รับขณะที่ราคาอ้อยในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มที่ราคาจะฟื้นตัว ซึ่งจะกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้ แม้จะมีเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลเคยอนุมัติ เช่น การช่วยเหลือปัจจัยการผลิตในอัตรา 50 บาท/ไร่ และมาตรการช่วยเหลือโดยใช้กลไกของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 70 บาท/ตันอ้อย ซึ่งบางพื้นที่เกษตรกรจะได้เงินเพียง 800-900 บาท/ตันอ้อย

จาก  https://www.posttoday.com  วันที่ 30 มกราคม 2562

"Brexit-สงครามการค้า" กดตลาดเงิน "ค่าบาท" ยังผันผวน

ธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30 ม.ค.) ที่ระดับ 31.43 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงสิ้นวันทำการก่อน ที่ระดับ 31.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินแกว่งตัวผันผวนในกรอบแคบ โดยมีเรื่อง Brexit และสงครามการค้าเป็นแรงกดดันหลัก

ล่าสุด สภาอังกฤษลงมติ "สนับสนุน" ให้นายกรัฐมนตรี นางเทเรซา เมย์ กลับไปเจรจากับสหภาพยุโรป เรื่องการถอนตัวของอังกฤษ (Brexit) กับยุโรปอีกครั้ง ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงทันที เนื่องจากตลาดเชื่อว่า ฝั่งยุโรปจะไม่ยอมเปิดโต๊ะเจรจากับอังกฤษ และในท้ายที่สุด อาจส่งผลให้อังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรป หลังจบไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะสร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจอังกฤษ ยุโรป และทั่วโลก

ขณะเดียวกัน แม้ฝั่งสหรัฐฯ และจีนจะมีการเจรจาการค้ากันอยู่ แต่การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศว่า บริษัทในธุรกิจสื่อสารรายใหญ่ของจีน Huawei ละเมิดกฏหมายสหรัฐฯ ก็ส่งผลให้ตลาดเชื่อว่า การเจรจาดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปสู่บทสรุปที่ดีขึ้นได้

ความกังวลส่งผลให้ตลาดอยู่ในภาวะสับสน บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลงมาที่ระดับ 2.71% ขณะที่ หุ้นสหรัฐฯ นำโดย ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 0.15% ทั้งที่ราคาน้ำมันเบรนท์จะปรับตัวขึ้น 2.3%

ในส่วนของค่าเงินบาท สัปดาห์นี้เห็นได้ชัดว่า ปรับตัวแข็งค่ากับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดยังเชื่อมั่นในมูลค่าของค่าเงินบาทอยู่ ขณะที่ ระหว่างวันจะเคลื่อนไหวไม่มาก เพราะมีทั้งแรงซื้อของผู้นำเข้าและแรงขายของผู้ส่งออกเป็นกรอบอยู่ ทั้งด้านบนและด้านล่าง

ช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เชื่อว่าตลาดจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าเงินบาทแข็งค่าได้ เมื่อจบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ และตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ดีตามคาดในคืนวันศุกร์

วันนี้มองกรอบค่าเงินบาทที่ 31.42-31.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก  www.thansettakij.com วันที่ 30 มกราคม 2562

ครม. ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นต่ำ 700 บาท/ตัน – ชาวไร่อ่วมต้นทุน 1,100 บาท/ตัน

ครม.ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นต่ำ 700 บาท/ตัน – นายกฯ ห่วงชาวไร่เพราะราคาอ้อยขั้นต่ำและการช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินค่าอ้อยต่ำกว่าต้นทุน สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดูแล

ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นต่ำ 700 บาท – นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต่ำและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2561/2562 ในอัตราอ้อยขั้นต้น 700 บาท ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือ เท่ากับ 97.29% ของประมาณการราคาเฉลี่ยทั่วไปที่ 719.47 บาท/ตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้นลงของราคาอ้อยที่ราคา 42 บาท/ 1 หน่วยซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูกาลผลิตปีการ 2561/62 เท่ากับ 300 บาท/ตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

ทั้งนี้ ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลชาวไร่อ้อย แต่อย่าให้ขัดกับข้อตกลงของดับเบิลยูทีโอ เนื่องจากที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติ 2 โครงการเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย คือ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในอัตรา 50 บาท/ตันอ้อย และการช่วยเหลือของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อร่วมกับราคาอ้อยขั้นต้นแล้ว เกษตรกรจะได้รับเงินเพียงประมาณ 800 บาท/ตันอ้อย ซึ่งยังห่างจากต้นทุนการผลิตที่อยู่ประมาณ 1,100 บาท/ตันอ้อย

“นายกฯ ห่วงชาวไร่เพราะราคาอ้อยขั้นต่ำและการช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินค่าอ้อยต่ำกว่าต้นทุน สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดูแล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เพราะปีนี้ยังไม่เห็นทิศทางของราคาอ้อยในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด”

จาก  https://www.khaosod.co.th  วันที่ 29 มกราคม 2562

ครม.กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต61/62

ครม. กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นต้นฤดูการผลิต 2561/2562 ในอัตราอ้อยตันละ 700 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นต้นฤดูการผลิต 2561/2562 ในอัตราอ้อยตันละ 700 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 97.29 ขอบปริมาณราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 714.47 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราการขึ้นลงของราคาอ้อยเท่ากับ 42 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2561/2562 เท่ากับ 300 บาทต่อตันอ้อย

จาก  https://www.innnews.co.th วันที่ 29 มกราคม 2562

อานิสงส์ยอดขายรถยนต์-น้ำตาลทรายขยายตัว ดันดัชนีอุตฯปี61 พุ่ง 2.8%

สศอ.ชี้ อานิสงส์ยอดขายรถยนต์-น้ำตาลทรายขยายตัว ดันดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ปี 61 พุ่ง 2.8% คาดปี62โต 2-3% หวั่นมาตรฐานรถยนต์ของไทยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานรถยนต์ต่างประเทศ

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนธ.ค.2561 อยู่ที่ 112.54 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 0.75% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 111.70 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่การผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ MPI ไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ระดับ 114.55 ขยายตัว 2.43% จาก 111.84 และ MPI ปี 2561 อยู่ที่ 115.08 ขยายตัว 2.80% ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 อยู่ที่ระดับ 111.94 ที่ขยายตัว 2.50%

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 66.88% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 67.77% และเทียบกับเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 69.31% ซึ่งอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 68.4% จากปี 2560 อยู่ที่ 67.12% ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว

เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัว 9.65% น้ำตาลทรายขยายตัว 30.46% ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจรขยายตัว 6.96% โซดาและน้ำดื่มบรรจุขวดขยายตัว 14.43% กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือขยายตัว 189.74% ที่เร่งผลิตและส่งมอบเพื่อจำหน่ายช่วงเทศกาลปีใหม่จากคำสั่งซื้อของตลาดในประเทศเป็นหลักที่เพิ่มขึ้น 685.59%

“แม้ยอดขายรถยนต์เดือนธ.ค.2561 ที่ 113,581 คัน สูงสุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่เดือนม.ค.2557 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเอกชนคาดการณ์ยอดในปี 2562 ยอดส่งออกรถยนต์ลดลง ขณะที่ยอดจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานรถยนต์ของไทยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานรถยนต์ต่างประเทศหรือไม่ เนื่องจากแนวโน้มการใช้รถยนต์ทั่วโลกมีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเป้าหมายที่ไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลก อีกทั้งล่าสุดสินค้าที่โดดเด่น (โปรดักส์ แชมเปี้ยน) ได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศมาเลเซียและเวียดนามแล้ว ไทยจึงต้องพิจารณาว่าสินค้าที่ส่งออกลดลงเป็นไปตามความต้องการตลาดโลกหรือไม่”

ทั้งนี้ สศอ.ยังคงคาดการณ์ MPI ปี 2562 จะอยู่ที่อยู่ที่ 2-3% ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมคาดอยู่ที่ 2-3%

จาก  https://www.prachachat.net    วันที่ 29 มกราคม 2562

“สทนช.” เปิดเวทีถกกฎหมายพ.ร.บ.น้ำฉบับใหม่เผยแผนบริหารจัดสรร-เก็บค่าน้ำ2ปี พร้อมเดินหน้า30บิ๊กโปรเจ็กต์

 “สทนช.” ถกสื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมายน้ำ หลัง “กฎหมายน้ำ” ฉบับแรกของประเทศไทยบังคับใช้ 27 ม.ค. พร้อมเปิดแผนบริหารจัดการน้ำของชาติ 20 ปี เร่งเข็นโครงการสำคัญขนาดใหญ่ 30 แห่ง ยันเกษตรกร-การใช้น้ำพื้นฐาน-ครองชีพปลอดการจัดเก็บ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในระหว่างงานการสัมมนาเรื่อง “เหลียวหน้า….แลหลังแนวทางการบริหารจัดการน้ำของชาติ 20 ปีภายใต้การแจ้งเกิด พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561” ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนับเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะทำให้เกิดการบูรณาการการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพ มีมาตรการป้องกันแก้ไขน้ำแล้ง-น้ำท่วม วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ มีองค์กรในการบริหารจัดการน้ำระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำ

ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหลังจากนี้ด้วยว่า จะมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความเป็นเอกภาพ ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถบริหารทรัพยากรน้ำให้มีความประสานสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน 8 เรื่อง คือ การจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำรวมทั้งจะมีการวางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะการจัดทำนโยบายและแผนบริหารทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งจะทำให้เกิดองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใน 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ

“ขั้นตอนต่อไป สทนช.เตรียมความพร้อมในการนำกฎหมายลูกต่างๆ อาทิ การกำหนดพื้นที่ลุ่มนํ้าและการอนุญาตการใช้นํ้า และการเก็บค่านํ้า เป็นต้น เพื่อออกไปรับฟังความคิดเห็นในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการเก็บค่านํ้า ทาง สทนช.อยู่ในช่วงศึกษาการเก็บค่านํ้าของชลประทานและการจัดเก็บค่านํ้าบาดาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากที่สุด และการน้ำใช้ในขั้นพื้นฐานการดำรงชีพจะไม่มีการเก็บค่านํ้าอย่างแน่นอน ส่วนจะเก็บจากอุตสาหกรรมขนาดไหน เก็บอย่างไร ตรงนี้จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นและศึกษาให้รอบคอบที่สุด” ดร.สมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติกล่าวถึง บทบาทของ สทนช.ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯด้วยว่า จะทำหน้าที่เป็นเสนาธิการน้ำและเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ําแห่งชาติ (กนช.) โดยให้มีหน้าที่และอำนาจสำคัญ ในการจัดทำผังน้ำเชื่อมโยงการดำเนินงานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ/อปท. และภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.น้ำฯ อำนวยการและกำกับดูแลโครงการสำคัญระดับชาติหรือโครงการเร่งด่วน ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤตน้ำที่นายกรัฐมนตรีบัญชาการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจในขณะที่ สทนช.ภาค มีบทบาททำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และดำเนินการให้มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ

ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและจัดทำกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นกฎหมายในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คาดภายใน 2 ปี จะสามารถออกกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ตามหมวด 4 และกฎหมายว่าด้วยการยื่นคำขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำ ตามมาตรา 104 แล้วเสร็จ

สำหรับประโยชน์จากการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ จะทำให้มีนโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ จะทำให้มีแผนแม่บทการบริหารทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในระดับลุ่มน้ำจะมีแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ ซึ่งจะเป็นแผนที่ที่กำหนดทางเดินให้ไปถึงจุดหมาย ที่ทำให้มีความมั่นคงและยั่งยืนด้านน้ำ มีการบริหารจัดการน้ำครอบคลุมทุกบริบทของน้ำ ทั้งน้ำในบรรยากาศ น้ำบนดิน น้ำใต้ดิน และน้ำทะ ตลอดจนบริหารจัดการโดยองค์กรระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และองค์กรผู้ใช้น้ำ ในขณะที่ประชาชนเองก็จะมีสิทธิใช้น้ำตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่สำคัญคือจะทำให้ประเทศไทยมีแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมที่บูรณาการร่วมกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

นอกจากนี้ สทนช.จะเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับพื้นที่เป้าหมาย (Area Based) ทั่วประเทศจำนวน 66 พื้นที่ แบ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ 53 พื้นที่ รวม 34.62 ล้านไร่ น้ำท่วม 11.24 ล้านไร่ น้ำแล้ง 6.87 ล้านไร่ ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง 16.51 ล้านไร่ ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ 0.001 ล้านไร่ และพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ 13 พื้นที่ 10.81 ล้านไร่ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นแผนงานโครงการที่มีศักยภาพดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2563 แบ่งเป็น ปี 2563 จำนวน 46 โครงการ วงเงิน 34,166 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 52 แห่ง วงเงิน 189,755 ล้านบาท ดำเนินการปี 2565 จำนวน 7 แห่ง วงเงิน 76,738 ล้านบาท รวมทั้งศึกษา SEA ใน 5 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ สะแกกรัง ปราจีนบุรี-บางปะกง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ชี มูล เป็นต้น

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 29 มกราคม 2562

ปลดล็อก 50 กม. ตั้งโรงงานเอทานอล-โรงไฟฟ้าจากอ้อยน้ำตาล “อุตตม”ชง ครม. พรุ่งนี้ดันอุตฯไบโอชีวภาพ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.2562) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งสำหรับการผลักดันมาตรการส่งเสริมของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ หรือ Bio Economy เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนให้ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายที่จะตั้งเป็นไบโอคอมแพล็กทั้งที่ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร และขอนแก่น โดยการใช้วัตถุจากอ้อย โมลาสหรือกากน้ำตาล น้ำอ้อย ให้สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้นอกจากน้ำตาล โดยจะเสนอให้มีการปลดล็อกระยะห่างการตั้งโรงงาน 50 กม.

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อธิบายว่า ปัจจุบันโรงงานน้ำตาล เขามีการร่วมทุนกันกับบริษัทอื่นเพื่อตั้งโรงไฟฟ้า และโรงงานเอทานอลขึ้นมาใหม่ โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่นั้นอย่างโมลาสหรือกากน้ำตาล ชานอ้อยมาเป็นเชื้อเพลิง แต่ไม่สามารถตั้งได้ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานน้ำตาลเดิม โดยต้องใช้เกณฑ์ระยะห่าง 50 กม. ทำให้ตัวโรงไฟฟ้าและโรงงานเอทานอลใหม่ต้องมีค่าขนส่งวัตถุดิบจากโรงงานน้ำตาล

และในการเสนอ ครม. ในครั้งนี้จะปลดล็อคให้ว่าโรงไฟฟ้าและโรงงานเอทานอลสามารถตั้งได้ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะทำให้เอกชนที่รอความชัดเจนตัดสินใจลงทุนได้แล้ว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

ข่าวดี! มาเลเซียเลิกผูกขาดนำเข้าน้ำตาลทราย

น.ส.พัดชา วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลมาเลเซียได้ยกเลิกการผูกขาดการนำเข้าน้ำตาลทราย โดยผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มมาเลเซีย สามารถยื่นคำขออนุญาตนำเข้าน้ำตาลได้โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งมีผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในรัฐซาราวัก ได้รับอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นความพยายามของรัฐบาลในการยกเลิกการผูกขาดในหลายอุตสาหกรรม เพราะรัฐบาลมองว่าการผูกขาดเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

น.ส.พัดชา กล่าวว่า นโยบายเปิดเสรี จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ โดยเฉพาะในรัฐซาบาห์และซาราวัก สามารถนำเข้าน้ำตาลทรายได้โดยตรงในราคาที่ต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียง 2 บริษัทในมาเลเซียฝั่งตะวันตกที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลดิบมาเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทราย ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มต้องซื้อน้ำตาลทรายในราคากิโลกรัมละ 2.8 ริงกิตจากบริษัทในมาเลเซียฝั่งตะวันตกซึ่งมีใบอนุญาตนำเข้า แต่ปัจจุบันสามารถซื้อน้ำตาลทรายจากต่างประเทศไดในราคาต่ำกว่า 2 ริงกิต ต่อกิโลกรัม

“นโยบายนี้แสดงถึงความพยายามของภาครัฐในการลดค่าครองชีพของประชาชนอีกด้วย คาดว่าหากผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มสามารถลดต้นทุนการผลิตจะสามารถลดราคาสินค้าลงได้ด้วย ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในรัฐซาบาห์และซาราวัก มีความต้องการใช้น้ำตาลทรายประมาณ 100 – 200 ตันต่อปี ขณะที่ตัวเลขการบริโภคน้ำตาลของมาเลเซียทั้งหมดอยู่ที่1.3 ล้านตันต่อปี“ น.ส.พัดชา กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

สอน.ชี้ชาวไร่อ้อยเผชิญต้นทุน3เท่า-เครื่องตัดราคาแพง12ล.ต้นตอเผา ผุดโมเดิร์นฟาร์มแก้ปัญหา

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)เปิดเผยถึงสถานการณ์ปริมาณฝุ่น

ละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 กับการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานในฤดูหีบว่า

ปัจจุบันมีการเผาประมาณ 60-70% สาเหตุมาจากไทยเผชิญปัญหาต้นทุนตัดอ้อยสดสูงกว่าการเผา3เท่า และยัง ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยการเผายอมรับว่าอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดมลพิษแต่ยืนยันว่าไม่ใช่ ปัจจัยหลักแน่นอน เพราะปัจจัยหลักมาจากการเผาน้ำมันดีเซลที่บางส่วนไม่ย่อยสลายในอากาศและก่อตัวเป็น มลพิษ ขณะเดียวกันการเผาอ้อยก่อนส่งมอบโรงงานก็ดำเนินการในหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ที่มีกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศนั้นๆมีการคำนวณค่าความชื่นสัมพัทธ์หรือทิศทางลมที่แม่นยำก่อนเผา ขณะที่ ไทยยังไม่มีข้อมูลส่วนนี้นักแต่จากการติดตามเกษตรกรไทยมักเผาช่วงเช้ามืดไม่ใช่กลางวัน

นางวรวรรณกล่าวว่า อย่างไรก็ตามเพื่อลดการเผาอ้อย สอน.กำลังเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรเผา ไร่อ้อย เพราะไฟลุกลามจนเกิดผลกระทบอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ขณะเดียวกันได้ออกมาตรการหากส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบจะถูกหัก เงินตันละ 30 บาท และจะนำเงินดังกล่าวแบ่งให้ผู้ที่ตัดอ้อยสด70% อีก30%คืนหลังพ้นฤดูหีบ สาเหตุที่คืนเพราะ เกษตรกรบางรายอาจถูกวางเพลิงจากภาวะแย่งอ้อยของโรงงาน หรืออาจถูกไฟจากแปลงใกล้เคียงที่เป็นของ เกษตรรายอื่น

นางวรวรรณกล่าวว่า แนวทางสำคัญที่จะลดการเผาหรือทำให้การเผาอ้อยของไทยหมดไป คือ การสนับสนุนให้ เกษตรกรหันมารวมแปลงเฉลี่ย1,000ไร่/แปลง และใช้เครื่องตัดอ้อยแทนการแรงงานคน ซึ่งปัจจุบันไทยมีพื้นที่ ปลูกอ้อยประมาณ10ล้านไร่ แต่มีการรวมแปลงน้อยมากและทำโดยฝ่ายโรงงาน ดังนั้นปี2562 สอน.จะเดินหน้า นโยบายเปลี่ยนชาวไร่อ้อยปกติเป็นโมเดิร์นฟาร์มให้ได้ 5 แสนไร่ หรือ 5%จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด โดยเริ่ม ทำข้อตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู)กับกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคทิส กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะทยอยเอ็มโอยูกับกลุ่มโรงงานในพื้นที่อื่นต่อไป

นางวรวรรณกล่าวว่า นอกจากนี้สอน.จะเดินหน้าโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดย รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อ เครื่องจักรอุปกรณ์และรถตัดอ้อยนำมาใช้ในกระบวนการผลิตและเก็บเกี่ยว และในอนาคตอาจมีการส่งเสริมให้เกิดกิจการให้เช่ารถตัดอ้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนรถตัดอ้อยที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาสูงคันละประมาณ12ล้านบาท มือสอง8ล้านบาท ขณะที่ผู้ผลิตไทยทำได้ราคาถูกเหลือประมาณ6ล้านบาทแต่ศักยภาพยังสู้ต่างประเทศไม่ได้

“ประเด็นรถตัดอ้อยถือเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้อุตสาหกรรมยานยนต์ กระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญ เพราะ

ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตรถยนต์ แต่ติดปัญหาเรื่องการวิจัยพัฒนาไม่มากพอ และเจอปัญหาภาษีชิ้นส่วนประกอบรถตัดอ้อยถูกเก็บอัตราสูง ขณะที่การนำเข้ารถตัดอ้อยซึ่งถือเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรภาษีเป็นศูนย์ ประเด็นนี้จึงน่าจะเกิดการหารือร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตในไทยอย่างจริงจัง อาจคิดค้นเครื่อง ตัดขนาดเล็ก ศักยภาพสูง ราคาไม่แพง เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถซื้อได้เองและเลิกเผาอ้อยในที่สุด”นาง วรวรรณกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

พาณิชย์ผนึกสรท.ติวเข้มผู้ส่งออก รับมือค้าโลกปี 62 ผันผวนหนัก

พาณิชย์ จับมือสรท. ติวเข้มผู้ประกอบการพร้อมรับมือค้าโลกปี 62 ผันผวน ชี้สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่งออกไทยมีได้-เสีย แนะผู้ประกอบการเร่งพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ นำระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มขีดแข่งขันมากขึ้น เร่งสร้างแบรนด์ตัวเอง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจมีแนวโน้มดีขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศมีการพบหารือกันเป็นระยะและต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกต่อปัญหาทางการค้าระหว่างกัน โดยมีข่าวว่าจีนอาจเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เพื่อลดช่องว่างการขาดดุลทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งหากสองฝ่ายสามารถหาข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจร่วมกันได้ จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจ และทำให้การค้าและการลงทุนของโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจีนลดลง จากจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแทนการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น จะมีผลต่อการส่งออกของไทยไปจีนหรือไม่ อย่างไร หรือหากจีนพิจารณาย้ายฐานการผลิตสินค้าบางส่วนจากจีนไปตั้งในประเทศที่ 3 เพื่อลดการส่งออกโดยตรงจากจีนไปสหรัฐฯ ไทยจะสามารถดึงดูดจีนมาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้นหรือไม่  และในสาขาการผลิตใด

เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย รับมือสถานการณ์การค้าโลก ปี 2562 โดยเฉพาะปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ จีน และผลที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าโลก รวมทั้งไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 ทางกรมได้จัดสัมมนาร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เรื่อง “อนาคตส่งออกไทยกับพลวัตของสงครามการค้า” มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยเข้าร่วม ได้แก่ อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและอลูมิเนียม ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม โดยได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองต่อโอกาสทางการค้า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การค้าโลกที่ยังผันผวนอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงของไทยจากมาตรการของทั้งสองประเทศ ในเบื้องต้น พบว่ามีสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการส่งออกไปทดแทนสินค้าจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้า ICT ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนสูงขึ้นซึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน เช่น น้ำมันปิโตรเลียมดิบ สินค้าเกษตร จำพวกผลไม้ และกุ้งแช่แข็ง

ขณะเดียวกัน สินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ ตามมาตรา 232 ทำให้การส่งออกเหล็กและท่อเหล็กของไทยลดลงในปี 2561 ส่วนผลกระทบทางอ้อม ที่อาจเกิดขึ้นคือการเบี่ยงเบนทางการค้าของสินค้ามายังประเทศไทย โดยไทยมีการนำเข้าเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้นในปี 2561 และยังมีสินค้าที่จีนส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์บางรายการ และในปัจจุบันสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนว่าจะประกาศใช้มาตรา 232 กับสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ หากในที่สุดแล้วสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะประกาศใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศต่างๆ (เป็น 25%)ผู้ประกอบการไทยก็จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

“ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก จึงต้องติดตามสถานการณ์ทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพราะมาตรการทางการค้าที่ทั้งสองฝ่ายใช้ต่อกัน อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยได้ ทั้งนี้ ในปี 2561 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 80,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.6% ขณะที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย มูลค่าการค้ารวม 43,116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.22%

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกของภาคการส่งออก  เพราะขณะนี้การค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแม้ว่าจะอยู่ระหว่างพักรบ 90 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองระหว่างจีนกับสหรัฐ หากไม่ได้ข้อสรุปในวันที่ 1 มีนาคมนี้คาดว่าสถานการณ์การค้าจะยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวรับกับปัจจัยลบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินที่ลดลง ซึ่งนักลงทุนที่เริ่มมองแนวโน้มเศรษฐกิจในทางลบ ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อเพื่อสต๊อกสินค้าสำหรับการขาย รวมถึงความผันผวนของค่าเงิน ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยจะต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และพัฒนาแบรนด์สินค้าให้เข้มแข็ง

ขณะที่นายกำจร คุณวพานิชกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากประเมินแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกและการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ มองว่าหากไม่มีสงครามการค้าจะส่งผลต่อดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวได้ที่ 2.97% แต่สงครามการค้ายังไม่สงบเชื่อว่าจะจะเกิดผลกระทบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 0.16%ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรม 0.12% แต่หากสถานการณ์การค้าแบบปกติจะทำให้มูลค่าการค้าของอุตสาหกรรมอยู่ที่3.26% ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เน้นการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตมากขึ้น เพื่อจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลง รวมไปถึงพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาด้านงานวิจัย เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

แชร์ว่อน เผาไร่อ้อยไฟลุกท่วม ‘ตั้งคำถามหรือเป็นวิถีชีวิต’ ชาวไร่ครวญปัญหารุม

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้โพสต์คลิปในเฟซบุ๊กและระบุว่า  “เผาอ้อยอีกแล้วครับท่าน ไฟลุกสูงท่วมเสาไฟฟ้าครับ เขม่าก็เยอะ ตากผ้าไว้นอกบ้านก็เลอะหมด …หรือเป็นวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อย”  ทำให้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

ต่อมามีชาวไร่อ้อยท่านหนึ่งใช้เฟซบุ๊กชื่อ กี้ นครวัฒนา

ได้ระบายความอัดอั้นตันใจ ที่เป็นชาวไร่อ้อยแล้วได้รับผลกระทบมากมาย มีข้อความว่า “สารพันปัญหา ชีวิตเกษตรกร คิดว่าอาชีพการทำไร่อ้อยเป็นอาชีพที่มั่นคง ไม่ใช่อีกแล้ว ราคาตกต่ำมาตลอดหลายปี ปีนี้ ก็ 700 ปีหน้าถ้าต่ำกว่านี้ คงล่มสลาย ต่อไปต้องซื้อน้ำตาลแพงกินแล้วครับ หรือต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพราะเราคงผลิตไม่พอ ปัญหามากมาย ระบบการปลูกเก็บเกี่ยวมีปัญหามาก ไม่ใช้เห็นแก่ตัวครับ แต่ปัญหาที่ชาวไร่อ้อยประสบอยู่ก็เอาตัวไม่รอดแล้ว ถ้าบังคับกฎหมายห้ามการเผาอย่างจริงจัง ต้นทุนเพิ่ม ขาดทุนเพิ่ม เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เข้าไปอีก เข้าใจว่ากระทบกันมาก แต่ปีนี้ขอความเห็นใจพวกเราด้วย ใช่ครับ ต้องปรับเปลี่ยนหาวิธี แต่ปีนี้วิกฤติราคาอ้อยก็ไม่ดี ตันละ700/10 ccs.ขาดทุนค่าตัดบรรทุกก็ 380/400 บาท แล้ว ครับ และที่เหลือคือ ค่าเช่าที่/ค่าปุ๋ย ยา/ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ มันขาดทุนแล้ว ก่อนจะได้แรงงานมาตัดอ้อยต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการทำบัตรค่ากินอยู่ ตก 5,000 บาทต่อคน มาแล้วเขาก็ไม่ตัดอ้อยสดและถ้าอ้อยล้ม เขาไม่ตัดเลย อ้อยไฟไหม้มัดละ 1.2/1.3 บาท แต่อ้อยสด มัดละ 3 บาท รถตัดอ้อยคันละ 3-4 ล้านถึง 20 ล้าน แต่หลักทรัพย์ชาวไร่สระแก้วบ้านเรามีแต่ ส.ป.ก.แปลงสินทรัพย์ได้ไร่ละไม่กี่พัน ครอบครัวไม่เกิน 50 ไร่ แค่ลงทุนปลูกก็จะไม่พอแล้วครับ”

ส่วนผู้ใช้เฟว่า prasan photong ได้ระบุว่า

คงต้องฝากโรงงานน้ำตาลและสมาคมชาวไร่อ้อย หาเครื่องไม้เครื่องมือ ในการตัดอ้อยมาช่วยเหลือ เนื่องจากชาวไร่อ้อยปัจจุบันตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลแล้ว มีขาดทุนกับเสมอทุนเท่านั้นเอง นี่แหละการเกษตรของไทย มันจึงล้าหลังต่างประเทศเขามาก

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

วางระบบน้ำอุตสาหกรรม บริหารจัดการครบวงจรรับอีอีซีขยายตัว

"สัญญาดังกล่าวเป็นการซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมระยะยาว 30 ปี ซึ่งนอกจากจะมีส่วนในการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถของอมตะฯ ในการให้บริการลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้  ระยองแล้ว ยังนับเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับภาคการผลิตด้วย จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าในระยะยาว"

การพัฒนาประเทศเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริงนั้น ปัจจัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ย่อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการในทุกภาคส่วน ทั้งครัวเรือน ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม 

ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการผลิต เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้แผนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ซึ่งแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีแผนการขยายกำลังการผลิต เพื่อผลิตวัตถุดิบพื้นฐานป้อนสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง และอุตสาหกรรมด้านบริการที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำของประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งระบบ ตามแนวทางการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ในแผนการบริหารจัดการน้ำและโครงสร้างพื้นฐานภาคตะวันออก วางกรอบการพัฒนาเป็น 3  ระยะ โดย แผนระยะสั้น (พ.ศ.2559-2560) เป็นการเร่งรัดโครงการด้านโครงสร้าง เช่น ก่อสร้างระบบคมนาคมเชื่อมโยงการขนส่งระบบราง ถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ปรับปรุงระบบส่งและสถานีไฟฟ้า  เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างระบบผันน้ำ ปรับปรุงขยายระบบประปา ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ การจัดการขยะ เพิ่มศักยภาพการให้บริการสาธารณสุข

  แผนระยะกลาง (พ.ศ.2561-2563) เป็นการพัฒนาโครงสร้างเพิ่มเติมของระยะแรก และขยายขีดความสามารถในการรองรับการพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมการพัฒนาระบบคมนาคมทางอากาศ ทางบกและทางน้ำ ระบบท่อส่งน้ำ/ผันน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย และวางผังเมืองรวมชุมชน โดยมีรูปแบบการลงทุนทั้งภาครัฐและให้เอกชนร่วมลงทุน

 และ แผนระยะยาว (พ.ศ.2564 เป็นต้นไป) เป็นการสร้างเสถียรภาพของพื้นที่เศรษฐกิจในระยะยาว ครอบคลุมการคมนาคมทุกประเภท และ ระบบน้ำเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งระบบไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

ในขณะที่ภาคเอกชน ในด้านของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก มีผู้พัฒนานิคมขนาดใหญ่หลายรายต่างให้ความสำคัญในการวางระบบและทุ่มงบประมาณ เพื่อดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรมให้เพียงพอ ประกอบกับการบริหารจัดน้ำด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้ลดการสูญเสียน้ำในระบบมากที่สุด รวมถึงไปถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งเหมือนเช่นในอดีต

 บริหารจัดการน้ำรองรับลงทุน

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทได้มองเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบสาธารณูปโภคดังกล่าวอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งสำรองน้ำ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการนำน้ำเข้าสู่ระบบการบำบัดเพื่อป้อนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด หรือที่เรียกว่าระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Recycle Plant) ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ในกระบวนการผลิต  ช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้

 ขณะเดียวกัน อมตะฯ ยังได้มีแผนจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อความพร้อมในการรองรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ภายใต้การบริหารงานของบริษัทลูก โดยบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้ร่วมลงนาม กับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ในสัญญาซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมแก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการน้ำอุตสาหกรรมให้กลุ่มผู้ประกอบการในนิคมฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนโรงงานตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก  อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยาง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

"สัญญาดังกล่าวเป็นการซื้อขายน้ำอุตสาหกรรม ระยะยาว 30 ปี  ซึ่งนอกจากจะมีส่วนในการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถของอมตะฯ ในการให้บริการลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยองแล้ว ยังนับเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับภาคการผลิตด้วย จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าในระยะยาว" นายวิบูลย์กล่าว

นายวิบูลย์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีผู้ประกอบการโรงงานเปิดดำเนินการแล้วกว่า 300 โรงงาน มีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 65,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากแผนงานการพัฒนาและขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ที่ยังคงมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ซึ่งอมตะฯ ประเมินว่าในปี 2563 ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มเป็น 80,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับการเติบโตดังกล่าว อีสท์วอเตอร์จะดำเนินการจัดส่งน้ำเพิ่มเติมให้แก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ในปริมาณวันละ 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าภายในนิคมฯ

โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว "อีสท์วอเตอร์" จะเริ่มดำเนินการวางท่อและระบบส่งน้ำเข้าสู่บ่อกักเก็บน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ในต้นปี 2562 และเริ่มจ่ายน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้  ระยอง ได้ภายในเดือนพฤษภาคมปี 2563 ด้วยระบบผลิตน้ำแบบศูนย์รวมที่มีกำลังการผลิตรวมถึง  100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ระบบการผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมของอีสท์วอเตอร์ เป็นการบริหารจัดการน้ำที่มุ่งตอบสนองความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในทุกรูปแบบ การให้บริการวางระบบน้ำอุตสาหกรรมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีใหม่ ต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้การทำสัญญาซื้อขายน้ำกับอีสท์วอเตอร์ในครั้งนี้ยังช่วย  "ลดต้นทุน" ด้านการก่อสร้างบ่อกักเก็บน้ำดิบ และระบบการผลิตน้ำอุตสาหกรรมให้แก่อมตะฯ อีกด้วย

 "ระบบของอีสท์วอเตอร์เป็นระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำภายในอมตะซิตี้ ระยอง มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ สามารถรองรับการเติบโตการลงทุนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อีอีซีของรัฐบาลได้” นายวิบูลย์กล่าว

สำหรับความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นการนำเอาศักยภาพของทั้งสองฝ่ายทั้งในด้านการบริหารจัดการน้ำ และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ในการวางระบบการจัดการน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคต

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการบริหารจัดการน้ำที่เน้นตอบสนองความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในทุกรูปแบบ ที่เป็นจุดแข็งของอีสท์วอเตอร์ และจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง  รวมถึงการขยายพื้นที่นิคมฯ เพื่อรองรับลูกค้ารายใหม่ ทำให้อีสท์วอเตอร์มีแผนขยายกำลังการผลิตน้ำในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน

โดยเน้นการให้บริการวางระบบน้ำอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ด้วยเทคโนโลยีใหม่ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มศักยภาพในการลงทุน

ทั้งนี้บริษัทฯ มีแผนการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ การดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างกลไกใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาน้ำต้นทุนและน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการลงทุนเพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลน้ำ ระบบรีเวิร์ส ออสโมซิส หรือ อาร์โอ (Reverse Osmosis System : RO) ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำต้นทุนหรือลดปริมาณน้ำที่สำรองไว้

      “อีสท์วอเตอร์พร้อมสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม ตามนโยบาย EEC ด้วยความพร้อมของโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบ ครอบคลุมแหล่งน้ำหลักในพื้นที่ EEC ไว้ทั้งหมด และเดินหน้ารุกธุรกิจน้ำครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้บริการลูกค้าตามความต้องการอย่างมืออาชีพ มั่นใจได้ว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำเพื่อสนับสนุนการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้  จังหวัดระยองได้เป็นอย่างดี" นายจิรายุทธ กล่าว

5 เมกะโปรเจ็กต์อีอีซีคืบ

อย่างไรก็ตาม ในด้านความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการใหญ่นั้น ขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอ คือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท  เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้ โดยอัยการจะตรวจร่างสัญญาแล้วเสร็จและเสนอ กพอ.อนุมัติผลการคัดเลือกภายในเดือน ก.พ. ก่อนนำเสนอ ครม.

      โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบคำถามผู้ซื้อเอกสารการคัดเลือก และจะประชุมชี้แจงเอกสารการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ก.พ.62 โดยกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 28 ก.พ.62 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในกลางเดือน เม.ย.62

        โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เนื่องจากมีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว ประกอบกับไม่ผ่านการประเมินคุณสมบัติ ดังนั้นคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาแล้ว มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนอีกครั้งในวันที่ 21 ม.ค.62 โดยนำความคิดเห็นภาคเอกชนมาปรับปรุงเอกสารคัดเลือกให้เป็น International Bidding มากขึ้น จากนั้นให้ประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนใหม่ในวันที่ 24 ม.ค.62 ขายเอกสารคัดเลือกเอกชนฉบับแก้ไข 28  ม.ค. - 1 ก.พ.62 โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอใหม่วันที่ 29 มี.ค.62 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในเดือน เม.ย.62

      โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในวันที่ 6 ก.พ.62 จะประกาศผู้ผ่านการประเมินภายในเดือน มี.ค.62 และ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา อยู่ระหว่างให้เอกชนส่งคำถามผ่านอีเมลถึงวันที่ 4 ก.พ.62 และเปิดให้ตรวจสอบข้อมูลโครงการถึงวันที่ 1 ก.พ.62 หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอจากบริษัท Airbus S.A.S. ในวันที่ 18 ก.พ.62 และประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.62

 ฟุ้งขอบีโอไอพุ่งกว่า 6 แสนล้านบาท

      นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา การขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมีถึง 422 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 683,910 ล้านบาท เป็นคำขอลงทุนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมากที่สุด จำนวน 193 โครงการ เงินลงทุนรวม 576,910 ล้านบาท ตามด้วยจังหวัดระยอง 156 โครงการ เงินลงทุนรวม 58,700 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 73 โครงการ เงินลงทุนรวม 48,300 ล้านบาท

      นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สำหรับปี 2562 บีโอไอจะเดินหน้ามุ่งเน้นชักจูงส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ

      สำหรับแผนชักจูงการลงทุนของระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2562 ประกอบด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สหรัฐอเมริกา และกลุ่มยุโรป โดยจะใช้กลยุทธ์เจาะลึกให้รายละเอียดและข้อมูลเป็นรายบริษัท เพื่อสร้างความเข้าใจในนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน.

จาก https://www.thaipost.net  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

"เงินบาทแข็งค่า" เช้านี้ จับตาไปที่การประชุม FOMC

ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (28 ม.ค. 62) ที่ระดับ 31.52 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับ 31.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปิดสิ้นสัปดาห์ก่อน

ในสัปดาห์นี้ มีเรื่องต้องติดตามมากมายทั้งในมุมของเศรษฐกิจและการเมือง

เริ่มต้นจากในวันอังคาร สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษเตรียมลงมติโหวตร่างแก้ไขข้อตกลง Brexit ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะได้รับการสนับสนุน อาจมีผลให้นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องขอยืดระยะเวลาการถอนตัวจากสหภาพยุโรป จากวันที่ 29 มี.ค. นี้ ออกไปก่อน

ขณะที่ ในวันพุธ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) คาดว่าจะ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25 ถึง 2.50% และครั้งนี้ เฟดน่าจะระบุถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการปรับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตให้ช้าลงด้วย

วันพฤหัสบดี รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป คาดว่าจีดีพีไตรมาสที่ 4 ของอิตาลี จะหดตัว 0.1% สเปนจะขยายตัว 0.5% ส่งผลให้โดยรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปขยายตัวราว 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ในฝั่งจีน รายงานตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในวันพฤหัสบดี คาดว่าจะชะลอตัวลงมาที่ระดับ 49.3 จุด ตามการส่งออกที่ลดลงและคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมที่มักชะลอตัวในช่วงต้นปี

วันศุกร์ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls) ในสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัว 1.8 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้การว่างงานปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยที่ระดับ 4.0% จากผลของการปิดที่ทำการของภาครัฐ (Government Shut Down) ขณะที่ ค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อที่ระดับ 0.2% จากเดือนก่อน

ในช่วงนี้ ความเคลื่อนไหวของดอลาร์ค่อนข้างผันผวนและหนักไปทางการอ่อนค่า ล่าสุด การที่ โดนัล ทรัมป์ ยอมเปิดที่ทำการของภาครัฐ ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลลงและกลับเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยง (Risk On) ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก

ในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าตลาดจะจับตาไปที่การประชุม FOMC และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ถ้าทั้ง 2 เหตุการณ์ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลัง "ชะลอตัว" ก็มีความเป็นไปได้มากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าต่อเนื่องในสัปดาห์นี้อีกด้วย

โดยมองกรอบเงินบาทในวันนี้ 31.50 ถึง 31.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ในรอบสัปดาห์กรอบเงินบาท 31.25 ถึง 31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

เอาจริง!! ผวจ.สระแก้วออกคำสั่งห้ามเผาทุกประเภทในพื้นที่แล้ว กำชับทุกโรงพักใช้ กม.จำคุก ปรับจริงจัง

สระแก้ว - เอาจริงแล้ว!! ผวจ.สระแก้ว ออกคำสั่งห้ามเผาทุกประเภท หลังปริมาณฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศในพื้นที่ดีดกลับสู่ภาวะสีส้มอีกครั้ง ด้าน ตร.ภาค 2 สั่งการทุกโรงพักเอาผิดผู้ลักลอบเผาพืชไร่จริงจัง ใช้กฎหมายทั้งจำคุก ปรับทันที

วันนี้ (27 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากในพื้นที่ จ.สระแก้ว ได้เกิดปัญหามลพิษและฝุ่นละอองเกินมาตรฐานจนเข้าขั้นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยใน ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ ก็ยังคงมีการเผาไร่อ้อยกันอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และมักจะทำการเผาในช่วงหัวค่ำของทุกวันกระทั่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สระแก้ว ต้องทำหนังสือเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ลงนามเห็นชอบในการออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัย ฝุ่นละออง และหมอกควันตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้มีหนังสือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนงดเว้นการเผาในที่โล่ง รวมทั้งเฝ้าระวังการลักลอบเผา และหากผู้ใดกระทำผิด โดยทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดแม้เป็นของตนเองจนน่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา และยังมีคำสั่งให้อำเภอติดชายแดนกัมพูชา ประกอบด้วย อ.อรัญประเทศ อ.คลองหาด อ.โคกสูง และ อ.ตาพระยา นำประเด็นการเผาและหมอกควันข้ามแดนเข้าวาระการประชุมหารือระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อหามาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

พร้อมทั้งแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเฝ้าระวังและเตรียมรับมือสถานการณ์ โดยให้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำและเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที และต้องแจ้งสถานการณ์คุณภาพอากาศและแนวทางปฏิบัติหากคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษให้ประชาชนรับทราบด้วย

สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ การเผาของเรายังมีอยู่ไม่ว่าการเผาเพื่อเก็บผลผลิตอ้อย เผาเพื่อหาของป่า กำจัดหญ้า ซึ่งเหล่านี้ล้วนผิดตามกฎหมายอาญา ทำให้เสียทรัพย์ หรือการเผาที่ก่อให้เกิดความรำคาญ ก็ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข และในกรณีในพื้นที่ที่มีเทศบัญญัติเรื่องเกี่ยวกับการเผาที่ห้ามไว้ ก็ผิดตามเทศบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรณีที่ทำให้เสียทรัพย์หรือความเสียหายแก่ร่างกายจะมีโทษหนักมากถึงจำคุก ซึ่งยิ่งถ้าเป็นข้าราชการทำไม่ได้เลยเพราะผิดวินัย ทั้งนี้ จะได้มีคำสั่งเพิ่มเติมโดยอาศัยอำนาจของ กอ.รมน.หากเป็นปัญหาความมั่นคงเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย กระทบเศรษฐกิจ สังคม ชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งกำลังให้ปลัดจังหวัดสระแก้วดำเนินการร่างประกาศดังกล่าวอยู่ นายวิชิต กล่าว

ขณะที่ พ.ต.อ.สมพล วงศ์ศรีสุนทร รอง ผบก.ปฏิบัติราชการแทน ผบก.ภ.จว.สระแก้ว ได้ลงนามในคำสั่งด่วนที่สุดเพื่อสั่งการไปยัง ผกก.สภ.ในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว ตามหนังสือด่วนที่สุดของตำรวจภูธรภาค 2 ที่ 0017.132/242 ลงวันที่ 16 ม.ค.62 เรื่องแจ้งกำชับมาตรการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย ให้ทุก สภ.ในจังหวัดสระแก้ว บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดลักลอบเผาพืชไร่และพื้นที่เพาะปลูกเพื่อทำการเกษตร โดยมีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 25, 26, 28 และ 74 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท และให้รายงานข้อมูลให้สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว ทุกวันก่อนเวลา 10.00 น.

ด้าน นายอรุโณทัย พิชิ ผู้ประกอบการไร่อ้อยในพื้นที่กว่า 2,400 ไร่ กล่าวว่า เกษตรกรจำเป็นต้องเผาเพราะเป็นความสะดวก เนื่องจากประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่ยอมที่จะตัดอ้อยสด เพราะที่ผ่านมา ถูกงูกัดจนเสียชีวิตเยอะ โดยเฉพาะงูแมวเซา ประกอบกับการตัดอ้อยสดขั้นตอนค่อนข้างเยอะ ผิดกับการเผาตัดโคนที่ทำให้ตัดได้เยอะกว่าตัดอ้อยสด แต่ปัจจุบันเกษตรกรก็เริ่มหันมาใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานคนเพิ่มมากขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย ของกรมควบคุมมลพิษ ทางแอปพลิเคชัน Air4Thai เมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ ที่โรงเรียนอนุบาลศรีอรัญโญทัย ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ขึ้นไปอยู่ในระดับสีส้มที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอีกครั้ง โดยพบว่าปริมาณฝุ่นละอองอยู่ที่ระดับ 149 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงสุดในรอบสัปดาห์

จาก https://mgronline.com   วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

รู้หรือยัง? ตั้งแต่ 2 ก.พ. นี้ ใช้ไฟฟ้าพลังปาล์ม

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พน.) เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือขนส่งน้ำมันปาล์มดิบเที่ยวแรก จำนวน 2,000 ตัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี นายหร่อหยา จันทรัตนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง นางภาวนา อังคณานุวัฒน์ รองผู้ว่าการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมพิธี ณ ท่าเรือ บริษัท พี.เค มารีน เทรดดิ้ง จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี

โครงการนำน้ำมันปาล์มดิบมาผลิตไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เกิดจากคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กฟผ. ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ปรับสมดุลเพื่อพยุงราคาผลปาล์มน้ำมันให้สูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม ด้วยการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 160,000 ตัน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง

ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีพลังงานลงพื้นที่ จ.ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ รวมทั้งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้า" ระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และ กฟผ. ไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา โดย กฟผ. จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากแหล่งพื้นที่ผลิตที่สำคัญ เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

กระทั่งมีการส่งน้ำมันปาล์มดิบทางเรือเที่ยวแรกไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ปริมาณ 2,000 ตัน ของ บริษัท เจริญ น้ำมันปาล์ม จำกัด ที่รับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 3.24 บาท มาผลิตน้ำมันปาล์มดิบสำหรับเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตามแผนครั้งแรกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนน้ำมันปาล์มดิบที่เหลือจะรับซื้อจากโรงสกัดต่าง ๆ ให้ครบ 160,000 ตัน ต่อไป

"ความสำเร็จในครั้งนี้มาจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวสวนปาล์มต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือให้ราคาผลปาล์มสดอยู่ในระดับสูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม ได้อย่างเป็นรูปธรรม" รมว.พน. กล่าวในที่สุด

ภายหลังการปล่อยเรือขนส่งน้ำมันปาล์มดิบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีของ กฟผ. และลานเทโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบที่ บริษัท เสวียดลานปาล์ม และบริษัท กรีนกลอรี่ จำกัด และบริษัท นิวไบโอ ดีเซล จำกัด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งชมขั้นตอนการรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน และพบปะเกษตรกรเพื่อติดตามผลการช่วยเกษตรกรให้ได้ประโยชน์สูงสุด

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

ชูแนวทาง Area Based แก้ปัญหาน้ำแบบบูรณาการ

สทนช. ชูแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) พร้อมเดินตาม พรบ.น้ำ’61 เน้นการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ลดความขัดแย้งในพื้นที่

วันนี้ (27 ม.ค.62 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่“กลุ่มเครือข่ายปกป้อง ดิน-น้ำ-ป่า บนผืนแผ่นดินใต้” เสนอให้ยุติโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีความเข้าใจว่าโครงการที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อรองรับแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น สทนช. ขอเรียนว่า รัฐบาลมีนโยบายให้จัดทำแผนแม่บทเพื่อวางรากฐานการบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ได้เน้นการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ หรือการก่อสร้างเท่านั้น แต่ใช้การดำเนินการแบบคู่ขนาน โดยเริ่มจากการวางแผนยุทธศาสตร์น้ำตั้งแต่ปี 2558 เพื่อหาความต้องการน้ำที่แท้จริงของประเทศไทย หาแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม คุณภาพน้ำ มีรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหาน้ำ โดยไม่ทิ้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการฟื้นฟูดูแลป่าต้นน้ำ เป้าหมายเร่งด่วน คือ การจัดทำระบบน้ำประปาหมู่บ้านให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และในช่วงฤดูแล้งปี 2558/2559 รัฐบาลใช้แนวทางเร่งด่วน จัดทำแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำก่อนไหลออกนอกประเทศ ควบคู่กับการน้ำโครงการสำคัญที่ยังติดขัดเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาศึกษาให้ชัดเจน พร้อมเสนอแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งน้อมนำศาสตร์พระราชาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาดำเนินการ

หลังจากนั้น จึงได้จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในปี 2560 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลงานนโยบายด้านน้ำของทุกหน่วยงานให้ดำเนินการในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของแผนงานงบประมาณ และตรงกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำแบบบูรณาการของประเทศตามนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาล สทนช. จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) โดยวางแผนการดำเนินการที่ใช้ทั้งมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้างร่วมกัน รวม 66 พื้นที่ โดยพิจารณาจากพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำซ้ำซากทั้งท่วม แล้ง และคุณภาพน้ำ ตลอดจนจัดหาน้ำเพื่อส่งเสริมพื้นที่พิเศษ เช่น การท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ มีพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ (Area Based) 15 แห่ง รวม 2.393 ล้านไร่ ใน 11 จังหวัด เป็นพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 11 แห่ง ประสบปัญหาทั้งอุทกภัย-ภัยแล้ง 1 แห่ง และพื้นที่พิเศษสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ 3 แห่ง เมื่อได้พื้นที่เป้าหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำแผนปฏิบัติการหรือโครงการแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาในแต่ Area-based ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าว ต้องนำความเห็นของกรรมการลุ่มน้ำเสนอประกอบการพิจารณา เสนอตามขั้นตอนของการพิจารณาเห็นชอบแผนงานโครงการและงบประมาณต่อไป

ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อหาจุดร่วมของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรก ระบุให้มีกรรมการลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ มีสิทธิและหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ ดังนั้นโครงการสำคัญ แผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำ แผนป้องกันภัยแล้ง แผนป้องกันน้ำ ทุกลุ่มน้ำต้องจัดทำ โดยการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า โครงการจะก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง และที่สำคัญ คือ การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ต้องทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่ด้อยไปกว่าเดิม การจัดทำหมู่บ้านนิคมสำหรับผู้สูญเสียที่ดินทำกิน ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ต้องดำเนินการขับเคลื่อนโครงการตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ทุกขั้นตอน

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

พณ.เร่งให้ความรู้เกษตรกรรับFTA

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งให้ความรู้เกษตรกรโคนมไทย รับมือ FTA ดันแข่งขันธุรกิจได้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กล่าวว่า ในวันที่ 29 มกราคมนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะร่วมกับกรมปศุสัตว์จัดสัมมนา “โคนมไทย ก้าวไปพร้อมกับ FTA” ที่ จังหวัดสระบุรี เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมที่สนใจ เข้าร่วมรับฟัง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมทั้งระบบ โอกาสการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ นวัตกรรมกับโอกาสของสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมไทย

ซึ่งผู้ประกอบการโคนมไทย จะต้องรับมือการเปิดเสรีสินค้าดังกล่าว ภายใต้ความตกลงเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ลดภาษีนำเข้าให้สองประเทศนี้เหลือร้อยละ 0 ในปี 2564 และปี 2568

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

สอน.จับมือโรงงานผุดโมเดิร์นฟาร์ม ใช้เครื่องตัดอ้อยลดการเผาแก้ปัญหามลพิษ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 กับการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานในฤดูหีบว่าปัจจุบันมีการเผา 60-70% สาเหตุมาจากปัญหาต้นทุนตัดอ้อยสดสูงกว่าการเผา 3 เท่า และขาดแคลนแรงงาน ยอมรับว่าการเผาอ้อยอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดมลพิษแต่ยืนยันว่าไม่ใช่ปัจจัยหลักแน่นอน เพราะปัจจัยหลักมาจากการเผาน้ำมันดีเซลที่บางส่วนไม่ย่อยสลายในอากาศและก่อตัวเป็นมลพิษ

ดังนั้นเพื่อลดการเผาอ้อย สอน.กำลังเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรเผาไร่อ้อย เพราะไฟลุกลามจนเกิดผลกระทบอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ขณะเดียวกันได้ออกมาตรการหากส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบจะถูกหักเงินตันละ 30 บาท และจะนำเงินดังกล่าวแบ่งให้ผู้ที่ตัดอ้อยสด 70% อีก 30% คืนหลังพ้นฤดูหีบ สาเหตุที่คืนเพราะเกษตรกรบางรายอาจถูกวางเพลิงจากภาวะแย่งอ้อยของโรงงาน หรืออาจถูกไฟจากแปลงใกล้เคียงที่เป็นของเกษตรกรรายอื่น

สำหรับ แนวทางสำคัญที่จะลดการเผาหรือทำให้การเผาอ้อยของไทยหมดไป คือ การสนับสนุนให้เกษตรกรหันมารวมแปลงเฉลี่ย1,000 ไร่/แปลง และใช้เครื่องตัดอ้อยแทนการใช้แรงงานคน ซึ่งปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 10 ล้านไร่ แต่มีการรวมแปลงน้อยมากและทำโดยฝ่ายโรงงาน ดังนั้นปี 2562 สอน.จะเดินหน้านโยบายเปลี่ยนชาวไร่อ้อยปกติเป็นโมเดิร์นฟาร์มให้ได้ 5 แสนไร่ หรือ 5% จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด เริ่มทำข้อตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู)กับกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ เคทิส กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จากนั้นจะทยอยเอ็มโอยูกับกลุ่มโรงงานในพื้นที่อื่นต่อไป

นอกจากนี้สอน.จะเดินหน้าโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์และรถตัดอ้อยนำมาใช้ในกระบวนการผลิตและเก็บเกี่ยว และในอนาคตอาจส่งเสริมให้เกิดกิจการให้เช่ารถตัดอ้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนรถตัดอ้อยที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาสูงคันละประมาณ 12 ล้านบาท มือสอง 8 ล้านบาท ขณะที่ผู้ผลิตไทยทำได้ราคาถูกเหลือประมาณ 6 ล้านบาท แต่ศักยภาพยังสู้ต่างประเทศไม่ได้

“ประเด็นรถตัดอ้อยถือเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้อุตสาหกรรมยานยนต์ กระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญ เพราะไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตรถยนต์ แต่ติดปัญหาเรื่องการวิจัยพัฒนาไม่มากพอ และเจอปัญหาภาษีชิ้นส่วนประกอบรถตัดอ้อยถูกเก็บอัตราสูง ขณะที่การนำเข้ารถตัดอ้อยซึ่งถือเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรภาษีเป็นศูนย์ ประเด็นนี้จึงน่าจะเกิดการหารือร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตในไทยอย่างจริงจัง อาจคิดค้นเครื่องตัดขนาดเล็ก ศักยภาพสูง ราคาไม่แพง เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถซื้อได้เองและเลิกเผาอ้อยในที่สุด” นางวรวรรณกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2562

ทำไมต้องเผาอ้อย? ... เรื่องลึก ๆ ที่คนนอกวงการไม่รู้!

นับจากที่ "เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ" รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และรายงานต่อเนื่องเป็นรายวันจนถึงทุกวันนี้ ยังพบหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เกิดจากควันดำจากการเผาผลาญของเชื้อเพลิงจากยานพาหนะและงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยและระบบโครงสร้างพื้นฐาน ลามไปถึงการเผาขยะตามแหล่งขยะชุมชนบางแห่ง

ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่สะสมมานาน พอปริมาณรถมากขึ้น ประชากรในพื้นที่ กทม. ที่ใช้รถเพิ่มขึ้น ถนนทุกสายแน่นไปด้วยยานพาหนะ ผสมปนเปกับการเติบโตของงานในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งปรับปรุงถนน ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ รวมถึงก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าพร้อมกันหลายโครงการ จนเกิดปัญหาควัน ฝุ่นละออง ฟุ้งกระจายไปทั่ว กระทบถึงคุณภาพชีวิตคนกรุง

เผาอ้อยจนเป็นประเพณี

จากปัญหามลพิษควัน ฝุ่นละออง ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั่ว กทม. และปริมณฑล กำลังลากมาสู่การเพ่งเล็งถึงการ "เผาอ้อย" ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ว่า เป็นอีกต้นเหตุหนึ่งของปัญหานี้ด้วย พร้อมกับเกิดข้อสงสัยจากคนนอกวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ว่า ทำไมต้อง "เผาอ้อย" ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม การเผาอ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศนั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว จนคนในวงการอ้อยบอกว่า "เผาอ้อยกันจนเป็นประเพณีไม่ใช่เพิ่งมาเผา" เพียงแต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายจังหวัดที่ปลูกอ้อยเริ่มมีความถี่ในการเผาอ้อยมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ที่ส่วนใหญ่เลือกตัดอ้อยสด ๆ เพราะได้คุณภาพดีกว่า

ถามว่า ทำไมต้องเผาอ้อย! สำหรับประเทศไทย ปัญหาหลักที่ต้องเผาอ้อยเกิดจากการ "ขาดแคลนแรงงาน" หรือ ขาดคนตัดอ้อย มีอ้อยปลูกหลายร้อยไร่ แต่พอถึงเวลาตัดอ้อยกลับหาแรงงานไม่ได้ ส่วนใหญ่แรงงานต่างพากันปฏิเสธที่จะรับตัดอ้อยสด ๆ ไม่ว่าจะเป็น แรงงานไทย หรือ แรงงานต่างด้าว เนื่องจากการตัดอ้อยสดมีความยากลำบาก กว่าจะได้มา 1 ตันต่อคน ต้องใช้เวลานาน ต้องพบกับปัญหามากมาย ตั้งแต่ใบอ้อยคมบาดมือ บางพันธุ์มีหนามด้วย ทำให้การตัดอ้อยล่าช้า แต่หากชาวไร่อ้อยในพื้นที่ใดมีการเผาอ้อยเพื่อให้ใบไหม้ เหลือไว้แต่ลำต้นอ้อย ก็จะสามารถตัดอ้อยได้เร็วขึ้น จะได้ปริมาณอ้อยมากถึง 4-5 ตันต่อวัน ซึ่งแรงงานชอบตัดอ้อยที่เผาแล้ว เพราะเสร็จเร็ว ได้เงินเร็ว ง่ายต่อการตัด เปรียบเทียบกับการตัดอ้อยสด ที่ตัดได้เพียง 1.5 ตันต่อวันเท่านั้น ในขณะที่ โรงงานน้ำตาลบางรายชอบรับอ้อยสด เพราะคุณภาพดีกว่า แต่ก็ต้องแลกกับข้อจำกัดที่นับวันจะมากขึ้น

หีบอ้อยช้าเสี่ยงปัญหาใหม่

นอกจากความจำเป็นในการเผาอ้อยจะมาจากปัจจัยหลัก คือ หนีปัญหาแรงงานไม่รับตัดอ้อยสดแล้ว การเผาอ้อยก็ยังมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในขณะที่ ระยะเวลาในการหีบอ้อยก็มีข้อจำกัด เพราะการตัดอ้อยสดจะใช้เวลานานกว่า และอาจเสี่ยงต่อปัญหาภัยธรรมชาติ ตามปกติภายใน 3-4 เดือน ต้องหีบอ้อยให้เสร็จ ไม่เช่นนั้นอาจเจอปัญหาอื่นตามมา เช่น ฝนตกหนักจนตัดอ้อยไม่ได้ หรือ รถบรรทุกเข้าพื้นที่ขนอ้อยไม่ได้ เพราะน้ำท่วมขัง รถติดหล่ม หากปิดหีบช้าต้นทุนโรงงานน้ำตาลก็จะยิ่งบานปลาย

วันนี้หลายประเทศพยายามรณรงค์เลิกการเผาอ้อย เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางโลกที่หันมารักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และสามารถลดการเผาอ้อยได้ เพราะมีกำลังในการลงทุนซื้อเครื่องจักรตัดอ้อยทดแทนคน แต่อุตสาหกรรมอ้อยในประเทศไทย มีทั้งคนจนและคนรวย ใครมีกำลังทรัพย์ก็สามารถซื้อเครื่องตัดอ้อยได้ โดยมีราคาหลากหลาย ราคาเครื่องตัดอ้อยหากนำเข้าราคาจะสูงถึง 13-14 ล้านบาทต่อเครื่อง หรือ ซื้อในประเทศ ราคามีตั้งแต่ 5-7 ล้านบาทต่อเครื่อง แม้ราคาในประเทศจะถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง แต่เชื่อว่ามีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ไม่มีกำลังซื้อเครื่องตัดอ้อย

ไล่ดูแค่ปัญหาขาดแรงงานตัดอ้อย ก็ดูเป็นเรื่องใหญ่โตที่มองข้ามไปไม่ได้ เพราะหลายพื้นที่ล้วนพึ่งพาพืชอ้อยเลี้ยงปากท้อง แห่ปลูกตามแรงเหวี่ยงของราคาที่จัดอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าพืชเกษตรอื่นอีกหลายตัว ดูเฉพาะรายจังหวัดก็แห่ปลูกอ้อยไปแล้วเกือบ 50 จังหวัดทั่วประเทศ

ลำพังพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศในเวลานี้ มีมากถึง 12 ล้านไร่ ถ้าดูตัวเลขปริมาณอ้อยที่คาดการณ์กันว่า ปี 2561/2562 ปลูกอ้อยมากถึง 120-121 ล้านตันอ้อย หรือ ปลูกกันเฉลี่ยไร่ล่ะ 10-11 ล้านตันอ้อย ก็ไม่ใช่น้อย อีกทั้งโรงงานน้ำตาล 57 โรงงานทั่วประเทศ มีอ้อยเข้าหีบมากถึง 1.2-1.3 ล้านตันต่อวัน ยิ่งโรงงานน้ำตาลขยายตัว ยิ่งวิ่งแก้ปัญหานำวัตถุดิบ (อ้อย) นำส่งโรงงานน้ำตาลมากขึ้น

60% เป็นอ้อยที่มาจากการเผา

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากตัวเลขการปลูกอ้อยปี 2561/2562 คาดการณ์ว่า มีปริมาณ 120-121 ล้านตันอ้อยนั้น ในจำนวนนี้มากถึง 60% เป็นอ้อยที่มาจากการเผาแทบทั้งสิ้น! หากยังเจอปัญหาแรงงานขาดแคลน การปลูกอ้อยทั่วประเทศแทบทุกพื้นที่ที่มีไร่อ้อย ต้องมีการเผาอ้อย และแนวโน้มน่าจะขยายพื้นที่หลายจุด

"วันนี้ต้องยอมรับว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีครึ่งค่อนประเทศกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย และปริมาณอ้อยมากกว่าครึ่งทั่วประเทศยังต้องเผาอ้อย สมัยก่อนเรามีแรงงานจำนวนมาก ตรงไหนมีพื้นที่ปลูกอ้อย เมื่อถึงเวลาตัดอ้อย ก็เกณฑ์คนมาจากจังหวัดใกล้เคียงมาช่วยกันตัด หรือ นำแรงงานมาจากภาคอีสาน แต่วันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปมาก"

ถามว่า ปัจจุบันมีบทลงโทษอะไรกรณีเผาอ้อย! คำตอบคือ มี! นอกจากตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดว่า ถ้าใครเผาอ้อยจะถูกหัก 30 บาทต่อตันอ้อย โดยนำเงินที่หักไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด โดยเพิ่มราคาให้สูงขึ้น

อีกทั้งยังมีกฏหมายท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และมาตรา 25 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือ กรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากปัญหาราคาอ้อยเริ่มไม่ดีกระทบถึงปากท้องชาวไร่อ้อยแล้ว ปัญหาแรงงานแคลนกำลังเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาแก้ไขอย่างจริงจัง!

ไม่เช่นนั้นแล้ว อุตสาหกรรมน้ำตาลจะกลายเป็นปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นยันท้าย ไม่เพียงแต่ปัญหาเดิม ๆ เรื่องราคาอ้อยที่ขึ้นลงตามราคาน้ำตาล ปัญหาผลผลิตอ้อยต่อไร่และค่าความหวานของอ้อยต่อไร่ที่ลดลง

ปัญหาเหล่านี้ อาจสะเทือนถึงสถานะของไทยที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกได้ โปรดอย่ามองข้าม!

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2562

“นายกฯ” เล็ง ตั้งหน่วยงานใหม่ “บริหารจัดการที่ดินปท.”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อคืนวันที่ 25 มกราคม ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมีหลักคิดที่สร้างประเทศอย่างยั่งยืนในเรื่องการใช้ทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่จะบริหารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีธรรมาภิบาล โดยเราจะต้องใช้ที่ดิน หรือทรัพยากรทั้งปวงของประเทศให้สามารถ สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดไปพร้อมๆกับการพัฒนาคนด้วยการศึกษา และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย

ขณะเดียวกันก็ยกระดับเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ผ่าน “เน็ตประชารัฐ” หรือ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ด้วย ไม่ใช่ปลูกพืชที่ไม่ได้ผล ก็ทนปลูกต่อไป โดยที่รัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปส่งเสริม บางพื้นที่เราอาจจะต้องส่งเสริมให้เป็นการใช้ประโยชน์เป็นอย่างอื่น เพื่อจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า สร้างงาน สร้างรายได้ ตามที่ชาวชุมชนต้องการ หรือที่เรียกว่า ระเบิดจากข้างใน

“เราต้องเน้นการมีส่วนร่วม โดยจะมีการผลักดันให้มี “หน่วยงานใหม่” เข้ามารับผิดชอบในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ ในลักษณะเดียวกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. เพื่อบูรณาการการใช้ประโยชน์ทั้งที่ดินของเอกชนและของรัฐได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่อไปเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยก็จะมีที่ดินทำกิน มีเงิน อุดหนุนทางรัฐบาล และได้รับการส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งชุมชนก็ได้มีพื้นที่ป่า ได้ดูแลและสร้างประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2562

KTISกางแผนธุรกิจปี’62 ชูกลุ่มไฟฟ้า-เยื่อกระดาษตัวทำรายได้

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่นหรือ KTIS เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจของกลุ่ม KTIS ในปี 2562 ว่าสายธุรกิจชีวภาพซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย และโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอล ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สายธุรกิจน้ำตาลทรายนั้นขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลในตลาดโลก

“ปีที่ผ่านมา (งบการเงินสิ้นสุด 30 กันยายน 2561) สัดส่วนรายได้จากสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย มีสัดส่วน 75.4% ขณะที่สายธุรกิจชีวภาพมีสัดส่วน 24.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นที่มีสัดส่วน 22.9% เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลมีรายได้เติบโตอย่างโดดเด่น โดยทิศทางของปีนี้รายได้จากสายธุรกิจชีวภาพก็น่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีก คาดว่าจะสูงกว่า 25% ของรายได้รวม เนื่องจากปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายในฤดูการผลิต 2561/2562 น้อยกว่าฤดูการผลิตของปีก่อน (ซึ่งปีก่อนสูงมากเป็นประวัติการณ์) และราคาน้ำตาลตลาดโลกก็ยังคงผันผวน” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

สำหรับโรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยนั้นก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะกระแสรักโลกรักษ์สิ่งแวดล้อม การรณรงค์ลดการใช้พลาสติกและวัสดุย่อยสลายยาก ทำให้คนหันมาใช้วัสดุอุปกรณ์และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากธรรมชาติ 100% มากขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562

“สงครามการค้า” ถล่ม ส่งออกปี”61 หลุดเป้า 8%

สงครามการค้าที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบหนักต่อไทย โดยภาพรวมการส่งออกไทยทั้งปี 2561 มีมูลค่า252,486.4 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.7% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 249,231.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.51% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 3,254.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ล่าสุดการส่งออกเดือนธันวาคม 2561มีมูลค่า 19,381 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.72% จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 6.6% และสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 0.8%

สินค้าซัพพลายให้จีนทรุด

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สงครามการค้าทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนธันวาคม หายไป 239.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตามตาราง) พร้อมทั้งประเมินว่าผลกระทบจากสงครามการค้าทั้งปี 2561 ทำให้มูลค่าส่งออกหายไป 382.1 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น ผลกระทบจากมาตรการทางตรงสหรัฐ ลดลง 41.6% มูลค่าการส่งออกหาย 421.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจีน ลดลง 5.8% มูลค่าส่งออกหายไป 438.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลเชิงบวกจากการส่งออกทดแทนสินค้าจีนไปสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.6% มูลค่าเพิ่ม 478 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าเกษตรหลักยังติดลบ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการส่งออกรายสินค้าทั้งปี 2561 พบว่า สินค้าเกษตรและอาหาร มูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% จากการส่งออกอาหาร มูลค่า 21,339 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.9% ทั้งอาหารทะเลแช่แข็งทูน่ากระป๋อง ผักผลไม้ และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป แต่ภายในพบว่าสินค้าเกษตรสำคัญมีการส่งออกลดลงอย่างมาก เช่น ข้าวส่งออกได้ 11.08 ล้านตัน ลดลง 5% จากปี 2561 ที่ส่งออกได้ 11.6 ล้านตัน ยางพารา 3.52 ล้านตันลดลง 3.8% มันสำปะหลัง 8.27 ล้านตันลดลง 26.2% และกุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ด้านมูลค่าส่งออกได้ 1,325 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 21.4%

ส่วนสินค้าหมวดอุตสาหกรรม มูลค่า 200,336 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.6% จากสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 10% อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 4.4% เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัว 3.7% พลาสติก เพิ่มขึ้น 16.1% วัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 13.9% ขณะที่กลุ่มอัญมณีลดลง 6.6%

ขณะที่ตลาดส่งออกในปีที่ผ่านมา นั้น ตลาดหลักขยายตัว 7.7% โดยญี่ปุ่น เพิ่ม13% สหรัฐ เพิ่ม 5.4% สหภาพยุโรป เพิ่ม 5% ตลาดศักยภาพสูงเพิ่มขึ้น 9.2% จากอาเซียน เพิ่ม 14.7% CLMV เพิ่ม 16.6% จีน เพิ่ม 2.3% อินเดีย เพิ่ม 17.3% ฮ่องกง เพิ่ม 1.8% เกาหลีใต้ เพิ่ม 4.9% ตลาดศักยภาพรอง เพิ่มขึ้น 3.1% จากออสเตรเลีย เพิ่ม 2.9% แอฟริกา เพิ่ม 9.7% ละตินอเมริกา เพิ่ม 3.1% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) เพิ่ม 7.1% รัสเซียและ CIS เพิ่ม 10.1% ส่วนตะวันออกกลาง ลด 5%

ยืนเป้าส่งออกปี”62 โต 8%

นางพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กล่าวว่า ในปี 2562 ยังคงเป้าหมายส่งออก 8% โดยมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากจีนประกาศจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็นเวลา 6 ปี ระหว่างการเจรจาพักรบสงครามการค้าในช่วง 90 วัน คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกเติบโตดีขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 2

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จโดยเร็ว พร้อมกับเร่งหาตลาดใหม่ เพื่อเป็นทางออกจากความท้าทายสงครามการค้า

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2562

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 31.67 บาทต่อดอลลาร์

ทิศทางการการเมืองไทยที่ดีหนุนตลาด ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อได้ เฝ้าจับตานโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมือง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.67 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.74 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลก เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 0.2% พร้อมกับดัชนี Stoxx 600 ของยุโรปที่ปรับตัวลง 0.1% ในภาพรวมตลาดการเงินได้รับแรงบวกจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐ แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกอยู่ และเงินเยนก็อ่อนค่าลงหลังจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

ล่าสุด BOJ ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงจาก 1.4% เหลือเพียง 0.9% ในปี 2019 พร้อมลดเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นลงเหลือเพียง 0.9% ด้วยเหตุผลเรื่องความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้ตลาดคาดว่า BOJ จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปอย่างไม่มีกำหลดเพื่อหนุนเศรษฐกิจให้ประคองตัวได้ก่อน

ฝั่งในประเทศ การลงทุนไทยได้รับแรงหนุนจากความชัดเจนมากทางการเมืองที่ดีขึ้นเช่นกัน ต่อจากนี้สิ่งที่นักลงทุนจะต้องติดตาม คือแนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรค เราเชื่อว่าส่วนใหญ่ จะมุ่งเป้าไปที่การแก้กฎหมายและเร่งการขยายตัวเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นบวกกับฝั่งตลาดทุน

สำหรับวันนี้ เชื่อว่าตลาดจะจับตาไปที่การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีแนวโน้มที่จะปรับประมาณการเศรษฐกิจลงเช่นเดียวกับ BOJ อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง เงินบาทอาจอ่อนค่าตามแนวโน้มนี้ได้เล็กน้อย แต่ภาพรวมเงินทุนไหลเข้าจากเรื่องเลือกตั้ง ก็น่าจะยังเป็นปัจจัยบวกที่หนุนให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ต่อ มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 31.65-31.75 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2562

พร้อมจัด Field Dayปี’62 วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่หนุนระบบแปลงใหญ่

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) คือกิจกรรมของกรมส่งเสริมการเกษตรที่จัดขึ้นทุกปี ในช่วงของการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ มีกำหนดเวลาการจัดงานที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตามช่วงเวลาของพืชพันธุ์ที่เกษตรกรปลูก โดยอาศัยการถ่ายทอดความรู้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. ดำเนินการโดยเกษตรกรต้นแบบที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชในพื้นที่ของตนเอง ทั้งนี้ งาน Field Day ยังได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้บริการความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่

ภายในงาน Field Day เกษตรกรจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ของพืชในพื้นที่ผ่านสถานีเรียนรู้ต่างๆ และนิทรรศการสินค้าและผลิตภัณฑ์ การประกวดผลผลิต การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในพื้นที่

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดเป้าหมายของงาน Field Day คือ ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น

และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวง เช่น ศพก.แปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ Zoning by Agri - MAP เป็นต้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะใช้ ศพก.เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน และ ศพก. จะเป็นสถานที่เรียนรู้ นำไปสู่การผลิตร่วมกันแบบแปลงใหญ่ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ศพก. ทั้ง 882 แห่งทั่วประเทศ มีแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้านด้วยกัน ดังนี้ 1.เตรียมความพร้อมองค์ความรู้เพื่อวางแผนการผลิต การให้ความรู้ และบริการทางการเกษตร 2.การเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช เครื่องจักร และการตรวจวิเคราะห์ดิน 3.การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเกษตร การเฝ้าระวังศัตรูพืช การให้ความรู้เกี่ยวกับสารชีวภัณฑ์ต่างๆ 4.การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม และทำแผนการผลิตรายบุคคล เกษตรกรในแต่ละพื้นที่สามารถสอบถามข้อมูลและกำหนดการการจัดงาน Field Day ได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือ ศพก.ใกล้บ้านท่าน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

พาณิชย์เตรียมร่วมเวที WEF ถกประเด็นปฏิรูป WTO และการรับมือ 4IR

พาณิชย์เตรียมร่วมเวทีเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (WEF) และการประชุมรัฐมนตรี WTO อย่างไม่เป็นทางการที่ดาวอส  ถกประเด็นปฏิรูป WTO และการรับมือ 4IR

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะเดินทางเข้าร่วมการประชุม WEF และการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ หรือ IMG ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม 2562 เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของโลกขณะนี้ เช่น การรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ที่เข้าสู่ยุคการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบออโตเมชั่น และหุ่นยนต์มาช่วยในการผลิต การปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ที่อาจส่งผลให้กลไกการระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO ชะงักงัน หากการปฏิรูป WTO ไม่มีความคืบหน้า

โดยการประชุม WEF เป็นการประชุมผู้นำเศรษฐกิจของโลก ที่มีผู้แทนระดับสูงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และวิชาการ กว่า 3,000 คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วม และในปีนี้ WEF จะเน้นประเด็นหลักเรื่องโลกาภิวัฒน์ 4.0 : กำหนดโครงสร้างโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  บทบาทของท้องถิ่นในยุค 4.0  นวัตกรรมของระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของอาเซียนและไทยที่ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  การเข้าร่วมการประชุม WEF ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้รับทราบมุมมองและแลกเปลี่ยนความเห็นกับนานาชาติในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งแสดงบทบาทในฐานะประธานอาเซียนของไทย

ทั้งนี้ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้เชิญผู้แทนระดับรัฐมนตรีของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จาก 32 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย อินเดีย คาซัคสถาน นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย รัสเซีย และตุรกี รวมทั้งสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ หรือ IMG  ซึ่งจัดต่อเนื่องกับการประชุม WEF การประชุมครั้งนี้จะเน้นการหารือเรื่องการปฏิรูป WTO ให้สามารถธำรงไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคี และให้องค์กร WTO สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจมีขึ้นในอนาคต

“การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของไทยในการร่วมรักษาบทบาทของ WTO ในระบบการค้าโลกให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะกลไกการระงับข้อพาทของ WTO ซึ่งมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก” นางสาวชุติมา กล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

470 โรงงาน ไม่พบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน PM 2.5 ก.อุตฯ ยังลุยตรวจพื้นที่เสี่ยงต่อเนื่อง

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการบริหารการป้องกันและแก้ไขปัญหา (ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน : PM 2.5) เดินหน้าดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2562) โดยระดมเจ้าหน้าที่จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจและเฝ้าระวังโรงงานเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ โดยตรวจแล้วรวมจำนวน 470 โรงงาน ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

นอกจากนี้ จากการกำกับ ดูแล ตรวจสอบผ่านระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องระบายอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitoring System, CEMS) ตลอด 24 ชั่วโมงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ จำนวน 59 โรงงาน 142 ปล่อง พบว่า มีปริมาณฝุ่นค่าเฉลี่ยที่ 0.8 – 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐานฝุ่นจากปล่องระบายของโรงงานทั่วไป คือ 240 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มาตรฐานขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของเชื้อเพลิง)

นายพสุฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการกำกับดูแลและเฝ้าระวัง กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยการ โดยมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการตรวจและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ 7,700 โรงงาน สุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่เสี่ยง 12 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และราชบุรี) อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้โรงงานในพื้นที่เสี่ยงระมัดระวังในการประกอบกิจการไม่ให้เกิดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเกิดมลภาวะทางอากาศและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจําปี 2562

 กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจําปี 2562 ภายใต้แนวคิด “เกษตร ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”หวังผลงานด้านการพัฒนาการเกษตร  และนวัตกรรมของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนําไปสู่การบูรณาการและการประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ

 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2562 ณ กรมปศุสัตว์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และจังหวัดนครศรีธรรมราช เตรียมจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจําปี 2562 ระหว่างวันที่ 1 - 9 กุมภาพันธ์ 2562 ณ บริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช อําเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้แนวคิด “เกษตร ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อเผยแพร่ผลงานด้านการพัฒนาการเกษตร ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสําคัญของอาชีพการเกษตรในฐานผู้ผลิตอาหาร และการเป็นครัวของโลก

นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า งานวันเกษตรแห่งชาติเป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีการหมุนเวียนสถานที่การจัดงานไปตามจังหวัดต่าง ๆ ของแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นเวทีในการแสดงออกถึงศักยภาพ ความก้าวหน้า นวัตกรรมต่าง ๆ ของภาคเกษตร รวมถึงเป็นการเทิดพระเกียรติและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณด้านการเกษตรของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมของนักศึกษาให้มีโอกาสแสดงออกเชิงวิชาการและทักษะภาคสนามในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

 สำหรับกิจกรรมภายในการงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณด้านการเกษตรของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย นําเสนอผ่านการจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 19 หน่วยงาน ที่นําเสนอองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อให้มีองค์ความรู้ด้านการผลิต และด้านการจัดการผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ อีกทั้งเพื่อให้เกษตรกรตลอดจนประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลอย่างครอบคลุม นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ผลงานด้านการพัฒนาการเกษตร ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยของบุคลากร การประกวดโครงงาน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนําไปสู่การบูรณาการและการประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ต่อไป

จาก www.komchadluek.net    วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

กรมชลประทาน บริหารน้ำต้นทุนจัดสรรตามความต้องการสู่เกษตรกร และประชาชน

น้ำต้นทุน ถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นน้ำที่นำมาจัดสรรใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งอุปโภค บริโภค การทำเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลัก ในการกักเก็บน้ำ และบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพ และเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละกิจกรรม โดยการวางแผนการบริหารน้ำต้นทุน ในช่วงฤดูฝน และสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นประจำในทุกๆ ปีเพื่อให้เกิดความสมดุล

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ให้รายละเอียดว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (22 ม.ค.62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 55,608 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 31,678 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,597 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,901 ล้าน ลบ.ม.

โดยที่ผ่านมา มีบริการจัดสรรน้ำเขื่อน เพื่อเสริมน้ำช่วงฤดูฝน ในทุกกิจกรรม ทั้งการอุปโภค บริโภค ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศ ส่งผลให้วันที่ 1 พ.ย.61 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในปัจจุบัน และต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ก.ค.62 นี้ จำนวน 39,570 ล้าน ลบ.ม. แม้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็มีบางแห่งที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากน้ำฝนตกในบริเวณชายขอบของประเทศ ทำให้พื้นที่บริเวณตรงกลางประเทศ มีฝนตกน้อย ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.สุโขทัย อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ต้องสงวนน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และจัดสรรน้ำตามความเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชเกษตรต่อเนื่องเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ยังสามารถบริหารจัดการได้ตามแผนในทุกกิจกรรมตามความต้องการ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ช่วยสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทาน ทั้งประเทศประมาณ 15.20 ล้านไร่ ซึ่งเป็นผลสำเร็จ 95 % จากแผนที่ตั้งไว้ 16 ล้านไร่ และในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7.08 ล้านไร่ ซึ่งแผนตั้งไว้ 7.66 ล้านไร่ คิดเป็น 93 % (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พ.ย. 61)

สำหรับการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 (ระหว่าง 1 พ.ย.61–30 เม.ย.62) ของกรมชลประทาน น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ มีน้ำต้นทุนปริมาณ 34,151 ล้าน ลบ.ม. ขนาดกลาง 3,274 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งได้สำรวจแหล่งน้ำขนาดเล็กในเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ ลำน้ำ และแก้มลิง มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ 2,145 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนรวมทั้งประเทศ 39,570 ล้าน ลบ.ม. โดยน้ำจำนวนนี้นำมาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้ง 23,100 ล้าน ลบ.ม. ช่วงระยะเวลา 1 พ.ย.61-31 ก.ค.62 เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค การทำเกษตรต่อเนื่อง อาทิ สวนผลไม้ การรักษาระบบนิเวศ และการทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือ 16,470 ล้าน ลบ.ม. จะเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้า

ปัจจุบัน ปริมาณน้ำที่ได้วางแผนการจัดสรรทั้งประเทศ ได้ดำเนินการจัดสรรแล้วร้อยละ 41 หรือคิดเป็น 9,401 ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำที่ตั้งไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้น ยังเหลือน้ำที่สามารถจัดสรรในช่วงฤดูแล้งจนถึงวันที่ 30 เม.ย.62 ในปริมาณ 13,699 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอ เพราะมีปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่สามารถใช้การได้ประมาณ 31,890 ล้าน ลบ.ม. โดยแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง เช่น การปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน วางแผนพื้นที่ทั้งประเทศ 8.03 ล้านไร่ ขณะนี้เกษตรกรปลูกแล้ว 6.80 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 จากแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค. 62)

“ยืนยันว่า น้ำที่จะใช้สนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งอุปโภค-บริโภค การทำเกษตร รักษาระบบนิเวศ แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมรณรงค์การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นการช่วยกันประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าอีกด้วย” ดร.ทองเปลว กล่าว

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

ธปท.คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ชะลอตัว

ธปท. มองไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจโลกในทิศทางเดียวกันชะลอลงจากปีที่แล้ว คาดส่งออกปีนี้โต 3.8%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกรอบล่าสุดของไอเอ็มเอฟในภาพรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ ธปท. ประเมินไว้ ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอลงจากปีที่แล้ว (เดิมไอเอ็มเอฟคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.7 เท่ากับคาดการณ์ปี 2561) โดยมีปัจจัยหลักจากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่มีทิศทางชะลอลงแรงในช่วงท้ายปีที่แล้ว ประกอบกับความชัดเจนขึ้นของผลกระทบของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และแนวโน้มความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป การชะลอลงของเศรษฐกิจโลกเป็นสาเหตุหลักที่ ธปท. ปรับลดประมาณการการส่งออกสินค้า และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งในปีที่แล้วและปีนี้ลง

โดยในปีนี้ ธปท. มองอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ร้อยละ 3.8 ต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าไอเอ็มเอฟคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ไว้ที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 3.5 ในปีนี้เล็กน้อย ชี้ว่าไอเอ็มเอฟไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงต่อเนื่อง

จาก https://www.innnews.co.th    วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

สอท.มั่นใจศก.ปีนี้แกร่งแม้ส่งออกไม่ตามเป้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีการส่งออกไทยปีที่ผ่านมาขยายตัว 6.7% จากเป้าหมาย 8% ว่า ถือว่าผิดคาดพอสมควรเพราะเดิมภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่าจะขยายตัวระดับ 7-9% อย่างไรก็ตามปีนี้กกร.คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5-7% ไม่น่าถึง 8% ตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมาย เพราะสถานการณ์ปีนี้มีปัจจัยลบมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมัน

นายสุพันธุ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะยังขยายตัวได้ดีแม้ส่งออกไม่ดีนัก เพราะจากการติดตามราคาสินค้าเกษตรพบว่าราคาปรับดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรดี กำลังซื้อก็ขยับดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ไทยยังเกินดุลการค้าต่อเนื่องในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

สอน.ลุ้นเงิน 6,500 ล้านจ่ายชาวไร่อ้อย 50 บาท/ตัน งวดแรกทันกลาง ก.พ.นี้

 “สอน.” ลุ้นหนัก หวังขั้นตอนอนุมัติงบ 6,500 ล้านบาทช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ด้านปัจจัยการผลิตจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ รอหนังสือตอบกลับจากกรมบัญชีกลางสัปดาห์นี้ หากไม่ผิดพลาดหวังจะจ่ายรอบแรกให้ชาวไร่อ้อยตันละ 50 บาทกลาง ก.พ. ส่วนเงินกลไกกองทุนอ้อยฯ 9,100 ล้านบาทไม่ต้องลุ้นมากรอบอร์ดกองทุนฯ เคาะ 23 ม.ค. ก่อนชง กอน. 28 ม.ค.อนุมัติพร้อมจ่ายได้กลาง ก.พ.แน่นอน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สอน.ได้หารือใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังที่จะดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ชาวไร่อ้อยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 61 ที่จัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 6,500 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้ชาวไร่อ้อยตันละ 50 บาทไม่เกินรายละ 5,000 ตัน โดยหากเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้จะสามารถจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายในกลางกุมภาพันธ์นี้รอบแรกก่อนสำหรับชาวไร่ที่ส่งอ้อยตั้งแต่เปิดหีบถึง 31 ม.ค. 62 จากนั้นจะจ่ายรอบ 2 หลังปิดหีบ

“การนำเงินมาใช้มีขั้นตอนพอสมควร ซึ่งต้องทำหนังสือไปยังกรมบัญชีกลางเพื่ออนุมัติหลักเกณฑ์และตรวจสอบการใช้เงิน จากนั้นทางสำนักงบประมาณจะอนุมัติให้ ธ.ก.ส.จ่ายชาวไร่อ้อยได้ ซึ่งกรมบัญชีกลางบอกว่าจะส่งหนังสือตอบกลับมาภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ทำหนังสือคำขอใช้เงินไปยังสำนักงบฯ แนบประกอบด้วย ซึ่งทั้งหมดกระทรวงฯ พยายามที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับเงินก่อนให้เร็วสุด ซึ่งปกติแล้วจะจ่ายหลังปิดหีบเพราะง่ายในการเช็กปริมาณอ้อย แต่เนื่องจากราคาอ้อยฤดูหีบปี 61/62 อยู่ระดับต่ำเพียง 700 บาทต่อตัน” นางวรวรรณกล่าว

ส่วนเงินกลไกจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายวงเงิน 9,100 ล้านบาทที่จะนำมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยนั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันที่ 28 ม.ค.นี้เพื่ออนุมัติการดำเนินงานกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือ โดยยอมรับว่าแนวโน้มชาวไร่อ้อยจะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากส่วนนี้ก่อน อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินคงจะแบ่งจ่ายเช่นเดียวกันและจะเน้นไม่ให้ตัวเลขการช่วยเหลือเท่ากันที่ 50 บาทต่อตันเพื่อป้องกันความสับสน

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กล่าวว่า วันที่ 23 ม.ค.นี้บอร์ดกองทุนอ้อยฯ จะสรุปแนวทางการจ่ายเงินที่เป็นการใช้เงินกลไกของกองทุนฯ ที่มีอยู่มาบริหาร จากนั้นจะเสนอ กอน.เห็นชอบและสามารถจ่ายเงินได้ทันทีคาดว่าคงจะไม่เกินกลาง ก.พ.นี้ โดยรอบแรกจะจ่ายให้ชาวไร่ที่ส่งอ้อยเข้าหีบตั้งแต่เปิดหีบถึง 31 ม.ค. คาดว่าจะเป็นวงเงินราว 4,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นหลังปิดหีบแล้ว

“เราคงจะต้องมาประเมินอ้อยเข้าหีบให้ดีด้วย จากนั้นก็จะดูว่าจ่ายเท่าใดจึงจะไม่เป็นปัญหาที่สุดท้ายจ่ายเกินไปก็จะลำบาก โดยก็กำลังดูว่าจะเป็น 50 กว่าเท่าใดแน่” นายวีรศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

"กรมชลฯ"มั่นใจน้ำในเขื่อนเพียงพอ

น้ำต้นทุนมีเพียงพอ 3.9 หมื่นล้านลบ.ม.ทั้งในเขื่อน-แหล่งน้ำ-แก้มลิง กันน้ำเผื่อฝนมาช้า แนะพักทำนารอบสองเปลี่ยนปลูกข้าวโพด ใช้น้ำน้อย ลดต้นทุน

                 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (22 ม.ค.62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 55,608 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 31,678 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ทั้งนี้เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,597 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,901 ล้าน ลบ.ม.

                  สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 (ระหว่าง 1 พ.ย.61–30 เม.ย.62) ของกรมชลประทาน น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ มีน้ำต้นทุนปริมาณ 34,151 ล้าน ลบ.ม. ขนาดกลาง 3,274 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งได้สำรวจแหล่งน้ำขนาดเล็กในเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ ลำน้ำ และแก้มลิง มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ 2,145 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นน้ำต้นทุนรวมทั้งประเทศ 39,570 ล้าน ลบ.ม. โดยน้ำจำนวนนี้นำมาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้ง 23,100 ล้าน ลบ.ม. ช่วงระยะเวลา 1 พ.ย.61 - 31 ก.ค.62 เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค การทำเกษตรต่อเนื่อง อาทิ สวนผลไม้การรักษาระบบนิเวศ และการทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือ 16,470 ล้าน ลบ.ม. จะเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้า

                 ทั้งนี้ปัจจุบัน ปริมาณน้ำที่ได้วางแผนการจัดสรรทั้งประเทศ ได้ดำเนินการจัดสรรแล้วร้อยละ 41 หรือคิดเป็น 9,401ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำที่ตั้งไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้น ยังเหลือน้ำที่สามารถจัดสรรในช่วงฤดูแล้งจนถึงวันที่30 เม.ย.62 ในปริมาณ 13,699 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอ เพราะมีปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก

                 โดยแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง เช่น การปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน วางแผนพื้นที่ทั้งประเทศ 8.03 ล้านไร่ ขณะนี้เกษตรกรปลูกแล้ว 6.80 ล้านไร่คิดเป็นร้อยละ 85 จากแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค. 62)

                “น้ำที่จะใช้สนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งอุปโภค-บริโภค การทำเกษตร รักษาระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งนี้มีเพียงพอตามแผนที่วางไว้แน่นอน แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมรณรงค์การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา พักทำนารอบสอง ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นการช่วยกันประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าอีกด้วย” นายทองเปลว กล่าว

จาก www.komchadluek.net     วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

ห่วงเงินบาทแข็งฉุดเศรษฐกิจ

ห่วงเงินบาทแข็งค่าฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ เหตุทุนสำรองระหว่างประเทศและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง

บลูมเบิร์ก รายงานว่าค่าเงินบาทแข็งกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หลังสงครามการค้าเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทแข็งเป็นปัจจัยน่าวิตกและเสี่ยงส่งผลกระทบต่อการส่งออก

บลูมเบิร์ก ระบุว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 5% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยหนุนเงินบาทแข็งค่ามาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ระดับสูงอยู่ที่ 2.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าต่อ ขณะที่นายประกาศ สักปาล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเอเชียของธนาคารไอเอ็นจีกล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในไทยอาจเป็นปัจจัยสกัดการแข็งค่าของเงินบาทในปีนี้

ขณะเดียวกัน บลูมเบิร์ก ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าจะยิ่งกดดันให้เงินเฟ้อต่ำลงอีก แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 1.75% เมื่อเดือน ธ.ค

นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำอาจทำให้วงจรการขึ้นดอกเบี้ยของไทยหยุดชะงักลงเป็นเวลานาน พร้อมคาดการณ์ว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้ราวช่วงไตรมาส 4

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เพราะจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินมาก หลังมีรายงานว่าจีนจะพยายามเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อจะลดยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐ รวมถึงติดตามการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

ส่งออกปี61หลุดเป้า8%ทำได้แค่ 6.7%

กระทรวงพาณิชย์ เผย ส่งออกปี 61 ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่คาด ทำได้แค่ 6.7% เชื่อฟื้นได้ไตรมาส 2 ปี 62

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการส่งออกของประเทศ ในปี 2561 พบว่า การส่งออกขยายตัวร้อยละ 6.7 คิดเป็นมูลค่า 252,486 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดไว้ว่าในปี 2561 การส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8 ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.51 คิดเป็นมูลค่า 249,231 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลทำให้ดุลการค้าของประเทศในช่วงปี 2561 ยังคงเกินดุลที่ 3,254 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม มองว่าตัวเลขการส่งออก ในปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 นั้นถือเป็นตัวเลขที่ไม่ได้เลวร้าย ท่ามกลางภาวะการค้าโลกที่มีความผันผวน โดยทาง สนค. เชื่อว่าการส่งออกของไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 และยังคงเป้าหมายการขยายตัวไว้ที่ร้อยละ 8 แต่ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยที่ยังคงแข็งค่า

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2562

กรมชลฯเข้มแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ยันปีนี้มีพอใช้ในกิจกรรมทุกด้าน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำช่วงฤดูแล้งว่า กรมชลประทานเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาจำนวน 39,570 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)โดยเก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง 34,151 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง 3,274 ล้านลบ.ม. และแหล่งน้ำจากหน้าฝายทดน้ำ แก้มลิงต่างๆ ก 2,145 ล้านลบ.ม. พร้อมทั้งได้ทำการวางแผนจัดสรรไว้ใช้ในกิจกรรมการใช้น้ำในด้านต่างๆ 23,100 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 58 ของน้ำที่ใช้การได้ แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อเกษตรกรรม 13,953 ล้านลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 6,440 ล้านลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้านลบ.ม. เพื่อการอุตสาหกรรม 303 ล้านลบ.ม. และน้ำที่เหลืออีก 16,470 ล้านลบ.ม. (ร้อยละ 42 ของน้ำที่ใช้การได้) เก็บเป็นน้ำสำรองไว้ต้นฤดูฝน กรณีฝนมาล่าช้า หรือฝนทิ้งช่วย

“เมื่อเริ่มเข้าสู่ปีใหม่ 256 เราใช้น้ำไปแล้ว 7,750 ล้านลบ.ม. และทำนาปรังแล้ว 4.78 ล้านไร่จากแผน 8.03 ล้านไร่ แต่เมื่อตรวจสอบปริมาณน้ำทั้งหมดพบว่ามีน้ำเหลืออยู่ถึง 34,970 ล้านลบ.ม. แสดงว่ามีมวลน้ำไหลเพิ่มขึ้น 3,150 ล้านลบ.ม. ซึ่งเป็นผลจากน้ำฝนที่เติมเข้าเขื่อนช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เรามีน้ำสำรองก่อนที่ฝนปีนี้จะมามากขึ้น เสถียรภาพความมั่นคงในเรื่องน้ำจึงมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี กรมชลประทานยังคงส่งน้ำตามแผนเดิม จากนี้ต่อไปยังเหลือน้ำที่ต้องจัดสรรน้ำให้กิจกรรมการการใช้น้ำในด้านต่างๆอีก 15,350 ล้านลบ.ม. กรมชลประทานขอยืนยันว่าจากตอนนี้ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ประชาชนและเกษตรกรจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอทุกกิจกรรมในเขตชลประทานอย่างแน่นอน” ดร.ทองเปลวกล่าว

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า ฤดูแล้งปี 2561 / 2562 ไม่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ แต่มีอ่างเก็บน้ำบางแห่งที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน 2561 จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำแม่มอกจ.สุโขทัย จะไม่มีการจัดสรรน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/ 62 อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา จะจัดสรรน้ำสนับสนุนเฉพาะการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก พืชใช้น้ำน้อย อย่างไรก็ตาม ทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์จนถึงเดือนกรกฎาคม 2562

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 6 แห่งดังกล่าวมีคณะกรรมการ Joint Management Committee (JMC) วางแผนใช้น้ำให้เหมาะสมกับน้ำต้นทุน ดังนั้นสิ่งที่หลายคนกังวลว่าน้ำน้อยแล้วจะเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำ จึงไม่เกิดขึ้นเลย เพราะจากการติดตามตรวจสอบไม่พบผู้ใดฝ่าฝืนกติกาหรือมติคณะกรรมการ JMC ด้านเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับดินและน้ำ โดยใช้ Agri Map ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำ ประหยัดต้นทุน ผลผลิตไม่เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2562

พาณิชย์มอบความรู้ประโยชน์FTA

กรมการค้าต่างประเทศ เตรียมจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการ ใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดจัดสัมมนาโครงการสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เรื่อง “การค้าก้าวไกล ก้าวไปกับการใช้สิทธิประโยชน์” ในวันที่ 24 มกราคมนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง ให้ทราบถึงความคืบหน้าการเจรจาล่าสุด ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ทั้ง 12 กรอบ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงต่างๆได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ในปี 2562 กรมฯ มีแผนการจัดสัมมนาภายใต้โครงการสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ต่อเนื่องอีกจำนวน 4 ครั้ง ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 21 มกราคม 2562

นายกฯ เกษตรสระแก้วแจงเกษตรกรเผาไร่อ้อยจนเกิดมลพิษทางอากาศเพราะขาดแรงงาน

สระแก้ว - นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพาสระแก้ว ออกโรงแจงเหตุเกษตรกรเผาไร่อ้อยจนสร้างปัญหามลพิษเพราะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก หลังภาคอุตสาหกรรมในกัมพูชาขยายตัวจนแรงงานไม่ออกมารับจ้างนอกประเทศ ต้องจำใจเผาอ้อยให้ทันส่งโรงหีบ

จากกรณีในพื้นที่ จ. สระแก้ว และบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ต้องประสบปัญหาคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองที่เพิ่มสูงถึงระดับ 170 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จนเข้าสู่ภาวะสีส้ม ซึ่งหมายถึงสภาพอากาศที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาคือ การเผาไร่อ้อยของเกษตรกรในพื้นที่ และกลุ่มเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ (20 ม.ค.) การตรวจวัดตัวเลขปริมาณฝุ่นละอองและสถานการณ์คุณภาพอากาศใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ของกรมควบคุมมลพิษ ยังพบว่าคงอยู่ในระดับสีส้ม และมีค่าฝุ่นละอองอยู่ที่ 109 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรนนั้น

ล่าสุด นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ได้ออกมาชี้แจงถึงความจำเป็นในการเผาไร่อ้อยของเกษตรกรในพื้นที่ว่า เนื่องจาก จ.สระแก้ว มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 500,000 ไร่ และมีอ้อยส่วนหนึ่งที่โรงงานน้ำตาลในจังหวัดหีบไม่หมด จนต้องส่งไปทำการหีบใน จ.ชลบุรี อีกประมาณ 800,000 ตัน ซึ่งขณะนี้เกษตรกรใน จ.สระแก้ว มีการตัดอ้อยที่ถูกเผาแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด และปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ทางสมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และยังเตรียมจัดทำแผนบริหารจัดการเรื่องการเผาไร่อ้อยในระยะ 5 ปี เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

“เราจะต้องแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อยของเกษตรกรในพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากส่วนหนึ่งเรามีงบประมาณในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้ผู้ประกอบการโรงหีบอ้อยกว่า 50 โรงงานเพื่อนำไปซื้อรถตัดอ้อย โดยมีองค์กรชาวไร่อ้อยและโรงงานค้ำประกัน การชำระหนี้ให้ถึง 8 ปี ภายใต้อัตราดอกเบี้ยเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนนี้จะสามารถลดปัญหามลพิษจากการเผาไร่อ้อยในประเทศได้”

ขณะที่การเข้ามาของแรงงานชาวกัมพูชาเพื่อรับจ้างตัดอ้อยในปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่ามีมากถึง 22,000 คน แต่ในปี 2561 กลับมีแรงงานกัมพูชาเข้ามารับจ้างตัดอ้อยเพียง 15,000 คน จึงถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงทำให้เกษตรกรเลือกใช้วิธีเผาอ้อย แทนการใช้แรงงานเพื่อให้ทันต่อความต้องการ

“ที่เป็นเช่นนี้เพราะภาคอุตสาหกรรมในประเทศกัมพูชา มีความต้องการแรงงานก่อสร้างจำนวนมาก จึงมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานเท่ากับค่าจ้างของไทย จึงทำให้แรงงานกัมพูชาที่เคยเข้ามาตัดอ้อยในฝั่งไทยลดลงจนสร้างปัญหาให้แก่ชาวไร่อ้อยจนไม่สามารถตัดอ้อยได้ทันฤดูหีบอ้อย ซึ่งหากไม่เผาก็จะตัดลำบาก”

นายมนตรี ยังเผยอีกว่า การตัดอ้อยสด หากใช้แรงงานคนจะตัดได้เพียงวันละ 100 มัด แต่หากตัดอ้อยไฟไหม้แรงงานจะสามารถตัดได้ถึงวันละ 300 มัด จึงทำให้ชาวไร่เลือกที่จะใช้วิธีดังกล่าว แต่การเผาอ้อยก็ส่งผลกระทบเรื่องปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งทางสมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และองค์กรชาวไร่อ้อยได้พยายามทำตามนโยบายรัฐบาล และพยายามแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว พร้อมฝากวอนไปยังรัฐบาลให้เร่งสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลดปัญหาเผาไร่อ้อยเป็นการด่วน

จาก https://mgronline.com   วันที่ 20 มกราคม 2562

เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 8 เดือน ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงขายจากนักลงทุนสถาบัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (21-25 ม.ค. 2562) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน ก่อนลดช่วงบวกลงเล็กน้อยปลายสัปดาห์ โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการฟื้นตัวขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด สัญญาณที่ตอกย้ำแนวโน้มการชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากรองประธานเฟด และภาวะชัตดาวน์หน่วยงานราชการสหรัฐฯ ที่ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกบางส่วนลงก่อนปิดตลาดในประเทศช่วงปลายสัปดาห์ ในวันศุกร์ (18 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.70 หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือนที่ 31.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ม.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศ น่าจะอยู่ที่ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนธ.ค. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนี PMI สำหรับเดือนม.ค. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น สถานการณ์ BREXIT ของอังกฤษ ภาวะชัตดาวน์ของสหรัฐฯ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/61 ของจีน และดัชนี PMI เดือนม.ค. (เบื้องต้น) ของประเทศชั้นนำของโลก

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,583.77 จุด ลดลง 0.83% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 2.69% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 43,972.09 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 1.20% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 357.62 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก หลังจากสหรัฐฯ และจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจซึ่งต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ ขณะที่ แรงขายจากนักลงทุนสถาบันก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาด อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากข่าวที่ว่าสหรัฐฯ อาจผ่อนปรนมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,575 และ 1,565 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,595 และ 1,610 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 4/2561 ของบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์ชัตดาวน์ของสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. และดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของประเทศในแถบยุโรปและญี่ปุ่น และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/61 ของจีน

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 20 มกราคม 2562

ชาวอู่ทองสุดทน! โวยโรงงานน้ำตาล ปล่อยกลิ่นเหม็น กระทบทางเดินหายใจ

ชาวอู่ทองโวย บ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานน้ำตาลส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง กระจายไกลรัศมี 5 กิโลเมตร ล่าสุดพ่อเมืองสุพรรณบุรี สั่งให้เร่งแก้ไขด่วนแล้ว หากพบปล่อยปละละเลย ดำเนินการตามกฏหมายทันที

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.62 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาว อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ว่า ช่วงระยะนี้มีกลิ่นเหม็นเน่าอย่างรุนแรงฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งตลาดอู่ทอง และใกล้เคียงรัศมีเป็นวงกว้างกว่า 5 กิโลเมตร จึงพร้อมด้วยนายสุนทร ทองฤทธิ์ นายก อบต.หนองโอ่ง และผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ พบต้นตอของกลิ่นเหม็นเน่าดังกล่าวเกิดจากระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมอู่ทอง ตั้งอยู่ ต.หนองโอ่ง อ.อู่ทอง มีปัญหาทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้นายสุธีร์ ทวีวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต โรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมอู่ทอง ได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุที่เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นมาจากปริมาณน้ำตาล ออกมาเยอะเกินกว่าที่บ่อบำบัดน้ำเสียที่ถูกออกแบบไว้ ทำให้การย่อยสลายไม่ทันเลยเกิดกลิ่นเหม็นขึ้น ซึ่งทางโรงงานกำลังเร่งดำเนินการปรับค่า PH ของน้ำเสียซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า ตอนนี้ค่า pH อยู่ที่ 4.5 ซึ่งต่ำเกินไปทำให้เกิดกลิ่น จึงใช้ปูนขาว 300 คิว สาดลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสีย เพื่อปรับค่า pH หลังดำเนินการในเบื้องต้นค่า pH ขึ้นมาอยู่ที่ 4.8 ทำให้กลิ่นเหม็นเริ่มน้อยลง ซึ่งจะมีการเติมปูนขาวไปเรื่อยๆ คาดว่าในวันนี้ค่า pH น่าจะขึ้นมาที่ 5.0

 สำหรับมาตรการต่อไปจะพยายามไม่ให้น้ำเสียอยู่นิ่ง โดยจะใช้เครื่องปั๊มน้ำ 2 ตัวดูดน้ำให้วนเพื่อเติมออกซิเจนช่วยลดกลิ่น พร้อมการเติม EM เพื่อในการดับกลิ่นด้วย ซึ่งในระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานมีทั้งหมด 7 บ่อ แต่ที่มีปัญหามี 2 บ่อ จึงได้ดำเนินการควบคุมให้อยู่ใน 2 บ่อนี้ไม่ให้กระจายต่อไปในบ่อที่เหลือ ส่วนในมาตรการระยะยาวจะมีการเช็คค่า pH ของระยะทางและจะทำการปรับค่า pH ตั้งแต่ในโรงงานออกมาเลย พร้อมควบคุมค่า pH ให้อยู่ในระดับ 5.0 ขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดกลิ่น ขอยืนยันว่าโรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วันในการควบคุมปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น

ทางด้านนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เผยว่า ตนได้รับรายงานเหตุดังกล่าวแล้ว ได้สั่งการให้นายอำเภออู่ทอง อุตสาหกรรมจังหวัด กรมควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม ระดมกำลังเข้าไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว รวมทั้งให้วางมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างถาวรด้วย เนื่องจากกลิ่นเหม็นที่รุนแรงลักษณะนี้จะไปกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของชาวบ้าน จะใช้เวลาแก้ไขนานไม่ได้ รวมทั้งหากพบว่าสาเหตุที่เกิดเป็นการปล่อยปละละเลย จะต้องดำเนินการตามกฏหมายต่อไปด้วย

ขณะที่ น.ส.พักตร์พิไล โรจนวิวัฒน์ ร้านรุ้งเพชรสมาร์ทโฟน ชาวบ้านในตลาดเทศบาลตำบลอู่ทอง กล่าวว่า ตนกำลังตั้งครรภ์อยู่ เริ่มได้กลิ่นเน่ารุนแรงมาก มีกลิ่นเปรี้ยวลักษณะหมักหมมมาหลายวันแล้ว ตนกำลังตั้งท้องและอยู่ในช่วงแพ้ท้องด้วย พอมาได้กลิ่นเหม็นเน่านี้ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนวันละเป็นสิบหน ทำให้รู้สึกแย่ ซึ่งอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแล ให้มีระบบการจัดการกับกลิ่นดังกล่าวให้ได้โดยเร็ว ไม่ให้ก่อความรบกวนแก่ประชาชน

ส่วนนางเวียงจันทร์ ดีสุขแสง เจ้าของร้านบ้านขนมหอม ชาวบ้าน หมู่ 5 บ้านเขาพระ กล่าวว่า ตนมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้อยู่แล้วและได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นเน่ามา 4-5 วันแล้ว จึงพยายามหาที่มาของกลิ่นจนทราบว่ากลิ่นดังกล่าวว่ามาจากโรงงานน้ำตาล ซึ่งส่งผลกระทบแก่ตนเองรวมไปถึงเด็กนักเรียน มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงอยากให้โรงงานน้ำตาลและผู้มีความเกี่ยวข้อง เข้ามาจัดการเรื่องกลิ่นให้ดีกว่านี้แบบเร่งด่วนและถาวรจะได้ไม่เกิดผลกระทบอีกในอนาคต.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 19 มกราคม 2562

‘หวานบุรี’ เพิ่มมูลค่าอ้อย

โดย วราภรณ์ เทียนเงิน

จากพนักงานสาวออฟฟิศสู่สมาร์ทฟาร์เมอร์รุ่นใหม่ กับการสร้างแบรนด์ “หวานบุรี” ที่นำอ้อยจากไร่มาแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารพร้อมมุ่งต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง จากการเห็นโอกาสของตลาดและความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่สนใจดูแลสุขภาพ

 “ศิริภา ฐิติพงศ์ประภัทร” ผู้ก่อตั้งแบรนด์หวานบุรี (WANBURI) เปิดเผยว่า แบรนด์หวานบุรีที่ได้นำผลผลิตจากไร่แสงอรุณ ที่มีการปลูกอ้อยมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี นำมาแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งน้ำอ้อยสดปลอดสารเคมีและกราโนล่า ธัญพืชอบกรอบ เป็นต้น รวมถึงจะมีการทำเมนูขนมปังและขนมต่างๆ ที่มีส่วนผสมจากไซรัปอ้อยปลอดสารเคมี

ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรจากไร่แสงอรุณ สู่แบรนด์หวานบุรีที่มีจุดเด่นจากการเลือกวัตถุดิบสดใหม่จากไร่และปลอดจากสารเคมี รวมถึงไม่มีการใส่สารปรุงแต่งใดๆ จึงได้รสชาติหวานจากธรรมชาติ รวมถึงเมื่อนำไซรัปอ้อยไปใช้ในส่วนผสมอาหารต่างๆ ที่ให้รสชาติที่มีกลิ่นของอ้อยผสมอยู่ด้วย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ถือเป็น “Low GI” ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ที่ร่างกายจะดูดซึมไปใช้อย่างช้าๆ

“ไร่แสงอรุณ” ก่อตั้งโดย “คุณพ่ออรุณ เหลืองสดใส” โดยมีการปลูกอ้อยและพืชผักต่างๆ อยู่ในพื้นที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 500 ไร่ และจะส่งผลผลิตให้แก่โรงงานน้ำตาลมากว่า 50 ปีแล้ว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีพัฒนาการปลูกให้ทันสมัยขึ้น ผสมผสานไปกับการปลูกพืชแบบผสมผสาน และลดการใช้สารเคมีต่างๆ อีกทั้งได้ศึกษาวิธีการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าพร้อมกับพัฒนาการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้ได้วัตถุดิบที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งไม่เจือสี ไม่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ ไม่ใส่สารกันบูด และไม่ใส่สารเคมีใดๆ

“เป็นคน กทม. เรียนจบมาทางด้านบริหารธุรกิจเอกการเงิน และทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ ไม่มีความรู้ในด้านการเกษตร และเมื่อมาพบรักกับแฟนทำให้ได้ย้ายมาอยู่ที่กาญจนบุรี และเข้ามาช่วยไร่แสงอรุณของพ่อแฟน โดยคุณพ่อจะดูแลบริหารไร่แสงอรุณมาตลอด และมีความสนใจอยากนำผลผลิตจากไร่มาแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ”ศิริภา กล่าว

ขณะเดียวกันการนำเสนอผลิตภัณฑ์จะมีกลุ่มลูกค้าหลักที่มีความสนใจในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในเมืองที่ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ระดับสูง ส่วนช่องทางการตลาดจะมีทั้งการเปิดจำหน่ายผ่านร้านฟาร์มเมดที่อยู่ในตลาดอ.ต.ก. รวมถึงช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก https://th-th.facebook.com/wanburi และมีการออกบูธตามพื้นที่ต่างๆ

นอกจากไร่แสงอรุณที่คุณพ่อจะดูแลแล้ว ครอบครัวยังมีการทำฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ ที่จะผลิตส่งให้แก่โรงงานที่ได้ทำสัญญาซื้อขายไว้ โดยฟาร์มไก่เนื้อตนเองจะช่วยดูแลพร้อมกับแฟน โดยการเข้ามาดูแลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรจะต้องมีการศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาร่วมใช้บริหารฟาร์มพร้อมกันนี้ได้เข้าร่วมโครงการ “ยัง สมาร์ทฟาร์เมอร์” ของ จ.กาญจนบุรี ด้วย

“ศิริภา” กล่าวต่อว่า พร้อมที่จะนำผลผลิตจากไร่แสงอรุณที่มีการปลูกผักสวนครัวต่างๆ ทั้งพริก ผักชี กระชาย ข้าวโพด และกล้วย นำมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต และจะมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอ้อยออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองเทรนด์ของผู้บริโภค

จาก https://mgronline.com   วันที่ 19 มกราคม 2562

โฉมใหม่น้ำตาลอ้อย “มิตรผล” ในถุงกระดาษย่อยสลายได้ตามธรรมชาติรายแรก

น้ำตาลมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายแรกของไทยที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพมาตรฐานโลก BONSUCRO® น้ำตาลเจ้าแรกที่ใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เปิดตัวน้ำตาลอ้อยธรรมชาติ โฉมใหม่ ในถุงกระดาษ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ ในบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ”

 โดยด้านนอกของบรรจุภัณฑ์ทำจากกระดาษคราฟ ด้านในป้องกันความชื้นด้วยพลาสติกชีวภาพชนิดพิเศษที่ผลิตจากพืช สามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ในสภาวะปุ๋ยหมักโดยไม่ต้องพึ่งพาโรงย่อยสลายอุตสาหกรรมแต่อย่างใด และไม่ทิ้งสารพิษตกค้างทำลายสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น พลาสติกนับเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่เร่งการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลกทั้งในระบบนิเวศทางทะเลและบนบกซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 6 ประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา สะท้อนถึงปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาร่วมกันใส่ใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “จากปัญหาปริมาณขยะพลาสติกของโลกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง กลุ่มมิตรผลในฐานะองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยมากว่า 60 ปี จึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดการในทุกกระบวนการผลิตที่ใส่ใจดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ภายใต้แนวคิด ‘สร้างคุณค่า สร้างอนาคต’ การเปิดตัวแพคเกจจิ้งใหม่ครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกลุ่มมิตรผล ที่เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลปกป้องโลกใบนี้ของเราให้น่าอยู่ต่อไป”

น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ มิตรผล โฉมใหม่ในถุงกระดาษ เริ่มวางจำหน่ายแล้ววันนี้ที่ LINE@mitrpholsugar และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไป

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 18 มกราคม 2562

ก.อุตฯ ลุยตรวจยังไม่พบโรงงานทำให้เกิดฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน กำชับควบคุมมลพิษขั้นสุด

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณี “เพจหมอแล็บแพนด้า” @MTlikesara ลงเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนว่า ภาคอุตสาหกรรมโรงงานเป็นแหล่งกำเนิดต้นเหตุของฝุ่นละออง PM 2.5 กว่า 30% นั้น จากผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ (โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล กรมควบคุมมลพิษ พ.ศ.2561) พบว่าฝุ่นละอองส่วนใหญ่ 52% เกิดจากไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์, 35% เกิดจากการเผาชีวมวลจากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง, 8% เกิดจากฝุ่นละอองทั่วไปและจากการก่อสร้าง, 4% เกิดจากโรงงานจากปล่องระบาย และ 1% เกิดจากดินจากบริเวณที่เป็นพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้มงวดในการกำกับ ดูแล สถานประกอบการอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงสำรวจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หากพบความผิดจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) มาตรการป้องกันโดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศกำกับดูแลให้โรงงานระบายอากาศตามมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด 2) มาตรการแก้ไขปัญหาโดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ 7,700 โรงงานสุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และราชบุรี) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2562 มอบหมายให้นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตวังทองหลาง เข้าตรวจสอบโรงงานใน 2 พื้นที่ คือ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ และอำเภอ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี และได้กำชับให้โรงงานในพื้นที่ระมัดระวังในการประกอบกิจการไม่ให้เกิดมลพิษที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และได้สั่งการให้กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ได้เข้าตรวจวัดปล่อง หม้อไอน้ำของโรงงานในวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เพื่อรายงานผลและ สั่งการต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เร่งรัดขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ (S-Curve) เพื่อลดการเกิดมลภาวะทางอากาศและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ได้อย่างสมดุล และยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 18 มกราคม 2562

“อาเซียน” เชนจ์สู่อุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยีแทนคน-ลดต้นทุนการค้า 10%

ในงานสัมมนาเปิดตัวการเป็นประธานอาเซียนของไทย “การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับ 4IR” ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงพาณิชย์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นก้าวแรกในการจับมือในครั้งนี้ของกลุ่มอาเซียน เพื่อประกาศถึงความพร้อมปฏิวัติตัวเองเพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (4IR) ในการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล หุ่นยนต์ ผลักดัน GDP อาเซียนให้ขยับขึ้นจากปัจจุบันที่มี 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นายดาโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า 4IR กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อชีวิต ดังนั้น อาเซียนวันนี้ต้องช่วยกันเตรียมพร้อม พัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวไปสู่ 4IR และใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ที่หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการมากขึ้น หลายประเทศ และไทยเองได้วางนโยบายรองรับอุตสาหกรรม 4.0 แผนปฏิบัติทันที 5 ด้านคือ 1.จัดทำแผนงานบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน

2.จัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน 3.จัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับ 4IR 4.การจัดทำแถลงการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง 4IR และ 5.ส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน โดยจัดทำแนวทางให้ไมโครเอสเอ็มอี (MSMEs) เข้าระบบ เข้าตลาดโลก เพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ให้เติบโตจาก 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน เป็น 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568

เอกชนเร่งปรับตัว

อย่างไรก็ตาม นับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีจากภาคเอกชนที่ขานรับ ด้วยคาดการณ์ว่าในอนาคตอีกไม่นานเครื่องจักรจะเข้าแทนคนถึง 50% ขณะที่อีก 50% จะต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน กล่าวว่า ยุค 4IR การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เริ่มมีผลกระทบบ้างแล้ว โดยเทคโนโลยีเข้ามาสร้างทั้งโอกาส และหากไม่ปรับตัวก็จะเสี่ยงเกิดวิกฤต 50 : 50 อย่างไรก็ตาม เราพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่เตรียมความพร้อมในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา ส่วนไมโครเอสเอ็มอี (MSME) ควรกระตือรือร้นเตรียมความพร้อมรับมือก่อนที่จะมีปัญหา ปัจจุบันหลาย ๆ ธุรกิจยังไม่เข้าใจ ดังนั้นควรมีการศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี เพราะกุญแจสำคัญคือ การเอาใจใส่โครงสร้างดิจิทัลและมนุษย์

ดร.โธมัส คอก หุ้นส่วนอาวุโส McKinsey ที่กล่าวว่า การปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อสร้างการแข่งขันในอาเซียนนั้น จะมีการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคนถึง 50% เราจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเทคโนโลยีปรับปรุงตลอดเวลา การปฏิวัติไม่สามารถหยุดยั้งได้ เพราะอินเทอร์เน็ตเดินไปข้างหน้าอยู่ตลอด อย่างเกิดขึ้นของเมืองอัจฉริยะ (smart city) เป็นต้น

ลดต้นทุนธุรกรรมขนส่ง 10%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มอบให้สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและตะวันออก (ERIA) คำนวณต้นทุนทางธุรกรรมทางการค้า (trade transaction cost) ของสมาชิก โดยมีเป้าหมายลดต้นทุนให้ได้ 10% ในปี 2563

ซึ่งเป็นปีแรกที่จะมีเก็บตัวเลข เช่น ต้นทุนจากระยะเวลาที่สินค้าอยู่ที่ด่าน ท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าร่วมกัน 2 เท่าในปี 2568 โดยปัจจุบันอาเซียนทำการค้าโลก มูลค่า 2.57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และอาเซียน-ไทย มีการค้ามูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โต 15% คิดเป็นสัดส่วน 22% ของการค้าโลก

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 18 มกราคม 2562

“พาณิชย์” เตรียมแผนรับมือสหราชอาณาจักร-อียู หากมีความชัดเจนมากขึ้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมประเมินสถานการณ์ทางการเมืองของสหราชอาณาจักรในกรณีเสนอแผนเบร็กซิตฉบับใหม่ต่อรัฐสภาอย่างใกล้ชิด เชื่อกระทบภาพรวมการค้าไทยไม่มาก และอาจใช้โอกาสนี้สร้างข้อได้เปรียบทางการค้าแก่ไทย เปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหราชอาณาจักร

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากจะมีผลต่อการค้ากับไทยได้ต่างกันในแต่ละกรณี โดยหลังจากนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ชนะการลงมติไม่ไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 และมีแผนที่จะเสนอแผนเบร็กซิตฉบับใหม่ต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักรในวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562 นี้ โดยขณะนี้ต้องรอดูว่าสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูจะเป็นไปในทิศทางใด โดยสหราชอาณาจักรอาจตัดสินใจออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ (No deal) หรือมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การจัดการลงประชามติในเรื่องเบร็กซิต ครั้งที่ 2 การยื่นขอเจรจาแก้ไขความตกลงเบร็กซิตกับอียู หรือการขอขยายเวลาการออกจากอียู จากกำหนดเดิมในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ออกไป ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดังกล่าวมีความชัดเจน และทั้งสองฝ่ายสามารถให้สัตยาบันต่อความตกลงเบร็กซิต ตามกรอบความสัมพันธ์ในอนาคตที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 สหราชอาณาจักรก็จะมีเวลาปรับตัวและมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 21 เดือน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก่อนออกจากอียูอย่างเต็มรูปแบบ และจะช่วยลดความเสี่ยงของภาคธุรกิจตลอดห่วงโซ่การผลิตได้ในระดับหนึ่ง

โดยระหว่างนี้ผลกระทบจากเบร็กซิตต่อไทยอาจประเมินได้ใน 3 ด้าน คือ (1) ด้านภาพรวมการค้า เบร็กซิตน่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมการค้าไทยไม่มาก เนื่องจากในช่วงแรกกฎระเบียบของสหราชอาณาจักรต่อประเทศที่สามน่าจะยังยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากความต้องการซื้อที่ลดลงของสหราชอาณาจักร เนื่องจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ (2) ด้านสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่อียูมีการกำหนดโควตาภาษีกับไทยในปัจจุบัน เช่น สัตว์ปีกแช่เย็นและแช่แข็ง มันสำปะหลัง และข้าวนั้น เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียูจะต้องมีการแบ่งโควตาภายใต้องค์การการค้าโลกระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักร ไทยจึงต้องเร่งเจรจากับทั้งสองฝ่ายเพื่อไม่ให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่เคยได้ในตลาดทั้งสอง อย่างไรก็ตาม การที่สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูทำให้ต้องเร่งหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ จึงเพิ่มโอกาสของไทยในการเจรจาความตกลงทางการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหราชอาณาจักร หากมีการเจรจาในเวลาที่เหมาะสม (3) ด้านการลงทุน เป็นโอกาสที่ดีที่จะชักชวนนักลงทุนสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และในสาขาที่สหราชอาณาจักร มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การบินและโลจิสติกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมของไทย และการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าลำดับที่ 18 ของไทย และอันดับที่ 2 จากอียู ปี 2560 มีมูลค่าการค้าประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.53 ของการค้าทั้งหมดของไทย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 18 มกราคม 2562

ปลัดอุตฯ ยันไม่พบโรงงานก่อให้เกิดฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน คุมเข้มพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัด

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยันขณะนี้ยังไม่มีรายงานโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานกางผลศึกษากรมมลพิษยัน รับไม่ได้นิ่งนอนใจสั่งหน่วยงานกำกับทุกส่วนกำกับใกล้ชิดหากพบต้องลงโทษเด็ดขาด เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัดใกล้ชิด

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณี “เพจหมอแล็บแพนด้า” @MTlikesara ลงเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนว่าภาคอุตสาหกรรมโรงงานเป็นแหล่งกำเนิดต้นเหตุของฝุ่นละออง PM 2.5 กว่า 30% นั้น จากผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ (โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กรมควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2561) พบว่าฝุ่นละอองส่วนใหญ่ 52% เกิดจากไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ , 35% เกิดจากการเผาชีวมวลจากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง, 8% เกิดจากฝุ่นละอองทั่วไปและจากการก่อสร้าง, 4% เกิดจากโรงงานจากปล่องระบาย และ 1% เกิดจากดินจากบริเวณที่เป็นพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้มงวดในการกำกับดูแลสถานประกอบการอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงสำรวจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หากพบความผิดจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) มาตรการป้องกันโดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กนอ. และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศกำกับดูแลให้โรงงานระบายอากาศตามมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด 2) ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กนอ. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ 7,700 โรงงานสุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และราชบุรี) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2562

มอบหมายให้นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตวังทองหลาง เข้าตรวจสอบโรงงานใน 2 พื้นที่ คือ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และได้กำชับให้โรงงานในพื้นที่ระมัดระวังในการประกอบกิจการไม่ให้เกิดมลพิษที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และได้สั่งการให้กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานได้เข้าตรวจวัดปล่อง หม้อไอน้ำของโรงงานในวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เพื่อรายงานผลและสั่งการต่อไป

จาก https://mgronline.com   วันที่ 18 มกราคม 2562

สอน.ขอความร่วมมือชาวไร่อ้อยไม่ให้เผาอ้อย เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) แจ้งว่าจากสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ส่งผลให้คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงนี้อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สอน.จึงได้กำชับและขอความร่วมมือไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ให้ปฏิบัติตามมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ซึ่งผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ทั้งนี้ สอน. ยังได้ออกมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยขอความร่วมมือไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยว่า การตัดอ้อยไฟไหม้ อาจมีความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคของสำนักงานอ้อยทั้ง 4 ศูนย์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2562

สมัครด่วน! จ.เพชรบูรณ์ ต้องการแรงงานตัดอ้อยจำนวนมาก ค่าแรงวันละ 315 บาท

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า สมาคมชาวไร่อ้อยอำเภอศรีเทพกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลตัดอ้อย ทำให้ไม่สามารถตัดอ้อยส่งโรงงานได้ทัน จึงได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบูรณ์ประกาศรับสมัครคนงานตัดอ้อยจำนวนมาก ทั้งชายและหญิง โดยจะได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าวันละ 315 บาท เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย และสามารถส่งโรงงานได้ทันเวลาที่กำหนด ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ที่สนใจสมัครได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบูรณ์ เลขที่ 122 หมู่ 10 ตำบลสะเดือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โทรศัพท์ 056-7362-1921 หรือ https://www.doe.go.th/phetchabun/

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2562

อีอีซีการันตีศก.ไทยโต 5-6% ต่อเนื่อง 5 ปี

"คณิศ" กางแผนงาน "อีอีซี" ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมายจะช่วยการันตีเศรษฐกิจไทยให้ขยายจากฐานปกติ 2% ต่อปีดังนั้นแผนอีอีซีช่วง 5 ปีแรก (ปี61-65) จะเป็นเครื่องการันตีศก.ไทยโต 5-6% ต่อปีได้ มั่นใจไม่ว่าใครมาหลังเลือกตั้งก็ต้องสานต่อ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเศรษฐกิจไทยกับการลงทุนในอีอีซี ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2561 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ปี 2562 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการชะลอตัวจากปีก่อน ดังนั้นการสร้างเศรษฐกิจภายในของไทยจะสามารถทดแทนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.7ล้านล้านบาทใน 5 ปี(ปี61-65)และการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเฉลี่ย 3 แสนล้านบาทต่อปีจะมีส่วนขยายฐานเศรษฐกิจให้โตเพิ่มอีก 2 % ต่อปีดังนั้นหากฐานเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3- 4% ต่อปีก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับ 5-6% ต่อปีในระยะยาว

" อีอีซีนั้นเรามีเป้าหมายการลงทุนภาพรวมที่วางไว้ 5 ปี(ปี 2561-65 )แรกและ 5 ปีหลังทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเบื้องต้นวางไว้ 12 อุตสาหกรรมจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตดังนั้น 5 ปีแรกอีอีซีก็จะเป็นเครื่องการันตีว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ตกต่ำเพราะการลงทุนในอีอีซีจะเป็นกันชน(Buffer)สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศไม่ให้มากระทบ "นายคณิศกล่าว

อย่างไรก็ตามหลังการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดเข้ามาบริหาร การทำงานของอีอีซีได้มีพ.ร.บ.อีอีซีรองรับไว้แล้วที่มีทั้งองค์กร และงบประมาณในตัวเองก็จะสามารถเข้ามาสานต่อได้ทันที เพราะนี่คือเครื่องการันตีการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไป ซึ่งพ.ร.บ.อีอีซีไม่เพียงมุ่งเน้นการลงทุน แต่ยังให้ความสำคัญกับการศึกษา ยกระดับการเกษตร ผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังสามารถนำไปขยายการดำเนินงานยังพื้นที่อื่นๆ ได้อีกเพื่อการเติบโตเศรษฐกิจให้กระจายไปยังภูมิภาค

สำหรับตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่ปี 2561 มีการขอส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 683,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้เพียง 310,337 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีการเติบโตกว่าเท่าตัวและเม็ดเงินเหล่านี้ก็จะทยอยให้เกิดการลงทุนจริงต่อเนื่องโดยลงทุนจริงปี 61 อยู่ที่ 265,933 ล้านบาทและคาดว่าปีนี้จะอยู่ระดับ 400,000 ล้านบาท

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจมีความคาดหวังสูงถึงการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่น่าห่วงคือศก.ไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเมื่อปัจจัยภายนอกกระทบก็จะกระทบตามไปด้วยจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างจุดนี้ ส่วนตลาดทุนปีนี้จากศก.โลกชะลอตัว การขึ้นดอกเบี้ยจะลดลงจะทำให้ค่าบาทจะอ่อนลงไม่มากนักและเงินทุนจะไหลไปเพื่อนบ้านระยะแรกหลังเลือกตั้งชัดเจนเชื่อว่าจากนั้นเงินทุนจะไหลเข้าตลาดทุนไทย

จาก https://mgronline.com วันที่ 18 มกราคม 2562

ชาวไร่อ้อยจี้เปิดทางสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

จากนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกษตรกรใน จ.อำนาจเจริญและยโสธร ปลูกอ้อยตามโครงการประชารัฐแปลงใหญ่อ้อย เมื่อปี 2558 จนเพิ่มผลผลิตอ้อยจำนวนมากใน 2 จังหวัด แต่กลับติดปัญหาต้องแบกรับภาระค่าขนส่งอ้อยไปยังโรงงานนอกพื้นที่ ทำให้เกษตรกรต้องออกมาเรียกร้องให้ทางรัฐเร่งอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง และสร้างความมั่นคงด้านอาชีพในระยะยาว

อุทิศ  สันตวงศ์ ประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อยลำน้ำเซบาย จ.ยโสธร เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรผู้อ้อยได้ยื่นหนังสือสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.อำนาจเจริญ เนื่องจากประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักจากการแบกรับต้นทุนขนส่งอ้อยไปยังโรงงานนอกพื้นที่ภายหลังการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยใน จ.อำนาจเจริญ และยโสธรเกิดความกังวงต่ออาชีพปลูกอ้อยในระยะยาว เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องลงทุนสูงเสี่ยงต่อการขาดทุนและเป็นหนี้

“ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน เพื่อประกอบการพิจารณาใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน จ.อำนาจเจริญ และยโสธร แต่ชาวบ้านแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งกลุ่มที่คัดค้านและเห็นด้วย ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะมีผลต่อชาวไร่ในพื้นที่”

สำหรับการส่งเสริมปลูกอ้อยในโครงการประชารัฐแปลงใหญ่อ้อย จ.อำนาจเจริญ มีพื้นที่ 139,053 ไร่ มีเกษตรกรทั้งหมด 7,219 ราย เป็นปริมราณอ้อยทั้งสิ้น 1,750,000 ตัน สร้างรายได้มากกว่า 1,750 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้จากการทำไร่อ้อยต่อครัวเรือน 86,730 บาทต่อปี หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยโครงการเริ่มขึ้นเมื่อปี 2558  เป็นโครงการประชารัฐแปลงใหญ่อ้อย จ.อำนาจเจริญซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วนจากภาครัฐ ภาคเอกชน  และภาคประชาสังคม และมีเป้าหมายในกายยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ได้เริ่มแนะนำส่งเสริมการปลูกอ้อยให้เกษตรกรใน จ.อำนาจเจริญ และยโสธร เนื่องจากพบว่ามีพื้นที่กว่า 50%  ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อย และด้วยสภาพภูมิอากาศและดินในภาคอีสานที่ทำให้อ้อยมีความหวานสูงกว่าภูมิภาคอื่น ทำให้ชาวไร่ได้ราคาขายที่สูงกว่าภาคอื่นด้วย อ้อยจึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร

“ขณะนี้มีชาวไร่กว่า 7,000 คนใน จ.อำนาจเจริญ และยโสธร กำลังได้รับความเดือดร้อนจากที่โรงไฟฟ้าชีวมวลไม่เกิดขึ้น เพราะชาวไร่อ้อยต้องส่งอ้อยในพื้นที่ไปยังโรงงานใน จ.กาฬสินธุ์ ปี 2561 ชาวไร่อ้อยสูญเสียเงินค่ารถเฉพาะค่าขนส่งไปแล้วกว่า 120 ล้านบาท แทนที่เงินส่วนนี้จะได้เข้าสู่กระเป๋าชาวไร่อ้อย และหากส่งอ้อยไม่ทันคงประสบผลขาดทุนมาก เพราะต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น”

ทั้งนี้ จ.อำนาจเจริญ และยโสธร มีอ้อยอยู่จำนวนมาก หากมีโรงงานน้ำตาลและไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นก็จะส่งผลดีต่อชุมชน ทุกคนมีรายได้เพียงพอไม่เป็นหนี้ ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยและชุมชนรอบๆโรงงานก็ได้รับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับการมาตรการการดำเนินงานที่โปร่งใสของโรงงานและการมีส่วนร่วมกับชุมชน จึงเชื่อมั่นและเห็นว่าโครงการนี้จะมีประโยชน์กับ 2 จังหวัดนี้

ส่วนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลโครงการมิตรอำนาจเจริญและโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องนั้น ทางโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญได้ชี้แจงว่าถูกต้องตามกฎหมาย  โดยได้เชิญตัวแทนชาวบ้านที่อยู่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโรงงานทั้งหมดจำนวน 34  หมู่บ้านจาก จ.อำนาจเจริญ และยโสธรเข้าร่วมรับฟัง ทำให้สร้างความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้านี้จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ของครัวเรือนเกิดการจ้างงานในท้องถิ่นนี้เพิ่มขึ้น

สำหรับ จ.อำนาจเจริญและยโสธร มีการทำไร่อ้อยอยู่แล้วกว่า 8 หมื่นไร่ หรือคิดเป็นผลผลิตอ้อยประมาณ 8 แสนตัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย เกษตรกรชาวไร่อ้อยใน 2 จังหวัดนี้ต้องส่งอ้อยไปยังโรงงานน้ำตาลในจังหวัดข้างเคียง เช่นกาฬสินธุ์ มุกดาหาร ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง บางรายก็ไม่คุ้มทุน หรือขาดทุน การก่อตั้งโครงการโรงงานน้ำตาลในพื้นที่จึงช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้มาก

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 16 มกราคม 2562

อาเซียนหนุนรับมือปฏิวัติ 4.0 เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์มองข้อเสนอไทยเทรนด์โลก

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole:CoW ) ครั้งที่ 9 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการพบกันปีละครั้งของคณะกรรมการรายสาขาภายใต้เสาเศรษฐกิจของอาเซียนกว่า 23 สาขา (อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา  พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  การแข่งขันพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า) รวมทั้งเชิญผู้แทนเสาสังคมและวัฒนธรรม เสาการเมืองและความมั่นคง เข้าร่วมหารือประเด็นคาบเกี่ยวระหว่างกันที่จะต้องกระชับความร่วมมือเพื่อให้การทำงานของอาเซียนประสบความสำเร็จ ตลอดจนรับทราบผลการดำเนินงานปี 2561 ของคณะกรรมการสาขาต่างๆ และแผนการทำงานปี 2562 ว่า ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะคาบเกี่ยวกับคณะกรรมการสาขาต่างๆ ในเสาเศรษฐกิจ เช่นการเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี และกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

นางอรมนกล่าวว่า สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ยังมีการเตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเข้ามาของระบบหุ่นยนต์  ออโตเมชั่น และปัญญาประดิษฐในห่วงโซ่การผลิต หรือการปฏิวัตอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่ต่างกันอยู่มาก ที่ประชุมคณะกรรมการรายสาขาของอาเซียน จีงเห็นตรงกันว่า คณะกรรมการรายสาขาต่างๆ ในสามเสาประชาคมอาเซียน รวมทั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจะต้องทำงานประสานกันอย่างใก้ลชิดและจริงจัง เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์  การจัดทำแผนงานอาเซียนรับมือ 4IR การนำระบบดิจิทัลมาช่วยอำนวจความสะดวกการทำงานของอาเซียน เป็นต้น และเห็นควรให้จัดการประชุมคณะกรรมการรายสาขาอีกครั้ง เพื่อหารือประเด็นการเตรียมอาเซียนรับมือ 4IR โดยเฉพาะ  ในระหว่งการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดกลไกการทำงานและขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

นางอรมนกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นพ้องกับประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียน เสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด”ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล  ยั่งยืน” ประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ 1.การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่นการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR  การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย 2. ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window)  ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเทียวเชิงอาหาร 3. การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่นการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมสนับสนุนข้อเสนอของไทย โดยเห็นว่าตรงกับแนวโน้มของโลก และสอดรับกับความต้องการของอาเซียนและภาคเอกชน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 16 มกราคม 2562

อาเซียนดันแผนรับมือสู่ยุค 4.0 ไทยชง13เรื่องทำให้สำเร็จในปีนี้

อาเซียนเร่งวางแนวทางรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0  กระชับความร่วมมือดันให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดแผนการทำงานปี 62 เดินหน้าเชื่อมโยงระบบการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไทยชงดัน 13 เรื่องให้สำเร็จ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole: CoW) ครั้งที่ 9 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มกราคม 2562 ที่กรุงเทพฯ ว่า เป็นการพบกันปีละครั้งของคณะกรรมการรายสาขาภายใต้เสาเศรษฐกิจของอาเซียนกว่า 23 สาขา เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งเชิญผู้แทนเสาสังคมและวัฒนธรรม เสาการเมืองและความมั่นคง เข้าร่วมที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นคาบเกี่ยวระหว่างกันที่จะต้องกระชับความร่วมมือเพื่อให้การทำงานของอาเซียนประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ได้รับทราบผลการดำเนินงานในปี 2561 ของคณะกรรมการสาขาต่างๆ และแผนการทำงานปี 2562 ซึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวกับคณะกรรมการสาขาต่างๆ ในเสาเศรษฐกิจ (cross-cutting issues) เช่น การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) การอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และกฏระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ทั้งนี้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ยังมีการเตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเข้ามาของระบบหุ่นยนต์ ออโตเมชั่น และปัญญาประดิษฐ์ในห่วงโซ่การผลิต หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่ต่างกันอยู่มาก ที่ประชุมคณะกรรมการรายสาขาของอาเซียน จึงเห็นตรงกันว่า คณะกรรมการรายสาขาต่างๆ ในสามเสาประชาคมอาเซียน (เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การเมืองและความมั่นคง) รวมทั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจะต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดและจริงจัง เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของอาเซียนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ การจัดทำแผนงานอาเซียนรับมือ 4IR การนำระบบดิจิทัลมาช่วยอำนวยความสะดวกการทำงานของอาเซียน เป็นต้น และเห็นควรให้จัดการประชุมคณะกรรมการรายสาขาอีกครั้ง เพื่อหารือประเด็นการเตรียมอาเซียนรับมือ 4IR โดยเฉพาะ ในระหว่างการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดกลไกการทำงานและขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ที่ประชุมยังได้เห็นพ้องกับประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนเสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ (1) การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย (2) ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัย และการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เป็นต้น

จาก www.thansettakij.com วันที่ 16 มกราคม 2562

ค่าเงินบาทอ่อนค่า เหตุตลาดกังวลโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังส่งออก ธ.ค.61ของจีน-การผลิตอุตฯ พ.ย.61 ยูโรโซนหดตัว

ค่าเงินบาทอ่อนค่า เหตุตลาดกังวลโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังส่งออกเดือน ธ.ค.61 ของจีน หดตัวเร็วกว่าตลาดคาด ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.2561 ของยูโรโซน หดตัวทุกหมวดสินค้า จับตาดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ธ.ค.61ของสหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันนี้ (15 ม.ค.2562) เปิดตลาดที่ 31.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดเมื่อวานที่ 31.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 31.72-32.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักค้าเงินธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางอ่อนค่าโดยปัจจัยหลักมาจากตลาดกังวลว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการส่งออกจีนหดตัวเร็วกว่าที่ตลาดคาด โดยการส่งออกเดือนธ.ค.2561 หดตัว -4.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 2% รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน พ.ย.2561 ยังสนับสนุนความกังวลดังกล่าว เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวทุกหมวดสินค้าเกือบทุกประเภท นอกจากนี้ ตลาดยังรอผลการลงมติของรัฐสภาสหราชอาณาจักรในประเด็นข้อตกลง Brexit

พร้อมกันนี้นักค้าเงินได้ประเมินว่า ค่าเงินบาทในวันนี้ น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบที่มีแนวรับ 31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ธ.ค.2561 ของสหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 15 มกราคม 2562

'อุตตม' สั่งปลัดกระทวงตั้งคณะทำงานพิเศษตรวจเข้มโรงงาน

"อุตตม" สั่งปลัดกระทวงตั้งคณะทำงานพิเศษตรวจเข้มโรงงานหากมีการปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานกำหนดสั่งให้ปิดดำเนินการทันที ชี้ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น ควัน มลพิษ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทางวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้สั่งการให้นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะทำงานพิเศษ ไปตรวจมลพิษ ควันและฝุ่นที่ออกจากการดำเนินงานของโรงงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของโรงงานที่มีอุปกรณ์เผาไหม้(boiler) ในการดำเนินงานว่ามีการปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานหรือไม่

ทั้งนี้ได้กำชับว่าการไปตรวจสอบให้บังคับใช้มาตรฐานการจำกัดการปล่อยมลพิษที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีความผิดให้สั่งการให้ปิดโรงงานที่ทำผิดกฎหมายโดยทันที ทั้งนี้เพื่อให้สามารถลดการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควันในอากาศในช่วงที่หลายพื้นที่ของประเทศมีปัญหาดังกล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 15 มกราคม 2562

ห้ามเผาอ้อย! สอน.ขอชาวไร่อ้อยห้ามเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาลเพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นในอากาศ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ประจำวันที่ 13 มกราคม 2562 จากอุตุนิยมวิทยา พบว่าอากาศยังคงลอยตัวไม่ดีและมีสภาพอากาศปิด ส่งผลให้คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงนี้อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการ และแนะนำออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละออง

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้กำชับและขอความร่วมมือไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล โดยมีหนังสือไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 ให้ปฏิบัติตามมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเงินที่หักจากค่าอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบ พ.ศ. 2561 โดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ซึ่งอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท และมาตรา 25 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดี จะได้รับเงินเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 70 ของเงินที่หักจากอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบในอัตราตันละ 30 บาท และในกรณีที่เงินเหลือจากการจ่ายคืนให้อ้อยสดคุณภาพดี ให้คณะทำงานควบคุมการผลิตประจำแต่ละโรงงานพิจารณาจัดทำโครงการส่งเสริมการตัดอ้อยสดแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว อ้อยที่มีกาบใบ และการขาดแคลนแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น

“สำนักงานอ้อยได้ออกมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยขอความร่วมมือไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยว่า การตัดอ้อยไฟไหม้ อาจมีความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคของสำนักงานอ้อยทั้ง 4 ศูนย์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยได้รับแจ้งจากนายรัชชาพงษ์ ด้วงสั้น นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ ว่าในวันที่ 15 มกราคม 2562 สมาคมร่วมกับส่วนราชการในอำเภอตาคลี ทหาร ตำรวจ และโรงงานน้ำตาล จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เรื่อง มาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ณ วัดหนองตาพัน ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์”

ทั้งนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นำเงินไปพัฒนาแหล่งน้ำ ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร และรถตัดอ้อย เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว ลดต้นทุนการผลิตอ้อยต่อไร่ และลดปริมาณอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

จี้หยุดเผาไร่อ้อยต้นเหตุปัญหาฝุ่นละออง

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์ ชี้แก้ปัญหา Smog ต้องหยุดการเผาไร่อ้อย

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ว่าตามที่เกิดปรากฏการณ์ฝุ่นพิษขนาด 2.5 PM เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดหลายพื้นที่ตามให้ประชาชนเจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจจำนวนมาก กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งหลายฝ่ายพยายามชี้เป้าว่าสาเหตุมาจากการสะสมไอเสียของยานยนต์ การก่อสร้าง และการเผาขยะ เผาหญ้าในเมืองเป็นหลัก โดยแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยมาป้องกันจนทำให้นักการเมืองบางพรรคนำมาเป็นเหตุสร้างคะแนนนิยมโดยการแจกหน้ากากอนามัยนั้น

การแก้ไขปัญหาการเกิดฝุ่นพิษ หรือ Smog ในขณะนี้นั้นผิดฝาผิดตัวมาโดยตลอด เพราะ Smog ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นแผ่กระจายทั่วไปในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ที่มีการปลูกอ้อยจำนวนมาก และได้เข้าสู่ฤดูกาลหีบอ้อยแล้ว เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้กำหนดวันเริ่มต้นวันหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์  2562 ทำให้เกษตรกรบางรายใช้วิธีการมักง่ายตัดอ้อยส่งโรงงาน คือ การเผาไร่อ้อย เพื่อให้สะดวกในการตัดและเก็บขน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสมาคมชาวไร่อ้อย สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ต่างรู้ปัญหาดังกล่าว แต่กลับไม่ยอมออกมาแก้ไขปัญหาที่เด็ดขาด โดยเฉพาะการไม่รับซื้ออ้อยที่เก็บเกี่ยวโดยการเผา

ทั้งนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงเรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้หยุดตระเวนหาเสียงให้กับพรรคการเมืองของตน แล้วกลับมาทำหน้าที่รัฐมนตรีอย่างจริงจัง โดยการใช้ยาแรงจัดการปัญหาการเผาไร่อ้อยที่เป็นต้นเหตุของการเกิด Smog ที่แท้จริงในขณะนี้ โดยการสั่งให้โรงงานรับซื้ออ้อยทั้ง 57 โรงทั่วประเทศ หรือกลุ่มสมาคมโรงงานน้ำตาลทรายห้ามการซื้อขายผลผลิตอ้อยที่ผ่านการเผาโดยเด็ดขาด เพราะความมักง่ายของเกษตรกรในการเผาไร่อ้อย เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ แต่หากข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นผล นายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรมควรจะพิจารณาตัวเองลาออกไปเสีย และสมาคมจะร่วมมือกับชาวบ้านข้างไร่อ้อย และประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อนและเสียหายยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อระงับปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนต่อไปด้วย

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

สอน. สั่งชาวไร่-โรงงานน้ำตาล ห้ามเผาอ้อยก่อนตัด ช่วยลดฝุ่น ชี้ผิดกฎหมายโทษคุก 7 ปี

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ประจำวันที่ 13 ม.ค. 2562 จากอุตุนิยมวิทยา พบว่าอากาศยังคงลอยตัวไม่ดีและมีสภาพอากาศปิด ส่งผลให้คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงนี้อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ส่งหนังสือตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2562 กำชับและขอความร่วมมือไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ให้ปฏิบัติตามมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเงินที่หักจากค่าอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบ พ.ศ. 2561

โดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ซึ่งอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และมาตรา 25 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดี จะได้รับเงินเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 70 ของเงินที่หักจากอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบในอัตราตันละ 30 บาท และในกรณีที่เงินเหลือจากการจ่ายคืนให้อ้อยสดคุณภาพดี ให้คณะทำงานควบคุมการผลิตประจำแต่ละโรงงานพิจารณาจัดทำโครงการส่งเสริมการตัดอ้อยสดแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว อ้อยที่มีกาบใบ และการขาดแคลนแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น

“สอน. ได้ออกมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยขอความร่วมมือไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยว่า การตัดอ้อยไฟไหม้ อาจมีความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคของสำนักงานอ้อยทั้ง 4 ศูนย์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด”

เบื้องต้นได้รับแจ้งจากนายรัชชาพงษ์ ด้วงสั้น นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ ว่า ในวันที่ 15 ม.ค. 2562 สมาคมร่วมกับส่วนราชการในอำเภอตาคลี ทหาร ตำรวจ และโรงงานน้ำตาล จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เรื่อง มาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ณ วัดหนองตาพัน ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นำเงินไปพัฒนาแหล่งน้ำ ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร และรถตัดอ้อย เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว ลดต้นทุนการผลิตอ้อยต่อไร่ และลดปริมาณอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

ไทยดันอาเซียนรับมือปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ชงทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ไทยเตรียมผลักดันสมาชิกอาเซียนเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ชงทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งรับมือการนำหุ่นยนต์และนวัตกรรมมาใช้ เตรียมพร้อมด้านแรงงาน วางกรอบดันอาเซียนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และส่งเสริม MSME ใช้ดิจิทัล ตั้งเป้ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลก มีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 68

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับ 4IR (การเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4)” ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนจัดงานสัมมนาใหญ่งานแรก นับตั้งแต่ไทยเริ่มเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ มีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ที่ปัจจุบันหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้นวัตกรรม ได้เข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่หุ่นยนต์ เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมเข้ามามีบทบาท ซึ่งไทยเองได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับการผลิต ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว จึงเห็นควรที่จะผลักดันให้เป็นประเด็นสำคัญที่อาเซียนจะร่วมมือกันในการรับมือและขับเคลื่อน เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียน มีเป้าหมายที่จะผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้แก่ 1. การจัดทำแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลในภูมิภาคให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมโดยเร็ว 2. การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและสร้างการพัฒนาในภูมิภาค 3. การจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับ 4IR 4. การจัดทำแถลงการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสำคัญของภูมิภาคอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 5. การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน โดยจัดทำแนวทางส่งเสริมให้ MSMEs เข้าสู่ระบบ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

“เป้าหมายของการทำแผนขับเคลื่อนดังกล่าว ต้องการผลักดันให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และมีการเติบโตจาก 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบันเป็น 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568”

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดแสดงนิทรรศการจากภาครัฐในเรื่องการเป็นประธานอาเซียนของไทย ประเทศไทย 4.0 เมืองอัจฉริยะ และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งได้นำสินค้านวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย และนำเงาะและมังคุดจากผู้ประสบภัยจากพายุ “ปาบึก” ในพื้นที่ภาคใต้ มาใช้ในการจัดเลี้ยงอาหารว่างในช่วงการประชุม ถือเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกระทรวงฯ ด้วย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

ส่งออกแห่ใช้สิทธิ "FTA-GSP" เล็งทั้งปีทะลุเป้า 7 หมื่นล้านดอลล์

พาณิชย์ เผยยอดใช้สิทธิเอฟทีเอและจีเอสพี 11 เดือน ปี 61 โตเฉียด 16% มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พุ่งกว่า 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มั่นใจ! ตลอดทั้งปีสูงกว่าหมาย ทะลุ 7 หมื่นล้านดอลลาร์

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของผู้ประกอบการไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2561 (ม.ค. - พ.ย.) มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวมอยู่ที่ 68,779 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันขอบปีก่อน โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 75% ของสินค้าที่ได้รับสิทธิทั้งหมด แบ่งเป็น มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 64,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.29% คิดเป็นสัดส่วน 75% ของมูลค่าส่งออกที่ได้สิทธิภายใต้ FTA และมูลค่าการส่งออกภายใต้ GSP มูลค่า 4,435 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 22% คิดเป็นสัดส่วน 65% ของมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP

สำหรับตลาดส่งออกที่ผู้ประกอบการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 24,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, จีน 16,217 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย 8,571 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น 7,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดีย 4,099 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 45% รองลงมา คือ จีน ขยายตัว 27% และอินเดีย ขยายตัว 22% ซึ่งทั้ง 3 ตลาดดังกล่าว นอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้ว ยังพบว่า มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

ไทยลั่น! ประเดิม "ประธานอาเซียน" ดันเศรษฐกิจดิจิทัลผงาดท็อป 5โลก 

พาณิชย์จับมืออาเซียนเตรียมพร้อมสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เดินหน้าบูรณาการการค้าดิจิทัลของอาเซียน หวังดันขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลก มีมูลค่าทะลุ 200,000 ล้านดอลล์ ในปี 2568

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเปิดตัวการเป็นประธานอาเซียนของไทย ว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จับมือกับสำนักเลขาธิการอาเซียน จัดสัมมนาเรื่อง "การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับ 4IR (การเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4)" เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2562 เพื่อวางแนวทางสร้างความเข้าใจและเตรียมการทุกภาคส่วนให้พร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยและอาเซียน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ร่วมขึ้นเวทีเสวนา ซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานแรกนับแต่ประเทศไทยขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

ปัจจุบัน ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเตรียมความพร้อมทางสังคมสู่การใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติมีเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้นวัตกรรมชีวภาพในการจัดลำดับและปรับแต่งพันธุกรรม มีบทบาทอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ หลายประเทศจึงได้วางนโยบายรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งไทยเองก็ได้ประกาศนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของคนในประเทศ การสร้างวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมของภาครัฐ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ จากการประเมินความพร้อมของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าว พบว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความพร้อมในการรับมือกับ 4IR ในระดับที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และนโยบายที่รองรับทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต จึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปข้างหน้า ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างฉับพลันนี้ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน จึงต้องการผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

ประกอบด้วย 1) การจัดทำแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลในภูมิภาคให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมโดยเร็ว 2) การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและสร้างการพัฒนาในภูมิภาค 3) การจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับ 4IR 4) การจัดทำแถลงการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสำคัญของภูมิภาคอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และ 5) การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน โดยจัดทำแนวทางส่งเสริมให้ MSMEs เข้าสู่ระบบ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

"การผลักดันในประเด็นข้างต้นมีเป้าหมายเพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และมีการเติบโตจาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน เป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568"

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

ศรีสุวรรณ'จี้'อุตตม'ลดหาเสียงหันฟันพวกเผาไร่อ้อยแก้ฝุ่นพิษ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรื่อง ชี้แก้ปัญหา Smog ต้องหยุดการเผาไร่อ้อย ระบุว่า ตามที่เกิดปรากฏการณ์ฝุ่นพิษขนาด 2.5 PM เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ตามให้ประชาชนเจ๊บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจกันเป็นจำนวนมาก กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งหลายฝ่ายพยายามชี้เป้าว่าสาเหตุมาจากการสะสมไอเสียของยานยนต์ การก่อสร้าง และการเผาขยะ เผาหญ้าในเมืองเป็นหลัก โดยแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยมาป้องกัน จนทำให้นักการเมืองบางพรรคนำมาเป็นเหตุสร้างคะแนนนิยมโดยการแจกหน้ากากอนามัยนั้น

การเกิดฝุ่นพิษหรือ Smog ในขณะนี้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นแผ่กระจายทั่วไปในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกที่มีการปลูกอ้อยกันเป็นจำนวนมาก และได้เข้าสู่ฤดูกาลหีบอ้อยแล้ว เนื่องจากต่อสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้กำหนดวันเริ่มต้นวันหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2561/62 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ ทำให้เกษตรกรบางรายใช้วิธีการมักง่ายในการตัดอ้อยส่งโรงงาน นั่นคือ การเผาไร่อ้อย เพื่อให้สะดวกในการตัดและเก็บขน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสมาคมชาวไร่อ้อย สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ต่างก็รู้ปัญหาดังกล่าว แต่กลับไม่ยอมออกมาแก้ไขปัญหาที่เด็ดขาด โดยเฉพาะ การไม่รับซื้ออ้อยที่เก็บเกี่ยวโดยการเผา

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงใคร่เรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ให้หยุดตระเวนหาเสียงให้กับพรรคการเมืองของตน แล้วกลับมาทำหน้าที่รัฐมนตรีอย่างจริงจัง โดยการได้ใช้ยาแรงในการจัดการปัญหาการเผาไร่อ้อย ที่เป็นต้นเหตุของการเกิด Smog ที่แท้จริงในขณะนี้ โดยการสั่งให้โรงงานรับซื้ออ้อยทั้ง 57 โรงทั่วประเทศ หรือกลุ่มสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ห้ามการซื้อขายผลผลิตอ้อยที่ผ่านการเผาโดยเด็ดขาด เพราะความมักง่ายของเกษตรกรในการเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ แต่หากข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นผล นายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม ควรจะพิจารณาตัวเองลาออกไปเสีย และสมาคมจะร่วมมือกับชาวบ้านข้างไร่อ้อย และประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อนและเสียหายนำความยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อระงับปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนต่อไปด้วย

จาก https://www.thaipost.net วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

‘พาณิชย์’ หารือเอกชน ชูประเด็นผลักดันเศรษฐกิจในเวทีไทยประธานอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการพบหารือกับ นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหารสภาหอการค้าฯ เมื่อเร็วๆนี้ ในประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยเสนอให้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมขับเคลื่อนผลักดันให้ประสบความสำเร็จในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ว่า จากประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยเสนออาเซียนร่วมกันผลักดันประกอบ 3 ด้าน คือ (1) การเตรียมความพร้อมอาเซียนรองรับอนาคต (2) ความเชื่อมโยง (3) ความยั่งยืน แตกเป็นประเด็นย่อยได้ 12 ประเด็นนั้น จากการหารือกับภาคเอกชน เห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเนื่องจากเป็นเรื่องที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เช่น การเตรียมทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีการนำออโตเมชั่น หุ่นยนต์ ระบบดิจิทัลเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์หรือแทนมนุษย์ การเชื่อมโยงเอกสารผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยเฉพาะใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ ให้สำเร็จในปี 2562

โดยปัจจุบันเชื่อมกันแล้ว 5 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนอีก 3 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อยู่ระหว่างทดสอบระบบ เหลือที่ต้องร่วมกันสนับสนุนให้ สปป.ลาว และเมียนมา เชื่อมให้ได้ ขับเคลื่อนให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซป หาข้อสรุปและปิดรอบให้ได้ในปี 2562 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารในอาเซียน และพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนเพื่อให้เกิดการประมงที่ยั่งยืน เป็นต้น

“ในปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม ซึ่งภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะผ่านตัวแทนภาคเอกชนไทยในเวทีอาเซียน หรือสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ประเทศไทย) ได้ ตลอดจนสามารถแจ้งหรือหารือกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้โดยตรง และเนื่องจากในปีที่ไทยเป็นประธานนี้ เป็นช่วงที่เทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมทางการค้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ไทยจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการอาเซียนรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย มูลค่าการค้ารวม 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ รองจากจีนและอินเดีย สามารถปรับตัวรองรับสภาพเศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนการค้าสูงถึงร้อยละ 22.7 ของการค้าไทยกับโลก โดยการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 11 เดือนของปี 2561 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่าการค้ารวม 105,427 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 14.3 มูลค่าการส่งออกจากไทยไปอาเซียนในช่วง 11 เดือนของปี 2561 เท่ากับ 63,105 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 42,321 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

'พาณิชย์' กางแผนรุกส่งออก!!

พาณิชย์เล็งปรับเป้าส่งออกปี 62 ใหม่ หลังได้ตัวเลขทั้งปี 61 ชัด และผ่านพ้นไตรมาสแรกปีนี้ ชี้! เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โชว์แผนรุกตลาดทั่วโลกช่วงครึ่งปีแรก พร้อมฉวยจังหวะสงครามการค้า ดันส่งออกผลไม้ไทยไปจีนเพิ่ม

ตัวเลขส่งออกของไทยในปี 2561 ยังลุ้นว่าจะขยายตัวได้ที่ 8% ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ หลัง 11 เดือนแรก ยังขยายตัวที่ 7.4% ขณะที่ ปี 2562 ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวการส่งออกท้าทายที่ 8% จากหลายสำนักพยากรณ์ ส่วนใหญ่คาดขยายตัวได้ไม่เกิน 5% จากสงครามการค้าฯสหรัฐฯ-จีนเป็นตัวถ่วง

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทิศทางการทำงานของกรมในปีนี้ จะเน้นภาพการทำงานที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะจะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งกรมมีแผนจะพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้า ทั้งนี้ กรมจะประเมินตัวเลขส่งออกปี 2562 ใหม่ หลังผ่านช่วง 3 เดือนแรกอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และต้องดูตัวเลขส่งออกของเดือน ธ.ค. 2561 และทั้งปี 2561 ก่อน ว่า จะขยายตัวได้เท่าใด ซึ่งเป้าหมายส่งออกปีนี้ที่ตั้งไว้ 8% อาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องประเมินจากทูตพาณิชย์ทั่วโลกอีกครั้ง

สำหรับแผนงานและกิจกรรมช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ กรมมีแผนงานในทุกคลัสเตอร์สินค้า เช่น เกษตรและอาหาร จะนำเอกชนเข้าร่วมงาน Gulfood Dubai สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 17-21 ก.พ. เข้าร่วมงานแฟร์ BIOFACH ที่เยอรมนี ช่วงวันที่ 13-16 ก.พ. เป็นต้น สินค้าอุตสาหกรรม เช่น การจัดคณะผู้แทนการค้าอุตสาหกรรมหนักเยือนตลาดอาเซียน ในช่วงเดือน ม.ค. แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ช่วง ม.ค. - ส.ค. ธุรกิจบริการและสร้างสรรค์ ช่วง ก.พ. - พ.ค. เป็นต้น ส่วนกรณีที่สหภาพยุโรปยกเลิกใบเหลืองด้านประมงไทยนั้น ส่งผลบวกต่อการส่งออก

ด้าน นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้กรมมีแผนที่จะผลักดันการส่งออกผลไม้เข้าตลาดจีนและฮ่องกงเพิ่มขึ้นในปี 2562 โดยอาจจะใช้เส้นทาง R5 ในการเข้าเจาะตลาดขนส่งสินค้าเข้าไป ซึ่งจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งในการส่งออกผลไม้ไทย เพราะจากการติดตามปัญหาสงครามการค้า พบว่า การส่งออกผลไม้สหรัฐฯ มาจีนลดลง 15-20% ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปขยายตลาดผลไม้ในตลาดจีน

"ผลไม้สหรัฐฯ ที่ส่งออกเข้าไปในตลาดจีน เช่น กีวี องุ่น ส้ม แอปเปิ้ล กล้วย เป็นต้น แม้บางรายการไม่ใช่สินค้าที่แข่งขันก็ตาม แต่เมื่อส่งออกลดลงก็เป็นโอกาสที่ไทยน่าจะขยายตลาดผลไม้ที่เป็นจุดแข็งของไทยได้มากขึ้น"

นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงการและกิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้า ผู้ค้าของจีน จึงน่าจะใช้โอกาสนั้นทำให้ผู้ส่งออกไทยหาช่องทางการขยายตลาดผลไม้เข้าไปได้ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และการเชื่อมโยงไปตามเส้นทางการค้า OBOR ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของจีนที่กำลังผลักดัน น่าจะส่งผลให้ตลาดเติบโตไปได้เร็ว

"การใช้เส้นทาง R5 : คุนหมิง-หมี่เหลอ-หยินซ่อ-ไคหยวน-เม่งซือ-เฮียโค่ว (จีน)-ลาวไค-ฮานอย-ไฮฟอง (เวียดนาม) เป็นเส้นทางหนึ่งที่กรมมองว่า น่าจะทำให้ตลาดผลไม้ไทยเจาะเข้าไปในตลาดจีนมากขึ้น"

จาก www.thansettakij.com วันที่ 13 มกราคม 2562

ไทยลุยการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง

ไทยประกาศพร้อมเริ่มความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง เร่งผลักดันให้มีผลบังคับใช้กลางปีนี้ หวังบรรลุเป้าการค้า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 63

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยได้แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียน ถึงความพร้อมที่ไทยจะเริ่มใช้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกงแล้ว และจะใช้โอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนผลักดันให้ความตกลงให้มีผลบังคับใช้กลางปีนี้ โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวใช้ประโยชน์ เมื่อความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ หวังบรรลุเป้าการค้าไทย – ฮ่องกง เป็น 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง จัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมและชี้โอกาสให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวอย่างเต็มที่

โดยปัจจุบัน ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 9 ของไทย ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 มีมูลค่า การค้ารวมกว่า 14,462 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 5.2

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 13 มกราคม 2562

สอน.ติดตามเฝ้าระวังการขนส่งอ้อย ปี 61/62

สอน. ร่วมกับสมาคมเขต 7 และโรงงานน้ำตาล ลงพื้นที่ติดตามและเฝ้าระวัง การขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2561/2562 พร้อมจัดรถบริการเก็บอ้อยตกหล่นบนถนนหลวง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 1 จังหวัดกาญจนบุรี (ศอภ.1) ร่มกับสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง ลงพื้นที่ออกตรวจติดตามการบรรทุกขนส่งอ้อยเข้าโรงงานในเขตจังหวัดกาญจนบุรี  จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสิงห์บุรี โดยพบว่าสถานการณ์การบรรทุกขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลค่อนข้างเรียบร้อยดี มีเพียงบางจุดที่พบอ้อยตกหล่น ซึ่งได้ประสานงานกับสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และโรงงานน้ำตาล จัดรถบริการเก็บอ้อยที่ตกหล่นเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และได้จัดให้มีป้ายข้อความและธงแดงติดท้ายรถบรรทุกอ้อยทุกคัน มีการจัดป้ายแสดงข้อความแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะระมัดระวังรถบรรทุกอ้อย พร้อมข้อความให้แจ้งผู้เกี่ยวข้องและหมายเลขโทรศัพท์ ในกรณีพบอ้อยตกหล่นบริเวณข้างทาง

สำหรับรถบรรทุกอ้อยส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอกภัย โดยไม่บรรทุกสูงกว่าความสูงที่กำหนด และมีการใช้สายรัดอ้อย เพื่อป้องกันอ้อยตกหล่น ส่วนรถบรรทุกอ้อยท่อนมีการคลุมผ้าหรือตาข่ายไนล่อนเรียบร้อย

ทั้งนี้ สอน. จะเฝ้าติดตามสถานการณ์การขนส่งอ้อยเข้าสูงโรงงานน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2561/2562 อย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล อาสาสมัคร รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการเข้มงวด กวดขัน ตรวจสอบและเฝ้าระวังการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล

จาก www.thansettakij.com วันที่ 12 มกราคม 2562

'สนธิรัตน์' ชี้ปี 62 ศก.ไทยไม่สดใส เหตุทั่วโลกยังขาลง

"สนธิรัตน์" เผยปี 62 เป็นปีที่ท้าทายที่สุด ระบุไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของปัจจัยในต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกยังคงเป็นเศรษฐกิจขาลง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลต่อการส่งออกของไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปีนี้ เป็นปีที่ท้าทายที่สุดเนื่องจากไทยยังต้องเผชิญกับความผันผวนของปัจจัยในต่างประเทศเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นเศรษฐกิจขาลง ประเด็นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลทำให้การส่งออกของไทยทำได้ยากลำบากประกอบกับปัจจัยในประเทศจะเริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งขณะที่การส่งออกในปีนี้นั้นยังคงคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกไว้ที่ 8% แต่กระทรวงต้องปรับแผนการส่งออกด้วยการเจาะตลาดเมืองรองของจีนและอินเดียปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นและใช้การค้าผ่านออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อที่จะขยายตลาดให้กว้างขึ้น

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าปี 2562 นี้ยังเป็นปีของโอกาสแห่งการลงทุนที่ยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาถึงแม้ว่าจะมีการเลื่อนวันเลือกตั้งแต่การลงทุนภาพรวมนักลงทุนจะมองระยะยาวมากกว่าระยะสั้นสำหรับปัจจัยภายนอกประเทศปีนี้ภาวะเศรษฐกิจจีนอาจจะชลอตัวขณะที่สหรัฐมีทิศทางดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ยุโรปเองก็ยังไม่ชัดเจนดังนั้นเมื่อไทยค้าขายทั่วโลกย่อมต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนแต่เศรษฐกิจไทยเองก็ถือว่าอยู่ในฐานะที่พร้อมโดยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่นสะท้อนมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะ3-6 เดือนข้างหน้าแต่ถึงอย่างไรก็คงจะวางใจไม่ได้จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 มกราคม 2562

ชาวไร่อ้อยหนุนมาตรฐานโรงงานน้ำตาล

ชาวไร่อ้อยหนุนกำหนดมาตรฐานโรงงานผลิตน้ำตาล โดยอ้อย 1 ตันต้องผลิตน้ำตาลทรายได้ไม่ต่ำกว่า 90 กิโลกรัม ล่าสุดพบ 4-5 โรงงานจากทั่วประเทศกว่า 50 โรงงานตกมาตรฐาน และไม่ยอมรับมาตรฐานนี้  ร้อน สอน. ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความว่าโรงงานต้องปฏิบัติตามหรือไม่

นายชัยวัฒน์  คำแก่นคูณ  กรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ผู้แทนชาวไร่อ้อย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศใช้มาตรฐานโรงงานน้ำตาลทรายในการผลิตน้ำตาลทราย ว่า อ้อย 1 ตัน ที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส ทางโรงงานจะต้องผลิตน้ำตาลทรายให้ได้ 90 กิโลกรัมน้ำตาล โดยเริ่มใช้มาตรฐานการผลิตนี้ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2560/2561 หรือปีที่ผ่านมา ขณะนี้เริ่มต้นฤดูการผลิตอ้อยปี 2561/2562 เรื่องนี้ชาวไร่อ้อยสนับสนุน สอน.เต็มที่ และโรงงานผลิตน้ำตาลทรายส่วนใหญ่จากกว่า 50 โรงงานสามารถทำได้ตามมาตรฐานที่ประกาศ

ทั้งนี้ มีเพียง 4-5 โรงงานเท่านั้นที่ไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ในจำนวนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกอ้อยภาคเหนือ 1 โรงงาน ส่วนที่เหลืออยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่องนี้มีความเห็นต่างระหว่างฝ่ายโรงงานน้ำตาลที่ผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดและ สอน. จนฝ่าย สอน.ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าโรงงานต้องปฏิบัติติตามประกาศหรือไม่  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งทางฝ่ายชาวไร่อ้อยมีความพร้อมที่จะไปให้ข้อมูลกฤษฎีกา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตีความอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้การตีความออกมาชัดเจนเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  แนวคิดในการจัดทำมาตรฐานโรงงานน้ำตาลทรายเกิดขึ้นเพื่อต้องการดูแลชาวไร่อ้อยให้ได้รับความเป็นธรรม ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดมาตรฐานในการผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อย 1 ตันควรผลิตน้ำตาลทรายได้จำนวนที่กำหนด  หากผลิตน้ำตาลต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ทางฝ่ายโรงงานต้องมีการชดเชย ขณะเดียวกันเพื่อความเป็นธรรมมีการกำหนดมาตรฐานอ้อยที่จะส่งเข้าสู่โรงงานด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวคิดจัดทำมาตรฐานการผลิตโรงงานน้ำตาลทรายนี้ผ่านการหารือกับฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายมาแล้วหลายครั้งและนานมาแล้ว  เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ซึ่งขณะนั้นนายสมชาย ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม.

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 11 มกราคม 2562 

สงครามการค้าฉุดส่งออกไทย หวั่น!ปี 62 มูลค่าหดหาย 4.4 พันล้านเหรียญ

 “ม.หอการค้าไทย” เผย 1 ปีสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ฉุดมูลค่าส่งออกไทยหายวับเกือบ 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 61 ส่วนปี 62 คาดมูลค่าส่งออกจะหายไปมากกว่า 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯแน่นอน แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว ภาครัฐเร่งเจรจาขยายตลาดด่วนๆ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการประเมินสงครามการค้า : ผลกระทบการส่งออกไทยปี 2562 ว่า ในช่วงเกือบ 1 ปีที่สหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและประเทศไทยแล้ว โดยศูนย์ฯประเมินว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2561 หายไป 351-597 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือทำให้อัตราการขยายตัวลดลง 0.1-0.2% และผลของสงครามการค้าดังกล่าว ทำให้คาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยจะขยายตัว 6.1-7.5% เท่านั้น ส่วนปี 2562 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของประเทศไทยจะหายไปอีก 1,181-4,427 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออัตราการขยายตัวลดลง 0.5-1.9%

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสินค้าไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั้งของประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ทั้ง 2 ประเทศ นำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยปี 2562 คาดว่าทั้ง 2 ประเทศจะนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยลดลง 0.6-2.4% โดยสินค้าที่มูลค่าการส่งออกจะหายไปมากที่สุด คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากการที่ทั้ง 2 ประเทศขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น 10% มูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยจะลดลง 343 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หาก 2 ประเทศปรับขึ้นภาษีเป็น 25% มูลค่าจะหายไป 758 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเป็นสินค้าเคมีภัณฑ์, ยางและพลาสติก, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ โดยมูลค่าการส่งออกจะหดหายมากขึ้นตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ภาพรวมการส่งออกของไทยไปตลาดโลกจะลดลง 0.2-0.8% เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน แต่หากสหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีระหว่างกันมากกว่า 25% จะทำให้การส่งออกไทยไปตลาดโลกลดลงถึง 8% หรือมูลค่าหายไป 1,796-57,736 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกที่หายไป พิจารณาเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าเท่านั้น ยังไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ด้วยทั้งเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมัน และปัญหาการเมืองของแต่ละประเทศ

“หาก 2 ประเทศขึ้นภาษีนำเข้าเกินกว่า 25% เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดจากที่คาดการณ์ไว้ แต่โอกาสที่ 2 ประเทศ จะขึ้นภาษีเกินกว่า 25% มีความเป็นไปได้น้อยมาก หรือน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 50 : 50 เท่านั้น เพราะต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศ และการขึ้นภาษี 10% ในปัจจุบันก็สะท้อนแล้วว่าไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ลดการขาดดุลการค้ากับจีนได้เลย แต่กลับทำให้สหรัฐฯต้องนำเข้าสินค้ามากขึ้น ในราคาที่สูงขึ้น โดยเป้าหมายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลระหว่างประเทศ”

นายอัทธ์กล่าวว่า เมื่อมองอีกมุม เมื่อสหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน จะส่งผลให้สินค้าบางรายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก พลาสติก รถยนต์ และเคมีภัณฑ์ ส่งออกมาไทยมากขึ้น โดยคาดว่าสินค้าบางรายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า จะส่งออกมาประเทศไทยสูงถึง 1,094 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่สินค้าเหล่านี้ส่งออกไปเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3,137 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะมีชายแดนติดกับประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าการส่งออกและลดการนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศ ที่จะส่งออกมาไทยมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทย 100% โดยในจำนวนนี้กว่า 70% ต้องปรับเปลี่ยนและเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง มองตลาดอาเซียนและเอเชียมากขึ้น เพิ่มช่องทางการผลิตให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐอาจต้องเจรจาการค้ากับหลายประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า การส่งออก ทดแทนตลาดสหรัฐฯและจีน แต่ทั้งนี้สงครามการค้าไม่ได้มีเฉพาะปัจจัยเสี่ยง โอกาสที่ไทยจะส่งออกไปสหรัฐฯและจีนก็มีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ไม้ อาหารแปรรูป เป็นต้น

“ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือจากผลกระทบ โดยเฉพาะการทะลักของสินค้าจีนที่เข้ามาไทย ซึ่งกลุ่มที่ต้องระมัดระวังและเตรียมความพร้อมมากที่สุดคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะหากไม่มีมาตรการรับมือ อาจส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยต้องหยุดประกอบกิจการ ขณะที่อาเซียนต้องร่วมมือซื้อขายกันมากขึ้น ไม่พึ่งพาตลาดจีนเพียงอย่างเดียว แต่ในทางกลับกันผลดีที่ เกิดขึ้นของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนก็คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ในการขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้ด้วย”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562

ครม.ทุ่ม2.4หมื่นล. เร่งบริหารจัดการน้ำ

ครม.ไฟเขียวจัด 2.4 หมื่นล้าน ลุย 3 โครงการบริหารจัดการน้ำป้องกันท่วม แล้งลุ่มเจ้าพระยาและสกลนคร

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขา ธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 2.43 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โครงการแรก คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงินลงทุน 2.1 หมื่นล้าน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2562-2566) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาถึงปากแม่น้ำ

สำหรับโครงการที่ 2 ประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร มีกำหนดแผนงานโครงการ 5 ปี (2562-2566) กรอบวงเงินงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 1,249 ล้านบาท โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในลำน้ำไว้ช่วยเหลือการเพาะปลูกโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งให้แก่พื้นที่บางส่วนของ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

ด้านโครงการที่ 3 คือ ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราช ดำริ จ.สกลนคร แผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2562-2566) กรอบวงเงินงบประมาณ 2,100 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย ในเขต อ.เมืองสกลนคร และ อ.โคกศรี สุพรรณ จ.สกลนคร โดยก่อสร้างคลองผันน้ำเพื่อแก้ไขปัญหา

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

บาทเปิด 31.95/97 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 31.95/97 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่าจากดอลล์อ่อนหลังรายงานประชุมเฟดส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.95/97 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 32.02 บาท/ดอลลาร์

"ตลาดยังคงจับตาการประชุมเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนซึ่งมีความหวังว่าน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นและไม่น่าจะลุกลามกลายเป็นสงครามการค้า ขณะที่รายงานการประชุมเฟดส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ยและได้ปรับลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเหลือเพียง 2 ครั้ง จากเดิมที่ คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง" นักบริหารเงิน กล่าว นักบริหารเงิน คาดว่าดอลลาร์น่าจะยังอ่อนค่าต่อส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ระหว่าง 31.90-32.05 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

โรงงานน้ำตาลทรายโชว์ผลผลิตอ้อยโค้งแรกของฤดูการหีบประจำปี 61/62

โรงงานน้ำตาลทรายโชว์ผลผลิตอ้อยโค้งแรกของฤดูการหีบประจำปี 61/62 ระบุยิลด์น้ำตาลทรายต่อตันอ้อยอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจหวั่นระยะยาวชะลอตัวหลังหลังสภาพอากาศไม่หนาวเย็นเหมือนทุกปี

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า หลังจากที่ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบการเปิดหีบอ้อยของ ประจำฤดูการผลิตปี 2561/62 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นระยะเวลาเปิดรับผลผลิตแล้ว 49 วัน โดยมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบจำนวน 35.15 ล้านตันอ้อยเทียบกับปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 38.21 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 33.44 ล้านกระสอบ(100 กก./กระสอบ) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาการหีบอ้อยที่เท่ากันของฤดูการผลิตปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้ 37.15 ล้านกระสอบ ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศไม่หนาวเย็นเหมือนเช่นทุกปี ทำให้ค่าความหวานอ้อยลดลงเหลือ 11.43 ซี.ซี.เอส. เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 11.57 ซี.ซี.เอส.

อย่างไรก็ตาม จากการรณรงค์ให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ ส่งผลให้มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ จำนวน 19.84ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาการหีบอ้อยที่เท่ากันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 22.97 ล้านตัน ประกอบกับโรงงานน้ำตาลทรายได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยได้ดีขึ้น แต่ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในช่วงโค้งแรกของฤดูการหีบอ้อยปีนี้อยู่ที่ 95.15 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่มียิลด์ 97.21 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

“ในช่วงแรกของฤดูการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2561/62 ยังอยู่ในเกณฑ์เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากยังสามารถรักษาระดับทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยยังอยู่ในระดับที่ดี แต่ในระยะยาวแล้ว คงต้องดูกันอีกครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้ไม่เอื้อให้อ้อยสร้างค่าความหวานได้ดีมากนัก ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลทรายได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง อากาศแห้งแล้งหนอนกออ้อยระบาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศแห้งแล้ง อาจส่งผลกระทบต่ออ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอในระยะเก็บเกี่ยวถึงระยะแตกกอ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกออ้อย มักพบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยอยู่ 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก ตัวหนอนจะเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน และเข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดอ้อยแห้งตาย ผลผลิตอ้อยลดลง 5-40% และยังพบหนอนเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

ส่วนหนอนกอสีขาว ตัวหนอนจะเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไปกัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่นๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิกงอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้ว หนอนจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อขึ้นมาทาง

ด้านข้าง และเกิดอาการอ้อยแตกยอดพุ่ม หนอนกอสีชมพู หนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนของหน่ออ้อยระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ถึงแม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสียไป แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่จะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหนอนกออ้อย ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในแหล่งชลประทาน ควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย และปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา อัตรา 30,000 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง ให้ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้ง ใช้ในช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย เมื่ออ้อยอายุ 1 เดือนไปแล้ว หรืออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยว 10% ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงเดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน กรณีพบการระบาดของหนอนกออ้อยหรืออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10% ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงอินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นในอัตราส่วน 60 ลิตรต่อไร่

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

สรท.ชี้ส่งออกปี’62ส่อโต5% ห่วงศก.โลกฉุด/ดอกเบี้ยขึ้นดันบาทแข็ง

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. ร่วมกับนายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท.และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. แถลงสถานการณ์การส่งออกเดือนธันวาคม 2561 ที่ สรท.

นางสาวกัณญภัคกล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่า 21,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.95 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2561 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 232,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ สรท.คาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 2561 ของไทยเติบโตร้อยละ 7-7.3 และคาดการณ์ว่าปี 2562 การส่งออกของไทยจะเติบโตร้อยละ 5 บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0(+-0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การเป็นประธานอาเซียนของไทย ทำให้ไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเป็นอัตลักษณ์ให้กับสินค้าไทย รวมถึงการผลักดันการเพิ่มความสะดวกทางการค้าและการลดการกีดกันทางการค้า

สำหรับความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ประกอบด้วย 1.สงครามการค้าการค้าที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะต้องติดตามการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนวันที่ 7-8 มกราคม 2562 2.ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากปี 2562 ข้อตกลงอียูกับเวียดนามเริ่มมีผลบังคับ 3.เหตุจลาจลในกลุ่มประเทศยุโรป 4.ความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาท 5.การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.75 ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น และ 6.กฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศจะเป็นการกีดกันผู้ประกอบการส่งออกทางอ้อม

ทั้งนี้ ทาง สรท.มีข้อเสนอว่า 1.ภาครัฐควรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยจัดกิจกรรม Trade Mission มากขึ้นแยกตามกลุ่มสินค้าและแยกตามกลุ่มประเทศ รวมถึงการสำรวจตลาดใหม่ปี 2562 2.ภาครัฐควรเร่งแก้ไขและลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ 3.การผลักดันและเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ 4.ผู้ประกอบการไทยควรสำรวจตลาดใหม่เสมอ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกระทบจากความผันผวนของสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

สอน.ลงพื้นที่พบปะและรับฟังปัญหาจากชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ลงพื้นที่พบปะและรับฟังปัญหาของชาวไร่อ้อย ณ สมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยได้มอบนโยบายและสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปรับบทบาทเพื่อรองรับและเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าในตลาดโลกตกต่ำ นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

“นับเป็นโอกาสดีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะยกระดับ จากการที่เราเป็นผลิตวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากราคาตลาดที่ผันผวน โดยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายควรปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สร้างรายได้และทางเลือกเพิ่มขึ้นให้กับพี่น้องเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

เคทิสส่ง ‘อะกริเทค’  ปฏิวัติเกษตรไร่อ้อย

 “เคทิส”ขานรับเทรนด์เทคโนโลยีเกษตร เร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจไร่อ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เล็งใช้ประโยชน์ภาพถ่ายดาวเทียมบริหารจัดการพื้นที่ คาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำ รวดเร็วและลดต้นทุน

“เคทิส”ขานรับเทรนด์เทคโนโลยีเกษตร เร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจไร่อ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เล็งใช้ประโยชน์ภาพถ่ายดาวเทียมบริหารจัดการพื้นที่ ส่งผลให้คาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำ รวดเร็วและลดต้นทุน

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้ความสำคัญกับงานวิจัย จึงได้ตั้งบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและนวัตกรรมด้านการเกษตร ในแต่ละปีลงทุนวิจัยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างครบวงจร โดยทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยวิชาการต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กับองค์กรและสังคม

เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้จัดการ

ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายไร่ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเคทิส (KTIS) กล่าวว่า เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อการเกษตร (Agri Tech) เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นเทรนด์ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทกับเกษตรกรไทย เหมือนกับโมเดลธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันเข้าถึงทุกคนทุกวัย

ในอนาคตต่อไปเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะไม่ใช่เกษตรกรในรูปแบบเดิม ที่ใช้แรงงานในการปลูก ให้น้ำหรือหว่านปุ๋ย แต่จะเปลี่ยนมาเป็นผู้จัดการแปลงอ้อยแทน โดยใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติต่างๆ ทำงานแทนแรงงานคนได้เกือบทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การปลูกโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยวางแผน ส่วนการเตรียมดินใช้ระบบจีพีเอสระบุพิกัดพื้นที่ร่วมกับอินฟราเรดในการวางแผนเกลี่ยดินให้เรียบแม้ว่าพื้นที่จะเอียงหรือชันรวมถึงการควบคุมรถที่ใช้ในไร่ก็ไม่จำเป็นต้องมีคนขับ เช่น รถเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะสามารถควบคุมได้ด้วยสมาร์ทดีไวซ์ การบำรุงให้ปุ๋ยหรือพ่นสารต่างก็สามารถใช้โดรนและรถไร้คนขับทำแทนแรงงานคน ฉะนั้น ทักษะสำคัญสำหรับเกษตรกรคือ การบริหารจัดการต้นทุนเพื่อตัดสินใจว่า วิธีใดที่จะได้ผลผลิตมากสุด

“เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนทำให้ชาวไร่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งรับช่วงต่อจากพ่อแม่ มีมุมมองแนวคิดการใช้แรงงานให้น้อยลงแต่ได้ผลตอบแทนมากที่สุด AgriTech จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ ขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็ว สม่ำเสมอและแม่นยำ ไม่ใช่แค่การเพิ่มประสิทธิภาพแต่ยังเชื่อมโยงไปถึงการเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร”

ขณะที่ความท้าทายของบริษัท คือ การพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดเทคโนโลยีที่ช่วยวางแผน ลดความผิดพลาดเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย จากแนวคิดเดิมที่ต้องตามทันเทคโนโลยี แต่อนาคตต้องก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยี เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอ้อยได้อย่างแท้จริง

ภาพถ่ายดาวเทียมเพิ่มความแม่นยำ

ภูมิรัฐ กล่าวว่า ชิ้นงานวิจัยไฮไลต์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือ การพัฒนาสายพันธุ์อ้อยเคทิส คาดว่าภายใน 5 ปีจะสามารถปลูกทดแทนพันธุ์ที่ใช้ในปัจจุบัน และล่าสุดกำลังศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กลุ่มเคทิสจากปัจจุบันที่ประมาณการอ้อยจากนักส่งเสริมที่เข้าไปดูไร่อ้อยในเครือ ทั้งนี้เพื่อลดความผิดพลาดทั้งจากการบันทึกข้อมูลและการทํางาน

 เนื่องจากโรงงานเกษตรไทยเพียงโรงเดียวมีพื้นที่ถึง 7 แสนไร่ จึงมีโอกาสผิดพลาดได้ ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมครอบคลุมพื้นที่ได้ถึง 1,000 ตารางกิโลเมตร สามารถถ่ายภาพได้ทุกวันแล้วนำไปประมวลผลด้วยโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยกตัวอย่าง การเลือกชนิดของปุ๋ยที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ รูปแบบไถ่พรวนที่ช่วยเพิ่มปริมาณตันอ้อยต่อไร่ ทำให้สามารถพัฒนาไร่อ้อยในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือ ต้องการทราบว่าในแต่ละปีจะมีอ้อยกี่ตัน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจวางแผนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ 1-2 ปีต่อจากนี้

“ผมไม่ได้หมายความว่า การทำงานในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ แต่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ในเวลานี้คาดเคลื่อนไม่เกิน 5-10% ซึ่งมีผลต่อการบริหารจัดการ แม้ว่าเป็นตัวเลขไม่มาก แต่ถ้ามองภาพใหญ่จะเห็นผลกระทบมหาศาลเพราะมีการขายล่วงหน้า หากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนและลดการงานของพนักงานที่เป็นงานประจำ ไปช่วยส่งเสริมการปลูกอ้อยและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกไร่ได้มากขึ้น ”

นอกจากนี้จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ชาวไร่ใช้จัดการและเก็บข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง จากเดิมจัดเก็บข้อมูลโดยทางโรงงาน จะเป็นอีกส่วนที่ช่วยพัฒนาไร่อ้อยให้มีผลผลิตดีขึ้นผ่านระบบออนไลน์ โรงงานสามารถรับรู้ข้อมูลความต้องการลูกไร่แล้วจัดการเสริมสร้างทักษะความรู้นั้น ทั้งนี้ เนื่องจากการทำเกษตรให้ได้ผล ต้องอยู่บนข้อมูลที่แท้จริงและความรู้ใหม่เพื่อการตัดสินใจ แทนการใช้ประสบการณ์ตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายายเหมือนในอดีต

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

‘ธนาคารป๋ยอินทรีย์’ฉลุย ตอบโจทย์หนุนเกษตรกรแปลงวัสดุเหลือใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการติดตามโครงการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นเจ้าภาพหลัก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรผลิตและใช้ประโยชน์ปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ลด ละ เลิกการเผา ด้วยการนําเอาวัสดุเหลือใช้จากไร่นามาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นการลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรทําเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการในความดูแลของสถานีพัฒนาที่ดินแต่ละจังหวัด รวมถึงหน่วยงานภายในกรมพัฒนาที่ดินที่มีศักยภาพการผลิตรวม 87 แห่ง โดยเน้นพื้นที่ของเกษตรกรหรือหมอดินอาสา หรือพื้นที่ที่ใช้เป็นสถานที่ดําเนินการ

ในการดำเนินโครงการ กรมพัฒนาที่ดินส่งเจ้าหน้าที่มาสอนวิธีการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ ให้เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งขึ้นเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ในชุมชน โดยมีการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น มูลสัตว์ กากน้ำตาล ยูเรีย ถังหมัก สารเร่ง พด. ปีละครั้ง หลังจากนั้นเกษตรกรจะผลิตปุ๋ยอินทรีย์เองตามศักยภาพของกลุ่ม และเกษตรกรบางรายที่สนใจจะนำความรู้ไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือน

จากการประเมินผลการดำเนินโครงการ ปี 2561 ของ สศก. พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 3,000 ราย ใน 77 จังหวัด โดยเกษตรกรประมาณ 1,500 ราย นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือน โดยผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง 1.5 ตัน/ครัวเรือน จากเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา อาทิ มูลสัตว์ ฟางข้าว แกลบ รำ ขี้เถ้า กากมัน ใบไม้ หญ้าแห้ง ซังข้าวโพด และสามารถผลิตน้ำหมักชีวภาพได้เฉลี่ย 300 ลิตร/ครัวเรือน จากเศษอาหาร เศษผัก ปลา หอยเชอรี่และผลไม้ ทั้งนี้ สามารถคิดเป็นมูลค่าปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพรวมประมาณ 12,000 บาท/ครัวเรือน และคิดเป็นผลประโยชน์สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 7,517 บาท/ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเกษตรกรที่เหลืออีกประมาณ 1,500 ราย ที่ยังไม่นำความรู้มาปรับใช้ เนื่องจากมีภารกิจมาก อายุมาก และขาดวัสดุที่จำเป็นในการผลิต เช่น มูลสัตว์ กากน้ำตาลและถังหมัก หลังจากนี้ กระทรวงเกษตรฯมีแผนสนับสนุนให้ธนาคาร/สหกรณ์ต่างๆ ในพื้นที่ รวบรวมวัสดุที่จำเป็นข้างต้นมาจำหน่ายในราคาขายส่ง หรือให้เกษตรกรยืมโดยมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ยังพบว่าเกษตรกรที่ผลิตปุ๋ยหมักใช้เองจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมโดยลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาลงถึงเท่าตัว ซึ่งเป็นการลดมลพิษทางอากาศและลดภาวะโลกร้อน

ทำให้สภาพแวดล้อมดี เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน ดินร่วนซุยมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือนทำให้รู้สึกปลอดภัยขึ้น เป็นผลดีต่อสุขภาพทั้งตัวเองและผู้บริโภคอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและให้ความรู้ต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรทุกรายเห็นประโยชน์และหันมาเริ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในครัวเรือนมากขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

"แม่สอดพลังงานสะอาด" หนุนปลูกอ้อย 1 ล้านตัน/ปี

"แม่สอดพลังงานสะอาด" หนุนปลูกอ้อย 1 ล้านตัน/ปี ใช้พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 100,000 ไร่ ในฤดูการผลิตปี 2663/2664

นางสาวชนนี หนูบุตร ผู้จัดการฝ่ายบริหารและการเงิน บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ผู้ผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ทำการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่แม่สอดเพื่อนำไปผลิตเป็นเอทานอล โดยในปี 2560/2561 มีผลผลิตอ้อยจำนวน 600,000 ตัน จากพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 56,000 ไร่ และมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการขยายการปลูกอ้อยเป็น 1,000,000 ตัน ซึ่งจะใช้พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 100,000 ไร่ ในฤดูการผลิตปี 2663/2664 เพื่อขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิตอยู่ที่ 250,000-260,000 ลิตรต่อวัน จากปัจจุบันที่ผลิตได้ประมาณ 240,000 ลิตรต่อวัน

"ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับค่าความหวานและผลผลิตความสะอาดของอ้อยที่เข้าสู่โรงงาน ในพื้นที่แม่สอดเป็นพื้นที่ปลูกพืชเพื่อพลังงานโดยแท้จริง เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีสารแคชเมียม แต่ในปี 2555 รัฐบาลขณะนั้นมองว่าจะทำอย่างไรให้ช่วยเหลือชาวบ้านที่แม่สอดมีแหล่งทำกินและมีรายได้ จึงเกิดการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยเพื่อส่งเข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นเอทานอลแทน เพราะอ้อยที่ผลิตได้ในพื้นที่นี้ไม่สามารถนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลเพื่อการบริโภคได้ ขณะเดียวกันก็ปลูกได้แค่ช่วง เม.ย. - ธ.ค. ช่วงนี้จึงนำน้ำอ้อยสดมาผลิตเอทานอลได้ แต่หลังจากนั้นจะต้องใช้วิธีบริหารจัดการโดยใช้วิธีการผลิตเป็นไซรับ เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลในช่วงนอกฤดูกาล ประกอบกับมีการบริหารลดการสูญเสียในทุกกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนลดต่ำ เป็นผลให้ปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างรายได้ปีละเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาท" นางสาวชนนี กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจ ให้ความสำคัญในด้านการบริหารจัดการในกระบวนการผลิตที่สามารถลดการสูญเสียในทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัท ทั้งในด้านการแปรรูปอ้อยเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเอทานอล และยังสามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จำนวน 16 เมกะวัตต์ ซึ่งนำกลับมาใช้ในโรงงานจำนวน 5.6 เมกะวัตต์ และที่เหลือจำหน่ายเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อย่างไรก็ตาม ในอนาคต บริษัทมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเอทานอล แล้วยังกำลังพิจารณาขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 16 เมกกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยการใช้วัตถุดิบจากโรงงานที่มีอยู่ แต่จะดำเนินการได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการและความต้องการใช้ไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 7 มกราคม 2562

ชี้อุตสาหกรรมชีวภาพเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย

รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจร่วมแสดงวิสัยทัศน์ความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2019 ระบุความเหลื่อมล้ำในภาคเกษตรทำให้ปรับตัวได้ยากท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน แต่ก็เป็นโอกาสสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพ

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ภายในงาน Thailand Economic Challenges 2019 เมื่อวันที่ 7 ม.ค.62 ณ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกอร์

ดร.สมคิดเผยว่า เศรษฐกิจในปี พ.ศ.2562 อยู่ท่ามกลางความไม่นอน อึมครึม จากปัจจัยภายนอกที่สหรัฐฯ และจีนทำสงครามการค้า และปัจจัยภายในที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ทราบว่าใครจะเป็นรัฐบาล แล้วรัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะสานต่อนโยบายเดิมหรือไม่

ทว่าปัจจัยภายใน ดร.สมคิดระบุว่าเป็นสิ่งที่น่าจะควบคุมได้ แม้เราจะมองไปข้างหน้าได้ไม่ชัด แต่โอกาสยังมีเพราะไม่มียุคไหนที่เราจะรับมือจีนและญี่ปุ่นได้ดีเท่านี้ เมื่อจีนมีนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไทยก็เป็นเป้าหมายแรกๆ ที่จีนเข้ามาเพื่อเชื่อมไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV แม้จะมีมาเลเซียและเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ

"หน้าที่ทีมเศรษฐกิจคือพยุงเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศ ซึ่งทำไม่ง่าย เพราะฐานรากของเราจน 20-30% ของประชากรเป็นเกษตรกร ที่ผลิตสินค้ามูลค่าน้อย มีการเชื่อมโยงต่อตลาดน้อย เราต้องหาผู้นำเกษตรกรที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคเกษตร" ดร.สมคิดกล่าวระหว่างบรรยายพิเศษ

ทางด้าน ดร.อุตตม กล่าวถึง disrupt technology ว่าเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส แต่ความเหลื่อมล้ำทำให้การปรับตัวทำได้ยาก โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ความเหลื่อมล้ำสูง แต่อีกแง่หนึ่งภาคการเกษตรก็พลิกมาเป็นจุดแข็งได้ โดยการติดเครื่องยนต์ใหม่ให้เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งเหมาะกับไทยมาก

"อุตสาหกรรมชีวภาพน่าสนุก เราจะเริ่มด้วยอ้อย ที่ผ่านมากฎหมายกำหนดให้น้ำอ้อยใช้ทำน้ำตาลได้เท่านั้น ตอนนี้เรากำลังแก้กฎหมายให้เอาน้ำอ้อยไปทำอย่างอื่นได้ เทคโนโลยีมีแล้ว รอแค่กฎหมายมาเปลี่ยน สร้างอุตสาหกรรมชีวภาพเอาน้ำอ้อยไปทำอาหารเฉพาะทาง ยา เครื่องสำอาง ต้องเร่งขับเคลื่อน โอกาสมาแล้ว เรากำลังให้เกิดในอีสานกับภาคกลางตอนล่าง" ดร.อุตตมกล่าว

นอกจากนี้ ดร.อุตตมยังกล่าวถึงการสร้างทักษะให้แก่คนรุ่นถัดไปเพื่อสร้างนวัตกรรม เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก และเทคโนโลยีปัจจุบันราคาไม่แพง นับเป็นโอกาสสำหรับคนไทย เพราะคนไทยมีความสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มเพื่อสร้างทักษะให้คนรุ่นใหม่อยู่ที่ จ.จันทบุรี ที่มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ และมีภาคเอกชนร่วมลงทุน

ส่วน ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวถึงการวางความพร้อมด้านต่างๆ เช่น ความพร้อมทางด้าน Big Data จากข้อมูลดาวเทียม ที่จะนำไปสู่การสร้างสวัสดิภาพส่วนบุคคลได้อนาคต หรือการส่งเสริมนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งนับเป็น "เมกเกอร์" (maker) ที่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ พร้อมทั้งให้ข้อมูลถึงอันดัยความสามารถทางด้านนวัตกรรมของไทยว่าขยับขึ้นมาถึง 16 อันดับในเวลาเพียง 3 ปี โดยปี '58 อยู่ที่อันดับ 67 ของโลก แล้วขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 50 ในปี '61

สำหรับรูปแบบการจัดงาน Thailand Economic Challenges 2019 นั้นเป็นงานสัมมนาเพื่อชี้ทิศทาง คาดการณ์และวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ.2562 โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจอุตสหกรรมได้ทราบถึงสถานการณ์สำคัญต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถกำหนดแผนยุทธศาสตร์ เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันทั้งในประเทศ ตลอดจนพัฒนาสู่การแข่งขันในตลาดโลก

จาก https://mgronline.com   วันที่ 7 มกราคม 2562

ไทยเปิดฉาก "ประธานอาเซียน" เล็งดัน "12 เรื่องใหญ่" ให้สำเร็จ

'พาณิชย์' เปิดฉากการเป็นประธานอาเซียนของไทย เดินหน้าจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจกลางเดือนนี้ เล็งดัน 12 เรื่องที่ไทยเสนอให้สำเร็จ ทั้งปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 "อาเซียน ซิงเกิล วินโดว์"

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเสาเศรษฐกิจอาเซียนครั้งแรก ในปี 2562 ด้วยการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12-18 ม.ค. 2562 ณ กรุงเทพฯ โดยในส่วนการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีวาระการหารือที่สำคัญ อาทิ (1) การพิจารณาให้ความเห็นชอบประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยเสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้ประสบความสำเร็จในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งจะประกอบด้วย 12 ประเด็นที่สำคัญ เช่น การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือ 4IR (การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4) การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (อาเซียน ซิงเกิล วินโดว์) ให้ครบทั้งอาเซียน 10 ประเทศ และการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน เป็นต้น

 (2) การดำเนินงานขององค์กรรายสาขาที่อยู่ภายใต้การกำกับของเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น การทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน และการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมในสาขายานยนต์ของอาเซียน (3) แผนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 11 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เป็นต้น

นอกจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนแล้ว ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole for the AEC) ซึ่งจะเป็นการประชุมร่วมกันของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจและองค์กรรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น คณะกรรมการด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) เพื่อหารือแผนการดำเนินงานสำคัญในปี 2562 และประเด็นที่แต่ละสาขาจะต้องมีการดำเนินงานร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดสัมมนาใหญ่ระหว่างประเทศ เรื่อง : การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือ 4IR หรือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ในวันที่ 14 ม.ค. 2562 โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ รวมทั้งมีผู้บริหารขององค์กรชั้นนำจากภาครัฐและเอกชนของไทยและอาเซียนร่วมเสวนา

"ในช่วงดังกล่าว ไทยยังจะเป็นเจ้าภาพและรับหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรรายสาขาด้านเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป (RCEP) เพื่อจัดเตรียมท่าทีของอาเซียนสำหรับการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป ที่กำหนดจัดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 ณ บาหลี อินโดนีเซียด้วย"

ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้าสูงถึง 22.7% ของการค้าไทยกับโลก รองลงมาเป็นจีน (15.9%) และญี่ปุ่น (12%) เป็นต้น โดยการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 105,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14.3% โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 มูลค่า 63,105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 42,321 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 7 มกราคม 2562

กษ. ดึงBig Dataจัดฐานข้อมูล l ผนึก30หน่วยงานยกระดับภาคเกษตร4.0

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิสัยทัศน์เชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศโดยอาศัยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ภาคเกษตรจึงจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยทุกภาคส่วนต่างเริ่มเรียนรู้และเข้าใจระบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ดังนั้น สศก. ในฐานะหน่วยงานผู้ดำเนินการจัดทำ Big Data กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์ด้าน Big data เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ (Analytic) จัดทำนโยบายและมาตรการภาคการเกษตรของรัฐบาล และผู้บริหารกระทรวงฯ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

คุณสมบัติพื้นฐานสำคัญของ Big Data นั้น เป็นข้อมูลที่มีจำนวนมากในทุกมิติ มีความซับซ้อนหลากหลาย เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เชื่อมโยงกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเรียบร้อยแล้ว ทำให้ทราบปริมาณผลผลิต ช่วงเวลา แหล่งผลิตที่สำคัญ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อใช้บริหารจัดการและกำหนดราคาได้อย่างเหมาะสม โดยกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการ Big data ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ด้านข้อมูลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 2) ด้านข้อมูลสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตร มี

สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 3) ด้านข้อมูลและพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ ข้อมูลความเหมาะสมการใช้ที่ดิน ข้อมูลการใช้ที่ดิน มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และ 4) ด้านข้อมูลน้ำและการชลประทาน ได้แก่ ข้อมูลแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ ซึ่งมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรสำคัญจากหน่วยงานภายในและภายนอกกว่า 30 หน่วยงานทั่วประเทศทั้งด้านการผลิต การตลาด ความต้องการใช้ ข้อมูลของเกษตรกร จากโครงการ Farmer ONE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนที่ผ่านการบูรณาการทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ข้อมูลเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของประเทศไทย ข้อมูลรายได้ภาคเกษตรของครัวเรือน รวมถึงหนี้สินภาคการเกษตร

ทั้งนี้ การจัดทำ Big Data เป็นการบริหารจัดการฐานข้อมูลภาคการเกษตรของประเทศผ่านเทคโนโลยี มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำเสนอข้อมูลแก่ผู้ใช้ให้เข้าใจง่ายในการนำไปใช้ประโยชน์ และคำนึงถึงพื้นฐานของการทำ Big Data เพื่อเตรียมการใช้เทคโนโลยีผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอนาคต โดยระยะเริ่มแรก สศก.จะเปิดให้ผู้บริหาร

กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ Big Data บริหารจัดการด้านการเกษตร ซึ่งจะพัฒนาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดให้ผู้สนใจใช้ประโยชน์ข้อมูลได้ ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป และที่สำคัญคือ เกษตรกรต้องได้รับประโยชน์โดยตรง สามารถพัฒนาการผลิตและองค์ความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน สำหรับผู้ต้องการสอบถามข้อมูลการให้บริการของ Big Data กระทรวงเกษตรฯ อาทิ จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในระดับประเทศ ภาค หรือระดับจังหวัด เป็นต้น สอบถามได้ที่ ส่วนสารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 0-2940-6640 ในวันและเวลาราชการ

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 7 มกราคม 2562

“สมคิด” เผยเศรษฐกิจปี62 เตรียมเผชิญความไม่แน่นอน ทั้งปัจจัยภายนอก- ลงทุนตปท.-เลือกตั้ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงาน Thailand Economic Challenges 2019 ว่า สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี2562 มี 3 มิติที่ไทยต้องเผชิญ ประกอบด้วย มิติที่ 1ความไม่แน่นอนสูง ซึ่งมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การเลือกตั้งของเยอรมนี Brexit ฯลฯ ส่งผลให้มีหลายประเทศได้รับผลกระทบด้านการส่งออกจากปัจจัยเหล่านี้ เช่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย โดยการส่งออกของไทยมีสัดส่วนถึง70%ของจีดีพี ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยติดลบและเริ่มกลับมาเป็นบวกในช่วงปลาปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561สามารถเติบโต อยู่ที่ 4-4.2% ซึ่งเห็นจากการประชุมจัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ2563 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ในปี2561 ตัวเลขการลงทุนรวมทะลุเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานและโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่กลุ่มฐานรากเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลอย่างจริงจัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรค่อยๆกระเตื้องขึ้น

“สำหรับมิติที่ 2 ถึงแม้ว่ามีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก แต่ไทยได้รับอานิสงส์จากการลงทุนต่างประเทศสูง เนื่องจากการประชุมล่าสุดที่ปักกิ่งเขาต้องการลงทุนในประเทศที่3 คือไทย เพราะเขามองว่าไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค รวมถึงนักลงทุนฮ่องกงต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตในการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ) ถ้าเราทำให้ดีเชื่อว่าการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทยแน่นอน” นายสมคิดกล่าว

นอกจากนี้มิติที่ 3 คือ การเลือกตั้งของไทย หากมีการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เชื่อว่าสถานการณ์โลกจะดีขึ้น รวมถึงกฎหมายต่างๆจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ทุกอย่างจะค่อยๆคลี่คลายลง ซึ่งก็ต้องเซตตัวเองให้พร้อม รวมถึงรัฐต้องดูแลเศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้เพื่อส่งต่อรัฐบาลหน้า

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 7 มกราคม 2562

ไทยพร้อมผลักดันเจรจาFTAศรีลังกา

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผย ไทยพร้อมผลักดันเจรจา FTA ศรีลังกาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ส่งออกเล็งใช้สิทธิ GSP เจาะตลาดอียู

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA)ไทย–ศรีลังกา ครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ที่ ประเทศศรีลังกา โดยทั้ง 2 ประเทศ ได้ตั้งเป้าที่จะเจรจา FTA ให้จบภายในปี 2563 เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับไทย เพราะปัจจุบันศรีลังกาได้ GSP Plus จากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษทางภาษีที่ให้แก่ประเทศที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกสินค้าไปผลิตต่อในศรีลังกาแล้วใช้ประโยชน์ทางภาษีส่งออกไปสหภาพยุโรป หรือ จะเข้าไปลงทุนในศรีลังกาและใช้เป็นฐานในการผลิตที่สำคัญในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ด้วย

สำหรับศรีลังกา เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เฉลี่ย ร้อยละ 5 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจาก มัลดีฟส์

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 7 มกราคม 2562

เงินบาทแข็งค่าสุดรอบในเกือบ 7 เดือน

“เงินบาทแข็งค่าสุดรอบในเกือบ 7 เดือน ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นในสัปดาห์แรกของปี”

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 7 เดือนที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นชัตดาวน์ของสหรัฐฯ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และทำให้การคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีความไม่แน่นอนมากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงแข็งค่าเล็กน้อยก่อนปิดตลาดปลายสัปดาห์ ตามทิศทางการอ่อนค่าของเงินหยวน หลังธนาคารกลางจีนปรับลดสัดส่วนการกันสำรอง RRR ลง 1% เพื่อหนุนเศรษฐกิจจีน

ในวันศุกร์ (4 ม.ค. 2562) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.07 เทียบกับระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 ธ.ค. 2561)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.80-32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามประเด็นความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และสถานการณ์ชัตดาวน์ของสหรัฐฯ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนี ISM ภาคบริการ และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. 2561 จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตลอดจนบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 18-19 ธ.ค. 2561 ขณะที่ ข้อมูลสหรัฐฯ ที่ประกาศโดย US Census Bureau ยังคงเลื่อนกำหนดการประกาศออกไป

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,575.13 จุด เพิ่มขึ้น 0.72% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 14.38% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 40,954.92 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 0.19% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 357.11 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับตัวขึ้นในวันทำการแรกของปี ก่อนจะลดช่วงบวกลงในเวลาต่อมา ท่ามกลางความกังวลว่าอาจจะมีการเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งในประเทศ ประกอบกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศมีการปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความคาดหวังในเชิงบวกเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.นี้

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,550 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในวันที่ 7-8 ม.ค. ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของจีน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 6 มกราคม 2562

“ราคาพลังงาน” ดันเงินเฟ้อ”61 สูงสุดรอบ 4 ปี

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) ปี 2561 สูงขึ้น 1.07% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปตามกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ 0.8-1.6% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2557 ที่ 1.89% 

โดยอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ภาพรวมเฟ้อปี 2561 สูงขึ้น 1.07% มาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในเดือนตุลาคม 86.74 เหรียญ/บาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 ปี ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเริ่มปรับลดลงในช่วงปลายปี แต่ก็มีผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการต่อเนื่องกับราคาน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าเกษตร

ทั้งยังมีปัจจัยจากความต้องการสินค้าจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่อัตราค่าจ้างและรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น การกระตุ้นการใช้จ่าย ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ มีผลต่อภาพการลงทุนและการส่งออกที่ดีขึ้น จึงมีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ เป็นแรงหนุนสำคัญให้เงินเฟ้อขยับสูง

ลุ้นกำลังซื้อปี”62 ฉุดเงินเฟ้อ

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2562 “นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการ สนค. คาดการณ์ว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% ภายใต้กรอบประมาณการ 0.7-1.7% จากสมมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไตรมาสแรกของปี 2562 อยู่ที่ 0.86% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.98% ไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.27% และไตรมาส 4 อยู่ที่ 1.81% อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวยังไม่รวมปัจจัยการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีส่วนต่อกำลังซื้อและมีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้

ปัจจัยราคาพลังงานที่ยังคงผันผวน ก็เป็นสาเหตุทำให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารในประเทศสูงขึ้น แต่ยังไม่กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาย มาตรการดูแลผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลงทุนและการส่งออกมีทิศทางดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรทั้งข้าวและมันสำปะหลังปรับตัวดีขึ้น ต่างมีผลเชื่อมโยงต่อรายได้และกำลังซื้อ แม้ว่าราคาปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมะพร้าวจะยังทรงตัวในระดับต่ำแต่ก็มีสัญญาณดีขึ้นจากมาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับขึ้นแต่คงไม่ส่งผลต่อราคาสินค้ามากนัก เนื่องจากมีการแข่งขันสูง

รับมือราคาสินค้าเชิงรุก

ด้านการดูแลราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าเกษตร ธุรกิจบริการในปี 2562 นั้น “นายวิชัย โภชนกิจ” อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า เตรียมมาตรการเชิงรุกดูแลราคาสินค้าเกษตร 7 ชนิด ได้แก่ มะพร้าวแห้ง ปาล์มน้ำมัน ไข่ไก่ สับปะรด หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม ไว้ล่วงหน้า โดยเสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เห็นชอบแล้ว และมีการติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมแผนเชื่อมโยงตลาดเพื่อกระจายผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด โดยอาศัยช่องทางทั้งตลาดกลาง ตลาดต้องชม และร้านค้าริมทาง รวมถึงเร่งผลักดันการส่งออก เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาช่วยไม่ให้เกษตรกรขาดทุน โดยกำหนด “ราคาเป้าหมาย” สินค้าแต่ละชนิดที่จะเข้าแทรกแซงทันที เช่น เป้าหมายราคามะพร้าวแห้ง กก.ละ 15 บาท จากราคาปัจจุบัน 11 บาท, ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 3.30 บาท จากปัจจุบัน 2.90 บาท เป็นต้น

พร้อมกับเดินหน้ามาตรการต่อเนื่องจากปี 2561 เช่น การให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามารับซื้อ 1.6 แสนตัน การเตรียมเข้าไปรับซื้อมะพร้าวแห้งจากเกษตรกรช่วงกลางเดือนนี้ ไข่ไก่ ได้เร่งระบายผลผลิตส่วนเกิน ทั้งผลักดันส่งออก 60 ล้านฟอง และสับปะรด ได้เริ่มทำการเชื่อมโยงตลาด เพื่อผลักดันราคาแล้ว ส่วนการดูแลกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงยืนยันนโยบายที่จะไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าโดยอ้างราคาน้ำมัน เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันแม้จะเคยปรับสูงขึ้น และขณะนี้

ก็ปรับลดลงมาแล้ว และจะเพิ่มทางเลือกในการบริโภคสินค้าราคาถูกให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าชุมชน และในด้านบริการ และสุดท้ายจะมีการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในวันที่ 9 ม.ค. 2562 ซึ่งเบื้องต้นจะมีการพิจารณาทบทวนโดยให้นำบริการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ เข้าไปบรรจุในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม จากปี 2561 ซึ่งมีสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 53 รายการ นอกจากนี้ กำลังจะขยายการดูแล “ค่าเซอร์วิสชาร์จ” ในร้านอาหารและภัตตาคารที่ 10% นอกเหนือจากการบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ว่ามีฐานการคำนวณจากอะไรและนำไปใช้อะไรบ้าง มีความเหมาะสมหรือไม่

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 6 มกราคม 2562

กรมชลเร่ง 3,000 โครงการปี”62 เตรียมรับมือน้ำแล้งต้นปี

กรมชลฯเผยแผนงานปี”62 เร่งรัดงานพระราชดำริสร้างแหล่งน้ำโครงการชลประทาน 3,099 โครงการ-คาดการณ์ต้นปีน้ำแล้ง ย้ำน้ำต้นทุนเขื่อนมีจำกัด

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แผนงานปี 2562 กรมชลประทานจะเร่งรัดการดำเนินการโครงการตามพระราชดำริทั้งหมดในความดูแลของกรมชลประทาน 3,099 โครงการ แล้วเสร็จ 2,860 โครงการ เฉพาะในปี 2561 แล้วเสร็จรวม 60 โครงการ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 130 โครงการ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมอีก 69 โครงการ และยังได้เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยเร่งการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ให้เป็นไปตามแผนงานความต้องการใช้น้ำระยะ 10 ปี โดยรวมทุกแผน 384 ล้าน ลบ.ม./ปี รวมทั้งปรับปรุงโครงการชลประทานที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 30 ปี จำนวน 77 โครงการ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งการบริหารจัดการน้ำ และไม่หยุดการพัฒนาระบบงานสู่ digital platform และพัฒนาระบบฐานข้อมูล (big data)

“กรมชลประทานยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นแผนรองรับแผนการปฏิรูปประเทศแล้ว ยังน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติ และปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ โดย กนช.เห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา และจะปรับระเบียบตาม พ.ร.บ.กฎหมายน้ำ เพื่อรองรับผลกระทบ”

อย่างไรก็ดี ช่วงต้นปี 2562 คาดการณ์ว่าจะเกิดภัยแล้ง กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี”61/62 (ระหว่าง 1 พ.ย. 61-30 เม.ย. 62) โดยได้มีการจัดสรรน้ำตามแผนการใช้น้ำฤดูแล้งจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่น ๆ รวมกันทั้งสิ้น 23,100 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนการจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสักฯ) รวมประมาณ 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7,300 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีก 700 ล้าน ลบ.ม.) ขณะที่ผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี”61/62 ทั้งประเทศ ปัจจุบัน (3 ม.ค. 62) มีจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของแผนทั้งประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วกว่า 2,900 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของแผน

“ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมรณรงค์การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นการช่วยกันประหยัดน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าอีกด้วย”

สำหรับแผนงานโครงการขนาดใหญ่ระยะ 5 ปี (2562-2566) ยังคงเน้น 10 โครงการ วงเงิน 500,000-700,000 ล้านบาท โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น 1) โครงการผันน้ำแม่น้ำโขง-เลย-ชี-มูล

วงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท 2) โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำสาละวินเข้าเขื่อนภูมิพล 70,000-80,000 ล้านบาท ขณะนี้รอผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3) โครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา วงเงิน 6,000 ล้านบาท กับโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่กาญจนบุรี วงเงิน 20,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 6 มกราคม 2562

พลังงานทดแทนกำลังเป็นอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทข.) กล่าวถึงสถานการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานระดับโลกว่า อุตสาหกรรมพลังงานถือว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลและมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ แต่เมื่อมีการใช้พลังงานก็ย่อมมีผลกระทบที่ตามมาเช่นกัน ดังนั้นทุกประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งหาวิธีการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ที่สามารถลดมลภาวะในทุกๆ ด้าน ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการกำหนดนโยบายเพื่อใช้พลังงานสะอาดเข้ามาแก้ปัญหา

รายงานจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ว่ามีผู้คนที่เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 5 ล้านคนต่อปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ควรจะต้องมีการจัดหาพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับโลกของเรา โดยในปัจจุบันมีบริษัทด้านดิจิทัลยักษ์ใหญ่ระดับโลกมากมายที่ต้องการจะเข้ามาผลักดันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทซัมซุง, Apple และไมโครซอฟท์ ฯลฯ

บริษัทซัมซุงมีนโยบายว่าจะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้บริษัทเป็นองค์กรสีเขียวทั้งในตัวอาคารสำนักงานและโรงงานต่างๆที่มีอยู่ทั่วทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งจะใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด 100% ภายในปี 2020 โดยบริษัทซัมซุงในเกาหลีใต้ กำลังเตรียมที่จะเปลี่ยนสำนักงานใหญ่ Digital City ให้เป็นดินแดนของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 42,000 ตารางเมตรสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเทียบเท่าขนาดของสนามฟุตบอล 7 สนาม นอกจากนี้ยังจะมีการติดตั้งแผงโซล่าและผลิตพลังงานใต้พิภพภายในปี 2020

บริษัท Apple ก็มีนโยบายในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีสำนักงาน ร้านค้า ศูนย์ข้อมูล และสถานที่ทำงานทุกแห่งทั่วโลกที่ใช้พลังงานทดแทนแล้ว 100% ซึ่ง Apple ได้มีแคมเปญโฆษณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ผลิตโทรศัพท์โดยใช้พลังงานทดแทน 100%

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในระดับประเทศที่น่าสนใจ เช่น สิงคโปร์ ก็มี่แนวคิดที่จะทำการติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยประเทศสิงคโปร์กำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยและใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจากการผลิตและใช้พลังงานทดแทน และเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นและมีแดดมาก ทำให้ประเทศสิงคโปร์เหมาะกับการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับประชากร 5.7 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องพิจารณาในประเด็นอื่นๆด้วย อย่างเช่นสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 278 ตารางไมล์ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสูงและอพาร์ตเมนต์ สิงคโปร์ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์อย่างที่ทำกันในหลายประเทศ โดยสิงคโปร์ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างมาก เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าถึง 48.6 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ในปี 2017 ที่โดยส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งสิงคโปร์มีการใช้เครื่องปรับอากาศถึง 36% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด

ถึงแม้ว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อาจดูเป็นเพียงความฝันสำหรับประเทศที่มีพื้นที่จำกัดอย่างสิงคโปร์ แต่คณะกรรมการตลาดพลังงานแห่งสิงคโปร์ (Energy Market Authority: EMA) ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2020 ให้ถึงจุดที่เพียงพอต่อการใช้งานสำหรับที่พักอาศัย โดยมีการดำเนินการด้วยแนวทางทั้งการติดตั้งบนหลังคา และอ่างเก็บน้ำ โดยการติดตั้งเหล่านี้ไม่ได้ดำเนินการโดยรัฐบาล แต่ดำเนินการโดยบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Sunseap ที่จะทำการเช่าพื้นที่บนหลังคาเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งขณะนี้บริษัทสตาร์ทอัพนี้ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ต่อวัน ที่ส่งคืนกลับระบบผลิตกระแสไฟฟ้า และคาดว่าแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้จะมีอายุการใช้งานนานถึง 25 - 30 ปี โดยบริษัทสร้างรายได้จากการขายพลังงานให้กับบริษัทที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น Apple และ Microsoft เป็นต้น

บริษัท Apple เป็นบริษัทที่ใช้พลังงานทดแทน 100% แล้วใน 43 ประเทศทั่วโลก บริษัท Apple ในสิงคโปร์ จะใช้แหล่งพลังงานจาก Sunseap รวมทั้งแหล่งพลังงานจากอาคารของตัวเองซึ่ง Apple มั่นใจว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ เพื่อผลิตพลังงานให้กับสำนักงานและร้าน Apple Store

สำหรับ Microsoft นั้น บริษัทตกลงจะซื้อพลังงานจาก Sunseap เป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งข้อตกลงเรื่องพลังงานฉบับนี้ นับเป็นข้อตกลงการใช้พลังงานทดแทนครั้งแรกของ Microsoft ในเอเชีย และจะใช้เป็นแหล่งพลังงานของศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นด้วย

เนื่องจากสิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำให้รัฐบาลต้องใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 17 แห่งสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งกำลังทดลองใช้แพลตฟอร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลอยน้ำได้ และผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างน่าพอใจ โดยมีประสิทธิภาพดีกว่าระบบที่ติดตั้งบนหลังคาทั่วไปประมาณ 5 - 15% เนื่องจากมีอุณหภูมิโดยรวมที่ต่ำกว่า

นอกเหนือจากการสนับสนุนแพลตฟอร์มการผลิตพลังงานบนหลังคาและแบบลอยน้ำแล้ว EMA ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทและผู้บริโภคในการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทจะสามารถขายพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินกลับไปให้แก่ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น และผู้บริโภคสามารถจัดการเรื่องการใช้พลังงานของตัวเองได้ง่ายขึ้นเมื่อติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของตัวเอง และจะเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ในการเช่าซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้น ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเช่าแผงและจ่ายค่าไฟฟ้าตามอัตราที่ตกลงไว้โดยไม่ต้องลงทุนในการติดตั้งและซื้อเป็นของตนเอง

ถึงแม้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะไม่สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของสิงคโปร์ได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้ ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบวิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ สิงคโปร์อาจจะมีวิธีที่จะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อทำให้มีพลังงานเพียงพอต่อการใช้งานทั้งประเทศได้

แหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไปทำให้เรามีความหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ อย่างไรก็ตามหากไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุน อย่างเช่น Big Data, การวิเคราะห์คาดการณ์ และ IoT ก็จะไม่สามารถคาดการณ์และควบคุมแหล่งทรัพยากรเหล่านี้ได้ ก็จะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้โดยง่าย และการปรับเปลี่ยนก็จะยิ่งมีต้นทุนสูง ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้ จะสามารถช่วยให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการด้านพลังงานสามารถทำการปรับตัวได้เร็วขึ้นในการเป็นผู้จัดการแหล่งพลังงานที่ยืดหยุ่น ทำให้สามารถพัฒนาพลังงานแห่งอนาคตที่สะอาด ราคาสมเหตุสมผล และเกิดความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนได้

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ได้ทิ้งประเด็นที่น่าสนใจว่า การกำหนดนโยบายจากภาครัฐและจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของแต่ละประเทศ ก็ต้องฝ่าด่านการเมืองและอุตสาหกรรมพลังงานซึ่งมีเป็นข้อขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังนั้นประเทศที่สามารถฝ่าด่านในการกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ และก็จะสามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างมั่นคงและยังยืนต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 6 มกราคม 2562

กรมเจรจาฯ จับมือสภาเกษตรกรฯ ลุยทุกภูมิภาค "ชี้ช่องทางรวยจาก FTA"

กรมเจรจาฯ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและจัดสัมมนา "ชี้ช่องทางรวยจาก FTA" ให้กับเกษตรกรภาคตะวันออก หวังเพิ่มการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี รุกตลาดอาเซียน และยกระดับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้สามารถขยายการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จับมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดโครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี จำนวน 6 ครั้ง ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและปลอดภัย (Food Health and Safety) โดยได้จัดนำร่องจัดครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย. 2561 ณ จ.อุดรธานี และในครั้งนี้กำหนดจัดโครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. 2562 ที่ปราจีนบุรี โดยจะมีการเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจาก FTA และทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ" ให้กับเกษตรกรจำนวน 100 คน จากปราจีนบุรี นครนายก จันทบุรี ตราด และสระแก้ว เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเขตการค้าเสรี การใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA กฎระเบียบทางการค้า นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยเน้นสินค้าสมุนไพร ขิง ข่า กระชาย ไผ่ ไม้ดอกไม้ประดับ และผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในพื้นที่ ในระหว่างงานจะมีการเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ด้านการส่งออกสินค้าเกษตร ระหว่างวิทยากร ผู้ประกอบการ และเกษตรกรด้วย

"กรมมั่นใจว่า การผลึกกำลังร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการช่วยสร้างมูลค่าและยกระดับสินค้าเกษตรในชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน และที่สำคัญยิ่ง คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับเกษตรกรโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็งมั่นคงในระยะยาว" นางอรมน กล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 มกราคม 2562

เกษตรฯ ดึง Big Data เชื่อมโยงกว่า 30 หน่วยงาน รวมพลังยกระดับภาคเกษตร 4.0

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดึง Big Data เชื่อมโยงกว่า 30 หน่วยงานทั่วประเทศ รวมพลังยกระดับภาคเกษตร 4.0 ภายใต้โครงการ Farmer ONE สร้างฐานข้อมูลเกษตรกร การผลิต การตลาด ความต้องการใช้สินค้าเกษตร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิสัยทัศน์เชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศโดยอาศัยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ภาคเกษตรจึงจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยทุกภาคส่วนต่างเริ่มเรียนรู้และเข้าใจระบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ดังนั้น สศก. ในฐานะหน่วยงานผู้ดำเนินการจัดทำ Big Data กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์ด้าน Big data เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ (Analytic) ในการจัดทำนโยบายและมาตรการภาคการเกษตรของรัฐบาล และผู้บริหารกระทรวงฯ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

คุณสมบัติพื้นฐานสำคัญของ Big Data นั้น เป็นข้อมูลที่มีจำนวนมากในทุกมิติ มีความซับซ้อนหลากหลาย เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการเชื่อมโยงกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถทราบปริมาณผลผลิต ช่วงเวลา แหล่งผลิตที่สำคัญ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อใช้บริหารจัดการและกำหนดราคาได้อย่างเหมาะสม โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการ Big data ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ด้านข้อมูลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 2.ด้านข้อมูลสินค้าเกษตร ได้แก่ข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตร มี สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 3.ด้านข้อมูลและพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ ข้อมูลความเหมาะสมการใช้ที่ดิน ข้อมูลการใช้ที่ดิน มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และ 4.ด้านข้อมูลน้ำและการชลประทาน ได้แก่ ข้อมูลแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ ซึ่งมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

“นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรสำคัญจากหน่วยงานภายในและภายนอกกว่า 30 หน่วยงานทั่วประเทศ ทั้งด้านการผลิต การตลาด ความต้องการใช้ ข้อมูลของเกษตรกร จากโครงการ Farmer ONE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนที่ผ่านการบูรณาการทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ข้อมูลเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของประเทศไทย ข้อมูลรายได้ภาคเกษตรของครัวเรือน รวมถึงหนี้สินภาคการเกษตร”

ทั้งนี้ การจัดทำ Big Data เป็นการบริหารจัดการฐานข้อมูลภาคการเกษตรของประเทศผ่านเทคโนโลยี มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำเสนอข้อมูลแก่ผู้ใช้ให้เข้าใจง่ายในการนำไปใช้ประโยชน์ และคำนึงถึงพื้นฐานของการทำ Big Data เพื่อเตรียมการใช้เทคโนโลยีผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอนาคต โดยในระยะเริ่มแรก สศก.จะเปิดให้ผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ Big Data ในการบริหารจัดการด้านการเกษตร ซึ่งจะพัฒนาให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดให้ผู้สนใจใช้ประโยชน์ข้อมูลได้ ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป และที่สำคัญคือ เกษตรกรต้องได้รับประโยชน์โดยตรง สามารถพัฒนาการผลิตและองค์ความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคปัจจุบัน สำหรับ ท่านที่ต้องการสอบถามข้อมูลการให้บริการของ Big Data กระทรวงเกษตรฯ อาทิ จำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในภาพรวมระดับประเทศ ระดับภาค หรือ ระดับจังหวัด เป็นต้น สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนสารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 0 2940 6640 ในวันและเวลาราชการ

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 3 มกราคม 2562

ก.อุตลุ้นกม.3ฉบับผ่านสนช.ทันรบ.ชุดนี้ เลิกต่ออายุร.ง.4-ขนาดต่ำกว่า50แรงม้าไม่เรียกโรงงาน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรม และ พ.ร.บ. นิคมอุตสาหกรรมต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจาณาในวาระที่ 1 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการและจะส่งต่อให้กรรมการธิการวิสามัญพิจาณาเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมามีผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านเนื่องจากเป็นห่วงต่อผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการแต่ต้องกำกับดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อประชาชนด้วย

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ. โรงงานอุตสาหกรรมต่อจากนี้ไปจะไม่มีอายุของใบอนุญาตโรงงาน(ร.ง.4) แต่เพื่อดูแลป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัย กระทรวงยังคงมีการตรวจสอบเป็นระยะเช่นเดิม พร้อมทั้งให้โรงงานมีการรับรองตัวเองในการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งมีการปรับนิยามโรงงานให้กิจการย่อยๆ ขนาดเล็กต่ำกว่า 50 แรงม้า คนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ถือว่าเป็นโรงงาน

“ในการตรวจสอบจะมีหน่วยงานภายนอก(third party)ที่จะให้การรับรองความ ในการตรวจสอบ รับรอง เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แต่จะมีบท ควบคุม กำกับ ตรวจสอบ ประเมิน คุณสมบัติ คุณภาพงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนการปรับนิยามโรงงานขนาดเล็กกว่า 50 แรงม้าไม่ถือว่าป็นโรงงาน เพราะกิจการเหล่านี้ส่วนมากเป็นกิจการบริการเพื่อชุมชน เช่น ซ่อมจักรยานยนต์ วิสาหกิจครัวเรือนหรือขนาดย่อม แม้ไม่อยู่ภายใต้การกำกับว่าด้วยโรงงาน แต่กิจการเหล่านี้ องค์กรท้องถิ่นก็สามารถกำกับ ดูแลได้ตามอำนาจหน้าทีมีอยู่แล้ว โดยในช่วงกว่า 7-8 ปีที่ผ่านมาได้มีการโอนภารกิจนี้ให้กับเทศบาลไปกว่า 4,000 เทศบาล ซึ่งก็สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีและมีการพัฒนาการกำกับดูแลให้ดีขึ้นมาโดย”นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า ขณะที่ พ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรม ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)จะให้บริการด้านอนุญาต รับรอง ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมในนิคมฯ เป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ด้านการอนุญาตที่จำเป็นต่างๆ ตั้งแต่การถมดิน การใช้อาคาร ผังเมือง การเข้าเมืองของคนต่างด้าว การนำเข้าหรือออกเขตประกอบการเสรี และการสาธารณสุข อีกด้วย ทำให้การจัดตั้งกิจการในนิคมฯ สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น

นายสมชายกล่าวว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวยังขยายภารกิจของ กนอ. ให้สามารดำเนินกิจการอื่นๆ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารนิคมฯ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การลงทุนด้านสาธาณูปโภคเพื่อให้บริการและประโยชน์ของผู้ประกอบการในนิคมฯ รวมทั้งการตั้งบริษัท หรือร่วมลงทุนกับผู้อื่นได้ และการทำกิจการเพื่อประโยชน์กับชุมชนโดยรอบอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการขยายภารกิจและหน้าที่ให้ กนอ. สามารถปรับตัวได้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเริ่มนโยบายเชิงรุกได้ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ

นายวันชัย พนมชัย รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กล่าวว่า ในส่วนของ พ.ร.บ.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะนี้มีความคืบหน้ามากพอสมควรเช่นกัน ผ่านสนช.วาระแรกแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาของกรรมการธิการวิสามัญ ทั้งนี้ พ.ร.บ.มาตรฐานฯฉบับใหม่จะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น และมีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะปรับโทษสูงขึ้น เพื่อให้ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งมีการคุ้มครองสินค้าภายในประเทศมากขึ้นเพื่อป้องกันสินค้าที่จะเข้ามาทุ่มตลาดในอนาคต นอกจากนี้เพื่อเป็นการสอดรับกับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการมากขึ้น พ.ร.บ.มาตรฐานฯฉบับใหม่จะมีการลดขั้นตอนให้มีความสะดวกเร็วแก่ผู้ประกอบการด้วย

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 3 มกราคม 2562

เงินเฟ้อปี 61 เพิ่ม 1.07% สูงสุด 4 ปี ปี 62 ตั้งเป้า 1.2% จับตาพลังงานกดดัน

เงินเฟ้อ ธ.ค. 61 เพิ่ม 0.36% บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 แต่สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เหตุน้ำมันลดลงแรง รวมถึงผัก ผลไม้ราคาลง ส่วนปี 61 ทั้งปีเพิ่ม 1.07% สูงสุดในรอบ 4 ปี ส่วนปี 62 ตั้งเป้าโต 1.2% จับตาราคาพลังงานเป็นปัจจัยกดดันหลัก ขณะที่การลงทุน ราคาสินค้าเกษตร การส่งออกที่ดีขึ้น จะมีผลต่อกำลังซื้อ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ธ.ค. 2561 เท่ากับ 101.73 ลดลง 0.65% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 0.36% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2560 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน แต่สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี 2561 เพิ่มขึ้น 1.07% อยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ที่ 0.8-1.6% โดยเป็นเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 2557 ที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.89% ปี 2558 ติดลบ 0.9% ปี 2559 เพิ่ม 0.19% และปี 2560 เพิ่ม 0.66%

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. 2561 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงมาจากการลดลงของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องถึง 2.12% และยังมีผลจากสินค้าเกษตรบางชนิดที่ราคาลดลง เช่น ผัก ลด 4.96% และผลไม้ ลด 2.86% แต่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักหมวดอาหารและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.68%

ส่วนเงินเฟ้อปี 2561 ที่สูงขึ้น 1.07% มีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะเริ่มปรับลดลงในช่วงปลายปีแต่ก็ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการต่อเนื่องกับราคาน้ำมัน ส่วนราคาสินค้าเกษตร ผลผลิตผันผวนตามฤดูกาล ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อเงินเฟ้อ ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราค่าจ้างและรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม การกระตุ้นการใช้จ่ายและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ บวกกับการลงทุนและการส่งออกที่ดีขึ้นได้ช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ โดยหมวดอาหารที่บริโภคในบ้านและนอกบ้านเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เพราะได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาของก๊าซหุงต้ม ค่าขนส่ง ค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้า

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2562 สนค.คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2% ภายใต้กรอบ 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยเงินเฟ้อไตรมาสแรก น่าจะอยู่ที่ 0.86% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.98% ไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.27% และไตรมาส 4 อยู่ที่ 1.81%

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อปี 2562 มีปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารในประเทศ การลงทุนมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ทั้งข้าวและมันสำปะหลัง ส่วนปาล์มน้ำมันและมะพร้าวมีสัญญาณดีจากมาตรการแก้ไขปัญหา ทำให้รายได้เกษตรกรสูงขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับขึ้นไม่มาก การส่งออกยังคงดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อกำลังซื้อ และค่าเงินบาท ที่มีผลต่อต้นทุนสินค้านำเข้า และการส่งออก

จาก https://mgronline.com   วันที่ 2 มกราคม 2562

ครม.อนุมัติงบบริหารจัดการน้ำกว่า 16,500 ล้านบาท

ครม. อนุมัติงบ 16,593 ล้านบาท บริหารจัดการน้ำ 3 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอรวมวงเงินดำเนินการทั้งสิ้น 16,593 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา วงเงิน 12,000 ล้านบาท โดยมีรายการที่มีวงเงินงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 4 รายการ ได้แก่ งานขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 1 - 4 วงเงิน 12,797 ล้านบาท

2.โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนและปัญหาขาดแคลนน้ำให้แก่ราษฎร ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี (ปี 2561-2581) วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,875 ล้านบาท มีรายการที่มีวงเงินงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 รายการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงคลองยม - น่าน วงเงิน 2,189 ล้านบาท และ 3.โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ระยะที่ 1 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,440 ล้านบาท มีรายการที่มีวงเงินงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 รายการ ได้แก่ คลองผันน้ำลำปะทาว-สระเทวดา พร้อมอาคารประกอบวงเงิน 1,606 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่า 1 ปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจำนวน 3 โครงการดังกล่าววงเงินทั้งสิ้น 3,318 ล้านบาท ก่อนที่จะมีการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตามมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณพ.ศ.2561 และเข้าข่ายต้องเสนอ ครม. ตามมาตรา 4(1) ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุม ครม.พ.ศ.2548

จาก https://tna.mcot.net    วันที่ 2 มกราคม 2562

เงินบาทปีหมูวันแรกเปิดแข็งค่า คาดกรอบ 32.28-32.38 บาท/ดอลล์

เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันแรกของปี 2562 ที่ระดับ 32.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจาก 32.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วงสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา สำหรับสัปดาห์แรกของปีมีเรื่องที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานเงินเฟ้อ เดือนธันวาคมของไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.00% เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ขยายตัวเพียง 0.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงหนักในช่วงเดือนที่ผ่านมา

นายจิติพลกล่าวว่า วันที่ 3 มกราคม จะมีการรายงานการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐเดือนธันวาคม คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.91 แสนตำแหน่ง จากเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 1.79 ตำแหน่ง พร้อมกับตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐที่จะเพิ่มขึ้นเพียง 2.21 แสนตำแหน่ง ย้ำภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังเติบโตได้อย่างมั่นคง อย่างไรก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ มีโอกาสปรับตัวลงมาที่ 57.0 จุด จาก 59.3 จุด โดยประเด็นที่ชะลอตัวชัดเจน คือการนำเข้าที่ลดลงจากปัญหาสงครามการค้า ทั้งนี้ วันที่ 4 มกราคม คาดว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในสหรัฐ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.95 แสนตำแหน่ง เนื่องจากสภาพอากาศที่ดีกว่าปกติ ขยายตัวสูงกว่าช่วงสองเดือนก่อนที่ชะลอตัวลงเหลือเพียง 1.55 แสนตำแหน่ง และด้วยการจ้างงานดังกล่าว ตัวเลขการว่างงานในสหรัฐจะยังอยู่ในขาลงและทรงตัวที่ระดับ 3.7% ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์ก็จะปรับตัวบวกขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเช่นกัน

“เงินบาทสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีแนวโน้มแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นตามฤดูกาลปีใหม่ ขณะที่ภาพรวมความเสี่ยงด้านการเมืองของสหรัฐก็เป็นปัจจัยที่กดดันให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าได้ต่อ เนื่องจากยังไม่สามารถหาข้อตกลงเรื่องงบประมาณประจำปีได้จนหน่วยงานภาครัฐยังต้องปิดทำการ สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป คือตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐ เชื่อว่าตลาดจะรอดูแนวโน้มของค่าจ้างในสหรัฐ ซึ่งถ้าเพิ่มขึ้นได้ ก็มีโอกาสที่จะดึงเงินเฟ้อให้อยู่ในขาขึ้นต่อไป และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้หลังจากนั้น คาดกรอบเงินบาทระหว่างวัน 32.28-32.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกรอบเงินบาทในสัปดาห์ 32.10-32.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ” นายจิติพลกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 2 มกราคม 2562

ปี’62 อุตสาหกรรม-พลังงานในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

โลกยุคดิจิทัลนั้นความยุ่งยากและซับซ้อนของภาคอุตสาหกรรมและพลังงานในปี 2562 ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive Technology ที่มีแนวโน้มจะทำให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเอกชนและนโยบายรัฐจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดและปรับตัวรองรับกับสิ่งดังกล่าว “ ผู้จัดการรายวัน”จึงขอคัดประเด็นเด่นและประเด็นร้อนต่อเนื่องจากปี 2561 ที่ควรต้องติดตามในปี 2562 ดังนี้

“อีอีซี” กับอุตฯ4.0ความหวังปรับโครงสร้างศก.ไทย

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ในพื้นที่นำร่องจ.ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา เป็นแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก้าวสู่นวัตกรรมขั้นสูงโดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 ที่กำหนดไว้นำร่อง 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่”อีอีซี” เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและเพิ่มเติมอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมที่สอดรับกับกระแสโลก ซึ่งตลอดเวลาของแผนงานรัฐบาลได้อัดฉีดสิทธิประโยชน์มากมาย รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำร่อง 5 บิ๊กโปรเจกต์ในอีอีซีได้แก่ 1.โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และ สนามบินอู่ตะเภา ) 2. โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และ5.ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

โครงการต่างๆ เริ่มทยอยดำเนินการภายใต้รัฐร่วมเอกชนลงทุน(PPP) ที่คาดว่าจะได้รายชื่อผู้ชนะเพื่อการพัฒนาทั้งหมดได้ครบในเดือนก.พ. 62 รัฐบาลคาดหวังว่า EEC Project List นี้จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นการลงทุนระลอกใหม่ที่ตามมาจากเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นคงต้องติดตามกันใกล้ชิดถึงผลสัมฤทธิ์ของ”อีอีซี”ว่าจะเดินไปได้สวยงามตามที่รัฐบาลนี้คาดหวังไว้หรือไม่ ท่ามกลางการเลือกตั้งที่ภาคเอกชนต่างก็เฝ้ารอคอยพราะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธว่ามีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่

2.ยานยนต์ไฟฟ้าเทคโนโลยีที่ยังต้องติดตามต่อ

ช่วง2-3ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)เป็นที่ถูกจับตามากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทั่วโลกต่างมุ่งวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้ส่งเสริมการลงทุนโดยจัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ทำให้มีการส่งเสริมการเกิดขึ้นของสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับรถดังกล่าวอย่างคึกคัก แต่ก็ดูเหมือนว่าวันนี้จำนวนรถยนต์อีวีที่วิ่งบนท้องถนนของไทยรวมๆกันยังคงมีปริมาณเพียงหลักหมื่นคันเท่านั้นและยังถูกมองว่าเป็นของเล่นของคนรวยด้วยสนนราคาที่เกินหลักล้าน อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมแผนที่จะส่งเสริมให้รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล(อีโคคาร์)สามารถผลิตอีวีได้ภายใต้ชื่อ อีโคอีวี เพื่อให้รถอีวีนั้นเกิดขึ้นได้จริงโดยคาดหวังว่าจะเห็นการลงทุนได้ในปี 2562 ดังนั้นคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

3.อ้อยและน้ำตาลกับความหวัง”Bio Economy”

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในช่วงเปลี่ยนผ่านการปรับโครงสร้างสู่ระบบเสรีด้วยการนำร่องการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจากคำสั่งม.44 มีผลตั้งแต่ 15 ม.ค.2561 นั้นดูจะเป็นช่วงจังหวะที่ราคาน้ำตาลโลกลดต่ำลงต่อเนื่องและทำให้เป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคที่ราคาขายปลีกลดลงเฉลี่ย 2 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) แต่สำหรับชาวไร่อ้อยแล้วถือเป็นปีที่ยากลำบากพอควรเมื่อราคาอ้อยตกต่ำต่อเนื่องและฤดูผลิตปี 2561/62 นั้นราคาอยู่ที่ 700บาทต่อตัน(10ซีซีเอส)จนทำให้ครม.ต้องอนุมัติงบกลาง 6,500 ล้านบาทช่วยเป็นปัจจัยการผลิตเพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน….

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเร่งแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยฯเพื่อหวังจะปลดล็อคไปสู่การลงทุนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ(Bio Economy) ที่เป็นเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะอ้อย ดังนั้นปี 2562 จึงต้องติดตามภาวะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลใกล้ชิดว่าจะก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่อย่างไร และ Bio Economy จะเห็นเป็นรูปธรรมได้แค่ไหน

4.แรงงานกับผลกระทบในโลกยุคดิจิทัล

ปี 2561 Disruptive Technology ได้กระทบต่อแรงงานในหลายอุตสาหกรรมแต่ที่เด่นชัดคงหนีไม่พ้นสื่อสิ่งพิพม์ ธนาคารพาณิชย์ และการค้าปลีกที่มุ่งไปสู่ระบบออนไลน์ มากขึ้นขณะที่ภาคการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มจะหันมาพึ่งพิงระบบอัตโนมัติประเภทแขนกลต่างๆ และไฮเทคหน่อยก็ก้าวสู่หุ่นยนต์ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมจะกระทบต่อการจ้างงานในอนาคตและการเข้าสู่แรงงานในยุคดิจิทัลเองก็น่าจะเป็นโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวมากกว่า ขณะที่แรงงานภาพรวมต้องฝึกฝนและเพิ่มทักษะให้มากขึ้น ดังนั้นในปี 2562 ภาคแรงงานไทยจำเป็นต้องปรับตัวในทุกๆ ด้านเช่นเดียวกับนโยบายของภาครัฐหากไม่เช่นนั้นแรงงานจะได้รับผลกระทบที่สูงขึ้น ประกอบกับไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลไปยังการลงทุนในอนาคตได้

5.ส.อ.ท.ปรับปรุงกม.ใหม่รับโลกยุคดิจิทัล

พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยใช้มาตั้งแต่ปี 2530 ได้ฤกษ์ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดรับกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลซึ่งขณะนี้นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. ที่เป็นกำลังหลักในการเร่งจัดทำร่างแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ฯ พ.ศ. ... แล้วเสร็จ เตรียมพร้อมที่จะนำเสนออุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมในการเข้าสู่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งทางส.อ.ท.หมายมั่นว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในปี 2562 นี้ โดยหลักๆที่แก้ไขใหม่คือกระบวนการเลือกตั้ง สมาชิกจะมีมาจากธุรกิจที่สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนไปไม่ได้เน้นโรงงานเช่นอดีต เป็นต้น งานนี้ก็หวังว่าจะไม่มีประเด็นใหญ่ขัดแย้งกันเช่นอดีตที่ผ่านมาอีก

6. พีดีพีใหม่กับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(พีดีพี)ฉบับใหม่ที่กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)วันที่ 7 ม.ค. 62 นั้นตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ด้านคือ 1. ด้านความมั่นคง สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค 2. ด้านราคาที่จะมีค่าไฟเฉลี่ย 3.576 บาทต่อหน่วยตลอดแผน(ปี 61-80) 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดสู่การที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตเอง (Prosumer) ในอนาคต อย่างไรก็ตามร่างดังกล่าวยังคงมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยหลายส่วนและเห็นว่าควรจะศึกษาให้ละเอียดก่อนประกาศใช้เพราะยังมีหลายประเด็นที่ไม่ชัดเจน ซึ่งคงจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าที่สุดร่างแผนดีพีพีฉบับนี้จะเดินไปตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร

7. แผนกองทุนอนุรักษ์ฯเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ปี 2561 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกลายเป็นข่าวฉาวเมื่อมีการปล่อยข่าวถึงความไม่ชอบมาพากลของการใช้เงินที่มีนับหมื่นล้านบาทอย่างไร้ประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงาน โดยโครงการใดที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยชาวบ้านได้แท้จริงก็ยังคงสานต่อ เช่น โซลาร์สูบน้ำ แต่โครงการใดที่เห็นว่าซ้ำซ้อนและส่งเสริมเสร็จแล้วไม่มีงบดูแลต่อก็ต้องตีตกไป ดังนั้นปี 2562 กระทรวงพลังงานได้มีการพิจารณาจัดทำแผนย่อยใหม่ให้สอดรับกับพีดีพี 2018 ที่ประกอบด้วย 5 แผนได้แก่ แผนก๊าซ แผนน้ำมัน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP) และแผนใหม่ที่เพิ่มเข้ามาจัดทำครั้งแรกจากเดิมที่ไม่เคยจัดทำคือ แผนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานได้ชี้ให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนของแผนกองทุนอนุรักษ์ฯที่จะจัดทำนั้นก็เพื่อให้การใช้เงินมีความชัดเจนขึ้น โครงการและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

8. โซลาร์รูฟท็อปมาแรงแซงโค้ง

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ดูจะร้อนแรงต่อเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้นทุนต่ำลงคงหนีไม่พ้นพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) ที่ปี 2561 ภาคธุรกิจเอกชนต่างหันมาติดตั้งผลิตไฟใช้เองกันอย่างต่อเนื่องเพราะค่าไฟต่ำลงและทำให้การติดตั้งมีระยะเวลาการคืนทุนเร็วขึ้นเฉลี่ย 7-10 ปีขึ้นอยู่กับขนาดการติดตั้ง และร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี)ฉบับใหม่ที่เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) 7 ม.ค. 62 ได้กำหนดแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชนจำนวน 10,000 เมกะวัตต์ตลอดแผนปี61-80 ดังนั้นคงต้องมาลุ้นว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)จะร่างเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวนี้ด้วยอัตราเท่าใด และรับซื้อในปีแรกเท่าใดแน่ ซึ่งเชื่อว่าโซลาร์รูฟท็อปเทคโนโลยีนี้จะยังฮิตติดลมบนต่อเนื่อง

9. เมื่อขยะพลาสติกกลายเป็นสินค้าแฟชั่น

ปี 2561 นับเป็นเทรนด์ของการดูแลสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง จะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างส่งเสริมการนำขยะโดยเฉพาะขยะจากพลาสติกในท้องทะเลมาผ่านกระบวนการ Upcycliing ที่นำวัสดุเหลือใช้หรือแปลงสภาพขยะมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นซึ่งในต่างประเทศถือเป็นเทรนด์ที่มาแรงมีการแปลงขยะพลาสติกไปสู่สินค้าแฟชั่นหลากหลาย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ สำหรับประเทศไทยแล้วถือว่าบริษัทพีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC เครือปตท.เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนหลักที่เข้ามาดำเนินการโครงการ Upcycling The Oceans Thailand ด้วยการนำขยะจากทะเลไทยมาแปลงสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ที่ขณะนี้ได้นำออกมาจำหน่ายเพื่อนำเงินไปบริจาคให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ดังนั้นในปี 2562 เชื่อว่าเทรนด์นี้ยังคงมาแรงต่อเนื่องเพราะทั่วโลกกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือCircular Economy

10. การไฟฟ้ากับการรับมือเทคโนโลยี

รอบปีที่ผ่านมาคำว่า Disruptive Technology ได้ถูกกล่าวขานค่อนข้างมากสำหรับวงการพลังงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการผลิตไฟฟ้าที่มาแรงคือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) ที่ต้นทุนต่ำลง ขณะที่แบตเตอรี่สำรองที่เริ่มมการพัฒนามากขึ้น ทำให้ธุรกิจบริการต่างหันมาติดตั้งส่งผลให้จำนวนผู้ผลิตไฟเองใช้เองหรือ IPS มีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การไฟฟ้าถูกจับตาเป็นพิเศษว่าจะรับมือกับเทรนด์นี้อย่างไรโดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะผุ้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ ซึ่งกฟผ.ได้มีการปรับองค์กรให้ลดขนาดเพื่อความคล่องตัวแล้วในปี 2561เชื่อว่าในปี 2562 คงจะเห็นอะไรๆ ตามมาอีกพอสมควรสำหรับบทบาทกฟผ.ที่ต้องเปลี่ยนรับกับยุคดิจิทัล

จาก https://mgronline.com วันที่ 1 มกราคม 2562

แนะผู้ส่งออกใช้สิทธิ0% เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงเริ่มปีนี้

 กรมการค้าต่างประเทศ ออกประกาศการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี รองรับเปิดเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ไตรมาสแรกปี 62 แนะผู้ส่งออกศึกษาใช้สิทธิลดภาษี 0%                 

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการเตรียมความพร้อมในการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารองรับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) หรือ FORM AHK เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดฮ่องกง หลังจากที่อาเซียนและฮ่องกงได้ร่วมลงนามในความตกลงฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 และขณะนี้สมาชิกอาเซียนและฮ่องกงกำลังเร่งดำเนินการภายในเพื่อเตรียมรองรับการเปิดเสรี ซึ่งคาดว่าความตกลงฯ ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสแรกปี 2562 เมื่อภาคีสมาชิกอย่างน้อย 5 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง และประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ดำเนินกระบวนการภายในแล้วเสร็จตามบัญญัติของความตกลงฯ โดยผู้ที่สนใจจะใช้สิทธิประโยชน์ AHKFTA ในการลดภาษีเหลือ 0% เพื่อส่งออกไปยังฮ่องกง ต้องเตรียมความพร้อมและศึกษาการใช้สิทธิประโยชน์เอาไว้ล่วงหน้า

 ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะจัดการจัดอบรม/สัมมนา เพื่อให้ความรู้ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้กับผู้ประกอบการ เพื่อใช้สิทธิฯ ภายใต้กรอบ AHKFTA ด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือเว็บไซต์กรมฯ https://www.dft.go.th รวมถึงสามารถติดตามข่าวอัพเดทใหม่ๆ และสาระน่ารู้เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศได้ทาง Facebook Page และ Line@ในชื่อกรมการค้าต่างประเทศ

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 1 มกราคม 2562

พาณิชย์ผ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมพลังดันส่งออก-เจรจาการค้า 62

พาณิชย์ผ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก – แม้สถานการณ์ของโลกในปี 2562 ยังมีหลายปัจจัยที่อาจบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจของไทย แต่กระทรวงพาณิชย์ ยังเดินหน้าดำเนินการตามนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตตามเป้าหมาย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปีหน้ากระทรวงมี นโยบายในการเดินหน้าขยายการค้าการลงทุนกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกจะยังผันผวนและสงครามการค้าก็ยังจะมีอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยต้อง หาทางเพื่อใช้ประโยชน์จากวิกฤตดังกล่าว

โดยประเทศที่จะเน้นเข้าไปทำการค้ามากที่สุดก็คือจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยนอกเหนือจากสหรัฐและญี่ปุ่น รวมทั้งจะเน้นการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนเพราะอยู่ใกล้ไทยมากที่สุด จากแนวคิดดังกล่าวก็มั่นใจว่าการขยายตัวการส่งออกของไทยในปีนี้และปี 2562 จะทำได้ถึง 8%

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหารือเพื่อทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็ให้ไปจัดทำแผนเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนต่อไป

รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับการดูแลราคาผลผลิตของสินค้าเกษตรให้ราคามีเสถียรภาพ โดยจะดูแลต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะเดียวกันจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาปากท้องในรูปแบบต่างๆ เช่นจัดมหกรรมธงฟ้าประชารัฐ การตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ส่งเสริมการค้าออฟไลน์ ออนไลน์ ในสินค้าทุกประเภท

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กล่าวว่าปี 2562 ยังเชื่อมั่นว่า สินค้าส่งออกของไทยที่มีความหลากหลายและความสามารถทางการแข่งขันในระดับสูง จะเป็นโอกาสในการเร่งผลักดันการส่งออก และสนับสนุนให้การส่งออกไทยมีความยืดหยุ่น รับมือความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้ดีขึ้น

รวมทั้งผลักดันให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย สร้างความเข้มแข็งและรายได้ไปจนถึงเศรษฐกิจฐานราก โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายตัว ของการส่งออกในประเทศกลุ่มอาเซียน และ CLMV มากขึ้น และอาจทดแทนการส่งออกที่หดตัวลงในภูมิภาคอื่นๆ ได้

ที่ผ่านมาดำเนินการขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และพยายามเพิ่มบทบาททางการค้าของประเทศไทยในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 เพื่อรองรับการเติบโตในภูมิภาคต่อไป

สำหรับทิศทางการส่งออกในปี 2562 ยอมรับว่ายังต้องติดตามการเมืองในประเทศ เศรษฐกิจและการค้าโลกที่เริ่ม มีแนวโน้มชะลอตัวในปีหน้า ทั้งนี้ สนค. จะจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ และรองรับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกต่อไปด้วย

ด้าน น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เป้าหมายส่งออกปี 2562 อยู่ที่ 8% มูลค่า 2.76 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามมีผลต่อการส่งออกไทยคือสงครามการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นประเด็นสำคัญ

ทั้งนี้เพื่อให้การส่งออกในปี 2562 เป็นไปได้ตามเป้าหมาย กรมมองแนวทางการทำงานไว้ 3 เรื่อง คือ

การเพิ่มช่องทางการค้าทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และการผลักดันธุรกิจสู่สากล

โดยเฉพาะผู้ประกอบการในชุมชนซึ่งเป้าหมายในปีหน้า ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ที่มีศักยภาพทำตลาดต่างประเทศให้ได้พร้อมกัน มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยรายเดือนทำอย่างไรให้ได้ตามเป้าหมาย กรมก็จะมีแผนการทำตลาดทั้งบุกเจาะตลาด ผลักดันสินค้าให้ชัดเจนมากขึ้น

สําหรับการผลักดันการค้าชายแดนนั้นนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่าในปี 2562 คาดว่าเป้าหมายจะยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปี 2561 ที่ทำได้กว่า 1.4 ล้านล้านบาท

ในปี 2562 กรมยังเดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างต่อเนื่อง เช่น สัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “รอบรู้มาตรการการค้า เสริมสร้างศักยภาพธุรกิจกับกรมการค้าต่างประเทศ” เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านมาตรการทางการค้าที่จะกระทบ การส่งออก–นำเข้า เช่น มาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง การใช้ประโยชน์จาก e – Form D และลู่ทางการขยายตลาดสินค้าฮาลาล เป็นต้น

กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจผ่านโครงการ ‘Young Entrepreneur Network Development Program’ หรือโครงการ ‘เย็นดี’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างเครือข่าย ผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่กรมดำเนินการมาต่อเนื่องกว่า 5 ปี เป็นต้น

รวมทั้งผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเกษตรนวัตกรรม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากข้าว มันสำปะหลัง โดยสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม หรือ APi ก็จะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เช่น การจับคู่ธุรกิจสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว/มันสำปะหลัง

ขณะที่ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) ก็ระบุว่า กรมจะดำเนินการ มาตรการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป โดยจะดำเนินการจัดหา ร้านค้าเข้าร่วมโครงการเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐกระจายให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่

ปัจจุบันมีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐกระจาย อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 50,000 ราย ให้บริการประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ

นอกจากนี้การที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงการคลัง นำแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน ประชารัฐ” เพื่อให้ร้านธงฟ้าประชารัฐให้บริการประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการอย่างทั่วถึง ครอบคลุมไปถึงร้านค้ารายย่อย ช่องทางร้านธงฟ้าประชารัฐ กว่า 50,000 ร้านค้า

ด้านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) ก็เดินหน้าที่จะใช้ประโยชน์จากการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ต่อจากสิงคโปร์ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 33 เมื่อกลางเดือนพ.ย.2561 ที่ผ่านมา โดย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยจะนำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องการให้อาเซียนร่วมกันผลักดันและดำเนินการให้สำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล และยั่งยืน”

นอกจากนี้กรมยังได้ดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น รับฟังข้อมูล ทราบความต้องการหรือปัญหาจากเกษตรกรโดยตรง โดยกรมมีแผนที่จะดำเนินการจัดกิจกรรมร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (พค.) โดย นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็จะเดินหน้าส่งเสริมการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายในปี 2562 จะไม่ต่ำกว่าปี 2561 ที่ราว 8 หมื่นราย

ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยผลักดันให้มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย

กรมจะส่งเสริมให้เกษตรกรและคน ในชุมชนปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจใน ที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ใน การใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้

จัดทำราคากลางไม้ยืนต้น เพื่อใช้อ้างอิงในการตีราคาไม้ยืนต้นแต่ละชนิดว่าควรเป็นอย่างไร และคิดเป็นมูลค่าในการยื่นกู้ยืมหรือใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดชนิดของไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจ ที่จะได้รับการส่งเสริมเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้นมีชนิดใดบ้าง

เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรและชุมชนเพาะปลูกไม้พืชเศรษฐกิจที่ให้ผลประโยชน์สูงสุดและสามารถตัดเพื่อแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทั้งสองแนวทางกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.พ. 2562

ทั้งหมดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะฝ่าคลื่นลมการค้าโลก และสนับสนุนการค้าในประเทศของปี 2562

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 1 มกราคม 2562