http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนมกราคม 2565]

ชี้ช่องใช้ประโยชน์RCEP ส่งออกตลาดเกาหลี-มาเลเซีย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลใช้บังคับกับสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 และประเทศสมาชิก RCEP ที่เหลืออีก 5 ประเทศ ได้เริ่มทยอยยื่นให้สัตยาบันความตกลง RCEP

โดยเกาหลีใต้ได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับกับเกาหลีใต้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และล่าสุดมาเลเซียได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับกับมาเลเซีย ในวันที่ 18 มีนาคม 2565 ส่วนประเทศที่เหลือคาดว่าจะยื่นให้สัตยาบันให้ความตกลงในเร็วๆ นี้ และจะมีผลใช้บังคับต่อไป   

ทั้งนี้ในส่วนของไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการกระบวนการภายในในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP กับเกาหลีใต้และมาเลเซียที่กำลังจะมีผลบังคับใช้

สำหรับเกาหลีใต้จะยกเว้นภาษีสินค้าให้ไทย 90.7% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยยกเว้นภาษีทันที 7,843 รายการ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และเปิดตลาดเพิ่มเติม 413 รายการ จากที่เคยให้ไทยภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-เกาหลี ซึ่งมีทั้งที่เริ่มยกเว้นภาษีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และที่ทยอยลดและยกเว้นภาษีภายใน 10-20 ปี

นอกจากนี้การเปิดตลาดการค้าบริการ จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในเกาหลีใต้ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

ส่วนมาเลเซียจะยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าให้ไทย 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยวันที่ 18 มีนาคม 2565 จะยกเว้นภาษีทันที 6,590 รายการ อย่างไรก็ตามในฐานะสมาชิกอาเซียน มาเลเซียได้เปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างกันมากกว่าที่เปิดให้ประเทศนอกกลุ่มภายใต้ความตกลงอาเซียนอยู่แล้ว ผู้ส่งออกไทยจึงมีทางเลือกในการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงอาเซียน หรืออาเซียน+1 อื่น ที่มาเลเซียลดภาษีให้ไทยมากกว่า หรือภายใต้ RCEP

จาก https://www.naewna.com วันที่ 31 มกราคม 2565

อัตราแลกเปลี่บนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า"ที่ระดับ  33.15 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก เพราะผู้เล่นในตลาดบางส่วนโดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออกต่างทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.15 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.96 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าค่าเงินบาท มีแนวโน้มผันผวนและอาจอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากท่าทีของเฟดที่อาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก เพราะผู้เล่นในตลาดบางส่วนโดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออกต่างทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเดินหน้าขายทำกำไรตลาดหุ้นไทย หรือเข้าซื้อสุทธิต่อ หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นและอาจหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นตาม ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นโฟลว์ขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ใกล้ระดับ 1,820-1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวอาจพอช่วยหนุนเงินบาทในฝั่งแข็งค่าได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.25 บาท/ดอลลาร์

เฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00%-0.25% และส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมตามที่ตลาดคาดไว้ หลังเฟดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนบ้าง แต่ก็ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2%

อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักในช่วงการแถลงของประธานเฟด หลังจากที่ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดอาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้ง มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4 ครั้ง หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังพุ่งสูงขึ้นหรืออยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด นอกจากนี้ มุมมองดังกล่างของประธานเฟดยังได้หนุนโอกาสที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.25% ในแต่ละครั้งอีกด้วย สะท้อนผ่าน มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ 0.30% ในการประชุมเดือนมีนาคม (มีโอกาส 20% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50%)

แนวโน้มเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดคาด เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้น ได้กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงเทขายในช่วงท้ายตลาด ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเพียง +0.02% จากที่ตอนแรกปรับตัวขึ้นกว่า +3% ส่วนดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.15% เช่นกัน แม้ว่าจะปรับตัวขึ้นเกือบ +2% ในช่วงก่อนการประชุมเฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นมาได้ราว +2.1% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการเงินและพลังงาน รวมถึงการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Airbus +5.4%, Adyen +4.9%, Total Energies +4.0%, Santander +3.7% อย่างไรก็ดี เรามองว่า การเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรปนั้น เกิดขึ้นก่อนช่วงตลาดการเงินพลิกกลับมากังวลโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันดังกล่าวในวันนี้ นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงคราม อาจยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปผันผวนต่อได้

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ บอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นราว 14bps แตะระดับ 1.16% ส่วน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 8bps สู่ระดับ 1.85% ทั้งนี้ เรามองว่า ในระยะสั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่คอยกดดันให้บอนด์ยีลด์ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ระยะยาวยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปมากได้ จนกว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะคลี่คลายลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะยีลด์ขึ้น เพื่อ buy on dip บอนด์ระยะยาว

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.48 จุด ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้น ได้กดดันราคาทองคำ เผชิญแรงขายและปรับตัวลงแตะระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน หลังจากที่ตลาดได้รับรู้ผลการประชุมเฟดล่าสุดไปแล้ว โดยหากผลประกอบการสามารถขยายตัวดีขึ้นกว่าคาด ก็อาจพอช่วยพยุง sentiment ของตลาดได้บ้าง

นอกจากนี้ เรามองว่าควรติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่ โดย เรามองว่าตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงหนักในระยะสั้น หากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนตามที่ตลาดกังวล ทว่า สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินดอลลาร์ ทองคำ รวมถึงบอนด์ระยะยาว อาจปรับตัวขึ้นได้ดี เช่นเดียวกันกับ ราคาสินค้าพลังงาน อาทิ น้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565

โจทย์ "ผู้แทนการค้าไทย" เร่งดึงการค้า-ลงทุนหลังโควิด

“ผู้แทนการค้าไทย” หรือ Thailand Trade Representative (TTR) เป็นตำแหน่งที่สำคัญในรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่เจรจาการค้าและการลงทุนแทนนายกรัฐมนตรี

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ม.ค.2565 เห็นชอบแต่งตั้ง ม.ล.ชโยทิต กฤดากร อดีตผู้บริหารบริษัทเจพีมอร์แกน ประเทศไทย ให้เป็นผู้แทนการค้าไทย ควบคู่ตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ถือเป็นคนแรกของรัฐบาล “ประยุทธ์ ​ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดังกล่าว

การแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยไม่เกิน 5 คน และแต่งตั้งคนหนึ่งเป็นประธานผู้แทนการค้าไทย

สำหรับอำนาจหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ครอบคลุมการบริหารงานด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน เป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการเจรจากับต่างประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งเรื่องอื่นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ ท่าทีของรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ตามประเด็นที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

เกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ผู้แทนการค้าไทยสำคัญมากเพราะเป็นตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี และหากเป็นประธานผู้แทนการค้าเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี โดยการทำงานหากกำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจนจะขับเคลื่อนได้มาก

"สมัยที่ผมดำรงเป็นประธานผู้แทนการค้าไทย ได้วางแผนร่วมกันกับนายรัฐมนตรีและกระทรวงต่างๆ ทำงานมียุทธศาสตร์จนเข้าไปเปิดตลาดตะวันออกกลางทั้งตลาดสินค้าอาหารที่ไปสร้างคลังเพื่อความมั่นคงในตะวันออกกลาง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุน โดยในการค้าให้มีการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคไปตะวันออกกลาง ขณะที่ธุรกิจก่อสร้างที่ไทยได้ประโยชน์เป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงริเริ่มการเจรจาทวิภาคีและพหุภาคีหลายกรอบ"

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์การค้า การลงทุนและการเมืองระหว่างประเทศแตกต่างกัน ซึ่งผู้แทนการค้าไทยต้องวางยุทธศาสตร์ว่าจะผลักดันเรื่องใดที่มีความสำคัญในระยะเวลาสั้น เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมถึงเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น ไทย-อินเดีย รวมทั้งการเปิดตลาดการค้าในตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้แทนการค้าไทยต้องวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า การตั้งผู้แทนการค้าไทยมีความสำคัญเพราะเป็นกลไกเข้าไปเจรจาเรื่องสำคัญด้านการค้าและการลงทุน

ซึ่งสหรัฐมีผู้แทนการค้าที่ทำหน้าที่แทนผู้นำในการเจรจานอกรอบทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แล้วนำข้อมูลเสนอประธานาธิบดีเพื่อประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรฟื้นการตั้ง "สำนักงานผู้แทนการค้าไทย" ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานในการสนับสนุนการทำงานของผู้แทนการค้าไทย โดยเฉพาะข้อมูลเพราะในการเจรจาต้องมีความรอบรู้ทั้งในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ กลไกการค้า การลงทุน ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้สามารถต่อรองในด้านต่างๆเพราะการเจรจานั้นไปเจรจาแทนนายกรัฐมนตรีซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยตรงของประเทศ

สำหรับความเร่งด่วนของผู้แทนการค้าไทย คือ การเตรียมพร้อมในการหารือกับผู้นำประเทศ นักธุรกิจ และนักลงทุนที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมากในการประชุมเอเปกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะประเด็นที่เราจะให้ความสำคัญเช่น การส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) การเจรจากับชาติสมาชิกที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ไทยจะร่วม CPTPP รวมทั้งการเจรจากับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นในปัจจุบันเช่นในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ได้แก่ เปรู ชิลี

ก่อนหน้านี้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดึงการลงทุนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ว่า ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะตัดสินใจมาลงทุนในไทย เพราะการระบาดรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะไทยแต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหลายประเทศขณะนี้แม้ฉีดวัคซีนไปมากแต่ยังเผชิญกับการแพร่ระบาด

รวมทั้งแม้มีการระบาดระลอกใหม่แต่การทำงานของคณะทำงานชักจูงการลงทุนในประเทศไทยยังทำงานต่อเนื่อง โดยผลักดันแผนชักจูงการลงทุนที่ครอบคลุมมีทั้งเป้าหมายการชักจูงการลงทุนและการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ซึ่งได้รับฟังความเห็นและประชุมออนไลน์ร่วมกับนักลงทุนต่างประเทศเป็นระยะ

“ขณะนี้ทุกประเทศแข่งขันกันโดยเฉพาะอาเซียนโดยธุรกิจเข้ามา คือ กลุ่มอุตสาหกรรม S-curve กลุ่มธุรกิจ 5G ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการให้มาลงทุน และการเข้ามาลงทุนของแต่ละประเทศจะดึงอุตสาหกรรมชั้นนำแต่ละประเทศ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศก้าวหน้ามาก เช่น จีน”

สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นนั้นไทยได้ประโยชน์จากการกระจายการลงทุนและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยถ้าไทยตอบโจทย์การชักจูงการลงทุนที่เป็นเทรนด์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก เช่น การลดคาร์บอน เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล จะทำให้การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกับโลก

“ตอนนี้มีแค่เพียงบางหน่วยงานที่ทำงานแบบนี้เชิงรุก ตอนนี้ต้องทำงานเป็นทีมผมเองเป็นเหมือนกับมดงาน ก็ได้ชี้สิ่งที่เป็นอุปสรรค และสิ่งที่เป็นโอกาสของการลงทุนของไทยให้ทุกฝ่ายได้เห็น”

 จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565

สมาคมชาวไร่อ้อย ร้องขอรับคนต่างด้าว แก้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน

สมาคมชาวไร่อ้อยที่ราบสูง-สมาคมชาวไร่อ้อย จ.เลย ร้องให้ผ่อนผันรับแรงงานต่างด้าวจากลาวมาตัดอ้อย แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565 ณ ห้องประชุมพรมเลิศ สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในการประชุมแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว มีนายปัญญา ฤกษ์ใหญ่ แรงงานจังหวัดเลย พร้อมหัวหน้าส่าวนราชการ ภาคเอกชน สมาคมชาวไร่อ้อย เกษตรกร ร่วมจำนวนมาก

นายปัญญา ฤกษ์ใหญ่ แรงงานจังหวัดเลย กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดเลยได้รับหนังสือด่วนที่สุด เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2564 สมาคมชาวไร่อ้อยที่ราบสูง เรื่องขอความอนุเคราะห์ให้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรต้องการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติคือลาว เมียนมา และกัมพูชา โดยฤดูการผลิต 2564/2565 มีพื้นที่ปลูกอ้อย 280,000 ไร่ ปริมาณอ้อยหีบ 3,000,000 ตัน มีความต้องการแรงงานต่างด้าว 5,000 คน เนื่องจากแรงงานไทยไม่นิยมทำงานนี้ ทาง สนง.แรงงานจังหวัดเลยจึงขอรับข้อมูล จงเลย มี 2 สมาคมคือ สมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดเลย มีพื้นที่ ปลูก 144,576 ไร่ อ้อยหีบ 1,500,000 ตัน ต้องการแรงงานต่างด้าว 5,231 คน และสมาคมชาวไร่อ้อยที่ราบสูง มีพื้นที่ปลูก 190,000 ไร่ ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 1,546, 317 ไร่ ต้องการแรงงานต่างด้าว 5,000 คน สำหรับปริมาณอ้อยในฤดูการผลิตนี้

โรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกร(มิตรภูหลวง) พื้นที่ปลูก 256,000 ไร่ ผลผลิต 2,356,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 9.20 ตัน/ไร่ และ โรงงานน้ำตาลขอนแก่น(วังสะพุง) 152,000 ไร่ ผลผลิต 1,520,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 10.00 ตัน/ไร่ ส่วนรถจักรตัดอ้อยปีนี้มี 36 คัน พื้นที่ตัดอ้อย 55,998 ไร่ ปริมาณอ้อย 550,000 ตัน เท่านั้นด้านทางราชการได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ผู้ลักลอบเข้ามาแล้ว หรือผู้ยังไม่กลับประเทศให้มาลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว รัฐบาลได้ทำ MOU เมื่อ 16 พ.ย.2564 ใหม่ เน้น 8 ขั้นตอน เช่น มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 การคัดกรอง การกักตัว การคัดเลือกแรงงานต่างด้าวที่จะรับเข้ามา อีกด้วย กรมการจัดหางานต้องทำสิ่งเหล่านี้แล้วรายงานไปยังรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการด้านอ้อยในปีการผลิต 2564/2565 นี้

ด้านายจิรพงศ์ ทันวงษา นายกสมาคมเกษตรชาวไร่อ้อยจังหวัดเลย กล่าวว่า ฤดูกานผลิต 2564/2564 พื้นที่จังหวัดเลยมีการปลูกอ้อยโรงงานจำนวนมากในหลายอำเภอ โดยสมาคมชาวไร่อ้อยที่ราบสูง สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดเลย การใช้รถตัดอ้อยขนาดเล็ก ตัดได้ 1.83 ไร่/ชม. อ้อย 23 ตัน/ชม. รถตัดขนาดกลาง 2.51ไร่/ชม. อ้อย 27 ตัน/ชม.รถตัดขนาดใหญ่ 3.13 ไร่/ชม. ผลผลิตอ้อย 36 ตัน/ชม. หากใช้แรงงานคนตัดอ้อยสด 1.41 -3.35 ตัน/วัน/คน และอ้อยเผา ได้ 3.63-6.00 ตัน/วัน/คน ปัญหาที่เกิดคือ การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 การปิดประเทศปิดการผ่านแดน ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศระบุต้องตัดอ้อยสดในจำนวนมาก อ้อยเผาให้มีน้อยที่สุดระบุเปอร์เซ็นต์ออกมา ด้านค่าจ้างตัดอ้อยเผา 1 บาท/มัด ส่วนอ้อยสด 3 บาท/มัด จึงได้รับผลกระทบหนัก เพราะแรงงานส่วนใหญ่ คือ แรงงานต่างด้าว ส่วนแรงงานในพื้นที่ออกไปขายลอตเตอรี่กันเกือบหมด สำหรับแรงงานจากต่างจังหวัดนั้นมีการตกเขียวโกงกันมาแล้ว จึงได้ประสงค์ขอรับแรงงาน 3 สัญชาติดังกล่าว

นายคำปิ่น บุปภาที เกษตรกรชาวไร่อ้อยบ้านบุ่งผักก้าม ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย เปิดเผยขณะตัดอ้อยของตนต่อผู้สื่อข่าวว่า ก่อนนี้ทางครอบครัวและญาติทำนาข้าวแต่มาระยะหลังประสบกับค่าจ้างแรงงานสูง ขาดแรงงาน อีกทั้งสภาพธรรมชาติส่งผลกระทบมากเพราะข้าวต้องการน้ำมากต้องดูแลใกล้ชิด จึงชวนกันหันมาปลูกอ้อยโรงงานแทน เฉพาะไร่อ้อยตนมี 3 ไร่ มีความสมบูรณ์ลำใหญ่-ยาว พ่อค้าคนกลางมารับเหมาให้ราคา 9,000 บาท/ไร่ แต่ตนไม่ขายเหมาต้องการตัดกันเองกับภรรยาสองคน ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลาตัดประมาณ 20 วันก็ยอมเพราะหากตัดเองจะได้เงินกว่า 50,000 บาท วันไหนเหนื่อย ติดธุระก็ไม่ตัดไม่มีใครมาบังคับ ตัดมัดละ 15 ลำ ส่งขาย 2 ตัน/วัน ที่หน่วยรับซื้อใกล้บ้าน มีเวลาไปทำงานอื่นอีกด้วยและอ้อยจำนวนไม่มากด้วย หากใครมีมากก็จำเป็นดิ้นรนหาแรงงานฯ ด้านแรงงานในท้องถิ่นบ้านเรานั้นหายากครับ เขาไปทำงานตนเอง อีกทั้งไปขายลอตเตอรี่มากจริง ๆ นอกนั้นก็ต้องกรีดยาง-ส่งยางพาราแบบขี้ยาง/ก้อนถ้วย เห็นได้จากไร่อ้อยข้างเคียงของตนซิอ้อยตั้งตรงเต็มไร่ยังรอการตัดป้อนโรงงานเพร่ะขาดแรงงาน ส่วนแรงงานต่างด้าวเคยเข้ามาจำนวนมากในช่วงยังไม่มีการระบาดของเชื้อโควิดเขามาทำส่วนใหญ่เหมาตัด ปีนี้นับว่ากระทบมากเพราะประเทศปิด ด่านปิด ด้วย

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมชลฯ เร่งสร้างประตูระบายน้ำ 4 แห่งเสร็จภายในปี 65-67 แก้แล้งลุ่มน้ำยมตอนล่าง

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และนายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ลงพื้นที่ติดตาม 4 โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร พร้อมเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จตามแผน หวังเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในแม่น้ำยม บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่อย่างยั่งยืน

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สภาพพื้นท่ีตอนล่างของลุ่มน้ำยม ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน จึงวางแผนดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำตลอดช่วงแม่น้ำยม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และทำหน้าที่หน่วงชะลอน้ำเพื่อผันน้ำเข้าทุ่งหรือแก้มลิงในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดประตูเหล็กบานโค้ง จำนวน 5 บาน สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 7.60 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (พ.ศ.2562 –2566) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 51,375 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 2,568 ครัวเรือน ปัจจุบันคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 55 ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เร่งรัดการก่อสร้างประตูระบายน้ำให้แล้วเสร็จ ให้สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้ในปี 2565

โครงการประตูระบายน้ำท่าแห ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดบานเหล็กตรง จำนวน 4 บาน สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 12.60 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาในการก่อสร้าง 6 ปี (พ.ศ.2562 – 2567) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 81,111 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,412 ครัวเรือน ปัจจุบันคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 43 ซึ่งได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำให้แล้วเสร็จ ให้สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้ในปี 2565 นี้เช่นเดียวกัน

โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังจิก ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กบานประตูเหล็กโค้ง จำนวน 5 บาน ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (พ.ศ.2559 – 2565) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 37,397 ไร่ มีความคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 47

และโครงการประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ตำบลไผ่ท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กบานระบายเหล็กชนิดโค้ง จำนวน 5 บาน ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 28,868 ไร่ ปัจจุบันคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 16

"สำหรับโครงการประตูระบายน้ำบ้านวังจิก และโครงการประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ได้สั่งการให้ปรับแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2566 ทั้งนี้ หากประตูระบายน้ำทั้ง 4 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนต่อไป" นายชูชาติ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565

วว.จับมือกรมฝนหลวงฯ วิเคราะห์คุณภาพฝนเทียม

วว. จับมือกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพิ่มขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝน จากการปฏิบัติการฝนหลวงตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 หวังสร้างความเชื่อมั่นในน้ำกินน้ำใช้

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.) และนายสำเริง   แสงภู่วงค์    อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร   ลงนามความร่วมมือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  ในโครงการเพิ่มขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงตามมาตรฐาน  ISO/IEC 17025  

    ความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี  โดยมุ่งหวังร่วมกันพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในผลการวิเคราะห์ทดสอบทั้งในประเทศและ ซึ่งจะก่อให้เกิดคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ผู้ว่าการ วว.   กล่าวว่า   วว. ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาและบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน  วว.  มีความพร้อมในการขับเคลื่อนงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม

ที่ผ่านมา วว. และพันธมิตร คือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร  ได้ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาระบบโปรยสารฝนหลวงบนอากาศยาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง  ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ  เพื่อพัฒนางานวิจัยที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ

ทั้งยังเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “องค์พระบิดาแห่งฝนหลวง”  

สำหรับปี 2565  วว. และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  ได้ประสานความร่วมมือภายใต้ โครงการเพิ่มขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝน  โดยทั้งสองหน่วยงานจะนำองค์ความรู้มาพัฒนาขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝน จากการปฏิบัติการฝนหลวงตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025

วว. พร้อมนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ดำเนินการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นเวลากว่า 20 ปี มาร่วมจัดทำระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการเคมีและให้คำปรึกษาในการจัดทำระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025

ความร่วมมือทั้งสองหน่วยงานมีระยะเวลา  1  ปี  มุ่งหวังร่วมกันที่จะนำไปสู่การร่วมพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในผลการวิเคราะห์ทดสอบทั้งในประเทศและต่างประเทศ  อันจะส่งผลให้การควบคุมคุณภาพน้ำฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ซึ่งจะก่อให้เกิดคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  กล่าวว่า  กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีภารกิจในการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดฝนในปริมาณและการกระจายที่เหมาะสม  เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตรและป่าไม้ทั่วประเทศ  เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่สำคัญ  ตลอดจนบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ได้แก่  ไฟป่า  หมอกควัน  และพายุลูกเห็บ

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการฝนหลวงให้ได้อย่างทันท่วงที ถูกที่ ถูกเวลาและตอบสนองความต้องการของพื้นที่ให้ทันต่อสถานการณ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน ทั้งด้านงานวิจัยและพัฒนา ด้านข้อมูล  เครื่องมือ  อุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพการปฏิบัติการฝนหลวง 

ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ใช้น้ำฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อการอุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตรว่าเป็นน้ำฝนที่มีความปลอดภัยไม่ต่างจากน้ำฝนธรรมชาติ

ความร่วมมือกับ วว. ในครั้งนี้ จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ให้เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในผลการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพน้ำฝน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคน้ำฝนที่ได้จากการปฏิบัติการฝนหลวง

นอกจากนี้ ในอนาคตห้องปฏิบัติการดังกล่าวยังสามารถขยายขีดความสามารถเพื่อรองรับการวิเคราะห์คุณภาพสารฝนหลวง ช่วยให้สามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565

ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยฉลุย ขยายตัว 44.46% - ปี’65 อัดงบ 851 ล้าน ขับเคลื่อน 94 โครงการ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมในฐานะกรรมการ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนเกษตรกร และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ว่า เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานและพิจารณาถึงร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 ร่วมกัน

สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2560-2564) พบว่ามีโครงการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสิ้น 342 โครงการ เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย รวมถึงมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี ด้วยวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายในปี 2565” ทั้งนี้ ในปี 2564 มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (ภาครัฐและภาคเอกชน) อยู่ที่ 1.51 ล้านไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จำนวน 95,752 ราย เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565

สระแก้วรับฟังความคิดเห็นสร้างโรงงานน้ำตาล ชาวบ้านฮือต้านยันไม่เอา

ที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว โดยมี พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ต่อร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานน้ำตาล ของบริษัทนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด โดยมีการประชุมแสดงความคิดเห็น จากหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่

นายฐิติวรรธน์ ยิบยินธรรม รองประธานคณะกรรมการบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด กล่าวว่า สำหรับบรรยากาศการประชุม ทางบริษัท นิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น จากประชาชน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ที่มีพื้นที่ติดกับโรงงานฯ ในรัศมี 5  กิโลเมตร หากไม่มีชื่อในบัญชี จะห้ามเข้าร่วมประชุม ยกเว้นผู้สื่อข่าวสามารถเข้าไปทำข่าวได้  ส่วนบริเวณทางเข้าจุดคัดกรอง บุคคลเข้าร่วมประชุม จะมีป้ายขนาดใหญ่ติดไว้มีข้อความว่า ห้ามบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมโดยเด็ดขาด ในขณะที่ โดยรอบบริเวณอาคารห้องประชุม และบริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัย ด้านทิศเหนือ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ นับร้อยนาย ควยคุมดูแล จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่ ทราบว่า ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลจำนวนมาก เนื่องจาก มีกระแสข่าวว่า จะมีชาวบ้านเดินทางเข้ามา ถือป้ายประท้วง คัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาล ในครั้งนี่จำนวนมาก และอาจจะมีการประท้วงรุนแรง จึงมีเจ้าหน้าที่ป้องกันเหตุไว้ก่อน

 นายฐิติวรรธน์ ยิบยินธรรม รองประธานคณะกรรมการบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการโรงงานผลิตน้ำของบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลผักขะ อ.วัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พื้นที่โครงการทั้งหมดประมาณ 1,652.87ไร่ โดยจัดสรรเป็นพื้นที่ของโรงผลิตน้ำตาลประมาณ 1,614.57 ไร่ และเป็นพื้นที่ของโรงงานไฟฟ้าชีวมวล 38.30 ไร่ ขอยืนยันประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องกลัวว่าทางบริษัทฯจะไปแย่งน้ำจากคลองธรรมเพราะว่าจะขุดสระขนาดใหญ่ไว้เก็บน้ำฝนไว้ใช้เอง สำหรับฝุ่นที่จะกระจายที่ไปกระทบกับประชาชนเราจะตั้งกระข่ายดักจับฝุ่นระอองเป็น 2 ชั้น และบริเวณรอบโรงงานเราจะปลูกต้นไม้ สำหรับเรื่องเสียงทีไปหลบกวนชาวบ้านเราจะมีห้องเก็บเสียงจากตัวของเครื่อง ส่วนที่ชาวบ้านวิตกกังวลจากบ่อบำบัดน้ำเสียเราขอยืนยันว่าเราจะไม่ปล่อยออกไปข้างนอกเลยเก็บไว้ใช้หมุนเวียนไว้ในโรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ส่วนตามหมู่บ้านต่างๆ ที่มีพื้นบางส่วน ที่ติดกับเขตพื้นที่ของบริษัท นิวกว้างสุ้นหลี จำกัด มีตำบลหันทราย ตำบลบ้านด่าน อำเภออรัญประเทศ ตำบลผักขะ ตำบลวัฒนานคร ตำบลหนองแวง อำเภอวัฒนานคร ในท้องที่ ที่อยู่ในรัศมี 5  กิโลเมตร บางแห่งได้คัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาล ของบริษัทนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ได้ทำป้าประกาศ ติดตามจุดต่างๆ เพื่อแสดงเจตจำนง ไม่ต้องการให้มีการสร้างโรงงานน้ำตาล โดยมีข้อความ “เราชาวบ้านห้วยพะใย หมู่4 ไม่เอาโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล”นอกจากนี้ ยังทำหนังสือยื่นกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระแก้ว และที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอวัฒนานคร ขออนุญาตในการชุมนุมคัดค้าน และครั้งล่าสุด ทางอำเภอวัฒนานครได้ทำหนังสือถึง กำนันตำบลผักขะ กำนันตำบลหนองแวง และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน และว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่า จะมีผู้มายื่นคำร้องในการขอจัดกิจกรรม ในการชุมนุมเพื่อคัดค้านหรือสนับสนุน การก่อสร้างโรงงานน้ำตาล KSL ในพื้นที่ ม.บูรพา โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก นั้น การชุมนุมในที่สาธารณะ อันอาจจะได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่จะชุมนุมได้เฉพาะตามระเบียบการชุมนุม ในที่สาธารณเท่านั้น และต้องปฏิบัติตาม พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.โรคติดต่อ ศบค.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวของอื่นๆ ด้วย จึงแจ้งมาให้ทราบและประชาสัมพันธ์ต่อไป หลังจากมีหนังสือถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ไม่มีประชาชน  จัดกิจกรรมชุมนุมคัดค้านการตั้งโรงงาน แต่อย่างใด มีเพียงป้ายคัดค้านติดตามหมู่บ้านเท่านั้น

 นายเสริม หันทะยุง ประธานชมรมรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคลองหวยพระใยและคลองพรมโหด กล่าวว่า ตนได้ตั้งสังเกตว่าสถานที่ประชุมก็ไม่เหมาะสมทำไหมไม่ไปประชุมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตนได้ทราบมาว่าทางบริษัทฯจะทำการขุดสระน้ำขนาดใหญ่และทำการขออนุญาติต่อท่อจากคลองห้วยพระใยและคลองพรมโหดเข้าไปในสระน้ำและความลึกสระน้ำประมาณ 10 เมตร น้ำใต้ดินจากคลองธรรมชาติซึมเข้าไปในสระน้ำขนาดใหญ่ได้ พวกตนอยู่ในพื้นที่โรงงานน้ำตาลก็ต้องกังวลเป็นเรื่องธรรม อย่างไรก็ตามขอให้ทางราชการกำกับดูแลให้ดีอย่าให้ผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ตั้งโรงงานดังกล่าว

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 26 มกราคม 2565

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ  33.00 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวต้านสำคัญจะอยู่ในโซน 33.10-33.20 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.80-32.90 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.00 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.05 บาทต่อดอลลาร์

 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าค่าเงินบาท ยังมีแนวโน้มผันผวนและแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด เงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง จากภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดที่อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

 อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก เพราะภาพตลาดผันผวนในปัจจุบันยังช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นหรือทรงตัวใกล้แนวต้านสำคัญ ทำให้เริ่มมีโฟลว์ขายทำกำไรทองคำซึ่งจะช่วยหนุนเงินบาทในฝั่งแข็งค่าได้

 ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้  

 มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.10 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงผันผวนหนัก โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันจากความกังวลเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมถึงความไม่แน่นอนของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจที่ชะลอลง หลัง IMF ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงเหลือ +4.0% จาก +5.2% ก่อนหน้า ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงกว่า -2.28% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลง -1.22% ในขณะที่ ดัชนี Dowjones ย่อตัวลงเพียง -0.19% จากแรงหนุนหุ้นกลุ่ม Cyclical ที่ช่วยพยุงดัชนีไว้ อีกทั้งดัชนี Dowjones ยังมีสัดส่วนหุ้นเทคฯ ที่ไม่มาก

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นมาได้ราว +0.6% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการเงินและพลังงาน อาทิ BNP Paribas +3.3%, Eni +3.2%, Santander +2.7% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงคราม อาจยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปผันผวนต่อได้

 ทว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นยุโรปอาจเริ่มเปิดโอกาสให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อ โดยในกรณีเลวร้ายสุด เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ตลาดอาจปิดรับความเสี่ยง แต่ข้อมูลในอดีตชี้ว่า สงครามจะกดดันตลาดการเงินในระยะสั้น ซึ่งหากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนเริ่มชะลอลงในหลายประเทศ ก็จะช่วยหนุนให้ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนสามาถขยายตัวดีขึ้นและหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปสามาถกลับมาปรับตัวขึ้นได้ในที่สุด

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างเฝ้ารอผลการประชุมเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 1.77% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาจผันผวนและเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนการประชุมเฟด ทว่า หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาดหรือส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด บอนด์ยีลด์ก็อาจย่อตัวลงได้บ้าง

 นอกจากนี้ ในระยะสั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่คอยกดดันให้บอนด์ยีลด์ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ระยะยาวยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ จนกว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะคลี่คลายลง

 ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.95 จุด ทั้งนี้ แม้ว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะกดดันราคาทองคำ แต่ทว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเลือกที่จะยังคงถือทองคำเพื่อหลบความผันผวนในตลาด ส่งผลให้ราคาทองคำ สามารถปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,848 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งเราคาดว่า อาจเริ่มเห็นผู้เล่นบางส่วนเข้ามาทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

 สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ คือ การประชุมเฟด ซึ่งจะทราบผลการประชุมในช่วง 02.00 น. ของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย โดยเราคาดว่า เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปอย่างชัดเจน โดยเฟดอาจระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจชะลอลงบ้างจากปัญหาการระบาดของโอมิครอน

 นอกจากนี้ เฟดอาจระบุว่า อัตราเงินเฟ้อได้เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ ทำให้เฟดมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปมีความเหมาะสม อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดได้รับรู้การขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว แต่ตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกได้มากกว่า 25bps รวมถึง ตลาดยังไม่มั่นใจว่า เฟดจะเริ่มดำเนินการลดงบดุลเมื่อไหร่และการลดงบดุลจะใช้วิธีการใด ในอัตราเท่าไหร่ต่อเดือน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะจับตาการแถลงของประธานเฟดอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยและประเด็นการลดงบดุลของเฟดอย่างไร

 ทั้งนี้ เราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของเฟดอาจส่งผลให้ตลาดการเงินยังคงผันผวนและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงในช่วงก่อนการประชุมเฟด

 นอกจากนี้ เรามองว่าควรติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่ โดยหากสุดท้ายการเจรจาเพื่อลดความร้อนแรงของปัญหาประสบความล้มเหลวและนำไปสู่สงคราม เรามองว่าตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงหนักในระยะสั้น ทว่า สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินดอลลาร์ ทองคำ รวมถึงบอนด์ระยะยาว อาจปรับตัวขึ้นได้ดี เช่นเดียวกันกับ ราคาสินค้าพลังงาน อาทิ น้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 26 มกราคม 2565

‘บางจาก’ ผุดโปรเจ็คต่อยอดเอทานอล ผลิตน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำป้อนฝูงไอพ่นกองทัพ

กลุ่มบางจากฯ มุ่งสู่ Net Zero ทดลองผลิต SAF เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน ต่อยอดองค์ความรู้งานวิจัยในไทย แปลงพืชเกษตรเป็นน้ำมันเครื่องบิน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนวัตกรรมสีเขียวเพื่อทดลองผลิต Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจากเอทานอล สู่การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้นำมาจากฐานงานวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” เมื่อปี พ.ศ. 2563 ดำเนินการโดย มทร. อีสาน ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยโดย วช. ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของเอทานอลจากการเปลี่ยนเป็นแก๊สโซฮอล์ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในการผลิต SAF และช่วยส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย Supply Chain ของเชื้อเพลิงชีวภาพ ตอบรับความต้องการใช้งาน SAF ที่กำลังขยายตัวสูงขึ้นเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก พร้อมรองรับการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การใช้พลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตามในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2593 โดยมีเป้าหมายสำคัญเป้าหมายแรกคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ. 2573 บางจากฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนการใช้ฟอสซิล เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคขนส่ง ซึ่งบางจากฯ ได้พัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับใช้ในการขนส่งทางบกมาอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้มีโอกาสนำองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยในประเทศมาทดลองผลิตเพื่อพัฒนา SAF ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 80% ตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป แต่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำมันอากาศยานคุณภาพสูงเหมาะสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นขับไล่ของกองทัพอากาศอีกด้วย”

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การศึกษาต่อยอดจากฐานงานวิจัยในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น จากวัตถุดิบภาคการเกษตรที่มีอยู่มากมาย พัฒนาเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่มีประโยชน์มหาศาลต่ออุตสาหกรรมการบิน โดยองค์ความรู้ในการผลิต SAF นี้ มีฟูเซลแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่นเอทานอลเป็นวัตถุดิบ ซึ่งบีบีจีไอฯ มีโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายไบโอดีเซลและเอทานอล ด้วยโรงงานผลิตไบโอดีเซลกำลังการผลิตรวม 1 ล้านลิตรต่อวัน และโรงงานผลิตเอทานอลที่มีกำลังการผลิตรวมสำหรับเอทานอลทั้งหมด 6 แสนลิตรต่อวัน ทำให้มีความเชี่ยวชาญเต็มศักยภาพและพร้อมสนับสนุนการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากกระบวนการผลิตเอทานอลและสนับสนุนนวัตกรรมพลังงานสีเขียว ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในนามกลุ่มบางจากฯ

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” นี้ประสบผลสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการหรือ Lab Scale ในการผลิตน้ำมันชีวภาพ สำหรับใช้ในเครื่องบินซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูงจากวัตถุดิบที่เรียกว่า “ฟูเซล (Fusel)” ของโรงงานผลิตเอทานอลที่มีวัตถุดิบจากอ้อย มันสำปะหลัง และกากส่า ถือเป็นพืชเศรษฐกิจตามการส่งเสริมของนโยบายภาครัฐ

นอกจากนี้งานวิจัยยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ประเทศกำลังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า โครงการ ดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการหมักวัสดุทางการเกษตรเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำมัน SAF ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรม และเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่หน่วยงานของภาครัฐทำหน้าที่ช่วยผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นในภาคธุรกิจ

จาก  https://www.posttoday.com   วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565

เกษตรฯดันนโยบายลดต้นทุนผลิต

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการลดต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อติดตามสถานการณ์ปุ๋ยเคมีภายในประเทศ พบว่าปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยราคาปุ๋ยในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาแม่ปุ๋ยในตลาดโลก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยสำคัญจำกัดการส่งออก ส่งผลให้วัตถุดิบหรือแม่ปุ๋ยในตลาดโลกขาดแคลน ประกอบกับค่าขนส่งที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตฯ ได้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพภายใต้แผนการบริหารจัดการปุ๋ยปี 2565-2569 เสนอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการวางมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จะมีการนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพขึ้นหารือในระดับกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแผนการดำเนินงานทั้งระบบต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสูง สู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งในระยะที่ 1 มีสินค้ายางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และมะเขือเทศ มีกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่เข้าร่วม 56 แปลง ในพื้นที่ 49,102 ไร่ เกษตรกร 2,457 ราย และอยู่ระหว่างขยายการดำเนินการในระยะที่ 2 ในสินค้า 8 ชนิด ได้แก่ พืชผัก ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยมีบริษัทรับซื้อที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 18 บริษัท มีแผนดำเนินการในพื้นที่ 1.9 ล้านไร่ คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 120,000 ราย

จาก  https://www.naewna.com    วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565

สกู๊ปพิเศษ : จับตาเม.ย.65ได้ฤกษ์ขับเคลื่อน การบริหารทรัพยากรน้ำเต็มรูปแบบ

“ในปี 2565 จะเป็นปีแรกในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยาน้ำของประเทศเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ระดับพื้นที่โดยองค์กรผู้ใช้น้ำ ระดับลุ่มน้ำโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำและระดับชาติ โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ. 2561 ที่ต้องการให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เป็นไปบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำแบบองค์รวมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำนั้น” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าว

การจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ สทนช. ได้ดำเนินแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสรรหาคัดเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำและกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำและระดับชาติตามลำดับ

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.2564ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ซึ่งได้มีการแบ่งลุ่มน้ำใหม่ เพื่อให้เหมาะสมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและวิถีชีวิตของประชาชนจากเดิม 25 ลุ่มน้ำ เหลือ22 ลุ่มน้ำใหม่ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชีลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีนลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขณะนี้ สทนช. อยู่ระหว่างการดำเนินการคัดเลือกและสรรหากรรมการลุ่มน้ำให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถประกาศแต่งตั้งได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้ อย่างแน่นอน

สำหรับคณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ จะมาจาก 4 ส่วนสำคัญๆ คือ กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำกรรมการผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ

กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง จะประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น และผู้แทนจากหน่วยภาครัฐ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนจะมีผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม ส่วนลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลจะมีผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำนั้นๆ ด้วย

กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำจะมีจำนวนทั้งหมดลุ่มน้ำละ 9 คน แบ่งเป็น กรรมการที่มาจากภาคเกษตรกรรม 3 คนภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน ขณะนี้ได้มีการประชุมคัดเลือกเรียบร้อยแล้วจะสามารถประกาศแต่งตั้งได้ครบทั้ง22 ลุ่มน้ำภายในเดือนมกราคมนี้

กรรมการผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีลุ่มน้ำละ 1 คนขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการประชุมคัดเลือกเพื่อสรรหา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกได้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในเดือนมีนาคม 2565

กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ จะสรรหาคัดเลือกผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำละ 4 คน ซึ่งเลขาธิการ สทนช.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาตามบทเฉพาะกาลที่ได้ให้อำนาจไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่าง การประกาศรับสมัคร โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2565 หลังจากนั้นจะดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิลุ่มน้ำละ 4 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศแต่งตั้ง ภายในเดือนมีนาคม 2565

“คณะกรรมการลุ่มน้ำ จะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ช่วยเสริมจุดแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำ จะทำให้การดำเนินโครงการหรือแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้ง ปัญหาคุณภาพน้ำ เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่อย่างแท้จริง ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น” ดร.สุรสีห์กล่าว

นอกจากนี้เมื่อได้คณะกรรมการลุ่มน้ำครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในเดือนมีนาคม 2565 แล้ว จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. รวมจำนวน 6 คน ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คนกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 4 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกทั้ง 6 คน ภายในเดือนเมษายน 2565 นี้

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับสูงสุดของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ซึ่งขณะนี้มีพลเอกประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กนช. ทั้งนี้กรรมการลุ่มน้ำใน กนช. ที่ได้รับคัดเลือกมาทั้ง 6 คนดังกล่าว จะมาช่วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ. 2561 ยิ่งขึ้น

กนช.มีหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในทุกมิติ เช่น การจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ การพิจารณาและให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและแผนงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทฯ รวมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปี การพิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำต่างๆ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ เป็นต้น

“ภายหลังจากได้คณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลักและกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. ภายในเดือนเมษายน 2565 แล้ว จะทำให้การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคเป็นไปอย่างสมบูรณ์และเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่จะถูกนำมาแก้ไขตรงตามความต้องการของประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” เลขาธิการ สทนช.กล่าวยืนยัน

จาก  https://www.naewna.com    วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565

พลิกโฉมเกษตรโมเดลใหม่ เพิ่มรายได้มุ่งอุตสาหกรรมมูลค่าสูง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กร.กอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/ 2565 ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ได้มีมติสนับสนุนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรโมเดลใหม่ โดยภาคเอกชน และให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ มีเป้าหมายประกันราคาสินค้าเกษตรสำหรับภาคอุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้แนวคิดความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่และจะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของภาคเกษตร ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร 9 กลุ่มจังหวัดแรก หวังสร้างฐานอุตสาหกรรมเกษตรสู่หมุดหมายเกษตรมูลค่าสูง และ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) รวมทั้งรับทราบวาระต่างๆ เช่น บันทึกความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังความร้อนจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ

2.ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดับภาค (กร.กอ.ระดับภาค) (2.1) ความก้าวหน้าภายใต้คณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออก ได้เสนอกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารภาคตะวันออก ปี 2566 -2570  มีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรและเชื่อมโยงตลาดในระดับภาคตะวันออกให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายตลาดนำการผลิต (2.2) ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าเกษตรที่สำคัญตามศักยภาพแบบครบวงจร ในพื้นที่ 5 กลุ่มจังหวัด ซึ่งได้กำหนดสินค้าแบ่งออกเป็นสินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ผัก โค และแพะ และสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ แมลงเศรษฐกิจ (จิ้งหรีด) สมุนไพร กัญชาและใบกระท่อม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของกลุ่มจังหวัดนำร่อง และมีมติเห็นชอบให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาแนวทางการจัดทำมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อม 9 กลุ่มจังหวัด  ตลอดจนมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ระดับภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดแนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมบางส่วน

จาก  https://www.naewna.com    วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565

สอน.รุดลงพื้นที่หนุน 9 โรงงานลุ่มแม่น้ำแม่กลองลงนามงดรับอ้อยสกปรก

“สอน.” รุดแก้ไขปัญหาตัดอ้อยสกปรกป้อนโรงงานในกลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ล่าสุดจับโรงงาน 9 แห่งในกลุ่มลงนามงดรับอ้อยสกปรก มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.เป็นต้นไป

เปิดเผยถึงกรณีที่นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้รับทราบปัญหาการเก็บเกี่ยวอ้อยโดยไม่มีการตัดยอดและไม่มีการสางใบอ้อย กลายเป็นอ้อยมีสิ่งปนเปื้อน และอ้อยยอดยาว ในเขตภาคกลาง สั่งการให้ สอน.ดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อยสดสกปรกอย่างเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของชาวไร่อ้อยที่จะมีรายได้จากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย โดยวันที่ 19 มกราคม 2565 ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและสถานการณ์การหีบอ้อยของจังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่าปัญหาอ้อยสดสกปรกในปีนี้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขปัญหา จึงเชิญเจ้าของโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลองทั้ง 9 โรงงานมาประชุมเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยสดสกปรกที่เข้าโรงงาน ซึ่งทุกโรงงานเห็นด้วยที่จะไม่รับอ้อยสดสกปรกเข้าหีบ และได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการงดรับอ้อยสดสกปรกที่ไม่มีการตัดยอด ไม่สางใบอ้อย และมีสิ่งปนเปื้อน หากตรวจพบจะให้ชาวไร่นำอ้อยกลับไปปรับปรุงคุณภาพอ้อยให้เป็นไปตามเกณฑ์อ้อยสดคุณภาพดี แล้วนำกลับมาส่งโรงงานอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยสดสกปรกที่ไม่มีการตัดยอด ไม่สางใบอ้อยและมีสิ่งปนเปื้อน ที่เป็นสาเหตุทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง ป้องกันความเสียหายของเครื่องจักร และไม่ให้โรงงานต้องหยุดการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งอ้อยของชาวไร่ที่ต้องรอคิวเทอ้อยเป็นเวลานาน และจะเกิดความเสียหายต่อรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการร่วมมือไม่รับอ้อยไฟไหม้ที่เกิดจากการเผาอ้อยก่อนตัด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด

จาก https://mgronline.com   วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

ชาวไร่ต้องรู้! ดีเดย์ 25 ม.ค.ตีกลับอ้อยสกปรกห้ามเข้าโรงงาน

จับ 9 โรงงานน้ำตาลห้ามรับอ้อยสกปรกเข้าโรงงาน ดัดหลังชาวไร่ไม่สางใบเข้าหีบหวังได้น้ำหนักเพิ่ม ทำน้ำตาลไม่ได้คุณภาพ–เครื่องจักรพัง

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงกรณีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ให้เร่งแก้ปัญหาการเก็บเกี่ยวอ้อยโดยไม่มีการตัดยอดและไม่มีการสางใบอ้อย กลายเป็นอ้อยมีสิ่งปนเปื้อน และอ้อยยอดยาว ในเขตภาคกลางว่า ได้เชิญเจ้าของโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลองทั้ง 9 โรงงานมาประชุม เพื่อแก้ปัญหาอ้อยสดสกปรกที่เข้าโรงงาน ซึ่งทุกโรงงานเห็นด้วยที่จะไม่รับอ้อยสดสกปรกเข้าหีบ และได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการงดรับอ้อยสดสกปรกที่ไม่มีการตัดยอด ไม่สางใบอ้อย และมีสิ่งปนเปื้อน หากตรวจพบจะให้ชาวไร่นำอ้อยกลับไปปรับปรุงคุณภาพอ้อยให้เป็นไปตามเกณฑ์อ้อยสดคุณภาพดี แล้วนำกลับมาส่งโรงงานอีกครั้งหนึ่ง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. เป็นต้นไป

“จากปลัดกรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ สอน.ดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อยสดสกปรกอย่างเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของชาวไร่อ้อยที่จะมีรายได้จากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและสถานการณ์การหีบอ้อยของจังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่าปัญหาอ้อยสดสกปรกในปีนี้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา จึงได้ร่วมกันเร่งแก้ปัญหากับโรงงานทันที”

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยสดสกปรกที่ไม่มีการตัดยอด ไม่สางใบอ้อยและมีสิ่งปนเปื้อน ที่เป็นสาเหตุทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง ป้องกันความเสียหายของเครื่องจักร และไม่ให้โรงงานต้องหยุดการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งอ้อยของชาวไร่ที่ต้องรอคิวเทอ้อยเป็นเวลานาน และจะเกิดความเสียหายต่อรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการร่วมมือไม่รับอ้อยไฟไหม้ที่เกิดจากการเผาอ้อยก่อนตัด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ กล่าวว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงได้เปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 64/65 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา พบว่า มีชาวไร่อ้อยบางรายได้ทำผิดระเบียบการจัดส่งอ้อยสดที่มีคุณภาพเพื่อส่งมอบแก่โรงงาน โดยไม่ตัดยอด ไม่ริดใบ และมีสิ่งปนเปื้อน ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สามารถนำมาสกัดเป็นปริมาณน้ำตาลได้ โดยหวังผลประโยชน์รายได้จากการน้ำหนักอ้อยที่เพิ่มขึ้น หรือหวังเงินช่วยเหลือจากภาครัฐแต่อย่างเดียว แต่กลับส่งผลเสียต่ออ้อยเข้าหีบมีคุณภาพลดลงกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลเสียต่อชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยลดลง และสร้างความเสียหายต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง ซึ่งในประเด็นดังกล่าว โรงงานได้แจ้งไปยัง สอน. ให้รับทราบปัญหา และดำเนินการลงโทษชาวไร่ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว เพราะไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

อ้อยราคาดีแต่ต้นทุนสูง

การลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าอ้อยโรงงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยมากเป็นอันดับที่ 1-3 ของภาคเหนือ

ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ทั้ง 3 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 1.95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19.70 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ได้ผลผลิตรวม 7.40 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 9.52 ของผลผลิตทั้งประเทศ

จำแนกเป็นรายจังหวัด กำแพงเพชรมีเนื้อที่เพาะปลูก 0.75 ล้านไร่ ผลผลิต 3.38 ล้านตัน เพชรบูรณ์มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.50 ล้านไร่ ผลผลิต 1.50 ล้านตัน และนครสวรรค์มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.70 ล้านไร่ ผลผลิต 2.52 ล้านตัน

พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกคือ พันธุ์ขอนแก่น 3 เนื่องจากให้ผลผลิต ประมาณไร่ละ 18-20 ตัน ทนแล้ง ลำใหญ่ แตกกอดี ให้ค่าความหวาน 11-13 ซีซีเอส

ขณะที่โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยตามราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 1,070 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซีซีเอส และผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีน้อยกว่าความต้องการของโรงงานน้ำตาล ทำให้เกิดการแย่งซื้ออ้อยในบางพื้นที่

จะส่งผลดีต่อเกษตรกรที่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ที่มติรัฐมนตรีกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 920 บาท

และโรงงานจะให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ และจะจ่ายเงินเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด สะอาด และมีคุณภาพ ในส่วนของลานรับซื้อจะให้ราคาอ้อยสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้

แม้ราคาอ้อยโรงงานจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรพึงพอใจกับราคาที่ได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช และยาปราบศัตรูพืช มีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้เกษตรกรที่จะลงทุนปลูกอ้อยใหม่ในฤดูการผลิตนี้ มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามไปด้วย.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมชลฯเร่งติดตาม ปัญหาน้ำแล้งปี’65 รณรงค์ประหยัดน้ำ เดินหน้า8มาตรการ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,753 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 32,822 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำแล้วประมาณ 8,186 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของปริมาณน้ำใช้การได้เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,688 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 6,992 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันใช้น้ำแล้วประมาณ 1,999 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 4.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกแล้ว 2.80 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสนับสนุนการเกษตรก่อน จากนั้นจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำช่วยเสริม พร้อมกับเดินหน้าตามมาตรการรับมือการขาดแคลนน้ำ ปี 64/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำน้ำอุปโภค-บริโภค ต้องเพียงพอตลอดทั้งปีที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกร และทุกภาคส่วน ตระหนักถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า รวมทั้งควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

พาณิชย์ลุยมินิเอฟทีเอ หวังขยายโอกาสทางการค้า

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าลุยทำ “มินิ เอฟทีเอ” เตรียมลงนามกับ “รัฐเตลังกานา อินเดีย-เมืองปูซาน เกาหลีใต้-มณฑลกานซู่ จีน” หวังขยายโอกาสด้านเศรษฐกิจ การค้า ดันยอดส่งออก ชี้ยังคุยกับอีกหลายเมือง หลายประเทศ ทั้งไนจีเรีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น จีน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (มินิ เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เพื่อผลักดันการค้า การลงทุนของไทยว่า ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ไทยได้ลงนามมินิเอฟทีเอกับเมืองโคฟุ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีน เพื่อร่วมมือกันขยายโอกาสด้านการค้าแล้ว

สำหรับไห่หนาน หลังจากลงนามร่วมกันแล้ว เมื่อวันที่ 13-17 ธ.ค.64 ได้เริ่มความร่วมมือด้วยการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกไทย กับผู้นำเข้าของไห่หนาน ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเกิดการจับคู่เจรจากันได้ 38 คู่ เกิดมูลค่าซื้อขายภายใน 1 ปี ประมาณ 43.05 ล้านบาท ในสินค้าเครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว และเครื่องสำอางสมุนไพร และยังมีแนวโน้มสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มอีก ถ้าการทดสอบสินค้าเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20-21 ม.ค.65 ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งสินค้าไทยได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าจีนเป็นอย่างมาก 

ส่วนในปี 2565 ไทยมีกำหนดจะลงนามร่วมกับรัฐเตลังกานาของอินเดีย โดยล่าสุด รัฐบาลอินเดียอยู่ระหว่างการพิจารณาถ้อยคำของบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) คาดจะพิจารณาเสร็จและส่งกลับมาให้ไทยได้เร็วๆ นี้ จากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ น่าจะลงนามร่วมกันได้ประมาณเดือนมี.ค.65 จากนั้น จะเป็นการลงนามร่วมกับเมืองปูซาน เกาหลีใต้ และมณฑลกานซู่ ของจีน 

“การทำมินิเอฟทีเอ ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าของไทยกับประเทศต่างๆ เป็นนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มอบให้กรมมาตั้งแต่แรก เพราะการจะทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต้องใช้เวลานาน เลยให้ทำข้อตกลงแบบเล็กๆ หรือเฉพาะเรื่องก่อน เพื่อให้มีผลดำเนินการได้เร็ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริม ผลักดัน และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าของทั้ง 2 ฝ่าย โดยมุ่งไปที่เมืองรอง หรือมณฑลของแต่ละประเทศ”

นอกจากนี้ ภาคเอกชน ยังเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ทำมินิเอฟทีเอกับเมืองต่างๆ ที่มีศักยภาพ เช่น เมืองอาบูจา ไนจีเรีย, เมืองโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ เน้นความร่วมมือด้านอาหาร สมุนไพร อาหารธรรมชาติ และสุขภาพ, เมืองเซี่ยงไฮ้ จีน เน้นความร่วมมือด้านอาหาร, เมืองเซิ่นเจิ้น จีน ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการหารือกัน รวมถึงเมืองเกียวโต ญี่ปุ่น เน้นสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยเคยทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับเกียวโต เพื่อมุ่งส่งเสริมความร่วมมือ และขยายโอกาสด้านการค้าระหว่างกันแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้ หากไทยทำมินิเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ได้เร็ว จะช่วยสร้างมูลค่าการค้า และขยายโอกาสทางการค้าให้กับไทยได้อีกมาก

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565

คุยกับ ”นักวิชาการ" แก้ "เงินเฟ้อ" อย่างไร? ปัญหาในไทยไม่เหมือนต่างประเทศ

"นักวิชาการ" ระบุสาเหตุเงินเฟ้อในไทยซัพพายตึงตัว ราคาพลังงานขาขึ้น แนะรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่งเสริมการแข่งขัน ลดการผลักภาระสินค้าให้ประชาชน เชื่อนดอกเบี้ยตอนนี้ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่คาดแรงกดดันจากเฟดส่งผลแบงก์ชาติขยับดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้

"เงินเฟ้อ" ถือว่าเป็นปัญหาทางทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเกิดปัญหาโดยเฉพาะในประเทศไทยที่ค่าจ้างแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจพึ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องรีบเข้ามาดูแลแก้ไข

อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อแต่ละประเทศก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน เนื่องจากสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จึงต้องเข้าใจสาเหตุให้ถ่องแท้ก่อนจึงสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง

"กรุงเทพธุรกิจ" พูดคุยกับ นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึงสถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นและแนวทางในการแก้ไขปัญหา 

นายมนตรีกล่าวว่าหลายประเทศมีปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น สหรัฐฯประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.ปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี โดยสาเหตุที่เงินเฟ้อสูงขึ้นมากในขณะนี้เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 ความต้องการสินค้าต่างๆมีมากทำให้ซัพพายตรึงตัว ประกอบกับการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ยังมีปัญหาไม่สามารถขนส่งได้ตามภาวะปกติ

ในสถานการณ์เช่นนี้จะเห็นว่าค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นในบางช่วงเวลาปรับเพิ่มถึง 10 เท่า ขณะที่ต้นทุนสำคัญในการขนส่ง และการผลิตคือน้ำมันเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80 - 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าในช่วงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความตรึงตัวของซัพพายที่ยังมีน้อยจากการที่ประเทศในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) ยังไม่ยอมเพิ่มกำลังการผลิตมากนัก ซึ่งในภาวะปกติราคาน้ำมันไม่ควรเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ในระดับนี้

ต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงทำให้การคำนวณตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศไทยซึ่งมีการใช้เงินเฟ้อ 2 แบบ โดยในส่วนของเงินเฟ้อที่เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ที่มีการคำนวณจากราคาสินค้าเฉลี่ย 430 รายการที่รวมราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่มีความผันผวนซึ่งต่างจากเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation)  ซึ่งในการคำนวณ จะไม่รวมการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานและอาหารสด จึงทำให้ Core Inflation มีความผันผวนน้อยกว่า แต่เงินเฟ้อที่ใกล้เคียงกับค่าครองชีพของประชาชนมากกว่าคือ Headline Inflation

แต่ก็มีสินค้าหลายตัวมาคำนวณรวมกันจึงเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อที่ภาครัฐประกาศและบอกว่าจะคุมให้อยู่ในกรอบ 1 - 3% นั้นในความเป็นจริงประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่ากรอบเงินเฟ้อดังกล่าวไปแล้ว

นายมนตรีกล่าวว่าในทางเศรษฐศาสตร์เงินเฟ้อนั้นมีสาเหตุ 2 ด้าน คือ Demand Pull คือเงินเฟ้อที่เกิดจากดีมานต์ความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งในสาเหตุนี้เราเห็นจากในต่างประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19

ส่วนในประเทศไทยเกิดจากภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Cost Push) โดยเฉพาะราคาพลังงาน น้ำมันแพง ซึ่งภาระของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจถูกผลักมาให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีปัญหาทับซ้อนในเรื่องของการผูกขาดทางการค้า ซึ่งทำให้ภาระจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นถูกผลักมาให้ผู้บริโภคได้ง่าย

"ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจาก Cost Push ในประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ผูกขาดภาระจะยิ่งถูกส่งต่อไปให้ผู้บริโภค หากสามารถสร้างกลไกการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ การลดค่าครองชีพของประชาชนจะทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องมีการแข่งขันกันทำให้ราคาลดลง" นายมนตรี กล่าว

เขากล่าวต่อว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทย ก็คือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในปีนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง หรืออาจะจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อลดความร้อนแรงเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งขึ้น และค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเมื่อค่าเงินบาทอ่อนการนำเข้าสินค้าอย่างน้ำมัน หรือสินค้าทุุนจากภายนอกจะต้องใช้เงินบาทไปแลกมาเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูง แน่นอนว่าต้นทุนเหล่านั้นจะถูกส่งต่อมายังผู้บริโภคด้วย

การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยขณะนี้ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเป็นภาวะเงินเฟ้อที่ไม่ได้เกิดจากความร้อนแรงของเศรษฐกิจ แต่เกิดจากการขาดแคลนสินค้าบางชนิดและการตึงตัวของซัพพายซึ่งรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ก็คือต้องประคองสถานการณ์ และหาทางเพิ่มซัพพายสินค้าต่างๆให้เพิ่มขึ้นในลักษณะของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร็วที่สุด

"สถานการณ์ในขณะนี้เงินเฟ้อกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่สาเหตุของเงินเฟ้อในไทยส่วนหนึ่งมาจากสินค้าที่ต้นทุนสูงขึ้น และซัพพายสินค้าลดลง การขึ้นดอกบี้ยนโยบายไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่เชื่อว่าเครื่องมือเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยแบงก์ชาติจะนำมาใช้ในช่วงปลายปีเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทอ่อน"

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565

เกษตรฯ ฝ่าโควิดส่งออก 64 ยังได้ดุลคู้ค้า FTA- อาเซียน

เกษตรฯ เผย ปี 64 ไทยได้ดุล คู่ค้า FTAส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่ม 32.8 % ขณะอาเซียน เพิ่ม 2.01 % 1 ม.ค. เริ่มคู่ค้าRCEP หวังขยายตลาดผลไม้ สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า แม้จะเกิดการระบาดของโควิดทั้งปี 64   แต่สถิติภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  ยังคง แข็งแกร่ง มีมูลค่าถึง  1,273,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.96 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,098,475 ล้านบาท

โดยการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ( FTA) ไม่นับรวมประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา   ภาพรวมการค้า อยู่ที่ 760,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.42%

  โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย มีมูลค่ากว่า 597,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.81%  ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 435,120 ล้านบาท  ตลาดส่งออกที่ขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย จีน สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น

สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางธรรมชาติ มูลค่า 159,157 ล้านบาท ผลไม้สด มูลค่า 128,818 ล้านบาท สตาร์ชและอินูลิน มูลค่า 46,979 ล้านบาท มันสำปะหลัง มูลค่า 36,034 ล้านบาท กุ้งสด  แช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 26,210 ล้านบาท และน้ำมันปาล์ม มูลค่า 22,349 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับประชาคมอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และเวียดนาม ระหว่างเดือนม.ค. – พ.ย.  2564 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 พบว่า ภาพรวมการค้ามูลค่าการค้ารวม 402,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.71%

 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรไทย มีมูลค่า 279,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.01%  ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 156,563 ล้านบาท โดยที่ไทยส่งออกไปยัง มาเลเซีย เป็นอันดับหนึ่ง และรองลงมา ได้แก่ เวียดนาม และ กัมพูชา  สินค้าเกษตรส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

 เครื่องดื่มประเภทนมยูเอชที นมถั่วเหลือง มูลค่า 42,297 ล้านบาท น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มูลค่า 35,054 ล้านบาท ยางพารา (ธรรมชาติ) มูลค่า 27,057 ล้านบาท ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่า 25,928 ล้านบาท และของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง และนม มูลค่า 22,583 ล้านบาท

นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สถิติการค้าสินค้าเกษตรไทย ยังถือว่ามีทิศทางที่ดี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัวตามสภาวการณ์ ทำให้ไทยมีโอกาสและแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้  FTA ฉบับล่าสุดของไทยที่เพิ่งจะมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ม.ค.  2565 คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพ จากการที่ชาติภาคีสมาชิกมีการลดและยกเลิกภาษีศุลกากรให้กับสินค้าเกษตรไทยเพิ่มเติมจาก FTA  ที่มีอยู่เดิมกับไทย เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ และแป้งมันสำปะหลัง รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเพิ่มโอกาสในการขยายห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

โดยผู้ประกอบการมีทางเลือกในการใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นจากการนำวัตถุดิบมาใช้ในการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า ตลอดจนการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เช่น การลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และการปรับประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าให้มีมาตรฐานเดียวกัน

และที่สำคัญ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้าเกษตร  ทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ ในทุกกระบวนการอย่างเข้มงวด ดังนั้น สินค้าเกษตรไทยจึงยังคงสามารถส่งออกได้ในตลาดโลกภายใต้สถานการณ์โควิด-19  รวมไปถึงการปฏิบัติตามแนวทางสากลในการควบคุมสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทางการปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดขององค์การ FAO เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าต่าง ๆ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565

ส่องแผนเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับรถไฟลาว-จีน แต่ละกระทรวงทำงานคืบหน้าแค่ไหน

โครงการรถไฟไฟจีน – ลาวที่เชื่อมโยงจากตอนใต้ของจีนมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว  ที่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2564 โดยเริ่มมีการขนส่งสินค้าระหว่างกัน 1 ซึ่งต้องมีการเริ่มวางแผนเชื่อมโยงเส้นทางเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

การเริ่มขนส่งคน และสินค้าผ่านรถไฟจีน - ลาว ก็เริ่มมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย รัฐบาลจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน มีมูลค่านำเข้าส่งออกที่ด่านหนองคายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากมีรถไฟลาว - จีนเกิดขึ้น ปัจจุบันมีการเพิ่มรถไฟเป็นจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวัน และจากการขนส่งขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ ซึ่งจะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า แต่ยังมีปริมาณการขนส่งทางรถไฟไม่มากนักเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ครม.เห็นชอบแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน  เช่น แผนการก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย

การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน ได้แก่ การบริหารจัดการสะพานเดิม ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่

 การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า โดยพื้นที่ด่านศุลกากรหนองคายคาดว่ามีความสามารถในการรองรับรถบรรทุกสูงสุด 650 คันต่อวัน ทั้งนี้ แนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย - ลาว เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รองต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่  ระยะเร่งด่วน :   การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า และระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต)

นอกจากนี้ในส่วนการกำกับติดตามเพื่อขับเคลื่อนดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้                                      

1.กระทรวงคมนาคม

ได้แก่ กรมทางหลวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการพื้นที่สำหรับการตรวจปล่อยสินค้าขาออกบริเวณหนองสองห้อง โดยระยะเร่งด่วนจะดำเนินการปี 2565 วงเงินงบประมาณ 10 ล้านบาท และขอรับงบประมาณในปี 2566 จากพื้นที่ที่ดินสงวนฯ เดิม 87 ไร่ เหลือพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ประมาณ 80 ไร่ วงเงินงบประมาณ 280 ล้านบาท รองรับรถบรรทุกได้ประมาณ 201 คัน พร้อมห้องน้ำ และจุดพักคอย รถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปได้ 82 คัน ที่จอดรถสำหรับคนพิการ 6 คัน

2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้น โดยการครอบคลุมเรื่องการลงนามพิธีสารฯ ระหว่างไทย - จีน และการอบรมพัฒนาบุคลากร เตรียมความพร้อมในพื้นที่ด่าน ระยะกลาง

โดยการครอบคลุมการเตรียมความพร้อมที่ด่านและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการกักกันและตรวจปล่อยสินค้าเกษตรขาเข้า - ออก รวมถึงแผนการเพิ่มบุคลากรประจำด่าน และการพัฒนาระบบเชื่อมโยงด้าน IT และการออกใบรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และในระยะยาวอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ

3.กระทรวงการคลัง

กรมศุลกากร  ดำเนินโครงการระบบตรวจสอบ Mobile X-Ray ภายในวงเงินไม่เกิน 130 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ ครั้งที่ 1/2564 มีมติให้ กรมศุลกากรจัดเตรียมความพร้อมในด้านกระบวนการและพิธีศุลกากร ซึ่งด่านศุลกากรหนองคายขอรับการสนับสนุนระบบตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ได้จำนวน 1 คัน รุ่น MT1213DE โดยสามารถใช้ได้ทั้ง Standard Mode ที่มีขีดความสามารถ 20-25 คัน/ตู้ ต่อชั่วโมง และ Drive-through Mode มีขีดความสามารถที่ 150 คัน/ตู้ ต่อชั่วโมง

4.กระทรวงการต่างประเทศ

ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการในฝั่งลาวเพื่อแลกเปลี่ยนและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ใช้ประกอบการวางยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการส่งออกของไทย และอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายไทย สามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงในภูมิภาคได้เต็มประสิทธิภาพ

และหยิบยกในการหารือระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของลาวและจีน เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลักดันการเชื่อมต่อรถไฟลาว - จีน กับระบบรางของไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมการส่งออกของไทยผ่านทางรถไฟต่อไป

5.กระทรวงอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีมาตรฐาน และศูนย์กระจายสินค้าทางรางเพื่อรองรับรถไฟจากลาวและจีน ซึ่งประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2565

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ  32.95 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แนวต้านสำคัญจะอยู่ในโซน 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ คาดผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ อาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.95 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.92 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและแกว่งตัว Sideways ระหว่างโซน 32.85-33.05 บาทต่อดอลลาร์ เพราะแม้ว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโอมิครอนและการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Test and Go รวมถึงเงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำบ้าง แต่แรงกดดันด้านอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ ทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมที่ยังหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยมาสักระยะนึงแล้ว

ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้ 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนหนักและอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวจากหลายปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาด ทั้งความกังวลเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด รวมถึง ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสต์จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อาทิ สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรป นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Netflix ที่ออกมาน่าผิดหวังก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงในช่วงท้ายตลาด ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -1.30% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลงกว่า -1.10% เช่นกัน

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.73% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงาน อาทิ Enel, Iberdrola นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Reopening อาทิ กลุ่มการเดินทางและท่องเที่ยว ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากการระบาดโอมิครอนสงบลง

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและอาจกดดันให้ตลาดการเงินฝั่งเอเชียในวันนี้ผันผวนตาม แต่ทว่า ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงอาจสามารถปรับตัวขึ้นได้บ้าง หลังธนาคารกลางจีน (PBOC) เดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดสภาพคล่อง เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่าตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงอาจทยอยปรับตัวขึ้นจากโซนแนวรับได้ หลังจากที่ทั้งสองตลาดแกว่งตัว sideways มาเป็นเวลานาน

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงราว 8bps แตะระดับ 1.78% และหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลกต่างปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่จะเห็นได้ว่า แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี จะปรับตัวลดลง แต่ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด รวมถึงเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงใหม่เข้ามากระทบตลาด อย่าง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและพันธมิตร NATO อย่างไรก็ดี เรามองว่าประเด็นความขัดแย้ง ถ้าหากบานปลายเป็นการบุกยูเครนของรัสเซีย ก็อาจกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี อาจย่อตัวลงได้บ้าง แต่ทว่า สุดท้าย บอนด์ยีลด์ 10 ปี ก็จะสามารถรีบาวด์และปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยและลดงบดุลของเฟดในที่สุด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.74 จุด ทั้งนี้ แม้ว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะกดดันราคาทองคำ แต่ทว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเลือกที่จะยังคงถือทองคำเพื่อหลบความผันผวนในตลาด ส่งผลให้ราคาทองคำ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับวันนี้ ในฝั่งไทยมีข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ คือ ยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนธันวาคม โดยเรามองว่าการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคมอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดโอมิครอนทั่วโลกบ้าง แต่ทว่า ยอดการส่งออกจะสามารถขยายตัวกว่า +17%y/y ส่วนยอดการนำเข้าอาจโตได้ราว +20%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) อาจเกินดุลเล็กน้อย +550 ล้านดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 มกราคม 2565

“บิ๊กป้อม”ห่วงสถานการณ์น้ำภาคกลางช่วงแล้ง ลงชัยนาท-สิงห์บุรี 24 ม.ค.นี้

 “บิ๊กป้อม” สั่งอนุกก.น้ำภาคกลางเกาะติดการบริหารจัดการน้ำ เสริมแผนลดเสี่ยงกระทบชาวบ้านขาดน้ำ หลังพบน้ำต้นทุน 4 เขื่อนใหญ่ยังน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เตรียมลงพื้นที่ชัยนาท-สิงห์บุรี24 ม.ค.นี้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง ครั้งที่ 1/2565ณ ห้องประชุมSWOC กรมชลประทาน ว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เป็นประธานการประชุมคณะคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำระยะฝนทิ้งช่วง

พร้อมเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกในพื้นที่ภาคกลาง ช่วงฤดูแล้งปี 2564/65รวมถึงการเตรียมความพร้อมแผนงานโครงการ เพื่อเสนอของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565ตาม 9 มาตรการ ที่ สทนช. เสนอเข้า ครม. เรียบร้อยแล้ว

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำภาคกลางในช่วงแล้งนี้ตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.รายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบัน พบว่า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวม 13,651 ล้าน ลบ.ม. หรือ 55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ปริมาณน้ำใช้การ 6,992 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39%

ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,072 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามแผนเพื่อให้ไม่กระทบกับกิจกรรมการใช้น้ำตามลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค  พร้อมทั้งได้กำชับให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำ กำกับ ประสานการปฏิบัติ

รวมถึงเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ โดยคำนึงถึงแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์น้ำภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้าด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าวทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 24 มกราคมนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีมีแผนการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในภาพรวมในพื้นที่ภาคกลาง

เพื่อรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์แล้ง การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งและมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ๖๔/๖๕  แผนบริหารจัดการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา รวมถึงแผนการปลูกข้าวนาปรังในเขตพื้นที่พื้นที่ลุ่มต่ำ

ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ จ.ชัยนาท และสิงห์บุรี รวมถึงเร่งรัดติดตามแผนงานโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคและบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้ติดตาม เร่งรัด การดำเนินโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โครงการสำคัญให้เป็นไปตามแผนและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีที่ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านน้ำของทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งในส่วนที่มีแผนหลักและกรอบวงเงินงบประมาณแล้ว อาทิ การพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด การพัฒนาคลองเปรมประชากรการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบแผนบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์แผนป้องกันน้ำหลากเจ้าพระยา 9 แผน รวมถึงแผนงานที่อยู่ระหว่างจัดทำแผนและกรอบวงเงิน

ได้แก่ แผนป้องกันน้ำท่วมบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู การแก้ปัญหาน้ำเสียพื้นที่จังหวัดราชบุรีแผนการกำจัดผักตบชวาเป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 มกราคม 2565

ส.อ.ท.ผวาเงินเฟ้อฉุดศก.ถดถอยจี้รับมือน้ำมันโลกพุ่งหนุนลดภาษีฯ-เร่งคนละครึ่งเฟส4

ส.อ.ท. ผวาคลื่นลูกใหม่”ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หลังเงินเฟ้อถล่มทั่วโลก หนุนรัฐเตรียมรับมือราคาน้ำมันดิบโลกจ่อพุ่ง100เหรียญฯ/บาร์เรล แนะลดภาษีฯ แก้กักตุนสินค้า ลั่นสมาชิก 45 กลุ่มพร้อมตรึงราคาแต่แค่5-6เดือนหากต้นทุนพุ่งไม่หยุดจำเป็นต้องขยับ หนุนรัฐเร่งโครงการคนละครึ่งเฟส4เร็วขึ้นและเพิ่มวงเงินฟื้นแรงซื้อระยะสั้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะรับผิดชอบดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์ เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตามสถานการณ์น้ำมันดิบตลาดโลกใกล้ชิดที่ล่าสุดราคาเวสต์เท็กซัส เบรนท์ได้ขยับสูงสุดในรอบ 7 ปีและโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐคาดการณ์ว่าเบรนท์อาจทะยานสู่ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลได้ในไตรมาส 3 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจำเป็นต้องวางมาตรการรับมือทั้งระยะสั้น กลางและยาว เพราะปี 2565 ทั่วโลกและไทยจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recession) ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะเข้ามาซ้ำเติม

“ สินค้าที่แพงและนำมาสู่ปัญหาเงินเฟ้อสัญญาณนี้รับรู้ล่วงหน้ากันแล้วเพราะหลังโควิด-19 ดีขึ้นหลายประเทศก็ฟื้นตัวทำให้ความต้องการน้ำมัน สินค้าเพิ่ม แต่ที่ผ่านมาการผลิตลดลงเพราะโควิด-19 จึงทำให้เกิดภาวะขาดแคลนหรือตึงตัวโดยเฉพาะน้ำมัน โดยสหรัฐฯเงินเฟ้อสูงสุดรอบ 40 ปีอยู่ที่ 7% ของไทยก็เช่นกันเงินเฟ้อเราเคยอยู่เฉลี่ย 1% ล่าสุดขึ้นไป2.7% แต่หากหักราคาน้ำมันและอาหารออกเหลือแค่ 0.29% ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องเร่งแก้ระยะสั้นคือดูแลราคาน้ำมันและค่าอาหารที่แพง”นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคสมาชิกส.อ.ท.45กลุ่มพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาขนโดยการบริหารสินค้าสต็อกเก่าที่มีอยู่ในการตรึงราคาซึ่งเฉลี่ยจะอยู่ได้อีกราว 5-6 เดือนหากระดับต้นทุนต่างๆยังคงสูงขึ้นจากนั้นก็จำเป็นต้องปรับราคาบ้างเพื่อให้ทุกส่วนอยู่รอด อย่างไรก็ตามในแง่ของอาหารที่มีราคาแพงจากวัตถุดิบที่สูงเช่น หมู ไก่ ไข่ และอื่นๆ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมให้เหมาะสมโดยเฉพาะกรณีหมูที่มีการระบุถึงการเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางต้องเร่งตรวจสอบและแก้ไขให้ได้ในทุกสินค้าที่มีกระบวนการกักตุน

ส่วนราคาน้ำมันไทยเป็นผู้นำเข้าหลักเลี่ยงยากที่จะมีผลกระทบแต่รัฐมีมาตรการดูแลดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ขณะที่กลุ่มเบนซินยังขึ้นต่อเนื่องหากน้ำมันโลกขยับสูงมากรัฐควรมองกลไกอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น การปรับลดภาษีน้ำมันฯ การตรึงค่าไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อลดค่าครองชีพ รวมไปถึงการกระตุ้นแรงซื้อซึ่งกรณีรัฐจะเร่งโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ให้เร็วขึ้นมาอยู่ในช่วงกลางก.พ.นี้จากเดิมกำหนด 1 มี.ค.และเพิ่มวงเงินให้มากกว่า 1,500บาทเป็นเรื่องที่ดีแต่จะช่วยแก้ไขแค่ระยะสั้น จำเป็นต้องหามาตรการระยะกลางและยาวไว้เพื่อความมั่นคง

โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ต้องเร่งส่งเสริมหาพลังงานทดแทนให้มากขึ้นที่ไม่เพียงลดการพึ่งพิงต่างประเทศหากแต่ยังเตรียมรับมือกติกาโลกที่มุ่งสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เพื่อลดโลกร้อนที่เป็นเทรนด์ของโลกซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่และใหญ่สุดที่รอวันเปลี่ยนแปลงหากปรับตัวไม่ทันจะกระทบเศรษฐกิจอย่างมากเช่นกัน

“ ปีนี้เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นทั่วโลกจากการฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และไทยก็อาจเผชิญภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดพร้อมกันหรือ Stagflation จำเป็นต้องหากลไกดูแลอย่างเป็นระบบ เพราะธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ก็ส่งสัญญาณแก้เงินเฟ้อด้วยการขยับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้อย่างน้อย 3 ครั้งที่สุดไทยเองก็จะหนีไม่พ้นเพื่อสกัดเงินไหลออกทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมตัวรับมือ”นายเกรียงไกรกล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 20 มกราคม 2565

“เกษตร” เล็งตั้งกองทุนรักษาราคาปุ๋ย

กองทุนรักษาราคาปุ๋ย รุกเจรจาผู้ส่งออกมาเลเซี่ย-จีน ส่งเสริมใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม

รายงานจากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้ติดตามสถานการณ์ปุ๋ยเคมีภายในประเทศ พบว่าราคาปุ๋ยในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาแม่ปุ๋ยในตลาดโลก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยสำคัญจำกัดการส่งออก

ส่งผลให้วัตถุดิบหรือแม่ปุ๋ยในตลาดโลกขาดแคลน ประกอบกับผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์ และค่าขนส่งที่สูงขึ้น

ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงวางมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวภายใต้แผนการบริหารจัดการปุ๋ยปี 2565-2569 มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ ทั่วถึงและใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศภาคเกษตรไทย มีเสถียรภาพและมีความมั่นคงทางอาหาร

โดยมาตรการระยะสั้น เช่นโครงการบริหารจัดการปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโครงการพัฒนาธุรกิจดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน(One Stop Service) โครงการลดราคาปุ๋ย ซึ่งความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยทางเลือก เช่นปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ

มาตรการระยะกลาง ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมภายในประเทศ รวมถึงการแจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับประเทศมาเลเซียและอื่นๆ และมาตรการระยะยาว เช่นการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ย การเจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจนฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ร่วมกับประเทศมาเลเซียนและจีน ในฐานะผู้ผลิตแม่ปุ๋ยหลักในภูมิภาค

นอกจากนี้ที่ประชุมยังติดตามโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสูงสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างขยายการดำเนินการในระยะที่ 2 ในสินค้า 8 ชนิด ได้แก่ พืช ผัก ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ 1.9 ล้านไร่ คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 1.2 แสนราย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 มกราคม 2565

ผลผลิตอ้อยปี 64/65 เพิ่ม 16% 77.75 ล้านตัน

การผลิตอ้อยโรงงานของประเทศ ฤดูกาลผลิตปี 2564/65 คาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูก 9.90 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 6.68% ผลผลิต 77.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16.13%

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ฉันทานนท์ วรรณเขจร ระบุ การผลิตอ้อยโรงงานของประเทศ ฤดูกาลผลิตปี 2564/65 คาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูก 9.90 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 6.68% ผลผลิต 77.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16.13% ผลผลิตต่อไร่ 7.85 ตัน เพิ่มขึ้น 8.88% เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 มกราคม 2565

ชัยภูมิค้านโรงงานน้ำตาลไฟฟ้าชีวมวล

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ศาลาประชาคมบ้านดนนสวรรค์ หมู่ 13 ต.เดื่อ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เกษตรสมบูรณ์ – หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ประมาณ 50 คน ได้จัดเวทีพิพากษ์กระบวนการจัดทำอีไอเอ โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมเดินรณรงค์และขึ้นป้ายคัดค้านโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวลหน้าหมู่บ้าน ก่อนอ่านคำประกาศไม่ยอมรับกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบพิธีกรรม

นายไฟฑูรย์  แสนขยัน อายุ 45 ปี กรรมการกลุ่ม กล่าวว่า ขอประกาศจุดยืนและข้อเสนอดังนี้ 1. เราจะยืนหยัดต่อสู้กับอุตสาหกรรมที่จะมาทำลายชุมชนทุกรูปแบบ 2. เราไม่ยอมรับร่างรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (จอมปลอม) ที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม 3. ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม SEA 4. ให้ชะลอกระบวนการจัดเวทีรับฟังความเห็นไปก่อน 5. ให้บริษัทเปิดจุดรับซื้ออ้อยเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องจัดตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 19 มกราคม 2565

บาทเปิด 33.15 บาทต่อดอลลาร์แนวโน้มอ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 33.15 บาทต่อดอลลาร์แนวโน้มอ่อนค่า หลังดอลลาร์แข็งค่ารับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 65 นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.15 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวานที่ปิดตลาดที่ระดับ 33.10 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทอ่อนค่าจากเย็นวาน หลังทิศทางของดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยวันนี้มองแนวโน้มเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่อ่อนค่า ตลาดยังมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐ และเริ่มมองว่าการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในเดือนมี.ค. อาจจะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% จากเดิมที่เคยมองไว้เพียง 0.25%

น้ำมันตลาดโลกพุ่งปิดสูงสุดรอบ 7 ปี /ดาวโจนส์ร่วงแรง

วิจัยกรุงศรีชี้การใช้จ่ายมีแนวโน้มแผ่วลงในช่วงต้นปี

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ยังไม่มีอะไรใหม่ ตลาดค่อนข้างไพรส์อินกับข่าวเรื่องจะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test & Go ไปพอสมควรแล้ว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.05 - 33.25 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 19 มกราคม 2565

สศก. ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ เช็กผลผลิตอ้อยโรงงาน ชี้ทิศทางราคาดี แนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิต อ้อยโรงงานของประเทศ ฤดูกาลผลิตปี 2564/65 (ข้อมูล ณ ธ.ค. 2564) คาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูก 9.90 ล้านไร่ ผลผลิต 77.75 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 7.85 ตัน เพิ่มขึ้น จากปี 2563/64 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.28 ล้านไร่ ผลผลิต 66.95 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 7.21 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6.68 ร้อยละ 16.13 และร้อยละ 8.88 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการประกันราคารับซื้ออ้อยให้แก่ชาวไร่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก

จากการลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อช่วงเดือนธ.ค. 2564 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าอ้อยโรงงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยมากเป็นอันดับที่ 1 – 3 ของภาคเหนือ ตามลำดับ พบว่า ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ทั้ง 3 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 1.95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19.70 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ได้ผลผลิตรวม 7.40 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 9.52 ของผลผลิตทั้งประเทศ

โดยหากจำแนกเป็นรายจังหวัด พบว่า กำแพงเพชร มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.75 ล้านไร่ ผลผลิต 3.38 ล้านตัน เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.50 ล้านไร่ ผลผลผลิต 1.50 ล้านตัน และ นครสวรรค์ มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.70 ล้านไร่ ผลผลิต 2.52 ล้านตัน

สำหรับพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก คือ พันธุ์ขอนแก่น 3 เนื่องจากเป็นพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตประมาณ 18 – 20 ตันต่อไร่ อีกทั้งยังทนแล้ง ลำใหญ่ แตกกอดี และให้ค่าความหวาน 11 – 13 ซี.ซี.เอส. ขณะที่ราคาอ้อยโรงงาน พบว่า โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยตามราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,070 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. โดยผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีน้อยกว่าความต้องการของโรงงานน้ำตาล ทำให้เกิดการแย่งซื้ออ้อยในบางพื้นที่ จึงนับว่าส่งผลดีต่อเกษตรกรที่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าปี 2563/64 (ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.)

ทั้งนี้ อ้อยที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะถูกขนไปขายที่โรงงานและลานรับซื้อ ซึ่งโรงงานจะให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ และจะจ่ายเงินเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด สะอาด และมีคุณภาพ ในส่วนของลานรับซื้อจะให้ราคาอ้อยสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา (เดือนพ.ค. – ก.ค. 2564) พื้นที่ปลูกอ้อยทั้ง 3 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง และยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ในเดือนก.ย. 2564 ประกอบกับพบปัญหา “หนอนกออ้อย” หรือ หนอนเจาะหน่ออ้อย หรือ หนอนเจาะลำต้นอ้อย ซึ่งระบาดเข้าทำลาย ลำต้น ทำให้อ้อย ยอดเหี่ยวและแห้งตาย โดยทางสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ได้มีการเพาะขยายพันธุ์แมลงหางหนีบและแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อใช้เป็นศัตรูธรรมชาติในการกำจัดและควบคุมหนอนกออ้อยให้แก่เกษตรกร

ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า สำหรับการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า โรงงานน้ำตาลได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Bubble and Seal) ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยกำหนดให้คนขับรถบรรทุกอ้อยต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม และส่งผลการตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ก่อนนำอ้อยเข้าโรงงาน

นอกจากนี้ รถบรรทุกอ้อยทุกคันจะติดธงแดงขนาดใหญ่ท้ายรถซึ่งมีข้อความว่า “รถช้าบรรทุกอ้อย” และ “รถพ่วงบรรทุกอ้อย” ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล และมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณถนน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในภาพรวมการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีความเรียบร้อย ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน

ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2564/65 ราคาอ้อยโรงงานสูงกว่าปีการผลิตที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ของ สศก. พบว่า ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช และยาปราบศัตรูพืช มีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรที่จะลงทุนปลูกอ้อยใหม่ในฤดูการผลิตนี้ มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามไปด้วย

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2565

เกษตรกรบุรีรัมย์ปรับตัว จ้างแรงงานตัด‘อ้อยสด’แทนการเผา ร่วมลดมลพิษ

เกษตรกรชาวไร่อ้อยบุรีรัมย์ ปรับตัวหันจ้างแรงงานคนและเครื่องจักรตัดอ้อยสดแทนการเผาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังโรงงานน้ำตาลงดรับซื้ออ้อยเผาหรือ “อ้อยไฟ” เพื่อร่วมรณรงค์ลดมลพิษและฝุ่นละอองจากการเผาตามมาตรการจังหวัด ชี้ปีนี้ราคารับซื้อค่อนข้างดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

18 มกราคม 2565 เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ต่างตื่นตัวหันมาจ้างแรงงานคนและเครื่องจักรในการตัดหรือเก็บเกี่ยวอ้อยสดส่งเข้าโรงงาน แทนการเผาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากโรงงานน้ำตาลงดรับซื้ออ้อยที่มีการเผาหรืออ้อยไฟ เพื่อร่วมรณรงค์ลดมลพิษจากควันไฟ และฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

เกษตรกร กล่าวว่า การจ้างแรงงานคนหรือใช้เครื่องใช้ แม้จะต้องมีต้นทุนมากกว่าการเผา แต่ส่งผลดีหลายอย่าง นอกจากอ้อยที่ตัดสดจะได้ค่าความหวานหรือค่าซีซีเอส มากกว่าการเผา ที่สำคัญยังไม่ทำลายสภาพพื้นดิน ทั้งยังสามารถนำใบอ้อยสดไปเลี้ยงสัตว์ และไถกลบใบแห้งเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย  แต่ที่ผ่านมาสาเหตุที่เกษตรกรจะเลือกวิธีการเผาเพราะคิดว่าง่ายกว่า และไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินจ้างแรงงานคน อีกทั้งแรงงานคนก็ค่อนข้างหายาก แต่ปัจจุบันบางพื้นที่มีการรวมกลุ่มหมุนเวียนกันตัด ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น

นางสุภี คงรีรัมย์ อายุ 50 ปี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยชาวตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง กล่าวว่า ปีนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ปรับตัวหันมาจ้างแรงงานคนและใช้เครื่องจักรตัดอ้อยแทนการเผามากกว่า เพื่อให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการรณรงค์ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ประกอบกับทางโรงงานน้ำตาลงดรับซื้ออ้อยที่เผาด้วย ถึงแม้ว่าการใช้แรงงานคนจะต้องเสียค่าจ้างมัดละ 3 บาท แต่จะหันมาใช้วิธีการรวมกลุ่มเพื่อหมุนเวียนตัดของสมาชิกกลุ่ม คิดค่าจ้างเพียงมัดละ 2 บาท ถึงแม้จะเสียค่าจ้าง แต่การตัดอ้อยสดส่งโรงงานจะได้ค่าความหวานมากขึ้น และปีนี้ราคารับซื้ออ้อยค่อนข้างดี ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยพอจะลืมตาอ้าปากได้ ขณะที่บางคนก็ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 18 มกราคม 2565

พาณิชย์ลุยทำ Mini FTA เพิ่มยอดส่งออกปี65

DITP ลุยทำ Mini FTA เพิ่ม เดินหน้าอัดกิจกรรมเพิ่มยอดส่งออกปี 65 ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมฯประเมินทิศทางการส่งออกและทำแผนในการขับเคลื่อนการส่งออกไทยในปี 2565

ซึ่งกรมฯ มีแผนเร่งทำ Mini FTA กับเมืองใหม่ที่มีศักยภาพและจะมีการลงนามในเร็ว ๆ นี้ คือ รัฐเตรังคานาของอินเดียสินค้าจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี และมณฑลกานซู่ของจีน รวมถึงเมืองรองใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ โดยทางภาคเอกชนได้มีการนำเสนอให้มีการจัดทำ Mini FTA กับอีกหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเมืองวากายามะ เกียวโต เซี่ยงไฮ้ อาบูจาและโยฮันเนสเบิร์ก

นอกจากนี้ กรมฯ มีแผนขับเคลื่อนการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยได้เตรียมกิจกรรม ทั้งตลาดหลัก ตลาดรอง และตลาดใหม่ มีทั้งกิจกรรมออนไลน์ ออฟไลน์ เช่น การจัด Online Business Matchingทุกภูมิภาค ทุกสินค้า การจัดงานแสดงสินค้าในประเทศในรูปแบบ Virtual/Online Exhibition ได้แก่งาน THAIFEX ANUGA Asia , งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair (BGJF) และ งาน TILOGการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ amazon.com (สหรัฐฯ) และ ozon.ru (รัสเซีย)

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การระบาดของไมครอน กรมฯ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งมาตรการป้องกันการระบาดที่คู่ค้านำมาใช้และผลกระทบต่อการส่งออกของไทย หากมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น ให้รายงานเข้ามายังส่วนกลางทันที เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้ทันการ และยังได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้าสินค้าไทยว่าสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐาน มีระบบป้องกันโควิด-19 ด้วย

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2565

สกพอ.หนุนพลังงานสะอาด แก้ปัญหาขยะตกค้าง“อีอีซี”

สกพอ.หนุนเพิ่มการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในอีอีซี แนะจัดการขยะอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้มีการเดินหน้าตามแผนและ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ไปแล้วหลายเรื่อง อาทิ จัดพื้นที่ตามผังเมืองเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ทั้งด้านการเดินทาง การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้ง การเดินหน้าลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะกว่า 6 แสนล้านบาท

รวมทั้งหลังจากนี้ยังคงมีสิ่งท้าทายที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ การเพิ่มการผลิตและใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น การจัดการขยะและการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีขยะที่ยังตกค้างอยู่จำนวนมากถึง 5.57 ล้านตัน โดยประเมินว่าการเพิ่มโรงกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าจากขยะเพิ่มอีก 6 โรง จะช่วยกำจัดขยะดังกล่าวได้ภายใน 12 ปี และการพยากรณ์ปริมาณขยะอุตสาหกรรมในอนาคต

ทั้งนี้ รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออกปี พ.ศ.2564 โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมูลนิธิเสนาะอูนากูลได้ร่วมจัดทำขึ้น ได้ช่วยให้มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น แต่การพยากรณ์ปริมาณขยะอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงผังการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลพยากรณ์ปริมาณขยะที่แม่นยำมากขึ้น และส่งผลต่อการนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย

“สกพอ.จะไม่เน้นเพียงกำจัดขยะที่ปลายทาง แต่จะแก้ปัญหาที่ต้นทางด้วย ซึ่งต้องมีภาคท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติตามแนวทางลดการสร้างขยะและนำขยะกลับมาใช้ อีกทั้ง การจัดการปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นมาจากผลกระทบของโควิด-19การบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน การบริหารจัดการขยะต้นทางและขยะในทะเลการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เพื่อเดินหน้าผลักดันให้อีอีซี เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง” นางสาวพจณี กล่าว

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 18 มกราคม 2565

สมาคมอ้อยอัดฉีดเกษตรกรรุ่นใหม่ใช้โดรน

สมาคมนักวิชาการอ้อยฯ และพันธมิตรอ้อยยั่งยืน SHEEP ส่งเสริมความรู้ทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ใช้ โดรนเกษตร ทางแก้ขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงสูง

นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ค่าแรงสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและการทวีความรุนแรงของศัตรูพืช ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรจำเป็นต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าใช้อย่างเร่งด่วน “โดรน” เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้สำรวจแปลงปลูกเพื่อระบุตำแหน่งพื้นที่ ศัตรูพืช สภาพอากาศ และใช้ในการพ่นสารปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น สารอาหารบำรุงการเจริญเติบโต สารอารักขาพืช ในบริเวณแปลงปลูกที่เครื่องจักรชนิดอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้อยมีความสูงถึง 6 เมตร

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยจึง ร่วมกับพันธมิตร SHEEP ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซินเจนทา ไทยชูการ์ มิลเลอร์ และสมาคมเกษตรปลอดภัย จัดอบรมโครงการพัฒนาทายาทเกษตรกรผู้ใช้โดรนในไร่อ้อยและผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer’s Club) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภาคที่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในภาคเกษตร เพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ลดการใช้สารอารักขาพืชและลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“สำหรับโครงการพัฒนาทายาทเกษตรกรผู้ใช้โดรนในไร่อ้อยและผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer’s Club) นอกเหนือจากการพัฒนาความรู้และเสริมทักษะภาคปฏิบัติแล้ว เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อซื้อโดรนสำหรับการเป็นนักบินโดรนในไร่อ้อยได้ “

โดยพันธมิตรโครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” หรือ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane) ได้ร่วมกันผลักดันโครงการ เพื่อตอบสนองการนโยบายภาครัฐในการทำเกษตรแม่นยำสูง และสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยจะมีโรงงานน้ำตาล และเครือข่ายสมาคมชาวไร่อ้อยเข้าร่วมในโครงการนี้อีกด้วย

นางสาวรัตนา ของเดิม เกษตรกรไร่อ้อยรุ่นใหม่ คลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า โครงการนี้ ให้ความรู้เพิ่มขึ้นในหลายเรื่อง เทคนิคในการบิน การผสมและการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถนำไปใช้จริงได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดเวลาในการทำงานลง ไม่ต้องใช้แรงงานคน สะดวกและจัดการแปลงปลูกได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออ้อยโตมากกว่า 1 เมตร โดรนช่วยได้เป็นอย่างมาก ความคิดเห็นส่วนตัว อยากให้เพื่อนเกษตรกรหันมาใช้โดรนกัน ยิ่งมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 200 ไร่ ซื้อใช้เองก็คุ้มแล้ว

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ Value Chain and Stewardship Lead, Thailand บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หรือ ซินเจนทา หนึ่งในพันธมิตร SHEEP กล่าวว่า การใช้ปัจจัยการผลิตกับโดรนเกษตรปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการบริหารจัดการแปลงปลูกลด ปัญหาเรื่องแรงงาน และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีต่อพืชที่ได้รับผลกระทบกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการเสริมความรู้สร้างศักยภาพเกษตรกร ให้ใช้โดรนเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวินิจฉัยศัตรูพืช เทคนิคการใช้ปัจจัยทางการเกษตร การใช้สารเคมีเกษตรกับโดรนเกษตร รวมถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ พืชปลูก และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหัวใจสำคัญของซินเจนทาที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย

การจัดอบรมเชิงปฏิบัติครั้งนี้ จึงได้รับความสนใจจากลูกหลานชาวไร่อ้อย ที่จะเป็นทายาทสืบต่อการปลูกอ้อยในรุ่นต่อ ๆ ไป เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจและพร้อมที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการเกษตร มีกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคสนาม เพื่อให้ทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ได้เข้าถึง เข้าใจ นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพแม่นยำในการปลูกอ้อย

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 17 มกราคม 2565

อุตฯ น้ำตาลพ้นปากเหว! ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง KSL-KTIS รุกผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง-เครื่องสำอาง

ปี 2565 เป็นปีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายผงกหัวฟื้นตัวดีขึ้นมาได้หลังจากประสบปัญหาราคาตกต่ำมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากปริมาณอ้อยที่ลดลงจากภัยแล้ง ทำให้เกิดการแย่งอ้อยกันเนื่องจากปริมาณอ้อยไม่สมดุลกับโรงงานน้ำตาลมีมากถึง 57 โรง รวมทั้งราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกเองก็ลดต่ำลงเหลือ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์

แต่ในปีนี้ไทยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2564/65 ของ 57 โรงงานตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 2564 จนถึงมีนาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 85-90 ล้านตันเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกมาต่อเนื่องทำให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะผลิตน้ำตาลทรายได้ 9-10 ล้านตัน สูงกว่าฤดูหีบปี 2563/64 ที่ผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 66-67 ล้านตัน คิดเป็นน้ำตาลทรายเพียง 7.6 ล้านตันต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้ภาพรวมโรงงานน้ำตาลทรายในปี 2565 สามารถกลับมาใช้อัตรากำลังการผลิตได้มากขึ้น

กอปรกับราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกมีสัญญาณที่ดีเฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ต่อเนื่องไปถึงฤดูหีบปี 2565/66 เลยทีเดียว

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) กล่าวว่า ในฤดูการผลิตปี 2564/65 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น 25-30% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นนี้เองทำให้บริษัทมีกากน้ำตาล (โมลาส) เพิ่มขึ้นเพื่อไปผลิตเอทานอลที่ใช้ผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งกากอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตเพียงพอที่จะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 260-270 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ใช้ภายในโรงงานและส่วนหนึ่งจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 45-50 เมกะวัตต์ตามสัญญาซื้อขายไฟ ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลง

ในปีนี้ไม่อาจกล่าวว่าเป็นปีทองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายถือว่าตกต่ำแบบสุดๆ แต่ช่วงการเปิดหีบอ้อยปี 2564/2565 นี้ถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากปีที่แล้วมีปริมาณฝนที่สม่ำเสมอ ทำให้มีอ้อยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลต่างมีอ้อยเพียงพอในการผลิต และราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกเองก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วย เชื่อว่าสถานการณ์นี้จะดีต่อเนื่องเช่นนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ผลการดำเนินงานของ KSL ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าเติบโตขึ้น 30-40% จากงวดปี 2564 (ต.ค. 63-ก.ย. 64) ที่มีรายได้รวม 10,755 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 615 ล้านบาท มาจากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบเพิ่มขึ้นราว 30% จากปีก่อน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่เนื่องจากน้ำตาลทรายส่วนใหญ่ 70% ส่งออกต่างประเทศ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีส่วนสำคัญต่อผลประกอบการบริษัทฯ

BBGI ขายหุ้น IPO ไตรมาส 1 นี้

นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุน คือ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) มีแผนจะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 433.20 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2.50 บาท หรือไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งหุ้น BBGI คาดเข้าเทรดใน SET ช่วงเดือนมีนาคม 2565

ปัจจุบัน BBGI มีทุนจดทะเบียน 3,615.00 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,446.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2.50 บาท โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 2,532.00 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,012.80 ล้านหุ้น

นายชลัชกล่าวว่า BBGI เป็นการร่วมทุนระหว่าง KSL ถือหุ้น 40% กับ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ถือหุ้น 60% เพื่อทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-Based) สอดรับเทรนด์โลกที่ใช้พืชผลทางการเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเบื้องต้นดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล

จนปัจจุบัน BBGI เป็น Flagship ของกลุ่มบางจากและ KSL ที่ดำเนินธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพ โดยมีธุรกิจหลัก คือธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Products) ประเภทผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ไบโอดีเซล กลีเซอรีนบริสุทธิ์เกรดอาหารและยา เอทานอล แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเกรดเภสัชกรรม และธุรกิจอื่นๆ คือธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (HVP) ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ (Health and Well-Being) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยจดสิทธิบัตรหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง BBGI เป็นเจ้าของหรือได้รับสิทธิบัตรดังกล่าว

ปัจจุบัน BBGI มีโรงงานผลิตไบโอดีเซลตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตรวม 1,000,000 ลิตรต่อวัน เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ มีโรงงานผลิตเอทานอลทั้งหมด 3 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และ ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิตรวมสำหรับเอทานอลทั้งหมด 600,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มอีก 200,000 ลิตรต่อวัน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานเชื้อเพลิงให้แก่ประเทศ

สำหรับเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO นั้น ทาง BBGI จะนำไปลงทุนขยายกิจการ และลงทุนในโครงการในอนาคตของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงกระบวนการพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินการ ของกลุ่มบริษัทฯ และบริษัทย่อย ส่วนที่เหลือจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงินและชำระคืนหุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

ขณะนี้ BBGI มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาก่อนตัดสินใจลงทุน โดย BBGI ได้ร่วมกับพันธมิตรอย่าง Manus Bio Inc. เป็นสตาร์ทอัพมีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงจากสหรัฐฯ หลังจากที่ BBGI เป็นผู้ถือหุ้นจากการเข้าหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท Manus Bio Inc. (Manus Bio) ด้วยเงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาทเมื่อเดือนตุลาคม 2563

ซึ่ง BBGI คาดหวังว่าจะนำนวัตกรรมจาก Manus Bio ที่จดลิขสิทธิ์มาลงทุนในไทยในอนาคต เช่น สารให้ความหวานจากธรรมชาติ สารปรุงแต่งสี กลิ่น รสจากธรรมชาติ วัตถุดิบชีวภาพสำหรับใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง รวมถึงวัตถุดิบชีวภาพสำหรับใช้ในการผลิตยาหรือชีวเภสัชภัณฑ์ เป็นต้น โดยอาศัยที่ไทยมีความได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบ คือ น้ำตาล ซึ่ง KSL พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการ แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย โดยเฉพาะกฎระเบียบจากหน่วยงานรัฐ เป็นต้น

ดังนั้น BBGI เพิ่มทุนจะทำให้มีเงินทุนที่จะใช้ขยายธุรกิจใหม่แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าโครงการที่ตัดสินใจลงทุนต้องมีตลาดรองรับเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2564 กลุ่มบริษัทฯ ได้เริ่มนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงที่ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ

KTIS ชี้ปี 65 ทุกธุรกิจโต เหตุปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม

ด้านบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) เป็นอีกบริษัทที่เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นการนำชานอ้อยมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษเพื่อผลิตภาชนะและหลอดรักษ์โลก สอดรับกับเทรนด์รณรงค์การเลิกใช้ภาชนะจากโฟมและหลอดพลาสติก

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS กล่าวว่า จากการประเมินผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 20% ส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจทั้งการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษจากชานอ้อยเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์โควิดคลี่คลายทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้บริษัทมีรายได้มากขึ้นกว่าปี 2564 อย่างแน่นอน

ในปี 2565 KTIS จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 50 ตันต่อวัน หรือ 3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น รวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายหลอดชานอ้อยแบรนด์ cherr BY KTIS ที่ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง KTIS กับบริษัทโกลบอล กรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ซึ่งมีโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 3 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 85 เมกะวัตต์

ล่าสุด บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ในเครือเนเชอร์เวิร์คส์ สหรัฐอเมริกา ตัดสินใจลงทุนโครงการลงทุนผลิตโพลีแลคติค แอซิด (Polylactic Acid : PLA) กำลังผลิต 7.5 หมื่นตัน/ปีในไทย ซึ่ง PLA เป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ โดยจะตั้งโรงงานบนพื้นที่โครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการเป็นพันธมิตรเพื่อป้อนวัตถุดิบและอาจร่วมทุนในโครงการดังกล่าวในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคทั้งน้ำและไฟฟ้าจากไบโอแมสเพื่อรองรับโครงการผลิต PLA ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565

ขณะเดียวกัน เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต บริษัทศึกษาต่อยอดธุรกิจเอทานอลจากเดิมเน้นผลิตเกรดที่ใช้ผสมในน้ำมันเบนซิน โดยสามารถพัฒนาไปใช้ในการผลิตเครื่องสำอางและทำแอลกอฮอล์เจล เพื่อสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความผันผวนจากธุรกิจหลักในอนาคต

จาก https://mgronline.com  วันที่ 17 มกราคม 2565

จับตานำเข้าภายใต้ RCEP ป้องกันผลกระทบอุตฯในประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้วางระบบเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้านำเข้า เพื่อเตรียมการรับมือ หากมีการเคลื่อนไหวของการนำเข้าที่ผิดปกติและอาจก่อให้เกิดความ

เสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการของไทยที่กังวลว่าจะมีการไหลทะลักเข้าประเทศของสินค้านำเข้า จากการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา กับอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ และจะมีผลใช้บังคับกับเกาหลีใต้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งกับสมาชิกอีก 4 ประเทศที่เหลือ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา และมาเลเซีย ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ภายใต้ RCEP ไทยจะลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP ในทันที 6,340 รายการ และขยายเป็น 8,724 รายการ ภายใน 20 ปี แต่สินค้าส่วนใหญ่ ไม่ใช่การเปิดตลาดใหม่ เป็นรายการสินค้าที่ไทยได้เปิดตลาดให้กับสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้าในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งรายการสินค้าส่วนใหญ่ เป็นการยกเลิกสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบหรือที่ต้องการใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เช่น สินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าประมง สินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องเพชรพลอยเทียม หินที่ใช้ในการก่อสร้าง ท่อนเหล็ก ท่อนทองแดง เป็นต้น

“เพื่อไม่ประมาท กรมฯได้วางระบบเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้านำเข้าไว้แล้ว หากพบการนำเข้าผิดปกติ ก็มีมาตรการที่จะนำมาใช้ได้ ทั้งการใช้มาตรการปกป้องทางการค้า (เซฟการ์ด) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี)

ที่กรมฯดูแลอยู่ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศได้ทันท่วงที และยังมีกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA ซึ่งรวมถึง RCEP ที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการด้วย” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ในทางกลับกัน ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศสมาชิก RCEP ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยในทันที จะมีสินค้ารวม 29,891 รายการ และขยายเพิ่มเป็น 39,366 รายการ ภายใน 20 ปี โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ในทันที เช่น สินค้ากลุ่มผลไม้สด (มังคุด ทุเรียน) ผักผลไม้แปรรูป น้ำสับปะรด สับปะรด สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์จากยาง และพลาสติกที่ส่งออกไปเกาหลีใต้ สินค้าประมง ผักผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ กาแฟคั่ว ที่ส่งออกไปญี่ปุ่น และสินค้าเกษตร เช่น พริกไทย สับปะรดปรุงแต่งและน้ำมะพร้าว ที่ส่งออกไปจีน จึงขอให้ผู้ประกอบการและ SMEs ไทย เร่งศึกษาทำความเข้าใจความตกลงโดยเฉพาะในรายการสินค้าที่สนใจ เพื่อเร่งใช้โอกาสขยายการส่งออกไปตลาด RCEP

อกจากนี้ RCEP ยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขถิ่นกำเนิดสินค้าให้ง่ายขึ้น โดยไทยสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ นำมาผลิตและสามารถส่งออกไปตลาด RCEP รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในแต่ละสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ โดยสินค้าที่ได้ประโยชน์ เช่น น้ำผลไม้ ที่สามารถใช้วัตถุดิบจาก RCEP ได้ หรือแป้งมันสำปะหลังของไทยจะถูกนำไปผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ยางพาราผลิตด้ายยางวัลแคไนซ์ และผลไม้เป็นวัตถุดิบนำไปแปรรูป ของสมาชิก RCEP อื่นๆ

ส่วนอาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์เลี้ยง รองเท้า และเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก รวมถึงปลาทูน่ากระป๋อง ที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากแหล่งนอกภูมิภาค ก็จะสามารถผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้รับสิทธิ์การลดภาษีนำเข้าได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับความตกลง FTA ก่อนหน้า ทั้งไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จำกัดวัตถุดิบให้มาจากประเทศภาคีด้วยกันเท่านั้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2565

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า"ที่ระดับ  33.22 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways แนะจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ  กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.30 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.22 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์

 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงผันผวนจากความกังวลเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็ว

สำหรับสัปดาห์นี้ ติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่ขยายตัวต่อเนื่องและดีกว่าคาดอาจช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะให้ความสนใจรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน อาทิ Goldman Sachs, Morgan Stanley และ Bank of America โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดจะยิ่งช่วยหนุนให้ หุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น นอกเหนือจากแรงหนุนจากการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นลงทุนของบรรดาผู้เล่นในตลาดที่หันมาลงทุน หุ้นกลุ่ม Cyclical และหุ้น Value มากกว่า หุ้น Tech และหุ้น Growth หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องและออกมาดีกว่าคาดจะสามารถช่วยให้ผู้เล่นในตลาดทยอยกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้

ฝั่งยุโรป – การระบาดของโอมิครอนในเยอรมันที่เริ่มเข้าใกล้จุดเลวร้ายสุด อาจสร้างความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หากสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนมกราคม ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 31 จุด จากระดับ 29.9 ในเดือนก่อนหน้า

​​​​​​​ส่วนในฝั่งอังกฤษ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม หากเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การจ้างงาน ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในอังกฤษน่าจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า อัตราการว่างงาน (Unemployment) ในเดือนพฤศจิกายน จะลดลงสู่ระดับ 4.1% นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ยังมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของ BOE ซึ่งตลาดคาดว่า CPI เดือนธันวาคมจะปรับตัวขึ้นแตะ 5.2%

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจนในไตรมาสที่ 4 จากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ ปัญหาขาดแคลนพลังงาน รวมถึงปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายปี ทำให้เศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียง +3.6%y/y ในไตรมาสที่ 4

 นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีนจะยิ่งสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยในเดือนธันวาคม ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะโต +3.7%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) ที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือ +3.8%y/y และ +4.8%y/y ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะเพิ่มโอกาสการผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางการจีน ซึ่งตลาดมองว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ไว้ที่ระดับ 3.80% (หลังจากปรับลดลง 5bps ในเดือนธันวาคม)

 ส่วน LPR ประเภท 5 ปี ยังคงไว้ที่ 4.65% ตามเดิม ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น เรามองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% และคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0.00% ซึ่งต้องจับตาท่าทีของ BOJ ต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ล่าสุด เพราะหาก BOJ กังวลต่อประเด็นดังกล่าว อาจสะท้อนว่า BOJ พร้อมเพิ่มการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกดดันให้ยีลด์ย่อตัวลง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงได้ นอกเหนือจาก BOJ ที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อนั้น ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) รวมถึง ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ต่างก็มีความจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.75% และ 3.50% ตามลำดับไว้ก่อน จนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ทั้ง BNM และ BI อาจมองว่าเงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยการทยอยขึ้นดอกเบี้ยแบบธนาคารกลางอื่นๆ

 ฝั่งไทย – เรามองว่าการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคมอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดโอมิครอนทั่วโลกบ้าง แต่ทว่า ยอดการส่งออกจะสามารถขยายตัวกว่า +17%y/y ส่วนยอดการนำเข้าอาจโตได้ราว +20%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) อาจเกินดุลเล็กน้อย +550 ล้านดอลลาร์

 สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเงินบาทในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญปัญหาการระบาดของโอมิครอน อนึ่ง ตลาดหุ้นไทยซึ่งมีสัดส่วนหุ้นกลุ่ม Cyclical เป็นส่วนใหญ่ อาจยังได้แรงหนุนอยู่ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะไม่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยรุนแรง

 ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,820-1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญ ก็อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำจะสามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี แนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนแนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่

 ส่วนเงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากตลาดการเงินยังคงผันผวน ซึ่งจะหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) แต่เราคงมองว่า เงินดอลลาร์จะไม่ปรับตัวขึ้นไปมาก เพราะตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (เพราะตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปแล้วพอสมควร) และตลาดอาจทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ ซึ่งจะลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลง

 มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.30 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2565

“ทีดีอาร์ไอ”ชง 4 แนวทาง หนุนพัฒนา “อีอีซี” ยั่งยืน

การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด และใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม และปัจจุบันได้มีการต่อยอดเป็นอีอีซี

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล กล่าวว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีความพิเศษโดยเฉพาะทะเลที่มีความกว้างสวยงาม และเชื่อมต่อทั่วทุกภูมิภาค อีกทั้งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออกอ่าวไทย โดยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดให้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นโครงการที่ใช้ต้นแบบจากญี่ปุ่นที่ใช้พื้นที่ถมทะเลมาขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านขนส่งและอุตสาหกรรม แต่มักเกิดปัญหาตามมาโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม เพราะเมืองอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลจะตามแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเดิมมีแผนให้พัทยาเป็นเมืองหลวงภาคตะวันออก แต่ปัจจุบันทำไม่ได้จึงต้องดูแลให้ครบถ้วน โดยมูลนิธิฯ เห็นว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกควรพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งปัจจุบันมีกฎหมายดูแลเฉพาะด้านแล้วจึงน่าจะดีขึ้น

“กฎหมายดูแลทั้งมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ถือว่ามีครบถ้วน เราจึงเริ่มทำร่วมกับจิสด้าและทีดีอาร์ไอ นำคลังสารสนเทศมาบริหารจัดการอย่างแท้จริง และทีดีอาร์ไอสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจสังคมประเทศ จะเป็นเรื่องจริงหลักฐานจริง วิเคราะห์จริง โดยเฉพาะขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเริ่มต้นพัฒนาอีอีซีได้ต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยปัญหาสิ่งแวดล้อมได้พยายามแก้ไขมาตลอด โดยการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมรวมถึงประชาชนจะต้องอาศัย 4 ประเด็นหลัก คือ

“ทีดีอาร์ไอ”ชง 4 แนวทาง หนุนพัฒนา “อีอีซี” ยั่งยืน1.นโยบายระดับชาติ เพราะการเลือกอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมโจทย์ คือ เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมที่เน้นทรัพยากรสู่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ หรือการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาคือจะใช้พลังงานสูง ในขณะที่นโยบายการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หากนำมาใช้ในภาคเกษตรกรรมอาจใช้น้ำเยอะ

2.การบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญเพราะนโยบายทิศทางสามารถกำหนดได้แต่มีความท้าทายเยอะ ดังนั้น กฎหมายจะเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาผังเมืองต้องมีกฎหมายชัดเจน การจัดการขยะอุตสาหกรรมที่เกินความสามารถบริหารจัดการ แต่หากอนาคต 10 ปีข้างหน้า จะทำให้ขยะตกค้างหมดไป

3.เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การป้องกันลักลอบทิ้งขยะ โดยที่ผ่านมาใช้ GPS ควบคุมรถสาธารณะเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุป้องกันการวิ่งนอกเส้นทางและควบคุมความเร็ว ดังนั้นต้องศึกษาเพื่อให้ป้องกันโรงงานลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และกรมการขนส่งทางบก ต้องศึกษาหาทางติด GPS

รวมทั้งในด้านของการเก็บข้อมูลควรให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีข้อมูลการปล่อยของเสีย ควรนำมาเชื่อมต่อเข้ากับระบบข้อมูลอื่นเพื่อเป็นข้อมูลระดับชาติ

4.การบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม โดยรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลสำคัญทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ ซึ่งต้องกลไกการที่ประชาชนมีส่วนช่วยรายงานแจ้งเบาะแสจะสำคัญมาก และรัฐต้องเปิดรับข้อเสนอแนะแม้รัฐมีข้อมูลที่เป็นทางการ แต่ควรนำเอาข้อมูลประชาชนร่วมพิจารณาด้วย

สำหรับรายงานประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ การพัฒนาอีอีซีเพื่อการพัฒนายั่งยืน โดยเฉพาะด้านสังคม สิ่งแวดล้องและเศรษฐกิจ กรอบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งต้องกระจายความเจริญในสังคมดังนั้น สุขภาพต้องมาก่อน มุมมองพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและชนบทต่างๆ การเข้าถึงการศึกษาที่ต้องได้รับการพัฒนา ดังนั้น การพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจไปได้เร็วต้องนำอุตสาหกรรมมาช่วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการขยะที่มีทั้งชุมชนและขยะอุตสาหกรรม จะต้องสร้างจิตสำนึก และนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาร่วมบริหารจัดการ พื้นที่อุตสาหกรรมต้องใช้น้ำ การจัดสรรทรัพยากรน้ำเดิมที่ใช้ภาคการเกษตรการใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะต้องดูกลไกการคืนประโยชน์ให้เกษตรกรด้วย

ขยะอุตสาหกรรมในอีอีซี 3 จังหวัด ประกอบด้วยชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีแนวโน้นเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้รั่วไหลออกไปสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนหน่วยงานอาจต้องเข้ามาดูแล แม้จะมีโรงงานกำจัดขยะหรือตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มขึ้นแต่ไม่พียงพอ

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 จังหวัดมีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้อง ในอนาคตจะเอาขยะนี้มาสู่ระบบที่จัดการให้เหมาะสมเรื่อยๆ จากปัญหาโควิด-19 พบว่าขยะติดเชื้อเกิดขึ้นจำนวนมาก ต้องใช้เตาเผาความร้อนสูง และมีโรงงานกำจัดขยะที่ระยองแห่งเดียวที่กำจัดขยะติดเชื้อได้วันละ 3.6 ตัน จากปัจจุบันที่มีขยะติดเชื้อถึง 10-12 ตัน และอนาคตจะมีมากขึ้น

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกันพัฒนาภาคตะวันออกที่เน้นความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคมและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาประกอบการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจโครงการต่างๆ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565

เผาไร่อ้อยทำชาวบ้านเลยเดือดร้อนฝุ่นควันกระจายไปทั่วพื้นที่

เผาอ้อย ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ชาวบ้านเดือดร้อนจากการ เผาไร่อ้อย เพื่อเร่งตัดส่งโรงงานน้ำตาล ทำให้มีขี้เถ้า ปลิวลอยมาตกตามบ้านเรือนเต็มไปหมด เสื้อผ้าที่ตากไว้ สกปรก ควันที่เกิดจากการเผายังก่อให้เกิด ฝุ่นขนาดเล็ก ปกคลุมไปทั่วส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ปัญหานี้จะหมดไปถ้าบังคับใช้กฎหมายกับคนเผาอย่างจริงจัง...

ถนนฝุ่น ชาวบ้าน บ้านโนนทอง หมู่ 10 ต.โนนทอง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น แจ้งมา ถนนลาดยางสายขอนแก่น-ศรีบุญเรือง พังเสียหาย หลังถูกน้ำท่วมแต่การซ่อมแซมแทนที่จะทำให้ดีเหมือนเดิมกลับทำได้แค่นำ หินคลุก มาโรยทับทำให้เกิดฝุ่นท่วมถนน ชาวบ้านวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่ง ซ่อมแซม ให้ขับขี่สะดวกสบายไร้ฝุ่นเสียที...

เหม็นมาก ชาวบ้านหลักเขต หมู่ 18 ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ร้องทุกข์ปัญหาจากโกดังทำ ป้ายจราจร ที่มาตั้งกลางหมู่บ้าน เร่งทำงานทั้งวันทั้งคืนดึกดื่น ตี 1 ตี 2 ยังไม่เลิกงาน บ้านใกล้เคียงต้องทนเหม็นกลิ่น เชื่อมเหล็ก กลิ่นสีน้ำมัน และเสียงดังจากการเคาะ ตัดเหล็ก อบต.หนองสาหร่าย ช่วยดูแลแก้ปัญหาด้วย...

หลุมท่อ ผู้ใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะกลุ่ม มอเตอร์ไซค์ ร้องเรียนถึงปัญหา ฝาท่อระบายน้ำในซอย ลาดพร้าว 80 ตลอดทั้งซอยชำรุดทรุดตัวเป็น หลุมลึก มานานไม่มีการแก้ไขเสียที ส่งผลให้การขับขี่บนถนนเส้นนี้ อันตราย มาก ฝากให้ฝ่ายโยธาสำนักงานเขต วังทองหลาง ช่วยลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขให้ปลอดภัยหน่อย...

แจงรดน้ำ นายนันทพงศ์ แก้วศรี ผอ.เขตดอนเมือง ชี้แจงกรณีนำรถ บรรทุกน้ำออกรดน้ำต้นไม้ บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินในช่วงเวลาเร่งด่วนว่า เพื่อลดปริมาณ ฝุ่นละออง ขนาดเล็กในอากาศหลัง เวลา 09.00 น. ซึ่งเลยช่วงเวลา เร่งด่วน ไปแล้วและได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังไม่ให้กระทบการจราจร...

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมชลฯคุมแผนจัดสรร ใช้น้ำในฤดูแล้ง2564/65

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว ภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่าจากการตรวจสอบพบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน57,757 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ 33,639 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันใช้น้ำไปแล้วประมาณ 7,557 ล้าน ลบ.ม.ร้อยละ 34 เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,891 ล้าน ลบ.ม.ร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 4,094 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,797 ล้าน ลบ.ม.ร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำใช้การได้

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 3.59 ล้านไร่ หรือร้อยละ 56ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.51 ล้านไร่ หรือร้อยละ 89 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี 2565 ด้านคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก ได้เน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์น้ำและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565

“ทีดีอาร์ไอ”ชง 4 แนวทาง หนุนพัฒนา “อีอีซี” ยั่งยืน

การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด และใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรม และปัจจุบันได้มีการต่อยอดเป็นอีอีซี

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล กล่าวว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีความพิเศษโดยเฉพาะทะเลที่มีความกว้างสวยงาม และเชื่อมต่อทั่วทุกภูมิภาค อีกทั้งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออกอ่าวไทย โดยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดให้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นโครงการที่ใช้ต้นแบบจากญี่ปุ่นที่ใช้พื้นที่ถมทะเลมาขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านขนส่งและอุตสาหกรรม แต่มักเกิดปัญหาตามมาโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม เพราะเมืองอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลจะตามแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งเดิมมีแผนให้พัทยาเป็นเมืองหลวงภาคตะวันออก แต่ปัจจุบันทำไม่ได้จึงต้องดูแลให้ครบถ้วน โดยมูลนิธิฯ เห็นว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกควรพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งปัจจุบันมีกฎหมายดูแลเฉพาะด้านแล้วจึงน่าจะดีขึ้น

“กฎหมายดูแลทั้งมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ถือว่ามีครบถ้วน เราจึงเริ่มทำร่วมกับจิสด้าและทีดีอาร์ไอ นำคลังสารสนเทศมาบริหารจัดการอย่างแท้จริง และทีดีอาร์ไอสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจสังคมประเทศ จะเป็นเรื่องจริงหลักฐานจริง วิเคราะห์จริง โดยเฉพาะขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเริ่มต้นพัฒนาอีอีซีได้ต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยปัญหาสิ่งแวดล้อมได้พยายามแก้ไขมาตลอด โดยการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมรวมถึงประชาชนจะต้องอาศัย 4 ประเด็นหลัก คือ

“ทีดีอาร์ไอ”ชง 4 แนวทาง หนุนพัฒนา “อีอีซี” ยั่งยืน1.นโยบายระดับชาติ เพราะการเลือกอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมโจทย์ คือ เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมที่เน้นทรัพยากรสู่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ หรือการเกิดอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาคือจะใช้พลังงานสูง ในขณะที่นโยบายการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หากนำมาใช้ในภาคเกษตรกรรมอาจใช้น้ำเยอะ

2.การบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญเพราะนโยบายทิศทางสามารถกำหนดได้แต่มีความท้าทายเยอะ ดังนั้น กฎหมายจะเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาผังเมืองต้องมีกฎหมายชัดเจน การจัดการขยะอุตสาหกรรมที่เกินความสามารถบริหารจัดการ แต่หากอนาคต 10 ปีข้างหน้า จะทำให้ขยะตกค้างหมดไป

3.เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การป้องกันลักลอบทิ้งขยะ โดยที่ผ่านมาใช้ GPS ควบคุมรถสาธารณะเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุป้องกันการวิ่งนอกเส้นทางและควบคุมความเร็ว ดังนั้นต้องศึกษาเพื่อให้ป้องกันโรงงานลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และกรมการขนส่งทางบก ต้องศึกษาหาทางติด GPS

รวมทั้งในด้านของการเก็บข้อมูลควรให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีข้อมูลการปล่อยของเสีย ควรนำมาเชื่อมต่อเข้ากับระบบข้อมูลอื่นเพื่อเป็นข้อมูลระดับชาติ

4.การบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม โดยรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลสำคัญทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ ซึ่งต้องกลไกการที่ประชาชนมีส่วนช่วยรายงานแจ้งเบาะแสจะสำคัญมาก และรัฐต้องเปิดรับข้อเสนอแนะแม้รัฐมีข้อมูลที่เป็นทางการ แต่ควรนำเอาข้อมูลประชาชนร่วมพิจารณาด้วย

สำหรับรายงานประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ การพัฒนาอีอีซีเพื่อการพัฒนายั่งยืน โดยเฉพาะด้านสังคม สิ่งแวดล้องและเศรษฐกิจ กรอบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งต้องกระจายความเจริญในสังคมดังนั้น สุขภาพต้องมาก่อน มุมมองพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและชนบทต่างๆ การเข้าถึงการศึกษาที่ต้องได้รับการพัฒนา ดังนั้น การพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจไปได้เร็วต้องนำอุตสาหกรรมมาช่วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการขยะที่มีทั้งชุมชนและขยะอุตสาหกรรม จะต้องสร้างจิตสำนึก และนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาร่วมบริหารจัดการ พื้นที่อุตสาหกรรมต้องใช้น้ำ การจัดสรรทรัพยากรน้ำเดิมที่ใช้ภาคการเกษตรการใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะต้องดูกลไกการคืนประโยชน์ให้เกษตรกรด้วย

ขยะอุตสาหกรรมในอีอีซี 3 จังหวัด ประกอบด้วยชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีแนวโน้นเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้รั่วไหลออกไปสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนหน่วยงานอาจต้องเข้ามาดูแล แม้จะมีโรงงานกำจัดขยะหรือตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มขึ้นแต่ไม่พียงพอ

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 จังหวัดมีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้อง ในอนาคตจะเอาขยะนี้มาสู่ระบบที่จัดการให้เหมาะสมเรื่อยๆ จากปัญหาโควิด-19 พบว่าขยะติดเชื้อเกิดขึ้นจำนวนมาก ต้องใช้เตาเผาความร้อนสูง และมีโรงงานกำจัดขยะที่ระยองแห่งเดียวที่กำจัดขยะติดเชื้อได้วันละ 3.6 ตัน จากปัจจุบันที่มีขยะติดเชื้อถึง 10-12 ตัน และอนาคตจะมีมากขึ้น

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกันพัฒนาภาคตะวันออกที่เน้นความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคมและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาประกอบการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจโครงการต่างๆ

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565

หวั่น “ภัยแล้ง” จ่อหน้าประตูบ้าน ครม.รับลูก 9 มาตรการ สทนช.แก้ขาดแคลนน้ำ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 ประกอบไปด้วย 9 มาตรการ 1.เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท โดยการสูบทอยน้ำจากแหล่งน้ำมากไปสู่แหล่งน้ำน้อยไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำใต้ดิน และการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ ปรับปรุงและพัฒนาระบบธนาคารน้ำใต้ดิน 2.จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ สำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพจะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองได้ จัดทำแผนปฏิบัติการสำรองน้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร และจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

3.เติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศ 4.กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ได้แก่ กำหนดแผนปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งให้ชัดเจน ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน 5.วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยจัดทำทะเบียนเกษตรกร ระบุพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจน เพื่อให้การเพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน 6.เตรียมน้ำสำรองพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี)

7.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง และเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหา เฝ้าระวัง ตรวจวัด และควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชนลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชัง 8.ประเมินผลเพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน โดยรายงานเป็นประจำทุกเดือน ติดตาม ควบคุมการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (นาปรัง) 9.สร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565

สมาคมนักวิชาการอ้อยฯ จับมือ SHEEP อัดฉีดความรู้ทายาทรุ่นใหม่ใช้ ‘โดรนเกษตร’

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตร SHEEP ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซินเจนทา ไทยชูการ์ มิลเลอร์ และสมาคมเกษตรปลอดภัย จัดอบรมโครงการพัฒนาทายาทเกษตรกรผู้ใช้โดรนในไร่อ้อยและผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer’s Club) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภาคที่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในภาคเกษตร เพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ลดการใช้สารอารักขาพืชและลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ค่าแรงสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและการทวีความรุนแรงของศัตรูพืช ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรจำเป็นต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าใช้อย่างเร่งด่วน “โดรน” เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้สำรวจแปลงปลูกเพื่อระบุตำแหน่งพื้นที่ ศัตรูพืช สภาพอากาศ และใช้ในการพ่นสารปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น สารอาหารบำรุงการเจริญเติบโต สารอารักขาพืช ในบริเวณแปลงปลูกที่เครื่องจักรชนิดอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้อยมีความสูงถึง 6 เมตร

นางสาวรัตนา ของเดิม เกษตรกรไร่อ้อยรุ่นใหม่ คลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ ให้ความรู้เพิ่มขึ้นในหลายเรื่อง เทคนิคในการบิน การผสมและการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถนำไปใช้จริงได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดเวลาในการทำงานลง ไม่ต้องใช้แรงงานคน สะดวกและจัดการแปลงปลูกได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออ้อยโตมากกว่า 1 เมตร โดรนช่วยได้เป็นอย่างมาก ความคิดเห็นส่วนตัว อยากให้เพื่อนเกษตรกรหันมาใช้โดรนกัน ยิ่งมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 200 ไร่ ซื้อใช้เองก็คุ้มแล้ว

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ Value Chain and Stewardship Lead, Thailand บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หรือ ซินเจนทา หนึ่งในพันธมิตร SHEEP กล่าวว่า การใช้ปัจจัยการผลิตกับโดรนเกษตรปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการบริหารจัดการแปลงปลูกลด ปัญหาเรื่องแรงงาน และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีต่อพืชที่ได้รับผลกระทบกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเสริมความรู้สร้างศักยภาพเกษตรกร ให้ใช้โดรนเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวินิจฉัยศัตรูพืช เทคนิคการใช้ปัจจัยทางการเกษตร การใช้สารเคมีเกษตรกับโดรนเกษตร รวมถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ พืชปลูก และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหัวใจสำคัญของซินเจนทาที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย การจัดอบรมเชิงปฏิบัติครั้งนี้ จึงได้รับความสนใจจากลูกหลานชาวไร่อ้อย ที่จะเป็นทายาทสืบต่อการปลูกอ้อยในรุ่นต่อ ๆ ไป เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจและพร้อมที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการเกษตร มีกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคสนาม เพื่อให้ทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ได้เข้าถึง เข้าใจ นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพแม่นยำในการปลูกอ้อย

“สำหรับโครงการพัฒนาทายาทเกษตรกรผู้ใช้โดรนในไร่อ้อยและผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer’s Club) นอกเหนือจากการพัฒนาความรู้และเสริมทักษะภาคปฏิบัติแล้ว เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อซื้อโดรนสำหรับการเป็นนักบินโดรนในไร่อ้อยได้  โดยพันธมิตรโครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” หรือ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane) ได้ร่วมกันผลักดันโครงการ เพื่อตอบสนองการนโยบายภาครัฐในการทำเกษตรแม่นยำสูง และสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยจะมีโรงงานน้ำตาล และเครือข่ายสมาคมชาวไร่อ้อยเข้าร่วมในโครงการนี้อีกด้วย” ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ กล่าวสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจและเกษตรกรชาวไร่อ้อย สามารถดาวโหลดเอกสาร ได้ที่ https://shorturl.at/ghqO5

เกี่ยวกับโครงการ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane)

โครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” หรือ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane) เป็นการผสานความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สมาคมเกษตรปลอดภัย บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด และบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด เพื่อดำเนินงานทางวิชาการ โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบริหารจัดการทั้งระดับฟาร์มและโรงงานที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล พร้อมยกระดับสู่สากลในมาตรฐาน 5 ด้าน ได้แก่

1) ด้านสังคม (S-Social) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯมีความสุข

2) ด้านสุขภาพ (H-Health) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี

3) ด้านสิ่งแวดล้อม (E-Environment) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯใส่ใจสิ่งแวดล้อม

4) ด้านเศรษฐกิจ (E-Economics) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ มีความเป็นอยู่ที่ดี

5) ด้านพันธมิตร (P-Partnership) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย

อาคารอุตสาหกรรมเกษตร 3 ชั้น 4 ห้อง 3410 คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

โทรศัพท์ 0-2562-5000 ต่อ 5343-(016)

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565

มติครม.ขยายเวลาสินเชื่อเกษตรแปลงใหญ่ถึงสิ้นปี 2575

ครม.ไฟเขียวขยายเวลาสินเชื่อเพื่อพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ วงเงินเดิม 23,000 ล้านบาทถึงสิ้นปี 2575 ปรับเงื่อนไขรองรับกลุ่มเกษตรกร

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ 11 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 2,000 แปลง แปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท กรอบวงเงินโครงการรวม 23,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ของโครงการแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (เงื่อนไขเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีขนาดพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ และ/หรือมีเกษตรกรเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 30 ราย ขึ้นอยู่กับพืชเกษตร)

พบว่า ยังมีเกษตรกรที่ต้องการขอสินเชื่อและอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง และแปลงใหญ่บางแปลงมีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อมากกว่าวงเงินที่โครงการกำหนด

ดังนั้น ครม.จึงมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้โครงการออกไปสิ้นสุดวันที่  31 ธันวาคม 2569 (จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564) ภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมที่เหลืออยู่ และขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการออกไปสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2575 (จากเดิมที่สิ้นสุด 30 เมษายน 2570)

นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติปรับรายละเอียดโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จากเดิมที่สนับสนุนสินเชื่อให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน แปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้ปรับเงื่อนไขเพื่อให้รองรับกับกล่มเกษตรกร ดังนี้

1.สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร ไม่เกินวงเงินกู้ที่นายทะเบียนกำหนด ใช้เกณฑ์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อแบ่งตามขนาด ประเภทธุรกิจชั้นคุณภาพของสหกรณ์การเกษตรกลุ่มเกษตรกร และศักยภาพความสามารถในการชำระหนี้คืน

2.วิสาหกิจชุมชนเป็นไปตามแผนธุรกิจของกลุ่มแปลงใหญ่

ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร อันจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเป็นเกษตรสมัยใหม่ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565

“พาณิชย์”-DITP เปิดตัวเพจ “ชี้ช่องการค้า ” บน Blockdit

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดตัวเพจ “ชี้ช่องการค้า (Think Trade Think DITP)” บน Blockdit (บล็อกดิต) เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลด้านการค้าเชิงลึก กฎระเบียบการค้า แนวโน้มตลาด ให้กับผู้ประกอบการ + POTCAST

 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลการค้าเชิงลึก กฎระเบียบทางการค้า และแนวโน้มการตลาดระหว่างประเทศ ให้กับผู้ประกอบการของไทย โดยล่าสุดได้เริ่มจัดทำเพจชี้ช่องการค้า (Think Trade Think DITP) บนแพลตฟอร์ม Blockdit (บล็อกดิต) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Social Network ของไทยที่เป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการ ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำการค้าได้ดีขึ้น

 “ปัจจุบัน กรมฯ มีข้อมูลการค้า การลงทุน กฎระเบียบการค้า แนวโน้มตลาด ที่ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์จากทั่วโลก เข้ามาเป็นประจำอยู่แล้ว การเพิ่มช่องทางเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม Blockdit ที่เป็นสื่อออนไลน์สมัยใหม่ และกำลังได้รับความนิยม จะเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลการค้าให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ และตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล”นายภูสิตกล่าว

 ปัจจุบัน Blockdit มีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มมากกว่า 2,000,000 บัญชี และมีเพจที่ร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์มากกว่า 100,000 เพจ อาทิ The Standard , กรุงเทพธุรกิจ , MarketThink และลงทุนแมน เป็นต้น ประโยชน์ เป้าหมายคือกลุ่มคนที่สนใจในการอ่าน เขียน เรื่องราวที่มีสาระน่าสนใจและเป็นประโยชน์สู่สังคม ผ่านบทความ วิดีโอ และพอดแคสต์ มีฟีเจอร์สำหรับนักทำคอนเทนต์โดยเฉพาะ เช่น การร่างไอเดีย การตั้งเวลาลงบทความ การดูข้อมูลเชิงลึก และมีจุดเด่น คือ มีระบบคัดกรองข่าวปลอม (fake news) เนื้อหาผิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย รุนแรงและหยาบคาย โดยจะมีระบบ Algorithm ในการตรวจจับการรายงาน ทำให้ผู้อ่านมั่นใจได้ว่าจะได้รับข่าวสารที่มีสาระน่าสนใจ

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565

‘เฉลิมชัย’แจงใช้งบปี2566 สร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ พร้อมด้วยดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ประชุมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี นายอนันต์ แก้วกำเนิดรอง ผอ.สำนักงบประมาณ ร่วมรับฟังและชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 โดยนายเฉลิมชัย กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี”กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตร 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ตลาดนำการผลิต 2.เทคโนโลยีเกษตร 4.0

3.3’S (Safety-Security-Sustainability) 4.บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการโมเดล “เกษตร พาณิชย์ทันสมัย” และ 5.เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตร การเพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาสินค้า พัฒนาเกษตรกร และส่งเสริมปศุสัตว์และประมง สร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ กลุ่มผู้นำสตรี รวมถึงยกระดับรายได้เกษตรกรระดับรากหญ้า และการปรับปรุงระบบที่ทำกินและการบริหารจัดการน้ำ

พร้อมนี้ ได้กำหนดโครงการสำคัญเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.โครงการสำคัญที่สนับสนุนแผนแม่บทประเด็นการเกษตร อาทิ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เป็นต้น 2.โครงการสำคัญที่สนับสนุนแผนแม่บทอื่นๆ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากน้ำโครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565

อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทรายผงาดรับปี’65ผลผลิต-ราคาสูง

กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายส.อ.ท.เช็คผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 2564/65 ที่อยู่ระว่างดำเนินการเปิดหีบมั่นใจผลผลิตได้ 85-90 ล้านตันหนุนได้ผลผลิตน้ำตาลทราย 9-10 ล้านตันพ้นจุดต่ำสุดและคาดการณ์ฤดูผลิตปี 2565/66 ยังมีลุ้นให้เติบโตต่อทั้งในแง่ผลผลิตและราคาน้ำตาลตลาดโลก

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูหีบปี 2565/2566 ยังคงอยู่ในทิศทางที่ดีเช่นเดียวกับฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่โรงงาน 57 แห่งอยู่ระหว่างการเปิดหีบอยู่ในขณะนี้เนื่องจากระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกปี 2565 เฉลี่ยยังคงทรงตัวระดับสูง 18 เซนต์ต่อปอนด์ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอันจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้การเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/65 ของ 57 โรงงานที่ทยอยเริ่มหีบตั้งแต่ 7 ธ.ค. 64 คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูหีบในอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีผลผลิตอ้อยประมาณ 85-90 ล้านตัน คาดว่าจะผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 9-10 ล้านตัน จากฤดูหีบปี 2563/64 ที่ผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 66.67 ล้านตันคิดเป็นน้ำตาลทรายเพียง 7.6 ล้านตันซึ่งถือว่าเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้โรงงานน้ำตาลทรายภาพรวมฤดูหีบปี 64/65 สามารถกลับมาใช้อัตรากำลังการผลิตได้มากขึ้นอย่างเหมาะสมและในปี 2565/64 คาดว่าผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายจะใกล้เคียงหรือมากกว่าฤดูหีบ 2564/65 เล็กน้อย

“ ล่าสุดปริมาณอ้อยหีบสะสมมีมากกว่า 20 ล้านตันความหวานเฉลี่ย 11 กว่าซี.ซี.เอส จึงถือว่าฤดูหีบปีนี้พ้นจุดต่ำสุดและกลับมาอยู่ในภาวะที่ดีและฤดูหีบหน้า(ปี 65/66 )ที่มองก็ยังคงเป็นอีกปีหนึ่งที่ดีต่อเนื่องเพราะเมื่อดูจากผลผลิตคงจะไม่กลับไปตกต่ำอีก ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกซื้อขายล่วงหน้าล่าสุดแม้จะอ่อนตัวเล็กน้อยแต่ยังเฉลี่ยอยู่ระดับสูง 18 เซนต์ต่อปอนด์ ”นายชลัชกล่าว

นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกปี 2565 อยู่ในระดับทรงตัวเฉลี่ยประมาณ 18 เซนต์ต่อปอนด์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเทียบกับปี 2564 แต่ก็ยังถือเป็นอัตราเฉลี่ยที่สูงโดยคงจะต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกใกล้ชิดหากราคาสูงต่อเนื่องจะทำให้บราซิลที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายใหญ่สุดของโลกหันไปนำน้ำตาลผลิตเอทานอลมากขึ้นจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น ดังนั้นภาพรวมราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2565/66 มีแนวโน้มจะใกล้เคียงกับฤดูหีบปี 2564/65

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/65 อยู่ในระดับ 1,070 บาทต่อตัน(ไม่รวมเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดอีกตันละ 120 บาทต่อตัน) ถือเป็นราคาที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกและการที่โรงงานประกันราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2565/66 ที่ตันละ 1,000 บาททำให้เป็นแรงจูงใจให้ชาวไร่ไม่เลิกปลูกอ้อยจึงทำให้ภาพรวมระยะสั้น 2 ปีนี้ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ก็ยังคงต้องติดตามภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงว่าจะเป็นอย่างไรประกอบด้วยเนื่องจากฤดูหีบปี 2563/64 ที่ผลผลิตลดลง เนื่องจากประสบภัยแล้งอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามแม้ราคาอ้อยจะสูงแต่ต้นทุนภาพรวมก็สูงขึ้นด้วยทั้งน้ำมัน ค่าแรง ปุ๋ย

จาก https://mgronline.com วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำแล้งใกล้ชิด รณรงค์ทุกภาคส่วนใช้น้ำประหยัด รู้คุณค่า

เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน กทม. ดร.ทวีศักดิ์ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1 -17  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยมี ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายประยูร เย็นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านจัดสรรน้ำ) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(10 ม.ค. 65)  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,855 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 32,923 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 8,070 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การได้  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,761 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 7,065 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ1,525 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 4.05 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ  เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.80 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสนับสนุนการเกษตรก่อนจากนั้นจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำช่วยเสริม  พร้อมกับเดินหน้าตามมาตรการรับมือการขาดแคลนน้ำ ปี 64/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด  เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภค ต้องเพียงพอตลอดทั้งปี ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้  รวมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วน ให้ตระหนักถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า รวมทั้งควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้  เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า"ที่ระดับ  33.63 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่กว้าง โดยยังมีแรงกดดันจากปัญหาการระบาดในประเทศ -แนวต้านสำคัญจะขยับขึ้นมาอยู่ที่โซน 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.63 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์

 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็วกว่าคาด ควรติดตามรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟดรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในปีนี้

 โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 ฝั่งสหรัฐฯ : ตลาดจะให้ความสนใจรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคม หลังจากที่ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดได้สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจใกล้ถึงระดับที่เฟดพึงพอใจ โดยหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.0% จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าคาด อาทิ ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและพร้อมลดงบดุลในปีนี้ ซึ่งเรามองว่า หากเฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมได้จริง เฟดจะต้องมีการสื่อสารล่วงหน้า

ดังนั้น ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะ John Williams ที่มีท่าทีเป็นกลางต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินเฟด และที่สำคัญตลาดจะจับตาการแถลงต่อคณะกรรมาธิการ Senate Banking ในกระบวนการสรรหาประธานและรองประธานเฟด (Confirmation Hearing) ของว่าที่ประธานเฟดสมัยที่ 2 Jerome Powell และ ว่าที่รองประธานเฟด Lael Brainard ว่าทั้งสองท่านจะมีมุมมองต่อภาวะตลาดแรงงานและเงินเฟ้ออย่างไร

รวมถึงมุมมองต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเฟดในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งนี้ เรามองว่า ทั้งสองท่าน รวมถึงเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วน อาจรอประเมินผลกระทบของการระบาดของโอมิครอนต่อการเติบโตเศรษฐกิจ โดยสัญญาณผลกระทบเบื้องต้นอาจสะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนธันวาคม ที่อาจหดตัว -0.1%m/m แม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลที่ปกติแล้วยอดค้าปลีกควรขยายตัวได้ดี รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนมกราคมที่อาจชะลอลงสู่ระดับ 70 จุด

ฝั่งยุโรป : เนื่องจากการระบาดของโอมิครอนในยุโรปอาจเข้าใกล้ถึงจุดเลวร้ายที่สุด อีกทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยังไม่รุนแรงมากนัก ทำให้นักลงทุนสถาบันอาจไม่ได้มีมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและทิศทางตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนมกราคม ที่อาจปรับตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 13 จุด ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังมีความน่าสนใจลงทุน เนื่องจากมีสัดส่วนหุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่จะได้รับอานิสงส์จากธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระดับที่สูงราว 54%

 ส่วนระดับราคาหุ้น ณ ปัจจุบันถือว่ายังไม่แพงไปมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลกหรือตลาดหุ้นสหรัฐฯ และที่สำคัญธนาคารกลางยุโรปก็ยังไม่มีทีท่าจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วเหมือนกับเฟด อนึ่ง ผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนที่ยังคงสร้างปัญหาด้าน Supply Chain จะทำให้ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของยุโรปในเดือนพฤศจิกายน หดตัวราว -0.1% จากเดือนก่อนหน้า ชะลอลงจากที่โตได้ +1.1% ในเดือนตุลาคม

ฝั่งเอเชีย : เราคาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.00% ก่อน จนกว่า BOK จะมั่นใจว่าการระบาดของโอมิครอนจะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น BOK จะสามารถกลับมาขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือ ในไตรมาสที่ 2 ส่วนในฝั่งจีน ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนธันวาคม มีแนวโน้มขยายตัวได้กว่า +20%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าทั่วโลกและระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น (สอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นหรืออยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ) อย่างไรก็ดีในระยะสั้น ยอดการส่งออกของจีนอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนบ้าง แต่คาดว่าความต้องการสินค้าจากทั่วโลกจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น หลังการระบาดเริ่มสงบลง ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของจีนยังคงขยายตัวได้ดีและช่วยหนุนให้เศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ฝั่งไทย : เราคงมองว่า ผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่จะไม่กดดันให้เศรษฐกิจซบเซาหนัก เนื่องจากรัฐบาลจะพยายามเลี่ยงการใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด โดยอาศัยการเร่งแจกจ่ายวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุข อย่างไรก็ดี แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจไม่มากนัก แต่การระบาดของโอมิครอนอาจกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในระยะสั้นได้ ซึ่งอาจสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมที่อาจย่อตัวลงเล็กน้อยและอาจปรับตัวลดลงมากขึ้น จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะมีแนวโน้มดีขึ้น

ส่วนแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่กว้าง โดยเงินบาทยังมีแรงกดดันจากปัญหาการระบาดในประเทศ ซึ่งต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ แต่เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจไม่รุนแรงเพราะนักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลปัญหาการระบาดโอมิครอนมากนัก อีกทั้งตลาดหุ้นไทยมีหุ้นกลุ่ม Cyclical ทั้งพลังงานและการเงินเป็นสัดส่วนใหญ่ ซึ่งอ่อนไหวต่อการปรับนโยบายการเงินเฟดน้อยกว่าหุ้น Tech

ดังนั้น เรามองว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าทะลุ 34.00 บาท/ดอลลาร์ หากปัญหาการระบาดไม่ได้ถึงขั้นวิกฤติ อนึ่งแนวต้านสำคัญของเงินบาทจะขยับขึ้นมาอยู่ที่โซน 33.75-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะมีผู้ส่งออกรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นระดับที่ผู้นำเข้าต่างรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์พอสมควร

ส่วนเงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากทั้งเงินเฟ้อรวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว ทว่า Upsides การรีบาวด์ของเงินดอลลาร์อาจไม่มากนัก เพราะตลาดได้รับรู้โอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม หากตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เงินดอลลาร์ก็อาจจะย่อตัวลงได้บ้าง ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่ลดลง

 มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-33.90 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.75 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565

อาเซียนประชุมนัดแรก11ม.ค. วางกรอบแผนด้านศก.ที่จะเร่งรัดปีนี้

อาเซียนเตรียมจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนเป็นครั้งแรก วันที่ 11 มกราคม 2565 นี้ หลังกัมพูชารับตำแหน่งประธานอาเซียน โดยเตรียมหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งการขยาย ASEAN SingleWindow เศรษฐกิจหมุนเวียน เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และติดตามความคืบหน้า FTA อาเซียน-แคนาดา การเข้าเป็นสมาชิกของติมอร์-เลสเต และกำหนดการประชุมตลอดทั้งปี 2565 นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อาเซียนเตรียมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (SEOM Retreat) ในวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่จะถึงนี้ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นครั้งแรก ภายหลังกัมพูชารับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากบรูไนดารุสซาลาม

โดยจะมีการนำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนให้ความสำคัญ และหารือมาตรการสำคัญที่องค์กรรายสาขาภายใต้เสาเศรษฐกิจ จะต้องดำเนินการในปี 2565 เช่น การขยายเอกสารที่แลกเปลี่ยนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) การจัดทำแผนดำเนินงานเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดทำกรอบเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน

สำหรับไฮไลท์สำคัญของการประชุมในครั้งนี้นั้น จะมีการหารือในประเด็นการจัดทำแผนการเจรจาการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ได้ประกาศเริ่มการเจรจาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และจะหารือความคืบหน้าประเด็นสำคัญภายใต้เสาเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต กำหนดการประชุมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการหารือกับทั้ง 12 คู่เจรจาของอาเซียน เป็นต้น

ทั้งนี้สถิติการค้าระหว่างไทย-อาเซียนในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (มกราคม-พฤศจิกายน) พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 100,709.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.91% โดยไทยมีการส่งออกสินค้าไปอาเซียน มูลค่า 58,935.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 41,773.93 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565

พลิกเกมสู้ศึกค้าโลก ดันเกษตรอัจฉริยะลุย  "ข้าว-มัน-ปาล์ม-ยาง-ทุเรียน สดใส"

ส่อง เกษตรอัจฉริยะไทยพลิกเกมสู้ค้าโลก ปี 2565 สศก. ทำนาย “ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ยางพารา น้ำมันปาล์ม สับปะรด ทุเรียน ลำไย มังคุด ตลาดสดใส ขณะประมงกำลังฟื้นตัว โควิด “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ในประเทศขาด ภาคอุตสาหกรรมแย่งวัตถุดิบ ส่งออกลดลง ค่าของเงินบาท -สภาพอากาศ ปัจจัยเสี่ยง

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ทำนายว่าประชากรมนุษย์จะเพิ่มขึ้นจาก 7.2 เป็น 9,600 ล้านคนภายในปี 2593 หรือเพิ่มขึ้น 33 ดังนั้นความต้องการสินค้าเกษตร จะเพิ่มขึ้นประมาณ 70% ในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกทั่วโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ปี1991 ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการเพิ่มผลผลิต

เฉพาะอย่างยิ่งโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ ผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญสำหรับความมั่นคงด้านอาหารของโลก เนื่องจากมีการบริโภคทั่วโลก 17% และการบริโภคเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน 33% ภาคปศุสัตว์มีส่วนช่วยในการดำรงชีวิตของประชากรที่ยากจนถึงหนึ่งพันล้านคนในโลก ความต้องการผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เพิ่มขึ้นและการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา

การใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรของประเทศไทย

การผลิตนมทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 664 ล้านตัน (ปี2549) เป็น 1077 ล้านตัน (ปี2593) และการผลิตเนื้อสัตว์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 258 เป็น 455 ล้านตัน การผลิตปศุสัตว์มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบในทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแย่งชิงที่ดินและน้ำ และความมั่นคงทางด้านอาหาร

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตและคุณภาพของวัตถุดิบอาหารสัตว์ปัจจัยทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้ได้แก่ พันธุ์อาหาร การจัดการ สภาพภูมิอากาศ โรคและพยาธิการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ในการผลิตสัตว์เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูง สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภค ส่งออก และสามารถลดต้นทุน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การบริหารของ  ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ  ได้นำปัญหาที่ไทยต้องเผชิญสถานการณ์จากปัญหารอบด้าน ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น ราคาผลผลิตค่อนข้างต่ำ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน แรงงาน ทุน ทรัพยากรเทคโนโลยีและการจัดการ ในแนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น คือ การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะและการส่งเสริมให้มีการนำไปใช้จริงให้เกิดเป็นรูปธรรม

ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดโลก ความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร (Food Security and Food Safety) ได้ถูกบรรจุ แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2565-2566 สามารถต่อกรกับการค้าโลกได้หรือไม่ต้องติดตามต่อไป

ขณะที่ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  เผยถึง สถานการณ์โลก ปี 2565  กับพืชสินค้าสำคัญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร วิเคราะห์สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีได้แก่ ข้าว มันสำ ปะหลัง และผลิตภัณฑ์ นํ้าตาลและผลิตภัณฑ์ยางพารา นํ้ามันปาล์ม สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ลำ ไยและผลิตภัณฑ์และมังคุด

เนื่องจากสินค้าของไทยมีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และประชากรของแต่ละประเทศได้รับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 มากขึ้น  โดยประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรของไทยยังคงมีความสามารถในการส่งออกได้ ภาครัฐมีนโยบายในการขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการค้าใหม่ ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ การผลิตสินค้าปศุสัตว์ของไทยมีระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานสากลสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ประกอบกับมีการดำ เนินมาตรการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังมีการระบาดของโรคสัตว์ในหลายประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยในการขยายการส่งออกสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ไปประเทศคู่ค้าที่เชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของไทย สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

คือ สินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงมีอยู่ในหลายประเทศ โดยความต้องการสินค้าประมงในตลาดต่างประเทศยังคงมีอยู่ จากฐานลูกค้าเดิม หากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำ หรับบรรจุสินค้ามีทิศทางที่ดีขึ้น จะทำ ให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาจยังต้องประสบปัญหาบางประการ เช่น ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น

ส่วนสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศที่มีเพิ่มขึ้น ทำ ให้การส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังตลาดอาเซียนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มลดลง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2565

7 พืชเศรษฐกิจเตรียมรับมือศัตรูพืชฤดูแล้ง

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะช่วงฤดูแล้งผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 7 ชนิด หมั่นสำรวจแปลง เตรียมพร้อมป้องกันศัตรูพืชในฤดูแล้ง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ต้นฤดูหนาว (พฤศจิกายน) ไปจนถึงปลายฤดูร้อน (เมษายน) สภาพอากาศมักมีสภาพแห้ง ไปจนถึงร้อน ซึ่งเหมาะกับการแพร่กระจายของศัตรูพืชบางชนิด กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรทุกภูมิภาค โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 7 ชนิด ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ข้าว มะพร้าว ทุเรียน และมังคุด หมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูกของตนในช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชเข้าทำลายจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับศัตรูพืชสำคัญในช่วงฤดูแล้งของพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่

1) มันสำปะหลัง เกษตรกรควรเฝ้าระวังเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ไรแดง และโรคใบด่างมันสำปะหลังที่มีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรค ซึ่งการเข้าทำลายของศัตรูดังที่กล่าวจะทำให้ต้นมันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตต่ำ ให้ผลผลิตได้ไม่เต็มที่หรือด้อยคุณภาพ หรือต้นมันสำปะหลังอาจตายได้ เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจแปลงมันสำปะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบและยอด จะมีอาการผิดปกติ เช่น ใบและยอดหงิกงอ เป็นต้น

2) อ้อย ควรเฝ้าระวังหนอนกออ้อย ด้วงหนวดยาว และจักจั่น เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจไร่อ้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณโคนต้นระดับผิวดิน และบริเวณยอด จะมีอาการผิดปกติ เช่น มีรอยเจาะ ตาอ้อยแตกหน่อใหม่ด้านข้าง แตกยอดพุ่ม หักล้ม หรือแห้งตาย เป็นต้น

3) ข้าวโพด ควรเฝ้าระวังหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจลำต้นข้าวโพดในแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณข้อของลำต้นที่ใกล้กับดอกหรือฝักข้าวโพด จะมีรู หรืออาการผิดปกติ เช่น ยอดแห้งตาย เป็นต้น

4) ข้าว ควรเฝ้าระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และด้วงดำ เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจนาข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ หรือบริเวณผิวดินหลังผันน้ำออกจากนาข้าว จะมีอาการผิดปกติ เช่น ใบข้าวเหลืองเป็นหย่อม

5) มะพร้าว ควรเฝ้าระวังหนอนหัวดำมะพร้าว แมลงดำหนาม และไรสี่ขามะพร้าว เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจสวนมะพร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางใบและผลอ่อนมะพร้าว จะมีอาการผิดปกติ เช่น ทางใบถูกแมลงแทะกินผิวใบใบจะแห้งเป็นสีน้ำตาล กรณีไรสี่ขาขั้วผลอ่อนแห้งแตกเป็นลายไม้สีน้ำตาล เป็นต้น

6) ทุเรียน ควรเฝ้าระวังไรแดงแอฟริกัน หนอนเจาะผลทุเรียน หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และเพลี้ยไฟ เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบ ยอด ดอก และผล จะมีอาการผิดปกติ เช่น สีใบซีดไม่เป็นมัน ใบโค้ง ยอดแคระแกรนหงิกงอ ผลเป็นแผล เป็นต้น และ

7) มังคุด ควรเฝ้าระวังเพลี้ยไฟ เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณดอกและผล จะมีอาการผิดปกติ เช่น ดอกและผลแห้ง และร่วง เป็นต้น ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบว่า ต้นพืชมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรเร่งหาสาเหตุและวิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่พบทันที เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและวิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแต่ละชนิดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.doae.go.th หัวข้อเตือนการระบาดศัตรูพืช โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 7  มกราคม พ.ศ. 2565

จับตา 5 ปัจจัย ชี้ทิศทางเงินบาทอ่อนค่า

จับตา 5 ปัจจัยชี้ทิศเงินบาทอ่อน หลังเปิดทำการ 2 วันปีแรกปี 65 แข็งค่า 0.3% เทียบจากรอบปี 2564 ที่อ่อนค่าถึง 10.4% ระบุครึ่งปีแรกยังเห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์ กดดันเงินเฟ้อชั่วคราว ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”ครึ่งปีหลัง"

หลังเปิดทำการ 2 วันปีแรกปี 65 แข็งค่า 0.3% เทียบจากรอบปี 2564 ที่อ่อนค่าถึง 10.4% ระบุครึ่งปีแรกยังเห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์ กดดันเงินเฟ้อชั่วคราว ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง  ศักราชปีเสือ 2 วันแรก เงินบาทยังแข็งค่าข้ามปีแตะดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ภาพรวม แนวโน้มบาทยังอ่อนค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค สวนทางสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและยูโรที่แข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ปัจจัยกดดันการเคลื่อนไหวของเงินบาทคือ

คาดการณ์ของตลาดถึงช่วงเวลาในการลดขนาดหรือยุติการเข้าซื้อพันธบัตร(QE Tapering)ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด)

เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาดี

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัว 3.4%

ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในช่วงไตรมาส 1-2

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทเปิดทำการ 2 วันแรกปี 2565 แข็งค่า 0.3% ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์จากระดับปิดทำการสิ้นปีก่อนที่ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับปีที่แล้วที่เงินบาทอ่อนค่าลง 10.4%

ปัจจัยหลักมาจากช่วงวันหยุดสิ้นปี ตลาดเชื่อว่าการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่กระทบเศรษฐกิจรุนแรง ขณะเดียวกันสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า โดยมีแรงหนุนจากสัญญาณธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) อยู่ในช่วงเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตามช่วง ครึ่งแรกปี 2565 มี 2 ปัจจัยที่ตลาดจับตา คือ

สัญญาณเฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงิน ซึ่งน่าจะจบการทำ QE เดือนมี.ค.โดยตลาดประเมินเฟดน่า จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนพ.ค. ขณะที่ตลาดบางส่วนเริ่มกังวลว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้

ปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทที่อ่อนแอ จากการระบาดของโอมิครอน มีผลต่อจังหวะการฟื้นตัวของบางกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว เห็นได้จาก ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลเฉพาะเดือนพ.ย.2564 หลังเริ่มเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพียงช่วงสั้นๆ แต่จากนั้นก็ต้องปิดประเทศจากโอมิครอนที่ขยายวงกว้างขึ้น ดังนั้น เงินบาทมีแรงกดดันจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังขาดดุลและหากเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แนวโน้มอาจทำให้เงินทุนไหลเข้าน้อยลง

 “ครึ่งปีแรก ยังเห็นเงินบาทอ่อนค่ากว่า 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะสนับสนุนภาคการส่งออก แต่ก็ทำให้ต้นทุนนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ปีหน้ามีโอกาสเห็นเงินเฟ้อขยับสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในจุดที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องเร่งตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ”นางสาวกาญจนากล่าว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า คาดว่าครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ และน่าจะเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนในครึ่งปีหลัง ดอลลาร์ที่กลับมาอ่อนค่า ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาปลายไตรมาส 3 และ 4 มีโอกาสเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าในสิ้นปีที่ระดับ 31.75-32 บาทต่อดอลลาร์

 “ตอนนี้อยู่ในช่วงลุ้นว่า รัฐบาลจะกระจายวัคซีนกระตุ้นและบริหารเตียงได้ดีเพียงไร หากสามารถฉีดวัคซีนกระตุ้นไม่ทำให้โอมิครอนรุนแรง และนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้ แม้ไตรมาส 1-2 ยังคงขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ไตรมาส 3 ภาพจะเริ่มดีขึ้นและไตรมาส 4 ดุดุล บัญชเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวกได้” นายพูนกล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มยังปรับเพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาสินค้า ราคาอาหารสด ราคาสินค้าพลังงานคาดว่า เงินเฟ้อของไทยจะสูงช่วงไตรมาส 1-2 หรือครึ่งปีแรก จากนั้นจะค่อยๆชะลอลง โดยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 1.6-1.7% แต่ตราบใดที่ตัวเลขเงินเฟ้อไม่ทะลุ 2% ไม่น่าจะกดดันกนง.ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% แต่คาดว่าจังหวะที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะไตรมาส 4 ปี 2566 หรืออย่างเร็วที่สุดประมาณกลางปี 2566

“กรณีโอมิครอนไม่รุนแรง มองค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.5 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากสถานการณ์โอมิครอนรุนแรง เงินบาทอาจอ่อนค่าไม่เกิน 34 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนเงินเฟ้อแม้จะปรับเพิ่มขึ้น แต่เป็นปัจจัยชั่วคราวไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดมากนัก แต่ช่วงเวลาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นประเด็นตลาดจับตา ถ้าตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐออกมาดี เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเป็นเดือนมี.ค.อาจเห็นสกุลเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้บ้าง ขณะที่เงินบาทยังเคลื่อนไหวแกว่งตัว อ่อนค่าบางจังหวะ” นายพูน กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7  มกราคม พ.ศ. 2565

พาณิชย์ ลั่นพร้อมรับ RCEP หนุนการส่งออกไทยผ่านสิทธิพิเศษทางภาษี

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 กรมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อนำไปใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีตามความตกลง RCEP ยืนยันความพร้อมในการบริการเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ได้อย่างเต็มศักยภาพ

โดยได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการออกแบบระบบการขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

นายพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ Form RCEP จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตลาด RCEP มีขนาดใหญ่และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่มีการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าไทยโดยใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทาง

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) คิดเป็น 2.97 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60.7% ของมูลค่าการค้าของไทยทั้งหมด

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 6 มกราคม 2565

รู้หรือยัง “RCEP”มีผลแล้ว ภาษีเหลือ 0% ใน 15 ประเทศ

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

คนไทยหลายคนยังไม่ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ตกลงเปิดเสรีการค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ผ่านมาตรการลดภาษีนำเข้าและส่งออกกับ 15 ประเทศสมาชิก ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ หลังจากใช้ความพยายามในการเจรจากันยาวนานกว่า 8 ปี

ภายใต้กรอบ RCEP จะมีการลดภาษีนำเข้าในสินค้ากว่า 2 หมื่นรายการ จะลดอัตราเหลือ 0 ทันที ขณะที่ยังมีหลายรายการที่จะทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปีที่ 10 และปีที่ 20  

การเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลง RCEP นั้น ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2,200 ล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มีจีดีพีรวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ 

คิดไม่ออกใช่มั้ยครับว่าจำนวนเท่าใด ผมประมาณว่าน่าจะราว 817.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30% ของจีดีพีของโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 326 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก...มหาศาลมั้ยครับ

ผมจำได้ตอนที่จบการเจรจาในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 36 ในประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทย เป็นประธานอาเซียน หลังเจรจายาวนานมาตั้งแต่ปี 2012 ได้มีการลงนามความตกลงกันภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ทำหน้าที่ประธาน 

มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ระบุว่า “RCEP  เป็นความร่วมมือทางการค้าระดับภูมิภาคครั้งยิ่งใหญ่ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค” มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้

หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน บอกว่า “ข้อตกลง  RCEP จะช่วยนานาประเทศรับมือกับความท้าทายจากลัทธิกีดกันทางการค้า มีความหลากหลายของสมาชิก และมีศักยภาพมากที่สุดของโลก”

 ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ประกาศว่า “นี่คือความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มาตรฐานสูง เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น”

ว่ากันว่า การเปิดตลาดสินค้าของ RCEP อยู่ที่การลดภาษีสินค้าในกลุ่มที่ไม่เคยลดภาษีใน FTA ฉบับอื่นมาก่อน นับเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม 

กลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจะอยู่ใน 5-6 กลุ่ม....

 * กลุ่มสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

 * กลุ่มอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่นๆ

 * กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย จักรยานยนต์ ยานยนต์/ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 * กลุ่มบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง เอนิเมชั่น

 * กลุ่มการค้าปลีก

RCEP ยังช่วยให้ไทยมีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง HDDs IC วงจรพิมพ์ 

ผลทางตรงที่ไทยจะได้รับคือ การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงของประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล้วนเปิดโอกาสให้แก่สินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังคงมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าอยู่ แม้จะมี FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคีหรือ Plus 5 คือ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

ดังนั้น ผู้ส่งออกอาจต้องพิจารณาเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงที่ให้ประโยชน์คุ้มค่ากว่า

อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนและเกาหลีใต้ได้มากขึ้น โดยมีสินค้าอ่อนไหวหลายรายการได้ประโยชน์จาก RCEP ด้วยการลดภาษีที่มากกว่า FTA อาเซียน-จีน และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ตลาดจีน ได้แก่ สับปะรดแปรรูป ลำไยกระป๋อง น้ำมะพร้าว ยาสูบ เม็ดพลาสติก ยางสังเคราะห์ เครื่องเสียง และอุปกรณ์ไฟสำหรับรถยนต์ ตลาดเกาหลีใต้ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ อาหารทะเลสด/แปรรูป เนื้อไก่ เนื้อหมู ไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด ข้าวโพดหวาน 

นอกจากนี้ สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น ไทยมีความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นับว่า มีการลดภาษีให้สินค้าไทยมากที่สุด ดังตัวอย่างการส่งออกกล้วยของไทยได้โควตาปลอดภาษี เมื่อเทียบกับ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นที่ยังมีอัตราภาษีสูงกว่า และ RCEP ยังคงอัตราภาษีไว้ที่ระดับ 20%  

ผลลัพธ์ทางอ้อมนั้น จะทำให้สินค้าขั้นกลางของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วมีโอกาสขยายตัวได้ดีขึ้นอาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก  RCEP ทันทีคือ ทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่โดยไทย มีการค้าและการลงทุนมากกว่า 50% อยู่ในตลาดของสมาชิก โดยในด้านการค้า ประเทศคู่เจรจาจะลดภาษีให้ไทยเป็น 0% รวมทั้งหมด 39,366 รายการ 

ผมแยกให้เห็นโอกาสเพิ่มเติมดังนี้ ออสเตรเลีย 5,689 รายการ จีน 7,491 รายการ ญี่ปุ่น 8,216 รายการ เกาหลีใต้ 11,104 รายการ และนิวซีแลนด์ 6,866 รายการ

รายการสินค้าทั้งหมดจะยกเลิกภาษีเป็น 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับจำนวน 29,891 รายการ หรือ 75.9% ของรายการสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทั้งหมด และสินค้าที่ประเทศคู่เจรจาจะทยอยลดภาษีภายใน 10-20 ปี อีกจำนวน 9,475 รายการ

มาดูโอกาสกันให้ดีที่นี่ สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดเพิ่มเติม มีทั้งหมด 653 รายการ จากจีน 33 รายการ ญี่ปุ่น 207 รายการ 

และได้รับอานิสงส์จากเกาหลีใต้ 413 รายการ โดยสินค้าที่เกาหลีใต้เปิดตลาดเพิ่ม เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง พลาสติก เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น ญี่ปุ่น เช่น สินค้าประมง ผัก ผลไม้ปรุงแต่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟคั่ว น้ำผลไม้ เป็นต้น และจีน เช่น พริกไทย สัปปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว ตัวรับสัญญาณโทรทัศน์ สไตรีน ชิ้นส่วนยานยนต์ กระดาษ เป็นต้น   

ส่วนการลดภาษีเกาหลีใต้ จะลดภาษีผลไม้สดหรือแห้ง เช่น มังคุด และทุเรียน และผลไม้และลูกนัตอื่น ๆ แช่แข็ง จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี

สินค้าประมง เช่น ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และปลา กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ ลดภาษีจาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี     

ประเทศญี่ปุ่น จะลดภาษีศุลกากรให้กับผักปรุงแต่ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง และผงกระเทียม จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และกาแฟคั่ว ลดภาษีจาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี

ขณะที่จีนจะลดภาษีสับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว และยางสังเคราะห์ จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่าง ที่ปรับกระจกในรถยนต์  ลวดและเคเบิ้ล สำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ ลดจาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน จะมีโอกาสด้านการค้าบริการและการลงทุน เพราะกฎระเบียบอาร์เซ็ป ได้ลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคบริการ หรือการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ เช่น มาตรการ ขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาต และการตรวจสอบคุณวุฒิ คุณสมบัติของผู้ให้บริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเกินจำเป็น จะช่วยส่งเสริมการออกกฎระเบียบและมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น นักลงทุนไทยสามารถจัดตั้งกิจการและลงทุนในประเทศของสมาชิกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  

ในทางดีก็ต้องมีผลกระทบที่ไทยจะต้องเสียประโยชน์ด้านการค้าเช่นกัน “อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินไว้ก่อนหน้าว่า อาร์เซ็ปจะทำให้การส่งออกไทยเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจทำให้ไทยขาดดุลการค้าอาร์เซ็ปเพิ่มขึ้นเป็น 15,014 ล้านดอลลาร์  จะขาดดุลให้กับประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย บรูไน    

นอกจากนี้ ไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรง กับประเทศสมาชิกแน่นอน โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะช่วยยกระดับให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve เช่น การผลิตเซนเซอร์อัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดนาโน ชิปประมวลผลสินค้า และสินค้า IOT ฯลฯ    

RCEP ที่เปิดตลาดการค้าเสรีกว้างขึ้น จึงเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ไขว่คว้า ไปหาพิกัดกลุ่มสินค้าที่ได้รับสิทธิ์การลดภาษีออกมาแล้ว...ลุยไปเลย อย่ารีรอ ช้าไปเจอดีนะพี่น้องไทย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 มกราคม 2565

เตือนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้ง 2564/65

กรมชลประทาน เตือนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้ง ปี 2564/65 เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ ลดเสี่ยงขาดแคบนน้ำในอนาคต

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า ปัจจุบัน (5 ม.ค. 65)  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 57,757 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ 33,639 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 7,557 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของปริมาณน้ำใช้การได้  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,891 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 4,094 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,797 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำใช้การได้

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 3.59 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนฯ  เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.51 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา พิจารณาเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 65 ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

ด้านคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก ได้เน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์น้ำและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 มกราคม 2565

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ  33.25 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่แกว่งตัว Sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผันผวนในฝั่งอ่อนค่า

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.25 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.315 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มที่แกว่งตัว Sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทสามารถผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ แต่เราเชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลสถานการณ์การระบาดมากนัก ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าซื้อหุ้นไทยสุทธิต่อเนื่อง นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำมากขึ้น อีกทั้ง เงินดอลลาร์โดยรวมก็ทรงตัวตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด

ทั้งนี้ แนวรับสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผู้นำเข้าบางส่วนรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอขายเงินดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.15-33.35 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลาง มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลปัญหาการระบาดของโอมิครอน ส่งผลให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะหุ้นในธีม Reopening ปรับตัวขึ้นได้ดี อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจากบรรดาธนาคารกลางหลัก ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ ต่างปรับตัวสูงขึ้น กดดันหุ้นในกลุ่มเทคฯ ย่อตัวลง (หุ้นเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ที่มี valuation แพง มักจะอ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์) ดังจะเห็นได้จากในฝั่งสหรัฐฯ ที่ดัชนี Dowjones ปรับตัวขึ้นกว่า +0.59% ในขณะที่ ดัชนี S&P 500 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -1.33% สะท้อนภาพการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นของผู้เล่นในตลาด (Sector & Style rotation) ที่ชัดเจนมากขึ้น

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้น ท่ามกลางความหวังเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น หากสถานกาณ์การระบาดคลี่คลายส่ง ซึ่งส่งผลให้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical หรือ ธีม Reopening ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ Daimler +5.0%, BNP Paribas +3.4%, BMW +3.1% ในขณะที่ หุ้นกลุ่มเทคฯ เผชิญแรงเทขายทำกำไร  Adyen -3.6%, ASML -2.9%, Infineon Tech. -2.2%

ทั้งนี้ เราคงมองว่า หุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Reopening เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด อีกทั้งสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนก็มีแนวโน้มที่จะใกล้ถึงจุดเลวร้ายสุดภายใน 1 เดือนข้างหน้า และรัฐบาลก็จะสามารถควบคุมการระบาดได้ในที่สุด ตามการเร่งแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงการใช้ยาต้าน COVID-19

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะผู้เล่นในตลาดเปิดรับความเสี่ยงและมุมมองของผู้เล่นที่คาดว่าธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด รวมถึง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.65% เช่นเดียวกับ บอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.10% ในระยะสั้นนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ 10 ปี ในฝั่งยุโรป ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจและท่าทีของเฟดที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันเงินดอลลาร์อยู่ ในขณะที่ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่เชื่อว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทรงตัวที่ระดับ 96.26 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะทรงตัว แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงแตะระดับ 116.17 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าในรอบหลายปี

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมเฟดล่าสุด เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วกว่าคาด หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและอาจกลับสู่ระดับที่เฟดพึงพอใจได้เร็วกว่าคาด

ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า การทยอยฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ รวมถึงระดับราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูง จะช่วยหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนธันวาคม ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 2.8% ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากระดับฐานราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า และภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 มกราคม 2565

“สุริยะ” ปักธงปี 65 ลุยหนุนอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตรับมือโลกเปลี่ยน

“สุริยะ” ปักหมุดปี 2565 ลุยขับเคลื่อนแผนงานหนุนภาคอุตสาหกรรมไทยตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพรับมือ ศก.เปลี่ยนแปลง เล็งชง กอช.เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งดึงลงทุน EV อุตฯ น้ำตาล ต่อยอดพืชเกษตรต่างๆ สู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ดัน GDP อุตฯ โต 2.5-3.5% รับแรงหนุนตลาดส่งออกโต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายการยกระดับพัฒนาภาคอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยจะนำเสนอนโยบายสำคัญต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อการบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต

สำหรับแนวทางดำเนินการ เช่น 1. การกำหนดสาระสำคัญของกระบวนการผลิตในเขตประกอบการเสรี (Free Zone) เพื่อให้สอดรับกับมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ 2. การจัดเตรียมสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 โดยทำหน้าที่เป็น One Stop Service 3. การจัดพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2565 เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการส่งเสริมการผลิตและใช้ประโยชน์พลังงานหมุนเวียนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 

4. เร่งพัฒนาพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ปาล์ม แป้งมันสำปะหลัง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม 5. เร่งสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันการพัฒนาอาหารอนาคต โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกรอบแนวทางพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเป้าหมายใหม่ (Product Champion) รวมถึงให้เกิดการลงทุนเชิงพาณิชย์ และขับเคลื่อน flagship ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมที่จะนำเสนอแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2563-2570) ต่อ กอช. เพื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากปี 2564 ที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการโดยเฉพาะการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2564 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) จะขยายตัว 5.2% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่ MPI หดตัว 9.3% ขณะที่คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประมาณการ MPI ขยายตัว 4.0-5.0% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5-3.5% เป็นผลจากตลาดส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับต้องพิจารณาปัจจัยราคาพลังงานและการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นต่อไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565

“อลงกรณ์”เปิดวิสัยทัศน์“ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย”

เผยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มปฏิบัติการ “ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” จัดการเชิงโครงสร้างและระบบ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นแก่นกลาง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ อดีตส.ส.6สมัยและอดีตรัฐมนตรี เขียนบทความใน เฟสบุ้ควันนี้ เรื่อง “ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย” “ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” เป็นตอนที่2ของซีรี่ย์”ก้าวใหม่ประเทศไทย”อย่างน่าสนใจ…….

ก้าวใหม่ประเทศไทย (ตอนที่2) เรื่อง“ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย”

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) โครงการอาหารโลก(World Food Program) องค์การสหประชาชาติ(UN) และองค์การอนามัยโลก(WHO)รายงานผลการประชุมสุดยอดระบบอาหารโลก(UN Food System Summit 2021)โดยสรุปว่า โลกกำลังเผขิญภาวะขาดแคลนอาหารจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการ แพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้ประชากรโลกประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารและราคาอาหารจะแพงขึ้น 

เป็นวิกฤติของโลกแต่ก็เป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารชั้นนำของโลก

ประเทศไทยของเรามีศักยภาพการผลิตและการตลาดด้านเกษตรและอาหารสูงมาก

ปี2560 เราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ14ของโลก

ปี2561 ขึ้นเป็นอันดับ 12ของโลกซึ่งมีเพียง2ประเทศเท่านั้นที่ปีเดียวขึ้น2อันดับและเป็นครั้งแรกที่ขึ้นเป็นที่2ของเอเซียรองจากประเทศจีนเท่านั้น

ปี2562 ขยับต่อเนื่องขึ้นเป็นอันดับ11ของโลกและยังครองอันดับ2ของเอเซีย

นับเป็นประเทศ “หนึ่งเดียวในโลก” ที่ 2 ปีขึ้น 3 อันดับ

ไทยแลนด์ โอนลี่ครับ

หลังโควิดคลี่คลาย เราจะสานฝัน”ครัวไทย ครัวโลก”สู่อันดับท็อปเทนของโลกตามนโยบายของรัฐบาล 

วันนี้สินค้าเกษตรสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยติดท็อปเทนของโลกจำนวนไม่น้อย เช่น ยางพารา ยางรถยนต์ ถุงมือยาง น้ำตาล ทุเรียน ข้าว สัปปะรดกระป๋อง อาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง เอทานอล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ.  

ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบและสินค้าแปรรูปขั้นต้นมูลค่าต่ำแบบที่เรียกว่า”ทำมากได้น้อย(More for Less)” ประเทศและเกษตรกรจึงมีรายได้น้อยมาอย่างยาวนาน เรา จึงต้องเปลี่ยนใหม่สู่การ”ทำน้อยได้มาก(Less for More)”

ถ้าทำแบบเดิมๆจะไม่สามารถยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรเทคออฟสู่เพดานใหม่ได้  

อย่างไรก็ตามแม้โจทย์จะชัดเจนในตัวเอง แต่คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไร    

ผมจะยกตัวอย่างการถอดสมการนำมาสู่การออกแบบโมเดลการปฏิรูปภาคเกษตรไทย 

ถ้าเราย้อนมองบริษัทเช่น  Amazon Alibaba Google Apple Teslaจะได้คำตอบว่าทำไมบริษัทเหล่านี้จึงสามารถทะยานขึ้นสู่บริษัทแนวหน้าของโลกภายในเวลา20ปีโดยเฉพาะAppleเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีมูลค่าตลาดทะลุ3ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(มากกว่างบประมาณไทย30ล้านเท่า)

คำตอบคือ วิสัยทัศน์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการใหม่ๆ

อีกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่พัฒนาตัวเองจากประเทศยากจนด้อยพัฒนาสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ2และมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีภายใน30ปี

คำตอบก็เหมือนกัน

    การถอดบทเรียนจากตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้การดีไซน์การปฏิรูปง่ายขึ้น

    การปลดกระดุมแล้วกลัดใหม่จึงเกิดขึ้นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   

เป็นกระบวนการปฏิรูปการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นแก่นกลาง

2ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดการปฏิรูปภาคเกษตรเดินหน้าภายใต้5ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.(จบปริญญาเอกด้านยุทธศาสตร์โดยตรง)และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์(เจ้าของสโลแกน”ทำได้ไวทำได้จริง”)

ด้วยการสร้างกลไก 4 แกนหลักคือภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกรเป็น4เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยุทธศาสตร์ 3S(Safety-Security-Sustainability)เกษตรปลอดภัยเกษตรมั่นคงเกษตรยั่งยืน ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนและยุทธศาสตร์บูรณาการทำงานเชิงรุก นโยบายโลจิสติกส์เกษตร นโยบายอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการ22หน่วยงานเพื่อยกระดับศักยภาพองค์กรและพัฒนาต้นน้ำการผลิตด้วยการเพิ่มผลิตภาพ(productivity)ลดต้นทุน การพัฒนาคนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน(Competitiveness)ของประเทศ

ผมจะเล่าให้ฟังโดยสังเขปว่า  2ปีมานี้ เราทำอะไรไปบ้าง ขอยกตัวอย่างเพียง 10 เรื่อง

1.เราจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(Agritech and Innovation Center)เรียกสั้นๆว่า ศูนย์AIC 77 จังหวัดเป็นฐานเทคโนโลยีของทุกจังหวัดและยังมีศูนย์AICประเภทศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน(Center of Excellence:COE)อีกกว่า20ศูนย์ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนา(R&D)และเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกรผู้ประกอบการและถ่ายทอดนวัตกรรมเน้นเมดอินไทยแลนด์(Made In Thailand)เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองโดยคิกออฟพร้อมกันทุกศูนย์ทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อ1มิถุนายน2563 วันนี้มีเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมกว่า624ชิ้นงานพร้อมถ่ายทอดต่อยอดสู่แปลงนาแปลงสวนแปลงไร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า7,000ราย

เราจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC)ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิตอลใหม่ๆที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เริ่มตั้งแต่มีนาคม2563 เพราะเทคโนโลยีข้อมูล(Information Technology)คือเครื่องมือเอนกประสงค์ของทุกภารกิจและทุกหน่วยงานโดยกำลังเชื่อมต่อกับBig Dataของหน่วยงานรัฐ เอกชนและศูนย์AICทุกจังหวัด

เราปฏิรูปกระทรวงเกษตรฯ.ภายใต้คอนเซ็ปท์GovTechให้เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี(TechMinistry)

22หน่วยงานในสังกัดกำลังพัฒนาตัวเองโดยโครงการดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น(Digital Transformation)เพื่อ เปลี่ยนบริการอนาล็อคเป็นบริการออนไลน์ เปลี่ยนการลงนามอนุมัติด้วยมือเป็นลายเซ็นดิจิตอล(Digital Signature) การเชื่อมโยงตามโครงการNational Single Window การบริการออนไลน์และแพลตฟอร์มแผนที่เกษตร(Agrimap)แบบmobile users

2.เราขับเคลื่อนฟาร์มอัจฉริยะ(smart farming)ตามแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเช่น ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดดินน้ำอากาศและการอารักขาพืช การปรับระดับพื้นแปลงเกษตร(Land Leveling) ระบบเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์(Sead Technology) ระบบชลประทานอัจฉริยะรวมทั้งการใช้โดรนการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและแพลตฟอร์มแผนที่เกษตรดิจิตอล(Agrimap platform)

3.เราริเริ่มโครงการใหม่ๆเช่นการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(urban Farming)อย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกตอบโจทย์Urbanization(ประชากรไทยในเมืองมากกว่าในชนบทตั้งแต่ปี2562) การจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์PGSแห่งประเทศไทย การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์1.3ล้านไร่ การวางหมุดหมายแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนฐานศาสตร์พระราชาทุกตำบล การจัดตั้งองค์กรชุมขนประมงท้องถิ่น2พันองค์กร การฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทย การพัฒนาเกลือทะเลไทย การพัฒนาวัคซีนจากโปรตีนพืชสำหรับสัตว์ โครงการเกษตรแม่นยำ(Recision Agriculture)2ล้านไร่ โครงการพลังงานทดแทนโซล่ารถเซลล์ในฟาร์มกุ้งฟาร์มปลา โครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank)ตอบโจทย์Climate Changeโดยเพิ่มต้นไม้ลดก๊าซเรือนกระจกโครงการCold Chainตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวแบบNitrogen Freezer เป็นตัวอย่าง

  4.เราริเริ่มและขับเคลื่อนนโยบายอาหารแห่งอนาคต พืชแห่งอนาคต(Future Food Future Crop)เช่นการส่งเสริมโปรตีนทางเลือกจากพืช(Plant base Protein) มีบริษัทstartupเกิดขึ้นจำนวนมาก การสนับสนุนโปรตีนทางเลือกจากแมลง(Edible Inseat base Protein)ปัจจุบันมีกว่า2หมื่นฟาร์ม(FAOประกาศเมื่อ3ปีที่แล้วว่าแมลงกินได้Edible Insectคืออนาคตใหม่ของโปรตีนโลก)

 เราเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางใหม่โดยโฟกัสการผลิตและการตลาดใหม่แบบคลัสเตอร์เช่น คลัสเตอร์อาหารเจอาหารVeganและอาหารFleximiliamอาหารใหม่(Novel food) คลัสเตอร์อาหารฮาลาลซึ่งมีลูกค้ากลุ่มประชากรมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมกว่า2พันล้านคน มูลค่าตลาด48พันล้านบาท และการส่งเสริมการตลาดแบบไฮบริดแพลตฟอร์ม(hybrid marketing platform)ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ทั้งออนไลน์ (on-line)ออฟไลน์(off-line)และออนไซต์(on-site)ด้วยโครงการLocal HeroทุกจังหวัดมีทีมE-Commerceรับผิดชอบเป็นต้น

5.เราได้วางโรดแม็ปเส้นทางโลจิสติกส์เกษตรเชื่อมไทยเชื่อมโลกในระบบการขนส่งหลายรูปแบบ(Multimodal Transportation)ทั้งทางรถทางรางทางน้ำและทางอากาศ(Low Cost Air Cargo)เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงตลาดทั่วโลกและตลาดเป้าหมายใหม่เช่น

โครงการดูไบคอริดอร์-ไทยแลนด์ คอริดอร์ (Dubai Coridor- Thailand Corridor),เส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่(BRI)เชื่อมไทย-ลาว-จีนสู่จีนทุกมณฑล-เอเซียใต้-เอเซียตะวันออก-เอเซียกลาง-ตะวันออกกลาง-รัสเซียและยุโรป และกำลังเปิดประตูใหม่จากอีสานสู่แปซิฟิกไปทวีปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้และเปิดประตูตะวันตกประตูใต้สู่ทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียสู่เอเซียใต้ อัฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป

6.เรากำลังปรับเปลี่ยนเกษตรแปลงย่อยเป็นเกษตรแปลงใหญ่(Big Farm)ซึ่งขณะนี้ขยายเพิ่มเป็นกว่า8,000แปลงเป็นพื้นที่รวมกว่า7ล้านไร่แล้วโดยมีการสนับสนุนเครื่องจักรกลเกษตรและระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 7.เราพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นyoung smart farmerได้กว่า 20,000คนและส่งเสริมพัฒนาศูนย์ศพก.เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอำเภอพร้อมกับยกระดับเกษตรกรที่มีประสบการณ์สู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพโดยร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

8.เรานำระบบทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual property)มาใช้ในการสร้างเกษตรมูลค่าสูงสร้างผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy)โดยมีทีมงานรับผิดชอบโดยตรง

9.เราบริหารการพัฒนาเชิงพื้นที่(Area base)ควบคู่กับการบริหารการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์เช่น โครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งหมด18กลุ่มจังหวัดเป็นศูนย์การแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อกระจายการพัฒนาทุกภาคทุกจังหวัดไม่ให้เจริญแบบกระจุกตัวซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาโดยปี2565 รัฐมนตรีเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ878อำเภอทั่วประเทศและคณะทำงานเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล7,255ตำบลเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนระดับพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

10.ความก้าวหน้าของงานแต่ละด้านเกิดจากการบริหารแบบเปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน(Partnership platform)ในการทำงานกับทุกภาคีภาคส่วนเช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่างๆ สถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เครือข่ายองค์กรเอกชน ทุกกระทรวงและทุกพรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล การยึดประโยชน์บ้านเมืองมาก่อนประโยชน์ทางการเมืองได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจ ประการสำคัญคือการทำงานอย่างทุ่มเทของคนกระทรวงเกษตรฯ.

งานหนักและอุปสรรครออยู่ข้างหน้าอีกมาก แต่ด้วยก้าวใหม่ๆตามโรดแม็ปที่วางไว้ เราเดินเข้าใกล้เป้าหมายในทุกก้าวที่กล้าเดิน

การปฏิรูปรากฐานใหม่ของภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ให้กับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความพร้อมของประเทศในการเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆของวันนี้และวันหน้าเป็นอนาคตที่ต้องรีบสร้างโดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้สูงพ้นจากความยากจนและหนี้สินที่เสมือนเป็นโคลนติดล้อของชีวิตมาอย่างยาวนานและประเทศไทยของเราต้องเข้มแข็งและมั่งคั่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคนครับ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565

สอน.เร่งดันอ้อยและน้ำตาลเคลื่อน “เศรษฐกิจชีวภาพ”

“สอน.”เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพเร่งปรับแก้กฎหมายส่งเสริมนำวัตถุดิบอ้อยและน้ำตาลไปใช้ สนับสนุนการใช้น้ำเชื่อมเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมชีวภาพ

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี 2564-2570 โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของอาเซียนภายในปี 2570 สำหรับผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในไทยอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคนต่อปี

 ทั้งนี้ได้กำหนดโครงการเพื่อส่งเสริมให้”อ้อยหรือผลผลิตจากอ้อย” นำมาเป็นวัตถุดิบนำร่องของอุตสาหกรรมชีวภาพและสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบโดยการนำใบและยอดอ้อยมาใช้จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการเก็บอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ลงโดยปีที่ผ่านมา สอน.มีโครงการสินเชื่อเพื่อซื้อรถเก็บใบอ้อยในอัตราดอกเบี้ย 2% วงเงิน 1,300 ล้านบาท มีผู้กู้ 216 ราย

นอกจากนี้ ในปี 2565 จะมีการเปิดศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ และห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานภายในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 3 ต.ท่าพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทดลองขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพ สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและพัฒนาทักษะให้ผู้ประกอบการเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สอน. มีมาตรการส่งเสริมให้เกิดการผลิตในอุตสาหกรรมชีวภาพ ประกอบด้วยการปรับแก้กฎหมายให้เกิดการนำอ้อยน้ำตาลทรายและผลผลิตจากอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้นำไปผลิตในอุตสาหกรรมชีวภาพ ข้อ 2 สนับสนุนใหม่มีการใช้น้ำเชื่อมจาการหีบอ้อยนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น นอกจากการผลิตน้ำตาล อาทิผลิตเอทานอลและอื่นๆ ข้อ 3 ส่งเสริมน้ำตาลทรายราคาถูกแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

จาก กรุงเทพ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมชลประทานสั่งเก็บน้ำ สำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,329 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 17,086 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะ4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำประมาณ 14,821 ล้าน ลบ.ม.รับน้ำได้อีกประมาณ 10,092 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว จึงให้โครงการชลประทานในพื้นที่ พิจารณาเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งให้มากที่สุด พร้อมกับปรับแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือน้ำหลากที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ โดยใช้ระบบชลประทาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด เน้นย้ำให้แจ้งเตือนก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำถึงพี่น้องประชาชนและขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565

เกษตรฯโชว์ผลงาน ยกระดับแปลงใหญ่ ด้านผลิต-การตลาด ใช้เทคโนโลยีพัฒนา

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่าเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นกลไกพัฒนาภาคการเกษตรไทย มุ่งเน้นเกษตรรายย่อยที่อยู่ใกล้กัน พร้อมพัฒนาการผลิตและการตลาดตลอดห่วงโซ่อุปทาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นำหลักเกษตรสมัยใหม่ร่วมกับการเชื่อมโยงตลาด ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่ม เพื่ออำนาจต่อรอง ร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ และใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม

“กระทรวงเกษตรฯ นำเกษตรกรเดินไปข้างหน้า โดยยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต และการนำเทคโนโลยี 4.0 มาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญนำมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นโครงการที่รัฐบาลสามารถเข้ามาดูแลพี่น้องเกษตรกรในเรื่องงบประมาณต่างๆ” นายเฉลิมชัยกล่าวและว่า นอกจากนี้ยังไม่ละทิ้งเกษตรกรรายย่อย ซึ่งได้มอบนโยบายให้ข้าราชการทุกคนต้องเข้าไปดูแลพี่น้องเกษตรกรเหมือนคนในครอบครัว และต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรใหม่ ต้องทำการเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน โดยต้นทุนและราคาจะเป็นตัวกำหนดว่าภาคการเกษตรจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร จึงอยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรให้เปิดรับความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิต โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะเข้ามาดูแลและอยู่เคียงข้างพี่น้องเกษตรกรทุกคน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2565

กรมชลฯหนุนพัฒนา ร่วมปรับปรุงแหล่งน้ำ 9จังหวัดลุ่มแม่น้ำมูล ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง

นายสาธิต มณีผาย ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ กรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจงานพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็ก 9 จังหวัดลุ่มแม่น้ำมูล รวมทั้งวางแผนและบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค ทำการเกษตร และกิจกรรมอื่นๆ จึงมีการอบรมหลักสูตรการเรียนรู้และเตรียมความพร้อม โครงการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำพื้นที่ 9 จังหวัดลุ่มแม่น้ำมูล มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเสริมสร้างความรู้งานพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยมีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากกรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมฯ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจแนวปฏิบัติในการออกสำรวจรายละเอียดแหล่งน้ำ ปรับปรุง และเสริมศักยภาพให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง รวมถึงการวางแผนโครงการฯ ให้สามารถใช้ประกอบการจัดทำคำของบประมาณในช่องทางต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในโครงการฝ่าวิกฤตด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ ใน 9 จังหวัดลุ่มแม่น้ำมูล โดยจะจัดขึ้นทั้งหมด 11 ครั้ง ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และยโสธร ในตลอดทั้งเดือนธันวาคมนี้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

“พลังงาน” กางแผนปี2565 มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

“พลังงาน” กางแผนลงทุนปี65 รับยุค Energy Transition ปลดล็อคกฎระเบียบ ผนึกพันธมิตรชู C4C ดันไทยสู่ยุคพลังงานสะอาด พัฒนา 3 ด้าน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่า 4 แสนล้าน หนุนไทยเติบโตยั่งยืน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปี2565 กระทรวงพลังงานได้มุ่งมั่นกำหนดทิศทางแผนการดำเนินงานภายใต้มิติ “Collaboration for Change: C4C ก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด จับมือพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยจะมุ่งเน้นการปรับบทบาทองค์กรเพื่อก้าวสู่ยุค Energy Transition ปลดล็อค กฎระเบียบ และจับมือทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1. ด้านพลังงานสร้างความมั่นคงสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่คำนึงถึงพลังงานสะอาดและการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การขับเคลื่อน Grid Modernization สมาร์ทกริด ปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าสะอาด และบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

2. ด้านพลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ อาทิ ขับเคลื่อนการลงทุนโครงการประกอบกิจการปิโตรเลียม ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศมูลค่ากว่า 44,300 ล้านบาท กำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและสัดส่วนการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมและเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระดับที่เหมาะสม ส่งเสริมการลงทุนปิโตรเคมี ระยะ 4 ใน EEC

โดยได้กำหนดทิศทางการขยายการลงทุนปิโตรเคมีกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด เพื่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในปี 2565-2569 กว่า 2-3 แสนล้านบาท ส่งเสริมลงทุนต่อเนื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมูลค่ากว่า 143,000 ล้านบาท

ส่งเสริมการลงทุน EV Charging Station และยานยนต์ไฟฟ้า และเร่งพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยอีก 9 ปีจะต้องผลิตอีวีเป็น 30% เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนด้วย รวมถึงอีโคซิสเต็มของระบบสถานีประจุไฟฟ้าจะต้องเพิ่มเติมและต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสนับสนุนให้สถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งในบ้านและนอกบ้าน

นอกจากนี้ จะเร่งขยายผลการลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนอนุรักษ์ฯ ปี 2565 วงเงินกว่า 1,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ปี2564 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้อนุมัติโครงการในปีงบประมาณ 2564 ใน 5 กลุ่มย่อย จำนวน 63 โครงการ วงเงินสนับสนุนประมาณ 3,200 ล้านบาท

และ 3. ด้านพลังงานลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เดินหน้ากระจายเม็ดเงินลงทุนสู่ชุมชน 76 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน พร้อมขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อระยะที่ 1

พร้อมเตรียมการขยายผลโรงไฟฟ้าชุมชนระยะที่ 2 ซึ่งยังมีกรอบที่จะส่งเสริมการลงทุนได้อีก 400 เมกะวัตต์ ใน 10ปี และคาดว่าจะประกาศโครงการได้ภายในปี 2565

สำหรับทิศทางทั้ง 3 ด้านเป็นแผนที่ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่สอดรับกับทิศทางและเทรนด์ของโลก พัฒนาความก้าวหน้าและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากจนถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ที่เกิดจากผลกระทบจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย เช่น จากโควิด-19 การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้หลายประเทศต่างตื่นตัวและนำมาเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์ประเทศในอนาคต ส่งผลกระทบให้มีการใช้พลังงานจากน้ำมันน้อยลงและหันมาใช้พลังงานสะอาดลพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

เริ่มแล้ว RCEP เขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP หรือ (Regional Comprehensive Economic Partnership) เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ร่วมก่อตั้ง มีผลบังคับใช้พร้อมกับศักราชใหม่ 1 ม.ค. 2565

RCEP เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ข้อกำหนดเบื้องต้น ระบุว่า เมื่อสมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบันแล้ว ความตกลงจะมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ตั้งแต่ 1 ม.ค. นี้ RCEP จึงมีผลบังคับใช้กับชาติสมาชิก ซึ่งได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์, ไทย, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, จีน, ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

ส่วนประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เมียนมา ซึ่งคาดว่าอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการและจะให้สัตยาบันได้ในเร็ววัน

สำนักข่าวบีบีซีอ้างอิงเว็บไซต์ข่าวเซาท์ ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ระบุว่า เกาหลีใต้จะเข้าร่วมตั้งแต่ 1 ก.พ. นี้

ความสำคัญของ RCEP

ข้อมูลของ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กลายเป็นเขตการค้าขนาดใหญ่ ดังนี้ คือ

มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก)

GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก)

มูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก)

สำหรับ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP อาทิ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ

ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลงฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสมาชิก RCEP จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งก่อนที่ความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 นั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ควรเร่งเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด RCEP อย่างเต็มที่

หลังจาก RCEP มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 65 ส่งผลให้สินค้าไทยได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันทีกว่า 2.9 หมื่นรายการ  ซึ่งสินค้าที่ประเทศสมาชิก RCEP  (non ASEAN)ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ที่ยกเลิกภาษีนำเข้าให้ไทยและอาเซียนในทันทีที่ความตกลงมีผล (ณ วันที่ 1 มกราคม 2565) นั้น ได้แก่

จีน ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า มีสินค้า 67.3% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม เช่น วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบอุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ ไม้ ส่วนประกอบเครื่องโทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เม็ดพลาสติก (โพลิโพรพิลีน)

เกาหลีใต้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร  ซึ่ง 61.5% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องซักผ้า ตู้เย็นและส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สำหรับถ่ายรูป เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้และรับสัญญาณ ชิ้นส่วนอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ฟิวส์ หม้อแปลงไฟฟ้า ผ้าทอทำด้วยฝ้ายและใยประดิษฐ์ น้ำตาล

ญี่ปุ่น 73% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ยกเลิกภาษีทันที  เป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร   ประกอบด้วย เครื่องโทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องพิมพ์ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่ายภาพและวิดีโอ ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับเครื่องรับสัญญาณและโทรทัศน์ ประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม ชุดสายไฟ ยางแผ่นรมควัน อาหารสุนัขหรือแมว

นิวซีแลนด์ 64.6% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ยกเลิกภาษีทันที เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร  ไม่ว่าจะเป็น ยางล้อรถยนต์ ปลาทูนากระป๋อง อาหารเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปิโตรเลียมอื่นๆ แชมพู เครื่องแต่งกายและของประกอบกับเครื่องแต่งกายอื่นๆ (รวมถึงถุงมือ) ซึ่งทำจากยางวัลแคไนซ์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายใน หม้อสะสมไฟฟ้า ลวดและเคเบิล เก้าอี้นั่งทำด้วยไม้

ออสเตรเลีย 75.3% ของรายการสินค้าทั้งหมด ที่ยกเลิกภาษีทันที่  เป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร  ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ปลาทูนากระป๋อง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องประดับเงินและโลหะมีค่าอื่นๆ ยางล้อรถยนต์/รถบัส/รถบรรทุก กระสอบถุงพลาสติก อาหารปรุงแต่ง อุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ เครื่องสำอางค์ สบู่ แชมพู น้ำผลไม้

บทวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ระบุว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าครั้งนี้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 โดยผลบวกทางตรงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ในตลาดจีนและเกาหลีใต้ ในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากอยู่แล้ว ขณะที่ผลบวกทางอ้อมมาจากการเปิดเสรีการค้าหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 อยู่ในกลุ่มที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์/ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ในเชิงการลงทุน RCEP เป็นเครื่องมือหนึ่งสำคัญที่ช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย ด้วยจุดเด่นที่เป็นฐานการผลิตครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเทศทำให้การลงทุนในภูมิภาคน่าสนใจมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต RCEP ยังมีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ไอซี การประกอบวงจรพิมพ์ ยานยนต์ แต่โจทย์สำคัญหลังจากนี้คือการดึงดูดเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) กลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตของไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve

อย่างไรก็ตาม การดึงดูด FDI ของไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ใน RCEP จึงมีโอกาสคว้าการลงทุนได้เหมือนไทย ดังนั้น ความพร้อมด้านการลงทุนเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญในการตัดสินใจลงทุน นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือพัฒนาให้เกิดขึ้นมาจึงจะทำให้ไทยมีแรงดึงดูดการลงทุนได้เหนือคู่แข่ง ทั้งการจัดทำ FTA กับประเทศสำคัญที่เป็นตลาดเป้าหมาย การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เป็นตัวช่วยเสริมให้ธุรกิจมีความคล่องตัว การเตรียมความพร้อมรองรับกระแส ESG ตลอดจนการผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 มกราคม 2565