http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนมกราคม 2567)

ชาวไร่อ้อยตบเท้าจี้”กอน.”เร่งถก3เรื่องด่วนสำรวจราคาน้ำตาลใหม่-ป้องขาดแคลน

ชาวไร่อ้อยตบเท้าหารือ”สอน.” เร่งผลักดันวาระเสนอ”กอน.”ถกด่วน 3 เรื่องทั้งขอให้สำรวจราคาน้ำตาลทรายเพื่อการคำนวณราคาที่เหมาะสมหลังพบประชาชนจ่ายราคาน้ำตาลแพงเกินจริงหวังดึงส่วนเกินมาคำนวณเป็นรายได้ระบบ เร่งเสนอครม.ชัดเจนเงินตัดอ้อยสดฤดูหีบปี66/67 ที่เปิดมา50วันแต่ยังไร้วี่แวว และขึ้นค่าธรรมเนียมส่งออกป้องกันน้ำตาลขาดหลังพบอ้อยส่อวูบหนัก

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ชาวไร่อ้อยได้เข้าหารือกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เพื่อขอให้เร่งผลักดันการประชุมกอน.ใน 3 เรื่องสำคัญในการสนับสนุนระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันได้แก่ 1. ขอให้ทำการสำรวจราคาน้ำตาลทรายที่พบว่าราคาขายปลีกในประเทศถึงมือประชาชนที่ไม่ใช่ในห้างโมเดิร์นเทรดมีราคาสูงเฉลี่ย 30-32 บาท/กิโลกรัม(กก.) ซึ่งเห็นว่าราคาส่วนเกินดังกล่าวควรนำมาคำนวณเป็นรายได้ของระบบเพิ่มได้

“ ราคาหน้าโรงงานน้ำตาลที่กำหนดไว้ราคาน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์ที่ 20-21 บาท/กก.นั้นเมื่อย้อนกลับมาเป็นราคาขายปลีกที่ควรควบคุมค่อนข้างสูงเกินไปมาก ดังนั้นฝ่ายรัฐควรจะพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องนี้ว่าควรจะนำส่วนที่เกินจากข้อเท็จจริงมาจัดสรรเป็นรายได้ของระบบแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อให้ชาวไร่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย”นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับเรื่องที่ 2. คือการให้กอน.เร่งรัดการพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขอสนับสนุนวงเงินตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีแนวทางดำเนินงานในทุกปีที่ผ่านมา โดยชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาทเนื่องจากการตัดอ้อยสดจำเป็นต้องใช้แรงงานและเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นซึ่งขณะนี้ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่อยู่ระหว่างการเปิดหีบมาเกือบครึ่งทางแต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงขาดความชัดเจนถึงเงินช่วยเหลือ ทั้งที่ในฤดูหีบปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายเหลืออ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 25% จากกำลังผลิตรวม

เรื่องที่ 3. ขอให้กอน.เร่งพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลบริโภคในประเทศจากการส่งออกเพิ่มขึ้นเนื่องจากฤดูหีบปี 2566/67 ที่มีการเปิดหีบนับตั้งแต่ 10 ธ.ค.66 จนถึง 28 ม.ค. 67 รวมระยะเวลา 50 วันล่าสุด จากโรงงานน้ำตาล 57 แห่งมีปริมาณอ้อยรวมทั่วประเทศ 45.21 ล้านตัน ค่าความหวานเฉลี่ย 11.74 ซี.ซี.เอส. และคาดการณ์ว่าจะมีการทยอยปิดหีบในปลายก.พ.นี้และหลายพื้นที่คาดการณ์อ้อยจะหมดช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 67 ดังนั้นภาพรวมปริมาณอ้อยหีบปีนี้จะค่อนข้างต่ำประมาณ 70 ล้านตันบวกลบเล็กน้อยซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่ลดลง

“ขณะนี้กำลังประเมินตัวเลขปริมาณน้ำตาลทรายอีกครั้งซึ่งดูจากแนวโน้มคงจะต่ำกว่าฤดูหีบที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 11 ล้านตันค่อนข้างแน่นอนแต่จะมากน้อยแค่ไหนคงต้องรอผลอ้อยปิดหีบ และเมื่อมองทิศทางราคาน้ำตาลทราบดิบตลาดโลกที่ทรงตัวระดับ 24 เซนต์ต่อปอนด์ขณะนี้ก็ถือว่าเป็นราคาที่ยังสูงทำให้เกิดการส่งออกเพิ่มหากไม่ดูแลไว้อาจเกิดปัญหาตึงตัว”นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 31 มกราคม 2567

 

เกษตรเขต 2 หนุนลดการเผาพื้นที่เกษตร ปี67 พร้อมสาธิตการใช้ประโยชน์เศษวัสดุ

จนท.ของ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 (ราชบุรี) จัดงานรณรงค์ลดการเผาพื้นที่เกษตร ปี 2567 พร้อมกิจกรรมสาธิตทดแทนการเผา โดยมีการสาธิตเทคโนโลยีเครื่องสางใบอ้อย เครื่องตัดอ้อย และเครื่องม้วนใบอ้อย แทนการเผาเพื่อทำเกษตรอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.2567) นายประสาน ปานคง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น และกิจกรรมสาธิตทดแทนการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2567 ณ ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายวีระศักดิ์ สุขทอง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงาน โดย การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1.สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร

2.นำเสนอทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา ให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่ “การทำการเกษตรปลอดการเผา” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3.เป็นกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ สร้างจิตสำนึก หรือใช้เป็นจุดเรียนรู้ และศึกษาดูงานในด้านการทำการเกษตรปลอดการเผา

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ จากสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี จำนวน 200 คน กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการสาธิตการใช้เทคโนโลยีเครื่องสางใบอ้อย การใช้เครื่องตัดอ้อยแบบวางกอง และการใช้เครื่องม้วนใบอ้อยแทนการเผา สถานีเรียนรู้ต่างๆ ได้แก่

สถานีที่ 1 : การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย

สถานีที่ 2 : การพัฒนาอ้อยพันธุ์ดี

สถานีที่ 3 : เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตอ้อย

สถานีที่ 4 : การใช้เทคโนโลยีการไถกลบและการผ่าตออ้อย

สถานีที่ 5 : การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบไปด้วย หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และ Young Smart Farmer พร้อมช็อป ชิม ผลิตภัณฑ์การเกษตรจากกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนภายในงาน

นายประสาน ปานคง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า การส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร เป็นการสร้างเสริมความรู้ และความเข้าใจของเกษตรกรให้ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกษตร รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกร เพื่อให้สามารถลดปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถทำการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป

กรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวทางการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีการมุ่งเน้นการรณรงค์ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ กระตุ้นจิตสำนึกของเกษตรกรให้หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร การนำเสนอทางเลือกต่างๆ แก่เกษตรกรเพื่อทดแทนการเผา ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตร และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการใช้กลไกเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการเผาที่ยั่งยืน

ดังนั้น การจัดงานรณรงค์ฯ ในวันนี้ นับว่าเป็นการถ่ายทอดความรู้ สาธิตให้เกษตรกรได้ปฏิบัติจริง โดยหน่วยงานต่างๆ ได้นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยคาดหวังว่า หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ ทุกท่านสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ และปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่ “การทำการเกษตรปลอดการเผา” และเป็นการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้มาร่วมสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาร่วมกันอีกด้วย.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 24 มกราคม 2567

 

พิมายยังมีลอบเผาในพื้นที่การเกษตร แม้จังหวัดรณรงค์ห้าม นอภ.รุดทำความเข้าใจ

เกษตรกรชาวบ้านใน อ.พิมาย ยังคงลักลอบเผาพื้นที่การเกษตรต่อเนื่อง ขณะที่นายอำเภอลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 ย้ำ จนท.พร้อมบังคับใช้กฎหมายจับปรับจริงอย่างเข้มงวด

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ต.นิคม อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีเกษตรกรลักลอบจุดไฟเผาไร่อ้อยหลายสิบไร่ ทำให้เกิดกลุ่มควันไฟจำนวนมาก ลอยกระจายปกคลุมไปทั่วหมู่บ้าน ประชาชน เด็ก และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เริ่มได้รับความเดือดร้อนจากการสูดหายใจเอากลิ่นควันพิษเข้าไป และยังมีเศษเขม่าลอยปลิวมาตกใส่บ้านเรือนด้วย

นายศิวะเสก สินโทรัมย์ นายอำเภอพิมาย ได้ออกมาขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ งดการจุดไฟเผาตอซังข้าว เพื่อลดการก่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งพบว่าในปัจจุบันนี้ การลักลอบจุดไฟเผาตอซังข้าว ในพื้นที่อำเภอพิมาย มีการจุดไฟเผาตอซังข้าว และเผาพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก อันดับหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากอำเภอพิมายมีพื้นที่ทางการเกษตรมากที่สุด

ขณะที่วันเดียวกัน ที่บ้านบุมะค่า ม.8 ต.มาบตะโกเอน อ.ครบุรี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดกิจกรรมคิกออฟ หยุดเผาอ้อย ลดการปล่อยมลพิษ พิชิตหมอกควัน สาธิตการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อทดแทนการเผา ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้ในเรื่องการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาอย่างถูกต้องและเหมาะสม และเพื่อให้เกษตรกรเกิดความตระหนักถึงการสร้างมลพิษขึ้นจากการเผาในพื้นที่การเกษตร แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ แจ้งขอความร่วมมือไปยังผู้นำชุมชนในพื้นที่ ประกาศประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว ขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเผาตอซังข้าว และพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้ หากตรวจพบเกษตรกรรายใดฝ่าฝืน จะถูกดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 18 มกราคม 2567

 

ชาวไร่อ้อยที่กาฬสินธุ์ ยังจุดไฟเผาอ้อย อ้างลดต้นทุนเก็บเกี่ยว แม้จังหวัดขอร้อง

จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอความร่วมมือจากเกษตรกร งดเผาอ้อย งดเผาตอซังข้าว ลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะที่ ชาวบ้านรับเดือดร้อนจากเศษฝุ่นใบอ้อย ส่วนชาวไร่อ้อยที่ อ.นามน ไม่สนไม่แคร์โลก ถึงเวลายังทำง่ายๆ เผาเพื่อลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยว

ตามที่แฟนเพจของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาฬสินธุ์ (พมจ.กาฬสินธุ์) ได้โพสต์ ข้อความ และรูปภาพ นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือ งดเผาในที่โล่ง งดเผาอ้อย งดเผาตอซังข้าว งดเผาป่า งดเผาบริเวรสองฝั่งทาง เพื่อลดและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมานั้น

วานนี้ (11 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจหลังแฟนเพจของสำนักงาน พมจ.กาฬสินธุ์ ได้ประชาสัมพันธ์ออกไป พบว่าชาวนาในพื้นที่ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ มีการเผาตอซังข้าว จุดเผาอยู่ห่างจากปั๊มน้ำมัน ปตท. ถนนถีนานนท์ ประมาณ 200 เมตร นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการจุดไฟเผาอ้อย ในพื้นที่ อ.นามน หลายตำบล ชาวไร่อ้อยส่วนมากยังเลือกคงวิธีเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยการเผาใบอ้อยให้เหลือเพียงลำต้น ซึ่งง่าย-เร็ว และลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยว ไม่สนใจในผลกระทบที่จะตามมาต่อสภาพแวดล้อม ไม่แคร์ถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนรอบข้าง และสังคมโดยรวมแบบไม่สนใจ และไม่ห่วงใยต่อสังคมใดๆ

นายอุทัย อุดมสัย อายุ 72 ปี เจ้าของไร่อ้อย ในพื้นที่ ต.สงเปลือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ ปลูกอ้อยปีละ 50 ไร่ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันเลือกเก็บเกี่ยวผลผลิตแบบสดๆ โดยไม่เผา ซึ่งอาจจะเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่าการเผาใบ แต่ก็เป็นการดีที่มีส่วนไม่ทำให้เกิดมลพิษ ที่สำคัญตัดอ้อยสด เมื่อไปส่งโรงงานก็จะได้ราคาดี ต่างจากอ้อยเผาตันละ 100 บาท

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นางสาวกัลทิมา ราโช อายุ 34 ปี ผู้ประกอบการค้าขายในพื้นที่ ต.ยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศษใบอ้อยที่เผาปลิวหล่นลงมา ซึ่งขณะนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. กำลังนั่งรับประทานอาหารมื้อเย็นที่ม้าหินอ่อนอยู่หน้าร้าน พบว่ามีเศษใบอ้อยสีเทา-ดำ ปลิวตกลงมาที่จาน-ชามใส่อาหารและข้าว จนรับประทานไม่ได้เลย และเศษใบอ้อยดำๆ จากการเผา ยังปลิวตกมาเต็มหน้าร้านอีกด้วย

เช่นเดียวกัน นางสาวนงนภัส กั้วพิศมัย อายุ 40 ปี ผู้ประกอบการร้านหม่าล่า-ลูกชิ้นย่าง ทางเข้าด้านหลัง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ต.สงเปลือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ ได้รับผลกระทบจากเศษฝุ่นละอองจากการเผาใบอ้อยเช่นกัน โดยเศษฝุ่นดำๆ ปลิวลงมาตกใส่ถาดลูกชิ้นสดที่ตั้งโชว์ลูกค้าที่หน้าร้าน.

'เงินอ้อย 120 บาทออกวันไหน' ธ.ก.ส. โอนล่าสุด  495 ล้าน เข้ากระเป๋าชาวไร่อ้อย

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 12 มกราคม 2566

 

'เงินอ้อย 120 บาทออกวันไหน' ธ.ก.ส. โอนล่าสุด  495 ล้าน เข้ากระเป๋าชาวไร่อ้อย

เกษตรกรเช็กด่วน 'เงินอ้อย 120 บาทออกวันไหน' ธ.ก.ส. โอนล่าสุดเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยรอบที่ 2 จำนวนกว่า 1.2 หมื่นราย กว่า 495.11 ล้านบาท

อัปเดต "เงินอ้อย 120 บาทออกวันไหน"  ธ.ก.ส. จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพิ่มอีก 1.2 หมื่นราย เป็นเงิน 495 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. เตรียมโอนเงินตามโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิต 2565/66 เป็นรอบที่ 2 ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1.2 หมื่นราย เป็นเงิน 495.11 ล้านบาท ในวันที่ 10 ม.ค. นี้

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เตรียมโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี หรือ เงินอ้อย 120 บาท/ตัน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 ภายใต้กรอบวงเงินรวม 7,990.64 ล้านบาท ในอัตราไม่เกินตันละ 120 บาท เป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 2 แสนครัวเรือน โดยกำหนดจ่ายรอบที่ 2 ในวันที่ 10 ม.ค. 2567 เพิ่มอีกจำนวน 1.2 หมื่นราย เป็นเงิน 495.11 ล้านบาท ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไปแล้ว จำนวน 1 รอบ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 โดยจากการโอนเงินดังกล่าว สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้แล้วกว่า 1.08 แสนราย เป็นเงิน 7,412.99 ล้านบาท

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบว่า "เงินอ้อย 120 บาทออกวันไหน" หรือผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family

 สำหรับโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรชาวไร่อ้อยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เยียวยา ช่วยเหลือเกษตรชาวไร่อ้อยที่ต้องตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อยตามโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 กรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 7,990.60 ล้านบาท

1. อัตราการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี และนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้สามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสด และนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด

2. ค่าใช้จ่ายโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เป็นจำนวนเงิน 7,775.01 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

3. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. รวมจำนวนเงิน 215.59 ล้านบาท ดังนี้

-ชดเชยต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ปัจจุบันคิดเป็น 2.76% ต่อปี) จำนวนเงิน 214.59 บาท

-ค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท จำนวน 200,000 ราย จำนวนเงิน 1.00 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 (ฤดูกาลผลิตปี 2565/2566) เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีและนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 โดยช่วยเหลือเฉพาะซาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดแทนการตัดอ้อยไฟไหม้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น

จาก https://www.komchadluek.net วันที่ 11 มกราคม 2567

 

วันนี้ ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเกษตรกรตัดอ้อยสดอีก 495 ล้านบาท

ธ.ก.ส. โอนเงินตามโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี รอบ 2 กว่า 495 ล้านบาท หนุนลดฝุ่น PM 2.5 ช่วยเกษตรกรกว่า 1.2 หมื่นราย

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เตรียมโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ภายใต้กรอบวงเงินรวม 7,990.64 ล้านบาท ในอัตราไม่เกินตันละ 120 บาท เป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 2 แสนครัวเรือน

โดยกำหนดจ่ายรอบที่ 2 ในวันที่ 10 ม.ค. 2567 เพิ่มอีกจำนวน 1.2 หมื่นราย เป็นเงิน 495.11 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไปแล้ว จำนวน 1 รอบ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 โดยจากการโอนเงินดังกล่าว สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้แล้วกว่า 1.08 แสนราย เป็นเงิน 7,412.99 ล้านบาท

“เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 10 มกราคม 2567

 

สอน.ผนึกแบงก์กรุงไทย-ไทยพาณิชย์อัดฉีด 4,000 ล้านบาท เปิดตัวสินเชื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทราย

นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ร่วมกับธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดตัวโครงการนำร่องการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยลด PM 2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ขานรับนโยบายของรัฐบาลเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ สร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคม ควบคู่การสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งนี้ ภาครัฐได้มีนโยบายส่งเสริมการตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ปัจจุบันจำนวนรถตัดอ้อยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งการสนับสนุนของภาคการเงินจะก่อให้เกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรต่อๅสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

นายสุรธันว์ คงทน ประธานผู้บริหาร Wholesale Banking ธนาคารกรุงไทย และ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้าร่วมการเปิดตัวโครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับทิศทางนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้ออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เช่น รถตัดอ้อย และเครื่องบดอัดใบอ้อย เพื่อช่วยลดปัญหา PM 2.5 ด้วยการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมให้ระยะเวลาในการชำระเงินคืนนานขึ้นสูงสุด 7 ปี โดยชำระคืนเงินต้นเพียงปีละครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้จากผลผลิตอ้อยที่เก็บเกี่ยวและขายได้ครั้งเดียวต่อปี โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีสัดส่วนการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ต่อการรับซื้ออ้อยทั้งหมดลดลงจากปีก่อนหน้า มีสัดส่วนการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศหรือภูมิภาคเดียวกัน และเงื่อนไขอื่นๆ เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งโครงการจะติดตามการดำเนินการและวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ของธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้สถาบันการเงินเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทย ภาคการเงินจึงเห็นว่า สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืนด้วยการสนับสนุนสินเชื่อที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเกิดสภาพคล่องในการปรับตัวเพื่อประกอบธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ในการสนับสนุนสินเชื่อร่วมกันและมีเป้าหมายเป็นวงเงินรวมกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถขยายความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่สนใจได้ในอนาคต รวมทั้งก่อให้เกิดความร่วมมือในวงกว้างระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคการเงินมากขึ้นในระยะต่อไป เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

จาก https://mgronline.com วันที่ 5 มกราคม 2567