http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกรกฎาคม 2553)

พิษภัยแล้งทำเอทานอลขาด

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตเอทานอลรายหนึ่งเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับสถานการณ์ของเอทานอลว่า ในช่วงปลายปีอาจจะเกิดปัญหาปริมาณเอทานอลตึงตัวถึงขั้นขาดแคลน เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ทั้งมันสำปะหลัง และกากน้ำตาล (โมลาส) ขาดแคลนและราคาแพง ในส่วนของวัตถุดิบมันสำปะหลัง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาภัยแล้งและเพลี้ยแป้งระบาดทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 27 ล้านตัน เหลือเพียงแค่ 20 ล้านตัน ราคาสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 2 บาท เป็นกิโลกรัมละ 3.80 บาท ถือเป็นราคาที่สูงมาก ทำให้โรงงานบางรายที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบต้องหยุดการผลิตลงเพราะไม่สามารถสู้ราคารับซื้อมันสำปะหลังได้ ส่วนโรงงานที่ยังสามารถเดินเครื่องผลิตได้ก็เป็นโรงงานที่มีสต๊อกวัตถุดิบมันสำปะหลังเหลืออยู่เท่านั้น

สำหรับโมลาสที่จะขาดแคลนในช่วงปลายปีเนื่องจากฤดูการผลิต 2553/2554 นี้ฝนแล้งทำให้ต้นอ้อยไม่เติบโตเต็มที่ เพื่อให้อ้อยเติบโตเต็มที่ได้ยิวหรือปริมาณ ความหวานอยู่ในภาวะที่เหมาะสม คาดว่าจะต้องขยายระยะการหีบอ้อยผลิตน้ำตาลจากปกติไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งเดิมเปิดหีบประมาณเดือนพฤศจิกายน อาจจะเลื่อนไปถึงเดือนธันวาคม หรือเดือนมกราคม เป็นผลให้กากน้ำตาลหรือโมลาสออกมาน้อย ไม่มีวัตถุดิบสำหรับการผลิตเอทานอลในช่วงเวลาดังกล่าว

นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพโทรกรีน จำกัด ผู้ผลิต เอทานอลในเครือกลุ่มน้ำตาลมิตรผล เปิดเผยว่า เกี่ยวกับปัญหาเอทานอลช่วงต้นปีไตรมาส 1-2 เป็นปัญหาภาวะเอทานอลล้นตลาด ส่วนปลายปีช่วงไตรมาส 3-4 เกิดภาวะขาดแคลน ถือเป็นภาวะของปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหาทางแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น แนวทางที่มีความเป็นไปได้ก็คือ ใช้กองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิงมาบริหาร สต๊อกเอทานอล

"หลักการคือ ซื้อเอทานอลเก็บ สต๊อกไว้ในช่วงที่ปริมาณล้น และทำสัญญาซื้อเอทานอลในตลาดซื้อขาย ล่วงหน้า เพื่อให้มีเอทานอลใช้ทั้งปี โดยอาจจะซื้อไว้ประมาณ 60 ล้านลิตร เมื่อประเมินจากราคาเอทานอล 20 บาท/ลิตร กองทุนฯจะใช้เงินประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งไม่มากมายนัก เมื่อเทียบกับการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศมาปีละหลายแสนล้านบาท" นายประวิทย์กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 29 กรกฎาคม 2553

เตรียมปล่อยน้ำตาลทรายลงตลาดอีก7.4แสนกระสอบ ต้นสิงหาฯนี้

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการซื้อขายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โควต้า ค.ที่ซื้อคืนล็อตแรกแล้วจำนวน 743,500 กระสอบ เบื้องต้นจะกระจายน้ำตาลต้นเดือนสิงหาคมนี้จำนวน 279,000 กระสอบ และจะกระจายภายใน 5 สัปดาห์ สำหรับผู้จำหน่ายน้ำตาลในส่วนนี้เบื้องต้นมีผู้แจ้งรายชื่อเข้ามาแล้วจำนวน 16 ราย แต่เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้ขยายเวลาให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ทั่วประเทศยื่นความจำนงเพิ่มภายใน 2-3 วันจากนี้ โดยต้องวางมัดจำ 5% ของมูลค่าที่ซื้อขาย และมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคารในประเทศ หากไม่ทำตามสัญญาหรือไม่มารับน้ำตาลตามจำนวนที่ยื่นขอจะถูกปรับ 5% ของมูลค่าการจำหน่ายน้ำตาลที่ตกลงไว้

นายประเสริฐกล่าวว่า น้ำตาลที่เหลืออีก 464,500 กระสอบ กท.จะเปิดช่องทางเพิ่มในการกระจายไปยังภูมิภาคมากขึ้นโดยจะกระจายผ่านสมาคมชาวไร่อ้อย และพาณิชย์จังหวัด และจะขอข้อมูลกลางจากกระทรวงพาณิชย์ว่ามีพื้นที่ไหนขาดแคลนน้ำตาล คาดว่าจะกระจายได้หมดภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ก่อนฤดูเปิดหีบอ้อย

 จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 29 กรกฎาคม 2553

เพิ่มน้ำตาล2.7หมื่นตันสัปดาห์หน้า วางกฏเข้มกันสุมหัวบวกราคาเพิ่ม

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมกระจายน้ำตาลที่ซื้อคืนจากเทรดเดอร์ล็อตแรก 2.79 หมื่นตันสัปดาห์หน้า เปิดรับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดหวังระบายให้ถึงมือประชาชน จับตาล็อตที่เหลือ 4.64 หมื่นตันระบายผ่านพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดส่อเปิดโอกาสบวกราคาเพิ่ม กท.จ่อเข้มเงื่อนไขหวังควบคุม

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(บอร์ดกท.) วานนี้(28ก.ค.) ว่า ได้พิจารณาแนวทางการกระจายน้ำตาลทรายที่กท.ได้จัดซื้อคืนน้ำตาลทรายส่งออก(โควตาค.)จากเทรดเดอร์ 3 รายจำนวน 7.43 หมื่นตัน(7.43แสนกระสอบ)เพื่อแก้ไขภาวะตึงตัวโดยได้มอบให้กท.ไปพิจารณาเปิดรับสมัครผู้ค้าส่งหรือยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ต่างจังหวัดเพิ่มเติมจากที่มีรายชื่ออยู่แล้ว 16 รายภายใน 2-3 วันเพื่อให้กระจายน้ำตาลทรายล็อตแรกที่จะส่งมอบจำนวน 2.79 หมื่นตันในสัปดาห์หน้าให้ถึงมือผู้บริโภครายย่อยได้ทั่วถึง

ทั้งนี้ยี่ปั๊วและซาปั๊วที่สนใจจะรับซื้อน้ำตาลทรายดังกล่าวจะต้องส่งแผนมาให้กท.พิจารณาก่อนทำสัญญาซื้อขายโดยเงื่อนไขสำคัญจะต้องจ่ายเงินสดก่อนส่งมอบ คาดว่าสัปดาห์หน้าคงจะระบายผ่านไปยังผู้บริโภคทันทีโดยน้ำตาลที่กระจายจะเป็นน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์บรรจุถุง 50 กิโลกรัมและจะเป็นราคาควบคุมที่บวกกับภาษีมูลค่าเพิ่มโดยจะนำไปขึ้นงวดกับงวดปกติเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4,500-5, 000 ตันเริ่มงวดต้นเดือนส.ค.

สำหรับน้ำตาลส่วนที่เหลืออีก 4.64 หมื่นตันมีแผนที่จะกระจายผ่านอุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัดและสมาคมชาวไร่อ้อยต่างๆ โดยจะต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง โดย วันนี้(29ก.ค.)กท.จะมีการลงนามสัญญา(MOU)กับ 3 เทรดเดอร์เพื่อรับซื้อน้ำตาลทรายประกอบด้วย 1. บริษัทออร์กัส ทอฟเฟอร์(August Topfer) จากเยอรมนี 2. บริษัทบุงกี้ (Bunge) จากสหรัฐอเมริกาและ 3. บริษัทหลุยส์ เดอร์ฟัส (Louis Dreyfus) สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อมีการจ่ายเงินน้ำตาลจะถูกโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของกท.ทันที

“ เราคิดว่าน้ำตาลทรายทั้งหมดจะถูกป้อนให้กับผู้บริโภคได้ช่วงก.ย.-ต.ค. เราเชื่อมั่นว่าน้ำตาลจำนวนดังกล่าวน่าจะทำให้สถานการณ์น้ำตาลตึงตัวดีขึ้นและคงไม่จำเป็นจะต้องซื้อน้ำตาลโควตาค.เพื่อนำมากระจายตลาดในประเทศเพิ่มเติมอีกซึ่ง ณ วันที่ 23 ก.ค.น้ำตาลค้างกระดานมีทั้งสิ้น 1.4 แสนตันเป็นส่วนที่จัดสรรให้พาณิชย์ 5.59 หมื่นตัน”นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า การเปิดหีบฤดูการผลิต 2553/54 คาดว่าจะเริ่มได้กลางธ.ค. 53 เพื่อให้อ้อยสะสมความหวานช่วงฤดูหนาวหลังจากขณะนี้เจอภาวะภัยแล้งส่งผลให้อ้อยเติบโตได้ต่ำกว่าปกติทำให้มีความกังวลว่าผลผลิตอ้อยของไทยปีนี้จะไม่เกิน 60 ล้านตัน ดังนั้นสอน.จึงมีแนวคิดที่จะขอความร่วมมือไปยังองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) ทำระบบการพยากรณ์พืชผลทางการเกษตรโดยอาศัยระบบรีโมทเซนซิ่งซึ่งจะทำให้สามารถจัดการบริหารน้ำ ปุ๋ย เพื่อการเติบโตของอ้อยได้อย่างแม่นยำ

แหล่งข่าวจากที่ประชุมกล่าวยอมรับว่า พาณิชย์ ได้ยื่นขอน้ำตาลทรายที่จัดสรรดังกล่าวผ่านพาณิชย์จังหวัดและโมเดิร์นเทรดด้วยซึ่งที่ประชุมเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด หรือแม้กระทั่งสมาคมชาวไร่อ้อยก็ต้องมาทำสัญญาซื้อขายกับกท.และมีเงื่อนไขไม่ต่างจากยี่ปั๊ว ซาปั๊วคือ ต้องทำสัญญาและจ่ายเงินก่อนเท่านั้นและหากไม่รับน้ำตาลตามที่สัญญาจะถูกริบเงินมัดจำที่จะต้องวางไว้ตั้งแต่แรก 5% ของมูลค่าน้ำตาลที่ตกลงรับซื้อทั้งหมด ดังนั้นเชื่อว่าคงจะติดตามการระบายน้ำตาลล็อตแรกก่อนเป็นสำคัญส่วนที่เหลือคงจะต้องปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ในขณะนั้น

“เรากลัวนะถ้าน้ำตาลไปอยู่ในมือพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ยี่ปั๊วที่เป็นของโรงงานน้ำตาล เพราะอาจไปบวกราคาเพิ่มได้หรือก็ไม่ยอมปล่อยน้ำตาลไปถึงมือผู้บริโภคเราก็ตายทำให้เราต้องระวังจุดนี้มาก”แหล่งข่าวกล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 29 กรกฎาคม 2553

ชาวไร่อ้อยทุกข์หนัก “หนอนกออ้อย” ระบาดกว่าหมื่นไร่

มหาสารคาม- ชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคามกำลังเดือดร้อนหนัก เนื่องจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนกออ้อย กว่า 10,000 ไร่ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งนักวิชาการออกสำรวจ เพื่อหาทางช่วยเหลือแล้ว

ที่จังหวัดมหาสารคาม ชาวไร่อ้อยหลายพื้นที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของหนอนกออ้อย ที่มีอายุใกล้เก็บเกี่ยว โดยเฉพาะแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่อำเภอโกสุมพิสัย เชียงยืน และอำเภอเมืองมหาสารคาม รวมพื้นที่ 14,300 ไร่ ชาวไร่เดือดร้อน กว่า 1,000 ราย

จังหวัดจึงให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติลงพื้นที่ออกสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไปแล้ว พร้อมฝากเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่จะปลูกอ้อยใหม่ หรือปลูกอ้อยไว้ตอ ควรระวังการระบาดของหนอนกออ้อย โดยผีเสื้อหนอนกออ้อยจะวางไข่ในเวลากลางคืนบริเวณใบอ้อย หลังจากฟักออกเป็นหนอนจะคลานมาเจาะที่ยอดอ้อยห่างจากที่วางไข่ประมาณ 1 ปล้อง และเจาะเข้าไปอยู่ในลำต้นอ้อยทั้งหมด

โดยเข้าไปรูเดียวกัน จากนั้นก็จะทำลายอยู่ข้างในลำต้นทำให้ส่วนยอดเหี่ยวแห้ง ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ถ้าระบาดมากๆ จะทำให้อ้อยสูญเสียทั้งน้ำหนักและความหวาน ถ้าระบาดในระยะอ้อยเป็นลำจะทำให้อ้อยเสียหายมากที่สุด

สำหรับการป้องกันและกำจัดหนอนกออ้อยให้เกษตรกรหมั้นสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ถ้าพบหนอนกอระบาดให้ตัดอ้อยทิ้งและหากพบตัวหนอนให้จับทำลายทิ้ง ไม่ควรเผาใบอ้อยเพราะจะเป็นการทำลายศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงหางหนีบ แตนเบียน เป็นต้น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 28 กรกฎาคม 2553

อุตจ่อเซ็นซื้อน้ำตาลส่งล็อตแรก2.79แสนกระสอบ

อุตฯเตรียมเซ็นสัญญาซื้อน้ำตาลจากเทรดเดอร์พรุ่งนี้ นัดส่งมอบล็อตแรก 2.79 แสนกระสอบพร้อมกระจายผ่านยี่ปั๊วทั่วประเทศ

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ว่า กองทุนฯ จะเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำตาลขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กับผู้ค้าจากต่างประเทศ (เทรดเดอร์) ในวันที่ 29 ก.ค. 2553 จำนวน 3 ราย ในปริมาณ 7.43 แสนกระสอบ โดยจะส่งมอบน้ำตาลล็อตแรกจำนวน 2.79 แสนกระสอบ ในเดือนส.ค. และสามารถกระจายเข้าสู่ตลาดในสัปดาห์หน้าได้ทันที โดยจะกระจายออกไปให้กว้างที่สุดปผ่านผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว) ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ น้ำตาลจำนวนดังกล่าวคาดว่าจะกระจายได้หมดภายใน 5 งวด งวดละ 4.5-5 หมื่นกระสอบ โดยจะขึ้นงวดรวมไปกับการขึ้นงวดน้ำตาลปกติ 4.03 แสนกระสอบ เริ่มจากงวดแรกของเดือนส.ค. และจะขายผ่านยี่ปั๊วที่อยู่ในบัญชีรายชื่อและทำการค้ามีทั้งหมด 16 ราย ในราคาควบคุมหน้าโรงงานที่ที่กำหนดไว้ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัมสำรหับน้ำตาลทรายขาว และ 20 บาทต่อกิโลกรัม น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์

ขณะที่ยี่ปั๊วจากต่างจังหวัดที่มีความประสงค์จะนำน้ำตาลไปขายก็สามารถแจ้งความประสงค์เข้ามาได้ แต่ต้องมีหลักฐานการจำหน่ายและการเป็นผู้ค้าส่งที่ชัดเจน โดยการขายผ่านยี่ปั๊วจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายในปริมาณที่แน่นอน วางมัดจำ 5% ของมูลค่าที่ซื้อขาย มีหนังสือค้ำประกันจากธนาคารในประเทศ ซื้อขายเป็นเงินสด และหากไม่ทำตามสัญญาหรือไม่มารับน้ำตาลตามจำนวนที่ยื่นขอมาจะถูกปรับ 5% ของมูลค่าการจำหน่ายน้ำตาลที่ตกลงไว้

ส่วนน้ำตาลที่เหลืออีก 4.64 แสนกระสอบ คาดว่าจะกระจายต่อไปยังภูมิภาค ผ่านสมาคมชาวไร่อ้อย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น โดยจะขอข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ด้วยว่าพื้นที่ไหนยังขาดแคลนน้ำตาลอยู่จะนำไปเพิ่มในพื้นที่นั้น

นอกจากนี้ หากห้างค้าปลีก (โมเดิร์นเทรด) ต้องการจะนำไปบรรจุถุงขาย ก็สามารรถติดต่อขอซื้อน้ำตาลได้ แต่ต้องขายในราคาควบคุมที่กำหนดไว้เท่านั้น

วางแผนว่าน้ำตาลทั้งหมดจะต้องระบายออกให้หมดก่อนเปิดหีบในเดือนต.ค. โดยน้ำตาลจำนวนนี้จะต้องลงไปสู่ผู้บริโภครายย่อยจริงๆ และจะไม่ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมด็ดขาด” นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับการเปิดประมู0ลซื้อน้ำตาลเพิ่มข้ามาอีกให้ครบจำนวน 1 ล้านกระสอบนั้น ต้องดูแนวโน้มการขายน้ำตาลก่อน ว่าหลังจากกระจายไปแล้วสถานการณ์น้ำตาลในตลาดเป็นอย่างไร ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่มเข้ามาอีก

นายประเสริฐ กล่าวว่า ด้านสถานการณ์น้ำตาลในขณะนี้มีน้ำตาลเหลือค้างจำหน่าย (น้ำตาลค้ากระดาน) ณ วันที่ 23 ก.ค. 2553 จำนวน 1.4 ล้านกระสอบ เป็นของกระทรวงพาณิชย์ 5.5 แสนกระสอบ และเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมประมาณ 9 แสนกระสอบ.

 จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 28 กรกฎาคม 2553

รับสมัคร“ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว”ระบายน้ำตาล

กท.ประกาศรับสมัครผู้ค้าส่ง หรือ ยี่ปั๊ว ซาปั๊วในต่างจังหวัด ระบายน้ำตาลโควตา ค. 7.4หมื่นตัน แก้ภาวะตึงตัว

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เตรียมประกาศรับสมัครผู้ค้าส่ง หรือ ยี่ปั๊ว ซาปั๊วในต่างจังหวัดเพิ่มเติมจากเดิมที่มีรายชื่ออยู่แล้ว 16 ราย ในการกระจายน้ำตาลทรายที่ได้จัดซื้อคืนน้ำตาลทรายส่งออก (โควตา ค.) จำนวน 7.43 หมื่นตัน เพื่อแก้ไขภาวะตึงตัว ให้ถึงผู้บริโภครายย่อยมากสุด โดยในสัปดาห์หน้าจะกระจายน้ำตาลทรายล็อตแรก จำนวน 2.79 หมื่นตันก่อน

“ยี่ปั๊ว และซาปั๊วที่สนใจจะรับซื้อน้ำตาลทรายดังกล่าว จะต้องส่งแผนมาให้ กท.พิจารณาก่อนทำสัญญาซื้อขาย โดยเงื่อนไขสำคัญจะต้องจ่ายเงินสดก่อนส่งมอบ คาดว่า สัปดาห์หน้าคงจะระบายผ่านไปยังผู้บริโภคทันที โดยน้ำตาลที่กระจายจะเป็นน้ำตาลทรายขาว และขาวบริสุทธิ์บรรจุถุง 50 กก. และจะเป็นราคาควบคุม”

สำหรับน้ำตาลส่วนที่เหลืออีก 4.6 หมื่นตัน มีแผนที่จะกระจายผ่านอุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และสมาคมชาวไร่อ้อยต่าง ๆ โดยจะต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง โดย วันที่ 29 ก.ค.นี้ กท.จะมีการลงนามสัญญากับ 3 เทรดเดอร์ เพื่อรับซื้อน้ำตาลทรายประกอบด้วย บริษัท ออร์กัส ทอฟเฟอร์ จากเยอรมนี บริษัท บุงกี้ จากสหรัฐอเมริกา และ บริษัท หลุยส์ เดอร์ฟัสสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อมีการจ่ายเงิน น้ำตาลจะถูกโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ กท.ทันที

“คิดว่าน้ำตาลทรายทั้งหมดจะถูกป้อนให้กับผู้บริโภคได้ช่วง ก.ย.-ต.ค. เราเชื่อมั่นว่าน้ำตาลจำนวนดังกล่าว น่าจะทำให้สถานการณ์น้ำตาลดีขึ้น และคงไม่จำเป็นจะต้องซื้อน้ำตาลโควตา ค. เพื่อนำมากระจายตลาดในประเทศเพิ่มเติมอีก” นายประเสริฐ กล่าว.

จาก http://dailynews.co.th  วันที่ 28 กรกฎาคม 2553

แห่นำเข้าเอทานอล จับตาผลผลิต3เดือน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอล เปิดเผยสถานการณ์การผลิตเอทานอลว่า โรงงานผลิตเอทานอลแต่ละแห่งพยายามผลิตเอทานอลเก็บสต็อกไว้เนื่องจากยังพอมีกากน้ำตาล (โมลาส) และมันสำปะหลัง แต่ล่าสุดผู้ผลิตเอทานอลต้องเริ่มนำเข้าโมลาสจากต่างประเทศเพราะต้องส่งให้ครบตามสัญญาที่ทำกับบริษัทน้ำมัน แม้ราคานำเข้าโมลาสอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร หัวมันสดมีต้นทุน 2.60-2.70 บาทต่อ กก. บางพื้นที่สูงถึง 3 บาทต่อ กก. ส่วนราคามันเส้น 5.70-6 บาทต่อ กก. ส่งผลให้ตอนนี้มีสต็อกเอทานอล 130-140 ล้านลิตร แบ่งเป็นสต็อกของผู้ผลิตเอทานอล 44-45 ล้านลิตรและสต็อกของบริษัทน้ำมัน 90 ล้านลิตร

ทั้งนี้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีผู้ผลิตเอทานอล 2 รายใหญ่นำเข้าโมลาสจากต่างประเทศเข้ามาผลิตเอทานอล รายแรกแจ้งนำเข้า 1.12 แสนตัน อีกราย 2.25 หมื่นตัน โดยราคาซื้อขายเอทานอลในตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 21-22 บาทต่อลิตร แต่ราคาในประเทศอยู่ที่ 23-24 บาทต่อลิตร ซึ่งสต็อกดังกล่าวรองรับความต้องการเอทานอลในระบบได้ 3-4 เดือน เพราะปริมาณความต้องการใช้อยู่ที่เดือนละ 37 ล้านลิตรเท่านั้น และจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ เนื่องจากมันสำปะหลังเจอปัญหาภัยแล้งและโรคระบาดทำให้ผลผลิตมีน้อย

ล่าสุด กรมธุรกิจพลังงานให้สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ศึกษาผลการใช้ไบโอดีเซลที่มีอัตราส่วน 10% ขึ้นไปในเครื่องยนต์ดีเซลตั้งแต่เดือน ม.ค.51-ก.ค.53 รวม 30 เดือน พบว่า น้ำมันดีเซล บี10 ใช้งานในรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก และ บี20 ใช้งานในรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ได้โดยไม่มีผลกระทบ แต่หากผสมในสัดส่วนสูงกว่านี้ต้องปรับปรุงชิ้นส่วนเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นเร็วขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 27 กรกฎาคม 2553

"โรงงานเอทานอล"กระอัก!ต้นทุนพุ่ง เหตุภัยแล้งฉุดผลผลิตมันวูบ เบนสั่งนำเข้าโมลาสหนีตาย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอล กล่าวว่า จากปัญหาภัยแล้งและโรคระบาดส่งผลกระทบให้ผลผลิตมันสำปะหลังน้อย และมีเหลือในสต็อกรัฐบาลเพียง 1.1 ล้านตัน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการประมูลซื้อมาบางส่วนแล้ว โดยราคาที่ประมูลได้ถือว่าสูง คือ กิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้ต้นทุนผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังอยู่ที่ลิตรละ 23-24 บาท ซึ่งราคาระดับนี้ตรึงมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้แล้ว ทั้งๆที่มันสำปะหลังที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงขึ้น โดยราคาหัวมันสดมีต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.60-2.70 บาท บางพื้นที่ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3 บาท ส่วนราคามันเส้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.70-6 บาท ส่วนราคาเอทานอลในไตรมาส 4 ก็ต้องรอดูว่าจะมีมันจากสต็อกรัฐบาลออกมาหรือไม่ และจะมีผลผลิตมันออกสู่ตลาดมากน้อยเพียงใดด้วย

ส่วนสถานการณ์การผลิตเอทานอล พบว่า ขณะนี้โรงงานแต่ละแห่งพยายามผลิตเอทานอลเก็บเป็นสต็อกไว้ เพราะยังพอมีกากน้ำตาล(โมลาส) แต่ล่าสุดผู้ผลิตเอทานอลเริ่มนำเข้าโมลาสจากต่างประเทศเข้ามาผลิตเอทานอลแล้ว โดยราคานำเข้าโมลาสอยู่ที่ลิตรละ 5 บาท เพื่อผลิตเอทานอลและส่งมอบให้ครบตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทน้ำมัน ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมามีผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ 2 ราย นำเข้าโมลาสจากต่างประเทศ โดยรายแรกแจ้งนำเข้ามา 112,000 ตัน ทยอยนำเข้าแล้ว 6,000-7,000 ตัน และอีกรายนำเข้าแล้ว 22,500 ตัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสต็อกเอทานอลอยู่ที่ 130-140 ล้านลิตร แบ่งเป็น สต็อกของผู้ผลิตเอทานอล 44-45 ล้านลิตร และสต็อกที่อยู่กับบริษัทน้ำมันราว 90 ล้านลิตร โดยราคาซื้อขายเอทานอลในตลาดต่างประเทศอยู่ที่ลิตรละ 21-22 บาท แต่ราคาในประเทศอยู่ที่ลิตรละ 23-24 บาท ซึ่งสต็อกเอทานอลที่มีอยู่สามารถรองรับความต้องการเอทานอลในระบบได้ 3-4 เดือน เพราะปัจจุบันปริมาณความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่เดือนละ 37 ล้านลิตรเท่านั้น จึงต้องประเมินสถานการณ์กันเป็นระยะๆ

"นอกจากนี้ในปี 2554 ทางสมาคมฯได้รับแจ้งว่าผู้ผลิตเอทานอลมีแผนจะสร้างโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสับปะหลังเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง กำลังผลิตรวมวันละ 1.62 ล้านลิตร ถ้าเป็นไปตามแผนจะทำให้เอทานอลล้นตลาดได้ เพราะปริมาณเอทานอลจะมีมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศที่มีอยู่วันละ 1.1-1.2 ล้านลิตรเท่านั้น ภาครัฐจึงต้องพยายามผลักดันให้มีการใช้ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

 จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 กรกฎาคม 2553

ขอ10สัปดาห์กระจายน้ำตาล7แสนกระสอบ

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมแผนจำหน่ายน้ำตาลโควตา ค. ที่ซื้อคืนจาก เทรดเดอร์ 3 ราย กว่า 700,000 กระสอบ ให้ยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว 15 ราย พร้อมเปิดช่องให้ชาวไร่อ้อยขอซื้อไปขายได้ด้วย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาวะน้ำตาลตึงตัวว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการจัดจำหน่ายน้ำตาล ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน กำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนจัดจำหน่ายน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายซื้อคืนมาจากเทรดเดอร์ ให้กระจายสู่ท้องตลาดให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำตาลขาดแคลนและมีราคาแพงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้น้ำตาลโควตา ค.ที่ซื้อกลับคืนมาจากเทรดเดอร์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานั้น ได้ซื้อจากผู้ค้าส่งออก (เทรดเดอร์) 3 ราย ที่เสนอราคาขายเข้ามาต่ำสุด ได้แก่ บริษัท August Topfer จากเยอรมนี, บริษัท Bunge จากสหรัฐ และบริษัท Louis Dreyfus จากสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 74,350 ตัน หรือ 743,500 กระสอบ แบ่งเป็น น้ำตาลทรายขาว 52,900 กระสอบ กับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 690,600 กระสอบ ซื้อคืนในช่วงราคาตันละ 705-720 เหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม โดยใช้เงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในการเข้ามาบริหารจัดการ วงเงินประมาณ 1,700 ล้านบาท และคาดว่าจะต้องรับภาระขาดทุนประมาณ 400 ล้านบาท จาก "ส่วนต่าง" ของราคาขายกับราคาซื้อน้ำตาลจากเทรดเดอร์ที่ถูกกว่ากิโลกรัมละ 3-4 บาท รวมไปถึงส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% จากการขายน้ำตาลในราคาถูกกว่าราคาที่ซื้อคืนมาด้วย

สำหรับแผนการจัดจำหน่ายน้ำตาลที่ซื้อคืนมานั้น คณะกรรมการจัดจำหน่ายน้ำตาลจะตรวจสอบรายชื่อยี่ปั๊ว/ซาปั๊วที่ทำการค้า-ขายผ่านศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย ย้อนหลังกลับไปประมาณ 20-30 ปี เพื่อให้ได้ยี่ปั๊ว/ซาปั๊วตัวจริงที่สามารถกระจายน้ำตาลไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว และน้ำตาลที่ซื้อกลับคืนมาครั้งนี้จะไม่จำหน่ายให้กับอุตสาหกรรม หรือบุคคลที่มีจะนำน้ำตาลลอตนี้ไปแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งผู้ซื้อในที่นี้ รวมถึงกลุ่มชาวไร่อ้อยที่มีความสนใจอยากจะซื้อน้ำตาลลอตนี้ไปจำหน่าย ก็สามารถยื่นความจำนงมายังคณะกรรมการได้

"เมื่อได้รายชื่อยี่ปั๊ว/ซาปั๊วที่จะมาซื้อน้ำตาลทรายที่อาจจะมีประมาณ 15-16 ราย เราก็จะนำมาหารเฉลี่ยกับน้ำตาลที่ซื้อคืนมา 743,500 กระสอบ เท่ากับยี่ปั๊ว/ ซาปั๊วแต่ละรายจะซื้อน้ำตาลลอตนี้ได้ ประมาณ 50,000 กระสอบ และจะแบ่งการรับน้ำตาลออกเป็นงวด งวดละสัปดาห์ ซึ่งแผนที่วางไว้จะกำหนดทางเลือกไว้ 2 ส่วน คือ 1)กระจายน้ำตาลอย่างรวดเร็ว จะกำหนดการจำหน่ายน้ำตาลลอตนี้ให้หมดภายใน 10 สัปดาห์ เท่ากับยี่ปั๊วแต่ละรายจะต้องมารับน้ำตาลออกจากโกดัง สัปดาห์ละประมาณ 5,000 กระสอบ กับ 2)ค่อย ๆ ทยอยการกระจายน้ำตาล กำหนดการจำหน่ายให้หมดภายใน 20 สัปดาห์ เท่ากับ ยี่ปั๊วแต่ละรายจะต้องมารับน้ำตาลออกจากโกดัง สัปดาห์ละประมาณ 2,500 กระสอบ" กรรมการจัดจำหน่ายน้ำตาลกล่าว

ล่าสุดกองทุนอ้อยฯในฐานะผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์น้ำตาล จะต้องร่างสัญญาการซื้อ-ขายน้ำตาลทรายลอตดังกล่าว ด้วยการระบุเงื่อนไขการรับน้ำตาลของยี่ปั๊ว/ ซาปั๊วให้ชัดเจน การจ่ายเงินต้องจ่ายเป็นเงินสดทุกงวดที่มารับน้ำตาลออกไป และหากไม่มารับน้ำตาลตามสัญญาจะต้องถูกปรับเป็นเงินสดด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับกองทุนอ้อยฯ

อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้น้ำตาลทรายภายในประเทศ (โควตา ก.) ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา มีปริมาณการใช้รวมประมาณ 12 ล้านกระสอบ ดังนั้นการเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. จาก 22 ล้านกระสอบ เป็น 23 ล้านกระสอบ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่าน่าจะเพียงพอต่อความต้องการแล้ว เพราะปกติช่วงต้นปีจะมีปริมาณการใช้น้ำตาลสูงกว่าช่วงปลายปี และที่ผ่านมาก็ได้มีการเพิ่มน้ำตาลในระบบไปแล้ว 15% เว้นแต่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีมาก ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) มาอยู่ที่ระดับ 7%

ส่วนการระบายน้ำตาลทรายเพื่อใช้ในประเทศ (โควตา ก.) ที่ได้รับจัดสรรพิเศษ 1 ล้านกระสอบของกระทรวงพาณิชย์นั้น นายมนัส สร้องพลอย อธิบดีกรมการค้า ต่างประเทศ กล่าวว่า ล่าสุดได้รับมอบน้ำตาลทรายไปแล้ว 630,000 กระสอบ ส่วนที่เหลืออีก 200,000 กระสอบ จะดำเนินการรับมอบหลังจากระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นงวดน้ำตาลแล้ว

"ตอนนี้กำลังสรุปการรับมอบน้ำตาลทรายจากโรงงาน และจากการตรวจสอบการรับมอบของผู้ค้าปลีกค้าส่งน้ำตาลทราย (ยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว) ที่จัดสรรเพิ่มไป 19 ราย รวมกับเดิมที่ได้จัดสรรแล้ว 11 ราย เป็น 30 ราย ซึ่งคงจะทราบภายในสัปดาห์นี้ ส่วนที่เหลือจะต้องรอ 2 แสนกระสอบ ที่กระทรวงอุตฯแจ้งว่าจะขึ้นงวดให้หลังจากรับมอบลอตนี้เสร็จ ซึ่งเราก็จะจ่ายให้ยี่ปั๊วรายใหม่ด้วย เพราะรายเดิมก็มีแจ้งปัญหาอุปสรรคการรับมอบเข้ามา เช่น โรงงานกำหนดให้ใช้รถบรรทุกของโรงงาน ป้องกันไม่ให้มีอะไรปลอมปน"

แม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดภายในประเทศจะเริ่มปรับตัวลดลง และปริมาณน้ำตาลก็ไม่ตึงตัว แต่กระทรวงพาณิชย์คงจะไม่คืนน้ำตาลส่วนที่เหลือให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม หากยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว มารับมอบไม่หมด ก็จะนำมาจำหน่ายในโครงการธงฟ้าแทน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 กรกฎาคม 2553

ค้าภายในระนองเตือนกักตุนน้ำตาล 10 ตันต้องแจ้ง

ระนอง - การค้าภายในระนอง เตือนกักตุนน้ำตาลทราย 10 ตันขึ้นไปต้องแจ้งปริมาณและที่จัดเก็บ

นายชัยโรจน์ สุเอียนทรเมธี การค้าภายในจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ได้ออกประกาศเรื่องการควบคุมการขนย้ายน้ำตาลทราย ปี 2553 เพื่อป้องกันการกักตุนและให้น้ำตาลทรายมีเพียงพอต่อการบริโภคของประชาชน มิให้มีการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ การควบคุมการขนย้ายน้ำตาลทราย โดยห้ามขนย้ายน้ำตาลทรายที่มีปราณครั้งละตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป เข้าไปในพื้นที่ 24 จังหวัด 107 อำเภอ

สำหรับจังหวัดระนอง ไม่รวมอยู่ใน 24 จังหวัดดังกล่าว แต่หากการขนย้ายเข้ามาในจังหวัดระนองต้องผ่านพื้นที่ที่กำหนดตามประกาศ ต้องได้รับอนุญาตจากประธานคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กจร.ตามแบบที่กำหนด ให้โรงงานผู้แทนจำหน่าย ผู้จำหน่ายส่ง ผู้ครอบครองน้ำตาลทราย ที่มีการซื้อ/การครอบครองตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณ สถานที่จัดเก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าตามแบบที่กำหนด โดยให้แจ้ง ที่สำนักงานการค้าภายในจังหวัดนับตั้งแต่วันที่มีการครอบครอง และเป็นประจำทุกเดือนทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือทางโทรสาร

การค้าภายในจังหวัดระนองกล่าวว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 37 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 38 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานการค้าภายในจังหวัดระนอง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 25 กรกฎาคม 2553

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมอบพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีแก่ชาวไร่อ้อยจังหวัดกำแพงเพชร หวังยกคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อยไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีแก่ชาวไร่อ้อยจังหวัดกำแพงเพชร หวังยกคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อยไทย

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานมอบพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีแก่ชาวไร่อ้อยผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการส่งเสริมชาวไร่อ้อย ตามแผนปรองดองแห่งชาติประจำปี 2553 ที่สมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 จังหวัดกำแพงเพชร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดโครงการมอบพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้แก่ชาวไร่อ้อยผู้มีรายได้น้อย มีพื้นที่ปลูกไม่ถึง 25 ไร่ และมีฐานะยากจน ขาดโอกาสในการเข้าถึงพันธุ์อ้อยพันธุ์ดี ให้สามารถมีพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีไปทดแทนพันธุ์เดิมที่อาจสูญหายไปจากภัยแล้ง หรือเสื่อมสภาพ อ่อนแอต่อโรค และแมลงศัตรูอ้อย รวมถึงให้ผลผลิตและค่าความหวานต่ำ

สำหรับชาวไร่อ้อยที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กำแพงเพชร รวมทั้งสิ้น 223 ราย จะได้รับพันธุ์อ้อย เค 99-72 ซึ่งเป็นพันธุ์อ้อยที่ทำให้อ้อยมีผลผลิตและความหวานสูง มีปริมาณแป้งต่ำ ทนแล้ง ต้านโรคแมลง เพื่อนำไปปลูกขยายพันธุ์รายละ 3 ตัน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 23 กรกฎาคม 2553

ล็อกน้ำตาลให้ยี่ปั๊วคลายปัญหา

วงการน้ำตาลจับตาโควตาค.1 ล้านกระสอบที่ซื้อกลับมาบริโภคในประเทศถูกล็อกให้เฉพาะยี่ปั๊ว หวั่นเป็นการเปิดช่องให้ยี่ปั๊วลักลอบส่งออกกินส่วนต่างราคาในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ด้านกท.ลั่นเหตุ ไม่จัดสรรให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะต้องการช่วยผู้บริโภคครัวเรือนซื้อน้ำตาลถูก ปลัดกระทรวงอุตฯแจงวิธีบริหารน้ำตาลปล่อยล็อตแรกสู่ผู้บริโภคก่อน280,000 กระสอบ ด้านศูนย์บริหารการผลิตน้ำตาลยันน้ำตาลเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว

แหล่งข่าวจากวงการค้าน้ำตาลเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ให้จับตามองในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2553 ที่จะเป็นช่วงที่มีการจัดสรรน้ำตาลโควตาค. ที่สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ซื้อกลับเข้ามา เพื่อมาใช้เป็นน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ(โควตาก.)ในล็อตแรกที่ผ่านการประมูลราคาไปก่อนหน้านี้ โดยมีปริมาณน้ำตาลทรายขาวล็อตแรกรวมทั้งสิ้นจำนวน 743,500 กระสอบ หรือ 74,350 ตัน จากที่มีเป้าหมายซื้อน้ำตาลโควตาค.(โควตาส่งออก)กลับมาทั้งสิ้น1 ล้านกระสอบ เนื่องจากขณะนี้มีการลือกันว่าน้ำตาลล็อตนี้จะมีการจัดสรรให้เฉพาะยี่ปั๊วน้ำตาลบางรายเท่านั้น และไม่จัดสรรให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม หากเป็นไปตามข่าวลือที่ว่านี้ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้น้ำตาลที่อยู่ในมือยี่ปั๊วมีช่องทางการขายน้ำตาลนอกระบบได้มากขึ้น โดยเฉพาะการค้าน้ำตาลตามรอยตะเข็บชายแดน เพื่อกินส่วนต่างราคา โดยนำน้ำตาลโควตาก. ออกไปขายเป็นน้ำตาลโควตาค. เพราะราคาน้ำตาลโควตาค. เมื่อขายออกไปจะยึดตามราคาตลาดโลกในขณะนั้น ถึงแม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลงแล้วก็ตาม แต่ถ้าประเทศเพื่อนบ้านต้องการน้ำตาลก็ยอมทุ่มเงินซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลก "จริงๆแล้วกระทรวงอุตสาหกรรมน่าจะจัดสรรน้ำตาลล็อตนี้ให้กับโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่บริโภคน้ำตาลมากถึง 70% และจะเป็นการช่วยลดการลักลอบส่งออกน้ำตาลนอกระบบเพราะโรงงานขายตรงให้ภาคอุตสาหกรรม ดีกว่าจัดสรรน้ำตาลทั้งหมดให้ยี่ปั๊ว อย่างน้อยก็เป็นการลดความเสี่ยงน้ำตาลไหลออกประเทศเพื่อนบ้านได้ทางหนึ่ง เพราะเวลานี้หลายประเทศขาดน้ำตาล"

ต่อเรื่องนี้นายวีรศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) กล่าวชี้แจงว่า การซื้อน้ำตาลโควตาค. กลับมาใช้ในประเทศครั้งนี้ ไม่มีการจัดสรรน้ำตาลดังกล่าวให้กับยี่ปั๊วเฉพาะรายตามการกล่าวอ้าง แต่จะจัดสรรให้กับยี่ปั๊วให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนกรณีที่ไม่จัดสรรให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะต้องการช่วยผู้บริโภคครัวเรือนซื้อน้ำตาลถูก ซึ่งที่ผ่านมาซื้อจากร้านโชวห่วย หรือร้านค้าปลีกทั่วไปในราคาสูงตั้งแต่ 28-30 บาท/กิโลกรัม เมื่อมีน้ำตาลลงสู่ตลาดมากขึ้นก็จะช่วยผ่อนคลายให้ปริมาณน้ำตาลลดการตรึงตัวลง และราคาก็ไม่น่าจะสูงแบบที่ผ่านมา ขณะที่บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านมาได้มีสัญญาซื้อขายน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลในราคาถูกอยู่แล้ว

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 มีการประชุมคณะทำงานขายน้ำตาลทรายที่มีตนเป็นประธาน ได้มีมติถึงการกำหนดวิธีการบริหารน้ำตาลโควตาค.ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายซื้อกลับมาขายเป็นน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศว่า มติที่ประชุมมีหลักการที่จะต้องดำเนินการ เช่น 1.คณะทำงานขายน้ำตาลทรายจะวางแผนการกระจายน้ำตาลให้ถึงมือผู้บริโภคที่เป็นประชาชนอย่างทั่วถึงและโปร่งใส

โดยมอบหมายให้กท.ไปประสานกับผู้ค้าส่งน้ำตาลทราย(ยี่ปั๊ว) เพื่อแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น โดยจะกระจายน้ำตาลที่ส่งมอบในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมปี2553 จำนวน 28,000 ตัน หรือ 280,000 กระสอบ ให้ผู้ค้าน้ำตาลทราย ส่วนองค์กรอื่น เช่น สมาคมชาวไร่อ้อย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด หรือบุคคลอื่นที่ต้องการน้ำตาลก็ให้กท.ไปดำเนินการสำรวจข้อเท็จจริงแล้วนำเสนอก่อนที่จะดำเนินการกระจายน้ำตาลต่อไป 2.มติการประชุมเห็นชอบให้ร่างสัญญาขายน้ำตาลทรายระหว่างกท.กับผู้ซื้อที่เป็นยี่ปั๊ว 3.ให้กท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังจากที่มีการกระจายน้ำตาลออกไปแล้วจำนวน 28,000 ตัน ในล็อตแรกนี้ โดยการดำเนินการทั้งหมดนี้จะต้องผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดกท.และบอร์ดกอน.แล้วค่อยดำเนินการกระจายน้ำตาลลงสู่ตลาดต่อไป

"ส่วนปริมาณน้ำตาลที่เหลือให้รอดูผลสำรวจก่อนว่าในล็อตแรกที่กระจายไปจำนวน 28,000 ตัน นี้เป็นอย่างไร โดยมาตรการทั้งหมดนี้ได้เดินไปตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ที่ต้องการจะแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดและแก้ปัญหาราคาแพงได้ในขณะนี้"

ด้านนายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการผลิตน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)กล่าวว่าที่ผ่านมาน้ำตาลโควตาก. จัดสรรออกมาอย่างไรก็ไม่พอจึงต้องเพิ่มโควตาจาก 19 ล้านกระสอบขึ้นมาเป็น 23 ล้านกระสอบ(รวมโควตาพาณิชย์แล้ว) จัดสรรเพิ่มขึ้นมาก็เพื่อให้ตลาดผ่อนคลายความกังวลลงว่ามีน้ำตาลเพียงพอบริโภคในประเทศแน่นอน

"ล่าสุดน้ำตาลเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว ดูได้จากที่ประชาชนลดการตื่นตระหนกลง ตรงนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากผลที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลงสังเกตได้จากราคาน้ำตาลทรายขาวซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคมปี 2553 ที่ราคาปิดตลาดอยู่ที่ 542.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน (ราคานี้ยังไม่รวมค่าไทยพรีเมียมที่ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดราคาออกมา) บวกกับที่ล่าสุดกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายซื้อน้ำตาลโควตาค. กลับมารองรับการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศแล้ว"

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 23 กรกฎาคม 2553

“เจ้าสัวเจริญ”ทุ่ม 9 พันล้านผุดรง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ สุโขทัย

กลุ่มเจ้าสัวเจริญ เล็งทุ่มเงินลงทุนกว่า 9 พันล้านบาท ขึ้นโรงงานน้ำตาล - โรงไฟฟ้าชีวมวลที่สุโขทัย คาดอีกปีเดียวสร้างเสร็จ เดินเครื่องได้

นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า ขณะนี้นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง มีแผนลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทิพย์ (สุโขทัย) และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่หมู่ 1 ต.บ้านดงคู่ และหมู่ 9 ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย คาดใช้เวลา 1 ปีก่อสร้างเสร็จ และพร้อมเปิดหีบอ้อย ได้ในฤดูกาลผลิตปี 2554/55 เพื่อรองรับวัตถุดิบ จากเกษตรกรในพื้นที่สุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียง

นายจักริน กล่าวว่า สำหรับโรงงานน้ำตาลฯดังกล่าว ระยะแรกมีกำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อย/วัน ต้องการอ้อยเข้าหีบปีละ 2 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูกอ้อย 2 แสนไร่ และระยะที่สอง นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 36,000 ตันอ้อย/วัน ต้องการอ้อยเข้าหีบปีละ 4 ล้านตัน ซึ่งจะใช้พื้นที่ปลูกอ้อย 4 แสนไร่ ในพื้นที่ส่งเสริมการปลูกคาบเกี่ยวใน 2 จังหวัด คือ สุโขทัย และอุตรดิตถ์

ผลจากการลงทุนครั้งนี้ จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในท้องถิ่นถึงปีละ 5,000 ล้านบาท และสร้างรายได้แก่เกษตรกร เพิ่มเป็นรายละ 8,000-10,000 บาท

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้กากอ้อยจากโรงงานน้ำตาลมาเป็นเชื้อเพลิง ระยะแรกจะมีกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ ระยะที่สองจะเพิ่มเป็น 72 เมกะวัตต์ ซึ่งนอกจากผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายในโรงงานแล้ว ยังผลิตขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)อีกด้วย

จาก http://www.manager.co.th  23 กรกฎาคม 2553

สนช. นำร่องนำถุงขยะพลาสติกชีวภาพ PBS 4 หมื่นใบใช้ในเกาะเสม็ด

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นำร่องนำถุงขยะพลาสติกชีวภาพ PBS 40,000 ใบ ใช้ในเกาะเสม็ด กระตุ้นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมขยายผลเสนอรัฐบาลใช้พลาสติกชีวภาพมาจัดการคัดแยกขยะระดับประเทศ

ดร.วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีปัญหาขยะพลาสติกตกค้างปีละประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งมีปัญหาใช้เวลาย่อยสลายนาน รวมทั้งขยะอินทรีย์เกิดขึ้นมากถึงปีละ 9 ล้านตัน ดังนั้น สนช. ได้ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินโครงการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพ PBS คัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยสนช. เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพ PBS ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบปิโตรเคมี ที่มีคุณสมบัติย่อยสลายตัวได้ภายใน 6 เดือน เพื่อนำไปคัดแยกขยะอินทรีย์ และผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ โดยทางปตท.และมิตซูบิชิ จะสนับสนุนงบสร้างโรงหมักย่อยถุงพลาสติกชีวภาพให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ คาดว่าจะใช้เวลา 5 เดือน และหลังจากนั้นจะรณรงค์ให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพ จำนวน 40,000 ใบภายในระยะเวลา 1 ปี 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถุงพลาสติกชีวภาพนี้ยังมีปัญหาต้นทุนสูงกว่าถุงพลาสติกสีดำถึง 3 เท่า ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาให้ต้นทุนถูกลง ด้วยการกระตุ้นความต้องการของตลาด พร้อมตั้งเป้าภายใน 2 ปีจะสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีผลิตถุงพลาสติกชีวภาพที่เป็นของไทย ซึ่งจะใช้วัตถุดิบจากน้ำตาล และมันสำปะหรังเป็นหลัก โดยตั้งเป้าขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตพลาสติกชีวภาพในอนาคต อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องการให้เป็นรูปแบบการใช้พลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะ ซึ่งจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green tourisium รวมถึง เป็นจุดแข็งดึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น พร้อมขยายผลเสนอรัฐบาลให้ใช้พลาสติกชีวภาพมาจัดการคัดแยกขยะระดับประเทศ โดยหวังว่าโครงการนี้จะได้ข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์มาสนับสนุนการศึกษานโยบายนี้ได้

จาก สำนักข่าวแห่งชาติ 23 กรกฎาคม 2553

ดับฝันโรงงานน้ำตาล พาณิชย์ส่อเบรกขึ้นราคาแบบถุง

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า จะเชิญตัวแทนโรงงานผลิตน้ำตาลมาหารือในเร็วๆนี้ หลังจากที่สมาคมโรงงานน้ำตาลเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับขึ้นราคาน้ำตาลบรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัมอีก 1 บาท จากเดิมควบคุมราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 23.50 บาท ทั้งนี้เพื่อขอทราบโครงสร้างต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ เพราะปัจจุบันราคาบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะถุงพลาสติกยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น จึงไม่น่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก

"ในการกำหนดราคาจำหน่าย กรมฯได้คิดค่าบรรจุถุงรวมไปในราคาต้นทุนด้วยแล้ว โดยน้ำตาลขนาดบรรจุถุง 1 กิโลกรัม คิดค่าบรรจุรวมไปถุงละ 75 สตางค์ และแบบตักขาย 1 กิโลกรัม คิดค่าบรรจุรวมไปแล้วถุงละ 50 สตางค์ การที่ผู้ผลิตอ้างเรื่องต้นทุนการบรรจุ มาเป็นเหตุ คงไม่สมเหตุสมผลที่จะขอปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด" นางวัชรี กล่าว

ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า คณะทำงานจัดซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค.(ผลิตเพื่อส่งออก) จะได้รับการส่งมอบน้ำตาลทรายที่จัดซื้อคืนมาจากผู้ส่งออกรวม 743,000 กระสอบ หรือ 74,300 ตัน ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะป้อนน้ำตาลล็อตแรก 260,000 กระสอบ เข้าสู่ระบบตลาดในประเทศ เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคไม่เกินต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลน เบื้องต้นจะใช้ช่องทางจำหน่ายผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรืออุตสาหกรรมจังหวัด และจะจำหน่ายในราคาควบคุมใน กทม.และปริมณฑล หรือราคาแนะนำในต่างจังหวัด โดยเชื่อว่าจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายปรับลดลงจากปัจจุบันอีกกิโลกรัมละ 1.50-2 บาท

จาก http://www.naewna.com/  21 กรกฎาคม 2553

ถกน้ำตาลทรายถุงขอขึ้นโลละ1บาท พาณิชย์เตรียมบี้ผู้ผลิตแจงรายละเอียดต้นทุน

“พรทิวา” เตรียมหารือผู้ผลิต-จำหน่ายน้ำตาลทรายบรรจุถุง หลังเอกชนขอปรับราคา 1 บาท ระบุต้องสอบต้นทุนให้ชัด พร้อมสั่งตรวจสอบสินค้าสังฆภัณฑ์ทั่วประเทศ กำชับดูแลราคาจำหน่ายให้เหมาะสม ระบุราคาไข่ไก่ทยอยปรับลดลงแล้ว

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลนในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ขอขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากมีภาระบรรจุเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถส่งน้ำตาลทรายบรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัม (กก.) ออกมาจำหน่ายยังห้างสรรพสินค้า จนเป็นสาหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำตาลทรายขาดแคลนนั้น เบื้องต้นจะเชิญตัวแทนผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายบรรจุถุงมาหารือ เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับต้นทุนก่อน

ด้านนางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ขนาดบรรจุ 1 กก. ชนิดบรรจุเสร็จมาจากโรงงาน และชนิดตักรัดยางขายตามตลาดสด ซึ่งกรมการค้าภายในประกาศควบคุมราคาจำหน่ายปลีกไม่เกิน กก.ละ 23.50 และ 23.25 บาท ตามลำดับนั้น ปัจจุบันได้มีการบวกรวมต้นทุนค่าบรรจุถุงเข้าไปด้วยแล้ว ไม่ใช่ภาระต้นทุนเพิ่มเติมของผู้ผลิต แต่หากผู้ผลิตเห็นว่าปัจจุบันมีภาระต้นทุนบรรจุเพิ่มขึ้น อาจจะต้องขอพิจารณารายละเอียดต้นทุนการผลิตอย่างละเอียดอีกครั้ง หากไม่พบว่ามีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีก

นางพรทิวากล่าวภายหลังตรวจสอบภาวะจำหน่ายสังฆภัณฑ์ ย่านเสาชิงช้า ว่า ในช่วงใกล้เทศกาลสำคัญทางศาสนา โดยเฉพาะวันเข้าพรรษา ซึ่งประชาชนมีความต้องการซื้อสังฆภัณฑ์เพื่อการทำบุญเป็นจำนวนมาก อาจมีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าหมดอายุหรือโก่งราคาขายเอาเปรียบผู้บริโภค จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบภาวะการจำหน่ายสังฆภัณฑ์ทั่วประเทศอย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภคควบคู่กันไปด้วยเพื่อควบคุมราคาตามนโยบายตรึงราคาสินค้า ซึ่งในขณะนี้ พบว่า สินค้าหลายชนิดเริ่มปรับลดราคาลง เช่น ผักสด ไข่ไก่ที่ราคาจำหน่ายปลีกลดลงราคาฟองละ 10-20 สตางค์ อีกทั้ง ขณะนี้มีฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่บางแห่งมีการทยอยปรับลดราคาไข่คละหน้าฟาร์มลง 10-20 สตางค์ เหลือฟองละ 2.70-2.60 บาท เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค

"จากการสอบถามผู้ค้าเครื่องสังฆภัณฑ์และเทียนพรรษา ย่านเสาชิงช้า พบว่าในปีนี้ ยอดขายยังลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจรวมถึงลูกค้าบางส่วนหันไปซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกมากขึ้นทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่ต้องปรับกลยุทธNการขาย โดยเน้นการจัดสินค้าและราคาตามความต้องการของผู้ซื้อ" นางพรทิวา กล่าวและว่า ส่วนการตรวจสอบห้างค้าปลีก หลังขอความร่วมมือในการจำหน่ายเมนูอาหารธงฟ้าราคา 25 บาท พบว่า เริ่มมีการจำหน่ายแล้วร้านละ 1 เมนู โดยเมนูที่นำมาจำหน่ายถือว่าเป็นเมนูที่มีคุณภาพและมีราคาเหมาะสม

จาก http://www.komchadluek.net  21 กรกฎาคม 2553

เล็งระบายน้ำตาลสู่ตลาดต้นเดือนส.ค.

อุตสาหกรรมเล็งระบายน้ำตาลที่ซื้อคืนจากผู้ส่งออกสู่ตลาดต้นเดือนส.ค. เพื่อแก้ปัญหาตึงตัว

วันนี้( 20 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า ต้นเดือนส.ค. นี้ สอน. จะกระจายน้ำตาลทรายที่คณะทำงานเพื่อจัดซื้อน้ำตาลทรายโควตาค.(ส่งออก) ประมูลซื้อคืนน้ำตาลทรายจากผู้ส่งออก หรือเทรดเดอร์คืนมา 7.43 แสนกระสอบ (7.43 หมื่นตัน) เข้าสู่ตลาด เพื่อแก้ไขภาวะตึงตัวของตลาดบริโภคในประเทศตามนโยบายของ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม โดยจะระบายล็อตแรกจำนวน 2.6 แสนกระสอบก่อน ซึ่งผลการแก้ปัญหาของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งการเพิ่มการขึ้นงวดน้ำตาลทรายที่ผ่านมา และ การซื้อน้ำตาลคืนจากโควตาค. ได้ส่งผลต่อจิตวิทยาจนทำให้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกปรับลดลงเฉลี่ย 1.50-2 บาทต่อกก.

“น้ำตาลที่ซื้อคืนมาจะมีการทยอยส่งมอบตามสัญญาโดยคณะกรรมการกระจายน้ำตาลที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการหาช่องทางการจำหน่ายว่าวิธีใดจะถึงมือผู้บริโภคมากสุดคาดว่าไม่นานจะสรุปแนวทางได้ เบื้องต้นมีหลายวิธี เช่นผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊วที่ค้าขายประจำ หรือผ่านอุตสาหกรรมจังหวัด โดยน้ำตาลดังกล่าวจะจำหน่ายในราคาควบคุมในเขตกทม.และปริมณฑลหรือราคาแนะนำในต่างจังหวัด”

ทั้งนี้ในงวดปัจจุบันยังมีน้ำตาลค้างกระดานล่าสุดอยู่ที่ 1.11 ล้านกระสอบตามการขึ้นงวดปกติ และยังมีน้ำตาลที่เหลือขายของกระทรวงพาณิชย์อีก 5.7 แสนกระสอบจึงถือเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังของทุกปีการใช้จะเริ่มต่ำลงเพราะผ่านช่วงฤดูร้อนที่ปกติจะมีการใช้น้ำตาลมากสุด

นายประเสริฐกล่าวว่า ปริมาณน้ำตาลทรายที่กำหนดไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ 23 ล้านกระสอบ รวม โควตาก.พิเศษที่จัดสรรให้กับกระทรวงพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบน่าจะเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศในปีนี้ แต่ สอน. คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงการเปิดหีบในช่วงสิ้นปีนี้ว่าจะล่าช้ามากน้อยเพียงใดด้วย

จาก http://www.dailynews.co.th/  21 กรกฎาคม 2553

น้ำตาลเลิกตึงตัวมีเหลือจนล้น

อุตฯ เตรียมส่งน้ำตาลทรายโควตาค. ที่ซื้อคืนล็อตแรก 2.6 แสนกระสอบจากปริมาณรวม 7.43 แสนกระสอบเข้าสู่ตลาดเดือนส.ค.นี้ ลดแรงตึงตัว เผยล่าสุดตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตัวเลขน้ำตาลค้างกระดานสูงขึ้นกว่าล้านกระสอบ ไม่รวมของพาณิชย์ที่เหลืออีก 5.7 แสนกระสอบ นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะทำงานเพื่อจัดซื้อน้ำตาลทรายโควตาค. (ส่งออก) ที่มีตนเป็นประธาน ได้ดำเนินการซื้อน้ำตาลทรายจากผู้ส่งออกหรือเทรดเดอร์คืนมา 7.43 แสนกระสอบ (7.43 หมื่นตัน) เพื่อแก้ไขภาวะตึงตัวของตลาดบริโภคในประเทศตามนโยบายรมว.อุตสาหกรรม ล่าสุดน้ำตาลล็อตแรกจำนวน 2.6 แสนกระสอบจะมีการส่งมอบในเดือนนี้และคาดว่าจะป้อนเข้าสู่ตลาดในประเทศเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคได้ในต้นเดือนส.ค. “น้ำตาลที่ซื้อคืนมาจะมีการทยอยส่งมอบตามสัญญาโดยคณะกรรมการกระจายน้ำตาลที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหาช่องทางการจำหน่ายว่าวิธีใดจะถึงมือผู้บริโภคมากสุด คาดว่าจะสรุปเร็วๆ นี้ ซึ่งเบื้องต้นมีหลายวิธี เช่น ผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊วที่ค้าขายประจำ ผ่านอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งน้ำตาลดังกล่าวจะจำหน่ายในราคาควบคุมในเขตกทม. และปริมณฑลหรือราคาแนะนำในต่างจังหวัด”นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานแก้ไขของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยการเพิ่มการขึ้นงวดน้ำตาลทรายที่ผ่านมารวมถึงการซื้อน้ำตาลคืนจากโควตาค. มาเพิ่มในตลาด ส่งผลต่อจิตวิทยาจนทำให้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกเฉลี่ยขณะนี้ปรับลดลง 1.50-2 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) และยังคงมีน้ำตาลค้างกระดานล่าสุด 1.11 ล้านกระสอบตามการขึ้นงวดปกติ และยังมีน้ำตาลที่เหลือขายของกระทรวงพาณิชย์อีก 5.7 แสนกระสอบ จึงถือเป็นปริมาณที่จะเพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังของทุกปีการใช้จะเริ่มต่ำลง เพราะผ่านช่วงฤดูร้อนที่ปกติจะมีการใช้น้ำตาลมากสุด

นายประเสริฐกล่าวว่า ปริมาณน้ำตาลทรายที่กำหนดไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ 23 ล้านกระสอบ (2.3แสนตัน) รวมโควตาก.พิเศษที่จัดสรรให้กับกระทรวงพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ น่าจะเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงการเปิดหีบในช่วงสิ้นปีนี้ว่าจะล่าช้ามากน้อยเพียงใดด้วย

จาก http://www.manager.co.th   21 กรกฎาคม 2553

เสนอขึ้นน้ำตาลกก.1บาท อ้างต้นสูง

นายชลัส ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลน ในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำตาลทรายในประเทศที่ตึงตัวเริ่มคลี่คลายลง แต่ปริมาณน้ำตาลทรายบรรจุถุง 1 กก. ที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรดยังมีปริมาณไม่มาก เนื่องจากโรงงานน้ำตาลที่บรรจุถุงจำหน่ายเพื่อสร้างยี่ห้อสินค้าได้รับค่าการตลาดต่ำ จึงไม่จูงใจให้เกิดการบรรจุถุง 1 กก. ดังนั้น การแก้ไขปัญหาทั้งปัจจุบันและอนาคตพาณิชย์ควรพิจารณาเพิ่มค่าการตลาด หรือปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายถุง กก. เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

“ผู้บรรจุถุง กก. เฉลี่ยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถุงละ 85 สตางค์ -1 บาท ดังนั้นควรจะบวกค่าต้นทุนดังกล่าวแต่พาณิชย์กลับควบคุมราคาขายปลีกไม่ให้เกิน 23.50 บาทต่อกก. ทั้งที่การขึ้นราคาน้ำตาลถุงไม่ได้เป็นภาระประชาชนอะไรมากเพราะเฉลี่ยต่อคนบริโภคน้ำตาลต่อเดือนก็ไม่เกิน 1 ถุง กก. จึงส่งผลให้ผู้ผลิตหันไปจำหน่ายน้ำตาลถุงละ 50 กก. ที่คุ้มกว่าแทน”

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาลทราย กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำตาลบรรจุถุงเพื่อสร้างแบรนด์มี 3 รายประกอบด้วยค่ายน้ำตาลมิตรผล วังขนาย และกลุ่มไทยรุ่งเรือง ซึ่งภายหลังห้างสรรพสินค้ามีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณน้ำตาลบรรจุถุงกก. ยังคงเท่าเดิมเฉลี่ยรวม 4 แสน กระสอบเท่านั้น ทำให้แต่ละสาขาของห้างจะมีน้ำตาลไม่กี่ถุง ดังนั้นแนวทางแก้ไขควรปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำตาลถุง กก. ให้ครอบคลุมกับต้นทุนของผู้บรรจุ จะทำให้มีผู้เข้ามาทำตลาดราย ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นซึ่งบรรดาห้างสรรพสินค้าเองก็ต้องการ จะแพ็กเกจจิ้งเองแต่เพราะขาดทุนจึงไม่ดำเนินการ

สำหรับภาวะน้ำตาลทรายล่าสุดจากการขึ้นงวดน้ำตาล 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ยมีการจำหน่ายออกไปสัปดาห์ละ 4 แสนกระสอบ ถือเป็นปริมาณที่เข้าสู่ภาวะปกติโดยส่วนหนึ่งเกิดจากการชะลอการซื้อของยี่ปั๊วและซาปั๊วเนื่องจากเกรงระเบียบที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาใหม่ ที่เข้มงวดมากขึ้นถึงขั้นจำคุกซึ่งล่าสุด กระทรวงพาณิชย์จะเรียกไปชี้แจงราย ละเอียดในสัปดาห์นี้

ล่าสุดน้ำตาลทรายค้างกระดาน ณ วันที่ 19 ก.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 1.4 ล้าน กระสอบ (รวมน้ำตาลที่กระทรวงพาณิชย์ บริหาร 6 แสนกระสอบ มีการจำหน่ายเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 แสนกว่ากระสอบถือเป็นปริมาณที่ไม่ได้สูงจนผิดปกติบ่งชี้ถึงการนำน้ำตาลทรายโควตา ค. ที่ซื้อคืนกลับมาเพิ่มในตลาดได้ผลทำให้ราคาเริ่มลดต่ำลงและมีผลให้น้ำตาลที่พาณิชย์ ไปบริหารยังคงเหลือค้างกระดานอยู่ไม่สามารถจำหน่ายได้หมดภายใน 15 ก.ค. ตามที่พาณิชย์เคยระบุไว้

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว. อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในชั้นวางสินค้าของบรรดาโมเดิร์นเทรดมีน้ำตาลวางจำหน่ายเป็นปกติ 100% แล้ว

ส่วนในเรื่องของราคาแพงเริ่มดีขึ้นหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดประมูลน้ำมันโควตา ค. (ส่งออก) กลับคืนมาขายในประเทศ พบว่าทำให้ตลาดคลายความกังวล ส่งผลให้ราคาขายส่งน้ำตาลของบรรดายี่ปั๊วทั่วประเทศถูกลง 2 บาท ต่อ กก

. จาก http://www.dailynews.co.th/  20 กรกฎาคม 2553

แนะพาณิชย์แก้ลำน้ำตาลทรายแพง

กระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณาเพิ่มค่าการตลาดหรือปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายถุง 1 กก. เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

นายชลัส ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลนในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์น้ำตาลในประเทศที่ตึงตัวจะคลี่คลายลง แต่ยอมรับว่าน้ำตาลบรรจุถุง 1 กิโลกรัม (กก.) ที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าหรือโมเดิร์นเทรดยังคงมีปริมาณไม่มากนัก ซึ่งสาเหตุหลักเนื่องจากโรงงานน้ำตาลที่บรรจุถุงจำหน่ายเพื่อสร้างแบรนด์สินค้าได้รับค่าการตลาดต่ำจึงไม่จูงใจให้เกิดการบรรจุถุง 1 กก. มาวางจำหน่าย ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้กระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณาเพิ่มค่าการตลาดหรือปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายถุง 1 กก. เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

"ผู้บรรจุถุง 1 กก. เฉลี่ยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถุงละ 85 สตางค์-1 บาท ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ควรจะบวกค่าต้นทุนดังกล่าว แต่กระทรวงพาณิชย์กลับควบคุมราคาขายปลีกไม่ให้เกิน 23.50 บาทต่อ กก. ทั้งที่การขึ้นราคาน้ำตาลถุงไม่ได้เป็นภาระประชาชนมากนัก เพราะเฉลี่ยต่อคนบริโภคน้ำตาลต่อเดือนก็ไม่เกิน 1 ถุง กก. จึงส่งผลให้ผู้ผลิตหันไปจำหน่ายน้ำตาลถุงละ 50 กก.ที่คุ้มกว่าแทน"

สำหรับความคืบหน้าการจำหน่ายน้ำตาลโควตาพิเศษที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการจำหน่าย 800,000 กระสอบ ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มารับไปจำหน่ายเพียง 200,000 กระสอบ ซึ่ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลก็ไม่สามารถตอบแทนได้ว่าเพราะเหตุใดการจำหน่ายน้ำตาลในสัดส่วนของกระทรวงพาณิชย์จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ผลิตน้ำตาลบรรจุถุง 1 กก. เพื่อสร้างแบรนด์มี 3 ราย ประกอบด้วย ค่ายน้ำตาลมิตรผล วังขนาย และกลุ่มไทยรุ่งเรือง ซึ่งภายหลังห้างสรรพสินค้ามีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณน้ำตาลบรรจุถุง 1 กก. ยังคงเท่าเดิมเฉลี่ยรวม 400,000 กระสอบเท่านั้น ทำให้แต่ละสาขาของห้างจะมีน้ำตาลไม่กี่ถุง ดังนั้น แนวทางแก้ไขคือ ควรปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำตาลถุง 1 กก. ให้ครอบคลุมกับต้นทุนของผู้บรรจุ.

จาก http://www.thairath.co.th/  20 กรกฎาคม 2553

ไม่ทันกระจายราคาลดฮวบแล้ว มั่นใจคุมตลาดอยู่หมัดแน่

อุตสาหกรรมโอ่สยบพ่อค้าอยู่หมัดสั่งการให้ศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลติดตามสถานการณ์น้ำตาลตึงตัวในแต่ละพื้นที่ทุกสัปดาห์....

นายประเสริฐ ตปณียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมระบายน้ำตาลโควตา ค ที่ซื้อคืนมาจากเทรดเดอร์ 3 ราย ปริมาณ 743,500 กระสอบ โดยจะทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทเทรดเดอร์ในสัปดาห์หน้าจำนวน 205,800 กระสอบ ที่เหลือจะทยอยทำสัญญาต่อไป และคาดว่าจะเริ่มระบายน้ำตาลได้ในต้นเดือน ส.ค.นี้ โดยมีกำหนดระบายให้เสร็จภายในเดือน ก.ย. ผ่านยี่ปั๊วที่อยู่ในระบบจำหน่ายปกติ 20-25 ราย ซึ่งยี่ปั๊วจะซื้อน้ำตาลจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในราคาหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 19-20 บาท และน้ำตาลจะถึงมือผู้บริโภคในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศแนะนำ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานงานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเพื่อตรวจสอบพื้นที่ที่น้ำตาลตึงตัวเพื่อกระจายน้ำตาลไปยังพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถ้าพบว่าพื้นที่ใดมีน้ำตาลตึงตัวก็จะนำน้ำตาลที่ประมูลมากระจายไปก่อน "ตั้งแต่มีการประกาศซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค ส่งผลให้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวลดลง โดย สอน.ได้สั่งการให้ศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลติดตามสถานการณ์น้ำตาลตึงตัวในแต่ละพื้นที่ทุกสัปดาห์ เนื่องจากข่าวการซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค ส่งผลให้ตลาดมีความมั่นใจว่าจะมีน้ำตาล ส่งผลให้บางพื้นที่ที่น้ำตาลเคยมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 28-30 บาท มีราคาลดลงกิโลกรัมละ 1.5-2.0 บาท และในบางพื้นที่ที่เคยมีปัญหาน้ำตาลขาดตลาดได้มีน้ำตาลเข้าสู่ตลาดเป็นปกติแล้ว เช่น ลำปาง อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์

นายประเสริฐกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ค้าส่งน้ำตาล (ยี่ปั๊ว) แจ้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมทราบว่า เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการที่กระทรวงพาณิชย์ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการเพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว โดยกำหนดให้ที่ขนย้ายน้ำตาลตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป ในพื้นที่ 107 อำเภอ 24 จังหวัด ที่ติดชายแดนจะต้องขออนุญาตกับกระทรวงพาณิชย์และต้องขนให้เสร็จภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้ สอน.ติดตามแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้มีปัญหาการกระจายน้ำตาล.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 17 กรกฏาคม 2553

"ชัยวุฒิ"ปลื้มน้ำตาลทรายเริ่มลดลงกิโลละ2บาท พาณิชย์สั่งคุมน้ำดื่ม-โขกราคาโดนฟัน

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับตัวแทนจำหน่ายผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดรายใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำดื่มราคาแพง ว่า ผู้ผลิตยืนยันว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำขวด เนื่องจากต้นทุนไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค กรมจึงมีมติให้กำหนดราคาแนะนำจำหน่ายปลีกปลายทางน้ำดื่มบรรจุขวดดังต่อไปนี้ ชนิดขวดใสหรือขวดเพท ขนาดบรรจุ 500 ซีซี ขวดละ 6 บาท ขนาด 600 ซีซี ขวดละ 7 บาท และขนาด 1,500 ซีซี ขวดละ 14 บาท ซึ่งจะเป็นราคาที่บังคับใช้เท่ากันทั่วประเทศ และกรมจะจัดส่งราคาแนะนำจำหน่ายปลีกไปยังห้างสรรพสินค้า ห้างค้า ปลีกขนาดใหญ่ ร้านอาหารชั้นนำภายในห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มหน้าโรงภาพยนตร์ โดยจะขอความร่วมมือให้จำหน่ายในราคาไม่เกินราคาแนะนำ หากพบจำหน่ายเกินอาจเข้าข่ายมีความผิดค้ากำไรเกินควร มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

"ช่วงแรกจะขอความร่วมมือก่อน ใครที่ขายแพงให้ปรับลดราคาลงมาให้อยู่ภายใต้ราคาแนะนำ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ เราอาจเสนอให้คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาให้น้ำดื่มเป็นสินค้าควบคุม เพื่อออกมาตรการทางกฎหมายมากำกับดูแลราคาอย่างเข้มงวดต่อไป เพราะถือเป็นสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ" นางวัชรีกล่าว

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในจะกำหนดให้ลูกไก่ และ แม่ไก่สาว เป็นสินค้าในบัญชีที่ติดตามดูแลราคา ซึ่งจะทำให้สินค้าในบัญชีดังกล่าวเพิ่มจำนวนเป็น 204 รายการ จากเดิม 202 รายการ โดยต่อจากนี้จะมีการจับตาราคาจำหน่ายอย่างใกล้ ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการค้ากำไรเกินควร จนนำไปสู่สาเหตุ ของปัญหาไข่ไก่ราคาแพง

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ ปัญหาน้ำตาลขาดแคลนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในชั้นวางสินค้าของบรรดาโมเดิร์นเทรดมีน้ำตาลวางจำหน่ายเป็นปกติ 100% แล้ว ส่วนเรื่องราคาแพงเริ่มดีขึ้นหลังจากที่กระทรวงอุตสาห กรรมเปิดประมูลน้ำมันโควตา ค (ส่งออก) กลับคืนมาขายในประเทศ พบว่าทำให้ตลาดคลายความกังวล ส่งผลให้ราคาขายส่งน้ำตาลของบรรดายี่ปั๊วทั่วประเทศถูกลง 2 บาท/ก.ก. สำหรับการระบายน้ำตาลซื้อคืนมานี้จะใช้วิธีการย้ายโควตาปกติไปไว้งวดสุดท้าย 51-52 และนำน้ำตาลที่ซื้อคืนมาขึ้นงวด แทนงวดปกติแทน โดยคาดว่าไม่เกิน 2 งวด เพราะตามปกติในแต่ละสัปดาห์ขึ้นงวด 40,000 ตัน

นายประเสริฐ ตปณียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเริ่มทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทเทรดเดอร์ผู้ที่ชนะการประมูลซื้อน้ำตาลทั้ง 3 ราย ในสัปดาห์หน้าที่ 205,800 กระสอบ และจำนวนที่เหลือจะทยอยทำสัญญา คาดว่าจะเริ่มระบายน้ำตาลได้ในต้นเดือนส.ค.53 และมีกำหนดระบายให้เสร็จภายในเดือนก.ย.53

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 17 กรกฏาคม 2553

เผยราคาน้ำตาลลดลง หลังนำน้ำตาลส่งออกกระจายขายในประเทศ

นายประเสริฐ ปตณียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในฐานะประธานจัดซื้อน้ำตาลโควตา ค กล่าวว่า ตามที่เปิดประมูลซื้อน้ำตาลทราย 743,500 กระสอบ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ซื้อราคาเฉลี่ย 714 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน มีกำหนดส่งมอบเดือน ก.ค.- ก.ย. และเพื่อบรรเทาผลกระทบปัญหาน้ำตาลขาดแคลน จึงกำหนดให้น้ำตาลงวดแรกส่งมอบภายในเดือน ก.ค.ทันทีรวม 258,000 กระสอบ หากภาวะการขาดแคลนและการตึงตัวยังไม่บรรเทาก็พร้อมที่จะนำน้ำตาลที่ตกลงซื้อทั้งหมดเกือบ 500,000 กระสอบ ช่วยเหลือทันที

นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยถือว่าโชคดีที่สามารถซื้อน้ำตาลคืนได้จากผู้ค้า เนื่องจากน้ำตาลตลาดโลกปีนี้มีความผันผวนสูงสุดในรอบ 30 ปี ล่าสุดฟิลิปปินส์มีความต้องการซื้อน้ำตาลเพิ่มอีก 1.5 ล้านกระสอบ โดยขอซื้อคืนจากอินเดีย แต่อินเดียห้ามส่งออกน้ำตาลในทันที ทั้งนี้ปกติอินเดียก็ซื้อน้ำตาลจากไทยเช่นกัน ขณะที่ปากีสถานต้องการซื้อเพิ่มอีก 500,000 กระสอบ บังกลาเทศก็ต้องการเพิ่มเช่นกัน ขณะที่อินโดนีเซียมีความต้องการน้ำตาล เชื่อว่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ล้านกระสอบ ในภูมิภาคนี้มีเพียงไทยที่มีน้ำตาล ส่วนประเทศใกล้เคียงอยู่ในภาวะขาดแคลน

“ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายซื้อน้ำตาลโควตา ค เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำตาลตึงตัว และผลจากการนำน้ำตาลสัปดาห์ที่ 51 และ 52 เข้าสู่ระบบเร็วขึ้น ทำให้มีน้ำตาลเพิ่มในช่วง 10 วันที่ผ่านมาเกือบ 800,000 กระสอบ ส่งผลให้ผู้ขายส่งน้ำตาลรายใหญ่ลดราคาขายส่งลงกิโลกรัมละ 1.50 บาท ขณะที่โมเดิร์นเทรนเริ่มมีน้ำตาลวางจำหน่าย เห็นได้ว่ามาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรมส่งผลดีต่อประชาชน” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ทราบว่าผลจากการที่คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กระทรวงพาณิชย์ออกกฎเหล็กควบคุมการค้าน้ำตาลตามชายแดน โดยกำหนดให้การผลิต ซื้อ ขนส่ง น้ำตาลตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไปต้องแจ้งให้ทราบและมีกำหนดอายุใบอนุญาตขนส่งเพียง 15 วัน ส่วนการกำหนดให้การค้าชายแดนใน 24 จังหวัด 107 อำเภอ ขนย้ายน้ำตาล 1,000 กิโลกรัมขึ้นไปต้องขออนุญาตนั้น สอน.ห่วงว่าอาจจะทำให้การกระจายน้ำตาลสะดุด เพราะพ่อค้าเกรงว่าจะได้รับโทษ ซึ่งมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ค้ารายใดมีปัญหา สอน.ยินดีประสานกระทรวงพาณิชย์ในการออกใบอนุญาตขนส่ง

นอกจากนี้ จังหวัดใดที่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่หรืออยู่ใกล้ หากขาดแคลนน้ำตาลทาง สอน.ได้ขอให้โรงงานช่วยกระจายน้ำตาลให้อีกทางหนึ่ง โดยราคาจะต้องไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด คือ กิโลกรัมละ 23.50 บาท แต่หากไกลออกไปราคาก็ต้องไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

จาก สำนักข่าวไทย วันศุกร์ ที่ 16 กรกฏาคม 2553

มาเลย์ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน-น้ำตาล ลดปัญหาขาดดุลงบฯ

รัฐบาลมาเลเซียออกประกาศขึ้นราคาน้ำมัน และน้ำตาล เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนสินค้าดังกล่าว และลดปัญหาขาดดุลงบประมาณในปีนี้ถึงราว 234 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการดังกล่าว อาจจะทำให้สินค้าประเภทอื่นมีราคาแพงขึ้นไปได้ ทั้งยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์รัฐบาล ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่อาจมีขึ้นในปี 2554 ด้วย ทั้งนี้ในปี 2552 มาเลเซียขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 7 และตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดอัตราขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 5.3

จาก http://www.manager.co.th  16 กรกฎาคม 2553

ก.พาณิชย์ขยายเวลาแจ้งครอบครองน้ำตาลทรายเป็น 22 ก.ค.นี้

 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขอแจ้งขยายระยะเวลาการแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ และการครอบครองน้ำตาลทราย ดังนี้ โรงงานน้ำตาลทรายที่ต้องแจ้งข้อมูลปริมาณการผลิต การจำหน่ายในประเทศ การส่งออก ปริมาณคงหลือ และสถานที่เก็บน้ำตาลทรายทุกชนิดภายในวันที่ 19 กรกฎาคม ให้ขยายระยะเวลาการแจ้งได้ภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ส่วนผู้ครอบครองน้ำตาลทราย ตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไปไม่ว่าจะมีไว้ครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่น ที่ต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ให้ขยายระยะเวลาการแจ้งได้ภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2553

จาก สำนักข่าวไทย  วันศุกร์ ที่ 16 กรกฏาคม 2553

คาดไตรมาส 4 ปีนี้ ราคาน้ำตาลพุ่ง 12%

กลุ่มผู้ประกอบการและนักวิเคราะห์ในอุตฯน้ำตาล คาดแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกทะยาน12% ไตรมาส4 อานิสงส์ความต้องการน้ำตาลในเอเชียเพิ่มต่อเนื่อง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวานนี้ (15 ก.ค.) อ้างคำพูดของกลุ่มผู้ประกอบการและนักวิเคราะห์ ที่ระบุว่า ราคาน้ำตาลอาจจะปรับตัวขึ้นสูงถึง 12% ในไตรมาส 4 จากราคาเคลื่อนไหวในปัจจุบัน เพราะได้แรงหนุนจากความต้องการบริโภคน้ำตาลในภูมิภาคเอเชีย ก่อนที่จะปรับตัวลงในปีหน้า เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลจากบราซิลและอินเดียเพิ่มขึ้น

"เราอาจจะได้เห็นราคาน้ำตาลซื้อขายที่ระดับ 15-16 เซนต์ต่อปอนด์ ในระยะ 4 เดือนข้างหน้า เพราะได้แรงผลักดันจากความต้องการในเอเชีย" นายพาริน อมาตยะกุล รองประธานบริษัทน้ำตาลมิตรผล กล่าว

ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลดิบปรับตัวขึ้น 32% จากราคา 13 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า ความต้องการน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย และจีน ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่สุดอันดับสองของโลก ขณะที่ราคาน้ำตาลดิบส่งมอบล่วงหน้าเดือนต.ค. ที่ตลาดไอซีอี นิวยอร์ก ปรับตัวร่วงลง 1.2% อยู่ที่ 16.97 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อวันพุธ (14 ก.ค.)

ราคาน้ำตาลทะยานขึ้นกว่า 2 เท่าตัวช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลในบราซิลและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่สุด ได้รับความเสียหายทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดมีจำนวนจำกัด โดยในเดือนม.ค. ราคาน้ำตาลฟอกขาวเคลื่อนไหวที่ราคาตันละ 767 ดอลลาร์ ส่วนราคาน้ำตาลดิบทะยานสูงสุดในรอบ 29 ปีที่ 30.4 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนถัดมา ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลดลง เพราะกระแสคาดการณ์ว่า เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยใน 2 ประเทศ จะเพิ่มการปลูกอ้อย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น

นายปีเตอร์ แมคไกวร์ กรรมการผู้จัดการจากซีดับบลิวเอ โกลบอล มาร์เก็ตส์ พีทีวาย ให้ความเห็นก่อนเข้าร่วมประชุมน้ำตาลโลก ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย วานนี้ (15 ก.ค.) ว่า "ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง หนุนราคาน้ำตาลให้ทะยานขึ้น เราจะได้เห็นแนวโน้มราคาน้ำตาลที่สดใสและไม่ต้องแปลกใจ ที่ราคาอาจจะขึ้นไปแตะที่ระดับ 17.5-18.5 เซนต์ต่อตัน ในช่วงเริ่มต้นไตรมาสสี่"

ด้านนายโพรเซโซ่ อัลคาลา รัฐมนตรีเกษตรของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์จะซื้อน้ำตาลจำนวน 150,000 ตันและมีกำหนดส่งมอบในเดือนก.ย. เพื่อนำมาชดเชยกับความต้องการในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นและผลผลิตน้ำตาลในประเทศไม่เพียงพอ

ขณะที่นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า ความต้องการน้ำตาลในเอเชีย จะหนุนให้ราคาน้ำตาลขยับขึ้นไปเคลื่อนไหวที่ระดับ 16-17 เซนต์ต่อปอนด์ ในช่วงไตรมาส 4 ของปี แม้ว่าผลผลิตน้ำตาลจากบราซิลจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยกับความต้องการในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างมากได้ ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลในอินเดีย ยังไม่มีความแน่นอน

ส่วนผลผลิตน้ำตาลของไทยในฤดูกาลที่เริ่มเดือนพ.ย.อาจจะลดลงมากถึง 13% จากปีก่อนหน้านี้เหลือประมาณ 6 ล้านตัน เนื่องจากฝนทิ้งช่วงและภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ อาจจะสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ปลูกอ้อย

เอฟ.โอ. ลิชต์ บริษัทวิจัยด้านน้ำตาล ระบุว่า ราคาน้ำตาลดิบจะยังคงดิ่งลงในช่วงไตรมาสสี่ เนื่องจากผู้ปลูกอ้อยรายใหญ่สุดทั้งอินเดียและบราซิล ยังคงมีผลผลิตอ้อยปริมาณมาก และปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกยังสูงกว่าความต้องการน้ำตาล

ขณะเดียวกัน คาดว่า ผลผลิตน้ำตาลในอินเดียจะมากถึง 26 ล้านตัน และอาจทำให้อินเดีย สามารถส่งออกน้ำตาลไปขายในตลาดโลกได้มากถึง 1 ล้านตันในปีหน้า ถือเป็นการส่งออกน้ำตาลเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีของอินเดีย ส่วนที่บราซิลก็คาดว่าผลผลิตอ้อยในฤดูกาลที่กำลังจะมาถึงประมาณ 41 ล้านตัน พร้อมทั้งคาดว่าจะผลิตน้ำตาลในฤดูกาลปัจจุบันได้ 36 ล้านตัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2553

กาฬสินธุ์คุมเข้มราคาน้ำตาล

เจ้าหน้าที่การค้าภายในจ.กาฬสินธุ์ออกตรวจสอบราคาน้ำตาลตามร้านขายส่งและตลาดสดต่างๆภายในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อป้องกันการกักตุนน้ำตาลและป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเกินความเป็นจริง พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้กับผู้ประกอบการให้จำหน่ายสินค้าในราคายุติธรรมตามท้องตลาดทั่วไป

กาฬสินธุ์ - การค้าภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ออกตรวจเข้มราคาน้ำตาลทราย เพื่อป้องกันการกักตุนน้ำตาลและฉวยโอกาสขึ้นราคา

วันนี้ (15 ก.ค.) นายศิริพงษ์ วิวัฒน์เกษมชัย การค้าภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบราคาน้ำตาลตามร้านขายส่งและตลาดสดต่างๆ ภายในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อป้องกันการกักตุนน้ำตาลและป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเกินความเป็นจริง พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้กับผู้ประกอบการให้จำหน่ายสินค้าในราคายุติธรรมตามท้องตลาดทั่วไป

นายศิริพงษ์ กล่าวว่า หลังจากราคาน้ำตาลมีการปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางกรมการค้าภายในกำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สำหรับในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทางคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่ได้มีการควบคุมราคาน้ำตาล

แต่ทั้งนี้ การค้าภายในและคณะกรรมการได้ติดตามและออกตรวจสอบราคาการจำหน่ายน้ำตาลตามร้ายค้าส่ง ร้านค้าปลีก และตลาดสดต่างๆ ในอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกักตุนน้ำตาลและป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเกินความเป็นจริง พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้กับผู้ประกอบการให้จำหน่ายสินค้าในราคาที่ยุติธรรม ตามความเหมาะสม ติดป้ายราคาอย่างชัดเจน โดยจะต้องอิงราคาของตลาดจังหวัดใกล้เคียงและภาพทั่วประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ร้านค้าส่ง และร้านค้าปลีก ที่จำหน่ายน้ำตาลต่างๆ ยังจำหน่ายน้ำตาลตามราคาปกติเท่ากันกับราคาของตลาดทั่วไป โดยปัจจุบันร้านขายส่งจำหน่ายกิโลกรัมละ 27.20 บาท ส่วนร้านค้าขายปลีกตามตลาดสดจำหน่ายกิโลกรัมละ 28 บาท

ด้านผู้ประกอบการร้านค้าส่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า รับน้ำตาลมาจำหน่ายสัปดาห์ละ 50 ตัน ซึ่งปัจจุบันการรับซื้อมีต้นทุนสูง โดยซื้อมากระสอบละ 1,330 บาท กระสอบละ 50 กิโลกรัม จำหน่ายให้กับลูกค้ากระสอบละ 1,360 บาท

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 15 กรกฎาคม 2553

ยิ่งคุมน้ำตาลยิ่งขาด ยี่ปั๊ว "งง" ประกาศ กกร.

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกลางฯเรื่องการแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าน้ำตาลทรายปี 2553 โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การบังคับให้โรงงานน้ำตาลทรายกับผู้ครอบครองน้ำตาลทรายที่มีปริมาณตั้งแต่ 10,000 ก.ก.ขึ้นไป แจ้ง ปริมาณการผลิต/การจำหน่าย/ส่งออก/ คงเหลือ/สถานที่เก็บ ณ วันสิ้นเดือน และให้ยี่ปั๊ว/ซาปั๊วแจ้งรายชื่อผู้ซื้อน้ำตาลทรายและผู้ใช้น้ำตาลทรายที่มีการซื้อตั้งแต่ 10,000 ก.ก.ขึ้นไปเดือนละ 2 ครั้งนั้น

ฝ่ายโรงงานน้ำตาลได้ให้ความเห็นถึงประกาศฉบับดังกล่าวว่า ไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการครอบครอง/การขนย้าย หรือการผลิตน้ำตาลในแต่ละเกรด ซึ่งเดิมจะดำเนินการแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (ส.อ.น.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบอยู่ แต่เมื่อประกาศฉบับนี้ออกมาก็ต้องทำรายละเอียดแจ้งไปที่กระทรวงพาณิชย์อีกสำเนาหนึ่งเท่านั้น

"ประกาศที่ออกมาคิดว่ากระทรวงพาณิชย์คงจะไปเข้มงวดกับผู้ค้าน้ำตาลหรือยี่ปั๊ว/ซาปั๊วมากกว่า เพื่อจะได้มีการตรวจสอบว่า น้ำตาลที่ออกไปนั้นไปอยู่ที่ไหนบ้าง มีการกักตุน ขายเกินราคาหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่ายิ่งกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการคุมเข้มมาเท่าใด ยิ่งจะทำให้น้ำตาลขาดตลาดมากขึ้น"

การแก้ปัญหาทั้งกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องร่วมหารือกัน ให้ชัดเจน ระบุปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ น้ำตาลขาดหรือแพง ส่วนขาดนั้นไม่น่า เป็นไปได้ กรณีน้ำตาลแพงก็ต้องตรวจจับคนที่เขาขายแพง พร้อมกับอัดน้ำตาลเข้าไปสู่ตลาดให้กลไกตลาดทำงาน เมื่อสินค้ามีมากขึ้น สุดท้ายก็จะผลักดันให้ราคาลดลงไป

ด้านยี่ปั๊ว/ซาปั๊วกล่าวในทำนองเดียวกันว่า ตอนนี้ผู้ค้าน้ำตาลหลายรายกำลัง "งง" กับประกาศที่กระทรวงพาณิชย์ออกมา ไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำ ซึ่งเดิมอาจจะมีการควบคุมให้มีการแจ้งการขนย้ายน้ำตาล การซื้อเข้าร้าน แต่ไม่ต้องแจ้งการจำหน่ายออก แต่ประกาศนี้ต้องแจ้งทุกกระบวนการ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้ค้ากันอย่างมาก

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 15 กรกฎาคม 2553

ส.เครื่องดื่มไทยวิ่งล็อบบี้"ชัยวุฒิ" ขอลดราคาน้ำตาล5บาทแก้ลำคน.ไม่ให้ขึ้นราคา

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ยกขบวนเข้าพบ "ชัยวุฒิ" รมต.อุตสาหกรรม ยื่นข้อเสนอขอให้ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลฯที่จัดเก็บ ก.ก.ละ 5 บาทจากการซื้อน้ำตาลทรายภายในประเทศ (โควตา ก.) อ้างเหตุต้นทุนเพิ่ม 14-15% ส่วนการขอขึ้นราคาเครื่องดื่มไม่ใช่หน้าที่สมาคม เป็นเรื่องของบริษัทใครบริษัทมัน ที่จะต้องแจ้งไปยังกรมการค้าภายในกันเอง ระบุเหตุขาดแคลนน้ำตาลทรายเพราะการกระจายไร้ประสิทธิภาพ คนตื่นตระหนกซื้อเก็บมากกว่าปกติ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการเข้าพบนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ทางสมาคมได้เสนอให้มีการทบทวน หรือปรับลด หรือยกเลิก การเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาท/กิโลกรัม เพื่อลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่ม

ทั้งนี้การเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยฯดังกล่าว เริ่มเก็บในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ด้วยการประกาศปรับราคาน้ำตาลขึ้นไปอีก ก.ก.ละ 5 บาท โดยมีเงื่อนไขจะต้องนำเข้าที่ได้รับจากการปรับราคาน้ำตาลดังกล่าว ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้ชำระหนี้จากการเพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยที่มียอดหนี้สะสมประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท ผลจากการปรับราคาน้ำตาลทำให้ต้นทุนการผลิตเครื่องดื่มสูงขึ้นประมาณ 14-15% จากเดิมที่เคยซื้อน้ำตาลทราย 14-15 บาท/ กิโลกรัมก็ต้องซื้อน้ำตาลทรายในราคา 19-20 บาท/กิโลกรัม

ประเด็นดังกล่าวทางสมาคมได้เคยทำหนังสือผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จนล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มี มติแต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางการยกเลิกอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

"ผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มต้องแบกรับภาระต้นทุนน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นมากว่า 2 ปี ขณะนี้ต่างก็กำลังรอการพิจารณาของคณะทำงานชุดของคุณไตรรงค์ว่า จะกำหนดแนวทางออกมาเป็นอย่างไร หลังจากที่กองทุนใช้หนี้หมดแล้ว จะเก็บเงินเข้ากองทุนต่อหรือไม่ หรือจะยกเลิกการเก็บ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มจะได้วางแผนการผลิตได้ต่อไป" นายประจวบกล่าว

สำหรับปริมาณการใช้น้ำตาลของกลุ่ม ผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มแต่ละปีคิดเป็น 45% ของปริมาณการใช้น้ำตาลของภาคอุตสาหกรรมหรือประมาณ 300,000-400,000 ตัน โดยในปีนี้ยอมรับว่า จากภาวะอากาศร้อนและมีเทศกาลฟุตบอลโลก ทำให้ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% หรือมีความต้องการใช้น้ำตาลมากขึ้น แต่ก็ไม่มากจนถึงกับทำให้น้ำตาลภายในประเทศขาดแคลนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

"ผมคิดว่า การที่น้ำตาลขาดแคลน หรือตึงตัว สาเหตุหลักน่าจะมาจากการบริหารจัดการการกระจายน้ำตาลที่ผิดพลาด ประกอบกับการตื่นตระหนกของผู้บริโภคจากกระแสที่เกิดขึ้น ทำให้ปริมาณการซื้อน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีการกักตุนสำหรับผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มนั้น ไม่มีแน่นอน เพราะเป็นกลุ่มที่มีสัญญาซื้อขายน้ำตาลกับโรงงานชัดเจน อีกทั้งการกักตุนต้องใช้สถานที่ในการเก็บน้ำตาลมากพอสมควร เราไม่มีสถานที่เพียงพอที่จะกักตุนอยู่แล้ว" นายประจวบกล่าว

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะมีการพิจารณาเพื่อปรับราคาเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น

หรือไม่นั้น นายอาร์ชวัส เจริญศิลป์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า ในส่วนของสมาคมไม่ทราบเกี่ยวกับการขอปรับราคาเพิ่ม เพราะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้าไปหารือกับกรมการค้าภายใน (คน.) โดยตรง ซึ่งสมาคมได้เสนอเรื่องผ่านทางกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงแค่หน่วยงานเดียวคือ การขอให้มีการยกเลิกเก็บเงินกองทุนอ้อยฯ ก.ก.ละ 5 บาท

"การปรับราคาเครื่องดื่มถือเป็นเรื่อง ที่อ่อนไหว กระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง ถ้าไม่จำเป็นผู้ประกอบการก็จะไม่ขอปรับเพิ่ม เห็นได้จากสถิติที่ผ่านมา 10 ปีเครื่องดื่มปรับขึ้นราคาเพียงแค่ 1 ครั้ง หรือ

ปรับขึ้นแค่ 1 บาทเท่านั้น เรื่องหลัก ๆ ที่มีการเรียกร้องเข้ามาก็คือ การปรับลดการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตเครื่องดื่ม" นายอาร์ชวัสกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ทางสมาคมได้เสนอให้นายชัยวุฒิมีการปรับเพิ่มตัวแทนกรรมการที่รับผิดชอบระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จากเดิมที่มีตัวแทนจาก 3 ส่วน ได้แก่ ชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาล และราชการ ก็ควรจะเพิ่มในส่วนของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครัวเรือน หรือภาคเอกชนที่ใช้น้ำตาลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบให้เข้าร่วมเป็นกรรมการ

อนึ่ง การขึ้นราคาน้ำตาลทรายอีก ก.ก. ละ 5 บาทในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าไม่มีการปรับขึ้นราคามานานและอยากให้ชาวไร่อ้อยได้ค่าอ้อยเพิ่มขึ้นนั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคทั้งประเทศมารับชดใช้หนี้ที่ชาวไร่อ้อยเป็นผู้ก่อในการขอเพิ่มค่าอ้อยในหลายฤดูกาลติดต่อกัน อันเนื่องมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 15 กรกฏาคม 2553

ประมูลน้ำตาลล็อตแรกผ่านฉลุย

เปิดรายชื่อเทรดเดอร์น้ำตาลที่เสนอราคาต่ำสุดจากการประมูลล็อตแรก 3 รายจากจำนวน 743,500 กระสอบ เสนอราคาต่ำสุดที่ 705-720 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เลขาฯสอน.ยันซื้อน้ำตาลโควตาค.กลับมาในช่วงนี้ยังได้เปรียบกว่าฟิลิปปินส์ บังกลาเทศที่กำลังขาดน้ำตาลวิ่งหาในตลาดโลกกันวุ่น ด้านตัวแทนจำหน่ายน้ำตาลตั้งข้อสังเกตขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกกลับมาไต่ระดับสูงขึ้นอีกเพียงช่วงสัปดาห์เดียวราคาพุ่งอีกกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ในฐานะ ประธานคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ภายหลังจากที่เชิญบริษัท เทรดเดอร์น้ำตาลเข้ามาเสนอราคาขายน้ำตาลโควตาค. (โควตาส่งออก)ที่สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ซื้อกลับมาใช้เป็นน้ำตาลโควตาก.(บริโภคในประเทศ) จำนวน 1 ล้านกระสอบ ว่าเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ได้เชิญเทรดเดอร์น้ำตาลจำนวน 25 รายมายื่นเสนอราคาน้ำตาล แต่ปรากฏว่ามีเทรดเดอร์ที่ยื่นเสนอราคาเข้ามาเพียง 6 รายเท่านั้น ประกอบด้วย 1.บริษัทAUGUST TOPFER จากเยอรมนี 2.บริษัท LOUIS DREYFUS จากสวิตเซอร์แลนด์ 3.BUNGE จากสหรัฐอเมริกา 4.บริษัท AL KHALEEJ จากดูไบ 5.ED MAN จากสิงคโปร์ และ6. บริษัท GLEN CORE จากประเทศอังกฤษ

โดยการประมูลล็อตแรกนี้มีเพียง 3 รายที่เสนอราคามาในราคาที่ต่ำคือ1.บริษัทAUGUST TOPFER จากเยอรมนี 2.บริษัท LOUIS DREYFUS จากสวิตเซอร์แลนด์ 3.BUNGE จากสหรัฐอเมริกา โดย 3 รายนี้ชนะการประมูลไปในราคาตั้งแต่ 705-720 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน จากปริมาณน้ำตาลทรายขาวรวมทั้งสิ้นในล็อตแรกนี้จำนวน 743,500 กระสอบหรือ 74,350 ตัน ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นน้ำตาลทรายขาวธรรมดาจำนวน 5,250 ตัน และเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จำนวน 69,100 ตัน โดยจะทยอยส่งมอบน้ำตาลไปจนถึงเดือนกันยายน ปี 2553 ส่วนปริมาณน้ำตาลที่เหลืออีกจำนวน 256,500 กระสอบ จะมีการเปิดประมูลราคาล็อตใหม่ตามความเหมาะสมต่อไป

"การซื้อน้ำตาลโควตาค.กลับมาครั้งนี้เป็นการซื้อโดยตรงจากเทรดเดอร์ต่างประเทศโดยไม่มีการซื้อผ่านนายหน้าหรือตัวแทนเทรดเดอร์ เพื่อป้องกันการกินส่วนต่างโดยตรง"

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่าการซื้อน้ำตาลโควตาค. กลับมาในช่วงนี้ถือว่ายังเป็นช่วงเวลาที่ได้เปรียบเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ขณะนี้ยังต้องการน้ำตาลในตลาดโลกอยู่จำนวนมาก เช่น

ฟิลิปปินส์ที่ออกมาประกาศประมูลน้ำตาลเข้าประเทศจากตลาดโลก เพราะยังขาดน้ำตาล เช่นเดียวกับบังกลาเทศที่ต้องการน้ำตาลอีก50,000 กระสอบ รวมถึงประเทศปากีสถานและอินโดนีเซียด้วยที่ยังต้องการน้ำตาลจากตลาดโลกอยู่ในขณะนี้"

ขณะที่ประเทศไทยได้เปรียบกว่าอีกหลายประเทศตรงที่ปริมาณน้ำตาลที่มีการซื้อจากเทรดเดอร์ในล็อตแรกนี้ ยังมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในประเทศไทย ฉะนั้นจะได้รับมอบน้ำตาลเร็วมากและไม่ต้องเสียค่าขนส่ง รวมไปถึงไม่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้าน้ำตาลในอัตรา65% ขณะที่ไทยพรีเมียมในขณะนี้ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้วจาก 125 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันลงมาเหลือ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน นอกจากนี้ถ้ามีการซื้อน้ำตาลล่าช้ากว่านี้ก็จะไม่มีน้ำตาลที่ซื้อขายล่วงหน้าไปแล้ว เพราะน้ำตาลจะถูกส่งมอบลงเรือเพื่อไปยังปลายทางในต่างประเทศ และเมื่อถึงตอนนั้นการซื้อน้ำตาลโควตาค. กลับมาจะซื้อได้ยากขึ้น

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มตัวแทนจำหน่ายน้ำตาลให้กับโรงงานน้ำตาลรายใหญ่รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกไต่ระดับจาก 500 กว่าดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะนี้ราคาพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 610.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันแล้ว และหากรวมไทยพรีเมียมอีก 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันก็จะทำให้ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกสูงถึง 720 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ก็จะทำให้ราคาเป็นที่จูงใจกับผู้ค้านอกระบบ

เนื่องจากการดึงน้ำตาลโควตาค. กลับมาใช้เป็นน้ำตาลโควตาก.ในจังหวะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ก็มีจุดเสี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดกระบวนการลักลอบส่งออกไปขายตามรอยตะเข็บชายแดน ซึ่งขณะนี้ขบวนการค้าน้ำตาลตามแนวชายแดนเริ่มมีการเซตทีมขึ้นมาแล้ว ดังนั้นเมื่อน้ำตาล 1 ล้านกระสอบที่กระทรวงอุตสาหกรรมซื้อโควตาค.กลับมา ได้มีการจัดสรรลงระบบก็จะมีการดึงน้ำตาลบางส่วนออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็จะทำให้น้ำตาลที่คาดหวังว่าจะลงมาช่วยแก้ปัญหาน้ำตาลขาดหรือน้ำตาลแพงในขณะนี้อาจจะแก้ปัญหาได้ไม่เต็มที่เพราะมีแรงจูงใจให้น้ำตาลไหลออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 14 กรกฎาคม 2553

กองทุนอ้อยฯแบกขาดทุน300ล. ซื้อคืนน้ำตาลทรายโควตาค. ขายราคารง.ช่วยผู้บริโภค

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ในฐานะประธานคณะทำงานจัดซื้อน้ำตาลโควตา ค.(เพื่อส่งออก) คืน 1 ล้านกระสอบ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม สอน.ได้เปิดประมูลซื้อน้ำตาลทราย โควตา ค. จากผู้ค้า 25 ประเทศเข้าร่วม โดยตั้งเป้ารับซื้อคืนสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านกระสอบ หรือ 1 แสนตัน เพื่อนำมาบรรเทาปัญหาน้ำตาลตึงตัว โดยเปิดให้ 25 ผู้ค้าน้ำตาลเลือกช่วงที่จะส่งมอบได้ 3 ช่วง คือ เดือนกรกฏาคม-สิงหาคม 2553 , เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2553 และเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2553

ทั้งนี้ ภายหลังคณะทำงานฯส่งหนังสือเชิญผู้ค้าเพื่อส่งออก(เทรดเดอร์) 25 รายเข้าประมูลขายน้ำตาล ปรากฏว่ามี 3 รายที่เสนอราคาต่ำสุด ประกอบด้วย 1.บริษัท ออกัส ท็อฟเฟอร์ จากเยอรมัน 2.บริษัท บุงกี จากสหรัฐ และ 3.บริษัท หลุยส์ เดรฟุส จากสวิสเซอร์แลนด์ โดยสามารถซื้อคืนน้ำตาลได้ 740,000 กระสอบ หรือ 74,350 ตัน โดยราคาเสนอขายต่ำสุดตั้งแต่ตันละ 705-720 เหรียญสหรัฐ คาดว่าการส่งมอบน้ำตาลจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน นี้ ทั้งนี้ยืนยันว่าถ้าปริมาณน้ำตาลไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ก็จะไม่นำเข้า แต่จะใช้วิธีประมูลซื้อคืนน้ำตาลของไทยเท่านั้น

"การซื้อคืนน้ำตาลครั้งนี้ใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาท หรือเฉลี่ยซื้อคืนที่กิโลกรัมละ 23 บาท ทำให้กองทุนฯต้องรับภาระขาดทุนกิโลกรัมละ 3-4 บาท หรือคิดเป็นเงิน 223-297 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานที่อยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์อยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนการกระจายน้ำตาลให้ผู้บริโภคนั้นจะขายในราคาหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ โดยไม่ขึ้นงวดเพราะถือเป็นน้ำตาลที่กองทุนฯเป็นผู้ประมูลซื้อคืนมาเพื่อบริหารจัดการสู่ผู้บริโภค" นายประเสริฐ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 กรกฎาคม 2553

โอ่ผลงานผลาญงบซื้อน้ำตาลขม

มีเทรดเดอร์ยื่นข้อเสนอมาเพียง 7 ราย ผ่านการคัดเลือก เรื่องคุณสมบัติ 6 ราย และได้คัดเลือกผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดไว้ 3 ราย ในปริมาณ รับซื้อ 74,400 ตัน...

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะประธานคณะทำงานจัดซื้อคืนน้ำตาลทรายโควตา ค 1 ล้านกระสอบ เพื่อป้อนตลาดในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะตึงตัว เปิดเผยว่า คณะทำงานได้ให้ผู้ส่งออก (เทรดเดอร์) 25 บริษัท เสนอปริมาณน้ำตาลและราคาขายคืนให้กองทุนอ้อยและน้ำตาล (กท.) ซึ่งจะเป็นผู้รับซื้อ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา มีเทรดเดอร์ยื่นข้อเสนอมาเพียง 7 ราย ผ่านการคัดเลือก เรื่องคุณสมบัติ 6 ราย และได้คัดเลือกผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดไว้ 3 ราย ในปริมาณ รับซื้อ 74,400 ตัน เฉลี่ยน้ำตาลทรายขาวที่ 705 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และราคา น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เฉลี่ย 707-720 เหรียญต่อตัน โดยน้ำตาลทั้งสองชนิดจะมีค่าพรีเมียม (ค่าขนส่งและบริการจัดการ) อีกตันละ 110 เหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ประกอบด้วย 1.บริษัทออร์กัสทอฟเฟอร์ จากเยอรมนี 2.บริษัทบุงกี้ (Bunge) จากสหรัฐฯ และ 3.บริษัทหลุยส์เดอร์ฟัสจากสวิตเซอร์แลนด์ รวมประมาณน้ำตาลที่รับซื้อคืน 74,400 ตันแยกเป็นน้ำตาลทรายขาวธรรมดา 52,500 ตัน ที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยจะมีการส่งมอบให้ กท.ในเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ จากนั้น สอน.จะนำมาจำหน่ายให้กับประชาชนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำตาลตึงตัวในบางพื้นที่ของประเทศไทยได้ระดับหนึ่ง

"ราคาน้ำตาลดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในการประมูลซื้อคืนครั้งนี้ คาดว่า กท.ต้องใช้เงินเข้าไปรับซื้อ 1,700 ล้านบาท และจะนำไปจำหน่ายในท้องตลาดในราคาดังนี้ น้ำตาลทรายขาวธรรมดากิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท ขณะที่ราคาจำหน่ายในท้องตลาดปกติ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดคือ กก.ละ 23.50 บาทดังนั้น ทำให้ กท.ต้องรับภาระส่วนต่างแทนประชาชน กก.ละ 3-4 บาท หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 400 ล้านบาท".

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 14 กรกฎาคม 2553

"เอทานอล"ล้น!! (จับกระแสพลังงาน)

"ผู้ผลิตเอทานอล" ครวญ ปี 2554 ปริมาณเสี่ยงล้นตลาด เหตุกำลังผลิตเพิ่ม สวนทาง "ดีมานด์" ทรงตัว แถมวัตถุดิบจ่อขยับราคา โรงงานเสี่ยงเจ๊ง!!!

"สิริวุทธิ์ เสียมภักดี" นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ในปี 2554 จะมีผู้ผลิตเอทานอลอย่างน้อย 3 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ทีพีเค จำกัด กำลังผลิตวันละ 3.5 แสนลิตร 2.บริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด กำลังผลิต 1.5 แสนลิตร และ 3.บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด กำลังผลิต 2 แสนลิตร ที่จะเปิดการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณเอทานอลเพิ่มขึ้นอีกวันละ 7 แสนลิตร หรือรวมกำลังผลิตทั้งหมดจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านลิตร ขณะที่ความต้องการใช้ หรือ "ดีมานด์" คาดว่าจะยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่วันละ 1.2-1.3 ล้านลิตรเท่านั้น

หมายความว่า.....ปีหน้า "เอทานอล" เสี่ยงต่อภาวะ "ล้นตลาด" อย่างยิ่ง!!!

นอกจากนี้ ผู้ผลิตที่จะเพิ่มเข้ามาทั้งหมดใช้ "มันสำปะหลัง" เป็นวัตถุดิบ ซึ่งสิ่งที่จะต้องติดตาม คือ การเพิ่มจำนวนโรงงานย่อมนำไปสู่การแข่งขันในการจัดซื้อวัตถุดิบในตลาดที่จะสูงขึ้น โดยปี 2554 คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะเผชิญภาวะ "ขาดแคลน" จากปัญหา "ภัยแล้ง" เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ส่งผลให้การหาซื้อพันธุ์มันสำปะหลังได้ยากขึ้น

"ปีหน้ามันสำปะหลังอาจราคาแพงขึ้นอีก ขณะที่ปัจจุบันหัวมันราคาสูงสุดที่กิโลกรัมละ 3.50 บาท และมันเส้นกิโลกรัมละ 7 บาท ซึ่งผู้ผลิตจัดซื้อล่วงหน้าไว้ในราคาเฉลี่ย 2.70-2.80 บาท จึงใช้สต็อกเก่าผลิต แต่ราคาใหม่ในปีหน้าคงผลิตไม่ได้เพราะจะขาดทุนอย่างหนัก" สิริวุทธิ์ กล่าว

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ปริมาณเอทานอลที่สต็อกอยู่ในมือผู้ผลิตรวมจะอยู่ที่ระดับ 45-50 ล้านลิตร ขณะที่กระทรวงพลังงานแจ้งว่ามีสต็อกในมือบริษัทน้ำมันอีก 100 ล้านลิตร จึงน่าจะเพียงพอต่อการใช้ในช่วงไตรมาส 3 ได้.....

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 กรกฎาคม 2553

กอน.เปิดประมูลซื้อน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ แก้ปัญหาน้ำตาลในประเทศตึงตัว

นายประเสริฐ ปตณียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธานเปิดประมูลจัดซื้อน้ำตาลทรายจาก 25 ผู้ค้าน้ำตาลต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายเปิดประมูลซื้อสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านกระสอบ หรือ 100,000 ตัน เพื่อนำมาบรรเทาปัญหาน้ำตาลตึงตัว ประชาชนบางพื้นที่หาซื้อไม่ได้หรือซื้อได้ในราคาที่ค่อนข้างสูง

นายประเสริฐ กล่าวว่า การจัดซื้อน้ำตาลเป็นไปตามนโยบายของนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้จัดซื้อน้ำตาลโควตา ค. ซึ่งเป็นน้ำตาลสำหรับส่งออกในประเทศมาแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว

การเปิดประมูลซื้อน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิครั้งนี้ เป็นการเปิดประมูลซื้อจาก 25 บริษัทผู้ค้าน้ำตาลต่างประเทศมีน้ำตาลอยู่ในมือ และยังอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2 ล้านกระสอบ คาดว่า การเปิดประมูลซื้อครั้งนี้ จะได้น้ำตาลไม่ครบ 1 ล้านกระสอบ แต่ไม่เป็นอุปสรรค เนื่องจากสามารถเปิดประมูลซื้อเพิ่มเติมได้อีก

สำหรับการประมูลซื้อครั้งนี้ เปิดให้ 25 ผู้ค้าน้ำตาลเลือกช่วงที่จะส่งมอบได้ 3 ช่วง คือ ก.ค.ถึง ส.ค. ปี 53 ส.ค. ก.ย. ต.ค.ปี 53 และช่วงที่ 3 คือ ส่งมอบ ต.ค. ถึง พ.ย. ปี 53 โดย กอน. มีเงื่อนไขซื้อน้ำตาลว่าจะต้องเป็นน้ำตาลไทยเท่านั้น และมีข้อสงวนคือ หากราคาที่เปิดประมูลซื้อได้ราคาแพงเกินไปก็จะปฏิเสธการซื้อ โดยขอต่อรองราคาหรือซื้อบางส่วน หรืออาจยกเลิกการซื้อก็ได้ สาเหตุที่ให้ส่งมอบ 3 ช่วง เนื่องจากต้องการหยั่งเชิงตลาดและต้องการทราบว่ามีน้ำตาลในภูมิภาคนี้หรือไม่มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังเป็นการทราบถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย

นายประเสริฐ กล่าวว่า การจัดซื้อน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิครั้งนี้ กอน.มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำตาลในประเทศเพื่อดูแลประชาชน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีความเป็นห่วงว่า จากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ปีนี้การเปิดหีบอ้อยจะล่าช้าออกไป เนื่องจากอ้อยสุกช้ากว่าที่ควรจะเป็นจึงต้องดูแลไม่ให้น้ำตาลในประเทศขาดแคลนจนกว่าการเปิดหีบอ้อยจะเริ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาปิดน้ำตาลตลาดลอนดอนล่าสุดอยู่ที่ 615 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จำเป็นราคาที่ผู้ขายทั้ง 25 ราย ใช้เป็นฐานในการคิดราคาขายน้ำตาลในครั้งนี้ให้กับรัฐบาลไทย. – 510

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 13 กรกฎาคม 2553

ก.อุตสาหกรรมเร่งสำรวจผู้ค้าส่งน้ำตาล

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายให้ซื้อน้ำตาลโควตา ค. น้ำตาลส่งออก 1 ล้านกระสอบ หรือ 100,000 ตัน มาเพิ่มปริมาณน้ำตาลในประเทศเพื่อบรรเทาสถานการณ์น้ำตาลตึงตัวอยู่ในขณะนี้นั้น ล่าสุดคณะกรรมการจัดซื้อ ซึ่งมีนายประเสริฐ ปตณียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)เป็นประธาน ได้เปิดประมูลซื้อน้ำตาลจากบริษัทผู้ค้าน้ำตาลเสร็จแล้ว ในส่วนของคณะกรรมการชุดขายน้ำตาล ซึ่งตนเป็นประธานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจผู้ค้าส่งน้ำตาลทั่วประเทศว่ามีจำนวนกี่ราย พร้อมทั้งเร่งวางหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้ที่ควรจะได้รับการจัดสรรน้ำตาลและเงื่อนไข ซึ่งขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดขายน้ำตาลได้อีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ ก่อนจะสามารถกำหนดวันขายน้ำตาลออกสู่ตลาดต่อไป ทั้งนี้ การทำงานจะประสานกับคณะกรรมการจัดซื้อน้ำตาลด้วย เพื่อให้การบรรเทาภาวะน้ำตาลตึงตัวทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและรวดเร็วที่สุด.- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 13 กรกฎาคม 2553

ซื้อน้ำตาลคืน7.4หมื่นตัน โวยอมควัเนื้อเพื่อ ปชช. แก้ภาวะตึงตัว

ประมูลซื้อน้ำตาลทรายโควตาค.คืนฉลุย เคาะรับซื้อจากเทรดเดอร์ 3 รายรวม 7.44 หมื่นตัน ราคาเฉลี่ย 705-720 เหรียญสหรัฐต่อตัน กองทุนฯโวควักเนื้อเพื่อประชาชน "อุตสาหกรรม" เตรียมโชว์แนวทางกระจายให้ถึงมือผู้บริโภคแก้ไขภาวะตึงตัว

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะประธานคณะทำงานจัดซื้อคืนน้ำตาลทรายโควตาค. 1 ล้านกระสอบ (1แสนตัน) เพื่อนำมาป้อนตลาดในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะตึงตัวตามแนวนโยบายนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วานนี้ (13ก.ค.) ได้ให้ผู้ส่งออก (เทรดเดอร์) เสนอปริมาณน้ำตาลทรายและราคาขาย 25 ราย ปรากฏมีผู้มายื่นเสนอ 7ราย แต่ผ่านคุณสมบัติ 6 ราย และท้ายสุดได้คัดเลือกผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด 3 ราย ในปริมาณรับซื้อรวม 7.44 หมื่นตัน ราคาเฉลี่ยทรายขาวที่ 705 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาขาวบริสุทธิ์เฉลี่ย 707.5-720 เหรียญต่อตัน(รวมพรีเมียม 110 เหรียญสหรัฐต่อตัน)

สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อส่งมอบน้ำตาลทรายดังกล่าว ประกอบด้วย 1. บริษัท ออร์กัส ทอฟเฟอร์ (August Topfer) จากเยอรมนี 2. บริษัท บุงกี้ (Bunge) จากสหรัฐฯ และ 3.บริษัท หลุยส์ เดอร์ฟัส (Louis Dreyfus) จากสวิสเซอร์แลนด์ รวมประมาณน้ำตาลรับซื้อ 7.44 หมื่นตัน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นขาวธรรมดา5.25 พันตัน ที่เหลือเป็นขาวบริสุทธิ์ ซึ่งน้ำตาลทรายล็อตดังกล่าวจะส่งมอบในเดือนก.ค.-ก.ย.2553 ราคา ณ ส่งมอบอาจเปลี่ยแปลงเล็กน้อยตามภาวะอัตราแลกเปลี่ยน

“แนวทางทั้งหมดได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายหรือบอร์ดกองทุนอ้อยแล้ว โดยราคาทั้งหมดได้มีการต่อรองกันเพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำสุด ซึ่งประเมินว่ากองทุนอ้อยฯ จะต้องใช้เงินในการซื้อน้ำตาลคืนไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท เมื่อนำไปขายประชาชนทั่วไปที่ยึดราคาขาวธรรมดา 19 บาทและขาวบริสุทธิ์ 20 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้กองทุนฯ ต้องแบกรับส่วนต่างเฉลี่ยที่ก.ก.ละ 3.25-4 บาทต่อก.ก.หรือคิดเป็นเงิน 300-400 ล้านบาท”นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ การกระจายน้ำตาลทรายจะเน้นให้ถึงมือประชาชน ดังนั้นหากพบว่าภาวะน้ำตาลตึงตัว ก็อาจจะจัดประมูลซื้อเพิ่มได้อีก ในส่วนของปริมาณที่เหลือจึงต้องดูภาวะน้ำตาลทรายที่ขึ้นงวดในแต่ละสัปดาห์เป็นสำคัญ ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ถือว่ากองทุนฯ ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนในการดูแลปริมาณน้ำตาลอย่างเพียงพอ แต่ท้ายสุดแล้วจะมีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตาก. อีกหรือไม่ คงจะอยู่ที่ระดับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ได้เชิญตัวแทนจากกรมสรรพกรมาพิจารณาด้านภาษี ซึ่งพบว่าเป็นการซื้อขายโดยตรงไม่ผ่านนายหน้า จึงไม่จำเป็นจะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด แต่จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 13 กรกฎาคม 2553

อุตฯเครื่องดื่มยันยังไม่ปรับขึ้นราคา

ผู้ประกอบการเครื่องดื่มปัดขึ้นราคา แต่ขอพิจารณาส่งเงินเข้ากองทุนใหม่หลังใช้หนี้หมดยันไม่ได้กักตุนน้ำตาล

นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารและโฆษกอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าพบกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม ว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังไม่มีนโยบายที่จะขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากต้องขายสินค้าให้ประชาชนจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา 5 บาทต่อน้ำตาล 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 3.5% ของต้นทุนการผลิตมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ดังนั้นหากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายใช้หนี้หมดแล้ว จึงควรพิจารณาถึงความเหมาะสมในการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ปริมาณการใช้น้ำตาลของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มอยู่ที่ประมาณ 4 แสนตันต่อปี โดยแต่ละปีจะมีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 5-6% ซึ่งก็ไม่ถือว่าเพิ่มขึ้นมากผิดปกติจนไปแย่งการใช้น้ำตาลโควตา ก (น้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศ) และน้ำตาลส่วนใหญ่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับโรงงานน้ำตาลไว้แล้ว จึงไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำตาล ขณะที่การกักตุนน้ำตาลของโรงงานนั้นคงไม่มีอย่างแน่นอน เพราะใช้น้ำตาลตามที่โรงงานจัดสรรคให้ตามแผนการใช้ที่ตกลงร่วมกัน

"จากตัวเลขย้อนหลังไม่เคยมีปีไหนที่ไทยมีการบริโภคน้ำตาลในประเทศเกิน 2 ล้านตัน แต่ปีนี้ขึ้นมาอยู่ 2.2 ล้านตัน เนื่องจากน้ำตาลในตลาดตึงตัว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกลไกการกระจายน้ำตาลไม่ทำงาน"นายประจวบ กล่าว

นายอาร์ชวัส เจริญศิลป์ เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมดึงตัวแทนจากผู้ใช้น้ำตาลทรายเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)หรือคณะกรรมการอื่นๆ เพื่อที่จะให้ข้อมูลการใช้น้ำตาลในภาคอุตสาหกรรมได้ชัดเจนเพื่อการวางแผนกำหนดน้ำตาลทรายบริโภคให้เพียงพอ และเหมาะสม

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนไปทำข้อมูลปริมาณการใช้น้ำตาลในช่วงครึ่งปีหลัง และแนวโน้มการใช้น้ำตาลสำหรับปีหน้า เพื่อที่หน่วยงานภาครัฐจะได้นำข้อมูลมากำหนดน้ำตาลโควตา ก ให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยขอให้ทำข้อมูลการใช้จริง ไม่ใช่การคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำตาล

สำหรับการจัดสรรน้ำตาลโควตา ก ในปีหน้า คงไม่ต่ำกว่า 23 ล้านตันอย่างแน่นอน เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น การที่จะกำหนดเท่ากับปีนี้ หรือน้อยกว่าเดิมคงทำได้ยาก

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.ค. คณะทำงานรับซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค (น้ำตาลเพื่อส่งออก) จะเปิดรับข้อเสนอราคาและปริมาณน้ำตาลจากผู้ส่งออกน้ำตาลทราย(เทรดเดอร์) จำนวน 25 รายที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย (อนท.) โดยหลักการจะยึดราคาที่เสนอที่ต่ำสุดทั้งนี้เพื่อนำน้ำตาลทรายดังกล่าวป้อนสู่ตลาดในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะตึงตัว

“เราจะเปิดรับข้อเสนอช่วงเช้า ซึ่งทั้งปริมาณและราคาหากเห็นว่าข้อเสนอราคาแพงเกินไปอาจจะเปิดรับใหม่ ส่วนปริมาณจะครบ 1 ล้านกระสอบครั้งเดียว หรือไม่ก็คงจะตอบไม่ได้ต้องดูข้อเสนอราคาและปริมาณที่เหมาะสมด้วย”นายประเสริฐ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

ประมูลซื้อคืนน้ำตาลล้านกระสอบพรุ่งนี้

เปิดประมูลซื้อคืนน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ พรุ่งนี้ แก้ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน

วันนี้ (12 ก.ค.) นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ คณะทำงานรับซื้อน้ำตาลทรายส่งออก (โควตา ค.) ที่มีตนเป็นประธาน จะเปิดรับข้อเสนอราคา และปริมาณน้ำตาลจากผู้ส่งออกน้ำตาลทราย (เทรดเดอร์) จำนวน 25 ราย ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการซื้อคืนน้ำตาลทรายในโควตา ค. คืน 1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศ โดยหลักการจะยึดราคาที่เสนอที่ต่ำสุด ทั้งนี้ เพื่อนำน้ำตาลทรายดังกล่าวป้อนสู่ตลาดในประเทศ

“เราจะเปิดรับข้อเสนอช่วงเช้า ซึ่งทั้งปริมาณ และราคา หากเห็นว่าข้อเสนอราคาแพงเกินไปอาจจะเปิดรับใหม่ ส่วนปริมาณจะครบ 1 ล้านกระสอบครั้งเดียวหรือไม่ ก็คงจะตอบไม่ได้ ต้องดูข้อเสนอราคา และปริมาณที่เหมาะสมด้วย” นายประเสริฐ กล่าว

แหล่งข่าวจาก อนท. กล่าวว่า การซื้อน้ำตาลโควตา ค.ดังกล่าว จะเป็นการสั่งขายจากต่างประเทศโดยตรงผ่าน FAX และ Email และจะเปิดเสนอราคาเวลา 10.00 น. อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกมีการปรับเพิ่มขึ้น แต่เหตุผลหลักไม่ใช่มาจากการรับซื้อน้ำตาลทรายคืนของไทย เพราะถือเป็นการซื้อคืนในปริมาณต่ำ แต่ปัจจัยหลักมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งฟิลิปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการซื้อน้ำตาลเช่นกัน แต่ของไทยจะได้เปรียบในแง่ที่ส่งมอบภายใน 15 วัน ก็ทำได้แล้ว จึงถือเป็นจุดเด่นที่ทุกคนจับตาอยู่.

จาก http://dailynews.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

กษ.ถกความร่วมมือ"ยูเครน" เล็งประโยชน์พัฒนาจักรกล

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ได้หารือกับ นายมาร์เคียน ชูชุก เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งประเทศยูเครนมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิศวกรรมการเกษตร เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ลมเพื่อผลิตเป็นพลังงาน และไบโอดีเซล เป็นต้น ขณะเดียวกัน ประเทศยูเครนยังได้แสดงความสนใจเรื่องการลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับเครื่องจักรกลการเกษตรอีกด้วย แต่ในเบื้องต้นได้หารือร่วมกันที่จะเป็นในรูปแบบการสร้างความร่วมมือกัน โดยการยกร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างสองประเทศ (MOU) ซึ่งจะมีการประสานงานกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ ประเทศยูเครนยังได้แสดงความสนใจนำเข้าอ้อยจากประเทศไทย เนื่องจากยูเครนไม่มีวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายแดงอีกด้วย

นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับข้อมูลเฉพาะของประเทศยูเครนนั้นโดยส่วนใหญ่สภาพดินกว่า 25% จะเป็นดินดำ และเป็นประเทศที่ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชที่ใหญ่ที่สุด ขณะเดียวกันยังมีอุตสาหกรรมชั้นนำที่ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น เครื่องโรยเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ดังนั้น หากมีความร่วมมือระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางด้านการเกษตร ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเกษตรกรของไทยอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

ชี้ปีหน้าต้องจัดสรรน้ำตาลโควตา ก.เพิ่ม

อุตสาหกรรมชี้ปีหน้าต้องจัดสรรน้ำตาลโควตา ก. ไม่ต่ำกว่า 23 ล้านกระสอบ เพื่อให้เพียงพอ

วันนี้ (12 ก.ค.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มอบหมายให้สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กลับไปพิจารณาการจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ในปีหน้าให้รอบคอบ และระมัดระวัง โดยไม่ควรประเมินแค่ความต้องการ แต่ควรนำสถิติ และข้อมูลการใช้น้ำตาลจริงในปีหน้า เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลในปีนี้จนต้องมีการขอซื้อน้ำตาลทรายโคว ค. (เพื่อส่งออก) คืนอีก 1 ล้านกระสอบ โดยในปีหน้า สอน.ควรจัดสรรน้ำตาลโควตา ก. ไม่ต่ำกว่าปีนี้ที่กำหนดไว้ 23 ล้านกระสอบ เพราะเชื่อว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และความต้องการจะมีมากขึ้นตามไปด้วย.

จาก http://dailynews.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

จัดชุดสกัดลอบส่งออกน้ำตาล จนท.ตรวจเข้มท่าเรือเชียงแสน

รัฐบาลสั่งคุมเข้มชายแดนห้ามนำเข้าส่งออกน้ำตาล ศุลกากรเชียงแสนจัดชุดลาดตระเวนริมแม่น้ำโขง 24 ชั่วโมง ด้านพ่อค้าชายแดนยอมรับคุมได้ยาก แต่ส่งออกลอตใหญ่ไม่มี ต้องอะลุ้มอล่วย ซื้อขายเพื่อบริโภคในครัวเรือนประชาชนชายแดน

นายวินัย ฉินทองประเสริฐ นายด่านศุลกากรเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สินค้าน้ำตาลถูกห้ามไม่ให้นำเข้าและส่งออกอย่างเข้มงวด ขณะนี้ได้เพิ่มความเข้มงวดมากเป็นพิเศษในการตรวจสอบการนำเข้า และส่งออกสินค้าบริเวณท่าเรือเชียงแสน เพื่อป้องกันการลักลอบนำน้ำตาลออกนอกประเทศในเชิงการค้า ในปัจจุบันพบว่าน้ำตาลใน สปป.ลาวมีราคาสูง เพราะขาด แคลน และน้ำตาลในประเทศไทยปรับราคาแพงขึ้น จึงเกรงว่าจะมีการลักลอบส่งออก

"ที่ผ่านมา ยังไม่มีการส่งออก หรือนำเข้าน้ำตาลผ่านชายแดนด้านนี้ แต่อาจจะมีการลักลอบบ้าง เนื่องจากชายแดนด้านอำเภอเชียงแสนมีแม่น้ำโขงกั้นยาวกว่า 43 กิโลเมตร จึงได้จัดชุดลาดตระเวนออกไปตรวจสอบตามจุดต่าง ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่ประจำอยู่ตามชายแดนด้วย เช่น ตำรวจ ทหาร ตำรวจน้ำ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง" นายด่านศุลกากรเชียงแสนกล่าว

ด้านนายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ประธานหอการค้าอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตัวเลขการค้าในภาพรวมยังอยู่ในระดับที่สูง ส่วนน้ำตาลที่บริโภคภายในพม่าตอนเหนือ ซึ่งติดกับเชียงราย ส่วนใหญ่กว่า 70% จะต้องนำเข้าจากฝั่งอำเภอแม่สาย เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เช่น ไข่ เนื้อ ผัก หมู ฯลฯ ดังนั้น การเข้มงวดคงเป็นนโยบายจากส่วนกลาง แต่ภาคปฏิบัติในพื้นที่ ต้องอาศัยหลักรัฐศาสตร์ หรืออะลุ้มอล่วยกัน เพื่อความสัมพันธ์ของประชาชนตามแนวชายแดนควบคู่กันไปด้วย การนำน้ำตาลจากฝั่งไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง คงจะมีอยู่ แต่มีจำนวนน้อย ไม่ใช่ลอตใหญ่ เพราะใช้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดเชียงรายมีเขตติดต่อกับพม่าและ สปป.ลาว โดยมีจุดผ่านแดนถาวร 3 จุด คือด่านอำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ ที่ผ่านมา ทั้งพม่าและลาว เป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญของนักธุรกิจไทยรวมทั้ง การค้ากับจีนตอนใต้ด้วย ทั้งนี้ในปี 2552 การค้ารวมทั้ง 3 ด่าน มีมูลค่า 14,400.21 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้า 2,603.15 ล้านบาท และส่งออก 11,797.06 ล้านบาท

ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการ นำเข้า 701.47 ล้านบาท และส่งออก 4,322.18 ล้านบาท

สินค้าส่งออกไปยังประเทศพม่าและ สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเบ็ดเตล็ด และสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด รองลงมาคือน้ำมันเชื้อเพลิง ยางรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

น้ำอัดลม-นมข้นสำลักน้ำตาลแพง สมาคมอุตฯเครื่องดื่มไล่บี้-วอนไฟเขียวปรับราคา

อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม-อาหารกระอัก เผยแบกต้นทุนราคาน้ำตาลพุ่งขาดแคลนหลังแอ่น ค่าย "น้ำอัดลม" เดินหมากผ่านสมาคมชี้แจง กน.ลุ้นไฟเขียวขยับราคา ขณะที่นมข้นหวานมึนหนักเจอศึก 2 ด้าน ทั้งแผ่นเหล็กผลิตกระป๋องและน้ำตาล ไทยทินเพลตให้โควตาราคาเดิม 5 พันตัน หมด ปรับราคาใหม่เตรียมรวมตัวผู้ประกอบการร้องภาครัฐ

กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ยากจะบรรเทาให้คลี่คลายลงได้แล้ว สำหรับอุตสาหกรรมน้ำอัดลม นมข้นหวาน และผลไม้กระป๋อง ที่ประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีน้ำตาลขาดแคลน ราคาแพง และทินเพลตสำหรับผลิตกระป๋อง เพื่อลดภาระต้นทุนที่ยังไม่มีท่าที จะลดลงง่าย ๆ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามดิ้นขอปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

"น้ำดำ" ดิ้นขอปรับราคา

แหล่งข่าวจากวงการน้ำอัดลม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากปัญหาน้ำตาลที่ขาดแคลนและราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจน้ำอัดลมได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ได้ชี้แจงให้ภาครัฐทราบถึงปัญหาต้นทุนจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นผ่านไปทางสภาอุตสาหกรรมฯ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ และขอให้ตรึงราคาสินค้าไว้จนถึงสิ้นไตรมาส 3

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ประกอบการน้ำอัดลม ในนาม "สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย" ที่เป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเครื่องดื่มค่ายต่าง ๆ ทั้งโค้ก เป๊ปซี และค่ายอื่น ๆ ได้ส่งตัวแทนเข้าไปหารือกรมการค้าภายใน (กน.) เพื่อชี้แจงรายละเอียดเรื่องต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น และขอปรับราคาสินค้า เพื่อลดภาระต้นทุน"

พิษน้ำตาลทุบอุตสาหกรรม

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ข้อมูลการใช้น้ำตาลของผู้ประกอบการดังกล่าวว่า เดิมผู้ประกอบการผลิตสินค้า ส่งออกใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบจะใช้น้ำตาลจากโควตาส่งออก (โควตา ค.) เป็นหลัก เนื่องจากมีราคาถูกกว่าในประเทศ (โควตา ก.) แต่เนื่องจากในตลาดโลกราคาสูงขึ้น จึงมีผลให้ราคาโควตา ค.แพงขึ้น ผู้ประกอบการจึงหันมาใช้น้ำตาลในประเทศมากขึ้นแทน และส่งผลให้ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเพื่อป้องกันปัญหาน้ำตาลในประเทศขาดและมีราคาแพง สนอ.ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องกลับไปใช้น้ำตาลจากโควตาส่งออกเช่นเดิม

ขณะที่ผู้บริหารบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่อีกรายหนึ่งยอมรับว่า จากปัญหาน้ำตาลที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมในเวลานี้ ทำให้เกิดการแย่งกันมาก บางช่วงขนาดว่าแม้จะมีเงินซื้อ แต่ก็หาซื้อไม่ได้ ปัญหานี้เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

"ตอนนี้มีดีมานด์มาก แต่ในแง่ของซัพพลายก็มีไม่เพียงพอ และคาดว่าปัญหานี้จะยังไม่จบลงง่าย ๆ และหากกรมการค้าภายในไฟเขียวให้ค่ายน้ำดำปรับราคาได้ ก็จะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี มีน้ำอัดลมได้อนุมัติให้ปรับราคา หลังจากที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเรื่องน้ำตาล ราคาน้ำมันมาเป็นระยะ ๆ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายน 2549 น้ำดำได้รับการอนุญาตให้ปรับราคาขึ้นอีก 1 บาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8-9 ปี

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็น ไปได้ที่การขอปรับราคาของกลุ่มผู้ประกอบการน้ำอัดลมครั้งนี้หลัก ๆ จะเน้นไปที่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดแก้ว (returnable) ซึ่งหลัก ๆ จะมี 3 ขนาด คือ 10 ออนซ์ 15 ออนซ์ และ 1 ลิตร เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการให้ผู้บริโภคหันไปดื่มน้ำอัดลมชนิดที่ไม่ต้องคืนขวด หรือที่เรียกว่า "วันเวย์" มากขึ้น เพราะจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ การปรับราคาของ 2 ค่ายใหญ่ ทั้งโค้กและเป๊ปซี่จะต้องไม่ผลีผลาม เนื่องจากอาจจะเป็นช่องว่างที่ทำให้ "บิ๊ก โคล่า" ที่เน้นกลยุทธ์ราคาและจุดขายในเรื่องไม่มีกาเฟอีน มีโอกาสเข้ามาเบียดแย่งมาร์เก็ตแชร์ไปได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบิ๊ก โคล่าก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการรุกตลาดอย่างหนักทั้งการโฆษณาผ่านสื่อและการจัดอีเวนต์ ตามพื้นที่ต่าง ๆ

นมข้นหวาน-ผลไม้กระป๋องเจอ 2 เด้ง

แหล่งข่าวระดับสูงบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายนมข้นหวานรายใหญ่กล่าวในเรื่องปัญหาต้นทุนกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับอุตสาหกรรมนมข้นหวานขณะนี้ นอกจากจะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำตาลขาดแคลนและราคาสูงแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องประสบกับปัญหาราคาทินเพลตสำหรับผลิตกระป๋อง ที่มีราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 25-30%

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการค้าภายในได้เชิญ ผู้ประกอบการนมข้นหวาน ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง และบริษัท ไทยทินเพลท ผู้ผลิตแผ่นเหล็กสำหรับนำไปทำกระป๋องรายใหญ่ ไปหารือ เพื่อหาทางออกในเรื่องต้นทุนกระป๋อง เบื้องต้น ไทยทินเพลทรับจะจัดสรรโควตามาให้ 5 พันตัน เพื่อให้ทั้ง 3 อุตสาหกรรมไปจัดสรรกัน และเมื่อหมดโควตา ก็จะปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

"ดังนั้น เมื่อโควตาแผ่นเหล็กดังกล่าวหมด และใช้ราคาใหม่ สินค้าของทั้ง 3 อุตสาหกรรม ก็คงจะต้องทบทวนและขอปรับราคาตามต้นทุน และคาดว่าน่าจะประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งในช่วงนั้น ในตลาดก็จะมีทั้งสินค้าที่เป็นราคาเก่า และสินค้าราคาใหม่"

สำหรับในส่วนของปัญหาน้ำตาลที่ขาดแคลน แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า คาดว่าจะมีการหารือกันระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการนมข้นหวานในเร็ว ๆ นี้ และหากได้ข้อสรุป ก็จะนำเรื่องเสนอกรมการค้าภายใน เพื่อของปรับราคาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการยื่นเสนอพร้อม ๆ กันทุกบริษัท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปี 2550 นมข้นหวานได้รับการอนุมัติให้ปรับราคามาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเฉลี่ย 2 บาท/กระป๋อง ถัดมาเมื่อปี 2551 ผลจากการที่คณะรัฐมนตรี ชุดที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้ปรับราคาน้ำตาลขึ้น กิโลกรัมละ 5 บาท เมื่อเดือนเมษายน ส่งผลให้ราคา ขายปลีกขยับจาก 17.50 บาท/กิโลกรัม เป็น 22.50 บาท/กิโลกรัม ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมันและต้นทุนกระป๋องที่เพิ่ม ผู้ประกอบการก็ได้ยื่นขอปรับราคาอีกครั้ง

จากการสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายแห่งที่ไม่มีน้ำตาลทรายขาวชนิดถุง 1 กิโลกรัม วางจำหน่ายบนเชลฟ์ และมีวางเฉพาะน้ำตาลทรายไม่ฟอกสี หรือน้ำตาลสีทอง

ล่าสุดนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้กำหนดมาตรการให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายต้องแจ้งปริมาณการผลิต การจำหน่ายทั้งในประเทศ การ ส่งออก ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บ ให้ทราบใน 7 วันทุกเดือน

หากมีการขนย้าย 1,000 กิโลกรัมขึ้นไปในพื้นที่ 24 จังหวัด 107 อำเภอที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องแจ้งขออนุญาตการขนย้ายทุกครั้ง ป้องกันการ ลักลอบส่งออก ส่วนการขายปลีกกำหนดให้คณะกรรมการ กกร.ระดับจังหวัดเป็นผู้ควบคุมการจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ไม่ให้สูงเกิน 5% ของราคา

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

1 ล้านกระสอบขายไม่หมด หวั่นกระทบราคาอ้อยปีหน้า

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ในส่วนโควตาน้ำตาลทรายพิเศษ ที่กระทรวงพาณิชย์ ขอไปจัดสรร (ให้ยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้งเอง) 1 ล้านกระสอบนั้น หากยังไม่สามารถกระจายได้หมด หรือกระจายได้น้อย เหลือปริมาณน้ำตาลอีกจำนวนมาก จะส่งผลทำให้รายได้ของระบบอ้อยและน้ำตาลลดลง และเมื่อนำไปคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงานในสัดส่วน 70 : 30 ก็จะลดลงตามไปด้วย นอกจากนั้น ปริมาณน้ำตาลที่ยังเหลืออยู่ เมื่อนำไปคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิต 2553/2254 อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยลดลงด้วย

"จากราคาน้ำตาลทรายในประเทศ กิโลกรัมละ 19-20 บาท หักเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กิโลกรัมละ 5 บาท ก็จะเป็นรายได้เข้าระบบอ้อยและน้ำตาล กิโลกรัมละ 14-15 บาท ซึ่งในส่วนนี้ หากน้ำตาลขายไม่หมด รายได้ดังกล่าวก็จะหายไปโดยปริยาย และปกติการคำนวณราคาอ้อยจะคิดจากปริมาณโควตาน้ำตาลต่าง ๆ ทั้งในประเทศและส่งออก เมื่อปริมาณน้ำตาลเหลืออยู่ ก็จะมีผลต่อการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตหน้า" นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่าย และการขนย้ายน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้รายงานตัวเลขการขนย้ายน้ำตาลว่า จากปริมาณน้ำตาลทรายที่ขึ้นงวดเพื่อจำหน่ายปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้เป็นน้ำตาลโควตาพิเศษกระทรวงพาณิชย์ 800,000 กระสอบ และของกระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นงวดปกติ กับการนำงวดที่ 51 และ 52 มาขึ้นงวดล่วงหน้าอีก รวมกันเป็น 1.2 ล้านกระสอบ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีการซื้อขายและขนย้ายน้ำตาลออกจากโรงงานไปแล้วประมาณ 200,000 กระสอบ ส่วนของ กระทรวงอุตสาหกรรมมีการซื้อขายและ ขนย้ายน้ำตาลประมาณ 500,000 กระสอบ จะมีผลให้น้ำตาลไหลลงสู่ตลาดมากขึ้น เพื่อคลี่คลายปัญหาภาวการณ์ตึงตัว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

ยี่ปั๊วขู่คน.คุมขายปลีกน้ำตาลทั่วปท. ทำนายยิ่งคุมยิ่งขาด-ยิ่งขาดยิ่งแพง-ยิ่งแพงยิ่งกำไร

ยี่ปั๊ว/ซาปั๊วอัดกรมการค้าภายใน โยนหินถามทางนำน้ำตาลทรายเข้าบัญชีสินค้าควบคุมราคาขายปลีกสูงสุดทั่วประเทศ ไม่แก้ปัญหาแถมยังซ้ำเติมให้เกิดการขาดแคลนหนักขึ้นไปอีก เพราะน้ำตาลจะหายลงใต้ดิน สุดท้ายผู้บริโภคหาซื้อไม่ได้ แนะทางแก้ง่ายนิดเดียวให้เร่งระบายน้ำตาลโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ กระจายออกสู่ตลาด จี้ใจดำทำไมทำไม่ได้ หรือเป็นเพราะยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้ง ขายได้กำไรไม่คุ้ม ไม่ยอมมารับน้ำตาลที่หน้าโรงงานมากกว่า

หลังจากที่นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) ได้ออกมา ประกาศจะใช้มาตรการทางการกฎหมายบังคับใช้กับโรงงานน้ำตาลอย่างเข้มข้น ด้วยการกำหนดราคาแนะนำน้ำตาลทรายทั่วประเทศ การให้แจ้งปริมาณการครอบครองและขนย้ายน้ำตาลทราย และหากยังไม่ได้ผลอีก ก็จะใช้วิธีการคุมราคาขายปลีกเป็นมาตรการสุดท้าย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามความเห็นไปยังยี่ปั๊ว/ซาปั๊วน้ำตาลหลายรายต่างพูดตรงกันว่า การออกมาตรการคุมราคาน้ำตาลทรายทั่วประเทศ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นการซ้ำเติมให้เกิดภาวะน้ำตาลในตลาดตึงตัวถึงขั้นขาดแคลนเพิ่มขึ้นไปอีก

เนื่องจากน้ำตาลทรายถือเป็นสินค้าที่มี "ส่วนต่าง" กำไรน้อยอยู่แล้ว เมื่อถูกควบคุมราคาขายปลีกสูงสุด และทางกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าผู้ค้าทำผิดกฎหมาย ก็เสี่ยง จะต้องถูกดำเนินคดี สุดท้ายก็จะเกิดทางเลือกสำหรับยี่ปั๊ว/ซาปั๊วขึ้น 2 ทาง คือการลดหรือเลิกจำหน่ายน้ำตาลทราย กับเมื่อ ถูกจ้องจับผิดก็ทำผิดเสียเลย ด้วยการนำน้ำตาลทรายลงใต้ดิน หรือกักตุนหนักขึ้นไปอีก สุดท้ายผู้บริโภคก็หาซื้อน้ำตาลในตลาดทั่วไปไม่ได้อยู่ดี

อย่างไรก็ตามกลุ่มยี่ปั๊ว/ซาปั๊วยอมรับว่า ร้านค้ารายย่อยที่ซื้อน้ำตาลต่อจากยี่ปั๊ว/ ซาปั๊วมีการบวกเพิ่มราคาขึ้นไปอีก แต่ยังไม่มากเท่ากลุ่มยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้งของกระทรวงพาณิชย์ (ได้รับจัดสรรโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ) มีการปรับเพิ่มราคาน้ำตาลขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 24 บาท จากราคาหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 19 บาท เนื่องจากต้องบวก "ค่าใช้จ่ายพิเศษ" ที่เกิดขึ้นจากการได้มาซึ่งการจัดสรรโควตาน้ำตาลพิเศษนั่นเอง

"เราไม่รู้ว่ามาตรการที่กระทรวงพาณิชย์จะออกมานั้นจะช่วยแก้ปัญหาอะไร มองเป็นแค่มาตรการฉาบฉวย ซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้นกว่าเดิม ในความเป็นจริงถ้าจะแก้ปัญหาน้ำตาลขาดตลาด มีราคาแพง ก็ง่ายนิดเดียว นั่นคือกระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งระบายน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ ที่ได้รับจัดสรรมาสู่ตลาดให้เร็วที่สุด รวมกับน้ำตาลที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดึงงวดท้าย ๆ มาขึ้นงวดขายก่อน ปริมาณน้ำตาลก็จะเพิ่มขึ้น สุดท้ายภาวะตึงตัวจะหายไป ราคาก็จะปรับลดลงไปโดยปริยาย แต่ถามว่าทำไมขณะนี้น้ำตาล 1 ล้านกระสอบถึงระบายได้ช้า ทั้งที่โรงงานน้ำตาลเขาพร้อมจะส่งน้ำตาลให้ เพราะกลัวกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ หรือเป็นเพราะว่าน้ำตาลของกระทรวงพาณิชย์แพงจนยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้งขายออกยากใช่หรือไม่ จึงไม่ยอมมารับน้ำตาลจากโรงงาน" แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการซื้อคืนน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ประกอบด้วย 1)คณะกรรมการรับซื้อน้ำตาลโควตา ค. มีนายประเสริฐ ปตนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เป็นประธาน มีตัวแทนหลายหน่วยงานเป็นกรรมการ อาทิ กระทรวงพาณิชย์-ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)-สำนักงานอัยการสูงสุด-สำนักงบประมาณ-โรงงานน้ำตาล/ชาวไร่อ้อย รวมทั้งสิ้น 12 คน กับ 2)คณะกรรมการจัดจำหน่ายน้ำตาลที่ซื้อคืนกลับมา โดยมีตนเป็นประธาน มีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-สำนักงานอัยการสูงสุด-โรงงานน้ำตาล/ชาวไร่อ้อย

สำหรับภารกิจของคณะกรรมการจัดซื้อน้ำตาล ก็คือ ซื้อน้ำตาลโควตา ค. คืนมาเป็นน้ำตาลจำหน่ายในประเทศ (โควตา ก.) ประมาณ 1 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) เพื่อแก้ปัญหาภาวะน้ำตาลตึงตัว โดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลเป็นผู้รับผิดชอบในการซื้อครั้งนี้ สำหรับวิธีการคือจะเชิญบริษัทผู้ค้าน้ำตาล (เทรดเดอร์) 24 ราย มายื่นซองประมูลเสนอราคาและปริมาณน้ำตาลที่จะจำหน่ายให้กองทุน ผู้ใดยื่นราคาต่ำสุดก็จะซื้อรายนั้น อย่างไรก็ตามอาจจะซื้อจากเทรดเดอร์หลายคนเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำตาลครบจำนวน หมายความว่าราคาที่ซื้อจากเทรดเดอร์แต่ละรายนั้นอาจจะไม่เท่ากัน โดยจะคัดเลือกจากราคาที่เสนอต่ำสุดขึ้นไปจนครบจำนวนน้ำตาลที่ได้ 1 ล้านกระสอบ ซึ่งการซื้อจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 20 วันนับจากนี้ โดยจะเปิดประมูลช่วงต้นสัปดาห์หน้า

ส่วนภารกิจของคณะกรรมการจำหน่ายน้ำตาล ให้นำน้ำตาลที่ซื้อคืนมานั้นกระจายขายให้กับยี่ปั๊ว/ซาปั๊วรายเดิมที่ทำการค้า-ขายกับโรงงานน้ำตาลอยู่ในปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 20 ราย ซึ่งจะต้องหารือกันอีกครั้งว่า จะขายให้แต่รายละเท่าใด โดยยืนยันว่าจะจำหน่ายในราคาควบคุมหน้าโรงงาน กล่าวคือน้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นราคาที่ "ถูกกว่า" ราคาที่กองทุนอ้อยฯซื้อคืน เป็นผลให้กองทุนต้องรับภาระขาดทุนอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกองทุนอ้อยฯที่จะดูแลรักษาระบบอ้อยและน้ำตาลไม่ให้เกิดการขาดแคลนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามการประมูลให้เทรดเดอร์เสนอราคาและปริมาณจำหน่ายน้ำตาลทรายให้กับกองทุนอ้อยฯนั้น มีข้อสังเกตว่าอาจจะมีการ "ฮั้วราคา" ของเทรดเดอร์ด้วยการเสนอราคาสูง เพราะคงไม่มีเทรดเดอร์ รายใด "ใจดี" ขายน้ำตาลกลับคืนมาโดยปราศจากกำไรสูงสุดที่เพิ่งจะได้ เพราะน้ำตาลอยู่ในมือเทรดเดอร์ ซึ่งจะทำ ให้กองทุนอ้อยฯต้องแบกรับภาระขาดทุนมากกว่า 300 ล้านบาท ในประเด็นนี้ นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เชื่อว่าการฮั้วราคาของเทรดเดอร์นั้น "คงทำได้ยาก" เพราะจำนวนบริษัทมากและส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่เป็นคู่แข่งกัน ทุกรายต่างก็อยากจะขายน้ำตาลทรายของตัวเองอยู่แล้ว

 จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

ชาวไร่ล็อบบี้แก้สูตรราคาอ้อย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมร่วมระหว่างนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยเมื่อปลายสัปดาห์ ที่ผ่านมาว่า ทางสหสมาคมได้ยื่นหนังสือขอให้ปรับปรุงการคำนวณรายได้เข้าสู่ระบบอ้อยและน้ำตาลทรายในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงานในสัดส่วน 70 : 30 ใหม่ เนื่องจากการแบ่งเขตคิดคำนวณ ราคาอ้อยที่ใช้ตั้งแต่ปี 2539/40 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการในการคิดราคาอ้อยจากเดิมที่คิดราคาเดียวทั่วประเทศ มาเป็นการคิดราคาอ้อยรายเขต วิธีการคำนวณในปัจจุบัน ทั้ง "รายได้" กับ"รายจ่าย" ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บางรายการคิดรายได้-รายจ่ายเป็นรายเขต บางรายการคิดรายได้-รายจ่ายรวม อาทิ

1) รายได้จากการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ (โควตา ข.) เดิมจะคิดเป็นรายได้รวมจากการทำราคาของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับการขายน้ำตาลทรายดิบที่ประกอบด้วยตัวแทนจากชาวไร่ โรงงานและราชการ แต่เนื่องจากการทำราคา หรือช่วงเวลาการจำหน่ายน้ำตาลของชาวไร่ในแต่ละพื้นที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นเพื่อให้การคำนวณราคาอ้อยรายเขตเป็นไปอย่างยุติธรรม จึงควรให้สิทธิในการทำราคาหรือกำหนดช่วงเวลาในการจำหน่ายน้ำตาลโควตา ข. เป็นของชาวไร่อ้อยในเขตนั้น ๆ

กับ 2) โครงสร้างรายได้ในระบบการคำนวณราคาอ้อยบางรายการยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานของอ้อย-มาตรฐานของน้ำตาล-กากน้ำตาล และการกำหนดประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาล ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จึงควรกำหนดมาตรฐานที่ให้ชัดเจนและให้ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มกับชาวไร่หรือโรงงานที่สามารถปรับปรุงการผลิตได้เกินมาตรฐาน

ในทางกลับกันก็ต้องให้ชาวไร่และโรงงานที่ผลิตได้เกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน "จ่ายคืน" ผลประโยชน์เข้าสู่ระบบ เช่น ราคาอ้อยที่ประกาศ 800 บาท/ตัน ค่าความหวาน 10 CCS 1 ตันผลิตน้ำตาลได้ 100 กิโลกรัม ถ้าหากชาวไร่ A สามารถผลิตอ้อยได้ค่าความหวานเพิ่มเป็น 12 CCS ก็ได้รายได้จากค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น หรือหากโรงงานสามารถผลิตได้ 110 กิโลกรัม ก็ได้ผลตอบแทนในส่วนที่เพิ่มไปด้วยเช่นเดียวกัน

"ที่สหสมาคมชาวไร่อ้อยฯเสนอมานั้น ผมได้ให้กลับไปทำรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทาง สูตรวิธีการคำนวณรายได้ที่เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมก็พร้อมจะสนับสนุนหากจะพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิดคำนวณรายได้การพัฒนาแหล่งน้ำ หรือการย้าย-ขยายโรงงานก็ได้มาหารือสนับสนุนการย้ายโรงงานไทยเอกลักษณ์จากจังหวัดอุตรดิตถ์มาอยู่จังหวัดสุโขทัยด้วยขณะนี้" นายชัยวุฒิกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 กรกฎาคม 2553

สอน.ยันซื้อคืนน้ำตาลโควต้า ค มี ก.ม.รองรับ ไม่ต้องผ่าน ครม.

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยืนยันว่า มติของคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ให้ซื้อคืนน้ำตาลโควต้า ค หรือน้ำตาลเพื่อการส่งออก เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวนั้น เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคในประเทศ

ทั้งนี้ เตรียมเปิดประมูลน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบ ในโควต้า ค จากผู้ค้าที่ได้รับอนุญาติ 25 ราย และตั้งคณะกรรมการขายและบริหารจัดการน้ำตาล ซึ่งจะประชุมนัดแรกวันพรุ่งนี้ เพื่อเตรียมกำหนดวิธีการกระจายน้ำตาลทั้งหมด 1 ล้านกระสอบให้ถึงผู้บริโภคโดยตรงตามราคาควบคุม นายประเสริฐ ยอมรับว่า การนำน้ำตาลงวดที่ 51 และ 52 มาใช้ก่อนหน้านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวได้ เนื่องจากร้อยละ 80 ยังคงถูกดึงไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความต้องการน้ำตาลในประเทศครึ่งปีที่ผ่านมา สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การซื้อคืนน้ำตาลจากโควต้า ค จำนวน 1 ล้านกระสอบ ของกระทรวงอุตสาหกรรมผิดวัตถุประสงค์ในการใช้เงินกองทุนที่กำหนดให้ต้องนำเงินไปใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น ขณะเดียวกัน ปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายยังเกิดจากความผิดพลาดของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จัดสรรโควต้าไม่เพียงพอ ดังนั้น หากจะซื้อคืนน้ำตาลทรายควรเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาก่อน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 11 กรกฏาคม 2553

รมว.พาณิชย์ มั่นใจแก้ปัญหาไข่-น้ำตาลทรายได้ผล

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่า มาตรการที่เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่แพง และน้ำตาลทรายได้ผล และจะทำให้ราคาลดลง

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดูแลปัญหาราคาไข่ไก่ โดยให้ดูตั้งแต่ต้นทางทั้งระบบ ซึ่งเรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลต้นทุน ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลราคาปลายทาง อย่างไรก็ตาม ได้แก้ไขปัญหาต่อเนื่องทั้งโครงการไข่ธงฟ้า การลดต้นทุนแพคเกจจิ้งเป็นต้น โดยราคาขณะนี้เริ่มลดลงแล้ว ซึ่งวันพรุ่งนี้ตนจะประชุมติดตามเรื่องนี้อีกรอบ ซึ่งจากราคาที่ลดลง และอากาศที่เริ่มเย็นลงแล้ว ก็เชื่อมั่นว่าราคาไข่ไก่จะเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ส่วนเรื่องน้ำตาลทรายนั้น เชื่อมั่นว่าหลังคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กกร.ได้เข้ามาดูแลด้วย กฏหมายว่าด้วยสินค้าและบริการแล้ว ซึ่งจะเข้ามาดูข้อมูลเรื่องการขนย้ายน้ำตาลทรายในระดับโรงงาน ที่ต้องมีการแจ้งเรื่องสต็อก การขนย้ายต่อกรมการค้าภายใน และออกประกาศกรณี 24 จังหวัดชายแดน หากขนย้ายน้ำตาลทรายมากกว่า 1,000 กก.ต้องแจ้งให้ทราบนั้น และการประกาศราคาแนะนำ ก็เชื่อว่าจะทำให้กระทรวงพาณิชย์มีข้อมูลการดูแลน้ำตาลทรายทั้งระบบ จากเดิมที่ข้อมูลไม่มี เพราะอยู่ภายให้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็เชื่อว่าจะทำให้ สถานการณ์คลี่คลายไปได้

“กระทรวงพาณิชย์ดูแลราคาสินค้า แต่ที่ผ่านมามีข้อมูลไม่ครบ การใช้อำนาจ กกร.เข้าไปดูแล ทำให้มีข้อมูล และจะแก้ปัญหาได้” รมว.พาณิชย์ กล่าว

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า มาตรการของ กกร.แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เข้ามาดูแลปัญหา แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือหากคุมเข้มมากเกินไปแล้ว อาจจะทำให้ร้านค้าเล็ก ๆ เดือดร้อน และอาจทำให้ชาวบ้านที่ห่างไกลขาดแคลนน้ำตาลได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์จะวางแผนดูแลทั่วถึงเพียงใด

นายประเสริฐ กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาน้ำตาลทรายมีหลายเรื่อง ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ประสานกับหลายหน่วยงานแก้ไข ทั้งเรื่องดึงโควตา ค.มาจำหน่ายในประเทศ การร่วมมือกับกรมศุลกากรป้องกันการลักลอบส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน การดูแลไม่ให้โรงงานส่งออกอาหารนำน้ำตาบทรายโควตา ก.(ในประเทศ) ไปใช้ แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยหันไปนิยมการบริโภคน้ำตาลทรายทางอ้อม ผ่านเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปจากโรงงานมากขึ้น ทำให้การใช้ของโรงงานเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 จึงทำให้เกิดน้ำตาลตึงตัว แต่ยืนยันว่าน้ำตาลทรายไม่ขาดแคลนแน่นอน โดยต้นสัปดาห์นี้ กอน.จะเริ่มประมูลดึงโควตา ค.มาเพิ่มเป็นการจำหน่ายในประเทศอีก 1 ล้านกระสอบ เมื่อประกอบกับอากาศเริ่มเย็นลงแล้ว คาดว่าการใช้น้ำตาลภาคอุตสาหกรรมจะลดลง ปัญหาน้ำตาลก็จะคลี่คลาย

“ต้องยอมรับว่าจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว และอากาศที่ร้อย ทำให้การใช้น้ำตาลภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นเกินคาด แต่หลังจากนี้เมื่อเพิ่มทั้งปริมาณน้ำตาลในตลาด ในขณะที่ดีมานด์ลดลง ปัญหาก็จะคลี่คลาย”นายประเสริฐ กล่าว.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net   วันที่ 11 กรกฏาคม 2553

เร่งระบายน้ำตาลสู่ตลาด

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.ได้เชิญโรงงานน้ำตาลมาหารือเมื่อวันที่ 9 ก.ค. เพื่อกำชับโรงงานให้เร่งรัดการกระจายน้ำตาลไปสู่ประชาชนให้มากขึ้น และสั่งให้โรงงานจัดทำตัวเลขการขายน้ำตาลแยกเป็นการขายระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม และขายให้ภาคประชาชน เพื่อให้ทราบว่าน้ำตาลที่ออกไปแต่ละสัปดาห์นั้นเป็นส่วนของประชาชนเท่าใด เป็นของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเท่าใด ส่วนการจัดซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค เพื่อการส่งออก จำนวน 1 ล้านกระสอบ (1 แสนตัน)นั้น ในวันที่ 12 ก.ค. จะส่งหนังสือไปยังผู้ส่งออกทั้ง 25 ราย เพื่อเชิญมาเข้าร่วมประมูล หลังจากนั้นอีก 3 วันเปิดประมูลได้ โดยจะยึดราคาต่ำสุด และไล่ไปจนถึง 1 แสนตัน หากราคาสูงเกินไปอาจจะล้มประมูลแล้วเปิดประมูลใหม่

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 10 กรกฎาคม 2553

ศุลกากรใต้คุมเข้มลอบนำเข้าน้ำตาลทราย

เจ้าหน้าที่ศุลกากรตามแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย ที่ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรถยนต์ที่ผ่านเข้าออก หลังพบว่า มีความต้องการสั่งซื้อน้ำตาลทรายจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยหลบเลี่ยงศุลกากรมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในประเทศมาเลเซียถูกกว่าในไทย เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5-8 บาท

ศุลกากรปาดังเบซาร์ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 จนถึงขณะนี้ สามารถตรวจยึดน้ำตาลทรายเถื่อนได้แล้วกว่า 6,000 กิโลกรัม ซึ่งศุลกากรภาค 4 เน้นย้ำให้ทุกด่านพรมแดน เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าทุกชนิดอย่างเข้มงวด ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำตาลทราย รวมถึงกระท่อม ที่มีแนวโน้มลักลอบนำเข้มเพิ่มสูงต่อเนื่อง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 10 กรกฎาคม 2553

เคาะเกณฑ์ซื้อคืนน้ำตาลธกส.รุกพยุงสินค้าเกษตร

คณะทำงานพร้อมจัดซื้อน้ำตาลโควตา ค.คืน เคาะหลักเกณฑ์แล้ว คาดเริ่มประมูลรอบแรกสัปดาห์หน้า ธ.ก.ส.พร้อมลุยตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวในฐานะประธานคณะทำงานจัดซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค.คืนว่า คณะทำงานจัดซื้อได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดซื้อน้ำตาลคืนเพื่อให้มีความโปร่งใส โดยให้ผู้ค้าเพื่อการส่งออก (เทรดเดอร์) ทั้ง 25 รายประมูลขายน้ำตาลทรายเข้ามาในราคา ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ แหลมฉบังและศรีราชา ที่เป็นราคาตลาดโลก โดยยังไม่รวมค่าขนส่ง (เอฟโอบี) ในปริมาณไม่เกิน 1 ล้านกระสอบ โดยคณะทำงานขอสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธ ยกเลิกคำเสนอซื้อบางส่วนเพื่อให้เกิดความคล่องตัว คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดประมูลได้ภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ การเปิดประมูลไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องได้ครบ 1 ล้านกระสอบ เพราะถ้าไม่ได้ก็จะเปิดประมูลรอบใหม่ให้ได้ปริมาณน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการก่อนที่จะถึงช่วงเปิดหีบอ้อย ซึ่งเชื่อว่าน้ำตาลที่อยู่ในมือของเทรดเดอร์ทั้ง 25 รายน่าจะมีปริมาณประมาณ 1 ล้านกระสอบ เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำตาลตึงตัวเริ่มดีขึ้น หลังจากมีการประกาศซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค. 1 ล้านกระสอบ โดยสัปดาห์นี้มีน้ำตาลค้างกระดานปริมาณลดลงแสดงให้เห็นว่ามีน้ำตาลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.พร้อมเดินหน้าตามนโยบายของรัฐเรื่องการจัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาสินค้า เกษตร หรือกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตรเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้เกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งการเดินหน้ากองทุนดังกล่าวเชื่อว่าจะต้องได้รับการประสานความร่วมมือกับทางกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องของขั้นตอนและกระบวนการ รวมถึงการกำหนดราคาอ้างอิง.

 จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 10 กรกฎาคม 2553

แกะรอยน้ำตาลป่วน!!

ต้องการจะประมวลภาพความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมน้ำตาลตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 ถึงปัจจุบันอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ที่สนใจที่ติดตามข่าวน้ำตาล มองเห็นภาพสถานการณ์อุตสาหกรรมน้ำตาลตั้งแต่ต้นปีมาถึงขณะนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น? ทำไมราคาน้ำตาลผันผวนมาก และภาครัฐบาลแก้ปัญหานี้อย่างไร!

++ราคาพุ่งเพราะอุปทานในตลาดตึง หากยังจำได้เมื่อต้นปี 2553 ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกค่อยๆไต่เพดานสูงขึ้นมาเรื่อยๆ ต่อเนื่องในช่วงระยะสั้น โดยราคาน้ำตาลทรายดิบที่ส่งมอบเดือนมีนาคม 2553 พุ่งไต่ระดับ 29-30 เซ็นต์/ปอนด์ สำหรับราคาน้ำตาลทรายขาวซื้อขายล่วงหน้าตลาดลอนดอนเดือนมีนาคม อยู่ที่ 741.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาส่งมอบเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 722.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน โดยสาเหตุที่ราคาน้ำตาลเริ่มไต่ระดับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเทศต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าราคาน้ำตาลอาจขยับสูงขึ้นได้อีกเพราะปัจจุบันอุปทานในตลาดยังถือว่าตึงตัวอยู่ ขณะที่อุปสงค์จากประเทศผู้นำเข้ารายหลักๆ ยังมีสูง เช่น อินเดีย ปากีสถาน และเม็กซิโก สังเกตได้จากที่ผู้นำเข้าต่างวางออร์เดอร์ซื้อน้ำตาลดิบล่วงหน้ากันเป็นแถว

สอดคล้องกับที่ผู้ประกอบการจากวงการผลิตน้ำตาลทรายในประเทศไทยก็ประเมินว่าปี 2553 ราคาน้ำตาลยังเป็นช่วงขาขึ้นอยู่ เมื่อดูจากสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลกแล้ว เพราะขณะนี้อินเดียกำลังผลิตลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากที่เมื่อต้นปี 2552 มองว่าจะมีปริมาณน้ำตาล 22 ล้านตัน แต่พอหีบอ้อยไปแล้วเหลือปริมาณน้ำตาลไม่ถึง 15ล้านตัน ทำให้อินเดียต้องนำเข้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยส่งออกน้ำตาลไปอินเดียแล้ว 250,000 ตัน ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลในบราซิลก็มีออกมาไม่มากจากที่คาดการณ์ว่าจะมีมากถึง 32-33 ล้านตัน แต่สามารถทำได้เพียง 28 ล้านตัน ส่วนปากีสถานจากที่ไม่ต้องนำเข้าน้ำตาลก็ต้องนำเข้า ส่วนอินโดนีเซียก็มีการนำเข้าน้ำตาลเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลไม่เป็นไปตามเป้าที่แต่ละประเทศตั้งไว้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภัยธรรมชาติ มีทั้งฝนตกน้ำท่วม บางพื้นที่แล้งจัด บวกกับปริมาณการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น รวมถึงมีการเก็งกำไรจากน้ำตาลกันมากช่วงที่ราคาพุ่ง

++โควตา ก.ป่วนจนขาดตลาด จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหา "น้ำตาลโควตา ก.ป่วนหนัก" เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกต่างเฮโลหันมาใช้น้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) กันเป็นแถว เพราะซื้อได้ถูกกว่า และเพื่อเลี่ยงต้นทุนพุ่งหากต้องใช้น้ำตาลโควตา ค. (โควตาส่งออก)อยู่เช่นเดิมเพราะราคาซื้อขายอิงราคาตลาดโลก ในขณะที่ผู้ประกอบการในภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในประเทศ ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยก็พากันกักตุนน้ำตาลโควตา ก. ขณะที่ภาคครัวเรือนซื้อเพิ่มมากว่า 1 กิโลกรัม/ครั้ง โดยมีโมเดิร์นเทรดเป็นตัวชี้วัดกำลังซื้อดังกล่าวเมื่อน้ำตาลถมเข้าโมเดิร์นเทรดเท่าไหร่ก็ไม่พอ จนกรณีนี้มีการตั้งข้อสังเกตจากวงการน้ำตาลว่ามีการขายน้ำตาลหลังร้านโมเดิร์นเทรดด้วยหรือไม่!

นอกจากนี้ความหวานยังแพร่ระบาดไปทั่วรอยตะเข็บชายแดนไทย เมื่อมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลโควตา ก.ไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า กัมพูชา ลาว เพราะผู้ค้าที่ลักลอบส่งออกนอกระบบจะขายได้โดยมีส่วนต่างของราคาที่สูงกว่ากันตั้งแต่ 2-5 บาท/กิโลกรัม โดยราคาขายปลีกน้ำตาลโควตา ก. ในประเทศอยู่ที่ 23.50 บาท/กิโลกรัม เปรียบเทียบกับราคาน้ำตาลโควตา ก.ที่ถูกลักลอบส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาตั้งแต่ 25-27 บาท/กิโลกรัม ซึ่งขณะนี้ลูกค้าที่เคยซื้อน้ำตาลโควตา ก. มีการซื้อในปริมาณที่มากกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว ขณะที่ลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่เคยซื้อน้ำตาลโควตา ค. (น้ำตาลส่งออก) ก็หยุดซื้อ บางรายก็ซื้อในปริมาณที่ลดลง แล้วหันไปซื้อน้ำตาลตามรอยตะเข็บชายแดนแทน เหล่านี้คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ"ขาด"

++ราคาอ่อนตัวลงมาแต่ยังยืนขาขึ้น ล่าสุดแม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะผันผวนโดยราคาน้ำตาลทรายดิบเดือนตุลาคมปี 2553 อยู่ที่ 16.5-17 เซ็นต์/ปอนด์ ราคาน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 500-505 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และราคาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำตาลทรายดิบเดือนมีนาคมปี 2554 อยู่ที่ 17-17.3 เซ็นต์/ปอนด์ และราคาน้ำตาลทรายขาวซื้อขายล่วงหน้าเดือนมีนาคมปี 2554 อยู่ที่ 470-475 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ก็ถือว่าเป็นราคาน้ำตาลที่ยังยืนอยู่ในช่วงขาขึ้น เมื่อเทียบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกเมื่อปี 2552 ที่ราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 12-27 เซ็นต์/ปอนด์ และราคาน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 350-710 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน โดยในปีดังกล่าวจะมีช่วงปลายปีที่ราคาดีดตัวสูงขึ้นระยะสั้น จนมาไต่เพดานราคาสูงสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์- มีนาคมปี 2553 อีกครั้ง

โดยเหตุผลที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงมาเกิดจาก กองทุนเก็งกำไรน้ำตาลเทขายน้ำตาลออกมามากอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะที่ผ่านมา และที่ต้องออกมาเทขายในช่วงนั้น เพราะตอนที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูง ก็มีการบริโภคน้ำตาลน้อยลง ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคเมื่อราคาสูงก็ซื้อน้อยลง ขณะที่พื้นฐานของตลาดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป จากที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำตาลจะลดลงมาก แต่เมื่อมีการประเมินใหม่กลับพบว่าบางประเทศเช่นอินเดียลดลงไม่มากเท่าที่ตั้งเป้าไว้

++พาณิชย์/อุตฯแห่ถมน้ำตาลลงระบบ อย่างไรก็ตามจากปัญหาน้ำตาลโควตา ก.ปั่นป่วน จนถึงขั้นขาดแคลนหนนี้ทำให้ภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ต้องลงมาแก้ปัญหา เริ่มจากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ต้องประกาศเพิ่มโควตา ก.จาก 19 ล้านกระสอบ เพิ่มเป็น 21และ22 ล้านกระสอบ ในเวลาต่อมา บวกกับในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นในช่วงรอยต่อไตรมาส 1 ไตรมาส 2 ปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ก็ขอปันน้ำตาล 1 ล้านกระสอบจากกอน. มาบริหารเองเพื่อแก้ปัญหาให้น้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศลงสู่ระบบได้เร็วขึ้นอีกทาง แต่ผ่านไป 3 เดือน กระทรวงพาณิชย์ก็ยังบริหารน้ำตาลส่วนนี้ไปไม่ถึงไหน เพราะน้ำตาลก็ยังขาดและบางพื้นที่ในเขตกทม.และปริมณฑลยังมีราคาพุ่งสูงตั้งแต่ 27-30 บาท/กิโลกรัมแล้ว

เรื่องนี้มีผู้แทนจำหน่ายน้ำตาลรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ตอนช่วงแรกๆที่มีการบริหารน้ำตาลโควตาพาณิชย์นั้น ถ้าโรงงานให้ความร่วมมือทั้งหมด ก็จะมีคนที่ได้ประโยชน์แต่พอเกมมันเปลี่ยนเนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง เลยไม่มีใครอยากจะไปซื้อน้ำตาลที่โควตาพาณิชย์ ค้างกระดานอยู่ เพราะไม่มีส่วนต่างราคาให้เล่น ตรงนี้หมายถึงว่าถ้าราคาในตลาดโลกดี ยี่ปั๊วสามารถซื้อจากโควตาพาณิชย์เพื่อลักลอบส่งออกได้เนื่องจากจะมีส่วนต่างของราคามาก โดยเฉพาะราคาเมื่อช่วงไตรมาสแรกปี 2553 ราคาในประเทศกัมพูชาน้ำตาลทรายขาวสูงถึง750-760 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือ24.47 บาท/กิโลกรัม คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.2 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ(760คูณ32.2 เท่ากับ 24.47บาท/กก.) ซึ่งสูงกว่าราคาควบคุมในไทย ณ หน้าโรงงานอยู่ที่ 20 บาท/กิโลกรัม เท่ากับตันละ20,000 บาท/กิโลกรัม หรือราคา 621 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ทำให้ราคาต่างกันประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ผู้แทนจำหน่ายน้ำตาลกล่าว

++กัดฟันซื้อโควตา ค.กลับขาดทุน300ล. แม้แต่กระทรวงพาณิชย์เองก็ออกมายอมรับว่าบริหารน้ำตาลโควตาพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ซื้อน้ำตาลโควตา ค. กลับคืนมา อีก1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศขาด แม้ กท.จะต้องซื้อกลับมาในราคาขาดทุน เพราะเทรดเดอร์จะต้องนำน้ำตาลมาขายโดยวิธีประมูลให้กับกท.ในราคาตลาดโลกบวกไทยพรีเมียร์ จึงมีการคาดการณ์ว่าจะทำให้การซื้อน้ำตาลโควตา ค.กลับมาในราคา 22-23 บาท/กิโลกรัม

อย่างไรก็ตามภายในสัปดาห์นี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะมีการเสนอซื้อน้ำตาลโควตา ค. จากเทรดเดอร์ 24 ราย หลังจากนั้นคณะกรรมการจัดจำหน่ายการกระจายน้ำตาลที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะดำเนินการกระจายน้ำตาลไปตามช่องทางปกติโดยขายน้ำตาลดังกล่าวให้ยี่ปั๊ว 15-20 ราย ในราคาควบคุมหน้าโรงงานที่ 19-20 บาท/กิโลกรัม เท่ากับว่ากท.จะต้องขาดทุนประมาณ 300 ล้านบาท

++ระวังไอ้โม่งลอบส่งออกไปเพื่อนบ้าน สุดท้ายแล้วหากปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ที่ภาครัฐถมเข้ามาในระบบจนปีนี้มีน้ำตาลบริโภคในประเทศสูงถึง 23 ล้านกระสอบก็ต้องติดตามดูว่าที่สุดแล้วปริมาณน้ำตาลโควตา ก. มีล้นตลาดหรือไม่ พร้อมกับดูราคาน้ำตาลในตลาดโลกด้วย หากราคาเป็นที่จูงใจก็จะเป็นการเปิดช่องให้มีขบวนการ "ไอ้โม่ง" งาบน้ำตาลเพื่อลักลอบนำน้ำตาลโควตา ก. ส่งออกเป็นโควตา ค.ไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านในราคาตลาดโลกได้อีกหวังกินส่วนต่าง

ดังนั้นถึงเวลาหรือยัง ที่ภาครัฐบาลควรจะมากำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศใหม่ โดยกำหนดให้ราคาลอยตัวตามตลาดโลกได้แล้ว

เกาะติดผลประชุมกกร. เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2553 นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) เปิดเผยหลังการประชุมว่าที่ประชุมมีมติให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ. 2542 กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัวและมีราคาสูง โดยมาตรการดังกล่าวจะทำให้ทราบปริมาณการใช้น้ำตาลทรายในตลาดและราคาแนะนำขายปลีกที่ชัดเจน โดยกกร.จะเริ่มออกประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทันที โดยมาตรการที่กกร. กำหนดขึ้นประกอบด้วย

1. กำหนดราคาจำหน่ายปลีกแนะนำทั่วประเทศ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กจร.) กำหนดราคาจำหน่ายปลีกในจังหวัด โดยราคาจะต้องไม่เกินราคาแนะนำสัดส่วน 5% ในกรณีที่กำหนดราคาจำหน่ายปลีกเกินราคาแนะนำเกิน 5% ให้จังหวัดเสนอความเห็นชอบจากกกร.ก่อนออกประกาศ หากจำหน่ายเกินมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. โรงงานน้ำตาลทั้งหมดจะต้องแจ้งปริมาณผลิตการจำหน่ายภายในประเทศ การส่งออกปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บภายใน 7 วันและทุกเดือน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีคุมสินค้า และให้แจ้งรายชื่อผู้ซื้อ/ครั้งตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป โดยแยกเป็นกลุ่มผู้ค้าส่งและและผู้ใช้โดยจัดทำเป็น 2 งวด/เดือน

3.ให้มีการควบคุมการขนย้ายน้ำตาลทรายหากมีการขนย้ายตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไปใน 24 จังหวัด 107 อำเภอ และที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านต้องขออนุญาต ขนย้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 9 กรกฎาคม 2553

ยรรยง ลงใต้ตรวจราคาน้ำตาล-ไข่

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จ.สงขลา ตรวจสอบราคาน้ำตาล-ไข่ หลังปรับตัวสูงขึ้น

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน และ คณะติดตามอีกจำนวนหนึ่ง เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายและไข่ภายในตลาดสดพลาซ่า เทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังราคาน้ำตาลทรายและไข่มีราคาแพงอยู่ในขณะนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่คอยให้การต้อนรับและนำพาคณะเดินตรวจสอบราคาสินค้าดังกล่าว หลังจากเดินตรวจสอบและพบปะพูดคุยสอบถามกับบรรดาร้านค้า พ่อค้าแม่ค้าแล้วเสร็จ นายยรรยง ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้เดินทางมาเพื่อตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายและไข่ ที่ขณะนี้มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาลทรายนั้น จากการสอบถามร้านค้าผู้จำหน่าย เขาระบุว่า ปริมาณน้ำตาลทรายขาวที่สั่งมาจำหน่ายนั้น ขณะนี้มีปริมาณที่ลดน้อยลง โดยเขาจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 27 บาท ซึ่งก็ใกล้เคียงกับราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

ส่วนราคาไข่นั้น ร้านค้าที่จำหน่ายเขาก็ได้ติดป้ายบอกราคาไว้ทุกเบอร์ โดยรวมราคายังสูงอยู่ แต่ไม่มากนัก ยังพอรับได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาไข่หน้าฟาร์มก็เริ่มปรับลดลงแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีก มั่นใจว่าอีกไม่นานคงจะเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะเดียวกันทางกระทรวงพาณิชย์ ก็จะมีโครงการธงฟ้าราคาประหยัดกระจายทั่วประเทศ เพื่อยื่นมือเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ซื้อสินค้าในราคาถูกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร้านค้าจำหน่ายไข่ไก่และไข่เป็ดในตลาดสดพลาซ่า เทศบาลนครหาดใหญ่ จากการตรวจสอบพบว่า ไข่ไก่เบอร์ 0 จำหน่าย 10 ฟอง ราคา 38 บาท เบอร์ 2 จำหน่าย 10 ฟอง ราคา 36 บาท เบอร์ 3 จำหน่าย 10 ฟอง ราคา 35 บาท เบอร์ 4 จำหน่าย 10 ฟอง ราคา 34 บาท และ เบอร์ 5 จำหน่าย 10 ฟอง ราคา 33 บาท ส่วนไข่เป็ด จำหน่าย 10 ฟอง ราคา 40 บาท ขณะที่น้ำตาลทรายขาว จำหน่ายอยู่ในราคากิโลกรัมละ 27 บาท

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 กรกฎาคม 2553

ปลัดก.พาณิชย์ เตรียมขอความร่วมมือผู้ค้าส่งลดราคาขายส่งน้ำตาลทราย เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เตรียมขอความร่วมมือผู้ค้าส่งลดราคาขายส่งน้ำตาลทราย เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ขณะที่ราคาไข่ไก่มีแนวโน้มปรับตัวลง โดยราคาจำหน่ายหน้าฟาร์มลดลงมาฟองละ 10 - 15 สตางค์แล้ว

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่สำรวจราคาน้ำตาลทรายและราคาไข่ไก่ ที่ตลาดตันหยง จังหวัดสงขลา ว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่รับซื้อน้ำตาลทรายจากผู้ค้าส่งในปริมาณที่ลดลง

เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยน้ำตาลทรายกระสอบละ 50 กิโลกรัม ปัจจุบันราคา 1,340 บาท และราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 27 บาท ซึ่งผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลไม่ให้ราคาสูงขึ้นไปกว่านี้

กระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือกับผู้ค้าส่งในการลดราคาขายส่งน้ำตาลทรายลง เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และดูแลน้ำตาลทรายให้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่สถานการณ์ราคาไข่ไก่ยังคงทรงตัวราคาหน้าฟาร์มลดลงมาฟองละ 10 - 15 สตางค์ ทำให้ราคาขายหน้าฟาร์มฟองละ 3.10 - 3.25 บาท ส่วนราคาขายปลีกไข่ไก่ เบอร์ 2 ฟองละ 3.40 - 3.50 บาท , ไข่ไก่ เบอร์ 3 ราคาหน้าฟาร์มฟองละ 3 - 3.15 บาท และราคาขายปลีกฟองละ 3.40 บาท ซึ่งราคาไข่ไก่มีแนวโน้มลดลง

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า จากมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงพาณิชย์ โดยการนำไข่ไก่ธงฟ้ามาจำหน่ายให้กับประชาชน โดยได้เพิ่มปริมาณไข่ไก่ธงฟ้าจำหน่ายทั่วประเทศเป็นวันละ 1 ล้านฟอง เชื่อว่า จะช่วยบรรเทาปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนและตรึงราคาไข่ไก่ไปในตัวด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 9 กรกฎาคม 2553

พณ.ออกกฏคุมน้ำตาล สั่งโรงงานแจ้งสต็อกใน7วัน ห้ามขายเกินราคาแนะนำ5%

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์(พณ.) กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้โรงงานน้ำตาลแจ้งปริมาณการผลิต การจำหน่ายในประเทศ การส่งออก สต็อกคงเหลือ และสถานที่เก็บ ภายใน 7 วัน รวมทั้งให้ส่งรายงานทุกเดือน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีแจ้งรายชื่อผู้ซื้อ กลุ่มค้าส่ง ตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป โดยให้แจ้ง 2 งวดต่อเดือน รวมทั้งผู้ที่ครอบครองน้ำตาลตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บเป็นประจำทุกเดือน

นอกจากนี้ผู้ที่เคลื่อนย้ายน้ำตาลตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป เข้ามาในเขต 24 จังหวัด และ 107 อำเภอ ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านต้องขออนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน เพื่อป้องกันการลักลอบการส่งออก

"นอกจากนี้ยังมีมติให้กำหนดราคาขายปลีกแนะนำใน 68 จังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่มีการควบคุมราคาสูงสุด ให้ขายน้ำตาลทรายเกินราคาแนะนำได้ไม่เกิน 5% เช่น จ.แม่ฮ่องสอน ราคาแนะนำอยู่ที่กิโลกรัมละ 25.50 บาท และยะลากิโลกรัมละ 26 บาท เป็นต้น สำหรับการควบคุมราคาสุงสุดน้ำตาลปัจจุบันอยู่ใน กทม.และปริมณฑล โดยกำหนดราคาสูงสุดไว้ที่กิโลกรัมละ 23.50 บาท ถ้าขายเกินราคามีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งมาตรการที่ออกมานี้เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขายน้ำตาลราคาสูงเกินไปได้" นางพรทวา กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 กรกฎาคม 2553

คาดประมูลน้ำตาลล้านกระสอบได้สัปดาห์หน้า

คณะทำงานซื้อน้ำตาลกำหนดหลักเกณฑ์การซื้อน้ำตาลคืน 1 ล้านกระสอบ ที่ราคาเอฟโอบี พร้อมสงวนสิทธิ์การซื้อหากราคา ณ วันประมูลสูงเกินไป คาดเปิดประมูลนัดแรกได้ในสัปดาห์หน้า

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานจัดซื้อได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการการจัดซื้อน้ำตาลทราย โดยจะให้ผู้ขายจากต่างประเทศ (เทรดเดอร์) มาประมูลขายในราคา ณ ท่าเรือ (เอฟโอบี) และบวกค่าพรี่เมี่ยมน้ำตาลของไทย ที่ 125 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปริมาณไม่เกิน 1 แสนตัน และคณะทำงานการจัดซื้อสามารถสงวนสิทธิ์ ปฏิเสธ ยกเลิก การซื้อได้ หากราคาในวันประมูลอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้สามารถซื้อน้ำตาลได้ในราคาที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ คณะทำงานจะส่งหนังสือเชิญประมูลให้กับเทรดเดอร์ 25 ราย ให้เข้าร่วมประมูล ภายในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. 2553 ซึ่งจะเป็นการบอกเทรดเดอร์ล่วงหน้าก่อนการประมูล 3 วัน โดยจะรับซื้อน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่ผลิตในฤดูกาลผลิตปี 2552/2553 ที่เป็นของประเทศไทย เพื่อให้ได้น้ำตาลใหม่ ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่หากได้ไม่ครบจำนวนก็จะเปิดประมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ตามปริมาณที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม หากน้ำตาลที่เป็นส่วนของเมืองไทยหมดอาจจะต้องนำเข้าน้ำตาลทรายจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่ใกล้สุดคงจะเป็นออสเตรเลีย แต่คาดว่าต่อไปสถานการณ์น้ำตาลจะดีขึ้น และคงไม่ต้องถึงขั้นนำเข้าจากประเทศอื่น

ทั้งนี้ การรับซื้อจะประมูลตรงกับบริษัทเทรดเดอร์และไม่ผ่านนายหน้า เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ซึ่งเท่าที่สอบถามกับเทรดเดอร์ทั้ง 25 ราย พบว่ามีน้ำตาลที่ทำสัญญาซื้อกับโรงงานแล้ว แต่ยังอยู่ในเมืองไทยมากกว่า 1 ล้านกระสอบ โดยการรับซื้อน้ำตาลจากเทรดเดอร์จะพิจารณาเปรียบเทียบราคาน้ำตาลของแต่ละราย โดยจะรับซื้อจากเทรดเดอร์ที่เสนอราคาต่ำที่สุดก่อน และไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำตาลจากการประมูลน้ำตาลครั้งเดียว ซึ่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลจะเปิดประมูลใหม่ก็ได้

นอกจากนี้ จะประสานงานกับคณะกรรมการจำหน่ายน้ำตาล ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานว่าสถานการณ์แต่ละช่วงต้องการน้ำตาลมากน้อยเพียงใด ซึ่งเมื่อกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายประมูลซื้อน้ำตาลมาแล้วจะต้องเร่งขายทันทีเพื่อให้น้ำตาลกระจายถึงผู้บริโภค

สำหรับสถานการณ์น้ำตาลตึงตัวเริ่มดีขึ้นหลังจากมีการประกาศซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค. 1 ล้านกระสอบ เพราะมีผลให้ผู้ที่กักตุนน้ำตาลไว้เริ่มกังวลว่าหากกักตุนต่อไปจะไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งในสัปดาห์นี้น้ำตาลค้างกระดานมีปริมาณลดลงแสดงให้เห็นว่ามีน้ำตาลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยในวันที่ 5 ก.ค.2553 มีน้ำตาลค้างกระดาน 2.07 ล้านกระสอบ และในวันที่ 8 ก.ค.2553 มีน้ำตาลค้างกระดาน 1.43 ล้านกระสอบ แบ่งเป็นน้ำตาลโควตา ก ของโรงงาน 8.34 แสน กระสอบ และโควตา ก ของกระทรวงพาณิชย์ 5.97 แสนกระสอบ และในสัปดาห์นี้มีการขึ้นงวดจำหน่ายน้ำตาล 4..04 แสนกระสอบ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 กรกฎาคม 2553

นำเข้าน้ำตาลจิงโจ้แก้ขาดแคลน

สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายเผยแนวคิดนำเข้าน้ำตาลทรายออสเตรเลีย-บราซิลแก้ปัญหาราคาใน ปท.ตึงตัว

วันนี้ (9ก.ค.) นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานจัดซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค. (เพื่อส่งออก) คืน 1 ล้านกระสอบ ว่า สอน.มีแนวคิดที่จะนำเข้าน้ำตาลทรายจากประเทศออสเตรเลีย และ บราซิลเพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัว หากผู้ค้าเพื่อการส่งออก (เทรดเดอร์) 25 ราย ไม่มีน้ำตาลทรายเพียงพอต่อความต้องการ หรือเทรดเดอร์เสนอขายราคาสูงเกินจนเป็นภาระของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมากไป เบื้องต้น หลักเกณฑ์และวิธีการจัดซื้อน้ำตาลคืนจะอยู่ในราคาระดับน้ำตาลทรายที่ท่าเรือกรุงเทพฯ แหลมฉบัง และศรีราชา ซึ่งเป็นราคาตลาดโลกยังไม่รวมค่าขนส่ง(เอฟโอบี)

ทั้งนี้แนวทางการนำเข้าน้ำตาลทรายจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะเหตุการณ์ในกรณีที่มีการวางแผนผิดพลาดเกี่ยวกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงผิดปกติ และน้ำตาลโควตา ค. (ส่งออก) ได้ทำสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว แต่หากไม่มีความต้องการที่มากผิดปกติและมีการประเมินความต้องการได้ถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้า เพราะในแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตน้ำตาลเกินความต้องการอยู่แล้ว แบ่งเป็นโควตา ก. จำหน่ายในประเทศ 23 ล้านกระสอบ โควตา ข.ขายต่างประเทศเพื่อเป็นราคาอ้างอิงคำนวณราคาอ้อย 8 ล้านกระสอบ และ โควตา ค. 38 ล้านกระสอบ.

จาก http://dailynews.co.th  วันที่ 9 กรกฎาคม 2553

พาณิชย์ลงหาดใหญ่พบน้ำตาล-ไข่ไก่เริ่มขาดแคลนแล้ว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์พร้อมอธิบดีกรมการค้าภายในลงพื้นที่บริเวณตลาดสดพลาซ่าเทศบาลนครหาดใหญ่พบน้ำตาลและไข่ไก่สดเริ่มขาดตลาดแล้ว

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยอธิบดีกรมการค้าภายในและคณะลงพื้นที่บริเวณตลาดสดพลาซ่า เทศบาลนครหาดใหญ่ ตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายและไข่ไก่สด ซึ่งจากการสอบถามบรรดาพ่อค้าแม่ค้าภายในตลาดสดพลาซ่าพบว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดการค้าน้ำตาลทรายและไข่ไก่สดของจ.สงขลา แม้จะมีการปรับราคาสูงขึ้นกว่า 10 บาท แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 – 2 วันที่ผ่านมา น้ำตาลทราย และ ไข่ไก่สดในพื้นที่จ.สงขลา โดยเฉพาะอ.หาดใหญ่ น้ำตาลทรายและไข่ไก่สดเริ่มจะขาดตลาดแล้ว ซึ่งบรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้เรียกร้องให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายในช่วยเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายและไข่ไก่สด

นายยรรยง กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ในสายงานที่รับผิดชอบได้เร่งแก้ไขปัญหากันอยู่ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา พบว่ายังไม่วิกฤติอย่างไรก็ตามคาดว่า ตลาดน้ำตาลทรายและไข่ไก่สดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ จากตลาดน้ำตาลทรายที่เริ่มขาดตลาดและมีภาวะราคาพุ่งสูงขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรบริเวณแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ต้องทำงานหนักขึ้น โดยในช่วงวันสุดสัปดาห์เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรถยนต์ทุกคันที่ผ่านเข้ามาทางด่านชายแดนด้านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา หลังพบว่ามีกลุ่มผู้ค้าคนกลางในอ.หาดใหญ่มีการสั่งเครือข่ายลักลอบนำเข้าน้ำตาลทรายเข้ามาจากประเทศมาเลเซียโดยหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรมากขึ้นเพราะน้ำตาลมาเลเซียถูกว่าของไทย

นายวิสุทธิ์ สุขจันทรา หัวหน้าชุดปฏิบัติการด่านตรวจปาดังเบซาร์ กล่าวว่า ในช่วงราคาน้ำตาลทรายในประเทศผันผวนและขาดตลาดทำให้มีการลักลอบนำน้ำตาลทรายจากมาเลเซียเข้ามาในประเทศมาก ซึ่งตั้งแต่เดือนธ.ค. 2552-ก.ค.2553 พบว่าสถิติการจับกุมของเจ้าหน้าที่ศุลกากรบริเวณด่านปาดังเบซาร์สามารถจับกุมผู้ลักลอบนำน้ำตาลทรายเข้ามาประเทศได้จำนวน 21 ราย น้ำหนัก กว่า 6,100 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 120,900 บาท

โดยเฉพาะเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาสามารถจับได้ 2 ราย น้ำตาลทรายน้ำหนัก 96 กิโลกรัม ซึ่งหากปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศยังคงมีปัญหาอย่างต่อเนื่องคาดว่า กลุ่มผู้ลักลอบนำเข้าน้ำตาลทรายจากมาเลเซียก็จะเพิ่มทวีความรุนแรงในการลักลอบนำน้ำตาลทรายเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 กรกฎาคม 2553

คุมน้ำตาลทั้งระบบขายแพงเจอคุก

กกร. ออกมาตรการดูแลน้ำตาลเพิ่มเติม คุมแหล็กทั้งโรงงาน ผู้จำหน่าย ค้าส่ง ผู้ครอบครอง และการขนย้ายตามแนวชายแดน มั่นใจแก้ไขปัญหาตึงตัวและแพงได้แน่ พร้อมให้แต่ละจังหวัดประกาศราคาแนะนำทั่วประเทศ บวกราคาเพิ่มได้ไม่เกิน 5% ขายเกินนี้เจอคุก

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีมติให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและมีราคาแพง ซึ่งคาดว่าหลังจากนำมาตรการมาใช้จะทำให้ปัญหายุติลงได้ เพราะจากนี้ไปจะสามารถติดตามตรวจสอบได้ว่าน้ำตาลทรายที่ผลิตออกมาถูกขายไปที่ไหน ไปอยู่ที่ใดบ้าง โดยกกร.จะเร่งออกประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทันที

โดยมาตรการที่ออกมา กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทราย จะต้องแจ้งปริมาณการผลิต การจำหน่ายภายในประเทศ การส่งออก ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บภายใน 7 วัน และทุกเดือน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีคุมสินค้า และให้แจ้งรายชื่อผู้ซื้อที่มีปริมาณครั้งละตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป โดยแยกเป็นกลุ่มผู้ค้าส่งและผู้ใช้ โดยให้จัดทำเป็น 2 งวดต่อเดือน

ส่วนผู้แทนจำหน่าย ผู้ค้าส่ง กำหนดให้แจ้งรายชื่อผู้ซื้อที่มีปริมาณตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป จัดทำเป็น 2 งวดต่อเดือน ผู้ครอบครองน้ำตาลทรายตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป จะต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บเป็นประจำทุกเดือน และผู้ประสงค์จะขนย้ายน้ำตาลทราย 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป โดยขนเข้ามาในเขตจังหวัด 24 จังหวัด ใน 107 อำเภอ ที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องขออนุญาตขนย้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

สำหรับปัญหาด้านราคา ได้กำหนดราคาจำหน่ายปลีกแนะนำทั่วประเทศ และให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กจร.) กำหนดราคาจำหน่ายปลีกในจังหวัด โดยราคาจะต้องไม่เกินราคาแนะนำ 5% ในกรณีที่กำหนดราคาจำหน่ายปลีกเกินราคาแนะนำเกิน 5% ให้จังหวัดเสนอความเห็นชอบจากกกร. ก่อนออกประกาศ เช่น แม่ฮ่องสอน ราคา 25.50 บาท จะบวกราคาเพิ่มได้อีก 5% หรือบวกเพิ่มได้อีก 1.275 บาท

ทั้งนี้ เมื่อแต่ละจังหวัดมีราคาแนะนำขายปลีกแล้ว หากมีการจำหน่ายเกินไปกว่าราคาแนะนำบวก 5% จะมีความผิดตามกฎหมาย หากถูกจับกุมได้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกรมการค้าภายในจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ กกร. ได้เคยมีมติให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมแล้ว โดยมาตรการที่ดำเนินการ คือ กำหนดราคาขายปลีกควบคุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำตาลตึงตัวได้

พร้อมกันนี้ กกร.ยังได้มีมติให้ยกเลิกประกาศกกร. ที่กำหนดมาตรการควบคุมการขนย้ายหัวมันสำปะหลังและมันเส้น ที่เดิมต้องขออนุญาตทำการขนย้ายเข้าออกในพื้นที่จังหวัดที่กำหนด เพราะสมาคมมันสำปะหลังได้ร้องขอให้ยกเลิก หลังจากปีนี้ผลผลิตน้อย และมีเพลี้ยแป้งระบาดเป็นอุปสรรคในการจัดหาวัตถุดิบและเพิ่มค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมในประเทศ

นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับโควตาน้ำตาลพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับการจัดสรรมา 8 แสนกระสอบ และขึ้นกระดานแล้ว 6 แสนกระสอบนั้น คาดว่าภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ จะกระจายได้หมด และจะทำให้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลนและมีราคาแพงหมดไป

จาก http://www.manager.co.th  8 กรกฎาคม 2553

กกร.ออกมาตรการคุมนํ้าตาล

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและมีราคาแพง คาดว่าหลังจากนำมาตรการ มาใช้จะทำให้ปัญหายุติลงได้ เพราะจากนี้ไปจะสามารถติดตามตรวจสอบได้ว่า น้ำตาลทรายที่ผลิตออกมาถูกขายไปที่ไหน อยู่ที่ใดบ้าง โดยกกร.จะเร่งออกประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทันที

สำหรับมาตรการที่ออกมา กำหนดให้โรงงานน้ำตาลทราย จะต้องแจ้งปริมาณการผลิต การจำหน่ายภายในประเทศ การส่งออก ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บภายใน 7 วัน และทุกเดือน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีคุมสินค้า และให้แจ้งรายชื่อผู้ซื้อที่มีปริมาณครั้งละตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป

ส่วนผู้แทนจำหน่าย ผู้ค้าส่ง กำหนดให้แจ้งรายชื่อผู้ซื้อที่มีปริมาณตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป จัดทำเป็น 2 งวดต่อเดือน ผู้ครอบครองน้ำตาลทรายตั้งแต่ 10,000 กิโล กรัมขึ้นไป จะต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บเป็นประจำทุกเดือน และผู้ประสงค์จะขนย้ายน้ำตาลทราย 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป โดยขน เข้ามาในเขตจังหวัด 24 จังหวัด ใน 107 อำเภอ ที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องขออนุญาตขนย้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

สำหรับปัญหาด้านราคาได้กำหนดราคาจำหน่ายปลีกแนะนำทั่วประเทศ และให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กจร.) กำหนดราคาจำหน่าย ปลีก ในจังหวัด โดยราคาจะต้องไม่เกินราคาแนะนำ 5% ในกรณีที่กำหนดราคาจำหน่ายปลีกเกินราคาแนะนำเกิน 5% ให้จังหวัดเสนอความเห็นชอบจาก กกร. ก่อนออกประกาศ เช่น แม่ฮ่องสอน ราคา 25.50 บาท จะบวกราคาเพิ่มได้อีก 5% หรือบวกเพิ่มได้อีก 1.275 บาท

ทั้งนี้เมื่อแต่ละจังหวัดมีราคาแนะนำขายปลีกแล้ว หากมีการจำหน่ายเกินไปกว่าราคาแนะนำบวก 5% จะมีความผิดตามกฎหมาย หากถูกจับกุมได้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท.

จาก http://www.dailynews.co.th  8 กรกฎาคม 2553

กกร.ออกมาตรการแจ้งปริมาณเคลื่อนย้ายน้ำตาลทรายแก้ปัญหาขาดแคลน

กรุงเทพฯ 8 ก.ค. - กกร.ออกมาตรการให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องแจ้งปริมาณการเคลื่อนย้าย เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลนและมีราคาแพงในบางพื้นที่

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุมมีมติออกมาตรการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัว และบางพื้นที่มีราคาแพง บางพื้นที่ขาดแคลน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค

ทั้งนี้ กกร.มีมติออกมาตรการควบคุม ให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องแจ้งปริมาณการผลิต การจำหน่าย และส่งออก คงเหลือในโกดังภายใน 7 วัน โดยให้ส่งเอกสารกับเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งจัดทำบัญชีควบคุมสินค้า แจ้งรายชื่อผู้ซื้อ ตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมเป็นต้นไป โดยแยกเป็นผู้ค้าส่งและผู้ใช้ ใน 2 งวด/เดือน นอกจากนี้ ในกลุ่มตัวแทนและผู้ค้าส่งจะต้องแจ้งรายชื่อผู้ซื้อที่ซื้อในปริมาณ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป ใน 2 งวด/เดือน เช่นกัน

ส่วนผู้ครอบครองน้ำตาลทรายเกิน 10,000 กิโลกรัม ก็จะต้องแจ้งปริมาณสถานที่จัดเก็บทุกเดือน แต่หากจะมีการเคลื่อนย้ายตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป ใน 24 จังหวัด 107 อำเภอที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องแจ้งการขนย้ายต่อเจ้าหน้าที่ค้าภายในจังหวัดทุกครั้ง ขณะที่ด้านราคาจำหน่าย กระทรวงพาณิชย์จะออกประกาศราคาแนะนำทั่วประเทศ เพื่อเป็นเกณฑ์ให้ทางค้าภายในจังหวัดแต่ละจังหวัดไปกำหนดราคาขายปลีก โดยจะสามารถบวกเกินกว่าราคาแนะนำได้ไม่เกินร้อยละ 5 เช่น ราคาส่วนกลางที่มีการจำหน่ายน้ำตาลทรายขณะนี้ที่กิโลกรัมละ 23.50 บาท แต่บางพื้นที่ก็มีจำหน่ายเกินกว่าราคาแนะนำค่อนข้างสูง โดยมีการบวกด้านขนส่ง ทำให้ราคาน้ำตาลทรายบางพื้นที่เกิน 27-28 บาท ซึ่งถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค

นางพรทิวา เชื่อว่า การให้บวกราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายเกินกว่าราคาแนะนำได้ร้อยละ 5 จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่ให้เป็นดุลพินิจของแต่ละจังหวัดในการบวกราคาจำหน่ายของพื้นที่ตนเอง แต่ต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 5 ซึ่งหากแต่ละจังหวัดมีการประกาศราคาแนะนำไปแล้ว และพบพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบขายเกินราคา จะมีโทษตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค่าและบริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเร่งออกประกาศโดยเร็ว คาดว่าจะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้.

จาก สำนักข่าวไทย 8 กรกฎาคม 2553

พณ.เข้มโรงงานผลิตแก้น้ำตาลแพง

พาณิชย์เตรียมออกประกาศแก้ปัญหาราคาน้ำตาลแพง ให้โรงงานแจ้งปริมาณการผลิต จำหน่ายทุกเดือน

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ หรือ กกร.เพื่อกำหนดมาตรการดูแลสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในประเทศว่า กระทรวงเตรียมออกประกาศกกร.กำหนดให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายทั่วประเทศต้องแจ้งปริมาณการผลิต การจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บ ให้ทราบใน 7 วัน หลังวันออกประกาศ และจะต้องส่งรายงานเป็นประจำทุกเดือน

นอกจากนี้ จะต้องแจ้งชื่อผู้ซื้อที่ซื้อ ตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัมขึ้นไป เป็นประจำทุก 15 วัน และในส่วนของตัวแทนจำหน่ายและผู้ค้าส่ง จะต้องแจ้งชื่อผู้ซื้อ ที่ซื้อตั้งแต่ 10,000 กิโลกรัม รวมทั้งสถานที่เก็บเป็นประจำทุก 15 วัน และการขนย้ายตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป ในพื้นที่ 24 จังหวัด 107 อำเภอ ที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องแจ้งขออนุญาตการขนย้ายทุกครั้ง ป้องกันการลักลอบส่งออก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวถึงการจำหน่ายปลีกว่า กระทรวงจะประกาศราคาแนะนำจำหน่ายปลีกทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยคณะกรรมการ กกร. ระดับจังหวัด จะเป็นผู้ควบคุมการจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ ไม่ให้สูงเกินร้อยละ 5 ของราคาแนะนำคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ใน 2สัปดาห์นี้

"ต่อไปราคาน้ำตาลทรายขายปลีกในบางจังหวัดจะขายแพงสุดก็ไม่เกินกิโลกรัมละ 27.50 บาท เนื่องจากราคาแนะนำรายจังหวัดของกรมการค้าภายในจะสูงสุดไม่เกินกิโลกรัมละ 26 บาท ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส และยะลา จากขณะนี้บางพื้นที่มีการโก่งราคาขายถึงกิโลกรัมละ 28-30 บาท" นางพรทิวากล่าว

จาก http://www.posttoday.com  08 กรกฎาคม 2553

ชาวไร่อ้อยขออุตฯแบ่งขายน้ำตามตามเขต

ชาวไร่เสนอกระทรวงอุตฯ ขอแยกขายน้ำตาลโควตา ข ตามเขต กำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพโรงงาน ดูแลระบบน้ำ เพื่อความเป็นธรรมต่อชาวไร่ทุกพื้นที่

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตาสหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบกับสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ว่า สหสมาคมชาวไร่อ้อยต้องการให้ทบทวนแยกขายน้ำตาลโควตา ข (น้ำตาลเพื่อการส่งออก) เป็นรายเขต จากเดิมที่เป็นการทำราคาของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับการขายน้ำตาลทรายดิบ โควตา ข ที่ประกอบด้วยชาวไร่อ้อย โรงงาน ราชการ เพื่อนำไปคิดราคาอ้อยของเขตนั้นๆ เนื่องจากการขายรวมกันทำให้เกิดปัญหา เช่น ความเห็นไม่ตรงกันว่าจะขายน้ำตาลในระดับราคาที่เท่าไหร่ และแต่ละเขตมีน้ำตาลโควตา ข ไม่เท่ากัน ซึ่งจะเป็นผลต่อการคิดราคาอ้อย

รวมทั้งต้องการให้กำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาล เพื่อสร้างความเป็นธรรม เพราะแต่ละโรงงานมีความสามารถในการผลิตไม่เท่ากัน เช่น อ้อย 1 ตัน บางโรงงานผลิตน้ำตาลได้ 100 กิโลกรัม บางแห่งผลิตได้ 95 กิโลกรัม เป็นต้น จึงต้องการให้มีการกำหนดมาตรฐานการผลิตขั้นต่ำไว้ และกำหนดราคาอ้อยตามการผลิตที่กำหนดไว้ เนื่องจากปัจจุบันจะนำน้ำตาลที่ผลิตได้มารวมกันและคิดเฉลี่ยเป็นราคาอ้อย ทำให้โรงงานที่ผลิตน้ำตาลได้น้อย และที่ผลิตน้ำตาลมากต้องจ่ายค่าอ้อยในราคาที่เท่ากัน

สิ่งที่ควรจะเป็นคือ โรงงานที่ผลิตน้ำตาลได้น้อยก็ต้องจ่ายค่าอ้อยในราคามาตรฐานการผลิต ส่วนที่ผลิตได้มากก็จะได้ประโยชน์ไป เพราะเป็นผลมาจากการลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลต้องเขามาดูแลลดการสูญเสียภายในโรงงานที่ปัจจุบันมีอยู่ 20% ต่อการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำตาลตามปริมาณที่ต้องการ

ตลอดจนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลระบบน้ำ เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ในเขตระบบชลประทานเพียง 10% ประกอบกับปีนี้เกิดภาวะภัยแล้ง จึงคาดว่าถ้าไม่มีการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวจะกระทบต่อผลผลิตอ้อย

นอกจากนี้ ชาวไร่จากจ.สุโขทัย ต้องการให้รัฐบาลสนัสนุนการย้ายโรงงานน้ำตาล ของบริษัทไทยเอกลักษณ์ ที่ตั้งอยู่ที่จ.อุตรดิษถ์ มาอยู่อยู่ที่สุโขทัย เนื่องจากช่าวไร่ส่วนใหญ่อยู่ที่สุโขทัย แต่ต้องส่งอ้อยไปเข้าโรงงานที่อุตรดิตถ์ หากย้ายมาได้จะช่วยลดค่าขนส่งได้อย่างมาก โดยโรงงดังกล่าวได้ยื่นหนังสือขอย้ายโรงงานไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะยังไม่ผ่านขั้นตอนของกระทรวงอุตสาหกรรม

นายมานะ ฤทธิชัยสมารจาร นายกสมาคมชาวไร่อ้อย สี่แควนครสวรรค์ กล่าวว่า การกำหนดมาตรฐาประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน เพื่อลดการสูญเสียในขั้นตอนการผลิต เพราะปัจจุบันมีการสูญเสียอยู่ที่ระดับ 23% ซึ่งทุกการสูญเสีย 1% จะส่งผลต่อราคาอ้อย 10 บาท โรงงานจึงต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดการสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การแยกขายทำการขายน้ำตาลทรายโควตา ข แต่เดิมคยมีการทำมาแล้ว แต่ก็มีปัญหาบางเขตทำราคาได้สูงค่าอ้อยก็สูง บางเขตทำราคาได้ต่ำค่าอ้อยก็ต่ำ ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นภาระของรัฐที่ต้องเข้าไปอุดหนุนในบางพื้นที่ จะยิ่งเกิดความไม่ธรรม จึงต้องใช้ระบบรวมกัน

จาก http://www.posttoday.com  08 กรกฎาคม 2553

ชาวไร่-รง.หนุนแนวคิดมาร์ค รื้อราคาน้ำตาลเป็นกึ่งลอยตัว

ชาวไร่อ้อยหนุนแนวคิดนายกฯรื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะการปรับราคาน้ำตาลทรายกึ่งลอยตัวเพื่อสร้างฐานะกองทุนอ้อยฯให้ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาคล้ายกองทุนน้ำมันในระยะยาว

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปศึกษาโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำตาลตึงตัวในระยะยาวว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)จะไปทำการศึกษาในรายละเอียดทั้งหมดโดยจะสามารถนำมาปฏิบัติได้ต่อเมื่อฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)หมดภาระหนี้ทั้งหมดก่อนซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 1 ปี

นายกำธร กิตติโชคทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายควรยกฐานะกองทุนอ้อยฯให้ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำตาลคล้ายกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายถึงราคาน้ำตาลทรายจะต้องเข้าสู่ระบบกึ่งลอยตัวเพื่อให้สะท้อนราคาตลาดโลก ต้นทุนชาวไร่อ้อย และราคาประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ฐานะกองทุนอ้อยมีฐานะเป็นบวกไม่ใช่ติดลบเช่นปัจจุบัน

“ส่วนตัวมองว่าฐานะกองทุนอ้อยฯควรมีเงินสะสมอย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาทเพื่อบริหารดูแลราคาน้ำตาลทรายเหมือนกองทุนน้ำมันและชาวไร่อ้อยแต่ที่ผ่านมากองทุนอ้อยกลับต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์หรือธ.ก.ส.มาอุดหนุนราคาอ้อยเพราะราคาน้ำตาลทรายไม่ได้มีการปรับให้สะท้อนตลาดโลก ซึ่งระบบกึ่งลอยตัวอาจคิดราคาน้ำตาลย้อนหลังเฉลี่ย 3 เดือน 6 เดือนก็ได้เมื่อตลาดโลกขึ้นก็ต้องขึ้นเมื่อปรับลดก็ลดก็เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย”นายกำธรกล่าว

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าววา ที่ผ่านมาได้มีการเสนอระบบกึ่งลอยตัวราคาน้ำตาลทรายมาแล้วแต่ก็ไม่คืบหน้า ซึ่งเห็นด้วยถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายองค์กรจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้วย

“ ยอมรับว่าถ้าระบบเป็นกึ่งลอยตัวก็จะทำให้โรงงานตื่นตัวมากขึ้นเพราะต้องติดตามราคาตลาดโลกทุกวันแต่ปัจจุบันทำงานสบายมากเพราะราคาไม่เปลี่ยนแปลงเลยทำให้ประหยัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายด้วย”นายวิบูลย์กล่าว

จาก  http://www.manager.co.th  8 กรกฎาคม 2553

 

หนุนกึ่งลอยตัวราคาน้ำตาลหวั่นกองทัพมด

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะทำงานที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ศึกษาความเหมาะสมเรื่องการลดราคาน้ำตาลทราย 5 บาท/กก. หลังใช้หนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลหมด ซึ่งแนวทางนี้ทำได้ก็ต่อเมื่อใช้หนี้กองทุนอ้อยฯ และใช้หนี้ชาวไร่อ้อยหมดประมาณกลางปี 54 นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จริงๆ แล้ว รัฐบาลควรพิจารณาปรับโครงสร้างกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากทำให้โครงสร้างราคาน้ำตาลทรายเปลี่ยนด้วย เพื่อให้กองทุนอ้อยยืนได้ด้วยตัวเองเหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปล่อยกึ่งลอยตัวราคาน้ำมันเพื่อสะท้อนต้นทุนแท้จริง "กองทุนอ้อยควรมีเงินในมืออย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นกลไกบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน ไม่ต้องเรียกร้องภายหลัง ดังนั้น ควรเข้าสู่ระบบกึ่งลอยตัวเพื่อให้สะท้อนราคาตลาดโลก ต้นทุนชาวไร่อ้อยและราคาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้ติดลบเหมือนปัจจุบัน ซึ่งระบบกึ่งลอยตัวอาจคิดราคาน้ำตาลย้อนหลังเฉลี่ย 3 เดือน หรือ 6 เดือน" นายกำธรกล่าว นอกจากนี้ หากลดราคาน้ำตาลทราย 5 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 22-23 บาท/กก. จะทำให้น้ำตาลทรายของไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก เกิดการลักลอบขนน้ำตาลขายประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ไม่มีปัญหาอะไร.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 กรกฎาคม 2553

โยนสามสีแก้น้ำตาลแพง

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวคิดการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทราย ว่า ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งตั้งคณะทำงานที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ศึกษาความเหมาะสมเรื่องการปรับลดราคาน้ำตาลทรายลง 5 บาท/กิโลกรัม หลังใช้หนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลหมด โดยคาดว่าจะใช้หนี้หมดประมาณกลางปี"54

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐควรทำให้กองทุนอ้อยฯ ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เหมือนกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปล่อยกึ่งลอยตัวราคาน้ำมันเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 8 กรกฎาคม 2553

ผู้ค้าน้ำตาลสอนเชิงมวยพาณิชย์

ตัวแทนจำหน่ายน้ำตาลสอนมวย "พาณิชย์" แนะวิธีบริหารน้ำตาลโควตาก.พิเศษ 1ล้านกระสอบให้น้ำตาลออกสู่ตลาดอีกทาง พร้อมชี้สาเหตุที่โรงงานน้ำตาลไม่อยากขายน้ำตาลให้โมเดิร์นเทรดเพราะแบกต้นทุนการหีบห่อ แจงเหตุน้ำตาลไหลออกกัมพูชามากขึ้น

แหล่งข่าวจากกลุ่มตัวแทนจำหน่ายน้ำตาลของโรงงานน้ำตาล ให้กับโมเดิร์นเทรด เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ใช้เวลาในการบริหารน้ำตาลโควตาก. พิเศษ จำนวน 1 ล้านกระสอบนานเกินไป ทั้งนี้กินเวลาร่วม 3 เดือนแล้วยังระบายน้ำตาลออกมาสู่ระบบไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นถ้าภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ต้องการให้น้ำตาลที่ค้างกระดานระบายออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น จึงอยากจะแนะนำวิธีบริหารน้ำตาลโควตาพาณิชย์ เพื่อเร่งระบายน้ำตาลออกสู่ตลาดอีกทาง โดยประการแรก กระทรวงพาณิชย์จะต้องให้พาณิชย์จังหวัด ประกาศให้ในแต่ละจังหวัดว่าอุตสาหกรรมรายย่อยใดบ้างที่ต้องการน้ำตาลให้มาขึ้นทะเบียนกับพาณิชย์จังหวัดนั้นๆ เพราะอุตสาหกรรมรายย่อยที่ไม่ได้มีสัญญากับโรงงานน้ำตาลเข้าไปแย่งซื้อในตลาดกันมากในเวลานี้

โดยให้มีการรับมอบน้ำตาลที่พาณิชย์จังหวัด และจ่ายเงินให้กับโรงงานน้ำตาลโดยตรงในราคาควบคุม ตรงนี้กระทรวงพาณิชย์เองก็จะโปร่งใสด้วย เพราะไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้อุตสาหกรรมรายย่อยไม่ไปซื้อน้ำตาลในตลาด เพราะซื้อตรงนี้ก็ได้ราคาควบคุมอยู่แล้ว

ประการที่สองกระทรวงพาณิชย์ต้องเรียกบรรดาโมเดิร์นเทรดมาหารือเพื่อถามว่า ในแต่ละโมเดิร์นเทรดต้องการน้ำตาลอาทิตย์ละเท่าไหร่ หรือเดือนละเท่าไหร่ แล้วเรียกโรงงานน้ำตาล 4 โรงงานที่ป้อนน้ำตาลแบบแพ็กถุงมาจัดสรรโควตาให้กับโมเดิร์นเทรด ก็จะทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อน้ำตาลทางโมเดิร์นเทรด ก็จะมีน้ำตาลใช้ อุตสาหกรรมรายย่อยก็มีน้ำตาลใช้ ส่วนอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่ผลิตเพื่อการส่งออกและขายในประเทศก็ไม่ต้องไปห่วง เพราะมีการซื้อน้ำตาลจากโรงงานโดยมีสัญญาซื้อขายต่อกันอยู่แล้วโดยตรง หากแก้ปัญหาด้วย 2 วิธีนี้ได้ปัญหาการระบายน้ำตาลโควตาพาณิชย์ หรือน้ำตาลโควตาก.พิเศษ 1 ล้านกระสอบก็จะจบลงได้

ส่วนกรณีโมเดิร์นเทรดมักใช้เป็นเทอร์มอมิเตอร์วัดไข้ หากไม่มีน้ำตาลในชั้นขายของก็จะบอกว่าน้ำตาลขาดตลาดนั้น ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจกระบวนการจัดสรรน้ำตาลเข้าโมเดิร์นเทรดก่อนว่าปัจจุบันมีเพียงโรงงานน้ำตาล 3-4 รายเท่านั้นที่ยอมจัดสรรน้ำตาลให้กับโมเดิร์นเทรด เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงที่โรงงานต้องเป็นฝ่ายแบกภาระเองทั้งค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าดำเนินการ ค่าแรงงาน ค่าเทคโนโลยีในการแพ็กถุง 1 กิโลกรัมหรือ 5 กิโลกรัม รวมไปถึงเงื่อนไขต่างๆในโมเดิร์นเทรด โดยการบรรจุลงถุงจะมีต้นทุนโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ประมาณ 75 สตางค์/กิโลกรัม/ถุง

"ดังนั้นการบรรจุน้ำตาลลงถุง กระทรวงพาณิชย์ควรจะกำหนดราคาให้สูงกว่า23.50 บาท/กิโลกรัมเพราะเวลานี้กรมการค้าภายในควรจะให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นระหว่างคนที่ขายน้ำตาลบรรจุลงถุง 1 กิโลกรัมมากกว่า แต่กลับกลายเป็นว่าเวลานี้ใครขายน้ำตาลขนาด 5 กิโลกรัมเข้าโมเดิร์นเทรดจะได้เปรียบกว่า เนื่องจากราคาควบคุมน้ำตาลขนาด 1 กิโลกรัมจะอยู่ที่ 23.50 บาท/กิโลกรัม ฉะนั้นถ้าขายน้ำตาลขนาด 50 กิโลกรัม ก็จะต้องเอา 50 กิโลกรัมมาคูณ 23 บาท ทำให้ราคาควบคุมของราคาขายปลีกน้ำตาลบรรจุถุงขนาด 50 กิโลกรัมอยู่ที่ 1,150 บาท/กระสอบ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเอา 23.50 คูณ 50 กิโลกรัมแล้วบอกว่าราคาควบคุมอยู่ที่ 1,175 บาท/กระสอบ สูงขึ้นมาอีก 25 บาท/กระสอบ ตรงนี้ทำให้โรงงานน้ำตาลที่ไม่ได้ลงทุนด้านบรรจุลงถุง 1 กิโลกรัม กลับได้ประโยชน์ไปด้วย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับ 4 โรงงานน้ำตาลที่ป้อน ให้โมเดิร์นเทรด เพราะโรงงานเหล่านี้ไม่ต้องไปเสียเวลาขายแบบ 1 กิโลกรัม แต่ขายแบบ 50 กิโลกรัมดีกว่า"

แหล่งข่าวจากวงการค้าขายน้ำตาลอีกรายกล่าวว่า ทำไมน้ำตาลโควตาก. ถึงมีการลักลอบส่งออกชายแดนในเวลาที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นว่า มีสาเหตุมาจากที่จีนกับเวียดนามมีชายแดนอยู่ติดกัน เมื่อจีนมีน้ำตาลไม่เพียงพอ และโรงงานน้ำตาลในเวียดนามส่วนใหญ่ก็อยู่ทางตอนเหนือของเวียดนามก็เลยลักลอบส่งออกไปจีนเป็นกองทัพมด ขณะที่เวียดนามตอนใต้ขาดน้ำตาล เพราะโรงงานที่อยู่ทางตอนเหนือไม่ส่งน้ำตาลมาทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม แต่หันไปลักลอบส่งออกไปจีนแทน เพราะขายได้ราคาดีกว่า พอน้ำตาลในประเทศเวียดนามในพื้นที่ทางตอนใต้มีน้ำตาลไม่พอใช้ จึงใช้โอกาสจากที่มีชายแดนอยู่ติดกับกัมพูชานำเข้าน้ำตาลเป็นกองทัพมด โดยที่ไทยขายน้ำตาลให้กับกัมพูชาตามชายแดนอีกทอดหนึ่ง ทำให้ความต้องการใช้น้ำตาลในกัมพูชามีสูงขึ้นมากในปัจจุบัน โดยปกติกัมพูชาจะบริโภคน้ำตาล/ปีประมาณ 70,000-80,000 ตัน/ปี แต่ปี 2552 นำเข้าน้ำตาลจากประเทศไทยประมาณ 408,466 ตัน เป็นการนำเข้าจากโรงงานน้ำตาลของไทยอย่างถูกต้องโดยออกไปเป็นโควตาค. ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมปริมาณน้ำตาลที่มีการลักลอบส่งออกอีกจำนวนหนึ่ง ล่าสุดปี 2553 ช่วง 5 เดือนแรกไทยส่งน้ำตาลไปยังกัมพูชาอย่างถูกต้องแล้ว 164,000 ตัน

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

ควัก2.5พันล.แก้น้ำตาลขาด

กอน.ซื้อคืนล้านกระสอบวิกฤติน้ำตาลยังระอุ สต็อกโมเดิร์นเทรดเกลี้ยง ไม่มีขายแม้ แต่ถุงเดียว ลือหึ่ง! มีการเจรจาขอชาร์จ ราคาเพิ่มกิโลกรัมละ 3 บาท เป็นเหตุ หยุดสั่งของ ด้านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเตรียมเจรจาขอซื้อน้ำตาลคืนจากเทรดเดอร์ 1 ล้านกระสอบเพื่อ นำมาขึ้นงวดจำหน่ายในประเทศ โดย ยอมขาดทุนกิโลกรัมละ 2 บาท

ภายหลัง “สยามธุรกิจ” ได้นำเสนอภาพรวมการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลนในตลาด โดยได้รับการ เปิดเผยจากนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ได้สั่งให้โรงงานน้ำตาลทุกแห่งเร่งกระจายน้ำตาลเข้าตลาดเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 4 แสนกระสอบ จากเดิมที่มีการ กระจายในตลาดสัปดาห์ละ 4 แสนกระสอบ เป็นสัปดาห์ละ 8 แสนกระสอบ จนกว่าภาวะน้ำตลาดในตลาดจะกลับสู่สภาพปกติ โดยคาดว่าน้ำตาลชุดดังกล่าวจะเริ่มมีผลต่อตลาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสน้ำตาลขาดแคลนยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในห้างโมเดิร์นเทรดบางแห่งเช่น บิ๊กซี วงศ์สว่าง ไม่มีน้ำตาลจำหน่ายแม้แต่ถุงเดียวในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเปิดบูธตามแหล่งชุมชนขายน้ำตาลทรายราคาถูกกิโลกรัมละ 22 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ “สยามธุรกิจ” ต้องตรวจสอบต้นตอของปัญหาว่ามาจากสาเหตุใดกันแน่ เนื่องจากก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์อ้างว่าโรงงานน้ำตาลนำน้ำตาลไปจำหน่ายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นหลัก ทำให้น้ำตาลสำหรับขายปลีกให้กับประชาชนทั่วไปขาดแคลน จึงขอโควตาพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จำนวน 1 ล้านกระสอบ เพื่อนำมาระบายในตลาดเอง แต่เมื่อได้โควตามาแล้ว ให้ยี่ปั้วไปขอเบิกน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลปรากฏว่าโรงงานน้ำตาลไม่มีสินค้าให้

อย่างไรก็ตาม “สยามธุรกิจ” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงในวงการน้ำตาลทรายว่า เรื่องนี้จะว่าไปแล้วข้อบก พร่องเกิดจากทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายโรงงานก็เน้นขายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นหลัก เนื่องจากรายได้ดีกว่าขายปลีกในตลาด ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องทำเรื่องขอโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบไปบริหารจัดการเอง ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อได้ออเดอร์ไปแล้ว ไม่มีประสบการณ์บริหารจัดการน้ำตาล ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายสินค้าไม่ดี ส่งผลให้น้ำตาล 1 ล้านกระสอบกระจายในตลาดได้จริงๆ แค่ 1 หมื่นกระสอบ เป็นเหตุให้น้ำตาลในตลาดขาดแคลน

“ต้องเข้าใจก่อนว่าน้ำตาล 1 ล้านกระสอบที่กระทรวงพาณิชย์ได้ไปนั้น เป็นการได้โควตา ไม่ใช่ได้สินค้า น้ำตาลยังอยู่ในโรงงาน ถ้ากระทรวงพาณิชย์เจรจาขายให้ยี่ปั้วรายใดได้แล้ว ก็ให้ยี่ปั้วรายนั้นมาขอเบิกสินค้ากับโรงงาน ซึ่งคนในกระทรวงพาณิชย์ก็ยอมรับว่าระบบการจัดจำหน่ายของกระ ทรวงไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้การกระจายน้ำตาล ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวคนเดิมยังตอบคำถามถึงกรณีที่ว่าห้างโมเดิร์นเทรดบางแห่งไม่มีน้ำตาลจำหน่ายคงเป็นเพราะสาเหตุดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้ยินมามีการขอชาร์ต ราคาเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 3 บาท ทำให้ร้านค้าหลายแห่งหยุดสั่งน้ำตาล แต่ไม่คอนเฟิร์มว่าเรื่องนี้จริงเท็จอย่างไร

ด้านนายบัญชา คันธชมภู รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อนและน้ำตาล ทราย เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่าตนไม่ขอแสดงความเห็นต่อปัญหาน้ำตาลในตลาดว่าข้อบกพร่องเกิดจากฝ่ายไหนกันแน่ แต่ในฐานะกองทุนอ้อยฯ คงต้องเข้าไปร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้กำลังเจรจาขอซื้อน้ำตาลโควต้า ค. ซึ่งเป็นน้ำตาลเพื่อการส่งออกจากเทรดเดอร์ เพื่อนำมาจำหน่ายในโควต้า ก. ซึ่งเป็นน้ำตาลจำหน่ายภายในประเทศ

“ปกติน้ำตาลที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศขึ้นกระดานไว้ปีละ 21 ล้านกระสอบ แต่ปีนี้เราได้นำน้ำตาลงวดใหม่เพิ่มเข้าไปอีก 1 ล้านกระสอบเป็น 22 ล้านกระสอบ ซึ่งน้ำตาล 1 ล้านกระสอบดังกล่าวก็เป็นโควตาที่กระทรวงพาณิชย์ขอไปนั่นเอง แต่ก็ยังมีปัญหา จึงต้องเจรจากับเทรดเดอร์ที่ซื้อน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลไปแล้วกลับมา 1 ล้านกระสอบ รวมเป็น 23 ล้านกระสอบ โดยคาดว่าจะเริ่มซื้อขายและกระจายเข้าสู่ตลาดได้ภายในกลางเดือนนี้” นายบัญชา กล่าว

นายบัญชายังกล่าวอีกว่า น้ำตาล 1ล้านกระสอบที่จะขอซื้อกับเทรดเดอร์จะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 25 บาทต่อกิโลกรัม แต่นำมาจำหน่ายในตลาด 23 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับว่ากองทุนอ้อยจะขาดทุน ประมาณกิโลกรัมละ 2 บาท หรือประมาณ 200 ล้านบาท

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

หนุนปรับราคาน้ำตาลเป็นกึ่งลอยตัว

กระทรวงอุตฯเตรียมศึกษาระบบอ้อยและน้ำตาลใหม่หลังใช้หนี้กองทุนอ้อยฯหมด ด้านชาวไร่ โรงงาน สนับสนุนปรับราคาน้ำตาลเป็นระบบกึ่งลอยตัว เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างระบบน้ำตาลทราย อาจจะมีการพิจารณาภายหลังจากที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ชำระหนี้หมดแล้ว โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 1 ปี และจะมอบหมายให้สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปศึกษารายละเอียดโครงสร้างของระบบอ้อยและน้ำตาลทั้งหมดอีกครั้ง ว่าระบบที่ใช้ในปัจจุบันยังมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่

นายกำธร กิตติโชคทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรจะพิจารณาปรับโครงสร้างของระบบอ้อยและน้ำตาลมานานแล้ว และมีความจำเป็นอย่างมาก โดยจะต้องปรับโครงสร้างกองทุนฯ ให้มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำตาล ทำหน้าที่เหมือนกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง ซึ่งราคาน้ำตาลจะต้องเปลี่ยนจากราคาควบคุม เป็นระบบกึ่งลอยตัว เพื่อให้ราคาสะท้อนตลาดโลก ต้นทุนชาวไร่อ้อย และราคาน้ำตาลของประเทศเพื่อบ้าน เพื่อให้ฐานะกองทุนฯ ไม่ติดลบเหมือนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ระบบราคากึ่งลอยตัว หมายถึงการปรับราคาน้ำตาล โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ราคาน้ำตาลของประเทศเพื่อนบ้าน และต้นทุนชาวไร่อ้อย ซึ่งราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นระยะ เช่น ทุก 3 เดือน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนอย่างแท้จริง และจะทำให้กองทุนฯ มีรายได้จากการกำหนดการส่งเงินเข้ากองทุนฯ จากการขายน้ำตาลทุกกิโลกรัม โดยจะมีการกำหนดที่ชัดเจนว่าจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ เท่าไหร่ และเงินเข้าระบบเท่าไหร่

ส่งผลให้กองทุนจะมีเงินคงคลังที่สามารถนำไปช่วยเหลือระบบอ้อยและน้ำตาลทรายได้โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และจะเป็นการล้มล้างงการชุมนุมประท้วงของชาวไร่ เมื่อราคาอ้อยตกต่ำ ซึ่งหากราคาน้ำตาลอยู่ในช่วงขาลง ราคาขายในประเทศก็จะลดลง ส่งผลให้ราคาอ้อยต่ำ กองทุนฯ ก็สามารถนำเงินเข้ามาอุดหนุนได้เลย แต่หากราคาสูง อ้อยก็ราคาสูง เงินก็จะไหลเข้ากองทุนฯ เป็นต้น

"ปัจจุบันการพิจารณาราคาน้ำตาลส่วนใหญ่ดูแค่ปัจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น จึงไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยระบบนี้มีการนำมาใช้เป็นระบบมาตรฐานสากล และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ใช่อิงแต่ระบบการเมืองเท่านั้น และโดยส่วนตัวมองว่ากองทุนฯ ควรจะมีเงินสะสมอย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท เพื่อดูแลระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายกำธร กล่าว

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าววา ที่ผ่านมาได้มีการเสนอระบบกึ่งลอยตัวราคาน้ำตาลทรายมาแล้วแต่ก็ไม่คืบหน้า ซึ่งเห็นด้วยถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายองค์กรจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้วย แต่ระบบโควตาน้ำตาลยังต้องไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพปริมาณน้ำตาลในประเทศ

“ยอมรับว่าถ้าระบบเป็นกึ่งลอยตัวก็จะทำให้โรงงานตื่นตัวมากขึ้นเพราะต้องติดตามราคาตลาดโลกทุกวันแต่ปัจจุบันทำงานสบายมากเพราะราคาไม่เปลี่ยนแปลงเลยทำให้ประหยัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายด้วย”นายวิบูลย์กล่าว

 จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

นายกฯสั่งรื้อน้ำตาลใหม่ แก้ปัญหาขาดแคลน

มาร์ค" สั่งพาณิชย์ จับตานโยบายส่งออกใกล้ชิด เน้นปัญหาหนี้ยุโรป ส่วนปัญหาน้ำตาลทราย สั่งอุตสาหกรรมรื้อใหม่ทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดการให้บริการเริ่มต้นธุรกิจ ณ จุดเดียว (Single Point) โดยความร่วมมือของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคมวานนี้ (6ก.ค.) ว่า ขอให้กกระทรวงพาณิชย์ดูแลนโยบายด้านการส่งออกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาหนี้สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งอาจจะกระทบต่อกำลังซื้อ และการใช้ประโยชน์จากความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกทั้งปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อนแน่นอน เพราะตัวเลขการส่งออกล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 53 ขยายตัวไปแล้ว 35%

“ส่วนนโยบายเรื่องปัญหาภาวะตึงตัวของน้ำตาลทราย และราคาน้ำตาลทรายนั้นจะเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดแน่นอน โดยจะให้กระทรวงอุตสาหกรรมรื้อระบบน้ำตาลทั้งระบบ หากปัญหาหนี้สินกับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายหมดไป เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

ประมูลนํ้าตาลล้านกระสอบ

เทเข้าระบบขายโลละ20บาทกองทุนอ้อยยอมเจ๊ง300ล้าน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนผู้ส่งออกน้ำตาลทราย (เทรดเดอร์) จำนวน 24 ราย มาประมูลขายน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ ตาม นโยบายรัฐบาลที่ต้องการขอซื้อน้ำตาลโควตา ค. คืนมาแก้ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัว คาดว่าราคาจะอยู่ในระดับ 23 บาท ต่อกก. โดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะขาดทุน 300 ล้านบาท เพราะนำไปขายปลีกผ่านยี่ปั๊วที่อยู่ในระบบกว่า 20 ราย ในระดับ 19-20 บาทต่อ กก.

ทั้งนี้ยอมรับว่าปัญหาน้ำตาลทรายในบางพื้นที่ยังมีราคาแพงและขาดแคลน โดยบางแห่งสูงถึง 30 บาทต่อก.ก. ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมหวังว่าการเร่งระบายน้ำตาลเร็วขึ้นจะทำให้ปัญหาดังกล่าวทุเลาลง เบื้องต้นกำชับให้สอน.กระจายน้ำตาลออกสู่ตลาดโดยเร็ว ล่าสุดพบว่ามีน้ำตาลค้างกระดานเหลือ 1 ล้านกระสอบและมีโควตาของกระทรวงพาณิชย์อีก 6 แสนกระสอบ รวมเป็น 1.6 ล้านกระสอบ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ส่งหนังสือมายังกระทรวงอุตสาหกรรมว่าต้องการให้ขึ้นงวดให้ครบ 1 ล้านกระสอบ จากที่ขึ้นไปแล้ว 8 แสนกระสอบ

“หลักการคัดเลือกจะพิจารณารายที่ เสนอราคาต่ำสุดแต่คาดว่าการจัดซื้อครั้งแรกอาจได้ปริมาณไม่เต็มจำนวนโดยจะต้องดูน้ำตาลค้างกระดานประกอบด้วยเพื่อป้องกันน้ำตาลเหลือค้างกระดานมากเกินไป”

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการ สอน.กล่าวว่า การติดตามปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศหลังการเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายในตลาดโดยการดึงงวดที่ 51-52 มาเพิ่มการขึ้นงวดจากปกติส่งผลให้น้ำตาลที่เคยตึงตัวเริ่มดีขึ้นและราคาก็เริ่มลดลงระดับหนึ่งโดยวันที่ 5 ก.ค.มีปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดาน 1.6 ล้านกระสอบ

“ยอมรับว่าฟิลิปปินส์มีความต้องการน้ำตาลทรายเช่นกันและคงจะมีการเปิดประมูลซื้อในเดือนนี้ซึ่งเราทำช้าราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นก็ต้องเร่งทำให้เร็วสุด โดยเทรดเดอร์ก็จะเป็นรายที่เคยซื้อขายกับบริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.)”

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า คาดว่าจะเปิดประมูลซื้อน้ำตาลได้ภายใน 12 ก.ค.ใช้เกณฑ์ราคาที่ต่ำสุดในการซื้อ จะเร่งทำให้จบในวันเดียว ทั้งนี้การจัดสรรน้ำ ตาลที่เพิ่มขึ้นหากปลายปีไม่สามารถขายได้หมดจะกระทบต่อการคำนวณรายได้ของชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 53/54 ที่จะกำหนดพ.ย.นี้เพราะการคำนวณจะยึดจากปริมาณน้ำตาลที่ขายได้จริง

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือทวงน้ำตาลทรายโควตาพิเศษที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้ 1 ล้านกระสอบแต่ได้จัดสรรไปให้ 8.04 แสนกระสอบยังคงเหลือ 1.9 แสนกระสอบ ซึ่งอุตสาหกรรมได้ตอบ กลับไปแล้วว่าคงจะจัดสรรเพิ่มให้ไม่ได้ เพราะของเดิมพาณิชย์ยังขายไม่หมด โดยมีน้ำตาลเหลือ 6 แสนกระสอบซึ่งหากน้ำตาลทรายเหลือมากจะส่งผลกระทบต่อการคำนวณรายได้ของชาวไร่อ้อย

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ยอมรับว่าราคาน้ำตาลทรายในต่างจังหวัดจะมีราคาแพงกว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล เพราะต้องนำต้นทุนค่าขนส่งบวกด้วย และยิ่งจังหวัดไกลจะยิ่งมีราคาสูงกว่า.

 จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

ผวาพิษน้ำตาลบีบราคาอ้อยรูด

กอน.เรียก 24 เทรดเดอร์วางกรอบประมูลซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค. เริ่มประมูล 12 ก.ค.นี้ ตั้งเป้าควักเนื้อ 300 ล้าน เมิน "พาณิชย์" ขอเพิ่มอีก หวั่นขายไม่หมดป่วนราคาขั้นต้นแน่

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นคณะทำงานจัดซื้อน้ำตาลทรายเพื่อการส่งออก (โควตา ค.) คืน เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัวจะมี นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นประธานและใช้วิธีประมูลผ่านเทรดเดอร์ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาซื้อคืนเสร็จ 20 วัน หลังจากนั้นคณะกรรมการจำหน่ายน้ำตาลทรายจะกระจายน้ำตาลทรายผ่านยี่ปั๊วในราคาหน้าโรงงาน 19 บาทต่อ กก.บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) โดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายรับภาระส่วนต่างราคารับซื้อ 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ก.ค. จะเชิญเทรดเดอร์ที่ค้าขายประจำในบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) 23-24 รายมากำหนดกรอบแนวทางร่วมประมูล ซึ่งคาดว่ามีน้ำตาลที่อยู่ในมือยังไม่ส่งออกรวม 8 แสนกระสอบ โดยอาจเปิดประมูลรอบเดียวหรือหลายรอบ เพราะต้องดูปริมาณน้ำตาลค้างกระดาน เพื่อไม่ให้ล้นตลาด คาดล่าสุดเหลือค้างกระดาน 1.6 ล้านกระสอบ แบ่งเป็นน้ำตาลในระบบปกติ 5 แสนกระสอบ และโควตาพิเศษที่จัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ 6 แสนกระสอบ

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า หากน้ำตาลยังขาดอีกน่าจะมาจากความกังวลจากกรณีกระทรวงพาณิชย์ที่เตรียมคุมการจำหน่ายทำให้ผู้ค้ารายเล็กไม่กล้าขาย

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาลทรายระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือเพื่อขอน้ำตาลโควตาพิเศษให้ครบ 1 ล้านกระสอบ ซึ่งยังเหลืออีก 1.9 แสนกระสอบ และการที่กระทรวงพาณิชย์จะขอโควตาพิเศษเพิ่มอีกคงจัดสรรเพิ่มไม่ได้แล้ว เพราะถ้าน้ำตาลจำนวนนี้ขายไม่หมดภายในเดือน พ.ย.นี้ จะมีผลต่อการคำนวณค่าอ้อยขั้นต้นปี 53/54

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

อุตฯเร่งหาน้ำตาลป้อนตลาดเพิ่ม ห่วงยิ่งปล่อยช้าราคาจะยิ่งแพง

"อุตสาหกรรม" เตรียมเปิดประมูลจัดซื้อน้ำตาลทรายโควตาค. กลับคืน 1 ล้านกระสอบจากเทรดเดอร์ 24 ราย ล๊อตแรก 12 ก.ค.นี้ เพื่อป้อนตลาดในประเทศที่ตึงตัว เหตุปล่อยช้ายิ่งราคาแพง พร้อมกระจายผ่านยี่ปั๊ว 20 รายที่ค้าขายประจำเพื่อให้ถึงมือผู้บริโภค

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรมที่ได้สั่งการให้กอน.เพิ่มน้ำตาลทรายโควตาก. (บริโภคในประเทศ) จาก 2.2 ล้านตัน (22 ล้านกระสอบ) เป็น 2.3 ล้านตัน (23 ล้านกระสอบ) เพื่อแก้ไขปัญหาตึงตัว ส่งผลให้ต้องจัดหาน้ำตาลทรายโควตาค. (ส่งออก) มาทดแทน 100,000 ตัน (1 ล้านกระสอบ) ล่าสุดคณะทำงานจัดซื้อน้ำตาลทรายที่มีนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นประธานจะเริ่มเปิดประมูลเพื่อจัดซื้อผ่านตัวแทนผู้ส่งออกหรือเทรดเดอร์ที่มีอยู่ 24 รายในวันที่ 12 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ ขั้นตอนจะให้มีการยื่นซองเสนอทั้งปริมาณน้ำตาลทรายหรือทรายขาวบริสุทธิ์และราคาขาย ซึ่งหลักการจะคัดเลือกรายที่เสนอราคาต่ำสุดไล่ไปจนครบปริมาณที่ต้องการ 1 ล้านกระสอบ แต่ทั้งนี้คาดว่าการจัดซื้อครั้งแรกอาจจะได้ปริมาณที่ไม่เต็มจำนวน โดยจะต้องดูน้ำตาลค้างกระดานในขณะนั้นประกอบด้วย เพื่อป้องกันปริมาณน้ำตาลเหลือค้างกระดานมากเกินไป ซึ่งล่าสุดราคาน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์ตลาดโลกเคลื่อนไหวที่ระดับ 560 เหรียญต่อตัน (ไม่รวมพรีเมี่ยมไทยอีกประมาณ 100 เหรียญต่อตัน) คาดว่าราคาน้ำตาลซื้อขายผ่านเทรดเดอร์จะเฉลี่ยที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดซื้อจะต้องมีกระบวนการขายน้ำตาลจึงได้มีการตั้งคณะทำงานการขายน้ำตาลดังกล่าวขึ้นโดยมีตนเป็นประธาน ซึ่งจะหารือแนวทางการจำหน่ายให้ถึงมือผู้บริโภควันที่ 8 ก.ค.2553 ซึ่งจะกระจายน้ำตาลผ่านช่องทางปกติ คือ โรงงานกระจายสู่ยี่ปั๊ว 20 รายที่ค้าขายประจำในสัดส่วนที่เท่ากัน และกำหนดราคาขายขาวธรรมดา 19 บาทต่อก.ก. บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม และขาวบริสุทธิ์ 20 บาทต่อก.ก. บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อหักจากราคาที่ซื้อมาที่อาจแพงกว่า 2-3 บาทต่อก.ก. คาดว่ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องควักจ่ายส่วนต่างรวมไม่เกิน 300 ล้านบาท

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสอน.กล่าวว่า จากการติดตามปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศหลังการเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายในตลาดโดยการดึงงวดที่ 51 -52 มาเพิ่มการขึ้นงวดจากปกติ ส่งผลให้น้ำตาลที่เคยตึงตัวเริ่มดีขึ้นและราคาก็เริ่มลดลงระดับหนึ่ง ซึ่ง ณ วันที่ 5 ก.ค. มีปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดาน 1.6 ล้านกระสอบ โดยเป็นส่วนของกระทรวงพาณิชย์ 6 แสนกระสอบ ที่เหลือเป็นของระบบที่จะรอขายสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าจะขายได้เฉลี่ยเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมาคือประมาณ 5.1 แสนกระสอบ และหากรวมกับน้ำตาลที่จะซื้อโควตาค.มาเพิ่มในระบบเร็วๆ นี้จึงไม่มีเหตุผลให้เกิดการกักตุน

"ล่าสุดฟิลิปปินส์มีความต้องการน้ำตาลทรายเช่นกันและคงจะมีการเปิดประมูลซื้อในเดือนนี้ ซึ่งเราทำช้าราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น ก็ต้องเร่งทำให้เร็วสุด โดยเทรดเดอร์ก็จะเป็นรายที่เคยซื้อขายกับบริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.)” นายประเสริฐกล่าว

แหล่งข่าวจากกอน.กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือทวงน้ำตาลทรายโควตาพิเศษที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้ 1 ล้านกระสอบ แต่ได้จัดสรรไปให้ 8.04 แสนกระสอบยังคงเหลือประมาณ 1.9 แสนกระสอบ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตอบกลับไปแล้วว่าคงจะไม่สามารถจัดสรรเพิ่มให้ได้ เพราะของเดิมพาณิชย์ยังไม่สามารถขายได้หมด โดยยังคงมีน้ำตาลเหลือ 6 แสนกระสอบ ซึ่งหากน้ำตาลทรายดังกล่าวเหลือเท่าใดจะส่งผลกระทบต่อการคำนวณรายได้ของชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 2553/54 ที่จะกำหนดพ.ย.นี้ เพราะการคำนวณจะยึดจากการปริมาณน้ำตาลที่ขายได้จริง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม 2553

อุตฯเล็งเปิดประมูลชื้อน้ำตาลโควตา ค คืน

กระทรวงอุตฯเล็งจัดเปิดประมูลซื้อน้ำตาลคืนในวันที่ 12 ก.ค. นี้ เชิญ 24 เทรดเดอร์เข้ายื่นซองประมูล คาดเบื้องต้นซื้อคืนมาก่อน 5 แสนกระสอบ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการจัดซื้อน้ำตาลทราย ที่มีนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะจัดเปิดระมูลซื้อน้ำตาลโควตา ค (น้ำตาลเพื่อการส่งออก) จำนวน 1 ล้านกระสอบ (1 แสนตัน) กลับคืนมา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัว ในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. 2553

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าขณะนี้มีน้ำตาลอยู่ในมือตัวแทนผู้ส่งออก (เทรดเดอร์) ประมาณ 8 แสนกว่ากระสอบ และส่วนใหญ่น้ำตาลยังอยู่ที่โรงงาน ซึ่งเบื้องต้นอาจจะซื้อกลับมา 5 แสนกระสอบ เพื่อประเมิณสถานการณ์ก่อน และหากเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อกลับคืนมาเต็ม 1 ล้านกระสอบ เพื่อป้องกันน้ำตาลเหลือค้างกระดานมากเกินไป เพราะยังมีน้ำตาลค้างกระดานอยู่กว่า 1.6 ล้านกระสอบ แบ่งเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมประมาณ 1 ล้านกระสอบ และกระทรวงพาณิชน์อีก 6 แสนกระสอบ

สำหรับเทรดเดอร์ทางกระทรวงอุตสาหกรรรมจะส่งหนังสือเชิญไปยังเทรดเดอร์ทั่วโลกที่มีอยู่ 24 บริษัท ที่เคยทำการค้ากับ บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ให้เข้ามายื่นซองประมูลขายน้ำตาล ซึ่งขั้นตอนจะเปิดให้มีการยื่นซองเสอนทั้งปริมาณและราคาน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกรายที่เสนอราคาต่ำที่สุดไล่ไปจนครบปริมาณที่ต้องการ ซึ่งล่าสุดราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 560 เหรียญต่อตัน (ไม่รวมค่าพรีเมี่ยมไทยอีก 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน) โดยคาดว่าราคาน้ำตาลที่ซื้อขายผ่านเทรดเดอร์จะเฉลี่ยที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ คณะกรรมการขายน้ำตาล ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน จะหารือถึงแนวทางการกระจายน้ำตาลจำนวนดังกล่าวในวันที่ 8 ก.ค. 2553 ซึ่งแนวทางการกระจายน้ำตาลจะทำด้วยวิธีปกติ โดยการขายผ่านทางยี่ปั๊วที่มีอยู่ในระบบประมาณ 20 ราย โดยจะกระจายให้ในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อความเป็นธรรม และจะกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายขาวธรรมดาที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม และบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จะขายที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการจำหน่ายในราคาควบคุม ทำให้จะมีส่วนต่างจากราคาที่ซื้อคืนมาประมาณ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม โดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างทั้งหมด 300 ล้านบาท

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสอน. กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ภายหลังจากมีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโดยการดึงน้ำตาลงวดที่ 52 และ 51 มาเพิ่มจากงวดปกติ ส่งผลให้มีน้ำตาลทรายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน 8.06 แสนกระสอบต่อสัปดาห์ ทำให้การตึงตัวลดลงและราคาลดลงในระดับหนึ่ง ซึ่ง ณ วันที่ 5 ก.ค. มีปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดาน 1.6 ล้านกระสอบ และหากคิดรวมกับน้ำตาลที่จะเข้ามาใหม่อีก ปริมาณน้ำตาลจึงมีเพียงพอแน่นอน และไม่น่าจะทำให้เกิดการกักตุน

แหล่งข่าวจากกอน.กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือทวงน้ำตาลทรายโควตาพิเศษที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้ 1 ล้านกระสอบแต่ได้จัดสรรไปให้ 8.04 แสนกระสอบยังคงเหลือประมาณ 1.9 แสนกระสอบ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตอบกลับไปแล้วว่าคงจะไม่สามารถจัดสรรเพิ่มให้ได้เพราะของเดิมพาณิชย์ยังไม่สามารถขายได้หมดโดยยังคงมีน้ำตาลเหลือ 6 แสนกระสอบ เนื่องจากหากมีน้ำตาลทรายดังกล่าวเหลือเท่าใดจะส่งผลกระทบต่อการคำนวณรายได้ของชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 2553/2554 ที่จะกำหนดพ.ย.นี้เพราะการคำนวณจะยึดจากการปริมาณน้ำตาลที่ขายได้จริง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 6 กรกฎาคม 2553

ซื้อน้ำตาลส่งออกราคาแพงมาขายในประเทศแก้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลโควตา ก. หรือน้ำตาลจำหน่ายในประเทศตึงตัว ประกอบด้วย คณะกรรมการรับซื้อน้ำตาลโควตา ค. ซึ่งมีนายประเสริฐ ปตณียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เป็นประธาน ทำหน้าที่เปิดประมูลซื้อน้ำตาลจากบริษัทผู้ค้าน้ำตาล 24 ราย จำนวน 1 ล้านกระสอบ อีก 1 ชุด คือ คณะกรรมการจำหน่ายน้ำตาลโควตา ค. มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เพื่อจำหน่ายน้ำตาลให้กับผู้ค้าในประเทศ ซึ่งนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นให้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย สำนักงบประมาณ อัยการสูงสุด และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น ให้มาร่วมเป็นคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดต่อไป

นายประเสริฐ กล่าวว่า น้ำตาลที่จะได้จากการประมูลจะขายให้ผู้ค้าส่งในระบบน้ำตาลปกติ 20 ราย โดยขายราคาเท่ากับหน้าโรงงานที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท บวกด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการเปิดประมูลจะทำให้เร็วที่สุดคาดว่าจะเป็นวันที่ 15 ก.ค.นี้ โดยเปิดประมูลจำนวน 100,000 ตัน หรือ 1 ล้านกระสอบเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ แต่จะต้องเสนอรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กบ.) พิจารณาก่อน โดยจะเสนอให้พิจารณาในวันที่ 8 ก.ค.นี้ เวลา 14.00 น. สาเหตุที่ต้องเร่งจัดซื้อ เพราะขณะน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กำลังอยู่ในประเทศไม่ได้ส่งออกไป การซื้อในช่วงนี้นอกจากเป็นการป้องกันปัญหาราคาผันผวนแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าขนส่งกรณีที่น้ำตาลถูกส่งไปขายในต่างประเทศแล้วต้องขนส่งกลับมาได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การซื้อน้ำตาลโควตา ค. ซึ่งเป็นโควตาสำหรับส่งออกในราคาตามราคาตลาดโลก ณ วันเปิดประมูลซื้อ ซึ่งมีราคาสูงกว่า มาขายในประเทศนั้น จะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องจ่ายค่าส่วนต่างของราคาน้ำตาลที่สูงกว่าถึงประมาณ 300 ล้านบาท. –สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 6 กรกฎาคม 2553

เร่งซื้อน้ำตาลส่งออกคืนอีก 1 ล้านกระสอบ

อุตสาหกรรมเร่งซื้อน้ำตาลส่งออกคืนอีก 1 ล้านกระสอบ หวังแก้ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตรึงตัว

วันนี้ (6 ก.ค.) นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนผู้ส่งออกน้ำตาลทราย (เทรดเดอร์) จำนวน 24 ราย มาประมูลขายน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการขอซื้อน้ำตาลโควตา ค. คืนมาแก้ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตรึงตัว คาดว่า ราคาจะอยู่ในระดับ 23 บาทต่อ กก. โดยกองทุนอ้อย และน้ำตาลทรายจะขาดทุน 300 ล้านบาท เพราะนำไปขายปลีกผ่านยี่ปั๊วที่อยู่ในระบบกว่า 20 ราย ในระดับ 19-20 บาทต่อ กก.

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศในบางพื้นที่ยังมีราคาแพง และขาดแคลนมาก โดยบางแห่งสูงถึง 30 บาทต่อ กก. ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมหวังว่า การเร่งระบายน้ำตาลเร็วขึ้นจะทำให้ปัญหาดังกล่าวทุเลาลง เบื้องต้นกำชับให้ สอน.กระจายน้ำตาลออกสู่ตลาดโดยเร็ว ล่าสุดพบว่า มีน้ำตาลค้างกระดาน 1 ล้านกระสอบ และโควตาของกระทรวงพาณิชย์อีก 6 แสนกระสอบ รวมเป็น 1.6 ล้านกระสอบ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ส่งหนังสือมายังกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ต้องการให้ขึ้นงวดให้ครบ 1 ล้านกระสอบ จากที่ขึ้นไปแล้ว 8 แสนกระสอบ

“หลักการคัดเลือกจะพิจารณารายที่เสนอราคาต่ำสุด แต่คาดว่าการจัดซื้อครั้งแรกอาจจะได้ปริมาณที่ไม่เต็มจำนวน โดยจะต้องดูน้ำตาลค้างกระดานในขณะนั้นประกอบด้วย เพื่อป้องกันปริมาณน้ำตาลเหลือค้างกระดานมากเกินไป ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายขาว และขาวบริสุทธิ์ตลาดโลกเคลื่อนไหวที่ระดับ 560 เหรียญต่อตัน (ไม่รวมพรีเมี่ยมไทยอีก 100 เหรียญต่อตัน)”

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า คาดว่าจะเปิดประมูลซื้อน้ำตาลได้ภายใน 12 ก.ค. ใช้เกณฑ์ราคาที่ต่ำสุดในการซื้อ จะเร่งทำให้จบในวันเดียว ทั้งนี้ การจัดสรรน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นหากปลายปีไม่สามารถขายได้หมดจะกระทบต่อการคำนวณรายได้ของชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 53/54 ที่จะกำหนดในเดือน พ.ย.นี้ เพราะการคำนวณจะยึดจากปริมาณน้ำตาลที่ขายได้จริง.

 จาก http://dailynews.co.th  วันที่ 6 กรกฎาคม 2553

ก.อุตสาหกรรม เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลน

กรุงเทพฯ 6 ก.ค. - ก.อุตสาหกรรม เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลน ล่าสุดพบการระบายน้ำตาลออกสู่ตลาดดีขึ้น

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์น้ำตาลตึงตัว ข้อมูลล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจตลาด พบว่า การระบายน้ำตาลออกสู่ตลาดของโรงงานดีขึ้น การส่งมอบน้ำตาลเป็นไปตามสัญญา โดยเฉพาะน้ำตาลที่ส่งขายให้กับโมเดิร์นเทรด พบว่ามีน้ำตาลขายแก่ประชาชน แต่ประชาชนซื้อน้ำตาลเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จะให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รายงานสถานการณ์ให้ทราบ รวมถึงผลการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการควบคุมการขนส่งน้ำตาล เช่น การต่อใบอนุญาตขนส่งที่กำหนดให้มีอายุเพียง 15 วันเท่านั้น จะไม่ต่ออายุอีก การติดตามสตอกของโรงงาน ส่วนราคาน้ำตาลในต่างจังหวัด ยอมรับว่าราคาจะยังแพงกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากมีค่าขนส่งบวกเข้าไปด้วย

สำหรับการซื้อน้ำตาลโควตา ค. ซึ่งเป็นโควตาส่งออกต่างประเทศ 1 ล้านตัน เพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศเพิ่มเติมจากที่โควตา ก.ไม่เพียงพอนั้น ล่าสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการชุดซื้อน้ำตาล และคณะกรรมการจำหน่ายน้ำตาล และเพื่อความโปร่งใสจะให้สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงบประมาณ มาช่วยพิจารณารายละเอียดในการดำเนินการด้วย. – สำนักข่าวไทย

 จาก http://www.mcot.net  วันที่ 6 กรกฎาคม 2553

ค้าภายในกระบี่จับมือบิ๊กซีขายน้ำตาลราคาถูก

กระบี่- สำนักงานการค้าภายในจังหวัดกระบี่ ร่วมกับห้างบิ๊กซี จำหน่ายน้ำตาลทรายราคาถูก กิโลละ 22.50 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมเป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้ซื้อน้ำตาลในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด

วันนี้ (6 ก.ค.) ที่ห้างบิ๊กซี ต.กระบี่ใหญ่ อ.เมือง จ.กระบี่ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดกระบี่ ร่วมกับห้างบิ๊กซี จัดจำหน่ายน้ำตาลทรายราคาถูก ในราคา กิโลกรัมละ 22.50 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถบริโภคน้ำตาลทรายในราคาถูก โดยเปิดโอกาสให้แต่ละรายจะซื้อได้ไม่เกิน 3 กิโลกรัมต่อ 1 คน เพื่อป้องกันผู้ฉวยโอกาส ซื้อน้ำตาลในคราวละมากๆ นำไปกักตุน

นายอรุณ ไม้ทิพย์ หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากไก่ไข่ มีราคาแพงแล้ว น้ำตาลทราย ก็เป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่ง ที่ราคาได้ขยับสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทางสำนักงานการค้าภายในจังหวัดกระบี่ ร่วมกับห้างบิ๊กซี เปิดจุดจำหน่ายน้ำตาลทรายจากโรงงานมาขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ในราคากิโลกรัม 22.50 บาท จากราคาที่จำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 26-27 บาท ถูกกว่า 4 บาท

ทางสำนักงานการค้าภายในจังหวัดกระบี่ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมการค้าภายในได้ประสานความร่วมมือกับทางห้างบิ๊กซี นำน้ำตาลทรายราคาปกติมาจำหน่ายให้กับประชาชนได้ซื้อน้ำตาลในราคาที่ถูกว่าท้องตลาด

อย่างไรก็ตาม การปริมาณน้ำตาลทรายยังน้อยอยู่การจำกัดจำนวนจึงจำเป็นดังนั้นประชาชนที่มาชื้อน้ำตาลทรายในห้างบิ๊กซีจะสามารถซื้อได้ไม่เกิน 3 กิโลกรัม ต่อ 1 คนเท่านั้น เพื่อที่จะแบ่งบันน้ำตาลทรายไปใช้โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์น้ำตาลทรายจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 6 กรกฎาคม 2553

ซูเปอร์ฯ 130 แห่งร่วมมือ น้ำตาลราคาแพง 30 บาท

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์น เทรด) จัดโครงการไข่ไก่ธงฟ้า นำไข่ไก่ราคาถูกวันละ 4 แสนฟอง ไปจำหน่ายแก่ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาไข่ไก่ราคาแพง โดยเริ่มวันที่ 6 ก.ค. นี้ ด้วยการจัดมุมไข่ไก่ธงฟ้าในห้างค้าปลีกแม็คโคร บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต เขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 130 สาขา จำหน่ายไข่ไก่เบอร์ 2 ฟองละ 2.90 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 2.80 บาท ไข่ไก่เบอร์ 4 ฟองละ 2.70 บาท ซึ่งต่ำกว่าท้องตลาดที่ขณะนี้ขายไม่ต่ำกว่าฟองละ 3 บาท

ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ให้ทางค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ จัดสถานที่จำหน่ายไข่ไก่ธงฟ้าราคาพิเศษแก่ประชาชนเช่นกัน โดยประสานไปยังฟาร์มไก่ไข่ทุกจังหวัดแล้ว เพื่อนำผลผลิตมากระจายในพื้นที่ที่ยังมีปัญหาราคาไข่ไก่สูงอยู่

“หลังจากที่ได้หารือขอความร่วมมือไปยังผู้เลี้ยงผู้ค้าไข่ไก่ บริษัทผู้เลี้ยงไก่ไข่ ห้างค้าปลีก และตลาดสดแล้ว ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และในวัน 6 ก.ค. นี้ จะเริ่มนำไข่ไก่ธงฟ้าไปจำหน่ายทุกสาขาของห้างค้าปลีก พร้อมทั้งแจ้งให้แต่ละห้างแยกมุมไข่ไก่ธงฟ้า กับไข่ไก่ราคาปกติที่ห้างขายออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนเรื่องราคา”

นางวัชรี กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้จะลงพื้นที่ ตรวจสอบการจัดจำหน่ายไข่ไก่ธงฟ้า ตามนโย บายของนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เพื่อตรวจสอบราคาไข่ไก่ที่จำหน่ายภายในห้างค้าปลีกแบบแพ็กปกติว่ามีราคาเป็นอย่างไร เพราะได้รับร้องเรียนว่าไข่ไก่บางชนิด ที่เป็นชนิดพิเศษ เสริมคุณค่าอาหารมีราคาสูงกว่าไข่ไก่ปกติมาก

ดังนั้นกรมฯ จะต้องไปดูการตั้งราคาให้เหมาะสม และเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ส่วนการเปิดเสรีนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ยังไม่เห็นด้วยในตอนนี้ เพราะกังวลเกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด ราคาตกต่ำตามมา และอาจกระทบต่อเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงไก่ไข่รายย่อยกว่า 80% ได้

สำหรับสถานการณ์น้ำตาลทรายยังพบการตึงตัว และราคาแพง กก.ละ 28-30 บาท ในหลายพื้นที่ ซึ่งสัปดาห์นี้กรมฯ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาใช้มาตรการกฎหมายเพิ่มเติมดูแลสินค้าน้ำตาล 4 มาตรการ ได้แก่ การกำหนดราคาแนะนำน้ำตาลทรายทั่วประเทศ และให้ผู้ส่งออกกับพ่อค้าคนกลาง แจ้งการครอบครอง ปริมาณ สต๊อก และการขนย้ายน้ำตาลกับกรมฯ เพื่อให้บริหารงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ หากมาตรการนี้ยังไม่ได้ผล ต่อไปเสนอมาตรการเด็ดขาดควบคุมราคาขายปลีกทั้งหมด

นางพรทิวา กล่าวเพิ่มว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ร่วมมือส่งเสริมการรับซื้อผลผลิตการเกษตรของไทย โดยเบื้องต้น ห้างคาร์ฟูร์ บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส ตกลงรับซื้อ ผัก ผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี้ เงาะ ทุเรียน มังคุด และผลิตภัณฑ์การเกษตรในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 15-20% จากปี 52 เพื่อนำไปจำหน่ายตามสาขาในประเทศและส่งออก

โดยโลตัสรับซื้อปริมาณ 1.8 แสนตัน บิ๊กซีรับซื้อ 12,000 ตัน และคาร์ฟูร์ซื้อ 5,000 ตัน ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรและแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาสินค้าตกต่ำได้ ขณะเดียวกันช่วยให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าเกษตรมีคุณภาพ ราคาเหมาะสม นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมมีมติในการแก้ไขปัญหาไข่แพง โดยในระยะสั้น ให้ยืดเวลาไก่ยืนกรมออกไปจาก 78 สัปดาห์เป็น 82 สัปดาห์ ก่อนจะปลดระวางเป็นไก่เนื้อ รวมทั้งให้ชะลอการส่งออกไข่ไก่เป็นการชั่วคราว ยกเว้นกรณีมีสัญญาล่วงหน้า ขณะเดียวกันให้กรมปศุสัตว์ นำโควต้ากลางของกรมฯ เป็นลูกไก่เดือนละ 50,000 ตัว มาให้เกษตรกรรายย่อย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนลูกไก่ และให้ติดตามราคาลูกไก่ไข่ และไก่สาวโดยต่อเนื่องเพื่อให้ปรับราคาสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้กรมปศุสัตว์ ตั้งคณะกรรมการร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พิจารณาว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาของบอร์ด เป็นตัวแทน 9 บริษัทเอกชนมีความจำเป็นหรือไม่ ให้เวลา 60 วัน เพื่อนำกลับมาเสนอบอร์ดอีกครั้ง.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 กรกฎาคม 2553

ระดมสมองตอบโจทย์ 'น้ำตาลหายไปไหน'

จากที่หนังสือพิมพ์"ฐานเศรษฐกิจ"ได้เกาะติดสถานการณ์อุตสาหกรรมน้ำตาล มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นสื่อฉบับแรกที่เปิดประเด็นน้ำตาลตึงมือถึงขั้นขาดแคลน จนทำให้ในหลายพื้นที่ในเขตกทม.และปริมณฑล ราคาน้ำตาลพุ่งแตะ 30 บาทต่อกิโลกรัม เกินราคาที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุม ซึ่งอยู่ที่ 23.50 บาท/กิโลกรัม ทำให้กระทบถึงการใช้น้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) จนภาครัฐบาลต้องออกมาแก้ปัญหา โดยเร่งถมน้ำตาลลงระบบแล้วหลายระลอก จนขณะนี้หากน้ำตาลโควตา ก. ส่วนเพิ่มทั้งหมดสามารถเข้าตลาดกระจายสู่มือผู้บริโภคได้จริง เท่ากับว่าปีนี้มีการใช้น้ำตาลภายในประเทศสูงถึง23 ล้านกระสอบ จากภาวะปกติจะมีน้ำตาลโควตา ก. เพียง 19-20 ล้านกระสอบเท่านั้น จนเกิดคำถามมากมายถึงปัญหาดังกล่าว

"ฐานเศรษฐกิจ" จึงระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดเสวนาโต๊ะกลมขึ้นภายใต้หัวข้อ "น้ำตาลหายไปไหน?" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมงานได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ , นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม , นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย , นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยเขต7 และนายไพศาล บุญทวีพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พี.เอส.บี จำกัด ผู้ค้าน้ำตาล

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม อธิบายให้เห็นภาพที่มาที่เกิดคำถามว่า"น้ำตาลหายไปไหน?"ว่า ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำตาลทรายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 นี้ เป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงและซับซ้อน ประเด็นแรก คือ น้ำตาลมาจากอ้อย หากภูมิอากาศไม่เอื้อ อ้อยให้ผลผลิตน้อย ก็จะมีน้ำตาลออกสู่ตลาดน้อย นอกจากนี้ น้ำตาลยังเป็นสินค้าที่ซื้อขายในตลาดโลก ปกติโลกมีความต้องการใช้น้ำตาลประมาณ 165-170 ล้านตันต่อปีโดยเฉลี่ย แต่ปี 2552 ที่ผ่านมาโลกขาดดุลน้ำตาล 12.5 ล้านตัน และปีนี้ยังขาดอยู่อีก 8.5 ล้านตัน –เหตุทั่วโลกผลิตน้ำตาลลดลง

ทั้งนี้ตัวการสำคัญที่กระตุ้นการขาดแคลนน้ำตาลในตลาดโลก คือ อินเดีย เนื่องจากปริมาณน้ำตาลในปี 2552 ลดลงจากปี 2550-2551 ที่อินเดียเคยผลิตได้ 29 ล้านตัน มาอยู่ที่ 16.1 ล้านตัน และในปีนี้คาดว่าจะผลิตได้ 17.3 ล้านตัน ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตรายอื่นที่สำคัญ ก็มีกำลังการผลิตลดลงเช่นกัน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีนี้ผลิตได้เพียง 13 ล้านตัน จากปกติ 16 ล้านตัน สหภาพยุโรป กำลังผลิตน้ำตาลลดลงจาก 18 ล้านตันมาอยู่ที่ 16 ล้านตัน และไทยกำลังผลิตลดลงมาอยู่ที่ 6.79 ล้านตันจากระดับ 7.38 ล้านตัน เมื่อการผลิตอ้อยไม่สมดุลกับความต้องการซื้อก็ส่งผลให้ราคาน้ำตาลปรับตัวขึ้นไปสูงสุดในรอบ 29 ปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีราคาอยู่ที่ระดับ 30.4 เซ็นต์ต่อปอนด์

ประเด็นที่สอง เมื่อราคาน้ำตาลในประเทศถูกควบคุม ขณะที่ราคาน้ำตาลโลกผันผวนและอยู่ในภาวะขาขึ้น ระดับราคาในประเทศกับข้างนอกห่างกันมาก จูงใจให้เกิดการลักลอบส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรม จึงประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมืออย่างดีทั้งจากกระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการขึ้นบัญชีราคาน้ำตาล เป็นสินค้าเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สกัดน้ำตาลไม่ให้ไหลออกไปประเทศข้างเคียง โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานี้ ปัญหาการลักลอบขนน้ำตาลตามตะเข็บชายแดนเบาบางลงมาก ขณะนี้จากการรายงานทั้งอย่างเป็นทางการและในทางลับพบว่า การขนน้ำตาลในแนวตะเข็บชายแดนอยู่ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ

-โครงสร้างการใช้น้ำตาลในปท.เปลี่ยน ประเด็นที่สาม ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลาง-ใหญ่ ราว 3,300 โรงงาน โรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกส่วนใหญ่ใช้น้ำตาลโควตา ค. แต่เนื่องจาก 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้หันมาใช้โควตา ก. โดยพบว่ามีการใช้น้ำตาลโควตา ค. ลดลงราว 200,000 กระสอบ ทั้งนี้ การกำหนดโควตา ก. นั้นวางแผนเพื่อรองรับการใช้ในประเทศ ไม่ได้รองรับการส่งออก เมื่อมีการหันมาใช้โควตา ก. ผลิตเพื่อส่งออก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ขณะนี้ปัญหาในส่วนนี้เบาลงแล้ว เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลง ทำให้การใช้น้ำตาลในโควตาต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่ระบบ

"น้ำตาลเป็นสินค้าที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจ เดิมเราคาดว่าจะเติบโต 5% เราจึงบวกน้ำตาลโควตา ก. เพิ่มขึ้นเป็น 21 ล้านกระสอบ จาก 19 ล้านกระสอบในปีที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงประชาชนใช้น้ำตาลผ่านโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น สัดส่วนเปลี่ยนจากปริมาณการใช้น้ำตาลในภาคอุตสาหกรรม 60% ภาคประชาชน 40% มาเป็นใช้ในภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 80% และประชาชนอาจใช้เพียง 20% ซึ่งหมายถึงการใช้น้ำตาลในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก โดยอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มใช้น้ำตาลเพิ่มขึ้นทันที 30% น้ำตาลส่วนหนึ่งจึงหายเข้าไปอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม"

-จิตวิทยาหมู่แห่ซื้อตุน ส่วนกรณีโมเดิร์นเทรดซึ่งมักใช้เป็นเทอร์มอมิเตอร์วัดไข้ หากไม่มีน้ำตาลในชั้นขายของ ก็จะบอกว่าขาดตลาด แต่อันที่จริงแล้วขาดตลาดหรือไม่ต้องพิจารณาให้ลึก สมัยก่อนน้ำตาลไม่ตึงตัวผู้บริโภคก็จะซื้อน้ำตาลทีละถุง เมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้น แม่ค้ารายย่อยเข้ามาซื้อน้ำตาลในโมเดิร์นเทรดมากขึ้น ทำให้น้ำตาลหมดจากชั้นวาง เมื่อรู้สึกว่าน้ำตาลขาด ราคาตลาดโลกสูง ก็จะเกิดผลทางจิตวิทยาทันที ทุกคนจะป้องกันตัวเองไว้ก่อน โรงงานมีกำลังซื้อก็สต๊อกสินค้าไว้ ชาวบ้านก็ตื่นตระหนก เริ่มซื้อเก็บเข้าบ้าน จากเดิมซื้อครั้งละ 1 ถุง ก็ซื้อ 3 ถุง กลายเป็นความต้องการที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า ยิ่งโหมกระหน่ำซ้ำเติมทางความรู้สึก

ขณะที่นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กล่าว ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายกระทรวงพาณิชย์ มองว่า ปีนี้(2552/2553) เป็นปีที่ไม่ปกติ ตลาดโลกขาดน้ำตาล และในปีปกติจะเห็นว่า น้ำตาลในประเทศไทยราคาจะสูงกว่าในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อการส่งออก จะใช้น้ำตาลโควตา ค.เพื่อประโยชน์ในการส่งออก แต่เมื่อโควตา ค. แพงกว่าก็หันมาใช้น้ำตาลในท้องตลาด(โควตา ก.) เพื่อลดต้นทุนตัวเองลง ซึ่งเขาสามารถซื้อได้ แต่ถ้าโรงงานเหล่านี้ไม่ทำตามสัญญาตามระเบียบของกอน.ที่ระบุว่า ถ้าโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเพื่อส่งออกรายใด ใช้น้ำตาลโควตา ค. ไม่ถึง 70 % ก็จะถูกตัดสิทธิ์การใช้โควตา ค. ไป 5 ปี เช่นกัน ซึ่งตอนนี้กลับมาใช้มากขึ้นแล้ว เพราะต้องการรักษาสิทธิ์ไว้ บวกกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับต้นปีที่ราคาสูงกว่ามาก

-ขายในกระดานต้องทบทวน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศตั้งคำถามว่า ในภาวะน้ำตาลที่ไม่ปกติแบบนี้ จำเป็นต้องใช้กลไกในด้านของกฎหมายมาควบคุมดูแลหรือไม่ ซึ่งจากที่อยู่กับกฎหมายมาตลอด ถ้าไม่มีของแล้วใช้กฎหมายคุมมันก็หาย ฉะนั้น ตัวปริมาณสินค้าจึงเป็นตัวสำคัญ ว่ามันมีของหรือไม่ กับเรื่องจิตวิทยามันจะคู่กัน แต่ปีนี้มีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องไปดูว่าเราจะปล่อยให้กลไกมันเป็นแบบนี้ เหมือนที่ผ่านมานับแต่ปี 2527 ที่เริ่มมีพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายหรือ ก็ต้องทบทวนตรงนี้ โรงงานก็ต้องยอมรับ 3สมาคมโรงงานน้ำตาลก็ต้องยอมรับตรงนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะมีปัญหาต่อไป ยิ่งในปี 2553/2554 ที่เราบอกว่าอ้อยจะมีน้อยลง ทั่วโลกก็เหมือนกัน "ผมถึงมองว่าระบบการแจกจ่ายน้ำตาล ณ ปัจจุบันที่เป็นเรื่องการขายน้ำตาลในกระดานของโควตาค. ต้องทบทวนให้เหมาะสม ถ้ายังไม่มีการแก้ไข ผลกระทบทางจิตวิทยาจะรุนแรงมากขึ้น เพราะถ้าผมเป็นกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่ม ผมก็จะซื้อตุนไว้เต็มที่เหมือนกัน"

-หวั่นน้ำตาลหายจากระบบ เช่นเดียวกับในความเห็นของนายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า การขาดแคลนน้ำตาลทรายที่เกิดขึ้น ไม่มีผู้ผลิตรายใดหรือพ่อค้าทำการกักตุน แต่เกิดจากการตื่นตระหนกของครัวเรือน และร้านค้าที่ทำขนมที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่เกรงว่าน้ำตาลทรายจะขาดแคลนและแห่กันไปซื้อ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นจำนวนมากนั้น ก็ไม่ได้เข้ามาแย่งน้ำตาลโควตา ก. เพราะได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผูกพันกับโรงงานน้ำตาลไว้แล้ว ส่วนกรณีที่ภาครัฐ ออกมาใช้มาตรการในการตรวจสอบที่เข้มงวดมากเกินไป เป็นห่วงว่าจะทำให้น้ำตาลทรายหายไปจากระบบ เนื่องจากร้านค้าต่างจังหวัดที่เป็นโชวห่วย มีการตักน้ำตาลทรายขายจากกระสอบ เครื่องชั่งอาจจะตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ทำให้พอมีกำไรบ้าง แต่หากเข้มงวดมากเกินไปร้านค้าเหล่านี้จะเลิกขาย เพราะการขายน้ำตาลทราบถือเป็นการบริการที่ไม่มีกำไร ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียเอง ที่รัฐบาลเคยอุดหนุนราคา แต่มายกเลิกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และให้ร้านค้าที่จำหน่ายน้ำตาลทรายไปขึ้นทะเบียน เพื่อกำกับดูแล ทำให้ร้านค้าทั่วประเทศเลิกขายน้ำตาลทรายกันทั้งหมด เพราะรัฐบาลไปเข้มงวดทุกกระเบียดนิ้ว -ถมน้ำตาลเข้าห้างไม่มีทางพอ

สำหรับภาคตัวแทนจำหน่ายนายไพศาล บุญทวีพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พี.เอส.บี จำกัด กล่าวในฐานะตัวแทนจำหน่ายน้ำตาลให้กับโรงงาน โดยขายน้ำตาลให้โมเดิร์นเทรดมองว่า ความจริงแล้วน้ำตาลในห้างในโมเดิร์นเทรดที่ขาดนั้น แต่ถ้าถามว่าในโกดังยังมีอยู่หรือไม่ ผมยืนยันว่าไม่ขาด และเวลานี้ห้างโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศก็มีจำนวนมากครอบคลุมเกือบจะทุกจังหวัด ทั้งแม็คโคร โลตัส ท็อปส์ บิ๊กซี เซเว่น อีเลฟเว่น และขายไม่เกินราคาควบคุมที่ 23.50 บาท/กิโลกรัม โดยมีปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ที่เข้าสู่ห้างเหล่านี้ไม่น่าเกิน 120,000-130,000 ตัน/ปี คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของน้ำตาลในระบบเท่านั้น เนื่องจากโรงงานขายน้ำตาลให้โมเดิร์นเทรดมากไม่ได้ เพราะไม่เกิดการแข่งขัน ทุกวันนี้ โรงงานก็ผลิตเท่าที่จำเป็น เพราะต้องลงทุนเรื่องบรรจุลงถุง 1 กิโลกรัม 5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง แต่ที่ขายให้โมเดิร์นเทรดก็เพื่อรักษาตลาด รักษาหน้าตาไว้เท่านั้นเอง ความจริงห้างโตทุกปี แตกสาขาเพิ่มขึ้นทุกปี มีการขยายผู้บริโภค เวลานี้ถ้าตราบใดที่ราคาในโมเดิร์นเทรดอยู่ที่ 23.50 บาท/กิโลกรัม และราคาข้างนอกห้างสูงกว่านี้ ถมน้ำตาลเข้าไปในห้างเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย

"ผมเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำตาลให้กับโรงงาน โดยขายให้โมเดิร์นเทรด ก็มองเห็นว่าการที่โมเดิร์นเทรดขายน้ำตาลในราคาควบคุมอยู่นี้ มันฝืนกลไกตลาด สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ ตลาดเพื่อนบ้านเราเวลานี้ขายน้ำตาลสูงกว่า และอุตสาหกรรมน้ำตาลมันมีผลประโยชน์มาก อะไรที่ผลประโยชน์มากขนาดโทษประหารชีวิตยังมีคนทำเลย และนับประสาอะไรกับน้ำตาลที่โทษนิดเดียวใครก็ยอมสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อต้นปีที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูง 30 กว่าเซ็นต์/ปอนด์ ทำให้การลักลอบส่งออกน้ำตาลกำไรดีกว่าค้ายาบ้า ขายออกไปได้ส่วนต่างมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน"

ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในเบื้องต้นนี้เปิดให้การค้าน้ำตาลเฉพาะ 1 กิโลกรัม เปิดให้ลอยตัวก่อน แล้วมันจะเกิดการแข่งขัน ถ้าห้างขึ้นราคาสูงขึ้นก็จะทำให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย ซื้อน้ำตาลร่วมมาบรรจุเอง มันจะเกิดความสมดุลของมันเอง

-ชาวไร่แนะต้องปรับปรุงกลไก นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่าราคาน้ำตาลในประเทศเพื่อนบ้านแพงกว่าไทย การลักลอบขนน้ำตาลออกไปต้องมีบ้าง แต่ถูกเปลี่ยนวิธีการ โดยออกไปในรูปสินค้าสำเร็จรูป เช่น นม เครื่องดื่ม เพราะสินค้ากลุ่มนี้ผลิตในไทยซื้อน้ำตาลได้ในราคา 20 บาทต่อกิโลกรัม แต่ไปผลิตในประเทศอื่นน้ำตาลแพงกว่ามาก เช่น สปป.ลาว ราคาน้ำตาลอยู่ที่ 38 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามและกัมพูชาราคาประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น น้ำตาลที่ผลิตในประเทศไทยจึงไม่ได้เลี้ยงเฉพาะในประเทศ ปริมาณใช้น้ำตาลจึงเติบโต 30% จากที่เคยคาดว่าจะโต 5%

"ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับโมเดิร์นเทรด ทำไมเราต้องไปบรรจุน้ำตาลถุงให้เขา จริง ๆ เราควรจะกระจายให้ร้านโชวห่วย จูงใจให้คนเดินเข้าร้านโชวห่วยมากกว่าโมเดิร์นเทรด"

ถ้าเราปล่อยให้น้ำตาลเดินอย่างที่ผ่านมา ถามว่าวันนี้กลไกน้ำตาลมีอะไรสะดุดหรือไม่ ผมคิดว่ากลไกนี้เดินได้ 99% เพียงแต่ต้องมาปรับปรุง ตอนนี้สิ่งที่รัฐทำคือใส่น้ำตาลเข้ามาในระบบมากขึ้น จากนั้นต้องเข้าไปดูแต่ละโรงงานว่าของใครค้างกระดานอยู่ และค้างด้วยเหตุผลอะไร ถ้าค้างด้วยเหตุผลที่มีสัญญาอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ชัดเจน ก็โอเค แต่ถ้าค้างโดยที่ไม่มีอะไรรองรับเลย ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ภาครัฐก็ต้องหาทางจัดการ ซึ่งศูนย์บริหารการผลิตน้ำตาลกำลังดูรายละเอียดว่าจะเสนอมาตรการอย่างไรต่อ กอน. ต่อๆไป"

โต๊ะเสวนายืนยัน ปริมาณการผลิตและการป้อนน้ำตาลเข้าตลาดในประเทศเป็นไปตามปกติ ไม่มีการขาดหรือสะดุด เพื่อปัญหาน้ำตาลตึงตัวเกิดจากกระแสซื้อตุนทั้งของชาวบ้าน ร้านค้าร้านขนมรายย่อย ไปจนถึงโรงงานใหญ่ ที่คาดการณ์ว่าน้ำตาลจะแพงในอนาคต และสาเหตุอีกประการคือ การใช้น้ำตาลของโรงงานอาหารเครื่องดื่มขนาดใหญ่ ซึ่งมียอดเติบโตสูงกว่า 30% ทั้งจากภาวะคนบริโภคมากขึ้นเพราะอากาศร้อน และการขายเพิ่มในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ปริมาณน้ำตาลโควตา ก. ที่เคยจัดสรรให้สำหรับการใช้ในประเทศตึงตัว สะท้อนถึงปัญหากลไกการแจกจ่ายที่คนในวงการต้องร่วมวางแนวทางแก้ไข

นอกจากนี้แล้วหลายคนยังเห็นว่า ปัญหาปีนี้เป็นโอกาสดีของการเตรียมรับมือภาวะผันผวนของการผลิตน้ำตาลโลกปีหน้า ซึ่งมีสัญญาณว่าการผลิตจะมีปัญหา ว่าจะเตรียมบริหารและรับมือปัญหาของหวาน ๆ อย่างน้ำตาลกันอย่างไร

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 5 กรกฎาคม 2553

ศุลกากรเชียงรายดึงทุกหน่วยร่วมคุมเข้มริมน้ำโขง-สกัดขนน้ำตาลออกนอก

เชียงราย – นายด่านศุลกากรเชียงแสน เชื่อสกัดขบวนการลักลอบขนน้ำตาลออกนอกประเทศได้ หลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเฝ้าระวังตลอด 24 ชม.

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำตาลพุ่งสูงต่อเนื่องนี้ ได้ทำให้ชายแดนด้าน จ.เชียงราย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับ 2 ประเทศ คือ พม่า และสปป.ลาว รวมระยะทางทั้งทางบกและน้ำกว่า 310 กิโลเมตร ถูกจับตามองเป็นพิเศษเนื่องจากมีจุดผ่านแดนถาวรที่ใช้ทำการค้าถึง 3 จุด คือ ที่ อ.แม่สาย ชายแดนไทย-พม่า, อ.เชียงแสน ซึ่งมีแม่น้ำโขงกั้นไทย-สปป.ลาว และด้าน อ.เชียงของ ไทย-สปป.ลาว โดยทั้งหมดสามารถเชื่อมไปถึงจีนตอนใต้ได้อีกด้วย ทั้งยังมีจุดเข้าออกอื่นๆ อยู่ตลอดแนวชายแดน

ขณะที่สภาพของแม่น้ำโขงในปัจจุบันมีปริมาณน้ำปาก และสามารถใช้ทำการขนส่งสินค้าทั้งเรือและใหญ่ได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งตามปกติชาวบ้านในฝั่ง สปป.ลาว มักจะนั่งเรือเล็กข้ามมาซื้อสินค้าในฝั่งไทยอยู่เป็นประจำทุกวัน ทำให้ตรวจสอบได้ยากเพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าเล็กๆ น้อยๆ หรืออุปโภคบริโภครายวัน เสี่ยงต่อการลักลอบนำน้ำตาลออกไปอย่างมาก

ด้าน นายวินัย ฉินทองประเสริฐ นายด่านศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ในระยะนี้ทางศุลกากร อ.เชียงแสน ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าบริเวณท่าเรือเชียงแสนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการตรวจสอบการลักลอบนำน้ำตาลออกนอกประเทศ หลังพบว่าน้ำตาลในประเทศลาวมีราคาสูงและน้ำตาลในประเทศไทยมีการปรับราคาแพงขึ้น เกรงว่าจะมีการลักลอบนำออกจนทำให้น้ำตาลในประเทศขาดตลาด

นายวินัยกล่าวว่า น้ำตาลทรายเป็นสินค้าต้องห้าม การส่งออกหรือนำเข้าต้องได้รับอนุญาตก่อน ในระยะที่ผ่านมาจึงไม่มีการส่งออกหรือนำเข้าด้านนี้ แต่การลักลอบนั้นอาจจะมีขึ้นได้เนื่องจากชายแดนยาว ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยการจัดชุดลาดตระเวนตามแนวตะเข็บและชายฝั่งแม่น้ำโขงตลอด 24 ชั่วโมง

พร้อมกันนี้ยังได้มีการประสานกับหน่วยงานชายแดนที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำตาลทราย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้เพราะชายแดนเชียงแสนมีน้ำโขงกั้นพรมแดน และมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงหลายหน่วยงานที่จะช่วยกันสอดส่องดูแลได้แบบครอบคลุม

 จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 5 กรกฎาคม 2553

พณ.นัดถก กกร.แก้น้ำตาลแพง ส่งไข่ธงฟ้าลงห้าง 130 สาขาทั่วกรุง วันนี้

พณ.เพิ่มสาขาห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จำหน่ายไข่ไก่ธงฟ้า อีก 130 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมประสานไปยังฟาร์มแต่ละจังหวัดในการนำไข่ไก่ไปจำหน่ายให้แก่ประชาชนให้ทั่วถึง เตรียมประชุม กกร.เพื่อเตรียมเพิ่มมาตรการกำกับดูแลสินค้าน้ำตาลทรายสัปดาห์นี้

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการที่กรมการค้าภายใน นำไข่ไก่ธงฟ้า ไปจำหน่ายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา ขณะนี้ มีไข่ไก่ธงฟ้าจำหน่ายครบทั้ง 75 จังหวัดแล้ว โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล มีจำหน่ายที่ห้างบิ๊กซี โลตัส และแม็คโคร จำนวน 50 สาขา

โดยวันนี้ จะมีไข่ไก่ธงฟ้าจำหน่าย 130 สาขาทั่วกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยได้เพิ่มที่ห้างคาร์ฟูร์ และ ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ด้วย พร้อมทั้งยังประสานไปยังฟาร์มในพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อนำไข่ไก่ไปจำหน่ายให้กับประชาชนให้ทั่วถึง โดยราคาจำหน่าย ไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาฟองละ 2.90 บาท เบอร์ 3 ราคาฟองละ 2.80 บาท และเบอร์ 4 ราคาฟองละ 2.70 บาท

ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้ตลาดสด กำกับดูแลผู้ค้าไข่ไก่ในตลาดให้กำหนดราคาขายปลีก ตามราคาแนะนำของกระทรวงพาณิชย์ โดยสูงสุดไข่ไก่เบอร์ 0 ไม่เกินฟองละ 3.60 บาท

นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อเตรียมเพิ่มมาตรการกำกับดูแลสินค้าน้ำตาลทราย โดยเฉพาะการแจ้งสถานที่ และปริมาณจัดเก็บ เพื่อป้องกันการกักตุนไม่ให้น้ำตาลทรายขาดตลาด

ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกและข้าวสาร ขณะนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาข้าวเปลือกเจ้า 5 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นร้อยละ 15 ราคาปรับสูงขึ้นตันละ 500-600 บาท อยู่ที่ ตันละ 7,800-8,700 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังออกสู่ตลาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง และเพลี้ยกระโดด อีกทั้งปริมาณข้าวในมือผู้ประกอบการโรงสี เหลือน้อยลง ขณะที่ความต้องการซื้อข้าวจากผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 5 กรกฎาคม 2553

น้ำตาลคลายตัวมีขาย2ล.กระสอบ

ผู้บริโภคเตรียมเฮภายในก.ค.นี้น้ำตาลไหลกลับสู่ตลาดแล้ว พาณิชย์-อุตสาหกรรมเร่งมือปล่อยน้ำตาลส่วนเพิ่มสู่ตลาด เลขาฯสอน.ย้ำสถานการณ์ตลาดน้ำตาลดีขึ้น ชี้ภาวะตื่นซื้อตุนคลายตัวไม่รุนแรงเหมือนสัปดาห์ก่อน เล็งปีหน้าจัดสรรน้ำตาลโควตา ก.เพิ่ม มีแนวโน้มสูงถึง 25 ล้านกระสอบ ตัวแทนจำหน่ายน้ำตาลเชื่อถ้าทุกฝ่ายคลายน้ำตาลออกสู่ระบบได้ เดือนนี้น้ำตาลในประเทศล้นตลาดแน่ ระวังลักลอบส่งออกชายแดน ชาวไร่แนะปล่อยราคาน้ำตาลกึ่งลอยตัว

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม (สอน.)เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากนโยบายของนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่ดูแลภาคการผลิตน้ำตาล จะไม่ปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน และมั่นใจว่าน้ำตาลจะไหลสู่ระบบได้ หลังจากที่เลื่อนน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ)งวดสุดท้ายออกมาขึ้นงวดก่อน โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนได้ดึงน้ำตาลงวดที่ 52 ออกมาแล้ว และสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ดึงงวดที่ 52 ขึ้นมาใช้ก่อน รวมถึงการเตรียมที่จะซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค.(โควตาส่งออก) จำนวน 1 ล้านกระสอบมาเติมให้อีก โดยปัจจุบันมีน้ำตาลทั้งหมดที่ขึ้นกระดานไว้แล้ว 2 ล้านกระสอบ เป็นน้ำตาลจริง ๆ พร้อมขายให้ผู้ซื้อ ไม่ได้หายไปไหน แต่กลไกที่จะกระจายให้ถึงมือประชาชนนั้นทุกคนกำลังช่วยกันอยู่ ซึ่งการแก้ปัญหามีการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งในแง่ของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดด้านการซื้อขายน้ำตาลโควตา ก. พบว่า อัตราการซื้อไม่รุนแรงเหมือนช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553 มีการขึ้นงวดน้ำตาลใหม่ 808,428 ล้านกระสอบ รวมน้ำตาลค้างกระดาน 1.62 ล้านกระสอบ หากรวมปริมาณน้ำตาลที่ยังไม่ได้ขนจากโรงงานน้ำตาล มีทั้งสิ้น 2.022 ล้านกระสอบ ขณะที่การซื้อเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ 60,000 กระสอบ ลดลงจากช่วงต้นสัปดาห์ ที่มียอดการซื้อสูงถึง 200,000 กระสอบ พร้อมกันนี้ได้มีการออกมาตรการงดต่ออายุการขนส่ง 15 วัน จากเดิมให้ต่ออายุได้ต่อเนื่อง แต่สำหรับมาตรการดังกล่าว หากขออนุญาตขนส่งน้ำตาลแล้วภายใน 15 วันไม่มีการขนส่ง ก็จะแขวนน้ำตาลไว้เลย คือ ตัดโควตาโรงงานนั้นออกทันที และไม่อนุญาตให้ต่ออายุขนส่ง เพื่อไม่ให้เกิดการกักตุนขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับปีฤดูการผลิตใหม่ 2553/2554 ที่จะเริ่มเปิดหีบได้ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการพิจารณากำหนดปริมาณน้ำตาลโควตา ก.ใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยปีนี้อีก จากปกติจะพิจารณาข้อมูลด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยอดน้ำตาลค้างกระดานในปีที่ผ่านมาเป็นหลัก แต่ต่อไปคงต้องมีการเอกซเรย์ข้อมูลให้ละเอียดมากขึ้น และจะต้องมีการคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าอย่างมืออาชีพมากขึ้น จากเดิมที่ค่อนข้างใช้การอนุมานเป็นหลัก ทั้งนี้ มองว่าในปีหน้าตัวเลขโควตา ก. น่าจะสูงกว่า 23 ล้านกระสอบ และเป็นไปได้ที่อาจสูงถึง 25 ล้านกระสอบ เพราะหากโควตา ก. เหลือก็สามารถโยกกลับไปที่โควตา ค. เพื่อส่งออกได้ภายหลัง เมื่อมั่นใจว่าปริมาณน้ำตาลในประเทศมีเพียงพอแล้ว

สอดคล้องกับที่นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทราย กระทรวงพาณิชย์ ว่า ในแง่ของกระทรวงพาณิชย์เอง ยอมรับว่า น้ำตาลโควตา ก. พิเศษ 1 ล้านกระสอบ ที่เป็นโควตาของกระทรวงพาณิชย์นั้นบริหารไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เราจึงต้องมีการขีดเส้นไว้ว่า ไม่เกินวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 นี้ จะต้องระบายออกมาให้หมด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ขอไปทาง กอน. แล้ว เพื่อขอขึ้นงวดที่เหลืออยู่อีก 194,000 กระสอบ ขึ้นงวดไปแล้ว 806,000 กระสอบ

"เมื่อมีน้ำตาลส่วนที่มาเติมใหม่จากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เข้ามาในระบบโดยดึงงวดที่ 52,51 มาขึ้นงวดก่อน บวกกับมีน้ำตาลโควตากระทรวงพาณิชย์ ที่จะเร่งระบายออกมาอีกส่วน ก็จะทำให้ลดผลกระทบทางจิตวิทยาลงได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และนโยบายของ กอน.ก็มีการซื้อน้ำตาลโควตา ค. คืนมาอีกจำนวนหนึ่ง ก็น่าจะทำให้ดีขึ้นอีก ขณะที่ตามแนวตะเข็บชายแดน ก็ยังเกิดการลักลอบส่งออกไม่มากนักในตอนนี้"

ด้านนายไพศาล บุญทวีพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พี.เอส.บี จำกัด ผู้ค้าน้ำตาล กล่าวว่า ถ้ากอน.ดึงน้ำตาลงวดที่ 52,51 ออกมา และมีโควตา ค.ที่ดึงกลับมาอีก 1 ล้านกระสอบ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ระบายน้ำตาลโควตา ก. พิเศษ ออกมา โดยช่วยกันบริหารน้ำตาลออกมาสู่ตลาดได้ภายใน 2 อาทิตย์จากนี้ไป น้ำตาลก็จะล้นตลาด และก็จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ที่มีน้ำตาลใช้อย่างทั่วถึง ในขณะที่ภาครัฐบาลก็สามารถควบคุมไม่ให้น้ำตาลขาดหรือแพงได้

แต่ทางด้านโรงงานน้ำตาล ชาวไร่และผู้ค้าน้ำตาลก็มองว่า ถ้าน้ำตาลขาดก็จะเป็นผลดีต่อราคาจำหน่ายมากกว่าที่จะมีน้ำตาลล้นตลาด และหากน้ำตาลโควตา ก.ล้นตลาดจริงๆ เกรงว่าจะมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ยังยืนอยู่ในระดับราคาขาขึ้นโดยราคาน้ำตาลทรายดิบ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2553 อยู่ที่ 17.58 เซ็นต์/ปอนด์ และราคาน้ำตาลทรายขาวราคาปิดตลาดอยู่ที่ 517 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

ส่วนกรณีที่ปี 2553/2554 ภาครัฐจะเพิ่มโควตา ก.จาก 23 ล้านกระสอบในปีนี้ เป็น 25 ล้านกระสอบนั้น ก็เป็นห่วงว่า ณ เวลานี้โควตา ค. ก็หาซื้อยากมาก ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยซื้อโควตา ค. ที่ส่งออก จะกลับมาซื้อโควตา ก. เพื่อลักลอบส่งออกแทน จึงเป็นห่วงตรงนี้มากกว่า เพราะน้ำตาลที่อยู่ในมือเทรดเดอร์ ตามปกติจะมีค่าไทยพรีเมียมอยู่ที่ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน หรือ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน แต่ตัวเลข ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาขึ้น เสนอซื้ออยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และเสนอขายอยู่ที่ 101 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันแล้ว ที่เป็นแบบนี้เพราะเทรดเดอร์ปั่นตลาดน้ำตาล เนื่องจากมีน้ำตาลอยู่ในมือเทรดเดอร์ นั้นการที่จะไปดึงน้ำตาลโควตา ค.กลับมาในเวลานี้ก็เป็นไปได้ยากเพราะต้องซื้อจากเทรดเดอร์ในราคาที่สูง

"ฉะนั้นถ้าเรากันสำรองโควตา ก.ไว้แล้วถมเข้าไปในตลาด ก็ต้องไปพิจารณาดูว่าน้ำตาลมันจะอยู่ในเมืองไทย หรือว่าจะกันไว้ให้ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผมเป็นห่วงตรงนี้มากกว่า เพราะปีที่แล้วโควตาน้ำตาลที่โรงงานน้ำตาลจากไทยส่งออกไปกัมพูชาอย่างถูกต้องนั้น ก็มีปริมาณที่สูงถึง 410,000 ตัน"

ด้านนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและเลขาฯสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 มองว่า หัวใจของปัญหาในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เกิดขึ้นทั้งหมด ควรจะมาถึงจุดที่ราคาน้ำตาลไม่ควรถูกควบคุมไว้อย่างตายตัวได้อีกต่อไป จังหวัดใดที่มีการควบคุมราคาน้ำตาล ยิ่งไม่มีน้ำตาล ดังนั้น ด้านราคาควรมีความยืดหยุ่น กึ่งลอยตัว โดยจะใช้สูตรอะไรในการคำนวณก็ได้ ถ้าให้ราคาน้ำตาลมีความเคลื่อนไหวได้บ้าง ปัญหาจะคลี่คลาย "ผมเสนอให้น้ำตาลใช้ระบบราคาแบบกึ่งลอยตัว โดยมีกลไกควบคุมในระดับหนึ่ง ในอุตสาหกรรมน้ำตาลเราไม่เคยขอเงินฟรีจากรัฐบาลเลย เรากู้จากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)มาตลอด และการปล่อยกึ่งลอยตัวระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70-30 ก็ยังคงอยู่ ต้องค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ เริ่มว่าจะมีองค์ประกอบใดบ้างที่จะใช้ในการคำนวณ แล้วปรับไปทีละขั้น"

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 5 กรกฎาคม 2553

ผวาสินค้าตามน้ำตาลขึ้นราคา

พาณิชย์เต้นเร่งงัดมาตรการสกัด น้ำอัดลม-นมข้น-น้ำผลไม้จ่อคิว นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นางพรทิวา นาคาศัย รมว. พาณิชย์ มีนโยบายให้กรมการค้าภายใน ไปเร่งศึกษาผลกระทบจากการที่ไข่ไก่ น้ำตาลทราย เนื้อหมูและสินค้าอื่นที่มีราคาสูง จนอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าชนิดอื่นตามมา เพื่อให้หาแนวทางดูแลไม่ให้สินค้าในกลุ่มเหล่านี้ปรับราคาสูงขึ้น โดยอาจมีการเรียกผู้ผลิตสินค้าที่ประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้นมาหารือและขอความร่วมมือ เพื่อไม่ให้ปรับขึ้น ราคา เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน

“ตอนนี้มีสินค้าหลายชนิดที่ใช้น้ำตาลทราย ไข่ไก่ เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตอาหาร เช่น น้ำอัดลม นมข้นหวาน น้ำผลไม้ เครื่องดื่มทางเลือก ขนมขบเคี้ยว ขนมปัง อาหารสำเร็จรูป ซึ่งกลุ่มเหล่านี้กระทรวงฯ ต้องเข้าไปช่วยดูว่าผู้ผลิตได้ผลกระทบแค่ไหน เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ และขอความร่วมมือไม่ให้ขึ้นราคาสินค้าในช่วงนี้เพราะจะเป็นภาระแก่ชาวบ้าน อย่างกรณีน้ำตาลทรายแพง กระทรวงฯ พยายามหาทางลดต้นทุน ด้วยการขอให้รัฐบาลทบทวนลดราคาขายปลีก หลังจากมีการใช้หนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลหมด”

ทั้งนี้การปรับขึ้นของน้ำตาลทราย และไข่ไก่ แม้ไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง แต่จำเป็นต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อสินค้าตัวอื่นให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นได้ เช่น ไข่ไก่ ที่มีสัดส่วนกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.56% แต่ส่งผลโดยตรงต่ออาหารสำเร็จรูปที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อถึง 4.35% น้ำตาลทราย ที่มีผลต่อผู้บริโภคโดยตรงและสินค้าหลายชนิด ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ นมข้นหวาน ซึ่งสินค้าหมวดอาหาร กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษในครึ่งปีหลัง เพราะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้

“เงินเฟ้อเดือนล่าสุดที่สูงอยู่ในระดับ 3.3% ถือว่าปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในอัตราปกติ หลังจากที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้แนวโน้มครึ่งปีหลังเงินเฟ้อน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเกิน 3.0% เล็กน้อย ทำให้เป้าหมายทั้งปีคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 3.0-3.5% ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่พาณิชย์ตั้งไว้ แต่กระทรวงฯ ไม่ประมาทจะคอยติดตามดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด”

ส่วนการรับเรื่องร้องเรียนสินค้าราคาแพงขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้เดือดร้อนตามหมู่บ้าน หรือจุดที่ไกลจากเขตตลาดสด เพราะจากการลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าไข่ไก่ ตามตลาดสด หรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ยังมีราคาอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เช่น ไข่หน้าฟาร์มขายฟองละ 2.80 บาท ขณะที่ร้านในตลาดบางแคขายไข่เบอร์ 2 ราคาฟอง ละ 3.20-3.30 บาท ไม่ได้สูงถึง 4-5 บาทแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ร้านค้าที่ขายสินค้าราคาแพงอาจเป็นร้านเล็ก ๆ ที่มีการซื้อต่อกันมาหลายช่วงจนต้องบวกกำไรสูงขึ้น ตรงจุดนี้กระทรวงฯ เพิ่มความเข้มงวด ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจช่วงการรับซื้อระหว่างยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และร้านค้าปลีกไม่ให้ขายกำไรเกินจริง.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 กรกฎาคม 2553

ผู้ส่งออกผลไม้กระป๋องอ่วมหลายเด้ง พิษน้ำตาลขาด-วัตถุดิบแห่ปรับราคา

ผู้ประกอบการผักผลไม้บรรจุกระป๋องและน้ำผลไม้ร้องลั่น หลังเผชิญกับภาวะน้ำตาลขาดแคลนและมีราคาแพง ยังไม่พอ ล่าสุดเจอโรงงานผลิตกระป๋องปรับราคา-จำกัดโควตา หลัง "ทินเพลต" ขึ้นราคาไปอีก 12% ตามมาด้วยกระดาษคราฟต์ ที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์น้ำผัก/ผลไม้ราคาจะสูงขึ้นตลอดทั้งปี 2553 แถมยังต้องจับตาอัตราแลกเปลี่ยนในรายที่ส่งออกต่างประเทศด้วย

อุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้ "น้ำตาล" เป็นวัตถุดิบกำลังประสบปัญหาใหญ่ไม่เพียงแต่น้ำตาลจะขาดแคลนและมีราคาแพงเท่านั้น แต่ปัญหายังลามไปยัง "ทินเพลต" หรือแผ่นเหล็กสำหรับผลิตกระป๋อง-กระดาษคราฟต์ ที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำผลไม้ ปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้น และตามมาด้วยการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธรุกิจ" ได้ออกสำรวจปัญหาของผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารโลก (THAIFEX 2010) ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2553 พบปัญหาที่ถือเป็นวิกฤตของผู้ประกอบการ โดยนางสาวนฤนิจ นนทกานันท์ ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ไทยลี อะกริคัลเจอร์ จำกัด และบริษัท มาเจสติก ฟูด อินดัสตรี จำกัด ในเครือซันลีกรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทผลิตสินค้าข้าวโพดหวาน-ข้าวโพดอ่อนบรรจุกระป๋อง และสินค้ากลุ่มผลไม้ อาทิ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย และสับปะรดบรรจุกระป๋อง เพื่อการส่งออกทั้งหมด 100%

ขณะนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น ทั้งจากปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง โดยเฉพาะลิ้นจี่ ข้าวโพด และสับปะรด มีราคาปรับขึ้นเฉลี่ย 10-20% จากปีก่อน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เพราะใช้วัตถุดิบภายในประเทศ 100% นอกจากนี้ยังมีปัญหาต้นทุนแพ็กเกจจิ้งในส่วนของ กระป๋องขึ้นรูป ที่ใช้ทินเพลตเป็นวัตถุดิบปรับราคาขึ้นไป 12.5% แล้ว หลังจากที่ชะลอการปรับขึ้นราคาในช่วงต้นปี และยังมีแนวโน้มว่าทินเพลตจะปรับขึ้นราคาอีกครั้งในช่วงปลายปี อีกทั้งบริษัทผู้ผลิตกระป๋องยังมีการจำกัดโควตากระป๋อง โดยจะแบ่งให้ตามประวัติการสั่งซื้อย้อนหลังของแต่ละบริษัท ส่วนต้นทุนราคาน้ำตาลทรายก็ยังเป็นปัญหาอยู่ โดยบริษัทใช้โควตาน้ำตาลโควตา ค.

"เราจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายสินค้าขึ้น อาทิ ลังบรรจุข้าวโพด/ผลไม้ 24 กระป๋อง ปรับขึ้น 5 เหรียญสหรัฐ ซึ่งก็พยายามส่งสัญญาณให้ผู้ซื้อทราบมาตั้งแต่ช่วงต้นปี จึงมีการสั่งซื้อสินค้าในช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้นเพื่อไปสต๊อกเก็บ แต่หลังจากนี้คาดว่ายอดการสั่งซื้อก็จะชะลอตัวลงแล้ว จึงประมาณการยอดการส่งออกว่าจะทรงตัวเท่าปี 2552 ประมาณ 2,000 ตู้ นอกจากนี้ยังต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นปีกำหนดราคาขายล่วงหน้า 6 เดือนที่ 32.90-33.00 บาท/เหรียญ แต่ขณะนี้บาท/เหรียญอยู่ที่ 32 บาท" นางสาวนฤนิจกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของนายพรชัย พูลสุขสัมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทิปโก้ ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้และผลไม้กระป๋อง ตราทิปโก้ กล่าวว่า ปีนี้ผู้ผลิตต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน ตั้งแต่การปรับขึ้นของราคาวัสดุส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ เช่น ทินเพลตสำหรับผลิตกระป๋อง ตั้งแต่ไตรมาส 1-3 ปรับราคาขึ้นไปแล้ว 25% กระดาษลูกฟูกปรับขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาน้ำตาลทรายในประเทศ (โควตา ก.) ที่ขยับสูงขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 1 บาท ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาผลไม้บรรจุกระป๋องและน้ำผลไม้ส่งออกเพิ่มขึ้นด‰วย

"ราคาสินค้าที่ขายภายในประเทศไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 จึงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อลดการสูญเสียและลดการจัดโปรโมชั่นลง การเข้าร่วมรายการจำหน่ายสินค้าราคาถูกในกิจกรรมธงฟ้า เพื่อจำหน่ายสินค้าให้ ผู้บริโภคโดยตรง" นายพรชัยกล่าว

ขณะที่นางปทุมรัตน์ เพียรชอบ ผู้อำนวยการใหญ่ สายธุรกิจตราผลิตภัณฑ์ บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์มาลี กล่าวว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลไม้และน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องได้รับผลกระทบจากต้นทุนผลไม้ที่มีราคาปรับสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้งและต้นทุนกระป๋องที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ส่วนต้นทุนราคาน้ำตาลทรายส่งผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่รุนแรงมากนัก "การบริโภคในประเทศในส่วนของน้ำผลไม้ยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เพราะประชาชนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ซึ่งทางบริษัทก็มีแผนจะพัฒนาสินค้าน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดใหม่ออกวางตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง"

สำหรับสถานการณ์น้ำตาลทรายขาดแคลนและมีราคาแพงในปัจจุบัน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้เพิ่มการขึ้นงวดปริมาณน้ำตาลทรายจำหน่ายภายในประเทศ (โควตา ก.) คืองวดปัจจุบัน-งวดที่ 51 กับงวดที่ 52 ส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลทรายในระบบถึง 1.2 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้ โรงงานน้ำตาลได้จำหน่ายออกไปแล้ว 500,000 กระสอบ เชื่อว่าสถานการณ์น้ำตาลทรายจะคลี่คลายลง ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 17 เซนต์/ปอนด์ น้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 500 เหรียญ/ตัน

หันมาทางด้านเหล็กแท่นเคลือบดีบุก-เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม หรือทินเพลต ที่ใช้ทำกระป๋องบ้าง ปรากฏว่าราคาทินเพลตซึ่งถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในโรงงานผลิตกระป๋องได้ปรับราคาจำหน่ายขึ้นไป 10-12% จากเดิมที่ผู้ผลิตขอปรับราคา ตันละ 5,000 บาท แต่กรมการค้าภายในอนุมัติให้ปรับขึ้นระหว่าง 3,640-4,270 บาท/ตัน ทำให้ราคากระป๋องแพงขึ้น

ราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งปีนี้ โดยกลุ่มธุรกิจกระดาษเครือซิเมนต์ไทยได้รายงานราคากระดาษบรรจุภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 405 เหรียญ/ ตัน (ราคาวิ่งอยู่ระหว่าง 440-460 เหรียญ/ตัน) หรือสูงขึ้น 25 เหรียญ/ตัน ราคากระดาษที่ปรับสูงขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบ คือเศษกระดาษปรับเพิ่มขึ้น 65 เหรียญ/ตัน หรือเฉลี่ย 245 เหรียญ/ตัน ส่งผลให้กระดาษลูกฟูกที่ใช้ทำกล่องและบรรจุภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตาม

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 กรกฎาคม 2553

รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังตัดสินใจว่าจะนำเข้าน้ำตาลจากไทยหรือไม่

มะนิลา 4 ก.ค.- รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังตัดสินใจว่าจะนำเข้าน้ำตาลจากไทยหรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่าไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดในโลกกำลังประสบปัญหาน้ำตาลขาดแคลนเช่นกัน

เว็บไซต์จีเอ็มเอนิวส์ดอททีวีรายงานอ้างคำกล่าวของนายอาร์คิมิดีส อะมาร์รา หนึ่งในคณะกรรมการน้ำตาลและผู้อำนวยการบริหารสมาคมโรงงานน้ำตาลฟิลิปปินส์ว่า ไทยเองกำลังซื้อน้ำตาลจากตลาดซื้อขายแบบปัจจุบันในปริมาณที่ไทยจำหน่ายไปก่อนหน้านี้ แหล่งอื่นที่ฟิลิปปินส์อาจนำเข้าได้คือ บราซิล แต่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 42 วันกว่าจะมาถึง รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์เพื่อออกข้อเสนอแนะในสัปดาห์หน้า นายอะมาร์ราเผยด้วยว่า ได้รับแจ้งว่าสำนักงานกำกับดูแลน้ำตาลจะหาทางนำเข้าน้ำตาลโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เขาเห็นว่า ควรนำเข้าก่อนวันที่ 30 สิงหาคมก่อนจะเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกใหม่.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 4 กรกฎาคม 2553

วังวนสินค้าแพง น้ำตาล-ไข่ไก่จุดชนวนสินค้าอื่นพาเหรดขยับขึ้นราคา

“พาณิชย์” เป็นห่วงสินค้าชนิดอื่นแห่ตามน้ำตาลทราย ไข่ไก่ขึ้นราคา หลังราคาผันผวนหนัก จับตาน้ำอัดลม นมข้น น้ำผลไม้ ขนมปัง อาหารตามสั่ง ส่อปรับขึ้น “พรทิวา”สั่งกรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด หวั่นกระทบผู้บริโภค

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายให้กรมการค้าภายใน ไปศึกษาผลกระทบจากการที่ไข่ไก่ น้ำตาลทราย ที่มีราคาสูง ขึ้น และอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าชนิดอื่น เพื่อให้หาแนวทางดูแลไม่ให้สินค้าในกลุ่มเหล่านี้ปรับราคาสูงขึ้น โดยอาจมีการเรียกผู้ผลิตสินค้าที่ประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้นมาหารือ และขอความร่วมมือไม่ให้ปรับขึ้นราคาขาย เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน

“ตอนนี้มีสินค้าหลายชนิดที่ใช้ น้ำตาลทราย ไข่ไก่ เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับผลิตอาหาร เช่น น้ำอัดลม นมข้นหวาน น้ำผลไม้ เครื่องดื่มทางเลือก ขนมขบเคี้ยว ขนมปัง อาหารสำเร็จรูป ซึ่งกลุ่มเหล่านี้กระทรวงฯ ต้องเข้าไปช่วยดูว่าผู้ผลิตได้รับผลกระทบแค่ไหน เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ และขอความร่วมมือไม่ให้ขึ้นราคาสินค้าในช่วงนี้ เพราะจะเป็นภาระต่อผู้บริโภค อย่างกรณีน้ำตาลทรายแพง กระทรวงฯพยายามหาทางลดต้นทุน ด้วยการขอให้รัฐบาลทบทวนลดราคาขายปลีก หลังจากมีการใช้ใช้หนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลหมด”

ทั้งนี้ แม้การปรับขึ้นของราคาน้ำตาลทราย และไข่ไก่ จะไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง แต่จำเป็นต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อสินค้าตัวอื่นให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นได้ เช่น ไข่ไก่ ที่มีสัดส่วนกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.56% แต่ส่งผลโดยตรงต่ออาหารสำเร็จรูปที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อถึง 4.35% น้ำตาลทราย ที่มีผลต่อผู้บริโภคโดยตรงและสินค้าหลายชนิด ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ นมข้นหวาน ซึ่งสินค้าหมวดอาหาร กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษในครึ่งปีหลัง เพราะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้

นายยรรยงกล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าไข่ไก่ ตามตลาดสด หรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ยังมีราคาอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เช่น ไข่หน้าฟาร์มขายฟองละ 2.80 บาท ขณะที่ร้านในตลาดบางแคขายไข่เบอร์ 2 ราคาฟองละ 3.20-3.30 บาท ไม่ได้สูงถึง 4-5 บาทแต่อย่างใด แต่บางทีที่ราคาแพงอาจเป็นร้านเล็กๆ ที่มีการซื้อต่อกันมาหลายช่วงจนต้องบวกกำไรสูงขึ้น ตรงจุดนี้กระทรวงฯ เพิ่มความเข้มงวด ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจช่วงการรับซื้อระหว่างยี่ปั้ว ซาปั้ว และร้านค้าปลีกไม่ให้ขายกำไรเกินจริง

นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปดูการจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป หลังจากมีประชาชนร้องเรียนว่ามีราคาสูงถึงจานละ 30-35 บาท โดยแนวทางอาจมีการผลักดันร้านอาหารธงฟ้า เข้าไปกระจายในพื้นที่ที่มีการร้องเรียน เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่ประชาชนในการประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันจะเป็นตัวกลางช่วยประสานให้ร้านอาหารธงฟ้า สามารถซื้อวัตถุดิบทำอาหาร เช่น ข้าวสาร ซอส น้ำปลา ไข่ไก่ น้ำตาลราคาถูกจากผู้ผลิตโดยตรงเพื่อช่วยประหยัดต้นทุน และทำให้ขายราคาถูกได้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 4 กรกฎาคม 2553

จี้รัฐบาลแก้ปัญหาน้ำตาลแพง

บุรีรัมย์ - หลังราคาน้ำตาลได้ปรับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงถึงกิโลกรัมละ 26-28 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 23 บาท ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนกับแม่ค้าขายขนมไทยในตลาดสดเทศ บาลเมืองบุรีรัมย์ และแม่ค้าขายน้ำหวานในสถานศึกษาต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น ไม่มีกำไร จึงจำเป็นต้องปรับลดปริมาณขนมลงเพื่อความอยู่รอด แต่ถ้าหากปรับขึ้นราคาขนมก็จะขายไม่ได้ และหากสินค้าเหลือก็จะทำให้ขาดทุน จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงวิงวอนให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาน้ำตาลที่แพงขึ้น

นางคำรุณ ไชยชาติ แม่ค้าขายขนมไทยในตลาดสดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ บอกว่า หากซื้อน้ำตาลเป็นกระสอบจะตกกิโลกรัมละ 26 บาท หากซื้อปลีกเป็นถุงจะตกกิโลกรัมละ 28 บาท จากเดิมเคยซื้อเพียงกิโลกรัมละ 23 บาท ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ประกอบอาชีพขายขนมไทยและขนมหวานเป็นอย่างมาก เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาน้ำตาลแพงดังกล่าวอย่างเร่งด่วนด้วย

 จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 3 กรกฎาคม 2553

อุตฯมั่นใจน้ำตาลไม่ขาดตลาดสั่งกระจาย80ล้านกก.

กระทรวงอุตสาหกรรมสั่งกระจายน้ำตาลทรายอีก 80 ล้านกิโลกรัม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน มั่นใจไม่ขาดตลาดแน่นอน

นายสุรพงศ์ พงศ์เดชขจร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำน้ำตาลทรายขาวกระจายไปตามร้านค้าทั่วประเทศอีก 80 ล้านกิโลกรัม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจจะมีพ่อค้าคนกลางนำไปกักตุนไว้ แต่มั่นใจว่าน้ำตาลทรายจะไม่ขาดตลาดอย่างแน่นอน เนื่องจากยังมีสำรองไว้อีกกว่า 20 ล้านกิโลกรัม

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 กรกฎาคม 2553

รัฐถกรับมือเอทานอลขาดปลายปี

กระทรวงพลังงาน เตรียมรับมือเอทานอลขาดช่วงปลายปี เรียกผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมัน หารือต้นสัปดาห์นี้ ยันเบื้องต้นมีเพียงพอสต๊อกกว่า 100 ล้านลิตร ขณะที่การขยายตลาดเอทานอลวางไว้ 4 แนวทาง ผลักดันให้รถยนต์อี 85 ให้เกิดมากขึ้น พร้อมศึกษาการยกเลิกเบนซิน 91 แก้กฎระเบียบกรมสรรพสามิตให้ มาตรา 7 ส่งออกได้ และให้สามารถนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ทางกระทรวงพลังงานจะเชิญผู้ผลิตเอทานอล บริษัทผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมัน และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ มาหารือ เพื่อสอบถามและยืนยันปริมาณการผลิตเอทานอลว่าจะมีเพียงพอใช้ไปได้ถึงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2553 นี้หรือไม่ เนื่องจากในช่วงนี้จะมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง ส่งผลให้ราคาอยู่ในระดับสูง ทำให้มีการผลิตเอทานอล ออกมาน้อย เพราะไม่คุ้มกับการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามบริษัทน้ำมันในเบื้องต้น ได้มีการยืนยันว่าปริมาณเอทานอลที่จะใช้ในช่วงดังกล่าวมีปริมาณพอใช้อย่างแน่นอน เพราะได้ทำการซื้อเก็บไว้ในสต๊อกแล้วกว่า 100 ล้านลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าทุกปี เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันทราบล่วงหน้าแล้วว่าในช่วงดังกล่าวราคาเอทานอลจะมีการปรับตัวสูงขึ้นไป ทำให้ซื้อเก็บเข้ามาไว้ก่อน จึงเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเอทานอลได้

โดยขณะนี้เองทางพพ.ได้มีการติดตามสถานการณ์วัตถุดิบผลิตเอทานอลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการขอข้อมูลจากกรมศุลกากรว่ามีการส่งออกกากน้ำตาลออกไปต่างประเทศมากน้อยเพียงใด หากหักจากการส่งออกแล้ว จะมีเหลือเพียงพอต่อการผลิตเอทานอลหรือไม่ ในขณะที่มันสำปะหลังเอง แม้ว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะออกมาน้อยกว่าปีก่อน แต่สต๊อกที่รัฐบาลรับจำนำไว้ก็มีมากพอที่จะใช้ผลิตเอทานอลได้

ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการบางรายได้หยุดการผลิตเอทานอลลงชั่วคราว เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนในการผลิตเอทานอลได้ อันเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นไปนั้น มองว่าผู้ผลิตน่าจะกลับมาผลิตเอทานอลมากกว่าจะหยุด เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายตามมาเป็นลูกโซ่ ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอง

นายประพนธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเวลานี้ทางกระทรวงพลังงานเองอยู่ระหว่างการสร้างความต้องการใช้เอทานอลให้มากขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน โดยจะเร่งขยายความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 และอี 85 ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอี 85 ที่เวลานี้รอทางกรมสรรพสามิตประกาศลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เอฟเอฟวีที่ใช้อี 85 ลงอีก 3 % จาก 25% เป็นการถาวรเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายเกิดความมั่นใจและผลิตรถยนต์เอฟเอฟวีออกมาเป็นจำนวนมากจากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,800 คัน หากไม่มีการผลักดันในเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาทดแทน 15 ปี ที่ได้กำหนดว่าจะให้มีการใช้เอทานอลอยู่ที่ 9 ล้านลิตรต่อวันในปี 2564 ได้

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการผลักดันให้เอทานอล สามารถนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ นอกเหนือจากนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันการจะจำหน่ายเอทานอลให้ภาคอุตสาหกรรมได้นั้น จะต้องผ่านการอนุมัติจากองค์การสุราเท่านั้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาดเอทานอล ซึ่งจากการหารือกับกับกรมสรรพสามิต ก็ทราบว่าอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎระเบียบอยู่

อีกทั้ง อยู่ระหว่างการว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ทำการศึกษาในการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโรงกลั่นน้ำมัน เพราะหากยกเลิกแล้วจะทำให้กำลังการผลิตน้ำมันเบนซิน 91 หายไป เกิดความไม่สมดุลในกระบวนการกลั่น ที่จะต้องไปลงทุนปรับปรุงขบวนการกลั่นใหม่ ให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ต้องการ ซึ่งอาจจะไปส่งผลให้น้ำมันดีเซลมีราคาสูงขึ้นได้ จำเป็นต้องมีมาตรการออกมารองรับในเรื่องนี้ เป็นต้น

นายประพนธ์ กล่าวเสริมอีกว่า ส่วนการส่งเสริมการส่งออกเอทานอลไปต่างประเทศนั้น ด้วยข้อจำกัดที่กรมสรรพสามิตไม่อนุญาตให้ผู้ค้ามาตรา 7 ไม่สามารถส่งออกเอทานอลได้ นอกจากผู้ผลิตเอทานอลเท่านั้น ก็ได้มีการหารือกับกรมสรรพสามิตแล้วว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะให้ผู้ค้ามาตรา 7 เป็นผู้ส่งออกเอทานอลได้ ซึ่งถือเป็นผลดีกับประเทศหากดำเนินการในส่วนนี้ได้ เพราะจะทำให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีศักยภาพพร้อม สามารถซื้อเอทานอลจากโรงงานที่มีอยู่จำนวนมาก ในประเทศไปส่งออกได้ จะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าผู้ผลิตส่งออกเอง เป็นการช่วยสร้างตลาดได้อีกทางหนึ่ง

 จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 2 กรกฎาคม 2553

ม่ค้าน้ำตาลแว่นยิ้มร่าขายได้ราคาดีขึ้น - ผู้บริโภคหันใช้แทนน้ำตาลทราย

ปัตตานี – ชาวบ้านเผยราคาน้ำตาลแว่นดีดตัวสูงขึ้นจากเดิม ก.ก.ละ 30 บาท เป็น 32 บาท เหตุผู้บริโภคใช้แทนน้ำตาลทรายที่มีราคาแพงขึ้น

หลังน้ำตาลทรายปรับขึ้นราคา ชาวบ้านที่มีอาชีพทำน้ำตาลแว่นขายมีรายได้เพิ่มมากโดยที่ ม.5 บ้านท่าราบใน ต.กะมิยอ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งทำน้ำตาลแว่นที่ใหญ่ที่สุดใน จ.ปัตตานี ขณะนี้พบว่ามีบรรดาแม่ค้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างเข้ามาสั่งซื้อน้ำตาลแว่นจากชาวบ้านในแต่ละวันเป็นจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งจากการสอบถามพบว่าบางรายมีการนำไปใช้แทนน้ำตาลทรายที่มีราคาแพงขึ้นในขณะนี้

นางไอเซาะ เจ๊ะดือแระ กล่าวว่า ในขณะนี้ต้องเร่งทำจากเมื่อก่อน 40 – 50 กก. ก็ต้องทำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 100 – 120 กิโลกรัม เนื่องจากน้ำตาลเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะนี้เองก็ยังไม่สามารถผลิตให้ทันต่อความต้องการ ซึ่งจากการที่ต้องทำน้ำตาลแว่นเพิ่มขึ้นนั้นทำให้ขณะนี้ได้ราคาดีจากที่เคยขายส่งอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท ก็ปรับเป็น 32 บาท ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 2 กรกฎาคม 2553

ราคาน้ำตาลเด้งขึ้นสุดกู่

ไทยเตรียมซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค. กลับ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังหลายประเทศทั่วเอเชีย พยายามกว้านซื้อน้ำตาลรองรับการบริโภคที่โตขึ้น

นายกำธร กิตติโชคทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำตาลเพิ่มขึ้นในแถบประเทศตะวันออกกลางและเอเชีย ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ โดยราคาส่งมอบทันทีครั้งล่าสุดที่ 22.23 เซนต์ต่อปอนด์ ถือเป็นราคาที่เริ่มปรับสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้เคยปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 11-13 เซนต์ต่อปอนด์

ทั้งนี้ ล่าสุดน้ำตาลทรายตลาดนิวยอร์กตามสัญญาเดือน ก.ค.สิ้นสุดการซื้อขายเมื่อ 30 มิ.ย.53 ปิดตลาดที่ 17.29 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.98% ราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือน ต.ค. ปิดตลาด 16.39 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้น 6.57%

"ราคาน้ำตาลในอนาคตจะมีแนวโน้มสูงขึ้นแค่ไหนคงตอบยาก ซึ่งขณะนี้หลายประเทศในเอเชียพยายามกว้านซื้อน้ำตาลเพื่อไปรองรับการบริโภคที่โตขึ้น ไทยเองต้องไปซื้อน้ำตาลโควตา ค. กลับคืนมาครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2524 ส่งผลให้ค่าพรีเมียมน้ำตาล (เงินส่วนเพิ่มจากราคาน้ำตาล) ช่วงนี้สูงมากถึง 100 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากต้นปีเคยอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน"

สำหรับการประชุมคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น เบื้องต้นที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการซื้อคืนน้ำตาลเพื่อการส่งออก (โควตา ค.) จำนวน 1 ล้านกระสอบ โดยที่ประชุมจัดตั้งคณะทำงานจัดซื้อและคณะทำงานจำหน่ายน้ำตาลโดยจะมีตัวแทนภาคราชการและโรงงานเข้าร่วมชุดละ 10 คน หลังจากนี้คณะทำงานทั้ง 2 ชุดจะหาผู้ที่เหมาะสมมาเป็นประธาน คาดว่าจะสามารถตั้งโต๊ะรับซื้อคืนน้ำตาลได้ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 กรกฎาคม 2553

"พาณิชย์" ยอมรับ "ไข่ไก่-น้ำตาล" ดันเงินเฟ้อพุ่ง กังวลคุมราคาไม่อยู่

"พาณิชย์" ยอมรับ "ไข่ไก่-น้ำตาล" ดันเงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด เพราะเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าอ่อนไหว ทั้งอาหาร น้ำอัดลม น้ำผลไม้ และนมข้นหวาน พร้อมแจงเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.พุ่งขึ้น 3.3% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3.5% สั่งจับตาสินค้าอาหาร-การบริโภค จ่อปรับขึ้นราคา อาจดันเงินเฟ้อพุ่งต่อเนื่อง

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ระดับ 108.15 เพิ่มขึ้น 3.3% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มสูงขึ้น 0.26% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2553) สูงขึ้น 3.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับ 103.63 สูงขึ้น 1.1% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน และสูงขึ้น 0.12% เทียบเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ส่วนเฉลี่ย 6 เดือนสูงขึ้น 0.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่ในระดับ 3.3% ถือว่าปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในอัตราที่เป็นปกติ หลังจากที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้แนวโน้มครึ่งปีหลังเงินเฟ้อน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเกิน 3.0% เล็กน้อย ทำให้เป้าหมายทั้งปีคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 3.0-3.5% ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่พาณิชย์ตั้งไว้

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มีสินค้าที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด แม้จะไม่ได้ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง แต่ส่งผลต่อสินค้าตัวอื่นให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นได้ เช่น ไข่ไก่ ที่มีสัดส่วนกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.56% แต่ส่งผลโดยตรงต่ออาหารสำเร็จรูปที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อถึง 4.35% น้ำตาลทราย ที่มีผลต่อผู้บริโภคโดยตรงและสินค้าหลายชนิด ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ นมข้นหวาน ซึ่งสินค้าหมวดอาหาร กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษในครึ่งปีหลัง เพราะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 2 กรกฎาคม 2553

อุตฯจี้4รง.ส่งน้ำตาลแก้วิกฤต

รมว.อุตสาหกรรมจี้ 4 ยักษ์โรงงานน้ำตาล มิตรผล-ไทยรุ่งเรือง-วังขนาย-ครบุรี ร่วมแก้ปัญหาน้ำตาลขาดตลาดและแพงเกินจริง เผยขอความร่วมมือให้เพิ่มสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดรองรับผู้บริโภคที่หาซื้อของราคายุติธรรม แย้มปีหน้าจะจัดสรรโควตาใหม่เน้นแก้ปัญหาซ้ำซากในประเทศไม่พอบริโภค ขาใหญ่ท้วงทันควันให้ดูต้นเหตุแก้ที่โรงงานอาหาร-เครื่องดื่ม

สืบเนื่องจากที่ "ฐานเศรษฐกิจ"รายงานข่าวน้ำตาลมาอย่างต่อเนื่องโดยเปิดประเด็นตั้งแต่ต้นปี 2553 ช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงถึง30 เซ็นต์/ปอนด์ และต่อเนื่องมาถึงข่าวน้ำตาลตึงมือถึงขั้นขาดตลาดในบางพื้นที่ และเปิดประเด็นอีกครั้งในมุมของราคาน้ำตาลในหนังสือพิมพ์ฉบับ 2,540 ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายนนำเสนอข่าว"ชาวบ้านอ่วมน้ำตาลโลละ30บาท"ทำให้ข่าวนี้ได้รับความสนใจในวงการอ้อยและน้ำตาลและภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาล รวมถึงภาครัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลในภาคการผลิตน้ำตาลและกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลราคาน้ำตาล

-รมว.อุตสาหกรรมเต้น! นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงประเด็นร้อนของอุตสาหกรรมน้ำตาลว่า ล่าสุดจากการหารือกับ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเมื่อเร็วๆนี้ได้ขอความร่วมมือกับโรงานน้ำตาล ว่าให้โรงานน้ำตาล 4 ค่ายคือ มิตรผล ไทยรุ่งเรือง วังขนาย และน้ำตาลครบุรี ที่ป้อนน้ำตาลให้กับโมเดิร์นเทรดไปเพิ่มปริมาณน้ำตาลที่ป้อนให้โมเดิร์นเทรดให้สูงกว่าสัญญาที่ตกลงกันไว้ จากที่ก่อนหน้านั้นโมเดิร์นเทรดบอกว่าน้ำตาลขาด ซึ่งเรื่องนี้ทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลก็ได้ชี้แจงว่า โรงงานน้ำตาลได้มีการส่งน้ำตาลเข้าโมเดิร์นเทรดครบตามสัญญาปกติ แต่เผอิญอยู่ๆโมเดิร์นเทรดก็มาขยับยอดมากขึ้น โรงงานก็ส่งน้ำตาลให้ไม่ทัน เนื่องจากประชาชนผู้บริโภคหันไปซื้อน้ำตาลในโมเดิร์นเทรดกันมาก ทำให้น้ำตาลขาดตลาด

กรณีนี้ในฐานะที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลภาคการผลิตเมื่อประชาชนเดือดร้อน และไปหาซื้อน้ำตาลไม่ได้ ก็พูดกันแบบตรงไปตรงมาผ่าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลว่าช่วยทำอย่างไรก็ได้ให้น้ำตาลของโรงงานทั้งหมดกระจายไปตามท้องตลาดเท่าที่กำลังของโรงงานแต่ละแห่งจะทำได้ ซึ่งขณะนี้โรงงานก็พร้อมให้ความร่วมมือ อย่างกรณีค่ายมิตรผลที่ได้รับปากมาแล้วว่าจะพยายามเพิ่มให้มากกว่าสัญญาที่เคยตกลงกันไว้ซึ่งเวลานี้ทางกลุ่มมิตรผลก็ได้เจรจากับเทสโก้แล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวอีกว่า ปีหน้าหรือฤดูการผลิตปี 2553/2554 คงจะต้องมาดูเรื่องการจัดสรรน้ำตาลให้กับโมเดิร์นเทรดกันใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาการบรรจุน้ำตาลลงถุง 1 กิโลกรัม หรือขนาด 5 กิโลกรัม มีการลงทุนจากโรงงานน้ำตาลเพียงไม่กี่ค่าย เพราะต้องแพ็กถุงเพื่อป้อนให้กับโมเดิร์นเทรดในขณะที่บางโรงงานไม่พร้อมที่จะทำตรงนี้เพราะถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

"เป้าหมายของผมไม่ว่าเรื่องการดัมพ์น้ำตาลเข้าตลาดโดยการดึงงวดที่เอาน้ำตาลงวดที่ 52 หรือ 51 นำออกมาขึ้นงวดก่อน หรือการตัดน้ำตาลโควตา ค. (โควตาส่งออก) ซื้อกลับมาเป็นน้ำตาลโควตา ก.(บริโภคในประเทศ) และการจำกัดใบขนน้ำตาลไม่ให้เกิน15 วัน ถ้าเกิน15 วัน จะไม่มีการต่อให้เพื่อไม่ให้มีการกักน้ำตาลไว้ในโกดังนาน วิธีการเหล่านี้ผมมีจุดประสงค์เดียวคือต้องการให้ประชาชนได้กินน้ำตาลในราคาที่เป็นธรรม ตรงนี้แม้ว่าผมจะไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเรื่องราคาแต่ผมมองว่าเวลานี้ขอให้เป็นการช่วยกันมากกว่า"

-ยอมรับขาดและแพงจริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวยอมรับว่าก่อนหน้านั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจบางพื้นที่ก็พบว่า มีน้ำตาลขาดจริง และบางแห่งก็แพงจริง พอทราบแบบนี้สัปดาห์แรกที่เข้ามาทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมก็รู้ว่าน้ำตาลขาดจริง และได้มีการจัดสรรน้ำตาลโควตา ก.ไปทางกระทรวงพาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ จัดสรรให้เป็นโควตาของพาณิชย์

"ผมคิดว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเวลาที่น้ำตาลแพง ประชาชน ผู้บริโภคจะไม่ต่อว่ากระทรวงอุตสาหกรรม แต่จะต่อว่ากระทรวงพาณิชย์ ฉะนั้นการที่กระทรวงพาณิชย์ทำแบบนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ขัดข้องเลยจึงอนุมัติออกไป"นายชัยวุฒิกล่าว

-ลั่นปีหน้าจัดสรรโควตาใหม่ สำหรับการบริหารจัดการน้ำตาลในปี 2553/2554 ที่หลายคนกังวลว่าการปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อาจจะกระทบถึงการใช้น้ำตาลในประเทศได้ เรื่องนี้นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน2553 ได้รับรายงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ที่คาดว่าปีหน้าปริมาณอ้อยน่าจะใกล้เคียงเท่าเดิมที่ 68 ล้านตันอ้อย โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อย 6.8 ล้านไร่ สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยหลักอยู่ที่ว่าจะต้องมีการประเมินว่าในฤดูผลิตปีนี้ (ปี 2552/2553) น้ำตาลโควตา ก. ขาด ดังนั้นสมควรหรือไม่ที่ปี 2553/2554 ควรจะเพิ่มน้ำตาลโควตา ก.ให้สูงกว่า 23 ล้านกระสอบ เนื่องจากไม่ต้องการเห็นภาพเวลาน้ำตาลขาดแล้วเราต้องออกไปซื้อน้ำตาลในราคาขาดทุนกลับมาอีก ทำไมเราไม่เพิ่มน้ำตาลโควตา ก. ให้เพียงพอไปทีเดียว เพราะหลักในการจัดสรรน้ำตาลโควตาต่างๆ ก็เพราะต้องการรักษาตลาดน้ำตาลในประเทศไว้ให้มีน้ำตาลใช้อย่างเพียงพอ ที่เหลือจึงจะส่งออกเป็นน้ำตาลโควตา ค.ออกไป

"ผมคิดว่าการจัดสรรน้ำตาลโควตา ก.ปี 2553/2554 น่าจะสูงกว่า 23 ล้านกระสอบ เพราะขนาด 22 ล้านกระสอบก็แทบจะแย่แล้ว พูดง่ายๆขอให้เหลือดีกว่าขาด เพราะถ้าเหลือเราก็ไว้ขายในปีต่อไปได้ พอค้างกระดานเราก็ลดในปีต่อไปได้ อย่าลืมว่ามันเหมาะสมหรือไม่ที่เราจะไปซื้อน้ำตาลโควตา ค.กลับมาในราคาขาดทุน และราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็ยังสูงกว่าราคาน้ำตาลในประเทศ เวลานี้เราส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ฉะนั้นเราไม่ควรให้คนไทยเดือดร้อนเพราะน้ำตาลไม่มีใช้"

-โรงงานอ้างต้นทุนเพิ่ม ด้านนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า ตามภาวะปกติมิตรผลจะป้อนน้ำตาลเข้าโมเดิร์นเทรดรวมทั้งสิ้นประมาณ 70,000 ตัน/ปี และล่าสุดมิตรผลจะมีปริมาณน้ำตาลส่วนเพิ่มที่จะป้อนให้โมเดิร์นเทรดรวมจำนวน 540 ตัน/เดือน หรือจำนวน 540,000 กิโลกรัม/เดือน โดยการจัดสรรนี้ เป็นการจัดสรรน้ำตาลโดยดึงงวดที่ 52 และงวดที่ 51 ออกมาใช้ก่อน

"ล่าสุดมิตรผลได้จัดสรรน้ำตาลส่วนเพิ่มไปให้กับเทสโก้แล้วจำนวน450 ตัน/เดือน หรือ 450,000 กิโลกรัม/เดือน โดยเริ่มปล่อยให้กับโมเดิร์นเทรดภายในสัปดาห์นี้เป็นต้นไป โดยมิตรผลจะมีต้นทุนในส่วนที่แพ็กน้ำตาลขนาดปริมาณ 1 กิโลกรัมให้กับโมเดิร์นเทรด เพราะเครื่องจักรที่บรรจุน้ำตาลลงถุงทำงานไม่ทัน จงต้องจ้างแรงงานมาบรรจุลงถุงขนาด 1 กิโลกรัมด้วยมือ จึงทำให้ต้นทุนส่วนนี้เพิ่มเข้ามา แต่ก็ต้องยอมทำเพื่อเดินตามนโยบายของรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้ผู้บริโภคเดือดร้อน"

รัฐบาลต้องดูต้นเหตุ ส่วนกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการพิจารณาเพิ่มโควตา ก.ในปีหน้าให้สูงกว่า 23 ล้านกระสอบ หรือสูงกว่า 2.3 ล้านตันนั้น ควรจะพิจารณาให้ดี เพราะถ้าเพิ่มโควตา ก.มากขึ้นก็จะกลายเป็นภาระให้กับโรงงานน้ำตาลที่จะมีค่าใช้จ่ายในการเก็บโควตา ก.ไว้ในโกดังทั้งปี ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ฉะนั้นการดำเนินการจัดสรรน้ำตาลดังกล่าวจะต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป

"ความจริงแล้วรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดูที่ต้นเหตุมากกว่าว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำตาล ไล่มาตั้งแต่ปัญหาราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงจนทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อการส่งออกไม่ยอมใช้น้ำตาลโควตา ค.แต่หันมาแย่งใช้น้ำตาลโควตา ก.ที่เป็นน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ หรือเป็นเพราะมีการลักลอบส่งออกเพราะราคาในประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่าราคาน้ำตาลในประเทศไทย ซึ่งปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจะต้องกลับไปวิเคราะห์ให้ได้ก่อน"

ชี้อาหาร-เครื่องดื่มตัวดี นายบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มวังขนาย กล่าวว่า กลุ่มวังขนายจะเพิ่มน้ำตาลทรายขาวให้กับโมเดิร์นเทรดได้เพียง150 ตัน/เดือนเท่านั้น โดยจะเริ่มจัดสรรน้ำตาลส่วนเพิ่มให้ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนกรณีที่ปีหน้าจะมีแผนจัดสรรน้ำตาลโควตา ก.เพิ่มขึ้นสูงกว่า 23 ล้านกระสอบนั้นไม่เห็นด้วย เพราะจะเพิ่มภาระต้นทุนด้านโกดังสินค้าและดอกเบี้ยให้กับโรงงานน้ำตาล และปัญหานี้รัฐบาลควรจะไปจัดการกับโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกที่ใช้น้ำตาลโควตา ค.อยู่ดีๆ พอราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงเกินราคาน้ำตาลในประเทศก็หันมาใช้น้ำตาลโควตา ก. ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำตาลในประเทศขาดด้วยในขณะนี้ ซึ่งปัญหาน้ำตาลขาดเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องมาจากต้นปีที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงถึง 30เซ็นต์/ปอนด์

นอกจากนี้ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มวังขนาย ยังมองว่าวิธีการคำนวณการจัดสรรน้ำตาลโควตา ก.ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)นั้นมีสูตรการคำนวณอยู่แล้วและที่ผ่านมาทุกปีน้ำตาลโควตา ก.ก็มีเพียงพอเฉลี่ยอยู่ที่ 19 ล้านกระสอบ/ปี เพียงแต่ปีนี้มีจังหวะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงมากและราคายังสูงต่อเนื่องมาถึงขณะนี้โดยล่าสุดราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 17-18 เซ็นต์/ปอนด์ ถึงแม้ราคาจะลดลงแต่ก็ยังสูงเมื่อเทียบกับราคาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นจัดสรรน้ำตาลโควตา ก.ปีหน้าที่ 21-22 ล้านกระสอบ ก็น่าจะเหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจในเวลานี้แล้ว

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 1 กรกฎาคม 2553

ผู้ว่าฯยะลาสั่งสอบลอบขนน้ำตาลทราย

ผู้ว่าฯยะลา มอบ สำนักงานการค้าภายใน จำหน่ายไข่ไก่ราคาถูก พร้อมสั่งตรวจสอบกองทัพมด ลักลอบขนน้ำตาลทรายตามแนวชายแดน

จากกรณีที่ ราคาไข่ไก่ มีราคาที่แพงขึ้น และราคาน้ำตาลทราย ก็เริ่มที่จะขยับตัวสูงขึ้นตามมาอีกนั้น ในเรื่องนี้ นายกฤษฏา บุญราช ผวจ.ยะลา ได้สั่งการให้ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดยะลา ออกจำหน่ายไข่ไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือประชาชน พร้อมสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบน้ำตาลทรายที่จะถูกลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวในเรื่องนี้ว่า เนื่องจากขณะนี้ ภาวะค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น โดยเฉพาะ ไข่ไก่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนการช่วยเหลือได้มีมาตรการ 2 แนวทางด้วยกัน คือ มาตรการแรก ทางจังหวัดได้ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ติดต่อร้านธงฟ้าราคาประหยัด นำไข่ไก่มาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าท้องตลาด

ส่วนมาตรการที่สอง ได้รณรงค์ให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ นำไข่ไก่มาขายตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้า คนกลาง เพราะฉะนั้น ราคาไข่ไก่ ก็จะถูกกว่าตามท้องตลาด ส่วนน้ำตาลทราย มีราคาประมาณกิโลกรัมละ 27 บาท อาจทำให้มีการลักลอบนำเข้ามาทางรถไฟ ทางด้านอำเภอสุไหงโก-ลก และทางด้านด่านชายแดนอำเภอเบตง นั้น ในเรื่องนี้ ตนเองได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ไปแล้ว

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2553

น้ำตาลแพง!! ชาวบ้านชายแดนใต้หันไปซื้อจากมาเลเซียบริโภคแทน

จากปัญหาราคาน้ำตาลทรายที่ปรับราคาสูงขึ้นและขาดตลาดในหลายจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลให้ตามร้านค้าต่างๆ มีการนำน้ำตาลทรายจากประเทศมาเลเซียเข้ามาขาย แม้ว่าน้ำตาลทรายจากมาเลเซียจะมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายของไทย แต่ก็มีราคาถูกกว่า โดยที่ อ.สะเดา จ.สงขลา น้ำตาลทรายไทยขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 28 บาท ส่วนน้ำตาลทรายมาเลเซียมีราคาถูกกว่าถึง 3 บาท ทำให้ผู้ที่ทำขนมหวาน และร้านอาหาร สั่งซื้อน้ำตาลทรายมาเลเซียกันมากขึ้น เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

เช่นเดียวกับที่ จ.ปัตตานี มีการสั่งน้ำตาลทรายจากมาเลซียมาขายเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอรอบนอก และคาดว่าความต้องการใช้น้ำตาลทรายจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากผู้ค้าบางรายจะกักตุนเอาไว้เพื่อขายในช่วงการถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม ที่มีการใช้น้ำตาลทรายในการทำขนมหวานและอาหารเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2553

นํ้าตาลวิ่ง17.29เซ็นต์สูงสุด20ปี

นายกำธร กิตติโชคทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มปรับสูงขึ้น ทั้งในประเทศแถบตะวันออกกลางและเอเชีย ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงสุดรอบ 10 สัปดาห์ ล่าสุดน้ำตาลทรายตลาดนิวยอร์กตามสัญญาเดือนก.ค.สิ้นสุดการซื้อขายเมื่อ 30 มิ.ย.ปิดตลาดที่ 17.29 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.98% ราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือนต.ค. ปิดตลาด 16.39 เซ็นต์ต่อปอนด์เพิ่มขึ้น 6.57% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาส่งมอบทันทีอยู่ที่ 22.23 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งสูงมาก

“การที่จะประเมินว่าราคาน้ำตาลในอนาคตว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นแค่ไหนคงตอบยาก ซึ่งขณะนี้หลายประเทศในเอเชียพยายามกว้านซื้อน้ำตาล เพื่อไปรองรับการบริโภคที่โตขึ้น ไทยเองต้องไปซื้อน้ำตาลโควตา ค กลับคืนมาครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 24 จึงส่งให้ค่าพรีเมี่ยมน้ำตาล (เงินส่วนเพิ่มจากราคาน้ำตาล) ช่วงนี้สูงมากถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากต้นปีเคยอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

สำหรับคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ประชุมหารือถึงความคืบหน้าการซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค จำนวน 1 ล้านตัน โดยที่ประชุมจัดตั้งคณะทำงานจัดซื้อ และคณะทำงานจำหน่าย มีตัวแทนภาคราชการและโรงงานชุดละ 10 คน หลังจากนี้คณะทำงานทั้ง 2 ชุด จะไปเชิญผู้ที่เหมาะสมมาเป็นประธาน คาดว่าจะ ตั้งโต๊ะรับซื้อคืนน้ำตาลได้ในช่วงต้นเดือนก.ค.

นายประเสิรฐ ตปณียางกูร เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำตาลตึงตัวน่าจะเริ่มคลี่คลายช่วงเดือนส.ค. เพราะขณะนี้ทางสอน.มีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตขนย้ายน้ำ ตาล จากปกติมีอายุ 15 วัน ซึ่งระหว่างนี้น้ำ ตาลที่ขึ้นงวดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ขึ้นงวด เพิ่ม เท่าตัวเป็น 8 แสนกระสอบจากปกติ 4 แสนกระสอบ ซึ่งขายออกไปแล้ว 2 แสน กระสอบ

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะปรับขึ้นราคาน้ำอัดลมหากไม่มีการลดราคาน้ำตาลทรายลงนั้น เข้าใจว่าราคาน้ำอัดลมมีต้นทุนอยู่ทั้งต้นทุนตราสินค้า (แบรนด์) ต้นทุนราคา น้ำตาลทราย แต่ก็ขอท้วงติงว่าต้นทุนราคา น้ำตาลของไทยถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยตลอด 25 ปีที่ผ่านมามีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลเพียง 3-4 ครั้งเท่านั้น และการที่ น้ำตาลมีการควบคุมราคาก็น่าจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการน้ำอัดลม เพราะทำให้สามารถคำนวณต้นทุนและวางแผนการผลิตได้ชัดขึ้น

“เราไม่ท้วงหากจะปรับขึ้นราคาน้ำอัดลมแต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าต้นทุนสูงขึ้นจริง เพราะน้ำอัดลมไม่ใช่สินค้าควบคุมแต่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งหากเปรียบเทียบราคาน้ำอัดลมกับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่าราคาน้ำอัดลมในไทยถูกกว่า 50%”.

จาก http://dailynews.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2553

เอเชียแย่งซื้อน้ำตาลราคาพุ่ง

นายกำธร กิตติโชคทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มปรับสูงขึ้น ทั้งในประเทศแถบตะวันออกกลางและเอเชีย ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงสุดรอบ 10 สัปดาห์ โดยล่าสุดน้ำตาลทรายตลาดนิวยอร์กตามสัญญาเดือนก.ค. สิ้นสุดการซื้อขายเมื่อ 30 มิ.ย. ปิดตลาดที่ 17.29 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.98% ราคาน้ำตาลตามสัญญาเดือนต.ค. ปิดตลาด 16.39 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้น 6.57% เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาส่งมอบทันทีครั้งล่าสุดถูกกำหนดไว้ที่ 22.23 เซนต์/ปอนด์ ถือเป็นราคาที่เริ่มปรับสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้เคยปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 11-13 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศในเอเชียพยายามกว้านซื้อน้ำตาล เพื่อไปรองรับการบริโภคที่โตขึ้น ส่วนไทยต้องไปซื้อน้ำตาลโควตา ค กลับคืนมาครั้งแรกในรอบ 20 ปี จึงส่งให้ค่าพรีเมียมน้ำตาล (เงินส่วนเพิ่มจากราคาน้ำตาล) ช่วงนี้สูงมากถึง 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากต้นปีเคยอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/ตัน

สำหรับการประชุมคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในวันที่ 30 มิ.ย.ได้หารือถึงความคืบหน้าการซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค จำนวน 1 ล้านตัน พร้อมจัดตั้งคณะทำงานจัดซื้อ และคณะทำงานจำหน่าย มีตัวแทนภาคราชการและโรงงาน ชุดละ 10 คน คาดว่าจะตั้งโต๊ะรับซื้อคืนน้ำตาลดังกล่าวได้ในช่วงต้นเดือน ก.ค.

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2553

น้ำตาลตลาดโลกเริ่มผงกหัว หลังชาติเอเชียเริ่มกว้านซื้อ

ราคาน้ำตาลตลาดโลกเริ่มผงกหัวแตะระดับ 17.29 เซนต์ต่อปอนด์หลังราคาดิ่งลงก่อนหน้านี้เหตุชาติเอเชียแย่งซื้อ ดันราคาน้ำตาลพุ่ง รอบ 10 สัปดาห์

นายกำธร กิตติโชคทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มปรับสูงขึ้น ทั้งในประเทศแถบตะวันออกกลางและเอเชีย ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงสุดรอบ 10 สัปดาห์ โดย ล่าสุดน้ำตาลทรายตลาดนิวยอร์คตามสัญญาเดือนก.ค. สิ้นสุดการซื้อขายเมื่อ 30 มิ.ย. ปิดตลาดที่ 17.29 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.98% ถือเป็นราคาที่เริ่มปรับสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้เคยปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 11-13 เซนต์/ปอนด์

“ขณะนี้หลายประเทศในเอเชียพยายามกว้านซื้อน้ำตาล เพื่อไปรองรับการบริโภคที่โตขึ้น ไทยเองต้องไปซื้อน้ำตาลโควตา ค กลับคืนมาครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี’24 จึงส่งให้ค่าพรีเมี่ยมน้ำตาล (เงินส่วนเพิ่มจากราคาน้ำตาล) ช่วงนี้สูงมากถึง 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากต้นปีเคยอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/ตันและคงยากที่จะตอบได้ว่าราคาน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นไปนานแค่ไหนและอยู่ที่เท่าใด”นายกำธรกล่าว

สำหรับคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในวันที่ 30 มิ.ย.ที่ประชุมหารือถึงความคืบหน้าการซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค จำนวน 1 ล้านตัน โดยที่ประชุมจัดตั้งคณะทำงานจัดซื้อ และคณะทำงานจำหน่าย มีตัวแทนภาคราชการและโรงงาน ชุดละ 10 คน หลังจากนี้คณะทำงานทั้ง 2 ชุดจะไปเชิญผู้ที่เหมาะสมมาเป็นประธาน คาดว่าจะสามารถตั้งโต๊ะรับซื้อคืนน้ำตาลดังกล่าวได้ในช่วงต้นเดือนก.ค.

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2553

พณ.เร่งกระจายน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบสู่ตลาดภายใน 15 ก.ค.นี้

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดว่า ปริมาณที่กระทรวงพาณิชย์รับมาจัดโควต้าพิเศษจากกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 1 ล้านกระสอบ สามารถกระจายสู่ตลาดเพื่อช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวได้ทั้งหมด ภายในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้มงวดกับการตรวจสอบการลักลอบขนน้ำตาลทรายส่งขายประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง หลังจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับราคาสูงขึ้นอีก นอกจานี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการนำมาตรการในการเช็กสต๊อกสินค้า การรายงานการขนย้ายมาใช้ เพื่อดูสัดส่วนการบริโภคในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ ก่อนที่จะมีการจัดสรรโควตาเพื่อการส่งออก

อย่างไรก็ตามเห็นว่า ปัญหาราคาน้ำตาลทรายขณะนี้ เกิดจากการจัดการระบบกระจายตัวยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเป็นผู้ดูแล และจากปัจจุบันยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะมีการพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาน้ำอัดลม จากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงการพิจารณาสิ้นสุดการส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำตาลทรายลดลง และเป็นภาระกับผู้ประกอบการน้อยลงด้วย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2553

สั่งห้ามส่งออกรื้อระบบแก้ไข่แพงตื่นต่างชาติกว้านซื้อน้ำตาล

"กอร์ปศักดิ์" สั่งระงับส่งออกไข่ไก่ชั่วคราว อัดเข้าตลาดในประเทศดึงราคาถูกลง เล็งถกบอร์ดสัปดาห์หน้าก่อนรื้อโครงสร้างการผลิตทั้งระบบ ด้านเอกชนค้านเปิดเสรีแม่พันธุ์ล้นทะลัก ตกต่ำแน่ ด้านน้ำตาลโลกยังแพง ล่าสุดพุ่งสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ ต่างประเทศกว้านซื้อหนัก

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ทั้งระบบว่า ในวันที่ 5 ก.ค. จะนัดหารือกับคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (บอร์ดไข่) เพื่อรับฟังการดำเนินงานทั้งหมด โดยเฉพาะโควตาแม่พันธุ์ไก่ที่มีการจำกัดการนำเข้าเพียงปีละ 405,721 ตัว ซึ่งต้องดูโครงสร้างให้สอดคล้องกันทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ผลิต เกษตรกรจนถึงผู้บริโภค แต่ในเบื้องต้นอาจเสนอยกเลิกการส่งออกไข่ไก่เพื่อนำมาจำหน่ายภายในประเทศให้เพียงพอแต่จะยกเว้นให้ผู้สั่งซื้อที่มีออเดอร์อยู่แล้ว และดูแลการกระจายพันธุ์ไก่ไม่ให้กระจุกอยู่กับบริษัทรายใดรายหนึ่งเนื่องจากอาจเกิดการผูกขาด

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยและสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ได้ส่งข้อมูลและต้นทุนให้นายกรัฐมนตรีผ่านนายกอร์ปศักดิ์ โดยยืนยันว่าราคาไข่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.80 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมและผู้เลี้ยงมีกำไรจากต้นทุนการผลิตฟองละ 2.45 บาท ซึ่งที่ผ่านมาผู้เลี้ยงขาดทุนมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่พอมีกำไรรัฐบาลก็จะลดราคา

ทั้งนี้ รัฐควรดูความเหมาะสมด้านต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์ที่ส่วนใหญ่รัฐบาลประกันราคาขั้นต่ำทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสูง นอกจากนี้ หากรัฐบาลได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและอนุญาตนำเข้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่ หรือเปิดเสรีแม่พันธุ์ไก่จะทำให้ผลผลิตล้นตลาดกระทบต่อราคาไข่ไก่เหมือนในอดีต

ล่าสุด สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกและเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศให้ยืดอายุแม่ไก่แก่ยืนกรงเพื่อให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนสมาชิกที่มีข้อผูกพันการส่งออกไข่ไก่ให้ยุติการส่งออกทันที คาดว่าความพยายามเพิ่มผลผลิตไข่ไก่สู่ตลาดจะทำให้ปัญหาราคาไข่ไก่คลี่คลายได้และป้องกันการกักตุนไข่ไก่ของพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่ต้องการปั่นราคาได้อีกทางหนึ่ง

ด้านนายกำธร กิตติโชคทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายว่า ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในแถบประเทศตะวันออกกลางและเอเชียส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ โดยราคาส่งมอบทันทีครั้งล่าสุดอยู่ที่ 22.23 เซนต์ต่อปอนด์ ถือเป็นราคาที่เริ่มปรับสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้เคยลดลงอยู่ที่ 11-13 เซนต์ต่อปอนด์

สำหรับน้ำตาลทรายตลาดนิวยอร์กตามสัญญาเดือน ก.ค.สิ้นสุดการซื้อขายเมื่อ 30 มิ.ย.53 ปิดตลาด 17.29 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.98% และราคาตามสัญญาเดือน ต.ค.ปิดตลาด 16.39 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้น 6.57%

"การประเมินราคาน้ำตาลในอนาคตจะมีแนวโน้มสูงขึ้นแค่ไหนคงตอบยาก ขณะนี้หลายประเทศในเอเชียพยายามกว้านซื้อน้ำตาลเพื่อรองรับการบริโภคที่โตขึ้น ไทยเองต้องซื้อน้ำตาลโควตา ค. กลับคืนมาครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 24 ส่งผลให้ค่าพรีเมียมน้ำตาล (เงินส่วนเพิ่มจากราคาน้ำตาล) สูงมากถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากต้นปีเคยอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน" นายกำธรกล่าว

 จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 1 กรกฎาคม 2553