http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกรกฎาคม 2556)

เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค 9 ประเทศอาเซียน

ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin)

ศศินทร์ย้ำเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คือยุคทองของการค้าขายและการลงทุน เตือนผู้ประกอบการและนักการตลาดให้ความสำคัญต่อการศึกษาสิ่งแวดล้อมทางการตลาดของแต่ละชาติ เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค 9 ประเทศในอาเซียน เปรียบเทียบวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละชาติเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการตลาด
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า การลงทุนค้าขายกับชาติต่างๆ ในอาเซียนผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคของแต่ละชาติ เพราะในอนาคตนั้นไม่ได้มีแค่ 10 ประเทศ แต่จะเกิดปรากฏการณ์อาเซียนบวก 3 ที่ในตลาดนั้นจะมีจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีเข้ามาอยู่บนเวทีการแข่งขัน และไม่เกินปี 2020 จะกลายเป็นอาเซียนบวก 6 นอกจาก 3 ประเทศดังกล่าวแล้วจะมีอินเดีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคนหรือคิดเป็น 10% ของประชากรโลก จึงทำให้สินค้าและบริการต่างๆ ทั่วโลกมีเป้าหมายที่จะขยายตลาดในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม หากอาเซียนรวมกับชาติอื่นๆ อีก 6 ประเทศในอนาคตจะทำให้มีอำนาจการต่อรองกับชาติตะวันตกมากขึ้น เพราะจะเกิดเครือข่ายการบริหารจัดการที่เข้มแข็งแม้ว่าจะเกิดปัญหากับชาติอื่นๆ ทั้งในยุโรป และอเมริกา เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่ออาเซียนมากนัก เนื่องจากการรวมตัวจะทำให้ตลาดภูมิภาคนี้ใหญ่ขึ้น และจะเกิดการค้าขายกันในกลุ่ม AEC ที่ประชากรมีบุคลิกและค่านิยมที่ใกล้เคียงกัน จึงเป็นโอกาสของการขยายธุรกิจในภูมิภาค ทั้งนี้ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของสินค้าและบริการจากทั่วโลก ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องมีความตื่นตัวรอบด้านเพื่อรับมือกับการแข่งขันของตลาดในอนาคต โดยเริ่มจากการสร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์เพื่อง่ายต่อการเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน

ดร.กฤษติกาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า เมื่อการลงทุนด้านต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นยุคทองของการค้า นอกจากผู้บริโภคในประเทศไทยที่ครองอันดับ 1 ในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน เพราะมีสินค้าและบริการหลากหลาย รวมทั้งค่าครองชีพที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน จึงทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักการตลาดและผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาผู้บริโภคชาติอื่นๆ ในอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ โดยเริ่มจากประเทศเมียนมาร์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว นับถือศาสนาพุทธและค่อนข้างเคร่ง จึงมีความซื่อสัตย์และเชื่อใจได้ ในขณะเดียวกันคนในเมียนมาร์ก็จะไม่ไว้ใจคนที่มีบุคลิกที่ไม่จริงจัง ที่สำคัญเป็นชาติที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี และเป็นดินแดนที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเมียนมาร์ค่อนข้างสูง เนื่องจากทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดการลงทุน

สำหรับประเทศกัมพูชานั้นเป็นชาติที่ประชากรมีพฤติกรรมคล้ายกับคนไทยและชอบดูละครไทย จึงทำให้คนกัมพูชาชื่นชอบสินค้าไทย ที่สำคัญประชากรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 20 ปี และพร้อมจะรับสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน ส่วนประเทศสิงคโปร์เป็นชาติที่มีจำนวนประชากรน้อยสุดในภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกันมีการแข่งขันด้านต่างๆ สูงมาก และคนส่วนใหญ่มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง จึงทำให้โอกาสการมีคู่ครองและแต่งงานน้อย รัฐบาลจึงมีนโยบายในการกระตุ้นให้มีการแต่งงานและมีบุตร เห็นได้จากมีหลักสูตรเกี่ยวกับการเลือกคู่ครองในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งการให้รางวัล 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และเป็นประเทศเล็กที่มีความเจริญทุกๆ ด้าน ที่สำคัญสิงคโปร์ไม่ผลิตอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภค อาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ประชากรมีอำนาจในการซื้อสูง เป็นชาติที่มีศักยภาพในการคัดเลือกสินค้าและบริการเพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของประชากร จึงทำให้ชาติต่างๆ พยายามที่จะเข้าไปเจาะตลาดในสิงคโปร์

ประเทศอินโดนีเซีย ร้อยละ 86 ของประชากรเป็นชาวมุสลิม แต่ไม่ค่อยเคร่งครัดมากนัก เห็นได้จากเหล้าและเบียร์นั้นยังหาซื้อได้ง่าย ยกเว้นช่วงรอมฎอนที่จะมีการเคร่งครัดเรื่องศาสนามาก และจำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปีนั้นมีจำนวนถึง 44 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มวัยคนทำงาน และเป็นประเทศที่มีการศึกษาสูง เนื่องจากส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ต่างจากประเทศลาวที่ประชากรส่วนใหญ่มีการศึกษาค่อนข้างน้อย และพบว่ากว่า 40% ของประชากรไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ที่สำคัญเป็นชาติที่มีอุปนิสัยเหมือนคนไทยและพูดภาษาไทยได้ แต่ไม่ยอมรับเรื่องเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องกับไทย เพราะไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นน้องแต่ต้องการเคียงคู่กับไทย และพฤติกรรมโดยทั่วไปนั้นคล้ายกับคนไทย มีอุปนิสัยสบายๆ

มาดูข้อมูลด้านต่างๆ ของประเทศเวียดนามกันบ้าง ประชาชนส่วนใหญ่มีอุปนิสัยเป็นนักสู้ และมองโลกในแง่ดี ทั้งยังเน้นการสร้างความบันเทิงให้ชีวิตแม้ว่าจะเกิดภัยน้ำท่วมหนักทุกปีก็ตาม และส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่ออนาคตของบุตรหลานมาก แม้ว่าจะยากจนแต่พยามยามที่จะส่งลูกเรียนให้สูงๆ และจะคัดสรรสิ่งที่ดีและมีประโยชน์สูงสุดเพื่อต้องการให้ลูกฉลาดเพราะต้องการทำให้อนาคตของเวียดนามนั้นดีกว่าเดิม

สำหรับมาเลียเซียนั้น ประชากรดั้งเดิมของประเทศดังกล่าวมีประมาณ 60% ส่วนอีก 20% เป็นคนจีน และชาติอื่นๆ อีก 20% ทั้งนี้ คนท้องถิ่นของมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่ชอบคนจีน และจะถูกกีดกันค่อนข้างมาก เช่น สถานศึกษาในมาเลเซียจะต้องเป็นโควตาของคนท้องถิ่น ส่วนที่เหลือเป็นของชาติอื่นๆ หากต้องการทำธุรกิจกับชาวมาเลเซียจะต้องมีพรรคพวกหรือพันธมิตรเท่านั้น

สำหรับฟิลิปปินส์ ภูมิประเทศเป็นเกาะ และคนส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ คนที่เก่งๆ มักจะออกไปทำงานต่างประเทศแล้วส่งเงินกลับมาประเทศของตนเองมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้คนที่อยู่ในประเทศนั้นมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่ได้รับอิทธิจากประเทศอเมริกา ทั้งทางด้านการแต่งกายและรับประทานอาหาร ดังนั้น ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเป็นแบบอเมริกันผมสมผสานกับท้องถิ่น ประชากรส่วนใหญ่เป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดมาก และปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คืออัตราการเกิดที่สูง

สุดท้ายคือบรูไน เป็นประเทศที่ไม่ต้องดิ้นรนมากนักเพราะเป็นแหล่งผลิตน้ำมัน ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายและอำนาจในการซื้อของประชาชนติดอันดับ 6 ของโลก และเป็นสังคมมุสลิมที่ค่อนข้างเคร่งศาสนา เหล้าและเบียร์หายากมาก รวมทั้งประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน

ดร.กฤษติกากล่าวว่า นอกจากข้อมูลดังกล่าวแล้ว ธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการบุกตลาดอาเซียนจะต้องมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากจะทำให้ทราบว่าลูกค้าในประเทศดังกล่าวต้องการอะไร ดังนั้น ทุกธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญต่อการวิจัยตลาด หากไม่มีงบประมาณด้านนี้มากนักผู้ประกอบการสามารถวิจัยแบบไม่สิ้นเปลือง เช่น การสำรวจสิ่งแวดล้อม สังคม การใช้ชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไม่ควรมองว่าการทำวิจัยเป็นวิธีการที่สิ้นเปลือง เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานได้ผลดีที่สุด ในทางตรงกันข้าม หากทำงานแบบลองผิดลองถูกจะทำให้องค์กรสิ้นเปลืองมากกว่า ทั้งนี้ ขอแนะนำให้นักลงทุนสำรวจห้างสรรพสินค้าในประเทศที่ต้องการไปลงทุน ก็จะทำให้ทราบว่าไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการบริโภคชองชาตินั้นเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

เกษตรฯตั้งเป้าปรับอ้อยนำร่องในพื้นที่ไม่เหมาะปลูกข้าว 4.1 ล้านไร่

เกษตรฯ ยันโซนนิ่งไม่ร้าง ตั้งเป้าปรับอ้อยนำร่องในพื้นที่ไม่เหมาะปลูกข้าวเป้าหมาย 4.1 ล้านไร่ สั่งพื้นที่เร่งสำรวจความต้องการเกษตรกรด้านมาตรการช่วยเหลือเพื่อปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ตรงกับสภาพพื้นที่

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสประชุมทางไกลร่วมกับหน่วยราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งว่า ขณะนี้การดำเนินการเรื่องโซนนิ่งถือได้ว่าเริ่มมีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้วโดยเฉพาะการสำรวจพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวที่มีอยู่ประมาณ 27.4 ล้านไร่ เพื่อนำมาพิจารณาชนิดพืชที่มีความต้องการของตลาดแน่นอน โดยพืชชนิดแรกที่กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีทิศทางที่เป็นไปได้และมีความต้องการของตลาดเป็นตัวนำ คือ อ้อย ที่มีข้อมูลว่าโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศมีความต้องการถึง 200 ล้านตัน ขณะที่มีผลผลิตป้อนเข้าสู่โรงงานเพียง 100 ล้านตัน จึงยังมีความต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยถึง 10 ล้านไร่ ซึ่งเบื้องต้นจากการคัดแยกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และพิจารณาถึงพื้นที่โรงงานน้ำตาลที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร พบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยประมาณ 4.1 ล้านไร่

ดังนั้น สิ่งที่จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการคือ การสำรวจข้อมูลความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่จริง โดยให้เกษตรกรทำแบบสอบถามที่จะมีรายละเอียดความต้องการที่จะให้รัฐเข้าไปสนับสนุนเรวมถึงพืชที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนหากเกษตรกรต้องการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงกรณีที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อให้รัฐได้ข้อมูลที่แน่ชัดก่อนกำหนดเป็นมาตรการจูงใจโดยใช้ข้อมูลความต้องการจริงในพื้นที่มาเป็นข้อมูลพื้นฐานต่อไป ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะรายงานผลการสำรวจมายังกระทรวงมหาดไทยภายในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 5 สิงหาคมนี้

สำหรับการประชุมทางไกลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งของทุกจังหวัดในครั้งนี้ถือเป็นการเร่งรัดและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำที่จะเห็นผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งหลายๆ จังหวัดได้เริ่มขับเคลื่อนแผนโซนนิ่งโดยพิจารณาพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกของตนเองแล้ว เช่น การปรับพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยในจังหวัดกำแพงเพชร บุรีรัมย์ หรือการเพิ่มพื้นที่ปลูกมันทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

3 สมาคม รง.น้ำตาลตั้งคณะทำงานร่วมมือรัฐจัดโซนนิ่ง พร้อมรับซื้อผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรที่เคยปลูกพืชอื่นแต่อยู่ในเขตพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อย ซึ่งอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในการปลูกอ้อยโรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมมือตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

การให้ความร่วมมือของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สามารถทำได้ตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องการจัดเตรียมพันธุ์อ้อย จัดเตรียมดิน ระบบการให้น้ำ การตัดอ้อย รวมถึงองค์ความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและการดูแลอ้อยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในด้านการเพาะปลูกอ้อยให้กับเกษตรกรที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การปลูกอ้อย

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า ศักยภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทรายปัจจุบัน สามารถรองรับอ้อยได้ประมาณ 130 ล้านตัน อีกทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่ทุกปี ในขณะที่ผลผลิตอ้อยเข้าหีบมีประมาณ 100 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 10 ล้านไร่ ดังนั้น การที่จะมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากนโยบายจัดโซนนิ่งจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล ซึ่งสามารถรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้แน่นอน

“การจัดตั้งคณะทำงานของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ก็เพื่อจะให้ความมั่นใจกับเกษตรกรที่อยู่ในเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อสร้างรายได้ใหม่ แต่ไม่มีประสบการณ์ ว่าจะไม่โดดเดี่ยวแน่นอน ภาครัฐก็คงมีมาตรการสนับสนุนช่วยเหลืออยู่แล้ว ทางด้านของโรงงานน้ำตาลทรายเองก็พร้อมจะให้องค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรที่หันมาปลูกอ้อยว่าจะมีความมั่นคงทางด้านรายได้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมั่นคง" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในพื้นที่ที่ปลูกพืชชนิดเดิมอยู่ จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่แนะนำหรือไม่ โดยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจะให้ข้อมูลแก่เกษตรกรเพื่อประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้แนวทางสำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกอ้อยมากที่สุดไว้ด้วยว่า จะอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตรจากโรงงานน้ำตาล และรองลงมาก็คือระยะ 50-100 กิโลเมตรจากโรงงานน้ำตาล ส่วนระยะที่ไกลกว่า 100 กิโลเมตร จะไม่ประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

ผู้ว่า ธปท. แนะรัฐพัฒนา 4 ด้าน สร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจไทย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่หลายฝ่ายรวมถึงที่ ธปท. เคยคาดไว้ และเมื่อประกอบกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลงตามการบริโภคและการลงทุนที่พักฐานหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ธปท. จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลง โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 4.2

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ จากการที่ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว หากมีการติดตามประเมินสถานการณ์และมีมาตรการเตรียมรับมือที่เหมาะสมและรอบด้านเพียงพอ ก็อาจจะช่วยให้เราสามารถลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้

แต่สาหรับในระยะยาว ยังต้องสามารถอาศัยจุดแข็งที่มีทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน คือ จะต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตด้วยนวัตกรรม ซึ่งหมายถึงการผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ มีมูลค่าเพิ่มสูง และเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยจะต้องเร่งผลักดันนโยบายที่สำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคน ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และด้านตลาดแรงงาน

ด้านแรกคือ การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพราะปัจจุบันต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยยังค่อนข้างสูงที่ประมาณร้อยละ 15 ของ GDP หากทางการสามารถเร่งผลักดันให้ระบบการขนส่งมวลชนของประเทศมีโครงข่ายเชื่อมโยงที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศในหลายด้าน โดยหากสามารถทำให้โครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ ไทยจะสามารถลดต้นทุน โลจิสติกส์ได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ของ จีดีพี ด้านที่ 2 คือ การทำให้คนในประเทศมีพัฒนาการด้านสุขภาพและการศึกษาที่ดี จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษาทั้งทางด้านคุณภาพ และโอกาสในการเข้าถึงของประชาชน ด้านที่ 3 คือ การสร้างความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการลงทุนและศึกษาด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีจากชาวต่างชาติที่มาลงทุนในไทย รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ

และด้านสุดท้ายคือ การทำให้ตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันตลาดแรงงานของไทยค่อนข้างตึงตัว ล่าสุดอัตราการว่างงานในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่ำที่สุด ในกลุ่มประเทศเอเชีย ความตึงตัวของตลาดแรงงานนี้ ถือเป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งปัญหาความไม่ตรงกันระหว่างความต้องการของนายจ้างกับทักษะของลูกจ้าง ซึ่งการพัฒนาคุณภาพของคนในด้านการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง จะช่วยให้แรงงานมีทักษะมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภาพของแรงงานไทยไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีความซับซ้อนและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

กรมพัฒนาที่เดินหน้าใช้เทคโนโลยีชีวภาพวิจัย-พัฒนาจุลินทรีย์ฟื้นระบบนิเวศน์ดิน

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาดินว่า กรมพัฒนาที่ดินยังคงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะการวิจัยจุลินทรีย์เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาดินอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์สาร พ.ด. สูตรต่างๆ ที่กรมพัฒนาที่ดินได้จากงานวิจัยจุลินทรีย์สามารถสร้างประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างมากมาย ทั้งในแง่การฟื้นฟูกายภาพของดิน การฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในดิน ซึ่งไม่อาจประมาณค่าได้เหมือนกับการลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน

ในขณะเดียวกัน กรมพัฒนาที่ดินยังได้เตรียมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สำหรับวิจัยจุลินทรีย์ขึ้นที่ศูนย์วิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นอกเหนือจากห้องปฏิบัติการฯ ที่มีอยู่ที่กรมพัฒนาที่ดิน บางเขน เนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบไม่อาจเพียงพอในการรองรับการขยายงานด้านการวิจัยจุลินทรีย์ และการขยายผลในรูปผลิตภัณฑ์สาร พ.ด. อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพศูนย์วิจัยฯ อ.ปากช่อง ให้มีความสมบูรณ์ในตัวเองมากขึ้น สำหรับการใช้ประโยชน์ในอนาคต ทั้งในแง่การวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาดิน

“ต่อไปศูนย์วิจัยฯ ปากช่อง จะเป็นทั้งศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินที่สมบูรณ์แบบ สำหรับให้นักวิจัยเข้าไปใช้สถานที่และพื้นที่ ในขณะที่เกษตรกร สามารถเข้าถึงงานวิจัยและงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินพร้อมๆ กัน”

นางกุลรัศมิ์ กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์ พ.ด. ส่วนใหญ่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากเกษตรกรผู้ใช้ และมีการขยายผลโดยตัวเกษตรกรเอง โดยเฉพาะสารเคมีเกษตรไม่ว่าปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต มีราคาแพงขึ้นโดยตลอด ก็ยิ่งเป็นช่องว่างให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการใช้ผลิตภัณฑ์สาร พ.ด. ในการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น

“ถ้าลองสังเกตจะเห็นว่า กลุ่มเกษตรกรนิยมใช้สารเร่ง พ.ด. มากขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพราะใช้แล้วเห็นผล แถมยังลดต้นทุนการผลิตไปด้วย เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำงานของกรมพัฒนาที่ดิน” รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

“ผู้ว่า” สั่งฟันเจ้าของไร่อ้อย ผลสอบชัดตัวการทำน้ำเสีย ปล่อยกากน้ำตาลลงคลอง

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายชนชื่น ยุญญานุสาสต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี มีคำสั่งเห็นควรให้ดำเนินคดีกับเกษตรกรไร่อ้อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยน้ำเสียกากน้ำตาลลงคลองธรรมชาติไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ทำให้น้ำเสื่อมคุณภาพ หลังได้รับรายงานผลการตรวจสอบจาก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กรณีผู้เลี้ยงปลากระชัง ต.บางโตนด ต.ชำแระ อ.โพธาราม ร้องเรียนเกษตรไร่อ้อยใน ต.หนองกวาง ปล่อยน้ำเสียกากน้ำตาลลงคลองธรรมชาติ ทำให้ปลาในกระชังที่เลี้ยงไว้ตายจำนวนมาก ซึ่งร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 ประมงจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่อำเภอโพธาราม และองค์การบริหารส่วนตำบลชำแระ ตรวจสอบข้อเท็จจริง

โดยรายงานสรุปผลได้ว่า น้ำในคลองบางสองร้อย ในพื้นที่ ต.ชำแระ ลักษณะน้ำมีสีน้ำตาลเข็ม-ดำ ส่งกลิ่นเหม็น พบปลาตายในบริเวณจำนวนมาก จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำในคลองมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ยังไม่ทราบผลการวิเคราะห์น้ำ ด้าน อบต.หนองกวาง ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้ปลูกไร่อ้อย ที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองสาธารณะ และน้ำเสียส่วนนี้ได้ไหลลงสู่คลองบางสองร้อย จนมาถึงเขตพื้นที่ ต.ชำแระ มีผลทำให้เกิดน้ำเสียทำให้ปลาตาย

คณะผู้ตรวจสอบมีความเห็น สมควรให้นายก อบต.ชำแระ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ปลูกอ้อยใน ต.หนองกวาง ข้อหาปล่อยน้ำเสียลงสู่คลอง และให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 ราชบุรี เก็บตัวอย่างน้ำตาในคลองบางสองร้อย มาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการให้ประมงจังหวัดราชบุรี ตรวจคุณภาพน้ำในคลองบางสองร้อย ให้อำเภอโพธารามติดตามความคืบหน้าคดีที่ อบต.หนองกวาง แจ้งความกับผู้ปลูกไร่อ้อยที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสีย ให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกาผลักดันน้ำดีไล่น้ำเสียในคลองบางสองร้อย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบการนำกากน้ำตาล (โมลาส) ออกจากโรงงานมาใช้ในไร่อ้อยว่ามีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่

นอกจากนี้ สำนักงานประมงจังหวัดได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองบางสองร้อย ในพื้นที่หมู่ที่ 1,2 และ 9 ต.ธรรมเสน พบว่าน้ำในคลองมีลักษณะสีชา ค่อนข้างมีกลิ่นเหม็น ค่าออกซิเจนมีปริมาณต่ำ เป็นอันตรายต่อปลาอาจตายได้ การปล่อยน้ำเสียกากน้ำตาลลงสู่คลองของเกษตรกรปลูกไร่อ้อย ต.หนองกวาง เกิดผลกระทบกับแหล่งน้ำ มีผลทำให้ปลาตาย จึงเห็นควรให้ผู้เสียหายหรือผู้แทนประชาชน แจ้งความดำเนินคดีกับแหล่งต้นเหตุ โดยให้สำนักงานประมงจังหวัดประเมินค่าความเสียหาย เพื่อประกอบการดำเนินคดี

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

ดันโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ อุตฯไฟเขียวตั้ง6โรงงาน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯได้พิจารณาการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ผ่านการพิจารณาของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เสนอมาที่ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จำนวน 11 ราย ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาอนุญาตทั้งสิ้น 7 ราย และคืนเรื่องกลับให้ กรอ. พิจารณาชี้แจงทบทวน จำนวน 4 ราย

โดยโรงงานที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาอนุญาตในครั้งนี้ 6 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ จึงไม่มีปัญหาการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ที่มีการขออนุญาต และอีก 1 แห่ง เป็นโรงงานผลิตลูกบดโลหะ ที่นำไปใช้ในเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และเหมืองแร่ โดยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางการก่อสร้างสูง เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว ออสเตรเลีย และประเทศในแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศไทย

ส่วนโรงงานที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯมีมติคืนเรื่องมี 4 ราย โดยให้ กรอ.ทบทวนในประเด็นเกี่ยวกับผังที่ตั้งโรงงานและโฉนดที่ดิน 1.บริษัท ศรีวัฒนา กรีน เพาเวอร์ จำกัด 2.บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์(ประเทศไทย) 3.บริษัท ซีพีแรม (ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด จำกัด) 4.บริษัท แอ๊ดวานซ์ เอเชีย ไฟเบอร์ จำกัด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

2 เขื่อนใหญ่เหนือยังแห้ง-น้ำเหลือไม่ถึง 40%

ตาก – ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ของภาคเหนือ ทั้งเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ยังแห้ง มีน้ำเหลือไม่ถึง 40% แม้ฝนฉ่ำ จนหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วม-โคลนถล่ม

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้หลายพื้นที่ในภาคเหนือ จะเกิดปัญหาน้ำท่วม – ดินโคลนถล่มปิดทับเส้นทาง เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง แต่ระดับน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ของภาคเหนือ ทั้งเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ กลับมีน้ำคงเหลือไม่ถึง 40%เท่านั้น ยังคงมีพื้นที่ว่างรอรับน้ำใหม่อีกมากกว่า 60%

นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล เปิดเผยว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ วานนี้(30 ก.ค.56)มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จำนวน 25 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 23-30 ก.ค.56 มีปริมาณนำใหม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จำนวน 102 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังมีพื้นที่รองรับน้ำใหม่ ได้อีก 9,298 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ว่างอีก 69%ของความจุอ่างทั้งหมด

ล่าสุดอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำคงเหลือ 4,164 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39% ซึ่งในวันนี้(31 ก.ค.56) จะทำการระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและอุปโภคบริโภค จำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ได้ทำการการระบายน้ำ จำนวน 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำคงเหลือ จำนวน 3,413 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 35.89% ล่าสุดวานนี้(30 ก.ค.56) มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ จำนวน 107 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 6,096 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 64.11%วันนี้ จะทำการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน จำนวน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

สหกรณ์เด้งรับบัตรเครดิตเกษตร เปิดรูดปรื๊ดในร้านQ-Shopทั่วไทย

กรมส่งเสริมสหกรณ์ : สหกรณ์จับมือธ.ก.ส.เดินหน้าโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ดึงร้าน Q-Shop ทั่วประเทศเป็นจุดบริการ ตั้งเป้าการใช้บัตร 4 ล้านใบ หวังสร้างทางเลือกใหม่ พร้อมดึงเกษตรกรที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมโครงการ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล

นายสมชาย ชาญ-ณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริม สหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการ ที่กรมส่งเสริมฯ ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับธนาคารเพื่อ การเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุน ร้านค้าในโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ให้ได้มาตรฐานร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทาง การเกษตรที่คุณภาพ (Q-Shop) ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 4 ล้านบัตรจากเป้าหมายเดิมที่ได้จัดทำบัตรไปแล้ว 2 ล้านบัตร โดยในที่ประชุมพิจารณาถึงความเหมาะสมและความ สำคัญในการจัดทำบัตร และเห็นควรให้เดินหน้าจัดทำบัตรดังกล่าวขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปที่ต้องการมีบัตรเครดิตฯ

"การทำบัตรเครดิตฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการขยับขยายไปยังพืชชนิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่ข้าวอย่างเดียว รวมไปถึงยางพารา ปาล์ม สับปะรด ขณะนี้บอร์ดฯ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดว่าบัตรเครดิตจำนวน 4 ล้านบัตรมีข้อจำกัดอะไรบ้าง คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ซึ่งได้คุยกับกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับเรื่องปุ๋ย ว่าปุ๋ยจะเข้ามาโครงการจะต้องเป็นปุ๋ยยี่ห้ออะไร มีคุณภาพอย่างไร มีการ ทดสอบคุณภาพหรือไม่ มีการควบคุมการจัดการอย่างไร จะใช้ยี่ห้อเดิมจากบริษัทที่เคย ทำหรือไม่ หรือต้องการผลิตเป็นยี่ห้อใหม่ หรือต้องการใช้ปุ๋ยยี่ห้อเดิมคือ ตราเกลียวเชือก ซึ่งเป็นตราของสหกรณ์ นอกจากนี้ต้อง ทำความเข้าใจกับกลุ่มบุคคลเป้าหมายในการ ขับเคลื่อนต่อไป" นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย ยังกล่าวถึงการจัดการกับสินค้าที่ด้อยคุณภาพนั้นจะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบโดยตรง หากสินค้า เป็นปุ๋ยต้องมีการสำรวจความต้องการของลูกค้าเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้ปุ๋ยอยู่ที่ 400,000 ตัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทางธ.ก.ส.ต้องออกสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าว่าต้องการปริมาณปุ๋ยเท่าไร ยี่ห้ออะไร ต้องการใช้ช่วงเวลาไหนมีการจ้างการผลิตพร้อมกับส่งมอบให้ถึงมือเกษตรกร ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมวิชาการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียน การตรวจสอบคุณภาพ พร้อมที่ส่งมอบเข้าร้าน Q-Shop

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีทางเลือกอย่างเต็มที่ ทั้งปุ๋ยและยาต้องผ่านการตรวจสอบของกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น และต้องได้รับการรับรองจากร้าน Q-Shop โดยตรง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เครดิต 4 เดือน จากเดิมปุ๋ยให้เครดิตเพียง 1 เดือนเท่านั้น เนื่องจากธ.ก.ส.มีระบบการให้สินเชื่อเกษตร-กร การดูแลการใช้บัตร เพื่อป้องกันการทำผิดหรือนำบัตรไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

"เป้าหมายการใช้บัตรดังกล่าว ตั้งไว้ 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศ แบ่งเป็นของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ประมาณ 4,300 สหกรณ์การเกษตร 1 อำเภอ 1 สหกรณ์ รวม 700 จุด ร้านค้า 4,000 จุด สถานีบริการปั๊มน้ำมันของสหกรณ์ อีก 1,000 จุด รวมถึงปั๊มร้านสหกรณ์ หากรวมสกต.และสหกรณ์การเกษตรทั้งหมด 5,000 จุด โดยครึ่งหนึ่งเป็นของสหกรณ์ อีกครึ่งหนึ่งเป็นของร้านค้า" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ดังนั้น จะต้องมีการพัฒนาจัดการร้าน ค้าให้มีความสมดุลและน่าจับจ่ายใช้สอย มีสินค้าใหม่ๆ วางจำหน่ายอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับสมาชิก และสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าที่จะเข้ามาในร้าน Q-Shop โดยรูปแบบของร้าน Q-Shop ในเบื้องต้นทางธ.ก.ส.ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 25 ล้านบาท เพื่อจัดอบรมให้ความ รู้ความเข้าใจกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังติดขัดปัญหาเรื่องการทำบัตร ซึ่งบริษัทที่เข้ามารับเหมาทำบัตร ไม่สามารถส่งมอบบัตรให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า จึงเกิดความล่าช้า แต่ เดิมส่งบัตรไปผลิตจำนวน 2 ล้านบัตรผลิตได้เพียง 1.9 ล้านบัตร เมื่อเทียบกับบัตรที่จะต้องจัดทำเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จึง เป็นหน้าที่ของธ.ก.ส.ที่จัดจ้างบริษัททำบัตรกี่บริษัทก็ได้

ปัจจุบันพบว่า สหกรณ์มีพื้นที่รองรับและมีร้านสหกรณ์ทั้งหมด 2,000 กว่าร้านค้า จากร้านสหกรณ์ที่มีอยู่ 2,700 แห่ง ดังนั้นการดึงบัตรสินเชื่อเกษตรกร มาใช้ร่วมกับร้าน Q-Shop จึงมีโอกาสที่เป็นไปได้สูง จากการทำบัตร 4 ล้านบัตร เฉพาะลูกค้าของธ.ก.ส. จำนวน 2.7 ล้านบัตร ลูกค้าสหกรณ์อีกจำนวน 1.7 ล้านบัตร ซึ่งการทำบัตรฯ ได้เปิดโอกาสการเข้าถึงของเกษตรกร ซึ่งการมีบัตรเครดิต ผู้ถือบัตรไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. หรือสมาชิกร้านสหกรณ์เท่านั้น แต่เกษตร-กรทั่วไปสามารถที่จะมีบัตรเครดิตนี้ได้ เพราะ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

ศก.เกษตรครึ่งปีแรกขยายแค่0.4 สศก.ชี้ภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วงซัดอ่วมประมงอาการหนักพิษโรคตายด่วน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 เนื่องมาจากผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 ประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ในแถบลุ่มเจ้าพระยาตอนบน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ ขณะที่พืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ทั้งยางพาราและปาล์ม น้ำมันได้ทยอยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งการผลิตไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ แม้ว่าจะมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดในบางช่วงจนทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตช้า และในส่วนของสาขาประมงมีการหดตัวลงอย่างมากเป็นผลมาจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่ได้รับความเสียหายจากโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ประกอบกับปริมาณสัตว์น้ำจากการทำประมงทะเลที่ลดลงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา จะเห็นว่าทุกสาขามีการขยายตัว ยกเว้นประมง

สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เป็นต้น ขณะที่ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ถั่วเหลือง ลำไย และ เงาะ มีผลผลิตลดลง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากปริมาณผลผลิตปศุสัตว์สำคัญที่เพิ่มขึ้น ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ สาขาบริการ
ทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชสำคัญ ได้แก่ อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 0.7 เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตครั่งและถ่านไม้ที่มีราคาค่อนข้างดีจูงใจให้เกษตรกรทำเป็นอาชีพเสริม

ส่วน สาขาประมง พบว่าหดตัวร้อยละ 7.1 เป็นผลมาจากปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่ออกสู่ตลาดลดลงอย่างมากจากปัญหาการระบาด ของโรคตายด่วนหรือโรค EMS ในแหล่งผลิตที่สำคัญทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงได้รับความเสียหายประมาณร้อยละ 30-40 ประกอบกับผลผลิตจากการทำประมงทะเล มีปริมาณลดลงเช่นเดียวกัน โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้รวมทุกท่าลดลงประมาณร้อยละ 4.7 ขณะที่ผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ ในช่วงร้อยละ 1.5–2.5 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและโรคระบาดในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเป็นสำคัญ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 กรกฎาคม 2556

เกษตรกรแห่เข้าคอร์สอาชีพเสริมติวเข้มซ่อมเครื่องจักรกลเกษตร

นายวิทยา อธิปอนันต์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่าง ๆ เช่น รถแทรกเตอร์ เครื่องยนต์ต้นกำลังขับเคลื่อนรถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ เครื่องนวดเมล็ดธัญพืช ได้รับความนิยมถูกนำไปใช้งานด้านการเกษตรมากขึ้น แต่เกษตรกรจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจการใช้งานและบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี ทำให้เครื่องจักรกลดังกล่าวชำรุด เสียหาย อายุการใช้งานสั้น หรือสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มอบหมายให้กองส่งเสริมวิศวกรรมการเกษตร โดยศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร ซึ่งมีอยู่ 6 แห่งทั่วประเทศ จัดหลักสูตรการอบรมด้านการใช้การบำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรเฉพาะด้าน ปี 2556 สำหรับหลักสูตรที่มีการเปิดสอนมีทั้งหมด 4 หลักสูตร ระยะเวลาการอบรม 3 วัน ได้แก่ 1. หลักสูตรการใช้และบำรุงรักษารถแทรกเตอร์ 2. หลัก สูตรการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตร 3. หลักสูตรเทคนิคการซ่อมเครื่องยนต์เกษตร และ 4. หลักสูตรการติดตั้งระบบให้น้ำพืชผ่านท่อแบบประหยัด

ทั้งนี้การเปิดอบรมทั้ง 4 หลักสูตรดังกล่าว ศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรทั้ง 6 แห่ง ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งในปี 2556 นี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเกษตรกรทั่วประเทศได้รับการอบรมและการฝึกอาชีพรวมทั้งหมด 1,980 ราย มีเกษตรกรผ่านการอบรมทั้งสิ้น 2,042 ราย และขณะนี้ศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรทั้ง 6 แห่ง ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยตามเป้าหมายที่วางเอาไว้แล้ว

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เกษตรกรที่ผ่านการอบรมทุกคนจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจกรรมทางการเกษตรของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ และสามารถต่อยอดด้วยการหมั่นฝึกฝนพัฒนาทักษะความรู้ของตัวเอง จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเสริมได้” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 กรกฎาคม 2556

หนองม่วงแล้งหนัก ไร่อ้อยเสียหายกว่าแสนไร่

นายคันชล ผ่องใส นายอำเภอหนองม่วง พร้อมด้วยปลัดอำเภอ นายก อบต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรอำเภอหนองม่วง ได้ออกสำรวจพื้นที่ความเสียหายและหาทางออกช่วยเหลือเกษตรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่ประสบภัยแล้งอย่างหนัก ในตำบลยางโทน ตำบลชอนสารเดช ตำบลบ่อทอง ตำบลชอนสมบูรณ์ และตำบลหนองม่วง โดยประมาณการความเสียหายเป็น 100,000 ไร่ ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท วอนรัฐให้ความช่วยเหลือ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 30 กรกฎาคม 2556

แผนที่เกษตรออนไลน์..ใช้งานได้จริง - นานาสารพัน

เนื่องจากข้อมูลเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในระบบฐานข้อมูลและรวบรวมไว้ในเอกสาร ซึ่งบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้ค่อนข้างยาก เพราะมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการค้นหาข้อมูล สำนักพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวคิดจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์กลุ่ม องค์กรและสถาบันเกษตรกร โดยแสดงผลในรูปแบบ แผนที่ออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลเกษตรกร กลุ่มองค์กร และสถาบันเกษตรกรได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นนายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรม ส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำนักพัฒนา เกษตรกรจัดทำระบบข้อมูลสาร สนเทศภูมิศาสตร์

กลุ่มองค์กรและสถาบันเกษตรกรขึ้น โดยนำข้อมูลเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร องค์กร และสถาบันเกษตรกร มาแสดงผลบนแผนที่ออนไลน์ แบ่งเป็น 10 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลกลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร หมู่บ้านโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ กลุ่มส่งเสริมอาชีพ ศูนย์ปราชญ์เกษตร ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน แหล่งเรียนรู้เคหกิจเกษตร แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และร้านอาหารที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด 77 จังหวัด คัดเลือกกิจกรรมนำร่อง จังหวัดละ 10 ประเภท ประเภทละ 1 รายการ รวม 770 รายการ มาแสดงผลแผนที่ออนไลน์ โดยแสดงข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกร กลุ่ม องค์กร และสถาบันเกษตรกร อาทิ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ พร้อมแสดงรายละเอียดกิจกรรมและโครงการที่ทำ และระบุพิกัดที่ตั้งของแต่ละกิจกรรมด้วย ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วขึ้น ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จากเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนต่าง ๆ

ขณะนี้สำนักพัฒนาเกษตรกรได้ป้อนข้อมูลกิจกรรมนำร่อง เพื่อแสดงผลแผนที่ออนไลน์ไปแล้วกว่า 60% และจะทยอยป้อนข้อมูลกิจกรรมนำร่องที่เหลือให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว ซึ่งมั่นใจว่าสามารถใช้งานได้จริง โดยแผนที่ออนไลน์นี้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้การค้นหาข้อมูลพิกัดที่อยู่ของเกษตรกร กลุ่ม องค์กร และสถาบันเกษตรกรทำได้เร็วขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ www.farmdev.doae.go.th หรือ http://www.farmdev.doae.go.th/gps/gps_farmdev.html หรือค้นหาข้อมูลผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์ของ Google โดยการพิมพ์ชื่อเกษตรกร กลุ่ม องค์กร และสถาบันเกษตรกร ที่ต้องการค้นหา ก็สามารถสืบค้นข้อมูลแผนที่ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น สำนักพัฒนาเกษตรกรยัง ได้จัดทำ ระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์สำนักงานเกษตรจังหวัด 77 จังหวัด ด้วย ซึ่งจะระบุพิกัดสถานที่ตั้งสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมแสดงที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ เป็นระบบเปิดที่สามารถค้นหาข้อมูลได้เช่นเดียวกัน ช่วยให้เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถเข้าถึงและติดต่อสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ง่ายขึ้น อนาคตกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีแผนขยายผลการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์สู่ระดับอำเภอ และจะขยายผลการจัดทำแผนที่ออนไลน์ รายพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ ’แผนที่ออนไลน์ เกษตรกร กลุ่ม องค์กร และสถาบันเกษตรกร“ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 0-2579-3827 0-2561-3743 ในวันและเวลาราชการ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 กรกฎาคม 2556

ศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดิน

นายสมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ ดินตามความเจริญของท้องถิ่นอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ส.ป.ก. เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการที่มีอยู่เดิมและไม่เกิดผลกระทบกับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพทางการเกษตรและสร้างรายได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่ม

เติมว่า หลังจากที่ทีมงานวิจัยของมหา วิทยาลัยพะเยาได้ศึกษาพบว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการก่อสร้างหอพัก หรืออาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตามความเจริญและเปลี่ยนแปลงของสังคมท้องถิ่น ทำให้ ส.ป.ก. ต้องศึกษาในรายละเอียดที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อไปและต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ส.ป.ก. ต้องกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร โดยเบื้องต้น ส.ป.ก. จะเร่งสำรวจพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อนำ มาวิเคราะห์และกำหนดโซนสำหรับการพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์ หรือการพัฒนาตามความเจริญของท้องถิ่นที่เหมาะสมต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 กรกฎาคม 2556

สศก. เร่งเครื่องโครงการปลูกอ้อยในนาขาว จ.กำแพงเพชร หวังยกระดับการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า

นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 นครสวรรค์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินการโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จังหวัดกำแพงเพชร ว่าเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นปลูกอ้อยโรงงานเพื่อลดการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม พัฒนาระบบการผลิตขยายและกระจายพันธุ์อ้อยสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกษตรสามารถผลิตขยายพันธุ์อ้อยหมุนเวียนใช้ในชุมชน พร้อมอ้อยหมุนเวียนใช้ในชุมชน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี มีกำหนดแผนโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 11 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสัมพีนคร อ.ขาณุวรลักษบุรี อ.คลองขลุง อ.คลองลาน อ.ทรายทองวัฒนา อ.ไทรงาม อ.บึงสามัคคี อ.ปางศิลาทอง อ.พรานกระต่าย อ.เมืองกำแพงเพชรและ อ.ลานกระบือเป้าหมายเกษตรกร จำนวน 2,760 ราย พื้นที่ 55,200 ไร่ ในปีแรก และเพิ่มเป้าหมายเกษตรทุกปีให้ได้ 14,200 ราย รวมพื้นที่ 300,000 ไร่ ในปี 2560

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการประกอบไปด้วย การประชุมเพื่อวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดภายในเดือนสิงหาคมนี้ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร โรงงานน้ำตาลพาณิชย์จังหวัด ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ผูรับผิดชอบระดับจังหวัดและอำเภอ

การถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรเรื่องเทคโนโลยีการผลิตอ้อยโดยการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตอ้อยแบบมีส่วนร่วมตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร 2 ครั้ง การจัดทำแปลงส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตอ้อย โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิต นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำเอกสารการผลิตอ้อยคุณภาพการประขาสัมพันธ์และการจัดงานรณรงค์การลดต้นทุกการผลิต และเพิ่มผลผลิตอ้อยพร้อมติดตามผลการดำเนินงาน เป็นต้น

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

“รวงข้าว” เชื่อ “เฟด” คงมาตรการ “คิวอี” เตือนดูแลเม็ดเงินไหลเข้า-ค่าเงินบาท

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดที่ประชุม “เฟด” คงมาตรการ “คิวอี” จากความไม่แน่นอนการคลัง แนะภาครัฐควรติดตามใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เสถียรภาพของเงินบาท รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะถือเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อทิศทางนโยบายการเงินที่มีผลต่อระบบในวงกว้าง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนอย่างต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2556 นี้ แม้ว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงใกล้สิ้นสุดมาตรการ QE ครั้งที่ 2 แต่ความไม่แน่นอนด้านการคลังที่ยังคงรออยู่ข้างหน้า อาจมีน้ำหนักสนับสนุนให้เฟดรอดูพัฒนาการเศรษฐกิจต่ออีกระยะก่อนเปลี่ยนแปลงขนาดการซื้อสินทรัพย์

ขณะที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า คงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เฟดจะพิจารณาสำหรับจังหวะในการปรับเปลี่ยนขนาดการซื้อพันธบัตร เพื่อสร้างสมดุลของเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ การตัดสินใจปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรของเฟดไม่ได้หมายความว่าเฟดจะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในภาพรวม

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแม้ว่าเฟดจะตัดสินใจคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ในการประชุมรอบนี้ แต่ทางการไทยคงจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดจนเศรษฐกิจหลักอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินโอกาสของการปรับท่าทีและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ดังกล่าว พร้อมวางแนวทางรับมือในระยะข้างหน้า เนื่องจากจะมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เสถียรภาพของเงินบาท รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง นอกเหนือไปจากอีกปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อทิศทางนโยบายการเงินไทยไม่น้อยไปกว่ากัน คือ แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยว่า จะอ่อนตัวลงมากกว่าคาดหรือไม่ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่น่ากังวล

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

ลอยตัวราคาน้ำตาลส่อเลื่อนใช้ปี'57 รัฐดันนาข้าวปลูกอ้อยสู่160ล้านตัน

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ประเสริฐ" รับลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหากไม่ทันฤดูหีบนี้ก็ต้องกำหนดกติกาไว้ใช้ปี 2557 โดยจะขอฟังเหตุผลก่อน จับตานโยบายรัฐดันพื้นที่ปลูกข้าว 6 ล้านไร่ ปลูกอ้อยแทนผลผลิตน้ำตาลอนาคตพุ่งเป็น 160 ล้านตัน ขณะที่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยจัดทัพบริหารใหม่หลัง "กำธร" ลาออกตั้ง "วิจิตร คำธา" ขึ้นแทนเร่งสางปัญหา

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าเร็วๆ นี้จะหารือร่วมกับผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางกรอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลว่าจะสามารถนำมาปฏิบัติได้ทันในฤดูกาลผลิตปี2556/57 ที่จะเปิดหีบในช่วงพ.ย.นี้หรือไม่โดยจะขอฟังเหตุผลทุกฝ่ายหากไม่ทันก็ต้องวางกติกาและกำหนดกรอบไว้ว่าจะต้องปฏิบัติในฤดูหีบถัดไป

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่และมีมติแต่งตั้งให้นายวิจิตร คำธานายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.เพชรบูรณ์ขึ้นเป็นประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยแทนนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้เนื่อง

จากเหตุผลส่วนตัว พร้อมกับตั้งให้นายปรเมศร์ โพธารากุล เป็นเลขาธิการสหพันธ์ฯ

ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญของกรรมการชุดใหม่จากนี้จะหารือร่วมกับ 3 สมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายเพื่อร่วมวางกรอบดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะการลอยตัวราคาน้ำตาลตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ในทางปฏิบัติทั้งชาวไร่และโรงงานเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันในฤดูกาลนี้แน่นอน โดยจะเสนอการวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ร่วมกันแล้วกำหนดใช้ในฤดูกาลผลิตปี 2557/58 พร้อมกับจะหารือถึงแนวทางการขอรับความช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดู55/56 ที่ชาวไร่บางส่วนต้องการให้เพิ่มอีก90 บาทต่อตัน

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาลกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรโดยกำหนดปรับพื้นที่ปลูกข้าว 6 ล้านไร่ มาปลูกอ้อยโดย ครม. สัญจรเมื่อเร็วๆ นี้ผลักดันให้ จ.กำแพงเพชรนำร่องก่อนเพราะมีโรงงาน 3 แห่ง ซึ่งชาวไร่และโรงงานมองไปที่ภาคอีสานต่อไปเพราะมีโรงงานน้ำตาลมากถึง 19 แห่งจากทั่วประเทศ 51 แห่ง ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกอ้อยใหม่ 6 ล้านไร่ดังกล่าว

คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย1ไร่ต่อ 10 ตัน หรือเท่ากับว่าจะมีอ้อยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 60 ล้านตัน จากปัจจุบันผลผลิตอ้อยของประเทศไทยมีจำนวนปีละ 100 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกรวม9 ล้านไร่ ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยจะมีผลผลิตอ้อยปีละ 160 ล้านตัน เพียงพอกับความต้องการของโรงงานน้ำตาล51 แห่ง ที่มีความต้องการอ้อยเข้าหีบปีละ 150 ล้านตัน เพื่อลดปัญหาการแย่งอ้อยระหว่างโรงงาน

จากhttp://www.manager.co.th  วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

น้ำตาลทราย-นมสดขอขึ้นราคา พณ.สังตรึงต่อถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อติดตามภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ยังเคลื่อนไหวในภาวะปกติ แต่ประชาชนก็ยังกังวลปัญหาค่าครองชีพสูง ที่ประชุมจึงให้ดูแลราคาสินค้าและเพิ่มความเข็มงวดในการดูแลราคาสินค้าและเพิ่มความเข็มงวดในการดูแลโครงสร้างระบบราคาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้สมดุล ขอความร่วมมือผู้ผลิตต่อมาตรการตรึงราคาสินค้าถึงเดือนธันวาคม 2556 หากเห็นว่าสินค้ารายใดมีความเคลื่อนไหวมากผิดปกติ ให้นำมาเสนอเป็นรายการสินค้าควบคุม เพื่อให้มาตรการทางกฎหมายดูแลต่อไป

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายบรรจุถุง ซีอิ้ว และนมสดพร้อมดื่ม ยื่นขอปรัลราคาอ้างต้นทุนวัตถุดิบค่าแรง และค่าขนส่งสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้อนุมัติให้ปรับราคา นอกจากนื้ที่ประชุมยังมีมติห้ามมิให้มีการขนย้ายข้าวสารบรรจุกระสอบตั้งแต่ 100 กก. ขึ้นไปข้ามจังหวัดก่อนได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลใหม่ของรัฐบาล

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าในที่ประชุม กกร.ได้มีการประเมินสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบรโภคในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 พบว่าสินค้าที่มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นคือ อาหารปรุงสำเร็จ ซี่อิ้ว เครื่องแบบนักเรียน น้ำตาลทราย 1 กก. นมสด และก๊าซหุงต้ม ที่กระทรวงพลังงานจะปรับขึ้นราคาใน 1 กันยายนน้

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า ที่ตลาดสดท่าน้ำนนท์ และตรวจเยี่ยมร้านอาหารธงฟ้า ย่านอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี พบว่าราคาวัตถุดิบไม่ได้มีการปรับขึ้นทั้งราคาไข่ไก่ น้ำมันพืช และเนื้อไก่ ยังอยู่ในระดับปกติ มีเพียงเนื้อหมูแดงที่อาจมีราคาขยับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาอาหารในร้านข้าวแกงก็ยังคงอยู่ในระดับปกติ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

‘อียู ’ เจรจาเอฟทีเออาเซียนเร่งทำข้อตกลงการค้า-ลงทุน

‘อียู ’ ขยายการค้า-ลงทุน ลุยทำข้อตกลงทั้งรูปแบบความร่วมมือและเอฟทีเอ กับสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น แคนาดาและอาเซียน ขณะที่เอฟทีเอไทย-อียู เริ่มเจรจารอบ 2 ก.ย.นี้

นางพีรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้ความสำคัญกับการเจรจาเพื่อขยายความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุนกับประเทศต่างๆ หลายประเทศ ทั้งในรูปแบบของความร่วมมือทางการค้า และการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มีเป้าหมายคือ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น แคนาคา และอาเซียนเพราะอียูมองว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนได้

ล่าสุดอียูได้เจรจากับจีน เพื่อผลักดันความตกลงทวิภาคีด้านการค้าและการลงทุน ทั้ง 2 ฝ่ายมุ่งที่จะหาทางลดมาตรการกีกันทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยอียูต้องการให้จีนเปิดตลาดภาคการเงินและโทรคมนาคม ส่วนสหรัฐอียูเห็นชอบการเจรจา Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) แล้วการเจรจาเน้น 3 เรื่องหลัก คือ การเปิดตลาดการลดกฎระเบียบและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี และการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าประเด็นใหม่ที่เป็นสากล เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าสรุปการเจรจาภายในสิ้นปี 2557

สำหรับญี่ปุ่นปัจจุบันเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของอียู รองจากจีน ได้เริ่มเจรจาเอฟทีเอตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารอบ 2 เช่น ความร่วมมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสหภาพภูมิอากาศ การแลกเปลี่ยนและพัฒนาเทคโนโลยี และการต่อต้านการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้อียูยังได้เจรจากรอบ EU- Canada Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) ทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าเจรจาให้จบภายในปี 2556

นอกจากนี้ อียูยังได้ให้ความสำคัญกับการเจรจากับอาเซียน เพราะเห็นว่าเป็นทั้งคู่ค้าและแหล่งลงทุน ปัจจุบันอียูอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับอาเซียนรายประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย โดยเจรจากับสิงค์โปร์เสร็จแล้วเน้นการเปิดตลาดสินค้าและบริการ เช่นการเงินการธนาคาร และประกันภัย ส่วนไทยได้เจรจารอบแรกไปแล้ว และมีกำหนดเจรจารอบ 2 ในเดือนก.ย.นี้

“ไทยจำเป็นต้องเจราจาเอฟทีเอกับอียู ขณะนี้อาเซียนอื่นได้เจรจาไปแล้ว การมีเอฟทีเอทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการาลงทุน ช่วยดึงดูดทำนของอียูมาไทย เช่น ยานยนต์ อีเล็กทรอนิกส์ และบริการ รวมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ไทยตั้งแต่ 1 ม.ค.2558 ได้ เพราะสินค้าที่เคยได้จีเอสพีจะถูกนำไปลดภาษีภายใต้เอฟทีเอแทน ” นางพีรมล กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

ยื้อลอยตัวน้ำตาล ส่อไม่ทันฤดูการผลิตปีนี้

รมว.อุตสาหกรรม นัดถก สอน.วางกรอบก่อน “ลอยตัว” ราคาน้ำตาลทราย ยอมรับหากไม่ทันใช้ฤดูการผลิตนี้ก็ต้องวางกติกาไว้ก่อนไปใช้ในฤดูกาลหน้า ขณะที่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ตั้ง “วิจิตร คำธา” ขึ้นเป็นประธานคนใหม่ พร้อมเร่งแก้ปัญหาราคาอ้อย 2555/56 โดยขอเพิ่มอีก 90 บาทต่อตัน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ จะหารือร่วมกับผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางกรอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลว่าจะสามารถนำมาปฏิบัติได้ทันในฤดูการผลิตปี 2556/57 ที่จะเปิดหีบในช่วงพ.ย.นี้หรือไม่

“ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เองก็อยากให้ทันฤดูหีบนี้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม พยายามเร่งอยู่แต่ก็จะต้องฟังเหตุผลของชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทรายก่อนแต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะเป็นการวางหลักเกณฑ์ไว้เพื่อกำหนดให้ชัดเจนเลยแล้วอาจไปใช้ฤดูผลิตปีหน้าแทนซึ่งทั้งหมดจะต้องหารือกันอีกครั้ง”นายประเสริฐ กล่าว

ด้าน นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่และมีมติแต่งตั้งให้นายวิจิตร คำธา นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นเป็นประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย แทนนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้เนื่องจากเหตุผลส่วนตัว พร้อมกับตั้งให้นายปรเมศร์ โพธารากุล เป็นเลขาธิการสหพันธ์

ทั้งนี้ภารกิจสำคัญของกรรมการชุดใหม่จากนี้จะหารือร่วมกับ 3 สมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อ ร่วมวางกรอบดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะการลอยตัวราคาน้ำตาลตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ในทางปฏิบัติทั้งชาวไร่และโรงงานเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันในฤดูกาลนี้แน่นอน โดยจะเสนอการวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ร่วมกันแล้วกำหนดใช้ในฤดูการผลิตปี 2557/58

นอกจากนี้ยังจะหารือถึงกรณีที่มีชาวไร่บางส่วนต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/56 ที่ผ่านมาซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดราคาอ้อยไว้ที่ 950 บาทต่อตันและให้ช่วยเหลือราคาเพิ่มโดยการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) อีก 160 บาทต่อตัน แต่ชาวไร่อ้อยระบุว่ารัฐได้รับปากที่จะช่วยเหลือส่วนเพิ่มราคาอีก 250 บาทต่อตัน จึงมีชาวไร่อีกส่วนได้ร้องขอไปยังหน่วยงานรัฐให้เพิ่มส่วนที่เหลืออีก 90 บาทต่อตัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อาเซียนกดดันไทย ปรับใช้คลื่น 700 MHz

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ 4 ประเทศในอาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ อินโดนีเซีย ได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้น เพื่อร่วมกันกดดันให้ กสทช.ของไทยปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม จากเดิมที่แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กำหนดให้คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใช้ในกิจการโทรทัศน์

ทั้งนี้ เพราะการประสานงานเรื่องคลื่นความถี่ระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งสำหรับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ถือเป็น 2 ประเทศหลักที่ประเทศอื่นๆ ต้องอิงการใช้คลื่นความถี่ตาม และปัจจุบันมาเลเซียได้เปลี่ยนการใช้งานคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จากกิจการโทรทัศน์ไปเป็นโทรคมนาคม และขอความร่วมมือจากอีก 3 ประเทศให้ใช้ย่านเดียวกัน ส่งผลให้ประเทศไทยกำลังเกิดปัญหา

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท) กล่าวว่า กสท ไม่ปฏิเสธการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ตรงกับประเทศอื่น แต่ยืนยันว่าหากต้องการนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม จะต้องจัดสรรคลื่นความถี่ของกิจการโทรทัศน์ให้เริ่มต้นตั้งแต่ 470 เมกะเฮิรตซ์ เหมือนประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะคลื่นที่ถูกจัดสรรให้ใช้ในกิจการโทรทัศน์ของไทยขณะนี้อยู่ในย่าน 510-790 เมกะเฮิรตซ์

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของบอร์ด กสท ที่ต้องจัดสรรคลื่นในกิจการโทรทัศน์ให้เริ่มต้นที่ 470 เมกะเฮิรตซ์ หากต้องการนำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งทางบอร์ด กสทช. ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อศึกษาแนวทางการปรับปรุงแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ฉบับใหม่ และมั่นใจว่าเรื่องนี้จะจบลงได้ด้วยดี

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

ชาวไร่ดี๊ด๊ารัฐจัดพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายว่า บรรดาแกนนำชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงานน้ำตาล เห็นด้วยกับแผนการปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร หรือการจัดโซนนิ่งพืชเกษตรของรัฐบาล ที่ได้กำหนดให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าว 61 จังหวัด ที่มีพื้นที่รวม 6 ล้านไร่ ให้นำพื้นที่ดังกล่าวมาปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าว เพราะมีแนวโน้มว่าในอนาคตราคาอ้อยจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการลดพื้นที่ปลูกข้าว ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ เพราะอ้อยเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำในการเติบโตเหมือนกับการปลูกข้าว และอ้อยเป็นพืชเกษตรที่มีตลาดรับซื้อคือโรงงานน้ำตาลในปริมาณที่สม่ำเสมอ จะไม่เกิดการล้นตลาดหรือต้องเข้าโครงการรับจำนำแต่อย่างใด

ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอให้จังหวัดกำแพงเพชร พื้นที่นำร่องในการโซนนิ่งพืชเกษตรดังกล่าว เป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรกของประเทศไทย เพราะกำแพงเพชรมีโรงงานน้ำตาล 3 แห่ง และในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรเมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้เห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว โดยในเร็วๆ นี้ ผู้แทนชาวไร่และโรงงานน้ำตาลจะประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาข้อสรุปว่า หากต้องการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกอ้อย ต้องมีแรงจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อย ด้วยการช่วยเหลือด้านพันธุ์อ้อย การให้ปุ๋ยฟรี รวมถึงการมีวงเงินสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่งจากงบประมาณของรัฐบาล ว่าต้องมีการจ่ายเงินดังกล่าวให้ไร่ละเท่าไรต่อราย นอกเหนือจากค่าเกี๊ยวที่โรงงานให้กับชาวไร่อยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ชาวไร่อ้อยและโรงงานเห็นว่า หากแผนการนำร่องดังกล่าวประสบความสำเร็จ ก็ต้องเร่งขยายพื้นที่ปลูกอ้อยไปยังภาคอีสานเป็นพื้นที่ต่อไป เพราะขณะนี้ภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาล 19 แห่ง จากจำนวนโรงงานทั่วประเทศ 51 แห่ง ทั้งนี้พื้นที่ปลูกอ้อยใหม่ 6 ล้านไร่ดังกล่าว คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 1 ไร่ต่อ 10 ตัน หรือเท่ากับว่าจะมีอ้อยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 60 ล้านตัน จากปัจจุบันผลผลิตอ้อยของประเทศไทยมีจำนวนปีละ 100 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกรวม 9 ล้านไร่ ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยจะมีผลผลิตอ้อยปีละ 160 ล้านตัน เพียงพอกับความต้องการของโรงงานน้ำตาล 51 แห่ง ที่มีความต้องการอ้อยเข้าหีบปีละ 150 ล้านตัน เพื่อลดปัญหาการแย่งอ้อยระหว่างโรงงาน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังพบว่า ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ในเอเชีย โดยมีลูกค้ารายใหญ่ อาทิ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยส่งออกน้ำตาล 70 ล้านกระสอบ บริโภคในประเทศ 26 ล้านกระสอบ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

พด.แนะทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ใช้เองลดต้นทุนการผลิต

ดร.พิทยากร ลิ่มทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่ดูแลเรื่องดินเป็นหลัก จึงได้คิดค้นสูตรปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงขึ้น เพื่อที่จะให้เกษตรกรนำเอาสูตรไปใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงเป็นปุ๋ยที่ได้จากการหมักวัสดุธรรมชาติ ที่มีปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชสูง ซึ่งเกิดจากจุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์และแปรสภาพธาตุอาหารให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช โดยสำหรับขั้นตอนการผลิตจะเหมือนกับการทำปุ๋ยหมักแต่จะพิถีพิถันมากขึ้น เกษตรกรต้องสำรวจก่อนว่า ในพื้นที่มีวัสดุอะไรบ้าง จากนั้นหาอัตราส่วนที่เหมาะสม สำหรับสูตรที่ทางกรมพัฒนาที่ดินได้กำหนดไว้ สำหรับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง 100 กก. จะมีกากถั่วเหลือง 40 กก. รำละเอียด 10 กก. มูลสัตว์ 10 กก. หินฟอสเฟต 24 กก. กระดูกป่น 8 กก. มูลค้างคาว 8 กก. นำส่วนผสมหมักไว้ประมาณ 9-12 วัน จากนั้นใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 พด.3 และสารเร่ง พด.9 อย่างละ 1 ซอง สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาล จำนวน 26 ลิตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักต่ออีก 3 วัน จะได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง มีธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม

ดร.พิทยากร กล่าวอีกว่า เราคาดหวังว่าในอนาคตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจะสามารถทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ เพราะจากผลการทดลองได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านแหลมดิน หมู่ 5 ต.สวนแตง อ.ละแม จ.ชุมพร ได้นำสูตรปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงไปพัฒนาต่อยอด โดยใช้กับพืชประเภทต่าง ๆ เช่น ยางพารา ปาล์ม ทุเรียน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่วนเรื่องความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจะมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าการซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้ เมื่อเทียบในอัตราข้างต้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น เป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ดินก็ได้รับการปรับปรุงเพราะมีการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินด้วย โดยปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมีคุณสมบัติเด่นคือ เป็นแหล่งธาตุอาหารหลักที่มีความเพียงพอต่อความต้องการของพืชในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต เป็นแหล่งธาตุอาหารรองและจุลธาตุแก่พืช มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืช การปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชแบบช้า ๆ ทำให้ลดการสูญเสียธาตุอาหาร จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกษตรกรนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี อีกทั้งยังสามารถผลิตใช้เองได้ง่ายด้วย สำหรับเกษตรกรที่สนใจการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สำนักเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 0-2579-2875 หรือคอลเซ็นเตอร์ 1760 และ www.ldd.go.th

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

ลอยตัวน้ำตาลส่อปีหน้าจับตารัฐดันปลูกอ้อย160ล้านตัน

“ประเสริฐ”รับลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหากไม่ทันฤดูหีบนี้ก็ต้องกำหนดกติกาไว้ใช้ปี 2557 โดยจะขอฟังเหตุผลก่อน จับตานโยบายรัฐดันพื้นที่ปลูกข้าว 6 ล้านไร่ปลูกอ้อยแทนผลผลิตน้ำตาลอนาคตพุ่งเป็น 160 ล้านตัน ขณะที่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยจัดทัพบริหารใหม่หลัง”กำธร”ลาออกตั้ง”วิจิตร คำธา”ขึ้นแทนเร่งสางปัญหา

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้จะหารือร่วมกับผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางกรอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลว่าจะสามารถนำมาปฏิบัตได้ทันในฤดูการผลิตปี 2556/57 ที่จะเปิดหีบในช่วงพ.ย.นี้หรือไม่โดยจะขอฟังเหตุผลทุกฝ่ายหากไม่ทันก็ต้องวางกติกาและกำหนดกรอบไว้ว่าจะต้องปฏิบัติในฤดูหีบถัดไป

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้สหพันธ์ชาวไร่อ้อยได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่และมีมติแต่งตั้งให้นายวิจิตร คำธา นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นเป็นประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยแทนนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้เนื่องจากเหตุผลส่วนตัว พร้อมกับตั้งให้นายปรเมศร์ โพธารากุล เป็นเลขาธิการสหพันธ์ฯ

ทั้งนี้ภารกิจสำคัญของกรรมการชุดใหม่จากนี้จะหารือร่วมกับ 3 สมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายเพื่อ ร่วมวางกรอบดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะการลอยตัวราคาน้ำตาลตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ในทางปฏิบัติทั้งชาวไร่และโรงงานเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันในฤดูการนี้แน่นอน โดยจะเสนอการวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ร่วมกันแล้วกำหนดใช้ในฤดูการผลิตปี 2557/58 พร้อมกับจะหารือถึงแนวทางการขอรับความช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดู 55/56 ที่ชาวไร่บางส่วนต้องการให้เพิ่มอีก 90 บาทต่อตัน

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาลกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรโดยกำหนดปรับพื้นที่ปลูกข้าว 6 ล้านไร่มาปลูกอ้อยโดยครม.สัญจรเมื่อเร็วๆ นี้ผลักดันให้จ.กำแพงเพชรนำร่องก่อนเพราะมีโรงงาน 3 แห่ง ซึ่งชาวไร่และโรงงานมองไปที่ภาคอีสานต่อไปเพราะมีโรงงานน้ำตาลมากถึง 19 แห่งจากทั่วประเทศ 51 แห่ง ทั้งนี้พื้นที่ปลูกอ้อยใหม่ 6 ล้านไร่ดังกล่าว คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย1ไร่ต่อ 10 ตัน หรือเท่ากับว่าจะมีอ้อยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 60 ล้านตัน จากปัจจุบันผลผลิตอ้อยของประเทศไทยมีจำนวนปีละ 100 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกรวม 9 ล้านไร่ ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยจะมีผลผลิตอ้อยปีละ 160 ล้านตัน เพียงพอกับความต้องการของโรงงานน้ำตาล51แห่ง ที่มีความต้องการอ้อยเข้าหีบปีละ150 ล้านตันเพื่อลดปัญหาการแย่งอ้อยระหว่างโรงงาน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 28 กรกฎาคม 2556

'เคเอสแอล'ชะลอซื้อธุรกิจเครื่องดื่ม 3 พันล.

"เคเอสแอล" ชะลอซื้อกิจการเครื่องดื่มมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ที่หวังต่อยอดธุรกิจน้ำตาล แจงเหตุช่วงนี้ตลาดเครื่องดื่มฮิต หนุนราคาสูงลิ่วไม่จูงใจ ยันไม่ล้มโครงการ พร้อมลุยธุรกิจเอทานอลเต็มสูบ หลังความต้องการใช้แก๊สโซฮอล์พุ่ง เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการกลับมาผลิตเอทานอลได้เต็มกำลังการผลิต

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคเอสแอล เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่บริษัทได้มีแผนที่จะเข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มจากผู้ประกอบการ 2 ราย ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้น้ำตาลในช่วงปีที่ผ่านมา ในวงเงินประมาณ 3-4 พันล้านบาท เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายแล้ว และยังต่อยอดธุรกิจสร้างรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มขึ้นนั้น ล่าสุดจากการเจรจาที่ผ่านมาทำให้ได้ข้อสรุปว่า บริษัทต้องชะลอการซื้อกิจการโรงงานเครื่องดื่มออกไปก่อน เนื่องจากราคาในช่วงนี้สูงเกินไป จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาทและจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งปัจจุบันอัตราส่วนกำไรต่อราคา หรือพี/อี ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 25 เท่า จากปกติอยู่ที่กว่า 10 เท่า เทียบกับพี/อีของบริษัทที่ 9-10 เท่า เนื่องจากเป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาด

ดังนั้นการพิจารณาซื้อโรงงานเครื่องดื่มเพื่อต่อยอดธุรกิจน้ำตาลในครั้งนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนซื้อในช่วงราคาแพง ซึ่งบริษัทจะรอโอกาสและราคาที่เหมาะสมต่อไป โดยยืนยันว่าไม่ได้ล้มโครงการ เพราะยังมองว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและเกี่ยวเนื่องกับบริษัท

ส่วนภาพรวมการดำเนินงานปีนี้ คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน แม้ว่าจะมีรายได้จากการขายเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 35% ของรายได้ทั้งหมด แต่ในปีนี้รายได้จากธุรกิจน้ำตาลลดลงจากปีก่อน เนื่องจากราคาขายน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 22 เซ็นต์ต่อปอนด์ เทียบกับปี 2555 เฉลี่ยอยู่ที่ 25-27 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพราะปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น คาดว่ารายได้ปีนี้จะอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2555 ที่มีรายได้ 2.27 หมื่นล้านบาท

สำหรับธุรกิจเอทานอลในปีนี้ เติบโตอย่างมาก จากความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน เป็นกว่า 2.5 ล้านลิตรต่อวันในปัจจุบัน ส่งผลให้โรงงานเอทานอลเกือบทั้งหมดเดินเครื่องผลิตเต็มที่ โดยโรงงานเอทานอลของบริษัทผลิตอยู่ที่ 3.5 แสนลิตรต่อวัน หรือประมาณ 100 ล้านลิตรต่อปี สาเหตุมาจากกระทรวงพลังงานมีความจริงจังในการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์และยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 รวมทั้งราคาแก๊สโซฮอล์อี 20 และอี 85 ก็มีราคาถูก เป็นแรงจูงใจประชาชนให้หันมาเติมแก๊สโซฮอล์มากขึ้น ดังนั้นคาดว่าในปีหน้าความต้องการเอทานอลมีโอกาสแตะ 3 ล้านลิตรต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อยากให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมแก๊สโซฮอล์อี 85 มากนัก เพราะอาจส่งผลให้กำลังการผลิตเอทานอลไม่เพียงพอ โดยช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนส่งออกเอทานอล เพราะติดสัญญาซื้อขายเดิม แต่คาดว่าในปีหน้าจะไม่มีการส่งออกเอทานอล เพราะต้องป้อนตลาดในประเทศให้เพียงพอ ขณะเดียวกันราคาเอทานอลในประเทศก็มีราคาสูง ซึ่งเอทานอลจากกากน้ำตาล หรือโมลาสอยู่ที่ 24-25 บาทต่อลิตร ส่วนราคาเอทานอลจากมันสำปะหลังจะแพงกว่า 10% หรืออยู่ที่ประมาณ 27-28 บาทต่อลิตร ดังนั้น ผู้ค้าน้ำมันจึงเลือกซื้อเอทานอลจากโมลาสที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งในช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เอทานอลจากมันสำปะหลังแม้ว่าจะมีราคาแพงแต่ยังสามารถแข่งขันได้ จึงนับเป็นโอกาสของโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังที่จะผลิตเอทานอลป้อนตลาดมากขึ้น เพราะปัจจุบันโรงงานเอทานอลจากโมลาสเกือบทุกแห่งเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตแล้ว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 28 กรกฎาคม 2556

ถกวางกรอบลอยตัวราคาน้ำตาล

“ประเสริฐ” เร่งถกวางกรอบลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ยอมรับหากไม่ทันใช้ฤดูการผลิตนี้ก็ต้องวางกติกาไว้ก่อน ขณะที่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยฯจัดทัพกรรมการบริหารใหม่หลัง”กำธร”ลาออก ตั้ง “วิจิตร คำธา”ขึ้นเป็นประธาน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เตรียมหารือผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางกรอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลว่าจะสามารถนำมาปฏิบัตได้ทันในฤดูการผลิตปี 56/57 ที่จะเปิดหีบในช่วงพ.ย.นี้หรือไม่

“ตามมติคณะรัฐมนตรีเองก็อยากให้ทันฤดูหีบนี้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามเร่งอยู่แต่ก็จะต้องฟังเหตุผลของชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทรายก่อนแต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะเป็นการวางหลักเกณฑ์ไว้เพื่อกำหนดให้ชัดเจนเลยแล้วอาจไปใช้ฤดูผลิตปีหน้าแทนซึ่งทั้งหมดจะต้องหารือกันอีกครั้ง”

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้สหพันธ์ชาวไร่อ้อยได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่และมีมติแต่งตั้งให้นายวิจิตร คำธา นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นเป็นประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยแทนนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้เนื่องจากเหตุผลส่วนตัว พร้อมกับตั้งให้นายปรเมศร์ โพธารากุล เป็นเลขาธิการสหพันธ์ฯ

ทั้งนี้ภารกิจสำคัญของกรรมการชุดใหม่จากนี้จะหารือร่วมกับ 3 สมาคมชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายเพื่อ ร่วมวางกรอบดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะการลอยตัวราคาน้ำตาลตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ในทางปฏิบัติทั้งชาวไร่และโรงงานเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันในฤดูการนี้แน่นอน โดยจะเสนอการวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ร่วมกันแล้วกำหนดใช้ในฤดูการผลิตปี 2557/58

นอกจากนี้ยังจะหารือถึงกรณีที่มีชาวไร่บางส่วนต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 55/56 ที่ผ่านมาซึ่งมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) กำหนดราคาอ้อยไว้ที่ 950 บาทต่อตันและให้ช่วยเหลือราคาเพิ่มโดยการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) อีก 160 บาทต่อตันแต่ชาวไร่อ้อยระบุว่ารัฐได้รับปากที่จะช่วยเหลือส่วนเพิ่มราคาอีก 250 บาทต่อตันจึงมีชาวไร่อีกส่วนได้ร้องขอไปยังหน่วยงานรัฐให้เพิ่มส่วนที่เหลืออีก 90 บาทต่อตัน

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อยกล่าวว่า ระหว่างที่นายกำธรได้ลาออกนั้นสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือลงชื่อโดยนายมนตรี คำพล เป็นประธานสหพันธ์มายังสอน.เพื่อทวงถึงเงินค่าอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 55/56 ที่ชาวไร่ต้องการเพิ่มอีก 90 บาทต่อตันซึ่งกรณีดังกล่าวชาวไร่อีกกลุ่มไม่เห็นด้วยทำให้ต้องมีการเคลียร์ปัญหากันภายในโดยเฉพาะตำแหน่งประธานสหพันธ์ที่จะต้องยอมรับจากการเลือกตั้งใหม่

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 กรกฎาคม 2556

ม.ขอนแก่นเผยผลทดลอง ดึงไนโตรเจนในอากาศ ช่วย“อ้อย”เจริญเติบโต

ผศ.ดร.สุวรรณา เนียมสนิท ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาสาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง เชื้อแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนประสิทธิภาพสูงกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตของอ้อย เปิดเผยถึงผลการวิจัยว่า เป็นที่ทราบว่าแบคทีเรียตรึงไนโตรเจน(nitrogen fixing bacteria,NBF)สามารถตรึงไนโตรเจนแล้วเปลี่ยนเป็นแอมโนเนียซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ เชื้อ ไรโบโซม ที่พบในตระกูลถั่ว ในระยะหลังพบเชื้อ NFB ที่มีความสัมพันธ์กับพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อยโดยตรวจพบในดินและต้น หรือรากของพืชโดยไม่ทำอั้นตรายใดๆ ต่อพืชนั้น และสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ เรียกว่า plant growth promoting bacteria ,PGPB

ผศ.ดร.สุวรรณา กล่าวต่อว่า จากนั้นได้ทำการทดลองคัดแยกเชื้อ NFB ทดสอบคุณสมบัติ PGPB และได้สร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช การช่วยละลายฟอสเฟตในดินให้เป็นฟอสฟอรัสให้พืชสามารภนำไปใช้ได้ เรียกว่า phosphate solubilizing bacteria,PSB แล้วนำมาทดลองในการปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น-3 เปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ย NPK ตามปกติจากการทดลองดังกล่าวพบว่าภายหลังจากการปลูกอ้อย 4 เดือน อ้อยที่ปลูกและใส่ NFB สามารถช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกอ้อยที่ไม่ใส่ NFB

นายกิตติพิชญ์ อึงสถิตถาวร เจ้าของไร่พูลสวัสดิ์ถาวร อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ได้ร่วมโครงการและทดลองปลูกอ้อยโดยใส่ NFB จำนวน 4 ไร่ กล่าวว่า จากการทดลองปลูกดังกล่าวเปรียบเทียบกับที่ปลูกตามปกติ พบว่าอ้อยที่ทดลองมีการแตกกอมากกว่า ลำต้นสูงกว่า และ เจริญเติบโตมากกว่าการปลูกอ้อยปกติประมาณ 25% -35% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราเพียงแค่เริ่มทดลองต้องรอให้มีการตัดอ้อยเพื่อเทียบน้ำหนักและผลผลิตต่อไร่ในช่วงเก็บเกี่ยวก่อนถึงจะทราบได้ว่า การทดลองสามารถทำน้ำหนักเพิ่มได้มากน้อยขนาดไหน แต่เท่าที่ดูขณะนี้น่าจะช่วยลดต้นทุนในการปลูกได้และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ซึ่งต้องรอผลที่ชัดเจนอีกครั้ง หากผลดีตามเป้าหมายก็ควรสนับสนุนให้เกษตรกรนำมาใช้ เพราะจะช่วยชาวไร่อ้อยได้มากทีเดียว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลุ้นแจ้งเกิด5เขตศก.พิเศษหนุนค้าชายแดน

นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจากประเทศจีน โดยเฉพาะกลุ่มแปรรูปอาหารและเสื้อผ้า ได้ว่าจ้างให้บริษัทศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนใน จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นจุดตัดสำคัญของสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ที่รัฐบาลไทยเตรียมลงทุน ซึ่งความสนใจของนักลงทุนกลุ่มนี้อยู่ที่ตัวสถานี รวมถึงธุรกิจประเภทใดที่จะมีศักยภาพในการลงทุนในจ.พิษณุโลก และหากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมีความชัดเจน นักลงทุนจีนหวังจะใช้เป็นเส้นทางในการ ส่งออกสินค้าไปยังแถบภูมิภาคอาเซียน

ส่วน 5 พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิด ประกอบด้วย แม่สอด เชียงของ มุกดาหาร สระแก้ว และอ.สะเดา จ.สงขลา จะส่งผลให้การค้าระหว่างชายแดนคึกคักมากขึ้น และมีผลให้ภาคอสังหา ริมทรัพย์ในพื้นที่ดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการลงสำรวจข้อมูลของบริษัท พบว่า ผู้นำท้องถิ่นทั้ง 5 พื้นที่ รวมถึงรัฐบาล ต่างพยายามผลักดันให้เกิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การค้าชายแดนมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกยังเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก แตกต่างจากค้าขายชายแดนที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะเร่งให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 26 กรกฎาคม 2556

ชงแผนเชื่อมค้าเสรีผุด9นโยบายหนุนผู้ประกอบการใช้ประโยชน์การค้าเออีซี-เอฟทีเอ.

กระทรวงอุตสาหกรรมชู9 นโยบายหนุนผู้ประกอบการใช้เออีซีเป็นไม้ต่อเชื่อมอาเซียนบวก3 บวก 6
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องทิศทางอุตสาหกรรมไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าให้ไทยใช้ประโยชน์จากการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มากที่สุด กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนด 9 นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเชื่อมโยงภายในกลุ่มสมาชิกอาเซียน รวมทั้งยังเป็นไม้ต่อไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 3 และ6 ได้อีกด้วย

สำหรับนโยบายข้อแรก คือ การยกระดับเครือข่ายฐานการผลิต การบริการและการตลาด โดยใช้โอกาสจากการเปิดเออีซีเป็นพันธมิตรสร้างศักยภาพการแข่งขันในภูมิภาค 2.ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้สะดวกในการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก เช่น การส่งเสริมให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมากขึ้น 3.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) 4.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าคุณภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ให้หลุดพ้นจากการรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม)

5.ยกระดับผู้ประกอบการให้สามารถไปแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ 6.สร้างโอกาสและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งอาเซียนจะเป็นโอกาสที่ดีต่อการลงทุนทั้งนำเข้าและส่งออกของไทย 7.อุตสาหกรรมในอนาคตจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับสังคมได้

8.ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนให้ทันสมัยมากขึ้น และ9.ส่งเสริมนักลงทุนไทยให้ไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ประเทศเป้าหมายได้แก่ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชาลาว มาเลเซีย จีน และอินเดีย

"ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวเอง โดยใช้การเชื่อมโยงกับภูมิภาคและประโยชน์จากการเปิดเออีซีให้มากขึ้น จาก

ปัจจุบันที่มีการใช้เพียงแค่ 50% เท่านั้นดังนั้นจึงหวังว่าการเปิดเออีซีจะเป็นโอกาสการค้าการลงทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย" นายประเสริฐ กล่าว

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

(สศอ.) กล่าวในเรื่องยุทธศาสตร์การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์หลังเปิดเออีซี ว่า การเปิดเออีซีน่าจะเป็นโอกาสดีของอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์สำหรับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากไทยมีศักยภาพเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาค

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ครม.ศก.ชุดเล็กเดินหน้าหนุนเกษตรกรปลูกอ้อยแทนข้าว-เร่งโซนนิ่ง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมเศรษฐกิจ กลุ่มย่อย ว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือเศรษฐกิจกลุ่มเล็กโดยเป็นการประชุมใน เรื่องเศรษกิจประเทศที่ประเทศไทยปรับสมดุลโดยจะพึ่งพาการส่งออกให้น้อยลงบ้าง และหันมาพึ่งพากำลังซื้อในประเทศ

โดยก้าวต่อไปเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ขอเรียนว่าก้าวต่อไปจะเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร จากผลผลิตที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น จากการเลือกปลูกพืชที่เหมาะกับพื้นที่ทางการเกษตร และเป็นพืชที่มีความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พืชพลังงานและพืชที่เป็นอาหารอาหาร เช่น อ้อย ซึ่งได้มีาหันมาปลูกอ้อยในนาดอน ก็จะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จะทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรดีขึ้น และหากทำคืบหน้าไปเรื่อยๆก็จะเป็นอุปสงค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกกิจโดยไม่ต้องอัดฉีดอะไร

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับความชัดเจนในเรื่องของโซนนิ่ง ทางกระทรวงเกษตรได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้พืชชนิดแรกก็คงเป็นอ้อย เพราะจะมีโรงงานน้ำตาล40 กว่าแห่งที่จะรองรับผลิตผล และมีการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้เป้าหมายในระยะยาวน่าจะไปถึง10ล้านไร่ ในหลายฤดูการผลิต ทั้งนี้อ้อยเราปลูกส่งตลาดโลกมากกว่าบริโภคเอง และในเอเซียการปลูกอ้อยน้อยกว่าความต้องการบริโภคในเอเซีย หากประเทศไทยปลุกเพิ่มจะสามารถตีตลาดในเอเซียได้แน่นอน อย่างไรก็ตามการปลูกอ้อยนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเกษตรกร แต่ถ้าเทียบระหว่างการทำนา คือนาดอนจะมีรายได้สุทธิเหลือไม่เกินหนึ่งพั่ แต่ถ้าเป็นการปลุกอ้อยอาจจะทำรายได้มากกว่าเจ็ดพันบาทต่อไร่

นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศที่จะเดินหน้าต่อไปจะเป็นเรื่องการลงทุนในภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณทีโปร่งใสและไม่ล่าช้าและมีประสิทธิภาพ และหากงบประมาณผ่านการพิจารณาของสภาฯก็สามารถดำเนินการได้เลยโดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระหว่างลงทุนและจะสามารถเติบก้าวกระโดดเมื่อลงทุนเสร็จแล้วเพราะประสิทธิภาพของระบบจะดีขึ้นมาก

จากhttp://www.thanonline.com  วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกษตรฯ จัดใหญ่“คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ” เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมฯ

การใช้เทคโนโลยีการเกษตรหรือนวัตกรรมที่เหมาะสม เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาการเกษตร ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างแรงจูงใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจการผลิตภาคการเกษตร โดยจำเป็นต้องมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตร ที่เป็นแหล่งบริการความรู้เฉพาะด้านกับเกษตรกรเป้าหมายที่จะต้องนำความรู้วิทยาการใหม่ และบริการทางวิชาการโดยอาศัยช่องทางต่างๆ ที่สามารถให้บริการตรงความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ การจัดตั้งคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้การบริการทางวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีบรรลุผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังเร็วขึ้น

ในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในปี 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอพระราชานุญาต จัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่กราบบังคมทูลถวาย และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และทรงพระราชทานพระราชานุญาต อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ โดยเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 ณ ต.บ้านหลวง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี และได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 28 กรกฎาคม 2556 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงรับโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ ไว้ในพระราชานุเคราะห์ จึงได้จัดงาน “โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ เพื่อเทิดพระเกียรติ ระดับประเทศ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และแสดงความจงรักภักดี โดยได้กำหนดการจัดงานพร้อมกันทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2556 และได้กำหนดจัดให้มีการเปิดโครงการฯ พร้อมกัน ในระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2556 ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจุดหลัก และคัดเลือกจังหวัดตัวแทนของแต่ละภาคอีก 3 จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธานี ตรัง และพิจิตร เป็นจุดเครือข่าย และจัดพิธีเปิดงานพร้อมกันในวันที่ 28 กรกฎาคม 2556

“การเปิดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้บริการความรู้และแก้ไขปัญหาแก่เกษตรกร โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตร สามารถเข้าถึงการบริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบวงจรในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ในการป้องกันกำจัดโรคระบาด และฝึกอาชีพทางการเกษตรที่เหมาะสม และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ เพื่อสร้างรายได้หรืออาชีพเสริมในช่วงฤดูฝน รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าคุณภาพของกลุ่มแม่บ้านสายใยรักแห่งครอบครัวฯ และวิสาหกิจชุมชนจากอำเภอต่างๆ ภายในจังหวัด ตลอดจนเป็นการสร้างภาพพจน์ และภาพลักษณ์ด้านวิชาการ และเทคโนโลยี รวมทั้งการประชาสัมพันธ์การให้บริการทางด้านวิชาการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์และสามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืนตลอดไป” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 กรกฎาคม 2556

อุตฯ แนะนักธุรกิจไทยใช้ประโยชน์ AEC เต็มพิกัด

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ก.อุตสาหกรรม หนุนเอกชนไทยใช้ประโยชน์จากเออีซี ซึ่งจะเป็นตลาดฐานการผลิตและการลงทุนร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือและเงินทุนอย่างเสรี

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงาน Thailand Industrial Property Market : The Effect from AEC ว่าปี 2558 ประเทศไทยและสมาชิกอีก 9 ประเทศจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐหกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะเป็นตลาดฐานการผลิตและการลงทุนร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือและเงินทุนอย่างเสรี

ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขยายออกไปสู่อาเซียนบวก 3 คือจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และขยายสู่อาเซียนบวก 6 ซึ่งเพิ่มอีก 3 ประเทศคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ตลอดจนความพร้อมสาธารณูปโภคอื่นๆ ไว้รองรับแล้ว ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของภาคเอกชนไทยที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เปิดขึ้น

นายประเสริฐกล่าวว่า รัฐบาลไทยจัดทำงบประมาณจำนวน 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น พัฒนาขนส่งระบบราง ทางหลวงสายพิเศษ ท่าอากาศยานและท่าเรือน้ำลึก ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการและให้มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จึงได้กำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปพร้อมๆ กันด้วย ได้แก่ มุ่งยกระดับเครือข่ายฐานการผลิต การบริการ และการตลาด โดยใช้ศักยภาพของประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันแก่ประเทศในภูมิภาค โดยไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง แต่เป็นพันธมิตรสร้างศักยภาพแข่งขัน

ทั้งนี้ยังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกขนถ่ายสินค้า ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ใช้งบเพิ่มขีดความสามรรถให้กับเอสเอ็มอีไทย เช่น มาตรการด้านการเงิน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน มาตรการด้านภาษี ส่งเสริมด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อก้าวพ้นผู้รับจ้างผลิต เดินหน้ายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในการแข่งขันเวทีโลก โดยยกระดับความรู้ทุกมิติ เช่น ยกระดับการผลิตสู่มาตรฐานสากล สร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในอนาคตต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกันได้กับประชาชนในพื้นที่อย่างมีความสุข กระทรวงอุตสาหกรรมยังสนับสนุนส่งเสริมนักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย จีน และอินเดีย

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าภาคเอกชนไทยยังใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ดังนั้น เอกชนไทยจึงยังมีช่องทางที่จะเพิ่มความได้เปรียบและประหยัดภาษีได้อีกมาก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมหวังว่าการเปลี่ยนแปลงของอาเซียนในปี 2558 จะเป็นโอกาสการลงทุนครั้งสำคัญ สร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงการพัฒนาให้ภูมิภาคเอเชียให้แข็งแกร่งในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมและมองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเป็นพันธมิตรสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

จีนหารือขอเปิดตลาดเครื่องจักรเกษตรกรมส่งเสริมฯจี้ปรับคุณภาพก่อนขาย

นายวิทยา อธิปอนันต์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สมาคมส่งเสริมการค้าอาเซียนได้ประสานความร่วมมือมายังกรมส่งเสริมการเกษตร ในการนำเจ้าหน้าที่จากกรมเครื่องจักรกลการเกษตร มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน 3 คน นำโดย Mr. Wang Feng Deputy Director of Jiangsu Agricutral Machinerry Administration Bureau มาเข้าเยี่ยมเพื่อขอนำเสนอประชา สัมพันธ์เครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตได้ และพร้อมส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย รวมทั้งขอรับฟังคำแนะนำในการพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรมฯ ได้ตอบข้อหารือดังกล่าว โดยให้ข้อมูลคำแนะนำด้านการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทย แก่คณะเจ้าหน้าที่ของจีน

ทั้งนี้ประเด็นที่กรมฯได้ให้คำแนะนำ คือ ปัจจุบันมีเครื่องจักรกลการเกษตรจากจีนจำนวนมากที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เกษตรกรผู้ใช้ส่วนใหญ่ต้องการ คือ เรื่องคุณภาพของเครื่องจักร และการบริการหลังการขาย เพื่อการหาอะไหล่ทดแทนและการบำรุงรักษาเป็นไปอย่างสะดวกต่อเกษตรกรผู้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร

ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจนำเข้ามาจำหน่าย ควรมีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าทั้งในแง่ของการลงทุนจากฝ่ายจีนและในมุมของเกษตรกรไทยในฐานะผู้บริโภคที่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร เช่น ควรมีการประเมินทดสอบการใช้งานเครื่องจักรร่วมกัน หรือควรให้มีการเยี่ยมชมดูการทำงานของเครื่องจักรในการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการตัดสินใจได้ว่า เครื่องจักรดังกล่าวมีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานในสภาพภูมิประเทศของประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการยกระดับตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า การหารือครั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ยึดถือผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยเป็นหลัก เนื่องจากกรมฯถือเป็นด่านแรกในการทำหน้าที่กลั่นกรองเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแนะนำให้แก่เกษตรกร ดังนั้นหากมีการคัดสรรและประเมินร่วมกันก่อนวางจำหน่ายในตลาด ก็จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะได้ใช้เครื่องจักรที่ดีและมีคุณภาพ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

เข็นโครงการปลูกอ้อยในนาข้าว จ.กำแพงเพชร ตั้งเป้าปีแรก 55,200ไร่

เกษตรฯ ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม เข็นโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปีจังหวัดกำแพงเพชร ปี 2557-2560 ใน 11 อำเภอ ตั้งเป้าในปีแรก เกษตรกรจำนวน 2,760 ราย

พื้นที่ 55,200 ไร่ หวังส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานและลดการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม มีแหล่งผลิตขยายอ้อยพันธุ์ดีสะอาดใช้ในชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 นครสวรรค์ (สศข. 12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมทุ่งเศรษฐี ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร (นายวันชัย สุทิน) เป็นประธานการประชุม วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นปลูกอ้อยโรงงานเพื่อลดการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม พัฒนาระบบการผลิตขยายและกระจายพันธุ์อ้อยสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตขยายพันธุ์อ้อยหมุนเวียนใช้ในชุมชน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี มีกำหนดแผนโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 11 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสัมพีนคร อ.ขาณุวรลักษบุรี อ.คลองขลุง อ.คลองลาน อ.ทรายทองวัฒนา อ.ไทรงาม อ.บึงสามัคคี อ.ปางศิลาทอง อ.พรานกระต่าย อ.เมืองกำแพงเพชร และ อ.ลานกระบือ เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 2,760 ราย พื้นที่ 55,200 ไร่ ในปีแรก และเพิ่มเป้าหมายเกษตรทุกปีให้ได้ 14,200 ราย รวมพื้นที่ 300,000 ไร่ ในปี 2560

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการ ประกอบไปด้วย การประชุมเพื่อวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดภายในเดือนสิงหาคมนี้ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร โรงงานน้ำตาล พาณิชย์จังหวัด ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบระดับจังหวัดและอำเภอ การถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร เรื่องเทคโนโลยีการผลิตอ้อยโดยการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตอ้อยแบบมีส่วนร่วมตามกระบวนการ โรงเรียนเกษตรกร 2 ครั้ง การจัดทำแปลงส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตอ้อย โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิต นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำเอกสารการผลิตอ้อยคุณภาพ การประชาสัมพันธ์และการจัดงานรณรงค์การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตอ้อย พร้อมติดตามผลการดำเนินงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ผลักดันนโยบายของรัฐบาลในการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม ให้เหมาะสมกับพื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด (Zoning) เป็นการปรับระบบการผลิตสินค้าเกษตรจากข้าวนาปีเป็นอ้อยโรงงาน โดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์เขตความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด ซึ่งจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งที่เกิดอย่างต่อเนื่อง รัฐจึงจำเป็นต้องหาพืชอื่นที่ให้ราคาและผลตอบแทนในระดับเดียวกับข้าวหรือมากกว่า ซึ่งอ้อยเป็นพืชที่สามารถทดแทนข้าวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศแล้ว และเป็นพืชอาหารสำหรับบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออก มีโรงงานน้ำตาลรองรับและมีความต้องการผลผลิตอ้อยเข้าโรงงาน เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการกำหนดเขตปลูกพืชที่เหมาะสม อีกทั้งรัฐมีนโยบาย ปรับลดพื้นที่นาข้าว อย่างไรก็ตามคาดว่าผลสำเร็จของโครงการดังกล่าว จะช่วยให้เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และสามารถตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนพืชให้เหมาะสม กับพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและมีเหตุผลบนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างแท้จริง มีแหล่งผลิตขยายอ้อยพันธุ์ดีสะอาด หมุนเวียนใช้ในชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืนรองรับการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อทดแทนการปลูกข้าวต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลุกความพร้อมเข้าเออีซี

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงงาน เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาก้าวหน้าสู่ AEC ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ว่า การจัดงานนี้ จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรไทยในภาพรวมให้แก่เกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปประกอบแนวทางการสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ AEC หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือโดยเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน และลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก

สำหรับกลุ่มจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศนั้น ถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญ โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งสิ้น 20,125 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัด 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ประชากร ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรเนื่องจากมีทรัพยากรดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว จำเป็นต้องมีการรับรู้และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้งองค์ความรู้ด้านการค้าขาย การท่องเที่ยว สกุลเงิน การส่งออก-นำเข้าของสินค้าเกษตรของชาติเพื่อนบ้าน รวมทั้งการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ และระบบขนส่งให้มีความสามารถ ทันการเจริญเติบโตของผู้บริโภคแต่ละประเทศ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

สั่งสอบเอกสารสิทธิสปก.ทั่วปท. ไล่บี้สกัดสวมสิทธิ์-เปลี่ยนมือ ฮึ่มพบใครทำผิดยึดคืนทันที

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีเกษตรกรกว่า 3 แสนรายที่ประสบปัญหาไร้ที่ดินทำกิน จึงได้เร่งรัดให้สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรไทยในอนาคต

โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การเร่งรัดให้ส.ป.กดำเนินการจัดสรรที่ดินควบคู่กับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ปฎิรูปที่ดินทั่วประเทศว่า มีการใช้ที่ดินผิดประเภทหรือไม่ เช่น ไปทำรีสอร์ท ที่พัก หรือมีการซื้อขาย เปลี่ยนมือกันอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผิดวัตถุประสงค์ หากพบว่าเกษตรกรรายใดดำเนินการไม่ถูกต้อง จะเร่งดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกคืนที่ดินทันที แล้วนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์และการใช้ประโยชน์ที่ดินของ เกษตรกรอย่างต่อเนื่องและจริงจังอยู่แล้ว โดยได้นำภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งทำให้การตรวจสอบมีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วมากขึ้น จากเดิมที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าตรวจพื้นที่เอง ทำให้การดำเนินงานค่อนข้างช้า และยังใช้งบประมาณค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ จากการดำเนินการมาได้ราว 2 ปี ปัจจุบันสามารถตรวจสอบพื้นที่ได้ทั้งหมด 18 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดที่ส.ป.ก.ได้จัดสรรให้แก่เกษตรกร 34 ล้านไร่ พบว่า มีเกษตรกรที่นำที่ดินของ ส.ป.ก.ไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ประมาณ 10,000 ไร่ เช่น การทำรีสอร์ท เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ส.ป.ก.ได้เข้าไปดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าของรีสอร์ทจำนวน 9 ราย ที่มีการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ของ ส.ป.ก. อย่างไม่ถูกต้องแล้ว

“ส.ป.ก. พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของ กระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการตรวจสอบและเอาจริงเอาจังกับพวกนายทุนหรือผู้ที่สวมสิทธิ์เกษตรกรแล้วเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส.ป.ก.อย่างไม่ถูกต้อง ด้วยกฎหมายและยึดที่ดินคืน เพื่อป้องปรามมิให้มีการกระทำผิด และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. ที่มุ่งเน้นให้เป็นพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยที่ดินเหล่านั้นไม่สามารถซื้อขายหรือเปลี่ยนมือกันได้” ดร.วีระชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

“อ้อยลอยฟ้า” ภูมิปัญญาคนโบราณ ปลูกครั้งเดียวกินได้ทั้งชาติ

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ปราชญ์เกษตรกรใน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ รื้อฟื้นวิธีปลูกอ้อยของคนสมัยโบราณ “ปลูกอ้อยลอยฟ้า” ปลูกครั้งเดียวกินน้ำอ้อยได้ทั้งชาติ ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นในประเทศไทย

นายประเสริฐ ศรีระสันต์ ปราชญ์เกษตรกรใน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เจ้าของสวนเกษตรแบบผสมผสาน จุดถ่ายทอดความรู้การปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ และศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลควนลัง ได้รื้อฟื้นการปลูกอ้อยลอยฟ้า ซึ่งเป็นการปลูกอ้อยที่ลงมือปลูกครั้งเดียวแต่สามารถให้ผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นวิธีการปลูกอ้อยของสมัยโบราณ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยเห็นได้จดจำวิธีการทำ และเล่าให้ฟังว่า ตามตำนานในอดีตมีการปลูกอ้อยลอยฟ้าจริง แต่ปัจจุบันไม่มีใครเคยเห็น และคาดว่าได้สูญหายไปแล้วในประเทศไทย

โดยวิธีการปลูกอ้อยลอยฟ้านี้ เริ่มจากการนำพันธุ์อ้อยมาฝังดินเหมือนปลูกอ้อยทั่วๆ ไป และดูแลให้เติบโตจนอายุประมาณ 6 เดือน หรือต้นเริ่มโตตั้งลำ จากนั้นก็จะเอาถังสี หรือถังน้ำมาผ่าตรงกลาง แล้วเอาไปครอบลำอ้อยเอาไว้บริเวณกึ่งกลางต้น มัดถังให้ติดกัน ใช้ไม้หรือเหล็กเป็นตัวค้ำยันถังเอาไว้ และใส่ดินเข้าไปในถังให้เต็ม จากนั้นปล่อยเอาไว้ประมาณ 2 เดือน รากก็จะเริ่มงอกออกมาจากลำต้นที่นำถังมาใส่ดินเอาไว้ และขั้นตอนสุดท้ายคือ ใช้มีดตัดที่โคนต้นอ้อย ให้ลำอ้อยลอยอยู่กลางอากาศ และเฉือนให้เป็นรูปปากฉลาม ก็จะได้ต้นอ้อยแบบลอยฟ้า

การปลูกอ้อยแบบลอยฟ้านี้จะได้อ้อยที่สามารถกินน้ำได้นาน ซึ่งหากต้องการจะกินน้ำอ้อยก็ให้เอาแก้วมารองไว้ และใช้มีดปาดลำอ้อยจากส่วนที่อยู่ใต้ถังให้น้ำอ้อยไหลออกมาเหมือนกับการปาดงวงตาลโตนด ซึ่งอาจต้องใช้เวลารอ เพราะน้ำอ้อยจะไหลออกมาอย่างช้าๆ ทีละหยดเหมือนกับตาลโตนด

นายประเสริฐ บอกว่า ข้อดีของการปลูกอ้อยแบบลอยฟ้า คือ มีน้ำอ้อยกินได้ต่อเนื่องทุกวันในต้นเดียว และปลูกแค่ครั้งเดียวสามารถกินได้ตลอดชาติ เพราะเมื่อปาดลำอ้อยขึ้นไปจนถึงถังที่มัดไว้ด้านบน และมีรากงอกอยู่ภายในถัง เราก็สามารถนำต้นเดิมกลับมาลงดิน และอ้อยจะต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่ออ้อยได้ขนาดก็ใช้วิธีการนี้ทำสลับไปสลับมา ร่นระยะเวลาการเติบโตให้สั้นลง และหากต้องการให้รสชาติหวานก็ทำได้โดยให้ใส่ปุ๋ยที่เร่งความหวานลงไปถัง
แต่วิธีการนี้เหมาะสำหรับทำภายในครัวเรือน หรือปลูกในพื้นที่ว่างบริเวณบ้าน และหนึ่งกอก็จะทำได้เพียง 1 ต้น ส่วนที่เหลือก็ตัดขาย หรือนำไปคั้นเป็นน้ำอ้อย ซึ่งการปลูกอ้อยแบบลอยฟ้านี้ทุกคนสามารถทำได้ และจากการทดลองทำก็ได้ผลตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่แนะนำมาจริงๆ และวิธีการนี้ในประเทศไทยไม่น่าจะมีหลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

อาเซียนคือทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย

ประชาคมโลกกำลังสนใจและตื่นเต้นกับการที่ประชากร 10 ประเทศ 600 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพราะจะเป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองความมั่นคง ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม ครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ในวันที่ 8 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ อาเซียนจะมีอายุครบ 46 ปีเต็ม ในปี ค.ศ. 2010 4 ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ อันได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ยอมรับว่าประเทศไทยเป็นผู้นำทางการทูตมีสถานภาพในเวทีระหว่างประเทศที่ได้รับการยกย่องจากนานาอารยประเทศว่า เป็นประเทศเดียวที่รักษาอิสรภาพรอดพ้นจากการถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคมตะวันตก

อินโดนีเซียเพิ่งได้รับอิสรภาพจากเนเธอร์แลนด์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ฟิลิปปินส์เพิ่งฟื้นจากการเป็นอาณานิคมของสเปน และสหรัฐอเมริกา หลังจาก 400 กว่าปี แห่งการเป็นเมืองขึ้น

มาเลยา (ชื่อเรียกในขณะนั้น) ก็ได้รับการปลดปล่อยจากสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ได้เพียง 10 ปี

ส่วนสิงคโปร์นั้นเพิ่งแยกออกมาจากมาลายา ได้เพียง 3 ปี

ประเทศไทยจึงนับได้ว่าเป็นพี่ใหญ่ทางการเมืองระหว่างประเทศ เจ้าความคิดด้านยุทธศาสตร์ เป็นผู้ริเริ่มสถาปนาสถาปัตยกรรมทางการทูตในภูมิภาคที่เรียกว่า “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Association of South-East Asian Nations-ASEAN)

ได้มีการประกาศสัตยาบรรณ (Declaration) จัดตั้งองค์กรภูมิภาคแห่งนี้ ณ วังสราญรมย์ ซึ่งเป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศไทย ในขณะนั้น

ปัจจุบันอาเซียนประกอบไปด้วยทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา

กลุ่มประเทศอาเซียนมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา และได้มีการปรับตัวทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ ผ่านวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ และการเงินของตนเอง และได้มีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการค้าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันอาเซียนจึงอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมระบบเศรษฐกิจสำคัญ ๆ อีก 6 ประเทศ เข้ามาเป็นพันธมิตร คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งรู้จักกันในนามของ “อาเซียน+3” และผนวกอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เข้ามาด้วยโดยได้รับสมญานามว่า “อาเซียน+6”

ทั้ง 16 ประเทศ มีมูลค่ารวมของรายได้ประชาชาติ ประมาณ 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเขตตลาดการค้า “เสรี” ที่มีประชากร 3,200 ล้านคน เท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มีกองทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมหาศาล เป็นแหล่งผลิตสินค้าและการบริการให้กับตลาดโลก เป็นเจ้าของตราสารหนี้ของโลกรายใหญ่ รวมกันเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

อาเซียน+6 ขณะนี้จึงกลายเป็นหัวรถจักรสำคัญที่เป็นพลังนำระบบเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวจากความล่มสลายทางเศรษฐกิจการเงิน ของทั้งยุโรป และอเมริกา

ศตวรรษที่ 21 คือ “ศตวรรษแห่งเอเชียแปซิฟิก” (The Asia-Pacific Century) กำลังจะเป็นจริงในอนาคตอันใกล้นี้

ความสำคัญของประชาคมอาเซียนจึงไม่ใช่เฉพาะตลาด 600 ล้านคน รายได้ประชาชาติรวม 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ มูลค่ารวมการค้า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 130,000 ล้านดอลลาร์ ตลาดการท่องเที่ยว 80 ล้านคน เพียงเท่านั้น

หากแต่ประชาคมโลกยังให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเขตเศรษฐกิจเสรี ของเอเชียตะวันออก (อาเซียน+6) ดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งมีอาเซียนเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้

เสน่ห์ของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) จึงอยู่ที่ศักยภาพที่อาเซียนกำลังเป็นหัวหอกสถาปนาตลาดและเขตการค้าใหม่แห่งเอเชียตะวันออก

เต็มไปด้วยโอกาส หลากหลายด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมมูลด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ กอปรกับประชากรที่กำลังเจริญเติบโต ชนชั้นกลางกำลังขยายตัว อำนาจในการซื้อก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทันตา

ประเทศไทยเจ้าของความคิดเรื่องอาเซียนตั้งแต่ต้นจะได้ประโยชน์จากโอกาส และศักยภาพใหม่ ๆ เหล่านี้ มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความพร้อม ความสามารถในการแข่งขัน การปรับตัว และข้อจำกัดของประเทศไทยเอง

คอลัมน์นี้จะนำเสนอบทวิเคราะห์ข้อคิด และยุทธศาสตร์ สำหรับประเทศไทยที่จะย่างก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเขตเศรษฐกิจเสรีใหม่ของเอเชียตะวันออก อย่างมีศักดิ์ศรีเต็มภาคภูมิได้อย่างไร

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

รักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมความปลอดภัยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม: กรมโรงงาน จัดสัมมนาวิชาการ"อุตสาหกรรมปลอดภัย ก้าวไกลสู่ AEC"

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมไทย มีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 สิ่งที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้คือเรื่องของความปลอดภัยและการดำเนินกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างศักยภาพและภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในประชาคมอาเซียน ดังนั้นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจึงควร มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบการควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยให้สอดคล้องกับ การดำเนินกิจการของโรงงาน

กรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงาน ที่กำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้เตรียมจัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง "อุตสาหกรรมปลอดภัย ก้าวไกลสู่ AEC" ขึ้น เพื่อเป็นเวที ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยและการพัฒนาระบบการควบคุม ความปลอดภัยในโรงงานแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.ณ ห้อง GH 203 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเปิดการสัมมนาพร้อมมอบเกียรติบัตรโรงงานอุตสาหกรรม ที่เข้าร่วมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน ความปลอดภัยจำนวน27 โรงงาน และโรงงาน อุตสาหกรรมที่เข้าร่วมอุตสาหกรรมดีเด่นด้าน ความปลอดภัย ปี 2555จำนวน 15 โรงงาน

สำหรับกิจกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของงานนี้และไม่ควรพลาดก็คือการเสวนาเรื่อง "อุตสาหกรรมปลอดภัย ก้าวไกลสู่ AEC" โดย ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมร่วมกับกูรูด้านความปลอดภัย ประกอบด้วย นายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,นายประสงค์ นรจิตร์ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย, นายนำพล ลิ้มประเสริฐ ประธานคณะกรรมการ ความปลอดภัยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

และ รศ.ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการเสวนาโดย นายฐนันดร์ มฤคทัต รองผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายในหัวข้อเรื่อง "แนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงของประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดย นายฐนันดร์ มฤคทัต รองผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ต่อด้วยการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วยเรื่อง กรณีอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม, แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับ สารเคมี, เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ การใช้ถ่านหิน, เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับหม้อน้ำ

สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนา สามารถ ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.ptit.org/safety/safety_register.html ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (first come first serve) ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-537-0440 ต่อ 104-105

พบเห็นโรงงาน * ปล่อยน้ำเสีย * ปล่อยควันเสีย * ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม * เจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบแจ้งสายตรง ๐ ๒๓๕๔ ๓๓๐๐ สายตรง ๑๕๖๔ หรือ ตู้ ป.ณ.๒๐ ปณฟ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ๑๐๔๑๓ โทร. ๐ ๒๒๐๒ ๔๐๑๔ www.diw.go.th, E-mail:pr@diw.mail.go.th

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

โรงงานน้ำตาลฯอุตรดิตถ์ รับฟังความเห็นตั้งโรงไฟฟ้า

นายวีระชัย ภู่เพียงใจ ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานพิธีเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการนำชายอ้อยที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงงานน้ำตามมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ที่หอประชุมโรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้าอุตรดิตถ์ ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

โดยมีนายสุทัศน์ พิพัฒนชัยพงษ์ ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ นายนเรศ กัลปนาไพร รองผู้จัดการ ฝ่ายไร่ บ.น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ตลอดจนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.คุ้งตะเภา ต.งิ้วงาม ต.ขุนฝาง และ ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์ จำนวนกว่า 700 คน เข้าร่วมรับฟังและเสนอข้อคิดเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ และผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความเป็นมาของโครงการ รายละเอียดโครงการ และ กำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ประเด็นห่วงกังวล และข้อเสนอแนะต่อการกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเป็นไปอย่างครบถ้วน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ห่วงการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออกทุกปีประสบภัยแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซาก

ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน)ห่วงการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก ทุกปีประสบภัยแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซาก หวังสร้างระบบกักเก็บควบคู่การระบายน้ำให้สมดุล ขณะที่พื้นที่ภาคกลางแก้ปัญหาน้ำท่วมยากสุดจากการวางผังเมืองผิดตั้งแต่แรก

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆในประเทศว่า ประเทศไทย ได้แบ่งลุ่มน้ำสำคัญเป็น 25 ลุ่มน้ำ และแบ่งเป็นลุ่มน้ำย่อย 254 ลุ่มน้ำย่อย มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งประเทศประมาณ 511,361 ตารางกิโลเมตร ไม่นับรวมพื้นที่เกาะต่างๆ ยกเว้นเกาะภูเก็ต ซึ่งมีความเป็นห่วงการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก เช่น ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากช่วงฤดูฝน จนทำให้น้ำท่วมทุกปี ขณะที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เมื่อฝนตกจะเข้าพื้นที่ จ.พิจิตร จ.สุโขทัย มาก พร้อมกันนี้ ห่วง จ.พัทลุง พื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่มีน้ำท่วมจำนวนมากถึงปีละ 4-5 ครั้ง ประชาชนจะรับสถานการณ์ไม่ไหว แต่มีหลายพื้นที่ภาคใต้เกิดภัยแล้งอย่างหนัก ขณะที่ฝนตกหนักเช่นกัน เพราะไม่มีระบบการกักเก็บน้ำ มีแต่ระบบระบายน้ำทิ้งอย่างเดียว ซึ่งจากสภาพภูมิประเทศภาคใต้ สามารถบริหารจัดการน้ำได้ง่ายที่สุดในประเทศ ด้วยการฟื้นฟูสภาพคลองต่างๆ การก่อสร้างฝ่ายกั้นน้ำ และเสริมระบบการปลูกป่ายางพาราใหม่ โดยพื้นที่ลาดเอียง ให้ปลูกยางพาราแนวขวางน้ำที่ไหลลงมา เพื่อเป็นการกักเก็บน้ำ ชะลอการไหลของน้ำช้าและลดความแรงลง ที่สำคัญเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ต้องกลับมาปลูกยางพารา ด้วยการเพาะเมล็ดแทนการต่อกิ่ง เพื่อให้มีรากแก้วไว้ยึดติด และลำต้นไม่ให้โค่นล้มได้ง่าย แต่เกษตรส่วนใหญ่ไม่นิยมเพาะปลูกด้วยเมล็ด เพราะให้ผลผลิตน้ำยางช้า ดังนั้น ภาครัฐ ต้องเข้ามาสนับสนุนและสร้างความเข้าใจให้เกษตรผู้ปลูกยางพาราใหม่ หันกลับมาปลูกด้วยเมล็ด แม้จะให้ผลผลิตน้ำยางช้า แต่ต้นมีอายุยืน จึงต้องส่งเสริมการจำหน่ายต้นยางพาราในอีก 30 ปีข้างหน้า เข้าตลาดด้วย ดึงดูดให้เกษตรกรสนใจมาปลูกด้วยเมล็ดมากขึ้นในอนาคต ที่สำคัญเป็นแนวกั้นน้ำป่าน้ำฝนธรรมชาติอย่างดีและแข็งแรงด้วย

นายรอยลฯ ย้ำว่า พื้นที่ภาคกลางมีการบริหารจัดการน้ำยากที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีการใช้เทคโนโยลีวางผังเมืองผิดมาตั้งแต่แรก โดยเชื่อเรื่องการกำหนดโซนนิ่ง แต่ไม่คำนึงถึงเรื่องความสูงของพื้นผิวถนน และการถมดินปลูกบ้านในแต่ละพื้นที่ ทำให้ช่วงหน้าฝนได้ทำแค่เพียงก่อสร้างกำแพงเป็นแนวกั้นน้ำเท่านั้น ทั้งนี้ ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยการเริ่มกำหนดความสูงมาตรฐานพื้นผิวถนนใหม่ ตั้งแต่ตอนนี้ เช่น ถนนวิภาวดีและถนนรัชดาภิเษก ต้องยกระดับความสูงถนนขึ้น ส่วนถนนบางจุดต้องลดระดับลง จึงต้องมีเสาระบุระดับถนนที่เหมาะสมตามมาตรฐานในทุกจุด ควบคุมการถมดินในระดับที่กำหนด ส่วนใหญ่พื้นที่ถนนทรุดตัว จะเป็นถนนรามคำแหงและด้านตะวันตกบางจุด ขณะที่บางพื้นที่ของ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำทุกฤดูฝน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 23 กรกฎาคม 2556

อาเซียนเร่งถกแก้ปมกีดกันการค้า

อาเซียนเตรียมถกแก้ปมกีดกันการค้าในเวทีประชุมระดับรัฐมนตรี ก่อนเสนอผู้นำปลายปีนี้ หลังพบหลายประเทศแห่ผุดมาตรการ ทำเปิดเสรีสะดุด

นางจิตนา ชัยยวรรณาการ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ คาดว่าที่ประชุมจะนำประเด็นการแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าที่กำลังเพิ่มขึ้นอยู่ขณะนี้มาหารือ เพื่อลดอุปสรรคและนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างสมบูรณ์ก่อนปี 2558 ซึ่งจะทำให้การค้า การลงทุน มีความสะดวกสบายตามเป้าหมาย

“ตอนนี้หลายประเทศมีการนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้จำนวนมาก เช่น อินโดนีเซีย ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรในบางท่าเรือที่สำคัญๆ ทำให้การส่งออกไปตลาดนี้มีปัญหาขึ้นมาทันที เพราะต้องอ้อมไปส่งสินค้าที่ท่าเรืออื่นที่ไกลออกไป ฟิลิปปินส์อ้างโรคไข้หวัดนก ไม่ให้ไทยส่งออกไก่สด ขณะที่ไทยยังมีประเด็นที่ลาวและกัมพูชาต้องการให้เปิดนำเข้าข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งทั้งหมดน่าจะได้คุยกันเพื่อแก้ปัญหาในเวทีอาเซียน ระดับรัฐมนตรีก่อนเสนอให้ที่ประชุมระดับผู้นำเห็นชอบ” นางจินตนากล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะประเมินความสำเร็จที่อาเซียนแต่ละประเทศต้องดำเนินการตามที่อาเซียนได้กำหนดไว้ โดยสิ่งที่ไทยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ได้แก่ 1.การเปิดเสรีการค้าบริการ ซึ่งจะครอบคลุมบริการ 128 สาขา สาระสำคัญคือการเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นของนักลงทุนสัญชาติอาเซียนเป็น 70%

2.การยกเลิกมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีซึ่งเป็นอุปสรรคทางการค้าในอาเซียน 3.การจัดตั้ง Nation Single Window และ ASEAN Single Window ว่าด้วยการเชื่อมโยงระบบข้อมูลซึ่งกันและกันทั้งภายในประเทศและระหว่างอาเซียนด้วยกัน 4.การจัดตั้งคลังข้อมูลการค้าอาเซียน และ 5.การจัดทำข้อตกลงการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียน (MRA).

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 23 กรกฎาคม 2556

เร่งเครื่อง“ปลูกอ้อยในนาข้าว” ยกระดับการใช้ประโยชน์ที่ดิน

นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 นครสวรรค์ (สศข. 12) เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จังหวัดกำแพงเพชร มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นปลูกอ้อยโรงงานเพื่อลดการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสม พัฒนาระบบการผลิตขยายและกระจายพันธุ์อ้อยสู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตขยายพันธุ์อ้อยหมุนเวียนใช้ในชุมชน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี มีกำหนดแผนโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 11 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสัมพีนคร อ.ขาณุวรลักษบุรี อ.คลองขลุง อ.คลองลาน อ.ทรายทองวัฒนา อ.ไทรงาม อ.บึงสามัคคี อ.ปางศิลาทอง อ.พรานกระต่าย อ.เมืองกำแพงเพชร และ อ.ลานกระบือ เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 2,760 ราย พื้นที่ 55,200 ไร่ ในปีแรก และเพิ่มเป้าหมายเกษตรทุกปีให้ได้ 14,200 ราย รวมพื้นที่ 300,000 ไร่ ในปี 2560

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ผลักดันนโยบายของรัฐบาลในการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรม ให้เหมาะสมกับพื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด (Zoning) เป็นการปรับระบบการผลิตสินค้าเกษตรจากข้าวนาปีเป็นอ้อยโรงงาน โดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์เขตความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด ซึ่งจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งที่เกิดอย่างต่อเนื่อง รัฐจึงจำเป็นต้องหาพืชอื่นที่ให้ราคาและผลตอบแทนในระดับเดียวกับข้าวหรือมากกว่า โดยคาดว่า ผลสำเร็จของโครงการดังกล่าว จะช่วยให้เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ มีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และสามารถตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง มีแหล่งผลิตขยายอ้อยพันธุ์ดีสะอาด หมุนเวียนใช้ในชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืนรองรับการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อทดแทนการปลูกข้าวต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 กรกฎาคม 2556

สศช. มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังไร้แรงส่ง ลุ้น ธปท. ลดดอกเบี้ยลงอีก

สศช.จ่อหั่นเป้าเศรษฐกิจปี 56 หลังครึ่งปีแรกชะลอตัวในทุกหมวด พร้อมเสนอทางออกกระตุ้นเศรษฐกิจไทย สนับสนุนการค้าชายแดนลดปริมาณส่งออกค้างสต๊อก-ปลูกพืชทดแทนข้าว-เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ลุ้น ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเชื่อช่วยเศรษฐกิจ-ประชาชนในวงกว้าง

วันนี้ (20 กรกฎาคม 2556) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ขยายตัวในทิศทางชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลจากกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักสำคัญทั้งการส่งออก การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ซึ่ง สศช. จะขอพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนเพื่อนำมาประมวลสถานการณ์เศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีก่อน ก่อนตัดสินใจว่าจะยังคงประมาณการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ในระดับ 4.2-5.2% หรือจำเป็นต้องปรับลดประมาณการณ์ลง รวมถึงตัวเลขการส่งออกที่ประมาณการณ์ไว้ที่ระดับ 7-9% ด้วย

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% ของจีดีพี แต่การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีกลับขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น แม้ต้นปีที่ผ่านมาได้มีการออกมาตรการเพื่อเร่งส่งออกไปยังตลาดสำคัญในเอเชียและอาเซียน หรือกระทั่งหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในมากขึ้นแต่คาดว่าคงไม่เพียงพอ ดังนั้นในระยะถัดไปรัฐบาลจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการค้าชายแดนเพื่อเพิ่มแรงส่งให้เศรษฐกิจ โดยช่วงที่ผ่านมาการค้าชายแดนเริ่มมีความสำคัญและเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว หรืออย่างน้อยสามารถระบายสินค้าไทยที่ค้างสต๊อกจากการส่งออกได้

ขณะเดียวกันจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคทั้งเขตชนบทและเขตเมือง โดยเฉพาะในเขตชนบทที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าเกษตร รัฐมีโครงการปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าว ที่ปัจจุบันมีปริมาณข้าวค้างสต๊อกค่อนข้างมากทำให้ไม่สามารถคาดหวังได้ว่าระยะ 1-2 ปีนี้ ราคาข้าวจะเร่งตัวขึ้น จึงจำเป็นต้องหันไปปลูกพืชราคาสูงชนิดอื่นๆ มาทดแทน เช่น อ้อย เป็นต้น เนื่องจากยังมีแนวโน้มสามารถพึ่งพาได้ในอนาคต อีกทั้งยังมีกำลังการผลิตเพียงพอ แต่รัฐบาลต้องกำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม หรือกระทั่งการส่งเสริมการผลิตแป้งที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด

นายอาคม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของความหวังด้านการลงทุนภาครัฐ จากโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำและการลงทุนตามพ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่เริ่มมีข้อขัดข้องทางเทคนิคจึงคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในปีนี้ไม่มากนัก ระยะสั้นจึงยังไม่สามารถคาดหวังผลได้ แต่ระยะยาวเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากหากเกิดความล่าช้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเสียเปรียบคู่แข่ง โดยเฉพาะด้านต้นทุนการแข่งขัน

"ตั้งแต่ต้นปีดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนยังแข็งค่าขึ้น แม้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะยังคงแข็งแกร่งแต่คงไม่สามารถต้านทานผลกระทบที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินสู่ระบบของประเทศอุตสาหกรรมหลักได้ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี เพื่อเบรกกระแสเงินทุนไหลเข้าแล้ว พร้อมทั้งปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยลงจากระดับ 5.1% เหลือ 4.2% ซึ่งแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหาก ธปท.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในปีนี้ เชื่อว่าน่าจะส่งผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนในวงกว้าง" นายอาคม กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 20 กรกฎาคม 2556

ค่าเงินทั่วโลกเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้ FED ประกาศชัด ลดทำ QE ปลายปีนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับปิดในวันศุกร์ (12/7) ที่ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ ตลอดสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก โดยตลาดจับตามองการแถลงต่อรัฐสภาสหรัฐของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ในวันพุธและวันพฤหัสบดี (17/7-18/7) โดยตลอดช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในกรอบแคบ ๆ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan consumer confidence) ประกาศในวันศุกร์ (12/7) ปรับลดลงจาก 84.1 จุด ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ระดับ 83.9 จุดในเดือนกรกฎาคม และตัวเลขค้าปลีกประจำเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ในขณะที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.8% อย่างไรก็ตามหลังการแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐต่อรัฐสภา ซึ่งแม้ว่าจะกล่าวอย่างชัดเจนว่ามีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดปริมาณเงินที่จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงปลายปี 2013 แต่ยังคงสงวนท่าทีว่าหากเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ธนาคารกลางสหรัฐจะพิจารณาดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณต่อไป และยังจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.0-0.25% ต่อไป ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นและแข็งค่าที่สุดในสัปดาห์นี้ในวันพฤหัสบดี (18/7) ที่ระดับ 30.92 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะปรับตัวอ่อนค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์หลังจากตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของธนาคารกลางสหรัฐสาขาฟิลลาเดเฟียออกมีดีกรีที่คาดการณ์ไว้ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.3 จุด สู่ระดับ 19.8 จุด ในเดือนกรกฎาคม สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2011 ซึ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยเสริมให้ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินการลดการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐรอบเดือนกันยายน ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17/18 กันยายน 2013 โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่ระดับ 30.92-31.21 บาท/ดอลลาร์ ก่อนที่จะปิดตลาดในวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 31.07/11 บาท/ดอลลาร์

ในส่วนของเงินสกุลหลัก ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 1.3060/63 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันศุกร์ (12/7) ที่ 1.3044/48 ดอลลาร์/ยูโร ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวแข็งค่าในกรอบแคบ แม้ว่าตลอดทั้งสัปดาห์ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซนจะออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรคือแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐต่อรัฐสภา ทั้งนี้ในคืนวันศุกร์ (12/7) นายวิคเตอร์ คอนสแตนชิโอ รองประธานธนาคารกลางยุโรปได้แสดงความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนรวมทั้งแสดงความเห็นว่าธนาคารกลางยุโรปมีความจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องเป็นเวลานาน และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิตช์ (Fitch) ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของฝรั่งเศสจากระดับ AAA สู่ระดับ AA+ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของยุโรปสัปดาห์นี้ออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอัตราการว่างงานของกรีซปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 29.6% ในเดือนเมษายน จากระดับ 26.8% ในเดือนมีนาคม, ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 36.3 จุด จากที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 39.6 จุด ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือ 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อนึ่งธนาคารกลางอังกฤษได้เปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินอังกฤษในรอบ วันที่ 4 กรกฎาคม 2013 ซึ่งพบว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ (9.0) ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม รวมทั้งมีความเห็นในเชิงตรงข้ามกับการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ซึ่งเปิดตลาดในวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 1.5109/11 ดอลลาร์/ปอนด์ แข็งค่าขึ้นอย่างฉับพลันในวันพุธ (17/7) ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบที่ระดับ 1.2994-1.3177 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินปอนด์เคลื่อนไหวในกรอบ 1.5028-1.5268 ดอลลาร์/ปอนด์ และปิดตลาดในวันศุกร์ที่ระดับ 1.3102/03 ดอลลาร์/ยูโร และ 1.5243/44 ดอลลาร์/ปอนด์ ตามลำดับ

สำหรับค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 99.28/32 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ 99.11/16 เยน/ดอลลาร์ ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังจากนักวิเคราะห์การเมืองญี่ปุ่นเปิดเผยว่าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่นำโดยนายชินโซะ อาเบะ มีแนวโน้มสูงที่จะชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้ (21/7) ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกต่อไป โดยตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวที่ระดับ 98.90/100.87 เยน/ดอลลาร์ และปิดตลาดในวันศุกร์ที่ระดับ 100.26/27 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ในวันจันทร์ (15/7) ทางการจีนได้ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาส 2/2013 เติบโตที่ระดับ 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการชะลอตัวลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.9% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ตัวเลขยอดค้าปลีกประจำเดือนมิถุนายนปรับตัวขึ้น 13.3% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 12.9% ในเดือนพฤษภาคม

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 กรกฎาคม 2556

พด.เร่งสร้างความรู้จนท.ทั่วปท. ใช้ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนดเขตความเหมาะสมสำหรับพืชเกษตรเศรษฐกิจ 13 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย สับปะรดโรงงาน มังคุด ทุเรียน เงาะ กาแฟ และมะพร้าว เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาคเกษตรให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับพืชเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการระดับจังหวัด มุ่งเน้นให้เกษตรกรทำการผลิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้จัดทำแผนที่และรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ให้กับคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมระดับจังหวัด เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจด้านการพัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตร ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวน และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ตลอดจนสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย กรมพัฒนาที่ดินจึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การใช้ความรู้ด้านข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเขตเหมาะสมพืชเศรษฐกิจ” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานแล้ว ยังเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนเขตเหมาะสมพืชเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ร่วมกันอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 กรกฎาคม 2556

อุ้มสถาบันเกษตรกรเขตปฏิรูปสปก.จับมือธกส.ขยายแหล่งทุนสร้างความมั่นคงอาชีพ-ยกรายได้

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ร่วมกับ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงนามบันทึกข้อตกลงในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการนำเอาเอกสารสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3ก. สัญญาเช่าที่ดิน สัญญาซื้อที่ดิน หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์(ส.ป.ก.4-01)ในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นหลักประกันการขอรับการสนับสนุนด้านสินเชื่อรวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งส.ป.ก.และธ.ก.ส.ตกลงใช้ราคาประเมินมูลค่าที่ดินของกรมธนารักษ์เป็นฐานในการประเมินราคาที่ดิน นอกจากนี้ยังเป็นการขยายโอกาสให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินขอรับการสนับสนุนสินเชื่อได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันธ.ก.ส.ได้ให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกรที่ประกอบอาชีพในพื้นที่ทำกินที่ได้รับสิทธิจาก ส.ป.ก.แล้ว จำนวน 288,837 ราย คิดเป็นเงิน 37,578 ล้านบาท

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้นับเป็นฉบับที่ 5 ซึ่งธ.ก.ส.และส.ป.ก.ได้มีการทบทวนการจัดทำบันทึกข้อตกลงในการดำเนินงาน จากเดิมจำกัดเฉพาะเกษตรกรรายบุคคล ให้สามารถขยายครอบคลุมถึงสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 140 สถาบันทั่วประเทศให้สามารถรับสินเชื่อจากธ.ก.ส.

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังให้โอกาสเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินสามารถใช้ส.ป.ก 4-01 และหนังสือรับมอบที่ดิน (ส.ป.ก.4-28) (สัญญาเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก.4-14) และสัญญาเช่าซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.4-18) ซึ่งสามารถครอบคลุมเอกสารสิทธิทุกชนิดที่ส.ป.ก.ออกให้กับเกษตรกร

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินแห่งเดียวที่ให้การยอมรับเอกสารสิทธิของส.ป.ก.นำมาใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงิน เพื่อไปพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือสนับสนุนการดำเนินงานของเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ได้รับสิทธิจากส.ป.ก. ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาประกอบอาชีพหรือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพได้อีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 กรกฎาคม 2556

รณรงค์เลิกทำลายโอโซน

นายอกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามในบันทึกการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ร่วมกับ นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายยุทธนา หยิมการุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร โดยมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานสักขีพยาน ทั้งนี้ ประเทศไทยโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาเวียนนา และ พิธีสารมอนทรีออล ในการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่เรียนเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น รวมถึงนักศึกษาอื่นๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาร HCFCs ซึ่งเป็นสารประกอบในงานอุตสาหกรรม และสาร HCFCs นี้เป็นสารทำลายบรรยากาศโอโซน ซึ่งจะต้องควบคุมและลดเลิกการใช้ และปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนอื่นที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 18 กรกฎาคม 2556

หมอดินพัฒนา‘Smart Officer’ เสริมความรู้ด้านดิน-ธาตุอาหารพืชพร้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกร

นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer หรือที่เรียกว่าเกษตรกรปราดเปรื่อง โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด ซึ่ง Smart Officer ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 6 ประการ คือ มีความรักเกษตรกรเหมือนญาติ มีความรู้ทางวิชาการ นโยบาย และการบริหารจัดการงานหรือโครงการ รวมถึงเทคนิคการถ่ายทอด สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน สร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร มุ่งนำเกษตรกรสู่ Green Economy และ Zero waste agriculture และมีความภาคภูมิใจในองค์กรและความเป็นข้าราชการ

นางกุลรัศมิ์กล่าวต่ออีกว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีภารกิจสำคัญ ที่จะต้องให้ความรู้ แก่หมอดินอาสาและกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูก การดำเนินการประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องดิน ธาตุอาหารพืชในดิน ความต้องการธาตุอาหารของพืชเพื่อการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิต รวมทั้งรายงานผลการวิเคราะห์ดิน เพื่อการให้คำแนะนำและถ่ายทอดให้แก่หมอดินอาสาและกลุ่มเกษตรกร จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ Smart Officer ของกรมพัฒนาที่ดินในการปฏิบัติงานส่งเสริมพัฒนาที่ดิน

ดังนั้น กรมจึงมีนโยบายให้จัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนา Smart Officer หลักสูตร “การพัฒนาและประยุกต์ใช้ความรู้ด้านดิน ธาตุอาหารพืช และผลวิเคราะห์ดิน ในการปฏิบัติงานส่งเสริมพัฒนาที่ดิน” ขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านดิน ธาตุอาหารพืช และผลวิเคราะห์ดินที่ถูกต้อง รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้เรื่อง ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงและการคำนวณสูตรปุ๋ย ตลอดจนมีแนวความคิดในการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับ เกิดความมั่นใจจนสามารถให้คำแนะนำและถ่ายทอดให้แก่หมอดินอาสาและกลุ่มเกษตรกร ในการปฏิบัติงานส่งเสริมพัฒนาที่ดินได้

ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนา Smart Officer หลักสูตร “การพัฒนาและประยุกต์ใช้ความรู้ด้านดิน ธาตุอาหารพืช และผลวิเคราะห์ดิน ในการปฏิบัติงานส่งเสริมพัฒนาที่ดิน” ได้กำหนดให้จัดขึ้น จำนวน 4 ครั้ง ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเพชรรัชต์ การ์เดน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ภาคเหนือ จะจัดขึ้นวันที่ 30 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมลำปางเวียงทอง อ.เมือง จ.ลำปาง ภาคใต้ จัดขึ้นวันที่ 29-31 สิงหาคม 2556 ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี และภาคกลาง จัดขึ้นวันที่ 9-12 กันยายน 2556 ณ โรงแรมสองพันบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทั้งสิ้น 500 กว่าคน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 กรกฎาคม 2556

เล็งปั้นอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน พัฒนาขึ้นชั้น‘เกษตรกรอัจฉริยะ’

นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) นับเป็นกลุ่มบุคคลจิตอาสา ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะการนำข้อมูลข่าวสาร การเผยแพร่ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเป็นเครือข่ายในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงวางแผนพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ไปสู่การเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ หรือ Smart Farmer ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากเล็งเห็นว่า เป็นกลุ่มที่มีความรู้ ความชำนาญ เฉพาะสาขาอาชีพทางด้านการเกษตรและได้รับการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากได้รับการหนุนเสริมเพิ่มเติม ก็จะสามารถพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ความเป็น Smart Farmer ได้อย่างรวดเร็ว และมีการนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร
รายอื่นๆ ในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นต่อไป

ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดการสัมมนาวิชาการประธานคณะกรรมการอาสาสมัครเกษตรจังหวัด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอาสาสมัครเกษตรในระดับต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรม จากนั้นจึงได้นำข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับจากการสัมมนาดังกล่าว นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการดำเนินงานอาสาสมัครเกษตร เพื่อนำไปสังเคราะห์ในการวางแผนงานการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรสู่การเป็น Smart Farmer อย่างเป็นรูปธรรมและให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยคาดว่า จะสามารถขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยผ่านคณะกรรมการอาสาสมัครเกษตรระดับต่างๆ ได้ในเร็วๆ นี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 กรกฎาคม 2556

KSL เดินหน้าขยายไลน์ธุรกิจเตรียมขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯ

KSL พร้อมเดินหน้าขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาฯ หวังระดมทุนมูลค่ากว่า 2 พันล้าน ส่วนโครงการซื้อหุ้นคืนยังคงเดินหน้าทยอยเก็บหุ้น ระบุไม่มีการไล่ราคาแม้ภาวะตลาดฯ อยู่ในช่วงขาลง สำหรับผลงานปีนี้คาดใกล้เคียงปีก่อน แต่มั่นใจปีหน้าเริ่มฟื้นตัว หลังราคาน้ำตาลปรับตัวดีขึ้น ด้านโบรกฯ มองหุ้น KSL มีหลายประเด็นบวกที่ช่วยสนับสนุน ราคาหุ้น พร้อมแนะนำซื้อ ให้ราคาเหมาะสม 15.5 บ./หุ้น

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยในเบื้องต้นกำหนดมูลค่ากองทุนไว้ที่ระดับกว่า 2 พันล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัท เค.เอส.แอล เรียลเอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KSL ได้เข้าซื้ออาคารลิเบอร์ตี้ สแควร์ เป็นกรรมสิทธิ ที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 94 ตารางวา ตั้งอยู่ในพื้นที่ถนนสีลม เป็นอาคารสำนักงานสูง 23 ชั้นและชั้นใต้ดิน 6 ชั้น พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 40,000 ตารางเมตร รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีความชัดเจนและจัดตั้งกองทุนดังกล่าวได้ในช่วงปลายปีนี้

ส่วนโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัท แม้ว่าในช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลง แต่บริษัทยังไม่เร่งที่จะซื้อหุ้นคืนตามแผนที่ได้ขออนุมัติกับผู้ถือหุ้นไว้ แต่จะเป็นการทยอยเข้าซื้อหุ้นคืนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ไล่ราคา สังเกตได้จากปริมาณการซื้อขายไม่หนาแน่น เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงก็ไม่มีผลกระทบ กับราคาหุ้นบริษัทมากนัก เพราะมีสัดส่วน ของผู้ถือหุ้นต่างชาติไม่สูง

ตอนนี้บริษัทก็มีการซื้อหุ้นคืนทุกวัน แต่ปริมาณไม่มาก เพราะจะซื้อแบบไม่ไล่ราคา แม้ว่าภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้จะปรับลง แต่บริษัทก็ไม่ได้เร่งซื้อหุ้นคืน เพราะไม่มีผลกับราคาหุ้นเท่าใด เพราะสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติไม่มาก และผลงานบริษัทก็ไม่ได้ย่ำแย่ และราคาหุ้นยังทรงตัวได้ โดยราคาหุ้นก็เชื่อว่าคงอยู่ในกรอบ 12-13 บาทŽ นายชลัช กล่าว

อนึ่ง ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 KSL ได้มีการซื้อหุ้นคืนแล้ว 750,900 ล้านหุ้น ราคาที่ซื้อต่อหุ้นหรือราคาสูงสุด อยู่ที่ 12.70 บาทต่อหุ้น และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.40 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 9.47 ล้านบาท โดยปัจจุบันซื้อหุ้นคืนแล้ว 9.95 ล้านหุ้น มูลค่ารวมที่ซื้อคืนแล้ว 123.28 ล้านบาท และวันที่ครบกำหนดโครงการคือ 30 สิงหาคม 2556 จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนสูงสุดตามโครงการ 78.7 ล้านหุ้น

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการบริษัทในปีนี้ (สิ้นสุด ต.ค.2556) จะยังใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้ 2.27 หมื่นล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 2.35 พันล้านบาท แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับลดลง แต่บริษัทได้มีการขายสินค้าล่วงหน้าหมดไปแล้วทั้ง 100% ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 1 แสนตันต่อวัน แต่ยังมีปัญหาอยู่ที่ปริมาณอ้อยภายใน ประเทศที่มีไม่เพียงพอกับกำลังการผลิตของบริษัท

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเอธานอลที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้รวม ซึ่งปริมาณเอธานอลที่ได้รับเป็นไปตามกำลังการผลิตของบริษัท และยังมีโครง-การโรงไฟฟ้าที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้รวมเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าที่ 220 เมกะวัตต์ แต่บริษัทขายไฟฟ้าเพียง 40 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องจากในส่วนที่เหลือจะนำมาไว้ใช้เองในโรงงานน้ำตาล เพื่อลด ต้นทุนการผลิต

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการบริษัท ในปี 2557 (พ.ย.56-ต.ค.57) คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะฟื้นดีขึ้นจากในปีนี้ที่คาดว่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดแล้ว ทำให้มีความต้องการที่เพิ่มขึ้น และมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงงานน้ำตาลในลาวและกัมพูชาที่ในปีนี้มีกำลังการผลิตที่ 30% แต่ในปี 2557 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 50% ทำให้เป็นส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของผลประกอบการในอนาคต

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส ระบุว่า KSL ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกว่าจะทยอยฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับมุมมองของบริษัทน้ำตาลอื่นๆ ในกลุ่มฯ ภายหลังจากที่ความ กังวลจากอุปทานล้นตลาดเริ่มคลี่คลายลง ทั้งนี้ ได้ประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิของ KSL ในช่วงไตรมาส 3/55/56 จะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 720 ล้านบาท หรือเติบโต 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากธุรกิจน้ำตาลทราย และธุรกิจต่อยอด ได้แก่ ธุรกิจเอธานอลที่คาดว่ายังแข็งแกร่ง ต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล่าสุด บริษัทได้เข้าทำการซื้ออาคาร ลิเบอร์ตี้ สแควร์ ในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มรับรู้กำไรเป็นครั้งแรกในงวดไตรมาส 3/55/56 โดยเฉลี่ยราว 15 ล้านบาทต่อไตรมาส อย่างไรก็ตาม ประเด็นในเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 455/56 ฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ

นอกจากนี้ KSL ยังมีประเด็นบวกระยะสั้นจากแผนซื้อหุ้นคืนจำนวนไม่เกิน 78.7 ล้านหุ้น (5% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว) ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ โดยฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ แต่จากการศึกษา พบว่า ทุกๆ 1% ของจำนวนหุ้นซื้อคืน จะทำให้ EPS, DPS และ Fair value ปี 2555/56 เพิ่มขึ้น 1.04% จากเดิม ดังนั้น การลงทุนในหุ้น KSL จึงยังคงแนะนำซื้อ โดยกำหนดให้มูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2555/56 อิงวิธี SOTP เท่ากับหุ้นละ 15.5 บาท

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 กรกฎาคม 2556

TSSCT ประชุมอ้อยน้ำตาลโลกเตรียมนำ 350 วิจัยเด็ดโชว์ปี 59

วางแผนนำเสนอผลงานวิจัยเด็ดเรื่องอ้อย-น้ำตาล-ผลพลอยได้ไม่ต่ำกว่า 350 เรื่องเด็ด คาดมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,500 คน

TSSCT จับมือวช.-ม.เกษตร-ภาคเอกชน ในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลรับลูก เตรียมรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมปฏิบัติการอ้อย-น้ำตาลโลกที่เชียงใหม่ ปี 2559 วางแผนนำเสนอผลงานวิจัยเด็ดเรื่องอ้อย-น้ำตาล-ผลพลอยได้ไม่ต่ำกว่า 350 เรื่องเด็ดคาดมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,500 คน

รายงานข่าวาจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมนักวิขาการอ้อยและน้ำตาล ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 20-30 มิถุนายน 2556 ที่นครเซาเปาโล ประเทศบราซิล ทางสมาคมเทคโนโลยีด้านอ้อยระหว่างประเทศ(ISSCT) ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 21-27 พฤศจิกายน 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น ทางสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (TSSCT) จะเป็นเจ้าภาพเตรียมการจัดการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชน เช่น Thai Sugar Millers กลุ่มน้ำตาลมิตรผล สมาคมชาวไร่อ้อยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม โดยครั้งแรกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2535 การประชุมจะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี โดยประเทศสมาชิกมากกว่า 66 ประเทศ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพอย่างไรก็ตาม ตามแผนที่วางไว้ในการประชุมจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการไม่ต่ำกว่า 350 เรื่อง ทั้งภาคบรรยายและนิทรรศการ นอกจากนี้ ยังมีงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอ้อยและน้ำตาล และผลพลอยได้ที่เป็นนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนมาก โดยการประชุมแต่ละครั้งจะมีนักวิชาการ นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาล และผลพลอยได้จากน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 1,500 คนเข้าร่วมงาน

ในการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล ครั้งที่ 28 ท่านครเซาเปาโล ประเทศบราซิล ครั้งที่ผ่านมามีการจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านอ้อยและน้ำตาล การศึกษาดูงานสถาบันวิจัยด้านพืช การพาเยี่ยมชมพื้นที่อุตสาหกรรมการเกษตร การจัดการไร่อ้อย ณ เมืองเซาเปาโล นอกจากนี้ ภายในงานมีการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จำนวน 198 เรื่อง และโปสเตอร์อีก 136 เรื่องของประเทศต่าง ๆ รวมถึงการจัดแสดงเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 2,000 คน จากนานาประเทศทั่วโลก

TSSCT ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2467 หรือประมาณ 90 ปี มาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิชาการด้วยกัน และผู้ประกอบการในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลจากทั่วโลก ขณะที่ TSSCT ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 จัดตั้งขึ้นโดยจะมีกิจกรรมร่วมกับ ISSCT ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการาจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในสาขาต่างๆ เช่น ด้านกีฎวิทยา ด้านโรคพืช ด้านพืชไร่ ด้านเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงเรื่องการผลิตผลพลอยได้จากอ้อยและน้ำตาล (Co - Product)เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 กรกฎาคม 2556

สนไหม? แปลงหลังคาเป็นเงิน "โรงไฟฟ้าบนหลังคา พลังงานทางเลือก" 8 ปีคืนทุน อีก17ปีโกยกำไร !!

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยดำรงสถานะผู้นำเข้าพลังงานเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้ผลิตพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะพลังงานในรูปของน้ำมัน ดังนั้น จึงต้องขยับตัวเคลื่อนไหวตลอดเพื่อรับมือกับการเผชิญหน้าสถานการณ์ วิกฤตพลังงานŽ อยู่เสมอ

สำหรับปีนี้ ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาเรื่องพลังงานที่ส่งผลกระทบกับคนค่อนประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก ต้นเดือนเมษายน มีการเตือนแจ้งให้รับทราบตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า แหล่งผลิตก๊าซของพม่าถึงคราวต้องปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ ก๊าซธรรมชาติที่ไทยต้องควักเงินซื้อจากพม่า คิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตทั้งระบบของประเทศจะหายวับทันที

ครั้งที่สอง เกิดกระแสไฟใน 14 จังหวัดภาคใต้ดับลง สาเหตุมาจากอุบัติเหตุสายส่งเกิดขัดข้อง คนใต้ส่วนหนึ่งต้องใช้แสงสว่างจากไส้เทียนมองหน้ากัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของสาเหตุไฟดับ เนื่องจากภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ได้เพียงพอ ต้องพึ่งพิงไฟฟ้าจากภาคกลาง

ทั้ง 2 เหตุเป็นการเผชิญความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน ประกอบกับก๊าซฯในอ่าวไทยที่เคยคิดว่ามีเหลือใช้กำลังนับถอยหลังหมดลง การมุ่งหาพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางเลือกที่จำเป็น เป็นตัวเลือกที่ตอบได้เลยว่า ใช่

หนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะกับไทยอย่างมาก คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องแต่ละวันอย่างแข็งขัน ไม่ว่าฤดูไหนก็ตาม น่าจะเป็นทางเลือกการเพิ่มปริมาณสำรองประเทศได้เป็นอย่างดี โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นผู้สนับสนุน เอกชนหลายรายที่สนใจต่างก็วิ่งเข้าสู่ถนนสายเดียวกันเพื่อทำธุรกิจนี้

แต่ใช่ว่าการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบเรียงรายยกระดับจากพื้นดินลักษณะโล่งกว้าง หรือโซลาร์ กราวด์ จะใช่คำตอบของการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ทั้งหมด เพราะทางเลือกการผลิตไฟฟ้าโดยติดแผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน หรือ โซลาร์ รูฟ (solar roof) เป็นอีกประเด็นที่ประชาชนและเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเรียกร้องต้องการ

โซลาร์ รูฟ เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ประชาชนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมติดบนหลังคาบ้าน เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง

แนวคิดนี้ยังได้รับการตอบสนองอย่างจริงจังจาก พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ล่าสุด เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเพื่อผลักดันโครงการนี้ให้เดินหน้าอย่างจริงจังภายใต้แรงสนับสนุนจากรัฐบาล

"รัฐบาลจะสนับสนุนให้บ้านเรือน และอาคารธุรกิจ ติดแผงโซลาร์ รูฟ เพื่อใช้เองและนำส่วนที่เหลือขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบผ่านการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์"Ž รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอธิบาย

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการสนับสนุนอัตราขายไฟฟ้าคร่าวๆ ว่า จะแบ่งการผลิตดังนี้ ประเภทบ้านพักอาศัย ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เมื่อผลิตเกินความต้องการใช้ภายในบ้าน รัฐบาลรับซื้อในอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่รวมค่าไฟฐาน หรือฟีดอินทารีฟ ที่ 6.96 บาทต่อหน่วย ส่วนประเภทธุรกิจขนาดเล็ก ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ระหว่าง 10-250 กิโลวัตต์ รับซื้ออัตรา 6.55 บาทต่อหน่วย และธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ ติดตั้ง 250 กิโลวัตต์ขึ้นไป รับซื้อ 6.16 บาทต่อหน่วย อัตรานี้จะเป็นเงื่อนไขในปีนี้ และปี 2557 จากนั้นจะค่อยๆ ปรับลดการพิจารณาปีต่อปี เพราะคาดว่าต้นทุนราคาผลิตจะถูกลงเมื่อได้รับความนิยมŽ

นโยบายโซลาร์ รูฟ ยังมาพร้อมกับแพคเกจกระตุ้นความสนใจของประชาชน อาทิ นโยบายด้านภาษี ส่วนความกังวลเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งได้รับการยืนยันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วว่า ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ รง.4

รับทราบนโยบายในภาพรวมไปแล้ว ลองมาทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ ชุดอุปกรณ์ติดตั้งโซลาร์ รูฟŽ จากเอกชน ที่ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกๆ กระโจนเข้าสู่ธุรกิจนี้

วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่ของ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือเอสพีอาร์ กล่าวว่า เอสพีอาร์คือผู้พัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาแห่งเดียวของไทย และเป็นแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน

ผู้บริหารอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน วัสดุหลักคือ แผงโซลาร์ และมิเตอร์ไฟที่จะใช้แบบ Time of use หรือทีโอยู เป็นมิเตอร์เฉพาะ คำนวณค่าไฟแบบ 2 ช่วงเวลา คือ กลางวันคิดราคา 6.20 บาทต่อหน่วย กลางคืน 3 บาทต่อหน่วย

"กลางวันเมื่อผลิตไฟฟ้าได้ก็ใช้ภายในบ้าน แต่ถ้าเหลือใช้ก็ขายคืนให้กับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามพื้นที่ตั้งของบ้าน ในอัตรา 6.96 บาทต่อหน่วย แต่ไฟที่ผลิตได้ยังไม่สามารถเก็บไว้ใช้กลางคืนได้ เพราะอยู่ระหว่างพัฒนาแบตเตอรี่สำรอง ปัจจุบันราคาแพงมาก"Ž

บิ๊กเอสพีซีจียังกล่าวต่อว่า ชุดติดตั้งดังกล่าวสามารถติดตั้งบนหลังคาบ้านทุกจุดของประเทศ เหมาะกับบ้าน โรงงาน หรือโรงแรมที่ใช้ไฟช่วงกลางวันมากๆ หากสกปรกสามารถทำความสะอาดได้ทันที สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เริ่มทำตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เน้นเจาะตลาดบ้านระดับกลางถึงระดับบนเป็นหลัก

"บ้านระดับกลางจะใช้ไฟฟ้าประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน เหมาะกับการติดตั้งโซลาร์ รูฟ กำลังการผลิต 3.8 กิโลวัตต์ ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด บนพื้นที่หลังคา 20-25 ตารางเมตร หรือจำนวนแผงโซลาร์ 16 แผง (แผงละ 240 วัตต์) ราคาติดตั้ง 300,000 บาท ระยะเวลาคืนทุน 8 ปี อายุใช้งาน 25 ปี บริษัทจะรับประกันตลอดอายุการใช้งาน ดังนั้น เวลาคุ้มทุน 8 ปี จึงคุ้มค่า เพราะอีก 17 ปีที่เหลือคือกำไรŽ"

วันดียังขยายความถึงเวลาคุ้มทุน 8 ปี ว่า เป็นการคำนวณจากทีมที่ปรึกษาบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านโซลาร์ รูฟ เมื่อนำมาประยุกต์กับไทยก็ใช้อัตราการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น 3% ต่อปี จึงคำนวณออกมาได้ 8 ปี ขณะนี้มีคนดังที่สนใจติดโซลาร์ รูฟ แล้วหลายราย อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เมื่อบทบาทของพลังงานสะอาดได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่ ถึงคราวที่คนไทยต้องปรับตัว ไม่ใช่อยู่ในฐานะ ผู้ใช้Ž กดสวิตช์เพื่อใช้ไฟอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องอยู่ในบทบาท ผู้ผลิตŽ ด้วย เมื่อกระแสไฟเหลือในระบบก็ขายไฟคืนทางการ

หากร่วมกันทำ รับผิดชอบกันคนละฝ่ามือ เพียงเท่านี้ คำว่า วิกฤตŽ ก็จะไม่เข้ามาข้องแวะอีกต่อไป

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 17 กรกฎาคม 2556

อนุรักษ์ดินและน้ำ …ฟื้นชีวิตเกษตรกรไทย - ดินดีสมเป็นนาสวน

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผนวกปัญหาดินเสื่อมและปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ผุดโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำ หวังพลิกฟื้นที่ทำกิน ช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ดร.พิทยากร ลิ่มทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัจจุบันทรัพยากรดินที่ใช้ทำการเกษตรมีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรมและ อินทรียวัตถุต่ำมากเกือบทั่วทั้งประเทศ เห็นชัดที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว เป็นต้น ส่วนเรื่องน้ำ ปัญหาที่เกษตรกรประสบอยู่คือ น้ำท่วมและภัยแล้ง ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดินจึงได้ผนวกทั้งสองปัญหาเข้าด้วยกันเกิดเป็นโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยมีหลักการคือ เก็บดินไว้ในพื้นที่ เก็บน้ำไว้ในดิน

สำหรับการอนุรักษ์ดินและน้ำ ใช้หลักวิชาการ 2 วิธี คือ วิธีกลและวิธีพืช สำหรับวิธีกล นั้น เป็นการควบคุมนํ้าไหลบ่าหน้าดิน โดยการสร้างสิ่งกีดขวางความลาดเทของพื้นที่และทิศทางการไหลของนํ้า ช่วย ลดความเร็วของกระแสนํ้า โดยความยาว ของความลาดเทจะถูกแบ่งออกเป็นระยะ ๆ มาตรการวิธีกลมีหลายวิธี เช่น การไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับ การยกร่องตามแนวระดับ การทำร่องนํ้าไปตามแนวระดับ การยกร่องปิดหัวท้าย ประโยชน์ที่ได้คือ การกักเก็บนํ้า ลดปริมาณนํ้าไหลบ่า และลดการชะล้างพังทลายของดิน ส่วนวิธีพืช คือการปลูกพืชที่มีประโยชน์ด้านอนุรักษ์ ป้องกัน ฟื้นฟูบำรุงดินและน้ำให้อยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ เช่น การปลูกพืชตามแนวระดับ ปลูกพืชสลับเป็นแถบ ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชแซม ปลูกพืชเหลื่อมฤดู และการปลูกหญ้าแฝก วิธีเหล่านี้จะช่วยควบคุมการระเหยน้ำจากผิวดิน ดินอุ้มน้ำไว้ได้ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ดินจะมีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยลดแรงปะทะของหน้าดินกับเม็ดฝนทำให้ดินร่วนซุย ซึ่งวิธีพืชที่ทางกรมพัฒนาที่ดินส่งเสริมคือการปลูกหญ้าแฝกเพราะรากของหญ้าแฝกจะประสานกันอย่างหนาแน่น สามารถเก็บกักน้ำและความชื้นได้ ป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้ การปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกเป็นแถวตามระดับขวางความลาดเทในช่วงต้นฤดูฝน

สิ่งที่สำคัญของการอนุรักษ์น้ำคือเก็บให้พอใช้ ส่วนที่เหลือปล่อยให้เกษตรกรพื้นที่ด้านล่างได้ใช้ โดยจะมีหลักการคำนวณว่าพื้นที่นั้น จะใช้น้ำเท่าไหร่ ดินก็เหมือนกัน เมื่อเราใช้วิธีการอนุรักษ์เข้าไปช่วย ดินก็ไม่ไหลลงมาข้างล่าง ไม่ถูกชะล้าง ดินก็จะถูกเก็บไว้ในพื้นที่ เมื่อนำการจัดการน้ำผนวกเข้ากับการจัดการดินแล้วก็จะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ

สำหรับเกษตรกรที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2579-2875หรือ คอลเซ็นเตอร์ 1760 และ www.ldd.go.th

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 กรกฎาคม 2556

พลิกมิติแก้ปัญหาเกษตรกรไทย จากระดับรากหญ้าขึ้นสู่ระดับชาติ

จากการสัมมนาระดมความคิด “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติ สู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน” ที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คชาลเลนเจอร์ เมืองทองธานี ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของเกษตรกรไทย ในการแสดงให้เห็นว่านับจากนี้ไปปัญหาของ “เกษตรกรไทย” จะไม่ถูกทอดทิ้งอีกต่อไป เสียงของเกษตรกรจะดังขึ้นพอที่จะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาเหลียวมองอย่างจริงจังมากขึ้น

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนแรกของประเทศ กล่าวว่า การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติมีเจตนารมณ์เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรโดยรวม ด้วยการสนับสนุนสิทธิการมีส่วนร่วมของเกษตรกร การรวมตัวกันเพื่อกำหนดนโยบายและการวางแผนพัฒนาเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น จึงบัญญัติให้สภาเกษตรกรแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่สำคัญมากไว้ประการหนึ่ง คือ การจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ นำไปปฏิบัติในการพัฒนาเกษตรกรรม ซึ่งการทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนเพื่อพัฒนา การเกษตรกรรมนั้น กระบวนการจัดทำต้องริเริ่มจากล่างสู่บน ในการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดโดยสภาเกษตรกรจังหวัดก่อน จากนั้นนำมาบูรณาการพัฒนาเป็นแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม อันถือเป็นแผนพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศไทยโดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ

สำหรับ แนวยุทธศาสตร์สภาเกษตรกร นับจากนี้ไปด้วย นายประพัฒน์กล่าวว่าจะเดินหน้าเต็มกำลังโดยได้วาง แผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการระหว่างปี 2556-2559 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ๆ ด้วยกัน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อสภาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรเพื่อประกอบการตัดสินใจ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านบูรณาการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมระดับชาติจากล่างสู่บน ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม

ในการร่างแผนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติ ปี 2556-2559 พบว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติได้กำหนดไว้โดยชัด เจนในประเด็น ยุทธศาสตร์ที่ 3 จะดำเนินการ จัดทำ “แผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมระดับชาติจากล่างสู่บน” ซึ่งจะเป็นแผนงานที่เกษตรกรร่วมมือจัดทำตั้งแต่ในระดับพื้นที่ขึ้นมาจนถึงระดับชาติ โดยผ่านเครือข่ายองค์กรของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งมีผู้แทนเครือข่ายกระจายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศจากระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ขึ้นมาจนถึงระดับชาติ

เป็นแผนงานที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้ จริงของเกษตรกร สามารถแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรได้อย่างตรงประ เด็นมากที่สุด ซึ่งจะเป็นแผนงานครั้งประวัติศาสตร์ของชาติในเรื่องการพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่จะมาจากเกษตรกรรากหญ้า

...หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง จะเป็น “แผนพัฒนาของเกษตรกร โดยเกษตรกร และเพื่อเกษตรกร” อย่างแท้จริง และถือเป็นการพลิกมิติครั้งสำคัญในการแก้ปัญหาจากระดับรากหญ้าขึ้นสู่ระดับชาติ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 กรกฎาคม 2556

กพช.หนุนหญ้าเนเปียร์พลังงานทดแทนหลัก

กพช.ปรับเป้าแผนพลังงานทดแทนฯ หนุนหญ้าเนเปียร์ – โซลาร์เซลล์ ให้สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 โดยที่ประชุม กพช. เห็นชอบการปรับเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากขยะ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โดยเฉพาะจากหญ้าเนเปียร์ที่เพิ่มขึ้นถึง 3,000 เมกะวัตต์ โดยแผนใหม่มีเป้าหมายรวมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้า 13,927 เมกะวัตต์ คิดเป็นเป้าหมายรวมที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 4,726 เมกะวัตต์

พร้อมกันนี้ เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ กลุ่มบ้านอยู่อาศัย กำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.96 บาท/หน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็ก ขนาด 10–250 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.55 บาท/หน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง –ใหญ่ ขนาด 250-1,000 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.16 บาท/หน่วย

ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติจัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษ ปีที่ 1-3 ระบบ FIT อัตรา 9.75 บาท/หน่วย ปีที่ 4-10 อัตรา 6.50 บาท/หน่วย ปีที่ 11-25 อัตรา 4.50 บาท/หน่วย ทั้งนี้ จะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2557

ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้เป็นการเร่งด่วน เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มชั่วโมงการเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เต็มกำลังการผลิต และให้พิจารณาใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 10 ของปริมาณการใช้น้ำมันเพื่อลดปัญหาด้านการขนส่งน้ำมันเตา รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และมอบหมายให้ กกพ.กำกับดูแลการดำเนินการ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

"ยุคล" สั่งกรมวิชาการทำกฎหมาย แก้ปัญหาปุ๋ยโฆษณาเกินจริง

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันนี้ พบโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช ทั้งโทรทัศน์และวิทยุ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในวิทยุชุมชน ตามต่างจังหวัด โฆษณาปุ๋ยหลายชนิดหลอกให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่าใส่แล้วจะได้ผลผลิตปริมาณมาก ยาปราบศัตรูพืชบางยี่ห้อ อวดอ้างสรรพคุณว่าใส่ต้นข้าวแล้ว จะมีสารซิลิกามาเคลือบต้นข้าว เพลี้ยกระโดดกัดไม่เข้า ซึ่งในทางวิชาการแล้วไม่เป็นความจริง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

ทั้งนี้ กฎหมายที่ให้อำนาจกรมวิชาการเกษตรกรกำกับดูแลปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ฉบับปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 ไม่ครอบคลุมเรื่องการโฆษณา การเอาผิดกับผู้โฆษณายังต้องให้กรมวิชาการเกษตร เป็นเจ้าทุกข์ฟ้องร้องกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ซึ่งขั้นตอนท้ายที่สุดก็ต้องย้อนกลับไปแจ้งความกับตำรวจอยู่ดี ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงได้ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ไปพิจารณาจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้สามารถเอาผิดกับโฆษณาเกินจริงได้ เหมือนกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่มีอำนาจเอาผิดกับอาหารและยาที่โฆษณาเกินจริงได้

“ปัญหาของการโฆษณาเกินจริง คือ ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะลงทุนเสียเงินซื้อมาใช้แล้วไม่ได้ผลคุ้มค่า ล่าสุดมีโฆษณาปุ๋ยยี่ห้อหนึ่งโฆษณาทางโทรทัศน์ ที่ฉายภาพกรีดต้นยาง แล้วน้ำยางพุ่งออกมาเหมือนท่อประปาแตก ผมก็เห็นว่าโฆษณาเกินจริง จึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ไปรวบรวมข้อมูลและหลักฐานทั้งหมด เพื่อเป็นเจ้าทุกข์ฟ้องร้องกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ไปพลางก่อนที่จะมีการจัดทำร่างแก้ไขกฎหมาย เพิ่มอำนาจให้กรมวิชาการเกษตรสามารถเอาผิดโฆษณาเกินจริงได้ ” นายยุคลกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

ธ.ก.ส.มอบบัตรสินเชื่อเกษตรกร 4 ล้านบัตร พร้อมขยายสิทธิประโยชน์ให้เกษตรกรทั่วประเทศ

รัฐบาลเปิดงานขับเคลื่อนโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรระยะที่ 2 “ก้าวสู่ 4,000,000 บัตร เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงการผลิต การดำรงชีวิต การเงิน” อย่างเป็นทางการ หลังประสบความสำเร็จจาก 2 ล้านบัตรแรก พร้อมขยายขอบเขตการใช้บัตรและสิทธิประโยชน์ของบัตรเพิ่มเติมให้กับเกษตรกรทุกอาชีพการผลิต

วันที่ 14 ก.ค.56 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ระยะที่ 2 ก้าวสู่ 4,000,000 บัตร โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง กว่า 15,000 คนเข้าร่วมงาน ณ โรงเรียนบ้านโนนศิลา ต.ถลุงเหล็ก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ขณะที่ ธ.ก.ส.พร้อมมอบบัตรสินเชื่อให้แก่เกษตรกรทุกอาชีพการผลิต ทั่วประเทศทันที 4 ล้านบัตร

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิตและแบ่งเบาภาระด้านการเงินของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งในระยะแรกได้ดำเนินการจัดทำบัตรสินเชื่อเกษตรกรจำนวน 2 ล้านใบ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวก่อน เพื่อให้สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนในระยะที่ 2 ได้ขยายการจัดทำบัตรสินเชื่อไปยังเกษตรกรทุกอาชีพการผลิต ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืชผลหลัก ได้แก่ ยางพารา อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ลำไย และประกอบอาชีพประมง ปศุสัตว์ เป็นต้น ทั้งได้ขยายสิทธิประโยชน์ของบัตรให้สามารถจัดซื้อปัจจัยการผลิตอื่นๆได้หลากหลายและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้บัตรสินเชื่อเกษตรกรเป็นบัตรที่ให้มากกว่าสินเชื่อ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย ทั้งหลักประกันด้านการผลิต หลักประกันความมั่นคงในชีวิต และหลักประกันทางการเงิน

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ณ ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการส่งมอบไปแล้ว 2,571,817 บัตร วงเงินที่อนุมัติ 57,615,005,113 บาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 10,516,920,000 บาท มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 5,572 ร้าน และได้รับการรับรอง Q Shop แล้วจำนวน 253 ร้านค้า และ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการจัดหาปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ถือบัตรสินเชื่อเกษตรกรจำนวน 400,000 ตัน มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 25 บริษัท มียอดการจ่ายปุ๋ย จำนวน 191,257 ตัน คิดเป็น 47.81% ของเป้าหมาย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

เผยมลพิษทางอากาศไทยมีแนวโน้มรุนแรงแต่ยังไม่เกินมาตรฐาน

กรมควบคุมมลพิษติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศของไทยมีแนวโน้มรุนแรงแต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยพื้นที่อุตสาหกรรมบางแห่งพบการเกิดฝนกรดแต่ยังไม่รุนแรง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศ

กรมควบคุมมลพิษร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดสัมมนาการสร้างความตระหนักรู้ด้านมลพิษอากาศ โดย นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศของไทยมีแนวโน้มรุนแรง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งปัญหามาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม และภาคการเกษตร มีการปล่อยมลพิษออกมาปริมาณสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่และบริเวณใกล้เคียงมีโอกาสเกิดการสะสมของกรดขึ้น เป็นผลให้เกิดปรากฏการณ์ฝนกรดในหลายพื้นที่ของไทยและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจากการตรวจสอบพบค่าความเป็นด่างในน้ำฝนลดลงต่ำกว่า 5.6 แต่ยังไม่ส่งผลต่อสุขภาพและระบบนิเวศ

อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดทุกชนิด ซึ่งจะสามารถบรรเทาปัญหาได้.- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

คอลัมน์ อีโคโฟกัส: สมศักดิ์ สุวัฒิกะ ยัน พร้อมลอยตัวน้ำตาลปี 2556

ในปี 2558 นั้นประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะก้าวสู่ประ ชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และเปิดเสรีราคาน้ำตาลทราย เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีความพร้อมเพื่อรองรับกับการเปิดเสรีดังกล่าว คณะรัฐมนตรีที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรที่จะเตรียมรับมือและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะลอยตัวราคาน้ำตาลให้ทันกับฤดูการผลิตปี 2556/2557 ซึ่งเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

* ความคืบหน้าการลอยตัวราคาน้ำตาลเป็นอย่างไร

คณะทำงานผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะหารือถึงแนวทางการดำเนินงานโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการประกาศใช้ให้ทันฤดูหีบปี 56/57 หรือก่อน พ.ย.2556 นี้

* รูปแบบการลอยตัวราคาน้ำตาลเป็นอย่างไร

สอน.จะต้องเร่งทำเพราะเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนำผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอมาปรับโครงสร้างราคาน้ำตาล ซึ่ง สอน.มั่นใจว่าทำได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นจากราคาน้ำมันที่ลอยตัว โดยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาเสร็จแล้ว แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างหาข้อยุติว่าจะทำอย่างไร และด้วยความที่เป็นเรื่องเร่งด่วนจึงเอาเรื่องลอยตัวราคาน้ำตาลมาใช้

* ทำไมต้องปรับโครงสร้างและลอยตัวราคาน้ำตาล

จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่มีระบบอยู่แล้ว แต่รัฐบาลเห็นว่ายังไม่ทันสมัย ต้องการปรับปรุงให้มีความทันสมัย ซึ่งโดยรวมแล้วอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ทุกส่วนของอ้อยใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด น้ำตาล กากน้ำตาลทำเอทานอล ทำสารพลาสติกชีวภาพ ทำสารเคมี กากอ้อยเอามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

จะยกตัวอย่างง่ายๆ ประเทศไทยกำลังมีความต้องการเอทานอลสูงมากนับตั้งแต่ยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต้องเตรียมพร้อมในการรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีการพัฒนารถยนต์ให้ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง 1000% ด้านกากอ้อยปีที่แล้วมีทั้งหมด 28 ล้านตัน ผลิตไฟฟ้าได้กว่า 1,000 เมกะวัตต์

* ถ้าลอยตัวราคาหรือการเปิดเสรีน้ำตาลแล้วจะกระทบกับผู้บริโภคหรือไม่

เราเปิดเสรีราคาน้ำตาลมานานแล้ว แต่เปิดเสรีราคาน้ำตาลของประเทศไทยจะเป็นการนำเข้า แต่ก็ยังไม่เคยนำเข้าเพราะเราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดของเอเชีย และรายที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล และราคาน้ำตาลในประเทศไทยถูกมีราคาขายปลีกที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม แต่ประเทศเพื่อนบ้านขาย 30-35 บาทต่อกิโลกรัม
ซึ่งสาเหตุที่ราคาน้ำตาลในประเทศต่ำกว่าราคาต่างประเทศเพราะถูกควบคุมไว้ ส่วนต่างประเทศนั้นราคาสูงเพราะมีการอุดหนุนจากรัฐบาลและผูกขาด ดังนั้นจึงไม่มีการนำเข้าน้ำตาล จะมีแต่แอบลักลอบส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน
* ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายเท่าไหร่

ความต้องการน้ำตาลในตลาดเพิ่มขึ้นแม้ว่าในปี 2556 นี้จะมีน้ำตาลล้นตลาด 8 ล้านตัน แต่แนวโน้มการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี 8% ซึ่งในปี 2555/2556 สอน.เริ่มต้นประกาศปริมาณน้ำตาลบริโภคในประเทศจำนวน 2.4 ล้าน แต่เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาพบว่าไม่เพียงพอ จึงได้ประกาศเพิ่มอีก 1 ล้านตัน เป็น 2.5 ล้านตัน แต่ตอนนี้ที่ผ่านคณะกรรมการน้ำตาล (กน.) เห็นว่าไม่น่าจะพอ เพราะผู้บริโภคทางตรงมีการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก เช่นน้ำดื่ม หรือผลไม้กระป๋อง จึงจัดสรรโควตา ก. ซึ่งบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น เป็น 2.6 ล้านตัน และสำรองไว้อีก 5 แสนตัน

* แนวโน้มปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายในฤดูการผลิต 2556/2557 เป็นอย่างไร

อ้อยฤดูกาลผลิต 2556/2557 คาดว่าจะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลผลิตปีนี้ หรือ 2555/2556 ซึ่งอยู่ที่ 100.4 ล้านตันอ้อย ขณะที่ฤดูกาลผลิต 2558/2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 130 ล้านตันอ้อย และฤดูกาลผลิต 2561/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 180 ล้านตันอ้อย ด้านพื้นที่ปลูกอ้อยพบว่าฤดูกาลผลิต 2556/2557 จะอยู่ที่ 11 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลผลิต 2556/2557 ซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านไร่ เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น หลังจากราคาสินค้าเกษตรประเภทอื่น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ราคาลดลง

ทั้งนี้ ในปี 2555/2556 ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดปัญหาเรื่องอ้อยเข้าหีบโรงงานต้องรอคิวนาน ทำให้ค่าความหวานลดลง จนปริมาณน้ำตาลหรือค่าความหวานซีซีเอสลดลง รวมถึงยังทำให้จำนวนวันหีบอ้อยเพิ่มขึ้น จากปกติ 120 วัน เพิ่มเป็น 180 วัน

* มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง

ทาง สอน.จะเร่งรัดโรงงานที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ให้ตั้งโรงงานให้เสร็จตามกำหนดคือหลังจากอนุมัติ 5 ปี ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานที่ขอเข้ามาประมาณ 10 โรงงาน แต่ขณะนี้เกิดปัญหามีความล่าช้าในการก่อสร้าง ทาง สอน.กำลังดูว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมไม่ก่อสร้าง ซึ่งในเบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่ สอน.เช็กโรงงานที่ได้รับอนุญาตจาก ครม.ให้ตั้งแล้วประมาณ 10 แห่ง ว่าดำเนินการคืบหน้าอย่างไร เพราะกำหนดเปิดหีบภายใน 5 ปี แต่ผ่านมาประมาณ 2 ปีแล้วยังไม่มีรายใดเริ่มก่อสร้าง ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าติดปัญหาเรื่องใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 อย่างไรก็ตาม ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ สอน.จะเสนอวาระเพื่อให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวง เป็นประธานพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล ที่เดิมกำหนดระยะห่างระหว่างโรงงานไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร (กม.) ให้เหลือต่ำกว่า 80 กม.ได้ เนื่องจากพบว่าแนวโน้มปริมาณอ้อยจะมีเพิ่มขึ้นจากอดีตที่มีน้อยเกิดการแย่งอ้อย จึงต้องกำหนดระยะห่างไว้ให้มาก

* ปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลคืออะไร

ปัจจัยหลักๆ คือภัยธรรมชาติซึ่งมีผลกระทบกับอ้อยมาก เนื่องจากระบบชลประทานยังไปไม่ถึง ต้องอาศัยดิน ฟ้า อากาศ ดังนั้น สอน.มีมาตรการช่วยเหลือโดยมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เกษตรกรสำหรับหาแหล่งน้ำ ดอกเบี้ย 2% โดยโรงงานเป็นผู้ค้ำประกัน และขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะให้ใครระหว่างรัฐและกองทุนอ้อยและน้ำตาลเป็นผู้แบกรับดอกเบี้ย ส่วนต่าง

และยังมีปัญหาเรื่องรถตัดอ้อยและแรงงาน ซึ่งตั้งแต่ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท แรงงานที่ตัดอ้อยหายากมากขึ้น จึงต้องหันไปพึ่งรถตัดอ้อย ดังนั้น สอน.จึงส่งเสริมให้มีรถตัดอ้อยซึ่งมีวงเงิน 3,000 ล้านบาท และเมื่อฤดูการผลิตที่แล้ว 2555/2556 ได้ใช้ไปเกือบ 2,000 ล้านบาท ในฤดูการผลิต 2556/2557 จะดำเนินการอีก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และหาวงเงินให้ชาวไร่กู้ แบ่งเป็นรถตัดอ้อย 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% และภัยแล้ง 1,000 ล้าน ดอกเบี้ย 2%

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเผาอ้อยซึ่งไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร โดยในปี 2555/2556 พบว่ามีการเผาอ้อยกว่า 60% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาแรงงานขาดแคลน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะค่าความหวานที่ลดลง และยังสร้างมลพิษเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีข้อกำหนดว่าจะหักค่าเผาอ้อย 30 บาทต่อตัน ก็ยังมีการเผาที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ สอน.จะพยายามแก้ไขคือเร่งประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมในเรื่องรถตัดอ้อย

และยังมีปัญหาที่สำคัญซึ่งมักจะถูกต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรปใช้เป็นข้ออ้างกีดกันทางการค้า คือ ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งอเมริกาขึ้นบัญชีดำไทยไว้ แต่ สอน.ได้ประกาศเจตนารมณ์และเซ็นสัญญาว่าจะไม่มีเด็กเข้าไปอยู่ในไร่อ้อย.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกษตรเดินหน้าปั้นนักบริหาร กรมส่งเสริมฯเปิดหลักสูตรติวเข้มขรก./ดันปรับกระบวนทัศน์เชื่อมอาเซียน

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดี กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาและเพิ่มทักษะแก่บุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงได้เปิดหลักสูตรอบรมนักบริหารส่งเสริมการเกษตร (นสก.) ประจำปี 2556 เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะด้านการบริหาร แก่ข้าราชการในสังกัดจำนวน 200 คน ให้สามารถนำประสบการณ์มาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่และบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและการปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประสานงานและการสร้างเครือข่ายการทำงานในอนาคต

โดยการอบรมดังกล่าว จะแบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 100 คน ระยะเวลาอบรมรวม 24 วัน โดยรุ่นแรกทำการอบรมระหว่างวันที่
24 มิถุนายน 2556 -17 กรกฎาคม 2556 ส่วนรุ่นที่ 2 จะมีการอบรมระหว่างวันที่ 5-28 สิงหาคม 2556 ขณะที่หลักสูตรการอบรม จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การอบรมในชั้นเรียน ซึ่งจะมีการบรรยายเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็นในด้านต่างๆ รวมทั้งมีการอภิปรายกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด การยกกรณีตัวอย่างมาหารือ รวมทั้งมีการฝึกปฏิบัติ การสาธิต และการตั้งกรณีศึกษา 2.การอบรมนอกชั้นเรียน โดยมีการทัศนศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์เชิงประจักษ์ให้แก่ผู้รับการอบรม และ 3.กิจกรรมเสริมหลักสูตร อาทิ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และกิจกรรมนันทนาการต่างๆ

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ในการอบรมนอกสถานที่ของหลักสูตร นสก. ประจำปี 2556 จึงมีการสอดแทรกการเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศกลุ่มอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์เชิงประจักษ์ด้านการบริหารงานและด้านการเกษตร รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถปรับบทบาทและกระบวนทัศน์ ให้สอดประสานและเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตรภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

นายกรัฐมนตรี ให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นอีก 1 พื้นที่ทดลองจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตรควบคู่กับจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยการปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ใช้น้ำน้อยแต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

นายกรัฐมนตรี ให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นอีก 1 พื้นที่ทดลองจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตรควบคู่กับจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยการปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ใช้น้ำน้อยแต่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ขณะที่จังหวัดมหาสารคามเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ภาพรวมลงพื้นที่ 2 วันได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน

ตลอดการเดินทางลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้านโยบายรัฐบาลและติดตามโครงการยุทธศาสต์การพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดมหาสารคามให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ประเทศในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2556 ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนจำนวนมากที่มาต้อนรับและพูดคุยถึงประโยชน์ที่ได้รับจากนโยบายต่างๆที่รัฐบาลได้เร่งรัดจัดสรรงบประมาณสู่ภูมิภาคในการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและสินค้าการเกษตรให้แข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ โดยเฉพาะพืชอาหารและพืชพลังงาน เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย รวมถึง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหลายพื้นที่ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอใช้ภาคการเกษตร นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า การจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตรเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการยกระดับสินค้าเกษตรของไทยให้มีคุณภาพ เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจนสามารถพึ่งพาตนเองและลดหนี้นอกระบบได้หมดในอนาคต และรู้จักเรียนรู้การออมเงินไว้ใช้กรณีฉุกเฉินหรือยามชรา เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพดินแทนการปลูกข้าวที่ใช้น้ำมาก หรือ บางพื้นที่ปลูกข้าวสายพันธุ์ที่ใช้น้ำน้อยอยู่แล้วควรปลูกพืชชนิดอื่นๆแซมดินหรือช่วงเว้นว่างจากการทำนา เพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่องและสภาพดินมีคุณภาพมากขึ้น คาดว่า จะทดรองจัดโซนนิ่งภาคเกษตรในจังหวัดบุรีรัมย์เพิ่มขึ้นอีก 1 พื้นที่ควบคู่กับจังหวัดกำแพงเพชร เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก โดยจะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ลงพื้นที่ร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจ ปรับปรุงสายพันธุ์พืช และเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขที่แท้จริง ส่วนจังหวัดมหาสารคามจะเน้นการพัฒนาศักยภาพภาคการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และภาคอุตสาหกรรมที่มีการค้าการลงทุน ที่สำคัญจะเร่งปรับปรุงระบบชลประทานทั้งประเทศใหม่ให้มีศักยภาพและเป็นระบบทั้งการเก็บน้ำใช้และการระบายน้ำเริ่มนำร่องที่จังหวัดบุรีรัมย์ก่อนพื้นที่แรก ซึ่งมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)หาแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาล พยายามเชื่อมโยงการทำงานให้เชื่อมโยงกันระหว่างจังหวัดและกระทรวงต่างๆในทุกด้าน โดยเฉพาะการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศในการเข้าถึงชุมชนมากขึ้นและแก้ปัญหาได้ตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงจากการรับฟังปัญหาด้วยตนเองในพื้นที่จริง เพื่อพัฒนาระบบสินค้าเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการลดต้นทุนการผลิตและการขนส่งลงรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า และในวันพรุ่งนี้จะเข้าร่วมการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคอาเซียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

กาญจนบุรีเดินหน้าอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ/รายงานพิเศษ/ทีมข่าวภูมิภาค

ปัจจุบันเกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรดินมากขึ้น จะเห็นได้จาก “ประธูป บุญเชิด” หมอดิอาสา อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่มุ่งมั่นกับการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดการชะล้างพังทลายของหน้าดินในช่วงที่มีฝนตก อีกทั้งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน นอกจากนี้ ใบหญ้าแฝกก็สามารถนำมาประยุกต์ เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมต่างๆในชุมชนได้อีกด้วย

นายธูป กล่าวว่า แต่ก่อนพื้นที่ของตัวเองเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว พอปลูกเป็นระยะเวลานาน ดินก็พังทลาย เนื่องจากพื้นที่ดินแห่งนี้ ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว ให้ทำเกิดปัญหามาก จนกระทั่งกรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาแนะนำและให้ความรู้ ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ลาดชัน ควรจะนำโครงการพระราชดำริ เข้ามาประยุกต์ใช้ หลังจากนั้นกรมก็เข้าติดต่อ ประกอบกับช่วงนั้นเป็นผู้ช่วยของตำบล ก็มีการประชุมกับชาวบ้านถึงแนวทางการพัฒนาดินอย่างต่อเนื่อง และเห็นด้วยร่วมกันจะนำโครงการพระราชดำริมาใช้

นายธูป กล่าวต่อว่า หลังจากที่ตกลงรับโครงการพระราชดิริเข้ามาใช้ในพื้นที่ ทางกรมพัฒนาที่ดินก็เข้ามาให้ความรู้ โดยเฉพาะการปลูกหญ้าแฝก ซึ่งในอดีตชาวบ้านมีการปลูกยาง โดยใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก เมื่อสารเคมีสั่งสมเป็นระยะเวลานาน สภาพดินก็จะทรุดโทรม เกิดการพังทลายของหน้าดิน ยิ่งพื้นที่1ไร่ปลูกมันสำปะหลัง ได้ 500 กิโลกรัม แต่ตอนนี้เหลือ 200 กิโลกรัม ชาวบ้านก็ปล่อยพื้นที่ทิ้งให้รกร้าง และบุกรุกป่ากันต่อ ก็เท่ากับว่าทำลายต้นน้ำ ลำธาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรรักษา

“กรมพัฒนาที่ดิน จ.กาญจนบุรี มาแนะนำให้เกี่ยวหญ้าแฝกบ้าง ทำปุ๋ยหมัก โดยจับกลุ่มกันทำในชุมชน แล้วแบ่งปุ๋ยกันใช้ และหญ้าแฝกที่ปลูกก็เอาไปเพราะกล้ากันเอง ช่วงแรกชาวบ้านก็ไม่ฟัง แต่ตอนนี้ทำแล้วเห็นผล ก็ทำให้มีความสนใจและกระตือรือร้น เพราะใบหญ้าแฝกสามารถขายได้ ทำเป็นธุรกิจขนาดเล็กได้ เขาก็เห็นความสำคัญ” นายธูป กล่าว

นายธูป กล่าวอีกว่า หลังจากนำเอาหญ้าแฝกมาปลูก พืชก็เกิดความเจริญงอกงาม ยางพาราเจริญเติบโตดี เวลาใส่ปุ๋ยยางพารา หญ้าแฝก หรือสัปปะรด ที่ปลูกในรองยาง ก็ได้รับปุ๋ยไปด้วย ทำให้งอกงาม โดยที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ผมพยายามแนะนำกับชุมชน หมู่บ้านอื่นๆ เห็นว่าปลูกหญ้าแฝกแล้วได้ผลเขาก็มาทำตาม บางหมู่บ้านทำดีกว่าผมอีก นอกจากนี้แล้วที่ผ่านมามีเด็กนักเรียนเข้ามาศึกษาการปลูกหญ้าแฝก บางครั้งก็มีการบรรยายให้ความรู้กับเด็กๆ ก็ใช้ตัวอย่างหญ้าแฝกจากสวน เป็นพื้นที่การเรียนรู้

นายธูป กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โดยส่วนตัวคิดว่าตัวเองเดินมาถูกทาง ที่ผ่านมาเคยได้รับรางวัลจากโครงการพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ.2555 และรับรางวัลหมอดินดีเด่น จากกรมพัฒนาที่ดิน สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวเองมีกำลังใจ ครั้งแรกรู้สึกท้อ และเบื่อหน่ายหลายๆอย่าง แต่ช่วงหลังๆมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน ก็มีแรงใจให้ลุกสู้มากขึ้น ตอนนี้มีการรณรงค์ปลูกหญ้าแฝกไว้มุงหลังคา สามารถซื้อขายหญ้าแฝกแห้งกิโลกรัมละ40บาท และทำเป็นเศรษฐกิจ ยิ่งมาปีนี้ทางกรมก็มีโครงการสนับสนุนมากขึ้น

นายสากล ณฤทธิ์ ผู้อำนายศูนย์สถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี กล่าวว่า พื้นที่ ต.สหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่ลาดชันค่อนข้างสูง ถ้ามีพื้นที่แบบนี้จะเกิดปัญหาการพังทลายของดิน ทำให้หน้าดินสูญเสียจำนวนมาก กรมพัฒนาที่ดิน จึงมองเห็นถึงปัญหา ก็เลยนำระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำเข้ามาใช้ในพื้นที่ โดยการทำวิธีกล และวิธีพืช วิธีกล คือการทำคันคูรอบเขา และบริเวณห้วยลำธาร ก็จะใช้เป็นที่ดักตะกอน รักษาความชื่มชื้นของดิน ส่วนวิธีพืช คือการเอาหญ้าแฝกมาปลูกหลังคันดิน เพื่อให้กอหญ้าแฝกเป็นตัวดักตะกอนดิน สิ่งที่ทำตรงนี้นับว่าประสบความสำเร็จ จะเห็นได้จากต้นยางที่ปลูกบริเวณนี้จะมีการเติบโตดี เนื่องจากมีการนำการอนุรัษษ์ดินและน้ำแบบวิธีพืชมาใช้ จะเห็นชัดเลยว่า ยางที่นี่เติบโตสมบูรณ์มากกว่าที่อื่น สำหรับหญ้าแฝกที่ปลูกจะเป็น พันธุ์สงขลา 3 ซึ่งนิยมปลูกในที่ลุ่ม เนื่องจาก อ.ทองผาภูมิ มีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ประกอบกับสภาพตรงนี้ไม่มีความแห้งแล้ง

“ปัจจุบันเกษตรกรมีความต้องการหญ้าแฝกมากขึ้น แต่ละปีทางกรมฯ จะมีการแจกหญ้าแฝก และปีนี้กรมพัฒนาที่ดิน มีการแจกหญ้าแจก 1ล้าน 8 แสน กล้า แจกให้รัฐและเกษตรกร ตอนนี้ยังมีคนที่ประสงค์จะขอหญ้าแฝกอยู่ 2ล้าน 5 แสน กล้า แต่เราจะจัดสรรให้พี่น้องเกษตรกรก่อน นั่นแสดงความประชาชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ดินและน้ำมากขึ้น” นายสากล กล่าว

นายสากล กล่าวทิ้งท้ายว่า ประโยชน์ของหญ้าแฝก นอกจากจะช่วยลดการพังทลายของหน้าดินและสร้างความชุ่มชื้นแล้ว ใบของหญ้าแฝกยังสามารถตัดขาย และนำไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สามารถนำใบหญ้าแฝกที่แห้งไปใช้มุงหลังคา ทำหัตกรรม ของกลุ่มชาวบ้าน เช่น จานรองแก้ว หรือประยุกต์เป็นสิ่งของประดิษฐ์ต่างๆได้ ปัจจุบันกรมที่ดิน ที่มีเครือข่ายหมอดินอาสา อยู่ประมาณ 7 หมื่นกว่าคน จ.กาญจนบุรีมี 881 คน รวมทั้งตำบลหมู่บ้าน ซึ่งหมอดินเหล่านี้จะมีการอบรมในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แล้วนำไปถ่ายทอดให้กับชุมชนของตัวเอง

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

รายงานพิเศษ : จับตาขยายพื้นที่ชลประทาน สู่เป้าหมาย 60 ล้านไร่ไม่ไกลเกินฝัน

การพัฒนาประเทศจะขาดน้ำไม่ได้เลย แต่ในปัจจุบันการพัฒนาแหล่งน้ำของประเทศเป็นไปค่อนข้างยาก และล่าช้ามาก โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ จะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆมากมาย ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้

อย่างไรก็ตาม แม้การพัฒนาแหล่งน้ำจะมีอุปสรรค แต่ กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องน้ำของประเทศ ก็มุ่งมั่นที่จะเดินตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงสถาปนากรมชลประทานขึ้นมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2457 ให้มีภารกิจดูแลและพัฒนากิจการอันเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องน้ำของประเทศอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มาโดยตลอด

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปีนี้กรมชลประทานมีอายุครบ 111 ปี ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การจัดหา พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งน้ำใหม่ เน้นการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนทัศนคติและความคาดหวังของเกษตรกรและประชาชนผู้ใช้น้ำ พร้อมทั้งได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้มีสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำสาขาทั่วประเทศอย่างบูรณาการร่วมกับภาคประชาชน เพื่อให้สามารถจัดหาน้ำได้ทันกับความต้องการใช้ที่เพิ่มทวีคูณขึ้นในแต่ละปี

กรมชลประทานตั้งเป้าที่จะพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำ ให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อลดกระแสความขัดแย้งในสังคม

ว่าที่ร้อยตรีไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน ประมาณปีละ 162,150 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีแหล่งเก็บกักน้ำรวมทั้งประเทศเพียง 73,788 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 29.6 ล้านไร่ แต่หากจะให้มีพื้นที่ชลประทานเป้าหมายของประเทศมากถึง 60 ล้านไร่ หรือเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีกประมาณ 30.4 ล้านไร่ จำเป็นจะต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บอีกไม่น้อยกว่า 26,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ในจำนวนดังกล่าว

ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาแหล่งน้ำ และการขยายพื้นที่ชลประทาน สำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆ ประกอบด้วย

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำในทุกขนาด 2,347 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทฝาย 1,809 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทประตูระบายน้ำ/เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งสิ้น 546 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทสถานีสูบน้ำ 1,639 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทแก้มลิง 1,466 แห่ง

นอกจากนี้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทโครงข่ายน้ำ 38 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทชลประทานในไร่นา 206 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทระบบส่งน้ำ 1,301 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทระบบระบายน้ำ 575 แห่ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทเหลียวหลัง 99 แห่ง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่น ๆ 1,465 แห่ง

“หากสามารถดำเนินการได้ตามกรอบการพัฒนาชลประทาน จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 39.75 ล้านไร่ เมื่อรวมกับการพัฒนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยมีนำใช้มากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำท่าของประเทศ และมีพื้นที่ชลประทานรวม 69.35 ล้านไร่ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ส่วนระยะเวลาในการดำเนินงานนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณ รัฐบาล และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่อย่างน้อยที่สุดจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ไม่น้อยกว่าปีละ 200,000 ไร่อย่างแน่นอน

ดังนั้นถ้าจะต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ตามเป้าหมายอย่างเร่งด่วนแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างก้าวกระโดด มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะหากเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ปีละ 200,000 ไร่ดังกล่าวจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 150 ปี ประเทศไทยถึงจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ 60 ล้านไร่

ทำอย่างไรถึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายได้อย่างก้าวกระโดด ?

เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่กรมชลประทานหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่ดำเนินการ จะต้องร่วมมือทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาล หากเห็นว่าเรื่องน้ำ เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกล้าตัดสินใจ แม้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบางแห่งอาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้นบ้าง แต่ถ้าสามารถบรรเทาได้ หรือผลดีมากกว่าผลเสีย ก็ควรจะกล้าฟันธงที่จะดำเนินการ

ภาคประชาชนถือว่า มีส่วนสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำมากที่สุด ต้องยอมรับว่า แม้ในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนาแหล่งน้ำ แต่เลือกที่จะเงียบหรือเลือกที่จะนิ่งเฉย ปล่อยให้ฝ่ายที่ต่อต้านโจมตีตลอดเวลา สร้างความเข้าใจผิดในการพัฒนาแหล่งน้ำ จนทำให้การสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ หรืออาคารชลประทานอื่นๆ กลับกลายเป็นผู้ร้าย ทั้งๆที่สร้างประโยชน์มหาศาล

ดังนั้นเป้าหมายขยายพื้นที่ชลประทาน 60 ล้านไร่ ประชาชนจะต้องช่วยผลักดันด้วย เพราะหากสามารถพัฒนาแหล่งน้ำได้แล้ว ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อันดับต้นคือ ตัวของท่านเอง

งบประมาณ แม้จะเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำก็ตาม แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทยในการจัดหางบประมาณมาใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำ ขอเพียงแค่ประชาชนแสดงพลังเห็นด้วยเท่านั้น พื้นที่ชลประทาน 60 ล้านไร่ไม่ไกลเกินฝัน...ชาตินี้ได้เห็นแน่ หรือว่า จะรออีก 150 ปี ตอนนั้น กรมชลประทานมีอายุ 261 ปี ใครจะอยู่รอบ้าง?

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

KSL เดินหน้าขยายไลน์ธุรกิจเตรียมขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯ

KSL พร้อมเดินหน้าขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาฯ หวังระดมทุนมูลค่ากว่า 2 พันล้าน ส่วนโครงการซื้อหุ้นคืนยังคงเดินหน้าทยอยเก็บหุ้น ระบุไม่มีการไล่ราคาแม้ภาวะตลาดฯ อยู่ในช่วงขาลง สำหรับผลงานปีนี้คาดใกล้เคียงปีก่อน แต่มั่นใจปีหน้าเริ่มฟื้นตัว หลังราคาน้ำตาลปรับตัวดีขึ้น ด้านโบรกฯ มองหุ้น KSL มีหลายประเด็นบวกที่ช่วยสนับสนุน ราคาหุ้น พร้อมแนะนำซื้อ ให้ราคาเหมาะสม 15.5 บ./หุ้น

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยในเบื้องต้นกำหนดมูลค่ากองทุนไว้ที่ระดับกว่า 2 พันล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัท เค.เอส.แอล เรียลเอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KSL ได้เข้าซื้ออาคารลิเบอร์ตี้ สแควร์ เป็นกรรมสิทธิ ที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 94 ตารางวา ตั้งอยู่ในพื้นที่ถนนสีลม เป็นอาคารสำนักงานสูง 23 ชั้นและชั้นใต้ดิน 6 ชั้น พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 40,000 ตารางเมตร รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีความชัดเจนและจัดตั้งกองทุนดังกล่าวได้ในช่วงปลายปีนี้

ส่วนโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัท แม้ว่าในช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลง แต่บริษัทยังไม่เร่งที่จะซื้อหุ้นคืนตามแผนที่ได้ขออนุมัติกับผู้ถือหุ้นไว้ แต่จะเป็นการทยอยเข้าซื้อหุ้นคืนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ไล่ราคา สังเกตได้จากปริมาณการซื้อขายไม่หนาแน่น เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงก็ไม่มีผลกระทบ กับราคาหุ้นบริษัทมากนัก เพราะมีสัดส่วน ของผู้ถือหุ้นต่างชาติไม่สูง

ตอนนี้บริษัทก็มีการซื้อหุ้นคืนทุกวัน แต่ปริมาณไม่มาก เพราะจะซื้อแบบไม่ไล่ราคา แม้ว่าภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้จะปรับลง แต่บริษัทก็ไม่ได้เร่งซื้อหุ้นคืน เพราะไม่มีผลกับราคาหุ้นเท่าใด เพราะสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติไม่มาก และผลงานบริษัทก็ไม่ได้ย่ำแย่ และราคาหุ้นยังทรงตัวได้ โดยราคาหุ้นก็เชื่อว่าคงอยู่ในกรอบ 12-13 บาทŽ นายชลัช กล่าว

อนึ่ง ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 KSL ได้มีการซื้อหุ้นคืนแล้ว 750,900 ล้านหุ้น ราคาที่ซื้อต่อหุ้นหรือราคาสูงสุด อยู่ที่ 12.70 บาทต่อหุ้น และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.40 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 9.47 ล้านบาท โดยปัจจุบันซื้อหุ้นคืนแล้ว 9.95 ล้านหุ้น มูลค่ารวมที่ซื้อคืนแล้ว 123.28 ล้านบาท และวันที่ครบกำหนดโครงการคือ 30 สิงหาคม 2556 จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนสูงสุดตามโครงการ 78.7 ล้านหุ้น

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการบริษัทในปีนี้ (สิ้นสุด ต.ค.2556) จะยังใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้ 2.27 หมื่นล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 2.35 พันล้านบาท แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับลดลง แต่บริษัทได้มีการขายสินค้าล่วงหน้าหมดไปแล้วทั้ง 100% ซึ่งกำลังการผลิตของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 1 แสนตันต่อวัน แต่ยังมีปัญหาอยู่ที่ปริมาณอ้อยภายใน ประเทศที่มีไม่เพียงพอกับกำลังการผลิตของบริษัท

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเอธานอลที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้รวม ซึ่งปริมาณเอธานอลที่ได้รับเป็นไปตามกำลังการผลิตของบริษัท และยังมีโครง-การโรงไฟฟ้าที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ของรายได้รวมเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าที่ 220 เมกะวัตต์ แต่บริษัทขายไฟฟ้าเพียง 40 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องจากในส่วนที่เหลือจะนำมาไว้ใช้เองในโรงงานน้ำตาล เพื่อลด ต้นทุนการผลิต

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการบริษัท ในปี 2557 (พ.ย.56-ต.ค.57) คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะฟื้นดีขึ้นจากในปีนี้ที่คาดว่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดแล้ว ทำให้มีความต้องการที่เพิ่มขึ้น และมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงงานน้ำตาลในลาวและกัมพูชาที่ในปีนี้มีกำลังการผลิตที่ 30% แต่ในปี 2557 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 50% ทำให้เป็นส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของผลประกอบการในอนาคต

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส ระบุว่า KSL ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกว่าจะทยอยฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับมุมมองของบริษัทน้ำตาลอื่นๆ ในกลุ่มฯ ภายหลังจากที่ความ กังวลจากอุปทานล้นตลาดเริ่มคลี่คลายลง ทั้งนี้ ได้ประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิของ KSL ในช่วงไตรมาส 3/55/56 จะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 720 ล้านบาท หรือเติบโต 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากธุรกิจน้ำตาลทราย และธุรกิจต่อยอด ได้แก่ ธุรกิจเอธานอลที่คาดว่ายังแข็งแกร่ง ต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล่าสุด บริษัทได้เข้าทำการซื้ออาคาร ลิเบอร์ตี้ สแควร์ ในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มรับรู้กำไรเป็นครั้งแรกในงวดไตรมาส 3/55/56 โดยเฉลี่ยราว 15 ล้านบาทต่อไตรมาส อย่างไรก็ตาม ประเด็นในเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 455/56 ฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ

นอกจากนี้ KSL ยังมีประเด็นบวกระยะสั้นจากแผนซื้อหุ้นคืนจำนวนไม่เกิน 78.7 ล้านหุ้น (5% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว) ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ โดยฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ แต่จากการศึกษา พบว่า ทุกๆ 1% ของจำนวนหุ้นซื้อคืน จะทำให้ EPS, DPS และ Fair value ปี 2555/56 เพิ่มขึ้น 1.04% จากเดิม ดังนั้น การลงทุนในหุ้น KSL จึงยังคงแนะนำซื้อ โดยกำหนดให้มูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2555/56 อิงวิธี SOTP เท่ากับหุ้นละ 15.5 บาท

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2556

เกษตรเฮใช้ส.ป.ก.ค้ำกู้เพิ่มเท่าตัว

ธ.ก.ส.รากหญ้าทั้งเกษตรกร-ชุมชน ปรับเกณฑ์ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ค้ำเงินกู้ อิงราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ชี้ดันวงเงินกู้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว พร้อมขยายครอบคลุมถึงสหกรณ์

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการลงนาม ระหว่างผู้บริหาร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ทบทวนเงื่อนไขข้อตกลงในการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ซึ่งเดิมจะเป็นการปล่อยกู้รายบุคคล ให้ขยายครอบคลุมไปยังสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ที่มีอยู่จำนวน 140 สถาบันทั่วประเทศ รวมไปถึงสัญญาเช่าที่ส.ป.ก.ออกให้ในชุมชนเขตปฏิรูปด้วย

รวมทั้งมีการขยายเอกสารสิทธิเพิ่มเติม จากเดิมที่ใช้ค้ำประกันเฉพาะ ส.ป.ก.4-01 (หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน) ยังรวมไปถึงส.ป.ก. 4-28 (หนังสือรับมอบที่ดิน) ส.ป.ก.4-14 (สัญญาเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ส.ป.ก.4-18 (สัญญาเช่าซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) เพื่อให้ครอบคลุมเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. ทุกชนิดที่ออกให้เกษตรกร โดยที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้ออกเอกสารสิทธิไปแล้วกว่า 2.5 ล้านครัวเรือน จำนวนที่ดิน 34 ล้านไร่ ส่วนของสัญญาเช่าที่ดินเพื่อประกอบอาชีพอื่นๆ น่าจะมีอีกกว่า 3 แสนราย

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร โดยใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น เดิมจะยึดหลักการปล่อยสินเชื่อให้เพียง 50% ของราคาประเมิน ซึ่ง ส.ป.ก.จะร่วมกับ ธ.ก.ส. ตีมูลค่าที่ดิน ส.ป.ก. อยู่ที่ไร่ละ 1 หมื่นบาท แต่จากนี้ไปจะเปลี่ยนมายึดหลักราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ แม้จะต่ำกว่าราคาตลาดแต่ก็น่าจะมีราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัว อาจอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นบาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งทำให้เกษตรกรได้รับวงเงินเพิ่มขึ้น สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่นี้น่าจะเริ่มใช้ได้วันที่ 1 กันยายน 2556 โดยที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 288,837 ราย มูลหนี้ 37,578 ล้านบาท

"ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้เกษตรกรที่ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมานานแล้ว แต่อาจจะตีราคาต่ำกว่าที่ดินทั่วไปอยู่ที่ไร่ละ 1 หมื่นบาท และให้กู้ 50% ก็อยู่ที่ไร่ละ 5,000 บาท ต่อไปหากยึดเอาราคาประเมินของกรมธนารักษ์ก็จะทำให้ให้เกษตรกรได้รับเงินกู้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจาก 5,000 บาทต่อไร่ เป็น 1 หมื่นบาทต่อไร่ ซึ่งจะให้สิทธิทั้งรายใหม่และรายเก่าที่เคยกู้เงินไปแล้ว และยังเปิดกว้างนอกจากรายบุคคลยังรวมไปถึงสถาบันเกษตรกรด้วย โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะทำงานไปพิจารณาสินเชื่ออีกครั้งคาดอาจใช้เงินเพิ่มปล่อยกู้เพิ่ม 30-50% หรือเกือบ 2 หมื่นล้านบาท" นายลักษณ์ กล่าว

สำหรับปัญหาหนี้เสีย น่าจะมีน้อยเพราะเกษตรกรที่ได้เอกสารสิทธิจะมีระเบียบวินัยสูง เพราะอาจถูกเพิกถอนสิทธิได้ตลอดเวลา และเพื่อเป็นการจูงใจจะมีการปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้ในปีต่อๆ ไปด้วย หากเป็นลูกหนี้ที่ดีเริ่มจาก 60% ไปจนถึงสูงสุด 80% ของราคาประเมิน และหากเกษตรกรรายเดิมมีปัญหารายใหม่ที่จะเข้ามาทำกินต่อก็จะต้องยินยอมรับภาระหนี้สินเดิมด้วย โดยที่ส.ป.ก.จะเข้าไปจัดการติดตามหนี้ให้และอาจนำเงินในกองทุนที่เบื้องต้นมีประมาณ 10-20 ล้านบาทมาจ่ายคืนหนี้เดิมให้ก่อน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 15 กรกฎาคม 2556

ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตฯไทยคืบหน้า80%

“สศอ.”ชี้เมียนมาร์น่าลงทุนมากสุด

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายให้มีการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ ทั้งนี้เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว สศอ.จึงได้ทำการศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ฝั่งตะวันตกตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economics Corridor : EWEC)

โดยการสำรวจข้อมูลความคิดเห็นจากผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง การรวบรวมข้อมูลการนำเข้าและส่งออกของสินค้าในประเทศ การสำรวจดูเส้นทางที่เกี่ยวข้องในการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ เป็นต้น ขณะนี้ผลการดำเนินงานคืบหน้าไปมากกว่า 80% และมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2556

ทั้งนี้ผลการศึกษาในภาพรวมของทั้ง 2 โครงการ พบว่าเมียนมาร์มีความน่าสนใจในการลงทุนหลายประการ หลังจากเริ่มเปิดประตูต้อนรับการลงทุนของต่างชาติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะเมียนมาร์เป็นแหล่งทรัพยากร มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน และมีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่เคยมาทำงานในไทย ซึ่งแรงงานบางส่วนได้นำความรู้และประสบการณ์กลับไปประกอบกิจการและพัฒนาประเทศ อีกทั้งรัฐบาลเมียนมาร์ยังมีมาตรการส่งเสริมและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษและให้สิทธิประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามเมียนมาร์ยังคงต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ในเรื่องระบบไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง กฎระเบียบ และการบริการด้านการเงิน ที่ยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ในขณะนี้ โดยรัฐบาลเมียนมาร์เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับการเชื่อมโยง และพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การลงทุนของประเทศที่ขยายตัวในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ย่างกุ้ง ,เมียวดี ,มะริด และทวาย โดยเฉพาะในทวาย รัฐบาลเมียนมาร์มีนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการลงทุนในเมียนมาร์ที่มีศักยภาพ และมีการสร้างกลุ่มเครือข่ายเชื่อมโยงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่ เกษตร ,เกษตรแปรรูป ,สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ,รองเท้าและเครื่องหนัง เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 กรกฎาคม 2556

สอน.จี้โรงงานเร่งผลิตน้ำตาล

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2556/57 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 110 ล้านตันอ้อย ขณะที่โรงหีบอ้อย 50 แห่งทั่วประเทศมีศักยภาพในการหีบอ้อยวันละ 7.5 ล้านตันอ้อย ซึ่งระยะเวลาหีบอ้อยมีเพียง 120 วัน นับจากเดือนพฤศจิกายน ของแต่ละปี ก็จะหีบอ้อยได้เพียง 90 ล้านตันเท่านั้น การจะหีบอ้อยให้ครบทั้ง 110 ตันจะต้องมีกำลังการหีบอ้อยที่เพิ่มขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตให้ขยายโรงงานไปแล้วเร่งก่อสร้างโรงงานอย่างเต็มที่ หากโรงงานใดติดขัดอย่างไรให้แจ้ง สอน. ทราบเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้ จากการสำรวจภาพรวมความต้องการน้ำตาลโดยเฉพาะตลาดเอเชีย พบว่า ในช่วง 8 ปีข้างหน้า ตลาดยังมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3-4 ล้านตัน สอน.เห็นโอกาสในการเติบโตของตลาดน้ำตาลต่างประเทศที่ปัจจุบันไทยส่งออกน้ำตาลถึงร้อยละ 70 ของปริมาณที่ผลิตได้ ประกอบ ความต้องการใช้เอทานอลจะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 9 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2564 ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คาดการณ์ไว้ ดังนั้น สอน.จึงเตรียมจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 8 ปี เพื่อเตรียมรับมือกับความต้องการอ้อยที่เพิ่มขึ้นเพื่อผลิตน้ำตาล เอทานอลและการนำกากอ้อยไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าชีวะมวล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ตามที่มีกลุ่มผู้แอบอ้างว่ามีน้ำตาลราคาถูกจำหน่าย และมีผู้หลงเชื่อตกลงซื้อแต่ในที่สุดไม่ได้รับน้ำตาล เกิดความเสียหายไปแล้ว นั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยืนยันว่า การขายน้ำตาลราคาต่ำพิเศษไม่มีจริง เป็นการหลอกลวง จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม 2556

พร้อมลอยตัวน้ำตาลปี2556 สมศักดิ์ สุวัฒิกะ ยัน

ในปี 2558 นั้นประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และเปิดเสรีราคาน้ำตาลทราย เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีความพร้อมเพื่อรอรับกับการเปิดเสรีดังกล่าว คณะรัฐมนตรีที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรที่จะเตรียมรับมือและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะลอยตัวราคาน้ำตาลให้ทันกับฤดูการผลิตปี 2556/2557 ซึ่งเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

ความคืบหน้าการลอยตัวราคาน้ำตาลเป็นอย่างไร

คณะทำงานผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะหารือถึงแนวทางการดำเนินงานโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการประกาศใช้ให้ทันฤดูหีบปี 56/57 หรือก่อน พ.ย.2556 นี้

รูปแบบการลอยตัวราคาน้ำตาลเป็นอย่างไร

สอน.จะต้องเร่งทำเพราะเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนำผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอมาปรับโครงสร้างราคาน้ำตาล ซึ่ง สอน.มั่นใจว่าทำได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นจากราคาน้ำมันที่ลอยตัว โดยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาเสร็จแล้ว แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างหาข้อยุติว่าจะทำอย่างไร และด้วยความที่เป็นเรื่องเร่งด่วนจึงเอาเรื่องลอยตัวราคาน้ำตาลมาใช้

ทำไมต้องปรับโครงสร้างและลอยตัวราคาน้ำตาล

จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่มีระบบอยู่แล้ว แต่รัฐบาลเห็นว่ายังไม่ทันสมัย ต้องการปรับปรุงให้มีความทันสมัย ซึ่งโดยรวมแล้วอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ทุกส่วนของอ้อยใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด น้ำตาล กากน้ำตาลทำเอทานอล ทำสารพลาสติกชีวภาพ ทำสารเคมี กากอ้อยเอามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

จะยกตัวอย่างง่ายๆ ประเทศไทยกำลังมีความต้องการเอทานอลสูงมากนับตั้งแต่ยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลต้องเตรียมพร้อมในการรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีการพัฒนารถยนต์ให้ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง 1000% ด้านกากอ้อยปีที่แล้วมีทั้งหมด 28 ล้านตัน ผลิตไฟฟ้าได้กว่า 1,000 เมกะวัตต์

ถ้าลอยตัวราคาหรือการเปิดเสรีน้ำตาลแล้วจะกระทบกับผู้บริโภคหรือไม่

เราเปิดเสรีราคาน้ำตาลมานานแล้ว แต่เปิดเสรีราคาน้ำตาลของประเทศไทยจะเป็นการนำเข้า แต่ก็ยังไม่เคยนำเข้าเพราะเราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดของเอเชีย และรายที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล และราคาน้ำตาลในประเทศไทยถูกมีราคาขายปลีกที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม แต่ประเทศเพื่อนบ้านขาย 30-35 บาทต่อกิโลกรัม

ซึ่งสาเหตุที่ราคาน้ำตาลในประเทศต่ำกว่าราคาต่างประเทศเพราะถูกควบคุมไว้ ส่วนต่างประเทศนั้นราคาสูงเพราะมีการอุดหนุนจากรัฐบาลและผูกขาด ดังนั้นจึงไม่มีการนำเข้าน้ำตาล จะมีแต่แอบลักลอบส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อบ้าน
ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายเท่าไหร่

ความต้องการน้ำตาลในตลาดเพิ่มขึ้นแม้ว่าในปี 2556 นี้จะมีน้ำตาลล้นตลาด 8 ล้านตัน แต่แนวโน้มการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นทุกปีๆ 8% ซึ่งในปี 2555/2556 สอน.เริ่มต้นประกาศปริมาณน้ำตาลบริโภคในประเทศจำนวน 2.4 ล้าน แต่เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาพบว่าไม่เพียงพอ จึงได้ประกาศเพิ่มอีก 1 ล้านตัน เป็น 2.5 ล้านตัน แต่ตอนนี้ที่ผ่านคณะกรรมการน้ำตาล (กน.) เห็นว่าไม่น่าจะพอ เพราะผู้บริโภคทางตรงมีการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก เช่นน้ำดื่ม หรือผลไม้กระป๋อง จึงจัดสรรโควตา ก. ซึ่งบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น เป็น 2.6 ล้านตัน และสำรองไว้อีก 5 แสนตัน

แนวโน้มปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายในฤดูการผลิต 2556/2557 เป็นอย่างไร

อ้อยฤดูกาลผลิต 2556/2557 คาดว่าจะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลผลิตปีนี้ หรือ 2555/2556 ซึ่งอยู่ที่ 100.4 ล้านตันอ้อย ขณะที่ฤดูกาลผลิต 2558/2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 130 ล้านตันอ้อย และฤดูกาลผลิต 2561/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 180 ล้านตันอ้อย ด้านพื้นที่ปลูกอ้อยพบว่าฤดูกาลผลิต 2556/2557 จะอยู่ที่ 11 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลผลิต 2556/2557 ซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านไร่ เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น หลังจากราคาสินค้าเกษตรประเภทอื่น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ราคาลดลง

ทั้งนี้ ในปี 2555/2556 ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดปัญหาเรื่องอ้อยเข้าหีบโรงงานต้องรอคิวนาน ทำให้ค่าความหวานลดลง จนปริมาณน้ำตาลหรือค่าความหวานซีซีเอสลดลง รวมถึงยังทำให้จำนวนวันหีบอ้อยเพิ่มขึ้น จากปกติ 120 วัน เพิ่มเป็น 180 วัน

มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง

ทาง สอน.จะเร่งรัดโรงงานที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ให้ตั้งโรงงานให้เสร็จตามกำหนดคือหลังจากอนุมัติ 5 ปี ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานที่ขอเข้ามาประมาณ 10 โรงงาน แต่ขณะนี้เกิดปัญหามีความล่าช้าในการก่อสร้าง ทาง สอน.กำลังดูว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมไม่ก่อสร้าง ซึ่งในเบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่ สอน.เช็กโรงงานที่ได้รับอนุญาตจาก ครม.ให้ตั้งแล้วประมาณ 10 แห่ง ว่าดำเนินการคืบหน้าอย่างไร เพราะกำหนดเปิดหีบภายใน 5 ปี แต่ผ่านมาประมาณ 2 ปีแล้วยังไม่มีรายใดเริ่มก่อสร้าง ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าติดปัญหาเรื่องใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 อย่างไรก็ตาม ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ สอน.จะเสนอวาระเพื่อให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวง เป็นประธานพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล ที่เดิมกำหนดระยะห่างระหว่างโรงงานไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร (กม.) ให้เหลือต่ำกว่า 80 กม.ได้ เนื่องจากพบว่าแนวโน้มปริมาณอ้อยจะมีเพิ่มขึ้นจากอดีตที่มีน้อยเกิดการแย่งอ้อย จึงต้องกำหนดระยะห่างไว้ให้มาก

ปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลคืออะไร

ปัจจัยหลักๆ คือภัยธรรมชาติซึ่งมีผลกระทบกับอ้อยมาก เนื่องจากระบบชลประทานยังไปไม่ถึง ต้องอาศัยดิน ฟ้า อากาศ ดังนั้น สอน.มีมาตรการช่วยเหลือโดยมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เกษตรกรสำหรับหาแหล่งน้ำ ดอกเบี้ย 2% โดยโรงงานเป็นผู้ค้ำประกัน และขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะให้ใครระหว่างรัฐและกองทุนอ้อยและน้ำตาลเป็นผู้แบกรับดอกเบี้ย ส่วนต่าง

และยังมีปัญหาเรื่องรถตัดอ้อยและแรงงาน ซึ่งตั้งแต่ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท แรงงานที่ตัดอ้อยหายากมากขึ้น จึงต้องหันไปพึ่งรถตัดอ้อย ดังนั้น สอน.จึงส่งเสริมให้มีรถตัดอ้อยซึ่งมีวงเงิน 3,000 ล้านบาท และเมื่อฤดูการผลิตที่แล้ว 2555/2556 ได้ใช้ไปเกือบ 2,000 ล้านบาท ในฤดูการผลิต 2556/2557 จะดำเนินการอีก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และหาวงเงินให้ชาวไร่กู้ แบ่งเป็นรถตัดอ้อย 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% และภัยแล้ง 1,000 ล้าน ดอกเบี้ย 2%

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเผาอ้อยซึ่งไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร โดยในปี 2555/2556 พบว่ามีการเผาอ้อยกว่า 60% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาแรงงานขาดแคลน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะค่าความหวานที่ลดลง และยังสร้างมลพิษเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีข้อกำหนดว่าจะหักค่าเผาอ้อย 30 บาทต่อตัน ก็ยังมีการเผาที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ สอน.จะพยายามแก้ไขคือเร่งประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมในเรื่องรถตัดอ้อย

และยังมีปัญหาที่สำคัญซึ่งมักจะถูกต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรปใช้เป็นข้ออ้างกีดกันทางการค้า คือ ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งอเมริกาขึ้นบัญชีดำไทยไว้ แต่ สอน.ได้ประกาศเจตนาลงและเซ็นสัญญาว่าจะไม่มีเด็กเข้าไปอยู่ในไร่อ้อย.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 12 กรกฎาคม 2556

เร่งแก้ปัญหาดินเค็ม ในพื้นที่อีสาน 15 ล้านไร่

น.ส.สุดา สวัสดิ์ธนาคูณ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินเค็ม กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงปัญหาเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบกับเรื่องดินเค็มกว่า15 ล้านไร่ เช่น ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เป็นต้น กรมพัฒนาที่ดินได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อดำเนินกิจกรรมปรับปรุงคุณภาพดินแบบบูรณาการ เร่งฟื้นฟูดินเค็มด้วยการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจบนคันนา ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำมากสามารถควบคุมปริมาณน้ำเค็มไม่ให้กระจายขึ้นมาบนดิน เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ถือเป็นวิธีการไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเพิ่มผลผลิตพืชเพื่อการบริโภคและผลิตเป็นพืชเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง โดยกรมจัดทำโครงการปลูกไม้ยืนต้นทนเค็มเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงชีมูลขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดินเค็มให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งเมืองเฟีย อ.บ้านไผ่ อ.โนนศิลา และ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ทุ่งเมืองเฟีย เป็นพื้นที่มีปัญหาด้านดินเค็มอย่างรุนแรง

น.ส.สุดา กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันมีหน่วยงานราชการได้ขุดลอกคลองน้ำตามธรรมชาติ เพื่อระบายน้ำเค็มออกจากพื้นที่ แต่ไม่สามารถระบายน้ำเค็มซึ่งมีมากได้หมด ทำให้น้ำเค็มคงอยู่ในพื้นที่ และทำให้แพร่กระจายออกไปยังบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดที่ไม่ต้องลงทุนสูง คือ การปรับปรุงแปลงนาขุดคูน้ำ ก่อสร้าง ทางลำเลียง วางท่อลอดระบายเกลือ หรืออีกทางหนึ่งคือการแก้ปัญหาด้วยการปลูกไม้ทนเค็ม เช่น กระถินออสเตรเลีย อาคาเซีย ปลูกหญ้าชอบเกลือ “ดิ๊กซี” คลุมพื้นที่ป้องกันการระเหยน้ำจากผิวดิน หรือหญ้าแฝกกั้นแนวทางน้ำไหล กักเก็บตะกอน ส่งเสริมการใช้พืชปุ๋ยสด ปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งหากพบว่ามีการแพร่กระจายดินเค็มไปยังที่อื่น ให้ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อลดระดับน้ำใต้ดิน ปลูกโสนแอฟริกัน ถั่วพร้าเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ปลูกต้นยูคาลิปตัสบนคันนา เพื่อสร้างรายได้เสริมอีกด้วย เกษตรกรร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาดินเค็มต้องหมดไปอย่างแน่นอน และเพิ่มรายได้ โดยไม่ต้องลงทุนสูง.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม 2556

รายงานพิเศษ : ผ่าเส้นทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ 30ปี.แห่งการรอคอยของเกษตรกรไทย

การแก้ปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องเกษตรกรที่ผ่านมา เป็นที่รู้ว่าขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของเกษตรกรในกระบวนการแก้ไขปัญหา ทำให้ปัญหาของเกษตรกรแทบทุกเรื่องถูกหมักหมมเกาผิดที่ ผิดทางมาอย่างยาวนาน จึงได้มีการจุดประกายให้มีการก่อตั้ง “สภาเกษตรกรแห่งชาติ” เกิดขึ้น ด้วยหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของเกษตรกร

แต่ทว่ากว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติจะได้รับการจัดตั้งขึ้น กลับใช้เวลาในขับเคลื่อนอย่างยาวนานกว่า 30ปี จนกระทั่งในปี 2553 จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 84 (8) ที่กำหนดให้รัฐ “คุ้มครองและรักษาประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต และการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกร เพื่อวางแผนการเกษตร และรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกร”

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติคนแรกของประเทศ กล่าวว่า การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติมีเจตนารมณ์เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรโดยรวม ด้วยการสนับสนุนสิทธิการมีส่วนร่วมของเกษตรกร การรวมตัวกันเพื่อกำหนดนโยบายและการวางแผนพัฒนาเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม

รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น จึงบัญญัติให้สภาเกษตรกรแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่สำคัญมากไว้ประการหนึ่ง คือ การจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐต่างๆ นำไปปฏิบัติในการพัฒนาเกษตรกรรม ซึ่งการทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาการเกษตรกรรมนั้น กระบวนการจัดทำต้องริเริ่มจากล่างสู่บนในการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดโดยสภาเกษตรกรจังหวัดก่อน จากนั้นนำมาบูรณาการพัฒนาเป็นแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม อันถือเป็นแผนพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ

“ภาพของเกษตรกรในประเทศไทยต่อไปนี้ จึงเป็นการร่วมคิด ร่วมจัดทำ ทิศทางของอาชีพเกษตรกรรมด้วยตนเอง จากระดับรากหญ้าขึ้นสู่ระดับชาติ ประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาเกษตรกรรมเป็นครั้งแรก ภาครัฐ ภาคเอกชนคงต้องปรับตัว ปรับภารกิจ ให้สอดคล้องกับความเห็นของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ” นายประพัฒน์ กล่าว

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงแผนดำเนินงานที่ผ่านมาด้วยว่า ได้เดินสายถ่ายทอดความรู้และกระบวนการในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรและแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัด ตลอดจนจัดทำแนวทางและการพัฒนาความรู้ต่างๆ ในการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 โดยได้เริ่มดำเนินการจัดทั่วประเทศแล้วจำนวน 8 รุ่นในระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,920 คน โดยภาคเหนือจัดที่จังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลก ภาคกลางจัดที่จังหวัดจันทบุรีและนครนายก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่ขอนแก่นและบุรีรัมย์ และภาคใต้จัดที่จังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี

นายประพัฒน์ กล่าวถึงแนวยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรนับจากนี้ไปด้วยว่า จะเดินหน้าเต็มกำลังโดยได้วางแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการระหว่างปี 2556-2559 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลักๆด้วยกัน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อสภาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ประกอบด้วยการสร้างเครือข่ายสภาเกษตรกร การพัฒนาบุคลากรและระบบงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกรจังหวัด สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรและพัฒนาเกษตรกรรม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม/องค์กรของเกษตรกร

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรเพื่อประกอบการตัดสินใจ ประกอบด้วยการจัดทำฐานข้อมูลระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อประกอบการตัดสินใจการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรสู่เกษตรกร และประชาสัมพันธ์ผลงานสภาเกษตรกรสู่ประชาชน ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านบูรณาการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมระดับชาติจากล่างสู่บน ประกอบด้วย การจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมตั้งแต่ในระดับตำบล อำเภอ ขึ้นมาสู่ระดับจังหวัด การบูรณาการแผนพัฒนาเกษตรกรรมของจังหวัด กลุ่มจังหวัดและภาค เป็นแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมระดับชาติ การติดตามประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการตามแผนแม่บท

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม ประกอบด้วย การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำตามความต้องการของตลาด การสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุดจากผลผลิต การสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการเกษตรของเกษตรกรที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและสถานการณ์โลก และสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของเกษตรกร

นายประพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในการร่างแผนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติ ปี 2556-2559 จะพบว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติได้กำหนดไว้โดยชัดเจนในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 จะดำเนินการจัดทำ “แผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมระดับชาติจากล่างสู่บน” ซึ่งจะเป็นแผนงานที่เกษตรกรร่วมมือจัดทำตั้งแต่ในระดับพื้นที่ขึ้นมาจนถึงระดับชาติ โดยผ่านเครือข่ายองค์กรของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งมีผู้แทนเครือข่ายกระจายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศจากระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ขึ้นมาจนถึงระดับชาติ เป็นแผนงานที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร สามารถแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรได้อย่างตรงประเด็นมากที่สุด ซึ่งจะเป็นแผนงานครั้งประวัติศาสตร์ของชาติในเรื่องการพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่จะมาจากเกษตรกรรากหญ้าหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง จะเป็น “แผนพัฒนาของเกษตรกร โดยเกษตรกร และเพื่อเกษตรกร” อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ความหวังของเกษตรกรก็เป็นจริงมากขึ้น เมื่อได้มีรวมตัวของเกษตรกรกว่า 2พันคนจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมแสดงพลังความคิดในการจัดทำแผนแม่บทในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็คชาเลนเจอร์ เมืองทองธานีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นมิติที่ดีในการแสดงให้เห็นว่านับจากนี้ไปปัญหาของ “เกษตรกรไทย” จะถูกทอดทิ้งอีกต่อไปพอๆ กับเสียงของเกษตรกร ที่จะดังขึ้นพอที่จะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาเหลียวมองอย่างจริงจังมากขึ้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม 2556

ก.อุตฯ อนุญาตตั้ง 8 โรงงานใหญ่มูลค่ารวม 8 พันล้าน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม(รง.4) เปิดเผยหลังการประชุมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นครั้งที่ 10 ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ชุดใหม่ ว่า มีเรื่องการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ผ่านการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เสนอมาที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จำนวน 10 ราย ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้พิจารณาอนุญาตทั้งสิ้น 8 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 7,988 ล้านบาท จ้างแรงงานเพิ่ม 2,075 คน ผุดโรงไฟฟ้า 6 แห่งรวม 106.5 เมกะวัตต์

“โรงงานผลิตไฟฟ้าที่ผ่านการพิจารณาในวันนี้มี 6 แห่ง เป็นโรงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 3 แห่ง ซึ่งนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ 2 แห่ง ตลอดจนโรงผลิตไฟฟ้าให้สนามบินสุวรรณภูมิ 1 แห่ง ที่สำคัญโรงงานทั้งหมดที่พิจารณาอนุญาตไม่มีปัญหาการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ การตั้งโรงงานไฟฟ้าสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี จึงมีความคุ้มค่าในการลงทุนสูง ซึ่งการพิจารณาอนุญาตกลั่นกรองฯ ยึดหลักการทำงานที่รวดเร็ว มีคุณภาพและโปร่งใส เป็นไปตามนโยบายใบอนุญาตใสสะอาดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม”นายวิฑูรย์กล่าว

สำหรับโรงงานที่ได้รับการอนุญาตในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ มี 8 ราย ดังนี้
1. บริษัท สงขลา ไบโอแมส จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.ขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา ประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล เงินลงทุน 645 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 68 คน กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ 2. บริษัท แอ๊ดวานซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.บ่อพลอย อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เงินลงทุน 534 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 40 คน กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ 3. บริษัท สินเอกพาณิชย์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ที่ 5 ถ.บางเลน-บางหลวง ต.ไทรป่า อ.บางเลน จ.นครปฐม ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เงินลงทุน 240.38 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 33 คน กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ 4. บริษัท บางจาก โซล่าร์เอ็นเนอร์ยี (ชัยภูมิ 1) จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.หัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินลงทุน 2,058 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 18 คน กำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์

5. บริษัท ไนน์ เอ โซล่า จำกัด ตั้งอยู่ ถ.กำแพงเพชร-ดงขวัญ หมู่ 4 ต.ถ้ำกระต่ายทอง อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เงินลงทุน 588 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 12 คน กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ 6. บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด เลขที่ 222 หมู่ที่ 1 ถ.อ่อนนุช-ลาดกระบัง ต.หนองปรือ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบปรับอากาศภายในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เงินลงทุน 1,347 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 47 คน กำลังการผลิต 56 เมกะวัตต์ 7.บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 2/9 หมู่ที่ 4 ถ.พหลโยธิน ต.หนองนาก อ.หนองแค จ.สระบุรี ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม เงินลงทุน 1,837 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 990 คน 8.บริษัท ยูเนี่ยนโชจิรุชิ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 5 ถ.บางนา-ตราด กม.38 ต.บางสมัคร อ.บางประกง จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการผลิตกระติกน้ำร้อน เงินลงทุน 738.43 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 870 คน

นายวิฑูรย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีโรงงานที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯมีมติคืนเรื่อง มี 2 ราย ประกอบด้วย บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (บุรีรัมย์ 3) จำกัด จ.บุรีรัมย์ และ บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย จำกัด จ.สระบุรี โดยให้ กรอ. ตรวจสอบเกี่ยวกับเอกสารการติดประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมความปลอดภัยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม: กรอ.ปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก สั่งควบคุมนำเข้า และ ส่งออกทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสาร มอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2532 เพื่อร่วมมือกับภาคีสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออล ในการลดและ เลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ผ่านธนาคารโลกซึ่งเป็นงานดำเนินการ สำหรับการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เช่น CFC-12 ซึ่งเป็นสารทำความเย็นที่ใช้ในตู้เย็นหรือตู้แช่ เครื่องปรับอากาศรถยนต์รุ่นเก่า และสาร HCFC-22 ในเครื่องปรับอากาศที่ใช้ ในอาคารบ้านเรือนรวมทั้งตู้แช่ตามร้านค้าทั่วไป

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ กล่าวว่า ใน วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2556 เวลา 08.30-12.30 น. ได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ที่ให้ ความร่วมมือในการดำเนินโครงการ ณ ห้องแกรนด์บอลรูมชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดหาและรับมอบชุดเครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุนการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้แก่สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อใช้ ในการเรียน การสอน การฝึกปฏิบัติงานซ่อมบำรุงระบบเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาด้านเทคนิคในสาขาที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถ นำไปใช้บริการประชาชนทั่วไปตามโอกาสต่างๆ จากเงินช่วยเหลือจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสาร มอนทรีออล

ในโอกาสนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและ กรมศุลกากร จะลงนามในบันทึกข้อตกลงความ ร่วมมือ (MOU) ภายใต้กรอบการควบคุมการ นำเข้า ส่งออก สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจสอบ ตรวจวัดสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เป็นไปตาม ข้อกำหนดของพิธีสารมอนทรีออล โดยใช้เงิน ช่วยเหลือจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสาร มอนทรีออล โดยจะควบคุมให้การนำเข้า ส่งออก สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเป็นไป อย่างถูกต้อง ตามโครงการแผนการลดและเลิก ใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ระยะที่ 1 (HPMP Stage I) ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนประเภท ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) โดยปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและไม่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกให้ประสบผลสำเร็จและเป็นไปอย่างยั่งยืนตลอดไป

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ยกร่างมาตรฐานเครื่องจักรกลเกษตร กรมส่งเสริมฯร่วมวางเกณฑ์มอก. คลุม6ชนิด-คาดประกาศเดือนธ.ค.

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ตามการประสานขอความร่วมมือจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อร่วมกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำการพิจารณาจัดทำร่างมาตรฐานอุตสาหกรรม ในสาขาอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อใช้เป็นเกณฑ์รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มกอ.) สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องที่มีการวางจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นเกษตรกรให้ได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ

โดยร่างมาตรฐานที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งผู้แทนร่วมพิจารณาในครั้งนี้มีทั้งสิ้น 6 มาตรฐาน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบด้วย 1.มาตรฐานผลิตภัณฑ์รถใช้งานเกษตรกรรม หรือ รถขนส่งการเกษตร 2.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็ก 3.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถพ่วงสำหรับรถแทรกเตอร์เดินตาม 4.ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถแทรกเตอร์ล้อยางเพื่อการเกษตร 5.มาตรฐานผลิคภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก และ 6.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องตัดหญ้าแบบข้อแข็ง โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้

“ในฐานะที่กรมส่งเสริมการเกษตร มีภารกิจในการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต โดยกองส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร และศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรแห่งต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ทำการศึกษาถึงการใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรชนิดต่างๆ ตามความเหมาะสมของสภาพแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมีการรวบรวมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุง ให้แก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมั่นใจว่า จะสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ มาใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่สมบูรณ์ และใช้บังคับผู้ผลิตให้ผลิตตามเกณฑ์ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปถึงเกษตรกรโดยตรงว่า จะได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ต้องสูญเสียไปในการลงทุน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : เกษตรฯเปิดปฎิบัติการเชิงรุก ทำ“ฝนหลวง”เติมน้ำในเขื่อนรับวิกฤติฝนทิ้งช่วง

ภายหลังประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การทำเกษตรในหลายๆจังหวัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดยนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็นำทัพสื่อมวลชนบินเหิรสู่สนามบินจังหวัดตาก เพื่อสังเกตการณ์สภาพน้ำเขื่อนภูมิพล พร้อมเยี่ยมชมการเตรียมพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินจังหวัดตากในทันที แบบไม่ต้องรอให้น้ำแห้งขอดเขื่อนหรือเกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำแล้วถึงมาเดินเครื่องปฎิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภายหลัง

สำหรับโครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ อุปโภค บริโภคและการเกษตรจึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานโครงการพระราชดำริ"ฝนหลวง" เพื่อทำหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในบรรยากาศของประเทศโดยตรงแล้ว รวมทั้งจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงและการดัดแปรสภาพอากาศต่างๆและการให้บริการด้านการบินและการสื่อสารในการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ภายหลังสังเกตการณ์สภาพน้ำเขื่อนภูมิพลและเยี่ยมชมการเตรียมพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินจังหวัดตากว่า กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆพบว่าอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การทำเกษตรในหลายๆจังหวัด จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับเขื่อนต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคเกษตรเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งได้กำชับกรมชลประทานวางแผนการระบายน้ำอย่างระมัดระวัง

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน จึงอยากให้เกษตรกรใช้น้ำฝนแทนเพื่อเก็บน้ำในอ่างหรือเขื่อนให้มากที่สุด ซึ่งเชื่อมั่นว่าในปีนี้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาบวกกับหน่วยปฏิบัติการทำฝนหลวง คาดว่าจะได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ช่วงแล้งหน้าต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า

โดยคำนึงถึงต้นทุนน้ำเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งเกษตรกรต้องปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และปลูกพืชระยะสั้นหรือพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก และต้องเตรียมพร้อมเมื่อเข้าสู่ต้นฤดูฝน อย่างน้อยเดือนครึ่งหรือสองเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ด้าน นายวราวุธ ขันติยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จ.ตากตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 56 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่ต่ำกว่า 80 % เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่อยู่บริเวณรอบเขื่อนหรือผู้ที่ขาดน้ำกินน้ำใช้หรือเพื่อสาธารณูปโภค

อย่าไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงได้ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกองทัพอากาศทำการวิจัยและพัฒนาการเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวง โดยมีการประดิษฐ์สารพลุ เป็นสารดูดความชื้น ซึ่งจะช่วยเสริมการปฏิบัติการแบบผงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการใช้ผงต้องเก็บไว้ในสต๊อกนานๆ อาจเกิดการแข็งตัวได้ง่าย แต่การใช้พลุทำให้การเก็บรักษาอยู่ได้นาน โดยอนุภาคของพลุมีความละเอียดอ่อน หากมีการโปรยชนิดผงจะมีน้ำหนักไม่มาก และต้องการให้สารเหล่านี้แขวนลอยอยู่ในอากาศให้มากที่สุด เปลี่ยนจากความชื้นให้กลายเป็นเมฆได้ เพราะฉะนั้นการใช้พลุจะใช้แขวนลอยได้มากขึ้น เป็นประโยชน์ในช่วงก่อกวนและเลี้ยงให้อ้วน และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

“ปัจจัยที่ทำให้ฝนหลวงสำเร็จยังมีอีกหลายปัจจัย ได้แก่ สภาพดินฟ้าอากาศ รวมทั้งความพร้อมของหน่วยปฏิบัติฝนหลวงที่จะสามารถปฏิบัติการได้ในทันที เช่น บุคลากร เครื่องบิน ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องของทิศทางความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ฝนตกหลังขึ้นปฏิบัติการมากน้อยแค่ไหน รวมถึงปริมาณน้ำ การไหลน้ำของระดับน้ำต่าง ที่ได้ข้อมูลจากรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งจะเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องน้ำถือเป็นเรื่องวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งมือทำ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขหรือช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้อง เกษตรกรโดยเร็วที่สุด” นายวราวุธ กล่าว

ปัจจุบันศักยภาพปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรครอบคลุมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิงและลุ่มแม่น้ำน่านทั้งหมด ตั้งแต่จังหวัดตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร มั่นใจได้ว่าจะเพียงพอกับการใช้ในการอุปโภค-บริโภค สำหรับการทำการเกษตร ปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝน ประกอบกับน้ำในเขื่อนที่อยู่ 40-50 % เชื่อจะสามารถช่วยบรรเทาได้ แต่ก็มีความเป็นห่วงในช่วงปลายฝน หรือฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอที่จะเติมน้ำให้ได้ 80 % ที่จะใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป

ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกรได้มีการปรับยุทธศาสตร์การปฏิบัติงาน โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค 5 ภาค เพื่อกระจายอำนาจการตัดสินใจและการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานระดับกลุ่มจังหวัดระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น ในการให้บริการฝนหลวงที่แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฯทั้ง 5 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่นและภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งแต่ละศูนย์จะตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดต่างๆที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ

โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลประเมินสถานการณ์ในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที ขณะนี้แต่ละศูนย์อยู่ระหว่างการสร้างองค์ประกอบที่สมบูรณ์ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงได้แก่ 1.ที่ทำการศูนย์ฯ 2.พื้นที่เก็บสารทำฝนหลวง และ3.สถานีตรวจอากาศประจำภาค คาดว่าไม่เกิน 3 ปี ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์

ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเชื่อมั่นว่าจากปฏิบัติการดังกล่าว จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงภัยแล้งได้ในอนาคตได้อย่าง ยั่งยืนทั้งปัจจุบันและอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รง.น้ำตาลเร่งยกระดับคุณภาพอ้อย หวังเพิ่มผลผลิต-สร้างความมั่นคงให้ชาวไร่

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เร่งยกระดับคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย รับฤดูการผลิตปี 2556/57 ส่งฝ่ายไร่ลงช่วยชาวไร่อ้อยอย่าง ใกล้ชิดทุกพื้นที่ พร้อมปรับปรุงเครื่องจักร ของโรงงาน หลังพบผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยและค่าเฉลี่ยความหวานลดลง หวั่นระยะยาวฉุดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยถอยหลัง ชาวไร่อ้อยขาดความมั่นคงทางอาชีพ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคม โรงงานน้ำตาลทราย (Mr.Sirivuth Siam phakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited's public relations working group) เปิดเผยว่า ปัญหาที่พบในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขณะนี้คือ เรื่องของคุณภาพอ้อย ซึ่งไม่ดีเท่าที่ควร ดูได้จากค่าเฉลี่ยการผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยหลังปิดหีบฤดูการผลิตปี 2555/56 ลดลงเหลือ 100.24 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากฤดูการผลิตปีก่อนที่ 104.63 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือคิดเป็นปริมาณน้ำตาลทรายที่มีผล ผลิตลดลง 4.39 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่วนค่าเฉลี่ยความหวานลดลงเหลือ11.64 ซีซีเอส จากปีก่อนอยู่ที่ 12.04 ซีซีเอส

"เราพอใจที่ผลผลิตอ้อยทะลุ 100 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลทรายของโรง งานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ ประจำฤดูการ ผลิตปี 2555/56 ทะลุ 100 ล้านกระสอบ แต่ในเชิงคุณภาพเรายังไม่พอใจ เพราะอ้อยปริมาณ 100 ล้านตันปีนี้ ผลิตน้ำตาล ทรายได้ 100.24 ล้านกระสอบ ในขณะที่ปีก่อนหีบอ้อยไม่ถึง 100 ล้านตัน คือมีเพียง 97.98 ล้านตัน แต่ได้น้ำตาลทราย 102.5 ล้านกระสอบ แสดงให้เห็นว่าในเชิง คุณภาพผลผลิตอ้อยยังน่าเป็นห่วง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน และการจัดเก็บผลผลิต ที่มีสิ่งปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้"

ดังนั้น ในฤดูการผลิตปี 2556/57 ทางโรงงานน้ำตาลทรายจะร่วมมือกันยกระดับคุณภาพอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล เพื่อผลดีต่ออุตสาหกรรม อ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวม อันจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพให้แก่ชาวไร่อ้อย ทั่วประเทศ โดยโรงงานน้ำตาลทรายแต่ละ แห่งจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ลงพื้นที่ให้คำ แนะนำและช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการพัฒนาอ้อย ตั้งแต่ขั้นตอนการบำรุงตออ้อย การปรับปรุงบำรุงดิน และการจัดเตรียมหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นอ้อยที่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลทราย จะ สนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูกและการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมปรับปรุงเครื่องจักร ให้มีประสิทธิภาพในการหีบอ้อย เพื่อผลิตน้ำตาลทรายได้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้ชาวไร่อ้อย มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อย เพิ่มขึ้นและ สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยได้

"ในฤดูการเพาะปลูกอ้อย 2556/57 ทางโรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่งจะร่วมกัน ยกระดับคุณภาพผลผลิตอ้อยทั่วประเทศให้มีผลผลิตอ้อยต่อตันและค่าความหวานเพิ่มขึ้น อีกทั้งพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรแต่ละโรงงาน ซึ่งในปีนี้เราต้อง เร่งช่วย เหลือชาวไร่อ้อยด้านการเพาะปลูก โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่มเป็น 12-15 ตัน จากปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 10 ตันต่อไร่ และการจัดเก็บผลผลิตที่ต้อง การลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ด้วยการสนับสนุนรถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อย เพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ มีสิ่งปนเปื้อนลดลงมีค่าความหวานสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้แก่ ชาวไร่อ้อยและความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยให้เติบโตได้ยั่งยืน"

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กระทรวงเกษตรฯ เร่งจัดโซนนิ่งปลูกพืช 6 ประเภท ยกระดับความสามารถแข่งขันอาเซียน-ตลาดโลก

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แปลงยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศ กลยุทธ์ การจัดการใช้ที่ดินประเทศ(Zoning)ไปสู่การปฏิบัติ โดยออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดิน ความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น อาทิ เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทาน ประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ของผู้เกี่ยวข้องภาครัฐและภาคเกษตรกร ในการพิจารณาสร้างความสามารถในการแข่งขันของแต่ละหน่วยผลิต ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ประกาศ จะนำไปสู่การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร การรักษาเสถียรภาพด้านราคา และอุปสงค์อุปทานในอนาคต

โดยเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำแนกตามรายภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล ดังนี้ เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว 76 จังหวัด 809 อำเภอ 5,880 ตำบล ปลูกมันสำปะหลัง 49 จังหวัด 448 อำเภอ 2,113 ตำบล ปลูกยางพารา 60 จังหวัด 403 อำเภอ 1,703 ตำบล ปลูกปาล์มน้ำมัน 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล ปลูกอ้อยโรงงาน 48 จังหวัด 401 อำเภอ 2,105 ตำบล และปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 43 จังหวัด 268 อำเภอ 1,175 ตำบล

ประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ Zoning จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตร เนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายสุทธิได้จากการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมประสิทธิภาพการผลิตข้าวอยู่ที่ 715 กิโลกรัมต่อไร่(ณ ความชื้นร้อยละ 14)ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้ การปรับเพิ่มปริมาณ คุณภาพและมาตรฐาน จะทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เมื่อเกษตรกรสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านราคาจำหน่าย นอกจากนั้น ในภาพรวมประเทศจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรได้เต็ม ศักยภาพในการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ”

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อมูลเขตเหมาะสมที่ประกาศ นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการและภาคเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้รับรู้และเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของตนเองและร่วมกันคิดสร้างสรรค์แนวทาง การปรับเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ หาทางเลือกดำเนินการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของภูมิสังคมของตนเองและยก ระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลสนับสนุนหรือประสานความร่วมมือในการหาองค์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ การปรับเพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรดินและน้ำ การกำกับดูแลให้มีการซื้อขายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประสานอำนวยความสะดวกทางการตลาด การบริหารตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับวิธีคิดเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart officers และในที่สุดจะนำไปสู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สามารถแข่งขันได้ ในอาเซียนและในตลาดโลก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 กรกฎาคม 2556

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการเขตการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ร่วมกับ 9 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความสมดุลในภาคการเกษตร

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามการประกาศเขตความเหมาะสมการปลูกพืชทั้ง 13 ชนิด ปศุสัตว์ 5 ชนิด และประมง 2 ชนิด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอีก 9 องค์กร ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทยกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการเขตการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ หรือโซนนิ่งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยการลงนามความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในส่วนปลายน้ำได้เข้ามาร่วมกันกำหนดปริมาณ คุณภาพ มาตรฐาน และราคาที่เหมาะสมของสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งยังช่วยกำหนดพื้นที่การผลิตที่เหมาะสมและมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและระบบโลจิสติกส์ด้วย โดยเฉพาะพืชในกลุ่มพลังงานที่มีศักยภาพด้านการตลาดอย่างมาก เช่น อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะเป็นการสร้างความสมดุลและมีเสถียรภาพทางด้านราคา คุณภาพของผลผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรในระยะยาว

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนใน เอ็มโอยูที่จะเกิดขึ้นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดจะมีบทบาทสำคัญในการหารือและวางแผนกับเกษตรกรในจังหวัดว่าจะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดใด และพื้นที่ใดที่มีศักยภาพและเกษตรกรพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 10 กรกฎาคม 2556

10หน่วยงานMOUแผนโซนนิ่งสินค้าเกษตรสำคัญลงระดับพื้นที่

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแผนจับมือ 9 หน่วยภาครัฐและเอกชนลงนามเอ็มโอยูร่วมขับเคลื่อนแผนโซนนิ่งสินค้าเกษตรสำคัญลงระดับพื้นที่ หวังชี้ชัดพื้นที่ปลูกตามศักยภาพของตลาด

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินการนโยบายโซนนิ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ กำลังผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิบัติในพื้นที่ตามที่ได้ประกาศเขตความเหมาะสมการปลูกพืชแล้ว 13 ชนิด ปศุสัตว์ 5 ชนิดและประมง 2 ชนิด โดยในเร็วๆ นี้กระทรวงเกษตรฯ จะลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอีก 9 องค์กร ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการเขตการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ หรือโซนนิ่งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในส่วนปลายน้ำได้เข้ามาร่วมกันกำหนดปริมาณ คุณภาพ มาตรฐาน และราคาที่เหมาะสมของสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งยังช่วยกำหนดพื้นที่การผลิตที่เหมาะสมและมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและระบบโลจิสติกส์ด้วย โดยเฉพาะพืชในกลุ่มพลังงานที่มีศักยภาพด้านการตลาดอย่างมาก เช่น อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน และที่สำคัญคือการสร้างให้เกิดความสมดุลและมีเสถียรภาพทางด้านและราคาและคุณภาพของผลผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรในระยะยาว

นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานขณะนี้นั้นได้มอบหมายให้นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนใน เอ็มโอยูที่จะเกิดขึ้น ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดจะมีบทบาทสำคัญในการหารือและวางแผนกับเกษตรกรในจังหวัดว่าจะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดใด และพื้นที่ใดที่มีศักยภาพและเกษตรกรพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน

“สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือในการขับเคลื่อนโซนนิ่งนั้นทั้ง 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันประกาศเขตการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมมาตรการจูงใจ และส่งเสริมการผลิตของเกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ใหม่ ขณะเดียวกัน จะสนับสนุนให้มีการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่งระหว่างผู้ซื้อและเกษตรกรในหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งความร่วมมือในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และเสริมองค์ความรู้และพัฒนาเกษตรกรให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีคุณภาพตรงกับความต้องการของแหล่งรองรับผลผลิต และส่วนสุดท้ายคือการสนับสนุนข้อมูล ประสาน จัดหาโรงงานแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ และข้อมูลความต้องการวัตถุดิบสินค้าเกษตร แหล่งรองรับผลผลิตและร่วมกันกำหนดพื้นที่ปลูกพืชด้วย”นายยุคล กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 กรกฎาคม 2556

พาณิชย์ปลื้ม AEC Club สมาชิกพุ่ง 429 บริษัท เตรียมผลักดันบุกตลาดอาเซียน

นางอัมพวัน พิชาลัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากจัดตั้งชมรมนักธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Club) ขณะนี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิกแล้ว 429 บริษัท โดยสนใจตลาดพม่า 213 บริษัท ตลาด สปป.ลาว 171 บริษัท ตลาดเวียดนาม 163 บริษัท และตลาดกัมพูชา 150 บริษัท ซึ่งกรมฯ มีแผนที่จะสนับสนุนและผลักดันให้บริษัทเหล่านี้มีการพัฒนาและทำการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนต่อไป

“ขณะนี้กรมฯ ได้จัดทำแฟนเพจของ AEC Club โดยใช้ช่องทางเฟซบุ๊กในการติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการที่สนใจจะทำตลาด AEC ผ่านช่องทาง www.facebook.com/ditpaecclub ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลและกิจกรรมเกี่ยวกับ AEC ได้ทางเฟซบุ๊กอีกช่องทางหนึ่ง” นางอัพวันกล่าว

นางอัมพวันกล่าวว่า กรมฯ มีแผนที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วม AEC Club โดยจะเน้นการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ในประเทศเป้าหมาย เช่น กิจกรรม AEC Business Club Meeting เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการทำธุรกิจในตลาดอาเซียน โดยนักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์และผลงานในตลาดอาเซียน เป็นต้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 10 กรกฎาคม 2556

วช.จัดสรรงบการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยให้แข่งขันในตลาดส่งออกระดับโลก

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดสรรงบการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยให้แข่งขันในตลาดส่งออกระดับโลก

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เปิดเผยว่า ประเทศไทยปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลส่งออกจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยบราซิลเป็นประเทศที่ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ด้วยความเหนือกว่าของสายพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์อ้อยอย่างต่อเนื่อง และเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวแปรรูป ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเห็นความสำคัญของอ้อย โดยได้จัดสรรงบการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะเรื่องอ้อยและน้ำตาล จำนวน100 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาวิจัยเพิ่มผลผลิต พัฒนาสายพันธุ์ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกด้วยอ้อยสายพันธุ์ดี มีความหวานสูง มีการบริหารจัดการในไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตสูง ตลอดจนการผลิตเป็นน้ำตาลที่มีคุณภาพให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อผลักดันให้ไทยมีขีดความสามารถในการส่งออกอ้อยและน้ำตาลในตลาดโลก

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สหรัฐเตรียมบังคับสถาบันการเงินต่างชาติลงทะเบียนหวังสกัดการเลี่ยงภาษี

ในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า สหรัฐมีกำหนดที่จะเริ่มต้นการลงทะเบียนสถาบันการเงินของต่างชาติที่มีลูกค้าชาวสหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทะเบียนสำหรับกฎหมายต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีฉบับใหม่ ถึงแม้ภาคการเงินพยายาม ลอบบี้ให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไปก็ตาม

กรมสรรพากรสหรัฐ (IRS) ยังคงอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมคำแนะนำในการลงนามในเว็บไซท์ใหม่นี้ ซึ่งจะเริ่มเปิดใช้งานภายในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค. และขั้นตอนนี้ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนล่าสุดที่จะนำไปสู่การนำกฎหมายภาษีบัญชีต่างชาติ (FATCA) ปี 2010 มาใช้ในสหรัฐ

ธนาคาร, บริษัทประกัน และกองทุนเพื่อการลงทุนหลายแสนแห่งที่มีลูกค้าชาวสหรัฐ จะต้องลงทะเบียนกับ IRS ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลังสหรัฐ ภายในวันที่ 25 ต.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษภายใต้กฎหมาย FATCA ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 ม.ค. 2014

นางลอรี แฮทเทน-บอยด์ จากบริษัท KPMG กล่าวว่า หลายคนไม่พอใจที่สหรัฐไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ถึงแม้ใกล้จะถึงกำหนดเส้นตายแล้วโดยนางแฮทเทน-บอยด์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐจำเป็นต้องพิจารณาเลื่อนการลงโทษออกไป ถ้าหากทางกระทรวงไม่ประกาศแนวปฏิบัติออกมาก่อนสิ้นเดือนนี้

สมาคมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และตลาดการเงิน (SIFMA) ของสหรัฐเรียกร้องในเดือนมิ.ย.ให้มีการเลื่อนการลงโทษของ FATCA ออกไปจนถึงปี 2015

กระทรวงการคลังเคยเลื่อนเส้นตายของ FATCA มาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเลื่อนกำหนดการออกไป 1 ปี เป็นวันที่ 1 ม.ค. 2014 โฆษกกระทรวงการคลังปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเรื่องสถานะของเว็บไซท์ โดยกล่าวแต่เพียงว่า กำลังมีการทำงานเพื่อนำ FATCA มาบังคับใช้

กฎหมายนี้ถือเป็นความพยายามครั้งแรกในการปราบปรามการเลี่ยงภาษีสหรัฐในระดับโลก โดยกฎหมายนี้บังคับให้สถาบันการเงินต่างชาติต้องแจ้งข้อมูลให้ IRS รับทราบเกี่ยวกับบัญชีลูกค้าชาวสหรัฐที่มีมูลค่าสูงกว่า 50,000 ดอลลาร์

บริษัทหลายแห่งและประเทศพันธมิตรหลายประเทศของสหรัฐร้องเรียนว่า กฎหมายนี้ส่งผลกระทบเพียงฝ่ายเดียว, ครอบคลุมมากเกินไป และละเมิดความเป็นส่วนตัว

กฎหมายสหรัฐระบุว่า ชาวสหรัฐต้องจ่ายภาษีสำหรับรายได้ของตนเองในระดับโลก แทนที่จะจ่ายเพียงแค่ภาษีสำหรับรายได้ในสหรัฐ

ธนาคารที่ไม่ยอมแบ่งปันข้อมูลลูกค้าของตนเองให้ IRS ได้รับทราบอาจถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในระดับไม่เกิน 30 % โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2014

มีความกังวลกันว่า ความล่าช้าของ IRS ในการจัดทำคำแนะนำเรื่องกระบวนการลงทะเบียน อาจก่อให้เกิดภาวะคอขวดทางการลงทะเบียนในช่วงต่อไปในปีนี้ และส่งผลให้สถาบันการเงินต้องถูกลงโทษในปี 2014 ถึงแม้ไม่ใช่ความผิดของสถาบันการเงิน

นายคาร์ล เอ็กเบิร์ท ทนายความของบริษัทเดเชอร์ทกล่าวว่า "สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็คือการที่เว็บไซท์มีการโหลดมากเกินไป"

รัฐบาลสหรัฐพยายามลดความกังวลของต่างชาติในเรื่องนี้ โดยสหรัฐได้ลงนามในข้อตกลง FATCA กับรัฐบาลประเทศอื่นๆอีก 9 ประเทศ เพื่ออนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าชาวสหรัฐ ต่อหน่วยงานภาษีของประเทศนั้น แทนที่จะแจ้งแก่ IRS โดยตรง

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศราว 80 ประเทศที่อยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อข้อตกลงระหว่างรัฐบาล (IGA)
ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เยอรมนีได้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อนำ IGA มาใช้กับสหรัฐ

สหรัฐตั้งเป้าที่จะนำกฎหมายนี้มาใช้กับประเทศอื่นๆให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนแสดงความไม่เห็นด้วยต่อ FATCA ในช่วงที่ผ่านมา และทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยกันว่า สถาบันการเงินในฮ่องกงจะปฏิบัติตาม กฎหมาย FATCA หรือไม่ ขณะที่โฆษกรัฐบาลฮ่องกงกล่าวว่า ฮ่องกง "กำลังเริ่มการหารือขั้นต้นกับเจ้าหน้าที่สหรัฐ"

การทำข้อตกลงกับแคนาดาหยุดชะงักลงมานานหลายเดือนแล้ว โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลแคนาดาปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเรื่องความคืบหน้าในการเจรจากับสหรัฐ

เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐกำลังผลักดันให้สภาคองเกรสออกกฎหมายเพื่อช่วยในการแบ่งปันข้อมูลบัญชีธนาคารระหว่างประเทศต่างๆ โดยเป็นการแบ่งปันข้อมูลในทั้งสองทิศทาง เพื่อจะได้ดึงดูดรัฐบาลประเทศอื่นๆให้เข้ามาทำ ข้อตกลง FATCA

อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกันได้เสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่ตั้งเป้าในการขัดขวางความพยายามข้างต้น (ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปตท.เปิดโรงงานพลาสติกชีวภาพปี 58 วัตถุดิบ "น้ำตาล-มัน" แห่งแรกของโลก

ปตท. ลุยพลาสติกชีวภาพ ยันเปิดโรงงานพีบีเอส จากน้ำตาลในปี 2558 ขณะที่การร่วมทุนตั้งโรงงาน พีแอลเอ กับ "เนเจอร์เวิร์ค" ในไทย ต้องเลื่อนออกไป เพราะราคาน้ำมันลดลง ทำให้ความต้องการพีแอลเอ ชีวภาพลดลง

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจ ปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังเปิดตัวความร่วมมือในการใช้ถังป๊อปคอร์นที่ผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ 100% ว่า ความร่วมมือระหว่าง ปตท.กับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ในการเปลี่ยนถังป๊อปคอร์นแบบย่อยสลายได้ จะใช้พลาสติกพีบีเอสย่อยสลายได้จาก ปตท. 10-20 ตันต่อปี โดยถังป๊อปคอร์นที่ย่อยสลายได้นี้ จะแพงกว่าแบบเก่าประมาณ 10-15% ซึ่งอยู่ในระดับ ที่ไม่กระทบกับผู้บริโภค รวมทั้งจะเป็นการขยายตลาดพลาสติกชีวภาพให้เป็น ที่นิยม โดยในอนาคต ปตท. จะเดินหน้าผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกในรูปแบบใหม่ๆ ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ จะเร่งเดินหน้าโครงการร่วมทุนระหว่าง ปตท.กับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคัล ประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อตั้งโรงงานพลาสติก พีบีเอส ชีวภาพ มูลค่ากว่า 2.5 พันล้านบาท ที่จะก่อสร้างเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2558 โดยจะเป็นโรงงานแห่งแรกของโลกที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำตาล และ มันสำปะหลัง ส่วนโรงงานพลาสติกพีบีเอสย่อยสลายได้ที่ประเทศญี่ปุ่นยังคง ใช้วัตถุดิบจากปิโตรเลียม แต่พลาสติกที่ผลิตได้จะมีโครงสร้างเหมือนกับพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากน้ำตาล

ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันเม็ดพลาสติกพีบีเอส ที่ย่อยสลายได้จะมีราคาแพงกว่าพลาสติกพีบีเอสทั่วไปประมาณ 4 เท่าตัว โดยเม็ดพลาสติกพีบีเอส ที่ผลิตจากปิโตรเลียมจะมีราคา 1.5 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนพีบีเอส ย่อย สลายได้จะมีราคาสูงถึง 5 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน แต่มั่นใจว่าถ้าหากตั้งโรงงาน ในไทยราคาจะลดลงมาก และอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เพราะสอดคล้องกับแนว ทางลดมลภาวะของโลก แต่ราคาจะอยู่ในระดับเท่าไรยังตอบไม่ได้ เพราะราคาพลาสติกจะขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลในตลาดโลก

ขณะที่โครงการความร่วมมือกับ "เนเจอร์เวิร์ค" ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ พีแอลเอ ของสหรัฐฯ ที่ ปตท. ได้เข้าไปร่วมทุนในสัดส่วน 50% นั้น ขณะนี้โครงการก่อสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพ พีแอลเอ แห่งที่ 2 ในไทย อาจจะต้องชะลอโครงการออกไปก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ทำให้เม็ดพลาสติกพีแอลเอที่ผลิตจากปิโตรเลียมมีราคาถูกกว่าพลาสติกพีแอลเอชีวภาพ 30-40% ทำให้ความได้เปรียบด้านการแข่งขันลดลง รวมทั้งกำลังการผลิจจากโรงงานในสหรัฐฯ ก็ยังเหลืออยู่อีกมากจากกำลังการผลิตเต็มที่ 1.4 แสนตัน/ปี แต่ใช้กำลังการผลิตเพียง 8-9 หมื่นตัน/ปี ซึ่งหากใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้วจึงจะมีความชัดเจนโรงงานแห่งที่ 2 ในประเทศไทย

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อาเซียนเดินสายโชว์ทั่วโลกยันความพร้อมรุกสู่เออีซีในปี 58

ไทยและสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ พร้อมกันเดินทางเข้าร่วม ASEAN Roadshow to US ครั้งที่ 2 เพื่อประกาศศักยภาพ และประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และ สื่อมวลชนสหรัฐฯ ตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียน แสดงความพร้อมในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

นายสิน กุมภะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าร่วม ASEAN Roadshow to US ครั้งที่ 2 ณ นครลอสแองเจลิส นครซานฟรานซิสโก และกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียนเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

ASEAN Roadshow ในครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ฝ่ายอาเซียนและสหรัฐฯ พบปะหารือระหว่างกันในหลายรูปแบบ ใน 3 เมืองด้วยกัน คือ นครลอสแองเจลิส ฝ่ายอาเซียนได้หารือกับสมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกา (MPAA) ซึ่งเป็นองค์กรที่คุ้มครองสิทธิ์ทาง ทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ผลิตและผู้สร้างภาพยนตร์สหรัฐฯ อย่าง เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์, วอลล์ ดิสนีย์ และ ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เป็นต้น นอกจากนี้ คณะอาเซียนยังได้เข้าเยี่ยมชมท่าเรือลอสแองเจลิส ซึ่ง ถือเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และมีการนำเข้าสินค้าจากเอเชียมากถึงร้อยละ 70 โดยในเดือน มีนาคม 2556 มีการนำเข้าสินค้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 4 รองจาก จีน อินเดียและญี่ปุ่น

นครซานฟรานซิสโก คณะรัฐมนตรีอาเซียนได้เข้าเยี่ยมชมซิลิกอน วัลเลย์ ศูนย์กลางนวัตกรรมและอุตสาหกรรมไอทีอันดับหนึ่งของโลก รวมทั้งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก เช่น กูเกิล, ไมโคร ซอฟท์ และแอปเปิล

กรุงวอชิงตัน ดีซี ภาครัฐของทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Agreement : ASEAN-U.S. TIFA) โดยเฉพาะเอกสารข้อเสนอของสหรัฐฯ เรื่อง U.S.-ASEAN Expanded Economic Engagement (E3) Initiative ซึ่งเป็น ความร่วมมือที่มุ่งเน้นไปที่การวางรากฐาน สำหรับการพัฒนาของประเทศอาเซียน

ในการเดินทางไปครั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ "Expanding U.S.-ASEAN economic relations" ในฐานะตัวแทนของอาเซียนระหว่างการหารือกับผู้แทนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งถือเป็น การตอกย้ำความเชื่อมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่ออาเซียน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งเพื่อขยายการค้าและการลงทุนต่อไปในอนาคต

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อุตฯบุกโรดโชว์เยอรมนี ลงทุนพลังงานทดแทน

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค. นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเดินทางไปร่วมงานเอเชีย-แปซิฟิก ฟอรั่ม บาวาเรีย ที่เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแห่งรัฐบาวาเรีย และสภาอุตสาหกรรมและหอการค้านูเรมเบิร์ก โดยจะจัดงานสัมมนาการลงทุน เพื่อให้ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงโอกาสการลงทุนในไทย ซึ่งจะเน้นให้เห็นว่า ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ เป็นประตูสู่อาเซียน และพร้อมต้อนรับนักธุรกิจ และนักลงทุนจากต่างประเทศ

"ไทยได้รับเกียรติจากรัฐบาวาเรีย และหน่วยงานผู้ร่วมจัดงาน เลือกให้เป็นประเทศเกียรติยศของงาน โดยผมจะกล่าวสุนทรพจน์หลัก นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ จะร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ขณะที่ผู้แทนภาคธุรกิจบริษัทเยอรมนีที่ลงทุนในไทย จะมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย ซึ่งการจัดงานดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เยอรมนีมีต่อภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน"

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า เยอรมนีเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท โดยกลุ่มที่ไทยตั้งเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เข้ามาลงทุนตามเป้าหมายเพิ่ม เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งไทยพร้อมที่จะต้อนรับการลงทุนจากเยอรมนี ทั้งในรูปแบบของการลงทุนรายใหญ่ หรือเอสเอ็มอี

"เยอรมนีเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 10 จากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในไทย มีมูลค่าการลงทุนกว่า 85,000 ล้านบาท".

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สภาเกษตรกรแห่งชาติ’ เปิดตัวพร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

หลังจากที่ได้มีการผลักดันกันมาอย่างยาวนานมากกว่า 30 ปี ณ วันนี้ ความฝันของพี่น้องเกษตรกรได้เป็นจริง โดยได้มีการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติขึ้นมาร่วมมือทำงานกับรัฐบาลในการร่วมคิด วิเคราะห์ และลงมือแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องเกษตรกรให้หมดสิ้นไป เป็นเรื่องน่ายินดีของเกษตรไทย ที่นับจากนี้ไปจะมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ในการเป็นปากเสียงแทนเกษตรกรในการแก้ปัญหาปากท้องและปัญหาทำกิน

เนื่องจากในวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 นี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติและรัฐบาลเตรียมประกาศ “คิกออฟ” เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และจัดทำแผนแม่บทพัฒนาภาคเกษตรกรรมจากล่างสู่บน หวังพลิกมิติใหม่ในการพัฒนาภาคเกษตรไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวการจัดประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติสู่มิติใหม่แห่งการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน” ว่า หลังจากใช้เวลากว่า 4 ปี ในการผลักดันสภาเกษตรกรแห่งชาติตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 สภาเกษตรกรฯได้เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจของตัวเองในทันที โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรร่วมกับภาครัฐในหลายด้าน และนับเป็นครั้งแรกที่มีตัวแทนเกษตรกรอย่างแท้จริงเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นกระบอกเสียงในการทำงานร่วมกับรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรไม่เคยผ่านความเห็นจากเกษตรกรทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

ดังนั้น เพื่อเป็นการประกาศทุกภาคส่วนได้รับรู้ถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก รวมทั้งเป็นเวทีในการระดมความคิดของเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมจากล่างสู่บน เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ 1,732 คน พนักงานสำนักงานสภาเกษตรกร 261 คน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด 2,200 คน จะมีการประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สภาเกษตรกรแห่งชาติสู่มิติใหม่แห่งการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน” เพื่อประกาศเจตนารมณ์สร้างความร่วมมือพัฒนาประเทศชาติ โดยอาศัยพลังจากเกษตรกรทั่วประเทศ ขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน

นายประพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมานับแต่ถ่ายโอนการกำกับดูแลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้ช่วยลดช่องว่างระหว่างรัฐบาลและเกษตรกร ช่วยให้ปัญหา ต่าง ๆ ไม่ลุกลามมาบนท้องถนน หรือปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพราะสภาเกษตรกรฯ ได้เป็นตัวแทนในการนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรพูดคุยกันบนโต๊ะ แทนการพูดคุยบนท้องถนน ซึ่งเชื่อว่าบทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรฯ ดังกล่าว จะช่วยให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในมวลหมู่พี่น้องเกษตรกร ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรไทยมีศักดิ์ศรีในอาชีพ และเป็นที่ยอมรับของสังคมในอนาคต

...สภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงกำหนดจะจัดการประชุมสัมมนาครั้งประวัติศาสตร์ในวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2556 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรวางยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพ

นายนคร ศรีวิพัฒน์ รองประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 4 ปี (พ.ศ. 2557-2560)มีดังต่อไปนี้ 1. ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างโอกาส เพื่อเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน และเข้าถึงปัจจัยการผลิต ในการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้ยั่งยืน โดยใน 4 ปีนี้ ตั้งเป้าไว้ประมาณ 10,000 องค์กร จะมีจำนวนเกษตรกรประมาณ 1.2 ล้านคน สำหรับปีแรกมีเป้าหมายจำนวน 4,000 องค์กร ปีที่สอง 3,000 องค์กร ปีที่สาม 2,000 องค์กร ปีที่สี่ 1,000 องค์กร 2. สนับสนุนให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินแก่เกษตรกร โดยองค์กรเกษตรกร ซึ่งจะโอนหนี้ของเกษตรกรทุกบัญชีมากองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งหมดโดยจะมีการหารือแนวทางความเป็นไปได้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ได้วางแนวทางการจัดการหนี้ของเกษตรกรมีแนวทางคือ การลดหนี้ให้เกษตรกรครึ่งหนึ่งและไม่มีดอกเบี้ย แต่เกษตรกรต้องเสียค่าบริการเพียงปีละ 1% นอกจากนี้รัฐบาลควรมีการตั้งเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับสถาบันการเงิน (PSA) เพื่อให้การเจรจาซื้อหนี้ของเกษตรกรได้ตรงตามเป้าหมาย 3. ปฏิรูประบบบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูฯ โดยใช้งานวิจัยเพื่อเป็นแนวทางการปรับโครงสร้างขององค์กร รวมถึงนำมาเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ความเหมาะสม สามารถเป็นเอกลักษณ์ขององค์กร และส่งผลให้บุคลากรของเราเกิดความมั่นใจในการทำงานและเกิดความรัก ภาคภูมิใจในองค์กร

“ส่วนการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร จะมีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน เช่น การฟื้นฟูพัฒนาองค์ความรู้ เป็นการเสริมสร้างให้เกษตรกรสมาชิกมีความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์ปัจจุบัน การส่งเสริมอาชีพของเกษตรกร เน้นการพัฒนาอาชีพหลักให้มั่นคงพร้อมทั้งสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกรมีรายได้อย่างสม่ำเสมอนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับด้านการจัดการหนี้ให้เกษตรกรมักจะเป็นการดำเนินงานเป็นรายปัจเจก ทำให้ที่ผ่านมาเกษตรกรสมาชิกยังขาดการรวมตัวในการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้องค์กรเท่าที่ควร ฉะนั้นกองทุนฟื้นฟูฯ และเกษตรกรสมาชิกต้องร่วมกันสร้างศักยภาพในการรวมตัวเพื่อหารือแนวทางในเรื่องการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด” นายนคร กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วช.เตรียมเป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมนักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 มั่นใจจะเป็นประโยชน์ด้านการเกษตรของไทย

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาล นานาชาติ ครั้งที่ 29 ปลายปี พ.ศ.2559 มั่นใจเป็นประโยชน์ด้านการเกษตรต่อประเทศไทย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับ วช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล และสมาคมชาวไร่อ้อย

สำหรับการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ จะจัดประชุมทุก ๆ 3 ปี ในการจัดประชุมจะประกอบด้วย การประชุมวิชาการด้านการเกษตร ด้านชีววิทยา การปรับปรุงพันธุ์อ้อย ด้านกระบวนการผลิต ด้านผลพลอยได้จากการปลูกอ้อย และด้านการบริหารจัดการ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีจากต่างประเทศเกี่ยวกับการเกษตร ทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องตัด เครื่องปลูกอ้อยที่มีความทันสมัย และการลงพื้นที่ไร่อ้อย และโรงงานผลิตอ้อยในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และการผลิตการบริหารจัดการอย่างครอบคลุม เชื่อว่าคนไทยและประเทศไทยจะได้ประโยชน์ที่จะได้จากการประชุม ทั้งความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการปลูก แปรรูป และบริหารจัดการพืชอ้อยในหลากหลายด้าน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตอ้อยที่ดีขึ้น

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ก.เกษตรห่วงขาดแคลนน้ำหากใน2เดือนไม่มีมรสุมเข้าไทย-น้ำในเขื่อนใหญ่เหลือ4%

“ปลัดฯ ชวลิต” ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก เร่งแผนโซนนิ่งกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด เผยปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญเหลือเพียง 4% ส่อปัญหาขาดแคลนหากใน 2 เดือนไม่มีมรสุมเข้าไทย

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อประชุมติดตามงานโครงการสำคัญตามนโยบาลรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และตาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการบริหารโครงการพื้นที่เกษตรกรรมหรือโซนนิ่งและสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศ ณ ห้องประชุมสำนักชลประทานที่ 3 อ.เมือง จ.พิษณุโลก

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสำคัญในขับเคลื่อนเรื่องโซนนิ่ง เพื่อให้มีการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีพืชบางชนิดที่ผลิตมากเกินความต้องการของตลาดทำให้ราคาตกต่ำ และบางชนิดราคาจำหน่ายไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต ทำให้ภาครัฐต้องเข้าแทรกแซงราคาหรือรับจำนำ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรหรือปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตในด้านราคา โดยในเบื้องต้นเน้นดำเนินการในเรื่องข้าว ซึ่งพบว่ามีการปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพถึง 20 ล้านไร่ทั่วประเทศ ในขณะที่ยังมีพืชชนิดอื่นที่มีอนาคตที่ดีกว่าข้าว เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดและปาล์มน้ำมันที่สามารถปลูกทดแทนในพื้นที่ดังกล่าวได้

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการจำแนกพื้นที่เพาะปลูกพืชแต่ละชนิดตามศักยภาพของภูมิประเทศ สภาพดิน แหล่งน้ำจนถึงระดับตำบล ซึ่งชุดข้อมูลดังกล่าวนี้จะส่งไปยังทุกจังหวัด เพื่อให้จังหวัดใช้เป็นข้อมูลในการแนะนำปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร โดยหน่วยงานในระดับพื้นที่โดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินนโยบายโซนนิ่งที่ถูกต้อง สามารถให้ข้อมูลทางวิชาการและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อสร้างโอกาสในการผลิตและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร

“เบื้องต้นกระทรวงได้ทำความชัดเจนเรื่องของพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด ส่งไปให้ทางจังหวัด โดยพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใดอยู่แล้วเจ้าหน้าที่เกษตรจะเข้าไปแนะนำให้ความรู้ในการเพิ่มผลผลิตและวิธีลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ส่วนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในการปลูกข้าวจะแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกที่มีตลาดรองรับแน่นอน เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนที่มีความต้องการพืชดังกล่าว เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนนี้ ขณะเดียวกันจะเสนอรัฐบาลเกี่ยวกับการมีมาตรการจูงใจในการปรับโครงสร้างการผลิตในครั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปดังกล่าว” นายชวลิต กล่าว

สำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศ สำนักงานชลประทานที่ 3 ได้รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนและน้ำใช้เหลือ เพียง 4% หากภายใน 2 เดือนไม่มีฝนตกเหนือเขื่อนหรือไม่มีมรสุมเข้าประเทศไทยอาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ ซึ่งทางชลประทานได้วางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการบริหารจัดการน้ำเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการปฏิบัติการทำฝนหลวงเหนือเขื่อนในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนอย่างเร่งด่วน จึงขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนใช้น้ำฝนในการทำการเกษตรและร่วมกันประหยัดการใช้น้ำ เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนมีจำกัด

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ฟื้นลุ่มน้ำใหญ่ คุมเข้มโรงงานริมน้ำ

ปัญหาน้ำเสียส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งการใช้อุปโภคบริโภค การสัญจรไปมา ทัศนียภาพ รวมถึง สิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยสายน้ำที่มีคุณภาพพอสำหรับการดำรงชีพ โดยเฉพาะแม่น้ำสายหลักที่เป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประเทศไทย ซึ่งผู้ที่ถูกจับตามองจากสังคมว่าเป็นตัวการหลักในการทำลายคุณภาพของน้ำ คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ริมน้ำทั้งหลาย

เมื่อไม่นานนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ใน "โครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ" โดยมี "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นประธานในพิธี

สุวัจน์กล่าวก่อนลงเรือสำรวจแม่น้ำว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งห่วงใยคุณภาพของน้ำในแม่น้ำลำคลองสายต่าง ๆ อยู่ตลอดมา จึงได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งนี้มาเป็นโครงการ ดังกล่าว เพื่อน้อมนำพระราชกรณียกิจในการรักษาคุณภาพของน้ำในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ มาดำเนินการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการเฉลิมพระเกียรติฯ ยังได้ประชุมร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ของ กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดแผนงาน ฟื้นฟู 6 ลุ่มแม่น้ำประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ลำตะคอง และลุ่มน้ำในทะเลสาบสงขลา ให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 2 ปี

"จากการสำรวจโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ริมแม่น้ำทั้ง 6 ลุ่มน้ำ มีประมาณ 25,000 โรงงาน และก็มีอีกประมาณ 5,000 โรงงาน เป็นโรงงานที่อยู่ในระบบที่มีการปล่อยน้ำทิ้งลงในแม่น้ำทั้ง 6 ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำบางปะกงได้มีการสำรวจแล้วว่ามีโรงงานที่มีความสำคัญในการปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงประมาณ 350 โรงงาน จึงมีการวางแผนงานว่าจะเข้าไปขอความร่วมมือจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือควบคุมคุณภาพของการทิ้งน้ำหลังจากที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมแล้วให้เป็นคุณภาพที่ให้ได้รับการยอมรับ"

และเนื่องจากฉะเชิงเทราเป็นจังหวัด ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีอาณาเขตติดต่อกับปริมณฑลของกรุงเทพฯ คือ สมุทรปราการ และบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ยังถือเป็นพื้นที่เกตเวย์สู่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก น้ำทั้งหมดของลุ่มน้ำบางปะกงจะไหลลงสู่อ่าวไทยซึ่งใกล้กับพัทยาเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ฉะนั้น ต้องควบคุมคุณภาพของน้ำให้ดี ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้พื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงเป็นพื้นที่คุณภาพน้ำอันดับ 3 ซึ่งหมายความว่าเป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ฉะนั้น มาตรฐานของน้ำในบางปะกงต้องมีค่า OD (ค่าออกซิเจนในน้ำ) เกินกว่า 4 มิลลิกรัม/ลิตร

"ตอนนี้ที่เราตรวจสอบพบว่าบางจุด ค่า OD อยู่ที่ 3.2 หรือ 3.3 มิลลิกรัม/ลิตรเท่านั้น ถือว่ายังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ฉะนั้น นี่คืองานที่เราต้องทำ จากนี้ไปอีก 2 ปี ต้องขยับตัวเลขให้ไปถึง 4 ตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ได้ และเป็นเรื่อง น่ายินดีที่ 10 โรงงานบริเวณลุ่มน้ำบางปะกงให้ความร่วมมือกับโครงการเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายภาคประชาชน นักเรียน มาช่วยกันดูแล รับรู้ระบบการบริหารสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป"

ขณะที่สถานการณ์ของลุ่มน้ำบางปะกง วันนี้บางจุดค่าออกซิเจนในน้ำยังต่ำกว่าเกณฑ์

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวถึงปัญหานี้ว่า "ภาพในอดีตที่ผ่านมามันทำให้เขามีความรู้สึกว่ามีโรงงานอยู่ใกล้แล้วจะเดือดร้อน ทั้งน้ำเสีย และกลิ่นเหม็น ไปสร้างที่ไหนคนก็ต่อต้าน แสดงว่าความรู้สึกที่คนมีต่อโรงงานมีแต่เรื่องแย่ วันนี้เรามีโครงการที่เรียกว่า โครงการสามสามัคคีก็คือ สามัคคีกัน 3 ฝ่าย คือ ผู้ประกอบการ ชุมชน และภาครัฐที่เป็นตัวกลางในการจะทำให้สองฝั่งคุยกันให้รู้เรื่อง"

ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการประกาศห้ามตั้งโรงงานบางประเภท หรือกำหนดประเภทของโรงงานที่จะอนุญาตให้ตั้งได้ในบริเวณลุ่มน้ำสายหลัก 6 สาย โดยเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน มันจะกลายเป็นกฎกระทรวงฉบับแรกที่มีการห้ามในลักษณะนี้ ซึ่งสมัยก่อนอาจจะมีการประกาศแต่ในทางกฎหมายบังคับไม่ได้

"แต่อีกไม่นานนี้จะออกกฎหมายที่มีลักษณะเช่นเดียวกับผังเมือง หากทำก็ผิดกฎหมายต้องโดนลงโทษถึงขั้นถูกปิดโรงงาน และถูกเพิกถอนใบอนุญาต คาดว่าจะ แล้วเสร็จภายใน 12 สิงหาคมนี้"

ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะสามารถ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ ต้องติดตาม

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รู้จักตราสัญลักษณ์ใหม่ อุตสาหกรรมสีเขียว

จะเห็นว่าข้าวของเครื่องใช้ในตลาดทุกวันนี้ มีสินค้าซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงขนาดใช้เป็นจุดขายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์

คำว่า "กรีน" จึงมีทั้งเขียวแท้ละเขียวแท้ หากเป็นสินค้าสีเขียวจริง ต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบก่อนผลิต การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต กระทั่งการใช้งาน ตลอดจนการทิ้งหลังผลิตภัณฑ์หมดอายุแล้ว

Green แท้ต้องอยู่ภายใต้หลักการกว้างๆ คือ การประหยัดทรัพยากรและพลังงานให้เกิดผลผลิตที่คุ้มค่ามากที่สุด ตามหลัก 3Rs ใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) การออกแบบที่คำนึงสิ่งแวดล้อม (Eco Design) การศึกาและวิเคราะห์ข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCI-LCA) การไม่ใช้สารอันตราย (Non CFC) ลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก (Low Carbon) การประหยัดน้ำและไฟของผลิตภัณฑ์เป็นต้น

สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมได้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวในปี พ.ศ.2554 โดย นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมในเมืองไทยพร้อมที่จะปรับปรุงการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สำคัญคือ มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับต่างๆ แก่ผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 5,455 ราย "เครื่องหมาย Green Mark จะเป็นตัวกระตุ้นจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ได้พัฒนาตนเองและยกระดับการผลิต ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และใช้เทคโนโลยีสะอาดในการผลิตซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าได้บริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการแสดงตราสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ถือเป็นการสื่อสารให้ผู้บริโภคทั่วไปได้รับรู้และทราบ โดยเฉพาะตอนนี้ภาครัฐเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่อุดหนุนผ่านการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวน 14 สินค้าและ 3 บริการ ซึ่งในอนาคตจะมีการเพิ่มเติมประเภทของสินค้าอีก ส่วนในต่างประเทศและตามเมืองใหญ่ๆ สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีราคาใกล้เคียงกับสินค้าทั่วไปจะได้รับความนิยมในการเลือกซื้อมากกว่าสินค้าปกติ และในอนาคตของไทย เมื่อคนมีการศึกษาและกำลังซื้อสูงขึ้น แนวโน้มของสินค้ากรีนจะดียิ่งขึ้น" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

ล่าสุดมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำเครื่องหมาย Green Mark ไปใช้ในเชิงการค้าและโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นครั้งแรก โดยแสดงบนบรรจุภัณฑ์ทั้งที่กล่องใหญ่และแต่ละหีบห่อ จำนวน 10 ราย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม(โฟร์โมสต์) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (ยำยำ) ปูซีเมนต์(ตรานกอินทรีย์) ผลิตภัณฑ์หลอดไฟหม้อแปลงไฟฟ้า (บริษัท ถิรไทยฯ) ของเล่นเด็กที่ทำจากไม้ (ตราแซนทอย) แป้งข้าวเจ้าข้าวเหนียว (ตราหมีคู่ดาว) เป็นต้น

คุณเสรี วิไลวรรณ กรรมการบริหาร อาวุโสและผู้จัดการั่วไปบริษัท วันไทย อุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด "การติด Green Mark มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัยด้านสิ่งแวดล้อม มีนโยบายที่จะรักาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ทัศคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์ยำยำว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์มากขึ้น"

คุณสุรนันท์ สันติโชตินันท์ กรรมการบริหาร บริษัท ถิรไทย จำกัด(มหาชน) "เพราะอยากสื่อถึงการผลิตและการบริการเกี่ยวกับหม้อแปลงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า โดยยึดหลักธรรมาภิบาล พร้อมทั้งสร้างสรรค์สิ่งดีงามต่อสังคม ด้วยคอนเซปต์ของบริษัทฯ ที่ว่า LIVE GREEN LIFE และคาดหวังว่าในอนาคตลูกค้าย่อมมีความตัองการซื้อสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"

Green Industry Mark (Green Mark) คือ เครื่องหมายที่มอบให้อุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง มีความรับผิดชอบต่อสังคม นับเป็นเครื่องหมายใหม่ล่าสุดที่รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เปิดช่องสายตะกูถาวร-คาดเงินสะพัด

บุรีรัมย์ - นายนที เจียรพันธุ์ ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ เผยว่าทางหอการค้าจังหวัดและสมาชิก พร้อมรับการเปิดจุดการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด หลังได้รับหนังสือแจ้งจากทางจังหวัดว่า ขณะนี้ทางสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เห็นชอบให้ยกระดับการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าเพื่อมนุษยธรรม จากเดิมเปิดสัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันศุกร์และวันเสาร์ ให้เป็นจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนถาวร

ที่ผ่านมาต่อสู้ผลักดันให้เปิดจุดดังกล่าวเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ซึ่งขณะนี้การเปิดจุดการค้าอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจัดหางบประมาณ มอบหมายให้กับทางจังหวัดดำเนินการจัดการก่อสร้างอาคารสำนักงาน และนำบุคลากรเข้าไปบริหารจัดการเชื่อว่าการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนถาวรในครั้งนี้ จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมในจังหวัดมีการเจริญเติบโตขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลุยฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม เฉลิมพระเกียรติพ่อของแผ่นดิน

นายบุญช่วย ช่วยระดม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯเป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา60 พรรษา และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

สำหรับพื้นที่ของโครงการฯ นั้น พลตำรวจตรีทักษ์ ปัทมสิงห์ณ อยุธยา ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินบริเวณ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ประมาณ 694 ไร่2 งาน 38 ตารางวา ต่อมา นายสี วรรณเทวี ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินเพิ่มเติมอีกจำนวน 63 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา พัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวเป็น 3 ส่วน คือ ให้ฟื้นฟูสภาพป่า ดำเนินการพัฒนา และปล่อยไว้ในสภาพเดิม นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ติดกับพื้นที่โครงการฯ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาจัดซื้อเพิ่มเติมอีกจำนวน 91 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา ล่าสุด ในปี 2554 ที่ผ่านมา นางวรรณา พูลผล ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก จำนวน 20 ไร่ ซึ่งจะทำการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และปลูกไม้ยืนต้น เพื่อให้เกิดความร่มรื่นตามธรรมชาติ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สปก.จับมือม.พะเยา ศึกษาใช้ประโยชน์ที่ดิน

นายสมปอง อินทร์ทอง รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินตามความเจริญของท้องถิ่นอย่างถูกต้องตามหลักกฎหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ส.ป.ก. เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการที่มีอยู่เดิมและไม่เกิดผลกระทบกับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการประกอบอาชีพทางการเกษตรและสร้างรายได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ทั้งนี้ ชุมชนที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินรอบมหาวิทยาลัยพะเยามีกว่า 3,000 ราย รวมพื้นที่ทั้งที่เป็นเขตป่าไม้และเขตปฏิรูปที่ดิน มีไม่น้อยกว่า 10,000 ไร่ ซึ่งกำลังประสบปัญหาจากความเจริญที่ขยายเข้าไปในพื้นที่ มีความต้องการขอใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการก่อสร้างหอพัก อาคารพาณิชย์ รองรับความเจริญที่เกิดขึ้นหลังจากมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยพะเยา แต่องค์กรท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือ เทศบาล ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขัดกับหลักการของการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยเบื้องต้น ส.ป.ก. จะเร่งสำรวจพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดโซนสำหรับการพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์ หรือการพัฒนาตามความเจริญของท้องถิ่นที่เหมาะสมต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

'เซ็นเตอร์ แล็บ'ดันสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลก

สุกัญญา สินถิรศักดิ์

ธุรกิจติดดาวสัปดาห์นี้ จะพาไปพบกับเรื่องราวของบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) หรือเซ็นเตอร์ แล็บ หนึ่งในห้องปฏิบัติการทดสอบ ที่ดำเนินการทดสอบและบริหารงานด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้และประสบการณ์ มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยมุ่งเน้นด้านการ

ทดสอบผลิตสินค้าเกษตรและอาหารด้านคุณภาพเพื่อความปลอดภัยของสินค้าเป็นหลักเป็นการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้า ของกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน (OTOP) และเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพและขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้น

ประเสริฐ บุญชัยสุขรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ความต้องการอาหารของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ซึ่งปัจจุบันสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมาก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นครัวของโลก และการเดินหน้าขยายตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต รวมถึงมาตรฐานคุณภาพที่ต้องสร้างความเชื่อถือในตลาดโลกได้

"ทุกประเทศที่รัฐบาลไทยมีโอกาสได้เดินทางไปโรดโชว์ เราจะนำอาหารไทย สินค้าเกษตรของไทยไปนำเสนอด้วย ซึ่งต่างชาติก็ชื่นชอบมากจึงมั่นใจ

ได้ว่าการที่ประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น จะทำให้อาหารไทย สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยมีความต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย)เข้ามามีส่วนช่วยตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้าเกษตร และมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังเครื่องดื่มอาหารเสริม และเครื่องสำอางทำให้ผู้ประกอบการสร้างขีดความสามารถเทียบมาตรฐานระดับสากล"

ทั้งนี้ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย)มีสาขาอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ให้บริการด้านการทดสอบ 4 บริการหลักๆ ดังนี้ 1.ด้านการเกษตร ได้แก่ การทดสอบและสุ่มตัวอย่าง การทดสอบและสุ่มตัวอย่างดิน การทดสอบและสุ่มตัว

อย่างปุ๋ย การทดสอบประสิทธิภาพของสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
2.ด้านผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภค-บริโภค อาหารได้แก่ บรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารต่างๆ การทดสอบด้าน GMOs สารพิษที่เกิดในสิ่งมีชีวิตสารปนเปื้อน สารพิษจากเชื้อราวัตถุเจือปน องค์ประกอบอาหารฉลากโภชนาการ การทดสอบอาหารฮาลาล โลหะหนัก และแร่ธาตุ เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 ด้านตัวอย่างไม่ใช่อาหาร ได้แก่ การทดสอบอาหารสัตว์และวัตถุดิบด้านเคมี เช่น การวิเคราะห์หาคุณค่าอาหาร เมลามีนและอนุพันธ์ โลหะหนัก ยาสัตว์ตกค้าง สารพิษจากจุลินทรีย์ และ 4.การทดสอบน้ำเสียทางด้านเคมีด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทดสอบคุณภาพอากาศภายในอาคาร การทดสอบพื้นผิวและอากาศ

ทางด้าน เอกชาติ นาคาไชยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) เล่าถึงที่มาของบริษัทว่า ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2546 ให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ดำเนินการในรูปแบบบริษัทเอกชน เพื่อความคล่องตัวโดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 49% และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือหุ้น 51% ซึ่งไม่ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังถือเป็นหน่วยงานของรัฐเพราะรัฐเป็นผู้ลงทุนให้ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบของเงินกู้ยืม 1,900 ล้านบาท

สำหรับบริษัทดังกล่าวมีภารกิจหลัก 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.รับถ่ายโอนภารกิจการตรวจวิเคราะห์จากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่ต้องไปจ้างแล็บเอกชนและ 2.เพื่อรองรับโครงการอาหารปลอดภัยหรือฟู้ดเซฟตี้ ที่เกิดขึ้นในปี 2546 อีกทั้งในเวลานั้นแล็บที่จะทำหน้าที่ตรวจคุณภาพอาหาร และสินค้าเกษตรเพื่อออกใบรับรองต้นทางมีน้อยส่วนใหญ่เป็นแล็บต่างชาติ รัฐบาลในช่วงเวลานั้นจึงตั้งแล็บขึ้นมาพร้อมกับให้เงินลงทุนแบบเงินกู้ที่ต้องผ่อนชำระ

ปัจจุบันบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) มีด้วยกัน 6 สาขา ได้แก่ กรุงเทพฯฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร เชียงใหม่ขอนแก่น และสงขลา เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และไม่ให้งานกระจุกที่กรุงเทพฯ โดยกลุ่มลูกค้ามีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ที่จำเป็นจะต้องใช้แล็บเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งการออกใบรับรองสัญลักษณ์ Q ของเซ็นเตอร์แล็บ เป็น Q ที่อยู่ในผลการวิเคราะห์เท่านั้น ไม่ใช่Q ที่เห็นบนผลิตภัณฑ์ เพราะผลของแล็บไม่สามารถติดบนตัวผลิตภัณฑ์ได้ แล็บรับรองได้เฉพาะตัวอย่างที่นำมาตรวจเท่านั้น ส่วนQ ที่เห็นบนผลิตภัณฑ์ เป็น Q ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่ามีความเชื่อมโยงกันเพราะกระทรวงเกษตรฯ ก็จะนำผลตรวจวิเคราะห์ที่ได้ Q ของเซ็นเตอร์ แล็บ เป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อให้Q บนผลิตภัณฑ์ต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กหลายรายมองว่าการส่งผลิตภัณฑ์เข้าตรวจในแล็บต่างๆ เป็นเรื่องไกลตัวแต่จริงๆ แล้วมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อไรที่จะต้องบอกผู้บริโภคทั่วโลกว่า อาหารนี่ปลอดภัย ต้องใช้แล็บตรวจสอบเท่านั้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

เศรษฐกิจดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สิ่งที่คนคำนึงถึงมากขึ้น นั่นคือ ความปลอดภัย จึงต้องมีหน่วยงานกลาง มาทำหน้าที่บอกว่า อาหารนี้ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งการที่ธุรกิจการเกษตร และเกษตรแปรรูปจะออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้นั้นการรับรองมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญมาก

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อุตฯเล็งจัดระเบียบกำจัดกากอันตราย

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมจัดระเบียบบริษัทกำจัดกากอันตราย หลังมั่วนิ่มไปเผาโรงปูน – ทิ้งกลางทะเล หวั่นก่อสารพิษระยะยาว

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เกิดจากการขุดเจาะ และผลิตปิโตรเลียมในประเทศ โดยแต่ละหน่วยงาน จะไปออกระเบียบการกำกับดูแลกากอุตสาหกรรม ซึ่งกรอ.จะออกระเบียบให้ผู้รับขน และกำจัดกากอุตสาหกรรมจากแหล่งปิโตรเลียมต้องขึ้นทะเบียนกับกรอ. คาดว่า จะออกระเบียบได้ภายใน 1 เดือน เพื่อให้ทราบว่า ผู้รับขนกำจัดกากอุตฯ ขุดเจาะ นำกากของเสียไปทิ้งที่ใด เนื่องจากที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจ้งให้ทราบว่า มีผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม นำกากของเสียให้บริษัทรับจัดการกากของเสียจัดการ แต่บริษัท ฯ บางรายกลับนำของเสียอันตรายไปเผาที่โรงงานปูนซีเมนต์ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะของเสียอันตรายไม่ใช่เชื้อเพลิงทดแทนในโรงปูน และเกรงว่า บางรายจะนำไปทิ้งกลางทะเล ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษได้

นอกจากนี้ กรอ. และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งปิโตรเลียมบนบกที่จังหวัดพิษณุโลกและแหล่งปิโตรเลียมในทะเลที่ จ.สงขลา ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อตรวจสอบว่า มีการจัดการกากอุตสาหกรรมจากการขุดและสำรวจปิโตรเลียมอย่างไร โดยที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติส่งหนังสือมาสอบถาม กรอ.ว่า กากของเสียอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย หรือไม่ ซึ่ง กรอ.ชี้แจงว่าการจัดการกากอุตสาหกรรมแต่ละประเภทแตกต่างกัน และถ้าเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และต้องส่งไปจัดการกับผู้รับกำจัดที่ได้รับอนุญาต โดยปัจจุบันมีหลุมฝั่งกากอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุอันตราย 2 แห่ง ของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน และบริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999)

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

"ศุภชัย"ไขลานรัฐรับมือเศรษฐกิจโลก

ดร.ซุ้ป ไขลานรัฐบาล 10 ข้อ เร่งใช้ประโยชน์เออีซี รับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอีกหลายปี จี้ปรับการศึกษา แรงงาน กฎหมาย ศุลกากร อาเซียนบวก 6 แต่ห่วงทำทีพีพีกระทบประเทศ

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เปิดเผยในการบรรยายหัวข้อ ไรซิง อาเซียน อิน โกลบอล อีโคโนมี ที่จัดเพื่ออบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงอาเซียนรุ่นที่ 2 ว่า มีการบ้านฝากให้รัฐบาล 10 ข้อ เพื่อนำไปพัฒนาให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)สูงสุด เพราะต่อไปอาเซียนจะกลายเป็นตลาดสำคัญที่ไทยช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ หลังจากเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐ และสหภาพยุโรป ยังมีแนวโน้มชะลอตัวอีกหลายปี

สำหรับการบ้าน 10 ข้อ ประกอบด้วย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการในด้านการผลิตให้กับอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศให้เชื่อมโยงกัน เช่น ยานยนต์ การออกแบบ แฟชั่น เพื่อเจาะตลาดอาเซียนกว่า 600 ล้านคน การผลักดันให้ภาคเหนือของไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง(จีเอ็มเอส) เพราะกลุ่มประเทศนี้มีเศรษฐกิจเติบโตได้สูงในอนาคต การพัฒนาการศึกษาไทยโดยเน้นการสร้างคนผ่านสายวิชาชีพเพิ่มขึ้น และให้มีรายได้เทียบเท่ากับปริญญาตรี เพราะสายวิชาชีพยังมีน้อยและอาจไม่เพียงพอในอนาคต

นอกจากนี้จะต้องเร่งปรับปรุงระบบศุลกากรให้มีมาตรฐานเดียวกับอาเซียน เพราะตอนนี้ระบบของไทยอย่างล้าหลังจนอาจกลายเป็นอุปสรรคการค้าชายแดนในอนาคต รัฐบาลต้องจริงจังในการผลักดันให้ไทยเป็นแกนหลักในการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (อาร์เซพ) ของกลุ่มอาเซียนบวก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เพราะหากทำสำเร็จกลุ่มนี้จะเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นขั้วการค้าที่สำคัญของโลกต่อไทย

ส่วนต่อมารัฐบาลต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานช่วยสนับสนุน ประเทศไทยจะต้องยอมรับการเปิดเสรีให้เคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาประเทศในระยะยาว ต้องสนับสนุนให้อาเซียนเป็นฐานผลิตเดียวกัน โดยปรับเปลี่ยนบทบาทสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้เน้นการนำธุรกิจไทยไปลงทุน และใช้ประโยชน์จากอาเซียนเพิ่ม อีกจุดที่สำคัญรัฐบาลคือการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับการเปิดเสรี เช่น พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าที่ต้องทำอย่างจริงจัง เพราะแนวโน้มต่อไปเมื่อเป็นเออีซีจะเกิดการรวมกลุ่มผูกขาดการค้าเพิ่ม หากไม่มีกฎหมายดูแลธุรกิจรายเล็กจะแข่งได้ยาก และตอนนี้หลายประเทศก็มีกฎหมายดูแลหมดแล้ว แต่ไทยยังไม่มี และสุดท้ายรัฐบาลจะต้องสร้างเครื่องมือดูแลทางการเงิน เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ และแข่งขันทางการค้าได้ในอนาคต

“เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อไปอีกหลายปี โดยเฉพาะอียูจะยังฟื้นตัวยากเพราะมีความแตกต่างทางพื้นฐานเศรษฐกิจสูง ดังนั้นเอเชียจะเป็นตลาดสำคัญที่มีโอกาสเติบโตได้มาก ซึ่งรัฐบาลจะต้องผลักดันการใช้ประโยชน์จากเออีซี รวมถึงให้ไทยเป็นแกนอาเซียนบวก 6 ให้เกิดขึ้นเพราะจะมีประชากรรวมกันถึง 3.4 พันล้านคน เกินครึ่งโลก ส่วนการเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) รัฐบาลควรทำอย่างระมัดระวังเพราะมีเรื่องละเอียดอ่อนแฝงอยู่มาก จนอาจกระทบต่อปัญหาสังคมไทยตามมา”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดึงจังหวัดกำแพงเพชรเป็นพื้นที่นำร่องทำโซนนิ่งเกษตร เพื่อประเมินผลการทดลอง

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดึงจังหวัดกำแพงเพชรเป็นพื้นที่นำร่องจัดทำโซนนิ่งเกษตร เพื่อประเมินผลการทดลองการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดเดิมมาเป็นชนิดอื่น ก่อนกระจายการทำโซนนิ่งไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ในการสร้างมูลค่าและคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบแล้ว โดยตนเองรับผิดชอบ 3 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) โดยแผนงานแรกที่จะเริ่มดำเนินงานทันที คือ การทำโซนนิ่งเกษตร ด้วยการสำรวจพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดโซนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดินและได้ผลผลิตคุ้มค่าการลงทุน โดยเริ่มสำรวจพืชที่ไม่เหมาะสมจะปลูก หรือพื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชปัจจุบันที่มีผลผลิตขาดทุนมาเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นที่ได้ผลผลิตมากขึ้นให้กับเกษตรกรและสร้างรายได้มากขึ้นต่อครัวเรือน ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชรในบางพื้นที่มีพืชบางชนิดที่น่าสนใจและจะได้ผลผลิตที่ดี เช่น อ้อย ที่เป็นได้ทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน ทั้งนี้ ก่อนจะปฏิบัติจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดเดิม ๆ ก่อนว่าทำไมถึงควรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดใหม่ หรือการปลูกพืชแซมระหว่างการปลูกข้าวรอบต่าง ๆ หรือช่วงเว้นว่างการปลูกข้าว เนื่องจากภาครัฐจะไม่มีการบังคับให้เกษตรกรเปลี่ยนการปลูกพืช จะใช้ความสมัครใจในการปรับเปลี่ยนชนิดพืชใหม่ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการยอมรับในแนวนโยบายใหม่ของรัฐบาลด้วยเหมือนกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันแล้วการดำเนินงานจะประสบความสำเร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของพื้นที่โซนนิ่งว่าพื้นที่ใด สามารถปรับเปลี่ยนการปลูกพืชได้เหมาะสมกับสภาพและคุณภาพดินได้ดีที่สุดให้แล้วเสร็่จก่อน จากนั้นจะลงพื้นที่ที่เลือกว่าควรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนของเดิมจะเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าทันที เพื่อนำผลการทดลองการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดเดิมมาเป็นชนิดอื่นในพื้นที่ดังกล่าวมาประเมินผล ก่อนกระจายการทำโซนนิ่งต่อไปในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าและคุณภาพสินค้าเกษตรของไทยให้แข่งขันกับสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กรมโรงงานคุมเข้ม อุตฯป้องกันไฟไหม้ ห่วงกระทบชุมชน

กรมโรงงานสั่งคุมเข้มโรงงานอุตสาหกรรมและประสานอุตสาหกรรมจังหวัด ป้องกันเพลิงใหม่ หลังพบ 6 เดือนแรกเกิดอุบัติเหตุในโรงงาน 44 ครั้ง เป็นไฟไหม้ถึง 32 ครั้ง มากกว่าทั้งปีของปี 2555 ห่วงสารเคมีไฟไหม้กระทบชุมชน ด้านการนิคมฯ ยันตรวจสอบโรงงานในนิคมฯ อย่างใกล้ชิด ให้โรงงานเสี่ยงเปิดเผยข้อมูล

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับโรงงานอุตสาหกรรม 44 ครั้ง แบ่งเป็นเกิดจากอัคคีภัยสูงสุด 32 ครั้ง รองลงมาเป็นแอมโมเนียรั่ว 5 ครั้ง ระเบิด 3 ครั้ง สิ่งของหล่นทับ 2 ครั้ง และอื่นๆ เช่น หกล้ม 2 ครั้ง ดังนั้น กรอ.ได้ประสานงานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศให้แจ้งผู้ประกอบการโรงงานให้ระมัดระวังการเกิดอัคคีภัย เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุโรงงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และปัญหาไฟไหม้อาจทำให้สารเคมีในโรงงานเกิดสารพิษและส่งผลกระทบด้านมลพิษกับชุมชนที่อยู่รอบข้างโรงงานได้

“ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เกิดไฟไหม้ไปแล้ว 32 ครั้ง เช่น บริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัด, บริษัท สหไทยซินเทติกไฟเบอร์ จำกัด, บริษัท โรงสีไทยเจริญพาณิชย์ จำกัด, บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งถือว่าสูงกว่าสถิติทั้งปี 2555 ที่มีไฟไหม้ 30 ครั้ง และปี 2554 ไฟไหม้ 11 ครั้ง ซึ่งปกติไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ต้องการให้ไฟไหม้โรงงานของตัวเอง ยกเว้นบางรายที่ต้องการให้เกิดไฟไหม้เพื่อขอสินไหมประกันภัย” นายณัฐพลกล่าว

สำหรับเรื่องร้องเรียนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีประชาชนร้องเรียนเข้ามา 448 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกลิ่น 268 เรื่อง รองลงมาร้องเรียนเกี่ยวกับเสียง 145 เรื่อง ฝุ่น 132 เรื่อง ไอสารเคมี 100 เรื่อง และเมื่อพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมอาหาร 43 เรื่อง ผลิตภัณฑ์โลหะ 22 เรื่อง ยานยนต์และอุปกรณ์ 19 เรื่อง โลหะขั้นมูลฐาน 13 เรื่อง ซึ่ง กรอ.เข้าไปแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยสั่งแก้ไขตาม พ.ร.บ.โรงงาน 19 เรื่อง สั่งดำเนินคดี 16 เรื่อง สั่งหยุดหรือปิด 7 แห่ง และส่งเรื่องให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 226 เรื่อง

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของ กนอ. รวมทั้งให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเปิดเผยข้อมูลในการประกอบกิจการของโรงงาน เพื่อให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 6 กรกฎาคม 2556

กลุ่มวังขนายบุกขอนแก่น จัดทำโครงการ Read Me กระตุ้นเยาวชนรักการอ่าน

น.ส.ธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย เปิดเผยว่า กลุ่มวังขนายเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการอ่านของเยาวชน จึงจัดโครงการ Read Me กระตุ้นการอ่านขึ้น ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของคนไทยให้มีสถิติการอ่านเพิ่มมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อเป็นการเตรียมตัวรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งการใช้ภาต่างประเทศให้เข้าใจได้ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญและจะต้องมีพื้นฐานที่ดีมาจากการรักการอ่านหนังสือ

ดังนั้นเพื่อเตรียมรับการเข้าสู่เออีซี กลุ่มวังขนายจึงได้จัดทำโครงการ Read Me ขึ้น โดยในส่วนภูมิภาคนั้นได้จัดไปแล้วที่ จ.เชียงใหม่ และล่าสุด ได้จัดที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้รับความสนใจมากพอสมควร ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การนำเอา Street Art ซึ่งเป็นศิลปะการวาดรูป ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกเพศทุกวัยมาวาดลงบนตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ โดยศิลปินที่มีชื่อเสียง 5 ทีม คือ P7, Rukkit, Mamafaka, Chip 7, Never ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ประชาชนที่ได้พบเห็นหันมาสนใจการอ่านมากขึ้น

นอกจากนี้ การนำองค์ความรู้และทักษะในการผลิตน้ำตาลที่กลุ่มวังขนายได้มีความเชี่ยวชาญกว่า 38 ปีมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Read Me ตอน เรื่องเล็กๆ เท่าเม็ดน้ำตาล มาแจกประชาชน และสุดท้ายคือ ขอรับบริจาคหนังสือจากประชาชนเพื่อนำไปมอบแก่เยาวชนที่ขาดแคลนในชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งจากการจัดทำโครงการ Read Me กระตุ้นการอ่านมาจนครบ 3 จังหวัด

โดยทางกลุ่มวังขนายคาดหวังว่าจะมีผู้บริจาคหนังสือแก่เยาวชนไทยมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่คาดหวังไว้สูงสุดคือ ช่วยให้อัตราการอ่านของคนไทยเพิ่มมากขึ้น เราอาจเป็นแค่ตะเกียงดวงน้อยๆ แต่เมื่อรวมกันหลายดวงแล้วก็จะช่วยจุดประกายความคิด หรือความหวังให้กับเยาวชน หรือแม้กระทั่งประเทศไทยในอนาคตได้อย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 กรกฎาคม 2556

อุตรดิตถ์เร่งขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำห้วยน้ำรี

นายธีระ อิสระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 12 สำนักพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กรมชลประทาน โครงการเขื่อนทดนํ้าผาจุกและโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานก่อสร้าง 12 ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.50 ม. ความยาว 1.8 กม. เพื่อทำการขุดเจาะและส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเข้าพื้นที่รับประโยชน์ 9 ตำบล ในเขตพื้นที่ 2 อำเภอ ประกอบด้วย ต.จริม ต.หาดล้า ต.ท่าปลา ต.ร่วมจิต ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา ต.วังดิน ต.หาดงิ้ว ต.บ้านด่าน และ ต.แสนตอ อ.เมืองอุตรดิตถ์ หลังชาวบ้านได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติภัยแล้งอย่างรุนแรง จนทำให้ราษฎรในพื้นที่ อ.ท่าปลา ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมายาวนานราวประมาณ 40 ปี

นายธีระ กล่าวว่า กรมชลประทานเห็นชอบให้สำนักงานก่อสร้าง 12 ใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2536 เข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ โดยให้เข้าทำประโยชน์เฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเท่าที่จำเป็น เพื่อก่อสร้างที่ทำการบ้านพัก อุโมงค์ส่งน้ำ บริเวณจัดภูมิทัศน์ และ เขื่อนดินหัวงานบางส่วน พื้นที่ประมาณ 460 ไร่ ทั้งนี้ เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อผันน้ำช่วยเหลือราษฎรผู้อพยพจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภคอุปโภค ครอบคลุมพื้นที่ อ.ท่าปลา และ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ คิดเป็นพื้นที่ 53,500 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและมีรายได้เสริม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 กรกฎาคม 2556

 ‘อ่างทอง’ผุด‘เกษตรลุ่มเจ้าพระยา ก้าวหน้าสู่ AEC’ เกษตรกรไทยควรทำอย่างไร? เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ภาคเกษตรกรรมไทยยังคงเป็นภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสาขาการผลิตหลักสาขาหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมในลุ่มเจ้าพระยาถือว่ามีศักยภาพเชิงพื้นที่สูงในการเป็นผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าการเกษตร

ขณะเดียวกันในปลายปี 2558 ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค พร้อมทั้งสนับสนุน SMEs และร่วมมือกันในโครงการต่างๆ เช่น ความร่วมมือด้านการเกษตร อาหารและป่าไม้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ความร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น

ดังนั้นภาคเกษตรกรรมไทยจึงจำเป็นต้องมีการติดตามความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรกรรมในอาเซียนอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้สินค้าเกษตรสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การสร้างคุณค่า (Value Creation) และสามารถยืนหยัดแข่งขันได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทุกมิติที่กำลังจะติดตามมารวมทั้งสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับโลก

นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อ่างทอง ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงานเกษตรลุ่มเจ้าพระยา ก้าวหน้าสู่ AEC ว่า “อ่างทองเป็นจังหวัดศูนย์กลางของลุ่มเจ้าพระยา โดยสภาพพื้นที่และอาชีพพื้นฐานของชาวอ่างทองคือเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่จะได้รับกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองก็ได้ตระหนักถึงประเด็นสาระสำคัญดังกล่าว จึงร่วมกันจัดงาน “เกษตรลุ่มเจ้าพระยา ก้าวหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” ขึ้น เพื่อเผยแพร่บริบททิศทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรไทยในภาพรวมและรายสาขาเกษตรกรรมที่ควรรู้เขา รู้เรา รู้ก่อน ให้แก่เกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปประกอบแนวทางการสร้างศักยภาพ”

การจัดงาน “เกษตรลุ่มเจ้าพระยา ก้าวหน้าสู่ AEC” กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 12-21 กรกฎาคม 2556 ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ถนนโพธิ์พระยา-ท่าเรือ ต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง โดยภายในงานแบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.การจัดแสดงองค์ความรู้ภาคเกษตรกรรมที่จะสร้างความพร้อม สร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจการสินค้าเกษตรมีความพร้อมในการจะเข้าสู่ภาคธุรกิจการค้าใน AEC จากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยกมาให้ความรู้ในรูปแบบนิทรรศการการจำลองรูปแบบการอบรมและสาธิต ทั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน

2.การให้ความรู้ผ่านการเสวนาในหัวข้อ “เตรียมพร้อม พุ่งตรง สู่ AEC” โดยจะเป็นการให้ความรู้จากทุกหน่วยงานตลอด 10 วัน 10 เรื่อง และทำความรู้จักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเชิงลึกในด้านต่างๆ ผ่านนิทรรศการชุด “สร้างความพร้อม พร้อมเป็นหนึ่ง ในอาเซียน” และชุด “เกษตรไทยสร้างทัพ จัดกระบวนท่าสู่ตลาด AEC”

3.การแสดงความรู้ในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของหน่วยงานต่างๆ ใน จ.อ่างทอง รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าระดับ OTOP สินค้าระดับส่งออกตลาดอาเซียนและตลาดโลกมากกว่า 100 ร้านค้า รวมทั้งการอบรมฝึกอาชีพ การประกวดแข่งขันผลิตผลทางการเกษตรด้านพืช-ด้านปศุสัตว์-ด้านประมง และการแสดงบันเทิงตลอดงาน

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง นายสุรเชษ นิ่มกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานครั้งนี้ อบจ.อ่างทองและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตื่นตัวด้านการคิดค้นและพัฒนาสินค้าเกษตรใหม่ที่ตลาดต้องการ เพราะคงถึงเวลาที่เกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าเกษตรต้องร่วมมือกันในการพัฒนาผลิตผลและรูปแบบของการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำภาคเกษตรกรรมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนผู้เข้าชมงานจะได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตพืชนอกฤดูตลอดปี ระบบการผลิตพืชครบวงจร ซึ่งครอบคลุมเศรษฐศาสตร์และการตลาด (socioeconomic and marketing) รวมทั้งวิธีการผลิตสินค้าของเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน GAP นอกจากนี้ผู้เข้าชมงานนอกจากจะได้รับความรู้ต่างๆ แล้ว ยังได้จับจ่ายสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปนานาชนิดกับผู้ผลิตโดยตรง และรับของฝาก เช่น ต้นไม้ พืชผัก กลับไปทดลองปลูกที่บ้านฟรีๆ อีกด้วย

“ผมจึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านมาเที่ยวงาน “เกษตรลุ่มเจ้าพระยา ก้าวหน้าสู่ AEC” ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง ตั้งแต่วันที่ 12-21 กรกฎาคม นี้ ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มทุกวัน แล้วท่านจะทราบว่างานนี้มีทั้งความรู้ในเรื่องการทำเกษตรลุ่มเจ้าพระยาไปจนถึงการเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรฐกิจอาเซียน เกษตรกรและคนไทยทุกคนต้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้างถึงจะเรียกว่า รู้เขา รู้เรา เพื่อสร้างความพร้อมเป็นอย่างไร”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 กรกฎาคม 2556

เกษตรจังหวัดชัยนาทแจงประโยชน์เกษตรโซนนิ่ง

เกษตรจังหวัดชัยนาทแจงประโยชน์เกษตรโซนนิ่ง การปลูกข้าวในจังหวัดชัยนาทมีการปลูกกระจัดกระจายในทุกอำเภอ ซึ่งในบางพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น เกิดน้ำท่วม ดินไม่มีคุณภาพ ระบบชลประทานไม่ถึง ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการพัฒนาและส่งเสริมเป็นจำนวนมาก การทำเกษตรโซนนิ่งจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

นายสมพิศ พูลสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ (Zoning) แล้ว 8 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และสับปะรดโรงงาน โดยวิเคราะห์ตามความเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ จะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำการผลิต หรือส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม มีปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถรักษาเสถียรภาพของระดับราคาผลผลิตทางการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทได้ดำเนินการทำโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรไปผลิตพืชอื่นที่มีความเหมาะสมกว่า

เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการจัดทำโซนนิ่ง คือ เมื่อกำหนดพื้นที่ชัดเจนเรียบร้อยแล้ว ภาครัฐจะสามารถดูแลเกษตรกรได้อย่างเต็มที่ ด้านการเพาะปลูกในพื้นที่ เช่น พื้นที่เหมาะสมจะส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการปลูกพืชต่อไป ส่วนพืชที่ไม่เหมาะสม ต้องนำเรื่องเทคโนโลยีความรู้เข้าไปช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงดูแลปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการผลิตโดยรวมอันนำมาสู่การพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ ซึ่งหากเกษตรกรมีข้อสงสัยเรื่องการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โทรศัพท์ 056-421513 ต่อ 12 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ ใกล้บ้าน ที่มา/สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 5 กรกฎาคม 2556

เร่งนำร่อง 9 ด่านตรวจสอบสินค้ารับตลาดอาเซียน

กรมวิชาการเกษตร เร่งบูรณาการสร้างด่านสินค้าเกษตรชายแดนแบบครบวงจรนำร่อง 9 ด่านในปี 2557 เพื่อรองรับตลาดเออีซี พร้อมเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ 34 ด่าน ให้มีความพร้อมและมีศักยภาพในการตรวจสอบสินค้าเกษตรอีกด้วย

นายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะมีกรมวิชาการเกษตรเตรียมเร่งบูรณาการพัฒนาด่านสินค้าเกษตรชายแดนแบบครบวงจรร่วมกับกรมปศุสัตว์ และกรมประมงตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายนำร่องจำนวน 9 ด่านในปี 2557 เพื่อรองรับสถานการณ์การค้าชายแดนหลังจากที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมตัวภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีได้แก่

ด่านสะเดา จ.สงขลา, ด่านช่องจอม จ.สุรินทร์, ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี, ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย,ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 จ.มุกดาหาร, ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 จ.นครพนม, ด่านสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง จ.เลย, ด่านเชียงของและด่านสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 จ.เชียงราย ซึ่งทั้งหมดเป็นด่านที่มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าพืช ปศุสัตว์ และสินค้าประมงปริมาณมาก

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังมีแผนที่จะพัฒนาเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชทั้ง 34 ด่าน ให้มีความพร้อมและมีศักยภาพในการตรวจสอบสินค้าเกษตร รวมถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ส่งออกและนำเข้า โดยได้มอบหมายให้สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรเร่งจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชทุกแห่งกว่า 200 คน
เน้นให้มีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และยังมุ่งให้มีความรู้ด้านเทคนิคการตรวจวินิจฉัยศัตรูพืช เพื่อป้องกันศัตรูพืชกักกันหลุดรอดเข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศ เน้นการอำนวยความสะดวกแต่ยังคงมาตรฐานด้านเอสพีเอส (SPS) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 5 กรกฎาคม 2556

รายงานพิเศษ : กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้า 8 ยุทธศาสตร์ เตรียมพร้อม

ยุทธศาสตร์ เช่น การวิเคราะห์รายชนิดสินค้าเกษตรว่ามีจุดอ่อน จุดแข็งหรือต้องเพิ่มเติมอะไรบ้าง การปรับปรุงพันธุ์พืชมีผลผลิตมากขึ้น ส่วนเกษตรกรอยากฝากว่าถ้าเกษตรกรทำอะไรอยู่ก็ขอให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูงและลดต้นทุนการผลิตให้ได้ เพราะจุดนี้จะเป็นจุดแข็งที่จะทำให้เราสามารถสู้กับเขาได้

ด้านนางมัณฑนา มิลน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งกรมฯเห็นความสำคัญเรื่องศักยภาพของบุคคลากรที่ต้องมีความสามารถติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะด่านตรวจพืช 35 แห่ง เพราะเมื่อเปิด AEC จะต้องมีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี เจ้าหน้าที่ด่านต้องได้รับการพัฒนาเรื่องภาษา และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจศัตรูพืช ตรวจโรคมในสินค้าที่จะมีเข้ามามากขึ้น ซึ่งกรมฯ กำลังดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างอาคารด่านตรวจพืชให้มีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยใช้ไมโครสโคป สามารถส่งสัญญาณมายังส่วนกลาง ในกรณีที่เจอศัตรูพืชที่เจ้าหน้าที่ด่านไม่สามารถให้คำแนะนำ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้การตรวจพืชที่มีความเข็มงวดมากขึ้น และยังมีความสะดวกรวดเร็วอีกด้วย

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 5 กรกฎาคม 2556

ดอกเบี้ยต่ำซ้ำเติมเงินไหลออก

โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์

คำประกาศของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ต้องการลดการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ภายในปีนี้ และอาจยุติมาตรการคิวอีกลางปีหน้า กลายเป็นยาแรงส่งผลให้เงินร้อนผลุบโผล่วิ่งวุ่นไปทั่วโลก

นักลงทุนที่เคยนำเงินเข้ามาพักในไทยผ่านตลาดหุ้น และตลาดการเงิน ทยอยไหลออก สถานการณ์คล้ายเลือดไหลไม่หยุด ลำพังเฉพาะตลาดหุ้นเพียงตลาดเดียวตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างประเทศแห่เทขายสุทธิไปแล้วกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท ถือเป็นประวัติการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยแดงเดือดลบ 75 จุด

แม้ปัจจุบันเฟดยังคงมาตรการซื้อสินทรัพย์เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% แต่ตลาดก็เชื่อถ้อยแถลง เบน เบอร์แนนคี ประธานเฟดไปแล้วว่า ปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐจะดีขึ้น

ตลาดตื่นจึงเป็นอาการของนักลงทุนที่กำลังเกิดขึ้นยามนี้ และดูเหมือนจะรั้งให้เงินทุนต่างประเทศหยุดไหลออกได้ยาก

นอกจากนี้ การที่เฟดมีแผนลดคิวอีบวกกับการที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีสัญญาณชะลอตัว ส่งผลนักลงทุนทั่วโลกจะลดปริมาณเงินลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีแนวโน้มว่าจะลดลงราว 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 1.145 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้

การไหลออกของเงินทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังจะมีต่อเนื่อง

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ได้ออกรายงานเตือนว่า จะเกิดสภาวะทุนไหลออกจากภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ ท่ามกลางนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ถูกนำมาใช้เพื่อสกัดทุนไหลเข้าก่อนหน้านี้ จะกลายเป็นปัญหาที่เร่งให้เงินไหลออกมากยิ่งขึ้น

ความซับซ้อนตลาดเงินที่เกิดขึ้นอยู่นี้จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน

ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่า การไหลของเงินทุนออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะเกิดขึ้นไประยะหนึ่ง ซึ่งการลดการทำปริมาณคิวอีนั้นได้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อตลาดทุนต่อเนื่อง โดยเงินทุนต่างประเทศที่ไหลออกนั้นได้ไหลออกไปยังสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงใกล้เคียงเงินสด

ทว่า แม้ว่าเงินทุนจะไหลออกจากประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีความเสี่ยงน้อยมากที่ประเทศไทยจะมีวิกฤติดุลการชำระเงิน เพราะปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีมูลค่าเกือบ 3 เท่าของขนาดหนี้ต่างประเทศระยะสั้น นอกจากนี้หนี้ต่างประเทศของไทยโดยรวมอยู่ที่ 39% ของจีดีพี ต่ำกว่าปี 2540 ซึ่งอยู่ที่ 65% ซึ่งเป็นระดับค่อนข้างสูงมาก ขณะที่หนี้ต่างประเทศของภาคธนาคารนั้นอยู่ที่ประมาณ 10% ของจีดีพี ต่ำกว่าปี 2540 ซึ่งอยู่ที่ 23% ในระดับสูงเช่นกัน

เมื่อมองย้อนกลับมาดูนโยบายการเงินในประเทศ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.5% แต่ธนาคารพาณิชย์กลับไม่ปรับลดดอกเบี้ยลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง กดดัน ธปท.ให้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ต้องการเห็นดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าต้นทุนในตลาดการเงินลดลง แต่ต้นทุนผู้ประกอบการที่ถูกชาร์จดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์กลับไม่ลดลงตาม

สถานการณ์ฝั่งธนาคารพาณิชย์ที่แน่นิ่ง สวนทางกับตลาดพันธบัตรที่เงินเริ่มไหลออกต่อเนื่อง เป็นผลจากดอกเบี้ยในตลาดเงินที่ปรับตัวลดลง ผสมโรงกับเศรษฐกิจสหรัฐที่ประธานเฟดการันตีเป็นมั่นเหมาะว่าปีหน้าจะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นแน่

ทั้งหมดจึงเป็นแรงกดดันให้เงินทั่วโลกไหลออกมุ่งหน้าสู่สหรัฐ เงินเหรียญสหรัฐกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง แม้กระทั่งตลาดทองคำก็ถือว่าเป็นช่วงฟุบที่สุด ราคาทองคำปรับตัวลดลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะนักลงทุนต่างประเทศต่างเททองถือครองเงินเหรียญสหรัฐแทน

เมื่อนโยบายการเงินที่ต้องการพยุงเศรษฐกิจในระยะถัดไปกลับเสื่อมมนต์ขลัง ความวิตกกลัวเงินจะไหลออกมากจนค่าเงินผันผวนก็กลายเป็นเรื่องที่น่ากังวลในการบริหารเศรษฐกิจ การกดดอกเบี้ยต่ำเริ่มไม่ได้ผล เพราะความหวังที่ต้องการแก้ปัญหาเงินร้อนไหลเข้าจากสถานการณ์ดอกเบี้ยทั่วโลกที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แล้วเข้ามากอบโกยดอกเบี้ยในไทยรวมทั้งกินส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แลกกลับไป กลายเป็นหอกข้างแคร่ของธปท.

ครจะไปรู้ว่าระหว่างที่ธปท. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย สหรัฐก็ออกประกาศประกาศิตสร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วโลก ปัญหาคือเมื่อเงินไหลออกไม่หยุด และไทยก็เป็นเพียงประเทศเล็กจะทำอย่างไรบนสถานการณ์นี้ นี่จึงเป็นความท้าทายของ ธปท. กับการใช้นโยบายการเงินในระยะถัดไป

หลายฝ่ายมีการคาดการณ์ว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะเห็น ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยจากนี้ ขณะที่บางฝ่ายมีการมองถึงดอกเบี้ยเฟดในปีหน้าแล้วว่าอาจเห็นเฟดปรับดอกเบี้ยขึ้นหลังจากสหรัฐใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำพยุงเศรษฐกิจที่ป่วยไข้มาเป็นเวลานาน ซึ่งต่อให้ไม่ถึงปีหน้า ระหว่างนี้เองก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า เมื่อเงินทุนที่ทยอยไหลออกยังคงดำเนินต่อเนื่อง และอาจส่งผลต่อสภาพคล่องในประเทศ หากมีความต้องการระดมเงินเพื่อลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ธปท.จะหันมาใช้นโยบายดอกเบี้ยสูง โดยค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันเงินไหลออกหรือไม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เป็นไปได้ยากที่จะเห็นดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2.5% ไม่ปรับลดลงจากนี้ เนื่องจากมองเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะขยายตัว 4.3% และทั้งปีเศรษฐกิจจะเติบโตไม่ถึง 5% ขณะที่ปัจจัยที่หนุนต่อการประคับประคองเศรษฐกิจเริ่มหายไป นโยบายการคลังก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะเบิกจ่ายในปีนี้ได้หรือไม่ ฉะนั้นปีนี้นโยบายการเงินและการคลังที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจคงทำได้ไม่มาก

ปัญหาเงินไหลออกขณะนี้จึงสร้างปัญหาซ้อนปัญหา ธปท.จะเผชิญกับความท้าทายไม่หยุดหย่อน

ประการแรก หาก ธปท.คงดอกเบี้ยนโยบายไปเรื่อยอย่างนี้เงินก็ยังไหลออก ประการที่สอง หากเลือกลดดอกเบี้ยก็จะสร้างแรงกดดันปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เงินไหลไปลงในสินทรัพย์อื่นเพื่อเก็งกำไร และจะเห็นเงินบาทอ่อน กดดันให้เกิดเงินเฟ้อได้อีก และประการสุดท้าย ถ้า ธปท.เลือกขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลสภาพคล่องในประเทศไม่ให้เงินไหลออกมากเกินไป ขาหนึ่งธนาคารกลางก็ต้องดูแลการเติบโตเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่ส่อเค้าแผ่วปลาย

ฉะนั้น ไม่ว่า ธปท.จะเลือกหนทางใด ปัญหาก็พัวพันกันไปหมด เครื่องมือที่ใช้อยู่ขณะนี้จึงไม่สามารถทัดทานแรงเงินจากมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐได้ ความผันผวนที่เกิดกลายเป็นต้นทุนแฝงของนักลงทุนที่เดาทางตลาดเงินตลาดทุนจากนี้ได้ยากยิ่งขึ้น

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 ก.ค.นี้ จึงเป็นไฮไลต์ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่น่าจับตามองว่า จะปรับลดตัวเลขคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจลงเหลือเท่าไหร่ ส่วนดอกเบี้ยนโยบายคงไม่มีใครสนใจ เพราะเมื่อค่าเงินอ่อนตัวแล้ว ดอกเบี้ยก็ไร้ค่าในสายตานักการเมือง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 5 กรกฎาคม 2556

เปิดหลักสูตรอาชีพระยะสั้นนานาสาขาพร้อมปัจจัยการผลิตทุกที่นั่งฟรี - ทิศทางเกษตร

นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครง การอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กปร. ในฐานะหน่วยงานกลางในการสนองพระราชดำริ ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับ กองทัพไทย ซึ่งได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ร่วมจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้ชื่อ “4,350 การทรงงานเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน” ระหว่างวันที่ 13–17 กรกฎาคม 2556

ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ความรู้จากแนวพระราชดำริ พระราชกรณียกิจสู่ประชาชนและสังคมโดยส่วนรวมให้ได้ตระหนัก และสามารถน้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน

ซึ่งภายในงานนอกจากจะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในรูปแบบที่มีชีวิต และการบรรยายเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่าง ๆ แล้ว ตลอดทั้ง 5 วันแล้วก็ยังมีการจัดฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ที่สนใจในแขนงอาชีพต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นและยังได้รับปัจจัยการผลิตเพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น มีให้เลือกอบรมจำนวน 8 หลักสูตร ได้แก่

หลักสูตรที่ 1 การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ (คิดทำแล้วรวย) จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะเปิดอบรมในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 09.00-12.00 น.

หลักสูตรที่ 2 การทำการเกษตรแบบผสมผสาน (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้) จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 13.30-16.30 น. หลักสูตรที่ 3 การเพาะเลี้ยงไก่ดำภูพาน (เลี้ยงง่าย โตเร็ว ราคาสูง) จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เปิดอบรมในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 09.00-12.00 น. หลักสูตรที่ 4 วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี (คุณภาพดี มีราคา) จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 13.00-16.00 น.

ส่วนผู้ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจชนิดครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีรายได้อย่างแน่นอน ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งแรกของประเทศไทย จะนำหลักสูตรเด็ดและจากความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมาแนะนำ คือ การเลี้ยงกบเชิงพาณิชย์ (กบนาส่งนอก รายได้ดี) เป็นหลักสูตรที่ 5

ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา จะมาอบรมเรื่อง การปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ (ซุปเปอร์มาเก็ตในบ้าน) ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 13.30-16.30 น.

หลักสูตรที่ 7 การปลูกมะนาวนอกฤดู (1 ไร่ ได้ 1 แสน) ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 09.00-12.00 น.

สุดท้ายขวัญใจชาวเล หลักสูตรที่ 8 การแปรรูปสัตว์น้ำ (เพิ่มมูลค่า ราคาดี) สำหรับผู้ปรารถนาและชมชอบการบริโภคอาหารทะเล ทั้งที่ต้องการนำมาทำเป็นอาชีพแบบมั่นคง หรือาชีพเสริมก็ไม่ควรพลาดนาน ๆ จะมีโอกาสเช่นนี้สักครั้งหนึ่ง ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เมืองที่มีทั้งชายฝั่งทะเลและภูเขา ศูนย์ศึกษาที่มากประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการจากยอดเขาสู่ทะเล ได้ศึกษาพัฒนาเพิ่มเติมในการหากรรมวิธีในการถนอมอาหารที่สร้างอาชีพและรายได้ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาชีพใด ๆ ผู้สนใจในหลักสูตรเหล่านั้นไม่ควรพลาด เจ้าหน้าที่จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั้ง 6 แห่ง ทั่วประเทศจะมาถ่ายทอดแบบไม่มีการปกปิดอีกต่อไปตั้งแต่เวลา 13.30-16.00 น. ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 นี้

ผู้สนใจสมัครเข้าฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น แบบไม่มีเงื่อนไขและไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นตามวันเวลาที่กำหนด ระหว่างวันที่ 14–17 กรกฎาคม 2556 รับจำนวนจำกัดเพียง 800 คนเท่านั้น (100 คนต่อ 1 หลักสูตร) ทุกที่นั่งรับปัจจัยการผลิตไปลองทำที่บ้านฟรี หมดเขตรับสมัคร วันที่ 10 กรกฎาคม 2556 นี้ สนใจติดต่อ โทร. 0-2447-8500-6 ต่อ 216 แฟกซ์ 0-2447-8532 ดาวน์โหลดใบสมัครที่ www.rdpb.go.th

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 กรกฎาคม 2556

มท.1 บินลงแม่สอด แจกเองเงินชดเชยอ้อย-บัตร ปชช.คนไทยพลัดถิ่น

ตาก - มท.1 ลงชายแดนแม่สอด มอบเงินชดเชยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยผลิตเอทานอล พร้อมให้สัญชาติคนไทยพลัดถิ่น ก่อนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าเศรษฐกิจพิเศษ

วันนี้ (4 ก.ค.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะเดินทางมาตรวจราชการที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น และประชาชนกว่า 1,000 คนให้การต้อนรับ

โดยนายจารุพงศ์เดินทางไปที่ศูนย์ประชุมและส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อเป็นประธานมอบเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลที่เกษตรกรได้ขอให้รัฐบาลประกันราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 950 บาท เป็น 1,150 บาท หรือเพิ่มขึ้นตันละ 200 บาท รวม 78 ล้านบาท

จากนั้นได้เดินทางไปพบคนไทยพลัดถิ่นที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้วเพื่อมอบบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้าน ให้แก่คนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับสัญชาติไทย จากการแปลงสัญชาติตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย

พร้อมกันนี้ ในฐานะประธานคณะทำงานเร่งรัดจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ยังได้ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย

ด้านนายสุริยะกล่าวในโอกาสพบนักธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าชายแดนไทย-พม่า ระหว่างการประชุม Focus Group เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการใช้แรงงานว่า หลังรัฐบาลพม่ายุติสงครามกับชนกลุ่มน้อย และเริ่มเปิดประเทศ ทำให้พม่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะทางชายแดนแม่สอด กับ จ.เมียวดี ประเทศพม่า ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่จะมีการเดินทางผ่าน จึงนับเป็นโอกาสดีที่ต้องเสนอรัฐบาลให้เร่งรัดจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

และยังเป็นจุดตัดสี่แยกของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West economic corridor) เชื่อมจากเวียดนาม ผ่านลาว เข้ามุกดาหาร ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตัดกับระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South economic corridor) ที่เป็นเส้นทางจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ผ่านทางภาคใต้ของไทยขึ้นไปถึงพม่า-ลาว-จีน ซึ่งทางหลวงสายเอเชียทั้ง 2 เส้นนี้ตัดกันทั่ว จ.ตาก ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดกลายเป็นชุดที่เชื่อมโยงอาเซียน-จีน-อินเดีย-ยุโรป ที่มีประชากรกว่า 3,000 ล้านคนได้

ดังนั้น อ.แม่สอดต้องเตรียมความพร้อมรับการเจริญเติบโตที่จะเข้ามาอย่างรวดเร็วเมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเป็นสี่แยกใหญ่ของการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน-จีน-อินเดีย-ยุโรปในอนาคต

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

สนอ.ชงตั้งรง.น้ำตาลเพิ่ม

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า กลางเดือนก.ค.นี้ จะเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณา 3 ประเด็น คือ 1.ปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล ที่เดิมกำหนดระยะห่างระหว่างโรงงานไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร (ก.ม.) เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ เป็นระยะห่างน้อยกว่า 80 ก.ม. เพราะคาดว่าปริมาณอ้อยในอนาคตจะเพิ่มขึ้น

โดยฤดูการผลิต 2556/57 คาดอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต 2555/56 มี 100.4 ล้านตันอ้อย ฤดูการผลิต 2558/59 คาดมี 130 ล้านตันอ้อย และฤดูการผลิต 2561/62 คาดมี 180 ล้านตันอ้อย อีกทั้งการสนับสนุนให้ตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากฤดูการผลิตปีนี้เดิมโรงงานจะใช้เวลาหีบอ้อย 120 วัน แต่ผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นมากทำให้โรงงานต้องหีบถึง 180 วัน ทำให้ค่าความหวานอ้อยลดลง โดยหลังจากนั้นจะเสนอนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า 2.การกำหนดสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้ในการซื้อรถตัดอ้อย 3,000 ล้านบาท ใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง 1,000 ล้านบาท และ 3.ขออนุมัติเพิ่มน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) อีก 1.5 ล้านกระสอบ โดย 1 ล้านกระสอบ สำหรับขึ้นกระดานพร้อมจำหน่าย และ 5 แสนกระสอบสำรองไว้ เพื่อป้องกันพ่อค้าคนกลางกักตุนและกดดันให้รัฐบาลปรับขึ้นราคา ยืนยันว่าปริมาณน้ำตาลทรายจะไม่ขาดแคลนแน่นอน

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

สอน.ชงผ่อนเกณฑ์ตั้งรง.อ้อย ร่นระยะห่างต่ำกว่า80กม.รับผลผลิตเพิ่มในอนาคต

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า กลางเดือนกรกฎาคมนี้ สอน.จะเสนอวาระเพื่อให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ใน 3 ประเด็น คือ 1.วาระการปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล โดยผ่อนผันระยะห่างจากเดิมไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร (กม.) เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ ให้น้อยกว่า 80 กม.ได้ เพราะคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยในอนาคตจะเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าอ้อยฤดูการผลิต 2556/2557 จะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย จากฤดูการผลิตปีนี้ (2555/2556) อยู่ที่ 100.4 ล้านตันอ้อย ฤดูการผลิต 2558/2559 อยู่ที่ 130 ล้านตันอ้อย และฤดูการผลิต 2561/2562 จะสูงถึง 180 ล้านตันอ้อย อย่างไรก็ตาม การผ่อนผันดังกล่าวคาดว่าจะเป็นการพิจารณาเป็นรายกรณี โดยต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาด้วย

"เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่ สอน.ตรวจสอบโรงงาน 10 แห่งที่ได้รับอนุญาตจาก ครม.ให้ตั้งว่ามีการก่อสร้างแล้วหรือไม่ หรือมีปัญหาเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงาน ส่วนปัญหาเรื่องใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 ของโรงงานน้ำตาลขอนแก่น และมิตรผล เกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาทั้ง 2 แห่ง" นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์กล่าวว่า 2.วาระการกำหนดสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับชาวไร่ เพื่อใช้ในการซื้อรถตัดอ้อย 3,000 ล้านบาท และใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง 1,000 ล้านบาท โดยชาวไร่จะเสียดอกเบี้ยอัตรา 2% ส่วนที่เหลือกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะอุดหนุนให้ และ 3.วาระขออนุมัติเพิ่มน้ำตาลทรายโควต้า ก. (บริโภคในประเทศ) อีก 1.5 ล้านกระสอบ เพื่อยืนยันว่าปริมาณน้ำตาลทรายจะไม่ขาดแคลน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องดูว่า กอน.จะเห็นชอบหรือไม่ เพราะคณะกรรมการอาจมีความเห็นที่ต่างกัน แต่ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อย แต่ต้องพิจารณาเรื่องการแย่งอ้อยด้วย เพราะหากโรงงานสนับสนุนชาวไร่ปลูกอ้อยแล้ว แต่โรงงานยังไม่ตั้ง ชาวไร่อาจหันไปส่งอ้อยให้โรงงานอื่น

นายชลัชกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง หากหลักเกณฑ์ใหม่เรื่องระยะห่างออกมาจนออก รง.4 ได้ ศาลปกครองอาจจำหน่ายคดีออกไป ปัญหาดังกล่าวจะจบลง

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

50 ปี กรมพัฒนาที่ดิน ย้ำเดินหน้าสานต่อโครงการสร้างบ่อจิ๋ว ในที่ดินเกษตรกรนอกเขตชลประทาน แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เผยงบปี 57 จะขุดเพิ่มได้อีก 5 หมื่นบ่อ

นายสุรเดช เตียวตระกูล รองอธิบดีด้านปฏิบัติการ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 50 ปี กรมพัฒนาที่ดินฯ ยืนยันจะเดินหน้าสานต่อโครงการ บ่อจิ๋ว:แหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นา เพื่อกักเก็บน้ำช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเป็นหนึ่งในภารกิจสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ โดยปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลได้ให้งบประมาณสนับสนุนสร้างบ่อจิ๋ว 80,000 บ่อ ล่าสุดบ่อจิ๋ว ทั่วประเทศที่กรมพัฒนาที่ดินฯ ได้ดำเนินการขุดจนแล้วเสร็จแล้วมีทั้งสิ้น 1.5 แสนบ่อ แต่ยังไม่เพียงต่อความต้องการ โดยมีเกษตรกรแสดงความจำนงต้องการบ่อจิ๋วอีกกว่า 6 แสนบ่อทั่วประเทศ มากที่สุดคือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ซึ่งรัฐบาลก็ได้อนุมัติงบประมาณปี 2557 ที่จะถึงนี้ ให้สามารถดำเนินการชุดได้อีก 50,000 บ่อ แต่ประชาชนที่ร่วมโครงการช่วยสมทบเงินเพื่อดำเนินการ 2,500 บาทต่อบ่อ สำหรับประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องการให้เข้าร่วมโครงการสามารถยื่นเรื่องได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด หรือหมอดินหมู่บ้านได้ทันที หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1760

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

เกษตรกรแห่ปลูกอ้อยทำเงินหลังราคามัน-ปาล์มตก สอน.ผ่อนกฎตั้งรง.น้ำตาลรับมือ

สอน.เตรียมชง กอน. แก้เกณฑ์เปิดช่องตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่ม ผ่อนกฎห่างไม่ถึง 80 กม.เตรียมรองรับปริมาณอ้อยเพิ่ม พร้อมกำหนดกรอบกู้เงินจากธ.ก.ส.อีก 4,000 ล้านบาท ให้ชาวไร่กู้ซื้อรถตัดอ้อย 3,000 ล้านบาท และแก้ปัญหาภัยแล้ง 1,000 ล้านบาท การันตีปีนี้ปริมาณน้ำตาลทรายในระบบไม่ขาดแคลนแน่นอน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า กลางเดือนกรกฎาคม 2556 นี้สอน.จะเสนอวาระเพื่อให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานพิจารณา ใน 3 ประเด็น ประกอบด้วยวาระที่1.การปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล ที่เดิมกำหนดระยะห่างระหว่างโรงงานไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร(กม.)เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ แต่หลักเกณฑ์ใหม่จะผ่อนผันเรื่องระยะห่างน้อยกว่า 80 กม.ได้ เพราะคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยในอนาคตจะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การสนับสนุนให้ตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นดังกล่าวเพื่อรองรับผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งคุณภาพเครื่องจักรที่ดีและเพียงพอจะช่วยให้ได้อ้อยที่คงคุณภาพ เพราะฤดูการผลิตปีนี้เดิมโรงงานจะใช้เวลาหีบอ้อย 120 วัน แต่ผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นมากทำให้โรงงานต้องใช้เวลาในการผลิตถึง 180 วัน ขณะที่อ้อยหากรอหีบเป็นเวลานานจะทำให้ค่าความหวานลดลง

สำหรับโรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งจะได้รับการผ่อนผันหรือไม่ จะต้องมีหลักฐานปริมาณอ้อยที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาแย่งอ้อย ซึ่งการผ่อนผันหลักเกณฑ์นี้จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวเมื่อผ่านการพิจารณาของกอน.จะเสนอต่อนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เพื่อนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาต่อไป

“เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่สอน.เช็คโรงงานที่ได้รับอนุญาตจากครม.ให้ตั้งแล้วประมาณ 10 แห่ง ว่าดำเนินการคืบหน้าอย่างไร เพราะกำหนดเปิดหีบภายใน 5 ปี แต่ผ่านมาประมาณ 2 ปีแล้วยังไม่มีรายใดเริ่มก่อสร้าง ดังนั้นต้องดูว่าเกิดปัญหาอะไรหรือมาจากปัญหาระยะห่างระหว่างโรงงาน ส่วนปัญหาเรื่องใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 ของโรงงานน้ำตาลขอนแก่น และมิตรผล เกณฑ์ดังกล่าวจะแก้ปัญหาทั้ง 2 แห่ง” นายสมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ อ้อยฤดูการผลิต 2556/2557 คาดว่าจะอยู่ที่ 110 ล้านตันอ้อย เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปีนี้ หรือ 2555/2556 ซึ่งอยู่ที่ 100.4 ล้านตันอ้อย ขณะที่ฤดูการผลิต 2558/2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 130 ล้านตันอ้อย และฤดูการผลิต 2561/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 180 ล้านตันอ้อย ด้านพื้นที่ปลูกอ้อยพบว่าฤดูการผลิต 2556/2557 จะอยู่ที่ 11 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต 2556/2557 ซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านไร่ เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น หลังจากราคาสินค้าเกษตรประเภทอื่น อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม ราคาปรับตัวลดลง

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับวาระที่ 2.คือการกำหนดสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับชาวไร่ เพื่อใช้ในการซื้อรถตัดอ้อย 3,000 ล้านบาท และใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง 1,000 ล้านบาทโดยชาวไร่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตรา 2% ส่วนที่เหลือกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะเข้าอุดหนุน และวาระที่ 3.คือการขออนุมัติเพิ่มน้ำตาลทรายโควตา ก.(บริโภคในประเทศ) เพิ่มอีก 1.5 ล้านกระสอบแบ่งเป็น 1 ล้านกระสอบสำหรับขึ้นกระดานพร้อมจำหน่าย และ 5 แสนกระสอบสำหรับสำรองไว้ เพื่อป้องกันพ่อค้าคนกลางกักตุนและกดดันให้รัฐบาลปรับขึ้นราคา ทั้งนี้ยืนยันว่าปริมาณน้ำตาลทรายจะไม่ขาดแคลนแน่นอน

โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการน้ำตาลทรายมีมติเพิ่มการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. หรือน้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศ ฤดูการผลิต 2555/2556 เพิ่มจาก 25 ล้านกระสอบ เป็น 26.5 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มอีก 1.5 ล้านกระสอบ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายบางพื้นที่เริ่มขาดแคลน จากการที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบซื้อน้ำตาลทรายเก็บไว้ในสตอกจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องดื่มต่างๆ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

เตรียมชงบอร์ดกอน.อุ้มชาวไร่อ้อย

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)เปิดเผยว่า กลางเดือนกรกฎาคมนี้ สอน.จะเสนอวาระเพื่อให้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย วาระการปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล ที่เดิมกำหนดระยะห่างระหว่างโรงงานไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร(กม.) แต่หลักเกณฑ์ใหม่จะผ่อนผันเรื่องระยะห่างน้อยกว่า 80 กม.ได้ เพื่อสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้จะเสนอวาระการกำหนดสินเชื่อจาก ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)สำหรับชาวไร่ เพื่อใช้ในการซื้อรถตัดอ้อย 3,000 ล้านบาท และใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง 1,000 ล้านบาท โดยชาวไร่จะชำระดอกเบี้ยเพียงอัตรา 2% ส่วนที่เหลือ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)จะเข้าอุดหนุน และ3.วาระขออนุมัติเพิ่มน้ำตาลทรายโควตา ก.(บริโภคในประเทศ)เพิ่มอีก 1.5 ล้านกระสอบ แบ่งเป็น 1 ล้านกระสอบสำหรับขึ้นกระดานพร้อมจำหน่าย และ5 แสนกระสอบสำหรับสำรองไว้ เพื่อป้องกันพ่อค้าคนกลางกักตุน และที่ผ่านมามีการกดดันให้รัฐบาลปรับขึ้นราคาด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่าปริมาณน้ำตาลทรายจะไม่ขาดแคลนแน่นอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

ขุดคลองเชื่อม'ปิง-แม่กลอง'แก้ท่วม-แล้ง

ขุดคลองใหม่เชื่อม 'ปิง-แม่กลอง' ทางแก้น้ำท่วม-แล้งลุ่มเจ้าพระยา : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาให้ชะลอการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ โดยให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ก่อนจะมีการเซ็นสัญญากับผู้รับงานในโครงการน้ำ 9 โมดูล วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท

แต่ทว่าโครงการดังกล่าวยังมีความจำเป็นในการบริหารจัดการน้ำเพื่อต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะน้ำที่ต้องการใช้ในภาคการเกษตร ด้วยเหตุนี้กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งลุ่มเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเพื่อเตรียมความพร้อม หากโครงการสามารถดำเนินการได้ทันที

โดยฝั่งตะวันตกเสนอขุดคลองขนาดใหญ่จากอ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ถึงอ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มีความยาวประมาณ 289 กิโลเมตร ก่อนผันลงอ่าวไทย มีเป้าหมายเพื่อตัดยอดปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขา 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเดียวกันวางแผนขุดคลองบางบาล-บางไทรระยะทาง 22 กิโลเมตรเพื่อช่วยเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยารอดพ้นจากภัยน้ำท่วมซ้ำซาก ส่วนฝั่งตะวันออกได้ปรับปรุงขยายคลองชัยนาท-ป่าสัก ความยาว 132.80 กิโลเตร พร้อมขุดคลองระบายสายใหม่ป่าสัก-อ่าวไทย ความยาว 134.20 กิโลเมตรเพื่อระบายน้ำลงสู่อาวไทยที่จ.สมุทรปราการ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูแนวทางศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ณ เขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรีว่า เบื้องต้นได้คัดเลือก 2 โครงการหลักในการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยโครงการแรกขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ขาณุวรลักษบุรี-ท่าม่วง เริ่มจากแม่น้ำปิงบริเวณอ.ขานุวรลักษณบุรี จ.กำแพงเพชรลงสู่แม่น้ำแม่กลองที่อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มีความยาวประมาณ 289 กิโลเมตร ระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเขื่อนแม่กลองจะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำผ่านระบบชลประทานไปสู่พื้นที่ชลประทาน รวมทั้งผลักดันออกสู่อ่าวไทย

"คลองสายใหม่นี้เป็นการตัดยอดน้ำแม่ปิงไม่ให้ไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ และตัดยอดน้ำแม่น้ำสะแกกรังเป็นการลดภาระของแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำหลากก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยาที่จ.ชัยนาท ซึ่งตามแผนนั้นจะขุดผ่านพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร รวมประมาณ 43,239 ไร่"

ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกล่าวอีกว่า หลังจากตัดยอดน้ำแม่ปิงจากคลองสายใหม่นี้ เมื่อรวมกับแผนระบายน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกที่ผันออกมาทางคลองชัยนาท-ป่าสักตามที่กรมชลประทานได้ศึกษาไว้แล้วอีก 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีก็จะลดน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยานับแต่เขื่อนเจ้าพระยาไปจนท้ายเขื่อนสามารถรองรับน้ำที่หลากลงมาได้เท่ากับลดผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อนทั้งหมด รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย

ดร.สมเกียรติเผยต่อว่า ส่วนโครงการที่สองนั้นเป็นการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่บางบาล-บางไทร มีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นคลองบายพาสหรือคลองเลี่ยงเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการตัดยอดน้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ไหลผ่านบริเวณเกาะเมืองที่มีลักษณะเป็นคอขวด ไม่ให้ท่วมพื้นที่เกาะเมือง ซึ่งปัจจุบันเป็นชุมชนเมืองและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำหรับแผนการศึกษาแนวทางการระบายน้ำผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2555 และสิ้นสุดในวันที่ 23 ตุลาคม 2556 ส่วนโครงการศึกษาระบายน้ำผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกนั้นขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ปรับปรุงขยายคลองชัยนาท-ป่าสัก ความยาว 132.80 กิโลเตร พร้อมกับขุดคลองระบายสายใหม่ป่าสัก-อ่าวไทย ความยาว 134.20 กิโลเมตรเพื่อระบายน้ำลงสู่อาวไทยที่จ.สมุทรปราการ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่

นายทรง กลิ่นประทุม นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือแจ้งว่า จากสถานการณ์ที่ปริมาณน้ำฝนมีน้อย ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด และปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่เขตภาคเหนือมีน้ำเหลือน้อย ในช่วงระยะเวลา 3 สัปดาห์ ที่ผ่านมาในเขตตอนกลางของภาคเหนือ ได้แก่ อำเภอเมือง สอง ร้อยกวาง หนองม่วงไข่ และเด่นชัย จังหวัดแพร่ อำเภอเถิน แม่เมาะ และงาว จังหวัดลำปาง อำเภอฮอด จอมทอง สะเมิงใต้ สันป่าตอง แม่แตง แม่แจ่ม แม่อาย และดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ และนโยบายเร่งด่วนของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของภาคเหนือในทุกโอกาส

หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ตั้งไว้ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดพิษณุโลก และ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดตาก มีไม่เพียงพอ เพราะติดภารกิจต้องดูแลพื้นที่ทำการเพาะปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ และการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จึงตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีก 1 แห่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2556 เป็นต้นมา เพื่อทำฝนเติมน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรม เขตภาคเหนือตอนกลาง และตอนบนได้ทั่วถึง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ภาคเหนือทุกจังหวัด ที่ต้องการติดต่อเกี่ยวกับฝนหลวง สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ หน้าท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-275051 และ 053-274647

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

"รับมือวิกฤติพลังงาน- ค่าเงินบาทอ่อนตัว"

สัมภาษณ์พิเศษ "สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ" ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

ในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 ปัจจัยที่น่าห่วงที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ ค่าเงินบาท เพราะค่าเงินบาทผันผวนขึ้นและลงเร็วมาก จำได้ไหม ค่าเงินบาทขึ้นหรือลง 1 บาท เมื่อเปรียบเทียบจากราคาน้ำมันดิบดูไบ 100 เหรียญสหรัฐ จะทำให้ราคาขายปลีกเปลี่ยนไป 70-80 สตางค์

ท่ามกลางสถานการณ์ประเทศไทยกำลังประสบภาวะวิกฤติความมั่นคงทางด้านพลังงาน บวกกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกกรณีเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังฟื้นตัว ส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิง ในตลาดโลกขยับขึ้น ในฐานะที่ประเทศไทยยังพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศจะต้อง เตรียม ความพร้อมอย่างไร "สยามธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ" ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อทราบแนวทางรับมือกับสถานการณ์วิกฤติพลังงานที่กำลังรุมเร้าอยู่ในห้วงเวลานี้

นายสุเทพ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 ปัจจัยที่น่าห่วงที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ ค่าเงินบาท เพราะค่าเงินบาทผันผวนขึ้นและลงเร็วมาก จำได้ไหม ค่าเงินบาทขึ้นหรือลง 1 บาท เมื่อเปรียบเทียบจากราคาน้ำมันดิบดูไบ 100 เหรียญสหรัฐ จะทำให้ราคาขายปลีกเปลี่ยนไป 70-80 สตางค์ เพราะฉะนั้นถ้าเงินบาทอ่อนลง 1 บาทก็ทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 70-80 สตางค์ หรือถ้าค่าเงินบาท อ่อนลงไปถึง 2 บาทก็จะทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นไปถึงบาทกว่าทีเดียว ดังนั้น ปัจจัยค่าเงินบาทมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้เราต้องเฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา

นอกจากปัจจัยที่พูดกันเยอะเรื่องค่าเงินบาทแล้ว ปัจจัยที่ 2 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต่อประเทศไทยเราอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯดี คนของเขาก็ต้องจับจ่ายใช้สอยมาก ทำให้ราคาน้ำมันแพง ส่งผลต่อราคาในตลาดโลก ประเทศไทยก็ต้องซื้อน้ำมันราคาแพงตามไปด้วย ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจยุโรปไม่ดี ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 104-105 เหรียญ สหรัฐ ปีนี้ก็น่ามีการเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 101 เหรียญสหรัฐ แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาด้วย

"การปล่อยคิวอีทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีเกินคาด เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์เทขายหุ้นในตลาดหุ้นเมืองไทย เพื่อนำเงินไปลงทุนที่สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วทั้งเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน ซึ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นล้วนมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอ่อนตัวเอง"

ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังประสบภาวะความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะมีการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้ามากเกินไป จึงต้องมีการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2556-2573 (แผน PDP 2013-2030) คาดว่าประมาณปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ โดยแผน PDP ใหม่ได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงจาก 54% เหลือ 32% ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายเพราะก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยใกล้หมดแล้ว แต่ถ้าหากไม่มีการปรับปรุงใหม่จะมีการนำเข้า LNG ช่วงปลายปีละ 23 ล้านตัน ทำให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้นเกือบ 6 บาทต่อหน่วยจากปัจจุบัน 3.75 บาทต่อหน่วย

เช่นเดียวกับไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เดิมมี 3% อาจจะยกออกจากแผนการผลิตไฟฟ้า แต่ก็ต้องรอดูในขั้นตอนประชาพิจารณ์จะออกมาอย่างไร

ส่วนเชื้อเพลิงที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ ถ่านหินสะอาดจากเดิม 13% ได้ เพิ่มเป็น 18% ซึ่งจะทำให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเดิม 3.5 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเดิม 10% เพิ่มเป็น 19% ก็มีกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1 หมื่นเมกะวัตต์เช่นเดียวกัน และพลังงานหมุนเวียนเดิม 14% เพิ่มเป็น 24%

"ประเทศเราไม่มีถ่านหินสะอาด มีแต่อยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่เราก็ไม่ได้นำเข้ามาทั้งที่อยู่ใกล้ๆ เห็นมีแต่เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่อยู่ห่างจากอินโดฯ พากันนำเข้าไปผลิตไฟฟ้า แต่ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไหนก็ต้องรอแผน PDP เมื่อรู้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชนิดไหน จะตั้งที่ไหนในแผนจะต้องมีการผ่านขบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน"

ส่วนการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานภาคใต้ เนื่องจากมีความต้องการไฟฟ้ามีมากถึง 2,200 เมกะวัตต์ แต่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 1,000 กว่าเมกะวัตต์ ที่เหลือต้องพึ่งพาจากภาคกลางประมาณ 400-500 เมกะวัตต์ ดังนั้น ถ้าจะให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานภาคใต้จะต้องมีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง จะเป็นที่ไหนก็ได้ เพราะภาคใต้กมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการไฟฟ้าสูงกว่าภูมิภาคอื่น

เช่นเดียวกับการป้องกันไฟฟ้าดับที่เกาะสมุย ขอฝากให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะสมุยต้องคิดหาแหล่งพลังงานให้มีความมั่นคง โดยช่วยภาครัฐสร้างความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดภาคใต้ ไม่เช่นนั้นชาวสมุยก็เสี่ยงจะเกิดไฟฟ้าดับขึ้นอีก

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 4 กรกฎาคม 2556

ไฟเขียวตั้งรง.น้ำตาลระยะห่างน้อยกว่า 80กม.

รง.น้ำตาลเฮ สอน.เตรียมแก้เกณฑ์ตั้งโรงงานห่างไม่ถึง 80 กม. หลังความต้องการโรงงานอ้อยสูง เหตุคนทิ้งนา – มัน แห่ปลูกอ้อยแทน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า กลางเดือน ก.ค.นี้ สอน.จะเสนอให้คณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาปรับหลักเกณฑ์การขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล จากเดิมกำหนดระยะห่าง ระหว่างโรงงาน ต้องไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร แต่หลักเกณฑ์ใหม่ จะผ่อนผันให้ระยะห่างน้อยกว่า 80 กิโลเมตรได้ แต่จะพิจารณาเป็นรายกรณี เพื่อแก้ปัญหาบางโรงงานที่ได้รับอนุญาตในการสร้างโรงงานอ้อย ไม่สามารถหาพื้นที่ในการสร้างโรงงานได้ เมื่อกนอ.พิจารณาอนุมัติแล้ว จะเสนอให้นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม นำเสนอที่ประชุมครม.ต่อไป

“ตอนนี้ความต้องการโรงงานอ้อยมีมากขึ้น ตามผลผลิตอ้อยที่สูงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกอ้อย แทนการปลูกมัสำปะหลัง และทำนามากขึ้น เพราะราคาดีกว่า ซึ่งที่ผ่านมาการที่โรงงานไม่เพียงพอ ทำให้การหีบอ้อยต้องใช้เวลานานขึ้น ส่งผลให้คุณภาพความหวานลดลง ซึ่งโรงงานน้ำตาล แต่ละแห่งจะได้รับการผ่อนผันหรือไม่ จะต้องมีหลักฐานปริมาณอ้อยที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จะไม่เกิดปัญหาการแย่งอ้อยกับโรงงานเดิม เพราะวัตถุประสงค์ที่กำหนดระยะห่างโรงงาน เพื่อป้องกันการแย่งอ้อยจากเกษตรกร”

อย่างไรก็ตาม สนอ.จะเข้าไปติดตามความคืบหน้าตั้งโรงงานใหม่ของผู้ประกอบการที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ไม่มีความคืบหน้าประมาณ 10 ราย และบางส่วนติดเงื่อนไขระยะห่าง 80 กิโลเมตร เช่น โรงงานน้ำตาลตั้งใหม่ที่จังหวัดเลยของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (มิตรผล) และบริษัทน้ำตาลมิตรผล รวมทั้งบางโรงงานอาจติดปัญหาการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หากโรงงานไหนไม่มีความคืบหน้า อาจพิจารณาขออใบอนุญาตคืน เพื่อหารายใหม่ต่อไป

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หาก สอน.แก้ไขหลักเกณฑ์การตั้งโรงงานน้ำตาลออกมาจนทำให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ของบริษัทที่จังหวัดเลยได้รับ รง.4 อาจทำให้ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีที่บริษัทร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมออก รง.4 ออก ซึ่งบริษัทเชื่อว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย แต่ต้องรอดูว่าจะผ่านความเห็นชอบจาก กนอ.หรือไม่เพราะที่ประชุมอาจมีความเห็นที่หลากหลาย รวมทั้งการออกใบอนุญาตโรงงานจะต้องพิจารณาความพร้อมในการรับอ้อยเข้าหีบด้วย เพราะชาวไร่ปลูกอ้อยก่อนโรงงานหีบอ้อยได้ก็อาจมีปัญหาต้องขนอ้อยไปส่งโรงงานอื่นก่อน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

16 ปี ลอยตัวค่าบาท ชี้จุดอ่อนรัฐเสี่ยงวิกฤตรอบใหม่

ผ่านมาแล้ว 16 ปี กับเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย สำหรับการประกาศ "ลอยตัวค่าเงินบาท" เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 จุดเริ่มต้นวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยในเวลานั้นไทยเผชิญกับ 3 จุดอ่อนทางเศรษฐกิจ ตามที่ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ระบุไว้ในรายงาน คือ 1) การเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ท่ามกลางสภาพคล่องจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาสู่ไทยอย่างรวดเร็วเพื่อหาผลตอบ แทนส่วนต่างจากดอกเบี้ย

2) การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าการเงินไทยที่ไม่มีความยืดหยุ่น เพียงพอ และ 3) ระบบการเงินไทยที่ยังคงเปราะบาง ขาดการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบและการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ดี

แต่ปัจจุบันปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปและมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น ตามที่ "ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี" ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และ 1 ใน 7 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลาที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีทิศทางแกว่งตัวผันผวนตามนโยบายเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ เช่น หลังประกาศลอยตัวเงินบาท ค่าเงินปรับตัวร่วงจาก 25 บาท/ดอลลาร์ ไปแตะที่ 50 บาท/ดอลลาร์ ภายในปี 2541 อีกทั้งต้องยอมรับว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไทยยังไม่พร้อมทั้งเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ภาระหนี้สิน ฯลฯ และเกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ตามมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปมาก เนื่องจากตลาดเงินและ ตลาดทุนมีความเข้มแข็ง มีมาตรการกำกับดูแลเข้มงวด ภาคธุรกิจมีความระมัดระวังต่อการก่อหนี้ รวมถึงยังมีการบริหารสภาพคล่องอย่างเหมาะสม ดังนั้นปัญหาค่าเงินน่าจะส่งผลต่อไทยน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต แม้ว่าในช่วงต้นปี 2556 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินบาทแข็งค่าแตะ 28 บาท/ดอลลาร์ในบางช่วง

"ปัจจุบันเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าเข้าใกล้ ช่วงก่อนประกาศลอยตัวค่าบาท แต่แนวโน้มที่เงินบาทจะแข็งค่าสู่ระดับ 25 บาท/ดอลลาร์ ไม่น่าจะเห็นภายใน 1-2 ปีนี้ เพราะการจะมีอัตราแลกเปลี่ยนระดับดังกล่าว แสดงว่าเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ต้องแย่ แต่ไทยดีมาก หรืออีกด้านคือเกิดความเสียหายในเงินสกุลดอลลาร์จนอ่อนค่ารุนแรง"

โดย อธิบายให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่ไม่น่าจะซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ไว้ว่า ภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายในปัจจุบัน ไทยมีเงินทุนไหลเข้าในปี 2556 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งมีเงินทุนไหลเข้าที่ตลาดหุ้นสุทธิ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 10,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นปี 2556 อัตราแลกเปลี่ยนน่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในเวลานี้อยู่ในขั้น "ดีพอใช้" มีจีดีพีระดับ 4% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของทั้งปีน่าจะเป็นบวก แม้ดุลการค้าอาจติดลบแต่ดุลภาคบริการการท่องเที่ยวยังดี

"เศรษฐกิจ ไทยปีนี้จึงค่อนข้างสมดุล มีดุลยภาพ แปลว่าอัตราแลกเปลี่ยนก็น่าจะเคลื่อนไหวอย่างมีดุลยภาพที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถรักษาระดับอย่างนี้ได้ต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้" สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลังคือปัญหาหนี้ครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 80% เมื่อเทียบรายได้ประชาชาติ และหากเพิ่มขึ้นต่อเนื่องย่อมสร้างจุดอ่อนให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้

"เวลา นี้เงินเฟ้อไม่สูง แต่ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าหนี้ครัวเรือนจะเกิน 80% ของจีดีพี หรือไม่ ซึ่งต้องระมัดระวัง โชคดีที่ปัจจุบันหนี้ภาคธุรกิจยังดี หนี้สาธารณะของรัฐบาลยังไม่เกิน 50%" ดร.ณรงค์ชัยกล่าว ขณะที่ "นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์" กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวอย่างมั่นใจว่า ยากมากที่ไทยจะประสบปัญหาคล้ายปี 2540 เพราะสถานการณ์ต่างออกไปแล้ว โดยปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 60,000 ล้านดอลลาร์ เพียงพอรองรับวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2540 ซึ่งไทยเผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ขาดสภาพคล่อง ทุนสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีเพียง 40,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์

พร้อมชี้ถึง ปัจจัยเสี่ยงในอนาคตคือการบริหารจัดการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ต้องทำให้เกิดความสมดุล โดยเฉพาะความเสี่ยงในการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว หากไม่จัดการให้ดี อาจนำไปสู่บาดแผลและความสูญเสียอย่างในอดีตได้อีก เพราะวงจรของวิกฤตอาจหวนมาอีก แต่วิกฤตรอบหน้าอาจมีจุดเริ่มต้นต่างจากเมื่อปี 16 ก่อน หากรัฐบาลไม่มีความระมัดระวังในการบริหารจัดการ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอีกหนทางสู่เออีซีของไทย

“พม่ามีไฟฟ้าใช้แค่ 15% ของครัวเรือนทั้งหมด การจะวางแผนตั้งโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อมารองรับต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ขณะที่ไทยมีเขตแดนติดต่อกับพม่ายาวที่สุดถึง 2,400 กิโลเมตร เราจึงควรได้ประโยชน์มากที่สุด แต่อยู่ที่ว่าเราจะออกไปได้แค่ไหน” ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ระบุระหว่างการบรรยายในหัวข้อ “ความท้าทายในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของรัฐวิสาหกิจไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ

ความท้าทายในการลงทุนกับพม่าซึ่งถือเป็นประเทศที่เนื้อหอมที่สุด ณ วันนี้ในบรรดาประเทศในเขตอาเซียนด้วยกัน 10 ประเทศ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เพราะการที่พม่าเริ่มเปิดประเทศมากขึ้นหลังการเมืองเริ่มผ่อนคลาย

อดีตเลขาธิการอาเซียน ระบุว่า เพราะแนวเขตติดต่อระหว่างไทยกับพม่าที่ยาวที่สุดกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนนั้น ถือเป็นช่องทางสำคัญในการพัฒนาของไทย เพราะไม่จำเป็นต้องข้ามไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมในพม่า ซึ่งอาจจะต้องติดในเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ และบางส่วนยังไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลทหารพม่าที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา

โดยยกตัวอย่างเขตการค้าเสรีที่เรียกว่า มาคิลลาโดรา แหล่งผลิตสินค้าที่อยู่ระหว่างชายแดนติดต่อเม็กซิโกกับอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การจ้างงานของสหรัฐอเมริกาที่ค่อนข้างยุ่งยากสำหรับแรงงานจากประเทศที่ 3 ซึ่งมีค่าแรงที่ถูกกว่า ทั้งจากมาเลเซีย อินเดีย และปากีสถาน โดยในเขตที่ว่านั้นนอกจากจะปลอดภาษีแล้วยังมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมในส่วนอื่น ๆ ด้วย

เจ้าของโรงงานกว่า 3,000 แห่งในเขตนี้มีทั้งจากอเมริกาเอง ญี่ปุ่น และยุโรปบางประเทศ โดยชาวเม็กซิโกกว่าล้านคนทำงานอยู่ด้วย โดยถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลกแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ก่อนที่จีนจะขยายการผลิตจนขึ้นมาเทียบชั้น

แต่การนำรูปแบบของมาคิลลาโดรามาใช้นั้น ดร.สุรินทร์ ระบุว่า สิ่งแรกที่จะต้องเกิดขึ้นคือการพัฒนาทางด้านระบบขนส่ง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานทั้งน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ซึ่งทั้งหมดนั้นอยู่ในความดูแลของรัฐวิสาหกิจของไทยทั้งสิ้น

“หลักก็คือ การลงทุนจะต้องได้ประโยชน์เร็ว เก็บกินได้ง่าย หากเราสามารถแสดงให้ภาคธุรกิจเห็นได้ถึงประโยชน์ตรงนี้ การจะเปิดเขตอุตสาหกรรมใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก มีคนสนใจมาลงทุนแน่นอน ที่สำคัญคือการสร้างอยู่ในเขตประเทศไทยไม่ต้องกังวลเหมือนอย่างการลงทุนในต่างประเทศ และหากทำได้จริงเชื่อมโยงระบบขนส่งต่อไปยังแหลมฉบังของเราเอง ท่าเรือทวายก็ไม่ต้องพูดถึงแล้ว”

นอกจากการเปิดเขตเสรีทางการค้าแบบที่ว่าแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ การพัฒนาคน อดีตเลขาธิการอาเซียนระบุว่า ปัจจุบันคนไทย 4 คนทำงานเท่ากับคนสิงคโปร์เพียงคนเดียว และอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 5 ต่อ 1 เพราะงบประมาณในการส่งเสริมทางด้านการศึกษาและการค้นคว้าวิจัยของไทยนั้นมีเพียงหยิบมือเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

แต่ใช่ว่าไทยจะเสียเปรียบไปทั้งหมด เพราะความเข้มแข็งในการผลิตสินค้าคุณภาพสูง โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารที่ไทยมีคู่ค้าระดับโลกทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกา จึงทำให้มาตรฐานสินค้าไทยอยู่ในระดับที่เหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอยู่ดี

“แอร์เอเชียคืออาเซียน ซีไอเอ็มบีคืออาเซียน แต่ไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น ความจริงย่านถนนสีลม-สาทรก็เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นอาเซียนแล้ว เพราะเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทต่างชาติมากมาย ทั้งหมดอยู่ที่ว่ารัฐวิสาหกิจของเราจะสามารถออกไปแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหน”

อดีตเลขาธิการอาเซียนยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์นั้น จะเติบโตเฉพาะในประเทศไม่ได้ เพราะแม้แต่ยักษ์ใหญ่อเมริกา หรือเยอรมนีอุตสาหกรรมรถยนต์ยังไปเติบโตมากที่สุดในจีน แทนที่จะเป็นประเทศต้นกำเนิด.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

กรมชลดันกม.จัดรูปที่ดินใหม่ จ่อคิวชงสภาฯพิจารณาไฟเขียว

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างแก้ไข

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. .... ว่า หลังจากผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินฯ ดังกล่าว เป็นการนำเอากฎหมายปัจจุบัน 2 ฉบับมาพิจารณารวมกันคือ พ.ร.บ.คันและคูน้ำ พ.ศ.2505 และ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินฯ พ.ศ.2517 โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดรูปที่ดินมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนกระบวนการในการประกาศเขตจัดรูปที่ดิน ซึ่งจะสะดวก ร่นระยะเวลา และตรงพื้นที่เป้าหมาย

“เดิมเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน เนื่องจากเป็นคนละหน่วยงานกัน แต่ปัจจุบันทั้งงานคันคูน้ำและงานจัดรูปอยู่ภายใต้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ด้วยกัน ฉะนั้นต้องพิจารณารวมกฎหมาย และให้การทำงานสอดคล้อง และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมากที่สุด”

นายเอกจิต กล่าวอีกว่า ในส่วนของการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ที่ดินในพื้นที่จัดรูปที่ดินเดิม กำหนดว่าต้องเสนอให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ร่างกฎหมายใหม่ จะมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอำนาจพิจารณาอนุมัติได้เลย “ทำให้พิจารณาได้รวดเร็วขึ้น จังหวัดใครจังหวัดคนนั้น เกษตรกรไม่ต้องรอนาน”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

ตามทันสื่อฯยุคดิจิตอล-เออีซีได้อย่างไร?

เล่าสู่กันฟัง : ตามทันสื่อสารยุคดิจิตอลและเออีซีได้อย่างไร? : โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณเทพชัย หย่อง กรรมการบริหารเครือเนชั่น ได้มาแบ่งปันความรู้ในหัวข้อ "ตามทันสื่อสารยุคดิจิตอลและเออีซี" ซึ่งเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน "คม ชัด ลึก" ไม่น้อยทีเดียว เลยขอสรุปสาระสำคัญมา "เล่าสู่กันฟัง" นะครับ

ตอนนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนจะเห็นกระแสของเออีซีแทรกซึมเข้าไปอยู่ในแทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่พยายามผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการตื่นตัวและการเตรียมความพร้อม ภาคเอกชนที่พยายามปรับตัวเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ สถาบันการศึกษาที่พยายามจัดเวทีในรูปแบบของงานสัมมนาให้ความรู้ในแง่มุมที่หลากหลาย ประชาชาชนที่พยายามขวนขวายจะรู้จักเออีซีมากขึ้น และสื่อมวลชนที่พยายามปรับตัวและเตรียมความพร้อม

นอกจากจะต้องพัฒนาทักษะทางด้านภาษาที่ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกใช้แล้ว ยังต้องมีทักษะทางด้านการสื่อสารบนความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศ รวมถึงวิธีการสื่อสารในยุคดิจิตอลเช่นในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้าไปพร้อมๆ กัน นับเป็นสิ่งที่ท้าทายสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก

ในอนาคตอันใกล้นี้ การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลจะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เกิดช่องรายการขึ้นมาใหม่เพิ่มขึ้นถึง 24 ช่อง ไม่รวมช่องสาธารณะที่มีอยู่แล้ว 12 ช่อง ต่อไปหลังจากนี้เราจะมีทางเลือกมากขึ้น ได้ดูทีวีที่มีภาพละเอียดคมชัด มีการแทรกข่าวด่วนขึ้นมาในขณะที่ดูรายการปกติอยู่ มีการเชื่อมโยงของอุปกรณ์และเครือข่ายต่างๆ ทำให้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็สามารถรับสัญญาณได้ทุกที่และตลอดเวลา ส่วนเนื้อหาก็จะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ นับได้ว่าเป็นโลกใหม่ของการดูทีวีที่แตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

นอกจากทีวีดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้รับสารแล้ว การหันมารับข่าวสารของผู้คนผ่านทางมือถือก็จะมีเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีทำให้ช่องทางการสื่อสารเจริญก้าวหน้าขึ้น ภารกิจของสื่อมวลชนก็คือ รายงานข้อเท็จจริง ตอบสนองต่อผลประโยชน์สาธารณะ มีความเป็นอิสระในการรายงานข่าวและในการตรวจสอบ เป็นช่องทางสำหรับการแสดงความเห็นสาธารณะ ทำให้ประเด็นที่มีความสำคัญและเป็นสาระมีความน่าสนใจและมีความหมาย มีความรอบด้านและรักษาสมดุล มีความรับผิดชอบ มีสามัญสำนึก และมีจริยธรรม

หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของสื่อมวลชนคือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความตื่นตัวและรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนจะสื่อสารอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่จะมีการเปิดรับช่องทางการสื่อสารแตกต่างกันออกไป ดังนั้น ต้องใช้ข้อความที่ไม่โอ้อวด หรือบีบคั้นจนเกินไป มีความน่าเชื่อ ไม่สื่อสารมากเกินจนทำให้เกิดความรำคาญ ซึ่งช่องทางในตอนนี้มีอยู่แล้ว แต่อยู่ที่วิธีการสื่อสารมากกว่า

สำหรับทิศทางของเนื้อหาสาระที่จะสื่อสารออกไป ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดความเข้าใจผิด วิธีการสื่อสารต้องสื่อสารให้คนที่รับข้อความนั้นรู้สึกว่า เรามีความจริงใจ มีใจเปิดกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็น พร้อมทั้งชี้แจงด้วยความสุภาพและความอดทน

ไม่เพียงแค่เฉพาะสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารเท่านั้น ยังรวมถึงอาชีพทางด้านการสื่อสารต่างๆ ที่ต้องรู้จักอัพเดตเรื่องดิจิตอลต่างๆ ติดตามข่าวสารในสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องเออีซี เพื่อรู้ทันและไม่ตกเป็นเครื่องมือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้รับสารของเรา และอาจทำให้เกิดความเสียหายตามมาอย่างคาดไม่ถึง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

กองทุนฯอนุรักษ์ อนุมัติงบ 352.6 ลบ. ศึกษาวิจัยอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนปี′56

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนงบประมาณปี 2556 จำนวน 352.6 ล้านบาท สำหรับโครงการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวม 24 โครงการ

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนโครงการศึกษา วิจัย พัฒนา เทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ในการคิดค้น พัฒนา หรือริเริ่มการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนประจำปี 2556 ซึ่งในปีนี้มีโครงการที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุน 24 โครงการ รวมวงเงินกว่า 352.6 ล้านบาท

การสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาจากข้อเสนอโครงการที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษา ยื่นขอรับการสนับสนุนตามหัวข้อที่ประกาศ ได้แก่ งานวิจัยเชิงนโยบาย งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ และงานวิจัยเทคโนโลยี และได้ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ซึ่งโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน มีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 12 โครงการ เป็นเงินสนับสนุน 185.8 ล้านบาท อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานของอาคาร โครงการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศไทย โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport : NMT) และการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โครงการด้านพลังงานทดแทน มีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 12 โครงการ เป็นเงินสนับสนุน 166.8 ล้านบาท อาทิ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำก๊าซไบโอมีเทนอัดเพื่อทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลวในอุตสาหกรรมเซรามิก โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมไบโอมีแทน เพื่อทดแทนการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ โครงการการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการหญ้าเชื้อเพลิง (Feed stock management model) เพื่อผลิตพลังงานแบบครบวงจร เป็นต้น

“กระทรวงพลังงานคาดว่าทั้ง 24 โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน จะช่วยให้การดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ในส่วนของมาตรการที่ยังไม่มีการดำเนินงาน อาทิ มาตรการบังคับให้ติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานสำหรับวัสดุอุปกรณ์ มาตรการส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งอย่างยั่งยืน มาตรการทางภาษีเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางตลาดในภาคขนส่ง ให้สามารถดำเนินงานได้ตามแผน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

กรมส่งเสริมฯผ่านรับรองคุณภาพ กพร.ให้ผ่านมาตรฐานบริหารงาน ยันเดินหน้าพัฒนา-ดูแลเกษตรกร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการดูแลส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนให้ภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ตัวขององค์กร คือ กรมส่งเสริมการเกษตร ก็ต้องมีการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการหน่วยงานอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้ารับการประเมินเพื่อตรวจรับรองคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Certified FL) ประจำปี พ.ศ.2556 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่าการดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถผ่านเกณฑ์การตรวจรับรองจาก ก.พ.ร. โดยได้รับคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 97.06% ภายใต้จุดเด่น 5 ประการ คือ

1.ผู้บริหารให้ความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการทำงานที่ชัดเจน มีการเพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีกระบวนการและกิจกรรมการเรียนรู้ สร้างความร่วมมือภายในองค์กร และสามารถสร้างแรงจูงใจเพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมาย 2.มีการกำหนดขั้นตอน กิจกรรม และกรอบเวลาที่เหมาะสม รวมถึงมีการระบุถึงผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน ในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี 3.มีกระบวนการกำหนดกลุ่มผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ชัดเจน รวมทั้งมีกระบวนการในการรับฟังและเรียนรู้ความต้องการ รวมทั้งการวัดความพึงพอใจของผู้รับบริการและกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง 4.มีความชัดเจนในแนวทางอย่างเป็นระบบของการทบทวนและวิเคราะห์ฐานข้อมูล รวมถึงการจัดการฐานข้อมูลอย่างมีประสิทธิผล และ 5.มีการกำหนดปัจจัยที่มีผลต่อความผาสุก และความพึงพอใจของบุคลากร มีแผนการสร้างความก้าวหน้าในสายงานให้แก่บุคลากรอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ก.พ.ร.ได้จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณรับรองคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน (Certified FL) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน ถ.พระราม 9 กรุงเทพมหานคร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้ นายศุภนารถ เกตุเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เป็นผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ารับประกาศเกียรติคุณจาก นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการ ก.พ.ร. และประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

“ในโอกาสนี้ อยากขอแสดงความขอบคุณข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรทุกคนที่ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท และตั้งใจร่วมกันพัฒนาองค์กร จนส่งผลให้ได้รับการรับรองคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐระดับพื้นฐาน รวมทั้งขอยืนยันว่า กรมส่งเสริมการเกษตร จะไม่หยุดการพัฒนาองค์กรไว้เพียงเท่านี้ แต่จะมีการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ภารกิจในการส่งเสริมดูแลเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

เร่งด่วนปฏิบัติการ ‘ฝนหลวง’ เตรียมพร้อมภาวะฝนทิ้งช่วง

โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ อุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” เพื่อทำหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในบรรยากาศของประเทศโดยตรงแล้ว รวมทั้งจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงและการดัดแปรสภาพอากาศต่าง ๆ และการให้บริการด้านการบินและการสื่อสาร ในการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังสังเกตการณ์สภาพน้ำเขื่อนภูมิพลและเยี่ยมชมการเตรียมพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินจังหวัดตากว่า กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่าง ๆ พบว่าอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การทำเกษตรในหลาย ๆ จังหวัด จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับเขื่อนต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคเกษตรเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งได้กำชับกรมชลประทานวางแผนการระบายน้ำอย่างระมัดระวัง

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน จึงอยากให้เกษตรกรใช้น้ำฝนแทนเพื่อเก็บน้ำในอ่างหรือเขื่อนให้มากที่สุด ซึ่งเชื่อมั่นว่าในปีนี้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาบวกกับหน่วยปฏิบัติการทำฝนหลวง คาดว่าจะได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ช่วงแล้งหน้าต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยคำนึงถึงต้นทุนน้ำเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งเกษตรกรต้องปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และปลูกพืชระยะสั้นหรือพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก และต้องเตรียมพร้อมเมื่อเข้าสู่ต้นฤดูฝน อย่างน้อยเดือนครึ่งหรือสองเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ด้าน นายวราวุธ ขันติยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ จ.ตาก ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่ต่ำกว่า 80 % เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่อยู่บริเวณรอบเขื่อนหรือผู้ที่ขาดน้ำกินน้ำใช้หรือเพื่อสาธารณูปโภค

“ปัจจัยที่ทำให้ฝนหลวงสำเร็จยังมีอีกหลายปัจจัย ได้แก่ สภาพดินฟ้าอากาศ รวมทั้งความพร้อมของหน่วยปฏิบัติฝนหลวงที่จะสามารถปฏิบัติการได้ในทันที เช่น บุคลากร เครื่องบิน ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องของทิศทางความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ฝนตกหลังขึ้นปฏิบัติการมากน้อยแค่ไหน รวมถึงปริมาณน้ำ การไหลน้ำของระดับน้ำต่าง ที่ได้ข้อมูลจากรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องน้ำถือเป็นเรื่องวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งมือทำ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขหรือช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องเกษตรกรโดยเร็วที่สุด” นายวราวุธ กล่าว

...นับได้ว่า ฝนหลวงและการบินเกษตรสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องการน้ำในการทำการเกษตร เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน แต่ประการสำคัญเราทุกคนก็ต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงภัยแล้งได้ในอนาคต.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

ทันสถานการณ์ สั่งทำฝนหลวงเติม 2 เขื่อนหลัก

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเยว่า ได้สั่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับ 2 เขื่อนหลัก คือเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก

ขณะเดียวกันได้สั่งทำฝนหลวงในบริเวณเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศด้วย เนื่องจากสภาพอากาศขณะนี้จูงใจที่จะทำได้ หลังพบว่าหลายเขื่อนมีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 50% ของความจุ ประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้มีการใช้น้ำในเขื่อนเพิ่ม หากไม่เร่งหาจังหวะที่เหมาะสมขึ้นเติมน้ำ เกรงว่าสิ้นฤดูฝนจะมีน้ำในเขื่อนเหลือน้อย และกระทบต่อปริมาณน้ำสะสมในปลายฤดูปีหน้า พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ภาคด้วย

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 3 กรกฎาคม 2556

กนง.ชี้เงินบาทปีนี้ผันผวนสูง -คาด GDP ขยายตัว 4-5 %

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท และการลงทุนว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ มีความผันผวนสูง โดยประเมินว่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีทิศทางอ่อนค่ามากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา โดยขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศเป็นหลัก เพราะกระแสเงินทุนไหลเข้าในปีนี้น้อยกว่าปีก่อน รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะทยอยลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสแข็งค่าขึ้น

ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ประเมินไว้ที่ร้อยละ 4-5 ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ แต่ต้องจับตาปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นเกินร้อยละ 80 ของจีดีพี และการบริโภคที่ชะลอตัวลงมาก เพราะผู้บริโภคนำเงินไปผ่อนชำระรถยนต์คันแรก และบ้านหลังแรก ทำให้การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง ประกอบกับภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว

นายณรงค์ชัย กล่าวถึงการทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่า ต้องบริหารงานอย่างรวดเร็ว โดยแนะนำให้ประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ออกมาตรการได้รวดเร็ว และทันกับเวลาเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 2 กรกฎาคม 2556

ขับเคลื่อนนิคมเศรษฐกิจพอเพียง ...สร้างความเข้มแข็ง รับAEC - เกษตรทั่วไทย

โครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ศักยภาพของพื้นที่และเกษตรกรในพื้นที่นั้น ๆ โดยทิศทางการพัฒนานิคมเศรษฐกิจพอเพียงจากนี้ต่อไป สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มุ่งหวังให้นิคมเหล่านี้พัฒนาไปสู่นิคมการเกษตร เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของเกษตรกรในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินต่อไปในอนาคต

นายสุวรรณ บูราพรนุสรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงาน การยกระดับนิคมเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่นิคมการเกษตรนั้น จะเน้นไปที่การส่งเสริมการผลิตพืชเป็นรายสินค้า ซึ่งส.ป.ก.จะดูจากการจัดโซนนิ่งการผลิตพืชของกรมพัฒนาที่ดินทั้ง 6 ชนิด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศไปแล้ว จากนั้นจะถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดการกลุ่ม ให้ตอบสนองกับวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมพัฒนา จากปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ภายใต้หลักปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการลดต้นทุนการผลิต, ศูนย์ต้นแบบ และการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

“การจัดทำแผนการดำเนินงานเบื้องต้นของส.ป.ก.ได้ทำความเข้าใจกับทุกจังหวัดถึงแนวทางการขับเคลื่อนนิคมเศรษฐกิจพอเพียง โดยปีนี้ส.ป.ก.ได้ส่งเจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดเข้าไปเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน พร้อมกับศึกษาศักยภาพของแต่ละชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ปัญหาของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะแหล่งน้ำซึ่งส.ป.ก.มองว่าเป็นปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากแหล่งน้ำมีความสำคัญกับการผลิตพืชทุกประเภทและการเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้นการลงพื้นที่สำรวจจัดทำแผนชุมชนร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน เราจะส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักพัฒนาพื้นที่เข้าไปร่วมด้วย เพื่อดูโครงสร้างพื้นฐานให้กับชุมชนหากชุมชนใดมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างแหล่งน้ำ ส.ป.ก.จะทำแผนจัดหางบลงทุนเพื่อดำเนินการต่อไป นับเป็นการทำงานให้จบในกระบวนการเดียวในเวทีชุมชนตรงนั้น” นายสุวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2557 สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพท.) โดยกลุ่มวิชาการพัฒนารายพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่เพื่อดำเนินงานโครงการนิคมการเกษตรและโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประกอบการจัดทำคำของบประมาณในเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งสิ้น 63 จังหวัด ประกอบด้วย โครงการนิคมการเกษตร จำนวน 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร สุราษฎร์ธานี สระแก้ว สุโขทัย กระบี่ ชลบุรี ลำพูน และร้อยเอ็ด และโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 15 จังหวัดได้แก่ จังหวัดตาก ยโสธร น่าน เลย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ตรัง ตราด ศรีสะเกษ เชียงราย บึงกาฬ นราธิวาส สระบุรี และบุรีรัมย์ ส่วนที่เหลืออีก 38 จังหวัด จะเป็นโครงการนิคมฯ ที่พัฒนาต่อเนื่องในปี 2556 และโครงการนิคมฯ พัฒนาศักยภาพปี 2549-2555

เห็นได้ว่าการขับเคลื่อนนิคมต่าง ๆ ส.ป.ก.มุ่งหวังว่า เกษตรกรจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต จากรูปแบบการจัดการที่ดินในลักษณะการเป็นนิคม โดยที่ส.ป.ก.จะคอยเป็นพี่เลี้ยง ดูแลและทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกนิคมมีความความเข้มแข็ง มีเครือข่ายการผลิต การแปรรูป การตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนอย่างเหมาะสมมากที่สุด รวมถึงการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐานออกสู่ตลาด พร้อมแข่งขันกับการเปิดเสรีทางการค้าที่จะมาถึงในปี 2558 นี้ได้.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 กรกฎาคม 2556

เปิดเวทีสภายุวเกษตรกรระดับชาติ พัฒนาเครือข่ายร่วมมือเยาวชนไทย สืบสานอาชีพภาคการเกษตรกรรม

นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการเกษตร โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินการพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายการทำงานของยุวเกษตรกร เพื่อให้เกิดการเชื่อมประสานและสร้างความร่วมมือผ่านกลไกคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละระดับจะมีวาระคราวละ 2 ปี

โดยเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สนับสนุนให้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “คณะกรรมการสภายุวเกษตรกรระดับประเทศ” ขึ้น ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ซึ่งในการสัมมนา นอกจากจะมีการจัดเลือกตั้งคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรระดับประเทศชุดใหม่ แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่หทมดวาระลง

ส่วนเนื้อหาการสัมมนา ประกอบด้วย การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนางานยุวเกษตรกรผ่านกระบวนการเครือข่ายคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรระดับประเทศ และการระดมสมองเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรระดับประเทศชุดใหม่ โดยหวังเพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนายุวเกษตรกรไทย ได้อย่างเป็นเอกภาพและยั่งยืน

“การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสภายุวเกษตรกรระดับประเทศครั้งนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนายุวเกษตรกร ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นเวทีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ทีมงานสภายุวเกษตรกรระดับประเทศที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างยุวเกษตรกร และที่ปรึกษายุวเกษตรกร เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้ในการพัฒนากลุ่มในพื้นที่ของตัวเอง และร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการพัฒนางานยุวเกษตรกรให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 กรกฎาคม 2556

พาณิชย์มั่นใจคุมเงินเฟ้อทั้งปี 3.4%

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 105.31 เพิ่มขึ้น 2.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.15% จากเดือน พ.ค.56 ขณะที่ตัวเลข CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.56) เพิ่มขึ้น 2.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ตามการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ เป็นครั้งแรกที่หลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.8-3.4% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 103.07 เพิ่มขึ้น 0.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.09% จากเดือน พ.ค.56 โดยตัวเลข Core CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 1.23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 108.85 เพิ่มขึ้น 3.52% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.07% จากเดือน พ.ค.56 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 103.22 เพิ่มขึ้น 1.59% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.27% จากเดือน พ.ค.56

คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 56 ในกรอบ 2.8-3.4% นั้นจะอยู่ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะใกล้เคียงกับปี 55 ที่ระดับ 3.02% แต่จะยังไม่มีการพิจารณาปรับหมายเงินเฟ้อในปีนี้ โดยจะขอรอดูอีกสองเดือนเพื่อครบทั้งไตรมาสก่อน และสถานการณ์ยังเป็นภาวะปกติ ไม่เคยมีปัญหาเงินฝืด และภาวะเงินเฟ้อในเดือนหน้าก็คงจะใกล้เคียงกันกับ 2 เดือนที่ผ่านมา

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 2 กรกฎาคม 2556

ยกระดับเกษตรไทย ด้วยระบบ “ODM : Orginal Design Manufacturer”

ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในงานซี.พี.เสวนา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เกษตรเพื่ออนาคตประเทศไทย”

ระบุว่า เกษตรเป็นภาคหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่มีหนี้สิน ซึ่งภาครัฐจะต้องลงทุนด้านชลประทานและโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาภาคเกษตรให้มากขึ้น

ในการทำเกษตรนั้น มีความเสี่ยง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยซึ่งขาดทั้งเงินทุน เทคโนโลยี และการตลาด ดร.สารสิน มีความเห็นว่า การทำการเกษตรในอนาคตเกษตรกรรายย่อยจะต้องเชื่อมโยงกับบริษัทเกษตรที่ความพร้อม และนำระบบ ODM : Orginal Design Manufacturer มาใช้ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรและบริษัทฯ โดยเกษตรกรจะผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้บริษัทฯนำไปจำหน่ายในแบรนด์ของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯจะบอกความต้องการ นำเทคโนโลยี ความรู้ มาจัดการ เพื่อให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรให้ตามที่ต้องการ ซึ่งจะลดความเสี่ยงแก่เกษตรกร ปัจจุบันภาคเกษตรในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้ระบบนี้ ซึ่งดีกว่าระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เพราะเกษตรกรจะได้ประโยชน์ทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น เมืองซาลีนาส ในรัฐแคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัรฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองที่ปลูกผักสลัดมากที่สุดในโลก จนได้รับขนานนามว่าเป็น "Salad Bowl of the World." หรือ “ชามสลัดของโลก” ก็ใช้ระบบ ODM

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 กรกฎาคม 2556

สปก.ร่วมปั้นยุวเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ ส่ง3ตัวแทนฝึกงานในแดนปลาดิบ

การพัฒนาอาชีพเกษตรกรของไทยให้แข็งแกร่ง ด้วยการสร้างรากฐานความรู้และประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือยุวเกษตรกรอาจมิใช่เพียงการศึกษาจากเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่การหาประสบการณ์จากต่างแดนเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นถึงความสำคัญ และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรไทยในครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสภาแลกเปลี่ยนทางการเกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Agricultural Exchange Counil : JAEC) โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา

จุดมุ่งหมายหลักของโครงการ เพื่อให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสฝึกงานและปฏิบัติจริงในฟาร์มของเกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ ได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การบริหารจัดการ และระบบการรวมตัวเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มเกษตรกรญี่ปุ่น นำประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญที่ได้รับจากการฝึกงานจริง ตลอดจนแนวความคิดมาปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรของตนเองในประเทศไทย สร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกร ถือเป็นการให้โอกาสที่ดีแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างประเทศ เพื่อเปิดโลกทัศน์ และมุมมองของการทำเกษตรให้กว้างขึ้น รวมถึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีตลอดจนการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมถึง 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์

กรมส่งเสริมสหกรณ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาเกษตรที่สูง(องค์การมหาชน) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อคัดเลือกเยาวชนเกษตรในส่วนที่รับผิดชอบเพื่อเป็นตัวแทนเดินทางไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น ในสาขาต่างๆ ได้แก่ การปลูกข้าว การทำสวนผัก ไม้ตัดดอก ไม้กระถาง การทำเรือนเพาะชำ ไม้ล้อม การปลูกไม้ผล เช่น ส้ม แอปเปิ้ล แพร์ องุ่น และการทำปศุสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงสุกร เป็นต้น ในระยะเวลา 11 เดือน

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก.ได้เข้าร่วมโครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรกรไทยในครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น มาตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันมีเยาวชนเกษตรที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 4 รุ่น จำนวน 23 คน ซึ่งในปี 2556 มีเยาวชนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ผ่านการคัดเลือกให้เดินทางไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 คน ได้แก่ นายโสภณ เรียนเกิด เยาวชนเกษตร จากจังหวัดลพบุรี, นางสาวขวัญนภา เทศชารี เยาวชนจาก จังหวัดขอนแก่น และนางสาวจุฑารัตน์ เสียมคำปัง เยาวชนจาก จังหวัดนครราชสีมา

“การคัดเลือกยุวเกษตรกรของส.ป.ก. เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมในโครงนี้ จะเน้นยุวเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีทักษะทางด้านภาษา และที่สำคัญคือต้องมีความอดทนค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องจากบ้านไปถึง 11 เดือน เพื่อไปอยู่กับครอบครัวเกษตรกรชาวญี่ปุ่น” เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าว

ดร.วีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยที่มีศักยภาพ เพราะการได้ไปสัมผัสและเรียนรู้การจัดการทางด้านเกษตรของญี่ปุ่น ช่วยเปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ๆ ในการทำเกษตรกรรม เยาวชนไทยจะได้เรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆ ของชาวญี่ปุ่น ได้นำมาพัฒนาต่อยอดอาชีพของตนเองได้ และถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรญี่ปุ่นโดยผู้ที่ผ่านโครงการนี้ส่วนใหญ่สามารถพัฒนาอาชีพของตนเอง กลายเป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่ และเป็นต้นแบบให้แก่คนรุ่นใหม่ได้เดินรอยตาม

นางสาวจุฑารัตน์ เสียมคำปัง เยาวชนเกษตรจากจังหวัดนครราชสีมา ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เริ่มรู้จักโครงการนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ที่สนใจเนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และให้โอกาสได้ไปฝึกงานกับครอบครัวของเกษตรกรชาวญี่ปุ่น ได้เรียนรู้เกี่ยวการทำเกษตร วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น และพัฒนาทักษะทางด้านภาษาที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวชอบแนวคิดของชาวญี่ปุ่นที่ล้ำหน้า และน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาปรับใช้กับกิจการฟาร์มปศุสัตว์ของครอบครัวให้พัฒนาดีขึ้น และในอนาคตอาจจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนของเด็กๆ ในชุมชนด้วย หรืออาจพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อการปลูกพืชผลให้ได้คุณภาพ

ขณะที่นางสาวขวัญนภา เทศชารี เยาวชนเกษตรจากจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น เพื่อจะได้เรียนรู้การดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเทคนิคการปลูกผักให้ประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาพัฒนาแปลงผักของศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ที่ยังประสบปัญหาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ด้านนายโสภณ เรียนเกิด เยาวชนเกษตร จากจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษคือ การปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน การทำปุ๋ยไว้ใช้เอง ระบบการจัดการน้ำ และการให้ประโยชน์จากสิ่งของเหลือใช้

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้ยุวเกษตรกรไทย ได้รู้จักภาคการเกษตรในวิถีของชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นการสร้างโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีใจรักในอาชีพเกษตรกรได้พัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชนที่ตนเองรัก และท้ายที่สุด คือการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 กรกฎาคม 2556

ก.อุตฯโยนมท.แก้ผังเมืองรวม35จว.อ้างอุตฯ-คนในพื้นที่ขยายตัว-นโยบายรัฐเปลี่ยน

กระทรวงอุตสาหกรรมดันแก้ผังเมืองรวม 35 จังหวัด อ้างเหตุอุตสาหกรรมขยาย-พื้นที่เมืองเปลี่ยน ร่างผังเมืองปี 2547 ล้าสมัย ยกเคสระยอง- กาญจน์ ต้องแก้ผังเมืองรับนโยบาย ไฮสปีดเทรน-นิคมอุตฯทวาย

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะคณะกรรมการผังเมือง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ของกระทรวงมหาดไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเสนอให้มีการพิจารณาทบทวนปรับปรุงร่างผังเมืองรวมจังหวัดให้เกิดความเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้รายงานให้คณะกรรมการผังเมืองทราบล่าสุดว่า ได้มีจังหวัดต่าง ๆ ขอทบทวนแก้ไขร่างผังเมืองรวมจังหวัดก่อนประกาศบังคับใช้แล้ว 35 จังหวัด และได้มีจังหวัดที่มี กฎกระทรวงประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดแล้ว 13 จังหวัด

โดยผังเมืองรวมทั้ง 35 จังหวัด ที่ขอทบทวนแก้ไขร่างผังเมืองรวมจังหวัดก่อนประกาศบังคับใช้ ได้แก่ ชัยภูมิ ปทุมธานี อยุธยา อุดรธานี ตาก ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี สตูล ชลบุรี ชัยนาท ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม อำนาจเจริญ นครพนม กำแพงเพชร สุโขทัย มุกดาหาร สมุทรสาคร กาญจนบุรี ระยอง สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ พิจิตร ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ร้อยเอ็ด สกลนคร และอุตรดิตถ์

"เหตุผลที่คณะกรรมการผังเมืองระดับจังหวัดขอทบทวนแก้ไขร่างทั้ง 35 จังหวัด เนื่องจากเป็นร่างที่มีการจัดทำและรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ปี 2547 แต่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่เกิดการขยายตัว ทำให้ร่างดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน พร้อมเหตุผลเพิ่มเติมในแต่ละจังหวัด เช่น จ.ระยองต้องการปรับแก้เนื่องจากมีโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่าน และภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับวิกฤตน้ำท่วมย้ายฐานการผลิตหนีน้ำไปภาคตะวันออก รวมถึงนโยบายใหม่ของรัฐบาลในการจัดโซนนิ่งของภาคเกษตร"

ในส่วนผังเมือง จ.กาญจนบุรี ต้อง ปรับแก้เนื่องจากมีพื้นที่เชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรมทวาย รวมถึงท่าเรือมาบตาพุด จึงต้องการขยายตัวในส่วนโลจิสติกส์ คลังสินค้าและอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึง จ.นครราชสีมา ที่จะมี รถไฟความเร็วสูงผ่าน และจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับอาเซียน การท่องเที่ยวที่ เติบโตขึ้น รวมถึงการตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน

ส่วนผังเมืองรวม 13 จังหวัดที่มีกฎกระทรวงประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดแล้ว ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ยะลา น่าน ภูเก็ต สิงห์บุรี สระบุรี นครนายก ยโสธร ปราจีนบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯนั้น ในจำนวนนี้มี 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สิงห์บุรี และปราจีนบุรี ที่คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดจะยื่นขอทบทวนเพื่อปรับผังเมืองในพื้นที่ โดยแก้กฎกระทรวงในภายหลัง

โดยจังหวัดภูเก็ตขอปรับพื้นที่ที่มีความหนาแน่นน้อยเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นปานกลาง เพื่อให้สอดรับกับความเป็นจริง เพราะจะมีผลต่อขนาดและพื้นที่ของอาคารในการก่อสร้าง ส่วนสิงห์บุรีและปราจีนบุรีขอปรับประเภทอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่เดิม และขอขยายพื้นที่อีก 1 เท่าของพื้นที่เดิมหรือพื้นที่ติดกันที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานที่อยู่ในผังเมืองจะมีการบังคับใช้ ทั้งนี้ ผังเมืองรวมจังหวัดอื่น ๆ อยู่ระหว่างการหารือของคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขอยื่นทบทวนแก้ไขร่างผังเมืองรวมจังหวัด โดยคาดว่าจะชัดเจนในเดือนหน้า

"ส่วนความล่าช้าในการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัด เนื่องจากนโยบายการกระจาย อำนาจให้แก่ท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นไม่มีความพร้อมในการจัดทำร่างผังเมือง รวมถึง ขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นจึงทำให้ขั้นตอนในการจัดทำใช้เวลานาน จึงทำให้เกิดช่วงสุญญากาศ คณะกรรมการฯจึงมีแนวทางในการปรับปรุงในการจัดทำให้เร็วขึ้นด้วยการให้ความรู้กับส่วนท้องถิ่นหรือการให้งบประมาณในการจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำ"

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติผังเมือง ในส่วนบทเฉพาะกาลมีกำหนดว่า หากผังเมืองรวมจังหวัดเดิมที่มีอายุ 5 ปี และต่อได้อีก 2 ปี หมดอายุลง ให้ใช้ผังเมืองฉบับเดิมไปก่อนระหว่างจัดทำร่างผังเมืองใหม่ แต่นักกฎหมายบางส่วนเห็นว่า กฎหมายผังเมืองเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชน จึงควรเร่งจัดทำผังเมืองใหม่ให้เสร็จ จะมีผลดีกว่าใช้ฉบับเดิม จึงไม่ได้มีการนำผังเมืองรวมจังหวัดฉบับเก่ามาบังคับใช้ก่อน แต่จะใช้ผังเมืองย่อยของแต่ละพื้นที่แทน แต่เนื่องจากการจัดทำผังเมืองใหม่ ใช้ระยะเวลายาวนาน จึงทำให้เกิดช่วงสุญญากาศที่อาจจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งในพื้นที่ก่อนในส่วนของพื้นที่ ที่ไม่มีทั้งผังเมืองรวมจังหวัดและผังเมืองย่อยบังคับใช้

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 1 กรกฎาคม 2556

เศรษฐกิจโลกชะลอตัวหัวทิ่ม ฉุดไทยวูบหน่วยงานหั่นจีดีพี

แม้ว่าสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่กอบโกยคะแนนเสียงได้ถล่มทลาย จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการ กำเนิดครม.ชุด “ปู 5” ก็ตาม แต่...ประเทศกำลังมีปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่า...คือ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซวนเซ ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็ขาดแรงอุดหนุน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บรรดา หน่วยงานเศรษฐกิจ สำนักวิจัยต่างพาเหรดกันออกมาปรับลดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจกันเป็นแถว เพราะเห็นกันอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในอาการซึมยาวแบบผิดความคาดหวัง หลังจากช่วงต้นปีหน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจหลายแห่งต่างมองในแง่ดีว่าอาการซึมที่ว่านี้... อาจเริ่มฟื้นตัว เพราะสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้มาตรการคิวอี

แต่!!! กลับตรงกันข้ามเมื่อผลที่ออกมากลับทำให้เงินที่ไหลเข้ามาไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นขึ้นแม้แต่น้อย ซ้ำไปยิ่งกว่านั้นยังสร้างความผันผวนเข้าให้อีกเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศยุติการทำคิวอีในปีหน้า ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกติดลบแดงระนาวทีเดียว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า จะลากยาวไปจนถึงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ ได้ล่วงหน้าออกมาประกาศปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือเพียง 2.2% จากเดิม 2.4% โดยประกาศมาตั้งแต่ต้นปีเพราะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ยังไม่มีความแข็งแกร่ง

ด้านเศรษฐกิจไทยเอง...ก็หนีไม่พ้นที่ต้องแบกรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงไปด้วยเช่นกัน ทำให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีทั้งปีไปแล้ว 1 รอบโดยปรับเหลือเพียง 4.2-5.2% จากประมาณการเดิมที่ 4.5-5.5% หลังจากที่เงินร้อนได้ไหลเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมากทำให้รายได้ที่ควรจะได้...กลับหายไปหลายแสนล้านบาท และในรอบต่อไปที่ สศช.จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาสสองของปี 56 ก็เชื่อได้ว่าน่าจะปรับลดการคาดการณ์ลงไปอีก

เช่นเดียวกับความฝันของรัฐบาลที่ได้วาดไว้อย่างสวยหรูว่าจะอย่างไร? ต้องผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตให้ได้ 5% แต่ความฝันนั้นคงเป็นไปได้ยากเสียแล้ว หรือหากทำได้จริง ก็เชื่อว่าหลายหน่วยงานคงเลือดตาแทบกระเด็น เพราะฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ 5.3% ถือว่าต่ำกว่าปกติ หากเทียบกับไตรมาสสุดท้ายปลายปีที่โตถึง 19.1% ชี้ให้เห็นอาการซบเซาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเกือบทุกสาขา และเชื่อได้เลยว่าอาการนี้จะเป็นไปต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ขณะเดียวกันด้านภาคการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอดเพราะมีสัดส่วนถึง 70% ของรายได้ของประเทศ ได้เริ่มออกอาการซวนเซเช่นกันและจะโหนไปถึงเป้าหมายก็เป็นไปไม่ได้ เพราะผลกระทบหลายอย่างที่เกิดขึ้นทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ยอดการส่งออกของไทยล่าสุดในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ต้องติดลบหัวคะมำไปถึง 5.25% เป้าหมายที่เชื่อกันว่าการส่งออกจะเติบโตได้ที่ 6.1% คงไปไม่ถึงฝั่งเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้...หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศไปจนหมดแล้ว ทั้งเงินช่วยเหลือน้ำท่วม โครงการรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก ที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดกำลังซื้อในประเทศก็สิ้นมนต์ขลังไปเสียแล้วคงเหลือแต่เพียงมาตรการการลดภาษีเงินได้ตามโครงสร้างใหม่ของรัฐบาลเท่านั้น

มิหนำซ้ำมาตรการเหล่านี้ยังทำให้เกิดการชะลอตัวของกำลังซื้อ และทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลพวงจากนโยบายรถยนต์คันแรก เพราะแต่ละเดือนประชาชนต้องหาเงินไปผ่อนจ่ายค่าซื้อรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันค่ายรถยนต์เองก็มียอดการผลิตรถยนต์ลดลง เนื่องจากเอากำลังการผลิตในอนาคตไปผลิตรถยนต์เข้าโครงการนี้จนหมดแล้ว

มามองด้านการลงทุนบ้าง ในส่วนภาคเอกชนเองเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะเอกชนส่วนใหญ่มีแผนการลงทุนและเตรียมความพร้อมไว้ชัดเจนแล้ว แต่อาจมีความเสี่ยงในเรื่องการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าจนเต็มกำลังการลงทุนแล้ว ช่วงครึ่งปีหลังอาจชะลอการลงทุนไปบ้าง ขณะที่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ที่เวลานี้ยังไม่เป็นรูปธรรม หรือแม้แต่เรื่องของการลงทุนระบบน้ำก็ดูท่าทีว่าจะสะดุดกลางคันเข้าให้เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ชะลอการทำสัญญากับผู้ชนะการประมูลโครงการ เพราะขัดรัฐธรรมนูญและยังสั่งให้รัฐบาลทำข้อมูลวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และทำประชาพิจารณ์เข้าให้อีก

ไม่ใช่แค่ สศช. หรือสภาพัฒน์เท่านั้น ที่ปรับลดจีดีพีลง ทาง กระทรวงการคลัง ได้ประกาศปรับลดจีดีพีลงไปแล้วจากเดิมที่มองว่าเติบโตได้ 5.3% กระทรวงการคลังได้หั่นเหลือเพียง 4.5% โดยให้เหตุผลว่า เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกล้วน ๆ ที่ไปกระทบภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า 14 ประเทศให้ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่ปัจจัยอื่น ๆ ทั้งการใช้จ่ายภาคเอกชน และรายได้ภาคครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง รวมไปถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เชื่อว่าจะขยายตัวได้เพียง 5.5% เท่านั้น

เช่นเดียวกับ แบงก์ชาติ ที่จะประกาศตัวเลขจีดีพีใหม่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ หลังจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเพราะเกิดปัญหาหนี้ขึ้นในภาคสถาบันการเงิน ที่ทำให้หลายคนไม่มั่นใจในศักยภาพของจีนแม้เศรษฐกิจจะเติบโตได้สูงอยู่ก็ตาม โดยเชื่อกันว่าจะปรับลดลงต่ำกว่า 5.1% แน่นอน

หรือแม้แต่ บรรดาศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงิน ที่เห็นแล้วว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลงมาก ก็เฮโลปรับลดจีดีพีลงไปตาม ๆ กันด้วย ทั้งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ปรับลดเหลือเพียง 4% จากเดิม 4.8% รวมไปถึงการส่งออกที่เชื่อว่าจะเติบโตเพียง 4% จาก 7% โดยเฉพาะการที่จีนควบคุมการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจมีผลทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงและปีนี้ส่งออกไทยไปจีนโตเพียง 1% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากปี 52 ส่วนการลงทุนเอกชนก็ลดลงเช่นกัน ทั้งโครงการลงทุนระบบน้ำ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็หั่นจีดีพีเหลือ 4.7% จากเดิม 5% ส่งออกอยู่ที่ 6.4% จาก 7.1% เช่นกัน

หันมามองบรรดาพ่อค้าแม่ค้าต่างก็แห่ปรับลดเป้าหมายรายได้ลดลงไปเช่นกันเพราะมองไม่เห็นสัญญาณที่รัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นได้ โดยเฉพาะค่ายยักษ์ใหญ่อย่างเครือสหพัฒน์ที่ปรับลดเหลือเพียง 10% เท่านั้นจากที่คาดว่าจะเติบโตได้ 15% ที่สำคัญภาคเอกชนยังมองไปในทิศทางเดียวกันด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี ไม่ได้ช่วยกระตุ้นหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ แต่เป็นเพียงเรื่องต่างตอบแทนผลประโยชน์เท่านั้น รวมทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลก็ไม่ได้ส่งผลให้ดัชนีการบริโภคของประชาชนเพิ่มมากนัก เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ตรงจุด

ได้ยินได้ฟังได้เห็น…เช่นนี้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจากนี้ไปเศรษฐกิจไทยจะหัวหกก้นขวิด โดยไร้ปัจจัยฉุดให้เศรษฐกิจผงกหัวได้อีกนานเท่าใด “รัฐบาล ปู 5” เท่านั้นที่เป็นผู้ให้คำตอบ...

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2556

เดินหน้า 8 ยุทธศาสตร์...เตรียมเข้าสู่ AEC - เกษตรทั่วไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมความพร้อมของภาคเกษตรในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายใต้ยุทธ ศาสตร์หลัก 8 ด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับอีก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ในเรื่องนี้ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมความพร้อมของภาคการเกษตรเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ไว้ 8 ยุทธศาสตร์ เป็น Flag ship ที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอโครงการต่อรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเมื่อเปิด AEC

ยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ หรือ Zoning วิเคราะห์ความเหมาะสมของดินกับพืชแต่ละชนิด และสร้างความสมดุลในเรื่องของปริมาณการผลิตและการใช้สินค้าเกษตรเป็นรายชนิดสินค้า ทั้งนี้ เพื่อปรับให้ดีมานด์กับซัพพลายมีความสมดุล ซึ่งจะสร้างให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพมากขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer (เกษตรกรปราดเปรื่อง) มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการทำการเกษตรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยุทธ ศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารปลอดภัย (Food Safety) การรับรองมาตรฐานสินค้า (สัญลักษณ์ Q) ทั้งในเรื่องของตัวสินค้าและปัจจัยการผลิต การกำหนด พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาศูนย์เมล็ดพันธุ์พืช Asean Seed Hub ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาเมืองเกษตรสีเขียว (Green City) คือการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 6 การจัดการดินและน้ำ คือต้องการขยายพื้นที่ชลประทานให้เพิ่มขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 7 การเพิ่มศักยภาพด่านสินค้าเกษตรชายแดนเพื่อรองรับ AEC ซึ่งด่านตรวจสินค้าเป็นหัวใจที่สำคัญ เพราะประเทศไทยมีด่านชายแดนติดกับประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพการทำงานของด่านทั้งอุปกรณ์
และบุคลากร ยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนา

ศูนย์เครื่องจักรกลทางการเกษตร ให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน เนื่องจากในอนาคตแรงงานภาคเกษตรน่าจะขาดแคลนอย่างมาก จำเป็นต้องเป็นศูนย์รวมเครื่องจักรกลการเกษตร ยุทธศาสตร์ที่กล่าวมานี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในส่วนของกรมวิชาการเกษตร ที่ดำเนินการด้านงานวิชาการ งานวิจัย และเป็นฐานการผลิตการปรับปรุงพันธุ์พืช กำกับดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร ที่สำคัญคือกำกับดูแลด่านตรวจพืช ฉะนั้น การเตรียมความพร้อมของกรมวิชาการเกษตร จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชที่สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในแต่ละรายการสินค้าพืชให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ควบคุมมาตรฐานสินค้าให้ปลอดภัยจากโรคระบาด แมลงศัตรูพืชหรือสารเคมี

นางมัณฑนา มิลน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่สอดคล้องกับยุทธ ศาสตร์ของกระทรวงเกษตรฯ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนางานวิจัยให้เกิดเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีประสิทธิ ภาพ ลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งกรมฯ เห็นความสำคัญเรื่องศักยภาพของบุคลากรที่ต้องมีความสามารถติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะด่านตรวจพืช 35 แห่ง เพราะเมื่อเปิด AEC จะต้องมีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี เจ้าหน้าที่ด่านต้องได้รับการพัฒนาเรื่องภาษา และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจศัตรูพืช ตรวจโรคในสินค้าที่จะมีเข้ามามากขึ้น ซึ่งกรมฯ กำลังดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างอาคารด่านตรวจพืชให้มีเครื่องมือที่ทันสมัยโดยใช้ไมโครสโคป สามารถส่งสัญญาณมายังส่วนกลางในกรณีที่เจอศัตรูพืชที่เจ้าหน้าที่ด่านไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ ก็จะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางให้คำแนะนำ

...ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้การตรวจพืชมีความเข้มงวดมากขึ้น และยังมีความสะดวกรวดเร็วอีกด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2556

รมว.เกษตรฯ ให้เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด เร่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชนต่อโครงการเกษตรโซนนิ่ง ประกาศเดินหน้าเต็มที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด เร่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชนต่อโครงการเกษตรโซนนิ่ง ประกาศเดินหน้าเต็มที่หากรวบรวมข้อมูลทุกจังหวัดแล้วเสร็จ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการเกษตรโซนนิ่ง ว่า การที่รัฐบาลได้จัดแบ่งโซนการทำเกษตรกรรมทุกประเภทที่มีอยู่กว่า 150 ล้านไร่ ทั่วประเทศให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้ต้นทุนต่ำ และตรงตามความต้องการของตลาด โดยได้ประกาศพืชที่เหมาะสมต่อการปลูกไว้ 13 ชนิด อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ 5 ชนิด อาทิ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และพื้นที่ประมง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้มีรายได้มากขึ้นอย่างมั่นคง ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดลงลึกถึงระดับตำบล และให้ดูแลภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการค้า แปรรูป และขนส่งสินค้าภาคเกษตร รวมถึงเส้นทางคมนามคมและชลประทานในพื้นที่ว่ามีสภาพเป็นเช่นไร พร้อมทั้งรายงานกลับไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำแผนระดับประเทศ ให้แต่ละพื้นที่ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมที่สุด เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำและไม่ได้คุณภาพ เกิดจากการที่เกษตรกรตัดสินใจเลือกปลูกแต่ผลิตพันธ์ที่ได้ราคา เมื่อปลูกตรงกัน ผลิตผลออกมาพร้อมกันมากจนราคาตกซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบตลาดที่อุปาทานมากกว่าอุปสงค์ อย่างไรก็ตามช่วงนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด และอาสาสมัครเกษตร ร่วมกันลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโครงการเกษตรโซนนิ่ง โดยให้ชี้แจงรายละเอียดถึงภาพรวมว่าเป็นเช่นไร เหมาะกับการทำเกษตรกรรมชนิดใด ที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกพืชชนิดใด ได้ผลผลิตและรายได้เท่าใดเปรียบเทียบกับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายของรัฐบาล

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2556

ชาวไร่อ้อยเฮ!มท.1รับปากมอบเงินชดเชย

ชาวไร่อ้อย จ.ตาก กว่า 1,000 คน พอใจ หลัง รมว.มหาดไทย เตรียมมอบเงินชดเชยให้ตันละ 200 บาท

ชาวไร่อ้อย 5 อำเภอ จ.ตาก แสดงความพอใจและหยุดการเคลื่อนไหว เมื่อข้อเรียกร้องเงินชดเชย 200 บาท จากรัฐบาล ที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือราคาอ้อย จากราคาตันละ 950 บาท มาเป็น 1,150 บาท รัฐบาลได้ดำเนินการให้ตามข้อเรียกร้อง ถึงแม้ว่าจะเป็นการปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลก็ตาม แต่เมื่อนโยบายของรัฐบาล โดยเกษตกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล เห็นว่า ควรที่จะให้สิทธิเท่าเทียมกับการปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ซึ่งล่าสุด นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งไปยังแกนนำเกษตรกรที่ปลูกอ้อย กว่า 1,000 ราย ว่า ทางสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 78 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยราคาอ้อยให้กับเกษตรกรแล้ว และในวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 นายจารุพงศ์ จะเดินทางไปที่ อ.แม่สอด เพื่อมอบเงินเป็นพิธีการด้วยตนเอง ซึ่งจากข่าวดังกล่าว ทำให้เกษตรกรต่างดีใจและยุติการเคลื่อนไหวเพื่อรับเงินชดเชยต่อไป

นายก่อเกียรติ ทรัพย์สาร แกนนำเกษตรกรชาวไร่อ้อย 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก กล่าวว่า การปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอลที่ผ่านมา ทำให้ชาวไร่อ้อยหันกลับไปปลูกข้าวแบบเดิม ร้อยละ 20 เพราะปัญหาประสบการณ์ที่ลุ่มน้ำและขาดทุน ไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งหากรัฐสนับสนุนเรื่องราคา ก็จะทำให้เกษตรกรหันกลับไปปลูกอ้อยตามเคย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2556