http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกรกฎาคม 2560)

KSL ยิ้มปีนี้กำไรพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี   

          “น้ำตาลขอนแก่น” เผยปีนี้โกยกำไรสูงสุดในรอบ 4-5 ปีจากการบันทึกกำไรจากการนำบริษัทย่อยควบรวมกับบริษัทลูกบางจากฯ จัดตั้งบริษัทใหม่ “บีบีจีไอ” เพื่อลุยธุรกิจเอทานอลและไบโอดีเซล มองอนาคตต่อยอดไปสู่เคมีชีวภาพและไบโอพลาสติก แย้มปีหน้าเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง

               นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน) (KSL) เปิดเผยผลการดำเนินงานบริษัทในปี 59/60 (พ.ย. 59-ต.ค. 60) ว่า บริษัทคาดว่าจะมีกำไรสุทธิสูงสุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการบันทึกกำไรรายการพิเศษจากการควบรวมบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเอทานอลกับบริษัทลูกของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น แล้วจัดตั้งบริษัทใหม่คือ บีบีจีไอ (BBGI) ขึ้นมาดูแลธุรกิจเอทานอลและไบโอดีเซล ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการควบรวมแล้วเสร็จใน ต.ค.นี้ ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานในงวดปีนี้ของบริษัทไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากมีปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือ 6.8 ล้านตันอ้อย แต่ธุรกิจเอทานอลมีกำไรดี ส่วนธุรกิจไฟฟ้าทรงตัว

               ส่วนปีหน้าคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดี เนื่องจากมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มมากขึ้นกว่าปีนี้เป็น 8.5-9 ล้านตันอ้อย เนื่องจากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จังหวัดเลยแล้วเสร็จในปลายปี 2560 ขณะที่ราคาน้ำตาลจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 16-17 เซ็นต์/ปอนด์ จากปีนี้เฉลี่ย 20 เซ็นต์/ปอนด์ ส่วนธุรกิจเอทานอลจะผลิตเพิ่มขึ้นจากกากน้ำตาลที่เพิ่ม เช่นเดียวกับธุรกิจไฟฟ้าก็มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มจากการมีกากอ้อยเข้ามาป้อน

               ทั้งนี้ บริษัท เคเอสแอลไอจี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยจะควบรวมกับบริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทลูก บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) แล้วจัดตั้งบริษัท บีบีจีไอ จำกัด ซึ่งบางจากถือหุ้นในบริษัทใหม่ดังกล่าวสัดส่วน 60% และ KSL ถือหุ้นในสัดส่วน 40%นั้น คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2560 ก่อนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เกินไตรมาส 4/2561 โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะใช้ในการขยายธุรกิจ

               นายชลัชกล่าวว่า บริษัทได้ร่วมหารือบางจากฯ เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบีบีจีไอในอนาคต โดยมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตโรงงานเอทานอล ที่จังหวัดขอนแก่นอีก 2 แสนลิตร/วัน โดยยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว คาดว่าจะได้รับอนุมัติในปีนี้ ก่อสร้างและแล้วเสร็จในปลายปี 2561 ใช้เงินลงทุนประมาณ 1พันล้านบาท ส่วนโรงงานร่วมทุนของบางจากฯ กับสีมา อินเตอร์โปรดักส์จะขยายเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 1.5 แสนลิตร/วัน เป็น 2 แสนลิตร/วัน เสร็จในปี 2561 ทำให้บริษัทบีบีจีไอมีกำลังผลิตเอทานอลรวมทั้งสิ้นเป็น 1.15 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล 8.1 แสนลิตร/วัน

               นอกจากนี้ ยังมองโอกาสต่อยอดไปสู่เคมีชีวภาพนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Based) เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล เพื่อรองรับสถานการณ์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลทรงตัวหรือลดลง แต่อุตสาหกรรมต่อเนื่องไปผลิตเป็นเคมีภัณฑ์ใช้ทำเครื่องสำอางน่าจะตื่นตัว รวมทั้งไบโอพลาสติก แต่ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คุยกับ “เจริญ เหล่าธรรมทัศน์”นายกฯสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จับตา”นาข้าว”เปลี่ยนเป็นไร่อ้อย

เดือนสิงหาคมเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังประจำปี และเป็นช่วงเริ่มปลูกข้าวนาปี ซึ่งจะหว่านวันแม่-เกี่ยววันพ่อ ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ฝนมาเร็ว เมื่อมีปริมาณน้ำมาก ทำให้คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิจะเติบโตดี จะทำอย่างไรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาป้องกันไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาเปลือกตกต่ำอย่างปีที่ผ่านมา “เจริญ เหล่าธรรมทัศน์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มสถานการณ์ราคาและการส่งออก

Q : คาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปี

ปีนี้ผลผลิตน่าจะดี เพราะปริมาณฝนดี โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ฝนมาเร็วกว่าปกติ ทางสมาคมฯมีแผนนำคณะไปสำรวจผลผลิตในภาคอีสานช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เพราะถือเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ แต่ในปีนี้เกษตรกรส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะจะเปิดเสรีน้ำตาล

แต่เราไม่รู้จริง ๆ ว่ามีจำนวนเท่าไร เท่าที่ประสานไปทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง ว่ามีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากนาข้าวไปปลูกอ้อยเท่าไร โดยเฉพาะในจังหวัดกาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุดรธานี ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลไปเปิดจำนวนมาก พื้นที่หลายแห่งที่เดิมเคยเห็นปลูกข้าวหันไปปลูกอ้อย

Q : สถานการณ์ข้าวหอมปีนี้กับปีก่อน

ต่างกัน ปีก่อนทาง GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิออกมาประมาณ 10 ล้านตัน จากปกติที่ปลูกได้จริงประมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเยอะมาก ปกติแค่เพิ่มไปถึง 8.5 ล้านตันก็เยอะแล้ว แต่บอกว่ามีปริมาณ 10 ล้านตันยิ่งมาก ราคาข้าวเปลือกลดลงตั้งแต่ต้นฤดู แต่เมื่อไปสำรวจผลผลิตไม่มากถึง 10 ล้านตัน มันน้อยกว่าที่คิดเยอะ เหลือแค่ 8 ล้านตันข้าวเปลือก และปีนี้ตลาดอิหร่านเข้ามาซื้อข้าวหอมมะลิหลายแสนตัน ปกติต้นข้าวส่งออกประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี แต่อิหร่านมาซื้อ 1.5 แสนตัน ประมาณ 10% เพราะว่าราคาถูกลงด้วย ทำให้ยอดช่วงครึ่งปีแรก จำนวนเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ

Q : แนวโน้มการส่งออกและราคาข้าว

สมาคมฯคาดการณ์ว่าปีนี้จะส่งออกข้าวหอมมะลิได้ 2.28 ล้านตันจากภาพรวมการส่งออก 10 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยราคาส่งออกปัจจุบันที่ตันละ 700 เหรียญสหรัฐก็เต็มที่แล้ว โอกาสจะขึ้นสูงกว่านี้ลำบาก เพราะราคาปรับฐาน 20% แล้ว อยู่ตรงนี้ก่อนจะไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ แต่ช่วงนี้ราคาปรับขึ้น ๆ ลง ๆ ตามดีมานด์ซัพพลาย แต่คิดว่าราคาส่งออกข้าวหอมมะลิจะทรง ๆ อยู่ในระดับตันละ 700 เหรียญสหรัฐ ถ้าหากข้าวไทยราคาสูงเกินไปจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้คู่แข่งอย่างกัมพูชา ถ้ากัมพูชายอมปรับราคาขึ้นตามเราก็ไม่เป็นไร เพราะจะถือเป็นการปรับฐานราคาใกล้เคียงกัน หรือถ้าข้าวไทยแพงกว่ากัมพูชา ประมาณตันละ 30-40 เหรียญสหรัฐไม่เป็นไร ถือว่าเราขายได้ เพียงแต่ว่าถ้ากัมพูชาปลูกข้าวเยอะจะขายถูก ข้าวไทยจะขึ้นราคาต่อไม่ได้ เพราะข้าวกัมพูชาเป็นข้าวคล้าย ๆ กับข้าวไทย

Q : นโยบายการบริหารจัดการข้าว

รัฐบาลไม่ควรมีมาตรการอะไรที่เข้ามาบิดเบือนกลไกตลาด ข้าวเป็นสินค้าการเมือง นักการเมืองก็ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนนเสียง ถึงบอกว่าการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ลำบาก สมัยเราก็พอแล้ว ผู้ส่งออกทำถุงทำแบรนด์ ตลาดจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมาก แต่เราต้องรู้จักบริหารจัดการต้นทุนของ เช่น หากสถานการณ์ราคาข้าวถูกก็ซื้อเก็บ เพราะหากขายให้กับลูกค้าที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาขายได้ทันที เมื่อตอนที่ราคาต้นทุนข้าวขยับขึ้น ฉะนั้น ผู้ผลิตต้องบริหารจัดการต้นทุนข้าว เพื่อให้สามารถยืนราคานั้นให้ได้ระยะหนึ่งก่อน

Q : แผนการทำตลาดข้าวหอมมะลิ

ไทยยังรักษาตลาดเทรดิชั่นที่ซื้อข้าวหอมมะลิมาตลอดได้ส่วนหนึ่ง เพราะราคาข้าวหอมมะลิไทยลดลงเหลือ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้จำนวนเพิ่ม โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป เป็นตลาดข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยมที่ข้าวจากกัมพูชาไปไม่ถึง แต่กัมพูชาชนะไทยตรงที่ไม่เสียภาษีนำเข้าเท่านั้น สำหรับแผนตอนนี้ทำตลาดโดยอาศัยข้อมูลบนพื้นฐานประสบการณ์ในอดีต ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตประมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเป็นข้าวสาร 3.5-4 ล้านตันข้าวสาร เดิมไทยมีมาตรฐานข้าวหอมมะลิ หมายถึงข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคอีสานและ จ.พะเยาและ จ.เชียงราย แต่ทุกวันนี้ขยายไปปลูกในจังหวัดนอกเขต เช่น จ.พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ผลผลิตต่อไร่ของข้าวหอมมะลิที่ปลูกในภาคกลางสูงกว่าภาคอีสาน เช่น ภาคอีสานได้ผลผลิต 400 ถังต่อไร่ ภาคกลางได้ 700-800 ถังต่อไร่ แต่ตลาดไม่รับ แม้ว่าจะวัดความบริสุทธิ์ได้ 92% แต่ผู้ซื้อจะรู้ว่าเป็นข้าวมะลินอกเขตก็ให้ราคาต่ำกว่า

ดังนั้นไทยจึงได้จัดทำมาตรฐานข้าวหอมใหม่ออกมา เป็นข้าวหอมไทย ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกส่งออกได้ 2.1 แสนตันแล้ว

Q : ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออก

ผลกระทบจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบทำให้วงการค้าข้าวเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงาน แม้ว่าจะมีการใช้มาตรา 44 ออกมาชะลอ แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาผ่อนคลาย 180 วัน ควรจะต้องแก้ไขในหลายมาตรา

ผมไม่เห็นด้วยที่จะลงโทษหนัก ๆ ต้องปรับแก้ไข การขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวต้องทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนได้ง่ายที่สุด ให้เร็วที่สุด มีต้นทุนต่ำ เพราะถ้าให้กลับไปทำพาสปอร์ตที่บ้านใช้เวลากว่า 5 เดือน กว่าจะกลับมาทำงานต่อ แล้วจะทำอย่างไร หากคนงาน 100 คน กลับไปทำเอกสารพร้อมกัน ใช้เวลากว่า 5 เดือน

Q : ช่วงนี้ภาคอุตสาหกรรมจะไปหาแรงงานจากที่ไหนมาทดแทนชั่วคราว

เรื่องนี้ทางสมาคมฯจะส่งข้อเสนอแนะผ่านไปทางคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องเน้นย้ำว่า การปรับปรุงร่างกฎหมายต้องให้เอกชนมีส่วนร่วมไม่ใช่ให้ตัวแทนนายจ้างจากสมาคมที่ไหนไปให้ความเห็น ซึ่งไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

36 โรงงานน้ำตาลใหม่วืด ทุนใหญ่ติดล็อกผังเมือง-ดิ้นแก้ EIA-

36 โรงงานน้ำตาลใหม่ทั่วประเทศ กำลังผลิตมากกว่า 700,000 ตันอ้อย ไม่เกิด เหตุติด 2 ปัญหาใหญ่ รายงาน EIA ไม่ผ่านติดล็อกผังเมือง ชาวบ้านคัดค้าน ใบอนุญาตใกล้หมดอายุปีหน้า กระทรวงอุตสาหกรรมระบุชัดไม่ต่ออายุเด็ดขาด ให้เวลามาแล้ว 5 ปี ตั้งโรงงานไม่สำเร็จ กรมโยธาธิการเผยเคยเสนอให้ใช้ ม.44 แต่ไม่เป็นผล

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความประสงค์จะขอตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล รวมไปถึงการขอขยายกำลังการผลิต สามารถยื่นขอเข้ามาได้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ปรากฏ สอน.ได้ออกใบรับรองการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้ว 22 โรงงาน (รวมกำลังผลิต 421,000 ตันอ้อย) และออกใบรับรองขยายกำลังผลิตอีก 17 โรงงาน (กำลังผลิต 336,000 ตันอ้อย) มีระยะเวลาการก่อสร้างโรงงานและต้องเปิดดำเนินการภายใน 5 ปี

ปรากฏจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีโรงงานน้ำตาลเปิดดำเนินการได้แล้วเพียง 1 โรง ในขณะที่โรงงานน้ำตาลที่เหลือล้วนแล้วแต่ติดปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับปัญหาผังเมือง และมีแนวโน้มว่าใบรับรองการขอตั้งโรงงานน้ำตาลกำลังทยอยหมดอายุลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

ไม่ต่ออายุใบอนุญาต รง.น้ำตาล

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตั้ง-ขยายโรงงานน้ำตาลที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการอยู่ 2 ลอต คือ ลอตแรกประมาณ 20 ราย จนถึงขณะนี้ยังติดปัญหาการจัดทำรายงาน EIA กับติดปัญหาผังเมือง อาทิ บางโรงตั้งอยู่ในพื้นที่ผังเมืองสีเขียว ห้ามก่อสร้าง หรือบางโรงมีความสูงโรงงานเกินกว่า 23 เมตร วัดจากพื้นถึงปากปล่องไฟ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในกลุ่มนี้ยังไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ แม้ว่าโรงงานจะได้รับใบรับรองผ่านหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ สอน.แล้วก็ตาม แต่จำนวนรายเหล่านี้ยังมีเวลาทำ EIA อีกหลายปี เพราะส่วนใหญ่ได้รับการอนุญาตปี 2560

ส่วนลอตที่สอง เป็นการอนุญาตตามมติ ครม.ก่อนหน้านี้ที่ให้ดำเนินการได้ และหลายรายได้พื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแล้ว แต่ก็มาติดปัญหาการจัดทำรายงาน EIA อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดค้านของกลุ่ม NGO ที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ต้องการให้ตั้งโรงงานในพื้นที่เลย

“กลุ่มที่ 2 นี้ผู้ประกอบการมีเวลาในการจัดทำ EIA วางแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจาก สนอ.มาแล้วถึง 5 ปี แต่กลับไม่เร่งดำเนินการจนทำให้ใบอนุญาตใกล้จะหมดอายุลงแล้ว (หมดอายุปี 2560-2561) ขณะที่บางรายเข้ามาขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรมขยายเวลาออกไปจนกว่า EIA จะผ่าน แต่ใบอนุญาตมันมีข้อกำหนดชัดว่า ถ้าเลย 5 ปีไม่สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลได้ ให้ยึดใบอนุญาตคืนเพื่อเปิดโอกาสให้รายใหม่เข้ามายื่น ดังนั้นกระทรวงจึงไม่ขยายเวลาให้” นายสมชายกล่าว

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามหาทางออก และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากการตั้งโรงงานน้ำตาลมีกฎหมายเฉพาะที่ดูแลควบคุมนอกเหนือจากกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ กรณีติดปัญหาผังเมืองอยู่ภายใต้การกำกับของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย หรือในกรณีติดเรื่อง EIA ก็จะไปขึ้นอยู่กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) “ซึ่งเราจะไปแก้ของเขาก็ไม่ได้ ทำได้เพียงแต่แก้ในแนบท้าย เช่น ให้ตั้งในเขตปลูกอ้อยที่ผังเมืองเป็นสีเขียวได้”

สำหรับแนวทางออกเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตกับ สอน. ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรู้ว่า พื้นที่ที่จะตั้งโรงงานน้ำตาลนั้นเป็นสีอะไรตามประกาศของผังเมือง ถ้าหากรู้ตั้งแต่แรกก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน รายที่ไม่ติดผังเมืองก็เข้าสู่กระบวนการทำ EIA ส่วนรายที่ติดสีเขียวผังเมืองก็ไม่สามารถทำ EIA ได้ เพราะสีเขียวตั้งโรงงานไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นอาจต้องทำการเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ และยื่นเรื่องขออนุญาต สอน. หรือ “เข้าสู่กระบวนการนับ 1 ใหม่”

ทั้งนี้ การขอตั้งโรงงานน้ำตาลจะมี 2 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนการขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 อาทิ กำหนดระยะห่างการตั้งโรงงาน 50 กม. และการพัฒนาพันธุ์อ้อย แต่ในกฎหมายไม่ได้คุมเรื่องการยื่นแสดงพื้นที่ตั้ง กับ 2) ขั้นตอนการขออนุญาต รง.4 ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งจะต้องใช้เอกสาร EIA และเรื่องผังเมือง เพื่อมาเทียบดูว่าพื้นที่ที่ตั้งนั้นขอติดสีผังเมืองหรือไม่

ด้านนายสมศักดิ์ จันทรวงทอง เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลที่ผ่านหลักเกณฑ์การขออนุญาตภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 36 โรง ส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตโรงละ 20,000 ตัน/วัน ขั้นตอนต่อไปโรงงานเหล่านี้จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA แต่กลับพบว่า “ยังไม่มีรายใดใน 36 โรงงานผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ เพราะติดปัญหาในพื้นที่มีกลุ่มชาวบ้านส่วนหนึ่งคัดค้านการตั้งโรงงานน้ำตาล โดยตอนนี้มีเพียงบริษัทในกลุ่มไทยเบฟเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น (โรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์) ที่สามารถตั้งโรงงานได้

เปิดรายชื่อ 36 โรงงาน

สำหรับโรงงานน้ำตาลทั้ง 36 โรง ที่ยังไม่ผ่านการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผังเมือง ประกอบไปด้วย กลุ่มไทยเบฟ (สิริวัฒนภักดี) 6 โรงงาน บริษัททิพย์นครสวรรค์ โซลาร์ เอนเนอยี่ (จุน พะเยา)-บริษัททิพย์สุโขทัย ไบโอ รีไฟเนอรี่ (เชียงแสน)-บริษัททิพย์กำแพงเพชร โซลาร์ เอนเนอยี่ (พญาเม็งราย เชียงราย)-บริษัททิพย์ปราจีนบุรี (ศรีมหาโพธิ)-บริษัทน้ำตาลทิพย์สุโขทัย (วัดโบสถ์)-บริษัทน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร (เกาะคา), กลุ่มมิตรผล 5 โรงงาน บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (เสลภูมิ)-บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (อำนาจเจริญ)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (บ้านไผ่)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (เกษตรสมบูรณ์ ชัยภูมิ)-บริษัทชูการ์ เอคเซ็ลเล็นซ(เพชรบูรณ์)

กลุ่มเนตรจรัสแสง (อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน) 4 โรงงาน บริษัทอุตสาหกรรมกัญจน์สยาม (บุณฑริก อุบลฯ)-บริษัทไตร อกริ กรุ๊ป (น้ำขุ่น อุบลฯ)-บริษัทเรโนไทย อินดัสทรี้ (ตาพระยา)-บริษัทเอเคเอ็น แอสโซซิเอท (ไพรบึง/ขุนหาญ ศรีสะเกษ), กลุ่มน้ำตาลไทยกาญจนบุรี 3 โรงงาน บริษัทไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (เซกา บึงกาฬ)-บริษัทไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (ปลาปาก นครพนม)-บริษัทไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (เชียงคาน เลย)

กลุ่มไกรพิสิทธิ์กุล 3 โรงงาน บริษัทวิวรรธน์การเกษตร (โพนพิสัย)-บริษัทแอ๊บโซลูท ปาล์ม (บึงกาฬ)-บริษัทที.เค.เอช.ฟู้ดส์ โปรดักส์ (บ้านแพง นครพนม), กลุ่มอายิโนะทะการะ 3 โรงงานใน จ.บึงกาฬ บริษัทยอดอาหาร-บริษัทเพอร์มาเน้นท์ พาวเวอร์-บริษัทโรงงานน้ำตาลเกียรติไทย, กลุ่มน้ำตาลพิมาย 2 โรงงาน บริษัทโรงงานน้ำตาลสุรินทร์ (สังขะ)-บริษัทบรรจง มอเตอร์สปอร์ต (กันทรารมย์), กลุ่มไทยรุ่งเรือง บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ (พิบูลมังสาหาร), กลุ่มน้ำตาลครบุรี บริษัทน้ำตาลครบุรี (สีคิ้ว), กลุ่มอุบลเอทานอล บริษัทน้ำตาลอุบล (เขมราฐ), นายสุนทร อรุณานนท์ชัย บริษัทน้ำตาลราชบุรี (สวนผึ้ง), นายโกศล โพธิสุวรรณ บริษัทอีสท์ ซี เอเซีย (สังคม หนองคาย), กลุ่มน้ำตาลปราณบุรี บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลปารณบุรี (หนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี) และกลุ่มวงศ์อารีย์สันติ บริษัทน้ำตาลไทยวัฒน์ (ชำนิ บุรีรัมย์)

ใช้ ม.44 วืด

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับผังเมืองรวมในพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม (สีเขียวลายขาว) ให้เอื้อต่อการลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลนั้น เมื่อปีที่แล้วเคยมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการเสนอขอให้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งมาตรา 44 “ยกเว้น” ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ติดปัญหาได้ “แต่เรื่องก็เงียบหายไป”

อย่างไรก็ตาม การขอแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่และขั้นตอนของกฎหมายผังเมือง ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมือง และมีการปิดประกาศ 30 วัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ด้วย “ทางเราก็พร้อมดำเนินการให้ แต่ต้องกำหนดเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการจะผลักดันหรือมีที่มาที่ไป เพื่อจะขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมากรมโยธาธิการฯยังไม่ได้รับนโยบายแต่อย่างใด”

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาทอ่อนค่าเปิดตลาดที่ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทอ่อนค่าเปิดตลาดระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามแรงกดดันเงินดอลลาร์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 2.6% นักลงทุนจับตาตัวเลข ISM

12994465_sศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุว่า ค่าเงินบาทเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม เปิดตลาดที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าจากระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยค่าเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า และแกว่งตัวใกล้จุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี หลังตลาดผิดหวังกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวถึง 2.6% จากไตรมาสก่อน มากกว่าการเติบโตในไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวเพียง 1.2% จากไตรมาสก่อน แต่ตัวเลขดังกล่าว กลับน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์มองไว้ว่าจะขยายตัวถึง 2.7%

ขณะเดียวกัน ภายสัปดาห์นี้จับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของสหรัฐฯ โดย ISM ในเดือนกรกฎาคม การเติบโตของรายได้และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด จะส่งผลให้ตลาดยังคงไม่เชื่อว่า เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ และยังคงเทขายดอลลาร์ต่อ นอกจากนี้ความกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในปีนี้ ยังช่วยกดดันค่าเงินดอลลาร์ต่อ โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ในช่วง 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สมอ.ตั้ง‘กองกำกับฯมาตรฐาน’เช็คคุณภาพโรงงาน

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่าสมอ.ได้ปรับโครงสร้างใหม่โดยเตรียมตั้ง “กองกำกับองค์กรด้านการมาตรฐาน” ทำหน้าที่รองรับการถ่ายโอนงานด้านการตรวจสอบประเมินระบบคุณภาพของโรงงานไปยังผู้ตรวจสอบหรือหน่วยตรวจไอบี (อินสเปกชั่น บอดี้ : Inspection Body) เพื่อทำรายงานเสนอให้ สมอ. ประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตเครื่องหมาย มอก. ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่างๆ ได้รวดเร็วภายใน 7 วัน จากปัจจุบันใช้เวลา 15 วัน

เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของสมอ.มีน้อย ไม่เพียงพอต่อภารกิจและการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเร็วๆ นี้ จะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ จากนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจะจัดทำประกาศกฎกระทรวงส่งให้ รมว.อุตสาหกรรมลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป

“ก่อนออกใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะต้องมีการตรวจสอบ 2 รูปแบบ คือ ใช้วิธีเก็บตัวอย่างสินค้าหรือผลิตภัณฑ์มาตรวจ ทำให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือ สมอ. ต้องเดินทางไปตรวจกระบวนการผลิตของโรงงานว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานด้วยหรือไม่ ทั้งที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการลงพื้นที่ตรวจโรงงานดำเนินการได้ล่าช้ามาก เพราะบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้ขั้นตอนการออกใบอนุญาตล่าช้าไปด้วย หลังจากนั้นจึงนำผลตรวจสอบทั้งสองส่วนมาประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตที่สมอ.”นายพิสิฐกล่าว

อย่างไรก็ตามอำนาจการออกใบอนุญาตเครื่องหมาย มอก. ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยังคงเป็นสมอ. แต่จะมีกองที่ตั้งขึ้นใหม่มาควบคุมหลักเกณฑ์การตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติ กติกาและหลักเกณฑ์ต่างๆ ของบุคลากรที่จะเป็นผู้ตรวจสอบโรงงาน โดยต้องผ่านการอบรบให้มีความรู้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องจนได้รับใบอนุญาตออกตรวจโรงงานเสมือน สมอ.

“สมอ.อยู่ระหว่างเตรียมทำเรื่องขอดึงอัตรากำลังคนที่มีอยู่เดิมจากหน่วยงานต่างๆ มาสังกัดกองใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้นแทนการขอเพิ่มอัตรากำลังคนใหม่ สอดคล้องกับการทำงานบริบทใหม่ รวมถึงปรับกองอื่นๆ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาทิ หุ่นยนต์อัจฉริยะ รถยนต์ไฟฟ้า รองรับนโยบายรัฐบาล เช่น วิศวกรจากสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น”นายพิสิฐกล่าว

ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ สมอ. แต่งตั้งเพื่อถ่ายโอนงานแล้ว 15 หน่วยตรวจ มีบุคลากรรวม 140 คน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เกษตรกรอ่วม สวนยาง ไร่อ้อย นาข้าว อ.แคนดง บุรีรัมย์ จมกว่า 2,000 ไร่ ท่วมบ้าน 1,000 หลังเริ่มลด  

ฝายน้ำล้นบ้านหนองกระทุ่ม – กาละโก หลากเข้าท่วมสวนยางพารา ไร่อ้อย และนาข้าวเกษตรกรอ.แคนดง จ.บุรีรัมย์เป็นวงกว้างกว่า 2,000 ไร่ ส่วนบ้านเรือนร้านค้าท่วมกว่า 1,000 หลัง วันนี้ ( 28 ก.ค.) 

         บุรีรัมย์- ฝายน้ำล้นบ้านหนองกระทุ่ม-กาละโก หลากเข้าท่วมสวนยางพารา ไร่อ้อย และนาข้าวเกษตรกร อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เป็นวงกว้างกว่า 2,000 ไร่ ส่วนบ้านเรือนร้านค้ากว่า 1,000 หลัง ที่ถูกน้ำเอ่อท่วมเริ่มลดระดับ คาดหากฝนไม่ตกเพิ่ม 3-4 วัน เข้าสู่สภาวะปกติ ขณะอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจเพื่อรายงานจังหวัดให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเร่งด่วน 

         วันนี้ (28 ก.ค.) ความคืบหน้ากรณีที่ฝายน้ำล้นบ้านหนองกระทุ่ม-กาละโก ต.แคนดง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ได้เอ่อล้นไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ร้านค้าทั้ง 7 ชุมชน ในเขตเทศบาลตำบลแคนดง รวมกว่า 1,000 ครัวเรือน และเอ่อท่วมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2226 สายสตึก-ชุมพวง ที่ใช้สัญจรระหว่างตัวอำเภอ เป็นระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร และถนนในหมู่บ้าน ชุมชนอีก 11 สาย สูง 40-50 เซนติเมตร

               ล่าสุด ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงเนื่องจากไม่มีน้ำไหลมาสมทบเพิ่ม ประกอบกับทางเทศบาลได้ระดมเจ้าหน้าที่ พร้อมรถแบ็กโฮเร่งเปิดทางระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากเทศบาล ให้ไหลลงสู่ลำน้ำมูล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มไม่เกิน 3-4 วัน ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ      

        อย่างไรก็ตาม น้ำที่เอ่อล้นฝาย ยังได้หลากเข้าท่วมสวนยางพารา ไร่อ้อย และนาข้าวของเกษตรหลายตำบลในพื้นที่อำเภอแคนดง เบื้องต้น กว่า 2,000 ไร่ แต่ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย แต่หากน้ำท่วมขังนาข้าวนาน 5 วัน หรือ 1 สัปดาห์ขึ้นไป ต้นข้าวที่แช่น้ำก็จะเน่าเสียหายสิ้นเชิง

       นายสุทธิโรจน์ เจริญธนะศักดิ์ นายอำเภอแคนดง กล่าวว่า ขณะนี้น้ำที่เอ่อล้นฝายหลากเข้าท่วมบ้านเรือน ร้านค้า และถนนในเขตเทศบาลตำบลแคนดง เริ่มมีระดับน้ำลดลงเนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ประกอบกับทางเทศบาลได้เร่งเปิดทางระบายน้ำที่ท่วมขังออก และคาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีกไม่เกิน 3-4 วัน ระดับน้ำก็จะลดลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจบ้านเรือน ถนน และพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ หรือเสียหายจากน้ำท่วม เพื่อรายงานจังหวัดพิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป

จาก http://manager.co.th  วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จี้ยกเครื่องอุตฯเกษตร ดึงเอกชนเที่ยวชุมชน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ 

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน ไทยแลนด์ อินดัสทรี เอ็กซ์โป 2017 ว่า ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง ทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การรับเป็นเจ้าภาพในการดูแลและสร้างคลัสเตอร์ การบริการและการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรไทยที่กำลังมีปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ และการเร่งสร้างอุตสาหกรรมรายใหม่หรือสตาร์ทอัพ เพื่อให้การปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งต้องชัดเจนภายใน 1 ปี เพราะหากเลือกตั้งไปแล้ว การปฏิรูปในรูปแบบปกติและการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจะไม่สามารถทำได้โดยง่าย

          "ถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข ทั้งที่ไทยมีภาคการเกษตรขนาดใหญ่ แต่มีสัดส่วนส่งออกน้อยเพียงแค่ 9% เท่านั้น และยังส่งออกในรูปแบบการแปรรูปที่น้อยมาก  ทำให้คนในภาคเกษตรที่มีมากถึง  20-30 ล้านคน ไม่สามารถยกระดับการผลิตให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มได้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องไปร่วมกับภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อก้าวเข้าสู่ไปเศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือไบโออีโคโนมี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทย ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คนใหม่ ต้องเร่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศให้มากขึ้นกว่านี้ด้วย"

          นายสมคิด กล่าวว่า การดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาล เริ่มเป็นไปตามที่บอกไว้ โดยเศรษฐกิจที่ผ่านมาเติบโตเพียง 0.8% เมื่อผ่านมา 2 ปี เศรษฐกิจเติบโตได้ 3.3% ขณะที่การส่งออกเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา เติบโตได้สูงถึง 11.7 % จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 นี้น่าจะเติบโตได้กว่าไตรมาสแรก ขณะที่เอสเอ็มอีไทยยังอยู่ในภาคบริการและท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และไม่มีใครดูแล หากทำให้เอสเอ็มอีเหล่านี้เข้มแข็งได้ ก็จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือภาคเกษตรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการนำการท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชน ซึ่งทำให้เกิดการค้าขาย บริการ เกิดแรงเหวี่ยงของเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่การสร้างสตาร์ทอัพ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยต้องพัฒนาขีดความสามารถทางแข่งขัน เตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค 4.0 ให้ได้

          วันเดียวกัน นายสมคิด กล่าวภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว ว่า ได้สั่งการให้ ททท. หารือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนไปขายให้กับบริษัทเอกชนไทย หวังให้เกิดการกระจายรายได้ลงท้องถิ่น ช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงครึ่งหลังปี 60 ที่คาดว่าราคาสินค้าเกษตรอาจตกต่ำ โดยเบื้องต้นจะนำร่องก่อน 125 ชุมชน

          "ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องกระจายรายได้ภาคการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เพราะด้วยปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากกว่า 30 ล้านคน จำเป็นต้องมีนโยบายให้กระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรองมากขึ้น".

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ปรับใหญ่ สมอ. รับ Thailand 4.0 คาดเข้า ครม.ได้ทันภายในเดือนนี้

          นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยผลการดำเนินงานรอบ 10 เดือน ช่วงเดือนตุลาคม 2559-กรกฎาคม 2560 ว่า สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานไปแล้ว 187 เรื่อง แบ่งเป็น 1) กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (S-Curve) 8 เรื่อง 2) กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) จำนวน 21 เรื่อง 3) กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุต สาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 124 มาตรฐาน 4) ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จำนวน 32 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 187 เรื่อง คาดว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้จะสามารถกำหนดมาตรฐานได้ไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง

          นอกจากนี้ สมอ. ได้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ทำ ผู้นำเข้า ไปแล้วทั้งสิ้น 4,058 ฉบับ ตามกระบวนการออกใบอนุญาตที่ปรับปรุง ใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาการ ออกใบอนุญาตเฉลี่ยเพียง 11 วันทำการ/เรื่องเท่านั้นเพื่ออำนวย ความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ลดความซ้ำซ้อน พร้อมทั้ง เดินหน้านำระบบสารสนเทศมาใช้ในการออกใบอนุญาต (E- Licence) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการ ยื่นขอใบอนุญาต คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวได้

          ส่วนความคืบหน้าโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ณ เขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับพื้นที่จำนวน 200 ไร่ เพื่อดำเนินการโครงการระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และอาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการและสาธารณูปโภค แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561 ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการขึ้นร่างประกาศและเอกสารประกวดราคา และ TOR เพื่อให้วิจารณ์

          เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภารกิจด้านการตรวจติดตาม สมอ. ได้ดำเนินการตรวจสอบคุมเข้มร้านค้าอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยช่วงเดือนตุลาคม 2559-มิถุนายน 2560 ได้ดำเนินการยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมูลค่ารวม 1,512.3862 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ผลิตภัณฑ์เหล็ก มูลค่า 1,383.6897 ล้านบาท 2) ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า มูลค่า 117.4480 ล้านบาท 3) ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ มูลค่า 8.2940 ล้านบาท 4) ผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์ มูลค่า 1.3474 ล้านบาท 5) ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง มูลค่า 0.8020 ล้านบาท ซึ่งหากพบว่ายังมีผู้ประกอบการและร้านค้ากระทำผิด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันทีและมีบทลงโทษตามฐานความผิด

          สำหรับโครงการ ร้าน มอก. มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีกจำนวน 42 ราย 54 สาขา ทั้งร้านค้าทั่วไป และร้านโมเดิร์นเทรด ซึ่งหากผ่านเกณฑ์ของ สมอ. ทั้งหมด ก็จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 50 ราย 488 สาขา ทั่วประเทศ และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานเชิญชวน บริษัท ซี พี ออล จำกัด (มหาชน) หรือ "เซฟเว่น อีเลฟเว่น" เข้าร่วมโครงการ หากบริษัท ซี พี ออลฯ ยินดีเข้าร่วมโครงการจะมีร้าน มอก. เพิ่มขึ้น ที่จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้ามาตรฐาน มอก. ได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ สมอ. ยังได้เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน แก่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถผลิตเหล็กให้ได้ตามข้อกำหนดของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรองรับการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นการ ส่งเสริมให้ใช้วัสดุที่ผลิตได้ภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาล ซึ่ง จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเฟสแรก ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะ ทาง 252 กิโลเมตร คาดว่าต้องใช้ปริมาณเหล็กสูงหลายแสนตัน

          และงานสำคัญอีกเรื่องของ สมอ. คือ การปรับโครงสร้างของ สมอ. ใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้ง Thailand 4.0 S-Curve New S-Curve และสร้างศูนย์บ่มเพาะ ด้านการมาตรฐาน เพื่อเตรียมเป็นศูนย์กลางด้านการมาตรฐานของ AEC ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ สมอ. จะมีภารกิจเพิ่มขึ้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐานเพื่อรองรับการถ่ายโอนงานตามมติ ครม.ความตกลงยอมรับร่วมด้านการมาตรฐาน (MRA) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าโครงสร้างใหม่นี้จะเข้า ครม. ภายในเดือนนี้ หลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะจัดทำประกาศกฎกระทรวงส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป

จาก บางกอกทูเดย์ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

36โรงงานน้ำตาลใหม่วืด ทุนใหญ่ติดล็อกผังเมือง-ดิ้นแก้EIA 

          36 โรงงานน้ำตาลใหม่ทั่วประเทศ กำลังผลิตมากกว่า 700,000 ตันอ้อย ไม่เกิด เหตุติด 2 ปัญหาใหญ่ รายงาน EIA ไม่ผ่าน ติดล็อกผังเมือง ชาวบ้านคัดค้าน ใบอนุญาตใกล้หมดอายุปีหน้า กระทรวงอุตสาหกรรมระบุชัดไม่ต่ออายุเด็ดขาด ให้เวลา มาแล้ว 5 ปี ตั้งโรงงานไม่สำเร็จ กรมโยธาธิการเผยเคยเสนอให้ใช้ ม.44 แต่ไม่เป็นผล

          หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความประสงค์จะขอตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล รวมไปถึงการขอขยายกำลังการผลิต สามารถยื่นขอเข้ามาได้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ปรากฏ สอน.ได้ออกใบรับรองการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้ว 22 โรงงาน (รวมกำลังผลิต 421,000 ตันอ้อย) และออกใบรับรองขยายกำลังผลิตอีก 17 โรงงาน (กำลังผลิต 336,000 ตันอ้อย) มีระยะเวลาการก่อสร้างโรงงานและต้องเปิด ดำเนินการภายใน 5 ปี

          ปรากฏจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีโรงงานน้ำตาลเปิดดำเนินการได้แล้วเพียง 1 โรง ในขณะที่โรงงานน้ำตาลที่เหลือล้วนแล้วแต่ติดปัญหาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับปัญหาผังเมือง และมีแนวโน้มว่าใบรับรอง การขอตั้งโรงงานน้ำตาลกำลังทยอย หมดอายุลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

          ไม่ต่ออายุใบอนุญาต รง.น้ำตาล

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การตั้ง-ขยายโรงงานน้ำตาลที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการอยู่ 2 ลอต คือ ลอตแรกประมาณ 20 ราย จนถึงขณะนี้ยังติดปัญหาการจัดทำรายงาน EIA กับติดปัญหาผังเมือง อาทิ บางโรง ตั้งอยู่ในพื้นที่ผังเมืองสีเขียว ห้ามก่อสร้าง หรือบางโรงมีความสูงโรงงานเกินกว่า 23 เมตร วัดจากพื้นถึงปากปล่องไฟ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในกลุ่มนี้ยังไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ แม้ว่าโรงงานจะได้รับใบรับรองผ่านหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ สอน.แล้วก็ตาม แต่จำนวนรายเหล่านี้ยังมีเวลาทำ EIA อีกหลายปี เพราะส่วนใหญ่ได้รับการอนุญาตปี 2560

          ส่วนลอตที่สอง เป็นการอนุญาตตามมติ ครม.ก่อนหน้านี้ที่ให้ดำเนินการได้ และหลายรายได้พื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลแล้ว แต่ก็มาติดปัญหาการจัดทำรายงาน EIA อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดค้านของกลุ่ม NGO ที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ต้องการให้ตั้งโรงงานในพื้นที่เลย

          "กลุ่มที่ 2 นี้ผู้ประกอบการมีเวลาในการจัดทำ EIA วางแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจาก สนอ.มาแล้วถึง 5 ปี แต่กลับไม่เร่ง ดำเนินการจนทำให้ใบอนุญาตใกล้จะหมดอายุลงแล้ว (หมดอายุปี 2560-2561) ขณะที่บางรายเข้ามาขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรมขยายเวลาออกไปจนกว่า EIA จะผ่าน แต่ใบอนุญาตมันมีข้อกำหนดชัดว่า ถ้าเลย 5 ปีไม่สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลได้ ให้ยึดใบอนุญาตคืนเพื่อเปิดโอกาสให้รายใหม่เข้ามายื่น ดังนั้นกระทรวงจึงไม่ขยายเวลาให้" นายสมชายกล่าว

          ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้พยายามหาทางออก และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากการตั้งโรงงานน้ำตาลมีกฎหมายเฉพาะที่ดูแลควบคุมนอกเหนือจากกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ กรณีติดปัญหาผังเมืองอยู่ภายใต้การกำกับของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย หรือในกรณีติดเรื่อง EIA ก็จะไปขึ้นอยู่กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) "ซึ่งเราจะไปแก้ของเขาก็ไม่ได้ ทำได้เพียงแต่แก้ในแนบท้าย เช่น ให้ตั้งในเขตปลูกอ้อยที่ผังเมืองเป็นสีเขียวได้"

          สำหรับแนวทางออกเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตกับ สอน. ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรู้ว่า พื้นที่ที่จะตั้งโรงงานน้ำตาลนั้นเป็นสีอะไรตามประกาศของผังเมือง ถ้าหากรู้ตั้งแต่แรกก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน รายที่ไม่ติดผังเมืองก็เข้าสู่กระบวนการทำ EIA ส่วนรายที่ติดสีเขียวผังเมือง ก็ไม่สามารถทำ EIA ได้ เพราะสีเขียวตั้งโรงงานไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นอาจต้องทำการเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ และยื่นเรื่องขออนุญาต สอน. หรือ "เข้าสู่กระบวนการนับ 1 ใหม่"

          ทั้งนี้ การขอตั้งโรงงานน้ำตาลจะมี 2 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนการขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 อาทิ กำหนดระยะห่างการตั้งโรงงาน 50 กม. และการพัฒนาพันธุ์อ้อย แต่ในกฎหมายไม่ได้คุมเรื่องการยื่นแสดงพื้นที่ตั้ง กับ 2) ขั้นตอนการขออนุญาต รง.4 ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งจะต้องใช้เอกสาร EIA และเรื่องผังเมือง เพื่อมาเทียบดูว่าพื้นที่ที่ตั้งนั้นขอติดสีผังเมืองหรือไม่

          ด้านนายสมศักดิ์ จันทรวงทอง เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลที่ผ่านหลักเกณฑ์การขออนุญาตภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 36 โรง ส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตโรงละ 20,000 ตัน/วัน ขั้นตอนต่อไปโรงงานเหล่านี้จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA แต่กลับ พบว่า "ยังไม่มีรายใดใน 36 โรงงานผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ เพราะติดปัญหาในพื้นที่มีกลุ่มชาวบ้าน ส่วนหนึ่งคัดค้านการตั้งโรงงานน้ำตาล โดยตอนนี้มีเพียงบริษัทในกลุ่มไทยเบฟเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น (โรงงานน้ำตาลทิพย์นครสวรรค์) ที่สามารถตั้งโรงงานได้

          เปิดรายชื่อ 36 โรงงาน

          สำหรับโรงงานน้ำตาลทั้ง 36 โรง ที่ยังไม่ผ่านการทำรายงานผลกระทบ สิ่งแวดล้อมและผังเมือง ประกอบไปด้วย กลุ่มไทยเบฟ (สิริวัฒนภักดี) 6 โรงงาน บริษัททิพย์นครสวรรค์ โซลาร์ เอนเนอยี่ (จุน พะเยา)-บริษัททิพย์สุโขทัย ไบโอ รีไฟเนอรี่ (เชียงแสน)-บริษัททิพย์กำแพงเพชร โซลาร์ เอนเนอยี่ (พญาเม็งราย เชียงราย)-บริษัททิพย์ปราจีนบุรี (ศรีมหาโพธิ)-บริษัทน้ำตาลทิพย์สุโขทัย (วัดโบสถ์)-บริษัทน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร (เกาะคา), กลุ่มมิตรผล 5 โรงงาน บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (เสลภูมิ)-บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (อำนาจเจริญ)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (บ้านไผ่)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (เกษตรสมบูรณ์ ชัยภูมิ)-บริษัทชูการ์ เอคเซ็ลเล็นซ(เพชรบูรณ์)

          กลุ่มเนตรจรัสแสง (อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน) 4 โรงงาน บริษัทอุตสาหกรรมกัญจน์สยาม (บุณฑริก อุบลฯ)-บริษัทไตร อกริ กรุ๊ป (น้ำขุ่น อุบลฯ)-บริษัทเรโนไทย อินดัสทรี้ (ตาพระยา)-บริษัทเอเคเอ็น แอสโซซิเอท (ไพรบึง/ขุนหาญ ศรีสะเกษ), กลุ่มน้ำตาลไทยกาญจนบุรี 3 โรงงาน บริษัทไทยชูการ์

          มิลกรุ๊ป (เซกา บึงกาฬ)-บริษัทไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (ปลาปาก นครพนม)-บริษัท ไทยชูการ์ มิลกรุ๊ป (เชียงคาน เลย)

          กลุ่มไกรพิสิทธิ์กุล 3 โรงงาน บริษัท วิวรรธน์การเกษตร (โพนพิสัย)-บริษัท แอ๊บโซลูท ปาล์ม (บึงกาฬ)-บริษัทที.เค.เอช.ฟู้ดส์ โปรดักส์ (บ้านแพง นครพนม), กลุ่มอายิโนะทะการะ 3 โรงงานใน จ.บึงกาฬ บริษัทยอดอาหาร-บริษัทเพอร์มาเน้นท์ พาวเวอร์- บริษัทโรงงานน้ำตาลเกียรติไทย, กลุ่มน้ำตาลพิมาย 2 โรงงาน บริษัทโรงงานน้ำตาลสุรินทร์ (สังขะ)-บริษัทบรรจง มอเตอร์สปอร์ต (กันทรารมย์), กลุ่มไทยรุ่งเรือง บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ (พิบูลมังสาหาร), กลุ่มน้ำตาลครบุรี บริษัทน้ำตาลครบุรี (สีคิ้ว), กลุ่มอุบลเอทานอล บริษัทน้ำตาลอุบล (เขมราฐ), นายสุนทร อรุณานนท์ชัย บริษัทน้ำตาลราชบุรี (สวนผึ้ง), นายโกศล โพธิสุวรรณ บริษัทอีสท์ ซี เอเซีย (สังคม หนองคาย), กลุ่มน้ำตาลปราณบุรี บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลปารณบุรี (หนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี) และกลุ่มวงศ์อารีย์สันติ บริษัทน้ำตาลไทยวัฒน์ (ชำนิ บุรีรัมย์)

          ใช้ ม.44 วืด

          นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การปรับผังเมืองรวมในพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม (สีเขียวลายขาว) ให้เอื้อต่อการลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลนั้น เมื่อปีที่แล้วเคยมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการเสนอขอให้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ ออกคำสั่งมาตรา 44 "ยกเว้น" ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ติดปัญหาได้ "แต่เรื่องก็เงียบหายไป"

          อย่างไรก็ตาม การขอแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่และขั้นตอนของกฎหมายผังเมือง ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผังเมือง และมีการปิดประกาศ 30 วัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ด้วย  "ทางเราก็พร้อมดำเนินการให้ แต่ต้องกำหนดเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการจะผลักดันหรือมีที่มาที่ไป เพื่อจะขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมากรมโยธาธิการฯยังไม่ได้รับนโยบายแต่อย่างใด"

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

มิตรผล”ถอดโมเดลออสซี่ปั้นชาวนาปลูกอ้อยประชารัฐ

นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และผู้จัดการ เกษตรสมัยใหม่อ้อยประชารัฐ กล่าวว่า มิตรผลเห็นศักยภาพพื้นที่ปรับเปลี่ยนนาข้าว จึงเริ่มเข้าสนับสนุนเกษตรสมัยใหม่แปลงใหญ่อ้อย จ.อำนาจเจริญ ด้วยหลักการนวัตกรรมวิจัยรวมกลุ่มผลิตในพื้นที่เหมาะสมเชิงเศรษฐกิจ เริ่มต้นใน 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.เสนางคนิคม และ อ.หัวตะพาน เป้าหมาย 6,000 ไร่ พบว่าได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากกว่า 543 ราย พื้นที่ 7,760 ไร่ มีเป้าหมายสร้างรายได้ให้เกษตรกร 12,000-15,000 บาท/ไร่ และมีแผนขยายโครงการไปยัง จ.ยโสธร พื้นที่รวม 5 หมื่นไร่ ผลผลิตอ้อยทั้งหมดโรงงานจะรับซื้อและดูเรื่องการตลาดให้กับเกษตรกร พร้อมเงินช่วยเหลือค่าปรับล้มคันนา ขณะเดียวกันยังได้นำนวัตกรรมการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาปรับใช้ โดยถอดแบบเทคโนโลยีจากประเทศออสเตรเลีย ด้วยทฤษฎี 4 เสาหลัก ปลูกพืชบำรุงดิน ลดการไถพรวน ควบคุมแนววิ่งของรถ และลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด ลดต้นทุน 25%

“ถ้ามองระดับจีดีพี จ.อำนาจเจริญแล้วแทบจะอยู่อันดับท้าย ๆ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ด้วยวิสัยทัศน์ประธาน อิสระ ว่องกุศลกิจ จึงเล็งเห็นการยกระดับเกษตรสมัยใหม่ด้วยศักยภาพพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ยังสามารถปลูกอ้อยได้อีกมาก และเป็นอีกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า นอกเหนือจากพืชหลักข้าวที่มักเจอภัยธรรมชาติทำให้ราคาผันผวน โดยมิตรผลได้นำนวัตกรรมใหม่ถอดโมเดลจากออสเตรเลียลดต้นทุนได้เยอะ นโยบายประชารัฐจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง รวมถึงพัฒนาจังหวัดในอีกทาง”

ด้านนายชาญชัย สุภิวงศ์ เกษตรกรเข้าร่วมอ้อยประชารัฐ กล่าวว่า ปลายปี 2559 ได้เริ่มปรับพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อย จนเข้าร่วมโครงการเกษตรสมัยใหม่ เนื่องจากว่าได้นำเอารูปแบบเทคโนโลยี Mitrphol Modern Farm มาปรับใช้ พบว่าเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 25 จากผลผลิตเดิม 12 ตัน/ไร่ เพิ่มเป็น 15 ตัน/ไร่ พร้อมทั้งมิตรผลเข้ามาประกันราคาตลาดที่แน่นอน ตามราคาอ้อยโรงงาน 1,050 บาท/ไร่ และอ้อยพันธุ์ 1,200 บาท/ตัน และค่า C.C.S. ความหวานเกิน 10 ราคาเพิ่ม C.C.S.ละ 63 บาท

“ก่อนการรวมกลุ่มเพื่อนเกษตรกรยังไม่มั่นใจ เพราะอาจจะยังไม่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เมื่อเห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาใช้จึงเป็นแรงจูงใจ เพราะในช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยยังมีรายได้จากพืชตระกูลถั่ว ปอเทือง ที่รัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน”

ทั้งนี้ โครงการเกษตรสมัยใหม่ อ้อยประชารัฐ มี 2 แห่ง คือ จ.สุโขทัย เอกชนที่เข้าร่วม กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ และ จ.อำนาจเจริญ กลุ่ม บ.มิตรผล

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างลงพื้นที่อ้อยประชารัฐ จ.อำนาจเจริญว่า ความคืบหน้านโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่แบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 กลุ่ม อาทิ พืชเศรษฐกิจหลัก สัตว์บก ประมง เกษตรสร้างรายได้เร็ว (Chash Crop) หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวคืออ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอน และสิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันคือแปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก. 882 ศูนย์ทั่วประเทศจะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ค่าเงินบาทแข็งหวั่นแตะกรอบล่าง 33.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 27 ก.ค. 2560 ระบุว่าค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 33.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากการปิดตลาดวันพุธ 26 ก.ค.ที่ระดับ 33.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน (9.25 น.) มีการซื้อขายค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

 ทั้งนี้ค่าเงินบาท เคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางแข็งค่า เนื่องจากเมื่อวานนี้การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีผลการประชุมออกมาตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้คือ มีมุมมองว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐอาจจะต่ำ 2% ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าจะให้สัญญาณการปรับลดการถือครองสินทรัพย์ของเฟดลงก็ตาม แต่ตลาดก็ยังมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อต่ำ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในทิศทางปรับตัวอ่อนค่าลง

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้ไว้ที่ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้นักลงทุนจับตาตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้แก่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. กิจกรรมการผลิตในชิคาโก (เดือนมิ.ย.) และแคนซัส (เดือนก.ค.) หาออกมาดีอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้อาจจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ปรับโครงสร้าง'สมอ.'เพิ่มศักยภาพแข่งขันรองรับนโยบายอุตฯ4.0 

          สมอ.โชว์ผลงาน 10 เดือน ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้ากำหนดมาตรฐานพุ่ง 187 เรื่อง ตามนโยบายอุตสาหกรรม4.0 มุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายรองรับสู่ประเทศไทย 4.0 ขึ้นแท่นศูนย์กลางมาตรฐานเออีซี-เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

          นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานรอบ 10 เดือน (ต.ค.59-ก.ค.60) สมอ.กำหนดมาตรฐานไปแล้ว 187 เรื่อง แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม 8 เรื่อง กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต21 เรื่อง กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง124มาตรฐานและตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 32 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 187 เรื่อง คาดว่าสิ้นเดือน ก.ย. นี้จะสามารถกำหนดมาตรฐานได้ไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง

          นอกจากนี้ยังออกใบอนุญาตให้กับผู้ทำผู้นำเข้า 4,058 ฉบับ ตามกระบวนการออกใบอนุญาตที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาการออกใบอนุญาตเฉลี่ยเพียง 11 วันทำการต่อเรื่องเท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ลดความซ้ำซ้อน พร้อมทั้งเดินหน้านำระบบสารสนเทศมาใช้ในการออกใบอนุญาตเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการยื่นขอใบอนุญาต คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวได้

          สำหรับความคืบหน้าโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ณ เขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขตจ.ฉะเชิงเทรา ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับพื้นที่200ไร่ เพื่อดำเนินการโครงการระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และอาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการและสาธารณูปโภคเสร็จเดือนเม.ย.61ขณะนี้สมอ.อยู่ระหว่างการขึ้นร่างประกาศและเอกสารประกวดราคาและทีโออาร์เพื่อให้วิจารณ์

          ทั้งนี้งานสำคัญอีกเรื่องของ สมอ.คือการปรับโครงสร้างของ สมอ.ใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลทั้งThailand4.0S-Curve New S-Curve และสร้างศูนย์บ่มเพาะด้านการมาตรฐาน เพื่อเตรียมเป็นศูนย์กลางด้านการมาตรฐานของเออีซี ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้ง สมอ.จะมีภารกิจเพิ่มขึ้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐานเพื่อรองรับการถ่ายโอนงานตามมติ ครม.ความตกลงยอมรับร่วมด้านการมาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการเติบโตของอุตสาหกรรมคาดว่าโครงสร้างใหม่นี้จะเข้า ครม.ภายในเดือนนี้ หลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะจัดทำประกาศกฎกระทรวงส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามเพื่อประกาศใช้ต่อไป

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

“ฉัตรชัย”รับปากเร่งแก้หนี้เกษตรกร 3 พันล้านใน 180 วัน

ตัวแทนเครือข่ายหนี้สินชาวนาตบเท้าบุก ก.เกษตรฯ ให้กำลังใจรัฐมนตรี เดินหน้าบอร์ดกฟก.เฉพาะกิจ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน “บิ๊กฉัตร” รับปากเตรียมเสนองบ 3,000 ล้านแก้หนี้เกษตรกรให้แล้วเสร็จตามกรอบ 180 วัน

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เปิดเผยในโอกาสให้เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เข้าพบ(25 ก.ค.60)ว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26/2560 เรื่องการแก้ปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และได้มีการตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจขึ้น แทนคณะกรรมการชุดเดิมเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมามองเห็นปัญหาภาคการเกษตรของไทย ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรพบว่ายังมีปัญหาความเดือดร้อน ยากจน ปลูกพืชแล้วจน ต้นทุนแพงทำให้ ไม่มีกำไร จึงต้องกู้เงินมาทำเกษตร ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขมานานหลายปีเนื่องจากไม่มีแผนแก้ไขอย่างยั่งยืน วันนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขปัญหาหลายเรื่องไปพร้อม ๆ กัน เช่น โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการปศุสัตว์โคบาลบูรพาในพื้นที่ จ.สระแก้วเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น

“ปัญหาเหล่านี้สะสมมานานจนเกิดเป็นปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งเป้าหมายตลอดเวลา 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรที่ผ่านมามีนโยบายสำคัญที่ต้องการทำให้เกิด 3 ข้อ คือ 1. เกษตรกรมีความภูมิใจในอาชีพ 2. เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการทำเกษตร และ 3.เกษตรกรใช้ชีวิตพอเพียงตามแนวทางของรัชกาลที่ 9 เพื่อให้อยู่อย่างมีความสุขทั้งนี้ ตั้งใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เกษตร ซึ่งต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากเกษตรกรต้องสร้างความมั่นใจ แก้ปัญหาความจนให้ได้รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต้องมีความอดทนเพื่อทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร”

อย่างไรก็ตามได้ให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจเร่งเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนทันที ตรวจสอบข้อมูลคุณสมบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม โปร่งใส และยืนยันว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้ให้เร็วสุดตามขั้นตอนสำหรับงบกรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหากองทุนฟื้นฟูนั้น โดยมีแผนที่จะเสนองบประมาณดังกล่าวจากรัฐบาล ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้รับปากแล้วว่ามีงบ 3,000 ล้านบาทแน่นอน

 สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คณะกรรมการ กฟก. เฉพาะกิจ แบ่งเป็น 1. การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร โดยคณะอนุกรรมการจัดทาหลักเกณฑ์ การจัดการหนี้ของเกษตรกร กรณีเร่งด่วน โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เร่งจัดทำหลักเกณฑ์ และข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ 2. การกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบ และยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อมูล คัดกรอง ยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร เพื่อนามา จัดกลุ่ม และบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินต่อไป คาดว่าจะดาเนินการตรวจสอบข้อมูล ให้แล้วเสร็จ ประมาณเดือนสิงหาคม 25603. การปรับปรุงโครงสร้างและกฎหมายของ กฟก. โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างและกฎหมายของ กฟก. โดยมีปลัดสานักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีกรอบเวลาจัดทำข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้าง การพัฒนาการดาเนินงาน และการปรับแก้ไขกฎหมายของ กฟก. ภายในเดือนกันยายน 2560 4. การตรวจสอบ กลั่นกรองการใช้จ่ายงบประมาณของ กฟก. โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณประจาปี 2560 และ 2561 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งจะพิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณประจาปี 2560 ต่อคณะกรรมการ กฟก. เฉพาะกิจ และการเสนอของบประมาณรายจ่ายประจาปี 2561 และ 5. การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยคณะอนุกรรมการด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่มีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ในการจัดทำกรอบแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และการใช้จ่ายงบประมาณด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประจำปี 2560 และ 2561

ด้านนายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.)กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้ เพื่อมาขอบคุณพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจที่ทำงานแก้ไขปัญหามาตลอดระยะเวลา 60 วัน หลังจากมีการแต่งตั้งบอร์ด เป็นการทำงานที่เดินมาถูกทางแล้ว เนื่องจากมีการเข้าตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรครบถ้วนเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจข้อมูลได้รอบด้าน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำมาก่อน แม้จะยังมีความกังวลในกรอบระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ 180 วัน ที่อาจจะมีระยะเวลาที่สั้นไปในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้แล้วเสร็จจึงได้เสนอรัฐมนตรีเกษตรฯ ขอขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวให้มีความต่อเนื่องมากขึ้นด้วย

 นอกจากนี้ ยังขอสนับสนุนแนวทางเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่แล้ว หากต่างคนต่างทำก็ไม่รอด กระทรวงเกษตรฯ มีเครื่องมือมีกองทุน และสหกรณ์การเกษตรที่รองรับนโยบายเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไรก็ตามกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เพียงแต่แก้ไขการจัดการหนี้เท่านั้น แต่อยากให้ปฏิรูปด้านการฟื้นฟูและด้านการบริหารจัดการด้วย เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งขอให้พลเอกฉัตรชัย ดำรงตำแหน่งต่อไปเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหา หากมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารอาจทำให้เสียเวลา เพราะความเดือดร้อนของเกษตรกรรอไม่ได้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

เกษตรดันเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 10.4 ล้านไร่-สั่งรับมือพายุ “เซินกา”

รัฐมนตรีเกษตรฯ เผยการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามแนวทางยุทธศาสตร์น้ำ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เดินหน้าเกินเป้า พร้อมสั่งกรมชลฯ พร้อมรับมือพายุโซนร้อน “เซินกา” ย้ำทุกโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยให้จับตาอย่างใกล้ชิด

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558-2569) ของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 1.75 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2560 และ 2561 กระทรวงเกษตรฯ ได้พัฒนาให้เกิดพื้นที่ชลประทานแล้วประมาณ 1.30 ล้านไร่ หรือคิดเป็น76% ดังนั้น จะเห็นว่าเป้าหมายของกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินไปสู่เป้าหมาย เมื่อครบระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ในปี 2564 การพัฒนาระบบชลประทานของกระทรวงเกษตรฯ ก็จะเกินเป้าหมายแน่นอน

 ส่วนในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ. 2558-2569) มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 8.70 ล้านไร่ เมื่อถึงปี 2564 กระทรวงเกษตรฯ มีแผนพัฒนาถึง 5.22 ล้านไร่ จะเหลือเป้าหมายในการพัฒนาให้ครบตามยุทธศาสตร์น้ำประมาณ 3.50 ล้านไร่ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการพิจารณาวางแผนในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ให้ได้อย่างน้อย 5-7 แสนไร่/ปี เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้อย่างสำเร็จ ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯได้ดำเนินการเกินเป้าหมายอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีเป้าหมายในการดำเนินการตามแผน Road Map อย่างชัดเจน และขณะนี้ได้ดำเนินการเกินกว่าแผนที่ตั้งไว้

ด้านนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์พายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) ที่จะเข้าปกคลุมในไทยว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ได้ติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาวะอากาศเมื่อเวลา 23.00 น. ของคืนที่ผ่านมา (25 ก.ค. 60) พายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) ที่ปกคลุมบริเวณเมืองดองฮอย ประเทศเวียดนามได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและได้เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศลาวแล้ว มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 55 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนที่ทางตะวันตกด้วย ความเร็ว 20 กม./ชม. จะเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดมุกดาหารวันนี้ (26 ก.ค. 60) ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 25-28 ก.ค. 60 ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมการรับมือกับพายุโซนร้อน “เซินกา” โดยการบริหารจัดการน้ำด้วยการใช้ระบบชลประทานและระบบป้องกันน้ำท่วม ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบระบบชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลาอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำได้มีการติดตั้งเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้แล้วทุกจุด พร้อมกับทำหนังสือแจ้งสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม

 ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ได้ให้ทุกโครงการชลประทานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะอ่างฯที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก ให้บริหารจัดการน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ ที่เมื่อฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเฝ้าระวัง ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์เป็นพิเศษ ส่วนในกรณีที่อ่างเก็บน้ำใดๆ จำเป็นต้องมีการพร่องน้ำล่วงหน้า เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะลงมาเหนืออ่างฯ นั้น ได้ให้โครงการชลประทานที่รับผิดชอบ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำออกจากอ่างฯ โดยให้รายงานสถานการณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

 สำหรับสถานการณ์น้ำ (ข้อมูล ณ 26 ก.ค.60) ปริมาณน้ำมีค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก คือ ประมาณ 44% ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยมีอยู่ 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำแม่กวง และอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากกว่า ร้อยละ 80 มี 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำมูล จังหวัดสกลนคร และพบว่าปัจจุบันมีน้ำมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันประมาณ 1.04 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงคาดว่าในช่วงฤดูแล้งในปีต่อไป เกษตรกรจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในการป้องกันอุทกภัยยังมีพื้นที่รองรับน้ำในเขื่อนได้ถึง 3.06 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำมากกว่าเมื่อปีที่แล้วในวันเดียวกันถึง 3,436 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

อุตฯเร่งคุยญี่ปุ่น-เกาหลี-เยอรมนีเป็นต้นแบบดันไทยสู่ 4.0

 “อุตตม” เร่งเครื่องคุยญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ดันอุตสาหกรรมไทยไปสู่ 4.0 พร้อมดึงศูนย์ ITC-Coworking Space สร้างโค้ชชิ่ง ห้องแล็บ ผุดนวัตกรรมใหม่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานการประชุมวิชาการ สศอ.(OIE Forum) ประจำปีงบประมาณ 2560 ในหัวข้อ “Industry 4.0 Roadmap : มิติใหม่สู่ประเทศไทย 4.0” ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมเจรจากับประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และเยอรมนี โดยมีเป้าหมายเพื่อนำองค์ความรู้ กระบวนการ วิธีการมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสนับสนุนให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงในอนาคต ตาม Roadmap ยุทธศาสตร์ที่วางไว้

“เกือบ 1 ปี ที่รัฐบาลประกาศนโยบายประเทศไปสู่ Thailand 4.0 โดยใช้เรื่องของ Industry 4.0 เป็นตัวนำ หากประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมขณะนี้มีสัดส่วนประมาณ 10% เท่านั้น ที่สามารถพัฒนาตนเองไปถึง 4.0 แต่ยังไม่ถึง 50% จึงต้องการดึงให้ต่างประเทศมาเป็นต้นแบบสอนทั้งกระบวนการ วิธีการ การเชื่อมโยงในรูปแบบของคลัสเตอร์ครบวงจรทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น มีรายใหญ่ก็ต้องมีรายเล็ก ทำอย่างไรจะเอื้อสนับสนุนกันได้ รวมถึงการวิจัยรูปแบบไหนจะสนับสนุนงานธุรกิจ SMEs ได้”

โดยความร่วมมือกับต่างประเทศจะเป็นการสนับสนุน อาทิ อุปกรณ์ เครื่องมือในการเข้าไปช่วยด้านงานวิจัย การสร้างผู้เชี่ยวชาญหรือ (Coaching) โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมสู่อนาคต Industry Transformation Center (ITC) ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่กล้วยน้ำไท และศูนย์ Coworking Space ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่แหลมฉบัง ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์อบรม ทดลอง ประชุม เทรนนิ่ง สร้างสินค้าต้นแบบสำหรับ SMEs

สำหรับแนวทาง Roadmap ในการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย โดยกำหนดแผนพัฒนาและขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ระยะแรกในปี 2560 จะดำเนินการใน 4 สาขานำร่อง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม 4.0 (Ecosystem) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ ต้องเชื่อมโยงเข้ากับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้สอดคล้องและเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ เช่น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยกำหนดเป้าหมายแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ที่จะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวมจากทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีแรก

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยการสร้างเครือข่ายและกลไกความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งในและระหว่างประเทศ เริ่มตั้งแต่การจัดทำ Roadmap ทั้งในด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยี ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้แนวทางประชารัฐภายใต้ความร่วมมืออย่างบูรณาการ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และองค์กรในระดับพื้นที่

ขณะเดียวกันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ เช่น การทำ MOU ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย กับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น, การทำ MOU กับสำนักงานธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMBA) เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจัดตั้งคณะทำงานประชารัฐไทย-เยอรมัน เพื่อการพัฒนา ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สอดคล้องและส่งเสริมกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนากำลังคนเข้าสู่ยุค 4.0 จึงได้มีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนา Industry 4.0 ทั้งในด้านการผลิตกำลังคน การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน ในระบบทวิภาคี/สหกิจศึกษา การพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve

โดยในปี 2561 มีการวางแผนการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวน 100,000 คน และให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่การผลิตและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสนับสนุนมาตรการทางการเงิน ผ่านโครงการสนับสนุนสินเชื่อและกองทุนต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน รวมวงเงินทั้งสิ้น 38,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ด้านการเงินเพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ให้เป็น Smart SME, S-Curve SME, Digital SME โดยการส่งเสริมพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีและดิจิทัล การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด ด้านมาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการ ผ่านเครื่องมือ/กลไกการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับ SMEs ในแต่ละกลุ่ม

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ชูไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน จัดเต็มวันสต็อปเซอร์วิส

 “ตลาดต่อยอด”เดินหน้ากว่า 60% ตามแผน ชูไทยศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์อาเซียน จับกระแสไทยแลนด์ 4.0 เปิดออฟไลน์ - ออนไลน์ จัดหนักอีคอมเมิร์ซ-เปิดแอพลุยวันสต็อปเซอร์วิสเต็มสูบ

นายธนฑิต เจริญจันทร์ เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฎิบัติการกลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเซ็ทเวิร์ล (TCC Land  Asset World ) เปิดเผยถึงความคืบหน้า “โครงการตลาดต่อยอด เออีซี เทรด เซ็นเตอร์” ตลาดกลางการค้าใหญ่ที่สุดแห่งภูมิภาคอาเซียนว่า ปัจจุบันมีการก่อสร้างตามแผนคืบหน้าไปแล้ว 60% ตามแผน ซึ่งคาดว่าเฟสแรกจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายไตรมาศแรกของปี 2561 ….

“โครงการฯได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ผลิต และผู้ค้าส่งทั่วประเทศ โดยกลุ่มบริษัททีซีซีฯได้ลงนามเซ็นต์MOUร่วมมือกับ 5 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานวิจัยและเทคโนโลยีแห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ SME Bank ทำให้โครงการฯเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก เจ้าของธุรกิจค้าส่ง/ปลีก  ผู้ค้าสินค้าออนไลน์ ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการให้ขายสินค้าในระดับประเทศและนานาชาติได้เร็วยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากพื้นที่ตลาดกลางการค้าแห่งนี้แล้ว เพื่อรับกระแสนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มากขึ้น บริษัทฯได้พัฒนาระบบอี-คอมเมิร์ซขึ้นมาเฉพาะตลาดต่อยอดฯ เชื่อมโยงให้การค้าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ซึ่งจะส่งผลดีทั้งผู้ค้าขาย ผู้ผลิตและผู้ซื้อมากมาย รวมถึงเป็นช่องทางการขยายการค้าสู่ระดับสากล “เราเน้นเจาะตลาดออนไลน์และการซื้อ-ขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิตอลที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกช่องทางการขายในทุกเครือข่ายเว็บไซต์ออนไลน์อี-คอมเมิร์ซทั่วโลกรวมไว้ในที่เดียว เช่น Lazada Alibaba Amazon ฯลฯ โดยตลาดต่อยอดฯจะเป็นตัวกลางการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจกับเครือข่ายออนไลน์ทั่วโลก ซึ่งระบบนี้จะช่วยในเรื่องการจัดการซื้อขาย การขนส่ง ประหยัดเวลา สะดวกสบาย เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ โดยจะเปิดทดลองระบบภายในปลายปี 2560

นอกจากนี้ตลาดต่อยอดฯได้เปิดศูนย์บริการให้การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีแบบครบวงจร (SME Solution Service) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการติดต่อหน่วยงานราชการ เป็นที่ปรึกษาให้ความรู้ในการช่วยพัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจการค้าให้กับผู้ประกอบการในทุกด้าน เช่น ด้านการขาย ด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า การช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยสิทธิพิเศษจากการร่วมมือกันระหว่างโครงการตลาดต่อยอด กับเครือข่ายพันธมิตรทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ด้วยเป้าหมายการเป็นศูนย์บริการครบวงจรเพื่อการต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

นายธนฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดต่อยอดจะทำแอพพลิเคชั่น AEC Trade Centre Application เพื่อให้เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาเดินภายในโครงการฯ โดยรูปแบบของ Navigation Map ที่จะให้ตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้าภายในโครงการอย่างแม่นยำ  รวมไปถึงให้ข้อมูลของประเภทร้านค้า สินค้า ราคา โปรโมชั่น ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความสะดวกสบายต่อทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย

สำหรับภายใต้พื้นที่รวม 3 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) จะถูกจัดสรรให้เป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าขนาด 5,000 ตารางเมตร ที่จัดรองรับการจัดกิจกรรมทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็น งานอีเว้นท์  งานเอ็กซิบิชั่น หรืองานแสดงสินค้า ที่จะช่วยในการต่อยอดการขายของผู้ประกอบการในโครงการ หรือ การจัดนิทรรศการ สัมมนา เพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับด้านธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามความเหมาะสม และอีกหนึ่งบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกคือ ศูนย์ขนส่งอาเซียน เป็นศูนย์บริการขนส่งครบวงจรที่อำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าในทุกช่องทาง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน พร้อมคลังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ โดยได้ร่วมมือกับบริษัทเครือข่ายศูนย์บริการขนส่งสินค้าต่างๆ อีกทั้งสามารถติดตามสถานะการขนส่งสินค้าทั้งหมดผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์ยัน'ลอยตัวน้ำตาล'ดูแลกลไกไม่กระทบผู้บริโภค 

          นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน เพื่อเตรียมมาตรการและกลไกดูแลระบบราคาน้ำตาลลอยตัวแบบมีการจัดการ หลังจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล เดือน ต.ค.นี้ ให้มีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และให้ทันฤดูการผลิต 2560/2561 ว่า ปัจจุบันน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุมตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยกำหนดเพดานราคาขายปลีกสูงสุดไม่เกินกิโลกรัมละ 23.50 บาท หากลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแบบมีการจัดการตามกลไกตลาดโลก กระทรวงพาณิชย์จะต้องเตรียมกลไกดูแลราคาน้ำตาลทรายในประเทศ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนและไม่กระทบกับเกษตรกร

          เบื้องต้นการดูแลราคาน้ำตาลทรายภายใต้กฎหมายราคาสินค้าและบริการสามารถให้น้ำตาลทรายยังอยู่ในรายการสินค้าควบคุมได้ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ แต่การกำหนดเกณฑ์ราคาที่ต้องอิงตามกลไกตลาดโลกอาจต้องมีกลไกการออกราคาแนะนำ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบราคาที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งผู้ประกอบการที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารจะต้องมีโครงสร้างราคาสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต

          ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปเตรียมมาตรการทั้งหมด ซึ่งกระทรวงฯ จะรอให้การแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่เสร็จก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาชั้นกรรมาธิการในที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. )

          "แม้ปล่อยให้ราคาน้ำตาลลอยตัว แบบมีการจัดการ แต่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันจะดูแลไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคและราคาน้ำตาลทรายในประเทศจะไม่แพงขึ้นกว่าปัจจุบัน"

          ราคาน้ำตาลทรายปัจจุบันกำหนดเพดานราคาควบคุมไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในตลาดขายจริงกิโลกรัมละ 19-20 บาท ต่ำกว่าราคาควบคุม เพราะแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้ทรงตัวต่ำ

          นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า น้ำตาลทรายเป็นสินค้าจำเป็นที่อยู่ในบัญชีควบคุมตามประกาศของ กกร. ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ภายในประเทศกิโลกรัมละ 23.50 บาท น้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 22.50 บาท เป็นราคาจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนการขายปลีกในต่างจังหวัด ทางจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลราคาจำหน่าย โดยคิดรวมค่าขนส่ง สำหรับราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกเทียบราคาโรงงานปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 14-15 บาท ขณะที่ของไทยกำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานไว้ที่กิโลกรัมละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งเป็นราคาบวกเงินเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่กิโลกรัมละ 5 บาท

          เชื่อว่าการลอยตัวน้ำตาลทรายแบบมีการจัดการจะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศลดลง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยควบคุมราคาขายปลีกน้ำตาลทรายหากราคาสูงเกินความเหมาะสม กระทรวงพาณิชย์สามารถใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามากำกับดูแลได้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ดูแลราคาน้ำตาลก่อนปล่อยลอยตัว 

          น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวง เพื่อเตรียมมาตรการดูแลราคาน้ำตาลในประเทศ ตามมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลเดือนต.ค. และจะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ 1 ธ.ค. 60 โดยยืนยันว่าแม้จะลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก แต่ราคาน้ำตาลทรายจะไม่แพงไปกว่าปัจจุบัน และไม่กระทบต่อผู้บริโภคน้ำตาลทรายในประเทศแน่นอน

          ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน น้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุม ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดเพดานราคาขายปลีกสูงสุดไว้ไม่เกินกิโลกรัมละ 23.50 บาท หากลอยตัวราคาตามกลไกตลาดโลกแล้ว ก็ยังใช้มาตรการเพดานราคาน้ำตาลภายในประเทศได้ โดยใช้อำนาจของ กกร. เพื่อไม่ให้ขายเกินราคาที่เหมาะสม ซึ่งได้ให้กรมการค้าภายใน ไปศึกษาวิธีการที่ จะประกาศราคาน้ำตาลทรายในประเทศ อาจออกเป็นราคาแนะ นำรายเดือน แล้วทบทวนตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลก

          ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง อาจต้องลดราคาสินค้าในกลุ่มดังกล่าวลงตามด้วย เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งต้องรอผลศึกษาโครงสร้างน้ำตาลทรายต่อต้นทุนการ ผลิตสินค้าแต่ละชนิดอีกครั้งมาประกอบการพิจารณาก่อน

          สำหรับราคาน้ำตาลทรายปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพดานราคาควบคุมไว้ที่ 23.50 บาท ต่อกก. แต่ ในตลาดมีการขายจริงที่ กก.ละ 19-20  บาท ต่ำกว่าราคาควบคุม  เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้ยังทรงตัวต่ำ ส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายในตลาดโลกนั้น ไทยส่งออกเป็นอันดับสองรองจากบราซิล

          ด้าน นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เชื่อว่าการลอยตัวน้ำตาลทรายครั้งนี้ จะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศลดลง จากปัจจุบัน ราคาน้ำตาลทรายขาว ตลาดโลก กก.ละ 14-15 บาท ขณะที่ไทยได้กำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานไว้กก.ละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์กก.ละ 20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่บวกเงินเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่กก.ละ 5 บาทแล้ว

          "ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ ช่วยควบคุมราคาขายปลีกน้ำตาลทราย และแม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะประกาศลอยตัว หากราคาสูงเกินไป กระทรวงพาณิชย์สามารถใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามากำกับดูแลได้ ส่วนการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย ก ข และ ค กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้พิจารณา จะยกเลิกหรือคงไว้ เชื่อว่าเมื่อลอยตัวน้ำตาล ราคาจะไม่สูงจากเดิม เว้นกรณีเกิดภัยแล้ง อาจส่งผลให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น."

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

พาณิชย์ฟุ้งเอาอยู่คุมราคาน้ำตาลทราย หลังประกาศลอยตัวตุลาฯ นี้

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้บริหารกรมการค้าภายใน (คน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติเกี่ยวกับการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในเดือนต.ค. ว่า หลังจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลประมาณ เดือนต.ค. 2560 นี้ และให้มีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 ธ.ค. 2560 และให้ทันฤดูการผลิต 2560/2561 ได้สั่งการให้ที่ประชุมไปศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ศึกษาว่าประเทศอื่นๆ มีแนวทางปฎิบัติอย่างไร

ซึ่งการลอยตัวราคาน้ำตาลจะเป็นการสะท้อนราคาตลาดโลก แต่จะไม่กระทบราคาขายปลีกให้กับผู้บริโภค โดยยังเชื่อว่าคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะยังควบคุมราคาไม่ให้ทะลุเพดานราคาที่กำหนด เพราะปัจจุบันน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคาโดยกกร. ซึ่งอาจมีการประกาศราคาเพดานเป็นรายเดือน และเชื่อมั่นว่าราคาหลังจากลอยตัวจะไม่แพงไปเกินกว่านี้ เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีการใช้ในปริมาณมาก จึงไม่อยากให้ผู้บริโภคตื่นตระหนก และปกติไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลกอยู่แล้ว ส่วนอันดับหนึ่งคือบราซิล และผู้ค้าในประเทศค่อนข้างมีหลายรายทำให้มีการแข่งขันกันสูง

และหากลอยตัวแล้วราคาน้ำตาลลดลง แต่ผู้ผลิตน้ำตาล และผู้ผลิตอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลปริมาณมากๆ ไม่ยอมลดราคาลงตาม กระทรวง โดยกกร. จะเชิญมาหารือให้ปรับราคาให้สอดคล้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

“เบื้องต้นการดูแลราคาน้ำตาลทรายทราย ภายใต้กฎหมายดูแลราคาสินค้าและบริการ สามารถทำให้น้ำตาลทรายยังอยู่ในรายการสินค้าควบคุมได้ เนื่องจากน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่จะเป็นต่อการครองชีพ แต่การกำหนดเกณฑ์ราคาที่ต้องอิงตามกลไกตลาดโลกนั้น อาจจะต้องมีกลไกการออกราคาแนะนำ เพื่อให้ผู้บริโภคและพ่อค้าแม่ค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว ได้ทราบราคา ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งผู้ประกอบการที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร จะต้องมีโครงสร้างราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตมากำกับดูแลด้วย” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวอีกว่า คาดว่าราคาน้ำตาลต่อจากนี้คงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยกกร. กำหนดเพดานราคาแนะนำจำหน่ายปลีกไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ไม่ให้เกินจากนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่เกิน โดยในตลาดมีการขายจริงที่ก.ก.ละ 19-20 บาท ต่ำกว่าราคาควบคุม เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้ยังทรงตัวต่ำ

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า น้ำตาลทรายเป็นสินค้าจำเป็นที่อยู่ในบัญชีควบคุมตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ภายในประเทศอยู่ที่ก.ก.ละ 23.50 บาท และน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ก.ก.ละ 22.50 บาท โดยเป็นราคาจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ส่วนการขายปลีกในต่างจังหวัด ทางจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดจะเป็นผู้กำกับดูแลราคาจำหน่ายโดยจะคิดรวมกับค่าขนส่ง สำหรับราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกเทียบกับราคาโรงงานปัจจุบันอยู่ที่ก.ก.ละ 14-15 บาท ขณะที่ของประเทศไทยได้กำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานไว้ที่ก.ก.ละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ก.ก.ละ 20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ได้บวกเงินเก็บเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ก.ก.ละ 5 บาท

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 24 กรกฎาคม 2560

จับตาปฏิกิริยาอุตฯน้ำตาล ก่อนราคาลอยตัวตามตลาดโลก

โค้งท้ายก่อนที่จะประกาศลอยตัวราคานํ้าตาล 1 ธันวาคมนี้ ภาครัฐ โรงงานนํ้าตาล ชาวไร่อ้อย กำลังกลับมาสู่โหมดการเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องม็อบชาวไร่อ้อยหรือกองทัพมดนำนํ้าตาลลักลอบส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นเรื่องที่ภาครัฐ โรงงานนํ้าตาล และชาวไร่อ้อย ยังถกเถียงกันอยู่ว่า เมื่อไปสู่การลอยตัวของราคานํ้าตาล รวมทั้งการยกเลิกระบบโควตา ก. (บริโภคภายในประเทศ) โควตาข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทยฯหรืออนท.) โควตาค.(ส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาล) แล้วทั้ง 3 ฝ่ายจะคุยกันไม่จบ ในเรื่องการกำหนดราคาอ้อยว่า จะกำหนดอย่างไรต่อไป แล้วบทบาทในการส่งออกของผู้ส่งออก 7-8 รายที่มีอยู่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่น่าสนใจ

 ล่าสุดนายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทค้าผลผลิตนํ้าตาล จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า ให้มองข้อดีของราคานํ้าตาลที่จะไปอิงกับราคาในตลาดโลกก่อนว่า1. จะไม่มีราคานํ้าตาลในตลาดโลกเป็น 2 ราคาอีกต่อไป โดยยึดที่ราคาเดียวตามตลาด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการลักลอบส่งออกในกรณีที่ราคาในตลาดโลกดีกว่าราคานํ้าตาลภายในประเทศ 2.เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดโลก การกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆจะไม่เกิดขึ้น 3.ถ้าราคานํ้าตาลอิงตลาดโลกผู้บริโภคจะมีนํ้าตาลเพียงพอ

ส่วนประเด็นที่ยังคุยกันไม่จบ คือการกำหนดราคาที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยว่า จะอิงที่ราคาเท่าไหร่ หรือควรจะมีวิธีคิดอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ชาวไร่อ้อยกับโรงงานนํ้าตาลจะต้องมาหารือกันก่อน และจะต้องหารือให้จบก่อนวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ก่อนที่ราคานํ้าตาลจะลอยตัว ตามราคาตลาดโลก

 นอกจากนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การลอยตัวราคานํ้าตาลและยกเลิกโควตาก.ข.ค.นั้น จะกระทบต่อการส่งออกนํ้าตาลที่มีบริษัทส่งออก 7-8 รายในขณะนี้หรือไม่นั้น ตรงนี้ต้องอธิบายว่า การส่งออกไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนแปลงไปมีเพียงราคานํ้าตาลในประเทศที่ยกเลิกการควบคุมราคา และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งตรงนี้ชาวไร่กับโรงงานนํ้าตาลจะต้องไปตกลงกันว่า จะใช้สูตรไหนในการกำหนดราคาอ้อย

++6 เดือนลดลง 7.56%

ปัจจุบันปริมาณส่งออกนํ้าตาลทรายของไทยไปต่างประเทศ ในช่วง ม.ค.-มิ.ย.2560เปรียบเทียบปี 2559 มีปริมาณลดลง โดยปี 2560 มีปริมาณส่งออกรวม 3.676 ล้านตัน เปรียบเทียบปี 2559 ในช่วงเดียวกันมีมากถึง 3.976 ล้านตัน หรือลดลงในสัดส่วนราว 7.56% โดยปริมาณส่งออกนํ้าตาลทรายในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้กระจายไปยังประเทศสำคัญ 6 อันดับแรกที่นำเข้านํ้าตาลจากไทยมากที่สุดไล่ตั้งแต่อินโดนีเซีย กัมพูชาเมียนมา ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น(ดูตาราง)

ทั้งนี้ปริมาณส่งออกโดยผ่านบริษัท อ้อยและนํ้าตาลไทยฯหรืออนท. จะยังคงยืนอยู่ที่ 8 แสนตันต่อปี รวมถึงการส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาลที่ผ่าน 7 บริษัทก็ยังมีอยู่ เช่น บริษัทแปซิฟิกชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ส่งออกนํ้าตาลให้กับกลุ่มมิตรผลจำนวน 10 บริษัท, บริษัท ค้าผลผลิตนํ้าตาล จำกัด ส่งออกนํ้าตาลให้กับกลุ่ม นํ้าตาลบ้านโป่งจำนวน 17 บริษัท เป็นต้น

 ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทค้าผลผลิตนํ้าตาล จำกัด กล่าวยํ้าว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เพราะกฎหมายอ้อยและนํ้าตาลก็ยังอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ไม่มีการควบคุมราคานํ้าตาลในประเทศ รวมถึงการยกเลิกโควตาทั้งหมดออกไป

นอกจากนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานํ้าตาลในประเทศขาดแคลน ล่าสุดทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่า ควรมีนํ้าตาลสำรองในประเทศเดือนละ 2.5 แสนตันเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่านํ้าตาลในตลาดโลกจะผันผวนแค่ไหนแต่ในประเทศยังมีปริมาณนํ้าตาลสำรอง เพื่อให้ผู้บริโภคอุ่นใจมากขึ้น

 อย่างไรก็ตามปัจจุบันในประเทศไทยมีปริมาณการผลิตนํ้าตาลรวมจำนวน 10 ล้านตันในจำนวนนี้แบ่งเป็นส่งออก 7ล้านตัน และบริโภคภายในประเทศประมาณ 2.5-2.8 ล้านตัน

++ตํ่าสุดในรอบ16เดือน

 สำหรับสถานการณ์ราคานํ้าตาลดิบในตลาดโลกขณะนี้ปรับตัวลดลงถึงระดับตํ่าสุดในรอบ 16 เดือน ราคานํ้าตาลทรายดิบตลาดโลก ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากระดับสูงสุดที่ประมาณ 24 เซ็นต์ เมื่อปลายเดือนกันยายน 2559 มาถึงระดับตํ่าสุดเมื่อปลายเดือนมิถุนายน2560 ที่ระดับตํ่ากว่า 13 เซ็นต์โดยปัจจุบันราคาเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในช่วง 13-14 เซ็นต์

++สาเหตุราคาปรับตัวลดลง

 สุดท้ายนายภิรมย์ศักดิ์กล่าวถึง สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคานํ้าตาลปรับตัวลดลงในขณะนี้ว่า เกิดจากที่กองทุนและนักเก็งกำไรเทขายตั๋วซื้อนํ้าตาลที่ถืออยู่จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ถึงประมาณ 17 ล้านตันนํ้าตาล จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือตั๋วขายนํ้าตาลจำนวนมากประมาณ 5 ล้านตันนํ้าตาล อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่า ในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ผลผลิตนํ้าตาลทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นเกินปริมาณความต้องการบริโภคถึงประมาณ5 ล้านตัน โดยผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในบราซิล อินเดีย และไทย

 นอกจากนี้ค่าเงินเรียลบราซิลอ่อนตัวลง เนื่องจากสถานการณก์ ารเมอื งภายในประเทศ จึงจูงใจให้บราซิลทำการขายนํ้าตาลออกมาจำนวนมากรวมถึงบราซิล ประกาศลดราคานํ้ามันภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงฉุดให้ราคาเอทานอลลดลงด้วย ส่งผลให้มีการผลิตนํ้าตาลเพิ่มขึ้น ขณะที่อินเดีย ในปีนี้แม้ผลผลิตนํ้าตาลลดลงมากกว่าปีก่อนถึง 5 ล้านตัน แต่ทำการนำเข้านํ้าตาลจำนวนน้อยมาก และจีน ปรับเพิ่มภาษีนำเข้านํ้าตาล ยิ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้านํ้าตาล

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

บางจากควบน้ำตาลขอนแก่น

บางจาก คอร์ปอเรชั่น รุกธุรกิจชีวภาพ ควบรวมบริษัทลูก บีบีพี โฮลดิ้งกับเคเอสแอลจีไอของน้ำตาลขอนแก่น ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในไทย เริ่มต.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัทอนุมัติให้ควบบริษัท ระหว่างบริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง (BBH) บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% กับบริษัท เคเอสแอลจีไอ (KSLGI) ที่จะได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อรับโอนและเข้าถือหุ้น 99.99% ในบริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น หรือ KGI โดย KSLGI เป็นบริษัทย่อยของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) จะเข้าถือหุ้น 99.99%

สำหรับการควบบริษัทครั้งนี้จะตั้งบริษัทใหม่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย เชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 1.71 ล้านลิตร/วัน แบ่งเป็นเอทานอล 9 หมื่นลิตร/วัน และไบโอดีเซล 8.1 แสนลิตร/วันทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งกระจายความเสี่ยงจาก ความผันผวนของราคาวัตถุดิบหลัก พร้อมสนับสนุนในด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องกัน ช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตในอนาคตส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจในระยะยาว

สำหรับการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล และไบโอดีเซล (B100) มีการลงนามในสัญญาควบบริษัทเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 และประมาณเดือนต.ค.นี้ จะใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า บริษัท บีบีจีไอ (BBGI) มีทุนจดทะเบียน 2,532 ล้านบาท โดย BCP ถือหุ้น 60% และ KSL ถือหุ้น 40% ซึ่งคาดว่าจะควบบริษัทภายในเดือน ต.ค. 2560

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการบริษัท น้ำตาลขอนแก่น กล่าวว่า บริษัทจะได้ BCP รับซื้อเอทานอลแน่นอน 50% ของกำลังการผลิต ขณะที่ BCP จะได้เทคนิคการผลิตจากบริษัทที่มีประสบการณ์ทำโรงไฟฟ้าเอทานอลมาก่อน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 21 กรกฎาคม 2560

“บางจากฯ” รุกธุรกิจชีวภาพ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในไทย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท บางจากฯ มีมติอนุมัติให้ควบบริษัท (Amalgamation) ระหว่างบริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด (BBH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่บางจากฯ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 กับบริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด (KSLGI) ที่จะได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อรับโอนและเข้าถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KGI โดย KSLGI เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) จะเข้าถือหุ้นร้อยละ 99.99

การควบบริษัทครั้งนี้จะมีการตั้งบริษัทใหม่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 1,710,000 ลิตรต่อวัน แบ่งเป็นเอทานอลรวม 900,000 ลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 810,000 ลิตรต่อวัน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งสามารถกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบหลัก ประกอบด้วย มันสำปะหลัง กากน้ำตาล น้ำมันปาล์มดิบ พร้อมเป็นการสนับสนุนในด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องกัน ช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตในอนาคต ส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจในระยะยาว และเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงาน สร้างรายได้มากยิ่งขึ้นและลดความเสี่ยงจากการทำเกษตรอื่นเพียงอย่างเดียว

สำหรับการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Based) ได้แก่ เอทานอล และไบโอดีเซล (B100) มีการลงนามในสัญญาการควบบริษัทเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 และประมาณเดือนตุลาคมนี้ จะใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (BBGI) มีทุนจดทะเบียน 2,532 ล้านบาท โดยจะเป็นบริษัทหลัก (flagship company) ที่มีบริษัท บางจากฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 60 และบริษัท น้ำตาลขอนแก่นฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40

การดำเนินการควบบริษัทระหว่าง BBH กับ KSLGI ดำเนินการตามขั้นตอนและบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ BBH และ KSLGI จะพิจารณาอนุมัติการควบบริษัท และดำเนินการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมกันต่อไปตามบทบัญญัติภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพื่อพิจารณาอนุมัติเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทใหม่ เช่น หนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งรวมถึงชื่อ และทุนจดทะเบียน ข้อบังคับ การจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ให้แก่บริษัท บางจากฯ และบริษัท น้ำตาลขอนแก่นฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นของ BBH และ KSLGI และการแต่งตั้งกรรมการและผู้สอบบัญชีของบริษัทใหม่ เป็นต้น ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการควบบริษัทภายในเดือนตุลาคม 2560

ในอนาคตจะมีการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท บางจากฯ Evolving Greenovation ที่มุ่งสู่กลุ่มบริษัทนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำในเอเชียที่มีบรรษัทภิบาลที่ดีและดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญาควบรวมกิจการ ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio based) เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท บางจากฯ เมื่อเร็วๆ นี้

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

น้ำตาลขอนแก่น ยกเลิกแผนดันบริษัทย่อยเข้าตลาดหุ้น

บอร์ด "น้ำตาลขอนแก่น" ไฟเขียวยกเลิกแผนนำบริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น เข้าตลาดหลักทรัพย์ ชงตั้งบริษัทใหม่รับโอนหุ้นบริษัทย่อยก่อนควบบริษัทย่อยบางจากฯ เข้าบริษัทใหม่

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ยกเลิกการนำบริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยให้จัดตั้งบริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด เพื่อถือหุ้นในบริษัทอื่น ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 99.99% และอนุมัติห้บริษัทฯ ขายหุ้นของ KGI จำนวน 609.98 ล้านหุ้น คิดเป็น 99.99% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของ KGI ให้กับบริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่

 นอกจากนี้อนุมัติการควบบริษัท (Amalgamation) ระหว่างบริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่ตั้งขึ้นใหม่และรับโอนและเข้าถือหุ้น 99.99% ใน KGI กับบริษัท บีพีพี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP โดยบริษัทฯและ BCP จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัทในสัดส่วน 40% และ 60% ตามลำดับ

จาก  http://www.thansettakij.com   วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

“เกษตรปลอดภัย”ร้องนายก ค้านรัฐจ่อเลิกใช้2สารเคมี

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 50 คน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า รัฐจะยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส กับจำกัดการใช้อีก 1 ชนิด คือ ไกลโฟเสต โดยจัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่อนุญาตให้ใช้ ระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่รับต่ออายุทะเบียน ให้ยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้สิ้นเชิง 1 ธ.ค. 2562

ภายหลังมีข่าวนี้ออกมา เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมาก จากราคาสารดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น “พาราควอต” ที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อการค้าต่าง ๆ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช เป็นยาฆ่าหญ้าชนิดสัมผัส เผาไหม้ใบส่วนที่มีสีเขียว ส่วน “ไกลโฟเสต? หรือที่รู้จักกันในชื่อการค้าอื่น ๆ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึมทางใบถึงราก และสาร “คลอร์ไพริฟอส? กำจัดแมลงศัตรูพืช เกษตรกรไทยล้วนต้องพึ่งสารเคมีในการทำการเกษตร เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีความหลากหลายของศัตรูพืช พืชที่ปลูกต้องเผชิญปัญหาศัตรูทั้งโรค แมลง และวัชพืชมากกว่าในเขตอื่น นอกเหนือจากลมฟ้าอากาศหรือภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายด้วย

ไทยนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาใช้ในภาคเกษตรป้องกันความเสียหายของผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่ปัญหาที่ทุกประเทศต้องเผชิญคือ มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด สภาพอากาศที่แปรปรวน การระบาดของศัตรูพืชเพิ่มขึ้น และปัญหาแรงงานที่หายากและมีราคาแพง เกษตรกรจำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกลสมัยใหม่ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช การทำเกษตรแม่นยำสูง

จากการคาดการณ์ในระยะ 33 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่ม 34% เป็น 9,000 ล้านคน ในปี 2597 ทำให้ความต้องการอาหารในการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่การเกษตรทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ไทยมีพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ มีการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีประมาณ 3 แสนไร่ ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ 148.7 ล้านไร่ มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตสินค้าเกษตร มีแรงงานอยู่ในภาคเกษตรประมาณ 17 ล้านคน สามารถผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและเหลือส่งออกนำรายได้กลับเข้ามาให้ประเทศ ปีละ 1.2 ล้านล้านบาท จนประเทศไทยได้รับสมญานามว่า ครัวของโลก โดยขณะนี้ต้องเป็นอาหารจากผลผลิตที่ปลอดภัย ทางออกของไทยจึงจำเป็นต้องทำการเกษตรแบบปลอดภัยเท่านั้น ทั้งการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่และแปลงย่อย

“ทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยจึงขอเสนอแนวทาง 1.กำหนดการทำเกษตรปลอดภัยตามแนวทางการผลิตมาตรฐานสากล หรือ GAP เป็นนโยบายของรัฐ โดยใช้ ม.44 เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกจนได้ผลผลิตถึงผู้บริโภคให้เป็นอาหารปลอดภัย เป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม เช่น กระทรวงเกษตรฯดูแลการผลิตเกษตรปลอดภัย ตามแนวทาง GAP กระทรวงสาธารณสุขดูแลตรวจสอบให้ผลผลิตที่ปลอดภัยก่อนถึงผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์หาตลาดและสร้างแบรนด์ผลผลิตที่ปลอดภัย

2.ขอคัดค้านการพิจารณาประกาศยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิดนี้ โดยใช้ ม.44 เพื่อให้ใช้ขบวนการพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการอยู่ และข้อมูลเท่าที่มีการนำเสนอ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันหนักแน่นพอ และขอให้พิจารณาผลกระทบ

หากจะยกเลิกสารเหล่านี้ โดยต้องทำการวิจัยหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาใกล้เคียง 3.ห้ามนำเสนอข้อมูลบิดเบือนความจริงโดยกลุ่มองค์กรอิสระ เช่น Thai-PAN, มูลนิธิชีววิถี เป็นต้น เพราะขาดข้อมูลที่แท้จริงทางวิชาการ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกต่อสาธารณชน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาพลักษณ์การส่งออกของประเทศไทย” นายสุกรรณ์กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงจาก 5 กระทรวง ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสต

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

อียูติงไทยแลนด์ 4.0 ไม่ไปไหน! ฟาก”เจโทร”แนะอีอีซีจะรุ่ง ต้องลดขั้นตอนศุลกากร-หนุนทุนท้องถิ่น

วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าเเละพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดเวทีประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยการประชุมในช่วงที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง อุปสรรคเเละโอกาสสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืนของเอเชีย

ทั้งนี้ ที่ประชุมระบุว่า เอเชียกำลังอยู่ในห้วงของการเติบโตเป็นพิเศษทางการค้าเเละการลงทุน ดังนั้น การพัฒนาในการจัดการกับความต้องการที่เร่งรัดของประเทศที่กำลังพัฒนา ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพิสูจน์เเละกำหนดอนาคตของภูมิภาค

@โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนสำคัญหนุนการเติบโตเศรษฐกิจ

นายนาโอยูกิ โยชิโนะ ตัวแทนจากเอดีบี ญี่ปุ่น กล่าวถึงมาตรการด้านการเติบโตของการค้าเเละการลงทุนว่า แบ่งออกได้ดังนี้ 1. การเติบโตอย่างยั่งยืนของเอเชียนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ความเสมอภาคในสังคม 2. การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 3. ประเทศนั้นๆ จะต้องมีการเมืองที่มั่นคง ประเทศมีความปลอดภัย 4. มีความมั่นคงทางระบบเศรฐกิจในระดับมหภาค 5. มีการลงทุนด้านการศึกษา เเละสุขภาพ รวมไปถึงการเปิดการค้าเสรี การลงทุน 6. หลักธรรมภิบาลถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง 7. ยึดคติไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และ 8. ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนด้านการพัฒนา

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งพบว่าในภูมิภาคนี้ยังไม่เเข็งเเกร่ง ดังนั้น ควรมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนควรเข้ามาเเสดงความคิดเห็นเเละให้ข้อเสนอเเนะ ส่วนภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนในเรื่องของการอนุมัติโครงการต่างๆ นอกจากนี้ การวิเคราะห์หรือตรวจสอบโครงการก็ควรทำในระดับที่สามารถเจาะลึกลงไปได้

“หากโครงสร้างพื้นฐานของเราแข็งแกร่ง มีระบบจัดการที่ดีขึ้น รายได้ของเราก็อาจเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะมาจากการสร้างระบบรถไฟ การเข้าถึงเเละเชื่อมโยงกัน ทั้งหมดนี้อาจทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้น เงินที่ได้ก็จะหมุนเวียนเป็นระบบกลับเข้ามาสู่ที่เดิม ขึ้นอยู่ที่ว่ารัฐบาลเเต่ละประเทศจะเอาไปบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดผลกับประชากร อาจจะมองหาเอสเอ็มอีเเล้วสนับสนุนก็ได้”เขากล่าว และว่า อีกเรื่องที่สำคัญ คือระบบการศึกษา ที่ไม่ใช่เพียงเเค่พัฒนาระบบเท่านั้น ผู้คนในเเต่ละภูมิภาคควรได้รับการพัฒนาไปด้วย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เปรู กัมพูชา ที่ล้วนลงทุนในเรื่องการศึกษา ส่งผลให้คนในประเทศมีศักยภาพที่ดีขึ้น

@มาตรการลดหย่อนภาษี-ไฟเขียวท้องถิ่นลงทุนสะดวกขึ้นช่วยจูงใจนักลงทุนมาอีอีซี

ด้านนายไดสุเกะ ฮิราซึกะ ตัวแทนจากเจโทร ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการนำมาตรการทางภาษีมาเป็นเเรงจูงใจ โดยยกกรณีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ เอฟดีไอ คือ บริษัทลงทุนในต่างประเทศต้องการที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นเองนั้นเคยพูดคุยกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงการริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ อีอีซี โดยญี่ปุ่นเองให้ความสนใจและกำลังศึกษา

“เราเคยออกแบบเเผนต้นเเบบที่จะเข้ามาในอีอีซี ซึ่งมีการศึกษาการใช้ถนน เส้นทางต่างๆ ดูว่าหากคุณจะเดินทางโดยการขับรถจากโรงเเรมนี้ไปอีกโรงเเรมหนึ่งต้องใช้ทางไหน แต่หากมีอะไรมาทดเเทนการขับขี่ได้ ก็ต้องมาดูว่ามีการเชื่อมต่ออย่างไรในการขนส่งระหว่างเมือง ทั้งนี้ ต้องศึกษางบประมาณที่จะนำมาใช้ด้วย”

เขากล่าวต่อว่า ในส่วนของการเก็บภาษีหากมีการลดหย่อนหรือผ่อนผันได้ จะส่งผลดีโดยตรงต่อบริษัทต่างๆ ประเทศไทยมีความสำคัญกับญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีการลงทุนในไทยมากกว่าอินโดนีเซียสองเท่า มากกว่ามาเลเซียสามเท่า จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นก็มองว่าประเทศไทยเป็นเเหล่งสำคัญในการลงทุน

ขณะเดียวกัน มองว่าอีกส่วนที่จะทำให้อีอีซีของไทยน่าจะประสบความสำเร็จได้ดีคือเรื่องของด่านตรวจศุลกากร ในการอำนวยความสะดวกด้วยการลดขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาขึ้นได้มาก โดยมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้การลงทุนสูง แต่ได้ประโยชน์มาก

นอกจากนี้ ในเรื่องการสนับสนุนนักลงทุนท้องถิ่น ควรเอื้อให้นักลงทุนท้องถิ่นสามารถลงทุนได้โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพียงแค่ส่งรายงานให้หน่วยงานท้องถิ่นทราบ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้อีอีซีเกิดประสิทธิผล อย่างที่เซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จเมื่อครั้งที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรม

@เชื่อมต่อสนามบิน ดันเศรษฐกิจไร้พรมเเดน

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันตีนันแห่งเอเชีย เเละที่ปรึกษาสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นนั้น ต้องควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับโลกด้วย ปัจจุบันผู้คนเข้าถึงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ เรือ อากาศ ส่งผลให้อาจจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมา เเละทั้งหมดนี้จะไม่ยั่งยืนหากไม่มีการจัดการปัญหา

เมื่อการเติบโตของธุรกิจขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิด “ห่วงโซ่อุปทาน” คือกระบวนการที่หน่วยงานต่างๆ คน หรือเทคโนโลยีรวมตัวกัน เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าหรืองานบริการจากผู้จัดหาไปยังลูกค้า โดยสิ่งเหล่านี้ไม่มีภูมิภาค ไร้พรมเเดน ยกตัวอย่าง ในกัมพูชามีตลาดเอสเอ็มอีกว่า 2,800 เเห่ง อินโดนีเซียมีมากถึงหลักเเสน ถึงแม้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กไม่มีตัวเลขชี้ชัดว่ามีรายได้เท่าไหร่ แต่จากเศรษฐกิจเห็นว่าตลาดกลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้น เเละมีการทำธุรกิจข้ามพรมเเดนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“รับประกันได้เลยว่า ถ้าเราทำให้ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เชื่อมต่อกัน เราจะกลายเป็นโลกใหม่ การค้าระบบดิจิทัลจะมีศักยภาพสูงสุด คุณจะไปไหนก็ได้ การข้ามพรมเเดนก็จะง่ายขึ้น ในเรื่องของอีคอมเมิร์ซไม่ใช่เพียงเเต่อำนวยความสะดวกด้านการค้า จะมีคนเข้ามาเชื่อมต่อระดับโลก ส่งผลดีไปถึงการขนส่งสินค้า หากเคยส่งสินค้าที่ 1 พันตันต่อวัน จะกลายเป็น 2.5 พันตันเป็นต้น”

@ไทยแลนด์ 4.0 ไปไม่ถึงไหน หากไม่สนับสนุนการศึกษา

นายรอล์ฟ ดีเตอร์ ดาเนียล จากสภาหอการค้ายุโรป กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจของอียู ว่าสาเหตุที่บริษัทในยุโรปประสบความสำเร็จ คือการวิจัย และการทำงานร่วมกัน หากมีกรณีไม่สำเร็จก็ต้องศึกษาหาสาเหตุ การศึกษาเอสเอ็มอีเเสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญ มุ่งมั่นเเละพยายามในธุรกิจนั้นอย่างเต็มที่ ทั้งนี้จากการทำงานร่วมกับสภาหอการค้าไทย ทำให้เห็นความแตกต่างของสภาหอการค้าไทยเเละหอการค้ายุโรป โดยไทยมีความจำกัดด้านบุคลากร เงินทุน และเทคโนโลยี

อีกเรื่องที่สำคัญคือ “เเรงงาน” ประเทศไทยยังต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก หากไม่มีเเรงงาน การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะชะงักลง ขณะเดียวกันหากมองลงไปในนโยบายไทยเเลนด์ 4.0 ต้องเชื่อมโยงให้ดีระหว่างเครื่องจักรเเละเเรงงาน หากนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานแทนมากเกินไป แรงงานจะตกอยู่ในสถานะว่างงานจำนวนมาก

เขากล่าวต่อว่า การคุ้มครองนักวิจัยเเละนักพัฒนาในภาคส่วนอียูถือเป็นเรื่องสำคัญ การจะสร้างเเรงบันดาลใจต้องเข้าใจพื้นฐาน หากใช้มาตรการเกี่ยวกับภาษีมาเป็นเเรงจูงใจต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่ ส่วนกรณีรถไฟความเร็วสูงนั้น มองว่าที่จำเป็นคือความเร็วขนาดปานกลาง ไม่ใช่ความเร็วสูง ดังนั้น จึงต้องดูตามความเหมาะสมด้วย

“อียูสนับสนุนอาเซียนได้ แต่ไม่ใช่เรื่องของเงิน เป็นเรื่องของเครื่องมือ ที่ให้พวกคุณช่วยเหลือและพัฒนาตนเอง เพื่อความก้าวหน้า โดยด้านการศึกษา สำหรับผมสำคัญมาก ไทยเเลนด์ 4.0 คงไปไม่ถึงไหน หากคุณไม่สนับสนุนการศึกษา”ตัวแทนสภากอการค้ายุโรปกล่าวสรุป

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

ไขบทวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจภาคเกษตรไทย ผ่าน พ.ร.ก. จัดการคนต่างด้าวปี ’60

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU – OAE Foresight Center : KOFC) โดย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานภาคเกษตรไทย ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร

จากข้อมูลพบว่า ปี 2554 – 2560 ของช่วงไตรมาส 1 (Q1) แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2554 มีจำนวนแรงงานภาคเกษตร 14.88 ล้านคน และลดลงมาเป็น 11 ล้านคนในปี 2560 (Q1) แต่นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น จาก 23.58 ล้านคน ในปี 2554 เป็น 26.4 ล้านคนในปี 2560 (Q1) อีกทั้งแรงงานภาคเกษตรที่มีอยู่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงงานภาคการเกษตรวัยหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน จึงเป็นเหตุให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและทดแทนแรงงานของไทย

อย่างไรก็ตาม การจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลและมาเช้าเย็นกลับยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎกระทรวงได้อย่างชัดเจน จึงเกิดปัญหาในการจัดการแรงงานภาคการเกษตร เป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้จดทะเบียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การเดินทางเข้าออกสามารถทำได้ง่าย จึงส่งผลทำให้เกิด พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวขึ้นมา

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU – OAE Foresight Center : KOFC) ได้ติดตามถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย พบว่า แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในไทย ณ เดือน มิถุนายน 2560 มีอยู่ทั้งสิ้น 1.56 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเข้าเมืองตามมาตรา 9 พิสูจน์สัญชาติเดิม (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์) 904,377 คน (ร้อยละ 58.03) รองลงมาคือ มาตรา 9 นำเข้าตาม MOU จำนวน 439,785 คน (ร้อยละ 28.22) มาตรา 9 ทั่วไป จำนวน 101,818คน (ร้อยละ 6.53) และประเภทอื่นๆ ร้อยละ 7.55

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

คิกออฟ! ‘อภิรดี’ จับมือรมว.เศรษฐกิจตุรกี เจรจา FTA ระหว่างไทย-ตุรกี นัดแรก ขีดเส้นจบในปี’61

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเจรจา FTA ไทย-ตุรกี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของตุรกี (นาย Nihat Zeybekçi) ได้ประกาศการเปิดเจรจา FTA ระหว่างไทยกับตุรกี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี พร้อมตั้งเป้าการค้าให้มีการขยายตัว 2 เท่า ภายใน 3 ปี และได้เริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันรอบแรก ในวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2559

” การเจรจาครั้งแรกที่ประเทศตุรกีเป็นเจ้าภาพนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน เป็นความตกลงที่ครอบคลุมด้านการค้าสินค้า รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการทางเทคนิคต่อการค้า เป็นต้น”

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงแผนการเจรจา FTA และเป้าหมายการเจรจาในแต่ละรอบอย่างชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้การดำเนินการเจรจาสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในกำหนด ทั้งนี้ มีความมุ่งมั่นให้การเจรจาแล้วเสร็จในปลายปี 2561 ซึ่งเป็นปีฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับตุรกี โดยทั้งสองฝ่ายตกลงให้มีการประชุมทุก 3 เดือน ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2560

​นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า การจัดทำ FTA ไทย-ตุรกี จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศทั้งด้านการค้าและการลงทุน เพราะเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี การส่งออกสินค้าของไทยไปประเทศตุรกีและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ

​”ทั้งสองประเทศตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยตุรกีมีที่ตั้งที่สามารถเป็นแหล่งการลงทุนและกระจายสินค้าสำหรับประเทศไทยไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียกับยุโรป ในทางกลับกัน ประเทศไทยก็ตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศในกลุ่มอาเซียน และสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและแหล่งลงทุนแห่งใหม่ให้แก่ตุรกีได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไทยและตุรกียังคงมีลู่ทางขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างมาก”

ในปี 2559 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 35 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,370.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.46 และมูลค่าการค้าสองฝ่ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.33 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 772.34 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 1071.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 9.46 และนำเข้ามูลค่า 299.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 28.24 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 609.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.81 และมูลค่าการค้าสองฝ่ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.34 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 419.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 514.19 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 13.18 และนำเข้ามูลค่า 95.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.19 ซึ่งคาดว่าหากการเจรจาสำเร็จเรียบร้อย และ FTA มีผลบังคับใช้จะทำให้ไทยและตุรกีสามารถบรรลุเป้าการค้าระหว่างกันที่กำหนดไว้ที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

​สินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าจากตุรกี เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระจก แก้ว และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

“สุรินทร์” ชี้อาเซียนเสี่ยงปัญหาเเรงงาน โลกาภิวัตน์ตัวพลิกความมั่นคงโลก

 “สุรินทร์” ชี้อาเซียนเสี่ยงปัญหาเเรงงาน โลกาภิวัตน์ตัวพลิกความมั่นคงโลก ห่วงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กระทบอนาคตในภูมิภาค

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกภาพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายใหม่ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับความร่วมมือเเละการรวมตัวของภูมิภาค” ในการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าเเละการพัฒนา ประจำปี 2560 ที่โรงเเรมพูลเเมน คิง พาวเวอร์

ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงการบูรณาการเข้าสู่โลกาภิวัตน์ว่ามีผลกระทบสองด้านเสมอ อย่างแรกเน้นไปถึงการเปิดเสรีการค้าเเละการลงทุน นำไปสู่การเติบโตเเละขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ เเละการลงทุนในต่างประเทศ โลกในปัจจุบันเชื่อมโยงการค้ามากขึ้น อาทิ การสื่อสาร คมนาคม เเละโลจิสติกส์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกัน เเต่ในโลกที่กำลังพัฒนาขึ้นนั้น พบปัญหามากขึ้น อาทิ หากเกิดภาวะเศรษฐกิจแย่ในกรุงเทพ เพียงข้ามคืนทางการมาเลเซียได้มีการโทรมาเพื่อแจ้งว่าได้รับผลกระทบ สื่อให้เห็นว่า เมื่อเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเพียงหนึ่งที่สามารถที่จะดึงที่อื่นๆ ให้ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้การเชื่อมโยงดังกล่าวเกินจากที่คาดการณ์เอาไว้

 “ทุกอย่างดึงเราเข้ามาเชื่อมโยงต่อกัน เครือข่ายของการผลิตกระจายไปทั่วภูมิศาสตร์อาเซียน เราต้องเผชิญหน้ากับตลาดการเงินโลก หากขอกู้ 20 ล้าน คุณจะได้เลย 100 ล้าน โดยเขาไม่ได้บอกว่าค่าเงินบาทผันผวนอย่างไร ซึ่งเราก็ไม่คิดถึงตอนใช้คืนว่ายอดเงินจะเพิ่มขึ้นเเค่ไหน” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว

ดร.สุรินทร์ กล่าวถึง การเจรจาด้านการค้าระดับพหุภาคี ในการเจรจาเเต่ละครั้งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเเละเตรียมพร้อมเพื่อหาทางเเก้ไข หากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยดีนัก

โดยการทำความเข้าใจเเละศึกษาโลกาภิวัตน์ ทำให้คนที่อยู่ในฐานะยากจนจะถูกยกระดับขึ้นมา คนที่อยู่ชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถเท่าเทียมคนชั้นกลางในยุโรปได้ ทั้งนี้หากใช้โลกาภิวัตน์ในทางที่ไม่ถูกต้องอาจก่อผลเสีย อาทิ ผู้คนตกงาน หรืออยู่ในสถานะว่างงาน จากการดึงแรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงาน ส่งผลโดยตรงต่อดุลทางการค้า เเละยังเห็นได้ว่า “โลกาภิวัตน์คือสิ่งที่สร้างผลกระทบ”

เขายกสถิติการสำรวจเเสดงให้เห็นว่า การค้าประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตกร่วงลงมาอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตประมาณ 4-5% ของอัตราการขยายตัวของโลก

“เราเจอปัญหาขาดเเคลนเเรงงานโดยตรงทั้งในอุตสาหกรรม การเเปรรูป ต้องทำใจเเละใช้เเรงงานต่างชาติ เราต้องการเเรงงานที่ใช้มือเพื่อย้ายของ บริการคน ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่เเล้วมีการสำรวจจาก ยูเอ็น ถึงทัศนะคติของคนไทยต่อเเรงงานต่างชาติ 90% บอกว่า แรงงานต่างชาติเสี่ยงต่อความมั่นคง แต่พวกเขาก็มักมีเเม่บ้าน เเละคนขับรถที่เป็นคนต่างชาติ”

อดีตเลขาธิการอาเซียนเผยถึงผลกระทบด้านที่สอง คือการเปิดโลกาภิวัฒน์ไม่ต่างจากเอาตัวเองออกสู่โลกภายนอก ประเทศไทยได้ประโยชน์ด้านการค้าเเละการลงทุนขนาดใหญ่ เข้าถึงกลุ่มผู้มีอำนาจซื้อ ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง แต่ไทยมีปัญหาคือการจัดการเรื่องเเรงงานของประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาเหล่านี้ทำให้ไทยต้องเผชิญกับการจัดเเรงงานที่ไม่โปร่งใส ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์

ผลสำรวจจากสหรัฐเผยว่า การค้ามนุษย์ในไทยอยู่อันดับสอง เกิดมาจากตลาดเเรงงานที่มีตัวเลือกเยอะ เเต่อยากได้คนดี ส่งผลไปถึงการจ่ายเงินสำหรับการทุจริตข้ามประเทศมาทำงาน ยิ่งพัฒนามากเท่าไหร่ ปัญหาก็หนักขึ้นมากเท่านั้น ตามมาถึงข้อตกลงระหว่างประเทศไปจนถึงระดับเอเปคก็ยังพบปัญหาเช่นเคย ประเทศจำเป็นต้องเเก้ไขกันเอง เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน หากเกิดกรณีใกล้เคียงขึ้นอีก

นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ยังอยู่ได้ในโลกยุคใหม่ ซึ่งได้เเก่เทคโนโลยี งานวิจัยเเละวิทยาศาสตร์ โดยจะมีช่องว่างของคนที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์มากขึ้น จึงจะต้องมีมาตรการจัดการการค้าที่ขยายตัว โดยสินค้าราคาสูงกว่าเมื่อ 10 ปีที่เเล้วถึง 2 เท่า การเปิดตลาดโลกาภิวัตน์ เสรีนิยมที่กำลังขายได้อย่างดี สนามการค้าที่เท่าเทียมกำลังทำให้สินค้าทะลักเข้ามา

“ใครก็ตามที่มีอัตราการค้าส่วนเกิน เอาสินค้าราคาถูกมาทุ่มตลาด ค้าปลีกรับกำไรมากกว่า อาจเรียกว่าเป็นการค้าที่ไม่เท่าเทียม คนที่คิดว่ากำลังขาดทุนจากโลกาภิวัตน์ จะต้องคิดสองครั้ง ว่าโลกาภิวัตน์คืออะไร เราจะได้ประโยชน์จากมันอย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่มั่นคง เเต่เป็นเรื่องที่ต้องปรับ ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์จะต้องผ่านไปให้ได้”

ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า การเข้าสู่ช่วงครึ่งทศวรรษนี้ เราจะต้องไว้ใจ มีวิสัยทัศน์ ความสามารถในการนำประชาชนเดินไปตามเส้นทางนี้ได้ ประเทศอาเซียนจะไม่ได้มาถกเถียงกันเรื่องการเลือกตั้ง เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายในของเเต่ละประเทศ การบูรณาการในภูมิภาคอาเซียน ต้องทำอย่างไรไม่ให้ถูกกระทบ จากข้อตกลงภายนอกกลุ่มอาเซียน นอกเหนือจากมุ่งหวังจากประโยชน์เเละกำไร เป็นการเดินทางสองเส้นทางที่คู่กันไปในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า สำหรับอาเซียนถือเป็นพันธกิจร่วมกัน ไม่อย่างนั้นจะต้องเป็นเหยื่อของเเนวโน้ม หรือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะขัดขวางการก้าวหน้าของเราต่อไป

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

เกษตรทันสมัยด้วยนวัตกรรม NECTEC FAARM series

 “เนคเทค” ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ประกาศเป็นนโยบายที่จะมุ่งพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำมาใช้ได้จริง ไม่ได้อยู่แต่บนหิ้งอีกต่อไป ล่าสุดเปิดตัว “NECTEC FAARM series : ฟาร์ม เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านการเกษตร” งานวิจัยร้อน ๆ จากนี้พร้อมแล้วให้ภาคเอกชนนำไปผลิตจำหน่ายหรือใช้ในภาคเกษตรกรรมของไทย

“ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร” ผู้อำนวยการเนคเทค เปิดเผยว่า ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ตามแผนปฏิบัติการด้านเกษตรและอาหารระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 -2564) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการเปลี่ยนแปลงการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ยกระดับมาตรฐานการเกษตรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร

ล่าสุดจึงได้เปิดตัวงานวิจัยพร้อมใช้อย่าง “NECTEC FAARM series” ที่จะช่วยตรวจวัดและควบคุมตัวแปรสำคัญในการทำการเกษตร ส่งผ่านข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตให้ผู้ใช้งานได้เข้าถึงแบบเรียลไทม์ในทุกที่ทุกเวลา ทั้งจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นบนแอนดรอยด์ โดยในเฟสแรกจะใช้ชุดเทคโนโลยีอย่าง สถานีวัดอากาศ, อุปกรณ์สำหรับผลิตภัณฑ์ระบบควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, Smart Aqua Application, กล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ (Irrigation Valve Control Box) และโซลาร์ปั๊มอินเวอร์เตอร์ (SUN FLOW) นำมาประกอบกันเป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ให้เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร อาทิ”WATER FiT” ระบบให้น้ำสำหรับการเพาะปลูก โดยออกแบบการให้น้ำที่ควบคุมผ่านการสื่อสารไร้สายและแยกอิสระกับอุปกรณ์ควบคุมวาล์วและอุปกรณ์ควบคุมปั๊ม ทำให้การออกแบบรูปแบบการให้น้ำแก่พืชทำได้ง่ายและมีความยืดหยุ่นสูง อาทิ การให้น้ำตามอัตราการคายระเหย ณ แต่ละช่วงเวลา ใช้งานได้ทั้งในแปลงเกษตรขนาดเล็กจนถึงแปลงเกษตรขนาดใหญ่

ทั้งมีการบันทึกข้อมูลการให้น้ำและตรวจวัดทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนช่วยให้ผู้ใช้งานวิเคราะห์และปรับปรุงการให้น้ำในรอบถัดไปตามสภาพแวดล้อมได้ทันท่วงที อาทิ ดินเปียกก็สั่งให้รดน้ำน้อยหรืองดการให้น้ำได้ ทั้งยังตั้งช่วงเวลาการให้น้ำได้มากกว่า 100 ช่วงเวลา

“BUBBLE FiT” คือ ระบบควบคุมการและเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องมือ ระบบ “Oxy” ควบคุมเครื่องเติมอากาศสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยการตรวจวัดปริมาณออกซิเจนละลาย 24 ชั่วโมงพร้อมเปิด-ปิดเครื่องเติมอากาศให้มีระดับออกซิเจนที่เหมาะสม ป้องกันความเสี่ยงจากออกซิเจนต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และมีการส่งค่าทำงานเข้าสู่อินเทอร์เน็ตรวมถึงแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุผิดปกติ ที่สำคัญมีระบบเปิดเครื่องตีน้ำทดแทนเมื่อมีเครื่องตีน้ำหยุดการทำงานจากเหตุฉุกเฉิน เช่น กระแสไฟเกิน

“AMBIENT SENSE” คือ ระบบตรวจวัดสภาพแวดล้อมสำหรับการปลูกเลี้ยง ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มของแสง ฯลฯ ทั้งการเพาะปลูก “Greenhouse” และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ “AquaLife” โดยมีเซ็นเซอร์วัดสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ หากอุณหภูมิร้อนเกินไป สามารถลดอุณหภูมิหรือปรับความชื้น ด้วยการพ่นหมอก ปรับตาข่ายพรางแสง

“เกษตรกรค่อนข้างพร้อมที่จะนำไปใช้ได้ เดี๋ยวนี้มีสมาร์ทโฟนใช้แล้ว ตัวนี้จะทำให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ สัญญาณมือถือก็ค่อนข้างครอบคลุม และมีลูกหลานคอยเข้ามาช่วย ดังนั้น นวัตกรรมที่เนคเทคทำจะพยายามทำให้ถูกที่สุด เช่น ใช้บลูทูท เชื่อมต่อ ไม่กี่พันบาท วัดความชื้นดินและสภาพอากาศ อาจมีอุปกรณ์ใหญ่ เช่นที่ใช้กับบ่อเลี้ยงกุ้ง คิดแล้วไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนบ่อ แต่ผลประโยชน์คุ้มกว่า ช่วยควบคุมออกซิเจนให้เหมาะสมและแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ลดความสูญเสียได้มาก เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเมือง ปัญหาไฟตกไฟกระชากที่อาจทำให้ระบบล่มเป็นสิ่งที่เลี่ยงยาก”

และได้เชิญชวนเอกชนซึ่งเข้าถึงตัวผู้ใช้ได้เร็วกว่า ให้นำเทคโนโลยีไปขยายต่อให้เกษตรกร ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ได้จริงอย่างรวดเร็ว โดย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับเนคเทค-สวทช. ในโครงการ “บัวหลวงให้น้ำเพื่อการเกษตร” ใช้กล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ (Irrigation Valve Control Box) ที่กำหนดเวลาการให้น้ำและมีเซ็นเซอร์วัดค่าความชื้นดิน-ปริมาณน้ำฝน ควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะปลูก นำร่องในพื้นที่การเกษตรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการเพาะเห็ด หมู่บ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์ และกลุ่ม Young Smart Farmer เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

 “เรายังพัฒนาต่อเนื่องไปสู่ IoT โดยมุ่งหวังให้มีการนำข้อมูลการเกษตรไปใช้วิเคราะห์และประมวล (FAAR AlicE : Analytics Engines) เป็นเครื่องมือช่วยค้นหาพื้นที่ในการปลูกพืช อาทิ ทำนายฝนล่วงหน้า คำนวณปริมาณน้ำและสารอาหารที่เหมาะสม ปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์ ข้อมูลสภาพอากาศและภูมิประเทศดึงจากดาวเทียมได้ แต่ยังขาดข้อมูลที่ต้องอาศัยผลงานวิจัยที่เกษตรกรได้นำไปใช้ เช่น ค่าความชื้นหรืออุณหภูมิ และข้อมูลบันทึกกิจกรรมของเกษตรกร”

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

BCP ผนึก KSL ตั้ง บ. ทำธุรกิจเอทานอลเล็งดันเข้าตลาดปี61

        บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 60 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ว่า มีอนุมัติการควบรวมบริษัท (Amalgamation) ระหว่างบริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด (BBH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทำธุรกิจชีวภาพ กับบริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด (KSLGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL จะจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับโอน และเข้าถือหุ้น 99.99% ใน บมจ. เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น ซึ่งทำธุรกิจเอทานอล

               การควบรวมดังกล่าวจะทำให้กิดบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (BBGI) ซึ่ง BCP จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ดังกล่าวสัดส่วน 60% และ KSL ถือหุ้นในสัดส่วน 40% เบื้องต้น คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 60 ก่อนผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าอาจจะดำเนินการได้ช่วงไตรมาส 4/61

                บริษัทใหม่จะเป็นบริษัทหลัก (flagship company) ที่ BCP และ KSL ประสงค์จะให้ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Based) ได้แก่ เอทานอล และไบโอดีเซล (B100) โดยการควบรวมดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลดีต่อ BCP และผู้ถือหุ้นในระยะยาวในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และเป็นการสร้างศักยภาพ และความได้เปรียบทางธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มโอกาสการขยายธุรกิจดังกล่าวในอนาคตผ่านบริษัทใหม่

               สำหรับ BBH ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท บางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด (BBE) ซึ่ง BBH ถือหุ้น 84.99%, บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ถือหุ้น 70% และบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (UBE) ถือหุ้น 21.28%

                ขณะที่ KSLGI เมื่อรับโอนหุ้นจาก บมจ. เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น แล้ว ก็จะทำให้เป็นผู้ผลิตเอทานอลทั้งหมดของ KSL ซึ่ง ณ วันควบรวมบริษัทใหม่ จะทำให้เป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ เอทานอล และ B100 ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตรวม 1.71 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็น กำลังการผลิตเอทานอล 9 แสนลิตรต่อวัน และ B100 จำนวน 8.1 แสนลิตรต่อวัน

         การควบรวมบริษัทระหว่าง BBH กับ KSLGI ถือเป็นการเสริมสร้างศักยภาพ และสร้างความแข็งแกร่งด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ๋ของบริษัทใหม่ คือ BCP และ KSL มีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนทั้งด้านวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์จากการควบบริษัท (Synergy) รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสเติบโตในอนาคต

               ขณะที่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 60 ต่อ ตลท. ว่า ที่ประชุมฯ อนุมัติการยกเลิกการนำ บมจ. เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ KSLGI เพื่อเข้ารับโอนธุรกิจของ เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น หลังจากนั้น ให้นำ KSLGI เข้าควบรวมกับ BBH

                KSL และ BCP ได้ตกลงร่วมกันในหลักการว่า ภายหลังจากการดำเนินการควบรวมบริษัทแล้วเสร็จ ในกรณีที่บริษัทใหม่ดำเนินการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของไทยนั้น หากมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนหนึ่งเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย จะเป็นการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้นที่แต่ละฝ่ายถือในบริษัทใหม่ในวันควบบริษัท (Pre-emptive right)

 จาก  http://manager.co.th   วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

ค่าเงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่า 33.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ชี้ดอลลารสหรัฐแข็งค่าเล็กน้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 20 ก.ค. 2560 ระบุว่าค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 33.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากการปิดตลาดวันพุธ 19 ก.ค. ที่ระดับ 33.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน (9.30น.) มีการซื้อขายค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับบ้านในสหรัฐเดือนมิ.ย. ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ในขณะที่ระหว่างวันนักลงทุนในตลาดจับตามองผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ว่าจะส่งสัญญาณเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างไร

ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้ไว้ที่ 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันไทยมีตัวเลขทางเศรษฐกิจได้แก่การส่งออกเดือน มิ.ย. ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทมากนัก

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

“อุตตม” เตรียมถก 31 ก.ค.เคาะแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี  

        “คณิศ” เลขาฯ อีอีซีเผย การประชุมอีอีซีที่ “อุตตม” เป็นประธาน 31 ก.ค.นี้เตรียมเคาะแผนพัฒนาเกษตรกรรม 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี สอดรับนโยบายนายกฯ พร้อมบินโรดโชว์จีน 23-26 ก.ค. ด้านลาซาด้าตบเท้ารายงานเตรียมปั้นเอสเอ็มอีไทยฝึกอบรมค้าขายออนไลน์ระยะ 2

                 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า วันที่ 31 กรกฎาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีนายอุตตม สาวนายน เป็นประธาน โดยที่ประชุมจะหารือถึงแผนพัฒนาเกษตรกรรมในพื้นที่อีอีซี (จ.ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายเพื่อให้ชาวบ้านซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการอีอีซี โดยกำลังพิจารณานำแผนพัฒนาจังหวัดมารวมเข้ากับแผนพัฒนาอีอีซี

               “นายกฯ เองก็ให้มาดูเพราะในพื้นที่อีอีซีมีการทำเกษตรกรรมส่วนหนึ่งอยู่แล้ว และตามนโยบายอีอีซีจะก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ซึ่งอาจมีปัญหาของการแย่งน้ำของภาคเกษตรกรรมหรือไม่ ต้องให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์” นายคณิศกล่าว

               อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคมนี้ ทางสำนักงานอีอีซีจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ออกไปโรดโชว์นักลงทุนที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ให้เข้ามาลงทุนในอีอีซีตามแผนที่ได้วางไว้ โดยในส่วนของความคืบหน้าการลงทุนของลาซาด้านั้นล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของลาซาด้า กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซจากจีนเข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม โดยมารายงานความคืบหน้าโครงการลงทุนอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซในพื้นที่อีอีซีเพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคซีแอลเอ็มวี ที่ล่าสุดมีการอบรมเอสเอ็มอีเพื่อเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์แล้ว 1,000 ราย      

        “เราเองก็เห็นว่าระยะแรกนั้นน้อยเกินไปจึงอยากให้ขยายเพิ่ม ซึ่งลาซาด้าก็พร้อมขยายโครงการฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยให้เข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซระยะ 2 โดยปัญหาเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไม่มีความรู้เรื่องการทำตลาดออนไลน์” นายคณิศกล่าว

 จาก  http://manager.co.th   วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

'คลัง'โอ่มาตรการ 8 แสนล. ช่วยเกษตรกรยิ้มได้

'คลัง' โอ่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 8 แสนล้าน ปี 59/60 เข้าเป้า ทำรายได้ภาคการเกษตร 5 เดือนแรก โต  17.5% ปี 60 พร้อมเดินหน้าช่วยต่อ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลจากการที่รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเกษตรและผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่ปีงบ 59/60 พบว่า ช่วยทำให้รายได้เกษตรที่แท้จริง ไม่รวมผลของเงินเฟ้อช่วง 5 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวถึง 17.5% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณผลผลิต  ดีกว่าปี 59 หดตัว  0.2% ต่อปี และเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องทุกภูมิภาคของประเทศ  ขณะเดียวกันการผลิตภาคเกษตรไตรมาสที่ 1 ปี 60 ยังขยายตัวได้ถึง 7.7% สูงกว่าไตรมาส 4 ปี 59  ขยายตัว 3.0%  ด้วย

“มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐ ทั้งด้านสินเชื่อ และด้านงบประมาณเมื่อปีทีผ่านมา ซึ่งใช้เงินกว่า 8 แสนล้านบาท  สามารถช่วยเหลือเกษตรกรหลายล้านครัวเรือน ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฐานล่างมีการเติบโต โดยไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะภาคธุรกิจห้างร้าน แต่อย่างใด”

นายกฤษฎา กล่าวว่า ในปีการผลิต 60/61 ภาครัฐได้มีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมพืชเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร  เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวแกป โครงการประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น

จาก  https://www.dailynews.co.th    วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

พพ.เปิดโครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด

อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน เปิดยื่นเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัดรอบที่ 2 ไม่เกิน 31 ก.ค.นี้  วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 66 ล้านบาท

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า  ขณะนี้พพ.ได้เปิดประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด(CBG) รอบที่ 2 ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถขอรับใบสมัครได้จากพพ. หรือทางเว็บไซต์ www.dede.go.th  โดยยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนได้ตั้งแต่ 15 พ.ค.-31 ก.ค. 2560 ซึ่งพพ.จะดำเนินการพิจารณาข้อเสนอเรียงลำดับตามวันและเวลาที่ผู้ยื่นข้อเสนอยื่นซองข้อเสนอต่อพพ.โดยจะทำการพิจารณาสัปดาห์แรกของเดือนถัดไปหรือจนกว่าจะครบตามเป้าหมายงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้คุณสมบัติที่สำคัญในการเข้าร่วมโครงการคือจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพอยู่แล้วหรือกำลังแล้วเสร็จ หรือมีกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพที่เพียงพอต่อการผลิต CBG อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ตันต่อวัน หรือสามารถทำสัญญาซื้อขายก๊าซชีวภาพกับผู้ประกอบการที่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพอยู่แล้วได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยวงเงินสนับสนุนติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพและบรรจุ CBG รอบที่ 2 ไม่เกิน 66ล้านบาทถ้วน มี  3 อัตราแบ่งตามขนาดระบบไบโอมีเทนอัด (CBG)

จาก  http://www.innnews.co.th  วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

คาดเลิกใช้2สารเคมีอันตรายต่อผู้บริโภคมีผลบังคับ2562 

          ขับเคลื่อนเลิกใช้สารเคมีเกษตรอันตรายยังล่าช้า คาดการเลิกใช้สารเคมี 2 ชนิด และจำกัดการใช้ 1 ชนิด อาจมีผลภายในปี 62 ขณะนี้ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการบรรจุเป็นกฎหมาย คาดไม่เกิน 2 เดือนจะสามารถส่งข้อมูลต่อได้

          ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมวิชาการระดับชาติเพื่อการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 ภายใต้ Theme "ร่วมขับเคลื่อนการจัดการสารเคมีไทยให้ปลอดภัย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะวิชาการ จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการสารเคมีของประเทศ ลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี เป็นประธานในพิธีเปิด

          เภสัชกร (ภก.) อมรรัตน์ ลีนะนิธิกุล เภสัชกรชำนาญการพิเศษ อย.ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องการยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด และจำกัดพื้นที่การใช้ 1 ชนิด ภายในปี 2562 ว่าหลังจากมติของ 5 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหรรม รัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้ประกาศนโยบายเรื่องให้งดการนำเข้ายากำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด คือพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และออกหลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่การใช้ยากำจัดศัตรูพืชไกลโคเสตภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ซึ่งจะได้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สธ.เป็นประธาน โดยมีคณะกรรมการจากสำนักงานปลัดกระทรวงฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และไทยแพลน ซึ่งหลังจากมีการประชุมกันไปแล้ว 4 ครั้ง ขณะนี้อยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาก่อนส่งมอบให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ไปทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การลด ละ เลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด

          ภก.อมรรัตน์กล่าวอีกว่า ตามแผนงานนั้นคาดว่าไม่เกิน 2 เดือนจะสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังกระทรวงเกษตรฯ ได้ ซึ่งในปี 2560 จะเป็นขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลต่างๆ และปี 2561 จะเป็นกระบวนการในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน คือการแนะนำให้ประชาชนรู้จักใช้สารทดแทน ซึ่งในช่วงนี้อยู่ระหว่างการประกาศว่ามีนโยบายนี้อยู่ การจะเลิกไม่เลิกใช้จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ทั้งนี้ การห้ามใช้หรือแม้แต่การจำกัดพื้นที่ใช้อย่างไกลโคเสต ที่ห้ามใช้ในอุทยาน โรงเรียน ชุมชน และโรงพยาบาลนั้น กว่าจะออกมาเป็นตัวกฎหมายคิดว่าก็ต้องกินเวลาสักระยะ เพราะมีกฎหมายควบคุมหลายตัว อย่างเช่น กฎหมายอุทยาน เป็นต้น

          "กระทรวงมีหน้าที่หารือร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยว ข้อง เพื่อออกเป็นนโยบายเสนอไปยังกระทรวงต่างๆ ที่จะรับหน้าที่นำไปดำเนินการออกเป็นตัวกฎหมายต่อ หากมีการออกเป็นตัวกฎหมายซึ่งต้องทำภายในปี 2562 ตามกำหนด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสารเคมีในพืชนั้น สธ.เป็นเหมือนคนที่ต้องแก้ไขที่ปลายเหตุ คือเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ จะมีหน้าที่ในการรักษาและตรวจสอบพืชผักว่ามีสารเคมีเจือปนหรือไม่ก่อนออกสู่ตลาด ดังนั้นการแก้ไขต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้องมอบให้กระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ หากมีการออกเป็นตัวกฎหมายห้ามใช้แล้ว สธ.ก็จะช่วยเกษตรกรด้วยการรับซื้อผัก-ผลไม้ปลอดสารที่ห้ามไปประกอบอาหารให้คนไข้ในโรงพยาบาลในสังกัด" ภก.อมรรัตน์กล่าว.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

สศอ.วางโรดแมปดันภาคอุตฯสู่ไทยแลนด์4.0 

 สศอ.จัดเวทีใหญ่ เชิญชวนภาคเอกชน-ประชาชน ระดมความคิดวางโรดแมป ผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ "ไทยแลนด์ 4.0"

          นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่าวันที่ 24 ก.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ อิมแพค เมืองทองธานี สศอ.จัดประชุมวิชาการ OIE Forum 2017 โดยมี นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "มิติใหม่สู่ประเทศไทย 4.0" พร้อมจัดงานเสวนาในหัวข้อ "อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศ ไทย" และยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้ออื่นๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ประกอบการในองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมด้วย

          ทั้งนี้ สศอ.ในฐานะหน่วยงานหลัก ได้ตระหนักถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีแนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นกลไก ขับเคลื่อนภาค ศก.ของประเทศ ให้สามารถยกระดับก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้โมเดล "ประเทศ ไทย 4.0" ของรัฐบาล จึงเชิญชวนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม, นักลงทุน, ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป มาร่วมงาน เพื่อมีส่วนร่วมในการบูรณาการ เชื่อมโยงแนวคิด และนำไปสู่การจัดทำแผนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

"ชาวไร่อ้อย"วอนชะลอมติห้ามนำเข้า"พาราควอต"

“กลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง วอนนายกรัฐมนตรี ทบทวนการยกเลิกใช้สารเคมี “พาราควอต” กำจัดวัชพืช  จ่อส่งจดหมายขอพบ นายกฯ รมต.5หน่วยงาน ขอชะลอ มติการห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร     

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายธนัษ อภินิเวศ กลุ่มบริษัทผลิตภัณฑ์อารักขาพืช เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่พบปะเกษตรกรกว่า 100 ราย ทำไร่อ้อย และมันสำปะหลัง อ.พนัสนิคม จ.ลพบุรี ที่มีความกังวลว่าภาครัฐจะยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช 2 ชนิด คือพาราควอต และคอร์ไพริฟอส ถูกกำหนดเป็นวัตถุอันตรายประเภท4 จะไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนเพิ่ม และยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธ.ค. ว่า สารพาราควอต ออกฤทธิ์ในการคุมฆ่าหญ้าได้ทันที ซึ่งเกษตรกรกลุ่มพืชไร่ นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากว่า 50 ปี โดยขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ กังวลว่าถ้าภาครัฐห้ามใช้สารพาราควอต ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และสารกำจัดวัชพืชตัวอื่นมีราคาแพง ยังมีประสิทธิภาพด้อยกว่าและต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าสารพาราควอต โดยสารเคมีตัวนี้มีความจำเป็นใช้กับพืชเศรษฐกิจหลักๆ อ้อย ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง หากถูกระงับหรือยกเลิกใช้ ขอวิงวอนพิจารณาอย่างรอบด้าน อยากให้ยึดในแง่วิทยาศาสตร์ ที่สามารถพิสูจน์ว่าไม่มีสารตกค้าง

นายธนัษ กล่าวอีกว่า กลุ่มอารักขาพืช ได้ทำจดหมายขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีสำนักนายกฯ เพื่อขอให้ชะลอมติดังกล่าว ออกไปก่อนเพราะมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยกว่า 1.5 ล้านครัวเรือน  รวมทั้งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดความปลอดภัยสารเคมี พาราควอตใช้ในการเกษตร ให้ใช้แทบสีเหลือง หมายถึงสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายสูง รวมทั้งเกษตรกรต้องพึ่งพาสารพื้นฐานกำจัดวัชพืช เกือบ 100%  ที่ผ่านมากว่าจะได้ขึ้นทะเบียนสารพาราวอต มีการศึกษาวิจัยไม่พบสารตกค้างพร้อมศึกษาผลกระทบระยะยาว 13 ปี เก็บตัวอย่างดิน น้ำ โดยมีเอกสารยืนยัน ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม.

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

กรมฝนหลวงฯ เร่งปฏิบัติการทำฝนเทียมพื้นที่ต้องการน้ำ-ฝนกระจายตัวไม่ถึง

        นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พายุโซนร้อน "ตาลัส" เคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยตอนบน ทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศได้รับผลกระทบ มีฝนตกในหลายพื้นที่ และจากการสำรวจปริมาณน้ำฝนในหลายพื้นที่พบว่าสภาพการเกิดฝนไม่กระจายตัวทั่วทุกพื้นที่ ทำให้บางพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีทั้งพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ขอรับบริการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ขอรับบริการฝนหลวงและพื้นที่ที่ต้องการน้ำแต่ฝนกระจายตัวไม่ถึง โดยมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอพยัคฆภูมิ อำเภอพิสัย อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด และพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ในอำเภอปทุมรัตน์อีกด้วย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปี โดยขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 2 เที่ยวบิน จำนวนชั่วโมงบิน 3.20 ชั่วโมง ใช้สารฝนหลวงจำนวน 2 ตัน พบว่ามีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางในพื้นที่

               อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ และจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

“ฉัตรชัย” บินถกรัฐมนตรีเกษตรฯอิสราเอล หารือเทคโนโลยีทะเลทรายสู้แล้ง-วิจัยพันธุ์พืช

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือและลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรร่วมกับนายยูริ แอเรียล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทแห่งรัฐอิสราเอล ณ เมืองเยรูซาเลม รัฐอิสราเอล ว่าหลังการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลของสองประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรครั้งนี้แล้ว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในการตั้งคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร และจัดการประชุมเพื่อหารือความเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรที่ทั้งสองฝ่ายสนใจภายใต้ความตกลงฯ ทั้งด้านการเกษตร พืช ปศุสัตว์ ประมง การพัฒนาด้านชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาด้านสหกรณ์ ความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศในภาคการเกษตร และการแปรสภาพเป็นทะเลทราย

ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมมือสนับสนุนเทคโนโลยีด้านการเกษตร และระบบชลประทาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเกษตร และชลประทานจากอิสราเอล ที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในภาคการเกษตร ทั้งระบบน้ำหยดบนผิวดิน แบบฝังใต้ดิน และแบบฉีดฝอย เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และใช้หมุนเวียน เทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำเค็ม และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลด้านการเกษตร ที่ฝ่ายไทยมีความสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง และไม่มีน้ำบนผิวดิน ซึ่งคล้ายคลึงกับอิสราเอล โดยมีแนวทางความร่วมมือระหว่างกันใน 3 แนวทางหลัก คือ 1) การใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบชลประทานประหยัดน้ำ เพื่อนำไปขยายผลผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ 2) ให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการเลือกการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เครื่องมือ และเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ ที่จะเชื่อมโยงและนำมาพัฒนาแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri Map 3) กำหนดแผนงาน/โครงการ/พื้นที่ดำเนินการในไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญอิสราเอลให้คำแนะนำ ซึ่งฝ่ายไทยได้มอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักที่ประสานงานกับทางอิสราเอลต่อไป

“การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านชลประทานของอิสราเอลให้กับไทยจะเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายไทยจะได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพของอิสราเอล ขณะที่ฝ่ายอิสราเอลจะมีลู่ทางส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของอิสราเอลในไทยด้วย เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยยังประสบปัญหาแหล่งน้ำ และความแห้งแล้ง ดังนั้น จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและผลงานวิจัยที่สามารถปัญหาอุปสรรคจากข้อจำกัดของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมาใช้เพื่อการพัฒนาการเกษตรของไทยมากขึ้น ซึ่งอิสราเอลเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้ และได้ลงทุนอย่างมหาศาลในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการชลประทานจนประสบความสำเร็จ สามารถแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเพื่อการอุปโภค การนำน้ำเสียจากการอุปโภคกลับมาใช้ใหม่สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม การมีระบบท่อส่งน้ำทั้งจากแหล่งน้ำจืดธรรมชาติและโรงงานผลิตน้ำจืดไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น การเพาะปลูกแบบระบบน้ำหยด ที่สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี” พลเอก ฉัตรชัยกล่าว

นอกจากการหารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังเจรจาแลกเปลี่ยนเปิดตลาดสินค้าเกษตร รวมถึงการอำนวยความสะดวกเพื่อลดปัญหาอุปสรรคการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน เพื่อขยายการค้าสินค้าเกษตรกันมากขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันอิสราเอลเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรกับไทยอันดับที่ 48 ซึ่งในปี 2559 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันเป็นจำนวน 5,542 ล้านบาท โดยมีอัตราการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ4.62ต่อปี โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับอิสราเอลมาโดยตลอด

รวมถึงได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ ของอิสราเอล เช่น ศูนย์วิจัยการเกษตร กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท หรือ เอ-อา-โอ (ARO) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประสบผลสำเร็จในการวิจัยทางการเกษตร ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้มีการหารือในการแลกเปลี่ยนงานวิจัยระหว่างกัน โดยเฉพาะเรื่องงานวิจัยด้านพันธุ์พืช การเก็บรักษาผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งได้เยี่ยมชมโรงงานบำบัดน้ำเสียแห่งแคว้นดาน ซึ่งเป็นโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐอิสราเอล มีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ประมาณ 120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สหกรณ์การเกษตร และสวนผลไม้ของอิสราเอล ที่นำระบบชลประทานแบบน้ำหยดบนผิวดิน และระบบชลประทานน้ำหยดแบบฝังใต้ดิน มาใช้ในการทำการเกษตร อีกด้วย

“ทั้งหมดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สองประเทศได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ประเทศอิสราเอลได้พัฒนาแล้วมาต่อยอดกับประเทศไทยที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับภัยแล้งและน้ำท่วม ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ สอดคล้องกับนโยบายด้านการเกษตรในช่วง 20 ปี ก็จะเน้นการทำการเกษตรที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้พืชผลได้รับน้ำอย่างเพียงพอแม้จะเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จากในปัจจุบันการทำการเกษตรของประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 20 เป็นการทำการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน” พลเอก ฉัตรชัยกล่าว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สสก.9ชี้แนวทางบริหารศัตรูอ้อย n แนะ4ข้อจัดการ‘โรค-แมลง’ลดปัญหาผลผลิตเสียหาย

นายเกษม ไตรพิจารณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 (สสก.9) จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในเขตภาคเหนือตอนล่าง ปลูกมากใน จ.กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และสุโขทัย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 2,522,833 ล้านไร่ ปัจจุบันการผลิตอ้อยของประเทศไทยมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการผลิต และการใส่ปัจจัยการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น การผลิตอ้อยในเขตภาคเหนือตอนล่างมักจะประสบปัญหากับภัยแล้ง เพราะไม่มีแหล่งน้ำ อาศัยน้ำฝน บางปีแห้งแล้งรุนแรง ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงเป็นอย่างมาก ประกอบกับมีการระบาดของหนอนกออ้อยอย่างรุนแรง ในสภาพอากาศแห้งแล้ง ในช่วงฤดูฝนหากปลูกอ้อยในที่ลุ่มต่ำ น้ำขัง การระบายน้ำไม่ดี เป็นดินดาน การระบาดของโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคแส้ดำ โรคเหี่ยว โรคเน่าคออ้อย และโรคใบขาว ก็จะรุนแรง

ดังนั้น เกษตรกรต้องมีการบริหารจัดการไร่อ้อย ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เมื่อลดปัญหาการระบาดของโรคแมลงศัตรูอ้อย ดังนี้ 1.การเตรียมดินปลูก 1.1 เกษตรกรจะต้องปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด หรือไม่เผาใบอ้อย เพื่อรักษาความชื้นของดินเป็นการส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ 1.2 จะต้องไถดินให้ลึก เพื่อให้การระบายน้ำดี ต้นอ้อย

จะสามารถเจริญเติบโตได้ดี 1.3 ปรับพื้นที่ให้มีความลาดเอียง สามารถระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำท่วมขัง 1.4 หากเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยเดิมควรมีการปลูกพืชหมุนเวียน หรือไถดินตากแดด

2.ใช้พันธุ์ต้านทานและท่อนพันธุ์ที่ปกติจากโรคและแมลง 3.เตรียมแหล่งน้ำ สำหรับใช้รถอ้อยในช่วงฤดูแล้ง เช่น เจาะน้ำบาดาล ขุดสระ ให้เพียงพอ 4.ให้หมั่นสำรวจแปลงอ้อยทุกสัปดาห์ ตั้งแต่ปลูกจนถึงอายุ 6 เดือน เพื่อจะได้รู้การระบาดของโรคแมลง 4.1 อ้อยปลูกใหม่ และอ้อยตอ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ให้สำรวจหนอนกออ้อย หากพบให้ใช้แตนเบียนไข่ตริคโคแกรมม่า ปล่อยในไร่อ้อย อัตรา 20,000 ตัว/ไร่ 4.2 ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม ให้สำรวจดูโรค ต่างๆ หากพบให้ขุดทำลายทิ้ง

และควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ในช่วงที่ดินมีความชุ่มชื้น อัตรา 2 กิโลกรัม/ไร่ ฉีดตามโคนต้นระหว่างแถวเพื่อป้องกันเชื้อรา 4.3 หากพบโรคใบด่าง โรคใบขาว โรคกอตะไคร้ ให้ขุดทิ้ง หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคอีกต่อไป 4.4 โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเน่าคออ้อย โรคใบขีดแดง และยอดเน่า โรคใบลวก หากพบไม่รุนแรง ให้ขุดทำลายทั้งกอ และให้ใช้สารเคมี Tetramysin+Streptomycin หรือใช้ Gentamycin sulfate + oxytetracycline hydrochloride 8% WP ฉีดพ่น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ปรับโครงสร้าง ก.อุตฯ 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามแผนการปรับโครงสร้างกระทรวง ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แล้ว พร้อมเสนอเข้า ครม.เร็ว ๆ นี้

          นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การปรับโครงสร้างใหม่ระเบียบ ก.พ. ต้องประเมินเนื้องานใหม่ให้เหมาะสม และได้หารือกับก.พ. ถึงทุนสนับสนุนพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ รวมถึง ก.พ.จะช่วยเข้ามาวิเคราะห์ว่าบุคลากรที่จะไปสู่ 4.0 ทั้งนี้ โครงสร้างใหม่จะจัดตั้งหน่วยงานระดับกองขึ้นใหม่ 5 กอง คือ 1.กองกฎหมาย สำนักปลัด 2.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และรับโอนภารกิจจากกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) 3.กองบริหารจัดการวัตถุดิบอุตสาหกรรม กรม พื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) 4.กองกำกับองค์กรด้านการมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 5.กองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ถึงเวลาปฏิวัติฐานข้อมูลภาคเกษตร 

          วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารที่ปัจจุบันก้าวไปไกลทำให้ข้อมูลข่าวสารมีส่วนสำคัญยิ่งต่อความเป็นไปทาง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดความสำเร็จในการบริหารจัดการ ตั้งแต่ระดับบุคคล องค์กร จนถึงระดับชาติ เพราะใครมีข้อมูลในมือมากกว่า ถูกต้อง แม่นยำกว่า ย่อมได้เปรียบ

          โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย ที่ประชากรส่วนใหญ่กว่า 20 ล้านครัวเรือน อยู่ในภาคการเกษตร ต้องพึ่งพารายได้หลักจากผลผลิตการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่ค่อนข้างอ่อนไหว การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ส่งสัญญาณ รวมทั้งกำหนดนโยบายในเชิงการพัฒนาและการป้องกันแก้ไขปัญหาจึงมีความสำคัญและจำเป็นยิ่ง

          อย่างไรก็ตามหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์ อุตสาหกรรม ฯลฯ ไม่สามารถนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการวางนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุนภาคการเกษตรเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว ฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนยังทำให้การบริหารจัดการนโยบายและการปฏิบัติไม่มีประสิทธิภาพ

          สาเหตุมาจากหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญ และไม่เห็นประโยชน์ของข้อมูลข่าวสาร ขณะเดียวกันหลายหน่วยงานแม้จะมีภารกิจหน้าที่ในการสำรวจจัดเก็บสถิติข้อมูลด้านการผลิต การตลาดสินค้าการเกษตร แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ กำลังคน อีกทั้งไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากงานที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งตัวเกษตรกรเอง ส่งผลให้ข้อมูลที่ได้ขาดความสมบูรณ์ ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

          บวกกับบางครั้งกระบวนการ ขั้นตอนในการจัดเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการลงสำรวจในพื้นที่ การสุ่มตัวอย่างเกษตรกร แปลงที่ดินทำการเกษตร การนับจำนวนเนื้อที่ การคำนวณผลผลิต ฯลฯ ดำเนินไปในลักษณะเร่งรีบ ทั้ง ๆ ที่ต้องใช้เวลาและความละเอียดรอบคอบ หรือข้อมูลที่ได้ถูกทำให้เบี่ยงเบนคลาดเคลื่อน จึงไม่สะท้อนความเป็นจริงและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

          ประกอบกับความไม่เป็นเอกภาพในการดำเนินนโยบาย บริหารจัดการในภาพรวม จากที่พืชผลการเกษตรแต่ละชนิดมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบดูแล ด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด อาทิ กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ อุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งบางส่วนงานมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน ขณะที่บางส่วนซ้ำซ้อน ส่งผลต่อเนื่องทำให้การบริหารจัดการทั้งในแง่การส่งเสริมพัฒนา และการแก้ไขปัญหา ขาดความเป็นเอกภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ

           ภาคการเกษตรจะก้าวไกล เกษตรกรไทยจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ การกำจัดจุดอ่อนด้วยการปฏิวัติฐานข้อมูล และการบริหารจัดการพืชผลเกษตรทั้งระบบ เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ฝนตกชุกทำผลผลิตเกษตรดีเกิน'สศก.'สำรวจใหม่เล็งปรับ'จีดีพี

          น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ขอความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงพื้นที่สำรวจผลผลิตสินค้าเกษตร และร่วมประเมินสถานการณ์ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรครึ่งปีหลัง 2560 เพราะเกรงว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจภาคเกษตร (จีดีพี) เติบโตลดลงกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 2.5-3.5% จากปี 2559 เพราะที่ประเมินไว้อาจมีความคลาดเคลื่อน จนอาจส่งผลให้การประเมินผิดพลาด จึงไม่สามารถประกาศ จีดีพีครึ่งปีหลังได้

          "ยอมรับว่าไม่สามารถประเมินจีดีพีภาคเกษตร เพราะตัวเลขหลายตัวผกผัน ราคาแกว่งตัวมาก และยังมีเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ น้ำดีกว่าปีก่อน ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในแบบกระจุกตัวทำให้ราคาลดลง รวมถึงเศรษฐกิจโลก จึงต้องนำปัจจัยทั้งหมดที่เปลี่ยนแปลงมาประเมินใหม่" น.ส.จริยากล่าว และว่า หากให้เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จีดีพีภาคเกษตรจะดีขึ้น แต่หากให้เทียบราคาทั้งเรื่องของยางพารา ข้าว ยอมรับว่าไม่ค่อยมั่นใจว่าจะดีขึ้น แม้ทั้งปีจีดีพีภาคเกษตรจะปรับตัวดีขึ้นได้ตามเป้าหมายที่ 2.5-3.5% หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3% นั้น แต่เป็นไปได้ที่ราคาสินค้าที่เกษตรกรขายได้อาจจะต่ำลงกว่าต้นปี หรือช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะผลผลิตอาจมีการเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน และการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านมีมากขึ้น

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560   

รัฐบาลเห็นควร เร่งรัดจัดตั้งธนาคารที่ดิน

               นายสถิตย์พงษ์  สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งมีหน่วยงานและคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ ๕ และคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง โดยร่วมกันพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร

 ให้ธนาคารที่ดินไม่มีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นว่าภารกิจของธนาคารที่ดิน

 ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใด แต่จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนหน่วยงานที่มีอยู่เดิม ให้สามารถ

 แก้ไขปัญหาด้านถือครองที่ดินให้สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ

 ของประเทศในระยะยาว

             เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงาน

 ตามนโยบายรัฐบาล (กขร.)โดยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 เป็นประธาน โดย ผอ.บจธ.เสนอวาระต่อที่ประชุมในเรื่องการผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน

 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบเร่งรัดและขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูปธนาคารที่ดิน

 และองค์กรด้านที่ดิน โดยให้เป็นธนาคารเฉพาะกิจ เป็นแหล่งทุนช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน

 มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

            จากนั้นวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5(กขป. คณะที่ 5)ครั้งที่ 6/2560 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาลซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมีมติว่าภารกิจ

 ธนาคารที่ดินไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใด แต่กลับจะช่วยเหลือ สนับสนุน และเติมเต็มการดำเนินการของหน่วยงานที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะเป็นการทำงานอย่างบูรณาการ อันจะส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมเกี่ยวกับการถือครองที่ดินให้บรรลุผลสำเร็จได้ และเห็นว่าควรเร่งรัดการจัดตั้งธนาคารที่ดินตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนเร่งรัดการดำเนินงาน

 ตามนโยบายรัฐบาล (กขร.)

                นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ภายหลังการประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง (อปป.) ได้ให้ความเห็นว่าธนาคารที่ดินเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อน โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถผลักดันร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน

                จะเห็นได้ว่า บจธ. ได้ดำเนินการหาแนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดิน โดยหารือร่วมกับ

 หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และหาข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นความซ้ำซ้อนของธนาคารที่ดินกับหน่วยงานอื่นที่มีอยู่เดิม และดำเนินการเสนอต่อรัฐบาล

 เพื่อเร่งผลักดันให้สามารถดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินให้สำเร็จลุล่วงโดยเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลมีแนวทางให้เร่งรัดดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดิน นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ประชาชน เกษตรกร และผู้ยากจน จะได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงในเรื่องของการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯนำร่องนวัตกรรม Agri-map Mobile ระบบ ISO ปรับพื้นที่เพาะปลูก 2 แสนไร่ ก.ย.นี้

เกษตรฯ ใช้อะกรี-แมพปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสม 200,000 ไร่ คาดเปิดใช้อะกรี-แมพโมบายบนระบบ ios เดือนก.ย.นี้ ชี้คนทั่วไปพอใจให้ 4.3 จากเต็ม 5 คะแนน

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาแผนที่การเกษตร(อะกรี-แมพ) ในระบบออนไลน์ หรือ อะกรี-แมพโมบาย โดยการนำเอาข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินไปใส่ในแอพพลิเคชั่น เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสม ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ให้สอดคล้องกับตลาดได้

สำหรับผลการดำเนินการที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้นำแผนที่อะกรี-แมพ มาปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกให้เหมาะสมแล้วประมาณ 200,000 ไร่ นอกจากนี้ยังนำไปใช้กับหลายโครงการ อาทิ จังหวัดสระแก้วที่มีพื้นที่แห้งแล้ง แต่เดิมทำการเกษตรก็ให้เปลี่ยนไปเลี้ยงสัตว์แทน พื้นที่บางส่วนที่ปลูกข้าว ก็อาจจะมีการลดไม่ให้ปลูกข้าวมากเกินไปให้ปลูกอื่นแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้เกษตรกรหลายพื้นที่ได้เอาแผนที่อะกรี-แมพมาวางแผนในการดำเนินการด้านการเกษตรด้วย

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เปิดให้ใช้อะกรี-แมพโมบาย 2 เดือนแล้วในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งคาดว่าอีก 1 เดือนหรือภายในเดือนก.ย. จะสามารถเปิดใช้งานในระบบปฏิบัติการไอโอเอสได้ โดยจากข้อมูลปัจจุบันมีผู้โหลดแอพพลิเคชั่นแล้วกว่า 5,000 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีคนใช้งานแล้วกว่า 10,000 ครั้ง อย่างไรก็ตามอะกรี-แมพโมบาย มีคนให้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 คะแนน จากเต็ม 5 คะแนนมากที่สุด เนื่องจากเข้าใจข้อมูลบนแอพพลิเคชั่น

“การที่จะดูว่าเกษตรกรมาใช้แอพลิเคชั่นนี้หรือไม่ จะสังเกตุจากการปักหมุดในพื้นที่ และการเสริ์ชหาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยในปีหน้าตั้งเป้าจะให้มีข้อมูลคาดการณ์มากกว่านี้ อาทิ ผลผลิตให้แม่นยำ ด้านราคาที่อิงตลาดตามจริง เป็นต้น ซึ่งการที่จะทำให้อะกรี-แมพ ประสบความสำเร็จ รัฐบาลต้องกำหนดนโนบายให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามข้อมูลในแอพพลิเคชั่นจะมีการคาดการณ์ถึงระดับจังหวัดและอำเภอ ลงลึกข้อมูลไปในพื้นที่นั้นๆ ไม่ได้คาดการณ์โดยรวมทั้งประเทศซึ่งจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ โดยข้อมูลที่มีความแม่นยำ คือ ดิน อากาศ และน้ำ เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันแปรไม่มาก

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เสียงครวญจากชาวไร่ เลิกพาราควอต...ต้นทุนพุ่ง

ใช้พาราควอตฆ่าหญ้ามาตั้งแต่อายุ 18 ปี ถึงวันนี้อายุ 49 ปี ไม่ใช่ฉีดเฉพาะไร่อ้อย 36 ไร่เท่านั้น ยังเอามาฉีดกำจัดวัชพืชข้างบ้านอีก 6 ไร่ด้วย ทำอย่างนี้นี้มาตั้งแต่ยังอยู่กับพ่อแม่ ไม่เห็นเป็นอะไร ถ้าทางการจะไม่ให้ใช้ เราคงอยู่ไม่ไหว เพราะตัวอื่นเคยลองเอามาใช้ นอกจากจะแพง ยังใช้กับไร่อ้อยสู้พาราควอตไม่ได้ ต้นทุนทำไร่ต้องแพงขึ้นแน่ๆ ทำไปคงไม่เหลือกำไรไปใช้หนี้ คงต้องประท้วงกันล่ะ

” นางบุญชู จันทรบุญ เกษตรกรไร่อ้อย บ.นครสวรรค์ ต.น้ำสุด อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ให้ความเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดตามมาจากการประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอต ที่กรมวิชาการเกษตร กำลังดำเนินการตามข้อเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข เพราะหากห้ามใช้จริง เกษตรกรคงไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีและถูกกว่านี้ เนื่องจากสารกำจัดวัชพืชตัวอื่นที่เคยนำมาใช้ อย่างอะมิทรีน ต้องใช้เงินซื้อสารเคมี 450 บาท ถึงจะกำจัดวัชพืชได้ 2 ไร่ ในขณะที่พาราควอตนั้นมีค่าใช้จ่ายเพียงไร่ละ 100 บาทเท่านั้นเอง ต้นทุนแพงต่างกันกว่าเท่าตัว แล้วเกษตรกรจะอยู่ได้อย่างไร ที่สำคัญถ้าอ้อยโตแล้ว ลำสูงเท่าเอว มีวัชพืชขึ้นสามารถใช้พาราควอตฉีดกำจัด ไม่ต้องกังวลว่าอ้อยจะเสียหาย ในขณะที่สารตัวอื่นทำอย่างนี้ไม่ได้

ด้าน นางหนู สุขจันทา เจ้าของไร่มันสำปะหลัง 10 ไร่ บ.นครสวรรค์ ต.น้ำสุด อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี บอกว่า ตั้งแต่ทำไร่มา ในบรรดายากำจัดวัชพืชที่รู้จักทั้งหมด พาราควอตดีที่สุด ถูกที่สุด ฉีดพ่นไปแล้ว ไม่มีผลกระทบต่อหัวมันสำปะหลังเพราะเป็นสารที่มีฤทธิ์การทำลายแบบเผาไหม้ ไม่ใช่สารดูดซึมเหมือนยากำจัดวัชพืชบางชนิด ที่สำคัญขอแค่ฝนหยุดตกสัก 1-2 ชั่วโมง สามารถฉีดพ่นฆ่าหญ้าได้แล้ว ในขณะที่สารตัวอื่นต้องให้ปลอดฝนเป็นวันถึงจะฉีดได้

“ถ้าไม่ให้ใช้พาราควอต คนทำไร่มันสำปะหลังคงจะหาสารตัวอื่นมาใช้ได้ยากมาก เพราะจะมีผลกระทบต่อหัวมัน ต้องใช้วิธีจ้างแรงงาน คิดดูต้นทุนจะสูงแค่ไหน ที่นี่ค่าแรงวันละ 300 บาท ทำแค่ 6 ชั่วโมง เช้า 07.00-10.30 น. พักเที่ยง 2 ชั่วโมงครึ่ง มาทำอีกครั้ง 13.00-15.30 น. พื้นที่ 1 ไร่ ใช้แรงงาน 1 คน ต้องใช้เวลาถากดายหญ้า 4 วันถึงจะหมด แถมยังทำไม่เรียบร้อย ดายหมก หญ้างอกเขียวตามตูด คิดดูก็แล้วกัน ต้นทุนมันจะเพิ่มไปแค่ไหน ใช้พาราควอตต้นทุนอยู่ที่ไร่ละ 100 บาท ฉีดเองได้ แต่ถ้าจ้างแรงงานถากดายหญ้าไร่ละ 1,200 บาท แพงต่างกันเป็นสิบเท่า แล้วเราจะอยู่ได้ไหม” นางหนู พูดให้คิด.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

อนุมัติ2.3หมื่นโครงการ1.9หมื่นล. เกษตรฯเร่งโอนเงินเข้าระบบดันชุมชนเคลื่อน‘9101’

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้าโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.บางเลน จ.นครปฐม เพื่อรับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ โดยได้ถือโอกาสพบปะเกษตรกรและเยี่ยมชมพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ โดยใน จ.นครปฐม มี 132 ชุมชน จาก 106 ตําบล 930 หมู่บ้าน มีการเสนอ 236 โครงการ วงเงิน 147,848,391 บาท เฉลี่ยชุมชนละ 1.12 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สำนักงบประมาณเขต หรือ CBO เห็นชอบงบประมาณ เห็นชอบแล้ว 236 โครงการ วงเงิน 147,848,391 บาท เกษตรกรรับประโยชน์จากโครงการ 50,635 ราย จาก 138,991 ราย

สำหรับภาพรวมความก้าวหน้าโครงการ จากเป้าหมายชุมชนเข้าร่วม 9,101 ชุมชน วงเงิน 22,752.50 ล้านบาท ปัจจุบันมีการนำเสนอ 24,324 โครงการ ได้รับการอนุมัติแล้ว 23,675 โครงการ วงเงิน 19,765.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85.82 โดยประเภทโครงการที่เสนอและได้รับการอนุมัติส่วนใหญ่เป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ร้อยละ 34.91 รองลงมาเป็นการผลิตพืช และ พันธุ์พืช ร้อยละ 21.20 มีการปศุสัตว์ การประมง การผลิตแปรรูปอาหาร ด้านละร้อยละ 10-15 ล่าสุดสำนักงบประมาณเขต หรือ CBO เห็นชอบงบประมาณแล้วทุกโครงการ โดยเริ่มมีการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม

“โครงการนี้ได้มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชน ใน 3 ส่วน คือ การจ้างแรงานเกษตรกรที่มีรายได้น้อย การใช้จ่าย ในชุมชน และเมื่อโครงการสําเร็จแล้ว เกษตรกรที่คนในชุมชนสามารถเข้าใช้ หรือรับประโยชน์จากผลผลิตของโครงการได้ เช่น โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จะจ้างเกษตรกรที่มีรายได้น้อยผลิตพร้อมเรียนรู้ โดยซื้อวัสดุจากเกษตรกรด้วยกันเองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้ปุ๋ยอินทรีย์แล้วจะจัดสรรให้เกษตรกรทุกคนในชุมชน เป็นต้น ซึ่งเกิดประโยชน์กับเกษตรกรทุกคนในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรที่มีรายได้น้อย มักเกิดจากการว่างงาน ไม่มีอาชีพอื่นเสริม หากแจกเงินให้ เกษตรกรต้องเก็บออมไว้ใช้ในยามจําเป็น และแรงงานส่วนที่ว่างงานไม่ได้มาใช้ในภาคการผลิตเช่นเดิม ดังนั้น โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนและต่อยอดอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรไม่เพียงเฉพาะรายเท่านั้น แต่เป็นการสร้างรายได้ระดับชุมชนและเกิดการหมุนเวียนในระดับเศรษฐกิจฐานรากได้” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หลังจากที่ ครม.อนุมัติ การดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทันต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อให้งบประมาณลงสู่ชุมชนถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม นับจากนี้จะเป็นการดำเนินการในพื้นที่ รวมทั้งต้องทำงานอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ติดตาม การกำกับ ติดตาม และประเมิน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกำชับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และต้องให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งจะต้องประเมินผลของโครงการได้ภายใน 5 ธันวาคม นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้เตรียมจัดงาน เปิดตัว “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน”พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเปิดตัวที่ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณของ ร.9 และเพื่อถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กรกฎาคม 2560”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

กรมชลวาง 3 สเต็ปก่อนตัดสินใจสร้างแหล่งน้ำ

                ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการสร้างแหล่งน้ำแห่งใหม่ในอนาคตตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประชารัฐ หลังลงนามบันทึกความร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯว่า การพัฒนาแหล่งน้ำจะมีทางเลือกที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและประหยัดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแหล่งน้ำแห่งใหม่จะเป็นแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นจากความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยชาวบ้านจะร่วมคิดแสดงถึงความต้องการและเป้าหมายในการที่จะมีแหล่งน้ำ หลังจากนั้นเป็นที่หน้าที่ของกรมชลประทาน ในการศึกษาความเป็นไปได้ว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับภูมิสังคมของพื้นที่นั้นหรือไม่อย่างไร

                "ผลสืบเนื่องมาจากการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ต่อไปนี้การปรับปรุงแหล่งน้ำและระบบชลประทานจะต้องขึ้นอยู่กับความต้องการชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีมูลนิธิปิดทองหลังพระฯเป็นทัพหน้าค้นหาความต้องการของชาวบ้าน เพราะมูลนิธิมีจุดเด่นที่สามารถร่วมงานกับชุมชนทำให้ได้ข้อสรุปของความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ส่วนกรมชลประทานจะใช้ความโดดเด่นที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคสนับสนุนและหากโครงการใดมีความเหมาะสมก็จะสนับสนุนเพื่อดำเนินการต่อไป"

                 รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า จากแนวคิดดังกล่าวการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศจากนี้ไปจะมี 3 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกต้องร่วมกับชุมชนสำรวจว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึง หากอยู่ใกล้ก็นำมาปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บน้ำถาวร หรือต้องตรวจสอบว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมประจำหรือไม่ ถ้าท่วมก็จะง่ายในการดำเนินการเพียงแค่การปรับปรุงให้ดีขึ้น และขั้นตอนสุดท้ายต้องตรวจสอบว่าติดพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือไม่ ถ้าไม่อยู่ก็สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยากจากกฎหมายอุทยานฯ หรือป่าไม้

               “เบื้องต้นเราจะให้โจทย์ไป 3 ข้อ กับชุมชนหรือชาวบ้านที่ต้องการสร้างแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่ ถ้าผ่านทั้ง 3 ข้อนี้ก็มีโอกาสสูงในการสร้างแหล่งน้ำแห่งใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว” ในขั้นตอนที่ 2 เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำแบบประชารัฐ โดยกรมชลประทานจะสนับสนุนในการสำรวจและออกแบบให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยมีการร่วมแรงของชาวบ้าน ส่วนเครื่องจักร เครื่องมือหรือวัสดุอาจมาจากกาบูรณาการสนับสนุนจากส่วนราชการ บริษัทเอกชนโดยหลีกเลี่ยงการจ้างเหมาบริษัท สำหรับในขั้นตอนสุดท้ายคือการนำน้ำไปใช้ประโยชน์โดยกรมชลประทานจะสำรวจออกแบบระบบส่งน้ำ ส่วนการเลือกชนิดพืชหรือการทำการเกษตรในรูปแบบใดนั้น ก็จะมีนำรูปแบบวิธีการของเกษตรแปลงใหญ่แบบประชารัฐที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ก็ได้"

              ดร.สมเกียรติระบุอีกว่าการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นต้องมีเป้าหมายชัดเจน ทำแล้วใครได้ประโยชน์ก่อนก้าวมาสู่ในขั้นตอนแรก ซึ่งจะต้องเป็นโครงการที่ระเบิดมาจากข้างในตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 และต้องให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ และได้รับประโยชน์จากโครงการร่วมกัน เพื่อให้เขาร่วมคิดร่วมสร้างแรงจูงใจ ถ้ามีแหล่งน้ำแล้วน้ำจะนำมาใช้ประโยชน์อะไร ใครมาช่วย ภาคเอกชนเข้ามาช่วย เพราะเขาจะรู้เรื่องการตลาดดี ส่วนหน่วยงานภาครัฐจะช่วยในเรื่องปัจจัยการผลิตต่าง ๆ

            "อย่างพื้นที่ตรงนี้จะปลูกอะไรบ้าง มันต้องสร้างแรงจูงใจก่อนว่า ถ้าน้ำมีจะทำอะไรก่อนหลัง ไม่ใช่รอให้น้ำมีก่อนแล้วค่อยคิดทำ แม้จะเป็น 3 ขั้นตอนหลัก แต่ขั้นตอนแรกเป็นขั้นตอนสำคัญให้ประชาชน เข้ามาร่วมกันคิดว่าถ้ามีน้ำจะทำอะไรต่อไป ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่”

           รองอธิบดีกรมชลประทานย้ำด้วยว่า หากพื้นที่อยู่ใกล้แม่น้ำก็สามารถนำน้ำมาใช้ได้ทันที แต่หากพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว เช่นที่เป็นหนองน้ำธรรมชาติก็ปรับปรุงให้ดีขึ้น ส่วนพื้นที่น้ำท่วมเกิดจากโครงการของภาครัฐ อย่างเช่นผลกระทบน้ำท่วมมาจากโครงการเขื่อนราศีไศล จ.ศรีสะเกษในลำน้ำมูล

         ซึ่งมีการออกแบบโครงการมีการสร้างคันดินล้อมรอบ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำที่อยู่นอกคันดินไม่สามารถไหลเข้ามาในลำน้ำมูลเหนือเขื่อนราศีไศลได้ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งโครงการนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หาทางช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่เขตนอกรอบคันดิน โดยการปรับวิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนจากการขัดแย้ง ชุมนุมประท้วง หันมาให้ความร่วมมือแทน

          โดยการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากทำนาปลูกข้าวมายึดอาชีพทำประมงหรืออาชีพเกษตรกรรมอย่างอื่นตามความสมัครใจ โดยมอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตร เช่น กรมปศุสัตว์ กรมประมง หรือกรมส่งเสริมการเกษตรก็จะเข้ามาดูแล

             "ในเรื่องเทคนิคก่อสร้างการพัฒนาแหล่งน้ำไม่ใช่เรื่องยาก กรมฯมีแบบอยู่แล้ว แรงงานก็มาจากชาวบ้าน เกษตรกรในพื้นที่ ส่วนเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หน่วยงานท้องถิ่นอย่าง อบต. ก็ต้องใช้งบ อบต. มาสนับสนุนด้วย ส่วนเอกชนมาร่วมให้ขุดดินก็เอาไปขายแทนค่าจ้าง ถ้าเป็นแบบนี้มันจะทำได้เร็วกว่า ไม่ต้องรองบประมาณ ตั้งงบเพื่อจ้างเอกชนมาขุดดินแล้วเอาดินไปขายนำเงินเข้าคลัง คือเอาเงินเข้ากระเป๋าซ้ายออกกระเป๋าขวาเหมือนที่ปฏิบัติกันมา ซึ่งมันช้าไม่ทันการ ที่สำคัญชาวบ้านก็ไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการด้วย"

              ดร.สมเกียรติกล่าวย้ำทิ้งท้าย ในส่วนของโครงการขนาดเล็กที่ยังใช้งานไม่เต็มที่ กรมชลประทานและมูลนิธิปิดทองจะร่วมดำเนินการใน 22 จังหวัดเป็นโครงการนำร่อง และจะขยายผลจัดทำแผนหลักให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 นี้ จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยและกรมชลประทาน ปรากฎว่ายังมีแหล่งน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีก 1,317 แห่งทั่วประเทศ และโครงการชลประทานขนาดเล็กที่กรมชลประทานโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้อง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯเตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อน 'ตาลัส'

"กรมชลประทาน" ย้ำหน่วยเตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อน "ตาลัส" สั่งเดินหน้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมระบายน้ำที่อาจจะท่วมขังได้ตลอดเวลา

 นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขัง ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ พร้อมกับเข้าไปบรรเทาทุกข์และลดความเดือดร้อนให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำสูงขึ้นตามปกติของฤดูกาล และมีน้ำท่วมเป็นบางแห่งตามวิถีประจำที่เคยเกิดขึ้นมาแต่ครั้งอดีต ซึ่งกรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะ เยี่ยมเยียนและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ส่งผลให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อนึ่ง เมื่อเวลา 04.00 น. (วันที่ 17 ก.ค. 60) พายุโซนร้อน “ตาลัส” (Talas) บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนาม ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งทางใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนามแล้ว และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยจะเคลื่อนผ่านทางตอนบนของประเทศไทยและจะสลายตัวบริเวณประเทศลาวตอนบน

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำน่านตั้งแต่ จ.พิจิตร ถึง จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำที่อยู่นอกคันกั้นน้ำบางแห่งบริเวณ อ.เสนา และ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนแม่น้ำสายอื่นๆ มีระดับต่ำกว่าตลิ่งสามารถรองรับน้ำได้อย่างปลอดภัย

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศและขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน(17 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 42,425 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 8,385 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 32,700 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,523 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 2,812 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 4,827 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,300 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่าสภาพน้ำท่าทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มทรงตัว โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ อยู่ในเกณฑ์ 1,262 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังที่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มมีฝนตกชุกกระจาย ทำให้มีน้ำขังในระบบชลประทานและพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ โดยเฉพาะนาข้าวทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสะดวกและมีความชื้นน้อย

สำหรับปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำเข้าไปตามศักยภาพที่รับได้ พร้อมกับควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับ +15.50 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะตกหนักลงมาอีกจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ตาลัส”

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝนตกหนัก จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ตาลัส” นั้น กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะใช้ระบบชลประทานและระบบป้องกันน้ำท่วม ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับกำชับให้เจ้าหน้าที่ชลประทานให้ประจำอยู่ ณ ที่ตั้งเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ให้ตรวจสอบระบบชลประทานที่มีอยู่ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ในพื้นที่ก่อนอย่างน้อย 1 เครื่อง เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที ส่วนในกรณีที่เกิดสภาวะวิกฤติ ให้รีบดำเนินการชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทำการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันสถานการณ์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ค่าบาทช่วงเช้า 'แข็งค่า' สุดรอบ2 ปี

ช่วงเช้าบาทแข็งค่าสูงสุด "รอบ2ปี" ที่ 33.70 บาทต่อดอลลาร์ สวนทางดอลลาร์ เผชิญแรงเทขายต่อเนื่องท่ามกลางความไม่แน่นอนของจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

 นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปีที่ 33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (17 ก.ค.) จากระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่เผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความไม่แน่นอนของจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ อ่อนแอกว่าที่คาด นอกจากนี้ sentiment ของตลาดเอเชียในภาพรวม ยังได้รับอานิสงส์จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2560 ของจีนที่ขยายตัว 6.9% YoY ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 6.8% ด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.65-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตากระแสการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยบวกของเงินบาทอย่างใกล้ชิด

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

'อธิบดีพพ.'แจงค่าไฟพุ่งสูง ไม่เกี่ยวอุ้มพลังงานทดแทน

                    "อธิบดีพพ." โร่แจงค่าไฟขึ้น ไม่เกี่ยวกับการอุ้มพลังงานทดแทน ชี้ไม่ใช่ตัวแปรหลักในการคำนวณค่าเอฟที              

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีบางฝ่ายเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานทบทวนนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน เนื่องจากมองว่า ต้นทุนค่าไฟจากพลังงานทดแทนค่อนข้างแพง แต่กระทรวงฯ กลับเร่งส่งเสริมจนเกินความพอดี จนส่งผลต่อค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ทั้งที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงว่า พพ.ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลักคิดเป็น 64% ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 10% ลิกไนต์ 9% ถ่านหินนำเข้า 9% ขณะที่พลังงานทดแทนคิดเป็น 8% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของไทย ซึ่งไม่ได้เป็นตัวหลักที่ทำให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นหรือลดลงได้มากนัก เนื่องจากค่าเอฟทีคำนวณมาจากค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ ที่สนับสนุนพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ในรอบเดือนก.ย.- ธ.ค. 60 สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีมาจากค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าของกฟผ.19% ค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 71% และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ สนับสนุนพลังงานทดแทนเพียง 10%  ดังนั้นการส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) 2015 ของกระทรวงพลังงาน มีแนวทางที่เหมาะสมและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนมากอย่างที่เข้าใจ

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

สภาเกษตรกรฯ ร่วมหารือก.เกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560–2564 โดยมีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมฯ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยกำหนดนโยบายจากส่วนกลางแล้วมอบหมายให้ระดับพื้นที่นำไปปฏิบัติ เป็นแบบ Top down ต่อมาพัฒนาให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในด้านของสภาเกษตรกรฯ เห็นว่านโยบายด้านการเกษตรหากให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในระดับนโยบายจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นการร่วมกันคิด แบ่งกันทำ เกษตรกรรมจะยั่งยืน สำหรับแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560-2564 เป็นแผนของเกษตรกรที่แสวงหาการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เนื่องจากภาคการเกษตรเกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอีกหลายกระทรวง โดยคณะรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงเกษตรฯ นำการขับเคลื่อนแผน ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่า แผนพัฒนาการเกษตรกับแผนแม่บทของเกษตรกรมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยกัน

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะให้ภาคเกษตรกรมีส่วนร่วมทั้งในระดับนโยบายและในพื้นที่จังหวัด โดยมอบให้สำนักงานเศรษฐกิการเกษตร(สศก.)ประสานในการนำลงสู่แผนงาน โครงการของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งแผนแม่บทฉบับนี้จะปฏิรูปได้ทั้งประเทศจากการขับเคลื่อน หากให้ทุกชุมชนจัดทำแผนเองก็จะเข้าใจความเป็นมา สภาพสิ่งแวดล้อม และเห็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ จึงจะตัดสินใจด้วยชุมชนเองว่าควรจะทำอะไร อย่างไร และจากที่ผ่านมาเกษตรกรได้แสดงให้เห็นถึงการปกป้องตนเองจากนโยบายของภาครัฐ เช่น การนำเข้าข้าวสาลี ผลกระทบจาก พรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 รวมทั้งได้เสนอกฎหมายที่สร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรม เช่น พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 จึงแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็นและมั่นใจได้ว่าภาคเกษตรกรพร้อมในการมีส่วนร่วมในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทของเกษตรกรฉบับแรกนี้

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การันตีลอยตัวน้ำตาล1ธค. โยนชาวบ้านลุ้นราคาเอง ระงมถามหาคนคุ้มครอง 

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกาศลอยตัวน้ำตาลทรายอ้างอิงตามราคาตลาดโลก ในวันที่ 1 ธ.ค. 60 ว่า ภาครัฐมีความพร้อมแล้ว หลังจากประกาศยกเลิกระบบโควตาและการสนับสนุน โดยขณะนี้เป็นขั้นตอนของชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล พิจารณาการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งแนวโน้มราคาอ้อยหลังจากลอยตัวราคา คาดว่าราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน อยู่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน คือ 19 บาทต่อกก. ขณะที่ราคาขายปลีกถึงมือผู้บริโภคจะบวกเพิ่มอีก 3-3.5 บาท หรือประมาณ 22-22.50 บาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก

          "ต่อไปราคาน้ำตาลทรายจะลอยตัวตามราคาตลาดโลก ช่วงไหนความต้องการของตลาดโลกสูงราคาก็จะปรับขึ้น ช่วงไหนผลผลิตดี เกินความต้องการ ราคาก็จะถูกลง ซึ่งจากการประเมินราคาสถิติน้ำตาลทราย 10 ปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยหน้าโรงงานอยู่ที่ 14-26 บาทต่อกก.หรือเฉลี่ยประมาณ 19 บาท จึงคาดว่า หลังราคาลอยตัวยังอยู่ใกล้เคียงราคาระดับเดิม ทำให้ผู้บริโภคจะซื้อราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 22 บาทต่อกก. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 22.5 บาทต่อกก. ส่วนช่วงไหนมีวิกฤติราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทางกระทรวงพาณิชย์จะเป็นคนเข้ามาดูแลผู้บริโภค

          ส่วนร่างพ.ร.บ.อ้อย และน้ำตาลทรายฉบับใหม่คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาควบคู่กับการเปิดประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.ฯ หากกระบวนการทุกอย่างแล้วเสร็จจะไปหารือกับประเทศบราซิล ในฐานะผู้ค้าน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ถอนฟ้องไทยกับองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) กรณีกล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทราย

          "หลังจากที่ผ่านมาไทยซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลกถูกบราซิลฟ้องร้อง แต่ตอนนี้ยังไม่มีการตั้งคณะผู้พิจารณา (พาเนล) เนื่องจากสอน.มีการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกสมบูรณ์แล้ว"

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยังมีประชาชนบางส่วนเป็นห่วงว่า หากประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้วจะมีหน่วยงานใดเป็นผู้ประกาศราคา เนื่องจากสอบถามทางสอน. ระบุเพียงว่า ปล่อยราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลกแล้วผู้บริโภคทั่วไปต้องไปติดตามราคาที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า หรือตลาดทั่วไปเองกระทรวงพาณิชย์ จะดูแลในช่วงเกิดวิกฤติราคาตลาดโลกเท่านั้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเกรงว่าผู้ค้าอาจจำหน่ายราคาสูงเกินจริง เพราะมีผู้ประกอบการในตลาดจำนวนไม่มาก จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคซึ่งทางสอน. มองว่า กลไกการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ค้าน้ำตาลทรายจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายอยู่ในระดับที่เหมาะสม

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย  กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล อยู่ระหว่างเร่งรัดหาข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการหลังยกเลิกโควตาและลอยตัวราคาน้ำตาลทราย เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันภายในวันที่ 1 ธ.ค. 60 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 60/61 หลังจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้นำเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ต่อ ครม.ไปก่อนหน้านี้แต่ตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งจากผู้มีส่วนได้ ส่วน สอน. จึงต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งผ่านทางเว็บไซต์ของ สอน.

          "สอน.ต้องสรุปทำเรื่องส่งครม.หากครม. เห็นชอบ ก็จะส่งร่างดังกล่าวไปยังสนช. พิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปแต่ระหว่างนี้เพื่อให้รวดเร็ว สนช.ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยฯ ซึ่งมีตัวแทนทุกส่วนรวมถึงชาวไร่โรงงานน้ำตาล โดยจะได้ลงพื้นที่ในการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายควบคู่กันเพื่อให้รวดเร็วและทุกฝ่ายหวังว่าแนวทางทั้งหมดจะไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นใหม่เพื่อให้ประกาศใช้ได้ทันก่อน 1 ธ.ค.".

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ชงครม.เคาะ'นันทวัลย์'ปลัดพณ.'พสุ'คุมอุตฯ-'ธรรมยศ'พลังงาน 

          เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แต่ละกระทรวงกลับไปจัดทำเรื่องการแต่งตั้งปลัดกระทรวงให้เรียบร้อย ซึ่งในส่วนกระทรวงอยู่ระหว่างจัดทำแผนในภาพรวม สำหรับด้านการส่งเสริมการส่งออกของไทยยัง เดินไปตามปกติ และมีแผนงานอยู่แล้ว แม้ว่านางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายนนี้ก็ตาม

          แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 18 กรกฎาคมนี้ กระทรวงเสนอชื่อนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ แทน น.ส.วิบูลย์รักษ์ ร่วมรักษ์ ที่จะเกษียณอายุราชการ ส่วนตำแหน่งอธิบดีกรมต่างๆ จะยังไม่มีการเสนอชื่อให้ ครม.พิจารณา อย่างไรก็ตามได้จัดทำแผนการ โยกย้ายเรียบร้อยและส่งรายชื่อทั้งหมดให้นางอภิรดีพิจารณาแล้ว รอเพียงส่งให้ ครม.พิจารณาต่อไป หากการประชุม ครม.ครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบในระดับปลัดกระทรวงพาณิชย์แล้ว ในการประชุม ครม.สัปดาห์ ถัดไปจะเสนอรายชื่อระดับอธิบดีให้ พิจารณา

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า เตรียมชื่อนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นปลัดกระทรวงอุตฯคนใหม่ แทนนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตฯ โดยนายพสุถือว่ามีความเหมาะสมที่สุด และผ่านการทำงานทั้งตำแหน่งรองปลัด อธิบดีกรมโรงงาน และอธิบดี กสอ. นอกจากนี้จะมีการแต่งตั้งโยกย้ายระดับอธิบดีแทนผู้ที่จะเกษียณ 6 คน คือนายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวง นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองปลัดกระทรวง นายประสงค์ นิลบรรจง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง นายเดชา เกื้อกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และนายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

          รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกระทรวงพลังงาน คาดว่าจะเสนอชื่อนายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วน เคยผ่านงานระดับอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นอกจากนี้นายธรรมยศยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทหาร

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

40เอกชนผุดส.การค้าชีวมวลร้องรัฐดูแลราคา-แก้กม.สวนป่า

          นายวัฒนพงษ์ ทองสร้อย ผู้ก่อตั้งสมาคม การค้าชีวมวลไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ ซังข้าวโพด แกลบ ฯลฯ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ได้ยื่นขอจัดตั้ง "สมาคมการค้าชีวมวลไทย" กับกระทรวงพาณิชย์แล้ว ในเบื้องต้นมีสมาชิกในสมาคมแล้วรวม 40 ราย จากที่มีผู้ผลิตในระบบรวมทั้งสิ้นกว่า 200 ราย การจัดตั้งสมาคมครั้งนี้เพื่อร่วมกันผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันแก้ไขประเด็นที่เป็นอุปสรรค คือ 1) แก้ไขพระราชบัญญัติสวนป่า ที่กำหนดไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสวนป่าของภาครัฐหรือเอกชนนั้น ในกรณีที่จะมีการแปรรูปไม้จะต้องยื่นขออนุญาตต่อกรมป่าไม้ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลา

          2) ต้องการให้ภาครัฐดูแลราคาเชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมดให้เป็นธรรมมากขึ้น เพราะแม้ว่าจะเป็นของเหลือใช้จากภาคเกษตร แต่ก็มีต้นทุน เช่น การขนส่ง การแปรรูป และอื่น ๆ และ 3) การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า FiT (Feed in Tariff) ที่ปรับลดลง ทำให้ราคาเชื้อเพลิงชีวมวลถูกบีบให้ขายราคาต่ำ เช่น ราคาไม้สับในปัจจุบันอยู่ที่ 1,250-1,300 บาท/ตันเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้น เช่น ค่าแรง ที่แม้จะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ 300 บาท ในขณะที่ค่าแรงที่ต้องจ่ายจริงอยู่ที่มากกว่า 350 บาท

          ทั้งนี้ มองว่าตลาดเชื้อเพลิงชีวมวลยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากมูลค่าตลาดรวมที่มีอยู่ 50,000 ล้านบาท เพราะภาครัฐมีนโยบายที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มอีกร้อยละ 40 ในขณะที่ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (2558-2579) หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan) ที่ใช้ในปัจจุบันมีสัดส่วนพลังงานทดแทนร้อยละ 25 เท่านั้น ซึ่งหากภาครัฐต้องการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าควรดูแลให้ครบทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้ผลิต ไปจนถึงโรงไฟฟ้า

          "ขณะนี้การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลไม่ได้จำกัดแค่การใช้ในโรงไฟฟ้าเท่านั้น ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมที่เดิมใช้น้ำมันเตา และถ่านหินได้หันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมากขึ้น เพราะการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่รอบโรงงาน ซึ่งเมื่อมองประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับทั้งในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังลดผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย"

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ชงอีสาน-เหนือเขตพิเศษเทคโนฯชีวภาพ อุตฯขอครม.ไฟเขียวเพิ่มเติมจาก'อีอีซี

          ชง ครม.ไฟเขียว'อีสาน-เหนือ'เขตส่งเสริมลงทุนอุตฯเทคโนโลนีชีวภาพ เล็ง'ขอนแก่นนครสวรรค์'ได้สิทธิพิเศษ 'อุตตม'เบรกอุตฯหุ่นยนต์เข้า ครม.สั่งบีโอไอถกคลัง-สรรพสามิต เอา ให้ชัดเรื่องภาษี

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ว่าขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเตรียมเสนอแพคเกจส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เบื้องต้นกำลังพิจารณา 2 แนวทางว่าจะตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ หรือเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 2 พื้นที่ คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง และภาคเหนือ 1 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมประกาศส่งเสริมแต่เพียงพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพียงแห่งเดียว เนื่องจากการลงทุนต้องใช้พื้นที่ การกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษจะช่วยอำนวยความสะดวกไม่ให้เอกชนต้องพบปัญหาอื่นๆ ตามมา

          "ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานที่รัฐบาลจะประกาศเป็นพื้นที่ส่งเสริม 2 แห่งนี้ อาจจะกำหนดเป็นเขตส่งเสริมพิเศษที่มีพื้นที่แน่นอนแบบเขตส่งเสริมพิเศษเมืองอากาศยานอู่ตะเภา หรืออาจจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประกาศครอบคลุมทั้งจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ติดต่อกัน เพราะวัตถุดิบในการผลิตต่อเนื่องอาจจะอยู่คาบเกี่ยวหลายพื้นที่ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะให้การส่งเสริมเชิงพื้นที่ในลักษณะใด" นายอุตตมกล่าว

          นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณา เพราะต้องนำกลับไปดูความชัดเจนเรื่องของมาตรการส่งเสริมการ ลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะต้องลงรายละเอียดในการให้สิทธิประโยชน์ที่ตรงจุด ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะส่งเสริมในชิ้นส่วน อุปกรณ์ใดบ้าง รวมทั้งจะต้องหารือกับกระทรวงการคลัง และสรรพสามิตว่าจะต้องยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนใดบ้าง โดยสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และคาดว่าสัปดาห์ถัดไปจะเสนอ ครม.ได้

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า พื้นที่ที่คาดว่าจะประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษมีอยู่ 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น และนครสวรรค์ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอ้อยที่สำคัญของประเทศ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมชีวภาพ อาทิ จ.ขอนแก่น มีโรงงานน้ำตาลหลายแห่งสนใจต่อยอดการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ โดยการประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาข้อกำหนดระยะห่างโรงงานไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร และอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งเอกชนยังอยากได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม และครบวงจรเช่นเดียวกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี แต่จะต้องไปพิจารณาให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผล กระทบอื่นๆ ตามมา

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

54โรงงานน้ำตาลป่วน! เลิกชดเชยส่วนต่างค่าอ้อย-เตรียมถกลดเสี่ยง 

          จับตา 54 โรงงานน้ำตาลป่วน หลัง 1 ธ.ค.ราคา น้ำตาลลอยตัวตามตลาดโลก-ยกเลิกระบบโควตา ก.ข.ค. กระทบหากราคาผันผวนแรง มีปัญหาในการจ่ายค่าอ้อยล่วงหน้า เตรียมถกราคากลางหรือกำหนดราคาน้ำตาลล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยง

          สืบเนื่องจากวันที่ 1 ธันวาคม  2560 จะเปลี่ยนระบบบริหารจัด การน้ำตาลทรายในประเทศ โดย ราคาน้ำตาลจะไปสู่การลอยตัว และยกเลิกระบบโควตา ก. (บริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยหรืออนท.) โควตา ค. (ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) ทำให้วงการ น้ำตาลปั่นป่วนโดยเฉพาะบทบาทของโรง งานน้ำตาลทั่วประเทศ ที่มีจำนวนรวม 54 โรงงาน

          นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ โรง งานน้ำตาลทราย 54 แห่ง มีความกังวล หลังจากที่ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ที่จะทำให้การกำหนดราคาอ้อยมีปัญหา ถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนแรง ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการจ่ายค่าอ้อยที่โรง งานน้ำตาลจ่ายล่วงหน้าให้ชาวไร่อ้อยไปก่อน หากจ่ายค่าอ้อยให้ชาวไร่อ้อยในราคาที่สูง  สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายหรือกท.จะเป็นผู้จ่ายชดเชยส่วนต่างค่าอ้อยให้ ในราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ซึ่งตรงนี้กำลังเป็นประเด็นว่า ถ้าเกิดกรณี ราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนมาก จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะครม.มีมติไม่ช่วยชาวไร่อ้อยแล้ว และกองทุนก็ไม่อยู่ในบทบาทที่ต้องไปจ่ายชดเชยแบบที่ผ่านมา

          "เวลานี้ที่ปั่นป่วนคือการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ที่โรงงานน้ำตาลจะต้องจ่ายค่าอ้อยให้ชาวไร่ ซึ่งโรงงานอาจจะจ่ายค่าอ้อยต่ำ เพราะไม่กล้าเสี่ยง ในขณะที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสำหรับลงทุนในการ ดูแลอ้อยน้อยลง ซึ่งล่าสุดทั้งซีกภาครัฐและโรงงานน้ำตาลยังตกลงกันไม่ได้ในการแก้ปัญหานี้"

          นอกจากนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังเปิด เผยเพิ่มเติมอีกว่า พอมีข่าว วันที่ 1 ธันวาคมนี้ จะลอยตัวราคา น้ำตาลโดยปล่อยให้ราคาอิงตามตลาดโลก ทำให้บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม ชะลอการสั่งซื้อน้ำตาล เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกถูกลง ขณะที่ราคา น้ำตาลในประเทศถูกควบคุมอยู่ ตามกฏหมายเดิม ดังนั้นถ้า ราคาน้ำตาลลอยตัว ก็จะทำให้โครงสร้างต้นทุนต่ำลงเพราะ ราคาน้ำตาลอิงตามราคาตลาดโลกที่ขณะนี้ราคายังไม่สูงมาก

          อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคาน้ำตาล  ล่าสุดโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอยู่ระหว่าง พิจารณา เรื่องการกำหนดราคากลางหรือกำหนดราคาน้ำตาลล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงกรณีราคา น้ำตาลผันผวนแรง และสะเทือนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ไม่ สามารถปรับราคาสินค้าได้ทันตามการขึ้น-ลงของราคาน้ำตาล เหมือนการกำหนดค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปร ที่ต้องมีคณะกรรมการดูแล โดยการพิจารณาเรื่องการกำหนดราคากลางนี้จะต้องเกิดขึ้นระหว่างภาคเอกชนตกลงกันเองโดยไม่มีภาครัฐเกี่ยวข้องด้วยเพื่อไม่ให้ผิดหลักองค์การการค้าโลก (WTO)

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

จะทันไหม! โรงงาน-ชาวไร่อ้อยลุ้น 1 ธันวาคม “ลอยตัวราคาน้ำตาลทราย”  

         โรงงานน้ำตาล - ชาวไร่อ้อยส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ของ สนช.เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายให้รอบคอบ หวังประกาศใช้รองรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายได้ทันกำหนด 1 ธันวาคมนี้ห ลังเหลือเวลาเพียง 4 เดือน จับตาน้ำตาลตลาดโลกส่อฉุดราคาอ้อยขั้นต้นตกต่ำ

                นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างเร่งรัดหาข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการหลังยกเลิกโควตา และลอยตัวราคาน้ำตาลทราย เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 60/61 หลังจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้นำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ต่อ ครม.ไปก่อนหน้านี้ แต่ตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สอน.จึงต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ผ่านทางเว็บไซต์ของ สอน.ในขณะนี้

               “สอน.ต้องสรุปทำเรื่องส่ง ครม.หาก ครม.เห็นชอบก็จะส่งร่างดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่ระหว่างนี้เพื่อให้รวดเร็ว สนช.ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยฯ ซึ่งมีตัวแทนทุกส่วนรวมถึงชาวไร่ โรงงานน้ำตาล โดยจะได้ลงพื้นที่ในการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายควบคู่กันเพื่อให้รวดเร็ว และทุกฝ่ายหวังว่าแนวทางทั้งหมดจะไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นใหม่เพื่อให้ประกาศใช้ได้ทันก่อน 1 ธ.ค.” นายสิริวุทธิ์กล่าว

               ทั้งนี้ สาระของร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม และลดข้อพิพาทจากทางประเทศบราซิล หลังกล่าวหาว่าไทยมีการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายและอุดหนุนราคาภายในประเทศ ทำให้โครงสร้างราคาบิดเบือน

               นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยได้หารือและแจ้งให้สมาชิกชาวไร่ทั่วประเทศได้รับทราบถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเฉพาะการลอยตัวราคาในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ซึ่งคงจะต้องติดตามใกล้ชิดเพราะเหลือเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น

               “ในแง่ของการปฏิบัตินั้นเราก็น่าจะสามารถลอยตัวราคาน้ำตาลทรายได้ทัน แต่ในแง่ทางกฎหมายก็ยังไม่แน่ใจแต่เราก็จะต้องเร่งทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเพื่อให้บราซิลพอใจโดยเฉพาะให้ระบบไม่มีการอุดหนุน ราคาในประเทศสะท้อนต้นทุน” นายนราธิปกล่าว

                แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้แนวโน้มราคาขายปลีกของไทยหากลอยตัวราคาจะมีโอกาสปรับลดลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งอยู่ที่รัฐจะกำหนดวิธีการคำนวณในขั้นรายละเอียด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวไร่อ้อยเริ่มกังวลขณะนี้คือทิศทางราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 60/61 ที่หากคำนวณราคาในปัจจุบันจะอยู่ที่ระดับ 850 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาที่อาจทำให้ชาวไร่อ้อยไม่คุ้มทุนก่อนที่จะนำไปสู่การลอยตัวจึงต้องมีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะหากราคาตกต่ำจะช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอย่างไร

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

แม่ค้าขนมหวานร้องระงม 1ธ.ค.น้ำตาลทรายลอยตัว

ทุกข์คนกินหวาน เอาแน่แล้วกระทรวงอุตฯ ประกาศลอยตัวน้ำตาลทราย 1 ธ.ค. เอาใจบราซิล ถอนฟ้องไทยอุดหนุนราคา คาดแนวโน้มไม่ปรับเพิ่มมากเทียบปัจจุบัน ผู้บริโภคร้องหาคนดูแล หวั่นราคาพุ่ง ด้านสอน.เชื่อราคาไม่สูงมาก เหตุแข่งขันสูง                      

 นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกาศลอยตัวน้ำตาลทรายอ้างอิงตามราคาตลาดโลก ในวันที่ 1 ธ.ค. 60 ว่า  ภาครัฐมีความพร้อมแล้ว หลังจากประกาศยกเลิกระบบโควตาและการสนับสนุน โดยขณะนี้เป็นขั้นตอนของชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล พิจารณาการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งแนวโน้มราคาอ้อยหลังจากลอยตัวราคา คาดว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน อยู่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน คือ 19 บาทต่อกก. ขณะที่ราคาขายปลีกถึงมือผู้บริโภคจะบวกเพิ่มอีก 3 -3.5 บาท หรือประมาณ 22 -22.50 บาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก

 “ต่อไปราคาน้ำตาลทรายจะลอยตัวตามราคาตลาดโลก ช่วงไหนความต้องการของตลาดโลกสูงราคาก็จะปรับขึ้น ช่วงไหนผลผลิตดี เกินความต้องการ ราคาก็จะถูกลง ซึ่งจากการประเมินราคาสถิติน้ำตาลทราย10 ปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยหน้าโรงงานอยู่ที่ 14-26 บาทต่อกก.หรือเฉลี่ยประมาณ 19 บาท จึงคาดว่า หลังราคาลอยตัวยังอยู่ใกล้เคียงราคาระดับเดิม ทำให้ผู้บริโภคจะซื้อราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่22 บาทต่อกก. น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 22.5 บาทกก.  ส่วนช่วงไหนมีวิกฤตราคา น้ำตาลในตลาดโลก ทางกระทรวงพาณิชย์จะเป็นคนเข้ามาดูแลผู้บริโภค”

ส่วนร่างพ.ร.บ.อ้อย และน้ำตาลทรายฉบับใหม่คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาควบคู่กับการเปิดประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.ฯ หากกระบวนทุกอย่างแล้วเสร็จจะไปหารือกับประเทศบราซิล ในฐานะผู้ค้าน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ถอนฟ้องไทยกับองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) กรณีกล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทราย

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยังมีประชาชนบางส่วน เช่น แม่ค้าขายขนมหวานเป็นห่วงว่า หากประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้วจะมีหน่วยงานใด เป็นผู้ประกาศราคา เนื่องจากสอบถามทางสอน. ระบุเพียงว่า ปล่อยราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลกแล้วผู้บริโภคทั่วไป ต้องไปติดตามราคาที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า หรือตลาดทั่วไปเองกระทรวงพาณิชย์ จะดูแลในช่วงเกิดวิกฤติราคาตลาดโลกเท่านั้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเกรงว่าผู้ค้าอาจจำหน่ายราคาสูงเกินจริง เพราะมีผู้ประกอบการในตลาดจำนวนไม่มาก จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคซึ่งทางสอน. มองว่า กลไกการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ค้าน้ำตาลทรายจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายอยู่ในระดับที่เหมาะสม

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

รง.น้ำตาล-ชาวไร่อ้อยพร้อมรับลอยตัวราคา

โรงงานน้ำตาล, ชาวไร่อ้อยเตรียมพร้อมรับลอยตัวราคา ร่วมหาข้อสรุป หวังประกาศใช้ทันเปิดหีบ 1 ธ.ค.

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งร่วมกับหน่วยงายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ในการเร่งรัดหาข้อสรุปแนวทางการบริหารจัดการหลังยกเลิกโควตา และลอยตัวราคาน้ำตาล

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนที่จะจัดทำเป็นข้อสรุปประกอบการพิจารณาพร้อมร่างกฎหมาย นำเสนอแก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งหาก ครม. เห็นชอบ ก็จะส่งร่างดังกล่าวไปยังสนช. พิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 60/61 โดยร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับปรับปรุง เป็นหนึ่งในกระบวนการปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และลดข้อพิพาทจากทางประเทศบราซิล โดยการลดบทบาทการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ การยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายอันนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาด การยกเลิกการอุดหนุน 160 บาท ให้แก่ผู้เพาะปลูกอ้อย และการเพิ่มนิยามความหมายของ อ้อยให้สามารถนำไปทำสินค้าประเภทอื่นได้ เป็นต้น

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

รมว.เกษตรฯห่วงพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วม กำชับกรมชลฯเฝ้าระวัง

รมว.เกษตรฯห่วงพื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมขังหลังฝนตกเพิ่มขึ้น กำชับกรมชลประทานลงพื้นที่แก้ปัญหาตรงจุดเพื่อช่วยเกษตรกร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานเคลื่อนย้ายเครื่องมือเครื่องสูบน้ำลงพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมในจุดที่มีน้ำท่วมบ่อยล่วงหน้าตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้การช่วยเหลือหากมีน้ำท่วมทำได้ทันทีเพราะเมื่อเวลาเข้าฤดูฝนเต็มตัวบางพื้นที่จะนำเครื่องมือเข้าไม่ได้ ซึ่งการเตรียมการในปีนี้มีความพร้อมมาก โดยขณะนี้เร่ง ให้ชลประทานระบายน้ำออกจากนาข้าวใกล้เก็บเกี่ยว ในทุ่งบ้านหมี่ จ.ลพบุรี และทุ่งเชียงรากจ.สิงห์บุรี เพื่อป้องกันความเสียหาย ซึ่งนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน มอบให้นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลฯลงพื้นที่เข้าแก้ไขให้ตรงจุดเพื่อช่วยเกษตรกร

"ฝนเริ่มตกเพิ่มขึ้นจึงเป็นห่วงในเรื่องพื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมขังได้กำชับให้ชลประทานลงพื้นที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดทันเวลา พร้อมกันนี้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ไปปรับแผนเพื่อเร่งระดมทำฝนเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนมีน้ำน้อย ซึ่งในช่วงนี้มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยจนถึงปลายเดือนต.ค

หากเขื่อนไหนที่คาดการณ์ว่าอีก6 เดือนข้างหน้าจะมีปัญหาน้ำวิกฤตให้ไประดมทำฝนหลวงทันที"รมว.เกษตรฯกล่าว

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่าตอนนี้แนวโน้มฝนเข้าทางภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ตาลัส” (Talas) บริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ที่ส่งผลต่อประเทศไทย โดย รมว.เกษตรฯ ให้นโยบายกรมฝนหลวงฯเร่งเพิ่มน้ำเขื่อน ทั้งหมด 10 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

ทั้งนี้กรมได้ปรับเพิ่มเครื่องบินมาไว้ที่หน่วยฝนหลวงหัวหินจ.ประจวบคีรีขันธ์ ปฎิบัติการเติมน้ำเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี หน่วยฝนหลวง จ.กาญจนบุรี เติมน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ หน่วยฝนหลวงจ.ตาก เติมน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ หน่วยฝนหลวงเชียงใหม่ เติมน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล หน่วยนครราชสีมาเติมน้ำเขื่อนลำตะคอง หน่วยสระแก้ว เติมน้ำเขื่อนคลองสียัด เขื่อนพระปรง

อธิบดีกรมฝนหลวงฯกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมได้เริ่มสอบคัดเลือกนักบินฝนหลวงเข้าประจำฝูงบินภายหลังที่ได้มีการอนุมัติตำแหน่งเพิ่ม 9 คน ซึ่งมีผู้สมัครมากถึง 50 คน  ทั้งนี้การขอเพิ่มอัตรากำลังเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนนักบินในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ภาระกิจเพิ่มมากขึ้นจากสภาพอากาศแปรปรวนและนักบินลาออกเนื่องจากสวัสดิการของรัฐสู้ภาคเอกชนไม่ได้

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

อัดงบ500ล้านหนุนรง.ลดใช้พลังงาน

โรงงานฟังทางนี้ พพ.อัดงบ 500 ล้าน หนุนโรงงานทั่วประเทศเปลี่ยนระบบลดใช้พลังงาน เปิดรับโรงงานเข้าโครงการจนถึง 20 ส.ค.นี้  ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า – ประหยัดพลังงานให้ชาติ

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันนี้จนถึง 20 ส.ค. 60 พพ.ได้เปิดให้สถานประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานระบบปรับอากาศขนาดใหญ่และระบบทำความเย็นในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานของสถานประกอบการและลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ โดยมีวงเงินสนับสนุนการดำเนินงานรวม 500 ล้านบาท  ทั้งนี้เป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

"โครงการนี้จะช่วยให้สถานประกอบการลดการใช้ไฟฟ้า ในระบบความเย็นได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน ได้รับองค์ความรู้ในการอนุรักษ์พลังงาน การบำรุงรักษาระบบทำความเย็นจากที่ปรึกษา โดยจะเปิดรับจนถึง 20 ส.ค.นี้ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดการปล่อยสินเชื่อ”

ทั้งนี้คุณสมบัติของสถานประกอบการที่เข้าร่วมจะต้องเป็น 1.โรงงาน/อาคารควบคุมเอกชนทั่วประเทศ ที่มีระบบทำความเย็นขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 100 ตันความเย็นขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่ปรับอากาศรวมไม่น้อยกว่า 500 ตารางเมตรขึ้นไป  2.บริษัทจัดการพลังงาน เป็นผู้ขอรับเงินสนับสนุนแทนโรงงาน/อาคารควบคุม 3. เป็นสถานประกอบการที่มีศักยภาพในการลงทุน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ในระบบทำความเย็นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ

สำหรับเงื่อนไขการขอรับเงินสนับสนุน 1.มาตรการที่ขอรับเงินสนับสนุนต้องเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพในระบบทำความเย็น โดยมาตรการที่มีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 3 ปีได้รับเงินสนับสนุน 1 บาทต่อหน่วยต่อปี มาตรการที่มีระยะเวลาคืนทุนตั้งแต่3 ปีขึ้นไปได้รับเงินสนับสนุน2 บาทต่อหน่วยค่าไฟฟ้าต่อปี 2.อุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งต้องมีมาตรฐาน และดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือนนับจากวันลงนามสัญญาสนับสนุน  3.สถานประกอบการต้องขอรับการสนับสนุนไม่น้อยกว่า 50,000 หน่วยต่อปี สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อแห่ง  4.ผู้ขอรับเงินสนับสนุนที่เป็นบริษัทจัดการพลังงาน จะต้องมีหนังสือยินยอมจากสถานประกอบการผู้ใช้พลังงานให้เป็นผู้รับการสนับสนุนจากโครงการและวงเงินสนับสนุนรวมทุกสัญญาต้องไม่เกิน 100 ล้านบาท

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงปลายสัปดาห์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนสอดคล้องกับทิศทางเงินเยนที่ขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เองก็เผชิญแรงเทขาย หลังคำแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้มมากนัก โดยระบุเพียงว่า เฟดจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยทางเทคนิคในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยตลอดทั้งสัปดาห์ก็ตาม

สำหรับในวันศุกร์ (14 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 ก.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.80-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ทิศทางการปรับตัวของสินทรัพย์เสี่ยง ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การอนุญาตก่อสร้าง ดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือนมิ.ย. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนพ.ค. นอกจากนี้ ตลาดน่าจะรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน

ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงปลายสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไรหุ้นธนาคาร โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,577.79 เพิ่มขึ้น 0.53% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 19.42% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 42,422.78 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 566.88 จุด เพิ่มขึ้น 1.42% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ จากการทยอยประกาศงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 2/2560 ที่ออกมาดีเกินคาด โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารและกลุ่มสื่อสาร ประกอบกับมีแรงซื้อของนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณชะลอการปรับชึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ SET Index ได้ปรับลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังมีแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรงบการเงินในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,555 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประกาศงบการเงินของบจ. สำหรับไตรมาส 2/2560 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญ ได้แก่ ดัชนีการผลิตของเฟดฟิลาเดเฟียเดือนก.ค. และจำนวนบ้านใหม่ที่กำลังก่อสร้างและที่จะก่อสร้างเดือนมิ.ย. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ประกาศของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น และ CPI ของสหราชอาณาจักร

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 15 กรกฎาคม 2560

ขอนำเข้าแอลพีจีแสนตันก่อนเปิดเสรี

ธพ.เผยเอกชน 3 รายใหญ่ ขอนำเข้าแอลพีจีกว่า 1 แสนตัน ก่อนเปิดเสรีในเดือน ส.ค.นี้ คาดคนไทยใช้น้ำมันพุ่ง หลังจากครึ่งปีโต 3.45% หรือเฉลี่ย 150 ล้านลิตรต่อวัน ตามภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายให้เปิดเสรีนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ของเอกชน มีผลในวันที่ 1 ส.ค.2560 เบื้องต้น มีเอกชน 3 รายที่ยื่นขอนำเข้าแล้วกว่า 1 แสนตัน ได้แก่ บมจ.ปตท. จำนวน 66,000 ตัน นำเข้าเพื่อการส่งออก 59,000 ตัน ส่วนที่เหลือใช้ขายในประเทศ, บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำนวน 44,000 ตัน เพื่อขายในประเทศ และ บมจ.ยูนิคแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมิคัลส์ จำนวน 3,500 ตัน

“ตอนนี้ธุรกิจแอลพีจีกำลังปั่นป่วน เพราะบริษัทที่เคยนำเข้าในปริมาณมากๆ อย่าง ปตท. ต้องมีการปรับบทบาท และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องยอมรับว่าลูกค้าจะหายไป อย่างเช่น สยามแก๊สฯ จากเดิมซื้อ ปตท.อยู่ 100% อาจจะหันไปซื้อจากโรงกลั่น หรือนำเข้ามาเองก็ได้ แต่ทั้งหมดนี้การเปิดเสรีไม่ใช่แค่จะให้เอกชนมีการแข่งขันเข้ามาทำธุรกิจกันเท่านั้น แต่จะส่งผลถึงราคาขายปลีกต่อประชาชนที่จะถูกลงเรื่อยๆ หากมีการแข่นขันที่เพิ่มขึ้น” นายวิฑูรย์กล่าว

สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 3.45% เฉลี่ยอยู่ที่ 150 ล้านลิตรต่อวัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 145 ล้านลิตรต่อวัน สอดคล้องกับปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ย 6 เดือนแรกอยู่ที่ 868,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.2% คิดเป็นมูลค่า 50,481 ล้านบาทต่อเดือน

ประเมินว่าภาพรวมการใช้น้ำมันช่วงครึ่งปีหลังจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปี 2559 โดยมีปริมาณการใช้น้ำมันรวม 185 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น เติบโต 3.2% จากแรงอัดฉีดเงินเข้าระบบของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัว ส่งผลให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 15 กรกฎาคม 2560

“ก.พาณิชย์จีน”หนุนไทยเป็น HUB อาเซียน

นางสาวกรรณิกา   แก่นวงศ์, HUB, อาเซียน , กพาณิชย์จีน, Guangzhou, Thailand Commodity Fair, CFTC, สสปน, Shower Enclosure, Connectivity, Thailand Commodity Fair

                  นางสาวกรรณิกา   แก่นวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. จำกัด  ในฐานะผู้บริหารการจัดงานแสดงสินค้าจีนทั้ง 2 งาน กล่าวว่า ถือเป็นงานแสดงสินค้าจีนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้การผนึก 2 งานยักษ์ไว้ในงานเดียว “งานแสดงสุดยอดสินค้าคุณภาพจากประเทศจีน ครั้งที่ 8 (The 8th China Products Show 2017)” จัดงานโดย กรมพัฒนาการค้า กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับ Worldex-Singex Exhibitions (Guangzhou) Co., Ltd. และ “งานแสดงสินค้าอาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 (The 7th China-ASEAN (Thailand) Commodity Fair)” จัดงานโดย ศูนย์บริการการค้าต่างประเทศของจีน (CFTC) สังกัดกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน สำนักงานเศรษฐกิจและให้คำปรึกษาเชิงพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) 

                ทั้งนี้   จากการจัดงานที่ผ่านมาได้รับความสนใจ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จากผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ที่มีทั้งจากประเทศไทย กลุ่มอาเซียน และนานาประเทศเข้าร่วมชมงานตลอดทั้ง 3 วันจัดงาน  ไม่น้อยกว่า 10,000 คน   ซึ่งการจัดงานทุกปีเราได้พัฒนา และนำสินค้ามาจัดแสดงที่มีความหลากหลาย จากมณฑลต่างๆ ของประเทศจีน พร้อมด้วยสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นไฮไล้ท์ ไม่ว่าจะเป็น  กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ฉากกั้นอาบน้ำสำเร็จรูป (Shower Enclosure)  โคมไฟและอุปกรณ์แสงสว่าง สีCoating เครื่องใช้ในครัวเรือนและสินค้าอุปโภค สินค้าไลฟ์สไตล์  เครื่องมือช่าง วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง  เครื่องจักรกลอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  รวมถึงชาและเครื่องดื่ม ซึ่งมาจากหลากหลายเมือง/มณฑล อาทิ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลอานฮุย นครเซี่ยงไฮ้ นครปักกิ่ง มณฑลเหลียวหนิง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลเสฉวน เป็นต้น  ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่มาจากทั่วทุกเมืองจากประเทศจีนได้นำมาจัดแสดง  ทำให้ผู้ประกอบการ นักธุรกิจที่ร่วมชมงานสามารถติดต่อการค้าได้ง่าย  พร้อมทั้งสามารถจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าได้ภายในงาน  ล้วนเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น ภายใต้การส่งเสริมธุรกิจการค้าและขยายความร่วมมือระหว่างไทย จีน อาเซียนอีกด้วย

                    “นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การจัดงานฯ ยังได้ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจการค้าไทยจีน ได้ร่วมฟังบรรยายในเวทีสัมมนา โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่ช่วยจุดกระแสของงานแสดงสินค้าจีนที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs  นักธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน  และประชาชนทั่วไป มาร่วมฟังบรรยาย และสัมมนา เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการค้า การลงทุนที่หลากหลายแง่มุมในหัวข้อต่างๆ  อย่างไรก็ตามเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ ฯ โดยเน้นการส่งเสริมการค้ายุคดิจิตอล ตั้งแต่การเริ่มต้นประกอบธุรกิจออนไลน์ การแสวงหาการค้าผ่านอีคอมเมิรซ์ การไขกุญแจสำคัญเพื่อประสบความสำเร็จในการค้าขายในยุคดิจิตอล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายจากพันธมิตร อาทิ ทีแคท คาร์โก้  ผู้ให้บริการและผู้เชี่ยวชาญการขนส่งนำเข้าสินค้าจีน อีกด้วย

                   นางสาวกรรณิกา   กล่าวอีกว่า เรามั่นใจว่าปีนี้จะดึงดูดผู้ร่วมจัดแสดงสินค้า ตลอดจนผู้เข้าชมงานได้มากกว่าปีที่ผ่านมา และช่วยส่งเสริมการค้าไทยจีนรักษาฐานการค้าในอาเซียนต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงประเทศไทยเองที่มีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน  ที่จะสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) กับประเทศต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคตามยุทธศาสตร์การค้าต่างประเทศของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ของอาเซียน ตลอดจนเชื่อว่าจะทำให้มูลค่าการค้าในภูมิภาคนี้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต 

                 สำหรับ  งานแสดงสุดยอดสินค้าคุณภาพจากประเทศจีน ครั้งที่ 8 (The 8th China Products Show 2017)” และ “งานแสดงสินค้าอาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 ( The 7th China-ASEAN (Thailand) Commodity Fair )” มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2560 ณ อาคารแสดงสินค้าฮอลล์ 7-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี  สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. จำกัด โทร.  0 2664 6488 ต่อ 402, 405  หรือติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.chinaproductshowbkk.net และhttp://cacf.fairwindow.com/English

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

“พล.อ.ฉัตรชัย” เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เพื่อการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำ

 “พล.อ.ฉัตรชัย” เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เชื่อมข้อมูลน้ำจากทุกหน่วยเพื่อใช้บัญชาการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบช่วงวิกฤตน้ำท่วม/ภัยแล้ง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center ) หรือ SWOC อย่างเป็นทางการ ณ อาคาร “99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู” ภายในกรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ ว่า ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC โดยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศูนย์ฯนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำ และ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ในช่วงวิกฤติที่เกิดอุทกภัย และภัยแล้ง สามารถบูรณาการวางแผนร่วมกันติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา และ มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกษตรกรวางแผนทำการเกษตรได้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ หน่วยที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือเกษตรทั้งในระยะสั้น/ระยะยาว ลดผลเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานจะนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น มาเชื่อมโยงและจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง สะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ เป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารประเทศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์

สำหรับส่วนประกอบของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1 ระบบข้อมูลบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลาง ได้แก่ ข้อมูลโทรมาตรปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลระบบส่งน้ำ/ระบบระบายน้ำทั้งประเทศ ทั้งที่เป็นสถิติ และ Real Time รวมไปถึงฐานข้อมูล Agri-Map 2. ระบบวิเคราะห์ข้อมูล โดยการประยุกต์แบบจำลองคณิตศาสตร์กับระบบ MIS (Management Information System) และ DSS ( Decision Support System ) โดยทั้ง 2 ระบบ จะพยากรณ์และให้ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจแก่ผู้บริหารทั้งในด้านสถานการณ์น้ำและการจัดการความเสี่ยง ที่มีผลกับเขื่อนและการบริหารจัดการน้ำอย่างทรงประสิทธิภาพ และส่วนที่ 3 คือ ระบบการนำเสนอข้อมูลแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 2 ส่วนแสดงผล ได้แก่ 1. ส่วนแสดงผลการติดตามสถานการณ์น้ำแบบ real time จากกล้องวงจรปิดจากโครงการชลประทานทั่วประเทศ และ 2 ส่วนแสดงข้อมูลจากระบบโทรมาตร ทั่วประเทศ 700 กว่าสถานี เพื่อให้เทคโนโลยีรองรับซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องด้านน้ำ และสำนักงานชลประทาน 17 สำนักงานทั่วประเทศเข้าด้วยกันด้วยระบบ Video Wall Management และ Video Conference เพื่อช่วยให้การนำเสนอข้อมูลและสั่งการในการบริหารจัดการน้ำ สามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์ตลอดเวลา

“ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงาน ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทานเพื่อให้ผ่านสถานการณ์วิกฤติไปได้ แตกต่างจากศูนย์อื่นๆ เช่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ, ศูนย์ของกรมทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่วางแผนน้ำในอนาคต เป็นต้น จึงไม่มีความซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากภารกิจของกรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน และ ประสานหน่วยอื่นๆ ทำงานไปในแนวทางเดียวกัน”พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

ด้านนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 115 ปีกรมชลประทาน มีบทบาทภารกิจในการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ บรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ โดยได้มีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์บริหารทรัพยากรน้ำ และตอบสนองนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ที่จะนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming ให้เกษตรกรมีความร่ำรวยขึ้น ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2579 และการเปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่กรมชลประทาน 4.0 (RID 4.0)

“SWOC นอกจากมีเป้าหมายเพื่อความรวดเร็วในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมั่นใจว่าศูนย์ฯดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเรื่องน้ำที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการให้ข้อมูลพร้อมคาดหมายสถานการณ์น้ำล่วงหน้าแก่เกษตรกร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ทำการเกษตรประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

โลกอนาคตกับการสร้างนวัตกรรมทำการเกษตร ที่อัจฉริยะขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 รูปแบบการทำเกษตรใหม่ๆกำลังเกิดขึ้นแม้จะไม่เห็นภาพชัดในบ้านเรา แต่ในต่างประเทศมีความพยายามสร้างการเกษตรแบบอัจฉริยะขึ้นมาเป็นระยะและพัฒนามานับทศวรรษ

เช่นที่นวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับกำลังเป็นกระแสตื่นตัวในหลายบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และแน่นอนเทคโนโลยีแบบชาญฉลาดนี้ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการทำเกษตรด้วยเช่นกัน

การเตรียมการเพาะปลูกโดยเกษตรกร การหว่านลงเมล็ด การเก็บเกี่ยว ทั้งหมดนี้มีเครื่องจักรเข้าช่วยในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นรถไถหว่าน รถแทรคเตอร์ขนาดใหญ่ แต่การพยายามใส่เทคโนโลยีเพิ่มเข้าไป ทำให้รถเหลานี้เป็นรถทำงานด้านการเกษตรที่อัจฉริยะขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเชื่อมสัญญาณดาวเทียมเข้าไปในรถเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการตรวจจับแปลงเพาะปลูกและสำรวจสภาพอากาศของพื้นที่เกษตรนั้นๆ และแน่นอน ถ้าเพิ่มเทคโนโลยีรถทำการเกษตรไร้คนขับเข้าไปอีก ก็จะยิ่งเป็นความฉลาดอัจฉิรยะกำลังสอง และแน่นอนระยะยาวคือการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มการคำนวณระยะการเก็บเกี่ยวที่แม่นยำขึ้น และนำไปสู่การวางแผนอย่างเป็นระบบในการเพาะปลูกเพื่อไม่ให้ปริมาณผลผลิตมีมากเกินไป

มีตัวอย่างหนึ่งในพื้นที่เกษตรที่สหรัฐอเมริกา ที่บางช่วงอากาศภายนอกจะมีความร้อนสุดๆ แน่นอนว่าเกษตรกรย่อมลำบากในการออกไปทำงานในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ และนั่นนำมาซึ่งการพยายามตอบโจทย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อ บลู ริเวอร์ เทคโนโลยี ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย นำระบบออโตเมชั่น หรือระบบอัตโนมัติมาพัฒนาให้เกิด “ระบบฟาร์มอัจฉิรยะ” ที่ทำให้เครื่องจักรด้านการเกษตรทำการช่วยเหลือ บำรุงรักษาแปลงเกษตรและช่วยกำจัดวัชพืชได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้จะต้องมีการพึ่งพิงใช้ข้อมูลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า ระบบอัตโนมัติที่จะทำงานควบคู่กับข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่อัพเดทจะช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง รวมทั้งสารเคมีกำจัดวัชพืชได้อย่างแม่นยำต่อปริมาณที่เหมาะสมทั้งกับแปลงเกษตรและกับสิ่งแวดล้อม

วิธีการนี้จะทำให้เกิดการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ เพราะสามารถคำนวณได้ทั้งต้นทุนการผลิตและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังเปลี่ยนรูปแบบการทำฟาร์ม

ปัจจุบันรถแทรคเตอร์อัจฉริยะ ที่ฉลาดขึ้นเรื่อยๆนี้มีตั้งแต่ระบบเซนเซอร์ กล้องวิดีโอ เรดาห์ และแน่นอนระบบไร้คนขับ ซึ่งรถแทรคเตอร์นี้ถูกควบคุมจากมนุษย์ที่นั่งอยู่ในออฟฟิศอีกครั้ง

เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมด้านการเกษตร ซึ่งปัจจุบันบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งแข่งขันกันพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรแบบระบบอัจฉริยะในหลายรูปแบบ อาทิ บริษัท บลู ริเวอร์ เทคโนโลยี วางแผนจะติดตั้งระบบที่เขียนอัลกอริธึ่มเจาะจงในการตรวจสอบวัชพืชลงลึกในแต่ละแปลง เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการเกษตรเพื่อเข้าสู่ฟาร์มอัจฉริยะในโลกอนาคต

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ปรับแผนเติมน้ำอีสานหลังปริมาณเก็บกักต่ำ

. เกษตรฯสานต่อพระราชปณิธานร.9เฉลิมพระเกียรติร.10ขยายผลโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชฯเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศเล็งอีสานหลังปริมาณน้ำในเขื่อนเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

          13 ก.ค.60 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและ เพิ่มผืนป่าทั่วประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิรลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยรับฟังบรรยายสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกียวข้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ การเพาะปลูก การเติมน้ำลงเขื่อนลำตะคอง และโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชฯ ก่อนจะทำพิธีเปิดโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชฯ และมอบเมล็ดพันธุ์พืชให้กับ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ พร้อมเยี่ยมชมจุดปั้นเมล็ดพันธุ์ โดยความร่วมมือจากกำลังพลของกองทัพบก ประชาชน และอาสาสมัครฝนหลวง

          พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศหลังการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันในพื้นที่แหล่งต้นน้ำภายใต้แนวคิด “9 สัปดาห์ สู่วันมหามงคล” ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำงานเชิงบูรณาการที่มีผลดีต่อระบบนิเวศและการทำฝนหลวง เนื่องจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ต้นทุนในการให้กำเนิดความชื้นที่จะก่อตัวเป็นเมฆและตกเป็นฝนกลับสู่พื้นที่ป่าที่เป็นต้นน้ำ ไหลลงสู่พื้นที่การเกษตรและแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติหรืออ่างเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป

           และเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด “9 วัน สู่วันมหามงคล 65 วันสืบสานพระราชปณิธาน” เพื่อเป็นการคืนผืนป่าเพื่อสานต่อพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และเพิ่มความชื้นให้กับพื้นที่ป่า สร้างความสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ ที่ทุกฝ่ายตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำและน้อมนำแนวพระราชดำริศาสตร์พระราชา มาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

           สำหรับในส่วนของพื้นที่แหล่งต้นน้ำ โดยเฉพาะบริเวณเขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 12 ก.ค. 60 มีน้ำ 78 ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำใช้การได้ 55 ล้าน ลบ.ม.) จากความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งถือว่าน้อยมาก อาจจะกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้ ขณะที่เขื่อนลำพระเพลิง ซึ่งอยู่ใกล้กัน ณ วันที่ 12 ก.ค. 60 มีน้ำ 98 ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำใช้การได้ 97 ล้าน ลบ.ม.) จากความจุ 155 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 จึงได้มีการสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรและกรมชลประทาน ประสานการทำงานร่วมกันโดยมีการปรับแผนการบินปฏิบัติการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องน้ำของพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เขื่อนลำตะคอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 9 กรกฎาคม 2560

           โดยระดมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมาและบูรณาการร่วมกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 26.99 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำจากการปฏิบัติการฝนหลวง 6.12 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะยังคงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          “จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ในช่วงปลาย 2560 แต่ในขณะนี้คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องเก็บน้ำในเขื่อนเพื่อให้มีความมั่นคงด้านน้ำให้มากที่สุด จึงได้สั่งการให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนลำตะคองจนกว่าจะมีน้ำต้นทุนที่มั่นคงขึ้น ประมาณร้อยละ 70 คือ 220 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วงที่เครื่องบินกลับจากการปฏิบัติการฝนหลวง ได้ใช้โอกาสนี้โปรยเมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ในป่าต้นน้ำต่าง ๆ ทำให้เกิดป่าต้นน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้เพียงพอต่อการปฏิบัติการฝนหลวง และ ยังเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ป่า ซึ่งการดำเนินการในปีที่ผ่านมาพบอัตราการรอดของต้นไม้ถึง 40%”พลเอกฉัตรชัย กล่าว

         ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชให้มีความพร้อมในการโปรยจากเครื่องบินฝนหลวงนั้น จำเป็นต้องห่อหุ้มด้วยดินที่มีสารอาหารและความชื้นที่จำเป็นต่อเมล็ดพันธุ์ในช่วงที่ตกถึงพื้นดินในช่วงแรก จึงได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงการในระยะที่ 1 คือการปั้นเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา มณฑลทหารบกที่ 31 จังหวัดนครสวรรค์ และมณฑลทหารบกที่ 15 จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับใช้โปรยในโครงการดังกล่าว ซึ่งมีชนิดเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้รวม 14 ชนิด  ที่จะใช้โปรยในพื้นที่เป้าหมายตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดให้ทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คือ

          - ภาคกลาง โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ กัลปพฤกษ์ กาฬพฤกษ์ ขี้เหล็ก แดง พฤกษ์ มะค่าแต้ ราชพฤกษ์ (คูน) สาธร (กระเจาะ) สีเสียด (สีเสียดแก่น) อะราง (นนทรีป่า) และมะค่าโมง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

           - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไผ่รวกและพะยูงโดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

           - ภาคใต้ โปรยเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ประดู่ (ตีปีก) และมะค่าโมง โดยความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ในพื้นที่เป้าหมายบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

          อย่างไรก็ตาม จะมีการประเมินผลโครงการฯ ในปี 2560 ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2560  โดยแบ่งการประเมินผลเป็น 2 ส่วน คือ การประเมินอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ในแปลงทดลอง (Field Test) ซึ่งเป็นการทดสอบอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์จากการนำเมล็ดพันธุ์ที่ปั้นเพื่อใช้ในการโปรย มาทดสอบโดยใช้แปลงทดลองเสมือนจริง บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่จริงโดยทำแปลงทดลองทั้งหมด 3 สถานที่ และใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการโปรยในแต่ละพื้นที่ และการประเมินอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์จากพื้นที่จริง (Field Survey) โดยทีมลาดตระเวนของกรมอุทยานฯ อีกด้วย

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ส่งออก7หมื่นรายการวุ่นกฎใหม่คุมสินค้ายุทธปัจจัย

          ไทยออกประกาศสินค้า 2 ทาง Dual Use Items คุมเข้มสินค้าอุปกรณ์ที่อาจใช้ผลิตอาวุธทำลายล้างอานุภาพร้ายแรง 71,632 รายการ ตั้งแต่เครื่องยิงแสงเลเซอร์-ยาแนวพื้นห้องน้ำ ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ หวั่นกระทบส่งออก 2 ล้านล้าน เอกชนโวย "เป็นเรื่องใหม่" มีประกาศแค่ 2 แผ่นอีก 6 เดือนบังคับใช้

          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2561 จะมีประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการกำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้ 2 ทาง (Dual Use Items : DUI) ออกมาบังคับใช้ โดยประกาศฉบับนี้ได้กำหนดให้สินค้า 73,583 รายการ ครอบคลุมสินค้าที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออก เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและปฏิบัติตาม มาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558

          สินค้าจำนวนมากมายภายใต้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ อาจเรียกง่าย ๆ ว่า "สินค้า DUI" ผู้ผลิตส่งออกจะต้องยื่นขออนุญาตส่งออกกับกรมการค้าต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าและวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ "อาจจะ" นำไปใช้ใน การผลิต/ประกอบ/เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำไปใช้ทำอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction หรือ WMD) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการ "ควบคุมสินค้าที่นำไปใช้ได้ 2 ทาง" ซึ่งเป็นไปตามที่ประเทศไทยได้ผูกพันไว้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council) ในข้อมติ UNSCR ระบุให้ประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการในการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)

          ทั้งนี้สินค้าที่เข้าข่าย DUI มีจำนวน/มูลค่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีจำนวน 73,583 รายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 71,632 รายการ ยกตัวอย่าง เครื่องเลเซอร์ผิวหน้า สามารถนำไปพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์/อาวุธชีวภาพได้, ยาชา มีสารบางอย่างสามารถนำไปเป็นอาวุธชีวภาพ, หัวเหล็กไม้กอล์ฟ สามารถนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนขีปนาวุธ ไปจนกระทั่งถึงไส้ดินสอดำ-เส้นเอ็นที่ใช้ในไม้เทนนิส โดยการส่งออกสินค้า DUI ในปี 2559 คิดเป็นมูลค่า 2.26 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีมูลค่า 2.25 ล้านล้านบาท ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกสินค้ามากกว่า 13,566 ราย ซึ่งยัง "สับสน" และ "ไม่เข้าใจ" วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในประกาศฉบับนี้

          คต.เตรียมการมา 3 ปี

          นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงกลาโหม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถปฏิบัติตามประกาศฯ เชื่อว่าจะไม่สร้างภาระต้นทุนให้เอกชน

          ขณะที่นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กล่าวว่า ผู้ส่งออกที่ยังไม่มั่นใจว่า สินค้าที่ตนเองส่งออกนั้น เป็นชิ้นส่วนที่จะสามารถนำไปผลิตอาวุธร้ายแรงได้หรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบคัดกรองสินค้าที่ส่งออกเข้าข่ายเป็นสินค้า DUI ตามบัญชีรายชื่อการสินค้า DUI ของไทย (Thai List) ผ่านระบบ e-TCWMD

          ทั้งนี้หากตรวจสอบพบว่า สินค้าส่งออกดังกล่าวเป็นสินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้า DUI ตามบัญชีแนบท้าย 1 ซึ่งมี ประมาณ 1,200 รายการ ผู้ส่งออกต้อง ยื่นขออนุญาตส่งออกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Licensing) แต่ในกรณีที่สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าไม่ได้เป็น DUI ตรวจสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ถึงพิกัดศุลกากร 6-8 หลัก ปรากฏว่าไม่ใช่สินค้าในกลุ่ม DUI ซึ่งอยู่ในบัญชีแนบท้าย 2 มีประมาณ 600 รายการ ผู้ส่งออก สามารถออก e-Certification และดำเนินการส่งออกได้เลย

          อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ถือเป็นมาตรการชั่วคราว ก่อนที่ออกร่าง พ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือร่าง พ.ร.บ. TCWMD จะออกมาบังคับใช้ ซึ่งล่าสุดร่าง พ.ร.บ.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา

          "การคัดกรองสินค้าก่อนการส่งออกเป็นส่วนสำคัญ หากไทยยกร่างกฎหมายสำเร็จ เราก็จะเป็นประเทศที่ 3 ต่อจากมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีระบบการตรวจสอบและรับรองการส่งออกสินค้าที่สามารถใช้ได้ 2 ทางแล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าสินค้าจากไทย แต่หากไทยไม่มีระบบตรวจสอบนี้ประเทศผู้นำเข้าอาจจะสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าจากไทยได้" นายอดุลย์กล่าว

          ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้อ้างว่าได้เตรียมความพร้อมโดยให้ความรู้ผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีนับจากปี 2557 และในวันที่ 18-19 กรกฎาคมนี้ กรมฯเตรียมจัดประชุมนานาชาติ โครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือโลกว่าด้วยการบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง 2017 ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย

          ผู้ส่งออกเพิ่งรู้เรื่อง DUI

          นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการกลุ่มการค้าระหว่างประเทศสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้แจ้งกับสมาชิกเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยแต่ละบริษัทจะต้องตรวจสอบสินค้าส่งออกของตัวเองว่า เข้าข่ายเป็นสินค้า DUI หรือไม่ และจะต้องขึ้นทะเบียนรับรองตนเอง เนื่องจากประเทศคู่ค้าตลาดส่งออกอย่างสหรัฐ-สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยในด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ส่งออกจะมีมากเพียงใดต้องรอดูว่า หลังจากนี้มีการขึ้นทะเบียนมากน้อยเพียงใด

          "ในส่วนของบริษัท SCG ได้ตรวจสอบรายการสินค้า DUI และเตรียมขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า ประกาศ DUI ได้ครอบคลุมสินค้าในหมวดวัสดุก่อสร้างหลายรายการ ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายสินค้าเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้คาดคิดว่า มันจะเป็นสินค้า DUI มาก่อน เช่น วัสดุยาแนว ซึ่งทางบริษัทได้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนแล้ว"

          นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกเตรียมแจ้งสมาชิกให้รับทราบถึงรายละเอียดและแนวทางการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ เพราะ "เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่" สำหรับผู้ส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหารจะต้องศึกษาและดูรายละเอียดว่า เกี่ยวข้องกับตนหรือไม่ หรือมีส่วนประกอบอะไรที่เป็นการเสี่ยงต่อภัยอันตรายหรือไม่

          ขณะที่นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวได้มีการพูดถึงมาระยะหนึ่ง "แต่เราเพิ่งได้รับทราบรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง" สมาชิกส่วนใหญ่ก็ไม่ถึงกับกังวลมากนัก เพราะสินค้าอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์มีกระบวนการผลิต การตรวจสอบ รวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ สายทองแดง หรือแร่บางชนิด มีขั้นตอนที่ถูกต้อง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองและตรวจสอบได้มาตรฐานความปลอดภัย (มอก.) แล้ว

          "เรากลับมีความกังวลในสินค้ากลุ่ม Internet of Thing (IoT) เพราะเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้คำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ต สินค้ากลุ่มนี้แม้ ไม่แยกส่วนประกอบออกมาแต่กลับ ใช้เป็นคำสั่งในการทำให้สินค้าเป็นอาวุธได้ เช่น จุดฉนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น" นายวิษณุกล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

เดินหน้าตั้งอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบข้อมูลหนี้สิน‘เกษตรกร’

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 26/2560 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ให้มีคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ มีความก้าวหน้าโดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร ซึ่งได้เริ่มดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน และจัดทำแผนสนับสนุนคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยได้ดำเนินการประชุมทางไกลพร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดทำแผนการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ซึ่งเริ่มผลักดันให้มีการสนับสนุนงบดำเนินการจาก กฟก. และมีการสำรวจข้อมูลหนี้จากทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.-24 ส.ค. นี้ คาดว่ามีบางจังหวัดได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น ภูเก็ต ตรัง นครปฐม ระยอง เป็นต้น และหากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการเร่งดำเนินการร่วมกันอย่างเต็มที่ การรวบรวมข้อมูลดังกล่าวอาจจะแล้วเสร็จก่อนกำหนด

ด้าน นายกมล ศักดิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการจัดทำข้อมูลหนี้สินเกษตร ณ อาคาร 3 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การกำกับดูแลของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในระดับจังหวัดและอำเภอ ซึ่งจะดำเนินการรวบรวมปัญหา/ข้อแก้ไขในการปฏิบัติงาน และเสนอคณะอนุกรรมการ พิจารณาต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เร่งปั้นสหกรณ์‘Smart Officer’ ประจำทุกอำเภอสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ได้การจัดฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนานักส่งเสริมสหกรณ์ระดับอำเภอสู่การเป็น Smart Officer” ให้กับนักส่งเสริมสหกรณ์ประจำอำเภอทั่วประเทศ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจงานด้านต่างๆ อาทิ การกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ที่ดีตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ ระเบียบ และข้อบังคับของสหกรณ์ แนวทางการพัฒนาสหกรณ์สู่ความเข้มแข็ง การส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร และการส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้นักส่งเสริมสหกรณ์ประจำอำเภอมีความรู้ทางวิชาการและความเชี่ยวชาญ สามารถบริหารจัดการงานและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดีและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างภาครัฐกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งอย่างมั่นคง

“นักส่งเสริมสหกรณ์ต้องทำงานกับประชาชนในระดับพื้นที่ ต้องทำงานในเชิงสังคม ทั้งสหกรณ์ในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งหมด เพราะมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ในอนาคตกรมตั้งเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงสหกรณ์ในภาคการเกษตรและนอกภาคเกษตรเข้าด้วยกัน โดยสหกรณ์นอกภาคการเกษตรจะเป็นแหล่งกระจายสินค้าคุณภาพดีจากสหกรณ์การเกษตรสู่สมาชิกและประชาชนทั่วไปได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังมีภารกิจในการยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ซึ่งกรมได้ออกเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน และอยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือ เพื่อให้นักส่งเสริมสหกรณ์นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ นักส่งเสริมสหกรณ์ควรวิเคราะห์สถานภาพของสหกรณ์ที่อยู่ในความดูแล เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการทำงาน สามารถให้คำแนะนำแก่สหกรณ์ได้ว่ายังต้องพัฒนาในด้านใดหรือต้องปรับปรุงส่วนใดที่ยังบกพร่องให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น เป้าหมายของการพัฒนาสหกรณ์ไม่ได้มุ่งหวังการแสวงหากำไร แต่ต้องพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็ง สามารถดูแลสมาชิกให้อยู่ดีกินดีมีความสุขอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อระบบสหกรณ์ในที่สุด” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

“พาณิชย์”เยือนสหรัฐถกค้า ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

            นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะเดินทางร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ไปเยือนสหรัฐในวันที่ 12 ก.ค.นี้ เพื่อประชุม StrategicMeeting ระหว่างไทย-สหรัฐ โดยประเด็นที่จะหยิบยกมาหารือ ได้แก่ ประเด็นการค้า รวมทั้งความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

           โดยไทยยังจะรายงานข้อมูลด้านการค้า ซึ่งเคยหารือร่วมกับสหรัฐแล้วภายใต้การประชุมกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐ (TIFA JC) อาทิ กฎระเบียบด้านศุลกากรและทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย

             ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ประเด็นหลักของการหารือในเวทีนี้ จะชี้แจงถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และลดขั้นตอนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การเพิ่มบทลงโทษในกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

              นอกจากนี้ กรมยังเตรียมข้อมูลความคืบหน้าของการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในตลาดหลัก 6 แห่ง ทั้งศูนย์การค้ามาบุญครอง,ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ, คลองถม, บ้านหม้อ และตลาดนัดจตุจักร ซึ่งไทยได้ปราบปรามอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง พร้อมทั้งคาดว่าจะดำเนินการเห็นผลเป็นรูปธรรมในเดือน ก.ค.นี้ โดยหากการปราบปรามคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด เชื่อว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) อาจจะทบทวนสถานะไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญานอกรอบ หรือภายในปีนี้ เลื่อนให้ดีขึ้นมาอยู่บัญชีประเทศถูกจับตามอง (ดับบลิวแอล) จากที่อยู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) ต่อเนื่องมา 10 ปี

         รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้เตรียมข้อมูลด้านเศรษฐกิจเพื่อไปหารือ ในส่วนของประเด็นหลัก คือการชี้แจงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการปรับปรุงข้อกฎหมายป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทางอินเตอร์เน็ต

             นอกจากนี้ ประเด็นการค้าเรื่องอื่นๆ กระทรวงจะเตรียมข้อมูลที่เคยรายงานในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ (executive order) ซึ่งประกอบไปด้วย รายละเอียดดุลการค้าของไทย - สหรัฐ และการรายงานข้อมูลลงทุนของนักลงทุนสหรัฐ ที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้ไทยได้ดุลการค้า

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 

“9101” เงินถึงมือเกษตรกร 14 ก.ค.นี้ ชี้การทำงานต้องโปร่งใสไม่พบกระจุกตัวญาติผู้ใหญ่บ้านแน่นอน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดสัมมนาการซักซ้อม ทบทวน แนวทางปฏิบัติงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ให้กับผู้บริการระดับสูงและข้าราชการในระดับผู้อำนวยการ และหัวหน้าส่วนราชการการระดับกองทั่วประเทศประมาณ 1,400 รายที่ สโมสรกองทัพบก ว่า ขณะนี้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน มีโครงการที่ชุมชนเสนอขอเข้าร่วมดครงการแล้วจำนวน 24,253 โครงการ และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการระดับอำเภอทั้งสิ้น 22,391 โครงการ วงเงิน 18,988.44 ล้านบาท คิดเป็น 83.46% ของเงินงบประมาณที่ได้รับจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 22,752.50 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 1,613 โครงการ งบประมาณ 2,233.39 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเกษตรกรในชุมชนผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายในวันที่ 14 ก.ค.นี้ โดยการทำงานจะต้องโปร่งใสและเป้นไปตามระบียบราชการในทุกโครงการ

สำหรับ 8 กลุ่มในโครงการ ประกอบด้วย ด้านการผลิตพืชและพันธุ์พืช 21.86% ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 34.12% ด้านการจัดการศัตรูพืช 2.09% ด้านฟาร์มชุมชน 3.79% ด้านการผลิตอาหาร การแแปรรูปและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 12.46% ด้านปศุสัตว์ 13.54% ด้านประมง 11.10% ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน 1.0% และด้านอื่นๆ 0.04% ทั้งนี้ จะต้องเบิกจ่ายเงินให้กับเกษตรกรในชุมชนกว่า 50% ภายในวันที่ 28 ก.ค. นี้ และจะต้องจ่ายเงินให้โครงการที่เกษตรกรแต่ละชุมชนเสนอให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ส.ค. 2560

 “โครงการนี้ริเริ่มตั้งแต่เมื่อปีที่แต่ไม่มีงบประมาณ จึงมาเริ่มดำเนินโครงการในปีนี้ โดยระยะที่1 คือ ขั้นตอนเตรียมโครงการ และระยะที่ 2 คือการขับเคลื่อน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 27 ก.ค.นี้ โดยการขับเคลื่อนนี้จะมีคณะกรรมการลงไปดูและ ส่วนระดับกระทรวงจะมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการทั้งหมดลงพื้นที่เพื่อดูแลการขับเคลื่อน ส่วนระดับท้องถิ่นจะมีนายอำเภอ และผู้ว่าราชการดูแล ตามลำดับ ผมรู้ว่าช่วงนี้ข้าราชการลำบากมาก ผมก็สงสาร บางคนหลับที่ทำงาน บางคนป่วยก็ยังทำงานอยู่ ผมขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง และขอให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯอดทนต่อไป”

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหน่วยงานอื่นในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อาทิ เป็นสมาชิกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นต้น 2. เป็นเกษตรกรที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการที่ชุมชนให้ความเห็นชอบ 3. เป็นเกษตรกรที่แสดงความจำนงและสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการหรือกิจกรรมที่ชุมชนเห็นชอบ และ 4. เป็นเกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการฯ ระดับชุมชนให้เข้าร่วมโครงการ

“ลักษณะกิจกรรมจะเป็นโครงการกระจายตัว และดำเนินการเป็นกลุ่ม โดยคณะกรรมการที่จะมาดูแลเรื่องโครงการ กลุ่มเกษตรกรในชุมชนนั้นจะเป็นผู้เลือกเอง โดยไม่ขึ้นกับผู้มีอิทธิพล ส่วนเรื่องที่ห่วงว่าผลประโยชน์อาจกระจุกตัวที่ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอหรือญาตินายอำเภอ ผมต้องบอกว่าลักษณะของกิจกรรมเป็นการรวมกลุ่มเสนอโครงการ โอกาสที่จะเกิดการกระจุกตัวเฉพาะคนรู้จักจึงเกิดขึ้นไม่มาก และตั้งแต่ดำเนินการมา 7 วันก็ไม่พบกลุ่มคนรู้จักกระจุกตัว แต่ทั้งนี้กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจมีคณะกรรมการจากศพก.ประจำพื้นที่ติดตามการดำเนินงานให้กระทรวงตลอด”

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 

'อภิชาติ'จ่อข้ามห้วยนั่งพม.อุตฯเสนอ'พสุ'ปลัดคนใหม่'นพ.เจษฎา'คุมสาธารณสุข

          ขรก.พม.ทำใจมีสิทธิถูกอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน เสียบเก้าอี้ปลัดกระทรวง อาศัยประสบการณ์มีคอนเน็กชั่นผู้ว่าฯและหน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์

          เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พร้อมแต่งตั้งข้าราชการใหม่แทนข้าราชการที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2560 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม เพื่อไม่ให้กระทบต่อพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในเดือนตุลาคมนี้นั้น

          ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายนนี้ ได้เสนอชื่อนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบก็จะเสนอชื่อนายพสุต่อที่ประคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 กรกฎาคม

          สาเหตุที่นายสมชายตัดสินใจส่งชื่อนายพสุ เพราะเป็นข้าราชการระดับซี 10 มีความเหมาะสมมากที่สุด ผ่านการทำงานทั้งตำแหน่งรองอธิบดีกรมโรงงาน และอธิบดี กสอ. นอกจากนี้ การมีว่าที่ปลัดคนใหม่เร็ว จะเป็นผลดีต่อการทำงานเพื่อร่วมกับนายสมชายในการแต่งตั้งข้าราชการให้มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งและชดเชยตำแหน่งเก่า โดยเฉพาะระดับซี 10 ที่จะเกษียณอายุพร้อมปลัดกระทรวง จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวง นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองปลัดกระทรวง นายประสงค์ นิลบรรจง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง นายเดชา เกื้อกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และนายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

          ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันแล้วว่าได้ส่งชื่อปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้มีการโยกย้ายผู้บริหารระดับซี 10 ที่จะมีการโยกย้ายและปรับเปลี่ยนในตำแหน่งที่ว่างลง ความเป็นไปได้สูงยังเป็นนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ผ่านงานทั้งการบริหารภายในประเทศและต่างประเทศ เหลือเวลาการทำงานก่อนเกษียณอีก 1 ปี และตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นางนันทวัลย์มีชื่อเป็นตัวเต็งมาตลอด รายงานข่าวเผยว่า ครั้งนี้ดูว่าจะราบรื่นเพราะถือว่ามีอาวุโสสูงสุด หากได้รับการเห็นชอบ นางนันทวัลย์จะเป็นปลัดหญิงคนที่ 5 ของกระทรวงพาณิชย์ที่มีปลัดหญิงมาแล้ว 4 คน ได้แก่ นางวัชรี วิมุกตายน เกษียณปี 2556 ต่อด้วยนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร และ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้

          พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับเปลี่ยนระดับซี 10 อีก 8-12 คน เพื่อแทนที่มีข้าราชการที่เกษียณราชการ ได้แก่ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงรองปลัดกระทรวง และผู้ตรวจราชการ

          ส่วนกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะเกษียณอายุราชการ มีแนวโน้มว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม โดยเตรียมชื่อไว้แล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกลเคยระบุว่าจะเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุดที่มีในขณะนี้ จำเป็นต้องเลือกผู้ที่มีอายุราชการเหลืออีก 1 ปี

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้าราชการระดับสูงที่เข้าข่ายคุณสมบัติดังกล่าว ประกอบด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. แต่ชื่อที่โดดเด่นและถูกพูดมากที่สุด คือ นพ.เจษฎา เนื่องจากมีคุณสมบัติที่โดดเด่น ทั้งในเรื่องการปฏิบัติงานตามคำสั่งหรือที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาได้เคร่งครัด ไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นคนกล้าตัดสินใจ ที่สำคัญในภาวะที่ประเทศกำลังเน้นหนักเรื่องการปรองดอง นพ.เจษฎาสามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้อย่างราบรื่น

          นพ.ปิยะสกลเปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับ นพ.โสภณ โดยพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นปลัดคนใหม่ จากตัวเลือกเท่าที่มีอยู่เห็นร่วมกันว่าเป็นคนนี้คนเดียว และดีที่สุดเท่าที่มีให้เลือก

          ในส่วนการโยกย้ายผู้บริหารข้าราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีตำแหน่งสำคัญเตรียมเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ นายไมตรี อินทุสุต ปลัด พม. และนายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยเฉพาะการชิงชัยตำแหน่งปลัด พม.ที่หากเป็นคนในกระทรวง พม. มีชื่อ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นตัวเต็งลำดับ 1 เจ้าตัวเคยเป็นตัวเต็งลุ้นขึ้นปลัด พม.ตั้งแต่ครั้งที่แล้ว เพราะทำผลงาน อาทิ จัดระเบียบคนขอทาน/คนเร่ร่อนของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.ได้เข้มแข็ง และจะเกษียณอายุราชการในปี 2561

          รายงานข่าวเผยว่า ขณะนี้มีรายชื่อผู้บริหารจากกระทรวงมหาดไทยลุ้นเข้ามาเป็นปลัด พม.ติดต่อกันเป็นหนที่สาม คือ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) จะเกษียณอายุราชการปี 2561 ได้เปรียบกว่าคนใน พม.ในแง่คอนเน็กชั่นผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นของ มท.ได้กระชับแน่นกว่าในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ผู้บริหาร พม.ทราบกระแสข่าวนี้บ้างแล้วต่างเตรียมใจยอมรับการทำงานต่อไป เพราะทุกตำแหน่งสำคัญหมด คาดว่าเมื่อ ครม.เห็นชอบปลัด พม.คนใหม่แล้ว การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายระดับอธิบดี รองปลัด ผู้ตรวจราชการที่กำลังว่างลงอีกหลายตำแหน่ง จะขยับตามๆ กันในเวลาไม่นาน

          สำหรับนายไมตรี อินทุสุต ปลัด พม.ที่กำลังเกษียณอายุราชการนั้น เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯและเป็นผู้ว่าฯรวม 6 จังหวัดมาก่อน กระทั่งปี 2557 ได้ขึ้นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนปี 2558 เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และได้เป็นปลัด พม.ในเวลาต่อมา

          ส่วนนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่มีกระแสข่าวจะเข้ามานั่งปลัด พม.นั้น เมื่อปี 2552 เป็นรองผู้ว่าฯสมุทรสาคร ต่อมาปี 2555 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯแพร่ และปี 2557 เป็นผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 

‘ฝนหลวง’ปฏิบัติการคืนผืนป่า บินโปรยเมล็ดพันธุ์ต้นน้ำทั่วปท.

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการร่วมกันหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมชลประทาน กองทัพบก กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมการปกคลอง และกรมการปกคลองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศหลังการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน ในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ ภายใต้แนวคิด “9 สัปดาห์ สู่วันมหามงคล” เป็นการคืนผืนป่าเพื่อสานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งถือเป็นโครงการหนึ่งในการสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ อีกทั้งยังเป็นการให้ทุกฝ่ายตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำ รักษาระบบนิเวศป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำ สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเอื้อประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการเร่งขยายพันธุ์กล้าไม้กลายเป็นสภาพป่าธรรมชาติต่อไป

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับเมล็ดพันธุ์พืชและพื้นที่เป้าหมายในโครงการ ได้แก่ 1) ภาคกลาง โปรยเมล็ดพันธุ์พืช 10 ชนิด อาทิ กัลปพฤกษ์ กาฬพฤกษ์ ขี้เหล็ก มะค่าแต้ ราชพฤกษ์ (คูน) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โปรยเมล็ดพันธุ์พืช 2 ชนิด คือ ไผ่รวก และพะยูง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และ 3) ภาคใต้ โปรยเมล็ดพันธุ์พืช 2 ชนิด คือประดู่ (ตีปีก) และมะค่าโมง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 

ก.เกษตรฯชู “นวัตกรรมเกษตรไทยสู่ Thailand 4.0” 

         กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับอิมแพ็ค จัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2017 ส่งเสริมการเรียนรู้นวัตกรรมทางการเกษตรให้เกษตรกรไทยและสร้างโอกาสขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก

               ​นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาการปฏิรูปประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 20 ปี ตามแนวคิดประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ทั้งด้านสังคม มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตลอดทั้งมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตร

               โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการอาหารโลกเพิ่มมากขึ้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเข้ามามีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต และเทคโนโลยีจะช่วยให้ผู้บริโภค ผู้ผลิต สามารถสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างกันได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการเกษตรของไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อภาคการผลิต โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทย การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และส่งเสริมการลดต้นทุนในด้านต่างๆ เช่น แรงงาน เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอาเซียน และตลาดโลกได้

               ​นายธีรภัทร กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกรไทย และสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2017 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 9 กันยายน 2560 ณ อาคาร 5 – 6 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานภาครัฐในสังกัดกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการตลอดสายการผลิตทางการเกษตร ได้รับทราบแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรม ทางการเกษตรของไทย ตลอดทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในภาคเกษตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ รวมไปถึงองค์กรระดับสากลและผู้เข้าร่วมงานจากนานาประเทศ

               โดยจะร่วมจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร และปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกษตรกรและนักธุรกิจการเกษตร สามารถเลือกสรรเรียนรู้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการผลิต รวมทั้งเป็นช่องทางในการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ที่ปรึกษาองค์กรภาครัฐ และเอกชน ตลอดทั้งส่งเสริมการเรียนรู้นวัตกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรไทยและสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน

               ​ด้าน นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดแสดงผลงานในงานครั้งนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ภาคจัดแสดงนิทรรศการ โดยจะจัดแสดงนิทรรศการครอบคลุมพื้นที่ 270 ตารางเมตร เป็นงานวิจัยที่โดดเด่นและใหม่ ด้านเทคโนโลยีการเกษตร รวบรวมผลงานของกรมวิชาการเกษตร เช่น เครื่องใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแบบอัตโนมัติ งานวิจัยพันธุ์ถั่วเหลืองโปรตีนสูง งานวิจัยมันฝรั่งพันธุ์ใหม่ งานวิจัยด้านสารชีวภัณฑ์ การผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศ และนวัตกรรมการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในงานจะมีบู๊ท ให้คำปรึกษาทางด้านการเกษตร และนักวิจัยประจำแต่ละเรื่อง ที่จะคอยตอบข้อสงสัยของผู้เข้าชมงานด้วย

               2. จะจัดสัมมนาในหัวข้อ “นวัตกรรมเกษตรไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0” ในวันที่ 8 กันยายน 2560 เวลา 8.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม Amber 2-3 (Hall3) โดยจะมีหัวข้อบรรยาย เป็นงานวิจัยที่โดดเด่นและใหม่ของกรมวิชาการเกษตร อาทิ เครื่องใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแบบอัตโนมัติ,การใช้เครื่องหมายโมเลกุลคัดเลือกพันธุ์ถั่วเหลืองโปรตีนสูง, มันฝรั่งพันธุ์ใหม่ พืชอนาคตไกล นำพาอุตสาหกรรมแปรรูปไทยยั่งยืน, ชีวภัณฑ์สู่การนำไปใช้ประโยชน์ และการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าว,นวัตกรรมการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการวิจัยสาระสำคัญในผลิตผลเกษตร      

        โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนระดับแนวหน้าของวงการเกษตรไทย และเกษตรกร เข้าร่วมประชุมประมาณกว่า 400 คน ส่วนในช่วงภาคบ่ายจะเป็นการเสวนาของภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการเกษตรให้เกิดความเข้มแข็ง โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้แทนบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ผู้แทนด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart farm) และผู้แทนเกษตรกร (Smart Farmer) กลุ่มพืชสวน และพืชไร่ เป็นต้น

               ​ด้านนางสาวอัจจิมา ร้อยศรี ผู้จัดการโครงการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้จัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2017 กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อตอบรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งเพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นเกษตรสมัยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการบริหารจัดการเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรอย่างยั่งยืน และการจัดงาน SIMA ปีนี้ได้รวบรวมนวัตกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนการให้บริการด้านการเกษตรครบวงจรที่ดีที่สุดในประเทศไทย จาก 400 แบรนด์ทั้งไทยและต่างประเทศ จากกว่า 20 ประเทศ เข้าร่วมแสดงสินค้า บนพื้นที่กว่า 23,500 ตร.ม.ทั้งในและนอกอาคาร คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานนี้ไม่น้อยกว่า 20,000 คน จาก 50 ประเทศ

               ​โดยไฮไลท์ในปีนี้ ได้แก่ แปลงสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร ที่แรกที่เดียวในเมืองไทย ที่นำแบรนด์ชั้นนำทางการเกษตรมาสาธิตเครื่องจักรกลในสภาพการทำงานที่แท้จริง พร้อมมีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้เกี่ยวกับสมรรถนะการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตร โดรนพาวิลเลียนและเวิร์กชอป เป็นการรวบรวมเทคโนโลยีทางอากาศเพื่อการเกษตรจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของอุตสาหกรรม นิทรรศการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดทางการเกษตร เพื่อการส่งเสริมความรู้ พัฒนาภาคเกษตรไทยที่มีศักยภาพในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล มินิเกษตรแฟร์ โซนพิเศษบริเวณริมทะเลสาบเมืองทองธานี จัดแสดง และขายสินค้าแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เมล็ดพันธุ์ ไม้ดอก ไม้ประดับ และอื่น

               “การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมของอาเซียน จะส่งผลให้อัตราการเติบโตของ GDP ในภูมิภาคสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้เราได้อยู่ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยศักยภาพของประชาคมอาเซียน สามารถรวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อให้บรรลุความสำเร็จร่วมกันในเวทีโลก ดังนั้นงาน SIMA ASEAN Thailand 2017 นับเป็นโอกาสที่ดีของภาคเกษตรกรรม สำหรับการเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 ที่บุคคลในแวดวงการเกษตรจะได้เรียนรู้นวัตกรรม และเทคโนโลยีของเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรจากนานาประเทศ ซึ่งงาน “SIMA ASEAN Thailand 2017” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2560 ณ อาคาร 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ www.sima-asean.com” นางสาวอัจจิมา กล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 

"สมคิด"บุกกระทรวงอุตฯ ตรวจการบ้านยกระดับเอสเอ็มอี

"สมคิด"บุกกระทรวงอุตฯนั่งหัวโต๊ะประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ด้านก.อุตฯเตรียมชงมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีป้องกันความเสี่ยงค้าขายตปท.                        

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเวลา 8.30 - 10.30 น. นายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานการประชุมมาตรการการสนับสนุนด้านการเงินให้เอสเอ็มอี รวมทั้งติดตามความคืบหน้าประเด็นต่างๆ ของเอสเอ็มอี โดยมีผู้เข้าร่วมหารือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)

ทั้งนี้ภายในการประชุมกระทรวงอุตสาหกรรมนำโดย นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เตรียมนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ส่งออก – นำเข้าเป็นวาระหลัก เนื่องจากขณะนี้มีเอสเอ็มอีจำนวนมาก เริ่มขยายกิจการซื้อ – ขายระหว่างประเทศ ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งหามาตรการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เช่น  ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟอร์เวิด)  การซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (เฮจจิ้ง)  ในอัตราพิเศษให้กับภาคเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ รวมทั้งหาแนวทางสนับสนุนให้ความรู้ผู้ประกอบการให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงที่ผันผวนต่อเนื่องกัน

ขณะที่ภาคเอกชน  เตรียมหารือแผนงานความคืบหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอี การส่งเสริมเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี รวมถึงรายงานและหารือผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว โดยหอการค้าไทยจะเสนอการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจบจุดเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนโดยหอการค้าไทยเคยเสนอให้มีการปรับปรุงมาแล้วในการรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงเรื่องการออกใบอนุญาตค้าปลีก-ค้าส่ง แต่เรื่องได้เงียบไป จึงอยากจะเสนอประเด็นนี้ในที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อให้เร่งหาทางปลดล็อก และการจัดตั้งศูนย์ออกใบอนุญาตแบบจุดเดียวจบ ด้วยการดึงระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูลในแต่ละขั้นตอนก็จะช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชั่นในการพิจารณาออกใบอนุญาตได้อีกทาง

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 

"ฉัตรชัย" สั่งทบทวนแผนนโยบายขับเคลื่อนกระทรวงเกษตร

วันนี้ (วันที่ 12 ก.ค.60) ที่สโมสรทหารบก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการสัมมนา เรื่อง “การซักซ้อม ทบทวน แนวทางปฏิบัติงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ณ ห้องประชุมสโมสรกองทัพบก ว่า การจัดสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ชี้แจง และเน้นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สำคัญ และบทบาทของการเป็นโซ่ข้อกลางในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลให้บังเกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงมุ่งเน้นแนวทางในการประสานการทำงานให้เกิดความเป็นเอกภาพและสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบครบวงจร อีกทั้งยังเพื่อติดตามและการรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

32281“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งหวังให้ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบเหมือนสายโซ่ ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์และนโยบายกระทรวง แผนงาน โครงการระดับกรมสู่การปฏิบัติ เหมือนโซ่เป็น 3 ข้อหลัก ได้แก่ โซ่ข้อต้น คือ ผู้บริหารระดับสูง โซ่ข้อกลาง ได้แก่ ผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าของหน่วยงานระดับกรม และทีม Single Command (SC) ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อน เพื่อเชื่อมโยงการทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีความเข้าใจและสามารถสร้างการรับรู้นโยบาย แผนงาน โครงการ เพื่อนำไปปฏิบัติสู่เป้าหมายร่วมกัน และ โซ่ข้อปลาย คือ หัวหน้าหน่วยงานระดับอำเภอ ตำบล ตลอดจนเครือข่ายอาสาสมัครเกษตร” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

 อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 คือ การเกษตรที่ใช้นวัตกรรมแบบอัจฉริยะ (Smart) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด ด้วยสินค้าที่มีความปลอดภัย ยกระดับมูลค่าด้วยคุณภาพมาตรฐาน ประหยัดทรัพยากรน้ำ และใช้พื้นที่การเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และร่วมกันแบบประชารัฐ โดยในปี 2560 - 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ด้วยนโยบายยกกระดาษ A4 แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านคุณภาพสินค้า ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตร GAP หรือเกษตรอินทรีย์ 2) ด้านประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สามารถขยายผลรวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูปด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่เรียกว่าข้อมูลชุดแผนที่ Agri-map หรือ Zoning by Agri-map 3) การลดรายจ่ายในครัวเรือนเพิ่มรายได้ ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฏีใหม่ และ 4) สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยให้องค์ความรู้ผ่าน ศพก. 882 ศูนย์ และขยายเครือข่าย 8,820 ศูนย์ พร้อมทั้งขับเคลื่อนโครงการ 9101 ให้ชุมชนเข้มแข็ง ตลอดจนกลไกกระบวนการยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็ง

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 กรกฎาคม 2560

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุดกรอบ 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง ในช่วงเช้าวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 12 ก.ค.2560 ระบุว่าค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 34.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ค. ที่อยู่ระดับ 34.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน (9.55 น.) มีการซื้อขายค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากผู้กำหนดนโยบายทางการเงินสหรัฐและความกังวลทางด้านการเมืองของสหรัฐส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามตลาดรอดูแถลงการณ์จากประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างไรต่อไป ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น

ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้ไว้ที่ 33.90-34.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 12 กรกฎาคม 2560 

เกษตรเฮ!”สหรัฐ”ให้สิทธิGSPไทยอีก7รายการ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกายังประกาศให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) 7 รายการให้แก่ไทยต่อไป ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯ เกิน 50% แต่มูลค่าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากทั่วโลกในแต่ละรายการต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งในปี 2559 กำหนดไว้ที่ 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้สำหรับ 7 รายการสินค้าดังกล่าวประกอบด้วย ดอกกล้วยไม้สด (พิกัด0603.13.00) ทุเรียนสด(พิกัด 0810.60.00 ) มะละกอตากแห้ง (พิกัด 0813.40.10) มะขามตากแห้ง (พิกัด0813.40.80) ข้าวโพดปรุงแต่ง(พิกัด2005.80.00) ผลไม้ ถั่ว แช่อิ่ม ( พิกัด 2006.00.70) และมะละกอแปรรูป(พิกัด2008.99.50) ทั้งหมดเป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่เป็นสินค้าอ่อนไหวสูงของไทย ซึ่งมีอัตราอากรขาเข้าสหรัฐฯ อยู่ระหว่าง 1.8 -8% การประกาศคงสิทธิพิเศษจีเอสพีจะทำให้ไทยยังคงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต่อไป โดยในปี 2559 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปสหรัฐฯ รวมกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อนึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เพิ่งประกาศให้สิทธิพิเศษฯจีเอสพี แก่ไทย ในสินค้ากระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทาง จำนวน 23 รายการ และสินค้าสินค้าเซลลูโลสไนเทรต จำนวน 1 รายการ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

14 กค.-24สค.”กฟก”เปิดให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนมาแสดงตนอีกรอบยืนยันข้อมูลก่อนแก้หนี้อย่างเป็นทางการ

นายกมล ศักดิประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารงานกองทุน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ(กฟก.)ครั้งที่ 2/2560 ได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกษตรที่ขึ้นทะเบียนหนี้สินทั้งสิ้นจำนวน 512,994 ราย ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลปัจจุบันหรือไม่ และจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองหนี้ในระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และคณะกรรมการกลั่นกรองหนี้ในระดับอำเภอที่มีนายอำเภอเป็นประธาน โดยภายใน 1–2 วันนี้ คณะอนุกรรมการฯจะออกประกาศรายละเอียดเพื่อเชิญชวนให้ประชาชน มายืนยันตัวตน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือ ศาลากลางจังหวัด ในระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2560 เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้เสนอ ให้คณะอนุกรรมการฯ และเสนอต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาต่อไป ก่อนจะเริ่มให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในกลุ่มเร่งด่วน ปลายเดือนสิงหาคมนี้

“จากการตรวจสอบข้อมูลเกษตรที่ขึ้นทะเบียนหนี้สินกฟก. จำนวน 512,994 ราย กับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นพบว่า เกษตรกรไม่มีรายชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ประมาณ 60,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว ประมาณ 3,000 ราย จึงจำเป็นที่จะต้องให้จะต้องให้คณะกรรมการระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เข้าไปร่วมตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อข้อมูลที่สมบูรณ์ นอกจากนี้เกษตรกรรายใด ที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับกฟก. ก็ขอให้มายืนยันตัวตน กับที่ว่าการอำเภอ และศาลากลางจังหวัด ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อที่เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและรวดเร็ว หากเกษตรกรที่เคยลงทะเบียนแล้วไม่มาลงทะเบียน อาจได้รับความช่วยเหลือที่ล่าช้า”นายกมล กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

รักษ์เกษตร : พืชเศรษฐกิจ ที่น่าจับตามอง

คำถาม ผมอยากทราบว่า พืชเศรษฐกิจคืออะไร และมีอะไรบ้างครับ

สุพจน์ ปฏิมาภรณ์

อ.ปะทิว จ.ชุมพร

คำตอบ พืชเศรษฐกิจ หมายถึง พืชที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต มีลักษณะเด่นในการค้า ที่สามารถจะนำไปบริโภค โดยเป็นอาหารที่ให้วิตามิน แร่ธาตุ และเป็นแหล่งพลังงานของมนุษย์และสัตว์ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ พืชเศรษฐกิจระยะสั้นมีอายุการเก็บไม่นาน เมื่อเก็บผลผลิตแล้ว พืชจะตาย หรือได้ผลผลิตลดลงอย่างมาก ไม่คุ้มที่จะเก็บผลผลิต เพราะส่วนใหญ่จะเป็นพืชล้มลุก และมีขั้นตอนในการปลูกน้อยกว่าพืชอื่นๆ

การปลูกพืชเศรษฐกิจ นอกจากจะได้ผลผลิตเพื่อบริโภคและการสร้างรายได้ของครอบครัวแล้ว ก็ยังมีความสำคัญในระดับภูมิภาครวมถึงระดับประเทศ เป็นอาชีพหลักของคนไทย เพราะส่วนใหญ่ประเทศไทยมีอาชีพทางการเกษตร ลดอัตราการว่างงานลงเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อนำไปแปรรูปต่อ ช่วยส่งเสริมและเป็นปัจจัยส่งเสริมภาคธุรกิจ และบริการด้านการเกษตรในประเทศ และเป็นแหล่งผลผลิตของการเกษตร

พืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ได้แก่

-ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่คู่ประเทศไทยมานาน และเป็นพืชเศรษฐกิจที่คนไทยนิยมปลูกมากที่สุดในภาคอีสาน ภาคเหนือภาคกลาง ใช้ระยะเวลาสั้นคือ 4 เดือน แต่ผลเสียคือ ต้นทุนในการปลูกต่อไร่ค่อนข้างสูง และต้องอาศัยน้ำฝน หรือระบบน้ำชลประทาน และต้องปลูกใหม่ทุกปี เกษตรกรส่วนมากใช้สารเคมีในการปลูก ทำให้เกิดผลเสียต่อเกษตรกรเอง

-ยางพารา เป็นพืชอุตสาหกรรมใหม่ที่เข้ามามีบทบาท เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพารามากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีการกรีดยางให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มจำนวนวันกรีดน้ำยางและคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้น ระยะเวลาในการปลูกหลายปี ต้นทุนสูง ตลาดรองรับมีจำกัด เพราะต่างประเทศปลูกและแปรรูปเองได้

-อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวที่เกษตรกรนิยมปลูก อ้อยปลูกครั้งเดียวจะเก็บเกี่ยวได้ 3-4 ปี โดยไม่ต้องปลูกซ้ำ ปลูกซ้ำอีกครั้งทุก 4-5 ปี และต้องปรับสภาพดินก่อนปลูกใหม่ เพื่อให้ผลผลิตดีขึ้น

-มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทนแล้งได้ดี แต่ผลเสียคือต้นทุนในการปลูกค่อนข้างสูง และต้องปลูกใหม่ทุกปี และราคาต่อ กก. ค่อนข้างถูกมาก เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทางราชการมีการกำหนดมาตรการยกระดับราคาหลายวิธี เช่น การชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกมันอัดเม็ด หรือการยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น ดังนั้น จึงส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำแปลงขยายพันธุ์ เพื่อกระจายมันสำปะหลังพันธุ์ดีที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงให้มากขึ้น ส่วนในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกมันสำปะหลังทางราชการก็จะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน

-ปอแก้ว เป็นปอชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูก เนื่องจากปอแก้วมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง และขึ้นในสภาพดินไร่ทั่วไปได้ดี เป็นพืชที่มีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยที่สุด ช่วงเวลาที่เพาะปลูกเริ่มต้นประมาณเดือน เมษายน-สิงหาคม ผลผลิตที่ได้จะออกสู่ตลาดช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม

-มะม่วง พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง เช่น แก้วเขียว และแก้วขาว อกร่อง พันธุ์ส่งเสริม ได้แก่ น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน เขียวเสวย หนองแซง เจ้าคุณทิพย์ สภาพปัญหาที่เกิดคือ ผลผลิตต่ำ เนื่องจากขาดการปฏิบัติดูแลรักษาที่ดี และพันธุ์ที่ปลูกไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ เคียงคู่กับเกษตรกรไทยมานานแสนนาน ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก ทั่วทุกภาคของประเทศจึงทำให้มีข่าวถึงราคาที่ตกต่ำ นำไปสู่ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ค่าบาท 'อ่อนค่า' นักลงทุนยังติดตามเศรษฐกิจสหรัฐ

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่าลง ​"34.12 บาทต่อดอลลาร์" สัปดาห์นี้บาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่า ตลาดรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและเฟด มองบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.40 บาทต่อดอลลาร์ในสัปดาห์นี้

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ34.12บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากปิดสัปดาห์ก่อนที่ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ มองสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ33.90-34.40 บาท ดอลลาร์ต่อดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าได้อีก

ในสัปดาห์นี้มีจุดที่น่าสนใจอยู่ 2 เรื่องคือการเข้าให้ข้อมูลของประธานธนาคารกลางสหรัฐต่อคณะกรรมการร่วมสภาคองเกรสในวันพุธถึงพฤหัส และการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในวันศุกร์

ในประเด็นแรก มองว่านางเยเลน จะยังคงให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตได้ดีและมีความเสี่ยงที่จะร้อนแรงเกินไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์ของเฟดเพื่อปรับสมดุล ปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้

ส่วนในวันศุกร์จะมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) และค้าปลีก (Retail Sales) ที่หดตัวทั้งหมดในเดือนก่อน จึงมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นและยอดค้าปลีกที่ฟื้นตัวในเดือนนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดอลลาร์ปรับตัวบวกขึ้นได้เช่นกัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

สหรัฐฯจี้ ไทยแก้ปัญหา-อุปสรรคการค้า

สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยรายงานความคืบหน้าแก้ปัญหา-อุปสรรคทางการค้า  ด้านทีมไทยแลนด์ ยกคณะถกยุทธศาสตร์ร่วมเมกา “พาณิชย์” เตรียมแจงปราบของเถื่อน 6 ตลาดคืบหน้ามาก                    

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยรายงานความคืบหน้า อุปสรรคทางการค้าที่สำคัญระหว่างกัน พร้อมทั้งต้องการให้ไทยแก้ปัญหาดังกล่าวก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย จะเดินทางไปเยือนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในเร็วๆนี้

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ยูเอสทีอาร์ได้เข้าพบคณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อชี้แจงว่าการจัดระเบียบธุรกิจบริการโอทีที ของ กสทช.ไม่ถูกต้อง และคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโอทีทีใหม่ ส่งผลให้เฟซบุ๊ค และยูทูบ ผู้ให้บริการโครงข่ายโอทีทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐไม่ต้องขึ้นทะเบียนตามกำหนดวันที่ 22 ก.ค.นี้

ส่วนการยกเลิกห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงนั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง และห้ามใช้สารดังกล่าวในการเลี้ยง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ขณะที่การอุดหนุนข้าว รัฐบาลนี้ไม่ได้อุดหนุนอยู่แล้ว ด้านการห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปี และเนื้อไก่ตุรกี ก็เพื่อความปลอดภัยจากการระบาดของไข้หวัดนกในช่วงที่ผ่านมา การจะยกเลิกห้ามนำเข้าต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเช่นกัน

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดยกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปสหรัฐฯ วันที่ 16-22 ก.ค.นี้ เพื่อหารือยุทธศาสต ร์และความร่วมมือกับสหรัฐ โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ประเด็นสำคัญที่สหรัฐต้องการความคืบหน้าคือ การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในตลาดหลัก 6 แห่งให้หมดไป ทั้งศูนย์การค้ามาบุญครอง, ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ,คลองถม, บ้านหม้อ และตลาดนัดจตุจักร ซึ่งไทยได้ปราบปรามอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง คาดว่า จะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเดือนก.ค.นี้ หากการปราบปรามคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด ยูเอสทีอาร์จะทบทวนสถานะไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญานอกรอบ หรือภายในปีนี้ และอาจเลื่อนให้ดีขึ้นมาอยู่บัญชีประเทศถูกจับตามอง (ดับเบิ้ลยูแอล) จากที่อยู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับเบิ้ลยูแอล) ต่อเนื่องมา 10 ปี                                                                              

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

'อภิชาติ'จ่อข้ามห้วยนั่งพม.อุตฯเสนอ'พสุ'ปลัดคนใหม่'นพ.เจษฎา'คุมสาธารณสุข 

          ขรก.พม.ทำใจมีสิทธิถูกอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน เสียบเก้าอี้ปลัดกระทรวง อาศัยประสบการณ์มีคอนเน็กชั่นผู้ว่าฯและหน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์

          เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พร้อมแต่งตั้งข้าราชการใหม่แทนข้าราชการที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2560 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม เพื่อไม่ให้กระทบต่อพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในเดือนตุลาคมนี้นั้น

          ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายนนี้ ได้เสนอชื่อนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบก็จะเสนอชื่อนายพสุต่อที่ประคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 กรกฎาคม

          สาเหตุที่นายสมชายตัดสินใจส่งชื่อนายพสุ เพราะเป็นข้าราชการระดับซี 10 มีความเหมาะสมมากที่สุด ผ่านการทำงานทั้งตำแหน่งรองอธิบดีกรมโรงงาน และอธิบดี กสอ. นอกจากนี้ การมีว่าที่ปลัดคนใหม่เร็ว จะเป็นผลดีต่อการทำงานเพื่อร่วมกับนายสมชายในการแต่งตั้งข้าราชการให้มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งและชดเชยตำแหน่งเก่า โดยเฉพาะระดับซี 10 ที่จะเกษียณอายุพร้อมปลัดกระทรวง จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวง นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองปลัดกระทรวง นายประสงค์ นิลบรรจง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง นายเดชา เกื้อกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และนายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

          ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันแล้วว่าได้ส่งชื่อปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่เข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้มีการโยกย้ายผู้บริหารระดับซี 10 ที่จะมีการโยกย้ายและปรับเปลี่ยนในตำแหน่งที่ว่างลง ความเป็นไปได้สูงยังเป็นนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ผ่านงานทั้งการบริหารภายในประเทศและต่างประเทศ เหลือเวลาการทำงานก่อนเกษียณอีก 1 ปี และตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นางนันทวัลย์มีชื่อเป็นตัวเต็งมาตลอด รายงานข่าวเผยว่า ครั้งนี้ดูว่าจะราบรื่นเพราะถือว่ามีอาวุโสสูงสุด หากได้รับการเห็นชอบ นางนันทวัลย์จะเป็นปลัดหญิงคนที่ 5 ของกระทรวงพาณิชย์ที่มีปลัดหญิงมาแล้ว 4 คน ได้แก่ นางวัชรี วิมุกตายน เกษียณปี 2556 ต่อด้วยนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร และ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้

          พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับเปลี่ยนระดับซี 10 อีก 8-12 คน เพื่อแทนที่มีข้าราชการที่เกษียณราชการ ได้แก่ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงรองปลัดกระทรวง และผู้ตรวจราชการ

          ส่วนกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะเกษียณอายุราชการ มีแนวโน้มว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม โดยเตรียมชื่อไว้แล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกลเคยระบุว่าจะเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุดที่มีในขณะนี้ จำเป็นต้องเลือกผู้ที่มีอายุราชการเหลืออีก 1 ปี

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้าราชการระดับสูงที่เข้าข่ายคุณสมบัติดังกล่าว ประกอบด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. แต่ชื่อที่โดดเด่นและถูกพูดมากที่สุด คือ นพ.เจษฎา เนื่องจากมีคุณสมบัติที่โดดเด่น ทั้งในเรื่องการปฏิบัติงานตามคำสั่งหรือที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาได้เคร่งครัด ไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นคนกล้าตัดสินใจ ที่สำคัญในภาวะที่ประเทศกำลังเน้นหนักเรื่องการปรองดอง นพ.เจษฎาสามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้อย่างราบรื่น

          นพ.ปิยะสกลเปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับ นพ.โสภณ โดยพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นปลัดคนใหม่ จากตัวเลือกเท่าที่มีอยู่เห็นร่วมกันว่าเป็นคนนี้คนเดียว และดีที่สุดเท่าที่มีให้เลือก

          ในส่วนการโยกย้ายผู้บริหารข้าราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีตำแหน่งสำคัญเตรียมเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ นายไมตรี อินทุสุต ปลัด พม. และนายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยเฉพาะการชิงชัยตำแหน่งปลัด พม.ที่หากเป็นคนในกระทรวง พม. มีชื่อ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นตัวเต็งลำดับ 1 เจ้าตัวเคยเป็นตัวเต็งลุ้นขึ้นปลัด พม.ตั้งแต่ครั้งที่แล้ว เพราะทำผลงาน อาทิ จัดระเบียบคนขอทาน/คนเร่ร่อนของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.ได้เข้มแข็ง และจะเกษียณอายุราชการในปี 2561

          รายงานข่าวเผยว่า ขณะนี้มีรายชื่อผู้บริหารจากกระทรวงมหาดไทยลุ้นเข้ามาเป็นปลัด พม.ติดต่อกันเป็นหนที่สาม คือ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) จะเกษียณอายุราชการปี 2561 ได้เปรียบกว่าคนใน พม.ในแง่คอนเน็กชั่นผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นของ มท.ได้กระชับแน่นกว่าในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ผู้บริหาร พม.ทราบกระแสข่าวนี้บ้างแล้วต่างเตรียมใจยอมรับการทำงานต่อไป เพราะทุกตำแหน่งสำคัญหมด คาดว่าเมื่อ ครม.เห็นชอบปลัด พม.คนใหม่แล้ว การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายระดับอธิบดี รองปลัด ผู้ตรวจราชการที่กำลังว่างลงอีกหลายตำแหน่ง จะขยับตามๆ กันในเวลาไม่นาน

          สำหรับนายไมตรี อินทุสุต ปลัด พม.ที่กำลังเกษียณอายุราชการนั้น เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯและเป็นผู้ว่าฯรวม 6 จังหวัดมาก่อน กระทั่งปี 2557 ได้ขึ้นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนปี 2558 เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และได้เป็นปลัด พม.ในเวลาต่อมา

          ส่วนนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่มีกระแสข่าวจะเข้ามานั่งปลัด พม.นั้น เมื่อปี 2552 เป็นรองผู้ว่าฯสมุทรสาคร ต่อมาปี 2555 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯแพร่ และปี 2557 เป็นผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ลุยไฟหาข้อสรุป "พาราควอต" กระทบเกษตรกร 1.5 ล้านคน-รถไฟจ่อหยุดวิ่ง 

          กระทรวงเกษตรฯ สั่งกรมวิชาการเกษตรตรวจหาผลกระทบจากพาราควอตขณะที่ "ซินเจนทา" ร้องขอให้ภาครัฐทบทวนระงับการนำเข้าพาราควอต เพราะมีผลกระทบเกษตรกรปลูกอ้อย-มัน-ปาล์มกว่า 1.5 ล้านคนเหตุทำต้นทุนสูงขึ้น หวั่นกระทบถึงขั้นรถไฟต้องหยุดวิ่ง

          น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ถอนและระงับการนำเข้าสารเคมีพาราควอต ตามที่เครือข่ายภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) เสนอว่าเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเรื่องมาให้กรมวิชาการเกษตร ในฐานะนายทะเบียน ทำการตรวจสอบและพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า สารพาราควอตที่เป็นส่วนประกอบที่เกษตรกรไทยรู้จักกันในนามกรัมม็อกโซน (ยาฆ่าหญ้า)

          "กรมวิชาการเกษตรได้เชิญตัวแทนเอ็นจีโอเข้ามาหารือ พร้อมให้นำเอกสารหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า สารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน แต่เอ็นจีโอไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน มีเพียงบทความที่ลงในสื่อต่างประเทศที่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐาน ในการถอดถอนสารเคมีหรือห้ามนำเข้า ดังนั้นต้องเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ว่าสารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคนจะต้องถอดถอนออกจากทะเบียนสารเคมีและห้ามนำเข้าหรือไม่"

          นายธนัษ อภิเวศ ผู้อำนวยการ บริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทจะทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ทบทวนนโยบายระงับการนำเข้าจำหน่ายและจะไม่อนุญาตให้ต่ออายุการขึ้นทะเบียนของสารอารักขาพืชหรือยาฆ่าหญ้าพาราควอต ภายใต้ชื่อกรัมม็อกโซน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยให้เหตุผลว่า สารพาราควอตมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้

          ทั้งนี้ จากการสอบถามเกษตรกร ระบุว่า มีความรู้สึกกังวล เพราะหากมีการถอดถอนสารพาราควอตและต้องหันไปใช้สารชนิดอื่นๆ จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยพาราควอตนิยมใช้กันมากครอบคลุมเกษตรกรมากกว่า 1.5 ล้านคน ส่วนมากใช้ในการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทั้งพืชไร่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยืนยันว่าข้ออ้างดังกล่าว ยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่รับรองในผลวิจัยนี้ และจัดให้อยู่ในกลุ่มสารที่ไม่อันตรายสูง ในขณะที่สำนักงานปกป้องสหรัฐ (EPA) ก็ยอมรับ พาราควอตเป็นสินค้าที่เกษตรกรนิยมใช้มากว่า 50 ปี หากมีการระงับนำเข้าพาราควอต จะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบต้นทุนในการกำจัดวัชพืชจะเพิ่มขึ้น 5-7 เท่า แม้แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็ได้รับผลกระทบ เพราะใช้พาราควอตในการฉีดฆ่าหญ้าตามรางรถไฟ เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้ไม่เกิดหญ้าปกคลุมรางรถไฟ กรมชลประทานก็ใช้กำจัดหญ้าที่ขึ้นริมคลองส่งน้ำ

          "บริษัททำธุรกิจในประเทศไทยมาแล้ว 50 ปี ในแต่ละปีมีการลงพื้นที่เพื่อพบปะกับเกษตรกร เพื่อสำรวจผลของการใช้สินค้าของบริษัท พบว่าเกษตรกรไม่มีปัญหากับการใช้พาราควอต เพราะเป็นยาฆ่าหญ้าชนิดออกฤทธิ์ เห็นผลเร็วและปลอดภัย ภายหลังฉีดหญ้าตายทันที เมื่อสารพาราควอตตกถึงพื้นจะสิ้นฤทธิ์จึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในดิน อีกทั้งมีราคาถูกกว่าสารเคมีอื่นๆ 6-7 เท่า และเมื่อเทียบกับสารชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์ช้า ภายหลังใช้แล้วเกษตรกรไม่สามารถลงมือเพาะปลูกได้ทันที".

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

กรมชลดันคลอดกฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชน

กรมชลประทานเดินหน้ายุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชนเต็มพิกัด  เผยทิศทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมชัดเจนขึ้นทุกที โดย สนช. เตรียมคลอดเป็นกฎหมายในเร็วๆ นี้  นอกจากนำร่องโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐพื้นที่ภาคตะวันออกแล้ว  ยังให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้วางแนวทางสำหรับขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังอยู่ระหว่างการตราพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ....... ซึ่งจะเป็นทิศทางเดียวกับที่กรมชลประทานกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของกรมฯ นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

“เป็นทิศทางที่ชัดเจนที่จะกำหนดให้โครงการใดๆ ของรัฐต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นความต้องการของประชาชนเสนอขึ้นมาแทนการสั่งการลงมาจากภาครัฐในอดีต เป็นการเปลี่ยนแปลงที่องค์กรของรัฐต้องปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองเช่นกัน”

นายสุจินต์ กล่าวว่า ทันทีที่กำหนดให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เข้าไปส่งเสริมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำประชารัฐ ในพื้นที่สำนักชลประทานที่ 9 ในภาคตะวันออก

“เป็นการนำร่องเพื่อให้หน่วยงานอื่นได้เห็นพัฒนาการในลักษณะที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาความต้องการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เป็นการหลอมรวมทั้งหน่วยงานกรมชลประทานกับประชาชนในพื้นที่  ทั้งในเรื่องความต้องการ และเทคนิควิธีการ”

ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนกล่าวว่า  การดำเนินโครงการชลประทานที่ผ่านมา  มักจะริเริ่มวางแผนศึกษาและสำรวจโดยกรมชลประทานเอง ในระยะๆ หลังจึงมักได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดโครงการตั้งแต่ต้นอย่างแท้จริง

“รายงานผลการศึกษาโครงการก็ดี ผลการสำรวจก็ดี และผลการออกแบบก็ดี กองเป็นตั้งๆ กลายเป็นความสูญเปล่า เพราะประชาชนไม่เอาด้วย และพอครบ 5 ปี ก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่   เป็นเรื่องที่กรมชลประทานต้องหันมาทบทวนและพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน จะช่วยให้การขับเคลื่อนโครงการของกรมฯ มีความเป็นไปได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยลดความขัดแย้งลงได้มาก”

นายสุจินต์กล่าวอีกว่า ในลำดับต่อไป กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจะจับมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำแนวทางด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตามยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน โดยจัดเก็บข้อมูลทั้งจากฝ่ายบริหารของกรมชลประทานและข้อมูลจากเวทีเสวนา 4 ภาค จากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อวิเคราะห์แนวทางการมีส่วนร่วมฯ จะเป็นแบบใด จากนั้นจะคืนข้อมูลให้กรมชลประทานเพื่อวิพากษ์และสรุปเป็นแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 8 เดือน

“หน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการจัดเก็บข้อมูล การจัดเวทีเสวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรุปเป็นแนวทาง ซึ่งจะเป็นคู่มือให้กรมชลประทานเดินไปอย่างเป็นระบบและตอบโจทย์การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงยิ่งขึ้น” นายสุจินต์กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

คอลัมน์ จับกระแส: ปัญหากากอุตสาหกรรมระเบิดที่ต้องถอดชนวน

          วัชร ปุษยะนาวิน

          watchara.kcl@gmail.com

          หลังจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาคุมงาน ด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว 20 ปี

          การผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย 10 กลุ่ม การอัดฉีดเม็ดเงิน และมาตรการต่างๆช่วยเหลือเอสเอ็มอี และการปัดฝุ่นโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ขยายไปสู่โครงการเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเป็นฐานการลงทุน และฐานการผลิตใหม่ของประเทศ ยกระดับภาคการผลิตของไทยให้แข่งขันได้ในอนาคต

          แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีงานหลายส่วนที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่าง เต็มที่ อาทิ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรม ใหม่ๆ ยกระดับผู้ประกอบการไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แต่งานในบางส่วน เช่นการกำจัดกากอุตสาหกรรม ก็ได้ลดน้ำหนักความเข้มข้นลง ทั้งๆที่ทีมเศรษฐกิจชุดเก่าที่มีนายจักรมณฑ์  ผาสุกวนิช เป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หลังจากที่คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ได้ยก นโยบายความเข้มงวดในการกำจัดกากอุตสาหกรรมขึ้นมา เป็นเรื่องเร่งด่วน และออกนโยบายตั้งนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรม 6 แห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสางปัญหาเก่าของภาค อุตสาหกรรมให้กำจัดกากอย่าง ถูกต้อง ลดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม และยังเป็นการนำ กากอุตสาหกรรมมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมได้รับการยอมรับจากชุมชนและเติบโตอย่างยั่งยืน

          แต่หลังจากเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ นโยบายนี้ก็ค่อยๆ จางหายไป ขาดการบูรณาการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม แผนงานต่างๆยังเป็นเพียงผลการศึกษา ขาดการผลักดันในภาคปฏิบัติ

          ซึ่งแม้ว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รุนแรงในขณะนี้ แต่จากการ มุ่งขยายฐานการผลิตใหม่ๆ ส่งเสริมให้เกิดเอสเอ็มอีภาคการผลิต ให้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่หากขาดมาตรการรองรับที่ชัดเจนและ เข้มแข็ง รวมทั้งยังต้องเผชิญปัญหาใหม่ๆของกากอุตสาหกรรม เช่น ขยะแผงโซลาเซลล์จากโซลาร์ฟาร์มต่างๆ ที่จะทยอยหมดอายุกลายเป็น ของเสียมีพิษอีกเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งวางแผนรองรับปัญหาในอนาคต

          หากไม่เร่งแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมในขณะนี้ ก็อาจเป็นประเด็น ฉุดรั้งประเทศไทยในอนาคต ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการต่อต้าน ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตไปได้อย่างยากลำบาก

          ดังนั้น แนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จึง ไม่ใช้เพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ไฮเทค มีมูลค่าสูง สร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ แต่จะต้องทำควบคู่ไปกับการวางแผนรองรับ ปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น การวางระบบการกำจัดกากอุตสาหกรรมทั่วไป และกากอุตสาหกรรมมีพิษให้ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการกำจัดกาก ให้น้อยลง ดึงดูดให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ ซึ่งหากผลักดันทุกส่วน ให้สมดุล ก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

กลุ่มมิตรผล บ่มเพาะเยาวชน เรียนรู้ปรัชญาพอเพียงผ่านศิลปะ

ผ่านไปแล้วสำหรับกิจกรรมค่ายศิลปะกลุ่มมิตรผล ปีที่ 4 (Mitr Phol Art Camp 2017) ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถ มีใจรักในงานศิลปะ ได้ฝึกฝนทักษะและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมการประกวดสร้างสรรค์ศิลปะสื่อผสม โดยปีนี้เป็นกิจกรรมภายใต้แนวคิด “สุขจากสิ่งที่พ่อทำ” เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เปรียบเสมือน “พ่อ” ของชาวไทยทุกคน

“คมกริช นาคะลักษณ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทุ่มเทเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และทรงมีหลักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอันนำมาซึ่งความสุข จึงอยากปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้ปรัชญาดังกล่าวผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ สื่อให้เห็นถึงความสุขจากการยึดหลักคำสอนของพระองค์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากสุขภาวะร่างกายที่แข็งแรง ความสุขจากจิตใจที่ผ่องใส ความสุขจากคุณภาพชีวิตที่ดี และสังคมชุมชนเป็นสุข

“การบ่มเพาะเยาวชนให้เข้าใจถึงหลักการดำเนินชีวิตต้องใช้วิธีโน้มน้าวให้เกิดความมีส่วนร่วมและพร้อมเปิดใจเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะเป็นรูปแบบหนึ่งที่เยาวชนชื่นชอบ โดยมี อาจารย์สังคม ทองมี บุคคลดีเด่นแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ของคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ พร้อมด้วยคณะศิษย์ ให้เกียรติมาร่วมเป็นวิทยากรช่วยถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ในการสรรค์สร้างผลงานศิลปะ และจัดให้มีการประกวดผลงานศิลปะอีกด้วย”

โดยทีมที่ชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับทุนการศึกษาเป็นเงิน 10,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับทุนการศึกษาเป็นเงิน 8,000 บาท และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับทุนการศึกษาเป็นเงิน 5,000 บาท และจะเผยแพร่ผลงานศิลปะของน้อง ๆ ที่ชนะเลิศจากการประกวด ทางปฏิทินกลุ่มมิตรผล ประจำปี 2561 ด้วย

“นอกจากกิจกรรมด้านศิลปะสร้างสรรค์แล้ว ยังเสริมความรู้ในด้านวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เพื่อปรับพื้นฐานความเข้าใจในศิลปะวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน พร้อม ๆ กับการซึมซับแนวคิด ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ ของกลุ่มมิตรผล ที่เน้นส่งเสริมให้ชุมชนเติบโตไปด้วยกันแบบยั่งยืน ด้วยการพัฒนา 5 ด้าน

คือ หนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ รู้จักใช้จ่ายพอประมาณ รู้จักออมเงิน สอง ด้านสังคม เรียนรู้จากต้นแบบที่ดี รู้จักแบ่งปันการเรียนรู้ สาม ด้านสุขภาวะ รู้จักดูแลสร้างเสริมสุขภาพที่ดี สี่ ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และห้า ด้านจิตใจ รู้จักรักและช่วยเหลือกันในครอบครัวและชุมชน”

ในปีนี้บริษัทจัดกิจกรรมขึ้น 4 ครั้งใน 4 พื้นที่ มีเยาวชนเข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 300 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลมิตรผล

ครั้งแรกจัดขึ้นที่ศูนย์ศิลป์สิรินธร จังหวัดเลย เพื่อเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะวัฒนธรรมจังหวัดเลย ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการรวมเยาวชน ในจังหวัดสิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ไปเยี่ยมชมการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์ฟาร์ม และเขื่อนกระเสียว เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของพลังงาน เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ ของในหลวง รัชกาลที่ 9

ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยพาเยาวชนในชุมชนรอบโรงงานจากจังหวัดขอนแก่น และชัยภูมิ ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง และศึกษาดูงานด้านการเกษตร เพื่อให้เข้าใจในวิถีชีวิตแบบปลูกอยู่ ปลูกกิน ของคนชุมชนที่บ้านนาหว้า-นาคำ ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยพาเยาวชนรอบโรงงานในจังหวัดกาฬสินธุ์และอำนาจเจริญ ไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยัง และอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานที่สื่อถึงโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการจัดการน้ำ

ค่ายศิลปะกลุ่มมิตรผลปีที่ 4 ทำให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงจากประสบการณ์จริง นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเห็นคุณค่าว่าศิลปะที่เกิดจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัวก็สามารถสร้างสุขได้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ภาคเกษตรได้อะไรจากอีอีซี

                 พลันที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเปรี้ยงกลางที่ประชุมระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า การทำระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต แต่ควรวางแผนอื่นควบคู่ไปด้วย อย่ามองแต่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว โดยเฉพาะภาคการเกษตรจะต้องเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่คนในพื้นที่ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมให้มีการกำหนดกรอบนโยบายให้คณะกรรมการ ซึ่งเป็นตัวแทนของทุกกระทรวงจัดทำแผนการพัฒนาด้านเกษตรกรรม และเกษตรกรในพื้นที่อีอีซีควบคู่กันไป โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ปรับการทำเกษตรในพื้นที่อีอีซีให้เป็นพื้นที่นำร่องนำไปสู่การปรับพื้นที่อื่นๆ ให้มีความเหมาะสมต่อไป 

                  "เรื่องนี้เป็นโครงการนำร่องในภาคตะวันออกที่ต้องให้เกิดขึ้นก่อน เพราะมีความพร้อมหลายประการ มีศักยภาพในการพัฒนาได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ภาคอื่นๆ ที่จะยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจให้ดีขึ้น จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ปรับการทำเกษตรในพื้นที่อีอีซี จึงอยากให้ 2 กระทรวงไปจัดทำแผนและเสนอมาให้ผม” นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมวันนั้น

             ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว โดยมีการดำเนินการใน 3 ด้านหลักประกอบด้วย การพัฒนาบุคลากร การจัดการเชิงพื้นที่ และการพัฒนาตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเกษตรใน 3 จังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะต้องเร่งเตรียมความพร้อมทั้ง  3 ด้านเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ภายใต้โครงการอีอีซีในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

                ชาตรี บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) เผยต่อ “คม ชัด ลึก” ถึงการขับเคลื่อนภาคเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกว่าขณะนี้ในพื้นที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ไม่ว่าการจัดโซนนิ่งพืช เกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และเกษตรกรเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนการพัฒนาตัวสินค้าและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจและตรงความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันการโครงการอีอีซีก็จะสร้างผลดีให้แก่ภาคเกษตรในพื้นที่ทั้งในเรื่องการตลาดและด้านโลจิสติกส์ ระบบการขนส่งที่สะดวกและรวดเร็วจะช่วยกระจายสินค้าและนำพาผู้คน นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้นก็จะเป็นผลดีในแง่การตลาด

                 “ถ้ามองภาพรวมโครงการอีอีซี  จะเป็นผลดีต่อภาคเกษตรในพื้นที่อย่างแน่นอน เพราะมีระบบโลจิสติกส์ที่ช่วยกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งภาคพื้นดินและอากาศยาน มีผู้คนมาท่องเที่ยวมากขึ้นแล้วในโครงการอีอีซีก็ยังมีอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปด้วย แต่สิ่งที่กังวลก็คือ ในเรื่องของมลภาวะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่เป็นผลพวงมาจากภาคอุตสาหกรรม เพราะมันจะเป็นผลกระทบในระยะยาว”

              ส่วนผลกระทบในเชิงพื้นที่การเกษตรจากการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมนั้น ชาตรีระบุว่า ไม่น่าจะมีผลมากนัก เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ภาคเกษตรนับวันก็มีแต่จะลดลงเรื่อยๆ  ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยหันมาสนใจภาคเกษตร ขณะเดียวกันสำนักและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง ยังมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดใน 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซีเร่งดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนใน 3 ด้านได้แก่ 1.ด้านบุคลากร โดยมีการพัฒนาบุคลากรทั้งตัวเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์และสมาร์ทออฟฟิศเซอร์เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรฯ 2.ด้านพื้นที่ มีการจัดนำโซนนิ่งพืชอย่างชัดเจน การจัดทำเกษตรแปลงใหญ่ และ 3.ด้านการพัฒนาตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยมุ่งเน้นไปที่สินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพเพื่อรองรับเทรนด์ของโลก

              “3 เรื่องที่เรามุ่งเน้นในวันนี้ก็คือเรื่องคน ทั้งตัวเจ้าหน้าที่และเกษตรกร ต้องพัฒนาทั้งองค์ความรู้และความก้าวทันเทคโนโลยี เรื่องพื้นที่คือต้องปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีการจัดโซนนิ่งพืชอย่างชัดเจน ถ้าไม่เหมาะก็ให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนหรือถ้าเกษตรกรยืนยันต้องการปลูกชนิดเดิมเราก็ให้มาดูเรื่องดินปรับคุณภาพดินให้เหมาะกับพืชชนิดนั้นๆ  และสุดท้ายเรื่องตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์จะทำอย่างไรที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่อีอีซีจะมีการขับเคลื่อนเข้มข้นมากกว่าเป็นพิเศษ” ผอ.สำนักและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง กล่าวย้ำ

              แม้ว่าหน่วยงานภาคการเกษตรในพื้นที่จะมีการเตรียมพร้อมรับมือและได้เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรับรู้ความเคลื่อนไหวของโครงการมากนัก ทั้งยังไม่ทราบชะตากรรมถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต หากอุตสาหกรรมไฮเทคขนาดใหญ่เข้ามาลงเต็มพื้นที่ในโครงการ

             วิชา  โกมลกิจเกษตร อดีตนายกสมาคมไม้ดอกไม้ประดับภาคตะวันออกและเกษตรกร เจ้าของสวนวิชาพันธุ์ไม้ ริมถนนสายชลบุรี-แกลง บริเวณหลัก กม.55 ต.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ยอมรับว่าถึงวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่รับทราบข้อมูลของโครงการมากนัก เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือหน่วยงานใดมาชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ เพียงแต่ได้รับทราบข้อมูลจากข่าวสารเท่านั้นว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่จะเอาอุตสาหกรรมไฮเทคมาลงในพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะเชิงทรา ชลบุรีและระยอง แต่ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ถึงตอนนี้ยังไม่มี ทั้งที่คนในพื้นที่น่าจะรับทราบได้แล้ว โดยเฉพาะคนในภาคเกษตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือได้ทัน

               “ถามว่าเห็นด้วยมั้ยกับโครงการอีอีซี เอาโรงงานอุตสาหกรรมาลงเต็มพื้นที่ บอกเลยว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง บ้านเราประเทศเกษตรกรรมแล้วไปเอาอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเกษตรมาลง ผมว่าเดี๋ยวมันจะพังกันทั้งประเทศ เราเคยย้อนไปดูอดีตบ้างมั้ยตอนนั้นรัฐบาลอยากจะเป็นเสือตัวที่ 4 ที่ 5 กันสุดท้ายก็ล้มไม่เป็นท่า ดีที่มีภาคเกษตรช่วยพยุงไว้ มีแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วยไว้ ประเทศถึงรอดมาได้ถึงทุกวันนี้”

               เจ้าของสวนวิชาพันธุ์ไม้ยอมรับว่า การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชาติ สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนคนในชาติ แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเร่งเติบโตแต่ต้องแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อน ต้องเติบโตไปพร้อมๆ กับการพร้อมของคนในชาติ

               “มันมีประโยชน์อะไรกับคนภาคเกษตร เรามีโรงงานอุตสาหกรรมสุดยอดไฮเทคเต็มพื้นที่ แต่สินค้าเกษตรของเรายังส่งออกเป็นวัตถุดิบเหมือนเดิม ราคายังตกต่ำเหมือนเดิม ประท้วงเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหากันเหมือนเดิม แต่เห็นด้วยอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลดึงโรงงานสุดยอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องภาคการเกษตรจากทั่วโลกมาลงทุนที่นี่ ให้ชาวโลกมองว่าประเทศไทยคือที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสุดยอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรและเป็นฐานการผลิตให้แก่ประเทศในภูมิภาคด้วย” วิชาให้มุมมอง

              สอดคล้องกับมุมมอง วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลว่าเป็นการละเลงงบประมาณนับหมื่นนับแสนล้านโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ใช่เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เน้นความพอเพียงและต้องเน้นการพัฒนาที่บนพื้นฐานของภาคการเกษตรเป็นตัวตั้ง โดยเฉพาะการพัฒนาคน ตัวเกษตรกรให้มีความพร้อม รู้เท่าทันเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจะต้องเน้นการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมมากกว่าการขยายการเติบโตของเศรษฐกจิแบบก้าวประโดด

                 “คุณเอางบประมาณเป็นหมื่นเป็นแสนล้านมาละเลงเล่นแล้วมาอ้างว่าเพื่อการพัฒนาประเทศ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจชาติ นี่เป็นตัวการก่อปัญหาการสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงของคนในสังคม ระวังมันจะเกิดสงครามกลางเมืองหากคิดแค่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่มองถึงตัวคน   หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คุณสมคิด(จาตุศรีพิทักษ์) คุณมุ่งแต่ตัวเลข รายได้ที่เป็นเม็ดเงินอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงศักยภาพของคน ความพร้อมของคน  ไปโรดโชว์ต่างประเทศดึงนักลงทุนเข้ามาบ่อยมาก คุยโม้โอ้อวดว่ามีนักลงทุน บริษัทยักษ์ใหญ่ตัดสินใจมาลงทุนเท่านั้นเท่านี้ แต่เคยนำทีมลงไปถามคนในพื้นที่บ้างไหมว่าเขาคิดอย่างไรกับโครงการนี้” อาจารย์วิวัฒน์ให้มุมมองทิ้งท้าย

               ไม่ใช่แค่ภาคเกษตรกรเท่านั้นที่อาจรับไม่ทันกับนโยบายก้าวกระโดดด้านเศรษฐกิจภายใต้อีอีซี แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็อาจมีปัญหาด้วยเช่นกัน เนื่องจากการวางแผนในเชิงพื้นที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ดังที่ “โสภณ พรโชคชัย” ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ออกมาท้วงติงผ่านเฟซบุ๊ก ดร.โสภณ พรโชคชัย ก่อนหน้านี้ว่า

              ถ้าจะทำโครงการอีอีซีให้ประสบความสำเร็จจะต้องจำกัดเขตการพัฒนาบริเวณที่วางแผนไว้ ไม่ใช่ดำเนินการไปทุกที่ในเป้าหมายการวางผังหรือโซนนิ่งต้องชัดเจนและรัฐบาลควรเวนคืนที่ดินขนาดใหญ่เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายแทนที่จะให้เอกชนไปดำเนินการจัดหาเอง ที่สำคัญการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ทำให้มีความจำเป็นต้องย้ายชุมชนออกไปสู่รอบนอกด้วย ซึ่งปกติชาวบ้านก็ไม่ประสงค์จะอยู่ใกล้นิคมอุตฯแห่งนี้อยู่แล้ว เมื่อ 35 ปีก่อนภาคตะวันออก “โชติช่วงชัชวาล” ได้ก็เพราะท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรม แต่เราจะพัฒนาให้เหนือกว่านี้ได้หรือไม่ก็ต้องอาศัยแผนการที่เป็นจริง ไม่ใช่เพียงการ “โฆษณาชวนเชื่อ”

               “หากคิดจะไปลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์รองรับคนมาทำงานในภูมิภาคนี้ คงต้องรอก่อน รอให้อุตสาหกรรมต่างๆ มาจริงก่อน อย่าแห่ตามๆ กันไปเก็งกำไร สร้างหรือซื้อรอเพราะอาจทำให้มีอุปทานส่วนเกิน รอให้มีอุตสาหกรรมหนัก เบา ภาคบริการเข้ามาจริง มีคนทำงานแน่นอน จึงค่อยทำก็ยังไม่สายเกินไป” ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอสังหาฯ กล่าวเตือน

                ขณะเดียวกันในงานสัมมนา “โอกาสใหม่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัย...ภายใต้การขับเคลื่อน EEC” จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา อนวัช สุวรรณเดช ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองรวม กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้แจงข้อมูลพื้นที่รวม 3 จังหวัดในอีอีซี ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ว่า ทั้งหมดมีประมาณ 1.3 หมื่นตารางกิโลเมตร หรือ 8 ล้านไร่ เมื่อพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2556 พบว่าจ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่เกษตร 69% พื้นที่ป่าไม้ 16% พื้นที่ชุมชน 6% และอุตสาหกรรม 1% ขณะที่ จ.ชลบุรี มีพื้นที่เกษตร 62% ป่าไม้ 11% พื้นที่ชุมชน 15% อุตสาหกรรม 4% ส่วน จ.ระยอง มีพื้นที่เกษตร 72% ป่าไม้ 8% พื้นที่ชุมชน 8% อุตสาหกรรม 3%

               ทว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1 เท่า หรือ 102% จากพื้นที่เดิม โดยพื้นที่ชุมชนเพิ่ม 31% ส่วนพื้นที่เกษตรกรรม และป่าไม้มีสัดส่วนที่ลดลง 8% และ 11% แต่เมื่อมองเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินจะพบว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งหมายความว่าเป็นพื้นที่แตะต้องไม่ได้ เท่ากับเหลือพื้นที่พัฒนาอยู่ 7 ล้านไร่ ซึ่งส่วนที่เป็นเมืองและชุมชนไปแล้วประมาณ 8 แสนไร่ พื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 2 แสนไร่ รวมเป็นอีก 1 ล้านไร่ ที่ได้พัฒนาไปแล้ว

                “เห็นได้ชัดว่าส่วนที่จะโตในอนาคตหรือพื้นที่เมืองที่จะเกิดขึ้นต้องปรากฏในพื้นที่เกษตรกรรมแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าเชิงผังเมืองหรือการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่าเราจะยอมให้มีการลดพื้นที่เกษตรกรรมลงไปบ้างไหม เพื่อจะรองรับในเรื่องของการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคตหรือกิจกรรมที่จะเข้ามา”

               นี่เป็นส่วนหนึ่งเสียงสะท้องจากคนภาคเกษตรที่สอดคล้องกับมุมมองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างเดียว หรือเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

เบรกยา'กรัมม็อกโซน'เอกชนหวั่นกระทบต้นทุนชาวไร่ 

          รมช.เกษตรฯ สั่งกรมวิชาการเกษตรพิสูจน์ ยาฆ่าหญ้าพาราควอต หรือ "กรัมม็อกโซน" มีอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ ตามที่เอ็นจีโอยื่นขอให้ระงับนำเข้าแต่ยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเอกชนนำเข้า รายใหญ่ร้อง

          น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทำหนังสือเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สาร เคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ถอนและระงับการนำเข้าสารเคมี พาราควอต ตามที่เครือข่ายภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) เสนอว่าเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเรื่องมาให้กรมวิชาการเกษตร ในฐานะนายทะเบียน ตรวจสอบและพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า สารพาราควอต ที่เป็นส่วนประกอบที่เกษตรกรไทย รู้ในนาม กรัมม็อกโซน หรือ ยาฆ่าหญ้า

          ดังนั้นในฐานะที่ดูแลกรมวิชาการเกษตร ตนจึงได้มีการ เชิญตัวแทนเอ็นจีโอเข้ามาคุย พร้อมให้นำเอกสารหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า สารพาราควอตเป็นอันตรายต่อคน แต่ในเวทีการหารือเอ็นจีโอไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันได้ มีเพียงบทความที่ลงในสื่อต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานในการถอดถอนสารเคมีหรือห้ามนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นจากนี้ต่อไป เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรที่เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ว่าสาร พาราควอตเป็นอันตรายต่อคนหรือไม่ ต้องถอดถอนออกจากทะเบียนสารเคมีและห้ามนำเข้า

          ด้านนายธนัษ อภิเวศ ผอ.บริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทำหนังสือถึงสธ. กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกรรมการ ขับเคลื่อนฯ ให้ทบทวนนโยบาย ระงับการนำเข้า จำหน่าย และจะไม่อนุญาตให้ต่ออายุการขึ้นทะเบียนของสารอารักขาพืชหรือยาฆ่าหญ้าพาราควอต ภายใต้ชื่อ "กรัมม็อกโซน" ตามที่สธ.เสนอ โดยให้เหตุผลว่า สารพาราควอต มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ โดยข้ออ้างดังกล่าวยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน องค์การอนามัยโลก(WHO) ยังไม่รับรองในผลวิจัยนี้

          "หากระงับนำเข้าพาราควอต จะทำให้เกษตรกรกว่า 1.5 ล้านคนได้รับผลกระทบ ต้นทุนในการกำจัดวัชพืชจะเพิ่มขึ้น 5-7 เท่า ซึ่งผลกระทบจะไม่เพียงเกษตรกร แม้แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ก็ยังได้รับผลกระทบ เพราะใช้กรัมม็อกโซน หรือ พาราควอตในการฉีดฆ่าหญ้าตามรางรถไฟ เพื่อให้รถไฟสามารถ วิ่งได้ไม่เกิดหญ้าปกคลุมรางรถไฟ" นายธนัษกล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

นำเข้า‘เคมีเกษตร’ยอดพุ่ง ‘ซินเจนทา’ผวาไม่ต่ออายุพาราควอตหวั่นวืดเป้า

ธุรกิจนำเข้าเคมีเกษตรแข่งเดือด 6 เดือนแรกปีนี้ คาดยอดนำเข้าสูงกว่าปีก่อน “บิ๊กซินเจนทา” ผวากรมวิชาการเกษตร ไม่ต่ออายุทะเบียน “พาราควอต” สะเทือนเป้ายอดขาย 5.5 พันล้านสะดุด บิ๊กบอสดิ้นอ้างความต้องการเกษตรกรไทยสูง 87 ประเทศทั่วโลกนิยมใช้

 นับตั้งแต่ปี 2555-2559 พบว่าสถานการณ์การใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะปีนี้หลายสำนักพยากรณ์ว่า ปริมาณฝนจะมาเป็นปกติทำให้เกษตรกรกว่า 12 ล้านครัวเรือนลงมือเพาะปลูกได้ ขณะที่ธุรกิจสารเคมีเพื่อการเกษตรมูลค่ากว่า2หมื่นล้าน แข่งขันรุนแรงขึ้น

นายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าธุรกิจนำเข้าเคมีเกษตรปี 2560 คาดว่าจะเติบโตจากปีที่แล้ว เนื่องจากฤดูฝนมาปกติ ขณะที่ปีที่แล้วแล้ง น้ำไม่มี การใช้เคมีเกษตรจึงน้อยลง อย่างไรก็ดีปีนี้ทางสมาคมได้ร่วมกับกระทรวงเกษตร ในโครงการประชารัฐ โดยลดราคา สารเคมีในส่วนของยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช 7 สาร ประกอบด้วย ไกลโฟเสต 48% SL, พาราควอต 27.6% SL, บิวทาคลอร์ 60% EC, 2,4-ดี 95%, โพรทานิล,บิสไพริแบก-โซเดียม 10% SC และเพรทิลลาคลอร์ 30% EC ผ่านตลาดนัดจำหน่ายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ มี 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1. จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 18 กรกฎาคม ครั้งที่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 19 กรกฎาคม ครั้งที่ 3 จังหวัดชัยนาท วันที่ 20 กรกฎาคม และครั้งสุดท้ายวันที่ 20 กรกฎาคม ที่จังหวัดพิษณุโลก

 สอดคล้องกับนางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า ปีนี้มองว่าปริมาณน้ำฝนมาปกติ พืชเศรษฐกิจหลักของไทยมีพื้นที่เท่าเดิม ดังนั้นการใช้สารเคมีคาดว่าจะดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ปริมาณฝนทิ้งช่วง แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้สารพาราควอต ของกลุ่มบริษัททะเบียนใกล้หมดอายุประมาณกรกฎาคมนี้ จะต้องเร่งต่ออายุขึ้นทะเบียนใหม่ แต่ก็กังวลว่า ทางกรมวิชาการเกษตรจะไม่ต่อให้ เนื่องจากทางกระทรวงสาธารณสุขและกลุ่มเอ็นจีโอ อยากให้ประเทศไทยยกเลิกใช้สารดังกล่าว เพราะกังวลว่าจะตกค้างถึงผู้บริโภคและส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

 สำหรับผลประกอบการบริษัทฯปีที่แล้วยอดขายอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% หรือมีประมาณ 5,500 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายที่มาจากสารอารักขาพืช 70% ของยอดขายรวม ส่วนพาราควอต 20% ของยอดขายรวม หากกรมวิชาการเกษตรไม่ต่ออายุขึ้นทะเบียนใหม่ เกรงว่าจะกระทบเป้ายอดขายดังกล่าวได้

 ด้านนายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการ กลุ่มบริษัท ซินเจนทา ประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ธุรกิจผลิตภัณฑ์อารักขาพืชหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสารเคมีเกษตร และธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของซินเจนทามีสัดส่วนการตลาดในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ธุรกิจสารเคมีเกษตรนั้นมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งให้กับบริษัทในเครือ ในประเทศแถบเอเชีย ขณะที่กว่า80 % ของธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของซินเจนทาคือเมล็ดข้าวโพด

 หนึ่งในสินค้ากลุ่มสารอารักขาพืชของซินเจนทาคือ สารพาราควอตซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรอย่างแพร่หลายในพืชเศรษฐกิจหลักของไทย อาทิ ข้าวโพด ยางพารา อ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับและให้ความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์มายาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบันได้รับการจดทะเบียนและใช้ในกว่า 87 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวอ้างถึงผลข้างเคียงทางด้านสุขภาพต่อผู้ใช้สารพาราควอตนั้นยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน องค์การอนามัยโลก(WHO) ยังไม่รับรองในผลวิจัยนี้ และจัดให้พาราควอตอยู่ในกลุ่มสารที่ไม่อันตรายสูง

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

สงครามการค้า กำลังจะเกิดขึ้นอีกแล้ว

คอลัมน์คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ความที่อเมริกาเป็นประเทศใหญ่ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งรัสเซียและยุโรป ทั้งตะวันตกและตะวันออกต่างก็เกรงใจ เมื่อผู้นำของสหรัฐอเมริกาพูดอะไร สร้างวาทกรรมอะไร จริงหรือไม่จริง ทำได้หรือไม่ได้ ก็มักจะเป็นข่าวที่เขย่าความรู้สึกและเขย่าตลาดอยู่เสมอ แม้ว่าในที่สุดแล้วอาจจะไม่ทำอะไรเลยก็ได้ เพราะไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไร

กรณีที่ทรัมป์ประกาศว่าจะเล่นงานบริษัทอเมริกันที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเช่น แคนาดา เม็กซิโก หรือประกาศจะเล่นงานสินค้าที่มาจากประเทศจีน และอาจจะรวมทั้งญี่ปุ่นด้วย การขึ้นภาษีขาเข้าโดยอ้างว่าประเทศเหล่านี้ดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา อเมริกาก็อาจจะตอบโต้สินค้าที่มาจากประเทศเหล่านี้ที่เป็นคู่ค้าตาม พ.ร.บ.การค้า หรือ Trade Act มาตรา 201 และมาตรา 301 ซึ่งสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 1980 สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีเรแกน มักจะเป็นเช่นนี้เสมอ

ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยก็ถูกข่มขู่ให้แก้หรือให้ออกกฎหมายเปิดตลาดเสรี ให้ออกกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าจากตะวันตก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาเสมอ มิฉะนั้น อเมริกาก็จะตอบโต้โดยการตั้งกำแพงภาษีกีดกันประเทศต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยตลาดอเมริกาก็ต้องคล้อยตามความกดดันเช่นว่าอยู่เสมอ สหรัฐอเมริกามักจะใช้การกล่าวหาว่าประเทศนั้นประเทศนี้ไม่เปิดตลาดเสรีเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การค้า มาตรา 201 หรือ 301 ขึ้นภาษีนำเข้าเล่นงานตอบโต้

ในยุคนั้นเรามักจะได้ยินและรู้จักชื่อของผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ US Trade Representative รวมทั้งคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ International Trade Commission ของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะพิจารณาตัดสินว่าสินค้าชนิดใดของประเทศไหน รัฐบาลประเทศนั้นอุดหนุนหรือทุ่มตลาดเข้ามาทำให้ผู้ผลิตในอเมริกาเดือดร้อน และอนุมัติให้มีการใช้ภาษีขาเข้าตอบโต้ ภาษีที่ว่านี้เรียกว่า “Countervailing Duties” สมัยนั้นอเมริกาใช้บ่อยมาก ขณะนั้นยังไม่มีองค์การการค้าโลก หรือ WTO แต่มีความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร ซึ่งให้คำจำกัดความว่า “การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม” หรือ “Unfair Practices” ไว้อย่างคลุมเครือ ประเทศใหญ่ก็ใช้อำนาจตีความเอาเอง ขณะนั้นจีนยังไม่ใช่ประเทศที่มีความสำคัญในเวทีการค้าระหว่างประเทศและศาลการค้าก็ยังไม่เกิด

แต่เมื่อเกิดองค์การการค้าโลกหรือ WTO ขึ้นมาแทน GATT มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนขึ้น มีการจัดตั้งศาลขององค์การการค้าโลก หรือ WTO courts ซึ่งจะตัดสินข้อพิพาททางการค้าที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก

การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกประเทศที่เป็นสมาชิกย่อมได้ประโยชน์จากการมีฐานะเป็น “The most favored nation” ที่ประเทศคู่ค้าต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นประเทศที่เปิดตลาดสินค้าและบริการ รวมทั้งตลาดการเงินและตลาดทุนเสรี เมื่อประเทศใดได้รับสถานะเช่นว่านี้แล้ว ประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกจะกีดกันสินค้าจากประเทศนั้นโดยการขึ้นภาษีหรือออกมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ควบคุมปริมาณการนำเข้า หรือกำหนดมาตรฐานสินค้าอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้ หากประเทศคู่ค้าเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมก็อาจจะนำกรณีของตนขึ้นฟ้องร้องต่อศาลองค์การการค้าระหว่างประเทศได้และหากตนแพ้คดีก็ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

ที่สำคัญคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกามีความเป็นอิสระพอสมควรในการใช้วิจารณญาณในการตัดสิน ถ้าประธานาธิบดีใช้อำนาจของตนตามอำเภอใจก็คงจะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด และถ้าศาลองค์การการค้าระหว่างประเทศตัดสินแล้วยังไม่ยอมปฏิบัติ แม้ศาลองค์การการค้าระหว่างประเทศไม่มีอำนาจบังคับ เพราะทุกประเทศมีอำนาจอธิปไตย แต่จีนก็อาจจะตอบโต้ได้เพราะจีนก็นำเข้าสินค้าและบริการมากมายจากอเมริกา

นโยบายอีกประการหนึ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่ากระทรวงการคลังสหรัฐจะมีนโยบายทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีค่าอ่อนเมื่อเทียบกับเงินยูโร เงินเยน เงินปอนด์สเตอร์ลิงและเงินสกุลอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไร เพราะมาตรการนโยบายการเงินไม่ได้อยู่ที่กระทรวงการคลังสหรัฐ แต่อยู่ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางของสหรัฐ ซึ่งประธานหรือผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ หรือนางเยลเลนซึ่งได้แสดงความกังวลว่าถ้าหากยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้นานเกินไป จะทำให้เกิดการก่อตัวของภาวะเงินเฟ้อ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอยู่ในภาวะมีการจ้างงานเต็มที่มาเป็นเวลานาน อัตราการว่างงานต่ำกว่าระดับที่ถือว่าไม่มีการว่างงานมานาน ภาวะเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดภาวะความร้อนแรงได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่มั่นใจนักว่าภาวะการจ้างงานเต็มที่ การว่างงานของคนอเมริกันจะไม่มีปัญหาหรือจะดำรงได้ยั่งยืนแค่ไหน ควรจะขึ้นดอกเบี้ยมากน้อยบ่อยครั้งเพียงใด ผู้ว่าการธนาคารกลางผู้นี้เป็นผู้ที่ไม่มีความมั่นใจในการตัดสินใจเสียเลย ความไม่แน่นอนจึงปกคลุมตลาดการเงินตลาดทุนของสหรัฐเรื่อยมา ทั้ง ๆ ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน ได้พุ่งสูงขึ้นมาเป็นเวลานาน

ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลกับธนาคารกลางจะเอาอย่างไรนอกจากข่มขู่ว่าจะตอบโต้จีนและประเทศอื่นด้วยการขึ้นภาษีขาเข้าและมาตรการกีดกันการค้า ซึ่งเป็นสภาพการณ์ของประเทศคอมมิวนิสต์สมัยก่อนที่ค่ายคอมมิวนิสต์จะล่มสลาย สหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอกในการจัดตั้งองค์การการค้าโลก เป็นผู้นำในการกดดันให้ประเทศต่าง ๆ เปิดการค้าเสรี ยกเลิกการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกา

บัดนี้ กลับกลายเป็นว่าจีนกลายเป็นประเทศที่เรียกร้องให้มีการเปิดเสรีทางการค้า และให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เพราะตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมาจีนเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด จีนสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้มากที่สุดในโลก เงินทุนสำรองนี้จีนเอาไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ที่รัฐบาลอเมริกันต้องออกพันธบัตรมากู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐก็เป็นผู้ออกมาซื้อหรือขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐมากกว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังสหรัฐเพราะทุกวันนี้สหรัฐไม่ได้กำหนดค่าเงินของตนไว้กับทองคำแล้ว ขณะเดียวกัน ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ก็ดี ค่าเงินเยนก็ดี ก็ปล่อยให้ถูกกำหนดโดยตลาดอย่างเสรี มีจีนเท่านั้นที่ยังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกไว้กับ “ตะกร้าเงิน” หรือ “Basket of Currencies” แม้กระนั้นก็ถูกบังคับให้เงินหยวนของจีนมีค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ เจ้าของเงินดอลลาร์ คือ ธนาคารกลางสหรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลสหรัฐและยังไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกำหนดค่าเงินของตนเลย ยิ่งกระทรวงการคลังสหรัฐยิ่งไม่มีเครื่องมือกำหนดค่าเงินเลย นอกจากมีนโยบายการขาดดุลงบประมาณมาก ๆ ทำให้มีปริมาณเงินดอลลาร์ออกมาสู่ตลาดมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จึงจะอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก

คำพูดของประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งสมัยก่อนเป็นคำพูดที่ศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนต้องฟังเพราะเมื่อพูดแล้วก็ต้องทำ บัดนี้ คำพูดของประธานาธิบดีกลายเป็นวาทกรรมที่บางครั้งก็เหลวไหล เอาแน่ไม่ได้ คำสั่งบางคำสั่งถูกศาลสูงเพิกถอน คำพูดบางอย่างทำเนียบขาวต้องออกมาแก้ให้ กลายเป็นวาทกรรมที่เหลวไหลอยู่บ่อย ๆ เช่น กล่าวหาว่าประธานาธิบดี บารัก โอบามา แอบดักฟังโทรศัพท์ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นต้น

วาทกรรมในเรื่องมาตรการทางการค้า ถ้าทำจริงก็คงจะเกิดสงครามทางการค้าอีกแบบหนึ่ง คือแบบถอยหลังเข้าคลอง แม้ว่าประธานาธิบดีอเมริกันจะมีอำนาจค่อนข้างมาก เพราะเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลและประมุขของประเทศ แต่ระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาก็ยังมีการคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อยู่ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และการต่างประเทศ ประธานาธิบดีคงจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ทุกอย่าง

แต่อย่างไรก็ตาม ความสับสนก็เกิดขึ้นทั่วไปไม่ใช่เฉพาะคนอเมริกันเท่านั้น แต่คนทั้งโลกด้วยเพราะคนที่เลือกพรรครีพับลิกันนั้นส่วนใหญ่เป็นคนบ้านนอก เป็นเกษตรกรอยู่ในแถบตะวันตกตอนกลางของประเทศ มีความรู้ความเข้าใจโลกน้อยมาก ถูกรัฐบาลปลุกปั่นได้ง่าย คิดว่าอเมริกันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและกลัวคอมมิวนิสต์ขึ้นสมอง

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

อะไรคือประเทศไทย 4.0

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะอ่าน จะฟัง หรือจะดู สื่อมวลชนทุกชนิดก็ล้วนแต่พูดถึง 4.0 กันทั้งนั้น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีมาถึงขอทานที่ข้างถนน ถ้าใครไม่เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงใน 4.0 ก็จะเป็นคนเชย ไม่ทันสมัย ถ้าเป็นข้าราชการก็อาจจะสอบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าตนอยู่ตรงไหนของไทยแลนด์ 4.0 และ 4.0 จริง ๆ คืออะไร

สำหรับคนเดินดินกินอาหารข้างถนน ที่รัฐบาลเขาจัดระเบียบสังคมหมดไปแล้ว ถ้าจะหารับประทานต้องไปที่ตรงไหนก็ไม่ทราบ ที่ถนนสุขุมวิทกับถนนข้าวสาร มิฉะนั้นก็ต้องเข้าไปรับประทานในร้านห้องแถว ซึ่งเมื่อก่อนถูกหาบเร่แผงลอยกั้นเอาไว้ขายของ เพื่อซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่ถ้าจะรับประทานอาหารข้างถนนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารข้างถนนที่ดีที่สุดในโลก ก็ต้องเดินฝ่าเข้าไปนั่งในร้านห้องแถว ที่พนักงานแจกจานเหมือนกับแจกไพ่ ที่คนไม่สังเกตก็คือ น้ำล้างจานใช้น้ำเพียงถังสองถัง ถังหนึ่งเป็นน้ำยาล้างจาน อีกถังหนึ่งเป็นน้ำเปล่า ล้างสองถังแล้วใช้ผ้าเช็ดเล็กน้อยเป็นอันใช้ได้ ต่อไปจะทำอย่างนี้ไม่ได้เพราะเราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 กันแล้ว

เถ้าแก่เจ้าของร้านเดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่คนจีนเสียแล้ว กลายเป็นคนอีสาน โดยมีลูกน้องเป็นคนพม่า เขมร หรือลาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนใหญ่คนขายบะหมี่ที่มีไม้เคาะเก๊าะ ๆ ถีบซาเล้งขายตามซอย ถามดูแล้วเป็นชาวพม่า เชื้อสายไทยใหญ่เสียส่วนใหญ่ แม่ค้าแม่ขายในตลาดสดก็เป็นไทยใหญ่เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพวกที่เป็นเชื้อสายมอญ นิยมอยู่ที่ชุมพร นครและปักษ์ใต้ ส่วนพวกพม่านิยมเป็นแรงงาน ทำงานในโรงงาน อยู่ข้างนอกไม่ได้ จะโดนพวกไทยใหญ่กับพวกมอญตีเอา ต้องอยู่ที่มีกันแต่พม่า ผสมกับพวกอื่นไม่ได้

สำหรับแรงงานไทยระดับล่างมีสภาพเป็นอย่างนี้แล้ว แต่สำหรับตลาดแรงงานระดับกลาง อันได้แก่ ภาคสินค้าเกษตรกรรม ซึ่งบัดนี้คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนฐานะเป็นนายทุนเกษตรกรเสียแล้ว เพราะตัวเองเรียนสูงและนิยมเข้าเมืองไปรับราชการ หรือไม่ก็ทำการค้าขายเป็นพ่อค้ารายเล็กแทนพ่อค้าคนจีน ซึ่งได้เลื่อนฐานะเป็นพ่อค้ารายใหญ่ไปแล้ว

แรงงานในภาคเกษตรก็เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ ส่วนมากก็เลื่อนมาเป็นผู้จ้างแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว เขมร และมอญในกรณีภาคใต้ มาทำงานในไร่นาและสวนยางแทน เพราะเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ได้กลายเป็นผู้มีรายได้ปานกลางไปแล้ว ชาวนารุ่นที่ยังทำนาทำไร่ก็มีอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป ไม่สามารถใช้แรงงานในการทำนาได้ ต้องใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็จ้างคนอื่นไถหว่าน เกี่ยวและสีทั้งหมด

การจะเลื่อนฐานะจากประเทศไปเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งแปลว่าอะไรก็ไม่ทราบ โดยที่รัฐบาลเอาภาษีอากรไปอุดหนุนภาคเกษตรที่ล้าหลัง ใช้แรงงานทำงานถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของแรงงานทั้งหมด แต่ผลิตเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม แทนที่จะยอมให้ชาวนาออกจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นที่ขาดแคลนแรงงาน ต้องนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงาน เอาเหตุผลการถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานจำนวนน้อยที่เป็นข้อยกเว้นมาเป็นเหตุผลทั้งหมด

สินเชื่อนอกระบบซึ่งไม่มีใครทราบว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งน่าจะเป็นข้อยกเว้น เพราะสินเชื่อครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อในระบบ ระบบสินเชื่อเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรของประเทศไทย กองทุนหมู่บ้านและกองทุนอื่นๆ อีกหลากหลายที่ลงไปช่วยชาวนาในชนบท ได้รับการยกย่องโดยองค์การอาหารและการเกษตร หรือ FAO ว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก ชนบทของเราก็น่าจะเป็นชนบท 4.0 ไปแล้ว

สำหรับภาคบริการซึ่งได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง การขนส่ง การสื่อสาร การธนาคาร การเงิน ธุรกิจนายหน้า ซึ่งมีสัดส่วนทั้งผลิตภัณฑ์และการจ้างงานมากที่สุด กล่าวคือกว่าร้อยละ 50 อยู่ในภาคบริการนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เรือกสวนไร่นา โดยรถมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กตุ๊ก รถปิกอัพ รถ 6 ล้อ รถ 10 ล้อ รถลากคอนเทนเนอร์ มีทุกระดับ สุดแล้วแต่อะไรจะสะดวก อะไรมีต้นทุนเฉลี่ยถูกที่สุด เพราะทำได้ทุกอย่าง เป็นรถนั่งสำหรับครอบครัวด้วย รวมทั้งเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาแสดงฐานะของครัวเรือน (status symbol) ด้วย และเมื่อเวลาผ่านไปเศรษฐกิจเจริญขึ้น เครื่องใช้อุปโภคบริโภคก็เลื่อนขึ้นด้วยตามลำดับ จนถึงอาคารชุดราคาแพงๆ

สำหรับเรื่อง 4.0 ซึ่งมีอยู่ประเทศเดียวในโลกที่ใช้คำนี้ ไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร ฟังๆ ดูคงจะหมายถึงการใช้เครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ในภาคบันเทิงและสื่อสาร อาจจะบางส่วนในโรงงานอุตสาหกรรม สมัยใหม่ซึ่งเมื่อก่อนเราเรียกระบบอัตโนมัติ หรือเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ที่ทนความร้อนความเย็นที่ไม่มีออกซิเจนได้ ซึ่งสมัยนี้สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำงานแทนมนุษย์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ทุกวันนี้ใครจะอ่านข่าว ดูภาพยนตร์ อ่านนวนิยาย เขียนหนังสือ ก็ไม่ใช้กระดาษกันแล้ว แค่เปิดดูทางจอโทรศัพท์แสนรู้ หรือ smartphone เครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่างเป็นเครื่องมือแสนรู้ รวมทั้งกุญแจบ้าน กุญแจรถยนต์ หม้อข้าวหม้อแกงก็แสนรู้ไปหมด คนไม่ต้องทำอะไร แม้แต่เงินก็เป็นเงินดิจิทัลหรือบิตคอยน์

เคยไปลอกเปลี่ยนกระจกตาที่ขุ่นฝ้าเพราะอายุ แพทย์ทำการตรวจและพูดคุยกับคนไข้ แล้ววางแผนทำการลอกด้วยเครื่อง เจาะเข้าไปในลูกตาแล้วสอดใส่แคปซูลแล้วดึงกระตุกให้แผ่ออกเป็นเลนส์เทียม โดยหมอคอยนั่งดูว่าเครื่องคอมพิวเตอร์สั่งงานถูกต้องหรือไม่เท่านั้น นอกนั้นไม่ต้องทำอะไรแต่ความจริงแล้ว คอมพิวเตอร์จะทำงานได้ เครื่องไม้เครื่องมือจะทำงานได้ ก็ต้องอาศัยมนุษย์คอยสั่งงานทั้งก่อนระหว่างและหลังคอมพิวเตอร์ดิจิทัลจะทำงานทั้งนั้น เพียงแต่วิธีทำงานจะแตกต่างออกไป พนักงานต้องได้รับการศึกษาอบรมก่อน

การศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานจะช่วยให้การฝึกอบรมเร็วขึ้น แต่ก็ไม่ใช่จะฝึกอบรมไม่ได้ คนไทยจะออกเสียงภาษาอังกฤษเป็นประโยคไม่ได้ แต่จะออกเสียงภาษาอังกฤษเป็นคำๆ โดยเปลี่ยนให้เป็นคำไทยๆ ฟังกันออกเฉพาะคนไทย คนชาติอื่นจะฟังไม่ออกก็พอไปกันได้ เคยใช้แขกจากบังคาลอร์กว่า 20 คน มาทำงานเมื่อตอนเปิดโรงงาน หลังจากนั้น 6 เดือนคนไทยทำแทนได้หมด และถ่ายทอดกันมาเรื่อย ๆ กว่า 20 ปีแล้วก็ยังใช้ได้

ดังนั้นโครงการดิจิทัล หรือจะเรียก 4.0 นั้น รัฐบาลไม่มีทางตามเขาทันหรอก เสียเงินเสียงบประมาณเปล่า ๆ เพียงแต่อย่าไปขัดขวาง ปล่อยให้เขาทำเสรี ใครทำผิดก็ค่อยติดตามนำมาลงโทษ กล่าวคือไม่ควร pre audit ควรเป็น post audit ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ป้องกันไม่ได้หรอก มาตรการป้องกันนั้นเองจะเป็นมาตรการกีดกันขัดขวางความก้าวหน้าในการค้นคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ การป้องกันขัดขวางการรั่วไหลของข้อมูลข่าวสาร ถ้าไม่อยากให้มีการเสนอข่าวก็มีวิธีเดียวคือการไม่มีข่าว การไม่ให้มีควันก็อย่าจุดไฟ การไม่อยากให้มีศพช้าง ก็ไม่ควรฆ่าช้างเท่านั้นเอง

ถ้าไทยแลนด์ 4.0 คือการต่อยอดสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในทุก ๆ ด้าน ทั้งในด้านการประยุกต์ การสื่อสารโทรคมนาคม การเก็บข้อมูล การใช้ข้อมูล รวมทั้งบริการการเงินการธนาคาร การอุตสาหกรรม การเกษตรและอื่น ๆ จะถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็ต้องปฏิวัติตามไปด้วย ก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมดา เหมือนกับยุคโชติช่วงชัชวาลก็ทำการโฆษณากันยกใหญ่ เพราะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ แต่ไม่เรียกว่ายุค 4.0 อย่างในปัจจุบัน เพราะเกิดการค้นพบแหล่งธรรมชาติในอ่าวไทย อันเป็นรากฐานของการเกิดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯฉบับที่ 5 ในด้านหนึ่งเป็นแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจโดยเปลี่ยนจากเป้าหมายหลักที่เป็น “คน” ให้เป็นพื้นที่ โดยกระทรวงหลักคือ มหาดไทย สาธารณสุข พาณิชย์ และกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งก็ได้รับผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

อีกด้านหนึ่งเป็นแผนพัฒนาพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือที่เรียกว่า Eastern Seaboard โดยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง คือ ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สำหรับเรือขนาด 20,000 ตัน และนิคมอุตสาหกรรมเบาที่ไม่มีปัญหามลพิษ ที่ประชาชนไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย กับท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปุ๋ยแห่งชาติหลังจากนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใหญ่ ๆ ก็หยุดนิ่งเพราะปัญหาการเมือง มีแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขนาดกลางและขนาดย่อม และสืบต่อโครงการต่าง ๆ เรื่อยมา สนามบินสุวรรณภูมิที่พูดกันมานานก็เกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ส่วนการตัดสินใจใช้สนามบินดอนเมือง ก็เกิดขึ้นสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การตัดสินใจพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ก็คงจะเกิดขึ้นในยุครัฐบาลทหารนี้

ส่วนการขยายตัวของอุตสาหกรรมจากพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ที่ขยับสูงขึ้นมาที่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรีก็กำลังเกิดขึ้น รัฐบาลเพียงแต่ขยายทางหลวง 304 ขยายทางเพิ่มขึ้น จัดหาแหล่งน้ำอุตสาหกรรม สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้วตามความต้องการของเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องไปตั้งนิคมที่ชายแดนลาว พม่า หรือที่อื่น ๆ เพราะจะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าจะเกิดคงเกิดขึ้นไปแล้วเรื่องที่เมืองไทยเรียก 4.0 หรือดิจิทัล ก็คงต้องเกิดขึ้นเอง ถ้ารัฐบาลไม่ขัดขวาง เพราะกลัวประชาชน ไม่ไว้ใจประชาชน เพราะไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนมันก็แค่นั้นเอง

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

นโยบายพลังงานยังไม่ชัดไทยกำลังเผชิญความเสี่ยง

ในงานเสวนา"หลุมดำ..พลังงานไทย"จัดโดยคณะนักศึกกาหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุนใหม่รุนที่ 4 (วพม.4) สถาบันวิทยาการพลังงาน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยเชิญวิทยากรที่อยู่ในแวดวงพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาแลกเปลี่ยนมุมมองถึงทิศทางการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังมีอุปสรรคหรือความไม่ชัดเจนด้านนโยบาย ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงพลังงานในอนาคตได้

-เร่งให้เปิดสัมปทานรอบ21

โดยนายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐควรเร่งรัดการเปิดประมูลสัมปทานรอบ 21 เพราะหากล่าช้าจะต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งมีต้นทุนราคาสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าพลังงาน 60% อาจเพิ่มเป็น 70-80% ในอนาคต ส่งผลให้เงินตราไหลออกนอกประเทศ

 ขณะที่การเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ของแหล่งบงกชและเอราวัณ จะต้องให้เกิดความต่อเนื่อง หากได้รายเดิมเป็นผู้ชนะการประมูล จะสามารถกลับมาผลิตได้ทันที ต้นทุนต่ำ โดยระบบที่นำมาใช้ภาครัฐต้องได้ส่วนแบ่งไม่น้อยกว่าปัจจุบัน ซึ่งมองว่าระบบสัมปทานเหมาะกับแหล่งที่มีความเสี่ยงสูง อย่างกรณีของไทย รัฐไม่ควรนำเงินมาลงทุนเสี่ยงด้วยระบบแบ่งปนผลผลิตหรือพีเอสซีหรือจ้างผลิต(เอสซี)

นอกจากนี้ ใน 10-20 ปีข้างหน้า ก๊าซในอ่าวไทยจะเหลือน้อยลง ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาทดแทนในปริมาณที่มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีเชื้อเพลิงถ่านหินเข้ามาเป็นทางเลือก รวมถึงพลังงานหมุนเวียนที่ปัจจุบันมีราคาต้นทุนลดลงมามาก และสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

-หนุนกระจายเชื้อเพลิง

 นายคุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินงานคือ การจัดหาปิโตรเลียม โดยเฉพาะการเปิดสัมปทานรอบ 21 ที่ล้าช้ากว่าแผน 5 ปีแล้ว สาเหตุมาจากความแตกแยกทางความคิด การจัดหาไฟฟ้า ควรมีการกระจายเชื้อเพลิงถ่านหินในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นหรืออยู่ที่ 20-25%

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนให้ครบวงจร เพิ่มมาตรการทางการคลัง โดยการปรับขึ้นภาษีน้ำมัน เพื่อใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลง และความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยกระจายความเสี่ยงในการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่เพียง สปป.ลาวเท่านั้น

-หวั่นการผลิตก๊าซฯหาย

 ขณะที่นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) กล่าวว่า กรมฯอยู่ระหว่างเร่งกฎหมายรอง เพื่อรองรับการเปิดระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) และระบบจ้างผลิต(เอสซี) จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีผลบังคับใช้ต่อไป

 สำหรับแหล่งสัมปทานเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 กำลังการผลิตรวม 2.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 70% ของกำลังการผลิตก๊าซในประเทศ ซึ่งปกติผู้ประกอบการจะลงทุนต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับการผลิต โดยจะเจาะ 600 หลุมต่อปี ใช้เงินลงทุนนับแสนล้านบาท หากยังไม่มีความแน่นอนของระบบ อาจส่งผลให้การตัดสินใจรักษาระดับการผลิตลดลง รวมถึงการเปิดประมูลชะลอออกไปอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตหลังปี 2563 กำลังการผลิตจะเริ่มลดลง

 ดังนั้น หากเปิดประมูลได้ในเดือนสิงหาคมคมหรือกันยายนนี้ได้ คาดว่าในปี 2565 กำลังการผลิตจะเริ่มกลับมา อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยที่ลดลงจะต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลเอ็นจี) ซึ่งในแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ จะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลังแอลเอ็นจีเข้ามารอบรับการนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้น

"กรมพยายามเตรียมความพร้อมระบบพีเอสซี แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการนำไปใช้กับแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซียหรือเจดีเอ แต่แหล่งในประเทศยังไม่เคยดำเนินการ ซึ่งจะต้องสร้างความสมดุลของระบบที่จะนำมาใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน และความเหมาะสม ที่จะดึงผลประโยชน์ให้กับภาครัฐ"

-ส.อ.ท.กังวลไฟฟ้าไม่พอใช้

 ส่วนนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะผู้ใช้พลังงาน ต้องการใช้พลังงานที่ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ มีราคาต้นทุนมีความเหมาะสม โดยมองว่าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการใช้แอลเอ็นจีจะมากขึ้น ทางเลือกเชื้อเพลิงจะน้อยลง แต่คงไม่ถึงกับไฟฟ้าดับ ดังนั้น จึงต้องการให้กระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงอย่างถ่านหินเข้ามาช่วยเสริมได้บ้าง ซึ่งความหลากหลายของเชื้อเพลิงจะช่วยกระจายความเสี่ยง ถัวเฉลี่ยต้นทุน

 อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.มองถึงความเสี่ยงด้านไฟฟ้าในอนาคต มาจาก 1.ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ที่จะเข้ามาเร็วกว่าแผน เนื่องจากความได้เปรียบด้านชิ้นส่วนยานยนต์ 2.รถไฟความเร็วสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเพิ่มขึ้น จึงมีความน่าเป็นห่วงการใช้ไฟฟ้าใน 3-5 ปีข้างหน้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูว่าสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันมี 20-30% สามารถพึ่งพาได้จริงหรือไม่

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

“บิ๊กจิน” ยัน รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ แก้ปมราคาสินค้าเกษตร-แรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.มณฑล สัชฌุกร โฆษกประจำตัว พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะผู้แทนชาวไร่อ้อยรวม 4 องค์กร ประกอบด้วย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไรอ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบ พล.อ.อ.ประจินในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือคลี่คลายปัญหาเรื่องอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยใน ฤดูการผลิตของที่ผ่านมา นอกจากนี้คณะผู้แทนชาวไร่อ้อยยังได้หารือถึงปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการ ขนส่งอ้อยจากพื้นที่การผลิตไปยังโรงงาน ตลอดจนปัญหาแรงงานชาวต่างด้าวในกระบวนการเก็บอ้อยตามฤดูกาล

พล.อ.อ.มณฑล กล่าวว่า พล.อ.อ.ประจิน รับทราบปัญหาและรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการ แก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรให้กับทุกภาคส่วนรวมถึงปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ในทางปฏิบัติทุกฝ่ายต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ในฐานะของหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ยินดีรับปัญหาของชาวไร่อ้อย เพื่อจะนำไปประสานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขต่อ ไป อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาทุกอย่างทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันและต้องทำทุกอย่างด้วยความถูก ต้อง เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

โฆษก ก.อุตฯ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับพัฒนาทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จะไม่ทอดทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน! 

          นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อมวลชนบางฉบับได้วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยระบุว่า รัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0 โดยหลงลืมการพัฒนาภาคเกษตรกรรมนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล พร้อมๆ กับเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยสิ่งที่คนไทยจะได้รับจาก Thailand 4.0 จะมีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม

          โดยเกษตรกรในยุค 4.0 จะเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการบริหารจัดการดีขึ้น ต้นทุนการผลิตต่ำ และเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรจากการแปรรูปได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางการพัฒนาให้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหารแห่งเกษตร และการสร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล

          โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวย้ำด้วยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง Thailand  4.0 ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเห็นได้จากการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร คือ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาต่อยอดและพัฒนาในการสร้างมูลค่าเกษตรมาต่อยอดและพัฒนาในการสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงงบประมาณด้านการเกษตรในปี 2560 และปี 2561 แล้วจะพบว่าในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณจำนวน 94,417 ล้านบาท ในปี 2561 ได้รับงบประมาณในเบื้องต้นจำนวน 102,559 ล้านบาท

          “เห็นได้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก และในอนาคตก็ยังยังให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรด้วยเช่นกัน เพื่อเป็น “สังคมที่เดินหน้าไปด้วยกันไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

“ฝรั่งเศส” หนุนไทยแลนด์ 4.0 บุก “พลังงานทดแทน-คมนาคม”

แม้ว่า “ฝรั่งเศส” ไม่ใช่นักลงทุนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เหมือนอย่างญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีบริษัทฝรั่งเศสลงทุนในประเทศไทยกว่า 350 บริษัท แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมาย

สำคัญที่ประเทศไทยพยายาม ดึงดูดเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” เพราะฝรั่งเศสมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมต่าง ๆ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่า ด้วยเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-ฝรั่งเศส และการประชุม France-Thailand Business Forum

โดย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส กล่าวว่า การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรุงปารีสที่ผ่านมา และชักชวนให้นักลงทุนฝรั่งเศสมาลงทุนในไทย พร้อมนำเสนอโครงการมากมายที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่ โดยเฉพาะ 4 สาขาสำคัญได้แก่ 1.ภาคเกษตร 2.การคมนาคมขนส่ง 3.พลังงานทดแทน และ 4.สมาร์ทซิตี้ และการร่วมในโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” (EEC)

ปัจจุบันประเทศไทยยังติด Top 5 ของการเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศในภูมิภาค เอเชีย จากที่มีจุดยุทธศาสตร์ของการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก โดยเฉพาะกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMV ประกอบกับรัฐบาลไทยมีแผนการพัฒนาประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ทำให้นักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา

นายฟรองซัวร์ กอร์บัง ประธานสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ภายใต้สภาองค์กรนายจ้างแห่งฝรั่งเศส (MEDEF International) กล่าวว่า บริษัทฝรั่งเศส มีความรู้และความเชี่ยวชาญในระดับชั้นนำของโลก การแลกเปลี่ยนความรู้กันจึงมีความสำคัญมากสำหรับก้าวแรกของทั้งสองประเทศ ในการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่าประเทศไทยต้องการอะไร และฝรั่งเศสสามารถช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านไหนได้

 “เรามีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศในทุกภาค ส่วน ที่ผ่านมาฝรั่งเศสมีความสนใจที่จะมาลงทุนในไทยแต่ติดปัญหาเสถียรภาพทางการ เมือง แต่ปัจจุบันการเมืองของไทยเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและพร้อมกลับมาลงทุน ยิ่งตอนนี้มีแอร์บัสที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่อู่ตะเภาแล้วเราเชื่อว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของฝรั่งเศสจะเป็น หนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายได้

นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังสนใจการลงทุนพัฒนาโมโนเรล เพื่อต่อยอดโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเจรจาระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในตอนนี้”

นอกจากนี้ นายกอร์บังยังกล่าวถึงภาค “พลังงานทดแทน” ที่ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญ และเชื่อว่าในอนาคตหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยน วิธีการผลิตไฟฟ้า

มาสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยในครั้งนี้มีบริษัทของฝรั่งเศสที่สนใจและเข้าร่วมเกือบ 30 บริษัท ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานทดแทนและด้านนวัตกรรม

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ย้ำว่า การเพิ่มโอกาสลงทุนของภาคเอกชนฝรั่งเศส เท่ากับเป็นการสร้างงานให้กับประเทศไทยด้วย ฝรั่งเศสถือว่าเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และฝรั่งเศสยังเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 27 ของไทย และอันดับ 5 ในกลุ่มอียู ดังนั้น การลงนาม MOU ครั้งนี้จะย้ำศักยภาพทั้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นด้านธุรกิจและการค้า

“แม้ การเอ็มโอยูครั้งนี้จะไม่มีเปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายตายตัว แต่การเติบโตและความถี่ในการพบปะกันของภาคเอกชนทั้งสองประเทศ ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรก และเดือนพฤศจิกายนนี้ รองนายกฯสมคิดก็มีแผนจะเดินทางไปปารีสอีกครั้ง เพื่อยกระดับการพูดคุยกับภาครัฐและเตรียมขั้นตอนการทำบิสซิเนส แมตชิ่ง ต่อไป”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

เดินหน้านโยบายพลังงานฐานนวัตกรรม “Energy 4.0”

 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เดินหน้านโยบายพลังงานฐานนวัตกรรม “Energy 4.0” ยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงาน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ผสานกับการใช้พลังงานสะอาดเปิดตัวคลิปวิดีโอประชาสัมพันธ์เรื่อง “Energy 4.0” ดึงมาสคอต ‘ฮีโร่พลังคิด’ มาเป็นตัวเอกเดินเรื่องด้วยข้อมูลที่ย่อยง่ายเพื่อสร้างการเข้าใจถึงทิศทางพลังงานยุคใหม่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคุณค่า (Value-Based Economy) ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีแผนขับเคลื่อนด้านพลังงานของประเทศด้วยแนวนโยบาย “Energy 4.0” เพื่อให้สอดรับนโยบายของรัฐบาล โดยการพัฒนาพลังงานฐานนวัตกรรมจะยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดสอดรับกับกระแสเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในการนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อทุกภาคส่วนเกี่ยวกับ Energy 4.0 สนพ.ได้จัดทำคลิปวิดีโอเรื่อง “Energy 4.0” เพื่อเผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบแอนิเมชันให้เกิด

 ความน่าสนใจชวนติดตามชม พร้อมสรุปเนื้อหาให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลแบบง่ายๆ

Energy 4.0 เป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาการใช้พลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ผสมผสานการใช้พลังงานสะอาด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกัน

ปัจจุบันมีโครงการที่กำลังดำเนินการภายใต้นโยบาย Energy 4.0 ที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดพลังงานฐานนวัตกรรมใหม่ๆ ประกอบด้วย 4 โครงการหลัก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ซึ่งเป็นทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีรถ EV 1.2 ล้านคัน และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) 690 สถานี โดยตั้งเป้าหมายในปี 2560 จะสนับสนุนการติดตั้ง

สถานีอัดประจุไฟฟ้า 150 สถานี รวมถึงโครงการสนับสนุนเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กเก่าเป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่ง สนพ. โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนงบประมาณปรับเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 20,000 คัน เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

 ภายใน 5 ปี โดย 2 ปีแรกนำร่องจำนวน 100 คัน

 ในด้านเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) ในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพ โดยกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ให้ทุนวิจัยด้านนี้

 เป็นงบประมาณ 765 ล้านบาท มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนรอบแรก 32 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำกรอบวิจัยเพื่อเปิดรับข้อเสนอระยะที่ 2 ต่อไป

 นอกจากนี้ยังมี โครงการ SPP Hybrid Firm เปิดให้มีการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 ประเภททั้งพลังงานจากธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม กับพลังงานชีวภาพ เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เพื่อลดความผันผวนของพลังงานทดแทน สร้างความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้า และยังลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยไม่จำเป็น มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าทั่วประเทศ 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 10 – 50 เมกะวัตต์

ทั้งนี้รวมถึง โครงการกลุ่ม Smart ประกอบด้วย โครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) เป็นการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ อยู่ระหว่างการทำโครงการนำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เป้าหมาย คือ ส่งเสริมให้มีการออกแบบเมืองอัจฉริยะ เพื่อสร้างต้นแบบเมืองที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันได้คัดเลือกแผนงาน

โครงการสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 7 แห่งเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1. นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 2. มช (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด 3. เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ 4. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต : ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 5. วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน 6. ขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง 7. เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง โดยขั้นตอนต่อไปผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดทำโมเดลธุรกิจ (Business Model) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมต่อไปได้• ดึง “ฮีโร่พลังคิด”พระเอกหนังแอนิเมชัน

สำหรับคลิปวิดีโอ “Energy 4.0” ได้นำ “ฮีโร่พลังคิด” ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ของ สนพ. มาเป็นตัวเอกเดินเรื่องโดยจัดทำในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชันความยาวประมาณ 3 นาที เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับทิศทางด้านพลังงานของไทยในอนาคตว่าจะมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนโฉมไปอย่างไรบ้างในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้การถ่ายทำแบบ Stop Motion คือการสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยการฉายภาพนิ่งหลายๆ ภาพต่อเนื่องกันด้วยความเร็วสูง ซึ่งคลิป Energy 4.0 ใช้เทคนิคปั้นดินน้ำมัน โดยขยับรูปร่างท่าทางของส่วนประกอบต่างๆ ทีละนิดๆ แล้วใช้กล้องถ่ายไว้ทีละเฟรมๆ พร้อมนำภาพที่ได้ทั้งหมดมาตัดต่อลงในโปรแกรมตัดต่อภาพ และวิดีโอ

ซึ่งจุดเด่นของเทคนิคนี้ทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันมีความน่าสนใจ และน่าติดตามชม ซึ่งปัจจุบันช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่มีความสำคัญ ไลฟ์สไตล์ ของประชาชนผูกติดกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก

 การประชาสัมพันธ์ผ่านคลิปวิดีโอจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการสื่อสารที่เข้าถึง

“Create The Future Energy” สร้างสรรค์ ก้าวที่มั่นคง เพื่อพลังงานไทยยั่งยืน

**ติดตามคลิป Energy 4.0 ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ EPPO Thailand : https://goo.gl/1fMk89

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ตั้งงบผันนํ้ากัมพูชา กรมชลฯขอ 100 ล.ศึกษาแนววางท่อลงอ่าง

กรมชลประทานเดินหน้าเร่งจัดหานํ้าป้อนให้อีอีซีตั้งงบศึกษาและออกแบบแนวก่อสร้างท่อกว่า100ล้านบาทผันนํ้าจากชายแดนกัมพูชาลงอ่างเก็บนํ้าประแสร์

 การเตรียมระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างการจัดหาแหล่งนํ้าถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าจะมีเพียงพอสำหรับในอนาคตได้ ซึ่งภาครัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและเตรียมที่จะจัดหาแหล่งนํ้ามาป้อนในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีแล้ว

 ล่าสุดในการประชุมคณะทำงานของอีอีซี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้าในส่วนของกรมชลประทานว่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณราวกว่า 100 ล้านบาท เพื่อขอนำไปศึกษาความเป็นไปได้ที่จะผันนํ้าผ่านระบบท่อจากเขื่อนสตึงมนัม ที่อยู่ชายแดนของกัมพูชาเข้ามายังเขื่อนประแสร์ จังหวัดชลบุรี ในปริมาณปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทานเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างตั้งงบประมาณปี 2561 วงเงินกว่า 100 ล้านบาท เพื่อนำมาศึกษาและออกแบบ โครงการวางท่อส่งนํ้าจากเขื่อนสตึงนัม ที่อยู่ชายแดนของประเทศกัมพูชา ติดกับจังหวัดตราดของไทย หากงบประมาณอนุมัติแล้ว จะเริ่มศึกษาตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปโดยใช้ระยะเวลาศึกษาเพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่เกิน 1 ปี

 ทั้งนี้ โครงการวางท่อส่งนํ้าดังกล่าวคาดว่าต้องใช้งบประมาณดำเนินงานสูงถึง 5.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากต้องซื้อระบบท่อและวางท่อขนาดใหญ่ มีระยะทางยาวกว่า 100 กิโลเมตร จากเขื่อนสตึงมนัม ผ่านจังหวัดตราดเชื่อมระบบท่อที่จังหวัดจันทบุรี และส่งไปยังฃอ่างเก็บนํ้าประแสร์ จังหวัดระยอง และนอกจากระบบท่อแล้วต้องจัดซื้อที่ดินบางส่วนเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์จากการวางแนวท่อและการก่อสร้างสถานีสูบนํ้า และเครื่องปั๊มนํ้าส่วนจะใช้พื้นที่มากน้อยแค่ไหนและจะผ่านจุดใดบ้างต้องศึกษาร่วมกับกรมทรัพยากรนํ้า

 รองอธิบดีกล่าวต่อว่า เมื่อศึกษาแล้วเสร็จ ในขั้นตอนต่อไป จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ หรืออาจจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ที่รัฐบาลต้องการให้ผลการทำอีไอเอออกมาโดยเร็วที่จะมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาสิ่งแวดล้อมพิเศษ เข้ามาพิจารณาโดยตรงและหากโครงการผ่านอีไอเอแล้ว จากนั้นสามารถเสนอของบก่อสร้าง ซึ่งแหล่งเงินจะมาจากไหน จะต้องพิจารณาอีกครั้งเช่นอาจใช้รูปแบบเอกชนร่วมลงทุนหรือพีพีพี หรือใช้งบประมาณของรัฐบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ การก่อสร้างจะใช้เวลา 2 ปี สอดรับกับการก่อสร้างโรงฟ้าไฟพลังนํ้าสตึงมนัม ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จะไปลงทุนก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ขณะที่กรมชลจะได้นํ้าฟรีเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อป้อนนํ้าให้กับอีอีซี

 สำหรับโครงการผันนํ้าดังกล่าว เป็นแผนรองรับปัญหานํ้าขาดแคลนในพื้นที่อีอีซีระยะที่ 2 ในอีก 8-10 ปีข้างหน้าที่จะต้องดึงนํ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ แต่ระยะแรกจะเป็นแผนพัฒนาหาแหล่งนํ้าภายในประเทศก่อน อาทิการขยายความจุของอ่างเก็บนํ้าจำนวน 6 แห่ง เพื่อให้สามารถเก็บปริมาณนํ้าเพิ่มได้อีก 84 ล้านลูกบาศก์เมตรการก่อสร้างอ่างเก็บนํ้าใหม่เพิ่ม4แห่งที่จังหวัดจันทบุรี เพิ่มนํ้าได้308ล้านลูกบาศก์เมตร การสูบนํ้าที่ไหลออกนอกเขื่อนและแหล่งนํ้าสาธารณะกลับมาใช้อีก 15 ล้านลูกบาศก์เมตรร่วมมือกับการนิคมแห่งประเทศไทย(กนอ.)จัดหาแหล่งนํ้าเองตลอดจนการกลั่นนํ้าทะเลเป็นนํ้าจืด เป็นต้น

 นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าสตึงมนัมร่วมกับบริษัท Steung Meteuk Hydropower หรือ SMH ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว

 ขณะนี้รอเพียงความชัดเจนจากรัฐบาลกัมพูชาว่าจะอนุมัติแนวทางการลงทุนรูปแบบใดที่จะเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ และหลังจากนั้นน่าจะลงนามเอ็มโอยูศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 ปี

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

เตือนเกษตรกรที่ปลูกอ้อย พบโรคใบขาวอ้อยระบาดเหนือ-อีสาน

                นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูอ้อยพบการระบาดโรคใบขาวอ้อย ในเขตภาคเหนือตอนล่าง  ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดพิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี สกลนคร และจังหวัดขอนแก่น ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ หากเกษตรกรตรวจพบการระบาดให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อรีบกำจัดอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การระบาดแพร่ขยายเป็นวงกว้างและทำให้ผลผลิตของเกษตรกรลดลง 30-40 เปอร์เซ็นต์ และในปีถัดไปอาจจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้  ทำให้เกษตรกรไม่สามารถไว้ตอหรือเก็บท่อนพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ต่อได้

                   โรคใบขาวอ้อยสาเหตุเกิดมาจาก เชื้อไฟโตพลาสมา ลักษณะอาการใบขาวนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับอ้อยทุกระยะการเจริญเติบโต อ้อยที่เป็นโรคจะแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มงอกไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยอาการจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในระยะกล้าอ้อยจะแตกกอฝอยมีหน่อเล็กๆ ที่มีใบสีขาวจำนวนมาก คล้ายกอหญ้า หน่อไม่เจริญเป็นลำ หากอาการโรครุนแรงอ้อยจะแห้งตายทั้งกอในที่สุด หากหน่ออ้อยในกอเจริญเป็นลำได้ ลำอ้อยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ อาจมีใบขาวที่ปลายยอด หรือมีหน่อขาวเล็กๆ งอกจากตาข้างของลำ บางครั้งอาการของโรคจะมีลักษณะแฝง พบเสมอในอ้อยที่ปลูกปีแรก

                โดยอ้อยที่เป็นโรคจะเจริญเติบโตเป็นลำ มีใบสีเขียวคล้ายอ้อยปกติ มีเพียงหน่อขาวเล็กๆ ที่โคนกอ แต่อาการโรคจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในอ้อยตอในระยะเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อนำอ้อยที่มีอาการแฝงคล้ายอ้อยปกติดังกล่าวไปปลูกต่อก็จะทำให้โรคระบาดต่อไปได้ อย่างกว้างขวางแปลงอ้อยที่ปลูกในช่วงหน้าฝนจะพบอาการโรคระบาดรุนแรง เนื่องจากจะพบแมลงพาหะมากในฤดูฝน

              ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน และพบน้อยในฤดูแล้ง ระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งการแพร่ระบาด ติดไปกับท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อแฝงเป็นสาเหตุหลักและ เพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลเป็นแมลงพาหะ 2ชนิด คือ  Matsumuratettix hiroglyphicus ,Cicadulina bipunctella

          อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า  สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดโรคใบขาวอ้อย ขอให้เกษตรกรผู้ปลุกอ้อย ดำเนินการดังนี้ 1) เตรียมแปลงพันธุ์ที่จะมาขยายปลูกโดยใช้พันธุ์ที่ทนทานและแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อน  50 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง หรือ 52 องศาเซลเซียส นานครึ่งชั่วโมงก่อนปลูก  2) ปลูกอ้อยข้ามแล้งเพื่อหลีกเลี่ยงแมลงพาหะซึ่งมีมากในฤดูฝน โดยปลูกในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคมในภาคตะวันตก

             3)  ในกรณีพบการระบาดมากให้ไถทิ้งทั้งแปลง แล้วปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียน ก่อนปลูกอ้อยรอบใหม่ เพื่อตัดวงจรของโรคและแมลงพาหะ เนื่องจากขณะนี้   ยังไม่มีอ้อยพันธุ์ต้านทาน  4)  ขุดทำลายกออ้อยที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วนำไปเผาทำลายทิ้ง  หรืออาจใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นต้นที่เป็นโรค 5) กำจัดวัชพืชรอบ ๆ แปลง ไปพร้อมกับการทำลายกอเป็นโรค เพื่อทำลายแหล่งอาศัยของแมลงพาหะนำโรค 6) ให้ความร่วมมือกันกำจัดโรคใบขาวอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต และตลอดไปจนกว่าโรคใบขาวจะหมดไป

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ซินเจนทา ร้องรัฐทบทวนแบนยาฆ่าหญ้า หวั่นกระทบเกษตรกร1.5 ล้านราย หลังสาธารณสุขเสนอ

นายธนัษ อภิเวศ ผู้อำนวยการ บริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯอยู่ระหว่างการทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ทบทวนนโยบาย ระงับการนำเข้า จำหน่ายและจะไม่อนุญาตให้ต่ออายุการขึ้นทะเบียนของสารอารักขาพืชหรือ ยาฆ่าหญ้าพาราควอต ภายใต้ชื่อกรัมม็อกโซน ตามที่ กระทรวงสาธารณสุขเสนอโดยให้เหตุผลว่า สารพาราควอต มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้

ทั้งนี้ จากการสอบถามเกษตรกรในขณะนี้รู้สึกกังวล เพราะหากมีการถอดถอนสารพาราควอต และต้องหันไปใช้สารชนิดอื่นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยพาราควอตนิยมใช้กันมาก ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านคน ในการปลูกพืชไร่ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย บริษัทฯยืนยันว่าข้ออ้างดังกล่าวยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน องค์การอนามัยโลก(ดับเบิ้ลยูเอชโอ) ยังไม่รับรองในผลวิจัยนี้ และจัดให้อยู่ในกลุ่มสารที่ไม่อันตรายสูง ขณะที่สำนักงานปกป้องแห่งสหรัฐฯ(อีพีเอ)ก็ยอมรับ โดยพาราควอตเป็นสินค้าที่เกษตรกรนิยมใช้มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี

” หากมีการระงับนำเข้าพาราควอต จะทำให้เกษตรกรกว่า 1.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบต้นทุนในการจำกัดวัชพืชจะเพิ่มขึ้น 5-7 เท่า ซึ่งผลกระทบจะไม่เพียงเกษตรกร แม้แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็ยังได้รับผลกระทบ เพราะใช้กรัมม็อกโซน หรือ พาราควอตในการฉีดฆ่าหญ้าตามรางรถไฟ เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้ปกติ ไม่เกิดปัญหาหญ้าปกคลุมรางรถไฟ รวมถึงกรมชลประทาน ก็ยังใช้สารดังกล่าวในการกำจัดศัตรูพืชตามคันคลอง”

นายธนัษ กล่าวว่า บริษัทฯทำธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 50 ปี ในแต่ละปีจะมีการลงพื้นที่เพื่อพบปะกับเกษตรกร เพื่อสำรวจผลของการสินค้าของบริษัท พบว่า ขณะนี้ เกษตรกรไม่มีปัญหากับการใช้สารพาราควอต เพราะพาราควอตเป็นย่าฆ่าหญ้าชนิดออกฤทธิ์ เห็นผลเร็วและปลอดภัย ภายหลังฉีดหญ้าจะตายทันที เมื่อสารพาราควอตตกถึงพื้น จะสิ้นฤทธิ์จึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในดิน อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าสารเคมีอื่นประมาณ 6-7 เท่า และ เมื่อเทียบกับสารชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์ช้า ภายหลังใช้แล้วเกษตรกรไม่สามารถลงมือเพาะปลูกได้ทันที

สำหรับบริษัท ปี 2560 ตั้งเป้ารายได้ 5,500 ล้านบาท เติบโต 10% โดยรายได้หลัก 20% หรือ 1,000 ล้านบาทของรายได้รวมบริษัทฯ มาจากสารพาราคอต ซึ่ง นิยมใช้กันมากในการปลูกพืชไร่ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย โดยกลุ่มอารักขาพืชของซินเจนทา มีสัดส่วนการตลาดในไทยกว่า 70 % เป็นอันดับ 1 ขณะส่งออกบ้าง เช่น บังคลาเทศ ส่วนธุรกิจเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ 80 % เป็นเมล็ดข้าวโพด ถือเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มอุตสาหกรมธุรกิจเมล็ดพันธุ์ พาราควอตเป็นสินค้าที่เกษตรกรนิยมใช้ยาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบันยังใช้ในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (อียู) อเมริกาใต้ บราซิล ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซียและบังคลาเทศ

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

ลุ้นปฏิรูปพลังงานเปิดเสรีSPP-VSPPผลิต-ขายไฟฟ้า

ชงปฎิรูประบบไฟฟ้า สปท.เสนอเปิดเสรีการผลิต-ขายกระแสไฟฟ้ากิจการSPP-VSPPที่ผลิตจากพลังงานทดแทน

 การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.)วันอังคารที่ 11 กรกฎาคมนี้ มีวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านพลังงาน สปท. เรื่อง การส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน” โดยมีข้อเสนอให้กิจการผลิตและขายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนขนาดเล็ก(SPP)และขนาดเล็กมาก(VSPP) ได้เสรีภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

ทั้งนี้ กิจการไฟฟ้าไทยปัจจุบันเป็นระบบ“ผู้ซื้อรายเดียว” (Enhanced Single Buyer)  คือ กลุ่มรัฐวิสากิจ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ต่อจากนั้นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้บริโภครายใหญ่ ผู้บริโภครายย่อย และประชาชน โดยเอกชนไม่สามารถซื้อขายไฟฟ้ากันเองหรือขายตรงให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้

 ที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีราคาสูง  รัฐบาลได้มีมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยราคาพิเศษ และนำค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนทั่วไป(ค่า Ft) มาชดเชยจ่ายให้กับไฟฟ้าพลังงานทดแทน ดังนั้น จึงต้องมีการจำกัดปริมาณไฟฟ้าที่จะส่งเสริมและรับซื้อในแต่ละงวด หรือในแต่ละครั้ง ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าพลังงานทดแทนถูกจำกัดและเติบโตได้ยาก ในทางปฏิบัติจะต้องมีการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับสิทธิในการขายไฟฟ้าในราคาพิเศษ เช่น การจับสลาก การประมูล หรือการสมัครก่อนได้ก่อน เป็นต้น รวมทั้งระบบการบริหารจัดการแหล่งพลังงานทดแทน แหล่งทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่จำนวนมากในชุมชนต่าง ๆ ยังไม่คุ้มค่า

 คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สปท. มีข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน คือ  ให้กำหนดรูปแบบต่าง ๆ ของกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทน โดยรูปแบบของกิจการ ผลิตและขายไฟฟ้าเสรีที่ผลิตจากพลังงานทดแทนที่มีขนาดเล็ก (SPP ขนาด ๑๐ – ๑๐๐ เมกะวัตต์) และขนาดเล็กมาก (VSPP ขนาดไม่เกิน ๑๐ เมกะวัตต์) ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเสรี โดยมีเงื่อนไขให้สอดคล้องตามข้อกำหนดทางเทคนิค ที่กฟน. กฟภ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนด ได้แก่

1.กิจการVSPP ขายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย (กลุ่ม ๑)  2. กิจการVSPP ขายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย (กลุ่ม ๒) 3.กิจการ SPP ขายไฟฟ้าให้ ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนิคมอุตสาหกรรม 4.กิจการVSPP ขายไฟฟ้าให้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนิคมอุตสาหกรรม 5.ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยผลิตและขายไฟฟ้าให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยด้วยกันเอง เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์รูฟ 6.กิจการVSPP ขายไฟฟ้าให้แก่กฟน. 7.กิจการVSPP ขายไฟฟ้าให้แก่กฟภ.

โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออก “ระเบียบว่าด้วยการส่งเสริมกิจการไฟฟ้าเสรีที่ใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชน” โดยมีแนวทางดังนี้ กำหนดประเภทของแหล่งพลังงานทดแทน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและขนาดกำลังไฟฟ้าสูงสุดที่เข้าโครงการ กำหนดรูปแบบวิธิการจัดส่งไฟฟ้า ซึ่งอาจใช้โครงข้ายของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย หรือใช้โครงข่ายที่ภาคเอกชนสร้างขึ้นใหม่ เร่งรัดให้มีการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อ การใช้บริการ และการปฏิบัติการระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยเร็ว รวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการ ในการใช้หรือการเชื่อมต่อที่เหมาะสมและเป็นธรรม

 ในกรณีที่จะต้องก่อสร้างระบบจำหน่ายในเขตระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ที่ใช้เขตทางของทางหลวง ทางหลวงชนบท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ให้เสนอแนะรูปแบบวิธีการที่จะสามารถใช้โครงข่ายดังกล่าวได้ กำหนดรูปแบบมาตรฐานของโครงข่ายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของการไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงของโครงข่ายไฟฟ้า ส่งเสริมให้มีการเก็บสะสมพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน และนำกลับมาใช้ใหม่

 ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าในโครงการฯจะต้องไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน ลดภาระการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่เป็นภาระต่อการลงทุนของการไฟฟ้า รวมถึงกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาของการยื่นเอกสาร การสมัครเข้าโครงการ และกำหนดกลไกให้มีหน่วยงานที่จะสามารถให้คำปรึกษาในการดำเนินการ และบริหารโครงการกิจการไฟฟ้าเสรี

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 

นายกฯ มอบหมาย มท.-กษ.ปรับการทำเกษตรในพื้นที่อีอีซี

        พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ครั้งที่ 2/2560 และกล่าวช่วงต้นการประชุมว่า วันนี้มีเรื่องที่ต้องพิจารณา และขยายเวลาหลายเรื่อง ที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งการทำระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต จึงขอฝากทุกคนว่า จะต้องวางแผนควบคู่การพัฒนาของภาคอื่นด้วย ต้องเร่งสร้างการรับรู้ ว่าเรื่องนี้เป็นโครงการนำร่องในภาคตะวันออกที่ต้องให้เกิดขึ้นก่อน เพราะมีความพร้อมหลายประการ มีศักยภาพในการพัฒนาได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้ภาคอื่น ๆ ขณะที่หลายภาคก็มีความต้องการที่จะยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจให้ดีขึ้น

               นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเร่งงานด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงแผนอื่นร่วมด้วย จึงเกิดปัญหาเรื่องการสร้างการรับรู้และการสร้างความเข้าใจ จึงได้กำหนดกรอบนโยบายในการทำอีอีซี ให้คณะกรรมการที่มีอยู่ ซึ่งเป็นตัวแทนของทุกกระทรวงจัดทำแผนควบคู่กัน ในการพัฒนาด้านเกษตรกรรม และเกษตรกรในพื้นที่อีอีซี จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ปรับการทำเกษตรในพื้นที่อีอีซีไปด้วย 

จาก http://manager.co.th วันที่ 6 กรกฎาคม 2560

ไทยเตรียมเจรจา FTA อังกฤษ หลังกรอบอียูยังห่างไกล-ศรีลังกา-อิหร่านจ่อคิว

ไทยเนื้อหอมคู่ค้ารุมขอทำเอฟทีเอ ทั้งศรีลังกา อิหร่าน ขณะไทยเตรียมการเจรจาทำเอฟทีเอกับอังกฤษหลังออกจากอียู“อภิรดี” ดีเดย์เปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกีครั้งแรก 16-20 ก.ค.นี้วางกรอบเจรจาระดับรัฐมนตรี เป้าลดภาษี 0% ทันทีของสินค้า 90%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับประเทศคู่ค้าว่าขณะนี้มีความคืบหน้าในหลายประเทศที่สนใจจะทำเอฟทีเอกับไทยไม่ว่าจะเป็นศรีลังกาอิหร่าน ตุรกี และอังกฤษ เป็นต้น โดยในวันที่19-20กรกฎาคมนี้เตรียมเดินทางไปเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการหารือระดับรัฐมนตรี จากก่อนหน้านี้เอฟทีเอไทย-ตุรกี กำหนดจะประกาศเริ่มเปิดเจรจาต้นปี 2559 แต่เกิดสถานการณ์รุนแรงในตุรกีจึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไป ภายใต้เป้าหมายการลดภาษีสินค้าสัดส่วน 90% ของจำนวนสินค้าที่ทั้งสองประเทศค้าขายระหว่างกันจะลดลงเป็น 0% ทันที ณ วันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้

 ทั้งนี้ตุรกีจะเป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังยุโรปตะวันออก แอฟริกาตอนเหนือ ให้กับสินค้าไทย นอกจากนี้ตุรกียังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและให้การคุ้มครองนักลงทุนจึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในตุรกีและเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าเกษตรแปรรูป ประมง รวมทั้งสินค้าฮาลาล

 ส่วนเอฟทีเอไทย-ศรีลังกานั้นศรีลังกามีความสนใจที่จะเจรจาเอฟทีเอกับไทยความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้คาดจะแล้วเสร็จในปีนี้และหากผลการศึกษามีผลในเชิงบวก ไทยอาจจะพิจารณาเจรจาเอฟทีเอกับศรีลังกา เบื้องต้นศรีลังกาเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะตั้งอยู่ใจกลางมหาสมุทรอินเดียเป็นเส้นทางการเดินเรือที่คับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีท่าเรือสำคัญอย่างโคลัมโบ ซึ่งไทยสามารถใช้ศรีลังกาเป็นประตูการค้าสู่ตลาดใหม่อย่างแอฟริกาใต้รวมถึงตลาดในอินเดียและปากีสถานได้ นอกจากนี้ศรีลังกายังมีวัตถุดิบที่ไทยสนใจและต้องการนำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เช่น อัญมณี และประมง

ขณะเอฟทีเอไทย-อิหร่านว่ามีความคืบหน้าไปพอสมควร โดยอิหร่านเสนอตัวต้องการจะทำความตกลงเอฟทีเอกับไทยแต่ไทยจะทำเป็นกรอบเจรจาใหญ่ เพราะเดิมกระทรวงอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำกรอบการเจรจาทำ PTA ไทย-อิหร่าน ในการขอลดภาษีสินค้าบางอย่าง แต่กระทรวงพาณิชย์เห็นว่าอิหร่านเป็นตลาดที่มีโอกาสในการส่งออกดังนั้นจึงจะขยายกรอบความร่วมมือเป็นเอฟทีเอแทน ซึ่งปัจจุบันได้ส่งข้อมูลไปเสนอทางอิหร่านแล้ว และอิหร่านมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ(JTC)ไทย-อิหร่าน ครั้งที่2 ภายในปีนี้เช่นกัน

“ส่วนเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู) ยังคงชะลอการเจรจาออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ไทยมีความสนใจที่จะเจรจาเอฟทีเอกับอังกฤษหลังออกอียูซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ นอกจากนี้มีเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจา เช่น ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย(EAEU) ”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 6 กรกฎาคม 2560

กรมวิชาการเกษตร โชว์ “อ้อย” พันธุ์ใหม่สุดเจ๋ง

ปัจจุบันไทยมีการผลิตอ้อยมากกว่า 10 ล้านไร่ และเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลที่สำคัญรายหนึ่งของโลก ซึ่งต่างประเทศมีความเชื่อถือและยอมรับ

ในคุณภาพอ้อยที่เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลเพื่อการส่งออก

นายสุวิทย์  ชัยเกียรติยส อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การที่กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ประกาศรับรองพันธุ์และแนะนำส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยปลูกไปแล้วกว่า 30 พันธุ์  ช่วยเพิ่มทางเลือกพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และสร้างรายได้ให้เกษตรกรค่อนข้างมาก ขณะนี้มีพันธุ์อ่อบของกรมวิชาการเกษตรหนึ่งพันธุ์ที่ชาวไร่อ้อยนิยมปลูกอย่างแพร่หลายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ คืออ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 ซึ่งพื้นที่ปลูกได้ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่ 60-70%  ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด เนื่องจากมีศักยภาพทั้งด้านการในผลผลิตสูง ทั้งยังมีความโดดเด่นเรื่องการทนแล้ง ทำให้เป็นที่ยอมรับและเกษตรกรมีความพึ่งพอใจมาก ส่งผลให้พื้นที่ปลูกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

อ้อยพันธุ์ดังกล่าวนี้ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นได้คัดเลือกจากคู่ผสมของอ้อยโคลน85-2-362 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์เค 84-200 (พันธุ์พ่อ) โดยผสมพันธุ์และคัดเลือกครั้งแรกในปี 2537-2538 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี จากนั้นดำเนินการคัดเลือกครั้งที่ 2 และ 3 แล้วทำการเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น เปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน และผ่านการปลูกทดสอบในไร่ของเกษตรกร โดยกรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาประกาศเป็นพันธุ์รับรองเมื่อปี 2551 และเป็นพันธุ์ที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกในเขตปลูกอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสภาพดินร่วนปนทราย

“อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 มีลักษณะเด่นคือ แตกกอดี ในคลุมพื้นที่เร็ว ที่สำคัญยังให้ผลผลิตสูงโดยอ้อยปลูกให้ผลผลิตมากถึง 21.7 ตัน/ไร่ และอ้อยตอให้ผลผลิต 17.4 ตัน/ไร่ ทั้งยังมีความหวานสูงโดยอ้อยปลูกมีความหวาน 15.9 ซีซีเอส ขึ้นกับระบบการจัดการดูแล นอกจากนั้น ยังออกดอกช้าทำให้น้ำหนักและความหวานไม่ลดลงช่วงปลายฤดูหีบ และยังมีกาบใบหลวมช่วยให้เก็บเกี่ยวง่าย ขณะเดียวกันยังมีความต้านทานโรคแส้ดำ และทนแล้งด้วย หากได้รับผลกระทบจากปัยหาภัยแล้งจะฟื้นตัวได้เร็ว” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรได้ประเมินผลการใช้เทคโนโลยีการเกษตรด้านพันธุ์อ้อยและเทคโนโลยีการผลิตอ้อย โดยกลุ่มเก็บข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุดและรองลงมา จำนวน 19 จังหวัด ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 520 ราย พบว่าเกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีด้านพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะพันธุ์ขอนแก่น3 มีการใช้เฉลี่ย 64% โดยมีการใช้มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 82% รองลงมาคือ ภาคตะวันออก และเกษตรกรยังมีความพึงพอใจต่อพันธุ์ขอนแก่น3 ในเรื่องการทนแล้ง มีความงอกดี การแตกกอดี ให้ผลผลิตและความหวานสูงและไม่ออกดอก ทั้งยังไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคแมลงและสามารถไว้ตอได้ดีด้วย

“อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 ถือเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพสูงและเกษตรกรเลือกใช้มากที่สุดในขณะนี้ เพราะนอกจากจะให้ผลผลิตสูงและให้ความหวานสูงแล้ว ยังสามารถทนทานต่อสภาพแล้งได้ดีกว่าอ้อยพันธุ์อื่น ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงพันธุ์อ้อยทนแล้งเพิ่มเติม 2-3 พันธุ์ และเตรียมประกาศเป็นพันธุ์แนะนำ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ต้องการใช้พันธุ์ใหม่ไปปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และตอบสนองความต้องการของโรงงานน้ำตาลรวมถึงอุตสาหกรรมอ้อยในอนาคต” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 6 กรกฎาคม 2560

จัดยิ่งใหญ่”วันเกษตรแห่งชาติ”

เกษตรบูรณาการระดมนวัตกรรมส่งต่อถึงมือเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ จับมือม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกและชลบุรีจัดงาน”วันเกษตรแห่งชาติ ปี 2560” ระดมผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีส่งต่อถึงมือเกษตรกรหนุนต่อยอดนวัตกรรมสร้างความสำเร็จให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ

กษ: นายธีรภัทร  ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.อารมย์ ตัดตะวะศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “วันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2560” ภายใต้แนวคิด”เกษตรสิบสานปณิธานของพ่อ” ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

นายธีรภัทร  กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และจังหวัดชลบุรี จัดงาน “วันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2560” ภายใต้แนวคิด “เกษตรสืบสานปณิธานของพ่อ” ระหว่างวันที่ 8-16 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ  เสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดงาน วันที่ 8 กรกฎาคม 2560 นี้เวลา 15.00 น. รวมทั้งเป็นช่องทางให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย และกลุ่มเกษตรกร ได้มีโอกาสนำเสนอ ผลงานทั้งด้านวิชาการ องค์ความรู้  นวัตกรรม เทคโนโลยี และงานประดิษฐ์คิดค้นเกี่ยวกับการเกษตร ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งเกษตรกร นิสิต นักศึกษา และประชาชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นช่องทางให้มีการนำนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศต่อไป

นายธีรภัทร  กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 22 หน่วยงาน ที่นำเสนอองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่เกษตรกรทั้งด้านการผลิต การจัดการผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และการจัดนิทรรศการภายใต้แนวคิด “เกษตรสิบสานปณิธานของพ่อ” อาทิ นิทรรศการชุดปราชญ์ของแผ่นดิน สิบสานของพ่อ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ นิทรรศการชุดตามรอยเสด็จฯภาคตะวันออก โดยกรมชลประทาน นิทรรศการชุดศาสตร์พระราชา นำพาฝนหลวง 4.0 โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ “ศาสตร์พระราชา” เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระปรีชาญาณ พระอัจฉริยภาพที่ทรงงานกว่า 4,000 โครงการ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรของพระองค์ผ่านศาสตร์พระราชา 14 เรื่องราว โดยสามารถเลือกชมพระราชกรณียกิจต่างๆ ผ่านระบบจอสัมผัสขยาดยักษ์

ด้านผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร. อารมณ์ ตัตตะวะศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก กล่าวว่า การจัดงานวันเกษตรแห่งชาติครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งแรกในภาคตะวันออก ซึ่งตรงกับโอกาสครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ  ทั้งนี้ นอกจากจะมีการจัดนิทรรศการตามรอยพ่อ นิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การจัดแสดงโชว์”บัว” ที่เป็นหนึ่งในจุดเด่นของมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นศูนย์วิจัยสายพันธุ์บัวที่ดีที่สุดจนมีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับรางวัลมากมายทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ กิจกรรมการเสวนาทางด้านวิชาการ การจัดบูธแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมทางการเกษตรของคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา อีกทั้งยังได้จัดพื้นที่ให้เกษตรกรได้ขายของ พืชผักผลไม้ เครื่องมือทางการเกษตรรวมถึงให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้นำสินค้ามาวางจำหน่ายภายในงานอีกด้วย

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 6 กรกฎาคม 2560

"กรมชลฯ-ฝนหลวง" ผวา รื้อแผนรับฝนปลายปีน้อย

รายงานข่าวจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีปริมาณน้ำการเกษตรอยู่ในเกณฑ์เพียงพอต่อการเพาะปลูกและปริมาณน้ำเก็บกักของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนห้วยหลวง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนสถานการณ์น้ำใช้การได้ของเขื่อนลำตะคอง ยังมีปริมาณน้อยอยู่ ตลอดจนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ยังมีปริมาณเพียงพอสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงฯจึงปรับแผน การปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันมากขึ้น

โดยภาคเหนือ ยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ที่กองบิน 41 เพื่อปฏิบัติการ ฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนที่รับผิดชอบ โดยเน้นที่เขื่อนแม่งัด แม่กวง ส่วนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ที่ท่าอากาศยานตาก ยังคงให้อยู่ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยพื้นที่การเกษตรและลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล และให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ที่กองบิน 46 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำยังมีน้อย รวมทั้งเขื่อนแม่งัด แม่กวงด้วย ซึ่งภาคเหนือจะหมดฤดูฝนก่อนภาคอื่นด้วย จึงจำเป็นต้องทำฝนหลวงเพิ่มมากขึ้น

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ที่กองบิน 1 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนลำตะคองที่ยังมีน้ำเหลือน้อย ซึ่งช่วงฤดูฝนปีที่ผ่านมา กรมฝนหลวงได้เร่งทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองและเขื่อนใกล้เคียง แต่ปริมาณน้ำที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการด้านการเกษตร มีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

ภาคกลาง ได้มีการปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี ที่กองบิน 2 เนื่องจากสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง มีปริมาณเพียงพอสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่งและบางพื้นที่ มีน้ำท่วมขัง ส่วนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ที่สนามบินกองพล 9 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและลุ่มรับน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ที่อำเภอตาคลี กองบิน 4 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคกลางตอนบน ส่วนภาคใต้และภาคตะวันออกยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่นายสุรสีห์กล่าว

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้มีการปรับแผนจากที่เคยปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนป่าสักค่อนข้างมากในช่วงต้นและกลางฤดูฝนแล้วมากักเก็บน้ำในช่วงท้ายฤดูฝนเหมือนเช่นทุกปี ในปีนี้ นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนจะเกิดภาวะเอลนิโญอ่อน ๆ หรือฝนมีน้อยช่วงปลายปีนี้ กรมจะหารือกับ 10 หน่วยงานที่ดูแลน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดในประเด็นนี้มากขึ้นว่า ช่วงปลายฤดูฝนปีนี้ น้ำใน4 เขื่อนใหญ่คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ควรจะมีน้ำในเขื่อนแต่ละช่วงเท่าใดและควรปล่อยวันละเท่าใด โดยเฉพาะเขื่อนป่าสัก

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 6 กรกฎาคม 2560

‘อิสระ ว่องกุศลกิจ’ปั้นโมเดลธุรกิจสีเขียว

อิสระ ว่องกุศลกิจ ตำนานแห่งความหวาน “มิตรผล” สู่เส้นทางความมั่งคั่งธุรกิจสีเขียว

Forbes Thailand ฉบับเดือน ก.ค. 2560 พบกับ อิสระ ว่องกุศลกิจ ผู้บริหารรุ่น 2 แห่ง กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ

และอันดับ 5 ของโลก กับภารกิจปั้นต้นแบบธุรกิจสีเขียวที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ด้วยวงจรการผลิต “Zero Waste Plants” ภายใต้แนวคิด “From Waste to Value” ที่ก่อให้เกิดรายได้รวม 8.98 หมื่นล้านบาท หมื่นล้านบาท และสินทรัพย์ 1.42 แสนล้านบาท ในปี 2559 และก้าวต่อไปของกลุ่มมิตรผลที่กำลังมุ่งสู่ “Bio Economy” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มไม่รู้จบ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวการรับไม้ต่อของทายาท 2 ธุรกิจขนาดใหญ่ ได้แก่.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทคนโตของ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำกลุ่มไทยซัมมิท หนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของประเทศไทย พร้อมขับเคลื่อนองค์กรภายใต้โจทย์สำคัญนำพาธุรกิจครอบครัวสู่ระดับโลกทั้งด้านยอดขายและศักยภาพการผลิตขาย โดยมีเป้าหมายรายได้แตะ 1 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปีขณะที่สองพี่น้อง ภากร และ ภัคพล แห่งตระกูลเลี่ยวไพรัตน์กับภารกิจบริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนทิ้งและพลังงานขยะ (RDF) กำลังการผลิตมากที่สุดในอาเซียน ด้วยรายได้การจำหน่ายไฟฟ้า 4,370 ล้านบาท และสามารถรับซื้อขยะชุมชนจำนวน 3.27 แสนตัน ในปี 2559 ตามวิสัยทัศน์ขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste)

ภายในฉบับเผยรายชื่อ America’ Richest Self-made Woman บรรดาผู้หญิงแกร่งที่ประสบความสำเร็จ และพบเรื่องราวธุรกิจเพื่อสร้าง “แรงบันดาลใจของผู้ใฝ่ความสำเร็จ” จาก Forbes Thailand ฉบับเดือน ก.ค. 2560

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 6 กรกฎาคม 2560

คอลัมน์ ข่าวรอบอาณาจักร: ตรวจโรงไฟฟ้าชีวมวลหลังชาวบ้านร้อง    

          อุดรธานี-สายวันที่ 5 ก.ค. นายสมหวัง พ่วงบางโพ รอง ผวจ.อุดรธานี นำคณะเข้าตรวจสอบโรงไฟฟ้าชีวมวล บ.บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าโรงไฟฟ้าได้ส่งกลิ่นเหม็น นายกฤษชานนท์ อุทัยเลี้ยง หน.ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานีเผยว่า ตรวจสอบพบว่าการทำงานของระบบบำบัดอากาศเกิดชำรุดเสียหาย จนทำให้เกิดการส่งกลิ่นเหม็นออกไปและโรงงานได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว นายสมหมาย สมทรัพย์ ปธ.กก.บ.บัวสมหมายไบโอแมส จก. ชี้แจงว่า อุตสาหกรรมจังหวัดได้เข้าตรวจสอบพร้อมสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข ตนได้เชิญวิศวกรจากจีนมาซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าไม่มีกลิ่นเหม็นออกมาอีกเลย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 6 กรกฎาคม 2560

สภาเกษตรกรฯ จับมือก.วิทย์ และ ธกส. ขับเคลื่อนโครงการ “InnoAgri พัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

 ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovative Agriculture : InnoAgri) ในกรอบความร่วมมือ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานจากการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสู่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ” ระหว่างรศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าที่ร้อยตรี สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า การกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ว่าที่ร้อยตรี สมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติมีองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 2,447 องค์กร สมาชิกประมาณ 790,279 ราย มีหลายองค์กรฯที่มีการผลิตที่ดีและเหมาะสม แต่ก็มีหลายๆ องค์กรที่ยังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เมื่อ 3 หน่วยงานเข้ามาร่วมมือกัน เกษตรกรก็จะมีพร้อมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรมและแหล่งเงินทุน ก็จะทำให้เกษตรกรมุ่งสู่การเป็นเกษตรกร 4.0 ได้ จากที่ตั้งเป้ากันไว้ที่เกษตรกร 100,000 ราย เชื่อว่าประสบความสำเร็จแน่นอน สำหรับกิจกรรมนำร่องของโครงการ InnoAgri จะเริ่มต้นที่เทศบาลตำบลบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2560 โดยเน้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมกิจกรรม 2,500 ราย และระหว่างวันที่ 26-30 กรกฎาคม 2560 เวลา 08.30-17.00 น. ณ โรงเรียนสา ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยมีเป้าหมายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 1,500 ราย และกิจกรรมต่อไปจะนำโครงการลงสู่พื้นที่ จังหวัดอุดรธานี เป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและมะม่วง จังหวัดลำปาง เป้าหมายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดโดยนำนวัตกรรมเรื่องเตาเผาถ่านไผ่คุณภาพสูงเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพด

เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าในอนาคตจากการนำโครงการ “InnoAgri พัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เมื่อเผยแพร่สู่เกษตรกรจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจากที่มีการผลิตและการตลาดแค่เบื้องต้น พอใส่เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมเผยแพร่สู่องค์กรเกษตรกรมูลค่ามันจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกร ประชาชน หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายประชารัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่  5 กรกฎาคม 2560

ก.อุตฯย้ำรบ.ให้ความสำคัญThailand4.0

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับพัฒนา Thailand 4.0 ทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน

น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และความไม่สมดุล พร้อมกับเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยสิ่งที่คนไทยจะได้รับจาก Thailand 4.0 จะมีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม

โดยเกษตรกรในยุค 4.0 จะหลุดพ้นจากกับดักความยากจนและจะเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรสมัยใหม่(Smart Farmers) ที่มีการบริหารจัดการดีขึ้น ต้นทุนการผลิตต่ำ และเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรจากการแปรรูปได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางการพัฒนาให้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง Thailand 4.0 ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร คือ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาต่อยอดและพัฒนาในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ข้าว และข้าวโพด มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงจากความหลากหลายทางชีวภาพ  โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก  เพื่อเป็นสังคมที่เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่  5 กรกฎาคม 2560

เกษตรโชว์สุดยอดอ้อยพันธุ์ดี"ขอนแก่น3"

                  นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า   การที่กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ประกาศรับรองพันธุ์และแนะนำส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยปลูกไปแล้วกว่า 30 พันธุ์ ช่วยเพิ่มทางเลือกพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และสร้างรายได้ให้เกษตรกรค่อนข้างมาก ขณะนี้มีพันธุ์อ้อยของกรมวิชาการเกษตรหนึ่งพันธุ์ที่ชาวไร่อ้อยนิยมปลูกอย่างแพร่หลายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ คือ อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 ซึ่งพื้นที่ปลูกได้ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่ 60-70% ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด เนื่องจากมีศักยภาพทั้งด้านการให้ผลผลิตสูง ทั้งยังมีความโดดเด่นเรื่องการทนแล้ง ทำให้เป็นที่ยอมรับและเกษตรกรมีความพึงพอใจมาก ส่งผลให้พื้นที่ปลูกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

                อ้อยพันธุ์ดังกล่าวนี้ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นได้คัดเลือกจากคู่ผสมของอ้อยโคลน 85-2-352 ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์เค 84-200 (พันธุ์พ่อ)  โดยผสมพันธุ์และคัดเลือกครั้งแรกในปี 2537-2538 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี จากนั้นดำเนินการคัดเลือกครั้งที่ 2 และ 3 แล้วทำการเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น เปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน และผ่านการปลูกทดสอบในไร่ของเกษตรกร โดยกรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาประกาศเป็นพันธุ์รับรองเมื่อปี 2551  และเป็นพันธุ์ที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกในเขตปลูกอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสภาพดินร่วนปนทราย

               “อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 มีลักษณะเด่น คือ แตกกอดี ใบคลุมพื้นที่เร็ว ที่สำคัญยังให้ผลผลิตสูงโดยอ้อยปลูกให้ผลผลิตมากถึง 21.7 ตัน/ไร่ และอ้อยตอให้ผลผลิต 17.4 ตัน/ไร่ ทั้งยังมีความหวานสูงโดยอ้อยปลูกมีความหวาน 14.3 ซีซีเอส อ้อยตอมีความหวาน 15.9 ซีซีเอส ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการดูแล นอกจากนั้น ยังออกดอกช้าทำให้น้ำหนักและความหวานไม่ลดลงช่วงปลายฤดูหีบ และยังมีกาบใบหลวมช่วยให้เก็บเกี่ยวง่าย ขณะเดียวกันยังมีความต้านทานโรคแส้ดำ และทนแล้งด้วย หากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งจะฟื้นตัวได้เร็ว” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

              นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรได้ประเมินผลการใช้เทคโนโลยีการเกษตรด้านพันธุ์อ้อยและเทคโนโลยีการผลิตอ้อย โดยสุ่มเก็บข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุดและรองลงมา จำนวน 19 จังหวัด ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 520 ราย พบว่า เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีด้านพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะพันธุ์ขอนแก่น3 มีการใช้เฉลี่ย 64% โดยมีการใช้มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 82% รองลงมา คือ ภาคตะวันออก และเกษตรกรยังมีความพึงพอใจต่อพันธุ์ขอนแก่น3 ในเรื่องการทนแล้ง มีความงอกดี การแตกกอดี ให้ผลผลิตและความหวานสูงและไม่ออกดอก ทั้งยังไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงและสามารถไว้ตอได้ดีด้วย

               “อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 ถือเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพสูงและเกษตรกรเลือกใช้มากที่สุดในขณะนี้ เพราะนอกจากจะให้ผลผลิตสูงและให้ความหวานสูงแล้ว ยังสามารถทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีกว่าอ้อยพันธุ์อื่น ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงพันธุ์อ้อยทนแล้งเพิ่มเติม 2-3 พันธุ์ และเตรียมประกาศเป็นพันธุ์แนะนำ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ต้องการใช้พันธุ์ใหม่ไปปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และตอบสนองความต้องการของโรงงานน้ำตาลรวมถึงอุตสาหกรรมอ้อยในอนาคต” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 5 กรกฎาคม 2560

กองอินฟราฯ น้ำตาลบุรีรัมย์เทรดส.ค.จ่อเพิ่มเป้ารายได้ปีนี้หลังล็อกราคาล่วงหน้า

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ เดินหน้าเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โชว์ผลตอบแทน ทะลุ 6.5%  เล็งนำโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 เข้ากองทุนเพิ่ม ด้านผู้บริหารประเมินรายได้เติบโตแรงหลังล็อกราคาขายน้ำตาลล่วงหน้า รอปรับเป้าหมายหลังสรุปงบไตรมาสที่ 2

นายมนตรี  ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ากองทุนจะสามารถเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในเดือนส.ค.นี้

โดยบริษัทได้กำหนดกรอบราคาที่ 93.90 -10.40 บาทต่อหน่วยลงทุน โดยจะดำเนินการสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้นของนักลงทุนสภาบันในด้านผลตอบแทนการลงทุน หากคำนวณจากราคาจองซื้อสูงสุดนั้น จะทำให้เงินปันส่วนแบ่งกำไรรอบ 12 เดือน จะมีปริมาณการเงินปันผลที่ 6.5% และมีการคืนเงินต้นให้กับผู้ลงทุนที่ 4.7% ทำให้มีผลตอบแทนรูปแบบเงินปันผลทั้งสิ้น 11.2% โดยเงินปันผลดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผลเป็นเวลา 10 ปี

การจัดสรรหน่วยลงทุนจะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ ในอัตรา 14.484 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยลงทุน ส่วนที่เหลือนั้นจะจัดสรรให้กับนักลงทุนทั่วไป 33% นักลงทุนสถาบัน 34% และบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จะถือหุ้นในสัดส่วน 20%

ทั้งนี้ทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วยโรงไฟฟ้าของบริษัทบุรีรัมย์พลังงานจำกัด และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด BPC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กประเภทพลังงานความร้อนร่วม มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 19.8 เมกะวัตต์ มีสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ 16 เมกะวัตต์

นายอนันต์  ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์  กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะนำโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ขายเข้ากองทุนดังกล่าวในอนาคตซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 9.9 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะกำหนดเวลาขาย

ทั้งนี้ผลจากการขายโรงไฟฟ้าครั้งนี้จะทำให้บริษัทคาดว่าจะมีเงินลงทุน 3.6 พันล้านบาท ซึ่งจะใช้ลงทุนโรงงานเอทานอล กำลังการผลิต 1.5 แสนตันต่อลิตร มูลค่า 1 พันล้านบาท และโรงงานแปรรูปน้ำตาลทรายคุณภาพสูงมูลค่า 1.5 พันล้านบาท

ปริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ในปีนี้ จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 4,685.53 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทล็อกราคาน้ำตาลล่วงหน้าของฤดูกาลผลิตปี 2559-2560 ที่ 22 เซนต์ต่อปอนด์ ไปแล้วกว่า 100% ซึ่งสูงกว่าราคาเฉลี่ยปีก่อนที่ 16 เซนต์ต่อปอนด์โดยจะทบทวนเป้าหมายรายได้หลังประกาศงบไตรมาส 2 ปีนี้

จัดสรร 45.5 ล้านหน่วยให้หุ้นเดิม บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) BRR แจ้งว่า บริษัทได้กำหนดสัดส่วนจำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าที่จะเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อรักษาสิทธิ ( Pre-emptive Right) ในอัตราส่วน 17.8484 หุ้นสามัญของบริษัทต่อ 1 หน่วย ลงทุนของกองทุน (กรณีมีเศษให้ปัดทิ้ง)

ซึ่งคิดเป็นจำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนที่จะนำมาเสนอขายทั้งสิ้นไปเกิน 45.50 ล้านหน่วย หรือเท่ากับไม่เกิน 13% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนฯ ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งแรก

และเสนอขายในราคาเดียวกับการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)โดยผู้ถือหุ้นของบริษัทมีสิทธิที่จะจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนเกินกว่าสิทธิของตนตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ข้างต้นได้(Oversubscription)

โดยวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้น วันที่ 20 มิ.ย. 2560 วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น วันที่ 21 มิ.ย.2560 วันที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ (XB)16 มิ.ย.2560

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่  5 กรกฎาคม 2560

พาณิชย์หดเป้าเงินเฟ้อทั้งปี1.7%

เงินเฟ้อ มิ.ย.ลด 0.05% ติดลบเดือนที่ 2 เหตุสินค้าหมวดอาหารลงแรง ไม่มีภัยแล้ง พาณิชย์หั่นเป้าเฉลี่ยทั้งปี 0.7-1.7%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2560 เท่ากับ 100.66 เพิ่มขึ้น 0.02% เทียบเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และลดลง 0.05% เทียบเดือน มิ.ย.2559 เป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 2 ส่วนเงินเฟ้อช่วงครึ่งปี 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.67%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ลดลง 0.05% เนื่องจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง 0.70% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ผักสดลด 9.71% ผลไม้สดลด 4.87% ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลด 1.86% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำลด 0.62% ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่ม 0.32% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเพิ่ม 0.63% ค่าโดยสารสาธารณะเพิ่ม 0.15% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเพิ่ม 0.02% เป็นต้น

“กลุ่มที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ผันผวนเยอะ มาจากผักและผลไม้ เพราะปีก่อนฐานสูง จากการเกิดภัยแล้ง แต่ปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง ขณะที่สินค้ากลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่มีราคาทรงตัว” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค.ได้ประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เห็นว่าไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีเป็น 0.7-1.7% จากเดิม 1.5-2.2% เพราะสมมติฐานหลายตัวเปลี่ยนแปลงไป โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ 3-4% เท่าเดิม แต่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงมาอยู่ที่ 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิม 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิม 35.5-37.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

‘ฉัตรชัย’ ดันเกษตรกรยากจน 4.5 ล้านคน ร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 9101 รับค่าแรง 2,500

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนวงเงินงบประมาณ 22,895.63 ล้านบาท แบ่งเป็นงบสนับสนุนชุมชนเกษตร 22,752.5 ล้านบาท งบบริหารจัดการโครงการ 142.86 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณกลางปี เพื่อสนับสนุนในโครงการ 9,101 โครงการ โครงการละ 2.5 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ ก.ค.-5 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ โครงการ 9101 ที่แต่ละชุมชนเสนอ จะต้องเป็นกิจกรรมในลักษณะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้ 8 กลุ่ม โครงการ ประกอบด้วย ด้านการผลิตพืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้านการจัดการศัตรูพืช ด้านฟาร์มชุมชน ด้านการผลิตอาหาร และการแปรรูปการผลิต ด้านปศุสัตว์ (ขนาดเล็ก) ด้านประมง และด้านอื่นๆ เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น และจะต้องเป็นการจ้างแรงงาน 50% ในพื้นที่โดยชุมชนคัดเลือกและรับรองด้วยกันเอง กิจกรรมละ 400-600 คน แล้วแต่พื้นที่

ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าจ้างรายละ 2,500 บาท เป้าหมายคือกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรยากจน 4.5 ล้านคน โดยต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ดังนั้นจึงให้เร่งดำเนินการให้เห็นผลภายใน 60 วันเร็วกว่าแผนที่ดำหนดไว้ 90 วัน

ดังนั้นเมื่อครม. เห็นชอบแล้ว ต้องดำเนินการทันที โดยในวันที่ 5 ก.ค. 2560 สำนักงานเกษตรอำเภอจะจัดเวทีชุมชนและมีมติให้ใน 3 ประเด็นคือ 1. คัดเลือกและรับรองคณะการระดับชุมชน 2. มอบหมายผู้มีอำนาจเบิกจ่ายงบประมาณ และ 3. เห็นชอบโครงการและกิจกรรมชุมชน วันที่ 6 ก.ค.คณะกรรมการระดับชุมชนจะร่วมกับชุมชนจัดทำรายละเอียดโครงการส่งคณะกรรมการระดับอำเภอดำเนินการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

นายกสั่งลุยแผนฯ12 พัฒนาประเทศเพิ่มรายได้คนไทย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เรื่อง สานพลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาสู่อนาคตประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560ว่า ปัจจุบันรัฐบาลดำเนินตามโรดแมปอยู่ในขั้นที่ 2 ในการปฏิรูปประเทศ และต้องเร่งพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 หรือ แผนฯ 12 ระยะ 5 ปี ซึ่งเป็นแผนเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายในการเป็นประเทศที่พัฒนา และมีรายได้ที่เพียงพอให้หลุดพ้นจากความยากจน รวมทั้งต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกจังหวัดให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น

“ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การปฏิรูปประเทศเป็นส่วนสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการก่อนส่งต่อไปยังรัฐบาลชุดหน้า เมื่อมีอุปสรรคก็ต้องแก้ไข โดยเฉพาะกฎหมายต่างๆ ให้การจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ หรือ Ease of doing business มีอันดับดีขึ้น และการพัฒนาด้านเกษตร ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้องมีการเพิ่มมูลค่าต้องเข้มแข็งด้วยตนเอง และพัฒนาเอสเอ็มอี รวมถึงสนับสนุนด้านดิจิทัลในการติดตั้งอินเตอร์เนตให้ครบเพื่อเชื่อมโยงทั่วทั้งประเทศ และใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสศช.กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าหมายในช่วงปลายแผนฯ ฉบับที่ 12 จะทำให้รายได้ของประชากรไทยเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 8,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปีและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเติบโตตามศักยภาพที่ 5% จากปัจจุบันขยายตัวกว่า 3% ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าศักยภาพ จึงต้องการให้เศรษฐกิจไทยเร่งตัวขึ้นไปอีก และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางขณะที่การลงทุนของเอกชนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่เริ่มมีเอกชนมาก่อตั้งโรงงานเกี่ยวกับการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

การจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ทั้งด้าน ศักยภาพคนไทยเพื่ออนาคตประเทศไทย, นวัตกรรมนำสู่อนาคตประเทศไทย, เกษตรกรยุคใหม่เพื่ออนาคตประเทศไทย, โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เพื่ออนาคตประเทศไทย, ภาครัฐดิจิทัลเพื่ออนาคตประเทศไทย และการพัฒนาพื้นที่ ภาค และเมืองสู่อนาคตประเทศไทย โดยจะนำความคิดเห็นไปเป็นแนวทางในการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ในแผนฯ 12 สู่การปฏิบัติ ส่งผลให้การแปลงแผนพัฒนาฯ สู่การปฏิบัติเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง และบรรลุวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12แล้ว ระยะ 5 ปี (ปี 2560-2564) ภายใต้10 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ในการดูแลนจนตลอดช่วงชีวิต, ยุทธศาสตร์ที่ 2การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดูแลคนไร้ที่อยู่อาศัย, ยุทธศาสตร์ที่ 3การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลได้มอบหมายนโยบายให้วิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม มีเครื่องมือดูแลในพื้นที่ต่างๆ วางกรอบนโยบายให้อย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน, ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาลในสังคมไทย, ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์, ยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม,ยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ที่ 10 ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เปิดศูนย์ปฏิบัติการ‘SWOC’ เชื่อมข้อมูลบริหารน้ำครบวจร

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center) หรือ SWOC อย่างเป็นทางการ ณ อาคาร “99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู” ภายในกรมชลประทาน สามเสน เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการในการประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การติดตาม พยากรณ์สถานการณ์น้ำ และการจัดสรรน้ำ รวมทั้ง การประชาสัมพันธ์และการเฝ้าระวังเพื่อการเตือนภัยจากน้ำ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติภัยแล้งหรืออุทกภัย โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาจัดการกับข้อมูลให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือการประปานครหลวงการประปาส่วนภูมิภาคเป็นต้น มาเชื่อมโยงและจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลาง สะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำมาติดตาม วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ เป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารประเทศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ทันเหตุการณ์

นอกจากนี้ยังจะใช้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศคลังข้อมูลตาม Slogan FAST ซึ่งหมายถึง F: Fusion database รวมศูนย์ข้อมูล A: Accurate technique ถูกต้องตามหลักวิชาการ S: Speedy process กระบวนการทำงานที่รวดเร็ว T: Targeted solution บรรลุผลตรงเป้าหมาย

ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า SWOC นอกจากมีเป้าหมายเพื่อความรวดเร็วในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมั่นใจว่า ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลเรื่องน้ำที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการให้ข้อมูลพร้อมคาดหมายสถานการณ์น้ำล่วงหน้าแก่เกษตรกร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ทำการเกษตรประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาทช่วงเช้า 'อ่อนค่า' นักลงทุนรอปัจจัยใหม่

บาทช่วงเช้ากลับมาอ่อนค่าที่ "34.01 บาทต่อดอลลาร์" นักลงทุนรอปัจจัยใหม่ ตลาดการเงินสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันนี้ และจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันพุธ

 นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่ามาที่ระดับ 34.01 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้ จากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ เงินดอลลาร์ ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาด (อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนมิ.ย. ที่ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 57.8 จากระดับ 54.9 ในเดือนพ.ค.) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ก็น่าจะมีปัจจัยหนุนจากแรงซื้อคืนจากนักลงทุนก่อนรายงานบันทึกการประชุมเฟด และการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.85-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ แม้จุดสนใจของช่วงตลาดเอเชียวันนี้ น่าจะอยู่ที่ท่าทีเชิงนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย แต่คาดว่า การเคลื่อนไหวอาจจะยังเป็นกรอบแคบ ขณะที่ นักลงทุนน่าจะรอปัจจัยใหม่ๆ เนื่องจากตลาดการเงินสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันนี้ และจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันพุธ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คลอดระเบียบบริหาร‘ศพก.’ l เพิ่มประสิทธิภาพขับเคลื่อน-ดูแลเกษตรกร

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการเกษตร โดยเฉพาะด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จึงมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ขึ้นมา 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้และให้บริการด้านการเกษตรแก่ชุมชน โดยรัฐบาลได้เข้าไปสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ ด้านวิชาการ ด้านปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรเพื่อการสาธิต และการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการจัดหาแหล่งทุน

นายวุฒินัย ยุวนานนท์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำระเบียบว่าด้วยการบริหารงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจวินิจฉัยตีความเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ประกอบด้วย 4 หมวดหลักใหญ่ 24 ข้อ และ 1 แนบท้ายได้แก่

หมวด 1 บททั่วไปกล่าวถึง ศพก. ใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง 2.เป้าหมายในการดำเนินงาน 3.องค์ประกอบ และ 4.บทบาทหน้าที่, หมวด 2 คณะกรรมการ ศพก. มี 7 ประเด็นสำคัญคือ 1.ประเภทของคณะกรรมการ ศพก. 2.องค์ประกอบของคณะกรรมการศพก. แต่ละประเภท 3.ผู้มีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้ง 4.อำนาจหน้าที่ 5.วาระการดำรงตำแหน่ง 6.การพ้นจากตำแหน่ง และ 7.การประชุม ซึ่งคณะกรรมการศพก.ทุกระดับ จะอยู่ภายใต้โครงสร้างคณะกรรมการ

 บริหารงาน ศพก. มีคณะกรรมการบริหารและขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่บอร์ดบริหาร ศพก. และมีหัวหน้างานที่กำกับนโยบาย ศพก. คือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่อำนวยการและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย ศพก.

หมวด 3 การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ และหมวด 4 บทเฉพาะกาล มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ให้คณะกรรมการศพก. คณะกรรมการเครือข่ายศพก.ทุกระดับที่มีอยู่ก่อนระเบียบนี้ประกาศใช้ เป็นคณะกรรมการ ศพก. ระดับอำเภอและเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. ระดับจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร ระดับเขต และระดับประเทศ ตามระเบียบนี้ และให้มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2559 และ 2.ให้ผู้แทนคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) หรือแขวงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 คนที่ได้รับมอบหมาย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ศพก. ระดับอำเภอ หรือเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

6 กระทรวงบูรณาการเกษตร จับตา ศก.โลกครึ่งหลังปี’60-61 ฟื้น

รายงานจาก สศก.คาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปีนี้ทุกสาขาสินค้าไปในทิศทางสดใส การผลิตขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 ด้วยสภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรยังคงเป็นโจทย์ท้าทายภาครัฐว่า นอกจากจะอัดทุกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ต้องมีแผนงานอื่น ๆ รองรับความเสี่ยงของเกษตรกร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยถึงแผนงานเชิงรุกจาก นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ดังนี้

ภาพรวมทั้งปีเป็นบวกโต 3%

น.ส.จริยากล่าวว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทุกสาขาการผลิตไม่ว่าจะเป็น พืช ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ และบริการทางการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่อยากเห็นคือเกษตรกรนั้นมีศักยภาพมากขึ้น โดยปีนี้เน้น 2 เรื่องใหญ่ คือ ยกระดับองค์ความรู้การผลิตการตลาดครบวงจร และเกษตรกรได้รับโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและเงินทุนทางการเกษตรมากขึ้น ทั้งพื้นที่ที่ถูกพัฒนาอยู่ในระบบชลประทาน การจัดการฟาร์ม การรวมกลุ่ม ตามนโยบายยกกระดาษ A4 เน้นบูรณาการ 13 เรื่องเชื่อมโยง

สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ระบบแปลงใหญ่ จะเห็นได้ว่าในจำนวน 5.9 ล้านครัวเรือน ล้วนเป็นเกษตรกรรายย่อย 70% เพราะฉะนั้นการที่จะให้ทุกรายเข้าถึงแหล่งเงินทุน เกษตรกรต้องรวมกลุ่มไปขอสินเชื่อ ตามเงื่อนไขให้ไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01%

 โดย สศก.ได้ประเมินผลการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ลงในรายละเอียดว่า หากรายย่อยเข้ารับการอบรมตามศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ เรียกว่าสัมฤทธิผล เพราะขณะเดียวกันการยกระดับสหกรณ์ ไปสู่การพัฒนาสินค้า GAP ออร์แกนิก อินทรีย์ โดยในแต่ละจังหวัดจะมีทั้งรัฐและเอกชนทำ Business Matching ทำตลาดประชารัฐร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะตอนนี้มี 2,138 แปลง เกษตรกร 2.3 แสนคน พื้นที่ 3.10 ล้านไร่ ในจำนวน 40-50 ชนิดสินค้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าว ดังนั้น เกษตรแปลงใหญ่นับเป็นต้นทางยกระดับเกษตรสมัยใหม่สู่ 4.0 เพราะฉะนั้น เราจะเอาตัวช่วยกลไกทั้งหมดมาผนวกกัน “ยิ่งมีแปลงใหญ่มากเท่าไร ยิ่งเข้าใกล้ 4.0 เรียกว่าเป็น Smart Farmer” นั่นคือแนวทาง แม้บางพื้นที่อาจจะยังไม่เป็นที่สนใจนัก รัฐเองต้องมีผู้นำสู่ชุมชนเพื่อทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน เราประเมินมาตลอดว่าเกษตรกรมีรายได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง สศก.เองมีการประเมินทุกไตรมาสและสรุปทุกปี “ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรมีรายได้ที่เข้าแปลงใหญ่ได้มากกว่าไม่เข้าแปลงใหญ่ 4,900 ล้านบาท”

ครึ่งหลังปี’60-61 ศก.โลกเริ่มฟื้น

ปีนี้หากดูผลผลิตที่จะออกมามากกว่าปี’58-59 ปัจจัยบวกด้านผลผลิตแสดงว่ารายได้ต้องเพิ่มแน่นอน ครึ่งปีหลังนี้หากมองจากทิศทางเศรษฐกิจโลก 2560-2561-2562 ทิศทางเริ่มเป็นบวก เริ่มฟื้นตัว เราจะเห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ G7 G20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการสินค้าเกษตรจะเพิ่มมากขึ้นเพราะประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารก็เพิ่มตาม รวมถึงผู้บริโภคมีความต้องการด้านอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัย ออร์แกนิก เพราะคนอายุยืนขึ้น ดังจะเห็นแนวโน้มสินค้าแปรรูปเป็นบวก จากที่เคยเจอภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาปี 2008 ระยะหลังนี้จะเป็นบวกขึ้น ทั้งนี้ยังต้องจับตาความเสี่ยงนโยบายการเมือง ความมั่นคง ภัยคุกคามของบางประเทศ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันสินค้าเกษตรของไทย

ผลักดัน NSW สู่สากล

น.ส.จริยาฉายภาพให้เห็นว่า ในแง่ของการยกระดับมาตรฐานสินค้า เราได้รับการรับรองมาตรฐาน มกษ. มากขึ้น และเป็นสินค้า GAP ออร์แกนิกไทยแลนด์ ตอบสนองการบริโภค โดยเฉพาะแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ที่ตั้งเป้าพื้นที่ปลูกสินค้าอินทรีย์ 6 แสนไร่ ตอนนี้ก็ 3 แสนไร่แล้ว อย่างไรก็ดี รัฐได้มองภาพใหญ่ผนวกภาคเอกชน โดยผลักดันในเรื่องการอำนวยความสะดวก เช่น นโยบาย NSW (National Single Window) ระบบอำนวยความสะดวกการส่งออกและนำเข้า ที่ลดขั้นตอนอนุญาต อนุมัติ ขอส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตร โดยให้กรมศุลกากรเป็นแม่งานหลัก ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาระบบสากล โดยคณะกรรมการนโยบายระบบโลจิสติกส์แห่งชาติ ซึ่งชุดนี้มีคณะทำงาน NSW ศุลกากรไทยเชื่อมโยงระบบศุลกากรของโลก เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า เพราะเรามองแล้วว่าในเมื่อไทยเราอยู่ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบนี้ จากเมื่อก่อนเอกชนจะเสียเวลาไปยื่นที่ด่าน ระบบนี้จะควบรวมเป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่เดียว สำหรับกระทรวงเกษตรฯมี 5 กรม ที่อยู่ในคณะทำงานเบ็ดเสร็จ 30 กรม ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เรามองภาพทั้งหมดว่าจะทำให้เศรษฐกิจการเกษตรตรงนี้จะคล่องตัวและง่ายต่อภาคธุรกิจเพื่อลดปัญหาการส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์หรือระบบที่ล่าช้าต่างๆ เมื่อมองเห็นโอกาสเส้นทางส่งออกใหม่ ค้าชายแดน นั่นจะส่งผลดีต่อภาคเกษตรไทยด้วย

บูรณาการเชิงรุกร่วม 6 กระทรวง

ภายในแผนปี’60-61 นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับแผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตรร่วมกัน 6 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ มหาดไทย วิทยาศาสตร์ฯ สาธารณสุข และสำนักนายกรัฐมนตรี วงเงิน 9,698.07 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในสินค้าข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย สับปะรด ไม้ผล ยางพารา ปศุสัตว์ วงเงิน 4,973.96 ล้านบาท แยกเป็น การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต หรือต้นทาง วงเงิน 4,231.6416 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น การสร้างศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 7 ศูนย์ ผลิตและกระจายเมล็ดข้าว 82,100 ตัน ผลิตพันธุ์พืชคุณภาพดี 10 ชนิด ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงานเกษตร ด้านพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ดำเนินการ ตรวจมาตรฐานแปลงข้าว 5,000 แปลง ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าประมง 32,500 ฟาร์ม เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคสัตว์น้ำ 135,000 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้าปศุสัตว์ 332,880 ตัวอย่าง ตรวจประเมินสถานประกอบการปศุสัตว์ 43,350 แห่ง ตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช 109,300 ฟาร์ม รวมถึงการพัฒนากระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร หรือกลางทาง วงเงิน 246.5323 ล้านบาท เช่น มูลค่าสินค้าข้าว สนับสนุนยุ้งฉาง ลานตาก เครื่องสีข้าว พัฒนาศักยภาพด้านการประกอบธุรกิจข้าวให้เกษตรกร การพัฒนาศักยภาพกระบวนการตลาดสินค้าเกษตรหรือปลายทาง วงเงิน 495.81 ล้านบาท เช่น พัฒนาตลาดเกษตรกร สนับสนุนสหกรณ์ในการจัดตั้งตลาดกลางเกษตรกร จัดตลาดกลางสินค้าเกษตรในระดับพื้นที่ Mini อ.ต.ก. เป็นต้น

ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วงเงิน 3,266.91 ล้านบาท เช่น ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3,980 แปลง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map 418,500 ไร่ พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพัฒนาระบบเกษตรกรรม

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

'กรมชลประทาน' คงการระบายน้ำ4เขื่อนหลัก

"กรมชลประทาน" สั่งคงการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ตอนบน ส่งผลระดับน้ำลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด

 นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งค่อนข้างมาก หรือมีปริมาณน้ำท่าในลำน้ำโดยเฉลี่ยประมาณ 41% ของความจุลำน้ำ เนื่องจากยังอยู่ในภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้มีฝนตกน้อยลง ทำให้แม่น้ำสายหลักต่างๆ จึงสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก โดยในวันนี้(3 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 542 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.06 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 313 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน (3 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,890 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56% มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,198 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนนี้ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก 8 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว และเขื่อนหนองปลาไหล กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเตรียมรองรับฝนที่จะตกลงมาอีก

สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,303 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45% ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,188 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 4,607 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด กรมชลประทาน และกฟผ. ยังคงระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวมกันวันละประมาณ 30.65 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในระดับ +16.50 เมตร(รทก.) ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จ่อปรับแผนรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน สนพ.คาดเสร็จสิ้นปี’60

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงพลังงานเตรียมปรับแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว ปี 2558-2579 ที่ประกอบด้วย 5 แผน ทำให้มีความจำเป็นที่ สนพ.ต้องเตรียมทบทวนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น คาดว่าการปรับปรุงจะแล้วเสร็จสิ้นปี 2560 เพื่อใช้ในปี 2561

“เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มลดลง จึงจำเป็นต้องทบทวนเชื้อเพลิงแต่ละประเภท เพื่อไม่ให้กระทบค่าไฟประชาชน ซึ่งต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องมี FiT หรือไม่อย่างไร หรือเปลี่ยนเป็นประมูล (Bidding) ก็ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันต้องทบทวนปริมาณรับซื้อไฟฟ้าด้วย”นายประเสริฐ กล่าว

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า ภาครัฐควรยกเลิกนโยบาย FiTโดยควรเปลี่ยนเป็นการเปิดให้มีการแข่งขัน หรือ Bidding แทน เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมากโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อไม่ให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นภาระต้นทุนต่อค่าไฟฟ้ามากเกินไป

“ที่ผ่านมารัฐให้การอุดหนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนพอสมควรแล้ว และต้องยอมรับว่ามีผลต่อค่าไฟฟ้าสูงขึ้น จึงน่าจะหมดเวลาอุดหนุน เพราะเทคโนโลยีก็พัฒนา การเปิดแข่งขันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า”นายมนูญ กล่าว

นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า ภาครัฐอยู่ระหว่างปรับแผนพลังงานภาพรวม ซึ่งจำเป็นต้องปรับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การทบทวน FiT โดยเห็นว่าควรจะทบทวนในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กหรือ SPP ตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไป แต่ในส่วนของขนาดจิ๋ว หรือ VSPP ที่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ควรจะคง FiT ไว้เช่นเดิม

ทั้งนี้พลังงานจากแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์รูฟท็อปเสรี ภาครัฐควรจะดำเนินการในสิ้นปี 2560 เน้นผลิตเองใช้เอง ที่เหลือก็ขายเข้าระบบได้ ราคารับซื้อเท่าใดก็อยู่ที่ภาครัฐจะพิจารณา อาจเท่ากับราคาขายส่งก็ได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เงินบาทขยับแข็งค่า 33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทขยับแข็งค่าเล็กน้อยที่ระดับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังดอลลาร์ฯ เด้งรับ ECB-BOE ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ระดับ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดปลายสัปดาห์ก่อน ที่ 33.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางแรงกดดันของเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงมีอยู่ หลังจาก ECB และ BOE ส่งสัญญาณที่สะท้อนความเป็นไปได้ที่จะมีการทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ประกอบกับเงินบาทเองก็น่าจะได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลที่สะท้อนว่า น่าจะมีฟันด์โฟลว์เข้าตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

 สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.85-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศสัปดาห์นี้น่าจะอยู่ที่ผลการประชุม กนง. ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ประกอบด้วย ดัชนี PMI ภาคการผลิตในวันนี้ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงปลายสัปดาห์

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สมาคมชาวไร่อ้อย ออกโรงอ้อนนายกฯ ขาดแคลนแรงงานหนัก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวพ่นพิษ

เมื่อเวลา 17.30 น. วันนี้ 2 ก.ค.60 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรี รายงานสถานการณ์แรงงานต่างด้าว หลังจากรัฐบาลประกาศบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยแรงงานต่างด้าวปี 60 พบว่าทำให้แรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ทำงานในประเทศไทย พากันทยอยเดินทางกลับคืนสู่ประเทศตนเองกันทั่วประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เพื่อที่จะข้ามไปทำเอกสารให้ถูกต้องตามคำสั่งของรัฐบาล

ในส่วนแรงงานต่างด้าวทางภาคตะวันออกนั้น พบมีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทยอยกลับประเทศทางพรมแดนอรัญประเทศวันละ 200-300 คน โดยเฉพาะผ่านถนนสายสุวรรณศร หรือ 33 (กบินทร์บุรี – สระแก้ว) ซึ่งจุดสกัดด่านบ้านแก้ง สภ.เขาสิงโต อ.เมือง จ.สระแก้ว พบในวันหยุดมีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาจำนวนมากที่เดินทางกลับส่วนใหญ่ จะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ, ภาคตะวันออก, ปริมณฑล และจ.ปราจีนบุรี

โดยในส่วนจังหวัดปราจีนบุรี พบผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ที่ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวต่างได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน โดยเฉพาะทางสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพาสาขาปราจีนบุรี โดยนายเนย สุขประเสริฐ ประธานสมาคมสาขาปราจีนบุรี กรรมการและชาวไร่อ้อย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า "ทันทีที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในพื้นที่รับจ้างทำไร่อ้อย และโรงหีบ ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี ต่างพากันเดินทางกลับประเทศกันหมด ทำให้นายจ้างที่เป็นเจ้าของสวนตกอยู่ใสภาวะที่ลำบาก ไม่มีแรงงานทำงานในไร่อ้อย, สวนปาล์ม, สวนยางพารา รวมถึงไร่มันสำปะหลัง และกรรมกรทั่วไป ต้องคิดหนักในการหาแรงงานมาช่วยใส่ปุ๋ย ฉีดยาในไร่สวน"

แรงงานคนไทยเองก็หายากมาก เพราะคนหนุ่มสาวไม่ทำงานด้านนี้ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมรองรับจำนวนมาก จึงไม่นิยมใช้แรงงาน เจ้าของทำเอง คงไม่ไหวแน่นอน เพราะเกษตรกรมีที่ดินมากกว่าร้อยไร่คนหนึ่งมีที่ดินมากถึง 300 ไร่อย่างต่ำสุด แม้ว่ารัฐจะผ่อนผันให้อีก 120 วัน ไม่น่า จะมีแรงงานกลับคืนเข้ามาทำงานในไร่ในสวนได้ทัน"

"เพราะว่าการทำบอเดอร์พาส (ใบผ่านแดน) นั้น จากการสอบถามแรงงานต่างด้าว และเจ้าหน้าที่ ตม. ต่างบอกว่า ต้องใช้เงินเป็นหมื่น ถึงจะทำได้ แรงงานต่างด้าวไม่มีเงินมากถึงขนาดนั้น เอกสารตัวอื่นไม่สามารถเข้ามาทำงานในไทยได้เป็นเวลานาน" นายเนยกล่าว

และกล่าวต่อไปว่า "การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในภาคการเกษตรกรรมของชาวไร่อ้อย, สวนยางพารา, ปาล์ม และไร่มันสำปะหลัง ในพื้นที่วังท่าช้างนั้น จะใช้ระยะเวลาที่แน่นอน ไม่เกิน 3 เดือน ก็จะหมดการว่าจ้างกันแล้ว จะหาแรงงานมาทำงานอีกก็ช่วงฤดูการทำไร่ทำสวนเท่านั้น โดยในพื้นที่ ต.วังท่าช้างกับ ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมากถึง 2,500 คน มากที่สุดในตัวอำเภอกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี" นายเนยกล่าว

ด้านนายบุญเลิศ จันสวาท ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ต.วังท่าช้าง กล่าวว่า "ตนและลูกบ้านมีอาชีพทำไร่อ้อยกัน คนละ 200 ไร่ ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกัมพูชา ที่พื้นที่อยู่ใกล้เคียง อยากฝากถึงรัฐบาล รีบช่วยหาทางช่วยเหลือด้านแรงงาน ด่วนที่สุด โดยช่วงหน้าฝนนี้ ทำให้วัชพืชปกคลุมพืชไร่ อาจส่งผลให้พืชไร่ไม่งามอาจส่งผลให้โตไม่เต็มที่ เสียโอกาสด้านการขายผลผลิต เพราะแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในพื้นที่ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้นายจ้าง" นายบุญเลิศกล่าว

ขณะที่นายอำนวย เงินโสม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี กล่าวว่า "ยืนยันว่าเดือดร้อนและทุกข์ใจมาก กับเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ในพื้นที่เขาไม้แก้วนั้นเดือดร้อนทั้งพ่อค้าแม่ค้าในหมู่บ้าน ไม่มีแรงงานต่างด้าวค้าขายกับข้าวไม่ได้ ไม่มีแรงงานมาซื้อหา หรือในตลาดโรงเกลือ อ.กบินทร์บุรี พบเงียบทั้งตลาด จึงอยากฝากถึงรัฐบาล ให้เร่งรีบอนุญาตให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานได้ในเร็ววันนี้ หากชักช้าประชาชนที่มีไร่อ้อย อาจทำให้อ้อยไม่โตไม่มีน้ำหนักย่อมส่งผลให้ขายไม่ได้ราคามีแต่เสียกับเสีย"

 ด้านนายสละ ชนภัย, นายนฤดม และนายศักดิ์ชัย หวังหมู่กลาง เกษตรกรไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลังต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "อยากวิงวอนขอให้นายกรัฐมนตรีเห็นใจเกษตรกรตาดำๆ เร่งหาทางให้ใหม่ เพราะต้องการแรงงานมาทำงานในไร่สวน ด่วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่รู้ว่าเสียงของประชาชนคนธรรมดาจะดังถึงหูผู้นำประเทศหรือไม่"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม มีสิ่งที่ผู้ประกอบการ, นายจ้าง ที่ว่าจ้างปรงงานต่างด้าวไม่กล้าเปิดเผยคือ หากที่ใดที่มีการว่าจ้างต่างด้าว โดยเฉพาะผิดกฎหมาย มักมีผู้อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปทำการ ข่มขู่รีดไถ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจ่ายในรูปแบบรายเดือน หรือรายบุคคลที่ทางรัฐบาลต้องรีบสะสาง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯ เตรียมชงครม.นุนงบกลาง 2.2 หมื่นล้านพัฒนาอาชีพเกษตรกร

            วันที่ 2 ก.ค.60  พลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การเตรียมพร้อมการดำเนินงาน "โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน" และมอบนโยบายการขับเคลื่อนแนวทางในโครงการดังกล่าวแก่ประธาน ศพก. ทั่วประเทศ 882 เกษตรอำเภอจากทั่วประเทศ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่า  การประชุมในครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ เจ้าหน้าที่ ประธานศพก. กว่า 882 คน ทั่วประเทศ

          ทั้งนี้เพื่อให้รับทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” ซึ่งความหมาย 9101 ซึ่ง 9 หมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ(ร.9), 10 หมายถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร(ร.10) และ 1 หมายถึงปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะนำเสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 ก.ค.2560 วงเงินงบประมาณ 22,000 บาท เป็นงบกลางปี เพื่อสนับสนุนในโครงการ 9,101 โครงการ โครงการละ 2.5 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ ถึง 30 กันยายนนี้

               ทั้งนี้ โครงการ 9101 ที่แต่ละชุมชนเสนอ จะต้องเป็นกิจกรรมในลักษณะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้ 8 กลุ่ม โครงการ ประกอบด้วย ด้านการผลิตพืช ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้านการจัดการศัตรูพืช ด้านฟาร์มชุมชน ด้านการผลิตอาหาร และการแปรรูปการผลิต ด้านปศุสัตว์ (ขนาดเล็ก) ด้านประมง และด้านอื่นๆ เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น และจะต้องเป็นการจ้างแรงงาน ร้อยละ 50 ในพื้นที่โดยชุมชนคัดเลือกและรับรองด้วยกันเอง     

              ด้านนายสมชาย  ชาญณรงค์กุล  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า  ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการชี้แจงเจ้าหน้าที่และ ประธานศพก. กว่า 882 คน ทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่ง หลังจาก ครม.อนุมัติ จะได้ขับเคลื่อนงานทันทีและชุมชนจะได้รับเงินไม่เกิน 15 ก.ค. 60 เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมการเกษตรตามวงเงินที่เสนอขอ ชุมชนละ 2.5 ล้าน รวมเป็นเงิน 22,725.5 ล้านบาท ดังนั้น การประชุมชี้แจงเพื่อขับเคลื่อนโครงการ  9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อ ต้องการให้ ศพก. 882 แห่ง และ ศพก.เครือข่าย ร่วมกับ Smart Farmer, Young Smart Farmer, ผู้นำชุมชน และภาคส่วนต่างๆ เป็นแกนของชุมชน 9101 ชุมชน ที่จะมีบทบาทสำคัญในการพิจารณา ผลักดัน  โครงการที่ชุมชนเสนอเข้ามาเกิดความทั่วถึง เป็นธรรม เกษตรกรที่รายได้น้อยได้รับประโยชน์โดยตรง และที่สำคัญคือ มีการใช้งบประมาณโครงการอย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เสร็จสิ้นโครงการตามเป้าหมายโครงการคือสิ้นเดือนกันยายนนี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

"บิ๊กตู่" บี้พาณิชย์แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำด่วน

นายกฯ สั่งพาณิชย์เป็นแม่งาน ระดมหัวหน่วยงานรัฐ เร่งแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยด่วน ด้านพาณิชย์ลุยเชื่อมโยงตลาดผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ รับมือผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงนี้                     

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายในที่ประชุมครม. เมื่อเร็วๆ นี้ ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน ไปพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลผลิตทางการเกษตรชนิดต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมมือกับกระทรวงพลังงานเพื่อนำปาล์มน้ำมันไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซลและส่งเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซลให้มากยิ่งขึ้น

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์  เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัด สำรวจผลผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าผลไม้ในพื้นที่ เพื่อวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล  เชื่อมโยงตลาดระหว่างจังหวัด รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้าให้มากขึ้น ในช่วงที่มีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมากนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น 

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เขื่อนอุบลรัตน์" เปิดระบายน้ำเพิ่มเป็น 15 ล้านลบ.ม. ต่อวัน ช่วยปลูกข้าวนาปี-เกษตรท้ายเขื่อน

นายวรวิทย์ รวีนิภาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายนเป็นต้นมา เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้เพิ่มการระบายน้ำจากปัจจุบัน 10 ล้าน ลบ.ม./วัน เป็น 15 ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวนาปีและการเกษตรอื่นๆ ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ในเขต จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ที่มีพื้นที่กว่า 6 แสนไร่

โดยปริมาณน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ในวันนี้มีปริมาณน้ำ 1,360 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้งาน 779 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่าง มีน้ำไหลเข้าเขื่อนในรอบสัปดาห์มากกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าหากเทียบปริมาณน้ำวันนี้กับปีที่แล้ว ณ วันเดียวกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 870 ล้าน ลบ.ม. และขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการระบายน้ำวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังไม่พอต่อการพร่องน้ำ เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้ทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น มีมติเพิ่มการระบายอีก 5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะเปิดประตูอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน หรือ สปริงเวย์ จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม

 “การเปิดสปริงเวย์จะเปิดระบายน้ำ 5 ล้าน ลูกบาศก์เมตร รวมกับการระบายผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 2 เครื่อง เครื่องละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้เขื่อนระบายน้ำวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้น การระบายน้ำจะระบาย สูงสุดไม่เกินวันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร การระบายน้ำวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทำให้ระดับน้ำใน ลำน้ำพองสูงขึ้น 1 เมตร แต่ไม่ส่งผลกระทบน้ำล้นตลิ่งแต่อย่างใด เนื่องจากลำน้ำพองด้านท้ายเขื่อนสามารถรับน้ำได้ถึง 35 ล้าน ลบ.ม./วัน” นายวรวิทย์กล่าว

ด้านนายครรชิต คงสมของ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จ.ขอนแก่น ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ในเขตพื้นที่ 8 อำเภอ 26 ตำบล 154 หมู่บ้าน 4,777 ครัวเรือน 13,705 คน เป็นพื้นที่การเกษตร 16,049.5 ไร่ ประกอบด้วยนาข้าว 11,988.75 ไร่ พืชไร่ 2,115.75 ไร่ พืชสวน 1,945 ไร่ พื้นที่การประมง 453 ไร่/บ่อ สาธารณูปโภค (ถนน 9 สาย) มูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น 3,332,309 บาท พร้อมได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว จำนวน 8 อำเภอ ได้แก่ ภูผาม่าน โนนศิลา หนองเรือ บ้านไผ่ ชุมแพ หนองนาคำ มัญจาคีรี และ อ.ซำสูง

 “คาดหมายลักษณะอากาศใน 4 วันข้างหน้า (ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค. 2560) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีกำลังอ่อนลง สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ประเทศลาวและเวียดนามตอนบนจะเคลื่อนตัวขึ้นไปปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทางจังหวัดจึงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2560 และแจ้งให้อำเภอจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ โดยดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติของบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ดังนี้ เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ให้เร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ให้พิจารณาหาพื้นที่สำหรับใช้รองรับน้ำ เพื่อดำเนินการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดอุทกภัย” นายครรชิตกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560