http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2556)

ปลัดเกษตรฯลงพื้นที่ถกแผนโซนนิ่ง ดึง'กำแพงเพชร'ต้นแบบปรับพื้นที่ปลูกข้าวสู่'อ้อย'

ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่ถกแผนเร่งโซนนิ่ง 8 จังหวัดกลุ่มอีสานตอนบน ดึงจ.กำแพงเพชรต้นแบบการปรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีสู่การปลูกอ้อยตามศักยภาพพื้นที่กว่า 3 แสนไร่

จี้หน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการเร่งส่งเสริมเกษตรกร หวังชี้ทางเลือกการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่บนพื้นฐานความสมัครใจเกษตรกร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ จ.สกลนคร เพื่อประชุมติดตามงานโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร อำนาจเจริญศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี และกำแพงเพชร เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือ การจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจหรือโซนนิ่ง ที่มีเป้าหมายเพื่อให้การผลผลิตทางการเกษตรเกิดความสอดคล้องกับการตลาด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพการของพื้นที่ทั้งประเทศถึงกว่า 20 ล้านไร่

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเข้าไปดำเนินการแนะนำให้ความรู้กับเกษตร เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก เช่น ในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้ทำโครงการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ที่ถือเป็นจังหวัดต้นแบบในการจัดทำโซนนิ่งในการปลูกอ้อย เนื่องจากมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกอ้อยถึงกว่า 3 แสนไร่ และมีปริมาณความต้องการผลผลิตอ้อยป้อนเข้าสู่โรงงานในพื้นที่อีกมาก โดยทางจังหวัดได้จัดทำแผนการเชื่อมโยงแหล่งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร มาตรการต่างๆที่จะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อเกษตรกรที่จะหันมาเปลี่ยนการเพาะปลูกตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ

นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการปรับระบบความคิดของเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในกลุ่ม 8 จังหวัดภาคอีสานตอนบนให้เกิดความรู้ความเข้าใจและทิศทางการดำเนินนโยบายโซนนิ่งที่ถูกต้อง โดยที่จะใช้โมเดลของจังหวัดกำแพงเพชรเป็นตัวอย่าง ทั้งสินค้าพืช ประมง และ ปศุสัตว์ ตามศักยภาพความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การให้ข้อมูลทางวิชาการและชี้ถึงประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรพิจารณาในการทำการเกษตรที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ซี่งกระทรวงเกษตรฯ เน้นย้ำว่านโยบายโซนนิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ แต่จะดำเนินการภายใต้ความสมัครใจของเกษตรกรเป็นสำคัญ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 30 มิถุนายน 2556

กรอ.ลุยตรวจคุณภาพน้ำ6ลุ่มน้ำ

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) นำคณะตรวจเยี่ยมโรงงานริมน้ำบางปะกง ตามโครงการอุตสาหกรรมใจภักดิ์ รักษ์แม่น้ำ บริเวณโรงงานสหวิริยาเพลทมิล จำกัด อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นประธาน มีนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อก. นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัด อก. นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรอ. นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผวจ.ฉะเชิงเทรา ร่วมคณะด้วย

การตรวจเยี่ยมโรงงานที่ตั้งริมแม่น้ำบางปะกงครั้งนี้ เริ่มต้นจากท่าเรือโรงงานสหวิริยาเพลทมิล ไปจนถึงท่าน้ำโรงไฟฟ้าบางปะกง ระหว่างทางเจ้าหน้าที่กรอ. ตรวจคุณภาพน้ำในจุดสำคัญด้วย พบบางจุดมีปริมาณออกซิเจนซึ่งละลายอยู่ในน้ำ (โอดี) ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ที่ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร นายประเสริฐจึงสั่งให้ตรวจสอบหาสาเหตุ

นายสุวัจน์กล่าวว่า ปี 2556-2557 โครงการดังกล่าวจะจัดทำใน 6 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย บางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง ลำตะคลอง และลุ่มน้ำสงขลา โดยเฉพาะแม่น้ำบางปะกงความยาว 230 ก.ม. มีโรงงานมากถึง 1,150 ราย และอยู่ติดกับแม่น้ำบางปะกงราว 20 แห่ง และเพื่อให้การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมริมแม่น้ำ มีคุณภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อก.จึงอยู่ระหว่างจัดทำกฎกระทรวง ควบคุมการอนุญาตโรงงานที่ตั้งริมน้ำ เพื่อควบคุมการปล่อยน้ำทิ้ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย คาดว่าจะได้รับความชัดเจนภายในปีนี้

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สัญญาณร้ายเศรษฐกิจไทย

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดสะท้อนชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องทั้งการใช้จ่ายในประเทศ การส่งออก การผลิตของภาคอุตสาหกรรม การลงทุน
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจเดือน พ.ค. แผ่วลงมาก จนส่งผลแนวโน้มในครึ่งปีหลังมีแต่ทรงกับทรุด สาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายในประเทศลดต่อเนื่องครัวเรือนมีหนี้เพิ่มสูง

ขณะที่ สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน พ.ค. 2556 อยู่ที่175.12 หดตัว 7.80%

กลุ่มที่มีการหดตัวลงมาก คือ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หดตัว 23.88% อาหารแปรรูปหดตัว 33.72%

นี่คือสัญญาณร้ายที่บรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายต้องตั้งการ์ดเพื่อรับมือ

เมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.ระบุว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะชะลอลงมากแค่ไหน ต้องดูต่อไปว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจนทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายจะฉุดการบริโภคในประเทศมากน้อยแค่ไหน และต้องดูด้วยว่าในสถานการณ์เช่นนี้ธนาคารพาณิชย์จะกังวลการปล่อยกู้หรือไม่เพราะปัจจุบันปัจจัยหนุนเศรษฐกิจมันชะลอลงแล้วและคงชัดเจนแล้วว่าจีดีพีปีนี้คงชะลอลง จากเดิมที่5.1% โดย ธปท.จะทบทวนจีดีพี 10 ก.ค.นี้ และประกาศเป็นทางการ 19 ก.ค.นี้

เฉพาะในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ชะลอลงตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวติดลบ 0.2% จาก1.8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนส่วนหนึ่งเพราะครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย จากภาระหนี้ที่สูงขึ้น ประกอบกับแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐก็ทยอยหมดลง ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ จากโครงการรถยนต์คันแรกที่ได้ทยอยส่งมอบแล้วเป็นส่วนใหญ่

ผลที่ตามมาทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวติดลบ 1.6% จากเดือนก่อน 3.7%

แม้แต่ปริมาณการใช้น้ำมันก็ลดลงเหลือ 3.4% จากเดือนก่อน 5.6% การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเหลือ 0.9%จากเดือนก่อนขยายตัว 12.3%

ส่วนการส่งออกมีมูลค่า 1.95 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขยายตัวติดลบ 5.1% ตามการลดลงของอุปสงค์ในต่างประเทศที่ยังเปราะบาง โดยเฉพาะจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวติดลบ 7.8% จากเดือนก่อนติดลบ 4.2%

ที่น่าสนใจคือ ผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวตาม โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวติดลบ 3.3% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ติดลบ 0.9%ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรอุปกรณ์กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก มีเพียงภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามการเข้ามาเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซียและรัสเซีย

แม้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จะยังขยายตัวดีโตได้ 12% แต่ก็ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 12.6%จากสินเชื่อครัวเรือนชะลอลงเป็นสำคัญโดยสินเชื่อครัวเรือนโต 13.3% จากเดือนก่อน 14.2% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขยายตัว10.3% จากเดือนก่อน 10.4%

ความเชื่อมั่นในระยะ3 เดือนข้างหน้า ก็ลดลงมาอยู่ที่ 54.6 จุด จาก 56.2 จุด

จะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญล้วนซวนเซแรงขับเคลื่อนที่เคยคาดว่าจะสร้างกำลังซื้อและกระตุ้นการลงทุนได้บ้าง คือการลงทุนน้ำที่เกิดขึ้นจากงบประมาณพิเศษที่รัฐบาลจะกระหน่ำลงไปในปีนี้อย่างน้อย 6 หมื่นล้านบาทเพื่อฉุดกระชากเศรษฐกิจให้วิ่งไปได้นอกเหนือจากงบประมาณปกติ แต่ถึงตอนนี้อาจไม่เป็นดังเช่นที่รัฐบาลฝัน

เลวร้ายที่สุดคือต้องเลื่อนไปเป็นปีหน้าหลังจากศาลปกครองพิพากษาให้รัฐบาลต้องทำประชาพิจารณ์ก่อนเซ็นสัญญาจ้างเอกชนในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

สิ่งเหล่านี้คือตัวซ้ำเติมกำลังซื้อภายในประเทศที่จะหดหายไปในช่วงครึ่งปีหลัง จากนโยบายภาครัฐที่หมดอายุ ภาวะเช่นนี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล ชี้แนะว่า ปีนี้การดำเนินธุรกิจมีความท้าทายและยากลำบากมากขึ้น เพราะมีปัจจัย 2 ด้านมากระทบ คือ การแข่งขันในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น และผลกระทบจากนโยบายภาครัฐในส่วนของรถคันแรก ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

ตอนนี้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยซื้อเยอะ ก็ลดปริมาณการซื้อลง หรือลดการซื้อสินค้าในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกระทบโดยตรงกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค

นอกจากนี้ ภาวะเงินบาทอ่อนค่า มีผลทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

เวลานี้จึงมีปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะกำลังซื้อลดลง ไม่มีผู้ประกอบการรายใดต้องการปรับราคาเพิ่มขึ้นเพราะปัจจุบันแม้จะ ลด แลก แจก แถม ก็แทบจะขายของไม่ได้แล้ว
ซึม ซบ ทรุด กำลังเดินทางมาเยือนไทยแล้ว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเดินทางไปสังเกตการณ์สภาพน้ำในเขื่อนภูมิพลและเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินจังหวัดตากว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่าง ๆ ณ ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในหลาย ๆ จังหวัดได้ จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับเขื่อนต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคเกษตรเป็นการเร่งด่วน

โดยหน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ประจำจังหวัดตากปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้มีน้ำอยู่ประมาณ 40-50% เท่านั้น แม้จะเพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ชลประทาน แต่หากไม่เร่งเติมน้ำเมื่อสิ้นฤดูฝน อาจจะเหลือไม่เพียงพอต่อพื้นที่การเกษตรและการบริโภคได้ จึงต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้ได้ปริมาณ 80% เพื่อให้น้ำเพียงพอในช่วงฤดูแล้งถัดไป และเพื่อไม่ประมาทก็ได้วางแผนในการบริหารจัดน้ำในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาวะน้ำท่วมตามมาภายหลังอีกด้วย

ด้านนายวราวุธ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงฯ ได้ปรับยุทธศาสตร์ใน แผนปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น โดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้งหมด 5 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นการเตรียมการรับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดขึ้นได้.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จังหวัดสุพรรณบุรี เตรียมพร้อมรับเกษตรโซนนิ่ง

จังหวัดสุพรรณบุรี เตรียมพร้อมรับเกษตรโซนนิ่ง วางแผนสนับสนุนปลูกพืชพลังงานทดแทนทำนาข้าว หวังให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายไพสิฐ เกตุสถิตย์ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวผ่านรายการขยายผลรายการนายกฯ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสุพรรณบุรี ว่า จากกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการผลิต หรือเกษตรโซนนิ่งในส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการและมีการหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกพืช ทั้งนี้ จังหวัดสุพรรณบุรี จะส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชพลังงานทดแทน เช่น อ้อย ซึ่งขณะนี้เป็นที่ต้องการของโรงงานน้ำตาลในอำเภอด่านช้าง ซึ่งผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น การเตรียมแปลง พันธุ์อ้อย และปุ๋ย

เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการผลิตไว้แล้ว 6 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการผลิตสินค้าปศุสัตว์ 5 ชนิด ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2557

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรงงานน้ำตาลห่วง"อ้อย"ด้อยคุณภาพ ส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวไร่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกำลังประสบปัญหาคุณภาพอ้อยไม่ดีเท่าที่ควร ดูได้จากค่าเฉลี่ยการผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยหลังปิดหีบฤดูการผลิตปี 2555/2556 ลดลงเหลือ 100.24 กิโลกรัม(กก.)ต่อตันอ้อย จากฤดูการผลิตปีก่อนที่ 104.63 กก.ต่อตันอ้อย หรือคิดเป็นปริมาณน้ำตาลทรายที่มีผลผลิตลดลง 4.39 กก.ต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าเฉลี่ยความหวานลดลงเหลือ 11.64 ซี.ซี.เอส.จากปีก่อนอยู่ที่ 12.04 ซี.ซี.เอส.สาเหตุคาดว่ามาจากหลายปัจจัยทั้งด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน และการจัดเก็บผลผลิตที่มีสิ่งปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า ดังนั้น ฤดูการผลิตปี 2556/2557 ทางโรงงานน้ำตาลทรายจะร่วมมือกันยกระดับคุณภาพอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล โดยโรงงานน้ำตาลทรายแต่ละแห่งจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการพัฒนาอ้อย ตั้งแต่ขั้นตอนการบำรุงตออ้อย การปรับปรุงบำรุงดิน และการจัดเตรียมหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นอ้อยที่มีคุณภาพ นอกจากนี้โรงงานจะสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูกและการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพในการหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายได้ดีขึ้นด้วย

“แนวทางความช่วยเหลือนี้มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่เป็น 12-15 ตัน จากปัจจุบันเฉลี่ย 10 ตันต่อไร่ และการจัดเก็บผลผลิตที่ต้องลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ด้วยการสนับสนุนรถตัดอ้อย ให้ผลผลิตอ้อยมีสิ่งปนเปื้อนลดลง มีค่าความหวานสูงขึ้น” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 28 มิถุนายน 2556

“หญ้าเนเปียร์” พืชพลังงานทางเลือกใหม่ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทย

เรื่องโดยกรฏา นิกูลรัมย์ , นภสร บูรณสมภพ

จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับที่ภาคใต้และเหตุการณ์ที่พม่าต้องหยุดซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซในปีนี้กล่าวได้ว่าเป็นปีที่ประชาชนไทยเริ่มหวั่นไหวกับปัญหาด้านเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าที่จะมีใช้อย่างเพียงพอในอนาคต?!กระทั่งมีข้อถกเถียงเรื่องพลังจากทดแทนเลยไปถึงการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นว่าพลังงานไฟฟ้าของไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตแม้ทางภาครัฐจะยืนยันว่าพลังงานไฟฟ้าเรามีเพียงพอก็ตาม

ด้วยเหตุนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงานมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำโครงการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าชนิดต่างในประเทศไทย เพื่อเป็นการเสาะหาพืชพลังงานอันเป็นหนทางแห่งความอยู่รอดด้านพลังงานของไทย

ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าหญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง1 มีอัตราการผลิตก๊าซมีเทนสูงกว่าหญ้าชนิดอื่น อีกทั้งยังมีผลผลิตต่อไร่สูงมากกว่าหญ้าชนิดอื่นเกือบ7เท่า

นอกจากนี้ยังเหมาะกับการปลูกทุกภูมิภาคของประเทศไทยและนำมาใช้ในการเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

ดร.ไกรลาศ เขียวทอง นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ นครราชสีมา กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานเสวนา “หญ้าเนเปียร์ พืชพลังงาน-อาหารสัตว์ ขุนทองใหม่ ของเกษตรกรไทย จริงหรือ?” ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในวันที่26 มิถุนายน ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1เหมาะจะเป็นพืชพลังงานคือการที่มีโครงสร้างสารอาหารเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดแก๊สอีกทั้งยังเป็นพืชที่ปลูกง่ายเหมาะกับทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่สำคัญลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานเป็น10ปีและแต่ละปีสามารถเก็บเกี่ยวได้6-7ครั้งโดยสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ70-80ตันต่อไร่ต่อปีเลยทีเดียว

โดย ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเสริมถึงพลังงานทดแทนว่า ตัวหญ้าเนเปียร์นั้นเราสามารถคอนโทรลต้นทุนผลผลิตและการขนส่งได้โดยแท้ที่จริงแล้วมีพืชอีกหลายชนิดที่ใช้เป็นพืชพลังงานได้แต่อาจไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจและอาหารโดยหญ้าเนเปียร์นี้สามารถนำมาผลิตพลังงานได้2รูปแบบคือการเผาโดยตรงกับการผลิตเป็นก๊าซชีวภาพด้วยการหมักซึ่งรูปแบบหลังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ขณะที่คุณสุเทพเหลี่ยมศิริเจริญผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานได้กล่าวต่อในเรื่องของนโยบายส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ว่าแต่เดิมการผลิตไบโอแก๊สได้มาจากน้ำเสียและมูลสัตว์รวมไปถึงปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลังแต่ปัจจุบันเราเริ่มมองหาจุดยืนจุดอื่นทำให้มองมาถึงพืชพลังงานโดยจะทำเป็นแผนระยะยาวซึ่งก็คือแผนการตลาดที่ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกเพราะไม่ต้องหาตลาดพลังงานและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนแล้วยังเป็นการพัฒนาประเทศไปในตัวอีกด้วยโดยที่นี้ได้มีการดำเนินการมาบ้างแล้วกับ12พื้นที่ในการปลูกพืชพลังงานซึ่งมีเป้าหมายในการใช้พื้นที่ประมาณ50,000ไร่ในระยะเวลา20ปีและมีเป้าหมายที่จะใช้ก๊าซชีวภาพนี้แทนก๊าซLPGและNGVอีกด้วยซึ่งเป็นการส่งเสริมการตลาดในเรื่องของการผลิตและส่งออกสินค้าการเกษตรให้มากขึ้นอันเป็นรายได้ของประเทศและยังลดการนำเข้าของน้ำมันสำหรับขับเคลื่อนยานยนต์อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามในการพัฒนาพลังงานทดแทนนี้จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐและเอกชนรวมทั้งนักลงทุนเพื่อทำให้พืชพลังงานหญ้าเนเปียร์กลายเป็นขุมทองสำหรับประชาชนของประเทศไทย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 28 มิถุนายน 2556

รง.น้ำตาลเร่งยกระดับคุณภาพอ้อยรับฤดูการผลิตปี56/57ส่งฝ่ายไร่ลงพื้นที่

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เร่งยกระดับคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย รับฤดูการผลิตปี 2556/57

ส่งฝ่ายไร่ลงช่วยชาวไร่อ้อยอย่างใกล้ชิดทุกพื้นที่ พร้อมปรับปรุงเครื่องจักรของโรงงาน หลังพบผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยและค่าเฉลี่ยความหวานลดลง หวั่นระยะยาวฉุดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยถอยหลัง ชาวไร่อ้อยขาดความมั่นคงทางอาชีพ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (Mr.Sirivuth Siamphakdee, President of the Thai Sugar Millers Corporation Limited’ s public relations working group) เปิดเผยว่า ปัญหาที่พบในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขณะนี้คือเรื่องของคุณภาพอ้อยซึ่งไม่ดีเท่าที่ควร ดูได้จากค่าเฉลี่ยการผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยหลังปิดหีบฤดูการผลิตปี 2555/56 ลดลงเหลือ 100.24 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากฤดูการผลิตปีก่อนที่ 104.63 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือคิดเป็นปริมาณน้ำตาลทรายที่มีผลผลิตลดลง 4.39 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่วนค่าเฉลี่ยความหวานลดลงเหลือ 11.64 ซี.ซี.เอส จากปีก่อนอยู่ที่ 12.04 ซี.ซี.เอส.

“เราพอใจที่ผลผลิตอ้อยทะลุ 100 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ ประจำฤดูการผลิตปี 2555/56 ก็ทะลุ 100 ล้านกระสอบ แต่ในเชิงคุณภาพเรายังไม่พอใจ เพราะอ้อยปริมาณ 100 ล้านตันปีนี้ ผลิตน้ำตาลทรายได้ 100.24 ล้านกระสอบ ในขณะที่ปีก่อนหีบอ้อยไม่ถึง 100 ล้านตัน คือมีเพียง 97.98 ล้านตัน แต่ได้น้ำตาลทราย 102.5 ล้านกระสอบ แสดงให้เห็นว่าในเชิงคุณภาพผลผลิตอ้อยยังน่าเป็นห่วง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน และการจัดเก็บผลผลิตที่มีสิ่งปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ดังนั้น ในฤดูการผลิตปี 2556/57 ทางโรงงานน้ำตาลทรายจะร่วมมือกันยกระดับคุณภาพอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล เพื่อผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวม อันจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพให้แก่ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ โดยโรงงานน้ำตาลทรายแต่ละแห่งจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการพัฒนาอ้อย ตั้งแต่ขั้นตอนการบำรุงตออ้อย การปรับปรุงบำรุงดิน และการจัดเตรียมหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นอ้อยที่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลทราย จะสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูกและการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพในการหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายได้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยได้

“ในฤดูการเพาะปลูกอ้อย 2556/57 ทางโรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่งจะร่วมกันยกระดับคุณภาพผลผลิตอ้อยทั่วประเทศให้มีผลผลิตอ้อยต่อตันและค่าความหวานเพิ่มขึ้น อีกทั้งพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรแต่ละโรงงาน ซึ่งในปีนี้เราต้องเร่งช่วยเหลือชาวไร่อ้อยด้านการเพาะปลูก โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่มเป็น 12-15 ตัน จากปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 10 ตันต่อไร่ และการจัดเก็บผลผลิตที่ต้องการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ด้วยการสนับสนุนรถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อย เพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ มีสิ่งปนเปื้อนลดลง มีค่าความหวานสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยและความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยให้เติบโตได้ยั่งยืน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 28 มิถุนายน 2556

เศรษฐกิจพอเพียงภาคผลิต

วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ฉบับนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมนำ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หนึ่งในแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะเขียนถึงในตอนต่อไป

คนทั่วไปมักจะมีความเข้าใจว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของภาคเกษตรกรรม เป็นเรื่องของชนบทและเป็นเรื่องไกลตัวของสังคมเมืองทำให้การประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมไม่เป็นที่แพร่หลาย

มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (มอก.9999) นี้มีวัตถุประสงค์ให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตนำไปใช้บนพื้นฐานของ 3 องค์ประกอบ กับ 2 เงื่อนไขเช่นเดียวกันเพื่อให้องค์กรพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงและยั่งยืน

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ ได้กำหนดให้เป็นมาตรฐานเลขที่มอก.9999 ซึ่งเป็นเลขมหามงคล เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตรฐานนี้ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 4 เม.ย. 2556

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิสูจน์แล้วว่าถ้าดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท จะเกิดการพัฒนาไม่ว่าต่อบุคลากรหรือองค์กรต่างๆ อย่างสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และมีความสุข

การนำมาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติ องค์กรควรพิจารณาหลักการของมาตรฐานนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรและองค์กร อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลมีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอนต่างๆ ด้วย

หลักการสำคัญของมาตรฐานประกอบด้วย 4 หลักการสำคัญ คือ(1) การมีส่วนร่วมของบุคลากร

หลักการ คือ บุคลากรทุกระดับเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของบุคลากรจะทำให้สามารถใช้ความรู้ความสามารถเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร

องค์กรควร1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของบุคลากรในการปรับปรุงประสิทธิผลและประสิทธิภาพขององค์กร 2.ทำให้มั่นใจว่าบุคลากรมีความรู้ความสามารถเพียงพอสำหรับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต

(2) การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย หลักการ คือ องค์กรควรเคารพ พิจารณา และตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย
องค์กรควร 1.ชี้บ่งผู้มีส่วนได้เสีย 2.ยอมรับและเอาใจใส่ในเรื่องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งสิทธิตามกฎหมายและตอบสนองต่อข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย

(3) การบริหารแบบองค์รวม (Holistic Management)หลักการ คือ การบริหารแบบองค์รวมสามารถช่วยในการพัฒนาวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของอนาคตที่ต้องการ

องค์กรควร 1.มองอย่างครบวงจร คิดอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องการนำองค์กร วางแผน ลูกค้า บุคลากร สารสนเทศ กระบวนการและผลลัพธ์ทางธุรกิจ 2.คำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรและส่วนรวม ทั้งระยะสั้นและยาว

(4) การบริหารเชิงระบบ (System Approach to Management)หลักการ คือ องค์กรควรชี้บ่ง ทำความเข้าใจและบริหารจัดการกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบที่จะช่วยให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

องค์กรควร 1.พิจารณาประสิทธิผลและประสิทธิภาพในภาพรวมของระบบที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการผลลัพธ์ ข้อมูลป้อนกลับและสภาพแวดล้อม 2.พิจารณาให้ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผน การจัดตั้งองค์กร การกำกับดูแล และการควบคุม

ทุกวันนี้ต้องถือว่าปรัชญาและแนวความคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็คือ วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ท่านที่นำหน้าและไปได้กับแนวความคิดด้าน "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development : SD)

จากhttp://www.posttoday.com  วันที่ 28 มิถุนายน 2556

ดีเดย์บริการแผนที่ออนไลน์ กรมส่งเสริมฯยันสิ้นเดือนมิ.ย.ได้ใช้ โชว์พิกัด-ข้อมูลกลุ่มเกษตรกรทั่วปท.

นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานพัฒนาเกษตรกร ได้ดำเนินการปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกร กลุ่ม องค์กร และสถาบันเกษตรกร เพื่อให้มีความเป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งพัฒนาระบบโดยนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดแสดงบนแผนที่ออนไลน์และง่ายต่อความเข้าใจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไป สามารถสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมา การเข้าถึงชุดข้อมูลดังกล่าวมีความซับซ้อน และต้องใช้เวลามากในการค้นหา

“แผนที่ออนไลน์ดังกล่าว จะระบุถึงสถานที่ตั้งของเกษตรกร กลุ่ม และสถาบันเกษตรกร ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการเกษตรว่า อยู่ที่จุดใดบนแผนที่โดยข้อมูลที่จะนำมาแสดง จะถูกแบ่งเป็น 10 ประเภท คือ กลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร หมู่บ้านสายใยรักแห่งครอบครัว กลุ่มส่งเสริมอาชีพ ศูนย์ปราชญ์เกษตร ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อาสาสมัครเกษตร แหล่งเรียนรู้องค์กรเกษตรกรด้านเคหกิจเกษตร แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และร้านอาหารที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่แต่ละจังหวัดแนะนำ นอกจากนี้ยังมีการระบุพิกัดสถานที่ตั้งสำนักงานเกษตรกรจังหวัดด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

นายสุรพล เปิดเผยด้วยว่า สำหรับกระบวนการจัดเก็บและปรับปรุงฐานข้อมูลเพื่อนำมาแสดงบนแผนที่ออนไลน์ดังกล่าวนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ของตัวเอง โดยมีการจับพิกัดด้วยเครื่องอ่านพิกัดดาวเทียม GPS พร้อมกับถ่ายภาพกิจกรรม และบันทึกรายละเอียดต่างๆ และส่งกลับมาให้กรมส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อนำไปประมวลผลจัดแสดงบนแผนที่ออนไลน์ ซึ่งบัดนี้การประมวลผลดังกล่าวและจัดทำเป็นแผนที่ออนไลน์ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเปิดให้บริการข้อมูลได้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป

ดังนั้นจึงอยากขอประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไป ที่สนใจและต้องการสืบค้นข้อมูลเกษตรกร กลุ่ม องค์กร และสถาบันเกษตรกร สามารถเข้ามาใช้บริการได้ผ่านเว็บไซต์ www.farmdev.doae.fo.th ได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2556

ปฏิรูปที่ดินชูแนวทางลดความยากไร้เกษตรกร - ทิศทางเกษตร

ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญของโลกจึงจำเป็นต้องพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพด้านภาคเกษตรกรรมให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนในทุกด้าน แต่ในปัจจุบันยังพบว่ามีราษฎรจำนวนมากที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีไม่เพียงพอกับการเลี้ยงชีพ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งหามาตรการในการจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง โดยมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการเรียนรู้

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเดือดร้อนในปัญหาการขาดที่ดินทำกินของเกษตรกร ส.ป.ก. จึงได้เร่งปรับแนวทางในการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรผู้ยากไร้ โดยมุ่งเน้นจัดหาที่ดินของเอกชนมาจัดสรรแทนการจัดหาที่ดินของรัฐ เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินอีกจำนวนกว่า 370,000 ราย

ด้าน ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดสรรที่ดิน ทั้งที่ดินทำกินและที่ดินชุมชนได้ถึง 78,000 ราย และเร่งดำเนินการจัดหาที่ดินเอกชนซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของ ส.ป.ก. โดยมีเอกชนมาขึ้นทะเบียน 15,000 ราย เห็นชอบอนุมัติจัดซื้อ 7,236 ราย ส่วนปีงบประมาณ 2556 ได้รับงบประมาณ 1,691 ล้านบาท จะเร่งรัดจัดสรรที่ดินของรัฐที่เหลืออีก 4 ล้านไร่ให้แล้วเสร็จ เนื่องจากมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนรอไว้แล้วกว่า 370,000 ราย แต่อาจต้องปรับระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น อาทิ ซื้อที่ดินเอกชนที่กำลังจะถูกสถาบันการเงินยึดเป็นต้น

“ปีงบประมาณ 2557 มีแผนที่จะจัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชนมากขึ้นภายในวงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท จากเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยคาดว่าจะสามารถจัดหาที่ดินจากทั่วประเทศได้ราว 3 แสนไร่ เพียงพอสำหรับจัดสรรให้กับผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน ได้อย่างน้อย 30,000 – 40,000 ราย” ดร.วีระชัย กล่าว

ดร.วีระชัย กล่าวต่อว่า แม้ ส.ป.ก. จะไม่สามารถจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมดจำนวน 370,000 กว่ารายภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ แต่เพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินในการประกอบอาชีพทางการเกษตรจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทาง ส.ป.ก. จะเร่งพิจารณาคัดกรองเกษตรกรที่เดือดร้อนมากที่สุด อีกทั้งจะเน้นการตรวจสอบความเป็นเกษตรกรที่จะนำพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรไปทำการเกษตรอย่างแท้จริง

ก็เป็นแนวทางที่ ส.ป.ก. เร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรเพื่อให้เพียงพอแก่การครองชีพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังให้เกษตรกรไทยรู้จักรักและหวงแหนในอาชีพเกษตรกรรม จนสามารถคุ้มครอง รักษาพื้นที่ทางการเกษตร ให้ยั่งยืนตราบรุ่นลูกหลานสืบไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 มิถุนายน 2556

รายงานพิเศษ : ส.ป.ก.เร่งขับเคลื่อนนิคมเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความเข้มแข็ง เตรียมพร้อมเปิดAEC

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งขับเคลื่อนนิคมเศรษฐกิจพอเพียง ในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้การจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากศักยภาพการผลิตที่มาจากความต้องการและปัญหาของเกษตรกร ที่เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนการรวมกลุ่ม การผลิตสินค้าคุณภาพ การสร้างเครือข่าย และการเชื่อมโยงตลาดสินค้า เตรียมพร้อมการเปิด AEC ที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้

นายสุวรรณ บูราพรนุสรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ศักยภาพของพื้นที่และเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ โดยทิศทางการพัฒนานิคมเศรษฐกิจพอเพียงจากนี้ต่อไป ส.ป.ก.มุ่งหวังให้นิคมเหล่านี้พัฒนาไปสู่นิคมการเกษตร เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของเกษตรกรในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินต่อไปในอนาคต

สำหรับแนวทางการดำเนินงาน การยกระดับนิคมเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่นิคมการเกษตรนั้น จะเน้นไปที่การส่งเสริมการผลิตพืชเป็นรายสินค้า ซึ่งส.ป.ก.จะดูจากการจัดโซนนิ่งการผลิตพืชของกรมพัฒนาที่ดินทั้ง 6 ชนิด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศไปแล้ว จากนั้นจะถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดการกลุ่ม ให้ตอบสนองกับวิถีชีวิตของชุมชนพื้นที่ โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมพัฒนา จากปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ภายใต้หลักปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการลดต้นทุนการผลิต, ศูนย์ต้นแบบ และการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

“การจัดทำแผนการดำเนินงาน เบื่องต้นของส.ป.ก. ได้ทำความเข้าใจกับทุกจังหวัดถึงแนวทางการขับเคลื่อนนิคมเศรษฐกิจพอเพียง โดยปีนี้ส.ป.ก.ได้ส่งเจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดเข้าไปเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน พร้อมกับศึกษาศักยภาพของแต่ละชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ปัญหาของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะแหล่งน้ำซึ่งส.ป.ก.มองว่าเป็นปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากแหล่งน้ำมีความสำคัญกับการผลิตพืชทุกประเภทและการเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้นการลงพื้นที่สำรวจจัดทำแผนชุมชนร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน เราจะส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักพัฒนาพื้นที่เข้าไปร่วมด้วย เพื่อดูโครงสร้างพื้นฐานให้กับชุมชนหากชุมชนใดมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างแหล่งน้ำ ส.ป.ก.จะทำแผนจัดหางบลงทุนเพื่อดำเนินการต่อไป นับเป็นการทำงานให้จบในกระบวนการเดียวในเวทีชุมชนตรงนั้น” นายสุวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2557 สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี(สพท.) โดยกลุ่มวิชาการพัฒนารายพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่เพื่อดำเนินงานโครงการนิคมการเกษตรและโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประกอบการจัดทำคำของบประมาณในเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งสิ้น 63 จังหวัด ประกอบด้วย โครงการนิคมการเกษตร จำนวน 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร สุราษฎร์ธานี สระแก้ว สุโขทัย กระบี่ ชลบุรี ลำพูน และร้อยเอ็ด และโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 15 จังหวัดได้แก่ จังหวัดตาก ยโสธร น่าน เลย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ตรัง ตราด ศรีษะเกษ เชียงราย บึงกาฬ นราธิวาส สระบุรี และบุรีรัมย์ ส่วนที่เหลืออีก 38 จังหวัด จะเป็นโครงการนิคมฯ ที่พัฒนาต่อเนื่องในปี 2556 และโครงการนิคมฯ พัฒนาศักยภาพปี 2549-2555

จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนนิคมต่างๆ ส.ป.ก.มุ่งหวังว่า เกษตรกรจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต จากรูปแบบการจัดการที่ดินในลักษณะการเป็นนิคม โดยที่ส.ป.ก.จะคอยเป็นพี่เลี้ยง ดูแลและทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกนิคมมีความความเข้มแข็ง มีเครือข่ายการผลิต การแปรรูป การตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนอย่างเหมาะสมมากที่สุด รวมถึงการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐานออกสู่ตลาด พร้อมแข่งขันกับการเปิดเสรีทางการค้าที่จะมาถึงในปี 2558 นี้ได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 มิถุนายน 2556

เร่งเจาะอุโมงค์ผันน้ำ “ห้วยน้ำรี” แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำการเกษตรเหนือเขื่อนสิริกิติ์

สำนักงานก่อสร้าง 12 สำนักพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เร่งดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำ “โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์” เพื่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเข้าพื้นที่รับประโยชน์ 9 ตำบล ในเขตพื้นที่ 2 อำเภอ

อุตรดิตถ์/ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่บริเวณหน้างานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีฯ บ.กิ่วเคียน ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ นายธีระ อิสระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 12 สำนักพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กรมชลประทาน (โครงการเขื่อนทดนํ้าผาจุกและโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานก่อสร้าง 12 ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.50 ม. ความยาว 1.8 กม. เพื่อทำการขุดเจาะและส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเข้าพื้นที่รับประโยชน์ 9 ตำบล ในเขตพื้นที่ 2 อำเภอ ประกอบด้วย ต.จริม ต.หาดล้า ต.ท่าปลา ต.ร่วมจิต ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา ต.วังดิน ต.หาดงิ้ว ต.บ้านด่าน และ ต.แสนตอ อ.เมืองอุตรดิตถ์ หลังจากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติภัยแล้งอย่างรุนแรง จนทำให้ราษฎรในพื้นที่ อ.ท่าปลา ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมายาวนานราวประมาณ 40 ปี

นายธีระ อิสระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 12 สำนักพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเห็นชอบให้สำนักงานก่อสร้าง 12 ใช้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2536 เข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ โดยให้เข้าทำประโยชน์เฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเท่าที่จำเป็น เพื่อก่อสร้างที่ทำการบ้านพัก อุโมงค์ส่งน้ำ บริเวณจัดภูมิทัศน์ และเขื่อนดินหัวงานบางส่วน พื้นที่ประมาณ 460 ไร่

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และ อุปโภค-บริโภคของราษฎร ที่อพยพจากบริเวณพื้นที่ถูกน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งเป็นแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและมีรายได้เสริม เนื่องจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ เป็นโครงการจัดหาแหล่งน้ำด้านการอุปโภคบริโภค และ เกษตรกรรมเพื่อพื้นที่อพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี มีขนาดความจุ 73.70 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,656 ไร่ ความยาวสันเขื่อน 440 ม. ส่วนสูงที่สุด 55 ม. อาคารระบายน้ำล้น ควบคุมน้ำด้วยฝายสันมน (Ogee Channel Spillway) ความยาวสันฝาย 100 ม. ระบายน้ำสูงสุด 616.83 ลบ.ม./วินาที อุโมงค์ผันน้ำขนาด 2.50 ม. ความยาว 1,850 ม. อาคารท่อส่งน้ำลงลำน้ำเดิม 1.50 ม. ส่งน้ำได้ 20.90 ลบ.ม./วินาที ระบบท่อส่งน้ำ ความยาวรวม 200 กม. ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 8 ปี (พ.ศ.2554-2561) ส่วนเรื่องการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินให้กับราษฎรผู้ถือครองและทำประโยชน์ ซึ่งได้ดำเนินการกันเขตรังวัดที่ดินแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการตรวจสอบทรัพย์สิน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 26 มิถุนายน 2556

เห็นชอบเสนอยูเอ็นประกาศวัน-ปีดินโลก

ที่ประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เห็นชอบเสนอองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก และปี 2558 เป็นปีดินสากล

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) สมัยที่ 38 เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเสนอวาระการประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก หรือ “World Soil Day” และให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล หรือ “International Year of Soils 2015” เข้าสู่ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นฐานความมั่นคงด้านอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงงานด้านดินอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบให้กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโรม จัดตั้งเป็นคณะทำงาน เตรียมความพร้อมจัดกิจกรรมสำหรับปีดินสากล ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2558. - สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 26 มิถุนายน 2556

ชี้เป็นฮับ AECต้องมีกลยุทธ์ชัดเจน ถ้ายังใช้หลักต้นทุนต่ำ เพื่อแข่งขันราคา 'ลำบาก'

นักวิชาการเจเนอเรชันใหม่ชี้ ไทยจะเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ จะต้องมีเป้าหมายว่าเศรษฐกิจประเทศจะเป็น Eco-economy หรือ Creative/Innovation economy ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องมีนวัตกรรมหรือการพัฒนาสินค้า การยกระดับให้สูงขึ้นเพื่อหนีคู่แข่ง

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคาร TMB ได้กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "ธุรกิจไทยจัดทัพสร้างฮับ AEC" จัดขึ้นโดยธนาคารทีเอ็มบี ในวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่ามีโอกาสน้อยมากที่บริษัทของไทยจะเป็นผู้ส่งออกนำเข้าในอาเซียนได้อย่างขนานใหญ่แม้จะมีการผลักดันอย่างมากก็ตาม

"จากการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจมาตลอด ทุกครั้งที่มีการออกมาบอกว่าโอกาสอยู่ในอาเซียน ต้องออกไปลงทุน ออกไปค้า คำถามคือผู้ที่ได้รับโอกาสตรงนี้มีเยอะแค่ไหน จากตัวเลขบริษัททั้งหมด ทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียน ในประเทศไทย 2 ล้านกว่าบริษัท มีเพียง 2% เท่านั้นที่เป็นผู้ส่งออกนำเข้า ดังนั้นจะเห็นว่าถึงแม้จะมีการผลักดันแค่ไหนก็ตาม ไม่มีทางที่ผู้ประกอบการทั้งหมดจะเป็นผู้ส่งออกนำเข้าในอาเซียนได้”

ดร.เบญจรงค์ กล่าวถึงในแง่การลงทุนในอาเซียนว่าบริษัทของไทยมีเพียง 1% ที่เป็นผู้ลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น จึงยากมากของบริษัทที่จะได้ประโยชน์จากการออกไปลงทุนในต่างประเทศ หรือส่งออกนำเข้า

ในฐานะเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคาร TMB ดร.เบญจรงค์ ระบุว่า จากการเปรียบเทียบเรื่องการค้าส่งออก การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทย พบว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแม้ประเทศไทยค่อนข้างโดดเด่นที่สุดประเทศหนึ่ง แต่เศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์มากที่สุดยังคงเป็นสิงคโปร์เพราะมีความพร้อมกว่าทั้ง 9 ประเทศในอาเซียน

"เศรษฐกิจอันดับที่2 รองจากสิงคโปร์ ที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากการเปิดเออีซีคือเศรษฐกิจไทย เพราะเรื่องของการเชื่อมโยงที่จะเกิดขึ้น และเรื่องของเม็ดเงินลงทุน ไม่ใช่แค่เฉพาะนักลงทุนในอาเซียนที่มาลงในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจกับ AEC เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ฉะนั้นเรื่องของประโยชน์อาเซียนที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราอยู่เฉยๆ คงไม่มา"

ดร.เบญจรงค์ ซึ่งจัดเป็น Young Economist คนหนึ่งของไทย ระบุว่า กลยุทธ์ที่ไทยควรนำมาใช้คือการวางตำแหน่ง หรือ Positioning ในแต่ละอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศในองค์รวม

"ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรกรรม สินค้าภาคการผลิต สินค้าภาคการบริการของไทยยังอยู่ในกลุ่มที่พยายามใช้ต้นทุนต่ำ แล้วไปแข่งขันด้านราคา ถ้าเป็นอย่างนี้ทันทีที่เปิด AEC มีการลงทุน มีการแข่งขันมากขึ้น โอกาสที่เราจะแพ้และเสียเปรียบมีค่อนข้างมาก"

ดร.เบญจรงค์ กล่าวว่า ไทยต้องพยายามยกระดับในทุกๆ อุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมภาคการผลิต ซึ่งยังสามารถยกระดับไปได้อีกไกล หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นพระเอกของไทย แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่ใช่ผู้ผลิต ไม่ใช่เจ้าของยี่ห้อยานยนต์หลักๆ เช่น เม็กซิโกแล้วปรากฏว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development: R&D) ของเม็กซิโกยังมากกว่าของไทย

ด้านบริการท่องเที่ยวของไทย ที่โดดเด่นเนื่องจากมีทรัพยากร และใช้ราคาถูกไปสู้นั้น ดร.เบญจรงค์ กล่าวว่า ต้องมีการเปลี่ยนกระบวนความคิดจากบริการราคาถูก มาเป็นการบริการที่มีมูลค่าสูง (High value) ซึ่งต้องมี นวัตกรรมเพิ่มขึ้น และมีการตั้งเป้าหมายหรือมาตรฐานของแต่ละอุตสาหกรรมให้ชัดเจน หรือเป็น Eco-economy เพราะตลาดที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงไปทางด้านนั้น ไปทางลดมลพิษ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

ดร.เบญจรงค์ กล่าวว่า ทางเลือกของผู้ประกอบการไทยมี 2 ทาง คือ 1. ถ้าพร้อมก็ใช้โอกาสจากอาเซียนเพื่อออกไปค้าขาย และ2. ถ้าไม่พร้อมก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ได้ประโยชน์จากอาเซียนให้มากที่สุด อาทิ ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีทางเลือก 2ทางในการเพิ่มมูลค่า คือ1. เพิ่มปริมาณการส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูงแต่ไม่มีการเพิ่มนวัตกรรม และไม่ต้องส่งออกเยอะแต่เพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างนวัตกรรม

"ในสหรัฐอเมริกาได้มีการแบ่งนวัตกรรมออกเป็น 10 ประเภท 1. วิธีการสร้างรายได้ 2.วิธีการสร้างเครือข่าย 3. ระบบส่งเสริมความคิดริเริ่ม 4. ระบบการผลิต 5. คุณภาพ/ประสิทธิภาพสินค้า หรือสินค้าที่แตกต่าง 6.การต่อยอดจากสินค้าหลัก 7. การบริการลูกค้า 8. ช่องทางการเข้าถึงลูกค้าที่ใหม่และแตกต่าง สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ 9. สร้างพันธะสัญญาบน Brand คือความหมายของการสร้าง Branding ให้ติดตลาด ที่ไม่ใช่แค่โลโกสวย แต่เป็นการทำให้ผู้บริโภคเชื่อใจ 10. สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค"

ดร.เบญจรงค์ กล่าวถึงการใช้นวัตกรรมนั้นว่า จะต้องมีการวางเป้าหมาย มีธง โดยสามารถดูมาตรฐานหรือคุณภาพของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นตัวอย่าง นั่นคือสาเหตุที่ไทยต้องก้าวไปสู่ Eco-economy เพราะเป็นเทรนด์ของโลกที่ทุกอย่าง ทุกสินค้าไปในทิศทางนั้นมากขึ้น

"เรื่องประสิทธิภาพในการผลิตก็เป็นเรื่องสำคัญมาก การที่ต้องเสียเงินกับต้นทุนที่สูงกว่าที่จำเป็น เป็นเรื่องที่บอบช้ำมากสำหรับธุรกิจ SME 79% จากทั่วโลกมีปัญหาในการหาลูกค้าใหม่ๆ และการพัฒนาให้ลูกค้ากลุ่มนั้นเป็นลูกค้าประจำ 78% เป็นเรื่องของการจ้างพนักงานที่มีทักษะที่เหมาะสม 76% เป็นเรื่องของการบริหารธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ"

ดร.เบญจรงค์ สรุปว่า หากไทยจะเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งที่ต้องมีอย่างแรกคือ เป้าหมายไม่ว่าจะเป็น Eco-economy หรือ Creative/Innovation economy ซึ่งจะไปถึงได้ต้องมีนวัตกรรมหรือการพัฒนาสินค้า การยกระดับให้สูงขึ้นเพื่อหนีคู่แข่ง เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคที่มีรายได้สูง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศด้วย

"การสร้างฐานธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการนำเข้าวัตถุดิบที่ถูกกว่า ใช้ทรัพยากรที่ถูกกว่า และการเชื่อมโยง (Connectivity) ที่จะเกิดขึ้น จะทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 มิถุนายน 2556

ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงิน2,400 ล้านบาท “บ. น้ำตาลมิตรผล” ที่ระดับ “A+/Stable”

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,400 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่”

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิม อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจน้ำตาลและการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าที่ดีขึ้นน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย โดยในปีการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลมีผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 4.0 ล้านตัน

บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ในฤดูการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลผลิตน้ำตาลที่ 2.00 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.9% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 19.1% ในปีก่อนเนื่องจากโครงการส่วนขยายที่จังหวัดเลยเริ่มดำเนินงาน ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (16.3%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (9.3%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (7.4%) และกลุ่มวังขนาย (6.6%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 105.9 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 100.28 กก. ต่อตันอ้อย

บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.14 ล้านตันในปีการผลิต 2555/2556 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.0% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 123.2 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2555/2556 โรงงานน้ำตาลที่ประเทศลาวของบริษัทผลิตน้ำตาล 0.34 ล้านตันในฤดูการผลิต 2555/2556 ส่วนโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย MSF อยู่ระหว่างการหีบอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2555/2556 แต่ที่ผ่านมา MSF ผลิตน้ำตาลได้ 0.5 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 2554/2555

ในปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 89,572 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) 15,581 ล้านบาท กำไรจากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็น 67% ของ EBITDA โดยกำไรของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 37% ของ EBITDA รวม ในขณะที่กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 28% ของ EBITDA รวม ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังให้ผลกำไรไม่มาก โดยธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวมี EBITDA เพียง 416 ล้านบาทในปี 2555 ส่วน MSF มี EBITDA เพียง 64 ล้านบาทในปี 2555

นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจผลิตกระดาษ และธุรกิจโลจิสติกส์ ณ เดือนมีนาคม 2556 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 690,000 ลิตรต่อวัน บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 322 เมกะวัตต์ด้วย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาโดย EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 4,833 ล้านบาทในปี 2555 จาก 2,425 ล้านบาทในปี 2551 โดย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 31% ของ EBITDA รวมของบริษัทในปี 2555

รายได้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 โดยบริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 23,532 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว เพิ่มขึ้น 3.0% จาก 22,845 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2555 อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนลดลงเนื่องจากราคาขายน้ำตาลลดลง ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวลงเป็น 25.0% ใน 3 เดือนแรกของปี 2556 จาก 33.1% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ทรงตัวที่ระดับ 28.4% ใน 3 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 28.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 บริษัทมีกำไรจากสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าจำนวน 1,437 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 141 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 13.6 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ระดับที่ดีที่ 7.0% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 เนื่องจากกำไรจากสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้า โครงสร้างการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับปานกลาง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 47.0% ณ เดือนธันวาคม 2555 อัตราส่วนเงินกู้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลเป็น 53.2% ณ เดือนมีนาคม 2556 เนื่องจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลการผลิต บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจโดยใช้เงินลงทุนจำนวนรวม 13,500 ล้านบาทในปี 2556-2557 จากประมาณการ EBITDA ที่ระดับ 17,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า

ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2555/2556 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยอยู่ที่ระดับ 100 ล้านตันอ้อย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 98 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยในอุตสาหกรรมลดลงจาก 104.6 กิโลกรัมต่อตันอ้อยเป็น 100.3 กิโลกรัมต่อตันอ้อยเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยทำให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงเป็น 100ล้านตันในปีการผลิต 2555/2556 จาก 103 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ทำสถิติสูงสุดที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมกราคม 2554 ราคาน้ำตาลทรายดิบเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 16 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2556 เนื่องจากผลผลิตของผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานในสัดส่วน 70:30 ที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยจะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรอยู่ระดับที่น่าพอใจแม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดลง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 26 มิถุนายน 2556

ใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมจังหวัดสิงห์บุรีในพื้นที่ที่เหมาะสม

สิงห์บุรี - นายเสถียร เขียนสาร์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัด และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านเกษตรกรรมจังหวัดสิงห์บุรี ได้กำหนดแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรจังหวัดสิงห์บุรีในพื้นที่ที่เหมาะสม ดังนี้ การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี ด้านพืช 2 ชนิด ได้แก่ ข้าว และอ้อยโรงงาน ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่ไข่ มีพื้นที่เหมาะสมในการเลี้ยงไก่ไข่ ใน 1 อำเภอ 2 ตำบล ได้แก่ ต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี และต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี และด้านประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดใน 6 อำเภอ 42 ตำบล

คณะอนุกรรมการมีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 4,561,950 บาท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ เพิ่มศักยภาพการผลิตข้าว และอ้อยให้มีคุณภาพและปลอดภัย งบประมาณ 920,500 บาท พัฒนาการเลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์แบบผสมผสาน งบประมาณ 140,000 บาท และสาธิตการเลี้ยงไก่ไข่แบบพอเพียง งบประมาณ 1,286,160 บาท

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 26 มิถุนายน 2556

"ศุภชัย"ชี้ทางรุ่งธุรกิจไทยในเออีซี ชูสินค้าบริการ-พัฒนาโลจิสติกส์-เชื่อมตลาดจีน

"ศุภชัย พานิชภักดิ์" เลขาธิการอังค์ถัด ชี้ไทยอยากรุ่งนำประเทศอาเซียนเร่งสปีดธุรกิจบริการ ชูโมเดล "เอาต์ซอร์ซ" ฟิลิปปินส์แบบอย่างเด่น พร้อมพัฒนาโลจิสติกส์ใน-นอกประเทศควบคู่ทั้งระบบ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ"รายงานจากสัมมนาในวาระครบรอบก่อตั้ง 50 ปี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "Thailand"s Future : How to Lead Trade and Investment in the ASEAN"s Frontier ? Lessons & Learns from My Whole Life Experience"

นายศุภชัยกล่าวว่า สินค้าบริการเป็นอนาคตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเกี่ยวพันกับการค้า การออกไปลงทุนต่างประเทศ และการเดินทางติดต่อของโลกธุรกิจปัจจุบัน เพราะเมื่อนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศต้องพึ่งพาธุรกิจบริการเสมอ กระทั่งปัจจุบันการใช้ธุรกิจบริการจากต่างประเทศขณะที่อยู่ในประเทศตัวเองก็เป็นที่แพร่หลาย เป็นการบริการข้ามแดน ธุรกิจนี้จึงสำคัญมาก

"ทั้งนี้ หากไทยมุ่งพัฒนาสินค้าบริการ จะทำให้ไทยเติบโตได้ในอนาคตอย่างดี เพราะสอดคล้องกับการเป็น "ฮับอาเซียน" ที่ไทยต้องการ และรองรับสิ่งที่ไทยจะทำในอนาคต อยากให้มองประเทศฟิลิปปินส์เพราะเป็นอีกประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการเอาต์ซอร์ซจนช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น"

"ไทยควรส่งเสริมธุรกิจนี้ด้วย เพราะฟิลิปปินส์เติบโตอย่างมากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะการรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ หรือ Business Process Outsourcing ที่ฟิลิปปินส์มุ่งพัฒนาเติบโตสูง ซึ่งหากต้องการพัฒนาในด้านนี้ต้องมีแรงงานจำนวนมาก ที่ต้องได้รับการอบรมด้านเทคโนโลยี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ นี่เป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจบริการที่โดดเด่น กระทั่งประเทศในแถบแอฟริกาเริ่มพัฒนาเรื่องนี้แล้ว" นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวถึงภาพรวมธุรกิจสินค้าบริการของอาเซียนว่า ข้อตกลงด้านนี้มีมานาน แต่ไม่เดินหน้า ยังย่ำอยู่กับที่ และจำเป็นต้องปรับปรุงให้เกิดมาตรฐานกลางของอาเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการถือหุ้นภายในอาเซียนควรเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ให้เกิน 70% ในทุก ๆ สาขาบริการ โดยไม่มีการยกเว้น เพราะอุปสรรคสำคัญคือ ยังมีกฎระเบียบภายในของบางประเทศที่พยายามกีดกันและเลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้การสร้างกฎหมายกลางระหว่างกันเป็นเรื่องยากที่จะบังคับใช้ แต่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่งในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายทางการเงินที่ควรมีหน่วยงานกลางดูแล ทั้งยังต้องลดการกีดกันการค้าที่มีสูง โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย ที่ต้องเปิดมากกว่านี้

นายศุภชัยเพิ่มเติมว่า "รัฐบาลต้องมุ่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศเพื่อเชื่อมอาเซียนและประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดยหากอ้างอิงจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index : LPI) ของธนาคารโลกปีล่าสุด (2555) จะเห็นว่า CLMV และไทยยังต้องพัฒนาด้านนี้เทียบกับระดับโลก ขณะที่สิงคโปร์นั้นดีมากระดับโลกเช่นกัน"

ดัชนี LPI ปี 2555 ระบุว่า จากคะแนนเต็ม 5 สิงคโปร์อยู่ที่ 4.13, มาเลเซีย 3.49, ฟิลิปปินส์ 3.02, ไทย 3.18, อินโดนีเซีย 3.02, เวียดนาม 3.00, เมียนมาร์ 2.37, กัมพูชา 2.56 และลาว 2.50

อย่างไรก็ตาม นายศุภชัยเห็นว่า นักลงทุนต้องฉวยโอกาสจากเส้นทางถนนที่กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะเส้นทาง R3A ที่เชื่อมเมืองเชียงรุ้ง มณฑลคุนหมิงในจีนตอนใต้ ลงมาเมืองห้วยทรายในลาว และเชียงของ จ.เชียงรายในไทย ซึ่งสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 กำลังจะเปิดใช้ โดยภาครัฐประเทศต่าง ๆ ต้องดูแลภาพรวมกฎระเบียบ และข้อตกลงศุลกากรให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

"เอกชนไทยต้องเข้าถึงตลาดจีนให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันจีน-อาเซียนค้าขายระหว่างกันอยู่ที่ร้อยละ 16 และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่การค้าอาเซียน-ยุโรป และอาเซียน-อเมริกา ลดลงมาอยู่ราวร้อยละ 10-11 โจทย์ขณะนี้คือ ใครเข้าถึงจีนได้มากกว่าได้เปรียบ"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มิถุนายน 2556

เร่งแก้ปัญหาดินเสื่อม-แห้งแล้งต่อต้านแปรสภาพเป็นทะเลทราย - ดินดีสมเป็นนาสวน

การแปรสภาพเป็นทะเลทรายตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat Desertification : UNCCD) เป็นความเสื่อมโทรมของที่ดินที่เกิดในพื้นที่แห้งแล้งที่มีค่าสัดส่วนของปริมาณ น้ำฝนรายปีต่อค่าศักยภาพการคายระเหยอยู่ระหว่าง 0.05–0.65 ซึ่งจากข้อมูล 9 สถานีตรวจอากาศของจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าอยู่ในระหว่างช่วงนั้นพอดี จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีพื้นที่ที่จัดอยู่ในประเภทพื้นที่แห้งแล้งตามอนุสัญญาฯดังกล่าว

ดร.พิทยากร ลิ่มทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัจจุบันความเสื่อมโทรมของดินในประเทศ ไทยกำลังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากดินขาดอินทรียวัตถุมาก โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งทางทฤษฎีดินต้องมีอินทรียวัตถุอยู่ที่ 5% แต่ขณะนี้ในพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่มีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่ำกว่า 0.5% ซึ่งความเสื่อมโทรมของดินต่าง ๆ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ การเกิดการชะล้างพังทลายของดิน การแพร่กระจายของดินเค็ม ดินเปรี้ยว และการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่งผลให้ผลผลิตลดลง เกิดความยากจนและละทิ้งถิ่นฐาน ดังนั้น ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดิน จึงได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินให้มากขึ้น โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน และการวางแผนเพื่อใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ดร.พิทยากร กล่าวถึงงานการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายว่า เป็นการดูแล รักษา วางแผนและจัดการที่ดิน ป่าไม้ และป้องกันแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ให้กลายเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ ไทยในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการฟื้นฟูแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดินและความแห้งแล้งอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด และสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป

...นอกจากน้ำแล้ว ดินเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในภาคเกษตร แต่เกษตรกรหรือคนส่วนใหญ่มักจะละเลยไม่ให้ความสำคัญและดูแลมากนัก จึงอยากฝากเกษตรกรให้ช่วยกันดูแลในเรื่องของดินด้วย เพราะเราใช้ประโยชน์จากดินมาอย่างต่อเนื่อง จึงควรปรับปรุง บำรุงรักษา เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยาวนาน...
แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายประเทศที่มีการแปรสภาพเป็นทะเลทราย แต่หากทุกคนยังไม่ยับยั้งการกระทำที่จะก่อให้เกิดการแปรสภาพการเป็นทะเลทราย หรือหากขาดการดูแลที่เหมาะสม เราอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากดินได้อีกเลยในอนาคต.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 มิถุนายน 2556

ธปท.เน้นเสถียรภาพศก. ป้องกันปัจจัยภายนอกเข้ากระทบ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้เงินทุนยังไหลเข้า-ออกปกติตามกลไกตลาด และไม่หวือหวาเหมือนบางประเทศที่ประสบความผันผวน เช่น อินโดนีเซีย และบราซิล ที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดุลยภาพทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยืนยันว่าสภาพคล่องในประเทศขณะนี้เพียงพอต่อการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าก่อนหน้านี้ ธปท.จะดูดซับไปบางส่วนทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบลดลง

สำหรับประเด็นทางเศรษฐกิจที่ขณะนี้ติดตามอยู่มี 2-3 ประเด็น คือ ความคาดหวังจากการใช้นโยบายการเงินในการแก้ไขปัญหาหลายอย่างมากเกินไป หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ปัจจัยต่างประเทศที่จะเข้ามามีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ

นายประสาร กล่าวว่า เงินไหลทุนที่ออกไปในขณะนี้ยังไม่ถือเป็นความเสี่ยงพิเศษต่อระบบเศรษฐกิจ ธปท.พยายามดูแลรักษาสมดุลในด้านต่าง ๆ ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลชำระเงิน ดุลการคลัง สินทรัพย์และหนี้สินของสถาบันการเงินให้มีความสมดุล มีความมั่นคงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงถือว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายในขณะนี้ไม่ได้เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมากนัก โดยเฉพาะ ธปท.คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้น่าจะสมดุลหรือเกินดุลเล็กน้อย ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องนี้ ทำให้นักค้าเงินมองไม่เห็นโอกาสที่จะเข้ามาเก็งกำไรเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ก็ยังมีจุดที่ต้องระวังคือ คนตั้งความหวังให้การดำเนินนโยบายการเงินแก้ปัญหาหลายอย่างมากเกินไป จากที่เคยทำหน้าที่ดูแลราคาและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ แต่ขณะนี้ต้องการให้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น , หนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นมาสูงค่อนข้างเร็ว ทำให้ธปท.ต้องจับตาคุณภาพของสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด และ เหตุการณ์ปัจจัยจากนอกประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนและผันผวนอยู่จะเข้ามากระทบบางเวลา ธปท.จึงต้องระมัดระวัง

"วิธีที่ดีที่สุดคือดูแลพื้นฐานให้อยู่ในระดับสมดุลและมั่นคง ทั้งดุลชำระเงิน ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการคลัง ต้องพยายามรักษาให้ดี สถาบันการเงินก็ต้องดูแลให้มีความมั่นคง การใช้นโยบายการเงินก็ต้องระมัดระวัง เพราะต้องมีความไม่แน่นอนจากตลาดโลกไม่ทำอะไรที่สุดขั้วมากเกินไป เพราะหากเกิดอะไรขึ้นจะได้มีการปรับทิศทางนโยบายได้"นายประสาร กล่าว

ส่วนความกังวลเรื่องสภาพคล่องในระบบการเงินที่จะตึงมากขึ้นจากปัจจัยของประเทศต่างๆ นายประสาร กล่าวว่า จากที่หลายฝ่ายประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง เป็นเพราะทางการจีนต้องการลดความร้อนแรงเพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะสถาบันต่าง ๆ ที่ให้บริการทางการเงิน เพื่อรักษาวินัยทางการเงินให้มากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเกินความสามารถในการดูแลหรือควบคุม ส่วนที่เป็นห่วงว่าจะมากระทบสภาพคล่องในประเทศนั้น มองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีธนาคารจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากเป็นธนาคารที่ใหญ่ระดับโลก จึงไม่น่าเป็นประเด็น

นายประสาร กล่าวว่า แม้ขณะนี้ ธปท.ดูดซับสภาพคล่องน้อยลง แต่ยืนยันว่าสภาพคล่องยังมีเพียงพอที่จะเอื้อต่อการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ธปท.มีวิธีดูแลสภาพคล่องโดยการดูดซับแบบตั้งรับ โดยเมื่อสิ้นวันทำการ ธนาคารพาณิชย์จะต้องนำเงินที่เหลือมาฝากกับ ธปท.ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์นำเงินมาฝากน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินไหลออกจากประเทศบ้าง แต่ไม่ถือว่าเป็นประเด็น โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ดูดซับสภาพคล่องมาเหลือ 4.7 ล้านล้านบาท จากเดิม 4.9 ล้านล้านบาท ขณะที่มีหนี้ต่างประเทศ 1 แสนกว่าล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 มิถุนายน 2556

เร่งเสริมจุดเด่นเกษตรกรไทย…พัฒนาไกลแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ - เกษตรทั่วไทย

เตรียมความพร้อมของภาคเกษตรไทย ในการเข้าสู่ประชา คมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยไทยและสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ จะรวมตัวกันเป็น เออีซี มีเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว หรือ Single market and Production base และเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเป็น เออีซี ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเปิดเสรีทางการค้าย่อมเกิดผลดีทางเศรษฐกิจต่อผู้ มีศักยภาพใน การแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตามผู้มีศักยภาพการผลิตที่ด้อยกว่าก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ เกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ที่ผ่านมาภาครัฐ โดย กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถดำรงอาชีพเกษตรต่อไปได้อย่างยั่งยืน ได้เร่งรัดให้ความรู้ในเรื่องกองทุน FTA เพื่อลดจุดด้อยและเสริมจุดเด่นให้เกษตรกรไทยเพื่อการแข่งขันในเวทีเออีซี โดยการให้ความรู้กับทุกภาคส่วน เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันเกษตรกร และเกษตรกร ตระหนักรับรู้ถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าและการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ทั้งด้านบวกและลบอย่างถูกต้อง สำหรับสินค้าเกษตรหลักในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก เช่น ปศุสัตว์ ข้าว มะพร้าว ไม้ตัดดอก และผักต่าง ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันทั้งด้านการผลิต การตลาด และการค้าสินค้าเกษตรกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิด อาทิ โคนม โคเนื้อ ข้าว มะพร้าว ไม้ตัดดอก และผักต่าง ๆ เป็นต้น จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA และให้สถาบันเกษตรกร หน่วยงานราชการ ตลอดจนภาคเอกชนในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก ได้เสนอขอเงินจากกองทุนฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผล กระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบการค้าดังกล่าว โดยเฉพาะการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558

สำหรับการเปิดเสรีการค้า แม้จะมีผู้รับประโยชน์เป็นจำนวนมากก็จริง แต่ก็จะมีผู้ผลิตอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศหลายชนิด อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ดังนั้น การลดจุดด้อยเสริมจุดเด่นในสินค้าการเกษตรดังกล่าว จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการรับมือต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายสร้างเกษตรกรไทยให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์

...คือ มีความรู้ในเรื่องการทำการเกษตรเป็นอย่างดี ตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร รวมทั้งมุ่งนำเกษตรกรสู่การทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุนการผลิต.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ซี.พี.แนะรัฐใช้ระบบ CDM แก้ปัญหาภาคเกษตร

ซี.พี.แนะรัฐเป็นตัวกลางประสานระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อ โดยนำระบบ CDM เข้ามาใช้เหมือนอ้อย เผยเป็นห่วงเกษตรกรผู้ปลูก “ข้าว-น้ำมันปาล์ม” หลังเปิดเออีซีจะได้รับผลกระทบ เผยแบ่งรับแบ่งสู้เข้าประมูลข้าวในสต๊อกรัฐ หวั่นกระทบมาตรฐานข้าวถุงตราฉัตร

นายสารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)กล่าวในการสัมมนา “เกษตรเพื่ออนาคตประเทศไทย” ว่า ขณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลกพยายามหามาตรการต่างๆ เพื่อดึงคนให้กลับมาสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น หลังจากพบว่าสถิติคนอายุเฉลี่ยเกิน 50 ปีอยู่ในภาคเกษตรทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ รวมทั้งไทย ขณะที่คนรุ่นใหม่เลือกทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่าเนื่องจากผลตอบแทนที่ดีกว่าการทำเกษตร

ซึ่งแนวทางการดึงคนกลับมาอยู่ในภาคการเกษตรควรต้องเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรใหม่ โดยมีการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย โดยรัฐเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อหรือผู้ส่งออก โดยใช้ระบบ CDM (Original Design Manufacture) คือการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรว่าที่ดินเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชชนิดไหนผ่านระบบดาวเทียม และพืชที่มีความต้องการของตลาด เพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิต และการตลาด ซึ่งปัจจุบันมีพืชชนิดเดียวที่มีการใช้ระบบ CDM คืออ้อย ที่มีการกำหนดราคารับซื้อล่วงหน้าจากเกษตรกรได้

นายสารสินกล่าวถึงปัญหาการดำเนินโครงการจำนำข้าวว่าเป็นเรื่องการเมืองที่รัฐบาลจะต้องหาทางแก้ปัญหาให้ได้ ขณะเดียวกันก็ควรปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยยอมรับว่าราคารับซื้อข้าวที่ 1.2 หมื่นบาท/ตันนั้นเกษตรกรคงไม่สามารถลดต้นทุนการเพาะปลูกลงได้ทันที นอกจากนี้ หากรัฐบาลเปิดประมูลข้าวในสต๊อก ทาง ซี.พี.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสังเกตการณ์ในภาพรวมก่อน แต่จะร่วมประมูลหรือไม่นั้นจะต้องดูความเหมาะสมด้วย เพราะบริษัทฯ ต้องรักษามาตรฐานข้าวถุงตราฉัตรของ ซี.พี.เอาไว้

ด้านนายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงความพร้อมภาคการเกษตรของไทยในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ว่า มีความเป็นห่วงพืช 2 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมันและข้าว เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันของมาเลเซียและอินโดนีเซียจะทะลักเข้ามาในไทยทำให้ราคาปาล์มในประเทศตกต่ำ จึงควรหันมาส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซล ส่วนข้าวของไทยนั้นพบว่ามีต้นทุนการผลิตที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จำเป็นต้องเน้นการผลิตข้าวจีไอ หรือข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขายได้ในราคาสูงเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ เช่นข้าวสังข์หยด เป็นต้น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เอกชนแนะ รบ.พัฒนาพื้นที่เกษตรรองรับการแข่งขันใน AEC

นายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า พืชเกษตรที่ยังมีความน่าห่วงคือ ข้าว และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากไทยจะเป็นประเทศที่เข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ซึ่งจะมีการแข่งขันในสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกในประเทศ เช่น การจัดโซนนิ่ง หรือจํากัดพื้นที่เพาะปลูก

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรจะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันจำนวนเกษตรกรไทย มีสัดส่วนเกษตรกรจากเดิม 50% ลดลงเหลือ 37% เช่นเดียวกับประเทศจีนที่สัดส่วนเกษตรลดลงจาก 56% ลดลงเหลือ 36% ดังนั้น รัฐบาลและภาคเอกชน ควรจะหาวิธีการเพื่อดึงคนรุ่นใหม่ กลับเข้าสู่ภาคเกษตร โดยการเพิ่มแรงจูงใจด้วยการในด้านเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เช่น เทคโนโลยีในการทำอาหารหรือพลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงการส่งเสริมด้านประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ลดการพึ่งพานำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดตัว แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ประกาศกำหนดมาตรฐาน มอก.๙๙๙๙ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรในห่วงโซ่อุปทานมีความรู้ความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นแนวทางเดียวกัน อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเกิดความมั่นคง ยั่งยืน และประชาชน ในสังคมมีความสุข อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมีคุณภาพ สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายขับเคลื่อนของรัฐบาลเพื่อแนะนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย และให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จึงได้จัดให้มีการเปิดตัว"มอก.๙๙๙๙ เล่ม ๑ - ๒๕๕๖แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม" ขึ้นในวันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องกมลทิพย์โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จะได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษเรื่อง"หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับความสำเร็จในการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม" โดย ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดร.วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด ฯลฯ และดำเนินการเสวนาโดย คุณประวีณมัย บ่ายคล้อยผู้ประกาศข่าวและพิธีกรชื่อดัง

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการแสดงนิทรรศการแนวทางการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานรับทราบถึงคุณประโยชน์ของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนอีกด้วย สมอ.จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
สมัครเข้าร่วมงานได้ที่ www.tisi.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ. โทรศัพท์ ๐ ๒๒๐๒ ๓๓๒๔

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

“ฝนหลวง”เร่งเติมน้ำเขื่อนใหญ่ ป้องกันผลกระทบฝนทิ้งช่วง/เล็งตั้งศูนย์ปฏิบัติการภูมิภาคอีก5แห่งใน3ปี

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนแห่งต่างๆ ในปัจจุบันยังถือว่ามีปริมาณอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การทำเกษตรในหลายๆจังหวัดได้ จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับเขื่อนต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคเกษตรเป็นการเร่งด่วน

โดยเบื้องต้นกรมฝนหลวงฯได้มอบหมายให้หน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ประจำจังหวัดตากปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 40-50% เท่านั้น แม้จะพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ชลประทาน แต่หากไม่เร่งเติมน้ำไว้ก่อนสิ้นฤดูฝน เกรงว่าน้ำอาจจะเหลือน้อยจนไม่เพียงพอต่อพื้นที่ทำการเกษตรและบริโภคได้ ดั้งนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้ได้ปริมาณ 80% จึงจะสามารถสร้างความอุ่นใจว่ามีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป ขณะเดียวกันเพื่อไม่ประมาทก็ได้วางแผนในการบริหารจัดน้ำในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาวะน้ำท่วมตามมาภายหลังอีกด้วย

ด้าน นายวราวุธ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงฯได้ปรับยุทธศาสตร์ในแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหามากขึ้น ทั้งให้การช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรช่วงฤดูฝน ป้องกันการเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้งหมด 5 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎรธานี

ทั้งนี้ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในการปฏิบัติการทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละศูนย์ประกอบด้วย หน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดต่างๆที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ และหน่วยปฏิบัติการ ซึ่งมีเครื่องบินปฏิบัติงานประจำฐานที่ตั้ง โดยบูรณการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลประเมินสถานการณ์ในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที ซึ่งขณะนี้แต่ละศูนย์อยู่ระหว่างการสร้างองค์ประกอบที่สมบูรณ์ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่1.ที่ทำการศูนย์ฯ2.พื้นที่เก็บสารทำฝนหลวง และ3.สถานีตรวจอากาศประจำภาค คาดว่าไม่เกิน 3 ปี ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เอ็นพีเอสเดินหน้าศึกษาพืชพลังงานผลิตไฟฟ้า

นายอภิชัย ซอปิติพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นพีเอส ในกลุ่มดับเบิล เอ เพาเวอร์ เปิดเผยถึง 2 โครงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ของบริษัท เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างในเขตสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จ.ปราจีนบุรี ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า 9 ขนาดกำลังการผลิต 125 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า 5A ขนาดกำลังการผลิต 98 เมกะวัตต์ โดยจะก่อสร้างเสร็จไตรมาส 4 ปี 57 และปี2558 ตามลำดับ โดยเมื่อแล้วเสร็จรายได้เอ็นพีเอสจะเพิ่มเป็น 17,850 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันเอ็นพีเอส มีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้วทั้งหมด 8 โรง กำลังการผลิตรวม 493 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังการผลิตรวมสูงสุดของประเทศ โดยไตรมาส 1/2556 ที่ผ่านมา มีรายได้ 3,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่โรงไฟฟ้าไอพีพี ถ่านหินเขาหินซ้อน 600 เมกะวัตต์ อยู่ในระหว่างการส่งเอกสารเพื่อจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพิ่มเติม( อีเอชไอเอ)

นายอภิชัย กล่าวด้วยว่า โรงไฟฟ้า 9 จะใช้เชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมด คือ ใช้ชิ้นไม้สับจากปลายไม้ และต้นพลังงาน ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ยูคาลิปตัส ที่เอ็นพีเอสวิจัยและพัฒนาให้มีคุณสมบัติเหมาะกับการนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากต้นพลังงานให้ค่าความร้อนสูง ใช้เวลาปลูกเพียง 2-3 ปี ก็สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ โดยมีความต้องการใช้ประมาณ 950,000 ตันต่อปี ซึ่งทางบริษัทฯ จะจัดหาด้วยการรับซื้อจากเกษตรกรในเขต จ.ปราจีนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่รอบโรงไฟฟ้ามีรายได้เสริม ประมาณ 1,235 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนั้น บริษัทฯ มีนโยบายที่จะพัฒนาเชื้อเพลิงชีวมวลอื่น ๆ หรือพลังงานที่ปลูกได้อย่างต่อเนื่อง เช่น หญ้าเนเปียร์ ทะลายปาล์ม เหง้ามันสำปะหลัง และซังข้าวโพด เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งกำลังจะหมดไปจากโลก-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชาวสามชุกร้องชลประทาน ปล่อยน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร

ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก นายบุญลือ รบอุดงค์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลสามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี และชาวบ้านซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนจากการปรับปรุงคันกั้นน้ำคลองท่าระกำ เนื่องจากน้ำล้นคันกั้นน้ำ เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายทุกปี

นายบุญลือ กล่าวว่า ชลประทานได้มีการก่อสร้างถนนคันกั้นน้ำบริเวณดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าทำไมเว้นช่วงระหว่างหมู่ 1 ต.สามชุก ระยะทางประมาณ 1.5 กม. ทำให้เมื่อถึงหน้าฝนน้ำทะลักจากคลองชลประทาน เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรทั้งไร่อ้อย ข้าว และพืชสวน ซึ่งมีประมาณ 1,000 ไร่ ได้รับความเสียหายทุกปี

เมื่อสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้องว่าเว้นไว้เพื่ออะไรแต่ไม่มีคำตอบให้ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนแบบนี้มานานกว่า 10 ปี ส่วนรายไหนที่เก็บเกี่ยวข้าวและอ้อยได้ก่อนที่น้ำจะมาก็โชคดีไป แต่ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชลประทาน จัดสรรงบประมาณสร้างคันกั้นน้ำที่เว้นไว้ เพื่อที่น้ำจากคลองจะได้ไม่ทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กรมโรงงานนำเทคโนโลยีฮ่องกง คุมกากอันตรายหลังพบโรงงานลักลอบทิ้งเพียบ

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า เตรียมนำระบบการบริหารจัดการกำจัดกากอุตสาหกรรม จากประเทศฮ่องกงซึ่งเป็นระบบที่นำเอาคลื่นวิทยุ (อาร์เอฟไอดี) มาใช้ในการติดตามกากอุตสาหกรรมอันตรายในไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้ง โดยจะมีการนำร่องติดตั้งกับระบบการกำจัดกากของเสียอันตราย 20 ประเภท ซึ่งมีโรงงานอยู่ในระบบกว่า 10,000 แห่งก่อน คาดว่าจะสรุปรายละเอียดได้ภายในเดือน ก.ค. นี้

“ที่ ผ่านมากรมฯได้ศึกษาดูงานเทคโนโลยีระบบระบุลักษณะของวัตถุด้วยคลื่นความถี่ วิทยุ ศูนย์โลจิสติกส์ และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และท่าเรือฮ่องกง นำโดยนายดล เหตะกูล ที่ปรึกษารมว.อุตสาหกรรม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการกำจัดกากอุตสาหกรรมในไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามาก เพราะในแต่ละปีมีโรงงานแจ้งขนกากอันตรายในไทย 2.45 ล้านตันแต่เข้าระบบจริงๆ เพียงกว่า 1 ล้านตันเท่านั้น ที่เหลือมีการลักลอบแม้ว่าจะมีการบังคับให้ติดตั้งระบบจีพีเอสในระขนส่งแล้ว แต่ก็ยังมีเทคนิคในการหลบหลีกได้ด้วยการนำถังกากออกมาแล้วปล่อยให้รถวิ่งไป ตามเส้นทางปกติ”

สำหรับระบบอาร์เอฟไอดีนั้นเป็นการนำเอาคลื่นวิทยุมาเป็นคลื่นพาหะใช้ในการอ่าน และเขียนข้อมูลจำนวนมากๆ เพื่อสื่อสารในระยะไกลโดยไม่ต้องอาศัยการสัมผัสการอ่านข้อมูล โดยจะนำแผ่นป้ายไปฝังไว้ในอุปกรณ์หรือติดกับวัตถุต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์, กล่อง หรือสิ่งของอื่นๆ ในการติดตามข้อมูลของวัตถุชิ้นนั้นๆ

ส่วนต้นทุนการดำเนินงานนั้นคงต้องไปบวกเป็นต้นทุนโรงงานที่เป็นผู้ก่อให้เกิด วัตถุอันตรายมากขึ้น โดยอาจคิดค่าบริการกำจัดกากเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งเนื่องจากตัวล็อคดังกล่าวราคาอยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อเครื่อง และมีค่าบริการเป็นรายเดือนอีกเฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท ต่อเครื่องแต่รหัสสามารถปรับเปลี่ยนได้ใหม่ ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงนักเมื่อเทียบกับความสามารถควบคุมการกำจัด กากให้ถูกกฏหมาย

นายณัฐพล กล่าวว่า ระบบอาร์เอฟไอดีที่จะนำมาใช้จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางคือผู้ก่อให้เกิดกาก อันตรายไปจนถึงผู้บำบัดซึ่งจะรวมถึงโรงงานรีไซเคิลของเสียที่มีอยู่ 400 กว่าแห่งด้วยเพราะเวลานี้พบว่ามีการระบุว่าจะนำไปรีไซเคิลแต่กลับนำไปทิ้ง จำนวนมาก

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อิมแพค ชวนเกษตรรุ่นใหม่ร่วมฟังสัมมนาเทคนิคการปลูกข้าวแนวใหม่ด้วยระบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว

อิมแพ็ค ร่วมกับ พิกซี่ เชิญผู้ประกอบการ และเกษตกรรุ่นใหม่ร่วมฟังโดยชาวนาวันหยุด ในงาน ISRMAX Asia 2013และ ISRMAX Horti & Agri Asia 2013งานเกษตรระดับภูมิภาค ที่รวบรวมนวัตกรรม และเทคโนโลยีเกี่ยวกับ ข้าว ข้าวโพด อ้อย น้ำตาล พืชผัก ผลไม้ และดอกไม้ เอาไว้ในงานเดียว งานเริ่มตั้งแต่วันที่ 15-17สิงหาคม 2556ณ อาคาร 5-6ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด จับมือกับ บริษัท พิกซี่ คอนซัลติ้ง โซลูชั่นส์ จำกัด จัดงาน ISRMAX Asia 2013 - งานเกษตรระดับภูมิภาค เพื่ออุตสาหกรรม ข้าว ข้าวโพด อ้อย และน้ำตาล พร้อมเปิดตัวงาน ISRMAX Horti & Agri Asia 2013งานเพื่ออุตสาหกรรมพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้ รวมไปถึง เครื่องจักรเกษตร ระบบคลังสินค้า และโลจิสติกส์ ที่อิมแพ็คจัดเป็นครั้งแรก ภายในงานไม่เพียงแต่เป็นงานเจรจาธุรกิจเท่านั้น ยังมีการเปิดสัมมนา และเวิร์คช็อปให้ความรู้จากวิทยากร และองค์กรชั้นนำอีกมากมาย โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 15-17สิงหาคม 2556ณ อาคาร 5-6ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายสุภชัย ปิติวุฒิ คนดังจากเฟสบุ๊ค “ชาวนาวันหยุด” เป็นหนึ่งในวิทยากรที่จะมาเปิดสัมมนาเรื่อง “เปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” ในงาน ISRMAX กล่าวว่า “แรงบันดาลใจของผมคือ เรามองเห็นปัญหาของชาวนา ที่เป็นแรงงานผู้สุงอายุ ไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอด ภาพการทำนาแบบเดิมๆ ทำแล้วยากจน โดยส่วนตัวผมคิดว่าคนที่ผลิตอาหารให้คนทั้งโลกควรจะมีสถานะทางสังคมที่ดีกว่านี้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง แล้วมาทดลองปลูกในนาจริง เมื่อสำเร็จก็นำความรู้มาถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจทางสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊คชาวนาวันหยุด หรือคลิปทางยูทูป”

นายสุภชัยยังกล่าวเสริมอีกว่า “ระบบเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าวนั้น เป็นวิธีปลูกข้าวแนวใหม่ ที่เป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต แก้ปัญหาแมลง และข้าวล้มได้ โดยระบบนี้สามารถลดต้นทุนให้เหลือ 3,000 – 4000บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิตได้ 1 – 1.4ตัน/ไร่ กำไรไร่ละ 10,000บาท กลุ่มเป้าหมายของผมคือ อยากให้คนรุ่นลูก คนรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ 25 – 35ปี เอาความรู้ตรงนี้กลับไปลองทำดู ไม่ได้ให้ทำทุกวันนะ กลับไปทำแค่วันเสาร์ – อาทิตย์ วันธรรมดาก็ทำงานประจำไปคู่กันไปได้ หากใครมีเวลาสามารถมาพบผมได้ที่ งานสัมมนาเรื่อง เปียกสลับแห้ง แกล้งข้าวได้ในงาน ISRMAX วันเสาร์ที่ 17สิงหาคม 2556เวลา 11.30 -12.15น. ห้อง ฟินิกซ์ 6อิมแพ็ค เมืองทองธานี”

อิมแพ็คขอเชิญชวนผู้สนใจในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการเกษตร สำหรับอุตสาหกรรมข้าว ข้าวโพด อ้อย น้ำตาล พืชผัก ผลไม้ และดอกไม้ พร้อมทั้งงานสัมมนา และเวิร์คช็อปให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศ ท่านจะได้พบกับคำตอบของทุกคำถามภายในงานเดียว ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2556 ณ อาคาร 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงานได้ที่ www.isrmaxasia.net, www.facebook.com/isrmaxasia, www.facebook.com/isrmaxagri ถ้าคุณคือเกษตรกรยุคใหม่ตัวจริงไม่ควรพลาดงานนี้!!

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

“พาณิชย์”ดันใช้เงินบาทค้าขายชายแดน

“พาณิชย์” เร่งผลักดันใช้เงินท้องถิ่นทำการค้าชายแดน ป้องกันผันผวน บี้แบงก์ชาติคลายกฎหมายการเงิน ให้ถือครองเกิน 2 ล้านบาท ช่วยลดค่าธรรมเนียมการโอน- ขยายเวลาเปิดปิดด่าน

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้เงินบาทหรือเงินสกุลท้องถิ่นในการทำการค้าชายแดนทั้งการซื้อและขายสินค้า เพื่อช่วยลดความความผันผวนจากค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจแก่เอกชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือไปภาคเอกชน เพื่อประสานไปยังเอกชนของเพื่อนบ้านให้ตั้งราคาสินค้าและชำระเงินเป็นเงินบาทหรือเงินสกุล

ขณะเดียวกันยังขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยายการถือเงินบาทออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านจาก 5 แสนบาทเป็น 2 ล้านบาท ผ่อนคลายกฎระเบียบการออกใบอนุญาตเป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนเงินตรา และเจรจากับเพื่อนบ้านผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงิน รวมทั้งขอให้ช่วยผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินบาทจาก ต่างประเทศมาไทย อีกทั้งขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาสนับสนุนเอกชนจัดตั้งคลังสินค้าชั่วคราว และความเป็นไปได้ในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนเพื่อนบ้านที่เข้ามา ซื้อสินค้าไทย การขยายเวลาเปิดปิดด่านสำคัญ ตลอดจนขอให้กรมการขนส่งทางบกให้พิจารณาโอนสิทธิรถบรรทุกที่ยังไม่ได้ดำเนิน การวิ่งข้ามแดน และเจรจากัมพูชาขอเพิ่มจำนวนรถขนส่งข้ามแดน

นางวัชรีกล่าวว่า ที่ผ่านมาการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 55 มีมูลค่าการค้ารวม 1.28 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การค้าชายแดนที่ผ่านด่านชายแดนมีสัดส่วน 71% มูลค่า 9.1 แสนล้านบาท และการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ผ่านด่านชายแดนมีสัดส่วน 29% มูลค่า 3.7 แสนล้านบาท โดยทำการค้ากับมาเลเซียมากที่สุด คิดเป็น 62% รองลงมา คือ เมียนมาร์ 16% ลาว 12% และกัมพูชา 10%

“ที่เป็นการค้าชายแดนกันจริงๆ คือ มูลค่า 9.1 แสนล้านบาท ตรงนี้น่าจะผลักดันให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยใช้เงินบาทและเงินสกุลท้องถิ่นมาทำการค้าขายระหว่างกัน นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ จะเน้นผลักดันให้มีการจับคู่ผู้ส่งออกสินค้าโอทอป และผู้ประกอบการรายกลางและย่อย (เอสเอ็มอี) กับพ่อค้าชายแดน การจัดงานแสดงสินค้าไทยในประเทศเพื่อนบ้าน และงานแสดงสินค้าประเทศเพื่อนบ้านในไทย รวมทั้งร่วมกันจัดงานแสดงสินค้าไทยและสินค้าประเทศเพื่อนบ้านในประเทศอื่น เช่น จีน”

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า การผลักดันสกุลเงินท้องถิ่นในการค้าชายแดนจะช่วยประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีสัดส่วนผลักดันการส่งออกของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยในด้านการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการเงิน คาดว่า ธปท. จะสามารถส่งเรื่องการถือเงินบาทออก และใบอนุญาตตัวแทนแลกเปลี่ยนเงินตราให้คลังพิจารณาได้ภายในเดือนมิ.ย.56 ส่วนการจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (บีเอสเอ) กับประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ระหว่างการเจรจากับเมียนมาร์และลาว โดยธปท. เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเจรจากับมาเลเซีย เพราะริงกิตมีสภาพคล่องสูง ส่วนกัมพูชา ยังไม่มีความต้องการใช้เงินเรียลหรือเงินบาทในการทำการค้าระหว่างประเทศ

ส่วนการขนส่งข้ามแดน ให้กรมการขนส่งทางบก พิจารณาอนุญาตให้มีการโอนสิทธิรถบรรทุกที่ยังไม่ได้ดำเนินการวิ่งข้ามแดนเข้ากัมพูชาอีกจำนวน 18 คัน เพื่อให้มีรถขนส่งข้ามแดนเต็มจำนวนที่ได้รับสิทธิ 40 คัน และเจรจากับกัมพูชาเพิ่มจำนวนรถขนส่งข้ามแดนของไทยให้เป็น 150 คัน และสามารถขนส่งข้ามไปยังเวียดนามได้ และส่งเสริมการลงทุนกับลาวในการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อใช้สิทธิการขนส่งข้ามแดนของลาว ซึ่งลาวมีข้อตกลงทวิภาคีกับไทย กัมพูชา เวียนดนามและจีน

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งการจับคู่ธุรกิจ โดยผลักดันให้มีการจับคู่ผู้ส่งออกสินค้าโอทอป และเอสเอ็มอีกับพ่อค้าชายแดน การจัดงานแสดงสินค้าไทยในประเทศเพื่อนบ้าน และงานแสดงสินค้าประเทศเพื่อนบ้านในไทย รวมทั้งร่วมกันจัดงานแสดงสินค้าไทยและสินค้าประเทศเพื่อนบ้านในประเทศอื่น เช่น จีน เป็นต้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 มิถุนายน 2556

อาเซียนส่อเค้าเปิดตัวเออีซีไม่ทันปี’58

นายเยิร์น ดอช นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยแห่งอาเซียน ซีไอเอ็มบี (CIMB ASEAN Research Institute : CARI) เปิดเผยว่า มีแนวโน้มที่ความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในการรวมตัวเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไม่น่าจะประสบความสำเร็จทันปี 2558 จากปัญหาการค้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนที่ไม่กระเตื้องในรอบ 10 ปี ประกอบกับแต่ละประเทศยังมีช่องว่างในการพัฒนาและช่องว่างทางการเมือง

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 2541 สัดส่วนการค้าภายในระหว่างอาเซียน (Intra-ASEAN Trade) ต่อสัดส่วนการค้าทั้งอาเซียนแทบไม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ปี 2541-2546 จะมีสัดส่วนเพิ่มจาก 21% เป็น 25.1% แต่หลังจากนั้นก็เคลื่อนไหวที่ 24-25% เท่านั้น แม้ว่าแผนงานการจัดตั้งเออีซีหรือเออีซี บลูปรินต์ จะให้ทยอยลดภาษีสินค้าตั้งแต่ปี 2550

อย่างไรก็ตาม ในทางตรงข้าม สัดส่วนการค้ากับประเทศที่มีการลงนามในอาเซียน บวก 1 โดยเฉพาะจีน กลับเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นักวิเคราะห์หลายคนจึงเชื่อว่าการค้าภายในอาเซียนจะไม่เติบโตมากกว่านี้ เพราะอาเซียนเป็นตลาดเล็ก แต่ละประเทศจึงมองการเติบโตกับประเทศอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแทน

นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ของการรวมตัวเป็นเออีซีอีกประการ คือ รัฐบาลของหลายประเทศยังขาดมุมมองเชิงลึกของการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และไม่ได้ทำให้ภาคเอกชนเกิดแนวคิดระดับภูมิภาคอาเซียน แต่ละประเทศจึงมุ่งแข่งขันกันเองมากกว่ารวมตัว รวมทั้งการปกครองที่แตกต่างกันทำให้ความร่วมมือไม่มีข้อผูกมัดที่ชัดเจน อาเซียนจึงต้องปรับแนวคิดแต่ละประเทศให้มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ลดช่องว่างที่เกิดขึ้นเพื่อให้เออีซีเกิดผลสำเร็จ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 22 มิถุนายน 2556

สถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพลยังน่าห่วง-เร่งทำฝนเทียม

สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลยังน่าเป็นห่วง แม้จะมีฝนตกต่อเนื่อง ทำใหกรมฝนหลวงฯ ต้องเร่งทำฝนเทียมเพื่อเติมน้ำเหนือเขื่อน รองรับความต้องการใช้ที่มีปริมาณมาก

กรมฝนหลวงและการบินเกษตรระบุถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล หลังจากได้ย้ายฐานการทำฝนเทียมมาอยู่ที่ลุ่มน้ำปิงและเหนือเขื่อนภูมิพล โดยระบุว่า 11 วันที่ผ่านมาได้ส่งเครื่องบินบินทำฝนเทียม 32 เที่ยว ปรากฏว่ามีฝนตก 10 วัน ได้ปริมาณน้ำเข้าเขื่อน 19 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังถือว่าวิกฤติ เพราะช่วงที่ผ่านมาปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลน้อยที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งทุกวันจะมีน้ำที่ต้องปล่อยเพื่อหมุนเวียนการสร้างระบบไฟฟ้าและชลประทานท้ายเขื่อน 19.28 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเพียง 2.88 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ถ้าไม่เร่งทำฝนหลวงเหนือเขื่อนภูมิพลน้ำจะขาดแคลนสำหรับการเพาะปลูกที่จะมาถึงแน่นอน โดยปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพลขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ 32 ของความจุอ่าง ซึ่งกรมฝนหลวงฯ มีเป้าหมายจะเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพลให้ได้ถึงร้อยละ 80 เพื่อรองรับสถานการณ์หน้าแล้งในปีหน้า.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 22 มิถุนายน 2556

KOFC เปิดเวทีรับฟังมุมมองเกษตรกรสู่AECดันสินค้าเกษตรไทย

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเดินหน้าเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เปิดเวทีรับฟังมุมมองจากเกษตรกรกลุ่มข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปศุสัตว์ พร้อมสำรวจความพร้อมของเกษตรกรก่อนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวในปี 58 หวังปรับใช้เป็นแนวทางกำหนดมาตรการผลักดันสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเดินหน้าเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ณ บุหงาส่าหรี รีสอร์ท อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองของเกษตรกรเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อเสนอแนะของเกษตรกรในภาคการผลิตสินค้า รวมทั้ง ติดตามและประเมินสถานการณ์ภาคการเกษตร เพื่อสำรวจความพร้อมของเกษตรกรไทยที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในปี 2558

สำหรับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นแผนงานบูรณาการที่ครอบคลุมการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจทุกด้านของประเทศสมาชิกอาเซียนไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ คือ ประการแรก การรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยการเปิดเสรีด้านสินค้า บริการและการลงทุน ซึ่งแผนงานการจัดตั้ง AEC ได้กำหนดให้มีการลดอุปสรรคและข้อจำกัดรูปแบบต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนอาเซียน ประการที่สอง การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก มีกฎหมายด้านการแข่งขันการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ประการที่สาม การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคโดยเน้นด้านการพัฒนา SMEs และการลดช่องว่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก และประการที่สี่ การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ทั้งในด้านการผลิต (การส่งเสริมและพัฒนาผู้ผลิตให้เข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกหรือ global supply network) การขยายโอกาสในการทำการค้าและการลงทุน โดยได้จัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTAs) ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาเป็นกรอบ ในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

ด้าน ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่ออาเซียนก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 การเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนย่อมส่งผลกระทบกับประเทศไทยทั้งด้านบวกและด้านลบ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการปรับตัวและการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับภาคการผลิต ซึ่งได้แก่ กลุ่มเกษตรกร/เกษตรกร ให้เกิดความตระหนักถึงโอกาสที่จะผลิตการค้าต่างๆ รวมถึงการรองรับผลกระทบโดยตรงที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรกรได้

ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมุ่งถ่ายทอดความรู้ด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับภาคการผลิต และสภาวะแวดล้อมทางการเกษตรของสมาชิกอาเซียนให้แก่เกษตรกร พร้อมรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะของเกษตรกรเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในภาคการผลิตสินค้า ทั้ง 6 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปศุสัตว์ ตลอดจนเป็นการสำรวจความพร้อมของเกษตรกรไทยที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปปรับใช้เป็นแนวทางกำหนดมาตรการผลักดันสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2556

หวั่นคิวอีกระทบไทยหนัก

“ศุภชัย”ห่วงคิวอี กระทบไทยหนัก บาทผันผวน หุ้น อสังหาฟองสบู่ อัดรัฐไม่ควรกดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย เชื่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเอเชียยังแข็งแกร่ง

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เปิดเผยว่า กรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ (คิวอี3) เป็นเรื่องที่ต้องระวังและเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังมีทางรับมืออยู่ เพราะต่อไปจะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับไปสหรัฐ และยุโรปมากขึ้น ทำให้ปริมาณเงินในตลาดลดลงและดอกเบี้ยมีโอกาสขึ้นอีก ทำให้การกู้เงิน การลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องระมัดวัง และผลตอบแทนอาจลดลง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดการผันผวนสูง

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเอเชียยังมีความแข็งแกร่ง จึงไม่อยากให้ภาครัฐดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแค่การลดดอกเบี้ยอย่างเดียว เช่น บาทอ่อนก็ลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยไม่เกี่ยวอัตราแลกเปลี่ยน แต่เกี่ยวกับเงินทุนไหลเข้าประเทศ จึงเห็นด้วยกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้คงดอกเบี้ย เพราะตอนนี้ต่างประเทศกำลังมองถึงการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เพื่อสกัดเงินเฟ้อในอนาคต เพราะคาดกันอีก 2 ปี เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐดี น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาสูงขึ้น จะเร่งให้เงินเฟ้อและความเสี่ยงฟองสบู่เกิดขึ้นได้ สำหรับวิธีการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน อาจใช้วิธีการพัฒนาตลาดเงิน เช่น สนับสนุนให้ออกพันธบัตรในรูปแบบเงินบาท

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 มิถุนายน 2556

ส.ป.ก.เร่งขับเคลื่อนนิคม'ศก.พอเพียง'

ทำมาหากิน : ส.ป.ก.เร่งขับเคลื่อนนิคม ศก.พอเพียง มุ่งสร้างความแกร่งเกษตรกรรับเออีซี : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

การขับเคลื่อนนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้การจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากศักยภาพการผลิตที่มาจากความต้องการและปัญหาของเกษตรกรที่เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนการรวมกลุ่ม การผลิตสินค้าคุณภาพ การสร้างเครือข่าย และการเชื่อมโยงตลาดสินค้า ถือเป็นแนวทางการพร้อมของเกษตรกรในการรับมือกับการเปิดประตู่สู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้

"ทิศทางการพัฒนานิคมเศรษฐกิจพอเพียงจากนี้ต่อไป ส.ป.ก.มุ่งหวังให้นิคมเหล่านี้พัฒนาไปสู่นิคมการเกษตร เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของเกษตรกรในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินต่อไปในอนาคต"

สุวรรณ บูราพรนุสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพท.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เผยแนวทางการทำงานภายใต้โครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ศักยภาพของพื้นที่และเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ

สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะเน้นไปที่การส่งเสริมการผลิตพืชเป็นรายสินค้า ซึ่ง ส.ป.ก.จะดูจากการจัดโซนนิ่งการผลิตพืชของกรมพัฒนาที่ดินทั้ง 6 ชนิด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศไปแล้ว จากนั้นจะถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดการกลุ่ม ให้ตอบสนองกับวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมพัฒนา จากปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ภายใต้หลักปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการลดต้นทุนการผลิต ศูนย์ต้นแบบ และการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

“การจัดทำแผนการดำเนินงาน เบื้องต้นของ ส.ป.ก. ได้ทำความเข้าใจกับทุกจังหวัดถึงแนวทางการขับเคลื่อนนิคมเศรษฐกิจพอเพียง โดยปีนี้ ส.ป.ก.ได้ส่งเจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดเข้าไปเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน พร้อมศึกษาศักยภาพของแต่ละชุมชน เริ่มตั้งแต่ปัญหาของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญกับการผลิตพืชทุกประเภท และการเลี้ยงสัตว์"สุวรรณกล่าวและว่า

ดังนั้นการลงพื้นที่สำรวจจัดทำแผนชุมชนร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน ส.ป.ก.จะส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักพัฒนาพื้นที่เข้าไปร่วมด้วย เพื่อดูโครงสร้างพื้นฐานให้กับชุมชน หากชุมชนใดมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างแหล่งน้ำ ส.ป.ก.จะทำแผนจัดหางบลงทุนเพื่อดำเนินการต่อไป นับเป็นการทำงานให้จบในกระบวนการเดียวในเวทีชุมชนตรงนั้น

ผอ.สพท.ย้ำด้วยว่าสำหรับในปีงบประมาณ 2557 สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพท.) โดยกลุ่มวิชาการพัฒนารายพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่เพื่อดำเนินงานโครงการนิคมการเกษตร และโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งสิ้น 63 จังหวัด ประกอบด้วย โครงการนิคมการเกษตร จำนวน 10 จังหวัดได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร สุราษฎร์ธานี สระแก้ว สุโขทัย กระบี่ ชลบุรี ลำพูน และร้อยเอ็ด

และโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 15 จังหวัดได้แก่ ตาก ยโสธร น่าน เลย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ตรัง ตราด ศรีสะเกษ เชียงราย บึงกาฬ นราธิวาส สระบุรี และบุรีรัมย์ ส่วนที่เหลืออีก 38 จังหวัด จะเป็นโครงการนิคมที่พัฒนาต่อเนื่องในปี 2556 และโครงการนิคมพัฒนาศักยภาพปี 2549-2555

จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนนิคมต่างๆ ส.ป.ก.มุ่งหวังว่า เกษตรกรจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต จากรูปแบบการจัดการที่ดินในลักษณะการเป็นนิคม โดยที่ส.ป.ก.จะคอยเป็นพี่เลี้ยง ดูแลและทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกนิคมมีความความเข้มแข็ง มีเครือข่ายการผลิต การแปรรูป การตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนอย่างเหมาะสมมากที่สุด รวมถึงการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออกเพื่อเตรียมพร้อมแข่งขันกับการเปิดเสรีทางการค้าที่จะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 21 มิถุนายน 2556

จังหวัดขอนแก่นประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำครั้งที่ 2/2556 จัดทำแผนส่งน้ำให้เกษตรกรเนื่องจากน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำน้อย

.ขอนแก่น ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำครั้งที่ 2/2556 จัดทำแผนส่งน้ำให้เกษตรกรเนื่องจากน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำน้อย นายทรงพล จำปาพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดจัดขอนแก่นเพื่อทำแผนการส่งน้ำให้กับเกษตรกรในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายตามที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เขต 12 (นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล)ตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตข้าวและยุทธศาสตร์ข้าวแต่เนื่องจากขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2556มีปริมาณน้ำเก็บ 696.87 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 6.63 ของปริมาณน้ำใช้งานทั้งหมดเมื่อพิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดขอนแก่นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎรผู้ใช้นำทั้งเหนือน้ำและท้ายน้ำประกอบกับอุตุนิยมวิทยาคาดหมายว่าฝนจะทิ้งช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2556 ทำให้น้ำระเหย 800,000 ลบ.ม/วัน

ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น เรื่องสถานการณ์ภัยแล้ง มี 3 อำเภอคือซำสูง แวงน้อย น้ำพองประกาศยุติภัยแล้งแล้วมีหมู่บ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร456 หมู่บ้าน เจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม 53 บ่อ จ้างแรงงานทำฐานวางถังน้ำ 2,128 แห่ง ด้านการเกษตรกรมส่งเสริมการเกษตรการให้ความช่วยเหลือจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2555 จำนวน 25 อำเภอ 60,000 ครัวเรือนงบ 280 ล้านบาท ส่วนเรื่องการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน ใน 30 วัน นี้วันละ 300,000 ลบ.ม. และจะมีการประชุมติดตามผล 1 เดือน และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จัดทำแผนปลูกพืช ปี 2556 ข้าว 251,957 ไร่พืชไร่-ไม้ดอก-ไม้ผล777ไร่ บ่อปลา 7,810 บ่อ นางทรงพล จำปาพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ปีนี้แล้งกว่าทุกปี ทางจังหวัดขอนแก่นกำหนดให้ระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ใน 30 วัน นี้วันละ 300,000 ลบ.ม.และกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศจังหวัดขอนแก่น เป็น 1 ใน 40 จังหวัดที่คงประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
พิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ข่าว/พิมพ์ นายคันฉัตร เพียรวิจัยธรณี ส.ปชส.ขอนแก่น

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 21 มิถุนายน 2556

ปีเพาะปลูก 2556/57 ข้าวมีปริมาณเพิ่มขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการพยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ปี 2556/57 โดยในส่วนของข้าว เดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังปีเพาะปลูก 2555/56 ที่ใกล้จะสิ้นสุดฤดูกาล ผลผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 10 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่แล้ว 2.25 ล้านตันและอยู่ในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2556/57 ซึ่งเกษตรกรจะปลูกมากในเดือนกรกฎาคม 2556 คาดว่าผลผลิตรวม ทั้งประเทศ 28.4 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.8 ล้านตัน สำหรับข้าวนาปี ปี 2556/57 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาข้าวจูงใจ ประกอบกับปีที่แล้วเกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกเร็วขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย ไปปลูกในเดือนเมษายนซึ่งเป็นข้าวนาปรัง แต่ในปีนี้คาดว่าจะกลับมาปลูกตามปกติคือเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ภาพรวมเนื้อที่เพาะปลูกยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ รวมทั้งสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ไม่ประสบภัยแล้งเหมือนปีที่แล้ว โดยผลผลิตปี 2555/56 ข้าวนาปี มีผลผลิต 26.59 ล้านตัน ปี 2556/57 คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 28.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.95

ในส่วนผลพยากรณ์ปริมาณการผลิตพืชไร่ ปี 2556/57 ในเดือนมิถุนายน 2556 คาดว่า สินค้าที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น จำนวน 3 สินค้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังโรงงาน และอ้อยโรงงาน ส่วนสินค้าที่มีปริมาณการผลิตลดลง จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ถั่วเหลืองและสับปะรดโรงงาน โดยในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนถั่วเหลืองที่เป็นพันธุ์หายากและมีราคาสูง สำหรับผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย ซึ่งปี 2555/56 มีผลผลิต 4.78 ล้านตัน ปี 2556/57 คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 4.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 มิถุนายน 2556

น้ำตาลขอนแก่น ตั้งพร็อพฟันด์ปีนี้ คาด” กำไรขยับ”

น้ำตาลขอนแก่นแจงนักวิเคราะห์ คาดสรุปแผนการตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 4 นี้ และหวังกำไรไตรมาส 3 ขยับหลังราคาน้ำตาลโลกฟื้นตัว โบรกประเมินอาจเป็นช่วงที่กำไรสูงสุดของปี ขณะที่ธุรกิจเอทานอลและโรงไฟฟ้าช่วยหนุน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ผู้บริหารบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (KSL)ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกว่าจะทยอยฟื้นตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับมุมมองของบริษัทน้ำตาลอื่นๆ ในกลุ่ม ภายหลังจากที่ความกังวลจากอุปทานล้นตลาดเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลจากสถาบนวิจัยชั้นนำ ที่คาดว่าปี 2556/57 จะมีส่วนเกินผลผลิตน้ำตาลโลกเพียง 3.2 ล้านตัน เทียบกับส่วนเกินที่มากถึง 10.2 ล้านตันในปี 2555/56

“ ผู้บริหารบริษัทน้ำตาลขอนแก่น เชื่อว่าราคาน้ำตาลโลกช่วง 12 เดือนข้างหน้า น่าจะ เคลื่อนไหวที่ระดับ 19-20 เซนต์/ปอนด์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อราคาขายเฉลี่ยของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ในปี 2555/56 เนื่องจากได้ทำสัญญาขายล่วงหน้าสำหรับผลผลิตปี 2555/56 ทั้งหมดแล้วเช่นเดียวกับที่ระดับ 21.5 เซนต์/ปอนด์ใกล้เคียงกับมสติฐานของฝ่ายวิจัยที่กำหนดไว้ที่ 21 เซนต์/ปอนด์ นักวิเคราะห์กล่าว”

เขากล่าวว่า ความคืบหน้าของการลงทุนในธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดบริษัทได้เข้าทำการซื้ออาคาร ลิเบอร์ตี้ สแควร์ และคาดจะเริ่มรับรู้กำไรเป็นครั้งแรกในงวดไตรมาส 3 ปี 55/56 โดยเฉลี่ยราว 15 ล้านบาทต่อไตรมาสประเด็นเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้

ฝ่ายวิจัยประเมินว่า แนวโน้มกำหนสุทธิ ไตรมาส 3 จะปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 720 ล้านบาท หรือเติบโต 30% จากงวดไตรมาส 2 เป็นผลจากธุรกิจน้ำตาลทราย โดยปริมาณขายน้ำตาลทรายส่งออกในประเทศไทย ที่จะปรับตัวสูงขึ้นทำระดับสูงสุดของปี 2555/2556 ตามช่วงฤดูกาลขายน้ำตาลโลก ขณะเดียวกันงวดไตรมาส 3 บริษัทมีการส่งมอบน้ำตาลทรายปริมาณรวม 3.6 หมื่นตันของธุรกิจในกัมพูลา และลาวซึ่งเทียบจากงวดก่อนหน้าที่ไม่มีการส่งมอบเลย และธุรกิจต่อยอด ได้แก่ ธุรกิจเอทานอลคาดว่ายังแข็งแกร่งต่อเนื่อง

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลไทยที่ประกาศยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 91 และนโยบายสนับสนุนรถยนต์คันแรก จึ่งทำให้ความต้องการใช้เอทานอลสำหรับเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นอย่างมีนัย ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าอาจชะลอตัวเล็กน้อยตามช่วงฤดูกาลหีบอ้อยหมดลง ทำให้มีผลพลอยได้จากกระบวนการลิตน้ำตาลลดลง จึงเหลือวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าไม่มากนัก

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า บริษัทน้ำตาลขอนแก่นกำไรฟื้นตัวในไตรมาส 3/56 คาดว่าปริมาณขายน้ำตาลจะขยายตัวขึ้น 50% จากไตรมาส 2/56 และในไตรมาส 3/56 แต่อัตรากำไรจะยังคงอ่อนแอตามราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าราคาขายน้ำตาลของบริษัทในปี 2556 จะลดลงเหลือ 21.5 เซนต์/ปอนด์ จาก 27 เซนต์/ปอนด์ ในปี 2555 สำหรับปี 2556/57 คาดว่าปริมาณน้ำตาลโลกที่ล้นตลาดจะอยู่ที่ระดับ 3 ล้านตัน

ทั้งนี้ มีมุมมองเชิงบวกต่อธรุกิจเอทานอลและธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งราคาเอทานอลได้ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 15% สู่ระดับ 23 บาทต่อลิตร หลังจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกการาขายน้ำมันเบนซิน 91 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ โครงการรถยนต์คันแรกของภาครัฐมีส่วนช่วยให้ความต้องการบริโภคเอทานอลเพิ่มขึ้นถึง 80% สู่ระดับ2.5 ล้านลิตรต่อวัน

ขณะเดียวกัน ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 3,400 บาท/เมกะวัตต์ชั่วโมง ในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ จากระดับ 3,200 บาท ในปี 2555 ทำให้เราคาดว่า กำไรที่มาจากธุรกิจเอทานอลและธุรกิจโรงไฟฟ้าจะมีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของกำไรในปี 2556 ของบริษัท จากเดิมมีสัดส่วน 40%

“ปัจจัยบวกหลักของบริษัทตอนนี้ คือการจำหน่ายสินทรัพย์และการแผนการขยายกำลังการผลิตของโรงงานในจังหวัดขอนแก่น และมีแผนที่จะขายอาคารสำนักงานซึ่งอาจมากกว่า 1 แห่ง เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ช่วงปลายปีนี้” นักวิเคราะห์กล่าว

นักวิเคราะห์ หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส กล่าวว่า จากประชุมนักวิเคราะห์กับบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มราคาน้ำตาลมากขึ้น คาดว่าใกล้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว จากคาดการณ์ปริมาณผลผลิตน้ำส่วนเกินของโลกปีหน้าลดลงค่อนข้างมาก ส่วนระยะสั้น แนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 3/56 จะเติบโตต่อเนื่องและอาจเป็นกำไรสูงสุดของปีนี้ เพราะเป็นช่วงฤดูกาลคึกคักของการขายน้ำตาลประกอบกับธุรกิจพลังงานค่อนข้างสดใส และยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ไว้ที่ 2.1 พันล้านบาท

การเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ในเดือนมิถุนายน 2556 ราคาปรับลดลงต่อเนื่อง 11.02 % จากราคา 12.70 บาทเป็น 11.30 บาท โดยราคาเคยปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ 11.10 บาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2556

3 สมาคมวิชาชีพประสานเสียง จี้รัฐเดินหน้ายกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา 3 สมาคมวิชาชีพ ประกอบด้วย สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, สมาคมพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทย, สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ทุกชนิด โดยในแถลงการณ์เสนอให้รัฐบาลห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ทันที รวมทั้งห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ภายใน 3 ปีนับจากปัจจุบัน เพื่อเป็นการปกป้องประชาชนจากอันตรายที่เกิดจากการใช้แร่ใยหิน

ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ผู้แทนสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมได้เข้าร่วมเป็น คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่มอบให้กระทรวงสาธารณสุขทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ โดยมีการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง เพื่อหาข้อสรุป ดังนั้น 3 สมาคมวิชาชีพจึงได้หารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะมีการแสดงจุดยืนต่อสาธารณชน โดยยึดตามหลักฐานข้อมูลวิชาการ เพื่อยืนยันว่าแร่ใยหินไครโซไทล์และแร่ใยหินทุกประเภทเป็นตัวก่อมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และขอให้คณะกรรมการเร่งสรุปผลที่เป็นการปกป้องประชาชน

ทั้งนี้ได้เสนอแนะไปยังรัฐบาลให้เร่งดำเนินการใน 5 ข้อ คือ 1.ยกเลิกใช้แร่ใยหินทุกชนิด ห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ทันที และห้ามผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ภายใน 3 ปีนับจากปัจจุบัน, 2.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารทดแทนที่ปลอดภัยกว่าแร่ใยหิน, 3.ใช้มาตรการป้องกันการได้สัมผัสแร่ใยหินที่มีอยู่ในปัจจุบัน, 4.ปรับปรุงการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษา การฟื้นฟู และพัฒนาระบบ เพื่อเฝ้าระวังต่อไป และ 5.จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน

รศ.ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทนสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กล่าวว่า แร่ใยหินเป็นเรื่องเดิมที่เรื้อรังมานาน ทั่วโลกต่างทราบกันดีถึงภัยอันตราย หลายประเทศได้ยกเลิกการนำเข้าและเลิกใช้ไปแล้ว หากไทยยืนยันใช้ต่อไป จะต้องมีการพัฒนาคน พัฒนาเครื่องมือควบคุม และติดตามผลกระทบ แต่ก็ไม่มีอะไรมารับรองความปลอดภัยได้ 100%

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2556

เดินหน้าทำฝนหลวง เกษตรแจง4จว.อีสาน ยังคงประสบภัยแล้ง แม้ล่วงเข้าสู่‘ฤดูฝน’

ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยจังหวัดที่อยู่ในการปฏิบัติการทำฝนหลวง 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ยังคงประสบภัยแล้งอยู่ถึงแม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม

นายปนิธิ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกรมฝนหลวง และการบินเกษตร กล่าวภายหลังจากการขึ้นบินสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ทางการเกษตรที่อยู่ในความรับผิดชอบ ขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งในเขตจังหวัดชัยภูมิ-สุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ ถึงแม้ว่าในช่วงนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนว่า ฝนที่ตกส่วนใหญ่ ตกที่ท้ายอ่างจึงเป็นปัจจัย ที่ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำหลักๆ 4 จังหวัดนี้ น้อยกว่าเกณฑ์ ที่คาดการณ์เอาไว้ หากเปรียบเทียบกับทุกปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตร ยังเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นทำการโปรยสารเคมีทำฝนหลวง ด้วยเครื่องบินลำเลียง แบบ บีที 67 ที่บรรทุกสารทำฝนหลวงได้ มากกว่า 3 ตัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ถึงวันที่ 19 มิ.ย. รวม 81 เที่ยวบิน ซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง โดยมีฝนตกเฉลี่ย 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในอ่าง และพื้นที่ทำการเกษตรได้ ดังนั้นทางศูนย์ปฏิบัติการทำฝนหลวงอาจจะมีการปรับแผนการทำงาน โดยเพิ่มจำนวนบิน จาก 2 เที่ยวต่อวัน เป็นวันละ 3 หรือ 4 เที่ยวบิน แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้องดูสภาพอากาศว่ามีความเหมาะสมที่จะขึ้นปฏิบัติการหรือไม่

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2556

เปิดหลักสูตร นักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ - เกษตรทั่วไทย

นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยถึงการจัดอบรมหลักสูตร “นักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.)” รุ่นที่ 2 ว่า สำนักงาน กปร. ต้องการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานสนองพระราชดำริ จากทุกส่วนราชการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรท้องถิ่นต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วมกันในการที่จะรับฟังองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบ การณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการสนองพระราชดำริโดยตรง

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้จากส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการประสานความร่วมมือซึ่งกันและกันในการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดผลสำเร็จ และกระจายไปยังประชาชนในทุกพื้นที่ที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศถึง 4,350 โครงการ ได้รับประโยชน์โดยทั่วกันโดยเฉพาะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานให้กับประชาชนคนไทย ปัจจุบันมีตัวอย่างที่ชัดเจนในทุกกลุ่มอาชีพ ดังนั้น จึงควรเผยแพร่ไปสู่ประชาชนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะอาชีพค้าขาย หรือเป็นเกษตรกร รวมไปถึงธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ก็สามารถที่จะนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ ซึ่งตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้ ปัจจุบันมีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

การฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานสนองพระราชดำริมาอย่างยาวนาน อาทิ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐพงศ์ ทองภักดี นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. อดีตเลขาธิการ กปร. ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถหล่อหลอมองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างหลากหลายมิติ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันสืบสานพระราชดำริให้บังเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนสูงสุด

“การฝึกอบรมในรุ่นที่ 2 จะเน้นส่วนการปฏิบัติหรือการสัมผัสกับตัวอย่างความสำเร็จให้มากขึ้น โดยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้จะได้เรียนรู้จากตัวอย่างโครงการและประชาชน ชุมชน ที่มีองค์ความรู้ในการสนองพระราชดำริอย่างแท้จริง เพื่อถ่ายทอดไปสู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล หรือ อบจ. เพื่อที่จะสามารถนำแนวพระราชดำริ ขยายผลสู่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากนั้นก็จะมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” เลขาธิการ กปร. กล่าว

ด้าน นายชัชชัย ภูวิชยสัมฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า การจัดอบรม นบร. รุ่นที่ 2 นี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริหารในส่วนราชการต่าง ๆ ได้มาพบกันเพื่อร่วมกันทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการทำงานในการสนองงานตามแนวพระราชดำริ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับพี่น้องชาวไทย นอกจากนี้ยังเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนให้แก่พสกนิกรชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องและได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สร้างประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชน

“นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับทราบถึงบริบท สถานการณ์ในประเทศไทย โดยคำนึงถึงโอกาส จุดด้อย และจุดเด่นต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ นับเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะเป็นแหล่งสำคัญที่จะผลิตอาหารให้กับชาวโลก ฉะนั้นการเชื่อมโยงงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อการผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้แนวทางในการพัฒนาประเทศมีความมั่นคงยิ่งขึ้น” นายชัชชัย ภูวิชยสัมฤทธิ์ กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วัน ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นายกรัฐมนตรี สั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปตัวเลขข้อมูลการจัดโซนนิ่งเกษตร และรายงานที่ประชุมการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนสัปดาห์หน้า

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับประชาชน ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำข้อมูลการจัดโซนนิ่งเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่โซนนิ่งข้าวกลับมารายงานที่ประชุมการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนรับทราบในสัปดาห์หน้า เพื่อวางแนวทางการบริหารงานที่ดินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับข้อมูลการจัดโซนนิ่งเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำเสร็จแล้ว พบว่า มีเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ 2 ประเภท คือ เกษตรกรที่ยอมปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกตามคำแนะนำของรัฐบาลที่จัดพื้นที่โซนนิ่ง และเกษตรกรที่ยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ซึ่งแยกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ยังไม่ทราบนโยบายและรายละเอียดที่ชัดเจน และกลุ่มที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนแม้ว่าจะมีการชี้แจงข้อมูลแล้ว ซึ่งการประชุมครั้งหน้ากระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้พิจารณามาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่เหมาะสม ทั้งนี้ การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช 6 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกระทรวงเกษตรฯ โดยจะวิเคราะห์จากความเหมาะสมของที่ดินกับปัจจัยความต้องการของพืชแต่ละชนิดตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืชร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทาน

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนเขตพื้นที่ที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศว่า มีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าวทั่วประเทศ 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด หากเกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพการผลิตข้าวจะอยู่ที่ 715 กิโลกรัมต่อไร่ ณ ความชื้นร้อยละ 14 ขณะที่ผลผลิตในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วไปจะอยู่ที่ 600 กิโลกรัมต่อไร่

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รวมกลุ่มลดต้นทุนมุ่งสู่วิถีเกษตรอินทรีย์

อาชีพหลักของชาวหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา คือการทำเกษตรพวกเขาปลูกข้าวและข้าวโพดเป็นหลัก ดังนั้น สุขภาวะในระบบ กสิกรรมและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ปัจจุบันทุกคนตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนทวีความรุนแรงขึ้น สารเคมี ยาฆ่าแมลง สร้างปัญหาต่อแหล่งน้ำและดิน ซึ่งเป็นต้นทุน สำคัญ ขณะที่ชาวไร่ชาวนาเองก็ประสบปัญหาจากต้นทุนการปลูกที่ต้องพึ่งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงซึ่งมีราคาสูงขึ้น

ชาวตำบลหนองหล่มจึงได้ก่อตั้ง กลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มเกิดขึ้นใน พ.ศ.2533 จากฐานคิดที่ว่า ถ้าต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งจากผู้ค้าวัสดุอุปกรณ์ด้านการเกษตรและพ่อค้าคนกลางผู้กำหนดราคาสินค้า ในขณะที่การรวมกลุ่มสามารถสร้างการต่อรองได้ ธีรเดช พินิจ ประธานกลุ่มเล่าว่า เมื่อก่อนเขาบอกราคามาเท่าไหร่ เราก็ต้องซื้อเท่านั้นเพราะต่างคนต่างซื้อ แต่พอรวมกลุ่มกัน เราสามารถต่อรองกับร้านค้าในเมือง ได้ การรวมตัวกันในนามกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มคือหนทางหนึ่งซึ่งเป็นทางออก ของปัญหาดังกล่าว พวกเขามีวิธีบริหารจัดการที่เข้มแข็ง และช่วยแก้ปัญหาบางประการได้จนกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน ระบบเกษตรและสิ่งแวดล้อม

ธีรเดช ประธานกลุ่มยังได้เปิดเผยอีกว่า กลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มกำหนดให้สมาชิกถือหุ้น ได้ในราคาหุ้นละ 10 บาท โดยคนหนึ่งต้องถือได้น้อยกว่า 5 หุ้น อีกทั้งยังมีการให้สมาชิกออมหุ้นปีละ 200 บาท อย่าง ต่อเนื่อง ทำให้เกิดเงินทุนราวแปดหมื่นกว่าบาทโดยต้นทุนนี้จะใช้สำหรับซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรที่จำเป็นในราคาที่ต่อรองแล้วกับผู้ขาย จากนั้นก็นำมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในระบบผ่อนส่ง ซึ่งมีราคาต่ำกว่าที่เกษตรกรซื้อจากร้านค้าทั่วไป การทำเช่นนี้ทำให้ในแต่ละปี กลุ่มเกิดผลกำไรจากการทำธุรกิจ และผลกำไรนี้ก็หมุนกลับมาเป็นเงินปันผลแก่สมาชิกอีกต่อหนึ่ง

ทุกวันนี้เมื่อการรวมตัวเป็นกลุ่มชัดเจน การช่วยเหลือเรื่องต้นทุนเห็นผล แผนงานของกลุ่มก็ขยายต่อเนื่องไปอีกเพื่อผลดีในระยะยาว นั่นคือการพยายามพัฒนาผืนดินอันเป็นต้นทุนของการเกษตรให้มีคุณภาพดีขึ้นโดยหันมาส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี ที่แหล่งเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มจึงเป็นโรงทำปุ๋ยสำหรับขายให้สมาชิกในราคาถูกด้วย และในการพัฒนาดินกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มก็ได้มีการส่งเสริมทั้งการปลูกถั่ว ปอเทือง ทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อให้สมบูรณ์ครบทั้งการบำรุงดินและให้อาหารพืชทางใบ

ธีรเดช ประธานกลุ่มยังเล่าถึงโครงการ ที่พวกเขากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือการสร้างโรงปุ๋ย ในครั้งแรกได้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 50,000 บาท จากสหกรณ์จังหวัดพะเยา สถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดพะเยา และเกษตรอำเภอให้การสนับสนุนโดยส่ง ตัวแทนกลุ่มไปเรียนรู้ดูงานจากมหาวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา หลังจากนั้นตัวแทนได้กลับมาถ่ายทอดต่อให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม

จากการส่งเสริมของเทศบาลตำบลหนองหล่ม เบื้องต้นการผลิตปุ๋ยยังเป็นไปเพื่อแจกจ่ายทดลองใช้ ต่อมาเมื่อสมาชิกเห็นว่าปุ๋ยมีคุณภาพดีแล้วก็เริ่มจำหน่ายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท โดยกำลังการผลิตเพียงพอที่จะแจกจ่ายแก่สมาชิกระบบการเกษตรให้มีความยั่งยืนและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค นั่นคือ การทำเกษตรอินทรีย์

ที่นี่ยังมีตัวอย่างของเกษตร แบบผสมผสาน ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของตลอดทั้งปี นั่นก็คือ สวนของลุงเสน่ห์ จิตจันทร์ ซึ่งทำเกษตรแบบผสมผสาน ในพื้นที่ 5 ไร่ มีทั้งมะเขือยาว มะนาว ฝรั่ง มะละกอ ผักกาด ลำไย ไม้กฤษณา บ่อเลี้ยงปลา ฯลฯ ลุงเสน่ห์เล่าว่า ตนพยายาม เลือกชนิดที่ให้ผลผลิตในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะทำให้ไร่แห่งนี้สามารถสร้าง รายได้ตลอดทั้งปี

อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยน แต่จากการไปดูงานและการศึกษาของแกนนำในหลายๆ ที่ พวกเขาตระหนักว่าศักยภาพของพื้นที่และบุคคลในหนองหล่มไม่ได้ด้อยกว่าเกษตรกรที่อื่น หนองหล่มมีดินที่ดี มีแหล่งน้ำ มีคนที่รักสามัคคี พร้อมจะแบ่งปันความรู้ให้กันและกัน เบื้องต้นนั้นพวกเขาตกลงกันว่าจะเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ บางส่วนในกลุ่มแกนนำก่อนโดยต่อยอดมาจากการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวคิด "กินทุกอย่างที่ปลูก และปลูกทุกอย่างที่กิน" และเชื่อว่าถ้าได้ผลดีก็จะมีการขยายผลต่อไปได้ในอนาคต

การดำเนินการอย่างเข้มแข็งจริงจังของกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองหล่มทำให้เกิดเครือข่ายการพัฒนากลุ่มเกษตรกร ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นว่า ต่อไปในอนาคตเมื่อได้ลงมือทำอย่างจริงจังไปสักระยะหนึ่ง พวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างพอเพียง พึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องเสียค่ายาเพื่อรักษาความเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมี อีก ผู้บริโภคก็จะเกิดความมั่นใจและปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมของหนองหล่มให้ดีด้วย

ปัจจุบัน เทศบาลตำบลหนองหล่ม ได้เป็นหนึ่งใน "ตำบลสุขภาวะ" โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ซึ่งนับเป็นตำบล ที่ได้ขับเคลื่อนตามโครงการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทส.เดินสายแจงผู้ว่าปลูกป่า 800ล้านกล้าภายใต้แผนแม่บท1หมื่นล้านฟื้นฟู-อนุรักษ์25ลุ่มน้ำ

นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทส.ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำและโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินี ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ในการฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า และระบบนิเวศ 25 ลุ่มน้ำ โดยใช้เงินกู้ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมาได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ดำเนินโครงการมาประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินการ เพื่อให้ได้ผลสำเร็จตามแผนที่วางเอาไว้

สำหรับการดำเนินโครงการนั้นทาง ทส. ได้แบ่งงานให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 135 ล้านกล้าสำหรับการเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ และสนับสนกล้าไม้ อีกไม่น้อยกว่า 180 ล้านกล้า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการเป็นแหล่งดูดซับน้ำ กักเก็บน้ำ และชะลอการไหลของน้ำ พร้อมทั้งเสริมความชุมชื่นของระบบนิเวศน์ การป้องกัน อนุรักษ์ดิน และน้ำ โดยการจัดทำฝายถาวรและกึ่งถาวร ไม่น้อยกว่า 2,300 แห่ง และปลูกหวายอีกจำนวน 15,000 ไร่ม้ โดยในปี 2555 ได้รับงบประมาณ จำนวน 925.25 ล้านบาท และได้รับอนุมัติแผนแม่บทการฟื้นฟูป่าและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ ใน 25 ลุ่มน้ำ ในวงเงินอีก 10,000 บาท ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเวลา 5 ปี คือตั้งแต่2556-2560

นอกจากนี้ยังให้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการปลูกป่าทดแทนและฟื้นฟูเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และในส่วนของปลายน้ำ ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝัง ร่วมกันดำเนินการ ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้น จะให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีการจั้งคณะทำงานปฏิบัติงานระดับจังหวัด เพื่อสำรวจ คัดเลือก และรับรองความถูกต้องของพื้นที่รวมทั้งการทำพิกัดของหน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ลงนามรับรองความถูกต้องของข้อมูล และมีการตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ จำนวน 3 คณะ คือคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) คณะกรรมการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เพื่อรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะต่อไป ซึ่งเชื่อว่าโครงการปลูกป่าครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และวัดผลได้ ไม่ล้มเหลวเหมือนโครงการปลูกป่าที่ผ่านๆมา

จาก http://www.naewna.com  วัน ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer เดินหน้าสร้างเกษตรกรปราดเปรื่องด้านบัญชี ต้นแบบ 77 จังหวัด

นายวิจักร อากัปกริยา อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer ตามภารกิจของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีภารกิจในการสร้างความเข้มแข็งและโปร่งใสในการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์พัฒนาระบบบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชีให้เหมาะสมกับธุรกิจของสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร ฝึกอบรมคณะกรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ และฝ่ายจัดการ ประมวลผลและรายงานภาวะเศรษฐกิจทางการเงิน เพื่อบ่งชี้แนวทางการพัฒนาสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกมีความศรัทธา เชื่อถือ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาอย่างยังยืน

ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาส่งเสริมให้เกษตรกร เยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้รู้จักการจัดทำบัญชีรายรับ-จ่ายในครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดทำบัญชี และวิเคราะห์ต้นทุน นำไปวางแผนการผลิตช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีการออมเงินอย่างเป็นระบบ สามารถพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งในครอบครัว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดังนั้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้ร่วมผลักดันนโยบายรัฐบาล กระทรวงเกษตรสหกรณ์ ตามภารกิจและบทบาทในการพัฒนาเกษตรกร ให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โดยในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว โดยคัดเลือก Smart Farmer ต้นแบบด้านบัญชีในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 77 ราย ตามคุณสมบัติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กำหนด ซึ่งจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี มีการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพอย่างต่อเนื่อง สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาต้นทุนและกำไรขาดทุน จากการประกอบอาชีพได้ มีการวางแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการผลิต มีรายได้ มีเงินออม สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ การจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพให้กับชุมชนได้ นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้กำหนดแนวทางการสร้างเกษตรกรปราดเปรื่องด้านบัญชี โดยขับเคลื่อนภายใต้สถาบันเกษตรกรที่บริหารจัดการที่ดี โดยตั้งเป้าหมายให้สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรที่ใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (Full Pack) ซึ่งสมัครใจสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องด้านบัญชี ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำนวน 920 แห่ง ภายในปี 2556 นี้

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 มิถุนายน 2556

จับตาบทบาทผู้อำนวยการ WTO คนใหม่ ต่อโอกาสสินค้าเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา

ร่วมจับตาการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ที่จะจัดขึ้นในปลายนี้ ภายหลังการสรรหาผู้อำนวยการ WTO ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา คือ นายโรแบร์โต อาเซเวโด ซึ่งนับเป็นผู้อำนวยการคนแรกที่เป็นชาวละตินอเมริกา ที่อยู่ในกลุ่มเครนส์และกลุ่มจี 20 ซึ่งมีผลประโยชน์เดียวกับไทยและมุ่งให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการสรรหาผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO คนใหม่ ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้ง 159 ประเทศ คือ นายโรแบร์โต อาเซเวโด เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิล ประจำองค์การการค้าโลก ที่สามารถเอาชนะผู้สมัครอีก 8 คน จาก กานา เกาหลีใต้ คอสตาริกา เคนยา จอร์แดน นิวซีแลนด์ เม็กซิโก และอินโดนีเซีย โดยจะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ต่อจากนายปาสกาล ลามี ที่จะครบวาระในวันที่ 31 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งนับเป็นผู้อำนวยการการค้าโลกคนแรกที่เป็นชาวละตินอเมริกัน และเป็นตัวแทนจากกลุ่มบริกส์ คือ ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มเครนส์ และกลุ่มจี 20 ซึ่งอยู่ในกลุ่มผลประโยชน์เดียวกับไทย ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร

เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมในเรื่องดังกล่าวว่า การมีผู้อำนวยการใหญ่ WTO ที่เป็นตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนานั้น ที่จะช่วยเสริมบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนาในการเจรจารอบโดฮา ได้รับการตอบสนองจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย และนับได้ว่าผู้อำนวยการใหญ่ WTO จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานของ WTO ในอนาคต โดยจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งต้องจับตามองว่า ผู้อำนวยการคนใหม่จะเดินหน้าให้ความสำคัญกับการปิดรอบการเจรจารอบโดฮา ที่ประสบภาวะชะงักงันมากว่า 10 ปี ได้หรือไม่ หลังจากที่ปัจจุบัน สมาชิกต่างให้ความสนใจความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค รวมถึงจะสามารถผลักดันแนวคิดในการแก้ปัญหาการค้าโลก ที่ได้กล่าวไว้ระหว่างการชิงชัยว่า “ระบบการค้าโลกควรจะเน้นการเจรจา และคำนึงถึงสถานการณ์จริงในปัจจุบันควบคู่กัน ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาคือการส่งเสริมการค้าและระบบการค้าเสรีให้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาเป็นนโยบายทางการค้า” อย่างไรก็ตาม ภารกิจแรกที่น่าจับตามอง คือ การประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปลายนี้ ซึ่งมีหลายวาระที่ผลักดัน โดยประเทศกำลังพัฒนาและจะต้องสรุปให้ได้ในการประชุมดังกล่าว เช่น การออกระเบียบใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการให้ข้อผ่อนปรนแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เป็นต้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 มิถุนายน 2556

แจงปุ๋ยสกย.แค่ต่ำกว่ามาตรฐานไม่ใช่ปุ๋ยปลอม

เกษตรแจงตั้งคณะอนุกรรมติดตามและแก้ไขปัญหาการส่งมอบปุ๋ย สกย. แล้ว ย้ำรับรองคุณภาพก่อนถึงมือเกษตรกรชาวสวนยาง

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง (ก.ส.ย.) ชี้แจงกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวเรื่องปุ๋ยปลอมของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ว่า สกย. ได้ทำสัญญาจัดซื้อปุ๋ยดังกล่าวจาก บริษัท แกรนด์นูลาร์ จำกัด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 จำนวนทั้งสิ้น 31,000 ตัน โดยปุ๋ย 160 ตันดังกล่าว เป็นการส่งมอบปุ๋ยในงวดที่ 2 ให้ สกย. จ.สงขลา เขต 1 เมื่อกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบตัวอย่างปุ๋ยล็อตนี้ตามคุณลักษณะทางเคมี ปรากฏว่า ปุ๋ยมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ปุ๋ยปลอม

ปุ๋ยล็อตนี้ ค่าฟอสเฟต อยู่ที่ 6.7 ต่ำกว่ามาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 7.4 ทำให้ สกย. ไม่สามารถรับปุ๋ยจำนวนดังกล่าวได้ จึงแจ้ง สกย. จ.สงขลา เขต 1 ไม่ให้จ่ายปุ๋ยล็อตดังกล่าวให้เกษตรกร ขณะเดียวกันได้แจ้งให้บริษัทฯรับทราบ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 และให้ดำเนินการนำปุ๋ยดังกล่าวกลับคืน

"กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในการจัดซื้อปุ๋ยของ สกย. ได้มีการเข้มงวดในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานของปุ๋ย เพื่อให้เกษตรกรได้รับปุ๋ยที่มีคุณภาพ เป็นมาตรการที่เข้มงวดกวดขันอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว เพื่อรับรองว่าปุ๋ยที่เกษตรกรจะได้รับเป็นปุ๋ยที่ผ่านการตรวจสอบวิเคราะห์ เป็นไปตามมาตรฐานที่ สกย. กำหนด และถูกต้องตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรเช่นกัน" นายยุทธพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การตรวจรับปุ๋ย เมื่อบริษัทฯส่งให้ตามจำนวนแล้ว สกย. จะตั้งคณะกรรมการตรวจรับปุ๋ยเคมี ณ จุดส่งมอบต่าง ๆ จุดละ 3 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ สกย. 2 คน และตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการปุ๋ย 1 คน เพื่อเก็บตัวอย่างปุ๋ยส่งไปวิเคราะห์ตามวิธีการขั้นตอนของกรมวิชาการเกษตร ถ้าผลการวิเคราะห์ออกมาถูกต้อง สกย. จึงสามารถนำออกไปจ่ายให้กับผู้รับการสงเคราะห์ได้ หากผลการวิเคราะห์ออกมาแล้วพบว่าไม่ถูกต้อง สกย. จะไม่รับปุ๋ยจำนวนดังกล่าว และแจ้งบริษัทฯให้เปลี่ยนปุ๋ยใหม่ทันที

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า กรณีที่ได้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปุ๋ยดังกล่าว ได้มีการนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ก.ส.ย.) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ซึ่งได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาการส่งมอบปุ๋ยทั้งหมดของ สกย. โดยมี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท กรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการบริหารจัดการปุ๋ยตามสัญญาดังกล่าว เพื่อให้ชาวสวนสงเคราะห์ของ สกย. ได้รับปุ๋ยที่มีคุณภาพ และตรงตามฤดูกาล ทั้งนี้ ปุ๋ยที่แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 19 มิถุนายน 2556

โรงไฟฟ้า บริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด เปิดบ้านให้เข้าชมขบวนการผลิตไฟฟ้า

โรงไฟฟ้า บริษัท มิตรผล ไบโอ – เพาเวอร์ จำกัด ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพลังงานเขต 6 เปิดบ้าน ให้ส่วนราชการ ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมเข้าเยี่ยมชมและทัศนศึกษาดูงานการผลิตไฟฟ้า

นายคมศร พรโสภณ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพลังงานเขต 6 ได้นำส่วนราชการ ประชาชนและสื่อมวลชน ทั้งในจังหวัดชัยภูมิและขอนแก่น จำนวน 50 คน เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโรงไฟฟ้า บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ตำบลโคกสะอาด อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพลังงานเขต 6 ในการนำกากอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อย จะถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อต้มน้ำให้เดือดและกลายเป็นไอน้ำ นำไอน้ำที่ได้ต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 76.4 เม็กกะวัตต์ จ่ายเข้าระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการในการผลิตน้ำตาลแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของเหลือใช้ และสร้างความมั่นคงให้กับระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงหลักการทำงานของโรงไฟฟ้า รวมไปถึงโครงการต่าง ๆ ที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการตั้งกองทุนไฟฟ้า บริษัท มิตรผล ไบโอ – เพาเวอร์ จำกัด สนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการปรกอบกิจการไฟฟ้า

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 19 มิถุนายน 2556

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล

โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 5 เมกะวัตต์ ของบริษัทพาราวีเนียร์ 2002 จำกัด ที่ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เกิดเหตุก๊าซรั่วทำให้หัวหน้าวิศวกรชาวนิวซีแลนด์ ผู้ควบคุมวางระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล และคนงานเสียชีวิต อีก 2 รายได้รับบาดเจ็บสาหัส คาดว่ากลิ่นก๊าซพิษ

โรงไฟฟ้าชีวมวล คือโรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุต่างๆ ที่เป็นชีวมวล เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หรือผลิตไอน้ำ ซึ่งอาจเป็นวัสดุชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมกัน

เช่น โรงน้ำตาลใช้กากอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โรงสีขนาดใหญ่ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า

การใช้ก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากการหมักน้ำเสีย หรือมูลสัตว์จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาผลิตกระแสไฟฟ้า มีหลักการทำงานในทำนองเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทั่วไป

ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าจะเริ่มด้วยการสูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งผ่านการกรองแล้วเข้าสู่เครื่องผลิตไอน้ำ

ขณะที่ชีวมวลต่างๆ ถูกลำเลียงเข้าสู่เครื่องบดเพื่อบดให้ละเอียด ก่อนส่งไปเข้าเตาเผาเพื่อให้เกิดความร้อนในระดับสูง ความร้อนที่ได้จะช่วยให้น้ำในเครื่องผลิตไอน้ำกลายสภาพเป็นไอ

ไอน้ำแรงดันสูงนี้ทำหน้าที่หมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีกที ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น ไอน้ำที่ใช้ในการหมุนกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จะผ่านกระบวนการควบแน่นให้กลับมาเป็นน้ำและนำมาใช้หมุนเวียนหลายครั้ง

จนสุดท้ายจึงถูกปรับคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานซึ่งไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมแล้วปล่อยลงสู่บ่อพักน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้ระเหยหายไปเองตามธรรมชาติ

การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเศษวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้จำนวนมาก

ตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในช่วง 10 ปี (2555-2564) กำหนดเป้าหมายการใช้ ชีวมวลผลิตไฟฟ้าให้ได้ 3,630 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นพลังงานทางเลือก 25% ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้

แต่ปัจจุบันพบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลถูกร้องเรียน และสร้างความวิตกกังวลให้ประชาชนในชนบท เนื่องจากไม่มีการบริหารจัดการ หรือควบคุมที่ดีพอ จากกลไกกำกับให้จัดทำวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพขณะที่โรงไฟฟ้าประเภทนี้ใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ยาก เพราะอยู่ในสถานะของแข็ง ก่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งมีผลต่อปอดและถุงลม และมีผลต่อโรคระบบทางเดินหายใจ

ในปี 2554 มีโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภทโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (วีเอสพีพี) ที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 60 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 783 เมกะวัตต์ เสนอขาย 329 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเหล่านี้ จำนวนมากยังขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเน้นการเผาตรง (directed burning) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพต่ำและสร้างมลพิษสูง

ขณะเดียวกันกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนมากตั้งอยู่ในแหล่งวัตถุดิบที่มีผลผลิตการเกษตรซึ่งอยู่ในบริเวณผังเมืองที่กำหนดเป็นพื้นที่สีเขียวคือพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมและพื้นที่ซึ่งกำหนดเป็นสีขาวทแยงเขียวหรือพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 19 มิถุนายน 2556

โอกาสพลังงาน … โอกาสไทยในเออีซี

พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ AEC ที่จะเอื้อประโยชน์ในระบบการขนส่งที่เชื่อมโยงกันทั้งยังมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเอทานอลและไบโอดีเซลและศักยภาพด้านกำลังการผลิตและการกลั่นที่มีอยู่ในระดับสูงจนเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ เราจึงมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตเอทานอลเพื่อส่งออกและเป็น “ฮับ” เอทานอลในภูมิภาคนี้ได้

**บทบาทของกระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงาน เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักในการจัดหาแหล่งพลังงานและเสริมสร้างความมั่นคงให้กับประเทศโดยมี นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน เน้นการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายไบโอดีเซลและเอทานอลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Biofuel Regional Hub ในระยะเวลาอีกเพียง 2 ปีข้างหน้ากับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการร่วมมือด้านพลังงานที่สำคัญต่ออาเซียน ภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานปี2553-2558 (ASEAN Plan of Action forEnergy Cooperation : APAEC) โดยมีจุดมงุ่ หมายเพื่อสง่ เสริมความมั่นคงและความยั่งยืนในการจัดหาพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีแผนปฏิบัติการแล้ว 2 ฉบับ ทั้งประเทศไทยเป็นประธานการจัดทำแผนปฏิบัติการ ฉบับที่ 3

**7 โครงการในแผนปฎิบัติการฉบับที่ 3

แผนปฏิบัติการ ฉบับที่ 3 มีโครงการหลักที่สำคัญ 7 สาขา ได้แก่ 1. การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน(ASEAN Power Grid : APG) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าของภูมิภาคและส่งเสริมการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า 2. การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน(Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP)กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีการจัดทำแผนแม่บทโครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน ปัจจุบันมีโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติ 8 โครงการซึ่งคิดเป็นระยะทาง 2,300 กิโลเมตร และมีแผนที่จะก่อสร้างเพิ่มอีก 7 โครงการ โดยประเทศไทยมีความร่วมมือในโครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติถึง 5โครงการ เป็นโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว 3โครงการ และจะสร้างเพิ่มอีก 2 โครงการ3. เทคโนโลยีถ่านหินและถ่านหินสะอาด4. พลังงานที่นำมาใช้ใหม่ได้ (RenewableEnergy : RE) 5. การสงวนรักษาและประสิทธิภาพของพลังงาน (EnergyEfficiency and Conservation : EE&C)6. นโยบายและการวางแผนพลังงานภูมิภาค และ 7. พลังงานนิวเคลียร์

ทั้งนี้การเชื่อมโยงพลังงานภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศนั้นนับเป็นก้าวที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มศักยภาพความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการกระจายแหล่งและประเภทเชื้อเพลิงพลังงานให้มีความหลากหลายและยั่งยืนตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในประเทศภูมิภาค ASEANเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานอย่างนํ้ามันดิบจากต่างประเทศสูงถึง 85% ของความต้องการใช้พลังงานประเทศ ทั้งมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า 30% ของความต้องการใช้ในประเทศและอีกส่วนหนึ่งจากการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าของลาวและมาเลเซีย

**โอกาสพลังงานในอนาคตของอาเซียน

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตไบโอดีเซลได้มากถึง 6 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีเพียง1.6 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนเอทานอลสามารถผลิตได้ 2.95 ล้านลิตรต่อวัน แต่มีความต้องการใช้เพียง 1.4 ล้านลิตรต่อวันปริมาณเอทานอลที่ผลิตได้นี้มาจากโรงงานเอทานอล 19 โรง ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการผลิตอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศมีอยู่ไม่มากแต่หากดำเนินการผลิตอย่างเต็มกำลังแล้วจะสามารถผลิตเอทานอลได้มากถึง 3 ล้านลิตรต่อวัน โดยจะมีโรงงานผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นอีก 5 โรง ซึ่งรวมกับที่มีอยู่เดิมเป็น24 โรง ทั้งนี้จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตเอทานอลเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.35 ล้านลิตรต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการที่ขออนุญาตผลิตเอทานอลอีก 47 โรง ซึ่งหากสามารถเปิดดำเนินการได้ทุกโรงงานปริมาณการผลิตเอทานอลของประเทศไทยจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีกถึง 12.5 ล้านลิตรต่อวัน

และเมื่อเร็วนี้ๆทางทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งนับเป็นองค์การที่มีความสำ คัญด้านพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า อาเซียนจะมีบทบาทในตลาดพลังงานโลกอย่างสูง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานของภูมิภาคจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 80% ในปี 2578 เมื่อเทียบกับความต้องการใช้พลังงานของทั้งโลกที่จะเพิ่มขึ้น 35% โดยเฉพาะเมื่อรวมกับความต้องการด้านพลังงานของอินเดียและจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว

ภาพความต้องการพลังงานของโลกในอนาคตจะมงุ่ เนน้ มาที่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นการการันตีศักยภาพและความพร้อมด้านพลังงานของไทยในเวทีอาเซียนได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 18 มิถุนายน 2556

ชาวมุสลิมโวย! ผู้ค้ากักตุนน้ำตาลทรายหวังโกยกำไรช่วงรอมฎอน

สินค้าที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันหลายอย่างในตลาด จ.ปัตตานี มีการปรับราคาสูงขึ้น ก่อนถึงช่วงรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด ของชาวมุสลิมในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ถูกปรับราคาขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้า ราคาขายกิโลกรัมละ 20 บาท ปรับเพิ่มเป็น 25 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ทำให้ชาวมุสลิมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะน้ำตาลทรายมีความจำเป็นในการใช้ปรุงอาหารหวานสำหรับเดือนรอมฎอน

นอกจากนี้ พ่อค้าบางคนยังฉวยโอกาสกักตุนน้ำตาลทรายไว้หวังขายราคาสูงในช่วงดังกล่าวด้วย ส่งผลให้บางพื้นที่น้ำตาลทรายขาดตลาด จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบและหามาตรการช่วยเหลือ

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 18 มิถุนายน 2556

บ่มเพาะนักธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ กษ.เดินหน้าสร้างสมาร์ทฟาร์เมอร์ พัฒนา29นศ.สู่อาชีพเกษตรกรรม

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงาน “โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่” ภายใต้ความร่วมมือสนับสนุนการสร้าง Smart Farmer ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนานิสิต นักศึกษา ที่กำลังอยู่ในระดับอุดมศึกษา และผู้สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 5 ปี ให้ได้รับทักษะที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจการเกษตร โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องระยะเวลา 1 ปี ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ 1.การฝึกอบรมการเขียนแผนธุรกิจ และ 2.การบ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งกำหนดผู้เข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น จำนวน 30 คน/รุ่น

ทั้งนี้ภายหลังจากปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 และมีการฝึกอบรมการเขียนแผนธุรกิจ จัดการฝึกอบรมการเขียนแผนธุรกิจ ในระหว่างวันที่ 7-17 พฤษภาคม 2556 มีผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 29 ราย และมีผู้ได้รับรางวัลการเขียนแผนธุรกิจ 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายตฤณ ธรรมเนียม แผนธุรกิจ “ปลาสวยงาม TIN Exotic Fish” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายธารางกูร อ่วมแย้ม แผนธุรกิจ “ธารางกูรเมล็ดพันธุ์ข้าว พิษณุโลก 2” รางวัลชมเชย ได้แก่ นายปัญญา เชื้อสาย แผนธุรกิจ “ปุ๋ยชีวภาพ ไมโครฟิลด์” รางวัลชมเชย ได้แก่ น.ส.วลัยกร ศรีเจริญ แผนธุรกิจ “ไอศกรีมอองเกร์” รางวัลชมเชย ได้แก่ นายวรรณมงคล วิจักขณา แผนธุรกิจ “น้ำส้มสายชูจากเปลือกสับปะรด”

นายยุคล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ผู้ผ่านการอบรมทั้ง 29 คน จะเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจเป็นระยะเวลา 9 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน 2556 - กุมภาพันธ์ 2557 ขณะที่จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความต้องการสินเชื่อ พบว่า ผู้ผ่านการอบรมเขียนแผนธุรกิจจำนวน 29 ราย มีความประสงค์ขอสินเชื่อจาก ธกส. 13 ราย วงเงินตั้งแต่ 300,000 – 3,000,000 บาท ซึ่งผู้ประสงค์ขอสินเชื่อสามารถยื่นขอสินเชื่อได้จากธนาคารสาขาตามภูมิลำเนา และจะได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้โดยมีเงื่อนไขพิเศษ นอกจากนี้เพื่อให้การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการโครงการ Smart Farmer ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 มิถุนายน 2556

ไทยเตรียมพร้อมรับมือ"คิวอี"เปลี่ยน

"ประสาร"เผยไทยเตรียมพร้อมรับมือคิวอีเปลี่ยน เผยปัจจุบันสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอ เงินทุนไหลออกไม่กระทบมากนัก

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์เปลี่ยนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีสัญญาณการฟื้นตัว ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวกระตุกขึ้น และทำให้มีการตั้งคำถาม ว่ายุคดอกเบี้ยถูกหมดหรือยัง ซึ่งก็ยังไม่แน่ ตอนนี้ไม่มีใครทายได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ถึงจะมีสัญญาณการฟื้นตัวบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเข้มแข็ง ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงิน

ดังนั้นธปท.จึงต้องคิดให้รอบครอบ เผื่อไว้ เพราะนโยบายจะไปฟันธงอย่างแม่นยำอาจจะพลาดเกิดเสียหายได้

การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯและญี่ปุ่นก็คงต้องการความมั่นใจก่อนจะปรับนโยบายอะไร ฉะนั้น ในระยะใกล้ๆสถานการณ์อาจจะยังเป็นเหมือนที่เห็นในช่วงต้นปี แต่สิ่งที่จะสร้างความซับซ้อนในตลาดการเงิน คือ เห็นสถานการณ์อะไรก็กระโดดเข้าใส่อย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนต่อข่าวสารที่มากระทบ แต่คนลงทุนยาวใช้เงินมากก็ต้องระมัดระวัง ว่าการที่จะได้ดอกเบี้ยถูกไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ใช่แล้ว ตลาดการเงินคาดเดายาก มันไม่ปกติ เพราะการดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบสร้างความผันผวนให้เศรษฐกิจค่อนข้างมาก

ในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายการเงินด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นดอกเบี้ยระยะสั้นชั่วข้ามคืน ได้ส่งผ่าน ดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน และตลาดตราสารหนี้ให้ปรับลดลง โดยผู้ที่เข้าไปกู้ยืมเงินในตลาดการเงินเหล่านี้ก็ได้ดอกเบี้ยตามดอเบี้ยนโยบายแล้ว ถือว่าการส่งผ่านสมบูรณ์แล้ว แต่การที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ปรับลดอกเบี้ยตาม เนื่องจากยังไม่แน่ใจ และรอดูสถานการณ์ในช่วงที่ฝุ่นคุ้มให้จางก่อนค่อยพิจารณาปรับตัว

"แต่พอเหตุการณ์เปลี่ยนแบงก์ก็อาจไม่แน่ใจ เพราะเงินทุนไหลออก และไม่แน่ใจสถานการณ์เศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยจะลดลงหรือไม่ ก็ไม่แน่ ทำให้แบงก์ก็คงจะหยุดดูสถานการณ์ก่อน"นายประสารกล่าว

กรณีสหรัฐฯกำลังพิจารณาลดหรือยกเลิกการดำเนินนโยบาย คิวอี นายประสารกล่าวว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดโดยรวมของตลาดการเงินไทย เนื่องจากการดำเนินงานนโยบายการเงินได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆไว้ระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะการรักษาดุลยภาพต่อตลาดการเงินทั่วโลก การไม่ก่อหนี้ต่างประเทศมากเกินไป รวมถึงการดูแลเงินทุนสำรองไว้ในระดับที่เหมาะสม ประกอบกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง

ที่ผ่านมาเงินทุนเคยไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทย 8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% ของมูลค่าตลาดรวม ในช่วง2สัปดาห์ที่ผ่านมาขายออกไปก็ยังเหลือ 11%

ขณะนี้สภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอ เงินทุนไหลออกยังไม่ได้กระทบมากนัก โดยปัจจุบันสภาพคล่องในระบบอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท จาก 4.9-5.0 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ได้ลดลงจากเงินทุนไหลออกอย่างเดียว แต่ขึ้นกลับการเพิ่มขึ้นหรือลงลงของเงินคงคลังภาครัฐและการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบของสถาบันการเงินด้วย

"ตลาดการเงินในภาพรวมไม่น่ามีปัญหา ถึงจะช็อคหรือเรื่องให้ประหลาดใจ เศรษฐกิจไทยก็พอรับได้ แต่อยากเตือนธนาคารพาณิชย์ หรือ ลูกค้า ถ้าเกี่ยวข้องค่าเงินต้องระวังและซื้อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย อย่าคิดว่าเงินถูก เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า จนไปกู้เงินนอกเพราะคิดว่าต้นทุนถูก เพราะเอาเข้าจริงบวกต้นทุนสวอปแล้วเงินกู้นอกประเทศถูกกว่าในประเทศไม่ได้มาก จึงควรปิดความเสี่ยง ถ้าเปิดแล้วต้องปิดโพสซิชั่นด้วย เพราะถ้าสถานการณ์พลิกอาจจะขาดทุนพลิกอาจจะขาดทุน เป็นหนี้ คล้ายๆกับเมื่อปี 2540 ได้"นายประสารกล่าว

นอกจากนี้เงินทุนไหลออกในช่วงนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบให้สภาพคล่องสะดุด จากเดิมธปท.ต้องดุดสภาพคล่องออกจากระบบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่พอเงินทุนไหลออกบ้างก็ช่วยให้ภาระในการดุดซับสภาพคล่องของธปท.ลดลงด้วย

ด้าน นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทรีนีตี้ กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนทั่วโลกได้ปรับพอร์ตการลงทุนโดยการขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่เกือบ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการขายที่มากที่สุดอันดับ 3 ในรอบ 12 ปี ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1) การส่งสัญญาณการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) 2) การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ยืดนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการซื้อสินทรัพย์แก่สถาบันการเงิน (Fixed Rate Operation) ซึ่งส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้น และ3) การเกิดบอนด์ช็อค

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ทรีนีตี้ คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐฯ จะส่งนัยเรื่องเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์การลดขนาดการซื้อสินทรัพย์เป็น 3 กรณี คือ 1) ลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงในเดือนกันยายนหรือธันวาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) 10 ปี จะเท่ากับ 2.0 - 2.2% ส่งผลให้หุ้นแกว่งออกด้านข้าง และให้รอปัจจัยใหม่ 2) ลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในเดือนมิถุนายน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) 10 ปีจะเท่ากับ 2.5% ส่งผลให้หุ้นจะถูกขายทำกำไรต่อเนื่อง และมีการปรับฐานขึ้นแรง 3) ลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงปีหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) ปรับตัวลดลงสู่ 1.6 - 1.8% ส่งผลให้หุ้นปรับตัวขึ้น (Rally) และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะโดดเด่น

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ทิศทางของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐฯ (Fed) ตามที่ “ทรีนีตี้” คาดการณ์ไว้เชื่อว่ากรณีที่ 1 และกรณี 3 น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะถึงแม้อาจจะลดการออกมาตรการคิวอี ออกมาแต่ยังคงมีมาตรการอื่น เช่น การลดดอกเบี้ยบนทุนสำรองส่วนเกิน (Interest on Excess Reserve) และการกำหนดผลตอบแทน (Yield) ขั้นต่ำ ซึ่งสองมาตรการนี้อาจจะมีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงมากกว่ามาตรการเชิงปริมาณ (QE)

นอกจากนี้การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เป้าหมายของ SET Index ปรับตัวลดลงเนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield) ถือว่าเป็นต้นทุนทางการเงิน และถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond Yield)ปรับตัวเร่งเร็วขึ้น จะส่งผลให้หุ้นถูกเทขายทำกำไรมากขึ้น เนื่องจากอนุพันธ์นี้ผูกกับอัตราดอกเบี้ยมีปริมาณถึง 500 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม “ทรีนีตี้” เชื่อว่า SET Index มีความยืดหยุ่นต่อแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดพันธบัตรและหุ้นมีแค่ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ค.ศ. 2009 (เมื่อวัดจากดุลบัญชีทุนหรือ Capital Account และการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทยสุทธิจากดุลบัญชีเดินสะพัดและการลงทุนทางตรง)

นายวิศิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะทำให้ดัชนีหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ได้ต้องมีปัจจัยดังนี้ 1) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ 1.8 – 2.0% ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ 2) การประสบความสำเร็จของมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นผ่านมาตรการคิวอี และการกระตุ้นการลงทุนผ่านการปฏิรูปภาษีหรือ Abenomis คือ ทำให้เม็ดเงินของภาคครัวเรือน และภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นที่มีอยู่ประมาณ 73 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ออกมาลงทุนประมาณ 10% ของการเปลี่ยนแปลงพอร์ทโฟลิโอมาสู่สินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่เงินสดถือเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) ที่มาก 3) การเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่ระดับ 23% และ 4) การปรับลดภาษีนิติบุคคลธรรมดา และการปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อเพิ่มการบริโภค

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วว.ผลิตเครื่องต้นแบบเอทานอลไร้น้ำชนิดเคลื่อนที่ ลดนำเข้าเทคโนโลยี สร้างรายได้เข้าประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผลิตเครื่องต้นแบบผลิตเอทานอลไร้น้ำโมเลกุล่าร์ซีฟชนิดเคลื่อนที่ ขนาดกำลังการผลิต 1,000 ลิตรต่อวัน เป็นเครื่องจักรต้นแบบในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กหรือระดับชุมชน ที่สามารถขยายขนาดสู่ระดับอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อรองรับโรงงานผลิตเอทานอลระดับชุมชนในอนาคต สนองนโยบายรัฐบาลในการลดนำเข้าเทคโนโลยี สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างยั่งยืน

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยี สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืนนั้น วว.จึงได้สนองนโยบายดังกล่าวโดยการผลิตเครื่องต้นแบบผลิตเอทานอลไร้น้ำโมเลกุล่าร์ซีฟ (MobileMolecular sieve) ชนิดเคลื่อนที่ขึ้น ซึ่งได้ยื่นจดสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว โดยเครื่องนี้มีขนาดกำลังผลิต 1,000 ลิตรต่อวัน เป็นเครื่องจักรที่ใช้ผลิตเอทานอลไร้น้ำ ที่มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร ก่อนนำไปใช้ผสมน้ำมันเบนซินเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีชื่อว่า “แก๊สโซฮอล์” เพื่อใช้กับยานพาหนะปัจจุบันที่ไม่ต้องการการดัดแปลงเครื่องยนต์

ดร.ธีรภัทร ศรีนรคุตร ผู้เชี่ยวชาญวิจัย และผู้อำนวยการโครงการเอทานอล วว. กล่าวว่า เครื่องต้นแบบผลิตเอทานอลไร้น้ำฯ สามารถใช้เป็นเครื่องจักรในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กหรือระดับชุมชน รวมทั้งสามารถใช้เป็นต้นแบบในการขยายขนาดสู่ระดับอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ได้ เป็นเครื่องที่ประหยัดพลังงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และมีต้นทุนต่ำกว่าเครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 50 ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้า คิดเป็นมูลค่านับพันล้านบาท สามารถเคลื่อนย้ายไปดำเนินงานตามที่ต่างๆ ได้ เพื่อรองรับโรงงานผลิตเอทานอลระดับชุมชนในอนาคต นอกจากนี้ประเทศไทยยังสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกเครื่องผลิตเอทานอลไร้น้ำโมเลกุล่าร์ซีฟดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หรืออาจได้รับผลประโยชน์ด้วยการขายสิทธิบัตรของเครื่องจักร

ทั้งนี้ วว.ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องต้นแบบผลิตเอทานอลไร้น้ำโมเลกุล่าร์ซีฟชนิดเคลื่อนที่ สำหรับใช้ในกิจการ โครงการชัยพัฒนาแม่ฟ้าหลวง ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมจัดทำโครงการสร้างเครื่องผลิตเอทานอลไร้น้ำให้แก่องค์การสุรา กรมสรรพสามิต เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งได้มีการติดตั้งและใช้งานแล้ว ณ โรงแอลกอฮอล์ องค์การสุรา อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเครื่องผลิตเอทานอลไร้น้ำเพื่อนำไปใช้กับโรงงานเอทานอลชุมชน ภายใต้โครงการ “สร้างมูลค่าเพิ่มมันสำปะหลังโดยนำมาผลิตเอทานอล” ซึ่งจะมีการจัดตั้งโรงงานขึ้นโดย วว. ณ จังหวัดกำแพงเพชร

วว.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “เครื่องผลิตเอทานอลไร้น้ำโมเลกุล่าร์ซีฟชนิดเคลื่อนที่” ให้แก่ภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์สนใจสอบถามละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ Call Center สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 0-2577-9300 หรือที่โทร. 0-2577-9000 E-mail : tistr@tistr.or.th Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โทร.1313

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บาทผันผวนรอความชัดเจนจาก FED

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดเงินปริวรรตประจำวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน ค่าเงินบาทเปิดตัวที่ระดับ 30.55/57 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/6) ที่ราคา 30.60/62 บาท/ดอลลาร์

ภายหลังค่าเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ ได้แก่ ยอดดุลการค้าของสหรัฐที่ปรับตัวขาดดุลเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.3 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2012 มาอยู่ที่ระดับขาดดุล 106.1 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2013 ในขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan Confldence Index) ได้ปรับตัวลดลงจาก 84.5 ในเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ระดับ 82.7 ในเดือนมิถุนายน ประกอบกับการที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประกาศลดการคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐลงมาอยู่ที่ระดับ 1.7% ในปี 2013 และ 2.7% ในปี 2014 ต่ำกว่าการคาดการณ์ในเดือนเมษายนไว้ที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวที่ระดับ 3% ในปี 2014 ซึ่งทำให้นักลงทุนลดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะชะลอ มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative Easing : QE) ในการประชุมนโยบายดอกเบี้ยในวันที่ 18-19 มิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตามค่าเงินในระหว่างวันค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์เนื่องจากมีแรงซื้อของผู้นำเข้ามามาก โดยค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 30.53-30.73 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ 30.63/65 บาท/ดอลลาร์

ในส่วนค่าเงินยูโรได้เปิดตลาดที่ระดับ 1.3334/35 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/6) ที่ระดับ 1.3237/40 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งการแข็งค่าของค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์นี้เกิดจากการที่ค่าเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันนี้ ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของทางกลุ่มยูโรโซน โดยตัวเลขดุลการค้าของกลุ่มยูโรโซนในเดือนเมษายนได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14.9 พันล้านยูโร จากระดับ 22.5 พันล้านยูโรในเดือนมีนาคม ประกอบกับตัวเลขต้นทุนแรงงานของกลุ่มยูโรโซน (Eurozone Labor Cost) ได้ปรับตัวสูงขึ้น 1.6% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2013 จากระดับ 0% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2012 ในระหว่างวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1.3319-1.3357 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3336/39 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยน ได้เปิดตลาดที่ระดับ 94.60/63 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/6) ที่ระดับ 95.86/88 เยน/ดอลลาร์ อันเนื่องมาจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ และการที่นักลงทุนได้หันไปลงทุนในตลาดตราสารทุนของญี่ปุ่นเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น ทำให้มีเงินทุนไหลไปที่ญี่ปุ่นเพิ่ม ในระหว่างวันค่าเงินเยนมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 94.12-95.12 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 94.93/94 เยน/ดอลลาร์

อนึ่งในวันนี้ กลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรม G8 อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี แคนาดา รัสเซีย และญี่ปุ่นได้เริ่มการประชุมที่ไอร์แลนด์เหนือ เกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการตัดลดงบประมาณของประเทศสมาชิก ว่าจะส่งผลถึงการชะลอตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกหรือไม่ โดยมีหัวข้อย่อย ได้แก่ มาตรการลดภาษี และการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ

ในสัปดาห์นี้ตลาดรอติดตามการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ดัชนีราคาบ้านและยอดเงินลงทุนจากต่างชาติ (Foreige Direct Investment) ของจีน ดัชนีความเชื่อมั่น ZEW ของเยอรมันและกลุ่มยูโรโซน ดัชนีราคาของผู้บริโภคสหรัฐในวันอังคาร (18/6) รายงานการประชุมนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE Minutes) การประกาศนโยบายดอกเบี้ย และ Press Conference ของสหรัฐ (19/6) ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อของกลุ่มยูโรโซน ฝรั่งเศส และเยอรมัน การประชุมผู้นำยุโรป (20/6) และการประชุมรัฐมนตรีคลังของยุโรป (21/6)

อัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.7/+4.9 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6.75/+7.5 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชาวไร่อ้อยจ่อยื่นนายกฯ

แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและ 3 สถาบันชาวไร่อ้อยอยู่ระหว่างหารือที่จะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ชะลอแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะนำมาใช้ในฤดูกาลผลิตปี 56/57 เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการต่างๆ เร็วเกินไปควรจะต้องหารืออย่างรัดกุม ไม่เช่นนั้นจะเป็นผลเสียต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และยังกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลทรายด้วย

“มีหลายประเด็นที่ไม่เคลียร์ว่าการลอยตัวน้ำตาลมีการกำหนดเพดานสูงต่ำ แล้วถ้าเพื่อนบ้านเขาราคาสูงกว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปัญหาทุกวันนี้ความพร้อมหรือไม่พร้อมของโรงงานชาวไร่ไม่ใช่ประเด็น แต่ปัญหาคือ ถ้าลอยตัวราคาแล้วลอยอย่างไรอันนี้ไม่ชัด” แหล่งข่าวกล่าว

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่ารายละเอียดต่างๆ ต้องชัดเจน ดังนั้น มองว่าสิ้นปีนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะเริ่มดำเนินการลอยตัวราคา แต่ที่สุดเห็นด้วยว่าจะฝืนไม่ได้เมื่อเข้าสู่ AEC ที่ราคาน้ำตาลทรายไทยจะต้องสะท้อนกลไกตลาด เพื่อดูแลไม่ให้น้ำตาลไหลเข้าและออกผิดปกติ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ผุดแบบจำลองทิศทางพลังงาน

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงาน “Shell New Lens Scenarios” โดยได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ส่องภาพอนาคตผ่านเลนส์ใหม่” ว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจของโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ของโลกมีมากขึ้น และจะเห็นว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานอย่างต่อเนื่อง เติบโตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนควรหันมาให้ความสำคัญกับการจัดทำแบบจำลองทิศทางพลังงานไทยในอนาคต เพื่อนำไปสู่การวางกลยุทธ์ด้านพลังงานในมุมมองใหม่ ที่สามารถนำมาเป็นต้นแบบใช้วิเคราะห์ทิศทางพลังงานล่วงหน้าได้อย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริง และมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ปัจจุบันบริษัทด้านพลังงานหลายแห่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านพลังงานมากขึ้น โดยมีการจัดทำแบบจำลองสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พัฒนาการของเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ร่วมมือกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA จัดงานสัมมนาเพื่อระดมสมองผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน จากภายในและต่างประเทศ ในการจัดทำแบบจำลองทิศทางพลังงานของภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Energy Outlook เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลรวมไปถึงมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือในระยะยาว และจะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ World Energy Outlook ต่อไป สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงานและบริษัทเชลล์ จะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างบริษัทน้ำมันข้ามชาติกับภาครัฐ ในการส่งเสริมพัฒนาระบบพลังงานใหม่ของประเทศ ให้มีความมั่นคงในระยะยาว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ : นับถอยหลังสู่AEC“กองทุน FTA”เร่งเสริมจุดเด่นเกษตรกรไทย พัฒนาไกลแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์

การเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยไทยและสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ จะรวมตัวกันเป็น AEC มีเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว หรือ Single market and Production base และเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเป็น AEC ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเปิดเสรีทางการค้าย่อมเกิดผลดีทางเศรษฐกิจต่อผู้มีศักยภาพในการแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตามผู้มีศักยภาพการผลิตที่ด้อยกว่าก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ เกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาครัฐ โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถดำรงอาชีพเกษตรต่อไปได้อย่างยั่งยืน ได้เร่งรัดให้ความรู้ในเรื่องกองทุนFTAเพื่อลดจุดด้อยและเสริมจุดเด่นให้เกษตรกรไทยเพื่อการแข่งขันในเวทีAEC โดยการให้ความรู้กับทุกภาคส่วน เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันเกษตรกร และเกษตรกร ตระหนักรับรู้ถึงผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าและการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ทั้งด้านบวกและลบอย่างถูกต้อง สำหรับสินค้าเกษตรหลักในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก เช่น ปศุสัตว์ ข้าว มะพร้าว ไม้ตัดดอก และผักต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันทั้งด้านการผลิต การตลาด และการค้าสินค้าเกษตรกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กล่าวว่า สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิด อาทิ โคนม โคเนื้อ ข้าว มะพร้าว ไม้ตัดดอก และผักต่างๆ เป็นต้น จึงได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTA ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้สถาบันเกษตรกร หน่วยงานราชการ ตลอดจนภาคเอกชนในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันตก ได้เสนอขอเงินจากกองทุนฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบการค้าดังกล่าว โดยเฉพาะการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

สำหรับการเปิดเสรีการค้า แม้จะมีผู้รับประโยชน์เป็นจำนวนมากก็จริง แต่ก็จะมีผู้ผลิตอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศหลายชนิด อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ดังนั้น การลดจุดด้อยเสริมจุดเด่นในสินค้าการเกษตรดังกล่าว จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการรับมือต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายสร้างเกษตรกรไทยให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ คือ มีความรู้ในเรื่องการทำการเกษตรเป็นอย่างดี ตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร รวมทั้งมุ่งนำเกษตรกรสู่การทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุนการผลิต

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือให้เกษตรกรมีขีดความสามารถการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อการพัฒนา ซึ่งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกร โดยปัจจุบันได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ ไปแล้ว 16 โครงการ รวม 8 ชนิดสินค้า ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ข้าว ชา โคเนื้อ โคนม สุกร และผักเมืองหนาว คิดเป็นวงเงิน 597.10 ล้านบาท ทั้งนี้ การจัดสัมมนาดังกล่าว จะช่วยให้เกษตรกร มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรในแหล่งการผลิตทั้งปศุสัตว์ ข้าว มะพร้าว และไม้ตัดดอก ให้มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีและมั่นคงต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พลิกดินเค็มเป็นแหล่งผลิตอาหาร

พลิกดินเค็มเป็นแหล่งผลิตอาหาร จาก 'เมืองเพียโมเดล' สู่กาฬสินธุ์ : ดลมนัส กาเจ ... รายงาน

หลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มทุ่งเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และกำหนดให้เมืองเพียเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานไปแล้วนั้น ทำให้กรมพัฒนาที่ดินขยายพื้นที่ในการแก้ปัญหาดินเค็มในภาคอีสาน ไปยังพื้นที่อื่นเป็นวงกว้างมากขึ้น ตามอัตรากำลังและงบประมาณที่ได้มา ล่าสุดได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในท้องถิ่นของ จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "แนวทางการฟื้นฟูดินเค็มจังหวัดกาฬสินธุ์" ณ หนองทึง ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เพื่อให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการดินเค็มในพื้นที่ของตนเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม จนสามารถนำความรู้ไปปรับปรุงพื้นที่ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมีการประชุมวิชาการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่โรงแรมพลูแมนขอนแก่น ราชาออร์คิด จ.ขอนแก่น ในวันถัดมา เพื่อให้เวทีการประชุมในครั้งนั้นเป็นที่แปลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์การวิจัยด้านดินเค็มของนักวิชาการและผู้มีส่วนได้เสียจากองค์กรต่างๆ ร่วมทั้งใช้เวทีแห่งนี้สร้างเครือข่ายนักวิชาการด้านดินเค็มและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสาน ตลอดจนเป็นที่กำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ดินเค็มภาคอีสานในอนาคตอีกด้วย

นายอนุสรณ์ จันทนโรจน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้สะท้อนบนเวทีเสวนาแห่งนี้ว่า การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่า กรมพัฒนาที่ดินสามารถแก้ปัญหาดินเค็มได้ และประสบผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่ทุ่งเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ดินเค็มจัดอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ฉะนั้นกรมพัฒนาที่ดินก็พร้อมที่จะลงมือแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่อื่น รวมถึงที่ อ.ยางตลาด ขอเพียงให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาดินเค็มให้ความร่วมมือ ทางกรมพร้อมที่จะดำเนิน เนื่องจากการแก้ปัญหาดินเค็ม แม้จะมีแนวทางตามหลักวิชาการ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น จังหวัด อำเภอ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และเกษตรกร เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ประสบปัญหาโดยตรง

"เดิมทีพื้นที่ในภาคอีสาน 17-18 ล้านไร่ ประสบปัญหาดินเค็ม ทางกรมพัฒนาที่ดินพยายามแก้ปัญหาด้วยการถ่ายทอดความรู้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิธีทางวิศวกรรม วิธีทางชีวิทยา โดยใช้วิธีการทางพืช เช่น การปลูกป่าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม การกำหนดพื้นที่รับน้ำที่จะปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้โตเร็วมีรากลึกรวมถึงวิธีผสมผสาน การแก้ไขลดระดับความเค็มดินลง จนสามารถปลูกพืชได้ ขุดบ่อเลี้ยงปลาได้ โดยความรู้เหล่านี้เราจะถ่ายสู่หมอดินอาสาในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้ชาวบ้าน ปรากฏว่าได้ผล ตอนนี้ดินเค็มที่อีสานมี 11.5 ล้านไร่ ที่จะต้องแก้ปัญหาต่อไป เพื่อให้ที่ดินเหล่านี้เป็นแหล่งผลิตอาหารในอนาคต" รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

ด้าน นางปราณี สีหบัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางระบบการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กล่าวว่า การแก้ปัญหาดินเค็มในภาคอีสานต้องคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก หากเกษตรกรไม่ให้ความร่วมมือยากจะสำเร็จได้ เพราะการดำเนินการต้องเป็นไปตามที่เกษตรกรต้องการ ไม่ใช่ตามที่นักวิชาการต้องการ อย่างกรณีที่เมืองเพลีย อ.บ้านไผ่ ส่วนหนึ่งเกษตรกรก็ให้ความร่วมมือ ขณะเดียวกันเกษตรกรบางส่วนก็ไม่ต้องการให้กรมพัฒนาที่ดินไปแก้ปัญหาดินเค็ม เพราะคิดว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ชาวบ้านกลับต้องการตลาดผ้าไหมทอ ฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเกษตรกรต้องให้ความร่วมมือนั่นเอง

ขณะที่ นางนงนุช ศรีพุ่ม ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาดินเค็มกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.ยางตลาด ประสบปัญหาดินเค็ม และกำลังจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเกษตรกรทำนาได้ผลผลิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจึงมีการแนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกหญ้าแฝก ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผลบ้างเพื่อให้รายได้เสริมด้วย

สอดคล้องกับ นายบรรทม จันขุนทด หมอดินอาสาประจำ ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด บอกว่า พื้นที่การเกษตรที่บ้านหัวนาคำนั้นประสบปัญหาดินเค็มมาตลอด ปลูกพืชผลได้น้อย อย่างของเขามีที่นา 8 ไร่ ปลูกข้าวได้ผลผลิตปีละ 3 ตัน หลังจากที่เขาได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินที่เมืองเพีย และนำมาปฏิบัติ เวลาผ่านไปเพียง 1 ปี พบว่านาข้าวของเขาเพิ่มขึ้นเป็น 5 ตัน คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก

การเดินหน้าแก้ปัญหาดินเค็มในภาคอีสานของกรมพัฒนาที่ดิน นับเป็นอีกหนึ่งความหวังของเกษตรกรที่จะนำดินมาทำการเกษตรได้ เชื่อว่าถ้าทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือแก้ดินเค็ม 11.5 ล้านไร่ ที่ดินเหล่านี้จะเป็นแหล่งผลิตอาหารอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

แก้ปัญหาดินเค็มตาม "เมืองเพียโมเดล"

การแก้ปัญหาดินเค็มที่นำร่องในพื้นที่ทุ่งเมืองเพียง หรือเมืองเพียโมเดล ที่ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มีสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เป็นแม่งานหลัก เริ่มมาตั้งแต่ปี 2543 โดยดำเนินการตามลักษณะความเค็มของดิน ภายใต้โครงการปลูกต้นไม้ทนเค็มเพื่อลดการแพร่กระจายพื้นที่ดินเค็มในลุ่มน้ำโขง ชี มูล โดยดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขามเรียน ครอบคลุมพื้นที่ อ.บ้านไผ่ ชนบท และโนนศิลา มีเนื้อที่ทั้งหมด 87,436 ไร่ ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 2 หมื่นไร่ ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ดำเนินการกว่า 6.6 หมื่นไร่

รูปแบบการดำเนินภายใต้โครงการปลูกต้นไม้ทนเค็มเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล จากนั้น ใช้กิจกรรมด้านวิศวกรรม ดําเนินการปรับรูปแปลงนา ขุดคูน้ำ วางท่อลอดระบายเกลือ ใช้วิธีกิจกรรมด้านพืช ปลูกไม้ทนเค็มกระถินออสเตรเลีย อาคาเซีย ปลูกหญ้าชอบเกลือดิ๊กซีคลุมพื้นที่ป้องกันการระเหยน้ำจากผิวดิน ส่งเสริมการใช้พืชปุ๋ยสด ปรับปรุงบํารุงดิน ปลูกโสนแอฟริกัน ถั่วพร้าเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ไถกลบต่อซัง พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา เพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ล่าสุดพบว่า หลังจากดำเนินโครงการเกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เอกชนวอน"ปู"ชะลอลอยตัวน้ำตาล

โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย เตรียมทำหนังสือยื่นนายกฯ พร้อมรัฐมนตรีอุตฯ เกษตร พาณิชย์ วอนชะลอแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลออกไป หลังกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดเริ่มสิ้นปี 2556 เหตุแนวทางยังไม่ชัด โดยเฉพาะด้านราคา ขณะที่ กน.จัดสรรน้ำตาลโควตา ก.เพิ่มเป็น 2.61 ล้านตัน

แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย และ 3 สถาบันชาวไร่อ้อย อยู่ระหว่างหารือที่จะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ชะลอแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะลอยตัวในฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการต่างๆ เร็วเกินไป ซึ่งควรต้องหารืออย่างรัดกุม ไม่เช่นนั้นจะเป็นผลเสียต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และยังกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลทรายด้วย

"มีหลายประเด็นที่ไม่เคลียร์ เช่น การลอยตัวน้ำตาลจะกำหนดเพดานราคาสูงหรือต่ำ แล้วถ้าประเทศเพื่อนบ้านราคาสูงกว่า เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปัญหาทุกวันนี้ความพร้อมหรือไม่พร้อมของโรงงานชาวไร่ไม่ใช่ประเด็น แต่ปัญหาคือถ้าลอยตัวราคาแล้วลอยอย่างไรอันนี้ไม่ชัด" แหล่งข่าวกล่าว

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าอยากให้รายละเอียดต่างๆ มีความชัดเจนก่อน ดังนั้น มองว่าสิ้นปี 2556 นี้ อาจจะเร็วเกินไปที่จะเริ่มดำเนินการลอยตัวราคา แต่ในที่สุดเห็นด้วยว่าจะฝืนไม่ได้เมื่อเข้าสู่เออีซี ที่ราคาน้ำตาลทรายไทยจะต้องสะท้อนกลไกตลาด เพื่อดูแลไม่ให้น้ำตาลไหลเข้าและออกผิดปกติ

สำหรับน้ำตาลบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ล่าสุด คณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) ได้เห็นชอบให้เพิ่มโควตา ก. จาก 2.5 ล้านตัน (25 ล้านกระสอบ) เป็น 2.61 ล้านตัน (26.1 ล้านกระสอบ) และให้กันสำรองไว้อีก 5 แสนตัน หากกรณีไม่เพียงพอก็จะจัดสรรเพิ่มให้ใน 2 เดือน กรณีดังกล่าวมองว่าสูงเกินความจำเป็น เนื่องจากการใช้ช่วงต้นปีที่สูงมาก เพราะอากาศร้อนคนบริโภคน้ำตาลมาก แต่ครึ่งหลังจากนี้เข้าฤดูฝน อากาศจะเย็น การบริโภคเครื่องดื่มจะน้อยลงไปด้วย ประกอบกับ พ.ย.2556 นี้ ก็จะเปิดหีบอ้อยแล้ว ซึ่งประเมินกันว่าปริมาณอ้อยฤดูกาลผลิตใหม่จะทะลุ 100 ล้านตัน.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สนพ. ลุยพลังงานทดแทน ผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซชีวภาพ

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานชนิดอื่น ช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง ด้วยการสนับสนุนการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือน ฯลฯ

ทั้งนี้ ในปี 2564 ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าให้ได้ 600 เมกะวัตต์ และเป้าหมายสำหรับผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในด้านความร้อน เช่น แทนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) แทนก๊าซหุงต้ม (LPG) รวมถึงทดแทนน้ำมันเตาและถ่านหิน ให้ได้ 1,000 ktoe(กิโลตัน)

ด้านนายผจญ ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (TBEC) กล่าวว่า บริษัทฯ เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ตั้งแต่ปี 2551 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อนำน้ำเสียจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยปัจจุบันระบบดังกล่าวสามารถรองรับน้ำเสียได้วันละประมาณ 23,334 ลบ.ม. หรือปีละประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 14.6 ล้านหน่วยจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จับตาสหรัฐตัดสินมาตรการคิวอี หวั่นเงินทะลักเข้าไทยรอบสอง

ปั่นป่วนไปทั้งตลาดหุ้น ค่าเงินบาท และราคาทองคำ หลังเกือบทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกระหน่ำทิ้งหุ้นไทยแบบถล่มทลาย กดราคาหุ้นแดงเถือกทั้งกระดาน ฉุดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) หายวับในพริบตาถึง 1 ล้านล้านบาท ทำเอานักลงทุนที่เคยช้อนซื้อบนยอดดอย ต่างใจหายแวบ หัวใจหล่นตุ๊บ !!! ตกไปอยู่ตาตุ่ม ได้แต่มองกระดานหุ้นตาละห้อย แต่ไม่กล้าเก็บเข้าพอร์ต เพราะดัชนีเหวี่ยงหนัก แถมยังคาดเดาทิศทางได้ยาก

ขณะที่ค่าเงินบาทซึ่งเคยทำสถิติแข็งโป๊กตั้งแต่ต้นปีถึง 7% และเรียกว่าเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากสุดในเอเชีย จนบรรดาผู้ส่งออกต้องมาเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐหามาตรการเข้ามาอุ้มโดยด่วนนั้น ก็พลิกกลับมาอ่อนค่ามากสุดในรอบ 8 เดือน หรือใช้เวลาเพียงแค่เดือนกว่า ๆ ขยับมาอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยอยู่ในระดับ 28.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าและทางการเองปรับตัวตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกันแทบไม่ทัน... เช่นเดียวกับราคาทองคำที่แกว่งตัวผันผวน ตามตลาดหุ้นและค่าเงินบาท แต่ยังโชคดีที่เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้ราคาทองในประเทศนั้นยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ แม้ทองในตลาดโลกจะร่วงลงก็ตาม แต่หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อใด ก็จะทำให้ทองในประเทศลดลงในทันที

ความปั่นป่วนทั้งหมดที่ปะทุขึ้นนั้น ล้วนเกิดจากปัจจัยต่างประเทศที่เข้ามาขย่ม และเขย่าขวัญนักลงทุนให้แตกกระจาย จนเกิดความตื่นตระหนกเทขายหุ้นแบบไร้สติ เพราะต่างหวาดกลัวว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และญี่ปุ่น จะเลิกพิมพ์แบงก์เพื่ออัดเงินเข้าสู่ระบบ หลังเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐและญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณตีระฆังในทิศทางขาขึ้น ดังนั้น เงินทุนร้อน ๆ จากต่างชาติที่เคยไหลทะลักเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยและภูมิภาค จนทำให้ดัชนีพุ่งกระฉูดแกว่งตัวคึกคักเป็นตลาดกระทิงดุ ก็ถึงเวลาที่จะถอนทุนคืน...และขนเงินกลับไปยังประเทศของตนเอง

มาถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามในใจแล้วว่า ในช่วงครึ่งปีหลังทิศทางตลาดหุ้น ค่าบาท และทองคำจะเป็นอย่างไร? เพื่อจะได้ปรับตัวรับมือสถานการณ์ได้ทันเวลาหรือไม่?

บรรดากูรูในแวดวงตลาดหุ้น ต่างออกมาประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดหุ้นไทยยังแกว่งตัวผันผวนหนัก ขึ้นกับกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือเรียกว่าแขวนไว้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ (คิวอี) เป็นหลัก เนื่องจากจะทำให้เงินทุนไหลเข้าและออกเร็ว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 นี้ ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแค่ข่าวเรื่องการยุติมาตรการคิวอีเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเมืองในประเทศที่อาจกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นนักลงทุนหน้าใหม่ หรือแมงเม่า ต้องเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนให้มากขึ้น เพราะมีโอกาสที่ดัชนีจะดิ่งลงหนักและต่ำกว่า 1,400 จุดอีกรอบ จากก่อนหน้านี้ที่โบรกเกอร์ต่างประเมินว่าปลายปีนี้หุ้นไทยมีโอกาสเด้งไปถึง 1,700-1,800 จุด

ด้านค่าเงินบาท...บรรดาสำนักวิจัยต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องรอดูผลการประชุมของเฟดในวันที่ 18-19 มิ.ย.นี้ ก่อนว่า จะเดินหน้าหรือยุติมาตรการคิวอี 3 ต่อไป หากเฟดส่งสัญญาณไม่ถอนมาตรการคิวอี ก็เชื่อได้แน่ว่าเงินทุนจะไหลบ่าทะลักเข้ามาในเอเชียอีกระลอกจนกลายเป็นแรงส่งให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอีก แต่ถ้าถอนคิวอี... เชื่อได้แน่ว่าค่าเงินบาทจะยิ่งอ่อนค่าลง เพราะแค่ข่าวลือที่เกิดขึ้นก็ทำเอาบรรดาผู้ส่งออกปั่นป่วนหัวหมุน

แต่ไม่ว่าผลประชุมจะออกหัวหรือก้อยผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าไม่ควรชะล่าใจ ทางที่ดีหากไม่อยากเจ็บตัวมากเกินไปควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แต่เนิ่น ๆ

หากมองย้อนข้อมูลต้นปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัยต่าง ๆ ได้ประเมินทิศทางค่าเงินในปีนี้ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะแตะอยู่ที่ระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ประเมินค่าเงินบาทแตะที่ระดับ 28.50-29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทยยังมองว่า ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบที่ 29.50-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นช่วงนี้จึงยังประเมินไม่ได้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงสู่ระดับไหน ! คงต้องลุ้นการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ว่า เลือดจะไหลออกจากตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกต่อไปหรือไม่

เช่นเดียวกับราคาทองคำที่มีโอกาสแกว่งตัวผันผวน ไม่แพ้ตลาดหุ้นและค่าเงินบาท แต่ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมค้าทองคำ บอกว่ายังมีลุ้นปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 1,400-1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือบาทละ 22,000-23,000 บาท โดยคำนวณจากค่าเงินบาท 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาราคาทองคำหล่นไปถึงบาทละ 2,000 บาท เช่นเดียวกับผู้บริหารจากบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ที่บอกว่า หากราคาทองคำขึ้นไปทดสอบที่ระดับที่ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือประมาณบาทละ 22,100 บาทได้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 24,000-25,000 บาทได้อย่างแน่นอน

จะเห็นได้ว่าแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน มาจากการคาดเดาทั้งนั้น... ทั้งที่ในความจริงแล้วยังไม่มีประเทศใดที่พับแผนและหยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที แต่ตลาดหุ้นได้สะท้อนกระแสข่าวดังกล่าวเร็วยิ่งกว่าจรวด โดยพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือแค่เพียงไม่กี่วัน และเมื่อต่างชาติทิ้งหุ้น เงินทุนร้อนไหลออก ค่าเงินบาทก็อ่อนลงยวบ

อย่างไรก็ตามในแง่เอกชนเองแล้ว แม้จะเชื่อมั่นในพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่เรื่องของค่าเงินบาท ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญเพราะมีทั้งบวกและลบ หากแข็งค่ามากเกินไปก็ส่งออกขายของได้น้อยได้เงินกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อย ขายของไม่ได้ราคา แต่หากค่าเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป คนที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศก็รับไม่ได้เพราะต้นทุนจะแพงขึ้นมาก รวมไปถึงราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้น จนกระทบกับต้นทุนด้านขนส่ง รวมไปถึงค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น สุดท้ายคนที่ต้องรับกรรมคือคนไทย เพราะเชื่อได้แน่ว่าผู้ประกอบการก็ต้องผ่องถ่ายภาระมาที่ราคาสินค้าแน่นอน

สิ่งสำคัญที่สุดของเอกชนคือค่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่า ยังไม่สำคัญเท่ากับการมีเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพราะหากผันผวนขึ้นลงรวดเร็วมาก เอกชนกำหนดราคาขายได้ลำบาก เช่น วันนี้อ่อนลง หากพรุ่งนี้อ่อนกว่าอีกก็จะทำราคายาก รวมถึงผู้นำเข้าเองก็ได้รับผลกระทบสูงด้วย ขณะเดียวกันแม้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ผู้ส่งออกเริ่มยิ้มได้บ้าง แต่ก็ยังกังวลว่า ในอนาคตถ้ามีเงินทุนจากต่างชาติกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มอีก อาจทำให้ค่าเงินผันผวนอีก ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้ทันสถานการณ์ด้วยเช่นกัน

เพราะอย่าลืมว่าแม้การขนเงินออกของต่างชาติในรอบนี้เพื่อต้องการวิ่งไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่นที่ บราซิล รัสเซีย แต่อย่าลืมว่าประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่แข็ง แกร่งเท่ากับไทย ดังนั้นโอกาสเงินที่จะไหลกลับเข้ามาในรอบสองยังคงมีอยู่อีกมาก จึงกลายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือเรื่องนี้ให้ทันสถานการณ์

ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทิศทางของดัชนีตลาดหุ้นไทย ค่าเงินบาท และราคาทองคำ คงจะแกว่งตัวผันผวนไม่น้อยไปกว่าครึ่งปีแรก เพราะตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนจากข่าวที่เกิดขึ้น ก็จะมีผู้ที่อาศัยจังหวะคอยปล่อยข่าวทุบออกมาเป็นระยะ ๆ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บริหารจัดการศัตรูพืชในชุมชน..ด้วยชุมชน - บอกกล่าวเล่าขาน

ปี2556 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร และสำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร เร่งดำเนินการโครงการบริหารจัดการศัตรูพืชของชุมชน นำร่อง 4 ชนิดศัตรูพืชใน 4 พื้นที่ ได้แก่ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง จังหวัดกาญจนบุรี แมลงดำหนามมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โรคใบขาวและโรคกอตะไคร้อ้อย จังหวัดอุดรธานี และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลข้าว จังหวัดอ่างทอง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวมุ่งเน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาโดยชุมชนมีส่วนร่วม ใช้การจัดเวทีชุมชนเพื่อพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ปัญหา ทบทวนอดีต และวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชุมชนอยากเห็นหรืออยากเป็นร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ทำให้เกิดการพัฒนานำไปสู่การปฏิบัติ ทดสอบ ทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งจะได้รูปแบบการบริหารจัดการศัตรูพืชโดยชุมชน คาดว่า งานวิจัยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะได้นำรูปแบบและเร่งขยายผลงานวิจัยไปสู่แหล่งปลูกพืชทั้ง 4 ชนิดในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

ทางด้าน นายศุกล โฆษิตโภคิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการ เกษตร กรมส่งเสริมการ เกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร และสำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอพนมทวน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านรางยอม อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินโครงการบริหารจัดการศัตรูพืชมันสำปะหลัง (เพลี้ยแป้ง) โดยชุมชน เพื่อพัฒนากระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนสามารถคิดวิเคราะห์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาศัตรูพืชในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง โดยเฉพาะเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่เคยระบาดสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร

การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาแมลงศัตรูพืชได้อย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพกว่าการแก้ปัญหาแบบต่างคนต่างทำ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกกับเทคโนโลยีสมัย ใหม่ อาทิ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrate Pest Management : IPM) ได้แก่ การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียน เพื่อควบคุมศัตรูพืช และการเขตกรรม เป็นต้น

ผลจากการจัดเวทีชุมชน พบประเด็นปัญหาที่ชุมชนต้องการทดสอบเพื่อยืนยันข้อมูลใน 2 ประเด็น คือ ระยะปลูกมันสำปะหลังที่เหมาะสม เนื่องจากชุมชนมีปัญหาการปลูกมันสำปะหลังที่มีระยะปลูกค่อนข้างถี่ ส่วนใหญ่ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น ประมาณ 20-30 เซนติเมตร โครงการฯ จึง ทำแปลงทดสอบระยะปลูก ระหว่างต้น 3 ระยะ คือ ระยะ 30 เซนติเมตร 80 เซนติเมตรและ 100 เซนติเมตร เพื่อเปรียบเทียบให้สมาชิกศูนย์ฯ เห็นระยะปลูกที่เหมาะสมและมีข้อมูลยืนยันชัดเจน ให้สมาชิกได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อนำไปปรับใช้ในแปลงของตนเองได้

หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ “การบริหารจัดการศัตรูมันสำปะหลังโดยชุมชน” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการ เกษตร โทร. 0-2940-6049.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รมว.ทรัพยากรฯ ชี้แจงแนวทางโครงการปลูกป่าและพื้นฟูป่าต้นน้ำ

รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงแนวทางและขั้นตอนการดำเนินโครงการปลูกป่าและพื้นฟูป่าต้นน้ำและโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินีฯ

วันนี้ (16 มิ.ย.2556) ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้และภาคกลางที่อยู่ติดทะเล รวม 24 จังหวัด พร้อมหน่วยงานภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อชี้แจงแนวทางและขั้นตอนการดำเนินโครงการปลูกป่าและพื้นฟูป่าต้นน้ำและโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินีฯ

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนปฏิบัติโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูต้นน้ำและโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้าฯ ระยะที่ 2 ปี 2556 วงเงินดำเนินโครงการ 2,805 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานขับเคลื่อนโครงการ สั่งอนุมัติงบประมาณ จึงขอให้รับรู้รับทราบแนวทางการดำเนินงานที่ถูกต้องและเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเอาใจใส่ดูแลการดำเนินงานทุกตอนให้รัดกุมรอบคอบ ให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพสูงที่สุด สำหรับการจัดประชุมชี้แจงแนวทางและขั้นตอนการดำเนินโครงการปลูกป่าและพื้นฟูป่าต้นน้ำและโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินีฯ มีการดำเนินการ 3 ครั้ง ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการจัดประชุมครั้งที่ 3 ครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 มิถุนายน 2556

การบูรณาการตลาดพลังงานในอาเซียน

ในระหว่างวันที่ 24 - 25 มิถุนายนนี้ สำนักงานเลขาธิการอาเซียนจะมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านพลังงานของแต่ละชาติสมาชิก ทั้งนี้ตัวแทนจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ได้รับเชิญให้ไปเสนอกรอบความคิดการบูรณาการตลาดพลังงานในอาเซียน

โครงการนี้เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยพลังงานกับคณะเศรษฐศาสตร์และรับเงินทุนสนับสนุนจากศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาฯ โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน และน่าจะใช้เวลาอีกไม่นานที่จะผลักดันให้เป็นพิมพ์เขียวทางด้านพลังงานของอาเซียนและแนวทางปฏิบัติ การดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้มีนักวิชาการจากทุกประเทศอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และได้จัดตั้งกลุ่มสมาชิกทางวิชาการที่มีชื่อว่า ASEAN ENERGY MARKET INTEGRATION (AEMI Group) ขึ้น และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลพื้นฐานที่มีจากรายงาน ASEAN Energy Outlook ในปี 2554 คาดการณ์ว่า อุปสงค์ต่อพลังงานพื้นฐานในอาเซียนจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปีจนถึงปี 2573 หากเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตร้อยละ 5.2 ต่อปี ทั้งนี้การเติบโตของอุปสงค์ต่อพลังงานได้รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากร การขนส่งและการเดินทางในภูมิภาค ปัญหาที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การขาดแคลนพลังงานในภูมิภาคของบางประเทศ และการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากนอกอาเซียนของประเทศเหล่านั้นและประกอบกับผลกระทบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มาจากการใช้พลังงานที่มากขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นคือจะทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนของพลังงานในอาเซียน และมีราคาที่ชาติสมาชิกอาเซียนสามารถบริโภคได้อย่างเป็นธรรม

ที่จริงแล้วผู้นำอาเซียนได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดีและได้ริเริ่มความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนในการแก้ปัญหาดังกล่าว และนำประเด็นบรรจุไว้ในการวางแผนรองรับของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิเช่น โครงการความเชื่อมโยงของท่อน้ำมันและท่อก๊าซ โครงการความเชื่อมโยงของระบบสายส่งไฟฟ้า ข้อตกลงเพื่อความมั่นคงทางปิโตรเลียมของอาเซียน การพัฒนาพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และพลังงานทางเลือก และการเปิดเสรีทางการค้าและการอำนวยความสะดวกทางด้านของพลังงานทางเลือก และการเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคสนับสนุน รวมทั้งหมดแล้วมียุทธศาสตร์ทั้งหมด 26 ด้าน และแผนปฏิบัติการอีก 91 แผนงาน และยังมีความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ดีการดำเนินงานของแผนตลาดพลังงานอาเซียนที่ได้กล่าวไปแล้วมีความล่าช้าเกิดขึ้น อีกทั้งแผนปฏิบัติงานเป็นการดำเนินงานของชาติใดชาติหนึ่งหรือเป็นความร่วมมือแบบทวิภาคีซึ่งขาดการบูรณาการในภาพรวมทั้งหมดโครงการบูรณาการตลาดพลังงานในอาเซียนจึงเป็นการต่อยอดของโครงการที่ถูกริเริ่มในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การค้าของพลังงานและบริการที่เกี่ยวข้องรวมถึงการลงทุนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของความมั่นคงและยั่งยืนที่มีราคาที่ทุกคนสามารถบริโภคได้ โดยเป็นพื้นฐานของการเติบโตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วโครงการนี้ได้สร้างเครือข่ายนักเศรษฐศาสตร์ทางด้านพลังงานจากทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนและยังได้อดีตที่ปรึกษาจากธนาคารโลกมาช่วยวางแนวคิด และขั้นตอนต่อไปจะสานต่อยอดไปสู่การประสานแนวคิดจากภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายทางสังคมและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในขั้นพื้นฐานได้มีการจัดสัมมนาระดมความคิดไป 1 ครั้ง และมีการวางโจทย์ที่จะต้องตอบในอีก 2 เดือนข้างหน้าไว้ 7 หัวข้อด้วยกัน กล่าวคือ

(1) การสร้างฐานข้อมูลของตลาดพลังงานในแต่ละประเทศสมาชิก และข้อมูลพื้นฐานด้านระบบสาธารณูปโภคของพลังงานที่จะเชื่อมต่อระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และทบทวนคำจำกัดความของการบูรณาการตลาดพลังงานในอาเซียนให้ชัดเจน ทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านปัจจัยทางสถาบัน (2) ศึกษาประโยชน์ของการบูรณาการตลาดพลังงานอาเซียนที่มีต่อประเทศสมาชิกจากประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเปรียบเทียบกับโครงการปัจจุบันจำนวนมากที่ยังไม่ได้บูรณาการเข้าด้วยกัน

(3) ศึกษาการบูรณาการของตลาดพลังงานที่มีผลต่อการเข้าถึงพลังงานของประชากรในอาเซียน เพื่อให้ในปี 2573 ประชากรอาเซียนมีพลังงานใช้อย่างทั่วถึง (4) ศึกษาถึงข้อจำกัดของแต่ละชาติสมาชิกอาเซียนที่จะมีต่อการเข้าร่วมการบูรณาการตลาดพลังงาน ทั้งนี้รวมถึงข้อจำกัดทางกายภาพ การตั้งราคาพลังงาน การอุดหนุนราคาพลังงาน และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ (5) ศึกษาปัจจัยทางด้านสถาบันและการจัดการกำกับดูแลเพื่อให้กลไกตลาดของตลาดที่ถูกบูรณาการทำงานได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งการจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันเพื่อการบริหาร

(6) เปรียบเทียบกับตลาดพลังงานในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีการพัฒนาไปแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ว่าจะเป็นบทเรียนแก่อาเซียนได้อย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าและวางรากฐานเป็นขั้นเป็นตอนของการบูรณาการตลาดพลังงานในอาเซียนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดของชาติสมาชิก และลดความขัดแย้งต่างๆ และ (7) ศึกษามุมมองทางด้านความแตกต่างทางการเมืองของชาติสมาชิกและความไม่สอดคล้องทางการเมืองที่จะเป็นประเด็นไปสู่ความท้าทายของการบูรณาการตลาดพลังงาน
ทั้งนี้คำถามที่หลากหลายเป็นประเด็นที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่งและหวังว่าในวันที่ 24 และ 25 มิถุนายนนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดี และมีบทวิพากษ์วิจารณ์จากที่ประชุมที่จะนำไปสู่การปรับปรุงโครงการการบูรณาการตลาดพลังงานอาเซียนให้สมบูรณ์ ความคิดริเริ่มครั้งนี้นับว่าท้าทายเป็นอย่างมาก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 16 มิถุนายน 2556

ปรับแผนผลิตไฟฟ้าใหม่ปี’73ดันใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น24%

“สนพ.”เผยแนวทางการปรับพีดีพีใหม่จะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯผลิตไฟลงเมื่อสิ้นสุดแผนปี 2573 จาก 54% เหลือ 32% เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 14% ถ่านหินเป็น 24% ส่อแววถอดนิวเคลียร์ออกหรือทิ้งไว้ท้ายแผนแค่ 3% ขณะที่ TBEC เร่งขยายผลิตไฟเฟส 2 จากน้ำเสียโรงสกัดน้ำมันปาล์ม

นายสุเทพ เหลี่ยมสิรเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สนพ. และการไฟฟ้ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)อยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี2013 (2555-2573)ฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจเบื้องต้นมีแนวคิดปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตจากพีดีพี 2010 เมื่อสิ้นสุดแผนปี 73 ก๊าซธรรมชาติจาก54%เป็น32% ถ่านหิน13%เป็น18% ซื้อไฟต่างประเทศจาก10%เป็น19% พลังงานหมุนเวียน14%เป็น24% และอื่นๆที่เหลือโดยพีดีพีจะทำประชาพิจารณ์อย่างรอบคอบและเปิดให้ทุกส่วนแสดงความเห็นโดยเฉพาะนิวเคลียร์ว่าจะใส่ในแผนเดิม 3% ในท้ายแผนหรือตัดออกเลย

"ตามแผนนี้จะเพิ่มโรงไฟ้าถ่านหินอีก5,600เมกวัตต์รวมของเดิมเป็นหมื่นเมกะวัตต์ซื้อไฟจากเพื่อนบ้านเพิ่มโดยเฉพาะพลังน้ำจากลาว พลังงานหมุนเวียนเน้นการผลิตจากหหญ้าเนเปียร์อีกหมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดจะต้องรอสรุปผลขั้นสุดท้ายอีกครั้งแต่แผนภาพรวมก็จะทำให้ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีลงไปด้วย"นายสุเทพกล่าว

นายผจญ ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทไทย ไบโอแก๊สเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

(TBEC) กล่าวว่า บริษัอยู่ระหว่างการขอใบนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4)เพื่อดำเนินโครงการส่วนขยายเฟส2ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มกำลังผลิต4.2เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่าก 190 ล้านบาทคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ใน 3-4 เดือนนี้และจะจ่ายไฟเข้าระบบภายในปี2558

"กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดว่าถ้ากิจการพลังงานที่ลงทุน200ล้านบาทขึ้นไปการอนุญาตรง.4
จะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมกรกลั่นกรองซึ่งก่อนหน้านั้นยื่นไปใช้เวลาเราเลยดึงกลับมาแล้วปรับการลงทุนเพื่อลดขั้นตอนซึ่งผมคิดว่าขั้นตอนการขอรง.4ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการมาก"นายผจญกล่าว

สำหรับการผลิตไฟจากก๊าซฯชีวภาพจากน้ำเสียโรงสกัดน้ำมันปาล์มเฟสแรกมีกำลังผลิต2.8เมกะวัตต์ลงทุน157ล้านบาทเมื่อรวมกับเฟส2จะทำให้มีกำลังผลิไฟเพื่อจำหน่ายให้กบการไฟฟ้าส่วนภูมิภค(กฟภ.)รวม7เมกะวัตต์ซ่งถือเป็นการผลิตไฟากน้ำเสียโรงสกัดปา์มใหญ่สุดในประเทศไยซึ่งทั้งสองเฟสได้งบเงินสนับสนุนจากกงทุนเพื่อส่งเสริมกรอนุรักษ์พลังงานเฟละ10ล้านบาท

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 มิถุนายน 2556

พลังงานสะอาด 1 ใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

กรนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยรายชื่อ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่คาดว่าจะเป็น 'อุตสาหกรรม หลัก' ของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เติบโต สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ของโลกใหม่ สอดรับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และความเป็นไปทางสังคมในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์ประเทศ หรือ New Growth Model จะส่งผลให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้น้อย สู่ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียและของโลก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเดินหน้า อย่างมีศักยภาพคือภาคอุตสาหกรรม โดยใน10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมี 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกำลังในการ พัฒนาประเทศ หรือที่เรียกว่า 'อุตสาหกรรมแห่งอนาคต' ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้กว่า 20% โดยรายชื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่

1.อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงาน เชื้อเพลิงชีวภาพ แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกทั้งหมด พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอาทิ

2.อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ บริการเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ฯลฯ เพราะจากการจัดทำข้อมูลศึกษาทิศทางตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของโลก พบว่าแนวโน้ม มูลค่าการตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2556 เติบโตถึง 9.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับว่าอัตราการเติบโตของตลาดอาจจะสูงขึ้นกว่า 200% เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของปีพ.ศ.2549

3.อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก อันเนื่อง มาจากการตระหนักถึงด้านของสิ่งแวดล้อม มีผู้ประกอบการที่แนวโน้มจะนำเม็ดไบโอพลาสติกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ใน 'ชีวิตประจำวัน' ที่สามารถย่อยสลายได้ และลดปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ใช้จากพลาสติกทั่วไป

4.อุตสาหกรรมยานอากาศ เป็นอีกหนึ่ง อุตสาหกรรมที่คึกคัก สืบเนื่องจากกระแสการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปีพ.ศ.2558 รวมถึงแนวโน้มรูปแบบการสัญจรทางอากาศในปัจจุบัน ผู้ใช้บริการในทุกระดับสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ รวมถึงแนวโน้ม ความต้องการก่อสร้างสนามบินรวมไปถึงเครื่องบินมีจำนวนมาก

5.อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กลุ่มอุตสาหกรรมโฆษณา กลุ่มธุรกิจการให้บริการด้านสถาปัตยกรรม กลุ่มธุรกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียงไทย กลุ่มอุตสาหกรรมดนตรีของไทย กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ฯลฯ ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโดยของอุตสาหกรรมประเภทนี้สูงอย่างต่อเนื่อง

ในอนาคต ถ้าอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จะสามารถเพิ่ม มูลค่าการลงทุนรวมของอุตสาหกรรมไทยได้มากกว่า 20% หรือมากกว่า 3 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กนอ.ตั้งเป้าเริ่มต้น ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ผู้ประกอบการ ในประชาคมอาเซียน รวมไปถึง ผู้ประกอบการทั่วโลกที่มีแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทั้ง 5 ประเภทนี้ ซึ่งล้วนจะเป็นการวางรากฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทยให้มีความเข็มแข้งและสามารถก้าวนำนานาประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ นักลงทุนและผู้ประกอบการทั่วไปตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ieat.go.th

ปัจจุบัน ประเทศไทยมี อุตสาหกรรมหลัก ทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือพลาสติก อุตสาหกรรมเอทานอลและไบโอดีเซล อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

นายวิฑูรย์ เพิ่มเติมว่า แม้อนาคตประเทศจะมี 'อุตสาหกรรมแห่งอนาคต'เข้ามามีบทบาท อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงต้องส่งเสริมและพัฒนา อุตสาหกรรมหลัก 6 ประเภท ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศในปัจจุบัน รวมถึงยังคง ต้องตั้งเป้าเพิ่มตัวเลขมูลค่าของ กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักทางเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลไม้ พืชพลังงาน ประมง ฯลฯ รวมถึงรักษามาตรฐานของอุตสาหกรรมบริการ การท่องเที่ยว ค้าปลีกหรือค้าส่ง ก่อสร้าง สื่อสารและโทรคมนาคม บริการสุขภาพ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยจำนวนมหาศาล

ปัจจุบัน กนอ. มี นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การควบคุม 46 นิคมฯ กระจายอยู่ใน 14 จังหวัด ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง จำนวน 11 นิคม และนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินงานกับผู้พัฒนา จำนวน 35 นิคม โดยในนั้นมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 4,000 โรงงาน พนักงานรวมกว่า 500,000 คน มูลค่าอุตสาหกรรมรวมกว่า 2.7 ล้านล้านบาท

กนอ. มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยจัดพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีระบบ ตลอดจนหน้าที่ในการกระจาย การพัฒนาและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมออกสู่ ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตในภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ นำประเทศเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคอาเซียน รวมถึง หน้าที่ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการเกษตร ภาคท่องเที่ยวและบริการ ฯลฯ

เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของ โลกและความต้องการภายในประเทศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 มิถุนายน 2556

กระทรวงพลังงาน เร่งปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างราคาพลังงานประเทศให้มีเสถียรภาพ

กระทรวงพลังงาน เร่งปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างราคาพลังงานประเทศให้มีเสถียรภาพ ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเฝ้าระวัง 4 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบโครงสร้างราคาพลังงานไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินหรือไม่

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า โครงสร้างราคาพลังงานของประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือโครงสร้างไฟฟ้า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรกกลูเรเตอร์ ได้ตั้งคณะทำงานมีความคืบหน้าไปมากแล้ว และโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิง คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) พยายามปรับปรุงให้มีความเสถียรของราคา โดยคำนึงถึง 4 ปัจจัย ประกอบด้วยราคาความผันผวนของน้ำมันในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อ การส่งเสริมพลังงานทดแทน และสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันจากการบริหารนโยบายพลังงานของ กบง. ที่มีสถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาทในปี 2555 แต่ในปี 2556 สถานะกองทุนน้ำมันฯ กลับมาเป็นบวกอีกครั้งอยู่ที่ประมาณ 700-800 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่ได้ประมาท เนื่องจากสถานการณ์พลังงานยังผันผวนอยู่ ดังนั้น แผนการปรับโครงสร้างราคาพลังงานต้องมีความยืดหยุ่นในเรื่องของความผันผวนตามราคาพลังงานโลกที่แกว่งขึ้นลงรวดเร็วจากปัจจัยต่าง ๆ ของโลก เช่น การเกิดสงครามในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศโลก ภาพรวมระบบเศรษฐกิจโลกเติบโต หรือชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จะใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงิน(QE)หรือไม่ และยูโรโซน ส่งผลให้โครงสร้างราคาพลังงานมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ทั่วโลกมี 4 อย่าง คือ ทองคำ อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าห์สหรัฐฯ ตลาดหุ้น และน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ได้คำนวณราคาค่าการตลาดน้ำมันทุกเช้า

ผู้อำนวยการสนพ. กล่าวด้วยว่า ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการน้ำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศทุกปี จึงมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่มีความผันผวนรวดเร็ว โดยค่าเงินบาท 1 บาท ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบราคาอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในไทยเปลี่ยนแปลงประมาณ 70-80 สตางค์ต่อลิตร หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2 บาทจะทำให้ค่าการตลาดราคาน้ำมันในประเทศปรับขึ้น 1 บาท ซึ่งต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่อโครงสร้างราคาพลังงานตลอดเวลา

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 16 มิถุนายน 2556

บทความ:เส้นทางสู่ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ระบบโลจิสติกส์ ที่พูดถึงกันมากในวงการธุรกิจ การค้า การพาณิชย์ แต่ไม่รู้จักความหมายว่าคืออะไร

โลจิสติกส์ ( LOGISTICS )เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมมากมายหลายด้าน ดังนั้นหากเข้าใจว่า โลจิสติกส์ คือการขนส่งนั้น อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากงานด้านโลจิสติกส์ครอบคลุมกว้างขวาง โดยโลจิสติกส์ไม่ใช่เรื่องการขนส่งอย่างเดียว แต่การขนส่ง เป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่ง

ความหมายของโลจิสติกส์คือ การจัดลำเลียงสินค้าเพื่อให้เกิดค่าใช้จ่ายโดยรวมในการกระจายสินค้าต่ำที่สุด โลจิสติกส์เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบและไปสิ้นสุด ณ จุดที่มีการบริโภคสินค้านั้น หรือในอีกความหมายหนึ่ง โลจิสติกส์เป็นกระบวนการในการจัดการวางแผน จัดสายงาน และควบคุมกิจกรรม ในส่วนที่มีการเคลื่อนย้าย อำนวยความสะดวกของกระบวนการไหลของสินค้า ตั้งแต่จุดเริ่มจัดหาวัตถุดิบไปถึงจุดที่มีการบริโภค

หลักการของโลจิสติกส์ในระบบของการขนส่ง คือไปให้ถึงที่หมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และทันเวลา

ขออธิบายตัวอย่างของระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน อย่างเช่น มีสินค้าที่เข้ามาทางท่าเรือจะทำอย่างไรให้ไปสู่โรงงานได้เร็ว ที่สุด เพราะหากขนส่งมาจากท่าเรือช้า ภาระต่างๆ จะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะส่งสินค้าได้เร็ว ซึ่งก็คือ ต้องมีเส้นทางที่เหมาะสมและประหยัด ถ้ากระบวนการในส่วนนี้ช้าภาระเรื่องของต้นทุนก็จะสูงขึ้น ดังนั้นระบบทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของการให้บริการในภาคการขนส่ง ว่าทำอย่างไรจึงจะส่งสินค้าได้ทันและรักษาคุณภาพให้ดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าระบบโลจิสติกส์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตได้

โดยขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายในการบริหารจัดการ ระบบโลจิสติกส์ มีกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเปิดมิติใหม่ให้กับระบบการขนส่งสินค้า ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือ

1. พัฒนาท่าเรือไทยให้เป็นประตูไปสู่ภูมิภาคโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ( ร.พ.ท . ) จะต้องขยายขีดความสามารถของสถานะบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ( ไอซีดี ) ให้มากขึ้น ขณะที่องค์กรขนส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ต้องตั้งสถานีบรรจุและขนถ่ายตู้สินค้า เพื่อการนำเข้าและส่งออกย่านพหลโยธิน ส่วน กทท. ก็ต้องปรับปรุงท่าเทียบเรือให้รองรับเรือ Roll on-Roll off ระหว่างประเทศได้ควบคู่ไปกับพัฒนาท่าเทียบเรือภูมิภาคให้เข็มแข็งมากขึ้น

2. พัฒนาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า โดยตั้งฮับประจำภาค เพื่อประสานระบบขนส่งให้สมบรูณ์ โดยมีโครงการที่จะพัฒนาย่านคอนเทนเนอร์ในภูมิภาคไปยังปลายทาง

3. พัฒนาวิธีการขนส่งไปสู่ระบบรางทางน้ำ และทางท่อ เพื่อให้การขนส่งมีปริมาณมากขึ้น แต่สามารถลดต้นทุนการขนส่ง และประหยัดพลังงาน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เริ่มศึกษา เพื่อพัฒนาระบบรางน้ำ และท่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันแล้ว ส่วน ร.ฟ.ท. นั้น ก็ต้องเร่งก่อสร้างทางคู่ในช่วงชุมทางเส้นทางขนส่งสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบังให้มากขึ้นด้าน บทด. ต้องเร่งส่งเสริมใช้เรือ Roll on-Roll off ให้มากขึ้นเช่นกัน

4. พัฒนาระบบเกี่ยวข้องกับการจัดการด้านโลจิสติกส์ สำหรับระบบการขนส่งทางภาคพื้น เพื่อให้บริการแบบ Door - to - Door ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติขึ้นมาแล้ว เพื่อให้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการทั้งหมด พร้อมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีขั้นตอนมากๆ ให้น้อยลงนำระบบไอทีเข้ามาใช้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ตลาดการค้าโลกนับวันจะยิ่งแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆความรวดเร็ว และต้นทุนที่ถูกลงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะประเทศไทยมีต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงถึง 25-30 % จึงต้องเร่งแก้ปัญหา นอกเหนือจากการกำหนดแผนพัฒนาโลจิสติกส์ระดับประเทศแล้ว ขณะนี้ทางรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมกำลังดูรูปแบบที่เหมาะสมในการผสมผสานการขนส่ง ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ เรือ มาเชื่อมโยงกัน เพื่อขนส่งสินค้าได้เร็วที่สุดในราคาถูกที่สุดด้วย การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทยจะก้าวหน้าเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศได้หรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หรือกระทรวงคมนาคมเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และปัจจัยต่างๆที่เป็นตัวแปรของต้นทุนในการขนส่ง ระบบการจัดเก็บ และคลังสินค้า ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดหาวิธีวางแผนพัฒนา ระบบโลจิสติกส์ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ระบบการขนส่งและคมนาคมมีความสะดวกรวดเร็ว มีต้นทุนต่ำ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค และช่วยเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ล็อบบี้ยืดเส้นตายลอยราคาน้ำตาล โรงงาน-ชาวไร่อ้อยรวมพลัง จ่อร่อนหนังสือถึง "ยิ่งลักษณ์"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและ 3 สถาบันชาวไร่อ้อย อยู่ระหว่างหารือกันทำเพื่อทำหนังสือเพื่อยื่นต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม, รมว.พาณิชย์ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ชะลอแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะนำมาใช้ในฤดูการผลิตปี 2556/57 เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการต่างๆ มีการรวบรัดเกินไป จึงต้องการให้ผู้บริหารทั้ง 3 กระทรวง ดำเนินการให้มีความรอบคอบมากกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้น จะเป็นผลเสียต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและนำตาลทราย และยังกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลทรายด้วย

ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายชาวไร่และโรงงานน้ำตาลเห็นตรงกันว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนว่า หากจะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้ว จะมีการกำหนดเพดานราคาสูง-ต่ำ ในกรอบของราคาที่จะมีการลอยตัว ซึ่งชาวไร่และโรงงานน้ำตาล เห็นว่าหากมีกรอบราคาการลอยตัวทั้งระดับราคาสูงและต่ำไว้ หากในบางช่วงเวลา เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษบกิจอาเซียน (เออีซี) ที่หากมีการกำหนดเพดานราคาสูงต่ำไว้หากสมาชิกในอาเซียน ที่ผลิตน้ำตาลส่งออกเหมือนกับประเทศไทย มีราคาต่ำกว่าราคาเพดานที่ประเทสไทยกำหนดไว้ ราคาน้ำตาลนำเข้าจากอาเซียนก็จะต่ำกว่ากรอบเพดานราคาน้ำตาลชั้นต่ำอขงประเทศไทย ก็จะทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไม่สามารถแข่งขันในเรื่องราคขายปลีกได้

อย่างไรก็ตาม 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล และ 3 สถาบันชาวไร่อ้อย ต้องการให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดให้ชัดเจนว่า กรอบเพดานลอยจัวราคาน้ำตาลทั้งขั้นสูงและต่ำ ควรมีอยู่หรือไม่ และหากมีการกำหนดกรอบเพดานไว้ ราคาขั้นสูงและต่ำควรอยู่ระดับใด เพื่อปกป้องผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย รับลูกจ้างตำแหน่งต่างๆ

สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย คัดเลือกบุคคลเป็นลูกจ้าง 5 อัตรา ได้แก่ หัวหน้าฝ่ายกฏหมาย นักวิเคราะห์และประเมินผล ผู้ตรวจสอบภายใน และพนักงานธุรการ สมัครที่สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เลขที่ 129 ถนนหลวง แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 ภายในวันที่ 28 มิถุนายน สอบถามโทร 0 2221 5636

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เร่งสางพื้นที่จัดรูปที่ดินคั่งค้างดัน“หน่วยปฏิบัติการคันคู”แม่งาน กรมชลตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในปี’57

สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ตั้งเป้าเร่งสะสางจัดรูปที่ดินที่คั่งค้างให้เสร็จภายในปี 2557 โดยใช้หน่วยปฏิบัติการคันคูน้ำในเขตสำนักชลประทานนั้น มาช่วยดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายพื้นที่งานจัดรูปที่ดิน ได้ไม่น้อยกว่า 25,000 ไร่/ปี

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงแนวทางการจัดรูปที่ดินในปี 2557 ว่า จะพยายามเร่งรัดจัดรูปที่ดินที่ยังค้างคาให้เสร็จเรียบร้อยให้หมด โดยเฉพาะโครงการจัดรูปที่ดินพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำแควน้อยประมาณ 20,000 ไร่ ซึ่งประสบปัญหาล่าช้าสะสมตั้งแต่ปี 2555-2556 โดยตั้งเป้าหมายจัดการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2557

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการจัดรูปที่ดินมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก เพราะมีรายละเอียดซับซ้อน เช่น ความต้องการของเกษตรกรแต่ละแปลงในโครงการ การปรับปรุงแบบก่อสร้าง การติดเงื่อนไขช่วงฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกร รวมทั้งฤดูฝนที่ไม่อาจลงมือก่อสร้างได้

“นอกจากนั้น เรายังต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก และต้องสอดรับกับแผนงานงบประมาณของเขา โดยเฉพาะกรมที่ดิน ซึ่งมีทั้งการสำรวจ รังวัด รวมทั้งการออกโฉนดที่ดินใหม่ ไม่รวมการปรับแก้แบบ และการก่อสร้างที่อาศัยบริษัทที่ปรึกษาและผู้รับเหมาจากข้างนอก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมเรื่องเวลาได้ยาก”

อย่างไรก็ตาม หากเร่งรัดจัดรูปพื้นที่คั่งค้างได้เสร็จทั้งหมดภายในปี 2557 ก็จะขอปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณในปี 2558 ให้เท่ากับที่เคยได้รับในปีงบปี 2556 หรือมากกว่า โดยสามารถรักษาขีดความสามารถในการจัดรูปที่ดินให้ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 25,000 ไร่ รวมทั้งงบสำหรับการสำรวจ ออกแบบพื้นที่โครงการต่างๆ ไว้ล่วงหน้าด้วย

นายเอกจิต กล่าวว่า สำหรับการยกระดับความสามารถในการควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่จัดรูปที่ดิน จะอาศัยเจ้าหน้าที่ในส่วนปฏิบัติการคันคูน้ำ กรมชลประทาน ซึ่งเพิ่งโอนย้ายเข้ามาอยู่ในสำนักงานจัดรูปที่ดินเข้ามาช่วย ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มลงมือแล้วทั้งโครงการจัดรูปที่ดินเขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก และที่ จ.กาฬสินธุ์ คาดว่าในอนาคตจะเร่งให้การก่อสร้างทันตามแผนที่กำหนดได้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ก.เกษตร จัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ 14-16 มิ.ย. นี้ ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

"ยุทธพงศ์" ชูนโยบายพัฒนาเกษตรกรสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามความต้องการของผู้บริโภค หวังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่เออีซี

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดจัดงาน “มหกรรมเกษตรอินทรีย์ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง สู่ประชาคมอาเซียน” ระหว่างวันที่ 14 – 1 6 มิถุนายน 2556 ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์งานด้านเกษตรอินทรีย์ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ที่มีต่อระบบการเกษตรของชาติ และได้ทราบถึงผลการดำเนินงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การจัดแสดงนิทรรศการเกษตรอินทรีย์ การบรรยายพิเศษ “แนวคิด ทิศทางการเกษตรอินทรีย์ไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง สู่อาเซียน” การสัมมนาวิชาการ “การปรับตัวและขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไทย : บทเรียนจากภาครัฐและภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์” นอกจากนี้ ยังมีเวทีสัมมนาและสาธิตต่าง ๆ เกี่ยวกับพืชผักเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเวทีการแสดงต่าง ๆ ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าปลอดสารพิษ และสินค้า OTOP ต่าง ๆ
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เกษตรอินทรีย์เป็นกระบวนการผลิตที่ใช้หลักความสมดุลตามธรรมชาติ มีการบริหารจัดการระบบการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขอนามัยของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภคภายใน ประเทศ และการผลิตเพื่อการส่งออก โดยแนวโน้มในเรื่องการส่งออกผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประเทศต่าง ๆ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ กว่า 100 ประเทศ มีความต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อการบริโภคเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ และนโยบายรัฐบาลให้ภาคเกษตรเป็นครัวของโลก ประกอบกับดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรกรรม ประเทศไทยจึงมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิต

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า การเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปี 2558 นี้ เกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะอาชีพเกษตรกรรมคืออาชีพหลักของผู้คนส่วนใหญ่ในอาเซียน ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมจะเกิดการแข่งขันรุนแรงในเรื่องของราคาและต้นทุนการผลิตที่ต้องถูกลง ดังนั้น หากเกษตรกรไทยยังคงต้องพึ่งพาสารเคมี มีแนวโน้มว่าจะไม่มีตลาดรองรับสินค้าปนเปื้อนเหล่านี้ ทางออกของเกษตรกรไทยทางหนึ่ง คือ การลดต้นทุนการผลิต และผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน โดยการหันมาผลิตสินค้าในระบบปลอดภัยจากสารพิษ (มาตรฐาน GAP) หรือ หากเกษตรกรมีความพร้อม และมีศักยภาพให้ทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล และควรเน้นการผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้า คือเป็นอาหารปลอดภัย อาหารในระบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร และด้วยความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้กำหนดจัดงาน “มหกรรมเกษตรอินทรีย์ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง สู่ประชาคมอาเซียน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์งานด้านเกษตรอินทรีย์ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ที่มีต่อระบบการเกษตรของชาติ และได้ทราบถึงผลการดำเนินงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดมา

“การจัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ฯ ในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งดำเนินการในลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด องค์กรภาครัฐ เอกชน หมอดินอาสา เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายการทำเกษตรอินทรีย์ มาประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ผ่านกิจกรรมการรณรงค์และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ พลิกฟื้นแผ่นดินไทย ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัย เกษตรกรรมไทยยั่งยืน นอกจากนั้น ได้จัดให้มีการพบกันระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลต่อการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ให้เกิดมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดแนวคิดในการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนก้าวสู่เวทีการแข่งขันในประชาคมอาเซียนและระดับนานาชาติ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน” นายยุทธพงศ์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรงงาน-ชาวไร่อ้อยจ่อยื่นนายกฯ

โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยหารือเตรียมทำหนังสือยื่นนายกฯและ 3 รมต.ที่กำกับดูแลทั้งอุตฯ เกษตร พาณิชย์ให้ชะลอแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลสิ้นปีนี้ออกไปเหตุแนวทางยังไม่ชัด ขณะที่กน.จัดสรรน้ำตาลโควตาก.เพิ่มเป็น 2.61 ล้านตัน

แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและ 3 สถาบันชาวไร่อ้อยอยู่ระหว่างหารือที่จะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอให้ชะลอแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะนำมาใช้ในฤดูกาลผลิตปี 56/57 เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการต่างๆ เร็วเกินไปควรจะต้องหารืออย่างรัดกุมไม่เช่นนั้นจะเป็นผลเสียต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและยังกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลทรายด้วย

"มีหลายประเด็นที่ไม่เคลียร์ว่าการลอยตัวน้ำตาลมีการกำหนดเพดานสูง ต่ำแล้วถ้าเพื่อนบ้านเขาราคาสูงกว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือAEC ปัญหาทุกวันนี้ความพร้อมหรือไม่พร้อมของโรงงานชาวไร่ไม่ใช่ประเด็นแต่ปัญหาคือถ้าลอยตัวราคาแล้วลอยอย่างไรอันนี้ไม่ชัด" แหล่งกล่าวกล่าว

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศบริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่ารายละเอียดต่างๆต้องชัดเจน ดังนั้น มองว่าสิ้นปีนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะเริ่มดำเนินการลอยตัวราคาแต่ที่สุดเห็นด้วยว่าจะฝืนไม่ได้เมื่อเข้าสู่ AEC ที่ราคาน้ำตาลทรายไทยจะต้องสะท้อนกลไกตลาดเพื่อดูแลไม่ให้น้ำตาลไหลเข้าและออกผิดปกติ

สำหรับน้ำตาลบริโภคในประเทศ(โควตาก.)ฤดูกาลผลิตปี 55/56 ล่าสุดคณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.)ได้เห็นชอบให้เพิ่มโควตาก.จาก 2.5 ล้านตัน(25 ล้านกระสอบ)เป็น 2.61ล้านตัน(26.1 ล้านกระสอบ) และให้กันสำรองไว้อีก 5 แสนตัน หากกรณีไม่เพียงพอก็จะจัดสรรเพิ่มให้ใน 2 เดือนซึ่งมองว่าสูงเกินความจำเป็นเนื่องจากการใช้ช่วงต้นปีที่สูงมากเพราะอากาศร้อนแต่ครึ่งหลังจากนี้เข้าฤดูฝนอากาศจะเย็นการบริโภคเครื่องดื่มจะน้อยลงไปด้วย ประกอบกับพ.ย. นี้ก็จะเปิดหีบแล้วซึ่งประเมินกันว่าปริมาณอ้อยฤดูกาลผลิตใหม่จะทะลุ100 ล้านตัน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คลังจี้ใช้ทุนสำรองแก้บาทผันผวน ธปท.ยอมรับเข้าแทรกแซงค่าเงิน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีความผันผวนมากในช่วงนี้ โดยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับคู่ค้าและคู่แข่ง ไม่จำเป็นต้องอิงค่าเงินเหรียญสหรัฐ ที่สำคัญต้องดูแลให้มีเสถียรภาพ เพราะเห็นได้จากช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดแตะระดับ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐส่งผลกระทบกับผู้ส่งออก ขณะที่ปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อาจส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้า ซึ่งความจริงไม่ควรปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตั้งแต่แรก แต่เพราะบาทแข็งค่ารุนแรง ทำให้ต้องเจอกับสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าเร็ว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากกว่าหลายประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนได้ แต่การบริหารจัดการค่าเงินบาท ไม่ได้หมายความว่า ธปท.เข้าแทรกแซงหรือกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เพียงต้องการให้มีการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการดูแลสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันสูงจนกระทบกับประชาชนและภาคการผลิต

"หากก่อนหน้านี้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นถึง 28 บาท ก็ไม่ต้องเจอสถานการณ์อ่อนค่าเหมือนวันนี้ ควรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ไม่ใช่ 3 เดือนแข็ง 4 เดือนอ่อน ต้องบริหารจัดการ ซึ่งเราก็มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากพอที่เป็นกันชน และมีสภาพคล่องที่เป็นเงินบาทมากอยู่ ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานที่ดูแลก็คิดเหมือนกัน จะดูแลเสถียรภาพบาทอย่างไรไม่ให้เหวี่ยงแบบนี้" นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าเร็วไม่น่าจะเป็นเรื่องน่ากังวลเนื่องจากเป็นภาวะผันผวน

ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่เงินบาทเองก็เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคหลังดอลลาร์กลับมาปรับตัวแข็งค่า หลังคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะเริ่มลดขนาดมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทไม่ได้มีสัดส่วนสูงกว่าเงินสกุลอื่น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ได้ขายดอลลาร์ออกไปในจำนวนมากพอสมควร เพื่อดูแลไม่ให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเกินไป อีกทั้งเป็นการลดภาระการเก็บเงินทุนสำรองไว้ในระดับที่สูง ทั้งนี้ ธปท.จะพยายามไม่ให้ฝืนต่อทิศทางของตลาดมากนัก ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ควรบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเองด้วย

ส่วนข้อกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาเงินบาทอ่อนนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า อาจจะมีผลอยู่บ้าง เพราะเรายังต้องนำเข้าสินค้าหมวดพลังงานจากต่างประเทศ แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่การพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมหลายส่วนมาประกอบกัน ไม่ได้พิจารณาแค่เฉพาะเรื่องราคาสินค้าหมวดพลังงานเท่านั้น อีกทั้งเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจึงต้องนำมาพิจารณาด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อ้อยรัฐชะลอลอยตัวราคาน้ำตาล

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและ 3 สถาบันชาวไร่อ้อย ได้หารือกันเพื่อร่วมกันยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม,รมว.พาณิชย์ และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ชะลอแนวทางการาลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีเป้าหมายนำมาใช้ในฤดูการผลิตปี 2556/57 เนื่องจากกระบวนการต่างๆ รวบรัดเกินไป จึงต้องการให้ผู้บริหารทั้ง 3 กระทรวง ดำเนินการให้รอบคอบมากกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นผลเสียต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และยังกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลทรายด้วย

ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายชาวไร่และโรงงานน้ำตาลเห็นตรงกันว่า มีอีกหลายประเด็นที่ภาครัฐไม่มีความชัดเจน หากจะลอยตัวน้ำตาลทรายแล้ว จะกำหนดเพดานราคาสูง – ต่ำ ในกรอบของราคาที่จะลอยตัว ซึ่งชาวไร่และโรงงานน้ำตาล เห็นว่า หากมีกรอบราคาการลอยตัว ทั้งระดับราคาสูงและต่ำไว้ ในบางช่วงเวลา เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มีการกำหนดเพดานราคาสูงต่ำไว้ หากสมาชิกในอาเซียนที่ผลิตน้ำตาลส่งออกเหมือนกับประเทศไทย มีราคาต่ำกว่าราคาเพดานที่ประเทศไทยกำหนดไว้ ราคาน้ตาลนำเข้าจากอาเซียนก็จะต่ำกว่ากรอบเพดานราคาน้ำตาลขั้นต่ำของประเทศไทย ก็จะทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไม่สามารถแข่งขันเรื่องราคาขายปลีกได้ จึงต้องการให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดให้ชัดเจนว่า กรอบเพดานลอยตัวราคาน้ำตาลทั้งขั้นสูงและต่ำ ควรมีอยู่หรือไม่ และหากกำหนดกรอบเพดานไว้ ราคาขั้นสูงและต่ำควรอยู่ระดับใด เพื่อปกป้องผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่ารายละเอียดต่างๆ ต้องมีความชัดเจน จึงมองว่าสิ้นปีนี้อาจจะเร็วเกินไป ที่จะเริ่มลอยตัวราคา สำหรับน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ฤดูผลิตปี 2555/56 ล่าสุดคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ได้เห็นชอบให้เพิ่ม โควตา ก. จาก 2.5 ล้านตันหรือ 25 ล้านกระสอบเป็น 2.61 ล้านตัน หรือ 26.1 ล้านกระสอบ และให้กันสำรองไว้อีก 500,000 กระสอบ หากไม่เพียงพอ ก็จะจัดสรรเพิ่มให้ด้ายใน 2 เดือน การเพิ่มโควตา ก. ในปริมาณมากๆ อาจเป็นผลเสีย ทำให้เกิดปัญหาน้ำตาลค้างกระดานหรือขายไม่ออกในแต่ละงวดการขายทุกๆ สัปดาห์ เพราะประเทศเข้าสู่ฤดูฝน มีผลให้ความร้อนลดลง อัตราการบริโภคเครื่องดื่มทุกชนิดลดลงความต้องการซื้อน้ำตาลของผู้ประกอบการไปผลิตสินค้าประเภทนี้ลดลงตามไปด้วย

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 14 มิถุนายน 2556

กก.น้ำตาลทรายมีมติเพิ่มน้ำตาลทรายโควตา ก.อีก 1.65 ล้านกระสอบ

กรุงเทพฯ 13 มิ.ย.- นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการน้ำตาลทรายมีมติเพิ่มการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. หรือน้ำตาลเพื่อการบริโภคในประเทศ ฤดูการผลิต 2555/2556 เพิ่มจาก 25 ล้านกระสอบ เป็น 26.65 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มอีก 1.65 ล้านกระสอบ เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายบางพื้นที่เริ่มขาดแคลน จากการที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบซื้อน้ำตาลทรายเก็บไว้ในสตอกจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องดื่มต่าง ๆ

สำหรับการเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. ครั้งนี้จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมปลายเดือนนี้ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติและปริมาณน้ำตาลจะพอเพียงสำหรับการบริโภคภายในประเทศไม่ขาดแคลน.- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 13 มิถุนายน 2556

น้ำต้นทุนยังน้อยห่วงภัยพิบัติการเกษตร

รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงการประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างกักเก็บน้ำสำคัญของประเทศหลายแห่งมีความน่าเป็นห่วง แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะรายงานว่ามีฝนตกตามเกณฑ์ปกติแต่เนื่องจากน้ำต้นทุนมีอยู่อย่างจำกัดซึ่งได้ใช้ไปในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาเป็นจำนวนมากทำให้น้ำต้นทุนที่มีอยู่โดยเฉพาะในเขื่อนขนาดใหญ่ลดปริมาณลงไปมาก

ขณะที่แนวโน้มของปริมาณน้ำฝนในฤดูกาลที่จะตกลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่ได้มีปริมาณมาก ทำให้คาดว่าปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่อาจไม่เพียงพอสำหรับเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งปีถัดไป จึง ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์และหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะการวางแผนการใช้น้ำหรือการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งของปีถัดไป ซึ่งอาจมีการปรับแผนปฏิบัติการทำฝนหลวงโดยเพิ่มการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างกักเก็บน้ำสำคัญเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2556 ระยะที่ 2 ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2556 ทั้งในเรื่องของมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ฝนทิ้งช่วงและศัตรูพืชระบาด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณน้ำในปัจจุบันและเตรียมรับภัยพิบัติในช่วงฤดูฝนให้เข้มข้นขึ้น โดยประเด็นหลักที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผนในระยะที่ 1 ได้แก่ แผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูฝน ปี 2556 การก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบชลประทาน โครงการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย นอกจากนี้ยัง ปรับเป้าหมายการดำเนินงานในบางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ แผนปฏิบัติการฝนหลวง โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเพิ่มขึ้น แผนสำรองปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์สัตว์น้ำและเสบียงอาหารสัตว์ เป็นต้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 มิถุนายน 2556

ถ่านชีวภาพ เพื่อการปรับปรุงดิน - เกษตรทั่วไทย

ดาบตรี พินิพนท์ ปิตุยะ ผู้บังคับหมู่ ศูนย์อำนวยการ โครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยถึงการดำเนินงานในโครงการผลิตถ่านชีวภาพไบโอซาร์ เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรมให้สามารถใช้เพื่อการเพาะปลูกพืชได้ว่าเป็นการนำคาร์บอนมาฝังดิน แทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศ

คาร์บอนที่มีมากส่วนใหญ่เป็นวัสดุอินทรีย์สาร เช่น ต้นไม้ ซึ่งเมื่อมีการสังเคราะห์แสง ปริมาณคาร์บอนในต้นไม้จะมีปริมาณ 50% ของน้ำหนักต้นไม้นั้น ๆ และเมื่อตายจะย่อยสลายเองตามธรรมชาติ หรือการเผาทิ้งก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกไม้และเศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรกรรมสามารถนำมาผลิตเป็นถ่านชีวภาพได้ เช่นเศษไม้ที่ต้องตัดทิ้งหรือแต่งกิ่ง เศษเหลือทิ้งจากการเก็บผลผลิตแล้ว เช่น ข้าวโพด, ซังข้าว, แกลบ, ไม้ล้มลุก มูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น มูลวัว, หมู, ไก่ วัสดุทั้งหมดที่จะนำมาใช้ทำถ่านชีวภาพและเป็นเชื้อเพลิงที่ดีจะต้องตากให้แห้งที่สุด เพราะวัสดุธรรมชาติมีความชื้นมากเมื่อเผาก็จะเกิดควันมาก ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลพิษทางอากาศได้เช่นกัน

วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ผลิตถ่านชีวภาพ ประกอบด้วยถังคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อใยหิน ถังเหล็ก 200 ลิตรและสายรัดฝา ใช้ถังคอนกรีตสำเร็จรูปเพื่อเป็นเตาให้ความร้อน เจาะรูที่ถังคอนกรีตสำเร็จรูป 8 รู ด้านล่างของถัง เพื่อให้อากาศผ่าน เข้า-ออกในเตาให้ความร้อน จากนั้นยกถังที่เจาะวางไว้ที่พื้นดินที่เตรียมไว้ขุดหลุมในถังคอนกรีตเพื่อปรับพื้นดินให้มีความลึก 20 เซนติเมตร แล้วนำถังอีกลูกไปวางซ้อนไว้ด้านบน ตัดท่อใยหินให้ยาวประมาณ 1 เมตร ปิดฝาถังให้สนิทปล่องระบายความร้อนนี้มีขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1 เมตร นำท่อใยหินวางไว้บนฝาถังคอนกรีตดูให้เรียบร้อย

ขั้นตอนใส่วัสดุที่เตรียมไว้ จะใส่วัสดุชิ้นเล็กลงไปเป็นแนวตั้งก่อนในถังคอนกรีตด้านนอก ให้ใส่ฟืนใหญ่ก่อนแล้วใส่ฟืนเล็กทีหลัง ปิดฝาพร้อมรัดสายรัดฝาให้เรียบร้อย ใช้ถ่านสุกเป็นเชื้อเพลิงทำให้ไฟติดง่ายขึ้นเมื่อไฟติดรอบเตาผลิตถ่านชีวภาพแล้ว ก็ปิดฝาถังคอนกรีตต่อไปนำท่อใยหินมาปิดตรงปากรูตรงกลางของฝาปิดถังคอนกรีต นำดินเหนียวแช่น้ำพอประมาณ แล้วไปยาแนวฝาและรอยต่อถังคอนกรีตและด้านบนฝาทับกับปากท่อใยหินด้วยเพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปได้ และเพื่อให้ควันและความร้อนออกจากท่อทางเดียว

การผลิตถ่านชีวภาพต้องมีอุณหภูมิ 450-600 องศาเซลเซียส ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิจะทำให้ได้ถ่านชีวภาพที่ดีและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการปรับปรุงดินมากที่สุดใช้เวลาในการผลิตถ่านชีวภาพประมาณ 24 ชั่วโมง หรือให้เตาเย็นสนิทโดยใช้มือสัมผัสดูตรงก้นถังคอนกรีต ดูว่าหายร้อนหรือยัง ไม่ใช่เพียงแต่มองดูควันจากปล่องอย่างเดียว รอถังคอนกรีตหายร้อนสนิทแล้วเราจึงนำท่อใยหินออกจากฝาปิด ต่อไปก็เปิดฝาคอนกรีตออกเพื่อจะดูว่าถ่านชีวภาพที่เราผลิตนั้นสุกแล้วหรือยัง

จากนั้นก็นำมาย่อยหรือบดถ่านให้มีขนาดเล็กลงเพื่อนำไปทำประโยชน์ต่อไป ถ่านชีวภาพที่ได้จะมีขนาด 3-5 มิลลิเมตร และจะมีช่องหรือพรุนในตัวถ่านมากตามประเภทของวัสดุนั้น ๆ เป็นคาร์บอน 100% รูพรุนของวัสดุที่ทำถ่านชีวภาพสามารถเก็บปุ๋ยและน้ำได้มาก มีความเสถียรสูง สามารถอยู่ในดินได้เป็นเวลายาวนาน เมื่อกักเก็บปุ๋ยและน้ำ พืชสามารถนำไปใช้ในระยะเวลานาน สามารถฟื้นฟูคุณภาพดินให้ดีขึ้น

ถ่านชีวภาพ เป็นการนำมวลชีวภาพ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้หรือเหลือทิ้งจากกิจกรรมภาคการเกษตรมาแยกสลายด้วยความร้อนแทนการเผาทิ้ง เพื่อแยกคาร์บอนจากมวลชีวภาพมาอยู่ในรูปของถ่านชีวภาพเมื่อใส่ถ่านชีวภาพลงในดิน จะสามารถกักเก็บคาร์บอนซึ่งมีสภาพเสถียรให้อยู่ในดินได้เป็นระยะเวลานาน นอกจากนั้นถ่านชีวภาพยังช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้มีโอกาสเพิ่มรายได้มากขึ้น

การผลิตถ่านชีวภาพซึ่งเป็นการเผาเศษไม้และเศษของเหลือทิ้งจากกิจกรรมการเกษตรกรรม ในเตาควบคุมอุณหภูมิเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่จะสามารถลดปัญหาการทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ ตามทฤษฎีและวิธีปฏิบัติที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป

“ต่อจากนี้ก็จะมีการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับที่ทำให้ทราบถึงรายละเอียดว่า ถ่านชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ประเภทใดเหมาะสมกับดินประเภทใด เพราะพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยมีดินที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เมื่อจะแนะนำให้เกษตรกรหันกลับมาใช้มาตรการปรับปรุงคุณภาพดินด้วยวิธีนี้ ก็ต้องทราบอย่างชัดเจนว่าควรจะใช้มาตรการปรับปรุงดิน และควรจะใช้องค์ประกอบใดบ้างที่จะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์และสามารถเพิ่มผลผลิตด้านเกษตรกรรมให้ได้ดีที่สุด”ดาบตรี พินิพนท์ กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 มิถุนายน 2556

อุตฯขู่ฟันโรงงาน แอบปล่อยมลพิษ เอาผิดผู้ให้เช่าที่ทิ้งกากอันตราย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดรายงานผลดำเนินงานของโรงงานในพื้นที่ ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำผิดกฏหมาย เช่น การปล่อยน้ำทิ้ง ปล่อยอากาศเสีย การทิ้งกากอันตราย รวมถึงเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน และมีความซ้ำซาก โดยตรวจพบมากกว่าปีละ 3 ครั้ง/แห่ง ว่ามีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร

“ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้รับร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่ามีโรงงานลักลอบดำเนินงานไม่ถูกต้องจำนวนมาก ในเบื้องต้นนอกจากจะเข้มงวดกับโรงงานที่ทำไม่ถูกต้องแล้ว ในส่วนเจ้าของที่ดินว่างเปล่า เจ้าของหมู่บ้านร้าง หากปล่อยให้เช่าที่เพื่อนำกากอุตสาหกรรมอันตรายก็จะเอาโทษด้วย โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยขยายผลจับกุม”นายวิฑูรย์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงได้จัดตั้ง คณะทำงานขึ้นมากำกับดูแลการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายและมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้ชิดโรงงานแล้ว

ด้านนายเสน่ห์ นิยมไทย อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุซ้ำกรณีเหมืองหินที่จ.เพชรบุรีถล่ม เมื่อเร็วๆนี้แล้ว ได้สั่งการเหมืองแร่ 7 เขตทั่วประเทศไปดูแลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอื่นๆ ว่า มีการรักษาความปลอดภัยตามระเบียบบังคับหรือไม่ และให้รายงานมาให้กรมทราบภายในสัปดาห์นี้ เพื่อทำแผนป้องกัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 มิถุนายน 2556

กฟภ.เล็งทุ่มงบ3หมื่นล้าน ดันสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

กฟภ.จับมือกรมชลประทาน - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุ่ม 3 หมื่นล้านสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ตั้งเป้า 5 ปีผลิตได้ 300 เมกะวัตต์ พร้อมเปลี่ยนกฎการตัดมิเตอร์ไฟฟ้าของชาวบ้างกรณีผิดชำระหนี้ ยืดให้เวลา 2 เดือนก่อนตัดไฟจริง

นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า กฟภ.มีแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 5 ปี จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้ได้ 300 เมกะวัตต์ โดยใช้พลังงานลม แสงอาทิตย์ ไบโอแมสและขยะ เป็นต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวนั้นจะมอบหมายให้กับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกเป็นผู้ลงทุน ซึ่งคาดว่าการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะเห็นความชัดเจนภายในปี 2556 นี้ จากนั้นจะเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าไบโอแมสและขยะ ในปี 2558 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นอกจากนี้ กฟภ.ได้แก้ไขปัญหากรณีการตัดมิเตอร์ไฟฟ้าของประชาชนกรณีชำระเงินค่าไฟฟ้าล่าช้าหรือเกินกำหนด โดยแต่เดิมหากประชาชนผิดชำระเงิน 10 วัน ทางเจ้าหน้าที่ กฟภ.จะไปตัดมิเตอร์ไฟฟ้าทันที ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ ดังนั้นจากนี้ไป กฟภ.ได้เปลี่ยนกระบวนการตัดไฟฟ้าใหม่ โดยหากผิดชำระค่าไฟฟ้า ทาง กฟภ.จะส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ไปแจ้ง หากยังไม่มาชำระเงินจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจา และลำดับสุดท้ายจึงจะตัดมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวสามารถดำเนินการได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นายนำชัยกล่าวว่า เพื่อรองรับการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทาง กฟภ.จึงได้ร่วมกับกรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ประตูระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำ โดยระยะแรกจะผลิตไฟฟ้าได้ 12 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,150 ล้านบาท ทั้งนี้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และเริ่มโครงการนำร่องเร็วนี้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 13 มิถุนายน 2556

ปั้น“Smart Farmer”ด้านบัญชี

ปั้น“Smart Farmer”ด้านบัญชี นำร่องสร้างเกษตรกรปราดเปรื่องตัวอย่าง77จังหวัด77ราย

นายวิจักร อากัปกริยา อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer ตามภารกิจของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีภารกิจในการสร้างความเข้มแข็งและโปร่งใสในการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์พัฒนาระบบบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชีให้เหมาะสมกับธุรกิจของสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร ฝึกอบรมคณะกรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ และฝ่ายจัดการ ประมวลผลและรายงานภาวะเศรษฐกิจทางการเงิน เพื่อบ่งชี้แนวทางการพัฒนาสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกมีความศรัทธา เชื่อถือ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาอย่างยังยืน

ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาส่งเสริมให้เกษตรกร เยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้รู้จักการจัดทำบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถจัดทำบัญชี และวิเคราะห์ต้นทุน นำไปวางแผนการผลิตช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีการออมเงินอย่างเป็นระบบ สามารถพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งในครอบครัว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดังนั้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้ร่วมผลักดันนโยบายรัฐบาลกระทรวงเกษตรสหกรณ์ ตามภารกิจและบทบาทในการพัฒนาเกษตรกร ให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โดยในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว โดยคัดเลือก Smart Farmer ต้นแบบด้านบัญชีในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 77 ราย ตามคุณสมบัติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด ซึ่งจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี มีการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพอย่างต่อเนื่อง สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาต้นทุนและกำไรขาดทุน จากการประกอบอาชีพได้ มีการวางแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการผลิต มีรายได้ มีเงินออม สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ การจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพให้กับชุมชนได้ นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้กำหนดแนวทางการสร้างเกษตรกรปราดเปรื่องด้านบัญชี โดยขับเคลื่อนภายใต้สถาบันเกษตรกรที่บริหารจัดการที่ดี โดยตั้งเป้าหมายให้สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรที่ใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร(Full Pack) ซึ่งสมัครใจสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องด้านบัญชี ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำนวน 920 แห่ง ภายในปี 2556 นี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 มิถุนายน 2556

ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน จากภาคการเกษตร

ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศ แม้ว่าบทบาทภาคเกษตรเริ่มลดลงแต่ยังเป็นฐานในการผลิตที่สำคัญของประเทศ

และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการผลิตภาคเกษตร ภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง การระบาดของโรคและแมลง รวมถึงการระบาดของโรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงจำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการเสื่อมโทรมของดิน ปัญหาแรงงานในภาคเกษตรที่ลดลงและมีค่าแรงงานที่สูง คนหนุ่มสาวไม่สนใจในการทำเกษตร ทุกอย่างล้วนแต่ทำให้ศักยภาพการผลิตที่ลดลง ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของผลิตผล ทำให้สินค้าเกษตรมีแนวโน้มด้านราคาสูงขึ้น

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นและผันผวนอย่างมาก ประกอบกับความต้องการใช้พลังงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้หลายประเทศในโลกรวมถึงประเทศไทย มีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืชแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลมากขึ้น และทำให้ความต้องการพืชที่สามารถนำไปผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชอาหารมาปลูกพืชพลังงานกันมากขึ้น โดยหวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงมากกว่า

ดังนั้น แผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 จึงได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน โดยพยายามสร้างฐานภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็งและเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ มีคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืชที่เพียงพอ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศเมื่อราคาพลังงานเกิดความผันผวน รวมถึงสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรในระบบด้วย

สำหรับเป้าหมายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้มีการผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล ให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อลดการนำเข้าและการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายเพิ่มการใช้เอทานอล และไบโอดีเซล เป็นส่วนประกอบในน้ำมันเบนซินและดีเซลไม่น้อยกว่า 9 และ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2565 ตามลำดับ แต่ต้องตระหนักไว้เช่นเดียวกันว่าพืชเป้าหมายที่จะนำมาพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนจากพืช เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล นั้นเป็นพืชที่สามารถใช้เป็นอาหารมาก่อน

ทั้งนี้ การวางแผนเพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอนั้นมีอยู่ 2 แนวทางหลัก ประการแรกคือการขยายพื้นที่ปลูกให้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องมีความระมัดระวังในการขยายพื้นที่ปลูกที่ไม่ควรเข้าไปลุกพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกพืชอาหารหลักที่สำคัญ ประการที่ 2 ที่สามารถเพิ่มผลผลิตให้เพิ่มอย่างเพียงพอ โดยการพัฒนาเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาบูรณาการ เริ่มตั้งแต่การใช้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง การจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำที่มีประสิทธิภาพ หากทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังให้ได้ 15-20 ตันต่อไร่ ผลผลิตอ้อยให้ได้ 20-25 ตันต่อไร่ และปาล์มน้ำมันให้ได้ 5-10 ตันต่อไร่ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องของความมั่นคงทั้งด้านอาหารและพลังงานของประเทศลงไปได้มาก แต่ต้องมีการลงทุนเพิ่มปัจจัยการผลิตให้เพียงพอ
ที่สำคัญคือภาครัฐควรต้องเร่งในการจัดโซนนิ่งการปลูกพืชทั้งอาหารและพลังงานให้ชัดเจนโดยเร็ว ที่สามารถวางแผนการผลิตและการขนส่งผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่ปลูกพืชอาหารและพลังงานให้ชัดเจน เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการ การเข้าถึงแหล่งทุนที่พอเพียง เพื่อสร้างให้เป็น SMART FARMERS ดังความหวังด้วยครับ

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มิถุนายน 2556

กรมพัฒนาที่ดินบูรณาการการทำงาน สร้างความเข้าใจจัดโซนนิ่งการเกษตร

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสร้างความเข้าใจ เรื่องการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศเขตพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ (zoning) 8 ชนิดแล้วนั้น เบื้องต้นเกษตรกรอาจยังไม่เข้าใจในรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งจะมีการสร้างความเข้าใจจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยจะชี้ให้เห็นว่าพืชที่เหมาะสมที่จะปลูกแต่ละแห่งเป็นอย่างไร เมื่อเรามีต้นทุนต่ำเราจะผลิตอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ และถ้าเกษตรกรปลูกพืชชนิดเดิมแล้วไม่ได้ผล ควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและได้ผลผลิตที่ดี สำหรับการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลจะช่วยเหลือในเรื่องแหล่งน้ำ เรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้

“แม้ว่ากรมพัฒนาที่ดินจะมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องดินเป็นพื้นฐาน แต่ในการทำงานก็ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามกลุ่มภารกิจต่างๆ ของกระทรวงฯ เช่น กลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาการผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมหม่อนไหม ซึ่งจะดูแลและส่งเสริมเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ กลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องแหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน การบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตอย่างไรให้ถูกวิธีและเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีผลตอบแทนสูงสุด และกลุ่มภารกิจสุดท้ายคือ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรและระบบสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะส่งเสริมเรื่องสหกรณ์ บัญชีและการรวมกลุ่มเกษตรกร ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร เมื่อเกษตรกรเข้าถึงภูมิความรู้ เข้าถึงแหล่งทุน การตลาด และประสบความสำเร็จในอาชีพแล้วนั้น ก็จะเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกรของตนเอง” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว

สำหรับเกษตรกรที่มีข้อสงสัยเรื่องการจัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน www.ldd.go.th หรือสายด่วน 1760

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 13 มิถุนายน 2556

อุตฯ จัดหนัก โรงงานสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมซ้ำซาก

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ก.อุตฯ สั่งอุตสาหกรรมจังหวัดเร่งสำรวจโรงงานทำผิดซ้ำซากและแจ้งกลับมายังกระทรวงภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ พร้อมตั้งเป้าลดเรื่องร้องเรียนกรณีโรงงานสร้างปัญหากระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมปรับยุทธศาสตร์ในการดูแลสถานประกอบการทั่วประเทศ โดยให้อุตสาหกรรมจังหวัดทำงานเชิงรุกในการกำกับดูแลโรงงานที่ถูกร้องเรียน ทั้งก่อนการตั้งโรงงานและหลังตั้งโรงงาน โดยภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ให้อุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายและวิธีการในการลดเรื่องร้องเรียนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และใช้เป็นเกณฑ์วัดผลงานของอุตสาหกรรมจังหวัดด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้ผู้ตรวจราชการมีบทบาทในการตรวจในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีการกำกับดูแลโรงงานที่มีการประกอบกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต้องยึดหลักการ “ป้องกันไว้ก่อน” การทิ้งกากอุตสาหกรรมก็จะไล่ล่าและเอาผิดผู้ทำผิดอย่างจริงจัง รวมถึงได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการสำรวจโรงงานที่ทำผิดซ้ำซาก ซึ่งหมายถึงโรงงานที่ถูกร้องเรียนตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป จากนั้นให้สรุปและรายงานเข้ามายังกระทรวงอุตสาหกรรมภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังตั้งคณะทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการทำงานเชิงรุกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดตามโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว, ให้อุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม, ปรับเปลี่ยนแต่ละจังหวัดให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมน่าอยู่ และให้ความรู้กฎหมายแก่ผู้ประกอบการ พร้อมกับให้ความรู้เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อจะให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดัน'แรงงานขาด-วาระแห่งชาติ'

พาณิชย์ เตรียมเสนอ "ยิ่งลักษณ์" ดันปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ จี้ผู้ประกอบการไทยเร่งย้าย/ขยายฐานการผลิตไปยังตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยดันตัวเลขส่งออก ชิงจังหวะก่อนเมียนมาร์พร้อมและดูดนักลงทุนไปหมด เชียร์ พ.ร.บ.เงินกู้2.2ล้านล้านดันไทยเป็นเกตเวย์ของอาเซียน

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า กรมได้เตรียมนำเสนอเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในเร็วๆ นี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น แต่ติดในหนึ่งปัญหาหลักคือการขาดแคลนแรงงานในการผลิต อย่างไรก็ตามระหว่างเตรียมการนี้สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่สำคัญคือ

1.อุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมในไทยจะต้องย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศ 2.นักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนที่ก่อนหน้านี้จะเน้นลงทุนในเมืองหรือชานเมืองเป็นหลักจะต้องย้ายฐานการลงทุนไปยังแถบตะเข็บชายแดน โดยใช้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านประเภทเช้ามา-เย็นกลับ ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้จะส่งผลให้การค้าตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์ ลาว หรือกัมพูชา มีความคึกคัก มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งถ้าเศรษฐกิจตามแนวตะเข็บชายแดนดี การสั่งสินค้าจากไทยก็จะมีเพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มยอดส่งออกของประเทศ ทดแทนตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่แนวโน้มการส่งออกเริ่มลดลงได้

"เรื่องแรงงานถือว่ามีผลต่อการค้ามากขึ้น เนื่องจากมีคนสนใจเข้ามาลงทุนในบ้านเรามากขึ้น แต่ปัญหาของเราคือขาดแคลนแรงงานซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า หรือน่าสนใจกว่า เช่น เมียนมาร์ แต่เมียนมาร์ก็ยังไม่พร้อมเรื่องระบบสาธารณูปโภค ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะต้องเร่งออกไปสร้างความแข็งแกร่งโดยตั้งฐานผลิตตามตะเข็บชายแดนในช่วง 2-5 ปีนับจากนี้ เพราะหากเมียนมาร์พร้อมเมื่อไหร่ นักลงทุนอาจไม่สนใจมาลงทุนในบ้านเราก็เป็นไปได้สูง"

นอกจากนี้กรม ยังอยู่ระหว่างรวบรวมเนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในปี2558 เพราะก่อนหน้านี้ นายกฯได้มีนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาว่าการแข่งขันของสินค้าไทยในแต่ละเซ็กเตอร์ยังมีอะไรที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งก่อนและหลังดำเนินการผลจะออกมาเป็นเช่นไร ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขณะนี้ไทยอาจมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่ 5 แต่พอเปิดเสรีทางการค้าไทยอาจขึ้นไปอยู่อันดับ 3 หรือร่วงลงมาอยู่อันดับ 7 ก็เป็นได้ และถ้าหล่นลงจะทำอย่างไรควรจะทีมาตรการอะไรที่จะให้เรากลับไปอยู่ในดับดันต้นๆ ได้ เช่น อาจย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น
"จากการที่รัฐบาลจะออกพ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มองว่างบดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนของประเทศให้ขยายตัวมากขึ้นและจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นเกตเวย์ของอาเซียนได้"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สศอ.ชี้เงินบาทยังไม่น่าไว้วางใจ กังวลศก.โลกทำแข็งค่าอีก ย้ำให้ทำประกันความเสี่ยง

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการติดตามค่าเงินบาทต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแม้ค่าเงินบาท เริ่มอ่อนค่าลงแล้ว แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าจะกลับมาแข็งค่าอีก หรือไม่ เนื่องจากส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ปัจจัยเศรษฐกิจโลกทั้งในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)

โดยสถานการณ์ค่าเงินบาท เมื่อตั้งแต่ต้นปี 2555 พบว่า อยู่ที่ 31.59 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากนั้นมีทิศทางแข็งอย่าง ต่อเนื่อง ก่อนที่จะเริ่มอ่อนตัวลงในไตรมาสที่ 2 ปี 2555 เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และญี่ปุ่น ประกอบกับความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะในอียู และเศรษฐกิจสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้น ต่อมาในไตรมาสที่ 3 ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ

ส่วนเมื่อต้นปี 2556 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.62 บาท และมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นในระดับสูงสุดที่ 28.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (ณ วันที่ 22 เมษายน 2556) ก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 30.76 บาท เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบค่าเงินนับตั้งแต่ต้นปีนั้นเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 0.44 ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าซื้อตราสารหนี้ เช่น ตลาดพันธบัตร ขณะเดียวกันเงินลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯเนื่องจากนักลงทุนเกรงว่าสหรัฐ จะหยุดการ ใช้มาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย (QE 3) ก่อนกำหนด และการเตรียมใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเข้าออกประเทศของรัฐบาลไทย

"กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มีการติดตามค่าเงินบาท และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกระตุ้นให้ ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือในการประกันความเสี่ยง และให้ความรู้ในการบริหารความเสี่ยงด้วยเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ที่มีความซับซ้อน และเข้าใจยากให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีโอกาสได้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นในสภาวการณ์ปัจจุบัน" นายสมชาย กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชูธงให้ไทยเป็นผู้นำมาตรฐานสินค้าเกษตร...และศูนย์กลางฝึกอบรมของอาเซียน - เกษตรทั่วไทย

เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ซึ่งขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็เตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนเอง สำหรับประเทศไทยที่มีการเกษตรเป็นภาคการผลิตที่สำคัญ และมีประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและสินค้าเกษตรเพื่อเข้าสู่เออีซีจึงเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ภาครัฐให้ความสำคัญ

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซีของกรมวิชาการเกษตร มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องหลัก ๆ ประกอบด้วย มาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร มาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร และการเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมของอาเซียนมาตรฐานและความปลอดภัยด้านอาหาร ประเทศไทยมีความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช ทั้งผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ และสินค้าเกษตรอีกหลายชนิด ที่มีการผลิตในระบบมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งขณะนี้พยายามผลักดันให้ไทยเป็นต้นแบบในภูมิภาคอาเซียนในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออก หรือใช้มาตรฐานของไทยเป็นมาตรฐานของอาเซียนนั่นเอง กล่าวคือ ถ้าประเทศกลุ่มอาเซียนต้องการส่งออกสินค้าเกษตรไปขายในตลาดต่างประเทศจะต้องนำมาตรฐานของไทยไปใช้ รวมทั้งนำเมล็ดพันธุ์พืชที่ประเทศไทยผลิตไปปลูกเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมการรองรับด้วยการเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ของอาเซียน หรือ อาเซียน ซี๊ด ฮับ

มาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร ทั้งมาตรฐานการตรวจสอบสารพิษตกค้าง มาตรฐานปัจจัยการผลิต มาตรฐานปุ๋ยเคมี มาตรฐานสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือมาตรฐานใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสินค้าเกษตร ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่มีการตรวจและออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก โดยมาตรฐานที่ใช้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แม้กระทั่งประเทศคู่ค้าที่มีความเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารอย่างประเทศญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ไทยยังสามารถส่งสินค้าเกษตรหลากหลายรายการไปยังประเทศเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง แสดงว่ามาตรฐานของไทยสูงมาก ฉะนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงผลักดันให้อาเซียนใช้มาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าของไทยเป็นตัวกำหนดมาตรฐานกลางของอาเซียน

นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังมีห้องปฏิบัติการ ที่สามารถตรวจสอบคุณภาพสินค้าพืชก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก มาตรฐานสากล ซึ่งห้องปฏิบัติการนับเป็นหัวใจสำคัญเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประเทศคู่ค้าหรือผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสินค้ามากขึ้น ตัวอย่าง ห้องปฏิบัติการตรวจสารพิษตกค้าง ในอาเซียนมีไทยประเทศเดียวที่สามารถตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างได้มากชนิดที่สุด โดยตรวจได้ประมาณ 200 ชนิด จากสารพิษตกค้างที่มีในโลกนี้กว่า 400 ชนิด อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะต้องตรวจสอบสารพิษตกค้างให้ครอบคลุมทุกชนิด โดยร่วมมือกับประเทศที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าว สำหรับจัดเจ้าหน้าที่ไปเรียนรู้ฝึกอบรมนำเทคนิคกลับมาพัฒนาระบบตรวจสอบในประเทศได้อย่างมีประสิทธิ ภาพเพิ่มขึ้น

...เมื่อประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในเรื่องมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร มาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล…...ฉะนั้นเรื่องที่กรมวิชาการเกษตรเตรียมการคือ การเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมของอาเซียน เป็นครูฝึกอบรมให้กับประเทศกลุ่มอาเซียน ถ้าเราเป็นศูนย์ฝึกอบรมของอาเซียนได้จะส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างมาก เพราะจะสามารถสร้างชื่อเสียงและความเชื่อมั่นให้ชาวโลกได้รู้จักในบทบาทการเป็นผู้นำของอาเซียน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สร้างระบบอนุรักษ์ดิน+น้ำบนพื้นที่สูง ช่วยเกษตรกรชาวเขามีที่ทำกิน - ดินดีสมเป็นนาสวน

การพัฒนาที่ดินบนพื้นที่สูง นับเป็นอีกภารกิจหนึ่งของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ได้สนองโครงการ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาให้มีที่ดินทำกิน โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า เพื่อหาที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ในการทำไร่เลื่อนลอย รวมทั้งจัดสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการใช้ประโยชน์ดินอย่างยั่งยืน

นางสุพัตรา บุตรพลวง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง หรือ ศพล. กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวง มีทั้งหมด 38 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน จำนวน 23 อำเภอ 476 กลุ่มบ้าน 36,460 ครัวเรือน พื้นที่ 2,919 ตารางกิโลเมตร รวมประชากร 166,911 คน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตร มีสภาพเป็นพื้นที่ในหุบเขาหรือพื้นที่ป่าสงวน จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดการพังทลายของผิวหน้าดิน และเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแต่ละแห่งมีสภาพพื้นที่ สภาพแวดล้อมและปัญหาประชากรที่อยู่อาศัยแตกต่างกันไปที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาพื้นที่และจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำทั้งในพื้นที่เกษตรน้ำฝน และพื้นที่ที่สามารถรับน้ำชลประทานได้ โดยในพื้นที่เกษตรน้ำฝนที่สภาพพื้นที่มีความลาดชันน้อยกว่า 12% ได้มีการจัดทำคันดินกั้นน้ำ โดยยึดรูปแบบของการทำคันดินจากโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรภาคเหนือ แต่ปรับขนาดของคันดินให้เล็กลง เพื่อไม่ให้สูญเสียพื้นที่การเกษตรมาก ส่วนพื้นที่ที่มีความลาดชันมากกว่า 12% ได้จัดทำคูรับน้ำขอบเขา โดยนำรูปแบบมาจากไต้หวัน ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีเสถียรภาพดี สามารถก่อสร้างได้ง่าย รวมถึงสามารถบำรุงรักษาซ่อมแซมได้ง่ายเช่นกัน สำหรับพื้นที่ที่สามารถรับน้ำชลประทานได้และมีความลาดชันน้อยกว่า 12% ได้มีการจัดทำขั้นบันไดดิน เพื่อการปลูกพืชแบบประณีตหรือทำขั้นบันไดนาข้าว พร้อมกับจัดทำคลองส่งน้ำแบบเปิดเข้าพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้เมื่องานพัฒนาด้านต่าง ๆ ของโครงการหลวงเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น ทำให้มีจำนวนประชากรมากขึ้น ประกอบกับผลงานวิจัย การส่งเสริมการผลิตพืชเมืองหนาว เช่น ไม้ผลต่าง ๆ ตลอดจนระบบการตลาดของโครงการหลวงเริ่มพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้รายได้ของเกษตรกรดีขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการผลิตของเกษตรกรเริ่มเปลี่ยนไป กล่าวคือ มีสัดส่วนของการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น ทำให้เกษตรกรบุกรุกถางป่าในพื้นที่ลาดชันเพื่อทำการเกษตรเพิ่ม มีการใช้ปัจจัยการผลิตสูง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อหน่วยพื้นที่มากที่สุด ดังนั้นมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงต้องมีความเข้มข้นและหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก โดยปลูกเสริมความมั่นคงของระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในลักษณะวิธีพืชร่วมกับวิธีกล เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและยืดอายุการใช้งานของระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่ได้ก่อสร้างไว้

...สำหรับความสำเร็จในการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง ตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่าง ๆ จำนวน 116,459 ไร่ ก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทานในพื้นที่รวมระยะทาง 357.93 กิโลเมตร และก่อสร้างเส้นทางลำเลียงรวมระยะทาง 1,045.51 กิโลเมตร รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนปลูกพืชปุ๋ยสด และการใช้ปูนโดโลไมท์ เพื่อปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดิน จนส่งผลให้เกษตรกรชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รณรงค์ใช้สารกำจัดศัตรูพืชปลอดภัย กรมส่งเสริมฯจับมือ 3 ประสาน ลดผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ สมาคมอารักขาพืชไทย และครอปไลฟ์ เอเชีย (CropLife Asia) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ รณรงค์การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และวิธีการกำจัดบรรจุภัณฑ์เคมีเกษตรอย่างถูกต้องปลอดภัย เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ นำไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะในเรื่องภาชนะบรรจุภัณฑ์สารเคมีเกษตร ที่เดิมไม่ค่อยมีการพูดถึง ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ หากบริหารจัดการไม่ดี ทำให้เกิดปัญหาปนเปื้อนในผลผลิต และสิ่งแวดล้อม ทั้งในดินและน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่สูง ซึ่งมีการใช้สารเคมีเกษตรกันมาก ถ้าดำเนินการกำจัดบรรจุภัณฑ์ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง

นางพรรณพิมล กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงานนั้น ครอปไลฟ์ เอเชีย เป็นผู้สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการใช้สารเคมี การจัดการซากบรรจุภัณฑ์เคมีเกษตรให้หน่วยงานที่ร่วมโครงการ เพื่อนำไปอบรมวิทยากรและเกษตรกร ส่วนสมาคมอารักขาพืชไทย เป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้ ติดอาวุธให้บุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำไปเผยแพร่ รวมทั้งจัดทำแผนดำเนินงานร่วมกัน โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้จัดอบรม พร้อมทั้งประเมินผลการยอมรับของเกษตรกร

ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้การรณรงค์ประสบความสำเร็จ จูงใจเกษตรกร ให้เข้าร่วมโครงการได้ คือ การผลิตพืชที่ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ผลจากการที่เกษตรกรนำความรู้ซึ่งได้จากการรณรงค์ไปปรับใช้ปัจจัยการผลิตได้เหมาะสมถูกต้อง ช่วยลดค่าใช้จ่าย ตัวเกษตรกรมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความสนใจการรณรงค์ให้ความรู้ต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานจะช่วยขับเคลื่อนการรณรงค์ถ่ายทอดความรู้การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ถูกต้องปลอดภัยได้เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคต่อกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร อีกทั้ง ยังช่วยปลุกกระแสสังคมให้ตื่นตัวตระหนักถึงพิษภัยของสารดังกล่าว จะได้เพิ่มความระมัดระวังในการนำไปใช้ เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรของรัฐบาลอีกทางด้วย”อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เล็งจัดงาน “Thai Water 2013”

ภาครัฐจับมือเอกชนวางแผนโชว์สุดยอดนวัตกรรมการจัดการน้ำครบวงจร

น.ส.นุชรินทร์ ภารดีวิสุทธ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการจัดงาน สุดยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านการจัดการน้ำดี และบำบัดน้ำเสียอย่างครบวงจร “Thai Water 2013” Thai Water 2013 ว่าเป็นการต่อยอดมาจากการจัดงาน Asia Water ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีจุดประสงค์ในการจัดงานเพื่อสร้างและตอบสนองความสนใจด้านการบริหารจัดการน้ำของคนไทย ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น โดยในงานจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมการจัดการน้ำอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่น้ำดื่ม น้ำใช้ในครัวเรือน ระบบป้องกันการสูญเสียน้ำในกระบวนการอุตสาหกรรม ไปจนถึงระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งการควบคุมและเดินระบบปรับคุณภาพน้ำอย่างถูกต้องแต่ละขั้นตอน จะสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ โดยจะประหยัดได้ทั้งปริมาณน้ำ ค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าสารเคมี ค่าบำบัดน้ำเสีย เป็นการลดต้นทุนการผลิตโดยตรง และยังลดผลกระทบในระยะยาว ทั้งสภาวะการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ แผ่นดินทรุดตัว และการรุกล้ำของน้ำเค็มในแหล่งบาดาลได้อีกด้วย

สำหรับกิจกรรมภายในงานจะมีพาวิเลียนนานาชาติ จาก เกาหลีใต้ แคนาดา จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ อิสราเอล และผู้ออกงานจากอีก 20 ประเทศ มาร่วมจัดแสดงนวัตกรรมด้านการจัดการน้ำในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เครื่องผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเลด้วยระบบรีเวอร์สออสโมซิส การจัดการน้ำเสียด้วยระบบ In-Situ Oxygenation Unit หรือระบบ Bio-Reactor รวมทั้งมีการประชุมนานาชาติ ในหัวข้อ “Water for the Future” ร่วมจัดโดย บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการสัมมนาหัวข้อ “เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเพื่อง่ายต่อการใช้งาน ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อนำผลพลอยได้จากการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ เช่น ความร้อน และก๊าซมีเทนในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร” (Water & Waste Water Treatment in Food Industries Workshop) ซึ่งจัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวแรกของการกระตุ้นอุตสาหกรรมการจัดการน้ำของประเทศไทยให้มีการตื่นตัวขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากมาย จึงเหมาะสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ด้านการผลิตอาหารเครื่องดื่ม ด้านการแปรรูปอาหาร รวมถึงผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการน้ำดีและบำบัดน้ำเสีย ผู้ประกอบการในโรงงาน ธุรกิจก่อสร้าง อาหาร โรงแรม และผู้ประกอบการทางด้านเกษตรกรรมเข้าร่วมงานในครั้งนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : เส้นทางชลประทานไทย

ระยะเวลา 111 ปีแห่งการสถาปนากรมชลประทาน ย่อมมีที่มา ที่ไป ที่น่าจดจำไว้บางประการ

หนึ่ง เป็นหน่วยงานที่สถาปนาโดยกษัตริย์ และสืบเนื่องเป็นพระราชภารกิจอย่างไม่ขาดสาย กระทั่งถึงทุกวันนี้ ด้วยน้ำพระทัยที่ตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานในการแก้ปัญหานั้น

สอง หลักวิชาการชลประทานสมัยใหม่ แม้ริเริ่มปูพื้นฐานโดยผู้บริหารชาวต่างชาติ แต่ก็สามารถส่งไม้ต่อ และรับช่วงโดยผู้บริหารคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการเจ้าพระยาใหญ่ที่เป็นแม่แบบการพัฒนาชลประทานถึงวันนี้ เริ่มจากการสร้างเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา ก่อนจะมาเป็น เขื่อนเก็บกักน้ำภูมิพลและสิริกิติ์ ท้ายสุดขยายเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นภาพวิวัฒนาการการชลประทานไทย และสัมผัสได้ถึงนวัตกรรมทุ่งรวงทองได้อย่างใสกระจ่าง

สาม กาลเวลา และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ยกระดับการดำเนินงานชลประทาน โดยรวมเอาการมีส่วนร่วมของประชาชนพ่วงเข้ามาด้วย โดยคำนึงถึงประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ส่งผลให้โครงการล่าช้าไปบ้าง แต่เป็นกระบวนการคัดกรองเพื่อสิ่งที่ดีกว่า และเมื่ออยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านก็จำต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจต่อกัน

ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่อาจมีใครยับยั้งแช่แข็งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำได้ ตรงกันข้าม การพัฒนายังคงเดินหน้าต่อไป โดยเพิ่มความรัดกุมมากขึ้น น้ำไม่เพียงแต่จำเป็นสำหรับชีวิต ในระดับครัวเรือน กระทั่งในระดับประเทศ หรือระหว่างประเทศเท่านั้น หากยังเป็นความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นเนื้อเดียวกับความมั่นคงของประเทศอย่างแยกไม่ออก

คุณเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ให้ข้อคิดว่า จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารก็เพิ่มขึ้น จนต้องขยายพื้นที่การเกษตรตามมา กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้ต้องเสาะแสวงหาแหล่งน้ำต้นทุนใหม่เพิ่มขึ้นโดยปริยาย

ในอดีต ประชากรไทย 20-30 ล้านคน พื้นที่ปลูกข้าวในทุ่งเจ้าพระยาขณะนั้น 5 ล้านไร่ พึ่งพาน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ หล่อเลี้ยงได้ยาวนานถึง 50 ปี แต่ขณะนี้ประชากรไทยเขยิบเกือบ 70 ล้านคน พื้นที่ปลูกข้าวในทุ่งเจ้าพระยาขยับตามเป็น 10 ล้านไร่ ลำพังสองเขื่อนที่ว่าก็อาจไม่มีเสถียรภาพ ยังต้องเสริมความมั่นคง ด้วยเขื่อนป่าสักฯและเขื่อนแควน้อยฯ ไม่เช่นนั้นศักยภาพและความได้เปรียบเรื่องการผลิตข้าวในทุ่งเจ้าพระยาที่สู้สั่งสมมานาน ก็สะดุดเดินต่อได้อีกไม่ไกล ยิ่งเมื่อประจักษ์ว่า ประเทศเพื่อนบ้านตื่นตัวขยายการปลูกข้าวอย่างจริงจัง ทั้งการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มการส่งออกข้าวแล้ว ประเทศไทยยิ่งไม่อาจนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้และเรื่องน้ำได้เลย

เพราะเราไม่ได้ผลิตสินค้าเกษตร เพียงเพื่อบริโภคภายในประเทศเท่านั้น หากผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไป

13 มิถุนายน 2556 ครบรอบ 111 ปี และย่างก้าวสู่ปีที่ 112 ของกรมชลประทาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องสำรวจตรวจตราปัจจุบัน และวางแผนอนาคตด้วย โดยเฉพาะนโยบายอยู่ดีกินดีของเกษตรกร และ นโยบาย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรงงานงัดข้อเพิ่มน้ำตาลโควต้า ก. ชง สอน.แค่ล้านกระสอบ ชี้ฤดูฝนความต้องการลด

น้ำตาลยังอลเวง โรงงานน้ำตาลยื้อเพิ่มน้ำตาลโควต้า ก. ค้าน สอน.เพิ่มขายในประเทศ 1.65 ล้านกระสอบ ลั่นให้แค่ 1 ล้านกระสอบ อ้างแบกภาระเก็บสต๊อกไม่ไหว มั่นใจพอใช้ในประเทศ ไม่มีปัญหาขาดแคลน เพราะอีก 5 เดือนเปิดหีบรอบใหม่แล้ว

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า วันที่ 13 มิถุนายนนี้ คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่มีนางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานจะประชุมเพื่อเพิ่มโควต้า ก. (สำหรับบริโภคในประเทศ) โดย สอน.จะเสนอให้เพิ่มโควต้า ก.อีก 1.65 ล้านกระสอบ ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มอีก 2 ล้านตัน แต่เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้น้ำตาลจริงและเพื่อไม่กระทบต่อต้นทุนการเก็บรักษาของโรงงานน้ำตาลจึงปรับลดลง ทั้งนี้ การเพิ่มโควต้า ก.จะทำให้มีน้ำตาลบริโภครวมทั้งปี 26.5 ล้านกระสอบ

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า คณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลจะส่งหนังสือถึง สอน.ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเสนอว่าควรเพิ่มน้ำตาลโควต้า ก.ปีนี้เพียง 1 ล้านกระสอบ เป็น 26 ล้านกระสอบก่อน เพราะจากสถานการณ์น้ำตาลและนำข้อมูลมาพิจารณาเห็นว่าน้ำตาลโควต้า ก.ที่ 25 ล้านกระสอบ เพียงพอกับความต้องการแล้ว เพราะปีนี้ฤดูร้อนมาเร็วทำให้ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีสูง แต่เข้าฤดูฝนความต้องการใช้น้ำตาลจะลดลง และขณะนี้เหลือเวลาประมาณ 5 เดือน จะเปิดหีบน้ำตาลฤดูกาลผลิต 2556/2557 เดือนพฤศจิกายน 2556 หลังจากนั้นจะมีน้ำตาลของฤดูกาลใหม่เข้าสู่ตลาดจึงเชื่อว่าความกังวลเกี่ยวกับน้ำตาลตึงตัวจะลดลง

"โรงงานน้ำตาลไม่ต้องการให้เพิ่มถึง 27 ล้านกระสอบ เพราะโรงงานน้ำตาลจะมีต้นทุนการเก็บน้ำตาลเพิ่มขึ้น โดยน้ำตาลโควต้า ก.ต้องเก็บไว้ในโกดังจนกว่าจะขายหมด ซึ่งในภาวะปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ามีผลต่อการส่งออกน้ำตาลและต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น จึงเห็นว่าไม่ควรให้ต้นทุนโรงงานน้ำตาลสูงขึ้นมากกว่านี้" นายชลัชกล่าว

นายชลัชกล่าวว่า สอน.รายงานว่าวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา มีน้ำตาลค้างกระดานที่เหลือจากการขึ้นงวดขายแต่ละสัปดาห์อยู่ที่ 895,470 กระสอบ ซึ่งโรงงานน้ำตาลเห็นว่าน้ำตาลค้างกระดานระดับปัจจุบันยอมรับได้ ทั้งนี้ หากผู้ผลิตเครื่องดื่มจัดหาน้ำตาลได้ไม่พอกับความต้องการสามารถประสานมาที่คณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ ที่ผ่านมาผู้ผลิตเครื่องดื่มจะแจ้งไปที่ สอน.หรือกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่เคยประสานมาที่โรงงานน้ำตาล

โดยสถานการณ์น้ำตาลขายปลีกตึงตัวในบางพื้นที่เป็นปัญหาที่มีมานานเพราะปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำตาลถุง1 กิโลกรัม (กก.) เพียง 3-4 ราย ที่ต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งภาครัฐให้ค่าการตลาดน้ำตาลถุง กก.ละ 75 สตางค์ ถือว่าไม่เพียงพอกับค่าเครื่องจักร ค่าแรงงาน และค่าถุงแบ่งบรรจุจากกระสอบ 50 กก.เป็นถุง 1 กก. ทำให้โรงงานน้ำตาลหลายรายไม่สนใจผลิตน้ำตาลถุง 1 กก.

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป ผู้ผลิตชาเขียวพร้อมดื่มอิชิตัน กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยรวมได้ลดกำลังการผลิตแล้ว 20% เนื่องจากเข้าช่วงฤดูฝน อีกทั้งการใช้น้ำตาล หากดูจากเครื่องดื่มชาเขียว ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีมูลค่าตลาดอันดับ 5 หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท จากตลาดรวม 1.6 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้น้ำตาลฟรุคโตสในการผลิต อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ความต้องการใช้น้ำตาลมีมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งตลาดน้ำอัดลมมีผู้ประกอบการรายใหม่

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ก.พลังงาน ร่วมกับ ปตท. จัดกิจกรรม สานต่อโครงการ "เยาวชนอาสา พัฒนาพลังงานชุมชน" ปี 2

กรมพัฒนาพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน จับมือ ปตท. สานต่อโครงการ “เยาวชนอาสา พัฒนาพลังงานชุมชน” ปี 2เพื่อต่อยอดและขยายประโยชน์ การนำพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบไปสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง พร้อมสร้างสำนึกเรื่องการทำงานอาสาเพื่อสังคมในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงร่วมกับชาวชุมชนในพื้นที่ห่างไกล

นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของการจัดโครงการ “เยาวชนอาสา พัฒนาพลังงานชุมชน” ในปี 2555ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้จัดขึ้น ด้วยการจัดสร้างศูนย์ต้นแบบพลังงานทดแทนแบบผสมผสานในชุมชนพื้นที่ห่างไกล โดยได้สร้างศูนย์ต้นแบบพลังงานทดแทนแบบผสมผสานขึ้นเป็นแห่งแรก ที่หมู่บ้านห้วยจะกือ ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ซึ่งศูนย์ต้นแบบพลังงานทดแทนแบบผสมผสานดังกล่าว ได้สร้างประโยชน์มากมายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง เพราะได้นำเอาพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่มีในพื้นที่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดได้จริง ดังนั้นเพื่อเป็นการต่อยอดและขยายประโยชน์ของการนำพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบไปสู่ชุมชนอื่นให้มากยิ่งขึ้น ในปี 2556ทาง ปตท. จึงให้การสนับสนุนโครงการ “เยาวชนอาสา พัฒนาพลังงานชุมชน” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษา นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาในห้องเรียนมาปฏิบัติได้จริง ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างสำนึกเรื่องการทำงานจิตอาสา ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของพลังงานทดแทน ผ่านการลงมือปฏิบัติของทั้งกลุ่มเยาวชน และประชาชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้านการอนุรักษ์พลังงาน และหันมาใช้พลังงานทดแทนเพื่อช่วยรักษาสภาวะแวดล้อม และเป็นการต่อยอดโครงการ เพื่อขยายประโยชน์ไปสู่ชุมชนอื่นในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับประโยชน์จากแหล่งพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ดีมีประสิทธิภาพและพึ่งพาตนเองได้

สำหรับการเข้าร่วมโครงการ จะมีการคัดเลือกผลงานจากเยาวชนนิสิตนักศึกษา ที่มีความรู้ ความสามารถ มาร่วมปฏิบัติงานจริงกับชุมชนในพื้นที่ โดยสร้างแหล่งพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน ที่ใช้พลังงานทดแทนมากกว่า 1ประเภท อาทิ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ มาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจำนวน 300,000บาท

ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องเป็นนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี เน้นสายวิศวกรรม รวมเป็นทีมมีสมาชิกจำนวน 10คน ในแต่ละทีมจะต้องมีอาจารย์ประจำสถาบันการศึกษาของตนเอง เป็นที่ปรึกษา 1ท่าน ทุกสถาบันการศึกษา สามารถส่งโครงงานเข้าแข่งขันได้มากกว่า 1โครงงาน และทีมที่ได้รับคัดเลือก ต้องสามารถลงพื้นที่ปฏิบัติการในสถานที่จริงจนงานสำเร็จสมบูรณ์

โดยระยะเวลาดำเนินงานโครงการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11มิถุนายน 2556ซึ่งเป็นวันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ และจะมีการประชาสัมพันธ์โครงการตามสถานศึกษาต่างๆ ระหว่างวันที่ 15มิถุนายน ถึง 15กรกฎาคม โดยเปิดรับผลงานจนถึง วันศุกร์ที่ 23สิงหาคม แล้วคัดเลือกแผนงานรอบแรกในวันที่ 3กันยายน และรอบตัดสินวันที่ 11กันยายน เพื่อลงพื้นที่ปฏิบัติงานสร้างศูนย์พลังงานทดแทนฯ ช่วงระหว่างวันที่ 5ถึง 25ตุลาคม และส่งมอบผลงานให้แก่ชุมชนเป็นลำกับต่อไป ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดโครงการรวมระยะเวลาของโครงการทั้งสิ้น 5เดือน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สอน.ชงกน.เพิ่มโควตาก.1.65แสนตัน ป้องกันน้ำตาลขาดตลาด

สอน.เตรียมชงบอร์ดน้ำตาลทรายเพิ่มน้ำตาลโควตา ก.สำหรับบริโภคในประเทศอีก 1.65 แสนตันเป็น2.665 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคและป้องกันการกักตุน ด้านโรงงานร้องขอเพิ่มแค่แสนตันมั่นใจพฤศจิกายนลอตใหม่เข้าสู่ระบบ อ้างของขาดบางพื้นที่เพราะค่าการตลาดไม่จูงใจได้แค่ถุงละ 0.75 บาท ทำให้โรงงานผลิตน้ำตาลถุงขนาด 1 ก.ก.ออกขายน้อย

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ที่มีนางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานจะประชุมเพื่อเพิ่มโควตาน้ำตาล ก.สำหรับบริโภคในประเทศในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 โดยสอน.จะเสนอให้เพิ่มโควตา ก.อีก 165,000 ตัน จากปัจจุบันที่มี 2.5 ล้านตัน จะทำให้ปีนี้มีโควตา ก.รวมทั้งสิ้น 2.665 ล้านตัน

ซึ่งก่อนหน้านี้ สอน.ประเมินว่าต้องเพิ่มโควตา ก. 200,000 ตันจาก 2.5 ล้านตัน เป็น 2.7 ล้านตัน แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้การเพิ่มโควตาใกล้เคียงความต้องการจริงมากที่สุด และไม่ให้กระทบกับต้นทุนการจัดเก็บรักษาน้ำตาลของโรงงานน้ำตาล และที่ผ่านมาได้หารือกับ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเองก็พร้อมที่จะเพิ่มโควตาน้ำตาล ก.เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศและไม่ให้เกิดปัญหากักตุนน้ำตาล

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัทไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า คณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลจะส่งหนังสือถึงสอน.ภายในสัปดาห์นี้เพื่อเสนอว่าควรเพิ่มน้ำตาลโควตา ก.ปีนี้แค่ 100,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์น้ำตาลและนำข้อมูลมาพิจารณาเห็นว่าน้ำตาลโควตา ก.ที่2.5 ล้านตัน เพียงพอกับความต้องการ โดยปีนี้ฤดูร้อนมาเร็วทำให้ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีสูง แต่เมื่อเข้าฤดูฝนความต้องการใช้น้ำตาลจะลดลงจึงเชื่อว่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำตาลช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี

“ขณะนี้เหลือเวลาประมาณ 5 เดือน จะเปิดหีบน้ำตาลฤดูกาลผลิต 2556/2557 ที่คาดว่าจะเปิดในเดือนพฤศจิกายนปีนี้และจะมีน้ำตาลของฤดูกาลใหม่เข้าสู่ตลาดจึงเชื่อว่าความกังวลเกี่ยวกับน้ำตาลตึงตัวน่าจะลดลง” นายชลัชกล่าว

นายชลัช กล่าวย้ำว่าโรงงานน้ำตาลพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อให้มีน้ำตาลบริโภคในประเทศเพียงพอ และหากภาครัฐกังวลว่าจะไม่พอก็เพิ่มโควตา ก.เป็น 2.6 ล้านตัน ได้ แต่โรงงานน้ำตาลไม่ต้องการให้เพิ่มถึง 2.7 ล้านตัน เพราะโรงงานน้ำตาลจะมีต้นทุนการเก็บน้ำตาลเพิ่มขึ้น และน้ำตาลโควตา ก.ต้องเก็บไว้ในโกดังจนกว่าจะขายหมด ซึ่งในภาวะปัจจุบันเงินบาทแข็งค่ามีผลต่อการส่งออกน้ำตาลและต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นจึงเห็นว่าไม่ควรดำเนินการให้ต้นทุนโรงงานน้ำตาลสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้สอน.รายงานว่าวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา มีน้ำตาลค้างกระดานที่เหลือจากการขึ้นงวดขายแต่ละสัปดาห์อยู่ที่ 89,547 ตันแบ่งเป็นน้ำตาลค้างกระดานฤดูกาลผลิต 2555/2556 รวม 87,301 ตัน และฤดูกาลผลิต 2554/2555 รวม 2,245 ตัน ซึ่งโรงงานน้ำตาลเห็นว่าน้ำตาลค้างกระดานระดับปัจจุบันยอมรับได้ และเมื่อ 5 ปี ที่ผ่านมาน้ำตาลค้างกระดานเคยลดลงมาเหลือ 40,000-50,000 ตัน และเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา น้ำตาลค้างกระดานเคยสูงถึง 200,000-300,000 ตัน ทำให้โรงงานน้ำตาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามาก

“หากผู้ผลิตเครื่องดื่มจัดหาน้ำตาลได้ไม่เพียงพอกับความต้องการสามารถประสานมาที่คณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตเครื่องดื่มจะแจ้งไปที่ สอน.หรือกระทรวงพาณิชย์แต่ไม่เคยประสานมาที่โรงงานน้ำตาล”นายชลัช กล่าว

ส่วนปัญหาน้ำตาลขายปลีกตึงตัวในบางพื้นที่นั้นเป็นปัญหามานานแล้วเพราะปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำตาลถุง 1 กิโลกรัมเพียง 3-4 ราย ที่ต้องการสร้างแบรนด์ของตัวเอง โดยปัจจุบันภาครัฐให้ค่าการตลาดน้ำตาลถุงกิโลกรัมละ 0.75 บาท ถือว่าไม่เพียงพอกับค่าเครื่องจักร ค่าแรงงานและค่าถุงแบ่งบรรจุจากกระสอบ 50 กิโลกรัมเป็นถุง 1 กิโลกรัม จึงทำให้โรงงานน้ำตาลหลายรายไม่สนใจผลิตน้ำตาลถุง 1 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อปี 2554 เคยเสนอกระทรวงพาณิชย์เพิ่มค่าการตลาดเป็นกิโลกรัมละ 1 บาท แต่ไม่มีความคืบหน้าจึงไม่จูงใจให้มีผู้ผลิตน้ำตาลถุงเพิ่ม แต่ถ้ากระทรวงพาณิชย์เพิ่มค่าการตลาดให้ก็อาจมีผู้สนใจผลิตมากขึ้น ปัญหาการขาดแคลนสินค้าก็น่าจะเบาบางลง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สัญญาณแล้ง

คอลัมน์ ถุงแดง

ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ 33 แห่ง มีความจุ 74,524 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาตรน้ำ 34,803 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 39,721 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนปริมาณฝนสะสมภาคเหนือมีฝน 200.9 ม.ม. ลดลงจากปีที่แล้ว 40% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 272.6 ม.ม. ลดลงจากปีก่อน 28% ภาคกลาง 195.4 ม.ม. ลดลงจากปีก่อน 21% ภาคตะวันออก 310.8 ม.ม. ลดลงจากปีที่แล้ว 24% ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 433.7 ม.ม. ลดลงจากปีที่แล้ว 31% ภาคใต้ฝั่งตะวันตก 661.4 ม.ม. ลดลงจากปีที่แล้ว 36% เฉลี่ยรวมทั้งประเทศ 311.8 ม.ม. ลดลงจากปีก่อน 32% เทียบปริมาณฝนเดือนพ.ค.2556

ค่าเฉลี่ย 30 ปี (พ.ศ. 2524-2553) พบว่า ภาคเหนือมีฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 45.3% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 8.7% ภาคกลางมีฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 56.6% ภาคตะวันออกมีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 63.2% ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 35.6% ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 1.9%

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานออกโรงเตือนว่า ปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมไม่น่าห่วง แต่น่าเป็นห่วงเรื่องน้ำแล้ง ต้นฤดูฝนน้ำน้อยมากจากตามปกติแล้วในช่วง 2 เดือนแรกของต้นฤดูฝนจะมีฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่าง แต่ในปีนี้ฝนล่าช้า ต้องรอติดตามว่าจะมีฝนลงอ่างมากน้อยเท่าใด

เริ่มมีเสียงจากกูรูเรื่องน้ำเตือน ไทยอาจเสี่ยงการขาดน้ำ จึงจำเป็นประหยัด มิฉะนั้นคงเป็นอีกปีที่ไร้น้ำปลูกข้าว

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โซนนิ่งพืช 8 ชนิด

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ (Zoning) แล้ว 8 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และสับปะรดโรงงาน โดยวิเคราะห์ตามความเหมาะสมของดิน และปัจจัยความต้องการของพืชแต่ละชนิดตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ สำหรับการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำการผลิต หรือส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสม มีปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถรักษาเสถียรภาพของระดับราคาผลิตทางการเกษตร

ทั้งนี้ สิ่งที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการจัดทำโซนนิ่ง คือ เมื่อกำหนดพื้นที่ชัดเจนเรียบร้อยแล้ว ภาครัฐจะสามารถดูแลเกษตรกรได้อย่างเต็มที่ ด้านการเพาะปลูกในพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เหมาะสม ก็ให้ดำเนินการปลูกพืชต่อไป ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม ต้องนำเรื่องเทคโนโลยีความรู้เข้าไปช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชหรือประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งดูแลปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อการผลิตด้วย เมื่อผลผลิตมีคุณภาพและไม่ล้นตลาด ก็น่าจะได้ราคาดี ซึ่งหากเกษตรกรมีข้อสงสัยเรื่องการจัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน www.ldd.go.th หรือโทรสายด่วน 1760.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เกษตรสร้างสรรค์ : รหัสน้ำ 111 ปี

111 ปี แห่งการสถาปนากรมชลประทาน งดงามทั้งตัวเลข และเรื่องเล่าของสายน้ำที่สรรค์สร้างผลงานฝากไว้ในแผ่นดินนี้

คลองเป็นส่วนหนึ่งของการชลประทานนับแต่โบราณ ไม่ว่าคลองธรรมชาติหรือคลองขุด ใช่แต่เพียงเพื่อการสัญจรขนส่งเท่านั้น หากยังพ่วงพาน้ำไปช่วยเพาะปลูกทำกินด้วย กรุงรัตนโกสินทร์มีทั้งการจำลองคลองจากกรุงศรีอยุธยา และใช้คลองเพื่อเพาะปลูก โดยเฉพาะอ้อยและข้าวที่เป็นสินค้าออกสำคัญ

โครงการเจ้าพระยาใหญ่หรือสกีมชัยนาท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนา “กรมคลอง”นั้น แท้จริงมุ่งหวังยกระดับถึงขั้นการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ ปิดกั้นลำน้ำเจ้าพระยา แล้วส่งน้ำไปยังทุ่งเจ้าพระยาไม่น้อยกว่า 4.5 ล้านไร่ เป็นแนวคิดการชลประทานสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น แม้จะไม่อาจลงมือได้ในช่วงนั้นก็ตาม

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ฝันของเขื่อนทดน้ำเป็นจริง ด้วยเขื่อนพระราม 6 เขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ตามด้วยโครงการทดน้ำอีกหลายแห่ง กรมคลองจึงเปลี่ยนเป็น “กรมทดน้ำ”

คำว่า ทดน้ำเป็นการปิดกั้นลำน้ำ เป็นแขนงหนึ่งของการส่งน้ำ ในทางปฏิบัติ ยังเพิ่มการขุดคลอง การส่งน้ำตามคลองที่ขุด และการสูบน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูก พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อจากกรมทดน้ำเป็น “กรมชลประทาน”ตราบเท่าทุกวันนี้

เขื่อนเจ้าพระยา ปรากฏเป็นจริงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หลังจากค้างคามานานถึง 5 แผ่นดิน โดยแม่ทัพนายกองชลประทาน นับแต่ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทานและข้าราชการ นั่งเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาตระเวนสำรวจพื้นที่เหมาะสมนานนับเดือน

ที่ก้าวหน้ายิ่งกว่า คือการขับเคลื่อนสร้าง “เขื่อนภูมิพล” ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ด้วยความจุกว่า 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นจุดเริ่มต้นของการชลประทานที่เรียกได้ว่า เกือบสมบูรณ์แบบ ไม่เพียงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และส่งน้ำเพาะปลูกได้ทั้งปี หากยังครอบคลุมกิจกรรมอื่นด้วย เช่น การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การคมนาคมขนส่ง การบรรเทาน้ำท่วม เป็นต้น

วิวัฒนาการจากคลอง เป็นเขื่อนทดน้ำ และเขื่อนเก็บกักน้ำ ตลอด 111 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเรียบหรูสะดวกดายเลย ตรงข้าม ล้วนเผชิญปัญหาอุปสรรคนานัปการ ทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณ การลำดับความสำคัญเร่งด่วน และปัญหาภัยธรรมชาติ และภัยสงคราม ที่รุมเร้า ไม่เว้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ ด้านหนึ่งเป็นแรงกดดัน อีกด้านหนึ่งเป็นแรงขับเคลื่อน จนค่อยๆเป็นผลขึ้นมาในภายหลัง

จากแนวติดเรื่องการขยายพื้นที่ชลประทานในทุ่งเจ้าพระยา 4.5 ล้านไร่ ทุกวันนี้ทุ่งเจ้าพระยาขยายมากกว่า 7.5 ล้านไร่ และขยายพื้นที่ชลประทานโดยรวมของประเทศกว่า 29 ล้านไร่จากพื้นที่มีศักยภาพทั้งหมด 60 ล้านไร่

แม้จะแลดูเป็นการพัฒนาที่ออกเชื่องช้า แต่อีกภาพก็เบ่งบานฉายประเทศไทยชัดในแผนที่โลก ในฐานะครัวไทย ผู้ผลิตอาหารส่วนเกินสำหรับหล่อเลี้ยงประชากรโลก จากโครงการชลประทานที่ฝ่าฟันอย่างยากลำบาก

เป็น 111 ปีแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยและประเทศไทยอย่างจริงแท้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ส่ง 5 ยุวเกษตรกรฝึกงานฟาร์มญี่ปุ่น กรมส่งเสริมฯ ปั้นคนรุ่นใหม่ ศึกษาดูงานพัฒนาเกษตรไทย

นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรและวิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิ (Koibuchi College of Agriculture) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบยุวเกษตรกรประจำปี 2556 เพื่อพัฒนาเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ให้แก่เยาวชนเกษตรกรของทั้ง 2 ฝ่าย และนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของตัวเองและชุมชนให้ดีขึ้น โดยโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2549 หรือรวมเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้ว ซึ่งแต่ละปีกรมส่งเสริมการเกษตรจะทำการคัดเลือกยุวเกษตรกรจำนวน 5 ราย พร้อมด้วยที่ปรึกษายุวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะพี่เลี้ยง เดินทางไปศึกษาดูงานและฝึกงานด้านการเกษตรกับครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 เดือน

โดยยุวเกษตรกรแต่ละคน จะถูกแยกส่งไปฝึกงานตามฟาร์มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร เช่น ฟาร์มปศุสัตว์ สวนดอกไม้ สวนไม้ผลเมืองหนาว ไร่องุ่น สตอเบอรี่ นาข้าว ตามที่วิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิเป็นผู้จัดหาให้ โดยยุวเกษตรกร 1 คน จะถูกแยกให้ไปพักอยู่กับครอบครัวเกษตรกรชาวญี่ปุ่น 1 ครอบครัว ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งของทุกๆคน เพราะประเทศญี่ปุ่นนอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้าประเทศหนึ่งแล้ว เกษตรกรของญี่ปุ่นยังได้ชื่อว่า มีความขยันขันแข็ง มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกค่อนข้างกว้างขวาง ขณะที่ระบบสหกรณ์ของญี่ปุ่น ก็มีชื่อเสียงด้านการวางระบบ การบริหารจัดการ และการตลาด เช่นเดียวกัน จึงนับเป็นโอกาสที่ยุวเกษตรกรจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่แปลกใหม่หลากหลาย เพื่อทำให้ยุวเกษตรกรไทยมีโลกทัศน์กว้างขึ้น และนำความรู้กลับมาพัฒนาการเกษตรของประเทศต่อไป

ทั้งนี้จากการดำเนินการคัดเลือก ปรากฏว่า เยาวชนเกษตรกร 5 คนที่ได้รับการคัดเลือก คือ 1.นายปฏิวัติ บุญคล้อยตาม ยุวเกษตรกร จ.แม่ฮ่องสอน 2.นายอิทธิกร ภูนิน ยุวเกษตรกร จ.กาญจนบุรี 3.น.ส.ลัดดาวัลย์ ยิ้มรัมย์ ยุวเกษตรกร จ.บุรีรัมย์ 4.นางสาว พัชญ์ฐกัญ วิสุทธิแพทย์ ยุวเกษตรกร จ.ตราด และ 5.น.ส.อัจฉราพร ภาคสุโพธิ์ ยุวเกษตรกร จ.อำนาจเจริญ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อม เช่น การเรียนรู้เรื่องสังคมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น การใช้ภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้น ให้แก่ยุวเกษตรกรทั้ง 5 คน ก่อนออกเดินทางไปฝึกงานในระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-29 กรกฎาคม 2556 นี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นายกรัฐมนตรี ย้ำรัฐบาลพร้อมให้การส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกพื้นทางการเกษตรมีกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร เพื่อให้มีรายได้ที่ดีขึ้น

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปโรงงานน้ำตาลนครเพชร จังหวัดกำแพงเพชร รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินการของโรงงานที่มีการจัดระบบโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง และจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการใช้เชื้อเพลิงจากกากอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาล

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้พบกับประชาชนที่มารอให้การต้อนรับที่โรงงานว่าที่เดินทางมาครั้งนี้ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะส่งเสริมให้มีกระบวนการผลิตอย่างครบวงจรให้เกษตรกรมีรายได้ดี ขณะที่โรงงานมีกำลังที่จะรับซื้อมากขึ้น

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คลังจับมือ 9 แบงก์รัฐ เปิดสภาสถาบันการเงินของรัฐ

คลังจับมือ 9 แบงก์รัฐ เปิดสภาสถาบันการเงินของรัฐ ย้ำไม่มีนโยบายจัดตั้งเพื่อต่อรองทิศทางดอกเบี้ยในตลาด ชี้เป็นการรวมตัวอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บสท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดตั้งสภาสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้สถาบันการเงินของรัฐได้ดำเนินงานไปทิศทางเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยลดต้นทุน รวมทั้ง เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก

“ภายหลังการประชุมสภาสถาบันการเงินของรัฐในครั้งแรก ได้หารือถึงแนวทางการใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกัน ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการด้วย เช่น การใช้เอทีเอ็ม พูล ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่หลังจากนี้คงจะมาดูถึงแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ อาจให้มีการคิดค่าธรรมเนียมกับลูกค้าที่ถูกลง รวมถึงอาจจัดตั้งศูนย์เงินสด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขนส่งเงินสดระหว่างธนาคารร่วมกันอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการจัดตั้งสภาสภาบันการเงินของรัฐในครั้งนี้ ไม่ได้วางบทบาทเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อรองการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย หรือแข่งขันกับสมาคมธนาคารแต่อย่างใด แต่เป็นการตั้งขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์ เพราะสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐจะเน้นดูแลประชาชนรายย่อยให้มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยหลังจากนี้สถาบันการเงินของรัฐจะมีการประชุมทุก ๆ วันจันทร์แรกของทุกเดือน

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเลขาธิการร่วมสถาสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ขอบเขตความร่วมมือของสภาสถาบันการเงินของรัฐในครั้งนี้ ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสถาบันการเงินของรัฐให้เติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพ สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรม เกษตรกรรรมและการเงินหรือธุรกิจอื่นใดเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

พร้อมทั้ง มุ่งเน้นในการสร้างความพร้อมและความร่วมมือระหว่างสมาชิกด้วยกันทางด้านการเงินการธนาคาร แสดงความคิดเห็น สนับสนุนและดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และพันธกิจของสมาชิก เสนอความคิดเห็นในด้านการเงิน การธนาคาร การคลัง และเศรษฐกิจต่อหน่วยราชการและสถาบันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อความสามัคคีระหว่างสมาชิกสถาบันการเงินของรัฐ ส่งเสริมให้มีการอบรมให้ความรู้และพัฒนาบุคคลากร แลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิก ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการทำกิจการอื่น ๆ ที่เห็นว่าจำเป็นและสมควรเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรงงานน้ำตาลบ่นค่าบรรจุถุงต่ำเมินผลิตน้ำตาลถุง1กก.

โรงงานน้ำตาลบ่นค่าบรรจุถุงต่ำทำให้ผู้ประกอบการไม่สนใจผลิตน้ำตาลทรายขนาดถุง 1 กก. 3 สมาคมน้ำตาลเตรียมขอเพิ่มจำนวนน้ำตาลโควตา ก.รองรับความต้องการใช้ในประเทศ

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยถึงกรณีที่ น้ำตาลทรายขายปลีกในบางพื้นที่ประสบปัญหาตึงตัวว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตน้ำตาลทรายถึง 1 กก. เพียง 3-4 ราย เนื่องจากได้ค่าบรรจุภัณฑ์หรือค่าการตลาดน้ำตาลทรายถุงเพียง 75 สต. ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่สนใจในการผลิตน้ำตาลทรายถุง 1 กก. เพราะว่า ไม่คุ้มทุนต่อต้นทุนการผลิตทั้งค่าเครื่องจักร ค่าแรงงาน และค่าถุงแบ่งบรรจุจากกระสอบ 50 กก.มาเป็น ถุงละ 1 กก. แต่ผู้ที่ผลิตมาจำหน่ายนั้นส่วนใหญ่ต้องการทำการตลาดยี่ห้อสินค้ามากกว่า

“ช่วงปี 54 โรงงานน้ำตาลเคยเสนอกระทรวงพาณิชย์เพิ่มค่าการตลาดเป็นกก.ละ 1 บาท แต่ไม่มีความคืบหน้าจึงไม่จูงใจให้มีผู้ผลิตน้ำตาลถุงเพิ่ม แต่ถ้ากระทรวงพาณิชย์เพิ่มค่าการตลาดให้ก็อาจมีผู้สนใจผลิตมากขึ้น”

ขณะนี้คณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเตรียมส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ( สอน.) ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเสนอให้เพิ่มน้ำตาลโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) ปีนี้ประมาณ 100,000 ตันหรือ 1 ล้านกระสอบ และไม่ควรเพิ่มถึง 2 ล้านกระสอบ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลประเมินว่าน้ำตาลโควตา ก.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 25 ล้านกระสอบเพียงพอกับความต้องการ เพราะในปีนี้ฤดูร้อนมาเร็วทำให้ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีสูง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนความต้องการใช้น้ำตาลจะลดลง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำตาลช่วงครึ่งหลังจะต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี

“ตอนนี้เหลือเวลา 5 เดือน จะเปิดหีบน้ำตาลฤดูกาลผลิต 56/57 ที่คาดว่าจะเปิดในเดือน พ.ย.ปีนี้ และจะมีน้ำตาลของฤดูกาลใหม่เข้าสู่ตลาดจึงเชื่อว่าความกังวลเกี่ยวกับน้ำตาลตึงตัวลดลง”

ทั้งนี้สอน.รายงานว่าวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีน้ำตาลค้างกระดานที่เหลือจากการขึ้นงวดขายแต่ละสัปดาห์อยู่ที่ 890,000 กระสอบ ซึ่งโรงงานน้ำตาลเห็นว่าน้ำตาลค้างกระดานระดับปัจจุบันยอมรับได้ และเมื่อ 5 ปี ที่ผ่านมาน้ำตาลค้างกระดานเคยลดลงมาเหลือ 400,000-500,000 กระสอบ รวมถึงบางปีน้ำตาลค้างกระดานเคยสูงถึง 2 -3 ล้านกระสอบ ซึ่งตรงนี้โรงงานน้ำตาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามาก

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กฟผ.ร่วมกับกรมชลประทาน ลงนามความร่วมมือพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนคลองตรอน และเขื่อนกิ่วคอหมา

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ร่วมกับกรมชลประทาน ลงนามความร่วมมือพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนคลองตรอน และเขื่อนกิ่วคอหมา ที่มีกำลังผลิตรวมกัน 8 เมกะวัตต์

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ หรือ กฟผ. ร่วมกับนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนคลองตรอน และเขื่อนกิ่วคอหมา ในภาคเหนือ ซึ่งจะมีขนาดกำลังผลิตรวมกัน 8 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ประโยชน์บริหารจัดการน้ำให้ได้สูงสุด และพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ โดยนายสุทัศน์ กล่าวว่า โครงการพลังน้ำเขื่อนลองตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีกำลังผลิตรวม 2.5 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง กำลังผลิตรวม 5.5 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าทั้งสองเขื่อนจะมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2559 และจะมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 45 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นเงิน 132 ล้านบาทต่อปี รวมถึงลดการนำเข้าเชื้อเพลิงต่างประเทศได้ 167 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. และกรมชลประทาน ได้ร่วมมือกันพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานท้ายเขื่อนชลประทานจำนวน 6 เขื่อน มีกำลังการผลิตรวม 78.7 เมกะวัตต์ และภายในสิ้นปีนี้โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนแม่กลอง มีกำลังการผลิตรวม 22 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าท้ายเขื่อนชลประทานเข้าด้วยกัน จะมีกำลังการผลิตรวมได้กว่า 86.7 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันคาดว่า ในอนาคต กฟผ. และกรมชลประทานเตรียมศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำท้ายเขื่อนอีก 23 โครงการ ซึ่งหากมีความร่วมมือเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในระบบได้เพิ่มขึ้น

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กมธ.สวล.วุฒิสภาบี้ก.อุตฯเร่งแก้กากของเสีย-สารพิษ

นางภารดี จงสุขธนามณี รองประธานคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับฟังบรรยายสรุปปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ อาทิ ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ทางภาคตะวันออก จ.ชลบุรีฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรีและสระแก้ว รวมถึงกรณีกากของเสียอันตรายที่หายไปจากระบบ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯยังรับฟังแนวทางการจัดการปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมในเขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย และนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลในพื้นที่จังหวัดระยอง กรณีปัญหาตะกอนไฮโดรปิโตรเลียมในอ่าวประดู่ ปัญหาไอระเหยสารอินทรีย์ที่ยังเกินมาตรฐาน ควันดำที่จากปล่องควันของโรงงานและการเกิดอุบัติภัยบ่อยครั้งจากรถขนถ่ายสารเคมีอันตราย การติดตามนโยบายในการอนุญาตและการจัดการปัญหาการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในการผลิตถ่านโค้ก

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการฯ ยังขอรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการสามสามัคคีเพื่อทำการเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมของโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีการพัฒนาเหมืองแร่โปรแตชที่จังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง และการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่ทองคำอัครไมนิ่งจ.พิจิตร ปัญหาน้ำเน่าปลาตายเป็นประจำในเขต จ.ปราจีนบุรี และกรณีภาคองค์กรเอกชนได้สำรวจพบว่า ในพื้นที่คลองชลองแวงในเขต อ.ศรีมหาโพธิ์ มีปริมาณตะกั่วในตะกอนและเนื้อปลาเป็นจำนวนมาก และการควบคุมคุณภาพของบริษัทเอกชนที่ให้การรับรองมาตรฐาน ISO และการจัดทำและพัฒนาระบบ ISO 14001 และ ISO 26000

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับฟังบรรยายสรุปปัญหาต่างๆ ว่า แต่ละปัญหาได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้างต้น ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รวมถึงสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาในวันดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อร่วมกันผลักดันการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ผู้ประกอบการและประชาชนต่อไป

จาก พิมพ์ไทย  วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พลิกโฉมโมเดลศก.เอเชียมุ่งสู่ตลาดบริโภคระดับโลก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขณะนี้หลายประเทศในเอเชียต่างกำลังจับจ้องความเคลื่อนไหวของกระแสการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจยุติการใช้มาตรการอัดฉีดทางการเงิน (คิวอี) เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐลงในอนาคต เพราะหากเกิดขึ้นจริงในเร็ววันนี้ก็ย่อมจะส่งผลให้เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องรับมือกับปัญหาเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว และฟองสบู่ในภาคสินทรัพย์ต่างๆ ในหลายประเทศของเอเชียก็อาจแตกได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะมาดับฝันการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีใครรู้ว่าเฟดจะเลิกใช้มาตรการคิวอีเมื่อไร และเอเชียจะรับมือกับภาวะช็อกทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วในเอเชียซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าทางเศรษฐกิจของทวีปนี้ไปตลอดกาลก็คือ การที่หลายประเทศได้หันมาปรับเปลี่ยนโมเดลทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่หวังพึ่งพิงแต่การส่งออกและการเป็นฐานการผลิตให้ต่างชาติเป็นตัวนำ ไปสู่การสร้างฐานตลาดการบริโภคที่มีขนาดใหญ่ และเพิ่มกำลังซื้อจากภายในขึ้นเองแล้วหลายแห่ง

สังเกตได้จากการที่รัฐบาลและผู้ประกอบการในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม หันมาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สูงขึ้น เพื่อผลักดันให้คนมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้มีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็หันมาปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและผลักดันคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น

เพราะบรรดาประเทศต่างๆ ในเอเชียตระหนักแล้วว่าการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว และคอยทำหน้าที่เป็นฐานการผลิตราคาถูกมากเกินไปไม่ใช่แนวทางการเติบโตที่ยั่งยืนอีกแล้ว โดยเห็นได้จากบทเรียนจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรงในเอเชีย ช่วงหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจบางประเทศถึงกับเข้าสู่ภาวะหดตัว เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป ขณะที่ประเทศที่มีตลาดการบริโภคภายในที่แข็งแกร่งอย่างอินโดนีเซียกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่า

นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศที่เคยอาศัยความได้เปรียบจากการมีทรัพยากรแรงงานราคาถูกเพื่อดึงดูดบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต เช่น บังกลาเทศ กัมพูชา รวมไปถึงจีน ก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากกระแสสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ในการที่ต้องหันมาปรับปรุงสวัสดิการ ค่าแรง และต้องคำนึงถึงด้านสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น หลังจากที่เกิดเหตุอาคารผลิตเสื้อผ้าในบังกลาเทศถล่มจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ศพ ขณะที่กัมพูชาก็เพิ่งเกิดเหตุการณ์โรงงานรองเท้าถล่มจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ภาพพจน์ของเอเชียจากยุคค่าแรงถูก และฐานการผลิตต้นทุนต่ำในเอเชีย กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นตลาดการบริโภคสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้กำลังกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ได้หันมาเพิ่มและขยายการลงทุนเปิดกิจการในเอเชียมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ไม่ได้หวังจะมาตักตวงเฉพาะข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงแล้ว แต่จะหันมาหวังเข้าไปตักตวงการขยายตัวของชนชั้นกลางในเอเชีย โดยเฉพาะในจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต

ข้อมูลจากเอินส์ทแอนด์ยัง ระบุว่า ในปี 2030 จำนวนชนชั้นกลาง (ผู้ที่มีรายได้ต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 10-100 เหรียญสหรัฐต่อวัน) ในเอเชีย จะขยายตัวขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 525 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดียที่มีการขยายตัวของจำนวนชนชั้นกลางที่รวดเร็วมาก สวนทางกับจำนวนชนชั้นกลางในยุโรปที่จะลดลงเรื่อยๆ ขณะที่แมคคินซีย์ระบุว่าจำนวนชนชั้นกลาง (มีรายได้อย่างน้อย 3,000 เหรียญสหรัฐต่อปี) ในอาเซียน ในปี 2015 จะขยายตัวขึ้นไปอยู่ที่ 145 ล้านคน จากปี 2010 ที่เพียงแค่ 95 ล้านคน

นอกเหนือจากประเด็นข้างต้นแล้ว ในปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศก็หันมาปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายเพื่อให้หันมาสอดรับกับการสร้างฐานการบริโภคในภูมิภาคให้แข็งแกร่งด้วย เช่น แผนการกระจายความเจริญออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ มากขึ้นจากเดิมที่ความเจริญถูกกระจุกตัวอยู่ในเฉพาะเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว

ดังจะเห็นได้ว่าแผนการลักษณะนี้กำลังมีขึ้นในหลายประเทศ เช่น จีน ที่นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ได้เตรียมจะผลักดันแผนการขยายและพัฒนาชุมชนเมืองขนาดใหญ่ หรือ เออเบิร์นไนเซชัน ออกมาในเร็วๆ นี้ เพื่อหวังกระจายความเจริญออกไปสู่เมืองต่างๆ ในพื้นที่ชนบทมากขึ้น

ขณะเดียวกับที่ ไทย ล่าสุดก็ออกแผนการสร้างรถไฟความเร็วสูงออกไปยังพื้นที่หัวเมืองใหญ่ของประเทศแล้ว เพื่อหวังจะกระจายความเจริญออกสู่ต่างจังหวัด อีกทั้งก็ยังหวังว่าในอนาคตจะเชื่อมเข้าสู่เพื่อนบ้านและจีนตอนใต้อีกด้วย

นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็เริ่มหันมามองกรอบความร่วมมือและการพัฒนาในการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคมากขึ้นจากเดิมที่มองการพัฒนาเฉพาะในประเทศตนเองอย่างเดียว โดยเห็นได้จากการที่ผู้นำหลายชาติในอาเซียนเริ่มหันมามองการพัฒนาและโครงการต่างๆ ในกรอบความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ร่วมกันมากขึ้น โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรี มันโมฮัน ซิงห์ ของอินเดีย ระบุว่าต้องการจะเชื่อมโยงประเทศตนเองเข้ากับอาเซียนโดยผ่านเส้นทางทางบกจากพม่าไปสู่ไทยและอาเซียนในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายประเทศในเอเชียมีแนวโน้มการเติบโตและรากฐานที่แข็งแกร่งมากขึ้นตามไปด้วย เพราะการพัฒนาได้ถูกทำให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อกูลการพัฒนาและการค้าระหว่างกันให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวจากปัจจุบัน

ประเด็นสุดท้ายที่จะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือ การที่หลายประเทศกล้าที่จะหันมายอมรับและแก้ไขเพื่อปิดจุดบอดของตนเอง ที่เป็นตัวการสำคัญฉุดรั้งศักยภาพการแข่งขันของตนเองมานานในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ที่หันมาปรับแก้กฎระเบียบการลงทุน การจ้างงานให้ยืดหยุ่น และเปิดรับการแข่งขันมากขึ้น ขณะที่เกาหลีใต้ก็หันมาผลักดันการสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้มากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศถูกครอบงำด้วยบริษัทขนาดใหญ่ (แชโบ) มานาน ซึ่งปัจจุบันยอดขายของ 30 บริษัทแชโบขนาดใหญ่คิดเป็น 82% ของจีดีพีทั้งประเทศได้กลายเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง

ส่วน มาเลเซีย ก็เริ่มที่จะออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าอาจมีการปรับลดการให้โควตาและสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสวัสดิการสังคมแก่คนเชื้อสายมลายู (ภูมิบุตร) ลง เนื่องจากเห็นแล้วว่าเป็นตัวการสำคัญในการฉุดรั้งศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของดินแดนเสือเหลือง อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า

ขณะที่ อินโดนีเซีย ก็เริ่มมีการพิจารณาลดการใช้นโยบายการอุดหนุนราคาน้ำมันลง เนื่องจากตระหนักแล้วเช่นกันว่านโยบายอุดหนุนพลังงานเพื่อช่วยลดรายจ่ายประชาชนนั้นได้นำไปสู่การใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย และงบประมาณจำนวนมากก็ถูกเผาผลาญไปอย่างไร้ประโยชน์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเงินจำนวนดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการอื่นๆ ที่ให้ประโยชน์ระยะยาวกับประเทศได้มากกว่า

ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตสมรภูมิเศรษฐกิจในเอเชียจึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่หลายประเทศพร้อมใจกันหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการพึ่งพาการเติบโตมาสู่ตลาดภายในมากขึ้น พร้อมกับยังได้หันมาแก้ไขช่องโหว่ต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของตนเองในอนาคต

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 10 มิถุนายน 2556

นายกรัฐมนตรี สนับสนุนภาคเอกชน ตั้งโรงงานที่บริหารจัดการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมย้ำรัฐบาลเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำส่งเสริมการเกษตร

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ อาทิ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปที่โรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร ตำบลเทพนิมิต อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร ตรวจเยี่ยมชมนิทรรศการการผลิตน้ำตาลและโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชานอ้อย ซึ่งเป็นโครงการผลิตพลังงานทดแทนจากผลผลิตทางการเกษตร โดยมีนายวันชัย สุทิน ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารโรงงานและประชาชนมาให้การต้อนรับ จากนั้น นายประนต ศิริวัฒนาภักดี กรรมการผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มซีซีกรุ๊ป กล่าวสรุปการดำเนินกิจการของโรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร ว่า มีกำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อยต่อวัน มีผลผลิตน้ำตาลทรายดิบ 200,000 ตันต่อปี และตั้งเป้าในปี 56-57 จะผลิตน้ำตาลทรายดิบได้ 130,000 ตัน ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชานอ้อย หรือโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล มีกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง 36 เมกะวัตต์ ระหว่างปี 2555-2556 ผลิตไฟฟ้าได้ 18.6 ล้านหน่วยใช้ในโรงงาน 13.5 ลัานหน่วย จำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฝภ 5.6 ล้านหน่วยและตั้งเป้าปี 2556-2557 จะผลิตไฟฟ้าได้ 60 ล้านหน่วย จำหน่ายให้ กฟภ 23 ล้านหน่วย

โดยนายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมการดำเนินการของโรงงาน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีการบริหารจัดการด้านมลพิษอย่างครบวงจร โดยจังหวัดกำแพงเพชรมีศักยภาพในการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ ดังนั้นการตั้งโรงงานในพื้นที่ถือว่า มีความเหมาะสมมาก ทำให้ลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่จะพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง ให้เชื่อมกับเส้นทางอื่น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางลำเลียงสินค้า นอกจากนี้ จะช่วยพัฒนาภาคการเกษตร ด้วยการดำเนินโครงการเกษตรโซนนิ่ง ควบคู่กับแผนยุทธศาตร์จังหวัดและจะส่งเสริมให้เกษตรกรลดการปลูกขัาวในพื้นที่ โดยจะส่งเสริมให้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังแทน

นอกจากนี้ จะพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จัดระบบชลประทานเอื้อต่อการทำการเกษตร

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

" 5 ยุทธศาสตร์"ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ก้าวทันโลก

เป็นที่ยอมรับกันว่า "กระทรวงอุตสาหกรรม" เป็นกระทรวงหลักกระทรวงหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ ต่อการนำพาความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในการส่งเสริมการผลิตการลงทุนของประเทศและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม จนทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว มีนิคมอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งในระดับโลกอยู่หลายสาขา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการวางนโยบายที่ถูกต้องและทำงานร่วมกับภาคเอกชนเป็นอย่างดีของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ก่อตั้งมาครบรอบ 71 ปี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เตรียมพร้อมรับสิ่งท้าทายทุก

นายประเสริญ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึง "ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยเผชิญปัญหาในหลายๆ ด้าน ทั้งปัญหาภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนจากภายนอกประเทศ

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและเตรียมพร้อมรับสิ่งท้าทายที่จะเกิดขึ้น จึงได้ให้ความสำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอุตสาหกรรมให้สามารถอยู่อย่างมั่นคง ยั่งยืน และขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ รัฐบาลจึงกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ พ.ศ.2556-2561 ด้วย 2 ยุทธศาสตร์หลัก

ประการแรก คือ ยุทธศาสตร์การเติบโตและแข่งขันได้

ประการที่สอง คือ ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตกผลึก 5 ยุทธศาสตร์มุ่งสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน

จากแนวนโยบายระดับประเทศของรัฐบาลดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมและเครือข่ายที่มีความเป็นเอกภาพจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1) การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปรับโครงสร้างการผลิตสู่อุตสาหกรรม ฐานความรู้พัฒนาคุณค่าในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มี โครงการสำคัญได้แก่ การนำครัวไทยสู่ครัวโลก การพัฒนาเมืองไทยให้เป็นเมืองแฟชั่น การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจอาหารฮาลาล
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน พลังงานทดแทน เคมีชีวภาพ อุปกรณ์การแพทย์ อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน โดยเชื่อมโยงฐานการผลิต การค้า การลงทุนในอาเซียน การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมทวายและพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (แหลมฉบัง)

2) การส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อลดอุปสรรค ลดต้นทุนและยกระดับภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ได้แก่ การทำตลาดเชิงรุก เจาะนักลงทุนเป้าหมาย เพื่อให้ได้นักลงทุนที่มีคุณภาพ โดยจัดกิจกรรมเชิงรุก ในหลายรูปแบบ เช่นโรดโชว์ โดยนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ตลอดจนภาคเอกชน นอกจากนั้นได้ตั้งศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ รวมมากกว่า 13 แห่ง การปรับปรุงแก้ไขกฏหมาย กฏระเบียบต่างๆ การพัฒนาข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเตือนภัยประกอบการตัดสินใจของผู้ประกอบการ

3) เสริมสร้างความสามารถของภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถให้กลุ่มเอสเอ็มอีและโอท็อป ซึ่งถือเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย มีโครงการสำคัญ ได้แก่ การตั้งศูนย์ทดลองและวิจัยพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วน เสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจและยกระดับให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและโอท็อป อย่างบูรณาการ พัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม พัมนาห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาการรวมกลุ่มและการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในลักษณะ "คลัสเตอร์"

4) ส่งเสริมสถานประกอบการอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตทุกขั้นตอนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม สู่อุตสาหกรรมสีเขียว โรงงานสีเขียว เหมืองแร่สีเขียว และการสร้างระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยในโรงงานและการจัดการขยะ และกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมหนาแน่นให้เป็นเมืองต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมนิเวศ ให้มีการบริหารจัดการวัตถุดิบและของเสียอย่างเป็นระบย โดยมีชุมชนมีส่วนร่วม การบังคับใช้กฏหมายอย่างถูกต้อง รอบคอบ รัดกุม

5) การพัฒนาสมรรถนะองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการและประชาชน ในการพัฒนาบุคลากรต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสร้างระบบบูรณาการ การสร้างพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ปรับปรุงการบริหารงานด้านบริการต่างๆ เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมและองค์กรเครือข่ายมีความเป็นเลิศด้านบริหารจัดการ การจัดการองค์ความรู้ธรรมาภิบาล

ก้าวทันโลกอย่างชาญฉลาดต้องสร้างสรรค์ โตแบบสมดุลยั่งยืน

ภาครัฐ เอกชน เห็นสอดคล้องว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมากทั้งด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อการเติบโต ก้าวหน้าทันโลกอย่างมั่นคงของอุตสาหกรรมไทย ต้องดำรงความสมดุล พัฒนาอย่างสร้างสรรค์ และชาญฉลาด เพื่อความยั่งยืนร่วมกัน
ในการเสยนา "อุตสาหกรรมไทย ทำอย่างไร ให้ก้าวทันโลก" นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จนถึงฉบับปัจจุบันคือฉบับที่ 11 ซึ่งเน้นการเพิ่มระดับความสามารถโดยใช้ทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมไทยจะพัฒนา มีการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ในด้านผลิตภาพ (Productivity) หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณหรือมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นยังอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงเท่าที่ควร

++ เชื่อมโยงร้อยเรียงบนพื้นฐานองค์ความรู้อย่างแท้จริง

ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทเกื้อหนุน เป็นฐานในการสนับสนุนให้เอกชนประสบความสำเร็จ จึงได้วางแผนพัฒนาวงการอุตสาหกรรมไทยเป็น 3 ช่วง โดยในช่วง 5 ปีแรก (พ.ศ.2555-2560) จะเป็นการเตรียมความพร้อมโดยการดึงความรู้จากบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูล เชื่อมโยงเรียงร้อยความรู้พื้นฐานมาเป็นความรู้ของประเทศ ซึ่งจะเน้นการนำความรู้มาใช้พัฒนาในช่วงที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และสังคมอาเซียน (ASEAN)

++ นำความคิดสร้างสรรค์สู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Value aded by Own Design)

ส่วนในช่วงที่สอง (พ.ส.2555-2565) ในระยะ 10 ปี จะเป็นช่วงของการปรับบทบาท การนำนวัตกรรมและความรู้ต่างๆ มาเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถสูง แต่ยังไม่ค่อยได้นำมาใช้เท่าที่ควร ดังนั้นในช่วง 10 ปีนี้ อุตสาหกรรมไทยจะอยู่ในช่วงที่เรียกว่า "By design" คือการนำความรู้ ความคิดสร้างสรรค์การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ใช้เพียงผู้รับจ้างการผลิตเท่านั้น

++ ก้าวสำคัญ ยั่งยืน ด้วย "อุตสาหกรรมสีเขียว"

สำหรับช่วงที่สาม ในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2555-2575) ข้างหน้าจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน คือการก้าวเข้าสู่ "อุตสาหกรรมสีเขียว" ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม เป็นสังคมสีเขียว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและภาครัฐจะเป็นกลไกในการเกื้อหนุนให้ทุกกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น ถูกกฎหมาย

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกอุตสาหกรรมจะยืนหยัดอยู่ได้ต้องมี 5 องค์ประกอบคือ ต้นทุน (ที่ต่ำ) คุณภาพ (สูง) การบริการ (ประทับใจ) ความรวดเร็วก้าวทันความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งมีนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าสินค้า และประการสุดท้ายคือ การผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม หากทุกภาคส่วนผนึกกำลังกันจะทำให้อุตสาหกรรมไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายแน่นอน

"มีการคาดการณ์กันว่าในเวลาอีก 4-5 ปีข้างหน้า เมื่อทุกคนได้รับการศึกษามากขึ้น ผู้บริโถคจะพิถีพิถันในการเลือกสินค้ามากขึ้น และสินค้าที่ไม่มีสัญลักษณ์สีเขียวจะขายไม่ได้"
ด้านภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ได้ให้ข้อคิดมุมมอง ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทยในอนาคนที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจหลายประการ
++ กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมช่วยลดค่าใช้จ่าย

นายพิทักษ์ พฤทธิสาวิกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ค่ยรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในเอเซียและโอเซียเนีย กล่าวว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยแข็งแกร่งต่อเนื่อง เพราะนโยบายรัฐเปิดกว้าง ทำให้มีบริษัทข้ามชาติมาตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แทบทุกยี่ห้อ

สำหรับบริษัท ฮอนด้าฯ ซึ่งมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ได้เตรียมพร้อมปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านต้นทุน วัตถุดิบ ค่าเงินรวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยการเติบโตมีชื่อเสียงของฮอนด้าฯ นั้น เกิดขึ้นจากความเป็นผู้นำที่สามารถคิดค้นผลตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ ออกมาได้ก่อนยักษ์ใหญ่ระดับโลก ทั้งเป็นที่ยอมรับผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ฮอนด้าเป็นบริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งในระยะต่อมาบริษัทฮอนด้าได้กำหนดให้ทุกโรงงานทั่วโลก เป็นโรงงานสีเขียว โดยได้ลงทุนด้านลดมลพิษราว 100 ล้านบาท สามารถประหยัดค่าพลังงานได้ถึงปีละ 50 ล้านบาท เท่ากับสองปีคืนทุน
"ดังนั้นกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่กิจกรรมที่เพิ่มค่าใช้จ่าย แต่เป็นกิจกรรมที่ลดค่าใช้จ่าย ยิ่งทำเร็วก็ได้ผลเร็ว ดังนั้นทิศทางอุตสาหกรรมสีเขียว จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำ"

++ ด้านซีอีโอ ของบริษัทศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เมลามีนของประเทศไทย นายสนั่น อังอุบลกุล กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมากในทุกด้าน ขณะที่ทรัพยากรกลับน้อยลดน้อยลง แม้แต่ทรัพยากรมนุษย์ก็น้อยลง ธรรมชาติโลกแปรปรวน ขณะที่ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียกลับเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าภูมิภาคซีกโลกตะวันตก สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมของประเทศไทยต้องก้าวให้ทันและสามารถตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ลูกค้าไม่ได้จำกัดแค่ "คนไทย" คู่แข่งก็ไม่ใช่แค่ "คนไทย" เท่านั้น สถานประกอบการก็ไม่ได้จำกัดที่ในประเทศเท่านั้น เหล่านี้ล้วนทำให้เราต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน

เสาหลักผู้บริหารศรีไทยซุปเปอร์แวร์ กล่าวว่า การที่จะทำให้แข่งขันและเป็นผู้นำได้ในทัศนะของตนนั้น มียุทธิวิธีเตรียมความพร้อม สำคัญ 7 ประการ คือ หนึ่งให้ความสำคัญกับศักยภาพด้านการตลาด (Marketing ablity) ประการที่สองคือ มีศักยภาพทางเทคโนโลยี ต้องคิดค้นและทำสิ่งที่คนอื่นคืดว่าทำไม่ได้ เช่น ศรีไทยฯ สามารถผลิตฝาขวดน้ำหนักเบาที่สุดในโลก หรือการผลิตขวดน้ำในรูปหลอดพลาสติกเพื่อสะดวกและประหยัดในการส่งออกและนำไปขึ้นรูปเป็นขวด ซึ่งถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะลดปริมาณการใช้วัตถุดิบจากเดิมหลายเท่า ยุทธวิธีที่สาม คือ สามารถปกป้องเทคโนโลยีของตนได้ (Technology Security) ยุทธวิธีที่สี่สินค้าอยู่ได้ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Eco Value) ตามด้วยยุทธวิธีที่ห้าคือ ศักยภาพด้านการบริหารจัดการ (Management Capacity) ยุทธวิธีที่หก คือ ศักยภาพด้านบุคลากรหรือทุนมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในทุกกิจกรรม เพราะความสำเร็จต่างๆ ล้วนมาจากความคิดของมนุษย์ก่อน ยุทธวิธีที่เจ็ด คือ ทำได้และลงมือทำ

นอกจากนี้ซีอีโอผู้นี้ยังได้ให้ข้อคิดการนำนวัตกรรม (Innovation) และความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่านค้าอาจไม่เพียงพอ แต่จะต้องสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ในอุตสาหกรรมได้ อาทิ จากแก้วนำพลาสติกที่ใส่เครื่องดื่มธรรมดา ราคาไม่กี่บาท กลายเป็นของที่ระลึกจากภาพยนตร์ชื่อดัง เพียงแปลงโฉมใหม่ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า เป็นต้น

เผยเคล็ดลับสุดยอด SMEs

อย่าลืมว่ารากฐานเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่ง แท้จริงแล้วมาจากธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ที่มีอยู่นับล้านรายกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทว่าในสภาพความเป็นจริง ปัจจุบัน SMEs ส่วนใหญ่ ยังมีจุดอ่อนหลายประการ ทั้งความสามารถการแข่งขัน เงินทุน บุคลากร ฯลฯ น้อยรายที่จะมีศักยภาพร้อมต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ดังนั้น การประกวดสุดยอด SMEs แห่งชาติจึงเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบ SMEs รายอื่นๆ

ในโอกาสครบรอบ 71 ปี กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดเสวนา เรื่องสุดยอด SMEs ขึ้น เพื่อให้ผู้ได้รับรางวัลร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์แห่งความสำเร็จ

ดร.สมศักดิ์ วาทินชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ จำกัด สุดยอด SMEs แห่งชาติ 3 ปีซ้อน จากกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ เผยเคล็ดลับความสำเร็จว่าอยู่ที่การสำคัญเรื่องทรัพยากรมนุษย์มากที่สุด เพราะมนุษย์เป็นผู้คิดริเริ่ม ต้องทำให้ทรัพยากรมนุษย์มีคุณค่าต่อองค์กร เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน มีความร่วมมือร่วมใจกัน พนักงานของบริษัทที่มีความสามารถ ซื่อสัตย์ มีจริยธรรม ก็จะได้รับการยกระดับให้เสมือนเถ้าแก่ มีหุ้นในบริษัท นอกจากนี้ธุรกิจจะเติบโตไปข้างหน้าได้ต้องรู้จักเก็บองค์ความรู้เป็นคลังความรู้ โดยให้พนักงานถ่ายทอดความรู้ไว้ให้รุ่นต่อๆ ไป นอกจากนี้จะต้องทำให้บริษัทเป็นองค์กรเรียนรู้แบบตลอดชีวิต ให้ความสำคัญต่อลูกค้าซึ่งนำรายได้หลักมาสู่บริษัท สิ่งสำคัญอีกประการคือการเสริมสร้างองค์กรด้านคุณธรรม รักชาติ มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่บริษัทยึดมั่นเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอดคือ การผลิตสินค้าที่เน้น "ไม่" ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ธุรกิจยั่งยืน

นางสาวฐิติมา ตันติกุลสุนทร กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการบริษัท ไวส์เฟรทเซอร์วิสเซส(ประเทศไทย) จำกัด จากกลุ่มธุรกิจโลจิสติก์ กล่าวว่าหัวใจของงานบริการ คือ บริการดี ตรงเวลา รวดเร็ว ถูกต้อง ในราคาที่เหมาะสม ลูกค้ายอมรับ การที่บริษัทฯ ได้เป็นสุดยอด SMEs ในปีนี้ เพราะบริษํทมีความพร้อม และไม่ย่อท้อ เพราะครั้งแรกนั้นบริษัทได้รับเพียงรางวัลชมเชย อย่างไรก็ดี การได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้บริษัทได้ประโยชน์มากมายในการพัฒนาองค์กร รู้จุดอ่อน จุดเด่น สามารถนำไปปรับปรุงเสริมศักยภาพธุรกิจได้เป็นอย่างดี

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซีอีโอหนุ่ม ผู้สร้างตำนานวัยรุ่นพันล้าน ผู้สร้างอาณาจักรสาหร่ายภายใต้ชื่อ "เถ้าแก่น้อย" ให้เป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วเอเซียด้วยวัยเพียง 19 ปีเศษ กล่าวถึงความสำเร็จที่มีในวันนี้เกิดจากการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนทัศนคติ ชีวิตจะเปลี่ยน จากความคิดที่ต้องเรียนเก่งเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ มาเป็นการไม่ย่อท้อ เรียนรู้และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง รู้จักปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เขากล่าวว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จ ต้องรู้จักหาผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง มีเอกลักษณ์ของตนเอง การคิดได้คนแรกจะทำให้มีโอกาสมากกว่า นอกจากนี้ยังต้องคิดวางแผนการตลาดให้รอบด้าน ในอนาคตบริษัทฯ หวังจะสร้างแบรนด์ให้ "เถ้าแก่น้อย" วางจะหน่ายทุกมุมโลก ทานสาหร่ายแพร่หลายเหมือนทานมันฝรั่งทอด

ด้าน ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.กล่าวว่าในแต่ละปีมีผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ คือ การได้รับการวินิจฉัยประเมินตรวจสอบธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้เอสเอ็มอีแต่ละรายรู้จุดเด่นจุดด้อย เพื่อนำไปปรับปรุงวิธีการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการ ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหลายต้องรู้จักเรียนรู้เรื่องการบริหารการจัดองค์ความรู้ ทำให้องค์กรมีความเข้มแข็ง ยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากลต่อไป

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นายกฯชมรง.น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชรหวังให้เป็นต้นแบบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นายกรัฐมนตรีและคณะเยี่ยมชมการดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร ชื่นชมการดำเนินการของโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หวังให้เป็นโรงงานต้นแบบในอนาคต ระบุกำแพงเพชรมีศักยภาพในการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ โดยรัฐบาลพร้อมพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

วันนี้ (9 มิ.ย.56) เวลา 11.30 น. ณ โรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร ตำบลนิมิต อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ เยี่ยมชมนิทรรศการผลิตน้ำตาลและตรวจเยี่ยมโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชานอ้อย พร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินกิจการ โดยมีนายวันชัย สุทิน ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ผู้บริหารโรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น พนักงานโรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร และประชาชนคอยให้การต้อนรับ

นายประณต สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่กลุ่ม ทีซีซี บรรยายสรุปการดำเนินกิจการว่า โรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร เป็นหนึ่งในโรงงานน้ำตาลของ บจก.คริสตอลลา จำกัด มีกำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อย/วัน (2 ล้านตันอ้อย/ปี) มีผลผลิตน้ำตาลทรายดิบ 200,000 ตัน/ปี และกากน้ำตาล 80,000 ตัน/ปี สำหรับผลผลิตปี 2555/2556 มีอ้อยเข้าโรงงาน 1,030,000 ตัน ผลิตน้ำตาลทรายดิบ 81,000 ตัน ส่งออกและจำหน่ายให้เครือ ThaiBev ผลิตน้ำตาลทรายขาว 10,500 ตัน จำหน่ายในพื้นที่กำแพงเพชรและพื้นที่ใกล้เคียง และกากน้ำตาล 46,500 ตัน จำหน่ายให้เครือ ThaiBev โดยตั้งเป้าหมายผลผลิตปี 2556/2557 คาดว่ามีอ้อยเข้าโรงงานฯ จำนวน 2,000,000 ตัน ผลิตน้ำตาลทรายดิบ 130,000 ตัน น้ำตาลทรายขาว 50,000 ตัน และกากน้ำตาล 80,000 ตัน ซึ่งโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชานอ้อย (โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล) มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 36 เมกะวัตต์ (ใช้กากอ้อยจากโรงน้ำตาลฯ เป็นเชื้อเพลิง) ปี 2555/2556 ผลิตไฟฟ้าได้ 18.60 ล้านหน่วย ใช้ในโรงงานน้ำตาลฯ 13.50 ล้านหน่วย จำหน่ายให้ กฟภ. 5.60 ล้านหน่วย มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าปี 2556/2557 จำนวน 60 ล้านหน่วย โดยจะนำไปขายให้ กฟภ.จำนวน 23 ล้านหน่วย โดยจากการดำเนินกิจการดังข้างต้นส่งผลให้มีการจ้างงานในพื้นที่ช่วงหีบอ้อยประมาณ 2,540 คน และช่วงปิดหีบเหลือประมาณ 600 คน

นอกจากนั้นยังได้ร่วมพัฒนาและแจกทุนการศึกษากับเยาวชนในชุมชน และใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักขยะเหลือศูนย์อีกด้วย

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมการดำเนินการของโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยในด้านมลพิษ และมีการบริหารจัดการอย่างครบวงจร โดยหวังให้เป็นโรงงานต้นแบบในอนาคต ทั้งนี้ จังหวัดกำแพงเพชรมีศักยภาพในการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ มีการตั้งโรงงานในพื้นที่ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งให้เชื่อมต่อกับเส้นทางอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางลำเลียงสินค้า นอกจากนี้มีการพัฒนาภาคเกษตรโดยดำเนินโครงการเกษตรโซนนิ่งควบคู่กับแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยและมันสำปะหลังแทนการปลูกข้าวในพื้นที่ นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล จัดระบบชลประทาน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดีขึ้น

ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชานอ้อย และพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ก่อนออกเดินทางต่อไปที่บริษัท อะยิโนะโมะโต๊ะ จำกัด (โรงงานกำแพงเพชร) อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรงงานน้ำตาลอ่วมราคาร่วงถึงQ3

ขาใหญ่ผู้ผลิต-ผู้ส่งออกน้ำตาลกระอั่ก ราคาในตลาดโลกร่วงต่อเนื่องยังไม่ดีดกลับ ทำน้ำตาลส่งออกในสต๊อก ค้างเติ่ง 20% มีทั้งที่ทำราคาขายล่วงหน้าไปแล้วและยังไม่ได้ทำราคาส่งออก วงการชี้แนวโน้มขาลงถึงไตรมาส 3 ผู้ผลิตน้ำตาลบ่นอุบอนท.ไม่ยอมกำหนดราคาโควตาข.ล็อตใหม่ ทำให้ไม่สามารถส่งออกโควตาค.ได้ ด้าน"ไอเอสโอ"ระบุปริมาณน้ำตาลยังล้นตลาดโลกอยู่เกือบ 10 ล้านตัน

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาลเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกน้ำตาลโควตาค. ซึ่งเป็นโควตาส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล 23 กลุ่มโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ กำลังได้รับผลกระทบหลังจากที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงลงมาต่อเนื่อง โดยฤดูการผลิตปี 2555/2556 มีปริมาณน้ำตาลโควตาค.รวมกัน 67.3 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้มีการส่งออกไปแล้ว 33.6 ล้านกระสอบ ยังคงเหลือน้ำตาลที่ยังไม่ได้ส่งออกอีกจำนวน 34 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้มีที่ทำราคาขายล่วงหน้าไปแล้วราว 14 ล้านกระสอบ และยังไม่ทำราคาขาย อีกราว 20 ล้านกระสอบ (กระสอบละ100 กิโลกรัม) หรือ20% ของปริมาณโควตาค.ทั้งหมดที่มีอยู่ 67.3 ล้านกระสอบที่ยังไม่กำหนดราคาส่งออก และหากส่งออกในช่วงนี้ก็จะได้รับผลกระทบจากรายได้ส่งออกลดลง เมื่อเทียบกับราคาส่งออกในช่วงปลายปี2555 ราคาน้ำตาลดิบอยู่ที่ 23-24 เซ็นต์/ปอนด์ ขณะนี้ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 16.40 เซ็นต์/ปอนด์ และมีแนวโน้มว่าราคาจะอยู่ในจังหวะขาลงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 หากเก็บไว้ในสต๊อกนานคุณภาพน้ำตาลก็จะลดลงหรือเสี่ยงที่ราคาอาจร่วงลงได้อีก

ทั้งนี้กลุ่มบริษัทน้ำตาลที่มีบทบาทในการส่งออกหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ 5-6 อันดับแรก เช่น กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด จากตระกูล"ว่องกุศลกิจ" ที่ปีนี้มีโควต้าค. ทั้งหมด 13.9 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้รอส่งออกอยู่ 9 ล้านกระสอบ กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด จากตระกูล "อัษฎาธร" มีโควตา ค. ทั้งหมด 10.8 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้รอการส่งออกอยู่ 6.1 ล้านกระสอบ กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด จากตระกูล "ศิริวิริยะกุล" มีโควตาค. จำนวน 6 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้รอส่งออกอยู่ 3.2 ล้านกระสอบ กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่นฯหรือKSL จากตระกูล "ชินธรรมมิตร์" มีโควตาค.อยู่จำนวน 4.8 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้รอส่งออกอยู่ 2.3 ล้านกระสอบ

กลุ่มบริษัทน้ำตาลวังขนาย จำกัด จากตระกูล ณ วังขนาย หรือชุ้นฟุ้ง (สกุลเดิม) มีโควตาค.รวมทั้งสิ้น 4.4 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้รอส่งออกอยู่ 1 ล้านกระสอบ และกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีโควตาค.รวมจำนวน 1.8 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้ยังรอส่งออกอยู่ 1 ล้านกระสอบ(ดูตาราง) โดยบริษัทเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลโควตาค. เหลืออยู่มากที่สุดเมื่อเทียบกับ 23 กลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ส่งออกทั้งหมด ซึ่งตัวเลขปริมาณน้ำตาลโควตาค. ที่รอส่งออกนั้น บางส่วนได้มีการกำหนดราคาส่งออกไปแล้ว และบางส่วนยังไม่กำหนดราคาก็จะได้รับผลกระทบหากราคาน้ำตาลร่วงลงต่อเนื่อง

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)หรือกลุ่มKSL กล่าวว่า บริษัทที่มีการหีบอ้อยเพิ่มขึ้น หรือผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วก็จะเหลือน้ำตาลโควตาค. ในสต๊อกจำนวนมาก ดังนั้นรายใดที่ยังไม่ได้กำหนดราคาขายล่วงหน้าก็จะได้รับผลกระทบ คาดว่าส่วนนี้น่าจะมีอยู่ในระบบราว 20% ของปริมาณส่งออกโควต้าค.ทั้งหมด แต่เป็นผู้ส่งออกค่ายไหนในปริมาณเท่าไหร่ ไม่มีใครกล้าออกมาแสดงตัวเลขว่ามีจำนวนเท่าไหร่ที่ยังไม่ได้กำหนดราคาส่งออก เนื่องจากเกรงว่าสถาบันการเงินจะไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือกลัวถูกแย่งอ้อยในฤดูการผลิตใหม่ เพราะคู่สัญญาอาจจะไม่ส่งอ้อยให้อีก เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับเงินค่าอ้อย

นายบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มบริษัทน้ำตาลวังขนาย จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด หรือ อนท. ไม่ยอมกำหนดราคาโควตาข.(โควตาส่งออกโดยอนท.)ล็อตใหม่ออกมา ก็ส่งผลให้ผู้ส่งออกน้ำตาลไม่สามารถส่งออกโควตาค.ได้ เพราะเกรงว่า ถ้าได้ราคาต่ำกว่าที่อนท.ขายน้ำตาลโควตาข. ผู้ส่งออกโควตาค. จะต้องควักเนื้อ เพื่อเอาส่วนต่างมาคำนวณ เพื่อให้ราคาเท่ากับโควตาข. เพราะเวลาคำนวณราคาอ้อย จะต้องนำราคาของน้ำตาลโควตาข.ไปเป็นฐานในการคำนวณราคาอ้อย

ด้านนายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ขายน้ำตาลล่วงหน้าไปหมดแล้ว โดยมีกำลังผลิต 2.40 แสนตัน/ปี และปี2555/2556 บริษัทสามารถหีบอ้อยได้ 2.50 ล้านตันอ้อย จึงไม่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนบริษัทที่สต๊อกน้ำตาลไว้จำนวนมาก เพื่อรอขายเมื่อราคาดีดตัวกลับมาสูงขึ้น จะกระทบเพราะขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังไม่กลับมาสูงเหมือนเดิม และเชื่อว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลก ณ ปัจจุบันน่าจะลงไปต่ำกว่าราคาต้นทุนของโรงงานน้ำตาลแล้วในขณะนี้ โดยผู้ส่งออกบางรายสต๊อกน้ำตาลไว้ตั้งแต่ราคาลงมาอยู่ที่ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ คนไม่อยากขายจึงเก็บไว้เพื่อรอจังหวะราคาดีดตัวสูงขึ้น จนถึงขณะนี้น่าจะมีปริมาณน้ำตาลส่งออกที่สต๊อกไว้เป็นน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ราว 20% ของการส่งออกน้ำตาลทั้งหมด

สอดคล้องกับที่นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด หรือ TSTC เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีทิศทางไม่ค่อยดี ปรับตัวไปในทางลบ โดยมีสาเหตุมาจากที่บราซิลมีผลผลิตน้ำตาลออกมามากกว่า 35 ล้านตันน้ำตาลในฤดูผลิตใหม่นี้ จากเดิมปีล่าสุดมีผลผลิตน้ำตาลออกมากว่า 34 ล้านตันน้ำตาล รวมถึงในช่วงนี้ค่าเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่าลงมากกว่า 2.1 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯทำให้ขายน้ำตาลได้ในราคาถูก

ทั้งนี้ล่าสุดราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 16.40 เซ็นต์/ปอนด์ จากที่ราคาเมื่อช่วงต้นปีนี้อยู่ที่ 19 เซ็นต์/ปอนด์ ราคาน้ำตาลทรายขาวเมื่อต้นปีนี้ราคาอยู่ที่ 520 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะนี้ลงมาอยู่ที่ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และมีแนวโน้มว่าราคาจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ยกเว้นว่ามีสภาพอากาศแปรปวน เกิดขึ้นในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลจำนนวนมาก หรือมีนักเก็งกำไรเข้าไปซื้อน้ำตาลเพิ่มขึ้น ก็จะผลักให้ราคาน้ำตาลปรับตัวดีขึ้น แต่เวลานี้เท่าที่ดูยังไม่มีสัญญาณบวกว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้น

นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)กล่าวว่าองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศหรือไอเอสโอ คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกปี 2555/2556 อยู่ที่ 181.707 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคอยู่ที่ 171.725 ล้านตัน ทำให้มีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินเกือบ 1 ล้านตัน เปรียบเทียบกับปี 2554/2555 มีผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 174.251 ล้านตัน มีการบริโภคอยู่ที่ 168.014 ล้านตัน ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกกลับมาอยู่ในภาวะขาลงต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3

เนื่องจากช่วงนี้เป็นจังหวะที่บราซิลผลิตอ้อยออกมาจำนวนมาก แม้ว่าสัดส่วนตั้งแต่ 50-55% นำอ้อยไปผลิตเอทานอลแล้วก็ตาม แต่ปีนี้มีปริมาณอ้อยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปริมาณอ้อยที่ปลูกในพื้นที่ตอนกลาง-ใต้ของบราซิล มีปริมาณอ้อยที่ผลิตได้มากถึง 590 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็นสัดส่วน 90% ของปริมาณอ้อยทั้งหมดในบราซิลที่มีจำนวน 650 ล้านตันอ้อย เทียบจากปีก่อนผลิตอ้อยในพื้นที่ดังกล่าวได้ 532 ล้านตันอ้อย จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ราคาน้ำตาลตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2555 ลดราคาลงมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยสูงกว่า 20 เซ็นต์/ปอนด์ เมื่อไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ล่าสุดราคาลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 17 เซ็นต์/ปอนด์

อนึ่งปี 2555/2556 มีปริมาณน้ำตาลทั้งระบบ 10 ล้านตัน แบ่งเป็นโควตาก.(บริโภคในประเทศ) 2.5 ล้านตัน หรือ 25 ล้านกระสอบ อีก 7.5 ล้านตัน เป็นน้ำตาลส่งออกโดยโควตาข. (ส่งออกโดยอนท.) จำนวน 8 แสนตัน หรือ 8 ล้านกระสอบ ที่เหลือเป็นน้ำตาลส่งออกโดยโควตาค. (ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล)

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กรอ.ชงโครงการ4ด้าน1.5พันล.เข้าครม.สัญจร

กรอ. เห็นชอบอนุมัติเกือบ 1.5 พันล้านบาท พัฒนาโครงการ 4 ด้าน ในภาคเหนือตอนล่าง

นายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหา ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค(กรอ. ภูมิภาค) ครั้งที่ 3/2556 โดยมีคณะรัฐมนตรี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารร่วมประชุม เปิดเผยผลการประชุมกรอ.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการ 4 ด้าน วงเงินรวมประมาณ 1,491 ล้านบาท ได้แก่ 1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน วงเงินรวม 869.5 ล้านบาท 2.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์วงเงิน 530 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 4.การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพ 3 แผนงานวงเงิน 92.85 ล้านบาท ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงานต่อ และจะนำผลการประชุมคณรัฐมนตรี(ครม.)นอกสถานที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มิถุนายน เพื่อพิจารณารับทราบต่อไป

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกกร. เปิดเผยรายละเอียดโครงการต่างๆ ประกอบด้วย ด้านที่ 1.การส่งเสริมการค้าและการลงทุน วงเงินงบประมาณ 869.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปี ระหว่างปี 2556-2563 โดยจะจัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพศูนย์กลางการค้าข้าวและนวัตกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร(ข้าว-มันสำปะหลัง) ด้วยการทำโครงการศึกษาเพื่อเตรียมการจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการการค้าและนวัตกรรมแปรรูปข้าวไทย” เป็นศูนย์กลางการค้าข้าวและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดโลก มีทั้งหมด 5 โครงการย่อย คือ 1.โครงการจัดตั้งศูนย์กลางการยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตข้าวเปลือกและข้าวสาร จ.พิจิตร วงเงิน 150 ล้านบาท 2.โครงการศูนย์กลางพัฒนามูลค่าเพิ่ม นวัตกรรมสินค้าข้าว และสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้อง จ.กำแพงเพชร วงเงิน 150 ล้านบาท

3.โครงการศูนย์กลางส่งเสริมการตลาดและการค้าข้าวทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ จ.นครสวรรค์ วงเงิน 233.5 ล้านบาท4.โครงการศูนย์กลางการพัฒนาการค้า การส่งออกข้าวครบวงจร จ.นครสวรรค์ วงเงิน 280 ล้านบาท และโครงการศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านสารสนเทศข้อมูลและความรู้ จ.นครสวรรค์ วงเงิน 56 ล้านบาท และ 5.โครงการจัดตั้ง”ศูนย์กลางธุรกิจการค้าและนวัตกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง จ.กำแพงเพชร โดยของบประมาณสนับสนุนเพื่อการศึกษาและอนุมติงบดำเนินโครงการ เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิต การแปรรูป และ การค้ามันสำปะหลังของภาคเหนืออย่างครบวงจรตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มมันสำปะหลัง

ด้านที่ 2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์วงเงินงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัย “โครงการจัดตั้งศูนย์ Inland Container Depot(ICD) หรือ Container Yard(CY) ที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อรองรับรถไฟทางคู่และเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง ลดต้นทุน และพัฒนาการขนส่งของประเทศกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างวงเงิน 530 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี 8 เดือน โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีความเหมาะสมด้านภูมิศาสตร์เป็นจังหวัดศูนย์กลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลางที่มีโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ รองรับการขนส่งสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งทางบก ทางน้ำ และระบบราง คาดว่า จะมีปริมาณสินค้าส่งออกแบะนำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพในปี 2556 จำนวน 87-89 ล้านตัน หากสามารถจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวได้จะช่วยกระจายสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนไปยังสถานีขนส่งปลายทาง และเป็นศูนย์กลางการกำหนดบทบาทตลาดในการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง

นอกจากนี้ยังได้ขอเสนอทำโครงการขยายช่องทางจราจรจาก 2 ช่องทาง เป็น 4 ช่องทางการจราจร และปรับปรุงขยายไหล่ทาง เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมของกลุ่มจังหวัด และเส้นทางท่องเที่ยวมรดกโลก 4 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์ห้วยขาแข้งจำนวน 4 เส้นทาง ดังนี้ 1.เส้นทางหมายเลข 115 จ.กำแพงเพชร-หมายเลข 117 แยกปลวกสูง-จ.พิจิตร 2.เส้นทางหมายเลข 101 จ.กำแพงเพชร-จ.สุโขทัย(คีรีมาศ)(เชื่อมโยงมรดกโลก) 3. เส้นทางหมายเลข 11 อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร-หมายเลข 32 อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

และ4.โครงการปรับปรุงและขยายไหล่ทาง เส้นทางหลวงชนบทหมายเลข 3480 อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี-หมายเลข 3473 อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์-หมายเลข 3013 อ.คลองสาน จ.กำแพงเพชร เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้นและรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต
ด้าน 3. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยขอให้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำน่านและระบบชลประทานตามโครงการชลประทานพิษณุโลกตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขออนุมัติไว้แล้ว เนื่องจากในพ.ศ. 2510 กรมชลประทาน วางแผนศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน 3 โครงการ คือ โครงการเขื่อนสิริกิติ์ โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ และโครงการชลประทานพิษณุโลก ทั้งนี้ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนล่าง 2 โดยเฉพาะจังหวัดพิจิตร ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยตลอดเวลา เพราะพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่านและยังไม่มีระบบชลประทานที่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องเร่งก่อสร้าง ระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จทันในปีงบประมาณ 2557 นี้ โดยมีการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา

4.การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพ 3 แผนงาน วงเงินงบประมาณ 92.85 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.แผนการเร่งรัดและสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว "วิถีชีวิตและอัตตะลักษณ์แม่น้ำสะแกกรัง" จ.อุทัยธานี 2. แผนการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 รวม 3 แผนงาน อาทิ การอนุรักษ์ให้มีการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพวเพชรช่วงค่ำ โดยจะเสนอให้เปิดในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ วัดหยุดนักขัตฤกษ์และวันพระ เพื่อให้เอกชนสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในบริเวณอุทยานฯ 3.แผนการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การเท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 3 กิจกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าการท่องเที่ยวอาทิ จัดกิจกรมส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงมรดกโลกและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร-อุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง-แม่น้ำสะแกกรัง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อเสนอของบประมาณสนับสนุนพิจารณาเพิ่มเติมอื่นๆ 4 เรื่อง คือ 1.การพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 2. ผลการหารือ Round Table ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการ หรือคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 3.5 แสนล้านบาท 3. ขอให้เร่งผลักดันการออกกฏหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเล ไปยังกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ประเทศไทยสามารถให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานทางทะเล 4.โครงการวางท่อส่งน้ำไปในแหล่งพื้นที่ทำการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในเขต จ.นครสวรรค์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

“ธ.ก.ส.” อนุมัติวงเงินกู้ 15,920 ล้าน จ่ายเพิ่มค่าอ้อยฤดูผลิตปี 55/56 แก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวไร่

นายชัยวัฒน์ ปกป้อง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กู้เงินเพื่อนำไปจ่ายเพิ่มค่าอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ที่จะนำไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชาวไร่อ้อย โดย ธ.ก.ส.มีมติอนุมัติวงเงินสินเชื่อ 15,920 ล้านบาท ซึ่งทางกองทุนอ้อยฯได้ทำการกู้ไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท คาดว่าเงินทั้งหมดจะถึงมือชาวไร่อ้อยภายในกลางเดือนมิถุนายน 2556 นี้

สำหรับสินเชื่อดังกล่าวจะได้มาจากการประมาณการณ์อ้อยที่เข้าหีบจำนวน 99.50 ล้านตัน ในอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน MLR-0.75 ต่อปี หรือคิดเป็น 4.25% ต่อปี โดยจะกำหนดเวลาชำระหนี้นับตั้งแต่วันที่กู้ภายใน 14 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556-มิถุนายน 2557

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติให้คงปรับราคาขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศอีกกิโลกรัมละ 5 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 14 เดือน เพื่อนำไปเป็นรายได้ของกองทุนอ้อยฯที่จะนำไปชำระหนี้ในครั้งนี้ โดยปัจจุบันกองทุนอ้อยฯมีหนี้คงค้างจำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีระยะเวลาครบกำหนดภายในปี 2563

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ยังได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเงินกู้ให้กับกองทุนอ้อยฯ เพื่อนำไปรักษาเสถียรภาพของระบบ ตั้งแต่ปีการผลิต 2541/2542 จนถึงปัจุบันรวม 10 ครั้ง คิดเป็นวงเงินกู้รวม 80,826 ล้านบาท และ ธ.ก.ส.ยังได้สนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างมาตรฐานการดำเนินงาน อาทิ อบรมให้ความรู้ด้านการบริหารแก่คณะกรรมการกองทุน ทั้งด้านสินเชื่อ เงินฝาก และการระดมทุนจากสมาชิก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 มิถุนายน 2556

เปิดศูนย์เรียนรู้ 120 แห่งทั่วประเทศ - เกษตรทั่วไทย

ม.ล.จิรพันธุ์ ทวีวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง เป็นสถานที่ศึกษา ทดลองการเกษตรด้านต่าง ๆ เพื่อค้นคว้าวิธีการที่เหมาะสมเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการนำไปขยายผล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเผยแพร่สู่ราษฎรให้สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ นับเป็นต้นแบบของความสำเร็จ ที่สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จมาสาธิตและพัฒนาขยายผลสู่การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของราษฎร อันจะทำให้คุณภาพชีวิตของราษฎรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น

สำนักงาน กปร. จึงร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จำนวน 120 แห่ง ในพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง และเพิ่มเติมในพื้นที่อีก 2 จังหวัด คือ จังหวัดนครนายก และจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเน้นการดำเนินงานด้านวิชาการ การขยายผลและการบริหารงานอำนวยการ ซึ่งการดำเนินงานตามโครงการฯ ในปีที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานด้านการวิจัยของแต่ละศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โดยเน้นจุดเด่นของแต่ละแห่ง ซึ่งผลสำเร็จจากงานวิจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ได้จัดทำเป็นหลักสูตรเพื่อการเผยแพร่ให้กับเกษตรกรมีทั้งหมดกว่า 90 หลักสูตร เน้นการประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามสภาพภูมิสังคมของแต่ละภาคที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

“ในการขยายผลศูนย์ศึกษาฯ สำนักงาน กปร. ได้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลโดยทั่วไปได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาฯ พร้อมกับได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่อยู่ในจังหวัดที่ตั้งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาแต่ละแห่ง ให้รับทราบถึงหลักสูตรที่จะเปิดการอบรม รวมถึงได้คัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจให้เข้ามารับการอบรม สำหรับแผนการดำเนินงานในการขยายผลไปสู่ประชาชนในปีนี้สำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย คัดเลือกเกษตรกรที่สนใจ ในทุกจังหวัดเพื่อเข้ามาอบ รมตามความต้องการของเกษตรกรเอง โดยเป้าหมายที่วางไว้คือจังหวัดละ 100 คน รวมแล้วประมาณ 7,000 คน ที่จะเข้ามารับความรู้ในปีนี้” รองเลขาธิการ กปร. กล่าว

รองเลขาธิการ กปร. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริทั้ง 120 แห่งนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดให้เกษตรกรได้เพิ่มพูนความรู้ในการประกอบอาชีพอย่างถูกวิธีและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ตั้งแต่ด้านสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพดิน และชนิดพืชที่จะนำมาเพาะปลูก ภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศูนย์ศึกษาการ พัฒนาฯ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราช ทานแก่พวกเราทุกคน ฉะนั้นเกษตรกรที่สนใจก็สามารถเข้าไปเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบ การณ์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ได้ ซึ่งทุกศูนย์ฯ ก็พร้อมที่จะให้บริการ หลักสูตรที่เปิดอบรมให้กับเกษตรกรมีหลายหลักสูตรด้วยกัน อาทิ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน การบริหารจัดการน้ำ ดิน ป่าไม้ พลังงานทดแทน การทำบัญชีฟาร์ม การวางแผนการเพาะปลูกเพื่อการตลาด ภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ กว่า 4,350 โครงการแก่พสกนิกรชาวไทย ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ ต่อราษฎร เกษตรกร ชุมชน และประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นอยากให้ทุกท่านที่สนใจได้มีโอกาสในการเข้าถึงและรับบริการในการถ่ายทอดและเรียนรู้จากผลสำเร็จของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์เรียนรู้ที่ได้จัดตั้งขึ้นทั้ง 120 แห่งนี้ อย่างทั่วถึง และสามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองต่อไปได้ดียิ่งขึ้น” รองเลขาธิการ กปร. กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 8 มิถุนายน 2556

ไฟเขียววงเงินชดเชยพืชไร่อัตราเดียว

“โต้ง”ไฟเขียวเปลี่ยนวงเงินชดเชยพืชไร่ เป็นอัตราเดียว 1,148 บาทต่อไร่ เปลี่ยนจากเดิมที่แยกประเภทพืชออกเป็น 3 ชนิด ที่ผ่านมาเกิดความสับสน ไม่ครอบคลุมเลยต้องปรับใหม่ เตรียมชงครม.สัญจร ที่กำแพงเพชร เห็นชอบ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ ได้เห็นชอบให้ทบทวนมติครม.เดิม เกี่ยวกับการขอเงินงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านเกษตร ทั้ง ภัยศัตรูพืชระบาด ภัยแล้ง วาตภัย ภัยฝนทิ้งช่วง และภัยอากาศแปรปรวน (ออกซิเจนในน้ำต่ำ) ที่ประสบภัยระหว่างเดือนม.ค.-ธ.ค. 55 จากเดิมที่กำหนดวงเงินช่วยเหลือด้านพืชไร่ โดยแบ่งออกเป็น 3 รายการ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชดเชย 870.50 บาทต่อไร่ ,มันสำปะหลัง 1,010.27 บาทต่อไร่ และอ้อย 1,522.49 บาทต่อไร่ ให้เปลี่ยนวงเงินการช่วงเหลือเป็นอัตราเดียวคือ 1,148 บาทต่อไร่แทน หลังจากกระทรวงการคลังเห็นว่า มีความสับสนและบริหารจัดการได้ยาก

“เป็นข้อเสนอที่ต้องมาทำให้เหมาะสม แต่ก็มีข้อสังเกตว่า วงเงินการช่วยเหลืออ้อย เดิมมีอัตราที่สูงถึง 1,522.49 บาทต่อไร่ อาจเกิดปัญหาเกษตรกรไม่ยอมรับการช่วยเหลือ เพราะอัตราใหม่คิดวงเงินอัตราเดียวเพียง 1,148 บาทต่อไร่ แต่ก็ได้รับการยืนยันจากกระทรวงเกษตรฯว่า ได้คุยกับเกษตรกรจนได้ข้อสรุปแล้ว และเกษตรกรก็ยอมรับวงเงินช่วยเหลือใหม่แล้ว โดยเรื่องทั้งหมด คาดว่าทางคณะกรรมการกลั่นกรองจะเสนอให้ที่ประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดกำแพงเพชร วันที่ 10 มิ.ย.นี้ พิจารณาเห็นชอบ”

ทั้งนี้ในส่วนของผลผลิตทางการเกษตรอื่นนั้น ยังกำหนดวงเงินช่วยเหลือตามเดิม คือ ข้าว ชดเชย 1,113.06 บาทต่อไร่ ส่วนพืชสวนและอื่นๆ ชดเชย 1,690 บาทต่อไร่ โดยกรณีพืชสวนและอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทำให้ชะงักการเติบโตแต่ไม่ตาย และยังอยู่ในสภาพฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ให้ช่วยเหลือเฉพาะค่าปุ๋ย 50% ในอัตรา 605 บาทต่อไร่ ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ช่วยเหลือด้านประมงและปศุสัตว์ โดยให้ใช้อัตราตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอครม. พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตามกระทรงเกษตรฯ ได้ตรวจสอบเอกสารและได้ยืนยันความถูกต้องแล้วว่า ล่าสุดมีเกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือรวม 143,079 ราย โดยในกรณีพืชไร่ที่ต้องปรับเปลี่ยนวงเงินช่วยเหลือนั้น เนื่องจากอัตราการช่วยเหลือเดิมที่กระทรวงการคลังกำหนดแยกออกเป็นรายพืช 3 ชนิด ในข้อเท็จจริงแล้ว นอกจากพืชไร่ที่ได้รับความเสียหายยังมีพืชอื่นๆนอกเหนือจากที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้

ขณะเดียวกันข้อมูลเกษตรกรที่เสนอขอรับความช่วยเหลือไม่ได้มีการแยกชนิดพืชไว้ หากจะใช้อัตราดังกล่าวจำเป็นต้องให้หน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้า ดังนั้น จึงเห็นว่า ควรกำหนดอัตราการช่วยเหลือให้เป็นอัตราเดียว เหมือนกับการช่วยเหลือข้าว และพืชสวน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

จี้รัฐบาลเร่งเจรจาการค้าไทย-อียู

ผู้ผลิตน้ำตาลทราย บี้รัฐบาลเร่งเจรจาเปิดการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ดันภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายเหลือ 0% หวังเปิดตลาดใหม่เป็นทางเลือกผู้ส่งออก รองรับผลผลิตในอนาคตที่เพิ่มขึ้น หลังประเมินกลุ่มเออีซีมีแนวโน้มปลูกอ้อยเอง กระทบการนำเข้าน้ำตาลทรายลดลง พร้อมจี้อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายให้เหลือ 0% ในปี 2558 ตามกรอบที่สัญญาไว้

นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ในฐานะเลขานุการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในการเปิดเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในช่วงเดือนกันยายน 2556 นี้ ทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จะติดตามและเร่งผลักดันให้สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างน้ำตาลทรายให้สหภาพยุโรปหรืออียูบรรจุสินค้าน้ำตายทรายไว้ในกรอบเจรจาเปิดตลาดสินค้ากลุ่ม Early Harvest ให้ลดภาษีเหลือ 0% ในลักษณะต่างตอบแทน หลังจากที่การเจรจารอบแรกที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เริ่มมีความหวังที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือแล้ว

ทั้งนี้ การผลักดันดังกล่าว ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับการส่งออกน้ำตาลทรายไปต่างประเทศมากขึ้นหรือเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการส่งออกน้ำตาลทรายออกไป เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกน้ำตาลทรายส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ทำให้มีตลาดจำกัด การจะส่งออกน้ำตาลทรายไปอียูกระทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีการเก็บภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายและสารให้ความหวานสูงถึงตั้งแต่ 339-507 ยูโรต่อตัน ซึ่งถือเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่ง

ดังนั้น หากเปิดตลาดส่งออกไปอียูได้ จะช่วยรองรับผลผลิตของประเทศที่เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอนาคตอันใกล้นี้ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนจะหันไปปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นและจะลดการสั่งนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยลง หากไม่มีตลาดใหม่ขึ้นมารองรับ ก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลทรายที่ปัจจุบันส่งออกไปถึง 7.5 ล้านตันต่อปี จากผลิตทั้งหมดประมาณ 10 ล้านตันต่อปี สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี จะมีปริมาณลดลงได้

"การหาตลาดใหม่ขึ้นมารองรับจึงเป็นทางออกอย่างหนึ่ง ที่ต้องเตรียมการไว้สำหรับในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากอียูเป็นตลาดใหญ่ มีการบริโภคน้ำตาลถึง 19.2 ล้านตันต่อปี และมีการนำเข้าน้ำตาลทราย 4.7 ล้านตันต่อปี"

นอกจากนี้ หากเปิดตลาดในอียูได้ จะเป็นการช่วยรองรับความต้องการน้ำตาลทรายได้ เนื่องจากไม่เกินอีก 5 ปีข้างหน้าทางอียูจะทยอยยกเลิกการอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งจะส่งผลให้โรงงานน้ำตาลทรายในประเทศสมาชิก ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ต้องปิดตัวลง ทำให้ต้องนำเข้าน้ำตาลทรายมากขึ้นกว่าเดิม จึงถือเป็นการช่วยอียูได้ทางหนึ่ง ซึ่งปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกน้ำตาลทรายไปอียูเพียงประมาณ 3.85 หมื่นตันเท่านั้น

ส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายไปต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 นั้น มีอีกหลายประเทศที่จะไม่ลดภาษีลงมาเหลือ 0% เหมือนกับประเทศไทย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลทรายดิบรายใหญ่ของไทยที่นำเข้าสูงถึง 1.74 ล้านตันต่อปี น้ำตาลทรายขาว 5.85 หมื่นตันต่อปี น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 6.97 หมื่นตันต่อปี ได้ขอใช้สิทธิ์ชะลอการลดภาษีเหลือ 0% ออกไปจากปี 2558 โดยจะยังเก็บภาษีน้ำตาลทรายดิบในอัตรา 5% และน้ำตาลทรายขาว 10% จากปัจจุบันยังเก็บอยู่ในอัตรา 25% ส่วนฟิลิปปินส์ จะยังคงภาษีน้ำตาลทราบดิบและน้ำตายทรายขาวอยู่ที่ 5% จากปัจจุบันเก็บที่ 18% ซึ่งในเรื่องนี้ก็พยายามผลักดันให้ภาครัฐไปเร่งเจรจาให้ลดภาษีลงมาเหลือ 0% ตามที่สัญญาไว้โดยเร็วเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางการค้าหลังจากที่เปิดเออีซีแล้ว

ทั้งนี้ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกน้ำตาลไปกลุ่มประเทศอาเซียนประมาณ 3.59 ล้านตัน แบ่งเป็น อินโดนีเซีย 1.86 ล้านตัน กัมพูชา 5.999 แสนตัน มาเลเซีย 4.55 แสนตัน เวียดนาม 3.31 แสนตัน ฟิลิปปินส์ 7.6 หมื่นตัน ประเทศอื่นๆ อีก 2.59 แสนตัน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

ส่งออกโวย 4 สายเดินเรือต่างชาติ

ผู้ส่งออก โวย 4 สายเดินเรือต่างชาติทำเนียน ยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดท่าเรือ ทั้งที่การท่าฯได้ดำเนินการแก้ไขจนสำเร็จลุล่วงแล้ว เรียกร้องให้ยกเลิกเพราะเพิ่มต้นทุน วงการชี้ผลพวงค้าโลกทรุดช่วง 2-3 ปีผ่านมา บริษัทเรือขาดทุนต้องหารายได้เพิ่ม พร้อมฟันธงค่าระวางเรือเฉลี่ยทั้งปีนี้ใกล้เคียงปีที่แล้ว ไตรมาส 3-4 มีปรับ

แหล่งข่าวจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางสภาได้รับการร้องเรียนจากผู้ส่งออกว่าได้รับความเดือดร้อนจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นผลจากการที่เจ้าของหรือตัวแทนบริษัทสายเดินเรือต่างชาติที่ให้บริการรับส่งสินค้าบางสายยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดท่าเรือกรุงเทพ/คลองเตย (Bangkok Port Congestion Surcharge)ในอัตรา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต และ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อขนาดตู้ 40 ฟุต

ทั้งนี้เป็นผลพวงจากเมื่อปลายปี 2553 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้งดให้บริการท่าเทียบเรือบางส่วนของท่าเรือคลองเตยเพื่อปิดซ่อมรางปั้นจั่นยกตู้สินค้าบริเวณหน้าท่า และได้ใช้เวลา 2 ปีในการดำเนินการซึ่งถึง ณ ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จมานานแล้ว และท่าเรือได้กลับมาให้บริการคล่องตัวตามเดิม แต่ปรากฏมีสายเดินเรือบางสายยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวอยู่ โดยที่ได้รับการร้องเรียนได้แก่ สายเดินเรือของบริษัท RCL Container Line, บริษัท Hueng-A , บริษัท Hyundai และบริษัท Wan Hai

"ในการประชุมสภาผู้ส่งออกเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้ประกอบการบางส่วนได้ทวงถามกับตัวแทนบริษัทสายเดินเรือ แต่ปรากฏไม่มีผู้แทนจาก 4 สายเดินเรือข้างต้นเข้าร่วมประชุมทำให้ตอบแทนไม่ได้ว่าทำไมยังเรียกเก็บอยู่ ในเรื่องนี้วิเคราะห์ได้ว่าอาจจะมาจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้การค้าโลกหดตัว สายเดินเรือต่างๆ ประสบภาวะขาดทุนสะสมจึงยังมั่วนิ่มเก็บค่าความแออัดหน้าท่าอยู่"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สายเดินเรือควรยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้แล้ว หากอยากมีรายได้เพิ่มควรไปเพิ่มด้านอื่นแทน เช่นเพิ่มค่าระวางเรือ เพื่อที่ผู้ใช้บริการจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะใช้บริการสายเดินเรือใดที่ให้บริการที่ดีและคุ้มค่าเงินมากที่สุด พร้อมได้วิเคราะห์แนวโน้มค่าระวางเรือตลอดทั้งปีนี้ว่า ค่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว อาทิ สายยุโรปค่าระวางเรือต้นปีที่ผ่านมาอยู่ระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปี 2555 (ประมาณ 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้คอนเทนเนอร์) แต่ ณ ปัจจุบันค่าระวางเรือสายยุโรปได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 45% และในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้คาดว่าค่าระวางเรือสายยุโรป และอเมริกาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงไฮซีซันของการส่งออก
สำหรับการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกของไทยในแต่ละปีที่ผ่านจะมีตู้คอนเทนเนอร์เข้า-ออกผ่านทุกท่าเรือของไทยประมาณ 6-7 ตู้ต่อปี ในปีนี้น่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกัน โดยสายเดินเรือใหญ่ 3 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย Maersk Line ของเดนมาร์ก, MSC ของสวีเดน และ CMA CGM ของฝรั่งเศส

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

ยกเครื่องฐานข้อมูล3กลุ่มเกษตรกร เพิ่มศักยภาพวางแผนพัฒนาเข้าเป้า

นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังดำเนินการปรับปรุงฐานข้อมูลสถาบันเกษตรกร 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และกลุ่มส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่กรมฯดูแลและให้การสนับสนุน โดยสาเหตุที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากข้อมูลของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลานาน ไม่ทันสมัย จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีความทันสมัยและเกิดประโยชน์ในการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มได้ ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ในแบบการประเมินศักยภาพและผลการดำเนินงานของกลุ่มต่าง ๆ ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป รวมทั้งมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้วิเคราะห์หรือประเมินคุณภาพสถาบันเกษตรกร

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ระบบฐานข้อมูลควรได้รับการปรับปรุงเพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนส่งเสริมสนับสนุนเชิงนโยบาย ลดความคลาดเคลื่อนและสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่มได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องมีการจัดระเบียบฐานข้อมูลใหม่ทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนโปรแกรมฐานข้อมูลตัวใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและใช้ได้ในปีงบประมาณ 2557

นายสุรพล กล่าวอีกว่า การปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกรครั้งนี้ เป็นประโยชน์กับการทำงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมพัฒนาเกษตรกร เพราะจะทำให้ทราบว่าแต่ละกลุ่มมีความเคลื่อนไหวจริง ศักยภาพของกลุ่ม/องค์กรว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับใด ดี ปานกลาง หรือยังต้องปรับปรุง หากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพแล้ว ควรวางนโยบายสนับสนุนแบบใด ถ้าอยู่ในระดับปานกลางหรือต้องพัฒนา ก็ต้องดูความพร้อมของแต่ละสถาบัน/องค์กร ทั้งด้านเศรษฐกิจ จำนวนสมาชิก มาประกอบการตัดสินใจว่าควรสนับสนุนหรือจำเป็นต้องปรับปรุง การดำเนินงาน เป็นต้น

“นอกจากนี้ยังอยากฝากถึงเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ว่า งานด้านการส่งเสริมกลุ่ม/สถาบันเกษตร 3 กลุ่ม เป็นหัวใจหลักของกรมฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาคน คือ เกษตรกร ดังนั้นอยากให้เน้นการลงพื้นที่พบปะพี่น้องเกษตรกร สร้างความคุ้นเคย เพราะนอกจากจะช่วยให้การทำงานคล่องตัวแล้ว ยังจะนำมาซึ่งการเก็บรายละเอียดข้อมูลการเกษตรได้ง่ายขึ้น” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

เกษตรกร 9 จังหวัดแห่เข้าอบรม ติวเข้มซ่อมบำรุงเครื่องจักรเกษตรนำความรู้เพิ่มผลผลิตลดต้นทุน

เกษตรกร 9 จังหวัดภาคกลาง แห่เข้าอบรมหลักสูตรบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรล้นหลาม หลังกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดคอร์สติวเข้ม หวังให้นำความรู้ไปใช้พัฒนากิจกรรมการเกษตรของตัวเอง หรือนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริม

นายวิทยา อธิปอนันต์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรเฉพาะด้านปี 2556 โดยมอบให้ศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่1 จ.ชัยนาท จัดหลักสูตรการอบรมด้านเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีราคาสูง เกษตรกรยังขาดความเข้าใจในการใช้และบำรุงรักษาที่ถูกต้อง ส่งผลให้อายุการใช้งานสั้น และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาสูง

โดยหลักสูตรที่เปิดสอนมีทั้งหมด 4 หลักสูตร ได้ 1.หลักสูตรการใช้และบำรุงรักษารถแทรกเตอร์2.หลักสูตรการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตร 3.หลักสูตรเทคนิคการซ่อมเครื่องยนต์เกษตร 4.หลักสูตรการให้น้ำพืชแบบประหยัดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

นายวิทยากล่าวว่า กรมตั้งเป้าการเปิดหลักสูตรอบรมครั้งนี้ จะมีเกษตรกรผ่านการอบรมรวม 900 ราย และสามารถทำให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้รับไปใช้พัฒนากิจกรรมทางการเกษตรของตัวเอง หรือนำไปประกอบอาชีพเสริมได้ ทั้งนี้ หลังศูนย์ส่งเสริมวิศวกรรมเกษตรที่ 1 จ.ชัยนาทเปิดอบรมตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเกษตรกรจาก 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และปทุมธานี มาเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรต่างๆครบตามเป้าหมาย จึงหวังว่า เกษตรกรจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาการประกอบอาชีพของตน โดยสามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของตัวเองได้ถูกวิธี เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนให้ตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

ไทยเจอเงินฝืดในเงินเฟ้อ

“ธนวรรธน์” แจงการบริโภคหดรัฐต้องเร่งกระตุ้น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตรียมปรับลดจีดีพีปี 56 เหลือ 4-4.5% เจอสัญญาณการจับจ่ายของประชาชนน้อยลงจนถึงไตรมาส 3 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ระบุเจอสัญญาณเงินฝืดในเงินเฟ้อ การบริโภคลดทั่วโลก รัฐบาลไทยต้องกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ พยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้โดนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 56 ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะปรับลดลงจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 5% ลงมาเหลืออยู่ที่ 4.0-4.5% ซึ่งเป็นระดับที่มีความเป็นไปได้มากสุด แต่อย่างไรก็ดีจะต้องรอตัวเลขที่ชัดเจนในช่วงปลายเดือนนี้ก่อน เพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลต่างๆ จากสมาชิกของหอการค้าไทย ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ นั้น ขณะนี้ยังมองว่าการส่งออกไทยจะเติบโตได้ 5-7% อัตราเงินเฟ้อทั้งปีเฉลี่ยที่ 2.4-2.7% อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 29.50-30.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากสมมุติฐานที่ว่ารัฐบาลยังตรึงราคาพลังงานทุกชนิดไว้จนถึงสิ้นปี

สาเหตุที่อาจต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากเดิม เนื่องจากผู้บริโภคยังมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ไม่สดใสนัก การจับจ่ายใช้สอยในสินค้าประเภทบ้าน, รถยนต์ และการท่องเที่ยวเริ่มย่อตัวลง ประชาชนมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าการบริโภคน่าจะชะลอตัวลงไปจนถึงต้นไตรมาส 3

ขณะเดียวกันประชาชนยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ หลังจากที่ข้อมูลจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศตัวเลขจีดีพี ในไตรมาส 1/56 ชะลอตัวเหลือเพียง 5.3% ซึ่งต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 6-7% ดังนั้นจึงทำให้ขณะนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายสำนักเริ่มทยอยปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือต่ำกว่า 5%

นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือน พ.ค.56 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงมาอยู่ที่ 0.9% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 2.3% ซึ่งสะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศเริ่มแผ่วลง สอดคล้องกับสถานการณ์ของกำลังซื้อในต่างประเทศที่ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น

“ตอนนี้เริ่มชี้ให้เห็นว่ามีสัญญาณเงินฝืดในเงินเฟ้อ ซึ่งมันคือภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงพร้อมๆ กับเงินเฟ้อทั่วไปที่ลงมาอยู่ระดับ 2% ต้นๆ ชี้ให้เห็นว่ากำลังซื้อแผ่วลง และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่แผ่วลงทั้งโลก นั่นหมายถึงระบบ supply chain โลก หรือกำลังซื้อปลายทาง คือ สหรัฐ ยุโรป จีน และญี่ปุ่นไม่สดใส ดันให้ทั้งกระบวนการผลิต กระบวนการส่งออกของเราต่ำลงมากเหลือ 2.9% ในเดือน เม.ย. ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลง เงินเฟ้อถูกกดทั่วโลก และยังไม่มีสัญญาณฟื้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค.56 อยู่ที่ 82.5 ลดลงจาก 83.7 ในเดือน เม.ย.56 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม พ.ค.อยู่ที่ 72.8 ลดลงจาก เม.ย. 73.9 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ พ.ค.อยู่ที่ 74.4 ลดลงจาก 76.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 100.4 ลดลงจาก 101.8

การปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และดัชนียังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวในระดับต่ำจากการส่งออกหลังจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา จนส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคต และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและรายได้ของผู้บริโภคในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่า การบริโภคของประชาชนจะชะลอตัวลงจนถึงต้นไตรมาส 3 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นตัวขึ้นได้ถ้ารัฐบาลเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงพยุงสำคัญไม่ให้เศรษฐกิจไทยผันผวนตามเศรษฐกิจโลก

ด้านนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นทั่วโลกที่รับผลกระทบจากเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศลุ่มน้ำโขงยังสดใส ตลาดหุ้นไทยก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดี และพื้นฐานบริษัทจดทะเบียนของไทยยังแข็งแกร่ง จะเป็นตัวดึงดูดเม็ดเงินให้ไหลกลับเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดการสัมมนาการรับรองระบบงาน กับการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ โดยต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง การรับรองระบบงาน กับการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ "Accreditation : Facilitating World Trade" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคกรุงเทพฯ พร้อมกับกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "การมาตรฐานแห่งชาติ เพื่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ" ว่า กิจกรรมหลักของการมาตรฐาน ประกอบด้วยการกำหนดมาตรฐาน มาตรวิทยา การตรวจสอบและรับรอง หากทุกภาคอุตสาหกรรม สามารถกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการมาตรฐานที่ดี เป็นแนวทางเดียวกัน จะนำไปสู่คุณภาพ ความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมด้วย

ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายระหว่างปี 2554-2558 คือ สร้างระบบความเชื่อมโยงการดำเนินการและการยอมรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจ มีการกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบและรับรอง ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และอยากให้ทุกฝ่ายจะร่วมผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีมาตรฐาน เพื่อความเป็นเอกภาพและส่งเสริมการค้าการลงทุนของประเทศ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา งดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรหลังเสร็จฤดูปลูกข้าวนาปรัง หวังเก็บน้ำไว้ใช้ก่อนถึงหน้าฝน

เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา งดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรหลังเสร็จฤดูปลูกข้าวนาปรัง หวังเก็บน้ำไว้ใช้ก่อนถึงหน้าฝน
นายประเทือง วันดี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน เขื่อนลำพระเพลิง ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเขื่อนได้งดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว หลังจากที่เขื่อนได้ส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังให้กับเกษตรกรใน พื้นที่อำเภอปักธงชัย อำเภอโชคชัยบางส่วน มาตั้งแต่ต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังแล้ว แต่ทางเขื่อนก็ยังคงส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน และเพื่อนำไปผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน กว่า 6 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อครั้ง

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ชลประทานยังร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และเตรียมเสนอของบประมาณในการซ่อมฝายยางที่อยู่ในความดูแลทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ ฝายลำเชียงสา ตำบลสะแกราช อำเภอปักธงชัย และฝายหนองยาง ตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย เพื่อกักเก็บน้ำให้ประชาชนได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพออีกด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

เตรียมพร้อมประเทศไทยขยายตัวด้านขนส่งและลอจิสติกส์

แม้ว่าที่ตั้งของประเทศไทยจะมีภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบคู่แข่งจนสามารถทะยานสู่การเป็นศูนย์ กลางของภูมิภาคได้ แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยนั้น ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ที่สำคัญตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีงบการลงทุนที่ต่ำกว่า 25% ส่งผลให้ไทยมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าหลายๆ ชาติส่งผล ให้เสียเปรียบในการแข่งขันทาง การค้า

ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันวิชาการกิจการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล มหาวิทยาลัยหอการ ค้าไทย จัดสัมมนา เรื่อง "Logistics and Transportation in time of Expansion" การเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยเพื่อการขยายตัวด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ ภายใต้โครงการ "วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย" ครั้งที่ 8 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ด้านการขนส่ง สำหรับนำไปเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนของประเทศไทย

จากความจริงดังกล่าว "พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" ปลัดกระทรวงคมนาคม บอกว่า จากความเสียเปรียบด้านต้นทุนการขนส่งของไทยที่สูง กระทรวงคมนาคมจึงมีการทำแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 วงเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอนาคต และรองรับการเข้าสู่ A EC ใน ปี 2558

โดยมีโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุน แบ่งเป็น การลงทุนทางราง 82.92% ทางถนน 14.47% ทางน้ำ 0.61% และด่านชายแดน 0.61% เช่น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร โครงการก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โครงการขยาย โครงข่ายมอเตอร์เวย์ การพัฒนาท่าเรือชายฝั่งและการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งภูมิภาคเอเชียต่อไป

ฟาก "พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์" กรรมการและรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บอกว่า การเปิด AEC จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง สิ่งที่กังวล คือ คนทำงานในทุกภาคส่วนมีการปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทั้งวิธีคิดและวิธีการทำงาน ในส่วนของทอท.นั้น ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการ โครงการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 ให้สามารถ รองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 62,503 ล้านบาท โดยว่าจ้างบริษัทผู้ออกแบบแล้ว ใช้เวลาออกแบบ 10 เดือน หาผู้รับเหมาอีก 5 เดือน คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จปลายปี 2559 และจะเริ่มทำแผนศึกษาการพัฒนาสุวรรณภูมิ ในเฟส 3, 4 และรันเวย์ 3 และ 4 คู่ขนาน ไปพร้อม กันเพื่อเร่งขยายขีดความสามารถให้ทันกับการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสาร

ในขณะเดียวกันจะเร่งปรับปรุง ท่าอากาศยานดอนเมืองให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) ซึ่งจะเสนอแผนให้บอร์ดทอท.พิจารณาในการประชุมวันที่ 29 พฤษภาคม โดยจะทยอยปรับปรุงเริ่มจาก เทอร์มินอล 2 วงเงินประมาณ 2-3 พันล้านบาทก่อน ในขณะเดียวกันจะต้องประสานกับสายการบินต่างๆ ที่จะมาใช้บริการ ทั้งนี้ในส่วนของการให้บริการปัจจุบัน จะมีการปรับปรุงระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่าง 2 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ) เพื่อเพิ่มความสะดวกกับผู้โดยสาร เช่น เพิ่มรถให้บริการภายใน 1-2 เดือนและจัดรถไฟขบวนพิเศษให้บริการจากสถานีดอนเมืองมักกะสัน-ทับช้าง และต่อรถยนต์เข้าสุวรรณภูมิ ซึ่งได้หารือกับผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แล้ว

ขณะที่ "เกริกกล้า สนธิมาศ" ประธานสมาพันธ์ลอจิสติกส์ไทย บอกว่า การลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านจะประสบความสำเร็จจะต้องมีการจัดตั้งจุดพักรถบรรทุก ไอซีดี ศูนย์รวมและกระจายสินค้า รวมอยู่ในที่เดียวกันทุกๆ 400 กม.หรือกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอยู่ตามแนวอาเซียนไฮเวย์ ที่จะมีรถขนส่งจากประเทศอาเซียน ผ่านเข้ามา ทั้งนี้ เพื่อบริหารจัดการด้านสินค้าอย่างเป็นระบบและเพิ่มมาตรฐานด้านความปลอดภัยแล้วยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาและแปรรูปสินค้าทางการเกษตรในแต่ละภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

"เอ็กโก" พร้อมลุยโรงไฟฟ้าก๊าซ 5 หมื่นล้าน พลังงานแสงอาทิตย์ 6 แห่งเสร็จเปิดปลายปี

"เอ็กโก" ประกาศพร้อมสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 900 เมกะวัตต์บนพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอม เผยยื่นประมูลโรงไฟฟ้า IPP ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 2 แห่งกำลังการผลิต 3,600 เมกะวัตต์ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เดินหน้าลุยพลังงานทดแทน "โซลาร์ โก" โรงไฟฟ้า 6 แห่งจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรี คาดเปิดเดินเครื่องสิ้นปีนี้

นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยว่า ทางบริษัทพร้อมลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขยายกำลังการผลิตอีก 900 เมกะวัตต์ บนพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอมเดิมกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่จะปลดระวางในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวที่จะป้อนกำลังผลิตแก่ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูนโยบายรัฐบาลจะมีแนวทางจะเพิ่มปริมาณไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้อย่างไร

"เบื้องต้น กฟผ. มีแผนจะขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และจะต้องพิจารณาเรื่องการจัดส่งก๊าซธรรมชาติจาก ปตท.ด้วยว่าจะสามารถป้อนก๊าซเข้าโรงไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันก๊าซบริเวณอ่าวไทยเริ่มลดน้อยลง จนอาจต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เพิ่มมากขึ้นในอนาคต"

นายสหัส กล่าวว่า ทางบริษัทได้ยื่นประมูลโรงไฟฟ้า IPP รอบ 3 ด้วย โดยยื่นข้อเสนอประมูล 2 สัญญา สัญญาละ 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งการเสนอราคาได้เสนอไปได้ราคาต่ำเพราะว่าอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าระยองเดิม แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าจะมีแนวทางคัดเลือกอย่างไร อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบริษัทชนะประมูลคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564

ปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 20 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทประมาณ 4,510 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาจำนวน 9 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทประมาณ 1,610 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัททั้งสิ้นประมาณ 6,120 เมกะวัตต์

ส่วนความคืบหน้าแผนร่วมทุนซื้อกิจการระบบจ่ายไฟฟ้านั้นได้เจรจาไว้ 2 โครงการ คือ โครงการระบบไฟฟ้าฮ่องกง 1 โครงการ และโครงการะบบจ่ายไฟฟ้าในมาเก๊า 1 โครงการ ซึ่งบริษัทจะร่วมกับพันธมิตรเพื่อเข้าซื้อกิจการดังกล่าว คาดได้ผลสรุปภายในปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปี 2556 นี้

สำหรับการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศนั้น นายสหัส กล่าวว่า บริษัท มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 โรง โดยเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการโดยบริษัท จี-พาวเวอร์ ซอร์ซ (จีพีเอส) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 และโรงไฟฟ้าลพบุรี โซลาร์ ส่วนขยาย ดำเนินการโดยบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ (เอ็นอีดี) และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป มีส่วนเข้าถือหุ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในช่วงไตรมาสแรกจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเทพพนา ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ คืบหน้าประมาณ 70% คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกรกฎาคม 2556 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คืบหน้าประมาณ 65% คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ในเดือนสิงหาคม 2556

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ โก ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน 6 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรี คืบหน้าแล้วประมาณ 20% คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2556 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้น ไซยะบุรี ใน สปป.ลาว อยู่ระหว่างการ เตรียมพื้นที่และเริ่มก่อสร้างบางส่วน คืบหน้าประมาณ 7% คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2562

นายสหัส กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2556 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2556 เอ็กโก มีกำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 2,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 364 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ซึ่งจากผลประกอบการไตรมาสแรกแสดงให้เห็นว่า เอ็กโก กรุ๊ป มีการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังมีความพร้อมในการขยายการลงทุน โดยมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาลงทุนได้อีกมาก โดยอัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 0.66 เท่า

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 7 มิถุนายน 2556

กนอ.ระบุยุคทองนิคมอุตสาหกรรมกลับมาอีกครั้งในรอบ 20 ปี เพื่อรองรับเออีซี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ลงนามร่วมกับ บริษัท ไฮเทคกบินทร์ โลจิสติกส์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี บนพื้นที่ประมาณ 1,066 ไร่ รองรับการลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นหลัก โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร และคลังสินค้าหรือโรงงานให้เช่า ซึ่งนิคมนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 150 กิโลเมตร สามารถเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ไปยังท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด แหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านถนนสาย 304 ไปยังจังหวัดนครราชสีมา โดยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 40 เมตร จึงไม่ต้องกังวลต่อปัญหาน้ำท่วม

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า นิคมแห่งนี้จัดตั้งขึ้นตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้ชุมชนโดยรอบมีส่วนร่วม โดยนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การกำจัดขยะที่เป็นระบบ และมีการกำหนดพื้นที่สีเขียวแนวกันชนโดยรอบพื้นที่กว้างกว่า 5 เมตร คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จภายใน 2 ปี และเชื่อว่าจากนี้ไปจะเป็นยุคทองของนักพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ที่กลับมาอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปี 2530 เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 เห็นได้จากผู้พัฒนาพื้นที่สามารถขายที่ดินได้มากกว่า 3,000 ไร่ต่อปี โดยโซนที่ได้รับความนิยม เป็นพื้นที่ชายทะเลฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้มีแผนป้องกันน้ำท่วมระยะสั้น โดยจะเสริมแนวความสูงเขื่อนดินชั่วคราวให้สูงขึ้น รองรับน้ำท่วมระดับ 70 ปี และเพิ่มระดับความสูงอีก 50 เซนติเมตร ความยาว 5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ จะมีการซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน เพื่อทดสอบความแข็งแรงของคันกั้นน้ำ นอกจากนี้ กนอ. ยังได้จัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมแบบชั่วคราว รวมความยาว 20 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์เสริมความสูงวางบนคันดินกั้นน้ำ เพื่อสนับสนุนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนในระยะยาว จะก่อสร้างเขื่อนถาวรรูปแบบกำแพงคอนกรีต เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เงินลงทุน 300 ล้านบาท ซึ่ง กนอ.ได้รับแบบการก่อสร้างแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการขอเบิกเงินช่วยเหลือ 2 ใน 3 ของวงเงินก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า ขณะที่นิคมอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ที่ก่อสร้างเขื่อนถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปีนี้จะเป็นการทดสอบความแข็งแรง และอุปกรณ์ของเขื่อนป้องกันน้ำท่วม.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

ผลวิจัยชี้ "เปิดเสรีอาเซียน แรงงานมีอัตราแข่งขันสูง"

จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของเส้นทางแรงงานไทย ด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทพร้อมกันทั้งประเทศเมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้สถานประกอบการต่างต้องเร่งสร้างสมรรถนะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อตอบโจทย์ความเหมาะสมกับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสถานประกอบการไทยกับประเทศสมาชิกในอาเซียน

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลรายงานการวิจัยการเตรียมการรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่กระทรวงแรงงานมอบหมายให้วิจัย โดยผลวิจัยดังกล่าวมีข้อสรุปว่า การเปิดเออีซี จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ทำให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น และแรงงานจากทั้ง 10 ประเทศสมาชิกเออีซีมีการแข่งขันกันสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของแรงงานไทยมีจุดเด่นในเรื่องการมีอัธยาศัยที่ดี มีใจรักงานบริการ ปรับตัวและเรียนรู้งานต่างๆ ได้เร็ว แต่มีจุดอ่อนด้านทักษะภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ระเบียบวินัยและการบริหารงาน ไม่กล้าตัดสินใจและขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ

ผลวิจัยยังได้ระบุถึงผลกระทบการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีของเออีซีในด้านบวกว่าจะสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ เนื่องจากแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือจะเข้ามาทำงานในไทยได้สะดวกขึ้น และทำให้แรงงานไทยมีการพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้นเพราะมีการแข่งขันมากขึ้น

ด้านผลกระทบด้านอื่นๆ คือแรงงานฝีมือไทยซึ่งมีข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียนใน 7 สาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรสถาปนิก นักบัญชี และช่างสำรวจ จะมีอัตราการแข่งขันที่สูง และมีบุคลากรวิชาชีพบางส่วนอาจจะเคลื่อนย้ายออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น การยกระดับรายได้แรงงานให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานสากล ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ ล้วนเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งทุกภาคส่วนต้องทำงานอย่างบูรณาการร่วมกัน ดังนั้นกระทรวงแรงงานริเริ่มแนวคิดในการสร้างมาตรฐานฝีมือกลางอาเซียน โดยจะหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานกลางของอาเซียน เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีมาตรฐานในระดับสากล และยังเป็นการพัฒนาระบบแรงงานในอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

เตือนใช้น้ำรัดกุม ฝนตกแต่เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์น้ำยังต่ำเท่าปี 53

ฝนตกแต่น้ำไหลเข้าเขื่อนต่ำ “กฟผ.” ออกโรงย้ำทุกส่วนวางแผนใช้น้ำรัดกุม พบเขื่อน กฟผ.น้ำยังอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยเฉพาะเขื่อน “ภูมิพล-สิริกิติ์” พบน้ำในเขื่อนมีปริมาณใกล้เคียงวิกฤตปี 2553 คาดว่าฝนที่ตกจะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเท่านั้น

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ. ปัจจุบัน (5 มิถุนายน 2556 เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 30,529 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุเก็บกัก น้อยกว่าปีที่แล้ว 10% หรือ 3,291 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 7,485 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19% ของความจุใช้งานได้ทั้งหมด และวานนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทุกแห่งรวม 135 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำรวมทั้งสิ้น 582 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ น้อย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 33% เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำเก็บกัก 35% รวมปริมาณน้ำใช้งานได้ของทั้งสองเขื่อนรวมกัน 1,170 ล้าน ลบ.ม. จัดว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยมากและใกล้เคียงกับสถานการณ์น้ำปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่น้ำน้อยเช่นเดียวกัน เขื่อนทั้งสองเคยมีปริมาณน้ำในอ่างฯ น้อยที่สุดในปี 2535 โดย ณ ช่วงเวลาเดียวกันมีปริมาณน้ำใช้งานได้ในอ่างฯ ทั้งสองเพียง 312 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเก็บกัก 28% ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 100 ล้าน ลบ.ม.

แม้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำในภาพรวมจัดว่าอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งก็ได้สิ้นสุดการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนแล้ว ส่วนเขื่อนที่ยังคงทำหน้าที่ระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งคือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งระบายน้ำเพื่อโครงการแม่กลองใหญ่ และจะสิ้นสุดในปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยเขื่อนทั้งสองมีแผนการระบายน้ำตลอดฤดูแล้งทั้งสิ้น 7,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนทั้งสองมีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน ณ ปัจจุบัน 3,327 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนการระบายน้ำ 2,419 ล้าน ลบ.ม. ที่คงเหลืออยู่นี้เป็นปริมาณน้ำสำรองที่สามารถนำมาใช้ในยามจำเป็นได้ดี

ในระยะนี้เริ่มมีฝนตกมากขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนบางแห่งเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว เช่น เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมตั้งแต่ต้นปี (1 ม.ค.-5 มิ.ย. 56) รวม 552 ล้าน ลบ.ม. และ 447 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ นับเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นตลอดช่วงฤดูฝนนี้ อย่างไรก็ตาม เขื่อนอื่นๆ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนวชิราลงกรณ์ก็ยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นมากนัก ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มฝนของหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเท่านั้น การวางแผนการใช้น้ำและการเก็บกักน้ำยังต้องทำอย่างรัดกุม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุดเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับปีถัดๆ ไป

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

เร่งวางฐานตลอดห่วงโซ่ผลิต กษ.นับถอยหลังสู่ประชาคมอาเซียน/เดินเตรียมพร้อมภาคการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ นับถอยหลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปูความรู้การเกษตรรอบด้านสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงาน รับผิดชอบการดำเนินงานด้านเกษตรกรรมของชาติ ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติงานขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเกษตรผ่านกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนให้กับเจ้าหน้าที่ สถาบันเกษตรกรรมต่างๆ รวมถึงเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเกษตรทั่วประเทศเพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความ พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศักยภาพของข้าราชการ เจ้าหน้าที่เกษตรกร ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่เหมาะสมอย่างรอบด้าน เช่น การให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการพัฒนาด้านทักษะความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชน ต่อยอดไปถึงการพัฒนามาตรฐานการผลิต และการพัฒนามาตรฐานคุณภาพ ตลอดสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการยอมรับมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของประเทศสมาชิกอาเซียน

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดการค้าเสรีต่างๆ เพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และที่สำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมสำหรับภาคการเกษตร คือ การพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักสำคัญในการดำเนินกิจกรรมภาคการเกษตร โดยเน้นให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือนำทาง ซึ่งในการพัฒนาเกษตรกรจะพิจารณาถึงความสอดคล้อง เหมาะสมกับทุนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทุนทางปัญญาที่สั่งสมสืบทอดกันมาอย่างยาวนานของเกษตรกรเป็นหลัก

“การพัฒนาเกษตรกรตามแนวทางดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวเกษตรกร ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดจากมาตรการต่างๆ ในการเข้าร่วมเป็นประชาเศรษฐกิจคมอาเซียนแล้ว ยังสอดคล้องกับการพัฒนาส่งเสริมเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย” นายฉลอง กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

ไทย-ญี่ปุ่นจับมือกำจัดกากของเสียครบวงจร

กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคันไซ ของญี่ปุ่น จับมือกำจัดกากของเสียครบวงจร
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมมือกับ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม สำนักงานคันไซ ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลให้คำปรึกษาและบริการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมแบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เพื่อจัดการของเสียในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ทางการญี่ปุ่นจะส่งผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำ และถ่ายทอดเทคนิคในทุกขั้นตอนของระบบ ตั้งแต่การขนส่งกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมไปจนถึงการฝังกลบด้วยระบบเทคโนโลยีขั้นสูง และการนำส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้กลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับการพัฒนาศูนย์ให้คำปรึกษาฯ จะเริ่มในเดือนก.ค. 56 ด้วยการสำรวจข้อมูลองเสียในนิคมฯอมตะนคร ประมาณ 200-300 โรงงาน จากนั้นจะมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจร่วมกันระหว่างสำนักงานคันไซและอมตะ

นายณัฐพล ณัฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างปรับกระบวนการอนุญาตนำกากของเสียออกจากโรงงานเพื่อไปกำจัดทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหายอดการแจ้งขนออกกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงาน กับยอดที่มีการขนส่งและนำไปบำบัดจริงแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เกิดการลักลอบนำไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่มีการกำจัดอย่างถูกต้อง

“ในกระบวนการที่ปรับปรุงนั้นจะพิจารณาไปถึงเรื่องการอนุญาตสำหรับบริษัทที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรมด้วย เพราะปัจจุบันการอนุญาตไม่เข้มงวดมากนัก โดยเป็นการออกอนุญาตครั้งเดียวแล้วรับกำจัดกากได้หลายประเภททั้งที่บริษัทอาจไม่มีศักยภาพ และบางกรณีก็มีการออกใบกำกับการขนส่งของเสียอันตรายปลอม

นอกจากนี้ ยังจะหาช่องทางกฎหมายในการดึงให้โรงงานต้นกำเนิดกากฯ และบริษัทที่รับขนส่งกากฯมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันสามารถดำเนินได้กับเฉพาะเจ้าของที่ดินที่เปิดให้มีการนำกากฯไปทิ้ง แต่เอาผิดโรงงานกำเนิดกากและบริษัทรับขนส่งกากยาก เนื่องจากไม่มีหลักฐานดำเนินคดี

“เกณฑ์ที่กำลังปรับเราจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนนี้ แต่จะมีผลทางกฎหมายเมื่อไหร่ต้องดูว่าเรื่องไหนสามารถออกเป็นประกาศกรมโรงงานฯได้บ้างเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่ถ้าเรื่องไหนเป็นกฎกระทรวงก็อาจจะช้าบ้าง”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

ส่งออกโวย 4 สายเดินเรือต่างชาติ

ผู้ส่งออก โวย 4 สายเดินเรือต่างชาติทำเนียน ยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดท่าเรือ ทั้งที่การท่าฯได้ดำเนินการแก้ไขจนสำเร็จลุล่วงแล้ว เรียกร้องให้ยกเลิกเพราะเพิ่มต้นทุน วงการชี้ผลพวงค้าโลกทรุดช่วง 2-3 ปีผ่านมา บริษัทเรือขาดทุนต้องหารายได้เพิ่ม พร้อมฟันธงค่าระวางเรือเฉลี่ยทั้งปีนี้ใกล้เคียงปีที่แล้ว ไตรมาส 3-4 มีปรับ

แหล่งข่าวจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางสภาได้รับการร้องเรียนจากผู้ส่งออกว่าได้รับความเดือดร้อนจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นผลจากการที่เจ้าของหรือตัวแทนบริษัทสายเดินเรือต่างชาติที่ให้บริการรับส่งสินค้าบางสายยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดท่าเรือกรุงเทพ/คลองเตย (Bangkok Port Congestion Surcharge)ในอัตรา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต และ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อขนาดตู้ 40 ฟุต

ทั้งนี้เป็นผลพวงจากเมื่อปลายปี 2553 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้งดให้บริการท่าเทียบเรือบางส่วนของท่าเรือคลองเตยเพื่อปิดซ่อมรางปั้นจั่นยกตู้สินค้าบริเวณหน้าท่า และได้ใช้เวลา 2 ปีในการดำเนินการซึ่งถึง ณ ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จมานานแล้ว และท่าเรือได้กลับมาให้บริการคล่องตัวตามเดิม แต่ปรากฏมีสายเดินเรือบางสายยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวอยู่ โดยที่ได้รับการร้องเรียนได้แก่ สายเดินเรือของบริษัท RCL Container Line, บริษัท Hueng-A , บริษัท Hyundai และบริษัท Wan Hai

"ในการประชุมสภาผู้ส่งออกเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้ประกอบการบางส่วนได้ทวงถามกับตัวแทนบริษัทสายเดินเรือ แต่ปรากฏไม่มีผู้แทนจาก 4 สายเดินเรือข้างต้นเข้าร่วมประชุมทำให้ตอบแทนไม่ได้ว่าทำไมยังเรียกเก็บอยู่ ในเรื่องนี้วิเคราะห์ได้ว่าอาจจะมาจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้การค้าโลกหดตัว สายเดินเรือต่างๆ ประสบภาวะขาดทุนสะสมจึงยังมั่วนิ่มเก็บค่าความแออัดหน้าท่าอยู่"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สายเดินเรือควรยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้แล้ว หากอยากมีรายได้เพิ่มควรไปเพิ่มด้านอื่นแทน เช่นเพิ่มค่าระวางเรือ เพื่อที่ผู้ใช้บริการจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะใช้บริการสายเดินเรือใดที่ให้บริการที่ดีและคุ้มค่าเงินมากที่สุด พร้อมได้วิเคราะห์แนวโน้มค่าระวางเรือตลอดทั้งปีนี้ว่า ค่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว อาทิ สายยุโรปค่าระวางเรือต้นปีที่ผ่านมาอยู่ระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปี 2555 (ประมาณ 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้คอนเทนเนอร์) แต่ ณ ปัจจุบันค่าระวางเรือสายยุโรปได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 45% และในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้คาดว่าค่าระวางเรือสายยุโรป และอเมริกาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงไฮซีซันของการส่งออก

สำหรับการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกของไทยในแต่ละปีที่ผ่านจะมีตู้คอนเทนเนอร์เข้า-ออกผ่านทุกท่าเรือของไทยประมาณ 6-7 ตู้ต่อปี ในปีนี้น่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกัน โดยสายเดินเรือใหญ่ 3 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย Maersk Line ของเดนมาร์ก, MSC ของสวีเดน และ CMA CGM ของฝรั่งเศส

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

เยาวชน 17 สถาบันเรียนรู้งานการเกษตร - ทิศทางเกษตร

นายมณเฑียร ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ว่า ปัญหาในปัจจุบันและจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ในอนาคต คือเรื่องคุณภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะคุณภาพของเยาวชนในปัจจุบัน ที่เรียกได้ว่าอาจจะด้อยกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ คือหนักไม่เอาเบาไม่สู้ นิยมทำงานสบาย ๆนั่งโต๊ะ แล้วอาชีพทางด้านการเกษตรจะไม่นิยม

อาชีพเกษตรกรในประเทศไทยแต่เดิม 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเป็นเกษตรกร รุ่นพ่อรุ่นแม่ทำนาเกี่ยวข้าวเป็น มารุ่นหลัง ๆ ทำกันไม่เป็น จึงเป็นผลต่อคุณภาพชีวิต ที่เกี่ยวเนื่องมาจากคุณภาพของคน ฉะนั้นการที่ สำนักงาน กปร. ได้นำเยาวชน เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาศึกษา เพื่อการพัฒนาคุณภาพของเขา ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

“ก็จะฝากถึงพี่น้องประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ควรเข้ามาดูงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่งของจังหวัดเพชรบุรี ตลอดถึงโครงการตามพระราชประสงค์ ในโครงการจะมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคอยเอื้ออำนวยความสะดวกตลอดถึงการถ่ายทอดความรู้ ที่เป็นผลมาจากการศึกษาทดลองจนประสบผลสำเร็จแล้วและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ทันที และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินงานในลักษณะเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี” ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีกล่าว

สำหรับค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรีครั้งนี้นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ร่วมกับ สถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกและตะวันตก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และจังหวัดเพชรบุรี จัดขึ้น โดยมีเยาวชนจากสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ จำนวน 17 สถาบันมีเยาวชน 85 คน เข้าร่วม

สำหรับกิจกรรมในระหว่างการเข้าค่ายนั้น เยาวชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ณ สถานที่จริง และการถ่ายทอดจากวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ภายใต้กรอบแนวคิด “ฟื้นดิน คืนป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต” ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ อาทิ การฟื้นฟูดินแข็งดินดานเพื่อการเพาะปลูก การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การเพาะพันธุ์หญ้าแฝกและการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก การผลิตถ่านอินทรีย์เพื่อใช้ประโยชน์ในการบำรุงดินเพื่อการเพาะปลูก การทำเกษตรผสมผสาน และการเพาะพันธุ์เห็ดนางฟ้า เป็นต้น

“ค่ายเยาวชรู้งานสืบสานพระราชดำริ ในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้แก่เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้รับทราบถึงประโยชน์และคุณค่าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งเป็นเยาวชนต้นแบบ ที่พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริอันเป็นประโยชน์ ไปใช้ในการดำเนินชีวิต และการประกอบสัมมาอาชีพ เพื่อตนเองครอบครัวและสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการจุดประกายความคิดใหม่ของเยาวชนที่จะบูรณาการต่อยอดความรู้จากงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นสื่อกลางของคนรุ่นใหม่ในการสืบสานตามแนวพระราชดำริ สืบต่อไปได้เป็นอย่างดี” นายมณเฑียร ทองนิตย์ กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

เงินเฟ้อต่ำสุดรอบ42เดือน

เศรษฐกิจติดดิน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพ.ค.2556 ชะลอลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือนจากผลของฐานที่สูงในปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ค. อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 42 เดือนที่ 2.27% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องจาก 2.42% (YoY) ในเดือนเม.ย.

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพ.ค. อยู่ที่ 0.94% (YoY) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือน และผ่อนคลายลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จาก 1.18% (YoY) ในเดือนเม.ย.

ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.24% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ารายเดือนที่มากที่สุดนับจากต้นปี 2556 และสะท้อนว่าภาวะค่าครองชีพของประชาชนยังคงขยับสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

โดยความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลทำให้ราคาอาหารบางหมวดเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมากในระหว่างเดือน อาทิ ราคาผัก/ผลไม้สด (+4.39% MoM) ไข่ (+8.79% MoM) ขณะที่ ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ยังคงเพิ่มจากเดือนเม.ย. 0.24% (MoM) เทียบกับในเดือนเม.ย. ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.เพียง 0.16% (MoM)

สถานการณ์ที่ต้องจับตาในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 คือ การขยับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภครายเดือนตามภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แม้แรงหนุนราคาสินค้าในหมวดอาหารสด จะทยอยกลับสู่ภาวะปกติตามสภาพดินฟ้าอากาศก็ตาม

นอกจากนี้ การปรับราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนที่มีกำหนดจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนก.ค.นี้ อาจส่งผลทางอ้อมต่อการคาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าและโครงสร้างต้นทุนของภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระทรวงพาณิชย์น่าจะดูแลให้ผลกระทบต่อราคาอาหารสำเร็จรูปอยู่ในกรอบที่สมเหตุสมผล

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2556 นั้นยังคงตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.6% (กรอบคาดการณ์ 2.4-3.0%) และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 1.4% (กรอบคาดการณ์ 1.2-1.7%) ไว้ตามเดิม โดยประเมินว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงช่วงท้ายๆ ไตรมาส 3/2556 ก่อนจะขยับขึ้นในช่วงปลายปี 2556

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

เร่งวางฐานตลอดห่วงโซ่ผลิต กษ.นับถอยหลังสู่ประชาคมอาเซียน/เดินเตรียมพร้อมภาคการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ นับถอยหลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปูความรู้การเกษตรรอบด้านสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงาน รับผิดชอบการดำเนินงานด้านเกษตรกรรมของชาติ ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติงานขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเกษตรผ่านกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนให้กับเจ้าหน้าที่ สถาบันเกษตรกรรมต่างๆ รวมถึงเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคการเกษตรทั่วประเทศเพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความ พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาศักยภาพของข้าราชการ เจ้าหน้าที่เกษตรกร ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่เหมาะสมอย่างรอบด้าน เช่น การให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการพัฒนาด้านทักษะความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชน ต่อยอดไปถึงการพัฒนามาตรฐานการผลิต และการพัฒนามาตรฐานคุณภาพ ตลอดสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการยอมรับมาตรฐานในผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของประเทศสมาชิกอาเซียน

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดการค้าเสรีต่างๆ เพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และที่สำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมสำหรับภาคการเกษตร คือ การพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักสำคัญในการดำเนินกิจกรรมภาคการเกษตร โดยเน้นให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือนำทาง ซึ่งในการพัฒนาเกษตรกรจะพิจารณาถึงความสอดคล้อง เหมาะสมกับทุนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทุนทางปัญญาที่สั่งสมสืบทอดกันมาอย่างยาวนานของเกษตรกรเป็นหลัก

“การพัฒนาเกษตรกรตามแนวทางดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวเกษตรกร ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดจากมาตรการต่างๆ ในการเข้าร่วมเป็นประชาเศรษฐกิจคมอาเซียนแล้ว ยังสอดคล้องกับการพัฒนาส่งเสริมเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย” นายฉลอง กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

รายงานพิเศษ : โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านโคกอิฐ-โคกใน แก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดอย่างยั่งยืน

“…สภาพพื้นที่ดินเปรี้ยวในบ้านโคกอิฐ และบ้านโคกใน เกษตรกรมีความต้องการจะปลูกข้าว ทางชลประทานได้จัดส่งน้ำชลประทานมาให้ ก็ให้พัฒนาที่ดินเปรี้ยวเหล่านี้ให้ใช้ประโยชน์ได้ และให้ประสานงานกับชลประทาน จะต้องควบคุมระดับน้ำใต้ดินอยู่เท่าใด...” พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533

จากพระราชดำริดังกล่าวข้างต้น เป็นที่มาของการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ให้สามารถกลับมาปลูกข้าวได้ดังเดิม โดยนำผลสำเร็จจากโครงการแกล้งดิน ของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาถ่ายทอดเทคโนโลยีที่บ้านโคกอิฐ-โคกในเป็นแห่งแรกของการปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยว จำนวน 500 ไร่

นางสายหยุด เพ็ชรสุข นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า บ้านโคกอิฐ-โคกใน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านโคกไผ่ หมู่ที่ 2 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ทั้งหมด 6,915 ไร่ มีพื้นที่ทำการเกษตร 1,072 ไร่ พื้นที่เดิมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาร้าง เป็นที่ราบลุ่ม ดินแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด น้ำท่วม และขาดน้ำในช่วงหน้าแล้ง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรต้องปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทำนาไม่ได้ผล และไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการเกษตรได้ ในบางพื้นที่ที่เกษตรกรได้ดำเนินการทำนาจะได้รับผลผลิตเฉลี่ยเพียง 5-10 ถัง /ไร่ เท่านั้น

ที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินการจัดทำโครงการทดสอบการถ่ายทอดเทคโนโลยี บ้านโคกอิฐ-โคกใน โดยการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยว โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่นาร้าง จนเกษตรกรสามารถใช้พื้นที่ทำการเกษตรได้ ซึ่งพื้นที่โครงการทั้งหมดมีจำนวน 1,076.86 ไร่ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวจำนวน 461.72 ไร่ ขุดยกร่องปลูกยางพาราจำนวน 35.31 ไร่ ขุดยกร่องปลูกพืชผสมผสาน จำนวน 179.46 ไร่ ขุดยกร่องปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน 194.07 ไร่ และทำบ่อกักเก็บน้ำ จำนวน 10.92 ไร่

นางสายหยุด กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการใช้พื้นที่เพื่อการปลูกข้าวนั้น ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาจมีพื้นที่ทิ้งร้างอยู่บ้าง เนื่องจากเกษตรกรบางรายอยู่นอกพื้นที่ ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึง ได้จัดทำโครงการ “โรงเรียนกับการฟื้นฟูนาร้างเพื่อปลูกข้าวในพื้นที่โครงการพระราชดำริ” ขึ้น เพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการปลูกฝัง สร้างจิตสำนึก และพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวเพื่อทำการเกษตรให้มากขึ้น ซึ่งผลผลิตที่ได้จะนำเข้าโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน

นอกจากนี้ ได้มีการประสานกับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการขุดคู-ยกร่องเดิม เพื่อทำความเข้าใจ ในเรื่องการวางแผน การดำเนินงาน และแนวทางเพื่อการพัฒนาต่อไป พร้อมทั้งให้การสนับสนุนโครงการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ โดยมีข้อจำกัด คือ จะไม่สนับสนุนพื้นที่ที่ติดแปลงนา เพราะอาจจะมีผลกระทบพื้นที่นาใกล้เคียง ยากแก่การควบคุมการกระจายตัวของดินและน้ำเปรี้ยว

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินงานขุดคู-ยกร่อง มาโดยตลอด พร้อมกับการสนับสนุนวัสดุปรับปรุงดิน และพันธุ์ไม้ ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 364.43 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น มีอาหารไว้เพื่อบริโภค และสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

จากการดำเนินงานดังกล่าว สามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้กับชีวิตเกษตรกร บ้านโคกอิฐ- โคกใน จนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากหน้ามือเป็นหลังมือ รวมทั้งสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นที่มีสภาพปัญหาคล้ายกันนำไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐใช้ความรอบคอบจัดโครงสร้างเงินอุดหนุนด้านพลังงาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ร่วมกับ International Institute for Sustainable Development (IISD) จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการ “Civil Society Workshop on Fuel and Electricity Subsidies” โดยมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฎิรูปการอุดหนุนพลังงานของประเทศไทย จากผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม

คณะวิจัยจาก IISD และ ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอภาพรวมความเข้าใจต่อการอุดหนุนพลังงานโดยระบุว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง โดยมีการนำไปใช้ในภาคครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงสร้างราคาพลังงานนั้น จากจุดเริ่มต้นที่ราคาหน้าโรงกลั่น ภาคปิโตรเคมีจ่ายเพิ่มเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.63% ขณะที่ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม มีภาระต้องที่ต้องจ่ายเพิ่มคือภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าการตลาด ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการอุดหนุนราคาพลังงานหลายตัวทั้งแอลพีจี เอ็นจีวี ดีเซล ค่าไฟฟ้า และเอทานอล จึงทำให้ราคาขายปลีกในแต่ละภาคการใช้งานมีความแตกต่างกัน และยากที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อุยธยา ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การออกแบบโครงสร้างภาษีและเงินอุดหนุนพลังงานต้องมีเป้าหมายในการออกแบบ 3 เรื่องคือ 1.ลดการนำเข้าพลังงานให้น้อยลง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาหรือผูกติดกับความผันผวนในตลาดโลก 2.หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้พลังงานฟอสซิลฟิวด์ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่สามารถทดแทน ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือชีวมวล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.โครงสร้างราคาหรือการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย เช่น การใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับบ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน

ในส่วนของเป้าในการลดความผันผวนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้นจากการลดการนำเข้าน้ำมันแล้วผลิตน้ำมันเอง แล้วจะส่งผลให้เราปลอดจากปัญหาราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนนั้นมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาน้ำมันภายในประเทศจะผันผวนตามราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วหากราคาพลังงานในตลาดโลกแพงขึ้น
แต่เป้าหมายที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และหันมาสนับสนุนพลังงานจากชีวภาพ หรือชีวมวล ซึ่งอาจมีข้อจำกัด เพราะในส่วนของธุรกิจน้ำมันที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว นักธุรกิจอาจจะอยากทำการค้ากับน้ำมันตัวเดิม เนื่องจากมีฐานธุรกิจเดิมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การยกเว้นค่าไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับผู้ที่ใช้ไม่เกินจากที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้นถือเป็นแนวคิดที่ดีและควรทำต่อไป แต่ก็จำเป็นต้องหามาตรการที่ดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง

ดร.อดิศร์ แนะนำว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยรัฐบาลอาจจะออกนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริงผ่านการกรอกแบบฟอร์มภาษี ซึ่งทำได้ทั้งน้ำมัน ค่าไฟ และเรื่องอื่น ๆ ก็ให้การช่วยเหลือได้โดยทำให้อยู่ในแบบฟอร์มภาษีกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตามในเรื่องของเงินอุดหนุนพลังงานเป็นเรื่องที่ล่อแหลม ในทางเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่ความบิดเบือนเพราะจะจูงใจให้คนใช้พลังงานตัวนั้นเยอะขึ้น และมีปัญหาในเชิงธุรกิจแอบแฝง ซึ่งในหลายประเทศนั้นการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นจะไม่อยากเห็นเงินอุดหนุนเท่าไรนัก เพราะเมื่อมีการอุดหนุนก็เหมือนกับเป็นการกระตุ้นพลังงานตัวนั้น ทำให้มีการนำเข้าและผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ก็จะข้อครหาได้หากคนในภาครัฐเข้าไปมีส่วนในธุรกิจพลังงานนั้นด้วย ก็เป็นเหมือนการให้เงินช่วยเหลือพวกพ้องในการทำธุรกิจ นอกจากนี้การให้เงินอุดหนุนอาจเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้การให้เงินอุดหนุนพลังงานต้องเป็นนโยบายที่ต้องดำเนินไปด้วยความระมัดระวัง

ด้าน Ms. Tara Laan จากสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development หรือ IISD) กล่าวว่า การอุดหนุนราคาพลังงานนั้น ทางภาครัฐได้มองประเด็นนี้มานานแล้ว แต่มีกระบวนการที่ค่อนข้างยาก และไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกประเทศ ต้องยอมรับว่าในต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จแล้วนั้นต้องผ่านอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านของภาคประชาชน เพราะฉะนั้นหากภาครัฐต้องการดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน จะต้องมีมาตรการเยียวยาและปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างประเทศนั้นค่อนข้างยากเพราะแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่จากการรวบรวมของ IISD พบว่า ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนในการสนับสนุนเงินอุดหนุนพลังงานติดอันดับ 20 ประเทศที่มีการสนับสนุนค่อนข้างสูง การแก้ปัญหาพลังงานนั้นนอกจากลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานให้น้อยลง เพิ่มการใช้เพลังงานทางเลือกที่ผลิตได้เองมากขึ้น และเพื่อให้ได้ผลควรทำไปพร้อมกับการออกแบบระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพและการอุดหนุนราคาพลังงานเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

อย่างไรก็ตามส่วนที่สำคัญคือการสร้างความตระหนัก สร้างความเข้าใจของประชาชนต่อการอุดหนุนพลังงาน ซึ่งก็ถือเป็นจุดประสงค์ที่ทางเราได้ผลิตหนังสือ “A Citizens’ Guide to Fossil-Fuel Subsidy Reform“ ซึ่งเป็นเรื่องของการอุดหนุนพลังงาน โดยหวังว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

วิฑูรย์ปลื้มอุตสาหกรรมสีเขียว ผ่านเกณฑ์กว่า 4 พันราย มอบตรา 'Green Mark'

"ปลัดวิฑูรย์" ปลื้ม "โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว" ได้รับการตอบรับจากภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ระบุผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว 4,136 ราย ล่าสุดมอบตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียว "Green Mark" 6 บริษัทชั้นนำในไทยเพื่อเป็นใบเบิกทางเปิดเสรีทางการค้า

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระ ทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ฐานเศรษฐ กิจ" ว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับการอุตสาหกรรมสีเขียว เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคอุตสาหกรรม โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และผ่านการประเมินแล้วจำนวน 4,136 ราย แบ่งเป็นระดับที่ 1 จำนวน 1,829 ราย, ระดับที่ 2 จำนวน 978 ราย, ระดับที่ 3 จำนวน 1,295 ราย, ระดับที่ 4 จำนวน 34 ราย นอกจากนี้ยังมีสถานประกอบการอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างรอการตรวจประเมินอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 และระดับที่ 5

อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป สามารถขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ในเชิงธุรกิจการค้าได้ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจขออนุญาตนำเครื่องหมาย Green Mark ไปติดข้างผลิตภัณฑ์เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการรายนั้นมีความมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงกิจการให้เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวด ล้อมด้วย ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียวในเชิงธุรกิจการค้า หรือ Green Industry

Mark ให้กับผู้ประกอบการด้วย

ล่าสุดมีบริษัทที่ได้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวแล้ว ประกอบด้วยบริษัท วันไทย อุตสาหกรรมการอาหาร จำกัดผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรายำยำ, บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ "อินทรี", บริษัท ถิรไทยจำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตจำหน่ายและให้บริการครบวงจรเกี่ยวกับหม้อแปลงไฟฟ้า, บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่มีอายุเก็บรักษายาวนาน ตราโฟร์โมสต์, บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เฟรช (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ ตราโฟร์โมสต์ และบริษัท แซนต้า แฟคตอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและออกแบบของเล่นเด็ก และเฟอร์นิเจอร์จากไม้

ทั้งนี้เครื่องหมาย Green Mark จะเป็นตัวกระตุ้นและจูงใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาตนเองและสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างนวัตกรรม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าได้บริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเสรีทางการค้าและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับการเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย

"โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว หมายถึง อุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ไม่ให้ความร่วมมืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดให้มีการเร่งรัดโรงงานเป้าหมาย 20 ประเภท ให้เข้าสู่ระบบจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องให้ได้อย่างน้อย 80% นั้น พบว่ามีโรงงานเป้าหมายที่ปฏิบัติตามกฎหมายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 คิดเป็น 21% จนถึงขณะนี้มีโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายเพิ่มมากขึ้นเกือบ 50% แล้ว

อนึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดให้มีการแบ่งเกรดโรงงานออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ ชั้นดี (ชั้น A), ชั้นที่น่าพอใจ (ชั้น B), ชั้นที่ต้องแก้ไขปรับปรุง (ชั้น C) และชั้นร้องเรียนซ้ำซาก (ชั้น D)สำหรับโรงงานชั้น A และ B จะได้รับสิทธิพิเศษ ในการต่ออายุใบอนุญาตโรงงาน, ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี และการเชิดชูเกียรติ เป็นต้น ส่วนโรงงานชั้น C และD จะต้องถูกตรวจอย่างเข้มงวด เพื่อให้พัฒนาเป็นโรงงานชั้น B หรือ A ให้ได้ในอนาคต

จากhttp://www.thanonline.com  วันที่ 6 มิถุนายน 2556

ยกเครื่องฐานข้อมูลกลุ่มเกษตรกร กรมส่งเสริมฯขยับปรับใหญ่ เพิ่มศักยภาพวางแผนพัฒนา

นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการปรับปรุงฐานข้อมูลสถาบันเกษตรกร 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และกลุ่มส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่กรมฯดูแลและให้การสนับสนุน โดยสาเหตุที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากข้อมูลของกลุ่มต่างๆ ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลานาน ไม่ทันสมัย จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีความทันสมัยและเกิดประโยชน์ในการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มได้ ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ในแบบการประเมินศักยภาพและผลการดำเนินงานของกลุ่มต่างๆ ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป รวมทั้งมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้วิเคราะห์หรือประเมินคุณภาพสถาบันเกษตรกร

“ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้ระบบฐานข้อมูลควรได้รับการปรับปรุงเพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนส่งเสริมสนับสนุนเชิงนโยบาย ลดความคลาดเคลื่อนและสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่มได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องมีการจัดระเบียบฐานข้อมูลใหม่ทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนโปรแกรมฐานข้อมูลตัวใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและใช้ได้ในปีงบประมาณ 2557” นางสุรพล กล่าว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูล จะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงแบบประเมินกลุ่ม/สถาบันเกษตรกร โดยเฉพาะเกณฑ์การประเมินของแต่ละกลุ่ม ที่จัดให้เป็นกลุ่มคุณภาพดี ปานกลาง หรือต้องปรับปรุง เพื่อให้การประเมินผลดังกล่าวทำได้ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน ไม่ลงในรายละเอียดมากเกินไป จะเน้นตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกความเคลื่อนไหว หรือศักยภาพของแต่ละกลุ่มได้จริง โดยเมื่อแบบประเมินได้รับการปรับปรุงแล้ว กรมฯจะดำเนินการให้มีการจัดเก็บข้อมูลกลุ่ม/สถาบันเกษตรกรในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ก่อนนำกลับมาจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลที่มีการเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่เช่นกัน จากนั้นจึงจะนำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้หน่วยงานที่หรือผู้สนใจสามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป

“การปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกรครั้งนี้ เป็นประโยชน์กับการทำงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมพัฒนาเกษตรกร เพราะจะทำให้ทราบว่าแต่ละกลุ่มมีความเคลื่อนไหวจริง ศักยภาพของกลุ่ม/องค์กรว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับใด ดี ปานกลาง หรือยังต้องปรับปรุง และควรวางนโยบายสนับสนุนแบบใด” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เดินหน้าพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กษ.เร่งเพิ่มขีดความความสามารถการแข่งขันรับประชาคมอาเซียน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมเกษตรอินทรีย์ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง สู่ประชาคมอาเซียน” ที่โรงแรมตักสิลา อ.เมือง จังหวัดมหาสารคาม ว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นกระบวนการผลิตที่ใช้หลักความสมดุลตามธรรมชาติ เกิดผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขอนามัยของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภคภายในประเทศและการผลิตเพื่อการส่งออก โดยแนวโน้มในเรื่องการส่งออกผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ กว่า 100 ประเทศ มีความต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปี 2558 นี้ เกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะอาชีพเกษตรกรรมคืออาชีพหลักของผู้คนส่วนใหญ่ในอาเซียน ภาคเกษตรกรรมจะเกิดการแข่งขันรุนแรงในเรื่องของราคาและต้นทุนการผลิตที่ต้องถูกลง ดังนั้น หากเกษตรกรไทยยังคงต้องพึ่งพาสารเคมี มีแนวโน้มว่าจะไม่มีตลาดรองรับสินค้าปนเปื้อนเหล่านี้ ทางออกของเกษตรกรไทยทางหนึ่ง คือ การลดต้นทุนการผลิต และผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน โดยการหันมาผลิตสินค้าในระบบปลอดภัยจากสารพิษ (มาตรฐาน GAP) หรือ หากเกษตรกรมีความพร้อม และมีศักยภาพให้ทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล และควรเน้นการผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้า คือเป็นอาหารปลอดภัย อาหารในระบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร

“การจัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ฯในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งดำเนินการในลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัด องค์กรภาครัฐ เอกชน หมอดินอาสา เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายการทำเกษตรอินทรีย์ มาประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ผ่านกิจกรรมการรณรงค์และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ พลิกฟื้นแผ่นดินไทย ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัย เกษตรกรรมไทยยั่งยืน นอกจากนั้น ได้จัดให้มีการพบกันระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลต่อการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ให้เกิดมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนก้าวสู่เวทีการแข่งขันในประชาคมอาเซียนและระดับนานาชาติได้” นายยุทธพงศ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าวางแผนการใช้น้ำตลอดปี เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเหนืออ่างเก็บน้ำ ป้องกันปัญหาน้ำไม่เพียงพอ

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ว่า ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พบว่า ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำ ยังมีเพียงพอต่อการเกษตร และกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาพอากาศยังเป็นปกติ แต่สถานการณ์น้ำยังน่าเป็นห่วงในระยะยาว เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเดิมมีน้อย และฝนที่ตกท้ายเขื่อนทำให้มีน้ำเก็บกักน้อย อาจไม่เพียงพอในช่วงหน้าแล้งปีนี้ จึงมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแนวทางจัดการน้ำในเขื่อนอย่างเป็นระบบ และให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ออกปฏิบัติการสร้างฝนบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่าง ให้เพียงพอต่อการใช้ช่วงหน้าแล้ง และจะนำแผนการจัดการน้ำดังกล่าว ร่วมในร่างแผนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรระยะ 6 เดือนหลัง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการยังมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ปลีกย่อยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง ที่ปรับแก้ใหม่สำหรับการช่วยเหลือภัยพิบัติในปี 2556 ซึ่งอัตราช่วยเหลือผลิตภัณฑ์ทุกชนิด จะปรับให้สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดยจะใช้ตัวเลขที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ในการชดเชยค่าเสียหายแก่เกษตรกรในปี 2555 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยกระทรวงการคลัง จะนำเสนอหลักเกณฑ์ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อึ้ง! ไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้ามากสุดในภูมิภาค

น.ส.แสงโฉม ศิริพานิช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวระหว่างการเสวนา “ระดมพลังร่วมกันยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อันตราย” ในเวทีสานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า ที่มีการนำเข้ามากกว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่น และประเทศอื่นในภูมิภาคโดยรอบ อาทิ พม่า กัมพูชา เวียดนาม อินเดีย จีน ปากีสถาน และเนปาล โดยพบว่า การฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชครั้งหนึ่งจำนวน 100 กิโลกรัม มีโอกาสฉีดถูกแมลงเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนอีก 99 กิโลกรัม ที่เหลือจะปลิวไปในอากาศ 30 กิโลกรัม ระเหยไป 10 กิโลกรัม พลาดแมลงเป้าหมาย 15 กิโลกรัม และตกค้างอยู่บนพืช อยู่ในดิน ในน้ำ อีก 41 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ทุกวันนี้เกษตรกรจำนวนหนึ่ง ประสบปัญหาทางด้านสุขภาพตั้งแต่แรกคลอด เนื่องจากมีการถ่ายทอดสารพิษจากแม่ไปยังลูก

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้มีการขับเคลื่อนมานานแล้ว โดยเฉพาะสารเคมีที่มีอันตรายสูง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และเมโทมิล แต่พบว่ายังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลและกลั่นกรองความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ ได้แจ้งกลับมายังกรมวิชาการเกษตรที่เสนอให้ยกระดับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงตามสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ รวมถึงให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทำการประเมินความเสี่ยงมาก่อน ทำให้ยังไม่สามารถยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้ ทั้งที่มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแล้ว

“ที่สำคัญต่างประเทศล้วนยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดนี้แล้ว หากไทยสามารถยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวได้ จะช่วยให้ลดปัญหาการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรได้ถึง 1 ใน 3 และหากสามารถจัดการสารทั้ง 4 ตัวนี้ได้เชื่อว่าสารตัวอื่นก็จะทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่า สารที่กำลังจะถูกแบนอย่างคาร์โบฟูราน บริษัทสารเคมีจะส่งสารอีกตัวที่คล้ายกันมาขายแทน เช่น คาร์โบซัลแฟน” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คลังออกประกาศคุมเงินไหลเข้า-ออก สั่งเปิดเผยตัวคนซื้อตราสารหนี้ กำหนดระยะเวลาถือการครอง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้นิติบุคคลและบุคคลไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น และเพื่อให้ ธปท. มีเครื่องมือในการดูแลเงินทุนไหลเข้าได้อย่างเหมาะสม กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่นิติบุคคลรับอนุญาต (ฉบับที่ 9)

ทั้งนี้ สาระสำคัญในประกาศฯฉบับนี้ประกอบไปด้วย 1. การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การโอนเงินออกนอกประเทศ เช่น ผ่อนผันให้บุคคลธรรมดาลงทุนโดยตรงในกิจการที่ต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นเดียวกับนิติบุคคล ทั้งการลงทุนในรูปหุ้นทุน และให้กู้ยืม 2.ผ่อนผันวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น ผ่อนผันให้ผู้ลงทุนสถาบันลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและอนุพันธ์ รวมทั้งตราสารสกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกขายในประเทศตามที่กำหนด ได้ไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสถาบันที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แก่ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบริษัทหลักทรัพย์ ยังต้องขอจัดสรรวงเงินลงทุนจาก ก.ล.ต. ซึ่ง ก.ล.ต. จะจัดสรรจากวงเงินที่ ธปท. อนุมัติจำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับผู้ลงทุนสถาบันประเภทอื่นจะสามารถลงทุนได้ตามวงเงินที่หน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ลงทุนและคณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ลงทุนกำหนด

นอกจากนี้ ผ่อนผันให้บุคคลรายย่อยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและอนุพันธ์ รวมทั้งตราสารสกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกขายในประเทศตามที่กำหนดได้ไม่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรรจาก ก.ล.ต. และ ผ่อนผันให้บุคคลในประเทศซื้อ แลกเปลี่ยนหรือกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์และนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศเพื่อรอชำระภาระผูกพันที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศได้ตามจำนวนของภาระผูกพันดังกล่าว

3) ขยายขอบเขตการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทในเครือเดียวกันที่ต่างประเทศในลักษณะ ที่เป็นการให้สวัสดิการแก่พนักงาน ให้รวมถึงใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้น โดยให้ทำได้ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อรายต่อปี เท่าปัจจุบัน

ส่วนการดูแลเงินทุนไหลเข้า นั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้อำนาจ ธปท. ในการพิจารณาออกมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า เช่น การเปิดเผยตัวตนของนักลงทุน (Registration) การกำหนดระยะเวลาการถือครองตราสารหนี้ (Holding Period) และการกำหนดให้ต้องทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) รวมถึงมาตรการที่มีความเหมาะสมอื่น ๆ ในอนาคต เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเป็นเครื่องมือให้กับ ธปท. ในการดูแลเงินทุนไหลเข้าอย่างเหมาะสม แต่ก่อนที่ ธปท. จะนำมาตรการใดออกมาใช้นั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่งก่อน เพื่อความรอบคอบและสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล

ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศดังกล่าวแล้ว ธปท. ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินจะได้พิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สอน.เล็งเพิ่มโควต้าน้ำตาล

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สอน.กำลังติดตามสถานการณ์น้ำตาลทรายในประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะอยู่ในภาวะตึงตัว เนื่องจากตัวเลขน้ำตาลค้างกระดานรวม หรือน้ำตาลพร้อมขายล่าสุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 อยู่ที่ 8.4 แสนกระสอบ ถือว่าต่ำมากเพราะปกติน้ำตาลค้างกระดานจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านกระสอบ สาเหตุหลักมาจากความต้องการใช้ของผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่มมีสูง โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทชาเขียว น้ำอัดลม และสภาพอากาศที่ร้อนทำให้เกิดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมากขึ้น

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ภาวะตึงตัวกลายเป็นขาดแคลนเพราะกักตุน หรือราคาขายสูงผิดปกติ ภายในเดือนมิถุนายนนี้คาดว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะประชุมเพื่อพิจารณาขึ้นงวดน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควต้า ก.) อีก 2 ล้านกระสอบ จากปัจจุบันโควต้า ก.จัดสรรไว้ที่ 25 ล้านกระสอบ

จากhttp://www.matichon.co.th วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ขายตรงเกษตรคึกรับฝนเปิดศึกชิงตลาด"ปุ๋ย"แสนล้าน!!!

สินค้าเกษตรเปิดกลยุทธ์รับหน้าฝน "ยูนิไลฟ์" เนรมิตศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ พร้อมอัดศูนย์ตัวแทนจำหน่ายสินค้าเพิ่ม เน้นการโปรโมตผ่าน โลกออนไลน์เป็นหลัก ด้าน "วิน วิน เวิลด์ไวด์" จับมือ "ธ.ก.ส." ขยายฐานลูกค้า เชื่อตลาดรวมปุ๋ยทะลุแสนล้าน ส่วน "มาบุญครอง" หันมาจับกลุ่มเกษตร เปิดโครงการแจกสินค้าทดลอง ร่วมการถ่ายทอดความรู้มัดใจเกษตรกร

นางปราณี พุทธิพิพัฒน์ขจร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยูนิไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยกับ "สยามธุรกิจ" ว่า ปี 2556 ได้เตรียมรุกหนักทางด้านกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่าย โดยได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อพัฒนาสมาชิกผู้จำหน่ายอิสระให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการขยายเครือข่ายธุรกิจ และส่งต่อองค์ความรู้ในด้านการเกษตรไปยังสมาชิกและเกษตรกร ด้วยการจัดโรดโชว์ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทยังได้เสริมศักยภาพทางด้านการกระจายสินค้า สู่สมาชิกและเกษตรกร ซึ่งบริษัทได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าขนาด ใหญ่ ที่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อรองรับการกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในเขตภาคกลางซึ่งเป็น พื้นที่ที่มียอดการขายและสมาชิกผู้ทำธุรกิจและเกษตรกรอยู่หนาแน่น

ขณะที่สำนักงานตอนนี้มีสาขาอยู่แล้ว 35 แห่ง และได้พยายามเน้นสร้างศูนย์ตัวแทนจำหน่ายที่บริหารงานโดยสมาชิกอีกเกือบ 700 ศูนย์ ทั่วประเทศ ซึ่งมีสินค้าทั้งหมดกว่า 80 รายการ ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่มเพิ่มผลผลิต เช่น ปุ๋ย ธาตุอาหารเสริม ฮอร์โมนพืช 2.กลุ่มป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น ยากำจัดวัชพืช ยาป้องกันกำจัดโรคพืช ยากำจัดแมลง และกำลังมีสินค้าใหม่ๆ อีกกว่า 30 รายการ ที่จะทยอยออกสู่ตลาดในปีนี้ เพื่อให้เกษตรกร ได้เลือกใช้แก้ปัญหาในการทำการเกษตรได้ตามความเหมาะสม ในแต่ละพืช แต่ละพื้นที่

โดยทั้งหมดจะสามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อีก ด้วย ซึ่งสินค้ายอดนิยมอันดับหนึ่งในขณะนี้ คือ "5 พลังยูนิไลฟ์" ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้มากกว่า 50% โดยสินค้า "5 พลังยูนิไลฟ์" นี้สามารถใช้ได้กับทุกพืช ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และที่สำคัญจุดเด่นของ "5 พลังยูนิไลฟ์" ก็คือการลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งหมายความว่าเราสามารถช่วยลดมลภาวะของสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินความ จำเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม CEO ยูนิไลฟ์ฯ ยังได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคที่พบเจอ คือปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ฝนแล้งก็มีส่งผลกระทบอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ยูนิไลฟ์มีสินค้าหลากหลายที่สามารถตอบโจทย์ในสภาวการณ์ต่างๆ ได้ที่สำคัญบริษัทได้ดำเนินกิจกรรมบนสื่ออิน-เตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของบริษัทไว้มากมาย สามารถเข้าเยี่ยมชม เว็บไซต์ของบริษัทได้ที่ www.unilife.co.th หรือ www.facebook.com/unilife.co.th

"บริษัทยังได้จัดทำช่องทีวีออนไลน์ บน youtube ที่ www.youtube.com/media4unilife เผยแพร่วิดีโอเกี่ยวกับการทำการเกษตรและการทำธุรกิจยูนิไลฟ์ ซึ่ง ผู้สนใจสามารถติดตามชมกันได้ หรืออีกช่องทางหนึ่งที่หน้าเพจ www.facebook. com/UnilifeTvOnline ซึ่งในปัจจุบันสมาชิก และเกษตรกรสามารถเข้าถึงสื่อเหล่านี้มากขึ้น" ปราณี กล่าว

+ "วิน วิน" จับมือ "ธ.ก.ส." เพิ่มช่องขาย

ด้าน เภสัชกรประเสริฐ หวานยิ่ง ประธาน บริษัท วิน วิน เวิลด์ ไวด์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทยังเน้นการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าทางการเกษตร เนื่อง จากที่ผ่านมากลุ่มสินค้าชนิดนี้ของบริษัทได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่าง ดีจากผู้บริโภค โดยสินค้าในกลุ่มเกษตรมีอยู่ทั้งหมด 3 รายการ ได้แก่ 1.วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันพืช 2.ออมเงินอาหารเสริมใบ 3.ปุ๋ยเม็ดออมเพชร ทางเดิน และราก

"บริษัทมีโรงงานผลิตปุ๋ยเป็นของตนเองอยู่ที่บางบัวทอง และแน่นอนว่าได้รับ ผลกระทบเป็นอย่างมากจากภาวะวิกฤติ น้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ขณะนี้บริษัท ได้ปรับปรุงพื้นที่โรงงานเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถทำการผลิตได้อย่าง เต็มกำลัง โดยโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตปุ๋ยจัดจำหน่ายได้กว่า 100 ล้านบาทต่อ เดือน" ภก.ประเสริฐ เผย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการเข้า ร่วมกับ "ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร" หรือ ธ.ก.ส. เพื่อหาช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ๆ โดยได้เข้าไปติดต่อกับหน่วยงาน "สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า" หรือ สกต. ธ.ก.ส.ที่ดูแลส่วนนี้โดยตรง จากเดิมที่บริษัทจำหน่ายปุ๋ยในพื้นที่เดียวในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายได้ ต่อเดือนประมาณ 30-40 ล้านบาท ปีหน้า จะรุกเพิ่มไปอีก 10 จังหวัด โดยการเข้าร่วม กับ สกต.ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย จะรุกในแถบภาคกลางก่อน และตั้งเป้าเพิ่ม ยอดขายเป็นหลักร้อยล้านบาท

ผลิตภัณฑ์การเกษตรของบริษัท จัดจำหน่ายในรูปแบบขายตรงชั้นเดียว ปัจจุบัน มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 60% ส่วน สินค้า MLM ประมาณ 40% ปีหน้า สินค้า MLM มีแผน เพิ่มผลิตภัณฑ์คอลลาเจนเข้ามาเจาะตลาด ซึ่งสินค้าทุกตัวของบริษัทพัฒนาจากเภสัชกร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

"ส่วนตลาดปุ๋ยปี 56 เทรนด์ปุ๋ยอินทรีย์ บูมแน่นอน ขณะนี้มีมูลค่าการตลาดเป็นหลัก แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี หลังจากเปิด AEC บริษัท วิน วินฯ จะขยายปุ๋ยไปต่างประเทศ คาดว่าน่าจะเริ่มต้นที่ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามก่อน โดยการหาตัวแทนจำหน่าย ทั้งนี้การเตรียมพร้อมสำหรับตลาด ตรงนี้ คือ การพัฒนาภาษาอังกฤษของบุคลากร เพราะตนมองว่าภาษาอังกฤษเป็น ปัจจัยสำคัญมาก สำหรับความก้าวหน้าของ บริษัทและประเทศไทย หลังจากเปิด AEC" แม่ทัพ วิน วิน กล่าว

+ "มาบุญครอง" ผุดโครงแจกสินค้า

นายพิบูล ลิมปิวิวัฒน์กุล รองประธาน กรรมการบริหาร และกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท มาบุญครอง จำกัด เปิดเผยว่า มาบุญครองได้จัดทำโครงการพัฒนา เกษตรกรไทยก้าวไกลสู่สากล โดยสารปรับปรุงดินศิริชัย และศิริชัย ไบโอพลัส เมื่อ วันที่ 10-11 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับดีจนเกินคาด จึงมีนโยบายในการอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมจากเดิม 30 ล้าน เป็น 50 ล้าน

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการ เพื่อแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์การเกษตร ให้เกษตรกรทั่วประเทศไทยกว่า 20,000 ครัว-เรือน ได้นำไปทดลองใช้ทำแปลงสาธิต ซึ่งเริ่มแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2556 จากคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การเกษตร ของมาบุญครองจะสามารถเห็นผลชัดเจน และสร้างยอดขายให้เติบโตในปี 2556 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

โครงการนี้จะมีการกระจายผลิตภัณฑ์ สู่กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ด้วยการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินให้กับเกษตรกรไทยทดลองใช้ให้ได้ผลจริง โดยโครงการที่ผ่านการอบรมสัมมนาในครั้งนี้ได้นำความรู้ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรไทย ซึ่ง ผู้นำโครงการฯ ที่เข้าร่วมกิจกรรม จะต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกและผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านการเกษตร โดยโครงการนี้จะรับสมัครจำนวน 400 คน ที่จะกระจายไปสู่เกษตรกรไทยทั่วประเทศ รวมถึงการส่งผล ให้เกษตรกรไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยหลังจากการเปิดตัวสินค้าการ เกษตรไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทก็จะทำการเทรนนิ่ง กลุ่มสมาชิกนักขายอย่าง ต่อเนื่อง และมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอาชีพเกษตรกร โดยหลังจาก ที่บริษัทเปิดตัวสินค้าแรกของปีในช่วงกลางปีนี้ บริษัทก็จะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มอีก ซึ่งจะมีทั้งนำเข้ามาจากต่างประเทศ และกลุ่มสินค้าที่ผลิตในประเทศ

อย่างไรก็ดีปี 2556 มาบุญครอง เน้น หนักทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ตั้งเป้าการจำหน่ายปี 2556 อัตราส่วน 60-70% ยังมีการพัฒนานวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ ต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งตั้งเป้าการจำหน่าย ปี 2556 อัตราส่วน 30-40% โดยในงานได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ SB-2 โคเอนไซม์ คิวเท็น ตราศิริชัย ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารเพื่อสุภาพสตรี สวยใสจากภายใน เปล่งประกายสู่ภายนอก และ D1 (ดี1) ตราศิริชัย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสาร สกัดจากธรรมชาติเพื่อการล้างสารพิษ ทั่วร่างกาย ซึ่งได้รับความสนใจ และผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักธุรกิจมาบุญครอง

จาก http://www.siamturakij.com วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เพิ่มงบให้กรมหมอดินเน้นโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดำเนินงานมากึ่งศตวรรษ หรือ 50 ปีแล้ว โดยที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้มุ่งพัฒนาผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนองโครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะในเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2557 กรมพัฒนาที่ดินจะได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้น โดยงบประมาณที่ได้รับจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ งบที่ได้จาก กยอ. ประมาณ 850 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับทันทีเมื่อแผนงานพร้อมดำเนินการ และงบที่ได้จาก พ.ร.บ.งบประมาณปกติ ที่ต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อนำมาสนองนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ ซึ่งภายใน 2 ปี การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องนำมาดำเนินการด้านเกษตรอินทรีย์ และโครงการพระราชดำริให้มีประสิทธิภาพและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพดินในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงแตกต่างกันตามไปด้วย ดังนั้น หากเกษตรกรมีปัญหาเรื่องดิน ก็สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ในเรื่องการพัฒนา ปรับปรุง บำรุงดิน ได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 มิถุนายน 2556

เทคนิคผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ...เพื่อฟาร์มพืชอินทรีย์ - นานาสารพัน

“ปุ๋ยหมัก“ เป็นปัจจัยการผลิตทาง การเกษตรอย่างหนึ่งที่เกษตรกรนำมาใช้ในการผลิตพืช โดยเฉพาะ ระบบผลิตพืชอินทรีย์ มีความต้องการใช้ปุ๋ยหมักค่อนข้างมากนอกเหนือจากปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก และปุ๋ยอินทรีย์ แต่ปัจจุบันการผลิตปุ๋ยหมักใช้เองภายในฟาร์มยังมีน้อย เกษตรกรส่วนใหญ่ยังพึ่งพาจากภายนอก ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น กรมวิชาการเกษตร จึงได้พัฒนา ’ระบบการผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศในฟาร์มผลิตพืชอินทรีย์“ ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้เป็นต้นแบบการผลิตปุ๋ยหมักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีต้นทุนต่ำ และใช้งานง่ายอีกด้วย

สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ร่วมกับสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ทำการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศในฟาร์มผลิตพืชอินทรีย์ โดยดำเนินการในฟาร์มเกษตรกรผู้ผลิตพืชอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน “Organic Thailand” จากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 12 แห่งกระจายทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทดลองใช้จริงในแปลงพืชที่แตกต่างกัน มีทั้งพืชผัก มังคุด พุทรา มะพร้าว หน่อไม้ฝรั่ง ข้าว และแปลงเกษตรผสมผสาน

ระบบผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศต้นแบบ ที่พัฒนาขึ้นนี้ มีโครงสร้างของระบบหมักเป็นคอนเกรีตเสริมเหล็ก ประกอบด้วย ซองหมัก 2 ซอง ขนาดความจุซองละ 30 ลูกบาศก์เมตร มีช่องเป่าอากาศอยู่ด้านล่างกึ่งกลางซองหมัก ใช้พัดลมอัดอากาศ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใบพัดลม 10 นิ้ว ปั่นด้วยมอเตอร์ 0.5-1 แรงม้า เป็นเครื่องอัดอากาศเข้าไปในกองปุ๋ยหมัก เปิด-ปิดด้วยนาฬิกาอัตโนมัติ โดยเปิดครั้งละ 1 ชั่วโมง และปิดครั้งละ 3 ชั่วโมง วันละ 6 ครั้ง และยังมีบ่อรับน้ำปุ๋ยหมักเพื่อเก็บน้ำเหลือทิ้งดูดกลับใส่กองปุ๋ยหมักด้วย

หลักการของระบบผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ ใช้ออกซิเจนเป็นปัจจัยในการเร่งกิจกรรมการย่อยสลายในกระบวนการหมักวัสดุอินทรีย์ในกองปุ๋ยหมัก จนถึงการแปรสภาพจากสารอินทรีย์ไปเป็นปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายสมบูรณ์ ซึ่งรูปแบบของระบบเติมอากาศนี้สามารถผลิตปุ๋ยหมักได้ครั้งละ 30 ตัน ใช้เวลาหมักในระบบหมักเติมอากาศ 30 วันต่อครั้ง หรือปีละ 8 ครั้ง โดยมีศักยภาพในการผลิตปุ๋ยหมักรวม 240 ตันต่อปี

ผลวิเคราะห์ปุ๋ยหมักที่ผลิตจากระบบเติมอากาศ พบว่า ปุ๋ยหมักที่ได้มีคุณภาพสูง สะอาดและปลอดภัยจากเชื้อที่ก่อโรคพืชเกือบทุกชนิด เป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำตามประกาศของกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) สามารถช่วยลดต้นทุนในการกลับกองปุ๋ยหมักได้ค่อนข้างมาก ทั้งยังใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพสูงในการใช้ในระบบการผลิตผักและผลไม้อินทรีย์ เมื่อใส่ปุ๋ยหมักลงไปในดินพืชที่ปลูกจะดูดไปใช้ได้ทันที ซึ่งเกษตรกรทั้ง 12 ราย ยอมรับว่าได้ผลดี โดยกรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป

...เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศนี้ สามารถนำไปประยุกต์หรือปรับใช้อย่างเหมาะสมในการผลิตปุ๋ยหมักในระดับฟาร์มหรือชุมชนได้ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญยังได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพ ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน ช่วยสร้างระบบเกษตรกรรมปลอดสารพิษและเกษตรอินทรีย์ เป็นการสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่นยืน…

หากสนใจ ’ระบบการผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ“ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โทร. 0-2579-3577-8, 0-2940-5442.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 มิถุนายน 2556

อินโดไฟเขียวอ้อยGMO อิเหนาเจอปัญหาไร่อ้อยน้อยไม่พอป้อนโรงงานน้ำตาล

รัฐบาลอินโดนีเซีย อนุญาตให้เกษตรกรสามารถปลูกอ้อยที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) เป็นพันธุ์ทนแล้งเพื่อการพาณิชย์แล้ว เริ่มเพาะปลูกปีหน้า พร้อมเดินหน้าศึกษาอ้อยพันธุ์ปลอดศัตรูพืชเป็นตัวต่อไป เผยอิเหนาเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลในบ้านเพื่อลดการนำเข้า

หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ รายงานว่าหน่วยงานรัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้ไฟเขียว อ้อยพันธุ์จีเอ็มโอ พันธุ์แรกสำหรับการปลูกเพื่อการพาณิชย์แล้วโดยมีรายงานว่าเป็นการอนุมัติโดยคณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางชีวภาพของสินค้าดัดแปลงพันธุกรรมแห่งชาติ (KKHPRG) โดยสมาชิกคณะกรรมาธิการคนหนึ่งคือ นายบัมบัง เพอร์วานทารา ระบุว่า คณะกรรมาธิการเป็นหน่วยงานที่มีสิทธิ์อนุมัติให้มีการใช้พืชทางเทคโนโลยีชีวภาพได้อนุมัติ พันธุ์อ้อยตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อให้ทนแล้ง สำหรับการเพาะปลูกเพื่อการพาณิชย์แล้ว

อ้อยพันธุ์ดังกล่าว พัฒนาขึ้นโดยรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นศูนย์วิจัยการปลูกอ้อยแห่งหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ด้วยความร่วมมือจากอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสเตทยูนิเวอร์ซิตี้แห่งเจมเบอร์ในชวาตะวันออก โดยขณะนี้มีการทดลองปลูกแล้วในเนื้อที่จำกัด

นายบัมบัง ให้สัมภาษณ์จาการ์ตาโพสต์ ด้วยว่า “เรามีความภูมิใจที่ขอประกาศว่า อ้อยพันธุ์ดังกล่าวจะเป็นพืชเศรษฐกิจหลักตัวแรกที่สามารถทนแล้งได้ และเราจะได้เห็นอ้อยพันธุ์นี้ในไร่อ้อย ตั้งแต่ปีหน้า”

นอกจากพันธุ์อ้อยจีเอ็มโอพันธุ์แรกที่ได้รับอนุมัติแล้ว จาการ์ตาโพสต์ รายงานว่า คณะกรรมาธิการกำลังศึกษาและทดสอบพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ที่มีการตกแต่งทางด้านชีวภาพอีก 14 ชนิด ซึ่งมีทั้งพันธุ์พืชถั่วเหลือง และอ้อยพันธุ์อื่น เพื่อศึกษาว่าผลพืชที่เพาะปลูกจากพันธุ์พืชเหล่านี้มีความปลอดภัยในการบริโภคสำหรับมนุษย์ โดยได้ศึกษาในกรณีที่นำพืชเหล่านี้ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ด้วย

ทั้งนี้ เหตุที่อินโดนีเซียให้ความสำคัญต่อพันธุ์อ้อยสำหรับการเพาะปลูกเพื่อการพาณิชย์ เนื่องจากอินโดนีเซียมีการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาว เพื่อการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยในปีฤดูกาลเพาะปลูก 2555/2556 ประเทศอินโดนีเซีย มีความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายขาว 5.7 ล้านตัน ขณะที่น้ำตาลทรายขาวที่ผลิตจากผลผลิตอ้อยในประเทศผลิตได้เพียง 2.6 ตัน

โรงงานน้ำตาลในอินโดนีเซียต้องนำเข้าน้ำตาลดิบเพี่อผลิตเป็นน้ำตาลทราย เนื่องจากผลผลิตอ้อยไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าน้ำตาลดิบจากประเทศบราซิล ไทย และออสเตรเลีย โดยการนำเข้าแต่ละครั้งต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลในระบบโควตาสำหรับโรงงานน้ำตาล

กำลังการผลิตน้ำตาลที่ต่ำกว่าความต้องการบริโภค ทำให้รัฐบาลสนับสนุนให้นักลงทุนต่างประเทศลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาล ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก และขณะนี้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลใหม่อีก 3 โรง มีกำหนดเสร็จปลายปีนี้ มีกำลังการผลิตรวมกัน 1 ล้านตัน ทำให้กำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวของประเทศเพิ่มเป็น 4.5 ล้านตัน

การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลยิ่งทำให้ประเทศอินโดนีเซีย ต้องนำเข้าน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ดังนั้นทางการอินโดนีเซียจึงต้องเร่งเพิ่มผลผลิตอ้อยให้ได้มากที่สุด และสูตรสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตอ้อยในประเทศสูตรหนึ่งคือการนำพันธุ์อ้อยจีเอ็มโอมาใช้ในการปลูกเพื่อการพาณิชย์

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รายงานพิเศษ: เมิน'ดอกลด-บาทนิ่ง'ห่วงเศรษฐกิจโลกฉุดผลิต-ส่งออก

อนัญญา มูลเพ็ญ

การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ 0.25% จาก 2.75% เหลือ2.50% ตลอดจนเงินบาทที่อ่อนตัวลงมาอยู่ใกล้ 30 บาท/ดอลลาร์ และเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลอื่นๆในภูมิภาค ดูเหมือนว่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อหลายอุตสาหกรรมลงได้พอสมควร แต่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งยังมองว่าระยะต่อไปภาคการผลิตและส่งออกยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอยู่

"สมชาย หาญหิรัญ"ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอื่นๆโดยเฉพาะเศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก ทั้งยุโรปและสหรัฐ ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตด้วย เนื่องจาก50-60% ของการผลิตของไทยเป็นการผลิตเพื่อส่งออก

"ธนิต โสรัตน์"เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้เงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงมา แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยังใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายผิดปกติ ดังนั้น จึงยังมีความเสี่ยงที่เงินบาทจะแข็งค่าและผันผวนได้ในระยะต่อไป

"แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่มาก เพราะแม้ค่าเงินจะเริ่มอ่อนค่าลงมา แต่เศรษฐกิจหลักของโลกยังไม่มีการฟื้นตัวที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ญี่ปุ่น ในขณะที่หากสหรัฐยกเลิกมาตรการคิวอี ก็อาจจะส่งผลต่อการบริโภคและนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ"

นอกจากนั้น ต้นทุนการผลิต ทั้งค่าแรงและวัตถุดิบที่แพงขึ้น ยังเป็นแรงกดดันต่อภาคการผลิต ในขณะที่ยังไม่แน่ว่าธนาคารพาณิชย์จะลดดอกเบี้ยลงตามดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งความต้องการกู้ยืมในระบบมีสูง ส่งผลสภาพคล่องตึงตัว

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ที่มีน้ำหนัก

ต่อภาคการผลิตและการส่งออกค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ก็มองว่าระยะต่อไปความเสี่ยงยังคงอยู่ แต่ก็ยังคาดหวังที่จะได้เห็นการเติบโต "สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์"

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่าดอกเบี้ยที่ลดลงแม้จะน้อยแต่ก็เชื่อว่าจะช่วยให้กำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลดียอดขายรถในประเทศให้ดีขึ้นและการผลิตรถยนต์ปีนี้น่าจะได้ตามเป้าที่ 2.55 ล้านคัน และในส่วนการส่งออก ส.อ.ท. ยังคงประมาณการไว้ที่ 1.1 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 10% โดยได้รับแรงส่งจากหลายตลาดที่ยังขยายตัวดีทั้งในเอเชียออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้

"วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ"ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ในช่วงต้นปีการส่งออกอาหารได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเงินบาทอยู่พอสมควร แต่ ส.อ.ท.ยังคาดว่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารปีนี้จะมีทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาทเพิ่มจากปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 9.7 แสนล้านบาท เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังพอไปได้

"ศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย"นายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย กล่าวว่า คู่ค้าในต่างประเทศยังมีการสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องเพราะตอนนี้ตลาดมากว่า 50% ของไทยจะอยู่ในภูมิภาคเอเชียที่เศรษฐกิจยังขยายตัวดี ในขณะที่สหรัฐก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง และยุโรปไม่ได้ทรุดตัวลงไป แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีความอ่อนไหวกับภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เป็นกลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออกกว่า 90% ส่วนอีก 10% ที่ขายในประเทศก็ขายเพื่อไปผลิตเพื่อการส่งออก

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

'ประเสริฐ'สั่งปิด2รง.ทิ้งกากพิษ ระงับประกอบกิจการอีก13 โรง ขออำนาจ'วิฑูรย์'ย้ายผอ.สำนัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานหลอมหล่อตะกรันอะลูมิเนียม สั่งปิดปรับปรุงชั่วคราวโรงหล่อ ตะกรันเอส.เอส.อินกอต อลูมิเนียม กับเจ แอนด์ บี เมททอล ผิด พ.ร.บ.โรงงาน พร้อมให้ 74 ผู้ประกอบการลงขันจ้างเจนโก้เข้าจัดการขนย้ายกากตะกรัน

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานหลอมหล่อตะกรันอะลูมิเนียม และบริเวณที่มีการลักลอบทิ้งกากตะกรันอะลูมิเนียม บริเวณซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
นายประเสริฐกล่าวว่า กระทรวงได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบโรงงานอะลูมิเนียมในซอยกองพนันพล ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ด้านหลอมอะลูมิเนียม มีโรงงานรวม 74 โรง ระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์-8 มีนาคม 2556 พบมีการกระทำความผิด 3 ลักษณะ คือ ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศชำรุด 47 โรง ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจัดเก็บของเสีย 54 โรง และประกอบกิจการรีไซเคิลหลอมตะกรันโดยไม่ได้รับอนุญาต 13 ราย เมื่อได้พิจารณาความผิดและแนวทางการปรับปรุงแล้ว จึงสั่งให้ 47 โรงงานปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ สั่งการตามมาตรา 37 พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ให้โรงงาน 52 โรงจาก 54 โรงที่ไม่ปฏิบัติเรื่องการจัดเก็บของเสียปรับปรุงโดยด่วน และสั่งการตามมาตรา 39 ให้ 2 โรงงานปิดปรับปรุงชั่วคราว รวมทั้งสั่งให้ 13 โรงงานระงับการประกอบกิจการรีไซเคิลหลอมตะกรันทันที

"2 โรงงานที่สั่งปิดปรับปรุงบางส่วนชั่วคราวตามมาตรา 39 คือ โรงงานหลอมหล่อตะกรันอะลูมิเนียมของบริษัท เอส.เอส.อินกอต อลูมิเนียม 1999 จำกัด และบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด" นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า สำหรับบริเวณที่มีการลักลอบทิ้งกากตะกรันอะลูมิเนียม หรือโดรส ที่ไม่เข้าระบบกากของเสียอันตรายของ กรอ.มากถึง 3,400 ตัน ได้สั่งการให้บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือเจนโก้เข้ามารับซื้อในราคาเฉลี่ย 3,000-4,000 บาทต่อตัน จากปกติราคา 10,000 บาทต่อตัน โดยผู้ประกอบการทั้ง 74 รายจะลงขันจ้างเจนโก้เข้ามาขนย้ายกากตะกรันดังกล่าว

นายณัฐพลกล่าวว่า จากการตรวจสอบครั้งนี้จึงมีหนังสือถึงนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ขอให้มีคำสั่งย้ายด่วนข้าราชการระดับสูงของ กรอ.ที่รับผิดชอบเรื่องกากไปยังตำแหน่งอื่น พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เนื่องจากพบความผิด 3 ลักษณะ คือ 1.ออกใบอนุญาตไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการอนุญาตให้มีการส่งออกวัตถุอันตรายบางชนิดออกนอกประเทศ 2.การปล่อยให้ผู้ประกอบการเอกชนแทรกแซงการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 3.ไม่สามารถดูแลควบคุมกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกากอันตรายให้มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งปัจจุบันมีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมอันตรายออกจากโรงงานทั่วประเทศ 2.8 ล้านตันต่อปี แต่มีผู้ประกอบการยื่นเอกสารเข้ามาเพียง 1 ล้านราย

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ผู้บริหารระดับสูงที่นายณัฐพลเตรียมโยกย้าย คือ นายไสว โลจนะศุภฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เงินเฟ้อพ.ค.โตต่ำสุดรอบ42เดือน

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนพ.ค.2556 เท่ากับ 105.15 สูงขึ้น 2.27% เทียบกับพ.ค.2555 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่พ.ย. 2552 และสูงขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับเม.ย. 2556 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 2556 สูงขึ้น 2.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ที่ขยายตัวชะลอลงนั้น เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นเพียง 1.6% สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง 0.91% ค่าโดยสารสาธารณะ 0.80% ค่าเช่าบ้าน หอพัก 2.89% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 3.59% สินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น ผักและผลไม้ 12.80% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 4.52% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ 4.81%

“เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง มาจากราคาน้ำมันในประเทศลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้สินค้าบางชนิดที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตมีต้นทุนต่ำลง ส่วนกลุ่มอาหารสดยังมีราคาสูงขึ้นบ้างจากสภาพอากาศร้อนจัดที่ผ่านมา”นางวัชรี กล่าว

อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่เติบโตแบบชะลอตัว ไม่ใช่สัญญาณสะท้อนว่าการใช้จ่ายของภาคประชาชนเริ่มฝืดตัว เพราะถ้าเทียบเงินเฟ้อแบบเดือนต่อเดือน ยังมีการขยายตัว 0.24% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 เดือนที่ผ่านมาในรอบปีนี้ และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าเงินเฟ้อเดือนนี้จะชะลอตัวต่ำสุดแล้ว และเดือนต่อไปหน้าจะมีการขยายตัวได้ในระดับที่มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมีการคงเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2556 ไว้ที่เดิม 2.8-3.4%

สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดลง 0.25% ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อเล็กน้อยเพียง 0.0025% และหากลดดอกเบี้ย 1% ก็จะกระทบเงินเฟ้อแค่ 0.01% ดังนั้นการปรับดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ต่อเงินเฟ้อ ส่วนราคาอาหารสดคาดว่าจะลดลงในเดือนหน้า เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนทำให้ผักสด ผลไม้เจริญเติบโตได้และมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่ม เช่นเดียวกับไข่ไก่ที่ราคาน่าจะลดลง เพราะแม่ไก่จะหายเครียดและออกไข่ได้มากในช่วงหน้าฝน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ลุยสร้างโรงไฟฟ้าในลาว

ซีเค.ฯ ลุยลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำป้อนไฟฟ้าให้ไทย หวังครองเบอร์ 1 ผู้ผลิตไฟฟ้าในลาวหลังรัฐบาลมีนโยบายฮับแบตเตอรี่แห่งเอเชีย

นางสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษั ซีเค พาวเวอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทและกลุ่มพันธมิตรสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลการผลิตไฟฟ้าในสปป.ลาว เพิ่มเติมหลังจากที่รัฐบาลลาวประกาศเป็นศูนย์กลางแบตเตอรี่แห่งเอเซีย ที่จะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เบื้องต้นลาวมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า 21,500 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าผลิตไฟแล้ว 2,500 เมกะวัตต์ รวมถึงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5,000 เมกะวัตต์ และรอการเปิดประมูลอีก 14,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มซีเค พาวเวอร์ และพันธมิตรได้เข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าใน 2 โครงการแล้วมูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 2 มูลค่า 30,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ สร้างเสร็จแล้ว 2 ปี โดยจำหน่ายไฟฟ้าในไทย 100% และ โครงการพลังน้ำไซยะบุรี มูลค่า 115,000 ล้านบาท กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ สร้างเสร็จในปี 62 จำหน่ายไฟฟ้าให้ไทย 95% และลาว 5% ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการเซ็นสัญญาโครงการไฟฟ้าเขื่อนน้ำบาก 160 เมกะวัตต์ สร้างเสร็จปี 62 จำหน่ายไฟฟ้าให้ลาว 100%

“บริษัทซีเค. พาวเวอร์ มีธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังความร้อน เนื่องจากมองว่าธุรกิจประเภทนี้สามารถทำกำไรได้ดี เพราะความต้องการไฟฟ้ามีสูงมากโดยเฉพาะในประเทศไทย โดยบริษัท ซีเค. พาวเวอร์ นี้ มี บมจ. ช. การช่าง เป็นผู้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่”

นางสุภามาส กล่าวว่า ในภาพรวมของดำเนินธุรกิจของบริษัทไตรมาสแรกอยู่ในระดับที่ดี โดยมีรายได้กว่า 1,200 ล้านบาท และมีกำไร 93 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเพียง 33 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทรับรู้รายได้จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำงึม 2, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ปักธงชัย, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นครราชสีมาโซล่าร์ เป็นต้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชัยนาท ชาวนามโนรมย์โวยน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาลไหลลงคลองใช้ทำนาไม่ได้

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวนาตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ ว่ามีน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาลในตำบลหนองโพธิ์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ไหลลงคลองบางตาลาย ซึ่งเป็นคลองทิ้งน้ำที่ต่อเนื่องมาจากตำบลหนองโพธิ์ เข้ามายังตำบลหางน้ำสาคร สภาพน้ำมีสีดำคล้ำ แต่ยังไม่มีกลิ่นเหม็น จากการตรวจสอบด้วยชุดตรวจค่าออกซิเจนในน้ำ โดยเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข เทศบาลตำบลหางน้ำสาคร พบค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ 6-8 PPM ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดชัยนาทประสานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ให้เข้าตรวจสอบโรงงานต้นเหตุแล้ว

นายธงชัย ฉิมวงศ์ขอม ชาวนาที่ใช้น้ำในคลองบางตาลาย กล่าวว่า จากที่ชลประทานให้เริ่มทำนาได้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแต่ชาวนายังไม่กล้าทำเนื่องจากน้ำในลำคลองมีสีดำคล้ำ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อน้ำมีกากน้ำตาลปนเข้ามาหากนำไปใช้ทำนาจะทำให้ข้าวตาย จึงแจ้งไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยนาท เทศบาลตำบลหางน้ำสาคร และนายอำเภอมโนรมย์เข้าตรวจสอบเพื่อหาทางช่วยเหลือเพราะชาวนาได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก

นายทรงกรด ทองตะนุนาม นักบริหารสาธารณสุข เทศบาลตำบลหางน้ำสาคร กล่าวว่า หลังได้รับรายงานว่ามีน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่เขตติดต่ออำเภอมโนรมย์ไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทางเทศบาลฯจึงประสานไปยังโรงงานดังกล่าว ได้รับแจ้งว่ามีชาวไร่อ้อยที่อยู่ใกล้โรงงานทำหนังสือร้องขอน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงอ้อยเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเกิดสภาพแห้งแล้ง ทางโรงงานได้ปล่อยน้ำที่มีส่วนผสมของกากน้ำตาลส่งเข้าไร่อ้อย แต่ปรากฏว่าคันกั้นน้ำพังทำให้น้ำเสียไหลเข้าสู่คลองธรรมชาติบางตาลาย จากการตรวจค่าออกซิเจนอยู่ที่ 8 PPM ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ศึกษาต่อไปว่าจะมีผลกับสิ่งมีชีวิตในน้ำหรือไม่ จากการสอบถามข้อมูลชลประทานทราบว่าทุกปีจะมีน้ำผสมกากน้ำตาลไหลลงคลองนี้เป็นประจำ แต่ทุกปีที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเนื่องจากปริมาณน้ำในคลองมีมากทำให้น้ำเจือจางกากน้ำตาลสามารถนำน้ำไปทำนาได้ปกติ สำหรับปีนี้น้ำมีน้อยชลประทานไม่ส่งน้ำเข้าคลองบางตาลายจึงทำให้กากน้ำตาลละลายในน้ำมีความเข้มข้นสูงกว่าปกติทำให้มีผลกระทบในการทำนา

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รมช.เกษตรฯ เปิดมหกรรมเกษตรอินทรีย์

มหาสารคาม - รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าพัฒนาเกษตรกรสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ พร้อมจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานตามความต้องการของผู้บริโภค หวังลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าทางการเกษตรของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่เออีซี

ที่โรงแรมตักสิลา อ.เมืองมหาสารคาม นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ วิถึเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีเป้าหมายในการณรงค์ส่งเสริมให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมีทางการเกษตร เพื่อพัฒนาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ สร้าความเข้มแข็งให้เกิดในระบบเกษตรอินทรีย์ประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน และระดับนานาชาติ

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับล่าสุด ปี 2556-2559 โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน”

สำหรับการจัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ฯ ที่จังหวัดมหาสารคาม เป็นการเปิดโอกาสให้มีการดำเนินงานด้านการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งดำเนินการในลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มาประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ผลิตเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อขยายช่องทางการตลาดใหม่ก่อให้เกิดแนวคิดในการพึ่งพาตนเอง

ตลอดจนก้าวสู่เวทีการแข่งขันการประชาคมอาเซียน และระดับนานาชาติ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตการค้า และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน 2556

เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ปรับแผนผลิตรับเออีซี

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า เหลือระยะเวลาเพียงไม่ถึง 2 ปีประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ดังนั้น เกษตรกรต้องตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกระบวนการเตรียมความพร้อมนั้น เมื่อเปิดการค้าเสรีแล้ว มีอะไรบ้างที่กระทบต่อตัวเกษตรกรโดยเฉพาะเรื่องข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม ยาง พารา ต้องแสวงหาข้อมูลให้มากที่สุด ซึ่งทาง ส.ป.ก.ได้มีการศึกษามาระดับหนึ่งว่า ประเทศไหนที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย ได้มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังเพื่อให้ทราบถึงจุดแข็งของประเทศคู่แข่งของไทย

หัวใจสำคัญที่ ส.ป.ก.เน้นย้ำและเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินมาตลอดก็คือ การลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เกษตรกรสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันได้ และการปรับปรุงคุณภาพการผลิต โดยเฉพาะการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ส.ป.ก.ได้มีการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และบุคลากรโดยมีการตรวจประเมิน ประมาณ 10 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นผู้ตรวจประเมิน 4 ประเภทสินค้าได้แก่ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และสับปะรด เพื่อออกใบรับรองหรือตัว Q ให้กับเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

“เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเปิดการค้าประชาคมอาเซียน เรามักจะได้รับข้อมูลที่เป็นนามธรรมมากกว่า ซึ่งบางครั้งอาจจะเสียโอกาสหรือได้โอกาส ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันเพื่อให้สิ่งเหล่านั้นเกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกษตรกรมีการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง อันจะทำให้ ภาคเกษตรกรไทยสามารถยืนหยัดอยู่ได้” ดร.วีระชัย กล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน 2556